นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๓ ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันมีปัญหาในพื้นที่มาปรึกษาหารือ กับท่านประธานดังนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ย้อนศรบนถนนพลโยธินจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หลายครั้งดังที่เห็นในรูป เนื่องจากสะพานกลับรถแต่ละจุดอยู่ห่างไกลกันมาก บางคนต้องขับ ไกลกว่า ๑๐-๑๕ กิโลเมตร เพื่อกลับรถเข้าซอยที่พักซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ดิฉันจึงขอฝากไปยัง สภ. คลองหลวง และฝากไปยังกระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวง เพื่อพิจารณาการสร้างสะพานกลับรถสำหรับมอเตอร์ไซค์ในแหล่งชุมชน เช่น บริเวณ หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ หน้านิคมนวนคร และทางลงสะพานกลับรถบ้านเอื้อ กม. ๔๔

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องของการทิ้งน้ำเน่าเสียลงคลองที่ไม่ผ่านการบำบัด มีข้อสังเกตว่าน้ำเน่าเสียดังกล่าวถูกปล่อยมาจากตลาดค้าสดขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน และอาคารพาณิชย์ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียนะคะ เช่น บริเวณสะพานเทพกุญชร ๑ ชุมชนวันครู ใต้สะพานคลองหลวง เป็นต้น ดิฉันจึงขอฝาก ไปยังหน่วยงานท้องถิ่น กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษให้เข้าตรวจสอบและหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัญหาน้ำประปาในท่าโขลง ดิฉันขอชื่นชมทางเทศบาลเมืองท่าโขลง ที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่นะคะ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าในระหว่างการดำเนินงานวางท่อประปาใหม่นี้ส่งผลให้บางช่วงน้ำประปามีสี มีกลิ่น เนื่องจากมีสิ่งปนเปื้อนที่เข้าไปในระบบท่อ ดิฉันจึงขอฝากไปยังทางเทศบาลท่าโขลง ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ประชาชนเพื่อเตรียมรับมือและจัดเตรียมน้ำประปาสำรองเพื่อบรรเทาทุกข์ ของประชาชนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ปัญหาเรื่องของการจัดการขยะในพื้นที่คลองสามมีรถเก็บขยะ ของเอกชนในพื้นที่ที่ไม่ได้มาตรฐานนะคะ มีน้ำและเศษขยะร่วงหล่นบนพื้นถนน รถบางคัน ไม่ได้มีการติดแผ่นป้ายทะเบียนนะคะ และปัญหาเรื่องของพื้นที่รกร้างที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ และบ่อขยะเถื่อนที่ไม่ได้มีการแจ้งขออนุญาตต่อหน่วยงานรัฐ ดิฉันจึงขอฝากไปยังหน่วยงาน ท้องถิ่น และกรมการขนส่งทางบกให้ช่วยตรวจสอบและเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าจะเห็นการกระจายอำนาจที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกแบบ มาตรฐานการจัดการขยะในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ ทาง อบต. คลองสาม ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการสัญจร ในพื้นที่จึงจัดตั้งโครงการและงบประมาณสร้างเขื่อนหน้าวัดกลางและสะพานข้ามคลองสาม แต่ติดปัญหาเนื่องจากความล่าช้าของกรมชลประทานในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมชลประทานให้ช่วยเร่งดำเนินการพิจารณาสั่งการโดยเร็วนะคะ แล้วก็หวังว่าจะเห็นการกระจายอำนาจอีกเช่นเดียวกันที่ให้ท้องถิ่นของเรานั้นมีอำนาจ ในการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เพื่อน สส. ปีกแรงงานเพิ่งฝากมาเมื่อสักครู่นะคะ ลูกจ้างบริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการ ปั่นด้าย นายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้นะคะ ทำให้มี ลูกจ้างที่เดือดร้อนประมาณ ๑๕๐ คน โดยต่อมานายจ้างได้ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วก็ รวมถึงค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง เป็นอย่างมาก ดิฉันจึงขอฝากไปยังกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วย ตรวจสอบและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างต่อไปอย่างเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขตเทศบาลท่าโขง และตำบลคลองสาม จากพรรคก้าวไกลค่ะ ก่อนอื่นดิฉันขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติหรือ กสม. ที่ยังคงบทบาทในการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกมิติ และพยายามที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลภายใต้ข้อจำกัดที่รัดกุม และตัวองค์กร โดยในวันนี้ดิฉันขออภิปรายในฐานะเพื่อนที่ช่วยกันทำงานขับเคลื่อน ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานสากลไปด้วยกัน โดยเมื่ออ่านรายงานแล้ว ดิฉันอาจพูดได้ว่า กสม. ยังต้องการความกล้าหาญในการชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา สิทธิมนุษยชนในบ้านเรา นั่นคือการที่องคาพยพของรัฐไม่ยินยอมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน และต่อไปนี้จะเป็นเหตุผล ๒ ประการของดิฉันว่าทำไมดิฉันถึงพูด ดังกล่าวนะคะขอ Slide ถัดไปด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลแรกก็คือเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบการละเมิด สิทธิที่เกิดขึ้น ดิฉันชื่นชมระบบการร้องเรียนต่าง ๆ ของ กสม. ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง ได้ง่าย แล้วก็สามารถติดตามเรื่องได้ โดยในรายงานของ กสม. เองก็มีสถิติการรับ เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่จากที่ดิฉันได้รับฟังความคิดเห็น จากภาคประชาสังคม ดิฉันพบว่าในกรณีที่จะร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจ ของรัฐหรือกระทบกับความมั่นคงของรัฐช่องทางการร้องเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ดูเหมือน จะไม่เป็นผลและดูเหมือนจะไม่เห็นถึงความพยายามของ กสม. อย่างสุดความสามารถ ในการผลักดันเพื่อให้มีการตรวจสอบแล้วก็การติดตามเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ขอ Slide ถัดไปด้วยค่ะ ตัวอย่างก็จะเป็นเช่นกรณีของการถูกอุ้มหายและอุ้มฆ่านักกิจกรรมชาวไทย ที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้เดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกลอภิปรายต่อไปนะคะ หรือกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม อย่างรุนแรงซึ่งขัดกับมาตรฐานสากล นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนของ กสม. แล้ว จริง ๆ กสม. เองก็มีบทบาทในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิในพื้นที่ โดยดิฉันมีข้อสังเกตว่า กสม. ตีความอำนาจของตัวเองตามกฎหมายให้แคบจนไม่สามารถที่จะดำเนินบทบาท ในการตรวจสอบเชิงรุกในบางกรณีได้ อย่างเช่น การสังเกตการณ์คดีฟ้องร้องกลั่นแกล้ง เพื่อปิดปาก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับนายทุนใหญ่และคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน หรือการเข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิในต่างแดนที่มีการลงทุน ของคนไทย อีกทั้ง กสม. เองก็มีบทบาทในการเข้ามาสังเกตการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา อย่างมีความหมาย อย่างมีนัยน้อยจนเกินไป โดยในส่วนนี้ดิฉันมีข้อเสนอแนะต่อ กสม. ๒ เรื่องด้วยกันนะคะ ๑. ต้องปรับปรุงโครงสร้างในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ภาคประชาสังคมมั่นใจได้ว่าทุกเรื่อง ร้องเรียนที่เขาร้องเรียนเข้าไปทาง กสม. เองจะผลักดันอย่างเต็มที่ ๒. คือการขยายขอบเขต อำนาจให้มีบทบาทของการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการ ยุติธรรม เช่นการสังเกตคดีทางการเมืองและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเป็นรายงาน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลข้อที่ ๒ ก็คือเรื่องของความครอบคลุมข้อเท็จจริง และการวิเคราะห์ สถานการณ์ในรายงาน ดิฉันชื่นชมค่ะ ในรายงานฉบับนี้ครอบคลุมสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันพบว่ายังขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญที่ เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งมักจะมีหน้าที่ในการคุกคามประชาชนและขาดการชี้ชัด อย่างตรงไปตรงมาว่าผู้ที่มีอำนาจเหล่านี้ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล อย่างไรบ้าง โดยดิฉันขอยกตัวอย่างดังนี้ค่ะ กรณีแรกก็คือกรณีของการสลายการชุมนุม ของกลุ่มราษฎรหยุด APEC เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้วแต่ในรายงานฉบับนี้ไม่ได้ ระบุให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในเหตุการณ์คุณพายุ บุญโสภณ ซึ่งเป็นเพื่อนของ ดิฉันเอง เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ตาขวาจนตาบอด และมีผู้ชุมนุม อีกอย่างน้อย ๕ คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ใช้ก็กระสุนยางยิงบริเวณร่างกายด้านบนขึ้นไป ซึ่งขัดกับมาตรฐานสากลอย่างแน่นอนนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีก ๑ ตัวอย่างก็คือเรื่องของกรณีที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาในคดีมาตรา ๑๑๒ หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่ปัจจุบันมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้สั ดส่วน และที่สำคัญคือการขัด กับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นะคะ เช่น คำสั่งให้ ใส่กำไล EM กับนักกิจกรรม ถึงแม้ว่าจะไม่มีพฤติการณ์ของการหลบหนี หรือว่าการไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน หรือคำสั่งห้ามเข้าร่วมการชุมนุม หรือคำสั่งห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ซึ่งในรายงานฉบับนี้ของ กสม. ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ อีกทั้งในรายงาน ฉบับนี้ของ กสม. เองก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของมาตรา ๑๑๒ ว่าขัดกับกฎหมาย สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือ ICCPR อย่างไรบ้าง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเอง ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานของ UN จะมีความเห็นต่อปัญหาทั้งในเรื่องของการบังคับใช้ กฎหมายและบทบัญญัติของมาตรา ๑๑๒ ไว้ และมีข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย มาโดยตลอดก็ตามนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีก ๑ ตัวอย่างสุดท้ายก็คือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการ ฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากหรือว่า Anti-SLAPP Law ซึ่งในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ระบุ ไม่ได้วิเคราะห์ลงลึกไปให้เห็นถึงปัญหาว่าเหตุใดองค์กรและบุคลากร ในวงการอัยการและศาลจึงไม่ปรากฏกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันก็ขอแนะนำว่าในช่วงที่ผ่านมาเองมีงานสัมมนาของภาคประชาสังคมที่จัดขึ้น ในหัวข้อปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมายสู่การมี Anti-SLAPP Law ในประเทศไทย ก็หวังว่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อ กสม. นะคะ ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันมีข้อเสนอแนะกับ กสม. ๒ ประการด้วยกัน ประการแรก ในรายงานถัดไปของ กสม. จะต้องครอบคลุมถึง สถานการณ์ขณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสถานการณ์สิทธิได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญ คือต้องไม่ลดทอนมิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นของผู้ละเมิดนะคะ ประการที่ ๒ ในรายงานถัดไป ของ กสม. จะต้องประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการกระทำ ในลักษณะใดบ้างที่เป็นการกระทำที่ขัดหรือละเมิดกับสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันกล่าวมาชี้ให้เห็นว่าในการทำงานของ กสม. ยังมีท่าทีในลักษณะของความเกรงใจต่อองคาพยพของรัฐ จนไปลดทอนบทบาทที่สำคัญ ที่จำเป็นของ กสม. ลง โดยดิฉันขอสนับสนุนให้ กสม. สร้างความไว้วางใจให้กับภาคประชาสังคม ในการทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนนะคะ ในลักษณะที่กล้าเผชิญหน้ากับต้นตอของปัญหา ไปด้วยกันนะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม และขอคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้ชี้แจงด้วยนะคะ อย่างที่เราทราบกันดีว่าสำนักงาน ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการดูแลเกี่ยวข้องกับงานธุรการ งานส่งเสริมตุลาการ และงานวิชาการ แล้วก็รวมไปถึงการเสริมสร้างให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไป โดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แต่ว่าหลังจากที่ดิฉันได้อ่านรายงานการเงิน ของสำนักงานศาลยุติธรรม ดิฉันกลับพบว่าการทำรายงานบัญชียังขาดการอธิบาย รายละเอียดที่ชัดเจนอยู่หลายประการ และยิ่งหากเราเปรียบเทียบการใช้งบประมาณ ของสำนักงานศาลยุติธรรมกับการทำงาน ดิฉันก็ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวนี้ดูจะไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อ Guarantee สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ต้องหา ในคดีการเมือง

    อ่านในการประชุม

  • โดยประเด็นแรกที่ดิฉันอยากจะขอใช้พื้นที่นี้ในการพูดถึง ก็คือเรื่องของ การใช้งบประมาณกับการใช้กำไล EM กับผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง โดยสำหรับประเทศไทย เราได้เริ่มการนำกำไล EM มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาแล้วก็จำเลย มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเหตุผลหลัก ๆ เราก็พูดถึงเรื่องของการลดความแออัดข้างในเรือนจำ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว จึงมีการใช้กำไล EM แทนการวาง หลักทรัพย์ในบางส่วน ซึ่งดิฉันต้องขอย้ำในที่นี้ว่าการใช้กำไล EM กับกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในต่างประเทศเขาก็มีการใช้กำไล EM กับกระบวนการยุติธรรมกัน เป็นเรื่องปกติมาก ๆ แต่ว่าการใช้อุปกรณ์นี้จะต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็น ความได้สัดส่วน แล้วก็ความเหมาะสมด้วยค่ะ เพราะหากการใช้กำไล EM ดังกล่าวนี้ขาดการพิจารณา ถึงหลักการเหล่านั้น ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคดีความของพวกเขาเหล่านั้นยังไม่มีการพิพากษาออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็จะไปขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จากรายงานการเงินดิฉันพบว่า ในปี ๒๕๖๕ มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานไปกว่า ๖๘ ล้านบาท ในโครงการส่งเสริม การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM มาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งไม่มั่นใจว่า จากงบประมาณตรงนี้จะมีงบประมาณอื่นแอบแฝงอยู่ในรายการอื่นหรือไม่ อย่างไรนะคะ ซึ่งก่อนหน้านี้เองมติของ ครม. ในปี ๒๕๖๓ ก็ได้มีการเห็นชอบงบประมาณกว่า ๘๐๐ กว่าล้านบาท ในการเช่ากำไล EM มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ ก็เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ประเทศไทยแม้เราจะลงทุนงบประมาณ ไปหลายล้านบาทในโครงการการใช้กำไล EM กับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อลดความแออัด ในเรือนจำ แต่ดิฉันกลับพบว่าจำนวนของผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ในบ้านเรานี่กลับไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ดิฉันจึงคิดว่าหรือเราเองอาจจะต้อง พิจารณาว่าวิธีการในการลดจำนวนของผู้ต้องขังในเรือนจำอาจจะมีวิธีการอื่นที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่าหรือเปล่า นั่นก็คือเรื่องของการยึดหลัก ปล่อยเป็นหลักและขังคือยกเว้น ซึ่งหลักการนี้ก็จะช่วย Guarantee สิทธิในการประกันตัว ของผู้ต้องหาได้อีกด้วย หรือว่าการเลือกในการปฏิรูปเรือนจำนั่นเองก็เป็นอีก ๑ ช่องทาง หากเราศึกษารายละเอียดในคดีทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา เราจะพบว่าศาล ได้เริ่มนำกำไร EM มาใช้กับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างน้อย ๙๘ คน แน่ ๆ แม้ว่าพวกเขาหลายคนจะไม่ได้มีพฤติการณ์ของการหลบหนี การไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน หรือหลายคนเองก็ไม่ได้มีเงื่อนไขการประกันตัวจากศาลว่าห้ามออกนอก ประเท ศ หรือไม่มีเงื่อนไขของ Curfew แต่กลับ ถูกศาลสั่งให้ ใส่กำไล EM อย่างไม่สมเหตุสมผล จึงทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าศาลนั้นมีแนวทาง มีนโยบาย ในการพิจารณาเกณฑ์การพิจารณาในการใช้กำไล EM อย่างไร เพราะแค่เพียงการที่รัฐเอง ต้องการอยากรู้อยากเห็นชีวิตของนักกิจกรรมทางการเมือง ดิฉันก็คิดว่าคงไม่มีน้ำหนัก เพียงพอในการที่จะสั่งให้ผู้ต้องหาในคดีการเมืองติดกำไล EM ได้นะคะ และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ สังคมยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นไปเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาอย่างกว้างขวางนะคะ และอีกหลายกรณีก็นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติของตุลาการต่อผู้ต้องหา ในคดีการเมืองอีกด้วยนะคะ นอกจากนั้นดิฉันยังทราบมาว่าประสิทธิภาพของกำไล EM ที่เราใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมหาศาลนั้นก็มีประสิทธิภาพต่ำมาก มีหลายกรณี ที่มีการร้องเรียนว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM นี้มีปัญหาในเชิงเทคนิค Charge ไฟไม่เข้าบ้าง ส่งสัญญาณหรือว่าเสียงสั่นรบกวนผู้ต้องหาที่ใช้กำไล EM อยู่ด้วย ดิฉันจึงคาดหวังว่า เมื่อเราลงทุนงบประมาณไปจำนวนมหาศาลกับกำไล EM ก็คาดหวังว่าเราจะสามารถ ใช้งานมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายที่ดิฉันอยากสอบถาม ก็เป็นเรื่องของความล่าช้าของ การดำเนินงานด้านการประกันตัวของศาลยุติธรรม อย่างที่เราทราบกันดีว่าความล่าช้า คือความอยุติธรรม ดิฉันขอยกตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว ก็คือกรณีของทนายอานนท์ นำภา หลังจากที่ศาลอาญารัชดาได้มีคำพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา ๑๑๒ หรือว่ากฎหมาย หมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นเวลา ๔ ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาทนายความได้มีการยื่นคำร้อง เพื่อขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีความในระหว่างการอุทธรณ์คดี แต่ว่าจากการตรวจสอบ ดิฉันพบว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญารัชดาได้ใช้เวลามากกว่า ๓ วัน อย่างน้อยประมาณ ๓ วัน กว่าที่จะส่งสำนวนดังกล่าว คำร้องดังกล่าวในการขอปล่อยตัว ชั่วคราวจากศาลชั้นต้นไปที่ศาลอุทธรณ์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันจึงเกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใด การทำงานเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวจึงมีความล่าช้า หรือเพราะว่าสำนักงานศาลมีบุคลากร ไม่เพียงพอคะ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ต้องพูดกันตามตรงว่ามันจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรร งบประมาณของบุคลากร และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือมันเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ก็เป็น เรื่องสำคัญที่ดิฉันคาดหวังว่าสำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องเร่งฟื้นคืนกลับมาอย่างเร่งด่วน แล้วก็การจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ก็อยากให้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาอย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปี เราเห็นถึงความพยายามของรัฐในช่วงที่ผ่านมาที่ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังกล่าว แต่สถานการณ์ความขัดแย้งก็ยังคงน่ากังวลยิ่งนัก ดังที่เราเห็นได้จากการใช้ งบประมาณไปกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ตัวเลข ของผู้เสียชีวิต ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ประชาชน ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กก็ยังมีมากกว่า ๗,๐๐๐ รายด้วยกัน ดิฉันคิดว่าวันนี้เราถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า แนวทางในการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ที่ขาดความชัดเจน ผ่านมุมมองของความมั่นคงแบบเดิม ๆ ไม่อาจใช้ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้ กฎหมายความมั่นคง หรือการให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่กองทัพ และมีอำนาจพิเศษ ตามกฎหมายความมั่นคงอีกหลายฉบับซึ่งขาดกลไกของการตรวจสอบถ่วงดุลที่มี ประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการเปิดช่องที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ แล้วก็ที่สำคัญ นำไปสู่การเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ในพื้นที่ เช่น การควบคุมตัว โดยพลการ การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว การซ้อมทรมาน การสังหาร นอกกระบวนการยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ เช่น การตรวจ DNA หรือการที่นักเคลื่อนไหว เพื่ออัตลักษณ์มลายูถูกเรียกไปพบ ถูกเรียกไปกดดันเพื่อให้ยุติการทำกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของพวกเขา จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาโดยกลุ่มด้วยใจพบว่าการทรมานยังคงเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการทรมานที่เปลี่ยนไป ไปสู่รูปแบบของการทรมาน ทางด้านจิตใจ จากการที่กลุ่มด้วยใจสัมภาษณ์ผู้ที่ถูกคุมขังกว่า ๔๐ คน เราพบว่ามีอย่างน้อย ถึง ๑๐ คนด้วยกันที่มีประสบการณ์ของการถูกกระทำทรมานและปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และมีการวิสามัญฆาตกรรมสูงถึง ๑๘ คนในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เอง ก็ไม่มีการเจรจาก่อนการปะทะ ดังนั้นยังรวมไปถึงการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกษา และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีกกว่า ๑๕๘ คน และเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ก็คือกรณี ของพนักงานบริษัทผู้ให้บริการ Internet แห่งหนึ่งได้เหยียบระเบิดจนขาขาดแล้วก็เสียชีวิต ในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการออกมาชี้แจงว่าจะมี การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร จะมีกระบวนการในการเยียวยาให้กับผู้ที่เสียชีวิต แล้วก็ครอบครัวของเขาอย่างไร สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่ายิ่งส่งผลให้ความรุนแรงในแง่ของ ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็แน่นอนอีกเช่นเดียวกันว่าจะส่งผลต่อความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพด้วย ดิฉันเชื่อมั่นว่ารากฐานของการสร้างสันติภาพ ที่แท้จริงก็คือการที่รัฐเองจะต้องเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งนั่นรวมไปถึงการเปิด พื้นที่เพื่อให้มีส่วนร่วมแล้วก็การตรวจสอบทั้งจากรัฐสภาเอง แล้วก็รวมไปถึงภาคประชาชน อีกด้วย อีกทั้งยังจะต้องจริงจังกับการค้นหาความจริง ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันทราบมาว่ามีการตั้ง คณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นโดยหน่วยงานความมั่นคง แต่ว่าอย่างไรก็ตามกระบวนการ ค้นหาความจริงนี้ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน แล้วก็ที่สำคัญคือไม่มีการเปิดเผย ผลการรายงานข้อเท็จจริงที่ได้มีการตรวจสอบไปแล้วต่อสาธารณะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการส่งเสริมให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น ได้จริงท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงแล้วก็การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในพื้นที่ ชายแดนใต้ของเรา คือการที่รัฐไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมา เราต้องยอมรับกันตามตรงว่าการเยียวยาของรัฐไทยมักจะไปมุ่งเน้นแค่เพียงการเยียวยา ด้วยตัวเงิน แต่ดิฉันกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอ เราทราบกันดีว่าการเยียวยาที่ดีจะช่วย บรรเทาทุกข์ทรมานของเหยื่อและครอบครัวได้ รวมไปถึงการคืนศักดิ์ศรีให้กับเหยื่อ แล้วก็ ที่สำคัญคือการยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด การเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ตามหลักสากลเองก็มีหลายวิธีการด้วยกัน ทั้งการเยียวยาด้วยตัวเงิน แล้วก็การเยียวยาที่ไม่ใช่ ตัวเงิน ซึ่งวันนี้ดิฉันจะขอพูดในรายละเอียดดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ก็คือการค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ คือการที่เราจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อผ่าน กระบวนการยุติธรรมปกติ สิ่งนี้ก็จะเป็นเรื่องของการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด แล้วก็ยุติการลอยนวลพ้นผิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ คือการทำให้คืนสู่สภาพเดิม เช่น การชดเชยด้วยตัวเงิน การชดเชยด้วยการคืนทรัพย์สิน แล้วก็ที่สำคัญที่ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมา พูดถึงกันก็คือการชดเชยความเสียหายทางจิตใจ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๔ คือการทำให้พอใจหรือการที่รัฐเองจะต้องยอมรับความผิด แล้วก็มีการขอโทษทางสาธารณะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๕ คือการรักษาความทรงจำร่วมกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๖ ก็คือการป้องกันเพื่อมิให้เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับปรุงตัวกฎหมายการปฏิรูปโครงสร้าง การทำงานของรัฐเอง และที่สำคัญก็คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั่นเอง ดิฉันคาดหวัง เป็นอย่างยิ่งว่าในกระบวนการสร้างสันติภาพที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะได้เห็นกระบวนการเยียวยา ที่มีประสิทธิภาพที่มากกว่าแค่ตัวเงิน ดิฉันขอย้ำว่าการสร้างสันติภาพจะต้องคำนึงถึงหลักการ สิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับการค้นหาความจริงที่จะเปิดช่องให้เกิดการเยียวยา ที่มากกว่าตัวเงินอย่างที่ดิฉันได้นำเรียนไปก่อนหน้านี้ และที่สำคัญคือการนำผู้กระทำความผิด มาลงโทษและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนั้น กระบวนการสร้างสันติภาพยังจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ทั้งจากรัฐสภาเอง ซึ่งเป็นผู้แทนของราษฎรทุก ๆ คน และที่สำคัญก็คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอีกด้วย อันนี้จึงเป็นเหตุผลที่ดิฉันขอสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา การสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของพวกเรา ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ก่อนอื่นดิฉันต้องบอกก่อนว่าหลังจากที่ ดิฉันได้เห็นชื่อญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาการดูแลเด็ก เยาวชนและความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เดิมทีดิฉัน ก็เข้าใจว่าญัตตินี้จะพูดถึงปัญหาของสถาบันครอบครัวเป็นหลัก แต่ว่าหลังจากที่ดิฉันได้อ่าน เหตุผลก็พบว่าเหตุผลของการเสนอญัตตินี้หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของการที่เยาวชน คนหนุ่มสาว ของบ้านเราออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา แต่ว่าหลังจากที่ได้ฟังเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้นำเสนอญัตตินี้ ก็พบว่าเป็นอีกเนื้อหาหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามดิฉันขออนุญาตในการที่จะอภิปรายญัตตินี้โดยยึด เนื้อหาตามเหตุผลที่ท่านได้เสนอมาให้กับสภาผู้แทนราษฎรของเรา ดิฉันขอเริ่มการอภิปราย ของดิฉันด้วยการขอแสดงจุดยืนว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของเยาวชนนั้น ตั้งแต่ช่วงในปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาจะไม่น่ากังวลเลย ถ้ารัฐไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การใช้ ความรุนแรง ซึ่งดิฉันอยากจะขอยืนยันกับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่แห่งนี้ว่า เยาวชนทุกคนพวกเขามีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุมสาธารณะบนท้องถนนเอง หรือในสถานศึกษาเอง หรือว่าการแสดงความคิดเห็น บนโลก Online ก็เป็นสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาทำได้

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชนนั้น ได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐไทยเองก็เข้าไปเป็นภาคีด้วย แล้วก็ล่าสุดเอง ตาม Slide นะคะ ล่าสุด UNICEF ซึ่งเป็นองค์กรของ UN ที่ทำงานว่าด้วย เรื่องของสิทธิเด็กก็ได้ออกรายงานเพื่อยืนยันสิทธิในการชุมนุมของเยาวชนขึ้นมา ซึ่งเพิ่งออกรายงานมาเมื่อปีนี้เอง ตาม Slide ด้านบน

    อ่านในการประชุม

  • ในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา เยาวชนลูกหลานของเราตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก ตื่นตัวในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขามากขึ้น และนั่นจึงนำมาสู่การที่ พวกเขาลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในการศึกษา เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา สิทธิของผู้เรียน สิทธิของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญยุติการลงโทษ การตีเด็กนักเรียน อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา เยาวชนคนหนุ่มสาวของเราก็ออกมารณรงค์ เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง หรือการชุมนุมของน้องยะห์ น้องไครียะห์ หรือลูกสาวจะนะ ที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง ปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของพวกเขาเอง ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดี๋ยว Slide ค่อยเปลี่ยนก็ได้ค่ะ ดิฉันแจ้งเอง ขอบคุณมากนะคะ ก็เป็นอีกการชุมนุมหนึ่งที่เยาวชนของเราลุกขึ้นมามีส่วนร่วม เพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิด ของเขา หรือการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่เรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เราก็พบว่ามีเยาวชนลูกหลานของเราหลายคนที่เข้าร่วม การชุมนุมกับครอบครัว และในขณะเดียวกันเอง เยาวชนคนหนุ่มสาวหลายคนก็เป็นแกนนำ นำการชุมนุมด้วยเช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ นี่คือสิ่งที่รัฐไทยรับมือกับการชุมนุมโดยสงบของเยาวชน ของลูกหลานของเรา ตาม Slide ด้านบนนะคะ เมื่อวานนี้เองค่ะ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม เมื่อวาน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้แถลงผลการตรวจสอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ซึ่งทาง กสม. ก็ได้ชี้ว่าตำรวจและบุคลากรทางการศึกษาขัดขวางและคุกคามการชุมนุม โดยสงบของเด็ก และสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเยาวชน ดิฉันขอยกมาบางส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก คือการที่ตำรวจได้จับกุม ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงจับกุมเด็ก และเยาวชนเกินกว่าเหตุ ไม่ได้สอบสวนเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้สายรัดพลาสติก รัดข้อมือเด็กในระหว่างการควบคุมตัว หรือกรณีที่มีเด็กและเยาวชนของเรากว่า ๓๐๐ คน ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งบางคดีก็มีโทษสูงมาก อย่างคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือมาตรา ๑๑๒ ซึ่งมีโทษสูงตั้งแต่ ๓-๑๕ ปี โดยในคดีนี้เอง มีเยาวชนลูกหลานของเราที่ถูกดำเนินคดีอยู่ ๒๐ คน อีกรอบหนึ่งนะคะ ในปัจจุบันเรามี ลูกหลานของเราที่อายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ต่ำกว่า ๑๘ ปี ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา ๑๑๒ อยู่เป็นจำนวนอย่างน้อย ๒๐ คน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด

    อ่านในการประชุม

  • กรณีที่ ๓ ในรายงานของ กสม. ที่ชี้ออกมา ก็คือกรณีที่บุคลากรทางการศึกษา ได้สั่งห้าม ขัดขวาง ใช้ถ้อยคำรุนแรง หรืออนุญาตให้ตำรวจได้เข้ามาสอดส่อง ถ่ายภาพนักเรียน ภายในโรงเรียนเพื่อไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ กสม. ได้ชี้ออกมาแล้วว่า เป็นการละเมิดสิทธิ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ หากจะมีการชุมนุมใดที่รัฐมองว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ที่เกินขอบเขต รัฐเองก็ควรที่จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าผู้ชุมนุมนั้นกระทำเกินขอบเขต อย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรที่จะเหมารวมผู้ชุมนุมทุกคนว่าใช้กำลังหรือว่าใช้ความรุนแรง ในการชุมนุม ซึ่งวิธีการรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย หรือว่า คฝ. ในช่วงที่ผ่านมานั้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจของรัฐไทยไม่ได้เปิดใจรับฟังความต้องการของเยาวชน ไม่ได้ เชื่อมั่นว่าพวกเขาเติบโตมากเพียงพอที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองนะคะ ซึ่งการรับมือ การชุมนุมด้วยวิธีการเหล่านี้ก็คือเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงที่มากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความกังวลใจ ให้กับผู้ปกครอง แล้วก็ที่สำคัญส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย เราไม่ปฏิเสธเลย ว่าการเมืองบ้านเราตอนนี้ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวมีปัญหา บางบ้านก็ไม่สามารถที่จะพูดคุยเรื่องการเมืองได้ ทีนี้ในช่วงการชุมนุมเดือด ๆ ในช่วงปี ๒๕๖๓ ก็มีกุมารแพทย์ท่านหนึ่งได้เคย Post Facebook ไว้นะคะว่าเมื่อเด็กเริ่มสนใจทาง การเมืองมากขึ้นมันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่เขารู้จักที่จะสงสัยแล้วตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัว และหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างพวกเราคือการทำความเข้าใจและตอบคำถามในสิ่งที่เขาสงสัย ใคร่รู้ ทุกท่านในภาพนี้ถึงแม้ว่าจะถูกเบลอภาพไปแล้ว แต่ว่าในภาพดังกล่าวเป็นภาพของแม่ และลูกน้อยที่มาชุมนุมที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องเรื่องของ Climate Change ซึ่งภาพนี้ ก็มาจากรายงานของ UNICEF หรือ Slide ถัดไปก็เป็นภาพการชุมนุมวันศุกร์เพื่อ วันข้างหน้าที่เรียกร้องให้นานาชาติออกมาต่อสู้กับเรื่องของ Climate Change เช่นเดียวกัน ซึ่งในภาพก็คือเด็กที่ออกมาร่วมชุมนุมกับคุณพ่อ จริง ๆ แล้วการชุมนุมเป็นกิจกรรม ครอบครัวได้ แล้วก็หากเราช่วยกันออกแบบให้การชุมนุมนั้นปลอดภัย สร้างสรรค์สำหรับ ทุกคนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน ให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันได้อย่างตรงไปตรงมาภายในครอบครัว สุดท้ายค่ะท่านประธาน การใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ แปลกคือการที่เราปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐทำตัวล้าหลังดักดาน ใช้กำลังดำเนินคดีขัดขวาง การใช้สิทธิและเสรีภาพของเยาวชนจนเกินขอบเขต ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉัน มีปัญหาของพ่อแม่พี่น้องในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลงและคลองสามมาปรึกษาหารือกับ ท่านประธาน ๓ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่ ท่าโขลง ซึ่งดิฉันได้รับการประสานงานร้องเรียนมาจากพ่อแม่พี่น้องในชุมชนบ้านเอื้ออาทร เทพกุญชร ๓๔ ชุมชนพระปิ่น ๗ ตลาดไท ชุมชนริมคลองสะพานเทพกุญชร ๑ บ้านเอื้ออาทร กม. ๔๔ และบริเวณด้านหน้าหมู่บ้านราชพฤกษ์ ๗-๑๐ ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง เนื่องจากว่ามีสุนัขจรจัดจำนวนมากในชุมชนดังกล่าวแล้วหลายตัวนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือการทำหมัน หลายตัวมีอาการดุร้ายทำลายข้าวของของประชาชนในพื้นที่ ส่งกลิ่นเหม็น รบกวน ดิฉันจึงอยากจะขอฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นกรมปศุสัตว์ และเทศบาลท่าโขลงให้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาไฟทางและไฟดับบนสะพานกลับรถบริเวณถนนเชียงราก ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งจุดดังกล่าวไฟดับมานานแล้ว แล้วก็สุ่มเสี่ยงต่อ การเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมในพื้นที่ ดิฉันทราบมาว่าทางกรมทางหลวงได้พยายาม แก้ไขปัญหาดังกล่าวมาแล้วหลายรอบ แต่ว่าซ่อมได้ไม่นานก็มีการลักสายไฟเกิดขึ้นเช่นเดิม ซึ่งการซ่อมแซมสายไฟแล้วก็มีข้อจำกัดเรื่องของงบประมาณอีกต่างหาก ดิฉันจึงขอฝาก ประสานงานไปยังกรมทางหลวง สภ. คลองหลวง และการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ให้ช่วยเร่งหาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการร่วมกันโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมร้านรับซื้อของเก่าพวกทองแดงที่ควรจะต้องมีการตรวจสอบ ถึงที่มาที่ไปและการลงทะเบียนให้ชัดเจนด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัญหาสุดท้ายก็คือดิฉันและทีมงานได้ทราบจากนิติบุคคล หมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่คลองสามของอำเภอคลองหลวง ทราบมาว่าเมื่อไม่นานมานี้ ทางกรมที่ดินได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับประชาชนที่มาใช้บริการในการคัดถ่าย สำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารที่ดินต่าง ๆ ซึ่งตกราคาหน้าละ ๕๐ บาท ไม่ใช่แผ่นละ ๕๐ บาท ซึ่งเดิมทีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่มี แต่ว่าเพิ่งมาเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากทีเดียวเมื่อเทียบกับราคา Print หรือว่าถ่ายเอกสารจากเอกชน ด้านนอก ดิฉันจึงขอฝากกรมที่ดินให้ช่วยชี้แจงถึงเหตุผลและพิจารณาทบทวนการจัดเก็บ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ครอบครัวเราขาดรอยยิ้มไปรอยหนึ่ง ดวงใจแม่ขาด ดวงใจแทบสลายแล้ว คดีนี้ควรที่จะกระจ่าง มันไม่ควรที่จะเงียบ ข้อความ ดังกล่าวนี้คือคำพูดของคุณแม่ต่อหน้าศพของน้องวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย ๑๕ ปีที่ถูกยิง ด้วยกระสุนจริงโดยบุคคลที่สาม ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. เข้าทำการควบคุม สถานการณ์และเข้าทำการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาค่ะ และในขณะเดียวกัน ๑ วันก่อนหน้านั้น คุณมานะ หงษ์ทอง ชายวัย ๖๔ ปี ขณะเดินทาง กลับบ้าน เขาได้ถูกลูกหลงจากกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ คฝ. ยิงเข้าที่ศีรษะจนเป็น ผู้ทุพพลภาพกว่าครึ่งปี ก่อนที่จะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดยญาติ ได้เข้าไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน. ดินแดง แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มี การแจ้งกลับมาว่าได้งดการสอบสวนเพราะไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด นี่เป็นเพียงแค่ ๒ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ๒ ชีวิตที่สิ้นลมจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา การรอคอยความยุติธรรมให้กับคนรักที่สิ้นลมไปพร้อมกับความเคลือบแคลง ความสงสัย เป็นความทุกข์ทรมานที่เกินกว่าพวกเราในที่นี้จะเข้าใจความสูญเสียของญาติ ผู้เสียชีวิต โดยในวันนี้ดิฉันจะขอพูดถึง ๒ ประเด็น ที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ก็คือเรื่องของความรับผิด ความโปร่งใส แล้วก็การตรวจสอบได้ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งหนึ่งเลยที่ดิฉันมองว่าเป็นปัญหาอย่างมาก ๆ ก็คือประเด็นเรื่องของ การขาดการแจ้งแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมาอย่างที่ เราทราบกันดีว่าในช่วงที่มีการชุมนุมตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการแจ้งแผนการดูแลการชุมนุมล่วงหน้าว่าจะใช้อาวุธอะไรบ้าง กับผู้ชุมนุม หรือว่ามีแนวทางในการรับมือการชุมนุมอย่างไรบ้าง ไม่ได้มีการเปิดเผยว่าจะใช้ กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมพื้นที่การชุมนุมอย่างไร แล้วในขณะเดียวกันหลายครั้ง เราไม่สามารถที่จะระบุตัวตนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมได้ ซึ่งการไม่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งสร้างความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างผู้ชุมนุม กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ว่าท้ายที่สุดแล้วการควบคุมการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อที่จะมา รักษาความปลอดภัย หรือมาอำนวยความสะดวก หรือจะมาขัดขวาง หรือทำร้ายผู้ชุมนุม และเมื่อสิ้นสุดการชุมนุมแล้วเราก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงาน ให้สาธารณะทราบ โดยเฉพาะในประเทศไทยเองที่ไม่ได้มีกลไกในการให้ตั้งคณะกรรมการ ในการตรวจสอบ หรือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. จะต้องมารายงานผลการดำเนินงาน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมต่อคณะกรรมการอิสระต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการอิสระในส่วนของฝ่ายรัฐบาลเอง ฝ่ายรัฐสภาเอง หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ อย่าง กสม. เราพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการชี้แจงหรือการตรวจสอบ ซึ่งดิฉันเองคาดหวัง เป็นอย่างมากว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญครั้งหนึ่ง ที่เราจะช่วยกันเซตมาตรฐานในการตรวจสอบ แล้วก็สร้างความโปร่งใสในการใช้ความรุนแรง ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุมด้วยกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ก็คือประเด็นเรื่องความรับผิดของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก Slide ด้านบนเราจะพบว่าทาง iLaw ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีการรวบรวมสถิติ ข้อมูลคดีการชุมนุมที่เกิดขึ้น เราพบว่าในคดีความหลาย ๆ คดี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว ในหลายครั้งเร็วสุดเท่าที่ดิฉันทราบมาก็คือ ๒ วัน สามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้แล้ว แต่ว่า ส่วนกรณีของคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีว่าสลายการชุมนุมโดยมิชอบเอง หรือว่าใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงโดยมิชอบในการสลายการชุมนุม อย่างเช่น กรณีที่ตำรวจ ขับรถชนผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง หรือว่ากรณีที่ตำรวจใช้ปืนลูกซองยิงประชาชนในระยะ ประชิดเอง คดีความต่าง ๆ เหล่านี้กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แต่เมื่อเทียบกับกรณีที่ ประชาชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากตำรวจ คดีความกลับรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันยิ่ง ทำให้พวกเราแล้วก็รวมถึงภาคประชาชนหลาย ๆ คนกังวลเป็นอย่างมากถึงความรับผิด ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินร้ายแรง หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่ในขณะเดียวกันรัฐเองก็ใช้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมการชุมนุมด้วย ซึ่งอันนี้ ก็สร้างความกังวลถึงเรื่องของความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะไปส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม ลอยนวลพ้นผิด

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ที่ดิฉันอยากพูดถึงก็คือเรื่องของการสลายการชุมนุมที่ขัดต่อ หลักการสากล ประเด็นแรกคือเรื่องของการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเวลาสลายการชุมนุม ขาดการพิจารณาถึงหลักการหรือแกนหลักในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งในวันนี้ ดิฉันขอยกตัวอย่างหลักการ Three-prong Test ซึ่งในวารสารของอาจารย์พัชร์ นิยมศิลป ในวารสารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการพูดถึงหลักการนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่คำนึง ถึงว่าทุกครั้งที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รัฐจะต้องอธิบายว่าการจำกัดเสรีภาพ ในครั้งนั้นได้มีการทดสอบตามหลักการ Three-prong Test หรือไม่ ประเด็นแรกของ การตรวจสอบในขั้นแรกก็คือเรื่องของมีการใช้กฎหมาย หรือว่ามีกฎหมายรับรอง มี พ.ร.บ. รับรองที่จะให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพนั้น ๆ หรือไม่ อันนี้เป็นขั้นแรกที่จะต้องตรวจสอบ ขั้นที่ ๒ ก็คือเรื่องของการจำกัดเสรีภาพนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และขั้นที่ ๓ คือการจำกัดเสรีภาพนั้น ๆ มีความจำเป็น มีความเหมาะสมในสังคมประชาธิปไตย หรือไม่ หรือว่ามีมาตรการอื่นอย่างไรที่จะสามารถทดแทนได้

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องของการที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้อาวุธผิดหลักการสากลในการทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งในการนี้ดิฉันขอพูดแบบเร็ว ๆ นะคะ ขออนุญาตพูดถึง Slide ถัดไปเลย จากข้อมูลของภาคประชาสังคม ได้มีการทำข้อมูลสถิติ ออกมาว่าในกรณีที่ คฝ. ใช้กระสุนยางยิงผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง หลายครั้งเวลาเรา พูดถึงการใช้กระสุนยาง โดยปกติแล้วตามหลักการสากลกระสุนยางเขาให้ยิงที่ส่วนล่าง ของร่างกาย แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงการชุมนุมปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา เราพบว่า คฝ. ใช้กระสุนยางยิงส่วนบนของร่างกายของผู้ชุมนุม แล้วน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคน เกิดพิการ หรือว่าหลายคนสูญเสียดวงตา อย่างน้อย ๓ คนที่สูญเสียดวงตาไปแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่ง คือการใช้กระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปกติแล้วการใช้ กระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีเกณฑ์ในการใช้ คือใช้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น หรือว่า ตีที่แขนหรือขา แต่ไม่ให้ตีที่ศีรษะหรือคอ แต่จากภาพที่เห็นหลายครั้งมากที่ คฝ. รุมผู้ที่ชุมนุม ถึงแม้ว่าเขาเองจะไม่ได้มีการพกพาอาวุธ หรือว่าไม่ได้มีพฤติกรรมของการใช้ความรุนแรง แต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นแล้วก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่ คฝ. เองได้ใช้ กลไก ใช้มาตรการในการควบคุมฝูงชนที่ขัดกับหลักมาตรฐานสากล ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ณ วันนี้เราควรที่จะต้องมีการสร้างมาตรฐานร่วมกันในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบของประชาชนให้มีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน และในขณะเดียวกันคือเว้นวัฒนธรรม ลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ในประเด็นนี้ เนื่องจากว่าในพื้นที่ทั้งในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลงและตำบลคลองสาม ของดิฉันก็มีปัญหาเรื่องนี้นะคะ ประเด็นแรกที่ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือปัญหาในพื้นที่ ของเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องบอกว่าเทศบาลเมืองท่าโขลงเป็นหนึ่ง ในพื้นที่ที่อยู่ติดกันกับจังหวัดกรุงเทพมหานครของเรา แต่ว่านี่คือคุณภาพน้ำประปาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเทศบาลเมืองท่าโขลงนะคะ จริง ๆ แล้ว ในเทศบาลเมืองท่าโขลงประชาชนใช้น้ำประปา โดยเทศบาลเมืองท่าโขลงเป็นผู้บริหาร จัดการน้ำประปาในพื้นที่เอง โดยการทำสัญญาซื้อน้ำประปาจากบริษัทเอกชนมานาน หลายสิบปีแล้วนะคะ โดยดิฉันพบว่าน้ำประปาในพื้นที่มักจะมีสีขุ่น มีกลิ่นเหม็น ซึ่งทำให้ ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ จนบางครั้งประชาชนจะต้อง เสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อซื้อน้ำขวดจากเอกชนมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ทั้งการซักผ้า อาบน้ำ หรือการทำกับข้าวต่าง ๆ ด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาดิฉันทราบว่าทางเทศบาล เมืองท่าโขลงเองก็ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ว่าปัญหา ดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ อันนี้คือภาพตัวอย่างของไส้กรองน้ำประปาในพื้นที่ท่าโขลงที่ใช้เวลา ไม่กี่สัปดาห์ก็มีสภาพดำแบบนี้แล้ว นั่นหมายความว่าในแต่ละเดือน แต่ละสัปดาห์ ประชาชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนไส้กรองเป็นเงินจำนวนมาก

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๒ คือปัญหาน้ำประปาในพื้นที่คลองสามที่ไหลอ่อน ต้องบอกว่า ในพื้นที่คลองสามของอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่มี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ปัญหาเรื่องน้ำประปาไหลอ่อนทำให้ประชาชนในพื้นที่ จะต้องติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเอง แท็งก์น้ำเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอุปกรณ์แล้วก็ค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่จนเกินควร จากปัญหาดังกล่าว ในพื้นที่ดิฉันได้มีการสอบถามทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่นเอง ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค ทั้งจากประชาชน แล้วก็รวมไปถึงเอกชนที่ให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ ดิฉันจึงอยากจะ ขอฝากให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาถึงแนวทางในการแก้ไขน้ำประปาในพื้นที่ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ก็คือเรื่องของการวางมาตรฐานการตรวจสอบการผลิตน้ำประปา ที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ รวมไปถึงการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำประปาจากจุดต่าง ๆ เป็นประจำด้วย อันนี้คือเรื่องแรกที่อยากจะฝากไว้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนในการวางระบบท่อประปา ไม่ใช่การวางขนาดท่อ หรือ Spec ของท่อแต่ละจุดที่แตกต่างกัน จนเกิดปัญหาในเรื่องของ เมื่อเพิ่มแรงดันน้ำก็ทำให้ท่อประปาแตกอีกต่างหาก อันนี้ก็ฝากไว้ให้พิจารณา

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของการควบคุมความสะอาดของท่อประปา รวมไปถึงการตรวจสอบ การซ่อมท่อประปาที่ซ่อมแล้ว ซ่อมอยู่ แล้วก็ซ่อมต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันสิ้นเปลืองงบประมาณภาษีของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้วปัญหาของ การซ่อมท่อประปาไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ดิฉันคิดว่าหากเราหยุดระบบเงินทอน จากโครงการซ่อมท่อประปาเหล่านี้ได้ ก็คงจะทำให้ปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำประปา ในพื้นที่ถูกแก้ไขได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าน้ำสูญเสีย ซึ่งในจังหวัด ปทุมธานีได้มีการกำหนดเรื่องของค่าน้ำสูญเสีย ซึ่งก็ยิ่งทำให้ค่าน้ำในจังหวัดปทุมธานีเพิ่มสูง มากขึ้นด้วย และในกรณีเรื่องของน้ำประปาไหลอ่อน ดิฉันก็อยากจะฝากว่าการวางระบบท่อ แล้วก็สถานีส่งน้ำย่อยในพื้นที่ที่มีโอกาสเติบโตของชุมชนเมืองอย่างหนาแน่นเกิดขึ้น ในอนาคต การวางระบบท่อต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องเหล่านี้ด้วย เรื่องของความเติบโต ของชุมชนเมือง แล้วก็ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย ที่ดิฉันอยากจะฝากไว้ก็คือว่าในปัจจุบันแหล่งผลิตน้ำประปา เริ่มลดน้อยลง และรวมไปถึงปัญหาเรื่องของน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งทำให้น้ำประปาเค็ม ดิฉันคิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อยากจะฝากให้คณะกรรมาธิการที่จะเข้ามาพิจารณา ปัญหาการแก้ไขน้ำประปาอย่างเป็นระบบได้ช่วยกันพิจารณาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ แล้วก็หา แนวทางในการรับมือเรื่องนี้ในอนาคตด้วย ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม และหลักประกัน ว่ากฎหมายจะเป็นธรรมบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค วันนี้ดิฉันจึงขอใช้โอกาสนี้ ในการตั้งคำถาม ถึงความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายต่อผู้ต้องขังใน ๒ ประเด็น หลักเพื่อให้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มาชี้แจงในวันนี้ได้แสดงออกถึงความจริงจังและ ความจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีนานาประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ที่ดิฉันอยากจะสอบถามเรื่องของสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล ของผู้ต้องขัง ท่านประธานคะ ดิฉันขอย้ำในที่นี้ผู้ต้องขังทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึง การรักษาพยาบาลที่เหมาะสม กรณีของคุณทักษิณ ชินวัตร เองนั้นหากมีอาการเจ็บป่วย ที่เกินกำลังเกินศักยภาพของสถานพยาบาลเรือนจำ ก็ย่อมต้องได้รับการส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลด้านนอกที่มีศักยภาพที่เพียงพอเช่นเดียวกัน แต่วันนี้ที่ดิฉันตั้งคำถามในประเด็นนี้ ไม่ใช่เพราะว่าดิฉันไม่ต้องการให้คุณทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธินี้ ดิฉันต้องถามถึงเกณฑ์ใน การพิจารณาเรื่องนี้ที่มีบรรทัดฐานว่าสุดท้ายแล้วกรมราชทัณฑ์จะมีเกณฑ์ในการพิจารณา การให้สิทธิของผู้ต้องขังในการออกไปรับการรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไร เพื่อไม่ให้สังคม เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ตลอดจนไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมอีก ก็คือเรื่องนี้ร่วมกัน อย่างมีวุฒิภาวะ และมีเหตุและผลไปด้วยกัน อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่า ณ วันนี้ คุณทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำไม่ถึง ๑ วัน ก่อนที่จะถูกส่งตัวออกมารับการรักษาด้านนอก ที่โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงเวลานี้ก็เป็นเวลาเกินไปกว่า ๑๒๐ วัน และในช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยก็ได้เกิดการตั้งคำถามเรื่องของเกณฑ์ในการพิจารณาการส่งตัวผู้ต้องขังออกไป รักษาด้านนอกของเรือนจำ เพราะที่ผ่านมาค่ะท่านประธาน การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังโดยทั่วไป มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่ายังคงมีปัญหาอยู่มาก เป็นการยากลำบากมาก ๆ สำหรับผู้ต้องขัง ในการที่เขาจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลด้านนอกของเรือนจำนะคะ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมามีเพียงแค่ผู้ต้องขัง ๔ คนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ด้านนอกเรือนจำเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑๒๐ วัน เฉกเช่นเดียวกับกรณีของคุณทักษิณ วันนี้ดิฉันขอยกกรณีตัวอย่างของคุณเอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ตรวจ พบฝีที่ตับหลังรับการรักษาแล้ว โดยเขาได้แจ้งกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้พยายามเร่งส่งตัวเขากลับเข้าสู่เรือนจำอีกรอบหนึ่ง ทั้งที่ยังอยู่ใน ระหว่างการรักษาพยาบาลแล้วก็รับยาฆ่าเชื้อ แล้วแพทย์เองก็ได้มีความเห็นออกมาว่า การติดเชื้อฝีในตับของคุณเอกชัยนั้นก็มีสาเหตุมาจากสภาพของเรือนจำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งแนวการปฏิบัติของราชทัณฑ์ระหว่างกรณีของคุณทักษิณและของคุณเอกชัยนั้นต่างกัน อย่างสิ้นเชิงค่ะท่านประธาน ในประเด็นนี้ดิฉันจึงมีคำถามที่ขอคำชี้แจงจากท่านรัฐมนตรี ให้ชัดเจนแก่สังคมไทยในประเด็นนี้ค่ะ ขอสไลด์ขึ้นด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • โดยปกติแล้วค่ะท่านประธาน ตามขั้นตอนปกติของการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวด้านนอกของเรือนจำก็จะเริ่ม จากการที่ ๑. เมื่อผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยนะคะ แพทย์หรือว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จะต้องทำการแจ้งพัศดีและทำรายงานส่งไปยัง ผบ. เรือนจำ โดยจะต้องมีการแจ้งสาระสำคัญ นอกจากข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ แล้วก็ยังจะต้องรวมไปถึงอาการเจ็บป่วยอย่างไร เรือนจำ มีศักยภาพในการดูแลผู้ต้องขังได้หรือไม่ และควรรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นที่ใด อันนี้ ก็เป็นหลักในการพิจารณาของคณะแพทย์ที่ส่งให้กับทางพัศดีและ ผบ. เรือนจำ ดิฉันจึงมี คำถามเขาว่า หากเราเปรียบเทียบในขั้นตอนปกติของการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัว ด้านนอกของเรือนจำ กับกรณีของคุณทักษิณนั้นที่ถูกส่งตัวออกไปรับการรักษาพยาบาล ด้านนอกที่โรงพยาบาลตำรวจได้ผ่านความเห็นชอบในทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ทางการแพทย์ ตลอดจนการอนุมัติของพัศดีและ ผบ. เรือนจำตามระเบียบตามมาตรการ ปกติหรือไม่ และเพื่อความโปร่งใสในเรื่องนี้อย่างที่เราทราบกันดีว่า ณ วันนี้สังคม ได้ตั้งคำถามกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และดิฉันเองนี้ไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรม ของบ้านเราถูกตั้งคำถามหรือถูกลดความไว้วางใจความเชื่อมั่นจากสังคมไปมากกว่านี้ ดิฉัน จึงคาดหวังว่าอยากฝากไปทางท่านรัฐมนตรีให้ช่วยชี้แจงรายละเอียดของการส่งตัวผู้ต้องขัง กรณีของคุณทักษิณ ชินวัตร นะคะ และหากสามารถชี้แจงรวมถึงการแสดงพยานหลักฐาน ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็จะยิ่งทำให้สังคมช่วยคลายความเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นนี้ด้วย นั่นรวมไปถึงชื่อและตำแหน่งของผู้ที่ทำการวินิจฉัยและผู้ที่อนุมัติด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ค่ะท่านประธาน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ณ วันนี้คุณทักษิณรับการรักษาอยู่ที่ชั้น ๑๔ ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเราทราบกันดีว่า ชั้น ๑๔ เป็นชั้นผู้ป่วยระดับ VIP ของโรงพยาบาลตำรวจ ดิฉันจึงอยากจะสอบถามว่า มีความเหมาะสมหรือความจำเป็นทางการแพทย์อย่างไร เนื่องจากว่ากฎกระทรวงการส่งตัว ผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำได้ระบุห้ามผู้ต้องขังอยู่ห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยโดยทั่วไป และโดยปกติแล้วนี้การส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาด้านนอกเรือนจำก็จะใช้สิทธิตาม สปสช. นะคะ ดิฉันจึงคิดว่าเรื่องนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาตั้งคำถาม แล้วก็ขอความ ชัดเจนจากท่านรัฐมนตรีว่ามีกระบวนการในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไรที่จะเป็นการประกัน หลักการไม่เลือกปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นในกรณีของการส่งตัวผู้ต้องขังค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ประเด็นที่ ๒ ก็จะ เกี่ยวข้องกับเรื่องของระเบียบราชทัณฑ์และการคุมขังในสถานที่อื่นนอกเรือนจำ โดยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง เพิ่งจะมีระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับ การคุมขังในสถานที่คุมขัง ปี ๒๕๖๖ ออกมา ระเบียบนี้ได้เปิดทางให้ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติ ตามเกณฑ์สามารถถูกคุมขังในสถานที่อื่นที่ราชทัณฑ์กำหนดแทนไว้ได้ คือดิฉัน มองว่านี่คือก้าวที่สำคัญของระบบราชทัณฑ์ไทยนะคะ แล้วก็ขอชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะโดยหลักการในเรื่องนี้แล้ว การนำมาตรการอื่นใดแทนการคุมขังมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ความแออัดในเรือนจำเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมนะคะ ซึ่งเรือนจำไทยในช่วงที่ผ่านมาอย่างที่เรา ทราบกันดีว่าติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของเรือนจำที่มีความแออัดสูงสุดของโลกมาโดยตลอด

    อ่านในการประชุม

  • แต่อย่างไรก็ตาม ระเบียบใหม่นี้ก็ยังมีข้อกังวลอีกหลายประการ นอกจากกรณี ของคุณทักษิณเองที่ ณ วันนี้สังคมหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า คุณทักษิณได้เอื้อผลประโยชน์ หรือตัวระเบียบนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกรณีของคุณทักษิณมากน้อยเพียงใดแล้ว แต่วันนี้ ดิฉันอยากจะมาชวนให้เราตั้งคำถามที่ไปไกลมากกว่าแค่กรณีของคุณทักษิณที่จะได้รับ ประโยชน์จากระเบียบนี้ แต่ยังจะต้องรวมไปถึงการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะใช้ ระเบียบนี้ในการแก้ไขปัญหาเรือนจำแออัด เพราะนี่คือประเด็นหลักที่ระเบียบนี้ออกมาใน ขั้นต้น และที่สำคัญเรายังจะต้องช่วยกันตั้งคำถามถึงการบังคับใช้ระเบียบใหม่ฉบับนี้และ การพิจารณาเกณฑ์ของผู้ที่เป็นผู้ถูกคุมขังที่จะเข้าตามระเบียบนี้อีกเช่นเดียวกัน วันนี้ดิฉัน จึงมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกเลยค่ะ ทางท่านรัฐมนตรี และที่สำคัญคือสังกัดที่อยู่ภายใต้ กระทรวงของท่านอย่างกรมราชทัณฑ์ได้ประเมินความเป็นไปได้ในการนำระเบียบฉบับนี้มาใช้ ในการลดปัญหาเรือนจำแออัดอย่างไรบ้าง ผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ระเบียบนี้มีจำนวนเท่าใด และที่สำคัญคือระเบียบนี้จะช่วยลดความแออัดในเรือนจำได้มากน้อยเพียงใด

    อ่านในการประชุม

  • อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญ อย่างที่เราทราบกันดีว่าหลายคนก็สงสัยเช่นเดียวกัน หลังจากที่ประกาศฉบับนี้ออกมาก็คือว่า ตัวระเบียบใหม่นี้จะครอบคลุมผู้ต้องขังประเภทคดี ใดบ้าง ซึ่งในระเบียบนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ได้ชัดเจนมากเพียงพอ แล้วผู้ต้องขัง กลุ่มใดบ้างที่จะเข้าสู่ระเบียบนี้ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทางท่านรัฐมนตรีจะต้องให้ความ ชัดเจนแก่สังคมไทย และที่สำคัญคือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ต้องขังจะวางอยู่บนหลักการใด ที่จะเป็นการการันตีประกันว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในทางที่จะเอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ต้องขังที่ร่ำรวยหรือผู้ต้องขังที่มีอิทธิพลส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระเบียบฉบับนี้ ได้ให้อำนาจในการพิจารณาแก่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉันขอย้ำสั้น ๆ สักนิดเดียว ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลจะเข้ามาหรือว่าท่านเข้ามา เป็นรัฐมนตรี แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ในฐานะของการที่ท่านเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ดิฉันคิด ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องทราบข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอถามท่านย้ำอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากว่าคำถามที่ดิฉันถามไปในรอบแรก ยังไม่ได้รับคำตอบ ดิฉันขอย้ำอีกรอบหนึ่ง คำถามในประเด็นแรกเลย กรณีของคุณทักษิณนั้น การอนุญาตออกไปรับการรักษานอกเรือนจำ คือท่านได้มีการตรวจสอบไหมว่าการออกไป รักษาด้านนอกจากเรือนจำเป็นไปตามหลักการปกติหรือไม่ อันนี้คือเรื่องหนึ่งที่ดิฉันขอ ความชัดเจน แล้วก็ที่สำคัญคือกรณีของการที่คุณทักษิณนั้นเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น ๑๔ ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นชั้น VIP อันนี้เป็นคำถามจากรอบแรกที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แล้วดิฉันขอย้ำว่าในฐานะของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ดิฉันคาดหวังว่าท่านจะต้องมีคำตอบ แล้วก็ข้อมูลในเบื้องต้นสำหรับกรณีดังกล่าว

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของระเบียบฉบับใหม่ที่ออกมา คำถามของดิฉัน คือว่าบุคคลใดบ้างที่จะเข้าสู่ระเบียบฉบับใหม่ดังกล่าวนี้ คดีใดบ้างที่จะเข้าสู่ระเบียบฉบับใหม่ ดังกล่าวนี้ ดิฉันคิดว่าในตัวระเบียบฉบับใหม่นี้ออกมาในยุคที่ท่านเองก็เป็นรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นแล้วท่านจะต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉันขออนุญาต ถามท่านย้ำอีกรอบหนึ่งนะคะ เพื่อความกระจ่างแก่สังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ ชั้น ๑๔ อย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่าชั้น ๑๔ ในกรณีของคุณทักษิณนั้นก็ใช้เกณฑ์ปกติ แล้วก็ปฏิบัติเหมือนเรือนจำโดยทั่วไป แต่ดิฉันขอย้ำว่าเท่าที่ดิฉันไปตรวจสอบมานะคะ ท่านประธาน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำปี ๒๕๖๓ เขาได้ระบุห้ามผู้ต้องขังอยู่ห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยโดยทั่วไป ดังนั้นแล้วดิฉันคิดว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจนค่ะท่านประธานว่า มีกฎของกระทรวงที่ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดิฉันจึงขอย้ำอีกรอบหนึ่งว่า ท่านรัฐมนตรีได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ที่จะทำให้สังคมนั้น ได้มั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในประเด็นนี้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะท่านประธาน ดิฉันคิดว่า ณ วันนี้เรามีเวลาอย่างค่อนข้างจำกัด ดิฉันจึงขอฝากให้ท่านรัฐมนตรีได้ช่วยส่งเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่ท่านได้แจ้งไว้ว่าท่านรออยู่จากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แล้วก็ ขอให้ท่านรับปากว่าจะส่งเอกสารดังกล่าวมาชี้แจงค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉันยังมีเวลา เหลืออยู่ประมาณ ๒ นาที อาจจะขอยกเวลาในส่วนของดิฉันให้กับท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจง เพื่อความกระจ่างแก่สังคมไทย เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องปัญหา ของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกัน ขอสไลด์ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกค่ะ คือถนนคลองแอล ๒ และคลองแอล ๓ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักนะคะ มีบ่อหลุมผิวทางเดินเท้า ของถนนเส้นนี้มาโดยตลอด แล้วก็ที่สำคัญในปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องของไฟทาง ที่ให้ความสว่างที่ไม่เพียงพอ ซึ่งยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งในพื้นที่ ดิฉันจึงขอฝากทางท่านประธานไปยังทาง อบต. คลองสามให้ช่วยดำเนินการซ่อมแซมอย่างมี คุณภาพ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกตินะคะ แล้วก็ที่สำคัญค่ะ คือการจัดให้มีแสงสว่าง ที่เพียงพอในช่วงเวลากลางคืนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือปัญหาเรื่องของน้ำประปาในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองท่าโขลง ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ดิฉันได้เคยอภิปรายในที่ประชุมสภาของเรามาแล้วหลายครั้ง ในการ ปรึกษาหารือครั้งแรก ดิฉันก็ได้พูดถึงปัญหาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้น้ำประปาใน พื้นที่ของเขตเทศบาลเมืองท่าโขลงก็ยังคงไม่มีคุณภาพ ดังที่เห็นได้จากรูปภาพและจากสไลด์ ด้านบน ยังมีสีดำซึ่งแม้จะใช้ในการซักล้างก็ยังไม่สามารถที่จะทำได้ ประชาชนในพื้นที่เคยได้ ร้องเรียนไปทางเทศบาลแล้วหลายครั้ง แต่ว่าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงเกิดคำถามว่าได้มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำประปาก่อนส่งให้ประชาชนใช้หรือไม่ อย่างไร ดิฉันจึงขอฝากให้ท่านประธานช่วยเร่งติดตามเรื่องนี้จากทางเทศบาลด้วยค่ะ และขอ หนังสือชี้แจงจากหน่วยงานรับผิดชอบค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ คือปัญหาเรื่องของการลักลอบเผาขยะ โดยเฉพาะในพื้นที่รกร้าง ในเขตทั้งเทศบาลเมืองท่าโขลง และทาง อบต. คลองสาม โดยเฉพาะในช่วงบริเวณกลางคืน เช่น บริเวณหลังหมู่บ้านอินนิซิโอ ๒ หรือซอยคลองสาม ๑ และซอยคลองสาม ๒ ซึ่งการ ลักลอบ เผาขยะดังกล่าวนี้ก็ส่งผลทั้งในเรื่องของมลพิษ มลภาวะทางอากาศในหลาย ๆ ประเด็น แล้วก็ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ ดิฉันจึงขอฝาก ทางท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางเทศบาล แล้วก็ทาง อบต. คลองสามให้ช่วย เร่งติดตามเรื่องดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ในการตั้งคณะกรรมาธิการกรรมาธิการ วิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนะคะ โดยในวันนี้ดิฉันจะขออภิปรายในแง่ของข้อจำกัดในการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถดำเนินการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าที่ควรโดยลำพัง ซึ่ง ๒ ประเด็นหลัก ที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ ประเด็นแรก ก็จะเป็นเรื่อง ของปัญหาของสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

    อ่านในการประชุม

  • และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องของปัญหาที่ดินรกร้างที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะและที่เผาขยะไปในตัว สำหรับภาพรวม ของการกำจัดขยะมูลฝอยในจังหวัดปทุมธานีของเรา ข้อมูลจาก Website ของกรมควบคุม มลพิษได้ระบุว่า ในจังหวัดปทุมธานีมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด ๔ แห่งด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสถานที่กำจัดขยะที่ดำเนินการไม่ถูกต้องถึง ๒ แห่ง และเป็นสถานีขนถ่ายขยะ ๒ แห่ง ซึ่งไม่ได้มีข้อมูลปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และในช่วง ปี ๒๕๖๕ ข้อมูลได้ระบุว่าจังหวัดปทุมธานีมีปริมาณขยะมูลฝอย ประมาณ ๗๐๖,๐๐๐ กว่าตัน และหลังจากที่ขยะเหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์และถูกกำจัดแล้วนั้นยังคงเหลือ ขยะที่ตกค้างอยู่ สูงถึง ๑๓๐,๐๐๐ กว่าตัน อันนี้เฉพาะตัวเลขของจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น นอกจากปัญหาที่ว่าเรากำลังสร้างขยะจำนวนมหาศาลแล้วนั้น ความสามารถในการนำ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ก็น้อยนิดเท่านั้น และที่สำคัญปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การที่เราขาดประสิทธิภาพในการกำจัด ขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยเช่นเดียวกันค่ะ ข้อมูลจาก Website ของ กรมควบคุมมลพิษระบุเป็นตัวอักษรสีแดงตามสไลด์ด้านบนว่า บ่อขยะ ๒ แห่งนี้ในจังหวัด ปทุมธานีนั้นดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจหมายถึงการเทกอง การเผากลางแจ้ง หรือการใช้ เตาเผาที่ไม่มีระบบการกำจัดมลพิษทางอากาศ แต่อย่างไรก็ดี Website ก็ไม่ได้บอก รายละเอียดว่าทั้ง ๒ สถานที่ในการกำจัดขยะแห่งนี้นั้นมีปัญหาอย่างไรบ้างที่ไม่ถูกต้อง แต่ข้อมูลก็ได้ระบุว่าบ่อขยะ ๑ ใน ๒ แห่งนี้ใช้วิธีการนำขยะมาเผาเป็นเชื้อเพลิง หรือ RDF นั่นเอง และจากข้อมูลของเว็บไซต์ Website ของกรมควบคุมมลพิษก็ระบุต่อไปอีกว่ามี แหล่งน้ำผิวดินอยู่ในรัศมีโดยรอบของบ่อขยะเอกชนแห่งนี้ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบค่ะ ท่านประธาน ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินของสถานที่กำจัด ขยะมูลฝอย และรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงของสถานที่ในการกำจัดขยะมูลฝอยอีกเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่เรามีสถานที่กำจัดขยะที่จดจัดแจ้งถูกต้องตาม กฎหมาย แต่ว่าเราไม่สามารถบังคับใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิธีการในการจัดการขยะที่ดีได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของพวกเราที่จะต้องพูดถึงต่อไป ดิฉันขอยกตัวอย่าง โดยในภาพจะเป็นภาพของภูเขาขยะในบริเวณพื้นที่ของอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งภูเขาขยะในส่วนนี้ก็ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาสีเขียว อยู่ใกล้กับชุมชนแล้วก็พื้นที่เกษตรกรรม ของประชาชน และเมื่อเราสำรวจแหล่งน้ำที่ห่างออกไปไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ก็พบสภาพดังกล่าว ว่าน้ำมีคุณภาพที่ทรุดโทรมอย่างมากแล้วก็มีสีดำ ที่สำคัญขณะนี้ส่งกลิ่นเหม็นอย่างมาก ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับประชาชนซึ่งพักอาศัยอยู่ห่างจากบ่อขยะดังกล่าวกว่า ๓ กิโลเมตร แต่ว่ากลิ่นขยะก็ยังรบกวนไปถึงบริเวณดังกล่าว นอกจากปัญหาเรื่องของบ่อขยะแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการจัดการขยะในพื้นที่โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน ก็คือเรื่องของการ ทิ้งขยะและการเผาขยะในที่ดินรกร้าง จังหวัดปทุมธานี เรามีพื้นที่ที่ดินรกร้างกระจายอยู่ทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองก็มีพื้นที่รกร้างที่กลายเป็นจุดทิ้งขยะ เช่นเดียวกัน แล้วพื้นที่รกร้างเหล่านี้ที่กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ ก็อยู่ไม่ได้ห่างไกลจากชุมชน เท่าใดนัก แล้วหลายครั้งก็เป็นพื้นที่ ที่ทั้งรถบรรทุกเอง หรือว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถ เข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกัน แล้วยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ก็มีตลาดไท หรือว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ ประเทศไทย เป็นตลาดกลางส่งสินค้าทางการเกษตร และอาหารสด ดิฉันพบว่าในบริเวณ ใกล้เคียงของตลาดไท ก็มีจุดบางจุดที่กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งตามภาพสไลด์ด้านบนพื้นที่ ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกลักลอบมาทิ้งขยะ ภาพจากสไลด์ทางซ้ายมือนี้ก็จะเป็นตั้งแต่ตอน ช่วงเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๖ ผ่านมาแล้วเกือบ ๓ เดือน พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีการจัดการขยะ ทางเทศบาลยังไม่ได้เข้าไปจัดเก็บขยะแต่อย่างใด มิหนำซ้ำเราพบว่ากองขยะนั้นมีเพิ่มมากขึ้น เสียด้วยซ้ำไป ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันเข้าใจทาง อปท. ว่าไม่ง่ายเลยจริง ๆ ในการจัดการ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ที่มีพื้นที่รกร้างอยู่เป็นจำนวนมหาศาล และจากการพูดคุยกับทาง อปท. หลายแห่ง ในจังหวัดปทุมธานีก็ได้มีการอ้างว่าหน่วยงานของภาครัฐเองไม่ง่ายเลยจริง ๆ ในการที่จะเข้า ไปจัดเก็บขยะในพื้นที่รกร้างของเอกชน โดยที่หากไม่มีการร้องเรียนมาจากทาง ภาคประชาชน ดิฉันจึงคิดว่าเรื่องนี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนทั้งในเรื่องของกฎหมาย บทลงโทษ แล้วก็การเข้าถึงข้อมูลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เขาทำงานได้ง่าย ขึ้นค่ะ ดิฉันจึงสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งค่ะท่านประธาน ที่จะต้องทำการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ และสิ่งที่สำคัญคือถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องทำการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ และที่สำคัญเพิ่มกำลังบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไข ปัญหาค่ะ รวมไปถึงอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการกระตุ้นให้ประชาชนได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการจัดการขยะในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน คือการคัดแยกขยะอย่าง จริงจัง โดยมีหน่วยงานของท้องถิ่นให้การอำนวยความสะดวกทั้งในแง่ขององค์ความรู้ แล้วก็ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นแก่ประชาชนในพื้นที่ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ การนิรโทษกรรมจะช่วยยกระดับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และจะเป็นการแสดง เจตนารมณ์ที่ทรงพลังของรัฐบาลไทยใหม่ในการพลิกโฉมสิทธิมนุษยชนที่เคยถูกประณาม ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ค่ะ และการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ก็จะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง เจตนารมณ์ของประเทศไทยว่า เราได้ตระหนักแล้วว่าการใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการ ขจัดศัตรูทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ สำหรับดิฉันการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีความหมายอยู่ ๓ ความหมายด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ คือความหมายต่อรัฐบาลภายใต้การนำของคุณเศรษฐา ทวีสิน เพราะ การนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะเป็นการบ่งบอกว่ารัฐได้ตื่นรู้ถึงข้อผิดพลาดจากการใช้เครื่องมือ ทางกฎหมายในอดีตมาประหัตประหารบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง และแม้ว่าการละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของคุณเศรษฐา ทวีสิน แต่อย่างไรก็ตามการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายแห่งเจตนารมณ์ที่บอกชัดต่อ สังคมโลกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

    อ่านในการประชุม

  • ๒. คือความหมายต่อสังคมไทย นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทาง การเมืองที่ร้าวลึกในระดับภาคประชาชนที่มีมาอย่างยาวนานไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่แค่การแสร้งยิ้ม จับมือ จูบปากกัน แต่มันคือการริเริ่มชำระล้างความอยุติธรรม และบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ว่าประชาชนฝ่ายใดก็แล้วแต่เราล้วนแต่เจ็บปวดกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. เป็นเรื่องที่สำคัญคือความหมายของประเทศไทยในเวทีประชาคมโลก ท่านประธานคะการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะพลิกโฉมหน้าสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จากที่เละเทะย่อยยับมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่คนของกระทรวงการต่างประเทศของเรา จะต้องแบกรับความกดดันเวลาที่เราไปประชุมกับประชาคมโลกที่เขาต่างก็ส่ายหน้าให้กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารตอน ปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา และที่สำคัญคือการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะเป็นความก้าวหน้าอย่างเป็น รูปธรรมอย่างที่สุดในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติของประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้ดิฉันต้องขอแสดงความชื่นชมและ ขอสนับสนุนรัฐบาลไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ และที่สำคัญเราจะได้เลิกพูดกัน สักทีนะคะว่าเรามีสิทธิมนุษยชนแบบไทย เพราะเมื่อเราเข้าไปสู่ภาคีของ UN แล้วนะคะสิทธิ มนุษยชนเป็นเรื่องของสากลเป็นแนวคิดสากล ไม่ได้มีการแบ่งว่าเป็นสิทธิมนุษยชนตาม ประเทศไทยหรือตามประเทศตะวันตก ไม่มีนะคะ แต่ว่ามันเป็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับ ทุกคน และการแสดงความเห็นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในไทย จาก UN หรือ จากนานาประเทศนั้นก็ไม่ใช่การแทรกแซงของ UN หรืออเมริกาแต่อย่างใด แต่มันคือ การช่วยกันประคับประคองให้ประเทศสมาชิกของ UN ร่วมกันรักษามาตรฐานบรรทัดฐาน ของโลกเราไว้ อย่างที่ดิฉันกล่าวไปว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะมีความหมายต่อประเทศไทย ในเวทีประชาคมโลกอย่างมาก และรัฐบาลไทยเองจะต้องทำงานหนักในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

    อ่านในการประชุม

  • การนิรโทษกรรมเกี่ยวอะไร ดิฉันขอพูดถึงในที่นี้นะคะ สำหรับดิฉันค่ะดิฉัน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้เราจะรวมคดีทางการเมืองหรือการใช้ กฎหมายและการกระทำของรัฐในการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่เห็นต่าง ตั้งแต่การชุมนุม ของกลุ่มพันธมิตรในช่วงปี ๒๕๔๙ เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรในช่วง ปี ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา และหากเราค้นพบตัวเลขเราจะพบว่าตัวเลขคดีความนั้นน่าตกใจ เป็นอย่างยิ่ง ดิฉันขอยกข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาเรามีสถิติประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา ๑๑๒ แล้วอย่างน้อยถึง ๒๖๓ คน และที่น่าหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีถึง ๒๐ คนด้วยกันที่ถูก ดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ นี่คือความเป็นจริงของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นใน ประเทศไทย ในขณะที่เราเข้าไปเป็นภาคีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วยกันถึง ๗ ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ระบุชัดว่าประเทศไทยจะต้องสนับสนุน ปกป้องและคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการ แสดงออก การแสดงความคิดเห็นแล้วก็การชุมนุมโดยสงบของประชาชน ท่านประธานคะ การจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินั้น ดิฉันเชื่อว่า การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองคือหนึ่งในบททดสอบที่นานาประเทศเขากำลังจับตามอง ประเทศไทยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาผู้รายงานพิเศษ ของ UN ได้แสดงข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๘๗ ปี ลดโทษแล้วเหลือ ๔๓ ปี ๖ เดือน ในกรณีของคุณอัญชัญ ปรีเลิศ และเรียกร้องให้ไทยยุติการดำเนินคดีการตั้ง ข้อกล่าวหากับทุกคนที่กำลังถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะในคดีมาตรา ๑๑๒ การที่จะเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเขาก็ได้มีการให้คำแนะนำสำหรับ ประเทศที่สนใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งและที่สมัครรับเลือกตั้ง ๑. ควรที่จะต้องมีการประกัน และมีการชดเชยการเยียวยาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศของคุณ ๒. คือจะต้องมีแผน อุดช่องโหว่ที่เป็นข้อท้าทายต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศของคุณ นั่นหมายถึงว่าเราจะมาอ้าง สิทธิมนุษยชนแบบไทย ๆ แล้วขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ประชาคมโลกเขากำลัง พูดถึงกันไม่ได้ อย่างมาตรา ๑๑๒ ที่เราจำเป็นที่จะต้องร่วมกันหารือถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์บนมาตรฐาน สิทธิมนุษยชนสากล ๓. คือการปฏิญญาว่าจะยึดมั่นในการสนับสนุนแล้วก็คุ้มครองสิทธิ มนุษยชนในมาตรฐานสากล และ ๔. สุดท้าย คือการให้ความร่วมมือกับกลไกของ UN ไม่ว่า จะเป็นการเชิญผู้รายงานพิเศษของ UN เข้ามาตรวจสอบ มาติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราได้ปิดกั้นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แล้วก็ยังมีข้อเสนอแนะต่าง ๆ อีกมากมายที่ประเทศไทยควรจะต้องคำนึงถึง ซึ่งหนึ่งในนั้น ดิฉันคิดว่าเราเองรัฐบาลไทยหากให้ความสำคัญกับการเข้ามานั่งในตำแหน่งของคณะมนตรี สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราไม่อาจเพิกเฉยต่อคำแนะนำหรือ Recordation ต่าง ๆ ที่สหประชาชาติเขาให้กับประเทศไทยไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการยุติการดำเนินคดี ทางการเมืองกับผู้ที่เห็นต่างของรัฐได้ ท่านประธานคะ ไม่มีเวลาอื่นอีกแล้วค่ะที่เหมาะสม ไปกว่านี้แล้วที่เราจะเริ่มแสดงคำมั่นสัญญาให้กับประชาคมโลกได้ประจักษ์เห็นอย่างชัดเจน ด้วยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนี่ไม่เพียง เพื่อเป็นการริเริ่มการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทยเท่านั้น แต่มันยังเป็นโอกาสของ ประเทศไทย รัฐบาลของคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่จะพลิกโฉมหน้าสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และยกระดับของประเทศเราให้ไปถึงมาตรฐานสากล พร้อมกับการชิงตำแหน่งที่นั่งของ Human Rights Council ในสหประชาชาติค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีปัญหา ของพ่อแม่พี่น้องในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง และตำบลคลองสาม มาปรึกษาหารือผ่าน ท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกคือปัญหาอุบัติเหตุในเขต เทศบาลเมืองท่าโขลง เนื่องจากในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองท่าโขลงจะมีทางแยกย่อย อยู่หลายจุด แล้วก็หลายจุดเองก็ขาดสัญญาณไฟจราจร จนทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ดิฉัน จึงขอฝากผ่านไปยังเทศบาลเมืองท่าโขลง ให้พิจารณาการติดตั้งสัญญาณจราจร ป้ายเตือน จราจรในทางแยกที่สำคัญ เช่น บริเวณซอยเทพกุญชร ๓๒ หรือบริเวณตลาดนัดมีโชคมีชัย บริเวณแยกซอยเทพกุญชร ๔๒ หรือว่าซอยแมนฮัตตัน และบริเวณด้านหน้าสำนักงาน กรมที่ดินคลองหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ราชการที่มีรถจอดอยู่บริเวณไหล่ทางจำนวนมาก แล้วก็ สุ่มเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือปัญหาการเผาไหม้ขยะจะลุกลามไปเป็นเพลิงไหม้ในพื้นที่ ดิฉันและทีมงานได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั้งในเขตท่าโขลง และตำบลคลองสาม ถึงปัญหาการลักลอบเผาขยะในหลายจุด และกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานี มีปัญหาเรื่องของ PM2.5 อยู่แล้ว การลักลอบเผาขยะดังกล่าวก็จะเพิ่มมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน แล้วยิ่งในช่วงอากาศร้อนอบอ้าว สุ่มเสี่ยงต่อการ คุมเพลิงไหม้ไม่ได้ ดิฉันจึงขอฝากผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ทั้ง อบต. คลองสาม และรวมไปถึงเทศบาลเมืองท่าโขลงให้กำชับดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ คือปัญหาเรื่องของกลไกรับเรื่องร้องเรียนของเทศบาลเมืองท่าโขลง ซึ่งในปัจจุบันจะมี ๒ ช่องทาง ในการรับเรื่องร้องเรียนของเทศบาล ช่องทางแรก คือการ ร้องเรียนผ่านระบบ Online หรือ DGA บน Website ของทางเทศบาล ช่องทางที่ ๒ คือการ ร้องเรียนผ่านผู้นำชุมชนหรือว่า สท. ในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามดิฉันได้รับการร้องเรียน จากประชาชนในพื้นที่ว่าช่องทางการร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่หลายประการ เช่นการขาดระบบการติดตามเรื่องที่ร้องเรียนไปแล้ว หรือบางครั้งเรื่องที่ร้องเรียนผ่านไปยัง ผู้นำชุมชนก็ไปไม่ถึงทางเทศบาล ดิฉันจึงขอฝากทางท่านประธานไปยังเทศบาลเมืองท่าโขลง ให้ช่วยปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น และให้ผู้ที่ร้องเรียนสามารถ ติดตามเรื่องร้องเรียนของตัวเองได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม