ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 8 วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 10.37 - 22.17 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีท่านสมาชิกได้ลงชื่อหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งประเทศนะครับ ท่านแรก ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เชิญท่านครับ

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธานเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องเงินงบประมาณครับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง ได้รับ การจัดสรรงบประมาณเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาการแพร่ระบาด COVID-19

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

เป็นโครงการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ ๖ รอบที่ ๒ เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ๆ เพื่อปรับปรุงถนนดินเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสายสวนนก จากหมู่ที่ ๑ ถึงหมู่ที่ ๕ ระยะทาง ๓,๔๐๐ เมตร กว้าง ๔ เมตร ต่อมาได้ดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างด้วยวิธี e-Bidding ในราคา ๗,๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ทำสัญญาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ระหว่างการก่อสร้างต้องขอขยายเวลาหลายครั้งเนื่องจากสาเหตุสุพรรณบุรี ประสบปัญหาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดการแพร่ระบาด COVID-19 เคลื่อนย้ายแรงงานยาก เครื่องจักรเครื่องมือมีอุปสรรคมาก ฝนตกตลอดจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในบริเวณดังกล่าว ท่านรัฐมนตรีประภัตร โพธสุธน ได้ไปดูพื้นที่ตำบลบ้านกุ่ม และนำเครื่องสูบน้ำไปช่วยด้วย จนค่ำเลย งานก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามสัญญา ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ตามแผน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งว่าต้องส่งงบประมาณคืน และให้ท้องถิ่นไปปรับลด งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลเอง หรือใช้เงินสะสม ท่านประธานที่เคารพครับ ลองนึกดูสิครับว่า อบต. บ้านกุ่มมีเพียง ๖ หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปกติก็ได้รับ งบประมาณจำนวนน้อยอยู่แล้ว ไม่มีโรงงาน ไม่มีโรงไฟฟ้าที่จะมีรายได้เสริมเข้ามา จะหาเงิน มาจ่ายค่าก่อสร้างจำนวน ๗ ล้านบาทเศษ ๆ จากที่ไหนครับ รีดเลือดจากปูหรือครับ งานก็ เสร็จมาหลายเดือนแล้ว คู่สัญญาก่อสร้างก็ตามทวงเงินทุกวัน ดังนั้นจึงใคร่ขออนุญาต ท่านประธานช่วยกรุณายกภูเขาที่กำลังทับอกนายธนเดช ก้อนทองคำ นายก อบต. บ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง โดยทำหนังสือ ๓ ฉบับครับ ฉบับแรก ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นให้ช่วยจัดสรรงบประมาณไปด้วย ฉบับที่ ๒ ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ช่วยประสานงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ช่วย ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย ฉบับสุดท้าย ถึงนายกรัฐมนตรีครับ ให้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน เชื่อว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ประสบปัญหาเดียวกันครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสิริลภัส กองตระการ เชิญครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล เขตบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๕ เรื่องด้วยกัน

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นการเปิดทางลัดบริเวณลาดพร้าว ๑๐๗ จนถึงถนนแฮปปี้แลนด์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสัญจรเลียบคลองยายเผื่อน ก่อนหน้านี้มีการเปิดลัดมา ประชาชน ใช้สัญจรได้ ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว ๑๐๗ มาจนถึงหน้าหมู่บ้านสินธร แต่ต่อมามีการสร้างที่กั้น เพื่อปิดทางไม่ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ได้ใช้เส้นทางดังกล่าว

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่งผลให้ร้านค้าที่เคยเปิด ก็ไม่มีช่องทางการค้าขาย วินมอเตอร์ไซค์ขาดรายได้ แล้วประชาชนต้องอ้อมไปใช้ใน เส้นทางอื่น ที่กั้นนี้ไม่ได้อยู่ในโครงการในแบบการก่อสร้างของสำนักการระบายน้ำ ก็อยากฝากให้สำนักการระบายน้ำได้ลงตรวจสอบด้วยว่าที่กั้นนี้ได้มีการถามหาความเห็น จากประชาชนแล้วหรือยัง แล้วมาจากไหน แล้วก็ทำประชาพิจารณ์ใหม่เพื่อเปิดทาง ใช้เส้นทางลัดนี้คืนให้กับประชาชนด้วย

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องในวัดบึงทองหลาง ผู้รับเหมามีการสร้างโครงการสถานี ระบายน้ำไว้แต่ไม่ได้เปิดใช้งานเพราะว่าสร้างไม่เสร็จ ตรงนี้ถ้าเกิดว่าเปิดสร้างได้จะสามารถ ช่วยประชาชนได้เพราะว่าจะเป็นการผันน้ำจากคลองวัดบึงมาสู่คลองจั่น แล้วก็ระบายไปที่ คลองแสนแสบได้ ช่วยได้ประมาณ ๔,๐๐๐ คนเลยนะคะ อยากให้สำนักการระบายน้ำ ช่วยเร่งตรวจสอบค่ะว่าทำไมถึงมีการทิ้งงานก่อสร้างนี้ แล้วจะมีแนวทางการจัดการอย่างไร กับผู้รับเหมานี้ด้วยนะคะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นความล่าช้าของการขอผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับประชาชน จากการลงพื้นที่มาได้รับร้องเรียนจากหลายชุมชนเลย บางชุมชน ๓-๔ เดือนเลยนะคะ ขอไปยังไม่ทันได้ใช้ เสียชีวิตก่อนแล้ว ก็อยากจะฝากกรมกิจการผู้สูงอายุและ พม. ทำงาน ร่วมกันกับศูนย์บริการสาธารณสุขก็คือ ๐๓๕ กับ ๐๑๕ ในบริเวณพื้นที่ของดิฉันนะคะ เพิ่มความรวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับการขอผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับประชาชนด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ค่ะ เป็นเรื่องของการติดตามโครงการนำสายสื่อสารลงดินนะคะ ได้รับร้องเรียนมามากเลย สายสื่อสารที่พันกันวุ่นวายมาก ๆ นะคะ หรือสายสื่อสารที่ห้อยลงมานี่ ประชาชนเกิดความกังวลใจว่าถ้าเกิดประกายไฟแล้วจะไหม้สายสื่อสารลามไปถึงสายไฟไหม หรือรถใหญ่ที่ขับผ่านมานี้จะสร้างอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนไหมนะคะ อยากให้ กสทช. นำโครงการนี้ระบุ วัน เวลาที่ชัดเจนมาเลยค่ะว่าพื้นที่เขตบางกะปิและ วังทองหลางจะมีโครงการนำสายสื่อสารลงดินเริ่มต้นเมื่อไรแล้วจบเมื่อไร แจ้งให้ประชาชน ได้ทราบด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องต่อไปนะคะ เป็นเรื่องขอติดตามโครงการปรับปรุงทางเดินเลียบคลอง อันนี้เป็นคำถามที่ได้มาจากชุมชนริมคลองหัวหมากน้อย แล้วชุมชนมัจฉานะคะ โครงการนี้ อนุมัติแล้ว กทม. อนุมัติแล้ว แต่ว่าหยุดชะงักไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด ถ้าเกิดว่า มีการปรับปรุงได้ก็คือเส้นทางสัญจรจะเชื่อมชุมชนได้ แล้วก็เป็นการปรับภูมิทัศน์ทางเดิน เลียบคลองด้วย คำถามที่อยากจะฝากไปก็คือโครงการนี้ถ้าหยุดชะงัก หยุดชะงักเพราะอะไร แล้วถ้าเกิดจะเริ่มทำจะเริ่มทำเมื่อไรนะคะ และอีก ๑ เรื่อง

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายนะคะ อันนี้ขอฝากไว้เลยเป็นเรื่องด่วนที่เพิ่งเข้ามาเมื่อกลางดึก เมื่อวานเลยนะคะ ขอ ๑ นาที ที่เป็น ๑ นาทีที่อยากจะฝากถึงทุกทั่วพื้นที่ในประเทศไทยเลยค่ะ มาตรฐานการป้องกันหรือว่าควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยนี้อยู่ที่ไหนคะ นี่สะพานที่ ๒ แล้วนะคะ กรณีนี้สะพานข้ามแยกบางกะปิครั้งแรกสะเก็ดไฟร่วงลงสู่ถนน ครั้งนี้แผ่นเหล็ก ร่วงลงมาทับพนักงานบาดเจ็บ ๒ เสียชีวิต ๑ เสียชีวิตแล้ว ๑ นะคะ เมื่อไรจะต้องรอให้มี การสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้นอีก ฝากโยธา กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผู้รับเหมา ให้เยียวยาด้วย แล้วก็ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างทุกโครงการ ในพื้นที่ประเทศไทยด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านภราดร ปริศนานันทกุล ครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ต้องขอบคุณ ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องหารือ ๒-๓ เรื่องครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

เรื่องแรก เนื่องจากว่าเมื่อปลายปีที่แล้วมีเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอ่างทอง และต้องขอบคุณทางกระทรวงคมนาคมนะครับ โดยท่านรัฐมนตรี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แล้วก็ ท่านเลขาสุขสมรวย ขณะนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนแล้ว ได้เร่งรัดติดตามในเรื่องของ การจัดสรรงบประมาณเพื่อไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในเรื่องของถนนหนทางทั้งทางหลวงและ ทางหลวงชนบท ขณะนี้ได้งบประมาณไปแล้ว แต่ว่าปัญหาใหม่เกิดขึ้น ตามที่ Slide นะครับ ขณะนี้มีการก่อสร้างหลายเส้นทางมากทั่วทั้งจังหวัดอ่างทองทั้ง ทช. และ ทล. ปัญหาที่พี่น้อง ประชาชนพบเห็นทุกวันนี้ก็คือว่ามีการก่อสร้างถนน แล้วยังไม่แล้วเสร็จ ก็อยากจะฝากถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และที่สำคัญในเรื่อง ของความปลอดภัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับผู้รับจ้างในเรื่องของความปลอดภัย ของผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งในช่วงกลางวันและในช่วงกลางคืนครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ในเรื่องที่ ๒ ครับ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีระเบียบของ กระทรวงมหาดไทยได้ออกมาล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องของการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เปลี่ยน เกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นให้พิจารณาสำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ อันนี้แม้ว่ามันจะ ไม่กระทบกับคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในขณะนี้ แต่อันนี้มันเป็นการเปลี่ยนทิศทาง ของรัฐบาลประเทศไทยว่ามองสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอย่างไร ว่ากำหนดทิศทางต่อการ วางรากฐานสังคมผู้สูงอายุอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากจากการเปลี่ยนสวัสดิการ ผู้สูงอายุเป็นการดูแลผู้สูงอายุอนาถา ซึ่งฐานะและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุจากมุมมองนี้ มันแตกต่างกันมาก จึงอยากจะให้กระทรวงมหาดไทยได้ทบทวนคำสั่งที่ว่าครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องขอขยายเส้นทางการวิ่งรถมินิบัส สายกรุงเทพฯ-อ่างทอง ขณะนี้มีเส้นทางสายนี้อยู่แล้วคือวิ่งจากกรุงเทพฯ-อ่างทอง เป็นรถหมวดที่ ๒ พี่น้อง ประชาชนร้องเรียนมามากครับ ในส่วนของอำเภอโพธิ์ทอง แล้วก็อำเภอแสวงหาซึ่งอยู่อำเภอ ที่ไกลออกไปจากตัวเมืองว่าไม่สามารถที่จะเดินทางจากบ้านตัวเองเพื่อที่จะเข้าสู่ในเมือง หรือเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร จึงอยากจะขอให้ทางกระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางบกขยายเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปที่ตัวเมืองอ่างทอง เป็นกรุงเทพฯ ไปถึงที่วัดสีบัวทองของอำเภอแสวงหา เพื่อที่จะขยาย เส้นทางแล้วรองรับผู้เดินทาง ผู้สัญจรได้มากขึ้นก็ถือโอกาสตรงนี้ฝากถึงกระทรวงคมนาคม ให้ช่วยเร่งรัดติดตาม เพราะว่าทางขนส่งจังหวัดอ่างทองได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม เรียบร้อย ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิมพกาญจน์ พลสมัคร เชิญครับ

นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน พิมพกาญจน์ พลสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยรวมพลัง ท่านประธานที่เคารพ จากที่ดิฉันได้ลงพื้นที่เขต ๓ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม และอำเภอเหล่าเสือโก้ก ดิฉันได้รับ เรื่องร้องเรียนและได้พบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสัญจรไปมา ซึ่งในขณะนี้ เป็นหน้าฝนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อพี่น้องเดือดร้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า แสงสว่าง ตามถนนหนทาง มีปัญหามากมาย แต่ว่าเรื่องที่ดิฉันจะนำเรียนหารือท่านประธานในวันนี้ คือเรื่องของขยะ จากงานวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ระบุแนวโน้มที่สำคัญ ของขยะในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะเขต ๓ ของดิฉัน ไม่ใช่แค่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นทั้งประเทศไทยปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ปริมาณขยะมูลฝอย เพิ่มขึ้นตลอดเวลาจาก ๒๔.๒๒ ล้านตัน ในปี ๒๕๕๖ เป็น ๒๘.๗๑ ล้านตัน ในปี ๒๕๖๒ คิดเป็นอัตราเพิ่ม ๑.๙ เปอร์เซ็นต์ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มของประชากรที่เฉลี่ยเพียง ๐.๐๓ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น อัตราการเพิ่มดังกล่าวทำให้ประเทศไทย ๑ คนก่อขยะ เพิ่มทุกปี จาก ๓๖๕ กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๕๓ เป็น ๔๓๑ กิโลกรัมต่อปี ในปี ๒๕๖๒ ขณะนี้ประเทศไทยมีการนำเข้าพลาสติกเป็นอันดับ ๓ ใน ASEAN ๑๐ ประเทศ รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และเป็นอันดับ ๒ รองจากอินโดนีเซียในแง่ของการก่อขยะมูลฝอย มีปัญหาขยะ ซึ่งดิฉันอยากให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติและต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน เพราะจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหามลภาวะเป็นพิษ ปัญหาที่สำคัญมาก ๆ ก็คือปัญหาในเรื่องของสุขภาพ ดิฉันจะขอ ยกตัวอย่างในเขตเทศบาลอำเภอม่วงสามสิบซึ่งเป็น เขต ๓ ของดิฉัน ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ขอนิดเดียวนะคะ ท่านประธาน อันนี้เป็นเขตเทศบาลอำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นขยะที่หมักหมมมานาน เป็นสิบ ๆ ปีไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ พี่น้องในพื้นที่ใกล้เคียงตรงนั้นได้รับผลกระทบ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรซึ่งเป็นถนนที่ผ่าน ช่วงนี้เป็นหน้าฝนน้ำจากบ่อขยะจะไหล ไปสู่ถนนแล้วก็บ้านเรือนได้รับความเสียหาย แล้วก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแล แก้ไขในเทศบาลอำเภอม่วงสามสิบ แล้วก็ในหลาย ๆ พื้นที่อำเภอม่วงสามสิบ แล้วก็เขต ๓ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอวยพรศรี เชาวลิต เชิญครับ

นางอวยพรศรี เชาวลิต นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน อวยพรศรี เชาวลิต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๙ พรรคประชาธิปัตย์ ดิฉันมีข้อหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง

นางอวยพรศรี เชาวลิต นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนชาวตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ ถึงปัญหาถนนแยกทางหลวงหมายเลข ๔๑๘๖ สายบ้านปากลง บ้านห้วยตง ระยะทางประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ถนนสายนี้มีความจำเป็นต้องการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างตลอดเส้นทางพร้อมระบบไฟฟ้า ส่องสว่างเพื่อขนส่งสินค้าทางการเกษตรและการเดินทางของพี่น้องประชาชน อีกทั้ง ความลำบากในการเดินทางของนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านห้วยตง ในหน้าร้อนทำให้เกิดฝุ่นละออง ช่วงฤดูฝนทำให้น้ำท่วมขังถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ดิฉันจึงหารือท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อ พี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ค่ะ

นางอวยพรศรี เชาวลิต นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ท่านประธาน ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ชาวอำเภอพรหมคีรี อำเภอนบพิตำ ถึงปัญหาถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๖ สายพรหมคีรี-นบพิตำ ปัจจุบันถนนสายนี้เป็นถนนที่มี ๒ ช่องจราจร ไม่มีไหล่ทาง ไม่มีช่องทางสำหรับจักรยานยนต์ตลอดเส้นทาง พี่น้องประชาชนที่สัญจรถนนเส้นนี้ ต้องวิตกกังวลถึงความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน จะเห็นได้ว่าถนนเส้นนี้มีรถบรรทุกพ่วง รถขนส่งสินค้าทางการเกษตรวิ่งผ่านไปมาเป็นจำนวนมากทำให้การสัญจรไปมาได้ยากลำบาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดิฉันได้สอบถามไปยังแขวงทางหลวงนครศรีธรรมราช ที่ ๑ ทราบว่าขณะนี้แผนทางหลวงเขตพื้นที่ทางหลวง ๔๐๑๖ สายพรหมคีรี-นบพิตำ มีความต้องการมีความต้องการขยายเป็น ๔ ช่องจราจร ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอแผนจัดทำ โครงการไปยังส่วนกลางเพื่อของบประมาณ ดิฉันจึงหารือท่านประธานผ่านไปยัง กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าว จากสี่แยกนอกท่า อำเภอพรหมคีรี ถึงสามแยกนาเหรง อำเภอนบพิตำ ขยายเป็น ๔ ช่องจราจร ตลอดระยะทาง ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เพื่อให้การสัญจรของพี่น้องประชาชนสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจิรัชยา สัพโส ครับ

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวจิรัชยา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือกับท่านประธานทั้งหมด ๓ เรื่อง

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก ท่านประธาน จากการสำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องในเขตพื้นที่ อำเภออากาศอำนวยและอำเภอพรรณานิคมพบว่ามีสะพานหลายแห่งขณะที่ชำรุดเสียหาย และยังไม่ได้รับการพัฒนา ดิฉันขอหารือกับท่านประธานผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครดังนี้ ให้จัดตั้งงบประมาณการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำ ในพื้นที่อำเภอพรรณานิคมและอำเภออากาศอำนวยที่หลายแห่งยังคงเป็นสะพานไม้ ที่เริ่มชำรุดเกินความสามารถของท้องถิ่นที่รับผิดชอบ จุดที่ ๑ สะพานข้ามลำน้ำอูน บ้านโคกชุมพร ตำบลพรรณา ไปยังบ้านหนองเดิ่น ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสะพานไม้ที่ชำรุดอันตรายต่อการสัญจร จุดที่ ๒ จุดข้ามลำน้ำอูนเช่นกัน จากบ้านบึงไปยังบ้านหนองหวาย ตำบลวังยาง อำเภอพรรณานิคม โดยก่อนหน้านี้สะพาน ข้ามลำน้ำไม่ได้รับงบประมาณในการบำรุงรักษาส่งผลให้ทุกวันนี้ไม่มีสะพานให้พี่น้อง ในเขตพื้นที่สามารถสัญจรได้จุดที่ ๓ จุดสะพานข้ามลำห้วยซุมเพ็ง บ้านนากะทาด ตำบลนาฮี ไปยังบ้านโพนก่อ ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย ซึ่งไม่ได้รับงบประมาณ เช่นกันค่ะ ส่งผลให้สะพานผุพังเสียหายเสี่ยงอันตรายต่อการสัญจร ดิฉันในฐานะตัวแทน ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไป สำรวจความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อของบประมาณในการซ่อมแซมและก่อสร้างสะพาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการสัญจร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความปลอดภัยโดยเฉพาะ ในหน้าฝนเช่นนี้ มาที่เรื่องถัดไปค่ะขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

กับปัญหาน้ำท่วมค่ะ น้ำท่วมซ้ำซาก ของอำเภออากาศอำนวย ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย ดิฉันเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ครม. ชุดใหม่และสำนักงบประมาณให้ปรับปรุงแก้ไขงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒,๕๖๗ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะงบประมาณของท้องถิ่นควรจะมี สัดส่วนที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นมากกว่า ๘ ปีที่ผ่านมา และจัดงบประมาณให้ความสำคัญกับ การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งเป็นหัวใจของเกษตรกรทั่วประเทศค่ะ

นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายค่ะท่านประธาน กับปัญหาของยาเสพติดที่กำลังระบาดหนัก ในพื้นที่ของดิฉันค่ะ ดิฉันขอฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยด่วน เพราะผลกระทบของยาเสพติด กระจายเป็นวงกว้างและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาของยาเสพติดลดลงมาก โดยเฉพาะยาบ้าซึ่งเป็นยาเสพติดอันดับ ๑ ในไทย เขตพื้นที่ของดิฉันตอนนี้ยาบ้าเหลือเม็ดละ ๗ บาทแล้วค่ะ ฝากรัฐบาลชุดใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยด่วน กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ท่านประธานครับ วันนี้ขอหารือท่านประธานที่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัด กระบี่และได้รับความเดือดร้อนมากพอสมควรในขณะที่จังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ตอนนี้ก็เปิดหน้าท่องเที่ยวแล้วนะครับ โดยที่อำเภอเกาะลันตามีโครงการในส่วนของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งท่านรัฐมนตรีทรงศักดิ์ ทองศรี ได้จัดสรรงบประมาณไปให้ แต่ปรากฏว่าในวันนี้ถ้าเราจะดูในเรื่องของปัญหาทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนที่เกาะลันตาใหญ่ ก็จะเห็นได้จาก Slide นะครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

พี่น้องประชาชนร้องทุกข์มาหลายรอบ ผมก็มาหารือในสภาแห่งนี้มาจำได้ว่าสักครั้งสองครั้งแล้วว่าสภาพการทิ้งร้างของผู้รับเหมา แล้วก็ขณะนี้จังหวัดกระบี่เป็นช่วงหน้าฝนด้วยการสัญจรไปมาก็ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ไหล่ทาง คูระบายน้ำ Footpath ก็ไม่ได้รับการดูแลนะครับ พี่น้องประชาชนที่มีตึก ๒ ข้างทาง ก็ขายตึกกันไปบ้าง เซ้งตึกหนีกันไปบ้าง ก็ขออนุญาตขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ติดตามผู้รับเหมาเพื่อที่จะไปดูในโครงการอันนี้ด้วย แม้กระทั่งในโครงการระยะที่ ๒ และระยะที่ ๔ ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างก็ยังมีปัญหาอยู่มาก ท่านประธานครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ในเรื่องที่ ๒ ชาวจังหวัดกระบี่มีความดีใจมากในขณะที่ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข แล้วก็ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วก็ ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ลงไปให้งบประมาณในส่วนของการสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา ท่านประธานครับ ในวันนี้สะพานเกาะลันตาออกแบบมาสวยงาม งบประมาณก็ผ่านไปแล้ว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ในส่วนของงบ แต่ส่วน ๗๐ เปอร์เซ็นต์เป็นงบเงินกู้ ซึ่งในขณะแรกมีการกู้เงิน ภายในประเทศ พอตอนหลังเปลี่ยนจากการใช้เงินกู้ในประเทศเป็นเงินกู้ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยมีปัญหาที่มากราบเรียนท่านประธานไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังซึ่งกำกับดูแลในส่วนของสำนักหนี้สาธารณะ ในส่วนของการที่จะใช้เงินกู้ ของ World Bank มีความล่าช้า พี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ชาวจังหวัดกระบี่ก็มี ความเป็นห่วงว่าโครงการสร้างสะพานลันตา ๑,๘๐๐ กว่าล้านบาทนั้นจะเกิดความล่าช้า แล้วก็จะก่อให้เกิดปัญหาพี่น้องประชาชนต้องใช้รถยนต์ ลงแพขนานยนต์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีความลำบาก แล้วแพขนานยนต์ก็จะปิดในช่วงเที่ยงคืนนะครับ ก็ฝากท่านประธาน ไปถึงหน่วยงานของกระทรวงการคลังด้วยนะครับ ขอกราบขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านสฤษฏ์พงษ์ที่รักษาเวลานะครับ ต่อไปท่านสาธิต ทวีผล เชิญครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกลครับ ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่อง

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องหมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๕ ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เรื่องขาดแคลนน้ำประปาในการอุปโภคบริโภค และน้ำประปามีค่าความขุ่นเกินมาตรฐาน ผมและทีมงานจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบศึกษา และรับฟังปัญหา เป็นที่น่าตกใจครับท่านประธานไม่ใช่เพียงแค่พี่น้องชาวตำบลดีลัง อย่างเดียว แต่ยังมีพี่น้องชาวอำเภอพัฒนานิคมทั้งอำเภอและพี่น้องชาวตำบลโคกตูม ซึ่งเป็นตำบลขนาดใหญ่ของอำเภอเมืองลพบุรี ทั้ง ๒ พื้นที่นี้มีประชากรอาศัยอยู่รวมกัน ราวประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนครับท่านประธาน แต่ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับ การบริการจากการประปาส่วนภูมิภาคเลยครับ ผมขอฝากปัญหาความเดือดร้อนนี้ ผ่านท่านประธานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคด้วยครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และพี่น้องชาวอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรีบางส่วน พี่น้อง ๒ อำเภอนี้ ไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่จะเข้ามายังตัวอำเภอเมืองลพบุรีครับท่านประธาน ทำให้ การเดินทางเข้ามาทำภารกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้ามาเพื่อศึกษา รับการ รักษาพยาบาล ติดต่องานราชการ เป็นไปด้วยความยากลำบากครับ หากบ้านไหนไม่มี รถส่วนตัว จำเป็นต้องมีการเหมารถเพื่อเข้ามายังตัวจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีราคาค่าใช้จ่าย แพงมากครับท่านประธาน ผมขอฝากปัญหาความเดือดร้อนนี้ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอ Slide ด้วยครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณปิยะพงษ์ สลุงอยู่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลมะนาวหวาน และคุณวิษณุ ศิริสลุง ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมะนาวหวาน เรื่องถนนเส้นน้ำซับเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลมะนาวหวาน เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๘๙ ระยะทางรวม ๕.๕ กิโลเมตร ถนนดังกล่าวมีสภาพเป็นถนนลูกรังครับ เมื่อมีฝนตกจึงทำให้ถนนเละเทะและลื่นมาก ดังภาพ ที่ปรากฏครับ จึงทำให้การสัญจรของพี่น้องประชาชนนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ถนนเส้นนี้เกินความสามารถในการทำถนนลาดยางขององค์การบริหารส่วนตำบลมะนาวหวาน เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลมะนาวหวานนั้นเป็น อบต. ขนาดเล็ก และมีความรับผิดชอบ หลายหมู่บ้าน จึงทำให้งบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำเป็นถนนลาดยางครับท่านประธาน ทำได้เพียงแค่ถนนหินคลุกซึ่งก็บรรเทาได้ระยะหนึ่งแต่ได้ไม่นานครับ ผมขอฝากปัญหา ความเดือดร้อนนี้ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดีครับ ต่อไปท่านจีรเดช ศรีวิราช ครับ เชิญครับ

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายจีรเดช ศรีวิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ ก่อนอื่นต้องขออนุญาตท่านประธานกราบขอบคุณไปยังพี่น้องประชาชนชาวพะเยาเขต ๓ ที่สนับสนุนให้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้อีกครั้ง ผมสัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ วันนี้มีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมอยู่ ๒ เรื่อง

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

เนื่องจากผมได้อภิปรายไปหลายครั้งถึงเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองผ่านอำเภอดอกคำใต้ไปอำเภอจุน เส้นทางสายนี้ได้ก่อสร้างเป็น ถนน ๔ ช่องทาง จากอำเภอเมืองมาสิ้นสุดที่หน้าโรงพยาบาลดอกคำใต้มากว่า ๒๐ ปี ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ไปแล้ว ท่านประธานครับ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเชื่อมโยงจากอำเภอจุนไปอำเภอเชียงคำ สู่อำเภอเทิง เชื่อมต่อไปยังอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สายของจังหวัด เชียงราย ก่อนเข้าไปถึงประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศพม่าและลาว ปัจจุบันเส้นทาง ที่เชื่อมระหว่างอำเภอเหล่านั้นได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว คงเหลือเพียงช่วงอำเภอ ดอกคำใต้ไปอำเภอจุน ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่มีการใช้รถ ใช้ถนน บนเส้นทางสายนี้หลายพันคันต่อวันทำให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้รีบจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วยครับ

นายจีรเดช ศรีวิราช พะเยา ต้นฉบับ

อีกเส้นทางหนึ่ง คือเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอปง ลงไปอำเภอเชียงม่วน ระยะทางประมาณ ๓๘ กิโลเมตร สภาพถนนทั้งโค้งทั้งแคบและชำรุด เสียหายมานานแล้ว ทางสายนี้เป็นเส้นทางหลักที่สำคัญ สามารถเชื่อมไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งมาจากเชียงรายผ่านอำเภอเชียงคำ เข้าอำเภอปง ลงไปอำเภอเชียงม่วน ทางซ้ายแยกไปจังหวัดน่าน ขวาไปอำเภอดอกคำใต้มุ่งสู่ตัวเมืองพะเยา ทางตรงก็ไปจังหวัด แพร่และจังหวัดลำปางก่อนเข้าสู่ภาคกลางของประเทศ หากได้รับการก่อสร้างเป็นถนน ๔ ช่องทาง หรืออย่างน้อยก็ขยายเป็นถนนกว้าง ๑๒ เมตรจะสามารถรองรับทั้งการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า ทำให้ย่นระยะเวลาในการเดินทางได้มาก ผมคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อำเภอเชียงม่วนจะเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจล้านนาตะวันออกอย่างแน่นอน นอกจาก มีภูมิศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้สะดวกแล้ว เส้นทางสายนี้ ยังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมีโบราณสถานตั้งอยู่ ๒ ข้างทางเหมาะสม ที่จะเป็นถนนสายธรรมชาติและเป็นเส้นทางสายอารยธรรมล้านนาที่งดงาม รอรับ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนแดนดินถิ่นนี้ได้อีกทาง ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างทั้ง ๒ เส้นทางนี้ด้วย ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านพชร จันทรรวงทอง ครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมาเขต ๑๓ อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง ๔ ตำบล ท่านประธานครับ วันนี้กระผมมีประเด็นหารือ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นการติดตามที่ สส. ประเสริฐ จันทรรวงทอง เคยได้อภิปรายไว้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับงบประมาณ จึงขออนุญาตติดตามให้กรมทางหลวงเพิ่มจุดกลับรถบริเวณปากทางเข้า บ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว และจุดกลับรถปากทางเข้าบ้านหนองสลักได ซึ่งทั้งสองจุดมีระยะทางเพื่อไปกลับรถประมาณ ๘-๑๐ กิโลเมตร ท่านประธานครับเนื่องจาก ระยะทางในการกลับรถค่อนข้างไกล พี่น้องประชาชนหลายคนจึงทำการย้อนศรทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง และในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้นะครับจะเป็นการเพิ่มภาระค่าน้ำมันให้กับพี่น้อง ประชาชน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ จากปัญหาภัยแล้ง El Nino ทำให้หลาย ๆ พื้นที่ในอำเภอสีคิ้ว ฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย ผมจึงได้รับเรื่องร้องทุกข์จาก ท่าน สจ. ศิริพงศ์ มกรพงศ์ แล้วก็ ท่านนายก กำนัน ผู้นำชุมชนในตำบลบ้านหัน ตำบลกุดน้อย ตำบลมิตรภาพ ว่าถ้าหาก เดือนนี้ฝนยังไม่ตก น้ำที่มีอยู่ในสระหรือฝายเก็บน้ำในตำบล หมู่บ้านนะครับ น่าจะไม่พอใช้ สิ้นเดือนกันยายนนี้ ผู้นำชุมชนจะต้องหาน้ำโดยขอรถน้ำจาก อบต. หรือว่างบประมาณ ส่วนตัว เพื่อจัดหารถน้ำมาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อประทังชีวิต ผมจึงขอเสนอให้ การประปาส่วนภูมิภาคจัดสรรงบประมาณขยายเขตประปาดังนี้นะครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอขยายเส้น Main ประปาจากเส้นถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ หรือจากตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน ขยายมาจนถึงบ้าน ๆ กุดน้อย ผ่านไปถึงตำบลบ้านหัน อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นตำบลที่ติดต่อกัน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอขยาย Main ประปาจากเส้นถนนหมายเลข ๒ ไปยังบ้านหนองจอก และบ้านทุ่งพนมวัง ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำผมได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่าน สจ. เลิศชัย ธนประศาสน์ ตำบลคลองไผ่ ท่านประธานครับที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนลำตะคอง เป็นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของชาวโคราช ท่านประธานครับ ขอ Slide ด้วยครับ แต่ว่าคนคลองไผ่ขาดแคลนน้ำ ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ ที่อยู่บ้าน มองไปใกล้ ๆ ก็เห็นน้ำในเขื่อนถูกส่งไปตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาทุกวัน แต่ไม่มี โอกาสได้ใช้บ้าง และตำบลคลองไผ่ยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินซ้อนทับกันของหลาย หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ ราชทัณฑ์ ธนารักษ์ ส.ป.ก. ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะน้ำบาดาลหรือทำฝายเก็บน้ำ ก็ไม่สามารถทำได้

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

๑. กระผมจึงขอเรียนเสนอให้ของบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำระบบสูบน้ำขึ้นจากเขื่อนลำตะคองไปยังหมู่บ้านซับศรีจันทร์ ผ่านไปถึงบ้านซับศิลาทอง ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านนี้มีประชากรอยู่รวม ๑,๐๐๐ กว่าคน และเป็นหมู่บ้านที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถปล่อยน้ำ ลงมาให้กับอีกหลาย ๆ หมู่บ้านในตำบลคลองไผ่ได้ ซึ่งจากระยะทางที่จะสูบน้ำจาก เขื่อนลำตะคองขึ้นไปบ้านซับศรีจันทร์ มีระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตรมีความสูงต่างกัน ประมาณ ๗๐ เมตรอ้างอิงจาก Google Earth นะครับ ตาม Slide

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

๒. ขอให้กรมชลประทานอนุญาตให้สูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองขึ้นไปบน ตำบลหนองไผ่

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

๓. ขอให้กรมป่าไม้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับที่ดิน อนุญาตให้ใช้ พื้นที่เพื่อตั้งระบบสูบน้ำดังกล่าวนี้ครับ ท่านประธานครับทั้งหมดที่ผมได้หารือผ่าน ท่านประธานไปหน่วยงานต่าง ๆ ผมเพียงแค่ต้องการให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้แบบมีศักดิ์มีศรี มีคุณภาพชีวิต เหมือนคนในเมืองทั่วไปครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวชิราภรณ์ กาญจนะ เชิญครับ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติค่ะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือท่านประธานถึงปัญหาที่ดิฉันเคยนำ เรื่องเข้าหารือในสภาเมื่อสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้วและทำหนังสือถึงรัฐมนตรีมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาเร่งดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ค่ะ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องพ่อแม่พี่น้องชาวสวน ยางพาราลำบาก ขาดรายได้มาตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งเพราะว่าเป็นช่วงที่ยางผลัดใบไม่สามารถ ที่จะกรีดยางได้ พอถึงช่วงหน้าฝนที่ผ่านมาฝนตกถี่มาก จำนวนวันที่จะตัดยางก็น้อยลง พอถึงวันที่ตัดยางได้ ต้องการนำน้ำยางไปขายก็กลับขายได้เพียงกิโลกรัมละ ๓๐ กว่าบาทค่ะ ท่านประธาน ขณะนี้พ่อแม่พี่น้องชาวสวนยางพาราหลายครอบครัวลำบากแทบจะไม่มีเงิน ซื้อข้าวให้ลูกกินแล้ว ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาทาง เยียวยาหรือว่าเร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ท่านประธาน เป็นเรื่องที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก แล้วก็เป็นเรื่องที่ดิฉันได้มีการผลักดันมาโดยตลอดคือปัญหาการจัดสรรที่ดินที่เอกชน เคยเช่าจากรัฐเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันได้หมดสัญญาเช่าแล้ว ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดิน อย่างเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองค่ะ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาที่ดินปากคลองวังช้าง ตำบลคลองปราบ ซึ่งทางราชการ ได้เพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎรทำให้จากชาวบ้านที่เคยมี เอกสารสิทธิ น.ส. ๓ แล้วก็ น.ส. ๓ ก. กลับต้องมาเช่าที่ดินของตนเอง ดิฉันเคยนำเรื่องนี้ เข้าหารือในสภามาแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไป ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานให้เข้ามาช่วย ดูแลในเรื่องนี้ด้วยค่ะ

นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายท่านประธาน เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ต่อสู้มาอย่างยาวนาน คือการตัด โค่นต้นยางพาราซึ่งไม่มีน้ำยางให้กรีดแล้วเพื่อปลูกพืชไม้ทดแทนได้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ใต้ร่มเย็นขณะนี้พ่อแม่พี่น้องเดือดร้อนเป็นจำนวนมากน้ำยางก็ไม่มีให้กรีดแล้วแถมยังต้องมา เจอราคายางตกต่ำอีก ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หาทาง เยียวยาหรือหาทางดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดีนะครับ ต่อไปท่านนิตยา มีศรี เชิญครับ

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นิตยา มีศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอนำ ปัญหาของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่มาปรึกษาแก่ท่านประธานด้วยกัน ๓ เรื่องดังนี้นะคะ

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหากลิ่นบ่อขยะแพรกษาใหม่ บ่อขยะแพรกษาใหม่เป็น บ่อขยะขนาดใหญ่นะคะท่านประธาน บ่อขยะแห่งนี้เป็นที่รองรับขยะจากทั่วทั้งจังหวัด สมุทรปราการ และรวมทั้งรวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนด้วยค่ะ จึงทำให้บ่อขยะแพรกษา แห่งนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วสร้างปัญหาส่งผลกระทบต่าง ๆ ให้กับชุมชนโดยรอบ รวมถึง พี่น้องประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการค่ะ อย่างฤดูฝนก็ทำให้เกิดกลิ่นอย่างรุนแรง กลิ่นจากบ่อขยะแพรกษาแพร่กระจายไปทั่วทั้งจังหวัดสมุทรปราการพี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนเป็นอย่างมากค่ะท่านประธาน

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ท่านประธาน บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างถนนวัดศรีวารีน้อย กับซอยลาดกระบัง ๕๔ จะมีลักษณะเป็นคอขวด ถนนวัดศรีวารีน้อยมี ๔ ช่องทางจราจร ส่วนซอยลาดกระบัง ๕๔ มีเพียง ๒ ช่องทางจราจรค่ะ ซึ่งช่วงเวลาเร่งด่วนก็จะเกิดปัญหา การจราจรติดสะสม พี่น้องประชาชนใช้เวลาเฉลี่ยกว่า ๑ ชั่วโมงในการจะออกสู่ถนน ลาดกระบังค่ะ พื้นที่ซอยลาดกระบัง ๕๔ อยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบัง แต่พี่น้องประชาชน ชาวสมุทรปราการได้รับความเดือดร้อน ดิฉันทราบว่าสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงมีโครงการขยายช่องทางจราจร แต่กว่า ๕ ปีแล้วโครงการนี้ยังติดอยู่ที่การเวนคืนที่ดินอยู่เลยค่ะ

นางสาวนิตยา มีศรี สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายท่านประธาน พื้นที่อำเภอบางพลีเป็นแหล่งรวมร้านตู้ Container จำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการวิ่งนอกเวลาของรถหัวลาก รถพ่วงสิบแปดล้อ ทำให้ การจราจรที่วิกฤติอยู่แล้ววิกฤติมากขึ้นไปอีกค่ะ และอีกปัญหาหนึ่งที่รถพ่วงสิบแปดล้อ และรถหัวลาก คือการจอดข้างถนนทำให้กิน Lane การจราจรไป ๑ เลนการจราจร และทำให้เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ท่านประธานคะ ในทางธุรกิจผู้ประกอบการยอมเสียค่าปรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่หน้างานสะท้อนปัญหากลับมาว่าบางครั้งเครื่องมือ ในการทำงานของเขาไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนค่ะ อย่างไรก็ตามดิฉันขอฝาก ท่านประธานผ่านไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบโดยตรงถึงปัญหาทั้ง ๓ เรื่องนี้เข้าไป เร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องโดยไว ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านสุพัชรี ธรรมเพชร ครับ

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุพัชรี ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ ดิฉันขออนุญาต นำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านไปยังท่านประธาน ๔ เรื่องด้วยกัน

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้ท่านประธานทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมผ่านไปยัง กรมทางหลวงเพื่อที่จะขยายไหล่ทางเพื่อที่จะเพิ่มช่องทางจราจรและติดตั้งไฟแสงสว่างค่ะ ของถนนกรมทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๑ ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าของอำเภอเขาชัยสนไปจนถึง ริมทะเลของตำบลจองถนนค่ะ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่พี่น้องสัญจรไปมาอยู่มาก แล้วก็เป็นเส้นทางที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถ้ำน้ำร้อนก็ดี ถ้ำน้ำเย็นก็ดี แล้วก็ โดยเฉพาะวัดซึ่งพี่น้องให้ความเคารพอยู่ก็คือเป็นวัดพระธาตุเขียนบางแก้ว อยากให้ ท่านประธานได้เร่งรัดเพื่อที่จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด แล้วก็อีกทั้งขอให้ทางกรมทางหลวง เร่งดำเนินการออกแบบและก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง และสะพานข้ามทางรถไฟของบริเวณตลาด เทศบาลตำบลเขาชัยสน เพื่อลดความแออัดแล้วก็ลดอุบัติเหตุในตัวเมืองตลาดเทศบาลตำบล เขาชัยสนด้วยค่ะ

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน อยากให้ท่านประธาน ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านไปยังกรมชลประทานเพื่อที่จะทำการขุดลอก คลองเล่ แล้วก็สายคลองน้ำล้นคลองเล่ ในพื้นที่ของหมู่ที่ ๘ ตำบลเขาชัยสนของฝายน้ำล้น แม่เปี๊ยะ ผ่านไปยังพื้นที่หมู่ที่ ๕ ของตำบลเขาชัยสน ซึ่งลำคลองนี้เป็นลำคลองที่มีน้ำตื้นเขิน แล้วก็เป็น ๒ ข้างทาง มีหญ้าแล้วก็มีต้นไม้เล็กใหญ่ปกคลุมทั้ง ๒ ข้าง โดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นช่วงฤดูฝน แล้วลำน้ำนี้ไม่สามารถที่จะไหลผ่านไปมาได้ อยากจะให้ท่านประธาน รีบทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เพื่อที่จะลดป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่นา พื้นที่เกษตร แล้วก็ ในพื้นที่บ้านของพี่น้องประชาชนด้วย

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์การบริหารส่วนตำบลควนมะพร้าว ได้รับแจ้งว่าพี่น้องในหมู่ที่ ๑๑ บ้านสวน และหมู่ที่ ๑๓ บ้านโคกหมื่นอินทร์ ของตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องน้ำเพื่อที่จะใช้อุปโภคบริโภค แล้วก็ เพื่อที่จะใช้ในการดำรงชีวิต อยากให้ท่านประธานทำหนังสือถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือของกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะจัดสรร ในเรื่องของการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน หรือพร้อมกับก่อสร้างหอถังระบบประปา หมู่บ้านให้กับพี่น้องในหมู่ที่ ๑๑ แล้วก็หมู่ที่ ๑๓ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายขออีก ๑ เรื่องนะคะท่านประธาน อยากให้ท่านประธานทำหนังสือถึง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการขอขยายไฟฟ้าสู่ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เพราะในพื้นที่นั้นมีครัวเรือนอยู่ประมาณ ๓,๗๐๐ กว่าครัวเรือน ยังมีอีกหลายครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อยากจะให้ประธานทำหนังสือถึงการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคด้วย ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมนัสนันท์ หลีนวรัตน์

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทย มีปัญหาที่พี่น้องได้รับความเดือดร้อน กระผมขอปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่องดังนี้

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรียนท่านประธาน ผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงให้นำโครงการทางหลวงยกระดับ สายปทุมธานี ถนนหมายเลข ๓๐๕ รังสิต-นครนายก กลับมาพิจารณาเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่อยู่อาศัยและใช้ถนนดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากสภาพ จราจรหนาแน่นต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาทำงานเลิกงานรวมถึง ช่วงเทศกาล สาเหตุหลักที่ถนนหมายเลข ๓๐๕ รังสิต-นครนายก มีปัญหาการจราจร หนาแน่นดังกล่าว เนื่องจาก

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๑. จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างมากในทุก ๆ ปี โดยหากดู จากจำนวนประชากรปัจจุบันนั้นเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถนนยังคงมีขนาดเท่าเดิมคือ ๔ เลน

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๒. การใช้ชีวิตของประชากรที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันอำเภอธัญบุรีได้รับ ผลกระทบจากการกระจายความเจริญจากกรุงเทพมหานครทำให้มีประชากรพักอาศัย บริเวณอำเภอธัญบุรีจำนวนมากและมีการใช้ถนนหมายเลข ๓๐๕ รังสิต-นครนายก ในการเดินทางเข้าและออกเพื่อทำงานในกรุงเทพมหานครทุกวัน

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๓. ถนนหมายเลข ๓๐๕ รังสิต-นครนายก เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ในการเดินทางเข้าและออกระหว่างกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาจราจรหนาแน่นเป็นอย่างมาก ขอ Slide ที่ ๒ ครับ

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

สำหรับปัญหาดังกล่าวเดิมกรมทางหลวงได้มีแผนแก้ไข คือโครงการก่อสร้าง ทางยกระดับช่วงเมืองเอก-ปทุมธานี รังสิต-นครนายก มาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๕๖ โดยมี จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม. ๒ ไปสิ้นสุดที่ กม. ๑๘ โดยจะมีการกำหนดตำแหน่งขึ้น และลงของทางยกระดับเป็นระยะที่สมควร และหากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะเป็นการเพิ่ม Lane ถนนจาก ๔ เลนเป็น ๑๒ เลน เพียงพอต่อการแก้ปัญหาจราจรหนาแน่นให้กับพี่น้อง ชาวจังหวัดปทุมธานี บัดนี้ถึงเวลาที่จะนำโครงการดังกล่าวกลับขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงอนาคตอย่างยั่งยืน กระผมจึงขอ เรียนท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงให้นำโครงการยกระดับ สายปทุมธานี ถนนหมายเลข ๓๐๕ รังสิต-นครนายก กลับมาพิจารณาอย่างเร่งด่วนด้วยครับ

นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอปรึกษาหารือให้ดำเนินการ ขยายถนนเส้นบางขัน-หนองเสือ อำเภอคลองหลวง และอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้รับแจ้ง จากนายสุดใจ น้อยสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากปัจจุบันถนนสายดังกล่าวมีประชาชนที่ใช้สอยเป็นจำนวนมาก และรองรับการกระจายความเจริญของเมืองและความสะดวกในเรื่องคมนาคมในอนาคต กระผมจึงขอเสนอผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงให้ดำเนินการ ขยายถนนเส้นบางขัน-หนองเสือ อำเภอคลองหลวง และอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี จากเดิม ๒ เลนเป็น ๔ เลนด้วยครับ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิชัย ชมภูพล

นายพิชัย ชมภูพล สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายพิชัย ชมภูพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๖ มีอำเภอไชยา ท่าฉาง ท่าชนะ และวิภาวดี พรรคภูมิใจไทยครับ กระผมขอหารือท่านประธานปัญหาเรื่องช้างป่า เข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องประชาชน ผมได้รับการร้องเรียนจาก นายพลศักดิ์ กรทิพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลประสงค์ นายอนุวัต อังคณานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ นายบรรจบ เหล่าวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๖ นายสมเกียรติ มากเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๗ นายทศพร อินทคีรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒๔ ว่าประชาชนในบริเวณ ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่า ซึ่งเขามาครั้งละประมาณ ๔๐-๕๐ เชือก ในบริเวณสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันของ พี่น้องประชาชน บางครั้งช้างป่าได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องประชาชน จนเสียหายเป็นจำนวนหลายไร่ จึงทำให้พี่น้องประชาชนไม่กล้าเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ ดังกล่าว เพราะบางครั้งช้างป่าได้เข้าไปทำร้ายจนพี่น้องประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บ ไปจำนวนมาก จึงฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไขให้พี่น้อง ประชาชนโดยด่วนด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล คนพื้นที่ พระธาตุขามแก่น น้ำตกบ่าหลวง สวนสัตว์ขอนแก่น และวัดองค์พระเจ้าใหญ่ ขออนุญาต นำเรียนปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก มาจากอำเภอซำสูงครับท่านประธาน พี่น้องคนซำสูงทุกวันนี้ กำลังโดนผีหลอกครับ ผีที่ผมพูดถึงไม่ใช่ภูตผีปีศาจครับ แต่เป็นภัยที่มาจากความมืด เนื่องจากถนน รพช. ขก.๓๐๐๔ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ. ขอนแก่น มีการติดตั้ง เสาไฟ Solar Cell แต่จากการลงพื้นที่พบว่าที่บ้านโนนมีเสาไฟทั้งหมด ๒๘ ต้น แต่กลับ ใช้งานไม่ได้ถึง ๒๒ ต้นครับท่านประธาน หรือจะเป็นที่บ้านคูคำมีจำนวนเสาไฟทั้งหมด ๑๒ ต้น แต่กลับใช้งานไม่ได้ถึง ๘ ต้นครับ จากแผนที่จะเห็นนะครับว่าทั้ง ๒ จุดอยู่บริเวณ ถนนเส้นเดียวกันครับ ถ้าหากนับระยะทางที่มีเสาไฟฟ้าทั้งหมดนะครับจะกินระยะทางกว่า ๔ กิโลเมตรครับ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องคนซำสูงในการใช้รถใช้ถนนในเวลาค่ำคืนครับ จึงขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธานไปยัง อบจ. ขอนแก่น ได้โปรดหาแนวทางแก้ไข เป็นการเร่งด่วนให้กับพี่น้องครับ ในครั้งนี้พี่น้องคนซำสูงได้ขออนุญาตให้ทาง อบจ. ขอนแก่น พิจารณาขยายแนวเขตเสาไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก ๓ จุดครับท่านประธาน จุดที่ ๑ คือจาก บ้านหนองบัวน้อยไปยังโค้งหวาว้าครับ จุดที่ ๒ จากบึงบ้านหนองสิมไปยังบ้านโนนไปยัง ป่าช้าบ้านคำคู จุดที่ ๓ จากวัดบ้านแห้วไปยังบ้านกระนวนครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ มาจากพี่น้องชาวอำเภอเขาสวนกวาง อำเภอแห่งนี้มีไก่ย่างอร่อย และมีสวนสัตว์ขอนแก่นครับ แต่บริเวณทางเข้าสวนสัตว์ขอนแก่นจุดตัดถนนมิตรภาพ เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งครับ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกว้างของถนนจุดดังกล่าว กินบริเวณกว่า ๑๔ ช่องจราจร พี่น้องคนเขาสวนกวางขออนุญาตนำเรียนผ่านท่านประธาน ไปยังแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ ๑ พิจารณาแนวการแก้ไข ๓ เรื่องครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอให้มีการติดตั้งเสาไฟจราจรเพิ่มเติมบริเวณทางเข้าสวนสัตว์ ขอนแก่น โดยเฉพาะต้องติดให้เห็นสัญญาณไฟชัดเจนครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

๒. ขอให้มีการติดตั้งระบบไฟจราจรที่เป็นตัวเลขนับถอยหลังบริเวณ ถนนมิตรภาพทั้ง ๒ ด้าน

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

๓. ขอให้มีการทำลูกระนาดบริเวณทางคู่ขนานกับถนนมิตรภาพ เพื่อเป็น การลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องคนอำเภอเขาสวนกวางครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ มาจากพี่น้องคนอำเภอกระนวนครับ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๒๒ อำเภอกระนวนไปยังท่าคันโท จากรูปนะครับท่านประธาน รูปนี้ไม่ได้เอามาจากหนัง Fast 8 นะครับ จากรูปมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีขนาด ช่องจราจรเพียงแค่ ๒ ช่องครับ ที่สำคัญไม่มีไหล่ทางครับท่านประธาน ถนนเส้นนี้มีพี่น้อง คนอำเภอกระนวนสัญจรไปมามากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องในเขตตำบลหนองโก ตำบลหัวนาคำ ตำบลบ้านฝาง ตำบลดูนสาด และตำบลห้วยยางครับ จึงขออนุญาตนำเรียน ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม แขวงทางหลวงขอนแก่นที่ ๑ และหมวดทางหลวง กระนวนครับ ได้โปรดพิจารณาขยายไหล่ทางให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อเพิ่มความสะดวก ในการสัญจรไปมาครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับ พี่น้องได้ขออนุญาตให้ติดตั้งเสาไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณ ถนนทางหลวง ๒ เส้นครับ

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

เส้นแรก ถนนเส้น ขก.๔๐๖๗ เลียบคลองชลประทาน ท่านประธานลองคิดดู ถนนเลียบคลองชลประทาน ถ้าเกิดไม่มีแสงสว่างสามารถเกิดอุบัติเหตุได้อย่างง่ายดาย เรียกร้องให้ติด ๔ จุดครับ ที่บริเวณบ้านหัวบึงจำปา ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง บ้านหนองบัวน้อย บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง บ้านกุดทิง บ้านโนน อำเภอซำสูง และที่บ้านคู ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง

นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ

และถนนทางหลวงอีกเส้นหนึ่งครับ กส.๔๐๓๙ ที่ตัดผ่านตำบลดูนสาดอำเภอ กระนวน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาและมีทางโค้งมากมาย นำเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังทางหลวงพัฒนาชนบทครับ ได้พิจารณาติดตั้งเสาไฟเพิ่มเติมเพื่อเพิ่ม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องชาวขอนแก่นเขต ๓ ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ นะครับ เชิญครับ

นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ดิฉัน พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต ๑ พรรคพลังประชารัฐ ขอหารือเรื่องการบริหารจัดการระบบน้ำประปาเพื่อการบริโภค ในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะเขตอำเภอเมืองค่ะ ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำในเขต อำเภอเมืองอยู่ที่ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ ๒๐,๐๐๐ ครัวเรือน แต่การประปาส่วนภูมิภาคสามารถผลิตน้ำได้เพียง ๔๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งรองรับ ได้แค่เพียงครึ่งเดียวของจำนวนประชากรในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น ปัญหาเรื่องการใช้น้ำ เพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า ๑๐ ปี โดยประชาชนโดยเฉพาะ ในเขตอำเภอเมืองได้มีการร้องทุกข์ ร้องเรียนหน่วยงานเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน มาเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน จากการปรึกษาหารือกับ การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์ จนได้ทราบข้อมูลว่าการประปามิได้นิ่งนอนใจ แต่ได้เร่งแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น ๓ ระยะคือระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

ระยะเร่งด่วนในปัจจุบันการประปาได้รับงบประมาณจำนวน ๔๖ ล้านบาท เพื่อนำมาวางขยายท่อส่งน้ำ ติดตั้งเครื่องเสริมแรงดันส่งน้ำขึ้นพื้นที่สูง เนื่องจากพื้นที่ บางส่วนของอำเภอเมืองมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ รวมถึงการเปลี่ยนท่อเพื่อให้แก้ปัญหา ท่อแตกหรือรอยรั่วที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้น้ำและการส่งน้ำค่ะ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการ ให้แล้วเสร็จประมาณ ๑๐ เดือน

นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

ระยะกลางคืองานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาสถานีอ่างเก็บน้ำท่าพล ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาระบบน้ำประปาปี ๒๕๖๙ รวมถึงการวางระบบปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ท่อส่งน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

และระยะยาวคือการนำน้ำจากโครงการการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ตำบลบ้านโตก ซึ่งอยู่ในแผนก่อสร้างของกรมชลประทานปี ๒๕๗๐ และเป็นที่ทราบกันดี อยู่แล้วค่ะว่าปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะฝนแล้ง และทั่วโลกโดยเฉพาะแถบทวีปเอเชีย กำลังประสบปัญหาปรากฏการณ์ El nino หรืออากาศแปรปรวนในระดับที่น่าวิตก เป็นอย่างยิ่ง ดิฉันจึงอยากหารือถึงความเป็นไปได้ในเรื่องของการเตรียมความพร้อม ที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยการให้กระทรวงมหาดไทยผู้กำกับดูแลหน่วยงาน การประปาเร่งรัดขั้นตอนและดำเนินการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อนำมาแก้ปัญหา ระยะกลางโดยทันที โดยไม่ต้องรอถึงปี ๒๕๖๙ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้ตรงจุดที่สุด โดยหน่วยงานการประปาของจังหวัดก็ได้มีการเตรียมความพร้อมด้าน บุคลากร ความรู้ความชำนาญครบถ้วนอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องรอให้ถึงปีงบประมาณ จึงจะดำเนินการ เพราะว่าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากในวันนี้ค่ะ จึงขอนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยให้เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ให้เร็วที่สุดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรชตะ ด่านกุล ครับ

นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม รชตะ ด่านกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ ๑๕ อำเภอด่านขุนทด อำเภอเทพารักษ์ และอำเภอพระทองคำ ผมมี ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือต่อสภาแห่งนี้ ดังต่อไปนี้ครับ

นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องของโรงพยาบาลด่านขุนทด ด้วยโรงพยาบาลด่านขุนทดต้องให้บริการพี่น้องประชาชนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ยังไม่นับรวม ประชากรแฝง และประชากรข้างเคียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานสาธารณสุขได้วาง ยุทธศาสตร์ให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ๑ ใน ๕ ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับความแออัดยัดเยียดในการบริการของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ฉะนั้น ท่านประธานครับ เราเลยมีแนวคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ตอนนี้ เราได้แล้วครับเนื้อที่กว่า ๑๒๔ ไร่ กว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมาที่เราพยายามสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการ หรือดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะว่าเราขาด อาคาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ท่านประธานครับ อาคารนี้คืออาคารผ่าตัดคลอด ๔ ชั้น พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ งบประมาณทั้งสิ้น ๒๑๕ ล้านบาท ถ้าได้อาคารผ่าคลอดตึกนี้ โรงพยาบาลหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จะสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนทั้งอำเภอด่านขุนทด เทพารักษ์ พระทองคำ รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนครับ

นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน ด้วยกรมทางหลวงถนนหมายเลข ๒๒๑๗ ระหว่างอำเภอด่านขุนทดเชื่อมไปอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ช่วงกิโลเมตรที่ ๖ ถึงกิโลเมตรที่ ๗ ถนนเส้นนี้โค้งหักศอก S Curve ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เสียชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน นี่คือภาพตัวอย่าง ผมลงพื้นที่ดูมาด้วยตัวเอง ท่านประธานครับ ตรงนี้ขอให้กรมทางหลวงได้ทำการติดตั้งไฟแสงสว่าง และรวมทั้ง Guard Rail สำหรับป้องกันรถแหกโค้งนะครับ นี่คือถนนสาย ๒๒๑๗ ของกรมทางหลวง

นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ครับ กรมทางหลวงเช่นเดียวกัน ถนนหมายเลข ๒๒๕๖ ช่วงเทศบาลตำบลด่านขุนทดได้งบประมาณมาก่อสร้างจากแขวงการทางนครราชสีมาที่ ๒ คือสร้างระบบระบายน้ำและทางเท้า แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าในขณะนี้ผู้รับจ้างทำการย้ายเสาไฟ จราจร ก็เลยขอให้ทางแขวงการทางนั้นได้นำงบประมาณมาติดตั้งสัญญาณไฟจราจรให้กับ เทศบาลตำบลด่านขุนทดครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรุ่งโรจน์ ทองศรี ครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายรุ่งโรจน์ ทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเซาะกราว จังหวัดบุรีรัมย์ กราบสวัสดี แม่ออบองปะโอน กรุปคะเนียเด้อบาท แซมซาย กุนะกุได สวัสดีครับพี่น้องบ้านเฮา เสื้อสวย ๆ ที่ผมใส่วันนี้เป็นผ้าลายสายไผทรวมพล ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย และมีผ้าภูอัคนี อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ผ้าลายเครื่องเคลือบ อำเภอบ้านกรวด ผ้าลาย เสาวรส อำเภอโนนดินแดง ของดีจังหวัดบุรีรัมย์ ขอนำปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องสู่การแก้ไขครับ

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องช่องตะโก เป็นเรื่องที่พี่น้องเดือดร้อนมาก ๆ ผมได้พูดเรื่อง ช่องตะโกในสภาในสมัยที่แล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ครั้ง ช่องตะโกบนทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ เป็นประตูเชื่อมภาคอีสานตอนล่างกับภาคตะวันออก เป็นเส้นทาง Logistic ที่สำคัญ รถวิ่ง เยอะมาก ๆ มีอุบัติเหตุแทบทุกวัน ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องเสียหายนับไม่ถ้วน ช่องตะโก อยู่ในเขตมรดกโลก จากที่ผมได้พูดและเกาะติดเรื่องช่องตะโกมาโดยตลอด จนในที่สุดวันนี้ ช่องตะโกกำลังทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รอบที่ ๕ รอบสุดท้าย โดยช่องตะโกเป็น Mega Project ๔ เลนจากตาพระยาถึงโนนดินแดง และบริเวณช่องตะโก ที่ผ่านมรดกโลก ระยะทาง ๓.๒ กิโลเมตรนั้นเป็น ๖ เลน และมีจุดพักรถ จุดขายของ ๓ จุด ซ้ายขวาด้วยกัน ๑. บ้านป่าไม้สหกรณ์ ๒. บ้านคลองหิน ๓. บ้านหนองเสม็ด เพื่อเป็นที่ค้าที่ขายให้เกิดรายได้กับพี่น้องบ้านเรา เสร็จแล้วกรมทางหลวงจะประมวลผล กระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมดมาออกแบบแล้วทำประชาพิจารณ์ถึงตั้งงบก่อสร้างได้ ดังนั้นขอให้ ทุกหน่วยงานเร่งรัดให้ด้วยครับ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมาก ๆ จนจะทนไม่ไหวแล้วครับ เรื่องช่องตะโกนี้ขอให้สำเร็จโดยเร็ว โอมเพี้ยง

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับ ขอถนน ๔ เลน สายหลัก ๒๐๔ บ้านละหานทราย-บ้านกรวด โคกกระชาย ละหานทราย-สุขสำราญ ละหานทราย-หนองกราด ละหานทราย-นางรอง สายย่านตะโก-ตาเป๊ก-เขาพนมรุ้ง ละหานทราย-สายเขาพนมรุ้ง เบนเฮอร์ บ้านเขาดิน ตำบลยายแย้ม

นายรุ่งโรจน์ ทองศรี บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู-จุ๊บโกกี ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด ซึ่งเป็นทางหลักทางลัดไปนครวัด นครธม ขอเปิด ๗ วันทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ ฝากท่านผู้ว่าและกระทรวงมหาดไทยด้วยครับ และขอเปิดเป็นด่านถาวรด้วยครับ เพราะสิ่งที่ ฝ่ายความมั่นคงอาจกังวลที่เขมรได้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในแนวกันชน หรือ Buffer ได้มี การรื้อถอนเป็นที่เรียบร้อยแล้วและขอเปิดจุดผ่อนปรนที่หลักเขต ๒๗ บ้านราษฎร์รักแดน ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย เพื่อเศรษฐกิจการค้า การขายและสร้างรายได้ให้กับ พี่น้องบ้านเรา สส. รุ่งโรจน์ ทองศรี ผู้เแทนเซาะกราว ขอกราบขอบพระคุณมาก ๆ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ครับ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะคะ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี จากพรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้มีเรื่องหารือความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ และอำเภอเขาคิชฌกูฏค่ะท่านประธาน ทุกวันมีช้างป่าออกหากินในสวนของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย บางครั้งก็มีการเผชิญหน้าจนทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่ว่าค่าชดเชยเยียวยาที่ประชาชนได้รับ ยังไม่เป็นธรรม และดิฉันเคยลงพื้นที่ร่วมกับชุดอาสาผลักดันช้างได้เห็นถึงความยากลำบาก จริง ๆ ในการทำงานนะคะ ฝากท่านประธานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น หัวไฟ วิทยุสื่อสารให้กับชุดอาสาผลักดันช้าง รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เสี่ยงภัย ด้วยค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ นะคะ ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร ขอหารือ ผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมชลประทานในเรื่องการจัดทำระบบการกระจายน้ำให้กับ เกษตรกรจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะในรูปนะคะ พื้นที่บ้านบ่อมะเดื่อเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ เหนืออ่างประแกดห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น ในปี ๒๕๖๔ สำนักงานชลประทานที่ ๙ เคยเข้าไปสำรวจแนวท่อแล้วแต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุเข้าแผนนะคะ จึงอยากขอให้ ท่านประธานและทางกรมชลประทานช่วยเร่งรัดโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟฟ้าตกดับที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ ไม่ว่าจะเป็นตำบลจันทเขลม ตะเคียนทอง คลองพลู พลวง ชากไทย หรือแม้แต่ชุมชน บ้านหนองระมานเนินสูงในอำเภอท่าใหม่ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม ก็มีปัญหานี้ เช่นเดียวกัน ใน Slide เป็นเพียงบางส่วนที่พี่น้องประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาเท่านั้นเองค่ะ ฝากท่านประธานผ่านไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ช่วยสนับสนุน งบประมาณเพื่อบำรุง ปรับปรุง แก้ไขระบบจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ปัญหาคลองพังราดตื้นเขินค่ะ ดิฉันได้รับแจ้งจากนายภาสกร สิทธิบุตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ และนายกพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกเทศมนตรีตำบลช้างข้าม ถึงปัญหาคลองพังราดตื้นเขิน ทำให้เรือประมงไม่สามารถสัญจรเข้ามาเทียบท่าได้ อย่างสะดวก ขอฝากผ่านท่านประธานไปยังกรมเจ้าท่าให้ช่วยดำเนินการขุดลอกคลองพังราด บริเวณหมู่ที่ ๘ ตำบลช้างข้าม อำเภอนายายอามด้วยค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะท่านประธาน เรื่องที่ ๕ ขอให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการพิจารณา เรื่องที่ อบต. เทศบาลท้องถิ่นในอำเภอแก่งหางแมว ส่งเรื่องเข้าไปเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ค่ะ เพราะว่าความล่าช้าทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องได้ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง จึงขอให้กรมป่าไม่เร่งพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอภิชาติ แก้วโกศล ครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่สู่สภา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งรัดแก้ไขดังต่อไปนี้นะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ตามข้อกฎหมาย ปัจจุบันมีโรงงานเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งการดำเนินการทางธุรกิจของแต่ละโรงงานนั้นนะครับ มีการใช้น้ำประปาในอัตราที่มาก ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำประปาไม่พอใช้ บางวันก็ไหลอ่อน บางวันก็หยุดไหล อยากให้การประปาส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเขาย้อยช่วยดำเนินการแก้ไข ให้ชาวบ้านและโรงงานมีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องจากชาวบ้านที่มีอาชีพทำนาเกลือของอำเภอ บ้านแหลมนะครับ ขณะนี้ประสบปัญหาราคาเกลือตกต่ำเหลือเกวียนละ ๙๐๐ บาท ทำให้ชาวบ้านที่ทำนาเกลือเดือดร้อนมาก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดและแก้ไข ทำให้ราคาเกลือสูงและดีขึ้นนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ อำเภอบ้านลาด อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีนะครับ ส่วนมากชาวบ้านประกอบอาชีพ ทำการเกษตรทำนาทำไร่ทำสวนนะครับ ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วน้ำฝนตกน้อยทำให้ ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีน้ำในการทำนา ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรีได้ประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการ ทำฝนหลวงแล้วที่ตั้งอยู่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความรับผิดชอบดูแล ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีด้วย ได้รับคำตอบว่างบประมาณมีไม่เพียงพอ ตอนนี้ศูนย์ปฏิบัติการ ทำเรื่องของบประมาณจากส่วนกลางอยู่ ขอให้ส่วนกลางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ช่วยอนุมัติงบประมาณให้เร็วขึ้นเพื่อศูนย์ปฏิบัติการจะได้บินทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือ ชาวบ้านต่อไป

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

ทั้งนี้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรนั้น ไม่ว่า จะทำนาทำไร่ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ผมคิดว่าชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ คงเดือดร้อนกันทุกจังหวัดนะครับ ไม่ว่าจะเจอปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาค่าปุ๋ย ค่ายา ที่มีราคาแพงนะครับ ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ภาคการประมง เลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างจริงจัง เพราะว่าอาชีพ ดังกล่าวเป็นโครงสร้างหลักทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเรานะครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศักดิ์ชาย ตันเจริญ ครับ

นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๓ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้ขอหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา จำนวน ๒ เรื่องนะครับ

นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือปัญหาการลักลอบทิ้งกากสารพิษในพื้นที่อำเภอสนามชัยเขต ที่พบอย่างต่อเนื่องกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคมนี้นะครับ ได้พบการทิ้ง กากสารพิษในบริเวณพื้นที่หมู่บ้านนาน้อย หมู่ที่ ๖ ตำบลท่ากระดาน เป็นของเหลวสีดำ ส่งกลิ่นฉุนเหม็นรุนแรง สันนิษฐานเป็นกากสารพิษที่มาจากน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้ว จากโรงงานอุตสาหกรรม จากที่ตรวจวัดไอระเหยสารเคมีเบื้องต้นด้วยเครื่องตรวจเฉพาะ FTIR พบสาร Glycine ซึ่งใช้เป็นตัวละลายในภาคอุตสาหกรรม และสารเบนซิน ซึ่งเป็นสารพิษโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน และมีสาร VOCs ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง โดยบริเวณที่พบห่างจากคลองระบมอันเป็นสายน้ำหลักที่ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน เพียงแค่ ๑.๕ กิโลเมตรครับ และล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ในพื้นที่บริเวณสวนยาง และไร่สับปะรด หมู่ที่ ๙ บ้าน กม. ๘ (ยางหกหน้า) ตำบลลาดกระทิง ได้พบการลักลอบ ทิ้งสารเคมีและขยะอุตสาหกรรมโดยมีของเหลวสีดำลักษณะหนืดปนน้ำมัน รวมถึง คราบเหล็กที่ถูกหลอมส่งกลิ่นเหม็นนะครับ ซึ่งตลอดระยะเวลาการลงพื้นที่แต่ละครั้ง กระผม พบว่ากากสารพิษดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง และก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงสารสามารถ ซึมลงดินและแพร่กระจายไปยังคลองระบมที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญไปยังหลายอำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภคส่งผลร้ายแรงถึงระยะสั้น ระยะยาวต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการกระทำผิด เป็นความร้ายแรงเช่นนี้ กระผมขอให้ท่านประธานได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเร่งรัดกำจัดสารพิษดังกล่าวให้ถูกตามหลักวิชาการ และมิให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ต่อประชาชน เร่งรัดหาผู้ต้องหากระทำความผิด โดยขอให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และให้ถึงที่สุด เพื่อป้องกันปราบปรามเป็นเยี่ยงอย่างไม่มีการกระทำความผิดซ้ำ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสยาม เพ็งทอง ครับ

นายสยาม เพ็งทอง บึงกาฬ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม สยาม เพ็งทอง สส. จังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย มีข้อหารือกับท่านประธานเรื่อง Ramsar Site หรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหนองกุดทิงครับ หนองกุดทิงเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬเพียง ๕ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล ประกอบไปด้วย บึงกาฬ โนนสมบูรณ์ และโคกก่อง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่ มีประชาชนที่อาศัย และมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับแหล่งน้ำแห่งนี้ประมาณ ๒,๕๐๐ ครัวเรือน โดยใช้แหล่งน้ำแห่งนี้ ในการดำรงชีพไปกับการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เป็นต้น จนต่อมาในช่วง ปี ๒๕๕๒ ได้มีการประกาศให้หนองกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหรือ Ramsar Site ตั้งแต่วันนั้น เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันครับท่านประธาน สภาพของหนองกุดทิงก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากภาพท่านประธานจะเห็น มี Slide มี Video นะครับ

นายสยาม เพ็งทอง บึงกาฬ ต้นฉบับ

จากภาพ ท่านประธานจะเห็นว่าเต็มไปด้วย จอกแหนและจอกหูหนูยักษ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬในขณะนี้ครับท่านประธาน ปริมาณจอกแหนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่และเกิดความเสียหายมากมาย ทำให้ อุดตันช่องทางเดินน้ำ เสี่ยงต่อน้ำล้นและน้ำท่วม ทำให้ปลาในน้ำไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ กระทบต่อคุณภาพของน้ำ ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดำเนินการอะไรเลยครับท่านประธาน และจากข้อมูลโดยรวม พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจว่าการยกหนองกุดทิงให้เป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำโลกจะทำให้ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรอบดีขึ้น แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาพัฒนาครับท่านประธาน และในทางกลับกัน มีแต่หน่วยงานเข้ามาห้ามไม่ให้พี่น้องประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ได้เลย เพราะมีการประกาศเป็นเขตห้ามล่า เมื่อปี ๒๕๖๒ ที่เพิ่งผ่านมาครับ ตรงนี้เป็นภาพ กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากออกมาคัดค้านการประกาศเป็นเขตห้ามล่า หลายครั้ง มันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชนทั้ง ๓ ตำบลครับ ว่าตั้งแต่หนองกุดทิงประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกและเขตห้ามล่า ทำให้หลายครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ได้รับความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่แหล่งน้ำแห่งนี้อยู่คู่กับวิถีชีวิตของประชาชน เป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นปากเป็นท้องของพี่น้องประชาชนทั้ง ๓ ตำบลมาอย่างยาวนาน ท่านประธานครับ เป็นเรื่องที่ดีครับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการที่จะเข้ามาอนุรักษ์ แหล่งน้ำแห่งนี้เอาไว้ แต่เนื่องจากหนองกุดทิงเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยง กับปากท้องและวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ควรจะให้ประชาชนสามารถเข้าไป ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อทั้งประชาชนและหนองกุดทิงได้ครับท่านประธาน จึงอยากฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงที่เกี่ยวข้องนะครับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ช่วยแก้ไข ปัญหาดังกล่าว ด้วยการยกเลิกประกาศเขตห้ามล่า และยกเลิกพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหนองกุดทิง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้พี่น้องประชาชนคนบึงกาฬด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เขต ๑ อำเภอเมือง อำเภอแม่ทา และอำเภอบ้านธิ สังกัดพรรคก้าวไกล มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน ทั้งหมดอยู่ ๔ เรื่อง ขอ Slide ครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ จากการติดตาม การซ่อมแซมพื้นผิวถนนเส้นเลี่ยงเมืองท่าจับ-เหมืองง่า อำเภอเมือง จากการติดตาม ผู้รับเหมาได้บอกว่าจะสามารถดำเนินการซ่อมแซมได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม จากการลงพื้นที่ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมายังไม่พบผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการดังกล่าว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำพูนช่วยติดตาม ให้ผู้รับเหมาเข้ามาซ่อมแซมพื้นผิวถนนดังกล่าว เพราะว่าเส้นทางดังกล่าวมีพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนใช้เส้นทางเป็นจำนวนมากเพื่อไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน รวมถึง โรงพยาบาลประจำจังหวัดครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับการประสานงานจากเทศบาลตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา เกี่ยวกับไฟฟ้าส่องสว่าง เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๓ เพราะเส้นทางดังกล่าวพ่อแม่พี่น้อง ใช้เดินทางไปยังโรงพยาบาลอำเภอแม่ทาครับ ในช่วงเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้ทัศนวิสัยในการเดินทางในเวลากลางคืนต่ำ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ครับ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ให้ด้วยครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ นะครับ ได้รับการประสานงานจากคุณชัชพีร์ วรรณาพิรัชย์ และคุณสุชาติ แซ่ซิน ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำหลาก ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะประสบปัญหาภัยแล้งครับ ในพื้นที่ดังกล่าวเคยมีโครงการตามพระราชดำริที่จะก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยยาบ ตามหนังสือเลขที่ กส ๐๓๐๔.๐๔/๑๗๗ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วย บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องตำบลห้วยยาบครับ จึงอยากให้ กรมชลประทานพิจารณาโครงการดังกล่าว รวมถึงอนุมัติโครงการดังกล่าวเพื่อให้ช่วยบรรเทา ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องตำบลห้วยยาบครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ครับ ได้รับการประสานงานจาก พันตรี ชนินทร พุฒิเศรษฐ์ นายกเทศบาลตำบลเหมืองจี้ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนนและตลิ่ง เลียบแม่น้ำแม่ทา ซึ่งพื้นที่ตำบลเหมืองจี้ประสบปัญหาน้ำท่วม ตามหนังสือเลขที่ ลพ ๐๐๒๓.๓/๑๐๙๓๕ จึงอยากให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอนุมัติโครงการดังกล่าว เพื่อจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่พี่น้องตำบลเหมืองจี้ เกี่ยวกับปัญหา น้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำแม่ทาครับ จึงอยากให้ท่านประธานสภารวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธานินท์ นวลวัฒน์ ครับ

นายธานินท์ นวลวัฒน์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ ผม ธานินท์ นวลวัฒน์ สส. สุราษฎร์ธานี เขต ๗ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ก่อนที่ผมจะหารือปัญหาความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๗ ผมต้องใช้โอกาสนี้ขอบคุณพ่อแม่พี่น้อง ชาวเขต ๗ โดยเฉพาะอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนา ตำบลทุ่งเตา ทุ่งเตาใหม่ของอำเภอ บ้านนาสาร ตำบลวัดประดู่ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง ต้องขอขอบคุณที่พ่อแม่พี่น้อง ไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ ท่านประธานครับ เรื่องที่ผมจะมาหารือวันนี้เป็นปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องที่ใช้ถนนเส้น ๔๐๑๐ กาญจนดิษฐ์ บ้านในผ่านบ้านกรูด บ้านตาลสุม บรรจบถนนสาย ๔๐๑ หรือถนนสุราษฎร์ธานี -นครศรีธรรมราช บริเวณหลักกิโลที่ ๑๙๕ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแขวงการทางสุราษฎร์ธานี ๒ กาญจนดิษฐ์ ท่านประธานครับ ปัญหาถนนช่วง ๓ แยกทางหลวงแผ่นดิน หรือถนน Southern บริเวณสามแยกบ่อน้ำร้อน ถึงสามแยกบ้านกรูดจะเป็นย่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งสภาพถนนเป็นลาดยาง ๒ เลน ไหล่ถนน แคบมาก ถนนยาวประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร ช่วงถนนจะมีบ้านเรือนราษฎรหนาแน่นมาก ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากใช้เส้นทางนี้สัญจร ส่งพืชผลทางตลาดโดยต้องผ่านเส้นทางนี้ ทำให้จราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นผมจึงนำเรียนท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรีบดำเนินปรับปรุงก่อสร้างถนนสายนี้ช่วง Southern ถึงสามแยก บ้านกรูด โดยขยายเป็นช่องทางจราจร ๔ ช่องทาง เพื่อให้สะดวกในการขนส่งพืชทาง การเกษตรและลดอุบัติเหตุ ท่านประธานครับ ได้รับการประสานงานจากท่าน สจ. ปรีชา เพชรรัตน์ สจ. เขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ และรับทราบข้อมูลว่าถนนแขวงการทางสุราษฎร์ธานี ได้บรรจุในโครงการไว้แล้ว ถ้าโครงการบรรจุอยู่แล้วนั้นคงจะสะดวกแก่การดำเนินการ ขอให้ ท่านประธานกรุณาเร่งรัดเรื่องนี้เป็นโดยด่วน ขอขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านทรงยศ รามสูต ครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ขอหารือเรื่องแรกนะครับ เรื่องการขยายเขตการประปาส่วนภูมิภาค ขอ Slide ขึ้นเลยนะครับ จากจังหวัดน่าน ปี ๒๕๖๑ การประปาส่วนภูมิภาคได้ตั้งงบไว้ ๒๘๑ ล้านบาท ขยายจากอำเภอเมือง Slide ไม่มาไม่เป็นไรครับ มาสู่อำเภอภูเพียง เป็นพื้นที่ข้างอำเภอ ใช้พื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ตอนแรกมีปัญหาเรื่องเขตป่า ตอนนี้ปี ๒๕๖๓ กรมป่าไม้อนุมัติเรียบร้อยแล้วนะครับ ซึ่งโครงการนี้ถ้าสำเร็จปุ๊บ ๖ ตำบลของอำเภอภูเพียง อำเภอเมืองถึงศาลากลางหลังใหม่และมีการปรับท่อในส่วนของอำเภอเวียงสาและอำเภอนาน้อย ซึ่งโครงการนี้ Consult ได้ไปสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้วจนหมดสัญญาแล้ว ทางส่วนกลาง ว่าจะมาปรับปรุงรายละเอียดจนบัดนี้ก็ยังไม่มา ก็อยากจะให้เร่งรัดให้ส่วนกลางส่งเจ้าหน้าที่ ไปเก็บรายละเอียดปรับเพื่อผลักดันให้ได้งบประมาณ ถ้าปี ๒๕๖๗ ไม่ได้ก็งบผูกพันปี ๒๕๖๘ ก็ได้นะครับ ๓ ปี Slide ไม่มาไม่เป็นไรนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ กระทรวงศึกษามีนโยบายที่จะไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยการให้โรงเรียนมัธยมศึกษาสร้างเรือนพักนอนหรือหอพัก แล้วก็มีนิเทศงาน เอาเด็กจากบนดอยบนเขาหรือห่างไกลโรงเรียนมาเรียนในโรงเรียน ม.ต้น ม.ปลาย โดยทางรัฐอุดหนุนงบรายหัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา จังหวัดน่านมี ๒๓ โรงที่ทำโครงการนี้ ปรากฏว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้หลังจากเปิดเทอมมาได้ ๓-๔ เดือน มีหนังสือจาก สพม. มาว่า โรงเรียนในพื้นราบ ๑๑ โรงจะไม่ได้รับงบนี้แล้ว ซึ่งก็ส่งผลกระทบมาก บางโรงเรียน อย่างน่านประชาอุทิศนี่นักเรียนเข้ามาอบรมติดได้เหรียญทอง เหรียญเงินซีเกมส์นะครับ ก็อยากจะฝากให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนตรงนี้ เพราะจริงอยู่แต่ละอำเภอมีโรงเรียนอยู่ แต่โรงเรียนในอำเภอมันห่างไกลจากบ้านของเด็ก เด็กก็อาจจะหลุดจากระบบการศึกษาไปได้ ก็ฝากให้ทบทวนนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ท่าน สส. สิรินทร ภรรยาผม เคยอภิปรายในสภาเมื่อปี ๒๕๖๒ ในการพัฒนาคลองส่งน้ำบ้านนาเผือก ซึ่งชลประทาน เข้าไปดูแลจนปัจจุบันนี้ทางชลประทานก็ตอบทางผู้ใหญ่สมเจตน์ที่ทำหนังสือไปว่า ปี ๒๕๖๗ จัดเข้าในแผนแล้ว ก็หวังว่าจะได้อยู่ในแผนและได้จริง ๆ ไม่เหมือนกับ อีกโครงการหนึ่งที่เขารับปากว่าจะได้ ๆ คือโครงการบ้านห้วยห้อมแล้วก็สถานีสูบน้ำ บ้านนาแห้ว ซึ่งจะได้ผลประโยชน์คือบ้านนาแห้ว บ้านพุฒิมาราม บ้านดอนเจริญ น้ำครกเก่า ดอนสวรรค์

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

นอกจากนี้มีอีกเรื่องหนึ่ง คุณหมอทศพร เสรีรักษ์ สส. แพร่ ท่านเป็นห่วงเป็นใยมาก ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้นพยายามผลักดันอ่างเก็บน้ำแม่แคมจนปี ๒๕๖๒ ก็ได้รับงบประมาณมา แต่ปัจจุบันนี้มีการชะลอไม่ทราบว่าติดปัญหาอุปสรรคอะไร ซึ่งโครงการนี้ชาวบ้านดีใจมาก ตอนแรก ตอนนี้มีปัญหา ก็อยากให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปเร่งรัด ไปดูแลแก้ไข ก็ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณานะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านบุญยิ่ง นิติกาญจนา ครับ

นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ราชบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาค่ะ ดิฉัน นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เกษตรกรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำเป็นต้องจัดวางระบบป้องกันทุกวิถีทาง จึงทำให้เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมากมาย เพื่อไม่ให้สุกรเป็นโรคอหิวาต์ เกษตรกรรายใหญ่ รายเล็ก รายย่อย เจอปัญหาโรคนี้ในธุรกิจ เป็นจำนวนมาก ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เกษตรกรหลายรายต้องเลิกกิจการไป นี่คือสาเหตุปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชากรสุกรหายไปจากประเทศไทยเกินครึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ภาครัฐมีการนำเสนอข่าวมาเป็นระยะ ๆ ตามหน้าสื่อต่าง ๆ ว่าท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบตู้ Container เสียบใช้ไฟตลอด ๒๔ ชั่วโมง จึงมีการตรวจและพบเนื้อสุกรเถื่อนนำมาไว้ในตู้แช่ ซึ่งเป็นจำนวนมากมหาศาล ถึงมูลค่า ๔๐๐ ล้านบาทเศษ หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยในสื่อเสมอว่าไม่เคยมีการอนุญาต ไม่เคยให้นำเนื้อสุกรเข้าสู่ประเทศไทย ไม่เคยมีการสำแดงเนื้อสุกรนำเข้าประเทศไทย ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีเสียภาษีอย่างถูกต้อง การตรวจพบเนื้อสุกรในตู้แล้วยังไม่มีใครแสดงตัว เป็นเจ้าของ จึงขอให้หน่วยงานช่วยบูรณาการตรวจสอบทุก ๆ ท่าเรืออย่างละเอียด และในตู้ตามท่าเรือต่าง ๆ เนื้อสุกรเถื่อนที่ตรวจพบขอให้องค์กรภาคเอกชนและสมาคม ผู้เลี้ยงสุกรเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทำลายเนื้อสุกร ซึ่งในขณะนี้ยังทำลายไม่หมด จึงเกรงว่าจะนำเนื้อสุกรเถื่อนนี้ออกไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป สิ่งสำคัญเนื้อสุกรเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอาจมีเชื้อโรค ปนเปื้อนซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ควรเร่งตรวจสอบเพื่อขยายผลไปยังบุคคลที่เป็น ตัวการและเปิดเผยชื่อบุคคลขบวนการนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งข่าวนี้ก็เป็นข่าวที่ตรวจพบ มานานหลายเดือนแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการให้ประกาศว่าใครเป็นผู้นำเข้า ซึ่งภาครัฐจะต้อง รับผิดชอบและจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ให้เร็วที่สุด เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนี้ ต้องใช้สินค้าเกษตรข้าวท่อน รำสด ข้าวโพด มันสำปะหลัง สินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตอาหารเลี้ยงสุกร วงจรนี้จะทำให้กระทบถึงเกษตรกรชาวนาชาวไร่ต่อไป อย่างแน่นอน ดิฉันขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อปิดประตู เพื่อกวาดล้างขบวนการลักลอบนำเนื้อสุกรเถื่อนเข้าประเทศให้สิ้นซาก ไม่ให้มาทำร้ายเกษตรกรคนไทย คืนสมดุลการค้าและกลไกตลาดที่เป็นธรรมด้วย ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๓ อำเภอถลาง ตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานดังนี้ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองจากบ้านบางปัน ตำบลกะทู้ ออกทางหลวงชนบทหมายเลข ๓๐๑๓ ที่เหลืออีกประมาณ ๘๐๐ เมตร ก็จะสามารถ เชื่อมต่อถึงบริเวณตำบลศรีสุนทรได้เพื่อลดการจราจรที่คับคั่งบริเวณถนนเทพกระษัตรี แยกเกาะแก้ว อย่างไรฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยไว ด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การก่อสร้างด่านตรวจท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว ที่แล้วเสร็จตั้งแต่ ปี ๒๕๖๑ ด้วยงบประมาณ ๑๓๑ ล้านบาท แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งานจนเริ่มมีสภาพทรุดโทรม ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้าง ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ พื้นที่ป่าต้นน้ำสวนป่าบางขนุน อำเภอถลาง ที่ทหารเรือภาคที่ ๓ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่กว่า ๓,๗๐๐ ไร่ นำไปก่อสร้างกองพันต่อสู้อากาศยาน ฝากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนยกเลิกประกาศกรมป่าไม้ ฉบับที่ ๓๙/๒๕๖๖ และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวน แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ เล่มที่ ๑๕๕ ทั้งนี้ควรทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ในพื้นที่เสียก่อนเพื่อรักษาสภาพป่าต้นน้ำด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ภูเก็ตเป็นเมืองที่หน้าฝนยาวนาน ในช่วงเปิดเทอมของน้อง ๆ หลาย ๆ โรงเรียนทำให้การเดินเรียนระหว่างอาคารค่อนข้างลำบากและป่วยบ่อย โดยเฉพาะ โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หากมีหลังคาทางเชื่อมระหว่างตึกก็จะช่วยน้อง ๆ เรื่องสุขภาพได้ ลดการขาดเรียน อย่างไรฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งหลังคาให้อนาคต ของชาติด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ บริเวณบ้านป่าครองชีพ หมู่ที่ ๙ ตำบลเทพกระษัตรี กระแสไฟฟ้า ไม่เสถียร ไฟตกบ่อยครั้งจนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายหลายครัวเรือน ฝากการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคตรวจสอบให้กระแสไฟเป็นปกติด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ บริเวณทางหลวง ๔๐๒๗ ท่าพร้าว-บ้านพารา เป็นเส้นทาง เลี่ยงรถติดที่ปัจจุบันไม่มีไฟส่องสว่างมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งให้โดยด่วนเพื่อความปลอดภัยของผู้อาศัยบริเวณนั้นและผู้ใช้ท้องถนนด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๗ สะพานท่าเทียบเรือบ้านท่าสัก ตำบลป่าคลอก ที่ชำรุดทรุดโทรม ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบซ่อมแซมหรือหากเป็นไปได้สร้างใหม่เพื่อความแข็งแรง และปลอดภัยสำหรับพี่น้องประชาชนผู้ใช้ท่าเรือด้วยครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๘ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลเรื่องปะการังในพื้นที่ บ้านอ่าวกุ้ง หมู่ที่ ๙ ตำบลป่าคลอก ที่มีสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และปลูกฝังความสำคัญ ของทรัพยากรท้องถิ่น

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๙ ฝากให้จังหวัดภูเก็ตทบทวนคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๗ ๑/๒๕๕๘ และ ๒/๒๕๕๙ ที่ประกาศให้หาดสุรินทร์ ตำบลเชิงทะเลเป็นหาดเทิดพระเกียรติ แต่ส่งผลกระทบ ต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มันจะดีกว่าไหมหากเปลี่ยนการผลักไล่ ให้กลายเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวภายใต้ระบบที่เป็นระเบียบ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายในวันที่ ๒๗-๒๙ พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสหภาพ คนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขึ้นในจังหวัดภูเก็ตหวังว่างานนี้จะได้รับการประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอดิพงษ์ ฐิติพิทยา ครับ

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต ๓ อำเภอกระสัง อำเภอห้วยราช และตำบลป่าชัน ตำบลโคกขมิ้น ของอำเภอพลับพลาชัย พรรคภูมิใจไทย กระผมขออนุญาตปรึกษาหารือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนใน ๓ ประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ได้รับแจ้งจากนายณรงค์ พารื่นรัมย์ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลเมืองโพธิ์ อำเภอห้วยราช ว่าถนนสายบ้านโคกขมิ้น หมู่ที่ ๘ ตำบลโคกเหล็ก บ้านจาน หมู่ที่ ๙ ตำบลเมืองโพธิ์ เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่าง ๒ ตำบล มีระยะทาง ๓,๙๐๐ เมตร กว้าง ๖ เมตร มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ขนาดใหญ่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอนำเรียนไปยัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรด ให้ความช่วยเหลือปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับแจ้งจากนายพิทยา ยุวดีนิเวศ นายกเทศมนตรี ตำบลสองชั้น อำเภอกระสัง ว่าถนนลาดยางบนทำนบดินของอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ซึ่งมีระยะทาง ยาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร กว้าง ๖ เมตร เชื่อมระหว่างตำบลสองชั้นและตำบลกระสัง ของและอำเภอห้วยราช มีประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นจำนวนมากประสบปัญหาทางสัญจร ไปมาไม่สะดวก ผิวจราจรแตกตามความยาวของถนน บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากถนนสายดังกล่าวนั้นเป็นถนนสายหลัก ในการคมนาคมและขนพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ จึงขอนำเรียนไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดให้ความช่วยเหลือปรับปรุง ซ่อมแซมถนนสายดังกล่าวด้วยครับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน

นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ได้รับแจ้งจากนางยุวพร ฐิติพิทยา นายกเทศมนตรีตำบล อุดมธรรม ทางหลวงท้องถิ่น บร.ถ.๑-๐๐๔๐ เชื่อมระหว่างบ้านอุดมธรรม หมู่ที่ ๑๙ ถึงบ้านสุขสำราญ หมู่ที่ ๗ ของตำบลกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ผิวจราจร กว้าง ๖ เมตร ยาวประมาณ ๔,๕๐๐ เมตร ชาวบ้านตำบลกระสัง ๕ หมู่บ้านและหมู่บ้าน ใกล้เคียงต่าง ๆ นั้นได้ใช้ถนนเส้นนี้ประสบปัญหาอุบัติเหตุจากการสัญจรไปมา เนื่องจาก เป็นถนนสายหลักที่เข้าไปเรียนหนังสือ เข้าไปทำงานในตัวเมือง สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ขนาดใหญ่ มีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก จึงขอนำเรียนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดช่วยเหลือทำการปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ครับ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือเกี่ยวกับความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนที่มีอย่างยาวนาน

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

โดยพื้นที่ที่ดิฉันกล่าวถึงนี้ เคยหยิบยกมาในสภาแห่งนี้มาแล้ว ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ และในวันนี้ดิฉัน ขอเอาประเด็นความเดือดร้อนดังกล่าวมาแจ้งให้ท่านประธานทราบอีกครั้งนะคะ กล่าวคือ ไม่นานมานี้ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นขนุนทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงระหว่างวันที่ ๖-๙ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในช่วงวันที่ ๖-๘ สิงหาคม ปี ๒๕๖๖ ในเขต พื้นที่อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด ส่งผลทำให้ถนนส่วนใหญ่ที่เป็นดิน เกิดความเสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ทั้งนี้ถนนส่วนใหญ่เป็นดิน และลัดเลาะตามไหล่เขาเป็นถนนลาดชันเกิดความเสียหายขึ้น ทำให้มีการสัญจร ไปมาได้ลำบากนะคะ แล้วก็แยกเป็นรายพื้นที่ดังต่อไปนี้

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๑. ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย มีทั้งหมด ๒๑ หมู่บ้านใช้เส้นทางนี้ค่ะ ท่านประธาน เส้นทางมีความเสียหายอย่างหนักมาก รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเฉพาะบ้านแม่เกิบ บ้านแม่ฮองกลาง บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยหวาย

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๒. ตำบลแม่หลอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถนนถูกตัดขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ การสื่อสารถูกตัดขาดเลยนะคะ เนื่องจากว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ ล้มทับเสาไฟฟ้าขาด ส่งผลให้สัญญาณโทรศัพท์และไฟฟ้าใช้การไม่ได้ ประกอบไปด้วย ๖ หมู่บ้านเลยที่ใช้เส้นทางนี้ แล้วก็ยังส่งผลทำให้นักเรียนสัญจรไปมาโรงเรียนไม่ได้ และผู้ปกครองไม่สามารถรับส่งนักเรียนได้ นักเรียนจำนวน ๖๐-๗๐ คนต้องหยุดเรียน เพราะว่าเดินทางลำบากใช้เวลาเป็นชั่วโมงทุกครั้งที่เกิดพายุฝนค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๓. ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะว่า ถนนกลายเป็นโคลน สัญจรไปมาลำบากมากเลยนะคะ มีทั้งหมด ๑๐ หมู่บ้านที่ท่านใช้ เส้นทางนี้อย่างที่เห็น ลองนึกภาพที่เป็นมอเตอร์ไซค์นี่ภาพคุณครูดอยที่ต้องเดินทางขึ้นดอย ไปสอนนักเรียน

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๔. ตำบลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถนนเสียหายอย่างหนักใช้การไม่ได้นะคะ ท่านชาวบ้านต้องเอาจอบเอาเสียมมากลบร่องดินด้วยตัวเอง และเดินทางเท้าแทน โดยการใช้รถ ถนนจากดินกลายเป็นโคลนเพราะว่าฝนตกหนักกันยาวนานค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๕. ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สภาพถนนเสียหาย แต่เนื่องจากอยู่ในเขตรับผิดชอบของตำบลแม่ระเมิง อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตำบลยางเปียง ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปใช้ในพื้นที่ ได้ค่ะท่าน

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

๖. อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางได้รับความเสียหายอย่างหนัก รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ปกติ ถนนมีสภาพร่องลึก แล้วก็มีระยะทางกว่า ๑๔ กิโลเมตร วันที่ดิฉันลงพื้นที่ก็พบว่าผู้ป่วยทุลักทุเลลำเลียงออกมา

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะท่านประธานขอเวลานิดหนึ่งนะคะ สุดท้ายค่ะ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของดิฉันเองนะคะ เส้นทางนี้ได้รับความเสียหาย ถนนที่เชื่อมต่อจากบ้านนาฟ่อนและบ้านพุย ถนนบ้านบ่อสลี บ้านทุ่ง บ้านแม่แวง และถนน สายบ้านกองปะ บ้านเฮาะคี ทั้ง ๓ เส้นมีความยาวไม่ต่ำกว่า ๑๕ กิโลเมตร ผิวจราจรลื่นมาก รถยนต์สัญจรไปมาลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตลอดทางค่ะท่าน จึงขอกราบเรียน ท่านประธานสภาได้นำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย ถึงกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเป็นการเร่งด่วน โดยเร่งรัดใช้งบประมาณเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงพื้นที่ ทันที ขอบกราบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ วันนี้เราทำเวลาได้ดีขึ้นเยอะเลยนะครับ เรา Late มาแค่ ๖ นาที ก็ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกันนะครับ แล้วก็ผมมีเรื่องแจ้งเกี่ยวกับการหารือเล็กน้อย พอดีมีโอกาสได้ไปติดตามการดำเนินงานของสำนักงานที่เขาทำเรื่องนี้นะครับ ก็ปรากฏว่า งานเขาก็เยอะพอสมควร พยายามพัฒนาระบบที่คล้าย ๆ กับ Fondue ขึ้นมา เพื่อจะทำให้ เรื่องติดตามของพี่น้องประชาชนได้รับการแก้ไขนะครับ แต่อยากจะขอความร่วมมือ ท่านสมาชิกช่วยกันระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนนะครับว่าเป็นหน่วยงานไหนกันแน่ เพราะว่าแต่ละเรื่องที่ท่านหารือนี่ก็ค่อนข้างซับซ้อนนะครับ ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำการบ้าน เยอะเลยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือใครกันแน่นะครับ จะได้ทำให้เรื่องของท่านประสานงาน ได้เร็วขึ้น เพราะว่าตอนนี้แต่ละท่านหารือกันนี่ครับจะมีหลายร้อยเรื่อง บางท่านหารือ ครั้งเดียว ๑๐ เรื่องนะครับ เพราะฉะนั้นมันก็เลยจะเป็นปริมาณมหาศาลเลยที่ต้องการงาน ธุรการนะครับ อย่างไรขอฝากทางสมาชิกช่วยกันด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๗ คน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนนี้ มีสมาชิกมาลงชื่อมาประชุมทั้งหมด ๓๕๕ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ ผมขอเปิดประชุมตาม วาระครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกนะครับ จากการพิจารณารับทราบรายงานเพื่อให้ เป็นไปตามข้อบังคับแล้วก็มีประสิทธิภาพนะครับ รวมถึงหน่วยงานสามารถที่จะมาชี้แจง กับสมาชิกได้อย่างเต็มที่ ผมจึงต้องมีการเปลี่ยนระเบียบวาระประชุมจากเดิมเฉพาะในวันนี้ แล้วก็เป็นเรื่องเฉพาะการรับทราบรายงานเท่านั้นนะครับ ก็จะทำให้เรามีการเลื่อน ๒.๔ ขึ้นมาก่อนนะครับ เป็นเรื่องรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ต่อด้วย ๒.๑๑ ยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ครับ ตามด้วย ๒.๓ รายงานผู้ตรวจการ แผ่นดิน และกลายเป็น ๒.๘ สุดท้าย กสทช. นะครับ ท่านสมาชิกมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ไหมครับ ผมขออนุญาตที่ประชุมครับ ไม่มี ผมขอดำเนินการตามนี้นะครับ แล้วก็วันนี้เรา ฟันธงกันเลยว่าเอาจบ กสทช. เลยนะครับ อยู่กันยาว ๆ นะครับ แล้วก็ท่านใดที่จะอภิปราย ในช่วงท้าย ช่วงนี้ก็สามารถสลับกันไปพักผ่อนได้นะครับ แต่ว่าวันนี้ไหน ๆ กสทช. มาแล้ว แล้วก็รายงานไม่ได้เข้ามาที่นี่นานแล้วก็จะเอาให้จบ กสทช. เลยนะครับ คาดว่าจะประมาณ ๓ ทุ่มนะครับ ผมขอเชิญผู้ชี้แจงในวาระแรกนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๔ รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๑๘ (เดือนตุลาคม- ธันวาคม ๒๕๖๕)

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านอนุชานะครับ วันนี้ให้เกียรติทางสภา ท่านอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีในการรายงานความคืบหน้า แล้วก็มีผู้เข้าร่วมชี้แจงประชุมทั้งหมดอีก ๓ ท่านนะครับ คือท่านดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ท่านศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และท่านนาทวุฒิ ตรีเพ็ชร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ขอเรียนเชิญ ท่านรัฐมนตรีครับ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ กระผม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป ประเทศในแต่ละด้าน ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้มาเป็นผู้ชี้แจงรายงาน ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศราย ๓ เดือน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ซึ่งเป็นการ ดำเนินการตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ในส่วนของรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศในรอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑๘ ฉบับนี้ เป็นการรายงานความคืบหน้ารอบสุดท้ายของการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ ที่ได้สิ้นสุดลง ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๑ สรุปผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๓ ด้าน ที่ทำให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ ของรัฐธรรมนูญ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ สรุปผลการดำเนินการจัดทำปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปประเทศ ของกฎหมาย ๔๕ ฉบับ ที่กำหนดให้จัดทำปรับปรุงไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ การดำเนินการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไปภายหลังจากที่ แผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลง ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของ การปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ เกิดผลได้อย่างยั่งยืน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ผมขอเริ่มในส่วนที่ ๑ คือผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศโดยมี ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นไปตามเป้าหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ ของรัฐธรรมนูญ โดยกระผม ขอยกตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ดังนี้

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ก ด้านการเมืองมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำชุดความรู้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบของ หนังสือ จัดทำเป็นหลักสูตรและมีการออกแบบสื่อการเรียนการสอนสำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไปผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๑ ของแผนการปฏิรูป ประเทศด้านการเมือง

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ข ด้านการบริหารราชการแผ่นดินมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการกำหนดนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะได้มี ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เช่นการบังคับใช้พระราชบัญญัติ การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้ ภาครัฐปรับตัวในการให้บริการให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีงานบริการ ภาครัฐ e-Service อย่างน้อย ๓๔๓ บริการที่มี Platform กลางสำหรับประชาชน Application ทางรัฐผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๑ ของแผนการปฏิรูป ประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ค ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีกลไก ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่บังคับใช้ ก่อนวันประกาศในรัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา ๑๗ และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากลนั้นได้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบไม่สร้างภาระแก่ประชาชน มากเกินความจำเป็น พัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๑ ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ง ด้านกระบวนการยุติธรรมมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของ กระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมไม่ล่าช้าได้มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕ ในการ กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ชักช้าผ่านกระบวนการการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๑ ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ในข้อ จ ด้านการศึกษามีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา ได้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการดำเนินงาน ตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๑ ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ฉ ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีการขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้มีผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมจากการพัฒนาระบบให้มีการ SMEs Access เชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๓ ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ข้อ ช ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ได้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมจากการให้มีสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. เป็นกลไกภาครัฐที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ อย่างบูรณาการ โดยคำนึงถึงความต้องการการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศและผ่านดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๓ ของ แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ด้านสังคม มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดจัดให้ มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมจากการที่รัฐ ได้จัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนแล้ว ๑,๔๔๒ พื้นที่ใน ๗๐ จังหวัด รวมเนื้อที่ ๕,๗๕๗,๖๘๒ ไร่ ครอบคลุมประชากรจำนวน ๖๙,๓๖๘ ราย โดยการทำงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานหลัก รวมทั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ธนาคารที่ดิน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๕ ของแผนการ ปฏิรูปด้านสังคม

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ด้านสาธารณสุข มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนด ให้ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมได้มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม จากการยกระดับประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการทาง การแพทย์โดยครอบคลุมสิทธิทางการศึกษา ๔๗,๖๕๐,๙๕๒ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๙.๖๑ ของประชากรทั้งประเทศผ่านการดำเนินงานตามกิจกรรม Big Rock ที่ ๔ ของแผนการปฏิรูป ประเทศด้านสาธารณสุข

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ด้านการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยี โดยมีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวกรอง

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ด้านพลังงาน มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ด้านการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารของ ราชการและระบบรับแจ้งเบาะแสทาง Website เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และติดตามผลได้อย่างรวดเร็ว ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยมีการพัฒนาศักยภาพเป็นภาพพื้นที่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน รวมถึงพัฒนาชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชนยลวิถีให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ สำหรับส่วนที่ ๒ สรุปผลการดำเนินการจัดทำปรับปรุงการปฏิรูปประเทศที่มีกฎหมายภายใต้ แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง จำนวน ๔๕ ฉบับ โดยมีสถานะการดำเนินการ ณ ธันวาคม ๒๕๖๕ เป็นกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน ๑๐ ฉบับ ซึ่งเพิ่มเติม จากรอบก่อนหน้านี้ ๑ ฉบับ ก็คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๕

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในส่วนที่ ๓ ของการดำเนินการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ได้มีมติรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในคราวประชุม ที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ได้เห็นชอบและดำเนินการ ภายหลังสิ้นสุด ระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งมีการ ดำเนินการให้บรรลุ ผลสัมฤทธิ์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญในการปฏิรูป ประเทศด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินการของหน่วยงานตามแผนแม่บท ภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนำนโยบายและแผนว่าด้วย ความมั่นคงแห่งชาติ แผนระดับที่ ๓ รวมทั้งกลไกต่าง ๆ ในการสร้างขึ้นในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศได้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้นฉบับ

ท้ายนี้กระผมในนามของรัฐบาลขอขอบพระคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอบคุณท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างสูงที่ได้ให้โอกาสมาชี้แจงความคืบหน้า ในการดำเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศสำหรับคำถามและข้อเสนอแนะต่าง ๆ กระผมใคร่ขอน้อมรับและขอชี้แจงในรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ท่านประธานเห็นสมควร ในลำดับต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ขออนุญาตนิดนะครับ ก่อนจะเข้ากระบวนการอภิปราย เรื่องรายงาน ซึ่งทราบว่ามีประมาณ ๓๐ กว่าคนแล้ว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านทวีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ท่านรัฐมนตรีสรุปเมื่อสักครู่ประมาณสัก ๕ นาที มันมีประเด็นก็คือว่า หมวดการปฏิรูปประเทศหมวดที่ ๑๖ นี่ ไปเขียนในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๗๐ ที่เป็นภาระของพวกเราทุกวันนี้ว่าต้องมารายงานกับสภาทุก ๓ เดือน เมื่อสักครู่ท่านพูดว่าในระยะ ๕ ปี ท่านบอกว่าแผนปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่ท่านพูด จึงอยากให้ท่านผู้มาชี้แจงได้ชี้แจงว่า ต่อไปนี้หน้าที่ของ สว. ตามมาตรา ๒๗๐ ที่มีหน้าที่ ในการติดตามเสนอแนะ เร่งรัดปฏิรูปประเทศตามหมวด ๑๖ ยังมีอีกหรือไม่ แล้วแผนปฏิรูป ประเทศที่ต้องรายงานทุก ๓ เดือนจะมีอีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไปโยงกับ มาตรา ๒๗๒ ที่เป็นคำถามพ่วงว่า สว. จะมาเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะจะมาขับเคลื่อน ปฏิรูปประเทศ ดังนั้นก่อนที่จะไปสู่การอภิปรายรายละเอียดของแผน อยากจะขอให้ท่านรัฐมนตรี หรือเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตอบว่าวันนี้หน้าที่ของวุฒิสภาในการติดตามและเสนอแนะการปฏิรูปประเทศตามหมวด ๑๖ ยังทำหรือไม่ และการรายงานทุก ๓ เดือนยังมีอีกหรือไม่ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกท่านอื่นท่านใดต้องการเพิ่มเติมในประเด็นนี้ไหมครับ เพราะว่าก่อนที่เรา จะเข้าเนื้อหาการอภิปรายในส่วนของรายงานจะได้ชัดเจนในประเด็นที่ท่านทวีได้ Raise ขึ้นมา ก็เห็นด้วยตรงกันไม่มีเพิ่มเติมนะครับ ถ้าอย่างนั้นขอเชิญท่านรัฐมนตรีหรือทาง สภาพัฒน์ได้ชี้แจงประเด็นก่อนครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิกนะครับ ต่อคำถามของ ท่านพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับว่าที่เราต้องมารายงาน กับสภาทุก ๓ เดือนนี้เป็นการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ทีนี้ในหมวด ๑๖ ที่เป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศนี่นะครับ อันนี้ผมต้องขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับว่า ในการติดตามการปฏิรูปประเทศก็คงจะต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องไปนะครับ เพียงแต่ว่า ในการรายงานกับสภานั้นก็คงจะเป็นการรายงานในลักษณะของรายงานประจำปีที่จะมี รายงานทุกปีนะครับ โดยการรายงานทุก ๓ เดือนนี้คงจะไม่ได้มีการรายงานแล้วนะครับ เพราะว่าอันนี้มันอยู่เรื่องบทเฉพาะกาล ๕ ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ของทางท่านสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมาติดตามนั้น อันนี้ผมต้องขออนุญาตเรียนว่าคงต้องมีการปรึกษาหารือกันนิดหนึ่งครับ กับการแก้ข้อกฎหมายครับ เพราะทางสำนักงานเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง ขอบพระคุณครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ นิดเดียวครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในหมวดปฏิรูปประเทศเราไปเขียนบทเฉพาะกาล ในมาตรา ๒๗๐ ว่าให้วุฒิสภามีหน้าที่ติดตาม แล้วยังไปอยู่ในคำถามพ่วงที่ทำประชามติ รัฐธรรมนูญว่าการที่เขียนมาตรา ๒๗๒ ขึ้นมานั้น เพราะต้องการให้ สว. ไปปฏิรูปประเทศ จึงให้มาเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงระหว่าง ๕ ปี คำว่า ระหว่าง นี่ก็คือตั้งแต่ ๑ วันถึง ๕ ปี หรือระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ดังนั้นอันนี้เป็นสาระสำคัญ ผมยังอยากให้ ท่านลองอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะว่าอำนาจ สว. ถ้าหมดหรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะควรได้คำตอบในครั้งนี้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะมันจะโยงไปสู่ ระบบต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็อย่างที่เรียนว่าในบทเฉพาะกาลมันเหมือน การรัฐประหารซ้อนขึ้นมา ทำลายระบบรัฐธรรมนูญทั้งหมด ดังนั้นถ้าตามคำตอบของท่าน มาตรา ๒๗๐ ได้หมดสภาพไปตามคำชี้แจงใช่หรือไม่ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านทวีนะครับ เนื่องจากอันนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่เราจำเป็นต้องใช้เวลา ในการพิจารณานะครับ เดี๋ยวรบกวนทางสภาพัฒน์ได้หารือไปทางฝ่ายกฎหมาย แล้วก็ชี้แจง มาทางสภาภายในวันนี้นะครับ เพราะว่าเรื่องนี้เราไม่ได้ชัดเจนใช่ไหมครับ รายงานรอบหน้า เราก็ยังไม่มีทิศทางว่าใครเป็นผู้ดำเนินงานในเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วก็ บทบาทของสภาจะเป็นอย่างไรนะครับ เชิญครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในการรายงานตามบทเฉพาะกาลทุก ๓ เดือน การรายงานครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายครับ แล้วก็ จะไม่ได้มีการรายงานอีก ส่วนอย่างไรก็ตามในเรื่องของการปฏิรูปประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะ ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ทางสำนักงานก็จะนำเสนอมา เป็นลักษณะของรายงานประจำปีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ถามตรง ๆ เลยครับ สว. อยู่ต่อหรือเปล่าในการปฏิรูปประเทศนี่ครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

อันนี้เดี๋ยวผมต้องไปคุยกับทางฝ่ายกฎหมายเหมือนกันครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อย่างนั้นขอคำตอบภายในวันนี้นะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

แต่ว่าเรื่องรายงาน ๓ เดือนนี่ผมเรียนว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ใช่ไหมครับท่านทวี เรื่องรายงานเราไม่ติดใจนะครับ แต่ว่าติดใจเรื่อง

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ท่านประธานถามตรงครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เขียนสั้น ๆ เลยครับ สว. อยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศหรือเปล่านะครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอเข้าสู่ รายงานเลยนะครับ ท่านผู้จะอภิปรายเป็นท่านแรกคือท่านมานพ คีรีภูวดล และต่อด้วย ท่านสรรเพชญ บุญญามณี ครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ ผมได้มีโอกาสในการอภิปรายรายงาน ความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ ไปหลายครั้งนะครับ แล้วก็ เมื่อสักครู่ผู้ชี้แจงก็บอกว่านี่เป็นครั้งที่ ๑๘ เป็นครั้งสุดท้าย ช่วงท้าย ๆ ผมไม่แน่ใจว่า ผมอยากจะพูดถึงเอกสารว่ามันเป็นเอกสารปฏิรูปประเทศหรือมันเป็นเอกสารที่เอาข้อเสนอ ของหน่วยงานแต่ละกระทรวงมาแปะ ๆ ไว้นะครับ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ครับ ท่านประธานครับ ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ และเป็นคำถามต่อคณะกรรมการ ปฏิรูป ในการปฏิรูปประเทศในด้านที่ ๖ ครับท่านประธาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ในประเด็นเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดิน

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามแรกครับท่านประธาน ผมอยากจะถามผู้ชี้แจงครับ ในเอกสารนี่ ผมคิดว่ามันมีความไม่ตรงกันอยู่ในเชิงตัวเลขนะครับ เอกสารเล่มนี้ที่รายงานความคืบหน้า ครั้งที่ ๑๘ ในหน้าที่ ๗๕ ในข้อที่ ๒ ย่อหน้าที่ ๑ ได้มีการจัดที่ทำกินให้ชุมชน ๑,๔๔๒ พื้นที่ ๗๐ จังหวัด ตัวเลขข้างหน้านะครับท่านประธาน ถ้าผมอ่านมันไม่มีจุด Full stop มันเป็น Comma ตัวเลขนี้หมายความว่าที่ดินที่ท่านปฏิรูปนี่มันเกินกว่าจำนวนประเทศไทยนะครับ ถ้าผมอ่านตรงนี้มันก็จะเป็นอย่างไรครับ มันประมาณ ๓๗๕ ล้านไร่ตรงนี้ ซึ่งประเทศไทย จริง ๆ แล้วมันมีอยู่แค่ ๓๒๐ ล้านไร่ แต่พอมาดูในเล่มสรุปรายงานตรงกับคำชี้แจงของ ท่านผู้ชี้แจงเมื่อสักครู่ก็คือ ๕,๗๕๗,๖๘๒ ไร่ ผมคิดว่าอันนี้ในแง่ของเอกสารมีปัญหาว่า ตกลงแล้วเอกสารนี่ตัวเลขมันผิดพลาดอย่างไร อันนี้เป็นคำถาม

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทีนี้ท่านประธานครับ ผมมีความเห็นในเรื่องของการปฏิรูปหรือว่า การกระจายการถือครองที่ดินนี่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญนะครับ ที่ดินคือกุญแจสำคัญ ที่จะนำไปสู่เรื่องของความเสมอภาค เรื่องของความเท่าเทียมครับท่านประธาน ประเทศไทย มีอยู่ ๓๒๐ ล้านไร่ เป็นโฉนดไปแล้วประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ อยู่ในการดูแลของส่วนราชการ ที่เหลือนะครับ และที่เยอะที่สุดที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานราชการก็คือกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระจายทุกที่ แต่เวลาเราดูในรายงานนะครับ ท่านประธานครับ เวลาพูดถึงเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดินจะพูดเฉพาะกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ครับ ในที่ประชุมแห่งนี้ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาเรื่องของการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนได้พูดไว้ชัดเจนครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ดินมี ๑๗ หน่วยงานท่านประธานครับ แต่ว่าในเอกสารนี่พูดแค่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือเรื่องของ คทช. อันนี้ผมว่ามีปัญหาครับ ท่านประธานครับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงนี้เกี่ยวกับพี่น้องไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคน คนไทย ๑๐ ล้านคนยังไม่มีที่ดินทำกินที่ชอบด้วยกฎหมาย บางคนไร้ที่ดินทำกิน แต่บางคนถือครอง ที่ดินประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ครับท่านประธานแค่ครอบครัวเดียว เพราะฉะนั้นประเด็น ของผมคิดว่าการปฏิรูปที่ดินถ้าจะเรียกว่าเป็นแผนปฏิรูปประเทศจริง ๆ นะครับ มันต้องดู ที่ดินทุกหน่วยงานที่ถือครองครับ ๑. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๒. กระทรวงการคลัง ๓. กระทรวงกลาโหม ๔. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดินและ สหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ที่ น.ส.ล. ที่ดินทั้งหมดที่อยู่ในส่วนราชการมันจะต้องเป็น องค์ประกอบข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การปฏิรูปครับ การที่เสนอว่าเป็นแผนปฏิรูปและหยิบเอา เฉพาะที่ดินที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า เท่านั้นก็คือที่ คทช. ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหามาก ผมไม่อยากจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปประเทศในด้านการกระจายการถือครองที่ดินได้ เพราะว่าท่านกำลังพูดเฉพาะหน่วยงานเดียวคือ คทช. ท่านประธานครับ ประเด็นที่ผม อยากจะลงรายละเอียดไปเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพนะครับท่านประธานครับ คทช. ไม่ใช่ เป้าหมายที่แท้จริงของประชาชนในการถือครองที่ดินครับ เพราะไม่ใช่ระบบกรรมสิทธิ์ แต่เป็นระบบเช่า ผมถามว่าเรื่องนี้ในข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินจริง ๆ อันนี้ ไม่ชัดเจน และผมเชื่อว่าถ้าดำรงการแก้ไขปัญหาภายใต้กลไก คทช. ที่มันมีปัญหาตั้งแต่ระดับ นโยบายถึงพื้นที่ ผมคิดว่าทำแบบนี้เป็นร้อยปีก็ไม่มีทางที่จะหาทางออกได้ครับท่านประธาน

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่พี่น้องประชาชน รอคอยก็คือว่า ถึงแม้ว่ายังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทางที่ดิน แต่ว่าขอให้ที่ดินของเขาชอบด้วย กฎหมายได้ไหม คือ คทช. เมื่อที่ดินชอบด้วยกฎหมาย การเข้าถึงงบประมาณ การพัฒนา ศักยภาพพื้นที่ก็จะเกิดขึ้น ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าที่ผมพูดว่าจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคน ที่ดินของรัฐนี่นะครับ วันนี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ เข้าถึง งบประมาณของ ๓.๓ ล้านล้านไร่เลยครับท่านประธาน จะขอใบรับรอง GMP จะขอใบ Organic ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายของหน่วยงานราชการ ไม่สามารถทำได้ จะพัฒนาแหล่งน้ำก็ทำไม่ได้ เพราะอะไรท่านประธานรู้ไหมครับ เพราะว่า การรวมศูนย์ในการบริหารจัดการและการแก้ปัญหามันอยู่ที่ส่วนกลาง อันนี้คือปัญหาใหญ่ ผมมีตัวอย่างครับท่านประธาน ผมได้ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีท็อปแล้วว่าถ้าจะทำให้การแก้ไข ปัญหากรณีทำพื้นที่ คทช. ที่ชอบด้วยกฎหมายของพี่น้องประชาชน ลดความขัดแย้ง แก้ปัญหาความขัดแย้งให้กับพี่น้องประชาชนกับรัฐเราทำได้ครับ แต่เมื่อไรให้กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำเพียงลำพังนะครับ เขาจะมีหน่วยงานเช่น สำนัก ๑ สำนัก ๔ สำนักอะไรพวกนี้ครับ ปีหนึ่งเขาทำได้ไม่เกิน ๒๐ หมู่บ้าน และผมคำนวณดูแล้ว อย่างนี้ต้องใช้เวลาประมาณ ๗๐-๘๐ ปี ถามว่าอย่างนี้ปฏิรูปประเทศไหม เรามีตัวอย่างครับ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือที่ดินมันไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับปากท้อง เกี่ยวข้องกับเรื่องหลาย ๆ เรื่องครับ การใช้พื้นที่ เป็นตัวตั้งที่ผมพยายามจะเสนอให้กับท่านประธานก็คือว่าเรามีตัวอย่างที่แม่แจ่ม อันนี้ก็ต้องชม ท่านปลัดกระทรวงนะครับว่าเมื่อเราตั้งกระทู้ท่านก็ลงไป ท้องถิ่น อบต. เทศบาลนะครับ ไปทำแผนที่มาตราส่วนเดียวกัน ๑:๔,๐๐๐ ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ GPS อันเดียวกัน ไปรังวัดหมดเลยครับว่าเงื่อนไขภาพถ่ายก่อนปี ๒๕๒๕ มติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ภาพถ่ายปี ๒๕๔๕ คำสั่ง คสช. ก่อนปี ๒๕๕๗ เครื่องมือเดียวกันครับ หน้าที่ของ อบต. ท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยจะต้อง Clear พื้นที่ทั้งหมดว่าใครถือครองที่ดินเท่าไร อย่างไร หน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือไปรับรองความถูกต้อง ตามเงื่อนไขข้อกฎหมายระเบียบที่มีอยู่

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านมานพครับ ต้องสรุปแล้วครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แต่ถ้าหากว่าทำโดยหน่วยงาน ลำพังนะครับ ท่านประธานผมคิดว่าเป็นการทำงานที่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ตามเอกสาร ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเอาแค่ที่ดินชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะให้หน่วยงาน และประชาชนได้ทำมาหากินได้ จำเป็นอย่างยิ่งครับที่จะต้องใช้หน่วยงานหลายหน่วยงาน ทำงานไปพร้อม ๆ กันครับ ถ้าหากว่าเอกสารตรงนี้ยังแยกส่วนแบบไม่เป็นองค์รวม ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปนะครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าเอกสารนี้ไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นเอกสารการปฏิรูปประเทศครับ เป็นเอกสารที่เอางานประจำของกระทรวง หน่วยงาน ต่าง ๆ มารวมเล่มครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสรรเพชญ บุญญามณี ครับ

นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อำเภอเมืองสงขลา ประกอบไปด้วยตำบลบ่อยาง ตำบลเขาลูกช้าง ตำบลเกาะแต้ว ตำบลทุ่งหวัง และตำบลเกาะยอครับท่านประธาน ก่อนอื่นกระผมต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านอนุชา นาคาศัย ในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของ ครม. และท่านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครับ กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผน ปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๘ ท่านประธานที่เคารพครับ ตามรายงานความคืบหน้าเป็นแผนการปฏิรูปประเทศที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นครั้งแรกได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑ ปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า ๕ ปีแล้ว ที่แผนปฏิรูปนี้ได้บังคับใช้ และครั้งนี้เป็นรายงานความคืบหน้าครั้งสุดท้ายเนื่องจากระยะเวลา ของแผนการปฏิรูปได้สิ้นสุดลง หรือที่เรียกว่าหมดเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ท่านประธานครับ ที่ท่านเห็นเล่มหนา ๆ อยู่นี้ครับ เหล่านี้มีทั้งด้านการเมือง ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข ผมก็พยายามเปิดดูครับว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนคาดหวังไว้ เขาจะสามารถกำหนดความต้องการของเขาเองผ่านการกระจายอำนาจนั้นมีอยู่หรือไม่ แต่น่าเสียดายครับท่านประธาน ผมเห็นใจแทนพี่น้องประชาชนอย่างยิ่งครับ เพราะสิ่งที่เขา คาดหวังนั้นไม่มีอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ผมคิดว่าเรื่องพื้นฐานที่พวกเราพูดกันมานาน ขนาดนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นผมขอให้ท่านประธาน กลับไปปฏิรูปแผนการปฏิรูปของท่านใหม่เถิดครับ เพราะวันนี้เวลาพี่น้องประชาชนเดือดร้อน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี ผมเองก็ไม่ทราบว่าองค์กรเหล่านั้นยังเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้อง ประชาชนมากน้อยแค่ไหน เพราะประชาชนยังนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. ซึ่งพวกเราเองที่นั่งอยู่ที่นี้ทั้งหมดครับ พวกเราเองก็ไม่สามารถปฏิเสธความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนได้ พวกเราทำได้ เช่น การหารือในสภา การยื่นกระทู้ถาม การอภิปรายทั่วไป เพราะปัจจุบัน สส. ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณที่เคยมี ก็ไม่มีแล้ว ดังนั้นหัวใจของการกระจายอำนาจคือการกระจายงบประมาณและทรัพยากร ไปสู่ท้องถิ่นให้พอเพียงมากที่สุด อย่างที่ผมกราบเรียนครับท่านประธานครับ ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานในเล่มนี้เลยครับ แต่ท่านอย่าเพิ่งเข้าใจนะครับว่าการกระจาย อำนาจนั้นเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าเพียงอย่างเดียว เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าต้องมาควบคู่กับ ความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนต้องการสิ่งที่ท่านยัดเยียดให้เขาหรือเปล่า ผมขอยกตัวอย่างครับท่านประธาน กรณี Aquarium หอยสังข์ที่สงขลาบ้านผมนี่ครับ เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างมหากาพย์การโกงครับ สร้างมา ๑๕ ปีใช้งบประมาณ ๑,๔๐๐ ล้านบาท เฉลี่ยผลาญงบประมาณประเทศ ภาษีของพี่น้องประชาชนวันละ ๗๐,๐๐๐ บาท เป็นเพราะส่วนกลางยัดเยียดสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการ ขนาดนั้น มันกลับมาสร้างบาดแผลในใจให้กับพี่น้องชาวสงขลา ซึ่งเรื่องนี้ผมเองก็ไม่รู้ว่า จะจบเมื่อไร หารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. ก็บอกว่าอยู่ในขั้นตอนของการ รวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งนี่เป็นการล่าช้าของกระบวนการกฎหมายที่กระผมจะได้นำเรียน ท่านประธานต่อไป ท่านประธานครับ Aquarium หอยสังข์นี่เขาพูดกันเหลือเกินครับ ที่สงขลาบอกว่ามีประโยชน์อย่างเดียวคือให้นกพิราบเข้าไปทำรังครับ นี่แค่เรื่องเดียวนะครับ เรื่อง Aquarium หอยสังข์ที่สงขลานี่ครับท่านประธาน สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปประเทศ ในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ทั้งด้านบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งด้านป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ เดี๋ยวไว้มีโอกาสวันหน้าผมจะมาฉีกหน้ากากให้ท่านประธาน ได้รับชมกัน นอกจากนี้ผมยังเหลือบไปเห็นการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนปฏิรูป ประเทศที่ท่านได้เสนอมาครับ รวมทั้งสิ้นจะมีการดำเนินการ ๔๕ ฉบับ แต่ปัจจุบันสถานะ ของกฎหมายดำเนินการไปเสร็จเพียง ๑๐ ฉบับเท่านั้นครับท่านประธาน คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของกฎหมายที่ทำเสร็จ แบ่งเป็นตาม Slide ที่โชว์ครับ ด้านกฎหมายท่านเสนอมา ๕ เสร็จแล้ว ๒ ด้านสังคมเสร็จไป ๑ ด้านการบริหารราชการแผ่นดินเสร็จ ๑ ฉบับ ด้านพลังงาน ๑ ฉบับ ด้านเศรษฐกิจ ๓ ฉบับ ด้านกระบวนการยุติธรรม ๑ ฉบับ ด้านป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอีก ๑ ฉบับครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านตั้งไว้ถึง ๔๕ ฉบับ แต่ท่านทำเสร็จได้จริง ๑๐ ฉบับครับ ที่เขาเรียกว่าเลยกรอบเวลา Deadline แล้ว ถ้ากระผมเป็นนักเรียน วันนี้ผมได้ F แล้วก็ได้ ไข่ต้มไปกินที่บ้านแล้วครับ ด้านเศรษฐกิจท่านทำเสร็จแล้ว ๓ ฉบับ ไหน ๆ ท่านจะพูดเรื่อง เศรษฐกิจ เรื่องการปฏิรูปประเทศแล้ว ผมฝากบอกท่านด้วยว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทย โตช้าที่สุดใน ASEAN เศรษฐกิจไทยตกต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่แผน การปฏิรูปของท่านกลับไปทำสิ่งที่ไม่ค่อยจะทันโลก เป็นเพราะท่านทำไว้ตั้งแต่ ๕ ปีที่แล้ว หรือเปล่าครับ ผมยังเห็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ท่านยังทำอยู่แล้วบอกว่าให้คน ในพื้นที่เขาทำงานตามที่เขาถนัดเช่น จัดประชุม จัดนิทรรศการ จัดแถลงข่าว ผมขอถาม ได้ไหมว่าไหนล่ะครับความยั่งยืนของ Soft Power ที่พวกท่านพูดกัน ไหนล่ะครับ ประโยชน์ ของชาวบ้านที่จะได้รับจากโครงการต่าง ๆ ที่รัฐหยิบยื่นไปให้

นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ

ต่อมาท่านประธานครับ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อนอื่นผมต้อง ขอชมเชยคณะทำงานครับ มีความคืบหน้าครับในเรื่องการทำ Application ต่าง ๆ ครับ แต่ผมขอเสนอว่าจากที่มีหลาย ๆ Application พี่น้องประชาชนสับสนครับท่านประธาน ผมเชื่อว่าท่านประธานเองเวลา Load Application มาก็จะวุ่นวายซับซ้อนครับ เพราะฉะนั้น ผมอยากขอเสนอว่าการทำ Application นี่ขอให้เป็น One Stop Service ได้ไหม นำข้อมูล ต่าง ๆ มารวมกันได้ไหม

นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ผมขอตั้งข้อสังเกตต่อด้านพลังงาน ท่านประธานครับ มีแผนด้านพลังงานทั้งหมด ๘ เรื่อง ทำเสร็จไปแล้ว ๑ เรื่อง แต่อีก ๗ เรื่อง อยู่ในกระบวนการไหนครับท่านประธาน ผมขอเฉลยให้ครับ อีก ๗ เรื่องอยู่ระหว่าง การดำเนินการซึ่งหน่วยงานของรัฐกำลังจัดทำร่างกฎหมาย ท่านประธานครับ ผมดูแล้ว ๑ เรื่องที่น่าสนใจที่ท่านควรจะเร่งทำก็คือร่างระเบียบส่งเสริมกิจการไฟฟ้า เพื่อเพิ่ม การแข่งขันที่ใช้พลังงานทดแทนที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงานจัดทำ เพื่อให้มีระเบียบ เพื่อส่งเสริมกิจการไฟฟ้าขนาดเล็กที่เกิดจากพลังงานทดแทนหรือกิจการไฟฟ้าชุมชน เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นจริง ๆ ครับท่านประธาน เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าพี่น้องประชาชน ต้องทนกับค่าไฟที่แพงขึ้น ค่าครองชีพที่แพงขึ้น เรื่องนี้หากท่านทำได้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมากครับ

นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ กระผมอยากจะสอบถามท่านว่าตามกรอบ ระยะเวลาที่ท่านได้กล่าวมาทั้งหมดนี่นะครับ สาเหตุของความล่าช้าเกิดจากอะไร ขอให้ ท่านได้ช่วยกรุณาชี้แจง และท่านมีแนวทางที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้มารับทราบรายงานปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ จริง ๆ ก็ ๕ ปีแล้ว สภาปฏิรูปที่ร่าง ที่เสนอกฎหมายให้เป็นรัฐธรรมนูญ จริง ๆ แล้วในความคิดส่วนตัว ก็คงจะด้อยค่าฝั่งการเมือง แต่การที่ ๑๓ ข้อของมาตรา ๒๗๐ ก็มีข้อดีคือตามรายการ ๑๓ ข้อ เมื่อสักครู่ชอบนะครับ ท่านประธานถามบอกว่าตกลงมาตรา ๒๗๐ หมวด ๑๖ ท่าน สว. จะยังอยู่ไหม ถ้าท่านตอบแล้วท่านประธานบอกผมด้วยนะครับ ด้วยความเคารพครับ วันนี้สิ่งต่าง ๆ ทั้ง ๑๓ ข้อ มีข้อดีข้อเสีย ผมจะพูดเรื่องด้านพลังงาน คือข้อ ๑๐ ด้านพลังงาน วันนี้เราปฏิรูป แต่ว่าพลังงานทุกอย่างแพงขึ้นหมดครับ ต้องบอกว่าค่าไฟแพง ค่าน้ำมันแพง ค่าแก๊สแพง โดยเฉพาะ LPG ซึ่งอยู่ในครัวเรือนของประชาชนทุกครัวเรือน ต้องบอกว่าวันนี้ กระทรวงพลังงาน หรือด้านพลังงานตามกลไกของตลาดทันหรือเปล่า LPG มันมีอยู่ ๒ อย่างนะครับ คือ LPG เบากับหนัก LPG เบาคือเป็น LPG ที่ดี เกิดจาก โรงกลั่น มี Propane มี Butane พอสมควร แต่ LPG หนักคือมี Propane น้อย มี Butane เยอะ การให้พลังงานต่างกัน แต่วันนี้คนไทยกลับต้องบริโภคในการเอา ๒ อย่างนี้ มาผสมกัน แล้วก็ตั้งราคาขายที่แพงเกินกว่าความจำเป็น ผมบอกว่าวันนี้ LPG ที่หนัก ราคา ถูกกว่า LPG ที่เบาแบบภาษาชาวบ้านอยู่ถึงเกือบ ๓ บาทต่อกิโลกรัม แต่วันนี้ปล่อยให้ ผู้ประกอบการเอามาผสมกันแล้วก็ขายให้ประชาชน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมยกตัวอย่างแบบเข้าใจง่าย ๆ LPG เบา ต้มน้ำหม้อนี้เดือดภายใน ๗ นาที แต่ LPG หนัก ต้มน้ำหม้อนี้เดือดภายใน ๑๐ นาที ๓ นาทีนี่ก็โกงชาวบ้านไปเยอะแล้วครับ ผมฝาก ท่านรัฐมนตรี ฝากท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ผ่านท่านประธาน วันนี้ลองจัดระบบพลังงาน ให้ชัดเจนกว่านี้หน่อย ผมบอกว่าวันนี้พวกเราบริโภคสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถูกพ่อค้าคนกลาง หลอกมาตลอด ผมจึงกราบเรียนว่าวันนี้ไม่ว่าจะ LPG หุงต้ม LPG รถยนต์ คนผู้บริโภค ท่านประธานเห็นไหมครับ ดีเซลมันมีดีเซลหมุนเร็วซึ่งมีอีกราคาหนึ่ง ดีเซลหมุนช้า อีกราคาหนึ่ง LPG ก็เหมือนกันครับ ผมกราบเรียนว่าวันนี้สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเราดำเนินการ เรื่องพลังงานผิดพลาดทั้งหมด ผมก็เหมือนที่คุยกับท่านประธาน อภิปรายครั้งไหน เจอท่านประธานทุกครั้ง ผมบอกว่าเราจะต้องหาคนที่มือถึงมาเป็นหน่อยครับ เหมือนกับ ที่พูดเมื่อวานนี้ครับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีต่าง ๆ ไม่ใช่ว่ายังเป็นทาส ของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ ผมกราบเรียนว่าขอฝากเรื่องพลังงาน ซึ่งอาจจะมาเกี่ยวกับ แผนพัฒนาประเทศ แล้วอีกอันหนึ่งก็คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้ถ้าเรามี ต้นไม้เยอะ ๆ เราก็ได้อากาศบริสุทธิ์ เราก็มีความพร้อมเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี แต่ปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องต้นไม้ ไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีราคาแพง เหมือนที่ Slide นี่ครับ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

แต่วันนี้ไม้พะยูงกับพื้นที่ของราษฎร หมดแล้วครับ ถูกจำหน่ายขายไปตามเพราะว่าวันนี้กฎหมายเมื่อปี ๒๕๖๒ อนุญาตให้ตัด ไม้พะยูงในพื้นที่ของตัวเองขายได้ ก็ขอบคุณนะครับ รัฐบาลที่ทำให้แปรสินทรัพย์เป็นทุน ราษฎรไหนที่มีต้นไม้ แต่ว่าวันนี้พวกไม้พวกนี้มันจะเหลืออยู่ในที่ราชการหรือที่ธนารักษ์ ที่กาฬสินธุ์ตอนนี้ไม้พะยูงมากที่สุด มีการไปดำเนินการตัดในที่ของกรมธนารักษ์ ตัดเสร็จปุ๊บ จริง ๆ แล้วตามกฎหมายจะต้องมี ๓ ส่วนด้วยกันมารวมกันคือ กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ แล้วก็เจ้าของสถานที่คือกรมธนารักษ์ แต่วันนี้มีการตัดทุกวัน ไม่รู้ว่าคนตัดนี่ใคร บอกว่าให้มาตัด ตัดเสร็จแล้วก็เอาออกขายได้เลย ประมูลแบบเป็นระเบียบราชพัสดุ ปี ๒๕๓๕ คือทำเป็นเหมือนโต๊ะ เก้าอี้อะไรต่าง ๆ ผมกลัวมันหมด ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ต้องกราบฝากทางผู้ที่เกี่ยวข้อง เราควรจะเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นทรัพย์สมบัติ ของประเทศไทยให้มีคงไว้ ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถให้ชาวบ้านตัดไม้ ในเขตโฉนดและ น.ส. ๓ ของตัวเอง เพื่อเอามาจำหน่ายขายได้ ท่านประธานที่เคารพครับ แผนปฏิรูปประเทศนี่ผมก็บอกอยู่ว่ามันล้าสมัยไปแล้ว มันเก่า ไปแล้ว วันนี้สภาแห่งนี้มีสภาอยู่แล้วก็เริ่มเสีย เริ่มกันใหม่ ทำอะไรให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน หาคนดี ๆ หาคนที่มือถึง หาคนที่เก่ง ๆ มาทำงานพวกอย่างนี้ ก็ขอบคุณท่านประธาน ที่เคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปทิดา ตันติรัตนานนท์ ครับ

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดสุรินทร์ วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ที่ท่านได้มาชี้แจง ข้อมูลถึงในเรื่องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ท่านประธานคะ แผนการปฏิรูปประเทศ ๑๓ ด้าน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบดำเนินการในการสร้างรากฐานของประเทศในช่วง ๕ ปีแรกของ ยุทธศาสตร์ ให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยน ยกเลิก กระบวนการ กลไก หรือกฎระเบียบต่าง ๆ แต่ก็น่าเป็นห่วงนะคะท่านประธาน เพราะ ๑๓ ด้าน ดิฉันมองว่ามันอาจจะดำเนินการไปได้น้อยแล้วก็ได้ช้า และในบางด้านก็อาจจะยัง ไม่เข้าประเด็นนะคะ วันนี้ขออนุญาตหยิบยกขึ้นมาแค่ประเด็นเดียวที่มีความน่าเป็นห่วงก็คือ ในข้อที่ ๔ ด้านกระบวนการยุติธรรมค่ะท่านประธาน ความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศ ในกระบวนการยุติธรรมยังน่าเป็นห่วงและไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ นะคะท่านประธาน จากรายงานเล่มนี้พบว่าถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ รายงานครั้งที่ ๑๘ ข้อ ๓ นะคะ เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราได้จัดให้มีทนายความประจำสถานีตำรวจได้เพียง ๒๐๓ สถานี คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๗ ค่ะท่านประธาน จากจำนวนสถานีตำรวจทั้งหมดในระยะเวลา ๕ ปี ของการปฏิรูป ซึ่งดิฉันถือว่ามันน้อยมากค่ะท่านประธาน ถ้าคิด ๑๓.๗ เรามีแผนพัฒนา ยุทธศาสตร์ของชาติ ๒๐ ปี อาจจะยังไม่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะมีทนายอาสาไว้ประจำ สถานีตำรวจ ซึ่งไม่เพียงพอแล้วก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน และต้องการคำแนะนำทางข้อกฎหมายต่าง ๆ ทุกวันนี้พี่น้องดิฉันเชื่อว่าทั้งประเทศเรานะคะ โดนคดีความแล้วก็ไม่มีทนาย แล้วก็ได้ทนายที่อาจจะไม่ได้ตรงประเด็นทำให้พี่น้องประชาชน เสียหาย แล้วก็เดือดร้อนในเรื่องของการต้องเสียค่าทนายนะคะ อาจจะแพ้คดีเป็นปัญหาของ พวกเราอย่างมากมาย ทั้งนี้ในรายงานยังไม่ได้ระบุถึงความพึงพอใจทั้งของประชาชน และประสิทธิภาพการทำงานของทนายความในการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย อันนี้ก็ยัง น่าเป็นห่วงนะคะท่านประธาน

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ส่วนของศูนย์ยุติธรรมสร้างสุขที่ให้บริการประชาชนเรื่องความยุติธรรม ต่าง ๆ เป็นศูนย์ที่มีภาระงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ และไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงไม่มี ประสิทธิภาพเพียงพอเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการประสานงานและอำนาจในด้านที่เกี่ยวข้อง ขอยกตัวอย่างค่ะท่านประธาน เช่น การแนะนำให้ขอรับเงินช่วยเหลือกองทุนยุติธรรม และ/หรือเงินช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือจำเลยในคดีอาญายังดำเนินการได้อย่างล่าช้า ต้องรอ การพิสูจน์สิทธิ เอกสารยืนยันต่าง ๆ ใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะได้รับการอนุมัติ ต้องมี การร้องอุทธรณ์คำสั่งอยู่หลายครั้ง เกิดภาระทั้งทางด้านเอกสาร ค่าใช้จ่าย และจิตใจ แก่ผู้เสียหายมากเกินควร

นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ส่วนในรายงานข้อที่ ๔ คือการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายด้านหน้าที่ อำนาจ ภารกิจของตำรวจ และการบริหารงาน บุคคลของตำรวจให้เหมาะสม รวมถึงการจัดสรรตำแหน่ง แต่งตั้งโยกย้ายตามระบบคุณธรรม แม้จะมีพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ แล้วก็ตาม ในการรับรู้ของประชาชน ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของตำรวจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควรค่ะ ท่านประธาน การบริหารงานบุคคลของตำรวจยังต้องการความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจชั้นประทวนและนายตำรวจสัญญาบัตรชั้นต้นที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ต้องการกำลังใจ ต้องการการสนับสนุนเชิงงบประมาณในภารกิจการเป็นตำรวจ เพื่อจะ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ท่านประธานคะ ท่านคงได้ยินความยากลำบากของตำรวจ ชั้นผู้น้อยที่ต้องเติมน้ำมันรถหลวงด้วยตัวเอง ซื้อปืนเอง ซื้อหมึกเครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้กระทั่งกระดาษพิมพ์บันทึกประจำวันเอง เพื่ออำนวยความยุติธรรมพิทักษ์สันติราษฎร์ ในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนและของตัวเองนะคะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะ ปล่อยปละละเลยไปได้ แม้จะมีกฎหมาย พ.ร.บ. ตำรวจกำกับดูแลก็ตาม แต่รายละเอียด ปลีกย่อยที่จะทำให้ตำรวจมีกำลังใจในการทำงานต้องไม่ถูกเพิกเฉยค่ะท่านประธาน เพราะ ตำรวจยังต้องเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นดิฉันจึงขอฝากท่านประธานนะคะว่า ในส่วนของการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ผ่านมา ๕ ปีแล้วถือว่า ยังมีความน่าเป็นห่วงนะคะ อาจจะยังไม่ได้บรรลุแม้กระทั่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมา ดิฉัน ถือว่าน้อยมากนะคะ ต้องกราบขอบพระคุณค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผน ปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็นับเป็นการปิดฉาก ๕ ปีของการปฏิรูปประเทศตามหมวด ๑๖ ของรัฐธรรมนูญที่ผมจะขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ใน ๑ ประโยคว่าเป็นการปฏิรูปประเทศที่เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเท้าความกับพี่น้องประชาชนที่รับฟังอยู่ว่าแผนการ ปฏิรูปประเทศที่เรากำลังอภิปรายในวันนี้ไม่ใช่แผนปฏิรูปประเทศที่ประชาชนทุกภาคส่วนนั้น เข้ามามีส่วนร่วมครับ แต่เป็นแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. ที่ได้เขียนสารตั้งต้นไว้ในตัว รัฐธรรมนูญก่อนที่จะแต่งตั้งคนในเครือข่ายของตนเองนั้นมาเขียนแผนต่อ และแม้การปฏิรูป ประเทศนั้นก็ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ แต่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ก็ต้องบอกว่ากระบวนการนั้นเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ที่ผมพูดแบบนี้ครับ ท่านประธาน เพราะว่าแผนการปฏิรูปประเทศนั้นได้วางกรอบเวลาดำเนินการไว้ทั้งหมด ๕ ปี แต่ท่านกลับเสียเวลาไป ๓ ปีกว่ากับการเถียงกับตัวเอง เพราะว่าแม้รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนด ชัดนะครับว่าแผนปฏิรูปประเทศนั้นต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ท่านดันออก แผนปฏิรูปประเทศนั้นออกมาก่อนที่ยุทธศาสตร์ชาติจะเสร็จ นั่นหมายความว่า พอยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้วท่านก็เลยต้องเสียเวลาย้อนกลับไปปรับแผนปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ออกตามมาทีหลัง พอปรับเสร็จแล้วก็ปรากฏว่าท่าน เหลือเวลาเพียงแค่ ๒ ปีในการดำเนินการตามแผน ท่านก็เลยลดเป้าหมายแล้วก็ ความทะเยอทะยานของแผนลง จากสมัยก่อนที่ท่านฝันใหญ่ถึงการสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับ ประเทศไทย ฝันใหญ่นั้นก็เปลี่ยนมาเป็นฝันเล็ก ๆ ครับ ที่เป็นแค่การวางก้อนอิฐ ๖๒ ก้อน ภายใต้ชื่อกิจกรรม Big Rock ดังนั้นครับท่านประธาน กระบวนการ ๕ ปีที่ผ่านมาจึงเป็น เพียงการปฏิรูปประเทศที่ คสช. นั้นเขียนแผนเอง เขียนกันเอง สับสนเอง ลดเป้าหมายเอง แล้วก็เออออกันไปเองว่าเสร็จแล้ว แต่ถึงแม้จะเรียกได้ว่าเสร็จสิ้นในเชิงกระบวนการ การปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาก็ห่างเหินมากจากคำว่า สำเร็จ ก่อนที่เพื่อน ๆ สมาชิกจาก พรรคก้าวไกลจะมาอภิปรายทั้ง ๑๓ ด้านของแผนปฏิรูปประเทศนั้น ผมอยากจะฉายภาพ เบื้องต้นครับว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศในภาพรวมนั้น ในมุมมองของผมมีเหตุผล หลัก ๆ ๒ ประการครับท่านประธาน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เหตุผลประการที่ ๑ คือการปฏิรูปประเทศของท่านนั้นเลือกที่จะไม่เผชิญกับ ปัญหาที่ต้นตอ แต่กลับหนีปัญหาเมื่อเจอตอ เวลาเราพูดถึงคำว่า ปฏิรูป เรามักจะนึกถึง การเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก ๆ การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ ๆ ที่กระทบโครงสร้างของรัฐ แต่ผลสัมฤทธิ์จาก ๕ ปีที่ผ่านมากลับเต็มไปด้วยเรื่องยิบ ๆ ย่อย ๆ เพราะพอท่านเริ่มทำ เรื่องใหญ่ ๆ ไปแล้ว และเจอปัญหารัฐบาลก็เลือกที่จะถอยเสมอ ผมยกตัวอย่างเพียง ๔ ตัวอย่างครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในแผน CR12 ด้านการศึกษา ท่านตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีมากกว่าจะออก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่พอ TDRI ได้รายงาน ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพอท่านเจอแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ และสำนักพิมพ์บางแห่ง ท่านก็เลือกที่จะถอยโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอนาคตของลูกหลานเรา หรือหากเรา ขยับไปดูแผน CR10 ด้านพลังงานท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีว่าต้องการจะเปิดเสรี การซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟให้เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน แต่พอท่านไปคำนวณว่า การกระทำแบบนี้จะกระทบกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชน เรื่องนี้ก็กลับไม่คืบหน้าจนน่าสงสัย หรือถ้าเราขยับไปดูแผน CR03 ด้านกฎหมาย ท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้ดีเช่นกันครับ เป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากที่จะปรับลดกฎระเบียบเกี่ยวกับใบอนุญาต ๑,๐๐๐ กว่า กระบวนงาน แต่ท่านก็ไปใจอ่อนครับ ไปให้หน่วยงานราชการนั้นตัดสินใจเองว่า จะยกเลิกกฎระเบียบนี้หรือไม่ จนทำให้เขาว่ากันว่าตอนนี้ท่านยกเลิกได้จริง ๆ ไม่ถึง ๑๐๐ กระบวนงาน หรือตัวอย่างสุดท้ายในแผน CR06 ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ท่านก็ตั้งเป้าหมายไว้ดีเช่นกันในการสร้าง One Map เพื่อช่วยพิสูจน์สิทธิ ในที่ดินทำกินให้กับประชาชน แต่พอท่านต้องไปเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐกันเองว่าที่ดินนั้นเป็นของใคร ท่านก็ยึกยักจนเกิดความล่าช้าและความเสียหาย ไปตกอยู่กับพี่น้องประชาชน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แต่เหตุผลประการที่ ๒ ครับ ที่ทำให้การปฏิรูปประเทศนั้นล้มเหลวที่ผ่านมา ก็เพราะว่ากลไกพิเศษที่ท่านสร้างขึ้นมาเพื่อมาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น กลับกลายมาเป็น อุปสรรคที่ขัดขวางการปฏิรูปเสียเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนและ Intrend ที่สุดคงหนีไม่พ้นกลไก ของมาตรา ๒๗๒ ในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. แต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านอ้างนะครับ เป็นลายลักษณ์อักษรในคำถามพ่วงของประชามติเมื่อปี ๒๕๕๙ ว่าเป็นไป เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง แต่ท่านประธานครับ ในขณะที่ท่านบอกว่า เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศนั้นคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กลไกที่ท่าน สร้างขึ้นมานี่ละครับ ที่ให้ สว. มีอำนาจมาเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ได้กลายมาเป็นเงื่อนไข สำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน เพราะแทนที่ท่านจะปล่อยให้กลไก ของการเลือกตั้งนั้นทำหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นธรรม โดยการเคารพ ๑ สิทธิ ๑ เสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ท่านไปเปิดให้ สว. ๒๕๐ คนนั้น มีช่องในการนำเอาความเห็นส่วนตัวมาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและสร้าง การเผชิญหน้าระหว่างอำนาจที่มาจากการแต่งตั้งกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ แต่นอกจาก กลไกของมาตรา ๒๗๒ ดูจะสวนทางกับการปฏิรูปประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองแล้ว ผมต้องขออนุญาตตั้งคำถามต่อไปอีกครับว่าในเมื่อการปฏิรูปประเทศ ได้เสร็จสิ้นลงตามกรอบเวลา ๕ ปีแล้วทำไมครับ กลไกมาตรา ๒๗๒ ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย ข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปประเทศยังคงถูกปล่อยให้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยต่อไป ได้อีก ท่านประธานครับ ผมอยากจะทิ้งท้ายว่าหากเราไม่อยากให้ ๕ ปีที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า ไปทั้งหมด ผมหวังนะครับว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศที่ถูกริเริ่มโดย คสช. ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาจะทำให้เรานั้นร่วมกันตกผลึกครับว่าแม้การปฏิรูปประเทศนั้นเป็นเรื่อง ที่ยาก แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ต้องไม่ใช่การปฏิรูปประเทศที่เก็บหลักการ ประชาธิปไตยไว้ในลิ้นชัก ที่มีอคติต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อาศัยกลไก ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและไม่เคารพผลการเลือกตั้ง แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ ต้องเป็นการปฏิรูปประเทศผ่านกลไกประชาธิปไตย เพราะเมื่อไรก็ตามที่วาระการปฏิรูป ประเทศนั้นได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง และเมื่อไรก็ตามที่ประชาชนนั้น พร้อมจะรวมพลังกันมาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับวาระการปฏิรูปประเทศดังกล่าว พวกเราจะมีกำลังในการฝ่าฟันทุกแรงเสียดทาน ในการต่อกรกับทุกกลุ่มผลประโยชน์ และในการยืนตรงต่อหน้าผู้มีอำนาจทุกคน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเพื่อประชาชนนั้น สามารถสำเร็จลุล่วงได้อย่างแท้จริง ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ จุดเริ่มต้น ของรายงานฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗๐ โดยเฉพาะ ครม. ได้แจ้ง ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก ๓ เดือน กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ท่านรัฐมนตรี และตัวแทนซึ่งทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เข้ามารับฟัง การชี้แจง ท่านประธานครับ เอกสารฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งหมด ๑๓ หน่วย เพราะฉะนั้นเอกสารฉบับนี้ผมจะพาท่านไปหน้า ๔ หัวข้อที่ ๒.๑.๗ ข ด้านอื่น ๆ ท่านประธานครับ รายงานผลสัมฤทธิ์เรื่องเกี่ยวกับที่ดิน การจัดที่ดินทำกินปรากฏว่ารายงาน ฉบับนี้บอกว่าสามารถดำเนินการไปในพื้นที่ ๑,๔๔๒ พื้นที่ ครอบคลุม ๗๐ จังหวัดครับ และรวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๕,๗๐๐,๐๐๐ ไร่ สามารถควบคุมประชากรทั้งหมดประมาณ ๖๙,๐๐๐ กว่าราย สรุปแล้วไม่เกิน ๗๐,๐๐๐ ราย เพราะฉะนั้นครับท่านประธาน วันนี้ถ้าเกิด การดำเนินการแบบปัจจุบันอยู่ คนไทยจะสามารถครอบครองเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดิน ครบภายใน ๑,๐๐๐ ปีครับ เพราะฉะนั้นฝากสภาพัฒน์ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศ เป้าหมายหลักก็คือจัดการในเรื่องของที่ดินทำกิน ผลสรุปครับ ท่านประธานครับ เล่มนี้เมื่อผมอ้างถึงเมื่อสักครู่สรุปว่าอย่างไรครับ ส่งผลให้เป้าหมาย แผนด้านสังคมบรรลุ ชุมชนในเขตเมืองมีความเข้มแข็ง และมีโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการ ภาครัฐอย่างเท่าเทียม อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคทางสังคม นี่คือบทสรุปของเรื่องจัดการ ที่ดินครับ ไปอ้างถึงเรื่องของในเมืองความเท่าเทียม ท่านประธานครับนี่คือโลกที่ท่านเห็น ในสมุด ในหนังสือ เดี๋ยวผมพาท่านไปดูโลกแห่งความเป็นจริงที่บ้านผมที่สงขลาครับ มันเกิดอะไรขึ้นครับท่านประธาน สมาชิกพรรคภูมิใจไทยทุกคนอยากลุกขึ้นมาอภิปรายเรื่อง ปัญหาเอกสารสิทธิและที่ดินทำกิน และปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านทับซ้อนกับพื้นที่ ของรัฐนี่คือปัญหาใหญ่ของสภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นฝากไปยังสภาพัฒน์และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ท่านไปดูการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ การว่างงานอื่น ๆ แต่หัวใจหลักก็คือ เรื่องจัดการที่ดินทำกินของประเทศ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ บ้านผมที่อำเภอนาทวีในอดีตปรากฏว่าชาวบ้านไม่มี เอกสารสิทธิครับ สำนักงาน ส.ป.ก. ไปประกาศเขตปฏิรูปคลุมทั้งอำเภอ ปรากฏว่า หลังจากนั้นชาวบ้านก็ไปออกเขตปฏิรูป ไปออก ส.ป.ก. ปรากฏว่าไม่สามารถทำธุรกรรมได้ บางอย่าง วันนี้เองยังไม่ยกเลิกทำให้อำเภอของผมไม่สามารถจะขยายได้ เพราะไม่มี นักลงทุนมา จะซื้อขายที่ดิน จะลงทุนทำตึก ทำโรงแรม จะทำตลาด ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นผมเองก็พยายามผลักดันให้ยกเลิก ส.ป.ก. ออกจากอำเภอนาทวี นี่คือเป็น ตัวอย่างบริบทหนึ่งที่หลายพื้นที่อยากจะยกเลิก เพราะฉะนั้นครับท่านประธาน สิ่งที่เกิดขึ้น อีกหลายพื้นที่ก็คืออะไรครับ พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ของผมหลายพื้นที่ครับ สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ผมยังไม่มีไฟฟ้าครับท่านประธาน จังหวัดสงขลาผมยังไม่มีสัญญาณ โทรศัพท์ครับท่านประธาน มันเกิดจากสาเหตุอะไรครับ ไม่มีเอกสารสิทธิ และเป็นพื้นที่ ทับซ้อนกับเขตพื้นที่ของรัฐ เพราะฉะนั้นวันนี้ปัญหาใหญ่คือเรื่องของเอกสารสิทธิ ฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านอย่าละเลยเรื่องนี้เป็นอันขาด เพราะสิ่งที่ประชาชนขาดโอกาส ก็คือเขาไม่ได้รับสิทธิในที่ดินทำกินที่จะตกทอดให้กับทายาทในรุ่นต่อ ๆ ไป

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๒ ครับ เขาไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินชดเชย ให้กับเกษตรกร หรือเวนคืนที่ดินครับท่านประธาน เพราะเขาไปครอบครองที่ดิน ไม่มีเอกสารสิทธิ เขาจะไม่ได้รับค่าอาสิน ค่าชดเชยที่ดิน นี่คือโอกาสที่เขาขาดไป

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

ในข้อต่อไปครับ ไม่สามารถเอางบประมาณของประเทศจัดสรรลงไปในพื้นที่ได้ ท่านประธานครับ เราดูว่าเป็นเรื่องเล็กแต่วันนี้วิธีงบประมาณของประเทศไทย หน่วยรับ งบประมาณทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็นหน่วยเล็ก หน่วยใหญ่ ท่านต้องมีโครงการ และขออนุญาต ใช้ที่ดิน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไหน ตำบลไหน พื้นที่ไหน ถ้าคุณไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่ของรัฐ คุณไม่มีโอกาสจะได้รับงบประมาณจากรัฐบาล เพราะฉะนั้น การพัฒนาไม่มีทางเลยครับ แต่ถ้าเกิดนายก อบต. นายกเทศบาล หรือหน่วยงาน ไปดำเนินการเอางบประมาณไปลง สตง. ป.ป.ช. นี่คือกับดักที่น่ากลัวที่สุดของพี่น้อง ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ เพราะฉะนั้นผมก็ฝากว่าวันนี้พวกเราไม่มีสิทธิที่จะเลือกเกิดครับ บางครั้งก่อนที่จะมาเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเราก็ได้รับเอกสาร ได้รับสิทธิจากที่ดินจากครอบครัวมา ไม่ว่าจะเป็น ภ.บ.ท. ส.ป.ก. หรือเอกสารอื่น วันดีคืนดีมาเป็น สส. ครับท่านประธาน พรรคพวกไปยื่น ป.ป.ช. นี่คือความโหดร้าย ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ดิน ปัญหาเอกสารสิทธิ มันส่งผลกระทบรากหญ้าพี่น้องประชาชนเรื่องงบประมาณ เรื่องการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนในสภาด้วย เพราะฉะนั้นฝากไปยังรัฐบาล ในครั้งต่อไป รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และสภาพัฒน์กลับไปดูแลในเรื่องนี้ ใน ๑๓ เรื่องผมว่า หัวใจหลักสำหรับพวกเราก็คือเรื่องเอกสารสิทธิและที่ดินทำกิน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ ครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันจะอภิปรายรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ปี ๒๕๖๕ ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเมือง ประกอบไปด้วย ๓ ประเด็น ๑. ด้านการเมือง ๒. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และ ๓. ด้านการปราบปรามทุจริต ท่านประธานคะ ประเด็นการปฏิรูปทั้ง ๓ ด้านที่ดิฉันกำลังจะกล่าวถึงนี้มีจุดร่วมเหมือนกันกับประเด็น การปฏิรูปอื่น ๆ ที่เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลกำลังจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป นั่นก็คือ ในตอนแรกเริ่มเดิมทีแผนนี้นะคะ ปี ๒๕๖๑ ก็เสนอออกมาเสียสวยหรู แทบจะปรับโครงสร้าง เปลี่ยนประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อปิดฉากครบ ๕ ปี ผลการดำเนินงานก็ออกมาว่าเป็นไปเพียง เพื่อการโฆษณาเท่านั้น

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

มาเริ่มกันที่แผนการปฏิรูปด้านการเมืองฉบับปรับปรุงค่ะ ซึ่งได้กำหนดตัวชี้วัด ที่เข้าใจง่าย ๆ ไว้ ๒ ตัว แต่ดิฉันมาเปิดดูรายงานผลการปฏิรูปเล่มนี้ไม่มีกล่าวถึงนะคะ ฉะนั้นเดี๋ยวจะมาดูกันว่าทำไมเขาถึงไม่ใส่ไว้ในรายงานเล่มนี้ ตัวชี้วัดแรกคือการประเมิน สถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันพระปกเกล้าในปี ๒๕๖๔ ที่ตั้งเป้าไว้ที่คะแนน ๖๓ คะแนน แต่กลับได้คะแนนจริงเพียง ๕๕ คะแนนเท่านั้น ในอีก ๑ ตัวชี้วัดหนึ่งค่ะ คือ Democracy Index ของ Economist ที่แม้คณะกรรมการ จะกำหนดเกณฑ์ไว้ค่อนข้างต่ำ ตั้งเป้าหมายไว้แค่ ๗ ซึ่งเทียบเท่ากับการเป็นประเทศ ประชาธิปไตยบกพร่อง ในปี ๒๕๖๕ ก็กลับไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น เพราะได้คะแนนเพียง ๖.๖๗ เท่านั้นค่ะ แต่ดิฉันเองก็ไม่ได้แปลกใจนะคะที่การปฏิรูปการเมืองจะไม่สามารถทำได้ ตามตัวชี้วัดที่วางไว้ เพราะตลอดเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราได้รับกลับมาจากแผนการปฏิรูป คือ Clip ใน YouTube ที่ไม่มีคนดู Application ของ กกต. ที่ไม่มีคนใช้ และกิจกรรมอบรม ที่ไม่มีการวัดผลใด ๆ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันคับแคบของพวกท่านที่มองว่าประชาชน ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและการเมือง ทำให้ต้องผลิตสื่อออกมาอบรม สั่งสอนพี่น้องประชาชนแบบนี้ค่ะ ท่านประธานคะ ส่วนตัวดิฉันเองมองว่าประชาชน มีความเข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจพลวัตรทางการเมืองเป็นอย่างดี ดูจากผลการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการยุติการสืบทอดอำนาจ ส่วนคน ที่ไม่เข้าใจประชาธิปไตยจริง ๆ แล้วคือกลุ่มผู้มีอำนาจที่ผูกขาดการตัดสินใจทุกอย่างไว้ และบรรดา สว. อีก ๒๕๐ คนต่างหาก ทีนี้เรามาพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กันค่ะ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ที่มีกลไกกำหนดไว้อย่างที่เพื่อนสมาชิกเพิ่งกล่าวถึงไปนะคะว่า สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย นี่นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ของการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนที่ขัดต่อหลักการทางประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ทั้งที่จริงแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็น ๑ Big Rock ที่สำคัญของแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุงนี้ ด้วยซ้ำ แต่เรากลับไม่เคยเห็นการแก้ไขธรรมนูญจากคณะกรรมการปฏิรูปคณะนี้เลย อย่างในสมัยประชุมที่แล้วนะคะ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลเรายื่นร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปหลายต่อหลายฉบับ สุดท้ายถูกปัดตกโดย สว. ท้ายที่สุดแล้ว การปฏิรูปการเมืองไม่มีทางสำเร็จได้เลย ถ้ากลไกตามรัฐธรรมนูญยังไม่มีความเป็น ประชาธิปไตย

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ด้านต่อไปนะคะท่านประธาน ขออนุญาตกล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ในตอนริเริ่มคิดไว้ยิ่งใหญ่มาก ๖ แผน ๒๔ กลยุทธ์ ๕๖ แผนงาน วาดฝันไว้ว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย สุดท้ายปรับปรุงแผนปี ๒๕๖๔ มาแก้เก้อว่าบางเรื่องทำสำเร็จแล้วค่ะ บางเรื่อง สามารถทำได้ในภารกิจปกติอยู่แล้วปรับให้เหลือเพียง ๕ เรื่อง ซึ่งถ้าถามดิฉันและถาม พี่น้องประชาชนทั่วไปนะคะ ก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ เลย ท่านอาจจะกล่าวอ้างถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ อย่างการผลิต Application ต่าง ๆ ออกมามากมายของหลากหลายหน่วยงาน ให้ประชาชนเข้าไป Download ใช้กันจน Memory เต็ม แต่ว่าข้อมูลไม่เชื่อมโยงกันสักนิด ท่านบอกว่าท่านเปลี่ยนข้อมูลจากกระดาษเป็น Digital มีการบูรณาการข้อมูลขนานใหญ่ แต่คำถามที่อยากจะฝากท่านประธานถามไปยังผู้ชี้แจงคือแล้วประชาชนสะดวกขึ้นจริง หรือไม่ ประชาชนรับรู้และได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นผลงานที่ท่านได้แสดงออกมา จากแผนปฏิรูปของท่านแล้วหรือยัง ทุกวันนี้ดิฉันและพี่น้องประชาชนยังคงต้องใช้เวลา เป็นวัน ๆ ในการไปติดต่อราชการ นอกเหนือจากนี้สิ่งหนึ่งที่หายไปจากแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นเรื่องแรกของแผนดั้งเดิมในการบริหารราชการด้วยซ้ำ นั่นก็คือ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์ ๑๙๑ ปัจจุบันนี้ยังไม่แล้วเสร็จนะคะ เนื่องจาก ติดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ประมูลล่มมาถึง ๒ ครั้ง ฝากท่านประธานเรียนถามไปยัง ผู้ชี้แจงอีก ๑ ข้อนะคะว่าปัจจุบันนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งที่น่าเสียดายมาก ๆ อันนี้สำคัญมาก ๆ จนถึงวันนี้เรายังไม่เห็น การเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย คือการปฏิรูประบบราชการด้วยกฎหมาย ๒ ฉบับนี้ ๑. ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒. ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารข้าราชการ พลเรือน จริง ๆ ถ้าแก้ ๒ กฎหมายฉบับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ จะสามารถเป็น จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารราชการของไทย ทั้งเรื่องของงาน ทั้งเรื่อง ของคน ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน พร้อมรับกับ ความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่เหตุใด ๒ ร่างนี้ยังไม่ออกมาคะ ไม่มีแม้แต่ผลการศึกษา ที่ท่านได้พยายามทำกันมาตลอด ๕ ปี ไม่ว่าจะเป็นการลดความเป็นนิติบุคคลของรัฐ หรือระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐ อันนี้ถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญมาก ๆ นะคะ ของการบริหารราชการแผ่นดิน

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ด้านสุดท้ายที่จะขอพูดถึงคือการปฏิรูปประเทศด้านการปราบปรามทุจริต และประพฤติมิชอบ ท่านไปถามคนทั่วไปได้เลยค่ะ คงไม่มีใครรู้สึกว่าการแก้ปัญหาการทุจริต ประพฤติคอร์รัปชันได้รับการแก้ไขได้ดีขึ้นเลย เพราะเรายังคงเห็นการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในข่าวบ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นล่าสุดเรื่องส่วย ที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลเคยนำเสนอ ปัญหาเหล่านี้สู่สังคมมาโดยตลอด อย่าง สว. ทรง A ส่วยรถบรรทุก อย่างล่าสุดที่เกิด ความเสียหายต่อสาธารณะจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อย่างส่วยพลุ มูโนะ แต่ในรายงานฉบับนี้หน้า ๑๕๖ กลับระบุว่าท่านได้บรรลุผลลัพธ์ ๒ เป้าหมายสำคัญ แล้วคือ ๑. ประเทศไทยไม่มีการทุจริตและประพฤติมิชอบคือดัชนีมันลดลง ๒. หน่วยงาน ภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ซื่อสัตย์สุจริต ทุกท่านคะลองมาดูผลการประเมิน ที่เป็นรูปธรรมกันดีกว่าค่ะ จากตัวชี้วัดที่อยู่ในแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุงปี ๒๕๖๔ นะคะ หน้า ๒๗๕ คือคะแนน CPI คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของสากล ประเทศไทยถ้าจะดีขึ้น ต้องอยู่ที่ ๔๕ แต่ปี ๒๕๖๕ CPI ของไทยอยู่ที่ ๓๖ คะแนน แพ้ทั้งมาเลเซีย แพ้ทั้งเวียดนาม และดัชนี ITA การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐต้องเกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงหน่วยงานภาครัฐทั้งประเทศผ่านการ ประเมิน ITA เพียง ๗๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แบบนี้จะถือว่าบรรลุเป้าหมายได้อย่างไรคะ ท่านกำลังโกหกต่อหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่กำลังรับทราบรายงานเล่มนี้อยู่ หรือไม่ นอกเหนือจากตัวชี้วัดที่มันฟ้องชัดมาก ๆ ขณะนี้ในรายงานยุทธศาสตร์ชาติ ที่พวกท่านเองก็เป็นคนทำรายงานขึ้นมานะคะ ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในระดับวิกฤติในการ บรรลุเป้าหมายของการปลอดทุจริตและประพฤติมิชอบ รายละเอียดระบุว่าการต่อต้าน ทุจริตและประพฤติมิชอบยังคงมีปัญหาและข้อจำกัด ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมเข้าไป ตรวจสอบได้ ไม่สามารถติดตามการใช้งบประมาณและการดำเนินการโครงการของ หน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง เมื่อดิฉันมาเปิดรายงานเล่มนี้ดูนะคะ พบว่าผลสัมฤทธิ์ ในการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่ออะไรคะ ที่ครอบคลุมหน่วยงานและการมีส่วนร่วมของ ประชาชนคือการทำเครือข่าย การจัดอบรม การทำแผนงาน ปรับฐานข้อมูล สร้างฐาน Digital ซึ่งหลาย ๆ เรื่องไม่ควรอยู่ในแผนปฏิรูปด้วยซ้ำ มันควรจะอยู่ในงานปกติที่ต้องทำ ตามกฎหมายอยู่แล้วค่ะ ดิฉันมั่นใจว่าประชาชนแล้วก็เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ พร้อมกับ การเปิดเผยและตรวจสอบนะคะ ท่านไม่จำเป็นต้องมาสิ้นเปลืองงบประมาณกับการจัดอบรม หรือการสร้างเครือข่ายอะไรมากมายเช่นนี้ แต่สิ่งที่ท่านควรจะทำคือการออกแบบโครงสร้าง การตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

นอกจากนี้สุดท้ายสิ่งที่ดิฉันรอเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นจากผลงานแผนปฏิรูป ซึ่งมันตรงกันกับนโยบายของพรรคก้าวไกลคือการออกกฎหมาย Anti-SLAPP พูดมานานแล้ว กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ได้อย่างเต็มที่สุดท้ายก็ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายแล้วค่ะท่านประธาน ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้มีความสามารถในการพาประเทศไปในแนวทางที่ตั้งเป้าหมายไว้เลย ดิฉันจึงอยากฝากข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าการปฏิรูปด้านการเมืองนี้ เป็นไปเพื่อการพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย หรือนำพาไปสู่สิ่งใดกันแน่ หากเป็นไปเพื่อการสานฝันให้บรรลุตามเป้าหมายของคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านต้องสรุปแล้วครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ถือว่าท่านทำหน้าที่ได้อย่าง สมบูรณ์อย่างมากทีเดียว ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมก็ขออภิปรายในส่วนของการรับทราบรายงานความ คืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๑๘ ที่ทุก ๆ ๓ เดือน (เดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๕) หรือสรุปผลงานการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้วยครับ ในส่วนเหล่านี้เป็นการสรุปผลงาน การดำเนินการการปฏิรูปทั้ง ๑๓ ด้าน แต่ผมขอมีส่วนร่วมการอภิปรายในด้านที่ ๑๒ คือการปฏิรูปการศึกษาครับ การศึกษานี่จริง ๆ แล้วเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นรากฐานของทั้ง ๑๓ ด้านที่จะพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงครับ การพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยคนนี่ละครับที่เป็นคนขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในแผ่นดินไทย ในส่วนของการปฏิรูปผมอยากจะสรุปถึงนโยบายการปฏิรูปที่เกิดขึ้นจาก กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสรุปใน ๕ ด้านด้วยกันคือ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

๑. ในการที่จะสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย เป้าหมายคืออยากจะให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ แต่เรื่องเหล่านี้ในเรื่องของคุณภาพ ท่านครับ รัฐบาล เคยได้มองไหมครับว่าก่อนจะมีคุณภาพ ท่านก็บอกว่าเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำให้เกิด ความเสมอภาค เป็นการปฏิรูประบบการศึกษาที่จะให้มีประสิทธิภาพ แต่ท่านพูดถึง ความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาคของประเทศชาติ ของประชาชน วันนี้ไม่มีเลยครับ ที่จะมีความเสมอภาค ท่านให้องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามา มีส่วนร่วม ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ทุก ๆ อย่างก็ไม่เคยมีความเสมอภาค ทางการศึกษา ท่านเขียนว่าจะให้เด็กปฐมวัยเข้ามาเล่าเรียนการศึกษาโดยที่ฟรีและไม่เสีย ค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ตลอดเวลา ๕ ปีของการปฏิรูปการศึกษาก็ยังไม่เคยที่จะประสบความสำเร็จ ท่านก็ทราบว่าปัจจุบันนี้โครงสร้างของประชากรของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี คนเกิดน้อยลงปีละ ๔๐,๐๐๐ คน โรงเรียนขนาดเล็กจาก ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนของ สพฐ. มีถึง ๗,๐๐๐ โรงเรียน ต่ำกว่า ๔๐ คน ถึง ๗,๐๐๐ โรงเรียนครับ ตรงนี้รัฐบาลจะจัดการ อย่างไร ไม่มีนโยบายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรในการจัดการ จะจัดการควบรวม จะยุบ จะเลิก ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเลยเด็กก็ลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นวันนี้ในเรื่องของ ความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ และในรายงานที่นำเสนอนี่นะครับ ท่านพยายามที่จะบอกว่า ท่านประสบความสำเร็จในการตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคให้กับประเทศชาติและปฏิบัติมา ๕ ปีแล้ว ผมเชื่อว่างบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคที่ท่านทำมามันเป็นงาน ที่ซ้ำซ้อนและไม่ได้เกิดผลใด ๆ ทั้งสิ้นถือว่าเป็นความล้มเหลวอีกอย่างหนึ่ง

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งครับ การปฏิรูปในเรื่องการจัดการศึกษาด้านทวิภาคีและระบบ อื่น ๆ ที่เน้นฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำสู่การจ้างงานและการสร้างงาน ตรงนี้ครับ ที่ผมอยากจะนำอภิปรายในส่วนของทวิภาคีซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างประเทศชาติ ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าประชากรลดลง แรงงานทั้งปริมาณและทั้งคุณภาพ ปริมาณวันนี้ เราต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานด้านอุตสาหกรรม อย่างในเขต เลือกตั้งของผม โรงเชือดไก่อย่างเดียวโรงงานอุตสาหกรรม ๓,๐๐๐ คน คนต่างชาติเข้าไปตั้ง ๒,๕๐๐ คนแล้ว คนไทยไม่เหลือแล้วครับ ดังนั้นทวิภาคีเราต้องส่งเสริมด้านคุณภาพ ทวิภาคีเป็นตัวที่จะแก้ปัญหาในการบริหารจัดการ ด้านอาชีวะอย่างแท้จริง ประชาชนหรือเยาวชนของชาติควรจะผลักดันให้เรียนอาชีวศึกษา แต่ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ว่าจะหลักสูตรเนื้อหาที่ควรที่จะแก้ไขก็ยังล่าช้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ระยะเวลาของการเรียนรู้ก็เปลี่ยนแปลงไป ระดับ การศึกษาที่ควรจะเรียนอาชีวศึกษาควรจะเป็น ปวส. หรือปริญญาตรี เพราะ ปวช. นั้น ความรับผิดชอบ วุฒิภาวะยังน้อยอยู่ ยังขาดการส่งเสริมหรือขาดความร่วมมือกันระหว่าง สถานศึกษากับสถานประกอบการ ราชการหรือรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา อย่างจริงจังครับ ระบบของความร่วมมือ สถานประกอบการควรจะได้รับสิทธิพิเศษที่จะดึง เข้ามาร่วมในการบริหารจัดการในการศึกษาที่จะลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะในหลักสูตร ของการศึกษาก็ยังบอกอยู่แล้วว่าเราต้องเรียนรู้คู่การปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเป็นการศึกษา อย่างแท้จริงอย่างเป็นธรรมชาติ และจะเป็นคุณค่าเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาเพื่อการแข่งขัน กับประเทศชาติ และแข่งขันกับนานาประเทศอย่างแท้จริง ฉะนั้นการปรับตัวอย่างนี้รัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาที่รัฐบาลรักษาการก็กำลังจะหมดสิ้นไปในอีกไม่นานนี้ กระผมอยากจะ กราบเรียนทางรัฐบาลที่จะมารับภาระใหม่ ควรจะให้ความสำคัญความจริงจังจริงใจ ต่อการจัดการศึกษาของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ก็ควรจะไม่ใช่วรรณกรรมที่เขียนไว้ในรายงานประจำปีทุก ๆ ครั้งก็จะใช้คำพูดเหล่านี้ และทวิภาคีครับ เป็นกลไกเป็นเครื่องมือในการจะพัฒนาประเทศ ดังนั้นขอให้ กระทรวงศึกษาธิการ ท่านรัฐมนตรีที่จะมาใหม่ขอให้มีความตั้งใจ ความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาอย่างอื่น ๆ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในเรื่องของโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลัง เป็นปัญหาอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ โรงเรียนอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว ต้องหารายได้รายรับมาแก้ปัญหา กันเอง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มิใช่เพียงแต่ว่า ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในระดับท้องที่อยู่ในชนบทต้องแก้ปัญหาไปตามยถากรรม

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ผมกราบขอบพระคุณท่านคณะกรรมการที่ได้มาตอบข้อแก้ไข ณ วันนี้ ผมขอให้กำลังใจทุก ๆ ฝ่ายครับ ซึ่งแม้แต่จะหมดวาระใน ๕ ปีนี้แล้ว แต่ก็ขอฝากให้ คณะกรรมการไม่ว่าจะเป็นชุดไหนของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธนาธร โล่ห์สุนทร

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมก็จะขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งผมก็จะขอตั้งข้อสังเกตในด้านการศึกษานะครับ ซึ่งการศึกษานี้ก็เป็น รากฐานสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศ อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไปนะครับ ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากการศึกษาเราไม่ดี ด้านอื่น ๆ มันก็จะไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งจากการที่ผมได้อ่านรายงาน ผมก็มีข้อสังเกต

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๑ ก็คือเรื่องที่ท่านได้บอกว่าการสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ซึ่งมีการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งผมดูแล้วก็ยังไม่เห็นมีการระบุการช่วยเหลือ อย่างเป็นรูปธรรมในรายงาน มีแต่เขียนกว้าง ๆ ไว้ว่าช่วยอะไรไปบ้าง แล้วก็รวมถึงที่มีการ ช่วยเหลือศูนย์การเรียนรู้ สถานเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกือบ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ซึ่งท่านก็บอกว่ามีประมาณ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังท่าน คณะกรรมการนะครับว่าถ้าเกิดในแผนที่จะทำต่อ ๆ มาก็อยากจะให้มีการใส่รายละเอียดมา ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงว่าท่านได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้างนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วที่ท่านระบุในแผนที่เป็นผลการดำเนินงานหรือว่าการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Big Rock หรืออะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ผมก็เห็น แล้วว่ากิจกรรมต่าง ๆ เป็นการสำรวจ แล้วก็เป็นการพัฒนาระบบการทำเชิงนโยบาย การวิจัยและพัฒนาระบบต่าง ๆ เสียส่วนใหญ่นะครับ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้วที่จะทำได้นะครับ ก็อยากจะฝากว่าถ้าหากท่านจะทำกิจกรรม อะไรที่มันเกี่ยวกับเป็นการปฏิรูปก็น่าจะให้ทำอะไรที่มันจะมีผลกระทบมากกว่าที่จะเป็น งานทั่วไปที่หน่วยงานต่าง ๆ เขาได้ทำกันอยู่แล้วนะครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

แล้วก็ในเรื่องที่ ๒ ก็คือเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงิน ๖๐๐ บาท ซึ่งก็อาจจะรวมเงินสงเคราะห์บุตร ๘๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท ผมเห็นว่า จำนวนเงินนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงนะครับ เพราะว่าขณะนี้ ค่าครองชีพต่าง ๆ ก็ถีบสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงท่านคณะกรรมการอยากจะให้เพิ่มเติมในการที่จะมีการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้นเรื่องค่าครองชีพต่าง ๆ สำหรับการดูแลเด็กแรกเกิดด้วยนะครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นที่ ๒ ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานนะครับ ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการ อยู่ในรายงานที่บอกนั่นก็คือการพัฒนาครูเดิม ผมก็ถือว่าการพัฒนาครูซึ่งเป็นบุคลากร ที่สำคัญในระบบการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ว่าท่านก็ยังไม่มีสิ่งไหนที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คืออยากให้มีการสร้างคุณค่าในอาชีพครู คือจะหาวิธีอะไรก็ได้ ที่จะได้คนเก่ง แล้วก็คนดีที่อยากจะเข้าไปเป็นครู เพราะว่าครูก็ถือว่าเป็นทรัพยากร ที่มีความสำคัญในการที่จะเข้าไปสอนเด็ก ๆ เข้าไปสอนเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นมา

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือการประเมินผลปฏิบัติงานของ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งเท่าที่ผมทราบมาคือเพิ่งมีการ เปลี่ยนใหม่ คือแบบเดิมมี ๒ องค์ประกอบก็คือว่าการประเมินประสิทธิภาพภาคการปฏิบัติ จะได้ ๗๐ คะแนน ส่วนการประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัยคุณธรรมจะมี ๓๐ คะแนน ส่วนแบบใหม่นะครับท่านประธาน จะเพิ่มมาเป็น ๓ องค์ประกอบก็คือ การประเมิน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติจะเป็น ๘๐ คะแนน ส่วนการประเมินการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาการศึกษา ๑๐ คะแนน ส่วนทางด้านรักษาวินัย คุณธรรม และจรรยาบรรณ จะเป็น ๑๐ คะแนนนะครับ ซึ่งส่วนนี้จะเห็นว่าด้านคุณธรรมและทางด้านจริยธรรมก็มีการ ลดลงมาก ก็อยากจะฝากให้เราเน้น ถ้าเราอยากเน้นให้มีสังคมที่ดีหรือสิ่งอะไรที่ดีต่าง ๆ ก็ควรจะเน้นเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วยนะครับ

นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องเกี่ยวกับอาชีวศึกษานะครับ ผมคิดว่าในด้านนี้มันก็เหมือนกับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไปนะครับ ซึ่งสิ่งที่พัฒนาอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าความตั้งใจของคณะกรรมการในการที่จะ ทำเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ว่าก็ยังไม่มีการระบุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ยังไม่มีบอกว่า จะทำสิ่งไหนต่อไป รวมถึงจำนวนกี่คน แล้วก็ไม่มีที่บอกว่าจะพัฒนาคนไปเท่าไรแล้ว จากระดับไหนสู่ระดับไหน แล้วก็ดีขึ้นแค่ไหนก็ตามนะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็กลับไปสู่เรื่อง การวัดผลและการประเมินผลต่าง ๆ ซึ่งก็อยากให้ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมนะครับ ส่วนการเพิ่มคุณค่าและค่านิยมในการเรียนอาชีวะมากขึ้น ผมก็เห็นด้วยนะครับ เพราะว่า ในปัจจุบันสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาก็ประสบปัญหาการขาดแคลนทั้งครูและนักเรียน ส่วนสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ก็ค่อนข้างที่จะขาดแคลนแรงงานที่เป็นทักษะเฉพาะ ทางด้านนี้ด้วยกันนะครับ ผมก็จะขอฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการว่าสุดท้ายนี้ แผนดำเนินการที่ดำเนินต่อไป ที่ท่านจะปฏิรูปอะไรต่อไปก็ขอให้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ในการที่จะวางเป้าหมาย แล้วก็รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่มันจะเกิดขึ้นที่ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่าน ประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคท้องที่ไทย แบบบัญชีรายชื่อครับ กระผมขออภิปรายสรุปผลการดำเนินงาน แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ ดังนี้ครับ ผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ ผมมี ๔-๕ ประเด็นนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในหน้า ๑๗ คำว่า พระมหากษัตริย์จะดำเนินการแก้ไข ให้ถูกต้องอย่างไร อยู่ในเอกสารหน้า ๑๗ นะครับ เพราะว่าเป็นคำที่ทุกคนต้องให้ ความเคารพนะครับ แต่ปรากฏว่าในเอกสารมีคำที่ไม่ถูกต้องนิดหนึ่งครับ ฝากช่วยดำเนินการ แก้ไขผ่านท่านประธานสภาด้วยนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่ระบุว่าเยาวชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน ๕๐ จังหวัด ได้รับการปลูกฝังจิตสำนึก ความสามัคคี และการส่งเสริมการปรองดองของคนในชาตินะครับ มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพียง ๕,๔๑๐ คน ผมเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายน้อยมากนะครับ ผู้รับผิดชอบมีแผนดำเนินการโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างไรครับ ในจังหวัด นครสวรรค์ของผมได้รับดำเนินการโครงการไปแล้วหรือยัง เมื่อไรนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ แนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอนในเรื่องของวิชาการ กฎหมายที่ระบุในรายงานยังไม่แสดงความคืบหน้าชัดเจนสักเท่าไรนะครับ ขอสอบถามว่า มีการดำเนินการแล้วเสร็จเชิงรูปธรรมเมื่อใดนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ หน้าที่ ๑๐๐ การสร้างและการพัฒนาชาวนาปราดเปรื่อง จำนวน ๑,๑๕๗ ราย ตามเป้าหมายกำหนดไว้กี่ราย เน้นความรู้ด้านใดบ้าง ในเรื่องการเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ ต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ถ้ามีนะครับ เพราะในเอกสารไม่มี ผลสัมฤทธิ์มีอย่างไรบ้าง เพียงแต่เขียนไว้กว้าง ๆ นะครับ ไม่ได้สรุปแล้วก็ชี้แจงมาสักเท่าไร ในส่วนการขยายพื้นที่ของชลประทานในการเกษตร มีน้ำใช้สำหรับการผลิตการเกษตร อย่างเหมาะสมและเพียงพอทั่วถึงและเป็นธรรม จากพื้นที่เป้าหมาย ๒๗.๔๗ ล้านไร่นะครับ ในพื้นที่ชลประทานที่เพิ่มขึ้น ๑๖๒,๔๐๐ ไร่ ขอสอบถามว่าตามแผนจะใช้ระยะเวลากี่ปี มีแผนแนวคิดในการใช้ชลประทานแบบท่อเพื่อประหยัดการซึมน้ำลงดินได้หรือไม่ และในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดใกล้เคียงมีแผนดำเนินการในปีใด จังหวัดไหนบ้างครับ เพราะว่าไม่ได้แจ้งในรายงาน เช่นในจังหวัดนครสวรรค์ของผมนี่ซึ่งนอกเขตชลประทาน ระหว่างถนนสาย ๑๑ เส้นอินทร์บุรีไปถึงพิษณุโลก วังทอง ซึ่งเป็นเขตนอกชลประทาน ในขณะนี้พืชผลทางการเกษตรได้ยืนต้นตายไปมากแล้วนะครับ เพราะว่าในราคาสินค้าข้าว ตอนนี้ก็ถือว่าราคาดีในเรื่องของนาปรัง ตันหนึ่งประมาณ ๑๒,๐๐๐ บาท ชาวนาก็ดีใจ แต่ว่ามีความกังวลใจหลังจากนี้อีก ๒-๓ เดือน ผลผลิตของข้าวนาปี ของข้าวโพด มัน และอ้อยกำลังจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว แต่ตอนนี้แล้งมากนะครับ ฝนตกบ่อยแต่ตกแบบเหมือน พรมน้ำมนต์ น้ำไม่ไหล ซึ่งผลการผลิตจะเสียหายมากเลยในโซนลุ่มเจ้าพระยา โซนเพชรบูรณ์ พิษณุโลกลงมาเสียหายหลายหมื่นไร่ หลักเป็นแสนไร่ เลยนะครับ ก็เรียนฝากผ่าน ท่านประธานนะครับ แผนพัฒนาประเทศในขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการเรื่องฝนหลวงเลย ฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ ตอนนี้เครื่องบินได้จอดรองบประมาณที่จะขึ้นบินทำฝนเทียม ให้พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ในหลาย ๆ จังหวัดในโซนภาคเหนือ กราบเรียนท่านประธานฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลยนะครับ ตอนนี้เครื่องบินพร้อม แต่ไม่มีงบประมาณที่จะบินขึ้นทำฝนเทียมให้พี่น้องประชาชน เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตร ได้เก็บเกี่ยวทันฤดูกาลนะครับ ผมขอฝากท่านประธานผ่านถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อันนี้ผมต้องทำหนังสือหารือให้ท่านหรือเปล่านะครับ ขอโทษ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ก็น่าจะดีนะครับ เพราะว่า มันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศเลยนะครับ เพราะตอนนี้เครื่องบินฝนหลวง เครื่องบินเกษตร ทั้งหมดไปจอดรวมอยู่ที่นครสวรรค์ซึ่งไม่มีงบประมาณที่จะขึ้นบินครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อย่างไรเดี๋ยวฝ่ายเลขานุการช่วยด้วยนะครับ อันนี้ก็แยกออกจากเรื่องรายงาน เป็นเรื่องหารือ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอเชิญท่านทรงยศ รามสูตร ครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๕) ขออนุญาตท่านประธาน ฝากข้อสังเกตจากรายงาน ๓ เดือนนะครับ เพราะไหน ๆ ญัตติต่อไปก็เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เพื่อทางสภาพัฒน์มาแล้วจะได้ไปปฏิรูปประเทศใน ๑๓ ด้านตามมาตรา ๒๕๘ ตามรัฐธรรมนูญนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

เรื่องแรกนะครับ ในเรื่องงานการเมือง จากที่รายงานบอกว่าได้มีการอบรม วิทยากรตัวคูณในการเผยแพร่ประชาธิปไตย ๕๖๒ คน ไม่ทราบว่าเรามีการสำรวจไหมว่า ตัว ๕๖๒ คนนี้ตัวคูณเขาคูณกันได้เท่าไร อยากสอบถามดูนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ในส่วนของ Application ที่เราทำขึ้นมาหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉลาดเลือก Civic Education หรือว่าตาสับปะรดก็เช่นกัน เรามีการสำรวจไหม ว่ามีคนมาใช้บริการเยอะไหม หรืออย่างตาสับปะรดนี่พอเขาแจ้งมา เราแจ้งต่อไปกี่ราย และมีการติดตามประเมินผลไหมว่ามีคดีหรือว่าเขาดำเนินการแค่ไหน เพียงไร อันนี้ฝากไว้ ในส่วนของเรื่องงานการเมือง

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินนะครับ ในข้อที่ ๑ ที่ทางนี้ บอกว่าจะนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ปัจจุบันการนำเสนอเทคโนโลยี Application ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เผยแพร่ Application ดีที่สุดก็คือองค์กร มิจฉาชีพ เขาจะรู้เลขบัตรประชาชน รู้แม้กระทั่งทะเบียนบ้าน รู้เลขบัญชีธนาคาร ล่าสุด รู้เลขโฉนดอีกนะครับ กดปุ๊บเงินหายปั๊บ ก็อยากจะฝากหน่วยงานของรัฐในการจะเผยแพร่ Application ต่าง ๆ ให้รอบคอบ เป็นไปได้ไหมไปอบรมให้เขาไป Load Application ในหน่วยงานของรัฐใกล้บ้าน เช่น อบต. เราจัดงบอบรม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะจัดหน่วยงานลง ไปประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ เดี๋ยวมิจฉาชีพอาจจะสวมรอยนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ คือการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างให้มันเปิดเผยตรวจสอบได้ แล้วก็ ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้ผมจะฝากไว้นิดหนึ่งนะครับ คือปัจจุบันการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์อยากให้มีระเบียบที่มาป้องกันหรือป้องปราม วัสดุครุภัณฑ์ที่มันต้องใช้ IT หรือเทคโนโลยีเช่น Solar Cell หรือบางอย่างนี่มันทำให้ราคามี Spec เฉพาะผู้จ้างกับ ผู้รับจ้างที่รู้ล่วงหน้า เพราะฉะนั้นอยากจะมีกฎหมายมาแก้ไขปรับปรุงตรงนี้นะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ข้อต่อไปนะครับ กลับมาข้อที่ ๒ ในเรื่องของการบูรณาการข้อมูลจาก หน่วยงานของรัฐเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องด้านกฎหมายที่ว่าจะเอา กฎหมายที่ใกล้เคียงกันเอามารวมไว้แล้วก็พิจารณาร่วมกัน ผมอยากจะฝากบางครั้งบางครา พูดง่ายนะครับ อย่างเรื่องบูรณาการในงานที่เกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สมมุตินะครับ สมัยก่อนเวลาหน่วยงานของรัฐจะทำงานในพื้นที่ป่า เขาบูรณาการกัน ถ้าไม่ได้ไปรุกป่าเพิ่มนะครับ แม้กฎหมาย พ.ร.บ. ป่าสงวน มาตรา ๑๔ จะห้ามไว้ แต่ถ้าทำในพื้นที่หมู่บ้านหรือพื้นที่ป่าพื้นที่เดิมนี่ส่วนใหญ่เขาจะทำได้ไม่มีปัญหา แต่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมามีระเบียบออกมาว่าต้องมีหนังสือจากกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแนบท้าย เพราะฉะนั้นถ้าไปทำอะไรในเขตป่านี่ ถูกเรียกเงินคืน เป็นปัญหามากกับทั่วประเทศนะครับ อบต. จะจัดงบลงไปทำถนนหนทาง ในถนนเดิมนะครับ ต้องทำเรื่องมาขอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตอบช้ามากนะครับ กว่าจะตอบไปบางที งบตกไปแล้ว เป็นไปได้ไหมครับที่เราจะบูรณาการร่วมกัน มอบอำนาจไปให้พื้นที่ ตั้งคณะทำงาน หรือดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป่าสงวน มาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๙ ก็ได้ เป็นเส้นขีดไว้เลยว่าถนนเส้นนี้หรือว่าหมู่บ้าน Zone นี้ถ้างบจะไปลงก็จะได้สะดวกอันนี้ ฝากเอาไว้

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ต่อไปนะครับ ในเรื่องของการปรับปรุงระบบกฎหมาย ซึ่งในเรื่องของงาน ด้านเศรษฐกิจเขาบอกว่ายุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ของชาติ ส่วนใหญ่ผมเห็นปลายปีงบประมาณจะมีจัดงบอบรมกันเยอะมาก เพราะว่าปลายปี งบประมาณกลัวเงินตกอันนี้ไม่มีปัญหานะครับเข้าใจ แต่บางครั้งบางครามันมีงบเวลาจัดกิจกรรมนี่ให้ชาวบ้านไปออกแสดงสินค้าเพื่อค้าขาย ซึ่งพองบมันมานี่มันเป็นช่วงหน้าฝนนะครับ คนซื้อคนขายก็มีแต่คนในพื้นที่ เป็นไปได้ไหม ที่จะออกกฎระเบียบให้จัดงบเหลื่อมปีไปจัดเดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคมมันจะได้ส่งผล ว่าคนขายก็ขายได้ นักท่องเที่ยวก็มาซื้อได้ก็จะได้ยกระดับงบประมาณก็จะได้คุ้มค่า หรือมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเสนอนะครับ ถ้าเป็นไปได้สภาพัฒน์มาแล้วนี่ เราน่าจะมี การปฏิรูปการจัดทำปีงบประมาณของประเทศใหม่นะครับ เพราะปัจจุบันนี่ปีงบประมาณ ของประเทศกว่าเงินจะเข้าก็ปลายไตรมาส ๒ คือเดือนมีนาคม กว่าจะจัดแล้วเสร็จ ก็ไตรมาส ๓ กว่าเงินจะส่งไปมันเข้าหน้าฝน เพราะฉะนั้นโครงการต่าง ๆ ที่มีน้ำเป็นอุปสรรค เช่น สะพาน น้ำ ถนน หรือหลายต่อหลายอย่างนี่ทำไม่ได้ ประสิทธิภาพของงบประมาณ มันลดลง ลองพิจารณาศึกษาดูว่าถ้าสมมุติเราเอาไตรมาส ๓ ขึ้นมาเป็นไตรมาส ๑ นะครับ กว่าเงินเข้า กว่าเงินจัดซื้อจัดจ้างจะลงไปสู่หน่วยงานของรัฐนี่เข้าหน้าหนาวก็ OK ประมูล จัดซื้อจัดจ้างได้งานก็มีประสิทธิภาพ ไม่เสร็จเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมก็ทำได้ กันเงินเหลื่อมปีไปเดือนเมษายนก็ไม่มีปัญหา ผมว่าลองศึกษาดูนะครับ อาจจะมีปัญหา ช่วงผ่องถ่าย ๒-๓ ปีแรก ถ้าศึกษานี่ผมว่าประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณของประเทศ จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างเต็มที่นะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ในเรื่องต่อไปนะครับ งานด้านสาธารณสุขนะครับ งานด้านสาธารณสุข บอกว่ามีการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ ด้านบริบาล รักษาพยาบาลชุมชน บางครั้งบางครา หน่วยงานของรัฐทำอย่างเดียวบางทีไม่พอนะครับ จริง ๆ มีเอกชน มีคนใจบุญสุนทาน ที่เขาอยากจะช่วยเหลือแต่เขาไม่รู้ไม่อยากจะเข้าถึงนะครับ ผมยกตัวอย่างเทศบาลเมืองน่าน ภายใต้การนำของท่านนายกสุรพล เธียรสูตร ท่านมีโครงการ Rider เพื่ออีป้ออีแม่นะครับ ท่านดำเนินการตามแผนขั้นตอน ตามกฎหมายกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น มาตรา ๑๖ ที่ให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดย (๑๐) บอกว่าสงเคราะห์ พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี และคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะ (๑๖) บอกว่าส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วม เวลามีงานศพ งานวัดงานวา คนก็บริจาคแล้วเขา ก็เอาเงินตรงนี้ให้กองสวัสดิการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมทำอาหารไปให้ผู้ด้อยโอกาส ในเขตเทศบาล หรือคนที่ไม่มีลูกหลาน ไม่มีญาติพี่น้องมาดูแลอันนี้ฝากไว้นะครับ โครงการ ดี ๆ ต้องช่วยกันส่งเสริม ใกล้ ๗ นาทีแล้วนะครับ ยังเหลืออีกหลายประเด็นเดี๋ยวไปอภิปราย ต่อในญัตติถัดไปนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

แต่มาดูในส่วนที่ ๒ ที่ทางปฏิรูปแจ้งมาว่ามีกฎหมายอยู่ ๔๕ ฉบับ ๑๐ ฉบับ ผ่านการพิจารณาแล้ว ขาดอีก ๓๕ ฉบับ ไม่ทราบว่าไปถึงไหน เพียงใด แต่เข้าใจว่าน่าจะรอ ส่งรัฐมนตรีเพื่อส่งกลับเข้ามาสู่สภา อย่างไรถ้าอยากให้ไวส่งมาให้พรรคการเมืองเราช่วยกันดู อย่างไรมันก็ต้องกลับเข้ามาสภานะครับ เราจะช่วยกันดูเพื่อปฏิรูปประเทศ ถ้าเกรงว่า เป็นกฎหมายทางการเงินก็เชื่อว่าท่านคงจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ฝากมาให้ผู้แทนเราจะได้ไวขึ้นในการพัฒนาประเทศครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ท่านสมาชิก แล้วก็ผู้ร่วมชี้แจงครับ ปรเมษฐ์ จินา รวมไทยสร้างชาติ สุราษฎร์ธานี ก็คงจะต่อเนื่องจากของ คุณทรงยศนะครับ เนื่องจากว่าคงจะเป็นปัญหาที่ค้างคากันมานาน แล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข ในส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งทางผู้ชี้แจงได้นำเรียน ก็มีความก้าวหน้าแล้วก็พัฒนาไปตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวินัยด้านการเงิน แล้วก็ผลงานต่าง ๆ ความมั่นคงทางการเงินการคลังก็ทราบว่าทางรัฐบาลได้ทำเป็นอย่างดี แต่ว่าในส่วนที่จะเพิ่มเติมก็คือส่วนที่ยังเป็น Gap เป็นช่องว่างในแต่ละด้านทั้ง ๑๓ ด้าน ยกตัวอย่างในส่วนของด้านการเมือง วันนี้เราทำไมไม่ลงไปรื้อระบบในส่วนของการตรวจสอบ คุณสมบัติของผู้สมัครผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือว่าสมาชิก อบต. อบจ. แล้วก็ในส่วนของพวกเราเอง เนื่องจากว่า ที่ผ่านมาบางทีก็ลงสมัครแล้ว เริ่มทำงานแล้ว พอมาตรวจสอบย้อนหลังมันเสียอารมณ์ บางครั้งถ้ามีการตรวจสอบให้ชัดเจนตั้งแต่เบื้องต้น มันก็จะทำให้คนที่รู้ตัวว่าเขาไม่สามารถ เดินต่อได้มันก็ได้ปรับตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่นี่เราปล่อยมาเป็นยุค เป็นสมัย เป็นวาระแล้วเพิ่งมา ตรวจสอบ อันนี้ก็คงจะต้องมีการปฏิรูปในส่วนของระบบด้านการเมืองนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน อันนี้เป็นส่วนที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของการที่จะเดินต่อในเรื่องของ Smart Government นะครับ เพราะฉะนั้น ในส่วนของ Big Data ในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีการจัดระบบตรงนี้ให้ชัดเจน ในส่วนของการที่จะขับเคลื่อนเป็นรัฐบาลอัจฉริยะก็คงจะต้องมีแผนงานที่จะต้องโฟกัส ไปในแต่ละเรื่องเพิ่มเติมจากในแผนที่เราได้นำเรียนกันมานะครับ เช่นยกตัวอย่าง ในเรื่องของการศึกษาอัจฉริยะ หลายท่านก็ได้นำเสนอแล้วรูปแบบการศึกษาอัจฉริยะ เป็นอย่างไร ให้ทันสมัยแล้วก็ดูแลตั้งแต่เด็กอนุบาล แล้วก็ในส่วนของการที่จะให้ เด็กค้นพบตัวเองตั้งแต่เบื้องต้น ยกตัวอย่างผมไปดูงานที่ประเทศนิวซีแลนด์เขาจัดระบบ เป็นอย่างดี เด็กชอบอะไรก็ให้ค้นพบตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น แล้วก็เดินหน้าไปแนวที่เขาชอบ ไม่ใช่ว่าตามเพื่อน ไม่ใช่ว่าตามผู้ปกครองเหมือนบ้านเรา อันนี้ก็เป็นส่วนที่จำเป็นที่จะต้องไป ปรับปรุงในเรื่องของระบบการศึกษา

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ด้านการสาธารณสุขก็เช่นกันนะครับ ณ วันนี้เราต้องมีการแบ่งระดับในเรื่อง ของงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู แล้วก็ในเรื่องของการรักษาพยาบาลแบบนี้ เราก็คงจะต้องมีการปรับให้มันทันสมัยให้ทันยุคนะครับ เอาให้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามา มีส่วนร่วมในด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เช่นเอกชน เช่นมหาวิทยาลัย เช่นท้องถิ่น ถ้ามีหน่วยงาน หลายหน่วยงานเข้ามาดูแลในเรื่องของสุขภาพก็จะเกิดการแข่งขัน ประชาชนก็จะได้รับ การดูแลที่ดีแล้วก็มีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ด้านเศรษฐกิจ ณ วันนี้ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ทางบ้าน การตลาดชุมชน OTOP มีการออกแบบ Form ที่เรียกว่า Platform สำหรับการค้าขายของเศรษฐกิจชุมชนนะครับ แล้วก็งานสารบรรณมียกตัวอย่าง ผมเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เวลามี การประชุมต้องแจ้งล่วงหน้า ๓ วัน แล้วก็เวลาแจ้งมันต้องให้คนเอาเอกสารไปถึงเจ้าตัว อันนี้ก็เช่นกันของเราปัจจุบันใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยแจ้งทาง Online แล้วก็ในส่วนของ เอกสารก็คงจะต้องส่งในระบบให้หมดเลยนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการป้องกันเป็นอย่างดีก็ยังต้องมีการตามจ่าย การเรียกเข้ามาตกลงราคา หรือว่าในส่วนของการที่จะฮั้วกันนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็ที่สำคัญก็คือในเรื่องของการอุทธรณ์นี่เป็นปัญหาอย่างยิ่งของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ อุทธรณ์แล้วให้ยืนตามเดิม แต่ว่าช่วงเวลาที่อุทธรณ์ ๓-๔ เดือน ยกตัวอย่างเราดำเนินกิจกรรมในช่วงเดือนมิถุนายนกว่าผลอุทธรณ์จะออกมา สิ้นเดือนกันยายนงบประมาณต้องพับไป ชาวบ้านก็เสียประโยชน์ แล้วก็คนที่อุทธรณ์นั้น ก็ไม่มีการรับผิดชอบใด ๆ ถ้ามีการออกระเบียบให้มันชัดเจน ถ้าคุณอุทธรณ์แล้วผลอุทธรณ์ เหมือนเดิมคุณต้องจ่ายค่าปรับกี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนค่าจ้างก็ว่ากันไป อันนี้เป็นส่วนสำคัญ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาฝากมานะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการกระจายอำนาจ เรามี พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจมา ๒๐ กว่าปี แต่ถามว่า ณ วันนี้เป็นการกระจาย อำนาจจริงหรือไม่ มันไม่ใช่นะครับ มันเป็นเรื่องของการกระจายแต่หน้าที่ อำนาจไม่มา อำนาจยังอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อำนาจยังอยู่ที่อธิบดี เรื่องของท้องถิ่นไม่มีใครที่จะรู้แจ้ง เห็นจริง แล้วก็เข้าถึงมากกว่าคนของท้องถิ่น อันนี้ก็คงจะต้องมีการปฏิรูปในเรื่องของระบบ บริหารราชการแผ่นดินนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ส่วนของการมอบอำนาจในที่สาธารณะหรือว่าเขาต้องการใช้ประโยชน์ ในส่วนที่เป็นสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของทางสาธารณะก็น่าจะมอบอำนาจให้กับทางท้องถิ่น ได้ดำเนินการด้วยตนเองครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ส่วนของด้านกฎหมายแน่นอนว่าหลายท่านพูดไปแล้ว กฎหมายที่ยังล้าหลัง ที่ไม่ทันสมัย ที่ไม่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนก็สมควรที่จะ Review กันให้มันยกใหญ่ กระบวนการยุติธรรมเราก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องที่ค้างคาอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด หรือว่า เรื่องที่ต้องส่งไปถึงขั้นตอนของการถวายฎีกา ทำอย่างไรให้มีการแก้ไข ชาวบ้านเขาจะได้ ไม่เป็นทุกข์ทรมานเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางครั้งเรื่องของที่ดินทำกิน หรือว่าเรื่องของโครงการ ของรัฐบาลที่ไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมันก็ไม่มีการแก้ไข เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องมี การดำเนินงานให้เกิดการทำงานแบบเชิงรุก มีทนายความอาสาสัญจรไปพบปะพี่น้องประชาชน ทุกเทศบาล ทุก อบต. และเรามีแผนแจ้งล่วงหน้า วันนี้ทนายอาสาจะออกพื้นที่ไหน อันนี้ ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะแก้ปัญหาเชิงรุกแล้วก็ลดความทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ด้านเศรษฐกิจแน่นอนนะครับ ในวันนี้บ้านเราเป็นเรื่องของเมืองเกษตร ทำอย่างไรเราจะยกระดับการเกษตรให้มันทันสมัย Young Smart Farmer เกษตรมูลค่าสูง เกษตรอัจฉริยะ ทำในเรื่องการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ด้านการประมง ด้านการแปรรูป หรือว่า ด้านการตลาด อันนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญครับ รวมทั้งในเรื่องของการใช้ Application แล้วก็ในส่วนของการออกแบบ Platform ที่มัน คล่องตัวแล้วก็ทันสมัย ด้านอื่น ๆ ก็คิดว่าคงจะเป็นเรื่องที่รวบรวมประเด็นที่หลายท่านได้ นำเสนอในครั้งนี้ แล้วอีกส่วนหนึ่งขอนิดเดียวนะครับท่านประธาน เนื่องจากว่าหลายท่าน พูดคุยกันในเรื่องของเอกสารสิทธิที่ดิน ทำไมผ่านมาแล้วหลายสมัยไม่มีการแก้ปัญหา อย่างเป็นรูปธรรม ผมมองว่าถ้าให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ คทช. ทำอย่างไรให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เอาปัญหาทั้งหมดนี้ลงไปดำเนินการในพื้นที่ ให้มันเป็นลักษณะที่จับต้องได้ ไม่ใช่ว่ามาพูดกันทุกครั้งทุกปีมันก็ยังอยู่แบบนี้ ผมก็อยากจะ ให้ท่านประธานได้นำเรียน หรือว่าเราในฐานะที่เป็นหัวใจของอำนาจการตัดสินใจ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ผมก็พร้อมที่จะอาสาเข้าไปทำเรื่องนี้ให้ทั่วประเทศนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ ครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นเลย ผมขอบพระคุณท่านประธานมากที่เรียกผมว่าท่านนะครับ แต่ว่าสำหรับผมแล้วเรียก คำนำหน้าว่า คุณ ก็เพียงพอนะครับ ขอบคุณครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในวาระของการอภิปรายรายงานการปฏิรูปประเทศนะครับ ผมขอรับ ทำหน้าที่การอภิปรายการปฏิรูปประเทศในด้านที่ ๓ และด้านที่ ๔ คือด้านกฎหมาย และด้านกระบวนการยุติธรรม ในภาพรวมนั้นผมต้องขอพูดเหมือนกับเพื่อน สส. พรรคก้าวไกลของผมที่ได้อภิปรายไปแล้วนะครับว่าการปฏิรูปด้านกฎหมายก็ดี ด้านกระบวนการยุติธรรมก็ดี เหมือนกับการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ครับ คือทำอย่างล่าช้า และสัมฤทธิผลไม่น่าพอใจ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกเท่าไรนัก อย่างในการปฏิรูปกฎหมาย ตามแผนการปฏิรูปในปี ๒๕๖๑ ได้กำหนดเป้าหมายขึ้นมาเป็น ๑๐ ข้อ โดยล้อกับมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ คือให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ปรับปรุง กฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ปฏิรูปการเรียนการสอนวิชากฎหมาย นี่เป็นเป้าหมายสำคัญ ๆ ของการปฏิรูปกฎหมายครับ แต่เมื่อมีการปรับปรุงแผนการปฏิรูป เมื่อปี ๒๕๖๔ การปฏิรูปกฎหมายด้านประเทศก็ได้ตีกรอบการปฏิรูปให้แคบลงอีกครับ จาก ๑๐ ด้าน เหลือแค่ ๕ กิจกรรมปฏิรูป ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ยังคล้าย ๆ ที่ผมเพิ่งอภิปราย มานะครับ เพียงแต่ทำให้ชัดเจนขึ้นว่าจะทำอะไรบ้าง ท่านประธานครับ แต่พอครบ กำหนดเวลาการปฏิรูปสิ้นปี ๒๕๖๕ จาก ๕ กิจกรรมปฏิรูป กลับหดเหลือแค่ ๒ เป้าหมาย แถมผลการปฏิรูปก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์จริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิรูป ด้านการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ในรายงานผลการปฏิรูปมีกฎหมาย และกระบวนการทั้งหมด ๑,๐๙๔ แล้วก็สิ้นสุดตรงนั้นเองครับ ในรายงานไม่มีบอกเลยว่า ทำอะไรต่อไป หรือเสร็จสิ้นอะไรลงไปบ้าง หรือเรื่องของการให้ประชาชนมีส่วนร่วม กับการร่างกฎหมายก็ไม่สัมฤทธิผล คือแทนที่จะกำหนดว่ามีพระราชบัญญัติฉบับใดบ้าง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและยื่นเข้าสภา หรือความเห็นของประชาชนมีจำนวนเท่าไรนั้น ก็ไม่มีปรากฏในรายงานนะครับ ท่านประธานครับ ถ้าจะพูดจริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่า การปฏิรูปกฎหมายมันไม่ได้เริ่มในปี ๒๕๖๑ จริง ๆ การปฏิรูปกฎหมายมีมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ปี ๒๕๒๕ ในแผนฉบับที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ได้พบอุปสรรคมากมายครับ ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์สมัยนั้นท่านค้นไปค้นมาก็ไปเจอพบว่า อุปสรรคเบอร์ ๑ คือกฎหมายนี่เอง คือพบว่ากฎหมายที่เป็นอุปสรรคเบอร์ ๑ เพราะว่า มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทำ หรือไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะทำ จึงมีการเริ่มการปฏิรูปกฎหมายในแผนฉบับที่ ๕ นี้นะครับ แต่การปฏิรูปกฎหมายตามแผนที่ ๕ และต่อ ๆ มาก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัญหาภายในระบบราชการที่ต่างคน ต่างทำ ท้ายที่สุดก็ทำแค่เสนอแนะข้ามหน่วยงานกันนะครับ ติดกลไกที่ล่าช้าของราชการ กว่าจะได้ประชุม หรือว่าพร้อมหน้าพร้อมตากันใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะสรุปได้ก็เวลาเป็นปี และถึงได้ข้อสรุปแล้ว หน่วยงานที่สรุปก็เสนอข้อสรุปไปให้หน่วยงานอีก ๑ หน่วยงานทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดการปฏิรูปอะไรเลย

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ต่อไปเป็นเรื่องการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายโดยสรุปเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและถูกบังคับ ใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นธรรม มีกระบวนการที่โปร่งใสและเสร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ผมขอเท้าความไปถึงแผนปฏิรูปตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ วาดไว้อย่าง สวยหรูว่าจะมีการปฏิรูป ๑๐ ประเด็นปฏิรูป ครอบคลุมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่ง และอาญา แผนที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมถึง ๔๑ ร่าง แต่เอาเข้าจริง ๆ การปฏิรูปกฎหมายก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเช่นกันครับ และเรื่องที่ผม เสียดายที่สุดคือเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การแข่งขันของประเทศ ที่มีสาระสำคัญเรื่องการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย กฎหมายว่าด้วย อนุญาโตตุลาการ และการตั้งศาลพาณิชย์ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของเรา ทางแพ่ง ของไทยมีความเป็นสากลและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สุดท้ายเมื่อมีการปรับปรุง ในปี ๒๕๖๔ จาก ๑๐ เรื่อง ๕ เรื่องกลับเหลือเพียง ๒ เรื่องนะครับ ทั้งหมดเป็นกระบวนการ ยุติธรรมทางอาญาทั้งหมด เมื่อมาพิจารณาผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๕ ในกิจกรรมปฏิรูป Big Rock ทั้ง ๕ เรื่อง ผมมีคำถามที่ถามต่อผู้ชี้แจงใน ๒ ประเด็นครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก คือการกำหนดระยะเวลาดำเนินการกระบวนการยุติธรรม มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในกระบวนการยุติธรรม ๒๕๖๕ มีหน่วยงานไหนครับที่ทำสำเร็จ คือต้องทำสำเร็จภายใน ๙๐ วันนับแต่เดือนมกราคม ปี ๒๕๖๕ หน่วยงานสำคัญกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่จัดทำ เหมือนกัน ผมขอถามท่านว่ากระทรวงกลาโหมได้จัดทำอะไรไปบ้างครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ คือการปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อบังคับของประธาน ศาลฎีกา เรื่องการปล่อยตัว ๒๕๖๕ ท่านระบุว่าเป็นภารกิจสำคัญ แต่ข้อบังคับของประธาน ศาลฎีกานี้กลับจำกัดสิทธิการประกันตัว การเป็นนายประกันในการประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย ต่างจากข้อบังคับในปี ๒๕๔๘ ที่ถูกยกเลิกโดยข้อบังคับปี ๒๕๖๕ ผมเรียนถามท่าน อย่างนี้ครับ การจำกัดสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการประกันตัวให้มีโอกาส น้อยลง เป็นภารกิจสำคัญของการปฏิรูปกฎหมาย เป็นภารกิจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ หรือครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายจริง ๆ ครับท่านประธาน คือไม่ว่าจะการปฏิรูปกฎหมาย หรือการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรม สำคัญจริง ๆ ก็คือต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแน่นอน และต้องมี คนทุบโต๊ะทำครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านอนุชา บูรพชัยศรี ครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ก็เป็นการรับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องของแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งนี้เป็นการรายงานครั้งสุดท้ายเพราะว่าตามแผนปฏิรูป ประเทศมีกรอบระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ซึ่งจากการดำเนินการปฏิรูปประเทศในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาก็ก่อให้เกิดการที่เรียกว่าบรรลุผล การปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณในส่วนของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ซึ่งแผนการปฏิรูปประเทศนี้ก็ประกอบไปด้วยแผนการปฏิรูป ทั้ง ๑๓ ด้าน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทางด้านหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบ ในการดำเนินการในการสร้างรากฐานของประเทศในช่วง ๕ ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเดี๋ยววันนี้ต่อไปเราก็คงจะได้มีการพูดถึงนะครับ แต่นี่คือในเรื่องของการที่จะให้เป็นกรอบ ในการที่จะให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งปรับเปลี่ยน ยกเลิก กระบวนการ กลไก หรือระเบียบต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเบื้องต้น ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน ประเทศไทยมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือว่า พ.ร.บ. ราว ๑,๔๐๐ ฉบับเลยทีเดียว แล้วก็เป็นกฎหมายรองอีกกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ฉบับ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศตามแผนดำเนินงานในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาถือเป็น การปลดล็อกพันธนาการจากกฎหมายที่ล้าสมัย แล้วก็เป็นการเร่งขับเคลื่อนประเทศ จึงได้มีการเรียกว่าเป็น Guillotine กฎหมายที่ไม่จำเป็น แล้วก็ทบทวน แก้ไข ปลดล็อก กว่า ๑,๐๙๔ กระบวนการของภาครัฐ อันนี้คร่าว ๆ นะครับ นำมาสู่การลดขั้นตอน ลดภาระ ประชาชน ผู้ประกอบการ มีการลดค่าใช้จ่าย แล้วก็มีการประเมินนะครับว่าต้นทุนลดลง ในภาคการผลิตได้กว่า ๑๓๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทต่อปี คิดเป็น GDP ได้กว่า ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คราวนี้ในส่วนของรัฐบาลของท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมอยากจะ เรียนว่าท่านให้ความสำคัญแล้วก็ติดตามผลงานการปฏิรูปในเรื่องของกฎหมายนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนที่ผ่านมาก็จะมี ๖ กฎหมายที่สำคัญ ๆ ที่ผมอยากจะมา Highlight ว่าการปฏิรูป กฎหมายนี้มีความสำเร็จไปในขั้นต้นอย่างไรบ้าง

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างแรกครับ ก็เป็นเรื่องของ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตของทางราชการ ซึ่งแน่นอนครับตรงนี้เป้าหมายก็เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก มีความประหยัด แล้วก็ลดขั้นตอนความวุ่นวายโดยไม่จำเป็น พร้อมปิดช่องทางทุจริต ในการรับสินบนใต้โต๊ะ การที่ทุกหน่วยงานนำกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้มาอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายก็จะมาเปิดเผย แล้วก็กำหนดระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอน อย่างชัดเจน แล้วก็เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะส่งผลให้ความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ ของประเทศไทยสามารถที่จะปรับตัวได้ดีขึ้น ที่ผ่านมาด้วยเหตุผลตรงนี้มีการจัดอันดับที่ดีขึ้น ถึง ๗ อันดับเลยหลังจากออกกฎหมายฉบับนี้ไป โดยกฎหมายก็อำนวยความสะดวก เป็นการลดทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใสให้กับประชาชนในการที่ได้รับการบริการ แล้วก็เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของระบบราชการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กฎหมายฉบับที่ ๒ คือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะปรับโครงสร้าง ปรับปรุงวิธีการทำงานของภาครัฐ ด้วยการตรากฎหมายกลางเพียงฉบับเดียวอย่างที่ผมเกริ่นในเบื้องต้นว่ามันมีกฎหมาย ที่ซ้ำซ้อนกันมากมาย ก็เพื่อรองรับความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติราชการ แล้วก็ อนุมัติอนุญาตของภาครัฐตามกฎหมายทุกฉบับที่เคยมีการดำเนินการแล้ว

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๓ ครับ ก็คือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางด้านกฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วย การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดิมเวลาติดต่อราชการนี่ประชาชนเจ้าตัวต้องไป ปรากฏตัวพร้อมบัตรประชาชน แต่เวลานี้ติดต่อราชการทุกแห่งสามารถทำด้วย Online ได้ เจ้าตัวไม่ต้องไปปรากฏตัวก็ทำได้ ยกเว้นอย่างเช่นนะครับ จดทะเบียนสมรส หย่า แจ้งรับ บุตรบุญธรรม การทำบัตรประชาชน และทำ Passport อย่างนี้ยังคงต้องไปปรากฏตัวอยู่

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ฉบับที่ ๔ ที่อยากจะ Highlight คือ พ.ร.ก. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่มีการปฏิรูป อย่างจริงจังเลย แล้วก็เป็นผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก มีการคิดดอกเบี้ยใหม่ อะไรที่ไม่เป็นธรรมมีการปรับเปลี่ยน ถือเป็นการปฏิวัติดอกเบี้ยที่ไม่ได้เรียกว่าแก้ไขมา เป็นหลักเกือบร้อยปีเลยก็ว่าได้ แล้วก็เป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของการคิดดอกเบี้ย ในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วก็ให้กับประชาชนเต็ม ๆ เลย แล้วผู้ประกอบการทั่วประเทศก็สามารถที่จะปรับตัวให้เกิดความเป็นธรรม ในรายละเอียด ผมคงไม่ไปลงลึกนะครับ คงจะมีเรื่องของการลดดอกเบี้ยต่าง ๆ เรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ควรจะต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไร ในการคำนวณคิดดอกเบี้ย ผิดนัดชำระจะต้องคิดอย่างไร ไปลดต้นก่อน ไม่ใช่เอาไปหักดอกอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ฉบับที่ ๕ เป็นเรื่องของพระราชบัญญัติในเรื่องของการปรับเป็นพินัย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกเช่นเดียวกันครับ คือคุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน เพราะฉะนั้นคุกมีไว้ขัง สำหรับคนกระทำความผิด เพราะฉะนั้นการกำหนดให้โทษอาญาเพียงเท่าที่จำเป็น โทษปรับ อาญาสำหรับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ร้ายแรงจะถูกแปลงให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย อันนี้เป็นคำใหม่ที่อยากให้ประชาชนได้เข้าใจคำว่า เป็นพินัย ก็คืออาจจะทำงานให้กับสังคม แทนการรับโทษทางอาญา แล้วก็จะไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมไว้ในประวัติ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายครับเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือเรียกว่า กยศ. อันนี้ก็สามารถที่จะช่วยเด็กไทยยากไร้กว่า ๖ ล้านคนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา อัตราดอกเบี้ยผิดนัด การขยายระยะเวลาต่าง ๆ รวมถึงยกเลิกไม่ให้มีผู้ค้ำประกัน ทั้งหมดนี้ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ทางคณะ ในส่วนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ไปดำเนินการมา แล้วก็ เสนอมาดำเนินการทั้งหมดนะครับ ซึ่งก็ต้องบอกว่าสุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ทั้ง ๖ ฉบับ ที่ผมยกตัวอย่าง อีกนิดเดียวครับท่านประธาน ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของปัญหาโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน แต่มาสำเร็จแล้วก็มาเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ได้หลังจากที่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย อำนวยความสะดวกในการอนุญาตทางราชการที่เปิดเผยขั้นตอนระยะเวลาต่าง ๆ การลด ภาระพี่น้องประชาชนอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องบอกว่าการดำเนินการในลักษณะแบบนี้ ก็เป็นผลงานของทางด้านคณะที่ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ แล้วก็ต้องขอขอบคุณที่ทาง คณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินงานในส่วนของการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของ กฎหมายที่ผมได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ทั้ง ๖ ฉบับเป็นต้น แล้วก็ขอให้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ต่อเนื่องต่อไป ไม่แน่ใจว่าหลังจากที่จบในระยะเวลาตรงนี้แล้วเราอาจจะต้องมาพิจารณากัน ต่อไปในสภาหลังจากที่มีรัฐบาลในชุดต่อไปด้วยครับท่านประธาน ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกรุณพล เทียนสุวรรณ ครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวไกลให้เป็นผู้นำการอภิปรายผลของ การปฏิรูปประเทศในหัวข้อเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นที่ ๕ ด้านเศรษฐกิจ ประเด็นที่ ๖ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเด็นที่ ๑๐ ด้านพลังงานครับ ท่านประธานครับ การปฏิรูปประเทศในทั้ง ๓ ประเด็นนี้มีจุดร่วมกันกับการปฏิรูปประเทศ ในประเด็นก่อน ๆ ที่สมาชิกของพรรคก้าวไกลได้อภิปรายไป นั่นคือในตอนแรกเมื่อปี ๒๕๖๑ มีการทำแผนปฏิรูปประเทศแบบสวยหรู ตั้งเป้าไว้เสียยิ่งใหญ่เหมือนจะไปถึงดวงจันทร์ แต่สุดท้ายแล้วผ่านไป ๕ ปี ผลที่ออกมาผมว่าแค่ยอดมะพร้าวก็ยังปีนไปไม่ถึงครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมขอกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศประเด็นที่ ๕ ด้านเศรษฐกิจก่อน เป็นอันดับแรกครับท่านประธาน แผนปฏิรูปฉบับแรกสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปวางแผนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยต้องเปลี่ยน มี ๕ เป้าหมายหลักตาม Slide ครับ ขอ Slide ด้วย

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เริ่มด้วยการที่ประเทศไทย จะมีผลิตภาพที่สูงขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เติบโตอย่างครอบคลุม เติบโต อย่างยั่งยืน และสถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีสมรรถนะที่สูงขึ้นครับ ในเวลาแค่ ๗ นาที ผมคงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่ท่านประธานก็น่าจะพอเห็นภาพ จากผู้อภิปรายท่านอื่น ๆ ว่าวิมานในอากาศที่ปฏิรูปประเทศเขียนมานั้นเป็นแบบใด ช่างใหญ่โตสวยงาม แต่ในการทำจริงนั้นแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพ ผ่านอุตสาหกรรมหลักของเราอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร ก็มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายในด้านต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้า ว่านักท่องเที่ยวจะต้องเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้นเท่าไร ตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกร Zoning เลิกปลูกพืชราคาถูกหันมาปลูกพืชราคาแพง ตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตั้งเป้าว่าจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการส่งออกเพิ่มขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีสถาบัน ทางการเงินชุมชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะเพิ่มเพดานเงินสมทบประกันสังคม จะใช้ธนาคารที่ดินกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน จะปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของ สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่หน่วยงานระดับนโยบายไปจนถึงรัฐวิสาหกิจ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อมาครับท่านประธาน จากปี ๒๕๖๑ เข้าสู่ช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ก็ได้มี การปรับปรุงแผน โดยสาเหตุสารพัดปัญหาอย่างที่คุณพริษฐ์ เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ของผมได้พูดไปก่อนหน้านี้นะครับ กิจกรรมรูปแบบไปถึงเป้าหมายต่าง ๆ นั้นก็ถูกย่อย ให้เหลือเป็นเพียงรูปแบบของ Big Rock หรือว่า ๕ กิจกรรมรายละเอียดตาม Slide ครับ จะเห็นได้ในภาพรวมจะยังดูคล้าย ๆ เดิมแต่ว่าเล็กลงมาก ๆ เลย ไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ย่อลง เท่านั้น ผลลัพธ์จากการปฏิรูปก็ย่อลงด้วยเช่นกันนะครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวที่พูดถึงเรื่องการใช้จ่าย ต่อหัวของนักท่องเที่ยว แต่ผลออกมาน่าผิดหวังมาก ทำได้เพียงแค่ฐานข้อมูลของสถานที่ ท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ Promote ลง Social Media เท่านั้นเองนะครับ ส่วนการพัฒนา เกษตรกรสุดท้ายก็เป็นการพัฒนาในระบบอบรม Smart Farmer แค่ ๑๐,๐๐๐ ราย การเปลี่ยนพืชมูลค่าต่ำเป็นพืชมูลค่าสูงก็ทำได้เพียง ๒,๐๐๐ แปลงเท่านั้น ส่วนที่น่าผิดหวัง มาก ๆ การเพิ่มพื้นที่ชลประทานในระยะยาวจากเป้าหมาย ๒๗ ล้านไร่ ย้ำตัวเลข ๒๗ ล้านไร่ ผลที่ออกมาตลอดระยะเวลา ๕ ปีเพิ่มได้ ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ ถ้าเผื่อเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ ๐.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าบริหารงานล้มเหลวได้หรือยังครับ แบบนี้ ส่วนการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันก็ไม่มีความคืบหน้า ผลที่รายงานออกมา ก็เหมือนยอมรับว่าทำไม่สำเร็จนะครับ เพราะมีแต่คำว่า เร่งรัด ผลักดัน และจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัด MOU ว่าด้วยการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เร่งรัด แปลว่ายังไม่เสร็จนะครับถึงต้องเร่งรัด ผลักดันครับ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. พาณิชยนาวี ผมถามครับว่าผลักดันนี่คือทำอะไรบ้าง ร่างนี้อยู่ในชั้นไหนแล้ว ส่วนเรื่อง FTA ไทยกับยุโรป ในรายงานก็ใช้คำว่า จัดประชุม ซึ่งการจัดประชุมมันไม่ใช่ผลงาน เพราะผลงานต้องมี ผลสัมฤทธิ์ จึงตั้งคำถามว่าการจัดประชุมนี้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากแค่ไหน ท่านประธานครับ เป้าหมายที่หายไปก็คือเรื่องของการเติบโตอย่างครอบคลุมที่แสดงให้เห็นว่า แผนของการลดความเหลื่อมล้ำนั้นล้มเหลวอย่างชัดเจน ซึ่งหลักฐานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง และปัญหาคนจนที่จนอย่างไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปได้ ลักษณะของการฝันใหญ่แต่ล้มเหลวไปไม่ถึงไหน ก็ยังปรากฏอยู่ในแผนปฏิรูปประเด็น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเด็นพลังงานครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมขอเริ่มด้วยประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็น การปฏิรูปที่ ๖ นี้เราจะได้อ่านแผนปฏิรูปฉบับแรก ต้องบอกเลยว่าคิดกันมาอย่างจริงจังมาก ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ ทะเล และสิ่งแวดล้อม และผลเป็นอย่างไรครับท่านประธาน เรื่องป่าไม้นี่เห็นชัดเจนเลยนะครับว่าตามแผนคือต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดการบุกรุก แต่สุดท้ายเราได้โครงการอะไรมาครับ เราได้โครงการทวงคืนผืนป่า ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่เรียกได้ว่าเป็นโครงการงามหน้าอันดับต้น ๆ ของ คสช. เลย เพราะเกิดการ ฟ้องร้องขับไล่ประชาชนมากมาย ทำลายกระบวนการพิสูจน์สิทธิในพื้นที่ พอมาถึง การดำเนินงานก็เห็นได้ว่าไม่พูดถึงการเพิ่มพื้นที่ของป่าเลยนะครับ เหมือนกับว่า คสช. โดนใครก็ไม่รู้หลอกให้ไปมีปัญหากับพี่น้องประชาชนโดยไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ป่าก็ไม่เพิ่ม ประชาชนก็เดือดร้อนครับ เรื่องที่ดินทำกินก็เอาผลงานของ คทช. คณะกรรมการ ที่ดินแห่งชาติ ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบล้วนแต่ก่นด่ากันมาเป็นผลของการปฏิรูป ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวสมาชิกท่านต่อไปของผมก็คงจะได้พูดกันในวาระถัดไป

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ คณะกรรมการปฏิรูปยังกล้าพูดเรื่องโครงการ One Map หลายคนคงรู้จักโครงการนี้ดี โครงการนี้ทำมาเป็น ๑๐ ปีแล้วแต่ไม่เสร็จสักทีนะครับ เพราะผมเชื่อว่าถ้าโครงการนี้เสร็จเรียบร้อย เราจะมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ถูกดำเนินคดีจากการออกโฉนดที่ทับพื้นที่ป่านะครับ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีแผนสัมฤทธิ์ ในรายงานเลย กรณีมาบตาพุดที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหามลพิษ และนำออกจากประกาศ ให้เป็นเขตควบคุมมลพิษก็ยังทำไม่สำเร็จตามเป้า เรื่องรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้าย มลพิษ หรือ PRTR พรรคก้าวไกลของผมก็ได้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปตั้งแต่สภาชุดก่อน แต่ก็ถูก พลเอก ประยุทธ์ปัดตกไป ขอถามคณะกรรมการปฏิรูปนะครับว่าได้ทำอะไรกับ เรื่องนี้บ้าง ร่างกฎหมายของตัวเองมีหรือยังที่ปัดของเราตกไป และได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ อย่างไร ทำไมถึงถูกนายกปัดตกไปนะครับ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่จะขออภิปรายครับ คือการปฏิรูปประเทศในประเด็น พลังงาน ซึ่งผมก็ขอให้ข้อสังเกตตามแบบเดิมครับว่าเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้เมื่อปี ๒๕๖๑ ไม่มีผลสัมฤทธิ์ใด ๆ เลยนะครับ โดยเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปด้านพลังงานคือการปรับ โครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้า ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในกิจการพลังงาน และที่สำคัญคือให้ประชาชนได้ใช้ไฟในราคาที่เป็นธรรม อันนี้เน้นย้ำนะครับ ให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่เป็นธรรม แต่ผลการปฏิรูปแทบไม่มีอะไร เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Smart Grid นะครับ กิจการไฟฟ้าเสรีอะไรพวกนี้เลย เอาแค่เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ การพัฒนาระบบไฟฟ้าหรือแผน PDP ฉบับใหม่ที่ควรจะประกาศใช้ เมื่อปีที่แล้ว จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้นะครับ การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เราทราบกันดี อยู่แล้วครับว่ายังล้นเกิน ทำให้ประชาชนคนไทยต้องใช้ไฟฟ้าแพง แต่ไม่เห็นมีวี่แววของ การที่จะปลดระวางโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น รวมถึงมีข่าวว่าไปอนุมัติซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน ในลาวเพิ่มขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่ไฟในประเทศมีมากเกินความจำเป็นนะครับ ประเด็นเหล่านี้ เดี๋ยวจะมีผู้แทนจากพรรคก้าวไกลอภิปรายอย่างละเอียดในลำดับต่อไปนะครับ สำหรับผม ก็ขอให้ท่านผู้ชี้แจงตอบคำถาม แล้วก็ตอบเพื่อนสมาชิกในที่ประชุมแห่งนี้ด้วยครับ กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ตอนนี้มีผู้ที่ลงชื่ออภิปรายทั้งหมด ๕๐ ท่าน และเนื่องจากประเด็น มันมีความหลากหลายมาก และต้องอาศัยการตอบที่ยาวนะครับ เพราะฉะนั้นผมจะแบ่ง การตอบเป็น ๒ ช่วงก็คือเมื่อผ่านครึ่งทาง ก็คือสมาชิกท่านที่ ๒๕ ได้อภิปรายคือ ท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ แล้วก็จะให้ทางผู้ชี้แจงได้มีโอกาสชี้แจงประมาณ ๓๐ นาที ไม่เกินนะครับ แล้วก็จะเป็นการเริ่มอภิปรายต่อ เราก็จะใช้เวลาสำหรับการรับทราบรายงาน ประมาณ ๖ ชั่วโมงนิด ๆ นะครับ ท่านต่อไปเชิญท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ครับ ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในรายงานความคืบหน้าในการ ดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ท่านประธานครับ ในส่วนของ ประเทศไทยนั้นผมคาดว่าอย่างน้อยมีอยู่ ๔ องค์กรที่ถือว่าเป็นเสาหลักของประเทศ ในการกำหนดทิศทางหนึ่งในนั้นก็คือสภาพัฒน์ แล้วก็กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ ธนาคาร แห่งประเทศไทย อย่างน้อย ๔ องค์กรนี้ในเรื่องของการที่จะมาจัดทำแผน ทำเครื่องไม้ เครื่องมือเพื่อที่จะกำหนดทิศทาง เพราะฉะนั้นในส่วนของสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นรายงาน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในไตรมาสสุดท้าย หรือไตรมาสที่ ๔ ของปีนี้นะครับ ผมมองเห็นว่า ใน ๑๓ ด้าน ผมขออนุญาตท่านประธานนะครับ เพื่อที่จะพูดในมุมมอง แล้วก็แนะนำ ในความคิดเห็นด้านต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชน หรือพวกเราได้มองเห็นว่ายังเป็นปัญหาของ บ้านเมือง

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ผมยกตัวอย่างในเรื่องของด้านการเมืองนะครับ ด้านการเมืองนี่ผมคิดว่า โครงสร้างของประเทศไทยมีมาช้านาน แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญในฉบับปี ๒๕๖๐ ในหมวด ว่าด้วยเรื่องของการกระจายอำนาจ ผมเห็นเขียนในเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งแตกต่างจากปี ๒๕๔๐ ไปมากทีเดียวนะครับ เพราะฉะนั้นอย่างน้อย กฎหมายหลักของประเทศก็จะมองออกนะครับว่าการตั้งใจเขียนเพื่อที่จะให้การพัฒนา ทางการเมืองหรือการกระจายอำนาจเป็นไปได้อย่างไร ผมคิดว่า ๑๓ ด้านก็ต้องฝาก ท่านประธานไปยังในส่วนของฝ่ายผู้ชี้แจงนะครับ ผมมองเห็นแล้วว่าแต่ละเรื่อง แต่ละฝ่ายนั้น ด้วยความเป็นจริงแล้วมันจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นการพัฒนาประเทศ ๑๓ ด้าน ไม่ใช่ว่าแต่ละด้านพัฒนาไปด้วยกัน ผมคิดว่าต้องมองฐานข้อมูลทุกเรื่องนะครับ ด้านการเมืองนี่ผมคิดว่าเราจะต้องไปฝากในเรื่องของประเด็นการกระจายอำนาจ ประเด็น การกระจายอำนาจก็มีมากมาย ผมยกตัวอย่างเรื่องกฎหมายท้องถิ่น ๕ ฉบับ พยายามรวม กฎหมายท้องถิ่น ๕ ฉบับ เป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่นฉบับเดียวยังทำไม่ได้เลยนะครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

อีกเรื่องก็คือในเรื่องของท้องถิ่นไม่สามารถที่จะจัดเก็บรายได้อยู่บนฐาน ความเป็นจริง สรุปง่าย ๆ ก็คือถ้าในการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นไม่สามารถที่จะเอารายได้ ที่ตัวเองเก็บได้มาบริหารจัดการได้ วิธีแก้ในเรื่องของแผนการจัดการ เพื่อที่จะยกระดับให้ท้องถิ่นแข็งแรง มีความเจริญเติบโตขึ้น ก็คือขยายฐานภาษีให้ท้องถิ่นมีรายได้จากกรอบอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มากขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ อันนี้เพียงเรื่องเดียวนะครับ คือเรา ยึดถือว่าถ้าท้องถิ่นเจริญ จังหวัดเจริญ ภูมิภาค ประเทศย่อมเจริญตาม

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ในเรื่องของกรอบด้านเศรษฐกิจที่จริงมากทีเดียวเลย Sector ในเรื่องของ ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่พี่น้องประชาชนมากที่สุด วันนี้ปัญหาในเรื่องของราคาพืช การเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาง ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง ประมง โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวถือว่าทำรายได้ให้กับประเทศ เป็นหัวใจ เป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่หารายได้เข้าประเทศ แต่ถ้าเรามองในเรื่องของการพัฒนา ในเรื่องของพื้นฐานโครงสร้าง ด้านเศรษฐกิจ เราก็ไม่สามารถที่จะเห็นประเด็นในเรื่องของแผนพัฒนาซึ่งเป็นเครื่องมือ ในเรื่องของการที่จะสร้างรายได้ให้ Sector การท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ผมยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการเชื่อมโยงในโครงข่ายทางคมนาคม ระบบ Logistics ก็ดี ท่าอากาศยาน ท่ารถ ท่าเรือ เส้นทางโครงสร้างเชื่อมต่อแต่ละภูมิภาค อย่างกรณีอ่าวไทยไปอันดามันอย่างนี้ ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย และโดยเฉพาะอันดามันเราไม่มีรถไฟนะครับ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ไม่มีรถไฟครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้รถยนต์ในการขนถ่ายสินค้า ขนส่ง การก่อสร้าง ปรากฏว่าแก๊ส NGV ก็ไม่มีอีก เพราะฉะนั้นรถบรรทุกสินค้าที่ไปส่งวัสดุก่อสร้างต้องใช้น้ำมัน ดีเซล ใช้น้ำมันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้นทุนในเรื่องของการลงทุนภาคการท่องเที่ยวต่อหน่วย มันก็จะสูงขึ้น ที่จริงแล้วในส่วนของ SMEs วันนี้ล่มสลายไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนของ สภาพัฒน์วันนี้ที่ผมอภิปรายแสดงความคิดเห็น ไม่ได้หมายความว่าท่านทำไม่ดีสักเรื่องนะครับ ในมุมดี ๆ ท่านก็ทำหลายเรื่อง แต่ว่าในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะหยิบยก ในมุมที่ท่านจะต้องไปทบทวนที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ เวลามีน้อยครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตต่อไปในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่เพื่อนสมาชิกพูดกันหลายท่านแล้วนะครับ มีความซ้ำซ้อน มีปัญหากับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมาก ณ วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะไปทำถนน ไฟฟ้าได้ ก็เนื่องจากว่าติดเขตอุทยาน วันนี้ในส่วนของประเทศไทยที่ซ้ำซ้อน มีปัญหากับ อปท. องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่สามารถทำในเรื่องของถนน ไฟฟ้าได้เป็น ๑๐๐,๐๐๐ เคส เป็น ๑๐๐,๐๐๐ เรื่อง ผมยกตัวอย่างเช่นบริเวณจังหวัดกระบี่ เกาะฮั่ง อำเภอเหนือคลอง มีงบประมาณทำไฟฟ้าแต่วางเสาไฟฟ้าไม่ได้ ปักเสาพาดสายไม่ได้ นี่เพิ่งจะเสร็จนะครับ เพิ่งจะไปขออนุญาตแต่มันล่าช้ามากท่านประธานครับ เพราะฉะนั้นปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ ผมคิดว่าฝ่ายเลขาคงจะต้องไปดูแผนด้วยนะครับว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้ มันเหมือนเดิม

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ด้านสังคมครับ ด้านสังคมนี่ผมยกตัวอย่างสัก ๒-๓ เรื่อง ที่ท่านดูแล้ว มันยังไม่ค่อยชัดเจนก็คือในเรื่องของยาเสพติด กับในเรื่องของกลุ่มเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำ มันต่างกันมาก แก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่สำเร็จเสียที

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ในเรื่องของพลังงาน ตอนนี้กองทุนพลังงานมีความเหลื่อมล้ำ การใช้กองทุน พลังงานไม่ค่อยเป็นผลสำเร็จ เมื่อสักครู่ที่ผมพูดในเรื่องของไฟฟ้า ที่จริงแล้วมันก็เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกับพลังงานด้วย กองทุนพลังงานมีงบประมาณเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้น การที่ประชาชนไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ก็ต้องเอา Solar Cell ไป เพราะฉะนั้นก็ต้องไปทำเรื่อง จากกองทุนพลังงาน จึงเป็นเหตุให้จังหวัดกระบี่ที่เกาะฮั่งได้งบประมาณ ที่จริงแล้วต้อง ประมาณ ๑๑๑,๒๖๐,๐๐๐ บาท แต่วันนี้ได้แค่ ๙,๔๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็ที่อำเภอเกาะลันตา ที่เกาะปอก็ใช้กองทุนพลังงานเช่นกัน วันนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นในส่วนของแผนงาน โครงการของสภาพัฒน์ ผมคิดว่ามีเรื่องหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์แล้วก็น่าจะทบทวน อย่างน้อยท่านฟังปัญหาจากเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการสะท้อนปัญหาจาก ความเป็นจริง ก็จะนำไปแก้ยุทธศาสตร์หรือว่าเข้าไปแก้ในเรื่องของแผนงานโครงการพัฒนา กฎหมายเพื่อที่จะให้ทันสมัย แล้วก็ใช้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

ผมขอเรื่องสุดท้ายนะครับ ในเรื่องของการศึกษาก็มีมาก เพื่อนสมาชิกก็ได้ อภิปรายไปแล้ว แต่วันนี้ขอเรียนท่านประธานว่ามหาวิทยาลัยวันนี้ บางมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ เป็นมหาวิทยาลัยโดดเด่นของรัฐแย่งชิงนักศึกษาเข้า ๓๐ วันนี้ผมไม่แน่ใจว่า ทำ ๕๐ : ๕๐ ยังได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของอุดมศึกษาวันนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของ คุณภาพด้านการศึกษาไม่ตรงกับทิศทางในเรื่องของการผลิตบัณฑิตหรือผลิตอาชีวะ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของชาติในเรื่องของภาคอุตสาหกรรมได้ ก็ฝากไว้แค่นี้นะครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภาณุ พรวัฒนา ครับ

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายแพทย์ภาณุ พรวัฒนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๔ อำเภอบ้านดุงและอำเภอทุ่งฝน ผมได้อ่านรายงานที่ทางสภาพัฒน์ได้จัดทำแต่ละเล่ม สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย อ่านง่าย การเรียบเรียงเนื้อหาต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีก็ขอชื่นชม ผู้จัดทำนะครับ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางสภาพัฒน์ ทุกหน่วยงาน ทางสำนักงาน ป.ย.ป. ส่วนราชการองค์กรในกำกับของรัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นหน้าที่ของท่าน ทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่ต้องขับเคลื่อน แผนระดับชาติทั้งสองนี้ แต่ว่าเมื่อได้พิจารณาถึงรายละเอียดของแผนและผลการดำเนินงานแล้ว กระผมมีความเห็นและข้อเสนอแนะที่จะต้องกราบเรียนท่านประธานไปถึงผู้เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศดังนี้นะครับ

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ เรามีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ๖ ยุทธศาสตร์ เรามีการแบ่งเป้าหมายไว้เป็น ๔ ระยะ ระยะละ ๕ ปี รวมทั้งหมด ๒๐ ปี ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่ก็ถือว่ามีความท้าทาย โดยเราถอดออกมาจากเป้าหมายตัวชี้วัด ของการพัฒนาตามมิติต่าง ๆ ในระดับสากลเข้ามาสู่บริบทของประเทศไทย แล้วก็มีการถอด ออกมาอีกเป็นแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๓ ประเด็น ๓๗ เป้าหมายใหญ่ และ ๑๔๐ เป้าหมายย่อย ซึ่งบัดนี้การดำเนินการในระยะที่ ๑ ก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบ ภาพรวมการดำเนินการของปี ๒๕๖๕ กับปีก่อนหน้านั้น ผมพบว่ามีอยู่หลายประเด็น ที่นอกจากจะยังไม่บรรลุตามเป้าหมายระยะแรกแล้ว ยังอาจกระทบไปถึงเป้าหมายในระยะ ต่อไปและระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายความอยู่ดีมีสุขของคนไทย ความสามารถ ในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความก้าวหน้าทางสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่างก็มีผลการดำเนินการที่ลดลงทั้งสิ้น ถ้าหากพิจารณาลงไปถึงเป้าหมายระดับแผนแม่บท พบว่า ณ สิ้นสุดปี ๒๕๖๕ มีเพียง ๑๒ จากทั้งหมด ๓๗ เป้าหมายเท่านั้นที่บรรลุผล ที่เหลือมีผลการดำเนินการที่ต่ำกว่า ที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น หากพิจารณาลงไปถึงระดับแผนแม่บทพบว่ามีหลายประเด็นที่มี ผลการดำเนินการย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ที่ยังไม่เคยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เลย ตัวอย่างเช่น แผนแม่บทว่าด้วยความมั่นคง การเกษตร การท่องเที่ยว การพัฒนาการเรียนรู้ หรือการศึกษาของคนไทย เราเคยได้ยินมานะครับว่าเด็กไทยอ่อนภาษาอังกฤษ อ่อนคณิตศาสตร์ ผ่านมากี่ปีแล้วปัจจุบันก็ยังอ่อนเหมือนเดิมครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ถึงแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคปัญหามากมาย ทั้งความผันผวนทาง เศรษฐกิจ ทั้งการระบาดของโรค COVID-19 แต่หากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ได้มี การดำเนินการอย่างแข็งขันต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพกว่านี้ ผลกระทบด้านต่าง ๆ ก็คงจะ ไม่รุนแรง ไม่มีผลการดำเนินการเป็นสีแดงอย่างที่เห็นในเล่มรายการนี้นะครับ

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ต่อไปจะพูดถึงผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ท่านประธานครับ แผนการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๓ ด้านนั้นอาจจะมีปัญหาอยู่ในตัวของมันเองอย่างเช่น การจัดทำแผนที่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง การจัดลำดับความสำคัญที่ไม่ชัดเจน การไม่มีงบประมาณที่แยกไว้เป็นสัดส่วนชัดเจนกับงบประมาณประจำ นอกจากนี้แผนปฏิรูป ก็ยังมีประเด็น มีขั้นตอนโครงการจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะมีความซ้ำซ้อน กับงานประจำของหน่วยงาน ตลอดจนโครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นก็ยังเป็นที่กังขาของใครหลายคนว่าตกลงปฏิรูป จริงหรือไม่ ตัวอย่างข้างต้นอาจจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปประเทศดูแล้ว จะยังไม่บรรลุผลในสายตาของประชาชน รวมทั้งตัวผมเองด้วยครับ แม้ว่าทางสภาพัฒน์ จะได้สรุปในเล่มรายงานว่าการปฏิรูปประเทศนั้นบรรลุผลตามที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องขอชมเชย ก็ต้องขอให้เครดิตกับหน่วยงานของรัฐ ต่าง ๆ ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจดำเนินการจนโครงการหลายอย่างมีผลช่วยให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น สะดวกขึ้น และมีความทันสมัยขึ้น เช่นการวางรากฐาน Digital การใช้เทคโนโลยีช่วยติดต่อราชการ และมีการปฏิรูปให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หลายฉบับ ซึ่งการดำเนินการในระยะต่อไปทางสภาพัฒน์ก็ได้เขียนไว้ว่าประเด็นการปฏิรูป ต่าง ๆ นั้นจะได้อยู่ในแผนปฏิบัติหรืองาน Routine ของหน่วยงานภาครัฐต่อไป ซึ่งผมเห็นว่า เราควรจะมีการติดตามผลต่อไปในระยะยาวครับ

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้กระผมขอกราบเรียนท่านประธานฝากไปถึง รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันขับเคลื่อน หรือเร่งรัดพัฒนาในประเด็นดังต่อไปนี้ ให้เห็นผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและโดยรวดเร็ว เพราะประเด็นเหล่านี้ผมเห็นว่าเป็นพื้นฐาน สำคัญที่จะทำให้เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติหรือการพัฒนาต่าง ๆ ประสบความสำเร็จได้จริง

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ การพัฒนาระบบข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ความเป็น Digital ของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการทำแล้ว แต่ยังกระจัดกระจาย การเชื่อมโยงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประชาชนก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ การยกระดับประสิทธิภาพของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การพัฒนากำลังคน ตลอดจนการให้ขวัญและกำลังใจ แก่เขาเหล่านั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้

นายภาณุ พรวัฒนา อุดรธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศที่สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าจะเป็นไปตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับ หลักสากล แต่เราต้องคำนึงว่าหน่วยงานในระดับปฏิบัตินำไปทำได้จริงแค่ไหน ความต้องการ ของประชาชนได้รับการตอบสนองจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ดังตัวอย่างที่สภาพัฒน์รายงานว่า การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศนั้นบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ผมเชื่อว่ายังมีประชาชน อีกจำนวนมากไม่ได้คิดอย่างนั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ผมจึงขอเรียน ท่านประธานฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายกำหนด แผนนโยบาย วางเป้าหมายไปที่ประชาชน โดยคำนึงถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ หากประชาชนรู้หรือรับรู้ได้ว่ามันมีจริง สำเร็จจริง รัฐบาลจะต้องจริงจังในการขับเคลื่อน และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ ซึ่งนั่นก็เป็น หนึ่งในปัจจัยที่จะบอกได้ว่าเรายังมีความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติอยู่หรือไม่ หรือเรา มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรในระยะต่อไป ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออภิปราย ให้ความเห็นต่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๑๘ โดยในส่วนของรายงาน รอบเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ เป็นรายงานรอบสุดท้ายของแผนปฏิรูปประเทศแล้ว ซึ่งผลการดำเนินการมีทั้งส่วนที่เป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีในส่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข และพัฒนาต่อไป ทั้งนี้เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้นครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ กระผมขออนุญาตอภิปรายในประเด็นด้านทรัพยากร ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับผลจากการดำเนินการตามรายงานนี้และได้มี ข้อเสนอแนะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการต่อไป ท่านประธานครับ ปัจจุบันประเทศและโลกของเราเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ อยู่ ๓ ด้าน นั่นก็คือ ปัญหาโลกร่อยหรอ โลกเลอะ และโลกรวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา ดังนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ปัญหาโลกร่อยหรอ หรือปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดจากการใช้ทรัพยากรเกินขนาดทั้งบนบกและในทะเล อีกทั้งยังเผชิญปัญหาสายพันธุ์ รุกรานต่างถิ่น ส่งผลให้ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศเราลดลงทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทั้งด้านอาหาร น้ำ และด้านอื่น ๆ โดยปัญหานี้ได้มีการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การจัดทำร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงแผนที่แนวเขต ที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ One Map การจัดทำ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ปี ๒๕๖๑ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกเช่น ข้อตกลงที่จะมุ่งปกป้องแผ่นดินและผืนน้ำ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของโลกภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลาย ทางชีวภาพ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทะเล อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน จากการชี้วัด พบว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติของไทย ปี ๒๕๖๕ อยู่ที่ ๓๑.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากปี ๒๕๖๔ ที่มีอยู่ ๓๑.๖๔ เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนพบมากขึ้น ๒ เท่า จากปีก่อนหน้า ขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยลดลง โดยสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของไทย ปี ๒๕๖๕ มีค่าดัชนีอยู่ที่ ๓๘.๑ อยู่ในอันดับที่ ๑๐๘ จากทั้งหมด ๑๘๐ ประเทศซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย และผลการประเมินดัชนีคุณภาพมหาสมุทร ปี ๒๕๖๕ มีคะแนนอยู่ที่ ๖๙ คะแนนซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย จากปัญหาดังกล่าวนี้ผมขอเสนอ ให้มีมาตรการในการอนุรักษ์ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เน้นการฟื้นฟูและมีช่วงที่ปล่อยให้ธรรมชาติ ได้ฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า และการประมงผิดกฎหมายหรือเกินขนาด ให้ได้อย่างยั่งยืน เน้นการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และมาตรการให้ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกับการแก้ไขปัญหาและจัดสรรที่ดินทำกิน ของพี่น้องประชาชนที่เป็นธรรม และจัดทำแนวเขตป่าให้แล้วเสร็จครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ด้านที่ ๒ ด้านปัญหาโลกเลอะ หรือปัญหาด้านมลพิษ ทั้งมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และมลพิษในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งบนบก ในแหล่งน้ำและทะเล ซึ่งเป็นผล จากการผลิต การใช้ การปล่อยของเสียที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อสิ่งมีชีวิต สุขภาพและสภาพแวดล้อมของพี่น้องประชาชน ปัญหานี้ได้มีการดำเนินการ ตามแผนปฏิรูปประเทศ และตามยุทธศาสตร์ชาติเช่น การจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการ ขยะมูลฝอยของประเทศ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ การออกประกาศเรื่องห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวงพาณิชย์ การผลักดัน Model เศรษฐกิจ BCG การจัดทำแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 การสนับสนุนมาตรการทางภาษี รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกเช่น เป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืน ด้านน้ำสะอาด ด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ความตกลงของอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สนธิสัญญาพลาสติก แห่งสหประชาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ในความเป็นจริงพบว่า ขยะก็เพิ่มขึ้นทุกวัน และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทำให้มีขยะเพิ่มขึ้น จากการ Delivery อาหาร การ Shopping Online และขยะติดเชื้อ เป็นต้น ขณะที่ปริมาณ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่วนใหญ่มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ผมขอเสนอให้มี มาตรการทั้งการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางและปลายทางครับ ต้นทางคือการควบคุมแหล่งกำเนิด เร่งลดการปล่อยมลพิษ ลดการสร้างขยะประเภทต่าง ๆ ลดและหยุดการนำเข้าขยะ พร้อมต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ Recycle ได้ ไปจนถึง การจัดการกับมลพิษและขยะอย่างเป็นระบบ เน้นการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ผลักดัน ขนส่งมวลชนและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และที่สำคัญครับ เราจะต้องผลักดันกฎหมาย ที่เกี่ยวกับด้านอากาศสะอาดให้มีการรายงานและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน มาตรการและกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติก และการสร้างขยะอย่างจริงจัง เป็นต้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ด้านที่ ๓ สุดท้ายครับ ด้านปัญหาโลกรวน หรือปัญหาสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง พลังงาน การขนส่ง การผลิตและอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบให้โลกของเราร้อนยิ่งขึ้น และรวนยิ่งขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน น้ำแล้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พายุฝน น้ำท่วมฉับพลัน ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างมาก และจะยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกนะครับ เช่นความตกลงปารีส เป้าหมายของไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และสุทธิเป็น ๐ ในปี ๒๕๖๕ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านพลังงาน สะอาดที่เข้าถึงได้ และการลงมือแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามครับ ท่านประธาน จากผลการดำเนินการพบว่าสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ใน ๕ ปีแรก ตามยุทธศาสตร์ชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ๑๗.๔๙ เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ท่านประธานครับ จากดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Risk Index พบว่าไทยอยู่ในอันดับ ๙ ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ มากที่สุดในโลก ในช่วงปี ๒๐๐๐-๒๐๑๙ และถูกประเมินโดยองค์กรวิชาการระหว่างประเทศ Climate Action Tracker โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายลดโลกร้อนที่แย่ที่สุด ในโลก ผมขอเสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและโลกรวน ทั้งด้านการบรรเทาปัญหา และด้านการรับมือปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยบรรเทานะครับ จะต้องเร่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงาน หมุนเวียนในระดับประเทศ และระดับครัวเรือน ยานพาหนะไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษต่ำ การผลิต และการบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ไปจนถึงการจัดทำแผนการประเมินผลกระทบที่อาจ เกิดขึ้นจากโลกร้อนและรวนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับใช้เพื่อเตรียมรับมือ เพื่อป้องกัน ผลกระทบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ควรเร่งผลักดันและบังคับใช้ กฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน หากภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ผมคิดว่าเราจะแก้ไขทั้งปัญหาโลกร้อน โลกเลอะ โรคร่อยหรอ เพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ และโลกของเรา เพื่อชีวิตของเราและลูกหลานที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ดังนั้น ผมหวังว่าความเห็นการอภิปรายของผมในวันนี้ สคช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไป ประกอบการพิจารณาดำเนินการในระยะต่อไป และขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทุกท่านครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชญาภา สินธุไพร ครับ

นางสาวชญาภา สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเขต ๘ พรรคเพื่อไทย เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่าแผนปฏิรูปประเทศถือกำเนิดขึ้นภายหลังที่มีการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๑ หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ผ่านมา ๕ ปีของการปฏิรูปประเทศ มีการรายงานผล สรุปความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ แต่เมื่อดิฉัน ได้อ่านรายละเอียดของรายงานฉบับนี้ค่ะ ดิฉันเห็นว่านี่ไม่ใช่การรายงานความคืบหน้า แต่เป็นการรายงานความไม่คืบหน้าของแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งจากการรายงานผลสรุป การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ถึงแม้จะพยายามอธิบายถึงผลสัมฤทธิ์ในการ ดำเนินการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านทั้งหมด ๑๓ ด้าน โดยอ้างอิงตัวเลขสถิติความสำเร็จ ต่าง ๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับสวนทางค่ะ

นางสาวชญาภา สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ดิฉันขอยกตัวอย่างประเด็นด้านสังคม ซึ่งกำหนดเป้าประสงค์มุ่งขจัดปัญหา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม ในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นค่ะท่านประธาน สิ่งที่ชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัดคือดูได้จาก จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ก่อนเกิดการยึดอำนาจในปี ๒๕๕๗ มีคนจนอยู่ที่ประมาณ ๘ ล้านคน ภายหลังเกิดรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการลงทะเบียนบัตรคนจน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่ ๑๓.๕ ล้านคน และล่าสุดในปี ๒๕๖๕ มีคนลงทะเบียนบัตรคนจน เพิ่มขึ้นกว่า ๒๐ ล้านคน คิดเป็น ๑ ใน ๓ ของประชากรในประเทศทั้งประเทศ แสดงว่า ยิ่งปฏิรูปคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ปัจจุบันดิฉันจะชี้ให้เห็นชัดลงไปอีกค่ะว่าคนส่วนใหญ่ ของประเทศกำลังประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องของการจนกระจุก รวยกระจาย ในเรื่องของ การรวยกระจุก จนกระจายค่ะ เผชิญกับปัญหาหนี้สินพอกพูนไร้ทางออก ปัจจุบันหนี้ครัวเรือน ทะลุถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP และมีพี่น้องประชาชนราว ๑.๔ ล้านคนทั่วประเทศเป็นหนี้ นอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เข้าไม่ถึงแม้แต่สินเชื่อในระบบด้วยซ้ำ และที่สำคัญ ประชากรกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทยอยู่ในภาคการเกษตร แต่พบว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยกว่า ๔๓๐,๐๐๐ บาท ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลธนาคารโลกปี ๒๕๖๔ พบว่า ประเทศไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ ๔ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ท่านประธานคะ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอค่ะ โดยการเริ่มจากการรดน้ำที่ราก แก้ปัญหาทุนผูกขาด ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้ ภาคธุรกิจเติบโตก็จะมีกำลังในการจ่ายภาษี รัฐมีเงิน มีรายได้เข้าคลัง เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่เหมาะสม รัฐสามารถนำเงินเหล่านั้นมาทำสวัสดิการ ที่ยั่งยืนให้กับประชาชน มาทำโครงการดี ๆ นโยบายดี ๆ ให้กับประชาชน เป็นการลด ความเหลื่อมล้ำในระยะยาว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นการกู้ แล้วเน้นไปที่การแจกเงินระยะสั้น ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับประชาชน ในระยะยาว จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าการปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรม ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มเหลว แทบไม่มี ความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศตามแผนที่กำหนดไว้ค่ะ ทำไมยิ่งปฏิรูปยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งปฏิรูปประเทศยิ่งถอยหลัง และประเด็นการปฏิรูปหลายเรื่องไม่ใช่สิ่งใหม่ และเป็นสิ่งที่ หน่วยงานราชการทำอยู่แล้ว จึงเกิดความทับซ้อนและไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ ประเทศได้อย่างแท้จริง ดิฉันรู้สึกเห็นใจหน่วยงานที่มาคอยตอบคำถาม เพราะว่าท่านไม่ได้ ปฏิรูปค่ะ แต่ต้องมาตอบคำถามเรื่องการปฏิรูป ท่านประธานที่เคารพคะ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากผลพวงของรัฐประหาร ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้อง แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ และสถาปนาให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงจะสามารถ นำประเทศในการที่จะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ได้ การปฏิรูปประเทศที่จัดทำขึ้นยากที่จะ ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้นำในการปฏิรูปไม่ได้ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับ ต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดีมากนะครับ ต่อไปท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม พิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขออภิปรายรายงานความคืบหน้า ในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๘ ท่านประธานครับ กระผมขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการดำเนินการตามแผน ปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผมคิดว่าทางแผนปฏิรูปประเทศและแผน ยุทธศาสตร์ชาติมีความตั้งใจอันดีที่จะพัฒนาบ้านเมืองและประเทศของเรา วันนี้ผม ขออนุญาตอภิปรายในประเด็นด้านพลังงาน เพราะเป็นด้านที่สำคัญต่อพี่น้องประชาชน การปฏิรูปด้านพลังงาน

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ในเป้าหมายที่ ๑ การยกระดับความสามารถ ในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศ ผลลัพธ์ส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงการบริการ ด้านพลังงานในราคาที่เป็นธรรมและมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเข้าถึง แก้ไขพลังงาน ในราคาที่เป็นธรรม เป็นที่ทราบกันแล้วว่าในปัจจุบันค่าพลังงานไฟฟ้าแพงขึ้นทุก ๆ วัน โดยที่มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มากยิ่งขึ้น บริการจัดการไม่ว่าจะเป็น พลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้าชีวมวล อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ราคาพลังงานแพงขึ้นโดยไม่จำเป็นของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในแผนปฏิรูป ของประเทศ ผมสงสัยว่าค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นเป็นเม็ดเงินจำนวนมากหลาย ๆ ล้านบาท จะเข้าไป อยู่ในกระเป๋าของกลุ่มทุนผู้มีอำนาจด้านพลังงาน หรือเข้าสู่ประเทศในการพัฒนา กราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่าในพื้นที่ของกระผมมีการดำเนินการทุนด้านพลังงาน ตามแผนปฏิรูปแห่งชาติ การดำเนินการตามแผนปฏิรูปแห่งชาติในด้านพลังงานต้องให้มี ความชัดเจนมากกว่านี้ อย่าให้มีกลุ่มทุนผูกขาดในเรื่องพลังงาน ในพื้นที่ของกระผม ตลอดชายฝั่งปากพนัง หัวไทร วันนี้มีพลังงานธรรมชาติที่เรียกว่า พลังงานสะอาด มีกังหันลม จำนวนมากในการผลิตไฟฟ้าครับท่านประธานที่เคารพ แต่วันนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่า รายได้จากการผลิตพลังงานสะอาดจากกังหันลมจากกลุ่มทุนต่าง ๆ เป็นรายได้เท่าไร ที่กลับคืนสู่ท้องถิ่น เรื่องนี้ฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องชี้แจงให้ทราบว่ากองทุนพลังงาน ที่กลับคืนสู่ท้องถิ่นเป็นเม็ดเงินเท่าไร เราอย่ามองว่าให้มีกังหันลมไว้แค่การ Selfie หรือเป็น อนุสรณ์ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน แต่วันนี้ต้องทดแทนคืนสู่ท้องถิ่นเพื่อจัดการประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐานอย่างแท้จริง

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้เรามีการสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย เราบอกว่ามีการปฏิรูปด้านพลังงาน ซึ่งเป็นการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อ่าวไทย เป็นรายได้ เข้าสู่รัฐอย่างจริงจัง แต่ในทางกลับกันวันนี้ในพื้นที่ของผมมีการลักลอบนำเข้าพลังงานเถื่อน สู่อ่าวหัวไทร พลังงานเถื่อนที่เข้ามาลำเลียงเข้าสู่ชายฝั่งทะเล เข้าสู่อ่าวพื้นที่หัวไทร ที่เขาเรียกว่าน้ำมันเถื่อน วันนี้เข้ามาในพื้นที่ทุกวี่ทุกวัน ซึ่งสร้างความเสียหายเกี่ยวกับรัฐ อย่างมากมาย ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง แล้วเราจะเรียกว่าวันนี้เราปฏิรูปได้อย่างไร ด้านพลังงานสะอาด ผมมีความคิดเห็นว่า เราควรจะส่งเสริมภาคครัวเรือนให้มีการใช้ Solar Cell หรือ Solar Rooftop ในครัวเรือน เพื่อที่จะให้เป็นการประหยัดรายจ่าย ส่วนพลังงานที่เหลือจากการใช้ในครัวเรือนก็ควรที่จะ ขายคืนกับไฟฟ้าได้ เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือน ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้เราจะเรียกว่าปฏิรูปได้อย่างไร หากมีกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงาน แต่รัฐไม่สามารถ เข้าไปจัดการดำเนินการต่าง ๆ ได้ เราจะเรียกว่าปฏิรูปได้อย่างไร หากมีการลักลอบนำเข้า พลังงานเถื่อนเข้ามาสู่ประเทศ ซึ่งเป็นความเสียหายเกี่ยวกับรัฐอย่างมากมาย เราจะเรียกว่า เป็นการปฏิรูปได้อย่างไร หากพี่น้องประชาชนใช้พลังงานในราคาที่สูง ที่ไม่เป็นธรรม แก่พี่น้องประชาชน ผมหวังว่าสิ่งที่ผมพูดในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสภา จะเป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญในด้าน พลังงานต่อพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านต่อไป ท่านแรก ท่านชยพล สท้อนดี ท่านที่ ๒ ท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๓ ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ เชิญท่านชยพล สท้อนดี เชิญครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม กู๊ดดี ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจตุจักร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล สำหรับวันนี้ผมขออภิปรายในเรื่องของแผนปฏิรูปประเทศในหมวดที่เกี่ยวข้อง กับทางด้านสังคม ซึ่งประกอบด้วย ๕ บทคือ สาธารณสุข ศึกษา สื่อสาร วัฒนธรรม และสังคม โดยเริ่มต้นก่อนผมจะขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงปี ๒๕๖๑ ตอนที่ แผนปฏิรูปประเทศออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นแผนมีความฝันใหญ่ที่ทะเยอทะยาน ด้วยแผนปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ เดี๋ยวผมขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อไปเป็น Slide ที่ ๒ เลยนะครับ ผมขอยกตัวอย่างเป้าเดิมที่แผนนั้นเคยมีในหมวดของสังคม ตอนปี ๒๕๖๑ มีการตั้งต้น เป้าหมายที่แลดูท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างหลักประกันรายได้ในการเกษียณ แผนการตั้งเป้าอย่างจริงจังว่าคนชราจะต้องมีรายได้จากระบบบำนาญทดแทนรายได้ มากกว่าร้อยละ ๓๐ โดยการตั้งเป้าจะเพิ่มประสิทธิภาพของ กอช. เพื่อจูงใจให้คนเข้ามา เป็นสมาชิกมากถึง ๑๕ ล้านคนภายในปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้แผนยังมีการพูดถึงกลไกออม ภาคบังคับจาก VAT ที่มีการหัก VAT ส่วนหนึ่ง แล้วก็คืนกลับไปให้ผู้เสียภาษีกลายเป็น เงินออมนะครับ แล้วก็มี พ.ร.บ. เรื่องบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เสมือนเป็นการกึ่งบังคับ ให้ทุกสถานประกอบการต้องมี Provident Found เพื่อเป็นทุนออมเพื่อการเกษียณ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนด้านกลุ่มผู้เสียเปรียบทางด้านสังคม ในแผนเดิมก็จะมีการพูดถึง การปฏิรูปเพื่อปลดล็อก ตั้งเป้าที่จะแก้ไขอุปสรรคให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าการปฏิรูปขนส่งสาธารณะว่าร้อยละ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของบริการขนส่ง สาธารณะ การเดินทางของหน่วยงานรัฐ อปท. ภาคเอกชน และอื่น ๆ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ หรือการดำเนินการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดภาระของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเองก็เคยมีการพูดถึงเรื่องการจัดสรร เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้นักเรียนที่ยากจนและยากจนพิเศษให้ครอบคลุมทั้งหมด ๒.๔ ล้านคน พูดถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ ๕ ต่อปี ที่ผมย้อนเล่าทั้งหมดนี้ให้ฟังคืออยากให้เห็นภาพฝันใหญ่ในช่วงปี ๒๕๖๑ ที่บอกว่าถ้าเกิดสามารถทำได้ตามนี้จริง มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเรามากเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายความจริงมันก็วิ่งเข้ากระแทกหน้าของเราทันที แผนปฏิรูปประเทศนั้น ติดปัญหาในการบริหารภายในที่ไม่สามารถทำได้จริง รวมถึงต้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ออกมาทีหลังแต่มาขี่คอมันอยู่จนถึงตอนนี้ นำไปสู่การทำแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุง ที่กว่าจะประกาศใช้ก็ปี ๒๕๖๔ เข้าให้แล้ว สุดท้ายเป้าหมายที่ผมพูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้ ก็ถูกตัดออก แทนที่ไว้เพียงความเชื่อว่าเป้าหมายจะทำสำเร็จได้ภายในปี ๒๕๖๕ เท่านั้นเอง

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

Slide ต่อไปได้เลยนะครับ เพื่อเป็นการยกตัวอย่าง แผนปฏิรูปด้านสังคม ในส่วนของการออมเพื่อการเกษียณ เรื่องที่พูดตอนแรกก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลย เหลือเป้าหมายเพียงแค่การผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพียงแค่ ฉบับเดียว หรือเรื่องผู้เสียเปรียบทางสังคมที่ตั้งเป้าจะขยายบริการขนส่งสาธารณะให้เข้าได้ถึง ทุกคน หรือการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้มีมาตรฐาน กลายเป็นถูกลดทอนให้เหลือแค่ กระบวนการให้คนพิการสามารถขอบัตรประจำตัวคนพิการ ณ สถานพยาบาล และแก้ไข ระเบียบการยื่นขอบัตรให้มันลดเอกสารลงแค่เท่านั้นเอง

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในแผนด้านการปฏิรูปการศึกษา เรื่องการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้ครอบคลุม นักเรียนที่ยากจนทั้งหมดก็สลายกลายเป็นผุยผงไปเลย กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ยากจะอธิบายว่า ทำไปแล้วมันได้อะไร เต็มไปด้วยคำประเภท ส่งเสริม สนับสนุน ดุน ๆ ดัน ๆ พากันเข้าเส้นชัย แบบนั้นหรือครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในประเด็นสุดท้ายนะครับท่านประธาน แม้จะมีเรื่องความล้มเหลวมากมาย ในแผนปฏิรูปประเทศ แต่ก็ต้องมีงานที่ทำได้สำเร็จเหมือนกัน แต่คำถามคืองานที่สำเร็จนี่ สำเร็จไปคือสำเร็จอะไร และควรจะเรียกมันว่าเป็นแผนปฏิรูปประเทศได้อย่างเต็มปาก หรือเปล่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอยกตัวอย่างเช่นในบทที่ ๑๓ การปฏิรูปประเทศ ด้านวัฒนธรรม กีฬา และแรงงาน คุณกำลังประเมินความสำเร็จผลงานของคุณด้วยการทำ แบบสอบถามคุณธรรม ๕ ประการ ประกอบด้วย ความพอเพียง วินัยรับผิดชอบ สุจริต จิตอาสา และกตัญญู สำรวจกันง่าย ๆ เลยครับ ถามกันง่าย ๆ และแถมวัดค่าพลังออกมา ให้ด้วยเป็นค่าพลังครอบครัว พลังเพื่อน เป็นแบบสอบถาม ๔๘ ข้อ ตอบ ๑๕ นาที ด้วยใจที่สัตย์จริง เราปฏิรูปสำเร็จแล้วหรือครับกับประเทศนี้ และทราบไหมครับท่านประธาน ไหนจะเรื่องผลงานการแจกรางวัลเชิดชูเกียรติ ทำสื่อคุณธรรม แผนปฏิรูประดับประเทศ ของเราขับเคลื่อนด้วยละครคุณธรรม ฉันเป็นประธานบริษัทแบบนั้นหรือ นิทานอีสปสอนใจ ไฉไลไทยก้าวหน้า หรือจะเป็นผลงานเรื่องของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบมรดกทาง วัฒนธรรม แต่ไปสนับสนุนที่พิพิธภัณฑ์การทางพิเศษแห่งประเทศไทย คือจะพาพวกเราไปดู ตอม่อจนกว่าเราจะสำนึกในรากเหง้าของความเป็นไทยแบบนั้นหรือครับ ซ้ำร้ายยังจะศึกษา การทำ Social Credit Score อีก คือคุณจะทำอะไร เคาะบ้านประชาชน ก๊อก ก๊อก ก๊อก วันนี้คุณรักชาติแล้วหรือยังอย่างนั้นหรือครับ คือมันเป็นการสนับสนุนให้รัฐเป็นตำรวจ จริยธรรม ครอบงำความคิดของประชาชน ตีกรอบครอบกะลาทางความคิด ไม่ต้องริบังอาจ มองหาเสรีภาพ ไหนจะด้านกีฬาอีกนะครับที่เอาธนาคารกีฬามาเป็นผลงาน กับการจัด การแข่งขันระดับท้องถิ่นหมู่บ้าน แต่ทำไมไม่มีการพูดถึงเรื่องของการสนับสนุนการสร้าง League กีฬาในประเทศไทยระดับประเทศเลย แค่การแจกลูกบาสเกตบอล เตะลูกบอล หน้าหมู่บ้านนี่ผมก็ปฏิรูปประเทศสำเร็จแล้วอย่างนั้นหรือครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอ Slide ต่อไปครับ ในส่วนของบทที่ ๘ ด้านสื่อสารมวลชน ตรงนี้ต้องบอก เลยนะครับว่าผลงานนั้นน่ารักมาก ๆ กับศูนย์ต่อต้าน Fake News ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายไว้แล้วว่าศูนย์ดังกล่าวนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงคนแค่สอบถามหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Fact Checker ที่แท้จริงนะครับ สุดท้ายยังเผยแพร่ข่าวปลอม เสียเอง ในกรณีที่ สส. พรรคก้าวไกลเราเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ในโครงการก่อสร้าง แท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๙ ในค่ายทหารที่ลพบุรีนะครับ โดยบอกว่ามาจาก เงินบริจาค ทั้ง ๆ ที่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างอย่างชัดเจน อภิปรายไปขนาดนี้แต่ก็ยังดื้อจะทำต่อ พอเข้าไปดูใน Page ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่เอามาเป็นผลงาน ก็ต้องบอกว่า โอ้โฮ แต่ละ Post มีคน Like อยู่แค่ ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐ ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐ นี่คือผลงานของแผน ที่เราใช้เพื่อการปฏิรูปประเทศจริง ๆ ใช่ไหมครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ไหนจะเรื่องการผลักดัน Soft Power ที่บอกจะสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ว่า ก็ตีกรอบด้วยโจทย์จริยธรรมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สักแค่ไหนเชียว ไปล็อกให้ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง และสุดท้ายประเทศชาติเราได้ประโยชน์อะไร เรากำลังตอบโจทย์จริยธรรมหรือวัดค่าพลัง อะไรให้ใครอยู่

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ใน Slide ถัดไปนะครับ อีก ๑ บทที่ผมอยากจะยกขึ้นมาพูดคือบทที่ ๗ เรื่องของสาธารณสุข การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พูดให้ฟังอีกครั้งหนึ่งนะครับ ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คืองงสิครับว่ามันเกี่ยวข้องกันได้ อย่างไร ผลงานด้านการสร้างฐานข้อมูล คัดกรองผู้สูงอายุ ภาวะพึ่งพิงก็คือคนที่ต้องได้รับ การดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว บอกว่าผลงานดีเลิศวิลิศมาหรามาก ดูแลอยู่ ๓๕๔,๐๐๐ คน จาก ๓๘๑,๐๐๐ คน เป็นเปอร์เซ็นต์ครอบคลุม ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่พอผมลองแง้มดูสถิติผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่อายุเกิน ๖๐ ปีมานิดหนึ่ง มันมีอยู่ตั้ง ๗๒๐,๐๐๐ กว่าคนไม่ใช่หรือครับ หายไปไหนตั้งครึ่งหนึ่ง คือเอาสถิติแค่เฉพาะ คนที่ลงทะเบียนมาโชว์เพื่อให้ตัวเลขนั้นมันดูดี แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงคนที่ยังตกหล่น จากระบบไปด้วย เราต้องดูด้วยว่าเรานั้นดูแลทุกคนอย่างครอบคลุมได้หรือไม่ และทุกคน เข้าสู่ระบบได้หรือไม่ แบบนี้จะเรียกว่าสำเร็จได้อย่างไร ไหนจะผลงานเรื่องของการทำ Public Health Record ที่เน้นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น พวกโรคเบาหวาน โรคความดันสูง ที่เริ่มทำที่เขตสุขภาพที่ ๑๒ เป็นจังหวัดทางแถบภาคใต้ แต่ทำไมอยู่ ๆ มันมีแถบบุรีรัมย์ เข้ามาด้วยอีก ๑ จังหวัด ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วย ๒ โรคนี้ไม่ได้เยอะอย่างมีนัยสำคัญอะไรที่บุรีรัมย์ ไม่ทราบว่าที่นี่เป็นบ้านของใคร ทำไมต้องแอบแถมมากับเขาด้วย ปฏิวัติวงการกันสุด ๆ ไปเลย

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมขอสรุปเลยแล้วกันนะครับท่านประธาน เราเสียเวลาไปเปล่า ๆ ๕ ปี อย่างไร้ประโยชน์ เดินเตะฝุ่นฝันใหญ่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ขจัดความเหลื่อมล้ำ แต่สุดท้ายการปฏิรูปนั้นไม่เกิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแค่การปะ ติด ลูบ ขายผ้าเอาหน้ารอด เป้าไหนที่เราเอื้อมไม่ถึงเราก็ปัดทิ้ง แต่มือเราสาวอะไรได้ก็หยิบ ๆ มาโปะ ๆ ให้มันเป็น ผลงาน ทันเวลาส่งการบ้านเฉย ๆ ถ้าจะทำแผนปฏิรูปได้แค่นี้นะครับ ผมนึกภาพออกเลยว่า เราจะพาประเทศไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่เดิมละครับท่านประธาน สำหรับ ๕ ด้านนี้นะครับ ชยพล ขอชนไว้เท่านี้ก่อน ขอขอบคุณท่านประธานและหน่วยงานที่มาชี้แจงครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทย ขอกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจง ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรีอนุชา นาคาศัย แล้วก็ เลขาธิการสภาพัฒน์และคณะที่ได้กรุณามารายงานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรกครับท่านประธาน กระผม ได้อ่านรายงานนี้นะครับ ก็อ่านเหมือนทุก ๆ คน ทุก ๆ ท่าน แต่จำเป็นต้องพูดนะครับ เพราะว่าประเด็นมันไม่เหมือนกัน ฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายที่จะมารายงาน ซึ่งได้สิ้นสุดลง วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ สภาชุดนี้มีโอกาสได้อภิปรายเสนอแนะในเรื่องนี้ และยังเขียนต่อ ว่าได้สรุปผลการดำเนินงานปฏิรูปประเทศแต่ละด้านที่เป็นรูปธรรมบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ แสดงไว้ ให้ขีดเส้นใต้นะครับ คำว่า ที่เป็นรูปธรรมบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ และผมจะชี้ ให้ท่านได้เห็นประเด็นต่อไปว่าเรื่องใดที่ผมเห็นชัด ๆ มันไม่เป็นรูปธรรมตามที่ท่านอ้างไว้ มันเป็นความฝันนะครับ เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มี การประกาศใช้การปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑ นั้น จนถึงวันนี้รวมแล้ว เป็นเวลา ๕ ปี ผมอยากจะขอเรียนกับท่านประธานและพี่น้องประชาชนที่อยู่ทางบ้านว่า ๕ ปีที่ผ่านมานั้นท่านมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงอะไรที่รัฐบาลชุดก่อนทำแล้วเกิดปฏิรูปให้กับ ประเทศนี้ขึ้นบ้างหรือไม่ อย่างไร บางท่านเรียกร้องต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง บางท่านให้คำมั่นสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน แผ่นดินจะงดงามและจะกลับคืนมา หรือแอบอ้าง ต่าง ๆ นานา ขายภาพ ขายฝันต่าง ๆ นานา ผมเห็นว่าที่แท้จริงแล้วเขาแค่หาเหตุผล ในการยึดอำนาจเท่านั้นละครับท่านประธาน

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ผมอ่านรายงานความคืบหน้าด้านการศึกษา พบว่ามีเพียง ๑๐ หน้า ผมจะฉีกแนวออกมาในหมวด ๑๖ มาตรา ๒๕๘ จ การศึกษา มี ๔ อนุมาตรา (๒) บอกว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางด้านการศึกษา ภายใน ๑ ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมเห็นว่า เป็นประโยชน์ ต้องขอชื่นชมในประเด็นนี้ เพราะคณะท่านมีความพยายามเต็มที่ในการที่จะ ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ท่านครับ ใน (๑) (๓) และ (๔) ซึ่งดู Slide ได้ครับ ท่านได้ใช้เวลาตั้ง ๕ ปี ผมยังไม่เห็น ผลสำเร็จของท่านที่เป็นรูปธรรม ที่พี่น้องประชาชนจับต้องได้เลยครับ ยกตัวอย่าง (๑) ท่านบอกว่าให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย มันจริงหรือครับท่าน สิ่งที่ท่านบอกนี่ผมว่ามันสวยงามเหมือนเดินในทุ่งนาบ้านผมเลยครับ ทำไมทุกวันนี้จึงมีข่าวจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ฝากลูกฝากหลานเข้าโรงเรียนกันอยู่เรื่อย ๆ เลยครับ แล้วลูกตาสีตาสา ยายมียายมา ลูกชาวบ้านธรรมดาก็เรียนตามบ้านนอกตามปกตินั่นละครับ วันดีคืนดีก็มีข่าวว่า ผอ. รับเงินใต้โต๊ะ หรือวันดีคืนดีก็มีข่าวทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ฟัก ๑ ไร่ ไก่ ๑ ตัวเหมือนเดิม วันดีคืนดี ผอ. โรงเรียนทะเลาะกับประธานกรรมการศึกษา คณะกรรมการศึกษากล่าวหากันว่ากินเงินอาหารกลางวันเด็กครับ เป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา แล้วแบบนี้เด็กบ้านนอก เด็กทั่วประเทศไทยมันจะเอาอะไรไปพัฒนาร่างกาย สติปัญญา และสมองล่ะครับท่าน

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

อีกตัวอย่างหนึ่งใน (๓) นะครับ ได้อ่าน ท่านบอกว่าให้มีกลไกและระบบ การผลิตคัดกรองผู้ประกอบวิชาชีพครู และให้มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท่านครับ ถ้าท่าน เขียนรายงานว่าท่านสามารถปฏิรูปด้านการศึกษาได้สำเร็จนี่แสดงว่าท่านหลอกลวง พี่น้องประชาชนหรือไม่ครับ ที่ผมพูดผมเอาความจริงมาพูดนะครับ ที่ได้เห็นมากับตา ไปหาเสียงรู้ อยู่พื้นที่ก็รู้ ท่านประธานก็รู้ ท่านดูอย่างข่าวประกาศรับครูลูกจ้างชั่วคราว หรือครูอัตราจ้าง ตาม Slide ครับ นั่นละครับโรงเรียนที่เชียงใหม่ประกาศรับบุคคลคัดเลือก เป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งครูจ้างสอน วิชาเอกทั่วไป เงินเดือน ๖,๐๐๐ บาทครับ และอีกโรงเรียนคือจังหวัดนครสวรรค์ โรงเรียนนะครับ ไม่เอ่ยนาม รับสมัครครูอัตราจ้าง วุฒิปริญญาตรี เงินเดือน ๖,๐๐๐ บาท ท่านประธานครับ นี่เอา ๓๐ วันไปหาร ๖,๐๐๐ ได้วันละ ๒๐๐ บาท ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานปกติ เงินไม่พอค่ารถสองแถวไปสอนโรงเรียนด้วย นี่ก็คือมันเป็นปัญหา ผมยังไม่รวม ท่านได้ยินไหมครับว่าโรงเรียนจัดผ้าป่าเพื่อที่ร่วมกับ ชาวบ้าน โดยศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านนอกจัดผ้าป่าเพื่อที่จะเอาเงินผ้าป่าไปจ้างครูสอนเด็ก ยังมีอยู่ครับในประเทศไทย เพราะฉะนั้นมาดูเงินเดือนของคณะกรรมการ นิดหน่อยครับ ก่อนจะหมดเวลา จากการประชุมพบว่าวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ มีการจ่ายค่าตอบแทน คณะกรรมการนี่สำคัญที่ปฏิรูปนะครับ ผมจะเปรียบเทียบระหว่าง ครูลูกจ้างกับคณะกรรมการผู้จะปฏิรูปนะครับว่าปฏิรูปประเทศ เรื่องการศึกษานี่อย่างน้อย ๓๑,๑๖๔,๐๐๐ บาท ยังไม่นับรวมค่าตอบแทนอนุกรรมการนะครับ ซึ่งมีอนุต่าง ๆ ที่จะให้ เขาไปทำงาน ทำการเขียนมาเป็นตัวเลข ทีนี้ลองเอาเบี้ยประชุมของคณะกรรมการปฏิรูป ประเทศ เพียงแค่ ๓ ปี รวม ๓๑ ล้านบาท มาหารด้วยค่าจ้างครู ๖,๐๐๐ บาท ค่าจ้างครู ลูกจ้างจะได้ถึง ๕,๑๙๔ เดือน หรือจ้างครูลูกจ้างได้ ๕,๑๙๔ คนครับ ผมจึงสรุปให้ ท่านประธานได้ทราบง่าย ๆ นะครับว่าการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามันล้มเหลว เพราะคนเขียนไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้เขียน เหมือนรัฐธรรมนูญครับ คนร่างไม่ได้เล่น คนเล่นไม่ได้ร่าง ในส่วนรายงานนี้เขียนเพียงเพื่อรายงานสภาตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ผมไม่ได้ว่าพวกท่าน ท่านมารายงาน ผมว่าในโครงสร้างของประเทศนี้ ผมขอถามท่านประธานผ่านไปยัง คณะปฏิรูปประเทศว่าปฏิรูปกันอย่างไรตั้ง ๕ ปี ท่านมัวทำอะไรกันอยู่ครับ ขอกราบ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่าน คุณคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ แล้วก็ ท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ๓ ท่านต่อไปนะครับ เชิญท่านคงกฤษก่อนครับ

นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่นต้องขออนุญาตกราบขอบพระคุณทางสภาพัฒน์ หรือสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันนี้ทางท่านเลขานุการซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ชุดนี้การปฏิรูปนะครับ ก็เป็นฉบับหนังสือที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนอยู่หลาย ๆ ประการ

นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตไปที่ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ที่มีการกำหนดให้มีการขจัดอุปสรรค และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒ ได้รับ ความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดระนอง สิ่งที่สำคัญที่สุดสมัยที่ผมดำรงตำแหน่ง เป็นผู้บริหารท้องถิ่น มีคณะของ ครม. สัญจรชุมพรและระนอง ลงไปเมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ไปดูเกี่ยวกับท่าเทียบเรือของฝั่งจังหวัดระนองหรืออันดามัน ซึ่งเป็น ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ท่านประธานครับ ท่าเทียบเรือนี้ได้ก่อสร้างมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่มีการปฏิรูป ยังไม่มีการก่อสร้างให้มีผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดระนอง อย่างมากก็ได้แค่เฉพาะการเข้ามาขนส่งสินค้าในระดับกลาง ท่านประธานที่เคารพครับ หลังจากนั้นได้มีรัฐบาลยุคของท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงคมนาคม ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งท่านได้เล็งเห็นถึงความตั้งใจ ถึงแนวทางว่าวันนี้ในด้านเศรษฐกิจที่จะพัฒนาในเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีความเจริญและมีความทัดเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบ Logistics ก็มีโครงการ ที่เกิดขึ้นนั่นคือโครงการ Landbridge เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ๒ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งใช้ระยะการก่อสร้างทางประมาณ ๘๙.๓๕ กิโลเมตร ประกอบด้วยทางหลวง พิเศษระหว่างเมืองหรือ Motorway ทางรถไฟ ระบบการขนส่งทางท่อและถนนบริการ เป็นทางระดับพื้น ทางยกระดับ และอุโมงค์ในช่วงพื้นที่ของภูเขาครับ

นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้คงต้องฝากไปถึงสภาพัฒน์ ผมทราบดีว่า ท่านทำเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจของ EEC อยู่ และวันนี้ในเรื่องเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของทางภาคใต้นั่นคือ SEC กลุ่มจังหวัดของภาคใต้ทั้งหมด จะได้ประโยชน์จากด้านเศรษฐกิจด้านนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ในสิ่งหนึ่งนะครับ ที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าจะมีแนวทางของ Landbridge ที่การก่อสร้าง ทำออกมาแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาประกอบด้วยการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึก ๒ แห่งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ๒. การเชื่อมต่อทางเรือทั้ง ๒ แห่ง โดย Motorway รถไฟและท่อส่งน้ำมันที่ผมนำเรียนเมื่อสักครู่นี้ ๓. การพัฒนาพื้นที่ ความได้เปรียบของ เชิงยุทธศาสตร์ในครั้งนี้นะครับ จากตำแหน่งภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางของ ASEAN เป็นประตูการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศ ในภูมิภาค ASEAN รวมถึงตอนใต้ และช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลกด้วย ความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ในส่วนนี้ได้เปรียบในเรื่องของตำแหน่ง ที่ตั้งของโครงการด้วย ช่วยลดระยะทางและลดเวลาการขนส่ง เดิมทำให้ประหยัดต้นทุน การขนส่ง ๓. ตรงนี้ก็มีการได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าของน้ำมันและในภูมิภาค ต่าง ๆ ข้อมูลของการขนส่งสินค้าและน้ำมัน พบว่าปริมาณของเรือที่ขนส่งตู้สินค้า และเรือที่ขนส่งน้ำมันนี้ในปัจจุบันต้องผ่านช่องแคบมะละกา มีประมาณ ๘๕,๐๐๐ ลำต่อปี ในขณะที่ช่องแคบมะละกาสามารถรองรับได้ ๑๑๒,๐๐๐ ลำต่อปี โดยอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ปริมาณเรือทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒๘,๐๐๐ ลำต่อปี ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าในส่วนนี้ มีการก่อสร้างและประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มี Landbridge เกิดขึ้นทั้ง ๒ ฝั่ง ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ย่นระยะทางได้ถึง ๔ วันเต็ม ๆ ท่านรัฐมนตรี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ท่านได้ตั้งงบประมาณในการศึกษา รับฟังความคิดเห็น วันนี้มี สนข. ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร วันที่ ๑๖ วันที่ ๑๗ วันที่ ๑๘ พรุ่งนี้วันที่ ๑๘ ที่จังหวัดชุมพร ท่านประธานที่เคารพครับ นี่คืออีกหนึ่ง ที่ทางท่านหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยของผม ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านก็ได้ทำนโยบายนี้นั่นคือ นโยบายของ Landbridge ที่ท่านได้ลงไปหาเสียงในภาคใต้ไว้ว่าวันนี้เศรษฐกิจที่จะเติบโตได้ ระหว่างประเทศจะต้องให้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ นั่นคือการก่อสร้าง Landbridge ให้เกิดขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะทำให้ ๒ ฝั่งอันดามันหรือฝั่งอ่าวไทยนี้สามารถ สร้างเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนได้ ก็คงฝากท่านประธานไปถึงทางสภาพัฒน์นะครับ อยากให้นำเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบการขนส่งทั้ง ๒ ฝั่ง อันดามัน และฝั่งอ่าวไทยนี้ช่วยพิจารณาให้ต่อยอดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจต่อไป ขอกราบขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไป ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ ครับ

ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาตท่านประธานอภิปรายรายงาน ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๘ ด้านกีฬา ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ โดยแผนแม่บทที่ ๑๔ มุ่งส่งเสริมการใช้กิจกรรมกีฬาและนันทนาการบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างสุขภาวะของพี่น้องประชาชนอย่างครบวงจรและมีมาตรฐาน การสร้างวินัยนักกีฬา มีน้ำใจนักกีฬา การใช้กีฬาและนันทนาการในการพัฒนาจิตใจ สร้างความสามัคคีของคนในชาติ หล่อหลอมความเป็นพลเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศและสู่ระดับอาชีพ จากรายงานของ สภาพัฒน์ การประเมินในปี ๒๕๖๕ บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น มีน้ำใจนักกีฬา มีวินัย เคารพกติกา และจากรายงานคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๗๐ ประเทศไทย อยู่ในระดับวิกฤติในการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยระบุว่าคนไทยบางส่วนไม่ได้รับ การสนับสนุนและการส่งเสริมออกกำลังกายด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงกิจกรรม ด้านกีฬาที่ครอบคลุมพื้นที่ทุกกิจกรรมกีฬา รายงานดังกล่าวยังระบุว่านักกีฬาไทยประสบ ความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติอยู่ในลำดับที่ ๗ ของเอเชีย ภาพรวมนักกีฬาไทย ที่ประสบสำเร็จระดับเอเชียมีแนวโน้มลดลงเช่นกันครับท่านประธาน จากรายงาน ของแผนแม่บทที่ ๑๔ ศักยภาพกีฬาของชาติไทย ซึ่งผมเองในฐานะเป็นนายกสมาคมกีฬา แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นตัวแทนของนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดมีความสำคัญที่สุดครับท่านประธาน เพราะเป็นแหล่งต้นทาง ในการผลิตและสร้างนักกีฬาจากท้องถิ่นสู่ระดับจังหวัด สู่ระดับชาติ กรณีของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเริ่มจากการแข่งขันกีฬาตัวแทนคัดภาคไปยังการแข่งขัน ระดับชาติก็คือการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ กีฬาคนพิการแห่งชาติ และกีฬาอาวุโสแห่งชาติ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดทุกจังหวัดได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดตามพระราชบัญญัติกีฬา พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง นับวันยิ่งน้อยลง ผมขอยกตัวอย่างการสนับสนุนงบประมาณ จากภาครัฐ โดยสำนักงบประมาณและการกีฬาแห่งประเทศไทยในปี ๒๕๖๕ สมาคมกีฬา แห่งจังหวัดทุกจังหวัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐทั้ง ๗๗ จังหวัด รวมเป็นเงิน ๖๗ ล้านบาท เฉลี่ยให้ทุกจังหวัดตามตัวชี้วัดของการกีฬาแห่งประเทศไทย สนับสนุน งบประมาณลดหลั่นกันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสมาคมกีฬา แห่งจังหวัดในการสร้างนักกีฬาทีมจังหวัด ซึ่งค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนี้สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด ต้องไประดมทุนหางบประมาณจากภาคเอกชนมาสนับสนุนเพิ่มเติม กรณีของสมาคมกีฬา แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องระดมหางบประมาณจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาจังหวัดปีละหลายล้านบาท นอกจากนั้นสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดได้รับ การสนับสนุนส่งเสริมจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติอีกส่วนหนึ่ง ในการพัฒนากีฬา แต่ละจังหวัดตามความสำคัญและชนิดกีฬาที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยผ่าน Board กองทุน ต้องขอขอบคุณประธาน Board กองทุนและผู้จัดการกองทุนที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ ให้แต่ละจังหวัด แต่ในปี ๒๕๖๖ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัดไม่ได้รับงบประมาณ จากการกีฬาแห่งประเทศไทยเหมือนปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ ซึ่งขณะนี้ทางการกีฬา แห่งประเทศไทยแจ้งมาว่างบประมาณการสนับสนุนในปี ๒๕๖๖ สนับสนุนได้เพียง ๔๐ ล้านบาท เฉลี่ยกันไปทั้ง ๗๗ จังหวัด ซึ่งต่ำกว่าปี ๒๕๖๕ จำนวน ๒๕ ล้านบาท และที่เป็นปัญหาที่สุดก็คือการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า จนถึงบัดนี้ล่วงเลยมาเป็น ระยะเวลา ๑๐ เดือนแล้วเกือบจะสิ้นปีงบประมาณ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดยังไม่ได้รับ เงินจัดสรรงบประมาณ แล้วกีฬาชาติจะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไรครับท่านประธาน เรื่องนี้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยแจ้งมาว่าจะจัดสรรงบประมาณให้เสร็จสิ้นภายใน เดือนสิงหาคมนี้ สิ่งที่ผมอภิปรายจึงสอดคล้องกับรายงานตามแผนแม่บทที่ ๑๔ ศักยภาพ ด้านกีฬา รายงานดังกล่าวได้คาดการณ์ไว้ว่านักกีฬาทีมชาติไทยจะประสบความสำเร็จ ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จน้อยลง ผมไม่แน่ใจว่า สักวันหนึ่งนักกีฬาทีมชาติไทยจะประสบความสำเร็จน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN หรือไม่ หากการสนับสนุนงบประมาณและการบริหารจัดการทำได้เพียงเท่านี้

ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ดังนั้นวิธีการแก้ไขก็คือการกีฬาแห่งประเทศไทยต้องสนับสนุนงบประมาณ อย่างจริงจัง แล้วก็ให้แต่ละจังหวัดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สนับสนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัด เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อมของนักกีฬาและผู้ฝึกสอนระหว่างเตรียมตัวไปแข่งขันในรายการ ต่าง ๆ สนับสนุนงบประมาณที่พักนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน เช่น โรงแรม หรือที่พัก ที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนค่าเดินทางโดยสารที่สะดวกมากขึ้นเช่นสายการบิน สนับสนุน งบประมาณเงินรางวัลแต่ละจังหวัดให้แก่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ กีฬาคนพิการแห่งชาติ และกีฬาอาวุโสแห่งชาติ โดยเท่าเทียมกัน สนับสนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัดในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ฝึกซ้อม ที่ทันสมัย ถูกต้องตามชนิดกีฬาระดับนานาชาติ สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดพัฒนาด้าน วิทยาศาสตร์การกีฬาเท่าเทียมกับนานาชาติ สนับสนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัดจัดอบรม ผู้ฝึกสอน อบรมผู้ตัดสิน สนับสนุนผู้ฝึกสอนจากต่างประเทศ ในประเทศ ที่มีความสามารถ สู่ท้องถิ่นระดับจังหวัด สนับสนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัดจัดหาชุดฝึกซ้อมและชุดแข่งขัน และสุดท้ายครับ สนับสนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัดในการรักษาพยาบาล ประกันภัย นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุน อย่างจริงจัง และงบประมาณแต่ละจังหวัดก็ใช้ไม่มาก ผมเชื่อว่านักกีฬาทีมชาติไทยไม่แพ้ ชาติใดในโลกครับท่านประธาน ขอขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ เชิญครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตมีนบุรี และเขตสะพานสูง พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านประธานนะครับ วันนี้ อ.เอทขออนุญาต มาคุยการอภิปรายเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษานะครับ ซึ่งการปฏิรูปประเทศวันนี้มันมาจาก Article ของ ๒๕๗ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของ การมีอุปสงค์หรือจุดประสงค์อยู่ประมาณ ๓ จุดประสงค์เท่านั้นเอง ก็คือ ๑. ทำให้ประเทศ ของเราเป็นประเทศที่มีความสุขขึ้น จุดประสงค์ที่ ๒ ทำให้ประเทศของเราหรือประชาชน ของเรามีความเสมอภาค และจุดประสงค์ที่ ๓ ทำให้ประเทศของเราหรือประชาชนของเรา มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาแบ่งออกเป็นการทำงาน ๕ Big Rock ด้วยกันนะครับ และใน Big Rock อันนี้แบ่งออกเป็น ๔ ประเด็นย่อย ๆ ซึ่งวันนี้ อ.เอทขออนุญาตมาพูดถึง ๔ ประเด็นย่อยที่จะให้ทุกท่านได้ฟังกันในวันนี้นะครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เรื่องของการพัฒนาเกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ หรือปฐมวัยของเรา การพัฒนาปฐมวัยของเราแน่นอนครับก็คือตั้งแต่ ๐-๖ ขวบ สิ่งที่เกิดขึ้นของการพัฒนา ปฐมวัยครับ ตามรายงานเล่มสีส้มชัดเจนมากครับว่าเรามีการให้ทุนของเด็ก หรือมีการให้ การศึกษาของเด็กที่เป็นปฐมวัยประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนด้วยกัน ซึ่งเด็ก ๆ ๕๐,๐๐๐ คน ประกอบไปด้วยโรงเรียนกว่า ๓๐,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศไทย และใน ๓๐,๐๐๐ แห่งนี้ ในเล่มสีส้มนี้ยังเขียนชัดเจนครับว่าเป็นการให้ทุนหรือให้เด็ก ๆ ได้มีการศึกษาถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทีนี้ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ฟังแล้วก็ดูดี อ.เอทก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับพื้นที่ ของ อ.เอทเองนะครับ พอไปคุยกับพื้นที่ ศพด. สิ่งที่ค้นพบประเด็นแรกเลยครับ สิ่งที่ ๑ เลย ก็คือเด็ก ๆ ยังขาดทุนการศึกษาอีกมากที่ยังไม่สามารถจะเข้าสู่การเรียนได้

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ก็คือเรื่องของการที่ผู้ปกครองเหล่านั้นจะต้องเสียอีกเดือนละ ประมาณ ๕๐๐ บาทต่อเดือน ในการที่จะเข้าไปให้บุตรหลานตัวเองได้มีโอกาสร่ำเรียน ในศูนย์เด็กเล็ก และอีกประเด็นหนึ่งก็คืออันนี้ต้องขีดเส้นใต้ครับ รัฐมีการสนับสนุน ๖๐๐ บาทเป็นค่าครุภัณฑ์ต่อปีให้กับเด็ก ๑ คนในแต่ละศูนย์เด็ก ซึ่ง ๖๐๐ บาทต่อปีตรงนี้ ก็ยังเป็นประเด็นที่ลำบากแล้วแต่มีอีกจุดหนึ่งครับ ประเด็นหรือจุดที่ ๔ ที่เราอยากจะเล่า ให้ฟังในวันนี้ก็คือคุณครูครับ คุณครูที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก คุณครูแต่ละท่านไม่มีสวัสดิการ ขาด ๑ วันก็โดนหักเงินประมาณ ๗๐๐ กว่าบาทนะครับ คุณครูขาดกำลังใจและขวัญอย่างยิ่ง ในการที่จะทำงาน ในการที่จะสอนเด็กของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม แบบนี้ถามว่ามันตรงกับ จุดประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีความสุขไหมครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ที่อยากจะแนะนำหรืออยากที่จะพูดคุยในวันนี้ก็คือเรื่องของ งบประมาณ แน่นอนครับงบประมาณของทางภาครัฐได้จัดให้กับเด็ก ๆ ๖๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งในปี ๒๕๖๔ ได้มีการนำเสนองบประมาณนี้ให้กับเด็ก ๆ กว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐ ราย ในปี ๒๕๖๔ ถามว่าจะดีกว่านี้ไหมครับ ถ้าเราเอางบประมาณเหล่านี้เป็นการลงทุนเพื่อที่จะ สร้างพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ ได้มีการเรียนรู้นะครับ เป็นการลงทุนกับโครงการอาหารกลางวัน ของเด็ก ๆ ที่เต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ แล้วก็เอาไปลงทุนกับเรื่องครุภัณฑ์ สื่อการเรียน การสอนต่าง ๆ ของเด็กให้สามารถที่จะแข่งขันกับโลกใบนี้ได้นะครับ นี่คือประเด็นที่ ๒ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเป็นศูนย์เด็กเล็ก

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ เป็นประเด็นของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาครับ ท่านประธาน การพัฒนาบุคลากรทางด้านการศึกษา สิ่งแรกที่ อ.เอทเห็นจากการรายงาน ของปฏิรูปเล่มนี้ชัดเจนมากครับ เขาเขียนว่าเขามีการนำคุณครูหรือบุคลากรไปอบรม ประมาณ ๒,๕๐๐ ท่าน ซึ่งตรงนี้เป็นเชิงปริมาณอย่างชัดเจนครับ แต่คุณครูจริง ๆ แล้ว เราน่าจะมีประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ท่านถูกไหมครับ และด้านเชิงคุณภาพไปอยู่ตรงไหน ตรงนี้ ฝากท่านประธานด้วยนะครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร เรามีการทำ เขาเรียกว่า ทำดี DPA ในเล่มนี้เขียนนะครับว่า DPA ก็คือเรื่องของการใช้ Digital Performance Appraisal เป็นการประเมินคุณครูครับ โดยเน้นสุดท้ายครับ เป็นการเน้นเอกสาร อย่างมหาศาลอีกคำนะครับ ขีดเส้นใต้อีกคำครับ เน้นเอกสารอย่างมหาศาล ทำให้คุณครู ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตกับเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็ก ๆ ก็คงจะไม่มีความสุขแน่นอน และมีการทำ Test ให้กับการเพิ่มสมรรถภาพครู โดยการให้คุณครูไปทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาไทย วิชาการทำสื่อ ต่าง ๆ เหล่านี้ครับ อ.เอทขอถามครับว่าถ้าเป็นคุณครู วิชานาฏศิลป์และไปทำข้อทดสอบอันนี้ แล้วเกิดได้คะแนนน้อยในวิชาภาษาอังกฤษ หรือในวิชาภาษาไทย ถามว่าคุณครูนาฏศิลป์ท่านนี้จะมีประสิทธิภาพในการสอนวิชา นาฏศิลป์ไหมครับ สิ่งเหล่านี้อยากจะให้เห็นการทดสอบที่เป็นมาตรฐานและใช้วัดผล ประสิทธิภาพของคุณครูในทุกสาขาวิชาได้อย่างชัดเจน

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และประเด็นสุดท้ายครับ ประเด็นที่ ๖ นั่นก็คือเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงเฉพาะกับผู้เรียนตรงนี้สำคัญครับ เพราะเราใช้เรื่องของ PISA PISA คือ Performance International Student Assessment เป็นการวัดค่าของเด็ก ๆ ซึ่งอยู่กับ องค์กร OECD มีสมาชิกอยู่กว่า ๓๘ ประเทศ และเขาได้จัดทำการสอบอันนี้ทั้งหมด ๗๙ ประเทศด้วยกัน รวมเด็กทั้งหมด ๖๐๐,๐๐๐ คนทั่วโลก มาสอบทั้งหมด ๓ วิชาครับ วิชาแรกก็คือวิชาการอ่าน วิชาที่ ๒ คือวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาที่ ๓ คือวิชาด้านวิทยาศาสตร์ ท่านครับ ใน ๓ วิชานี้เด็กอายุ ๑๕ ปี ของประเทศไทยได้เข้าร่วมการสอบด้วยครับ เขาจะมี การสอบทุก ๆ ๓ ปี ประเทศที่ ๑ เดาได้ไหมครับ จีนครับ ประเทศที่ ๒ สิงคโปร์ ประเทศที่ ๓ ไม่เกี่ยวข้องกับของเรา ไทยยังไม่ถึงนะครับ ถ้าเป็นอันดับ ๕ คือญี่ปุ่น และอันดับที่ ๖ คือ เกาหลีใต้ ของไทยถ้าเป็นการอ่านเราอยู่อันดับที่ ๖๖ จาก ๗๘ ถ้าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เราอยู่ที่อันดับ ๕๖ จาก ๗๙ และคณิตศาสตร์เราอยู่อันดับที่ ๕๒ ซึ่งตรงนี้ถามว่าการปรับปรุง โครงสร้างหรือปรับปรุงหลักสูตรของเรามีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง รวมไปถึงเรื่องของเด็ก ๆ ที่เป็นอาชีวะ เรามีการทำให้เด็กที่เป็น อาชีวะไปเซ็น MOU กับต่างที่มากมาย สิ่งที่เกิดขึ้น คืออะไรครับ คุณครูเหล่านั้น หรือองค์กรเหล่านั้นเซ็นกันถึง ๖๕,๐๐๐ สถาบัน สิ่งที่เกิดขึ้น คืออะไร อ.เอทก็ได้เข้าไปถามท่าน ผอ. ท่านหนึ่งครับ ท่าน ผอ. บอกว่าเราเซ็นเยอะก็จริง แต่เรื่องของการปฏิบัติแทบไม่มี อันนั้นส่วนมากครับ ผมก็เลยถามว่าท่านขยันเซ็นแต่ท่าน ไม่ขยันทำนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และประเด็นสุดท้ายครับ อย่างที่บอกว่าเรามีเรื่องของคำว่า Life Long Learning การเรียนรู้แบบตลอดชีพ ตรงนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรครับ สามารถเอาเครดิตมารวม แล้วสามารถที่จะเอาไปเป็นเรื่องของเปรียบเทียบคุณวุฒิจบปริญญาได้ต่าง ๆ นานา สิ่งตรงนี้ ที่ขาดไปก็คือว่าอยากที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ การศึกษาดีนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำ ที่ลดลงนำไปสู่โอกาสในการทำงาน โอกาสการทำงานที่มากขึ้นนำไปสู่รายได้ที่มากขึ้น และสุดท้ายครับ เมื่อรายได้มากขึ้นประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองมากกว่านี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านกิตติ์ธัญญา วาจาดี ตามด้วยท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ แล้วก็ท่านมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ๓ ท่านนะครับ เชิญท่านกิตติ์ธัญญา วาจาดี เชิญครับ

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขตเลือกตั้งที่ ๔ อำเภอวารินชำราบ และอีก ๓ ตำบลของอำเภอสำโรง คือตำบลสำโรง ตำบลโคกก่อง และตำบลบอน ท่านประธานคะ จากรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานแผนปฏิรูป ประเทศฉบับปรับปรุง ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๑๘ เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นรายงานฉบับครั้งสุดท้าย กรอบระยะเวลา สิ้นสุดที่ปี ๒๕๖๕ ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้นะคะ

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ด้านกฎหมาย หน้า ๔๓ การรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ซึ่งกำหนดให้รัฐรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ทาง ครม. มีมติให้จัดรับฟัง ความคิดเห็นผ่าน Website เพียงแค่ ๑๕ วัน ซึ่งดิฉันถือว่าระยะเวลาเพียง ๑๕ วัน ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทำความเข้าใจกับเนื้อหา หรือยังไม่เพียงพอที่ประชาชน จะทราบถึงผลกระทบจากรัฐธรรมนูญสู่ประชาชนแบบไหน อย่างไร

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๒ การแก้ไขระเบียบบางเรื่องเช่น หลักเกณฑ์จ่ายเงินผู้สูงอายุ ทางภาครัฐ ควรจะประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ การที่จะลดเงินของประชาชนนั้นคุณมีระบบ ในการลดอย่างไร ระบบครอบคลุมถึงการคัดกรองหรือไม่ ระบบการคัดกรองมีคุณภาพ หรือไม่ ส่วนการรับเบี้ยยังชีพหรือไม่รับเบี้ยยังชีพ ควรให้ประชาชนผู้ได้ผลกระทบเป็นคน เลือกค่ะ ประชาชนที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติ และมีรายได้ที่สูงอยู่แล้วเขาจะรับหรือไม่รับ ให้เขาเป็นคนตอบดีกว่า ดีกว่าตัดสิทธิเขาโดยที่ประชาชนมารู้ทีหลังแล้วช็อกค่ะ

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ หน้า ๖๕ การสร้างเกษตรให้มีมูลค่าสูง ท่านประธานคะ แต่ที่ผ่านมาดิฉันเห็นราคาของสินค้าทางการเกษตรไม่สูงค่ะ แต่ลงเหวค่ะท่านประธาน กลับกันค่ะ สิ่งที่ทำให้ราคาสูงคือต้นทุนของการผลิตการเกษตร เช่น ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ทำให้ประชาชนชาวเกษตรกรแบกรับภาระตัวนี้ ดิฉันคิดว่าการวางแผนตัวนี้ ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งค่ะ เพิ่มมูลค่าทางการเกษตรโดยการขยายแหล่งน้ำ ยกตัวอย่าง ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปี ๒๕๖๖ ได้มีการขอทำฝนเทียมจากกรมฝนหลวงไปตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ นั่นหมายถึงว่าการกระจายการทำฝนเทียม หรือท่านจะบอกว่าทำแหล่งน้ำให้เพียงพอ มันไม่ตรงจุดประสงค์ที่ท่านทำเพราะอุบลราชธานี เวลาน้ำแล้ง แล้งมาก แต่เวลาน้ำท่วมชื่อเสียงโด่งดังท่วมอยู่ถึง ๓ เดือน นี่คือการระบายน้ำ ที่แย่ที่สุดและเป็นการกระจายน้ำที่โหดร้ายที่สุด ท่านประธานคะ ดิฉันมองว่าการที่เราจะมา แก้ไขปัญหา คนที่ทำเรื่องแก้ไขนี่ควรจะเป็นคนที่มากประสบการณ์และช่ำชองในการทำงาน ในพื้นที่ในการแก้ แต่ทีนี้ดิฉันมองแล้วว่าสิ่งที่เขียนมามันเป็นเพียงแค่นั่งเทียนเขียนมา แต่ดิฉันไม่ได้ว่าท่านที่มาชี้แจงนะคะ ดิฉันกราบขอบพระคุณท่านที่ท่านเดินทางมาให้ความรู้ แล้วก็ชี้แจงในสภานี้ แต่ดิฉันเพียงแค่ขอกล่าวและอภิปรายเอาไว้ว่าสิ่งที่ทำออกมาแล้ว ไม่ได้สัมฤทธิผลค่ะ

นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งสำคัญมากที่สุด เรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชน จากหน้า ๗๕ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนหลายคน โดยเฉพาะอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ซับซ้อน พื้นที่สาธารณะที่พี่น้อง ประชาชนได้ไปทำนาทำไร่ หรืออาศัย อยู่กันมาชั่วนาตาปีค่ะท่านประธาน แต่โดนภาครัฐ ฟ้องร้องหรือไม่มีสิทธิ ไม่มีเอกสารที่ดินใด ๆ ที่จะแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ทำให้พี่น้อง ประชาชนอยู่แบบทำมาหากินไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าจะลืมตาอ้าปากหมดหนี้หมดสินได้เมื่อไร ดิฉันขอฝากเอาไว้ค่ะ ช่วงนี้เป็นช่วงของสุญญากาศ หากเราได้รัฐบาลมืออาชีพในด้านเศรษฐกิจ พลิกฟื้นวิกฤติความจนของประชาชนให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ดิฉันมองว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้พี่น้องประชาชนหายจน หายเจ็บ ดิฉันขอฝากเอาไว้ค่ะ ขอสรุปว่าแม้การดำเนินงาน ในรายงานความคืบหน้าที่จะถูกตีกรอบไปด้วยความสอดคล้องของแผนงานปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ตามรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่การเขียนแผนงานในครั้งนี้ ไม่บรรลุเป้าหมาย และอย่าลืมค่ะ เราทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ แต่แผนงานที่ออกมาตอนนี้ซ้ำเติมประชาชนและประเทศชาติ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดีนะครับ ต่อไปท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ เชิญครับ

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๒ พรรคก้าวไกล พื้นที่อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง ท่านประธานครับ ตามที่ผมได้อ่าน แผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อ้างว่า ได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของผลอันพึงประสงค์ที่กำหนดไว้ ๔ เป้าหมาย วันนี้ ผมจะขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ๒ เป้าหมายครับ

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

เป้าหมายที่ ๑ สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ผมต้องขอขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ ครับ เพื่อลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้อง ประชาชน ผมต้องขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ เพราะอะไรครับ วันนี้ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี ของพี่น้องประชาชนคือปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะภาคเหนือสาหัสมากครับ ในรายงาน ปฏิรูปประเทศช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ หน้า ๗๗ ตามเป้าหมายที่ ๑ ผลลัพธ์ทำให้เกิดการดำเนินการ ๒. การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และ ๓. การดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษ โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขมลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ท่านประธานครับ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากบ้านผม และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ทุกปีต่อเนื่องกันครับ โดยเฉพาะช่วงปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา เรียกว่าคาบเกี่ยวจากรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลที่แล้ว ผ่านมา ๕ ปี รายงานฉบับนี้แจงว่าความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วจากผลลัพธ์ คือร่างกฎหมาย รอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา และยังนั่งจัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนเป็นวาระ แห่งชาติ ๕ ปี อีกทั้งยังเป็นนักรบห้อง Air ที่มีหูแต่ไม่ได้ยิน มีตาแต่มองไม่เห็น ความเดือดร้อน สุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือทดลอง เพื่อรอแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมา ๕ ปี เพิ่งจะกำหนดงาน เพิ่งร่างแผนกฎหมายยังไม่เสร็จรอพิจารณา แล้วมาบอกว่า นี่คือผลลัพธ์จากผลสัมฤทธิ์ของยุทธศาสตร์ชาติอย่างนั้นหรือครับ

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

เป้าหมายที่ ๒ มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ เพื่อลด ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่ง ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างหนังสือ ด่วนที่สุด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งทั่วทุก อบต. เทศบาล อบจ. ทั้งประเทศ เรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ให้ยื่นคำขอภายใน ๑๘๐ วัน ท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ดีใจครับ เร่งรีบทำเอกสารขอใช้พื้นที่ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนวันนี้ปี ๒๕๖๖ แล้วครับ ท่านประธานครับ ขออนุญาตยกปัญหา จังหวัดตากบ้านผมเป็นตัวอย่างครับ สอบถามไปหลายเรื่องทั้งขอสร้างสะพานไม้ที่ชำรุด ในตำบลแม่กุ ขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อขยายเขตไฟฟ้าในตำบลแม่จัน ตำบลแม่กลอง อำเภออุ้มผาง ขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างถนนทดแทนเส้นทางลำลองที่ใช้สัญจรบ้านธงชัย ตำบลด่านแม่ละเมา และที่อื่น ๆ มีเรื่องขอค้างอยู่ ๒,๐๐๐ กว่าเรื่อง ทั้งนี้ด้านสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๔ จังหวัดตาก แจงเบื้องต้นว่าอนุมัติมาแล้วหลายโครงการ แต่บุคลากรในการทำเอกสารนั้น ไม่เพียงพอ ก็ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๖ ๓ ปีครับท่านประธาน ท้องถิ่นต่าง ๆ ก็รอ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่อ้างว่าให้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม อันนี้ขอกันตามกระบวนการนะครับ จากรัฐสู่รัฐใช้เวลา ๓ ปี ท่านเอาเวลาไปทำอะไรครับ อย่างไรก็ตามแผนการทำงานที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนที่เป็น ความบกพร่องในการเดินแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นผมขอกล่าวถึง ๒ ประเด็นครับ สุดท้ายผมขออนุญาตพูดแทนในฐานะผู้แทนที่มาจาก ประชาชนครับ ถนนทุกสาย ไฟฟ้าทุกเส้น สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกคน ควรได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล เชิญครับ

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย จากรายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๘ เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ดิฉันมีความกังวลในเรื่องของด้านเศรษฐกิจ ในรายงานหน้าที่ ๔ ข้อที่ ๒.๑.๖ ซึ่งกล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน ช่วยเหลือเพื่อเกษตรกรในการปรับตัวเองของภาคผลผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า ทางการเกษตร ซึ่งได้พูดถึงกองทุน FTA นับว่ากองทุน FTA มีประโยชน์ต่อการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมถือเป็น อุตสาหกรรมมาตรฐาน โดยสินค้าทางการเกษตรเหล่านั้นเป็นสินค้าขั้นต้น ซึ่งสามารถนำมา ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ผ่านกระบวนการในอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป ขณะเดียวกันการผลิตการเกษตรมีบทบาทอย่างมากในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ของประเทศไทย ถ้าหากพิจารณาตลอดระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๖๒ มูลค่า การนำเข้าสินค้าของประเทศไทยจากประเทศที่มีการจัดทำการตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้น ในภาพรวมอาจจะมีการเติบโตและหดตัวสลับกันไปนะคะท่านประธาน โดยมีอัตรา การเติบโตเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ร้อยละ ๓.๔๓ ต่อปี นอกจากนี้อัตราครัวเรือนที่สามารถ แสดงให้เห็นถึงปริมาณของผู้ที่อยู่ในเกษตรกรรมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมูลค่า การนำเข้าสินค้าการเกษตรจากประเทศไทยไปสู่ภาคีในความตกลงก็เพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับรูปแบบในการให้การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น กองทุนมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ เกษตรกรได้รับผลกระทบในการเปิดเสรีทางการค้าในรูปแบบกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบและเงื่อนไขการสนับสนุนหรือสนับสนุนเงินให้แก่ผู้ที่ ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งเงินจ่ายขาด เงินยืม เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งกองทุน FTA ไม่เพียงแต่ ช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเงินเท่านั้น การดำเนินงานช่วยเหลือซึ่งเทคนิคเป็นหนึ่งในวิธีการ ช่วยเหลือในกรณีที่ได้รับความช่วยเหลือที่มีความพร้อมทางด้านดำเนินงาน แต่ขาดเพียง องค์ความรู้ที่จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ ท่านประธานที่เคารพคะ จากความสำคัญของกองทุน FTA ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นกองทุนที่มีความสำคัญยิ่งต่อเกษตรกร ในการกลับกัน เกษตรกรบางส่วนไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวเลย ยกตัวอย่างเช่นเกษตรกร ผู้ปลูกมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ที่ถูกแย่งแบ่งส่วนการตลาดซึ่งไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน ท่านประธานที่เคารพคะ ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันราคามังคุดเป็นเช่นไร ดิฉันในฐานะ ที่เป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง ในจังหวัดที่มีการปลูกมังคุด ไม่ว่าจะจังหวัดตราดหรือจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ขอกราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพว่าจากการรายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของผลิตผลการเกษตร มังคุดเป็นพืชเกษตรที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งมังคุดนับได้ว่าเป็นราชินีของผลไม้ เหมือนกับทุเรียนที่ได้จัดอันดับเป็นราชาผลไม้ ทุเรียน สามารถปลูกได้ทั่วทั้งประเทศ แม้ประเทศเพื่อนบ้านนะคะท่านประธาน แต่มังคุดมีนิสัย ที่ไม่สามารถอยู่ได้กับพื้นที่ที่มีอากาศไม่เหมาะสม แม้แต่ในประเทศไทย ในจังหวัด นครศรีธรรมราชเองก็ไม่สามารถปลูกได้ทุกอำเภอ ในอดีตมังคุดมีปริมาณมากเนื่องจาก ราคาไม่เคยมีการได้ถูกกำหนดอย่างเป็นมาตรฐานและยั่งยืน เหมือนกับเป็นพืชที่ไม่มีอนาคต พี่น้องเกษตรกรได้โค่นทำลายทิ้งไปเป็นอย่างมากอย่างน่าเสียดาย ซึ่งมังคุดเองใช้เวลาปลูก ยาวนานมาก ๗-๘ ปีถึงจะได้ผล มังคุดจะมีรสชาติอร่อยต้องอายุ ๕๐-๑๐๐ ปีขึ้นไปซึ่งยังมี เยอะแยะมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่ประโยชน์ของมังคุดสามารถใช้ได้ตั้งแต่ เนื้อมังคุด เมล็ดมังคุด และเปลือกที่สามารถไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำครีมและย้อมผ้า ต่าง ๆ ปัญหาของมังคุดนะคะท่านประธาน พืชมังคุดเป็นอาชีพเสริมระหว่างฤดูฝน ซึ่งพี่น้อง เกษตรกรได้มีอาชีพทำยางพาราเป็นอาชีพหลัก เมื่อช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตน้อยของยางพาราก็จะสามารถได้อาชีพเสริมมาเลี้ยงชีพ ของพี่น้องเกษตรกร จึงไม่สามารถที่จะเยียวยาให้ได้ตามที่ควรจะเป็น ท่านประธานที่เคารพ ปัญหาราคามังคุดจึงควรจะมีการแก้ไข ในการกำหนดราคารับซื้อหน้าจุดรับซื้อทุกเช้าควรจะ กำหนดราคา ประกาศราคารับซื้อทุกวัน ควรจะติดป้ายประกาศราคาที่หน้าจุดรับซื้อ ก่อนเวลาที่จะนำส่งในตอนบ่ายซึ่งไม่สามารถรอได้ ตั้งมาตรฐานขนาดผล Grade A B C ให้ได้ราคาที่ถูกคัดกรองไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นมังคุดจึงเป็นพืชที่รอไม่ได้ การเก็บเกี่ยว ยากต่อการผลิตแต่ละผล จึงขอวิงวอนไปยังกระทรวงพาณิชย์ได้โปรดดูแลในเรื่องของ กระบวนการการจัดการราคาขายมังคุดให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และจัดกระบวนการ การเรียนรู้ แจ้งข้อมูลการเข้าถึงกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม จริงจังและจริงใจ เพื่อเตรียมการดำเนินการสร้างผลผลิตในฤดูถัดไป ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก็ถือโอกาสปิดรับรายชื่อนะครับ ท่านสมาชิกที่จะอภิปราย เพราะว่า มีถึง ๕๐ ท่านเยอะมาก ก็เป็นที่น่าสนใจนะครับ อีก ๓ ท่านต่อไป ท่านวิภาณี ภูคำวงศ์ ท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ท่านพชร จันทรรวงทอง ทั้ง ๓ ท่านเตรียมตัวครับ เชิญท่านวิภาณี ภูคำวงศ์ เชิญครับ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๘ พรรคเพื่อไทย อำเภอมัญจาคีรี อำเภอพระยืน อำเภอเมือง ๕ ตำบลค่ะ วันนี้ดิฉันจะมาพูด เรื่องการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๗๐ ด้านสาธารณสุข ซึ่งตามแผนเดิมได้กำหนดกิจกรรม Big Rock ไว้ ๕ กิจกรรม ที่ผ่านมาค่ะท่านประธาน จากผลการดำเนินงานมีบางส่วนที่คืบหน้าและยังมีบางส่วนที่ยังไม่คืบหน้ามากนัก และจาก สถานการณ์ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ทำให้เราได้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้ค่ะ ท่านประธานคะ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นปัญหาหลัก ๆ ของการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าตอบแทน กลับไม่เพิ่มตาม จำนวนหมอต่อประชากรก็ไม่สัมพันธ์กันค่ะ ซึ่งนี่ก็เป็นอีก ๑ สาเหตุที่ทำให้มี อัตราการลาออกเป็นจำนวนมาก เราจึงต้องผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อคงไว้ในระบบพร้อมทั้งดูแล สมดุลชีวิตและการทำงาน รวมถึงค่าตอบแทนและความก้าวหน้าค่ะ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ต่อมาจากหัวข้อ CR07 การบริหารบุคลากรทางสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสาธารณสุข เภสัชศาสตร์ ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ดิฉันจะขอพูดถึงหัวข้อที่ ๒ ค่ะ การปรับหลักสูตรการพยาบาลทั่วประเทศ หลักสูตรการเป็นผู้ฝึกอบรม ผู้บริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในปีการศึกษา ๒๕๖๘ จะมีพยาบาล ที่สำเร็จการศึกษามากกว่า ๑๐,๐๐๐ คนที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยลดงบประมาณ ในการจัดอบรมผู้ฝึกอบรมผู้บริบาล และ Care Manager รายใหม่ด้วย ตอนนี้ประเทศไทย ของเราจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ Medical Hub แต่ยังขาดแคลนบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล และผู้ช่วย เพราะได้รับมอบหมายงานอย่าง Over Load มากค่ะ ท่านประธาน และนี่ก็เป็นอีก ๑ สาเหตุ และ ๑ ปัญหาที่มีพยาบาลจบใหม่จำนวนมาก ที่ยอมใช้ทุนจนหมด หรือชดใช้ด้วยเงินก่อนที่จะลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ที่งานเบากว่า ค่าตอบแทนคุ้มค่ากว่า ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐยังขาดแคลนพยาบาล เป็นจำนวนมากหากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันค่ะ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาค่ะท่านประธาน การยกระดับการบริการด้านสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ประเทศไทยมีปัญหาการเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ อยู่มาก โดยเฉพาะกลุ่มคนจน ผู้พิการ และผู้ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล แม้จะมีหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม แต่การไปหาหมอครั้งหนึ่งกลับเป็นเรื่อง ที่ยากมาก ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่ใส่ใจนะคะ แต่ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ปัญหาปากท้อง รวมไปถึงระยาทางที่เป็นอุปสรรค ซึ่งตอนนี้เรามี ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายของ พรรคเพื่อไทยที่ช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาถึงทุกวันนี้ หากพรรคเพื่อไทยเราจัดตั้ง รัฐบาลแล้ว เราจะยกระดับ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น และดิฉันอยากจะให้มี การผลักดันในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง สามารถให้คำปรึกษากับคุณหมอทาง Online หรือเรียกว่า Telemedicine ณ ตอนนี้จะเห็นในภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ และในทางภาครัฐของเราเนื่องด้วยบุคลากรยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่เห็นผลมากนักค่ะ และอยากให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเตียง และเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยผู้ช่วยพยาบาล ทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ต่อมาค่ะท่านประธาน เมื่อปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากร กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า ๑๒ ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว ๑ ใน ๖ ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ ๒ ในกลุ่มอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคม ผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีจำนวนมากเกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และที่น่าสนใจผู้สูงอายุมีอายุตั้งแต่ ๑๐๐ ปีเพิ่มมากขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ คน อายุของคนไทยจะยืนยาวขึ้น ปัจจุบันมีการเฉลี่ยประมาณ ๗๕ ปี แต่ในปี ๒๕๖๘ อายุของ คนไทยจะอยู่ที่ ๘๕ ปี ยิ่งอายุมากขึ้นทำให้ต้องเตรียมเงินให้มากขึ้นค่ะ และค่ารักษาพยาบาล มีแต่จะแพงขึ้นปีละ ๕-๘ เปอร์เซ็นต์ค่ะท่านประธาน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไปเบียดเบียนเงินเก็บ สำหรับผู้สูงอายุมากที่สุดจึงต้องมีการปฏิรูปค่ะ การบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการบริการระยะยาวในชุมชน สำหรับผู้ป่วยติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ให้มีมาตรฐาน และการบริหารการจัดการอย่างเป็นระบบเดียวค่ะ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

จากที่ดิฉันได้กล่าวทั้งหมดค่ะท่านประธาน ดิฉันมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ผู้สูงอายุ ดิฉันอยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่พบปะเยี่ยมบ้าน เพื่อให้ความรู้ตั้งแต่ ระดับชุมชน ให้ข้อมูลข่าวสารทั้ง Offline และ Online หากชุมชนมีการจัดการบริการเหล่านี้ อย่างเป็นระบบ จะทำให้มีการรับมือดูแลผู้สูงอายุได้ถูกวิธีและดียิ่งขึ้นค่ะ

นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะท่านประธาน ดิฉันอยากจะฝากไปถึงสำนักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุขที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านสุขภาพ ระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่นในการจัดซื้อ จัดจ้างของทางภาครัฐ และการเบิกจ่ายเงินให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ แก่พ่อแม่พี่น้องประชาชนเพื่อความโปร่งใสค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เชิญครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ตเขต ๓ อำเภอถลาง และตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ แผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหาร ราชการแผ่นดิน หน้า ๓๔ ข้อที่ ๑ ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุคใช้ ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในการบริหาร ราชการแผ่นดิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนนั้น เล่มนี้นะครับ ยังพบว่าในส่วนของ การนำเทคโนโลยีในการจัดการแจ้งเตือนและการจัดการกับภัยพิบัติต่าง ๆ ยังไม่มี การดำเนินการใด ๆ ทั้ง ๆ ที่มีการนำเสนอจากเพื่อนสมาชิกจากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในสมัยประชุมที่ ๒๕ ผมจึงขอเสนอให้จัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ฉุกเฉินสำหรับประชาชนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเตือนสภาพอากาศ ที่เสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เช่น พายุ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สึนามิ สารเคมีรั่ว และเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และคำสั่งอพยพ ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือในรูปแบบของเสียง และข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์ โดยข้อความแจ้งเตือนมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถแจ้งเตือนได้ แม้โทรศัพท์จะปิดอยู่ก็ตาม เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีระบบ Wires Emergency Alert ที่จะแจ้งเตือนเวลามีพายุเฮอริเคน หรือพายุทอร์นาโดต่าง ๆ โทรศัพท์จะเสียงดังมาก ๆ แม้ว่าจะปิดเครื่องหรือตั้งสั่นไว้ เช่น ๖ โมงเย็นวันนี้จะมีทอร์นาโดเข้าในพื้นที่ รถไฟทุกสาย จะหยุดวิ่ง ขอให้ทุกคนรีบกลับบ้านหรืออยู่ในสถานที่มิดชิดเป็นต้น ถ้าประเทศเรามีระบบ การแจ้งเตือนนี้ ประชาชนจะได้ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีใครได้รับผลกระทบบ้าง และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนครับ อย่างเช่นในอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดขึ้นใกล้ ๆ กับเกาะภูเก็ตแต่ไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ เลย และระบบการแจ้งเตือนนี้ อาจจะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นระบบการจัดการ เพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ ภัยพิบัติได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วเราอาจจะใช้ระบุตำแหน่ง ที่อยู่ขณะรับข้อความ ในการแจ้งเตือนเป็นการยืนยันที่อยู่ว่าเป็นผู้ประสบภัยจริง โดยไม่ต้องยื่นเอกสาร และลดขั้นตอนการตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น เช่นในปัจจุบันเวลาเกิดเหตุน้ำท่วมหรืออุบัติเหตุทางทะเล เช่นเรือนักท่องเที่ยวล่ม การจัดการภายในให้เครื่องจักรและบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกเผชิญเหตุ ยังล่าช้า ส่งผลกระทบมีความเสียหายบานปลาย โดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัย ของนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตที่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งความปลอดภัยทางด้านทะเล การรับมือกับเหตุการณ์เรือล่ม นักท่องเที่ยวเล่นน้ำ ริมชายหาดแล้วจมหาย ไปจนถึงการลักเล็กขโมยน้อย หรือการทำร้ายร่างกายบนชายหาด หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และยุทธศาสตร์ที่จะให้ภูเก็ตเป็นเมือง Smart City ที่ถูกพูด ในหลาย ๆ เวที แต่ไม่พบว่ามีรูปธรรมในการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นเมือง Smart City ขนาดศูนย์ข้อมูลขาดใหญ่ หรือ Big Data ที่ทาง DOPA ภูเก็ตพยายามผลักดันก็เงียบไป ทั้ง ๆ ที่ภูเก็ตมีพื้นที่ขนาดเล็ก สามารถนำร่อง สามารถทำให้เป็นเมืองต้นแบบได้ง่ายด้วยซ้ำ ผมจึงขอเสนอให้มีระบบความช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่นปุ่มฉุกเฉินที่ติดตั้งบริเวณชายหาดต่าง ๆ ในน้ำตก สวนสาธารณะ หรือจุดอับสายตาเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อขอความช่วยเหลือ นักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุได้ เพราะด้วยความตกใจและไม่รู้ว่าตอนนี้ อยู่ตรงไหน การแจ้งเตือนด้วยระบบดังกล่าวจะทำให้รู้จุดที่เกิดเหตุ ระบบ Super App ที่เป็นเหมือน One Stop Service หรือเป็น Application กลางที่รวมรับการแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นแจ้งประสบอุบัติเหตุ การได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย บุคคลและทรัพย์สินสูญหาย ไฟไหม้ งูเข้าบ้าน เป็นต้น หรือเหตุด่วนเหตุร้ายต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร หรือหน่วยงานไหน โทรศัพท์เบอร์อะไร

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ เช่นการคัดกรองอาชญากรข้ามชาติออกจากนักท่องเที่ยวที่ปลอมตัวเข้ามาในเมืองท่องเที่ยว ต่าง ๆ เช่นจังหวัดภูเก็ตที่ปล่อยให้มีมือปืนรับจ้าง เจ้าพ่อค้ายาแฝงตัวเข้ามาในนามนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวมากมาย ทั้ง ๆ ที่บางคนก็มีหมายจับแล้วด้วยซ้ำ จนภูเก็ตเกือบจะเป็นเกาะ ที่เหล่า Mafia ข้ามชาติอาศัยอยู่ สภาพปัจจุบันยังไม่สามารถสกัดกั้นอาชญากรเหล่านี้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ไหนจะยาเสพติดที่เข้ามาในจังหวัด ทั้ง ๆ ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะเล็ก ๆ มีช่องทางการเข้าเกาะเพียง ๓ ทางเท่านั้น ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ ปัญหาคือเมื่อรัฐบาลปล่อยให้มีอาชญากรข้ามชาติเข้ามา แสดงว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไม่เพียงพอและยังล้าหลัง เราจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าคุณยังปล่อยให้สภาพเป็น แบบนี้ อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดจะแสดงให้เห็นได้ว่าปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือจัดทำการบริการสาธารณะ ได้จริง ส่งผลให้ยังเกิดปัญหาขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ทั้ง ๆ ที่ภูเก็ตมีแค่ ๓ อำเภอ มีพื้นที่เพียง ๕๗๐ ตารางกิโลเมตร ยังไม่สามารถจัดการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพอย่างมีประสิทธิผลได้ แล้วเราจะหวังอะไรจากการปฏิรูปประเทศอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพชร จันทรรวงทอง เชิญครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย รายงานความคืบหน้าฉบับนี้ถือเป็นการรายงานความคืบหน้า รอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาแผนปฏิรูปได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จากการดำเนินการปฏิรูปประเทศในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมานะครับ เหตุใดคณะกรรมการ จึงมีความคิดเห็นว่าการปฏิรูปทั้ง ๑๓ ด้านนี้ได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญแล้ว โดยกระผมจะขอมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องการศึกษานะครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

จากการที่ผมได้อ่านรายงานฉบับนี้ หน้า ๑๕๕ บอกว่ามีผลสัมฤทธิ์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ อยากจะ ขอสอบถามผ่านท่านประธานไปยังท่านที่มาชี้แจงนะครับว่ามีหลักฐานใดที่เป็นข้อมูล เชิงประจักษ์ที่จะมาสนับสนุนข้อสรุปในรายงานความคืบหน้าฉบับนี้ได้บ้าง เพราะถ้า เทียบกับสภาพความเป็นจริงพบว่ามีข้อสังเกต ๓ ประเด็นดังนี้ครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เพื่อโอกาสในการศึกษาหลาย ๆ ครอบครัวยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายศึกษาด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงโรงเรียน ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในรั้วของการศึกษาได้ อย่างเช่นใน Slide จะเห็นได้ว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมามีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คน และเมื่อวัดความยากจนโดยใช้เส้นแบ่งความยากจน พบว่าจะมีนักเรียน อยู่ในครอบครัวฐานะยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน ๑,๐๐๐ กว่าบาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปีนะครับ ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบได้ตามข่าวสาร ทั่วไปดังเช่นภาพใน Slide นะครับ ขอ Slide ถัดไปครับ จนมาถึงทุกวันนี้ก็ยังพบว่ามีข่าว เกี่ยวกับเด็กที่ครอบครัวยากจนและไม่มีเงินที่จะไปโรงเรียน จนอาจที่จะต้องหลุดจากระบบ การศึกษาต่อไป ซึ่งตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยข้อมูล ล่าสุดพบว่าสูงถึงกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนที่ไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 และหากยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมนะครับ เด็กเหล่านี้จะหลุดออกจากระบบ การศึกษาและตกอยู่ในกับดักความยากจน ซึ่งการดำเนินงานตามเป้าหมายจัดตั้งกองทุน มาตรา ๕๔ วรรคหก เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษา อยากจะขออนุญาตสอบถามการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อ ความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ จากการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้สามารถลด ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เด็กยากจนที่ขาดแคลน ทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้จริงหรือไม่

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดกิจกรรม Big Rock ไว้ ๕ กิจกรรม ซึ่ง ๑ ในนั้นมีกิจกรรมปฏิรูป ข้อ ๓ เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งจากการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมนี้พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการกำหนดเครื่องมือมาตรฐานตัวชี้วัดเพื่อประเมินสมรรถนะหรือความสามารถ ในการจัดการเรียนการสอน แต่ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อระบบค่าตอบแทนให้กับ คุณครู หรือว่าบุคลากรทางการศึกษานะครับ ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาผมยังพบเห็นการเปิดรับสมัครครูอัตราจ้าง โดยให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เพียงไม่กี่พันบาท ดูได้ตาม Website หรือว่าบน Slide ครับท่านประธาน หรืออย่างเช่น ในพื้นที่ของผมนะครับ หลายโรงเรียนในเขตอำเภอสีคิ้วแล้วก็อำเภอปากช่อง ยังต้องมาจัด กิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อเอาเงินที่ได้ในครั้งนี้มาจ้างครูหรือพัฒนาอาคารสิ่งอื่น ๆ ภายใน โรงเรียน และเนื่องจากมาตรฐานชี้วัดและผลประเมินต่าง ๆ ที่มากมายเหลือเกินทำให้คุณครู แค่ต้องมาคอยทำรายงานเหล่านี้ก็ไม่มีเวลาที่จะไปทำอย่างอื่นแล้วครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ การดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนา ด้านมิติเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งไม่สามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ได้จริง เพราะว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็คือความแตกต่าง ทางด้านสถาบันการศึกษา การที่โรงเรียนขนาดเล็กมักจะอยู่ห่างไกลตามชนบท หรือต่างจังหวัด ซึ่งการจัดสรงบประมาณจะจ่ายเป็นเงินอุดหนุนรายหัวดังที่แสดงบน Slide นั่นหมายความว่าหากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดกลางย่อมได้รับงบประมาณ ที่มากกว่า แต่หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็จะได้รับงบประมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นไปตาม สัดส่วนของจำนวนนักเรียน วิธีการเช่นนี้ก็จะส่งผลโดยตรงต่อโรงเรียนที่มีขนาดเล็กที่มีอยู่ ๑,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศไทย จากข้อมูลตาม Slide นะครับ ทำให้โรงเรียนเหล่านี้บริหาร การจัดงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างยากลำบาก ท่านประธานครับ ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพการศึกษา ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคารสถานที่ อาหารกลางวันเด็ก รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การที่ครู ๑ คนต้องรับผิดชอบสอนนักเรียนหลายร้อยคน หรือรับผิดชอบ ๑ คนสอนหลายวิชา หรือการที่เด็กตัวเล็ก ๆ ต้องเดินทางไปโรงเรียนหลายกิโลเมตร บางพื้นที่ต้องเดินผ่านทางลูกรัง หรือว่าข้ามเขา ข้ามดอย กว่าจะได้เจอคุณครูและได้เรียนหนังสือ นี่คือภาพสะท้อนของ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสในการศึกษาของเด็กที่ยากจนในพื้นที่ห่างไกล ยิ่งจะถูกถ่าง ให้กว้างออกไปหลายสิบเท่าของเด็กในเมือง ในขณะที่เด็กในเมืองกำลังนั่งกวดวิชา และสอบแข่งขันเพื่อแย่งที่เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง แต่เด็กนักเรียนที่อยู่โรงเรียนห่างไกล กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพราะความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางด้านการศึกษาถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กที่มีต้นทุนชีวิตน้อย ไม่มีโอกาส ได้เรียนต่อ ทำให้ขาดความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่ดีได้

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

สุดท้ายนะครับท่านประธาน การมีแผนปฏิรูปเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ ทางรัฐบาลปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ให้สำเร็จ หรือหากไม่สำเร็จติดปัญหาอุปสรรคอะไร อยากให้รายงานความคืบหน้า มีแค่ไหนก็รายงาน ขอให้เขียนรายงานความคืบหน้านี้ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงให้ได้มากที่สุดครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านวรายุทธ ทองสุข ท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ท่านว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ เชิญท่านวรายุทธ ทองสุข ครับ

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายวรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะมาอภิปรายรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ โดยประเด็นหลักในรายงานเล่มนี้ที่ผมจะหยิบยกขึ้นมาอภิปราย เป็นประเด็นการปฏิรูป ประเทศด้านการบริหาราชการแผ่นดิน ท่านประธานครับ เหตุผลที่ผมจะต้องหยิบยก ประเด็นนี้มาอภิปราย เนื่องจากการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เลือกตั้งในช่วงเวลากว่า ๓ เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรีจำนวนนับไม่ถ้วนครับ เรียกได้ว่าปัญหาที่ได้รับมามีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เราในฐานะผู้แทนประชาชนปัญหาเล็กน้อยหรือใหญ่โต ถ้าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน เราปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านผู้อภิปราย ขออนุญาตนะครับ คือคำว่า สากกะเบือ นี่ใช้มาตั้งแต่เมื่อวาน เราเปลี่ยนเป็น ไม้จิ้มฟัน ดีไหม ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เพราะว่าดูแล้วมันยังนั่นนะครับ ขอโทษครับ

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ได้ครับท่านประธาน ขอถอนครับ ในฐานะผู้แทนน้องใหม่ ผมทราบดีครับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติ ของประเทศ หน้าที่หลักของเราก็คือออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่ฝ่าย บริหารที่มีอำนาจ มีงบประมาณ ที่จะสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนได้ บทบาทของเราในพื้นที่ได้อย่างมากที่สุดก็คือการประสานงานกับ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ท่านประธานครับ แม้ประสานแล้วก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เช่นปัญหา น้ำประปาที่ตำบลแหลมสิงห์ และบ้านท่าแฉลบ ตำบลบางกะจะ ผมได้มีโอกาสประสานไป กับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ก็พบว่าท้องถิ่นมีความต้องการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ติดขัด เรื่องงบประมาณ มีการประสานงานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคก็ได้คำตอบกลับมาว่าไม่มี งบประมาณเช่นกัน สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวกับท่านประธานก็คือว่านี่คือปัญหาพื้นฐาน ที่ท้องถิ่นมีความตั้งใจแก้ไขแต่ติดข้อจำกัดดังที่กล่าวมา ผู้นำท้องถิ่นหลายท่านที่ผมเจอ เขาก็ทุกข์ใจครับ เขาได้รับเลือกตั้งมาก็อยากแก้ปัญหาให้บ้านตัวเองแต่ก็ทำไม่ได้ ท่านประธานครับที่ผมเกริ่นมาก็เพื่อที่จะโยงมายังรายงานปฏิรูปประเทศฉบับนี้ว่าล้มเหลว อย่างไรในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกระจายอำนาจ ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้อย่างตรงจุดที่สุด ต้องบอกว่าไม่แน่ใจว่าทำไมปัญหาเล็กน้อยของประชาชนหลายเรื่อง ไม่สามารถแก้ไขได้ ปัญหาชั่วคราวกลายเป็นชั่วโคตร เพราะเมื่อผมอ่านรายงานฉบับนี้แล้ว สะท้อนชัดเจนว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเลย เมื่อไปดู ในรายละเอียดยิ่งน่าผิดหวังครับท่านประธาน ผมขอยกตัวอย่างที่ถูกใช้เป็นผลสัมฤทธิ์ว่า ท่านได้ปฏิรูปสำเร็จ

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ความสำเร็จแรกครับ มี Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเข้ารับการบริการของรัฐ เช่น Smart Land ที่ใช้ในการติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของ กรมที่ดิน Application e-QLands ที่อำนวยความสะดวกในการยื่นจองคิวฝ่ายทะเบียน ฝ่ายรังวัดเป็นต้น

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ความสำเร็จที่ ๒ ครับ มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบ บริหารงานของรัฐ และแผนกำลังคนของภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย ใหม่ ๆ เช่นมีการศึกษาเพื่อลดสถานะความเป็นนิติบุคคลของส่วนราชการ มีการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจัดโครงสร้างองค์กรบริหารเฉพาะกิจ เป็นต้น ตัวอย่างความสำเร็จ ข้างต้นที่กล่าวมาเป็นเรื่องดีครับ แต่คำถามของผมก็คือว่ามันคือการปฏิรูปอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เราใช้กลไกราชการปกติก็ทำได้ใช่หรือไม่ ถ้าทำได้แค่นี้ทำไมต้องเอาภาษีของพี่น้องประชาชน ไปละลายกับการปฏิรูปที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติ ท่านประธานครับ ถ้าจะปฏิรูปการบริการ ประชาชนเกี่ยวกับที่ดิน พี่น้องประชาชนชาวทุ่งฟ้าผ่า ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี ก็บอกว่าท่านช่วยไปดูแลพิสูจน์สิทธิที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมได้ไหม ท่านช่วยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทย กองทัพเรือ มาทำงานแบบบูรณาการได้ไหม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นตัวกลาง ในการบริการประชาชนได้ไหม หรือถ้าจะปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของภาครัฐ ไม่ต้องทำรายงานศึกษาอะไรให้เสียเวลาเลยครับ บรรดาผู้บริหารท้องถิ่นที่จันทบุรีบ้านผม เขาบอกผมว่ากระทรวงมหาดไทยช่วยไปแก้ระเบียบ แก้กฎหมายที่มันคุมท้องถิ่นไว้ หรือทำ การทบทวนการจัดสรรรายได้ท้องถิ่นที่ปัจจุบันอยู่ที่ ๒๗-๒๘ เปอร์เซ็นต์ สามารถเพิ่มไป ให้เกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ได้ไหม เพื่อทำให้การใช้งบประมาณในการพัฒนา พื้นที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ หรือแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจในการ จัดเก็บภาษีที่เป็นเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ เองได้ไหม ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี่ละครับ คือตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วไม่เคยได้รับการแก้ไข ถ้าท่านทำสิ่งที่ประชาชนต้องการ และแก้ปัญหาทุกข์ร้อนในใจของเขาได้ นี่ละครับถึงเรียกว่าการปฏิรูป ท่านประธานครับ จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่เดินมาแล้วกว่า ๕ ปีล้มเหลว ทำไมถึงล้มเหลว ผมสรุปออกมาได้เป็น ๓ ข้อดังนี้

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ข้อแรก ปฏิรูปไม่จริงใจ เพราะดูจากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นการทำ Application การจัดทำรายงานศึกษาต่าง ๆ ถ้าทำแบบนี้เรียกว่าการปฏิรูป เราก็ไม่ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศให้เสียเวลา เสียงบประมาณประชาชน ทำแบบนี้ ใช้กลไกราชการปกติก็ทำได้ จะได้เอางบประมาณที่ใช้เป็นเบี้ยประชุม เป็นค่าบริหารจัดการ หรือใช้ทำรายงานเล่มนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังมีประโยชน์มากกว่า

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ปฏิรูปผิดจุด ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่จริงใจ พอไม่จริงใจก็ไม่เห็น ปัญหา ท่านก็เลยทำงานแบบขอไปที ทำอะไรก็ได้เพื่อให้มีเนื้อหามาเขียนรายงานว่าทำแล้ว ปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา และยังเป็นอยู่ถึงตอนนี้ก็คือรัฐ ราชการ ที่อุ้ยอ้ายแต่ท้องถิ่นอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองความต้องการของประชาชนทำได้ต่ำ ดังนั้นถ้าเราจะปฏิรูประบบราชการก็ต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งรายงานนี้ ไม่มีสิ่งที่ผมกล่าวมาเลยครับ

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ปฏิรูปเพื่อสืบทอดอำนาจ นี่คือประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้การปฏิรูป ล้มเหลว ก็คือผู้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศที่มาที่ไปของพวกเขาก็แน่นอนครับว่ามาจากกลไก รัฐประหาร คสช. และเมื่อผมดูรายชื่อกรรมการทั้ง ๑๕ คน ก็มีถึง ๑๓ คนที่มาจากระบบ ราชการ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผลลัพธ์ของการปฏิรูปถึงผิดจุดและไม่จริงใจ ก็เพราะ คนร่างแผนปฏิรูปมาจากระบบยึดอำนาจ และเป็นคนที่เติบโตและมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ อำนาจ ผลที่ออกมาจึงไม่ได้ต้องการการปฏิรูป แต่แค่ต้องการการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

นายวรายุทธ ทองสุข จันทบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายแล้วครับท่านประธาน ถ้าจะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็ได้ครับ พวกเราทำเองได้ แค่แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. ยกเลิกระเบียบราชการต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกท้องถิ่น ให้ประชาธิปไตยฐานราก ทำงาน ประชาชนจะเป็นสุขครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ เชิญครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ ในวาระการรายงานความคืบหน้าโครงการในส่วนของการดำเนินการตามแผนการปฏิรูป ประเทศ ครั้งท้ายที่สุดค่ะ ครั้งที่ ๑๘ เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ ค่ะ ในเบื้องต้น ดิฉันขอแสดงความชื่นชมนะคะ วันนี้ท่านอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และท่านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กรุณามานำเสนอข้อมูล ด้วยตัวเองค่ะ และขอชื่นชมการดำเนินงานและการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศ ที่คณะกรรมการปฏิรูปได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนวาระ ๕ ปี พอที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ของ โครงการเป็นที่ต่อเนื่องอย่างตลอดมาค่ะ ในส่วนของการอภิปรายตรงนี้นะคะ ดิฉันขอเสนอ เป็น ๒ ส่วนค่ะ ส่วนแรกในเรื่องของหลักการและในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ และในส่วนที่ ๒ ดิฉันขอแสดงความเห็นในเรื่องของโครงการและกิจกรรมเชิงพื้นที่ ในบางประเด็นของการปฏิรูปค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ในหลักการของการขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้ แผนยุทธศาสตร์นี้ได้กำหนดเป็นเบื้องต้นไว้ว่าเป้าหมายสำคัญนั้นจะต้องเป็นเป้าหมาย เชิงธรรมาภิบาลและเชิงการบูรณาการ หลักธรรมาภิบาลมีความเป็นสากลไม่ว่าจะเป็นนิติธรรม คุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเราหลักความคุ้มค่า ดังนั้น การทำแผนปฏิรูปดิฉันมองว่าในระยะ ๒ ระยะ ๓ ต่อไป ถ้ามีการขับเคลื่อนต้องนึกถึง ความคุ้มค่าในเรื่องของประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องของการบูรณาการที่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้อภิปรายไปว่าไม่ได้บูรณาการจริง ได้หยิบคว้าผลงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เชื่อมโยงกันเท่าที่ควร ดิฉันยังเห็นเป็นทิศทางที่ควรจะพัฒนาในเรื่องนี้ได้นั่นก็คือขอเน้น ในเรื่องของธรรมาภิบาลและในเรื่องของการบูรณาการค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ ความวาดหวังที่สูงสุดในประเด็นปฏิรูปทั้ง ๑๓ ประเด็น ท้ายสุดของแต่ละประเด็นในรายงานฉบับนี้ระบุว่าสามารถบรรลุในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๗ ใน ๓ ประเด็น ในระดับประเทศชาติที่บอกว่าความรักสามัคคี ความปรองดอง ก็อยากจะ เรียนว่ามีตัวชี้วัดอะไรที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ในด้านนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนบอกว่าการปฏิรูปนั้น ขอให้ผูกโยงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดีงามค่ะ ในเรื่องขององค์ความรู้ที่พอเพียง และในเรื่องของคุณธรรมที่ควรจะมี แต่ความเข้าใจ ที่บิดเบี้ยวไปว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นไปทางภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ เราคงต้องขยายผลและทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าแผนปฏิรูปนี้สามารถเคลื่อนได้ภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแท้จริงหรือไม่

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในผลสัมฤทธิ์ประการที่ ๒ ในระดับสังคม การสร้างสังคมมีสุข การสร้าง ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ จากการรายงานพบว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากร ในประเทศไทยถือครองทรัพย์สินถึงร้อยละ ๗๗ ดังนั้นในประเด็นนี้สามารถที่จะสะท้อน เรื่องของความเสมอภาคหรือลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นผลสัมฤทธิ์ที่ ๓ พูดถึงความสัมฤทธิ์ของประชาชนในระดับว่า ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างมีส่วนร่วม ดัชนีชี้วัดการมีความสุขของประชาชน World Happiness Report ได้รายงานไว้ว่าอัตราร้อยละของการมีความสุขของคนไทยลดลง โดยเฉพาะในปี ๒๕๓๙ คนไทยมีความสุขในระดับสูง แต่ต่อมาอีก ๑๐ ปีและจนกระทั่ง ถึงปี ๒๕๖๓ ระดับความสุขของคนไทยกลับลดลงไปอยู่ที่อันดับที่ ๕๔ ในการประเมินผล ระดับนานาชาติค่ะ ดังนั้นในโอกาสต่อไปวาระ ๒ และวาระ ๓ ของการขับเคลื่อนแผนปฏิรูป ดิฉันมั่นใจว่าตัวชี้วัดเชิงประสิทธิผลที่จะยึดโยงว่าประโยชน์สูงสุดและประหยัดสุด น่าจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในกรณีรายประเด็นโครงการและกิจกรรมจากประเด็นปฏิรูป ๑๓ ประเด็น ดิฉันขอเคลื่อนไปที่ประเด็นด้านการเมืองค่ะ ในประเด็นด้านการเมือง เห็นภาพความสำเร็จ ที่น่าชื่นใจ โดยยึดโยงกับสถาบันพระปกเกล้าและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดิฉัน ขอสนับสนุนให้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัตินโยบายสาธารณะได้ขับเคลื่อนได้สำเร็จ โดยเร็ว จากรายงานในส่วนท้ายบอกว่ายังอยู่ในขั้นที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีลงนาม เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมองว่าจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ ที่แท้จริงในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งปรากฏให้เห็นเชิงพื้นที่เช่น องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ถ้าจะขับเคลื่อนนโยบายหรือแผนพัฒนาประจำปี แผนพัฒนา ๕ ปี ๔ ปี จะต้อง ใช้กระบวนการภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วม นั่นก็คือการเมืองที่แฝงฝังไปในมิติ ของการพัฒนาในทุกด้าน เห็นความสำคัญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย ได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปยังสภานักเรียน ตรงนี้ขอให้ทำต่อ ด้วยความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นปฏิรูปด้านที่ ๒ ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ก็คือเรื่องของกระบวนการ ยุติธรรม ได้ระบุในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ไว้ว่ากระบวนการยุติธรรมทำอย่างไรจะถึงในระบบ ของกองทุนยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ขอชื่นชมไปยังกระทรวงยุติธรรมนะคะ ที่ผ่านมานี้ สามารถที่จะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในคดีความได้รับการช่วยเหลือ ถึงร้อยละ ๙๗ ตลอดจนการมีตำรวจที่มาเชื่อมโยงกับในส่วนของทนายความ มีทนายความ ทุกสถานีตำรวจ ดิฉันขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในด้านเศรษฐกิจไม่บูรณาการกับด้านที่ ๑๓ คือวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องท่องเที่ยว ดิฉันอยากจะเห็นภาพการบูรณาการในระดับของการขับเคลื่อน ในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนและการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการ PDCA ดังที่เป็นเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ว่าทำอะไรแล้วก็ขอให้ ถึงประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับเศรษฐกิจ แล้วก็รายได้ของพี่น้องประชาชน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในด้านต่อไปค่ะ ด้านสังคมและด้านการศึกษา ดิฉันเห็นสมควรว่าในภาค สังคม ในเรื่องของกองทุนการออมคงต้องทบทวนอย่างหนัก แต่ในเรื่องของการศึกษาก็คือ ความเสมอภาคทางการศึกษา เห็นสมควรที่จะได้ต่อยอดต่อไป โดยเฉพาะโครงข่ายของ การเฝ้าระวังการดูแลผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นกระบวนการขับเคลื่อนในรูปแบบของ สมัชชาการศึกษา ดิฉันเห็นว่าเป็นข้อดีที่ควรจะได้สานต่อต่อไป ก็เรียนนำเสนอเป็นแนวทาง สำหรับการบูรณาการการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่าน ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ เชิญครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ ๒ ประเด็นครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ คือประเด็นทางด้านกฎหมาย สมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้าง ความสามัคคีปรองดองหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ป.ย.ป. ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินงบประมาณ หมดไปเท่าไรแล้วกับสำนักงานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้าง TDRI ให้ทำแผนปฏิรูป กฎหมาย หมดเงินงบประมาณไปตั้งกี่ล้านบาท จำนวนกฎหมายทั้งสิ้นที่มีการศึกษา ๑,๐๙๔ กระบวนงาน มีจำนวน ๑,๐๒๖ กระบวนงาน หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ๘๕ เกิดจากระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ซึ่งหากภาครัฐยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ตามข้อเสนอของผลการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุน ในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ถึงปีละไม่น้อยกว่า ๑๓๓,๘๑๖ ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ ๐.๘ ของอัตรา GDP เท่ากับว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนได้น้อยมาก เสมือนหนึ่งว่าเอารายงานไปซุกอยู่ในลิ้นชัก เพราะปัจจุบัน ประชาชนยังคงต้องทุกข์ยากกับใบอนุญาตต่าง ๆ ของรัฐบาล ตอนนี้คนไทยต้องเจ็บใจ กับคำว่า เทคนิคในการหาเสียง แต่หลังจากที่ผมอภิปรายในวันนี้แล้ว คนไทยยังต้องเจ็บใจอีก กับคำว่า เทคนิคการทำรัฐประหาร โดยการอ้างว่ามาปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ยังคงลำบากกับใบอนุญาตที่มีอยู่อย่างมากมาย ขอ Slide ด้วยครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธาน ทดเวลาให้ด้วยนะครับ ไม่ขึ้นภาพ Slide ที่ปรากฏอยู่เป็น Slide แผ่นที่ ๑ ก็คือ ป.ย.ป. ขออนุญาตไป Slide แผ่นที่ ๒ เลยครับเพื่อความรวดเร็ว ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็นไปได้ ถึงร้อยละ ๔๘ ทำให้รัฐบาลเกาหลีประหยัดเงินให้กับรัฐบาลไปถึงร้อยละ ๔.๔ ของ GDP ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นสูงมากจนสามารถขับเคลื่อนประเทศเกาหลี ไปยืนอยู่ในเวทีระดับโลกได้ ถัดมาผมขอยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับ พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องในจังหวัดภูเก็ตที่ต้องทุกข์ยากกับกฎหมายที่ล้าสมัย และไม่จำเป็น

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เรื่องใบอนุญาตโรงแรม ขอ Slide แผ่นที่ ๓ เลยครับ รัฐบาล ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม SMEs ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายที่เกี่ยวกับโรงแรมยังมีกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่นประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเรื่องเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อที่ ๗ กำหนดให้ต้องมีพื้นที่ว่างในบริเวณที่ ๑ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ และกำหนดให้มีพื้นที่ว่างในบริเวณที่ ๒ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ทำให้พื้นที่ของเกาะภูเก็ตทางทิศตะวันตกทั้งซีกไม่สามารถขอใบอนุญาตโรงแรมได้ ทางสมาคมที่พัก Boutique ภูเก็ต เคยขอให้รัฐบาลงดเว้นการบังคับใช้ประกาศกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ในประเด็นของพื้นที่ว่าง และในส่วนของอาคาร ที่ก่อสร้างมาก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง ป.ย.ป. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมาช่วยดูด้วยครับ กระบวนการต่อใบอนุญาตโรงแรมในคู่มือของกรมการปกครองเขียนไว้ ว่าใช้เวลาถึง ๖๖ วัน แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลามากกว่านั้นอีกครับ เพราะต้องมีการตั้งกรรมการตรวจโรงแรมถึง ๒ ครั้ง ผมตั้งคำถามครับว่าทำไปเพื่ออะไร ผมได้รับแจ้งมาว่าจังหวัดกระบี่ใช้เวลาเป็นปีในการขอใบอนุญาตโรงแรมใหม่ รวมถึง การขอต่อใบอนุญาตโรงแรม จนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรากฏข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมปลัดอำเภอในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ จากการเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ไม่แน่ใจว่ามันจะเกี่ยวข้องกับความล่าช้า ในการออกใบอนุญาตโรงแรมตามกฎหมายหรือไม่ครับ และนอกจากใบอนุญาตโรงแรมแล้ว สิ่งที่ประชาชนยังต้องทุกข์ยากก็คือใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ทำไมจึงไม่ปรับกระบวนการ ให้ง่ายขึ้น เช่นส่งเอกสารไปทาง Website แล้ว Print ใบอนุญาตออกมาได้เลย มิฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังต้องไปพึ่ง Agency หรือนายหน้าในการขอออกใบอนุญาต และบางครั้งจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่ได้ไปขอใบอนุญาตให้กับลูกจ้างทำให้ถูกจับกุม

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ขอ Slide แผ่นที่ ๔ ด้วยครับ ยังมีใบอนุญาตอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ ขอสั้น ๆ ครับ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ที่รัฐบาลไม่ได้ปรับปรุง ตามรายงานของ TDRI เลย ยังคงต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ยังคงต้องถ่ายสำเนา ทะเบียนบ้านลงลายมือชื่อ สุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกกระทรวงในรัฐบาลเปิดรายงานของ TDRI ออกมาขับเคลื่อนเสียทีเถอะครับ หากรัฐบาลตั้งใจที่จะปฏิรูปกฎหมายจริง ๆ โดยไม่เป็น เทคนิคในการทำรัฐประหาร รัฐบาลควรใช้เวลาไม่เกิน ๑-๒ ปีในการขับเคลื่อน และจะ สามารถขับเคลื่อนได้ครบทั้งเล่มรายงาน

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งคือด้านการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบครับ ขอ Slide แผ่นที่ ๕ ครับ สัปดาห์ที่แล้วมีเจ้าหน้าที่จับกุม หัวหน้าช่างฝ่ายควบคุมอาคารของหน่วยงานเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ในข้อหา เรียกรับเงินสินบน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แลกกับการเปลี่ยนออกใบอนุญาต เปลี่ยนแปลงประเภท การใช้อาคาร ผมพบว่าผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ให้หน่วยงานนี้ อยู่ในระดับ AA ด้วยคะแนนสูงถึง ๙๗.๒๙ ไม่ทราบว่าเกณฑ์การประเมินเป็นอย่างไร จึงย้อนแย้งกับความเป็นจริงถึงเพียงนี้ ถึงเวลาสมควรแล้วหรือยังที่เราจะต้องปรับปรุง หลักเกณฑ์

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

นอกจากนี้ผมยังพบว่าดัชนีการรับรู้การทุจริต ภาษาอังกฤษเรียกว่า Corruption Perception Index หรือย่อว่า CPI คะแนนของประเทศไทยในปีที่ทำรัฐประหาร อยู่ที่ ๓๘ หลังจาก พลเอก ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศ คะแนนลดลงต่ำกว่าปีที่ทำรัฐประหาร โดยปีล่าสุดพุทธศักราช ๒๕๖๕ อยู่ที่ ๓๖ คะแนน ดูได้จากกราฟ ขอ Slide แผ่นถัดไปครับ นั่นแปลว่าการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งเป็นเพียงเทคนิคในการทำรัฐประหารใช่หรือไม่ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ท่านศุภโชติ ไชยสัจ ท่านวัชระพล ขาวขำ จากนั้นจะให้ผู้ชี้แจงได้ตอบคำถามของท่านนะครับ เชิญท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพอย่างสูงครับ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธาน ๗ นาทีทอง อยากจะนำเสนอแนะให้ท่านผู้ที่มาชี้แจง โดยเฉพาะท่านเลขาธิการสภาพัฒน์นะครับ ให้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ผมต้องเรียนนะครับว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้ตำหนิอะไรท่าน ทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอแนะว่าถ้าท่านนำไปปรับปรุงได้จะเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะทำให้ท่าน ทำงานในส่วนนี้ให้ประสบผลสำเร็จนะครับ ผมเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ที่ท่านนำมาเสนอ ในครั้งนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรกนะครับ อยากจะสอบถามท่านว่ายุทธศาสตร์ที่ร่างขึ้นมา สำนักงบประมาณนำยุทธศาสตร์พวกนี้ไปดำเนินการในการจัดตั้งงบประมาณให้ท่านหรือไม่ ผมเข้าใจว่าผมตรวจสอบในเอกสารงบประมาณมา ๒-๓ ปี มันมีน้อยมากเลยทำให้โครงการ ของท่านที่เขียนออกมาทั้งหมดที่ออกเป็นยุทธศาสตร์มันไม่ประสบผลสำเร็จจริง ๆ ครับ เพราะว่ายุทธศาสตร์ที่เขียนออกมา สำนักงบประมาณเองหรือรัฐบาลเองไม่ได้ใส่ใจ ในการที่จะนำไปจัดตั้งงบประมาณให้ส่วนราชการในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ ผมเรียนท่านนะครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ผมต้องเรียนว่าผมเคยเป็นอดีตคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้นำไปปฏิบัติเลย เพราะฉะนั้นมันขาดเงินมันก็ทำงานอะไรไม่ได้ต่อไป ทำให้ยุทธศาสตร์จริง ๆ มันออกมาไม่ได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ อยากจะลงในรายละเอียดให้ท่าน ผมขอมาที่ด้านการศึกษาก่อน แล้วกันนะครับ อยากจะเสนอแนะให้ท่านว่าด้านการศึกษาที่ท่านเขียนมาทั้งหมด เรื่องผลสัมฤทธิ์ในการที่จะทำให้เด็กอนุบาล ๓-๕ ปี ศูนย์เลี้ยงเด็กอะไรต่าง ๆ ผมมี ข้อเสนอแนะให้ท่านครับ มันต้องใช้เงินทั้งสิ้น ผมเข้าใจว่าถ้าท่านไม่มีเงินมันทำไม่สำเร็จ แน่นอน สิ่งที่เขียนออกมาทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่เขียนออกมาที่สวยหรู ท่านมาดูตรงนี้ ผมเสนอแนะให้ท่านเป็นทางออก ผมถือว่าเป็นสวรรค์ที่รัฐบาลรีบดำเนินการเถอะครับ มาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ เขาเขียนไว้ชัดเจนนะครับว่า ให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา ให้มีการระดมทุนจากเงินอุดหนุน ของรัฐ ค่าสัมปทาน ค่าผลกำไรที่ได้จากการดำเนินการด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยี สารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร ประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการพัฒนาคนและสังคม ท่านทำเถอะครับ วันนี้กองทุนนี้ตั้งอยู่ที่ไหนรู้ไหมครับ ตั้งอยู่ที่ กระทรวงศึกษาธิการ ระยะเวลาวันนี้ผ่านมา ๒๐ กว่าปีไม่เคยระดมเงินพวกนี้เพื่อที่จะมาทำ แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ของท่านเลย ท่านอย่าไปพึ่งเงินงบประมาณครับวันนี้ พึ่งเงินที่จะได้ จากผลประกอบกิจการตรงนี้ในมาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ เดินหน้าในการพัฒนาประเทศตรงนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่ท่านเขียนไว้ทั้งหมดมันจะสามารถ เดินหน้าในการที่จะทำให้ท่านประสบผลสำเร็จในส่วนนี้ได้ เดี๋ยวในอนาคตข้างหน้าผมเรียน ท่านนะครับว่าการเรียนการสอนของเราผ่านทาง Online นักศึกษา นักเรียนขาด Tablet ใช้เงินตรงนี้ครับ ในรัฐบาลชุดก่อนเข้าใจว่าเดี๋ยวผมเอ่ยชื่อขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย อะไรต่าง ๆ พรรคเพื่อไทยต้องการที่จะทำโครงการนี้ โครงการนี้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ แต่ไม่ได้ระดมเงินในส่วนนี้เข้ามาเลย ผมฝากด้วยครับว่าให้รีบดำเนินการในมาตรา ๖๘ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา ๖๘ ขอให้ทุกท่านกลับไปอ่านได้เลยว่า มันมีในมาตรานี้จะทำให้ท่านทำงานในส่วนนี้ได้สำเร็จ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมฝากนิดหนึ่งครับ เรื่องสาธารณสุข สังคมของเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมเรียนท่านครับว่าสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีบุคลากรของเราหรือประชาชนคนไทย มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปมากกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ของประชากรที่มีอยู่ ดังนั้นผมอยากจะ เรียนว่าเรามาช่วยกันลดค่าบริการสาธารณสุข ในขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ทำอย่างไรรู้ไหมครับท่าน รักษาในระบบ Online รักษาในระบบของ การตรวจที่ผ่านในระบบของ 5G ที่จะทำกันได้ในขณะนี้ ผมเรียนท่านว่าในระบบสาธารณสุข ในขณะนี้ที่เขียนออกมามันไม่มีเลย ไม่มีคืออะไรรู้ไหมครับ วันนี้ติดขัดอยู่ที่กฎหมาย หมอจะตรวจรักษานี่บอกว่าต้องเห็นคนไข้จริง ปรับกฎหมายนิดเดียวครับ ตรวจรักษา ในระบบของการผ่าน Online หรือผ่าน 5G เสมือนหนึ่งจริง ขอให้ปรับกฎหมายตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคตา โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคผิวหนัง ไม่จำเป็นจะต้องไปพบหมอตรวจ ในระบบของ Online ได้หมดเสมือนหนึ่งจริง เรามีระบบ AI มีอะไรครบหมดแล้วครับในช่วงนี้ ผมเรียนท่านว่าระบบเทคโนโลยีของเรามีความพร้อม เรียนเพิ่มเติมไปอีกครับ ขอเถอะครับ รวบรวมศูนย์ข้อมูลที่เราเรียกกันว่า ศูนย์ข้อมูลคนไข้กลาง ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ ผมอยากจะเห็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ง่ายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนเดินทางไปที่โรงพยาบาลไหนที่เป็นของรัฐอยู่ สามารถที่จะรวบรวมข้อมูลว่า ผมยินดีที่จะให้เปิดเผยข้อมูลของผม ถ้ายินดีที่จะให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผมสามารถที่จะ รักษาต่อเนื่องได้ ผมไม่สบาย ผมเป็นคนเชียงใหม่ สมมุติว่าผมเป็นคนเชียงใหม่ผมเดินทาง ไปที่จังหวัดขอนแก่น ผมไม่สบาย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเพิ่งตรวจเลือดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ผมไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดใหม่ครับ สามารถที่จะรักษาอย่างต่อเนื่องได้เลย เพราะฉะนั้นทำเถอะครับ ข้อมูลศูนย์พวกนี้พัฒนา ด้านสาธารณสุขให้มันเกิดขึ้น เรามีระบบเทคโนโลยีที่ดีมากในประเทศไทยอยู่แล้ว ลงทุน นิดเดียวครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออนุญาตฝากในสิ่งสุดท้ายนะครับว่าการกระจายอำนาจของเราในวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรากระจายอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เราเรียกกันว่ากระจายอำนาจไปให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานมาก แต่เราไม่ได้กระจายอำนาจทางด้านการเงินครับ อำนาจทางด้านการเงินในการกระจายอำนาจยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มี ความสำคัญที่สุด เรากระจายอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเขาดำเนินการได้ กระจายอำนาจทั้งทางด้านการทำงานและกระจายอำนาจ ทั้งทางด้านการเงินให้กับเขามีอำนาจอิสระในการทำงาน ขออนุญาตนำเรียนข้อเสนอแนะ ถ้าเป็นไปได้จะทำให้แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ท่านเขียนออกมาประสบผลสำเร็จ ในการทำงานได้ครับ ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศุภโชติ ไชยสัจ เชิญครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมอยากจะ ขออภิปรายและสอบถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงครับ เกี่ยวกับผลการดำเนินงาน แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน อย่างที่เรารู้กันทุกคนว่าโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย มีการผูกขาดเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในภาคผลิต ระบบสายส่ง หรือภาคผู้ค้าปลีกครับ จากที่เพื่อน สส. ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในภาพรวม ผมอยากจะขอลงรายละเอียด เกี่ยวกับเป้าหมายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขัน ในแผนนี้มีหลาย เป้าหมายย่อยที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ผมจะขอเลือกมา ๓ ประเด็นที่ผมคิดว่าส่งผลกระทบ กับประชาชนและผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่งครับ

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ในรายงานผลกล่าวไว้ว่ามีการประกาศใช้ระเบียบและหลักเกณฑ์ Third Party Access ของระบบสายส่งและระบบจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ผมขอให้ข้อมูล เพิ่มเติมนิดหนึ่งว่าระบบตัว Third Party Access คือการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามา ใช้สายส่งของรัฐได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าผมเป็นเจ้าของโรงงานอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมสามารถติดต่อเจ้าของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดพิจิตรเพื่อซื้อขายไฟฟ้าได้ โดยผมจะต้องชำระ ค่าเช่าใช้สายส่งของภาครัฐ สิ่งนี้มันจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ผลิต กระแสไฟฟ้า รวมถึงผู้บริโภคเองก็มีตัวเลือกที่จะเข้าถึงไฟฟ้าที่มีต้นทุนและคุณภาพ ที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบันผมขอสอบถามนะครับว่ามีใครที่สามารถเข้าถึงสายส่งของภาครัฐ ผ่านตัวโปรแกรม Third Party Access นี้ได้บ้าง ทั้ง ๆ ที่กำหนดการควรจะมีการประกาศ บังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ผมยังได้รับข้อมูลมาว่ายังไม่มีการอนุมัติวิธีการคิด ค่าคำนวณหรืออัตราค่าบริการการใช้สายส่งนี้เลย

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เรื่องแผนงานด้านการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการซื้อขายไฟฟ้า หรือ Market Operator ซึ่งอยู่ในร่างแผนการพัฒนาโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริม การแข่งขันในระยะทดลอง ถ้าดูแค่ชื่อนี่เราก็จะเห็นได้ว่ามันน่าตื่นเต้นมาก ๆ นะครับ กับการที่ประเทศไทยจะมีระบบที่ทันสมัยเหมือนประเทศอื่น ๆ เพราะตลาดพลังงาน ที่ถูกเสนอผ่านร่างนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ลดจำนวนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ อย่างมากในประเทศ และไม่จำเป็นที่จะต้องมีการออกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม กับประชาชนเหมือนในปัจจุบัน แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นเนื้อหารายละเอียด ของร่างนี้เลยว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าจะถูกบังคับใช้เมื่อไร และทีนี้ เราจะเรียกว่าร่างนี้อยู่ในผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไรครับ ในเมื่อ กพช. หรือ กบง. เองยังไม่มี การอนุมัติร่างนี้เลย

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับ หนึ่งในแผนของการเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Prosumer หรือการให้ประชาชนสามารถทั้งซื้อและขายไฟฟ้าได้ในคนคนเดียวกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคต รายละเอียดในแผนนี้กล่าวไว้อย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย หรือการพัฒนาระบบโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเลย มีเพียงบรรทัดเดียวในรายงานสัมฤทธิผลที่เขียนไว้ว่ามีข้อมูลและแนวทาง ท่านประธานครับนี่หมายความว่าคณะปฏิรูปใช้เวลามากกว่า ๕ ปีในการจัดหาข้อมูล อย่างเดียวหรือครับ นอกจากนี้ผลการศึกษาการดำเนินการติดตั้ง Solar ภาคประชาชน ที่เผยแพร่โดยกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรณีที่ให้ประชาชนสามารถใช้ ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตได้ เพื่อหักลบกลบหน่วยของหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในอนาคต หรือที่เราเรียกว่าระบบ Net Metering ซึ่งเป็นระบบที่เราเข้าใจกันดีว่าใช้กันอย่างแพร่หลาย ในต่างประเทศ เพราะว่ามันสามารถช่วยลดภาระของประชาชนได้ รวมไปถึงลดการผลิต กระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงและมีการปล่อยมลพิษที่สูง แต่ทางกระทรวงพลังงานกลับเผยผลการศึกษาว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวงยกมาก็คือระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายยังไม่เพียงพอ ต่อระบบ Net Metering นี้ ท่านประธานที่เคารพครับ เรามีงบประมาณทางด้านการลงทุน เกี่ยวกับระบบสายส่งมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมถึงเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ ในแผนปฏิรูปนี้เอง ผมจึงมีคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงครับว่าที่ผ่านมาตลอด ๕ ปี เคยมีการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ในการผลักดันการลงทุนทางด้าน ระบบเครือข่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมายในประเทศนี้

นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้นะครับ ผมอยากจะขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงให้เปิดเผย รายละเอียดข้อมูลแก่ประชาชนว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอนอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว เปิดเผย ไปเลยครับว่ามีการติดขัดที่หน่วยงานใด ติดตอหรือว่ามีใครพยายามเตะถ่วงไม่ให้แผนต่าง ๆ ในแผนปฏิรูปนี้ไม่ให้เกิดขึ้นหรือเปล่า เพื่อให้แผนปฏิรูปที่ล้มเหลวมาตลอด ๕ ปีกลับคืน ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวัชระพล ขาวขำ เชิญครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย รายงานความคืบหน้าฉบับนี้เป็นรายงานความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศซึ่งเป็นความคืบหน้า ของการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้ง ๑๓ ด้าน แต่จากที่ผมได้อ่านรายงานแล้ว และได้ศึกษาข้อมูลแล้ว ผมไม่เห็นเลยครับถึงการพัฒนา แถมจะถอยหลังด้วยซ้ำครับท่านประธาน

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ผมจะยกตัวอย่างในด้านเดียวเท่านั้น ด้านกีฬาครับ ตัวอย่างแรกโครงการ Sport Hero ซึ่งเป็นแผนพัฒนาทางด้านกีฬา โครงการ Sport Hero ท่านประธานเชื่อไหมครับว่ามีเงินเดือน มีค่าตอบแทน แต่ค่าตอบแทนของ ผู้ฝึกสอนในโครงการนี้ที่เฟ้นหานักกีฬาเพื่อเตรียมไว้แข่งกีฬาระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น SEA Games Olympics หรือ Asian Games โครงการนี้ค่าตอบแทนของผู้ฝึกสอนเพียง ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน ไม่ใช่ต่อวันนะครับ และนักกีฬาอายุ ๑๕-๑๖ ปี ค่าตอบแทน ๒,๕๐๐ บาท ๑๗-๑๘ ปี ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน ผมถามว่าโครงการตามแผนปฏิรูปประเทศนี้ ค่าตอบแทน เพียงเท่านี้ ถ้าเป็นผมนะครับ ผมเป็นนักกีฬาก็คงจะทานข้าวได้แค่วันละมื้อครับ ดังนั้น โครงการตามแผนปฏิรูปประเทศนี้ก็คือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์ เศรษฐกิจแบบนี้ค่าตอบแทนเพียงเท่านี้ก็คงจะไม่ไหวครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ตัวอย่างที่ ๒ โครงการ NTC หรือ National Training Center คือโครงการ พัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ หัวหมาก สนามกีฬาการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ หรือว่าโคราช โดยโครงการนี้ผมได้สอบถามไปที่สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานีว่า ท่านได้รับงบประมาณหรือไม่ ผมก็ได้คำตอบมาจากท่านผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬา แห่งประเทศไทย ท่าน ผอ. ได้ตอบมาว่าได้รับงบประมาณตามแผนปฏิรูปประเทศ โครงการนี้ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ แต่ว่ามูลค่าโครงการนี้ก่อสร้างเกือบ ๑๐๐ ล้านบาทนะครับ ดังนั้นงบประมาณที่ได้รับจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ท่าน ผอ. กกท. แห่งจังหวัดอุดรธานีก็ได้ตอบผมว่ารับมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งห้องเรียบร้อยจบ ยังไม่ได้ทำอะไรพัฒนาศูนย์ฝึกอะไรเลย ท่านประธานเชื่อไหมครับ แม้กระทั่งรถตัดหญ้าที่สนามการกีฬาแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดอุดรธานีก็เป็นเงินของ เอกชนที่ซื้อบริจาค ห้องหับต่าง ๆ พื้นหญ้าสวย ๆ ที่ท่านประธานเห็นในจอเป็นเงินของ เอกชนที่บริจาคทั้งนั้นครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

และล่าสุดครับท่านประธาน โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ตามแผนปฏิรูปประเทศนี้เป็นที่น่าอับอายขายหน้าไปทั่วประเทศ ทั่วโลกอีกครั้งหนึ่งครับ เมื่อเดือนที่แล้วมีทีมฟุตบอลจากประเทศอังกฤษครับ ๒ ทีม Tottenham Hotspur และ Leicester City มาแข่งขัน Match กระชับมิตรที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หรือที่เป็น โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ สนามกีฬาหัวหมากของเรา ก่อนเกมการแข่งขัน ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนักจนน้ำท่วมขังสนาม ท่านประธานทราบไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าท่านประธานดูที่จอนะครับ เจ้าหน้าที่ได้เอาไม้รีดน้ำมารีดน้ำออกจากสนาม เพราะว่า ไม่สามารถระบายน้ำออกจากสนามได้ ซึ่งถามว่าสภาพแบบนี้อดสูจริง ๆ น่าจะเป็นที่เดียว Thailand Only แล้วก็ที่แรกของโลก Superstar ที่อยู่ในทีมนั้นอย่าง แฮร์รี เคน กองหน้า ทีมชาติอังกฤษที่เพิ่งย้ายไป Bayern Munich ก็คงจะได้แต่ยืนเกาหัว เกิดมาก็คงไม่เคยเห็น เหมือนกันครับท่านประธาน เพราะว่าไม่เคยเห็นสภาพแบบนี้จริง ๆ ดังนั้นโครงการพัฒนา ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่ท่านได้เขียนไว้ในแผนปฏิรูป แล้วก็ความคืบหน้าที่ท่านบอกว่า ได้พัฒนาตรงนั้นตรงนี้ ผมจึงมองไม่เห็นว่ามันพัฒนาไปตรงไหน มีแต่ถอยหลังครับ ดังนั้น ผมขอฝากข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ๒ ข้อครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะที่ ๑ ผมอยากสอบถามไปยังผู้มาชี้แจงนะครับว่าท่านได้ทำ อะไรไปบ้าง โครงการไหนไปบ้าง และรายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร ไม่ใช่เขียนมาแค่ว่า โครงการนี้ทำแล้วนะ แต่ว่าสมาชิกอย่างพวกเราได้แต่อ่านรายงานก็ไม่เห็นว่ามีรายละเอียด ตรงไหนที่เราจะสอบถามไปได้ หรือเราจะเห็นว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน หากท่านได้วิเคราะห์พิจารณาแล้วว่า โครงการต่าง ๆ ตามแผนปฏิรูปประเทศมันไม่คุ้มค่า คุ้มงบประมาณ หรือไม่เกิดประสิทธิภาพ ผมก็อยากสอบถามว่าท่านยังยืนยันจะทำอยู่ใช่ไหม ดังนั้นวันนี้ผมก็ขอขอบคุณผู้มาชี้แจง จากสภาพัฒน์ แล้วก็เสียดายที่ท่านรัฐมนตรีไม่ได้นั่งฟังต่อ เพราะว่าท่านรัฐมนตรีเป็นคนกีฬา เหมือนกัน เพราะท่านทำทีมชัยนาทมา ผมก็ทราบดีครับ ท่านเป็นคนกีฬา ดังนั้นคนกีฬา อย่างพวกผมก็คงอยากฝากความหวังไว้ครับ เพราะว่าท่านนำรายงานฉบับนี้มาให้พวกเรา รับทราบ พวกเราก็คงได้รับทราบอย่างจำใจ แต่ถามว่าผมรับได้ไหม ผมรับไม่ได้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขออนุญาตให้ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงคั่นรายการไปก่อนนะครับ เพราะว่าเหลืออีก ประมาณครึ่งหนึ่ง เชิญผู้ชี้แจงครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ กระผม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ จะขออนุญาตตอบข้อซักถาม แล้วก็ในบางเรื่องอาจจะต้องขออนุญาต รับไปเพื่อที่จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะนำข้อมูลต่าง ๆ มาแจ้ง กับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอีกครั้งหนึ่งในภายหลัง ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณนะครับ ในข้อเสนอแนะ แล้วก็ข้อคำถามต่าง ๆ ที่ท่านสมาชิกได้มีคำถามมา แล้วก็ได้ให้ข้อเสนอแนะ มานะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตไปที่ข้อแรกก่อนนะครับ ที่ท่านทวี สอดส่อง ได้สอบถาม เรื่องของการดำเนินงานภายหลังจากนี้ หลังจากสิ้นสุดแผนปฏิรูปแล้วอำนาจของ สว. เป็นอย่างไร อันนี้ผมขออนุญาตเรียนว่าผมได้ประสานไม่เป็นทางการกับทางหน่วยงาน ด้านกฎหมาย และทราบอย่างที่ผมเรียนในตอนต้นนะครับว่าอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เรื่องของการปฏิรูปประเทศของ สว. ชุดปัจจุบันที่อยู่ ณ เวลานี้เป็นอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มเติม ขึ้นมาภายใต้มาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ แล้วก็เรื่องของการรายงานทุก ๓ เดือน ก็อยู่ในมาตรานั้นด้วยเช่นกันนะครับ ทีนี้หลังจากที่สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันหมดอายุแล้ว หลังจากนี้ก็คงจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การกลั่นกรองกฎหมาย เรื่องของการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็การให้คำแนะนำ หรือว่าการให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งได้กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ถ้าหากวุฒิสภาชุดถัดไปท่านเห็นว่าอยากจะมาติดตามหรือสอบถามเรื่องของ การปฏิรูปประเทศก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้อำนาจหน้าที่ในเรื่องของการติดตาม การบริหารราชการแผ่นดินนะครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้รับคำตอบจากหน่วยงานทางด้าน กฎหมายนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งนะครับ สำหรับในเรื่องข้อคำถามของท่านสมาชิก แล้วก็ มีบางเรื่องที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ คำถามของท่านสมาชิกที่บอกว่า แผนปฏิรูปประเทศไม่ได้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับว่า ในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศเมื่อตอนเมษายน ช่วงปี ๒๕๖๐ ต่อด้วยปี ๒๕๖๑ เรามีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปทั้งหมด ๕๖ ครั้งทั่วประเทศ ที่แน่ ๆ เรามี การจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ๔ ภาค แล้วก็มีการจัดการรับฟังความคิดเห็น ในช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ ซึ่งก็มีพี่น้องประชาชนให้ความเห็นเข้ามาหลากหลาย แล้วก็ สำหรับการที่มีการปรับปรุงตัวแผนการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ท่านอาจจะเห็นว่ามันเป็น เล่มหนา ๆ ประมาณ ๑๐ กว่าเล่ม แล้วก็เหลืออยู่เป็นเล่มเล็ก ๆ อยู่แค่ด้านละประมาณ ๕ เรื่อง ซึ่งเรียกว่า Big Rock นี่นะครับ ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าสิ่งที่เราปรับส่วนใหญ่ ก็จะเป็นไปตามความเห็นของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ได้มีการให้ ความเห็นไว้ในช่วงแรกที่เราได้มีการดำเนินการเรื่องการปฏิรูปประเทศว่ามันอาจจะมี เรื่องเยอะเกินไป อาจจะดึงเอาแต่เฉพาะตรงส่วนที่มันสามารถจะเห็นผลได้ในทันทีขึ้นมา ก็ได้มีการปรับปรุงตัวนั้นในภายหลังต่อมา แล้วก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นด้วยนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนที่เป็นเรื่องของตัวกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ๓๕ ฉบับนะครับ ผมขออนุญาตเรียนข้อมูลเพิ่มเติมอย่างนี้ครับว่าใน ๓๕ ฉบับ มันจะมีอยู่ ๔ ฉบับที่หน่วยงานรับผิดชอบเห็นว่าสามารถใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วได้นะครับ ส่วนอีก ๓๑ ฉบับก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ เนื่องจากว่าเราได้สอบถามไปที่ทางหน่วยงาน ต้นทาง เพราะว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปีหรือว่ารายงาน ตามมาตรา ๒๗๐ ที่รายงานทุก ๓ เดือน ความก้าวหน้าทางด้านการปฏิรูปประเทศ แล้วก็ ได้ประสานข้อมูลกับทางหน่วยงานนะครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เดี๋ยวก็จะต้องไปดูว่า ในอีก ๓๑ ฉบับที่เหลืออยู่ในขั้นตอนใดบ้าง เพราะต้องเรียนว่าเรื่องการร่างกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องแล้วก็มีผลกระทบในวงกว้าง หน่วยงานก็คงจะต้องดู ด้วยความรอบคอบเหมือนกันนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ต้องขออนุญาตเรียนอีกครั้งหนึ่งว่าในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ในช่วง ที่ผ่านมานี่นะครับ อย่างที่เราทราบกันว่าเราโดนเรื่องของวิกฤติ COVID-19 ไป ๒ ปี ช่วงปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งก็ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มันสะดุดไปบ้าง แต่ว่าก็ได้ มีการเร่งดำเนินการในช่วงหลังนะครับ ในส่วนของผลที่เกิดขึ้นในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ตามรายงานที่ได้มีการรายงานไว้นี่นะครับ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับว่าในการปฏิรูป ประเทศ เรายึดเป้าหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในรัฐธรรมนูญจะมีการกำหนดเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ ๖ ด้าน แล้วก็มีการกำหนด ตัวผลที่คาดว่าอย่างน้อยควรจะต้องให้เกิดขึ้นนะครับ ขออนุญาตยกตัวอย่างเช่นเรื่องของ การบริหารราชการแผ่นดิน ในตัวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็มีการบอกว่าต้องมีการนำ เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการ สาธารณะต่าง ๆ หรือว่าในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างก็ควรจะต้องมีระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีความคล่องตัว เปิดเผยตรวจสอบได้ หรือว่าในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมี การกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอน เป็นต้นนะครับ ซึ่งในแต่ละเรื่องจะเห็นว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องที่พยายามทำให้เกิดกลไก หรือกระบวนการทำงานที่จะนำไปสู่การดำเนินงานปฏิรูปได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป เพราะว่าแน่นอนครับ การปฏิรูปประเทศนี่แม้ว่าในข้างต้น ๕ ปีที่ผ่านมาก็เดินไปได้ ประสบ ความสำเร็จไปได้ระดับหนึ่งนะครับ แต่ว่าก็ยังคงต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะ ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นในส่วนที่เรามีการดำเนินการจัดทำ รายงานในครั้งนี้ก็ได้มีการพิจารณาจากสิ่งที่กำหนดไว้ในผลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า อย่างน้อยต้องให้เกิดอะไรบ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตนำเรียนข้อมูลอย่างนี้ครับว่าในเรื่องของการให้บริการของรัฐ ต่าง ๆ ที่ได้มีการพูดถึงว่าอาจจะยังไม่ได้มีการปรับปรุงไปมาก ผมก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการภาครัฐเองปรับไปสู่ระบบ Digital มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะ เรื่องของการให้บริการประชาชน เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับในเรื่องของ การให้บริการประชาชน ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนก็ได้มีการปรับให้เป็น ระบบ Digital ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ทั้งหมดมีอยู่ ประมาณ ๒,๔๒๐ บริการที่สามารถจัดทำให้เป็นระบบ Online ได้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มี การดำเนินการไปแล้วประมาณ ๘๘๙ งานบริการนะครับ ซึ่งก็จะแยกเป็นเรื่องของ งานบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต แล้วก็การขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ ในระบบ Online ก็จะอยู่ที่ประมาณ ๓๒๒ งานบริการ แล้วก็อีก ๑๑๗ งานบริการเป็นเรื่อง ของการชำระเงิน Online ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น และอีก ๔๕๐ งานบริการ เป็นการยื่นคำขอต่าง ๆ ที่สามารถยื่นคำขอได้ในทาง Online แล้วนะครับ เพราะฉะนั้น ก็น่าจะทำให้เรื่องของการให้บริการภาครัฐในระยะถัดไปสามารถจะให้บริการได้รวดเร็วขึ้น แล้วก็ลดปัญหาในแง่ของการรอของประชาชน หรือว่าในแง่ของภาคธุรกิจก็สามารถ ดำเนินการได้เร็วขึ้นนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นในเรื่องของทนายความอาสาที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงว่ามันยังไม่มี ครบถ้วนทุกสถานีตำรวจ มีอยู่แค่ประมาณ ๒๐๐ กว่าแห่งนี่นะครับ เรียนว่านอกเหนือจาก ที่เรามีการให้ทนายอาสาเข้าไปอยู่ใน ๒๐๐ กว่าแห่งนั้นแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการทำระบบร่วมกับทางสภาทนายความ ทำระบบที่เป็นระบบ Application LINE ในการที่จะให้บริการพี่น้องประชาชนติดต่อในเรื่องของข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อทำให้เขา สามารถที่จะติดต่อได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะติดต่อได้ตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา อันนี้ เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาจากทางหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้นะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของการแก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ได้มีการเน้นไปในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องของความทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐกับที่ดิน ของพี่น้องประชาชน อย่างที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐเองบางที ก็ไปออกแนวเขตครอบที่ดินของพี่น้องประชาชนไว้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่มาก่อนหน้านั้นแล้ว อะไรประมาณนี้นะครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติขึ้นมาที่จะเป็นผู้ดำเนินการ และขณะนี้เอง ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าการดำเนินงานเรื่องนี้ทำได้ค่อนข้างจะล่าช้าเหมือนกัน เพราะว่า จริง ๆ แล้วหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาก็ได้มีการร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ว่ามันมี ความล่าช้าในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิอะไรต่าง ๆ พวกนี้ที่ทำให้การดำเนินงานมันอาจจะ ล่าช้าไปสักนิดหนึ่งนะครับ แต่ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ เรื่องของ One Map ก็ได้มีการทำไปในหลายพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ถ้ามันมีการดำเนินการที่ชัดเจน เรื่องของการพิสูจน์สิทธิอะไรต่ออะไรมันก็จะเร็วขึ้น ถ้ามีการดำเนินการพิสูจน์สิทธิได้เร็ว ก็จะทำให้การทำงานเร็วขึ้นไปด้วยนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมาย ที่ท่านสมาชิกได้พูดว่า ๑๕ วันมันไม่เพียงพอ ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายมันเป็นขั้นต่ำ ๑๕ วัน แล้วก็ระบบในการรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมายก็มีทั้งระบบกลางที่จัดทำโดยสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วก็ระบบที่หน่วยงานสามารถจะเลือกได้ด้วยว่าจะทำเอง หรือจะ ใช้ระบบกลาง หรือจะใช้ทั้ง ๒ ระบบร่วมกันก็ได้ แต่ ๑๕ วันจะเป็นขั้นต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า ๑๕ วันแน่นอนนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนที่เป็นประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กหลุดออกนอกระบบ การศึกษา พวกนี้ที่ยังคงเป็นปัญหา ที่จะต้องมีการดูแลแก้ไข ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ที่ผ่านมาในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กเล็ก มีการทำทั้งเรื่อง การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็มีการทำในเชิงมาตรการออกมาแล้วนะครับ แต่ว่าสิ่งที่ได้มีการ ดำเนินการอย่างจริงจังและเกิดผลก็คือการใช้กลไกกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา ไปช่วยนำเอาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับเข้ามาสู่ระบบ เพราะว่าจากที่ได้มี การให้ตัวเลขไว้นะครับ ก็มีการดำเนินงานไปแล้วสำหรับเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบ ได้รับความช่วยเหลือไปทั้งหมดประมาณ ๓๖,๒๖๘ คน แล้วก็ที่อยู่นอกระบบได้กลับเข้ามา อยู่ในระบบอีกประมาณ ๗,๑๔๒ คน ซึ่งอันนี้ก็ต้องเรียนว่าเป็นเรื่องขั้นต้นซึ่งคงต้องมี การดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป เพราะว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

มีเรื่องที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมสักนิดหนึ่งนะครับ เรื่องของจำนวน คนจนในประเทศไทย จริง ๆ แล้วถ้าโดยหลักที่ทางสำนักงานได้มีการดำเนินงานไว้ ก็จะดูจากเส้นความยากจนนะครับ เส้นความยากจนขณะนี้อยู่ที่ประมาณ ๒,๘๐๐ บาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งในเรื่องของการใช้เส้นความยากจน เพื่อมาดูเรื่องของจำนวนคนจน อันนี้เป็นมาตรฐานสากลที่ได้มีการทำกันในหลายประเทศ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองก็ต้อง เรียนว่าในปี ๒๕๖๑ จำนวนคนจนเรามีอยู่ประมาณ ๕.๗ ล้านคน ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น การสำรวจล่าสุดมีอยู่ ๔.๔ ล้านคน คนจนก็ลดลงนะครับ แต่ทีนี้ในส่วนที่ท่านพูดถึงเรื่องของ จำนวนคนที่อยู่ในระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อันนี้เป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ทางกระทรวงการคลัง เขาตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแน่นอนก็จะต้องรวมคนกลุ่มที่เป็น คนยากจนตรงนี้ไปด้วยนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของความไม่เสมอภาค เรื่องความเหลื่อมล้ำ ต้องเรียนว่าเรื่องของ ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ ถ้าดูตั้งแต่ในช่วงปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมามีแนวโน้มลดลง ต่อเนื่องนะครับ ในปี ๒๕๖๐ ค่าดัชนีอยู่ที่ประมาณ ๐.๔๖ กว่า ๆ ตอนนี้อยู่ประมาณ ๐.๔๓ แต่เรื่องนี้ก็คงต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินงานนี้มันลดลงนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตใช้เวลานิดหนึ่งนะครับ ในเรื่องของภาคพลังงานที่ท่านสมาชิก หลายท่านได้มีการพูดถึงเรื่องของพลังงานที่มีราคาค่อนข้างสูงในขณะนี้ โดยเฉพาะค่าไฟ ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าระบบของเราในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าก็จะมีทั้งที่ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ดำเนินการ แล้วก็มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาในรูปแบบของ Independent Power Producer หรือว่า IPP ก็ทำมานานเป็นสิบปีแล้วระบบนี้นะครับ โดยที่ผู้ผลิตภาคเอกชนก็จะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาร่วมกัน ที่ผ่านมาราคา มันไม่ได้สูง แต่ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา จริง ๆ ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วที่ราคามันพุ่งสูงขึ้นมาก ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าในโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เราใช้ ก๊าซธรรมชาติในการผลิต ที่ผ่านมาเราใช้ก๊าซในอ่าวซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณสัก ๕ เหรียญ ต่อล้าน BTU ใช้ในการผลิตซึ่งก็ทำให้ราคามันไม่สูง แต่ทีนี้ในช่วงที่ผ่านมามันมีการหมดสัญญาของแหล่งสัมปทานก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งก็ได้มี การประมูลเรียบร้อย ผู้ได้สัญญาคนใหม่ก็จะต้องเข้าไปดำเนินการผลิต มันมีปัญหาในแง่ของ ความล่าช้าในการ Transition ระหว่างผู้รับสัมปทานเดิมกับผู้รับสัมปทานใหม่ก็ทำให้ การผลิตก๊าซในอ่าวมันตกลงไป ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำให้เราต้องมีการนำเข้าตัว LNG จากต่างประเทศเข้ามา LNG หรือว่าตัว Liquefied Natural Gas ตัว LNG ที่เข้ามาก็ต้อง เรียนอย่างนี้ครับว่าที่ผ่านมาราคาก็จะวิ่งอยู่ประมาณสัก ๗ เหรียญ ๖ เหรียญ ๘ เหรียญ ๙ เหรียญประมาณนี้ก็ไม่ได้เกินนี้นะครับ แต่ทีนี้ในช่วงปีที่แล้วราคา LNG หลังจากที่มี เหตุการณ์ในยูเครน มันทำให้ราคา LNG พุ่งขึ้นมาจากเดิมที่อยู่ประมาณ ๗-๘ เหรียญ ขยับขึ้นมาถึงประมาณ ๔๘ เหรียญต่อล้าน BTU ก็เป็นที่มาที่ทำให้ค่าไฟในประเทศเรา ต้องมีการปรับขึ้น แน่นอนครับ สูตร Ft ค่า Ft ที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวหนึ่งที่เป็นตัว Adjust ในเรื่องของค่าพลังงาน แต่ว่าตอนนี้ที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินการที่จะพยายามลดผลกระทบ กับพี่น้องประชาชนผ่านเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ เรื่องของการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งก็ได้ให้รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในการรับภาระไปก่อน ซึ่ง ณ ขณะนี้ราคา LNG ก็เริ่มกลับเข้ามา อยู่ในระดับปกติ อยู่ในระดับประมาณสัก ๑๐-๑๑ เหรียญ ซึ่งก็จะทำให้ราคาของค่าไฟ ในช่วงถัดไปมีแนวโน้มที่จะลดลงนะครับ รวมทั้งในช่วงต้นปีหน้าประมาณไม่เกินไตรมาส ๑ ของปีหน้ากำลังการผลิตก๊าซในอ่าวก็จะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เป็นปกติ ก็น่าจะทำให้ เรื่องของราคาค่าพลังงานก็คงจะลดลงนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ทีนี้ก็จะมาในเรื่องที่ท่านสมาชิกได้สอบถามเมื่อสักครู่นะครับ เรื่องของ การซื้อขายไฟฟ้ามันจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไหม อันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่าง การดำเนินงาน เพราะว่าตอนนี้การไฟฟ้าทั้ง ๓ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กำลังร่วมกันที่จะทำสิ่งที่ เรียกว่าเป็น Energy Trading Platform ที่จะเป็นการรับซื้อไฟจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งก็จะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกสามารถที่จะส่งไฟเข้ามาได้ แต่แน่นอนครับ เรื่องของ Third Party Access ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้คือเรื่องของตัวค่า Access ยังไม่ได้มีการพิจารณากันอย่างจริงจังว่าตกลงจะเป็น เท่าไร อย่างไร ก็เลยทำให้การทำเรื่องนี้อาจจะยังเดินได้ไม่มากนักนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ทีนี้พอมาถึงเรื่องที่ท่านสมาชิกถาม เรื่องของการทำโครงข่ายไฟฟ้าต้องเรียน อย่างนี้ครับว่าในโครงสร้างของเรา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แล้วก็ทำสายส่งระดับ 500 KV ที่เป็นสายส่ง Main ที่จะส่งไปทั่วประเทศ เป็นสายส่งหลัก การไฟฟ้านครหลวงก็จะมีพื้นที่รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปริมณฑลต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้เขาก็จะมีการทำสายจำหน่าย เป็นสายจำหน่ายซึ่งก็จะแยกกัน จากสาย Main ของ กฟผ. ซึ่งก็จะรับไฟมา เช่นเดียวกันกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบ ในการพัฒนาสายส่งในต่างจังหวัด ซึ่งก็จะทำสายจำหน่ายเช่นกัน ก็จะเป็นระดับแรงดัน ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในการทำงานที่มีการดูเรื่องของ Network ขณะนี้ทาง กระทรวงพลังงานก็มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อมาพิจารณาการลงทุนในแง่ของ Network ร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือว่าให้ Network มันสามารถที่จะ Bypass ไปในหลาย ๆ ที่ได้ ไม่ต้อง Reline on Network เพียงแห่งเดียว เพราะว่าในเรื่อง Security ก็เป็นเรื่องสำคัญ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันแล้วนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องของโครงการต่าง ๆ รายละเอียดข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ ชลประทานที่เพิ่มขึ้น หรือว่ารายละเอียดในเชิงสถิติต่าง ๆ ผมขออนุญาตว่าเดี๋ยวจะประสาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะส่งข้อมูลมานำเรียนท่านสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเรื่องของ โครงการต่าง ๆ ทางด้านกีฬาด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้รับผิดชอบ ผมก็จะประสานให้แล้วก็จะส่งเป็นเอกสารมาให้ท่านสมาชิกต่อไปนะครับ ในเบื้องต้นผมขออนุญาตนำเรียนเพียงเท่านี้ก่อนครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สักครู่นะครับ ผมเปิดรอบนี้ให้มีการซักถามเพิ่มเติม แต่จะให้ทางผู้ชี้แจงว่าจะตอบในรอบนี้ หรือว่ารอบหลังก็ได้นะครับ ตอนนี้มี ๓ ท่าน มีท่านใดอีกไหมครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผม อภิสิทธิ์ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก็เป็น ๓ ท่านนะครับ แต่ขอไม่เป็นลักษณะอภิปรายนะครับ เป็นลักษณะของการซักถาม ท่านแรกจะเป็นท่านณัฏฐ์ชนนก่อน แล้วก็ท่านทวี แล้วก็ท่านอภิสิทธิ์นะครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา สั้น ๆ นะครับสำหรับ ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ เมื่อสักครู่ท่านได้ระบุว่า ๕ ปีที่ผ่านมาได้รีบดำเนินการ ในการแก้ปัญหาทับซ้อนเรื่องที่ดินอันนี้เข้าใจครับ แต่สิ่งที่จะฝากไปยังท่านก็คือ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่เป็นแกนหลักในขณะนี้ให้รีบดำเนินการ ได้รับ งบประมาณไป ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาทแต่ใช้น้อยมาก และสิ่งที่สำคัญฝากท่านเลขาธิการ สภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และหนึ่งในกรรมาธิการ งบประมาณประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร ให้นำข้อเสนอ ข้อสังเกต ข้อท้วงติงของสมาชิก ในวันนี้ ผมเป็น สส. มา ๒ สมัย วันนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกอภิปรายเยอะมาก เพราะฉะนั้น เป็นครั้งสุดท้ายของการอภิปรายวาระที่เราอภิปรายอยู่ ก็ฝากท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ นำข้อมูลเหล่านี้ไปมอบให้กับรัฐบาลชุดใหม่ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็น ประโยชน์ในอนาคตครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านทวีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง คือท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ได้กรุณาตอบนะครับ ท่านบอกว่าคำตอบของท่านยังไม่ใช่ยืนยันว่าถูกต้อง คำถามก็คือว่าหมวดปฏิรูป ตามมาตรา ๒๗๐ คำตอบของท่านอยากจะให้ท่านยืนยันว่าวันนี้ สว. ไม่มีอำนาจ ในการติดตามเสนอแนะเรื่องปฏิรูปประเทศแล้วใช่หรือไม่ แล้วคำตอบของท่านคือตั้งแต่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ใช่หรือไม่ และท่านก็ไปโยงว่าอำนาจ สว. ตามมาตรา ๒๗๐ ท่านไปโยงว่าอำนาจ สว. จะมีก็คือการปฏิบัติราชการอันนั้นหมายถึงอะไร เพราะว่า ๕ ปี ของการปฏิรูปมันจะโยงไปหลายเรื่อง เรื่องที่ ๑ ก็คือที่เรากำหนดให้ สว. มี ๒๕๐ คน เพราะตามรัฐธรรมนูญเรามีแค่ ๒๐๐ คนมาจากกลุ่มต่าง ๆ ของคนทั้งประเทศ แต่อันนี้ สว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ๒๕๐ คน เพื่อมาดูเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ตอนนี้ เขาหมดอำนาจไปแล้วประมาณ ๔-๕ เดือน มันจะโยงไปในเรื่องอื่น ดังนั้นขอให้ท่านยืนยัน อีกครั้งหนึ่งว่าใช่หรือไม่ครับว่า สว. หมดอำนาจแล้ว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตรงนี้ขอเชิญทางผู้ชี้แจงชี้แจงประเด็นนี้หน่อยครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อาจารย์ครับ เดี๋ยวผมขอประเด็นนี้ก่อนครับ เชิญครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ต้องขอบคุณท่านนะครับ เดี๋ยวผมจะรับประเด็นเรื่องของการดำเนินงาน ในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติไปเร่งรัดต่อนะครับ ส่วนที่ว่าผมเป็นกรรมาธิการ งบประมาณจริง ๆ ผมไม่ได้เป็นครับ อันนี้แล้วแต่ว่าทางรัฐบาลจะตั้งใครเข้าไป ผมไม่ได้เป็น โดยตำแหน่งนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นของท่านทวี สอดส่อง ผมเรียนอย่างนี้ครับ ผมก็ตอบตามที่ ผมประสานกับทางหน่วยงานด้านกฎหมายว่าจริง ๆ แล้วแผนปฏิรูปประเทศสิ้นสุดเมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดอายุประมาณ ถ้าผมจำไม่ผิด ก็วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานตามมาตรา ๒๗๐ ที่ผมได้สอบถามจากหน่วยงานทางด้าน กฎหมาย ก็ได้แจ้งผมว่าอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา ๒๗๐ สิ้นสุดลง หลังจาก ๕ ปี ก็คือหลังจากวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ การติดตามการปฏิรูปประเทศภายใต้ มาตรา ๒๗๐ ก็จะสิ้นสุดลง แต่ในแง่หน้าที่ของทางสมาชิกวุฒิสภาก็ยังมีหน้าที่ที่เขาสามารถ ถ้าดูตามมาตรา ๑๕๐ ก็คือมีการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในการทำหน้าที่งานต่าง ๆ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ทางด้านการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถ้าสมาชิกวุฒิสภา จะดำเนินการถาม หรือสอบถาม หรือติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้หน้าที่ในแง่ของการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน อันนี้เป็นเรื่องที่ผมได้รับ คำตอบมาจากหน่วยงานทางด้านกฎหมายนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าอย่างไรนี่ผมว่าอาจจะ ต้องให้ทางหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานด้านกฎหมายจริง ๆ ได้มาตอบ เพราะว่าผมเองเป็น เลขาธิการสภาพัฒน์ พูดจริง ๆ ผมก็เป็นวิศวกร ผมไม่ได้เป็นนักกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในแง่ของการตีความด้านกฎหมายผมอาจจะไม่แน่นอนนะครับ แต่สิ่งที่ผมตอบท่านทวีก็คือ สิ่งที่ผมได้รับคำตอบจากหน่วยงานทางด้านกฎหมายที่ผมได้ไปหารือมาเมื่อสักครู่ในช่วงที่ ท่านถามครับ ขอบพระคุณครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานนิดเดียวครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คือต้องขอบคุณ ท่านเลขาสภาพัฒน์นะครับ ถ้าตามคำตอบของท่านก็คือหน้าที่ของ สว. ในหมวดการปฏิรูป ประเทศก็คือจบไปแล้ว ที่ท่านเอามาตรา ๑๕๐ มายกก็เป็นหน้าที่ของ สส. สว. ธรรมดา ที่จะกระทู้ถามหรือการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องขอขอบพระคุณนะครับ แต่ถามเติมอีกนิดหนึ่ง หน่วยงานทางกฎหมายที่ท่านอ้างถึงว่าไปถามนั้น ท่านถามกับใครมาครับ อันนี้ต้องขอขอบคุณ ถือว่าเป็นประโยชน์นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

รับอีกคำถามหนึ่งจากสมาชิกท่านสุดท้ายก่อนนะครับ และตอบรอบเดียวเลยครับ เชิญท่าน อภิสิทธิ์ครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอต่อเนื่องจากที่ท่านเลขาธิการ ได้ชี้แจงไปเรื่องกฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ๓๕ ฉบับนี้ เนื่องจากว่าอันที่ผมติดใจ ก็คือในพระราชบัญญัติภาพยนตร์ แล้วก็วีดิทัศน์ที่จะดำเนินการแก้ไขในปี ๒๕๖๖ เนื่องจากว่าการรายงานครั้งนี้มันจะเป็นการรายงานครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้นผลของตัวกฎหมาย ฉบับนี้ในท้ายของหน้าเอกสารนี่บอกว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าในระหว่าง การดำเนินการเนื่องจากว่าตอนรายงานมันเป็นฉบับถึงเดือนธันวาคมปี ๒๕๖๕ แต่ในปัจจุบัน มันได้มีการดำเนินการไปแล้วก็คือได้ทำประชาพิจารณ์ ทำ Public Hearing ไปแล้ว แล้วก็ โดยหลักการของสมาคมวิชาชีพที่เขาประกอบอาชีพทางด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ทั้งหมด ๒๐ กว่าสมาคม เมื่อวันที่ ๒๓ เขาได้มีแถลงการณ์ แล้วก็คัดค้านเรื่องตัวพระราชบัญญัติ ที่ดำเนินการ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ฉะนั้นผมอยากฝากเนื่องจากว่า เป็นการคัดค้านจากกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนี้ เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ท่านเลขาธิการ ซึ่งเป็นตัวเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศช่วยติดตามให้ด้วยว่าในตัวพระราชบัญญัติ ที่กรมส่งเสริมได้เสนอ แล้วก็ทางกลุ่มวิชาชีพเขาคัดค้าน ท้ายที่สุดจะดำเนินการด้วยวิธีอะไร ต่อไป เพราะเนื่องจากว่าการรายงานคราวหน้ามันจะไม่มีแล้วครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญผู้ชี้แจง ๒ ประเด็นครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เดี๋ยวเอาประเด็นแรกก่อนนะครับ เรื่องของหน่วยงานที่ผมปรึกษา ขออนุญาตนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ผมได้โทรไปหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับทางท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้รับคำตอบประมาณนี้อย่างที่ได้เรียน ท่านสมาชิกไปนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ของท่านอภิสิทธิ์ เดี๋ยวผมรับไปดูว่า จะมีการดำเนินการต่อเนื่องอย่างไร เพราะว่าที่ผ่านมาก็ได้มีการทำงานกับทางสมาคมพวกนี้ อยู่พอสมควรในแง่ของการปรับตัว Debate อะไรต่ออะไรเพื่อที่จะทำให้ดึงดูดเอากองถ่าย ภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามา เดี๋ยวจะไปประสานดูครับว่าจะมีการดำเนินการต่ออย่างไร ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากนะครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกที่ได้ลงชื่อไว้อีก ๑๕ ท่าน จะมีการสลับลำดับ ตอนแรกต้องเป็นท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ แต่จะสลับกับท่านณกร ชารีพันธ์ เชิญท่านณกร ชารีพันธ์ ครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหารเขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมเป็นเกียรติอย่างมากนะครับ ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องความคืบหน้าของแผนการปฏิรูป ประเทศ ผมขอพูดเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข ขอ Slide ด้วยครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

เสียงของพี่น้องสาธารณสุขของผม โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบันเขาเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ทำงานอย่างหนัก และเหมือนกับเป็นทาสของระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ วันนี้แผนการปฏิรูปประเทศเรามีหลายด้าน มี ๕ เป้าหมายหลัก ก็คือเป้าหมายที่ ๑ ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาวะ เป้าหมายที่ ๒ คือจำนวนสุขภาพดี เพิ่มมากขึ้นของประชาชน เป้าหมายที่ ๓ คือมีระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เป้าหมายที่ ๔ คือลดความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุข และเป้าหมายที่ ๕ ประชาชนมีความรอบรู้ เรื่องสุขภาพ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ วันนี้ผมขอถามว่าแผนการปฏิรูปประเทศของเรามีแผน การดูแลคุณภาพชีวิตบุคลากรสาธารณสุขอย่างไรบ้าง วันนี้ถ้าเราอยู่ในสงครามด้านสุขภาพ ประเทศของเราก็เปรียบเหมือนประชาชน ศัตรูของเราก็คือเชื้อโรคและโรคต่าง ๆ ที่รุมเร้า ประชาชนอยู่ ส่วนอาวุธของเราคือยาและอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ส่วนทหารของเรา คือบุคลากรสาธารณสุข วันนี้ถ้าบุคลากรของเราขวัญกำลังใจเสีย ทำงานอย่างหนัก พักผ่อนน้อย สวัสดิการไม่ดี เราจะเอาชนะสงครามด้านสุขภาพได้อย่างไรครับท่านประธาน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ ทำไมปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จึงลาออกจากระบบ อย่างต่อเนื่อง จากใจคุณหมอนะครับ ปัจจุบันคุณหมอทำงานหนักมาก อยู่เวรเกิน ๑๐๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ท่านประธานอาจจะนึกไม่ออกว่าการทำงานของคุณหมอหนักแค่ไหน เราลองประชุมสภาตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึงเที่ยงคืนติดกัน ๕ วัน ทำอย่างนี้ดูต่อเนื่อง เราจะเข้าใจ บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ค่าตอบแทนของแพทย์ในระบบต่ำกว่าเอกชนถึง ๑๐ เท่า สวัสดิการและคุณภาพชีวิตย่ำแย่ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ถ้าเราเป็นน้องใหม่เข้าไปทำงาน เราต้องอยู่เวรอย่างหนักหน่วงแทนรุ่นพี่ที่อยู่ก่อนหน้า

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ นี่คือบ้านพักของคุณหมอ ด้านซ้ายคือบ้านพักของหมอ และพยาบาล ส่วนภาพด้านขวาคือข่าวที่คุณหมอแพทย์หญิงท่านหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ของผมทำงานหนักมาก หลับในขับรถข้าม Lane ชนรถเสียชีวิตคาที่ นี่หรือครับที่เราตอบ แทนทหารในระบบสาธารณสุขของเรา

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ จากใจเภสัชกร เพื่อนผมทำงานในวงราชการอยู่ ๕ ปีแล้ว ตำแหน่งบรรจุยังไม่มีเลย ความก้าวหน้าในสายงานเภสัชกรรมก็น้อย และค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ก็ไม่ขึ้นปัดตามเงินเฟ้อเลยครับท่านประธาน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ ช่วง COVID-19 เราต้องเขียนจดหมายส่งไปที่ท่านรัฐมนตรี บอกว่าช่วยส่งน้องบรรจุมาที่โรงพยาบาลของเราที เพราะกำลังพลของเราไม่เพียงพอ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ จากใจพยาบาล พยาบาลบอกว่าปัจจุบันเขาต้องปะทะกับ คนไข้และญาติของคนไข้โดยตรง ขนาดท้องแก่ใกล้คลอดก็ยังต้องมาขึ้นเวร นอนไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่พอ ส่งผลต่อสุขภาพ ค่าเสี่ยงภัยที่ผ่านมาให้เขาครบแล้วหรือยังครับท่านประธาน อุปกรณ์การแพทย์ก็ไม่พร้อม บางทีต้องออกเงินซ่อมแซมเอง ความก้าวหน้าในสายอาชีพ ก็ถูกจำกัด และการบรรจุของพยาบาลก็น้อยเช่นกัน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ นี่คือข่าวล่าสุด ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ พยาบาลขาดแคลน ภาระงานเยอะ ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ พยาบาลกับปัญหาสมองไหลไม่บรรจุ เป็นข้าราชการก็แก้ไม่จบ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ วันนี้ผมขอตั้งคำถามดัง ๆ ๒ คำถามว่า ๑. แผนการปฏิรูป ประเทศด้านสาธารณสุข มีแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรอยู่ในแผนของท่าน หรือไม่ ๒. ในอนาคตหากมีความถี่ของการเกิดโรคอุบัติใหม่บ่อยขึ้น แผนในการเตรียม บุคลากรรับมือของท่านมีมากน้อยแค่ไหน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ท่านอาจจะไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่ ผมพูด แต่ท่านลองถามบุคลากรของท่านดู ผมอาจจะอยู่บนโลกคู่ขนานกับท่านก็ได้ครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา แล้วตามด้วยท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ นะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับ ผมเองก็ตั้งใจยิ่งมาทราบว่าวันนี้เป็นการรายงาน ผลสรุปการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปีที่มารายงานต่อสภาทุก ๆ ๓ เดือน เป็นครั้งสุดท้าย ผมเองเสียดายมากเพราะผมถือว่าการรายงานของท่านแม้จะดูเหมือนว่า มันมาบ่อย แต่ว่าความมาบ่อยนี่ทำให้ผู้แทนอย่างพวกเราได้รับความรู้หลาย ๆ อย่างเพิ่มขึ้น ก็เสียดายเหมือนกันนะครับ ท่านครับ การปฏิรูปก็มีอยู่หลายด้านแต่ผมจะขอพูดในส่วนของ ด้านการเกษตร แล้วก็แยกย่อยมาเป็นในส่วนของเรื่องน้ำโดยเฉพาะ เพราะผมเอง ก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องอื่นนอกจากเรื่องน้ำ การทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นชนชั้น ที่พวกเราเองติดหนี้บุญคุณพวกเขามาก แต่ว่าชีวิตพวกเขานี่ย่ำแย่ที่สุด ได้อะไรก็จะได้ ทีหลังเขาหมด การพัฒนาทั้งหลาย หรือว่าประโยชน์ทั้งหลายโดนเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด เพราะฉะนั้นผมเองก็ขอที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ท่านครับ ประเทศไทยที่เรารู้ ๓๒๑ ล้านไร่พื้นที่ทั้งหมด แต่ ๓๒๑ ล้านไร่สำหรับขวานทองมีพื้นที่ที่มัน จะพัฒนาอยู่ในด้านเกษตรกรรมได้แค่ ๑๕๔ ล้านไร่ ประมาณ ๔๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และ ๑๕๔ ล้านไร่นี่พัฒนาไปเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานได้ก็แค่ ๖๐ ล้านไร่เท่านั้นครับ แต่ปัจจุบันนี้ ๑๒๐ ปีของกรมชลประทานผ่านมาแล้ว ตัวเลขของท่านกับของกรมชลประทาน ไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไรทุกปี ปีนี้ทางกรมชลประทานบอกว่าเขามีพื้นที่ชลประทาน ที่พัฒนาแล้วอยู่ ๓๕.๕ ล้านไร่ แต่ของท่านบอกว่ามีอยู่แค่ ๓๓.๓๓ ล้านไร่ เอาละก็ไม่เป็นไร ผิดกันแค่ ๒ ล้านกว่าไร่เองนะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านครับ ในเป้าหมายของแผนแม่บทด้านที่ ๒ ในเรื่องของด้านแหล่งน้ำ ในพื้นที่กักเก็บน้ำก็ดี หรือการขยายพื้นที่ชลประทานก็ดี ในแผนแม่บท ๒๐ ปีเริ่มตั้งแต่ ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๘๐ ท่านบอกว่าในแผนแม่บทบอกว่าจะต้องเพิ่มจำนวนการกักเก็บน้ำ พอไปถึงปี ๒๕๘๐ ต้องให้ได้ ๙๓,๐๐๐ กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันมันได้อยู่ ๘๐,๐๐๐ กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แล้วก็เพิ่มพื้นที่ชลประทานจากวันนี้ ๓๐ กว่าล้านไร่ ให้เป็น ๕๑ ล้านไร่ ผมเป็นห่วงจริง ๆ แต่มันก็ยังอีกระยะยาวนะครับ จะดูถูกดูแคลนกันไป ตั้งแต่ตอนนี้มันก็ดูกระไรอยู่ เอาในโลกของความเป็นจริงดีกว่า ผมเองก็ได้ไต่ถาม และผมเอง ก็ไม่รู้ว่าในสิ่งที่ผมพูดไปในแต่ละปี ในแต่ละรอบที่ท่านมารายงานเกี่ยวกับเรื่องของ การบริหารจัดการน้ำซึ่งมันอยู่ในแผนเล่มนี้อยู่ในแผนปฏิรูป ซึ่งเขียนไว้เป็นข้อลำดับแรก ๆ เลย ถือว่าเป็นหัวข้อหลักในเรื่องของการบริหารจัดการ แต่ว่าตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้กี่ปีผ่านมาแล้วการบริหารจัดการก็ยังมีปัญหาตลอด แม้ว่าในบางช่วง น้ำที่เป็นต้นทุนของเกษตรกรก็พอมี ผมให้ความยุติธรรมใช้คำว่าพอมี ผมไม่บอกว่ามีมากมาย เอาแค่พอมีนะครับ ท่านครับ ตรงนี้พี่น้องเกษตรกรก็รอคอยว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร เริ่มตั้งแต่เมื่อไร เรื่องแผนการเพาะปลูก แผนการส่งน้ำ ท่านจะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้อุ่นใจ ว่าก่อนที่จะถึงฤดูการผลิตอย่างน้อยเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่าเขาจะมีน้ำเท่าไรนะครับ เพราะในสิ่งเหล่านี้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างที่ผมบอกนะครับ รัฐบาลเขียนไว้ ให้ความสำคัญ แต่ผมไม่รู้ว่าเขียนไว้อย่างนั้นหรือเปล่า แต่ในความใส่ใจทุกวันนี้ที่รัฐบาล รักษาการจัดการอยู่ ผมไม่เห็นจะมีความใส่ใจสักเท่าไรเลย เพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม อย่างในคราวนี้ตอนแรกเราก็คิดว่าน้ำมันจะไม่มี จริง ๆ ผมก็ใจหาย ยกตัวอย่างเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ ๒๘ กรกฎาคมมีน้ำลดต่ำลงมาก เหลือจะไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำก็คือมีน้ำใช้ได้ เหลืออยู่แค่ ๗๔๖ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่โชคดีที่ว่าช่วงหลัง ๒ อาทิตย์ถัดมาจนถึงวันนี้ น้ำจาก ๗๐๐ กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นมาเป็น ๑,๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พี่น้องเกษตรกรก็ยังสอบถามมานะครับว่าตกลงแล้วเขาจะได้นำทำนาไหม ท่านเองถ้าบอกว่า มีการรณรงค์อยู่แล้วว่าไม่ให้ทำนาต่อเนื่องกัน ท่านเพิ่งจะมาบอกกันเมื่อไร แล้วบอกก็นี่ไม่ได้ เป็นกิจจะลักษณะ เมื่อไรมันจะเป็นกิจจะลักษณะเหมือนอย่างแผนที่เขียนไว้สักที เหมือนอย่างที่ท่านอยากจะให้เห็นว่าการวางแผนในระบบการเกษตรในวันข้างหน้า ทุกอย่างมันต้องเป็นระบบ ต้องเป็นแผน แล้วอย่างนี้ท่านจะไปโทษเกษตรกรว่าห้ามแล้ว อะไรแล้วว่าอย่าปลูกต่อเนื่อง เพราะน้ำมันไม่ค่อยมี ถ้าอย่างนี้ก็ต้องรับผิดชอบกันเอง มันไม่ยุติธรรมนะครับถ้าแบบนี้ เพราะฉะนั้นในเที่ยวนี้ผมก็ยังจะดูใจของหน่วยงานราชการ ตั้งแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของแผนปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ไปจนถึงกรมชลประทานว่าพี่น้องเกษตรกรขอวงแคบเข้ามาก็คือ ในจังหวัดพิษณุโลก ในอำเภอพรหมพิราม ในอำเภอเมือง ในอำเภอวัดโบสถ์จะได้ไหม น้ำที่จะต้องส่งให้ต้นข้าว ณ เวลานี้ เพราะน้ำมันก็เพิ่มขึ้นมา ได้น้ำฟรี ๆ มาอีก ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ท่านจะใจดำไหม ในเมื่อชาวนาเขาลงทุนไปแล้ว ถ้าเขายังไม่ลงทุนนี่ผมก็จะห้ามเขา แต่ ณ วันนี้เขาลงทุนไปแล้ว และท่านจะเห็นชาวนา เขายืนตายอย่างนั้นหรือ เพราะส่วนหนึ่งท่านต้องยอมรับว่าเป็นเพราะความไม่ชัดเจน ของหน่วยงานราชการ จะไปว่าประชาชนไม่รู้เรื่องนี่ผมว่าไม่ถูกนะครับ เพราะฉะนั้น ผมเองก็ขอเรียกร้องผ่านท่านด้วย ท่านบอกสำเร็จแล้วทั้ง Big Data เอย ทั้งในเรื่องของ การบูรณาการกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำ ท่านก็บอกเรียบร้อยแล้ว และเรียบร้อยแล้วสถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ก็เป็น ๑ หน่วยงานในการบูรณาการเรื่องน้ำ มีการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าน้ำมันจะมี ไม่มี ท่านไม่บอกเขาไปชัดเจน แล้วพออย่างนี้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ พอเกษตรกรลงทุนไปแบบนี้ ถ้าท่านจะนิ่งดูดาย ปล่อยให้เกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกอยู่ตอนนี้และลงทุนไปแล้ว และหว่านปุ๋ยไปแล้วรอบหนึ่ง ไม่ได้น้ำแล้วต้นข้าวยืนตาย ถ้าฝนมันทิ้งช่วงด้วยนี่บาปกรรม และผมก็จะถือว่าท่านโกหกในสิ่งที่ท่านรายงานกับพวกผมมา ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ ครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ผมขออนุญาต เริ่มเลยนะครับ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี ที่จัดทำโดยสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า สทนช. การมีแผนเป็นสิ่งที่ดี แต่นั่นไม่ได้ หมายความว่าจะเป็นแผนที่ดีนะครับ ผมได้ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลายท่าน และได้ข้อสรุปถึงข้อกังวลของแผนแม่บทนี้หลายประการนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ ๑. การจัดการ น้ำอุปโภคบริโภค แผนนี้ไม่ได้นำปัญหาหรืออุปสรรคความไม่สำเร็จที่เกิดขึ้นในกรณีต่าง ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกโครงการไม่สำเร็จ มากางวิเคราะห์ดู ยกตัวอย่างเช่น ทำไมน้ำประปา หมู่บ้านจำนวนมากจึงดื่มไม่ได้ ทำไมการแปรรูประบบประปาที่ปทุมธานีทำให้น้ำประปา แพงขึ้น ทำไมการขยายพื้นที่นอกชลประทานยังทำได้น้อย เพราะการกระจายงบประมาณ ที่ไม่สมดุลหรือไม่ เมื่อไม่วิเคราะห์แบบนี้ผมไม่มั่นใจเลยว่าจะแก้ไขปรับปรุงได้อย่างไร น้ำกินน้ำใช้ตั้งเป้าแค่เกณฑ์ปริมาณ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพน้ำว่าจะต้องได้มาตรฐานด้วย รวมถึงไม่ได้บอกถึงที่มาของแหล่งน้ำดิบว่าจะเอามาจากไหน

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ปริมาณน้ำในเขตเกษตร น้ำฝนตามแผนนี้ยังดำเนินการได้น้อยไป เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรทั้งหมด ทำให้เกษตรกร และภาคการเกษตรจำนวนมากยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนเดิมนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๓ การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย แผนนี้เขียนกว้างเกินไป ไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีรายละเอียดว่าเวลาใด พื้นที่ใดจะได้รับการปรับปรุง พื้นที่ใดจะได้รับการปกป้องมากขึ้น รวมถึงไม่อธิบายถึงการปรับปรุง การรับมือ และการเยียวยาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเลย ขาดการมององค์รวมของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำฝน น้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งต้องมี การเตรียมแผนรับมือกับน้ำทั้ง ๓ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ควรกำหนดจุดสมดุลระหว่างการพัฒนา และการอนุรักษ์ระหว่างเขื่อนและป่าไม้ เรามีโครงสร้างเขื่อนทั่วประเทศ แต่ขาดการบริหาร จัดการ เราต้องเอา Innovation เอาเทคโนโลยี เอาข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน สร้างการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนควบคุม และกำหนดทิศทางให้น้ำ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๕ การบริหารจัดการน้ำ แม้ว่าตามแผนนี้จะให้ความสำคัญกับ ภาคประชาชนเช่นคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่กรรมการชุดนี้มีสัดส่วนภาคประชาชนน้อยเกินไป เห็นสมควรว่าควรจะเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนให้มากขึ้นนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ข้อที่ ๖ การติดตามประเมินผลไม่มีความชัดเจน บอกแต่ตัวชี้วัด แต่ไม่บอก กรอบเวลาในการประเมิน กระบวนการประเมินในแต่ละพื้นที่เช่นควรใช้เกณฑ์ลุ่มน้ำ หรือเกณฑ์จังหวัดเป็นต้น อันนี้ทำให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถประเมินความคืบหน้า ในการแก้ไขปัญหาได้เลยดังที่ Slide ขึ้นอยู่ข้างบนนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ กำหนดไว้ว่า ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ ช. ด้านอื่น ๆ (๑) ให้มีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน ซึ่งแผนแม่บทนี้ไม่ได้เอ่ยถึงภัยพิบัติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเลย ซึ่งปัจจุบันเราเข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ Slide ที่ทุกท่านเห็นอยู่เป็นการจัดอันดับประเทศ ที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไทยอยู่อันดับ ๙ จาก ๑๙๓ ประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์ El nino และ La nina ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้น ประกอบกับภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับ พื้นที่ลุ่มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง ๑-๒ เมตร อีกทั้งมีการทรุดของแผ่นดิน ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดินได้มาก ณ ปัจจุบันน้ำเค็มได้มาถึงจังหวัดปทุมธานีแล้ว แม้ว่าจังหวัดปทุมธานีจะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรก็ตามนะครับ เราสนใจแต่ น้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ละเลยเรื่องน้ำเค็ม แล้วก็เรื่องของภัยพิบัตินะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปนะครับ ที่ทุกท่านเห็นอยู่นี้เป็นการจัดอันดับความเสี่ยง ของสถาบันทรัพยากรโลก ไทยมีความเสี่ยงเรื่องที่จะขาดแคลนน้ำเป็นอันดับ ๔๕ ของโลก อันดับหนึ่งของอาเซียน สนทช. ขับเคลื่อนเรื่องนี้ช้าเกินไป เราเคยชินกับการใช้การบริหารน้ำ แบบปกติที่เน้นแต่เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่วันนี้เราสนใจแต่น้ำท่วมน้ำแล้งไม่ได้ เพราะมันมีน้ำเค็มเข้ามาด้วย สนทช. ควรมี Road Map ในเรื่องนี้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ จะเป็นเรื่องของโครงสร้าง หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือจะใช้ทั้ง ๒ อย่างตามความเหมาะสม ผมคิดว่าหากจะมีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้นไม่ควรเป็นโครงสร้างแข็งที่ปิดตาย สนทช. ต้องระวังเรื่องการ Operation รวมถึงมีแผนเสนอฉากทัศน์รองรับภัยพิบัติ และเริ่ม นำระบบ DSS หรือ Decision Support System มาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เรื่องน้ำในภาวะวิกฤติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตัดสินใจผิดพลาดให้ได้มากที่สุด แม้ตอนเริ่มทำข้อมูลอาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะเป็นตัวช่วยการตัดสินใจ ที่ดีแน่นอน การรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกรรม และพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทำนาในจังหวัดปทุมธานี พื้นที่ทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ถามว่าทำไมเราต้องกังวลถึงเรื่องน้ำเค็มที่ลุกล้ำเข้ามา ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาคือแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา ที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เมื่อน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามากทำให้น้ำประปามีรสเค็มไม่ส่งผลดีต่อ สุขภาพประชาชน

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ ขออีก ๑ นาทีครับ ท่านประธาน ที่ผมต้องอภิปราย เรื่องนี้วันนี้เพราะว่าเห็นว่า สนทช. ดำเนินการเรื่องนี้ช้าเกินไปสำหรับการเตรียมรับมือ เพราะถึงแม้ว่าเราจะเริ่มวันนี้แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก ๔-๕ ปี ในการเตรียมแผนที่จะรับมือ กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอนาคต น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเราก็จริง แต่เป็นทรัพยากรที่ให้ได้ทั้งคุณและโทษ ส่วนจะได้คุณหรือได้โทษนั้นก็อยู่ที่การบริหารจัดการ แต่ถ้าหากเราไม่วางแผนบริหารจัดการให้ดีขึ้นน้ำจืดจะเป็นทรัพยากรที่หายากแล้วแพงขึ้น ผมหวังว่าทาง สนทช. จะเร่งเตรียมการรับมือก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ นี่คืออนาคตที่เราจะเกิดขึ้น ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านจิราพร สินธุไพร ครับ

นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ แผนการปฏิรูปประเทศและแผนอื่น ๆ เป็นแผนงานที่ต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา ๖๕ ของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งระยะเวลา ๒๐ ปีของยุทธศาสตร์ชาติ จะถูกวางรากฐาน ๕ ปีแรกภายใต้การปฏิรูปประเทศฉบับนี้ แต่ปัญหาอย่างแรกในการจัดทำ ในขณะนั้นคือปรากฏว่าแผนปฏิรูปประเทศกลับทำเสร็จก่อนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นั่นหมายความว่าแผนรองทำเสร็จก่อนแผนหลัก ทำให้ในช่วงแรกต้องเสียเวลาแก้ไข แผนปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับแผนหลักอย่างยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นเฉพาะกระบวนการ แก้ไขแผนปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติบวกกับการขยายเวลาปรับปรุง แผนปฏิรูปประเทศออกไป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่ ก็ทำให้ในช่วงแรก ๆ นั้นต้องเสียเวลากับการร่างแล้วก็แก้ไขแผนไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาแผนแล้ว นอกจากนี้ปกติถ้าเราใช้คำว่า ปฏิรูป เราก็ต้องนึกถึงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วต้องทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดผลที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมา แต่ถ้าเราไปดูในรายละเอียด แผนการปฏิรูปประเทศที่มีการประกาศบังคับใช้ในปี ๒๕๖๑ ทั้ง ๑๓ ด้าน ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่แผนหรือโครงการที่นำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการเอางานประจำ ที่หน่วยงานราชการดำเนินการอยู่แล้วมายัดใส่หัวข้อแต่ละด้าน เพื่อให้ดูมีแผนงาน และมีความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำให้ดูเสมือนว่ายุทธศาสตร์ชาติมีผลงาน ออกมาเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ใน CR 05 การดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ระบุว่าได้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จำนวน ๓ เป้าหมายแล้ว ซึ่ง ๓ เป้าหมายนั้นประกอบด้วย

นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เป้าหมายที่ ๑ ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เป้าหมายที่ ๒ การกระจายความเจริญและความเข้มแข็งของภาคสังคม

นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

และเป้าหมายที่ ๓ การปรับบทบาท โครงสร้างและกลไกสถาบันบริหาร จัดการเศรษฐกิจของประเทศ

นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

แต่พอเรามาดูเนื้อในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จตามทั้ง ๓ เป้าหมาย ดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในหน้า ๙๘-๑๐๓ ดิฉันคิดว่านี่ไม่ได้เป็นการปฏิรูปประเทศ ให้เกิดสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว เช่น การดำเนินการในหัวข้อที่ ๓ หน้า ๑๐๑ การปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มพูนรายได้ของรัฐใน ด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการระบุผลงานของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการถ่ายลำและผ่านแดนของภูมิภาค ASEAN ว่ามีการเร่งรัดการลงนามบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย และบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย ท่านประธานที่เคารพคะ ถ้าใครที่ติดตามเรื่องปัญหาการถ่ายลำและผ่านแดนจะทราบว่าการหารือบันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทย-มาเลเซียฉบับนี้มีการหารือทวิภาคีในเวทีต่าง ๆ กันมานานมากแล้ว ถ้าดิฉัน จำไม่ผิดเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ราว ๆ นี้ค่ะ มันเป็นการหารือ ที่ทำกันมาก่อนที่จะมีแผนปฏิรูปฉบับนี้เสียอีก ถ้าท่านประธานดูต่อในหน้า ๑๐๒ จะระบุถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค มีการยกตัวอย่างผลสำเร็จการดำเนินการขับเคลื่อนปฏิรูปผ่านการประชุมเจรจาความตกลง การค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ท่านประธานที่เคารพคะ FTA ไทย-สหภาพยุโรป เริ่มเจรจามา ตั้งแต่สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกสหภาพยุโรประงับการเจรจา เพราะมีการรัฐประหาร ในปี ๒๕๕๗ นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าไม่มีแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้เขาก็เจรจา FTA ฉบับนี้ กันอยู่แล้ว รัฐบาลในอดีตเขาเจรจามาตั้งแต่ก่อนมีแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ค่ะ การรัฐประหารจนทำให้เกิดแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ต่างหากที่ทำให้การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปต้องสะดุดหยุดลง วันนี้จะมาทำต่อจากสิ่งที่รัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยทำเอาไว้ก็ล่าช้ามาก เพราะกว่าจะสามารถกลับมาขอเจรจาได้ก็เกือบจะหมดอายุ รัฐบาลนี้ไปแล้วค่ะ นอกจากนี้ก็ยังได้ระบุผลงานการปฏิรูปประเทศต่ออีกว่า มีการเจรจาภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-แคนาดา ตัวอย่างนี้ก็เช่นเดียวกันมันเป็น FTA ที่ประเทศสมาชิก ASEAN ได้หารือพูดคุยกัน เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะมีแผน ปฏิรูปประเทศฉบับนี้ ก็คือในปี ๒๕๕๑ อีกแล้วค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ นี่เป็นตัวอย่าง เพียงแค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น จะเห็นว่าหลายอย่างเป็นสิ่งที่แม้ไม่มีแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับนี้ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานดำเนินการกันอยู่แล้ว และดิฉันเชื่อว่าถ้าเราไปดูในรายละเอียด ในด้านอื่น ๆ ก็คงจะไม่แตกต่างกัน การที่เราเอางานที่ทำอยู่แล้วมายัดใส่แผนปฏิรูปแบบนี้ จะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงได้อย่างไร แบบนี้ดิฉันก็ไม่แปลกใจที่สมาชิก หลายท่านจะเห็นว่าผ่านมากกว่า ๕ ปี แต่แผนปฏิรูปฉบับนี้ก็ดูไม่มีความคืบหน้า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งปฏิรูปก็เหมือนจะยิ่งถอยหลัง ท่านประธานที่เคารพ ร่มใหญ่ของแผนปฏิรูปประเทศก็คือยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ร่มที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีและแผนปฏิรูปประเทศถือกำเนิดขึ้นคือรัฐธรรมนูญฉบับ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นมรดกที่คณะรัฐประหารใช้ขีดเส้นทางประเทศไทยให้เดินตามแม้ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ดังนั้นการที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้สำเร็จได้ เราต้องเริ่มแก้ที่โครงสร้างใหญ่ของ ประเทศ ก็คือรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ฉบับนี้ค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ วันนี้เป็นโอกาสของ ท่านทั้งหลายที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นนั่งร้านให้กับเผด็จการที่จะเปลี่ยนมาเป็นนั่งร้านให้กับ ประชาชนมาร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่ทำให้เกิดกำเนิดแผน ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศทั้งหลายที่ได้สร้างพันธนาการให้กับประเทศไทยเอาไว้ เป็นกับดักที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศห้ามพัฒนา มาร่วมกันแก้ไขอดีตที่ผิดพลาด เปิดทางให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นใหม่ด้วยการร่วมกันสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอิทธิพล ชลธราศิริ ครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล จากรายงาน ผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๗๐ ในด้านการศึกษา จากผลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๕ ในด้านการศึกษาพบว่ามีงบประมาณรวม ๖๐๖,๕๙๑,๙๐๐ บาท โดยมีกิจกรรม ด้านการศึกษาตามแผน Big Rock ๕ กิจกรรม ขอ Slide ครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ผมขอเริ่มจากกิจกรรมปฏิรูปที่ ๓ การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน Slide ต่อไปครับ ผมขออธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับวิธีการสอบครูในปัจจุบันก่อนนะครับ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. หลาย ๆ อ.ก.ค.ศ. ในแต่ละเขตพื้นที่รวมกันเรียกว่า Cluster Cluster นี้ก็จะไปจ้างมหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ ในการออกข้อสอบ ทำให้ในแต่ละ Cluster ไปจ้างมหาวิทยาลัยที่ต่างกันออกไป การออกข้อสอบจึงไม่ใช่มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ผู้สอบก็มาจากต่างมหาวิทยาลัยบ้าง มหาวิทยาลัยนั้น ๆ บ้าง ซึ่งแต่ละที่มีหลักสูตรต่างกันออกไปครับ แล้วพอถึงเวลาเปิดสอบ นักศึกษาที่จบครูมาก็ต้องมาลงสอบได้ Cluster ในเขตพื้นที่ของตัวเอง เพื่อต้องการ ที่จะบรรจุที่เขตบ้านของตัวเองครับ แบบนี้ก็จะเกิดปัญหาความแปรปรวนของกระบวนการ สอบได้ อาจจะเป็นด้านของความยากง่ายที่ไม่เท่ากัน มาตรฐานที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหาดังนี้ บางเขตพื้นที่การศึกษาบางวิชาเอกไม่มีผู้สอบผ่านเลย ซึ่งทำให้บางเขตพื้นที่ได้ครูไม่ทันใช้ หากเขตพื้นที่ไหนไม่มีผู้สอบผ่าน ทำให้ไม่ได้ครูเข้าไปสอนทดแทนในอัตราที่ว่าง หรือจะทำให้ ต้องขอไปใช้บัญชีจากเขตพื้นที่อื่น สุดท้ายก็จะเป็นปัญหาของการขอย้ายคืนถิ่นอยู่ดี อาจจะมีการวิ่งเต้นโยกย้ายทำให้เกิดธุรกิจทุจริตคอร์รัปชันได้ ขอ Slide ถัดไปครับ จากปัญหาที่ว่ามาก็ส่งผลให้อัตรากำลังครูในโรงเรียนไม่เพียงพอ ครูไม่ครบชั้น ครูต้องสอน ควบชั้นในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงภาระงานที่นอกเหนือจากการสอน เช่น งานธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ ในโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะมีพนักงานอัตราจ้างที่เข้ามา ทำตำแหน่งเหล่านี้ครับ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก งานต่าง ๆ เหล่านี้ถูกผลักภาระ ให้มาเป็นหน้าที่ของครู รวมถึงการเข้าเวรนอนเวรโรงเรียน เพราะครูต้องดูแลทรัพย์สิน ทางราชการ คำถามคือถ้าโจรมาจริง ๆ ครูต้องไปสู้กับโจรเพื่อป้องกันทรัพย์สินทางราชการ หรือครูจะต้องเอาตัวรอดจากโจรให้ได้ ครูต้องดูแลทรัพย์สินทางราชการ แล้วใครดูแล ชีวิตครูครับ หรือเรื่องการประเมินต่าง ๆ ของครูไม่ว่าจะเป็น ITA OIT EIT IIT จากการสอบถาม เพื่อน ๆ ครูบอกว่าการประเมินพวกนี้สุดท้ายมันคือการ Make เอกสารขึ้นมา เพราะว่า นโยบายมันมาตั้งแต่แรกว่าต้องการแบบไหน เช่น ITA เป็นการประเมินความสุจริต ของโรงเรียน แต่วัดความสุจริตไม่ได้เลย เพราะเป็นการ Make เอกสาร และตอบ แบบสอบถาม คุณครูก็นัดกันตอบแบบสอบถามให้ได้คะแนนความโปร่งใสสูง ๆ การประเมิน เหล่านี้ไม่ควรมาเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของคุณครู ถ้าจะมีการประเมินครูจริง ๆ ให้ประเมิน จากชั้นเรียน จากนักเรียนเลยครับ นักเรียนประเมินคุณครู คุณครูประเมิน ผอ. ผอ. ประเมิน ผอ. เขต หรือถ้าเป็นไปได้ ผอ. เขตประเมินรัฐมนตรีได้ยิ่งดี ขอ Slide ถัดไปครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

จากกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้สมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ถ้าครูไปใช้เวลากับงานที่ไม่ใช่งานของครู ครูจะเพิ่มประสิทธิภาพการสอนได้อย่างไร หากมีการจัดสรรได้ควรจะมีฝ่ายธุรการ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ นักการภารโรงทุกโรงเรียนโดยไม่ต้องให้ครูมาทำ มีครูให้ครบชั้น มีครูที่สอนตรงวิชาเอก และครูจะได้มีเวลาในการเตรียมการสอน มีเวลาในการคิด นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลามากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้เลย เพราะภาระงานอันมหาศาลของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเลย ขอ Slide ถัดไปครับ รวมถึงการได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและภาระหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบ เงินเดือนเริ่มต้น ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ทำงานเหมือน ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งสอน ทั้งทำบัญชี ท ำธุรกำร ท ำพัสดุ ครูบางโรงเรียนต้องทำอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วยครับ และยังต้องมานอนเฝ้าโรงเรียนอีก ฐานเงินเดือนนี้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ๑๑ ปีผ่านมาแล้วครับเงินเดือนครูก็เริ่มต้นอยู่ที่เดิม ในขณะที่วิชาชีพครูมีใบประกอบวิชาชีพ แต่กลับไม่มีค่าอะไรให้เลย ไปอยู่เวรก็ไม่ได้ค่าเวร แถมอันตรายด้วยครับ ถ้าภาครัฐต้องการประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี การทำให้ ความเป็นอยู่ของครูดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เช่นกันครับในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยที่มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการที่นักเรียนไทย เรียนหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ไม่สามารถไปเอาความขยันของผู้เรียนออกมา เป็นทักษะที่แข่งขันกับหลักสากลได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงมากทุกปี แต่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศได้ หรือครูที่ต้องทำงานหนัก แต่กับหมดเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสอน อยากฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงและคณะดำเนินการครับ ทั้งหมดนี้เราปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ แล้วใช่ไหมครับ เหมาะกับงบประมาณที่เราใช้ในแต่ละปีแล้วใช่ไหมครับ การปฏิรูปการศึกษาไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ การดำเนินกิจกรรมภายในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาจากผลรายงาน ความคืบหน้าของกิจกรรม แสดงผลการดำเนินการว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างแท้จริงครับ เพียงแต่เป็นผลที่นำเสนอเชิงตัวเลข ให้ประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ไม่อาจจะประเมินผลสำเร็จเชิงประจักษ์ได้ จึงฝาก ท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงและคณะดำเนินการว่าการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงหัวใจ อยู่ที่คุณครูครับ การศึกษาที่คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครูครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ ครับ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๕ อำเภอเทิง พญาเม็งราย ขุนตาล ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ การปฏิรูปประเทศเกิดจากการยึดอำนาจของรัฐบาล คสช. ซึ่งมันเป็นความไม่ชอบธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นครับ ก้าวแรกของการขึ้นบันไดเมื่อเหยียบพลาด ก้าวต่อไปก็เดินทางลำบาก และไปไม่ถึงขั้นสุดท้ายของบันได นั่นก็หมายถึงว่าการปฏิรูปประเทศเป็นความเริ่มต้น ที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน ดังนั้นคงเป้าหมายของการปฏิรูปครั้งนี้ จึงไม่ถึงเป้าหมาย นั่นก็คือความผาสุกและประโยชน์สุขของประชาชน เพราะเป้าหมาย สำคัญที่สุดคืออำนาจ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเรียกว่า Single Command นี่คือหลักการใหญ่ของการปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงนั้น ต้องปฏิรูปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความผาสุกของประชาชน รายงานสรุปผล การดำเนินการครั้งนี้จะเห็นว่าเป็นการสรุปผลที่หาผลสัมฤทธิ์ยากมาก ดูประโยชน์ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนไม่ค่อยเจอ แต่สิ่งที่เห็นก็คือเป้าหมายเชิงปริมาณ วิธีการ วิธีดำเนินการ เครื่องมือ หรือสื่อเท่านั้นเองที่ทำ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นประชาชนได้อะไร เราไม่เห็นครับ นี่คือสิ่งที่เห็นจากผลการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเป็นตัวชี้วัดที่ยากมากที่สุด เราจะเห็นว่าข้อมูลที่สมาชิกท่านผู้ทรงเกียรติได้ร่วมอภิปรายนั้น พยายามชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด ในทุกด้านของการปฏิรูป หลาย ๆ ท่านก็มีแนวทางที่สร้างสรรค์ในการเสนอแนะในการทำงาน แต่ก็เสียดายครับ หมดไปแล้วเมื่อปี ๒๕๖๕ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่รัฐบาล ที่มาต่อจากรัฐบาลชุดนี้ต้องดำเนินการต่อ ให้การปฏิรูปประเทศนั้นเกิดผลให้ได้ เพราะฉะนั้น การสะท้อนผลครั้งนี้เราจะเห็นว่ามันเป็นความผิดพลาดทั้งหมด มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาด ก้าวต่อไปและปลายทางจึงผิดพลาด การปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๓ ด้านนั้น เราจะเห็นว่า สัมฤทธิผลยาก หาคำตอบยาก แต่ที่สำคัญที่สุดครับ ผมอยากจะขอพูดถึงเรื่องของการปฏิรูป ด้านการศึกษา ทำไมครับ เพราะการศึกษานั้นคือการพัฒนาคุณภาพของคน คนมีผลต่อคุณภาพของประเทศชาติ เพราะฉะนั้นประเทศจะพัฒนาได้เพราะเด็กครับ เด็กซึ่งเป็นลูกหลานของเราทุกคน เด็กวันนี้ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ในยุคการเปลี่ยนแปลงใหม่ของการเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะเห็นได้ชัด คุณภาพที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ที่ใช้เพียงฝ่ามือเดียว ด้วยระบบสัญญาณเครือข่าย แต่เรายังไม่เห็นในสิ่งเหล่านั้นที่ภาครัฐจะทำให้เกิด ความเสมอภาคกันนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นอยู่ที่ว่าใครมีทุน ใครมีงบประมาณ ใครมีโอกาสมากกว่าก็ได้เปรียบ หลายเรื่องครับไม่ว่าจะด้านการศึกษาหรือด้านอื่น ๆ ก็ตาม เราก็ยังวนเวียนเรื่องของกฎหมาย แก้กฎหมาย ทำกฎหมายให้เป็นธรรม เรายังวนเวียนเรื่อง โครงสร้างการบริหารจัดการ เรายังวนเวียนเรื่องของการสร้างอำนาจ การสร้างตำแหน่ง แต่ยังไม่ถึงสาระของแก่นแท้ในแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปตำรวจก็ดี ไม่ว่าจะปฏิรูปการเมืองก็ดี หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการศึกษา เราไม่ได้เน้น เรื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ และเครื่องมือใหม่ในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้กับครู เราต้องการผลเลิศ ต้องการคุณภาพ แต่เราไม่ให้เครื่องมือไป ให้ไปหาเอาข้างหน้า นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดเจน เราจะแก้กฎหมายกี่ฉบับ เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างรอยต่อ ของการเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถที่จะทำระดับของความเหลื่อมล้ำให้มันเท่ากันได้ ท่านประธานครับ การศึกษาคือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ระบบการศึกษา ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าการศึกษาในระบบ นอกระบบ การเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดนั้น มีองค์ประกอบ ๓ หลักใหญ่ ๆ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก็คือหลักสูตรครับ หลักสูตรวันนี้เราต้องยอมรับว่าไม่ทันแล้ว เป็นหลักสูตรที่ยังคงเน้นเนื้อหาวิชา เป็นหลักสูตรที่ไม่เน้นเรื่องของการให้เกิดประสบการณ์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง เรายังหลงติดเนื้อหาไปต่อไม่ได้ ไปตรงนั้นก็ติด ไปตรงนี้ก็ติด นี่คือหลักใหญ่ หลักสูตรก็จะมาปรัชญาการศึกษาที่เกิดจากการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ให้กับผู้เรียน หลักสูตรนั้นเราเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ปีนี้ปี ๒๕๖๖ แล้ว แม้จะปรับปรุงปี ๒๕๖๐ แต่ก็ยังไม่ทันการณ์ เพราะการเปลี่ยนแปลงเร็วภายในวินาที เพราะฉะนั้น ๕ ปี ๑๐ ปี ก็ถือว่าล้าหลังมากแล้ว เพราะฉะนั้นสาระสำคัญของหลักสูตรจึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลักสูตรคือพิมพ์เขียวในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพของคนในชาติ เป็นพัฒนาการของช่วงวัยในแต่ละ Generation นี่จึงเป็นหลักการใหญ่ครับ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

หลักการที่ ๒ ก็คือการจัดการเรียนการสอนที่ต้องสร้างจากวิธีการเรียนรู้ใหม่ การจัดการเรียนรู้ใหม่ของครู สร้างครูสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคัดเลือกในระบบปิด ระบบเปิด ระบบไหนก็ตาม เราต้องให้อำนาจไปที่หน่วยคัดเลือก หน่วยผู้ใช้ นี่คือหลักการ สำคัญ เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนการสอนนั้นต้องมีเครื่องมือให้โรงเรียนครับ ต้องมี เครือข่ายสัญญาณที่เหมาะสมให้กับนักเรียน ต้องมี Smart TV ให้กับนักเรียน ระบบที่ ๓ นั้น สิ่งสำคัญคือการประเมินครับ การประเมินต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแนวทางในการประเมิน จากการประเมินโดยระบบข้อสอบมาเป็นการสะท้อนสภาพจริง ดูผลงาน ดูผลผลิตของงาน เป็นหลัก นี่คือหลักการใหญ่ครับ ระบบที่ ๒ คือระบบการบริหารจัดการที่ยึดโยงโครงสร้าง อำนาจเดิมเป็นศูนย์กลางมากกว่าการกระจายอำนาจ เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจนั้น ต้องให้อำนาจที่แท้จริงไปยังสถานศึกษา ให้เขาสามารถบริหารวิชาการ บริหารคน บริหาร งบประมาณ บริหารงานทั่วไปได้ครบ กระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่การศึกษา กระจาย อำนาจไปยังศึกษาธิการจังหวัด นี่คือหลักการใหญ่ทั้งหมดครับ แต่ว่าเรายังไม่ให้อำนาจ อย่างแท้จริงนั่นก็คือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของการดำเนินการ ผมจะขออนุญาตว่า ในสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการพัฒนาคุณภาพของครูครับ ครูไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครู ครูในระบบการศึกษาของภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ตชด. ปริยัติธรรม ศูนย์การเรียนรู้ เครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นครูที่จะสอนให้กับนักเรียนทั้งนั้น ระบบสำคัญที่สุดระบบใหญ่ของระบบการ บริหารจัดการคือเรื่องงบประมาณครับ เรามีงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้อนุบาล คนละ ๑,๗๐๐ บาทต่อปี ประถมศึกษา ๑,๙๐๐ บาทต่อปี ม.ต้น ๓,๕๐๐ บาทต่อปี ม.ปลาย ๓,๘๐๐ บาทต่อปี ไม่ทันแล้วครับ ไม่พอแล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑๐๐ บาท แล้วครับ เพราะฉะนั้นของต่าง ๆ ขึ้นราคาหมด แต่ว่างบอุดหนุนให้กับนักเรียนยังเท่าเดิม นี่ต้องปรับครับ อาหารกลางวันให้ ๒๒ บาท ถึง ๓๖ บาท ในระดับโรงเรียนที่ขนาดแตกต่างกัน แต่ยังไม่ให้คนที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นหลักการก็คือให้คนที่เท่า ๆ กันลดความเหลื่อมล้ำ อาหารกลางวัน ๓๖ บาท หรือ ๒๒ บาทมันไม่ทันแล้ว ก๋วยเตี๋ยวมัน ๑๕๐ บาทแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดครับต้องปรับ ๑. เงินอุดหนุนครับเพิ่มขึ้นตามดัชนีค่าครองชีพ หรือตาม GDP ของประเทศ ๒. งบช่วยเหลือนักเรียนครับ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน เงินอุดหนุนด้านอื่น ๆ ให้นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ๓. งบพัฒนาคุณภาพ โรงเรียนครับ ให้เขาไปเป็นก้อน ให้เป็น Block Grant ให้สามารถที่จะซ่อมแซม ให้สร้าง ให้จ้าง ให้เสริม นักการภารโรงก็ดี ครูธุรการก็ดี ฝ่ายสนับสนุนก็ดีก็ให้งบประมาณไป ให้โรงเรียนจ้างเองจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของอัตรากำลัง จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของการหาคน ในพื้นที่ ก็ให้อำนาจโรงเรียนไปดำเนินการทั้งหมด และที่สำคัญคืองบอาหารกลางวัน ก็ต้องเพิ่มให้นักเรียนครับ การศึกษาโดยรวมครับ มีหลายหน่วยที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชน สถานประกอบการ องค์กรเอกชน เราต้องมีแม่บทในการจัด การศึกษา วันนี้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติยังไม่คลอดครับ นี่คือแม่บทของคนไทย คุณภาพของคนไทย สิ่งที่คนไทยจะเป็นทั้งหมดทั้งประเทศเรายังไม่คลอด เพราะฉะนั้นต้อง เป็นหน้าที่ของพวกเราเช่นเดียวกันครับ สรุปครับ รัฐบาลล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ทุกด้านครับดังที่พวกเราพูดมา เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำจึงไม่ต้องแก้กฎหมายหรอกครับ แต่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้มีการศึกษาที่ดี ให้มีสุขภาพที่ดี ให้มีเศรษฐกิจดี ให้มีสังคมดี ทุกฝ่ายเราต้องร่วมมือกันและช่วยเหลือกัน ไม่กล่าวโทษ แต่เป็นภาระหน้าที่ของพวกเรา ทุกคนในประเทศที่ต้องช่วยเหลือกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะช่วยกันขึ้นมาครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ปัญหาใหญ่ ปัญหาหลัก ปัญหาเดียวของ ความคืบหน้าของแผนปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือเรื่องของความคืบหน้านี่ละครับ เพราะมันไม่คืบหน้าครับ แล้วมันก็เข็นไม่ขึ้น เปลี่ยนตัวชี้วัดก็แล้ว เอาตัวชี้วัดทั่วไปออก เอาตัวชี้วัดหลอกมาแทนก็แล้ว ลดเป้าหมายให้เล็กก็แล้ว รื้อทั้งฉบับก็แล้ว ปรับปรุงแผน ทั้งฉบับก็ทำมาแล้วแต่มันก็ไม่กระเตื้อง ผู้แทนจากสภาพัฒน์ท่านน่าจะรู้อยู่แก่ใจนะครับ ว่าทำไมมันถึงไม่คืบหน้า ทำไมมันไปไม่ถึงไหนเสียที ถามใครในสภาพัฒน์นี่ผมว่ารู้ปัญหา อยู่แล้วละว่าอุปสรรคมันคืออะไร แล้วต้องแก้ตรงไหน จริง ๆ เราดูแค่ความตั้งใจผมคิดว่าเรา ก็พอจะดูออกนะครับ ดูความรับผิดชอบของบรรดากรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเจ้าของ รายงานฉบับนี้ก็พอจะเดาผลลัพธ์ได้ ว่าเรื่องที่เราพิจารณากันอยู่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ เขาถึง เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยนะครับ ที่ผ่านมาเขาถึงขนาดว่าอ้างคำว่าปฏิรูปประเทศนี่ สร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเลยนะครับ เขาถึงขนาดใช้การปฏิรูปประเทศ เป็นจุดขาย เอาไปโม้ขายกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนผ่านประชามติรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เขาถึงขนาดแต่งเพลงมาเป็นคำสัญญาเลยนะครับ มันสำคัญนะครับ นี่มันเป็นเรื่องระดับชาติ คิดดูว่าเขาให้สภาพัฒน์ทำรายงานเล่มหนาเท่านี้ครับท่านประธาน ผมชั่งมาแล้ว ๓ กิโลกรัม กับอีก ๒ ขีด แล้ว Graphic จัดเต็มทุกหน้า ๔ สีทุกหน้าเลย ทำขนาดนี้แสดงว่ามันสำคัญมาก มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ มันเป็นเรื่องของการนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนที่ เขาวาดฝันเอาไว้ แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ท่านประธาน เขาส่งคนมาชี้แจง ๓ คน แล้วก็เป็น ๓ คนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจกับเรื่องนี้เลย ท่านรัฐมนตรีที่พูดชื่อเมื่อสักครู่ผมก็เห็นแว้บเดียว ไม่ถึง ๑๐ นาที แล้วยังไม่เห็นอีกเลยไม่รู้ไปไหนแล้ว แล้วก็ผมเห็นใจนะครับท่านผู้มาชี้แจงทั้ง ๓ ท่าน เห็นใจโคตร ๆ เลยนะครับ ขออนุญาตใช้คำนี้ เพราะที่ต้องมารับหน้าแทนพวกผู้หลัก ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อแม้กระทั่งตัวเอง ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน่วยงานที่ เป็นมันสมองของประเทศอย่างสภาพัฒน์ ซึ่งตอนนี้ความน่าเชื่อถือถูกทำลายไปหมดแล้วด้วย คสช. ไม่กล้าจะรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสักครั้งเดียว เรารายงานกันมากี่ครับ ไม่เคยมาสักครั้งเดียวกรรมการแต่ละคน และมีเป็นร้อย ๆ คน จริง ๆ ไม่ต้องพูดถึงบรรดากรรมการครับท่านประธาน ไม่ต้องพูดถึงท่านรัฐมนตรีหรอก เอาแค่ระดับแกนนำเลยนะครับ อย่างรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พลเอก ประวิตร วันนี้ยังไม่มาประชุมสภาเลยครับวันนี้โดดประชุมสภาด้วยซ้ำ ยังไม่มาฟังรายงานตัวเองเลยด้วยซ้ำ พี่น้องประชาชนฟังอยู่อยากรู้ใช่ไหมครับว่าบรรดากรรมการมีใครบ้าง ขบวนการเขามีใครบ้าง อันนี้ผมก็อยากถามครับว่ามีใครบ้าง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็มีคุณประยุทธ์ มีคุณประวิตร มีคุณวิษณุ แล้วก็มีพรรคพวกทั้งหลายนั่นละครับ แล้วก็นามสกุลดัง ๆ เจ้าของโรงงาน เจ้าของธนาคารเยอะแยะไปหมด แล้วก็ยังมีวุฒิสภาที่เขายัดเอาไว้ ในรัฐธรรมนูญให้ไว้ต้องไปติดตามแล้วก็เสนอแนะแผนปฏิรูปประเทศ ก็ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าบรรดาท่านวุฒิสภาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่คอยติดตาม คอยเสนอแนะ เห็นประชุม ทุกสัปดาห์หมดเบี้ยประชุม ค่าดูแล ค่าลงพื้นที่ไปเที่ยวทั่วไทยไม่รู้เท่าไรแล้ว ความคืบหน้าก็ ไม่ถึงไหน ผมนี่แปลกใจจริง ๆ แต่กับสภาพัฒน์ ผมว่าท่านไม่แปลกใจหรอกจริง ๆ ท่านทราบ อยู่แล้วละปัญหามันคืออะไร ก็ไอ้แผนที่คิดค้นออกมานี่รัฐบาลไม่ทำก็แค่นั้นเอง ทั้งแผน ทั้งโครงการ Big Rock Quick Win ทั้งหลายถ้ารัฐบาลจะทำมันทำได้อยู่แล้ว โครงการ ไม่ใช่โครงการยากเย็นอะไรก็เห็นอยู่ก็เขาดึงไว้ไม่ยอมทำอ้างติดโน่นติดนี่ ความคืบหน้า มันก็ไม่ไปไหนครับกราฟมันก็อยู่แค่นี้ แต่มันไม่แปลกนะท่านประธานถ้ารัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้งของประชาชนเขาจะไม่ทำตามแผนนี้ ไม่ทำตามแผนที่คิดแล้วก็คลอดมา จากคนที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. ไม่แปลก แต่อันนี้มันแปลกครับ เพราะคนคิดนี่มันคนเดียว กับรัฐบาลครับ มันนั่งหัวโต๊ะเหมือนกันเลยครับ คือตอนอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์อ่านอย่างดิบดีตัวเองเซ็นอนุมัติกับมือ แต่พอมาอยู่โต๊ะ ครม. ไม่ทำ อย่างไรครับ ตัวเองก็นั่งหัวโต๊ะ ท่านประธานครับแผนปฏิรูปประเทศนี่เรากำหนดตัวชี้วัด KPI เป็นพัน ๆ โครงการที่โยงไปให้หน่วยงานราชการทำ แล้วมันก็เชื่อมโยงกับงบประมาณด้วยแต่ไม่ยอมทำ ตัวเองก็เป็นคนคิด และแผนตัวเองยังไม่ยอมทำนี่เราจะหวังผลลัพธ์อะไรจากหนังสือหนา ๆ เล่มนี้ครับ จริง ๆ มันก็สะท้อนอยู่กับเจตนารมณ์แรกเริ่มของการยึดอำนาจอยู่แล้วนะครับ ที่ยัดลงไปรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นี่ว่ายุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปมันแค่ข้ออ้างเพื่อทำ รัฐประหารเท่านั้น แล้วความคืบหน้าไม่มีแบบนี้ทำไมยังฝืนทำ ท่านก็จะตอบว่ามันเขียนไว้ ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ครับ ท่านได้กำหนดโครงการต่างหาก ท่านได้กำหนดการจัดการ การบริหารประเทศต่างหาก ที่สำคัญกว่าคือมันได้กระจายรายได้แบบเงียบ ๆ ดีครับ ท่านประธานการประชุมนัดแรก ๆ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีวาระพิจารณาสำคัญ วาระเดียวเลยครับ เรื่องเบี้ยประชุม เพราะว่าเดิมคำสั่งนายกเขาจ่ายเป็นรายครั้ง นี่ก็ประชุม กันยกใหญ่ได้มติว่าให้เปลี่ยนเป็นรายเดือน จากครั้งละ ๑๒,๐๐๐ บาท ประธาน กรรมการ ๑๐,๐๐๐ บาท แล้วก็ไล่เรียงมาเรื่อย ๆ เปลี่ยนเป็นรายเดือน เพราะว่าบางเดือนมีประชุม หลายครั้งจะได้จ่ายรอบเดียวแต่เพิ่มอีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผมอยากถามท่านผู้ชี้แจงครับ ผมไม่ทราบข้อมูลจริง ๆ ก็เขาประชุมกันแค่ปีละ ๒ ครั้ง ท่านประธาน สรุปเขาจ่าย ๑๒ รอบ หรือว่าจ่ายแค่ ๒ รอบครับ ผมงงไปหมดแล้ว ถ้าจ่าย ๑๒ รอบ นี่น่าเกลียดมากเลยนะครับ ถึงว่าไม่ต้องทุจริตหรอกกครับ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการเยอะ ๆ ก็รวยเลอะแล้วครับ ท่านประธานนิดเดียวครับ ผมอยากรู้ด้วยว่ามีทั้งหมดประมาณกี่คนครับ กรรมการหลายคณะ มากเลยนะครับ เอาแค่ยุทธศาสตร์ชาตินี่ก็ ๑๕๐ คนแล้วนะครับ ยังมีแผนปฏิรูปประเทศ ยังมีอนุ ยังมีคณะทำงานอีกมันเยอะขนาดไหนผมอยากรู้ว่ามีทั้งหมดในขบวนการนี้มีกี่คน ปัญหาตัวชี้วัดอันนี้ที่ท่านสมาชิกหลายท่านพูด แล้วก็พูดมาทุกรอบที่แผนปฏิรูปประเทศ เข้ามารายงานความคืบหน้าว่ามันไม่มีประสิทธิภาพเอย มันชี้วัดไม่ได้เอย ซึ่งจริงครับ มันไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์ที่เราได้รับจากแผนปฏิรูปฉบับนี้เลย คือถ้าเล่มนี้มันมีไว้เพื่อ ประเทศชาติแล้วก็มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนจริง ๆ นี่ ๓.๒ กิโลกรัมนี่ ตัวชี้วัดที่ถูกต้องที่สุด ตัวชี้วัด ที่มันจะสะท้อนผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ชาติได้ดีที่สุด ก็คือความพอใจของประชาชนครับ ท่านไม่ต้องไปคิดค้นตัวชี้วัดอะไรเลย KPI สำคัญคือความพอใจของประชาชน วัดอย่างไร ไปถาม กกต. ครับ เลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ท่านประธานผมขออีก ๒ นาทีครับ เลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมาท่านก็เห็นแล้ว ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ นายกรัฐมนตรี หลังจากแผน ยุทธศาสตร์ชาติคลอดออกมามีเวลา ๕ ปี ทำมา ๕ ปีแล้ว ปฏิรูปประเทศมา ๕ ปีแล้ว ใช้งบประมาณไป ๑๕.๕ ล้านล้านบาท ย้ำอีกครั้งนะครับ ๑๕.๕ ล้านล้านบาท กับการปฏิรูป ประเทศ แต่ซื้อใจประชาชนได้ ๑๒ เปอร์เซ็นต์จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันนี้ผมวัดจาก พรรคที่เสนอ พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ๑๒ เปอร์เซ็นต์ นี่คนใช้เงินไม่เป็น เป็นอย่างนี้ขณะเงินเยอะขนาดนี้ยังซื้อใจประชาชนได้แค่ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ ความคืบหน้าฉบับนี้หลังจากผ่านมา ๕ ปี จริง ๆ แล้วสำหรับผมพูดตอนนี้พูดกันตรง ๆ เถอะ มันก็มีค่าเท่ากับเล่มละ ๓.๒ กิโลกรัม ผลิตมาทั้งหมด ๒,๐๐๐ เล่ม ผมอ่านข้างหลังแล้ว ร้านรับซื้อของเก่าเขารับอยู่กิโลกรัมละ ๒ บาท เพราะฉะนั้นมันมีค่าแค่ ๑๒,๘๐๐ บาท เท่านั้นเอง ไม่มีประโยชน์อะไรเลยสิ่งที่ทำกันไว้เพราะว่าก็แค่เอามาอ้าง เพราะฉะนั้น สภาพัฒน์ถ้าเป็นไปได้ท่านเสนอแนะเถอะครับ ให้เอาออกจากรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมารายงานอะไรแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ผมเข้าใจท่านอึดอัดจะตายอยู่แล้วที่ท่านนั่งอยู่นี่ ในใจท่านคิดว่าเมื่อไรจะเสร็จ เมื่อไรจะเสร็จ เป็นผมผมก็คิดเหมือนกันก็ถูกถีบให้มานั่งฟัง อย่างไรฝากสภาพัฒน์ อย่างไรผมขอคำตอบเรื่องเบี้ยประชุม แล้วก็ตัวจำนวนของบรรดา คณะกรรมการ บรรดากรรมการทั้งหลายด้วยนะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านคุณากร มั่นนทีรัย ครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม คุณากร มั่นนทีรัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายเรื่องการปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมายและกระบวนการ ยุติธรรมในประเด็นการรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

จากรายงานสรุปผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ กล่าวว่าการอำนวยการยุติธรรมต้องมีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัตินะครับ ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐจะต้อง มีการดำเนินงานผลงานไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ซึ่งผมจะขอโฟกัส เรื่องการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมปฏิรูปประเทศในหมวดกระบวนการ ยุติธรรมตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินะครับ ดูว่าตามเพื่อนสมาชิก สส. ท่านจิรัฏฐ์พูดเอาไว้ว่า มันล้มเหลวจริงหรือเปล่า เอาของจริงมาดูนะครับ กิจกรรมการปฏิรูป ผมขอตั้งข้อสังเกต นิดหนึ่งนะครับ โดยยกกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ เรื่องการรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ ประชาชนทุกคนน่าจะประสบพบเจอมาแล้ว จากรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน ตามแผนปฏิรูปประเทศ ว่าสอดคล้องกับรายงานสรุปผลการดำเนินการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ปี ๒๕๖๕ หรือไม่ อีกทั้งการปฏิรูปนี้ได้บอกว่าเป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกรวดเร็ว ให้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีเขตจำกัดอำนาจ ในการสอบสวน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าจะต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ กล่าวโทษ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานีตำรวจทั่วประเทศนะครับ ผมได้ไปติดตาม การดำเนินงานตามรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิรูประหว่าง เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๕ ในเรื่องดังกล่าว พบว่ามี ๒ เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว อันนี้คือผลการดำเนินแล้ว มี ๒ เรื่องครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

๑. ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑๗๗/๒๕๖๔ เรื่อง การรับคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ ความผิดอาญานอกเขตอำนาจสอบสวนและออกระเบียบสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ว่าด้วยรายงานประจำวันอิเล็กทรอนิกส์ และ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

๒. มีระบบประจำวันอิเล็กทรอนิกส์ Policy Diary Activity Reports มาใช้ ในการรับคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ ซึ่งปัจจุบันมีการออกคำสั่งและบังคับใช้แล้วนะครับ ขอ Slide ถัดไป

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

จะโชว์ให้เห็นว่า คำสั่งที่ ๑๗๗/๒๕๖๔ มี ๓ หน้านี้ Slide ถัดไปเลยนะครับ อันนี้ผมสรุปย่อมาให้ ผมอยากจะให้ทุกคนลองดูว่า ปัจจุบันแผนที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติไหม มันสามารถปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ได้จริงหรือไม่ ผมจะสรุป จากบน Screen ให้ฟังนะครับ ใจความสำคัญมีว่า ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาชนสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ที่อยู่นอกเขตอำนาจสอบสวน เมื่อได้รับการร้องทุกข์ คำสั่งนี้กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ คำกล่าวโทษไว้ และบันทึก รายงานประจำวันไว้ และให้ส่งสำเนาเอกสารไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบภายใน ๓ วัน หรือรับและส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่เป็นเร่งด่วน ก็คือสรุปจะบอกว่าประชาชน สามารถไปร้องทุกข์ที่ไหนก็ได้ สน. ไหนก็ได้ เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ กล่าวโทษนั้นไว้นะครับ ในคำสั่งนี้มีการลงชื่อโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เท่ากับว่า มีผลบังคับใช้แล้วทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรามาดูความจริงกันครับ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ มีนักศึกษาคนหนึ่งเรียกแท็กซี่ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ลงจากแท็กซี่ แล้วก็พบว่าตัวเองลืม iPad Pro ไว้ แต่ว่าก็มีโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่งเอามาดู ติดตาม GPS ไป พบว่าเครื่อง iPad Pro

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านคุณากรครับ ต้องระวังคำพูดที่ไม่สุภาพด้วยนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอถอนคำพูดที่ไม่สุภาพนะครับ ไปใช้ใน ระบบ iOS ก็ Tracking ไปเจอที่เขตสาทร ซึ่งเขตสาทรอยู่ในท้องที่ของ สน. ยานนาวา ไปแจ้งความ พอไปแจ้งความเสร็จ เจ้าพนักงานสอบสวนบอกว่าไม่รับแจ้งความนะครับ เพราะว่าไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจสอบสวน คุณต้องไปแจ้งที่เกิดเหตุ คุณต้องกลับไปแจ้งที่ สภ. คลองหลวง ผมก็เลย ห๊ะ ๓ แผ่นเมื่อสักครู่ที่ออกไปใช้เงินไป ๖๓ ล้านบาท เพื่อออก กระดาษ ๓ หน้าลงใน Internet แล้วประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ อันนี้ผมให้ทีมงานไปหา ก็ต้องเข้าไปใน Sarantete.police.go.th ก็หายากเหลือเกิน OK นะครับ ถัดไป

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ย้อนกลับมายุทธศาสตร์ชาติด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กำหนดว่าต้องสะดวก รวดเร็ว เข้าถึง เป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ถูกต้องไหมครับ แต่ในความเป็นจริง ณ วันนี้ตามตัวอย่างที่เมื่อสักครู่นี้ผมได้โชว์ไป มันช้า เข้าไม่ถึง ไม่เป็นธรรม แล้วก็เลือกปฏิบัติด้วย ผมเชื่อว่าประชาชนยังประสบปัญหาการถูกปฏิเสธ ในการรับแจ้งความร้องทุกข์นอกเขตอำนาจสอบสวนอยู่ บางคนไปถึง ๓-๔ สน. แล้วก็ยัง ไม่จบนะครับ แปลว่าการปฏิรูปประเทศล้มเหลว ถูกต้องไหมครับ ผมอยากขอทราบคำตอบ จากผู้ชี้แจงว่าได้มีการไปตรวจผลการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เพราะประชาชน ไม่มีความพึงพอใจตามดัชนีชี้วัดนี้แน่นอนนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

สุดท้ายนะครับ สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจแล้ว สถานีตำรวจบอกว่าไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจท้องที่ของตัวเอง ผมสรุปมาให้แล้วนะครับ ท่าน Print หน้านี้ไปได้เลย การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ จากคำสั่งของสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ เลขที่ ๑๗๗/๒๕๖๔ ลงนามโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุที่ท้องที่ใดก็ตาม ประชาชนสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ได้ (นอกเขตอำนาจสอบสวน) ก็รับแจ้งความได้นะครับ อันนี้ฝากประธานไปยังประชาชน สามารถ Print แล้วก็ยื่นต่อเจ้าพนักงานหน้าที่ก่อนแจ้งความได้เลยครับ ผม คุณากร คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเฉลิมชัย กุลาเลิศ ครับ

นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม เฉลิมชัย กุลาเลิศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ห้วยขวาง วังทองหลางครับ วันนี้ก็กราบขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสได้มาอภิปราย รวมถึงท่านผู้มาชี้แจงที่กรุณามาชี้แจงด้วยนะครับ ผมจะอภิปรายในประเด็นเรื่องสาธารณสุข ในแผนการปฏิรูปประเทศ ในปีนี้ ๒๕๖๕ นะครับ ผมอยากจะมาสอบถามท่าน ในประเด็นที่ว่า ในเล่มนี้ที่ท่านเขียนมาว่าท่านประสบผลสัมฤทธิ์ในการปฏิรูปประเทศ ในด้านสาธารณสุข ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพี่น้อง ประชาชน ท่านบอกว่าท่านทำสำเร็จแล้ว โดยเป้าหมายของท่านคือท่านตั้งเป้าหมายไว้ว่า ท่านจะมีทีมดูแลปฐมภูมิ โดยประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ๑ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน รวมถึงพยาบาลสหวิชาชีพต่าง ๆ แต่ผมไปค้นหาข้อมูลมาแล้วยังไม่พบข้อมูล ของปี ๒๕๖๕ ว่ามีทีมนี้กี่ทีมแล้ว ท่านต้องการมี ๖,๕๐๐ ทีม เมื่อประมาณปี ๒๕๖๒ เป็นข้อมูลล่าสุดมีอยู่ ๒,๐๐๐ หรือ ๓,๐๐๐ ทีม อันนี้อยากจะฝากคำถามผ่านไปยัง ท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงให้ช่วยหาคำตอบมาให้ด้วยนะครับ แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งกว่าเมื่อสักครู่นี้ผมว่าตัวชี้วัดของท่านมันยังเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ถูกต้องครับ ตัวชี้วัดที่ถูกต้อง จริง ๆ ก็คืออัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากร ถ้าอ้างอิงจาก WHO หรือองค์การอนามัยโลก อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรที่เหมาะสมคือ ๑:๑,๐๐๐ คน แต่ถ้าดูอัตราส่วนแพทย์ ต่อประชากรในประเทศไทยจะพบว่าอยู่ที่ ๑:๑,๕๐๐ คน และถ้าท่านมาลองดูแบบละเอียด อีกทีหนึ่ง จะพบว่ากรุงเทพมหานครนั้นมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ ๑:๕๐๐ คน ซึ่งดีกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง ๒ เท่า แต่ท่านไปดูต่างจังหวัด เช่น มุกดาหาร จะอยู่ที่ ๑:๗,๐๐๐ คน อันนี้ละครับคือความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง ความเหลื่อมล้ำนี้สาเหตุหลัก ๆ ง่าย ๆ เลยนะครับ ท่านลองคิดดูว่าถ้าท่านเป็นแพทย์คนหนึ่ง หรือพยาบาลคนหนึ่งท่าน มีครอบครัว ท่านมีลูก ท่านอยากจะให้ลูกมีการศึกษาที่ดี มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีระบบไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้าที่ OK ท่านจะเลือกอยู่จังหวัดใด คนส่วนมากมักจะตอบว่า อยู่ในกรุงเทพฯ ใช่ไหมครับ เพราะว่าทุกอย่างการกระจายตัวกระจุกตัวทุกอย่าง ภาษีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ประเทศไทยเป็นเมืองโตเดี่ยว อันนี้ละครับเป็นสาเหตุที่ว่าทำไม บุคลากรทางสาธารณสุขถึงกระจายตัวมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพครับ วิธีการแก้ปัญหาผมว่าท่านก็คงคิดได้แล้ว แล้วก็อาจจะมีเขียนไว้ แต่ท่านยังทำไม่สำเร็จ ก็คือการกระจายอำนาจ ถ้าเราสามารถกระจายอำนาจได้สำเร็จ ทำให้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองโตเดี่ยว ทำให้งบประมาณลงไปสู่ท้องที่ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ลองคิดดูแบบประเทศญี่ปุ่นนะครับ เช่นเขามีโตเกียว ฟูกูโอะกะ นาโกย่า โอซากะ เมืองต่าง ๆ เหล่านี้การเจริญเติบโตของเขาไม่ได้แตกต่างกันมาก ถ้าท่านสามารถปฏิรูปประเทศ ไปในแนวทางนี้ได้ การกระจายตัว กระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ จะดียิ่งขึ้นครับ และนี่คือส่วนปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งนะครับ แต่มันยังมีปัจจัยสาเหตุอื่น ๆ เช่นค่าตอบแทนที่แตกต่างอย่างมากจากภาคเอกชนกับภาครัฐบาลที่แตกต่างกันถึง ๕-๑๐ เท่า รวมถึงปัจจัยสาเหตุอื่น ๆ เช่นการปฏิบัติตัวต่อแพทย์รุ่นพี่ ต่อแพทย์รุ่นน้อง โดยไม่มีมนุษยธรรมซึ่งยังเกิดเป็นจำนวนมาก ดังที่สาเหตุที่ท่านได้เห็นตามข่าวต่าง ๆ ว่าแพทย์ใช้ทุนหลังจากจะอยู่ครบ ๑ ปี ลาออกเป็นจำนวนมากครับ ถ้าเราสามารถปฏิรูป การเมืองได้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้นครับ ผมอยากฝาก ๓ ประโยคไปถึงท่านผู้มาชี้แจง ผ่านไปยังท่านประธาน ก็คือการเมืองดี ระบบสาธารณสุขดี ประชาชนสุขภาพดีครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านจุลพันธ์ครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย เชียงใหม่ ขออนุญาตท่านผู้อภิปรายคนถัดไปนะครับ ด้วยความเคารพ ท่านประธานครับ ขณะนี้เวลา ๕ โมง ๒๐ นาที เราใช้เวลากับเรื่องนี้มา ๖ ชั่วโมงเศษ แต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แล้วก็เป็นรายงานปฏิรูปครั้งสุดท้าย ซึ่งพวกเราเอง ก็ให้ความสนใจ เพื่อนสมาชิกอภิปรายราว ๆ ๖๐ ท่าน เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์มาก ผมก็นั่งฟังโดยตลอด แต่ท่านประธานครับ มีคิววาระเรื่องรับทราบ ๔ หน่วยงาน ๒ หน่วยงานท้ายนี่เข้าใจว่าท่านประธานได้สั่งการให้เดินทางกลับแล้ว ซึ่งถูกต้องครับ เพราะว่าเราคงไม่สามารถเดินทางอภิปรายไปถึง ๒ เรื่องสุดท้ายได้ แต่เรื่องถัดไป คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ มีเพื่อนสมาชิกลงรายชื่อไว้ราว ๒๐-๓๐ ท่าน และอาจจะมีมาเพิ่มอีก ซึ่งเป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธานอยู่กับผมเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมา เราก็อภิปรายกันอย่างเข้มข้นโดยตลอด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยกรอบเวลา ถ้าดูแล้ววันนี้เราอภิปรายเรื่องนี้อีกราวครึ่งชั่วโมงถึง ๔๐ นาที ตอบกันอีก ๔๐ นาที ถามตอบอีกเกือบ ๑ ทุ่ม แล้วเราต้องเดินหน้าอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าจะเอาครบคน แล้วถามตอบนี่ผมว่า ๔ ทุ่มกว่าไม่จบนะครับ จะบริหารจัดการอย่างไร โดยที่เรา ไม่เสียโอกาสในการอภิปราย ผมเสนอต่อท่านประธานตรงนี้ว่าถ้าเราจะเดินหน้าจบเรื่องของ การปฏิรูปประเทศ เมื่อเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธานกำหนดกรอบครับ เพื่อนสมาชิก จะได้บริหารจัดการเรื่องเวลาและการเดินทางกันได้ ถ้าท่านประธานจะบอกว่าอภิปราย ยุทธศาสตร์ราว ๑๐-๑๕ ท่าน แล้วเราก็ไปต่อกันสัปดาห์ถัดไปจะเป็นประโยชน์ ถ้าท่านประธานจะกรุณามีกรอบให้พวกเราในการบริหารจัดการคิวทางตัวแทนแต่ละพรรค Whip ซึ่งยังไม่ได้เป็นทางการก็จะมาบริหารจัดการภายในเพื่อที่จะส่งชื่อให้ท่านประธาน แต่ว่าเรายังไม่จบนะครับ หมายความว่ายุทธศาสตร์นี่เราไปต่อกันในสัปดาห์ถัดไปถ้าจะเป็น ประโยชน์ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอขอบคุณข้อเสนอของท่านจุลพันธ์นะครับ เดี๋ยวผมขอหารือกับทางเจ้าหน้าที่ แล้วก็จะแจ้ง ให้กับทางทุกท่านทราบนะครับ ขอเชิญท่านผู้อภิปรายเลยครับ ท่านเลาฟั้งครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ขออภิปรายรายงานความคืบหน้า ในการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยผมจะเน้นไปที่เรื่องปัญหาป่าไม้และที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะคนชนบทและคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง อย่างผมนี่นะครับ ขณะนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า ๕ คน พื้นที่ที่เดือดร้อนไม่ต่ำกว่า ๑๗ ล้านไร่ทั่วประเทศไทย เวลาเราพูดถึงเรื่องของรูปแบบในการบริหารจัดการที่ดิน ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว สิ่งที่เขาปฏิรูปมีเป้าหมายอยู่ ๓ อย่าง อันที่ ๑ ก็คือว่ากระจาย อำนาจไปสู่ท้องถิ่น แล้วก็ลดอำนาจของส่วนกลาง อันที่ ๒ คือว่าออกแบบโครงสร้างให้เกิด ความโปร่งใส แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่าต้องส่งเสริม คุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะ การใช้ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองในการบริหารจัดการทรัพยากร

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เป้าหมายในการปฏิรูป ประเทศตามแผนมีอยู่ ๔ ประการ แต่ผมอยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า และการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามแผนเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญสรุปออกมาได้ อยู่ ๓ ประการ ก็คือรักษาพื้นที่ป่าเดิมแล้วก็สร้างพื้นที่ป่าใหม่ อันที่ ๒ คือว่าสร้างรายได้จาก การใช้ทรัพยากรจากป่าเป็นต้นทุน แล้วอันที่ ๓ ก็คือเรื่องของการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน กับที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งเรื่องที่ ๑ และเรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญนะครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปครับ ตามแผน คือผมคิดว่ามันยังมีความไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของความล้มเหลวในการปฏิรูปงานด้านป่าไม้และที่ดิน เมื่อเราดู เนื้อหาของรายงานโดยละเอียดแล้วผมคิดว่ามีปัญหาหลายส่วน ผมจะขอพูดถึงเฉพาะส่วน ที่เป็นสาระสำคัญคือเรื่องป่าไม้และเรื่องที่ดิน ว่ามันมีปัญหาอย่างไร ดูเหมือนว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็จะพยายามสนใจกับค่านิยมของโลกสมัยใหม่ในการบริหาร จัดการป่าไม้ที่ทันสมัย แต่ปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ ของรัฐบาลกลับสวนทางกับสิ่งที่กรรมการปฏิรูปคิดอยู่ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ก็คือเป็นการรวบอำนาจในการจัดการ ทรัพยากร โดยเฉพาะการหารายได้จากการท่องเที่ยว ห้ามชาวบ้านทำ แต่ว่าเงินรายได้ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้จากการใช้ทรัพยากรของประเทศในการ จัดการท่องเที่ยว รายได้ปีหนึ่งหลายพันล้านบาท แต่ไม่ได้ถูกนำส่งเข้าคลัง

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอ Slide ต่อไปนะครับ ที่ขีดเส้นใต้สีแดงเป็น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๓๑ กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าเงินที่เรียกเก็บได้จากการใช้บริการ ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในอุทยาน ไม่ต้องส่งเข้าคลัง ซึ่งปีหนึ่ง ๆ ทำให้กระทรวงการคลัง สูญเสียรายได้หลายพันล้านบาท

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปนะครับ อันนี้ก็คือปัญหาอีกประการหนึ่ง สิ่งที่แผนปฏิรูปต้องการ ที่จะบอกก็คือว่าจะทำอย่างไรให้เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบว่าสถิติป่าไม้ ของประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปนะครับ ก็คือเรื่องที่ดิน ถึงที่สุดแล้วตัวแผนปฏิรูปประเทศ แม้จะพยายามบอกว่าแก้ไขปัญหาที่ดิน แต่ปรากฏการณ์ก็คือว่ามีการพยายามออกระเบียบ ออกกฎหมายใหม่ ๆ ออกวิธีคิดใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การแย่งยึดสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทวงคืนผืนป่า การจัดทำ คทช. หรือการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน ในเขตอุทยาน ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ก็คือการแย่งสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน เสร็จแล้วก็ค่อยอนุญาตให้ใช้ในรูปแบบที่มีเงื่อนไข

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปครับ สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นความต้องการของประชาชน ที่ดินรวมกันทั้งหมดในเขตป่าสงวน ๑๒.๗ ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายจัดทำ คทช. ตามนโยบายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูป ฉบับนี้อยู่แค่ ๕.๗ ล้านไร่ หรือ ๔๔ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป้าหมายเอง แล้วก็ไม่รวมพื้นที่สูง ของกลุ่มชาติพันธุ์ บอกว่าได้มีการส่งมอบไปแล้ว ๓.๙ ล้านไร่ แต่ไม่ได้ส่งมอบให้ชาวบ้าน ส่งมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเอาไปจัด แล้วส่งมอบจริง ๆ ให้แก่ชาวบ้านประมาณ ๓.๗ แสนไร่ ซึ่งเท่ากับ ๓ เปอร์เซ็นต์ของผู้เดือดร้อนเอง ก็จะเห็นว่าจนถึงระยะเวลา ที่สิ้นสุดแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้แค่ ๓ เปอร์เซ็นต์

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปนะครับ สิ่งที่เป็นปัญหาของแผนปฏิรูปฉบับนี้เอาเข้าจริง ๆ สาเหตุหลักที่เป็นปัญหา ก็คือเรื่องที่ดิน แล้วก็เรื่องป่าไม้ ปัญหาใหญ่ ๆ คือเรื่องของ โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบในการบริหารจัดการป่าไม้ที่รวมศูนย์อำนาจเอาไว้ ที่ส่วนกลาง แล้วก็แผนฉบับนี้ก็ยังเป็นลักษณะของการไปลอกเอาแผนของฝ่ายนโยบาย หรือฝ่ายราชการประจำที่เขาดำเนินการมานานอยู่แล้วเอามาใช้ ซึ่งมันก็จะเป็นลักษณะของ การพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ไม่ไปแตะโครงสร้าง การที่พยายามแก้ไขแต่ปัญหา เฉพาะหน้าไม่ไปแตะโครงสร้างมันไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปได้จริง ๆ หรอกครับ แล้วแผน ปฏิรูปฉบับนี้คืออะไร สรุปได้เลยนะครับว่าแผนปฏิรูปฉบับนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่จะนำไปสู่ การรักษาทรัพยากร แล้วก็กระจายทรัพยากรอย่างจริง ๆ แต่เป็นได้เพียงแค่เครื่องมือ สนับสนุนการรวมรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรของชาติเอาไว้ แล้วก็กดทับ ประชาชนคนรากหญ้าต่อไป สิ่งสุดท้ายก็คือว่าก็จะกลายเป็นเพียงแค่เอกสารโฆษณาชวนเชื่อ อ้างว่าประเทศกำลังเข้าเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกคนต้องทำตามแผนฉบับนี้แล้วเราจะปลอดภัย แต่ว่าอีกด้านหนึ่งก็คือผู้มีอำนาจ ยังผูกขาด เนื้อในในการบริหารจัดการป่าไม้ก็ยังกดทับประชาชนต่อไปอยู่นะครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สวัสดีค่ะท่านประธาน ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกล หรือทนายแจม ขออนุญาต Slide นิดหนึ่งนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็พูดเกี่ยวกับ แผนปฏิรูปกระบวนการด้านยุติธรรมนะคะ ที่อยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ในหมวดด้าน กระบวนการยุติธรรม ในแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ดูหนังสือเล่มนี้ ก็จะมีในหมวดของกระบวนการยุติธรรม มีในส่วนหัวข้อการดำเนินการที่บอกว่าจะมี การส่งเสริมการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์พร้อมระบบการตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทาง ของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือที่เราเรียกกันว่า EM นะคะ EM ก็จะมีลักษณะ คล้าย ๆ Apple Watch แต่อยู่ที่ขา ก็จะเป็นตัวที่จะติดตัวไปกับผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีนักกิจกรรมการเมืองอย่างน้อย ๘๐ คนที่ถูกสั่งให้ติดกำไล EM ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่ถูกติดนานที่สุดคือ ๔ ปีนะคะ และสถิติ จาก Slide เมื่อสักครู่มีข้อมูลต่อมาอีกว่าระหว่างเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม จากการแสดงความคิดเห็นจนต้องถูกสั่งติดกำไล EM จำนวน ๙๔ คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการปลดไปแล้ว ๗๕ คน แม้การดำเนินคดี จะยังไม่เสร็จสิ้นตามกระบวนการก็ตาม และยังมีนักกิจกรรมกว่าอีก ๑๙ คนที่ยังต้องทนทุกข์ ทรมานจากการติดอุปกรณ์ EM ที่ข้อเท้าในระหว่างการต่อสู้คดีค่ะ โดยในคดีที่ผู้ต้องหา ติดกำไล EM ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคดีในมาตรา ๑๑๒ คดีการแสดงความคิดเห็น การปราศรัย การ Post บนโลก Online หรือการที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย ขออนุญาตโชว์รูปภาพของ ลูกความท่านหนึ่งของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการติด กำไลข้อเท้าหรือกำไล EM ที่เราเห็นอยู่ในภาพ ซึ่งลูกความท่านนี้ใช้เวลา ๕ ครั้ง ที่จะขออนุญาตศาลปลดกำไลข้อเท้า ในแต่ละครั้งก็ต้องอ้างเหตุผลต่าง ๆ นะคะ หนึ่งในเหตุผลที่อ้างก็คือในเรื่องของอาการบาดเจ็บที่มันบาดลึกไปจนถึงบริเวณข้อเท้า ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการ ทำอาชีพอะไรได้ตามปกติ ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการปลดได้ใน ครั้งสุดท้ายคือใบรับรองแพทย์ แล้วก็ต้องหาใบรับรองความประพฤติด้วยนะคะ Slide ถัดไปนะคะ ซึ่งจะแตกต่างจากคดีเหล่านี้ที่เราอาจจะได้ยินกันตามข่าวต่าง ๆ เช่น คดีล่วงละเมิดทางเพศของนักการเมืองรายหนึ่งที่มีตำแหน่งเป็นถึงท่านรองหัวหน้าพรรค ผู้ต้องหารายนี้มีประวัติยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานด้วยและถูกแจ้งความดำเนินคดีเดียวกัน อันนี้ก็ไม่ต้องติดกำลัง EM และผู้ต้องหากลุ่มทุนจีนสีเทาก็ไม่ได้ถูกถอนประกัน แม้จะระบุว่า มีพฤติการณ์ข่มขู่พยานหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานก็ตาม อันนี้ก็ไม่ต้องติดนะคะ แล้วก็หรือนักแสดงท่านหนึ่งที่ถูกข้อหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงต่าง ๆ ก็สามารถขอปลดกำไล EM ได้โดยใช้เหตุผลว่าอาจจะสร้างปัญหาให้กับการแสดง การเดินทาง หรือการประกอบอาชีพ ต่าง ๆ นะคะ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกำไล EM ก็คือคำถามที่ว่ากำไล EM ยังจำเป็น หรือเฉพาะกับนักโทษคดีการเมืองหรือเปล่า ดิฉันก็ได้ไปค้นข้อมูลตามรายงานของ แผนปฏิรูปประเทศ ก็เลยพบว่าข้อมูลกำไล EM เป็นเพียงการจัดซื้อจัดหา แล้วก็ได้ข้อมูล ประมาณ ๔๐๐ กว่าล้านบาท แล้วก็เอกสารทั่วไปก็ไม่ได้มีเอกสารที่ระบุมีข้อมูลระบุชัดเจน ว่าเป้าหมายคืออะไร ตัวชี้วัดคืออะไร

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๑ เอกสารที่รายงานมาไม่ครบถ้วน

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ อยากให้ในรายงานเอกสารมีการระบุงบประมาณและรายจ่าย ให้ชัดเจนกว่านี้ ว่ากระทรวงไหนเป็นผู้รับผิดชอบนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ คือในเอกสารราชการนี่เนื้อหาสำคัญไม่ควรจะหายไปแบบ ง่าย ๆ แบบนั้นนะคะ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แล้วก็สรุปก็คือว่าในการยื่นขอถอดกำไล EM แต่ละครั้ง นักกิจกรรมทาง การเมืองหลายคนเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งกว่าคดีอาชญากรรมหลายคดีอีกนะคะ ท่านประธาน ที่ผ่านมาเราพบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลายครั้ง โดยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เรากลับยังคงใช้กำไล EM กับนักกิจกรรม เหล่านั้น อย่าลืมนะคะว่าการถอดกำไล EM แต่ละครั้งเราต้องแลกมาด้วยการอดอาหาร อดน้ำ อดนอน หลายคนเป็นเยาวชน หลายคนเป็นนักศึกษา เป็นคนในอนาคตจะมีศักยภาพ ที่ดีให้กับประเทศของเราในอนาคตค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวุฒิพงศ์ ทองเหลา ครับ ขอข้ามก่อนนะครับ เชิญท่านปารมี ไวจงเจริญ ครับ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลด้านการศึกษานะคะ ดิฉันต้องบอก Background นิดหนึ่งเป็นครูมาทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นวันนี้จะขอมาพูดรายงานด้านการศึกษา ขอ Slide เลยค่ะ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

รายงานความคืบหน้าในการ ดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศนะคะ ซึ่งดิฉันเป็นมวยประเภทพูดน้อยต่อยหนัก จะพูดที่ค่าเป้าหมายตามเอกสารที่ท่านเผยแพร่ ซึ่งเอกสารที่ท่านเผยแพร่นี่ก็เป็นอะไรที่ แปลกมาก ในเล่มสีส้มกับใน Website ฉบับปรับปรุงไม่เหมือนกันก็ไม่เข้าใจว่าจะผลิต ออกมาให้คนละส่วน คนละตอนทำไมนะคะ แต่อันนี้ดิฉันจะยืนตามของฉบับปรับปรุง ค่าเป้าหมายที่ท่านกำหนดไว้ว่าให้ลดเด็กที่ออกนอกระบบเหลือร้อยละ ๕ ของจำนวนนักเรียน ในปี ๒๕๖๕ ถ้าเราดูตัวเลขผิวเผินร้อยละ ๕ หรือ ๕ เปอร์เซ็นต์นี่มันน้อยใช่ไหมคะ นักเรียนไทยนับถึงปีปัจจุบันมีจำนวนประมาณ ๗ ล้านคน เอาตัวเลขกลม ๆ ๕ เปอร์เซ็นต์ หรือร้อยละ ๕ ของ ๗ ล้านก็จะตกประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ คนนะคะ ถ้ามาเปรียบเทียบกับข้อมูล ที่ดิฉันได้จากงานสัมมนาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดิฉันจบมานะคะ ได้มีงานสัมมนาเมื่อ ๒ เดือนที่แล้วได้แจ้งรายงานตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบที่ กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่ามีสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีเด็กหลุดจาก ระบบร้อยละ ๕ จากนักเรียน ๗ ล้านคน คือ ๓๕๐,๐๐๐ คน แต่กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผย ว่ามีตัวเลขนักเรียนหลุดระบบ ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านอาจจะมองว่าเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว แต่ดิฉันว่าล้มเหลวเพราะว่าเด็กแค่ ๑ คนก็เป็นชีวิตที่สำคัญที่เราต้องรักษาไว้อยู่ในระบบ ใช่ไหมคะ มีข้อมูลล่าสุดว่าเด็กหลุดจากระบบถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน นับว่ามาก การปฏิรูปของ ท่านล้มเหลวโดยสิ้นเชิงล้มเหลว หดหู่ สิ้นหวังนะคะ แต่ถ้าจะพูดกันให้จริง ๆ การจะปฏิรูป การศึกษาไทยให้ประสบความสำเร็จมันปฏิรูปแค่การศึกษาไม่ได้ มันมีมิติอื่นที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมันจะต้องทำ ควบคู่ไปด้วยนะคะ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปเลยค่ะ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่บุรีรัมย์ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นข่าวรายวัน แต่ท่านรัฐบาล รักษาการไม่เคยแก้ไขอะไรได้เลย เกิดขึ้นแทบทุกวัน หดหู่จนดิฉันพูดต่อไม่ไหวแล้ว

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปเลยค่ะ ทีนี้จะขอพูดเรื่องเงินอุดหนุนสักนิดหนึ่งนะคะ อันนี้เป็นยอดเงินอุดหนุนที่ปรับเพิ่มแล้วนะคะ ปรับเพิ่มมาแล้วในปีการศึกษา ๒๕๖๖ แต่ถ้าท่านเทียบดู ท่านผู้ชมทางบ้าน หรือท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เพื่อน ๆ ผู้แทนราษฎร ในที่นี้ก็คงจะเห็นตัวเลขนะคะ ปฐมวัย ๒,๗๐๐ บาทเศษ ๆ ม.ปลาย ๕,๙๐๐ บาทเศษ ๆ แต่ค่าครองชีพปัจจุบันสูงขนาดไหนท่านก็คงจะรู้ เงินแค่นี้ไม่พอนะคะ เงินอุดหนุนรายหัวที่ท่านให้มายังมีปัญหาสืบเนื่องไปอีก เพราะว่ามันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซ้อนเหลื่อมล้ำ โรงเรียนขนาดใหญ่จะได้เปรียบโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กจะมีแต่ ตาย ๆ ลงไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ นักวิชาการหลายท่านเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับเปลี่ยน วิธีคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวจากที่ให้เป็นรายหัวเปลี่ยนมาเป็นระบบที่ธนาคารโลกก็มาทำ วิจัยให้กับเราที่เรียกว่า FSQL ก็ผลปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้นำพา ยังไม่ได้ นำไปปรับปรุงนำไปใช้ ก็ไม่ทราบว่าจะนำพา ดูตัวเลขอันนี้ เงินอุดหนุนรายหัวจะเป็นเงินที่ส่ง ตรงไปยังโรงเรียน แต่ตัวนักเรียนที่ไปเรียนในแต่ละวัน ท่านทราบไหมคะท่านประธาน ว่าค่าใช้จ่ายได้เรียนในการเรียนสูงที่สุด มากที่สุดจะเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายจากอะไร หลายท่าน อาจจะนึกถึงเสื้อผ้า เครื่องแบบหรือค่าอาหาร แต่จริง ๆ แล้วจากงานวิจัยเป็นตัวเลขที่ คณะที่ดิฉันจบมาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลจากการสัมมนา ค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือค่าเดินทาง เพราะนักเรียนต้องเดินทางไปกลับอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ค่าเดินทางนี่เป็นรายจ่ายที่สูงสุด และท่านคิดดูเงินอุดหนุนให้แค่นี้ก็ยังไม่พอแล้วนักเรียน ยังต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง และค่ากินค่าอยู่จะเพียงพออะไร ดิฉันจึงขอบอกว่า Big Rock อันที่ ๑ ของผลการปฏิรูปเรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำ ล้มเหลว สิ้นหวัง หดหู่

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออีกสักนิดหนึ่ง ขอ Slide ต่อไป ดิฉันขอพูด Big Rock ที่ ๓ ขอนิดเดียวสั้น ๆ ขอให้ทุกท่านตามดิฉันมา เนื่องจากดิฉันจบครุศาสตร์ดิฉันผูกพันและรักในอาชีพครูมาก ท่านกำหนดเรื่องเกี่ยวกับการผลิตครู การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครูนี่ล้มเหลวยิ่งมาก มากกว่ามาก การผลิตครูนี่จริง ๆ เป็นสารตั้งต้นของความล้มเหลวระบบการศึกษาไทยเลย เรารู้กันดีว่าทุกวันนี้วิชาชีพครูไม่สามารถดึงเด็กที่เรียนเก่งมาเรียนได้ เราจะปฏิรูปคลำไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ไม่มีทางจะออกจากหลุมดำของการศึกษาไทย ถ้าเราไม่ดึงคนเก่งมาเป็นครู ขอพูดแถมท้ายอีกนิดเดียว ไม่กี่วันมานี้การสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปมีปัญหาหนักมาก เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกของพรรคดิฉันเองก็ได้พูดเรื่องนี้ไปบ้างบางส่วนแล้ว มีประชาชน หลาย ๆ คนพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ผลปรากฏว่าผู้บริหาร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่หลาย ๆ เขต ที่พบปัญหาเรื่องการสอบครูผู้ช่วยไม่ได้นำพากลับนิ่งเฉย นิ่งเงียบ ขอฝากท่านผู้เกี่ยวข้อง ลงมาลองดูปัญหาเหล่านี้ด้วย ต้องแก้ปัญหาการผลิตครูให้ได้ ต้องดึงคนเก่งมาเป็นครู ไม่อย่างนั้นเราจะวังวนอยู่ในหลุมดำนี้ไปอีกนานค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี ๒๕๖๕ ผมต้องกราบเรียนว่าอ่าน ๕ ปีแผนปฏิรูปประเทศแล้วมีแนวโน้มครับว่าอาจจะต้องกลับไป ทำแผนใหม่ ลักษณะมันจะหมุนวนเป็นวัฏสงสาร คือวางแผนแล้วปฏิบัติการไม่ได้ตามแผน ตั้งคณะกรรมการเพื่อไปร่างแผนแล้วไปทำตามแผนใหม่ เมื่อไม่สัมฤทธิผลก็กลับไปร่างใหม่ แต่ที่ผมพูดนี่ไม่ได้หมายความว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นเป็น ๕ ปีที่สูญเปล่า ท่านประธาน ที่เคารพครับ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี เพียงแต่ว่าเราดู Teaser ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินว่าจะมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เรานึกว่าเราจะได้ดูหนังบู๊ดุเดือด ล้างผลาญ ฉลอง ภักดีวิจิตร ระเบิดภูเขา เผากระท่อม แต่ดูจนจบ ๕ ปี กลายเป็นหนังชีวิต หนัง Drama ที่จบไม่ลง ในวาระครบ ๕ ปี ถ้าเป็นจดหมายรายงานฉบับนี้ก็จะถือว่าเป็นจดหมายฉบับสุดท้าย แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากรายงานหรือจดหมายฉบับสุดท้ายนี้ ในโอกาสครบ ๕ ปีที่สิ้นสุดไป ผมขออนุญาตมีข้อสังเกต ๕ ประการด้วยกัน ผมตั้งข้อสังเกตถึงแผนปฏิรูปประเทศ ว่าเกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหาร แล้วก็มีรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ จะเรียกว่าเป็น EP ต่อมา หรือเป็นภาคต่อจากสภาปฏิรูปประเทศ จากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่าง ๆ ก็ว่าไปครับ แต่ว่าคำว่า ปฏิรูป นี่เป็นคำใหญ่ครับ แต่เราใช้คำว่าปฏิรูปในช่วง ๘-๙ ปีที่ผ่านมาจากคำใหญ่กลายเป็นคำเล็ก แล้วก็กลายเป็นคำที่ ประชาชนฟังแล้วรู้สึกเฉย ๆ ผมไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนี่ เขาบอกว่า ปฏิรูป หมายถึง การทำให้ดีขึ้น แต่เป็นการทำในลักษณะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่กระโชกโฮกฮาก แต่ในพจนานุกรมไม่ได้บอกนะครับว่าถ้าทำไม่สำเร็จจะกลับไปทำใหม่หรือปฏิรูปใหม่ แต่อย่างน้อย อย่างที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ๕ ปี ปฏิรูปประเทศผ่านไป ตัวชี้วัดที่เราวัดกันง่าย ๆ ๒ มือล้วง เข้าไปในกระเป๋าเราไม่ได้พบว่ามีสินทรัพย์ มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นครับ แต่ไม่ถึงขั้นกับว่า กระเป๋าว่างเปล่า รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีคนตั้งข้อสังเกต วันนี้กลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ที่รวมมากกว่าเดิม ประกาศว่าประเทศไทยจะเป็น Thailand 4.0 ทำไปทำมากลายเป็น Thailand 0.4 ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น อันนี้ไม่ต้องเถียงครับ ที่พอเถียงกันได้ก็คือตกลง ประเทศไทยเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ ๑ ของโลกใช่หรือไม่ เรื่องของคนจน เมื่อสักครู่ ท่านเลขาธิการลุกขึ้นมาตอบนะครับว่าคนจนที่เป็นเส้นค่าความยากจน กับคนจนที่ถือบัตร สวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนนี่เป็นคนละเกณฑ์กัน แต่เอาว่าที่ประชาชนฟังเข้าใจโดยง่าย ก็คือว่าจากคนจน ๘ ล้านคน วันนี้มาเป็น ๒๐ ล้านคน จะเส้นค่าเฉลี่ยเส้นความยากจน ตรงไหนก็สุดแท้ แต่ว่ามันความจนเพิ่มขึ้น คนจนเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศนี้ไม่ใช่จะจนกันง่าย ๆ ก่อนจะจนได้ต้องผ่านการพิสูจน์ความจนก่อนนะครับ บางคนนี่จนขนาดพิสูจน์ไม่ได้ครับว่า ตัวเองจน แต่ตัวเลขมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือว่าแต่ละฝ่ายอ่าน รายงานแล้วเกิดคำถาม ว่ารายงานของแผนการปฏิรูปประเทศนั้นมีผลผูกพันต่อองค์กรอื่น หรือมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรหรือไม่ คำแนะนำข้อเสนอแนะที่ท่านเสนอไปในหน่วยงาน ภาครัฐองค์กรอื่น ๆ นั้นมีงบประมาณตามไปหรือไม่ ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ท่านประธานครับ เราได้เห็นความเดือดร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกมาบ่น ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่าเป็นการโอนเฉพาะภาระงาน แต่ไม่ได้โอนงบประมาณตามไป ด้วย นั่นก็เกิดภาวะสุญญากาศในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านบอกว่าแผนปฏิรูป มี ๑๓ ด้านนะครับ ก็ต้องประเมินด้วยความเป็นธรรมว่าใน ๑๓ ด้านนี่เรื่องที่พอจะคุยได้ พอจะเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นมรรคเป็นผล น่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ว่าก็ไปไม่สุดหรอกครับ หลายเรื่องมีปัญหาติดตามมาว่าถ้าข้อเสนอกับการดำเนินการการปฏิบัติการของหน่วยงาน ต้นสังกัดที่แนะนำไปไม่ตรงกันอะไรคือบทสรุปว่าทิศทางที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ผมขอชื่นชมนะครับ ท่านที่ทำรายงานมาเสนอต่อสภา ที่ต้องชื่นชมเพราะว่าท่านสามารถ เขียนเรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไรครับ ให้ดูเหมือนมีอะไร สิ่งที่เราอยากจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นเราน่าจะใช้โอกาสในการที่มีกรรมการปฏิรูปประเทศนี้ ในการที่จะยุบรวม หรือผ่าตัด หรือบริหารจัดการหน่วยงานที่มันซ้ำซ้อนกัน เช่น เรื่องน้ำ มีไม่ต่ำกว่า ๑๗ หน่วยงาน หรือกระทรวงบางกระทรวง ผมยกตัวอย่าง เช่น ชื่อกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการชุดนี้อาจจะทำข้อเสนอว่าที่จริงท่องเที่ยวและกีฬามันน่าจะ แบ่งแบบผิดฝาผิดตัวหรือไม่ มันควรจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมหรือเปล่า หรือหน่วยงานเพื่อความเป็นเลิศด้านกีฬา ควรจะกลับไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามผมยังยืนยันว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นไม่ใช่ ๕ ปีที่สูญเปล่าครับ และวันนี้เรากำลังจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามารับไม้ต่อ ผมกราบเรียนนะครับ ว่าสิ่งที่ได้ศึกษามาถ้าจะได้มีการเชื่อมประสานกับรัฐบาลใหม่ และเพื่อการรับไม้ต่อ ที่จะดำเนินการต่อไปให้เป็นประโยชน์นั้นก็จะถือว่า ๕ ปีที่ผ่านไปนั้นจะไม่ใช่ ๕ ปีที่สูญเปล่า ผมเรียนในตอนท้ายครับว่าเราจงตั้งเป้าหมายไว้ให้ไกลครับ เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมาย ไว้ที่ดวงจันทร์อย่างน้อยถ้าไปไม่ถึงเราก็ยังตกอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายแล้วนะครับ ท่านทวี สอดส่อง ครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ท่านประธานที่เคารพครับ ในการปฏิรูปประเทศที่มารายงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นรายงานฉบับสุดท้าย ผมอยากจะขอทวนว่า ๕ ปีของการปฏิรูปประเทศ เราได้อะไร หรือเราจะต้องเสียเวลากับการสูญเปล่าหรือไม่ จุดเริ่มต้นเกิดจากความขัดแย้ง ทางการเมือง ที่เราจะได้ยินคำว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เมื่อรัฐบาลที่มาจาก ประชาธิปไตยได้ยุบสภา กระแสปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ กระแส ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็ยังมีขึ้นจนเป็นเหตุให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจ ยึดอำนาจ โดยใช้สิ่งหนึ่งคือต้องการจะปฏิรูปประเทศ โดยในขณะนั้นเสียงเรียกร้องก็คือ ๑. ให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ๒. ให้ปฏิรูปเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ๓. ให้ปฏิรูปประชาธิปไตย ให้ฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ๔. การปฏิรูปเพื่อความเหลื่อมล้ำ และ ๕. การปฏิรูปตำรวจ เมื่อ คสช. ยึดอำนาจ ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมา พอปฏิรูปประเทศ จัดทำรัฐธรรมนูญ ก็นำหมวด ปฏิรูปมาอยู่ในหมวด ๑๖ ซึ่งวันนี้ได้ฟังจากเลขาธิการสภาพัฒน์ชี้แจงแล้ว หมวด ๑๖ ได้หมดภารกิจไปแล้ว หมวด ๑๖ ไร้คุณค่าไปแล้ว เพราะปฏิรูปประเทศครบ ๕ ปีแล้ว บางเรื่องบอก ๑ ปี บางเรื่องสูงสุด ๕ ปี และท่านก็ได้มาชี้แจงโดยบอกว่าได้โทรศัพท์หารือกับ เลขาธิการกฤษฎีกา ว่าการปฏิรูปประเทศไปสิ้นสุดเอาวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ในหมวด ปฏิรูปประเทศสร้างกลไกและสร้างอำนาจพิเศษขึ้นมา การสร้างกลไกและสร้างอำนาจพิเศษ ขึ้นมาก็คือได้มีการสร้างให้ สว. เข้ามาปฏิรูปประเทศ การที่ให้ สว. เข้ามาปฏิรูปประเทศ ก็จะเขียนไว้ในมาตรา ๒๗๐ ซึ่งวันนี้ท่านได้ชี้แจงว่าได้หมดอำนาจไปแล้ว ท่านประธาน ที่เคารพครับ ประเด็นการปฏิรูปประเทศไม่จบอยู่เท่านั้น ในการนำรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่ร่างเสร็จแล้วก็ส่งไปให้ สนช. ในขณะนั้น สนช. ต้องการที่จะให้ สว. ทำการปฏิรูปประเทศ ก็มีคำถามเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ คำถาม คำถามที่เพิ่มก็คือใช้คำว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง ๕ ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่ออะไรครับ เพื่อจะปฏิรูป ประเทศในหมวด ๑๖ ก็เลยให้ สว. ซึ่งในรัฐธรรมนูญเก่านะครับ มีแค่ ๒๐๐ คน ก็ให้ สว. ที่จะมาปฏิรูปประเทศมี ๒๕๐ คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาทำการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากมาตรา ๒๗๒ ไม่ได้เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ เกิดจากคำถามพ่วง ที่ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคมในช่วงการไปขอความเห็นชอบนั้น ในวันที่ ๑๐ ก็พบว่า กกต. ก็บอกว่าคำถามพ่วงดังกล่าวมีเสียงประชามติถึง ๕๘ เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นชอบ ถือว่ามาจากมติของประชาชน ดังนั้นการร่างมาตรา ๒๗๒ จึงต้องส่งยกร่าง แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจก็พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยไว้ที่ ๒/๒๕๕๙ ก็คือว่าในระหว่าง ๕ ปีแรกนี่ ปกติการเลือกตั้งนายกต้องมาจากสภา แต่เพื่อให้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ๕ ปีนับแต่วันเปิดประชุม สภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสำเร็จตามเป้าหมาย การที่ให้ สว. ที่บอกระหว่าง ๕ ปีนี่ ท่านไม่รู้ว่ากี่ปี เพราะตอนยกร่างไปมันไม่ใช้คนละภาษา แต่ว่าในระหว่าง ๕ ปีก็คือช่วงเวลาหนึ่งไปอีกช่วงหนึ่ง เหมือนระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น ไปพระอาทิตย์ตก คือระหว่าง ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปีที่แผนปฏิรูปประเทศไม่เสร็จในคำวินิจฉัย ก็ให้ สว. มาเลือกนายกรัฐมนตรี รายละเอียดทั้งหมดปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๖/๒๕๕๙ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมจะขอเวลาอีกสัก ๒ นาที เพื่อจะขยาย ปรากฏว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญออกมาในระหว่างนั้นมีสมาชิกของพรรคฝ่ายค้านเดิมขอแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี สสร. มีการส่งเรื่องไปให้ศาลวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า การมี สสร. ไม่อาจจะทำได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่กำหนด แต่ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับ ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี่สามารถที่จะ จัดทำรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน โดยสรุปก็เหมือนประชามติใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ถ้านำคำวินิจฉัย ที่ ๔/๒๕๖๔ อันหลังนี้มาใช้ก็คือผลประชามติที่เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ จึงถือมีความสำคัญ ดังนั้นผมได้ถามเลขาธิการสภาพัฒน์ เมื่อวันนี้ สว. ไม่มีหน้าที่ในการ ปฏิรูปประเทศแล้ว ท่านได้ชี้แจงกลางสภานี้ เมื่อ สว. ไม่มีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ สว. ก็ต้องตามเจตนารมณ์และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันทุกองค์กร ก็ไม่ควรที่จะ มาเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ก็ควรจะย้อนกลับไปมาตรา ๒๕๙ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่อยากจะ ให้บันทึกไว้ว่าการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา ที่สำคัญอย่างยิ่งคือไปตัดอำนาจของประชาชน ท่านประธานที่เคารพครับ ส่วนผลของการปฏิรูปประเทศ วันนี้เราอภิปรายไปก็ไม่มีผลแล้ว เขามารายงาน แต่ผม ขอกราบเรียนว่าผลของการปฏิรูปประเทศนี่ถ้าได้ตรวจสอบทั้งหมดมีความล้าหลัง ท่านใช้งบประมาณแผ่นดินในช่วงการปฏิรูปประเทศไปถึง ๑๘ ล้านล้านบาท ถ้ารวม เป็นเงินกู้ด้วยเกือบ ๒๐ ล้านล้านบาท เพราะเวลาของบประมาณก็ต้องทำแผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ท่านทำให้ประเทศถอยหลังจำนวนมาก ดังนั้นผมคิดว่าอันนี้คือ เป็นบทเรียนที่ว่าการไม่ไว้ใจประชาชน การสร้างอำนาจนิยมเพื่อจะมาคิดแทนประชาชน ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็คือการทำลายความเจริญของประเทศ ทำให้ประเทศถอยหลังมา ผมจึงอยากจะฝากไว้ว่าเราควรจะนำรายงานบทสรุปทั้งหมดมาศึกษา แล้วก็อยากให้สภานี้ ตั้งคนศึกษา และบอกว่าความเจริญหรือความเสียหายจากการมีแผนปฏิรูปประเทศ มันเป็นอย่างไรครับ ขอขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก่อนจะให้ทางผู้ชี้แจงได้ตอบและซักถามนะครับ สรุปผลหารือที่ทาง ท่านจุลพันธ์ได้หารือเรื่องของเวลาการประชุมนะครับ ก็อยากเรียนว่าเรามีความจำเป็น ที่จะต้องเลื่อนนะครับ ไม่ใช่เลื่อนครับ ขอโทษครับ ไม่สามารถมีเวลาเพียงพอในการพิจารณา เรื่องของรายงานผู้ตรวจการแผ่นดินในระเบียบวาระที่ ๒.๓ และรายงานผลการปฏิบัติงาน ของ กสทช. ในระเบียบวาระที่ ๒.๘ ได้นะครับ ก็จะขอยกเป็นการประชุมในวาระต่อไป ก็ขอทางหน่วยงานเชิญกลับได้นะครับ แล้วก็ต้องขอโทษท่านด้วยที่ไม่ได้พิจารณาทัน ในวาระของท่านนะครับ ส่วนเรื่องของการพิจารณาต่อไปนะครับ ในเรื่องของรายงานสรุปผล การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ เราก็จะเอาให้จบในวันนี้เลยนะครับ ไม่ต้องยกยอด ไปในสัปดาห์ต่อไปแล้วนะครับ ท่านใดต้องการที่จะอภิปรายก็สามารถลงชื่อล่วงหน้าได้ ซึ่งตอนนี้มีผู้ที่ลงชื่ออภิปรายทั้งหมด ๒๑ ท่านนะครับ เราก็จะจบ ถ้าไม่มีการลงชื่อเพิ่มเติม เราก็จะจบการประชุมวันนี้ในเวลาประมาณ ๓ ทุ่มนิด ๆ นะครับ ขอเชิญท่านผู้ชี้แจงครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาตินะครับ ในช่วงท้ายนี้ก็ขออนุญาตเรียนตอบเพื่อความถูกต้องในสิ่งที่ ผมได้นำเรียนสภาแห่งนี้นะครับ ขออนุญาตเรียนท่านทวี สอดส่อง นิดหนึ่งก่อนนะครับ ว่าที่ผมตอบไปนี่นะครับ ผมตอบว่าหน้าที่ตามมาตรา ๒๗๐ ของวุฒิสภาชุดปัจจุบันซึ่งมีมา ตามบทเฉพาะกาลจะสิ้นสุดลงไปพร้อมกับอายุของวุฒิสภานะครับ ส่วนหมวด ๑๖ มันเป็นเรื่องที่บรรจุไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งอันนี้ผมก็ได้บอกว่าในกรณีที่วุฒิสภา ชุดถัดไป ชุดใหม่ที่จะเข้ามานี่นะครับ และท่านอาจจะมาตามนี่ท่านก็คงตามได้ในแง่ของ เรื่องการติดตามการบริหารราชการแผ่นดินในการตั้งกระทู้ถามซึ่งก็เป็นเรื่องปกตินะครับ ผมไม่ได้บอกว่าหมวด ๑๖ สิ้นสุดลงไปด้วยนะครับ อันนี้ผมขออนุญาตนำเรียนนิดหนึ่งครับ ผมอาจจะพูดแล้วอาจจะทำให้เข้าใจผิดนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตไปที่ประเด็นเรื่องของทางสาธารณสุขนะครับ มีท่านสมาชิกได้พูด ถึงเรื่องนี้กันนะครับ ในเรื่องของตัวบุคลากร เรื่องของอะไรต่าง ๆ พวกนี้ผมเรียนว่าในช่วง ที่ผ่านมานี่แน่นอนครับ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็มีจำกัด แล้วก็โดยเฉพาะคุณหมอ และพยาบาลนะครับ ที่ผ่านมาในช่วงถ้าผมจำไม่ผิดในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาก็มี การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไประดับหนึ่ง โดยการเพิ่มอัตราของทางแพทย์และพยาบาล บุคลากร ทางสาธารณสุขเข้าไปแล้วนะครับ เรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านพัก สวัสดิการ หรือว่าเงินเดือน หรือว่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ผมเข้าใจว่าอันนี้เดี๋ยวทางสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะต้องมีการดำเนินการในลำดับถัดไปนะครับ ซึ่งอันนี้เป็น รายละเอียดที่ทางกระทรวงจะต้องเป็นคนดำเนินการนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของแผนบริหารจัดการน้ำที่มีท่านสมาชิกได้พูดถึงว่าแผนอาจจะไม่ค่อย ดีนักนะครับ อาจจะมีเรื่องไม่ได้มาดูเรื่องที่ทำไปแล้วหรืออะไรพวกนี้นะครับ อันนี้เดี๋ยวผมจะ รับไปหารือกับท่านเลขาธิการสำนักงานนโยบายที่ดูเรื่องนี้โดยตรง สทนช. นะครับ ในส่วนที่ท่านสมาชิกพูดถึงเรื่องของการแจ้งความทุกท้องที่นะครับที่มี Case ที่น้องนักศึกษา ธรรมศาสตร์ที่ไม่สามารถแจ้งความได้นี่นะครับ ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ในหลาย ๆ Case ที่ผ่านมาก็มีคนที่แจ้งความได้นะครับต่างท้องที่ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ที่อาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบ เพราะฉะนั้นที่ท่านสมาชิกได้มีการอธิบายออกมา แล้วก็ได้บอกว่าให้ทางพี่น้องประชาชน ได้ทราบก็เป็นเรื่องที่ดีที่พี่น้องประชาชนจะได้ทราบ ว่าต่อไปนี้การแจ้งความทุกท้องที่ สามารถดำเนินการได้นะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของสาธารณสุขมูลฐานที่เป็นเรื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ผมเข้าใจว่าทีมหมอ ครอบครัวก็ยังคงมีอยู่นะครับ แต่แน่นอนครับหมอและพยาบาลก็คงมากระจุกตัวอยู่ที่ กรุงเทพฯ นะครับ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็คงต้องมีการดำเนินการ ในการที่จะกระจายแพทย์และพยาบาลออกไปในต่างจังหวัด เพื่อให้สัดส่วนแพทย์ต่อ ประชากรนี่มันลดลง แล้วก็ลดภาระด้วย ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีการเพิ่มอัตราการบรรจุแพทย์ และพยาบาลเพิ่มเติมในกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง เหมือนกันนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของเด็กที่หลุดออกจากระบบหรืออะไรต่าง ๆ พวกนี้ที่ท่านสมาชิก อภิปรายอันนี้เป็นค่าเป้าหมายที่เขาพยายามจะทำได้ให้ในปี ๒๕๖๕ แต่แน่นอนครับ ด้วยสถานการณ์จาก COVID-19 ที่เกิดขึ้นมาช่วง ๒ ปี แล้วก็เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องสถานการณ์ เศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อสูงก็มีผลกับภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนก็อาจจะมีการหลุดออก จากระบบ แต่ก็ต้องเรียนว่าในแผนปฏิรูปประเทศนี่ก็ได้มีกลไกที่ได้ทำมาแล้ว ก็คือกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งผมได้นำเรียนไปแล้วในตอนต้นว่าก็ได้มีการเข้าไป ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบให้กลับเข้าสู่ระบบได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คงจะต้อง มีการเร่งในการที่จะดำเนินการในการใช้กลไกกองทุนที่มีอยู่ในการช่วยเหลือเด็กให้กลับ เข้าสู่ระบบ เรื่องของครูที่มีภาระงานมากเกินไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ แล้วก็มีความ พยายามที่จะแก้มาได้ระยะหนึ่งแล้วนะครับ แต่เดี๋ยวผมต้องไป Check ดูครับว่าสุดท้ายนี่ ได้มีการปรับปรุงไปแค่ไหน อย่างไร เพราะว่าอย่างที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงนี่ก็เป็นเรื่อง ที่ถูกต้อง เพราะว่าครูนี่มีภาระเยอะ โดยเฉพาะในงานเอกสารก็อาจจะทำให้ไม่สามารถ จะมีเวลามาดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่นะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงศึกษาคง จะต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการประเมิน หรือว่ารูปแบบการจัดการของคุณครูด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ผมก็ขออนุญาตขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ ที่ได้ให้ข้อคิดเห็น ต่าง ๆ แล้วก็ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งประเด็นที่จะฝากไปในการที่จะให้ผม ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งดำเนินการ เดี๋ยวจะรับไปนะครับ ขอบพระคุณ มากครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานนิดเดียวครับ พาดพิงนิดเดียวเดี๋ยวจะเกิดความเสียหายครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านทวีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ถ้าไม่ขยายความอาจจะเกิดความเสียหายนะครับ ที่ผมพูดว่าหมวดปฏิรูปที่ ๑๖ ปฏิรูปประเทศนี่ อันนั้นเป็นความเห็นของผมว่าควรจะหมด สภาพสิ้นสุดแล้ว เพราะผมไปดูในมาตรา ๒๕๙ เขากำหนดให้การปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ให้เริ่ม ๑ ปี ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงสัมฤทธิผลว่าจะบรรลุภายใน ๕ ปี คือ ๕ ปีอันนี้ มันจบไปแล้ว แล้วผมก็บอกว่าอำนาจ สว. ที่เราเขียนชัดเจนไว้คือ ๒๗๐ ให้มีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และให้รายงานทุก ๓ เดือน ที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ บอกไว้ก็คือมาตรา ๒๗๐ ที่ท่านชี้แจงว่าอันนี้หมดหน้าที่แล้ว คือใน ๓ เดือนข้างหน้า เราคงไม่ได้เห็นรายงานฉบับนี้แล้ว อันนี้ถูกต้อง แล้วก็ที่ท่านตอบว่า สว. มี ๕ ปี การแต่งตั้ง สว. ชุดนี้ ๕ ปีถูกต้องของท่าน ก็คือจะครบในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗ อยากจะชี้แจง ไว้ตรงนี้ ก็คือโดยสรุปหน้าที่ สว. ในการเร่งรัด ติดตาม ปฏิรูปประเทศในหมวด ๑๖ มันหมดไปแล้ว ส่วนหมวด ๑๖ จะมีสภาพใช้ได้หรือไม่ได้ก็ลองมาพิจารณาดู ซึ่งบางครั้งอาจจะไปตีความใน สว. ชุดใหม่ว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายปฏิรูปลักษณะทำให้ประเทศดีขึ้น ซึ่งอันนี้อยู่ที่ นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา อันนี้อยากจะเรียนให้ทราบครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับท่านประธาน ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาสภาพัฒน์ ครับ พอดีมี คำถามหนึ่งที่ท่านสมาชิกอยากทราบคำตอบแต่ผมยังไม่ได้ตอบนะครับ เมื่อครู่นี้ลืมตอบไปครับ ขออภัยด้วยครับ เรื่องของตัวจำนวนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด ที่ตั้งมาทั้งหมดนี้ ๘๐ ท่าน มี ๖ คณะ คณะละประมาณ ๑๕ ท่าน ส่วนคณะปฏิรูปประเทศ มี ๑๓ คณะ ทั้งหมด ๑๘๕ ท่าน จะมีคณะละประมาณ ๑๔ ท่านหรือ ๑๕ ท่าน แล้วแต่นะครับ ทีนี้ในส่วนของเบี้ยประชุมนี่เป็นการจ่ายเบี้ยประชุมแบบเหมาจ่าย เหมาจ่ายรายเดือนนั้นหมายถึงว่าถ้ามีประชุมเดือนไหนถึงจะจ่าย แล้วถ้าเดือนนั้น ประชุม ๒ ครั้ง ก็จะจ่ายครั้งเดียวไม่ได้จ่ายทุกครั้ง อันนี้เป็นการปรับตัวเบี้ยประชุมหลังจากที่ แผนปฏิรูปได้มีการยกร่างเสร็จแล้วนะครับ แล้วก็ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ก็ได้สิ้นสุดอายุลงไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แล้วก็ไม่ได้มีการประชุมอีกครับ ก็เรียนเพื่อทราบครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านประสาท

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายประสาท ตันประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรคชาติพัฒนากล้า ท่านประธานครับ ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต ผมไม่อภิปรายนะครับ เพื่อท่านเลขาธิการ สภาพัฒน์จะได้ทราบ ในส่วนของประเด็นท้าทายทั้ง ๑๓ ด้าน มีจำนวนถึง ๖๑ ประเด็นท้าทาย เพราะฉะนั้นผมเรียนว่าเมื่อเป็นประเด็นท้าทายนี่ท่านได้ทำหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าในรัฐธรรมนูญของเรานี่ มาตรา ๒๕๗ การปฏิรูปประเทศ หมวดนี้ต้องดำเนินการ เพื่อบรรลุเป้าหมายนะครับ ประเทศชาติต้องมีความสงบเรียบร้อย (๒) สังคมต้องมีความสุข เป็นธรรม มีโอกาสทัดเทียมเพื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ (๓) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ท่านประธานครับ คือประเด็นท้าทายนี่ยกตัวอย่างเช่นด้านการเมือง การปฏิรูปประเทศ ต้องผลักดันให้พรรคการเมืองและนักการเมืองตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อนโยบาย ที่นำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ท่านประธานครับ เมื่อเป็นรัฐบาลนี่ในส่วนของสภาพัฒน์ ต้องผลักดันให้รัฐบาลเอานโยบายที่ใช้ในการหาเสียงมาใช้ แต่ผมเชื่อนะครับว่า พรรคการเมืองนี่นโยบายที่หาเสียงอย่างเช่นเพื่อไทยนี่ เงิน Digital ๑๐,๐๐๐ บาทนี่แน่ พลังงานลดลง ไฟฟ้าลดลง ในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้าเป้าหมาย มีงาน มีเงิน ของถูก อย่างนี้ท่านต้องมีหน้าที่ผลักดันแล้ว ถ้าไม่ทำนี่ท่านต้องชี้เลยนะครับ อีกนิดเดียวครับ ในด้านการศึกษาที่เป็นประเด็นท้าทายของท่านนะครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานผมประท้วง ท่านประธานครับ

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

ขออนุญาต ผมชมครับ อย่างไร ก็ต้องทำอยู่แล้ว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านประสาทครับ พอดีสมาชิกมีสิทธิ์ประท้วงนะครับ เดี๋ยวรอฟังท่านประท้วงก่อนครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมต้องขอ อนุญาตประท้วงท่านประธานครับ แต่ก็แน่นอนครับต้องกล่าวพาดพิงไปถึงท่านผู้อภิปราย ในการอภิปรายครับ ท่านประธานครับ ท่านประธานมีหน้าที่ในการควบคุมการอภิปรายครับ ท่านสมาชิกทุกท่านที่จะอภิปรายก็ลงชื่ออภิปราย และยิ่งวันนี้การอภิปรายยังมีต่อเนื่อง ยังมีรายงานที่ค้างการพิจารณา สมาชิกหลายท่านก็ลงชื่อเอาไว้ก็ไม่รู้ว่าจะได้อภิปรายเวลาใด แต่ว่าท่านผู้กำลังอภิปรายนี่นะครับ เมื่อวานท่านก็ขึ้นมาแบบนี้ครับ บอกขอตั้งข้อสังเกต วันนี้ท่านก็ขึ้นมาอีกบอกขอตั้งข้อสังเกต แล้วเวลามันก็ไม่เดินครับ พวกผมก็ไม่รู้ว่าตกลง ท่านใช้เวลาตั้งข้อสังเกตกี่นาที แบบนี้เดี๋ยวจบท่านผมขอตั้งข้อสังเกตต่อนะครับ เพราะฉะนั้นท่านต้องเอาให้ชัดว่าตกลงท่านอนุญาตให้ตั้งข้อสังเกตสั้น ๆ หรือว่าท่าน เปิดให้อภิปราย ถ้าเปิดให้อภิปรายผมก็จะได้ขออภิปรายต่อ ท่านประธานต้องควบคุมครับ ไม่เช่นนั้นการอภิปรายโดยอ้างว่าตั้งข้อสังเกตแบบนี้ไม่ใช่ธรรมเนียมในสภาแห่งนี้ ผมไม่กล้า รบกวนท่าน ท่านเป็นอดีต สส. เก่า เป็นผู้อาวุโส แต่ว่าท่านประธานต้องควบคุมการประชุมครับ ขอบพระคุณครับ

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประธาน ผมเคารพนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สักครู่ครับ

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

คือข้อสังเกตของผมไม่มี

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานวินิจฉัยไว้ด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านประสาทครับ เดี๋ยวผมขออนุญาตวินิจฉัยก่อนนะครับ เรียนท่านสมาชิกที่ประท้วง ผมก็พยายามฟังประเด็นของทางท่านประสาทอยู่นะครับ แล้วก็กำลังดูว่ามีข้อสังเกต อะไรบ้าง แต่ก็เห็นด้วยกับท่านผู้ประท้วงว่าอาจจะใช้เวลาเนิ่นนานไปสักนิดจนเหมือน การอภิปรายนะครับ แต่เนื่องจากสมาชิกทางฟากฝั่งนี้ยังไม่ได้มีโอกาสมากนักในการพูด ผมก็อยากจะให้เวลาสักครู่หนึ่ง แต่การประท้วงมีเหตุผลนะครับ ท่านประสาทครับ

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อย่างไรผมขอสรุปเลยนะครับ

นายประสาท ตันประเสริฐ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

คือในส่วนของการศึกษา ผมให้ข้อสังเกตว่าวันนี้ในด้านการศึกษาของเราแย่มากท่านท้าทายนี่ ผมท้าทายท่านว่า ท่านกล้าที่จะใส่วิชาหน้าที่พลเมืองลงไปในการศึกษาไหม วิชาสุขศึกษา วิชาประวัติศาสตร์ อย่างนี้หายไปหมด ท่านกล้าที่จะใส่ลงไปไหมครับ ผมไม่ได้อภิปรายนะครับ เพียงแต่ ให้ข้อสังเกตท่าน วันนี้หลายท่านที่อภิปรายยังไม่รู้ประวัติศาสตร์เลย บรรพบุรุษของเราสร้าง บ้านสร้างเมืองมาเสียเลือดเสียเนื้อไม่รู้เท่าไรกว่าจะมาถึงวันนี้ เพราะฉะนั้น เรียนท่านประธานฝากข้อสังเกตไปยังท่านเลขาธิการสภาพัฒน์นะครับ ถ้าเป็นไปได้ ในด้านการศึกษา วันนี้ยังหาเงินช่วยนักเรียน ผ้าป่าการกุศลอยู่เลยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก็เรียนท่านสมาชิกนะครับ ท่านประสาทสามารถมาลงชื่อได้นะครับ จะได้อภิปราย อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องมีการประท้วงนะครับ แล้วจะได้เสนอข้อเสนอของท่านทุกอย่าง ก็จะได้บันทึกในที่ประชุมด้วย ครับตอนนี้ผู้อภิปรายทั้งหมดจบแล้วนะครับ ทางผู้ชี้แจงมีอะไร ชี้แจงเพิ่มเติมไหมครับ ไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้นผมขอบพระคุณทางท่านเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วก็ทีมงานที่มาชี้แจงในวันนี้นะครับ ถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ สมาชิกครับ เราเหลือเรื่องพิจารณาอีก ๑ วาระนะครับ คือ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๑๑ รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ แต่ก่อนอื่นเดี๋ยวผมขอพัก ๑๐ นาทีนะครับ เราจะเริ่มการพิจารณาเรื่องนี้ในตอน เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา ขอพักการประชุมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๘.๑๙ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านสมาชิกนะครับ เจ้าหน้าที่นะครับ เราเริ่มประชุมต่อนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปจะเป็นระเบียบวาระที่ ๒.๑๑ รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูป ประเทศประจำปี ๒๕๖๕ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอเชิญผู้ชี้แจงเข้าห้องประชุม ท่านดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ท่านสรยา ยศยิ่งยง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ท่านนาทวุฒิ ตรีเพ็ชร์ ท่านดนุชาทานอะไรหรือยังครับ ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่ได้เป็นทางผู้ชี้แจงได้ Brief แล้วนะครับ ก็ถือว่าเป็นการอภิปรายต่อเนื่อง เลยนะครับ ตอนนี้ผู้ที่เข้ามาลงชื่อทั้งหมดมี ๒๑ ท่านนะครับ มีที่ใช้เวลา ๑๐ นาที ๒ ท่าน แล้วก็ที่เหลือทั้งหมดใช้ ๗ นาทีนะครับ ท่านใดที่ต้องการลงชื่อนะครับ หลังจากที่ผู้อภิปราย ๒ ท่านแรกอภิปรายเสร็จแล้ว คือท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ และท่านอนุชา บูรพชัยศรี ผมจะปิดการลงชื่อเพื่ออภิปรายนะครับ เพื่อเราสามารถควบคุมการประชุมได้ครับ ผมขอเชิญท่านผู้อภิปรายท่านแรกเลยนะครับ ท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผมชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ผมขออภิปรายรายงานของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวาระเรื่องช้างป่าตะวันออก เรามาเริ่มกันตรงเนื้อหา ของการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๘๐ ในหัวข้อที่ ๔ ว่าด้วย การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในหน้า ๕๓ ข้อ ๔.๑.๒ บรรทัดที่ ๖ เขียนไว้ว่าการบริหารจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสัตว์ ป่า คน และชุมชน ท่านประธานครับ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะต้อง ดำเนินงานตามแผน โดยมีเป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก ที่กระทบกระทั่งกับประชาชนอยู่เสมอ แต่ความเป็นจริงในพื้นที่เรื่องนี้ทำได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ เรามาดูกันนะครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มจากการอ้างอิงถึงหนังสือจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ ช้างป่าตะวันออก และเครือข่ายศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก ที่ผมรับยื่นหนังสือที่สภา ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมที่ผ่านมา ในหนังสือระบุถึงสถิติการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า และจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๕ ในปี ๒๕๖๑ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ๒,๓๙๙ ครั้ง เสียชีวิต ๑๑ ราย บาดเจ็บ ๑๓ ราย ปี ๒๕๖๒ ออกนอกพื้นที่ ๒,๓๕๘ ครั้ง เสียชีวิต ๑๔ ราย บาดเจ็บ ๑๙ ราย ปี ๒๕๖๓ ออกนอกพื้นที่ ๔,๗๖๑ ครั้ง เสียชีวิต ๑๐ ราย บาดเจ็บ ๑๗ ราย ปี ๒๕๖๔ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ๘,๐๐๖ ครั้ง เสียชีวิต ๑๙ ราย บาดเจ็บ ๑๒ ราย และปี ๒๕๖๕ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ๑๖,๓๗๖ ครั้ง เสียชีวิต ๒๓ ราย บาดเจ็บ ๑๔ ราย สรุปการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ มีผู้บาดเจ็บ ๗๕ ราย เสียชีวิต ๗๗ ราย และสถิติการออกนอกพื้นที่ ของช้างป่าตะวันออกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ผลที่เกิดขึ้นเห็นชัด ๆ ว่าไม่สอดคล้องกับ การตั้งใจทำให้ช้างกับคนอยู่ร่วมกันได้ตามที่เขียนเอาไว้แม้แต่น้อย หน่วยงานที่มีหน้าที่ รับผิดชอบตรงก็คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่แม้จะมีความพยายาม ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ อันนี้ผมทราบดีครับ เพราะผมเคยไปช่วยเขาจับช้างด้วยตัวเองมาแล้ว ในเขตพื้นที่ของผม เจ้าหน้าที่ตั้งใจทำงานมาก อันนี้ต้องขอชื่นชม แต่ในความเป็นจริง การดำเนินงานเหมือนจะติดขัดอะไรบางอย่างอยู่จากการที่ผมพยายามจะสืบหาหน่วยงาน ทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่ามีหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีหน้าที่กำกับตรง แต่กลับมามี ส่วนสำคัญในการทำงานที่ทำเรื่องช้างร่วมกับอุทยาน และบังเอิญไปสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานแรกเป็นมูลนิธิครับ ชื่อมูลนิธิว่ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด หรือป่ารอยต่อ มาดูบทบาทหน้าที่ของมูลนิธินี้กันนะครับ ตามที่เห็นในหน้าแรก ของ Website มีการ Claim ผลงานว่าได้มีการทำแนวกำแพงทำคูกั้นช้างในป่ารอยต่อ ภาคตะวันออกเพื่อกันไม่ให้ช้างออกมา มูลนิธินี้จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คงไม่ได้ เพราะรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตอนปี ๒๕๖๐ ชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วประธานกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อคือใครกันนะครับ ชื่อ พลเอก ประวิตร เหมือนกันครับ บังเอิญมาก ๆ เลย ทีนี้มาดูผลสัมฤทธิของเรื่องแนวกันช้างที่เขาโชว์ เป็นผลงานกันในหน้า Website เลยนะครับ จะมี Clip ให้ดูเป็นตัวอย่าง

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ใน Clip นี่จะเห็นได้ว่าผลงานที่ Claim ไว้ใน Website ว่าได้ทำแนวกันช้างเป็นกำแพงนี้นะครับ พอทำแล้วบางส่วนก็ส่งมอบให้ อุทยานไป บางส่วนหน่วยงานรัฐเป็นกองทัพเรือนะครับ ทำเสร็จก็ส่งกลับมาให้มูลนิธิ ดูก็กันอะไรไม่ได้เลยนะครับ ประสิทธิภาพก็ตาม Clip นะครับ ข้ามกันได้ตามสบาย Clip ถัดไปนะครับ อันนี้ก็ดูเป็นการทำทั้งกำแพง แล้วก็มีคูกันช้างทั้ง ๒ อย่าง แต่ผมไม่รู้ว่า จะเรียกว่าคูกันช้างได้หรือเปล่า แต่ผมเรียกว่า Slider ช้างน่าจะดีกว่านะครับ นี่ Parade กัน ออกมาขนาดนี้ เท่าที่ดูผมก็อยากจะถามเลยสั้น ๆ อันนี้คือดีแล้วใช่ไหมครับ ไม่แน่ใจด้วยว่าการใช้โครงการ แบบนี้ ของมูลนิธิแบบนี้ เราตรวจสอบการใช้งบประมาณกับประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้างครับ เพราะไม่รู้ว่าจุดไหนในรั้ว ในคู หน่วยงานใดรับผิดชอบบ้าง ท่านประธานครับ ผมจึงขอ ตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าการที่คนในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมูลนิธิที่ทำงานสนองแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ การทำงานแบบนี้มันทำได้หรือครับ อันนี้เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนใช่หรือไม่

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

มาต่อกันที่หน่วยงานที่ ๒ ที่ผมจะกล่าวถึงก็มีสถานะเป็นมูลนิธิอีกแล้ว ชื่อมูลนิธิแบบย่อ ๆ ว่าคชานุรักษ์ มูลนิธินี้เท่าที่ดูวัตถุประสงค์ก็พอจะสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติอยู่เหมือนกัน เพราะทำโครงการที่ทำให้ช้างกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ มูลนิธินี้ มีทุนจดทะเบียนราว ๆ ๑๐ ล้านบาท ดูไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่อำนาจบารมีมากมายมหาศาล ชนิดที่เรียกว่าใหญ่กว่าหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ตรงอยู่ตรงนี้เสียอีก Scan เข้าไปดูกันได้ เพราะใน Board ของกรรมการมูลนิธิเท่าที่ผมพอจะเปิดเผยได้ มีปลัดจากหลายกระทรวง ทั้งที่ดูแล้วเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ผู้นำเหล่าทัพ ผบ. ทบ. ผบ. ตร. ไปจนถึงองคมนตรี นั่งเป็นกรรมการมูลนิธินี้อยู่ แถมที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธินี้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่ผมคิดว่าคงไม่มี หน่วยงานใดกล้าเข้าไปตรวจสอบ ตัวอย่างงานของมูลนิธินี้มีงานหนึ่งที่น่าสนใจคือการทำ หมู่บ้านคชานุรักษ์อาศัยการกำกับงานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันนี้คือมูลนิธิ สั่งกระทรวงได้หรือครับ มันทำได้หรือครับ ซึ่งโครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์ คือการให้ชุมชน กับช้างอยู่ร่วมกันได้ตามยุทธศาสตร์ชาติพอดีเลยครับ แต่ผมก็ขอให้โดยวิดีโอถัดจากนี้

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ผมถามว่าชุมชนที่อยู่ตรงนี้จะอยู่กันแบบปกติสุขได้หรือไม่ ชาวบ้านตรงนั้น ถ้าประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนทำไร่อยู่ ๆ ช้างยกโขยงมาอยู่รอบชุมชนเป็นสิบ เป็นร้อยตัวเขาจะกล้าออกไปทำมาหากินกันไหม จะกล้าออกไปตัดยางกันไหม ผลที่ตามมา พอช้างมาอยู่ในชุมชน คือในบางพื้นที่ก็เลยต้องมีโครงการให้ประชาชนเปลี่ยนไปทำอาชีพ อื่น ๆ ที่ก็มีตั้งแต่การทำน้ำพริก ทำปุ๋ยหมัก ไปทอผ้า ไปทำตุ๊กตา ไปทำชา ไปทำไม้กวาด เพื่อแก้ปัญหาช้าง อันนี้มันแก้ปัญหาช้างป่าอยู่ร่วมกับประชาชนอย่างไรครับ แล้ว Claim เป็นผลงานด้วยนะครับ อันนี้มันไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนชัด ๆ เลยนะครับ ผมจึงขอตั้งคำถามต่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ว่าได้มีการตรวจสอบว่ามูลนิธิที่ผมกล่าวไป เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติจริงหรือไม่ นิดเดียวครับท่านประธาน ถ้ามูลนิธินี้ไม่มีหน้าที่ตรง ๆ การตั้งตัวเป็นผู้ดำเนินการเอาข้าราชการใหญ่ ๆ มานั่งเป็นกรรมการ ถืออำนาจ แล้วแบบนี้เรียกว่ามีการปล่อยให้มีการแทรกแซงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรงหรือไม่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเองที่งานตัวเองดันไปเกี่ยวข้องกับมูลนิธิแบบนี้ ผมก็สงสัยว่าสามารถจะทำงานได้อย่างอิสระจริงหรือไม่ เพราะดันมีองค์กรที่ทรงอำนาจมาก ๆ อยู่ในงานนี้ด้วย อันนี้จะเรียกว่ารัฐซ้อนรัฐได้ไหมครับ ซึ่งเรื่องนี้อันตรายนะครับ เพราะว่า เกิดความผิดพลาดจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่มูลนิธิพวกนี้มาเกี่ยวข้อง คนเดือดร้อน คนเสียชีวิตก็พี่น้องประชาชน ใครรับผิดชอบครับ พี่น้องประชาชนออกไป ทำอาชีพ ไปตัดยางไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ พืชผลเสียหาย บาดเจ็บ เสียชีวิต ค่าชดเชย เยียวยาก็น้อยเหลือเกินแค่หลักหมื่นหลักแสน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ที่อยู่กับประชาชน เขาพยายามช่วยแก้ปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้มาก หรือเพราะอำนาจสั่งการและงบประมาณ ถูกเอาไปสร้างผลงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมูลนิธิพวกนี้ ศพที่ตายล่าสุด อาทิตย์ที่แล้ว ศพก่อนหน้าที่วังจันทร์เขตเลือกตั้งของผม ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ศพต่อไปที่ไหนดีครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านอนุชา บูรพชัยศรี ครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้เป็นการรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ แต่อย่างไรก็ตามครับ เรียกว่าครั้งแรกในการที่จะได้อภิปรายในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ในสภาแห่งนี้ ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลากว่า ๕ ปีที่ผ่านมาได้ยินได้ฟังหลาย ๆ ส่วน ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ ก็อาจจะมีความเข้าใจผิดในหลายส่วน เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคงไม่ลงรายละเอียดในส่วนของปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะ แต่ขออนุญาต ที่จะพูดถึงหรืออภิปรายเกี่ยวกับภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติเลย ขออนุญาตที่จะได้ใช้ Slide ด้วยนะครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต้องเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาตินั้น ทุกประเทศเป็นสากล ควรที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ มี Vision เป็นสิ่งที่ดำเนินการมาไม่ว่าจะเป็นที่ทวีปใดก็แล้วแต่ หรือว่าเพื่อนบ้านเราเอง ก็ตาม เขามีทั้งหมดนะครับ แล้วเขาก็พูดถึงว่า Vision 20 อะไรก็แล้วแต่ในปี ค.ศ. ของเขา ของเราก็มียุทธศาสตร์ชาติที่พูดกันติดปากว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ซึ่งก็คือตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๘๐ ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติจริง ๆ แล้ว มันเป็นการล็อกหรือเปล่า มันเป็นการผูกมัดหรือเปล่า มันเป็นการ Fix หรือเปล่า มันเป็นการเกิดขึ้นจากคนที่คิดในปัจจุบันตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แล้วจะไปคิดวาดฝันอะไรในอนาคต ได้อย่างไร ในเมื่อโลกมีการหมุนเปลี่ยนไปด้วยความรวดเร็ว ก็ต้องเรียนอย่างนี้ว่าทุกอย่าง มันจะมีเรื่องของการที่นำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกรอบเท่านั้นเอง ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีแผนระดับที่ ๑ ที่เราเรียกตอนนี้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เราจะมีแค่ แผนระดับที่ ๒ ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์วันนี้มาอยู่ก็คงจะได้ยินมาตลอดว่าเราใช้แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่เท่าไร ๆ จนกระทั่งตอนนี้มาอยู่ในฉบับที่ ๑๓ แล้ว หมุดหมายต่าง ๆ เราว่ากันไป แต่ว่าบางครั้งมันยังไม่เห็นภาพชัด เพราะฉะนั้นเราจึงเห็น ในระดับที่ ๑ เป็นยุทธศาสตร์ชาติวางเอาไว้ถึงปี ๒๕๘๐ ในระดับที่ ๒ ก็จะมีในเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่าง ๆ ก็ว่ากันไปในแต่ละเรื่อง เมื่อสักครู่นี้เราใช้เวลากว่า ๖-๗ ชั่วโมงพูดถึงเรื่องของแผนการปฏิรูปประเทศ อันนั้น แค่ ๕ ปีเท่านั้นเอง เป็นห้วงแรกของการที่จะเหมือนกับให้มีการตั้งไข่ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ในการที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบของประเทศไทยเรา แล้วถึงจะมาในส่วนของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ว่าไว้ แล้วก็จะมีนโยบายแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงอื่น ๆ อีก จะเห็นว่าในส่วนสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในกรอบของ ยุทธศาสตร์ชาติที่อย่างน้อยเราเห็นภาพชัดแล้วว่าทุกคนจะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ก็จะใช้ตรงนี้เป็นเข็มทิศในการที่จะนำทางว่าเราจะไปในทิศทางไหน หลังจากนั้นก็จะมีแผนปฏิบัติการในระดับที่ ๓ ขอ Slide เมื่อสักครู่นี้อีกอันหนึ่ง ก็คือเป็นแผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแผนปฏิบัติการราชการ ราย ๕ ปี แล้วก็แผนอื่น ๆ เพราะฉะนั้นในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ เราเพิ่งจะผ่านช่วงแรกไป เท่านั้นเอง ฉบับแรกที่เราใช้กันหรือว่าในห้วงแรกก็คือช่วงปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา เป็นช่วง ๕ ปี แล้วจากนี้ไปเขาก็มีการปรับเปลี่ยนไปในห้วงที่ ๒ ก็คือ ๕ ปีจากนี้ไป จนถึงปี ๒๕๗๐ ต้องเรียนอย่างนี้ครับท่านประธานในช่วง COVID-19 เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราต้องปรับเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ชาติก็มีการปรับเปลี่ยนครับ ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้น มีการพูดถึงเรื่องการล้มแล้วลุกให้ไว้ การที่จะทำ อย่างไรที่เราเมื่อมีปัญหาในสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 แล้วเราควรจะต้องปรับตัว อย่างไรควรมี New Normal เราคงได้ยินอย่างนี้ นี่คือยุทธศาสตร์ชาติที่สามารถปรับเปลี่ยน ได้ตามสถานการณ์ ในช่วง COVID-19 ก็มีปรับเปลี่ยน ถ้าผมจำไม่ผิดมีการปรับเปลี่ยน ๒-๓ ครั้งเลยทีเดียวในช่วงระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา คราวนี้มา Slide ต่อไป ถ้าถามว่า แล้วยุทธศาสตร์ชาติจริง ๆ มันคืออะไร มันง่าย ๆ แค่นี้ครับ ท่านประธานครับ ประเทศ ในอนาคต ในปี ๒๕๘๐ เราจะต้องเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความมั่งคั่ง แล้วก็ยั่งยืน และประเทศจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาและเศรษฐกิจ พอเพียง ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่าทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องของ Sufficient Economy หรือว่าเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแน่นอนแล้ว แล้วเป้าหมายของเราคืออะไร เป้าหมาย ในส่วนของหลังจากที่เรามีวิสัยทัศน์แล้ว Slide ต่อไปก็คือประเทศมั่นคง ประชาชน มีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติ อย่างยั่งยืน แล้วทำอย่างไรก็คือการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ พัฒนาในทุกมิติ ในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ สร้างโอกาสและความเสมอภาค ทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม นี่คือสิ่งที่เรามีวิสัยทัศน์และเป้าหมายคราวนี้ เพื่อที่จะไปในส่วนของเป้าหมายก็มีการวางยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องของการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ภาครัฐ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม และสุดท้ายเรื่องของความมั่นคง จะเห็นว่าทั้ง ๖ ด้านทั้งหมด เป็นสิ่งที่ ณ ปัจจุบันมีความสำคัญทั้งนั้น แล้วในอนาคตในปี ๒๕๘๐ ผมมั่นใจเหลือเกินว่า ทั้ง ๖ ด้านนี้ก็ยังมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มเห็นเข็มทิศที่ชัดเจนแล้วว่าเราควร ที่จะต้องมีการดูในการที่จะเดินหน้าไปอย่างไร ทั้งในส่วนของภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คราวนี้เราลงมาในแต่ละส่วน ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ก็จะเป็นในเรื่องของการที่จะจัดสภาวะแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ให้เกิดความสงบ เรียบร้อย ทางด้านการสร้างขีดความสามารถอันนี้มีหลายส่วนเลยนะครับ มีเรื่องของ IMD เขาออกอะไรออกมา ซึ่งเราก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการยกระดับศักยภาพของประเทศเรา ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ อันนี้คงไม่ต้องพูดกันมากนะครับ อันนี้ก็คือเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาในเรื่องของบุคลากรของเรานะครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปนะครับ เรื่องของการพัฒนาและการเสริมสร้างทรัพยากร ของมนุษย์ และต่อมานะครับ Slide ต่อไปก็คือเรื่องของการที่จะต้องดูแลการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็สำคัญอีกเช่นเดียวกันเราเห็นเรื่องของ การที่มีการประชุมในระดับนานาชาติที่เขาเรียกกันว่า COP ต่าง ๆ ตอนนี้มี COP26 COP27 COP28 อะไรมาก็มีการพูดถึงเรื่องของการปล่อย Gas Emissions ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอน แล้วก็เรื่องของการปรับสมดุลการพัฒนาระบบ การบริหารจัดการภาครัฐ เมื่อเช้านี้เราก็มีการพูดคุยกันเรื่องของการปฏิรูปก็พูดเรื่องนี้ กันเยอะนะครับ ห้องโสตไป Slide ต่อไปเลยนะครับ เรื่องของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อไปเลยครับ แล้วก็เรื่องของการที่จะมีการบริหารจัดการภาครัฐ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วก็สุดท้ายครับ เรื่องของการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อันนี้ก็แน่นอนเรื่องของการที่จะลดความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ในทุกมิติ การกระจายความเจริญ ทางเศรษฐกิจและสังคม แล้วก็เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มาเป็นกำลังการพัฒนาประเทศ ในทุกระดับ ต้องบอกว่านี่คือสิ่งที่เป็นเหมือนกับเข็มทิศในแต่ละด้านของการที่จะพัฒนา ส่วนเรื่องของรายละเอียดในการที่ทางด้านคณะกรรมการจะดำเนินการก็มีง่าย ๆ ครับ ใครที่จบทางด้านวิศวกรรมมาก็คงจะเคยได้ยินมาตลอดนะครับ เรื่องของ PDCA Plan Do Check Action Plan คือวางแผน วางแผนแล้วก็ไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็มาตรวจสอบ ตรวจสอบแล้วก็กลับไปปรับปรุง มันก็จะเป็น Cycle เป็น Circle แบบนี้ เพราะฉะนั้น อยากจะเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่าในส่วนของการที่เรามียุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้เป็นการ ล็อกไม่ได้เป็นการ Fix ไม่ได้เป็นการผูกมัดเลย แต่มันเป็นเข็มทิศที่อย่างน้อยเราจะมีวิสัยทัศน์ ที่ชัดเจน แล้วอยากจะเรียนอย่างนี้ครับท่านประธานว่าตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา เราก็มาถูกทางครับ เพราะว่ารายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เราเรียกกันว่า SDG Index นี่ มีเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรียกว่าเป็น Sustainable Development Solution Network เขาเผยแพร่รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาบอกว่าประเทศไทย ทำได้ดีมาก ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๓ ของโลก แล้วถ้าเกิดสมมุติว่าเรามาดู ใน Asia เราก็อยู่ในลำดับที่ ๓ รองจากญี่ปุ่น แล้วก็เกาหลีใต้ และถ้าเรามาดูใน ASEAN ต้องบอกว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ ๑ ของ ASEAN มา ๕ ปีติดต่อกันแล้วครับ ในเรื่องของ การที่เราพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญอย่างยิ่ง

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ก็อยากจะเรียนว่าการที่เราจะต้องเดินหน้าไปเพื่อการพัฒนา ประเทศของเรา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องบอกว่ารัฐบาลโดยท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นในเรื่องของการพัฒนาอย่างสมดุลให้เหมาะสม แล้วก็มุ่งหวังว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน แบบนี้ที่ผมได้กล่าวถึงก็จะได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ในทุก ๆ ด้านที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ดำเนินนโยบายในทุกระดับ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและนำไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเป็นท่านนพดล ปัทมะ ใช้ ๑๐ นาทีนะครับ เรียนเชิญครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้เป็นการอภิปรายวาระที่สำคัญ ผมขออนุญาตรบกวนเวลาสภา ร่วมอภิปรายรับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศแล้วก็แผนยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธาน ที่เคารพครับ หลังรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เราจะสังเกตว่ามันมีบทบัญญัติ หรือเงื่อนไข หลาย ๆ เรื่องนะครับ ท่านลองดูครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

การกำหนดกรอบทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลในการร่างนโยบายจะต้องทำตามแผนปฏิรูปประเทศ ในขั้นตอนที่ ๑ นะครับ ขั้นตอนที่ ๒ ก็คือมีเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ยังจะต้องทำ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการปฏิรูป ๑๓ คณะ มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และมีคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็มีรัฐธรรมนูญ คือประเทศไทยนี่ ผมอดคิดไม่ได้ว่าเป็นสังคมอุดมแผน แต่ขาดแคลน ความสำเร็จ นี่คือเป็นประเด็นแรกที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธาน

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทีนี้ปัญหาของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติกับปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ ท่านประธานครับ ผมไปศึกษาว่ามันมีรัฐธรรมนูญประเทศในบางพื้นที่มีเขียนในลักษณะ ประเทศไทย ของสหรัฐอเมริกาดูก็ไม่มี ของเยอรมนีดูก็ไม่มีนะครับ ของอิตาลีก็ไม่มี ท่านประธานที่เคารพครับ อันนั้นมันเป็นปัญหาในเชิงหลักการว่าคนที่ไปเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประธานร่างซึ่งเคยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามานี่ ท่านได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ แผนยุทธศาสตร์ชาติแม้ท่านใดจะบอกว่า มันมีความยืดหยุ่นก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าการกำหนดเป้าหมายไว้ ๒๐ ปี แล้วก็แก้ไข ไม่ง่ายครับท่านประธาน จะมีขั้นตอนในการแก้ไขพอสมควร ถ้าเราไปศึกษาใน พ.ร.บ. จัดทำแผนยุทธศาสตร์นี่ จะรู้เลยครับว่ามันมีขั้นตอนการจัดทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ยืดหยุ่น อย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งมันมีการแข็งตัวแล้วก็ต้องใช้เวลา

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ครับท่านประธานครับ ผมคิดว่าอันนี้ถ้าจะตั้งคำถาม มันเป็นส่วนขยายของรัฐราชการหรือไม่ การจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร หรือการจำกัดอำนาจ ของรัฐสภาในการที่จะพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการ ประชาธิปไตย เพราะว่าการทำงบประมาณหรือการทำนโยบายรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้นนะครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ครับท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่ามันเป็นการกัดกร่อน หรือบั่นทอนหลักการความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร หรือ Accountability และขณะเดียวกัน เป็นการไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง เพราะถ้าประชาชนไปหาเสียง เลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองไปหาเสียงเลือกตั้ง แล้วพี่น้องประชาชนสนับสนุนนโยบายของ พรรคการเมือง แต่พอชนะเลือกตั้งเสร็จจะตั้งรัฐบาลจะต้องทำตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่บั่นทอนเจตจำนงของประชาชน

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สรุปนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความไม่ไว้วางใจของคนร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการที่จะให้มีฝ่ายบริหารที่ไม่มีกรอบในการที่จะร่างนโยบายรัฐบาล ทีนี้ท่านประธานครับนั่นเป็นปัญหาในเชิงหลักการ ผมขออนุญาตเป็นปัญหาในเชิง เนื้อหาสาระที่ท่านได้รายงานมานะครับ ท่านประธานครับ ต้องยอมรับว่า ๕ ปีที่ผ่านมา ในแง่ของการปฏิรูปประเทศยังห่างไกลความสำเร็จ ยังห่างไกล ยังทำได้น้อย ผมขออนุญาต ดู Slide ถัดไปนิดหนึ่งครับท่านประธาน

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรกที่เป็นปัญหาในเชิงสารัตถะ หรือปัญหาในแง่เนื้อหา คือเนื้อหา ซ้ำซ้อน ถ้าท่านดูแนวนโยบายแห่งรัฐท่านจะเห็นครับ ในเรื่องของการพัฒนาความสามารถ ของประเทศมันมีอยู่ในมาตรา ๗๕ อยู่แล้ว แต่การปฏิรูปประเทศก็ยังไปเขียนในมาตรา ๒๕๘ ซ้ำอีกว่าเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน มาตรา ๗๕ ต้องพัฒนาความสามารถ ในการแข่งขัน ถ้าดูในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายในแนวนโยบายแห่งรัฐบอกว่ารัฐ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ท่านก็ยังไปเขียนในการปฏิรูปประเทศว่าดำเนินการ บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อยที่มันซ้ำซ้อนแล้วก็ซ้ำซาก ความจริงถ้าเขียนดีจะต้องเขียนว่าต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับ หลักนิติธรรม นี่จะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพมากกว่านี้

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ครับ นอกจากจะซ้ำซ้อนแล้วก็ซ้ำซากแล้ว ผมคิดว่าเวลานี้ มันไม่ใช่เวลาของการรอการปฏิรูปครับ ปัญหาหลายอย่างในประเทศนี้มันเป็นเวลาแห่งการ แก้ไขปัญหาลงมือทำทันที ผมยกตัวอย่างการรายงานในแผนรายงานการปฏิรูปของท่าน ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ท่านบอกว่ามีแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา PM2.5 ให้มีฝุ่นละอองเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าท่านจำได้ ว่าที่ผ่านมาฤดูกาลที่ผ่านมานี่ ฤดูหนาวที่ผ่านมานี่ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาอย่างมาก เราไม่มีเวลาทำแผนแล้วครับ เราต้องลงมือ ผมคาดหวังที่จะเห็นท่านรายงานว่าแก้ปัญหา PM2.5 ฝุ่นข้ามแดนโดยการเจรจา MOU กับประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา เจรจากับผู้ผลิต อาหารสัตว์ ในแง่ของการกำจัดสิ่งเหลือทางด้านการเกษตร เปลี่ยนรถเมล์ใน กทม. เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถเมล์ไฟฟ้า หรือจัดหาเครื่องมือให้ชาวไร่อ้อยได้ตัดอ้อยโดยไม่ต้องเผา ผมอยากจะเห็นการรายงานความสำเร็จในลักษณะนี้ครับท่านประธาน

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ผมคิดว่าบางเรื่องที่รายงานนี่มันไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ แต่มันเป็น มาตรการ ยกตัวอย่างด้านการเมืองท่านรายงานบอกว่ามี Application ตาสับปะรด ผมคิดว่า มันไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ครับ ด้านบริหารราชการแผ่นดินมีระบบจองคิวเพื่อขอทำ Passport นี่ก็ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ มันเป็นมาตรการ ด้านกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีทนายอาสาที่สถานี ตำรวจจำนวนหนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่ความสำเร็จผลสัมฤทธิ์ครับ นี่เป็นมาตรการ ซึ่งผมคิดว่าผมเห็นใจ ท่านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บางทีเราต้องไปควานหาผลสำเร็จที่ คิดว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์มารายงาน ก็น่าเห็นใจท่านนะครับ เพราะว่าท่านเป็น ฝ่ายเลขาของคณะกรรมการปฏิรูป ท่านประธานที่เคารพครับ เนื่องจากมีเวลาจำกัด ผมขออนุญาตลงลึกนิดเดียว เรื่องของการศึกษาหลายคนบอกว่ามันมีความสำเร็จ ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ครับ คือสภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย มันมีความซ้ำซ้อน มีคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็คือทำการปฏิรูปนั่นเอง มีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แล้วก็ยังมีกระทรวงศึกษาธิการ อันนี้การแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนี่ไม่ใช่เรากลัดกระดุมผิดเม็ดครับ แต่เรา มีกระดุมหลายเม็ดจนเกินไปเพื่อที่จะลงในรังดุมรังเดียวนี่มันทำไม่ได้ มันทำไม่สำเร็จ ผมคิดว่าเราต้องมาดูเรื่องตัวเลขกันนิดหนึ่งครับ ปัญหาการศึกษามันมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง อย่างที่ผมบอกเรามีคณะกรรมการมากเกินไป แล้วก็เรายังเกาไม่ค่อยถูกที่คันเท่าที่ควร ปัญหาพื้นฐานทางการศึกษามีอยู่ ๒ เรื่องครับ ๑. ความเหลื่อมล้ำ ๒. เรื่องคุณภาพ ท่านประธานที่เคารพครับ เรื่องความเหลื่อมล้ำนี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อวาน นักวิชาการทางด้านการศึกษาได้ให้ข้อมูลครับ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ ลูกหลานของเรา ซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของเรานี่หลุดจากระบบการศึกษา ๑๐๐,๐๐๐ คน เศร้าไหมครับ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูเรื่องของการศึกษา ปฐมวัยนิดหนึ่ง กสศ. งบประมาณน้อย ท่านประธานครับ ปี ๒๕๖๕ ได้งบประมาณประมาณ ๕,๖๐๐ ล้านบาท เด็กได้คนละ ๓,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ คน ต่อ ๑ ปี เท่ากับเดือนละ ๒๕๐ บาท มันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เรื่องของการศึกษาปฐมวัย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชื่อเฮคเมน เขาพูดชัดเจนครับ การลงทุนในเด็ก ๑-๖ ปี ให้ผลตอบแทน ๗ เท่า เขาศึกษามาแล้วครับ เพราะฉะนั้นถ้าปฏิรูปการศึกษาแล้วยังอิดออดในการสนับสนุน งบประมาณให้ กสศ. ถือว่าเกาไม่ถูกที่คันครับท่านประธาน ทำไมครับ สมองของเรานี่ ๐-๖ ขวบนี่สมองพัฒนาเซลล์สมองพัฒนา จะเป็นคนดีหรือไม่ดีที่เป็นผู้ใหญ่นี่ขึ้นอยู่กับ การพัฒนาสมองช่วง ๖ ปี เพราะฉะนั้นอุปมาอุปไมยเหมือนการปั้นปูนนะท่านประธานครับ ถ้ามันแข็งแล้วมันปั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมองของเด็กนี่ ๐-๖ ปีนี่มันจะพัฒนา แล้วเรา ต้องลงทุนในเด็กของเรา ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูเรื่องของผลสัมฤทธิ์ที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผมขอดู ในรายงานของท่าน บอกว่าปี ๒๕๖๔ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒๙,๐๐๐ กว่าแห่ง สิ่งซึ่งเราคาดหวังก็คือมันต้องมี รายงานว่ามีการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒๙,๐๐๐ เป็น Smart Daycare หรือเป็น ศูนย์เด็กเล็กอัจฉริยะ มีมาตรฐานชาติด้านการดูแลเด็ก ด้านโภชนาการ สื่อการเรียนรู้ สนามเด็กเล่น ครูปฐมวัย สุขภาวะ และความปลอดภัย นี่คือสิ่งซึ่งเราคาดหมายจะได้รับ จากการปฏิรูปประเทศไม่ใช่มารายงานในเชิงปริมาณ ท่านประธานครับขอเวลาอีกนิดเดียว มาดูว่าที่ทำสำเร็จหรือไม่นี่ ขอดู ๓ ตัวชี้วัด

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ตัวชี้วัดแรก ทำโดยประเทศไทย เป็นสถาบันทดสอบทางการศึกษาของชาติ ท่านเห็นผล O-NET ของชั้น ม.๓ ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๔ ชัดเจนครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ลดลงครับ ยกเว้นวิทยาศาสตร์ ๆ เพิ่มขึ้นนิดเดียว มาดูตัวชี้วัด อีกตัวหนึ่งครับ ท่านประธานที่เคารพครับ อันนี้ผมขออนุญาตพูดซ้ำนะครับ วันนั้นอภิปราย ไปแล้วก็คือเรื่องของ PISA ท่านประธานที่เคารพครับ แม้แต่การอ่านของเรายังคะแนนลดลง จาก ๔๐๐ กว่าหรือ ๓๙๓ การอ่านภาษาไทยด้วยนะครับไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษ เพราะอะไร เพราะการออกแบบทดสอบของ PISA ก็คือทดสอบ Critical Thinking หรือการคิด ในเชิงวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นเราต้องเพิ่มมาตรฐานในส่วนนี้ อย่างที่ผมบอกเพิ่มคะแนน PISA เพิ่ม GDP เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดูตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งครับท่านประธาน อันดับ PISA ลดลง ๕๑ จาก ๖๖ ประเทศ ๕๐ จาก ๖๕ ประเทศ ๕๕ จาก ๗๑ ประเทศ ๖๖ จาก ๗๙ ประเทศ ปีล่าสุดอยู่ ๖๖ จาก ๗๙ ประเทศ หรือ ๑๓ ลำดับจากรั้งท้าย ท่านประธานครับ ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งคือภาษาอังกฤษลดลงตลอดครับ ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นมา ๓ ลำดับ ภาษาอังกฤษเราอ่อนเรารู้ และเมื่อสักครู่ อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย แต่มันยังไม่สัมฤทธิผล ท่านประธานที่เคารพครับ การลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา พรรคไทยรักไทยเคยทำเรื่องโครงการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมและหน้าที่ ทางการเมืองของพรรคการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะตั้งขึ้น เราจะทำ โครงการหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง เพื่อทำให้เราเพิ่มขีด ความสามารถของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมครับท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพุธิตา ชัยอนันต์ ครับ เชิญครับ

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ดิฉัน พุธิตา ชัยอนันต์ สส. แบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล จากที่ดิฉันได้อ่านรายงานสรุปผลการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ดังกล่าว ดิฉันมีข้อสงสัยและอยากชวนให้เพื่อนสมาชิก ทบทวนเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ ซึ่งการอภิปรายนี้ดิฉันตั้งข้อสังเกตไปที่ ๒ ด้าน ด้วยกัน คือ

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ด้านแรก ด้านความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ด้านที่ ๒ ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางสังคม

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

โดยในด้านที่ ๑ หรือมิติที่ ๑ ตามรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ผลรายงานฉบับนี้ได้มีการรายงานผลว่าดัชนีชี้วัด ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดลง อย่างมีนัยสำคัญ จากตัวชี้วัด ๕ ด้านในรายงานฉบับนี้เองพบว่าลดลงในทุก ๆ ด้าน และไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวชี้วัดด้านที่เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลจะลดลง เหลือ ๕๙.๗๐ เปอร์เซ็นต์ รายงานยังบอกว่าอยู่ในระดับที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งดิฉันก็คงไม่คิดว่า ธรรมาภิบาลจะดีขึ้นจากแผนนี้ที่ไม่ได้มีที่มาอย่างชอบธรรม เราไม่มีทางที่จะสร้างสังคม ประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลได้ หากเรายังใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีฉบับนี้ แผนนี้เป็นแผนที่ผู้มีอำนาจคิดแทนประชาชน ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผน ที่จะกระทบต่อชีวิตของพวกเขา จึงไม่แปลกใจเลยที่รายงานผลการดำเนินการ ๕ ปีที่ผ่านมานี้ ก็ไม่มีวี่แววว่าดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทยจะเพิ่มสูงขึ้น มีแต่แนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ ทีนี้เรามาดูด้านความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคม พบว่าการรายงานเกี่ยวกับ สถานการณ์ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางสังคมประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ ระบุไว้ใน หน้า ๕๘ ของรายงานว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยค่อนข้างคงที่ เกือบจะเคลิ้มไปกับการใช้ ภาษาที่ว่าค่อนข้างคงที่แล้วค่ะ แต่ที่ว่าคงที่คือ ๒ ปีหลัง ความเหลื่อมล้ำยังคงเท่าเดิม รายงานฉบับนี้แสดงตัวเลขว่ารายได้ของคนจนที่สุดกับคนรวยที่สุดมีช่องว่างห่างกัน หรือมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่คงที่เท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๘.๒ และในปี ๒๕๖๔ อยู่ที่ ๘.๖๑ คือค่อนข้างคงที่ที่ไม่ได้ทำอะไร ที่ดีขึ้นมาเลย ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ยังคงอยู่กับ ความเหลื่อมล้ำที่มีแต่แย่ลง แย่ลง อย่างไรก็ตามขอชื่นชมทีมผู้จัดทำรายงานที่รายงาน อย่างตรงไปตรงมาว่าความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมด้านความก้าวหน้าทาง สังคมลดลง แต่รายงานผลว่าความเหลื่อมล้ำคงที่ โดยใช้ตัวชี้วัดในที่นี้คือค่าสัมประสิทธิ์ ความไม่เสมอภาคเป็นตัวชี้วัดเดียว ซึ่งนำเอารายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของคนรวยและคนจน มาอธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ไม่ได้มีการสำรวจวิเคราะห์ถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำ ด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมที่การถือครองที่ดินของคนรวยมีอัตรามากกว่าคนจนอย่างน่าหดหู่ คนจนกว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ในสังคมไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ และในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา อัตราคนที่ไม่สามารถครอบครองที่ดินได้มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตรา การว่างงานก็มีมากขึ้นด้วย ดิฉันซึ่งเป็น สส. เขตที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่หาเสียงพบปะประชาชน พบเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมในช่วง COVID-19 มากมาย การบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้า การรักษาเยียวยาที่ไม่เท่ากัน คนรวยมีโอกาสเข้าถึงมากกว่าคนจน เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุหลายคนต้องเสียชีวิตก่อนได้เตียง ในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ก็ต้องพิสูจน์ความจน เราเห็นข่าวมากมายว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ตกหล่นจากระบบ ไม่ได้รับสิทธิการเยียวยา อย่างไรก็ตามจากวิกฤติ COVID-19 ดังกล่าวมองด้วยตาเปล่า ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผลกระทบกระทบกับคนจนมากกว่าคนรวย และข้าราชการ คนจนที่เมื่อล้มก็ไม่ได้มีเบาะรองรับที่นุ่มเท่ากับคนรวย การเยียวยาต่าง ๆ คนรวยนายทุน ได้รับการดูแลและมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนจน ในขณะที่คนตัวเล็กตัวน้อยต้องปิดกิจการลง คนรวยกับมีโอกาสสะสมทุนจากวิกฤตินี้ ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาล ที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่ในรายงานฉบับนี้กลับบอกว่าค่อนข้างคงที่ ค่อนข้าง คงที่ในที่นี้หมายถึงไม่พัฒนายังคงที่ ไม่มีการพัฒนาเลยใช่หรือไม่ นโยบายและแผนรับมือ วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมายิ่งทำให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ไม่สามารถปรับตัวให้ทันโลกได้ ยิ่งไปกว่านั้นยุทธศาสตร์ชาติและแผนฉบับนี้ยังเหมือนกับกับดักที่ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไข ปัญหาให้กับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แล้วผลก็ออกมาคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ ขาดความคล่องตัว ไม่ตอบโจทย์ของปัญหา เพราะไม่ได้แตะไปที่โครงสร้าง ของปัญหาอย่างแท้จริง ดิฉันไม่อยากเห็นการสงเคราะห์ที่คล้ายกับการโยนเศษเนื้อ เศษอาหารมาให้ประชาชนต้องมาคอยแย่งชิงกันเอง อย่างเช่นโครงการเราชนะที่คนแพ้ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็มีแต่ทวีความสูงขึ้น และท้ายที่สุดคนจนก็ตกขบวน จากนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้

นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ไม่ใช่แค่ความหลอกหลอนที่ประชาชนต้องมาพบกับยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับนี้ไปอีกหลายปี แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังต้องพบกับดักจาก พ.ร.บ. การจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาตินี้ เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้มีผลบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีนี้ไม่เคยเป็น ความหวังให้กับประชาชน แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบได้ต่างหาก คือความหวัง การกระจายอำนาจจากทุนและรัฐให้กับประชาชนอย่างแท้จริงต่างหาก คือความหวัง การเป็นรัฐสวัสดิการต่างหากคือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคของสังคม สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ให้กับประเทศชาติและประชาชนของสังคม สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้อง แก้ไขให้กับประเทศชาติและประชาชนของพวกเราค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ครับ เชิญครับ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้จะมาอภิปรายในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ในเบื้องต้นค่ะต้องบอกเลยว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐธรรมนูญที่เขียนให้มี ยุทธศาสตร์ชาติเป็นระยะเวลา ๒๐ ปี เพราะเรารู้ดีค่ะว่าการกำหนดแผนการยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาวขนาดนี้มันทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาวิกฤติไวรัส COVID-19 ใครจะรู้ว่ามันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ เกิดขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ตาม จริง ๆ แล้วเหตุการณ์เหล่านี้มันเป็นเหตุการณ์ที่ คาดเดาไม่ได้ค่ะ และมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้กับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ในวันนี้ใครจะรู้คะว่าในอีกปีสองปีข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์โลก จะเป็นอย่างไร และสถานการณ์ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เรามองกันไม่ออกเลยค่ะ แต่ถ้ามี ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีมาเขียนเป็นลงลายลักษณ์อักษรยาวขนาดนี้แล้วนี่ ต้องบอกว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดที่จะเข้ามาบริหารต่อหน้านี้มาแล้วนี่กลับกลายเป็นต้องถูกผูกมัด ถูกโซ่ ล่ามตรวนไว้ ไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาประเทศได้ ไม่สามารถแสดงศักยภาพ อย่างแท้จริงออกมาได้ค่ะ บางอย่างต้องบอกว่ากรอบของท่านนี่บางอย่างก็ดีนะคะ แต่บางอย่างต้องยอมรับค่ะว่ามันเป็นปัญหา เพราะต้องบอกว่าการวางวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าใส่กรอบยุทธศาสตร์แล้ว และเอามาจารึกเหมือนวางลงในแผ่นศิลาแล้ว มันเป็นปัญหา และมันฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

และพอมาดูในหนังสือยุทธศาสตร์ชาติที่ดำเนินมาถึงในวันนี้แล้วต้องบอกว่า ยุทธศาสตร์ชาติมันล้มเหลวนะคะ และไม่ตอบโจทย์เกี่ยวกับการพัฒนาของประเทศเลย จากที่ได้เห็นนี่มันมียุทธศาสตร์ชาติแบ่งเป็นการประเมินผลการพัฒนาในภาพรวมแล้ว เป็น ๖ มิติค่ะ ดิฉันจะขอยกขึ้นมาแค่ ๓ มิติเท่านั้น

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

มิติแรกเกี่ยวกับเรื่องความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทยค่ะ โดยการจัด อันดับเครือข่ายภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยมีคะแนนลดลงในปี ๒๕๖๔ จะดูได้ว่าเราประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๕๔ เป็น ๖๑ ของโลก แต่พอมาในปี ๒๕๖๑ แล้วนี่ คะแนนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยลดลงค่ะ ดิฉันก็ไม่แปลกใจเลยนะคะ ลองมองรอบ ๆ สิคะ ถามว่าพี่น้องประชาชนคนไทยปัจจุบันนี้อยู่ดีกินดีกันไหม ไหนจะปัญหา เศรษฐกิจ ไหนจะปัญหาปากท้อง ฝุ่น PM2.5 แถมซ้ำร้ายที่ผ่านมายังมีภาวะเรียกว่าวิกฤติ COVID-19 อีก ดูยอดสะสมแล้ว ๔ ล้านกว่าคน ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียกว่ายอดผู้ป่วย COVID-19 สะสมของไทย ๔ ล้านกว่าคน เกือบ ๕ ล้านคน ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

มาดูมิติที่ ๒ กันค่ะ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ ต้องบอกว่าการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ IMD ความสามารถของการแข่งขันของคนไทยมันมีอันดับจาก ๓๓ ลดลงจาก ๒๘ เป็น ๓๓ จาก ๖๓ ประเทศ มันมีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีกนะคะ อยู่ที่ ๖๘.๖๗ จากค่าเฉลี่ย ๗๐.๐๓ ต้องถามว่าขีดความสามารถของคนไทย ของประเทศไทยมันลดลงในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ หรือว่าประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ลดอันดับคือลดลงมาหมดเลย มันเป็นผลพวงจากที่รัฐบาล บริหารประเทศได้ล้มเหลวค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

มิติที่ ๔ ค่ะ มาพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมไทย แน่นอนเลยว่าดัชนีความก้าวหน้าของสังคมไทย SPI ไทยเราอยู่ที่อันดับ ๗๑ ในขณะเดียวกัน ที่สิงคโปร์เพื่อนบ้านเรา หรือว่ากลุ่มประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN เดียวกันอยู่ในลำดับที่ ๒๘ ของโลก มันห่างกันมากเลยนะคะ แต่ต้องยอมรับค่ะว่าประเทศไทยของเรามีการตื่นตัว เรื่องความเสมอภาคก็จริง แต่ว่าประชาชนเองตื่นตัวไม่พอนะคะ ภาครัฐเองก็ต้องตื่นตัว แล้วก็ต้องทำให้เห็นด้วยว่าอีกไม่ช้านี้ และประเทศไทยเรานี้ ก็จะมีความเท่าเทียมเสมอภาคกันในสักวันหนึ่งค่ะ นี่คือเป็นเพียงตัวอย่างความล้มเหลว จากการประเมินผลพัฒนาภาพรวมทั้งหมดจาก ๖ มิติ เลือกมา ๓ มิติ เรามาดูต่อไปกันค่ะว่า ความล้มเหลวในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ๓ ยุทธศาสตร์ที่ดิฉันเลือกมามีอะไรบ้างที่ล้มเหลว

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เรื่องความมั่นคง จาก ๑๐ แผนแม่บทนะคะ ต้องบอกว่า บรรลุเป้าหมายแค่ ๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ๑ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง ๔ แล้วพอลอง เข้าไปดูลึก ๆ ประเด็นที่บรรลุเป้าหมายไปแล้วมันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของกองทัพ แต่ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย คืออยู่ในระดับเสี่ยง คือความมั่นคงของประเทศ มันตลกไหมคะท่านประธาน ความมั่นคงของกองทัพดีขึ้น แต่ว่าความมั่นคงของประเทศ มันอยู่ในระดับเสี่ยง ประชาชนคนไทยเรียกว่าไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไหนจะเรื่องยาเสพติด ไหนจะเรื่องการค้ามนุษย์ก็ยังคงอยู่ อย่างไรตรงนี้ก็ต้องขอฝาก พิจารณาไว้ด้วยนะคะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

มาดูกันที่ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เรื่องด้านการเกษตร บรรลุเป้าหมายไป ๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ๒ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง ๒ และต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับวิกฤติ อีก ๑ อันนี้น่าเป็นห่วงมาก ๆ เลยนะคะท่านประธาน เพราะว่าระดับเสี่ยงนั่นคือเรื่อง ผลิตภัณฑ์ของเกษตรไทย แน่นอนเราอาจจะมีคุณภาพ ความปลอดภัย คุณค่าโภชนาการ ตอนปี ๒๕๖๔ เราขึ้นจากอันดับ ๕๔ เป็น ๕๑ แต่พอมาปี ๒๕๖๕ ต้องบอกว่ามันร่วงมาอยู่ที่ ลำดับ ๖๔ เลยค่ะ และที่น่าตกใจกว่านั้นด้านคุณภาพและความปลอดภัยมันคือเรียกว่า ของอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเป็นระดับที่อยู่ในคะแนนน้อยที่สุด จากของไทยอยู่ที่ ๒๐.๒ จากค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ ๖๓.๗ คิดดูสิคะว่าประเทศไทย เป็นพื้นที่เกษตรกร และพึ่งพาการส่งออกทางด้านเกษตรเป็นหลัก แล้วถ้าสินค้าคุณภาพ การเกษตรของเราไม่สามารถได้รับความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ เราจะเสริมสร้างเศรษฐกิจ ได้อย่างไร ทุกวันนี้ดิฉันเองในฐานะประชาชนคนไทยก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วค่ะ ว่าทุกวันนี้ เราได้บริโภคสินค้าอย่างมีคุณภาพจริง ๆ หรือเปล่า

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์สุดท้ายค่ะ ขออีกนิดหนึ่งนะคะท่านประธาน ยุทธศาสตร์ที่ ๖ พื้นที่และเมืองน่าอยู่อย่างอัจฉริยะ วันนี้มาดูในแผนแม่บทย่อยเรื่องประเด็นของสิ่งแวดล้อม และมลพิษ ต้องบอกว่าในแบบแผนไม่มีการจัดการเกี่ยวกับเรื่อง PM2.5 เลย แม้ว่ามันจะเป็น เรื่องที่อันตรายและส่งผลกระทบแก่พี่น้องประชาชนก็จริง มาดูจังหวัดดิฉัน ยกตัวอย่าง ต้องบอกว่าที่ผ่านมาภายในต้นปีมียอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ เฉพาะของจังหวัดเชียงราย ๓,๐๐๐ กว่าคน แค่ช่วงเวลา ๑ สัปดาห์เท่านั้นเอง แล้วถ้ามานับดูตัวเลขของทั้งประเทศ มันคงจะเป็นตัวเลขที่เรียกว่าสูงมาก ๆ เลย สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ต้องบอกว่า ความล้มเหลวของยุทธศาสตร์ชาติเราเห็นมาหมดภายในระยะเวลา ๕ ปีเท่านั้น ยังล้มเหลว ทางด้านความมั่นคง การดำรงชีวิต และสภาพแวดล้อมของประชาชน ถ้าให้อยู่ต่อ อีก ๒๐ ปี โดยที่เราไม่ทำอะไรเลย จะปล่อยให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินต่อไปแบบนี้ไม่ได้ค่ะ มันจะไม่เหลืออะไรแล้ว สรุปนะคะท่านประธาน ขออนุญาตฝากนะคะว่าเร็ว ๆ นี้จะมีรัฐบาล ชุดใหม่ที่มาจากประชาชน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ยังคงอยู่ ดิฉันขอฝากนะคะ ว่าขอให้มันไปเป็นตามกลไกระบอบประชาธิปไตยค่ะ ท่านปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามา ทำหน้าที่ และตั้งใจทำงานในแบบของเขา เพื่อที่จะตอบสนองพี่น้องประชาชนค่ะ ขอท่าน อย่าทำเป็นจระเข้ขวางคลองไม่ให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนสามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่นะคะ ขอฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภัสริน รามวงศ์ เชิญครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน ภัสริน รามวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชาวบางซื่อและชาวดุสิต แขวงถนนนครไชยศรี พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็การบริหารงานราชการ แผ่นดินที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีนั้น มีปัญหาเรื่องความซับซ้อน ซ้ำซ้อนของแผนระดับชาติที่นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ ที่ซ้ำซ้อน กระบวนการขับเคลื่อนของแต่ละแผนไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้เกิด การทำงานข้ามกระทรวงกันอย่างแท้จริง ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดแบ่งแผนให้มี ๓ ระดับ ตามกลไกรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นี้ไม่เกิดผลค่ะ อย่างที่ทราบกันค่ะว่าแผนการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาตินี่จัดทำโดยสภาพัฒน์ แต่ก็มีองค์กรย่อยที่ทำหน้าที่ดำเนินงาน สร้างความกังขาต่ออำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ และความซ้ำซ้อนต่อการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ นะคะ นี่เป็นที่มาของคำว่า Planning ที่ได้แต่ Plan ความคืบหน้าคือนิ่งตลอดค่ะ ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนยังนำมาซึ่งการสูญเสีย ทั้งกำลังคน เวลา งบประมาณ หน่วยงาน ที่ควรจะพูดถึงวันนี้คงจะเป็นหน่วยงานสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองหรือ ป.ย.ป. ค่ะ น่าเสียดายค่ะที่ดิฉันน่าจะได้เห็นที่ บัลลังก์นี้มีสำนักงานหน่วยงานของ ป.ย.ป. มาร่วมชี้แจงด้วย สำนักงานนี้ก็ไม่ใกล้ไม่ไกล อยู่ตรงนี้เองค่ะเขตดุสิตค่ะ ป.ย.ป. เป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งโดยคณะ คสช. นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อทำหน้าที่จัดลำดับความสำคัญของวาระกรอบการปฏิรูปประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แล้วก็จะทำให้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง แม้ว่าการทำงานของ ป.ย.ป. เองนี่ แต่การดำเนินงานของ ป.ย.ป. ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ ดังที่อ้างเอาไว้นะคะ ดิฉันขอยกตัวอย่างค่ะว่าแผนปฏิรูปประเทศที่มีประเด็นเยอะ และซับซ้อนนะคะ เหมือนสายไฟฟ้าพัวพันกันอยู่หน้าบ้านท่านนะคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อทำงานไม่ทันแทนที่จะแก้ปัญหา ก็ไปสร้างกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ที่เรียกว่า Big Rock นะคะ นำมาทำประเด็น ที่คิดว่าเร่งด่วนแทน ซึ่งทำให้กระทรวงต่าง ๆ ต้องทำทั้งแผนปฏิรูปและกิจกรรม Big Rock คู่ขนานกันเป็นการเพิ่มงานโดยไม่จำเป็นค่ะ พูดถึงเรื่องนี้ดิฉันขอยกตัวอย่างกิจกรรม ภายใต้แผน Big Rock ที่ ป.ย.ป. กำหนดไว้เรียกว่า Social Credit นั่นก็คือการนำระบบ เครดิตสังคมมาใช้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่ประเมินคะแนนประชาชนในเรื่องที่รัฐ เห็นว่าสำคัญ และตั้งเกณฑ์คะแนนต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาทำความดีค่ะ ผู้ใดที่ทำความดีสะสมเครดิตไว้เยอะก็จะได้ของรางวัลในรูปแบบของอภิสิทธิ์ในบางเรื่อง เช่น การได้รับส่วนลดบริการของรัฐ และถ้าหากทำไม่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ทางรัฐ เห็นว่าเป็นทางลบก็จะมีการลงโทษผู้กระทำ เช่น การงด หรือละเว้นการให้สิทธิ์ใช้บริการ สาธารณะ หรือไม่ได้รับการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง การให้เหตุผลของระบบนี้มีอยู่ว่า ต้องการเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาทำความดีค่ะ ความซับซ้อนซ้ำซ้อนยังไม่หมดไป เพียงเท่านั้นค่ะ ยังมีการสร้างเครื่องมือการเก็บข้อมูล และการติดตามอย่างระบบ eMENSCR ประชาชนทั่วไปอย่างดิฉัน หรือใครหลาย ๆ คนที่อยากจะทราบยุทธศาสตร์ชาติ ก็เข้าไปใช้ได้ยากนะคะ เรียกว่าเป็นการเปิดเผยเพื่อให้ใครเป็นผู้ใช้งานและจะนำไป สู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ ภาครัฐมีความตั้งใจ จริงใจ อยากให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลชุดนี้จริง ๆ หรือไม่ค่ะ ดิฉันจึงขอให้ท่านผู้เกี่ยวข้องนะคะ อยากจะชี้แจงประเด็น ต่าง ๆ นี้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของ ป.ย.ป. ส่งเข้าไปในแต่ละกระทรวง ช่วยให้ การดำเนินงานมันเสร็จเร็วขึ้นจริงหรือ การเชื่อมข้ามองค์กรเพื่อความรวดเร็วจริงหรือไม่ และทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และมีตัวชี้วัดการประเมินที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทย ได้เพียงไรค่ะ ทำไม ป.ย.ป. ถึงให้ความสำคัญ และเลือกดำเนินการระบบสังคมแบบเครดิต แบบนี้ก่อนนะคะ ทั้งที่มีเรื่องอื่น ๆ ที่จะต้องแก้ไข ต้องมีการวางยุทธศาสตร์แบบสั้น กลาง ยาว แต่ทำไมเรื่องเครดิตสังคมถึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ ป.ย.ป. ต้องดำเนินการค่ะ โครงการ เครดิตสังคมในพื้นที่นำร่อง ขอให้ชี้แจงสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากพบ รายงานว่าได้มีการพูดคุยหารือแนวทางในระยะแรกร่วมกัน ๓ หน่วยงานนี้ค่ะ ๑. กยศ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีการให้คะแนนเครดิตกับนักเรียน นักศึกษาต่อโอกาส ในการได้รับการศึกษา ๒. สภากาชาดไทย ได้มีการเสนอการพัฒนา Moral เครดิตเกิดขึ้นค่ะ และ ๓. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนักงาน ป.ย.ป. เข้าร่วมหารือกับ สสส. เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างระบบเครดิตในประเทศไทย ซึ่ง สสส. นี้เป็นหน่วยงานที่มีกิจกรรมและการให้ทุนต่อชุมชน การมีสังคมเครดิตจะส่งผล ต่อการให้ทุน หรือการสนับสนุนต่อคนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเหล่านี้อย่างไรนะคะ เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนไทยจำนวนมาก ในแผนไม่มีการนำเสนอ การดำเนินงาน หรือข้อสรุปใด ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตเมื่อใช้ระบบนี้กับสังคมไทย ดิฉันเปรียบเทียบนะคะ เหมือนครูค่ะ ชอบเด็กคนไหนก็จะให้คะแนนจิตพิสัยสูง ไม่สามารถวัดความเป็นคนดีได้จริง ๆ หรือ มาตรฐานนี้เป็นคนดี หรือถูกเขียนขึ้นจาก อาจารย์ฝ่ายปกครองค่ะ ดิฉันสงสัยเหลือเกินค่ะว่าทำไมโครงการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนี้ ถึงไม่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางนักมากเท่าที่ควร ท่านได้มีการสร้างการรับรู้เปิดให้มี การวิพากษ์วิจารณ์กับสังคมก่อนหรือไม่ ทั้งที่เป็นเรื่องกระทบต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้านค่ะ เรียนท่านประธานด้วยค่ะท่านคิดว่าสังคมเครดิตนี้เป็นสังคมที่เหมาะแล้วจริงหรือ กับการปลูกฝังบรรทัดฐานให้สังคมไทยผ่านความดี มิหนำซ้ำยังต้องให้ผู้มีอำนาจให้รางวัลคนดี หรือลงโทษคนไม่ดี การกำหนดกรอบวิถีชีวิตของประชาชนเป็นในทางที่รัฐกำหนดไว้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นการก้าวล่วงเสรีภาพในการใช้ชีวิตของ คนไทยหรือไม่ค่ะ และแท้ที่จริงแล้วเครดิตทางสังคมกำลังนำมาสร้างรัฐตำรวจที่คอยสอดส่อง พฤติกรรมของประชาชน ควบคุมความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชาชน เพื่อควบคุม และกำจัดคนเห็นต่างหรือไม่ ก็ขอให้ท่านตอบค่ะ และถ้าอะไรที่ไม่จำเป็นก็ควรที่จะยกเลิก หรือเพิกถอนเสียค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ครับ

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับวันนี้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ แล้วก็ที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านก็ได้พูดถึงปัญหาของการนำยุทธศาสตร์ชาติมาใช้ ส่วนหนึ่งผมเห็นว่า การกำหนดเวลา ๒๐ ปีนั้นมันมากเกินไป ทำให้โครงการบางโครงการนั้นไม่ให้ความสำคัญ และเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศของเกษตรกรรม ประชากร ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการใช้น้ำ ผมจึงขออนุญาตท่านประธานพูดคุย กับเจ้าหน้าที่ที่มาว่ายุทธศาสตร์น้ำแห่งชาตินั้น หรือแผนแม่บทของการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๑-๒๕๘๐ วันนี้มาแล้ว ๖ ปี แต่ดำเนินการนั้น ยังไม่ได้ก้าวหน้าเท่าไร คือไม่สามารถจะนำน้ำต้นทุนเก็บไว้ในพื้นที่เพื่อการเกษตร แล้วก็เพื่อพักน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ ท่านประธานครับ น้ำต้นทุน ก็คือน้ำที่เราสามารถ กักเก็บไว้ในพื้นที่ ประเทศไทยนั้นเราอาศัยน้ำฝน แล้วก็พื้นที่ที่สำคัญของเกษตรกร ก็คือพื้นที่ นอกการเกษตร ๗๐ เปอร์เซ็นต์ วันนี้หน่วยงานที่ดูแลโดยตรง ก็คือกรมทรัพยากรน้ำ แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลาย ๆ ที่ที่นำร่อง เรื่องการทำพื้นที่นอกชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำไว้ ซึ่งแผนแม่บทไว้ว่า ๒๐ ปี ต้องทำ ให้มีพื้นที่นอกชลประทานนั้นเก็บน้ำบนผิวน้ำ หรืออาจจะไปเก็บไว้ที่สระ คู คลอง หนอง บึง นั้นให้ได้ถึง ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรกว่า แต่วันนี้แผนแม่บทเกิดขึ้น ๖ ปีแล้ว เก็บน้ำได้ พื้นที่นอกชลประทานเพียงแค่ ๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ท่านประธานยกตัวอย่างครับ วันนี้เราใช้งบประมาณในการใช้แผนแม่บทพัฒนาบริหารจัดการน้ำกับกรมทรัพยากรน้ำ ก่อนมีแผนแม่บทนั้นกรมทรัพยากรน้ำได้งบประมาณปีหนึ่งประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ทำให้ควบคุมการเก็บกักน้ำได้ปีหนึ่ง ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อแผนพัฒนา บริหารจัดการน้ำนั้น ๒๐ ปีเกิดขึ้น กรมทรัพยากรน้ำกลับได้ผันเงินงบประมาณได้เพียงแค่ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ล้านบาท ให้ความสำคัญน้อยลง ซึ่งขณะเดียวกันพื้นที่นอกชลประทานนั้น เป็นพื้นที่สำคัญที่เกษตรกรนั้นใช้มากที่สุดถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ โดยอาศัยน้ำฝน ท่านประธานครับ วันนี้เป้าหมายของแผนพัฒนาบริหารจัดการน้ำ ๒๐ ปี ผมให้ ๔๐ ปีก็ไม่ถึง ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องกลับมาทบทวนใหม่ก็คงจะใช้พูดคำเดิม ๆ ว่ามา ร่วมบูรณาการใหม่พูดแล้วพูดอีกคำว่า บูรณาการใช้เปลืองมากในประเทศไทย กรม กองต่าง ๆ ซึ่งต่างคนต่างทำ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วก็กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการประสานงาน แม้กระทั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถูกทอดทิ้ง การใช้เงินของท้องถิ่น เงินสะสมมีอยู่ แต่การใช้เพื่อมาป้องกันภัยแล้งต้องให้มีการประกาศภัยพิบัติก่อนถึงจะนำมาใช้ได้ มิฉะนั้น ข้าราชการโดยเฉพาะท่านปลัดไม่กล้านำมาใช้ เหตุการณ์อะไรก็ให้เกิดความเสียหาย ให้เกิดความเดือดร้อนก่อนถึงจะเอามาใช้ได้ จึงกราบเรียนไปว่าระบบของราชการตรงนี้ ต้องไปแก้ โครงการต่าง ๆ ที่ป้องกันภัยแล้งหรือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราสามารถ นำเงินสะสมมาใช้ได้เลย ไม่ต้องรอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาก็อยากจะทำแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อกักไว้ ยกตัวอย่างเช่น ที่อำเภอเชียงม่วน ที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านไปดู การทำฝายแกนดินคอนกรีต เขาทำในราคาถูก ถ้าเป็นของรัฐหน่วยงานมาทำ ๑๐ กว่าล้านบาท แต่ถ้าเขาทำเองหลักหมื่นหลักแสนเท่านั้นเอง แล้วก็เป็นสิ่งที่ป้องกันและมีคุณภาพอย่างมาก ท่านประธานครับ วันนี้ต้องกราบเรียนอีก ๑ อย่างก็คือกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นน้ำ การทำอ่างเก็บน้ำ หรือการกักเก็บน้ำเป็นต้นน้ำในป่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เก็บน้ำไว้ให้ป่านั้นชุ่มชื้น สัตว์ป่า ต่าง ๆ ใช้ได้ แล้วก็พร่องน้ำลงมาทางด้านใต้ได้ ใช้ได้ตลอดเวลา เส้นน้ำเส้นหนึ่งที่มีปัญหา ระดับชาติคือแม่น้ำยม ไม่มีธนาคารน้ำ ไม่มีเขื่อน แต่ได้รับความเมตตาจากจังหวัดพะเยา จังหวัด แพร่ ช่วยกันทำทำนบแกนดิน หรือแกนดินซีเมนต์ที่เราไปดูมา เก็บน้ำไว้ตามห้วย คู คลอง หนอง บึง เพื่อการชะลอน้ำเข้าสุโขทัยซึ่งเป็นที่ลุ่มรับน้ำจากที่ราบสูงเป็นจังหวัดแรก สุโขทัยเป็นลำน้ำที่รับแม่น้ำยมระทมมาตลอด มีเพียงประตูน้ำประตูเดียว ตอนนี้กำลัง ก่อสร้างอีก ๒ ประตู เพื่อจะเป็นการกักเก็บน้ำจาก ๑๐ ล้าน มาเป็น ๓๐ ล้าน กำลังออกแบบอยู่ ฝากท่านประธานถึงหน่วยงานไปด้วยว่ารีบเร่งออกแบบ แล้วคณะกรรมการ คชก. หรือคณะกรรมการเชี่ยวชาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วยกรุณาหน่อยครับ ในการศึกษาให้เรียบร้อยเพื่อจะนำข้อมูลแล้วก็แบบไปเสนองบประมาณในปีหน้า ผมกลัว จะมีผลกระทบที่ทำไม่เสร็จแล้วก็จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจากแพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก จนถึงกรุงเทพมหานคร ที่ดอนเมืองเคยท่วมหนัก ท่านประธานครับ วันนี้เรายังไม่มี รัฐบาล อีกไม่เกินอาทิตย์เราจะมีรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ผู้นำของพรรคเพื่อไทยนั้น บอกว่าเราต้องทำน้ำเรื่องแรก ผมมีความชื่นใจ ผมฝากไปที่แผนแม่บทของการบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติน้ำนั้น ท่านต้องไปร่นระยะเวลาให้มันน้อยลง เอาสัก ๑๐ ปี มันถึงจะมี ความกระตือรือร้น จัดสรรงบประมาณลงไป หน่วยงานที่รับผิดชอบ พื้นที่นอกพื้นที่ ชลประทานก็คือคู คลอง หนอง บึง กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล วันนี้ นอกจากจะเอาน้ำใต้บาดาลมาใช้แล้ว เราต้องเจาะสะดือน้ำ ปล่อยน้ำลงไปเป็นธนาคารน้ำ ที่จังหวัดสุโขทัย ท่าน สส. หลายท่านเดินทางไปดู โดยได้รับความกรุณาจากกรมทรัพยากร น้ำบาดาล สิ่งเหล่านี้ถึงกราบเรียนว่าเราทำงานให้เป็นระบบ ทุกวันนี้ระบบของประเทศไทย เจ้ากระทรวงนั่งตรงไหนมักจะทิ้งงานที่เป็นโครงการหลัก แล้วก็ปัญหาต้นน้ำที่น้ำหลาก แต่ปล่อยทิ้งไป กลับไปทำในพื้นที่ที่เจ้ากระทรวงเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ สิ่งเหล่านี้คือระบบ ราชการไทยนี้ไม่มีการทำต่อเนื่องและไม่มีการบูรณาการ ฝากทางผู้เกี่ยวข้อง แล้วก็ท่านประธานไปว่าคิดใหม่ครับ วันนี้เราต้องทำการบริหารจัดการน้ำจากด้านบน ลงมาล่าง เพราะเหมือนเราเปิดน้ำก๊อก ก๊อกมันไหลบนสายยาง เราจะมารอปลายทางไม่ได้ เราต้องไปแก้ปัญหาที่ก๊อกก็คือต้นน้ำ ก็ฝากท่านประธานและผู้เกี่ยวข้องไว้ตรงนี้ การบริหาร จัดการน้ำ ๒๐ ปีนั้นจะเข้าเป้าหมาย แล้วก็จัดสรรงบประมาณไปหน่วยงานที่ผมบอก เขาจะ ขุดคูคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างดี กราบขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ เชิญครับ

นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธาน ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านผู้ชี้แจง และประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด ของประเทศนี้ที่กำลังรับชมการทำงานของพวกเราอยู่ในขณะนี้นะคะ ดิฉัน พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑๖ ผู้แทนประชาชนจากเขตคลองสามวา พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้สร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปประเทศ เสมอมา ทั้งที่จริง ๆ แล้วแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ไม่สมควรที่จะเรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยซ้ำไป แต่ควรจะเรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ คสช. ที่ต้องเรียกแบบนั้นก็เพราะว่าที่มาของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผู้ที่แต่งตั้งคนมาร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ และผู้ที่อนุมัติ แผนยุทธศาสตร์ชาติล้วนมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. ทั้งชุด ยิ่งไปกว่านั้น กว่า ๕๗ เปอร์เซ็นต์ ของคณะกรรมการที่กล่าวมาจากกลุ่มภาคส่วนในสังคม ๒ ภาคส่วน ก็คือกลุ่มของทหาร แล้วก็กลุ่มของทุน ทั้ง ๆ ที่ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ควรที่จะทำขึ้นมา เพื่อให้ สอดคล้องกับเป้าหมายที่ครอบคลุมมากกว่านี้และพัฒนาไปทั้งประเทศ แต่นี่กลับถูกร่างขึ้นมา บนพื้นฐานของการที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้กับ คสช. และการเติบโตของภาคเอกชน กลุ่มที่ คสช. พิจารณาว่าเหมาะสม ท่านประธานคะ ดิฉันขอตัดมาไปที่แง่ของเนื้อหา เราก็จะพบว่าแผนยุทธศาสตร์นี่เป็นการเขียนขึ้นมาแบบกว้าง ๆ ลอย ๆ ไม่ได้มีการจัดลำดับ ความสำคัญก่อนหลังใด ๆ รวมถึงขาดการกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ดิฉันขอยกตัวอย่าง แผนแม่บทในประเด็นของการต่างประเทศ ที่ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีเกียรติภูมิ มีอำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในทางสากลมากขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดตัวนั้นก็ให้ดูจากระดับความสำเร็จของไทยในการสร้างความเข้าใจ การยอมรับ ภาพลักษณ์ และความนิยมของไทยในสากลด้วยอำนาจแบบนุ่มนวลของไทย ตัวชี้วัดแบบนี้ดู ดีในหน้ากระดาษ ดูดีในภาษาทางวรรณศิลป์ แต่ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ได้เลยว่าอะไรคือ ระดับความสำเร็จที่เราจะสามารถวัดผลได้อย่างจริงจัง ส่วนใน Part ที่มันพอจะมีส่วนที่วัดได้ เป็นตัวเลขได้นี่ ก็จะอยู่ในส่วนของแผนแม่บทด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งได้ กำหนดตัวชี้วัดไว้ว่าภายในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยของเรา จะต้องมีดัชนีการรับรู้การทุจริต ที่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ คะแนน แล้วจะต้องอยู่ในอันดับที่ไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ ๕๔ แต่ในความเป็นจริง จากข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เราจะเห็นว่าคะแนนดัชนีดังกล่าว ประเทศไทยได้รับเพียง ๓๖ คะแนน และอยู่ในอันดับที่ ๑๐๑ ซึ่งนั่นห่างไกลจากการบรรลุ เป้าหมายที่เรากำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ท่านประธานคะ นอกจากที่มาไม่โปร่งใส KPI ไม่ชัดเจน ผลลัพธ์ก็ไม่ตรงตามเป้าหมาย กลไกที่จะเอาผิดกับรัฐบาลที่ไม่สามารถ ทำตามเป้าหมายที่เราวางไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้นะคะ พวกเราควร จะตั้งคำถาม ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเพิ่มค่าตอบแทน เพิ่มค่าตอบแทนเบี้ยประชุม สำหรับประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในส่วนของท่านประธาน จาก ๑๐,๐๐๐ เพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ บาท ในส่วนของคณะกรรมการท่านอื่น ๆ จาก ๘,๐๐๐ บาท กลายเป็น ๙,๖๐๐ บาท ท่านประธานคะ ในยามที่เศรษฐกิจของบ้านเราเป็นแบบนี้ อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจแสนดี ดีออกบ้าง ดีที่ยังไม่ตายบ้างแบบนี้ ประชาชนอดตั้งคำถามไม่ได้ หรอกค่ะว่าในระหว่างที่เขากำลังลำบากยากจน กำลังต่อสู้กับสถานการณ์ในชีวิต อย่างยากลำบาก มันมีกลุ่มคน กลุ่มคนหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา แล้วก็นั่งประชุมกันครั้งหนึ่ง ได้เงินเป็นหมื่น ๆ เพื่อจะจัดทำแผนที่มันไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอะไรขึ้นมาเลยค่ะ พวกเราในที่นี้รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทางบ้าน ทราบกันดีแก่ใจว่าการจัดตั้ง การจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้าไป ๒๐ ปี ในวันที่โลกมีพลวัตก้าวหน้า ก้าวไกล รวดเร็วอย่างไม่เคย เป็นมาก่อนแบบนี้เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล แล้วก็ขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง ทุกคนทราบดี แก่ใจอยู่แล้วว่ามันเป็นการจัดตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะผลาญเงินภาษีของประชาชนไปอย่างเปล่า ประโยชน์ ดิฉันไม่ได้มีอะไรที่จะต่อว่าท่านผู้ชี้แจงนะคะ เพราะว่าเราต่างทำหน้าที่ของเรา และดิฉันทราบดีว่าผู้ชี้แจงก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้ด้วยซ้ำไป แต่ดิฉันต้องทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการตั้งคำถาม เราต้องการคำตอบ จากพวกท่านว่าประชาชนได้อะไรบ้างจากการที่เสียงบประมาณส่วนนี้ไปกับการจัดทำแผน ยุทธศาสตร์ชาติ ประชาชนได้อะไรบ้างจากการเพิ่มเบี้ยประชุมของพวกท่าน ประชาชนได้อะไรบ้าง จากการทำแผนยุทธศาสตร์ที่ร่างขึ้นมาเพื่อเป็นโซ่ล่ามไม่ให้อนาคตของประเทศไทย ไปได้ไกลกว่านี้ ในวันนี้พวกเราต้องเร่งทำการพิจารณา ดิฉันจะขอจบการอภิปราย แต่เพียงเท่านี้และขอบคุณทุกท่านสำหรับความร่วมมือที่เราร่วมมือกันจนมาถึงตอนนี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายในรายงาน ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

รายงานสรุปผลการดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ นะคะ ท่านประธานคะ ประเทศไทยนี่ก่อนที่จะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เราใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผนหลัก ในการวางนโยบายพัฒนาประเทศ หลังจากใช้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ แล้วนี่ในมาตรา ๖๕ กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศนะคะ จึงเกิด พ.ร.บ. ขึ้นมา แล้วก็ใช้กันมานาน ๕ ปีแล้วค่ะ ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ แล้วแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็มาเป็น แผนรอง ซึ่งต้องสอดคล้องกันไป ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐ บอกว่าให้คณะกรรมการแต่ละด้านจัดทำแผนแม่บท แล้วในแผนแม่บทก็แบ่งแนวทาง ในการพัฒนาออกไปถึง ๒๓ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน Logistics กฎหมายอะไรก็ว่าไปนะคะ เป็นต้น ทีนี้ดิฉันเองมีความสนใจ ในเรื่องของเกษตรค่ะท่านประธานคะ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วก็เพื่อนพ้องน้องพี่ของดิฉันก็เป็นเกษตรกรเยอะมากทีเดียวนะคะ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ปลูกมะม่วง เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว เยอะมากทีเดียวนะคะ Slide ถัดไปค่ะ ท่านประธานคะ ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี้นะคะ ด้านการเกษตรที่ดิฉันสนใจ บอกว่าเป้าหมาย ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ GDP ภาคเกษตรขยายตัว ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ บอกแบบนั้น ดิฉันจึงได้สอบทานข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๔ GDP ภาคเกษตรขยายตัวแค่ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เองค่ะ ส่วนปี ๒๕๖๕ ขยายแค่ ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่ามันต่ำกว่าเป้า ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ไปมากเลยค่ะ จึงเป็นข้อสรุปในรายงานผล การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ ว่า GDP เกษตรอยู่ในระดับวิกฤติในการ บรรลุเป้าหมาย นั่นหมายความว่ายุทธศาสตร์ชาติทางการเกษตรไม่ถึงฝันจริง ๆ ค่ะ ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมท่านประธานคะ แต่ภาคการเกษตรกลับตกต่ำไปเรื่อย ๆ ถดถอยไป ทุกปี ๆ ผลผลิตต่อไร่ ท่านประธานคะ ข้าวของไทย ท่านดูเส้นสีแดงนะคะ เทียบกับ ผู้ผลิตหลักของโลก ประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้าย ความสามารถในการแข่งขัน ทางภาคเกษตรของไทยก็เข้าขั้นวิกฤติอยู่อันดับต่ำสุด สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ให้เห็นว่าชาวนา จนที่สุด ๆ ใน Asia แล้วก็ใน ASEAN ๑๐ปีไม่มีอะไรดีขึ้น รายได้ลด ต้นทุนพุ่ง นี่คือเส้นสีแดง ที่ถือว่าประเทศไทยอยู่อันดับรั้งท้าย มันจึงเกิดคำถามค่ะท่านประธาน เกิดคำถามเสียงดัง ๆ เลยว่าเราจะมียุทธศาสตร์ชาติไปทำไม รัฐบาลกำลังหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า และหลอก ประชาชนอยู่หรือเปล่าท่านประธาน คำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ฟังดูมันสวยหรูดูดีอยู่ ถูกไหมคะ แต่ดิฉันคิดว่ามันควรจะแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกนโยบายยุทธศาสตร์ชาติไปเสียเลยดีกว่า เพราะว่าผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตั้งเป้าไว้ก็ไม่เป็นไปตามเป้า หันซ้าย หันขวาพี่น้องเกษตรกรก็ยังเจอกับปัญหา เพราะฉะนั้นหากมีบทลงโทษ ตอนนี้เขามีบทลงโทษอยู่ในมาตรา ๒๖ ของ พ.ร.บ. ก็บอกว่า ถ้าหน่วยงานราชการใดไม่ทำตามนี้ ก็จะต้องโดนส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. อะไรขนาดนั้นเลย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยค่ะท่านประธานคะ แล้วก็หากยังทำการงานด้านการเกษตร ตกต่ำกันแบบนี้ เพราะฉะนั้นเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติกันดีกว่านะคะ ทีนี้ตอนนี้ เรายกเลิกไม่ได้ เราก็รู้อยู่ว่ามันต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันยกเลิกไม่ได้ ดังนั้นจึงต้อง มาปรับแผน ท่านประธานคะ คณะกรรมการใน พ.ร.บ. มาตรา ๑๑ ก็กำหนดว่า คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนได้ทุก ๆ ๕ ปี ขณะนี้ก็ครบ ๕ ปีพอดี ดังนั้นดิฉันจึงเสนอว่า ปรับแผน แต่จะปรับแผนอะไรล่ะคะ ถ้าสถานการณ์แบบนี้มันก็ต้องปรับกันมากมาย หลายขนานเลยทีเดียว แต่ดิฉันคิดว่าจากตัวดิฉันเขตเล็ก ๆ เขตหนึ่ง เขต ๑ ใน ๔๐๐ เขต ยังเจอปัญหาของพี่น้องเกษตรกรมากมายเลยทีเดียว ที่เขาไม่สามารถจะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่ดิฉันเข้าอบรมในเรื่องเกี่ยวกับปุ๋ยนะคะท่านประธาน จากทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ส่งอาจารย์มาพูดคุยที่พรรคเพื่อไทย ทำให้เรารู้ว่าการปลูกข้าว ท่านเป็นอาจารย์ทางด้านปฐพีวิทยา ท่านบอกว่าการปลูกข้าวชาวนายังใส่ปุ๋ยผิดกันอยู่ ท่านบอกว่าไปใส่ปุ๋ยสูตร ๔๖-๐-๐ แล้วก็ ๑๖-๒๐-๐ ข้างหลัง Potassium ยังเป็น ๐ อยู่นั่น ซึ่งมันไม่ได้ นั่นหมายความว่า ๔๐-๕๐ ปีก่อนประเทศไทย ดินมันมี Potassium เยอะพอสมควร แต่หลังจากนั้นมันหายไปมันร่อยหรอไป ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มสูตรตัวหลัง ชาวนาไม่ทราบ ชาวนาก็ยังคงทำแบบนี้อยู่ ดังนั้นการให้ความรู้กับพี่น้องชาวนาสำคัญ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

มาดูเรื่องกุ้งกันบ้าง กุ้งประเทศไทยเคยเป็น Champ ของการส่งออก ท่านดูกราฟว่าเราเคยเป็น Champ ทั้งผู้ผลิตแล้วก็การส่งออกของโลก ปี ๒๕๕๓ เราเคยทำ ได้ ๖๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี แล้วมาเกิดโรค แล้วเราเคยทำได้ดีขนาดนี้แต่ว่าเกิดโรคจึงตกลงไป อยู่ที่ ๒๖๐,๐๐๐ ตันต่อปีเท่านั้น รู้ไหมว่าหากรัฐบาลให้ความใส่ใจ แล้วก็หากช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมาก ๆ สนับสนุนเขาให้เขาเข้าถึงทุนก็ดี แก้ปัญหาให้ได้ ท่านลองคิดดูนะคะ ประเทศอินเดียสามารถที่จะมีพันธุ์กุ้งที่ทนต่อโรค เขายังคิดค้นได้เลย แล้วประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำไมถึงทำไม่ได้ ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าประเทศไทย จะไปต่อให้ได้ ขออนุญาตอีกนิดหนึ่งนะคะ จำเป็นที่จะต้องหาหนทางให้ดีว่าเกษตรของเรา มีคุณค่ามากขึ้นกว่านี้ได้หลายวิธี เช่น มีเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นก็มี เกษตรปลอดภัย ที่สามารถทำเงินได้ดี เกษตรชีวภาพก็ทำได้ เกษตรแปรรูป เรามีความสามารถในการที่ใช้ แรงงานด้านนี้ เกษตรอัจฉริยะ ใช้ความแม่นยำต่าง ๆ นานา สิ่งเหล่านี้ดิฉันยกตัวอย่างขึ้นมา ว่าประเทศไทยสามารถทำได้เยอะมากมายเลย เวลามันหมดแล้วค่ะท่านประธาน อย่างไรก็ตามก็ฝากด้วยว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นล้มเหลวจริง ๆ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ เชิญครับ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ประเวศ ดอกไม้ ทับช้าง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อรับทราบรายงาน การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านก็คงจะได้อภิปรายในภาพรวมของรายงานไปแล้ว ว่าเป้าหมายส่วนใหญ่ยัง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ท่านได้วางไว้ หรือว่าการดำเนินการที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ท่านได้วางไว้ สำหรับผมรอบนี้มาก็น่าจะเป็นการลงในรายละเอียดของแผนแม่บทที่ ๖ ก็คือพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ก่อนอื่นขอ Slide ถัดไปเลยฝ่ายโสตครับ สำหรับประเด็นที่ ๖ พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในส่วนนี้ก็จะเห็นว่าก็จะมีอยู่ ๓ เป้าหมายในระดับแผนแม่บทย่อย ก็คือแผนแม่บท ๓ แม่บทย่อย ๓ ข้อ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๑ ก็คือเรื่องของการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ก็คือเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้วก็มลพิษต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ก็คือเรื่องของความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรม

นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ซึ่งในส่วนนี้ท่านก็จะมีการแบ่งสีในรายงานมา ในส่วนของสีเขียวก็คือ ท่านบอกว่าเป็นการผ่านเป้าหมายในปีนี้ ส่วนสีส้ม ก็คือยังไม่ผ่านเป้าหมายในระดับเสี่ยงนะครับ Slide ถัดไปครับ ในส่วนของเป้าหมายตามแผนแม่บทย่อยที่ ๑ ในส่วนของการพัฒนาเมือง ที่เป็นการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ในรายงานท่านก็เขียนเรื่องของตัวชี้วัด ไว้ ๒ ตัว ตัวที่ ๑ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แล้วก็ข้อที่ ๒ ตัวชี้วัดที่ ๒ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองอัจฉริยะ เริ่มจากตัวชี้วัดที่ ๑ ก่อน ท่านประธานครับ ใน Slide นี้ครับ ก็คือเรื่องของจำนวนเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเดิมผมเองก็สงสัยว่า ท่านวัดอย่างไร ก็เห็นว่าเป็นการวัดด้วยการใช้ในส่วนของสัดส่วนประชากรเมือง เทียบกับสัดส่วน ประชากรชนบท ถ้าเกิดพูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องของสัดส่วนประชากรเทศบาล เทียบกับสัดส่วน ประชากรของ อบต. นะครับ ซึ่งถ้าเกิดว่าท่านดูในตารางด้านขวาบน รวมไปถึง Text Box ด้านขวาด้วย ก็จะเห็นว่าตัวของเมืองพื้นที่เป้าหมายมีทั้งหมด ๖ เมือง ก็จะเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แล้วก็เป็นพื้นที่ EEC เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา แล้วก็ภูเก็ต ซึ่งในตัวของรายงานก็มีการเขียนว่าในตัวของพื้นที่เป้าหมายทั้ง ๖ พื้นที่ตรงนี้มีพื้นที่เฉลี่ย ที่เป็นประชากรสัดส่วนประชากรเมืองก็จะเห็นว่าผ่านเกณฑ์อยู่ที่ประมาณ ๕๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศทุกจังหวัดนะครับ ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๓๔ ซึ่งที่ผมสงสัย ก็คือว่าการวัดอย่างนี้เป็นไปได้จะถูกต้องหรือไม่ เพราะว่าความจริงแล้วเรื่องของการ พัฒนาเมืองถ้าหากท่านบอกว่ามันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ก็คงมีความจำเป็นว่าสัดส่วน พื้นที่เมืองก็ควรที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือว่าสูงกว่า Mean ถูกไหมครับ แต่จะเห็นว่าในตาราง ก็ยังมีบางเมืองที่ยังตก Mean อยู่ อย่างเช่นในตารางก็จะมีเมืองหนึ่งอยู่ที่ ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่ผ่าน Mean อันนี้ก็ต้องถามว่าเป็นการผ่านหรือไม่สำหรับเรื่องของการกระจาย ความเจริญนะครับ สำหรับในตัวของเป้าหมายที่ ๑ ของตัวชี้วัดที่ ๑ ใน Slide ถัดไปครับ Slide นี้ก็คือว่าในตัวของตัวชี้วัดที่ ๒ ก็เป็นเรื่องของเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในส่วนของ เมืองอัจฉริยะตอนนี้ท่านมีการประกาศเมืองอัจฉริยะไปแล้วทั้งสิ้น ๓๐ เมือง ซึ่งใน ๓๐ เมืองนี้ ท่านก็ยังเขียนระบุในรายงานอีกว่า ๓๐ เมือง ก็คือการผ่านเป้าหมายไปแล้วถึงปี ๒๕๘๐ นั่นหมายถึงว่าตัวของตัวชี้วัดนี้ท่านสามารถที่จะผ่านเป้าหมายล่วงหน้าได้นานเกือบ ๑๕ ปี แสดงว่าตัวชี้วัดตัวนี้อาจจะไม่ได้มีการท้าทายใด ๆ หรือไม่ และที่สำคัญเมืองอัจฉริยะ ท่านจะทำอย่างไรให้สามารถที่จะได้เป็นเมืองที่อัจฉริยะจริง ๆ เป็น Smart City ได้จริง ๆ ครับ เพราะว่าที่ผมดูจากที่อ่านในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ท่านมีการระบุในตัวของการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๕ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง การใช้ประโยชน์ ที่ดินต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นะครับ สำหรับเรื่องของการผังเมืองอย่างนี้ เรื่องของ การพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองที่ท่านบอกว่าท่านดำเนินการแล้ว ผมก็ต้องถามว่าส่วนใหญ่ ในส่วนของถนน เสนอแนะตามผังเมืองมีการดำเนินการอย่างไร แล้วมีการดำเนินการหรือไม่ เพราะว่าเท่าที่ผมทราบมาถนนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการทำตามผังเมืองจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีการ บรรลุจริง ๆ Smart City จะเกิดขึ้นได้อย่างไร Slide ถัดไปครับ ในส่วนนี้น่าจะเป็น Slide ที่เป็นเรื่องของเป้าหมายที่ ๒ ก็คือตามแผนแม่บทย่อยนะครับ ซึ่งในตัวของแผนแม่บทย่อย ที่ ๒ นี้ก็ให้ความสำคัญในส่วนของสิ่งแวดล้อม แล้วก็ส่วนของมลพิษต่าง ๆ ซึ่งท่านก็มีการ ระบุว่ามลพิษที่มีปัญหาต่าง ๆ ก็จะแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทหลัก ไม่ว่าจะเป็นขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง ซึ่งเนื้อหาในรายงานก็มีการยอมรับว่าในส่วนของ เป้าหมายที่ ๒ ตัวนี้ก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์นะครับ แล้วก็ตัวของขยะยังสร้างปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งท่านจะเห็นว่าน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ แล้วเสียงก็ยังไม่ผ่านแน่ ๆ แต่ว่าขยะท่านบอกว่า ไม่ผ่าน แต่ว่าก็ยังมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่สำหรับการพัฒนาที่ดีขึ้นอันนี้ผมก็ต้องตั้งข้อสังเกต ว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากการทำโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งก็ทำให้พี่น้องประชาชนหลาย ๆ ท่านก็ ประสบกับปัญหาทั้งค่าไฟแพงนะครับ รวมถึงการจัดการขยะต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ในส่วนของโรงขยะ อย่างเช่นที่ศูนย์ขยะอ่อนนุชอย่างนี้ก็สร้างกลิ่นเหม็นรบกวนกับพี่น้อง ประชาชนจำนวนมาก รวมไปถึงในส่วนของมลพิษทางอากาศนะครับ PM2.5 ยกตัวอย่างอย่างเช่นในพื้นที่ เขตประเวศก็เป็นพื้นที่ที่ปรากฏว่า PM2.5 เราสูงที่สุดในกรุงเทพมหานครเมื่อต้นปี ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองได้ไปดูในเนื้อหารายงานที่ท่านมีการเขียนนะครับว่ามีการดำเนินการ ที่ผ่านมาอย่างไร แล้วก็มีการจะดำเนินการในอนาคตอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ ก็ยังเขียนในเชิงว่าเป็นกรอบกว้าง ๆ นะครับ เป็นการเขียนแผน เขียนนั่นเขียนนี่ต่าง ๆ ซึ่งก็ยังลอยแล้วก็ไม่เห็น Direction ใด ๆ นะครับ ซึ่งผมเองก็คงจะต้องฝากให้ท่านผู้ชี้แจง ช่วยชี้แจงในส่วนนี้ครับ ว่าจะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาของเมือง ทำให้เมืองของเราได้น่าอยู่ จริง ๆ แล้วก็แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตนิดหนึ่งครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผู้อภิปรายส่วนใหญ่จะมี เนื้อหาที่ดี ๆ ถ้ามีจังหวะสักนิดหนึ่ง ขอให้ผู้ชี้แจงได้ชี้แจงเป็นช่วงหน่อยก็ดีครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผมขออนุญาตพัก ๓ นาทีเดี๋ยวกลับมานะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๙.๕๗ นาฬิกา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๙.๕๙ นาฬิกา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เดี๋ยวให้ท่านทรงยศอภิปราย ๑ ท่าน แล้วก็ท่านผู้ชี้แจงคั่นรายการหน่อยก็แล้วกันนะครับ เชิญท่านทรงยศ รามสูต ครับ เชิญครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่อนุญาตให้ผมนำผลิตภัณฑ์ชุมชน ของจังหวัดน่านมาแสดงประกอบการอภิปรายนะครับ ซึ่งการอภิปรายของวันนี้ในส่วนของ แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาตินี่ขออธิบายควบกันไปเลยนะครับ เพราะเนื้อหา ใกล้เคียงกันต่อจากเมื่อเช้า ในด้านเศรษฐกิจคือการส่งเสริมธุรกิจ Online และ SMEs โดยเฉพาะ SMEs นี่เห็นด้วยนะครับที่มีโครงการที่จะกระตุ้น Startup แต่ว่าพวก SMEs เขาก็ฝากบอกมานิดหนึ่งนะครับ การที่รัฐช่วยนี่ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ใช้ บสย. ค้ำ ๓ ล้านบาท OK ถ้าเกิน ๓ ล้านบาทต้องมีหลักทรัพย์ แต่เขาบอกว่าโครงการที่ SMEs ให้นี่มักให้ไป สร้างใหม่ หรือไปซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ส่วนใหญ่เขามักจะมีปัญหาในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน ฉะนั้นถ้าให้เขาไปลงทุนเพิ่มนี่อาจจะเสี่ยงเพิ่มนะครับ ก็ฝากรัฐให้ช่วยปรับเงื่อนไข อาจจะ แบ่งสัดส่วนขึ้นมาก็ได้นะครับ และอีกอย่าง SMEs เขาก็ฝากประสานมาว่าบางที SMEs ที่เขาประสบความสำเร็จนี่เขาอยากกู้ต่อนะครับ ปรากฏรัฐบอกว่าให้คนอื่นบ้าง ถ้ายังส่งไม่หมดนี่ไม่ได้ ก็อาจจะฝากว่าถ้าเขาไปได้ดีนี่อย่างน้อยเขาผ่านมาสัก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขาอยากจะขยายกิจการนะครับ รัฐก็ควรจะไปช่วยดูแล อีกอย่างหนึ่งในเรื่อง ของ SMEs ถ้าเวลาพิจารณาในส่วนของภาครัฐ อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นแม่งาน ก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ว่าเวลาเราส่งไปให้ธนาคารพาณิชย์เขาช่วยปล่อยสินเชื่อ บางครั้ง บางคราเขาไม่ทำตามวัตถุประสงค์ของรัฐ เขาก็จะเลือกลูกค้าชั้นดีป้องกันความเสี่ยงว่ามีโครงการอย่างนี้ดอกเบี้ยถูกเอาไหม เขาก็เอา เขาก็กินส่วนต่าง ก็จะไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะช่วยเหลือ Startup อันนี้ก็ฝากไว้ เรื่องของ SMEs นะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ต่อไปก็เรื่องของการสร้างการเกษตรมูลค่าเพิ่ม ตามหลักการเกษตรมันต้องมีตลาด ก่อนแล้วค่อยผลิต แต่บ้านเราผลิตแล้วค่อยหาตลาด เพราะฉะนั้นวิธีที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ก็คือทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างนะครับ เราก็ต้องแปรรูป อย่างเช่นกาแฟ เราไปเก็บเป็นเมล็ด กิโลกรัมละ ๑๘ บาท แต่พอกะเทาะเมล็ด ล้างเมือก หมักยีสต์ กิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท พอเอาไปคั่วตามสูตรต่าง ๆ กิโลกรัมละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท แค่การแปรรูปนะครับ หรือยกตัวอย่าง เห็ดเผาะ มันจะเกิดช่วงฤดูหน้าเผาป่านะครับ เม็ดเล็กกิโลกรัมละ ๒๐๐ บาท เม็ดกลาง ๔๐๐ บาท เม็ดใหญ่ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท แต่พอ ใช้นวัตกรรมเสริม ทุกทีต้องแช่ตู้เย็น ใส่น้ำเกลือ Seal อย่างดีนะครับ ๒ ขีด ๒๐๐ บาท ไม่ต้องใส่ตู้เย็นนะครับ อยู่ได้นาน แค่นวัตกรรม เสริมก็ช่วยได้ เพราะฉะนั้นมันก็จะไปสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ในส่วนของภารกิจที่ ๘ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งภาครัฐเองก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ประกอบการมักจะขาดองค์ความรู้ ก็พยายามที่จะให้ความรู้ ซึ่งเป็น สิ่งที่ดีตามภารกิจที่ ๐๘๐๑๐๑ ๐๘๐๑๐๒ คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่มาช่วยเหลือ อย่างเช่นจังหวัดน่าน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทางอุตสาหกรรมจังหวัดน่านร่วมกับมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มทร. น่าน คณะ Food Science ก็จัดกิจกรรมทดสอบตลาด พอดีผมเป็นเจ้าถนนคนเมือง เขาให้ลานหน้าห้างกับผม ซึ่งเป็นแหล่งขายของที่ระลึก ของพื้นเมือง ของจังหวัดน่าน จัดโครงการทดสอบสินค้าก็นำสินค้า ๑๐ ชนิดมาลองตลาด ซึ่งธรรมดาเขา ก็ทำอยู่แล้วนะครับ แต่ว่าเอามารวมกันคนละยี่ห้อทาง มทร. เขาก็มาดูแล อย่างเช่นคนละบริษัท ภายใต้ชื่อ Origi Nan ๑๐ เจ้า นี่คนละเจ้าเอามารวมกัน พอแกะปุ๊บก็เป็นอย่างนี้ได้ พวกธัญพืชเอย Sweet Corn เอย หรือบางครั้ง แล้วก็ปรับปรุง ของในพื้นที่ที่เป็นสมุนไพร สาหร่ายไก ข้าวตัง มันมีอยู่แล้ว เติมน้ำเงี้ยวไป เป็นข้าวตังน้ำเงี้ยว เอามะแขว่น ทำสูตรซอสต่าง ๆ ก็อยากจะฝาก แต่ผู้ประกอบการเขาบ่นว่าอยากให้รัฐจัด Road Show บ่อย ๆ ซึ่งบางครั้งบางคราว สินค้า ผลิตภัณฑ์ใหม่ ครั้งแรก ครั้งที่ ๒ อาจจะยอดไม่ดีเพราะเป็นของใหม่ อยากให้จัดบ่อย ๆ แต่ถ้าเขาสามารถขายดี พัฒนาจากเล็กไปกลาง ไปใหญ่ได้ เขาก็บ่นอีกว่าพอจะขึ้นห้างทีไร จะมีปัญหานิดหนึ่ง ถ้า GP ๓๐ เปอร์เซ็นต์ พอไหวเก็บเงินเครดิต ๖๐ วันก็พอไหว แต่บางครั้ง บางคราวมันมีค่า Promotion ส่งเสริมการขายทีละ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท อันนี้เขายืนระยะ ลำบากนะครับ เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะช่วยอย่างไร ก็ฝากเอาไว้ด้วย เพราะว่าถ้าเราสามารถส่งเสริม ให้พวกวิสาหกิจต่าง ๆ เหล่านี้เขาประสบความสำเร็จมันก็จะมีงานอาชีพ อย่างเช่น ผมยกตัวอย่าง อันนี้คือจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง ภายใต้ Brand ชีวา เขาทำสมุนไพรเอามาทำสบู่ เอามาทำ Lotion โรงแรมสีเขียวในพื้นที่ และหลาย ๆ จังหวัด นำไปใช้ คนมาดูงานเยอะ ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันนี้เองเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ SME Award เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดโครงการอย่างนี้ให้เป็นครูต้นแบบให้คนไปดูงาน แล้วขยายไปยังพื้นที่ ต่าง ๆ ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนต้นแบบต่าง ๆ ก็อยากจะฝากรัฐให้ช่วยดูแลนะครับ

นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ

ต่อไปในเรื่องของยุทธศาสตร์ในเรื่องของการท่องเที่ยว ผมดีใจในยุทธศาสตร์ที่ ๕ การท่องเที่ยวนี่ รัฐจะพัฒนาเมืองชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เรามีเมืองท่องเที่ยวที่เป็น เมืองสร้างสรรค์ที่ UNESCO เขาให้การรับรองสิ้นสุดปี ๒๕๖๕ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย เพชรบุรี และเชียงราย แล้วก็ยังมีอีก ๕ เมือง ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ๕ แห่ง ใน ๑๐๐ ของโลก มีเมืองเชียงคาน ของเลย เมืองน่านบ้านผม เมืองเก่าสุโขทัย เกาะหมาก จังหวัดตราด แล้วก็ห้วยปูแกง แม่ฮ่องสอน แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มันมีองค์กรของโลกรับรอง เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองรอง เป็นเมืองท่องเที่ยวได้ ซึ่งก็จะเข้ากับ ยุทธศาสตร์ที่ ๖ ในเรื่องของเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะ ที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละมิติ ให้มีความอัจฉริยะทั้ง ๗ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม การเดินทาง การดำรงชีวิต พลเมือง พลังงาน เศรษฐกิจ และการบริหารงานของรัฐ ก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ ปี ๒๕๖๔ จัดไว้ ๑๕ เมือง ปี ๒๕๖๕ ๑๕ เมือง จังหวัดน่านก็โชคดีอีกครั้งครับ ปี ๒๕๖๕ ได้เข้าอยู่ใน ๑๕ เมือง แต่บางครั้งบางคราการจะพัฒนามิติให้เป็นการท่องเที่ยว ผมยกตัวอย่างอุปสรรคอันหนึ่งในเรื่องของการขนส่งให้เป็นอัจฉริยะนี่ ตอนที่เกิดปัญหา สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเมืองรองที่อยู่ไกล ๆ มีปัญหาเยอะเลย บางทีต้องเดินทางด้วยรถ แต่ก่อนหน้านี่เรามี Flight บินวันละ ๑๐ กว่า Flight ๑๒-๑๓ Flight แต่ตั้งแต่หลัง COVID-19 เหลือแค่วันละ ๒ Flight ปรากฏค่าตั๋วโดยสารจากวันธรรมดา ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ วันหยุดขึ้นไป ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ Long Weekend ขึ้นไป ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ ทำให้นักท่องเที่ยวนี่ที่มีกำลังซื้อนี่ มันต้องสูงจริง ๆ หดหายไปเยอะเขาไปเที่ยวต่างประเทศ นี่ขาเดียวยังขนาดนี้ ก็ฝากให้รัฐ จะช่วยดูแลอย่างไรที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้นะครับ เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะฝาก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อสังเกตนี้พยายามไปปรับปรุงนะครับ ขอขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็มีผู้อภิปรายอีกจำนวนมากนะครับ ท่านเลขาก็อยากจะจดประเด็นไปเรื่อย ๆ ก่อนนะครับ เพราะฉะนั้นก็อยากจะเชิญท่านต่อไปเลยนะครับ ท่านภาควัต ศรีสุรพล พร้อมไหมครับ เชิญครับ

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น เขต ๕ พรรคเพื่อไทย จากรายงานสรุปผลดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

หัวข้อที่ผมจะอภิปรายในวันนี้คือหัวข้อ NS03 การเกษตรที่ประกอบไปด้วย ๑๐ แม่บทย่อย ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมศึกษาจากรายงานแล้วมี ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากภาคการเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในเขตพื้นที่รับผิดชอบของผมจังหวัดขอนแก่น โดยในหัวข้อนี้มีการตั้งเป้าหมายระดับ ประเด็นออกเป็น ๒ หัวข้อดังนี้

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

๑. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้นขยายตัวร้อยละ ๓.๘

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

๒. ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

ซึ่งประเด็นที่ ๑ ที่ผมให้ความสนใจ คือประเด็นเรื่องเกษตรอัจฉริยะ ขอเปลี่ยน Slide ด้วยนะครับ ถ้าหากมองจากรายงานของคณะยุทธศาสตร์ชาติ จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ของ การดำเนินการทั้ง ๒ แผนแม่บทย่อยด้านเกษตรอัจฉริยะนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ทั้ง ๒ แผน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อัจฉริยะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ และผลผลิตต่อหน่วยของฟาร์มหรือแปลงที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อัจฉริยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ ๑๐ โดยหากพิจารณาตัวเลขของพื้นที่ดำเนินการแปลงใหญ่สมัยใหม่ที่ได้ดำเนินการ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ นั้น จะเห็นได้ว่าช่วงแรกของการดำเนินการตลอด ๔ ปีแรกนั้น ยังไม่มี การเปลี่ยนแปลงด้านผลลัพธ์เท่าไรนัก แต่ปีการผลิต ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ต้นทุนการผลิตลดลง จาก ๒๗๘ ล้านบาท เหลือเพียง ๑๔๘ ล้านบาทเท่านั้น และการเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้น จาก ๑,๕๐๑ ล้านบาท เป็น ๓,๖๔๓ ล้านบาท และในส่วนของมูลค่าเพิ่มต่อไร่จากการเพิ่ม ผลผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จาก ๘,๕๘๖ บาทต่อไร่ในปีการผลิต ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เพิ่มเป็น ๒๐,๗๗๒ บาทต่อไร่ในปีการผลิต ๒๕๖๔-๒๕๖๕ หรือเพิ่มขึ้น ๑๔๑ เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียวท่านประธาน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลลัพธ์ของโครงการถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างมากทั้งในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและมูลค่าเพิ่มต่อไร่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลของเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่จำนวน ๘๕ แปลง จากการ ทำเกษตรแปลงใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน ๘,๑๙๑ แปลง หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ ร้อยละ ๑.๐๔ เท่านั้น จึงไม่อาจสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงได้ เพราะกลุ่มตัวอย่าง ค่อนข้างน้อยเกินไปครับท่านประธาน ยิ่งหากเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศแล้ว ยิ่งจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก แต่ก็ยังถือว่าถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก หากมองถึง ความสำเร็จด้านตัวเลขที่ได้จากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร ผมอยากฝากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จากการดำเนินการที่ผ่านมาผ่านทาง www.opendata ที่ระบุในรายงาน เพื่อเป็นช่องทาง สาธารณะให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาศึกษา และนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ เพื่อเกิดการ เรียนรู้ร่วมกันแบบเป็นวงกว้าง เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลทางการเกษตรได้รับการเผยแพร่ใน Website จากปี ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบันมีเพียงแค่ ๒๒ ชุดข้อมูลเท่านั้น เฉพาะในปี ๒๕๖๕ มีเพียง ๑๔ ชุดข้อมูล สิ่งที่ผมต้องการสื่อสารเป็น Key Message คือความรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหาก พิจารณาถึงสัดส่วนที่เริ่มดำเนินการตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา เทียบกับชนิดและพื้นที่ในภาค การเกษตรภายในประเทศ ถือว่ามีความแตกต่างกันมากพอสมควรครับท่านประธาน ดังนั้น หากนำองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะที่ได้จากการดำเนินการมาประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็ว เท่าไร คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรก็จะดียิ่งขึ้นตามไปด้วย ผลผลิตต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้น ย่อมส่งผลดีทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก ซึ่งจะเป็นส่วนผลักดันให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นด้วยในอนาคตข้างหน้า

นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ

และประเด็นที่ ๒ ที่ผมจะกล่าวถึงนี้ คือผลกระทบภาคการเกษตรจากการ แปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปถึงการตั้งเป้าหมายด้านประเด็นแล้ว จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ทั้ง ๒ เป้าหมายดังกล่าวมีสถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับที่วิกฤติ ในการบรรลุเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวน และอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก WMO ได้ออกมาประกาศเตือนถึงปรากฏการณ์ EI Nino ที่กำลังจะ เกิดขึ้นในภูมิภาค ASEAN ซึ่งอาจทำให้เกิดภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และกระทบต่อการเพาะปลูกของพี่น้องภาคการเกษตรครับท่านประธาน ผมขอยกตัวอย่าง ข้อมูลเขื่อนอุบลรัตน์ที่เป็นเขื่อนหลักที่ใช้ในภาคการเกษตรของพี่น้องจังหวัดขอนแก่น ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จากรายงานของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำจำนวน ๘๗๑ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิด เป็นเพียง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความจุเขื่อน เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปริมาณลดลงถึง ๖ เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นคำถามว่าในแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ได้มีแผน ในการรับมือปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่าง EI Nino ไว้หรือไม่ และจะรับมืออย่างไรครับท่านประธาน ผมไม่แน่ใจว่าในปี ๒๕๖๖ ได้ตั้งค่าเป้าหมายไว้เท่าไร แต่ถ้ามารายงานความคืบหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ในปีหน้าโดยไม่มีแผนรองรับ ก็อาจจะต้องมารายงานว่าห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เหมือนเดิมหรือไม่ครับท่านประธาน กระผมจึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ช่วยศึกษาแนวทาง ในการบริหารจัดการข้อมูลในการขยายผลเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วและเหมาะสมต่อไปครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศนิวาร บัวบาน ครับ เชิญครับ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตากค่ะ ท่านประธานคะ จากการประเมินผลรายยุทธศาสตร์ ณ สิ้นปี ๒๕๖๕ พบว่า ๓ ใน ๖ ยุทธศาสตร์ที่ประเมินผลการดำเนินงานและพบว่าแย่ลงคือขีดความสามารถ ในการแข่งขันและการกระจายรายได้ ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ๒ ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง และส่งผลต่อ ๓ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ คือประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเติบโต อย่างยั่งยืน ดิฉันจึงใคร่ขออภิปรายใน ๒ ประเด็นนี้ค่ะ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

จาก Slide แรกนี้นะคะ ท่านจะเห็นว่าเป็นความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยกับเป้าหมายระดับ ประเด็นนะคะ ท่านสังเกตเห็นไหมคะว่าจากตัวชี้วัดตาม Slide นี้จะเน้นไปที่การเติบโตทาง เศรษฐกิจ อันได้แก่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดที่มีพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แล้วก็มูลค่าการลงทุนนะคะ ดิฉันมีคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงดังนี้ค่ะว่าท่านแน่ใจได้อย่างไรคะว่าผลิตภัณฑ์ มวลรวมนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้มาจากแหล่งที่มาอื่น เช่น เรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือแม้แต่ตัวชี้วัด ในเรื่องของมูลค่าการลงทุน ซึ่งจากแผนดูเฉพาะแค่มูลค่า ที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนไม่ได้มีการ กล่าวถึงจำนวนของผู้ที่มาลงทุนในแต่ละขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังไม่มีการรายงานนะคะว่าเมื่อเขาลงทุนแล้วยังมีการเปิดกิจการอยู่ หรือไม่ หรือว่าผลประกอบการดีขึ้นหรือลดลงอย่างไร อันเนื่องมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของเรา เพราะว่าหากเราดึงดูดให้เขามาลงทุนแล้วเราก็ควรที่จะดูแลให้เขาจนประกอบการ สำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปด้วยค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไปนะคะ หากพิจารณาในเชิงการพัฒนาที่ยั่งยืนควรมีทั้ง ๓ เสา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนะคะ ดังที่ดิฉันได้กล่าวไปว่าตัวชี้วัดนั้นเน้นไปที่มิติเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียว แน่นอนค่ะมีส่วนในเรื่องของเมืองน่าอยู่ที่น่าจะสะท้อนถึงมิติสังคมได้บ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะสะท้อนถึงมิติสังคมได้มากน้อยขนาดไหน แต่ยังไม่สามารถ Guarantee เรื่องความยั่งยืนได้ค่ะ รัฐบาลเราให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติไม่ใช่หรือคะ จะเป็นการดีที่รายงานก็จะได้รวมชุดตัวชี้วัด ความยั่งยืนเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแรงงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การทุจริต ติดสินบน หรือแม้แต่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้สร้าง ความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะมาลงทุน ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของเราสามารถส่งเสริม แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนได้ด้วย Slide ถัดไปค่ะ ถ้าหากเรามาดูที่ Slide นี้ขอให้ดูที่ข้อ ๓ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ท่านจะเห็นว่าตัวชี้วัด ทั้ง ๒ ค่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมและมูลค่าการลงทุนยังต่ำกว่าค่าเป้าหมาย โดยรายงานได้กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายหลัก ๆ คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ดิฉัน คิดว่ายังมีปัจจัยภายนอกนอกเหนือจากนั้นอีกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของทุนจีน การย้าย ฐานการผลิตของผู้ประกอบการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็รวมถึงการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศด้วย นี่ก็เป็นอีก ๑ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่ยังไม่ค่อยมี ความยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไร นอกจากนี้รายงานยังเสนอแนะให้เร่งรัด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหากโครงสร้าง พื้นฐานเสร็จแล้วจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนนะคะ เพราะว่าท่านอย่าลืมตั้งแต่เรามีนโยบาย เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้ เราใช้งบประมาณกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ไปถึงกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายถึงภาษีของประชาชนล้วน ๆ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไป Slide สุดท้ายได้เลยค่ะ จากประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดิฉันจะขอ อภิปรายต่อเนื่องมาที่ประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน ดิฉันได้นำผลการดำเนินงาน แล้วก็เป้าหมายของทั้ง ๘ แผนแม่บทย่อยมาทำการ Normalize อะไรนะคะ แล้วก็ Plot กราฟเป็นแผนภูมิใยแมงมุมจากที่ท่านเห็นใน Slide นะคะ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง เป้าหมาย แล้วก็ผลสัมฤทธิ์ของแต่ละแผนย่อย ดิฉันพบว่าแผนแม่บทส่วนใหญ่บรรลุ เป้าหมายค่ะ ซึ่งก็ต้องขอชื่นชม ยกเว้นเพียงแต่การบริโภค และการผลิตของประเทศนะคะ ดิฉันจึงเจาะลึกลงไปในประเด็นนี้ ซึ่งทางผู้จัดทำแผนได้ระบุประเด็นท้าทาย ในเรื่องของ เหมือนเดิมค่ะ การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของ ประเทศคู่ค้า แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีประเด็นท้าทายอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก เช่น ประเด็น สงครามภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อห่วงโซ่ อุปทานทางการเกษตร ต่อเนื่องไปยังความมั่นคงทางอาหารของโลกรวมทั้งของประเทศไทย เราเองด้วยค่ะ นอกจากแผนแม่บทย่อยเรื่องการบริโภคและการผลิตของประเทศแล้วนะคะ ดิฉันยังตั้งข้อสังเกตถึงแผนแม่บทย่อย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยด้วยนะคะ Slide จบแต่เพียงแค่นี้ค่ะ ที่บรรลุเป้าหมาย โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้เกือบถึง ๑๘ เปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๕ ซึ่งอันนี้ก็ต้องขอชื่นชมอีกครั้งนะคะ แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจนะคะว่าท่านมีวิธีการตั้งเป้าหมายอย่างไร เนื่องจากไม่ได้มีระบุไว้ในรายงานนะคะ อันที่จริงแล้วดิฉันอยากเสนอว่าหากประเทศไทย สามารถทำการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดีเยี่ยมอย่างนี้แล้วนะคะ อาจจะ พิจารณาเพิ่มเป้าหมายในปี ๒๕๗๐ ไหมคะ จากเดิมท่านตั้งไว้ที่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะต้อง ทำการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี ๒๕๗๐ อาจเพิ่มเป็น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๗๐ แล้วก็ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ภายในปี ๒๕๗๓ ตามเป้าหมายความเป็นกลางทาง คาร์บอนเดิมที่ท่านได้ตั้งเป้าไว้นะคะ แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลมีความลังเลว่าจะปรับเป้าหมาย แล้วก็จะไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้อย่างไร พรรคก้าวไกลเรายินดีที่จะให้คำแนะนำค่ะ เพราะว่า เรามีชุดนโยบายการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน แล้วก็เป็นธรรมด้วยนะคะ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วก็ได้รับประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกันเตรียมพร้อมอยู่แล้วค่ะ ทั้งหมดนี้ดิฉันจึงขอเรียนมาเพื่อฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงเพื่อพิจารณาด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง ตำบลหนองไผ่ ขอกราบเรียนกับ ท่านประธานอย่างนี้นะครับ ผ่านไปยังผู้ชี้แจง ท่านเหนื่อยไหมครับ ท่านประธานเหนื่อยไหม แต่ผมก็จำเป็นที่จะต้องพูดเพียง ๗ นาทีเท่านั้นเอง มีเรื่องพูดเยอะแยะครับ เพราะว่าเตรียมมา เพราะว่าผมเห็นยุทธศาสตร์ที่ท่านได้ทำมา เกษตร หน้า ๒๓๔-๒๓๙ นะครับ การเกษตร ในแผนแม่บทคือเรื่องอัจฉริยะนี่นะครับ วางเป้าหมายเมื่อปี ๒๕๖๕ เป็นมูลค่าของเทคโนโลยี สมัยใหม่เพิ่มอัจฉริยะเฉลี่ยร้อยละ ๓ เป้าหมายนะครับ ซึ่งเป้าหมายในรายงานฉบับนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมานั้นในรายงานบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสนับสนุน เทคโนโลยีเรื่องอัจฉริยะ ซึ่งผมก็ไปเห็นในเรื่องอัจฉริยะที่ท่านพูดมา ทีนี้มันก็จะมีเรื่องพืช ๖ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และอ้อยอันนี้สำคัญท่านครับ อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จริง ๆ มันมีข้าว อ้อย มัน ยาง ที่ท่านจะต้องทำยุทธศาสตร์ เรื่องอ้อยนี่ก็ต้องทำยุทธศาสตร์เช่นเดียวกัน คิดว่าอ้อยนี่เขาทำ ยุทธศาสตร์มาเล็กนิดเดียวนะครับ เพราะว่าทั้ง ๆ ที่ทำรายได้ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกไปต่างประเทศ คือน้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศอันดับ ๒ ของโลก ตอนนี้เราตกอันดับ แพ้บราซิลแล้วอันดับ ๑ มาเป็นอันดับ ๒ ของโลก และอาจจะ แพ้อินเดียด้วยก็เนื่องจากยุทธศาสตร์อย่างนี้ ผมอยากจะขอกราบเรียนกับท่านทั้งหลาย ว่าในกรณีเรื่องนี้ เรื่องมะม่วง เรื่องพืชอะไรต่าง ๆ ๖ ชนิด ผมจะคุยเรื่องอ้อย น้ำตาลดีกว่า เพราะเมื่อสักครู่นี้ท่านผู้อภิปรายก็ได้มีการคุยไปหลาย ๆ เรื่องอาจจะซ้ำกันนะครับ เพราะฉะนั้นผมอยากจะคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใช้นวัตกรรม ก่อนที่จะมาทำยุทธศาสตร์นี้ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และมีการแก้ไขเมื่อปี ๒๕๖๕ เป็นฉบับ iLaw ฉบับ iLaw ฉบับเดียวที่แก้เรียบร้อยแล้ว แต่สำคัญคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้ทำยุทธศาสตร์ และในการที่จะเขียนยุทธศาสตร์นั้นก็ยังเป็น ยุทธศาสตร์ที่เดิม ๆ อยู่ยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่จะทำสัมฤทธิผลได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมอยากจะขอกราบเรียนกับท่านประธานว่าปัจจุบันนี้ เครื่องจักรในการตัดอ้อย ซึ่งเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะนี่นะครับ ในประเทศไทยนี่สมมุติว่าอ้อยมี ๑๐๐ ล้านตัน เครื่องรถ ตัดอ้อยเดี๋ยวนี้มีอยู่ประมาณสัก ๔,๔๐๐ คันเท่านั้นเองครับ เพราะฉะนั้นความต้องการของ การตัดอ้อย เราจะต้องตัดอ้อย เขาตัดอ้อยได้วันละ ๕๐๐,๐๐๐ ตัน แต่ความต้องการ ข้อเท็จจริงจะต้องตัดอ้อยได้วันละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ ตัน ถึงจะเพียงพอในการผลิตส่งอ้อยเข้าสู่ โรงงานน้ำตาล การใช้รถตัดอ้อยจะต้องมีการปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย พื้นที่เล็ก ๆ น้อย ๆ พื้นที่ ๑๐ ไร่ ๒๐ ไร่ มันก็ไม่เพียงพอ เพราะว่าข้อเท็จจริงพี่น้องชาวไร่อ้อยนั้นมันเป็นชาวไร่อ้อยของพื้นที่เดิม ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ไม่ราบเรียบ พื้นที่มันไม่เหมือนออสเตรเลีย หรือบราซิล หรือโคลัมเบีย ไม่เหมือน ต่างประเทศเขา มันเป็นพื้นที่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นจากการใช้เครื่องจักรมาทำจริง ๆ ทั้งหมดมันก็ไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้อยากจะขอกราบเรียนกับท่านทั้งหลายว่า นโยบายของรัฐบาลใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมานั้น เพื่อให้มีการลด PM2.5 ลด PM2.5 ก็ต้องแลกกัน ระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งใช้แรงงานมาบอกว่าให้ตัดอ้อยสด ในขณะที่ตัดอ้อยสดนี่ อ้อยเป็น ๑๐๐ ล้านตันครับ อ้อยเป็น ๑๐๐ ล้านตันมันไม่สามารถที่จะตัดอ้อยสดได้ มันต้องใช้แรงงานด้วย แล้วอย่างที่ผมกราบเรียนไปเมื่อสักครู่นี้ ก็คือว่าต้องปรับพื้นที่ให้มี ความเหมาะสม และเครื่องจักรราคาเท่าไรครับ เครื่องรถตัดอ้อย ถ้ารถ Second Hand จากต่างประเทศ รถมือสองนี่ก็ ๕ ล้านบาทแล้ว ซ่อมแซมอีก ๗-๘ ล้านบาท ถ้ารถมือใหม่ จริง ๆ คันละ ๑๐-๑๕ ล้านบาท แล้วพี่น้องเกษตรกรเขาจะมีเงินมีทองไปได้อย่างไร แล้ว ขณะเดียวกันก็มีแต่ Smart Farmer ซึ่งเป็นรายใหญ่ ๆ เท่านั้นเองที่เขาสามารถทำไว้ เสี่ย รายใหญ่ ๆ เท่านั้นเองที่เขาสามารถทำได้ แต่รายเล็กรายน้อยไม่สามารถที่จะใช้เครื่องจักร ท่านจะต้องไปแนะนำแล้วก็วิจัยให้มหาวิทยาลัยวิจัยออกมาว่ามีความเหมาะสม ในการที่จะใช้เครื่องจักรที่มันสามารถเข้าไปในแปลงเล็ก ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร ขอประทานโทษนะครับท่านประธานที่เคารพ ผมอยากจะขอกราบเรียนนะครับท่านประธาน พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยเขาฝากมานะครับว่า รัฐบาลที่แล้วได้มีนโนบายในการที่จะแก้ไข ปัญหา PM2.5 ก็คือให้ตัดอ้อยสด ให้พี่น้องชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดใน ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ฤดูการผลิต ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ ในขณะเดียวกันเราต้อง แลกกับรัฐบาลว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเงินทุน เพื่อที่จะให้พวกเราตัดอ้อยสด เพื่อรักษา สภาพแวดล้อมตันละ ๑๒๐ บาท ๒ ปีที่ผ่านมาก็ได้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ที่ผ่านมานั้นมีปัญหานิดหน่อย เพราะว่ามันควบกล้ำกันระหว่างรัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายนี้อย่างไรก็แล้วแต่ผมก็อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลใหม่ ซึ่งเรา จะได้รัฐบาลใหม่ ๆ แล้วจะต้องติดตามเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้นโยบายที่ได้ตกลงกับพี่น้อง เกษตรกรไว้นั้น ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เราจะพัฒนาขึ้นไป ให้มีการตัดอ้อยสด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะได้เรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกันต้องขอเรียนกับ ท่านประธานนะครับว่าสุดท้ายเรียนกับท่านประธานนะครับว่า ณ วันนี้นโยบาย คือข้าราชการทำ เพราะว่ารัฐมนตรีรักษาการก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อทำอะไรไม่ได้ ก็รับเรื่องไว้แล้วนะครับ พอรับเรื่องไว้แล้วนโยบายต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ข้าราชการเริ่มที่จะมาข่มขู่ พี่น้องชาวไร่อ้อย อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าคุณไม่ตัดอ้อยสดทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้เงิน งบประมาณ อย่างนี้ไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นผมขอเรียนกับท่านประธานฝากไปหาหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือใครครับ ก็คือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ตระเตรียมโครงการงบประมาณต่าง ๆ ได้ตระเตรียมไว้ให้เกี่ยวข้อง ดำเนินการไป เพื่อพี่น้องเกษตรกรเกือบ ๒ ล้านคน ที่จะได้มีเงินส่วนนี้ที่ได้ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว ในยุทธศาสตร์ผมเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ที่ท่านได้ดำเนินการมา อย่างไรก็แล้วแต่ผมวางไว้นี่ มันใหญ่เหลือเกิน มันเยอะเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราจะเอาสิ่งที่เราเข้าใจนี่ละมันเป็น ยุทธศาสตร์หนึ่ง และถ้าหากจะให้ผมพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์อ้อยมันจะเยอะมาก มันมีความอะไรต่าง ๆ เยอะ ยุทธศาสตร์ความเจริญเติบโตระบบอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายเยอะแยะไปหมด ด้านอ้อย ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล ด้านที่จะส่งออก มันมีอะไรมาก มีเยอะแยะกว่านี้ที่ไม่ได้เขียนไว้นะครับ ก็ไม่เป็นไรครับไม่ได้เขียนไว้ เพราะผม ได้ทราบว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กรุณาพูดไว้ว่าสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนด้านยุทธศาสตร์ เราไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยทั้งหมดนี้ครับ เวลาเราไปปฏิบัติจริง ๆ เล่มนี้ทั้งเล่มหรือ ๒๐ ปี สงสัยนายกรัฐมนตรีตายสัก ๒-๓ คนกระมัง มันถึงจะประสบความสำเร็จ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสิริน สงวนสิน ครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สวัสดีท่านประธานที่เคารพนะครับ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมาตั้งข้อสังเกตในการอภิปรายผลดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติ ในแผนแม่บทที่ ๑๓ การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี มีเป้าหมาย คือคนไทยมีสุขภาวะที่ดี และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแผนแม่บทย่อยอยู่ ๕ แผน ผมขออนุญาตหยิบขึ้นมาพูด ๒ แผนนะครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แผนแรก คือการพัฒนาบริการสุขภาพที่ทันสมัยและสนับสนุน การมีสุขภาวะที่ดีครับ แผนนี้ท่านใช้ Health Care Index จาก NUMBEO Survey เป็น ตัวชี้วัดการปฏิรูปเป้าหมายนี้ครับ การปฏิรูปเป้าหมาย ก็คือเราต้องติดอันดับ ๑ ใน ๒๕ ของ NUMBEO Survey ในเรื่องของมาตรฐานสาธารณสุขในปี ๒๕๖๕ เราก็ผ่านตามที่ท่าน ต้องการนะครับ แต่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตแล้วก็มีความเป็นกังวลนะครับ ว่าการเข้าถึง สาธารณสุขของประเทศไทยมันเข้าถึงสำหรับประชากรทุกระดับหรือเปล่านะครับ เพราะว่า หากการประเมินที่เราประเมินมานี้มันไม่ใช่ประเมินจากสภาพความเป็นอยู่จริงนะครับ จากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้องและแม่นยำนะครับ มันจะกระทบและเกิด ความเสียหายต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากครับ เพราะรัฐจะพึงพอใจกับ การประเมินนี้ และคิดว่าตัวเองบริหารงานได้ดีจนประชาชนพึงพอใจนะครับ แต่ผมคิดว่า มันค่อนข้างขัดกับความรู้สึกของพวกเราเป็นอย่างมากนะครับ ขัดกับความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เพราะผลสำรวจจาก NUMBEO Survey มันไม่น่าเชื่อถือ ครับท่าน มันไม่สามารถสื่อสารถึงภาพรวมของประเทศได้ครับ เพราะแบบสำรวจนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาทำได้ด้วย ๘ คำถามตรงนี้ที่ไม่มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมใด ๆ ครับ และผมก็อยากจะตั้งข้อสังเกตต่อไปนะครับว่าคนที่เข้ามาทำแบบสอบถามนี้เป็นคนไทย จริง ๆ หรือเปล่า และเป็นประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจริง ๆ หรือเปล่าครับ และอีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นในแบบสอบถามก็มีคน Sample Size แค่ ๕๐๐ คน และจะเอา ๕๐๐ คนนี้ มา Referenced คนไทย ๗๐ ล้านคน ผมว่ามันไม่ค่อยถูกต้องนะครับ และเมื่อเราแยกดู รายจังหวัดนะครับ บางจังหวัดไม่มีคนทำแบบสอบถามเลยด้วยซ้ำครับ ผมจึงเห็นว่าเรา ไม่ควรนำผลลัพธ์จากแบบสอบถามนี้มาประเมินความพึงพอใจของประชาชนของคนไทย ทั้งประเทศครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ แผนย่อยที่ ๒ คือจำนวนสุขภาพชุมชนดีขึ้น วัดจากการขยาย จำนวนบริการปฐมภูมิ เป้าหมายคือ ๓,๐๐๐ แห่ง อันนี้ด้วยเพียงจำนวนตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ผมว่ามันไม่พอที่จะสรุปว่าชุมชนในประเทศไทยสุขภาพดีขึ้นครับ เราควรพิจารณา ดูสภาพความเป็นจริงนะครับ เรายังมีปัญหาในระบบสาธารณสุขอีกมากมายครับ เช่น ปัญหาการจัดการบุคลากรของรัฐ ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอเราเห็นได้จากอัตราส่วน ประชากรต่อจำนวนหมอนะครับ World Health Organization เขาเขียนมาตรฐานว่า หมอ ๑ คน สามารถดูแลประชากรได้ ๑,๐๐๐ คน แต่ความเป็นจริงในประเทศไทย ตอนนี้หมอ ๑ คน ดูแลคนถึง ๑,๖๘๐ คน ซึ่งมันเกินจากอัตราส่วนมาเกือบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาหมอลาออกจากระบบนะครับ ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นมา นานแล้วนะครับ แต่ในระบบสาธารณสุของของไทยครับ ด้วยการบริหารงานที่ไม่เข้าใจ จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือนะครับ เรื่องค่าตอบแทน เรื่องค่าครองชีพ ก็ไม่สอดคล้องกับงานปัจจุบัน ผมขอแบ่งปันประสบการณ์จากพี่น้องประชาชนในเขตตลิ่งชัน แม้อยู่ในกรุงเทพฯ หน่วยปฐมภูมิก็ไม่สามารถบริการได้อย่างครอบคลุมครับ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่แพทย์นาน ๆ จะมาทีนะครับ เวลาเปิดปิด ที่ไม่แน่นอน เปิดบ้าง ปิดบ้าง สิทธิต่าง ๆ ที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางคนก็เล่าว่าอะไรนิดหน่อยสุดท้ายก็ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล อยู่ดี อย่างไรก็ต้องไปจบที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็อยู่ค่อนข้างไกลออกไปนะครับ นี่ขนาดอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ฝ่าน้ำท่วม ฝ่าฝนตกออกไปนะครับ บางทีกว่าจะถึงโรงพยาบาลรถชนตายกันก่อนนะครับ ทำให้ผมอดเป็นห่วงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ไม่ได้นะครับ ว่าเขาต้องเจอปัญหาที่มันยากเย็นกว่าคนในกรุงเทพฯ ขนาดไหนนะครับ ผมอยากจะแนะนำว่าเราควรจะจัดการปัญหานี้ด้วยแนวคิดเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ แล้วเราก็ควรจะดูปัญหาจริง ๆ ว่าบุคลากรต้องการอะไร เพราะภาระงานที่ล้นมือ หมายถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตคนไข้ครับ และทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่มันคือความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขของไทยครับ ผมจึงเล็งเห็นว่า เราควรปรับเพิ่มตัวชี้วัดในเรื่องนี้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อไปขออนุญาตพูดในส่วนแผนแม่บทที่ ๖ เรื่องพื้นที่และเมืองที่น่าอยู่ อัจฉริยะ โดยจุดประสงค์ก็คือการพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะในทุกมิติ ให้เป็น ส่วนงานการเศรษฐกิจและสังคมด้วยแผนผังภูมินิเวศน์อย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผมมีความรู้สึกว่าแผนแม่บทของท่านมันค่อนข้างจะมีความขัดกันเองนะครับ เพราะว่า ท่านก็มองแต่จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ไม่ได้ส่งเสริมให้มัน ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วไทยและอย่างนี้จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร และจังหวัดที่ท่าน หยิบขึ้นมาก็เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพดีอยู่แล้วครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ท่านบอกว่าท่านใช้เวลา ๕ ปีในการทำแผนผัง ภูมินิเวศ ๑ ภาค นั่นก็คือภาคเหนือ แต่ท่านมีโครงการวางแผนว่าจะใช้เวลา ๒๐ ปี ถึงจะทำ ครบ ๔ ภาค ผมว่ามันจะไม่ล่าช้าเกินไปหรือครับ ผมอาจจะแนะนำให้ท่านลอง Chat GPT ดูเผื่อจะทำให้มันเร็วขึ้นได้ครับ

นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ผมว่าท่านควรให้ความสำคัญกับแผนผังเมืองมากกว่า แผนผังภูมินิเวศนะครับ เมื่อก่อนแผนผังเมืองเราใช้ได้ในระยะ ๕-๗ ปี ใช้ไม่เกิน ๗ ปี แต่ก็มีการแก้ไขให้มันสามารถใช้ออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดนะครับ โดยปัจจุบันเมืองบางเมือง แผนผังเมืองหมดอายุเกิน ๑๒ ปีแล้วครับ ยังไม่มีการ Update เลย แล้วผมก็คิดว่า แผนผังภูมินิเวศมันเหมือนเป็นการแสดงว่าปัจจุบันพื้นที่นั้นเขาทำอะไรอยู่ แต่แผนผังเมือง มันคือการกำหนดทิศทางอนาคตของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อว่าจะได้พัฒนาไปทางไหน กำหนด กรอบไว้นะครับ ผมก็เลยอยากจะเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ ผังเมือง เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ท่านขอไว้ ๑๐ นาที เชิญครับ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ ในการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ๕ ปีแรกของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ ๕ ปี ของแผนปฏิรูปที่สิ้นสุดลงแล้วนี้ ผมจะไม่อภิปรายลงในรายละเอียดเป็นด้าน ๆ แล้วเสนอแนะว่าด้านไหนควรจะปรับปรุงอะไร ใครควรจะทำอะไร เพราะผมเห็นว่า มีผู้อภิปรายจำนวนมากได้เสนอความคิดเห็นไปแล้ว แต่ผมจะพูดถึงความล้มเหลว ของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือความผิด ความเสียหาย ที่เกิดจากการมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้ง แผนปฏิรูปประเทศซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และผมจะกราบเรียนท่านประธานว่าถ้าจะให้ ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติและความล้าหลังจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไรดี กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่มีการต่ออายุโดยคณะรัฐมนตรี ท่านประธานครับ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปมาจากไหน มีบทบาทอย่างไร ความจริงตั้งต้นมาจาก การรัฐประหาร คณะรัฐประหารต่อมาก็เป็นรัฐบาล คสช. นั่นละที่บรรจุเรื่องเหล่านี้ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสืบทอดอำนาจ สืบทอด อำนาจในการกำหนดทิศทางวิสัยทัศน์ของประเทศให้ทุกหน่วยงานต้องทำตาม ไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย ๆ เมื่ออ่านดูรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ ซึ่งเขาก็รวม ๔-๕ ปีเข้าด้วยกันด้วย จะพบว่า

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๑ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถแก้ปัญหา ด้านสำคัญ ๆ ของประเทศได้เลย ยกตัวอย่าง ในรายงานก็บอกดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกันในสังคมไทย อันนี้ของสภาพัฒน์บอกว่ามีแนวโน้มลดลงจากคะแนน ปี ๒๕๖๑ ๗๕ คะแนน พอปี ๒๕๖๕ ลดลงมาเป็น ๗๒.๔ อย่างมีนัยสำคัญ หนี้ครัวเรือนในรายงาน ไม่ได้พูดครับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ ๑๕ ปี ในปี ๒๕๖๖ นี้ องค์กรอื่นเขารายงาน ท่านประธานครับรายได้ต่อหัวของประชาชนไทยเติบโตช้าสุด ใน ASEAN ในรอบ ๑๐ ปี อันนี้รายงานก็ไม่ค่อยกล้าแตะ ความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำ ในรายงานนี้พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านรายจ่ายซึ่งไม่สำคัญ เพราะไม่แตกต่างกันมากนัก คนรวยคนจนบางทีก็มื้อกลางก็อาจจะกินก๋วยเตี๋ยวคนละชาม แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของประเทศไทย เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อันนี้ก็ผลจากยุทธศาสตร์ชาตินี่ละครับ ๕ ปีมานี้ละที่เป็นปัญหา นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ รายภาคต่อหัว หมายถึงเทียบภาคนั้นกับภาคนี้ ภาคที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดกับต่ำสุดต่างกัน ๑๕ เท่า อันนี้อยู่ในรายงานของยุทธศาสตร์ชาติ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ การที่ประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้า สะท้อนปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท เป็นการวางแผนล่วงหน้า ๒๐ ปี ยกร่างกันโดยกลุ่มบุคคลที่ขาด การมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจปัญหาของประเทศ จึงไม่แปลกเลยครับ วันนี้ท่านสมาชิกจำนวนมากพูด ถามว่าทำไมไม่มีเรื่องนั้น ทำไมไม่มีเรื่องนี้ ปัญหาเกิดใหม่ ๆ ทำไมไม่มี มันมีไม่ได้ครับ เพราะว่าคิดไว้ คิดแบบ ๒๐ ปี อันนี้ละครับทำให้ประเทศไทย ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวทันโลกได้ จะเห็นได้ชัดจาก COVID-19 มาสงคราม รัสเซีย ยูเครน มีปัญหา Supply Chain ห่วงโซ่ทางการผลิต ประเทศไทยควรจะเป็นฐาน การผลิต ปรับตัวไม่ทันเลยครับ ประเทศไทยยังเจอปัญหาต้นทุนภาคเกษตร ปศุสัตว์สูงขึ้น ราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค หลายประเทศทั่วโลกพูดถึงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างมีแผนเป็นระบบ ของเรายุทธศาสตร์ชาติมันไม่มีเรื่องพวกนี้ครับ เพราะฉะนั้นวิธีคิด แบบยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี มันจึงใช้ไม่ได้ และไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ผู้มีอำนาจจัดทำ อันนี้เรื่องสำคัญครับ ผู้มีอำนาจจัดทำและดูแล ยุทธศาสตร์ชาติ คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถึงแม้จะมีประธานสภา ๒ สภาอยู่ ก็จริง แต่ผู้ที่เป็นหลักคือรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงแรกเป็นรัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ ต่อมาก็เป็นรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากคณะรัฐประหาร ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมีผลผูกพันหน่วยงานทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ อันนี้มันผิดหลักการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม และองค์กรอิสระที่ไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกัน ว่าไปแล้วนี่คือไม่ใช่ระบบรัฐสภาปกติ ท่านประธานที่เคารพ ต่อจากเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ก็มาเป็นเรื่องแผนปฏิรูปประเทศ ในรายงานนี้ประเมินผลการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทั้ง ๖ ด้าน ซึ่งจะพบว่าเป็นการพูดถึงโครงการที่เป็นรายละเอียดยิบย่อยมากมาย มีผลสำเร็จอยู่บ้าง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ ทำโน่นนิดนี่หน่อยมันไม่ใช่การปฏิรูป ความหมายโดยรวมของทั้งหมดแล้ว ถ้าดูแล้ว ๕ ปีนี้ คือไม่มีการปฏิรูปเลย ไม่มีเลย แม้แต่เรื่องเดียว ผมยกตัวอย่างสัก ๒-๓ ด้าน ให้เห็นว่าทำไมผมจึงพูดว่าไม่มีการปฏิรูป ท่านประธานครับ เรื่องเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในรายงาน มีการพูดถึง FTA ข้อตกลงเสรีทางการค้าอยู่ในหลายที่ แต่ไม่ได้บอกว่าการทำข้อตกลง ทางการค้าเสรีนี้ช้าไป ๙ ปี ทำไม่ได้ จนต้องรอรัฐบาลใหม่ อันนั้นเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ดึงดูดการลงทุน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานระบบ Logistics เสียโอกาสในการพัฒนาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง เครื่องบิน ระบบโครงสร้าง พื้นฐานสำหรับ Digital Economy การลงทุนจากต่างประเทศของไทยจึงต่ำกว่าประเทศ ต่าง ๆ ใน ASEAN หลายเท่า พอมาดูด้านการศึกษา รายงานพูดถึง Active Learning Excellence Center การเรียนอย่างกระตือรือร้น เรื่องศูนย์ความเป็นเลิศ แต่การปฏิรูป การศึกษาที่สำคัญ ๆ ไม่พูดถึง ก็เพราะว่ามันไม่มี ไม่มีคือไม่มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอนให้เด็กมีทักษะในโลกที่ต้องการ การพัฒนาครู การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา การจัดระบบการบริหาร คือการแก้ พ.ร.บ. การศึกษา ผ่านไป ๙ ปี พ.ร.บ. นี้ ยังไม่ออกมา และไม่มีการแก้ปัญหาระบบการบริหารที่ คสช. ไปแก้ พ.ร.บ. การศึกษาไว้ อย่างมากมาย ไม่ได้ทำ ที่ดินท่านพูดถึงการจัดที่ดินให้คน ๖๐,๐๐๐ กว่าราย ประเทศนี้คนมีปัญหาที่ดินไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านไร่ ส.ป.ก. ไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านไร่ แต่การทำเรื่องที่ดินพูดถึงไม่กี่หมื่นไร่ กระบวนการยุติธรรมและตำรวจ การปฏิรูปตำรวจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กระบวนการยุติธรรม ทั้งระบบไม่ได้ทำ การดำเนินคดีทุกขั้นตอนมีปัญหา แต่ไม่มีการทำ ในรายงานจะเห็นว่า มีการพูดปฏิรูประบบยุติธรรมเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ทั้งหมดนี้คืออะไรครับ การปฏิรูปกรอบแนวคิดเหล่านี้ นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นข้อจำกัดในการทำงาน ของหน่วยงานต่าง ๆ ซ้ำร้ายก็คือ ครม. มีมติ พอแผนปฏิรูปหมด ๕ ปี หมดอายุ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำต่อเนื่องไปอีก ทั้ง ๆ ที่มันสิ้นสุดแล้ว สุดท้ายผมจะเสนออะไร ผมเสนออย่างนี้ครับ ในระหว่างที่ยังมียุทธศาสตร์ชาติ ยังมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ครม. บอกไว้ยกเลิกมติ ครม. นั้นเสีย แต่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานอาจจะต้องทำตาม ถ้าประกาศ ไว้ให้ทำเคร่งครัดก็ต้องทำ ขออนุญาตอีกนิดเดียวครับท่านประธาน แต่ว่าต้องประยุกต์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องพิจารณาทบทวนแก้ไข อย่างจริงจัง ให้ยุทธศาสตร์ชาตินี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ และอันนี้ละครับ เป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่เราจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และในการ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อใดเราจะต้องผลักดันให้มีการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ให้มียุทธศาสตร์ชาติ อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้บริหารปกครองด้วยยุทธศาสตร์ชาติ กลับมาใช้ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง ให้ประชาชนกำหนดแผนในการบริหารประเทศ อย่างยืดหยุ่น พลิกแพลง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสอดคล้องกับ ความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่ล้มเหลวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรอมฎอน ปันจอร์ ครับ เชิญครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานและเพื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานที่เกี่ยวข้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติด้วยนะครับ ขออนุญาตฉาย Slide เลยครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ของผมอาจจะนั่งฟังพร้อมกับ เพื่อน ๆ มาทั้งวันทั้งแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติอาจจะเหนื่อยล้านะครับ ของผมก็จะเสนอ ประเด็นที่อาจจะแตกต่างเหมือนกับว่ายังไม่มีการอภิปรายในสภาแห่งนี้ในตลอดวันนี้นะครับ ก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสันติสุขในความหมายของ ทางการนะครับ แต่พูดถึงชะตากรรมของมัน เมื่ออ่านเอกสารเล่มประมาณ ๓ กิโลกรัมนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วระบุเนื้อหาไม่กี่หน้าครับ แต่ว่าผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมี การอภิปรายกัน ผมเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเหมือนความใฝ่ฝันของพลังเสนาอนุรักษ์นิยม ไทยอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ที่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งแบบซึ่งหน้า แล้วก็มุ่งสนใจ แต่การกดปราบความรุนแรง แล้วทำให้เราทึกทักเอาไปว่าภาพของสันติสุขนี่มันจะปรากฏ ขึ้นมาโดยตัวมันเอง

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปนะครับ ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ เมื่อไปดูว่าเป้าหมายของ ยุทธศาสตร์ชาติต่อเรื่องความขัดแย้งต่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ มีอะไรบ้าง เราเห็นว่าแน่นอนครับ ๒๐ ปี คงหวังให้มีความสงบ มีความสุขร่มเย็น แต่ที่น่าสนใจดูเฉพาะ แค่ปี ๒๕๖๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยงเลยทีเดียว สีส้มนะครับ จากตัวชี้วัด หรือว่าค่าเป้าหมาย ๓ ตัว ที่ผมจะขออนุญาตอภิปรายที่นี่แบบกระชับเลย ต่อไปเลยครับ คำถามก็คือตัวแรกดูที่งบ งบต้องลดลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ งบประมาณด้านความมั่นคง ต้องลดลง ผมเข้าใจว่านี่อาจจะเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงอยู่ตลอด คนมักจะพูดว่า หากสงบงบไม่มา ตัวชี้วัดอันหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำเร็จหรือไม่คือดูที่งบประมาณ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าแม้ว่าในปี ๒๕๖๕ จะผ่านคือตั้ง ๒๗.๗๒ เปอร์เซ็นต์ แต่งบด้านความมั่นคงนี่ไปดูแล้วมันคือยอดเดียวกันกับแผนงาน บูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผมพบว่าจริง ๆ มีงบ ด้านความมั่นคงอยู่ข้างนอกด้วยนะครับ แต่น่าจะต้องรวมด้วย น่าจะต้องนับด้วย แต่ทำไม ไม่ถูกนับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ถัดไปครับ อันนี้เป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ จังหวัดชายแดนภาคใต้นอกงบบูรณาการอยู่ไม่น้อยทีเดียว ส้ม ๆ นะครับ และกลายเป็นว่า งบบูรณาการทำให้เห็นว่ามันมีงบที่ซ่อนอยู่ ซุกอยู่ ผมไปดูก็จะเห็นว่ามันมีการขึ้น มีการลง คำถามใหญ่ก็คือว่าตกลงจะนับอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อะไรที่เราจะประเมิน ความสำเร็จ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ถัดไปก็มีตัวอย่างอย่างเช่นงบของ กอ.รมน. นั่นเอง อย่างการกำลังพล และการดำเนินงาน ลดลงราว ๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปีต่อเนื่องกัน ลดลงจริง มีงบอื่นด้วย การสนับสนุนการใช้งานเครือข่ายมวลชนเพื่องานด้านความมั่นคง แต่ผมแปลกใจว่า ทำไมไม่นับรวมเอาเงินยอดพวกนี้ งบพวกนี้เข้าไปในการประเมินความสำเร็จของ แผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นถัดไป ตัวชี้วัดที่ ๒ ความรุนแรง กลายเป็นว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นการกระดกขึ้นมาจากเป้าที่ต้องลดร้อยละ ๑๐ ต่อปี ครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ความสูญเสียต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๖๕ เป็นสัญญาณที่น่ากังวลทีเดียว แต่เวลารายงาน อภิปรายลงมาถึงสาเหตุน่าสนใจครับ พูดถึงว่าอาจจำเป็นเพราะการผ่อนปรนมาตรการ จำกัดการเดินทางลง ใช่หรือเปล่าว่าเป็นการลดด่านตรวจ ลดอุปสรรคขัดขวางการใช้ชีวิต ของพี่น้องประชาชน ใช่หรือไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง นี่หมายความว่า ถ้าเพิ่มวิสามัญฆาตกรรม การบังคับใช้กฎหมาย การปิดล้อมตรวจค้นจะทำให้สถานการณ์ แย่ลงใช่หรือไม่ ถ้าเป็นการประเมินอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตที่ต้องตั้งเอาไว้ เพื่อที่จะ ชี้ให้เห็นว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไรในกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันสุดท้ายเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวและการลงทุนที่ตามเป้าค่าเป้าหมาย ต้องเพิ่มขึ้น แต่เห็นได้ชัดเลยว่าสถานการณ์แย่ลงในปีที่ ๕ ของยุทธศาสตร์ชาติ ใน ๕ ปีแรก ของยุทธศาสตร์ชาติ เราพบสัญญาณที่ดูท่าจะไปไม่ค่อยไหวแล้ว

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่จริงแล้วผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ากรอบคิดของยุทธศาสตร์ชาติโดยตัวมันเอง แม้กระทั่งเรื่องการสร้างสันติสุข การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น อุปสรรคที่ขัดขวาง เป็นอุปสรรคที่จำกัดทางเลือกของฝ่ายบริหาร ของฝ่ายการเมือง ของรัฐบาล ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นจำกัดให้เรามองเห็นแค่ปัจจัยที่เป็นแค่ผิวนอกของ สถานการณ์ความขัดแย้ง เห็นแค่ตัวงบประมาณ เห็นแค่ตัวความรุนแรง แต่ไม่เห็น ตัวรากเหง้าของปัญหา ไม่เห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหาความชอบธรรมของการปกครอง ของอำนาจรัฐเป็นการผูกขาดอำนาจรัฐจากส่วนกลาง กลายเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญ ที่ต้องแสวงหาทางออกทางการเมือง ต้องแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารปกครอง ที่กระจายอำนาจมากขึ้น ต้องแสวงหาฉันทามติ แสวงหาข้อตกลงสันติภาพผ่านตัวแสดงต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติเลยครับ กลายเป็นว่าตัวยุทธศาสตร์ชาติเองแม้จะวางเป้าหมาย ๒๐ ปีภาคใต้สงบสุข แต่โดยตัวมันเอง ดูทิศทางจาก ๕ ปีแรกแล้ว ดูทิศทางกรอบคิดของมันแล้วน่าจะเป็นอุปสรรค และเราจำเป็น ที่ต้องมีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นในทางการเมืองอย่างจริงจังในการจะคลี่คลาย แสวงหา ข้อตกลง แสวงหาฉันทามติใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของ ยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้ดูเหมือนว่าจะสิ้นหวังแล้วละครับ อันนี้ก็ต้องฝากประเด็นเอาไว้ ให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ในวันนี้ประเด็นเกี่ยวกับ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติผมขอให้ข้อคิดเห็นดังนี้ครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก แผนยุทธศาสตร์ชาติ อันนี้เป็นแผนที่มีลักษณะพิเศษกว่า ยุทธศาสตร์ชาติเท่าที่ผมเคยเจอมา เพราะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ผูกกับรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีพระราชบัญญัติรองรับ ก็คือรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๕ และพระราชบัญญัติการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งเท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์มา เคยตรวจสอบมา เคยศึกษามา ไม่พบว่ามีประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศใดมีการผูกยุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมาย และผูกกับ รัฐธรรมนูญ ผู้ใด รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ไม่กระทำตามยุทธศาสตร์ชาติอาจจะ ถูกถอดถอนโดย ป.ป.ช. หรือโดนพิจารณาวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นลักษณะพิเศษ ของยุทธศาสตร์ชาติอันนี้นะครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ยุทธศาสตร์ชาติอันนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นการคิด จากด้านบน แล้วกำหนดให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างปฏิบัติ ที่ผมกล่าวเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๕ จะเขียนว่าในการตรากฎหมาย หรือในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน อย่างทั่วถึง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทั้งตัวกฎหมายและตัวยุทธศาสตร์ชาติเอง ก็ถูกจัดทำขึ้น ก่อนที่เราจะมีรัฐบาลประชาธิปไตย จึงไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตรา พระราชบัญญัติ หรือจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าถามเพื่อนสมาชิก ๕๐๐ คนที่อยู่ในสภาแห่งนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจ ผมถามหลายท่านครับ ไม่พบว่ามีใครมีส่วนร่วมในการตรา หรือว่ามี ส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นในการตรากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ หรือมีส่วนร่วมในการให้ ข้อคิดเห็นในการทำยุทธศาสตร์ชาติเลย เป็นที่น่าเสียดายมากนะครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีความซับซ้อน ท่านประธานครับ ยุทธศาสตร์ชาติ ในปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๗๐๐ หน้า ปีนี้เป็น ๑,๐๐๐ หน้า แล้วผมก็ได้ยินว่าจะมีแผนระดับรอง ระดับย่อยต่อ ๆ ไปอีก ไม่แน่ใจว่าปีหน้าเราจะถึง ๑,๕๐๐ หน้าหรือไม่ จึงซับซ้อน แล้วก็ซ้ำด้วยครับ เพราะเรามียุทธศาสตร์ชาติ เรามีแผนปฏิรูปประเทศ เรามีแผนยุทธศาสตร์ แล้วก็มีนโยบายของรัฐบาล มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด ก็จะมีปัญหาว่าเวลาหน่วยงาน ราชการจะดำเนินการก็จะต้องปวดหัว ดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย ก็เลยเวลาจะทำ อะไรก็ขาดความเป็นอิสระ มีโซ่ตรวนล้อมเต็มไปหมด ท่านประธานครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งยุทธศาสตร์อันนี้ไม่ได้มีการจัดความสำคัญครับ มีอยู่ ๖ ด้าน ๒๓ แผนแม่บท แต่อ่านแล้วก็ไม่ทราบว่าควรจะทำอะไรก่อน อะไรมีความสำคัญมากกว่า อะไรมีความสำคัญน้อยกว่า ในภาวะที่ประเทศไทยของเรามีปัญหาในเรื่องของทรัพยากร มีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และ Resources ต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องจัดความสำคัญ ว่าภายใต้งบประมาณที่จำกัดเราจะทำอะไรก่อน ผมมุ่งหวังว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะให้ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นเราจะมี ยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้สำหรับการดูเท่านั้นเอง ในการทำจริง ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรครับ อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติอันนี้ก็คือลักษณะการเป็น สารานุกรม หรือ Encyclopedia มี ๒๓ ด้าน มี ๒๓ แผนแม่บท ครอบคลุมสารพัดเรื่อง แต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งหมดครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างแผนแม่บทที่ ๔ เกี่ยวกับ เรื่องอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ก็จะแบ่งเป็น ๖ ด้าน มีเรื่องของอุตสาหกรรม ชีวภาพ มีเรื่องของการแพทย์ มีเรื่องของอุตสาหกรรม Digital ปัญญาประดิษฐ์ มีเรื่องของ การเป็น Hub ในเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยานมีแค่ ๖ ด้าน แต่ว่าอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต ผมเชื่อเลยว่าไม่ได้มีแค่ ๖ ด้านนี้อย่างแน่นอนครับ มีมากกว่านี้ และทุกวันเวลาที่เปลี่ยนไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แม้แต่ในด้านที่เขียนไว้แล้ว อย่างเช่น ด้านที่ ๓ เรื่องของ Digital เรื่องของข้อมูล เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ลักษณะของ การเขียนยุทธศาสตร์ก็ไม่อยู่ในลักษณะที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ที่ผมพูดอย่างนั้น ผมมีเหตุผลอย่างนี้ครับ ในด้านที่ ๔ ส่วนที่ ๓ มีการกำหนดว่าให้มีเป้าหมาย ๒ ส่วน

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนแรก เป็นเรื่องของการขยายตัวของ GDP เกี่ยวกับอุตสาหกรรม Digital และปัญญาประดิษฐ์ให้เพิ่มขึ้นปีละ ๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านประธานทราบไหมว่าเวลาชี้วัด วัดจากอะไรครับ ไปวัดดูว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวนเงินเท่าไร ซึ่งตัวนี้ มันไม่ใช่ตัวชี้วัด GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมเลยแม้แต่น้อย

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกตัวหนึ่งครับ เรื่องของผลิตภาพ อุตสาหกรรมนี้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้อง มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวชี้วัดคืออะไรครับท่านประธาน ตัวชี้วัด บอกว่าไปดูจาก Digital Evolution Index ที่ IMD เป็นคนจัดลำดับครับ ซึ่งผมก็เห็นว่า IMD เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ แต่ลำดับที่ IMD จัดมันไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภาพเลยครับท่านประธาน แค่ตัวชี้วัดก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมมีปัญหาครับ ท่านประธาน ปัญหาต่าง ๆ ที่ผมได้กราบเรียนท่านประธานมา ผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่างว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ฟังแล้วสมเหตุสมผล และดำเนินการได้มีอะไรบ้าง ผมขอยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ก็แล้วกันนะครับ สิงคโปร์มียุทธศาสตร์ชาติในอดีตอยู่ ๒ เรื่อง

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ บอกว่าให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค สำเร็จครับ ท่านประธาน

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของโลก ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ชาติที่ดีจึงต้องมีความเรียบง่าย ปฏิบัติง่ายและเข้าใจกันทั้งประเทศ เพราะถ้าหากว่าแม้แต่สมาชิกสภาแห่งนี้ก็ยังไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ชาติทั้งฉบับ แล้วประชาชน ที่จะต้องร่วมผลักดันกับเรา ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติจะเข้าใจและดำเนินการได้ อย่างไร ก็ขออนุญาตฝากความกังวลไปยังท่านประธานไปถึงผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ดีต้องเรียบง่าย ต้องไม่ซับซ้อน สามารถสื่อสารถึงประชาชนได้โดยง่าย และประชาชนทราบแล้วก็สามารถร่วมกันผลักดันและปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ได้ครับ ขออนุญาตขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเอกราช อุดมอำนวย เชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ยังคงอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้ ผม นายเอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกลครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอีกครั้งที่ได้อภิปรายในวันนี้ โดยหัวข้อการอภิปรายเป็นเรื่องของ การตรวจสอบรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ จากรายงานจุดที่ผมชวนสังเกตจากแผนแม่บทที่ ๑๔ ศักยภาพทางด้านกีฬา เรื่องของ การพัฒนาศักยภาพสาธารณูปโภค และศักยภาพของนักกีฬาให้มีมาตรฐานระดับสากล ก่อนอื่นอยากให้ท่านปรับวิธีการนำเสนอในเล่มนี้นะครับ เพื่อนสมาชิกที่พูดหลายคนก็คงพูด ตรงกันว่ามันใหญ่และอ่านไม่รู้เรื่องนะครับ ท่านอาจจะต้องศึกษาหน่วยงานที่อยู่ภายใต้แผน ของท่านว่าเวลาเขาส่งรายงานเข้าสภาทำอย่างไรถึงจะอ่านง่ายขึ้นนะครับ ผมขออ้างอิง จากในรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติแผนที่ ๑๔ สถานการณ์การบรรลุ เป้าหมายการกีฬาของประเทศไทย ก็พบว่าการได้รับเหรียญรางวัลของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลง ตัวอย่างเช่นการแข่งขันกีฬา Asian Games ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงจาการ์ตา และเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี ๒๕๖๑ ที่ไทยอยู่ในระดับที่ ๑๒ ในระดับเอเชีย ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๕๗ ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๖ ในระดับเอเชีย และการแข่งขัน พาราลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ ๑๖ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี ๒๕๖๓ ไทยอยู่ลำดับที่ ๙ ในระดับ Asia ซึ่งลดลงจากอันดับที่ ๗ ในระดับเอเชียจากปี ๒๕๕๙ โดยภาพรวม อันดับการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนะครับ อีกทั้งในการ สรุปผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติยังมีการกล่าวอีกว่าการบรรลุเป้าหมายของไทย ยังมีความเสี่ยงที่จะบรรลุ ทำไมท่านไม่เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ เลยว่ามันไม่เป็นไปตามแผน ยุทธศาสตร์ มันไม่เป็นไปตามที่ท่านคิดเอาไว้ ก็เพราะว่าสิ่งที่ท่านคิดมันเพ้อฝัน มันคิดมาก เกินไป สิ่งเหล่านี้ผมมานี่ไม่ได้มีเจตนาที่จะมากล่าวหา หรือว่ามาด้อยค่านักกีฬาของไทย ที่ได้ทำการแข่งขันอย่างสุดความสามารถเพื่อประเทศชาติของเรา แต่เขาเขียนแผนประเมิน กันมา ตัวชี้วัดเป็นแบบนี้ เขียนจะเอาแบบนี้ จะเอามันให้ได้ สุดท้ายมันไม่เป็นไปตามแผน แต่ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวนักกีฬานะครับ แต่เป็นเรื่องของการจัดการของภาครัฐที่อาจขาดความพร้อม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับ นักกีฬามากเพียงพอ ยุทธศาสตร์ชาติที่ท่านนั่งเทียนเขียนนี่มันไม่สอดคล้องกับกลไกภาครัฐ ที่ท่านทำขึ้น ปัจจัยท้าทายที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายกีฬาของประเทศไทย ผมจะบอกให้มันคือความพร้อมของภาครัฐ การสนับสนุนของสมาคมกีฬา หรือหน่วยงาน การกีฬาแห่งประเทศไทย อย่างเช่นในเรื่องของการแข่งขัน การฝึกซ้อม สนามต่าง ๆ นะครับ จริงหรือไม่สนามกีฬาเอาไปทำสัญญากับเอกชนทำ Concert ระยะยาวแบบนี้ สรุปท่านทำตาม ยุทธศาสตร์ชาติด้านกีฬา แต่เน้นนันทนาการแบบนี้หรือเปล่าครับ หรือยุทธศาสตร์ชาติ เขียนเท่ ๆ ไหนว่าวางแผนมาแล้ว คิดกันมาแล้วดิบดี แต่ภาคปฏิบัติทำจริงไม่ได้มีแต่น้ำ สภาพแวดล้อมของนักกีฬา แรงจูงใจในการเป็นนักกีฬาอาชีพ การเอาจริงเอาจังของภาครัฐ กับกิจการกีฬาของประเทศไทย สุดท้ายก็ต้องพึ่งภาคเอกชนมาช่วยประคับประคองสนับสนุน การทุจริตคอร์รัปชันก็มี สาธารณูปโภคกิจการกีฬาขาดความพร้อม อาทิ สนามกีฬา สนามฝึกซ้อม สนามแข่งขันกีฬานานาชาติ อย่างในตัวอย่างราชมังคลากีฬาสถานซึ่งเป็น สนามกีฬาแห่งชาติ หรือกล่าวได้ว่าเป็นสนามกีฬาที่เป็นหน้าตาของประเทศไทย เพราะว่า มีการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่เคยจัดมาแล้วที่นี่ แต่ว่าสนามกีฬาขาดความพร้อมเช่น มีระบบ ระบายน้ำที่ไม่เป็นระบบสากล หญ้าที่มีการชำรุดทรุดโทรม การจัดกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการแข่งขัน เขาว่ากันมานะครับ กระผมจึงอยากฝากท่านประธานให้หน่วยงาน ช่วยดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเร่งสร้างสนามกีฬาและพัฒนาสนามกีฬาทุกแห่ง ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามกีฬาประจำตำบลในหมู่บ้าน ให้ประชาชนเข้าถึง และมีความพร้อมในการใช้สนามใช้งานอยู่เสมอ เพราะมันเป็นพื้นที่ รวมตัวกันของพี่น้องประชาชนนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ถัดไปคือเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับนักกีฬาให้สามารถทุ่มเทกับ การฝึกซ้อมหรือการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพราะนักกีฬาหลายคนเขาก็มีความกังวลเรื่องของ อนาคตของตัวนักกีฬา หรือว่าอาชีพหลังจากเกษียณจากการแข่งขัน เพราะฉะนั้นเราจึงควร ให้ความเชื่อมั่นกับนักกีฬาของเราในหน้าที่การงานในอนาคต เช่นให้ความช่วยเหลือ ด้านการศึกษา ผมก็อยากเสนอในเรื่องของการทำ MOU ระหว่างกรมสามัญศึกษา กรมพลศึกษา สมาคม สโมสรกีฬาต่าง ๆ เพื่อให้นักกีฬาที่อยู่ในช่วงการแข่งขัน หรือการฝึกซ้อมนี่สามารถเก็บตัว ทุ่มเทได้อย่างเต็มที่ มีสวัสดิการหลังเกษียณให้แก่ นักกีฬาอาชีพ เพิ่มความมั่นคงให้สามารถเลี้ยงชีพได้หลังจากที่ไม่สามารถเล่นกีฬา หรือรับใช้ชาติได้

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แผนการพัฒนากีฬาไทยไปสู่ระดับโลก คุณพอลลีน งามพริ้ง ว่าที่ผู้สมัคร นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เสนอผ่านผมมาครับท่านประธาน บอกว่าอยากให้รีบ พัฒนาสาธารณูปโภคด้านกีฬา เช่น สนามกีฬา สนามฝึกซ้อม ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ และจากกีฬาเชิงรุกกับธุรกิจกีฬาอาชีพ เช่น สโมสรกีฬาต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ด้านกีฬา โรงเรียนการฝึกซ้อม Academy โดยเพิ่มเป็นตัวชี้วัดตามแผนปฏิรูปให้กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. คือส่งเสริมภาคเอกชนที่จัดกิจกรรมด้านกีฬา โดยให้สามารถได้รับ ลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจก่อให้เกิดงบประมาณมาสนับสนุน ทั้งกีฬาในระดับเยาวชน และอาชีพโดยนำมาเป็นเกณฑ์ เป้าหมาย แผนแม่บทระดับย่อย และในการส่งเสริมให้ ประชาชนมีส่วนร่วมทางด้านกีฬา

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. กำจัดระบบปรสิตทุจริตคอร์รัปชันในวงการกีฬา และเสนอให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ ทั้งนี้การแก้ไขก็เน้นไปในเรื่องของสวัสดิการนักกีฬา และควบคุมการทุจริตในวงการกีฬาอย่างจริงจัง

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนกิจการกีฬา อาทิ กองทุนฟุตบอลไทยไปบอลโลก โดยอาจจะนำรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลนำเข้ากองทุน เป็นต้น ผมเสนอแบบนี้ท่านอาจจะลองดูในยุทธศาสตร์ชาติ ใส่เป็นค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุ ก็จะง่ายและเห็นภาพชัดเจนขึ้น เนื่องจากฟุตบอลเป็นกีฬาที่ขึ้นตรงกับสมาพันธ์นานาชาติ หรือ FIFA ก็อยากจะให้ลองใส่ไปในยุทธศาสตร์ชาติ หรือทำแผนขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิด การแทรกแซงจากภาครัฐ การเมืองผ่านหน่วยงานรัฐ อาจจะทำให้ประเทศไทยถูก Ban จาก การแข่งขันได้ บทบาทของรัฐบาลจึงอยากให้ส่งเสริมปัจจัยพื้นฐาน องค์ความรู้ และพัฒนา เยาวชน ไม่ใช่กำหนดตัวบุคคลให้มามีอิทธิพลในวงการแบบอ้อม ๆ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้าย ๓ บรรทัด คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนด ทิศทางของชาติเรา ควรให้ความสำคัญกับกีฬานอกเหนือจากแผนที่มองแค่ด้านสุขภาพ และนันทนาการ อยากให้มองว่ากีฬาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ในอนาคต ก็ฝากไว้เท่านี้ครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชนก จันทาทอง ครับ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ชาติประจำปี ๒๕๖๕ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ นั้น ได้กำหนดให้ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้เราต้อง ออกกฎหมายเพิ่มก็คือพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหมด ๖ ด้าน แยกแผนแม่บทถึง ๒๓ ประเด็นด้วยกัน นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เรามีแผนยุทธศาสตร์ยาวนานถึง ๒๐ ปี หรือ ๒ ทศวรรษด้วยกัน แต่ที่สำคัญกว่านั้น พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ นี้ กำหนดอย่างชัดเจนในมาตรา ๕ ว่าองคาพยพทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คณะกรรมการ และหน่วยงานราชการทุกแห่งในอนาคต จะต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ ระดับนโยบาย งบประมาณ และแผนงานต่าง ๆ วันนี้เป็นการรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประเทศไทยนั้นได้ใช้ผ่านมาแล้ว ๕ ปี ยังคงเหลืออีก ๑๕ ปีที่เราจะต้อง ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตผ่านท่านประธานสภาไปยัง คณะกรรมการชุดนี้ ทั้งหมด ๔ ข้อค่ะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ข้อ ๑ กรอบของแผนงานที่ยาวนานถึง ๒๐ ปี ส่งผลเสียต่อการบริหาร ประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่ เท่ากับว่ารัฐบาลในอนาคต ที่ยังเหลืออีก ๑๕ ปีนี้ถูกมัดมือชกค่ะ ไร้ซึ่งอิสรภาพในการออกนโยบายที่มากกว่าเดิม ทำให้ ไม่มีความยืดหยุ่นในการบริหารประเทศ ข้อสังเกต

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ข้อ ๒ แผนยุทธศาสตร์ชาติมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริงหรือไม่ ดิฉันขอ ยกตัวอย่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีทั้งหมด ๒๓ ประเด็น แต่ดิฉันขอยก ประเด็นด้านการเกษตรขึ้นมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ค่ะ ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

จากรายงานหน้า ๑๙๘ ตามรายงาน ที่ทางคณะกรรมการมอบไว้ให้ แจ้งไว้ว่าแผนแม่บทด้านการเกษตรนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการ ยกระดับผลิตภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตและสินค้าการเกษตร รวมทั้ง พัฒนาศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการการเกษตร ตาม Slide ที่เห็นนี้เราได้ใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติมาแล้ว ๕ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๕ แต่ผลผลิต ทางการเกษตรต่อไร่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ยกตัวอย่าง ข้าวเปลือกนาปี เมื่อปี ๒๕๖๑ นั้น เราได้ผลผลิต ๔๕๓ กิโลกรัมต่อไร่ ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาผลผลิตก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร ปี ๒๕๖๕ นั้นผลผลิตได้เพียงแค่ ๔๔๕ กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น พืชผลตัวอื่นก็เช่นกันนะคะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

สุดท้ายแล้วบรรทัดสุดท้ายค่ะ ดูตัวอย่างที่อ้อย ปี ๒๕๖๑ นั้นผลผลิตของอ้อย ได้ที่ ๑๑,๐๐๐ กิโลกรัม ปี ๒๕๖๕ ผลผลิตกลับลดลงเหลือเพียงแค่ ๙,๖๕๗ กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น เมื่อสักครู่นี้ท่าน สส. ธีระชัย แสนแก้ว จากอุดรธานี ได้อภิปรายแล้วว่าตอนนี้ผลผลิต อ้อยของเราตกต่ำแพ้บราซิลไปแล้วค่ะ ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการที่เราจะต้อง วางแผนจัดสรรนโยบาย จัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้น เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจริงหรือไม่ Slide ถัดไปค่ะ ตอกย้ำความไร้ซึ่งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วยงบประมาณ เมื่อปี ๒๕๖๑ งบประมาณด้านการเกษตรภาคการเกษตร เราได้อยู่ที่ประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี ๒๕๖๖ ก็ได้ประมาณ ๑๒๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่ภาคการเกษตรนั้นมี GDP โตเพียงแค่ ๗.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นการตอกย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจริงหรือไม่

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ข้อสังเกตข้อที่ ๓ ก็คือตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบันนี้มีตัวชี้วัดมากถึง ๒๑๘ ตัว การกำหนดตัวชี้วัดจำนวนมากที่กว้าง หรือเป็นนามธรรมมากเกินไปจนต่อให้บรรลุ ค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัดเหล่านั้นได้ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เช่น ดิฉัน ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวชี้วัด ๒ ตัวค่ะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ตัวชี้วัดตัวแรก ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรสำหรับประเทศไทยอยู่ใน ๑๐ อันดับแรกของโลกภายในปีพุทธศักราช ๒๕๘๐

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ตัวชี้วัดตัวที่ ๒ ตัวอย่างตัวที่ ๒ ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ และศักยภาพตำรวจระดับสากลอยู่ใน ๒๐ ลำดับแรกของโลกภายในปี ๒๕๘๐

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ข้อสังเกตข้อที่ ๔ จากรายงานที่ผ่านมา ๕ ปี เมื่อเจอปัญหาเรื้อรังและรุนแรง กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติใช้แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา เราเจอวิกฤติ COVID-19 เจอปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เจอปัญหาพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง เจออาชญากรรมที่เปลี่ยนไปค่ะ ตอนนี้อาชญากรรม ที่รุนแรงมากที่สุด ก็คืออาชญากรรมด้านเทคโนโลยี แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีกรอบ การพัฒนาที่ยังคงมีกรอบการพัฒนาที่ล้าหลัง ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันจึงนำเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปยังคณะกรรมการ ว่าขอตั้งข้อสังเกตทั้ง ๔ ข้อถึงเรื่องผลสัมฤทธิ์ของ แผนงานนี้ว่าการบริหารประเทศภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะบรรลุวิสัยทัศน์ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือตามคติพจน์ที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดค่ะ เราควรที่จะมียุทธศาสตร์ชาติยังคงเหลืออีก ๑๕ ปีต่อไปหรือไม่ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสหัสวัต คุ้มคง ผ ๘/๒๕๖๖ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) กุลนิษฐ์ ๑๔๙/๑

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมได้อ่าน รายงานผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ แล้ว ผมหงุดหงิดเป็นอย่างมาก

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

โดยเฉพาะในแผนแม่บทที่ ๑๑ คือการพัฒนา ศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ตามรายงาน ๑๑๐๔๐๑ แผนแม่บทย่อย การพัฒนาและยกระดับ ศักยภาพวัยแรงงาน Slide ถัดไปครับ ประเด็นที่ผมอยากจะพูดคือประเด็นที่อยู่ในแผน แม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ได้ระบุเป้าหมายไว้ว่า แรงงานมีศักยภาพในการเพิ่ม ผลผลิต มีทักษะอาชีพสูง ตระหนักในความสำคัญที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ แต่หาก เรามาดูรายละเอียดของดัชนีผลผลิตภาพแรงงาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับ ว่าเราไม่สามารถพัฒนาได้ตามเป้าเลย ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา โดยในปี ๒๕๖๐ นั้นการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ ๔.๗ และลดลงมาเรื่อย ๆ ต่ำที่สุดในปี ๒๕๖๓ คือติดลบถึง ๖.๓ ก็เข้าใจได้ว่าเป็นช่วง COVID-19 แต่จนถึงวันนี้แล้ว ปี ๒๕๖๕ ก็ยังอยู่แค่ ๐.๖๙ ต่ำกว่าในปี ๒๕๖๔ ด้วยซ้ำครับ แถมลากไปต่ำกว่าปี ๒๕๕๗ ด้วยซ้ำครับ และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๒.๕ ต่อปีอย่างมากครับ มันเป็นเพราะอะไร และมีอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะพาไปดูเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานครับ สถิติแรงงานจาก สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานครับ เราจะเห็นเลยครับว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มีผู้เข้ารับการ ทดสอบฝีมือแรงงานตกลงทุกปี และมีผู้ผ่านเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ต่ำลง ทุกปีเช่นกันครับ ในปี ๒๕๖๑ เรามีผู้เข้ารับการทดสอบ ๗๒,๕๙๓ ราย ผ่านการทดสอบ ๕๖,๖๕๙ ราย คิดเป็นผ่านกว่า ๗๘.๐๕ เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นก็มีผู้เข้ารับการทดสอบระดับ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ กว่าคน และผ่านการทดสอบอยู่ ๒๐,๐๐๐ กว่าคน ลดลงมาจาก ๗๘ เปอร์เซ็นต์ มาเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ แต่ปี ๒๕๖๕ หนักมากครับ มีผู้เข้ารับการทดสอบ ๓๒,๑๗๓ ราย ผ่านมาตรฐานแค่ ๒๑,๐๘๒ ราย หรือผ่านแค่ ๖๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นครับ มีจำนวนแรงงานที่รับการพัฒนาฝีมือและได้งานทำ ในปี ๒๕๖๒ เรามีผู้ที่จบการฝึก ๑๒๑,๗๓๗ คน ได้งานทำ ๘๓,๒๐๔ คน หรือประมาณ ๖๘.๓๕ เปอร์เซ็นต์ นั่นคือสูงที่สุดแล้ว แต่สำหรับผมมันก็ต่ำอยู่ดีครับ แต่ทีนี้ พอมาดูปี ๒๕๖๕ มีผู้ได้รับการฝึก ๗๙,๙๓๕ คน ได้งานทำ ๔๒,๘๐๖ คน หรือแค่ ๕๓.๕๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และถ้าเฉลี่ยมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จะมีผู้ที่ผ่านการฝึกและได้ งานทำอยู่แค่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แบบนี้มันล้มเหลวครับ Slide ถัดไปครับ เดี๋ยวผมพาไปดูต้นเหตุนะครับ ถ้าเราไปดูสถิติการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๖๒ จะเห็นเลยครับว่ามีผู้จบการฝึกอยู่ในระดับ ๔ ล้านกว่าคน และปี ๒๕๖๒ สูงถึง ๕,๒๒๙,๓๕๐ คน ปี ๒๕๖๓ ในช่วง COVID-19 ก็เข้าใจได้ จะเหลือ ๑๐,๐๐๐ กว่านะครับอันนี้ไม่ว่ากัน แต่พอกลับมาดูปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ อยู่ที่ระดับ ประมาณ ๒ ล้านกว่าคน นั่นคือไม่ถึงครึ่งของที่เคยฝึกได้ในช่วงก่อน COVID-19 ด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่จำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมมีจำนวนไม่ต่างกัน มันเกิดอะไรขึ้นครับ ถ้าไปดู ตัวเลขของค่าใช้จ่ายก็ลดลงครับ ลดลงไปเป็นพันล้านบาท นั่นแปลว่ารัฐไม่ได้สนับสนุน เพียงพอ ไม่ได้มีการลงทุนเพียงพออย่างชัดเจน คราวนี้มาต่อเรื่องการว่างงานครับ เราจะได้รับรายงานเสมอว่ามีการจ้างงานที่สูงขึ้น แต่มีใส่อยู่ในรายละเอียดแม้ตัวเลข การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเรามาดูตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานชัดเจนครับ เมื่อเทียบปี ๒๕๖๕ กับปี ๒๕๖๒ จะเห็นเลยครับว่าปี ๒๕๖๕ มีคนตกงานเยอะกว่าปี ๒๕๖๒ ถึง ๑๕๔,๐๐๐ คน คิดดูว่าตัวเลขการจ้างงานคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นนะครับ เพราะว่าเราฟื้นจาก COVID-19 มานิดหนึ่งครับ แต่เราก็ยังตกงานมากกว่าปี ๒๕๖๒ เป็นคนอยู่ดีครับ แต่ถ้าเราไปดูข้อมูลตำแหน่งที่ว่างเทียบ กับการบรรจุงาน จะเห็นเลยครับว่าเรามีตำแหน่งงานว่างเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่เราไม่สามารถ บรรจุคนเข้าทำงานได้ มากไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ผมพูดถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และตลาดแรงงาน คราวนี้เรามาดูตัวเลขที่น่าตกใจเพิ่มขึ้น คือช่วงอายุของผู้ว่างงาน จากตารางเราเห็นเลยครับว่าจำนวนผู้ว่างงานที่อยู่ในข่ายสูงที่สุดคือช่วงอายุ ๒๐-๒๔ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ มาจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคนมาตลอด แล้วพอปี ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบันกระโดดไปเป็น ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วในปี ๒๕๖๔ มีถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน แล้วถ้าไปดูในช่วงอายุ ๒๕-๒๙ ปีครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมากระโดดจากหลัก ๖๐,๐๐๐ กว่าคน มาเป็น ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเด็กที่เป็น First Jobber หรือเด็กจบใหม่ตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๖๓ นี่ ตกงานกันระนาว หรือบางคนยังไม่เคยได้งานทำด้วยซ้ำครับ แล้วถ้ามาดูอีกสถิติหนึ่ง จำนวนผู้ว่างงานที่หางานทำ จำแนกตามระยะเวลาที่หางานทำ จะเห็นเลยครับว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมามีคนใช้เวลาในการหางานเกิน ๑ ปีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนปี ๒๕๖๕ คนเป็น ๑๐,๐๐๐ คน ต้องใช้เวลาหางานมากกว่า ๑ ปี เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๒ เป็นเท่าตัว จากทั้งหมดที่ผมอภิปรายมาครับท่านประธาน สรุปได้ง่าย ๆ เลยครับว่า

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๑. การพัฒนาฝีมือแรงงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ล้มเหลวไม่เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ชาติอย่างสิ้นเชิง

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๒. เด็กจบใหม่ตกงานเยอะมากเป็นประวัติการณ์ และใช้เวลาหางานเพิ่ม อย่างมีนัยสำคัญ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

และที่สำคัญข้อ ๓ ครับ จากที่ผมและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายมา เราจะเห็นเลยครับว่ายุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเรายังต้องอยู่กับ ยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ทันยุคสมัย ทำไม่ได้จริงไปอีกจนถึงปี ๒๕๘๐ หรืออีก ๑๕ ปีเลยหรือครับ ท่านประธาน ประชาชนต้องเสียโอกาสต้องไม่มีงานที่มีคุณภาพไปอีกนานแค่ไหนครับ ยุทธศาสตร์ชาติที่มีที่มาจากการรัฐประหาร ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่กำลังคร่าชีวิต ปิดโอกาสลดทอนสุขภาพคนไทย ทำให้คนตกงานแถมยังล็อกอยู่ติดกับรัฐธรรมนูญ เหมือนโซ่ตรวนที่กักขังโอกาสของประเทศ โอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ เราต้องร่างธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อปลดโซ่ตรวนเส้นนี้ต่อไปครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนพพล เหลืองทองนารา เชิญครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิรามครับ ท่านครับ ผมเองก็อย่างที่ผมบ่นเสียดาย เมื่อตอนช่วงบ่ายนี้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เสียดายนี่คือผมไม่ใช่เสียดายอะไร ที่ผมบอกว่าเสียดายคือหลาย ๆ ครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้มารับฟังพวกเรา แล้วก็บอกถึงสิ่งที่ เราสงสัย ความรู้ตรงนั้นที่ได้มาจากข้าราชการที่ได้มารายงานในสภานี้ ผมเสียดายตรงนั้น มาก แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่าผมเสียดายยุทธศาสตร์นี้นะครับ แม้ว่าบางอย่างดี แต่ผมบอกเลยมันดีอย่างมีนัย นั่นก็คือว่ามันดีเพราะว่าข้าราชการเขาตั้งใจทำของเขาอยู่แล้ว มันไม่ได้ดีเพราะว่ามียุทธศาสตร์นี้ขึ้นมา สิ่งนั้นมันถึงดีขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นผมก็ยังยืนยัน เหมือนเดิมนะครับ เหมือนกับท่านสมาชิกสภาผู้แทนหลาย ๆ ท่านที่ว่ายกเลิกดีที่สุดแล้ว ผมก็ยังยืนยันตรงนั้นอยู่นะครับ ท่านครับผมเองก็จะขอพูดในส่วนของที่มันเป็นความอัดอั้น ตันใจที่ผมมองดูแล้วจากสิ่งที่ผมได้พบปะกับพี่น้อง โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ผมก็จะขอ พูดในภาคส่วนของเกษตรกรนะครับ ผมขอเริ่มจากในส่วนของแผนแม่บทในส่วนที่ ๑๙ ก็คือการจัดการน้ำท้งระบบ ท่านครับ ผมว่าการให้คะแนนตรงนี้ การประเมินตรงนี้ที่ท่านประเมินมานี่นะครับว่าต่ำกว่าเป้าหมาย แล้วก็ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยอะไรพวกนี้ ผมว่าไม่น่าจะใช่นะครับ ถ้าในความรู้สึกผมกับ พี่น้องเกษตรกรนี่ผมว่าต่ำกว่าเป้าหมายชนิดที่ว่าเสี่ยงมากที่สุดนะครับ ที่เป็นสัญลักษณ์สีแดง นี่นะครับ ท่านครับ ผมบอกแล้วใช่ไหมว่าท่านเองได้กำหนดทั้งในยุทธศาสตร์ แล้วก็ในแผน ปฏิรูปประเทศ ในเรื่องของระบบชลประทานพื้นที่ทั้งหมด ๓๒๑ ล้านไร่ สามารถที่จะพัฒนา เป็นพื้นที่เกษตรได้ในประเทศไทยได้แค่ ๑๔๔ ล้านไร่นะครับ แล้ว ๑๔๔ ล้านไร่นี่ ๖๐ สามารถทำชลประทานได้ ที่เหลือทำไม่ได้นะครับ ทำพัฒนาได้แค่ ๖๐ ชลประทาน เกิดมา ๑๒๐ ปี เพิ่งจะได้วันนี้นะครับ เอาตัวเลขของชลประทานแล้วกัน เพราะถ้าเอาตัวเลข ของท่านน้อยกว่าเขานะครับ ชลประทานเขาบอกว่าวันนี้เขาทำได้ ๓๕.๕ ล้านไร่ แต่ของท่าน บอก ๓๓.๓๓ ล้านไร่ เอาตัวเลขกรมชลประทานแล้วกันนะครับ ท่านครับ แล้วพูดถึง ในเป้าหมายของท่านนี่ท่านเขียนไว้เลยว่าพอจบแผนแม่บทเรื่องของน้ำนี่นะครับ ภายใน ปี ๒๕๘๐ จะต้องมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ๓๐ กว่าล้านไร่ กลายเป็น ๕๑ ล้านไร่นะครับ ท่านครับวันนี้จริงอยู่แม้ว่าผ่านมา ๕-๖ ปี ปีนี้แต่ท่านทราบไหมครับ ว่าอัตราการเพิ่มของพื้นที่ชลประทานนับเป็นหลักแค่ เพิ่ง Start นี่ยังไม่ถึงครึ่งล้านเลย นี่มันมา ๑ ใน ๔ แล้วนะครับ และในส่วนที่ท่านบอกว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ผมเองไม่รู้ว่าท่านเอาตัวเลข เอาข้อมูลจากไหนมา อย่างในพื้นที่การจัดการบริหารพื้นที่ เรื่องของการเสี่ยงภัยทางเรื่องน้ำนี่นะครับ ในพื้นที่บ้านผมที่พรหมพิราม อำเภอเมือง พิษณุโลก ท่านครับโครงการเขื่อนนเรศวรเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมี เมตตาต่อพวกเราเหลือล้นนะครับ ท่านได้พระราชทานเขื่อนนเรศวร ท่านครับ ตั้งแต่วันที่มีเขื่อนและมีโครงการส่งน้ำเขื่อนนเรศวรขึ้นมา ผลปรากฏว่ามีเรื่องภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ณ เวลานั้นนะครับ เพราะเขื่อนนี้เปิด เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ จนมาถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๖ แล้ว น้ำเคยท่วมอย่างไร ก็ท่วมอย่างนั้น น้ำเคยมีช่องออกได้ช่องไหนบ้าง ก็มีออกได้เท่าช่องนั้น แล้วพื้นที่ตรงนี้ถือว่า เป็นโครงการพัฒนาชลประทานของพิษณุโลกระยะที่ ๒ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าระยะที่ ๑ ด้วย ท่านลองไปอ่านรายละเอียดดู ท่านครับผมเองถึงสงสัยเหมือนกันว่าสิ่งที่ท่านประเมินมา มันถูกต้องหรือครับ ลำดับต่อมาที่จริง ๆ ผมก็อยากจะพูดเรื่องชลประทานทั้งหมด แต่ว่ามานึกย้อนเมื่อสักครู่นี้ท่าน สส. ชนก จันทาทอง ได้พูดในเรื่องของผลผลิตทางด้านการเกษตร ท่านครับในส่วนของด้านที่ ๓ เรื่องของการเกษตร ไทยนี่นะครับ เดี๋ยวนี้เรื่องจะฝันไป เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ ๑ นี่อยากแล้วครับ เพราะว่าอินเดียที่ ๑ นี่ ๒๐ กว่าล้านตัน ๒๒ ล้านตัน ของเราอยู่ที่ ๓ ได้แค่ ๗ ล้านตัน ท่านครับ และสาเหตุตรงนี้ท่านเชื่อไหมครับว่า ผลผลิตต่อไร่ตลอดระยะเวลาภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่เพิ่งผ่านมา ๗-๘ นี่นะครับ ผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านเราทุกประเทศเพิ่มขึ้นหมดต่อไร่ มีของเราที่ผลผลิตข้าวนั้น ต่ำกว่า มีอยู่ประเทศเดียวละครับที่ติดเครื่องหมายแดงในเรื่องของผลผลิต เพราะฉะนั้นก็เลย โยงไปที่แผนแม่บทอันดับสุดท้ายของท่าน ๒๓ เรื่องของการวิจัยและพัฒนา ท่านครับพวกผม เองก็หวังว่าพวกท่านมีเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่าง ใครก็ค้านไม่ได้ แล้วท่านก็เคยบอก ผู้บริหารประเทศที่ผ่านมาที่รักษาการอยู่ก็ยังบอกเสมอว่าเราจะทุ่มเทเรื่องการวิจัย ที่ไหนได้ ผ่านมาแล้ว ๗-๘ ปีอัตราการเติบโตของการวิจัยก็ยังน้อยลง ยังไม่เท่าไร ถึงเป้าหมายในระดับ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ที่ท่านกำหนดไว้ แต่สิ่งที่เจ็บใจอย่างหนึ่งคืออะไรรู้ไหมครับ อันนั้น OK ยอมรับ ในส่วนของนักวิจัยทั้งหมดที่มีอยู่ท่านเชื่อไหมละครับว่ายังมีเพียงแค่ ๘ เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นนักวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องของการเกษตร แล้วอย่างนี้มันไม่สมควรยกเลิก หรือครับ แล้วเขียนตัวเลขรวม ๆ ดูดีมาก แต่ถ้าพอไปเจาะดูไส้ในนี่ เพราะฉะนั้นวันนี้ ถึงไม่แปลกว่าทำไมข้าวที่ปลูกกันทุกวันนี้ดูกันให้ดีนะครับ ข้าวของไทยหรือ หรือข้าว สายพันธุ์เวียดนาม ข้าวไทยปลูกได้ไร่หนึ่ง ๔๐๐-๕๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเวียดนามปลูกได้ อย่างน้อย ๆ ก็ ๑,๑๐๐ กิโลกรัม แล้วอย่างนี้จะไปสู้เขาได้อย่างไร ต้นทุนเราก็แพงกว่าเขา ผมเองก็ขอสะท้อนสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ให้ทุกท่านได้รับทราบ แต่ดีที่สุดยังยืนยัน ว่ายกเลิกเถอะดีที่สุดครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แล้วก็ท่านอดิศร เพียงเกษ เชิญท่านทวี สอดส่อง ครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ผมขอร่วมแสดงทัศนะ ความเห็นเกี่ยวกับรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ส่วนสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ปี ๒๕๖๕ นั้นผมได้อภิปรายไปบางส่วนแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ผมยังจำคำพูดของ ท่านอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง เป็นกรรมาธิการ วิสามัญในการศึกษาปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เราพิจารณาไปถึงหมวด ยุทธศาสตร์ชาติ ท่านอาจารย์อภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่า ยุทธศาสตร์ชาติ คือทรราชย์กับอนาคต ซึ่งคำพูดของอาจารย์ก็ค่อนข้างจะแรง อย่างไรก็ตามผมคิดว่าถ้าเรา มาพิจารณาในรายงานยุทธศาสตร์ชาติ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้มารายงานด้วย ยุทธศาสตร์ชาติจะมีความสำคัญอย่างไรนั้น อย่างน้อยที่สุดในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๒ เขาบอกคณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินและแถลงนโยบายจะต้องสอดคล้องกับ หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไปบอกกับประชาชน ว่าจะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี จะให้ประชาชน ที่ไร้ที่ทำกินให้เกษตรกรต้องมีที่ทำกิน และมีเอกสารสิทธิเป็นของตนเองนั้น จะมี การกระจายอำนาจ จะมีรัฐสวัสดิการ นโยบายต่าง ๆ นั้นจะไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แล้วที่สำคัญอย่างยิ่งเราจะเห็นได้ว่าใน พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาตินั้นวันนี้โชคดีของ หน่วยราชการ เขาบอกว่าใน พ.ร.บ. นั้นในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร คือพวกเราอยู่ในที่นี้ ได้พิจารณารายงานที่ส่งมานี้ มีเหตุไม่สอดคล้องก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไปดำเนินคดีกับ หน่วยงาน อาจจะเบื้องต้นคงจะดำเนินคดีกับเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ นี่คือตัวอย่าง แล้วถ้าท่าน ป.ป.ช. รับแล้วชี้มูล ท่านก็ต้องถูกพัก นี่คือความรุนแรง และท่านดูในเล่มนี้สิครับ รายงานจะไม่บรรลุผลเป็นส่วนใหญ่ถ้าอะไรที่เกี่ยวกับความอยู่ดี มีสุขของประชาชนจะไม่บรรลุผล และที่สำคัญอย่างยิ่งกรรมาธิการ ท่านประธาน เป็นกรรมาธิการงบประมาณทุกครั้ง เวลางบประมาณที่เสนอมาจั่วหัวเบื้องต้น งบประมาณ ที่จัดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ผมไปดูการใช้งบประมาณย้อนไปที่สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติใช้ไป ๑๘ ล้านล้านบาท แล้วไปกู้มาอีกรวม ๆ ไปแล้วก็ ๒๐ กว่าล้านล้านบาท นี่คืองบประมาณได้เดินตาม ตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยจึงเดินทางไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ที่สุด ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่คนรวยเป็นจุด ไม่ใช่กระจุกนะครับ กระจุกมันกว้างใหญ่ และมีการจนกระจาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างรัฐรวมศูนย์ ใช้ราชการเป็นใหญ่ ขาดการกระจายอำนาจ เพราะในยุทธศาสตร์ชาติไม่มีเรื่องกระจายอำนาจเลย อย่าว่าแต่ ยุทธศาสตร์ชาติเลยครับ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ก็ไม่มีคำว่ากระจายอำนาจ คนที่จะรู้ดี ในหมู่บ้าน ชุมชน ในครอบครัว คือพ่อแม่เขา แต่วันนี้รัฐไม่ไว้ใจประชาชน หรือรัฐไม่เห็นหัว ประชาชนจึงตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมา นี่คือตัวอย่างของยุทธศาสตร์ชาติ แล้วตัวชี้วัด ผมก็อยากจะฝากสภาพัฒน์ครับ ตัวชี้วัดวันนี้เรามีรัฐธรรมนูญที่คิดว่าตัวชี้วัดควรเอามาชี้วัด ในมาตรา ๓ วรรคสอง เขาบอกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานของ รัฐจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เกณฑ์การชี้วัดเรื่องหลัก นิติธรรมควรจะนำมาใช้ ก็มีอยู่บางส่วนครับ ท่านนำหลักนิติธรรมมาใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็น ว่าเมื่อมีการจัด Ranking หลักนิติธรรม เราพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมดีที่สุด ของเรานี่ อยู่ในกลุ่มท้าย ๆ นะครับ แล้วก็เป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุด ๕ อันดับแรก ก็คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ รู้สึกอันดับที่ ๖ เยอรมนี ประเทศพวกนี้ มีหลักนิติธรรม ๑-๕-๖ แล้วพอไปดูประชาชนก็มีความสุขที่สุด เพราะประเทศเขา ให้ความสำคัญคนเท่ากับคน เขาให้ความสำคัญในรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์ เหมือนแผนยุทธศาสตร์ชาติ การสงเคราะห์คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้เบี้ยผู้สูงอายุควรจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ก็เป็นหลักต้องไปสงเคราะห์ ท่านประธานครับ เวลามันหมดเร็วเหลือเกินนะครับ ผมมี PowerPoint อีกนิดหนึ่ง แต่ผม จะขอใช้เวลาสัก ๑ นาที เพื่อให้เข้าในเนื้อหา เราพบว่าในยุทธศาสตร์ชาติ หน้า ๘๕ ขอ Slide ขึ้นหน่อยนะครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

หน้า ๘๕ ในเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ ท่านประธานทราบไหมครับ เราเขียนไว้ในที่นี้ว่าเรามีพื้นที่ป่าอยู่ ๑๐๒ ไร่ พื้นที่ป่า ๑๐๒ ไร่ แต่พื้นที่ป่าตามที่ปรากฏนั้นเรามี ๑๓๕ ไร่ นี่คืออะไรรู้ไหมครับ ป่าตามความเป็นจริงมี ๑๐๒ ไร่ แต่ป่าตามกฎหมายที่ไม่ใช่ป่า หรือป่าเสื่อมโทรม หรือป่าทิพย์อีก ๓๓ ล้านไร่ วันนี้คนประมาณ ๑๕ ล้านกว่าคนต้องอยู่ในที่ดินที่เขาบอกว่า รัฐรุกคนไม่ใช่คนรุกป่า สืบเนื่องเป็นผู้ผิดกฎหมายต่อเนื่องมายาวนาน สภาพัฒน์ ท่านลองไปเอากลุ่มป่าไม้มาดู นิยามคำว่าป่านิยามเดียวก็มีมากมาย ถ้าตามหลักสากลนั้น คือพื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นแล้วมีติดต่อกัน ๓ เมตร และในเร็ว ๆ นี้เมื่อ EU ออกข้อกีดกันยางพารา ก็ดี สินค้าต่าง ๆ ก็ดี ถ้าจะเข้าประเทศต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้มาจากป่า แล้วเขาก็ไปดูรัฐต้นทาง ในเมื่อนิยามกฎหมายเรา ที่ดินที่ไม่มีใน พ.ร.บ. ที่ดินเป็นป่าทั้งหมด อย่างนี้ท่านไม่ปฏิรูป ท่านยังส่งเสริมให้คนไม่มีที่ทำกิน ที่ดินที่เป็นโฉนดก็กระจุกตัวอยู่ในคนเล็กน้อย อันนี้คือ ปัญหาใหญ่ ผมอยากจะฝากท่านลองไปดูอาจจะต้องไปปฏิรูป ถ้าเราปฏิรูปที่ดินไม่ได้ เราปฏิรูปคนไม่ให้มีที่ทำกินไม่ได้ อย่าหวังว่าประเทศจะมีการพัฒนา อย่าหวังว่าประเทศ จะลดความขัดแย้งครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอดิศร เพียงเกษ ครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้อภิปราย คนสุดท้ายครับ ยุทธศาสตร์ชาติวางแผนไว้ ๒๐ ปี ผมย้อนอดีตผมตอนผมเรียนหนังสือ เมื่อปี ๒๕๑๓ อยู่แถวท่าพระจันทร์ คุณพ่อส่งธนาณัติมานะครับ เอาไว้ที่คณะ คนไหนรู้ว่ามี ธนาณัติมาก็ไปเบิก มีเรื่องร้อนจะแจ้งให้ญาติพี่น้องว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนกับตัวเอง และครอบครัวก็ส่งโทรเลข ผมมาเรียนหนังสือจะโทรศัพท์ทางไกลกลับบ้านต้องไปเข้าคิว บางทีได้คิวที่ ๒๓-๓๐ เพื่อจะโทรศัพท์ นั่นเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีมา เดี๋ยวนี้โทรเลขไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้ ไม่มีธนาณัติ ๓๐ ปีมาก่อนปี ๒๕๓๑ สมัยผมอยู่พรรคมวลชนกับ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง ท่านมีโทรศัพท์โมโตโรล่าครับ โทรศัพท์เลยเป็นอาวุธได้ด้วยนะครับ อาจจะไม่สุภาพ ว่าเขาเรียกว่าคล้าย ๆ กระดูกหมา จนปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไหมครับ โมโตโรล่าอันเก่านี่ เราต้องถือมาที่สภาไหม นี่กลายมาเป็นอยู่แค่นี้ครับ เกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ในโลกนี้พูดจาปราศรัยกันได้หมด เราไม่เคยคิดว่าจะมีโทรศัพท์และถ่ายรูปได้ Video Call อะไรทั่วโลกได้หมด คิดได้อย่างไร ผมกำลังพูดว่ายุทธศาสตร์ชาติ ท่านอายุในปัจจุบัน มีบางคน ๙๐ กว่าปีแล้วครับเป็นกรรมการอะไรนี่ ไปวางแผนให้ลูกหลานเรา ๒๐ ปี เอาตัวไม่รอดหรอกครับ โลกปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปเราตามไม่ทันจริง ๆ หัวดำออกก่อน หัวด่อนนำก้น หัวดำคือคนรุ่นใหม่ หัวด่อนคือหัวขาวนี่คนรุ่นพวกผม จะไปวางอนาคตให้ลูก ให้หลานอีก ๒๐ ปีหรือครับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่รู้เมื่อไร อย่าไปยุ่งกับอนาคตลูกหลานเลยครับ เพราะสิ่งที่ผมพูดนี้เรากำลังพูดถึงรัฐธรรมนูญ เขากำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ มีการถาม ว่าจะรับ ไม่รับฉบับนี้นะครับ คนขอนแก่น ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมอยากจะพูดเรื่องนี้ก่อนที่จะมาเข้าสภา ๑๗ ปีแล้ว อย่าเลยครับ อย่าเอาอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยมากำหนดอนาคตไทยยาวไกลถึงขนาดนั้น ผมเห็นด้วยกับ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ขออนุญาตเอ่ยนาม ว่าสิ่งไหนที่มาไม่ชอบ แล้วก็แก้ไขกันเสีย เดี๋ยวนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้แปลกไหมครับ สภาสร้างหมื่นกว่าล้านบาท เดี๋ยวนี้เรามีสภาเดียว เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปเพื่อความรวดเร็ว ความเป็นจริงระบบ สองสภามันใช้กับประเทศไทย มีสภาของแต่ละที่ กฎหมายปฏิรูปแผล็บเดียวครับ มันไม่เป็นธรรมการร่างกฎหมายสมาชิกวุฒิสภาท่านทรงเกียรติ ท่านต้องกลั่นกรองกฎหมาย พวกเรา ไม่ใช่เริ่มต้นมาเสนอกฎหมายมานั่งประชุมเป็นกรรมาธิการเสนอแบบแผล็บเดียว ผ่านไป โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ท่านครับ สภาพัฒน์ผมเห็นใจนะครับ ท่านเป็นรัฐซ้อนรัฐหรือเปล่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปร่างอยู่ที่ขอนแก่นเรียกว่าบ้านจอมพล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผมก็พอมีความรู้ ถ้า ๓ ปี ๕ ปี ร่างทีไม่เป็นไร แต่นี่ ๒๐ ปี กอ.รมน. เป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ ไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ผมก็อยู่ได้ สภาพัฒน์ก็อยู่ได้ กำหนดกฎเกณฑ์โดยเอาระบบ ราชการไปดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ผมคิดว่ารัฐสภาแห่งนี้ประชาธิปไตยกำลังจะเต็มใบ แน่นอน เราต้องแก้ไข สิ่งที่เราคิดไม่ถึงว่าอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจะมีอะไร เรามาทำกันใหม่ เราไม่ใช่ หูทิพย์ตาทิพย์นะครับ ไม่รู้ว่าประเทศนี้มันจะเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่เขาต้องการอะไร เขาไม่ต้องการให้คนรุ่นเก่ามาขัดขวางเขา เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ อย่าว่าผมว่า อย่างนั้นอย่างนี้เลยครับ ผมไม่เห็นด้วยกับมรดกของการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญมา มีทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะให้ประเทศชาติเดินเป็นประชาธิปไตย มันได้อย่างไรครับ เริ่มต้นจาก การรัฐประหารแล้วจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ชาติหน้า ผมจึงขออนุญาตร่วมส่วน ในสิ่งที่จะให้ชาติบ้านเมืองมันพัฒนาต่อไปได้ การไปทำประชามติมีทหารถือปืนไปนอน ตามศาลาวัด มันไม่ใช่ประชามติ คนขอนแก่นก็แถลงชัดเจน ผมพูดกี่ครั้งว่าเขาไม่รับ รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นปัญหาของประเทศ ยุทธศาสตร์ของประเทศต้องควรแก้ไข คือต้อง แก้ไขต้นตอนี้ละครับ คือรัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สิ่งไหนที่ไป กะเกณฑ์อนาคตของคนรุ่นใหม่ของประเทศชาติมาเป็นของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ประสบการณ์ ของคุณทำความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองมาหลายสิ่งหลายประการ แล้วเอาสิ่งที่ตนเอง ประสบความล้มเหลวมากะเกณฑ์อนาคต ผมจึงไม่เห็นด้วยครับ ขออนุญาตท่านเลขาธิการ สภาพัฒน์นะครับ ผมพูดตรงไปตรงมาว่าแผนยุทธศาสตร์ ท่านจะอายุยืนถึงนั้นไหมครับ ถามท่านประธานว่าถ้าอีก ๑๕ ปีท่านอยู่ไหม บางทีผมอาจจะไม่ถึงเกณฑ์นั้นแล้วครับ อาจจะ ไปก่อนท่าน หรือท่านไปก่อนผมไม่รู้ ปล่อยอนาคตเป็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่เถอะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผู้อภิปรายก็หมดแล้วนะครับ เชิญทางด้านเลขาธิการได้ชี้แจง เชิญครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ก่อนอื่นต้องขออนุญาตขอบพระคุณในข้อเสนอแนะหลาย ๆ เรื่องนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาภาคการเกษตรที่ท่านสมาชิกได้ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ แล้วก็มี บางเรื่องที่กระผมอาจจะขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็ต้องเรียนว่ากลไก ในการทำงานตรงนี้ก็จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตำแหน่ง อันนี้ก็เป็นที่ระบุไว้ในกฎหมายนะครับ ทีนี้ในการจัดทำที่ผ่านมา ของยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ ก็เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งมีอยู่ ๖ คณะ ก็มายกร่าง ในระหว่างที่จะมีการประกาศใช้ต่าง ๆ ในระหว่างการยกร่าง ก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นใน ๔ ภาค แล้วก็มีช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นที่จะสามารถส่งความเห็นมาได้ทั้งในช่องทางผ่าน ทาง Internet ทาง Website ของสำนักงานเอง แล้วก็ในส่วนที่เป็นเรื่องของไปรษณีย์ ก็มี ในช่วงนั้นนะครับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ให้ข้อคิดเห็นแล้วก็มาร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ในการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวาระต่าง ๆ รวม ๆ กันก็อยู่ที่ประมาณสัก ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นทางภาคประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องเรียนว่า ในยุทธศาสตร์ชาติอย่างที่ท่านสมาชิกได้มีการอภิปรายในช่วงต้นนะครับ มันเป็นทิศทางกว้าง ๆ แม้ว่าในยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์นี่ จะมีชื่อยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ว่าเป็นเรื่องอะไรนะครับ แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์นั้นในรายละเอียดก็จะเป็นทิศทางการทำงาน กว้าง ๆ นะครับ ยกตัวอย่างอย่างเช่นภาคเกษตรก็พูดถึงแค่ในเรื่องของการที่จะมีการพัฒนา ในภาคเกษตร โดยการเอาเทคโนโลยีเข้าไปเสริมในการผลิตภาคเกษตรนะครับ หรือว่าทำ เป็นเกษตรแปรรูปอะไรต่าง ๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นทิศทางกว้าง ๆ ซึ่งก็ต้องเรียนว่านโยบายรัฐบาล ในช่วงถัดไปหรือในช่วงรัฐบาลใหม่ก็ตามนี่ การทำงานนโยบายที่ได้มีการประกาศไว้ก็สามารถ ที่จะสอดรับกับตัวยุทธศาสตร์ชาติได้นะครับ แต่ในกรณีที่เห็นว่าน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ก็ไม่ได้มีความแข็งตัวนะครับ ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ทุก ๆ ๕ ปีนะครับ หรือในกรณีที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่าน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนก็สามารถดำเนินการได้ อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ทีนี้ในส่วนของประเด็นที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายในหลาย ๆ เรื่องนะครับ อย่างโดยเฉพาะเรื่องส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องทางภาคเกษตรนะครับ ซึ่งแน่นอนครับ GDP ในภาคเกษตรของเราเองมันก็ค่อนข้างจะต่ำประมาณสัก ๗ เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ ถ้าดูจาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมดนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาคอุตสาหกรรม แล้วก็เป็นภาคบริการนะครับ ทีนี้ในการที่จะเพิ่มตรงส่วนนั้นแน่นอนครับคงจะต้องมี การนำเอาเทคโนโลยีที่จะช่วยในการผลิตภาคเกษตรเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่จะเป็น การเพิ่มผลผลิต หรือว่าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่จะใช้ในภาคเกษตรนะครับ อย่างที่ท่านสมาชิก ได้มีการพูดถึงในเรื่องของอ้อยก็ตาม หรือว่าในเรื่องของการผลิตเพื่อแปรรูปต่าง ๆ ที่มี ท่านสมาชิกท่านได้มีการยกตัวอย่างไว้นะครับ อันนี้จะเป็นทิศทางการทำงานที่ที่ผ่านมานี่ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็ได้มีการทำงานที่จะพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องนะครับ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเรียนว่าในการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี่ปัญหาสำคัญก็จะเป็นเรื่องของ การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าช่วงที่ผ่านมานี้หลาย ๆ หน่วยงานก็ยังคิดว่ายังเป็นการทำงานแยกส่วนอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการพยายาม ที่จะดึงเอาหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยนี่เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อตอบเป้าหมายนะครับ ที่ผ่านมาก็อย่างที่ท่านสมาชิกได้เห็นในรายงานว่าการทำงานก็มีการบรรลุเป้าหมาย ในระดับสีเขียวไปแล้วประมาณสัก ๑๒ เป้าหมายใหญ่จาก ๓๗ เป้าหมายนะครับ ในส่วนนี้ในส่วนของปี ๒๕๖๕ ในบางตัวที่ยังไม่สามารถบรรลุได้นี่ก็คงจะต้องมีการเร่ง การดำเนินงานต่อไปนะครับ เพราะว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้นี่เป็นการกำหนดไว้ภายใต้ ในส่วนของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็จะเป็นการกำหนดเป้าหมายการทำงาน ในช่วงทุก ๆ ๕ ปีนะครับ ถ้า ๕ ปี ไหนยังเดินไปไม่ถึงเป้าก็คงต้องมีการปรับการทำงาน แล้วก็เร่งการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้กลไกในการตรวจราชการแล้วก็มีการปรับปรุง แก้ไขการทำงานอย่างต่อเนื่องนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนของเรื่องที่ท่านสมาชิกอภิปรายในเรื่องของตัว Social Credit ที่บอกว่าทางสำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีการดำเนินการในขณะนี้ ก็ต้องเรียนว่าพอดีผมก็ได้ ประสานกับผู้อำนวยการ ป.ย.ป. นะครับ ก็ทราบว่าเรื่องนี้จริง ๆ แล้วยังอยู่ระหว่างการศึกษา ความเป็นไปได้ แล้วก็จะดูว่ามีความเหมาะสมที่จะมาใช้ในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไรในช่วงของ การดำเนินงานในการศึกษาตรงนี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันกับศูนย์คุณธรรม แล้วก็ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะดูรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่เป็นการทำความดี แล้วก็สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากพฤติกรรมการทำความดีตรงนั้น ซึ่งในระยะแรกก็จะทำงาน ร่วมกันกับ ๓ หน่วยงาน ก็คือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สภากาชาดไทย แล้วก็ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะเป็นการทำงานในเชิงบวก ก็จะไม่ได้มีมาตรการในเชิงลบ ซึ่งจะไปลิดรอนสิทธิหรือเสรีภาพของพี่น้องประชาชน หรือว่าเป็นการมุ่งจับผิดพฤติกรรมในเชิงลบของพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนเรื่องที่มีท่านสมาชิกพูดให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการขนส่ง ในเรื่องของการท่องเที่ยวนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Flight บินที่น้อยลง ต้องเรียนอย่างนี้ ว่าในช่วงหลังจาก COVID-19 ที่ผ่านมานี้ Capacity ในการขนส่งโดยเฉพาะทางอากาศลดลง ค่อนข้างมาก แต่ว่า Demand พอหลังจากที่เรามีการเปิดประเทศ เปิดการรับการท่องเที่ยว อย่างเต็มที่แล้วในช่วงประมาณกลางปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานี้ Flight บินต่าง ๆ Demand ในการเดินทางก็สูงขึ้นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาขณะนี้มันปรับตัวสูงขึ้น เพราะว่า Capacity กับ Demand มันไม่ Match กัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนของการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ก็ต้องเรียนว่าปัญหาที่ทำให้เกิดการชะงักงัน หรือว่าขัดข้องในการทำงานเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของตัว COVID-19 ที่มีการระบาดในช่วงปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ แต่ทีนี้ก็ต้อง มีการเร่งการทำงานเพื่อที่จะทำให้การทำงานได้บรรลุเป้าหมายในช่วงถัดไปด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของแรงงานที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายเรื่องของการว่างงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่าตัวอัตราการว่างงานในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์ แน่นอนครับในช่วง COVID-19 อัตราการว่างงานค่อนข้างสูงแล้วก็ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ กว่า ๆ ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ประมาณสัก ๓๙-๔๐ ล้านคน ในขณะนี้เองก็ลดลงมา เหลือระดับ ๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต่ำเรียกว่าต่ำมาก แล้วก็ถ้าดูจาก IMD ที่มีการวัดเราก็อยู่ อันดับต้น ๆ ที่มีอัตราการว่างงานต่ำ ทีนี้ในส่วนของการว่างงานในระดับการศึกษา แน่นอนครับในระดับการศึกษาที่เป็นช่วงอายุประมาณ ๒๐-๒๔ ปี มีการมีอัตราการว่างงาน สูงเนื่องจากว่า ๑. เป็นเพราะว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ซึ่งบางส่วนนี่ เขาก็อาจจะไปเป็นเจ้าของกิจการเองมี Self-ownership ที่สามารถที่อยากจะไปเป็น เจ้าของกิจการ บางส่วนก็ไปศึกษาต่อ แต่แน่นอนครับ ในช่วงที่ผ่านมาในขณะนี้เอง อัตราการว่างงานในกลุ่มที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ แล้วก็การว่างงานในระดับการศึกษาต่าง ๆ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทีนี้ก็ต้องเรียนว่าเรื่องของการว่างงานมันเป็นปัญหาหลายประการ ด้วยกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องแรกนี้เป็นเรื่องของผู้ที่จบการศึกษามาอาจจะไม่ Match กับ ตลาดแรงงานหรือตำแหน่งงานที่มีการเปิดรับอยู่ เพราะว่าต้องเรียนว่าในระบบของเราเอง ประมาณสัก ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นการจบมาในสายบริหาร แต่อีกประมาณ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นการจบมาในสายวิทยาศาสตร์ พวกวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรพวกนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วตำแหน่งงานที่เปิดในช่วงหลัง ๆ มันจะเป็นเรื่องของ การต้องการแรงงานที่อยู่ในระดับที่เป็นพวกวิศวกร หรือว่าวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ในสาขา ที่จบมาพวกนี้มากกว่า ก็อาจจะทำให้ผู้ที่จบมาในสาขาการบริหารอาจจะหางานทำยาก สักนิดหนึ่ง แต่ว่าแน่นอนครับในระบบเองก็มีการพยายามที่จะพัฒนา Upskill Reskill ด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้ง อว. เองก็ได้มีการทำในเรื่องของการจัดการศึกษาในลักษณะที่เป็นการเชื่อมโยง กันกับภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถที่จะตรงกับความต้องการของ ภาคเอกชน แล้วก็สามารถที่จะรับไปทำงานได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันต่อเนื่อง เช่นกัน ทีนี้อยากจะนำเรียนสักนิดหนึ่งในส่วนเรื่องของความเท่าเทียมและความเสมอภาค จริง ๆ แล้วตัวที่เราใช้วัดเราใช้ตัวชี้วัดประมาณ ๓ ตัวด้วยกันที่อยู่ในการรายงานตรงนี้ ก็จะเป็นทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางสังคม ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของ กลุ่มประชากร Top ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ Bottom ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เรื่องของ ความไม่เสมอภาคในด้านรายจ่าย ซึ่ง Gini Coefficient ปัญหาส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถจะใช้ ตัวค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ได้ เพราะว่าตัวนี้ไม่ได้มีการจัดเก็บทุกปี มีการจัดเก็บ ๒ ปีหน และในขณะเดียวกันเมื่อดูในรายละเอียดแล้วการจัดเก็บเหมือนกับ เป็นการสอบถาม ทีนี้พอถามเรื่องรายได้ แน่นอนครับสิ่งที่ได้กลับมาก็ค่อนข้างอาจจะไม่ตรง กับข้อเท็จจริงนัก เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมาใช้ในเรื่องของทางด้านรายจ่าย แต่แน่นอนครับถ้าดูเป็น Series ย้อนกลับไปในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ค่า Gini Coefficient เหล่านี้นี่ก็เริ่มมีการปรับตัว ลดลง แต่แน่นอนก็ยังอาจจะยังไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานต่อไป ทีนี้ในส่วนอื่น ๆ ในประเด็นที่ท่านสมาชิกได้มีการพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนบริหาร จัดการน้ำ ๒๐ ปีที่ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร หรือว่าเรื่องของภาคเกษตรที่อยากจะให้มี การพัฒนามากขึ้น เรื่องของ PM2.5 ที่ได้มีการพูดถึงในเรื่องนี้ต้องเรียนว่าปัญหา PM2.5 ก็เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในต้นปีที่ผ่านมานี้ก็เกิดขึ้นค่อนข้าง รุนแรง ถ้าเราไปดูในช่วงที่มี PM2.5 จะเห็นว่าจุดความร้อนมันจะอยู่ในประเทศไทย แล้วก็อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาทางท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน ในการที่จะแก้ไขปัญหาพวกนี้ร่วมกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการนำเอาเครื่องจักร แล้วก็แหล่งเงินทุน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึง ได้ง่ายขึ้น อันนี้เดี๋ยวผมจะรับไปในการที่จะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะดู เรื่องนี้ต่อไป

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรื่องของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๑๐ เขต ถ้าเราดูตัวเลข การลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี่ก็จะเห็นว่าในปี ๒๕๖๑ มีเงินลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง ๑๐ เขตอยู่ที่ประมาณ ๑๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ว่าในปี ๒๕๖๕ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น ประมาณ ๓๘,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่แน่นอนครับ ในส่วนของอัตราการขยายตัวนี้ก็ยังอาจจะ ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแง่ของ GPP เพราะว่าตัว GPP ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ต้องมี การจัดเก็บข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือตัวชี้วัดบางตัวที่กำหนดไว้บางครั้งหน่วยงานอาจจะ ยังไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูล หรือว่าจะเก็บไม่ครบถ้วน เราเองก็ต้องใช้ตัวชี้วัดที่เป็น Proxy เข้ามาอ้างอิงเพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนา เพื่อที่จะได้มีการดูได้ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ต่อไปนะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงเรื่องของ ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนแม่บทในเรื่องของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ๖ อุตสาหกรรม เรียกว่าที่กำหนดไว้นี่ก็เป็นการกำหนดในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราคาดว่า เราเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินไปได้ แต่แน่นอนก็ไม่ได้ละทิ้งอุตสาหกรรมอื่น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ก็ได้มีการดำเนินงานมีความก้าวหน้า มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะว่าก็อย่างที่ทุกท่านทราบกันว่าก็จะมีผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นผู้ผลิตก็มาลงทุนในประเทศไทยอยู่หลายรายที่จะมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิต แต่แน่นอนครับ เรื่องของการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะว่าถ้าเราไม่ทำต่อเนื่องประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่น ๆ เขาอาจจะแซงหน้าเราไป เพราะฉะนั้นการวัดของ IMD อะไรต่าง ๆ ในสำนักที่มีการวัด มันเป็นการวัดที่ไม่ใช่เป็นการวัดแบบ Static มันก็จะเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในการทำงานเราเองก็คงอยู่เฉยไม่ได้ ก็คงต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อที่จะเร่งสร้าง ความสามารถในการแข่งขวันของประเทศ รวมทั้งเรื่องของการพัฒนาในเชิงสังคม เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนเรื่องของการพัฒนาด้านการกีฬาต่าง ๆ เดี๋ยวจะขอรับไปเพื่อที่จะไป ประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการต่อไป สุดท้ายผมขออนุญาตขอบพระคุณ ท่านสมาชิกทุกท่านที่ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการที่จะไปปรับการทำงาน แล้วก็จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการการทำงาน แล้วก็การจัดเก็บ ข้อมูลด้วย เพื่อที่จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขอบพระคุณ มากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีสมาชิกท่านใดที่ยังติดใจในคำชี้แจง มีไหมครับ เชิญครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมมีอยู่ ๔ ประเด็น ที่ยังติดใจกับข้อชี้แจงนะครับ ประเด็นที่บอกว่าสำหรับแรงงานจบใหม่มีตัวเลข

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านช่วยบอกชื่อ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล ก็ ๔ ประเด็นครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ที่บอกว่าตัวเลขของคน New Jobber เด็กจบใหม่ที่ตกงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผมยืนยันตรงนี้ไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเลยครับ ถ้าดูตัวเลขจะเห็นได้ว่า เพิ่มขึ้น และเพิ่มสูงกว่าช่วง COVID-19 ด้วยซ้ำในปัจจุบันนี้ ข้อมูลตรงนี้ผมเอามาจาก รายงานสถิติแรงงานปี ๒๕๖๕ ของกระทรวงแรงงานเองนะครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เรื่องของไม่ตรงกับตลาดแรงงาน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็มีการระบุว่าจะต้องผลิตให้ตรงตลาดมากขึ้น แต่ว่าการบริหารงานผิดพลาดไหมครับ ถ้าจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถตรงกับตลาดแรงงานได้สักที

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ เรื่องที่ท่านเลขาสภาพัฒน์ตอบเกี่ยวกับการ Upskill Reskill เห็นได้เลยว่าผู้เข้ารับการอบรมแต่ละอย่างลดลง และงบประมาณก็ต่ำลงด้วย ไม่แน่ใจว่า เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้างครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ตอนนี้ชัดเจนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีใช้มา ๕ ปี เด็กจบใหม่ ตกงานเพิ่มขึ้นทุกปีครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีกท่านมีไหม หมดแล้วนะครับ ท่านตอบตรงนี้หน่อยไหมครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แน่นอน ตัวเลขในปี ๒๕๖๕ ก็จะเป็นอย่างที่ท่านได้บอกไป เพราะว่าเป็นตัวเลขสิ้นปี ๒๕๖๕ ผมขออนุญาตนำเรียนว่าสิ่งที่ผมได้เรียนไปนี่เป็นตัวเลขที่เราได้มาจาก Source เดียวกัน ในส่วนที่ผมได้มีการแถลงภาวะสังคมไปในช่วง ๒ ไตรมาสที่ผ่านมาตัว New Jobber ก็เริ่มมีการว่างงานลดลง ในส่วนของการไม่ตรงกับตลาดแรงงานเป็นปัญหาที่ขณะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานศึกษาก็กำลังปรับการทำงานอยู่ เพราะว่าอันนี้มันอยู่ที่ ตัวคณะของมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เองก็ต้องเรียนว่า มันไม่ได้เป็นการทำผิดยุทธศาสตร์ชาติหรอกครับ แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีการเปิดรับนักศึกษา ในคณะต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีการปรับการทำงาน เพื่อที่จะทำให้ นักศึกษาที่จบออกมาแม้ว่าจะเป็นสายบริหารยังสามารถที่มีการมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น ในส่วนของ Upskill Reskill ของกระทรวงแรงงานผมขออนุญาตกลับไป Check นิดหนึ่งว่า งบประมาณที่เขาได้รับในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานั้นลดลงหรือเปล่า แต่ว่าที่แน่ ๆ ในช่วงที่ ผ่านมาเราปรับระบบของการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ปรับ เป็นตามทักษะฝีมือ แล้วก็มีการปรับตัวค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนที่ท่านมีข้อมูล ที่ท่านแจ้งว่าจำนวนคนที่ผ่านมาอาจจะลดลง ก็แน่นอน เมื่อได้รายได้ในทักษะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เกณฑ์การวัดก็อาจจะมีการปรับไป อันนี้ผมขออนุญาต กลับไป Check กับกระทรวงแรงงานสักนิดหนึ่งก่อนนะครับ เด็กจบใหม่ที่ตกงานเพิ่มขึ้นทุกปี อันนี้เดี๋ยวคงต้องรอดูตัวเลขนิดหนึ่ง แต่ต้องเรียนว่าได้มีความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้วในการที่จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถมีการทำได้ แล้วก็มีโอกาสตกงาน น้อยลงครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ยังไม่หมดนะครับ เชิญครับ

นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ภัสริน รามวงศ์ ค่ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ กทม. อยากจะถามไปยังท่านประธานแล้วก็ผู้ที่ชี้แจงด้วย เรื่องระบบ Social Credit หรือว่าเครดิตสังคมได้มีการนำร่องนำไปใช้แล้วที่ใดบ้าง แล้วก็ ในอนาคตนี้จะมีมาตรการใช้เป็นเกณฑ์การวัดใด ๆ ได้ไหม ขอให้ผู้ชี้แจงช่วยตอบด้วยค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขออีกท่านเลยนะครับ จะได้ตอบทีเดียว เชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล ขออนุญาตเสนอแนะท่านประธานครับ คือแบบนี้ได้ไหมครับเนื่องจากว่า เราใช้เวลาในที่ประชุมมาพอสมควรนะครับ เนื่องจากมีประเด็นที่หลากหลายด้านและคำถาม ของเพื่อนสมาชิกก็เยอะมาก รายละเอียดบางประเด็นที่อาจจะยังไม่ได้ตอบ หรือตอบวันนี้ ไม่ได้นี่ อยากให้เป็นหนังสือมาทีหลังได้ไหมครับ เพื่อนสมาชิกจะได้ช่วยกันดู เพราะว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีความสำคัญนะครับ จะได้คำตอบที่รายละเอียดครบถ้วน ทุกประเด็นและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านเลขาธิการครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาธิการสภาพัฒน์นะครับ สำหรับคำถาม เรื่อง Social Credit ที่ว่ามีการนำร่องในพื้นที่ไหนบ้างนะครับ ตอนนี้มีการนำร่องอยู่ใน ๑๐ หมู่บ้านหรือว่าชุมชนนะครับ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา แล้วก็กรุงเทพมหานคร ก็จะเป็นประมาณ ๑๐ ชุมชนที่มีการนำร่องใช้อยู่นะครับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นคำถามในรายละเอียด เดี๋ยวผมขออนุญาต อย่างที่ท่านสมาชิกได้นำเรียนนะครับ เดี๋ยวผมจะทำเป็นหนังสือส่งมาให้เพื่อความครบถ้วน ต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

หมดแล้วนะครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ แล้วนะครับ ขอบคุณท่านผู้ชี้แจงนะครับ ขอบคุณครับ ขอปิดประชุมครับ