ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะนำปัญหาพี่น้องประชาชนมาหารือ เนื่องจากวันนี้เป็นวัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอส่งกำลังใจให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุก ๆ ท่าน แล้วก็ฝากทาง กระทรวงมหาดไทยได้ดูแลเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายของพ่อแม่ลูกนะคะ อันนี้ก็ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ฝากมา จากการลงพื้นที่วันนี้มีเรื่องมาหารือท่านประธาน ๔ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ พี่น้องประชาชนที่ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง แล้วก็ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำอุปโภค ขอให้ทางการประปาส่วนภูมิภาค ช่วยขยายเขตเข้าไปที่พื้นที่ดังกล่าวนะคะ ก็นำเรียนท่านประธานค่ะ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการจราจรที่ประชาชนใช้รถใช้ถนนบริเวณแยก โพธิ์เก้าต้นข้างใต้ทางรถไฟรางคู่ แล้วก็เป็นถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่บริเวณแยกโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ปัญหาความเดือดร้อนก็คือว่าจากเดิมนั้นแยกโพธิ์เก้าต้นเคยมี สัญญาณไฟจราจร แต่พอถนนสร้างเสร็จสัญญาณไฟจราจรไม่มีค่ะ แล้วมีวงเวียนมาแทน วงเวียนก็เป็นขนาดที่เล็กมาก ถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักนะคะ เนื่องจากเมื่อสักครู่บอกว่า ทางแยกโพธิ์เก้าต้นนะคะ สิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากได้ก็คือขอสะพานข้ามแยกโพธิ์เก้าต้น แล้วก็ขอสัญญาณไฟจราจรนะคะเพราะเนื่องจากว่าวงเวียนที่มีขนาดเล็กนี้ รถก็เลย ต้องแย่งกัน คือวัดใจกันเลยค่ะว่าใครจะเข้าก่อนใครจะเข้าทีหลังนะคะ เรื่องนี้ทางกรมทางหลวง ของจังหวัดลพบุรีก็ได้นำเรื่องส่งมาที่กระทรวงแล้วนะคะ อันนี้ก็ฝากทางกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาต่อเนื่องไป
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของไฟส่องสว่าง ณ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๑ ลพบุรี-สิงห์บุรี ช่วงวัดโพธิ์ศรีไปถึงเทศบาลตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง ในเวลากลางคืน มืดมากแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง
เรื่องที่ ๔ ก็ได้รับเรื่องจากท่านเจ้าอาวาสวัดคุ้งท่าเลา เรื่องขอไฟฟ้าส่องสว่าง เช่นกัน บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๒๘ หน้าวัดคุ้งท่าเลา ตำบลบางพึ่ง ถึงบริเวณ เขตติดต่ออำเภอบ้านหมี่ ในเวลากลางคืนก็รู้สึกไม่ปลอดภัยในการสัญจรเช่นกันนะคะ ทั้งเรื่องที่ ๒ เรื่องที่ ๓ และเรื่องที่ ๔ นำเรียนท่านประธานถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ๒๘๕ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ท่านประธานคะ ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีกำลัง ประสบกับปัญหาการบริหารจัดการลิงและถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับ ประชาชนในเขตเมืองเก่า เนื่องจากว่าตัวเมืองเก่าลพบุรีในขณะนี้แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง หลาย ๆ ท่านจะได้ดูข่าวแล้วก็ได้รับฟัง มีภาพมีอะไรปรากฏทาง Social Media ค่อนข้างบ่อย เพราะว่าจำนวนลิงประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าตัว แล้วก็มีแนวโน้มที่ประชากรของลิงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ไปอาศัยอยู่ในตัวตึก ตัวอาคารบ้านเรือนของประชาชน เพราะว่าประชาชนเอง ทุกวันนี้ก็ต้องแยกหลบหนีออกไปอยู่นอกเมืองซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่พัฒนาขึ้นมา แหล่งที่อยู่ อาศัยของฝูงที่อยู่บริเวณแถวศาลพระกาฬ แล้วก็เรื่อยไปจนถึงบริษัทขนส่ง ไปวงเวียน สระแก้ว ซึ่งสภาพอาคารบ้านเรือนจำนวนมากก็จะถูกทิ้งร้าง ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็ทราบว่า ลิงนั้นจะมีอยู่ ๓ กลุ่ม เป็นลิงที่ศาล แล้วก็เป็นลิงที่ปรางค์สามยอด แล้วก็เป็นลิงตึก ซึ่งบางที ที่นักท่องเที่ยวพบเจอก็มักจะพูดบอกว่าลิงนั้นมีนิสัยดุร้ายมาทำร้ายร่างกาย มีการยื้อแย่ง แล้วก็ขโมยอาหาร แล้วก็ทรัพย์สินของผู้คนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากว่ามันไม่มีการควบคุม แล้วก็เป็นการขาดแคลนอาหาร ทางจังหวัดลพบุรีแล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการ แล้วก็แก้ปัญหาลิงด้วยวิธีแนวทางต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น คือการสำรวจจำนวนประชากรลิง อย่างเป็นระบบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก็เข้าดำเนินการทำหมันลิง เพื่อควบคุมประชากรลิงและตรวจโรค การดูแลสุขภาพของลิงและป้องกันไม่ให้เกิด โรคอุบัติใหม่ การกำหนดสถานที่และเวลาให้อาหารลิงซึ่งอันนี้เป็นระยะสั้น ส่วนระยะกลาง ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็คือการจัดหาแหล่งงบประมาณสำหรับลิง เช่น ค่าอาหาร ค่าทำหมันและ ตรวจโรค การปรับปรุงระบบการกำจัดขยะ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ส่วนทางระยะยาวก็ทำการศึกษาแล้วก็รับฟังความคิดเห็นเพื่อเคลื่อนย้ายลิง ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม เช่น ป่าธรรมชาติ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามที่จะต้องแก้ไขปัญหาลิง เมืองลพบุรีอย่างยั่งยืนก็ต้องผลักดันเอาลิงออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ท่านประธานคะ วันนี้ สส. จังหวัดลพบุรี ๓ ท่าน ได้เสนอญัตติเรื่องลิงในจังหวัด ซึ่งภาพที่มองเห็นจะเป็นลิงที่อยู่บริเวณสถานีรถไฟ หลาย ๆ ท่าน เคยได้ข่าวที่ว่าลิงนั่งรถไฟยกพวกตีกันข้ามจังหวัด แล้วก็อย่างมีการเลี้ยงโต๊ะจีนลิง มีหลาย ๆ อย่าง ทั้งสวนสัตว์ลพบุรีสมัยก่อน แล้วก็มีลิงที่ดังทั่วประเทศก็คือกอล์ฟกับไมค์ ทีนี้นานวันเข้าตอนนี้พอจำนวนประชากรลิงเพิ่มขึ้น จริง ๆ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ ถามว่าทำไม ทางจังหวัด ทาง สส. ไม่ทำอะไรเลย ตรงนี้ก็อยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีบอกว่าเนื่องจากว่าลิงมันเป็น สัตว์สงวน การที่จะไปทำอะไรก็ค่อนข้างยาก สมมุติเราบอกว่าลิงมันน่ารักอยากจะเอาไป เลี้ยงที่บ้านอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ค่ะท่านประธาน หรือถ้าเกิดสมมุติว่าเราจะมีการพัฒนาจับลิง ไปทำเป็นละครลิงก็ทำไม่ได้เพราะว่าติดด้วยเรื่องของกฎหมาย ซึ่งตรงนี้สภาต้องเห็น ความสำคัญถึงข้อนี้ ปัจจุบันกฎหมายแบบนี้มันล้าสมัยไปแล้ว เพราะว่าคนของจังหวัดลพบุรี อยู่ในตึก แต่ทุกตึกต้องทำลูกกรง มีตาข่ายกันเพื่อที่จะไม่ให้ลิงนั้นเข้ามาในบ้าน ขณะที่ คนนั่งรถไฟ นั่งรถยนต์ไปเที่ยว เราก็จะเห็นว่าลิงอยู่ตามถนนปีนป่ายต้นอะไรต่ออะไรสารพัด เพราะว่ามันส่งผลไปหลาย ๆ อย่าง วันนี้สายไฟลงดินแล้วที่จังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่ในบริเวณ เมืองเก่าเอาสายไฟลงดิน บริเวณเส้นทางถนนจากวงเวียนศาลพระกาฬไปถึงวงเวียน พระนารายณ์สายไฟลงดินแล้ว เสาไฟก็มีน้อยมากแล้วค่ะ เหลือแค่ตรงแนวเกาะกลาง ก็ทำให้เมืองมืด พอเมืองมืดชาวบ้านเขาก็บอกว่าทำไมเมืองเรามืดจัง เราไปถามผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าลิงขย่มเสาไฟ หลอดไฟ สายไฟ ขาด เขาก็กำลังหาวิธีว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ อย่างไร คือหลาย ๆ สิ่ง หลายๆ อย่างจะบอกว่าลิงมันเป็นสัตว์สงวนต้องสงวนไว้ อย่างนี้มันก็ ไม่ใช่แล้วค่ะท่านประธาน เพราะว่าวันนี้มีการทำหมันลิงไหม มี แต่ทำแล้วก็ปล่อยไว้ที่เดิม พอเวลาจับมาทำใหม่บางทีมันก็ไปสุ่มเจอตัวที่ทำแล้ว ซึ่งตรงนี้เราก็คิดว่าน่าจะแบบว่า ถ้าตัวไหนที่ทำแล้วก็เอาไปปล่อย เอาไปหาที่ที่เหมาะสม ปล่อยเข้าป่า เพราะว่าเวลาเราจับมา เราก็จะได้ไม่ต้องไปเจอกับตัวที่ทำแล้ว เพราะว่าแค่การใช้เป็นการสัก เหมือนคล้าย ๆ ทำสัญลักษณ์ว่าลิงตัวนี้ทำหมันแล้วก็จะมีการสักตรงที่หนวด บางตัวก็จะอยู่ที่หน้าอก แล้วบางทีอย่างชาวบ้านก็ถามว่าทำไมจับมาปุ๊บทำเลยไม่ได้ ทำไมตัวเมียไม่ทำ ทำไม ทำแค่เฉพาะตัวผู้ ก็สอบถามทางเจ้าหน้าที่ว่าตัวเมียของลิงไม่สามารถทำได้เพราะว่า เวลาเป็นแผลลิงเขาจะเกา แล้วก็ทำให้แผลนั้นมันเปิด ก็คือเป็นอันตรายต่อชีวิตของลิง วันนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีค่ะท่านประธานที่ได้นำเรื่องนี้เข้ามาในสภา แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่เราได้นำเสนอญัตตินี้เข้ามาในสภาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการคณะใหญ่หรือ จะเป็นคณะที่เราตั้งขึ้นมาใหม่ก็แล้วแต่สามารถที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ลิงอยู่ได้ ไม่ใช่ว่า ไม่ให้อยู่นะคะ วันนี้ที่หลาย ๆ คนบอกว่าเอาออกไป เอาออกไป มันก็ไม่ใช่ ก็หวังเป็นอย่างยิ่ง นะคะท่านประธานว่าญัตตินี้จะได้รับการสนใจจากสภา มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไปแก้เรื่องของกฎระเบียบ หรือแม้กระทั่ง คนที่จะมาทำหมันสามารถที่จะเอาสัตวแพทย์โดยทั่วไปมาทำได้ไหม หรือจะต้องรอแค่เฉพาะ เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น แล้วงบประมาณถามว่า ต่อตัวไม่ใช่ถูกนะคะ ตัวหนึ่งประมาณ ๑,๙๐๐ กว่าบาท เกือบ ๒,๐๐๐ บาท วันนี้จริง ๆ ทางจังหวัดโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีความคิดว่าอยากจะเอางบจังหวัดมาช่วย แต่เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ที่มาทำหมันจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้นไม่พอ ซึ่งหลาย ๆ อย่างมันมีปัญหาติดขัดไปหลายเรื่อง ฉะนั้นวันนี้ฝากท่านประธานแล้วกัน ว่าให้แก้ปัญหาเรื่องลิงให้เสร็จในสมัยประชุมของพวกเรานะคะ ขอขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากพี่น้องในเขต ๓ ได้แจ้งถึงความเดือดร้อนในหมู่บ้าน ฝากดิฉันมาหารือกับ ท่านประธาน ดังนี้
เรื่องที่ ๑ เป็นความเดือดร้อนเรื่องน้ำที่ต้องใช้ในการอุปโภคของพี่น้อง ในหมู่ที่ ๙ ตำบลโพตลาดแก้ว อำเภอท่าวุ้ง ปัจจุบันยังไม่มีน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค เข้าไป เพราะว่าบริเวณใกล้เคียงนี้ได้ใช้น้ำประปาส่วนภูมิภาคแล้ว วันนี้พี่น้องชาวหมู่ที่ ๙ ก็ฝากดิฉันมาให้หารือในสภา ฝากท่านประธานนำเรียนถึงการประปาส่วนภูมิภาค ช่วยขยายเขตเข้าไปที่หมู่บ้านดังกล่าวด้วย
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องความเดือดร้อนของการใช้ถนนในเส้นทางจากตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้งไปถึงอำเภอบ้านหมี่ ถนนสาย ๓๐๒๘ คือเส้นนี้ปัจจุบันรถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุกวิ่งกันเยอะมากแล้วก็ผ่านหลายตำบลด้วย ทั้งตำบลบ้านชี ตำบลสนามแจง ตำบลบางพึ่ง เข้าไปถึงเขตเทศบาลเมืองบ้านหมี่ หลายปีมาแล้วท่านประธานมีการขยาย ถนน ๔ เลน แต่ว่าขยายแค่บางช่วง ทีนี้พี่น้องประชาชนเขาก็ร้องขอมาว่าอยากจะให้ขยาย เป็น ๔ เลน ตลอดเส้นทางให้สมบูรณ์ เพราะว่าจะได้สร้างความเจริญลดอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นจึงนำเรียนท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องด้วย
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องจากพี่น้อง หมู่ที่ ๙ ตำบลบางลี่ และหมู่ที่ ๖ ตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง เดือดร้อนเรื่องน้ำ หมู่บ้านนี้ไม่สามารถที่จะขยายเขตประปาภูมิภาคเข้าไปได้ เพราะว่าเป็นระยะทางที่ไกล เคยของบประมาณจากกรมน้ำบาดาลนะคะ ขอไปแล้วแต่ว่า ยังไม่ได้ วันนี้ฝากท่านประธานได้ทำเรื่องถึงกรมน้ำบาดาลให้ช่วยพิจารณางบประมาณ เพราะว่าชาวบ้านนั้นเดือดร้อนจริง ๆ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมกันเสนอ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทาง การแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการขยะ โดยจากสถิติที่ผ่านมามีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นปีละ ๒๒ ล้านตัน ตามอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากร โดยปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหา สำคัญในท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยองค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน ๗,๘๕๒ แห่ง มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าแต่ละแห่งมีวิธีการจัดการที่หลากหลาย เช่น การจัดทำ เตาเผาขยะ การจัดทำบ่อขยะชุมชน การฝังกลบ การจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้กำลังประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บและทำลาย ขยะไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาการเก็บไม่หมด มูลฝอยตกค้าง วิธีกำจัดขยะมูลฝอยอย่าง ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การไม่มีที่ดินสำหรับการกำจัดขยะหรือการฝังกลบ ปัญหาพื้นที่ ฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีพื้นที่จำกัด ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ การบริหารจัดการที่ไม่มีการวางแผน อย่างชัดเจน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนการสนับสนุนจากส่วนกลาง ได้แก่ การสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในเรื่องของการบริหาร จัดการขยะในท้องถิ่นที่ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งกฎระเบียบที่ออกโดยราชการส่วนกลางที่มีความ ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ระเบียบที่เกี่ยวกับการสร้างเตาเผาขยะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การรักษาความสะอาด แม้ว่าที่ผ่านมาภาคท้องถิ่นในหลาย ๆ จังหวัดเริ่มออกมาตื่นตัวให้ ความสำคัญกับปัญหาขยะล้นเมืองในท้องถิ่นเป็นภารกิจเร่งด่วน พยายามประสานความ ร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างเช่น หน่วยราชการในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาในทุกระดับและประชาชนจากทุกภาคส่วน ซึ่งช่วยกันสนับสนุนและจัดหาความรู้ ทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหาขยะล้นเมืองแล้วก็ตาม แต่ปัญหา การจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัด ยังคงนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการขยะ มูลฝอยของภาคปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนงบประมาณ พัฒนาระบบกำจัด ขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และอาจจะต้องมีการจ้างมืออาชีพเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการ โครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น การสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้งบ ลงทุนก่อสร้างอย่างสูง เห็นได้ว่าปัญหาการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเป็นปัญหาส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เห็นควรให้หน่วยงานราชการส่วนกลางและท้องถิ่นได้ร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและเป็น รูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคที่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการขยะต่อไป ดังนั้นจึงขอเสนอ ญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลและรายละเอียด จะได้ชี้แจงต่อไปนะคะ
ท่านประธานคะ ขยะในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๕ พอที่จะสรุปได้เป็นตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษมีจำนวนมากถึง ๒๕.๗ ล้านตัน ทีนี้เขาบอกว่าขยะที่มันสามารถจำแนกได้ คือมันสามารถ ที่จะเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้ มี ๘.๘๐ ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดถูกต้อง มี ๙.๘๐ ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง มี ๗.๑๐ ล้านตัน และขยะตกค้าง มี ๙.๙๑ ล้านตัน เห็นได้ว่า ขยะตกค้างมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาขยะทุกประเภท และใน ๑ วัน ค่าเฉลี่ยที่คนเรา ทิ้งขยะ ในตัวเลขเป็น ๑.๒ กิโลกรัมต่อคน แต่ว่าล่าสุดนี้ลดลงเหลือ ๑.๐๗ กิโลกรัม ต่อคน ขยะตามเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่หรือว่าจังหวัด ชลบุรี ก็ทำตัวเลขมาให้ดู เพราะว่าอย่างกรุงเทพมหานคร มีขยะเกิดขึ้น ๑ วัน ๑๒,๘๙๐ ตัน แล้วก็กำจัดแบบถูกต้องแค่ ๙,๐๕๐ ตันต่อวัน เอามาใช้ประโยชน์ได้ เอามา Recycle ได้ ๓,๘๔๐ ตันต่อวัน มาดูรู้จังหวัดเชียงใหม่บ้าง จังหวัดเชียงใหม่ขยะที่เกิดขึ้น ๑,๔๔๕ ตัน เอามาใช้ประโยชน์ได้แค่ ๓๕๙ ตัน ส่วนที่กำจัดแบบถูกต้องได้ ๘๑๐ ตันต่อวัน ทีนี้ขยะ ที่ตกค้างมีถึง ๔๕๐ ตัน จังหวัดชลบุรีขยะตกค้าง ๔๗๐.๕๕ ตัน จะเห็นได้ว่าปริมาณขยะที่มี จำนวนมากไม่ว่าเราจะกำจัดแบบถูกต้องแล้วก็ไม่ถูกต้อง หรือว่าจะเอากลับมาใช้ได้อีก หรือว่าจะเป็นขยะตกค้าง เราจะเห็นว่าขยะตกค้างมีเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไป ก็คือว่าขยะที่มันเป็นปัญหาที่มันกำจัดไม่ได้เราจะทำอย่างไรให้มันหมดไป ปัญหาดังกล่าว ก็เลยเป็นปัญหาสำคัญในท้องถิ่นทุกพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร แล้วก็เมืองพัทยาที่เขามีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ แล้วก็อยู่ภายใต้การ ควบคุมและกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย แต่ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกค่ะ ท่านประธาน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง กระทรวงพลังงาน มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมาช่วยดูแลการแปรรูป ขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วก็สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมากำหนด หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนด้วย สาเหตุของปัญหา มาจากไหน
ประการที่ ๑ คือด้านงบประมาณ เนื่องจากว่างบประมาณมีจำนวนจำกัด ต้องบอกว่าน้อยมาก แล้วก็ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเวลาท้องถิ่นของบประมาณไปที่กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ไปขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ล่าสุดสอบถามมาขอไปพันกว่าคัน อนุมัติมา ๓๐๐ กว่าคัน ซึ่งมันต่างกันมาก
ประการที่ ๒ ไม่มีที่ดินในการจัดเก็บขยะ หรือถึงมีบางครั้งจัดการพื้นที่ไม่ได้ เช่น พื้นที่นั้นอาจจะไม่มีพื้นที่สาธารณะ หรือว่าประชาคมกันแล้วก็ไม่ผ่าน เพราะว่าไม่มี ประชาชนตำบลไหนที่อยากให้บ่อขยะอยู่ในตำบลของตัวเอง อันนี้เราต้องมาสร้างความเข้าใจ แล้วก็มาหาวิธีที่จะเจอกันครึ่งทาง เพราะว่าจริง ๆ ทุกคนเวลาเอาถังขยะไปตั้งหน้าบ้าน บอกไม่เอา ไปโน่น ไปโน่น ไปโน่น แต่เวลาตัวเองจะทิ้งขยะก็มีขยะที่บ้านทุกหลังคาเรือน
ประการที่ ๓ ก็เป็นการเก็บ แล้วก็ขนขยะไปไม่หมด เพราะอะไรคะ ส่วนหนึ่ง อย่างที่บอก ก็คือไม่มีรถเก็บขยะที่เพียงพอ
ประการที่ ๔ ก็คือขาดบุคลากรและองค์ความรู้ที่จะนำมาบริหารจัดการขยะ ในท้องถิ่น เรารณรงค์บอกว่าให้แยกขยะ แต่เวลารถขยะมาเก็บ ท่านประธานจะต้องเห็น ก็เก็บรวมไปหมดเลย ชาวบ้านเขาถามว่าแล้วจะให้แยกทำไม
ประการที่ ๕ ปัญหาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ และการมีระเบียบข้อบังคับกฎหมายที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นทำงานได้อย่าง ลำบากแล้วก็ไม่เป็นอิสระ
จากปัญหาบางประการที่ได้กล่าวมาการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในหลาย ๆ ด้านของ ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งการกำจัดขยะ ของประเทศเรา เราต้องยอมรับความจริงในส่วนของการคัดแยกขยะ เราทำได้เพียงแค่ ลูบหน้าปะจมูก และสุดท้ายก็จะมีผลให้ระบบที่ทำไปนั้นมันล้มเหลว จึงควรกลับมามอง ในส่วนของความเป็นจริงว่าขยะที่มีอยู่ในบ้านเราที่เป็นขยะพลาสติกมันมีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ในส่วนที่มันเป็นน้ำที่มันอยู่ในเนื้อขยะหรือบางครั้งนี้เราเรียกว่า ขยะเปียก ส่วนนี้มันเป็นส่วนที่ก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน แล้วก็น้ำใต้ดิน ซึ่งมีปริมาณมากถึง ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าหากปล่อยไปก็จะเป็นผลเสียและจุดนี้เองก็เป็นจุดที่ทำให้ระบบ เตาเผาขยะต่าง ๆ มันมีปัญหา เพราะว่ามันเปียกมันมีความชื้น ส่วนขยะที่สามารถย่อยสลาย ได้ก็จะเป็นส่วนที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าเอาปริมาณเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือเป็นสาร ปรับปรุงดินให้เกษตรกรได้ใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ก็อยากจะให้ ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องได้มองเห็นถึงการแก้ไขที่ยั่งยืนต่อไป ท่านประธานและเพื่อน สมาชิกเห็นหรือยังคะว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องให้หน่วยงานราชการส่วนกลางและ ท้องถิ่น รวมทั้งพี่น้องประชาชนนั้นได้มาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วก็เป็น รูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคเพื่อสร้างมาตรฐานในการ บริหารจัดการปัญหาขยะต่อไป ดังนั้นจึงขอเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจะมอบให้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาต่อไป ขอขอบคุณ ท่านประธานที่นำญัตตินี้เข้าสู่วาระการประชุม ขอบพระคุณค่ะ