นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและผลกระทบ จากปรากฏการณ์ El Nino และปัญหาภาวะภัยแล้ง ท่านประธานครับ ผมเป็นคนอีสานครับ เกิดอยู่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ครอบครัวผมเป็นพ่อค้าขายของคนธรรมดา จะพิเศษหน่อยคือลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องเกษตรกรคนอำเภอน้ำพองหรือคนอำเภอ ข้างเคียง เชื่อไหมว่าตั้งแต่ผมเกิดจะมีพี่น้องเกษตรกรมาเล่าให้ฟัง มาบ่นให้ฟังเกี่ยวกับปัญหา ที่พวกเขาต้องประสบพบเจอในแต่ละวัน ปัญหาที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดคืออะไรรู้ไหมครับ แม่ใหญ่หม่องเอ๊ยปีนี้ข้าวสิเป็นราคาบ่ ผมได้ยินคำถามแบบนี้ทุกวันครับ ซ้ำไปซ้ำมา ๆ แบบนี้ทุกปี จะเกิดเยอะหน่อย ก็คือในช่วงของฤดูเก็บเกี่ยว เพราะเราเข้าใจว่าวันสำคัญที่เป็นวันกำหนดอนาคตของพี่น้องเกษตรกรนั่นก็คือวันที่เขา ได้ขายพืชผลทางการเกษตรนั่นละครับ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเกษตรกรท่านหนึ่ง เขามาเล่า ให้ผมฟังเกี่ยวกับความยากลำบาก ความอัตคัดในฐานะที่เขาเป็นเกษตรกรคนปลูกข้าว เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ว่าบ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง ปลูกข้าวได้ปีละ ๒ เทือ แต่ถ้าปีใด๋รัฐบาลบริหารจัดการราคาข้าวบ่ได้ เพิ่นสิปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพื่อบ่ให้มีน้ำ เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวเทือที่ ๒ กะย้อนรัฐบาลวิตกกังวลว่าถ้าจัดการราคาข้าวบ่ได้ ปล่อยให้ปลูกแล้วเกษตรกรสิลุกฮือขึ้นมา ถ้าจั่งซั่นบ่ต้องปล่อยให้ปลูก บ่ต้องมีน้ำ มันกะสิได้ บ่ต้องมี Mob หัวใจของเกษตรกรเขายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเกษตรกรเขาบ่ได้เรียกร้อง อีหยังหลายเลย เขาขอแค่ว่าให้มันมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก สำหรับความสามารถ ของพวกเขาและที่สำคัญก็คือขอให้มันขายได้ราคาครับ ท่านประธานครับ นี่คือความอัดอั้น ตันใจของเกษตรกรท่านนี้ และผมเชื่อว่ายังมีพี่น้องเกษตรกรอีกเยอะแยะมากมายในพื้นที่ ที่เขาคิดว่าปัญหาและอุปสรรคที่มันปิดกั้นการเปิดฐานะของพวกเขามีอยู่ ๒ อย่างแค่นั้น นั่นก็คือ เรื่องแรก การบริหารจัดการเรื่องราคา อันที่ ๒ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนั่นก็คือ การบริหารจัดการเรื่องน้ำ ยังมีพี่น้องเกษตรกรคนปลูกข้าวในเขตอำเภอน้ำพองและอำเภอซำสูง อีกมากมายที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยลงสู่ลำน้ำพองแล้วผันเข้าสู่ ระบบชลประทาน ท่านประธานทราบไหมครับว่าพื้นที่ที่พี่น้องสามารถปลูกข้าวได้ปีหนึ่ง ๒ ครั้ง ทุกวันนี้เขายังต้องผจญกับการคาดเดาอย่างยากลำบากเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ในเขื่อน ยกตัวอย่างเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก มีฝนตกชุก ฝนเยอะ น้ำเยอะ ก็ต้องมีการระบายน้ำออก พอระบายน้ำออกเยอะปรากฏว่า น้ำท่วมข้าวเสียหายเป็นหมื่น ๆ ไร่เลยนะครับ มิหนำซ้ำเงินเยียวยา เงินชดเชยต้องรอกัน ข้ามปี ตกมาปีนี้ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง เขื่อนอุบลรัตน์ไม่มีน้ำ เกษตรกรทั้งหมดตั้งคำถามว่า น้ำที่อยู่ในเขื่อนที่มีเยอะแยะมันหายไปไหนหมดครับ เพราะฉะนั้นแล้วยิ่งสมัยปัจจุบันนี้ มาผจญกับปัญหาเรื่องของ El Nino El Nino นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่ได้ทำให้ฝนหายไปไหน เพียงแต่จากที่มันเคยตกกลายเป็นไม่ตกหรือตกน้อยลง ผมยกตัวอย่างจากสถานการณ์ ปัจจุบันนี้เลยก็ได้ครับ ๒ สัปดาห์ก่อนข้าวกำลังจะตายเพราะว่าไม่มีฝนเลย น้ำไม่มี เขื่อนอุบลรัตน์ก็ไม่สามารถปล่อยน้ำมาช่วยภาคการเกษตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ต้องออกประกาศว่าเกษตรกรท่านใดที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำในภาคการเกษตรต้องรอ น้ำจากฟ้า นั่นก็คือฝนนะครับ ปรากฏว่าเดชะบุญ ๑ สัปดาห์ให้หลังฝนตกลงมาห่าใหญ่เลย จากข้าวที่กำลังจะตายเพราะไม่มีน้ำ ตอนนี้กลายเป็นน้ำท่วมข้าว จากการประเมิน ความเสียหายล่าสุดของเกษตรอำเภอน้ำพอง คาดว่าข้าวจะได้รับผลกระทบประมาณ ร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ภาคการเกษตร พี่น้องเกษตรกรเลยฝากคำถามมาว่าถ้าหากวันนี้ เรากำลังจะก้าวเข้าไปสู่ปัญหาภาวะภัยแล้งที่เกิดจากส่วนหนึ่งคือผลกระทบของ El Nino เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพวกเรากำลังเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ได้ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือสุดท้ายเขายังต้องใช้ระบบเดิม ๆ จะทำไร่ ทำนา ทำสวนสักทีจะขอน้ำทีต้องไปนั่งแห่นางแมวเหมียว ๆ อย่างนี้หรือครับ เพื่อที่จะให้อาชีพ ของเกษตรกร อาชีพชาวนาเหล่านี้ได้อยู่รอดต่อไป ท่านประธานครับ บนความโชคร้ายที่เรา กำลังจะเผชิญกับปัญหาเรื่อง El Nino ยังมีข่าวดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรคนปลูกข้าว นั่นก็คือ ราคาขายข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นครับ ปี ๒๕๖๖ ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ภาพรวมของราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ ๑๐ ปี สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ Stock ข้าวทั่วโลก ลดน้อยลงไปเพราะเขาใช้ไปในช่วงโควิดที่ผ่านมา จากตัวเลขที่ผมมีนะครับ Stock ข้าวที่เป็น ข้าวสารจาก ๑๘๗ ล้านตัน ที่เป็นข้าวสารนะครับ น่าจะลดลงเหลือเพียงแค่ ๑๗๐ ล้านตัน ในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับความวิตกกังวลในเรื่องของความรุนแรงของภาวะโควิด หลาย ๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารภายในประเทศด้วยการลด การส่งออกแล้วมาเพิ่มการสำรองอาหารภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้หากฟังพอผิวเผิน เราจะเข้าใจว่าอาจจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวของพวกเราหรือเปล่า เพราะไม่ว่า จะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ ล้วนแล้วแต่มีราคาพุ่งสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม จากปัจจัยทั้งหมดที่ผมได้นำเรียนกับท่านประธานเมื่อสักครู่นี้ หากเราไม่มีมาตรการรองรับ ที่ดีเพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ เราเอง ๓ ระดับ

    อ่านในการประชุม

  • ผลกระทบแรก เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะพี่น้อง ที่มีรายได้น้อย จริงอยู่เมื่อข้าวราคาสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้อง ที่มีรายได้น้อยแน่นอน ถึงแม้อันที่จริงแล้วสำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปสัดส่วนตัวเลข การบริโภคข้าวและแป้งจะอยู่เพียงแค่ร้อยละ ๓.๗๔ แต่ตัวเลขนี้มันจะปรับเปลี่ยนขึ้นไปเป็น ร้อยละ ๕.๓๖ ทันทีถ้าเกิดเป็นพี่น้องที่มีรายได้น้อย หนำซ้ำถ้าเกิดราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น จะส่งให้กับข้าว อาหารสำเร็จที่พวกเขาต้องซื้อกลับมากินที่บ้านมีราคาสูงขึ้นไปด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ผลกระทบที่ ๒ สมดุลของข้าวภายในประเทศ แน่นอนผลกระทบจากภาวะ El Nino นี้จะทำให้ผลผลิตข้าวภายในประเทศหายไปส่วนหนึ่ง ทำให้ตลาดข้าวภายในประเทศ เกิดการตึงตัว ราคาข้าวมันดีดตัวขึ้น และแน่นอนว่ามันย่อมส่งผลกระทบปลายทาง ต่อผู้บริโภคแน่นอน

    อ่านในการประชุม

  • ผลกระทบที่ ๓ ในเรื่องของสมดุลน้ำในเรื่องของการทำนาปรัง เนื่องจากว่า ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น แต่ภาวะ El Nino นี้ จะทำให้ฝนตกน้อยลง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะส่งผลกระทบทันทีต่อพี่น้องเกษตรกร ที่หมายมั้นปั้นมือว่าจะทำนาปรังในปีต่อ ๆ ไป ท่านประธานครับ ภาวะภัยแล้งมันทำให้ แหล่งน้ำธรรมชาติน้ำแห้งเหือดไปหมด แต่แหล่งน้ำแหล่งหนึ่งที่ไม่เคยแห้งหายไปไหน นั่นก็คือน้ำตาของพี่น้องเกษตรกร ผมอยากให้การลงมติของพวกเราวันนี้ที่พวกเราจะช่วยกัน สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถสร้างโอกาสและลบรอยคราบน้ำตาให้กับ พี่น้องเกษตรกรคนที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินให้เขารู้สึกว่าพวกเขาได้รับการเอาใจใส่ช่วยเหลือ เฉกเช่นกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน ขอขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล คนพื้นที่ พระธาตุขามแก่น น้ำตกบ่าหลวง สวนสัตว์ขอนแก่น และวัดองค์พระเจ้าใหญ่ ขออนุญาต นำเรียนปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก มาจากอำเภอซำสูงครับท่านประธาน พี่น้องคนซำสูงทุกวันนี้ กำลังโดนผีหลอกครับ ผีที่ผมพูดถึงไม่ใช่ภูตผีปีศาจครับ แต่เป็นภัยที่มาจากความมืด เนื่องจากถนน รพช. ขก.๓๐๐๔ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ. ขอนแก่น มีการติดตั้ง เสาไฟ Solar Cell แต่จากการลงพื้นที่พบว่าที่บ้านโนนมีเสาไฟทั้งหมด ๒๘ ต้น แต่กลับ ใช้งานไม่ได้ถึง ๒๒ ต้นครับท่านประธาน หรือจะเป็นที่บ้านคูคำมีจำนวนเสาไฟทั้งหมด ๑๒ ต้น แต่กลับใช้งานไม่ได้ถึง ๘ ต้นครับ จากแผนที่จะเห็นนะครับว่าทั้ง ๒ จุดอยู่บริเวณ ถนนเส้นเดียวกันครับ ถ้าหากนับระยะทางที่มีเสาไฟฟ้าทั้งหมดนะครับจะกินระยะทางกว่า ๔ กิโลเมตรครับ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องคนซำสูงในการใช้รถใช้ถนนในเวลาค่ำคืนครับ จึงขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธานไปยัง อบจ. ขอนแก่น ได้โปรดหาแนวทางแก้ไข เป็นการเร่งด่วนให้กับพี่น้องครับ ในครั้งนี้พี่น้องคนซำสูงได้ขออนุญาตให้ทาง อบจ. ขอนแก่น พิจารณาขยายแนวเขตเสาไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก ๓ จุดครับท่านประธาน จุดที่ ๑ คือจาก บ้านหนองบัวน้อยไปยังโค้งหวาว้าครับ จุดที่ ๒ จากบึงบ้านหนองสิมไปยังบ้านโนนไปยัง ป่าช้าบ้านคำคู จุดที่ ๓ จากวัดบ้านแห้วไปยังบ้านกระนวนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ มาจากพี่น้องชาวอำเภอเขาสวนกวาง อำเภอแห่งนี้มีไก่ย่างอร่อย และมีสวนสัตว์ขอนแก่นครับ แต่บริเวณทางเข้าสวนสัตว์ขอนแก่นจุดตัดถนนมิตรภาพ เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งครับ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกว้างของถนนจุดดังกล่าว กินบริเวณกว่า ๑๔ ช่องจราจร พี่น้องคนเขาสวนกวางขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธาน ไปยังแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ ๑ พิจารณาแนวการแก้ไข ๓ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ขอให้มีการติดตั้งเสาไฟจราจรเพิ่มเติมบริเวณทางเข้าสวนสัตว์ ขอนแก่น โดยเฉพาะต้องติดให้เห็นสัญญาณไฟชัดเจนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้มีการติดตั้งระบบไฟจราจรที่เป็นตัวเลขนับถอยหลังบริเวณ ถนนมิตรภาพทั้ง ๒ ด้าน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการทำลูกระนาดบริเวณทางคู่ขนานกับถนนมิตรภาพ เพื่อเป็น การลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องคนอำเภอเขาสวนกวางครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ มาจากพี่น้องคนอำเภอกระนวนครับ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๒๒ อำเภอกระนวนไปยังท่าคันโท จากรูปนะครับท่านประธาน รูปนี้ไม่ได้เอามาจากหนัง Fast 8 นะครับ จากรูปมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีขนาด ช่องจราจรเพียงแค่ ๒ ช่องครับ ที่สำคัญไม่มีไหล่ทางครับท่านประธาน ถนนเส้นนี้มีพี่น้อง คนอำเภอกระนวนสัญจรไปมามากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องในเขตตำบลหนองโก ตำบลหัวนาคำ ตำบลบ้านฝาง ตำบลดูนสาด และตำบลห้วยยางครับ จึงขออนุญาตนำเรียน ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม แขวงทางหลวงขอนแก่นที่ ๑ และหมวดทางหลวง กระนวนครับ ได้โปรดพิจารณาขยายไหล่ทางให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อเพิ่มความสะดวก ในการสัญจรไปมาครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายครับ พี่น้องได้ขออนุญาตให้ติดตั้งเสาไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณ ถนนทางหลวง ๒ เส้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • เส้นแรก ถนนเส้น ขก.๔๐๖๗ เลียบคลองชลประทาน ท่านประธานลองคิดดู ถนนเลียบคลองชลประทาน ถ้าเกิดไม่มีแสงสว่างสามารถเกิดอุบัติเหตุได้อย่างง่ายดาย เรียกร้องให้ติด ๔ จุดครับ ที่บริเวณบ้านหัวบึงจำปา ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง บ้านหนองบัวน้อย บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง บ้านกุดทิง บ้านโนน อำเภอซำสูง และที่บ้านคู ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง

    อ่านในการประชุม

  • และถนนทางหลวงอีกเส้นหนึ่งครับ กส.๔๐๓๙ ที่ตัดผ่านตำบลดูนสาดอำเภอ กระนวน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาและมีทางโค้งมากมาย นำเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังทางหลวงพัฒนาชนบทครับ ได้พิจารณาติดตั้งเสาไฟเพิ่มเติมเพื่อเพิ่ม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องชาวขอนแก่นเขต ๓ ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขออนุญาต นำเรียนปัญหาในพื้นที่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ถนนทางหลวง ๒๐๓๙ อำเภอน้ำพองไปยังอำเภอกระนวน บริเวณจุดบึงถุงเทียวถนนขาด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างหนัก เบื้องต้นตอนนี้แขวงทางหลวงขอนแก่นที่ ๑ และศูนย์ซ่อมและบูรณะ สะพานที่ ๒ ได้นำสะพานเหล็ก Barely มาติดตั้งให้ใช้เป็นการชั่วคราว ขออนุญาตนำเรียน ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางกระทรวงคมนาคมได้โปรด อนุมัติงบซ่อมแซมเป็นการเร่งด่วนครับ เพราะจุดจุดนี้เป็นจุดที่อยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาล ถ้าหากต้องรอช่วงเปิดหีบอ้อย เกรงว่าการจราจรจะเป็นการยากลำบาก และถ้าเกิด จะสามารถทำให้ดียิ่งยวด อยากจะให้พวกเราทำตามคำปรารภของท่านนายกรัฐมนตรี นั่นก็คืออยากจะให้การใช้งบประมาณไม่ซ้ำซ้อนครับ ถนนเส้นนี้มีโครงการจะขยายเป็น ๔ ช่องจราจร ถ้าจะให้ดีทั้งขยายและซ่อมไปพร้อม ๆ กันจะเป็นการดีมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ถนนจากบ้านห้วยเชือก บ้านห้วยแสง ผ่านบ้านบะแต้ บ้านหนองแค จนไปสิ้นสุดที่บ้านศรีสถิตย์ บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน ถนนชำรุด เสียหายมานานแล้วตลอดระยะทาง ถนนเส้นนี้พี่น้องประชาชนต้องสัญจรเพื่อมารับบริการ ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่นก็คือองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโกได้โปรดพิจารณา ซ่อมแซมเป็นการเร่งด่วนให้กับพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนจากตำบลห้วยโจด อำเภอกระนวน ผ่านมายังบ้านดงเย็น ตำบลบัวใหญ่ จนไปสิ้นสุดที่สามแยกบ้านคอกคี ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง ถนนชำรุด เป็นดาวอังคารแบบนี้มานานแล้วนะครับ ถนนเส้นนี้ไม่ควรจะมีพี่น้องประชาชนมาแต่งชุด มนุษย์อวกาศเพื่อที่จะมาเรียกร้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาซ่อมแซม จึงขออนุญาต นำเรียนฝากท่านประธานครับ ถนนเส้นนี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลาย ๆ ท่านต้องสัญจร เพื่อส่งพี่น้องประชาชนเข้ารับการรักษาในตัวเมือง ฝากไปยัง อบจ. ขอนแก่นได้โปรด ดำเนินการซ่อมแซมเป็นการเร่งด่วนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายสั้น ๆ ครับ ถนนทางหลวง ๒๐๓๙ จากอำเภอกระนวนไปยัง ตำบลน้ำอ้อม และอีกเส้นหนึ่งคือถนนทางหลวง ๒๓๒๒ จากอำเภอกระนวนไปยังตำบล หนองกุงใหญ่ถนนไม่มีไหล่ทางเลยสัญจรไปมายากลำบาก จากรูปที่เห็นมีรถบรรทุก ขนาดใหญ่ จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการ แก้ไขให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ขออภิปราย สนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้อง ประชาชน ผมเล็งเห็นว่าเรื่องที่ดินทำกินยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร ท่านประธานครับ ประเทศไทยเรา แห่งนี้ไม่ใช่บ้านที่อบอุ่นสำหรับพวกเราทุกคน ทุกวันนี้ยังมีพี่น้องที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดิน ทำกินกว่า ๑.๒ ล้านคน และที่ดินยังมีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมายอีกกว่า ๑๓ ล้านไร่ และที่สำคัญ ประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการยึดครองที่ดินที่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก หากพวกเราในที่นี้ยังจำได้ ครั้งหนึ่งคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายในสภาแห่งนี้เกี่ยวกับทฤษฎีกระดุม ๕ เม็ด ซึ่งกระดุมเม็ดแรกที่คุณพิธาได้พูดถึง นั่นก็คือปัญหาในเรื่องของที่ดินทำกิน ถ้าหากวันนี้ เราสามารถจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน เกาให้ถูกที่คัน เราเชื่อมั่นว่าปัญหาอื่น ๆ จะสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย ท่านประธานครับ ผมเป็น สส. จังหวัดขอนแก่นสมัยแรก ก่อนหน้านี้ผมไม่ทราบหรอกครับว่าพี่น้องในพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง จนกระทั่งผมได้มีโอกาส ลงไปพูดคุย ไปรับฟังปัญหากับพวกเขา ผมถึงได้รับทราบว่าพี่น้องที่อยู่ในเขต ๓ ขอนแก่น มีปัญหาในเรื่องของที่ดินทำกิน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งพี่น้องในเขตอำเภอกระนวน เกือบครึ่งหนึ่งของอำเภอกระนวน พี่น้องไม่มีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินทำกิน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ดิ้นรนนะครับ แต่พวกเขาต่อสู้มาตั้งแต่ สมัยบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น บางครอบครัวต่อสู้กันมา ๓๐-๔๐ ปี เริ่มเหนื่อย เริ่มท้อ ในหลาย ๆ ครอบครัวเริ่มมีการพูดคุยกันว่าตกลงชาตินี้จะได้เห็นกับคนอื่นหรือไม่ว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นอย่างไร เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ในอำเภอกระนวน อยู่ในนิคมสหกรณ์ นิคมสหกรณ์ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั้นคือนิคมสหกรณ์ดงมูล ๑ และดงมูล ๒ ซึ่งจดทะเบียน จัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ซึ่งผมก็ยังไม่เกิด กินพื้นที่รวมกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ท่านประธานเชื่อไหมครับว่ากฎหมายเรื่องที่ดินเหล่านี้ที่อยู่ในสหกรณ์นิคม อันแท้จริงแล้วน่าจะสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย แต่จนถึงทุกวันนี้ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับ การแก้ไขเลย ผมเลยอยากจะชวนมองย้อนกลับไปว่าลำดับขั้นตอนของปัญหาของที่ดิน ที่อยู่ในนิคมสหกรณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร มองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ในการจัดตั้งนิคม จึงเป็นที่มาของการมีนิคมทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้มอบหมายให้ทาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ยกกฎกระทรวงในการเพิกถอน ป่าสงวน ป่าสงวนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถนำกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์แบบได้ เอาที่ดินส่วนนี้ไปจัดสรรให้กับพี่น้องที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ ต่อมาในปี ๒๕๑๗ ก็มีมติ คณะรัฐมนตรีออกมาแบบเดียวกัน แต่ ณ ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ แล้วก็ ทางกรมป่าไม้ ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากว่ามีผู้มีอำนาจที่อยู่ในทีม ผู้บริหารมีที่ดินอยู่ในนิคมสหกรณ์เป็นจำนวนมาก เกรงว่าตัวเองจะเสียผลประโยชน์ เพราะถ้าเกิดดำเนินการจัดตามมติ ครม. จะต้องทำตาม พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินทำกินปี ๒๕๑๑ ซึ่งจะสามารถถือครองได้ครอบครัวหนึ่งไม่เกิน ๕๐ ไร่เท่านั้น จนกระทั่งมาปี ๒๕๕๔ ก็มี มติ ครม. แบบเดียวกัน เหมือนกับปี ๒๕๑๓ และปี ๒๕๑๗ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งมาปี ๒๕๖๒ รัฐบาล คสช. ชื่อก็บอกแล้วว่าชอบมีเรื่อง Surprise ให้กับ พวกเรา รัฐบาล คสช. มีนโยบายในการจัดที่ดินในรูปแบบใหม่ โดยเอาที่ดินทั้งหมดที่อยู่ใน เขตนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศที่มีกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาจัดที่ดิน ให้กับชุมชนตามนโยบายรัฐบาล คสช. หรือที่พวกเราเรียกว่า โครงการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งในข้อกฎหมายก็ไม่ได้มีมาตราไหนเลยที่เอื้อประโยชน์หรือว่าเข้าข้าง ภาคประชาชน แต่กลับเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด เช่น โครงการ คทช. ที่ให้เฉพาะสิทธิในการทำมาหากิน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือไม่ให้สิทธิในการเรียกร้อง กรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน มิหนำซ้ำที่ดินยังเป็นของรัฐเหมือนเดิม และยังต้อง ทำตามคำสั่งของอธิบดี ถือสิทธิในที่ดินทำกินได้เพียงแค่ครอบครัวละไม่เกิน ๒๐ ไร่ ท่านประธานครับ เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหากับพี่น้องชาวอำเภอกระนวน ถ้าหากดำเนินการ ตามเรื่องของ คทช. ทุกวันนี้หลาย ๆ ครอบครัวทำกินเกิน ๒๐ ไร่ ซึ่งก็ไม่เกิน ๕๐ ไร่ ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินทำกิน ปี ๒๕๑๑ แน่นอน คำถามครับ ถ้าเกิดเป็นพวกเรา ทุกวันนี้ มองย้อนกลับไป บ้านที่เราอยู่ทุกวันนี้ ที่นา ที่ไร่ที่พวกเราไปทำมาหากินกันอยู่ทุกวัน มาวันพรุ่งนี้มันกลับเปลี่ยนมือไม่ใช่เป็นของพวกเรา พวกเราจะรู้สึกอย่างไร หรือเป็นอีก ตัวอย่างหนึ่งที่ชุมชนโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ชุมชนแห่งนี้มีบ้านเรือนพี่น้องประชาชนประมาณ ๔๐ หลังคาเรือนเท่านั้น แต่ก็ไม่มีเอกสาร กรรมสิทธิ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. ก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่กล้า เข้ามาดูแลในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เนื่องจากติดในเรื่องของข้อกฎหมาย ถามจริง ๆ ว่าพวกเราจะปล่อยให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ต่อไปจริง ๆ หรือครับ ท่านประธานครับ นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องยุ่งยากอะไรเลยถ้าหากมองว่ามันคือการยกระดับ คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รัฐบาลสามารถจัดการได้อย่างง่ายดาย และน่าจะเป็น การดำเนินการที่ผมคิดว่าง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินเสียด้วยซ้ำไป การประกาศ ยกเลิกกฎกระทรวงคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สร้างโอกาสและให้อนาคตให้กับพี่น้องประชาชน อยู่ที่ว่าพวกเราจะกล้าทำกันหรือไม่ครับ ท่านประธานครับ ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ในการถือครองที่ดินที่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก ประชาชน กว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ดินทำกิน และที่ดินกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ในมือของคนรวย ซึ่งมีเพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้ นี่คือกระดุมเม็ดแรก หากพวกเราติดผิดทุกอย่าง จะผิดไปกันหมด เรื่องพื้นฐานแค่นี้หากวันนี้พวกเราไม่กล้าทำ พวกเราจะคาดหวังให้ ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ไกลมากกว่านี้ได้อย่างไร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ไม่ว่าที่ประชุมแห่งนี้วันนี้จะมีมติอย่างไร ผมก็อยากให้พวกเราใช้โอกาสนี้ในการหาวิธีการ แก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟแพงให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร คนภาคอีสานครับท่านประธาน ท่านประธานครับ หากจะพูดถึงภาคอีสานแล้วหลายคน มักจะบอกว่าภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่รันทด บางคนอาจจะบอกว่าเป็นภูมิภาคที่มีความแห้งแล้งบ้างละ บางคนก็อาจจะบอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความกันดารบ้างละ คนอีสานไม่ขยันไม่สู้งานบ้าง ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตระดับฐานะของตนเองและครอบครัวขึ้นมาได้

    อ่านในการประชุม

  • ๑๑๔/๑ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนพูดถึงอีสานบ้านเกิดของผมครับ ซึ่งผมก็อยากตะโกนบอกจริง ๆ ว่า มันไม่ใช่ มีบางคนบอกเขาว่าคนอีสานไม่รวยสักที เพราะคนอีสานขี้เกียจทำงาน ไม่ขยัน ตื่นสาย นอนกลางวัน หรือบางทีโยงไปถึงการทำบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อนน้อยเกินไป แต่ท่านประธานทราบไหมครับว่าอันแท้ที่จริงแล้วมือของพี่น้องเกษตรกรคนอีสาน ทุกวันนี้ มือทั้งแห้ง ทั้งด้าน ทั้งแตก อันเนื่องมาจากที่พวกเขาทำงานอย่างหนัก เป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกพืชอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการแปรรูปสินค้า สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ประกอบการและประเทศในการส่งออก แต่ทำไมครับท่านประธาน เกษตรกรคนภาคอีสานถึงยังไม่รวยขึ้นสักที ท่านประธานครับ นอกเหนือจากการใช้นโยบายการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถช่วยให้ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวได้แล้วนั้น ยังมีเรื่องของปัญหาราคาปุ๋ย ราคายา ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันเนื่องมาจากมีนายทุนผูกขาดไม่กี่เจ้าครับ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เกษตรกรคนภาคอีสานไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นั่นก็คือปัญหาเรื่องของค่าครองชีพครับ ค่าไฟฟ้าถือว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของพี่น้องเกษตรกร ทำไม หรือครับท่านประธาน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ พื้นที่ของผมอำเภอน้ำพองปลูกข้าวได้ปีหนึ่ง ๒ ครั้ง เกษตรกรจะยิ้มได้ก็ต่อเมื่อตอนที่พวกเขาได้เกี่ยวข้าวไปขายครับท่านประธาน นั่นก็หมายความว่าเงินก้อนจะได้ก็ต้องรอจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว คำถามคือแล้วระหว่าง วันนี้ไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว พวกเขาจะหาเงินจากไหนมาใช้ บางคนก็ต้องออกไปรับจ้าง บางคนก็ต้องไปทำอาชีพทอเสื่อ บางคนก็ต้องเข้าป่าไปหาของป่ามาขาย หรืออาชีพอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมายครับ เพื่อเป็นการหารายได้ ในขณะที่ข้าวในนามันยังเกี่ยวไม่ได้ หาเงินมาจุนเจือครอบครัวมาเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าอื่น ๆ จิปาถะอีกเยอะแยะมากมายครับ ท่านประธานครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณตาแสง เป็นชาวบ้าน บ้านคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง ปัจจุบันคุณตาอายุ ๗๐ ปี อาศัย อยู่กับคุณยายดาวอายุ ๖๕ ปี ทั้งสองมีอาชีพเป็นเกษตรกร รายได้หลักมาจากการทำนา รายได้เสริมมาจากการการเหลาไม้ไผ่ทำด้ามไม้กวาดเพื่อส่งโรงงานในชุมชนครับ ผมถาม คุณตาแสงอย่างนี้ครับว่า พ่อใหญ่เอ๊ยหมู่เจ้าเสียค่าไฟเดือนหนึ่งเดือนละจักบาท คุณตาแสงเดินไปหยิบใบเสร็จค่าไฟมาให้ผมดูครับ แล้วก็บอกว่าเสียค่าไฟเดือนหนึ่งประมาณ ๗๐๐ บาทต่อเดือน พร้อมกับได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยครับท่านประธาน ท่าน สส. ค่าไฟเดือนละ ๗๐๐ บาท มาจากอันที่ผมเปิดไฟไล่แมลงให้กับคอกหมูทุกคืนครับ อันที่ ๒ ก็มาจากการที่ผม เปิดเครื่องสูบน้ำมื้อละ ๑ ชั่วโมง แต่ผมบ่ได้เปิดทุกมื้อ บ้านผมบ่มีแอร์ ผมนอนตากพัดลม ปัญหาค่าไฟที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณของหมู่ผม ลำพังเงินผู้สูงอายุ เดือนละ ๖๐๐ บาท ๗๐๐ บาท ๒ คน รวมกันเป็น ๑,๓๐๐ บาท เอามาจ่ายค่าไฟ ๗๐๐ บาท ก็แทบสิบ่เหลือใช้กินใช้อย่างอื่นแล้วท่านประธาน ฟังดูแล้วหดหู่ไหมครับ นี่คุณตายังแอบบ่น เพิ่มเติมด้วยนะครับท่านประธานว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลน่าจะดีกว่านี้ เพราะอย่างน้อย ๆ เบี้ยผู้สูงอายุก็น่าจะได้มากกว่านี้ แกยังได้พูดเสริมอีกว่า พอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวก็ไม่ได้ราคา แถมบางปีน้ำท่วมข้าวอีก ข้าวที่ปลูกกลายเป็นไม่ได้เกี่ยว แต่ค่าไฟต้องจ่ายทุกเดือนครับ แถมค่าไฟมีแต่ขึ้นกับขึ้น เกษตรกรเขาไม่รู้หรอกว่าค่า FT ที่เพื่อน ๆ สมาชิกกำลังอภิปรายอยู่นี้ มันคืออะไร เขาไม่สนใจครับ เขาไม่รู้เรื่องด้วยว่าที่มาที่ไปมันคืออะไร เขารู้อย่างเดียวครับว่า แม้ค่าไฟขึ้น สุดท้ายเขาก็ยังต้องจ่ายค่าไฟ มันเหมือนการบังคับไปในตัว เดือนไหนหาเงินไม่ได้ หาเงินไม่ทัน หาเงินไม่พอใช้ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บิลค่าไฟนี่ยังโชคดีหน่อยมันมีการอนุโลม ต้องชำระภายใน ๗ วัน หลังจากที่ท่านได้รับใบแจ้งหนี้ อีก ๗ วันเขาจะออกใบเตือน แล้วอีก ๗ วัน เขาถึงมาตัดค่าไฟ เรื่องค่าไฟที่แพงไปพูดให้เพื่อนบ้านฟังก็ไม่ได้ครับ เพราะละแวก แถวนั้นมันแพงเหมือนกันหมดครับ กลายเป็นเรื่องที่พูดให้ใครฟังก็ไม่ได้ หรือพูดไปแล้ว ไม่มีใครได้ยิน นี่ละครับคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรคนภาคอีสานไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ได้สักที ท่านประธานครับ เรื่องค่าไฟที่แพงยังส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพในด้านอื่น ๆ ให้สูงขึ้นไปด้วย เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยพื้นฐานในด้านการผลิต ทั้งในด้านอาหาร และบริการในด้านอื่น ๆ ครับ ผมมีรุ่นน้องอีกคนหนึ่งมาทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มันซื่อบักสมหมายครับ ท่านประธานผมเอ่ยมันว่า บักทิดหมาย ย่อนวามันหากะสึกพระออกมาครับ ทิดหมายนี่ เฮ็ดเวียก ได้เงินเดือน ๑๙,๐๐๐ บาทต่อเดือนครับท่านประธาน หักค่ากิน ค่าเดินทางแล้ว เงินเดือนแทบสิบ่เหลือ พอมาเจอค่าไฟฟ้าที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในบ้านก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว มิหนำซ้ำค่าไฟที่เพิ่มได้แพง ยังทำให้ค่าอาหารที่ต้องซื้อกินนี้แพงขึ้นไปด้วย ทำงานเงินเดือน ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกเดือนนะครับ แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน แล้วจะให้เขาเอาเงินจากไหน ไปสร้างอนาคตให้ลูก ไปสร้างครอบครัว หรือเอาเงินจากไหนไปผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือแม้แต่ ส่งเงินให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านได้ใช้ครับ ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องค่าไฟที่แพงยิ่งแพง มากเท่าไร น้ำตาของคนใช้ไฟยิ่งไหลมากขึ้นเท่านั้น ผมอยากให้การจัดการเรื่องไฟฟ้า มีความเหมาะสม ไม่มีการผูกขาด สำคัญที่สุดคือประโยชน์ต้องเป็นของพี่น้องประชาชน คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ผมไม่อยากให้ค่าไฟเป็นหนึ่งในเครื่องไม้เครื่องมือที่สร้าง ความร่ำรวย ความมั่งคั่ง ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือแม้แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรจะ สร้างต้นทุนในการดำเนินชีวิตให้กับคนทุกคนอย่างเหมาะสม สร้างโอกาสในการยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนทุกคนบนความเท่าเทียมกันครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้ามน คนจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตนำเรียนปัญหาในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ถนนสายโยธาธิการทางเข้าบ้านโสกเสี้ยวแสนสุข ตำบลห้วยโจด อำเภอกระนวน ถนนชำรุดเสียหายระยะทางยาว เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จึงขออนุญาตนำ เรียนฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโจดให้ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน มาจาก โรงพยาบาลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้มีขนาด ๔๐ เตียง ณ ปัจจุบันนี้ระดับความสูงของถนนมิตรภาพด้านหน้าโรงพยาบาลมีความสูงกว่าพื้น ของอาคารรักษาผู้ป่วย ฤดูฝนน้ำก็จะไหลท่วมเข้ามาภายในเขตพื้นที่ของโรงพยาบาล ประกอบกับ อาคารรักษา ณ ปัจจุบันนี้ทั้งเก่าทั้งทรุดโทรม อีกทั้งยังมีพื้นที่ในการใช้สอยไม่เพียงพอ จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางกระทรวง สาธารณสุขพิจารณาอาคารหลังใหม่ให้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านโคกกลางวิทยา ตำบลห้วยยาง อำเภอกระนวน ว่าอาคารเรียนมีผนังทรุดตัว เสาปูนแตกร้าว ฝ้าเพดานถล่ม เกรงจะเป็นอันตรายกับเด็กนักเรียน ๑๓๐ ชีวิต จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. หรือกระทรวงศึกษาธิการได้หาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ให้ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เมื่อวานนี้มีกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการ การคมนาคมว่าไม่ได้เงินค่าจ้างในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ทั้ง ๆ ที่ ๒ สายนี้เปิดให้บริการตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แล้วมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า ๒๐๐ ล้านบาท เบื้องต้นทางคณะกรรมาธิการอาสาที่จะเป็นตัวกลางในการเรียกบริษัทคู่กรณี เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ทางกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงาน ภาครัฐให้ช่วยกันตรวจสอบหน่อยครับว่าบริษัทนี้ได้สิทธิรับเหมาในโครงการอื่น ๆ ของรัฐอีก หรือไม่ เกรงจะเกิดปัญหาแบบเดียวกันไหน ๆ ทั้งเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว เวลาจะได้ สตางค์ก็อยากได้สตางค์ตรงตามเวลาครับรายชื่อบริษัทและรายละเอียดผมจะส่งให้กับ ท่านประธานอีกครั้งหนึ่ง จึงขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังทุกหน่วยงานของ ภาครัฐที่มีการโครงการก่อสร้าง ให้พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ผู้แทนคนหน้ามนจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ หากจะพูดถึงเรื่องระบบการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในเขต พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าอนุรักษ์แล้วเราก็ต้องพูดถึงปัญหาในเรื่องของสิทธิในที่ดิน ทำกินไปพร้อม ๆ กัน เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินนี้เป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศบ้านเรามา อย่างช้านานครับ โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ผู้เข้ามาประกาศเขตที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์หรือที่ดิน สาธารณประโยชน์ทับที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นตั้งรกรากมาอย่าง ยาวนานครับ หลาย ๆ พื้นที่มีการพิสูจน์หลักฐานทางกายภาพ ยกตัวอย่างเช่นวัดวาอาราม ตรวจสอบอายุแล้วก็เห็นได้ว่ามีมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ของรัฐเสียด้วยซ้ำไป บางแห่ง ถึงขั้นมีเอกสารสิทธิด้วยนะครับท่านประธาน แต่กลายเป็นว่ารัฐมาประกาศทับในที่ดินของ พวกเขาทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บุกรุก หลายกรณีรัฐอนุโลมให้อยู่ได้โดยไม่มีการฟ้องร้อง แต่มีเงื่อนไขว่าไม่สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเองได้ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และไม่ได้รับ ความช่วยเหลือใด ๆ จากนโยบายของทางภาครัฐ อีกทั้งการอุดหนุนราคาสินค้าการเกษตร ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควรครับ กลายเป็นคนเถื่อนบนที่ดินของบรรพบุรุษตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ได้ที่ดินมาอย่างถูกต้องแต่ก็ถูกอำนาจรัฐทำให้กลายเป็นแค่คนขออยู่อาศัย ปัญหาที่ดิน ของรัฐประกาศทับที่ดินของประชาชนแบบดื้อ ๆ แบบนี้เราเห็นทั่วประเทศมากมาย ข้อเท็จจริงรัฐเองก็ปฏิเสธไม่ได้จนมีการต้องตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้ จากระเบียบของ สำนักนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๕๗ นั่นก็คือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือพวกเรา เรียกกันสั้น ๆ ว่า คทช. นี่ละครับ ก่อนจะยกระดับขึ้นมาเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดนายกสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. บทบาทหลัก ๆ สำคัญนั่นก็คือการมาพิสูจน์สิทธิและการจัดสรรที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน แต่การทำงานของ สคทช. ที่ผ่านมากลับไม่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องของ กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเท่าที่ควร มิหนำซ้ำยังตอกย้ำในปัญหาเรื่องนี้ให้เลวร้ายลึกไปกว่าเดิม ทั้งกระบวนการจัดสรรที่ดินของ คทช. ที่มีปัญหาหลักอยู่ที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ปี ๒๕๔๑ ซึ่งมันเก่ามาก โบราณ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ภาพถ่ายพื้นที่ไหนถ้าหากมี ลักษณะตรงกับภาพถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๑ ก็จะถือว่าว่าเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวน พี่น้องไม่สามารถ เข้าไปทำมาหากินได้ หากใช้เกณฑ์แบบนี้จริง ๆ เกือบทุกพื้นที่จะกลายเป็นพื้นที่ล่อแหลม ตามหลักนิยามของรัฐบาลทันที ส่งผลให้ถูกจำกัดในเรื่องของการประกอบอาชีพ รวมทั้ง การพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า หรือน้ำประปา หากมี การพิสูจน์สิทธิจนผ่านเกณฑ์เหล่านี้ไปแล้ว แต่การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชน ในหลายพื้นที่กลับได้เพียงแค่สิทธิในการอยู่อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวครับ โดยต้องได้รับอนุญาต จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่นั้นก่อน หากประชาชนยอมรับในเงื่อนไขนี้เท่ากับเขายอมรับว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินของประชาชนอีกต่อไปทันที กระบวนการพิสูจน์สิทธิ เช่นนี้ทำให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มหลาย ๆ กลุ่มทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ ๑๓ นิคม ๑๕ ป่า หรือ ๑๗ สหกรณ์ รวมตัวกันเพื่อที่จะต่อต้านและพยายามเรียกร้องสิทธิในการมี กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องในเขตพื้นที่ของผมมีการจัดตั้งสหกรณ์นิคม ดงมูลหนึ่ง จำกัด และสหกรณ์นิคมดงมูลสอง จำกัด ซึ่งทั้ง ๒ ที่ ท่านรัฐมนตรีธรรมนัสเพิ่งจะ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน แล้วก็ไปให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะช่วยพิจารณาในเรื่องของการออกโฉนด ให้กับพี่น้องประชาชน ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่ของท่านจะไม่เป็นการหลอกพี่น้อง ประชาชนให้พี่น้องไปต้อนรับท่านอย่างเดียวนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่ของท่าน จะสร้างคุณูปการให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผมก็ต้องขออนุญาตขอบพระคุณล่วงหน้าถ้าเกิดท่านทำได้อย่างนั้นจริง ๆ สหกรณ์นิคม ดงมูลหนึ่ง จำกัด และสหกรณ์นิคมดงมูลสอง จำกัด ได้มีการเรียกร้องให้มีการเพิกถอน ป่าเสื่อมโทรมตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงทุกวันนี้กินระยะเวลา ๓๔ ปี พวกเขาก็รอกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พวกเขาได้ทำมาหากินเป็นที่ดินของบรรพบุรุษที่จะ สร้างโอกาสเลี้ยงดูครอบครัว แต่ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารก็จะมีความพยายามที่จะทวงคืน พื้นที่ส่วนนี้กลับไปเป็นของรัฐ ส่งกลับไปกลับมาแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหา ในพื้นที่เองได้ มีครั้งหนึ่งที่ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวนของผมเกิดปัญหาภัยแล้ง ภูมิประเทศ เป็นลักษณะอยู่บนเชิงเขา เกิดปัญหาภัยแล้ง หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาแล้วว่าต้องมีการ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แต่เนื่องจากกฎกระทรวงหรือว่าเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างไม่สามารถทำให้ ท้องถิ่นสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ถามว่าท้องถิ่นทำอย่างไร หวานอมขมกลืน ทำอะไร ก็ไม่ได้ กลืนไม่ได้คายไม่ออก อมไว้อยู่อย่างเดียว สุดท้ายจุกอกตายครับท่านประธาน พี่น้อง ประชาชนที่รอน้ำ รอความช่วยเหลือก็รอต่อไป เพราะว่าการขออนุญาตในการขุดเจาะบ่อ บาดาลต้องผ่านกรม กอง กระทรวงต่าง ๆ ผ่านขั้นตอนอีกเยอะแยะมากมาย รอไม่ไหว สุดท้ายท้องถิ่นไปแอบทำจนในที่สุดถูกจับกุมดำเนินคดี ณ ทุกวันนี้ยังเป็นประเด็นกันอยู่เลย ครับท่านประธาน หรือจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชุมชนโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอ น้ำพอง ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่แยกออกมาจากบ้านโนนเชือก ตำบลบ้านขาม พี่น้อง ประชาชนเรียกร้องในเรื่องของถนนหนทางที่จะเข้าสู่ตัวชุมชน หรือแม้แต่เรื่องของน้ำประปา หรือแม้แต่ในเรื่องของไฟฟ้า ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการ ในเรื่องนี้ให้ได้ เหตุผลแบบเดียวกันกับที่เพื่อน ๆ สมาชิกหลายคนได้อภิปรายไปครับ เนื่องจากที่ดินมันอยู่ในส่วนของรัฐ พี่น้องประชาชนเขาก็เลยต้องหวานอมขมกลืนอย่างนี้ กันต่อไป ความเดือดร้อนที่พวกเขากำลังรอความช่วยเหลือก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป นี่ละครับ คือความยากลำบาก เพียงเพราะหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจ ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที หรือต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนตามกฎ ตามระเบียบ เพียงเพราะที่ดินเหล่านี้ยังเป็นของรัฐ และยังไม่ได้เป็นของพี่น้องประชาชน ผมไม่แปลกใจครับท่านประธานที่สุดท้ายกลไก คทช. มันจะล้มเหลวในการพิสูจน์สิทธิและการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้ยอมรับกระบวนการที่มันไม่มีความยุติธรรมในเรื่องนี้ ผลการดำเนินการ ในรอบ ๘ ปีที่บันทึกไว้ในปี ๒๕๖๕ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าแนวทางเรื่องนี้ล้มเหลว ทั้งในเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกินที่จากเดิมตั้งเป้าไว้จะทำ ๑,๔๘๓ พื้นที่ แต่กลับทำได้ จริง ๆ เพียงแค่ ๓๓๘ พื้นที่ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ ๒๓ จากกลุ่มเป้าหมายที่ดินเท่านั้น ท่านประธานสุดท้ายแล้วครับ เรื่องนี้จะแก้ไขปัญหาก็ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ดินของ ประชาชนที่เขาทำมาหากินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษปลดล็อกให้เขาเถอะครับ คืนกรรมสิทธิ์เต็มตัว ให้กับเขา ให้เขาได้ออกแบบชีวิตด้วยตัวของพวกเขาเอง Design ความต้องการของพวกเขา ด้วยตัวของพวกเขาเอง หากรัฐบาลยังจะทำตัวเหมือน คสช. ที่ผ่านมา ทวงคืนผืนป่า ไม่เอา สิทธิของประชาชนเป็นตัวตั้ง การจัดการปัญหาเรื่องที่ดินเหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จครับ ทางออกเดียวคือรัฐต้องให้การยืนยันว่าสิทธิในที่ดินเป็นของประชาชน จึงจะสามารถแก้ไข ปัญหานี้ทั้งระบบได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ผู้แทนหน้ามนคนขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ขออนุญาตนำเรียนปัญหาในพื้นที่ของพี่น้องประชาชนเขต ๓ ขอนแก่นครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นถนนท้องถิ่นจากบ้าน โนนเชือก ตำบลบ้านขาม ไปยังบ้านบึงเป่ง ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง ถนนมีสภาพ ชำรุดตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมเมื่อ ๒ ปีก่อน พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาด้วยความยากลำบากครับ ขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วย ดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ถนน ขก.๓๐๖๖ บ้านหนองโน ตำบลหนองโน อำเภอกระนวน ถนนชำรุด มีหลุมเล็กหลุมใหญ่เยอะแยะเต็มไปหมดครับ ถนนเส้นนี้ตัดผ่านชุมชน บ้านหนองโน เทศบาลตำบลหนองโน และอีกหลาย ๆ หมู่บ้าน รถเล็ก รถอ้อย สัญจรไปมา ด้วยความยากลำบาก ขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขอนแก่นให้ช่วยดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนท้องถิ่นเส้นบ้านห้วยเชือก-ห้วยแสง ไปยังบ้านศรีสถิต- ศรีสมบูรณ์ ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าหอพัก ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอกระนวน ถนนชำรุดเป็นหลุมเยอะแยะ มากมายครับ ขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโก ให้ช่วยดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ บริเวณสี่แยกบ้านป่าหวายนั่ง ตำบลเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จุดตัดถนนทางหลวงชนบท ขก.๑๐๑๓ และ ขก.๔๐๐๓ จุดตัดนี้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทางลงเนินมาพอดี พี่น้องประชาชนอยากจะให้มีการติดตั้งสัญญาณ ไฟเตือน รวมทั้งการจัดทำ Rumble Strip หรือแม้แต่การติดตั้งเสาล้มลุก เพื่อเป็น การแบ่งแยกช่องจราจรให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการลดและเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ ฝากนำเรียนท่านประธานไปยังทางหลวงชนบทให้ช่วยดำเนินการด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย มาจากพี่น้องชาวอำเภอซำสูง พี่น้องอยากจะให้มีการ ทำถนนลาดยางเส้นเลียบคลองชลประทานจากบ้านคูคำ ไปบ้านบ่อใหญ่ ตำบลคูคำ อำเภอ ซำสูง เนื่องจากช่วงหน้าฝนมีการสัญจรไปมาด้วยความยากลำบากครับ ที่สำคัญถนนเส้นนี้ เป็นเส้นทางลัดที่จะใช้เดินทางไปยังอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคามได้ด้วยนะครับ จึงขออนุญาตนำเรียนฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานช่วยพิจารณาดำเนินการให้กับ พี่น้องประชาชนด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม