นายจุลพงศ์ อยู่เกษ

  • ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต สั้น ๆ ครับ เพียงแค่ ๑ นาทีเท่านั้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จริง ๆ แล้วผมเคยได้ยินชื่อเสียง ท่านกรรมการผู้จัดการมาสักพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ผมยังนั่งอยู่ใน Board ธนาคาร ในต่างประเทศอยู่ ผมอ่านสารจากกรรมการผู้จัดการ หน้า ๒๕ ก็ขอชื่นชมในวิสัยทัศน์ ของท่าน ผมมี ๒ คำถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องการสนับสนุน Startup และ SMEs ที่เพื่อนสมาชิกของผมได้บอกว่า มีจำนวนน้อยมาก เป็นเพราะการเรียกหลักประกันเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป หรือเปล่าครับ ในเมืองไทยเขานินทาแล้วนะครับ จะไปกู้เงินธนาคาร คำถามแรกที่ธนาคาร จะถามว่ามีที่ดินหรือเปล่า หรือมีหลักทรัพย์หรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ นะครับ เนื่องจากเป็นธนาคารเพื่อการส่งออก ผมไม่ทราบว่า ทางธนาคารมีการวางแผนเรื่องการปรับราคา Carbon ข้ามพรมแดน หรือ CBAM ที่อาจจะ กระทบกับผู้ส่งออกของไทยไปยุโรปหรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ พอดี มีคำถามหนึ่งไม่ได้ตอบผมเรื่อง CBAM ที่ยุโรป ไม่ทราบว่าทาง EXIM Bank มีมาตรการ อย่างไรครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นเลย ผมขอบพระคุณท่านประธานมากที่เรียกผมว่าท่านนะครับ แต่ว่าสำหรับผมแล้วเรียก คำนำหน้าว่า คุณ ก็เพียงพอนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในวาระของการอภิปรายรายงานการปฏิรูปประเทศนะครับ ผมขอรับ ทำหน้าที่การอภิปรายการปฏิรูปประเทศในด้านที่ ๓ และด้านที่ ๔ คือด้านกฎหมาย และด้านกระบวนการยุติธรรม ในภาพรวมนั้นผมต้องขอพูดเหมือนกับเพื่อน สส. พรรคก้าวไกลของผมที่ได้อภิปรายไปแล้วนะครับว่าการปฏิรูปด้านกฎหมายก็ดี ด้านกระบวนการยุติธรรมก็ดี เหมือนกับการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ครับ คือทำอย่างล่าช้า และสัมฤทธิผลไม่น่าพอใจ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกเท่าไรนัก อย่างในการปฏิรูปกฎหมาย ตามแผนการปฏิรูปในปี ๒๕๖๑ ได้กำหนดเป้าหมายขึ้นมาเป็น ๑๐ ข้อ โดยล้อกับมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ คือให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ปรับปรุง กฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ปฏิรูปการเรียนการสอนวิชากฎหมาย นี่เป็นเป้าหมายสำคัญ ๆ ของการปฏิรูปกฎหมายครับ แต่เมื่อมีการปรับปรุงแผนการปฏิรูป เมื่อปี ๒๕๖๔ การปฏิรูปกฎหมายด้านประเทศก็ได้ตีกรอบการปฏิรูปให้แคบลงอีกครับ จาก ๑๐ ด้าน เหลือแค่ ๕ กิจกรรมปฏิรูป ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ยังคล้าย ๆ ที่ผมเพิ่งอภิปราย มานะครับ เพียงแต่ทำให้ชัดเจนขึ้นว่าจะทำอะไรบ้าง ท่านประธานครับ แต่พอครบ กำหนดเวลาการปฏิรูปสิ้นปี ๒๕๖๕ จาก ๕ กิจกรรมปฏิรูป กลับหดเหลือแค่ ๒ เป้าหมาย แถมผลการปฏิรูปก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์จริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิรูป ด้านการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ในรายงานผลการปฏิรูปมีกฎหมาย และกระบวนการทั้งหมด ๑,๐๙๔ แล้วก็สิ้นสุดตรงนั้นเองครับ ในรายงานไม่มีบอกเลยว่า ทำอะไรต่อไป หรือเสร็จสิ้นอะไรลงไปบ้าง หรือเรื่องของการให้ประชาชนมีส่วนร่วม กับการร่างกฎหมายก็ไม่สัมฤทธิผล คือแทนที่จะกำหนดว่ามีพระราชบัญญัติฉบับใดบ้าง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและยื่นเข้าสภา หรือความเห็นของประชาชนมีจำนวนเท่าไรนั้น ก็ไม่มีปรากฏในรายงานนะครับ ท่านประธานครับ ถ้าจะพูดจริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่า การปฏิรูปกฎหมายมันไม่ได้เริ่มในปี ๒๕๖๑ จริง ๆ การปฏิรูปกฎหมายมีมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ปี ๒๕๒๕ ในแผนฉบับที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ได้พบอุปสรรคมากมายครับ ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์สมัยนั้นท่านค้นไปค้นมาก็ไปเจอพบว่า อุปสรรคเบอร์ ๑ คือกฎหมายนี่เอง คือพบว่ากฎหมายที่เป็นอุปสรรคเบอร์ ๑ เพราะว่า มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทำ หรือไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะทำ จึงมีการเริ่มการปฏิรูปกฎหมายในแผนฉบับที่ ๕ นี้นะครับ แต่การปฏิรูปกฎหมายตามแผนที่ ๕ และต่อ ๆ มาก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัญหาภายในระบบราชการที่ต่างคน ต่างทำ ท้ายที่สุดก็ทำแค่เสนอแนะข้ามหน่วยงานกันนะครับ ติดกลไกที่ล่าช้าของราชการ กว่าจะได้ประชุม หรือว่าพร้อมหน้าพร้อมตากันใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะสรุปได้ก็เวลาเป็นปี และถึงได้ข้อสรุปแล้ว หน่วยงานที่สรุปก็เสนอข้อสรุปไปให้หน่วยงานอีก ๑ หน่วยงานทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดการปฏิรูปอะไรเลย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ต่อไปเป็นเรื่องการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายโดยสรุปเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและถูกบังคับ ใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นธรรม มีกระบวนการที่โปร่งใสและเสร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ผมขอเท้าความไปถึงแผนปฏิรูปตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ วาดไว้อย่าง สวยหรูว่าจะมีการปฏิรูป ๑๐ ประเด็นปฏิรูป ครอบคลุมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่ง และอาญา แผนที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมถึง ๔๑ ร่าง แต่เอาเข้าจริง ๆ การปฏิรูปกฎหมายก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเช่นกันครับ และเรื่องที่ผม เสียดายที่สุดคือเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การแข่งขันของประเทศ ที่มีสาระสำคัญเรื่องการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย กฎหมายว่าด้วย อนุญาโตตุลาการ และการตั้งศาลพาณิชย์ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของเรา ทางแพ่ง ของไทยมีความเป็นสากลและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สุดท้ายเมื่อมีการปรับปรุง ในปี ๒๕๖๔ จาก ๑๐ เรื่อง ๕ เรื่องกลับเหลือเพียง ๒ เรื่องนะครับ ทั้งหมดเป็นกระบวนการ ยุติธรรมทางอาญาทั้งหมด เมื่อมาพิจารณาผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๕ ในกิจกรรมปฏิรูป Big Rock ทั้ง ๕ เรื่อง ผมมีคำถามที่ถามต่อผู้ชี้แจงใน ๒ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก คือการกำหนดระยะเวลาดำเนินการกระบวนการยุติธรรม มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในกระบวนการยุติธรรม ๒๕๖๕ มีหน่วยงานไหนครับที่ทำสำเร็จ คือต้องทำสำเร็จภายใน ๙๐ วันนับแต่เดือนมกราคม ปี ๒๕๖๕ หน่วยงานสำคัญกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่จัดทำ เหมือนกัน ผมขอถามท่านว่ากระทรวงกลาโหมได้จัดทำอะไรไปบ้างครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ คือการปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อบังคับของประธาน ศาลฎีกา เรื่องการปล่อยตัว ๒๕๖๕ ท่านระบุว่าเป็นภารกิจสำคัญ แต่ข้อบังคับของประธาน ศาลฎีกานี้กลับจำกัดสิทธิการประกันตัว การเป็นนายประกันในการประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย ต่างจากข้อบังคับในปี ๒๕๔๘ ที่ถูกยกเลิกโดยข้อบังคับปี ๒๕๖๕ ผมเรียนถามท่าน อย่างนี้ครับ การจำกัดสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการประกันตัวให้มีโอกาส น้อยลง เป็นภารกิจสำคัญของการปฏิรูปกฎหมาย เป็นภารกิจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ หรือครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายจริง ๆ ครับท่านประธาน คือไม่ว่าจะการปฏิรูปกฎหมาย หรือการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรม สำคัญจริง ๆ ก็คือต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแน่นอน และต้องมี คนทุบโต๊ะทำครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม เป็นผู้เสนอญัตติ ชื่อจุลพงศ์ อยู่เกษ ขออนุญาตครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดูชื่อญัตติที่ผมเสนอแล้วก็ดูออกจะจืดชืดไปหน่อยเกี่ยวกับเรื่องตลาดทุน แต่เรื่องที่กรณีศึกษาที่ผมกำลังจะยกตัวอย่าง อาจจะทำให้เกิดความตื่นเต้นในสภาแห่งนี้ได้ เพราะว่าคนในวงการตลาดเงิน หรือตลาดทุนเรียกกรณีนี้ว่าเป็นมหากาพย์การโกง คิดเป็น มูลค่านับแสนล้านบาท แสนล้านบาทนี้สร้างทางรถไฟฟ้าได้ ๑ สายเลย การตรวจพบถึงเดือน พฤษภาคมปีนี้ก็ตรวจพบไป ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทแล้ว ผู้เสียหายส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ ที่เกษียณอายุแล้วนำเงินบำเหน็จบำนาญมาลงทุนในหุ้น หรือหุ้นกู้ของบริษัทนี้ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นการโกงแบบครบวงจร เช่น การปลอมบัญชี การฟอกเงิน การ Siphon เงิน การสร้างลูกค้าปลอม การสร้างเจ้าหนี้ปลอม สร้างธุรกรรมการเงินปลอม ยอมแม้กระทั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถึง ๖๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อกลบเกลื่อนการตรวจสอบ ของกรมสรรพากร ท่านประธานที่เคารพครับ แชร์แม่ชม้อยก็ดี Forex ก็ดี ชิดซ้ายไปเลย DSI ขณะนี้ได้ออกหมายจับอดีตผู้บริหารหลายราย ผู้บริหารบางรายหอบเงินหลายพันล้านบาท หลบหนีไปต่างประเทศ กรณีศึกษานี้คงไม่พ้นกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฝ่ายโสตขอขึ้น Slide นิดหนึ่งครับ

    อ่านในการประชุม

  • เพื่อเป็นการปูพื้นฐานนะครับ เวลาทำธุรกิจแหล่งที่มาของเงินทุนมี ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือเงินของผู้ถือหุ้นเอง ขวามือสุด คือกู้ยืมธนาคาร ตรงกลางคือตลาดทุน นี่ละครับที่ถึงเรียกว่าตลาดทุน พูดง่าย ๆ คือเอาเงิน คนอื่นมาใช้ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นใหม่แล้วขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกว่า IPO หรือการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ ทั้งหมดนี้ทั้ง ๒ สายตรงกลางนี้ออกขาย ให้กับประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นจึงถือว่าประชาชนทั่วไปเป็นเหยื่อในมหากาพย์การโกง ครั้งนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ผมขออภิปรายกราบเรียน ท่านประธานถึงบันได ๘ ขั้นของมหากาพย์การโกงในครั้งนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นานตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๑ โดยการหาซื้อหุ้นในบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี บริษัทนั้น ชื่อบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ สายไฟฟ้าที่เราเห็นพาดระหว่างจังหวัดนะครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๒ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทใหญ่โตเมืองไทยคนเดียวกันนี้ ก็หาซื้อหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ในภาษาเทคนิคเขาเรียกว่า Backdoor Listing คือแทนที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โดยปกติจะผ่านการตรวจสอบมากมาย ก็หาทางลัดโดยหาซื้อหุ้นในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว หาไปหามาในที่สุดก็ได้ ไปเจอบริษัทหนึ่งแล้วก็เข้าไปซื้อหุ้น บริษัทนั้นชื่อบริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อดูบริษัทนี้ประกอบธุรกิจอะไร บริษัทนี้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น จีน และเกาหลี บันไดขั้นที่ ๒ ผ่านไป

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๓ จึงเอา บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด มาเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๔ เปลี่ยนประเภทกิจการของบริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท Holding Company คือไปถือหุ้นบริษัท และเปลี่ยนชื่อ บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นชื่อ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นี่คือจุดกำเนิดของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๕ ตั้งบริษัทย่อยอีก ๓ บริษัทเพื่อเข้ามาทำธุรกรรมปลอม ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๖ ออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้ประชาชน ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยอ้างว่าจะไปลงทุนในบริษัทในต่างประเทศ แต่ไม่เกิดการลงทุนขึ้นจริง

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๗ คือออกหุ้นกู้ขายให้กับประชาชน ๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • บันไดขั้นที่ ๘ คือการกู้ธนาคารเกือบ ๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท และในที่สุด ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ บริษัท เฟ้ลป ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ผลิต สายไฟฟ้าขนาดใหญ่อันดับหนึ่งใน Asia อันดับ ๑๔ ของโลก ในปี ๒๕๖๒ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่มีกำไร ๑๒๓ ล้านบาท ปี ๒๕๖๓ กำไร ๑,๖๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๔ กำไร ๒,๗๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๕ กำไร ๒,๒๐๐ ล้านบาท ใครจะไม่เชื่อถือครับ แต่เมื่อมีการสอบบัญชีค้นกันไปปรากฏว่ากำไรตัวเลขเหล่านี้เกิดการ ตกแต่งบัญชี เรื่องนี้แดงขึ้นเพราะว่ามีการเลื่อนการยื่นงบดุลในปี ๒๕๖๕ ออกไป

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ คือมีการผิดนัดชำระหุ้นกู้ ซึ่งมีผู้เสียหายถึง ๒,๐๐๐ กว่าราย หุ้นกู้ทั้งหมด ๖ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีผู้ถือหุ้นกู้ราว ๆ ๒,๐๐๐ กว่าราย ความเสียหายผิดนัด ประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท จึงมีการสงสัยในระบบบัญชี ที่สงสัยกว่านั้นคือผู้สอบบัญชี เดิมลาออกมีการตั้งผู้สอบบัญชีใหม่ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบบัญชีที่มีการตรวจสอบบัญชีแล้ว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Special Audit ครับ

    อ่านในการประชุม

  • บริษัทย่อยของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวกับ ปลอมแปลงบัญชีก็มี ๔ บริษัท เฟ้ลปดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อดิสรสงขลา บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง เดี๋ยว ๔ บริษัทนี้จะมีปรากฏชื่อในการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ มีการพบเงื่อนงำเกือบ ๕๐ กว่าเงื่อนงำในทางบัญชี แต่ผมยกตัวอย่างมา ๔ เงื่อนงำ คือบริษัทลูกบริษัทที่ ๑ ให้บริษัทลูกบริษัทที่ ๒ กู้ ๒ ครั้ง แต่ไปชำระดอกเบี้ยกับชำระเงินต้น ให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เห็นเป็นสีแดงนะครับ เงื่อนงำที่ ๒ คือมีการโอนเงินไปให้บริษัทในเครือ แล้วก็โอนไปให้ที่สิงคโปร์ ให้แก่ อดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เงื่อนงำที่ ๓ อยู่ ๆ ก็มีการโอนเงิน จำนวน ๘ ล้านเหรียญสหรัฐไปให้อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในสิงคโปร์ เงื่อนงำที่ ๔ เป็นคำให้การของเจ้าหน้าที่ธนาคารในประเทศไทยว่ามีการขนเงินสด ๑๕ ล้านบาท ไปให้นายธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศไทย เมื่อมีการตรวจสอบบัญชีหรือ Special Audit ผมขอสรุปดังนี้นะครับ สรุปว่าวิธีการตกแต่งบัญชีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ กรณีแรกคือ การสร้างยอดขายปลอม โดยไม่มีการจ่ายเงินจริง เป็นเงิน ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท กรณีที่ ๒ การสร้างยอดขายปลอม จ่ายเงินให้กับพวกเดียวกัน คือสร้างบริษัทในเครือเป็นผู้ซื้อแล้วก็จ่ายให้บริษัทเดียวกันเป็น เงิน ๑,๘๐๐ กว่าล้านบาท กรณีที่ ๓ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างยอดขายปลอมให้เสมือน จริง ยอดขายปลอม ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายให้กรมสรรพากรเป็นเงิน ๖๐๐ กว่าล้านบาท กรณีที่ ๔ คือสร้างรายจ่ายปลอมให้กับพวกเดียวกันเองเป็นเงิน ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท กรณีที่ ๕ คือการล้างลูกหนี้โดยสร้างรายการรับเงินปลอม จากต่างประเทศ เพื่อจะให้เห็นว่าบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีผลประกอบการดี นอกจากมีรายได้ดีแล้วยังมีลูกหนี้น้อยด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธานถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการสังคายนาเรื่องกฎหมาย ตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาล รับไปดำเนินการก็ตามผมเห็นด้วยทั้งนั้น และสุดท้ายผมขอสละสิทธิในการสรุปเพื่อรักษา เวลา ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมต้อง ขอขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายสนับสนุนในญัตตินี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่ยื่นญัตติ ร่วมกัน หรือว่าอภิปรายสนับสนุนก็ตาม อย่างไรก็ตามผมยังเห็นว่าตลาดการเงิน ตลาดทุน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งนะครับ โดยเฉพาะที่ท่านเพื่อนสมาชิกท่านสุดท้ายอภิปรายไป เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาศาลถ้าเป็นไปได้คือควรจะต้องรีบ ไม่ว่าจะตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับตลาดทุน หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม แล้วแต่ท่านประธานจะเห็นสมควรนะครับผมขอสรุปเพียงเท่านี้ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอถาม คำถามสั้น ๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ชี้แจงหรือเปล่า คือเรื่องข้อบังคับของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว ผมมี ๒ คำถามคือ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. การออกข้อบังคับลักษณ ะนี้องค์กรไหนเป็นคนพิจารณำ ในการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ข้อบังคับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวปี ๒๕๔๘ ของเดิมได้กำหนด ผู้ที่จะประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้กว้างขวางมาก เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิก สภาท้องถิ่น แต่ว่าในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ปี ๒๕๖๕ ผมเข้าใจว่าตัดในส่วนนี้ ออกหมด อันนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย โอกาสที่ได้รับการประกันตัว หรือเปล่า ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมไม่มี Slide ท่านผู้ชี้แจงฟังผมไปเรื่อย ๆ อภิปรายไปเรื่อย ๆ ผมจะอภิปราย ในลักษณะตั้งคำถาม แล้วจะอ้างอิงถึงหน้าของรายงาน ถ้าท่านฟังไปเรื่อย ๆ ท่านจะเข้าใจ มีทั้งหมด ๕ ประเด็น ๕ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก คือยุทธศาสตร์ที่ ๑ ในหน้า ๑๑๘ ของรายงาน ผมเข้าใจว่าเป็น ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี คำถามผมคือว่าในเมื่อเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทำไมการเบิกจ่ายงบประมาณในงบการเงิน หน้า ๑๙๐ จึงมีการเบิกจ่ายงบประมาณน้อยที่สุดใน ๓ ยุทธศาสตร์ คือในปี ๒๕๖๔ มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพียง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ในปี ๒๕๖๕ มีการเบิกจ่ายเพียง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ของงบที่ได้รับอนุมัติ การพัฒนาบุคลากรที่ใช้เงินต่ำกว่า งบที่ได้รับอนุมัตินี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการจัดการเลือกตั้งและประกาศการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดนี่ล่าช้าใช่หรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ คือขอให้ท่านผู้ชี้แจงขยายความคำว่า กลยุทธ์ที่ ๒ ของยุทธศาสตร์ที่ ๑ ในหน้า ๑๑๘ ขอให้ท่านขยายความสักนิด ในกลยุทธ์ที่ ๒ ท่านเขียนว่า ยกระดับการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งการออกเสียงประชามติให้ชาญฉลาดทั้งระบบ (ต้นน้ำและปลายน้ำ) ขอให้ท่านขยายความสักนิดหนึ่ง เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับความพร้อม ของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำประชามติ หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้า

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ คือเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ ในรายงานหน้า ๑๔๗-๑๔๘ คำถามผมคือ ตกลงวิธีการลงคะแนนผ่าน Internet หรือ i-Voting จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง หรือการลงประชามติหรือไม่ เพราะรายงานไม่ชัดเจน และการเดินทางไปต่างประเทศ ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเดินทางในรายงานงบประมาณหน้า ๒๓๒ กระโดดขึ้นจาก ๑๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๕๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ เพราะมีการเดินทางไป ในประเทศยุโรปหลายประเทศหรือเปล่าครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามข้อที่ ๔ ในงบการเงินหน้า ๒๓๔ ที่ระบุว่า กกต. ถูกฟ้องคดีนั้น ผมขอเรียนถามท่านผู้ชี้แจงว่าในรายงานนี้รวมทั้งคดีที่ศาลจังหวัดฮอดหรือเปล่าครับ ที่คณะกรรมการ กกต. ถูกฟ้องในคดีใบส้มในเรื่องซองทำบุญด้วยหรือเปล่าครับ ถ้าใช่ ผมมีคำถามว่าท่านผู้ชี้แจงกรุณาแจ้งให้ทราบว่าคดีนี้อยู่ในชั้นศาลไหน และถ้าคดีนี้ ถึงที่สุดแล้ว สำนักงาน กกต. ต้องชำระหนี้ไปให้โจทก์หลายสิบล้านบาท สำนักงาน กกต. มีระเบียบในการเรียกเงินคืนจาก กกต. เช่นใดครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามสุดท้าย คือเรื่องกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในงบแสดงผล การดำเนินงานทางการเงิน หน้า ๒๔๒ มีการลงบัญชีว่ากองทุนนี้มีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาท ในฐานะคนที่เคยทำงานด้านการเงิน ผมก็ตามไปดูหมายเหตุประกอบการเงิน ก็ยังใช้คำว่า มีรายได้อื่น ผมขอเรียนถามครับว่ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองนั้นมีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาทนั้น เป็นรายได้จากอะไร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ ทางนี้ครับ ขออนุญาตครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ชี้แจงยังขาดการตอบคำถามของผมข้อหนึ่ง ขออนุญาตท่านประธานสั้น ๆ เรื่องคดีที่ศาลจังหวัดฮอด ถ้ากรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ กกต. ต้องชำระเงิน ๕๐ ล้านบาท หรือ ๖๐ ล้านบาทให้กับโจทก์ ผมไม่ทราบท่านจะตอบได้หรือเปล่า ปัจจุบัน กกต. มีระเบียบ อย่างไรที่จะเรียกค่าเสียหายคืนจากคณะกรรมการ กกต. ที่ลงมติไปหรือเปล่า ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่อนุญาตให้ผมยื่นญัตตินี้ต่อสภา แต่ก่อนที่ ผมจะลงเนื้อหาของโครงการ Landbridge ผมขออนุญาตท่านประธานอภิปรายมูลเหตุ พื้นฐานที่ผมยื่นญัตติฉบับนี้ เพื่อแสดงให้ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกเห็นว่าโครงการ Megaproject ขนาดเดียวกันกับโครงการ Landbridge นี้ มีมิติที่ต้องพิจารณามากกว่า เรื่องการลงทุนเพื่อการคมนาคมขนส่ง ขอ Slide ที่ ๒ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ และเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ผมได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ในรัฐบาลขณะนั้น ให้ไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการทวายในประเทศเมียนมา ที่บริษัท รับเหมาก่อสร้างของคนไทยขนาดใหญ่ไปลงทุนไว้ คือให้ไปดูว่าทำไมโครงการนี้จึงล่าช้า มีอุปสรรคตรงไหน ทั้งที่โครงการนี้ริเริ่มมาหลายปีก่อนหน้านั้น ตอนที่ผมไปดูโครงการ ครั้งแรกนี้ยังไม่มีอะไรเลย มีแต่พื้นดินชายฝั่ง ทะเลอันดามันกับต้นไม้ริมทะเล ทั้ง ๆ ที่ โครงการเริ่มมากว่า ๓ ปีแล้ว ผังก่อสร้างยังไม่เสร็จ ผมต้องเดินทางไปย่างกุ้งทุก ๓ เดือนครั้ง ตลอดระยะเวลา ๒ ปีกว่า ๆ ท่านประธานครับ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น โครงการเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมามี ๓ โครงการ คือ โครงการเจ้าผิวก์ ใกล้ชายแดนบังกลาเทศ โครงการติละวาใกล้ย่างกุ้ง และโครงการทวายที่เป็นโครงการที่ใหญ่ ที่สุด โครงการทวายมีเนื้อที่ ๑๙๖.๕ ตารางกิโลเมตร ใหญ่ขนาดไหนครับ ท่านลองคิดว่าท่าน ขับรถเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านไกล ๑๔ กิโลเมตร เป็นโครงการ Greenfield คือเริ่มจาก แผ่นดินเปล่า โครงการนี้เป็นท่าเรือน้ำลึก ๓ ท่า โครงสร้างคมนาคมขนส่งเป็นถนนละราง หมายถึงชายแดนไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมหนักและเบา โครงการทวาย ห่างจากชายแดนไทย ๑๓๒ กิโลเมตร ถึงบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านประธานครับ ประเทศไทยเราไม่เคยมีท่าเรือน้ำลึกทางฝั่งทะเลอันดามันเลยนะครับ ที่จะขนส่งสินค้าไปตะวันออกกลางและยุโรป ปัญหาใหญ่ที่สุดของโครงการทวายนี้ ไม่ใช่ปัญหาทางวิศวกรรมหรือการก่อสร้างครับ แต่มันเป็นปัญหาเงินลงทุน โครงสร้าง การลงทุนที่ขาดการวิเคราะห์ทางการเงินจากข้อมูลที่ถูกต้อง และการคำนวณผลตอบแทน ที่เกินจริง ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น การย้ายถิ่นฐานของคนในท้องที่ การต่อต้านของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันแต่ไม่เคยถูกนำมาพิจารณา ค่าก่อสร้างถนน เป็นระยะทาง ๑๓๒ กิโลเมตร จากโครงการมาชายแดนไทยที่แพงลิ่ว บางช่วงตามแบบ ก่อสร้างต้องเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ กระทบสิ่งแวดล้อม ในเชิงกฎหมายผมถึงขนาดต้องไป ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดของเมียนมาในการยกร่างกฎหมายเศรษฐกิจพิเศษด้วย พอโครงสร้างการลงทุนและร่างกฎหมายเริ่มเข้าทาง ก็มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ร่วมทุนระหว่างรัฐบาลเมียนมา ญี่ปุ่น และหน่วยงานของประเทศไทย หน่วยงานไทย ที่เกี่ยวข้องคือสภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโครงการความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โครงสร้างการลงทุนเงินทุนแบบก่อสร้างลงตัวนะครับ แต่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมจึงถอนตัวจากโครงการทวาย ตั้งแต่นั้นมา ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ ผู้นำเมียนมาประกาศจะเดินหน้าต่อ โครงการทวาย ทีนี้เรามาดูโครงการ Landbridge ของไทยบ้างครับ ที่ ครม. เพิ่งรับทราบ โครงการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนอื่นเลยเราต้องตั้งหลักก่อนว่าเราจะเอาโครงการ Landbridge หรือคลองไทย สำหรับผมถ้าเลือกโดยพิจารณาเฉพาะจำนวนเม็ดเงินลงทุนโดยไม่ดูปัจจัยอื่น เช่น ความคุ้มค่าของโครงการ โครงการคลองไทยจะลงทุนสูงกว่าโครงการ Landbridge ถึง ๑ เท่า ๒ สไลด์ นี้เทียบระหว่างโครงการทวายกับโครงการ Landbridge นะครับ ทวาย อยู่ทางด้านซ้าย คือประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึก Motorway และระบบราง และเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณหลังท่าเรือ จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เฉพาะโครงการคมนาคม ขนส่งเท่านั้น โครงการ Landbridge เป็นโครงการ Greenfield หมายความว่าเกิดมาจาก แผ่นดินเฉย ๆ ไม่มีสิ่งก่อสร้างเหมือนโครงการทวาย ต้องมีการเวนคืน มีการย้ายถิ่นฐาน ชุมชนเดิม จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวทะเลอันดามัน พื้นที่ โครงการ Landbridge อยู่ในแนวกันชนระยะ ๓ กิโลเมตร จากพื้นที่อุทยานริมทะเล ในจังหวัดระนอง ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังใส่เป็น Waiting List เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก โครงการ Landbridge ถูกกำหนดให้มีระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อนาคต อาหาร กิจกรรมด้าน Logistics ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์ ในการขนถ่ายสินค้า รวมทั้งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ทุกท่านจะเห็นว่าสภาพทางกายภาพของ โครงการเป็นที่จับจ้องทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ท่านประธานที่เคารพครับ ในทุกการพัฒนามีต้นทุน ผมยังเชื่อว่าในทางเศรษฐกิจ โครงการ Landbridge น่าจะ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ หากการก่อสร้างทุกส่วนเปิดให้มีการประมูลงาน นานาชาติ หรือเรียกว่า International Bidding มีโครงการที่มีการพิจารณาถึงมิติอื่น ๆ ในด้านความยั่งยืน เช่น สิ่งแวดล้อม การชดเชยชุมชน ในท้องที่ การท่องเที่ยวมาพิจารณาด้วย เพราะการกู้ยืมในปัจจุบันสถาบันการเงินที่จะให้กู้ จะนำเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาประกอบในการพิจารณาให้กู้ จะเห็นว่าโครงการ Landbridge ที่จะต้องพิจารณาประกอบไปด้วย คือการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน การคมนาคม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ และการย้ายถิ่นฐานภูมิรัฐศาสตร์ ท่านประธานที่เคารพครับ ก่อนที่ผมจะมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผมเคยนั่ง ใน Board ของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ในต่างประเทศมาเป็นเวลา ๘-๙ ปี ผมมองมายังประเทศไทย ต้องยอมรับครับประเทศไทยขาดเสน่ห์ในการลงทุนจากต่างประเทศในระดับโลก และระดับ ภูมิภาคมาหลายปีแล้ว ขณะเดียวกันเราต้องรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจ กับชุมชนไปด้วย รวมทั้งคำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ขอให้มีการศึกษาโครงการนี้ให้รอบด้าน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออภัยครับท่านประธาน ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอสั้น ๆ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกเลยตรงกับที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผม ผมมีคำถาม เรื่องการจำกัดคุณสมบัติของผู้ที่เข้ารับการอบรม เพราะว่ามีหลายคนเข้ารับการอบรม ที่สถาบันพระปกเกล้าครั้งเดียวในหลายหลักสูตรนะครับ ผมเข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลง ในระยะหลังนี้แล้ว

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือมีการประเมินผลหรือไม่ครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าเรียนหลักสูตร ที่สถาบันพระปกเกล้า และปัจจุบันนี้ใน LINE ติดต่อกันก็มีแต่เรื่องสวัสดีวันจันทร์อย่างเดียว เท่านั้น ไม่มีการคุยเรื่องอื่นหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลอะไรกันทั้งนั้น

    อ่านในการประชุม

  • อีก ๒ เรื่องที่อยากจะฝากผลงานทางด้านวิชาการไปยังสถาบันพระปกเกล้า ให้ช่วยทำด้วย เรื่องแรกคือทุกปีนี้สภาเราจะพิจารณาเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีใช่ไหมครับ แต่เป็นไปได้ไหมครับว่าสถาบันพระปกเกล้าช่วยทำผลงานทาง วิชาการว่าเราสามารถกำหนดเรื่องการจัดหารายได้ลงในรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คือในฟาก รีดเงินภาษีจากประชาชน ตัวแทนประชาชนกลับไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาได้เลยนะครับว่า การรีดภาษีรายได้ของรัฐนี้ตัวแทนของประชาชนมีส่วนในการพิจารณาหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนะครับ ขอให้ทางสถาบันพระปกเกล้าช่วยศึกษาผลงานทางวิชาการ ว่าในเมื่อเราจะกำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมขอทำผลงานด้านวิชาการว่าประชาชน มีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธหรือไม่ เพราะว่าการรัฐประหารนั้นผิดประมวล กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ อยู่แล้ว กรุณาทำผลงานทางวิชาการว่าประชาชนมีสิทธิต่อต้าน การรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธหรือไม่ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออภิปราย สนับสนุนเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอการแก้ไขร่างข้อบังคับของการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ผมจะไม่ลงในรายละเอียดของร่าง แต่จะมี ๔ ประเด็นใหญ่ ๆ ที่อยากจะ เรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ท่านประธานทราบไหมครับว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อไรครับ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่พระที่นั่ง อนันตสมาคม ในครั้งนั้นมีการประชุมโดยไม่มีข้อบังคับ ผมก็ยังนึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า ประชุมอย่างไร หลังจากนั้นก็มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีชื่อว่า ข้อบังคับ การประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ และใช้ชื่อข้อบังคับนี้ จนมาถึงปี ๒๕๑๓ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนเป็นข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี ๒๕๒๒ ผมดูข้อบังคับต่าง ๆ ที่ผ่านมาในอดีตแล้วจับไล่เลียง ปรากฏว่าไม่ว่าจะรูปแบบ หัวข้อจะเหมือนกันหมดล่ะครับ ไม่น่าเชื่อตั้งแต่ปี ๒๔๗๖-๒๕๖๒ นี้หัวข้อต่าง ๆ รูปแบบ จะเหมือนกันหมด จะมีเพิ่มก็คือ ๑. เรื่องการหารือ ๒. จำนวนคณะกรรมาธิการสามัญ แล้วก็เรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ คือประเทศไทยมียุทธศาสตร์การปฏิรูปกฎหมาย แต่เราไม่มี การปฏิรูปองค์กรที่ออกกฎหมายหรือสภานิติบัญญัติ ผมเห็นว่าในส่วนตัวนะครับด้วยความ เคารพท่านสมาชิก การประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเรายังมีสิ่งต้องปรับปรุง ประสิทธิภาพอีกมาก สมัยนี้เป็นการประชุมสมัยที่สองนะครับ แต่สมัยที่หนึ่งเราไม่มีการ ผ่านร่างกฎหมายสักฉบับเลย เรามีการหารือในหัวข้อเดียวกันในเรื่องเดียวกัน พูดเหมือนกัน ๒ วัน เราเสียเวลาไปกับการอภิปราย ดังนั้นผมจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่การประชุมสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ เมื่อดูข้อเสนอหลักของเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล เสนอในเรื่องข้อบังคับแล้วมีหัวข้อหลัก ๔ หัวข้อ คือ ๑. ยกระดับประสิทธิภาพ ๒. เพิ่มความโปร่งใส ๓. รับประกันความเป็นธรรม ๔. เชื่อมโยงประชาชน ผมขอถาม เพื่อนสมาชิกในที่นี้ว่ามีเพื่อนสมาชิกคนไหนบ้างที่ไม่เห็นด้วยใน ๔ หัวข้อนี้ คือไม่เห็นด้วยว่า การประชุมสภาของเราจะต้องมีประสิทธิภาพ ไม่เห็นด้วยว่าการประชุมสภาของเราจะต้อง โปร่งใสและไม่ต้องมีความเป็นธรรม และการประชุมสภาของเราไม่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน หัวข้อสุดท้ายเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผมได้อภิปรายไปแล้วว่าถ้าสงสัยคลางแคลงใจ ก็แปรญัตติสงวนว่าใช้บทเฉพาะกาลว่าให้ข้อบังคับแก้ไขนี้ไปใช้ในเฉพาะ สส. ชุดหน้า ผมจึง ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเพื่อนสมาชิกของผมที่เสนอการแก้ไขนี้เพราะเป็นฝ่ายค้านหรือเพราะเป็น ฝ่ายรัฐบาล ทำไมเพื่อน สส. เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่รับหลักการไปก่อนครับ ข้อไหนที่ท่านไม่เห็นด้วยก็ไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการสามัญ ในอนาคตใครจะทราบว่าเหตุการณ์ เป็นอย่างไร ถึงเวลานั้นถ้ามีการแก้ไขตามที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผมเสนอแล้ว ถึงเวลานั้นท่านอาจจะดีใจก็ได้ว่ามีการแก้ไขร่างข้อบังคับฉบับนี้ อนาคตเราไม่ทราบเลย แล้วผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้คาดคิดว่าเราเสนอเรื่องนี้ เพราะเป็น ฝ่ายค้านหรือเพื่อจะเป็นรัฐบาล แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการประชุม เพื่อความโปร่งใส การประชุม เพื่อรับประกันความเป็นธรรมและเพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมถ่ายรูปนาฬิกาไว้ครับ ตอนนี้มันครบ ๕ นาทีแล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออภิปราย สนับสนุนญัตติที่เสนอโดยเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล แต่ก่อนที่ผมจะอภิปรายในเรื่อง การทำประชามติ ผมขออภิปรายถึงปัญหาใหญ่ของการออกแบบกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทยของเราสักเล็กน้อยครับ ท่านประธานครับ ทุกครั้งที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญ สักฉบับในประเทศไทยจะมีปัญหาใหญ่อยู่ ๒ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาใหญ่ประการแรก คือการสร้างสมดุลระหว่างความคิดเห็นของ ประชาชนกับความต้องการของชนชั้นนำ หลักสากลยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของ ปวงชน ประชาชนจึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเป็นผู้จำกัดอำนาจของรัฐบาล แต่ในความจริงแล้ว ในประเทศไทยผู้ปกครองชั้นนำต่างหากที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมักอ้างว่าประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจ และการร่างรัฐธรรมนูญก็มักจะเกิดการครอบงำกระบวนการร่าง รัฐธรรมนูญโดยชนชั้นนำ โดยมีการอ้างสาเหตุ ๓ ข้อ ข้อแรก การอ้างว่ามีแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญ เท่านั้นที่เข้าใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่ได้เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญเพียงพอ ข้อ ๒ การกล่าวอ้างว่ามีประเด็นละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องควบคุมในการร่างรัฐธรรมนูญ ข้อ ๓ การปกป้องสิ่งที่ชนชั้นนำต้องการด้วยการควบคุมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นจนจบ ในข้อสุดท้ายนี้เองครับ ประกอบกับแนวโน้ม การเติบโตของพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมจะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเกิดขึ้นอาจนำมาซึ่งความพยายามครอบงำของชนชั้นนำยิ่งกว่าที่ผ่านมาจนอาจจะเกิด ความขัดแย้งในประเทศไทยมากขึ้น ความครอบงำที่เห็นชัดที่สุดในอดีตที่ผ่านมา คือเมื่อมี การรัฐประหารครั้งใดศาลไทยก็จะรับรองการรัฐประหาร แล้วก็มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่โดยคณะบุคคลที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาใหญ่ประการที่ ๒ ในเมื่อจะต้องร่างรัฐธรรมนูญ ก็คือความยาก ในการเห็นพ้องถึงหลักการพื้นฐานที่สังคมจำเป็นจะต้องยอมรับร่วมกัน ซึ่งหลักการพื้นฐาน เหล่านี้คือการมีพรรคการเมืองที่หลากหลาย การตรวจสอบถ่วงดุลอันโปร่งใส การยึด หลักนิติรัฐ นิติธรรม และการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เมื่อกระบวนการ ร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญแก่ ๔ หลักการนี้แล้ว ไม่เพียงจะเกิดข้อดีในเชิงระบบ รัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด แต่หากเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญถูก ครอบงำโดยชนชั้นนำแล้วการยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐจะล้มเหลว การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ของประชาชนก็จะถูกกำหนดโดยคำสั่งของชนชั้นนำ ท่านประธานที่เคารพครับ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ แล้วของประเทศไทย ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ ๔ ที่มีจำนวนรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก สถิตินี้เป็นสถิติที่ไม่น่าภูมิใจอะไรเลยนะครับ นักวิชาการทางรัฐธรรมนูญได้เขียนว่า รัฐธรรมนูญคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ ระหว่างชนชั้นปกครองกับคนใต้ปกครอง การที่ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๒๐ ฉบับ ย่อมสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติของคนชั้นปกครองกับคนใต้ปกครองคือประชาชน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมจะโทษคนรุ่นผมที่มีอายุ ๖๐ กว่า ๆ ได้ไหมว่าพวกรุ่นเราไม่มี ความสามารถเพียงพอในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญ จึงส่งต่อประเทศไทย ให้คนรุ่นหลังในสภาพแบบนี้ ผมไม่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นฉบับที่ ๒๑ จะไม่มีการแก้ไข แต่หากจะมีการแก้ไขก็ให้ทำโดยรัฐสภา ไม่ใช่โดนฉีกโดยการรัฐประหาร ท่านประธานที่เคารพครับ ตอนเวลาหาเสียงพรรคการเมืองมีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะนำไปแลก กับประชาชนคือคำสัญญาโดยนโยบายต่าง ๆ พรรคแกนนำรัฐบาลพรรคหนึ่งได้ประกาศ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคแกนนำรัฐบาลได้ประกาศนโยบายการแก้รัฐธรรมนูญได้ว่า ผมขออนุญาตอ่านนะครับ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยคงรูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชน นอกจากนี้ในคำแถลงการณ์ที่แยกตัวจากการร่วมจัดรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล พรรคการเมือง พรรคนี้ยังเขียนด้วยว่าในการประชุมครั้งแรกของคณะรัฐมนตรีจะให้มีการจัดทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ไม่มีตรงไหนเขียนเลยว่าจะมีจัดตั้งคณะกรรมการมาศึกษาการทำประชามติ ขึ้นมาอีก ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอเรียนว่าในทางทฤษฎีการทำประชามติ คือการกลับไปหาประชาชนเท่านั้น เราหันไปพิงประชาชนในสิ่งที่ประชาชนต้องการ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตท่านประธานกล่าวผ่านไปถึงเพื่อนสมาชิกที่เคารพ ทุกท่านอีกครั้ง พวกเราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเราเป็นผู้แทนของราษฎร แทนที่ พวกเราจะต้องคอยถามชนชั้นนำว่าพวกเขาต้องการอะไร กลับไปถามราษฎรที่พวกเรา เป็นตัวแทน เป็นการให้เกียรติราษฎร ให้เกียรติประชาชนครับ เลิกคิดเสียทีว่าประชาชน ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ เลิกคิดเสียทีว่ามีประเด็นละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องควบคุมในการร่าง รัฐธรรมนูญ เลิกคิดเสียทีว่าต้องปกป้องชนชั้นนำเพื่อให้เขากำหนดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แล้วหันมาปกป้องประชาชนกันครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลนะครับ เมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิกบางท่านได้แนะนำว่าเราควรจะนำร่างพระราชบัญญัตินี้กลับไป ศึกษาเพิ่มเติม ผมขอเรียนท่านประธานอย่างนี้นะครับ เรื่องนี้เราศึกษามาหลายครั้งแล้ว ผมจะย้อนประวัติศาสตร์ให้ฟัง เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรี ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน ในสมัยนั้นคณะกรรมการชุดนี้เห็นชอบในหลักการ ที่จะสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคำนำหน้า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความ เปลี่ยนแปลงในสังคม มีการศึกษามากมายครับในสมัยนั้นผมไปศึกษามา ทีนี้เรามาดูว่า รัฐสภาเมื่อก่อนนี้ได้ทำอะไรบ้าง ในปีเดียวกันครับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติคำหน้านาม ร่างกฎหมายดังกล่าวให้เลือกใช้คำว่า นางสาว หรือ นาง แทนคำว่า นาย เหตุผลให้ไว้อย่างน่าฟังนะครับ เหตุผลว่า คนควรจะมีสิทธิเปลี่ยนหรือเลือกใช้ คำหน้านามได้ เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงเพศ หากใช้คำว่า นาย ต่อไปย่อมมีความยากลำบาก ในการดำรงชีวิตในระดับสากล ดังนั้นจึงควรให้สิทธิกับบุคคลเหล่านั้นใช้คำว่า นางสาว หรือ นาง ได้นะครับ แต่หลังจากนั้นเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรื่องเหล่านี้ก็เบาลงไป ถัดมาอีกหน่อยครับ ๕ ปีต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๕๕ มีบุคคลคนหนึ่ง ชื่อนาย ส อายุ ๒๕ ปี ได้มาร้องกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะว่าเขาเองมี ๒ เพศ เขามาร้องว่า ขอเปลี่ยนจากคำนำหน้า นาย เป็น นางสาว เดินทางมาพบกรรมการสิทธิมนุษยชนท่านหนึ่ง ขณะนี้ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แล้วก็ไปติดต่อกับเขตหนองจอก มีสูติบัตร มีทะเบียนบ้าน มีสำเนาผู้ป่วย ผมขออนุญาตท่านประธานอ่าน อาจจะเหมือนกับไม่สุภาพนัก มีคำร้องระบุว่า มีอวัยวะเพศ ๆ กำกวม แต่ถูกเลือกให้เป็นผู้ชายตามความต้องการของบิดา และเมื่อโตขึ้น กลับมีจิตใจเป็นผู้หญิง เขตหนองจอกใช้เวลา ๙๐ วัน จึงได้ยอมเปลี่ยนคำนำหน้าหลังจากดู ใบรับรองแพทย์ต่าง ๆ แล้ว จาก นาย เป็น นางสาว โดยชื่อว่า นางสาวศิริรดา ผมขอเอ่ยแค่นี้ แล้วกัน เพื่อความเป็นส่วนตัวของบุคคลนี้ มีเพื่อนสมาชิกอ้างถึงต่างประเทศ เป็นกังวลว่า ต่างประเทศเขาจะมีกฎหมายยอมรับหรือไม่ เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผม ยกตัวอย่าง ออสเตรเลียครับ จริง ๆ แล้วในต่างประเทศเขาดูหลักฐานราชการของประเทศต้นทาง แล้วเขาก็ไม่สนใจด้วยว่าเป็น นางสาว หรือ นาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ออสเตรเลียก็ตาม แล้วทำไมผมเอามาพูดได้ ท่านประธานครับผมขึ้นทะเบียนเป็นเนติบัณฑิต ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ขึ้นทะเบียนเป็นเนติบัณฑิตของรัฐวิกทอเรีย ประเทศ ออสเตรเลีย ผมขอยืนยันในส่วนนี้ว่าจริง ๆ แล้วประเทศเหล่านี้ก้าวหน้าไปมากถึงขนาดว่า เขาไม่สนใจคำนำหน้านามแล้วครับ เขาดูเอกสารจากประเทศต้นทางว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง แล้วก็มี X X แปลว่าไม่ต้องการระบุครับ ดังนั้นท่านไม่ต้องกังวลเลยว่าไปต่างประเทศแล้ว จะมีปัญหาเรื่องต่างประเทศ ถ้าท่านผ่านกฎหมายนี้ในขั้นรับหลักการ แล้วมีกรรมาธิการวิสามัญตั้งขึ้นมา มีประเด็น กฎหมายต่างประเทศผมยินดีครับ ผมยินดีเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการ ย้อนไปทีแรก มีเพื่อนสมาชิกบางท่านยังแนะนำให้มีการรับฟังเพิ่มเติมนะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ คำถาม ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จุด จุด จุด มีทั้งหมด ๗ ข้อ เพื่อนสมาชิกลองไปดู ในเอกสารที่แจก ไม่ใช่ที่ไหนครับ มากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ แล้วท่านจะไปรับฟังอะไรเพิ่มเติมอีกครับ หรือว่าการรับฟังที่ผ่านมาโดยรัฐสภาเป็นการรับฟัง โดยส่งเดชไปเท่านั้นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายครับ สุดท้ายนี้ผมขอเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิก เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้ไปก่อน ผ่านวาระที่ ๑ ไปก่อน จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ รัฐบาลเองก็สามารถจะตั้งกรรมาธิการจากหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ความเห็นชอบ ท่านประธาน เราอย่าหยุดนาฬิกาอีกเลยนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ความจริง สวทช. มีส่วน สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ทุกวันนี้ประเทศไทยเราติดกับดักรายได้ปานกลาง เพราะว่าเรายังติดอยู่กับอุตสาหกรรมแบบเดิม ๆ แล้วผมก็แปลกใจมากเลยเรื่องงบประมาณ ของ สวทช. แต่ต้องเรียนท่านประธานและท่าน ผอ. นะครับ สส. อย่างผมมีได้แต่ลด ไปเพิ่ม งบประมาณให้ท่านไม่ได้ ไว้รอพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลก่อน เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาของสภาผู้แทนราษฎร ผมจึงมีคำถาม ๓ คำถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามแรก เรื่องการจดสิทธิบัตรพอจะรวบรวมไว้ไหม ไม่ว่าจะสิทธิบัตร หรือ ผมไม่รู้ว่าภาษาไทยใช้ว่าอะไร Reverse Engineering ได้มีการจดไว้บ้างหรือเปล่า เพราะว่า ตัวนี้เป็นตัวบ่งชี้ข้อหนึ่งของผลงานของ สวทช.

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ คือการนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผมไม่อยากใช้ภาษาอังกฤษ ท่านคงเข้าใจว่าผมหมายความว่าอย่างไร จริง ๆ มีตัวเลขไหมว่าสร้างรายได้ให้กับประเทศ สักเท่าไร มันจะเป็นเหตุผลนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณ เห็นความสำคัญของ สวทช. ในอนาคตครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๓ เรื่องปัญญาประดิษฐ์ ท่านบอกมีแผน ปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ นี้ มันนานไปไหมครับ ผมว่า AI นี่เผลอ ๆ ปลายปีนี้ก็ต้องเปลี่ยนอยู่แล้วครับ ผมหวังว่าท่านคง ทบทวนกันอยู่ในระยะ ๆ นะครับ คำถามเกี่ยวเนื่องกับ AI ในยุทธศาสตร์ที่ ๑ ท่านบอกว่า ท่านจะเตรียมเรื่องกฎหมาย AI ตอนนี้เรื่องยุโรปมีร่างกฎหมาย AI อเมริกามีร่างกฎหมาย AI ผมก็ขอชื่นชมถ้า สวทช. สามารถที่จะเสนอร่างกฎหมาย AI ด้วย เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่ ความรู้ทางด้านกฎหมายเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์อย่างมากครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับ ท่านประธาน ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอ บ่นดัง ๆ กับท่านประธานหน่อยว่าเราอยู่ปี ๒๕๖๗ ครับ แต่ประเทศไทยเรายังวังวนอยู่กับ การคิดการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ท่านประธานเห็นหน้าผมแล้วก็คงจะเข้าใจความรู้สึกว่า ประเทศไทยเรามันยังวังวนอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนผมอยู่ปี ๑ ในวิชากฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะเรียนรัฐธรรมนูญปีไหน ของฉบับไหน ตอนไปเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในต่างประเทศ เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ร่างมาเป็น ๒๐๐ กว่าปีแล้ว ผมเอง คงไม่ลงรายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับตัวรัฐธรรมนูญ แต่อยากจะพูดถึงรายงานโดยตรง โดยหลักการแล้วผมเห็นด้วยกับการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมเห็นด้วยกับกระบวนการ ประโยชน์ในรายงานหน้า ๓ จำนวน ๔ ข้อ ข้อ ๑ มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มากที่สุด ข้อ ๒ โอบรับทุกชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม ข้อ ๓ คือ เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ข้อ ๔ มีความเสี่ยงน้อยที่สุดต่อการถูก ผูกขาดอำนาจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รายงานนี้ผมมีความรู้สึกว่ามันมาหยุดตรงที่ได้ สสร. แล้ว ถ้าผมเข้าใจผิดก็ช่วยอภิปรายชี้แจงด้วย ผมดูแล้วเหมือนรายงานมาหยุดตรงที่ได้ สสร. แล้ว เมื่อ ๒ เดือนก่อนผมเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ เรื่องเกี่ยวกับ สสร. ในต่างประเทศ ปัญหาที่ผมพบมาก สสร. ต่างประเทศคือการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. ในบางประเทศใช้ ๒ ปีก็ยังไม่เสร็จในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นผมขอเสนอว่าน่าจะมี การรายงานที่ครบวงจรในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. ด้วย เพราะรายงานนี้เป็นเรื่อง ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานของ สสร. ถ้าผมเข้าใจผิดคณะกรรมาธิการกรุณาอธิบายด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ อย่างที่ผมเรียนท่านประธานแล้วว่าผมไม่ติดใจเรื่องการได้มา ซึ่ง สสร. แต่ติดใจในทางเลือกที่ให้ผู้เชี่ยวชาญมาสมัครเป็น สสร. ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หรือรัฐศาสตร์ก็ตาม เพราะในบริบทของสังคมไทยแล้วผมคิดว่าเป็นไปได้ยากที่นักวิชาการจะ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง เกรงว่าเราจะมีนักวิชาเกินเสียมากกว่า ทีนี้ในรายงานของท่าน หน้า ๑๑ ไม่ว่าจะของประเทศชิลีหรือไอซ์แลนด์ ทั้ง ๒ ประเทศ สสร. มาจากการเลือกตั้ง เขาใช้กลไกคณะกรรมการในการร่าง ไม่ใช่ตัว สสร. เป็นคนร่าง ข้อเสนอของผมถ้าจะมี การตั้งกรรมาธิการร่างก็น่าจะไปใส่ในข้อบังคับการประชุมของ สสร. อย่าไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามันจะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อันสุดท้าย ข้อสังเกตของผมขอลงไปในรายละเอียดนิดหนึ่ง คือการกาบัตร กรณีในหน้า ๑๙-๒๑ ในรายงานของท่าน กรณี ๑.๓ เลือกกี่คนก็ได้ หรือกรณี ๑.๔ ให้คะแนนที่ถ่ายโอนได้ ผมเรียนตรง ๆ ในต่างประเทศเองคนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้เยอะเลย เพราะว่าวิธีการคิดคำนวณที่เข้าใจยาก ผมเห็นในรายงานที่ท่านตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่าเข้าใจ ยาก ผมขอลงรายละเอียดก็แล้วกันว่าลักษณะการคำนวณจะเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลา ท่านอาจจะอภิปรายและอธิบาย ข้อเสนอผมคือ อย่าใช้เลยครับ ๑.๓ กับ ๑.๔ นี้ สำหรับ ประเทศไทยนะครับ ไม่ว่าจะคนลงคะแนนหรือการนับคะแนนทำความเข้าใจยาก แม้กระทั่ง ในประเทศที่พัฒนาอย่างที่ผมเรียนให้ทราบ

    อ่านในการประชุม

  • สรุป ผมสนับสนุน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่อย่ารังเกียจ พรรคการเมืองครับ พรรคการเมืองนั้นเป็นสถาบันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอย่ารังเกียจหาก สสร. บางส่วนจะมาจากพรรคการเมือง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เปล่าครับ จะขออนุญาต ปรึกษาหารือเพื่อบริหารเวลาครับท่านประธาน ท่านประธานอนุมัติไหมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมดูรายชื่อผู้อภิปราย ทั้งหมดแล้วมี ๑๗ ท่าน ทางเราผู้อภิปรายได้ถูกกำหนดต้องเขียนลงไปว่าจะอภิปราย ประมาณกี่นาที ทีนี้ถ้าเกิดผู้อภิปรายคนหนึ่งข้างล่างนี้ลุกขึ้นอภิปราย แล้วกรรมาธิการ อีก ๓ ท่านลุกขึ้นมาตอบ ผมคิดว่าการบริหารเวลามันจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร ผมขอให้ ท่านประธานได้กรุณาวินิจฉัยด้วยว่าเราควรจะทำอะไร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สวัสดีท่านกรรมาธิการทุกท่าน ขอบคุณในความร่วมมือตลอดเวลาที่เราเป็นกรรมาธิการ ร่วมกันมา ผมได้อ่านรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่นำเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ เราเห็นว่ามีหลายประเด็นในรายงานที่เพื่อนสมาชิกท่านอื่น ๆ ได้อภิปรายไปแล้ว ผมเข้าใจดีว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ โครงการนี้ จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นกับรัฐบาล รัฐบาลสามารถทำให้โครงการนี้เกิดก็ได้ หรือทำให้ไม่เกิดก็ได้ ก่อนอื่นผมต้องขอย้ำว่าพรรคก้าวไกลเราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาภาคใต้ แต่ที่ผมลาออกจาก กรรมาธิการเพราะผมไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะผมเป็นเด็กอย่างที่ ท่านประธานคณะกรรมาธิการบอกกับผู้สื่อข่าวว่าไม่อยากทะเลาะกับเด็ก ผมหวังว่าท่านคง หมายถึงผม แล้วทำไมเราถึงไม่เห็นด้วย ท่านประธานครับ เวลาที่ใครได้รับมอบหมายให้ทำ รายงานหรือศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเราจะต้องศึกษาให้รอบด้าน คนทำรายงานต้องทำใจ กลาง ๆ ทำการศึกษารอบด้าน อย่าไปตั้งคำตอบไว้ก่อนแล้วค่อยหาข้อมูลที่สนับสนุนคำตอบ มาใส่ไว้ในรายงานครับ สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีรายงานการศึกษาของหน่วยงานสำคัญ ของรัฐบาล ๒ หน่วยคือ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งถือเป็น มันสมองของรัฐบาล และอีกหน่วยงานหนึ่งคือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและ จราจร หรือ สนข. สภาพัฒน์ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาและผลสรุปออกมาว่าไม่คุ้มทุนกับ การลงทุน ส่วน สนข. จ้างเอกชนศึกษาและผลการศึกษาออกมาว่าคุ้มทุน ในบรรณานุกรม หรือการอ้างอิงเอกสารที่อยู่ตอนท้ายรายงานทำไมถึงอ้างแต่รายงานการศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ของ สนข. เท่านั้น ทำไมเลือกเอาผลการศึกษาของ สนข. มาใส่ในรายงานนี้ และโยนผลการศึกษาของสภาพัฒน์ทิ้งไปครับ ทำไมไม่นำผลการศึกษาของทั้ง ๒ หน่วยงาน มาใส่ในรายงานเพื่อเปรียบเทียบกัน และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคณะกรรมาธิการจะตั้ง ข้อสังเกตหรือข้อเสนอเช่นใดก็เขียนไว้ในรายงานก็ได้ รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า รายงานผล การพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง โครงการแลนด์บริดจ์ ผมขอตั้งคำถามว่าใครศึกษาครับ รายงานนี้มาจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการเอง หรือรายงานนี้เลือกเอาผลการศึกษาของ สนข. มาใส่ครับ ตอนประชุมกรรมาธิการครั้งแรก เพื่อนสมาชิกที่เป็นกรรมาธิการจาก พรรคก้าวไกลของผมก็เสนอต่อท่านประธานว่าให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อศึกษาในเรื่องย่อยเป็นเรื่อง ๆ ไปเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาของสภาพัฒน์ และ สนข. แต่การร้องขอนั้นก็ถูกปฏิเสธ เลิกเอาตัวเลข GDP มาอ้างถึงการเจริญเติบโตของ ประเทศเถอะครับ เพราะตัวเลข GDP ไม่ได้เป็นตัวเลขชี้ความเหลื่อมล้ำหรือชี้ความสุขของ ประชาชน เลิกความคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเสียทีครับ มันล้าสมัยมากแล้ว โครงการ EEC เป็นอย่างไรเห็นกันอยู่ พื้นที่ประเทศไทยอื่น ๆ ไม่ใช่พื้นที่ที่ต้องดูแลเหมือนกันหรือครับ คุ้มหรือไม่คุ้ม มีเรือกี่ลำมันเป็นตัวเลขที่จำเป็นที่ต้องมาเทียบเคียงให้เห็นกันนะครับ เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปหลายประเด็นแล้ว ผมขอลงไป Macro ในรายงานสักนิดครับ ผมจะขอยกตัวอย่างตัวเลขคณิตศาสตร์ที่ที่ปรึกษา สนข. ทำตัวเลขขึ้นมาแล้วใส่ไว้ในรายงาน ว่าผลตอบแทนทางการเงิน หรือ FIRR ที่ ๘.๖๒ เปอร์เซ็นต์นั้นคุ้มทุน ๒๔ ปี ในที่ประชุม คณะกรรมาธิการผมขอตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิรายปีจากที่ปรึกษามาคำนวณ ขอแค่ ๓ ปี นะครับ นับแต่วันที่เปิดโครงการ ไม่ต้องถึง ๒๔ ปี แต่ที่ปรึกษาก็ให้คำตอบผมไม่ได้ ทำไมผม ต้องขอตัวเลขเงินสดสุทธิครับ ท่านที่ทำงานการเงินจะรู้เลยเพราะตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิ คือตัวเลขที่นำไปคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน แล้วตัวเลขกระแสสุทธิมาจากไหน ตัวเลขกระแสสุทธิก็คือมาจากรายได้ของโครงการ เช่น สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ตัวเลข กระแสสุทธิคือรายได้ที่มาจากค่าผ่านแลนด์บริดจ์และค่าบริการอื่น ๆ นะครับ ตัวเลข ค่าผ่านทางและค่าบริการอื่น ๆ มาจากไหน ก็มาจากการคาดการณ์ว่ามีเรือสักกี่ลำที่จะมาใช้ แลนด์บริดจ์ ตรงนี้ที่ทำให้เราเห็นว่าการคาดการณ์ตัวเลขของสายการเดินเรือมาใช้ แลนด์บริดจ์นั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีความไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ในเมื่อท่านมีตัวเลข ตอบแทนทางการเงิน FIRR ทำไมท่านจะตอบที่มาของตัวเลขนี้ไม่ได้ครับ แล้วท่านนายกรัฐมนตรี ยกเอาตัวเลขนี้ไปขายโครงการ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีคงเชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลข ที่ถูกต้อง ท่านประธาน เวลาเราซื้อของเราดูที่ไหนครับ เพราะเราเชื่อใจ Salesman ใช่ไหม เราถึงซื้อ ท่านนายกรัฐมนตรีเองท่านก็บอกว่าท่านเป็น Salesman ประเทศไทย เพราะฉะนั้น คนที่เขาจะซื้อนี้เขาต้องมีความเชื่อถือในท่านนายกรัฐมนตรีและตัวเลขครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมคำนวณดู ให้เทียบระหว่างจำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการขนส่งบนโครงการแลนด์บริดจ์ ผมต้องขอ เวลาเกินนิดหนึ่งครับท่านประธาน จำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์ กับจำนวนคาร์บอนที่การขนส่งทางเรือโดยช่องแคบมะละกา การขนส่งทางแลนด์บริดจ์ผลิต คาร์บอนสูงกว่าการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาถึง ๑๔ เท่า อันนี้ผมไม่ได้คำนวณเอง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมคำนวณ ผมถามท่านกรรมาธิการที่ทราบเกี่ยวกับการกู้เงิน ระหว่างประเทศว่าสภาพตลาดการกู้เงิน สภาพนักลงทุนในขณะนี้ โครงการที่ผลิตคาร์บอนเครดิต มากมายขนาดนี้มีใครเขาจะให้กู้ครับ ผมเรียนถามตรง ๆ เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถรับรอง รายงานฉบับนี้ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์นี้ได้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน เลิกพูดตัวเลขครับ เลิกพูดถึงความคุ้มทุนครับ เรามาพูดถึงความเป็นมนุษย์ดีไหมครับ ตั้งแต่โครงการนี้เกิดขึ้นมามีการวัดแนวทาง ผมลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการ ประชาชนมาบ่นว่านอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่รู้จะตายที่ไหน นี่คือความเป็นมนุษย์ของประชาชนในโครงการที่เราจะต้องดูแลมากกว่าการคุ้มทางการเงิน มากกว่าสิ่งอื่นใดครับ ขออีกนิดเดียวครับ ในรายงานนี้เอาเข้าจริง ๆ ผมก็ถึงบางอ้อว่าทำไม ถึงมีการเขียนรายงานนี้ออกมา เพราะในข้อเสนอแนะในรายงานนี้มีข้อเสนอแนะว่าจะต้อง ไปทำการศึกษาอีกประมาณ ๒๐ เรื่อง หมายความว่าเราจะต้องตั้งงบประมาณไปใช้ ในการศึกษาอีก ๒๐ เรื่องใช่หรือไม่ เฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่ผ่านมานี้เราใช้ไป ๖๘ ล้านบาทแล้วที่ทำการศึกษา แล้วเราจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปทำการศึกษาอีก ๒๐ เรื่องหรือครับ เพราะฉะนั้นผมเองไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม