กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ จริง ๆ ทราบจากข่าวแล้วว่าท่านนายกรัฐมนตรี ท่านก็ติดภารกิจไปต่างประเทศ แต่ว่าเท่าที่เห็นก็คือว่าท่านมีการมอบหมายรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย แล้วก็มอบหมายอีกต่อหนึ่ง แต่ว่าไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่มาเลย จริง ๆ อยากจะแจ้งว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงขยะอ่อนนุช รวมถึงปัญหามลพิษจากโรงขยะต่าง ๆ ทั้งประเทศเป็นเรื่องใหญ่ครับ ก็อยากจะฝาก ท่านรัฐมนตรีให้ทุกท่านครับ สัปดาห์หน้าอยากจะให้มาตอบคำถามได้ในส่วนของ กระทู้ถามนี้ด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ ดอกไม้ ทับช้าง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อรับทราบรายงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ของสำนักงาน กกพ. ขอ Slide ด้วยนะครับ ท่านประธานครับ
Slide ถัดไป ในส่วนของ สถิติจากรายงานผมเองมีโอกาสได้ไปอ่านในรายงานฉบับนี้ก็ได้ไปเห็นสถิติรายงานที่มีการระบุ เรื่องของผลการดำเนินงานในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ซึ่งผมเองได้มีโอกาสที่จะไปดูสนใจ ในตัวของ ๒ ตารางใน Slide ด้านบนนี้ก็คือว่าในตัว Slide ด้านซ้ายมือเป็น Slide ที่ ๑ Slide ทางด้านซ้ายมือมีการระบุในส่วนของสถานะของการผลิตไฟฟ้าที่ กกพ. ได้ดูแลอยู่ ซึ่ง มีการแยกออกเป็นเชื้อเพลิงหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานขยะ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ รวมไปถึงเรื่องของพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งก็มีการแยกเป็นส่วนว่ามีการใช้กำลังการผลิตจากเท่าไร เป็นเท่าไรบ้าง ก็จะมีการแบ่ง ออกเป็นที่มีโครงการที่ผูกพันกับรัฐกับส่วนของโครงการที่มีการผลิตแล้วก็จำหน่าย กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งส่วนของโครงการที่ผลิตกับรัฐก็เป็นส่วนใหญ่ของในส่วนนี้ ก็คือว่าผลิตไป รวม ๆ กันแล้วก็เกือบ ๆ ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ส่วนตารางทางด้านขวามือ ก็คือส่วนของตาราง ที่เป็นจำนวนใบอนุญาตที่เราได้มีการออกใบอนุญาตในช่วงปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเห็นว่ามีการออกใบอนุญาตในส่วนของใบอนุญาตกิจการพลังงานส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของกิจการไฟฟ้าเป็นหลักทั้งในปี ๒๕๖๓ แล้วก็ปี ๒๕๖๔ แต่สิ่งที่ในตัวของรายงานฉบับนี้ไม่ได้บอกไว้ก็คือว่าในช่วงปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ก็มีคำสั่งที่จะปิดปรับปรุง รวมไปถึงคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตในตัวของโรงงานบางโรงงานด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการระบุไปในรายงานนี้ ซึ่งผมเองได้ไปอ่านเพิ่มเติมใน Website ของสำนักงาน กกพ. ก็พบว่า ๑๔ ลำดับ ก็คือ ๑๔ โรงงานได้มีการออกคำสั่งที่มีการปิด ปรับปรุงหรือพักใช้ใบอนุญาตไป ซึ่งในส่วนนี้อย่างที่ผม Highlight ไปในตัวของคอลัมน์ ที่เขียนว่าปีที่อนุญาต ในส่วนนี้จะเห็นว่าจะมีการ Highlight ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ก็คือเป็นการ Highlight ในตัวของที่มีความเกี่ยวข้องกับปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของรายงานนี้ ก็คือจะเห็นว่ามีอยู่ ๒ โรงงาน ก็คือโรงงานที่กรุงเทพมหานคร ๑ โรงงาน แล้วก็ที่นครสวรรค์ อีก ๑ โรงงาน ซึ่งทั้งสองโรงงานนี้ก็ได้รับใบอนุญาตในปีงบประมาณนี้ แล้วปัจจุบันก็ยังอยู่ ระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่ง ก็คือยังปิดปรับปรุงอยู่ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการประกอบ กิจกรรมตามปกติ ในส่วนของคอลัมน์ถัดไปก็จะเป็นเรื่องของปีที่ออกคำสั่ง ก็คือตัวที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ๒ แห่ง ที่อุดรธานีแล้วก็ที่นครราชสีมา ทั้ง ๔ แห่งนี้ก็มีการออกคำสั่งให้ถูก ปรับปรุงแล้วก็พักใช้ใบอนุญาตในช่วงปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๕ ด้วย ก็จะเห็นว่า สถานะทั้ง ๔ โรงงานตอนนี้ก็มีการประกอบกิจการตามปกติแล้ว ซึ่งสำหรับในส่วนนี้ ขอยกตัวอย่างใน Slide ถัดไปครับ ในส่วนของ Slide นี้ก็จะเป็นตัวอย่างของตัวโรงงานขยะ ที่มีการสั่งให้ปิดปรับปรุง ซึ่งมาออกใบอนุญาตในปี ๒๕๖๓ ก็คือตัวของโรงงานในกรุงเทพมหานคร ในส่วนนี้เป็นตัวอย่างของโรงงานที่อ่อนนุช ซึ่งในตัวของโรงงานที่อ่อนนุชก็คิดว่าท่านประธาน รวมไปถึงประชาชนทางบ้านก็อาจจะทราบนะครับ อาจจะได้ยินข่าวมาบ้างว่ามีเรื่องของ การร้องเรียน เรื่องของกลิ่นเหม็นต่าง ๆ นานา ซึ่งที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนก็มีการร้องเรียน ผ่านไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงพรรคก้าวไกล แล้วก็ทาง กกพ. ซึ่งก็แน่นอนทาง กกพ. เองก็ออก คำสั่งในการที่จะสั่งให้มีการปิดปรับปรุงโดยการพักใบอนุญาตไปก่อนในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือปี ๒๕๖๕ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ในตัวของโรงงานนี้เนื่องจากว่าเหตุผล ก็คือเรื่องของการที่ CoP ดำเนินการไม่ครบ แล้วก็ไม่มีเรื่องของระบบในส่วนของการติดตาม ควบคุมมลพิษรายงานมลพิษต่าง ๆ ก็ทำให้มีการออกคำสั่งนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ตัวของโรงงานนี้ ก็มีการเกิดขึ้นจากคำสั่ง คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงอยู่ แล้วยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินกิจการตามปกติ ซึ่งปัจจุบันก็ต้องบอกว่ายังวน Loop อยู่ตรงนี้ครับ สิ่งที่ผมอยากจะฝากท่านประธานถามไปยังทางผู้ชี้แจงก็คือว่าจากการที่ ในคำสั่งของการพักใบอนุญาต เรามีการระบุว่าเรามีการจะพักใบอนุญาตนี้ไปเรื่อย ๆ หากว่า พักไปแล้วไม่ดีขึ้นถึงขั้นจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นในช่วงที่มีการพักใบอนุญาตมาแล้ว เป็นปี ๆ ผมจึงขอสอบถามต่อไปว่าในส่วนนี้เรามีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องพักนานเท่าไร ถึงจะนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต หรือว่าหลักเกณฑ์อื่น ๆ เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีตัวเตาเผาใหม่ที่อ่อนนุชรวมไปถึงที่หนองแขมที่จะสร้างขึ้น อันนี้เป็นคนละโรงกัน กับใน Slide ที่ผ่านมา ตัวนี้เป็นเตาเผาขยะอีกตัวหนึ่งที่ยังไม่ได้สร้างในปัจจุบันนี้ แต่ว่า กำลังจะสร้างในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจริง ๆ โครงการนี้ก็ต้องบอกว่าติดหล่มอยู่มาปีสองปีแล้ว เพราะว่ามีปัญหาในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงการที่ประชาชนในพื้นที่เองก็มี ข้อกังวลใจหลายประการอยู่เหมือนกัน ดังนั้นในส่วนนี้ผมเองก็ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า ในตัวของเตาเผาขยะที่กรุงเทพมหานครกำลังจะทำขึ้นมา ในตัวนี้จริง ๆ ก็ติดค้างกันอยู่ที่ กกพ. อยากจะให้ทาง กกพ. ให้ความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือว่าติดขัด ตรงไหน อย่างไร เพื่อจะให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เองก็สบายใจมากขึ้น ดังนั้นก็อาจจะต้อง ขอให้ทางผู้ชี้แจงรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ แล้วก็คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ เป็นหลัก ทั้งหมดทั้งมวลครับท่านประธานครับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเองจะขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงเพื่อจะให้รายงานฉบับนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัญหาของ พี่น้องประชาชนได้รับการแก้ไขได้ดียิ่งขึ้นด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ ดอกไม้ ทับช้าง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับก่อนอื่นผมต้องขอแสดง ความเสียใจกับพี่น้องประชาชนครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตลาดมูโนะ ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตเป็น ๑๐ คนนะครับ แล้วก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลัก ร้อยคนนะครับ แล้วก็มีบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนที่สูญเสียที่เสียหายกันไปนับ ๒๐๐ หลังคาเรือนในรัศมี ที่เกิดขึ้น ๕๐๐ เมตร หรือครึ่งกิโลเมตร ท่านประธานครับ ที่ผ่านมาผมต้องบอกกับท่านประธานอย่างนี้ครับว่า ผมเองมีความสงสัยครับว่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วโกดังพลุที่มีความไวไฟ ที่มีความอันตรายแบบนี้ตั้งอยู่ใน พื้นที่ชุมชนในตลาดได้อย่างไรท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมขอ Slide ด้วยนะครับ
จาก Slide นะครับ ท่านประธานครับ ต้องบอกว่าผมเองได้ไปตรวจสอบในผังเมืองว่าในกฎหมายผังเมือง ในพื้นที่นั้นมีการบังคับไว้อย่างไรครับท่านประธาน ผมก็พบว่าในพื้นที่นี้ ในบริเวณ ที่โกดังพลุตั้งอยู่เป็นพื้นที่สีแดงครับท่านประธาน สีแดงนี้ก็คือพื้นที่พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากครับ ซึ่งพื้นที่นี้ความจริงแล้วเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นที่สุด และไม่ควรที่จะมีการตั้งสถานประกอบการต่าง ๆ ที่มีวัตถุอันตรายเหล่านี้ ซึ่งเป็น ความเสี่ยงอย่างยิ่งกับชีวิตของพี่น้องประชาชนครับ ก็ต้องถามว่าการปล่อยปละละเลย ให้มีการตั้งแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ แน่นอนว่าพื้นที่นี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียง ครั้งแรกที่เกิดขึ้นครับ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และจะ ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายถ้าหากว่าเราไม่มีการแก้ไขให้ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นอีก ท่านประธานครับ ผมขอ Slide ถัดไปครับท่านประธาน
ใน Slide ถัดไปครับ อันนี้ผมอยากจะยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่อาจจะมี ความใกล้เคียงกัน แต่อาจจะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวนั่นก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ ๒ ปีที่แล้วกับเหตุการณ์ที่โรงงานเม็ดโฟมระเบิดที่กิ่งแก้วนะครับ ซึ่งในพื้นที่นี้ก็เกิด ความเสียหายในระดับที่คล้าย ๆ กัน แล้วก็มีความรุนแรงมาก ๆ ด้วยนะครับ ก็คือว่า พี่น้องประชาชนมีทั้งสูญเสียชีวิต มีทั้งบาดเจ็บ มีทั้งทรัพย์สินบ้านเรือนประชาชนที่เสียหาย ตอนนั้นพี่น้องเขตประเวศบ้านผมนี่นะครับก็อพยพครับ รัศมี ๕ กิโลเมตรจากโรงงานก็ต้อง อพยพ ในพื้นที่นี้นะครับ ในตัวของโรงงานที่มีการตั้งอยู่ก็ไปตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเช่นเดียวกัน แต่ถามว่าเหมือนกันเสียทีเดียวไหม ก็อาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะว่าแต่เดิม ตัวโรงงานที่เกิดเหตุก็มีการตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายผังเมือง แต่ว่าตอนหลังผังเมือง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ๒ เคสนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก ๆ เพราะว่ามีลักษณะที่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินหลักที่กำหนดไว้ ตามผังเมืองรวม ตามกฎหมายผังเมือง แต่ที่เหลือนอกจาก ๒ เคสนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องบอก ว่าจริง ๆ แล้ว Case ที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังมี Case อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นเรื่องของ พลุไฟ เรื่องของดอกไม้เพลิงต่าง ๆ ที่เราพบว่ามีปัญหาต่าง ๆ นานามากมาย เราพบว่า กรุงเทพมหานครอาจจะไม่มีแล้วตามกฎหมายต่าง ๆ แต่ว่าความจริงแล้วก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะยังมีบางพื้นที่ที่ยังลักลอบทำกันอยู่นะครับ อาจจะยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีการเก็บกักอยู่ในโกดังที่เราไม่รู้อยู่ใกล้บ้านท่าน อย่างเช่น แถวอ่อนนุช แถวแยกประเวศก็ยังมีพี่น้องประชาชนที่แจ้งเข้ามาเสมอครับว่ายังมีการทำพลุ อยู่ด้วยครับ แน่นอนว่าผังเมืองในบริเวณนั้นไม่ได้มีการอนุญาตแน่นอน เพราะว่าเป็นพื้นที่ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นพื้นที่สีเหลืองครับท่านประธาน ต้องบอกว่าความเสี่ยงของ กรุงเทพมหานครไม่ได้จบเพียงเท่านี้นะครับ กรุงเทพมหานครยังมีสถานประกอบการที่มี การเก็บวัตถุอันตรายรวมไปแล้วทั้งสิ้น ๔๕๕ แห่ง ต้องบอกว่า ๔๕๕ แห่งนี้เป็นเพียงจำนวน ตามที่มีการบันทึกไว้ รายงานโดยจดทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง ยังไม่รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้ มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องด้วยนะครับ ทั้ง ๔๕๕ แห่งนี้ก็กระจายอยู่ในพื้นที่หลัก ๆ หลายบริเวณ ซึ่งมากที่สุดในเขตลาดกระบัง ในเขตบางขุนเทียน และเขตประเวศครับ ท่านประธาน ผมคิดว่าสุดท้ายนี้เราก็คงจะต้องทำให้เหตุการณ์ที่สุไหงโก-ลก เป็นเหตุการณ์ สุดท้ายที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ผมคิดว่าถึงเวลาจริง ๆ ครับที่เราจะต้องมาบังคับใช้ผัง เมืองอย่างจริงจัง และต้องมีเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานต่าง ๆ ที่คอยตรวจด้วยว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามผังเมืองรวมหรือไม่ครับ
สุดท้ายนี้ผมต้องบอกว่าผมขอสนับสนุนญัตตินี้ครับ เพื่อที่จะให้ ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเกิดขึ้นในทุก ๆ พื้นที่ต่อไปในอนาคตครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ ดอกไม้ ทับช้าง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อรับทราบรายงาน การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านก็คงจะได้อภิปรายในภาพรวมของรายงานไปแล้ว ว่าเป้าหมายส่วนใหญ่ยัง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ท่านได้วางไว้ หรือว่าการดำเนินการที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ท่านได้วางไว้ สำหรับผมรอบนี้มาก็น่าจะเป็นการลงในรายละเอียดของแผนแม่บทที่ ๖ ก็คือพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ
ท่านประธานครับ ก่อนอื่นขอ Slide ถัดไปเลยฝ่ายโสตครับ สำหรับประเด็นที่ ๖ พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในส่วนนี้ก็จะเห็นว่าก็จะมีอยู่ ๓ เป้าหมายในระดับแผนแม่บทย่อย ก็คือแผนแม่บท ๓ แม่บทย่อย ๓ ข้อ
ข้อ ๑ ก็คือเรื่องของการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำ
ข้อ ๒ ก็คือเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้วก็มลพิษต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ
ข้อ ๓ ก็คือเรื่องของความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรม
ซึ่งในส่วนนี้ท่านก็จะมีการแบ่งสีในรายงานมา ในส่วนของสีเขียวก็คือ ท่านบอกว่าเป็นการผ่านเป้าหมายในปีนี้ ส่วนสีส้ม ก็คือยังไม่ผ่านเป้าหมายในระดับเสี่ยงนะครับ Slide ถัดไปครับ ในส่วนของเป้าหมายตามแผนแม่บทย่อยที่ ๑ ในส่วนของการพัฒนาเมือง ที่เป็นการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ในรายงานท่านก็เขียนเรื่องของตัวชี้วัด ไว้ ๒ ตัว ตัวที่ ๑ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แล้วก็ข้อที่ ๒ ตัวชี้วัดที่ ๒ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองอัจฉริยะ เริ่มจากตัวชี้วัดที่ ๑ ก่อน ท่านประธานครับ ใน Slide นี้ครับ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเดิมผมเองก็สงสัยว่า ท่านวัดอย่างไร ก็เห็นว่าเป็นการวัดด้วยการใช้ในส่วนของสัดส่วนประชากรเมือง เทียบกับสัดส่วน ประชากรชนบท ถ้าเกิดพูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องของสัดส่วนประชากรเทศบาล เทียบกับสัดส่วน ประชากรของ อบต. นะครับ ซึ่งถ้าเกิดว่าท่านดูในตารางด้านขวาบน รวมไปถึง Text Box ด้านขวาด้วย ก็จะเห็นว่าตัวของเมืองพื้นที่เป้าหมายมีทั้งหมด ๖ เมือง ก็จะเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แล้วก็เป็นพื้นที่ EEC เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา แล้วก็ภูเก็ต ซึ่งในตัวของรายงานก็มีการเขียนว่าในตัวของพื้นที่เป้าหมายทั้ง ๖ พื้นที่ตรงนี้มีพื้นที่เฉลี่ย ที่เป็นประชากรสัดส่วนประชากรเมืองก็จะเห็นว่าผ่านเกณฑ์อยู่ที่ประมาณ ๕๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศทุกจังหวัดนะครับ ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๓๔ ซึ่งที่ผมสงสัย ก็คือว่าการวัดอย่างนี้เป็นไปได้จะถูกต้องหรือไม่ เพราะว่าความจริงแล้วเรื่องของการ พัฒนาเมืองถ้าหากท่านบอกว่ามันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ก็คงมีความจำเป็นว่าสัดส่วน พื้นที่เมืองก็ควรที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือว่าสูงกว่า Mean ถูกไหมครับ แต่จะเห็นว่าในตาราง ก็ยังมีบางเมืองที่ยังตก Mean อยู่ อย่างเช่นในตารางก็จะมีเมืองหนึ่งอยู่ที่ ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่ผ่าน Mean อันนี้ก็ต้องถามว่าเป็นการผ่านหรือไม่สำหรับเรื่องของการกระจาย ความเจริญนะครับ สำหรับในตัวของเป้าหมายที่ ๑ ของตัวชี้วัดที่ ๑ ใน Slide ถัดไปครับ Slide นี้ก็คือว่าในตัวของตัวชี้วัดที่ ๒ ก็เป็นเรื่องของเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในส่วนของ เมืองอัจฉริยะตอนนี้ท่านมีการประกาศเมืองอัจฉริยะไปแล้วทั้งสิ้น ๓๐ เมือง ซึ่งใน ๓๐ เมืองนี้ ท่านก็ยังเขียนระบุในรายงานอีกว่า ๓๐ เมือง ก็คือการผ่านเป้าหมายไปแล้วถึงปี ๒๕๘๐ นั่นหมายถึงว่าตัวของตัวชี้วัดนี้ท่านสามารถที่จะผ่านเป้าหมายล่วงหน้าได้นานเกือบ ๑๕ ปี แสดงว่าตัวชี้วัดตัวนี้อาจจะไม่ได้มีการท้าทายใด ๆ หรือไม่ และที่สำคัญเมืองอัจฉริยะ ท่านจะทำอย่างไรให้สามารถที่จะได้เป็นเมืองที่อัจฉริยะจริง ๆ เป็น Smart City ได้จริง ๆ ครับ เพราะว่าที่ผมดูจากที่อ่านในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ท่านมีการระบุในตัวของการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๕ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง การใช้ประโยชน์ ที่ดินต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นะครับ สำหรับเรื่องของการผังเมืองอย่างนี้ เรื่องของ การพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองที่ท่านบอกว่าท่านดำเนินการแล้ว ผมก็ต้องถามว่าส่วนใหญ่ ในส่วนของถนน เสนอแนะตามผังเมืองมีการดำเนินการอย่างไร แล้วมีการดำเนินการหรือไม่ เพราะว่าเท่าที่ผมทราบมาถนนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการทำตามผังเมืองจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีการ บรรลุจริง ๆ Smart City จะเกิดขึ้นได้อย่างไร Slide ถัดไปครับ ในส่วนนี้น่าจะเป็น Slide ที่เป็นเรื่องของเป้าหมายที่ ๒ ก็คือตามแผนแม่บทย่อยนะครับ ซึ่งในตัวของแผนแม่บทย่อย ที่ ๒ นี้ก็ให้ความสำคัญในส่วนของสิ่งแวดล้อม แล้วก็ส่วนของมลพิษต่าง ๆ ซึ่งท่านก็มีการ ระบุว่ามลพิษที่มีปัญหาต่าง ๆ ก็จะแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทหลัก ไม่ว่าจะเป็นขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง ซึ่งเนื้อหาในรายงานก็มีการยอมรับว่าในส่วนของ เป้าหมายที่ ๒ ตัวนี้ก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์นะครับ แล้วก็ตัวของขยะยังสร้างปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งท่านจะเห็นว่าน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ แล้วเสียงก็ยังไม่ผ่านแน่ ๆ แต่ว่าขยะท่านบอกว่า ไม่ผ่าน แต่ว่าก็ยังมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่สำหรับการพัฒนาที่ดีขึ้นอันนี้ผมก็ต้องตั้งข้อสังเกต ว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากการทำโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งก็ทำให้พี่น้องประชาชนหลาย ๆ ท่านก็ ประสบกับปัญหาทั้งค่าไฟแพงนะครับ รวมถึงการจัดการขยะต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ในส่วนของโรงขยะ อย่างเช่นที่ศูนย์ขยะอ่อนนุชอย่างนี้ก็สร้างกลิ่นเหม็นรบกวนกับพี่น้อง ประชาชนจำนวนมาก รวมไปถึงในส่วนของมลพิษทางอากาศนะครับ PM2.5 ยกตัวอย่างอย่างเช่นในพื้นที่ เขตประเวศก็เป็นพื้นที่ที่ปรากฏว่า PM2.5 เราสูงที่สุดในกรุงเทพมหานครเมื่อต้นปี ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองได้ไปดูในเนื้อหารายงานที่ท่านมีการเขียนนะครับว่ามีการดำเนินการ ที่ผ่านมาอย่างไร แล้วก็มีการจะดำเนินการในอนาคตอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ ก็ยังเขียนในเชิงว่าเป็นกรอบกว้าง ๆ นะครับ เป็นการเขียนแผน เขียนนั่นเขียนนี่ต่าง ๆ ซึ่งก็ยังลอยแล้วก็ไม่เห็น Direction ใด ๆ นะครับ ซึ่งผมเองก็คงจะต้องฝากให้ท่านผู้ชี้แจง ช่วยชี้แจงในส่วนนี้ครับ ว่าจะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาของเมือง ทำให้เมืองของเราได้น่าอยู่ จริง ๆ แล้วก็แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นครับท่านประธานครับ วันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่า เสียดายครับที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านติดภารกิจ แต่ว่าก็ดีใจที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านก็มาเป็นตัวแทนในการตอบกระทู้ในวันนี้ ก่อนอื่นครับท่านประธานผมเองคงจะต้องใช้เวลาสักเล็กน้อยในการที่จะต้องมาเกริ่นในเรื่อง ของปัญหาให้กับทุกท่านได้รับทราบได้เห็นภาพว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แล้วเหตุผล ใดที่ผมจะต้องมาใช้พื้นที่ในสภาแห่งนี้ในการมาตั้งกระทู้ถาม ทำไมผมถึงไม่ใช้วิธีการ ประสานงานกับหน่วยงานตามปกติ เพราะว่าในเรื่องของปัญหาโรงขยะอ่อนนุชเป็นเรื่องที่ ใหญ่จริง ๆ ครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากจริง ๆ ท่านประธาน สำหรับปัญหาโรงขยะอ่อนนุชก็อย่างที่หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบ อาจจะเคย ได้ยินจากข่าวบ้าง ก็คือเรื่องของปัญหากลิ่นเหม็นท่านประธานครับ ซึ่งกลิ่นเหม็นมันไม่ใช่ เพียงแค่กลิ่นเหม็นในรัศมีเพียงแค่รอบ ๆ โรงขยะ ไม่ใช่เพียงแค่ ๑ กิโลเมตร หรือ ๒ กิโลเมตรจากโรงขยะ แต่ว่าเรื่องของกลิ่นเหม็นมีการฟุ้งกระจายไปไกลหลายกิโลเมตร ๕ กิโลเมตร ๑๐ กิโลเมตร บางครั้งก็ยังได้กลิ่นและบางครั้งก็ต้องบอกว่ามีการข้ามไปถึงเขต ข้างเคียงด้วยไม่ใช่เพียงแค่เขตประเวศที่ศูนย์ขยะอ่อนนุชตั้งอยู่เท่านั้นครับ อย่างเช่น ท่านประธานครับท่านลองถามทาง สส. กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ในพื้นที่เขตสะพานสูง แขวงราษฎร์ พัฒนา เขตสะพานสูง ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันท่านประธานครับ ยังมี สส. สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผมครับ เขาเป็น สส. เขตสวนหลวง ก็ได้รับผลกระทบ ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่แน่นอนว่าการที่พื้นที่บริเวณนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสมุทรปราการ ก็ยังมีพื้นที่จากสมุทรปราการที่ได้รับผลกระทบในบางส่วนด้วย ท่านประธานครับในส่วนของ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วก็ในเขตบริเวณนี้ที่ผมไล่ชื่อมา ก็มีอยู่หลายเขตด้วยกัน ซึ่งเขตเหล่านี้ครับท่านประธานก็เป็นเขตพื้นที่ที่มีหมู่บ้านจัดสรร ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก พี่น้องประชาชนที่มาซื้อบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ นี้ก็ต้องบอกว่า แต่ละท่านก็มีความพยายามที่จะเก็บเงิน ทำงานเก็บเงินเก็บทีละวัน ๆ ให้มันได้เงินหลาย ๆ ล้านบาท จนกระทั่งมาซื้อบ้านได้สักหลังหนึ่งท่านประธาน แต่ปรากฏเมื่อมีการซื้อบ้านหลัง หนึ่ง ๔-๕ ล้านบาท บางหลังเป็น ๑๐ ล้านบาท ซึ่งแน่นอนท่านประธาน บางหมู่บ้านก็เป็น หมู่บ้านที่เป็นอดีตบริษัทของท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย ท่านประธานครับ มีหลายหมู่บ้านด้วยกัน ซึ่งพี่น้องประชาชนที่มีการทำงานในแต่ละวัน พี่น้องประชาชนที่ทำงานแต่ละวันตอนเย็นเขาอยากที่จะมาออกกำลังกายตอนเย็น อยากที่จะเดินสวน อยากที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ที่บ้านตัวเองกลายเป็นว่าเขาไม่สามารถที่จะ ทำแบบนั้นได้เลยครับท่านประธาน เพราะว่าเขาได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ จากเรื่องของ กลิ่นเหม็นที่มันมาแบบนี้ พวกเขาไม่สามารถที่จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ได้ พวกเขาเดิน ออกกำลังกายกลายเป็นการดมขยะท่านประธาน แล้วมันกลายเป็นว่าบางหมู่บ้าน ท่านประธานครับ บางหมู่บ้านมีในลักษณะที่ว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะเปิดหน้าต่างในบ้าน ตัวเองได้ บางหมู่บ้านหนักกว่านั้นอีก คือต้องเอา Tape กาวมา Seal หน้าต่างไม่ให้มันมีรู ไม่ให้กลิ่นมันลอดเข้ามา มันเป็นขนาดนี้ครับท่านประธานซึ่งมันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความ เดือดร้อนรำคาญเท่านั้น มันยังมีเรื่องของปัญหาสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมได้รับ การร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนหลายท่านที่พวกเขาก็มีโรคประจำตัว มีเรื่องของโรคภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเกี่ยวกับโรคหอบหืดเป็นต้น แน่นอนว่ากลิ่นขยะอาจจะใช่ หรือไม่ใช่ ในการที่จะเป็นต้นเหตุของโรคของเขาก็ได้ แต่เพียงแต่ว่าพวกเขาแจ้งมาว่า เมื่อเขาได้รับกลิ่นขยะอาการของพวกเขาหนักขึ้น อาการของเขากำเริบมากขึ้น ดังนั้น ท่านประธานครับผมคิดว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเราทุกคนในสภาแห่งนี้ ก็คงไม่สามารถที่จะนิ่งดูดายได้ แล้วผมคิดว่าท่านรัฐมนตรีเองก็คงคิดแบบนั้นเช่นเดียวกันกับ ที่ผมคิด
ในคำถามข้อแรก มันจึงเป็นคำถามที่ผมจะอาจจะถามถึงท่านรัฐมนตรี ว่าทางรัฐบาลของท่านมีแนวทางในการที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนี้ ได้อย่างไร ในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ทั้งในส่วนของศูนย์ขยะอ่อนนุช แล้วก็ ในภาพรวมครับ ก็เป็นรายละเอียดที่ผมอยากจะทราบเพื่อให้พี่น้องประชาชนทางบ้าน ได้สบายใจด้วยครับ นั่นคือคำถามข้อแรกครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เขตสะพานสูง พรรคก้าวไกล ก็ขอขอบพระคุณในคำตอบของท่านรัฐมนตรีนะครับ จริง ๆ ก็เป็นคำตอบที่ผมเองก็ได้ยินมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ว่าก็เป็น นิมิตหมายที่ดีก็คือเรื่องของการที่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจากปากของท่านรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ท่านมาในฐานะของตัวแทนของท่านนายกรัฐมนตรีด้วย ก็ถือว่าเป็นคำตอบจาก ท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นเดียวกัน ก็คาดหวังว่าท่านจะดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ก่อนที่ผมจะไปยังคำถามข้อที่ ๒ ก็อาจจะต้องลงรายละเอียดเพิ่มเติมสักเล็กน้อยก็อาจจะ ขยายจากที่ท่านรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็คือเรื่องของศูนย์ขยะอ่อนนุช ที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่าน พี่น้องประชาชนแล้วก็หลายภาคส่วนยังเข้าใจว่าตัวของศูนย์ขยะอ่อนนุช ยังมีลักษณะของความเป็นกองขยะหรือว่าเป็นภูเขาขยะ แต่ว่าความจริงแล้วศูนย์ขยะอ่อนนุช ในปัจจุบันก็มีสภาพเปรียบเสมือนง่าย ๆ ก็เป็นพื้นที่เหมือนกับเป็นนิคมอุตสาหกรรมขยะ ก็ว่าได้ ก็คือเป็นพื้นที่ของโรงขยะ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะจำนวนมากอยู่ใน พื้นที่ ๕๘๐ ไร่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของโรงปุ๋ย หรือว่าจะเป็นส่วนของโรงกำจัดเตาเผาขยะติดเชื้อ หรือว่าตัวของโรงขยะก่อสร้างต่าง ๆ แต่ว่าสิ่งที่ผมเจ็บใจมาตลอดก็คือว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชน หลายท่านได้ถูกต่อว่า บอกว่าโรงขยะตั้งอยู่ตรงนี้แล้วประชาชนมาซื้อบ้านใกล้โรงขยะเอง ทั้งที่โรงขยะอยู่มานานแล้ว ความจริงในส่วนนี้ก็ต้องบอกว่าถูกแค่ครึ่งเดียวเพราะว่าที่ผ่านมานี้ เมื่อช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ก็มีตัวโรงขยะโรงใหม่ที่เกิดขึ้นอีกในช่วงสมัยของรัฐบาลที่ผ่านมา ตอนนั้นก็มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๔/๒๕๕๙ ในการที่จะตั้งโรงขยะโรงใหม่ที่ตั้งอยู่ใน บริเวณพื้นที่ตามผังเมืองเป็นพื้นที่สีเหลือง ก็คือเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนั้นเมื่อมีการตั้งโรงขยะโรงนี้ขึ้นมาก็กลายเป็นว่าพี่น้อง ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น กลิ่นที่มีอยู่เดิมก็เพิ่มวง ขยายวง ในการที่จะทำให้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับตัวโรงงานโรงใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ไม่สอดคล้องกับผังเมืองก็มีความเดือดร้อนมากขึ้น จนกลายเป็นว่าพี่น้องประชาชนก็มีการต่อสู้ มีการผลักดัน มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคก้าวไกลด้วย ตอนนั้นทางผมในฐานะที่เป็นว่าที่ผู้สมัครร่วมกับทาง สส. พรรคก้าวไกลในขณะนั้น อย่างเช่น ทาง สส. สุรเชษฐ์ แล้วก็ สส. วิโรจน์ตอนนั้นก็ร่วมกันผลักดันในส่วนนี้ด้วย แล้วพี่น้อง ประชาชนเองก็ยังผลักดันผ่านหน่วยงานอื่น ๆ เหตุผลที่ผมตั้งกระทู้วันนี้เพราะแน่นอน หลายท่านอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานครหน่วยงานเดียว ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วมันก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเช่น กรมโรงงาน อุตสาหกรรมเกี่ยวกับ กกพ. เกี่ยวกับกรมควบคุมมลพิษ เพราะฉะนั้นตอนนั้นแน่นอนพอเกิด ปัญหามาก ๆ แล้วพี่น้องประชาชนก็มีการร้องเรียนในปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วมันกลาย เป็นว่าทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทาง กกพ. ก็เห็นว่าเป็นปัญหาจริง ๆ แล้วก็มีการ ออกคำสั่งระงับใบอนุญาต ก็คือการหยุดชั่วคราว สั่งปิดชั่วคราว แต่หลังจากที่สั่งปิดชั่วคราว แล้วกลับมาเปิดใหม่ มีการปรับปรุงโรงงานเรียบร้อย ก็กลายเป็นว่ากลิ่นเหม็นยังไม่หายไป แล้วหลังจากนั้นก็มีการสั่งปิดอีกรอบหนึ่งครับ แล้วก็ลักษณะมันกลายเป็นการเปิดการปิด สลับกันไปอยู่แบบนี้นะครับ ดังนั้นจึงต้องถามในคำถามข้อ ๒ ปัจจุบันนี้ในส่วนที่ผมพูด ก็เป็นเรื่องของคดีความและที่พี่น้องประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม มีการฟ้องร้องไปยัง ตัวโรงขยะโรงใหม่ที่เรียกง่าย ๆ ว่าโรง ๘๐๐ ตัน
คำถามข้อ ๒ ที่เป็นคำถามว่าในส่วนของตัวโรงขยะที่เกิดขึ้นจากคำสั่ง คสช. ตัวนี้ที่ตอนนี้ท่านมีการปิดกับเปิดสลับกันไป หลังจากนี้ท่านมีมาตรการที่จะดำเนินการ อย่างไรต่อไป ท่านจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการดำเนินการว่าท่านต้องปิดอีกกี่ครั้ง เปิดอีกกี่ครั้ง ท่านถึงจะมีการเพิกถอนใบอนุญาต หรือว่าหลังจากนี้ท่านจะดำเนินการอย่างไร ต่อไปให้พี่น้องประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนแบบนี้ รวมถึงยังมีตัวของโรงขยะโรงใหม่ที่เมื่อสักครู่ท่านกล่าวถึงก็คือตัวของโรงใหม่ที่จะทำเป็น โรงไฟฟ้า เป็นเตาเผาขยะขนาด ๑,๐๐๐ ตัน ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้พี่น้อง ประชาชนสบายใจ แล้วก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน เพราะผมคิดว่าชีวิต ของประชาชนก็อยู่ในมือของรัฐบาลชุดนี้ อยู่ในมือของท่านครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกล
ท่านประธานครับ เดิมทีผมตั้งใจว่าจะใช้พื้นที่นี้ในการที่จะปรึกษาหารือท่านประธานในการที่จะหยุดยั้ง ในเรื่องของการทุบลาน Skateboard RK69 ในเขตประเวศ แต่ว่าล่าสุดทราบมาว่า ทางกรุงเทพมหานครได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นทางคุณก้อง ศุภโชค ทางคุณจักร จักรพล คุณกันต์ ยงใจยุทธ แล้วก็ท่านอื่น ๆ ที่ช่วยกันครับ ก็ขอให้ทางกรุงเทพมหานครให้พื้นที่ สาธารณะ ให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน แล้วก็ให้ การสนับสนุนกับการกีฬาด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของถนนเฉลิมพระเกียรติ ร. ๙ บริเวณหน้า สน. ประเวศ บริเวณนี้ต้องบอกว่าไม่มีทางเท้าเลย ประชาชนเดินลำบากมาก แล้วก็อันตรายมาก ขอให้ ทางกรุงเทพมหานครก็พิจารณาทำทางเท้าให้ประชาชนด้วยโดยไม่ต้องรอการโครงการ ขยายถนนครับ
เรื่องที่ ๓ ก็เป็นเรื่องน้ำท่วมในเขตประเวศ ก็เป็นพื้นที่ชุมชนอ่อนนุช ๔๐ ไร่ ๑๙ ไร่ แล้วก็ ๑๔ ไร่ รวมไปถึงชุมชนหมู่บ้านทุ่งเศรษฐีก็น้ำท่วมเช่นเดียวกัน เพราะว่าเป็นแอ่งกระทะ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จะ ยกระดับถนนรวมถึงทำบ่อส่งน้ำลงในที่ของตาพุก แล้วก็ของอาจารย์พรด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ จุดกลับรถที่โรงเรียนคลองปักหลัก บริเวณนี้น้ำท่วมฝนตกทีไร น้ำท่วมทุกที พี่น้องประชาชนไม่สามารถที่จะกลับรถได้อย่างสะดวก แล้วก็อันตรายด้วย ขอให้กรมทางหลวงพิจารณาแก้ปัญหานี้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๕ เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬา เขตสะพานสูง ก็พบว่ามีปัญหา ก็คือว่าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจ ก็คือ สน. ประเวศ ซึ่งในบริเวณนี้ สน. ประเวศต้องการที่จะไปดูแลประชาชน แต่ว่าเดินทางยากมาก เพราะว่ากลับรถ ระยะไกลมาก กลับรถนี่ไปไกลถึงถนนพระราม ๙ เลย แล้วก็ใช้เวลาเกิน ๒๐ นาที รวมไปถึง อัตรากำลังก็น้อยด้วย ก็ขอให้มีการแก้ปัญหานี้ เพิ่มในส่วนของอัตรากำลังให้ สน. ประเวศ ดูแลประชาชนได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันบรรเทาสาธารณภัยครับ
เรื่องที่ ๖ เป็นเรื่องที่ผมเองเคยตั้งกระทู้ถามในสภาไปเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว วันที่ ๒๘ กันยายน ในพื้นที่เขตประเวศที่พบว่ามีปัญหาโรงขยะอ่อนนุชกลิ่นเหม็น ก็ขอติดตาม ให้มีการดำเนินการตามที่ท่านรัฐมนตรีตอบไว้ในสภาผู้แทนราษฎรด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมเองขอร่วมในการอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการ จัดการขยะชุมชน ของ สส. พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ท่านประธานครับ ผมมีเหตุผลทั้งหมด ประมาณ ๓ ประการ ในการที่จะสนับสนุนในส่วนของญัตตินี้
เหตุผลประการแรก เป็นเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่หนักมาก อย่างที่เมื่อสักครู่ทาง สส. ปิยรัฐ จงเทพ ได้มีการอภิปรายไปแล้วเกี่ยวกับเรื่อง ของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากศูนย์ขยะอ่อนนุช หรือที่เราเรียกกันว่า โรงขยะอ่อนนุช
ผมขออนุญาตเปิดภาพที่ ๑ ได้ไหมครับ นี่ครับท่านประธาน อันนี้ผมรวบรวมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่เป็น การยืนยันว่าสิ่งที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้อภิปรายเมื่อสักครู่นี้เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน จริง ๆ นี่คือสิ่งที่ผมเองได้อ่าน Social Media ในทุก ๆ วัน ใน Facebook ใน Twitter ใน Platform ต่าง ๆ นานา มากมายท่านประธาน ทุก ๆ คนครับ ทางประชาชนต่าง ๆ เดือดร้อนมาก แล้วก็บ่นกันในเรื่องของปัญหากลิ่นเหม็นที่ได้รับผลกระทบกันทุกวี่ทุกวัน นี่คือสิ่งที่ผมเองได้อ่านในทุก ๆ วัน แล้วก็เป็นเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนหนักมากจริง ๆ แล้วต่อให้ประชาชนซื้อบ้านแพงแค่ไหนก็หนีไม่พ้น เนื่องจากว่ากลิ่นของโรงขยะนี้มันไกลแล้ว มันก็รุนแรงมาก ๆ รวมไปถึงเรื่องของปัญหาในเรื่องของสุขภาพก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ ผมเองก็ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ผมเองเคยนำเรื่องนี้มาอภิปราย มาตั้งกระทู้ในสภาไป เรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการขอให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของกลิ่นเหม็นของโรงขยะ อ่อนนุชถึงทางท่านรัฐมนตรี ซึ่งวันนั้นทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านก็ มาตอบกระทู้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาในพื้นที่จริงส่วนใหญ่ก็ยัง เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ก็คือการแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นการฉีดพ่น น้ำยาดับกลิ่น หรือว่าการล้างถนนต่าง ๆ ซึ่งพี่น้องประชาชนแจ้ง Traffy Fondue แล้วแจ้ง Traffy Fondue อีก ท่านประธานก็ยังไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงอย่างเป็นระบบ เพราะว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากของพี่น้องประชาชน ผมเองเคยเก็บข้อมูล ในส่วนของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ซึ่งวันนั้นผมเองยังไม่ได้ ยืนอยู่ในสภาแห่งนี้ ผมเองยังเป็นประชาชนที่อยู่ข้างนอกครับ แล้วก็มีการเก็บข้อมูลร่วมกับ พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านอิมพีเรียล พาร์ค แล้วก็หมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ ในพื้นที่ข้างเคียงว่า ในปัญหาเหล่านี้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนอย่างไรและมากมายแค่ไหน อันนี้เป็นเพียงขั้นต่ำ ใน Scope ที่ผมได้เก็บเท่านั้น จะเห็นว่ารัศมี ๕ กิโลเมตรต่าง ๆ นี้เป็นรัศมีที่บริเวณที่พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นประจำครับท่านประธาน จะเห็นว่าในรัศมีตรงนี้หมู่บ้านที่อยู่ ตรงนี้ ถ้าเกิดว่าแค่ที่ระบุในตัวแผนที่ท่านจะเห็นอยู่ประมาณสัก ๒๐ หมู่บ้าน แต่ความจริงแล้ว มันมากกว่านั้นมาก มันนับ ๑๐๐ หมู่บ้าน พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนมีนับหมื่นคน อันนี้คงจะ ไม่ต้องยืนยันขนาดที่ว่านี้ท่านจะเห็น อย่างที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้พูดว่าไปถึงบางนา-พระโขนง ท่านก็ลองคิดดูว่ามันไกลแค่ไหน
เหตุผลประการที่ ๒ ที่มีการสนับสนุนให้มีการตั้งญัตตินี้ เนื่องจากว่าในส่วน ของโรงขยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้มันไม่ใช่เพียงแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อย่างเช่นผมยกตัวอย่าง ในส่วนของโครงการ กำจัดมูลฝอย มูลค่า ๘๐๐ ตันต่อวัน จำนวนปริมาณ ๘๐๐ ตันต่อวัน ที่ทาง สส. ปิยรัฐ ได้อภิปราย อันนี้ก็ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานไหนท่านประธาน ก็คือทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมครับ แล้วนอกจากนี้ยังมี ความเกี่ยวข้องกับเรื่องของสำนักงาน กกพ. ด้วย เนื่องจากว่ามีการผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะ จำหน่ายไฟฟ้า เท่านั้นไม่พอครับ ถ้าหากว่าท่านมองไปในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน เมื่อพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบแบบนี้มันก็ยังมีเรื่องของกรมควบคุมมลพิษที่จะต้องเข้า มาดูแล มันก็ยังมีเรื่องของกรมอนามัยที่จะต้องมาดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มี ปัญหามาก ๆ ซึ่งหน่วยงานราชการในประเทศนี้ก็มักจะไม่ได้พูดคุยกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เวทีของคณะกรรมาธิการน่าจะเป็นเวทีที่ทำให้พวกเราได้มาพูดคุยหาทางออกร่วมกันในแต่ ละหน่วยงาน
เหตุผลที่ ๓ ผมคิดว่าสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งก็คงเป็นเรื่องของ ความเชี่ยวชาญของการที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยด้วย เนื่องจากว่า ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พวกเราผู้แทนราษฎรอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทุก ๆ เรื่อง ถ้าหากว่าท่านดูในภาพที่ ๓ ในตอนนั้นที่ผมเข้าไปผลักดันกับพี่น้องประชาชนในเรื่อง ของโรงกำจัดมูลฝอย ๘๐๐ ตันต่อวัน ตอนนั้นเรามีการถกเถียงกันมากว่าเราจะทำอย่างไร ให้คนเชื่อมั่น ให้คนเชื่อจริง ๆ ว่าเราได้รับความเดือดร้อนเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นผลกระทบ ทางกลิ่น เราไม่สามารถที่จะถ่ายภาพออกมาได้ว่ามันเหม็นแบบนี้แบบไหน ต้องพาคน เดินไปดม ทุก ๆ วัน ทุก ๆ ครั้งผมเองต้องพาสื่อมวลชนต่าง ๆ ลองเดินไปดมดูว่ามันเหม็น แค่ไหน แล้วก็วัดดวงเอาว่าวันนั้นมันจำเหม็น ไม่เหม็น วันนั้นก็โชคดีที่เรามีภาคประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยในการที่จะผลักดัน ผมคงสามารถที่จะเอ่ยนามได้ไม่เสียหายนะครับ ก็เป็นทาง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็อาจจะไม่ได้มีการผลักดันกับภาคการเมือง แต่ว่าไปช่วยพี่น้องประชาชน ในการที่จะเก็บข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็เป็นวิชาการ มีการเก็บข้อมูลว่าตรงนั้นมีน้ำเสีย อย่างไร ตรงนั้นส่งกลิ่นอย่างไร หรือว่าปล่อยค่า VOCs อย่างไรที่เป็นการก่อมลพิษต่าง ๆ มีสารก่อมะเร็งต่าง ๆ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราก็น่าจะต้องมีเวที ที่จะต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเราในการ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ และผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในเรื่องของปัญหาขยะที่พี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนในการที่จะดมขยะกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ว่าจะซื้อบ้านในราคาแพงแค่ไหน ก็หนีไม่พ้น ก็เป็นเรื่องอากาศสะอาดที่พี่น้องประชาชนพร้อมอยู่แล้วที่จะลุกขึ้นมาทวงคืน สิทธิในอากาศบริสุทธิ์ของตัวเอง ดังนั้นผมเองก็ต้องขอสนับสนุนญัตตินี้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนในการที่จะทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ แล้วก็เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประชาชน พร้อมแล้วที่จะทวงสิทธิของตัวเองในการที่จะให้อากาศบริสุทธิ์ของเขากลับคืนมา ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เขตสะพานสูง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับวันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินของท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ครับ และท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่ที่ติดต่อกับผม เหตุผลเนื่องจากว่าการลงพื้นที่ ของผมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมเองได้พบกับปัญหาของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก เดี๋ยวขออนุญาตขอสไลด์ด้วยนะครับ
ปัญหาของพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือว่าใช้เทคนิคทางวิศวกรรมอะไร เลยครับ มันเป็นปัญหาที่ Basic มาก เป็นปัญหาเรื่องของถนนผุพังที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา เป็นปัญหาง่าย ๆ อย่างเช่น ไฟส่องสว่าง เนื่องจากว่ากลางคืนไม่มีไฟมันก็มืดมันก็เปลี่ยว หรือว่ามันอาจจะเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของน้ำท่วมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจาก การที่ท่อมันอาจจะไม่เพียงพอหรือไม่ไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งสิ่งที่ท่านเห็นในภาพเป็น ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นพื้นที่ที่เป็นซอยที่มีประชาชนใช้งานจำนวนมากหลายหมู่บ้านก็ได้ หรือว่าบางพื้นที่อาจจะเป็นเพียงหมู่บ้านจัดสรรเพียงไม่กี่หมู่บ้านก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นปัญหา ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อพี่น้องประชาชนมาแจ้งปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ รับผิดชอบกลายเป็นว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ เนื่องจากว่าเขาได้รับเหตุผลใน เรื่องของคำว่าพื้นที่เอกชน ในเรื่องของพื้นที่เอกชนก็ต้องเข้าใจทางหน่วยงานราชการซึ่งผม เองก็เข้าใจว่าหน่วยงานราชการก็คงจะอยากที่จะช่วยเหลือประชาชน เพียงแต่ว่ามันติดใน เรื่องว่าพวกเขาไม่อยากที่จะเสี่ยงกับข้อหาเรื่องของการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน นั่นก็คือ ปัญหาที่เป็นข้อติดขัดทางกฎหมาย ดังนั้นในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งมันมีอยู่ทั้งหมด ๒ ประเภท อย่างที่ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้กล่าวไปแล้วก็คือปัญหา ๒ ประเภทนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่องของสถานที่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นนอกหมู่บ้าน หรือในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ๒ ฉบับ เพียงแต่ว่ากฎหมายในส่วนของฉบับแรก เป็นในเรื่องของประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่พวกเราได้พบเจอกันเป็นประจำก็คือ การที่พบเจอว่าซอยที่พี่น้องประชาชนได้สัญจรใช้งานจำนวนมากหลายหมู่บ้าน ไม่สามารถ ที่จะซ่อมแซมได้ เนื่องจากว่ายังเป็นพื้นที่เอกชนอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นปัญหาพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งท่านเห็น ในตัวอย่างของในสไลด์นี้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของซอยอ่อนนุช ๘๐ หรือว่าซอยอ่อนนุช ๖๖ หรือ ว่าถนนซอยเฉลิมพระเกียรติ ๖๒ เฉลิมพระเกียรติ ๖๗ หรือว่าจะเป็นซอยกาญจนาภิเษก ๒๕ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็น่าเสียดายที่เราไม่สามารถที่จะนำมาพิจารณาพร้อมกันในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเองก็คงจะลงรายละเอียดในส่วนของแบบที่ ๒ นั่นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นใน เรื่องของสาธารณูปโภคในพื้นที่ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ ที่เกิดขึ้นก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องของหมู่บ้านที่บางครั้งอาจจะถูกทิ้งโครงการไป หรือว่าไม่ได้รับ การดูแลรักษา หรือว่าอาจจะเป็นเรื่องของการที่บริษัทล้มละลาย ล้มหายตายจากไปแล้ว ทำให้ไม่มีนิติบุคคลที่มาดูแลโครงการ ไม่มีใครมาดูแลโครงการ ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่พวกเราจะต้อง แก้ไขด้วย พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินที่พวกเรากำลังอภิปรายกันอยู่ขณะนี้ ตัวอย่างในส่วนของ พ.ร.บ. จัดสรรที่ดิน ผมคงจะต้องยกตัวอย่างในส่วนที่ผมเองได้เคยมีโอกาสไปลงพื้นที่มา นั่นก็คือพื้นที่บริเวณหมู่บ้านชมเดือน ซอยอ่อนนุช ๕๙/๑ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างหมู่บ้าน เดียวที่นอกเหนือจากที่พี่น้องในสภาแห่งนี้เพื่อนสมาชิกต่าง ๆ ได้อภิปรายในพื้นที่ต่าง ๆ ไปแล้ว อันนี้เป็นส่วนของในเขตประเวศที่ท่านจะเห็นว่าพี่น้องประชาชนพบปัญหา ผมเองได้รับการ ร้องเรียนจากประธานหมู่บ้านเขาชื่อป้าหริ แล้วก็ทางพี่น้องประชาชนต่าง ๆ ในหมู่บ้านก็ ร้องเรียนมาเช่นเดียวกันว่าถนนทรุดในตัวหมู่บ้านก็ไม่มีเงินไปซ่อม เพราะว่าไม่มีการเก็บค่า ส่วนกลางแล้ว รวมไปถึงเรื่องของน้ำท่วมภายในหมู่บ้านพื้นที่นี้น้ำท่วมติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของเขตประเวศ ร่วมกับในส่วนของหมู่บ้านสุธาทิพย์ ในถนนเฉลิมพระเกียรติ หรือว่าหมู่บ้าน เหมืองทองบนถนนพัฒนาการ นี่คือหมู่บ้านที่เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักมากในเขตประเวศ แต่ว่าเมื่อมีการแจ้งไปนั้นก็แน่นอนว่าก็เป็นปัญหาในเรื่องของพื้นที่เอกชน ซึ่งก็ทำให้ สำนักงานเขตก็สามารถแก้ปัญหาได้เพียงแค่การปะผุ ไม่สามารถที่จะแก้ในระยะยาวได้ เป็นเพียงการแก้แบบการเอาน้ำมาสูบทีละครั้งแบบที่ท่านธัญธรได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ ไม่สามารถที่จะแก้ไขในเรื่องของท่อหรือว่าเรื่องของถนนได้ ทีนี้ถ้าเกิดว่าจะให้พวกเราผู้แทนราษฎรควักเงินตัวเองไปลงให้กับพี่น้องประชาชนเราก็คง ไม่ใช่ไหมครับท่านประธาน เนื่องจากว่าพวกเราเองเป็นผู้แทนราษฎรเพียงเท่านี้เงินเดือน พวกเราก็แทบจะหมดไปในแต่ละเดือนอยู่แล้วนะครับ เราเองคงไม่สามารถที่จะไปควักเงิน ในการซ่อมถนนให้กับประชาชนได้ หรือว่าการที่จะไปทำท่อให้กับพี่น้องประชาชนได้ ดังนั้น สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ครับนั่นก็คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างครับ นั่นก็คือการที่เราควร ที่จะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ในการที่จะผลักดันในเรื่องของ พ.ร.บ. จัดสรรที่ดิน ของทั้ง ท่านณัฐพงษ์แล้วก็ท่านธีรรัตน์ ในการที่จะให้กฎหมายนี้สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ให้กับ พี่น้องประชาชนได้นะครับ ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะตั้งนิติบุคคลขึ้นมาดูแลพื้นที่ เก็บค่าส่วนกลาง บริหารจัดการในส่วนของหมู่บ้านของพวกเขาได้ครับ ซึ่งถ้าหากว่าพี่น้อง ประชาชนไม่อยากจะตั้งนิติบุคคล สิ่งที่ง่ายกว่านั้นครับพี่น้องประชาชนสามารถรวมตัวกันตั้ง นิติบุคคลขึ้นมา เสร็จแล้วยกให้เป็นสาธารณะก็ยังได้ท่านประธาน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นคำตอบ ที่พี่น้องประชาชนก็สามารถที่จะดำเนินการได้แล้วก็แก้ปัญหาในหมู่บ้านได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผมเองก็อยากจะฝากผ่านท่านประธานไปถึงเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ให้ทุกท่าน ร่วมกันในการที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายในฉบับนี้ ขอเรียกร้องนะครับ ว่าถ้าหากว่า ท่านคิดว่าท่านอยากจะชะลอไปอีก ๖๐ วัน มันคงไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น นอกจากว่าถ้าหากว่า การชะลอไปอีก ๖๐ วัน มันเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนจะต้องเจอกับหน้าฝนอีกแล้วครับ ถ้าเกิด ๖๐ วัน ที่ชะลอไปพี่น้องประชาชนจะต้องเจอกับเรื่องของน้ำท่วมในหมู่บ้าน แล้วไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อีกแล้ว ดังนั้นก็ขอให้พวกเราช่วยกันสนับสนุนทั้ง ๒ ร่าง ให้สามารถที่จะผ่านสภาในวันนี้เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนแก้ทันสภาสมัยนี้ครับท่าน ประธาน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ สะพานสูง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะปรึกษาหารือท่านประธานทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่บริเวณสถานีบ้านทับช้าง เพื่อจะปิดทางสัญจรของพี่น้องประชาชน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นทางสัญจรที่ปกติประชาชนจะใช้ ลัดไปยังซอยอ่อนนุช ๖๕ ระยะทางเพียงแค่ประมาณ ๘๐๐ เมตรเท่านั้น ถ้าหากว่าปิดตรงนี้ จะทำให้ประชาชนต้องอ้อมไกลไปถึง ๖ กิโลเมตรด้วยกัน เพราะฉะนั้นในวันนั้นทาง ชุมชนทับช้างล่างฝั่งธน ก็ได้ส่งหนังสือจากผู้เดือดร้อนต่าง ๆ ที่ใช้เส้นทางนี้ ผ่านผู้ช่วยของผม ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อจะขอให้กับทางรถไฟไม่ปิดบริเวณเส้นทางดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ ซึ่งบริเวณนั้นทำให้ประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงก็มีความ กังวลด้วย ก็คือในพื้นที่ของบ้านม้า บริเวณคลองบ้านม้าก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ก็ขอให้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาเช่นเดียวกัน
เรื่องที่ ๒ เรื่องที่เป็นปัญหาในเรื่องของหมา แมวจร ที่ผมเองได้รับการร้องเรียน จากหมู่บ้านผาสุกและทางหมู่บ้านเมืองทองการ์เด้นส์ ซึ่งจากที่เห็นนี้ก็จะมีหมาจรที่มา คาบรองเท้าประชาชนไป ซึ่งจะเห็นว่าในระยะสั้นนี้ผมเองได้ประสานกับทางกรุงเทพมหานคร ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าในระยะยาวก็ขอให้ทางกรมปศุสัตว์ แล้วก็ทางกรุงเทพมหานครมีการ ที่จะหาทางออกในเรื่องของการแก้ปัญหาในเรื่องของสัตว์จรต่าง ๆ ด้วยว่า จะดำเนินการ อย่างไรในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ รวมไปถึงการที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างไร ในระยะยาวได้บ้างนะครับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องของถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่หรือว่าถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ถนนตรงนี้เป็นถนนที่เดิมได้ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในกรุงเทพมหานครสายหนึ่ง แต่ว่า ตอนนี้ปรากฏว่าพบกับปัญหาฝุ่นต่าง ๆ มากมาย จาก Site ก่อสร้าง ตรงนี้จริง ๆ ทาง สำนักงานเขตได้พยายามที่จะไปล้างถนนแล้ว แต่ว่าในปัญหาจากต้นทางจริง ๆ ก็คงจะต้อง ไปให้ทางกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปควบคุมเรื่องของการก่อสร้าง ให้ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยฝุ่นละอองต่าง ๆ ออกมาให้รบกวนประชาชน ขอบคุณครับ