นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพนะคะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ดิฉันเห็นด้วยสนับสนุนกับท่านอรรถกร พรรคพลังประชารัฐที่จะยังคงเป็นไปตามระเบียบวาระประชุมเหมือนเดิม เพราะว่าเรื่องของ รัฐธรรมนูญบรรจุอยู่ในวาระตามลำดับอยู่แล้ว แต่ในเรื่องด่วนที่สุดในวันนี้คือเรื่องปากท้อง ของพี่น้องประชาชน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้นำเรียนทางสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องของมังคุดมา และท่านสมาชิกสภา ในด้านเกษตรกรโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้ร่วมอภิปรายมาหลายครั้ง ดิฉันเฝ้ารอ ที่จะทำวาระประชุมเข้ามาร่วมกับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา ๒ สัปดาห์ แล้วขณะเวลา นี้พืชผลของเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะมังคุด ดิฉันได้เข้าวาระเรื่องมังคุดเอาไว้กำลังจะหมด ในฤดูกาลในกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะไม่ทันกับเหตุการณ์ที่จะเอามาเข้าวาระด่วน ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะให้เป็นไปตามวาระเพื่อที่จะได้ร่วมหารือแล้วก็อภิปรายความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน ประชาชนปากสำคัญนะคะ กองทัพเดินด้วยท้อง ขอท่านประธานสภา ที่เคารพได้ช่วยพิจารณาให้เป็นไปตามวาระเหมือนเดิม ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย อำเภอนาบอน ช้างกลาง ฉวาง พิปูน ขอหารือต่อท่านประธานสภา ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้ ๑. เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๘๙ ตอนท่าพุด เขาหลวง พิปูน เป็นพื้นที่ เชื่อมต่อจากอำเภอพิปูน นบพิตำ ท่าศาลา ระยะทาง ๓๓.๑๕๔ กิโลเมตร ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัยปี ๒๕๓๑ ไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้มาประมาณ ๓๐ ปี ความจำเป็น ๑. เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่อันดามันสู่อ่าวไทย ขนส่งสินค้าทางการเกษตร ฟื้นฟู การท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ๒. เป็นเส้นทางสู่สถานศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในขณะนี้เป็นศูนย์แพทย์ขนาดใหญ่ของภาคใต้ และเป็นเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช ๓. เป็นการย่นการเดินทางระยะทางจาก ๒๐๐ กิโลเมตร เหลือเพียงประมาณ ๔๐ กิโลเมตร การดำเนินการซ่อมแซม ซ่อมในรอยสร้างโดยทางหลวงแผ่นดินนครศรีธรรมราช ได้กำหนดแผนออกแบบงบประมาณในเขตป่าไม้จดเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ค่อนข้าง สำเร็จและสมบูรณ์ในขณะนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน และคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร โดยนายอารี ไกรนรา ลงพื้นที่ พร้อมคณะและท่านนายอำเภอเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาและอุปสรรค เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕

    อ่านในการประชุม

  • อุปสรรคและปัญหา คือในส่วนที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ได้ถูก ระงับในการเข้าดำเนินการใด ๆ ทั้งที่ทางหลวงสาย ๔๑๘๙ เป็นเส้นทางหลวงในโครงการ พระราชดำริ ก่อนปี ๒๕๓๑ การร้องขอในการเข้าบูรณะเพื่อซ่อมในรอยสร้าง จึงไม่ใช่สร้าง ขึ้นใหม่ตามเหตุผลของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จึงวิงวอนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผ่านท่านประธานสภาที่เคารพ ได้โปรดพิจารณาคืนความสุขให้แก่ พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสสร้างความสุข อยู่ดีกินดีต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ได้รับคำร้องเรียนจากคุณมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยาง รายย่อย ซึ่งราคายางปรับตัวดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ราคาต้นทุนจากคำนวณกิโลกรัมละ ๕๗ บาท แต่เกษตรกรขายได้จริงกิโลกรัมละ ๔๒-๔๓ บาท ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ กิโลกรัมละ ๓๖-๓๗ บาทเท่านั้นนะคะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • แนวทางแก้ไข ๑. ขอให้กองทุนพัฒนาสวนยางเปิดโอกาสทางเลือกในการใช้ พื้นที่ทำกินเพื่อปลูกพืชเสริม โดยเพิ่มงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อให้มีจำนวนที่เพียงพอ กว่าเงินในกองทุนพัฒนายางที่มีอยู่ ๒. การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาเป็นกรรมการการยาง แห่งประเทศไทย ต้องได้มาจากตัวแทนเกษตรกรโดยตรง โดยปราศจากการครอบงำของ ฝ่ายการเมือง และมีประสบการณ์ตรง ๓. ต้องมุ่งเน้นการใช้ยางพาราในเขตพื้นที่ และแปรรูปยางพาราสำเร็จ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในและนอกประเทศ จึงขอรายงาน ต่อท่านประธานสภาไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรงโดยด่วน เพราะชาวสวนยางต้องอาศัยรายได้ทุกครัวเรือนในการครองชีพ ที่สำคัญนะคะ รายได้ จากการกรีดยาง เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่เพียงแต่เดือดร้อนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของประเทศไทย ในบ้านเกิดของดิฉันนะคะ แต่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ได้ปลูกยางพารานำเข้าภาษีมาเลี้ยงดูพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผ่านท่านประธานสภา ได้แก้ไข เป็นวาระสำคัญสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยด่วน กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย จากรายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๘ เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ดิฉันมีความกังวลในเรื่องของด้านเศรษฐกิจ ในรายงานหน้าที่ ๔ ข้อที่ ๒.๑.๖ ซึ่งกล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน ช่วยเหลือเพื่อเกษตรกรในการปรับตัวเองของภาคผลผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า ทางการเกษตร ซึ่งได้พูดถึงกองทุน FTA นับว่ากองทุน FTA มีประโยชน์ต่อการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมถือเป็น อุตสาหกรรมมาตรฐาน โดยสินค้าทางการเกษตรเหล่านั้นเป็นสินค้าขั้นต้น ซึ่งสามารถนำมา ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ผ่านกระบวนการในอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป ขณะเดียวกันการผลิตการเกษตรมีบทบาทอย่างมากในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ของประเทศไทย ถ้าหากพิจารณาตลอดระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๖๒ มูลค่า การนำเข้าสินค้าของประเทศไทยจากประเทศที่มีการจัดทำการตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้น ในภาพรวมอาจจะมีการเติบโตและหดตัวสลับกันไปนะคะท่านประธาน โดยมีอัตรา การเติบโตเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ร้อยละ ๓.๔๓ ต่อปี นอกจากนี้อัตราครัวเรือนที่สามารถ แสดงให้เห็นถึงปริมาณของผู้ที่อยู่ในเกษตรกรรมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมูลค่า การนำเข้าสินค้าการเกษตรจากประเทศไทยไปสู่ภาคีในความตกลงก็เพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับรูปแบบในการให้การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น กองทุนมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ เกษตรกรได้รับผลกระทบในการเปิดเสรีทางการค้าในรูปแบบกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบและเงื่อนไขการสนับสนุนหรือสนับสนุนเงินให้แก่ผู้ที่ ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งเงินจ่ายขาด เงินยืม เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุน FTA ไม่เพียงแต่ ช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเงินเท่านั้น การดำเนินงานช่วยเหลือซึ่งเทคนิคเป็นหนึ่งในวิธีการ ช่วยเหลือในกรณีที่ได้รับความช่วยเหลือที่มีความพร้อมทางด้านดำเนินงาน แต่ขาดเพียง องค์ความรู้ที่จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ ท่านประธานที่เคารพคะ จากความสำคัญของกองทุน FTA ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นกองทุนที่มีความสำคัญยิ่งต่อเกษตรกร ในการกลับกัน เกษตรกรบางส่วนไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวเลย ยกตัวอย่างเช่นเกษตรกร ผู้ปลูกมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ที่ถูกแย่งแบ่งส่วนการตลาดซึ่งไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน ท่านประธานที่เคารพคะ ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันราคามังคุดเป็นเช่นไร ดิฉันในฐานะ ที่เป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง ในจังหวัดที่มีการปลูกมังคุด ไม่ว่าจะจังหวัดตราดหรือจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ขอกราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพว่าจากการรายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของผลิตผลการเกษตร มังคุดเป็นพืชเกษตรที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งมังคุดนับได้ว่าเป็นราชินีของผลไม้ เหมือนกับทุเรียนที่ได้จัดอันดับเป็นราชาผลไม้ ทุเรียน สามารถปลูกได้ทั่วทั้งประเทศ แม้ประเทศเพื่อนบ้านนะคะท่านประธาน แต่มังคุดมีนิสัย ที่ไม่สามารถอยู่ได้กับพื้นที่ที่มีอากาศไม่เหมาะสม แม้แต่ในประเทศไทย ในจังหวัด นครศรีธรรมราชเองก็ไม่สามารถปลูกได้ทุกอำเภอ ในอดีตมังคุดมีปริมาณมากเนื่องจาก ราคาไม่เคยมีการได้ถูกกำหนดอย่างเป็นมาตรฐานและยั่งยืน เหมือนกับเป็นพืชที่ไม่มีอนาคต พี่น้องเกษตรกรได้โค่นทำลายทิ้งไปเป็นอย่างมากอย่างน่าเสียดาย ซึ่งมังคุดเองใช้เวลาปลูก ยาวนานมาก ๗-๘ ปีถึงจะได้ผล มังคุดจะมีรสชาติอร่อยต้องอายุ ๕๐-๑๐๐ ปีขึ้นไปซึ่งยังมี เยอะแยะมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่ประโยชน์ของมังคุดสามารถใช้ได้ตั้งแต่ เนื้อมังคุด เมล็ดมังคุด และเปลือกที่สามารถไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำครีมและย้อมผ้า ต่าง ๆ ปัญหาของมังคุดนะคะท่านประธาน พืชมังคุดเป็นอาชีพเสริมระหว่างฤดูฝน ซึ่งพี่น้อง เกษตรกรได้มีอาชีพทำยางพาราเป็นอาชีพหลัก เมื่อช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตน้อยของยางพาราก็จะสามารถได้อาชีพเสริมมาเลี้ยงชีพ ของพี่น้องเกษตรกร จึงไม่สามารถที่จะเยียวยาให้ได้ตามที่ควรจะเป็น ท่านประธานที่เคารพ ปัญหาราคามังคุดจึงควรจะมีการแก้ไข ในการกำหนดราคารับซื้อหน้าจุดรับซื้อทุกเช้าควรจะ กำหนดราคา ประกาศราคารับซื้อทุกวัน ควรจะติดป้ายประกาศราคาที่หน้าจุดรับซื้อ ก่อนเวลาที่จะนำส่งในตอนบ่ายซึ่งไม่สามารถรอได้ ตั้งมาตรฐานขนาดผล Grade A B C ให้ได้ราคาที่ถูกคัดกรองไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นมังคุดจึงเป็นพืชที่รอไม่ได้ การเก็บเกี่ยว ยากต่อการผลิตแต่ละผล จึงขอวิงวอนไปยังกระทรวงพาณิชย์ได้โปรดดูแลในเรื่องของ กระบวนการการจัดการราคาขายมังคุดให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และจัดกระบวนการ การเรียนรู้ แจ้งข้อมูลการเข้าถึงกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม จริงจังและจริงใจ เพื่อเตรียมการดำเนินการสร้างผลผลิตในฤดูถัดไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ด้วยเรื่องของเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสินค้าด้านการเกษตร ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้หลายชนิด ที่เป็นรายได้ ระดับรองจากพืชเกษตรคือยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเกษตรส่งออกสู่ตลาดโลก ผลไม้ มังคุดและทุเรียนก็เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นรายได้ที่ส่งออกสู่ตลาดโลกเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายนทุกปีที่เป็นช่วงฤดูฝน มังคุดเป็นผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกที่ส่งผลผลิต มีชื่อโด่งดังขึ้นชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้ ดิฉันได้ทราบในข้อมูล ถึงเรื่องการรับส่งออก ประเทศจีนจึงมีการนำเข้าและสั่งซื้อมังคุดจากประเทศไทยเพื่อบริโภค มากที่สุด สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีปริมาณผลผลิตในปี ๒๕๖๖ จากข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ มีปริมาณมังคุดจำนวน ๔๓,๕๓๓ ตันค่ะ และจะมีปริมาณสูงสุด ช่วงวันที่ ๒๑-๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ช่วงเดือนกันยายนก็จะลดน้อยถอยลงตามฤดูกาล ที่เป็นห้วงเก็บเกี่ยวผลผลิตลดลงนะคะ ทีนี้ปัญหาก็คือเมื่อต้นเดือนฤดูกาลมังคุดอยู่ที่ราคา ๑๐๐-๑๓๐ บาท คือช่วงต้นเดือนกรกฎาคม แต่ท่านประธานคะ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ราคาดิ่งลงมาเรื่อย ๆ เหลือกิโลกรัมละ ๔๐-๕๐ บาท ซึ่งเป็นมังคุด คัด Grade ส่วนมังคุดเหมารวมขายที่ราคา ๒๐-๒๕ บาท ขณะที่ราคาหน้าสวนเหลือแค่ ๑๓ บาทเท่านั้นเอง มังคุดภาคใต้ถูกทุบราคาลงมาตั้งแต่ต้นฤดูกาลที่ยังมีปริมาณไม่มาก ทั้งที่ตลาดมีความ ต้องการสูง แต่ผิดสังเกตที่ผู้ประกอบการรวมตัวกันไปซื้อทุเรียนในช่วงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ มีการทุบราคาลงมาต่อเนื่อง ๒ วัน เป็นการสร้างฐานราคาต่ำให้กับมังคุดที่จะออก ปริมาณมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน เมื่อล้งไปเปิดตลาดรับซื้อ ราคาจะได้ถูกลง เมื่อราคาทุเรียนต่ำก็มีผลกระทบให้กับมังคุดมีราคาต่ำไปด้วย โดยอ้างว่า จีนซื้อถูก แต่ความเป็นจริงเป็นการปั่นราคาของผู้ประกอบการค่ะท่านประธาน ดิฉัน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ สิงหาคม พบว่าแผงรับซื้อมังคุด เพื่อนำไปบรรจุตะกร้าที่ล้งไม่มีการเปิดราคารับซื้อแก่เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในช่วงเช้า ถึงตอนเที่ยง ช่วงบ่ายก็ทยอยนำมาส่งขาย โดยไม่มีโอกาสรับทราบราคาเลย สอบถาม หลายจุดรับซื้อเหมือนกันหมดทุกล้ง ได้ข้อมูลจากแผงที่มีน้ำใจอยู่บ้าง บอกว่าราคา จะถูกส่งมาในเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกาค่ะ ถามว่าแล้วชาวสวนจะทำอย่างไร เก็บมาแล้ว ก็ต้องขาย ไม่สามารถค้างคืนได้ เพราะจะทำให้ราคายิ่งตกต่ำลงไปอีกจากขั้วที่เหี่ยวเฉา อีกเรื่องการชั่งน้ำหนัก ใครเอามาแล้วก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมารับเงินภายหลัง หากรีบร้อนก็รีบรับราคาในวันที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นอยู่ที่ราคา ๑๕-๑๘ บาท เฉพาะค่าแรง ที่เก็บเกี่ยวก็อยู่ที่ ๘-๑๐ บาทต่อกิโลกรัมแล้วนะคะ ส่วนต้นทุนอื่นไม่ต้องพูดถึงแล้ว ชาวสวน จะเหลืออะไรคะ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นผู้ประกอบการหลายรายเรียกเก็บใบ GMP เพื่อสำแดง ถึงการรับรองคุณภาพของผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ปัญหาใบ GMP ก็เป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนที่ปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ส่วนใหญ่เป็นพืชเกษตร ผสมผสาน เป็นพืชรอง ชาวสวนขาดการได้รับความสะดวก และเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ โดยทั้งที่มีหน่วยงานศูนย์วิจัยและพัฒนาจากการเกษตรจังหวัดที่ไม่ได้ให้บริการชาวสวน ในการทำงานเชิงรุก ด้วยสภาพปัญหาเหล่านี้จึงมีข้ออ้างจากผู้ประกอบการมากมาย ในการกดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวสวน ทั้งที่ความเป็นจริงล้งก็ไม่สำแดงใบ GMP เหมือนกันค่ะ และมีแผงรับซื้อเป็นคาราวานของล้งที่ตั้งอยู่ตามจุดรับซื้อ ระยะห่างกัน ไม่ถึงกิโลเมตรเรียงรายทั่วไปหมดทุกเส้นทาง อีกทั้งที่หน้าล้งก็มีรถตู้ Container ตามในรูป มาจอดเพื่อเตรียมขนส่งมากมาย นั่นแปลว่าความต้องการทางการตลาดส่งออกมาก แต่ทำไม ราคาถึงได้ตกต่ำกว่าทุนการผลิตมากมาย ประกอบกับผลผลิตในปี ๒๕๖๖ มีปริมาณไม่มาก และไม่เพียงพอกับความต้องการทางการตลาดด้วยซ้ำ และในข้อเท็จจริงราคาปลายทาง ส่งอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ บาท ดิฉันเห็นใจพี่น้องชาวเกษตรกรกับการเก็บเกี่ยว ที่เหนื่อยยากทีละลูก ๆ หลาย ๆ รอบ เพราะตัวดิฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นเกษตรกร ปลูกมังคุด แล้วก็ปีนป่ายต้นมังคุดมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน เราพบปัญหาเหล่านี้ยาวนานมาทุกปี ไม่เห็นช่องทางในการแก้ปัญหาราคามังคุดอย่างยั่งยืนเลยค่ะท่านประธาน เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ดิฉันได้รับจดหมายจากชาวสวนมังคุด ขอนำมาอ่านให้รัฐบาลและหน่วยงาน ที่รับผิดชอบฟัง ผ่านท่านประธานถึงเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่เป็นที่คาดหวังอย่างสูงสุด ของพี่น้องประชาชนด้วยนะคะ ซึ่งเป็นภาษากลางปนภาษาถิ่นได้ระบายความในใจ อันเจ็บปวดดังนี้ บนความหวังตั้งไว้เพื่อใช้หนี้ เกือบขวบปีเฝ้ารอเติมต่อฝัน หวังลืมตาอ้าปาก ช่วยลากกัน ทุกความฝันมังคุดช่วยหลุดหนี้ ตั้งใจปีนตีนแตกจนแหกเหี้ยน ย่ำจนเวียน เตียนโคนโดนตีนพี่ มือไม้หยาบสาบไคลเหงื่อไหลที เหลาอย่างดีไม้ขอยชาติหรอยแหรง ปีนต้นนั่นลงต้นนี่ท่าทีชับ มือขยับจับนิ่งเลือกกิ่งแข็ง สายตาจ้องมองไว้คงได้แพง เทา ม่วง แดง แสงสีขยี้ตา ดกเต็มต้นล้นเต็มสวนชวนกันสุก ไฟตาลุกปลุกขยันแสนหรรษา หลายคนฝันมั่นสวยด้วยราคา ล้งเริ่มมาตู้เริ่มลงคงได้แพง กลับผิดคาดชาติเพลียเริ่มเสียขวัญ ล้งเริ่มหั่นปั่นราคาดั่งว่าแกล้ง กลุ่มทุนเข้าผูกขาดหวาดระแวง มาโดนแกงแผงย่ามกลั้นน้ำตา ทุกความฝันพลันสลายหล่นใต้โคน เหมือนดั่งโดนโจรปล้นจนเสียท่า ราคาล้งกดกำหนดมา ทุบราคาพากันเหยียบเอาเปรียบเรา มังคุดใต้ไร้ทุนคุณภาพ ผิวกร้านหยาบทาบเทียบ เมื่อเปรียบเขา ลูกเล็กไปไม่เท่าจันท์ผิวมันเงา เขาบอกเราต้นเหตุเกรดราคา หนี้ราร่ารอท่าภาระหนัก คงต้องพักหักหนี้อีกปีหน้า ทั้งค่าบ้านค่ารถหมดปัญญา ซดน้ำตา แทนข้าวเศร้ายันเงา จะทิ้งขว้างร้างลาสุกคาต้น แต่อับจนหนทางด้วยต่างเขา เหลือเพียง หยิบสิบบาทชาดย่อมเยา จำยอมเขายอมทนตามกลไก ท่ามสงสารพาลสงสัยใครช่วยบ้าง เคยกล่าวอ้างต่างเห็นเช่นนั้นไหม ทุกข์ชาวสวนล้วนข่าวเคยเล่าไป หน่วยงานไหนอาสา มาช่วยเอย ท่านประธานคะนี่คือจดหมายจากชาวสวนที่ตกค้างมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ดิฉันเสียใจที่สุดที่ได้รับโอกาสมาอ่านให้ทุกท่านฟังในวันนี้ คือวันพุธที่ ๖ กันยายน ทั้งที่เราเข้าสภามาทุกสัปดาห์ ปัญหาเกิดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ต่อมาจนเกิดการเททิ้ง มังคุดที่หน้าอำเภอพรหมคีรีดังที่เห็นข่าวแล้วนั้น กี่วันแล้วคะท่านประธานสภา ที่เขาเหล่านั้น เจ็บปวดจากการกดขี่ราคาจากผู้ประกอบการ ดิฉันสำนึกบาปวันนี้ที่มันตราตรึงอยู่ในหัวใจ ในฐานะผู้แทนราษฎรที่มีคำท้ายว่าผู้ทรงเกียรติ แล้วอย่างไรคะท่านประธาน ญัตติการเสนอ ปัญหาและเพื่อการแก้ไขที่บรรจุเข้าสภาเพื่อขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา อุปสรรค มาเกิดในสภาต่ออีกทีที่ต้องรอเวลามาถึงวันนี้ วันที่ผลิตผลก็ร่วงหล่นทับถมเป็นปุ๋ยต่อไป เหมือนเอาเหรียญก้อนน้อยของชาวเกษตรกรที่สูงค่าไปถมดิน ตามภาษิตที่บอกว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ไปแล้ว มันไม่ใจร้ายไปหน่อยหรือคะท่านประธาน แต่อย่างไรก็ตาม แผ่นดินนี้ยังไม่สิ้นคนดี หนทางที่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์คือเราได้มีรัฐบาลที่สมบูรณ์ เกิดขึ้นแล้วโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน รวมคณะผู้บริหารเป็นคณะรัฐบาล ด้วยความห่วงใยนำมาซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการ ตลอดจนกรมกองที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อน และหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนในวันจันทร์ที่ ๔ กันยายนที่ผ่านมา และพบว่าปัญหา ไม่ได้มีแค่ผิวเผินตามที่เห็นแค่ชาวสวนมาเทมังคุดทิ้ง หากแต่ปัญหามันมาจากระบบ การจัดการทั้งระบบ ประกอบกับการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการพ่อค้าคนกลาง ที่สำคัญมีปัญหาที่ซุกอยู่ใต้ปัญหาแบบเชิงลึกอย่างคาดไม่ถึง ในการเสียประโยชน์ของ พี่น้องเกษตรกรในครั้งนี้ ข่าวการลงพื้นที่ของคณะท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีป้ายแดง ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วยซ้ำ และได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการระบายผลผลิตที่คงมีอยู่ ๑๐,๐๐๐ กว่าตัน ภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างเด็ดขาด และให้เปิดราคาที่เป็นธรรมแก่ชาวสวน ส่วนปัญหา อย่างอื่นก็แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และจะรีบดำเนินการต่อไป ณ วันนี้ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว อีกนิดนะคะท่านประธาน สำหรับดิฉันเองในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีและคณะ ผ่านท่านประธานสภาอีกครั้งที่เป็นครอบครัวของชาวเกษตรกร ขอกราบขอบพระคุณ อย่างยิ่งนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตหารือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ต่อสภาผู้แทนราษฎรดังนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ดิฉันได้รับร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้าน จากนายกำธร ศรีเปารยะ ว่าในเขตพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลพิปูน ที่บ้านเหนือคลองระแนะ และหมู่ที่ ๔ บ้านเหนือคลองโสน ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ได้มีชาวบ้านจำนวน ๗๓ ครัวเรือน ตามรายชื่อที่ได้แนบมาในจอ ไม่มีไฟฟ้าใช้นะคะท่านประธาน ดิฉันจึงได้รีบไป ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง จึงพบว่าเส้นทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก โดยเฉพาะโครงสร้าง พื้นฐานถนนและสะพาน ทางผ่านนั้นก็คือสะพานห้วยจำปา กว้าง ๑ เมตร เป็นสะพาน ที่ใช้เดินเท้าและรถมอเตอร์ไซค์ของทั้ง ๒ หมู่บ้าน เพื่อไปประกอบอาชีพขนส่งผลผลิตทุเรียน และยางพารา ปาล์ม เงาะ ตลอดถึงเส้นทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว ชำรุด ไม่ปลอดภัย ดังนั้น สะพานในส่วนนี้ชาวบ้านได้ช่วยกันซ่อมสร้าง เพราะขาดเมื่อปี ๒๕๖๒ ด้วยงบจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทขององค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมาสะพานขาดก็ไม่มีงบประมาณ ในการก่อสร้าง ชาวบ้านจึงได้ดำเนินการใช้กันเอง สะพานห้วยหินดานเป็นสะพานไม้ ข้ามคลองระแนะ เป็นสะพานเดินเท้าเพื่อประกอบอาชีพของทั้ง ๒ หมู่บ้านนี้ และความ ต้องการของชาวบ้าน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สร้างสะพานห้วยหินดานกว้างให้รถ กระบะข้ามได้เพื่อขนส่งผลิตผลทางการเกษตร และสร้างสะพานห้วยหินดานผ่านให้แข็งแรง ปลอดภัยเพื่อสัญจรไปมา ตลอดจนขอไฟ Solar Cell ไปใช้ก่อนเพื่อแก้ปัญหาในการใช้ไฟฟ้า ทั้ง ๗๓ ครัวเรือน และสามารถที่จะแก้ปัญหาช้างป่าที่เข้ามาทำลายทรัพย์สินในตอนกลางคืน ได้ด้วย ดังภาพที่ได้เห็นปรากฏที่สะพานนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาดิฉันได้รับข้อร้องเรียนจากท่านผู้ใหญ่ หมู่ที่ ๓ ตำบลพิปูน คือนายกิตติศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร้องเรียนว่า บริเวณต้นน้ำตาปีมีน้ำหลากแรงมากแล้วก็มีอุทกภัยทุกปี จึงมีการซ่อมแซมในแผ่นดิน ที่งอกขึ้นมาริมน้ำนะคะท่านประธาน แล้วก็ทางกรมชลประทานได้ทำแผงกั้นน้ำไว้ในด้านตรง ข้าม แต่อีกด้านหนึ่งเป็นทางน้ำที่เปลี่ยนใหม่เข้ามาสู่ถนนและเข้าหมู่บ้าน ขอให้ท่านประธาน ได้นำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดิฉันจึงนำเรียนท่านประธานไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ โดยกรมเจ้าท่าและกรมชลประทานเพื่อดำเนินการ โดยเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทันที ก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลากอีกตามฤดูกาล ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ดิฉันขออนุญาตสรุปดังนี้นะคะ จากการนำเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาราคาพืชผลผลิตตกต่ำอย่างเป็นระบบ เมื่อวันพุธที่ ๖ และวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ ไปแล้วนั้น ดิฉันได้นำเรียนสรุปปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องของราคามังคุดตกต่ำผ่านท่านประธานสภาไปยังรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • สืบเนื่องจากการรายงานปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกษตรกร สวนมังคุดในภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุร้องทุกข์จากจังหวัดนครศรีธรรมราชระหว่าง เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมานั้น เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันอภิปรายสะท้อนปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันต่อท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรผ่านสภาแห่งนี้ไป ขออนุญาตนำเรียนความก้าวหน้านะคะ ท่านประธานสภา โดยรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตลอดจนรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าหลังจากวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๖ จากการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีที่อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีการนำ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาสะท้อนให้เห็นในสภาแห่งนี้ มีผลต่อพี่น้องชาวสวนมังคุดดังนี้คือ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๖ เทศบาลพรหมโลกจัดโครงการพยุงราคามังคุดตก Size ช่วยเหลือ เกษตรกรโดยตรงเพื่อกระจายสู่ผู้บริโภค เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ที่อาคารอเนกประสงค์ โดยนายรังสิต เฉลิมวรรณ ขออนุญาตเอ่ยนาม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพรหมโลก แจ้งว่าจากการลงพื้นที่ของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ได้จัดโครงการพยุงราคาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปลายฤดูนี้ให้ชาวสวน ได้คลายความเดือดร้อนไปก่อน โดยการจัดการรับซื้อมังคุดลูกดำในราคากิโลกรัมละ ๑๒ บาท และ ๑๕ บาทตามลำดับทำให้ชาวสวนนำมังคุดมาขายเป็นจำนวนมาก เพราะราคาท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ ๓-๕ บาทเท่านั้น และทางเจ้าหน้าที่จะรับซื้อราคานี้ จนกว่าชาวสวนจะสามารถขายที่อื่นได้ ส่วนการมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีให้หน่วยงาน อ.ต.ก. หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรได้เปิดจุดรับซื้อมังคุดเพิ่มเติม ณ ศพก. หรือศูนย์พัฒนาการเกษตรลานสกาที่หมู่ที่ ๑ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ วันนี้เป็นต้นไป โดยจะรับซื้อดังนี้ ๑. มังคุดตก Size ราคากิโลกรัมละ ๑๕ บาท รับซื้อโดย อ.ต.ก. ๒. มังคุดดำ ราคากิโลกรัมละ ๑๒ บาท รับซื้อโดยสหกรณ์การเกษตรอำเภอลานสกา สรุปโดยภาพรวมนะคะ เวลานี้เรามีหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมการค้าภายใน อ.ต.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดรับซื้อตามจุดต่าง ๆ ที่ยังมีมังคุดออกขายตามที่ต่าง ๆ ในราคาที่เป็นธรรม นี่คือการแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้าช่วงปัญหาหนักรุมเร้า แต่หากจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของพ่อค้าแอบแฝงอีกหรือไม่ ต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบ และทำให้ เกิดความโปร่งใสอย่าให้กรรมตกอยู่แก่ชาวสวนอีกต่อไป ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาและการบริหารจัดการผลไม้ พ.ศ. ๒๕๕๐ จะมีคณะกรรมการพัฒนา และบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการนั้น ดิฉันเชื่อมั่นว่ารัฐบาล คณะนี้ทั้งคณะสามารถที่จะนำพาซึ่งการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำของการเกษตร ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยอาศัยสภาแห่งนี้ที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ ความร่วมมือทุกท่านในสภาแห่งนี้มา ๒ วันถึงเวลานี้ให้เข้าไปสู่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา และดำเนินการแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรให้มีราคา และมีความยั่งยืนอย่างเป็นระบบต่อไป กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ด้วยเรื่องญัตติด่วน เรื่องขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามผลปัญหาที่อยู่อาศัย และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ดิฉันขอสนับสนุนญัตตินี้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ที่ครอบครองที่ดินที่ไม่มีสิทธิครอบครองอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการขาดโอกาส ในการจัดการพัฒนาพื้นที่เรื่องสิทธิประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ จากสวัสดิการของรัฐต่าง ๆ หลาย ๆ ด้าน แม้แต่การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในการลงทุน ทางด้านการเกษตรและการศึกษาของลูกหลานในครอบครัว และการใช้สำแดงสิทธิ เป็นหลักทรัพย์ในการประกันตน หรือผู้เกี่ยวข้องในเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ที่มีพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่มากมายในเรื่องของ สิทธิทำกินของราษฎรเหมือนทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะในเขตอำเภอช้างกลางและอำเภอฉวาง ในพื้นที่รับผิดชอบดูแลของเขต ๘ ที่ดิฉันทำหน้าที่อยู่ ในตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง และตำบลละอาย อำเภอฉวาง บ้านดิฉันได้รับความเดือดร้อนมายาวนาน เมื่อปี ๒๕๕๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ดิฉันทำหน้าที่สมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจำนวน ๑๑๔,๐๐๐ ไร่ ได้ถูกประกาศ เป็นที่ราชพัสดุโดยกรมธนารักษ์มาเกือบ ๑๐๐ ปี ในขณะนั้นคือปี ๒๕๕๒ ดิฉันจึงได้ร่วมกัน กับคณะทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมท่านกำนันจรูญ พยาบาล ขออนุญาต เอ่ยนามนะคะท่านประธาน และท่านกำนันศรัณย์ พุ่มพวง ซึ่งเป็นกำนันตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง ร่วมกันกับคณะทำงานของทุกภาคส่วนของอำเภอช้างกลาง และภาคประชาชน โดยยุคท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านภาณุ อุทัยรัตน์ ได้สามารถ พิสูจน์สิทธิทางประวัติศาสตร์ได้ว่าในพื้นที่ดังกล่าวว่าใครครอบครองก่อน โดยทาง คณะทำงานภาคประชาชนได้พิสูจน์สิทธิทางประวัติศาสตร์ว่าพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกประกาศ เป็นที่ราชพัสดุเมื่อ พ.ศ. ที่พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ในตำบล สวนขัน ซึ่งพบว่าองค์เจ้าอาวาสพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ พิสูจน์ได้ว่า วัดเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น โดยชุมชนเข้ามาครอบครองที่ดินอยู่ก่อนจึงสร้างวัด มีเจ้าอาวาส องค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๔ ในขณะนั้นจึงชนะการต่อสู้จากทางประวัติศาสตร์ จาก กบร. จังหวัด เพื่อพิสูจน์สิทธิ ทางกรมธนารักษ์ก็ได้ถอดถอนจากการเป็นที่ราชพัสดุ โดย กบร. จังหวัด ขณะนั้นส่งเรื่องให้กรมธนารักษ์ตามระบบ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ จากปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมา ทางชุมชนไม่ได้รับแจ้งเป็นทางการ โดยภาครัฐในสถานะการครอบครองที่ดินของชุมชน ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร เรื่องนี้จึงเงียบไปจนถึงปัจจุบัน โดยสภาพพื้นที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่พัฒนา มีเทศบาลสวนขัน และองค์การบริหารส่วนตำบลละอาย ทั้ง ๒ ตำบลไม่มีสภาพความเป็น พื้นที่ป่าแต่อย่างใด หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกพัฒนา หากแต่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีถนนหนทาง มีไฟฟ้าสว่าง คล้าย ๆ กับชุมชนเมืองด้วยซ้ำไป ดิฉันจึงขอกราบเรียนท่านประธานสภา ผ่านไปยังรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ช่วยดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคืนสิทธิและสร้างความสุขให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

    อ่านในการประชุม

  • อีกพื้นที่ที่ดิฉันได้ยกตัวอย่างในเรื่องของเอกสารสิทธิในวันนี้ที่ได้หารือ ในสภามาเมื่อเดือนที่แล้ว เป็น Case ตัวอย่างได้ว่าพื้นที่ในเทือกเขาหลวง ระหว่าง การเดินทางจากอำเภอพิปูนไปอำเภอนบพิตำนั้นก็คือ ๘ กิโลเมตร ระหว่างพื้นที่ ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน ไปถึงอำเภอนบพิตำ ได้เป็นพื้นที่ที่เกิดการตั้งใจที่จะซ่อมสร้าง ในรอยสร้างเดิมในการสร้างถนน เพื่อที่จะให้เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาเกลอเขา เกลอเล ซึ่ง ณ วันนี้ยังเป็นอุปสรรคในการอนุญาตเข้าไปซ่อมสร้างในรอยสร้างเดิมของถนนที่จะสร้าง การพัฒนาให้เกิดการไปมาหาสู่ระหว่างเทือกเขาหลวงฝั่งอำเภอพิปูน อำเภอนบพิตำ อำเภอขนอม ขณะที่ต้องใช้เดินทางไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้ การเชื่อมต่อในการสร้างพื้นที่ในการไปมาหาสู่ของการท่องเที่ยวระหว่างอันดามันสู่อ่าวไทย ที่จะเกิดการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างเกาะสมุยกับอำเภอขนอมค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงเห็นว่าพื้นที่ของรัฐที่ไม่สามารถเป็นผืนที่ป่าที่จะสร้างต้นไม้ใหญ่ที่จะเปิดพื้นที่ปกคลุม ป่าได้แล้ว เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม หรือเป็นพื้นที่ที่พัฒนามาเป็นหมู่บ้านแล้ว เห็นควรที่จะ อนุญาตให้มีเอกสารสิทธิประเภทใดประเภทหนึ่งในการใช้สิทธิครอบครองเพื่อดำเนินการ ใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างมีความสุขต่อไป ดิฉันจึงเห็นด้วยและสนับสนุนญัตติดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาสิทธิประโยชน์ในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนต่อไป ด้วยความเคารพอย่างสูง กราบขอบพระคุณท่านประธานสภาค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ด้วยความเคารพอย่างสูงนะคะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ด้วยความรับผิดชอบในอำเภอนาบอน อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง อำเภอพิปูน ได้รับเรื่องร้องเรียน ๔ เรื่องดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ การลักลอบ นำเข้าบุหรี่จากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาโดยไม่มีการตรวจสอบ มีการส่งขายกัน อย่างเปิดเผยและราคาก็ถูกกว่าบุหรี่ภายในประเทศถึงเท่าตัว ราคาซองละ ๔๐ บาท ขณะที่ บุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศไทยราคาซองละ ๗๐ บาท เป็นต้น ขณะนี้ขยายวงกว้างไป มากมาย ไม่มีเจ้าหน้าที่ในส่วนใดได้เข้ามาเหลียวแล ต้องขอกราบเรียนท่านประธานสภา ผ่านไปยังกรมสรรพสามิตให้ดูแลอย่างเร่งด่วนด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาขยะสะสมจากหลาย อปท. รับมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ อปท. กองใหญ่เป็นภูเขาประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ตัน ในพื้นที่ตำบลปากน้ำฉวาง อำเภอฉวาง ดังภาพ ที่เห็นนะคะท่านประธาน เมื่อปี ๒๕๖๕ ดิฉันได้ร่วมประชุมหารือหาทางแก้ไข เพื่อแก้ปัญหา ให้ผ่านไป ๑ ปีขยะเพิ่มเท่าตัวขยายเข้าไปในพื้นที่ของเขตป่าไม้ หวังว่าต่อไปคงไม่รบกวน ในพื้นที่ของชาวบ้านที่เป็นป่าไม้จนถึงสวนชาวบ้าน ขอให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวตำบลควนกลาง หมู่ที่ ๑ อำเภอพิปูน ผ่านท่านนายอำเภอถึงความเดือดร้อนสะพานนางเอื้อยทรุดตัวลง เนื่องจากเป็นสะพาน ข้ามแม่น้ำตาปีสร้างมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลังเกิดอุทกภัยได้งบประมาณซ่อมแซม เมื่อปี ๒๕๖๑ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และปี ๒๕๖๔ น้ำท่วมหนักอีกครั้งหนึ่ง สะพานก็ทรุดตัวลงจนรถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทาง อปท. และอำเภอได้ประสานงาน หลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ยังหาเจ้าภาพที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ได้ ขอนำเรียน ผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ปัญหาการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อำเภอฉวาง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเก่าแก่ของอำเภอฉวางที่มีการก่อสร้างมา ยาวนานมากกว่า ๑๐ ปี ดิฉันได้รับการร้องเรียนในวันนั้นช่างน่าสลดใจโรงเรียนแห่งนี้ ๔ ชั้น เสื่อมโทรมตั้งแต่สร้างมา ไม่ทราบว่ายุครัฐบาลไหนให้ไล่เวลาย้อนไปดูนะคะ สถานศึกษา สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคน สร้างชาติ ดิฉันได้นำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐบาลชุดนี้ โดยรัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ผ่านท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ท่านรับเรื่องราวทันทีเพื่อมาเร่งรัดในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยด่วน ดิฉันขอหารือ ท่านประธานย้ำไปยังรัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณไม่เกิน ๖ ล้านบาท เพื่อมอบอาคารเรียน หลังนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหลานเยาวชนไทยในเขตการศึกษาดังกล่าวด้วย จะเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่เพื่อเด็กไทยในวันนี้จะได้มีโอกาส เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่ารัฐบาลนี้ ในนามท่านรัฐมนตรีเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การบริหาร ของท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ได้แก้ปัญหาที่คาราคาซังให้เป็นประจักษ์ได้ กราบขอบพระคุณ อย่างยิ่งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ดิฉันไม่ได้ประท้วงท่านใดนะคะ ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธาน แล้วก็เพื่อนสมาชิก ทุกท่านนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอกราบวิงวอนนะคะ พี่น้องจะต้องมีข้าวกิน ขออนุญาตให้เป็นไปตามวาระได้ไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ด้วยญัตติ เรื่อง การขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาลและปัญหา น้ำบาดาลคุณภาพต่ำ จากการนำเสนอของเพื่อนสมาชิก ดิฉันขอสนับสนุนญัตติดังกล่าวด้วยโฟกัสไปที่เรื่องน้ำบาดาลโดยเฉพาะนะคะ เนื่องจาก ปัจจุบันทุกพื้นที่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ทำให้หลายพื้นที่เกิดความเดือดร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำประปาเข้าไม่ถึงนะคะท่านประธาน แบบชุมชนเมือง จำเป็นต้องอาศัย การหาแหล่งน้ำจากธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำใต้ดินที่ต้องใช้วิธีขุดเจาะเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน น้ำอุปโภคและบริโภคที่ผ่านกระบวนการทางด้านเทคโนโลยีให้มีการผ่านการกรองให้น้ำ ใสสะอาด แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาลและปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ ซึ่งปัญหาของน้ำบาดาลในปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่มีสาขาทุกจังหวัดอย่างใน จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีพื้นที่ ๒๓ อำเภอ มีประชากร ๑,๕๐๐,๐๐๐ เศษ แต่ไม่มี หน่วยงานน้ำบาดาล ต้องไปติดต่อประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต ๖ ที่จังหวัดตรัง

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งจังหวัดตรังเป็นจังหวัด ที่เล็กกว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วก็ดูแล ๓ จังหวัด เป็นเขตการดูแลเขต ๖ ดูแลจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ซึ่งต้องรับผิดชอบพื้นที่มากเกินไป ทำให้ประชาชนไม่สามารถติดต่อประสานงานและเข้าถึง หน่วยงานได้อย่างสะดวก และที่สำคัญ ไม่ได้มีการสื่อประชาสัมพันธ์ไปถึงหน่วยงาน แม้แต่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้เชื่อมโยงในการขอความช่วยเหลือ มีการติดตั้งของ อปท. ในการขุดเจาะน้ำบาดาล แต่ส่วนใหญ่หลายจุดที่ไปขุดเจาะโดยไม่มีน้ำ กลายเป็นเอางบประมาณไปทิ้ง เป็นอนุสาวรีย์ของแท็งก์น้ำต่าง ๆ อยู่เกลื่อนกลาด แนวทาง การแก้ไขควรจะมีหน่วยงานรับผิดชอบทุกจังหวัด ขอฝากในเรื่องนี้ไว้ให้คณะกรรมาธิการว่า เพื่อความสะดวกของประชาชนในการติดต่อขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วในแต่ละจังหวัด

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๒ การบริหารจัดการน้ำบาดาล โดยเฉพาะในการขอขุดเจาะบ่อ หน่วยงานออกแบบระเบียบมาให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ในการที่จะขอ ขุดเจาะ ซึ่งมีเป็น ๑๐๐ ครอบครัว ถึงจะขอขุดเจาะได้ ไม่สะดวกเนื่องจากประชาชน อยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการเกษตร ไม่สามารถ ที่จะรวมพี่น้องได้หลาย ๆ ครอบครัวเหมือนกับที่ในชุมชนเมือง วิธีการแก้ไข ควรจะพิจารณา ถึงความเดือดร้อน ความจำเป็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้ หลายครอบครัวถึงจะมาขอขุดเจาะได้นะคะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๓ คุณภาพของน้ำบาดาลส่วนใหญ่มีกลิ่น มีสนิมเหล็ก และมีหินปูน มีกลิ่นโคลนตำแหน่งแหล่งน้ำใต้ดิน ทำให้ไม่สะอาดและมีปัญหาต่อสุขภาพของพี่น้อง ประชาชนในการอุปโภคบริโภค ดังที่เพื่อนสมาชิกได้ขึ้นจอภาพมาหลาย ๆ ท่านที่เป็นน้ำ ไม่สะอาดแล้วก็ขุ่น แนวทางการแก้ไข เมื่อมีการขุดเจาะน้ำบาดาล ควรติดตั้งระบบ กรองน้ำดิบให้ครบวงจรให้เป็นน้ำใสสะอาดและสามารถใช้ดื่มได้เลยเหมือนที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาลกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ คือโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลขนาด ๖ นิ้ว จำนวน ๒ บ่อต่อ ๑ จุดแล้วสูบน้ำสู่หอถังสูงขนาด ๘๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเรียกว่า Top แท็งก์ถังสีเขียว และมีระบบการกรองน้ำเก็บไว้ในถัง Stainless ขนาด ๒,๐๐๐ ลิตร ๔-๕ ถัง น้ำสะอาด จะบรรจุถังหรือขวดได้เลย ดังตัวอย่างที่ตั้งอยู่ในสำนักงานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเขต ๖ จังหวัดตรัง งบประมาณแต่ละจุดใช้ ๕,๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อจุด ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดเทียบเท่ากับน้ำที่เอกชนผลิตขาย รัฐบาลควรสนับสนุนให้เพียงพอ ทุกพื้นที่ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนฟรีทั้งแบบขวด และแกลลอนดังในภาพ Slide นะคะ ในแบบขวดของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่จังหวัดตรัง เป็นตัวอย่าง ขอให้ตั้งงบประมาณเพิ่มทำโครงการนี้ให้มาก จะถือได้ว่ารัฐบาลคืนความสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนโดยรวม ดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาล และปัญหาน้ำบาดาล คุณภาพต่ำ ดังเจตนารมณ์และนโยบายของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กระทรวงมหาดไทยที่เพื่อนสมาชิกได้พาดพิงไปในเบื้องต้นในการตั้งงบประมาณ ซึ่งต้องการให้ พี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำอุปโภคและน้ำบริโภคที่สะอาดอย่างทั่วถึงทุกชุมชนตามแนวนโยบายนี้ ในนามพรรคภูมิใจไทย สามารถที่จะดำเนินการต่อยอดจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มี ตัวอย่างที่จังหวัดตรังสามารถผลิตน้ำของรัฐบาลให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้ใช้ฟรี อย่างเต็มที่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ด้วยความเคารพนะคะ ดิฉัน นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตนำเรียนท่านประธาน เรื่องความก้าวหน้าของการซ่อมในรอยสร้างถนนสาย ๔๑๘๙ ระหว่างตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงอำเภอนบพิตำ

    อ่านในการประชุม

  • สืบเนื่องมาจากการหารือ ต่อสภาเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ เพื่อขอซ่อมในรอยสร้างถนนเส้นนี้โดยกรมทางหลวง และแขวงทางหลวงจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ ๑ พร้อมคณะ กอ.รมน. ภาค ๔ ได้เคยร่วมกัน สำรวจมาแล้วนั้น ผ่านมาถึงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง โดยท่านวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายอำเภอพิปูน ท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการที่ท่านเลขาธิการสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินมาในครั้งนี้เพื่อร่วมการรับฟังข้อเท็จจริงจากรายงานการร้องเรียนของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่เมื่อปี ๒๕๖๕ โดยนายสิทธิพงศ์ ทองจันทร์ เป็นตัวแทนนำรายชื่อถึง ๑๐,๐๐๐ กว่าคน เพื่อขอคืนถนนเส้นนี้ ซึ่งเป็นถนนพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ร้องไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จากวันนั้นมีการสรุปผลในการลงพื้นที่ในวันที่ ๒๔ วันรุ่งขึ้น ท่านวทัญญู ทิพยมณฑา ได้สรุปรายงานการประชุมดังนี้ ในความเห็นของอุทยานแห่งชาติ เขาหลวงไม่เห็นด้วยในการซ่อมแซม ในขณะที่ความเห็นของ กอ.รมน. เห็นด้วยที่จะให้มี การซ่อมแซม เพราะว่าเป็นถนนในโครงการพระราชดำริและร่องรอยของถนนยังคงสภาพอยู่ ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นก็เป็นความต้องการอันสูงสุดของพี่น้องประชาชนค่ะ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนถนนเป็นต้นไม้เนื้ออ่อนเกือบทั้งหมด เกิดจากดินสไลด์ลงมาเมื่อปี ๒๕๓๑ ด้วยความมั่นคงมีหลายมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านคุณภาพชีวิตของพี่น้อง ประชาชน การเดินทางของประชาชนจากฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย ส่วนในความเห็นของ กรมทางหลวง เห็นด้วยในการซ่อมแซม ถ้าอุทยานแห่งชาติอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการจะมี การออกแบบก่อสร้างซ่อมแซมถนนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้สัตว์ป่าลอด อุโมงค์ได้หรือเดินสะพานข้ามได้ ขออนุญาตท่านประธานอีกนิดเดียว โดยความเหมาะสม ตามธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยว แล้วก็อนุเคราะห์ให้หลายอำเภอได้ผ่านเส้นทางนี้ ประชาชนหลายอำเภอสร้างคุณภาพชีวิตและกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างเกลอเขา-เกลอเล ดิฉันจึงขอนำเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมอุทยานแห่งชาติเขาหลวงได้กรุณาทบทวน เพื่ออนุญาตให้มีการซ่อมแซมในรอยสร้างถนนสาย ๔๑๘๙ ต่อไป กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ดิฉันขอติดตาม ความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทางหลวงแผ่นดินและสะพานบนถนน สายหลัก ดังนี้คือ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. สะพานคลองจันดี หมู่ที่ ๑ บ้านนา คลองใหญ่ และสะพานคลองเหมน หมู่ที่ ๑ บ้านนา ซึ่งสะพาน ๒ สะพานนี้มีวัดที่คีรีวรรณาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คั่นกลาง สภาพของ สะพานนี้ใช้มา ๓๐ ปี แล้วก็มีความชำรุดทรุดโทรม เกิดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนจากน้ำหลากในต้นน้ำนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. สะพานคลองจันดี หมู่ที่ ๒ คลองงา ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง ซึ่งเป็นสะพานตัวถัดมาอยู่ในสภาพเดียวกัน แล้วก็อยู่ในระยะเวลาที่การก่อสร้างพร้อม ๆ กัน ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยมาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จด้วย นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. การขยายถนนทางหลวงสาย ๔๑๙๔ ในควนสงสาร-กะทูน ตำบลละอาย อำเภอฉวางถึงอำเภอพิปูน ซึ่งระยะทางถนนเส้นนี้คดเคี้ยวมากในความดั้งเดิมมาเป็นร้อยปี ขณะนี้ปี ๒๕๖๖ ได้มีการขยายถนนเส้นนี้ ตั้งงบประมาณไว้จนแล้วเสร็จ ๑๘ กิโลเมตร เป็นงบประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ต้องขอกราบขอบพระคุณกรมทางหลวงที่ได้ผลักดัน งบประมาณมา ๓๐ ล้านบาทในการขยายดำเนินการจากควนสงสารไป ๓ กิโลเมตรที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๖ แต่ทราบว่าในปี ๒๕๖๗ ไม่ได้รับงบประมาณต่อเนื่อง ก็ต้องขอกราบเรียนทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะได้อนุมัติงบประมาณ ในปี ๒๕๖๘ ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ถนนทางหลวงสาย ๔๐๑๕ พิกัดตรงห้วยปริก อำเภอฉวาง นครศรีธรรมราช บ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นรอยต่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงห้วยปริก-ฉวาง ตรงนี้ได้รับการร้องเรียน ขออนุญาตท่านประธานนิดนะคะ ร้องเรียนจาก ท่าน สจ. กระวี หวานแก้ว มีการตกช่วงอยู่ ๙ กิโลเมตรในช่วงห้วยปริกถึงตำบลนาแว ขอกรุณาได้ช่วยดำเนินการต่อเนื่อง

    อ่านในการประชุม

  • และอีกเรื่องหนึ่งในถนนสาย ๔๐๑๕ จันดี-เขาธง ตอนนี้ได้ขยายไปพร้อมทั้งไฟ ถนนเส้นนี้ไปถึงมะนาวหวาน ขอให้ได้ดำเนินการต่ออย่างเร่งด่วนถึงเขาธง ซึ่งถนนเส้นนี้ ทางผู้ดำเนินการก่อสร้างและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ชื่อว่าถนนโรแมนติกโรส ซึ่งเป็นถนนสายที่ สวยมาก แล้วก็เป็นเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ขอให้ดำเนินการได้อย่างเร่งด่วน โดยเร็ว และขอฝากท่านประธานไปถึงกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วย ปิดป้ายประกาศทั่วเมืองทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๓ อำเภอไปสนามบิน แม้แต่อำเภอ ต่าง ๆ จุดท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองรองในการท่องเที่ยว ไม่มีป้าย ติดประกาศอย่างชัดเจนให้กับนักท่องเที่ยวที่มาอย่างหนาแน่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช กราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ขอนำเรียนหารือเรื่องความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ

    อ่านในการประชุม

  • สืบเนื่องมาจากในพื้นที่ ตำบลสวนขัน อำเภอช้างกลาง และตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มี ประชากรอาศัยครอบครองที่ดินทำกินมาช้านานหลายช่วงอายุคนก่อนปี ๒๕๐๕ การประกาศให้ที่ดินนี้อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ ให้เป็นที่ราชพัสดุตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่นั้นกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งที่ลักษณะที่ดินไม่ใช่ เป็นป่าไม้ และไม่ใช่เป็นอุทยานแต่อย่างใด หากแต่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าในอดีตนับเป็นร้อยปี ค่ะท่านประธาน ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๒ ได้มีการพิจารณาสิทธิที่ทำกิน โดยขณะนั้นผู้ว่าราชการ จังหวัดคือ ท่านภาณุ อุทัยรัตน์ ได้เป็นประธานกรรมการ กบร. จังหวัด ดิฉันได้ทำหน้าที่ ผลักดันในนามสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเขตอำเภอช้างกลาง ได้สืบค้นข้อมูล การอาศัยของชุมชนดังกล่าว โดยได้มีการประชุมพิจารณาในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ คือ ขอให้คณะกรรมการพิจารณาคืนที่ดินให้แก่ราษฎรที่มี ส.ค. ๑ หรือ น.ส. ๓ จำนวน ๒๑ ราย ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๔ ในมติที่ประชุมครั้งนั้นคณะกรรมการมีมติดังนี้คือ ๑. ให้คืนที่ดินแก่ราษฎรที่มี ส.ค. ๑ หรือ น.ส. ๓ จำนวน ๒๑ ราย ตามหนังสือกระทรวงการคลัง รับลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๔ โดยให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการให้ส่งคืนที่ดินให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายกำหนดไว้ ๒. หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มาแล้วปรากฏว่ามีการบุกรุกเข้าไปใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว โดยราษฎรในปี ๒๕๒๔ ได้เกิดความแตกแยกทางความคิดและการปกครอง ทำให้ทางราชการไม่สามารถที่จะเข้าไป ดูแลพื้นที่ดังกล่าวได้ ราษฎรได้ทำกินมีผลอาสินเต็มพื้นที่จำนวน ๘,๔๒๒ แปลง กบร. ส่วนจังหวัดมีมติเห็นควรคืนที่ดินให้แก่ราษฎร โดยให้สำนักงานธนารักษ์เสนอเรื่องราว ไปคราวเดียวกันกับการคืนที่ดินให้แก่ราษฎรทั้ง ๒๑ ราย ที่ดินส่วนที่เหลือนั้น กบร. จังหวัด มีมติให้ออกเอกสารสิทธิเพิ่มเติมและจัดให้เช่าตามระเบียบกระทรวงการคลัง ขออนุญาต นะคะท่านประธานที่เคารพ ดิฉันได้เคยนำเรียนเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งต่อสภาแห่งนี้ ครั้งนี้ ดิฉันจึงขอวิงวอนผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้โปรดกลับมาพิจารณาโดยด่วน เพราะมติที่ประชุมจาก กบร. จังหวัดออกมาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๒ นับถึงวันนี้ ๑๐ กว่าปีไม่มีผลต่อเนื่องอีกเลย จึงขอนำเรียนให้ท่านประธานแจ้งข่าว ความก้าวหน้าและหวังไว้ว่าราษฎรตำบลสวนขันและตำบลละอาย จังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อไป กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย อำเภอนาบอน อำเภอ ช้างกลาง อำเภอฉวาง และอำเภอพิปูนค่ะ ด้วยญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้น ดิฉันมีความเห็นด้วยและสนับสนุนญัตติดังกล่าวของ เพื่อนสมาชิกทั้ง ๔ ท่านที่ได้นำเสนอญัตตินี้เข้าสู่สภา แล้วก็รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัญหาเรื่องสิทธิทำกินแล้วก็การสร้างประโยชน์การพัฒนาในที่ดินที่ติดเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติจะเป็นปัญหาให้กับการพัฒนาอย่างกว้างขวางทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ดิฉันขอนำเรียนท่านประธานสภาเพื่อที่จะยกตัวอย่างในเขตพื้นที่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หลาย ๆ อำเภอทั้งหมดทั้ง ๒๓ อำเภอล้วนแล้วแต่มีปัญหาเดียวกัน แต่ในนามที่ดิฉันอยู่ใน การดูแลเขต ๘ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ยกตัวอย่าง เนื่องจากพื้นที่ที่ดิฉันได้นำเรียน ท่านประธานมาในสภาแห่งนี้อย่างน้อย ๒ ครั้งมาแล้ว นั่นก็คือเรื่องของการจัดการขยาย ความเจริญในเรื่องของการพัฒนาเส้นทางสู่การพัฒนาระหว่างอำเภอพิปูนไปสู่อำเภอนบพิตำ ซึ่งเป็นถนนสาย ๔๑๘๙ สาย ๔๑๘๙ นี้เป็นการเริ่มต้นระหว่าง ๒ ฝั่ง เขาเรียกว่าเกลอเขา เกลอเล นั่นก็คือเปิดพื้นที่ระหว่างอำเภอพิปูนกับอำเภอนบพิตำ ซึ่งในเขตอำเภอพิปูนหลาย อำเภอจะใช้ประโยชน์ในการเดินทาง ลัดเส้นทางไปสู่ทางทะเล ทางริมฝั่งทะเลในฝั่งอำเภอ ขนอม-สิชล ซึ่งมีความสำคัญในเรื่องของการเดินทางไปสู่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ แล้วอีกไม่นานก็จะมีการเปิดเส้นทางก้าวไปสู่การสร้างสะพานจากสมุยมาสู่ ขนอมด้วย อันนั้นก็คือเป็นโอกาสที่จะทำให้ ๒ ฝั่งเขาแล้วก็ทางทะเลได้เชื่อมทางกัน ซึ่งขณะนี้ติดปัญหาอยู่ที่การขออนุญาตใช้ในการซ่อมสร้าง ไม่ได้เป็นเปิดการสร้างใหม่ดังที่ ท่านสมาชิก ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านสฤษฏ์พงษ์ได้กล่าวนำเรียนไปเบื้องต้นก็เป็นปัญหา เดียวกัน นั่นก็คือเป็นการไม่ได้เปิดพื้นที่ใหม่ แต่เป็นการซ่อมสร้างถนนเส้นนี้เป็นระยะที่เป็น ช่วงของอุทยานแค่ ๑๕ กิโลเมตรเองค่ะ อันนี้ก็คือเกิดปัญหารายละเอียดดังที่ได้นำเรียน หารือในสภาแห่งนี้มาอย่างน้อย ๒ ครั้งแล้วค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ การขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ใจกลางชุมชนที่ล้อมรอบ ด้วยความเป็นชุมชนเมือง ไม่มีสภาพความเป็นป่าเหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในการ ขอพื้นที่สร้างโรงเรียน ในขณะนี้ในที่ดินป่าสงวนควนพลองซึ่งอยู่ใจกลางเมืองของ อำเภอช้างกลาง ซึ่งติดเขตกันกับอำเภอฉวางยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกมากมายก็ยังไม่ได้ ดำเนินการที่จะคืนสิทธิ ให้อำนาจสิทธิของพี่น้องประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ดิฉันขอนำเรียนท่านประธานว่าในการขอใช้พื้นที่ในป่าสงวนดังกล่าวเพื่อที่จะใช้เป็นที่สร้าง ของโรงเรียนวัดจันดี ซึ่งหลายปีก่อนเกือบ ๑๐ ปีมีน้ำท่วมอย่างรุนแรง โรงเรียนวัดจันดีเป็น โรงเรียนมัธยม แล้วก็มีนักเรียนเกือบ ๒๐๐ คน ใช้ที่ดินของวัดจันดีเป็นที่อาศัยอยู่ ตอนนี้ได้ ขออนุญาตที่ป่าสงวนควนพลองเพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่ของโรงเรียน ซึ่งอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ในเทศบาลตำบลหลักช้างได้ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เช่นกัน ซึ่งในพื้นที่ตำบลหลักช้างมีพื้นที่น้อยมาก ไม่พอที่จะมีการจอด แล้วก็ความสะดวกในการตั้ง สำนักงานของเทศบาลหลักช้าง จึงขออนุญาตมาใช้พื้นที่นี้ก็ทำอย่างยากเย็นมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ดิฉันจึงเห็นความจำเป็น จากการที่มีประสบการณ์ใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ดิฉันเป็นสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่แห่งนี้ในการสร้างโรงพยาบาลประจำ อำเภอชื่อว่าโรงพยาบาลพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ และหลังจากนั้นก็ได้ผลักดันในการจัดตั้งขอใช้พื้นที่สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ของจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ในขณะนั้นยุ่งยากมากในเรื่องของเวลาในการ ประสานงาน แต่ก็ไม่มีความย่อท้อของผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ของทุกภาคส่วนที่ทำให้สำเร็จ เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นมา ณ บัดนี้ดิฉันได้มาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน่าจะมี โอกาสที่จะนำมาเสนอในสภาแห่งนี้เพื่อที่จะได้มีการเชื่อมโยง จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาขอ เริ่มต้นอนุมัติใหม่ ต้องกราบขอบพระคุณได้คำแนะนำจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ไม่เอ่ยนามท่านไม่ได้ ถือว่าท่านเป็นคนเปิดเส้นทางให้ในการประสานงาน ไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ นั่นคือท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ขณะนี้ได้ดำเนินการประสานงาน ในส่วนหนึ่งขอใช้ที่ดินแห่งนี้เพื่อตั้งโรงเรียนวัดจันดี แล้วก็การจัดตั้งสำนักงานของเทศบาล ตำบลหลักช้าง และส่วนหนึ่งดิฉันได้เห็นความยากลำบากของการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะฤดูกาลที่ผ่านมาที่กำลังจะเข้าฤดูกาลใหม่ นั่นคือชาวสวนมังคุด ซึ่งนำมังคุดไปเททิ้งในอำเภอเมือง ที่ผ่านมาน่าสลดใจนะคะ ดิฉันจึงได้แนวคิดนี้จากพี่น้อง ประชาชน จึงขอใช้ที่ดินแห่งนี้ด้วยในการที่จะจัดตั้งจุดศูนย์รวมของผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียนซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์แล้วก็เป็นรายได้ อย่างมหาศาลของพี่น้องเกษตรกรในละแวกนั้นทั้ง ๗-๘ อำเภอ ขณะนี้การดำเนินการขอใช้ พื้นที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ จึงขอกราบเรียนท่านประธาน ขอเวลาอีกนิดหนึ่งค่ะ ท่านประธาน เรื่องนี้สำคัญจริง ๆ ขณะนี้ยังจะต้องไปใช้ผ่านการพิจารณาจากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นก็คือเทศบาลหลักช้างเห็นชอบ ดังนั้นถ้าเป็นแบบนี้ในการเสนอญัตติของ เพื่อนสมาชิกเพื่อที่จะลัดขั้นตอน ลดขั้นตอนที่จะวิ่งกลับไปกลับมาในเรื่องของการประสานงาน แล้วก็เรื่องของเอกสาร ก็เห็นควรที่จะกระจายอำนาจตรงนี้ลงมาเพื่อที่จะให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นหรือส่วนใดของจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องลดขั้นตอนตรงนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉันขอนำเรียนอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในเรื่องของพี่น้อง ประชาชนในส่วนที่ดินควนพลอง ส่วนที่เหลืออีกมากมายเกือบ ๒,๐๐๐ ไร่ที่พี่น้องประชาชน ได้อาศัยอยู่เป็นเกาะกลาง ไม่ใช่เป็นที่ป่าไม้แล้ว ก็เห็นควรที่จะมาพิจารณาอนุมัติให้กับ พี่น้องประชาชนที่ครอบครองที่ดินอยู่นั้นตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดได้มีสิทธิทำกินในที่ดินผืนนั้น ขณะเดียวกันดิฉันได้นำเรียนหารือในสภาแห่งนี้ในตำบลละอาย อำเภอฉวาง ตำบลสวนขัน อำเภอช้างกลาง ที่ได้ขอใช้เอกสารสิทธิในที่ดินแห่งนั้นมาตั้งแต่เกือบ ๑๐๐ ปีที่มี การประกาศของทางภาครัฐให้กรมธนารักษ์ประกาศให้เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งดิฉันก็ยังไม่ได้ มีการตอบรับจากการหารือตั้งแต่ ๒-๓ ครั้งมาแล้ว นี่คือเป็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรและ พี่น้องของประเทศไทยทั้งหมด ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติดังกล่าวของเพื่อนสมาชิก ทั้ง ๔ ท่าน เพื่อยังประโยชน์จากการพัฒนาในพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้เป็นป่าแล้ว เป็นการคืน ความสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริงค่ะ ขอกราบขอบคุณท่านประธาน ด้วยความเคารพค่ะ

    อ่านในการประชุม