ท่านประธานคะ สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ๔๒๕ แสดงตนค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแจ้งปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดตรัง และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ๒ เรื่องหลัก ด้วยกัน
เรื่องแรก ปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินทำกินบริเวณพื้นที่ อำเภอนาโยงหลายตำบล ได้แก่ตำบลโคกสะบ้า ตำบลช่อง ตำบลนาหมื่นสี ตำบลนาข้าวเสีย และตำบลละมอ เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวนับพันครัวเรือนมีเพียงใบแจ้ง การครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค. ๑ เท่านั้น จึงมีความต้องการให้ทางภาครัฐออกโฉนดที่ดิน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเพียงลำพังแค่ ส.ค. ๑ ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงแค่การแจ้งการครอบครองของราษฎรเท่านั้น แต่การออกโฉนดที่ดินนั้น ติดปัญหาตรงที่มีเงื่อนไขจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดตรังว่า เจ้าของที่ดินจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าได้สิทธิการครอบครองมาก่อนปี ๒๔๗๓ บัดนี้ผ่านมา ๙๓ ปีแล้ว อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือเป็นไปได้ยากมากค่ะท่านประธาน ที่เราจะสามารถพิสูจน์ ให้แจ้งชัดถึงการครอบครองก่อนปีดังกล่าว นับย้อนเวลาไปก็คงไม่มีภาพถ่ายทางอากาศ จะหาพยานบุคคล ณ ปัจจุบันมายืนยันก็เป็นไปได้ยาก นับวันยิ่งเป็นปัญหาที่คาราคาซังค่ะ ดิฉันจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่จังหวัดตรัง ผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดตรัง รวมถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สังกัดกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังชัดเจนก่อนที่รัฐและประชาชน จะเดือดร้อนไปมากกว่านี้ค่ะ
เรื่องต่อมา เป็นเรื่องอุปสรรคความล่าช้าในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของ ประชาชนและนักท่องเที่ยวบนเกาะแก่งต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง ได้แก่ เกาะลิบง เกาะมุก อำเภอกันตัง เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน รวมถึงเกาะกระดานที่กำลังรองรับนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกสารทิศ หลังจากถูกจัดอันดับให้เป็นชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ดิฉันจึงขอฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขจังหวัด ท้องถิ่นต่าง ๆ ให้จัดการดูแล ผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการทำงานของกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ เพื่อการรักษาผู้ป่วยที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งว่าในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี จะเป็นช่วง ที่ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เป็นปีที่มีสภาพอากาศ แปรปรวน ร้อนสลับฝน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายทำให้เกษตรกรต้องเร่งระบายผลผลิต ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคทรงตัว และการส่งออก ชะลอตัว เหตุจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง และมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมากขึ้น จึงส่งผลโดยตรงกับราคากุ้งตกต่ำ หากภาครัฐไม่มีมาตรการในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม อาจส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ เนื่องจากเป็นเรื่อง เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญและเร่งด่วนที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศอย่างยั่งยืน ดิฉันจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เพื่อประโยชน์ ของประชาชน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ โดยมีข้อมูลที่จะนำเสนอต่อสภาดังต่อไปนี้ค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ จากการฟังอภิปรายของเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ที่นำปัญหาเรื่องเดียวกันเข้าสู่สภาในวันนี้ สังเกตได้ว่าเป็นเพื่อนสมาชิกที่มาจาก หลายพรรคการเมืองซึ่งอาศัยอยู่ต่างภูมิภาคกัน การนำเสนอไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา อย่างเร่งด่วน เพราะกระทบต่อการดำรงชีวิตของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมากกว่า ๓๐ จังหวัดทั่วประเทศ สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาเรื่องราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมัน ตกต่ำ ที่ท่าน สส. ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ได้เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอไปแล้ว ก่อนหน้า ปัญหาภาพรวมใกล้เคียงกันกับที่ทางท่านสมาชิกท่านก่อนหน้าได้นำเสนอไป เพื่อเป็นการประหยัดเวลาของสภาแห่งนี้ ดิฉันจึงขออนุญาตยกตัวอย่างแบบรวบรัด โดยยกพื้นที่จังหวัดตรังบ้านเกิดของดิฉันขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ส่วนของจังหวัดตรังค่ะ ทราบมาว่ามีการเดินขบวนเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา
โดยการรวมกลุ่มเข้ายื่นหนังสือ ต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันต้องขอบคุณ กระทรวงพาณิชย์ที่ได้เข้าช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นผ่านกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร โดยช่วย ชดเชยราคากุ้งในราคากิโลกรัมละ ๒๐ บาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวยังคงเดือดร้อนอยู่ ทำให้เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง ที่เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งของผู้แทนเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตสูงสุดติดอันดับที่ ๓ ของประเทศ จากการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ดิฉันขออนุญาตเป็นตัวแทน ในการนำเสนอให้เห็นถึง ๒ ปัญหาหลัก และ ๓ ทางออกต่อสภาดังต่อไปนี้
ปัญหาหลักเกิดจากปัจจัยการผลิตทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ราคาอาหารกุ้ง เคมีภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงแก๊สซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ในการประกอบอาชีพปรับตัวสูงขึ้น ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ ราคาก๊าซหุงต้มก้าวกระโดด เห็นภาพชัด ๆ จากราคาถังละ ๒๘๐ บาท ปัจจุบันเป็นราคาถังละ ๔๐๐ บาท เห็นภาพว่า ราคาปรับสูงขึ้นเท่าตัว แต่ราคากุ้งนั้นกลับสวนทางกัน ต้นทุนการผลิตและราคากุ้ง ณ ขณะนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ ถ้าท่านประธานเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกุ้งจนมีขนาด ๙๐ ตัวต่อกิโลกรัม ปัจจุบันต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ขั้นต่ำ ๑๓๑ บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรขาย ราคาขายปากบ่อจะอยู่ที่ ๑๐๕ บาทต่อกิโลกรัม บวกลบกันคิดแล้วขาดทุน กว่ากิโลกรัมละ ๒๖ บาท ถ้าเกษตรกรเลี้ยงกุ้งมี Size ขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง จะกลายเป็นขนาดกุ้ง ๘๐ ตัวต่อกิโลกรัม ปัจจุบันต้นทุนการผลิตขั้นต่ำจะอยู่ที่ ๑๓๔ บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรขายราคาปากบ่อ ๑๑๕ บาทต่อกิโลกรัม คิดแล้วขาดทุนกิโลกรัมละ เกือบ ๒๐ บาท ทราบมาว่าเกษตรกรบางรายจับแต่ละครั้งขาดทุนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อบ่อ หากเกษตรกรรายนั้นมีจำนวน ๑๐ บ่อ เห็นได้ว่าก็มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า ๒ ล้านบาทต่อครั้ง ถ้าบ่อยครั้งเข้าก็จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ส่งผลให้ไม่เหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งอยู่รอดในอนาคตแม้แต่รายเดียว
ปัญหาต่อมาค่ะ ทราบว่ามาจากการนำเข้ากุ้งจากประเทศเอกวาดอร์ และประเทศอินเดียมาขายในประเทศไทย โดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าทำให้ผลผลิตในประเทศ ล้นตลาดและไม่มีที่ระบาย ซึ่งในเรื่องนี้ดิฉันคิดว่าคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่ การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ต้องออกมาชี้แจงต่อสังคมให้กระจ่างชัด และเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา หลังจากพบว่าเป็นผู้อนุมัติการนำเข้ากุ้งทั้งหมด
สำหรับ ๓ ทางออกที่ว่าค่ะ ดิฉันขอนำเสนอทางแก้ระยะสั้นโดยการผลักดัน นโยบายรัฐผ่านโครงการเร่งด่วนชดเชยราคากุ้ง โดยเน้นชดเชยในราคาที่เหมาะสม เสมือนว่า ราคาขายไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รวมถึงเยียวยาเกษตรกรเพิ่มเติมในการสนับสนุน ค่าอาหารกุ้ง หรืออาจจะเป็นการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบายจำนำกุ้ง โดยนำกุ้งเข้าไปฝากในห้องเย็น เมื่อกุ้งราคาดีอยู่ในจุดที่คุ้มทุนจึงค่อยนำออกมาขาย ส่วนมาตรการในระยะยาว ดิฉันขอสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับผู้ผลิต หาทางออกในการลดต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี ป้ายแดง ดิฉันขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจน เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าพร้อมที่จะลดราคาพลังงานทันทีหลังจากมีการประชุม ครม. นัดแรก ดิฉันเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดี และดิฉันเชื่อว่าทุกท่านกำลังจับตามอง มากกว่านั้นรัฐบาล จะต้องปฏิเสธการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ เพื่อกระจายสินค้าให้คนไทย ทั่วประเทศได้บริโภคกุ้งกันอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวดิฉันเชื่อว่าเป็นเรื่อง ละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหา ดิฉันจึงขอให้ สภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไข ปัญหาราคากุ้งตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร แต่ดิฉันก็ไม่ได้ขัดข้องนะคะ ถ้าทุกท่าน ในที่นี้จะเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนที่ควรส่งตรงถึงมือท่านนายกรัฐมนตรี เพราะดิฉันก็เชื่อเช่นกันว่าถ้าหากทำได้จะเป็นช่องทางที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่เดือดร้อนในขณะนี้ได้เร็วที่สุด ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาว สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นความต้องการของพื้นที่ที่มี มาอย่างยาวนาน ส่วนตัวของดิฉันเองก็เคยใช้ในช่วงเวลาปรึกษาหารือของสภาผู้แทนราษฎร ในห้องใหญ่ ได้นำเสนอความต้องการของพื้นที่ในเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลาย ปี ๒๕๖๕ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่ได้รับการดำเนินการต่อและไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ดิฉัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งกระทู้ถามตรงต่อกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ที่ดูแลในเรื่องนี้ ก่อนอื่นดิฉันก็ต้องกล่าวขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างสูงค่ะ ที่บรรจุ กระทู้ถามของดิฉันเป็นคิวแรกในวันนี้ เพื่อให้มีโอกาสได้มาถามปัญหาพื้นที่โดยตรงต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวขอขอบพระคุณท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายบริหาร และขอขอบพระคุณ ตัวแทนของหน่วยงานค่ะ โดยเฉพาะกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมที่สละเวลา อันมีค่าของทุกท่านมานั่งรวมกันอยู่ตรงนี้ เพื่อไขข้อสงสัยของดิฉัน ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำ ปี ๒๕๖๗ ซึ่งดิฉันก็เข้าใจดีค่ะว่า ทางหน่วยงาน และท่านรัฐมนตรีต้องเตรียมข้อมูลมากมายเพื่อจะตอบคำถามในห้องของกรรมาธิการ งบประมาณที่มีการพิจารณากันอยู่ แม่น้ำปะเหลียนเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่อยู่ทาง ทิศตะวันออกของแม่น้ำตรัง และเป็นแม่น้ำที่กั้นกลางระหว่างอำเภอกันตัง และอำเภอ หาดสำราญ จังหวัดตรัง ดูจากแผนที่จังหวัดตรัง ถึงแม้มองแล้วจะเห็นว่า ๒ อำเภอนั้น จะมีระยะทางห่างกันไม่มากนัก แต่ทางปฏิบัติการเดินทางโดยรถยนต์ต้องใช้เส้นทางหลวง จากอำเภอกันตังผ่านไปยังอำเภอเมือง ผ่านไปยังอำเภอย่านตาขาว ผ่านไปยัง อำเภอปะเหลียนจึงจะเดินทางเข้าสู่อำเภอหาดสำราญ คิดเป็นระยะทางทั้งหมดทั้งสิ้น ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางขาเดียว ประมาณ ๑ ชั่วโมงเต็ม ดูจากระยะทาง และตัวเลขแล้ว เราก็รับรู้ได้ว่า ผู้สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวก เพราะฉะนั้นโครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ ในการเชื่อมแผ่นดินชายฝั่งอันดามันของ ๒ อำเภอ ในจังหวัดตรังเข้าด้วยกัน ส่งผลดีต่อ การอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุน การท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งอันดามัน เพราะสามารถช่วยร่นการเดินทางระหว่าง ๒ อำเภอนี้ได้ ให้สั้นลง จาก ๖๐ กิโลเมตรถ้ามีสะพานต่อตรงจะเหลือเพียงแค่ ๓ กิโลเมตรเท่านั้น การเดินทางที่ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมงเต็ม ก็จะเหลือเพียงแค่ ๕ นาที เท่าที่ทราบค่ะ กรมทางหลวงชนบทได้เคยมีการใช้งบประมาณในการออกแบบสำรวจก่อสร้างโครงการนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน มากกว่านั้นโครงการนี้ยังมีจุดเด่นที่แตกต่าง จากโครงการอื่นอีกหลายโครงการ นั่นคือชั่วโมงนี้เป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับของคน ในพื้นที่ พร้อมกันนั้นในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดตรัง หรือที่เรียกว่าที่ประชุมร่วม กรอ. แต่ปัญหาที่พบคือส่วนกลาง นั่นก็คือกระทรวงคมนาคมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างที่นำเรียนตอนแรกว่า โครงการนี้มีการผลักดันมามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว จากที่ดิฉันติดตามมาก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า นะคะท่านประธาน ส่วนตัวดิฉันเองก็ได้นำหารือในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เมื่อสมัยประชุมก่อน ก็ไม่มีการดำเนินการต่อ แล้วมาปัจจุบันดิฉันได้เปิดเล่มงบประมาณประจำปี ๒๕๖๗ ที่มีการ พิจารณากันอยู่ ณ ขณะนี้ก็ไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่เงา คำถามแรกค่ะ กระทรวงคมนาคม จะให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง หรือไม่ ดิฉันอยากจะเห็นภาพว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ชาวตรังมีสิทธิไหมคะ
ขอบคุณค่ะท่านประธาน เท่าที่ได้ข้อมูล จากคำตอบของท่านรัฐมนตรีมนพร ทำให้ดิฉันมีกำลังใจขึ้นมาว่า ฝ่ายบริหารของทาง กระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเห็นความสำคัญของโครงการนี้ แล้วก็เป็นการให้เกียรติ พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดตรัง และชาวจังหวัดข้างเคียง แล้วก็รู้สึกดีใจที่ได้คำตอบจากท่าน รัฐมนตรีว่ามีการตั้งงบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แล้วจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๘
คำถามที่ ๒ ดิฉันขอถามต่อเนื่องจากคำถามแรกนะคะว่า ณ ชั่วโมงนี้ ดิฉัน ได้คำตอบว่า กระทรวงคมนาคมเห็นความสำคัญของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ปะเหลียน จังหวัดตรัง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมแล้วก็ตาม ดิฉันอยากจะขอความ ชัดเจนให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวตรังว่า โครงการดังกล่าวนี้ หลังจากมีการศึกษาผลกระทบ เสร็จในปี ๒๕๖๘ ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนในการบรรจุโครงการนี้ไว้ในปีงบประมาณใด และต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเป็นระยะเวลานานกี่ปี แล้วต่อเนื่องค่ะ ขอถามว่าทางกระทรวง พอทราบข้อมูลไหมว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงาน อย่างเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากจากที่ดิฉัน ตรวจสอบ พื้นที่ดังกล่าวจะปิดในเขตของเขตห้ามล่า ในขณะเดียวกันก็จะเป็นพื้นที่ป่าสงวน และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่ของป่าชายเลนที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และในส่วนของกรมป่าไม้ ขอความชัดเจนด้วยค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
ดิฉันต้องขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธาน ท่านรัฐมนตรี รวมถึงท่านรองอธิบดีกรมทางหลวงชนบทอีกครั้งนะคะ จริง ๆ ดิฉันมีเวลาเหลือเกือบ ๔ นาที ก็ไม่รบกวนเวลาสภาแห่งนี้มาก ก็ขอฝากความหวังของพ่อแม่ พี่น้องชาวตรัง ผ่านท่านประธานไปถึงท่านรัฐมนตรีด้วยนะคะ ในส่วนของดิฉันเองในฐานะ ของผู้แทนพื้นที่ก็จะขอติดตามโครงการนี้ต่อไป ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ก็จะขอโอกาส ท่านประธานมาตั้งกระทู้ทวงถามทางกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง ขอบคุณค่ะ