กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหางดง และสันป่าตอง พรรคก้าวไกล
ประเด็นแรก ที่ผมอยากจะปรึกษาหารือกับท่านประธานในวันนี้คือปัญหา พื้นผิวถนนคลองชลประทาน ๒๒ ซ้าย ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง ที่ชำรุดเสียหายหนัก มาเป็นเวลานาน เสียหายหนักขนาดที่ประชาชนพูดกันติดตลกเลยว่าถ้าหากมาสัญจรเส้นนี้ นอกจากจะเห็นความเสียหายแล้วยังสามารถทดสอบช่วงล่างรถยนต์ของท่านเองได้ด้วย ผมขอฝากท่านประธานประสานไปยังกรมชลประทานผู้มีอำนาจรับผิดชอบถนนสายนี้ ถึงการแก้ไขอย่างยั่งยืน แต่ถ้าหากว่าการทำถนนนั้นไม่ใช่ภารกิจหลักของกรมชลประทาน ผมขอให้กรมชลประทานพิจารณาในการถ่ายโอนภารกิจนี้ให้เป็นทางหลวงท้องถิ่น หรือทางหลวงชนบทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้งบประมาณมาแก้ไขอย่างยั่งยืนให้กับ ประชาชนต่อไป
ประเด็นที่ ๒ มากันตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง กับฝายไม้ไร่รอ ฝายคอนกรีตขนาดใหญ่แห่งนี้ถูกถ่ายโอนภารกิจให้กับ อบต. น้ำบ่อหลวงที่มีงบประมาณ รายจ่ายไม่ถึง ๓๕ ล้านบาทต่อปี งบประมาณแค่นี้กับโครงการที่ใหญ่ขนาดนี้ เพียงพอ ไหมครับท่านประธาน ไม่พอหรอกครับ ฝายขาด ฝายชำรุดปีหนึ่ง ๑-๒ ครั้ง อปท. ไม่มี งบประมาณในการซ่อมแซม เกษตรกรที่ใช้น้ำจากฝายนี้ต้องลงขันรวมเงินกันเองไร่ละ ๒๐๐ บาท นี่ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนครับ นี่จึงเป็นหน้าที่ของสภาแห่งนี้ที่จะหาหน่วยงาน ที่มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้ ในด้านบุคลากร และในด้านงบประมาณมาแก้ไขปัญหานี้ ให้ยั่งยืนกับประชาชนต่อไป
ประเด็นที่ ๓ ยังอยู่กันที่อำเภอสันป่าตอง สี่แยกทุ่งเสี้ยว โครงการขนาด ๑๔.๕ ล้านบาท กลางสี่แยกเลยครับ อาคารแห่งนี้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูล การท่องเที่ยวอำเภอสันป่าตอง แต่สร้างเสร็จมาแล้วกว่า ๑ ปี ก็ยังไม่มีการทำอะไรเลย ถูกทิ้งไว้ไม่ต่างกับอนุสาวรีย์ ผมขอฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขให้อาคารแห่งนี้ได้ใช้ตามประโยชน์เต็มศักยภาพ ผลักดันการท่องเที่ยว วัฒนธรรมโดยคนในชุมชนของอำเภอสันป่าตองครับ
ประเด็นที่ ๔ ผมขอฝากท่านประธานประสานไปยังกระทรวงคมนาคม ถึงการติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดงข้ามถนนทางม้าลายทางหลวง ๑๐๘ ๒ จุดด้วยกัน จุดแรกคือหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง จุดที่ ๒ คือหน้าโรงเรียนสันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุกับผู้คนที่ข้ามถนน โดยเฉพาะกับเด็กและผู้ปกครองครับ
ประเด็นสุดท้าย ทางหลวง ๑๐๘ เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากครับท่านประธาน ในบริเวณสี่แยก โดยเฉพาะสี่แยกสะเมิงรถขับกันค่อนข้างไวครับเส้นนี้ ทีนี้เวลาไฟเขียว จะเปลี่ยนเป็นไฟเหลืองเกิดอะไรขึ้นครับท่านประธาน เบรกไม่ทันสิครับ เกิดอุบัติเหตุ บ่อยมาก เพราะฉะนั้นผมขอฝากท่านประธานประสานไปยังกระทรวงคมนาคมนะครับ ประสานติดตั้งเครื่องนับเวลาถอยหลังสัญญาณไฟเขียวไฟแดงให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวหางดง และสันป่าตอง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผมหรือประโยชน์ของ ท่านประธาน แต่เพื่อประโยชน์ของคนหางดง สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง โดยจะขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ท่านประธานได้เห็นภาพ อย่างชัดเจนเพื่อที่จะสามารถส่งประเด็นนี้ให้กับทางคณะรัฐมนตรีได้แก้ไขต่อไป ขอ Slide ครับ
ในพื้นที่ลำน้ำแม่ขาน น้ำจะเริ่มต้นจาก พื้นที่ราบสูงในอำเภอสะเมิง แล้วไหลเข้าสู่อำเภอสันป่าตองผ่านตำบลน้ำบ่อหลวง ตำบลบ้านแม ตำบลทุ่งสะโตก แล้วไหลบรรจบกับน้ำแม่วางที่ตำบลบ้านกลางก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก ของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นก็คือแม่น้ำปิงที่ตำบลท่าวังพร้าว ซึ่งพื้นที่ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น ท่วมทุกปีครับ ในปี ๒๕๖๕ ท่านประธานทราบไหมครับว่าท่วมกี่ครั้ง ๖ ครั้งด้วยกัน และในปี ๒๕๖๖ นี้ เดือนกันยายนเดือนเดียวท่วมไปแล้ว ๒ ครั้ง แน่นอนครับการเยียวยา เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว แต่ว่าประชาชนต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่ต้นเหตุ วันนี้ผมจึงขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไขโดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรก เมื่อปริมาณน้ำมหาศาลในทุก ๆ ปีแบบนี้เราต้องมีจุดรองรับน้ำครับ จัดทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลาย ๆ จุด หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าอ่างเก็บน้ำพวง โดยเริ่มต้นที่จุดแรกผมขอเสนอแนะจัดทำที่ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง ในพื้นที่นี้ จะมีฝายไม้ไล่ลอ ฝายคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเจอกับปัญหาฝายขาดอยู่แล้ว พอฝายขาดแล้วเป็นอย่างไร น้ำก็ไม่สามารถที่จะไหลเข้าสู่ประตูกรมชลประทานไปหล่อเลี้ยง ภาคเกษตรกรรมได้ ปัญหานี้ถูกทิ้งมานานหลายปี ผลกระทบต่อประชาชนนั้นมากมายมหาศาล ประชาชนต้องลงขันรวมเงินกันเองเพื่อที่จะไปซื้อไม้ยูคาลิปตัส ไปซื้อกระสอบทรายมาจัดวาง ทำแนวกั้นน้ำ และให้ทาง อบต. น้ำบ่อหลวง อบจ. เชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณเครื่องจักร ในการถมดินทำแนวคันดินชั่วคราวเพื่อให้ระดับน้ำมันสูงเพียงพอที่จะไหลลงสู่ประตูน้ำ ชลประทานได้ ในอดีตนั้นฝายนี้จะเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เมื่อกรม ที่เป็นเจ้าภาพถูกยุบไปทำให้ภารกิจนี้ถูกถ่ายโอนมายัง อบต. น้ำบ่อหลวงทันที ซึ่งแน่นอน การที่ถ่ายโอนเฉพาะภารกิจ แต่ไม่มีงบประมาณและบุคลากรแบบนี้ท้องถิ่นไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ต่อให้มัดรวมกันเลย อบต. ทั้งหมดของอำเภอสันป่าตอง แล้วก็ อบจ. เชียงใหม่ด้วยก็ยังไม่มี งบประมาณเพียงพอที่จะแก้ไขได้ ในจุดนี้เราต้องยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้ง ๒ ตัว โดยให้ กระทรวงมหาดไทยจัดงบประมาณในการซ่อมแซมฝายตรงนี้เพื่อ ๑. ให้มีน้ำใช้ในทาง เกษตรกรรมตลอดทั้งปี ๒. จัดทำอ่างกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยตรงนี้ เราสามารถใช้การออกแบบและการศึกษาจากกรมชลประทานได้ และให้ทาง กรมชลประทานศึกษาออกแบบและจัดทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมตามตำแหน่ง และปริมาณการกักเก็บน้ำที่ได้คำนวณไว้ การที่เราทำอ่างเก็บน้ำพวงแบบนี้มันไม่ได้ช่วยแค่ ปัญหาน้ำท่วมนะครับ แต่มันยังช่วยปัญหาน้ำเซาะดินพังทลายได้ด้วย ผมขอยกตัวอย่าง ให้เห็นภาพเป็น ๒ เหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ ๑ นั่นก็คือพื้นที่ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง อันนี้เป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนต้องลงขันกันเองรวมเงินกันเองอีกแล้วเพื่อจะแก้ไข ป้องกันไม่ให้บ้านของพวกเขาพังทลายไปกับน้ำป่าไหลหลาก เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง ว่านี่ใช่หน้าที่ของประชาชนหรือเปล่า
เหตุการณ์ที่ ๒ ที่บ้านสันควงคำ ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง อันนี้หนักเลยครับ บ้านหายไปทั้งหลัง บ้านหายอย่างเดียวไม่พอถนนหายไปแล้ว แล้วเสาไฟฟ้าก็กำลังจะหายไปตามด้วย โดยสรุปแล้วน้ำเซาะดินทลายไปในแนวลึกกว่า ๒๐ เมตร และในแนวยาวกว่า ๑๐๐ เมตร ท่านประธานลองคิดภาพตามนะครับ ถ้าอยู่ ๆ วันหนึ่งบ้านพร้อมที่ดินของท่านประธานต้องถูกน้ำป่าพลัดพรากหายไป โฉนดที่ดินทั้งผืน ต้องกลายเป็นแม่น้ำ ท่านประธานจะรู้สึกอย่างไร นี่เรายังไม่ได้พูดถึงโครงการชลประทาน ของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ที่จะส่งน้ำจากคลองชลประทานลงไปสู่ พื้นที่น้ำแม่ขานอีกนะครับ ปัจจุบันอำเภอสันป่าตองยังไม่ใช่พื้นที่รับน้ำด้วยซ้ำไปแต่น้ำท่วม ทุกปี ขณะนี้ไม่อยากจะคิดว่าถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จโดยที่เราไม่ได้มีแผนการจัดเก็บน้ำใด ๆ เลยมันจะขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าทางกรมชลประทานเองไม่มีทางที่จะปล่อยให้พื้นที่ อำเภอสันป่าตองน้ำท่วมเพิ่มเติมขึ้น โดยไม่มีการจัดทำอ่างเก็บน้ำหรือระบบการเก็บน้ำ ใด ๆ เลย ในต้นน้ำแม่ขาน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมขอฝากท่านประธานกำชับไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงปัญหานี้ด้วย ฟังดูทั้งหมดแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับท่านประธานปัญหาดูเหมือนจะเร่งด่วนหรือเปล่า แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ปัญหาระบบข้อมูลก็หนักไม่แพ้กันครับ ในพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปีขนาดนี้เรากลับมีจุดวัดระดับ น้ำเพียงแค่จุดเดียว และจุดเดียวตรงนั้นก็ยังไปอยู่ที่ปลายน้ำก่อนที่จะปล่อยน้ำลงแม่น้ำ สายหลักอย่างแม่น้ำปิงอีกต่างหาก แล้วปัญหาเป็นอย่างไรล่ะ ประชาชนไม่สามารถประมาณ ค่าน้ำได้เลย ไม่มีทางรู้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าปริมาณน้ำจะมาเท่าไร และจะมาเมื่อไร อย่าว่า แต่ประชาชนเลยครับ เจ้าหน้าที่ของรัฐเองยังแจ้งกับผมเลยว่าไม่มีข้อมูล นี่เราทำงาน กันอย่างไร เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติงานอยู่หน้างานต้องทำงานเหมือนคนตาบอดแบบนี้ ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมขอนำเสนอในส่วนที่ ๒ ในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ที่เราทำได้ทันที นั่นก็คือการจัดทำสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติม จุดแรกที่บ้านห้วยโท้ง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จุดนี้จะทำให้เราสามารถประเมินค่าระดับน้ำที่ ตำบลท่าวังพร้าวและตำบลบ้านกลางได้ล่วงหน้า ๓ ชั่วโมง และจุดที่ ๒ ที่จุดชมวิว น้ำแม่ขาน อำเภอสะเมิง จุดนี้ก็ทำให้เราสามารถประเมินราคาค่าน้ำได้ล่วงหน้า ๖ ชั่วโมง เช่นกัน เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็ก ๆ แบบนี้แต่มันส่งผลคุณูปการกับประชาชนได้มากกว่า ๑,๐๐๐ ครัวเรือนนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เราจำเป็นต้องทำให้ได้เพื่อเราจะได้มีสถานี วัดระดับน้ำที่ประเมินระดับน้ำและประเมินปริมาตรอัตราการไหลของน้ำให้ได้ เพื่อนำตรงนี้ ไปสู่ระบบการแจ้งเตือนต่อไปโดยใช้ระบบการแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ หรือว่า Cell Broadcast ที่สามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทุก ๆ คนในพื้นที่นั้น ๆ อ้างอิง จากเสาโทรศัพท์ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อไป โดยการส่งข้อความจะเป็นการส่งข้อความที่มีเสียง เรียกเขาหรือว่า Ringtone เฉพาะเสียง ประชาชนฟังเสียงแล้วจะรู้เลยนี่คือการแจ้งเตือน ภัยพิบัติ และมีการใช้ภาษาในข้อความการแจ้งเตือนเฉพาะตามเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องนั้น ๆ ไปด้วย ระบบตรงนี้ผมได้มีการอภิปรายกับทาง กสทช. ไปแล้ว และก็ ได้อภิปรายกับนายกรัฐมนตรีในวันแถลงนโยบายไปแล้ว ผมจึงขอฝากท่านประธานกำชับ ทางคณะรัฐมนตรีให้บรรจุวาระนี้ในการประชุมครั้งต่อไปด้วย และวันนี้ขอฝากเพิ่มเติมไปยัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้เร่งจัดทำ แนวทางการปฏิบัติเพื่อประสานทาง กสทช. ให้ประสานต่อไปยังผู้ประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย มันต้องมีมานานแล้วครับท่านประธาน ระบบนี้มันต้องมีให้ได้ภายใน ปีนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้มันถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องไม่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากแบบนี้เกิดขึ้น อีกต่อไป ปัญหานี้ไม่ช้าก็นานมันก็ต้องแก้ไขอยู่ดี แล้วทำไมเราไม่แก้วันนี้ไปเลยละ จัดทำ อ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากแล้วให้ประชาชนได้ใช้ในฤดูแล้ง เอาน้ำไปใช้ในทาง เกษตรดีกว่าปล่อยให้ไปท่วมบ้านประชาชนได้รับความเสียหายแบบนี้ เราแค่บริหารน้ำ ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แล้วแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายสรุปเนื้อหา ในร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .... ของผมและพรรคก้าวไกล ในวันนี้ ปัญหานี้เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลเราได้อภิปรายที่มาของปัญหาทั้งจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ลงไปถึงภาคใต้ แน่นอนครับ ปัญหาที่มันกระทบตั้งแต่เหนือจดใต้ แบบนี้ นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ สส. ภัสริน สส. กัลยพัชร สส. พิมพ์กาญจน์ได้พูดถึงเรื่องของการเข้าตรวจโรคและสวัสดิการในการรับการรักษา อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมไปแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจน สส. มานพ สส. รภัสสรณ์ สส. เพชรรัตน์ ก็ได้พูดถึงการกระจายอำนาจว่าทำไมต้องกระจายอำนาจ ในการจัดการปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟป่า หรือ PM2.5 ต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ผมขอทิ้งไว้เป็น คำถามกับภาคประชาชนว่าท่านต้องการที่จะมีหัวเรือในการขับเคลื่อนระดับจังหวัดโดยคนที่ ท่านเลือกเข้ามา นั่นก็คือนายก อบจ. คนที่ท่านมั่นใจแน่นอนว่าอยู่ต่อเนื่อง ๔ ปี มีงบประมาณในการบริหารจัดการ หรือท่านต้องการผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอายุเฉลี่ยเพียง ๑-๒ ปีแล้วก็ไป และอีกคำถามหนึ่งให้ประชาชนได้ตั้งคำถามไว้ นั่นก็คือเรื่องของการกระจาย อำนาจกับรัฐบาลชุดนี้ เราเห็นกันในอภิปรายงบประมาณไปแล้ว ท้องถิ่นของบไป ๑,๗๐๙ ล้านบาทในการบริหารจัดการไฟป่า แต่รัฐบาลกลับให้แค่ ๕๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง นี่ก็เป็นคำถามที่ผมฝากประชาชนได้ตัดสินกันในระหว่างที่กฎหมายนี้กำลังพิจารณา ในขั้นตอนต่อไป สส. ฉัตรจากโคราชก็ได้มีการพูดถึงเรื่องไฟเกษตร โคราชเปิดหีบอ้อยไฟไหม้ หีบแรกมีเท่าไรครับ ๗๐๐,๐๐๐ ตัน เพราะฉะนั้นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ต้องมีการระบุ ชัดเจนในการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการจัดทำงบประมาณที่มันเกี่ยวข้องกับ มาตรการ เพิ่มมาตรการ และลดแรงจูงใจในการเผาในภาคเกษตรกรรมให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น สส. จุฬาลักษณ์ก็มีการพูดถึงการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่มีที่มาจากการเผา เพราะ ในจังหวัดเชียงรายบางปีนั้น Hotspot แทบไม่มี แต่ค่า PM2.5 พุ่งทะลุเกิน ๖๐๐-๗๐๐ ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในส่วนนี้พระราชบัญญัติของพรรคก้าวไกล เราก็ระบุชัดเจนว่าเราต้อง มีการห้ามการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่มีที่มาจากการเผาอย่างชัดเจน ทีนี้เราโยงมาถึง เรื่องของฝ่ายบริหารกันสักเล็กน้อย ในเรื่องการออกประกาศการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ ในปี ๒๕๖๗ นี้ได้มีการออกประกาศมาแล้ว ฉบับนี้เป็นแค่ปีเดียว นั่นคือปี ๒๕๖๗ แต่สิ่งที่ น่าผิดหวังเหมือนกัน สิ่งที่ผมได้อภิปรายในกระทู้ถามสดเมื่อเดือนธันวาคมและเสนอแนะ ในการที่จะจัดทำเรื่องของการระบุพิกัดละติจูด ลองจิจูด ชัดเจนของผู้ที่นำเข้าข้าวโพด อาหารสัตว์ ตรงนี้ก็ไม่มี รายละเอียดยังไม่มีอะไรเลย ไม่ได้ต่างอะไรกับประกาศในตอนชุดที่แล้ว ในปี ๒๕๖๖ เลย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ค่อนข้างที่จะผิดหวัง และผมได้ขอหนังสือรับรองว่า สินค้าที่นำเข้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากทางกระทรวงพาณิชย์ไป กระทรวงพาณิชย์ ส่งกลับมาแค่แบบฟอร์ม Form D เท่านั้นเอง ซึ่งไม่ได้ตรงตามที่ผมขอด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ผมขอใช้ช่องทางนี้ในการร้องขอเอกสารว่าที่ผ่านมาเขาเอาอะไรมารับรองว่าข้าวโพดอาหาร สัตว์ที่นำเข้ามาไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และพูดกันถึงเรื่องการแจ้งเตือนที่วันนี้เพื่อน สมาชิกทั้งฝั่งรัฐบาลและฝั่งฝ่ายค้านเองพูดกันเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าเราต้องมีการแจ้งเตือน ให้ชัดเจน ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มีการระบุชัดเจนมากที่สุดว่าการแจ้งเตือนต้องเกิดขึ้น เฉพาะพื้นที่เมื่อมีค่า PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดไว้มากกว่า ๒๔ ชั่วโมง ซึ่ง สส. การณิก ก็ได้พูดถึงตรงนี้อย่างชัดเจนไปแล้ว ทีนี้เราก็ ต้องมีการพูดต่อว่าเราจะให้คณะกรรมการอะไรเป็นคณะกรรมการหลัก ซึ่งตรงนี้ร่าง พระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษของพรรคก้าวไกลเราก็ได้ใช้คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เราใช้สิทธิของเดิมที่มีอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรื่องของ การจัดทำรายงานในการนำเสนอต่อสภา ที่ผ่านมาปัญหา PM2.5 ภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหากันอย่างไรเราไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นรายงานฉบับนี้เข้ามาสู่สภา ทุก ๆ ปี ทำอะไรไปบ้าง แก้ปัญหา PM2.5 ฝุ่นพิษอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดเราจะได้เห็น ผู้แทนราษฎรของเราพูดแทนพวกเราในสภา เอาปัญหาของพวกเรามาเข้าสภา แนะนำ เสนอแนะผ่านสภาแห่งนี้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เราต้องจัดการปัญหาที่ต้นตอ นั่นก็คือการจัดทำรายงานการปล่อยมลพิษทางอากาศ ครอบคลุมทั้งระบบ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และสิ่งที่ สส. พุธิตาได้กล่าวไว้ ในการอภิปรายเมื่อเช้านี้นั่นก็คือเราต้องจัดบังคับโทษให้ชัดเจน ทางแพ่ง ทางอาญา เสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดให้สาธารณะได้รับทราบด้วย ไม่ใช่เป็นการบังคับโทษกับผู้ที่เปิดเผยรายชื่อนะครับ ในส่วนของปัญหานี้การแก้ไขปัญหา เราต้องเดินไป ๒ ทางพร้อม ๆ กัน นั่นก็คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนของ ฝ่ายบริหารนั้นผมได้อภิปรายในการเสนอแนะแนวทางในการอภิปรายแถลงนโยบายไปแล้ว ๑ ครั้ง การอภิปรายงบประมาณไปแล้วอีก ๑ ครั้ง เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะมา Focus กัน ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อผมเชื่อว่าประชาชนหลายท่านอาจจะยัง ไม่ทราบ ประชาชนหลายท่านอาจจะเข้าใจว่าเมื่อผ่านวาระที่ ๑ แล้วเราจะมีกฎหมายฉบับนี้ ทันที วันนี้ผมขอเรียนให้ประชาชนทุกท่านเข้าใจอย่างนี้ว่าหลังจากผ่านวาระที่ ๑ ในวันนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ต่อไป และจะมีการนำข้อดีของ แต่ละร่างพระราชบัญญัติมาประกบเพื่อให้เราได้พระราชบัญญัติที่มันตอบโจทย์และแก้ไข ปัญหานี้ให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นในกฎหมายฉบับนี้ผมอยากให้เป็น กฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนทุกคนช่วยกันติดตามในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ เพราะว่าหลาย ๆ ครั้งเราเห็นหลายร่างกฎหมายผ่านร่างแรกไปแล้วก็หายไปเลย ไม่ได้กลับ เข้ามาในสภาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นวันนี้ผมขอเชิญชวนประชาชนทุกคนติดตาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้ร่างพระราชบัญญัติฉบับไหนที่มา บังคับใช้แก้ปัญหา PM2.5 ให้กับประเทศไทย และวันนี้ขอขอบคุณทุกท่าน แน่นอนครับ อาจจะไม่ใช่คำถามแล้ว เพราะผมเชื่อว่าทุกท่านมีมติที่จะรับหลักการอยู่แล้ว ขอขอบคุณ ทุกท่านที่จะลงมติรับหลักการกับทุกร่าง ทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีและร่างของพรรคก้าวไกล ในวันนี้นะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่อยากให้ทุกท่านติดตามอีกครั้งหนึ่งนั่นก็คือการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไปในอนาคต ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขตอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายสอบถามทาง กสทช. ๒ ประเด็น ด้วยกัน
โดยประเด็นแรก ผมขอสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการการแจ้งเตือน ภัยพิบัติด้วยระบบ Cell Broadcast ระบบ Cell Broadcast คืออะไรครับ ระบบ Cell Broadcast คือระบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน โดยสามารถส่งเจาะจงเฉพาะพื้นที่ได้โดยอิงจากตำแหน่งเสาสัญญาณโทรศัพท์ ยกตัวอย่าง เช่น หากมีการคำนวณจัดระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนแล้วว่าจะมีน้ำท่วมในอำเภอสันป่าตอง เราก็สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ และพื้นที่ใกล้เคียงได้ ทีนี้มาในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ อ้างอิงจากสำนักข่าวหลายสำนักนะครับ รองเลขาธิการ กสทช. ขออนุญาตเอ่ยนามครับ คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ได้มีการชี้แจง กับสำนักข่าวว่าระบบ Cell Broadcast อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าติดขัดอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นแรก คือการขาดงบประมาณ มาถึงคำถามแรกนะครับ ประเทศเราไม่มี งบประมาณที่จะส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนที่น้ำกำลังจะท่วมบ้านเลยหรือครับ ประเด็นที่ ๒ ทางเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่าผู้ประกอบกิจการบางรายไม่สามารถ Upgrade Hardware หรือ Software เพื่อที่จะรองรับระบบตรงนี้ได้
มาถึงประเด็นคำถามที่ ๒ เราไม่มีเงื่อนไขนี้ในใบอนุญาตประกอบกิจการ อยู่แล้วหรือครับ ทาง กสทช. ได้กำชับกับผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์อย่างชัดเจนว่าหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นให้แจ้งเตือนกับประชาชนตามประกาศ กสทช. อย่างชัดเจน ทำไมเราไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันนี้ได้กับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ ยิ่งถ้าเกิด กสทช. แจ้งว่าขาดงบประมาณ เรายิ่งต้องใช้หลักการนี้ให้ผู้ประกอบ กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการเลยหรือเปล่า ทาง กสทช. ชี้แจงต่อว่า ระบบ Cell Broadcast จะพัฒนาเป็น ๒ Phase Phase แรก คือการส่ง SMS ทั่วไปที่จะแล้วเสร็จ ภายในสิ้นปี ๒๕๖๕ แต่ในต้นปีที่ผ่านมา ช่วงเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ ค่า PM2.5 AQI พุ่งสูงกว่า ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ แทบจะทุกวัน พวกเราชาวเชียงใหม่ก็ไม่เคยได้รับ SMS แจ้งเตือนเลยแม้แต่ฉบับเดียว มาใน Phase ที่ ๒ ต่อครับ กสทช. แจ้งว่าระบบ Cell Broadcast จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีหน้า สิ้นปีหน้าของปีที่แล้วก็คือสิ้นปีนี้
คำถามที่ ๓ เหลือเวลาอีกแค่ ๔ เดือน นั่นหมายความว่าประเทศไทยของเรา จะได้รับระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนภัยพิบัติเฉพาะกลุ่มพื้นที่แล้วใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบ คือไม่ ผมขอทราบเหตุผลและแนวทางที่ทาง กสทช. อยากให้สภาแห่งนี้ช่วยเหลือ เพราะนี่คือ ระบบพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ผมผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ในหนังสือเล่มนี้ไม่มีคำว่า Cell Broadcast เลยแม้แต่คำเดียว ซึ่งมันขัดกับคำชี้แจงของ กสทช. อย่างชัดเจน ผมอยาก ให้ทุกคนมองระบบนี้ให้มันกว้างขึ้น เพราะหากเราพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว มันไม่ได้แจ้ง เตือนจากภัยธรรมชาติอย่างเดียวนะครับ มันยังแจ้งเตือนภัยจากมนุษย์ได้ด้วย ภัยจากมนุษย์ มีอะไรบ้าง เหตุการณ์กราดยิง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร เราจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้กี่ชีวิต แค่นี้ก็คุ้มค่าแล้วหรือเปล่า เอาใกล้ตัวอีกนิดหนึ่ง เหตุการณ์เด็กหาย หรือว่าพลัดหลงจากผู้ปกครอง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนประชาชนในรัศมี ใกล้ ๆ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแล้วก็ช่วยตามหาได้ มันจะดีไหมครับ ท่านประธานครับ ประชาชนชาวไทยได้รับ SMS หลอกลวงจากแก๊งต้มตุ๋นแทบทุกวัน แต่พวกเรากลับไม่เคย ได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติจากภาครัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมในฐานะผู้ที่ลงพื้นที่ เห็นปัญหามาหลายปี และมายืนในวันนี้ในฐานะผู้แทนราษฎร การที่ต้องเจอกับปัญหา น้ำท่วมมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ มันเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เตรียมตัวเก็บของไม่ทัน บางคนหลับ ๆ อยู่ตื่นมาน้ำเต็มบ้าน บางคนโดนไฟดูดก็มี เพราะฉะนั้นต่างประเทศเขามี ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบนี้กันมานานแล้ว ทำไมประเทศเราถึงยังทำไม่ได้ ผมก็ขอ ฝากคำถามท่าน กสทช. ไปนะครับ
ประเด็นที่ ๒ เป็นประเด็นการจัดการสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ตรงนี้ผมขอ ไม่ลงรายละเอียดมากนักนะครับ เพราะว่าเพื่อนสมาชิกได้ลงรายละเอียดไปค่อนข้างเยอะ ผมขอยกตัวอย่างกรณีการร้องเรียนผ่าน LINE Official ของ กสทช. NBTC 1220 ผมได้ยื่น ร้องเรียนไปเมื่อเดือนมิถุนายนกับเรื่องของสายเคเบิล สาย Internet สายโทรศัพท์ที่มันรก รุงรัง ข้อมูลครบถ้วน ชื่อสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ภาพแล้วก็พิกัด ของจุดเกิดเหตุ และจุดเกิดเหตุนั้นมันผิดต่อหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้าอย่างชัดเจน ผ่านมาแล้ว ๓ เดือน ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ แจ้งไปกี่ครั้ง ตอบกลับมาเหมือนเดิมครับ อยู่ในระหว่างดำเนินงาน ผมขอเข้าคำถามเลยนะครับ ผมขอทราบอัตราความสำเร็จ และระยะเวลาเฉลี่ยในการดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียน โดย ๒ คำถามนี้ ผมขอแบ่งเป็น ๒ คำตอบ ในส่วนที่ ๑ จะเป็นในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพมหานคร และในส่วนที่ ๒ จะเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ผมขอเป็น ๒ คำตอบ เพราะผมเชื่อว่ามันมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน เพราะในแผนการจัด ระเบียบสายสื่อสาร กสทช. ปี ๒๕๖๕ แผนของ กทม. มันเป็น ๑ ใน ๓ ของทั้งหมด ในทั่วประเทศ ทีนี้พอเราพูดถึงแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร กสทช. ปี ๒๕๖๕ เรามาดู พื้นที่ตัวอย่างกัน ผมขอยกตัวอย่าง อำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในแผนนี้จะมีอยู่ ๒ โครงการด้วยกัน
โครงการแรก จะเริ่มต้นจากสถานีไฟฟ้าอำเภอสันป่าตอง ไปยังโรงเรียน สันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) OK ตรงนี้ผมเห็นด้วยเพราะว่าผ่านผังเมืองชุมชน ความหนาแน่นค่อนข้างสูง ตลาดสด โรงเรียน ร้านค้าจำนวนมาก แต่อีกโครงการหนึ่งครับ ท่านประธาน เริ่มต้นจากคลองชลประทาน ๑ ซ้าย ๒๓ ซ้าย ไปจนถึงสถานีไฟฟ้าสันป่าตอง ระยะทางเลียบถนนทางหลวง ๑๐๘ ๒.๒๓ กิโลเมตร ตรงนี้ถ้าเรามาดูในผังเมือง มันเป็น ผังเมืองประเภทอนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนปัญหาสายสื่อสารไม่ใช่ ปัญหาหลักในพื้นที่นี้เลย ผมจึงอยากถามว่าทาง กสทช. ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ เลือกโครงการเข้าไปในแผนนี้ เพราะหากเรากลับทิศนะครับท่านประธาน ๒.๒๓ กิโลเมตร ไปอีกทิศหนึ่ง ผังเมืองตรงนี้จะเป็นพื้นที่สีแดง ความหนาแน่นสูง โรงเรียนกว่า ๔ โรงเรียน บ้านจัดสรรเยอะมาก ตลาดสดขนาดใหญ่ ขนาดกลางเต็มไปหมด ทำไมเราถึงไม่เลือกพื้นที่ ตรงนี้ล่ะ ตอนแรกผมกังวลเลยว่าการเลือกพื้นที่แบบนี้จะทำให้เพื่อที่จะมีตัวเลขผลงาน ที่ดูดี แต่ทีนี้เรามาเปิดรายงานเล่มนี้กันต่อ รายงานเล่มนี้เขียนชัดเจนว่าผลการจัดระเบียบ ของสายสื่อสาร กสทช. ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด ในแผนนะครับ ๑,๕๑๐ กิโลเมตร แต่ทำ ได้จริงเพียง ๕๗ กิโลเมตร ไม่ถึง ๔ เปอร์เซ็นต์ มันเกิดอะไรขึ้นกับ กสทช. ครับ กสทช. จะทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารไปทำไม หากการดำเนินการจริงนั้นทำไม่ได้เลย วันนี้ ผมจึงขอฝากคำถาม กสทช. ไป ๓ หัวข้อด้วยกัน
๑. ก็คือความคืบหน้าของระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติในระบบ Cell Broadcast
๒. อัตราความสำเร็จและระยะเวลาเฉลี่ยในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของ กสทช. โดยแบ่งคำตอบเป็น ๒ พื้นที่ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
๓. หลักเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่เข้าแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร และแนวทาง ในการแก้ไขผลการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ล้มเหลวในปี ๒๕๖๕ ขอบคุณท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาต ฝากท่านประธานถามไปยังผู้ชี้แจง ผมขอข้อเดียวสั้น ๆ ทางท่านผู้ชี้แจงได้กล่าวว่าระบบ Cell Broadcast เป็นเทคโนโลยีใหม่ เพิ่งมีมาได้ ๔-๕ ปี เทคโนโลยีนี้มีมากว่า ๑๐ ปี แล้วนะครับท่านประธาน ทางสหรัฐอเมริกาแล้วก็ยุโรปใช้มากว่า ๑๐ ปีแล้ว เอาใกล้ ๆ เข้ามาหน่อย ประเทศฟิลิปปินส์เองก็ใช้มากว่า ๖ ปีแล้วครับ ทีนี้ท่านผู้ชี้แจงได้พูดต่อว่า ระบบการแจ้งเตือนจะทำให้ประชาชนแตกตื่น ในส่วนนั้นผมว่าเราปล่อยให้เป็นตาม หลักเกณฑ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดีกว่า วันนี้ผมขอ ความชัดเจนกับประชาชนชาวไทย ให้ กสทช. ตอบว่าระบบ Cell Broadcast จะเกิดขึ้นจริง ได้เมื่อไร ภายในปีไหน แล้วถ้ามันไม่สามารถทำได้ ผมขอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า ทาง กสทช. อยากให้สภาแห่งนี้ช่วยเหลือในส่วนไหนเพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง ขอบคุณ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ก่อนที่ผมจะเริ่มอภิปรายในวันนี้ผมขอฝากคำถามไว้ก่อนว่าทำไม รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน เราพักคำถามนี้ไว้แล้วมาดูหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉบับที่ถูกขีดเขียนโดยกลุ่มบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ หรือที่เราหลาย ๆ คนรู้จักกันดีว่าคณะรัฐประหารนั่นเองครับ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันไม่ได้เริ่มต้นมาจากประชาชนมันจึงไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากเราจะมี สว. ๒๕๐ คนที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดแล้วมาเลือกนายกรัฐมนตรี กับพวกเราแล้ว ท่านประธานทราบไหมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีคำว่ากระจายอำนาจเลย แม้แต่คำเดียว ท่านประธานนั่งฟังเพื่อนสมาชิกปรึกษาหารือก่อนเข้าวาระการประชุม ในทุก ๆ เช้า ผมเชื่อว่าท่านประธานทราบดีว่าปัญหากว่าครึ่งที่เพื่อนสมาชิกของพวกเรา ปรึกษาหารือกันมันควรที่จะได้รับการแก้ไขโดยผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ของประชาชน แต่พวกเขากลับไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะแก้ไขได้ หากเรามีรัฐธรรมนูญที่ระบุ ให้ชัดเจนในด้านอำนาจหน้าที่ ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ทั้งหมด ยกเว้นการต่างประเทศ ความมั่นคง การทหาร ระบบเงินตรา ชัดเจนด้านหน้าที่ เพื่อปกป้องท้องถิ่นจากการถูกร้องเรียนและตรวจสอบอย่างไม่เป็นธรรม และชัดเจนในด้าน งบประมาณระบุให้ชัดไปเลยถึงอัตราส่วน รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิ ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ในกี่ปีเอาให้มันชัดทั้งด้านภารกิจและด้านงบประมาณ เพื่อให้เพื่อนสมาชิกของพวกเราจะได้นำปัญหาที่มันใหญ่ ปัญหาที่เรื้อรัง แล้วแก้ไขไม่ได้ จริง ๆ สักทีมาเข้าสภากันมากขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหานักการเมืองที่ก่อนเลือกตั้ง พูดอย่างหนึ่ง แต่หลังเลือกตั้งกลับทำอีกอย่างหนึ่ง เราต้องนำประชาชนกลับเข้ามาในสมการ ของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ตัดสินใจเองว่าพวกเขาต้องการมีสิทธิที่จะถอดถอน สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของพวกเขาหรือไม่ และทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมเคยได้ยินบางคนพูดว่าทำไมต้องร่างใหม่ทั้งหมด แก้บางข้อ ก็พอแล้ว ผมงงเลยนะครับ เพราะการแก้มันยากยิ่งกว่าเยอะ จะแก้ครั้งหนึ่งต้องทำอย่างไรบ้าง ข้อแรกเลยเราต้องมีเสียง สส. บวกกับ สว. มากกว่า ๓๗๖ เสียง ข้อแรกอาจจะดูไม่ยากเท่าไร มาดูข้อ ๒ เราต้องมีเสียง สว. เห็นชอบมากกว่า ๑ ใน ๓ หรือว่ามากกว่า ๘๔ เสียง ซึ่ง สว. ๒๔๔ คน จาก ๒๕๐ คน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารซึ่งก็คือคนที่เขียน รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั่นเอง แล้วท่านประธานคิดว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาเขาจะ ยอมให้ผู้แทนราษฎรมาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มันเอื้อประโยชน์กับพวกเขาไหมครับ เห็นกันชัด ๆ กับการเสนอแก้มติมาตรา ๒๗๒ ตัดอำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี ที่หลายต่อหลายครั้ง เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพวกเราเห็นชอบกันท่วมท้นมากกว่า ๓๗๖ เสียง แต่ก็กลับไม่เคยที่จะผ่านเสียงของ สว. แม้แต่ครั้งเดียว เอากันอีกสักตัวอย่างหนึ่ง การเสนอ แก้รัฐธรรมนูญหมวด ๑๔ ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกของพวกเราไม่เห็นชอบเพียงแค่ ๕๖ เสียง ก็เทียบเป็นประมาณ ๑๑ เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง แต่ก็อีกนั่นละไม่ผ่าน สว. อีกเช่นเคย นับครั้งไม่ถ้วนที่เสียงของประชาชนนั้นชนะ แต่เสียงของผู้มีอำนาจกลับไม่ยอมรับ เรามาดู ความเคลื่อนไหวในภาคประชาชนกัน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการลงรายชื่อเสนอ การจัดทำประชามติเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนใช้เวลาแค่ ๓ วัน ได้รายชื่อทั้งหมดกว่า ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อ แล้วรายชื่อทั้งหมดเป็นการลงแบบ Offline ไม่ใช่ ลงแบบ Online ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะฝากท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกทุกท่านในห้องประชุมวันนี้ กลับมาฟังเสียงของประชาชนครับ แล้วร่วมกันขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มัน เริ่มต้นที่ประชาชน เพราะการที่เราทำประชามติมันไม่ใช่การข้ามหัวรัฐบาล แต่ในทางกลับกัน มันเป็นการที่ทำให้รัฐบาลมีเกราะป้องกันฉันทานุมัติจากประชาชนที่จะป้องกันไม่ให้ กลุ่มอำนาจเก่าเข้ามาแทรกแซงจากการกระทำของพวกเราในวันนี้ ท่านประธานครับ รัฐธรรมนูญจะเอื้อประโยชน์กับใครขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่เราจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ให้ประชาชนได้ตัดสินใจผ่านการทำประชามติว่า พวกเขาอยากที่จะเลือกตั้งคนที่มาเขียนรัฐธรรมนูญของพวกเขาหรือเปล่า ให้เจตนารมณ์ ของประชาชนถูกแปลออกมาเป็นอักษรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย ให้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขตอำเภอหางดงและสันป่าตอง วันนี้ผมต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ได้มาตอบกระทู้สด ในคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็น PM2.5 ปัญหาฝุ่นพิษที่เราเจอกันในปัจจุบัน ในส่วนของ กระทรวงพาณิชย์ ในประเด็น PM2.5 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ผมเชื่อว่า หลาย ๆ ท่านทราบกันดีอยู่แล้ว วันหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษในปัจจุบันนี้มาจาก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ทีนี้เดี๋ยวจะหาว่าผมพูดลอย ๆ มาดูข้อมูลสถิติกัน ในปี ๒๕๖๕ เรามีข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์จากประเทศ เมียนมา ๑.๘ ล้านตัน ซึ่งถือเป็น ๙๗ เปอร์เซ็นต์ ของการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งหมด ของประเทศ แล้วถือเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งหมดที่ปลูก ในประเทศเมียนมา แล้วกว่าครึ่งของพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์นี้ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ติดกับ ภาคเหนือของประเทศไทย นั่นก็คือพื้นที่รัฐฉาน ทีนี้หลาย ๆ ท่านก็ตั้งคำถามต่อแล้วรู้ได้อย่างไร ว่าข้าวโพดอาหารสัตว์นี้มันทำให้เกิดการเผาที่ก่อฝุ่นพิษมายังประเทศไทย มาดูหลักฐาน ค่าสถิติในด้าน Hotspot กัน ข้อมูลสะสม Hotspot ตลอดปี ๒๕๖๓ ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด เชิงอุตสาหกรรม อันนี้คือเราวัดเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลย ตลอดปี ๒๕๖๓ มีจุด Hotspot สะสมกว่า ๖,๙๖๔ จุด ซึ่งแน่นอนนี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าฝุ่นพิษในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากการก่อมลพิษที่ต่างแดน ทีนี้เรามาดูค่า PM2.5 ในประเทศเราบ้าง ค่า PM2.5 ก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับค่า Hotspot แล้วก็ Burn Scar ในต่างประเทศ เรามา พูดถึงค่า Burn Scar กันก่อน ค่า Burn Scar ในรัฐฉาน ในเดือนธันวาคมมีจุด Burn Scar อยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ จุด เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมา เรื่อย ๆ จนมาถึงเดือนมีนาคม Peak ที่สุด อยู่ที่ ๕ ล้านไร่ แล้วเริ่มลงมาที่ ๒.๔ ล้านไร่ ในเดือนเมษายน แล้วก็กลับมาที่ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ในเดือนพฤษภาคมสอดคล้องกับ ค่า PM2.5 ทั้งหมดของประเทศไทย เดือนธันวาคมเราเจอกันที่เท่าไร ๑๕๐ AQI แล้วก็ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมา Peak สุดที่เดือนมีนาคมอีกเช่นกัน เดือนมีนาคม เดือนเมษายน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทะลุ ๔๐๐ AQI กันเป็นว่าเล่น แล้วท่านประธานทราบไหมครับว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ในประเด็น PM2.5 ของเรากำหนดไว้ที่เท่าไร ๑๐๖ AQI หรือว่า ๓๗.๕ ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ซึ่งมันชัดเจนเลยครับว่าตอนนี้ทุก ๆ ปีภาคเหนือของประเทศไทย ต้องเจอกับฤดูฝุ่นกว่า ๕ เดือนต่อปี นี่ไม่ใช่เรื่องที่เรายอมรับได้เลยนะครับ ผมเชื่อว่า ท่านรัฐมนตรีทราบว่าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ประเทศเพื่อนบ้านนำไปปลูก ใครเป็นผู้ขายให้เขา และผมเชื่อว่าท่านก็ทราบดีว่าใครเป็นคนนำเข้าหลักของข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศไทย แล้วปัญหาฝุ่นพิษมันหนักขึ้นเรื่อย ๆ เราไม่ได้เพิ่งเจอมาปี ๒ ปี เราเจอมาเป็นกว่า ๑๐ ปีแล้ว ทีนี้เรามาถึงคำถามที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์โดยตรงนะครับ เราจะมีประกาศอยู่ ฉบับหนึ่งครับ เป็นประกาศการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ภายใต้การค้าเสรี ASEAN ซึ่งตรงนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์แบบปลอดภาษีได้ ตั้งแต่ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคมของแต่ละปี ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจดีถึงวัตถุประสงค์ ที่เราจะเอื้อให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ มันเป็นผลดีกับผู้เลี้ยงสัตว์แน่นอน แต่เราจะรับมือกับผลกระทบ ในด้านสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร เรามาดูกันลึกไปอีก นิดหนึ่งในประกาศนี้ ข้อ ๓ (๒) เขียนไว้ชัดเจนครับว่า ผู้ที่จะนำเข้าได้ต้องมีหนังสือรับรอง ว่าสินค้าที่นำเข้ามาในไทยจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตหรือสุขภาพมนุษย์ สัตว์ หรือพืช ของประเทศไทย ซึ่งตรงนี้มันตรงตามข้อตกลงของ ASEAN ของข้อตกลง ATIGA นี้มันตรง ตามกันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผมขอถามรัฐมนตรีนะครับ ที่ผ่านมาเขาใช้หลักฐานอะไร มารับรองตรงนี้ ผมเข้าใจดีว่าวันนี้เป็นกระทู้สด ท่านอาจจะไม่ได้เตรียมหลักฐานตรงนี้ มาชี้แจงด้วย ตรงนี้ผมขอให้ท่านลองชี้แจงว่าที่ผ่านมาเขาเอาหลักฐานอะไรมาชี้แจงให้ท่าน ท่านถึงจะรับรองว่านี่มันไม่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยเลย และแน่นอนผมจะ ขอสำเนาหนังสือรับรอง ว่าสินค้าที่เขานำเข้ามาไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ชาวไทยจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย ถ้าเป็นไปได้ผมขอสำเนาทั้งหมด เพื่อที่จะได้ไปตรวจสอบ ในภาคประชาชน ให้ประชาชนได้เห็นว่าที่ผ่านมาทำไมการนำเข้าสินค้าที่สันนิษฐานได้ชัดเจน ว่ามีที่มาจากการเผาถึงทำได้โดยง่ายดายขนาดนี้ และกระทรวงพาณิชย์ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หลังจากวันแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ ๑๒ กันยายน ด้านมาตรการการจัดการ กับปัญหาฝุ่นพิษที่มันเรื้อรังมานานขนาดนี้ อย่างไรผมขอฝากท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจง โดยรายละเอียด ขอบคุณครับ
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกลครับ ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีสำหรับข้อชี้แจงในคำถามที่ ๑ แน่นอนครับ ในประเด็นที่ว่าเราปฏิบัติต่อต่างประเทศอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติในประเทศ อย่างนั้น ในประเด็นนี้ท่านรัฐมนตรีได้มีการตอบผมในวันที่แถลงนโยบายเมื่อเดือนกันยายน ไปแล้ว ถึงเรื่องว่าเราสามารถที่จะมีมาตรการในการห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผา ได้หรือเปล่า ตรงนี้โอเคเราไม่มีกฎหมายในประเทศ ตรงนี้เรารอพระราชบัญญัติฝุ่นพิษ และการก่อมลพิษข้ามพรมแดนอีกทีหนึ่ง เราสามารถจะบังคับใช้ได้หลังจากนั้นที่เรา มีกฎหมายในประเทศนี้แล้ว แต่ระหว่างที่เรารอกฎหมายพูดถึงเรื่องความเสมอภาค ระหว่างประเทศไทยกับกรมการค้าต่างประเทศ ในประเทศเรานี้เรามีการจัดทำพิกัดพื้น ที่ทำเกษตรอยู่แล้ว หรือว่าสมุดเล่มสีเขียวของเกษตรกรนะครับ ตรงนั้นจะมีพิกัดชัดเจน ละติจูด ลองติจูดชัดเจนเลย ว่าการปลูกพืชแต่ละชนิดเขาทำที่ไหนและปลูกพืชอะไรบ้าง ตรงนี้เราปฏิบัติกับคนในประเทศเราแล้ว เป็นไปได้ไหมครับที่เราจะเอาตรงนี้ไป Apply กับ ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ด้วย ผมว่าตรงนี้จะเป็นการทำ เพื่อความเสมอภาค ทั้งคนในประเทศแล้วก็ต่างประเทศด้วย เพราะปัจจุบันคนในประเทศ เสียเปรียบนะครับ เราชี้แจงเยอะมาก ๆ เราต้องมายิง GPS กันชัดเจน แต่ว่าคนที่ทำไร่ อยู่ต่างประเทศกับไม่ต้องทำตรงนี้เลย โอเคถ้าเกิดเราจะปฏิบัติต่อคนในประเทศให้เท่าเทียม กับต่างประเทศ ผมคิดว่าเราควรที่จะมีตรงนี้ในประกาศด้วย
แล้วทีนี้คำถามต่อมาครับ เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าสินค้าเหล่านั้นมันมีที่มา จากการเผา PM2.5 นี้มาจากการเผาข้าวโพดอาหารสัตว์ ตรงนี้ผมเชื่อว่าเราก็สามารถ Apply จากประกาศตรงนี้ได้ ในประกาศตรงนี้ในข้อ ๓ (๑) จะมีเรื่องของ Form D Form D นั่นก็คือเป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตรงนี้ครับใน Form D มันจะมีเรื่อง ของ Origin Declaration อยู่แต่ว่า Origin ตรงนี้พอเข้าไปดูลึก ๆ ในข้อกำหนดที่ 12B ในข้อกำหนดของ ATIGA ตรงนี้มันไม่ได้ระบุตำแหน่งอะไรเลย มันระบุแค่ว่าประเทศที่เป็น ถิ่นกำเนิดแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถ Apply เรื่องของการจัดทำ พิกัดพื้นที่ทำการเกษตร เหมือนที่เราทำสมุดเล่มเขียวกับประเทศไทยกับคนที่จะนำเข้า ข้าวโพดอาหารสัตว์เราสามารถพิสูจน์ได้ จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่าง ๆ เรื่องของ Burn Scar เรื่องของ Hotspot เราสามารถ Proof ได้ว่าถิ่นฐานตรงนี้ที่เขาทำข้าวโพด อาหารสัตว์นี้เผาหรือเปล่า แต่ปัจจุบันเรายังทำไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงกลับมา ที่ข้อกังขาเดิม นั่นก็คือว่าหนังสือรับรองที่เขาส่งมาพร้อมการนำเข้าเพื่อยืนยันว่า มันไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพเลย ต่อพืช สัตว์ แล้วก็มนุษย์ เขาส่งอะไรมา ในเมื่อเรา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพิกัดที่เขาทำพื้นที่ทางการเกษตรนั้นทำที่ไหน ทีนี้พูดกันถึงเรื่อง ประกาศต่อ ประกาศนี้มีอายุระหว่างปี ๒๕๖๓-๒๕๖๖ นั่นหมายความว่าอีกประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ประกาศฉบับนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว ท่านรัฐมนตรีจะมีการต่ออายุประกาศนี้ไหม และจากคำแนะนำที่ผมได้กล่าวไปเบื้องต้นทั้งหมด ท่านมีนโยบายหรือมาตรการที่จะเพิ่ม ข้อบังคับในประกาศนี้หรือเปล่า เพราะผมเชื่อว่าการจัดทำประกาศเหล่านี้ข้อดีมันมี แต่เรา ต้องปิดช่องโหว่ให้หมด ถ้าเราสามารถจัดทำเรื่องของพิกัดให้ชัดเจนได้ มันจะสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ที่พรรคก้าวไกลและคณะรัฐมนตรี ก็มีร่างนี้อยู่แล้ว ทุกอย่างมันจะสอดคล้องรับกันหมด แล้วเราจะแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้า ทางการเกษตรที่มีที่มาจากการเผาในประเทศไทยได้ ขอท่านรัฐมนตรีชี้แจง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ ถอนหายใจเลยครับ ท่านรัฐมนตรีครับ ปัญหานี้มันกระทบกับพ่อแม่พี่น้องประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือมานานกว่า ๑๐ ปี ท่านรัฐมนตรีก็พูดเองว่า PM2.5 ฝุ่นพิษตรงนี้ที่มา มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามาจากมลพิษข้ามพรมแดน ส่วนหลักเลยก็คือที่มาจากการเผาพื้นที่ ในการเกษตร แต่ว่าวันนี้ผมค่อนข้างที่จะผิดหวังกับคำตอบที่ท่านรัฐมนตรีได้ตอบในวันนี้ เพราะว่าผมยังไม่เห็นมาตรการใด ๆ ที่ขับเคลื่อนจากกระทรวงพาณิชย์เลย คำตอบของท่าน ในวันนี้ผมก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าผมไม่สามารถนำคำตอบนี้ไปให้กับประชาชนชาวไทยได้ เพราะว่าก็ต้องเรียนตามตรงว่าทุกวันนี้ประชาชนสิ้นหวังกับการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเขาเจอ มากว่า ๑๐ ปีแล้ว แล้วก็ไม่เคยแก้ไขได้เลย และรายละเอียดหลาย ๆ อย่างวันนี้ท่านรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงได้ โดยเฉพาะในเรื่องของหนังสือรับรองหรือ Form D ที่รายละเอียด ระบุไว้ชัดเจน แต่ว่าท่านก็ไม่สามารถตอบได้ ไม่เป็นอะไร แต่วันนี้ผมขอถามท่านรัฐมนตรี อย่างนี้ครับ ท่านเห็นระเบียบ เห็นกฎเกณฑ์เหล่านี้มันสำคัญกว่าชีวิตประชาชนหรือครับ เราสูญเสียมาเยอะมากนะครับ ทั้งในด้านสุขภาพ ชีวิตคน แล้วก็เศรษฐกิจของประเทศ ทำไมเราถึงยังไม่มีมาตรการใด ๆ จากกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นรูปธรรมเลยครับ ตั้งแต่วันนั้น ที่แถลงนโยบายจนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว ๓ เดือน ผมติดตามการประชุม ครม. บันทึกการประชุม ครม. ทุกครั้ง ผมก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนใด ๆ จากกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องนี้เลย อะไรที่เราทำได้เลยในปีนี้บ้างครับ ในฐานะของผมวันนี้ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ผมทำสิ่งที่ผมทำได้แทบจะทุกอย่างแล้ว ผมอภิปรายเสนอแนะ ผมยื่นกระทู้ ผมร่างพระราชบัญญัติและยื่นต่อสภาไปแล้ว แต่กลไกของสภามันใช้เวลา พระราชบัญญัติฉบับหนึ่งต้องรออย่างน้อย ๑ ปีอยู่แล้ว แต่ในฐานะฝ่ายบริหารท่านทำอะไร ได้บ้าง ในปีนี้ที่ไม่ต้องรอกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างพวกผม ผมขอให้ท่านตอบสุดท้าย ให้ประชาชนชาวไทยได้คลายกังวลในเรื่องของ PM2.5 จากกระทรวงพาณิชย์ด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
ใช้ครับ
ได้ครับ จากคำถามของผมทั้งหมด ในวันนี้ ผมต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่มาตอบคำถาม แต่ว่าคำตอบก็ชัดเจนว่ามันไม่ได้ คลายกังวลของประชาชนชาวไทยเลย เพราะฉะนั้นคำถามหลักที่ผมถามในวันนี้ก็คือแน่นอน การแก้ปัญหานี้เราต้องรอการแก้กฎหมายซึ่งใช้เวลานาน แต่ว่าในฐานะท่านรัฐมนตรีที่เป็น ผู้นำกระทรวงพาณิชย์ท่านทำอะไรได้บ้างในระหว่างที่เรารอร่างกฎหมายใหม่ ตรงนี้ท่าน ยังไม่ได้มีคำตอบนะครับ ซึ่งก็ขอฝากท่านตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นะครับ ผมเข้าใจในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง แต่ขอกรอบของกระทรวงพาณิชย์ว่าท่านจะมีมาตรการอย่างไรให้ชัดเจนกับในประเด็น เรื่อง PM2.5 แล้วผมจะทำคำตอบของท่านเป็นลายลักษณ์อักษรตรงนี้ไปเผยแพร่ให้กับ ประชาชนต่อไป ผมขอให้ท่านตั้งใจตอบตรงนี้ เพราะประชาชนจำนวนมากเลยที่เขาเฝ้ารอ คำตอบตรงนี้ แล้วเขาเฝ้าหวังว่าผู้นำของประเทศนี้จะสามารถแก้ไขปัญหา PM2.5 นี้ได้ ขอบคุณท่านครับ สวัสดีครับ
ท่านประธานครับ ๒๗๔ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตองครับ ผมต้องขออธิบายให้กับประชาชนที่รับฟังอยู่ทางบ้าน ได้เข้าใจก่อนว่าการอภิปรายในวันนี้ มันแตกต่างจากการอภิปรายในสัปดาห์ที่แล้วอย่างไร การอภิปรายในวันนี้มันมีความสำคัญไม่ได้แตกต่างจากสัปดาห์ที่แล้วในเรื่องของงบประมาณ เลยนะครับ
เพราะในวันนี้เราจะมานำเสนอร่าง กฎหมายที่จะมาแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ให้กับประเทศไทย โดยผมจะขอเสนอร่าง พระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านได้เซ็นร่างฉบับนี้ของพรรคก้าวไกลให้บรรจุเข้าวาระได้ทันในวันนี้ แล้วก็ขอบคุณ ในความจริงใจของวิปรัฐบาลนะครับ ที่พยายามผลักดันให้ทุกร่างกฎหมายเข้าพร้อมกันใน วันพฤหัสบดีนี้ โดยมีมติจากทางวิปรัฐบาลตั้งแต่วันจันทร์แล้วว่าร่างทั้ง ๗ ฉบับจะเข้าสู่ใน ที่ประชุมในวันนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจนะครับว่าที่มีปัญหา ที่ต้องมารอลุ้นถึงวินาทีสุดท้ายนี้มันเป็น เพราะอะไร แต่ไม่เป็นอะไรครับ เรามาพูดกันถึงเรื่องของกฎหมาย เริ่มเลยนะครับ เราอาจจะ ไม่ต้องพูดถึงที่มาของปัญหานี้กันมากมาย เพราะผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนเจอกับปัญหานี้มา หลายต่อหลายปีกันแล้ว ผมเองก็เจอปัญหานี้มากกว่า ๑๐ ปี จนมาถึงวันนี้เทคโนโลยีเรามี เพิ่มขึ้นเยอะแยะมากมาย เริ่มตั้งแต่เรื่องของเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่ปัจจุบันหาซื้อได้ ง่ายดายตาม Application ส้ม Application ฟ้า แล้วเราก็สามารถมีเทคโนโลยีที่ตรวจสอบ แหล่งที่มาของฝุ่นพิษได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟป่า พฤติกรรมของไฟป่าในอดีตนั้นเป็น อย่างไร เคลื่อนตัวจากทิศไหนไปยังทิศไหน เรื่องของไฟภาคการเกษตรทั้งในและนอก ประเทศ มีการเผาอะไร เผาพืชชนิดไหน และพืชชนิดนั้นมีปริมาณการนำเข้าประเทศไทย เท่าไร เรามีข้อมูลหมดครับ แต่เรากลับไม่เคยมีมาตรการใด ๆ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้กับ ประชาชนจากภาครัฐเลย และเราก็ไม่เคยมีกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียวมาแก้ไขปัญหานี้ให้กับ ประชาชน เพราะฉะนั้นปัญหาที่เราประสบพบเจอกันแทบจะทั่วทั้งประเทศนี้มันต้องแก้กัน ทั้งโครงสร้างแล้ว โดยเราเริ่มต้นจากฐานรากด้วยการร่างข้อกฎหมายที่เราร่วมกันพิจารณา ในวันนี้ ทำไมถึงต้องมีร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนครับ อากาศบริสุทธิ์นั้นเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ สิ่งนี้ควรจะบรรจุอยู่ใน รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ในพระราชบัญญัติ สิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องกับ หน่วยงานของรัฐที่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้มีผลกระทบทางด้านสุขภาพกับ ประชาชน สิทธิของประชาชนในการเข้ารับการตรวจสุขภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สุขภาพ ทุกอย่างที่ประชาชนได้รับจากฝุ่นพิษ PM2.5 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ เรามี การกำหนดเรื่องของคณะกรรมการหลักไว้โดยเราจะ Utilize จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว นั่นก็คือ เรื่องของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยเรากำหนดเรื่องของหน้าที่บทบาทเพิ่ม เข้าไป เรื่องของการบริหารจัดการนโยบายฝุ่นพิษทั้งในและนอกประเทศ เรื่องของ การเสนอแนะแนวทางการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนงบประมาณประเทศ เพื่อนบ้านในการลดแหล่งกำเนิดไฟ เรื่องของการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น อันนี้สำคัญ มากครับ และเรื่องของการจัดการเรื่องของสวัสดิการทางสุขภาพให้กับกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งที่สำคัญที่สุด อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนี้ นั่นก็คือการตรวจสอบรายงาน การปล่อยมลพิษทางอากาศของผู้ประกอบการทั้งระบบ Supply Chain นาย A มีการซื้อ วัตถุดิบมาจากแหล่งที่ไหน แล้วแหล่งที่มาที่นั้นมีการกำจัดเศษวัสดุนั้น อย่างไร ทุกอย่างต้อง ชัดเจนทั้งในหรือนอกประเทศ พื้นที่พิกัดละติจูด ลองติจูดทุกอย่างต้องครบถ้วน ชัดเจน การขนส่งทำด้วยวิธีไหนและมี การปล่อยมลพิษหรือเปล่า เมื่อเข้าสู่โรงงานแล้วมีการแปรรูปและมีการปล่อยมลพิษปริมาณ เท่าไร แล้วเราก็จะมีกลไกในการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อที่จะไป Check ต่อว่าสิ่งที่เขา รายงานมานี้มันถูกต้องหรือเป็นเท็จอย่างไร ทีนี้เราก็จะมีคณะกรรมการกำกับเข้ามาควบคุม เข้ามาตรวจสอบ สนับสนุน เร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการหลัก ซึ่งตรงนี้ก็จะผลักดันให้ ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น แล้วก็มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูล Digital และ Database ทั้งหมด รวมไปถึงการกำหนดค่าที่เราจะแจ้งเตือนภัยฝุ่นพิษให้กับ ประชาชนด้วย
ทีนี้เรามาถึงเรื่องของระดับจังหวัด ในจุดนี้ของพรรคก้าวไกลเราจะมีลักษณะ ที่แตกต่างจากร่างอื่นอย่างชัดเจน นั่นก็คือเราให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนที่มา จากการเลือกตั้ง คนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่เรามั่นใจว่าเขาสามารถทำงานแก้ไขปัญหานี้ ได้อย่างน้อย ๔ ปี ไม่ใช่มาปีสองปีแล้วก็ไป เป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนการแก้ไขระดับ จังหวัดตรงนี้ แล้วก็ให้ผู้แทนจากผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนจากราชการส่วนภูมิภาคเข้ามาเป็น กรรมการเพื่อให้การแก้ปัญหานี้มันครอบคลุมทั้งระบบ และกรรมการจังหวัดก็มีหน้าที่ในการ ประกาศเขตฝุ่นพิษอันตรายให้กับจังหวัด เมื่อประกาศแล้วท้องถิ่นก็มีอำนาจในการที่จะสั่ง ระงับ สั่งห้ามกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษเพิ่มเติม หรือกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงมลพิษ นั่นเอง และท้องถิ่นก็สามารถจัดสรรงบประมาณในการจัดทำห้องปลอดฝุ่น จัดทำอุปกรณ์ เรื่องการป้องกัน PM2.5 จัดสรรงบประมาณในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แล้วเราก็ต้อง มีกฎหมายครอบคลุมอีกชั้นหนึ่งเพื่อที่จะป้องกันไม่ท้องถิ่นนั้นถูกร้องเรียนจากผู้ไม่ หวังดีด้วย และเพื่อเป็นการลดความทับซ้อนของกฎหมาย ข้อกฎหมายที่เราเคยมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมลพิษทางอากาศในเรื่องของยานพาหนะ ในเรื่องของโรงงาน อุตสาหกรรมจาก พ.ร.บ. อื่น ๆ เราจะไม่หยิบเข้ามาซ้ำซ้อนใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่เราจะให้ คณะกรรมการกำกับมีอำนาจในการเรียกหน่วยงานนั้น ๆ มาชี้แจงผลการดำเนินการทุก ๆ ปี แล้วถ้าหากคณะกรรมการกำกับมองเห็นแล้วว่าการแก้ไขของหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้ตรงตาม จุดไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ คณะกรรมการกำกับก็มีอำนาจหน้าที่ในการที่ จะไปแทรกแซงแก้ไขแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้กับคนไทยได้ แล้วก็เป็น การแก้ไขปัญหาที่เราเจอกันในสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องของการอภิปรายงบประมาณ พูดอย่างเดียว เงินไม่มี ในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการบังคับให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มี มาตรการในการจัดทำเพิ่มมาตรการลดการเผาในภาคเกษตรกร เพิ่มแรงจูงใจให้กับเขา ไม่เผาครับ ในส่วนนี้งบประมาณต้องชัดเจน เพราะฉะนั้นงบประมาณไม่ชัดเจนนี้เราก็จะเจอ กับปัญหาเดิม ๆ ยกตัวอย่างอ้อยในปัจจุบันเลย เดือนนี้เปิดหีบมามีการเผาอ้อยเท่าไรแล้ว ๕.๓ ล้านตันแล้วนะครับ ทีนี้เราก็มาพูดกันถึงอีกปัญหาหนึ่งที่เราเจอในปัจจุบัน ปัญหาที่เรา Assign งานให้กับหน่วยงานไม่ตรงตามความถนัดของเขา ยกตัวอย่างง่าย ๆ กรมควบคุม มลพิษปัจจุบันเป็นผู้แทนของประเทศไทยในการเจรจาข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยหมอกควัน ข้ามพรมแดน ในส่วนนี้ในวันอังคารที่ผ่านมาเราก็ได้มีการรับฟังข้อชี้แจงจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็พูดเองเลยว่าเขา ไม่ได้มีความถนัดในเรื่องของการต่อรองกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ปัญหา ตรงจุดนี้ครับ ใครถนัดตรงไหนเราต้อง Assign งานให้ถูกต้อง ในกรณีนี้เราต้องให้กระทรวง การต่างประเทศผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเจรจาระหว่างประเทศมากที่สุดในการดำเนินการ จัดการเรื่องของฝุ่นพิษข้ามพรมแดนตรงนี้ไปเลย แล้วก็พูดถึงเรื่องการพยากรณ์และการแจ้ง เตือน กระทรวง DE และกระทรวง อว. ต้องเป็นหน่วยงานหลักที่จะจัดทำระบบการพยากรณ์ โดยอ้างอิงค่าจากสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ค่าระดับความสูงของชั้นบรรยากาศ ที่ฝุ่นพิษไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ เพื่อมาจัดการระบบพยากรณ์คาดการณ์ปริมาณ PM2.5 ล่วงหน้าให้กับประชาชนด้วย และเราก็ต้องมีระบบการแจ้งเตือนครับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวง DE ก็ต้องจัดทำระบบแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่เมื่อมีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ต่อเนื่องมากกว่า ๒๔ ชั่วโมง และข้อมูลเหล่านี้ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายไม่ว่า จะเป็นทาง Offline หรือว่าทาง Online และจะมีอีกปัญหาหนึ่งที่เราเจอกันในปัจจุบัน เราไม่ทราบเลยว่ารัฐบาลทำงานเป็นอย่างไรบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องฝุ่นเรื่อง ฝุ่นพิษ เรื่องมลพิษทางอากาศเป็นอย่างไรบ้าง ตรงนี้ผมเชื่อว่าทุกคนเจอปัญหาเหมือนกัน เราอยากรู้มากเราทำอย่างไรดี พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอำนาจที่จะให้กระทรวงทุกกระทรวง หน่วยงานทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นพิษนี้รายงานผลการดำเนินการ แผนงาน แล้วก็ผลลัพธ์ทั้งหมดให้กับ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ต้องนำเสนอ รายงานจุดนี้ให้กับสภาผู้แทนราษฎรด้วยในทุก ๆ ปี เพื่อให้ผู้แทนราษฎรของเราได้พูดแทน ราษฎร ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลด้วย
ทีนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนกัน ครับ อย่างแรกเลย ประเด็นแรกที่ต้องบังคับใช้นั่นก็คือเรื่องของการห้ามนำเข้าสินค้าที่มีที่มา จากการเผาทุกชนิดก่อน สินค้าที่มันก่อให้เกิดฝุ่นพิษเราต้องห้ามนำเข้าและมีโทษบังคับใช้กับ ผู้ที่เป็นเจ้าของครอบครอง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ส่งเสริมหรือสนับสนุนที่ก่อให้เกิด ฝุ่นพิษมายังประเทศไทย ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือนอกประเทศ แล้วในโทษตรงนี้สิ่งที่เรา ต้องมีคืออะไร คือตัวเชื่อมระหว่างผู้กระทำผิดไปถึงบทลงโทษ ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าเกิด นาย A รับจ้างให้กับนาย B ซึ่งเป็นนายหน้าตัวกลางในการจัดหาวัตถุดิบที่มีที่มาจากการเผา ต่อให้เรามีข้อกฎหมายที่ชัดเจนสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าให้ผู้กระทำการมีความผิดไว้ก่อน แต่เราก็ไม่สามารถเอาผิดไปถึงนาย A ได้ มันก็จะได้แค่นาย B เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่ เราจะเอาผิดได้ถึงต้นตอต้องทำอย่างไร ก็คือรายงานผู้ประกอบการในด้านของการปล่อย มลพิษทางอากาศที่ผมได้พูดมาข้างต้นนั่นเอง และตรงนี้ไม่ได้ช่วยแก้แค่เพียง PM2.5 นะครับ แต่ตรงนี้จะไปสอดคล้องกับข้อบังคับของ EU ที่ในอนาคตนั้นประเทศที่จะทำเป็นคู่ค้ากับ EU ได้ต้องมีข้อกฎหมายนี้บัญญัติอยู่ในประเทศนั้น ๆ ด้วย และนอกจากโทษทางแพ่งและทาง อาญาแล้วสิ่งที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ชัดเจนมากที่สุด นั่นก็คือเรื่องของโทษทางสังคม ผมเชื่อ ว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านนี้ไม่ได้กลัวเรื่องของการปรับ หรือแม้แต่การจำคุกมากเท่าของ สังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประกอบการหรือองค์กรใด ๆ ที่ถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิด เป็นต้นตอของการเกิดฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ต้องได้รับการเปิดเผยรายชื่อ สู่สาธารณะด้วยครับ และเพื่อตอบโจทย์การ Utilize สิ่งที่เรามีอยู่แล้วเงินปรับทั้งหมดจะเข้า สู่กองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วยจุดประสงค์และเป้าหมาย นั่นก็คือเรื่องของการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพิษ เรื่องของการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษ และการก่อมลพิษข้ามพรมแดน แล้วเรื่องของการส่งเสริมการทำงานภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ส่วนในรายละเอียดเพิ่มเติมต่าง ๆ ข้อแตกต่างระหว่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ของพรรคก้าวไกลกับของรัฐบาล จะมีเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายเสริมในประเด็นต่อไป และนี่คือร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษ ข้ามพรมแดนของพรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง
ประเด็นแรก ที่ผมอยากจะปรึกษาหารือท่านประธานในวันนี้ คือปัญหา น้ำประปาไม่ได้คุณภาพ ในพื้นที่หมู่บ้านหนองสะเรียม ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตองนะครับ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน มีทั้งสี มีทั้งกลิ่น เพราะฉะนั้นผมขอฝาก ท่านประธานประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งหน่วยงานที่มีความรู้มี ความเชี่ยวชาญ ให้ความรู้กับคณะกรรมการประปาหมู่บ้านของตำบลหนองสะเรียม และเทศบาลตำบลยุหว่าด้วยนะครับ
อีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นหนองสะเรียมที่เดิมนะครับ นอกจากเรื่องของ น้ำประปาแล้ว ปัจจุบันยังมีการก่อสร้างพัฒนาชุมชน มีการสกัดพื้นผิวถนนที่ทิ้งไว้ตั้งแต่ เดือนตุลาคมถึงปัจจุบันเลยครับ ปัญหาฝุ่นคลุ้งเต็มไปหมด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อย่างหนักขอให้ท่านประธานประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เร่ง แก้ไขปัญหานี้ และขอส่งปฏิทินแผนดำเนินการให้กับผม เพื่อที่จะไปประชาสัมพันธ์ต่อให้กับ ประชาชนในพื้นที่ด้วยนะครับ
แล้วก็ปัญหาต่อไปที่อำเภอหางดง กับโรงพยาบาลประจำอำเภอครับ อำเภอ หางดง ที่มีประชากรเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ปัจจุบันเรื่องของโรงพยาบาลขาดแคลน อุปกรณ์เป็นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมาประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ต้องทอดผ้าป่าเพื่อจะหาเงิน ในการจัดหาอุปกรณ์ห้อง ICU เพราะฉะนั้นผมขอฝากท่านประธานถามไปยังกระทรวง สาธารณสุขถึงแผนการในการก่อสร้างโรงพยาบาลหางดงแห่งใหม่ว่าจะมีในงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ นี้เลยหรือไม่ เพราะอะไรนะครับ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องการขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องของการดูแลความปลอดภัยแล้วก็ติดตั้งกล่องแดงทุกโรงเรียน ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แต่ว่าปัญหาคืออะไร ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สายตรวจได้ค่าราคา น้ำมันผลัดละ ๗๐๐ บาทต่อผลัด ๑ ผลัด มีรถมอเตอร์ไซค์สายตรวจ ๓ คัน เพราะฉะนั้นถาม ว่าพอไหมครับ ไม่พอหรอกครับ เพราะว่ายังมีเรื่องของการที่จะต้องไปอารักขาต้องไปนำทาง VIP อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นค่าน้ำมันเข้าเนื้อเต็ม ๆ เพราะฉะนั้นขอฝากท่านประธานไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย ผมขอฝากท่านประธานไว้ ๓ ประเด็น ๑ ประเด็นในอำเภอสันป่าตอง ๑ ประเด็นในอำเภอ หางดง และ ๑ ประเด็นกับปัญหาที่ประสบพบเจอทั่วประเทศ ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขตอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติที่เพื่อนสมาชิก จากพรรคก้าวไกล สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ได้เสนอขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาและศึกษาในการตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือที่เราเรียกกันว่า NEC-Creative LANNA นั่นเอง ต้องอ้างอิงก่อนนะครับ อ้างอิงจากสำนักงานสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ NEC นั้นประกอบไปด้วยจังหวัดอะไรบ้าง จำง่าย ๆ เลยครับ ๒ เชียง แล้วก็ ๒ ลำ ก็คือเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แล้วก็ลำปาง แต่ว่าวันนี้เราเห็นแล้วว่า การศึกษาครั้งนี้ เราจะศึกษาเพียง ๔ จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้ เพราะว่าผลประโยชน์เหล่านี้มันจะ เกิดขึ้นกับทั้งภาคเหนือ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้ครอบคลุมทั้งภาคเหนือทุกจังหวัดนะครับ และผมจะขอฝากประเด็นศึกษาเพิ่มเติมไปสู่กรรมาธิการชุดนี้อีก ๒ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นที่ ๑ ตรงตามชื่อกรรมาธิการเลย นั่นก็คือเรื่องของ Creative LANNA ล้านนาเรามีภูมิปัญญาดี ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าพื้นเมือง ผ้าพื้นเมืองล้านนา สวยงามมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องเขิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปั้นหม้อ เครื่องเงิน ต่าง ๆ หรือการแกะสลักไม้ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้เรามีการศึกษามามากมาย ก็จริง เราต้องศึกษาเพิ่มเติมคืออะไรครับ ในเรื่องของ Contemporary Art หรือว่าศิลปะ ร่วมสมัยที่เราจะนำเอาภูมิปัญญาดี ๆ เหล่านี้มาเพิ่มมูลค่า มาขยายฐานตลาดเพิ่มเม็ดเงิน ให้กับพื้นที่นั้น ๆ แล้วก็สร้างอาชีพให้กับท้องถิ่นด้วย และตรงนี้เราสามารถศึกษาเพิ่มเติมไปสู่ เรื่องของการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชน สร้างอาชีพให้กับพื้นที่นั้น ๆ ด้วย แก้ไขปัญหาหลัก ที่เราเจอกันมากมาย นั่นก็คือปัญหาที่ลูกหลานของพวกเราศึกษากันจบในจังหวัดนั้น ๆ แต่ไม่สามารถทำงานในจังหวัดนั้น ๆ ได้ต้องมาทำงานที่กรุงเทพมหานครนะครับ
ประเด็นที่ ๒ ที่อยากจะให้ศึกษากันเพิ่มเติม หลาย ๆ คนได้พูดกันถึงเรื่อง ของ Digital Nomad ไปแล้วนะครับ สส. การณิก เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลก็ได้พูดถึง ประเด็นที่ว่า Digital Nomad เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ แต่แล้วเม็ดเงินไม่ได้ลงไปสู่ท้องถิ่น อย่างจริงจัง เราจะแก้ไขประเด็นนี้อย่างไรดี เพราะฉะนั้นผมขอทิ้งข้อเสนอแนะ ๑ ประเด็น ให้กรรมาธิการได้ศึกษากันต่อ นั่นก็คือเรื่องของ Visa นะครับ Digital Nomad ปัจจุบัน เจอปัญหาอะไรอยู่ Pain Point ของเขาก็คือว่าเรื่องของ Visa มันระยะสั้นเกินไป เขาอยาก ได้ระยะยาวมากกว่านี้ ทำอย่างไรดีให้เราตอบโจทย์ทั้ง Digital Nomad แล้วก็ตอบโจทย์ คนในพื้นที่ให้มันกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นด้วย ผมเสนอให้ศึกษาในเรื่องของการจัดทำ Visa แบบพิเศษ หรืออาจจะเป็น Education Visa ก็ได้ ปัจจุบันหลายคนอาจจะบอกว่าเรามี Visa แบบนี้อยู่แล้วนะ เราให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเรียนมวยไทย แล้วก็ใช้เป็น Education Visa ก็ได้ แต่แบบนี้ผมมองว่ามันก็กระจุกอยู่ที่ไม่กี่คน ผู้มีอิทธิพลไม่กี่คนหรอกครับที่เปิดสอนมวยไทย สอน Mortal Kombat แล้วก็ให้เขามาต่อ Visa เป็นรายปี ตรงนี้ผมเห็นว่าเราควรที่จะ กระจายให้กับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่มีของดีอยู่แล้ว เรา Link กลับไปที่คำว่า Creative LANNA ของเราครับ เรากระจายเม็ดเงินตรงนั้นด้วยการให้ Digital Nomad ตรงนี้ต้องไปลง เรียน ลง Course อบรมกับ Creative LANNA หรือว่าภูมิปัญญาล้านนาต่าง ๆ เหล่านั้นจะ ดีกว่าไหม แบบนี้ Win Win ทั้ง ๒ ทางครับ Digital Nomad ได้ Visa ที่ขยายเพิ่มขึ้น และ เราก็แก้ไขปัญหาเรื่องของ Digital Nomad ที่เอาเงินลงมา แต่ไม่ถึงท้องถิ่น แล้วก็จะเป็นการกระจายการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบัน Digital Nomad อาจจะ กระจุกอยู่ที่ไม่กี่ที่ สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ยกตัวอย่างเลยครับ คนรู้จัก อะไรบ้าง ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ แต่เรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่มีศักยภาพ ที่รอให้เรางัดออกมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมว่า Win Win แน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้นในวันนี้ ผมขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ในการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาในเรื่องของ NEC-Creative LANNA ตรงนี้นะครับ เพื่อจะทำให้กลไกตรงนี้ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นกุญแจหลักที่จะทำให้เมืองที่มีของดีต่าง ๆ มากมาย เมืองที่มีศักยภาพ รอให้เราไปค้นหา เปลี่ยนให้เมืองเหล่านี้จากที่เป็นแค่ทางผ่านเป็นจุดมุ่งหมายของ นักท่องเที่ยว และทำให้ NEC-Creative LANNA เป็นล้านนาที่มาจากคนล้านนาจริง ๆ ไม่ใช่ ล้านนาที่มาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ขอบคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ต้องขอเรียนท่านประธานอย่างนี้นะครับ ปัญหา PM2.5 หรือว่าไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ ผมดีใจมากครับ ที่เห็นการบรรจุ วาระนี้ในสัปดาห์ก่อน ดีใจมาก ๆ ที่ท่านเกรียง ท่านรัฐมนตรีช่วยที่รับผิดชอบกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจะมาตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ว่าผมกลับได้รับโทรศัพท์ในวันอังคารบอกว่า ท่านจะเลื่อน ทีนี้ผมขออธิบายให้ประชาชนทุกท่านเข้าใจก่อนว่ากระทู้ถามสดกับกระทู้ถาม ทั่วไป ต่างกันอย่างไร กระทู้ถามสดรัฐมนตรีจะทราบล่วงหน้าเพียง ๑-๒ วันเท่านั้น และจะไม่ทราบคำถามก่อน แต่กระทู้ถามทั่วไป ตอนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเรายื่น กันเข้าไป เรายื่นพร้อมคำถามชัดเจนมาก ข้อ ๑ จะถามว่าอะไร ข้อ ๒ ข้อ ๓ จะถามว่าอะไร ชัดเจน ชัดเจนมาก ๆ เรายื่นกันตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม ท่านมีเวลา ๔ เดือน ในการที่จะ เตรียมคำตอบมาตอบพวกเรา แต่วันนี้ท่านก็เลื่อน แล้วทีนี้มาดูว่าท่านเลื่อนไปวันที่เท่าไร ท่านเลื่อนไปวันที่ ๔ เมษายน ซึ่งนั่นคือวันสุดท้ายของการประชุมสภาในสมัยนี้ แล้วทีนี้ เรามาดูกระทู้อื่นกันครับ วันนี้ผลงานของรัฐมนตรีเป็นอย่างไรกันบ้าง กระทู้ถามสด มี ๓ กระทู้ มาตอบกระทู้เดียว กระทู้ถามทั่วไป ๔ กระทู้ เลื่อนหมด แล้วมาดูของแต่ละคน กันว่าเลื่อนอย่างไร ถ้าเป็น สส. ฝั่งรัฐบาล ขอเลื่อนแบบน่ารัก ๆ มีเหตุมีผล เลื่อนสัปดาห์เดียว วันที่ ๗ มีนาคม สัปดาห์หน้ามาตอบเลย แต่ถ้าเป็นของสมาชิกฝั่งพรรคฝ่ายค้าน เลื่อนแบบ Maximum เลย ของผมจัดเต็มเลยครับ วันที่ ๔ เมษายน เป็นวันสุดท้ายเลย ย้อนแย้งกับที่ ท่านรัฐมนตรีช่วย ท่านเกรียงเคยพูดกับสื่อไว้ด้วยนะครับว่า อย่างไรท่านก็จะไม่ลาออกจาก ตำแหน่ง สส. เพราะท่านให้ความสำคัญกับการทำงานในสภา แต่นี่คืออะไร เลื่อนไปจนแบบนี้ แสดงว่าวันพฤหัสบดีหน้า วันพฤหัสบดีถัดไป วันพฤหัสบดีสิ้นเดือนมีนาคม ท่านก็จะไม่มา ประชุมสภาถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นแบบนี้นะครับ ผมขอเสนอให้ท่านพิจารณา ลาออกจาก สส. เถอะครับ แล้วให้บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาทำหน้าที่ แทน ขอบคุณท่านประธานครับ