เรียนท่านประธานสภานะครับ แล้วก็ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ผม กัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านเลขาธิการได้รายงาน ไปแล้วนะครับ
ในประเด็นแรกที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของสำนักงาน กกพ. จากพรรคก้าวไกล คุณพูนศักดิ์ก็ได้พูดถึงเรื่องของการส่งเสริมพลังงานทดแทน ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เรียนท่านเพิ่มเติมนะครับว่าจากข้อมูล ณ ปัจจุบันก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ถ้าเราได้รวมถึงการใช้พลังงาน RE หรือพลังงานหมุนเวียนในส่วนที่ไม่ได้จ่ายเข้าระบบ ด้วยนะครับ ก็คือผลิตใช้เองนี่ตัวเลขในปัจจุบันก็ได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๑๙ เปอร์เซ็นต์แล้ว อันนี้ก็เป็นตัวเลขที่ Update ให้ท่านทราบนะครับ
ในส่วนของประเด็นที่ท่านพูดถึงขยะเป็นเรื่องการส่งเสริมแล้วก็ เกณฑ์การ คัดเลือกในการทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนจาก EIA ในกรณีที่โครงการนั้น มีขนาดกำลังการผลิตเกิน ๑๐ เมกะวัตต์ อันนี้ผมเข้าใจว่าท่านทราบอยู่แล้วนะครับ อย่างที่ท่านสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไปว่ามีคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องใน ๔ กับ ๙ เป็นเรื่องของผังเมือง แล้วก็การให้การส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนยกเว้นการทำรายงาน EIA ซึ่งในประเด็นนี้ทาง กกพ. เองก็ได้ออก COP หรือรายงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมารองรับ การทำรายงาน EIA ขึ้นมา ก็คือการกำหนดมาตรการให้มีการดำเนินงานในเรื่องของ การทำรายงานมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมครบถ้วนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียม โครงการ ขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขั้นตอนการดำเนินงาน และขั้นตอนการรื้อถอน โครงการ อย่างไรก็ตาม COP ไม่ได้ปิดประเด็นทั้งหมดเรามีเงื่อนไขด้วยกัน ๕ ข้อ ถ้าเกิดว่า การทำโรงไฟฟ้าขยะนั้นไม่สามารถที่จะผ่านเงื่อนไขใน ๕ ข้อนั้นได้ ก็จะต้องกลับไปทำรายงาน EIA อยู่ดี แต่อย่างไรก็ตามครับความเหมาะสมในเรื่องของการจะใช้ COP หรือ EIA อันนี้อาจจะเป็นเรื่องของมาตรการทางด้านกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาร่วมกันต่อไปว่า จะเหมาะสมเป็นประการใดต่อไปนะครับ
สำหรับประเด็นที่ท่านตั้งข้อสังเกตว่าโรงไฟฟ้าอย่างเช่น ๒ หรือ ๓ โรง คือมากกว่า ๑ โครงการด้วยกัน แล้วก็มีขนาดที่ไม่เข้าข่ายต้องทำรายงาน EIA แต่มาวาง ตั้งอยู่ติดกัน ประเด็นนี้เราก็มีข้อห่วงกังวลมาโดยตลอดแล้วเราเองในฐานะหน่วยงานอนุญาต ก็ได้มีการหารือกับทางหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมคือ สผ. ในเรื่องนี้ โดยเรา ก็ได้มีการกำหนดมาตรการในเบื้องต้นนะครับว่า ๑. โครงการนั้นจะต้องมีการแยก นิติบุคคลอย่างชัดเจนนะครับ ๒. Facility หรือสาธารณูปโภคที่ใช้ในการรองรับผลกระทบ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการแยกออกมาจากโครงการให้ชัดเจนไม่สามารถ ใช้ร่วมกันได้เพื่อว่าถ้าท่านตั้งแยกโครงการแล้วก็ไม่ทำ EIA ก็จะต้องมีงาน Facility ซึ่งรองรับครบถ้วนในตัวเอง และหากมีการใช้ร่วมกันจะต้องมีข้อกำหนด MOU หรือข้อตกลง ร่วมกันที่จะบอกว่าใครทำหน้าที่ในการรับผิดชอบอะไรในส่วนไหน หากเกิดผลกระทบ ในสิ่งแวดล้อมนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เองในข้อกำหนดที่เราส่งรายงานร่วมกันในการพิจารณา เราก็ยังมีอยู่ด้วยว่าหากมีการพัฒนาโครงการแล้วมีข้อร้องเรียนหรือข้อห่วงกังวลเข้ามา หน่วยงานสามารถที่จะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อให้ทางหน่วยงาน สผ. หรือผู้ชำนาญการ พิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติมหรือ กกพ. ในฐานะหน่วยงานอนุญาตเองก็สามารถที่จะกำหนด เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมให้กับโครงการต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขประกอบการอนุญาตได้ด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ชี้แจงให้ท่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องของโครงการที่ติดตั้งกัน
ส่วนเรื่องของการรับซื้อในส่วนที่เป็น FiT แล้วก็มีการกำหนดว่าหากมีการทำ เงื่อนไขของโครงการซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดีกว่าน่าจะมีอัตราการรับซื้อ ซึ่งจูงใจ มากกว่าอันนี้ก็เป็นประเด็นที่จริง ๆ หน่วยงานภาครัฐก็พิจารณาอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน เราขอรับประเด็นในนี้ว่าจะไปคุยกับภาคนโยบายในการกำหนดแนวทางในลักษณะเช่นนี้ไว้ เพิ่มเติมอย่างไรครับก็ต้องขอขอบคุณในโอกาสนี้
ส่วนในเรื่องของการที่ท่านมีข้อห่วงกังวลว่าการทำโครงการโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้มีการกำกับดูแลรัดกุมเพียงพออย่างไร อันนี้ก็ต้องเรียนท่านว่า กกพ. เป็นภารกิจหนึ่งในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบัน จากอดีตที่ผ่านมาเราก็ได้มีการปิด โดยมีการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อจะพักใช้ เพิกถอน หรือมีการออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงไปแล้วในจำนวนทั้งหมด ๑๔ โครงการด้วยกัน แล้วก็รวมถึงตั้งแต่โครงการขยะชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือแม้กระทั่งโครงการลมเองก็ตาม ซึ่งอันนี้ก็เผยแพร่อยู่บน Website ของสำนักงาน กกพ. ด้วย รายชื่อแล้วก็คำสั่งต่าง ๆ ที่อยู่ในสำนักงาน กกพ. ครับ
ในอีกส่วนหนึ่งข้อห่วงกังวลของทางพรรคก้าวไกล ของคุณจิรัฏฐ์เกี่ยวกับ เรื่องของท่อส่งก๊าซธรรมชาตินะครับ ผมเข้าใจว่าเป็นท่อส่งก๊าซที่มาจากทางโรงไฟฟ้าบางปะกง ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้เกี่ยวกับเรื่องของ ๒ ประเด็นว่าทำไมการจัดทำรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อม EIA จึงให้ทางเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำ อันนี้ก็ต้องเรียนในเบื้องต้นว่า เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายของทางนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมก็คือให้เจ้าของโครงการ เป็นผู้จัดทำ แต่อย่างไรก็ตามการจัดทำนั้นจะต้องมีที่ปรึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนกับทาง สผ. หรือหน่วยงานอนุญาตก็จะมีกลไกในการกำกับดูแลตรงนั้นอยู่นะครับ อันนี้ผมคงไม่ได้ ก้าวล่วงไปตอบในส่วนของกฎหมายสิ่งแวดล้อมนะครับ
ส่วนในกรณีของแนวท่ออีกประเด็นหนึ่งที่ท่านตั้งข้อสังเกตว่ามี ๓ แนวทาง แล้วก็น่าจะมีอีกแนวทางหนึ่งหรือไม่ อันนี้ผมขออนุญาตชี้แจงเป็นหลักการดังนี้นะครับ ในการเลือกแนวท่อก็จะมีอยู่ใน ๒ ขั้นตอนหรือ ๒ ส่วนที่เกี่ยวข้องก็คือ คชก. กับทาง หน่วยงาน กกพ. เอง ตอน คชก. ทาง ปตท. หรือบริษัทจะเป็นผู้เสนอก่อนว่าเขาจะไปศึกษา แล้วเขาจะเลือกอันใดก็จะมี ๒-๓ แนวทางแล้วแต่ขั้นตอนนะครับ ก็จะเสนอให้กับทาง คชก. ได้พยายามพิจารณานะครับ ซึ่งมิติในการพิจารณานั้นก็จะประกอบด้วย ๓ หรือ ๔ มิติ ด้วยกัน สำหรับกรณีของ คชก. เขาก็จะพิจารณาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ผลกระทบชุมชน แล้วก็ความปลอดภัย ในส่วนของ กกพ. เอง เราก็พิจารณาในลักษณะนั้นเช่นเดียวกัน แต่เราอาจจะบวกในเรื่องของความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจของโครงการด้วย เพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของโครงการนะครับ ซึ่งอันนี้ในทางขั้นตอนก็ได้ผ่านทาง คชก. ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๕ กกพ. เองก็เหมือนจะผ่าน คชก. แล้วก็ กก.วล. มาแล้วก็ผ่านการพิจารณา กกพ. ด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับในรายละเอียดใน ๓ ช่องทาง ก็จะประกอบด้วยช่องทางที่ ๑ คือเส้นทางถนนบางนา-ตราด ถนนสุขุมวิทสายเก่า ซึ่งเลียบทาง ชายทะเล แล้วก็แนวทางที่เป็นแนวสายส่งเดิมนะครับ ผมรับทราบข้อมูลมาว่าอันนี้ได้มี การเลือกแนวทางทางสายส่ง ด้วยเหตุผลว่าการเลือกเดินแนวท่อตามสายส่งจะเป็น การใช้แนวทางที่มีการรอนสิทธิประชาชนไว้แล้วเดิมทำให้มีการไม่ต้องการรอนสิทธิเพิ่มเติม แล้วก็มีการใช้พื้นที่เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย นั่นก็เป็นเหตุผลว่าเราเลือกใช้ทางเดิมที่มีการใช้ ทางพื้นที่โครงข่ายไฟฟ้าไว้แล้วนะครับ อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังจากที่มี การเลือกแนวท่อนี้แล้วเราก็จะได้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วก็ส่งข้อมูลไปปิดประกาศ ตามชุมชนด้วยเพื่อให้มีการอุทธรณ์คัดค้านได้ ซึ่งปัจจุบันนี่ก็มีผู้ที่ส่งข้อมูลกลับมาบ้าง เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เช่นเดียวกันกระบวนการก็จะเป็นลักษณะ เช่นนี้นะครับ ขอบคุณครับ