นางสาวชญาภา สินธุไพร

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีเรื่อง ปรึกษาหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๓ เรื่อง ดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาลำห้วยยางเฌอตื้นเขิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักสำคัญทอดผ่าน ถึง ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านดู่ ตำบลขี้เหล็กในอำเภออาจสามารถ ตำบลเขวาทุ่ง ตำบลเมืองน้อย ในอำเภอธวัชบุรี เป็นแหล่งน้ำที่พี่น้องประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค แต่ในฤดูแล้ง มีสภาพแหล่งน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ส่งผลกระทบให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อ การอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน ในฤดูน้ำหลากเกิดน้ำไหลเข้าท่วมที่พักอาศัย และพื้นที่เกษตรกร จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาโดยการขุดลอกห้วยยางเฌอดังกล่าวด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาลำห้วยใสตื้นเขิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ร่วมกันกว่า ๖ หมู่บ้านในตำบลน้ำใส อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ลำห้วยไม่ได้มีการขุดลอก และฟื้นฟูเป็นระยะเวลานานหลายปี จึงมีสภาพเสื่อมโทรม เกิดการพังทลายของดิน ทำให้ เกิดลำห้วยตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพอต่อพี่น้องประชาชนตลอดปี โดยเฉพาะ ในช่วงฤดูแล้งประชาชนในพื้นที่ประสบสภาวะขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ไม่เพียงพอ ต่อการทำการเกษตร จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ไขปัญหาขุดลอกลำห้วยเพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำ ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนสาย อบจ. รอ. ๒๐๐๙ จากบ้านหว่านไฟ ตำบลดู่ ถึงบ้านโนนค้อ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๒ สส. จิราพร สินธุไพร ได้เคยหารือ ต่อสภา และได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก อบจ. ร้อยเอ็ด ก่อสร้างถนนแล้วเสร็จ ไปบางส่วนแล้ว แต่เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรและขนส่งสินค้าการเกษตร ได้อย่างสะดวก จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างถนนลาดยาง ส่วนที่เหลือซึ่งยังเป็นถนนลูกรังให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอปรึกษาหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาแหล่งน้ำหนองนิล บ้านดงยาง หมู่ที่ ๓ ตำบลดงกลาง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยพี่น้องประชาชนบ้านดงยาง หมู่ที่ ๓ ตำบลดงกลาง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำแล้ง น้ำมีกลิ่น และหนองน้ำตื้นเขิน ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนต้องซื้อน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ทุกครัวเรือน ซึ่ง อบต. ดงกลาง ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ขุดลอกหนองนิลเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๔ จังหวัดขอนแก่น กรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงขอฝากผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณขุดลอกหนองนิล ตำบลดงกลาง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ดังกล่าวด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาปริมาณน้ำตื้นเขินของอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดง ตำบลหัวช้าง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด อ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดงมีพื้นที่ประมาณ ๒,๘๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านการประปา ของหมู่บ้าน ตลอดจนการทำการเกษตร แต่ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดงประสบปัญหา แหล่งน้ำตื้นเขิน ปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ ๓๘.๒๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ตลอดเวลา ไม่เพียงพอต่อการบริการพี่น้องประชาชน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อน ของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากสะสมมาอย่างยาวนาน จึงขอฝากผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณา สนับสนุนงบประมาณขุดลอกและฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดง ตำบลหัวช้าง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ตื้นเขินและแห้งแล้งให้สามารถกักเก็บน้ำ ได้อย่างเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การประปา และการเกษตรของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัญหาเส้นทางจราจรจุดเชื่อมต่อระหว่างบ้านหัวหนองแวง ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เส้นทางดังกล่าวที่มีสะพานพาดผ่านระหว่าง ๒ อำเภอ ปัจจุบันประชาชนใช้เพื่อการสัญจร ไปมาในการติดต่อค้าขายและการเกษตรมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันสะพานไม้มีการชำรุด ไม่สามารถใช้การได้ เส้นทางถูกตัดขาด ประชาชนไม่สามารถเดินทางสัญจรเส้นทางดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงขอฝากผ่านท่านประธาน ไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณเพื่อ ปรับปรุงซ่อมแซมถนนและสะพานเป็นระยะทาง ๕ กิโลเมตร และซ่อมแซมสะพานทดแทน สะพานเก่าตามที่ดิฉันได้นำเรียนไปค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเขต ๘ พรรคเพื่อไทย เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่าแผนปฏิรูปประเทศถือกำเนิดขึ้นภายหลังที่มีการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๑ หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ผ่านมา ๕ ปีของการปฏิรูปประเทศ มีการรายงานผล สรุปความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ แต่เมื่อดิฉัน ได้อ่านรายละเอียดของรายงานฉบับนี้ค่ะ ดิฉันเห็นว่านี่ไม่ใช่การรายงานความคืบหน้า แต่เป็นการรายงานความไม่คืบหน้าของแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งจากการรายงานผลสรุป การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ถึงแม้จะพยายามอธิบายถึงผลสัมฤทธิ์ในการ ดำเนินการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านทั้งหมด ๑๓ ด้าน โดยอ้างอิงตัวเลขสถิติความสำเร็จ ต่าง ๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับสวนทางค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอยกตัวอย่างประเด็นด้านสังคม ซึ่งกำหนดเป้าประสงค์มุ่งขจัดปัญหา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม ในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นค่ะท่านประธาน สิ่งที่ชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัดคือดูได้จาก จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ก่อนเกิดการยึดอำนาจในปี ๒๕๕๗ มีคนจนอยู่ที่ประมาณ ๘ ล้านคน ภายหลังเกิดรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการลงทะเบียนบัตรคนจน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่ ๑๓.๕ ล้านคน และล่าสุดในปี ๒๕๖๕ มีคนลงทะเบียนบัตรคนจน เพิ่มขึ้นกว่า ๒๐ ล้านคน คิดเป็น ๑ ใน ๓ ของประชากรในประเทศทั้งประเทศ แสดงว่า ยิ่งปฏิรูปคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ปัจจุบันดิฉันจะชี้ให้เห็นชัดลงไปอีกค่ะว่าคนส่วนใหญ่ ของประเทศกำลังประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องของการจนกระจุก รวยกระจาย ในเรื่องของ การรวยกระจุก จนกระจายค่ะ เผชิญกับปัญหาหนี้สินพอกพูนไร้ทางออก ปัจจุบันหนี้ครัวเรือน ทะลุถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP และมีพี่น้องประชาชนราว ๑.๔ ล้านคนทั่วประเทศเป็นหนี้ นอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เข้าไม่ถึงแม้แต่สินเชื่อในระบบด้วยซ้ำ และที่สำคัญ ประชากรกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทยอยู่ในภาคการเกษตร แต่พบว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยกว่า ๔๓๐,๐๐๐ บาท ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลธนาคารโลกปี ๒๕๖๔ พบว่า ประเทศไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ ๔ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ท่านประธานคะ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอค่ะ โดยการเริ่มจากการรดน้ำที่ราก แก้ปัญหาทุนผูกขาด ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้ ภาคธุรกิจเติบโตก็จะมีกำลังในการจ่ายภาษี รัฐมีเงิน มีรายได้เข้าคลัง เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่เหมาะสม รัฐสามารถนำเงินเหล่านั้นมาทำสวัสดิการ ที่ยั่งยืนให้กับประชาชน มาทำโครงการดี ๆ นโยบายดี ๆ ให้กับประชาชน เป็นการลด ความเหลื่อมล้ำในระยะยาว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นการกู้ แล้วเน้นไปที่การแจกเงินระยะสั้น ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับประชาชน ในระยะยาว จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าการปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรม ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มเหลว แทบไม่มี ความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศตามแผนที่กำหนดไว้ค่ะ ทำไมยิ่งปฏิรูปยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งปฏิรูปประเทศยิ่งถอยหลัง และประเด็นการปฏิรูปหลายเรื่องไม่ใช่สิ่งใหม่ และเป็นสิ่งที่ หน่วยงานราชการทำอยู่แล้ว จึงเกิดความทับซ้อนและไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ ประเทศได้อย่างแท้จริง ดิฉันรู้สึกเห็นใจหน่วยงานที่มาคอยตอบคำถาม เพราะว่าท่านไม่ได้ ปฏิรูปค่ะ แต่ต้องมาตอบคำถามเรื่องการปฏิรูป ท่านประธานที่เคารพคะ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากผลพวงของรัฐประหาร ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้อง แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ และสถาปนาให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงจะสามารถ นำประเทศในการที่จะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ได้ การปฏิรูปประเทศที่จัดทำขึ้นยากที่จะ ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้นำในการปฏิรูปไม่ได้ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับ ต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในภาคการเกษตร แต่กลับมีรายได้เพียงประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ของ GDP เท่านั้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จาก การแก้ปัญหาในภาคการเกษตรไม่ตรงจุด ทำให้เกษตรกรไทยยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักร ของความยากจน และเผชิญกับปัญหาซ้ำซากมาโดยตลอด ในพื้นที่ภาคอีสานพี่น้องส่วนใหญ่ มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีพื้นที่เกษตรที่มีชื่อเสียง คือทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่กว่า ๒ ล้านไร่ และมีอาณาเขตครอบคลุมถึง ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และรวมถึงจังหวัดร้อยเอ็ดของดิฉันเองค่ะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิต ข้าวหอมมะลิชื่อดังระดับประเทศ ในอดีตสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยนำ พันธุ์ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้จดทะเบียนเป็นของคนไทย สร้างรายได้มากมายให้เกษตรกร ดิฉันในฐานะผู้แทนราษฎรจากจังหวัดร้อยเอ็ด จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของพี่น้อง ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา พี่น้องชาวเกษตรกรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประสบปัญหา อย่างหนักในเรื่องรายได้สินค้าเกษตรสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาปุ๋ย ดังนั้นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ดิฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือเริ่มด้วยการช่วยเกษตรกร ในการลดต้นทุนค่ะ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิต ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมีแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ที่จะสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณการผลิตที่มีคุณภาพ และที่สำคัญค่ะลดต้นทุน การผลิต โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรเป็น ๓ เท่า อย่างไรก็ดี ประการสำคัญที่จะละเลยไม่ได้นอกจากการดูแลเรื่องผลผลิตภาคการเกษตร จำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพราะภาคการเกษตรต้อง พึ่งพาน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ยกตัวอย่างค่ะในบางช่วงปีที่มีราคาข้าวดีแต่เกษตรกร กลับไม่มีข้าวขาย เพราะเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร ในขณะที่ บางปีพี่น้องเกษตรกรต้องไปกู้เงิน ธ.ก.ส. มาลงทุนปลูกข้าว แต่ปรากฏว่าข้าวกำลังตั้งท้อง ได้สวยงามก็เกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมนาข้าวซ้ำเติมเข้าไปอีกค่ะ พี่น้องเกษตรกรมืดแปดด้าน ไม่มีผลผลิต ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินไปใช้หนี้ค่ะ กลายเป็นปัญหาวนเวียนซ้ำซากแบบนี้ทุกปี รัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินกับการบริหารจัดการน้ำไปหลายแสนล้านบาท แต่ปรากฏว่า แก้ไขปัญหาไม่ได้ เป็นปัญหาซ้ำซากที่พี่น้องประชาชนต้องเผชิญอยู่ทุกปี จังหวัดร้อยเอ็ด ของดิฉันท่วมสลับแล้งทุกปี พี่น้องประชาชนไม่รู้ว่าจะลืมตาอ้าปากได้เมื่อไรค่ะ ดิฉันเรียนว่า การเยียวยาน้ำท่วม น้ำแล้งก็จำเป็น แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่งบประมาณที่ใช้ในการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งทุกปี แทนที่เราจะไปใช้แก้ปัญหา ที่ปลายเหตุ ควรนำงบประมาณมาลงทุนแก้ปัญหาที่ต้นเหตุค่ะ คือการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เฉกเช่นในอดีตเช่นเดียวกันในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยริเริ่มโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบไว้ แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้สานต่อ นอกจากนี้ค่ะก็ควรที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร ดูแลเชื่อมต่อไปถึงด้านการตลาด ซึ่งดิฉันหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถไปเจรจาเพื่อ เปิดตลาดสินค้าในต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นหาช่องทาง หาตลาดใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร ให้มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ะ ยิ่งเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก เช่น El Nino ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกหลักของโลก อย่างประเทศอินเดียตัดสินใจระงับ การส่งออกข้าว เพื่อสร้างหลักประกันว่ามีปริมาณข้าวเพียงพอต่อการบริโภค และเพื่อดูแล ราคาข้าวภายในประเทศ แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสค่ะท่านประธาน ถ้าประเทศไทยสามารถ ผลิตข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ได้ในปริมาณที่มากพอต่อการบริโภคในประเทศ และเพียงพอ ต่อการส่งออกได้ด้วยย่อมเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ และเป็น รายได้ของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการวางแผนที่เป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ค่ะ ดิฉันเชื่อมั่นแล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าภายใต้ การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศได้เล็งเห็นปัญหา และเตรียม แนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะยาว และการสร้างความเชื่อมั่น สร้างหลักประกันให้กับพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเพิ่มรายได้ ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉันได้อภิปราย ไปแล้วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีเรื่อง ปรึกษาหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๒ เรื่อง ดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ สืบเนื่องจากดิฉันได้รับหนังสือร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชน บ้านสนามชัย หมู่ที่ ๑๓ ตำบลส่วนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ประสบปัญหา เรื่องน้ำไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค เนื่องจากระบบประปาผิวดินไม่สามารถ ส่งกำลังน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ส่งผลให้ไม่มีน้ำใช้เพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การปศุสัตว์ โดยเฉพาะในฤดูแล้งมักจะประสบปัญหา ซ้ำซาก ประชาชนต้องไปขอรถน้ำจากองค์การบริหารส่วนตำบลสวนจิกเพื่อนำน้ำมาแจกจ่าย ต่อพี่น้องประชาชน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หนำซ้ำพี่น้องประชาชนยังต้องควักเงินซื้อน้ำจาก เอกชนเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนอีก ซึ่งระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนี้องค์การบริหาร ส่วนตำบลสวนจิกไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการแก้ไขดังกล่าว จึงหารือ ท่านประธานผ่านไปยังกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้จัดสรร งบประมาณเข้าไปดูแลแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พี่น้องประชาชนประสบปัญหาเส้นทางสัญจรไม่สะดวก คือถนน ทางหลวงชนบท หมายเลข ๒๓๙๒ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร เชื่อมระหว่างบ้านดงยางหมู่ที่ ๑๔ ตำบลดู่น้อย อำเภอจัตุรพักตรพิมานกับตำบลโนนสว่าง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และถนนทางหลวงชนบท รหัสสายทาง รอถ. ๑๖๖-๐๙ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร จากบริเวณสามแยกวัดป่าศรีมงคล บ้านหัวหนองแวง หมู่ที่ ๑๔ ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ทั้ง ๒ เส้นทางผิวถนนชำรุดเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่มี ประชาชนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก และยังใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าการเกษตร แต่เนื่องด้วยถนนเกิดการชำรุดจึงมักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งและไม่ปลอดภัยต่อการสัญจร ไปมาของพี่น้องประชาชน จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวง คมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนดังกล่าวให้แล้วเสร็จเพื่ออำนวย ความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจรของพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน ๐๗๐ แสดงตนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ชญาภา สินธุไพร ๐๗๐ เห็นด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีเรื่อง ปรึกษาหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๒ เรื่องดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก สืบเนื่องจากดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนซึ่งประสบ ปัญหาเส้นทางสัญจรไม่สะดวกคือ ถนนทางหลวงชนบท ทช. รอ หมายเลข ๓๐๒๑ ระยะทาง ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ระหว่างบ้านอ้น ตำบลหัวช้าง อำเภอจตุรพักตรพิมาน ไปยังบ้าน ป่ายางวนาทิพย์ ตำบลหนองผือ อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคม สายหลักในการสัญจรของพี่น้องประชาชน และยังใช้ในการขนส่งสินค้าการเกษตร แต่สภาพ เส้นทางมีความชำรุดและมีช่องทางสัญจรที่แคบ ไม่มีไหล่ทางทำให้เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน ขึ้นบ่อยครั้ง จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบประมาณขยายช่องทางจราจรเป็นถนน ๔ เลน เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ในการสัญจรของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พี่น้องประชาชนประสบปัญหาเส้นทางจราจรไม่สะดวกคือ ถนน ทางหลวงท้องถิ่นระหว่างหมู่บ้านโนนขวาง หมู่ ๗ และบ้านดอนทราย หมู่ ๒ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร และเส้นทางสัญจรระหว่าง บ้านหนองใหญ่ หมู่ ๙ ไปบ้านโนนขวาง หมู่ ๗ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัด ร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ท่านประธานคะ ถนนลูกรังยังไม่หมดไปจาก ประเทศไทยค่ะ ปัจจุบันถนน ๒ เส้นทางนี้ยังเป็นถนนลูกรัง สภาพผิวทางจราจรขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง เป็นการสัญจรของพี่น้องประชาชนที่ไม่สะดวก และปลอดภัยเลยค่ะ จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมเส้นทางดังกล่าว เพื่อความสะดวก และปลอดภัยในการสัญจรของพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ท่านประธานที่เคารพคะ จากสถานการณ์ ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นับเป็น ระยะเวลายาวนานถึงเกือบ ๒๐ ปี จนเกิดการสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน อิสรภาพ ของประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าวมีนักศึกษา ประชาชน จำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการเรียกร้องทางการเมือง ทั้งถูกดำเนินคดี ถูกจับกุมคุมขัง เดินเข้าออกเรือนจำ สูญเสียอิสรภาพนับครั้งไม่ถ้วนค่ะ เพียง เพราะความเห็นต่างทางความคิด และคิดต่างทางการเมืองกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น หลายคน ต้องเผชิญชะตากรรมแสนสาหัสและเป็นช่วงชีวิตที่ลำบาก ในครอบครัวที่มีคนติดคุก ๑ คน ก็เหมือนติดคุกกันทั้งบ้าน เพราะสมาชิกในครอบครัวก็ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือมีวิถีชีวิตได้ ตามปกติสุขอีกต่อไป ดังนั้นเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่มีต่อเนื่องมาในอดีต และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว วันนี้เราต้อง เปิดใจให้กว้าง มองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องคงดำรงอยู่ ในสังคมประชาธิปไตย แต่ยังสามารถอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายและแตกต่างนี้ได้ค่ะ การนิรโทษกรรมจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรองดองสมานฉันท์เพื่อให้สังคม เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมทั้งจากพรรคการเมืองก็ดี และจาก ความคิดเห็นของภาคประชาชนก็ดี ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเกิดขึ้น เพราะต่างก็คือมีหมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน ให้สังคมได้เริ่มต้นใหม่เดินหน้า ต่อไปได้ แต่ในเนื้อหารายละเอียดที่มีความอ่อนไหวความละเอียดอ่อนทางสังคมก็จำเป็นต้อง ไปพูดคุยกันในหลายประเด็นต่อไป เพื่อให้การตรากฎหมายเกิดการยอมรับมากที่สุดจาก ทุกฝ่ายและเป็นไปอย่างรอบคอบ และไม่ให้การตรากฎหมายดังกล่าวเกิดเป็นความขัดแย้งใหม่ ขึ้นอีก และสามารถสำเร็จและเกิดขึ้นได้จริง เพื่อเป็นการปลดล็อกพันธนาการให้กับพี่น้อง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ดิฉันจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษา การตรากฎหมายนิรโทษกรรมนี้ เพื่อพูดคุยในรายละเอียดและได้ร่วมถกเถียงในรายประเด็น โดยไม่ใช่การเปิดพื้นที่ของความขัดแย้งใหม่ แต่เพื่อเปิดพื้นที่ความปลอดภัยให้เกิดการถกเถียง ในรายละเอียดได้ของทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนค่ะ ท่านประธานที่เคารพเพื่อให้ประเทศได้ เดินหน้าสร้างความปรองดองของคนในชาติ การแก้ไขความขัดแย้งคงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ ฝ่ายนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเพียงเท่านั้นค่ะ แต่น่าจะกลับมาที่ฐานสำคัญที่สุดก็คือ ประชาชน เพราะเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางความคิด มีการต่อสู้ทางการเมือง ของคนหลายกลุ่ม และเกิดเป็นผลกระทบมากมาย มีคนต้องคดีความจากการต่อสู้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อบริบทของสังคมทั้งฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง และภาค ประชาชนต่างก็หยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมาถกเถียงในเวลานี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วม แสวงหาจุดร่วม และหาทางออกร่วมกันในสังคม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประชาชนออกไป ต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง ผ่านไปหลายปีก็ยังต่อสู้คดีการเมืองนี้อยู่ ถ้าเราไม่คิด หาทางคลี่คลายแก้ไข นั่นหมายความว่าสังคมนี้จะมีคนยุคหนึ่งที่อยู่กับการขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกจองจำ ถูกกักขัง ถูกทำให้ขาดอิสรภาพแบบนี้ไปอีกนานหลายสิบปี ซึ่งไม่ใช่สัญญาณบวก และจะเป็นบาดแผลทางความคิดแบบนี้ต่อไปค่ะ การคลี่คลายแก้ไขร่วมกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองกลายเป็นเรื่องของการ เผชิญหน้าหรือเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งใหม่ เราต้องช่วยกันนำพาประเทศไปยืนอยู่จุด ที่ตั้งต้นกันใหม่ มีทิศทางการเมืองที่ใครที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ เห็นแย้งกันได้ แต่อยู่ ร่วมกันอย่างสันติภายใต้กติกาที่ชอบธรรมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดิฉันจึงเห็นด้วยและ สนับสนุนญัตติด่วนในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นประตูบานแรกในการสร้างบรรยากาศ ของความปรองดองสมานฉันท์ของคนในสังคมและของชาติค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม