นายพริษฐ์ วัชรสินธุ

  • เรียนประธานสภาที่เคารพครับ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกลครับ จะขออนุญาตท่านประธานสักเล็กน้อยในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุม สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าท่านประธานก็เห็นว่าที่ผ่านมานั้น ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นก็เป็นประเด็นที่ถูก พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกอภิปรายในการประชุมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมาเมื่อมีการพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น บทสนทนาที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล หรือว่าไม่ว่าจะเป็นเพราะการเคลื่อนไหว จากภาคประชาชนตลอด ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการรวบรวมรายชื่อกว่า ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อเสนอให้มีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการติดตาม คำให้สัมภาษณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีครับ ผมก็เข้าใจว่าตอนนี้ ครม. นั้นกำลังอยู่ใน กระบวนการของการรวบรวมข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดประชามติ เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อที่จะพิจารณาและตัดสินใจในเร็ว ๆ นี้ ท่านประธานครับ ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการถกประเด็น ดังกล่าวในพื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งเสมือนกับตัวแทนของชุดความคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม ดังนั้นท่านประธานผมก็อยากจะ อาศัยข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) เพื่อเสนอญัตติที่ตัวแทนของพรรคก้าวไกลได้มีการประสาน ไปกับตัวแทนของพรรคอื่นตั้งแต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการเสนอญัตติให้เปลี่ยน ระเบียบวาระการประชุม โดยนำญัตติ ๕.๓๓ ซึ่งเป็นญัตติการขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบแล้วแจ้งให้ ครม. ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถาม ความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) ให้ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในการประชุมวันนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ ระเบียบวาระที่ท่านประธานได้เตรียมไว้ในส่วนของการรับทราบรายงาน หากมีผู้คัดค้าน ผมจะขอใช้สิทธิในการอธิบายหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมกับเพื่อนสมาชิก แต่เบื้องต้น ผมอยากจะให้เพื่อนสมาชิก ท่านประธาน แล้วก็หน่วยงานที่มาชี้แจงนั้นมีความสบายใจ

    อ่านในการประชุม

  • ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • หากมีผู้คัดค้านก็จะขอใช้เวลา เพิ่มเติมในการอธิบายหลักการและเหตุผล แต่ว่าหากไม่มีผู้คัดค้าน ผมก็อยากจะให้ ความสบายใจกับท่านประธาน กับเพื่อนสมาชิก กับหน่วยงานที่มาชี้แจงครับว่าถึงแม้สภา เราเดินหน้าในการพิจารณาประเด็นเรื่องญัตติในการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะไม่กระทบต่อระเบียบวาระที่ท่านประธานได้วางแผนไว้มาก่อน หน้านี้นะครับ เพราะว่าเข้าใจจากเอกสารว่าวันนี้มีการเตรียมเรื่องของการรับทราบรายงาน ๒ หน่วยงานที่เดินทางมาที่สภาแล้ว ๑. ก็คือรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ในครอบครัว ๒. ก็คือรายงานประจำปีของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพราะว่า ถึงแม้สภาเดินหน้าตามข้อเสนอที่ผมได้เสนอไว้เมื่อพิจารณาญัตติเกี่ยวกับประชามติเสร็จแล้ว ก็สามารถเดินหน้าต่อในการพิจารณาทั้ง ๒ รายงานที่ท่านประธานเตรียมไว้ได้ ก็จะไม่กระทบต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับ ในเมื่อมีผู้คัดค้าน ก็จะขออนุญาตใช้พื้นที่ในสภาแห่งนี้อธิบายหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เผื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่รับฟังอยู่ แล้วก็เพื่อว่าจะโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกจาก พรรคการเมืองอื่นที่อาจจะยังไม่ได้แสดงความเห็น หรือว่ามีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง ในวันนี้ ใช้เวลาไม่นาน กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ก่อนอื่นก็เคารพความเห็นของเพื่อนสมาชิกนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม คุณอรรถกรจากพรรคพลังประชารัฐ ก็เข้าใจดีว่าท่านเองมีญัตติที่ค้างอยู่ไว้เช่นกัน แล้วผม ก็พร้อมจะเคารพครับ ตามครรลองประชาธิปไตยก็พร้อมจะเคารพหากเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าไม่เห็นชอบการเปลี่ยนระเบียบวาระ ก็น้อมรับผลการตัดสินใจ เช่นนั้น แต่ว่าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่รับฟังอยู่ แล้วก็เพื่อนสมาชิกพรรคอื่น จะขออนุญาตอธิบายเหตุผล ๓ ประการสั้น ๆ ที่ทำไมผมถึงเสนอให้มีการเลื่อนวาระ เรื่องการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับประชามติรัฐธรรมนูญขึ้นมาในวันนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๑ ผมคิดว่าเราควรจะมีความชัดเจนโดยเร็วเกี่ยวกับทิศทาง เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผมพูดแบบนี้พราะว่าในมุมหนึ่งอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่กำลังถูกถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ กกต. ไม่อนุญาตให้มีการล่ารายชื่อแบบ Online ก็ตาม เราก็เห็น จำนวนประชาชนเข้าชื่อกันแบบลงเอกสารถึง ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อภายในไม่กี่วันนะครับ นับว่าเป็นสถิติที่รวดเร็วกว่าการเข้าชื่อตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่แม้จะมีความตื่นตัวสูง ในอีกมุมหนึ่งข่าวร้ายเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นก็คือว่าถึงแม้ประชาชน ทุกคนอยากเห็นมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จากวันนี้ถึงวันที่เราจะมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่บังคับใช้นั้นอาจจะต้องอาศัยเวลายาวนานอย่างน้อย ๒ ปี ด้วยกรอบระยะเวลา ที่อาจจะต้องใช้เวลาลักษณะนี้ ผมเลยคิดว่าการที่เรามีความชัดเจนเร็วว่าประเทศเรา จะเดินหน้าหรือไม่ อย่างไร เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นจึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๒ ผมคิดว่าความชัดเจนดังกล่าวที่เรากำลังพูดถึงนั้น ไม่ควรจะเป็นการรอ ครม. หรือว่าคณะรัฐมนตรีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่า ครม. จะตัดสินใจเมื่อไร อย่างไร เกี่ยวกับการจัดประชามตินั้น ผมคิดว่าประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ ของสภาหรือว่าการถกเถียงประเด็นดังกล่าวในพื้นที่ของสภานั้นยังคงมีความหมาย ผมเชื่อว่า เดี๋ยวสมาชิกจากบางพรรคการเมือง สมาชิกบางท่านอาจจะลุกขึ้นมาให้เหตุผลว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในสภาแห่งนี้มาถกกันเรื่องนี้ เพราะว่า ครม. นั้นก็ได้ประกาศไปแล้ว ว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการจัดประชามติดังกล่าวภายในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ แต่ผม อยากจะเรียนด้วยความเคารพว่าไม่ว่า ครม. จะได้ข้อสรุปตามนั้นจริงหรือไม่ ผมคิดว่า การถกเถียงและพิจารณาญัตติดังกล่าวในสภามันมีความจำเป็นในทั้ง ๓ กรณี หากเราไปดู กรณีที่ ๑ หากเป็นกรณีที่ ๑ ที่ ครม. นั้นมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ ด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ผมคิดว่าเหตุผลนั้นหรือสถานการณ์นั้นยิ่งเป็น เหตุผลที่ทำให้เราควรจะใช้กลไกสภาในการเดินคู่ขนาน หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า ในเมื่อ พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ ก็มีการเปิดอนุญาตให้สามารถเสนอให้จัดประชามติ ได้ผ่าน ๓ ช่องทาง ช่องทางที่ ๑ ก็คือ ครม. ช่องทางที่ ๒. คือการที่ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอ ครม. และช่องทางที่ ๓ คือการพิจารณาของรัฐสภา เราก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้อง เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถเดินไปได้ ทั้ง ๓ ทาง แต่หากเป็นอีกกรณีหนึ่ง ท่านประธานครับ ในกรณีที่ ๒ ที่ทาง ครม. นั้นเดินหน้าจะให้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุม ครม. นัดแรก ๆ ว่าจะจัดประชามติหรือไม่ อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นเรายิ่งต้องถกประเด็นนี้ ในสภาตั้งแต่วันนี้เลยเพราะว่าแม้ทุกพรรคอาจจะเห็นตรงกันว่าเราควรจะมีการจัดประชามติ แต่ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด แล้วรายละเอียดที่มีความสำคัญมาก ที่จะกำหนดชะตากรรม และหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ก็คือตัวคำถามที่ถูกถามในการจัดประชามติครั้งนั้น ดังนั้นเรื่องคำถามประชามติจึงเป็นประเด็นที่ทั้งผมเอง พรรคก้าวไกล แล้วก็ภาคประชาชนนั้น มีความกังวลร่วมกัน เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ ครม. ตัดสินใจไปด้วยตนเอง ผมเห็นว่าเราควร จะต้องใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ อย่างที่ผมบอกไว้ว่าประกอบด้วยตัวแทนของทุกชุดความคิดนั้น มาถกกันก่อนถึงข้อเสนอต่าง ๆ ว่าจะออกแบบคำถามอย่างไร ข้อดี ข้อเสียของแต่ละ ทางเลือกนั้นเป็นอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่เหตุผลประการสุดท้ายครับ เหตุผลข้อที่ ๓ ที่ผมเสนอให้มีการพิจารณา ญัตติในวันนี้ เพราะผมคิดว่าการพิจารณาญัตติดังกล่าวนั้นไม่ควรจะเป็นการรบกวนเวลา ของสภามากจนเกินไป และอาจจะ Slide ประกอบสั้น ๆ ๑ Slide ครับ เพราะญัตติที่ผม เสนอให้เราเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในวันนี้ ไม่ได้เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติอะไรใหม่ แต่เป็นญัตติที่เสนอคำถามประชามติเดียวกันกับญัตติที่หลายพรรคการเมืองนั้น ที่นั่งอยู่ใน สภาแห่งนี้เคยลงมติเห็นชอบไปแล้วในสภาชุดที่แล้ว หากเราดูใน Slide ประกอบนะครับ ถ้าเราย้อนไปไม่ถึง ๑ ปีก่อนครับ เราจะเห็นว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ จริงอยู่ครับว่าวันนั้นญัตติดังกล่าวจะถูกเสนอโดยแค่ตัวแทนจาก ๒ พรรคการเมือง ก็คือคุณณัฐพงษ์จากพรรคก้าวไกล และคุณจุลพันธ์จากพรรคเพื่อไทย แต่พอมีการลงมติครับ เราจะเห็นว่าญัตติดังกล่าวนั้นได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ เลยครับจากสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วย ๓๒๔ รายไม่เห็นด้วย ๐ ราย มีงดออกเสียงเพียง ๑ รายก็คือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ เวลานั้นซึ่งถ้าเราไปดูว่าในบรรดา ๓๒๔ สส. ที่โหวตเห็นชอบ ก็จะเห็นว่ามาจากทุกพรรคการเมืองเช่นกัน ๗๙ สส. จากพรรคเพื่อไทย ๕๗ สส. จากพรรคภูมิใจไทย ๖๒ สส. จากพรรคพลังประชารัฐ ๓๓ สส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในบรรดา สส. ที่ลงมติเห็นชอบในวันนั้นก็มีหลายท่านครับตามรายชื่อที่ปรากฏ ที่ ณ วันนี้ ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน แม้บางคนอาจจะเปลี่ยนพรรคไปบ้าง ดังนั้น เพื่อสรุปครับ แม้สภาชุดนี้อาจจะมีพรรคใหม่บางพรรคเข้ามาบ้าง แต่สำหรับพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ หรือ สส. แต่ละคนที่เคยเห็นชอบกันอย่างพร้อมเพรียงเกี่ยวกับคำถามประชามติ ที่เคยถูกเสนอไปแล้ว เมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ผมคิดว่าท่านคงใช้เวลาไม่นานมากนัก ในวันนี้เพื่อจะพิจารณาญัตติดังกล่าวและยืนยันจุดยืนเดิมที่ตนเองนั้นได้เคยลงมติไว้ ดังนั้น ด้วยเหตุผล ๓ ประการนี้ครับ ด้วยความเคารพก็จะขอยืนยันในการเสนอญัตติ เพื่อให้มี การเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมแต่ก็พร้อมจะน้อมรับหากเสียงส่วนใหญ่ของ สภาผู้แทนราษฎรเห็นเป็นอื่นใดครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ครับ ขออนุญาต ปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับการดำเนินการการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๙๐ เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ อยากจะปรึกษาหารือว่าควรจะใช้เวลาตอนนี้ได้ไหมในการปรึกษาหารือใช้เวลาไม่กี่นาที หรือ ว่าทางท่านประธานอยากจะให้ดำเนินการอย่างไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ เรียนประธานสภา ที่เคารพครับ ผมขออนุญาตหารือเกี่ยวกับข้อบังคับ ข้อ ๙๐ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่พูดถึงการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นทั้งหมด ๓๕ คณะ ผมเข้าใจดีนะครับ ว่าโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วนี่สภามักจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ ต่อเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยกติกาการเมืองที่ไม่เป็นปกตินัก ตอนนี้ก็ทำให้สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ นั้นดำเนินการมาครบ ๑ เดือนวันนี้พอดีครับ หรือว่าคิดเป็น ๑ ใน ๔ ของสมัยประชุมนี้นะครับ ดังนั้นครับท่านประธาน ผมเลยอยากจะ ปรึกษาท่านประธานผ่านไปยังผู้แทนราษฎรทุกท่านนะครับ ว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะมีการปรึกษาหารือเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ ที่ผมพูดแบบนี้ เหตุผลหลักก็เพราะว่าเราต้องการจะเพิ่มกลไกในการรับเรื่อง ในการศึกษาแล้วก็ในการเร่งรัด การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เราเข้าใจดีว่าในส่วนของกลไกฝ่ายบริหารนั้น สังคมและพวกเราเองก็อาจจะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่าเราจะหาสมดุลที่ดีอย่างไร ระหว่างการมีรัฐบาลที่เร็วกับการมีรัฐบาลที่เป็นไปตามมติมหาชนผ่านผลการเลือกตั้ง แต่ในส่วนของกลไกฝ่ายนิติบัญญัติผมคิดว่าปัญหาในลักษณะนั้นไม่มีอยู่นะครับท่านประธาน และเราสามารถเดินหน้าในการตั้งกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะได้เลยเหมือนกับที่ท่าน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ชี้แจงกับผู้แทนราษฎรทุกคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าได้มีการ คำนวณสัดส่วนแล้วก็จัดสรรสัดส่วนของกรรมาธิการตามแต่ละพรรคการเมืองได้เรียบร้อย แล้วนะครับ ดังนั้นผมจึงหวังว่าเพื่อนสมาชิกทุกคนที่ได้แสดงความห่วงใยผ่านสื่อสาธารณะ ว่าปัญหาของประชาชนนั้นรอไม่ได้จะมาร่วมกับผมในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ โดยเร็ว โดยที่ยังไม่ต้องรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผมทิ้ง ท้ายด้วยการบอกว่าผมเข้าใจดีว่าคงไม่ใช่เป็นอำนาจของประธานที่จะสามารถสั่งการได้ ข้อเสนอของผมก็เลยอยากจะฝากท่านรองประธานเรียนไปยังท่านประธานให้เร่งรัด การประชุม เชิญชวนตัวแทนของทุกพรรคเพื่อมาร่วมกันประชุม ในข้อเสนออย่างนี้ เพื่อให้เรามีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ ได้อย่างเร็วที่สุดครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ผมขออนุญาต มีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือว่า กกต. ท่านประธานครับ แต่ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียด อภิปรายเนื้อหาสาระของรายงานนั้น ผมจะขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้กำหนดให้ กกต. ต้องมาชี้แจงรายงานการเงินด้วยตัวเอง แต่ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากในอนาคต กกต. จะมาชี้แจงด้วยตัวเองนั้น การตัดสินใจ ในลักษณะนั้นจะเป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า กกต. นั้นพร้อมจะให้เกียรติกับพี่น้องประชาชน ที่ผมจำเป็นต้องพูดแบบนี้เป็นพิเศษกับ กกต. เพราะว่า กกต. นั้นมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ซึ่งนับวันนั้นก็จะมีความห่างเหินจากประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ กระบวนการสรรหาและรับรองคนที่จะมาเป็นกรรมการ กกต. ก็ไม่ได้มีประชาชนหรือว่าผู้แทน ของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม กระบวนการถอดถอนที่เคยเปิดให้ประชาชนนั้นสามารถ เข้าชื่อได้ ณ ปัจจุบันก็หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ดังนั้นทเวทีชี้แจงและซักถาม ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จึงเป็นกลไกที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่กลไกเท่านั้น ที่จะเปิดให้ประชาชนนั้น สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ทักท้วง และเสนอแนะต่อการทำงานของ กกต. ผมเข้าใจดีว่าท่านถูกออกแบบมาให้มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง แต่ผม ก็อยากจะย้ำว่านั่นไม่ได้หมายความว่าท่านควรจะมีความเป็นอิสระจากการถูกตรวจสอบ โดยประชาชน ดังนั้นในเมื่อวันนี้ทาง กกต. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง ผมจะขออนุญาตมุ่งเป้า ไปที่ ๒ ประเด็นที่อยู่ในรายงานการเงินฉบับนี้ และที่ผมหวังว่า สตง. ในฐานะผู้ชี้แจงนั้น จะสามารถกรุณาให้ความเห็นได้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ การไม่ปรากฏอยู่ของงบการเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนา พรรคการเมือง ซึ่งผู้สอบบัญชีก็ได้ชี้แจงไว้ในหมายเหตุในหน้าที่ ๑ ถึงหน้าที่ ๒ ผมเข้าใจดีว่า มาตรฐานการบัญชีของภาครัฐฉบับที่ ๓๕ นั้นก็เพิ่งจะบังคับใช้ ก็เลยอาจจะทำให้ไม่สามารถ รวมงบการเงินกองทุนนั้นเข้ามาอยู่ในรายงานการเงินฉบับนี้ได้ แต่ผมอยากจะใช้เวทีนี้ ในการย้ำกับพี่น้องประชาชนถึงความสำคัญของการที่ประชาชนนั้นจะสามารถเข้าถึง งบการเงินของกองทุนพรรคการเมืองได้ ที่มันมีความสำคัญครับท่านประธาน เพราะว่า ในขั้นพื้นฐานสภาวะทางการเงินของกองทุนพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้ ถึงสุขภาพของประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะยิ่งกองทุนมีรายได้เยอะเท่าไร จากการที่ ประชาชนนั้นสนับสนุนพรรคการเมืองและสมทบผ่านแบบ Form ภาษีประจำปีก็ยิ่งสะท้อน ให้เห็นว่าประชาชนนั้นมีความศรัทธา และพร้อมจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอยู่ แล้วเช่นเดียวกันยิ่งกองทุนนี้สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับพรรคการเมืองได้เยอะเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้พรรคการเมืองนั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่ง แหล่งทุนที่อาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝง แต่ยิ่งไปกว่านั้นความสำคัญของการที่ประชาชน จะเข้าถึงงบประมาณกองทุนนี้ มันมีอยู่ว่า หาก กกต. ไม่เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงงบ กองทุนนี้ได้ ผมก็มีความกังวลว่าประชาชนจะตั้งคำถามว่า กกต. นั้นกำลังปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความย้อนแย้งหรือไม่ ที่ผมใช้คำว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความย้อนแย้ง มันมีความหมายว่า ถ้าหาก กกต. นั้นไม่เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงงบกองทุนนี้ได้ มันหมายความว่าอะไร หมายความว่าในขณะที่ กกต. นั้นไม่พร้อมจะเปิดเผยให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ การบริหารกองทุนนี้ แต่ กกต. กลับไปออกระเบียบที่ไปเพิ่มเงื่อนไขอย่างมหาศาล กับพรรคการเมืองว่าสามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ถ้าผมจะขออนุญาต ขยายภาพให้เห็นเพิ่มเติม สิ่งที่ผมกำลังพูดถึงนั้นหมายความว่าในขณะที่ กกต. นั้นไม่พร้อม จะเปิดเผยให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่า เขากำลังบริหารกองทุนที่มีสินทรัพย์ หมุนเวียนอยู่เป็นหลายร้อยล้านบาทอย่างไร แต่หากประชาชนคนหนึ่งตัดสินใจจะสนับสนุน พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยเงินเพียง ๕๐๐ บาท ผ่านการกรอกแบบ Form ภาษี ประจำปี เงิน ๕๐๐ บาทนั้นกลับถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากว่าสามารถนำไปใช้อะไรได้ ถ้าหากพรรคการเมืองต้องการจะนำไปใช้ทำอะไรก็ต้องกรอกหรือว่าชี้แจงเขียนโครงการ เข้าไป กกต. อย่างน้อย ๑๕ วันก่อน หรือหากพรรคการเมืองต้องการจะนำเงินก้อนนั้น ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็ปรากฏว่าทำไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้อยู่ใน List ของกิจกรรมที่ กกต. อนุญาต ดังนั้นเพื่อให้ผมและประชาชนมีความมั่นใจว่า กกต. นั้นไม่ได้ ดำเนินการด้วยความย้อนแย้งในลักษณะนี้ ผมเลยอยากจะฝากท่านประธานครับ ถามท่านประธานผ่านไปยัง สตง. ว่าในปีล่าสุดนี้ กกต. ได้ให้ความร่วมมือกับ สตง. ในการตรวจสอบงบการเงินของกองทุนอย่างเต็มที่และตรงต่อเวลาหรือไม่ และหากใช่ สตง. นั้นพึงพอใจหรือยังกับมาตรฐานความโปร่งใสและมาตรฐานทางบัญชีของกองทุน พรรคการเมือง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ที่ผมอยากจะอภิปรายเกี่ยวกับงบการเงินในวันนี้ คือความเสี่ยง ต่อสภาวะทางการเงินของ กกต. จากการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าใบส้ม อย่างที่เราทราบดีครับ ๑. ผลงานของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ นั้นคือนวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่าใบส้ม ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจใหม่ให้กับ กกต. อำนาจนี้ได้กำหนดไว้ว่าหาก กกต. มีความเชื่อว่า ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งนั้นได้กระทำการทุจริต ถึงแม้จะยังไม่ได้พิสูจน์ในชั้นศาล กกต. นั้นก็มีอำนาจในการขับคน ๆ นั้นออกจากตำแหน่ง สส. ได้ และให้มีการจัด การเลือกตั้งใหม่โดยไม่เปิดสิทธิให้ผู้สมัครคนนั้นสามารถกลับมาแข่งขันได้ นวัตกรรมนี้ มีความอันตรายอย่างมากครับ เพราะหากในที่สุดแล้วศาลพิพากษาว่าผู้สมัครดังกล่าว ไม่ได้กระทำผิดตามที่ กกต. สันนิษฐาน การแจกใบส้มของ กกต. นั้นไม่เพียงแต่จะเป็น ความอยุติธรรมที่ทำให้ผู้แทนคนนั้นต้องเสียโอกาสในการเข้ามาทำงานตามเจตจำนง ของประชาชน แต่การแจกใบส้มของ กกต. ยังทำให้ กกต. มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องให้ชดเชยค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ปรากฏแล้วในกรณีของคุณสุรพล เกียรติไชยากร พรรคเพื่อไทย ที่ถูกแจกใบส้มหลังชนะการเลือกตั้งในเชียงใหม่ เขต ๘ เมื่อปี ๒๕๖๒ ก่อนที่ในที่สุดนั้น ศาลจะตัดสินว่าคุณสุรพลไม่ผิด แล้วทำให้ กกต. นั้นต้องจ่ายเงินเยียวยาถึง ๖๒ ล้านบาท ดังนั้นผมเลยอยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง สตง. ว่าในบรรดาคดีที่ กกต. กำลัง ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอยู่นั้นมีคดีไหนไหมที่เกี่ยวข้องกับการแจกใบส้ม ทั้งในการเมือง ระดับชาติ การเลือกตั้งระดับชาติ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และแม้จะไม่มี ผมอยากจะ ถามว่า สตง. มีความกังวลหรือไม่ว่าการเปิดช่องให้มีการแจกใบส้มในลักษณะนี้จะเป็น การเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นต่อสภาวะทางการเงินของ กกต. ในเมื่อ กกต. ไม่มา ชี้แจงด้วยตัวเองในวันนี้ครับ ผมก็หวังว่า สตง. จะช่วยให้ความชัดเจนใน ๒ ประเด็นนี้ กับพี่น้องประชาชนได้ ขอบคุณมากท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือว่า กสศ. ท่านประธานครับ แม้เราจะคุ้นเคย กับนโยบายเรียนฟรีมาหลายปีแล้ว แต่เราต้องยอมรับว่าต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาในประเทศไทยนั้นมาจากการที่การศึกษานั้นยังไม่ฟรีจริง สถิติหนึ่งที่น่าตกใจครับ คือในทุก ๆ ๑๐๐ บาทที่ถูกใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศนี้ รัฐเป็นคนจ่ายเพียงแค่ ๗๘ บาทเท่านั้น อีก ๒๒ บาทนั้นเป็นสิ่งที่ครัวเรือนและผู้ปกครองทั่วประเทศนั้นต้องควัก ออกมาจ่ายเอง ท่านประธานครับ ดังนั้นโจทย์หลักที่ผมอยากจะตั้งในการอภิปรายวันนี้ ก็คือเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการดำเนินการของ กสศ. ตลอดระยะเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ที่จะช่วยให้เราเห็นทางออกในการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เรามีระบบที่สามารถ แปรเงินนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับประกันสิทธิในการเรียนฟรีของเด็กทุกคน ผมมีทั้งหมด ๔ คำถามที่อยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ในวันนี้ครับ ขออนุญาต ขึ้น Slide คำถามที่ ๑ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๑ เกี่ยวข้องกับงบ ที่ กสศ. นั้นจัดสรรให้กับผู้ปกครองของนักเรียนยากจนพิเศษภายใต้ชื่อโครงการทุนเสมอภาค ถ้าเราย้อนไปดูรายงานประจำปีของ กสศ. ที่ผ่านมาเราจะค้นพบว่าอัตราเงินอุดหนุนทุน เสมอภาคที่ กสศ. จัดสรรให้กับนักเรียนยากจนพิเศษนั้นนิ่งอยู่ที่ ๓,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๓ นับรวมกันเป็น ๔ ปีการศึกษา ความนิ่งของอัตรานี้ก็ดูจะสวนทาง กับสภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ครัวเรือนของครอบครัวยากจนพิเศษ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นครับท่านประธาน ผมอยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ว่า กสศ. นั้นมีแผนจะเพิ่มอัตราของทุนเสมอภาคหรือไม่ และหากมีจะเป็นอัตราที่เท่าไร และนอกจากแผนในการเพิ่มอัตราแล้ว กสศ. มีแผนจะขยายฐานนักเรียนไหมครับ ที่จะเข้าเกณฑ์ในการได้รับทุนเสมอภาคตรงนี้ และหากจะขยายนั้นจะขยายอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ไปสู่คำถามที่ ๒ เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับงบที่กระทรวงศึกษาธิการนั้น จัดสรรไปที่โรงเรียนสำหรับการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนทุกคนทั่วประเทศ แม้งบก้อนนี้อาจจะไม่ได้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ กสศ. แต่ผมเชื่อว่า กสศ. ก็รับรู้ดีว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศนั้นขาดแคลนทรัพยากร ก็เป็นเพราะ การจัดสรรงบให้แต่ละโรงเรียนนั้นใช้สูตรที่อ้างอิงรายหัวนักเรียนหรือว่าจำนวนนักเรียน เป็นหลัก ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดเล็กนั้นเสียเปรียบ มีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีครูไม่พอ สำหรับทุกวิชา มีครูไม่พอสำหรับทุกระดับชั้น ครูที่มีอยู่น้อยนิดแล้วก็ต้องแบกรับภาระ ทั้งงานสอนและงานด้านอื่น ๆ ในบางโรงเรียนคุณครูก็ต้องวิ่งไปเชิญชวนให้ผู้ปกครองนั้น ส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนของตนเองเพื่อพยายามจะเพิ่มให้โรงเรียนนั้นมีงบประมาณเพียงพอ ในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ผมเข้าใจดีว่าสถานการณ์นี้มันไม่มีทางออกที่ง่ายนัก แต่คำถามที่ ๒ ที่ผมมีครับ ที่อยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่า กสศ. นั้น มีข้อเสนออย่างไร เพื่อทำให้การจัดสรรงบประมาณระหว่างโรงเรียนนั้นมีความเป็นธรรม มากขึ้น และเพื่อทำให้เด็กทุกคนนั้นเข้าถึงโรงเรียนที่มีงบประมาณเพียงพอในการจัด การศึกษาที่มีคุณภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ไปสู่คำถามที่ ๓ ครับท่านประธาน เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ ในการจัดสรรงบประมาณระหว่างการให้งบประมาณตรงไปที่ผู้ปกครองหรือว่านักเรียน ในฐานะผู้รับบริการการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบประมาณผ่านไปที่โรงเรียน ในฐานะผู้ให้บริการการศึกษา ท่านประธานครับ ผมคิดว่าคำถามนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการออกแบบระบบงบประมาณด้านการศึกษาในภาพรวม และผมเชื่อว่าคงไม่มีหน่วยงานใด อยู่ในจุดที่จะตอบประเด็นนี้ได้ดีไปเท่ากับ กสศ. ที่ผมพูดแบบนี้ครับ ก็เพราะว่าหากเรา พิจารณาเงินอุดหนุนประเภทต่าง ๆ ที่ถูกจัดสรรให้กับนักเรียนยากจนพิเศษที่ กสศ. นั้น มีส่วนร่วมและรับบทบาทหลักในการคัดกรอง เราจะเห็นว่านักเรียนกลุ่มนี้ได้รับเงินอุดหนุน เพิ่มเติมผ่านกลไก ๒ ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่าทุนเสมอภาคที่ กสศ. นั้น จ่ายตรงไปให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในลักษณะของ Demand-side Financing ส่วนประเภทที่ ๒ เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ สพฐ. นั้นจัดสรรไปที่โรงเรียน ในลักษณะของ Supply-side Financing คำถามที่ ๓ ที่ผมมีครับ ที่อยากจะถามท่านประธาน ผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นการให้เงินอุดหนุนแบบไหนครับ มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และหากเราสามารถออกแบบระบบงบประมาณได้ใหม่ เริ่มต้น จาก ๐ ใหม่หมดเลย ทาง กสศ. คิดว่าเราควรจะออกแบบระบบงบประมาณที่เน้นไปที่ การอุดหนุนแบบ Demand-side Financing หรือแบบ Supply-side Financing มากกว่ากัน และในสัดส่วนอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่คำถามข้อสุดท้าย ข้อที่ ๔ ครับ เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาระหว่างแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ที่ผมต้องถาม ประเด็นนี้ครับ เพราะผมอยากจะให้ประชาชนนั้นได้เห็นว่าตั้งแต่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๖๑ กสศ. ได้ดำเนินการมาถึงทุกวันนี้ด้วยสัดส่วนงบประมาณที่น้อยกว่าที่ถูกออกแบบไว้ตอนแรก เพราะหากเราไปดูข้อสังเกตของคณะผู้ยกร่างในคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กสศ. นั้นได้ระบุไว้ชัดนะครับว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ กสศ. ในช่วงแรก ๆ นั้นควรจะอยู่ที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงครับ ตามภาพที่ปรากฏ ใน Slide นี้เราจะเห็นว่าตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาตัวเลขนั้นกลับอยู่เพียงแค่ ๐.๕-๑.๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าหากเราจัดสรรงบประมาณของ กสศ. ตามเป้าหมายดั้งเดิมที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่ถูกวางไว้ตอนแรก กสศ. จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น ถึงปีละประมาณ ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นครับท่านประธาน คำถามสุดท้ายที่ผมอยากจะถาม ท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่าหากในอนาคตหน่วยงานของท่านได้รับการจัดสรร งบประมาณเพิ่มขึ้นจริง แน่นอนซึ่งบางส่วนอาจจะมาจากการประหยัดงบประมาณ โดยการยกเลิกโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่อาจจะไม่จำเป็น และถูกทักท้วงว่า เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับคุณครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่หากสามารถเพิ่ม งบประมาณให้กับหน่วยงานท่านได้จริง ท่านคิดว่าท่านจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ กับอะไรครับ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างคุ้มค่า ต่อภาษีของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าหาก กสศ. มีคำตอบที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล ต่อ ๔ คำถามนี้ ผมหวังว่าเราจะเริ่มเห็นแสงสว่างครับ ที่จะช่วยนำพาประเทศเราเดินหน้า ไปสู่การปฏิรูประบบการศึกษา และปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อให้ทุกคน ได้เรียนฟรีจริง ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจทาง กสศ. ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง ประเทศเราจะไม่จำเป็นต้องมีกองทุนที่ทำหน้าที่ในลักษณะที่ท่านทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะว่าท่านจะล้มเหลวครับ แต่เพราะผมหวังว่าท่านจะประสบความสำเร็จ ในการสร้างระบบที่ทำให้เด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนสามารถเข้าถึง การศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทัดเทียมกันครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ไม่เกี่ยวกับกองทุนครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ ใช้เวลา ไม่นานครับ ผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล จะขออนุญาตหารือท่านประธานก่อนที่จะปิดประชุมครับ หากท่านประธานจะพอกรุณา จำความได้นะครับ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วผมได้มีโอกาสปรึกษาหารือท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ เกี่ยวกับข้อบังคับ ข้อที่ ๙๐ เพื่อเสนอให้ท่านนัดประชุมตัวแทนทุกพรรคการเมือง เพื่อปรึกษา หารือกันเรื่องการเดินหน้าในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ พอมาในที่ประชุมรัฐสภา วันศุกร์ที่แล้วท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ก็ได้แจ้งกลับมาว่าท่านเห็นชอบกับแนวทาง แล้วก็ได้มอบหมายให้ท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ท่านรองพิเชษฐ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการนัดประชุมของตัวแทนทุกพรรคเพื่อมาหารือร่วมกัน เดินทางมาถึง วันนี้ทางพรรคก้าวไกลเท่าที่ผม Check กับเพื่อนสมาชิกทุกคนยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมี การประชุมดังกล่าวเมื่อไร ก็เลยขออนุญาตใช้เวทีนี้ก่อนจะปิดการประชุมสอบถามท่านประธานนิดหนึ่งว่าท่านได้นัด กับตัวแทนทุกพรรคแล้วหรือยัง เพื่อปรึกษาหารือในการเดินหน้าตั้งกรรมาธิการ ๓๕ คณะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน ปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็นับเป็นการปิดฉาก ๕ ปีของการปฏิรูปประเทศตามหมวด ๑๖ ของรัฐธรรมนูญที่ผมจะขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ใน ๑ ประโยคว่าเป็นการปฏิรูปประเทศที่เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเท้าความกับพี่น้องประชาชนที่รับฟังอยู่ว่าแผนการ ปฏิรูปประเทศที่เรากำลังอภิปรายในวันนี้ไม่ใช่แผนปฏิรูปประเทศที่ประชาชนทุกภาคส่วนนั้น เข้ามามีส่วนร่วมครับ แต่เป็นแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. ที่ได้เขียนสารตั้งต้นไว้ในตัว รัฐธรรมนูญก่อนที่จะแต่งตั้งคนในเครือข่ายของตนเองนั้นมาเขียนแผนต่อ และแม้การปฏิรูป ประเทศนั้นก็ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ แต่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ก็ต้องบอกว่ากระบวนการนั้นเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ที่ผมพูดแบบนี้ครับ ท่านประธาน เพราะว่าแผนการปฏิรูปประเทศนั้นได้วางกรอบเวลาดำเนินการไว้ทั้งหมด ๕ ปี แต่ท่านกลับเสียเวลาไป ๓ ปีกว่ากับการเถียงกับตัวเอง เพราะว่าแม้รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนด ชัดนะครับว่าแผนปฏิรูปประเทศนั้นต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ท่านดันออก แผนปฏิรูปประเทศนั้นออกมาก่อนที่ยุทธศาสตร์ชาติจะเสร็จ นั่นหมายความว่า พอยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้วท่านก็เลยต้องเสียเวลาย้อนกลับไปปรับแผนปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ออกตามมาทีหลัง พอปรับเสร็จแล้วก็ปรากฏว่าท่าน เหลือเวลาเพียงแค่ ๒ ปีในการดำเนินการตามแผน ท่านก็เลยลดเป้าหมายแล้วก็ ความทะเยอทะยานของแผนลง จากสมัยก่อนที่ท่านฝันใหญ่ถึงการสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับ ประเทศไทย ฝันใหญ่นั้นก็เปลี่ยนมาเป็นฝันเล็ก ๆ ครับ ที่เป็นแค่การวางก้อนอิฐ ๖๒ ก้อน ภายใต้ชื่อกิจกรรม Big Rock ดังนั้นครับท่านประธาน กระบวนการ ๕ ปีที่ผ่านมาจึงเป็น เพียงการปฏิรูปประเทศที่ คสช. นั้นเขียนแผนเอง เขียนกันเอง สับสนเอง ลดเป้าหมายเอง แล้วก็เออออกันไปเองว่าเสร็จแล้ว แต่ถึงแม้จะเรียกได้ว่าเสร็จสิ้นในเชิงกระบวนการ การปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาก็ห่างเหินมากจากคำว่า สำเร็จ ก่อนที่เพื่อน ๆ สมาชิกจาก พรรคก้าวไกลจะมาอภิปรายทั้ง ๑๓ ด้านของแผนปฏิรูปประเทศนั้น ผมอยากจะฉายภาพ เบื้องต้นครับว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศในภาพรวมนั้น ในมุมมองของผมมีเหตุผล หลัก ๆ ๒ ประการครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๑ คือการปฏิรูปประเทศของท่านนั้นเลือกที่จะไม่เผชิญกับ ปัญหาที่ต้นตอ แต่กลับหนีปัญหาเมื่อเจอตอ เวลาเราพูดถึงคำว่า ปฏิรูป เรามักจะนึกถึง การเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก ๆ การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ ๆ ที่กระทบโครงสร้างของรัฐ แต่ผลสัมฤทธิ์จาก ๕ ปีที่ผ่านมากลับเต็มไปด้วยเรื่องยิบ ๆ ย่อย ๆ เพราะพอท่านเริ่มทำ เรื่องใหญ่ ๆ ไปแล้ว และเจอปัญหารัฐบาลก็เลือกที่จะถอยเสมอ ผมยกตัวอย่างเพียง ๔ ตัวอย่างครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในแผน CR12 ด้านการศึกษา ท่านตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีมากกว่าจะออก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่พอ TDRI ได้รายงาน ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพอท่านเจอแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ และสำนักพิมพ์บางแห่ง ท่านก็เลือกที่จะถอยโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอนาคตของลูกหลานเรา หรือหากเรา ขยับไปดูแผน CR10 ด้านพลังงานท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีว่าต้องการจะเปิดเสรี การซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟให้เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน แต่พอท่านไปคำนวณว่า การกระทำแบบนี้จะกระทบกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชน เรื่องนี้ก็กลับไม่คืบหน้าจนน่าสงสัย หรือถ้าเราขยับไปดูแผน CR03 ด้านกฎหมาย ท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้ดีเช่นกันครับ เป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากที่จะปรับลดกฎระเบียบเกี่ยวกับใบอนุญาต ๑,๐๐๐ กว่า กระบวนงาน แต่ท่านก็ไปใจอ่อนครับ ไปให้หน่วยงานราชการนั้นตัดสินใจเองว่า จะยกเลิกกฎระเบียบนี้หรือไม่ จนทำให้เขาว่ากันว่าตอนนี้ท่านยกเลิกได้จริง ๆ ไม่ถึง ๑๐๐ กระบวนงาน หรือตัวอย่างสุดท้ายในแผน CR06 ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้ดีเช่นกันในการสร้าง One Map เพื่อช่วยพิสูจน์สิทธิ ในที่ดินทำกินให้กับประชาชน แต่พอท่านต้องไปเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐกันเองว่าที่ดินนั้นเป็นของใคร ท่านก็ยึกยักจนเกิดความล่าช้าและความเสียหาย ไปตกอยู่กับพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • แต่เหตุผลประการที่ ๒ ครับ ที่ทำให้การปฏิรูปประเทศนั้นล้มเหลวที่ผ่านมา ก็เพราะว่ากลไกพิเศษที่ท่านสร้างขึ้นมาเพื่อมาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น กลับกลายมาเป็น อุปสรรคที่ขัดขวางการปฏิรูปเสียเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนและ Intrend ที่สุดคงหนีไม่พ้นกลไก ของมาตรา ๒๗๒ ในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. แต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านอ้างนะครับ เป็นลายลักษณ์อักษรในคำถามพ่วงของประชามติเมื่อปี ๒๕๕๙ ว่าเป็นไป เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง แต่ท่านประธานครับ ในขณะที่ท่านบอกว่า เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศนั้นคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กลไกที่ท่าน สร้างขึ้นมานี่ละครับ ที่ให้ สว. มีอำนาจมาเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ได้กลายมาเป็นเงื่อนไข สำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน เพราะแทนที่ท่านจะปล่อยให้กลไก ของการเลือกตั้งนั้นทำหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นธรรม โดยการเคารพ ๑ สิทธิ ๑ เสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ท่านไปเปิดให้ สว. ๒๕๐ คนนั้น มีช่องในการนำเอาความเห็นส่วนตัวมาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและสร้าง การเผชิญหน้าระหว่างอำนาจที่มาจากการแต่งตั้งกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ แต่นอกจาก กลไกของมาตรา ๒๗๒ ดูจะสวนทางกับการปฏิรูปประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองแล้ว ผมต้องขออนุญาตตั้งคำถามต่อไปอีกครับว่าในเมื่อการปฏิรูปประเทศ ได้เสร็จสิ้นลงตามกรอบเวลา ๕ ปีแล้วทำไมครับ กลไกมาตรา ๒๗๒ ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย ข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปประเทศยังคงถูกปล่อยให้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยต่อไป ได้อีก ท่านประธานครับ ผมอยากจะทิ้งท้ายว่าหากเราไม่อยากให้ ๕ ปีที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า ไปทั้งหมด ผมหวังนะครับว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศที่ถูกริเริ่มโดย คสช. ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาจะทำให้เรานั้นร่วมกันตกผลึกครับว่าแม้การปฏิรูปประเทศนั้นเป็นเรื่อง ที่ยาก แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ต้องไม่ใช่การปฏิรูปประเทศที่เก็บหลักการ ประชาธิปไตยไว้ในลิ้นชัก ที่มีอคติต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อาศัยกลไก ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและไม่เคารพผลการเลือกตั้ง แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ ต้องเป็นการปฏิรูปประเทศผ่านกลไกประชาธิปไตย เพราะเมื่อไรก็ตามที่วาระการปฏิรูป ประเทศนั้นได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง และเมื่อไรก็ตามที่ประชาชนนั้น พร้อมจะรวมพลังกันมาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับวาระการปฏิรูปประเทศดังกล่าว พวกเราจะมีกำลังในการฝ่าฟันทุกแรงเสียดทาน ในการต่อกรกับทุกกลุ่มผลประโยชน์ และในการยืนตรงต่อหน้าผู้มีอำนาจทุกคน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเพื่อประชาชนนั้น สามารถสำเร็จลุล่วงได้อย่างแท้จริง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล จะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือว่า ป.ป.ช.

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมคิดว่า หาก ป.ป.ช. ต้องการจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กระทำโดยหน่วยงานต่าง ๆ ผมคิดว่า ป.ป.ช. นั้นจำเป็นที่จะต้องติดกระดุมเม็ดแรก โดยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้หน่วยงานอื่นนั้นได้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่จากการวิเคราะห์รายงานประจำปีที่อยู่ข้างหน้าผม ตรงนี้ ผมมีความกังวลครับว่าการทำงานของ ป.ป.ช. นั้นยังมีหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตาม มาตรฐานเรื่องความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลที่ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. นั้นคงคาดหวังจะเห็น จากหน่วยงานอื่น ข้อมูลของผมแบ่งออกเป็นทั้งหมด ๓ ประการครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลประการที่ ๑ ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. นั้นคงคาดหวังให้หน่วยงานอื่น มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตนเอง รับผิดชอบตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น หากเราไปดูตัวอย่างของข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ใน Slide ถัดไปนะครับ จริงอยู่ครับว่าท่านมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบน Website แต่ท่านก็ไม่ได้เปิดเผย ในรูปแบบที่สามารถวิเคราะห์ต่อได้ตามมาตรฐานสากล เพราะท่านเลือกที่จะเปิดข้อมูล ในรูปแบบเอกสารที่เป็นการ Scan ภาพ แทนที่จะเปิดเป็น File Digital ที่สามารถคัดลอก ข้อความไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย และยิ่งไปกว่านั้นครับ ท่านก็ยังห้ามไม่มีการ Download หรือ Save file ดังกล่าวไว้เพื่อเก็บไปวิเคราะห์ต่อ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการที่ ป.ป.ช. นั้นไม่เข้าใจว่ารูปแบบของข้อมูล ที่ถูกเปิดเผยนั้นมีความสำคัญอย่างไร มันมีส่วนสำคัญครับที่ทำให้เครื่องมือ ITA ที่ ป.ป.ช. ออกแบบมาเพื่อใช้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานอื่น ๆ นั้นจึงมีปัญหาตามมา ถ้าหากเราไป Slide ถัดไปครับ เราจะเห็นว่าเกณฑ์ด้าน OIT เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลใน ITA นั้น กลายเป็นเพียงการ Check ครับ ว่าหน่วยงานนั้นเผยแพร่ชุดข้อมูลอะไรบ้าง โดยไม่สนใจเลย ว่าข้อมูลที่เผยแพร่นั้นเผยแพร่ในรูปแบบใด แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจว่าพอ ITA ถูกออกแบบ มาเป็นเช่นนี้ ถ้าเราไปที่ Slide ถัดไปเราจะเห็นว่าผลการประเมิน ITA กำลังบอกเรา ว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศเราดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสวนทางครับ กับทั้งผลลัพธ์จากการประเมิน CPI ขององค์กรสากล Transparency International และความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่สัมผัสได้ว่าปัญหาการทุจริตในประเทศเรานั้นไม่ได้ดีขึ้น กว่าเดิม มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าในวันที่ประชาชนมีความตื่นตัวขึ้นอย่างมาก ในการต่อต้านการทุจริตตามที่รายงานของท่านเองก็กล่าวถึง แต่ท่านกลับไม่ช่วยติดอาวุธ ให้ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลสำคัญในรูปแบบที่พวกเขานั้นสามารถนำไปใช้ต่อได้ง่าย ในการตรวจสอบการทุจริต

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลประการที่ ๒ ที่ผมมี คือ ป.ป.ช. นั้นคาดหวังครับให้หน่วยงานอื่น ใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับยังมีการใช้งบประมาณบางส่วน ที่น่าสงสัย หากเราไปใน Slide ถัดไปครับ แล้วไปดูที่รายงานการเงิน เราจะค้นพบว่า ค่าฝึกอบรมและค่าเดินทางนั้นเพิ่มขึ้นกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ผมเดาทางออกครับ ว่าท่านคงให้เหตุผลเรื่องโควิด แต่คำถามที่ผมมีคืองบเหล่านี้ถูกใช้ไปกับการดูงานต่างประเทศ มากแค่ไหน และในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ที่ผมต้องถามแบบนี้ครับท่านประธาน เพราะว่า ๑ กิจกรรมที่ ป.ป.ช. ดำเนินการทุกปี คือหลักสูตรที่มีชื่อว่านักบริหารยุทธศาสตร์ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส. ผมตั้งคำถาม ๒ ส่วนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๑ ผมตั้งคำถามครับ ว่ามันเหมาะสมแล้วหรือไม่ในเชิงหลักการ ที่ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระเลือกที่จะจัดหลักสูตรที่เป็นเสมือน Platform ให้ผู้นำ และผู้มีอิทธิพลเกือบ ๑๐๐ คนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมืองนั้นมาสร้าง Connection และขยายเครือข่ายส่วนตัว

    อ่านในการประชุม

  • แล้วผมอยากจะตั้งข้อคำถามต่อไปอีกครับ ในส่วนที่ ๒ ว่าการที่หลักสูตรนี้ มีการพาผู้เรียนไป Tour ต่างประเทศด้วยงบประมาณหลักล้านบาทจากภาษีพี่น้องประชาชน ตามหลักฐานที่ปรากฏใน Slide นั้นเป็นการใช้งบที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการแก้ไขปัญหา การทุจริตแล้วหรือไม่ ความจริงต้องบอกว่าคำถามนี้ที่ผมถามอยู่นั้นก็สอดคล้องกับข้อสังเกต จากนักวิชาการท่านหนึ่งครับ ที่เคยแชร์ว่าในระหว่างที่ไปร่วมเวทีสัมมนาระดับโลกเกี่ยวกับ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีผู้บริหารสูงสุดขององค์กรด้านธรรมาภิบาลที่มีชื่อเสียง แห่งหนึ่งที่ยุโรปครับได้มาเล่าให้ฟังว่าองค์กรเหล่านั้นเคยต้องปฏิเสธคำขอดูงานของ หน่วยงานต่อต้านการทุจริตแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีการแจ้งว่าจะมีการพาคน เดินทางมาดูงานเกือบ ๑๐๐ คน ซึ่งสูงเกินกว่าที่เขาคิดว่าจำเป็นต่อการที่ประชาชนจะได้ ประโยชน์จากการศึกษาดูงานดังกล่าว

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานในเรื่องนี้จะไม่ใช่ ป.ป.ช. เพราะหาก ป.ป.ช. ยังไม่สามารถควบคุมงบดูงานต่างประเทศของตัวเองให้อยู่ในระดับ ที่เหมาะสมได้ แล้วเราจะคาดหวังให้ ป.ป.ช. ไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณของหน่วยงาน อื่นให้เหมาะสมได้อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่ข้อกังวลประการที่ ๓ ผมเชื่อว่า ป.ป.ช. คงคาดหวังให้หน่วยงานอื่นนั้น ไม่วางโครงสร้างองค์กรที่นำไปสู่ปัญหาของผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ ป.ป.ช. เองครับ กลับกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ถ้าเราย้อนไปดูครับเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๕ ที่ประชุม ของวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ว่างลง โดยสื่อมีการรายงาน ว่าเป็นเพราะศาสตราจารย์อารยะนั้นมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม แม้ผมเข้าใจครับว่าท่านคงยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วผมก็เข้าใจว่าท่านเองก็ไม่ได้เป็นคนเขียน กติกาเช่นนี้ แต่ผมอยากจะถามความเห็นของท่านครับ ในฐานะองค์กรที่ทำงาน ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าการที่เรามีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่วันนี้ได้กลายมาเป็น นักการเมืองในพรรคการเมืองต่าง ๆ มีอำนาจในการแต่งตั้ง สว. ๒๕๐ คนที่มีอำนาจ มาชี้ขาดว่าใครจะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมือง จากพรรคการเมืองต่าง ๆ กลไกแบบนี้เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. นิยามว่าเป็นกลไกที่มีผลประโยชน์ ทับซ้อนหรือไม่ ผมเห็นจากรายงานที่ท่านเขียนไว้ตรงนี้ว่าท่านเองก็อยากให้ประชาชนนั้น เชื่อมั่นในการที่ทำงานของ ป.ป.ช. แต่ผมเรียนด้วยความเคารพครับว่าตราบใด ที่กระบวนการสรรหาและรับรองกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และยังถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง ไม่ว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของท่านได้อยู่ดี ดังนั้นผมจึงหวังว่า ในวันที่เรากำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านจะมาร่วมยืนยันว่าประเทศเรา ควรต้องมีการปฏิรูปองค์กรอิสระให้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของ ทุกฝ่ายเพื่อให้หน่วยงานของท่าน อย่าง ป.ป.ช. มีอิสรภาพเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ทุกฝ่าย และผู้มีอำนาจทุกคนตามที่ประชาชนคาดหวัง ด้วยเหตุผล ๓ ประการนี้ ท่านประธานผมจึงมีความกังวลครับว่าหากเราดำเนินการต่อแบบเดิม ป.ป.ช. จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการกำชับหน่วยงานอื่นให้ปฏิบัติตน ด้วยความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เรื้อรังมายาวนาน เพราะการทำงานของหน่วยงานท่าน ณ ปัจจุบันยังมีหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลที่ท่านคงคาดหวังจากหน่วยงานอื่นครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีที่จัดสรรเวลา เพื่อมาตอบกระทู้สดในสภาเช้าวันนี้ ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าผลงานของท่านนั้น จะเป็นรูปธรรมที่ดีที่สุดครับ เพราะการแก้ไขปัญหาปากท้องและการแก้ไขปัญหา ทางการเมืองนั้นสามารถทำควบคู่กันได้ หากเราย้อนไปเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย มีการฉีก MOU และแยกทางจากพรรคก้าวไกลเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาล ผมจำได้ดีว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีนั้นนั่งอยู่ข้าง ๆ ตอนที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ณ เวลานั้นได้แถลงข่าว อย่างชัดถ้อยชัดคำว่าในการประชุม ครม. นัดแรกรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นจะมีมติ ให้เดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อนับหนึ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน แต่ผ่านมาไม่ถึง ๔๒ วันถัดมา ในการประชุม ครม. นัดแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน เรากลับ เห็นรัฐบาลกระทำการ U-turn ครับ U-turn จากการเดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อย้อนศร กลับมาเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อ ๒ วันที่แล้ว ผมไม่ติดใจหากรัฐบาลอยากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ศึกษาในประเด็นต่าง ๆ เพื่อความรอบคอบ แต่สิ่งที่ถูกศึกษานั้นควรจะจำกัดเฉพาะสิ่งที่ ไม่เคยถูกศึกษามาก่อนหรือสิ่งที่อาจจะเคยถูกศึกษามาแล้ว แต่ผ่านกระบวนการที่ไม่ได้ มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย พอนำเกณฑ์และหลักการนี้มาใช้ผมได้มีความกังวลว่าคณะกรรมการศึกษาที่ท่านตั้งขึ้นมานั้น จะกลายเป็นกระบวนการศึกษาที่อาจจะเสียเวลาและงบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น หรือหากจะมองโลกในแง่ร้ายก็เสี่ยงจะถูกใช้ลบหลักการที่เคยเป็นข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว ที่ผมพูดแบบนี้เพราะว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นเป็นสิ่งที่ ถูกศึกษาพิจารณาถกเถียงกันมาโดยละเอียดผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายนั้นมีส่วนร่วม อย่างต่อเนื่องตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่ข้อสรุปและ Roadmap ที่หลายฝ่ายนั้นเคยเห็น ตรงกันมาแล้ว ก่อนที่ผมจะถามคำถามแรกครับผมต้องขออนุญาตเท้าความและฉายภาพ ให้ท่านประธานและท่านรองนายกรัฐมนตรีเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าสังคมเรานั้นเคยได้ข้อสรุปอะไร ร่วมกันมาแล้วบ้างผ่าน ๔ เหตุการณ์สำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุการณ์ที่ ๑ ย้อนไปในปี ๒๕๖๒ สภาผู้แทนราษฎรนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคในสภา ณ เวลานั้น และมีคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ณ ปัจจุบันนั่งเป็นประธาน ทางคณะกรรมาธิการก็ใช้เวลากว่า ๘ เดือนในการรับฟังความเห็น และศึกษาทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ โดยละเอียด สรุปออกมาเป็นรายงานกว่า ๕๐๐ หน้า โดย ๑ ข้อสรุปสำคัญที่คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่นั้นเห็นตรงกันในหน้า ๑๒๒ คือการสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • เหตุการณ์ที่ ๒ ขยับมาที่ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ สมาชิกรัฐสภาบางกลุ่มก็ได้นำ ข้อสรุปจากรายงานคณะกรรมาธิการนั้นแปรออกมาเป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ การพิจารณาของรัฐสภา โดยมี ๒ ร่างหรือว่า ๒ ฉบับที่มีหลักการเดียวกันในการนำไปสู่การมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่หนึ่งสมาชิกรัฐสภาก็ได้ลงมติ รับหลักการทั้ง ๒ ร่างด้วยคะแนนสูงถึง ๘๘ เปอร์เซ็นต์ และ ๗๙ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แล้วพอดำเนินการมาสู่การพิจารณาในวาระที่สองสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ลงมติ ยืนยันว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. นั้นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พอดำเนินการไปถึง วาระที่สามเหตุผลที่ทำให้ร่างดังกล่าวตกไปก็ไม่ใช่เพราะว่าสมาชิกรัฐสภานั้นไม่เห็นด้วย กับการจัดทำฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นเพราะว่าสมาชิกรัฐสภา บางกลุ่มนั้นไปอ้างว่าคำวินิจฉัยศาลธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔ บอกว่าจะต้องจัดทำประชามติ เพื่อถามประชาชนก่อนที่จะมีการเสนอร่างใด ๆ เข้าสู่วาระที่หนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • พอเป็นเช่นนั้นก็ขยับมาเหตุการณ์ที่ ๓ ในเมื่อร่างเกี่ยวกับ สสร. ถูกปัดตก ด้วยข้ออ้างว่าต้องทำประชามติก่อน พอเราขยับมาในปี ๒๕๖๕ ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยก็เลยร่วมกันยื่นเสนอญัตติเข้าสภาอาศัยกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ เพื่อเสนอให้จัดทำประชามติดังกล่าว ด้วยคำถามที่ว่าท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบันโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และเมื่อ มีการพิจารณาและลงมติครับ ข้อเสนอเกี่ยวกับคำถามประชามตินี้ก็ได้รับความเห็นชอบ อย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจาก สส. ทุกพรรคที่เข้าประชุม ณ วันนั้น และร่วมรัฐบาลอยู่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย แม้ญัตติดังกล่าวจะถูก สว. ปัดตกไปในปี ๒๕๖๖ แต่ก็ไม่มีใครหมดหวัง เพราะพวกเรารู้ดีว่า ตามกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ นั้นแม้ สว. จะสามารถปัดตกข้อเสนอประชามติ ที่ถูกเสนอโดย สส. ได้ แต่ สว. ไม่มีอำนาจในการปัดตกข้อเสนอประชามติที่ถูกเสนอโดย ครม.

    อ่านในการประชุม

  • พอเป็นเช่นนั้นก็เลยเดินทางมาเหตุการณ์ที่ ๔ ก็คือในช่วงของการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๖ หลายพรรค รวมถึงพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็เลยประกาศด้วยความมั่นใจ ว่าหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาลแล้วพรรคนั้นจะสามารถและพร้อมจะออกมติเดินหน้าจัดทำ ประชามติทันทีโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของ สว. มาถึงวันนี้ที่ท่านตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ครม. ของท่านนั้นมีอำนาจในการออกมติให้จัดประชามติและนับหนึ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ แต่ท่านเลือกที่จะตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาก่อน ท่านประธานครับ ที่ผมจำเป็น ต้องย้อนรายละเอียดทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราควรจะต้องมา ล้มกระดานศึกษากันใหม่ทั้งหมด เราแทบทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราแทบทุกฝ่าย เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราแทบทุกฝ่าย เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ และเราแทบทุกฝ่ายก็เคย ได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วแม้กระทั่งตัวคำถามประชามติ ตอนนี้มันจึงไม่ช้าเวลาของการศึกษา แต่มันคือเวลาของการตัดสินใจว่าท่านจะเดินหน้าต่ออย่างไร ดังนั้นคำถามแรกที่ผมอยากจะ ถามท่านรองนายกรัฐมนตรี คือขอชัด ๆ ว่าท่านตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งที่ท่านจะศึกษา และอะไรคือสิ่งที่ท่านจะยึดเป็นกรอบหรือหลักการของคณะกรรมการ ชุดนี้ที่ท่านจะไม่ย้อนกลับไปศึกษาหรือว่าทบทวนอีกรอบหนึ่ง ถ้าท่านยืนยันว่าท่านตั้งขึ้นมา เพื่อศึกษารายละเอียดปลีกย่อยที่อยู่ภายใต้กรอบของข้อสรุปที่เราเคยมีร่วมกันแล้ว อันนี้ พอจะเข้าใจได้ แต่ท่านช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าท่านไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพราะว่าท่านไม่กล้าตัดสินใจ เดินหน้าตามจุดยืนเดิม แต่ท่านต้องการยืมมือคนอื่นมาสร้างความชอบธรรมให้ท่านในการทำ การ U-turn อีกครั้งหนึ่งเพื่อย้อนหลักการเดิมบางส่วนที่ท่านเคยยืนยันและที่แทบทุกฝ่าย เคยได้ข้อสรุปร่วมกันไปแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความชัดเจนมากขึ้นสักเล็กน้อยเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของคณะกรรมการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในการพยายามจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน ๔ ปีเป็นอย่างช้า แล้วก็ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องจำนวนประชามติที่จะต้องมีการจัดทำ แต่ผมขออนุญาต ใช้โควตาครั้งที่ ๒ ในการถามคำถามเกี่ยวกับประเด็นเพิ่มเติมที่ผมคิดว่ายังไม่ได้มีความชัดเจน แล้วก็อยากจะชี้แจง แล้วก็สื่อสารกับท่านรองนายกรัฐมนตรีโดยตรงด้วยถึงเหตุผลว่าทำไม พรรคก้าวไกลถึงมีมติออกมาว่ายังไม่ร่วมคณะกรรมการศึกษาในฐานะกรรมการ ณ เวลานี้ ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตย้ำกับท่านรองนายกรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่งว่าพรรคก้าวไกล เรามีสองจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด นั่นก็คือข้อ ๑ การสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ข้อ ๒ การสนับสนุนให้เป็นการจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง ของประชาชนทั้งหมด จุดยืนดังกล่าวก็เป็นจุดยืนที่พรรคก้าวไกลเรามองว่าเป็นกรอบกว้าง ๆ แต่มีความสำคัญอย่างขาดหายไม่ได้ต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรม ทางประชาธิปไตยทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ชัดเจน ว่าการทำงานของคณะกรรมการศึกษาของรัฐบาลนั้นจะเป็นการทำงานภายใต้กรอบของ สองจุดยืนนี้ หรือจะเป็นการทลายกรอบดังกล่าว ทางพรรคก้าวไกลขออนุญาตยังไม่เข้าไปร่วม ในฐานะกรรมการนะครับ และเสี่ยงไปเป็นตรายางให้กับสิ่งที่อาจจะขัดกับจุดยืนหลัก ของพรรคเรา แต่ทางเรายินดีมากที่จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอ ของพรรคต่อคณะกรรมการ แม้ผมเข้าใจว่าการไม่เข้าร่วมของเรานั้นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค ต่อการทำงานของรัฐบาล แต่เราเองก็เข้าใจถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ท่านประธานครับ แต่ผมต้องเรียนด้วยความเคารพว่าหากเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด แม้เราจะร่วมมือกันดีแค่ไหนในการติดกระดุมเม็ดถัด ๆ ไป แต่เสื้อผ้าตัวนั้นก็จะผิดเพี้ยนไป และใส่ไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากรองนายกรัฐมนตรีสามารถให้ความชัดเจนได้ ในสภาแห่งนี้ใน ๒ ประเด็นหลักที่ยังค้างคาใจพวกเราอยู่ เราจะได้จับมือเดินหน้าร่วมกัน ในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของจุดยืนที่ ๑ คือจุดยืนเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของหมวด ๑ และหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าท่านเคยตอบแล้วท่านก็ยืนยัน อีกครั้งหนึ่งเมื่อสักครู่ว่าท่านจะล็อกไม่ให้มีการแก้ไขเนื้อหาใด ๆ ท่านบอกว่าทุกคนเห็นพ้อง ต้องกันว่าประชาชนนั้นไม่อยากให้มีการแก้ไข ผมคงไม่ตั้งคำถามว่าท่านพิสูจน์ได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากจะถามท่านครับ ที่ท่านยังไม่เคยตอบก็คือว่าหากประชาชนหรือว่าบุคคล ที่อาจจะไม่ใช่ประชาชนทั่วไปประสงค์อยากจะเสนอแก้ไขข้อความบางส่วนในหมวด ๑ หมวด ๒ ที่ไม่ได้ไปกระทบอย่างแน่นอนต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขและไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ ท่านจะอธิบายกับพวกเขาหรือว่าบุคคล ดังกล่าวอย่างไรครับ เพราะท่านไม่อนุญาตให้เขาแม้กระทั่งเสนอความเห็นของเขา หรือว่า เสนอตามแก้ไขบางข้อความ แต่ยิ่งไปกว่านั้นหากเราตัดเรื่องจุดยืนเกี่ยวกับหมวด ๑ หมวด ๒ ที่อาจจะต่างกันออกไปก่อน ผมขอคำยืนยันจากรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งได้ไหมว่าตั้งแต่ หมวด ๓ เป็นต้นไปรัฐบาลนี้จะสนับสนุนให้มีการยกร่างใหม่ทั้งหมด ที่ไม่ใช่การลดมาเป็น เพียงการแก้ไขรายมาตรา ยืนยันได้ไหมว่าไม่มีการล็อกว่าประเทศนี้จะต้องใช้ระบบ รัฐสภาแบบสภาคู่หรือสภาเดี่ยว ยืนยันได้ไหมว่าจะไม่มีการล็อกว่าจะปฏิรูปศาลธรรมนูญ และองค์กรอิสระแบบไหนทำได้ แบบไหนทำไม่ได้ ผมเข้าใจว่าท่านให้สัมภาษณ์น่าจะเป็น ครั้งแรกเมื่อวานเพื่อยืนยันว่าท่านจะให้มีการจัดทำใหม่ทั้งฉบับตั้งแต่หมวด ๓ ขึ้นไป แต่ผมต้องขอคำยืนยันจากท่านว่าอันนี้เป็นจุดยืนส่วนตัว เป็นเป้าหมายที่ท่านจะพยายาม ให้เกิดขึ้น หรือเป็นจุดยืนร่วมของรัฐบาลที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นคำถามที่ ๒ ผมที่อยากจะถามท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวโดยสรุป ก็คือว่าตกลงรัฐบาลนั้นจะสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือหากจะ เจาะจงกว่านั้นครับ ตกลงคณะกรรมการศึกษาชุดนี้จะมีหน้าที่ในการหารือกันในรายละเอียด ภายใต้เป้าหมายของการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือตกลงคณะกรรมการ ศึกษานี้จะมีอำนาจในการพิจารณาปรับลดเป้าหมายให้เหลือเพียงแค่การแก้ไขรายมาตราครับ

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ เรียนท่านประธานครับ ขออนุญาตชี้แจงเร็ว ๆ ๒ ประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ความกังวลของผมมันไม่ใช่เป็นเรื่องของกรอบเวลา ผมเห็น ท่านย้ำประเด็นนี้มาบ่อย ผมไม่ได้ถามเรื่องกรอบเวลาของคณะกรรมการศึกษานี้เท่าไร เพราะว่าท่านก็ตอบชัดไปแล้วว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี ความกังวลของผมส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของหลักการพื้นฐานที่คณะกรรมการศึกษาชุดนี้จะยึดถือในการทำงาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ที่อยากจะชี้แจงว่าผมให้เกียรติคณะกรรมการทุกท่านแล้วก็ ความเห็นของประชาชนทุกคนที่อาจจะเหมือนหรือว่าแตกต่างจากจุดยืนของผมแล้วก็ พรรคก้าวไกล แต่มันเป็นเรื่องปกติ เป็นกระบวนการปกติที่เราจะต้องสอบถาม ก่อนที่ จะตอบตกลงในการเข้าร่วมคณะกรรมการใด ว่าท้ายที่สุดแล้วกรอบการทำงานขั้นพื้นฐาน หรือว่าหลักการขั้นพื้นฐานที่คณะกรรมการชุดนั้นจะยึดถือนั้นเป็นอะไร ผมเลยถือว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการสอบถามด้วยเหตุและผล ไม่ได้เป็นการไม่ให้เกียรติ คณะกรรมการแต่อย่างใดนะครับ เพื่อประกอบการตัดสินใจของพรรคก้าวไกล

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่คำถามสุดท้ายครับ อยากจะพูดถึงจุดยืนที่ ๒ ที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญ คือจุดยืนว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมาจากการเลือกตั้ง ถามว่าทำไมเราถึงมีจุดยืน เช่นนี้ครับท่านประธาน หากเรายึดหลักการประชาธิปไตยในขั้นพื้นฐาน ในเมื่อ สส. ที่มี อำนาจในการร่างกฎหมายทั่วไปมาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็มองว่า สสร. ที่มีอำนาจในการร่างกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชน น้อยไปกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งไปกว่านั้นหากเราไม่ต้องการให้ สสร. นั้นถูกผูกขาด โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระจกที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่ การมี สสร. แต่งตั้งที่อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็น สสร. ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพราะจะเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคมตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคม แล้วสำหรับท่านใดที่อาจจะกังวลว่าการกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น จะทำให้เราไม่มีพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในการเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือเปล่า ผมก็ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ในการคลายข้อกังวล ดังกล่าวครับ ด้วยการอธิบายว่าแม้ สสร. จะมาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ สสร. ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายนั้น ที่อาจจะไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำหรือว่ายกร่างได้ แต่การทำให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี้เป็นเพียงการวางหลักประกันว่า เมื่อผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำหรือช่วยยกร่างขึ้นมาแล้ว ทุกการตัดสินใจจะต้องผ่าน ความเห็นชอบของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น ผมอยากจะถามคำถามสุดท้ายกับท่านรองนายกรัฐมนตรีว่าตกลงแล้ว สสร. ที่ท่านเคย ให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องมีนั้น ณ เวลานี้ท่านยืนยันได้ไหมว่าจะเป็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทางตรงทั้งหมด หรือหากให้ถามเจาะจงไปกว่านั้นอีกตกลงคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ จะมีหน้าที่ในการหารือเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งที่ต้องใช้ หรือกรอบระยะเวลา ในการทำงาน หรือว่าตกลงคณะกรรมการศึกษาชุดนี้จะมีอำนาจในการพิจารณาลดทอน สสร. เลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาเคยสนับสนุนมาก่อนหน้านี้ ให้กลายเป็น สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้งครับ

    อ่านในการประชุม

  • สั้น ๆ ประโยคเดียวครับ ก็ต้องขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีที่มาตอบคำถามในวันนี้ แล้วก็ยืนยันว่าถึงแม้เราอาจจะ ยังไม่พร้อมเข้าไปร่วมในฐานะคณะกรรมการ แต่เรายินดีมากที่จะให้ความคิดเห็นแล้วก็จัดทำ ข้อเสนอเพื่อยื่นให้คณะกรรมการนั้นประกอบการพิจารณาครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาไม่นานในการอภิปรายเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะขอเริ่มด้วยการชี้แจงก่อนว่าตัวกระผมเอง แล้วก็พรรคก้าวไกลนั้นเราได้ทำการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภา ๒ ฉบับ ฉบับที่ ๑ เป็นฉบับที่ผมเรียกว่าเป็นการแก้ใหญ่ เป็นการแก้หลายข้อเพื่อทำให้การทำงาน ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนฉบับที่ ๒ เป็นร่างที่ผมขอเรียกว่าเป็นร่างแก้เล็ก คือแก้แค่ ๑ ข้อเกี่ยวกับชื่อแล้วก็อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อเข้าใจตรงกันนะครับ ร่างที่ผมจะเสนอในวันนี้และถูก พิจารณาในระเบียบวาระวันนี้เป็นร่างแค่ฉบับเดียวคือฉบับที่ ๒ ฉบับแก้เล็ก ร่างดังกล่าว ที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ตอนนี้เป็นการแก้ไขแค่ ๑ ข้อ ของข้อบังคับการประชุมสภาที่เรา ใช้กันอยู่ก็คือข้อ ๙๐ (๒๘) โดยเป็นการปรับชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ให้ครอบคลุมถึงด้านอุดมศึกษาไปด้วย ดังนั้นหากจะสรุปโดยสังเขปในส่วนชื่อของคณะกรรมาธิการก็จะเปลี่ยนจากเดิมที่มีชื่อว่า คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม กลายเป็นคณะกรรมาธิการ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เช่นเดียวกันในส่วนของอำนาจ หน้าที่ก็จะปรับจากเดิมที่คณะกรรมาธิการชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสอบหา ข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผน การส่งเสริม และการพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผน การส่งเสริม และการพัฒนา ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ท่านประธานครับ เหตุผล ในการแก้ไขดังกล่าวนั้นมีเพียงแค่ ๒ เหตุผลสั้น ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๑ การบูรณาการภารกิจด้านอุดมศึกษาเข้ากับภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมน่าจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศนั้นมีเอกภาพมากขึ้น อีกมุมหนึ่งครับ ยิ่งสถาบันอุดมศึกษาและอาจารย์ในสถาบันแห่งนั้นมีการทำงานวิจัยที่ล้ำหน้าในสาขาต่าง ๆ ก็ย่อมจะทำให้สถาบันอุดมศึกษานั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้นสำหรับนักศึกษา และในอีกมุมหนึ่งครับ หากเราต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราก็ต้องมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะในการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๒ การปรับชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ก็จะสอดคล้องกับการปรับชื่อและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงที่มีความเชื่อมโยงกับ คณะกรรมาธิการดังกล่าว ในเมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิมนั้นได้ขยายภารกิจ มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อปี ๒๕๖๒ การปรับชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมนั้นให้ครอบคลุมถึงเรื่องอุดมศึกษาด้วยก็น่าจะเป็นแนวทางที่สอดรับกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นก่อนหน้านี้ก็คือตอนที่มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมขึ้นมาในปี ๒๕๕๙ ชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องนั้น ก็ถูกปรับครับ จากคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคมมาเป็นคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในปี ๒๕๖๒ ดังนั้น ด้วย ๒ เหตุผลนี้ผมก็หวังว่าเพื่อน ๆ สมาชิกจะพร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ เพื่อให้สภาเรานั้นมีคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ในการแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวานนี้ แล้วจะอนุญาตปรึกษาหารือท่านประธานในการส่งต่อข้อเสนอ ๓ ด้านไปยัง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๑ คือเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัย เหตุการณ์การกราดยิงเมื่อวานนั้น ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่าน SMS จากหน่วยงานรัฐ จะต้องอาศัยระบบแจ้งเตือนภัยจากเอกชนหรือการค้นหาข้อมูลกันเองในสื่อ Social ดังนั้นผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแบบ Cell Broadcasting ของรัฐที่จะเป็นการส่งข้อความเข้ามือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๒ ครับท่านประธาน คือเรื่องของการครอบครองอาวุธปืน แม้พื้นที่ถูกใช้ก่อเหตุเมื่อวานนี้เป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยนั้นมีอัตราผู้เสียชีวิต จากอาชญากรรมปืนสูงเป็นอันดับที่ ๓ ของทวีปเอเชียนั้นก็เป็นสัญญาณบ่งบอกชัด เพราะเราอาจจำเป็นต้องมาทบทวนเรื่องของการครอบครองอาวุธปืนทั้งระบบ ดังนั้น ผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาแนวทางปรับปรุงทั้งกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธ มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางการค้าขายปืนนอกระบบให้มีความรัดกุม มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอสุดท้ายครับท่านประธาน ข้อเสนอที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องของข้อมูล เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุและการป้องกันพฤติกรรมการเลียนแบบ ท่านประธานครับ ตั้งแต่เกิดเหตุ เราเห็นในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและประวัติของผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยชี้ชัดว่าการประโคมข่าวในลักษณะดังกล่าวนั้นมีความสุ่มเสี่ยง ที่อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ดังนั้นครับท่านประธาน ผมอยากจะหารือท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดแชร์เรื่องราวของ ผู้ก่อเหตุเพื่อส่งสัญญาณดัง ๆ ไปทั่วประเทศครับ ว่าการกระทำอันอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์ แบบนี้จะไม่มีวันทำให้คุณได้แสง หรือความสนใจจากใครสักคนแม้แต่นิดเดียวครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก คุณรอมฎอน ปันจอร์ ที่ได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ท่านประธานครับ หากนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี ๒๕๔๗ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ก็ได้ใช้เวลารวมกันเกือบ ๒๐ ปี และงบประมาณไปกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อพยายาม จะแก้ไขปัญหา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือประชาชนกลับเสียชีวิตไปแล้ว ๗,๐๐๐ คน บาดเจ็บไปแล้ว ๑๓,๐๐๐ กว่าคนจากความขัดแย้งในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ ในพื้นที่ก็มีทั้งรายได้ครัวเรือน อัตราการจ้างงาน และโอกาสทางการศึกษาที่ต่ำที่สุด เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งหมดที่ผมพูดนี้ครับท่านประธาน เป็นสัญญาณเตือนภัย ที่ชัดเจนว่าถึงเวลาจริง ๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้เวทีคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาเพื่อเร่งระดม ความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จริง ดังนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ผมหวังว่าจะตั้งขึ้น ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ในการนำเสนอข้อเสนอที่ผมเรียกว่า ๒ ปรับ ๓ ขยัก ๒ ปรับ ในที่นี้ก็หมายถึงการปรับกรอบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ใน ๒ ด้านสำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • ปรับที่ ๑ คือการปรับเรื่องของเป้าหมาย ผมเห็นด้วยครับที่เพื่อนสมาชิก คุณรอมฎอนนั้นเลือกใช้คำว่าสันติภาพ ในญัตติที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ณ เวลานี้ เพราะเรา ต้องตั้งหลักให้ชัดว่าเป้าหมายที่เรามุ่งสู่นั่นคือสันติภาพที่ไม่ใช่แค่ความสงบ ที่ผมพูดแบบนี้ เพราะหากเรามองว่าเป้าหมายคือเพียงความสงบชั่วคราว เราอาจจะหลงคิดว่าการใช้กำลังอาวุธ เพื่อสร้างความหวาดกลัวคือทางออก และมองปัญหานี้เป็นเพียงปัญหาเรื่องความมั่นคง ทางการทหาร แต่หากเราเข้าใจว่าเป้าหมายคือสันติภาพที่ยั่งยืน เราจะเห็นถึงความจำเป็น ในการสร้างความสงบที่มาควบคู่กับความชอบธรรม เป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่เกิดจากการยอมรับของทุกฝ่ายซึ่งต้องอาศัยการแสวงหาทางออกทางการเมือง

    อ่านในการประชุม

  • ปรับที่ ๒ คือการปรับทัพ แม้รัฐบาลแต่ละยุคสมัยนั้นก็อาจจะมีแนวทาง ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ครับ เพราะที่ผ่านมาผู้รับผิดชอบหลักที่ได้ถูก มอบหมายให้ถือธงนำในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นั้นคือกองทัพ หรือว่าหน่วยงาน ความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.

    อ่านในการประชุม

  • ในเมื่อเป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงความสงบแต่คือสันติภาพ และในเมื่อ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาความมั่นคง แต่คือปัญหาทางการเมืองผมก็เห็นสมควรที่ผู้นำ ในกระบวนการสันติภาพนั้นก็ควรจะปรับจากกองทัพมาเป็นหน่วยงานพลเรือน เมื่อเราปรับ ทั้งเป้าหมายและปรับทัพเช่นนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยวาระทางนโยบายที่ผมขออนุญาตแบ่งออกเป็น ๓ ขยัก

    อ่านในการประชุม

  • ขยักที่ ๑ สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า วาระหลักในขยักนี้คือ Demilitarization หรือการปฏิรูปหน่วยงานและกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ การรักษา ความปลอดภัยกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่นั้นเป็น ๒ เป้าหมายที่ต้องทำ ควบคู่กันครับท่านประธาน แต่การที่ชายแดนใต้นั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกมาแล้ว ๑๙ ปี มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว ๑๘ ปีก็สะท้อนให้เห็นชัดว่ามาตรการความมั่นคง พิเศษต่าง ๆ นั้นไม่สามารถบรรลุทั้งสองเป้าหมายได้ เพราะในขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่ ชายแดนใต้ก็ยังคงมีอยู่ แต่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในนามของกฎหมาย ความมั่นคงก็ยังกลายเป็นชนวนที่เพิ่มความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นครับท่านประธาน การแสวงหาสันติภาพในชายแดนใต้นั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำให้พื้นที่ ชายแดนใต้เป็นพื้นที่แห่งสภาวะยกเว้นที่ถูกใช้นำร่องสำหรับมาตรการความมั่นคงพิเศษ แต่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการทบทวนมาตรการความมั่นคงพิเศษทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ การทบทวนเรื่องของกฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งข้อเสนอเรื่องการยุบ กอ.รมน. ซึ่งปัจจุบันนั้นก็ได้ขยายมาเป็นโครงสร้าง รัฐซ้อนรัฐที่เปิดช่องให้กองทัพนั้นขึ้นมานำพลเรือน

    อ่านในการประชุม

  • ขยักที่ ๒ เพื่อแก้ปัญหาช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน วาระหลักในขยักนี้คือ Deliberation หรือการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ท่านประธานครับ หากข้อตกลงสันติภาพในอนาคตจะสะท้อนถึงฉันทามติของทุกภาคส่วนในสังคม กระบวนการทั้งหมดนั้นก็ควรจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุด ก็ผ่านกลไกของรัฐสภา ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของประชาชนในทุกภาคส่วน แม้การตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ผมก็หวังว่าเราจะพิจารณาเพิ่มบทบาท ให้กับรัฐสภาแห่งนี้ได้กลายมาเป็นสะพานที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพนั้นมีความยึดโยง กับประชาชนมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาหรือการรับรองข้อตกลงสันติภาพ ก่อนมีการตอบตกลง หรือไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ของรัฐสภาเพื่อดำเนินการแก้กฎหมาย ให้สอดคล้องกับข้อตกลงสันติภาพหลังจากมีการตกลงโดยทุกฝ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ขยักที่ ๓ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน วาระหลักนั้นหลีกหนีไม่พ้น Decentralization หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้นตอของปัญหาชายแดนใต้นั้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางการทหาร แต่คือความชอบธรรม ของรัฐไทยในการปกครองในพื้นที่ภายใต้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นการแสวงหาสันติภาพคงจะเกิดขึ้นได้ยากหากเราไม่มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนนั้นได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ นอกจาก ข้อเสนอมาตรฐานของพรรคก้าวไกลครับไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้ทุกจังหวัดนั้นมีผู้บริหาร สูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้มีการกระจายอำนาจในการจัดทำบริการ สาธารณะไปสู่ท้องถิ่น หรือไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณที่ถูกแบ่งให้กับ ท้องถิ่นอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้นแต่ด้วยบริบทเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ การศึกษา ทางเลือกต่าง ๆ ที่หลากหลายของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่เรา ต้องมาร่วมกันคิดเพิ่มเติมกันอย่างจริงจัง ที่ผมพูดแบบนี้ ผมก็พูดด้วยความตระหนักดีว่า หลายฝ่ายนั้นอาจจะกังวลเรื่องการแบ่งแยกดินแดน หรือการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น สหพันธรัฐ แต่ผมต้องขอยืนยันว่าทางเลือกทั้งหมดที่เรากำลังพูดคุยอยู่ ณ วันนี้ล้วนอยู่ใน กรอบของการคงไว้ซึ่งรูปแบบของรัฐเดี่ยวตามนิยามในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในเมื่อ ๓ วาระ สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม บทบาทของรัฐสภาในกระบวนการสันติภาพ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ สู่ประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นวาระที่ล้วนต้องอาศัยการร่วมกันคิดและร่วมกันออกแบบ โดยตัวแทนของหลายกระทรวงและตัวแทนของทุกฝ่ายทางการเมือง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อน ๆ สมาชิกในที่นี้จะสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก คุณรอมฎอน ปันจอร์ ให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ที่สะท้อน ฉันทามติของทุกคนอย่างแท้จริงครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตใช้สิทธิประท้วง ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธาน ผมต้อง ขออนุญาตจริง ๆ ด้วยความเคารพ ผมประท้วงคำวินิจฉัยของท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ถ้าเราดูข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ จะเห็นว่ามีการกำหนดเงื่อนไขไว้อยู่ว่าถ้าหากมีการตั้งกระทู้ถามสดถามนายกรัฐมนตรีนั้น และท่านนายกรัฐมนตรีจะไม่มาตอบเองนั้น จะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เป็นเหตุผล ที่จะสามารถสอดคล้องกับข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ได้ ถ้าอ่านตาม ๓ วรรคที่เพื่อนสมาชิก ท่านวิโรจน์อ่านเมื่อสักครู่แล้วจะเห็นว่ามันมี ๒-๓ เงื่อนไขด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนั้นเป็นเงื่อนไข ที่ยังไม่ถูกบรรลุ

    อ่านในการประชุม

  • เงื่อนไขประการที่ ๑ ในข้อ ๑๕๑ วรรคหนึ่ง ได้เขียนไว้ชัดว่า ท่านนายกรัฐมนตรีนั้นอาจจะไม่มาตอบกระทู้ถามด้วยตัวเองได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องแจ้งเหตุจำเป็นนั้นเป็นหนังสือต่อประธานสภาก่อน ในวันประชุมสภานะครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานพูดถึงหนังสือที่ทางสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีได้ส่งมาให้ท่านประธานเรียบร้อยแล้ว แต่จากข้อความที่ท่านประธานอ่าน ยังไม่ได้มีการระบุถึงเหตุจำเป็นหนังสือว่าเหตุจำเป็นนั้นคือเช่นไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑๐ วินาทีได้ไหมครับ ท่านประธาน ที่ผมประท้วงท่านประธานเพราะผมเกรงจริง ๆ ครับว่าคำวินิจฉัยของ ท่านประธานไม่สอดคล้องกับข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ และเกรงว่าคำวินิจฉัยของท่านในวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานที่สร้างผลกระทบต่อการทำงานของสภาในอนาคต ข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ วรรคหนึ่ง เขียนชัดนะครับว่าถ้าจะไม่มาตอบกระทู้ถามด้วยตนเองกระทำได้ แต่เหตุจำเป็น ที่หลีกเลี่ยงได้นั้นต้องอยู่ในตัวจดหมายที่แจ้งต่อทางประธานสภา เมื่อสักครู่ถ้าท่านประธาน อ่านข้อความทั้งหมดในจดหมายไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่ระบุว่าเหตุจำเป็นที่มิอาจ หลีกเลี่ยงนั้นได้ คือเหตุจำเป็นอะไร

    อ่านในการประชุม

  • ถ้าท่านประธานยืนยันเช่นนี้ ผมก็ต้องน้อมรับคำวินิจฉัยท่านประธาน แต่ผมเกรงจริง ๆ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออนุญาตใช้เวลาในที่ประชุมสภาแห่งนี้เพื่อนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ผมขอเรียกว่า ข้อบังคับสภาก้าวหน้า ท่านประธานครับ สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นองค์กรที่มีความพิเศษครับ เพราะน่าจะเป็น องค์กรเดียวในระดับประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชน แต่ความ พิเศษนั้นจะสูญเปล่าหากเราไม่สามารถทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ผลักดันความ เปลี่ยนแปลงได้ตามที่ประชาชนทั่วประเทศนั้นคาดหวัง ไม่น่าเชื่อนะครับท่านประธานว่า แม้พวกเราทั้ง ๕๐๐ คนที่นั่งอยู่ในที่นี้จะถูกเลือกมาโดยตรงจากพี่น้องประชาชน แต่หากเรา ไปดูผลสำรวจครับ ผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่าง ๆ ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ในปีล่าสุด ปี ๒๕๖๕ ประชาชนกลับมีความเชื่อมั่นในสภาผู้แทนราษฎรนั้นน้อยกว่าอีก หลายองค์กร โดยมีเพียง ๓๘ เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อมั่นมากหรือค่อนข้างเชื่อมั่น เมื่อเทียบกับ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เชื่อมั่นหรือไม่ค่อยเชื่อมั่น ดังนั้นครับท่านประธาน จุดมุ่งหมายในการ เสนอข้อบังคับสภาก้าวหน้าในวันนี้จึงไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการพยายามจะวางกลไก เพื่อสนับสนุนให้พวกเราผู้แทนทุกคน ทุกพรรค ทุกชุดความคิดนั้นสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ในการแข่งกันรับใช้พี่น้องประชาชน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนนั้น ฝากความหวังไว้ได้ แม้การเสนอการแก้ไขข้อบังคับอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องกลไกการทำงาน ภายในองค์กร แต่ผมยืนยันว่าคุณภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ส่งผล โดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่างหากสภาเราไม่วางกระบวนการ ให้พวกเราทุกคนนั้นสามารถแก้กฎหมายที่ สส. ส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. อากาศสะอาด หรือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ประชาชนทั่วประเทศจะต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าเขาจะมีอากาศบริสุทธิ์ หายใจที่ปราศจาก PM2.5 คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องรออีกนานแค่ไหน กว่าพวกเขาจะแต่งงานกันได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หากนักการเมืองในสภาแห่งนี้ทำงานกัน ในที่ลับ แทนที่จะทำงานในที่แจ้ง ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้แทนของพวกเขานั้นกำลัง ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาอยู่ผมเข้าใจดีว่าปัญหาทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่สามารถถูกแก้ไขได้จากเพียงการแก้ไขข้อบังคับ บางส่วนต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางส่วนต้องอาศัยอำนาจบริหารของท่านประธาน และบางส่วนก็ต้องอาศัยวัฒนธรรม การเมืองที่ต้องบ่มเพาะกันอย่างต่อเนื่อง แต่ผมหวังว่าร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผมนำเสนอ ต่อสภาในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรผ่าน ๙ ข้อเสนอหลักที่รวมอยู่ในร่าง ข้อเสนอที่ ๑ ข้อเสนอที่ ๒ และข้อเสนอ ๓ เป็นข้อเสนอ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๑ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของสภาในการผลักดันกฎหมาย เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาฉับไว

    อ่านในการประชุม

  • หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของ สภาผู้แทนราษฎรนั้นคือการผลักดันการเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย แต่หากเราไปดูสถิติของ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นชุดเดียวก่อนหน้านี้ที่ทำงานภายใต้ข้อบังคับฉบับปัจจุบัน เรากลับเห็นถึงแรงเฉื่อยหรือความล่าช้าในการผลักดันกฎหมาย จากร่างกฎหมายที่ถูกเสนอ ทั้งหมด ๔๒๗ ฉบับ มีร่างถึง ๑๘๐ ฉบับ หรือคิดเป็น ๔๒ เปอร์เซ็นต์ ที่ค้างอยู่ในกระบวนการ พิจารณา แล้วมีร่างอีก ๕๙ ฉบับ หรืออีก ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกปัดตกตั้งแต่ก่อนจะมาถึงสภา ผมเข้าใจดีว่าการพิจารณากฎหมายนั้นต้องเน้นความเร็วควบคู่กับความรอบคอบ แต่ข้อบังคับ สภาก้าวหน้านี้จะพยายามปรับ ๒ กลไกที่ปัจจุบันนั้นไปเปิดช่องให้ร่างกฎหมายหลายฉบับ นั้นถูกดองจนทำให้การพิจารณานั้นมีความล่าช้าโดยไม่จำเป็น เอาสไลด์ลงได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๑ คือการเพิ่มความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรี มีในการพิจารณาว่าจะรับรองให้กฎหมายที่เกี่ยวกับเงินนั้นเข้าสู่การพิจารณาในสภาหรือไม่ ในเมื่อข้อบังคับฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจว่า จะให้คำรับรองหรือไม่ภายในกี่วัน ร่างกฎหมายหลายฉบับก็เลยถูกดองไว้ครับ โดยที่ผู้เสนอ ร่างนั้นไม่เคยได้รับคำตอบทางใดทางหนึ่งจากนายกรัฐมนตรี จะตัดใจและเอาร่างไปปรับปรุง เพื่อตัดส่วนที่เป็นการเงินออก เพื่อเสนอกลับเข้ามาใหม่ในสภาก็ไม่กล้า เพราะยังหวังอยู่ลึก ๆ ว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำรับรอง แต่พอตัดสินใจจะรอ ก็ไม่รู้ครับว่าจะต้องรอไปอีกนาน แค่ไหน ดังนั้น ข้อบังคับสภาก้าวหน้าจะแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการกำหนดกรอบเวลาเบื้องต้น ไว้ที่ ๓๐ วัน และใช้หลักที่เรียกว่า Auto Approve นั่นหมายความว่าหากนายกรัฐมนตรี ยังไม่ตัดสินใจปัดตกร่างใดภายในกรอบเวลา ๓๐ วัน ก็ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีนั้นให้คำรับรอง ให้ร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสภาโดยอัตโนมัติ กลไกส่วนที่ ๒ คือการปิดช่องไม่ให้ ครม. นั้นนำกฎหมายที่กำลังจะลงมติกันในสภาในวาระที่ ๑ ออกไปศึกษาเพิ่มเติมได้ถึง ๖๐ วันก่อนจะกลับมาพิจารณาและลงมติกันใหม่ หลายคนอาจจะมองว่า ๖๐ วันเป็นเวลาที่ ไม่นาน แต่อย่าลืมว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คู่รักหลายคู่ยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ ณ ปัจจุบัน ก็เพราะว่าร่างสมรสเท่าเทียมในสภาชุดที่แล้วถูกนำไปดองโดย ครม. ชุดก่อนเป็น เวลา ๖๐ วันจนทำให้การพิจารณานั้นไม่ทันวาระที่ ๓ ก่อนสภานั้นจะหมดอายุลง ดังนั้นครับ ท่านประธานข้อบังคับสภาก้าวหน้าจึงเสนอให้มีการยกเลิกกลไกดังกล่าวที่อาจถูกใช้เป็น เครื่องมือถ่วงเวลาโดยรัฐบาล เพราะแม้จะไม่มีกลไกนี้ หาก ครม. มีความประสงค์จะศึกษา ร่างกฎหมายฉบับใดที่ถูกเสนอเข้าสภา ครม. ก็มีเวลาอยู่แล้วครับ อย่างน้อย ๓๐ วันในช่วง เวลาที่ร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นถูกเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๒ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการซักถามฝ่ายบริหารและติดตาม นโยบายรัฐบาล เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาที่มีความหมาย แม้การประชุมสภาของเรา มีกลไกให้สมาชิกผู้แทนราษฎรนั้นตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอยู่แล้ว ในทุก ๆ สัปดาห์ แต่ท่านประธานสังเกตไหมครับว่าในบางยุคสมัยการที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง จะมาตอบคำถามผู้แทนราษฎรในสภานั้นกลับกลายเป็นเรื่องพิเศษที่มักต้องรอวาระใหญ่ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแถลงนโยบายหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มากกว่าจะเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำในทุกสัปดาห์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวครับเราจะสังเกตเห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักรก็ดี ไอร์แลนด์ก็ดี เดนมาร์กก็ดี จึงกำหนดให้การประชุมสภาทุกสัปดาห์นั้นมีการจัดสรรเวลา ช่วงหนึ่งให้กับวาระที่เรียกว่า Prime Minister’s Questions หรือว่ากระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีครับ ที่เปิดให้ สส. ทุกคนไม่ว่าจะซีกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลนั้นสามารถ เรียงคิวกันถามคำถามนายกรัฐมนตรี โดยมีเวลาช่วงหนึ่งครับที่กันไว้พิเศษการถามไปตอบมา ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้าน หากเราติดตามการเมืองในประเทศเหล่านั้นเราจะรู้ดี ว่าวาระดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์แค่สำหรับ สส. หรือว่าฝ่ายค้านในการซักถาม ฝ่ายบริหารแทนพี่น้องประชาชนครับ แต่ยังเป็นประโยชน์กับตัวนายกรัฐมนตรีเองในการ มาตอบกลับทุกคำถาม แล้วก็ชี้แจงทุกข้อสงสัยให้กระจ่าง ผมทราบดีครับจะเขียนข้อบังคับ อย่างไรก็คงไปบังคับให้นายกรัฐมนตรีคนไหนมาตอบคำถามผู้แทนราษฎรในสภาทุกครั้งไม่ได้ แต่ผมหวังว่าการที่ข้อบังคับสภาก้าวหน้าเราเพิ่มเรื่องวาระกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี หรือว่า Prime Minister’s Questions เข้าไปนั้นเป็นการเฉพาะน่าจะเพิ่มโอกาสที่ประชาชน นั้นจะได้รับฟังคำตอบต่าง ๆ จากปากนายกรัฐมนตรีตอบคำถามที่พวกเขาสงสัยหรือผู้แทน เขาถามแทนพวกเขา

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๓ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาเข้มแข็ง ผมเข้าใจดีครับท่านประธานว่าคณะกรรมาธิการ สามัญทั้ง ๓๕ คณะนั้นก็ล้วนมีสมาชิกจากทุกฝ่าย และทั้ง ๓๕ คณะนั้นก็ล้วนมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในแต่ละด้าน แต่หากเราต้องการจะให้มีการ ตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มข้น ผมเชื่อว่าเราทุกคนเห็นตรงกันว่าการให้ฝ่ายที่ต้องแข่งขันกัน โดยธรรมชาติมาตรวจสอบกันก็ย่อมน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าไปปล่อยให้ฝ่ายเดียวกันนั้น ตรวจสอบกันเอง ดังนั้นครับท่านประธาน ข้อบังคับสภาก้าวหน้าข้อที่ ๓ จึงเสนอไว้ครับว่า ให้ประธานของ ๓ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่สุดกับการตรวจสอบการทุจริต อาทิเช่น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือคณะกรรมาธิการ ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณนั้น เป็นหน้าที่ของ สส. จากซีกฝ่ายค้าน ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร หรือประกอบไปด้วยพรรคใดก็ตาม เอาสไลด์ลงได้เลยครับ เดี๋ยวค่อย ขึ้นตอนจบเลยก็ได้ แน่นอนครับพอพูดเช่นนี้บางคนก็อาจจะคิดครับว่าที่ผมเสนอแบบนี้ เพราะวันนี้พรรคก้าวไกลพรรคต้นสังกัดของผมนั้นเป็นฝ่ายค้าน ผมก็ต้องขอยืนยันครับ ยืนยันกับทุกท่านจริง ๆ ว่าผมคิดเรื่องนี้และยกร่างข้อบังคับนี้ตั้งแต่ก่อนจะรู้ว่าก้าวไกลนั้นจะ เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนาของผมครับ ผมขอยืนยันต่อ หน้าสภาแห่งนี้เลยครับว่าหากร่างนี้ผ่านวาระที่หนึ่งไปได้ไปสู่ในชั้นกรรมาธิการ ผมจะเสนอ ให้เติมเข้าไปในบทเฉพาะกาลครับ ว่าให้เรายังไม่บังคับใช้ข้อบังคับข้อนี้ในสภาชุดปัจจุบัน หรือชุดที่ ๒๖ เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อข้อตกลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างแต่ละพรรคการเมือง ต่าง ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ แต่ให้เริ่มไปบังคับใช้ในสภาชุดถัดไปหรือ ว่าชุดที่ ๒๗ ซึ่งหมายความว่าหากวันนั้นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ประธานของคณะเหล่านี้ ก็จะเป็นของ สส. ฝ่ายค้านที่ไม่ใช่ สส. จากพรรคก้าวไกล ข้อเสนอที่ ๔ ถึง ๕ เป็นข้อเสนอ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของสภา

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๔ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาเปิดเผยที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ การทำงานของสภาให้ประชาชนนั้นสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ โดยข้อบังคับสภาก้าวหน้า นั้นจะผลักดันให้สภามีความเปิดเผยมากขึ้นใน ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือการทำให้สิ่งที่ยังไม่เคย ถูกเปิดเผยอย่างเป็นระบบถูกเปิดเผยมากขึ้น ผ่านการปลดล็อกเรื่องการถ่ายทอดสดประชุม คณะกรรมาธิการต้องยอมรับว่าแม้ที่ผ่านมานั้นการประชุมของบางคณะกรรมาธิการ ในบางครั้งก็ได้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนนั้นสามารถรับชมไปพร้อมกันหรือรับชม ย้อนหลังได้ แต่เหตุผลหนึ่งที่หลายคณะกรรมาธิการนั้นยังตัดสินใจไม่ถ่ายทอดสดก็เพราะว่า ข้อกังวลหรือว่าความกำกวมของตัวข้อบังคับนั่นเอง ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้ จึงเสนอให้แก้ไขข้อบังคับให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้การประชุมคณะกรรมาธิการนั้น เป็นการประชุมแบบเปิดเผยเป็นหลักที่มีการถ่ายทอดสด Online แต่ก็เปิดช่องไว้ครับว่าหากมีประชุมครั้งใดหรือวาระใดที่สมควรจะงดการถ่ายทอดสด ทางคณะกรรมาธิการก็สามารถมีมติให้งดเป็นรายกรณีได้ ในส่วนที่ ๒ ของการทำให้สภานั้น เป็นสภาเปิดเผย คือการทำให้สิ่งที่ถูกเปิดเผยอยู่แล้วถูกเปิดเผยในรูปแบบที่ถูกนำไป ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการประชุมไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุม ก็ดีว่าใครพูดอะไร สถิติว่าใครมา ไม่มาประชุมหรือสถิติว่าแต่ละคนนั้นลงมติอย่างไร เป็นข้อมูลที่ล้วนถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้วครับ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นการ เปิดเผยในรูปแบบที่นำไปใช้งานต่อได้ค่อนข้างยาก หากเราอยากจะรู้ว่าคนหรือว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับหัวข้อที่เราสนใจ เราก็ต้องไปไล่อ่าน ทุกบรรทัดเลยของรายงาน แทนที่จะค้นหาได้ง่ายผ่านการกดปุ่ม Control + F เพราะว่า เอกสารนั้นถูก Scan เป็นภาพครับ หรือหากเราอยากจะรู้อยากจะวิเคราะห์เร็ว ๆ ว่า สส. พรรคไหน กลุ่มไหน ลงมติเกี่ยวกับกฎหมายฉบับต่าง ๆ อย่างไร เราก็ต้องไปไล่อ่านรายบรรทัด นับรายบรรทัดเลย เพราะว่าข้อมูลนั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยแพร่เป็นตารางที่สามารถนำไป วิเคราะห์ต่อได้ง่าย ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าจึงกำหนดให้ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกเปิดเผยนั้น จะต้องเปิดเผยในรูปแบบดิจิทัลที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่ายหรือที่เรียกว่า Machine Readable

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๕ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทาง อิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในประเด็นนี้ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วก่อนที่ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขข้อบังคับเพื่อเปิดทางให้เรานั้น สามารถประชุมคณะกรรมาธิการแบบ Online ได้สำเร็จ โดยข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผม เสนอในวันนี้ก็มีความตั้งใจจะต่อยอดเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอีก ๒ ส่วน ด้วยกัน ส่วนที่ ๑ คือการปรับให้การส่งเอกสารภายในต่าง ๆ ให้กับสมาชิกนั้นดำเนินการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ส่วนที่ ๒ คือการจัดทำระบบช่องทาง Online ให้ ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ ทุกฉบับที่ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้า ของทุกเรื่องที่ถูกปรึกษาหารือในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ รวมถึงคำชี้แจงหรือคำตอบกลับ จากหน่วยงาน ผมเข้าใจดีครับว่าท่านประธานเองและท่านรองทั้ง ๒ คนนั้นก็ได้มีการริเริ่ม ทั้ง ๒ ส่วนนี้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมก็หวังว่าการกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น ในระดับข้อบังคับก็จะทำให้ความมุ่งหมายและผลงานของท่านนั้นยังคงอยู่กับเราและ ประชาชนต่อไป ไม่ว่าประธานหรือรองประธานในอนาคตจะชื่ออะไรก็ตาม ส่วนข้อเสนอที่ ๖ ถึงข้อเสนอที่ ๗ เป็นข้อเสนอเพื่อรับประกันความเป็นธรรมของสภาผู้แทนราษฎร

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๖ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาที่ยุติธรรมเท่าที่จะเป็นได้ระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกฝ่าย ผมเชื่อครับว่าท่านประธานและท่านรองนั้นทุกคนย่อม มีความตั้งใจและเจตนาที่ดีที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อไรก็ตาม ที่กติกาออกแบบให้ท่านต้องตัดสินใจเรื่องใด ๆ ด้วยดุลพินิจของตัวท่านเอง แม้ท่านจะ พยายามมากแค่ไหนที่จะเป็นกลางต่อทุกฝ่าย แต่ผมเชื่อว่าการตัดสินใจของท่านนั้นก็ย่อมจะ ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางได้อยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาดังกล่าวและเพื่อ พยายามจะลดช่องที่ทำให้ท่านประธานนั้นต้องใช้ดุลพินิจของตนเองมากจนเกินไป โดยเฉพาะ อำนาจในการวินิจฉัยว่าญัตติใด เป็นญัตติด่วนที่จะได้ลัดคิวเข้ามาพิจารณาในสภาก่อน ข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จึงเสนอไว้ว่าให้การวินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วนนั้นไม่ได้ขึ้นกับ ดุลพินิจของท่านประธานคนเดียว แต่ให้ท่านประธานนั้นออกเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัย เรื่องดังกล่าวที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและที่เปิดให้มีการทบทวนทุก ๆ ๑ ปี

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๗ คือการทำให้สภาแห่งนี้เป็นสภาเสมอภาคเป็นสภาที่ไม่ส่งเสริม การเลือกปฏิบัติ แต่โอบรับความหลากหลายและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในส่วนนี้ ข้อบังคับสภาก้าวหน้าจะมีการเพิ่มข้อบังคับการประชุมเข้าไป ๑ ข้อ เพื่อกำหนดให้ผู้อภิปรายนั้น ไม่อภิปรายโจมตีหรือยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม เป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอ ๒ ข้อสุดท้าย คือข้อเสนอที่ ๘ และข้อเสนอที่ ๙ นั้น เป็น ๒ ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงสภากับ ประชาชนนอกสภา

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๘ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาประชาชนที่เปิดพื้นที่และกลไก ให้ประชาชนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมกับสภามากขึ้นใน ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือการเปิดพื้นที่ ให้ประชาชนนั้นมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นพิจารณา ปัจจุบันรัฐธรรมนูญมีการเปิดให้ประชาชน ๑๐,๐๐๐ คนนั้นสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติได้ แต่ข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จะเปิดอีกช่องทางหนึ่งครับ เพื่อให้ประชาชน ๕,๐๐๐ คนนั้นมีสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติได้ หากพวกเขามองว่า มีความเดือดร้อนหรือปัญหาใดที่สภานั้นควรจะให้ความสำคัญในการศึกษาหรือจัดทำ ข้อเสนอแนะให้กับคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะผ่านห้องประชุมใหญ่แห่งนี้จะผ่านคณะกรรมาธิการ สามัญที่มีอยู่แล้ว หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีการตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนที่ ๒ ท่านประธานคือการเปิดพื้นที่ให้ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนนั้นได้รับ การพิจารณาเร็วขึ้น หากเราไปดูสถิติในสภาชุดที่แล้ว เราจะเห็นว่าร่างกฎหมายที่ถูกเสนอ โดยภาคประชาชนนั้นมีทั้งหมด ๘๕ ฉบับ แต่เชื่อไหมว่ามีถึง ๕๔ ฉบับหรือ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ ที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติและไม่ถูกพิจารณาทันก่อนที่สภานั้นจะหมดวาระลง ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำหนดให้ ร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนนั้น ถูกนับเป็นเรื่องด่วนที่จะถูกพิจารณา เร็วขึ้นเสมือนเป็นช่องทางเร็วหรือว่า Fast Track ที่ทำให้สภาแห่งนี้ต้องจัดสรรเวลาให้ เพียงพอในการมาพิจารณาแล้วก็ลงมติเกี่ยวกับร่างที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชน ส่วนข้อเสนอ สุดท้ายครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๙ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาสากลที่เชื่อมกับประชาคมโลก ท่านประธานครับผมหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ากฎหมายหลายฉบับที่พวกเราทุกคนร่วมกันผลักดัน ในสภาแห่งนี้ จะไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์โดยตรงให้กับประชาชนในประเทศนี้ แต่ยัง จะสร้างแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ท่านประธานข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จึงกำหนดให้มีการแปลทุกพระราชบัญญัติที่สภา แห่งนี้เห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความหวังครับว่ามาตรการเล็ก ๆ ดังกล่าวจะเป็น ส่วนเล็กน้อยในการช่วยทำให้งานที่เราทำในที่นี้เป็นที่รับรู้ เป็นที่เข้าใจและเป็นแบบอย่าง ที่ประเทศอื่นนำไปใช้ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล ดังนั้นท่านประธาน หากจะขออนุญาตขึ้นสไลด์เพื่อสรุปทิ้งท้าย

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งหมดนี้คือ ๙ ข้อเสนอหลัก ภายในร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผมหวังว่าจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในการทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นที่เชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ผมเข้าใจดีว่าพอผมเสนอร่างที่มันมัดรวมหลายข้อเสนอมันเป็นเรื่องปกติที่บางท่านอาจจะ เห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่ยังมีความลังเลเกี่ยวกับบางข้อเสนอ ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านนั้นมี ความสบายใจที่จะรับหลักการในวาระที่ ๑ ผมก็เลยเขียนหลักการและเหตุผลของร่างฉบับนี้ ไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อเปิดช่องให้เราสามารถไปแลกเปลี่ยนและพิจารณารายประเด็นกัน ได้อย่างเต็มที่ในชั้นกรรมาธิการ ผมคงทิ้งท้ายแบบนี้ท่านประธานว่าวันนี้ผมรู้สึกเสียดาย ที่พรรคอื่นไม่ได้มีการยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาเข้ามาร่วมการพิจารณา เพราะผม เชื่อครับว่าเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านในที่นี้คงมีอีกหลายข้อเสนอที่ผมยังคิดไม่ถึง และผม เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมจะรู้สึกเสียดายกว่าครับ หากวันนี้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจไม่รับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับสภาก้าวหน้า เพราะการ ลงมติเช่นนั้นในวันนี้ครับในวันที่เรามีร่างข้อบังคับอยู่แค่ฉบับเดียวจะเท่ากับเป็นการปิดประตู ต่อการร่วมมือกันทำงานตั้งแต่ในสมัยประชุมแห่งนี้เพื่อปรับปรุงข้อบังคับการประชุมสภา ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการทำงานของพวกเราทุกคนในฐานะสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอ ร่างแก้ไขข้อบังคับครับ จะขออนุญาตใช้สิทธิในการสรุปข้อเสนอหรือว่าสรุปญัตติที่นำเสนอ ต่อที่ประชุมสภาในวันนี้ เพื่อให้กระชับต่อเวลาการประชุมสภานั้นก็อยากจะเน้นไปที่ประเด็น ที่อาจจะเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไป หลักประเด็นอะไรที่มันเป็นความเห็น ที่มันแตกต่างอันนี้ผมคิดว่าแต่ละท่านทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ได้อภิปรายกันเต็มที่ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณความห่วงใย ข้อเสนอแนะ ข้อทักท้วง จากเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากซีกรัฐบาลนะครับ ผมเห็นว่า มีทั้งหมด ๑๐ ประเด็น ที่ผมจำเป็นจะต้องชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างหรือว่า ตอบคำถามที่เพื่อนสมาชิกมี เพื่อให้ประชาชนที่รับชมอยู่ทางบ้านนั้นหรือเพื่อนสมาชิกที่ยัง ลังเลอยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรนั้นมีข้อมูลครบถ้วนในการประกอบการพิจารณา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ เป็นข้อกังวลหรือคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอในข้อบังคับ สภาก้าวหน้าที่เป็นการเสนอว่าให้ตำแหน่งของประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่สุดกับการตรวจสอบการทุจริต โดยระบุไว้เป็น ๓ คณะนั้นให้เป็นโควตาในสัดส่วนของ พรรคฝ่ายค้าน ในประเด็นนี้มี ๔ คำถามย่อยที่ผมจำเป็นต้องชี้แจง

    อ่านในการประชุม

  • คำถามย่อยที่ ๑ มีสมาชิกบางท่านอภิปรายเสมือนกับว่าผมไปเขียนว่าให้ ทุกคนหรือว่ากรรมาธิการทุกคนทั้ง ๑๕ คนในคณะเหล่านั้นเป็นของฝ่ายค้าน อันนี้ก็ต้องตอบ สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าไม่จริง แค่เขียนว่า ขอให้ตัวตำแหน่งประธานของคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนั้น เป็นในสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากซีกฝ่ายค้าน

    อ่านในการประชุม

  • คำถามย่อยที่ ๒ เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็เป็นการตั้งคำถามว่าที่ผมเสนอให้ ประธานของ ๓ คณะนี้เป็นสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านเป็นเพราะว่าผมไม่ไว้วางใจหรือว่าตั้งคำถาม ถึงคุณสมบัติความเหมาะสมของ ๓ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนี้อยู่หรือไม่ เพราะว่า ๒ ใน ๓ นั้นก็เป็น สส. จากซีกรัฐบาล อันนี้ก็ต้องย้ำอีกรอบหนึ่ง ประเด็นที่ความจริงผมพูดไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดญัตติแล้วนะครับว่าผมยินดีในชั้นกรรมาธิการที่จะ เขียนบทเฉพาะกาลเข้าไปให้ข้อนี้ยังไม่ถูกบังคับใช้ในสภาชุดนี้ ดังนั้นไม่กระทบต่อการ ดำรงตำแหน่งของ ๓ ท่านอย่างแน่นอน แล้วก็ไม่ได้ถูกเสนอด้วยเจตนาที่จะตั้งคำถาม ถึงคุณสมบัติของทั้ง ๓ ท่านนะครับ แต่ว่าเป็นเจตนาที่ต้องการจะให้สภานั้นมีความเข้มข้น มากขึ้นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ว่าฝ่ายบริหารจะเป็นใคร ฉะนั้นก็ยินดีที่จะให้ ข้อนี้มีการบังคับใช้กันในสภาชุดถัดไปหรือว่าชุดที่ ๒๗ ในวันที่เรายังไม่รู้ว่าบุคคลที่จะมา ดำรงตำแหน่งประธานของ ๓ คณะนี้นั้นจะเป็นใคร

    อ่านในการประชุม

  • คำถามย่อยที่ ๓ เกี่ยวกับประเด็นนี้ เป็นการตั้งคำถามมาว่าทำไมถึงเสนอ ให้แค่ ๓ คณะนี้ มีประธานที่มาจากซีกฝ่ายค้าน แสดงว่าอีก ๓๒ คณะ จาก ๓๕ คณะนั้น ไม่มีบทบาทหรือไม่มีความรับผิดชอบในการตรวจสอบการทุจริตเลยหรือ ก็ต้องเรียนตามตรง ว่าอย่างที่ผมได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนเปิดญัตติว่าผมเลือกที่จะระบุถึง ๓ คณะที่ผมมองว่า มีความเกี่ยวข้องโดยตรงมากที่สุดต่อการตรวจสอบการทุจริต ๒ คณะก็คิดว่าหลายท่าน ได้อภิปรายไปแล้วก็คือคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับ ป.ป.ช. แล้วก็คณะกรรมาธิการเกี่ยวกับ การติดตามงบประมาณ แต่อยากจะเสริมอีกสั้น ๆ นะครับว่าคณะที่ ๓ ที่ผมได้เติมเข้าไป ก็คือ คณะกรรมาธิการกิจการสภา เจตนาหลัก ๆ ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ณ ปัจจุบัน ได้เขียนไว้ในลักษณะที่ต้องการจะให้คนที่ดำรงตำแหน่งประธานสภานั้นเป็น สส. ที่มาจาก พรรคในซีกรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นผมเลยมองว่าเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลเกี่ยวกับ การบริหารกิจการในสภานั้นก็เลยเขียนไว้นะครับ ว่าให้ประธานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาเป็นจากซีกฝ่ายค้าน แต่หากอันนี้เป็นสิ่งที่ ขัดใจหรือว่าติดใจท่านก็ยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไขนะครับ ความจริงแล้วถ้าพูดให้ถึงที่สุด นอกเหนือจาก ๓ คณะที่ผมได้ระบุไว้อีกเจตนา ๑ ที่ผมอยากจะทำให้เกิดขึ้นก็คือพยายามจะ ป้องกันสูตรการจัดสรรประธานคณะกรรมาธิการในลักษณะที่ทำให้ประธานคณะกรรมาธิการใด ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกระทรวงใด มาจากพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น แต่พอไปดูในรายละเอียดแล้วก็เกรงว่ามันอาจจะเขียนค่อนข้างยาก เพราะว่าความเชื่อมโยง ระหว่างคณะกรรมาธิการกับกระทรวงมันไม่เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งนะครับ แล้วถ้าเขียนอย่างรัดกุมเกินไปก็อาจจะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติก็เลยทำให้ผมจบลงที่เป็น การเขียนแค่ในส่วนของ ๓ คณะเท่านั้นนะครับ โดยโควตาระหว่าง สส. พรรครัฐบาลกับ พรรคฝ่ายค้านก็คงถูกคำนวณเหมือนเดิม ยังคงไว้เป็นสูตรคำนวณเหมือนเดิมคือตามสัดส่วน สส. ที่มีอยู่ในสภา

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนคำถามประการสุดท้าย ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมาธิการ มีบางท่านแสดงข้อกังวลหรือตั้งคำถามว่า การที่ผมไปล็อกให้ตำแหน่งของประธาน คณะกรรมาธิการเป็นเฉพาะของ ๓ คณะเป็นเฉพาะของ สส. ฝ่ายค้านเป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเปล่า ทำให้สิทธิในการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในสภาแห่งนี้ไม่ได้เปิดกว้างเท่ากัน ระหว่าง สส. ซีกรัฐบาลกับ สส. ซีกฝ่ายค้าน ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมองครับว่าเจตนารมณ์ ในการออกแบบกติกาอย่างนี้เป็นเช่นใด แต่ผมหวังว่าท่านไม่ได้หมายความว่าทุกตำแหน่ง ที่เกี่ยวข้องกับสภาแห่งนี้นั้นจะต้องเปิดกว้างให้กับ สส. ซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านเท่ากัน เพราะเราก็เห็นอยู่ครับว่ามีบางตำแหน่งที่ก็ถูกออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม กับเจตนาถูกออกแบบไว้เพื่อให้เป็น สส. จากซีกใดซีกหนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็น ในส่วนของประธานสภาที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ต้องการจะให้เป็น สส. ที่สังกัดพรรค ในซีกรัฐบาล ถ้าท่านจะยืนยันหลักการของท่านว่าทุกตำแหน่งในสภาแห่งนี้จะต้องเปิดกว้าง ให้กับ สส. ซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาเลือกผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาแห่งนี้เลยไหมครับ ให้โหวตกันเลยไหมครับว่าใครจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านและซีกรัฐบาล ก็เสนอบุคคลคนหนึ่งมา ซึ่งแน่นอนก็ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากหรือเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ของสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็มีสมาชิกจากซีกรัฐบาลมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมก็คิดว่านั่นไม่ใช่ เจตนาของท่าน ดังนั้นหลักการที่ว่าทุกตำแหน่งจะต้องเปิดกว้างเท่ากันระหว่างซีกรัฐบาลกับ ซีกฝ่ายค้านก็เป็นหลักการที่เราไม่ควรจะยืดถือ แต่ว่าแน่นอนอาจจะเห็นต่างกันได้ว่า ในสัดส่วนของตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนั้นควรจะต้องมีการล็อกหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเพื่อนสมาชิก ท่านอรรถกร ขออนุญาตที่เอ่ยนาม เป็นการตั้งคำถามครับหรือว่าแสดงความเห็นว่าท่านไม่เห็นด้วยกับ ข้อ ๑๑ ของร่างแก้ไขข้อบังคับที่ผมเสนอ ซึ่งเป็นข้อที่เสนอให้มีการยกเลิกความในวรรคสอง ของข้อ ๘๐ และมีการเขียนใหม่ ซึ่งเป็นข้อที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์ในการลงมติแบบลับในที่ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมห้องใหญ่แห่งนี้ ท่านพยายามจะอภิปรายโดยการ กล่าวหาหรือว่าให้ความเห็นในลักษณะที่บอกสังคมว่าผมพยายามจะไปปรับเกณฑ์เกี่ยวกับ การโหวตลับ ท่านตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีเกณฑ์ว่าถ้ามีสมาชิกคัดค้านไม่ให้โหวตลับ และมี ผู้รับรอง ๑ ใน ๓ ก็ให้ลงคะแนนแบบเปิดเผย ท่านตั้งคำถามว่าทำไมถึงใช้ตัวเลข ๑ ใน ๓ ทำไมไม่เป็น ๑ ใน ๒ ก็ต้องเรียนตามตรงว่าท่านกลับไปอ่านข้อบังคับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ผมไม่ได้ แก้ไขตัวเลขอะไรเลยตัวเลข ๑ ใน ๓ มันมีอยู่แล้ว ถ้าท่านประธานลองอ่านข้อ ๘๐ ไปพร้อม กับผม ข้อ ๘๐ ในวรรคสองเขียนชัดครับว่าในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติให้ลงคะแนนลับ ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย ฉะนั้นผมไม่ได้แก้ไขเกณฑ์เรื่อง ๑ ใน ๓ แต่อย่างใดเลย สิ่งที่ผมแก้ไขครับ คือพยายามจะทำให้ข้อบังคับข้อนี้มันมีความชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของคำพูด เพราะว่าปัจจุบันนี้ถ้าอ่านไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่วรรคแรกจนถึงวรรค สุดท้ายจะเห็นว่ามันมีความสับสนอยู่ ผมอธิบายให้เห็นภาพแบบนี้ วรรคที่หนึ่งเขียนว่า อย่างนี้ครับว่า การออกเสียงลงคะแนนนั้นให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อสมาชิกเสนอญัตติ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ นั่นหมายความ ว่าเวลาจะลงมติในที่แห่งนี้การลงเปิดเผยเป็น Default แต่ถ้ามี ๒๐ คนที่คัดค้านก็อาจจะ สามารถพิจารณาให้โหวตลับได้ แต่วรรคสองมาเขียนต่อว่า ในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติ ให้ลงคะแนนลับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่ ๑ ใน ๓ ของสมาชิก ในที่ประชุมให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย สรุปง่าย ๆ คือว่าหากมี ๒๐ คน คัดค้านว่าจะให้ลงคะแนนแบบลับ แต่หากมี ๑ ใน ๓ บอกว่าไม่ยอมต้องการให้ลงเปิดเผยนั้น ข้อบังคับเขียนไว้ว่าให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย สิ่งที่ผมไปแก้ข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลข ๑ ใน ๓ ครับ สิ่งที่ผมไปแก้คือคำว่า ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ เพราะมันสร้างความสับสน เป็นความสับสนที่ผมถามตัวแทนในคณะกรรมาธิการที่ยกร่าง ข้อบังคับนี้ขึ้นมา ก็ตอบผมไม่ได้ชัดเจนว่าคำว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์นั้นหมายถึงอะไร หมายถึงว่า ถ้า ๑ ใน ๓ ยืนยันว่าต้องโหวตแบบเปิดเผย คำว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ นั่นคือแค่สมาชิก ๑ ใน ๓ จาก ๑๐๐ กว่าคนนั้นต้องโหวตเปิดเผย หรือหมายถึงว่าให้ทั้งที่ประชุมนั้นโหวตแบบเปิดเผย ดังนั้นการแก้ไขข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการไปปรับเกณฑ์เรื่องการลงคะแนนแบบลับ แค่เป็นการปรับข้อความให้มันมีความรัดกุมมากขึ้น เพราะผมก็เข้าใจว่าเจตนาของข้อนี้ คงไม่ต้องการเห็นที่ประชุมสภาแห่งนี้มี สส. บางคนลงคะแนนเปิดเผย บางคนลงคะแนนลับ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ที่มีหลายท่านตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด การประชุมคณะกรรมาธิการ ในประเด็นนี้มี ๒ คำถามย่อยที่สมาชิกถามขึ้นมา คำถามย่อย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลที่ ๑ ก็เป็นข้อกังวลของเพื่อนสมาชิกบางท่านที่มองว่าในบางกรณีมัน ไม่ควรจะมีการเปิดเผยหรือไม่ควรจะมีการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะข้อกังวลว่าผู้ชี้แจง ในบางวาระหากพูดในที่ประชุมได้มีการถ่ายทอดสดอาจจะไม่มีสิทธิในการคุ้มครอง และอาจจะเกิดความเสียหายได้ อันนี้ผมต้องย้ำข้อเสนอผมอีกรอบหนึ่งครับ ว่าผมไม่ได้บังคับ ว่าการประชุมทุกครั้งจะต้องมีการถ่ายทอดสด มีการเปิดช่องในตัวร่างข้อบังคับผมว่า หากที่ประชุมเห็นว่าจะมีความเสี่ยงเช่นนี้มีวาระใดที่มีข้อกังวลแบบนี้ก็สามารถขอมติเพื่อให้ ยุติการถ่ายทอดสดสำหรับการประชุมนั้นหรือสำหรับวาระนั้นได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลที่ ๒ ก็มีบางท่านกังวลว่า หากเราปลดล็อกให้สามารถถ่ายทอดสด การประชุมคณะกรรมาธิการได้แล้ว ท่านยกตัวอย่างว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์ที่แต่ละคน หยิบยกมือถือขึ้นมาถ่ายจนเกิดความไม่สบายใจต่อผู้ที่ตอบคำถามหรือผู้ที่ชี้แจง ผมมองต่าง จากท่านเลยครับ ผมกลับมองว่าถ้าเราทำให้การถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการนี้ มันมีการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ พูดง่าย ๆ คือมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางทางการ ความโกลาหลหรือความสับสนที่จะเกิดขึ้นจากการที่สมาชิกท่านใดในคณะกรรมาธิการ จะหยิบยกมือถือเข้ามาถ่ายแล้วสร้างความไม่สบายใจกับผู้ชี้แจงมันกลับจะหายไป เพราะว่า แน่นอนพอผู้ที่แจ้งมาที่ห้องประชุมก็ต้องมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอยู่แล้วว่าที่ประชุม ณ เวลานี้มีการถ่ายทอดสดอยู่หรือไม่ และถ้าผู้ชี้แจงมีเหตุผลใด ๆ ที่ต้องการจะให้มีการยุติ การถ่ายทอดสดก็สามารถแสดงความเห็นขึ้นมาได้ ในที่ประชุมก็สามารถมีมติได้ ดังนั้นการที่ ทำให้มันเป็นระบบและทำให้หากจะมีการถ่ายทอดสดถูกถ่ายทอดสดผ่านช่องทางทางการ น่าจะป้องกันและคลี่คลายข้อกังวลนี้มากกว่าไปเติมข้อความนี้ด้วยซ้ำ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ที่ผมเห็นว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน คือประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายการเงิน ย้ำแบบนี้นะครับ ไม่มีตรงไหนเลยในร่างแก้ไข ข้อบังคับสภาชุดนี้ที่ไปยกเลิกอำนาจนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาว่าจะให้คำรับรอง ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ แม้เราอาจจะเห็นต่างกันได้ว่าอำนาจนี้ควรจะมีอยู่ หรือไม่ ผมทราบดีว่าถ้าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจนี้ต้องไปถกเถียงกันในระดับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผมทราบดีครับว่าเวทีวันนี้ไม่ได้เป็นเวทีในการถกเถียงว่า อำนาจนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วผมก็เข้าใจถึงเจตนาของผู้ร่างมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญ ว่าในเมื่อฝ่ายบริหารต้องเป็นคนบริหารจัดการงบประมาณก็เลยให้หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือ นายกรัฐมนตรีนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาก่อนว่าจะรับรองร่างเกี่ยวกับการเงินเข้าสู่ สภาหรือไม่ ดังนั้นขีดเส้นใต้ ๑๐๐ ครั้งนะครับ ว่าร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ไม่มีตรงไหนที่ไปยกเลิก อำนาจนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ แต่มี ๒ ประเด็นที่ผมหวังว่า จะพอคลี่คลายความกังวลของท่านได้ ประเด็นที่ ๑ หลายคนอาจจะติดใจคำว่า Auto Approve หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ อนุมัติแบบอัตโนมัติ ต้องย้ำว่าการบอกว่าให้มีการอนุมัติ แบบอัตโนมัตินี้ไม่ได้หมายความว่าเราไปบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องให้คำรับรองกับทุกร่าง นะครับ เพียงแต่เราบอกว่าหากมันมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแล้วจะ ๓๐ วัน ๔๐ วัน ๖๐ วัน ก็สุดแล้วแต่ และเกิดการพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ มันเกินเลยกรอบเวลานั้น ไปจนผู้เสนอร่างไม่ได้รับคำตอบจากท่านนายกรัฐมนตรีว่าจะรับรองหรือไม่ เราเพียงแค่ เสนอว่าหากมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่าอนุมัติโดยอัตโนมัติ พอเป็นเช่นนั้นครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันจะมีกรอบเวลาชัดเจนที่นายกรัฐมนตรีจะมีช่วงเวลาที่จะปฏิเสธหรือว่า ปัดตกร่างที่ท่านไม่เห็นด้วยหรือไม่พร้อมใช้คำรับรองได้ แต่ประโยชน์ที่มันจะตามมา ในมุมหนึ่งอย่างที่ผมย้ำว่าไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของนายกรัฐมนตรี อำนาจนายกรัฐมนตรียังคง มีอยู่เหมือนเดิม แต่พอกำหนดกติกาแบบนี้และมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแบบนี้มันทำให้ผู้เสนอ ร่างหรือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างนั้นทำงานได้ง่ายขึ้น ผมยกตัวอย่างให้เห็น ภาพชัดเลยครับ ตั้งแต่การเปิดสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ มา กฎหมายฉบับหนึ่งที่ผม ได้เสนอเข้าไปคือการแก้ไข พ.ร.บ. รับราชการทหารเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการบังคับ เกณฑ์ทหาร แน่นอนครับ พอมันมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ร่างนี้ก็ถูกทางประธานสภา วินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน ก็ต้องถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ ผมก็ยังรออยู่ครับ แต่สิ่งที่ผมทำงานต่อลำบากคือผมไม่รู้ว่าผมควร จะรอถึงเมื่อไร แน่นอนพรุ่งนี้ท่านปฏิเสธมาเลยก็ได้คำตอบชัดเจนผมก็ก้มหน้าทำงานต่อ แต่ว่าพอท่านยังไม่ตัดสินใจ ท่านยังไม่ให้คำรับรอง ซึ่งแน่นอนท่านอาจจะมีภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาแต่พอไม่มีกรอบเวลาชัดเจน ผมไม่รู้ว่าผมควรจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้ามัน มีกรอบเวลาชัดเจนขึ้นมา แล้วเกิดท่านนายกรัฐมนตรีปฏิเสธภายในกรอบเวลานั้น ผมก็จะได้ รู้ว่าดังนั้นถ้าผมจะยื่นร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งนี้ ผมก็ต้องไปปรับตัวร่าง พ.ร.บ. รับราชการต่างหากของผมเพื่อตัดส่วนที่มันเกี่ยวกันเงินออก เพื่อทำให้มันสามารถเข้าสู่ สภาแห่งนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำรับรองจากท่านนายกรัฐมนตรี อันนี้ต่างหากคือประโยชน์ ที่เราจะได้จากการแก้ไขข้อบังคับนี้ โดยไม่เป็นการลิดรอนหรือว่าลดอำนาจของท่าน นายกรัฐมนตรีในการให้คำรับรองหรือปฏิเสธร่างเกี่ยวกับเงินแต่อย่างใด

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ที่ผมหวังว่าจะพอคลี่คลายข้อกังวลของท่านได้ก็คือบางท่าน กังวลว่า ๓๐ วันนั้นอาจจะเป็นกรอบเวลาที่สั้นเกินไปที่จะให้นายกรัฐมนตรีหรือว่า ฝ่ายบริหารนั้นพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ อันนี้ยินดีเลยครับ ในชั้นกรรมาธิการผมว่า เป็นเรื่องปกติที่เราจะมาถกกันได้ว่าจะขยายจาก ๓๐ วันเป็นกี่วัน จะเป็น ๖๐ วัน จะเป็น ๙๐ วันไหม แต่สิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์คือเลือกให้ชัดเจนว่ากี่วันนะครับ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจะได้ทำงานกันต่อได้อย่างสะดวกสบาย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๕ เป็นประเด็นที่หลายท่านก็ได้แสดงความเห็นและความ ไม่เห็นด้วยไว้ คือเรื่องของกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามีข้อกังวลทั้งหมด ๓ ส่วน ที่บางท่านได้แสดงไว้ในประเด็นนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลที่ ๑ เป็นข้อกังวลว่าการเสนอกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็น การเพิ่มอีก ๑ ประเภทกระทู้เข้าไป แล้วจะทำให้ไปเพิ่มเวลาว่าสัดส่วนของเวลาการประชุม สภาที่เราต้องใช้ไปกับวาระเรื่องของกระทู้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าไปดู ร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ ผมตระหนักดีว่าการเสนอกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีก็จะมีความ ทับซ้อนในระดับหนึ่ง กับกระทู้ถามสดรัฐมนตรีที่สามารถถามท่านนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีได้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นผมก็เลยใช้วิธีในการเกลี่ยเวลาระหว่าง ๒ ประเภทนี้ ให้มันได้สัดส่วนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปเพิ่มภาระเวลาในการพิจารณาในส่วนของกระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีและกระทู้ถามสดรัฐมนตรีครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลที่ ๒ บางท่านก็แสดงความกังวลว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะไปบอกว่า หากสมาชิกท่านใดตัดสินใจว่า ณ วันนั้นจะไม่ตั้งกระทู้เต็มโควตาแล้วนี้จะเกลี่ยเวลาไปให้กับ กระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีหรือว่ากระทู้อื่น อันนี้ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมเสนอ ขึ้นมาใหม่นะครับ ถ้าเราไปดูข้อบังคับชุดปัจจุบัน ข้อ ๑๖๐ ผมขอไม่อ่านทั้งข้อก็แล้วกันครับ ท่านประธาน แต่ว่าถ้าเพื่อนสมาชิกท่านใดที่เปิดอ่านไปพร้อมกับผมหรือว่าประชาชนท่านใด ที่เปิดข้อบังคับขึ้นมานี้ก็จะเห็นว่าข้อ ๑๖๐ ก็มีกลไกแบบนี้อยู่แล้ว พูดง่าย ๆ คือหากสมมุติ ว่าวันนั้นมีโควตา ๓ กระทู้ แต่มีคนใช้สิทธิแค่ ๒ กระทู้นี้มันก็จะมีการเกลี่ยเวลาเพื่อให้ ๒ คน ที่ใช้สิทธินั้นอาจจะได้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มขึ้นมาจากการที่คนที่ ๓ นั้นสละสิทธิ์ ดังนั้น ก็ไม่ได้เป็นเจตนาในการจะไปเบียดเบียนเวลาถามกระทู้ของเพื่อนสมาชิกแต่อย่างใด

    อ่านในการประชุม

  • ข้อกังวลที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี บางท่านก็พูดว่า เขียนข้อบังคับขึ้นมาให้นายกรัฐมนตรีตอบแต่ละคำถามแค่ ๒ นาทีมันสั้นเกินไป ผมก็ต้อง เรียนตามตรงว่าถ้าท่านจะยกประเด็นนี้ขึ้นมานี้ ก็กรุณายกมาทั้งหมดผมไม่ได้เขียนแค่ว่า ให้นายกรัฐมนตรีตอบ ๒ นาที แต่ผมเขียนให้ผู้ถาม ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือผู้นำฝ่ายค้านนี้ ถามได้แค่คำถามละ ๒ นาทีเช่นกัน เจตนาไม่ใช่เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนั้นมีเวลาน้อยลงในการ ตอบคำถาม แต่เจตนาคือพยายามจะปรับรูปแบบการถามตอบให้มันมีความกระฉับกระเฉง มากขึ้น คือแทนที่ว่าผู้ถามก็ใช้เวลายาว ๑๐ นาที ๑๕ นาที ผู้ตอบก็ใช้เวลายาว ๑๐ นาที ๑๕ นาที พยายามจะให้มันมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น เหมือนกับบทสนทนาระหว่าง ๒ คนที่มีการถามไปตอบไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ปกติในวาระกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีหรือว่า Prime Minister’s Question ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบบรัฐสภา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๖ อันนี้เป็นประเด็นสั้น ๆ มีเพื่อนสมาชิกท่าน ๑ บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับ ข้อ ๑๒ ของผมที่ไปยกเลิกข้อ ๘๕ ที่เกี่ยวข้องกับการ นับคะแนนใหม่ อันนี้ความจริงต้องบอกว่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ถ้าท่านติดใจในชั้นกรรมาธิการ ก็ยินดีที่จะถอนนะครับ แต่อยากจะอธิบายเจตนารมณ์ก่อนว่าทำไมถึงเสนอให้มีการยกเลิก ข้อที่เกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ คือต้องบอกว่าหากเราไปย้อนดูข้อบังคับสมัยก่อน ๆ เราจะ พอเข้าใจได้ว่าเจตนารมณ์ของข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนใหม่นี้มันถูกเขียนขึ้นมา เพื่อปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญหาเชิงเทคนิค ว่าหากมีการลงมติไปแล้ว แล้วเกิดสมมุติมีการนับคะแนนผิด ซึ่งความจริง ๑๐ คนเห็นชอบ แต่ไปนับแค่ ๙ คนเห็นชอบ ถ้าเกิดมันมีความผิดพลาดเป็น Human Error หรือความผิดพลาด ของมนุษย์ในลักษณะเช่นนั้นควรจะเปิดให้มันมีโอกาสในการนับคะแนนใหม่เพื่อที่ว่าถ้าเกิด ว่าผลมันใกล้เคียงเกินไป นับคะแนนไม่ได้ Check อีกรอบหนึ่งว่าไม่มีการนับคะแนนผิด อันนั้นคือเจตนารมณ์การใช้คำว่า นับคะแนน แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่การลงมติแล้วมันใช้เป็น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ความผิดพลาดจากมนุษย์ในลักษณะแบบนั้นมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกต่อไป เพราะว่าแต่ละคนลงมติไปอย่างไรเครื่องมันก็จะขึ้นแบบนั้น ข้อกังวลในการ คงข้อบังคับเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ไว้อยู่ในวันที่เรามีเทคโนโลยีแบบนี้ ก็เป็นความกังวล ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่จะถูกบิดไปเป็นการเปิดช่องเพื่อใช้เป็นกลไกในการ โหวตใหม่นะครับ ซึ่งไม่เหมือนกับการนับคะแนนใหม่นับคะแนนใหม่คือทุกคนลงแบบหนึ่ง ไปแล้ว แต่ว่าถ้ามันมีการนับที่มันผิดพลาดก็คือนับกันใหม่เพื่อ Check ว่านับอย่างถูกต้อง แต่ลงคะแนนใหม่นี่คือท่านสามารถเปลี่ยนโหวตได้นะครับ จากรอบเดิมที่เห็นด้วยกับ รอบเดิมที่ไม่เห็นด้วย ถามว่าอันนี้อันตรายอย่างไร อันตรายครับ เพราะเกิดสมมุติมีการ พิจารณาร่างกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาแล้วเกิดผลออกมาว่า เห็นด้วย ชนะ ไม่เห็นด้วย แค่ ๑ หรือ ๒ คะแนน แล้วมันเปิดช่องให้สามารถโหวตใหม่ที่แต่ละคนสามารถเปลี่ยนการลงมติได้ หลายคนก็กังวลว่ามันอาจจะมีอิทธิพลอื่น ๆ เข้ามาแทรกแซง พอเห็นว่าคะแนนมันใกล้เคียง ขนาดนั้นก็อาจจะมีการให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อทำให้สมาชิกบางคนนั้นเปลี่ยนคะแนน เพื่อพลิกจากมติที่ก่อนหน้านี้เห็นด้วยเป็นมติที่ไม่เห็นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๗ อันนี้สั้น ๆ เหมือนกัน มีท่านหนึ่งบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอ ของผมที่เกี่ยวข้องกับข้อ ๑๓๘ ของข้อบังคับ ถามว่าข้อ ๑๓๘ เกี่ยวข้องกับอะไร ข้อ ๑๓๘ เป็นข้อบังคับที่เปิดช่องว่าหากมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติใดไปแล้ว แล้วเกิดมีข้อผิดพลาด เกิดขึ้น เช่น สมมุติว่าอาจจะมีการสะกดผิดขึ้นมา สภานั้นสามารถมีมติในการทบทวนได้ ปัจจุบันข้อบังคับเขียนว่าต้องเป็นมติ ๑ ใน ๒ ผมก็กังวลว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดมันเป็นเพียงแค่ ตัวสะกดจริง มติ ๑ ใน ๒ เราก็เข้าใจได้ แต่ผมกลัวว่าอันนี้มันจะไปเปิดช่องโหว่ให้บางคน ใช้ช่องนี้ไปแก้ไขตัวเนื้อหาสาระ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการยกระดับเป็น ๒ ใน ๓ มันก็น่าจะ รัดกุมขึ้น เพราะว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดมันเป็นแค่ข้อผิดพลาดเชิงตัวสะกด หรือข้อพิพาท เล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ ผมเชื่อว่าสมาชิกทุกคนก็พร้อมจะลงมติเห็นชอบ แต่ถ้าเราลด Bar ตรงนั้น มาเป็น ๑ ใน ๒ มันมีความเสี่ยง เพราะอันนี้อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือว่าเป็นช่องโหว่ ในการไปแก้ไขตัวเนื้อหาสาระมากกว่าแก้ไขข้อผิดพลาดที่เล็กน้อยนะครับ สั้น ๆ ครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๘ ๙ ๑๐ อันนี้ สั้นมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๘ มีท่านหนึ่งบอกว่า เราก็เพิ่งมีการแก้ไขข้อบังคับไป ทำไมถึงมา แก้ในวันนี้ ก็ต้องบอกว่าผมยื่นของผมก่อน ผมยื่นประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ว่า หลังจากนั้น ๑ เดือนพอมันมีการพูดคุยกันเรื่องชื่อและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ มีการยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับเข้ามาอีกฉบับหนึ่งจากซีกฝั่งรัฐบาล ซึ่งทางซีกฝ่ายค้าน ก็ยืนประกบแล้วก็มีการตกลง ๆ กันว่าในเมื่อร่างแก้ไขข้อบังคับชุดนั้นมันแก้ไขน้อยกว่า ให้เอาขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าแก้ไขไปแล้ว แล้วอันนี้มาเสนอทีหลัง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๙ บางท่านเป็นห่วงว่าการเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับนี้เป็นร่างแก้ไข ข้อบังคับที่เข้าใจหรือเปล่าว่าเราปกครองในระบบรัฐสภา ผมก็ต้องเข้าใจเป็นอย่างดีครับว่า ในระบบรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมันมีความเชื่อมโยงกัน และความจริงแล้ว ถ้าท่านเข้าใจในระบบรัฐสภาท่านก็จะรู้ในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภากระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีที่ท่านคัดค้านนักหนาเป็นเรื่องปกติมาก

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นสุดท้าย ท่านบอกว่าให้ผมใจเย็น ได้ครับ ยินดีน้อมรับครับ ดังนั้น ถ้าเกิดว่าวันนี้ท่านรู้สึกว่าเราเสนอเร็วเกินไป ท่านยังไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดทั้งหมดนี้ ผมก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านณัฐพงษ์เมื่อสักครู่ว่าอาจจะเป็นทางออกได้ ก็คือการส่งร่าง แก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ของผมไปที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดพื้นที่ ให้ทุกฝ่ายสามารถมาถกเถียงกันได้เพิ่มเติม ยื่นข้อเสนอของตนเอง แล้วก็หาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนที่จะนำร่างที่ทุกฝ่ายนั้นได้แสดงความเห็น แล้วก็วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วกลับเข้ามา ในสภาแห่งนี้อีกรอบหนึ่ง อันนี้น้อมรับครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอทิ้งแบบนี้ครับ ๒ เหตุผลสั้น ๆ ว่าทำไมหลังจากชี้แจงข้อกังวลแบบนี้ แล้วผมหวังว่าท่านจะลงมติรับหลักการ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๑ หลักการและเหตุผลที่ผมเสนอในร่างแก้ไขข้อบังคับนั้นเขียนไว้ กว้างมากครับ ดังนั้นถ้ามันมี ๙ ข้อเสนอหลักที่ผมเสนอในวันนี้ท่านเห็นด้วยกับบางข้อ ท่านไม่เห็นด้วยกับบางข้อ ท่านรับหลักการไปท่านสามารถแก้ไขทุกข้อที่ท่านไม่เห็นด้วย หมดเลย เราก็รู้อยู่แล้วว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมานี้ สส. รัฐบาลก็เป็น เสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นก็ไม่อยากให้ท่านกังวลในประเด็นนี้

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประเด็นที่ ๒ อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ผมโยนไปก่อนที่ร่างแก้ไข ข้อบังคับของผมจะถูกปัดตกหรือว่าถูกคว่ำ ผมก็กังวลไว้แล้วว่าพอผมเสนอร่างแก้ไข ข้อบังคับนี้ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นร่างข้อบังคับที่ให้ประโยชน์ กับฝ่ายค้าน ก็ตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของผมว่าผมเสนอแบบนี้ เพราะว่าจะให้ประโยชน์กับ ฝ่ายตนเองหรือเปล่า ก็ต้องยืนยันว่าไม่ใช่เจตนาของผมเลย ยกร่างฉบับนี้ขึ้นมาก่อนที่จะดู ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่หากท่านไม่สบายใจผมโยนไพ่ ใบสุดท้ายเลย เพื่อหวังว่าท่านจะยินดีลงมติรับหลักการ ก็คือว่าในชั้นกรรมาธิการถ้าผ่านมติ รับหลักการไปได้ในชั้นกรรมาธิการ ผมยินดีเขียนเพิ่มข้อหนึ่งเลยในบทเฉพาะกาลว่า ทั้งหมด ในข้อบังคับนี้ไม่บังคับใช้กับสภาชุดนี้เลยสักข้อ ให้ไปเริ่มบังคับใช้ในสภาชุดที่ ๒๗ ในวันที่เรา ไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายค้าน ใครเป็นฝ่ายรัฐบาล อันนี้เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ผมขอเสนอไปเพื่อแสดง ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของผมว่า ผมไม่ได้เสนอร่างนี้เพื่อจะให้ประโยชน์กับฝ่ายค้านหรือว่า พรรคก้าวไกลในวันนี้ แต่เป็นการเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ที่ผมมองในมุมมองของผมว่า จะทำให้สภาแห่งนี้ก้าวหน้าขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น มีความเป็นธรรม มากขึ้น และได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมากขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายในเช้าวันนี้เพื่อเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) แน่นอนว่าความสำเร็จของญัตตินี้ไม่สามารถรับประกัน ความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ความสำเร็จของญัตตินี้จะเป็นกระดุม เม็ดแรกที่สำคัญในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว หลักการและเหตุผลของญัตติที่ผม และเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ องค์ประกอบหลัก ด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๑ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็นความจำเป็น ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๒ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงมองว่ากระบวนการ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรจะเริ่มต้นด้วยการทำประชามติ

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๓ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเสนอตัวคำถาม ประชามติให้เป็นไปตามคำถามที่ปรากฏอยู่ในตัวญัตติ

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๔ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเสนอเรื่องประชามติ ผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตเริ่มต้นที่องค์ประกอบที่ ๑ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็น ความจำเป็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องนี้พรรคก้าวไกลคงไม่ต้องพูดยาวครับ เพราะพรรคก้าวไกลเรายืนยันมาตลอดว่าหากเราต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยและนำพา การเมืองไทยกลับสู่สภาวะปกติภารกิจหนึ่งที่ขาดหายไม่ได้คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนั้นขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ในส่วนของที่มาครับ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นไม่ได้ถูกขีดเขียนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง แต่ถูกขีดเขียนโดยคนไม่กี่คน ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหาร ในส่วนของกระบวนการครับ แม้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ จะมีการผ่านการทำประชามติในปี ๒๕๕๙ แต่ประชามติดังกล่าวก็ห่างเหินจากประชามติ ที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล หลายคนที่ออกมารณรงค์คัดค้านนั้น ก็ถูกจับกุมดำเนินคดี ในส่วนของเนื้อหาครับ เราก็จะเห็นว่าธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นยังมี เนื้อหาหลายส่วนที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศเรายังคงมีความบกพร่อง หากจะพูดถึงโจทย์ของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นมีการใช้ข้อความหลายส่วนที่ครอบคลุมและรัดกุมน้อยลงในการรับประกันสิทธิ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ในขณะที่มาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ก็มีการไปเพิ่มเหตุผลหรือข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยที่รัฐสามารถ ตีความได้อย่างกว้างขวาง ก็นำมาใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน หรือหากเรา จะมองไปถึงโจทย์ของการออกแบบสถาบันทางการเมืองให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เราก็จะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นได้มีการขยายอำนาจของหลายสถาบันหรือกลไก ทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่ง ทางการเมืองในการขัดขวางหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลไก ของวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ดังนั้นในเมื่อ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทางด้านที่มา กระบวนการ และมีปัญหาในเชิงเนื้อหาสาระในหลายมาตราที่มีลักษณะพัวพันกัน เราเลย ต้องยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหาผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๒ นั่นก็คือหลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเสนอว่า กระบวนการในการจัดทำรัฐบาลฉบับใหม่นั้นควรจะเริ่มต้นด้วยการจัดทำประชามติ แม้พรรคก้าวไกลเรายันว่าเป้าหมายปลายทางที่เราต้องการเดินไปสู่นั้นคือการมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราตระหนักดีว่าเป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ ก็จำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอนที่ทุกฝ่ายนั้นมีส่วนร่วม หากเราจะดำเนินการตามกระบวนการ ที่ถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ แล้วก็คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔ เราจำเป็นต้องจัดประชามติอย่างน้อย ๒ ครั้งด้วยกันครับ อย่างน้อย ๑ ครั้งก่อนที่เราจะมี สสร. มาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็อีก ๑ ครั้งหลังจากที่ สสร. นั้นได้ ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของประชามติที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ตรงนี้ไม่ได้มีข้อถกเถียงอะไรเท่าไรครับ เพราะเป็นการถามประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ยกร่างขึ้นมาหรือไม่ ท่านประธานครับ แต่ในส่วนของประชามติก่อนที่จะมี สสร. ขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ตรงนี้ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ในสังคมว่าขั้นตอนต่าง ๆ นั้นจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือจะต้องทำประชามติทั้งหมด กี่ครั้ง ๑ ครั้ง หรือ ๒ ครั้ง ก่อนจะมี สสร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของพรรคก้าวไกลและเพื่อน ๆ สมาชิกรัฐสภาจากอีกหลายพรรค เราเคยยืนยันร่วมกันมาแล้วว่าในเชิงกฎหมายหากเราอยากให้มี สสร. เกิดขึ้นมา สิ่งที่เรา ต้องทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เพื่อเพิ่มเรื่องกลไก สสร. เข้าไป โดยเริ่มต้นจาก การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมนั้นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อยื่นร่างเข้าไปแล้ว หากร่างดังกล่าวถูกพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในทั้ง ๓ วาระ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๖ (๘) ก็ได้กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ในเมื่อการแก้ไขดังกล่าวนั้นเป็นการแก้ไข เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการจัดประชามติหลังวาระ ๓ และก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อขอความเห็นจากพี่น้องประชาชนโดยตรง ซึ่งพอเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ เรามีประชามติทั้งหมด ๑ ครั้งก่อนมี สสร. ซึ่งก็ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๔/๒๕๖๔ ที่บอกว่าเราต้องมีประชามติ ๑ ครั้งก่อนจะมี สสร. ท่านประธานครับ แต่หากเรียนตามตรง ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่คิดแบบนี้หรือตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ หากเรา จำกันได้มีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่กลับไปมองว่าประชามติที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึงนั้นไม่ได้หมายถึงประชามติที่จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้วหลังจากร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ผ่าน ๓ วาระของรัฐสภา แต่พวกเขากลับไปตีความว่าประชามติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญหมายถึงนั้นคือประชามติที่ต้องเพิ่มเข้าไปอีก ๑ ครั้งก่อนจะมีการเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ ก็ตามเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งหากจะตีความกันแบบนั้นก็จะทำให้เรา ต้องเพิ่มจำนวนประชามติที่ต้องจัดก่อนมี สสร. เพิ่มจาก ๑ ครั้ง ขึ้นมาเป็น ๒ ครั้ง ดังนั้น ภายใต้ความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งก่อนจะมี สสร. แม้ในเชิงกฎหมาย ทางเราก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าการทำประชามติแค่ ๑ ครั้งก่อนมี สสร. นั้นเพียงพอแล้ว แต่ในเชิงการเมืองเรายอมรับได้หากจะต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ ครั้ง รวมเป็น ๒ ครั้ง ก่อนจะมี สสร.

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ในเชิงการเมืองเรายอมรับได้ หากมีความจำเป็นต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาจาก ๑ ครั้ง มาเป็น ๒ ครั้ง ก่อนจะมี สสร. ที่ผมพูดแบบนี้ครับท่านประธาน ก็เพราะตระหนักดีว่าหากเรายังคงยืนยันมุมมองทางกฎหมาย แบบเรา และเดินหน้าต่อไปในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่สภาเลย ก็อาจจะมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ใช้อำนาจตนเองในการปัดตกร่างดังกล่าว เหมือนกับที่ พวกเขาเคยอ้างตอนปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เมื่อเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๔ ด้วยการอ้างว่าต้องมีการทำประชามติ ๑ ครั้งก่อนจะเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่ในทางกลับกันหากเรายอมจัดประชามติเพิ่มขึ้นมา ๑ ครั้งก่อนจะเสนอร่างเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่สภา ประชามติดังกล่าวจะไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาในการสอบถามพี่น้อง ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศว่าพวกเขาอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่หากประชาชนลงมติเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลของประชามติดังกล่าว นั่นจะเป็นหลักประกันที่ทำให้ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหนมีเหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ ในการปัดตก เจตจำนงของพี่น้องประชาชน ตรงนี้เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้พรรคก้าวไกลเราถึงเสนอ ให้ริเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการจัดทำประชามติเป็นลำดับแรก

    อ่านในการประชุม

  • องค์ประกอบที่ ๓ หลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงเสนอตัวคำถาม ประชามติให้เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในญัตติ แม้ในอนาคตวันหนึ่งหลายพรรคอาจจะเห็น ตรงกันว่าเราต้องเดินหน้าด้วยการจัดทำประชามติ ท่านประธานครับ แต่ปิศาจอยู่ใน รายละเอียดเสมอ และรายละเอียดที่สำคัญของการจัดทำประชามติทุกครั้งคือตัวคำถาม ที่จะถูกถามในประชามติ ซึ่งเราเสนอในวันนี้ว่าควรเป็นคำถามที่ใช้ข้อความว่าท่านเห็นชอบ หรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของพี่น้องประชาชน เหตุผลที่เราเสนอคำถามนี้มีทั้งหมด ๓ ประการด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๑ คำถามประชามติที่เราเสนอนั้นเป็นการถามประชาชน ถึงหลักการสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมตระหนักดีว่าเราคง ไม่สามารถถามรายละเอียดทั้งหมดผ่านคูหาประชามติโดยตรงกับพี่น้องประชาชนได้ แต่เกณฑ์ที่เราควรจะยึดถือนั่นก็คืออะไรก็ตามที่เป็นหลักการสำคัญที่เราอยากให้ การตัดสินใจอยู่ในมือของพี่น้องประชาชนโดยตรง สิ่งเหล่านั้นก็ควรจะถูกบรรจุในตัวคำถาม ประชามติ แต่อะไรก็ตามที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เราพร้อมจะให้ตัวแทนของประชาชน มาถกเถียงและหาข้อสรุปกันในรัฐสภา สิ่งเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องรวมอยู่ในตัวคำถาม ของประชามติ ถ้าจะถามพรรคก้าวไกลว่าอะไรเป็นหลักการสำคัญที่ควรจะอยู่ในตัวคำถาม ประชามติ เราก็ต้องกลับมาตั้งหลักกันว่าเป้าหมายของทั้งหมดที่เรากำลังทำอยู่นี้ไม่ใช่เพียง การมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใหม่แค่โดยชื่อครับท่านประธาน แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้จริง ๆ พอเราตั้งเป้าหมายเป็นเช่นนั้นครับ เราจึงมองว่าหลักการที่สำคัญและควรถูกตัดสิน โดยพี่น้องประชาชนโดยตรงตั้งแต่วันแรกและบรรจุอยู่ในตัวคำถามประชามติจึงมีอยู่ ๒ หลักการด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • หลักการที่ ๑ ที่ควรจะรวมอยู่ในคำถามประชามติคือหลักการเรื่องการร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ท่านประธานครับ ผมเข้าใจดีว่าประชาชนนั้นย่อมมีความเห็น ที่แตกต่างกันว่าส่วนไหนของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนที่เขามองว่าเป็นปัญหาที่อยากจะเห็น การแก้ไข ดังนั้นหากเราต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นโอบรับทุกความเห็นที่แตกต่างกัน ออกไปและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง เราก็ไม่ควรไปกำหนดคำถามประชามติ ที่ไปคิดแทนพี่น้องประชาชนว่าส่วนไหนควรแก้หรือไม่ควรแก้ แต่เราควรจะต้องเขียนคำถาม ประชามติที่เปิดกว้างต่อทุกความเห็น ผมต้องย้ำเช่นกันว่าการเปิดให้เนื้อหาทั้งฉบับ ของรัฐธรรมนูญนั้นถูกแก้ไขได้ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดนั้นจะถูกแก้ไข เพราะหากมาตราใดในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้นเป็นมาตราที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไข มาตราเหล่านั้นก็ย่อมจะไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีการแก้ไขอยู่ดี ในส่วนของ ข้อกังวลที่เพื่อนสมาชิกบางท่านอาจจะมีว่าการเปิดให้ร่างใหม่ทั้งฉบับนั้นจะนำไปสู่ผลกระทบ ต่อรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐหรือไม่ ผมก็ต้องย้ำอีกรอบหนึ่งว่าการร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้อยู่แล้ว เพราะหาก เราไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๕ ก็ได้กำหนดไว้ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใด ๆ ก็ตามนั้นจะต้องไม่ทำ ๒ อย่าง นั่นก็คือข้อที่ ๑ ไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอย่างที่ ๒ คือไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ ของรัฐ

    อ่านในการประชุม

  • หลักการที่ ๒ ที่ผมมองว่าควรจะถูกบรรจุอยู่ในตัวคำถามประชามตินั้นก็คือ หลักการว่า สสร. มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในขั้นพื้นฐานหากเรายึดหลักการ ประชาธิปไตย ในเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอำนาจในการมายกร่างกฎหมายทั่วไปนั้น ยังต้องมาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมสมาชิกสภาร่างธรรมนูญที่มีอำนาจ ร่างกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญจึงควรจะมีความยึดโยงกับประชาชนที่น้อยกว่าสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ยิ่งไปกว่านั้นหากเราไม่ต้องการให้ สสร. นั้นถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายในสังคม วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การมี สสร. ที่มีส่วนผสม การแต่งตั้งที่มีความสุ่มเสี่ยงถูกแทรกแซงโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรจะเป็น สสร. ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะจะเป็นตัวแทน ของทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคมตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของข้อกังวลที่เพื่อนสมาชิกบางคนยังคงมีอยู่ว่าการกำหนดให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นจะทำให้เราขาดผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหรือไม่ ผมก็ต้อง อธิบายอีกรอบหนึ่งว่าแม้ สสร. จะมาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ สสร. ก็สามารถ ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายนั้นที่อาจจะไม่ประสงค์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างหรือให้คำแนะนำได้ แต่การทำให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นเพียงการวางหลักประกันว่าเมื่อผู้เชี่ยวชาญ ดังกล่าวนั้นให้คำแนะนำหรือช่วยยกร่างขึ้นมาแล้ว ทุกการตัดสินใจจะต้องผ่านความเห็นชอบ ของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น แต่เพื่อจะคลายข้อกังวลนี้ เพิ่มเติมไปอีกครับ ผมก็อยากจะมา Update ให้เพื่อน ๆ สมาชิกและท่านประธานได้ทราบ ว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมี ส่วนร่วมของประชาชน ก็ได้มีมติในการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อมาจัดทำข้อเสนอ และทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย และนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในอนาคต ผมเข้าใจดีว่าในที่สุดแล้วรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ สสร. นั้นจะต้องถูกแปลงร่างมาเป็น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำกลับเข้ามาถกกันในรัฐสภาแห่งนี้ แต่ผมก็เชื่อว่าหากเรามี การถามประชาชนโดยตรงเกี่ยวกับหลักการใด ๆ ก็ตามผ่านประชามติ และหากประชาชน ส่วนใหญ่ลงมติกันอย่างท่วมท้นว่าเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว ก็คงไม่มีสมาชิกรัฐสภา คนไหนที่จะกล้าฝืนผลของประชามติได้ลงคอครับ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๒ ที่ทำไมเราถึงออกแบบคำถามให้เป็นไปตามคำถาม ที่ปรากฏอยู่ในญัตติ ก็เพราะว่าเรามองว่าคำถามประชามติที่เราเสนอนั้นเป็นคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ ท่านประธานครับ ถ้าเราจำกันได้ข้อวิจารณ์สำคัญข้อหนึ่งต่อคำถามพ่วงในประชามติ ปี ๒๕๕๙ ที่นำไปสู่มาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญที่เปิดอำนาจให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนั่น ก็คือข้อวิจารณ์ว่าคำถามในวันนั้นไม่ได้ถามเรื่องดังกล่าว อย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการเขียนคำถามที่มีลักษณะซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราจึงได้เสนอข้อความที่เรามองว่าน่าจะกระชับ เข้าใจง่าย และตรงไปตรงมาที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลประการที่ ๓ ที่ทำไมเราถึงเสนอคำถามประชามติเช่นนี้ ก็เพราะ คำถามประชามติที่เราเสนอกันอยู่ในวันนี้เป็นคำถามประชามติที่ทุกพรรคการเมืองหลัก จากสภาชุดที่แล้วเคยลงมติเห็นชอบกันมาก่อน ผมสารภาพว่าคำถามที่ผมเสนอในญัตติวันนี้ ไม่ได้เป็นคำถามใหม่ครับ แต่เป็นคำถามที่เคยถูกเสนอแล้ว เป็นญัตติด่วน โดย สส. จาก ๒ พรรคการเมือง ก็คือ สส. จากพรรคก้าวไกลท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ สส. จากพรรคเพื่อไทย ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี ๒๕๖๕ ยิ่งไปกว่านั้น ญัตติด่วนที่เสนอคำถามประชามติดังกล่าวในวันนั้นก็ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จากสภาผู้แทนราษฎร จาก สส. จากทุกพรรคการเมืองหลักที่เข้าประชุมเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ดังนั้นสำหรับพรรคไหนก็ตามหรือ สส. ท่านใดก็ตามที่เคยลงมติเห็นชอบ กับคำถามประชามติที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ในวันนี้ ผมเชื่อว่าผ่านมาไม่ถึง ๑ ปี คิดรวมกัน เพียงแค่ ๓๕๖ วัน ท่านคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เท่านั้นเปลี่ยนจุดยืนไปจากเดิม แต่หาก วันนี้ถ้าจะเปลี่ยนจุดยืนท่านจริง ๆ ผมก็หวังว่าท่านจะมีความรับผิดชอบในการลุกขึ้นมา อธิบายต่อสภาแห่งนี้และต่อหน้าประชาชนทุกคนที่รับชมการประชุมสภาวันนี้อยู่ว่าทำไม จุดยืนของท่านจึงได้เปลี่ยนแปลงไป

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายองค์ประกอบที่ ๔ นั่นก็คือหลักการและเหตุผลว่า ทำไมเราถึงเสนอเรื่องประชามติผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ต้องเรียนท่านประธาน แบบนี้ว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ การตัดสินใจว่าจะจัดประชามติเรื่องอะไร ด้วยคำถามแบบไหนสามารถกระทำได้ผ่าน ๓ ช่องทางหรือ ๓ กลไก ช่องทางที่ ๑ การที่ ครม. นั้นออกมติด้วยตนเองตามมาตรา ๙ (๒) ช่องทางที่ ๒ การที่ประชาชนเข้าชื่ออย่างน้อย ๕๐,๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอให้ ครม. อนุมัติตามมาตรา ๙ (๕) และช่องทางที่ ๓ คือการที่ สมาชิกรัฐสภานั้นเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบตามมาตรา ๙ (๔) ผมเข้าใจ ว่าหลายท่านอาจจะสงสัยในเมื่อรัฐบาลเองก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาแล้ว เพื่อหวังจะใช้อำนาจตามกลไกที่ ๑ และในเมื่อภาคประชาชนภายใต้ชื่อ Conforall ก็ได้มี การรวบรวม ๒๐๐,๐๐๐ กว่ารายชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติให้ ครม. แล้วตามกลไกที่ ๒ แล้วทำไมพรรคก้าวไกลเราถึงยังต้องเสนออีกช่องทางหนึ่งตามกลไกที่ ๓ ผมก็ต้องเรียน ตามตรงกับว่าเหตุผลที่เราเสนอญัตติในวันนี้ก็เพราะเราไม่รู้เลยว่าลึก ๆ แล้วรัฐบาล จะคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับจัดทำประชามติหรือตัวคำถามมติที่จะถูกถาม แต่เรามองแล้วเรา วิเคราะห์ว่าไม่ว่ารัฐบาลจะคิดเห็นอย่างไร การยื่นญัตติในสภาวันนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ กับทุกฝ่าย แล้วไม่ได้ก่อความเสียหายแต่อย่างใด หากจะให้ผมลองอ่านใจรัฐบาลดูผมคิดว่า มีความเป็นไปได้หรือฉากทัศน์เพียงแค่ ๓ ความเป็นไปได้หรือ ๓ ฉากทัศน์เท่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • ความเป็นไปได้ที่ ๑ คือรัฐบาลนั้นคิดเห็นตรงกับพรรคก้าวไกลหมดเลย เกี่ยวกับการจัดทำประชามติและตัวคำถามประชามติ หากเป็นเช่นนี้เราคงไม่ต้องอภิปราย กันเยอะ แล้วผมก็เชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากซีกรัฐบาลก็คงไม่ลำบากใจอะไรที่จะ ลงมติสนับสนุนญัตตินี้ให้เดินหน้าต่อไปได้แบบคู่ขนานกับการทำงานของรัฐบาล เพราะไม่ว่า กลไกไหนจะไปได้เร็วกว่าหรือสำเร็จก่อน ท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์ก็คือพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • หรืออาจจะเป็นฉากทัศน์หรือความเป็นไปได้ที่ ๒ นั่นก็คือรัฐบาลยังไม่แน่ใจว่า จะเดินหน้าต่อเรื่องประชามติอย่างไรหรือคำถามควรจะเป็นเช่นไร หากเป็นเช่นนี้การที่เรา เสนอญัตติในสภาวันนี้เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็น่าจะเป็น ประโยชน์กับรัฐบาลในการรวบรวมความเห็นของทุกฝ่าย ผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลได้มีการตั้ง คณะกรรมการศึกษาขึ้นมา มีกรรมการ ๓๐ กว่าคนเพื่อมารับฟังความเห็นที่หลากหลาย แต่อย่าลืมว่าสภาแห่งนี้ต่างหากครับ ไม่ใช่คณะกรรมการศึกษาที่เป็นสถานที่ที่มีตัวแทน ของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และที่เข้ามาตามสัดส่วนของชุดความคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมจริง ๆ หรือ

    อ่านในการประชุม

  • ความเป็นไปได้และฉากทัศน์ที่ ๓ รัฐบาลนั้นจริง ๆ แล้วคิดต่างจากเรา อย่างสิ้นเชิงเลยเกี่ยวกับการจัดทำประชามติหรือตัวคำถามประชามติ หากเป็นเช่นนี้ เราในฐานะฝ่ายค้านก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้กลไกของสภาในการยื่นญัตตินี้ครับ เพราะกลไกสภา จะกลายเป็นหนทางเดียวที่ความเห็นของเรานั้นจะมีโอกาสได้รับการตอบสนอง หากความเห็นนั้นได้รับความเห็นชอบจากเพื่อน ๆ สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน ที่ผม พูดแบบนี้ก็เพราะว่าหาก ครม. จะใช้วิธีการออกมติ ครม. ด้วยตนเองเพื่อจัดประชามติ รัฐบาล ท้ายที่สุดแล้วจะฟังหรือไม่ฟังเรา จะทำตามหรือไม่ทำตามความเห็นเรา ก็เป็น สิทธิของรัฐบาล หรือหากเราจะหวังพึ่งกลไกของการรวบรวมรายชื่อจากภาคประชาชน เพื่อเสนอไปที่ ครม. แต่กลไกนี้ ครม. ก็ยังเป็นคนมีอำนาจชี้ขาดอยู่ดีว่าจะอนุมัติข้อเสนอ จากภาคประชาชนหรือไม่ แต่หากเราเสนอเป็นญัตติผ่านกลไกของสภา และเพื่อนสมาชิก ทั้ง ๒ สภาเห็นตรงกันกับเราจนเป็นฉันทานุมัติจาก ๒ สภา แม้เรื่องนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่อง ที่ยากครับ แต่หากเกิดขึ้นจริง พ.ร.บ. ประชามติมาตรา ๙ (๔) ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ครม. นั้นจะต้องดำเนินการในการจัดประชามติตามข้อเสนอและตัวคำถามที่รับ ความเห็นชอบจาก ๒ สภา ไม่ว่าข้อมูลจะเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอและตัวคำถามดังกล่าว ดังนั้น ท่านประธานหากจะกล่าวโดยสรุป เพื่อให้เราเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของประชาชนที่เริ่มต้นจากการให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจโดยตรงผ่านคูหาประชามติ ว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจาก การเลือกตั้งทางตรง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องขอแรงสนับสนุนจากเพื่อน ๆ สมาชิกจากทุกพรรคในการลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ เพื่อยืนยันร่วมกันว่าผู้แทนราษฎร ทุกคนในสภาแห่งนี้พร้อมแล้วที่จะติดกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราพร้อมแล้วที่จะนับหนึ่งสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย และเราพร้อมที่จะสร้างฉันทามติใหม่ ของประเทศที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และโอบรับความฝันของพี่น้องประชาชนทุกคนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่าน โดยเฉพาะ เพื่อนสมาชิกจากซีกรัฐบาลทั้ง ๑๕ ท่าน ที่ได้อภิปรายแสดงความเห็น ข้อคิดเกี่ยวกับญัตติ ที่ผมและพรรคก้าวไกลได้เสนอในวันนี้เกี่ยวกับการจัดทำประชามติเพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากได้ฟังคำอภิปรายของทุกท่านมาตลอดระยะเวลาประมาณ ๓-๔ ชั่วโมงที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้ฟังข้อความของทุกท่าน แล้วต้องบอกว่า ณ เวลานี้ผมอาจจะ อยู่ในสภาวะที่สบายใจครึ่งหนึ่ง ครึ่งที่ผมสบายใจคือผมคิดว่าเราได้รับคำยืนยันจากตัวแทนของทุกพรรคการเมือง ในสภาแห่งนี้ว่าทุกพรรคนั้นมีความประสงค์ที่จะเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และออกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ที่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าขาดความชอบธรรม ทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา แต่อีกครึ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้ผมยัง ไม่สามารถสบายใจได้เต็มที่ ก็คือจากคำอภิปรายของตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ผมคิดว่าเรายังมีความเห็นที่ค่อนข้างแตกต่างกันอยู่ ว่าถึงแม้เราเห็นตรงกันว่าควรจะออก จากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จุดหมายปลายทางที่เราอยากจะเดิน ไปสู่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และกระบวนการรวมไปถึงตัวคำถามประชามติที่เราจะใช้ ระหว่างทางนั้นควรจะเป็นเช่นไร เพื่อให้การอภิปรายสรุปญัตติของผมในวันนี้นั้นไม่ซ้ำซ้อน กับเนื้อหาที่ผมได้อภิปรายไว้ตอนเปิดแล้ว หรือซ้ำซ้อนกับเนื้อหาที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไว้ ผมขออนุญาตแบ่งการสรุปเป็นเพียงแค่การชี้แจงประเด็นคำถามที่หลายท่านได้ตั้งขึ้นมา เกี่ยวกับรายละเอียดของญัตติตรงนี้ หลังจากจดทุกประเด็นมาครับท่านประธาน ผมสรุป ได้ว่ามีประเด็นที่ผมจำเป็นที่จะต้องชี้แจงและตอบคำถามเพื่อนสมาชิกทั้งหมด ๑๒ ประเด็น แบ่งเป็น ๖ หมวดหมู่ เริ่มต้นที่หมวดหมู่ที่ ๑ มีทั้งหมด ๒ ประเด็น เป็นการชี้แจงหมวดหมู่ เกี่ยวกับเรื่องกลไก พ.ร.บ. ประชามติ ที่ผมเกรงว่ายังมีบางส่วนที่อาจจะยังเป็นข้อมูล ที่คลาดเคลื่อน ในหมวดหมู่เรื่องของกลไก พ.ร.บ. ประชามติ ผมจับได้ทั้งหมด ๒ ประเด็น ที่ผมจำเป็นต้องชี้แจง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามว่าทำไมในการเสนอญัตติ เกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้เราถึงได้ไประบุตัวคำถามในตัวญัตติเลยแทนที่จะเป็น การอภิปรายหลักการกว้าง ๆ เพื่อเสนอไปสู่คณะรัฐมนตรี ก็ต้องเรียนตามตรงครับท่านประธาน ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ขึ้น Slide หน้า ๑

    อ่านในการประชุม

  • ที่เราต้องเสนอตัวคำถามก็เพราะ อันนั้นมันเป็นไปตามข้อบังคับ พ.ร.บ. ประชามติมาตรา ๙ (๔) และข้อบังคับที่ตามมา ก็กำหนดไว้ชัดว่าถ้าจะเสนอเป็นญัตตินั้นก็จำเป็นต้องมีตัวคำถาม เพราะฉะนั้นอันนี้ชี้แจง สั้น ๆ ว่าสิ่งที่ผมได้ทำไปนั้นก็เป็นไปตามข้อบังคับทุกประการ ไม่สามารถเสนอญัตติ ตามกลไก พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) ได้หากไม่เสนอตัวคำถามประชามติ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ที่ผมเกรงว่าเรายังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่คือการตีความว่า หากมีการเสนอญัตติให้เดินหน้าจัดทำประชามติผ่านกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) แล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ พอส่งไป ที่ ครม. แล้ว ครม. จะมีดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่ ผมเกรงว่าประเด็นนี้ ผมก็ยังเห็นต่างจากเพื่อนสมาชิกหลายท่าน Slide ที่ ๒ ที่ผมเห็นต่างครับ เพราะผมมองว่า หากเราอ่านกฎหมาย พ.ร.บ. ประชามติ ปี ๒๕๖๔ อย่างละเอียด จะเห็นชัดว่าข้อความที่ใช้ ในมาตรา ๙ (๔) นั้นดูเหมือนจะไม่ได้เปิดให้ ครม. นั้นมีดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าจะอนุมัติ ฉันทานุมัติที่ได้รับจาก ๒ สภาหรือไม่ หากเราจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ลองเปรียบเทียบกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) กับมาตรา ๙ (๕) เราก็จะเห็นถึงความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ หากเราไปดูในส่วนของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) จะเห็นว่าการออกเสียงใด ๆ ก็ตาม ที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะได้มีการออกเสียงและได้แจ้งเรื่อง ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ สังเกตนะครับ ข้อความในกล่องสีแดงใช้คำว่า แจ้งเรื่อง ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ไม่มีส่วนไหนที่เขียนว่าขอให้คณะรัฐมนตรีนั้นอนุมัติหรือเห็นชอบ แต่ในทางกลับกัน หากเราไปดูกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๕) อยู่ข้างล่างมา เพียงแค่ ๑ บรรทัด อันนี้เป็นกลไกที่เปิดให้ประชาชนนั้นสามารถเข้าชื่อได้ การเข้าชื่อกัน อย่างน้อย ๕๐,๐๐๐ รายชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ผมคิดว่าการเลือกใช้ ข้อความที่มีความแตกต่างกันระหว่างมาตรา ๙ (๔) กับมาตรา ๙ (๕) มันเป็นเจตนาที่ชัดเจน ว่าหากเป็นกรณีมาตรา ๙ (๕) ที่ภาคประชาชนเข้าชื่ออย่างน้อย ๕๐,๐๐๐ รายชื่อนั้น ครม. มีดุลยพินิจต้องให้ความเห็นชอบ แต่หากเป็นกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๙ (๔) ที่ผ่านความเห็นชอบของ ๒ สภานั้น เราจะเห็นชัดว่าไม่ได้มีคำพูดไหนที่มีเจตนาจะบอกว่า ครม. นั้นมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ มีเพียงแค่การบอกว่าให้แจ้งให้ ครม. นั้นดำเนินการ ตามฉันทานุมัติของรัฐสภา

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่หมวดหมู่ที่ ๒ ที่จำเป็นต้องชี้แจง เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ามีการอภิปราย ถึงพอสมควรในสภาวันนี้ นั่นก็คือข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องหมวด ๑ และหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ กับหมวด ๑ เรื่องของบททั่วไป แล้วก็หมวด ๒ เรื่องของพระมหากษัตริย์ หลายท่าน ก็ได้อภิปรายแสดงความเห็นไว้ว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อความใด ๆ หรือมาตราใด ๆ ในหมวด ๑ หมวด ๒ ซึ่งผมก็เคารพความเห็นของท่าน แต่ผมต้องชี้แจงใน ๒ ประเด็น ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ สาระสำคัญของการอภิปรายและสาระสำคัญของญัตติ ในวันนี้มันไม่ได้เป็นข้อเสนอของพรรคก้าวไกลว่าจะต้องแก้ไขข้อความใด ๆ ในหมวด ๑ และหมวด ๒ นะครับ ย้ำอีกรอบ หัวใจสำคัญและสาระสำคัญของการเสนอญัตติในวันนี้ไม่ใช่ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลว่าจะแก้ไขข้อความใด ๆ ในหมวด ๑ และหมวด ๒ แต่เป็นเพียง การบอกว่าถ้าจะมีการแก้ไขมาตราใด ๆ ก็ตามในรัฐธรรมนูญนั้น เราควรจะให้ สสร. ไปถกกันว่าจะแก้ไขเรื่องอะไรหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ถึงแม้สมาชิกบางท่านก็อาจจะยังไม่สบายใจอยู่ดีว่าหากเรา ให้อำนาจ สสร. ไปพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับแล้ว แล้วเกิดเสียงส่วนใหญ่ของ สสร. เห็นชอบ ในการแก้ไขบางข้อความในหมวด ๑ หมวด ๒ หลายท่านก็ได้แสดงความเห็นว่าไม่สบายใจ อยู่ดี ผมก็ต้องเรียนกับท่านตามตรง แล้วก็หวังว่าอาจจะพอคลายความกังวลของท่านได้บ้าง ว่าถึงแม้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ถึงแม้ สสร. มีอำนาจในการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และมีการแก้ไขบางข้อความในหมวด ๑ และหมวด ๒ จริง ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่า การแก้ไขดังกล่าวนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ด้วยเหตุผล ๓ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๑ ไม่ว่า สสร. จะแก้ไขข้อความใด ๆ ในหมวด ๑ หมวด ๒ ผมก็ได้ ย้ำไปแล้วตอนเปิดญัตติว่ามาตรา ๒๕๕ ก็ได้กำกับไว้ชัดเจนว่าจะแก้ไขข้อความใด ๆ ก็ได้ จะต้องไม่ทำ ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือต้องไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอย่างที่ ๒ คือต้องไม่เปลี่ยนรูปแบบรัฐจากการเป็น รัฐเดี่ยว ดังนั้นท่านไม่จำเป็นต้องกังวลในประเด็นนี้

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๒ ถ้าเราไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราก็จะเห็นว่า ความจริงแล้วข้อความในหมวด ๑ หมวด ๒ นั้นก็มีการแก้ไขมาโดยตลอด ทุกครั้งที่มี การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ปี ๒๕๕๐ ปี ๒๕๖๐ ความจริงแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนข้อความในหมวด ๑ และหมวด ๒ มาโดยตลอด

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผลที่ ๓ เหตุผลสุดท้าย ถ้าท่านกังวลมากเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขข้อความ บางอย่างในหมวด ๑ และหมวด ๒ ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่าแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบันละครับ ก็เปิดให้สามารถแก้ไขข้อความในหมวด ๑ และหมวด ๒ ได้ เขาเพียงแค่กำหนดว่าถ้าไปแก้ไขนั้น จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและรูปแบบรัฐ ตามมาตรา ๒๕๕ และหากเป็นการแก้ไขข้อความในหมวด ๑ หมวด ๒ มาตรา ๒๕๖ ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการทำประชามติหลังจากผ่านสามวาระของรัฐสภา

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่หมวดหมู่ที่ ๓ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันพอสมควร นั่นก็คือ เรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในหมวดหมู่นี้ผมมี ๓ ประเด็นที่จำเป็นต้องชี้แจง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ทางพรรคแกนนำรัฐบาลก็ได้มีสมาชิกหลายท่านที่ได้ย้ำว่าสิ่งที่ รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นไปตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าในการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ผมเกรงว่าคำยืนยันของสมาชิกหลายท่านจากพรรคแกนนำรัฐบาล ได้ตกหล่นสาระสำคัญไปอย่างหนึ่ง หากฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์จะขึ้น Slide ให้เราดูประกอบ คือถ้าเราย้อนไปดูคำแถลงนโยบายหรือว่าตัวข้อความนโยบายที่ถูกเสนอโดยพรรคแกนนำ รัฐบาล ที่ส่งเป็นเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้กับ กกต. เมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๖ ก่อนการเลือกตั้ง ๑ เดือน เราจะเห็นนะครับว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงแค่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนโดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเพียงแค่นั้น แต่มีการระบุในตัว ข้อความนโยบายเลยว่าต้องเป็นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังอภิปรายในวันนี้ แล้วเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่อง สสร. ที่มาจาก การเลือกตั้ง ก็เพราะว่าท่านเองนั้นเคยบรรจุอยู่ในนโยบายของท่านเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายด้วยความกังวล ซึ่งผมก็น้อมรับ ความเห็นว่าถ้าเราให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนโยบาย ของพรรคเพื่อไทยตรงนี้แล้ว จะทำให้ สสร. นั้นไม่มีพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หรือไม่ อันนี้ผมก็ต้องเรียนเพื่อนสมาชิกว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับการมีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย อย่างที่ผมได้ย้ำไว้ ตอนเปิดการอภิปรายญัตตินี้ไปว่าทางออกที่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ก็คือการให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นไปตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งที่อาจจะมีพื้นที่ กับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเข้ามา มาช่วยยกร่าง มาช่วยให้คำแนะนำ เพียงแต่ว่า เมื่อผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาแล้ว ก่อนที่จะถูกส่งไปหาพี่น้อง ประชาชนในการทำประชามติ ต้องผ่านความเห็นชอบจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก่อนเท่านั้นเอง หรือถ้าเปรียบภาพให้เห็นง่าย ๆ มันเสมือนกับว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นก็เป็นตัวแทนของเจ้าของบ้าน นั่นก็คือประชาชนทุกคน ที่เลือกตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งหรือว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่า ตัวแทนของเจ้าของบ้านนั้นอาจจะมีการเชิญชวนสถาปนิกบางคนที่มาช่วยออกแบบบ้าน ให้ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนหรือตัวแทนเจ้าของบ้านเท่านั้นเอง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ก็มีเพื่อนสมาชิกอีกท่านหนึ่งที่มีความกังวลว่าการที่เรามี สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น จะทำให้เราไม่มีพื้นที่สำหรับกลุ่มที่อาจจะมีความหลากหลาย ทางวิชาชีพ หรือความหลากหลายทางกลุ่มสังคมหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ผมก็หวังว่าความหลากหลายทางอาชีพและความหลากหลาย ทางกลุ่มสังคมที่เราเห็นอยู่ในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๕๐๐ คน หรือในบรรดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ๑๕๐ คนนั้น ก็น่าจะเป็นหลักประกันได้ ในระดับหนึ่งว่าการเปิดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วย การไม่ได้ความหลากหลายทางวิชาชีพและความหลากหลายทางกลุ่มสังคม

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ผมต้องย้ำอีกรอบหนึ่งว่าเราสามารถมาออกแบบระบบเลือกตั้ง ที่ทำให้เราไม่ต้องเลือกได้ ไม่ต้องเลือกระหว่างการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับการมีพื้นที่ให้กับกลุ่มที่อาจจะมีความหลากหลายทางวิชาชีพหรือกลุ่มสังคมต่าง ๆ ผมยกตัวอย่างสั้น ๆ ครับ หากสมมุติว่าเรามี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ๑๐๐ คน ผมบอกก่อนว่าผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งนี้ แต่เราสามารถมีระบบเลือกตั้งได้ ที่บอกว่าในบรรดา สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ คน เราอาจจะแบ่งออกเป็น ๑๐ กลุ่ม ๑๐ กลุ่มทางวิชาชีพ ๑๐ กลุ่มทางสังคม แล้วก็เปิดให้บุคคลที่อยู่ในกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่ม สังคมนั้นเข้ามาเป็นผู้สมัครในโควตาใน ๑๐ กลุ่มนั้น เสร็จแล้วเราก็ให้ประชาชนไปเลือกว่า ใน ๑๐ กลุ่มนั้น ในแต่ละกลุ่มนั้นเขาต้องการจะเลือกผู้สมัครคนไหนให้เป็นตัวแทนของกลุ่ม วิชาชีพหรือกลุ่มสังคมต่าง ๆ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น หากสมมุติ ๑๐ กลุ่มนั้น อาจจะมี บางกลุ่มที่เป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกร อาจจะมีบางกลุ่มที่เป็นตัวแทนบุคลากรทางการศึกษา อาจจะมีบางกลุ่มที่เป็นตัวแทนเยาวชน เราก็เปิดให้บุคลากรทางการศึกษา เปิดให้ตัวแทน เกษตรกร เปิดให้เยาวชนสามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ และประชาชนก็เข้าคูหาไปเลือกว่า ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรการศึกษาเราจะเลือกผู้สมัครคนไหน กลุ่มที่เป็นตัวแทน เกษตรกรเราจะเลือกผู้สมัครคนไหน กลุ่มที่เป็นตัวแทนเยาวชนเราจะเลือกผู้สมัครคนไหน ดังนั้นจะเห็นว่าการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องแลกมากับ การที่เราไม่มีตัวแทนที่มีความหลากหลายทางวิชาชีพและความหลากหลายทางกลุ่มสังคม แต่หากท่านยังไม่สบายใจครับ ผมก็เพิ่มอีกข้อเท็จจริงหนึ่ง เพราะตอนนี้เราก็ได้มีการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาภายใต้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อมาจัดทำข้อเสนอ เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งต่าง ๆ ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ในการเลือกตั้ง สสร. และผมก็ย้ำ อีกรอบหนึ่งว่าคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ก็มีการเปิดให้มีตัวแทนจากทั้งซีกรัฐบาลและซีก ฝ่ายค้านมาร่วมทำงานไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นถ้าท่านกังวลเรื่องนี้ผมก็เชิญชวนคุยกับตัวแทน ของพรรคท่านในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมี ส่วนร่วมของประชาชน แล้วก็เสนอตัวมาอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการนี้ แล้วมาทำงานร่วมกัน ว่าเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้มีตัวแทนที่มีความหลากหลาย ทางวิชาชีพและกลุ่มสังคม

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่หมวดหมู่ที่ ๔ เกี่ยวกับเรื่องวุฒิสภา อันนี้มี ๒ ประการสั้น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ มีเพื่อนสมาชิกบางท่านก็มีความกังวลแล้วก็ได้แสดงความเห็น ออกมาว่าเราเคยมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่รัฐสภาแล้ว เพียงแต่ว่า พอไปสู่วาระที่สาม สว. ไม่ให้ความเห็นชอบ ผมก็ต้องย้ำอีกรอบว่าถ้าเราย้อนไปฟัง คำอภิปรายของ สว. ในวันนั้น และสมาชิกรัฐสภาในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน เราจะเห็นว่าเหตุผลที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. ถูกปฏิเสธไปในวาระที่สามนั้น ไม่ใช่เพราะว่าสมาชิกอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เขาตัดสินใจ ไม่มาลงมติเห็นชอบเพราะไปอ้างคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ เพื่อบอกว่าให้เรา ต้องไปดำเนินการจัดประชามติครั้งหนึ่งก่อนที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้ามาสู่รัฐสภาในวาระที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำอยู่วันนี้ก็คือเดินตามสิ่งที่เขาร้องขอ ในวันนั้น ดังนั้นหากเราเดินทางตามเส้นทางนี้ จัดประชามติครั้งหนึ่งก่อน มีผลของประชามติ มายืนยันและเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้ามาสู่รัฐสภา ก็คงไม่มีเหตุผลใด ที่สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะปัดตกเจตจำนงของประชาชนได้อีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องวุฒิสภา ผมฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่านอภิปราย เกี่ยวกับเรื่องบทบาทของวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมยอมรับว่าผมค่อนข้างสับสนว่า ตกลงแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาลควรจะวางความสัมพันธ์กับวุฒิสภาอย่างไร ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะในมุมหนึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกจากซีกรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่อภิปรายลักษณะว่าเราจำเป็นมากที่จะต้องฟังเสียงของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ถึงขั้นที่ไปเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่ให้มี สสร. ที่มีตัวแทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและตัวแทนจากสมาชิกวุฒิสภา ถ้าท่านประธานลองจินตนาการง่าย ๆ แทนที่เราจะมี สส. ๕๐๐ คน และ สว. ๒๕๐ คนนั้น ข้อเสนอนี้คือการตั้ง สสร. ขึ้นมาชุดหนึ่งที่อาจจะมีตัวแทนจากฝั่ง สส. สัก ๕๐ คน ตัวแทน จากฝั่ง สว. สัก ๒๕ คน เป็นต้น เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าทางออกแบบนี้ เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะมันกลายเป็นว่าตัวแทนของ สว. ๒๕ คน บวกกับเสียงข้างน้อย ของตัวแทน สส. สามารถรวมกันเป็นเสียงข้างมากของ สสร. ชุดนี้ แล้วก็มีอำนาจชี้ขาดว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเรามี Model สสร. แบบนี้ อันนี้คือการต่อ ขยายอายุให้กับมาตรา ๒๗๒ ที่ปัจจุบันเปิดให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งนั้นมีอำนาจร่วมเลือก นายกรัฐมนตรี และเปิดให้มีช่องที่ทำให้ สว. ๒๕๐ คน บวกกับ สส. ที่เป็นเสียงข้างน้อย ของสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ ขัดกับหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน และผมเกรงว่าเป็นรูปแบบของ สสร. ที่พรรคก้าวไกลนั้น ต้องขออนุญาตไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการหนึ่ง ก็มีเพื่อนสมาชิกจากพรรคเดียวกันมีการอภิปรายว่าไม่อยาก ให้ สว. มีส่วนร่วมเลย บอกว่าเกรงว่าถ้าเสนอญัตติเกี่ยวกับประชามติผ่านสภาผู้แทนราษฎร เกิดได้รับความเห็นชอบไปแล้ว เข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แล้ววุฒิสภาต้องลงมติ จะทำให้กระบวนการทั้งหมดมันด่างพร้อย เสมือนกับว่าการเสนอประชามติผ่านกลไก มาตรา ๙ (๔) ให้ สว. ต้องมาลงมติด้วยมันจะด่างพร้อย ผมก็ไม่ติดใจนะครับ ความจริง หลักการแบบนี้ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี เพราะผมก็คิดว่า สว. ที่มาจากการแต่งตั้งและมี ผลประโยชน์ทับซ้อนกับการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ก็เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ แต่ถ้าท่านกังวลมากว่าไม่อยากให้ สว. มีส่วนร่วมเพื่อทำให้กระบวนการนี้ไม่มีจุดด่างพร้อย ผมเสนอแบบนี้ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นเราก็เสนอญัตติเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรนี่ละครับ ที่มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และสภาผู้แทนราษฎรเห็นเป็นอย่างไร เสียงส่วนมาก เห็นเป็นอย่างไร ถึงแม้โดยหลักการแล้วหากเห็นชอบต้องส่งไปที่วุฒิสภา แต่ ครม. ไม่ต้องรอครับ แค่ดูว่า สส. ส่วนใหญ่เห็นชอบคำถามประชามติแบบไหน แล้ว ครม. หยิบไปดำเนินการเลย ถ้าใช้ กระบวนการแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องให้ สว. นั้นเข้ามามีส่วนร่วม แต่มันเปิดพื้นที่ให้ สส. ที่เป็น ตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองนั้นสามารถมาถกแล้วมาร่วมกันลงมติกันได้

    อ่านในการประชุม

  • หมวดหมู่ประการที่ ๕ เรื่องของคณะกรรมการศึกษา อันนี้ก็มี ๓ ประการ ด้วยกันที่จำเป็นจะต้องชี้แจง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ มีเพื่อนสมาชิกก็เกรงว่าหากเราเสนอญัตติให้มีการจัดทำ ประชามติผ่านกลไกของสภานั้น จะมีความซ้ำซ้อนกับความพยายามของรัฐบาล ณ ปัจจุบัน ที่จะมีการจัดทำประชามติ ผมก็ต้องเรียนตามตรงครับ เหมือนที่ผมได้สัมภาษณ์ออกสื่อ สาธารณะเมื่อวานว่าผมไม่คิดว่ามีความซ้ำซ้อน เพราะว่า พ.ร.บ. ประชามติก็ได้กำหนด ให้มี ๓ กลไก หรือ ๓ ช่องทางที่สามารถดำเนินการคู่ขนานได้อยู่แล้ว กลไกที่ ๑ ก็คือ ครม. กลไกที่ ๒ คือภาคประชาชนล่ารายชื่อ กลไกที่ ๓ คือผ่านกลไกของรัฐสภา ถ้าท่าน จะบอกว่าการใช้กลไกของรัฐสภานั้นมันซ้ำซ้อนกับการใช้กลไกของรัฐบาล อย่างนี้ท่านต้อง ไปบอกภาคประชาชนด้วยไหมครับว่าไม่ต้องล่ารายชื่อเลย เพราะว่าซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐบาล ทำอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นผมก็เกรงว่าพี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อกัน ๒๐๐,๐๐๐ กว่ารายชื่อ ที่ตอนนี้กำลังลุ้นอยู่ว่าข้อเสนอคำถามประชามติเขาจะได้รับความเห็นชอบจาก ครม. หรือไม่นั้น ก็อาจจะได้รับคำตอบที่ไม่ดีนักจากการอภิปรายของท่านในวันนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ มีเพื่อนสมาชิกบางท่านบอกว่าเราไปตั้งคำถามว่าการตั้ง คณะกรรมการศึกษาขึ้นมาของรัฐบาลนั้นจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ ผมก็ต้องยืนยันอีกรอบ เหมือนกับที่ผมเคยยืนยันกับรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม ตอนที่มาตอบกระทู้ถามสดว่า สาระสำคัญของข้อกังวลผมไม่ใช่เรื่องของเวลา ในเมื่อท่านภูมิธรรมยืนยันแล้วว่า คณะกรรมการศึกษาชุดนี้อย่างไรใช้เวลาไม่เกินสิ้นปี ผมก็เชื่อท่าน เพราะฉะนั้นความกังวล ของผมในวันนี้มันไม่ใช่ว่าคณะกรรมการศึกษาชุดนี้จะใช้เวลานานเท่าไร แต่ความกังวลจริง ๆ ของผมก็คือว่าเมื่อคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ศึกษาเสร็จหมดแล้ว คำถามประชามติที่ออกมา ที่คลอดออกมาจากคณะกรรมการศึกษานี้จะมีความแตกต่างหรือเหมือนกับหลักการ ของคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนออย่างไรต่างหาก

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย มีหลายท่านให้ความเห็นว่าพอมีการตั้งคณะกรรมการศึกษา ขึ้นมาแล้วทำไมพรรคก้าวไกลถึงไม่เข้าร่วม มีบางท่านถึงขนาดพูดว่าถ้าพรรคก้าวไกลเข้าร่วม ก็คงไม่มาเสนอญัตติในสภาวันนี้ อันนี้ก็ต้องชี้แจง ๒ ประการด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ต้องชี้แจงว่าสถานะของเรากับคณะกรรมการศึกษาเป็นเช่นไร เราย้ำนะครับว่าถึงแม้เรายังไม่พร้อมจะเข้าร่วมคณะกรรมการในฐานะกรรมการ แต่เราได้ ประกาศตั้งแต่วันแรกว่าเรายินดีให้ความเห็นกับคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ทุกประการ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าความเห็นของเรานั้นก็ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ก็คิดว่า คณะกรรมการศึกษาก็น่าจะทราบดี แต่ในเมื่อคณะกรรมการศึกษามีการตั้งคณะอนุกรรมการ ศึกษาขึ้นมาเพื่อมารับฟังความเห็น แล้วได้ติดต่อมาที่พรรคก้าวไกลเพื่อมาขอฟังความเห็น จากพรรคก้าวไกล ผมก็อยากจะแจ้งให้สภาแห่งนี้ทราบเป็นที่แรกว่าทางหัวหน้า พรรคก้าวไกลก็ได้ตอบรับไปแล้ว แล้วก็จะมีการพบปะพูดคุยกันเพื่อยื่นความเห็นของ พรรคก้าวไกลให้กับคณะอนุกรรมการศึกษาอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้นเราให้ความร่วมมือเต็มที่ในการให้ความเห็นและแสดงความเห็น เพียงแต่เราขอ ยังไม่ร่วมในฐานะกรรมการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ที่จำเป็นต้องชี้แจงก็คือว่าถึงแม้ ณ วันนั้นย้อนกลับไป เพื่อนสมาชิกในพรรคก้าวไกลของผมตัดสินใจจะเข้าร่วมในฐานะกรรมการ ผมคิดว่า เราอย่างไรก็ต้องเสนอญัตตินี้ในสภาอยู่ดีด้วยเหตุผลสั้น ๆ ๓ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ก็คือว่าถ้าอยากฟังความเห็นจาก สส. พรรคก้าวไกลโดยตรง คณะกรรมการศึกษาของรัฐบาลนั้นเป็นคำตอบให้ท่านไม่ได้ เพราะว่าท่านต้องไปกำหนดว่า คณะกรรมการศึกษาชุดนี้พอตีความทางกฎหมายแล้วไม่สามารถให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปนั่งในคณะกรรมการศึกษาได้ อย่างนั้นเพื่อนสมาชิกผมที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล หากจะแสดงความเห็นอะไรโดยตรงถึงรัฐบาลก็จำเป็นละครับที่ต้องใช้ พื้นที่สภาแห่งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เรามองว่าท้ายที่สุดแล้วการแสดงความเห็นของเราในสภานั้น เป็นการแสดงความเห็นในที่แจ้งที่ประชาชนสามารถรับฟังและตรวจสอบได้โดยตรง ท้ายที่สุดแล้ว หากจะมีการลงมติเรื่องใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การลงมติ ที่ดูจะมีความชอบธรรมที่สุด และสะท้อนถึงสัดส่วนชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคมมากที่สุด ไม่ใช่การลงมติในคณะกรรมการศึกษา แต่เป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ที่ทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ล้วนมาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประการสุดท้าย เป็นประการสุดท้ายจริง ๆ แล้วเดี๋ยวจะปิดท้ายด้วย ประเด็นนี้ มีหลายท่านก็ได้อภิปรายโดยการแสดงความเห็นว่าท่านมีปัญหาหรือมีความคิด ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวญัตติ เนื้อหาสาระของญัตติที่ผมเสนอในวันนี้ หลายท่านก็แสดงความเห็นว่า ดูเป็นการเสนอญัตติที่ไม่รอบคอบบ้าง หลายท่านแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับตัวคำถาม ประชามติที่อยู่ในญัตติบ้าง มีหลายท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาญัตติบางประการ มีบางท่านเหมือนกับจะสื่อว่าญัตตินี้ขัดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ในบรรดาข้อวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับตัวเนื้อหาของญัตติที่ผมได้เสนอในวันนี้ ก็มีสมาชิกท่านหนึ่งเหมือนกัน ที่บอกว่าอยากให้ผมไปศึกษาประวัติศาสตร์การลงมติในสภาแห่งนี้ได้ครับ ผมน้อมรับครับ แล้วผมก็ไปศึกษาประวัติศาสตร์ว่าสิ่งใดบ้างที่เกิดขึ้นในสภาแห่งนี้ ญัตติที่ผมเสนอในวันนี้ ที่เสนอคำถามประชามติเข้าสู่สภาในวันนี้ไม่ได้เป็นญัตติใหม่ พอผมไปศึกษาประวัติศาสตร์ การเมืองไทยในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา แล้วผมก็ได้พูดไว้แล้วตอนเปิดญัตติในวันนี้ว่าญัตตินี้ เคยถูกถามแล้วในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๖๕ และผลเป็น อย่างไรครับท่านประธาน จำนวนผู้ลงมติ ๓๓๑ เห็นด้วย ๓๒๓ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๑ ท่าน คือท่านประธานสภา ณ เวลานั้น แล้วก็ไม่ลงคะแนนเสียง ๗ ท่าน เรียกได้ว่าสภา ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลักของสภา

    อ่านในการประชุม

  • หลายท่านอาจจะสงสัยว่าอันนี้มันเอาแค่พาดหัวมาพูดกันหรือเปล่า เนื้อหาสาระของญัตติต่างกันหรือเปล่า ก็ต้องเรียนตามตรงครับว่าถึงแม้ข้อความก่อนหน้านั้น อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่สาระสำคัญที่ถูกเสนอในสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ กับวันนี้ เป็นคำถามประชามติคำถามเดียวกัน ท่านอ่านได้เลยครับ คำถามคือท่านเห็นชอบ หรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน ย้อนไปเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๖๕ มี ๒ ท่านที่เสนอญัตตินี้เข้าไป ด้านซ้าย ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตที่เอ่ยนาม ด้านขวา ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคก้าวไกล ดังนั้นต้องบอกว่าญัตตินี้เคยถูกเสนอโดยตัวแทนจาก ๒ พรรค แล้วผลเป็นอย่างไรครับ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนอีกรอบหนึ่ง จะเห็นว่าคำถามที่อยู่ใน ญัตติ ๒ ญัตติที่ถูกเสนอในปี ๒๕๖๕ นอกจากจะเหมือนกันแล้วระหว่าง ๒ ญัตติ ยังเหมือน เป๊ะ ๆ กับญัตติที่ถูกเสนอต่อสภาในวันนี้ด้วยที่ปรากฏอยู่ในภาพด้านขวามือ อันนี้คือ เปรียบเทียบข้อความคำถามของญัตติเมื่อปี ๒๕๖๕ ที่ถูกเสนอโดยตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และข้อความของคำถามประชามติที่ผมและพรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้ อย่างที่ผมบอกว่า เมื่อปี ๒๕๖๕ ทุกพรรคก็เห็นชอบด้วย ผมขอไม่เปิดรายชื่อว่ามีใครบ้างที่เห็นชอบด้วย ณ เวลานั้น แต่ผมเพียงให้ข้อมูลว่าในบรรดา ๓๐๐ กว่าเสียงที่ลงมติเห็นชอบมาจาก ทุกพรรคการเมืองหลักในสภา ณ เวลานั้น ๗๙ สส. จากพรรคเพื่อไทย ๕๗ สส. จากพรรคภูมิใจไทย ๖๒ สส. จากพรรคพลังประชารัฐ ๓๓ สส. จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีหลายท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. และลงมติเห็นชอบในวันนั้น วันนี้ก็นั่งอยู่ในสภา แห่งนี้ด้วยเหมือนกัน บางท่านอาจจะเปลี่ยนพรรคไปบ้างไม่เป็นไร แต่ก็มีหลายท่านที่ยังนั่ง และปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นผมของทิ้งท้ายว่าถ้าท่านจะกล่าวหาว่าญัตติของผมนั้นไม่รอบคอบ เป็นคำถามที่ท่านไม่เห็นด้วย เป็นคำถามที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องถามกลับไปว่า ตอนปฏิบัติหน้าที่ในปี ๒๕๖๕ ท่านลงมติด้วยความไม่รอบคอบหรือครับ ท่านลงมติ โดยการเขียนคำถามที่ท่านไม่เห็นด้วยหรือครับ หรือว่าท่านลงมติกับญัตติที่ท่านมองว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือครับ จริง ๆ วันนี้ผมคิดว่าผมเคารพความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ผมเข้าใจว่าแต่ละพรรคการเมือง สมาชิกแต่ละท่านก็มีชุดความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับความคิดเห็นของพรรคก้าวไกล วันนี้ผมไม่ได้ขอให้ท่านเห็นด้วย กับพรรคก้าวไกล ผมขอให้ท่านเห็นด้วยกับตัวท่านเองในอดีตเมื่อ ๓๕๖ วันที่แล้วเท่านั้นครับ แล้วเดินหน้าสนับสนุนญัตตินี้เพื่อจะจัดทำประชามติและนับ ๑ สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้ง ๓ ฉบับ หรือที่เราเรียกว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ท่านประธานครับ ร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียมนั้นเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอันแสนจะเรียบง่าย เป็นร่างกฎหมายที่เพียงแค่ กำลังจะบอกกับคู่รักทุกคู่ในประเทศนี้ว่าคุณแต่งงานกันได้ ใช้ชีวิตในฐานะคู่สมรสได้ เป็นร่างกฎหมายครับ ที่เพียงแค่กำลังจะบอกกับเด็กทุกคนในประเทศนี้ ไม่ว่าคุณจะเกิดมา เป็นเพศใด เติบโตขึ้นมาแล้ว มีความรู้สึกกับเพศใด อย่างไร รัฐและพวกเราทุกคนจะปฏิบัติ กับพวกคุณอย่างทัดทียมกัน เป็นร่างกฎหมายที่เพียงแค่จะบอกกับประชาชนทุกคน ในประเทศนี้ว่าความเสมอภาคจะเป็นความปกติใหม่ของสังคมไทย ท่านประธานครับ หลังจาก ผมได้ฟังคำอภิปรายของเพื่อน ๆ สมาชิกมาตลอดทั้งวันนี้ ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งครับ ว่าภาพที่เราจะเห็นในเย็นวันนี้จะเป็นภาพประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติ รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันอย่างท่วมท้น เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เป็น ตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่สงวนจุดต่าง และหันมา ร่วมกันผลักดันกฎหมายที่ต่างฝ่ายมองว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญ กว่านั้นครับ คือจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราจะได้เห็นผู้สมาชิกแทนราษฎรจาก หลายพรรค หลายเพศ หลายช่วงอายุมาร่วมกันยืนยันครับว่าสิทธิสมรสนั้นไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ ที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเรียกร้อง แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนนั้น พึงได้รับอย่างถ้วนหน้าเสมอภาค สำหรับเพื่อน ๆ สมาชิกที่เห็นตรงกับผม ผมเชื่อว่าเราเห็น ตรงกันว่าสิทธิสมรสนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ว่ารักนั้นเคารพความรักของคู่รักทุกอย่าง เสมอภาค แต่ยังเป็นการเปิดประตูไปสู่สิทธิทางกฎหมายอีกหลายประการครับ ที่ส่งผล กระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคู่รักทุกคู่ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรับมรดก สิทธิในการกู้ร่วม หรือสิทธิในการตัดสินใจแทนกันในการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน แต่สำหรับเพื่อน ๆ สมาชิกที่อาจจะยังเห็นต่างกับผม อาจจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ผมต้องขอเรียนกับท่าน ด้วยความเคารพครับ ว่าผมยืนยันว่าผมรับฟัง และเคารพในเสรีภาพทางความคิดของท่าน แต่ผมและพรรคก้าวไกลก็จำเป็นต้องยืนยันเช่นกันครับว่าสิทธิสมรสอันเสมอภาคเท่าเทียม กับเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นเป็น ๒ สิ่งที่อยู่คู่กันได้ในสังคมไทย เพราะในมุมหนึ่งการเปิดให้ประชาชนทุกคนนั้นมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการเป็นคู่สมรส ตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการบังคับใครให้ต้องมาแต่งงานกัน หากพิธีดังกล่าวอาจจะขัดกับ ความเชื่อของเขา ดังนั้นด้วยเหตุผลเดียวกัน การเปิดให้แต่ละคนนั้นมีเสรีภาพในการนับถือ ความเชื่อที่อาจจะแตกต่างกัน ก็ไม่ควรจะกลายมาเป็นเงื่อนไขที่ไปจำกัดสิทธิของคนที่อาจจะ เชื่อไม่เหมือนเราในการได้ใช้ชีวิตตามที่เขาปรารถนา หรือหากผมจะลองชวนท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกให้มองถึงความสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กว้างกว่าแค่เรื่อง ของการสมรส ผมอยากให้มองแบบนี้ครับ ผมอยากให้มองว่าการผลักดันกฎหมายสมรส เท่าเทียมผ่านสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณดัง ๆ ไปสู่ประชาชนทุกคน ทั่วประเทศ ว่าหากวันหนึ่งท่านตกอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ท่านกำลังเป็นคนส่วนน้อย ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุเรื่องเพศ เรื่องเชื้อชาติ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมหรือ ด้วยเหตุทางศาสนา สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ละครับพร้อมจะปกป้องสิทธิของพวกท่านทุกคน นะครับ ดังนั้นครับท่านประธานผมอยากจะทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่าหากสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ผลักดันให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นสามารถผ่านความเห็นชอบออกมาได้สำเร็จ วันนี้จะ ไม่ได้เป็นแค่ชัยชนะของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศครับ แต่จะเป็นชัยชนะของพวกเรา ทุกคน วันนี้จะไม่ใช่แค่บทสรุปของการต่อสู้ที่ค้างชำระมายาวนาน แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของ คลื่นแห่งความก้าวหน้าในสังคมไทย ขอบคุณมากครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนของคณะกรรมาธิการการพัฒนา การเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการมานำเสนอบทสรุป ของรายงานเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก การเลือกตั้งซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการ แล้วก็ภาคประชาชน ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะใช้เวลาในที่ประชุมแห่งนี้มากนัก แต่ด้วยความสำคัญของวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นฉันทามติ ของพวกเราหลายฝ่ายร่วมกัน แล้วก็ด้วยจังหวะเวลาที่ปัจจุบันนั้นสังคมกำลังถกเถียงกัน เรื่องรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีหลายฝ่าย ผมเข้าใจว่ากำลังเตรียมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบ สสร. ที่จะเสนอเข้าสู่ การพิจารณาของรัฐสภานั้น ผมเลยต้องขออนุญาตใช้เวลาสักเล็กน้อยครับ สักประมาณ ๒๐ นาทีเพื่ออธิบายสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่าน แล้วก็หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะ คำอภิปรายของเพื่อน ๆ สมาชิก ก่อนที่จะมาตอบทุกข้อสงสัยหรือว่าทุกคำถามที่มีกันอีกครั้งหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ หากประเทศเราจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การมี รัฐธรรมนูญหรือว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นองค์ประกอบที่ขาดหายไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ถูกตั้งคำถามทั้งเรื่อง ของความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้านที่มา กระบวนการ เนื้อหา หลายฝ่ายก็เลยเห็น ตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยทางคณะอนุกรรมาธิการมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด และเปิดกว้างมาก ที่สุดต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แล้วต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม หากถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จริงอยู่ครับ ท่านประธานว่าประเทศไทยนั้นก็ไม่เคยมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดมาก่อนในอดีต แต่ความจริงแล้วแนวคิดเรื่อง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่ หรือแปลกประหลาดแต่อย่างใด หากเราพูดเฉพาะในประเทศเราครับ แนวคิดเรื่อง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวคิดที่ถูกเสนอโดยหลายฝ่ายทางการเมือง ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ มาถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะผ่านการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการ พิจารณาของรัฐสภา หรือไม่ว่าจะผ่านการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากเรามองไปนอกประเทศเราก็จะเห็นว่าแนวคิดเรื่อง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวคิดที่ถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตยและมีการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศไอซ์แลนด์หรือว่า ประเทศชิลี เป็นต้น แต่ท่านประธานครับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้มีแค่ รูปแบบเดียว วัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้จึงเป็นการจัดทำข้อเสนอเพื่อจะเปิด จินตนาการให้พี่น้องประชาชนนั้นได้เห็นถึงทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายในการออกแบบ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สำหรับใครก็ตามที่เห็นด้วยอยู่แล้วว่า สสร. ควรจะมาจาก การเลือกตั้งทั้งหมด ผมก็หวังว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นเสมือนกับเครื่องมือให้ทุกฝ่ายนั้น ได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนถึงข้อดี ข้อเสียของทางเลือกและตัวแปรต่าง ๆ ในการออกแบบ สสร. แต่สำหรับใครก็ตามที่ยังลังเลว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ผมก็หวังว่า รายงานฉบับนี้จะช่วยคลี่คลายข้อกังวลของท่านได้ทั้งหมด และชี้ให้เห็นว่าทุกข้อกังวล ของท่านนั้นสามารถถูกแก้ไขได้ผ่านการออกแบบระบบเลือกตั้งให้ตอบโจทย์ที่ท่านต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องหันไปหารูปแบบของ สสร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ท่านประธานครับ ทางคณะอนุกรรมาธิการของเราเสนอว่ากรอบคิดหลักในการออกแบบ Model สสร. นั้นควรจะเริ่มต้นด้วยการมองว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่จำเป็นต้องมี สสร. ประเภทเดียว แต่อาจประกอบไปด้วย สสร. ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภทที่ล้วนมาจาก การเลือกตั้ง คล้าย ๆ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือว่า สส. ที่ปัจจุบันก็มีการแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ก็คือแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่ล้วนมาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ ท่านประธานครับ การแบ่ง สสร. เป็นหลายประเภทที่ล้วนมาจากการเลือกตั้งนั้นในมุมหนึ่ง ก็จะทำให้ สสร. ยังคงความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการทำให้ สสร. นั้นมีพื้นที่ให้กับหลากหลายกลุ่มที่อาจจะมีจุดเด่นหรือบทบาทที่แตกต่างกันออกไป แต่มาทำงานร่วมกันอย่างผสมผสานเพื่อให้ สสร. โดยรวมนั้นมีชุดบุคลากรที่ตอบทุกโจทย์ ที่ประชาชนคาดหวังและต้องการ คณะอนุกรรมาธิการของเรามองว่า สสร. ที่มาจาก การเลือกตั้งนั้นอาจจะแบ่งออกได้มากที่สุดเป็น ๓ ประเภทหลัก ผมขอเรียกว่าประเภท ก ข แล้วก็ ค มาเริ่มต้นประเภท ก ครับท่านประธาน นั่นก็คือ สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่ หรือตัวแทนทั่วไป ต้องยอมรับว่าเวลาเราพูดถึง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งเรามักจะคุ้นเคย กับ สสร. ประเภทนี้เป็นหลัก สำหรับประเภท ก หรือประเภทตัวแทนพื้นที่ หรือตัวแทน ทั่วไปนั้นก็จะมี ๓ โจทย์หลักที่เราต้องมาพิจารณาในการออกแบบ โจทย์ข้อที่ ๑ ครับ ท่านประธาน คือคำถามที่ว่าเราจะกำหนดพื้นที่อะไรเป็นเขตเลือกตั้งระหว่างพื้นที่ที่เล็กกว่า จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือว่าทั้งประเทศ ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้จังหวัดหรือพื้นที่ที่เล็กกว่า จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งก็มักจะมองไปถึงข้อดีของการที่ทำให้เรานั้นมี สสร. ที่มีตัวแทน ที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ในทุกจังหวัด ซึ่งแน่นอนครับก็จะเป็นโครงสร้างที่สามารถรองรับ บทบาทในการรับฟังความคิดเห็นและการรณรงค์ในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากที่สุด แต่ในอีกมุมหนึ่งฝ่ายที่สนับสนุนการใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งก็มักจะมองไปถึง ข้อดีของการทำให้ผู้สมัครที่ขับเคลื่อนเชิงประเด็น หรืออาจจะมีฐานผู้สนับสนุนที่กระจายไป หลายพื้นที่มากกว่ากระจุกอยู่แค่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้นมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งมากขึ้น แล้วก็ทำให้ สสร. โดยภาพรวมนั้นมีตัวแทนที่ครอบคลุมหลายประเด็นมากขึ้น หรือบางฝ่าย ที่เห็นข้อดีของทั้ง ๒ ด้านก็อาจจะสนับสนุนให้มี สสร. ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปที่มี มากกว่า ๑ ประเภท เช่น ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น สสร. ที่ผ่านการเลือกตั้งในระดับจังหวัด อีกครึ่งหนึ่งก็อาจจะเป็น สสร. ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนโจทย์ที่ ๒ ครับท่านประธาน ก็คือโจทย์ที่ว่าเราจะกำหนดจำนวน สสร. ต่อ ๑ เขตเลือกตั้งกัน สมมุติเราลองใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งครับท่านประธาน ฝ่ายที่ สนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีจำนวน สสร. ต่อจังหวัดเท่ากันก็อาจจะมองถึงความเสมอภาคในมิติ ของการทำให้แต่ละจังหวัดนั้นมีจำนวนตัวแทนที่เท่ากัน แต่ฝ่ายที่สนับสนุนให้แต่ละจังหวัด มีจำนวน สสร. ต่อจังหวัดที่ต่างกันตามสัดส่วนประชากรก็อาจจะมองไปถึงความเสมอภาค ในอีกมิติหนึ่งครับ นั่นก็คือความเสมอภาคในมิติของการทำให้น้ำหนักหรือจำนวนประชากร ต่อ สสร. ๑ คนนั้นมีค่าเท่ากันในทุกพื้นที่ ส่วนโจทย์ที่ ๓ ก็คือโจทย์ที่ว่าเราจะใช้ระบบ เลือกตั้งหรือวิธีการใดในการเลือก สสร. ในแต่ละเขตเลือกตั้ง สำหรับโจทย์นี้หากเราใช้วิธี ในการให้ประชาชนเลือกผู้สมัครเป็นรายบุคคล ทางคณะอนุกรรมาธิการก็ได้มีการเสนอ ทั้งหมด ๕ ทางเลือก ทางเลือกที่ ๑ คือระบบ ที่มีชื่อว่า Single Non-Transferable Vote หรือ SNTV นั่นคือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนนั้นสามารถเลือกผู้สมัครได้เพียงแค่ ๑ คน ไม่ว่าเขตเลือกตั้งนั้นจะมีจำนวน สสร. ที่รับเลือกตั้งทั้งหมดกี่คนก็ตาม ทางเลือกที่ ๒ คือ ระบบที่มีชื่อว่า Multiple Non-Transferable Vote หรือ MNTV นั่นก็คือการที่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งแต่ละคนนั้นสามารถเลือกผู้สมัครได้มากเท่ากับจำนวน สสร. ที่จะได้รับการเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งนั้น ยกตัวอย่างครับท่านประธาน หากเขตเลือกตั้งมี สสร. จำนวน ๓ คน ประชาชนก็จะสามารถเลือกผู้สมัครได้มากที่สุด ๓ คน เป็นต้น ทางเลือกที่ ๓ คือระบบที่มีชื่อ ว่า Approval Vote นั่นก็คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนนั้นสามารถเลือกผู้สมัครกี่คนก็ได้ ที่ตนพร้อมให้การอนุมัติ หรือพร้อมจะ Approve ยกตัวอย่างเช่น หากเขตเลือกตั้งหนึ่ง มี สสร. ๓ คน ประชาชนก็อาจจะเลือกอนุมัติ ๑ คน จะเลือกอนุมัติ ๓ คน หรือจะเรียก อนุมัติ ๑๐ คนก็ได้ ทางเลือกที่ ๔ คือระบบ Single Transferable Vote คือการที่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งแต่ละคนนั้นสามารถเรียงลำดับผู้สมัครตามความชอบ โดยหากผู้สมัครที่ตนเลือกเป็น อันดับ ๑ ได้รับคะแนนน้อยมาก แล้วยังไม่มีผู้สมัครได้ชนะขาด ระบบนี้ก็จะมีวิธีในการโอน คะแนนดังกล่าวไปให้กับผู้สมัครที่ตนเลือกเป็นอันดับ ๒ หรือในระดับถัดไปเพื่อไม่ให้คะแนน เสียงนั้นตกน้ำ ส่วนทางเลือกที่ ๕ คือระบบที่มีชื่อว่า Score Vote คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น สามารถให้คะแนนผู้สมัครตามลำดับความชอบ เช่น ให้ ๓ คะแนนกับผู้สมัครที่ตนชอบ เป็นอันดับที่ ๑ ให้ ๒ คะแนนกับผู้สมัครที่ตนชอบเป็นอันดับที่ ๒ และให้ ๑ คะแนน กับผู้สมัครที่ตนชอบเป็นอันดับที่ ๓ เป็นต้น หรือถ้าอีกมุมหนึ่งครับท่านประธาน หากเรา จะใช้วิธีในการให้ประชาชนเลือกผู้สมัครไม่ใช่เป็นรายบุคคล แต่เลือกผู้สมัครเป็นทีม หรือบัญชีรายชื่อ ทางคณะอนุกรรมาธิการก็ได้มีการเสนอ ๒ ทางเลือกด้วยกัน ทางเลือกที่ ๑ คือระบบบัญชีรายชื่อแบบปิดหรือว่า Close Party List นั่นก็คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละ คนนั้นสามารถเลือกได้ ๑ ทีม โดยจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมได้นั้นก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วน คะแนนที่ทีมนั้นได้ ส่วนผู้สมัครคนไหนในทีมนั้นจะได้รับเลือกตั้งก็ขึ้นอยู่กับลำดับบัญชี รายชื่อที่ทางทีมได้จัดสรรไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หรือทางเลือกที่ ๒ คือการใช้ระบบบัญชีรายชื่อ แบบเปิด หรือว่า Open Party List นั่นก็คือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนนั้นไม่เพียงแต่จะ เลือกได้แค่ ๑ ทีม แต่ยังสามารถเลือกเจาะจงไปได้อีกว่าอยากเลือกผู้สมัครคนไหนในทีมนั้น โดยจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมได้ก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนที่ทีมนั้นได้ แต่ผู้สมัครคนไหน ในทีมนั้นจะได้รับเลือกตั้งก็จะขึ้นอยู่กับว่าคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนในทีมนั้นได้รับ มากหรือน้อยอย่างไรเปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่นในทีมเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ในเมื่อเรามีทางเลือกที่หลากหลายมากขนาดนี้ในการออกแบบ สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไป หลายฝ่ายเลยมองว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มา จากการเลือกตั้งนั้นจะมีแค่ สสร. ประเภทนี้ประเภทเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ก็มีบางฝ่าย ที่มองว่าการมี สสร. ตัวแทนพื้นที่ประเภทเดียวนั้นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ โดยพวกเขานั้น มักจะมี ๒ ข้อกังวลที่หยิบยกขึ้นมา ข้อกังวลที่ ๑ ครับท่านประธาน คือบางฝ่ายมักจะกังวล ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีแค่ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปนั้นอาจจะไม่สามารถรับประกัน ได้ว่าจะมีพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือว่าผู้มีประสบการณ์ให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งโจทย์ หรือมีอำนาจตัดสินใจเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในฐานะ สสร. ที่มากกว่าเป็นเพียงแค่ในฐานะ กรรมาธิการที่มีหน้าที่ในการยกร่าง ข้อกังวลที่ ๒ บางฝ่ายอาจจะมีความกังวลว่าสภาร่าง รัฐธรรมนูญที่มีแค่ตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้งนั้นก็อาจจะไม่สามารถ รับประกันได้ว่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มักไม่ถูกมองเห็น มักไม่ถูกได้ยิน แต่มี ความสำคัญต่อการทำให้ สสร. นั้นมีตัวแทนที่สะท้อนเสียงที่หลากหลายทางสังคม แม้ผม เข้าใจว่าเพื่อน ๆ สมาชิกและประชาชนแต่ละคนนั้นก็คงจะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ว่าข้อกังวลทั้ง ๒ ข้อนั้นเป็นข้อกังวลที่สมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ทางคณะอนุกรรมาธิการเรา มองว่าแม้จะมีใครก็ตามที่มีข้อมูลดังกล่าวจริง แต่ข้อกังวลดังกล่าวนั้นไม่ควรเป็นเหตุผล ในการเสนอให้ สสร. บางส่วนไม่มาจากการเลือกตั้ง เพราะสิ่งที่เราทำได้เพื่อคลายข้อกังวล ดังกล่าวก็คือการเพิ่มประเภท สสร. ขึ้นมาอีก ๒ ประเภทที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเฉพาะ แต่ยังคงมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นั่นก็คือ สสร. ประเภท ข คือตัวแทน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ สสร. ประเภท ค หรือว่าตัวแทนกลุ่ม ความหลากหลายที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน หากใครตัดสินใจว่าจะต้องมี สสร. ประเภทเหล่านี้เพิ่มขึ้นมา จาก สสร. ประเภทตัวแทนพื้นที่หรือตัวแทนทั่วไปก็มี ๓ โจทย์หลักที่ต้องพิจารณาในการ ออกแบบ

    อ่านในการประชุม

  • โจทย์ที่ ๑ คือเราจะกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัคร สสร. ประเภท ข และ ประเภท ค ดังกล่าวอย่างไร ในส่วนของ สสร. ประเภท ข เราอาจจะกำหนดได้ว่าให้ผู้สมัคร รับเลือกตั้งนั้นต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายก็ดี รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การเมืองในระบบ หรือว่าการเมืองภาคประชาชน เช่นเดียวกันในส่วนของ สสร. ประเภท ค เราก็อาจจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น หรือถ้าหากเรามองว่า กลุ่มความหลากหลายนั้นมันสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มมาก เราก็อาจจะใช้วิธีในการ เลือกไม่กำหนดหมวดหมู่หรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะ แต่เปิดครับ เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัคร รับเลือกตั้งในประเภทนี้ต้องระบุเองในกระบวนการสมัครหรือกระบวนการรณรงค์หาเสียง ว่าตนนั้นเป็นตัวแทนของกลุ่มความหลากหลายในมิติใด

    อ่านในการประชุม

  • โจทย์ที่ ๒ ครับท่านประธาน ก็คือโจทย์ที่ว่าแล้วใครจะเป็นผู้เลือก สสร. ประเภทดังกล่าว แน่นอนครับว่าทางเลือกที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือการรวบรวมรายชื่อ ผู้สมัครทุกคนที่ผ่านคุณสมบัติสำหรับ สสร. ประเภท ข และ ค เพื่อนำรายชื่อดังกล่าวนั้น มาให้ประชาชนเลือกโดยตรง ผ่านการเพิ่มบัตรเลือกตั้งขึ้นมาอีก ๑ ใบต่อ ๑ ประเภท แต่หากใครที่กังวลว่าการมีบัตรเลือกตั้งหลายใบมากจนเกินไปอาจจะเกิดความสับสน อีกทางเลือกหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการได้พิจารณาคือการให้ สสร. ประเภท ข และ ค นั้นถูกเลือกโดย สสร. ประเภท ก ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แน่นอนครับ แม้วิธีนี้อาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรง แต่อย่างน้อยที่สุดทางเลือกนี้จะยังคงมีความชอบธรรม ทางประชาธิปไตยมากกว่าการปล่อยให้ สสร. ประเภท ข และ ค นั้นถูกเลือกโดย ครม. รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือว่าคณะกรรมการใด ๆ เพราะนอกจาก สสร. ประเภท ก ที่มาเลือก สสร. ประเภท ข และ ค นั้นจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดแล้ว แต่อย่างน้อย ที่สุดประชาชนก็ยังได้รับรู้ในวันเลือกตั้ง สสร. ว่า สสร. ประเภท ก ที่เขาเลือกเข้าไปโดยตรงนั้น จะไม่เพียงแต่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังมีอำนาจในการเลือก สสร. ประเภทอื่น ๆ เข้ามาทำงานเพิ่มเติมด้วย โดยหากจะเพิ่มความชัดเจนเราอาจจะมีการ กำหนดกติกาเพิ่มเติมได้เพื่อส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สสร. ประเภท ก นั้นแจ้งกับ ประชาชนก่อนวันเลือกตั้งว่าหากเขาได้รับเลือกตั้งไปแล้วจะเสนอชื่อใครมาเป็น สสร. ประเภทอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมทำงาน อาจจะเป็นกลไกแบบบังคับเหมือนที่แต่ละพรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. นั้นก็ต้องประกาศก่อนว่าชื่อ Candidate นายกรัฐมนตรีของ พรรคตนเองคือใคร หรืออาจจะเป็นกลไกแบบสมัครใจ เหมือนเวลาผู้สมัครผู้ว่า กทม. หรือว่านายก อบจ. นั้นอาจจะมีการรณรงค์หาเสียงไว้ว่าถ้าหากเลือกตนเองมาเป็นผู้ว่า กทม. หรือว่านายก อบจ. จะเลือกใครมาเป็นรองผู้ว่าหรือว่ารองนายก อบจ. เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • โจทย์ที่ ๓ ก็คือโจทย์ที่ว่าแล้วเราจะใช้ระบบเลือกตั้งใดในการเลือก ซึ่งสำหรับโจทย์นี้ทางเลือกก็จะเหมือนกับทางเลือกที่ได้มีการนำเสนอไปแล้วสำหรับ สสร. ประเภท ก หรือว่าตัวแทนพื้นที่ หรือว่าตัวแทนทั่วไป จากนั้นครับท่านประธาน ภายใต้ ทางเลือกต่าง ๆ ที่รายงานนี้ได้พยายามนำเสนอ ท่านประธานก็จะเห็นว่าเราสามารถออกแบบ สสร. ได้หลาย Model มากเพื่อให้ตอบโจทย์สิ่งที่เราให้ความสำคัญ หากเรามองว่า สสร. ควรมีแค่ตัวแทนเชิงพื้นที่ในทุกจังหวัด เราก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก ที่ใช้จังหวัดเป็น เขตเลือกตั้ง หรือหากเรามองว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่จำเป็นต้องมี สสร. ที่เป็นตัวแทน ในพื้นที่ต่าง ๆ เราก็อาจจะมีแค่ สสร. ประเภท ก ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หรือหากเรา มองว่า สสร. นั้นควรจะมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัดและตัวแทนเชิงประเด็น ในระดับประเทศเราก็อาจจะแบ่ง สสร. ประเภท ก ออกมาเป็น ๒ ประเภทย่อย ประเภทย่อยที่ ๑ ก็คือ สสร. ประเภท ก ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ประเภทย่อยที่ ๒ คือ สสร. ประเภท ก ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คล้าย ๆ กับ สส. ที่มีทั้งแบบแบ่งเขตและแบบ บัญชีรายชื่อ เป็นต้น หรือหากเราต้องการรับประกันพื้นที่กับผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มที่มีความ หลากหลายทางสังคม เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการเพิ่ม สสร. ขึ้นมาอีก ๒ ประเภทเพื่อให้ ประชาชนนั้นเลือก สสร. ผ่านบัตรเลือกตั้ง ๓ ใบ ๑ ใบสำหรับ สสร. จังหวัด ๑ ใบสำหรับ สสร. ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ แล้วก็อีก ๑ ใบสำหรับ สสร. ตัวแทนกลุ่ม ความหลากหลาย หรือหากเรากังวลจริง ๆ ว่าการมีบัตรเลือกตั้ง ๓ ใบนั้นจะสร้างความ สับสนยุ่งยาก เราก็อาจจะกำหนดให้ สสร. ประเภท ข และ ค นั้นถูกเลือกโดย สสร. ประเภท ก ที่ประชาชนเลือกเข้าไป

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ท้ายสุดนี้ผมอยากจะย้ำอีกรอบว่าในมุมหนึ่งเราต้องยืนยัน ว่า สสร. นั้นควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็จะเห็นว่า สสร. ที่มาจาก การเลือกตั้งทั้งหมดนั้นก็มีได้หลาย Model และหลายรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรายงานนี้ จึงไม่ใช่การบอกว่าระบบเลือกตั้ง สสร. แบบไหนดีที่สุด แต่วัตถุประสงค์ของรายงานนี้ คือการฉายภาพให้ประชาชนและให้พวกเราได้เห็นถึงทางเลือกอันแตกต่างหลากหลาย ที่เป็นไปได้เกี่ยวกับ Model หรือว่าระบบเลือกตั้ง สสร. รวมถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละ ทางเลือก หาก Model สสร. เป็นเสมือนจานอาหาร และหากคณะอนุกรรมาธิการนี้เป็น เสมือนกับร้านอาหารที่ขายเฉพาะอาหารที่ใช้สูตรว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมก็หวังว่ารายงานฉบับนี้ก็จะเปรียบเสมือน Menu อาหารที่มีอาหารตามสั่งที่หลากหลาย เพียงพอให้ประชาชนนั้นได้เลือกและปรุงแต่งได้ตามรสชาติที่เขาต้องการโดยที่ไม่มีใครจำเป็น ที่จะต้องไปตอบสนองความต้องการของตนเองโดยการเดินไปหาร้านอาหารอีกร้านหนึ่ง ที่ขายอาหารบางจานที่หันเหออกจากหลักการว่า สสร. นั้นควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขอบคุณท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ที่เคารพกระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน ท่านประธานครับ ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกจากทุกพรรคที่ได้อภิปราย แล้วก็แสดงความเห็น แล้วก็ยื่นขอเสนอแนะให้กับรายงานของคณะกรรมาธิการฉบับนี้ ผมขอ ใช้เวลาไม่มากในการตอบคำถามของเพื่อนสมาชิกที่ได้ตั้งคำถามมา อะไรที่เป็นคำถาม ที่ความจริงแล้วมีรายละเอียดอยู่ในตัวรายงานก็จะขออนุญาตไม่ตอบเพื่อประหยัดเวลา การประชุมแห่งนี้เพราะผมเข้าใจว่ามีอีกหลายญัตติที่จ่อคิวการพิจารณา โดยเฉพาะญัตติด่วน ด้วยวาจาเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในสถานศึกษาที่จะมีการเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจากเขตสวนหลวง คุณศุภกร ซึ่งก็เป็นญัตติด่วนที่เข้าใจว่าควรจะต้องมีการอภิปราย กันในการประชุมสภาวันนี้ ผมขออนุญาตแบ่งคำถามที่ได้รับจากทางเพื่อนสมาชิกออกเป็น ๖ หัวข้อใหญ่ ๆ ด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • หัวข้อที่ ๑ เป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องแนวทางการทำงานของสภาร่าง รัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ผมต้องชี้แจงแบบนี้ว่าความจริงแล้วหัวข้อที่ทางคณะอนุ กรรมาธิการได้ศึกษานั้นแบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อ หัวข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ก็คือเรื่องของ Model แล้วก็ระบบเลือกตั้งของ สสร. ส่วนหัวข้อที่ ๒ เป็นหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องอำนาจหน้าที่ หรือว่าแนวทางการทำงานของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อประหยัดเวลาในช่วงการเปิด ผมเลยได้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการพูดถึงในหัวข้อที่ ๑ ก็เลยอาจจะตกหล่นในการอธิบาย เกี่ยวกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของ สสร. ที่เพื่อนสมาชิกหลายคนตั้งคำถามไว้ ดังนั้นถ้าเพื่อนสมาชิกอยากจะเข้าใจถึงบทสนทนา ข้อถกเถียง ทางเลือก หรือว่าแนวคิดของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้เกี่ยวกับแนวทาง การทำงานในด้านต่าง ๆ สามารถเปิดดูได้ที่หน้า ๖๕-๖๖ ของรายงานคณะกรรมาธิการฉบับนี้ แต่ถ้าจะตอบ ๒ คำถามย่อยในประเด็นนี้ซึ่งถูกพูดถึง แล้วก็ถูกตั้งคำถามเยอะพอสมควร ก็ขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ คำถามย่อยที่ ๑ เป็นการถามเกี่ยวกับกระบวนการทำงานว่าเมื่อมี การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สสร. จะทำงานในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือว่าจะรับประกันได้อย่างไรว่า สสร. จะทำงานโดยมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ในส่วนนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการก็มองว่าในเมื่อเรากำลังจะมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือในเมื่อเราเสนอให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน โดยตรง ก็คิดว่าควรจะเป็นดุลยพินิจแล้วก็อำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถออกแบบกระบวนการในการยกร่างแล้วก็รับฟังความเห็นได้ แต่เราก็เข้าใจครับ ว่าหากเรามี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แนวโน้มก็ค่อนข้างสูงที่ สสร. ที่มาจาก การเลือกตั้งนั้นคงคิดค้นวิธีการในการยกร่างที่อาจจะมีการตั้งกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาที่ อาจจะประกอบไปด้วยทั้ง สสร. บางท่านที่ไปนั่งเป็นกรรมาธิการยกร่างเอง หรือว่ามี การแต่งตั้งคนส่วนอื่นที่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รวมถึงทาง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นผมเชื่อว่าในเมื่อมีความยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่ที่มาก็คงจะ ออกแบบกระบวนการในการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงโดยการนำเอาเทคโนโลยีนั้น มาประกอบการรับฟังความเห็น หรือแม้กระทั่งการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งที่ดำเนินการในการรับฟังความเห็นทั้งก่อน ระหว่าง หรือว่าหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนคำถามย่อยข้อที่ ๒ คือบทบาทของพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองจะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างไรมีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งพูดไว้ว่า ไม่อยากให้เรารังเกียจนักการเมือง ก็ต้องยืนยันกับเพื่อนสมาชิกว่าคณะอนุกรรมาธิการนี้ ไม่ได้รังเกียจการเข้ามามีส่วนร่วมของพรรคการเมือง เพราะเราเข้าใจว่าพรรคการเมืองก็ล้วน เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของชุดความคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม เราได้วางกฎเกณฑ์ไว้ หรือเป็นข้อเสนอแนะไว้ใน ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ เรามีการเขียนไว้ในหน้า ๖๕ ว่าเราเห็นควรให้ พรรคการเมืองนั้นสามารถประกาศสนับสนุนหรือว่า Endorse ผู้สมัคร สสร. ได้ เนื่องจาก คาดว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศการรณรงค์และการแข่งขันที่คึกคัก แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วม จากประชาชนและส่งผลในการเพิ่มอัตราผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อันนี้คือข้อเสนอแนะที่ทาง คณะอนุกรรมาธิการเราได้วางไว้ แต่อีกทางหนึ่งเราก็อยากจะให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น หลุดพ้นออกจากข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นถึงแม้เราเสนอให้พรรคการเมือง สามารถมาประกาศสนับสนุนผู้สมัครได้ แต่เราก็เติมข้อเสนออีกข้อหนึ่งเข้าไปว่าใครก็ตาม ที่มาทำหน้าที่เป็น สสร. แล้ว เราเสนอในข้อที่ ๙ ในหน้า ๖๖ ว่าควรจะกำหนดให้ สสร. นั้น ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ในสถาบันทางการเมือง ภายใต้ธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น สส. สว. รัฐมนตรี ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือว่าผู้ดำรง ตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น ๓-๕ ปี เป็นต้น เพื่อป้องกันผลประโยชน์ ทับซ้อน

    อ่านในการประชุม

  • หัวข้อที่ ๒ ที่มีเพื่อนสมาชิกสอบถามขึ้นมา คือการตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือแม้กระทั่งการออกแบบสภาร่าง รัฐธรรมนูญนั้นควรจะดำเนินการด้วยลักษณะที่เป็นการประนีประนอมหรือว่าการรับฟัง ความเห็นที่แตกต่าง ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นข้อสังเกตในภาพรวม หรือว่าเป็นคำถาม เฉพาะเจาะจงมาที่คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ แต่ผมก็ต้องยืนยันว่าคณะอนุกรรมาธิการ ชุดนี้เราดำเนินการด้วยท่าทีอย่างประนีประนอมมาโดยตลอดใน ๒ มิติด้วยกัน มิติที่ ๑ ทางคณะอนุกรรมาธิการของเราก็พยายามเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายที่อาจจะมีความเห็นที่ แตกต่างนั้นสามารถเข้ามาร่วมได้ ในองค์ประกอบของคณะอนุกรรมาธิการเรามีทั้งหมด ๑๐ ท่าน ๔ ท่านก็เป็นฝ่ายการเมือง ๒ ท่านจากซีกรัฐบาล ๒ ท่านจากซีกฝ่ายค้าน มีอีก ๓ ท่านเป็นฝ่ายวิชาการ แล้วก็อีก ๓ ท่านเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกระบวนการในการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อข้อเสนอหรือว่ารายงานของคณะอนุกรรมาธิการ เราก็มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคการเมืองทุกภาคส่วนเข้ามาให้ความเห็นต่อรายงานฉบับนี้ตลอดกระบวนการ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนมิติที่ ๒ ท่านน่าจะทราบว่าตัวผมเองในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ ก็อาจจะมีความเห็นว่า สสร. ควรจะมาจากการการเลือกตั้งทั้งหมด แต่เราก็พยายามรับฟัง อย่างใกล้ชิดว่าคนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเขามีข้อกังวล แบบไหน เช่น มีข้อกังวลเรื่องของการรับประกันพื้นที่ผู้เชี่ยวชาญก็ดี เช่น มีข้อกังวลเรื่อง การรับประกันพื้นที่ให้กับกลุ่มความหลากหลายก็ดี ผมก็ได้พยายามทำงานร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการเพื่อเอาข้อกังวลเหล่านั้นเป็นตัวตั้งแล้วก็มาออกแบบทางเลือกระบบ เลือกตั้งต่าง ๆ เพื่อชี้ให้ท่านเห็นว่าข้อกังวลที่ท่านกังวลนั้น ถึงแม้อาจจะมีคนที่ไม่ได้กังวล เหมือนท่าน แต่หากท่านกังวลดังกล่าวเราก็เคารพ แต่ว่าเราสามารถหาทางออกให้ท่าน ได้ผ่าน Model สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องไปหา Model ที่ไม่ได้มา จากการเลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้นผมยืนยันว่าคณะอนุกรรมาธิการนี้เราดำเนินการด้วยความ ประนีประนอมและพยายามจะรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากทุกกลุ่ม แต่ก็จะมีเรื่องเดียว ที่เราอาจจะประนีประนอมได้ นั่นคือการยืนยันหลักการพื้นฐานว่าถึงแม้เราจะเห็นต่างว่า ระบบเลือกตั้งแบบไหนเหมาะสมที่สุด แต่ สสร. นั้นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมเข้าใจ ดีครับ บางท่านอาจจะบอกว่า สสร. ปี ๒๕๓๙ ที่มายกร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ นั้นไม่ได้มา จากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ผมก็ต้องยืนยันไปว่าประเทศเรา โลกเรามาไกลกว่าปี ๒๕๔๐ แล้ว เพียงเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ความจริงแล้วถ้าเราย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๔ ณ รัฐสภา แห่งนี้ในการลงมติในวาระที่ ๒ เกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เกี่ยวกับ สสร. ส่วนใหญ่ของที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สส. และ สว. นั้นโหวตเห็นชอบกับ Model สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

    อ่านในการประชุม

  • หัวข้อที่ ๓ คือโจทย์ต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้ฝากไว้ ผมขออนุญาตยกเพียงแค่ ๑ ตัวอย่างจากเพื่อนสมาชิก ท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ขออนุญาตที่เอ่ยนาม ท่านก็มีเป้าหมาย ที่อยากจะเห็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีสัดส่วนของแต่ละเพศที่มีความทัดเทียมกัน ผมคิดว่าความจริงแล้วทางคณะอนุกรรมาธิการนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้เหมือนกัน เราคงไม่ได้ตัดสินใจแบบเฉพาะเจาะจงว่า Model ไหนจะตอบโจทย์สิ่งที่ท่านต้องการได้ มากที่สุด แต่ผมก็ขออนุญาตยกบางตัวอย่างที่สามารถจะแก้ไขข้อกังวลของท่านได้ ตัวอย่างที่ ๑ คือหากเราเลือกใช้ Model สสร. ที่มี สสร. ประเภท ก หรือว่าตัวแทนทั่วไปที่ใช้ระบบ บัญชีรายชื่อ ความจริงแล้วในการใช้ระบบบัญชีรายชื่อก็คงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ทีมใด ๆ ก็ตามที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็อาจจะคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้วในการจัดลำดับ บัญชีรายชื่อ เช่น อาจจะมีการสลับกันไปสลับกันมาระหว่างผู้สมัครแต่ละเพศ เป็นต้น หรือว่าทางเลือกที่ ๒ ครับ เพราะหากท่านเปิดรายงานแล้วก็ดูตัวอย่างของ สสร. จาก ต่างประเทศที่เราได้มีการยกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นที่ไอซ์แลนด์หรือว่าชิลีก็อาจจะมีการกำหนด แบบตายตัวไปเลยว่าในการเลือกตั้ง สสร. ประเภทตัวแทนทั่วไปที่มีการใช้ระบบบัญชีรายชื่อ ก็ดีจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนว่าจะต้องมีจากเพศใด หรือว่าจะต้องมีตัวแทนที่เป็นเพศใด กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น หรือว่าหาก ๒ ทางเลือกนั้นยังไม่สามารถคลายข้อกังวลของท่านได้ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการเพิ่มประเภท ค ขึ้นมา ซึ่งอาจจะมีกลุ่มเฉพาะหรือว่าโควตาเฉพาะ ให้ตัวแทนจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศหรือว่ากลุ่มเพศต่าง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยตรง ดังนั้นผมคิดว่าการยกตัวอย่างข้อกังวลของเพื่อนสมาชิกท่านณัฐวุฒิขึ้นมาแล้ว ฉายภาพให้เห็นแบบนี้ก็จะทำให้เพื่อน ๆ สมาชิกสบายใจได้ว่าทุกคำถาม ทุกเป้าหมาย ทุกข้อ กังวลที่ท่านมีมันสามารถหาทางออกได้หลายวิธีผ่านทางเลือกหรือว่า Menu ที่เราได้นำเสนอ ในรายงานฉบับนี้ ซึ่งแน่นอนข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกก็อาจจะแตกต่างกันออกไป

    อ่านในการประชุม

  • หัวข้อที่ ๔ จากเพื่อนสมาชิกคือท่านณัฐพงษที่มีการเสนอให้เพิ่มข้อสังเกต ขึ้นมา ความจริงมีแตกเป็น ๒ ข้อ แต่สรุปใจความสำคัญก็คือต้องการจะให้เราส่งรายงาน แล้วก็ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ไปสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญที่อาจจะมี การตั้งขึ้นมาในอนาคตเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง สสร. อันนี้ ในเชิงหลักการผมขอรับไว้ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการจะส่งให้คณะกรรมการวิสามัญ ในอนาคตใช้เป็น Framework หรือเป็นกรอบคิดประกอบการพิจารณาได้ แต่เมื่อสักครู่ได้ Check กับทางฝ่ายเลขานุการแล้วก็ท่านประธานก็เข้าใจว่าเพื่อให้เป็นไป ตามข้อบังคับ วันนี้ผมอาจจะยังไม่สามารถยืนยันด้วยตัวเองได้ แต่ต้องเรียกประชุม คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันข้อสังเกตตรงนี้ หรือว่ายืนยันว่าจะส่งข้อสังเกตตรงนี้ไปสู่ คณะกรรมาธิการวิสามัญในอนาคต ดังนั้นหากท่านไม่ติดใจก็จะขออนุญาตนำเสนอรายงาน ที่เป็นอยู่ไปก่อน แล้วก็ในการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งถัดไปซึ่งจะมีวันพรุ่งนี้ก็จะนำเรื่องนี้เข้า แล้วก็อาจจะ เป็นการส่งข้อสังเกตตามไปอีกทีหนึ่งให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ใช้รายงานนี้เป็นกรอบ ในการพิจารณา

    อ่านในการประชุม

  • หัวข้อที่ ๕ ครับท่านประธาน มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านวิทยา แก้วภราดัย ได้ตั้งคำถามว่าเปิดดูรายงานฉบับนี้แล้วเห็นพูดถึงแต่เรื่องของ กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือว่ารูปแบบของ สสร. แต่ไม่มีส่วนไหนเลย ที่ทำให้ท่านรับรู้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่เรามองว่าเป็นปัญหา หรือว่าเนื้อหา ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องชี้แจงเพื่อให้ท่านสบายใจ แบบนี้ ๒ ส่วนนะครับ ส่วนที่ ๑ ก็ต้องบอกว่าด้วยขอบเขตของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ ที่ถูกตั้งขึ้นมา ขอบเขตคือการพิจารณาในเรื่องของกระบวนการเป็นหลัก เรื่องของรูปแบบ สสร. เป็นหลัก การที่เราพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เรารู้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมันต้อง ควบคู่กัน ทั้งในส่วนของกระบวนการที่มาที่มีความชอบธรรม แล้วก็ในส่วนของเนื้อหาที่มี ความชอบธรรม ทางประชาธิปไตยที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างรัดกุมที่ออกแบบสถาบันทาง การเมืองต่าง ๆ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วย เพียงแต่ว่าขอบเขตของรายงาน ฉบับนี้ก็อาจจะมุ่งเป้าไปที่การศึกษาในส่วนของกระบวนการเป็นหลัก แต่หากท่านอยากจะฟัง ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ ที่แต่ละฝ่ายมองว่าเป็นปัญหา หรือว่าเนื้อหา ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แต่ละฝ่ายอยากจะเห็นนั้นเป็นเช่นไร ก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม แต่ว่าคงไม่ใช่ที่ประชุมสภาแห่งนี้ที่จะมาใช้เวลามากกว่านี้ในการมาพูดคุยเรื่องของเนื้อหา ถ้าท่านอยากรู้ว่าความเห็นของผมหรือว่าของพรรคก้าวไกล พรรคต้นสังกัดเป็นเช่นไร ท่านก็ สามารถดูในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นเข้าไป หรือว่าที่เรา เคยแสดงความเห็นไว้ก็ได้ ถ้าท่านอยากรู้ว่าพรรคการเมืองอื่นคิดเห็นอย่างไรก็สามารถดูจาก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่แต่ละพรรคยื่นเข้าไป หรือว่าสิ่งที่แต่ละพรรคเคยพูดในเวที รณรงค์หาเสียงได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าท่านอยากได้ความเห็นที่มันครอบคลุมที่สุด ไม่ได้อิงกับ พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ผมเชิญชวนให้ท่านไปอ่านรายงานฉบับนี้ อาจจะขอ เจ้าหน้าที่ขึ้นสไลด์สักเล็กน้อย

    อ่านในการประชุม

  • ความจริงแล้ว ปัญหา ของเนื้อหารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ แต่ว่าในสภาชุดที่แล้วในช่วงเดือน ธันวาคมปี ๒๕๖๒ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ จัดทำขึ้นตั้งแต่เดือน ธันวาคม ปี ๒๕๖๒ ไปจนถึงเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๓ ถ้าท่าน Scan QR Code ไปก็จะมี ทั้งหมด ๔๐๐ กว่าหน้า ซึ่งเป็นการไล่ทุกมาตราเลยครับท่านประธาน ตั้งแต่มาตรา ๑ ถึง มาตรา ๒๗๙ ว่าในแต่ละมาตรานั้นแต่ละฝ่ายทางการเมือง ซึ่งแน่นอนในคณะกรรมาธิการก็ จะมีทั้งตัวแทนจากทุกพรรคมาร่วมกันพิจารณา แต่ละฝ่ายทางการเมืองมองถึงมาตราแต่ละ มาตราว่ามีปัญหาหรือไม่มีปัญหาอย่างไร แล้วก็ความจริงแล้วถ้าเราไปดูรายชื่อของ คณะกรรมาธิการชุดนี้ คนที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการก็คือท่านพีระพันธุ์ ซึ่งก็ เข้าใจว่าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเดียวกันกับท่านวิทยา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย มีเพื่อนสมาชิกถามเข้ามาว่ากรรมาธิการชี้แจงหน่อย อนุกรรมาธิการชี้แจงหน่อยว่าสรุปแล้วเอา Model อะไร ก็ต้องยืนยันกลับไปว่าเจตนารมณ์ ของทางคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้เราไม่ต้องการฟันธงว่า Model หรือระบบเลือกตั้งแบบไหน ดีที่สุด เราเพียงแต่ยืนยันกรอบใหญ่ ๆ ว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และทำให้ เห็นทางเลือกต่าง ๆ ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แต่เราไม่ได้ต้องการจะยืนยันด้วยตนเองว่า ทางเลือกระบบเลือกตั้งแบบนี้ดีที่สุดเท่านั้น ความจริงแล้วเรานำเสนอ Model สสร. ที่แบ่ง ออกเป็น ๓ ประเภทคือ ก ข ค แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น จะต้องมีทั้ง ก ข ค บางท่านอาจจะมองว่ามีแค่ ก ก็เพียงพอแล้ว บางท่านต้องการจะเพิ่ม ข ค ขึ้นมาก็สุดแล้วแต่ปัจจัยที่แต่ละคนนั้นจะพิจารณา ดังนั้นผมยืนยันว่าทางเราไม่ได้ ต้องการจะสรุปว่าคณะอนุกรรมาธิการมองว่า Model ไหนเป็น Model ที่ดีที่สุด แต่เรา ต้องการใช้รายงานฉบับนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการสร้างบทสนทนา ไม่ใช่แค่ในสภาแห่งนี้ ครับท่านประธาน แต่ว่ากับสังคมในวงกว้างเพื่อมาพูดคุยกันถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ และเพื่อ ทำให้รายงานฉบับนี้เข้าถึงประชาชนอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็อยากจะแจ้งให้เพื่อน ๆ สมาชิกทราบว่าตอนนี้เราก็มีภาคประชาชน รวมไปถึงทาง WeVis ที่อาสาเข้ามาเพื่อมาช่วย แปลรายงานฉบับนี้ แล้วก็ทางเลือกต่าง ๆ ให้เป็นรูปแบบ Online ที่เข้าใจง่าย แล้วก็ ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเห็น แล้วก็เข้าใจถึงข้อดี ข้อเสีย ของทางเลือก ต่าง ๆ เพื่อมาลองออกแบบ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งที่พวกเขาอยากจะเห็น แล้วก็ ขอทิ้งท้ายท่านประธานว่าในเมื่อคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการ แล้วก็ฝ่ายของภาคประชาชน ผมขออนุญาตให้ทางตัวแทนจาก ภาคประชาชน คุณณัชปกร นามเมือง ได้สรุปสั้น ๆ ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการทำงานของ คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ แล้วก็รายงานฉบับนี้ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจของท่านประธาน เพื่อนสมาชิก แล้วก็ พี่น้องประชาชนที่รับชมอยู่ทางบ้าน ก็ต้องขออนุญาตเริ่มต้นโดยการชี้แจงว่าญัตติที่ผม ร่วมเสนอในวันนี้กับญัตติที่ท่านชัชวาลล์เสนอนั้นก็อาจจะเป็นหัวข้อที่ไม่ตรงกันสักเท่าไร แต่ว่าในเมื่อหัวข้อไม่มีความเชื่อมโยงกันก็ต้องขอบคุณท่านประธานที่กรุณาอนุญาตให้ ๒ ญัตตินี้มีการพิจารณาร่วมกัน ในการอภิปรายเสนอญัตติผมขออนุญาตใช้เวลาในการ อธิบายหลักการและเหตุผลในการร่วมเสนอญัตติ เรื่อง การขอให้สภาผู้แทนราษฎรนั้น จัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ให้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมใน ระบอบประชาธิปไตย โดยผมนั้นจะขออนุญาตเป็นผู้อภิปรายเปิด แล้วก็ผู้ร่วมเสนอนะครับ คุณฉัตร สุภัทรวณิชย์ ก็จะเป็นผู้อภิปรายปิดในอีกทีหนึ่ง ท่านประธานครับ ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุด เป็นของประชาชน รัฐจำเป็นที่จะต้องมองและปฏิบัติกับประชาชนทุกคนในฐานะพลเมืองที่มี สิทธิและอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยหากเราต้องการให้ประชาชน ทุกคนนั้นใช้สิทธิพลเมืองดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการกำหนด อนาคตประเทศ เราก็จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมดังกล่าวนั้นตั้งแต่สมัยที่ทุกคนนั้น ยังคงเป็นเด็กและเยาวชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกของเราทุกคนในที่นี้ สัมผัสกันได้ว่าเด็กและเยาวชนนั้นได้แสดงความตื่นตัวทางการเมืองและตื่นตัวต่อประเด็น สาธารณะเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ามากที่สุดในรอบหลายปีก็ว่าได้ แต่แม้เยาวชนจะได้ พยายามสะท้อนความฝันและความต้องการของเขาผ่านช่องทางหรือกลไกต่าง ๆ แค่ไหน ก็ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเสียงของเขานั้นยังไม่ได้ถูกรับฟังหรือคำนึงถึงอย่าง เพียงพอในทุกกระบวนการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนก็ดีหรือในสังคมภาพรวมก็ดี จะว่าไปแล้วท่านประธานแม้กระทั่งเหตุการณ์เมื่อวานหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวานก็อาจจะทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่า อนาคตของเขาในประเทศนี้จะอยู่ ภายใต้กรอบทางการเมืองแบบใด อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีสุขภาพเช่นใด ดังนั้น หากเราต้องการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว การรับฟังอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอครับ แต่เราจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ต่าง ๆ ให้เยาวชนนั้นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น พื้นที่ ที่ผมพูดถึงนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • พื้นที่ประเภทที่ ๑ ที่เราควรเปิดคือการปลดล็อกให้เยาวชนนั้นสามารถเข้ามา มีส่วนร่วมได้ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ใหญ่โดยตรง กุญแจดอกสำคัญของเรื่องนี้คือการปรับเกณฑ์ เรื่องอายุขั้นต่ำในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในด้านต่าง ๆ ตัวอย่างที่น่าจะชัดเจนที่สุด ก็คืออายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น หากเรายึดหลัก สากลประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกก็มักจะมองว่าหากคุณมีอายุมากพอที่จะมีสิทธิ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คุณก็ถือว่ามีอายุมากพอที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน แต่พอเรา มาดูในประเทศไทยพอคุณอายุ ๑๘ ปี คุณมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งหรือมีสิทธิในการ โหวต แต่คุณต้องรออีก ๗ ปี จนกระทั่งอายุ ๒๕ ปี คุณถึงจะมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ในระดับสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วก็ต้องรออีก ๑๐ ปี จนคุณอายุ ๓๕ ปี ถึงจะมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น

    อ่านในการประชุม

  • พื้นที่ประเภทที่ ๒ ที่เราควรเปิดนั่นคือการออกแบบพื้นที่พิเศษสำหรับ เยาวชนที่จะเป็นสะพานเชื่อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่างเยาวชนกับกลไกทั่วไปทาง การเมืองหรือทางนโยบาย จริงอยู่ครับว่าปัจจุบันเราก็มีพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วมาเกือบ ๒๐ ปี ที่มีชื่อว่าสภาเด็กและเยาวชน แต่หากผมจะขออนุญาตยืมคำพูดของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ได้ พยายามรวบรวมความเห็นของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เขาได้กล่าวไว้ว่าแม้สภาเด็กและ เยาวชนนั้นถูกตั้งขึ้นมาด้วยหลักการว่า เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน แต่มันก็มีความเสี่ยงว่าสภาเด็ก และเยาวชนในหลายส่วนในวันนี้อาจจะกลายเป็นสภาที่ผู้ใหญ่สั่งแล้วเด็กถูกบีบให้ทำตาม แนวทางในการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนให้ตอบโจทย์เยาวชนมากขึ้นก็มีอยู่หลายข้อเสนอ ด้วยกัน ผมขออนุญาตยกตัวอย่างสั้น ๆ แค่ ๓ ข้อเสนอ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๑ คือการปรับที่มาของสภาเด็กและเยาวชนในแต่ละระดับให้มา จากการเลือกตั้งของเด็กและเยาวชนโดยตรง ด้วยการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ตอนนี้ทาง กทม. เองก็ได้มีการเปิดให้มีการเลือกตั้งประธานสภาเด็กและ เยาวชนโดยตรงผ่านการเลือกตั้ง Online ซึ่งผมเข้าใจว่าเพิ่งปิดรับสมัครผู้สมัครไปเมื่อวานนี้ การเลือกตั้ง Online แบบนี้ล่ะครับก็เป็นวิธีที่หลายประเทศนั้นใช้ในการเพิ่มการมีส่วนร่วม ของเยาวชน อย่างเช่น Youth Parliament หรือว่าสภาเยาวชนที่สหราชอาณาจักรก็มีการเปิด ให้เยาวชนอายุ ๑๑-๑๘ ปีนั้นมีสิทธิในการเลือกตัวแทนของเขาผ่านช่องทาง Online ทุก ๆ ๒ ปี เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๒ คือการรับประกันความเป็นอิสระของสภาเยาวชนจากรัฐ วิธีหนึ่ง ที่เราจำเป็นต้องทำการวางเกณฑ์หรือพิจารณาเรื่องหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อให้รัฐนั้น ไม่มาแทรกแซงเนื้อหาโครงการที่เยาวชนนั้นคิดค้นหรือปรับงบประมาณขึ้นลงตามอำเภอใจ เพียงเพราะว่าเยาวชนนั้นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในยุคสมัยนั้น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอที่ ๓ นั่นคือการเพิ่มอำนาจของสภาเยาวชนในการผลักดันนโยบาย ที่ต้องไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมครับ แต่เป็นอำนาจในการขับเคลื่อนนโยบายผ่านการเชื่อมโยง กับกลไกทางการเมืองในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้สภาเยาวชนนั้นมีอำนาจในการเสนอ ร่างกฎหมายมาให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้รับไว้พิจารณา อย่างเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ หรือไม่ว่าจะเป็นการให้สภาเยาวชนนั้นมีโควตาในการตั้งกระทู้ถามหรือเสนอแนะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีนั้นต้องมาตอบในสภาเยาวชนก็ดี หรือตอบเป็นลายลักษณ์อักษรก็ดี อย่างเช่น ที่มาเลเซียหรือเดนมาร์ก เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • พื้นที่ประเภทที่ ๓ ที่เราควรจะเปิด คือการเปิดพื้นที่สถานศึกษาให้นักเรียน และนักศึกษานั้นมามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาและกติกาในโรงเรียนมากขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเราจะเป็นอย่างไร ความจริงแล้วความเป็นประชาธิปไตย ในห้องเรียนเรานี่ล่ะครับจะเป็นทั้งกระจกสะท้อนสังคมและตะเกียงนำทางสังคม การส่งเสริม การมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยในห้องเรียนก็มีอยู่หลายข้อเสนอด้วยกันครับ ขออนุญาต ยกตัวอย่าง ๓ ข้อเสนอเช่นเคย

    อ่านในการประชุม

  • ตัวอย่างข้อเสนอที่ ๑ คือการกำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาหรือว่า School Board นั้นมีตัวแทนนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งจากนักเรียนโดยตรง กลไกแบบนี้ ก็จะเป็นหลักประกันที่ดีที่จะทำให้การพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการจัดการเรียนการสอนยันการเลือกอุปกรณ์การเรียน หรือแม้กระทั่งมาตรการการดูแล ความปลอดภัยของผู้เรียนนั้นก็จะคำนึงถึงเสียงของนักเรียนที่มีตัวแทนที่นั่งอยู่บนโต๊ะ พิจารณาเดียวกันกับทุก ๆ ฝ่าย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสียงดังมาจากนอกห้องประชุม

    อ่านในการประชุม

  • ตัวอย่างข้อเสนอที่ ๒ คือการทำให้ธรรมนูญนักเรียนและสภานักเรียนนั้น มีความยึดโยงกับนักเรียนมากขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ที่เปิด ให้นักเรียนนั้นได้มีส่วนร่วมในการเขียนและออกเสียงประชามติรับรองธรรมนูญฉบับแรก ของโรงเรียน โดยมีการกำหนดไว้ให้มีโครงสร้างสภานักเรียนที่แบ่งออกเป็นฝ่ายบริหารและ ฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลที่ล้วนมาจากการเลือกตั้งของนักเรียนโดยตรง และสามารถ ถูกลงชื่อถอดถอนโดยนักเรียนได้เช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ตัวอย่างข้อเสนอที่ ๓ คือการเปิดให้นักเรียนนั้นมีส่วนร่วมในการประเมิน คุณภาพการศึกษาที่พวกเขาได้รับ ในระดับหนึ่งเราอาจจะหมายถึงการเปิดให้นักเรียนนั้นมี ส่วนร่วมในการประเมินครู เพื่อทำให้เกิดการประเมินแบบรอบทิศหรือแบบ ๓๖๐ องศา ที่จะทำให้การทำงานของครูนั้นมีความยึดโยงกับผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และความ พึงพอใจของนักเรียนมากขึ้นในฐานะผู้รับบริการการศึกษา หรืออีกระดับหนึ่งคือการเปิดให้ นักเรียนนั้นได้ประเมินและตรวจสอบโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โครงการที่มีชื่อว่า Check My School ที่ประเทศฟิลิปปินส์ครับ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนและ ประชาชนในพื้นที่นั้นมีเครื่องมือและข้อมูลในการตรวจสอบว่าการให้บริการในโรงเรียนนั้น เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ หนังสือเรียนที่เขาได้รับได้คุณภาพหรือไม่ ห้องน้ำ ที่โรงเรียนสะอาดเพียงพอหรือไม่ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโรงเรียนนั้นทำงานได้จริงหรือไม่ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • แต่นอกจากจะเปิด ๓ พื้นที่ประเภทนี้ให้เยาวชนเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้นแล้ว อีกภารกิจหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำคู่ขนานคือการพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อช่วย ส่งเสริมให้เยาวชนนั้นได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการขับเคลื่อนการ เปลี่ยนแปลง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยบ่มเพาะทักษะให้เยาวชน ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าตรงนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เต็มที่หากเราไม่มีการ ปฏิรูปการศึกษาและจัดทำหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะ หากเราอยาก ให้เยาวชนของเราคิดค้นนโยบายต่าง ๆ จากการรับฟังความเห็นจากหลายมุมมอง เราก็ควร ที่จะเปลี่ยนวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์จากการเน้นท่องจำเหตุการณ์มาเป็นการเน้น วิเคราะห์หลักฐานหรือมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่บางครั้งอาจจะขัดแย้งกัน หากเราต้องการ ให้เยาวชนของเรานั้นมีความสามารถในการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศได้ในการ แก้ไขปัญหาระดับโลกเราก็ควรที่จะปรับวิธีการสอนวิชาภาษาอังกฤษที่ไม่ได้เน้นแค่เรื่องของ หลักภาษาและไวยากรณ์ แต่ให้หันมาเน้นเรื่องของทักษะการใช้ภาษาหรือว่าทักษะ การสื่อสารควบคู่ไปด้วย หรือหากเราอยากให้เยาวชนนั้นได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา บ้านเมืองจริง ๆ เราก็จำเป็นที่ต้องลดจำนวนชั่วโมงเรียน ลดภาระการบ้านที่มันหนักเกินไป เพื่อให้เยาวชนของเรานั้นมีเวลามากขึ้นในการทำกิจกรรมที่เขาสนใจและทดลองทำจริง นอกห้องเรียน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ คือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อม ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนในการมีส่วนร่วม ความปลอดภัยนี้ก็ครอบคลุมทั้งความปลอดภัย ในมิติของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และเคารพสิทธิ มนุษยชนของเยาวชนทุกคน รวมไปถึงความปลอดภัยในมิติของวัฒนธรรมในห้องเรียนครับ ที่สนับสนุนให้เยาวชนนั้นสามารถตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างสนิทใจ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบไปด้วยผู้ปกครองหรือ ผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเข้าใจและพร้อมจะวางบทบาทของตนเองเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยสนับสนุน เยาวชนโดยไม่ครอบงำหรือปิดกั้นเยาวชนด้วยความคิดของตนเอง ท่านประธานครับ ข้อเสนอ ทั้งหมดที่ผมได้อภิปรายในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในการเปิด ๓ พื้นที่ก็ดี ข้อเสนอในการ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ๓ ประการก็ดี ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ผมคิดเองนะครับ แต่เป็นข้อเสนอ เบื้องต้นที่ผมได้มาจากการได้ประชุมหารือร่วมกันในกรรมาธิการพัฒนาการเมืองร่วมกับ ทั้งฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม แล้วก็ตัวแทนเยาวชนบางส่วน แต่ผมเชื่อครับว่าเราจะมี ข้อเสนอที่ครบถ้วนรอบด้านพร้อมใช้งานมากกว่านี้ หากเราลงแรง ลงเวลากันอีกสักนิดหนึ่ง ผ่านกลไกของสภาและกลไกของคณะกรรมาธิการเพื่อคุยกับคนให้มากกว่านี้และจัดทำ ข้อเสนอที่กว้างและลึกกว่านี้ ดังนั้นที่ผมต้องการให้เราดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความละเอียด รอบคอบก็เพราะผมรู้ ผมตระหนักดีว่าการเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างมีความหมาย อย่างแท้จริงนั้นจะต้องไม่ใช่การทำอะไรกับเยาวชนแบบฉาบฉวย ปรากฏการณ์หนึ่งที่ทั่วโลก นั้นเริ่มพูดถึงแล้วก็เริ่มมีข้อกังวลมากขึ้น คือปรากฏการณ์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Youth Washing ปรากฏการณ์นี้คือปรากฏการณ์ที่รัฐหรือองค์กรต่าง ๆ นั้นอาจจะมีความพยายาม ในการทำให้สังคมคิดว่าตนเองนั้นให้ความสำคัญกับเยาวชนหรือว่าคนรุ่นใหม่ โดยการชื่นชม โดยการให้รางวัล หรือว่าเชิญพวกเขาไปแสดงความเห็น แต่พอไปถามเยาวชนที่ผ่าน กระบวนการเหล่านี้แล้วเขากลับสัมผัสได้หรือเขากลับรู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้ไม่เคยรับฟังจริง ๆ ถึงความต้องการของพวกเขา ไม่เคยตั้งใจจริง ๆ ในการแก้ไขปัญหาของพวกเขา แล้วก็ ไม่เคยไว้ใจพวกเขาจริง ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมหรืออำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้นผมขอ ทิ้งท้ายด้วยการบอกว่าข้อเสนอที่ผมอยากเห็นสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เราร่วมกันจัดทำครับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างมีความหมายในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็น ข้อเสนอที่คำนึงไว้ตลอดเวลาว่าเสียงของเยาวชนนั้นต้องไม่ใช่แค่เสียงดัง แต่ต้องเป็นสิ่งที่ถูก รับฟังอย่างจริงจัง บทบาทของเยาวชนนั้นต้องไม่ใช่ไม้ประดับ แต่ต้องเป็นเจ้าของร่วมกันของ ประเทศนี้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และท้ายที่สุดแล้วเยาวชนต้องไม่ใช่แค่ อนาคตของชาติ แต่เยาวชนต้องเป็นปัจจุบันของชาติด้วยเช่นกัน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมวันนี้ในการอภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจา ที่เพื่อนสมาชิกจาก พรรครวมไทยสร้างชาติและเพื่อนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอเกี่ยวกับการทบทวน มาตรการการอารักขาถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ ท่านประธานครับ ผมเข้าใจว่าเรื่อง ที่เราพูดคุยกันในวันนี้นั้นเป็นเรื่องที่ได้สร้างความกังวลใจให้กับหลายภาคส่วนในสังคม แม้อาจจะมีบางช่วงบางตอนวันนี้ที่อาจจะไม่ราบรื่นบ้าง แต่วันนี้ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่อย่างน้อยเราทุกฝ่ายนั้นเห็นตรงกันว่าปัญหาใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะละเอียดอ่อนแค่ไหน ต้องถูกนำมาพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุและผล ในสภาแห่งนี้ หลายคนอาจจะมองว่าเวทีสภานั้นมันเป็นประโยชน์ เพราะสภานั้นเป็นพื้นที่ ปลอดภัย แต่สำหรับผมแล้วเวทีสภานั้นไม่ได้เป็นประโยชน์แค่ในส่วนนั้นเท่านั้นครับ เพราะความจริงแล้วทุกพื้นที่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะในหรือนอกสภาก็ควรที่จะเป็นพื้นที่ ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ เรื่องอยู่แล้ว แต่สำหรับผมเวทีสภานั้นมันเป็น ประโยชน์ เพราะสภานั้นเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งที่นำคนที่เห็นต่าง หรือตัวแทนของชุดความคิด ที่แตกต่างกันมาหันหน้าคุยกัน แล้วร่วมกันหาทางออกในเรื่องที่ยาก ๆ ของสังคมเรา ผมเข้าใจดีว่าเพื่อนสมาชิกเสนอญัตตินี้เข้ามา สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เกี่ยวกับขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ซึ่งข้อเท็จจริงในเหตุการณ์นั้นเพื่อน ๆ สมาชิกก็ได้อภิปรายกันไปแล้ว อย่างกว้างขวาง แต่ผมเชื่อว่าหัวข้อที่มันอยู่ลึกลงไปในใจของพวกเราหลายคนในที่นี้อาจจะ เป็นหัวข้อหรือโจทย์ที่มันกว้างและใหญ่กว่าแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นก็คือโจทย์เรื่องของ การปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นภายใต้เวลา ที่จำกัดในวันนี้ โจทย์ที่ผมอยากจะชวนเพื่อนสมาชิกมาร่วมกันคิดต่อ คือคำถามที่ว่าสังคม เราควรจะมีปฏิกิริยาหรือรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โจทย์นี้ผมขอ แบ่งออกเป็นทั้งโจทก์ที่แคบและโจทย์ที่กว้าง ในส่วนของโจทย์ที่แคบซึ่งสอดคล้องโดยตรงกับ หัวข้อญัตติในวันนี้ คือคำถามที่ว่าเราควรจะทบทวนการออกแบบมาตรการเกี่ยวกับขบวน เสด็จหรือไม่ อย่างไร ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จริงอยู่ว่าในระบอบประชาธิปไตยทุกแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เป้าหมายหลักของการออกแบบ มาตรการเกี่ยวกับขบวนเสด็จ คือการรักษาความปลอดภัยของบุคคลในขบวน ซึ่งแต่ละ ประเทศก็ต้องออกแบบวิธีการที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยพยายามอำนวยความสะดวก ต่อประชาชนในการใช้ถนนมากที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ ผมเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเทศไทยเราเองก็ตระหนักดีถึงความสำคัญในการแสวงหาสมดุลดังกล่าว ซึ่งสะท้อน ผ่านเจตนาของพระบรมราโชบาย เมื่อปี ๒๕๖๓ ที่ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติเรื่องขบวนเสด็จ ทั้งหมด ๑๐ ข้อ ดังนั้นหากความกังวลและความห่วงใยของประชาชนเรื่องความปลอดภัย ของพระบรมวงศานุวงศ์ในเหตุการณ์ขบวนเสด็จเมื่อวันก่อนจะนำมาสู่การทบทวนมาตรการ เกี่ยวกับขบวนเสด็จในอนาคต เราก็จำเป็นที่ต้องช่วยกันคิดอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาหรือ แสวงหาจุดสมดุลที่เหมาะสม ที่จะบรรลุทั้งเป้าหมายในการรักษาความปลอดภัยแบบไร้ ช่องโหว่ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกของประชาชนที่สัญจรไปมาเท่าที่จะทำได้ ท่านประธานครับ ที่ผมพูดแบบนี้และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะขบวนเสด็จ นั้นเป็น ๑ ในไม่กี่ประสบการณ์ที่ประชาชนโดยทั่วไปจะมีโอกาสได้สัมผัสกับสถาบัน พระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นการหาสมดุลเกี่ยวกับขบวนเสด็จจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความรู้สึกของยุคสมัยที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลและพวกเราทุกคนนั้นมีหน้าที่ในการปกป้อง ในมุมหนึ่งรัฐบาลก็จำเป็นต้องทำให้ การรักษาความปลอดภัยของประมุขหรือพระบรมวงศานุวงศ์นั้นรัดกุมและไร้ข้อบกพร่อง ซึ่งก็นับเป็นภารกิจด้านความมั่นคงอันสำคัญของประเทศที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะล้มเหลว มิได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งหากวันนี้รัฐบาลหรือสภาแห่งนี้หันไปปรับมาตรการแบบฉับพลัน หรือไม่สมส่วน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ในวงกว้างอย่างถี่ถ้วนก็จะเกิดความเสี่ยง ว่าหากประชาชนไม่พอใจกับมาตรการใหม่ที่ตามมา ความไม่พอใจดังกล่าวก็อาจจะขยาย วงไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ความจริงแล้วมีต้นเหตุมาจากการขาด ความละเอียดรอบคอบของรัฐบาลหรือพวกเรากันเองที่ควรจะต้องเป็นกันชนที่ดีให้กับ สถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนในโจทย์ที่กว้างขึ้นมา คือคำถามที่ว่าเราจะปฏิบัติกับผู้เห็น ต่างและคลี่คลายความขัดแย้งกันอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดในการปกป้องระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ท่านประธานครับ ในสังคมใด ๆ ก็ตามความเห็นที่แตกต่างหลากหลายนั้นเป็นเรื่องปกติที่เรา หลีกเลี่ยงไม่ได้ หัวใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือการ ทำให้ความซื่อตรงของทุกคนต่อหลักการประชาธิปไตย และความศรัทธาของประชาชนต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็น ๒ คุณค่าที่อยู่เคียงข้างกันได้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลก แห่งความเป็นจริงที่เสรีภาพทางความคิดนั้นเป็นเสรีภาพที่จำกัดกันไม่ได้ เราต้องยอมรับว่า ประชาชนแต่ละคนก็อาจจะมีมุมมองหรือให้น้ำหนักกับ ๒ คุณค่าดังกล่าวในสัดส่วนที่ไม่ เท่ากันเสมอไป หากประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์จะเดินหน้าคู่กันได้อย่างมั่นคง หากเราทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สิ่งสำคัญที่สุดเลย ที่พวกเราทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำและทำได้ตั้งแต่ ณ ตอนนี้ นั่นก็คือไม่ว่าเราจะเจอใคร ก็ตามที่ยึดถือคุณค่าคิดต่างอย่างสุดขั้วจากเราแค่ไหน หรือไม่ว่าเราจะเห็นใครก็ตามใช้วิธีใน การแสดงออกที่เรามองว่าไม่เหมาะสมแค่ไหน เราทุกคนนั้น ทุกฝ่ายจะต้องไม่ตอบโต้ด้วย อารมณ์ แต่ต้องต่อสู้กันด้วยเหตุและผล เราทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องไม่หันไปใช้ความรุนแรง จะต้องหันหน้าเข้าหากันอย่างสันติวิธีภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม และหากผมจะขออนุญาต ทิ้งท้ายโดยการสื่อสารผ่านท่านประธานไปยังผู้นำประเทศ และเพื่อน ๆ สมาชิกทุกคนในที่นี้ ทุกพรรค ที่ผมเชื่อว่าล้วนอยากจะเห็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกันเองนั้นที่ร้อนระอุขึ้น ทุกวันคลี่คลายลง ผมอยากจะสื่อสารแบบนี้ครับ ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจของแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่เราต้องทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา เวลานี้ไม่ใช่เวลาของการปล่อยให้ ประชาชนไปจัดการแก้ไขปัญหากันเองโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมาย แต่เวลานี้คือเวลาของ การพิสูจน์ความเป็นผู้นำของพวกเราทุกคนในการร่วมกันสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อหาทางออก จากความขัดแย้งอันเปราะบางนี้ก่อนที่ปัญหาทั้งหมดนั้นจะลุกลามไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม