เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมี เรื่องหารือท่านประธาน ๔ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ บ้านเรือนพี่น้องประชาชน บ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้รับความเดือดร้อนจากการกัดเซาะตลิ่ง จากการไหลของลำน้ำพองครับ ขอ Slide ครับ
จุดที่ ๑ มีความยาว ๖๐๐ เมตร แล้วก็ จุดที่ ๒ มีความยาว ๔๐๐ เมตร จึงอยากเรียนท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ และผังเมือง ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการสร้างเขื่อนกันตลิ่ง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจะได้รับ ความเสียหายไปมากกว่านี้ครับ
เรื่องที่ ๒ เรียนท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการขยายเขตน้ำประปาภูมิภาคไปยังตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นครับ เนื่องจากปัจจุบันน้ำที่พี่น้องประชาชนตำบลโคกสีใช้เป็นน้ำที่ได้จากการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ พบว่าคุณสมบัติทางเคมีไม่เหมาะกับการอุปโภคบริโภค มีค่าเคมีสูงเกินไป จึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทยช่วยสนับสนุนงบประมาณ ทราบว่าข้อมูลจาก การประปาส่วนภูมิภาค เขต ๖ สามารถขยายแนวจากตำบลบึงเนียมไปยังตำบลโคกสีได้ และจะมีหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขอนแก่น ๒ มหาวิทยาลัย สถานีตำรวจ โรงเรียน กีฬา และบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ตำบลโคกสีกว่า ๒,๕๐๐ ครัวเรือนที่จะได้ใช้น้ำประปา ในการอุปโภคบริโภคที่สะอาดและปลอดภัยครับ
เรื่องที่ ๓ ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ขอความอนุเคราะห์ในการสำรวจสภาพการจราจรปัจจุบันและออกแบบจุดกลับรถใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ทั้งจำนวนรถที่ใช้มากขึ้น จุดกลับรถที่ไม่สะดวก ในการขับรถครับ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงอยากฝากท่านประธานเร่งแก้ไข โดยด่วนทั้ง ๔ จุด จุดกลับรถจุดที่ ๑ จุดกลับรถถนนเลี่ยงเมือง หน้าโรงน้ำแข็งกรเดช บ้านหนองหลุบ ตำบลแดงใหญ่ จุดกลับรถที่ ๒ จุดกลับรถถนนมะลิวัลย์ หน้าหมู่บ้านสีวลี ตำบลบ้านทุ่ม จุดกลับรถที่ ๓ จุดกลับรถถนนทางหลวงขอนแก่น-โพนทอง ถนนหมายเลข ๑๒ หน้าหมู่บ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียม และจุดกลับรถที่ ๔ จุดกลับรถถนนมิตรภาพ บ้านหนองกุง ตำบลศิลา หน้าไปรษณีย์ขอนแก่น
เรื่องที่ ๔ ถนนในเขตตำบลแดงใหญ่ ตำบลสาวะถี ที่ชำรุดเสียหาย อย่างหนัก ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. ขอนแก่น เทศบาลตำบลสาวะถี อบต. แดงใหญ่ เร่งดำเนินการแก้ไขถนนที่ชำรุด เสียหายอย่างหนัก และไม่มีไฟส่องระหว่างทาง สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ที่ใช้รถใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งครับ ทั้ง ๖ เส้นทาง ถนนมะลิวัลย์-บ้านแดงใหญ่ ถนนบ้านหนองกอย-บ้านงิ้ว ถนนบ้านหนองปลิง-บ้านโนนรัง ถนนบ้านโนนรัง-บ้านหินขาว ถนนบ้านหินขาว-บ้านโนนกู่ และถนนบ้านม่วง ตำบลบ้านทุ่ม ไปยังบ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี พี่น้องประชาชนทั้ง ๒ ตำบลเดือดร้อนจริง ๆ ครับ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วนครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ผมอยากสอบถามผ่านท่านประธานไปยังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครับ ในกระบวนการคัดกรองความยากจนของนักเรียน นักเรียนที่จะได้รับจัดสรรทุนเงินอุดหนุน หรือนักเรียนทุนเสมอภาคที่ต้องให้คุณครูผู้ดูแลนักเรียนออกไปเยี่ยมบ้าน แล้วก็นำข้อมูล ผ่าน กสศ. โดยกรอกผ่าน Website แล้วก็ให้ กสศ. เป็นผู้คัดกรองความยากจนโดยวิธีการวัด รายได้ทางอ้อม ขอ Slide ครับ
เรื่องแรก ผมได้สอบถามไปยังเพื่อนครู หลาย ๆ ท่านว่าการที่คุณครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนครูบอกว่าการไป เยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นเรื่องที่ดีทำให้ได้รู้จักนักเรียนมากขึ้น เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ไม่ถือว่า เป็นภาระที่หนักเกินไป แต่เป็นหน้าที่ครูผู้เสียสละที่จะทำ เพราะการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ต้องไปนอกเวลาราชการหลังเลิกเรียน หรือว่าวันเสาร์ วันอาทิตย์ ซึ่งใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ในการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนครับ ทั้งนอกเวลา ทั้งเงินส่วนตัว แต่คุณครูก็ยินดีที่จะทำ ต้องขอชื่นชมแล้วก็ขอบคุณคุณครู ทุกท่านทั่วประเทศ ผมทราบว่าคุณครูบรรจุใหม่เงินเดือนเริ่มต้น ๑๕,๘๐๐ บาท ผ่อนค่ารถ ค่าเช่าบ้าน หรือว่าค่าครองชีพต่าง ๆ ก็หมดแล้ว อันนี้น่าเห็นใจคุณครูทุกท่าน ครูผู้เสียสละ เราอาจจะได้ยินบ่อย ๆ ในทางเจตนารมณ์ อุดมการณ์เราอาจจะพูดได้ แต่ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เงินเดือนคือติดลบครับ จึงฝากท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. แล้วก็ผู้ชี้แจงวันนี้ หากเป็นไปได้ อยากให้มีการประสานงานกันแชร์ข้อมูลกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าผมสอบถาม เพื่อนครูว่าการเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นเรื่องปกติพื้นฐานที่ สพฐ. ให้คุณครูทำเพื่อบันทึกข้อมูล พื้นฐานของนักเรียนอยู่แล้ว ทำไมเราไม่คุยกันก่อนในหน่วยงานว่ามีข้อมูลพื้นฐานไหน ที่เอามา Link กัน ข้อมูลที่อยู่ใน DMC ก็มีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว แค่เราเพิ่มส่วนที่เป็นรายได้ ของผู้ปกครอง หรือว่าข้อมูลที่ทาง กสศ. ต้องการ คุยกันก่อน แล้วก็ก่อนที่จะลงไปสำรวจ พอไปสำรวจเสร็จต้องกลับมากรอกข้อมูลผ่าน Website ซึ่งก็ต้องกรอกคนละ Website อีก เป็นการเพิ่มภาระงานของครูไปมากกว่าเดิมอีก อยากให้หน่วยงานทำงานบูรณาการกันหน่อย Link ข้อมูลกันหน่อยการทำงานจะได้ไม่ซ้ำซ้อน จะได้ไม่ต้องลงไปเยี่ยมบ้านนักเรียน หลาย ๆ ครั้งเพื่อสำรวจข้อมูล ไม่ใช่พอมีหน่วยงานไหนที่ต้องการข้อมูลก็ลงไปเก็บข้อมูลอีก เราต้องลดภาระงานครูอย่างอื่นเพื่อคืนครูให้กับห้องเรียน
เรื่องที่ ๒ อยากสอบถามไปยัง กสศ. ถึงการใช้หลักเกณฑ์แบบไหนบ้าง ในการคัดกรองนักเรียนที่จะได้รับทุนเสมอภาค สามารถสื่อสารหรือว่าให้รายละเอียดกับ คุณครูได้หรือไม่ เพราะว่าเพื่อน ๆ ครูฝากถามมาเยอะว่าจะได้ตอบกลับผู้ปกครองได้ว่า เป็นอย่างไร เพราะเวลาคุณครูไปเยี่ยมบ้านผู้ปกครองก็ต้อนรับ แล้วก็คาดหวังว่าพอคุณครู มากรอกข้อมูลขอทุนให้นักเรียนแล้วนักเรียนจะได้รับทุน แต่พอไม่ได้รับทุนผู้ปกครอง ก็มาถามคุณครูว่าทำไมถึงไม่ได้ แต่คุณครูก็ไม่สามารถตอบผู้ปกครองได้เพราะคุณครู ไม่ใช่ผู้คัดกรอง จึงอยากให้ทาง กสศ. ให้เหตุผลหรือสามารถบอกเหตุผลได้ไหมว่า Case ไหน ที่ไม่ได้รับเพราะอะไร ตอบกลับใน Website ที่ทาง กสศ. ให้คุณครูกรอกก็ได้ครับ เพราะว่า มีรายละเอียดแต่ละคนอยู่แล้วครับ ผมขอยกตัวอย่าง ๒ กรณี กรณีที่นักเรียนอยู่บ้านเดียวกัน พ่อแม่คนเดียวกัน นักเรียนเป็นพี่น้องกันก็คืออยู่คนละชั้น คนพี่ได้รับทุน คนน้องไม่ได้รับทุน แบบนี้มีหลักเกณฑ์ในการคัดกรองอย่างไร หรือว่าบ้านหลังนี้ได้ซ้ำแล้วก็เลยไม่ให้น้อง หรือว่า มีประเด็นเรื่องผลการเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอยากให้ทาง กสศ. สื่อสารเหตุผลที่ไม่ได้รับ แบบนี้กลับให้คุณครูได้รับทราบ ขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งครับ นักเรียน A มีรายได้ ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน ๓,๐๐๐ บาท นักเรียน B มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน ๑,๐๐๐ บาท อยู่โรงเรียนเดียวกัน อยู่ห้องเดียวกัน ลักษณะครอบครัวครัวเรือนเหมือน ๆ กัน ผลการคัดกรอง นักเรียน A ได้รับทุน แต่ว่านักเรียน B ไม่ได้รับทุน แบบนี้อยากให้ทาง กสศ. แจ้งหลักเกณฑ์ว่า มันเป็นอย่างไรให้สื่อสารกลับไปที่คุณครู จริง ๆ เราก็เชื่อมั่นในกระบวนการวิธีการคัดกรอง แต่ว่าอยากให้สื่อสารกลับครับ
เรื่องที่ ๓ มีประเด็นที่อยากฝากเป็นข้อเสนอแนะไปยัง กสศ. ทุนที่นักเรียนได้รับ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จากข้อมูลที่รายงานทุนเสมอภาคคือ ๓,๐๐๐ บาท ต่อปีต่อคน ตกเฉลี่ยวันละ ๘.๒๑ บาท อยากให้ทาง กสศ. ช่วยพิจารณาถึงมูลค่าทุน ที่เหมาะสมในการช่วยเหลือว่าสามารถให้มากกว่านี้ได้หรือไม่ สามารถเพิ่มมูลค่าทุน รายหัวให้สูงกว่านี้ได้หรือไม่ จึงอยากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ กสศ. ผู้ชี้แจงวันนี้ช่วยพิจารณาด้วย แล้วก็ผมขอชื่นชม กสศ. ที่ทำงานทุ่มเทเพื่อนักเรียนทุกคน เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องหลุดจาก ระบบการศึกษา เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ครับ ปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ทราบว่า ครม. อนุมัติ แผนงบประมาณใหม่เป็นจำนวนเงิน ๗,๙๘๕ ล้านบาท สำหรับกองทุน กสศ. พบว่ามี การอนุมัติงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกนิดเดียวครับ ถ้า กสศ. งบประมาณเพิ่มขึ้นแสดงว่าการบริหารจัดการระบบการศึกษาของรัฐบาล หรือว่าการบริหาร จัดการด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการศึกษาของรัฐบาลล้มเหลว จึงต้องมี กสศ. เพื่อเข้ามาแก้ไข ลบข้อบกพร่องปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ เราจะไม่ต้องมี กสศ. เลยถ้าระบบการศึกษา ระบบสวัสดิการที่บ้านเราดี สำหรับเด็กยากจนต้องมี กสศ. อยู่ เพราะว่ายังมีเด็กยากจน ยังมีสวัสดิการที่ยังไม่ดี เราต้องไม่ใช่การเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่เพิ่มผู้รับทุนให้มากขึ้น แต่เรา ต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ ต้องไปแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษา ไปดูที่ระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของครอบครัวของพ่อแม่เขาแล้วค่อยจะลดจำนวนผู้รับทุนลงจนไม่มีเลย ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล จากรายงาน ผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๗๐ ในด้านการศึกษา จากผลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๕ ในด้านการศึกษาพบว่ามีงบประมาณรวม ๖๐๖,๕๙๑,๙๐๐ บาท โดยมีกิจกรรม ด้านการศึกษาตามแผน Big Rock ๕ กิจกรรม ขอ Slide ครับ
ผมขอเริ่มจากกิจกรรมปฏิรูปที่ ๓ การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน Slide ต่อไปครับ ผมขออธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับวิธีการสอบครูในปัจจุบันก่อนนะครับ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. หลาย ๆ อ.ก.ค.ศ. ในแต่ละเขตพื้นที่รวมกันเรียกว่า Cluster Cluster นี้ก็จะไปจ้างมหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ ในการออกข้อสอบ ทำให้ในแต่ละ Cluster ไปจ้างมหาวิทยาลัยที่ต่างกันออกไป การออกข้อสอบจึงไม่ใช่มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ผู้สอบก็มาจากต่างมหาวิทยาลัยบ้าง มหาวิทยาลัยนั้น ๆ บ้าง ซึ่งแต่ละที่มีหลักสูตรต่างกันออกไปครับ แล้วพอถึงเวลาเปิดสอบ นักศึกษาที่จบครูมาก็ต้องมาลงสอบได้ Cluster ในเขตพื้นที่ของตัวเอง เพื่อต้องการ ที่จะบรรจุที่เขตบ้านของตัวเองครับ แบบนี้ก็จะเกิดปัญหาความแปรปรวนของกระบวนการ สอบได้ อาจจะเป็นด้านของความยากง่ายที่ไม่เท่ากัน มาตรฐานที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหาดังนี้ บางเขตพื้นที่การศึกษาบางวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่านเลย ซึ่งทำให้บางเขตพื้นที่ได้ครูไม่ทันใช้ หากเขตพื้นที่ไหนไม่มีผู้สอบผ่าน ทำให้ไม่ได้ครูเข้าไปสอนทดแทนในอัตราที่ว่าง หรือจะทำให้ ต้องขอไปใช้บัญชีจากเขตพื้นที่อื่น สุดท้ายก็จะเป็นปัญหาของการขอย้ายคืนถิ่นอยู่ดี อาจจะมีการวิ่งเต้นโยกย้ายทำให้เกิดธุรกิจทุจริตคอร์รัปชันได้ ขอ Slide ถัดไปครับ จากปัญหาที่ว่ามาก็ส่งผลให้อัตรากำลังครูในโรงเรียนไม่เพียงพอ ครูไม่ครบชั้น ครูต้องสอน ควบชั้นในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงภาระงานที่นอกเหนือจากการสอน เช่น งานธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ ในโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะมีพนักงานอัตราจ้างที่เข้ามา ทำตำแหน่งเหล่านี้ครับ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก งานต่าง ๆ เหล่านี้ถูกผลักภาระ ให้มาเป็นหน้าที่ของครู รวมถึงการเข้าเวรนอนเวรโรงเรียน เพราะครูต้องดูแลทรัพย์สิน ทางราชการ คำถามคือถ้าโจรมาจริง ๆ ครูต้องไปสู้กับโจรเพื่อป้องกันทรัพย์สินทางราชการ หรือครูจะต้องเอาตัวรอดจากโจรให้ได้ ครูต้องดูแลทรัพย์สินทางราชการ แล้วใครดูแล ชีวิตครูครับ หรือเรื่องการประเมินต่าง ๆ ของครูไม่ว่าจะเป็น ITA OIT EIT IIT จากการสอบถาม เพื่อน ๆ ครูบอกว่าการประเมินพวกนี้สุดท้ายมันคือการ Make เอกสารขึ้นมา เพราะว่า นโยบายมันมาตั้งแต่แรกว่าต้องการแบบไหน เช่น ITA เป็นการประเมินความสุจริต ของโรงเรียน แต่วัดความสุจริตไม่ได้เลย เพราะเป็นการ Make เอกสาร และตอบ แบบสอบถาม คุณครูก็นัดกันตอบแบบสอบถามให้ได้คะแนนความโปร่งใสสูง ๆ การประเมิน เหล่านี้ไม่ควรมาเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของคุณครู ถ้าจะมีการประเมินครูจริง ๆ ให้ประเมิน จากชั้นเรียน จากนักเรียนเลยครับ นักเรียนประเมินคุณครู คุณครูประเมิน ผอ. ผอ. ประเมิน ผอ. เขต หรือถ้าเป็นไปได้ ผอ. เขตประเมินรัฐมนตรีได้ยิ่งดี ขอ Slide ถัดไปครับ
จากกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้สมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ถ้าครูไปใช้เวลากับงานที่ไม่ใช่งานของครู ครูจะเพิ่มประสิทธิภาพการสอนได้อย่างไร หากมีการจัดสรรได้ควรจะมีฝ่ายธุรการ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ นักการภารโรงทุกโรงเรียนโดยไม่ต้องให้ครูมาทำ มีครูให้ครบชั้น มีครูที่สอนตรงวิชาเอก และครูจะได้มีเวลาในการเตรียมการสอน มีเวลาในการคิด นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลามากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้เลย เพราะภาระงานอันมหาศาลของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเลย ขอ Slide ถัดไปครับ รวมถึงการได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและภาระหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบ เงินเดือนเริ่มต้น ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ทำงานเหมือน ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งสอน ทั้งทำบัญชี ท ำธุรกำร ท ำพัสดุ ครูบางโรงเรียนต้องทำอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วยครับ และยังต้องมานอนเฝ้าโรงเรียนอีก ฐานเงินเดือนนี้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ๑๑ ปีผ่านมาแล้วครับเงินเดือนครูก็เริ่มต้นอยู่ที่เดิม ในขณะที่วิชาชีพครูมีใบประกอบวิชาชีพ แต่กลับไม่มีค่าอะไรให้เลย ไปอยู่เวรก็ไม่ได้ค่าเวร แถมอันตรายด้วยครับ ถ้าภาครัฐต้องการประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี การทำให้ ความเป็นอยู่ของครูดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เช่นกันครับในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยที่มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการที่นักเรียนไทย เรียนหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ไม่สามารถไปเอาความขยันของผู้เรียนออกมา เป็นทักษะที่แข่งขันกับหลักสากลได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงมากทุกปี แต่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศได้ หรือครูที่ต้องทำงานหนัก แต่กับหมดเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสอน อยากฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงและคณะดำเนินการครับ ทั้งหมดนี้เราปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ แล้วใช่ไหมครับ เหมาะกับงบประมาณที่เราใช้ในแต่ละปีแล้วใช่ไหมครับ การปฏิรูปการศึกษาไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ การดำเนินกิจกรรมภายในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาจากผลรายงาน ความคืบหน้าของกิจกรรม แสดงผลการดำเนินการว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างแท้จริงครับ เพียงแต่เป็นผลที่นำเสนอเชิงตัวเลข ให้ประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ไม่อาจจะประเมินผลสำเร็จเชิงประจักษ์ได้ จึงฝาก ท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงและคณะดำเนินการว่าการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงหัวใจ อยู่ที่คุณครูครับ การศึกษาที่คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครูครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องครับ
เรื่องแรก ปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป็ด เนื่องจากวันที่ ๑๖ ถึงวันที่ ๑๘ กันยายนที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมขัง ในหลายพื้นที่ หมู่บ้านเดชา หมู่บ้านอโณทัย หมู่บ้านแก่นพยอม หมู่บ้านหนองโจด บ้านกอก บ้านคำไฮ และโรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น ส่งผลให้ทรัพย์สินบ้านเรือน พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย จากการลงพื้นที่สอบถามนายกเทศมนตรีเทศบาล ตำบลบ้านเป็ด นายชัชวาล ธีรภานุ ทราบว่ามีโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ในเมือง เขตตำบลบ้านเป็ดมี ๒ จุดคือข้างวัดไทรทองลงไปยัง บึงหนองโคตร และอีกจุดคือจากถนน ร. ๘ แยกหมู่บ้านเลคนคราลงบึงหนองโคตรครับ โดยมีผู้รับผิดชอบโครงการคือกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่การทำงานล่าช้าไม่ทันต่อ วิกฤติการณ์ครับ จึงขอฝากท่านประธานสภาผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ และผังเมือง ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำประปาตำบลบึงเนียมไม่สะอาดครับ จากการลงพื้นที่ พบว่ามีปัญหาน้ำประปาหลายหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน ไม่เหมาะต่อการอุปโภคบริโภค นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบึงเนียม นายณัฐพงศ์ เดชแพง ฝากติดตามเรื่องการจัดสรร งบประมาณโครงการขยายเขตน้ำประปาภูมิภาคในเขตตำบลบึงเนียม จำนวน ๔ โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านท่าหินไปจนถึงบ้านปากเปื่อย โครงการบ้านสงเปือย หมู่ที่ ๘ โครงการ บ้านฮ่องเดื่อ หมู่ที่ ๙ และโครงการบ้านดอนดู่ หมู่ที่ ๑๑ จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กระทรวงมหาดไทยเร่งจัดสรรงบประมาณให้กับการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อขยายเขต น้ำประปาภูมิภาคให้พี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำที่สะอาดและเพียงพอต่อการใช้บริการครับ
เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน ถนนเลียบคลองชลประทานในเขตเทศบาล เมืองศิลา กระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่าถนนเลียบคลองชลประทาน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผิวถนนชำรุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อมาหลายปี ไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ไม่มีราวกั้นถนน ไม่มีไฟส่องสว่างยามค่ำคืน จุดเริ่มต้นของถนนเส้นนี้ เริ่มตั้งแต่บริเวณเลี่ยงเมืองบ้านเต่านอ ผ่านบ้านศิลา บ้านโกทา บ้านหนองหิน บ้านดอนยาง เลียบคลองชลประทานไปจนถึงถนนประชาสโมสร กระผมจึงเรียนท่านประธานไปยัง กรมชลประทานให้เร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ดังกล่าวตามกรอบอำนาจหน้าที่ครับ หรือหาก เป็นไปได้ให้ถ่ายโอนผิวจราจรให้กับกรมทางหลวงชนบทเหมือนกับฝั่งตำบลสำราญ เพื่อเร่ง แก้ไขปัญหาปรับปรุงพื้นผิวจราจรให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของผมมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม น้ำท่วมขัง เป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
ผมขอนำเสนอปัญหาน้ำท่วม ๒ แบบ ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เดือนที่ผ่านมาในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเป็ด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจน้ำท่วมขังสูง ถนนบางเส้นไม่สามารถสัญจรได้ ท่วมบ้านเรือนเสียหาย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ข้าวของ พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นถนนบ้านเกาะ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านหนองโจด บ้านคำไฮ โรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น ถนนมะลิวัลย์ช่วงหมู่บ้านอโณทัย หมู่บ้านแก่นพยอม หมู่บ้านพวงเพชร ถนนสีหราชเดโชไชย ชุมชนสีฐาน ๓ ชุมชนมิตรภาพ ตำบลในเมือง บริเวณจุดกลับรถถนนมิตรภาพ บ้านโนนตุ่น บ้านกุดกว้าง ถนนกลางเมือง ซอย ๕ ถนนประชาสโมสร และอีกหลาย ๆ จุดที่ผมอาจจะ ไม่ได้กล่าวถึง ฝนตกเป็นเรื่องธรรมชาติเป็น เรื่องปกติ ฝนตกมากน้ำก็ท่วมเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่น้ำท่วมขังบ้านเรือนพี่น้องประชาชนแล้วไม่ได้รับการแก้ไขเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปี บางที่เพิ่งท่วมปีสองปีที่ผ่านมา บางที่ท่วมมา ๑๐-๒๐ ปี ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่เหมือนเดิม อันนี้เรื่องไม่ปกติแล้ว เราจะปล่อยให้ท่วมแบบนี้อีกนานเท่าไรครับ เราจะไม่มีกลไก วิธีใด จัดการปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่ได้ หรือเกิดความสูญเสีย น้อยที่สุดเลยหรือครับ จากที่ผมได้ลงพื้นที่สัมผัสสอบถามพี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน บางท่านบอกว่าพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมขังโดยตลอดทุกปี สร้างความลำบากให้ ผู้อยู่อาศัย ประชาชนต้องขนย้ายข้าวของออกไปอาศัยตามโรงแรม หรือที่ต่าง ๆ และเมื่อ น้ำลดก็ต้องกลับมาซ่อมแซมบ้านเรือน หมดเงินไปหลายหมื่นหลายแสน เคยได้รับเงินเยียวยา ปีหนึ่ง ๕,๐๐๐ บาท แต่น้ำท่วมทุกปี เขาไม่อยากได้เงินเยียวยาแต่อยากให้แก้ไขปัญหา และป้องกันน้ำท่วมมากกว่า
อีกท่านบอกว่าบ้านของเขาปี ๒๕๖๕ เป็นปีแรกที่น้ำท่วมครับ แล้วก็ก่อน หน้านี้ไม่เคยท่วมไม่ว่าฝนตกหนักขนาดไหน แต่พอมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเยอะ ๆ บ้านเรา ก็ได้สระน้ำมาเป็นของแถมทุกปีแบบไม่ต้องร้องขอ น้ำท่วมคือผลพลอยได้หรือเปล่า ระบบ ระบายน้ำไม่ได้รองรับจำนวนบ้านเรือนที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ทัน นี่เป็นผล พลอยได้ที่ไม่อยากได้
อีกรายบอกว่าแค่ฟ้าร้อง ซอยเข้าบ้านน้ำก็ท่วมรอแล้วครับ นี่เป็นเพียง ๓ ราย ที่ผมขอนำมายกตัวอย่างเป็นเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชนจากประเด็นปัญหา น้ำท่วมขังซ้ำซากในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เขตพื้นที่เมืองในจังหวัดขอนแก่นครับ
น้ำท่วมแบบที่ ๒ ครับ น้ำเอ่อล้นจากลำน้ำครับ ที่เกิดจากลำน้ำพอง ในเขตพื้นที่ตำบลบึงเนียม ตำบลหนองตูม ตำบลโคกสีครับ บ้านเรือนพี่น้องประชาชนที่อยู่ ติดกับลำน้ำพองนอกจากจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว บางทีท่วมเป็น เดือนสองเดือนครับ และท่วมแทบทุกปี และยิ่งเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำ ระบายน้ำออกยิ่งทำให้ น้ำเอ่อสูงขึ้น น้ำก็ไหลระบายสู่แม่น้ำชีไม่ได้ บางปีปล่อยน้ำจนหมดเขื่อนไม่สามารถมีน้ำ ทำเกษตรได้ ณ ปัจจุบันตอนนี้น้ำในเขื่อน ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ต้องเฝ้าระวังเพราะตอนนี้มีทั้งพายุ เข้ามา แล้วตอนนี้น้ำก็ปริ่มตลิ่งแล้ว ก็ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนก็เกรงว่าจะท่วมอีกครับ พี่น้องประชาชนบอกว่าจังหวัดขอบคุณเขาครับ เป็นผู้เสียสละ เป็นพื้นที่รับน้ำไม่ให้นำเข้าไป ท่วมเมือง พี่น้องประชาชนบอกว่าเราไม่ได้อยากเป็นผู้เสียสละตลอดไปครับ น้ำท่วมบ้าน เดินทางเข้าออกลำบาก ไปทำงานก็ลำบาก ยังท่วมพื้นที่ทำการเกษตรด้วย ได้เงินเยียวยา น้ำท่วมบ้าน ๕,๐๐๐ บาท น้ำท่วมไร่นาก็ต้องพิสูจน์ความเสียหาย พิสูจน์การท่วม กว่าจะ ได้รับเงินเยียวยาข้ามปี ท่วมล่าสุดกันยายน ๒๕๖๕ เพิ่งได้รับเงินเยียวยาเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ แล้วแบบนี้พี่น้องประชาชนเลือกอะไรได้บ้างครับ ยังไม่พอสำหรับพื้นที่บ้านเรือน พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่กับริมน้ำพอง เมื่อน้ำท่วมก็ได้รับความเดือดร้อนและเมื่อน้ำลด ก็ได้รับความเดือดร้อนอีกเช่นกันครับ เพราะว่าบริเวณริมตลิ่งดินจะทรุดและปัจจุบันดิน ก็หายลงไปอยู่ในลำน้ำแล้ว ยังไม่พอครับ บางหลังห้องน้ำ ห้องครัวไปอยู่ในลำน้ำแล้วครับ และปัจจุบันก็มีการทรุดตัวของบ้าน อีกไม่นานบ้านทั้งหลังก็คงต้องลงไปอยู่ในลำน้ำ เหมือนกัน ผมลงพื้นที่ล่าสุดวันที่ ๑ ตุลาคมที่ผ่านมาครับ พี่น้องประชาชนบ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียมให้ไปดูสถานการณ์ปัจจุบันว่าบ้านเริ่มทรุดตัว และถ้าน้ำลดลงครั้งนี้บ้านทั้งหลัง ต้องลงไปอยู่ในลำน้ำพองแน่นอน ผมเคยหารือในสภาแห่งนี้ไปแล้วกับการของบสนับสนุน งบประมาณในการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่ง โดยทราบว่าเรื่องอยู่ในการดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง อยากฝากท่านประธานไปยัง คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเร่งด่วนพื้นที่บ้านเรือนพี่น้องประชาชน ที่อยู่ริมตลิ่งบ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียม จังหวัดขอนแก่นครับ ท่านประธานครับ จากปัญหา ที่กล่าวมาข้างต้นผมขอสรุปและขอเสนอแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังนี้
ในส่วนแรก อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนจัดการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้นเราจะมีวิธีการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้างกรณีที่ประสบ ปัญหาน้ำท่วม น้ำท่วมขัง เพราะบางครั้งท่วม ๓ วัน ๕ วัน ไม่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ก็ไม่เข้าระเบียบ วิธีการ ไม่สามารถรับเงินเยียวยาใด ๆ ได้ หรือกรณีที่ได้รับก็ได้รับช้า และน้อยไม่เพียงพอ ช่วงที่ฝนไม่ตกก็อยากจะให้เร่งพร่องน้ำออก ขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดคลองระบายน้ำ เป็นต้น
สำหรับระยะยาว อยากให้มีการทำงานบูรณาการกัน มีการออกแบบระบบผังเมือง ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่มีหมู่บ้านเกิดขึ้นมาใหม่มากมายแต่ระบบผังเมืองยังเป็นการออกแบบ แบบเดิมอยู่ บางทีการสร้างก่อสร้างต่าง ๆ สร้างถนนแต่ไม่มีระบบระบายน้ำไม่มีร่องระบายน้ำ พอมีงบก็มาสร้างร่องระบายน้ำใหม่ แต่ละเทศบาลพื้นที่ติดกัน ควรทำงานบูรณาการกัน ร่วมมือกัน หารือกันเรื่องแผนผังเส้นทางน้ำ ไม่ใช่ท่วมมาก็ปิดประตูระบายน้ำในเขตตัวเอง เพื่อไม่ให้เขตตัวเองน้ำท่วม จนไม่มีทางระบายน้ำที่เป็นระบบทั้งเมือง ใครจะทำก็ทำ ใครจะ สร้างก็สร้างไม่เชื่อมกัน Slope ของท่อระบายน้ำไม่ได้ระดับ ไร้ทิศทางไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน จึงอยากฝากท่านประธาน ถึงเวลาแล้วที่กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องเร่งสำรวจและวาง แผนผังเมืองใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สังคม บ้านเรือนชุมชน รวมไปถึง โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำกับดูแลอยู่ที่มีความล่าช้า ผู้รับเหมา เบิกเงินงวดที่ ๑ ได้ก็ไปขึ้นหน้างานจุดใหม่เพื่อให้เบิกงวดต่อไป งวดที่ ๑ ของงานชิ้นต่อไปได้ ทำให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้า พอจังหวัดไปเร่งจุดก่อสร้างจุดไหนก็ย้ายเครื่องจักร ย้ายแรงงานไปจุดนั้นทิ้งจุดเดิม พอเกิดฝนตกทีนี้ก็น้ำท่วมสิครับท่านประธาน จึงอยากให้มี การเร่งรัดผู้รับเหมาเร่งดำเนินการโดยด่วนด้วย และสำหรับพื้นที่ลำน้ำพองและพื้นที่ที่เป็น พื้นที่รับน้ำน้ำท่วมทุกปี อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีการแก้ไข หรือถ้า แก้ไขไม่ได้พี่น้องประชาชนก็พร้อมที่จะปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมได้ แต่ขอให้มี วิธีการเยียวยาที่เหมาะสมกับพี่น้องประชาชน จะเป็นวิธีการเช่าพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำของ พี่น้องประชาชนก็ได้ หรือจะมีวิธีอื่นที่เหมาะสมก็ยินดีมาก ๆ ครับ ขอเป็นกระบอกเสียง เสียงสะท้อนปัญหาของพี่น้องประชาชนจังหวัดขอนแก่นในพื้นที่ที่น้ำท่วมดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนขอนแก่น พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอร่วมอภิปรายสนับสนุนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ปัญหาหนี้สิน ครัวเรือนครับ ท่านประธานครับที่ขอนแก่นบ้านผม ๓ วันที่แล้วมีนายทุนเงินกู้บุกยิงลูกหนี้ ถึงบ้าน ฉุนที่ไม่จ่ายค่าดอกเบี้ย ขอ Slide ด้วยนะครับ
ท่านประธานครับ ปัญหาหนี้ นอกระบบของประเทศไทยในขณะนี้รุนแรง ลุกลาม และทำลายชีวิตและทรัพย์สินของ พี่น้องประชาชนมหาศาลครับ ผมลงพื้นที่รับฟังปัญหา ทุกคนพยายามดิ้นรนสุดแรงแล้วครับ ไม่มีใครไม่ทำงานหนัก ไม่มีใครไม่หารายได้เสริม ไม่มีใครนั่งเฉย ๆ รอให้รัฐบาลมาช่วย ปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชนที่ผมเจอ ส่วนใหญ่รายได้ไม่พอรายจ่ายครับ ขาดทักษะ การวางแผนทางการเงิน ขาดทัศนคติและความเข้าใจทางการเงิน และที่สำคัญการเป็นหนี้สิน นอกระบบที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบปัญหาอย่างมากในตอนนี้ครับ เพราะช่องทาง การเข้าถึงมันง่าย สะดวกสบายไปหมดครับ ไม่ต้องมีหลักฐานอะไรมากมายครับ บัตรประชาชนใบเดียวก็ได้เลยครับ มีทุกช่องทาง ทั้งช่องทาง Social ต่าง ๆ รวมถึง แก๊งมอเตอร์ไซค์ ที่ขี่โปรยนามบัตรสำหรับปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีทุกจังหวัดทั่ว ประเทศไทย มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ มี LINE ติดต่อ ประชาชนเข้าถึงง่ายมาก แต่ตำรวจ เข้าไม่ถึงเลยครับ ท่านประธานครับ ท่านประธานทราบไหมว่าดอกเบี้ยต่อ ๒๕ วัน ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่อปี ไม่ใช่ต่อเดือน ๒๕ วัน ดอกร้อยละ ๓๐-๔๐ ผมจะขอยกตัวอย่างจาก บาง Case ที่ได้ไปสอบถาม ขั้นตอน วิธีการของแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบแบบนี้ Case แบบนี้ เรียกกันว่ากู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวดครับ อยากจะกู้เงินสัก ๒๐,๐๐๐ บาท ก็โทรศัพท์ หาตามเบอร์นามบัตรที่มาโปรยหน้าบ้าน หน้าร้าน พอติดต่อเสร็จก็ง่าย ๆ ถ่ายรูป บัตรประชาชนส่งผ่าน LINE แก๊งมอเตอร์ไซค์มาดูบ้าน มาดูหน้าร้าน รออนุมัติวันเดียว ได้รับเงินเลยครับ พอได้รับเงินวันแรกครับ กู้ ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้รับเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ได้รับเพียง ๑๘,๐๐๐ บาท หักเป็นค่าดำเนินการ ๑,๐๐๐ บาท อีก ๑,๐๐๐ บาท เป็นค่าผ่อน ต้นรวมดอกของวันแรก แล้วต้องส่งอีก ๒๔ วัน วันละ ๑,๐๐๐ บาท รวมแล้ว ๒๕ วัน ต้องจ่ายทั้งหมด ๒๖,๐๐๐ บาท นั่นหมายความว่าดอกเบี้ยมากถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ต่อ ระยะเวลาเพียง ๒๕ วัน แต่ทำอย่างไรได้ครับ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในระบบได้ หรือถ้าได้ก็ยาก เอกสารเยอะแยะไปหมดครับ การเข้าถึงแบบนอกระบบ จึงเป็นทางออกสำหรับประชาชนที่เขาลำบากครับ กู้ไปก่อนผ่อนทีหลังครับ เวลาที่ประชาชน เขาเดือดร้อนไม่รู้จะไปหยิบยืมที่ไหนครับ จำใจต้องเอา จำใจต้องรับในแบบกติกา ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกกฎหมายแบบนี้ครับ
อีก Case หนึ่งเป็นการกู้อีกแบบหนึ่ง แบบนี้เรียกว่าดอกลอย คือจ่าย ดอกเบี้ยไม่ลดต้น จ่ายดอกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีต้นมาปิด ดอกพันละ ๒๐ หมื่นละ ๒๐๐ เช่น กู้ ๑๐,๐๐๐ บาท จ่ายดอกทุกวัน วันละ ๒๐๐ บาท แบบนี้หนักมากท่านประธานครับ พอกู้มาปิดต้นไม่ได้สักทีก็ต้องหาจ่ายดอกทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน พอรู้สึกไม่ไหว กู้นานไปแล้ว จ่ายแต่ดอกไม่หมดสักทีก็ไปกู้นายทุนเจ้าอื่น แล้วมาโปะเจ้าเดิมทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ เมื่อวันก่อนท่าน สส. วีรนันท์บอกกับผมว่ารับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน มาเหมือนกันครับ เดินเท้าเข้ามาที่สำนักงานเลยครับ บอกว่ากู้แบบดอกลอยนี่ละ เริ่มต้น ที่กู้ ๖,๐๐๐ บาทครับ กู้โปะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ กู้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด ๑๕ เจ้าหนี้ เป็นหนี้ จาก ๖,๐๐๐ เป็น ๑ ล้านกว่าบาท ในระยะเวลาเพียง ๑ ปี กับ ๘ เดือนครับ จนต้องเอาที่ดิน เอาบ้านเข้าไปจำนองเพื่อใช้หนี้ ปัจจุบันตอนนี้ยังเป็นหนี้อีกอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าบาท และไม่สามารถอยู่บ้านได้แล้วครับ ต้องหนีครับ เพราะว่าแก๊งเงินกู้นอกระบบแบบนี้ทวงหนี้ ไม่ได้ วันสองวันก็มาก่อกวนที่บ้าน มาด่าทอโวยวายที่ตลาด ล็อกประตูบ้าน ขู่ฆ่าทำร้าย ร่างกาย ทำลายข้าวของเหมือนกับข่าวที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ ท่านประธานครับ ประชาชน คนไทยจำนวนมากเพิ่งออกจากวิกฤติโรคระบาด แต่ต้องมาอยู่กับวิบากกรรมของการใช้หนี้ การเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้นอกระบบจะไปทำงานที่ไหนต้องลำบาก ก็ลำบาก ทุกคนทราบดี การหนีหนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่เขาก็รักชีวิต รักตัวกลัวตายก็เลยจำเป็นต้องหนีครับ ผมอยากเสนอวิธีการสำหรับแก้ปัญหาทางออกในระยะสั้น และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นตอ ของปัญหาโดยนโยบายระยะยาว จำเป็นต้องมีวิธีการเพื่อที่จะไม่ให้ปัญหานี้กลับมาวนซ้ำอีก ดังนี้ครับ
๑. รัฐบาลนำโดยตำรวจ และกรมสรรพากรจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้เจรจากับ เจ้าหนี้นอกระบบเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรมตามกฎหมาย เจรจาหนี้นอกระบบ ให้หักลบกลบหนี้ดอกเบี้ย และค่าปรับที่จ่ายเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
๒. เพิ่มช่องทางให้พี่น้องประชาชนธรรมดาเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ให้มากขึ้นซึ่งมาตรการที่เราอาจจะทำได้ เช่นมีวงเงิน Refinance ของสินเชื่อในระบบ ให้พี่น้องประชาชนครับ หรืออีกวิธีครับ มีวงเงินฉุกเฉินใน Application เป๋าตังที่เรามีอยู่ ให้กู้ได้ทันที ติดเครดิตบูโรก็ให้กู้ได้ จัดทำกฎหมายปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กมาก ๆ เพื่อจูงใจ ให้เจ้าหนี้นอกระบบขึ้นมาบนดิน มาเป็นเจ้าหนี้ในระบบที่คิดดอกเบี้ยกับประชาชนที่ต่ำลง ถูกต้องและเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนครับ
สุดท้ายนี้ผมขอฝากข้อเสนอแนะประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไปยัง คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นนี้ และฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมมั่นใจว่าทุกท่านรู้สถานการณ์ดีครับ แต่ทำไมแก๊งเงินกู้ยังมีอยู่ทั่วไปอย่างเปิดเผย ลอยนวล อยู่ได้ครับ บางเวลาจับทลายออกข่าวใหญ่โต บางเวลาไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทำไม มีบางรายโดนจับ บางรายไม่โดนจับ ผมหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมาย อย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้มีใครมาขูดเลือดขูดเนื้อ แสวงหาผลประโยชน์ ทำนา บนหลังของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยอีกต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล วันนี้ขอร่วม อภิปรายเสนอปัญหาเรื่องน้ำประปาในพื้นที่ และขอให้แก้ไขระบบน้ำประปาทั้งระบบ ก่อนอื่นอยากให้ท่านประธานดูรูป ขอ Slide ด้วยนะครับ
นี่คือน้ำประปาในเขตพื้นที่ขอนแก่น เขต ๑ ของ สส. ทนายป๊อก เขต ๒ ของผมเอง แล้วก็เขต ๓ ของ สส. ใหม่เอี่ยมอ่องครับ มีทั้งน้ำประปาหมู่บ้าน น้ำประปาตำบล น้ำประปาภูมิภาค ครบทุกรูปแบบ และมีปัญหา ทุกระบบ ผมขอแยกเป็น ๒ ประเด็น ดังนี้
ปัญหาของระบบน้ำประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากรูป ใน Slide ใครก็ตอบได้ว่าไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด สีขุ่นเหลือง ไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้แน่ ๆ ซักผ้าขาวก็เสียหายหมด ซักผ้าสีขาว ได้สีเหลือง นี่เป็นปัญหาที่มีมาตลอด ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบเสียที กี่ยุค กี่สมัยเราก็ยังเห็น สส. มาหารือปัญหาเรื่องน้ำประปาในสภา นี่ยุคไหนแล้วครับ น้ำประปา ยังขุ่นเหลืองไม่สะอาดอยู่เลยครับ ในเขตพื้นที่ขอนแก่น เขต ๒ ของผมยังมีปัญหาน้ำประปา ตำบลที่ยังใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ประปา อปท. หลายตำบลยังไม่มีประปาภูมิภาคเข้าถึง และเมื่อลงพื้นที่สำรวจปัญหาจากพี่น้องประชาชนร้องเรียนมา ปัญหาน้ำประปาเป็นปัญหา อันดับต้น ๆ ที่มีแทบทุกหมู่บ้าน ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ระบบการผลิตน้ำประปา การดูแล บำรุงรักษา ผู้ดูแลระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ที่สำคัญเลยก็คือผู้ดูแลระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมโดยตรง ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบน้ำประปา ผู้ที่ได้รับ การฝึกอบรมก็ไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้รับผิดชอบดูแลน้ำประปาหมู่บ้านโดยตรง แล้วบางพื้นที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันของผู้ดูแลระบบ ทำให้มีการดูแลระบบน้ำประปา ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลต่อการชำรุดเสียหายของระบบน้ำประปา พอชำรุดเสียหายแก้ไขปัญหา แบบไม่ถูกหลัก ประยุกต์ใช้ระบบประปามั่วไปหมด เอาระบบกรองผิวดินมาใช้กับระบบน้ำ ใต้ดิน ประยุกต์ดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ถูกหลักการ ก็ทำให้คุณภาพที่ได้ออกมาไม่เหมาะ แก่การอุปโภคบริโภค บางหมู่บ้านเก็บค่าน้ำหน่วยละ ๑๕ บาท แต่คุณภาพน้ำคือใช้ไม่ได้เลย รวมทั้งยังมีการทุจริต ตรวจสอบไม่ได้ของผู้บริหารจัดการน้ำของแต่ละหมู่บ้าน ไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างจริงจัง ประชาชนก็ร้องเรียนจนไม่รู้จะร้องใครแล้วครับ สุดท้ายก็ต้องทนใช้น้ำ ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน บางบ้านต้องซื้อน้ำใช้ถังละ ๑๒ บาท ๑๕ บาท ในการอุปโภค บริโภค บางหมู่บ้านเก็บค่าน้ำประปาไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ค่าไฟ ค่าสารเคมี ก็ทำให้ไม่ซื้อ สารเคมีใส่ สุดท้ายก็ตกมาที่ผู้ใช้น้ำ เพราะน้ำไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน วนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่รู้จบ
ปัญหาระบบน้ำประปาของประปาภูมิภาค เมื่อเทียบกับประปาหมู่บ้าน ประปาภูมิภาคก็ดีขึ้นมาหน่อย แต่สำหรับน้ำประปาภูมิภาคเริ่มต้นเลยครับ ปัญหาคือ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแรกใช้ของน้ำค่อนข้างสูงสำหรับพี่น้องประชาชน ปัญหาการจัดลำดับ ความสำคัญโครงการวางแผนขยายท่อจ่ายน้ำ ขยายเขตน้ำไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ขอยกตัวอย่างจากบ้านม่วงโป้ ตำบลสาวะถี มีการขยายพื้นที่การใช้น้ำประปาภูมิภาคเข้ามาในพื้นที่หมู่บ้าน และมีการทำ ประชาคมเพื่อยกเลิกการใช้น้ำประปาหมู่บ้านเดิม แต่ว่ายังมีน้ำประปาภูมิภาคไม่ทั่วถึง ทุกหลังคาเรือนก็ทำให้พี่น้องประชาชนต้องขุดเจาะบ่อบาดาลเอง ต้องซื้อน้ำใช้ หรือในพื้นที่ตำบลโคกสี อำเภอเมือง มีแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำใต้ดินและมีเป็นน้ำเค็ม ค่าสารเคมีในน้ำไม่ได้มาตรฐาน ไม่เหมาะต่อการอุปโภคบริโภค และไม่มีแหล่งน้ำอื่น ในการเอามาผลิตน้ำประปา แต่ก็ยังไม่ได้รับการขยายเขตเพื่อให้เข้าถึงประปาภูมิภาค เป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปีแล้ว แล้วอีกปัญหาของน้ำประปาภูมิภาคที่ผมได้รับเรื่องร้องเรียน บ่อยที่สุดคือน้ำไม่ค่อยไหล ไหลสีขุ่นบ้างแล้วก็ไหลอ่อนบ้าง ประปาภูมิภาคก็แก้ปัญหา ครั้งคราวตามปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาแบบถาวรเสียที แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่จริงใจ ในการทำงาน บางส่วนอาจมาจากบางสาขาจ้างบริษัททำงานแทน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลดลง ขาดการเฝ้าระวัง ตัวชี้วัดที่กำหนดก็ผิดเพี้ยน ตัวเลข รายงานกับหน้างานจริงไม่สอดคล้องกัน อาจจะไม่ได้เป็นทุกสาขา อันนี้ผมพูดในส่วนที่ พื้นที่ที่ผมลงพื้นที่สำรวจในเขตพื้นที่ของตัวเอง ผมก็อยากให้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำดีขึ้น ท่านประธานทราบ ไหมครับว่าน้ำประปาที่ประเทศญี่ปุ่นเหมาะต่อการบริโภคตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๐ หรือ ๑๓๖ ปีมาแล้ว แต่กลับมาดูที่ของไทยครับ อย่าว่าแต่ดื่มได้เลย เอาให้สะอาด ให้ได้มาตรฐาน เหมาะต่อการอุปโภคบริโภคยังยากเลยตอนนี้ ผมเคยสอบถามการประปา ส่วนภูมิภาคว่าน้ำประปาที่เรากรองผ่านระบบการกรองแบบของไทยสามารถดื่มได้ไหม การประปาส่วนภูมิภาคแจ้งว่าสามารถดื่มได้ แต่ที่เรามาถึงบ้านแล้วมันดื่มไม่ได้เพราะว่า บ้านเราท่อส่งน้ำเก่าแล้วก็กร่อนเป็นสนิม รวมถึงหัวก๊อกของบ้านเราใช้จากวัสดุที่หลากหลาย ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักพัน ในบ้านเราใช้หัวก๊อกที่คุณภาพไม่ดี ทำให้เกิดการสะสม ของเชื้อโรค เกิดการกัดกร่อนสีเคลือบต่าง ๆ ละลายลงเป็นสิ่งเจือปนในน้ำ จึงไม่เหมาะต่อ การอุปโภคบริโภค ท่อส่งน้ำส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นทำจาก Ceramic ที่ทนต่อการกัดกร่อน มีความทนทานนานไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปี วัสดุพวกนี้ก็จะไม่สลาย ไม่บุบ ไม่เจือปนไปในน้ำ
สุดท้ายนี้อยากฝากท่านประธานไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ เรื่อง การพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตรวจสอบสถานะ คุณภาพน้ำประปา สรุปข้อมูลประปาของหมู่บ้าน ชุมชน ประปา อปท. ประปาทุกหน่วยงาน ไม่ทราบว่าตอนนี้ข้อมูลเป็นอย่างไรบ้าง อยากให้รายงาน Update แล้วก็ส่งข้อมูลไปยัง คณะกรรมาธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยมีปัญหาที่หมักหมมแล้วแก้ปัญหา แบบลูบหน้าปะจมูกแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำประปา ก็แก้ปัญหากันแบบ หน้าแล้งขนน้ำไปหาคน หน้าฝนขนคนหนีน้ำ แต่ไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าฝนพี่น้องประชาชน ก็ยังทนใช้กับน้ำที่ไม่สะอาดอยู่ต่อไป เพื่อการแก้ปัญหาของน้ำประปาทั้งระบบ อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยจะได้ใช้น้ำ ที่สะอาด มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่คอนโดมิเนียมสูงในเมืองหลวง หรือหมู่บ้าน ตามชนบท ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๒ พรรคก้าวไกลครับ
วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ที่มีผลกระทบอย่างมากต่อพี่น้องประชาชนครับ ก็คือปัญหารถบรรทุกดินวิ่งผ่านชุมชน ในเขตตำบลแดงใหญ่ ตำบลสาวะถี ตำบลบ้านค้อ ตำบลสำราญ ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ก็ได้รับการเพิกเฉย จนมีข้อสังเกตว่ามีผลประโยชน์อะไรบังตาหรือไม่ เสียงความอัดอั้นรำคาญใจจากปัญหา รถบรรทุกขนดินวิ่งผ่านหน้าบ้าน ผ่านชุมชนตลอดทั้งวัน ทั้งรถพ่วง รถบรรทุกสิบล้อ รถบรรทุกหกล้อ ที่ต่างทำการขนดินจากพื้นที่ผ่านเขตชุมชนและเส้นทางสาธารณะวันละ หลายร้อยเที่ยว จนทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยที่ผ่านมา ได้มีการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและชัดเจน จนต้องทนอยู่กับฝุ่นที่ตลบอบอวลจากรถบรรทุกที่วิ่งผ่านตลอดทั้งวัน เศษดินที่ตกลงสู่ ทางสาธารณะและบรรทุกเกินกระบะและไม่มีการคลุมผ้าใบ อีกทั้งยังทำให้ถนนพังเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน รวมทั้ง ยังขับเร็วผ่านในเขตชุมชน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนอย่างมากครับ ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่าแต่ละเทศบาล แต่ละตำบล ก็ติดป้ายประกาศป้องกันมาตรการต่าง ๆ ตามทางเข้าออกของหมู่บ้านในฐานะที่เป็นหน่วยงานออกใบอนุญาตขุดดิน แต่ปัญหา ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แถมยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีการคลี่คลาย แม้ก่อนหน้านี้ทางจังหวัด ขอนแก่นเอง ก็รับทราบถึงปัญหาแล้วก็ข้อร้องเรียนพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รถบรรทุกดินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ชัดเจน จึงเรียน ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานขนส่ง แขวงทางหลวง แขวงทางหลวงชนบท ตำรวจทางหลวง ตำรวจในพื้นที่ ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดขอนแก่น เร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังและชัดเจน เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้รับ การแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมี ส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ของพรรคก้าวไกล รวมถึงทุกร่าง พ.ร.บ. ทั้ง ๗ ร่างที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ผมเห็นด้วยที่เราจะต้องมีพระราชบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาสถานการณ์ ฝุ่นควันที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หากรากฐานของชีวิตคือการศึกษาฉันใด กฎหมายก็ เป็นรากฐานของสังคมฉันนั้น ช่วงนี้ที่บ้านผมจังหวัดขอนแก่นมีประชาชนจำนวนมาก ร้องเรียนเรื่องการเผาไร่นา การเผาตอซังข้าวและการเผาไร่อ้อย แทบทุกพื้นที่ที่มีการเตรียม ทำนาปรังและพื้นที่ที่ปลูกอ้อย เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล ช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเข้าโรงงานน้ำตาลครับ จากร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดนของพรรคก้าวไกล แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากพื้นที่ เกษตรกรรมและการเผาในพื้นที่โล่ง ผมอยากจะสะท้อนให้เห็นถึงว่าทำไมเกษตรกรถึงต้อง เลือกวิธีการเผา ไร่นา การเผาตอซังข้าว การเผาไร่อ้อยและเราจะจัดการปัญหาที่ต้นตอนี้ได้ อย่างไร ท่านประธานครับ ผมได้ประสานกับเกษตรอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น พบว่านาปี นาปรังในอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่นมีประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ ไร่ ไร่อ้อยมีประมาณ ๓๖,๐๐๐ ไร่ รวมกันประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ มีรายงานการหยุดเผาไร่นาไร่อ้อยผลการดำเนินการของ เกษตรอำเภอมีโครงการหยุดเผาตอซังข้าวในพื้นที่เกษตร มีผลสัมฤทธิ์ว่ามีประชาชนไถกลบ ตอซังข้าวในอำเภอเมืองขอนแก่นเพียง ๗,๖๑๓ ไร่ หรือคิดเป็นเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่ นับรวมการเผาไร่อ้อย เป็นเพียงนาอย่างเดียวครับ สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดฝุ่น PM2.5 เกิดจากอุตสาหกรรม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดจากยานพาหนะการขนส่งการคมนาคม ๑๕ เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการผลิตไฟฟ้า ๘ เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ อีก ๗ เปอร์เซ็นต์แต่เกิดจาก การทำการเกษตรการ การเผาในพื้นที่โล่งถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ผมไปสอบถามพี่น้องเกษตรกร ผู้ทำนา ผู้ปลูกอ้อย ผมถามว่าเขารู้ไหมครับว่าการทำการเผานี้ทำให้มันเกิดมลพิษ เขารู้ครับ แต่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำวิธีเช่นนี้ แล้วทำไมถึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ผมจึงได้คำตอบ เขาตอบว่าเป็นเพราะต้นทุนของการผลิตนี้ ปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกรที่เลือกใช้วิธีการเผา เพราะว่ามันง่าย มันสะดวก รวดเร็ว ประหยัดต้นทุนครับ เกษตรกรทราบดีครับว่าการเผานี้ทำลายหน้าดิน ทำลายจุลินทรีย์ในดิน ธาตุอาหารในดิน ก็หายไป และที่สำคัญทำให้เกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ เมื่อราคาสินค้าทางการเกษตรที่เขา จะขายก็ไม่ได้มีราคาดีสักเท่าไร การลดต้นทุนในการผลิตจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกร โดยวิธีการลดต้นทุนแบบนี้ แต่กลับเป็นการไปเพิ่มต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และที่หนักไปกว่า คือลมหายใจที่ปราศจากอากาศบริสุทธิ์และสุขภาพที่ย่ำแย่ของพี่น้องประชาชนที่ตามมา และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก็เช่นกัน ทำไมต้องเผาอ้อยก่อนตัด หลัก ๆ เลยครับท่านประธาน การเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สามารถตัดอ้อยได้ง่าย รวดเร็ว ไม่เสียเวลา ประหยัดต้นทุน หาแรงงานในการตัดง่าย ตัดได้มากกว่าอ้อยสดถึง ๒ เท่าในเวลาเท่ากัน เกษตรกรจึงเลือก ที่จะเผาก่อนตัดครับ ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาการเผาอ้อยได้ก็คือโรงงานจะต้องไม่รับซื้ออ้อย ไฟไหม้เลยครับ ตามร่างพระราชบัญญัติของพรรคก้าวไกล หมวด ๓ การจัดการฝุ่นพิษ ภายในประเทศ เพราะทุกวันนี้ราคาอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ราคารับซื้อต่างกันไม่มากเลยครับ สัดส่วนของโรงงานรับซื้ออ้อย ทั้งอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้หลังเปิดหีบมา ๑ เดือนที่ผ่านมานี้ เองครับ ทั้งประเทศเรามี ๕๗ โรงงานที่รับซื้ออ้อย มีการรับซื้ออ้อยไปแล้วเป็นอ้อยสด ๑๕ ล้านตัน อ้อยไฟไหม้ ๕ ล้านตัน จะเห็นว่าเป็นอ้อยไฟไหม้กว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และ ๑ ใน ๔ ครับ เราจะเห็นว่าต้นตอของปัญหาจริง ๆ นั้นคือเกษตรกรเขาไม่มีทางเลือก เพียงต้องการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในการผลิต เพื่อที่จะให้มีผลกำไรพอเหลือ มีเงินเลี้ยง ปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้าง เรามาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างเดียว เป็นปัญหาก็จะยังวนเวียนแบบนี้อยู่เหมือนเดิม ถ้าเราจะห้ามเผาก็ต้องมีช่องทาง ช่วยเหลือเกษตรกรด้วย และต้องเป็นการแก้ปัญหาที่โครงสร้างจริง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้ารัฐบาลจะแก้อย่างจริงจัง รัฐบาลจะต้องเพิ่มเครื่องจักรทางการเกษตร เพื่อนำมาทดแทนแรงงาน เพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนา ชาวไร่ ถ้าแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไป เผาเพื่อลดต้นทุนแบบเดิม รวมถึงต้องทำมาตรการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการเผา เช่น เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคมที่ผ่านมาที่เทศบาลเมืองศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นของผมจัดกิจกรรม Kick Off ไถกลบตอซังข้าว เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไถกลบตอซังข้าวจะได้รับ การสนับสนุนจากเทศบาลไร่ละ ๑๐๐ บาท นี่ก็เป็น ๑ ตัวอย่างที่เป็นมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนรู้และเข้าใจทางออกของการไม่เผา แค่ให้เกษตรกร ทุกคนรู้ว่าเผาฟางเท่ากับเผาเงิน โรคร้ายก็จะรุมล้อม โลกร้อนก็จะรุมเร้าครับ เพราะประโยชน์ ของฟางมีเยอะครับ อัดก้อนขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ก็ได้ ๑ ไร่ที่ทำนาหลังเก็บเกี่ยวสามารถ อัดฟางข้าวได้ถึง ๒๐ ก้อน ถึง ๒๕ ก้อน ก้อนหนึ่งราคา ๒๕-๓๐ บาท หรือจะทำเป็นปุ๋ยหมัก ทำเป็นวัสดุคลุมดินก็ย่อมได้ แต่มากกว่าเงินคืออากาศที่บริสุทธิ์ที่เราจะได้หายใจในโลก ที่สะอาดขึ้น เพียงเท่านี้เทศกาลหิมะดำของประเทศไทยก็จะไม่มีอีกต่อไป นี่ละครับ ทางออก ของการเลิกเผาลด PM2.5 ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทาง การแก้ปัญหาการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาขยะไม่ได้ เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข จากสถิติโดยกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง ๒๕ ล้านตันต่อปี หากเทียบกับจำนวนประชากรคนไทยทั้งสิ้น ๖๙,๘๐๐,๐๐๐ คน นั่นเท่ากับ ว่าคนไทย ๑ คนสามารถสร้างขยะได้ถึง ๓๖๐ กิโลกรัมต่อปี ขอสไลด์ด้วยนะครับ
จำนวนปริมาณขยะที่มหาศาลนี้ หากมีการจัดการที่ไม่ดีพอก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็สุขภาพของพี่น้อง ประชาชน การจัดการขยะของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการกำจัดขยะ ส่วนใหญ่ยังทำไม่ถูกวิธี รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการกำจัดขยะที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนด หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กทม. มีค่าจัดการขยะทั้งหมดปีหนึ่ง ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี จัดเก็บค่าจัดการขยะจากประชาชนผู้ประกอบการได้ ๒,๘๐๐ ล้านบาท ต่อปี นั่นหมายความว่าแต่ละปีรัฐบาลจะต้องมีเงินอุดหนุนเข้าไปกว่า ๑๗,๒๐๐ ล้านบาท ซึ่งหากระบบการจัดการขยะที่ดีตัวเลขนี้ก็อาจจะลดลงได้ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาการจัดการ ขยะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่จังหวัดขอนแก่นมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจังหวัด ขอนแก่น เดิมมีการทำ MOU ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นเพื่อกำจัดขยะในส่วนของพื้นที่ เทศบาลของนครขอนแก่นเท่านั้นครับ แต่ปัจจุบันมีกว่า ๒๙ อปท. นำขยะมากำจัดที่นี่ กำลังในการกำจัดขยะของโรงไฟฟ้าขยะ แห่งนี้ คือไม่เกิน ๔๐๐ ตันต่อวัน แต่ปริมาณขยะกว่า ๑,๘๐๐ ตันต่อวันของจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมด ถ้าโรงไฟฟ้าขยะกำจัดได้ ๔๐๐ ตันต่อวัน แล้วส่วนที่เหลือไปไหน ผมขอยกตัวอย่าง จากที่บ้านผมอยู่ที่ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณขยะเดือนหนึ่งกว่า ๒,๐๐๐ ตัน ได้รับโควตาในการกำจัดขยะที่โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ ๑,๒๐๐ ตันต่อเดือน แล้วอีก ๘๐๐ ตันต่อเดือนก็ต้องบรรทุกไปกำจัดที่โรงไฟฟ้าขยะจังหวัดสระบุรีบ้าง หรือบางทีก็เอา รวมไว้บนรถขนขยะ หรือแม้แต่ปล่อยไว้ตามถังขยะตามบ้านเรือนพี่น้องประชาชนเพื่อที่จะ รอเก็บให้มันได้โควตาของเดือนถัดไป สุดท้ายก็เป็นการสร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชน
จากที่กล่าวมาข้างต้นผมจึงแสดงให้เห็นว่างบประมาณในการบริหารจัดการ ขยะที่ไม่เพียงพอนำมาสู่ประสิทธิภาพการจัดการขยะ แม้จะมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่คอยให้บริการจัดการเก็บขยะ แต่ด้วยปริมาณขยะที่มีจำนวนมากทำให้ขยะบางส่วนไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการการกำจัด ทำให้ขยะตกค้างตามที่พักอาศัยแหล่งชุมชน ท่อระบายน้ำ บางส่วนไหลลงแม่น้ำลำคลองหรือลักลอบทิ้งตามบริเวณริมถนน ซึ่งปัญหาขยะตกค้าง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ในต่างประเทศรัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาขยะ ทั้งการกำหนด เป้าหมาย การลดปริมาณขยะในครัวเรือน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ การส่งเสริม การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการขยะอย่างยั่งยืนคือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและแผนดำเนินการที่ชัดเจนของภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การให้ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดการขยะ เพราะกระบวนการกำจัดขยะที่ถูกต้องจะส่งผลดีเชิงเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยรวมดีขึ้นได้ เพื่อให้รัฐ มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ ผมมีข้อเสนอแนะ ๓ ป ที่รัฐบาลจะต้อง ทำ ป ที่ ๑ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายด้วยการให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะ และมีการออก ข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนที่จะส่งมอบให้กับท้องถิ่น ป ที่ ๒ คือการปรับเพิ่มงบประมาณในการพัฒนากลไก การลด คัดแยกกำจัดขยะ และกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการสร้างแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะ ในครัวเรือนและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนากลไกการคัดแยกกำจัดขยะ เพื่อนำไปเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการกำจัดขยะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีจุดคัดแยกขยะประจำชุมชน พัฒนาจุดบริการ One Stop Service ในการซื้อและ คัดแยกในแต่ละชุมชน ควรมีการกำหนดวันในการทิ้งขยะและประกาศให้เป็นมาตรฐาน เดียวกันทั่วประเทศ ชุมชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยมี อสม. เป็นคนกลาง ในการดำเนินงาน สร้างองค์ความรู้และมีบทบาทในการจัดการขยะในชุมชน ส่งเสริม การสื่อสารด้านการจัดการขยะ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทในการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้กับประชาชน เช่น การคัดแยกขยะ ป สุดท้ายคือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในการลงทุนและการหารายได้จากการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุน ในการทำธุรกิจกำจัดขยะให้มากขึ้น ส่งเสริมมาตรการทางภาษี เช่น จัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขอนิดหนึ่งครับ จากบริษัทผู้ผลิตโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำ จากพลาสติกครับ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการหารายได้จากการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขยะมูลฝอยและ เพิ่มอัตราค่าจัดเก็บขยะจากร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหารให้เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะในแต่ละปี ท่านประธานครับ ถ้าขยะถูกคัดแยก ขยะเป็นได้ ทั้งพลังงาน ปุ๋ย ไฟฟ้า และอื่น ๆ และขยะก็สามารถเป็นมลพิษที่ร้ายแรง มลพิษบนบก ในน้ำ ในอากาศ ในสัตว์ ในพืชและในตัวเราครับ สุดท้ายขยะจะเป็นอะไร จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถังขยะ หน้าบ้านเราทุกคน ขอบพระคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานครับ อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญนิรโทษกรรม สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๘ คน ๑. นายชัยธวัช ตุลาธน ๒. นายรังสิมันต์ โรม ๓. นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ๔. นางอังคณา นีละไพจิตร ๕. หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ ๖. ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันจิรา สมบัติพูนศิริ ๗. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ๘. นางสาวชญานิษฐ์ พูนยรัตน์ ขอผู้รับรอง ครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกลครับ ขอหารือ ปัญหาพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ดังนี้ครับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่าเส้นจราจรในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองขอนแก่นในหลาย ๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองศิลา เขตพื้นที่ เทศบาลตำบลบ้านเป็ด เขตพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น หลุดร่อน ซีดจาง ไม่ชัดเจนครับ โดยเฉพาะช่วงถนนมิตรภาพที่ผ่านตัวเมืองถนนมะลิวัลย์ช่วงทางเข้าสนามบินขอนแก่น จึงเรียนผ่านท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลบ้านเป็ด เทศบาลนครขอนแก่น เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทยช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการขยายเขตน้ำประปาภูมิภาคไปยังบ้านโคก บ้านนางาม บ้านไก่นา บ้านปลาเซียม เทศบาลตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กว่า ๑,๐๐๐ ครัวเรือน ปัจจุบันพี่น้อง ประชาชนใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่มีระบบกลั่นกรองที่ไม่ได้มาตรฐาน แล้วประกอบกับบางช่วง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อพี่น้องประชาชนครับ
เรื่องที่ ๓ มีการลักลอบใช้ไฟหลวงขุด Bitcoin จำนวน ๒ แหล่ง ผ่านมากว่า ๒ ปี เสียหายกว่า ๑๐๐ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการขอหมายศาลค้น ทั้ง ๒ จุด คือบ้านหนองตาไก้ ตำบลสาวะถี แล้วก็บ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า ภายใต้ การอำนวยการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้กั้นแนวเขตและได้รับมอบหมายให้ฝ่ายปกครองเฝ้าพื้นที่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นายสมชาย ออมกลาง กำนันตำบลสาวะถีแจ้งผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจับผู้กระทำความผิดแล้วก็ขยายผล เพราะคิดว่า ไม่ได้มีแค่ ๒ จุดนี้ อยากให้เร่งดำเนินการ ตอนนี้นอนเฝ้ามา ๓-๔ คืนแล้ว เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ ดำเนินการอย่างใดต่อ เรื่องก็นิ่งเงียบแถมไม่เป็นข่าว กลัวจะเงียบหายไปเฉย ๆ ครับ ฝากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนเร่งดำเนินการด้วยครับ
เรื่องสุดท้าย ท่านประธานครับ เรื่องนี้ไม่พูดไม่ได้เลย เพราะว่าผมไปลงพื้นที่ ไม่ว่าหมู่บ้านใดในเขตพื้นที่ พี่น้องประชาชนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยครับ คือเรื่องปัญหา ยาเสพติด ไม่ต้องถามว่ามีที่ไหน เพราะมีทุกหมู่บ้านครับ ปราบสักทีเถอะครับ เมื่อไรจะเป็น เรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เมื่อไรจะเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ตอนนี้ประชาชนอยู่แบบหวาดระแวง ไม่รู้ว่าวันไหนจะโดนทำร้ายจากผู้เสพยาเสพติดเมาคลุ้มคลั่ง แจ้งตำรวจก็ไม่มาจับ เอาไป บำบัดก็ไม่ยอม ก็ต้องทนใช้ชีวิตแบบหวาดระแวง ฝากท่านประธานไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการสักทีเถอะครับ ทำให้เป็นรูปธรรมเอาจริงเอาจังสักทีครับ ทำควบคู่ไปกับปัญหา ปากท้องพี่น้องประชาชนก็ทำได้ครับ ขอบพระคุณครับ