นายวรายุทธ ทองสุข

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายวรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะมาอภิปรายรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ โดยประเด็นหลักในรายงานเล่มนี้ที่ผมจะหยิบยกขึ้นมาอภิปราย เป็นประเด็นการปฏิรูป ประเทศด้านการบริหาราชการแผ่นดิน ท่านประธานครับ เหตุผลที่ผมจะต้องหยิบยก ประเด็นนี้มาอภิปราย เนื่องจากการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เลือกตั้งในช่วงเวลากว่า ๓ เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรีจำนวนนับไม่ถ้วนครับ เรียกได้ว่าปัญหาที่ได้รับมามีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เราในฐานะผู้แทนประชาชนปัญหาเล็กน้อยหรือใหญ่โต ถ้าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน เราปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับท่านประธาน ขอถอนครับ ในฐานะผู้แทนน้องใหม่ ผมทราบดีครับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติ ของประเทศ หน้าที่หลักของเราก็คือออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่ฝ่าย บริหารที่มีอำนาจ มีงบประมาณ ที่จะสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนได้ บทบาทของเราในพื้นที่ได้อย่างมากที่สุดก็คือการประสานงานกับ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ท่านประธานครับ แม้ประสานแล้วก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เช่นปัญหา น้ำประปาที่ตำบลแหลมสิงห์ และบ้านท่าแฉลบ ตำบลบางกะจะ ผมได้มีโอกาสประสานไป กับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ก็พบว่าท้องถิ่นมีความต้องการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ติดขัด เรื่องงบประมาณ มีการประสานงานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคก็ได้คำตอบกลับมาว่าไม่มี งบประมาณเช่นกัน สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวกับท่านประธานก็คือว่านี่คือปัญหาพื้นฐาน ที่ท้องถิ่นมีความตั้งใจแก้ไขแต่ติดข้อจำกัดดังที่กล่าวมา ผู้นำท้องถิ่นหลายท่านที่ผมเจอ เขาก็ทุกข์ใจครับ เขาได้รับเลือกตั้งมาก็อยากแก้ปัญหาให้บ้านตัวเองแต่ก็ทำไม่ได้ ท่านประธานครับที่ผมเกริ่นมาก็เพื่อที่จะโยงมายังรายงานปฏิรูปประเทศฉบับนี้ว่าล้มเหลว อย่างไรในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกระจายอำนาจ ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้อย่างตรงจุดที่สุด ต้องบอกว่าไม่แน่ใจว่าทำไมปัญหาเล็กน้อยของประชาชนหลายเรื่อง ไม่สามารถแก้ไขได้ ปัญหาชั่วคราวกลายเป็นชั่วโคตร เพราะเมื่อผมอ่านรายงานฉบับนี้แล้ว สะท้อนชัดเจนว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเลย เมื่อไปดู ในรายละเอียดยิ่งน่าผิดหวังครับท่านประธาน ผมขอยกตัวอย่างที่ถูกใช้เป็นผลสัมฤทธิ์ว่า ท่านได้ปฏิรูปสำเร็จ

    อ่านในการประชุม

  • ความสำเร็จแรกครับ มี Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเข้ารับการบริการของรัฐ เช่น Smart Land ที่ใช้ในการติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของ กรมที่ดิน Application e-QLands ที่อำนวยความสะดวกในการยื่นจองคิวฝ่ายทะเบียน ฝ่ายรังวัดเป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ความสำเร็จที่ ๒ ครับ มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบ บริหารงานของรัฐ และแผนกำลังคนของภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย ใหม่ ๆ เช่นมีการศึกษาเพื่อลดสถานะความเป็นนิติบุคคลของส่วนราชการ มีการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจัดโครงสร้างองค์กรบริหารเฉพาะกิจ เป็นต้น ตัวอย่างความสำเร็จ ข้างต้นที่กล่าวมาเป็นเรื่องดีครับ แต่คำถามของผมก็คือว่ามันคือการปฏิรูปอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เราใช้กลไกราชการปกติก็ทำได้ใช่หรือไม่ ถ้าทำได้แค่นี้ทำไมต้องเอาภาษีของพี่น้องประชาชน ไปละลายกับการปฏิรูปที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติ ท่านประธานครับ ถ้าจะปฏิรูปการบริการ ประชาชนเกี่ยวกับที่ดิน พี่น้องประชาชนชาวทุ่งฟ้าผ่า ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี ก็บอกว่าท่านช่วยไปดูแลพิสูจน์สิทธิที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมได้ไหม ท่านช่วยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทย กองทัพเรือ มาทำงานแบบบูรณาการได้ไหม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นตัวกลาง ในการบริการประชาชนได้ไหม หรือถ้าจะปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของภาครัฐ ไม่ต้องทำรายงานศึกษาอะไรให้เสียเวลาเลยครับ บรรดาผู้บริหารท้องถิ่นที่จันทบุรีบ้านผม เขาบอกผมว่ากระทรวงมหาดไทยช่วยไปแก้ระเบียบ แก้กฎหมายที่มันคุมท้องถิ่นไว้ หรือทำ การทบทวนการจัดสรรรายได้ท้องถิ่นที่ปัจจุบันอยู่ที่ ๒๗-๒๘ เปอร์เซ็นต์ สามารถเพิ่มไป ให้เกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ได้ไหม เพื่อทำให้การใช้งบประมาณในการพัฒนา พื้นที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ หรือแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจในการ จัดเก็บภาษีที่เป็นเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ เองได้ไหม ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี่ละครับ คือตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วไม่เคยได้รับการแก้ไข ถ้าท่านทำสิ่งที่ประชาชนต้องการ และแก้ปัญหาทุกข์ร้อนในใจของเขาได้ นี่ละครับถึงเรียกว่าการปฏิรูป ท่านประธานครับ จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่เดินมาแล้วกว่า ๕ ปีล้มเหลว ทำไมถึงล้มเหลว ผมสรุปออกมาได้เป็น ๓ ข้อดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก ปฏิรูปไม่จริงใจ เพราะดูจากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นการทำ Application การจัดทำรายงานศึกษาต่าง ๆ ถ้าทำแบบนี้เรียกว่าการปฏิรูป เราก็ไม่ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศให้เสียเวลา เสียงบประมาณประชาชน ทำแบบนี้ ใช้กลไกราชการปกติก็ทำได้ จะได้เอางบประมาณที่ใช้เป็นเบี้ยประชุม เป็นค่าบริหารจัดการ หรือใช้ทำรายงานเล่มนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังมีประโยชน์มากกว่า

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ปฏิรูปผิดจุด ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่จริงใจ พอไม่จริงใจก็ไม่เห็น ปัญหา ท่านก็เลยทำงานแบบขอไปที ทำอะไรก็ได้เพื่อให้มีเนื้อหามาเขียนรายงานว่าทำแล้ว ปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา และยังเป็นอยู่ถึงตอนนี้ก็คือรัฐ ราชการ ที่อุ้ยอ้ายแต่ท้องถิ่นอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองความต้องการของประชาชนทำได้ต่ำ ดังนั้นถ้าเราจะปฏิรูประบบราชการก็ต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งรายงานนี้ ไม่มีสิ่งที่ผมกล่าวมาเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ปฏิรูปเพื่อสืบทอดอำนาจ นี่คือประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้การปฏิรูป ล้มเหลว ก็คือผู้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศที่มาที่ไปของพวกเขาก็แน่นอนครับว่ามาจากกลไก รัฐประหาร คสช. และเมื่อผมดูรายชื่อกรรมการทั้ง ๑๕ คน ก็มีถึง ๑๓ คนที่มาจากระบบ ราชการ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผลลัพธ์ของการปฏิรูปถึงผิดจุดและไม่จริงใจ ก็เพราะ คนร่างแผนปฏิรูปมาจากระบบยึดอำนาจ และเป็นคนที่เติบโตและมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ อำนาจ ผลที่ออกมาจึงไม่ได้ต้องการการปฏิรูป แต่แค่ต้องการการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายแล้วครับท่านประธาน ถ้าจะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็ได้ครับ พวกเราทำเองได้ แค่แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. ยกเลิกระเบียบราชการต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกท้องถิ่น ให้ประชาธิปไตยฐานราก ทำงาน ประชาชนจะเป็นสุขครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาปรึกษาหารือผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ ประเด็นด้วยกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก วันที่ ๒ กันยายนที่ผ่านมา เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอมะขามจนทำให้บ้านเรือนพื้นที่ทางการเกษตร และเครื่องมือทำการเกษตรได้รับความเสียหาย น่าเศร้าใจไปกว่านั้นครับ มีประชาชน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ๒ รายด้วยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติซ้ำซาก ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญในช่วงนี้ของทุกปี ผมจึงขอนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ระยะสั้น เรื่องเยียวยาพี่น้องประชาชนซึ่งตอนนี้ อปท. ในพื้นที่กำลัง เร่งสำรวจความเสียหายกันอยู่ เมื่อสำรวจเสร็จแล้วอยากขอให้ ปภ. เขต ๑๗ จันทบุรี เร่งตรวจสอบความถูกต้อง และให้คณะกรรมการให้ความช่วยผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดเร่งอนุมัติโดยเร็ว

    อ่านในการประชุม

  • ระยะกลาง สร้างระบบสื่อสารเตือนภัยที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผมเข้าใจว่า ในพื้นที่อำเภอมะขามมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับน้ำหลาก ดินถล่ม อยู่ที่บ้านตะบกเตี้ย ตำบลฉมัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอมะขาม ผมอยากให้เราใช้อุปกรณ์เตือนภัย ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน จึงขอฝากไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๖ ซึ่งเป็นเจ้าของระบบนี้ร่วมกับ ปภ. จันทบุรี และ อปท. ในพื้นที่ ร่วมกันใช้ข้อมูล จากระบบเตือนภัยนี้ในการสื่อสาร เตือนภัยกับพี่น้องประชาชนเป็นการเฉพาะเจาะจงพื้นที่ ร่วมกับการเตือนภัยในภาพใหญ่ ภายใน ๑ ปีถ้าเราร่วมมือกันสำเร็จ ถึงหน้าฝนปีหน้า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอนครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ระยะยาว เรื่องสำรวจการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำหลากเพิ่มเติม อยากฝาก ไปยังกรมทรัพยากรร่วมมือกับ อปท. ในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ศึกษา และสำรวจความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพิ่มเติม เพื่อให้เกิด ความแม่นยำในการเตือนภัยมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน การจัดงานขายสินค้าบริเวณทุ่งนาเชย อำเภอเมืองจันทบุรี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ออกกำลังกาย ครอบคลุมหลายชนิดกีฬา ตั้งแต่วิ่ง บาสเกตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส รวมทั้งมีโรงเรียน หอสมุดแห่งชาติ สนามเด็กเล่น พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่า ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดงานขายสินค้ากระทบ ต่อการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ปัญหารถติด ออกกำลังกายไม่สะดวก รวมทั้งส่งผลกระทบ รายได้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงอยากเสนอให้เป็นทางออกไปยังจังหวัดจันทบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เทศบาลเมืองจันทบุรี และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ลดความถี่ในการจัดงานโดย ๑ ปี ไม่ควรเกิน ๒-๓ ครั้ง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ถ้าเป็นไปได้ขอให้ย้ายสถานที่จัดงานไปยังพื้นที่ที่มีความพร้อม

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ถ้าจะนำสินค้าจากข้างนอกเข้ามาเพื่อดึงดูดการจับจ่ายควรตั้งอยู่ในพื้นที่ ของพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ และไม่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุย ชี้แจง และสื่อสารกับประชาชน ถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดงานแต่ละครั้ง

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ในอนาคตขอให้พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจในการจัดงานแต่ละครั้งด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายวรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับ สภาพจริง ป้องกันปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์และคอร์รัปชัน ท่านประธานครับ เมื่อเรา พูดถึงคำว่า สถานบริการ คำนี้เปรียบเสมือนเหรียญ ๒ ด้านที่แตกต่างกันแต่ต้องอยู่ด้วยกัน ขอ Slide ที่ ๑ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เหรียญด้านแรกคือความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน กล่าวคือถ้าเราจะแก้ไขกฎหมายก็ต้องคำนึงว่าจะต้อง ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตอันเป็นปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป ต้องไม่อนุญาตให้เยาวชน เข้าไปใช้บริการ และต้องไม่เป็นแหล่งมั่วสุมเพื่อสร้างปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ เหรียญอีกด้านคือสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน เรื่องนี้ก็สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ผมมีโอกาสไปรับฟัง แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับบรรดาพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในแวดวงธุรกิจนี้ ก็ต้องยอมรับครับว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจนี้เยอะมาก และผมพูดได้อย่างเต็มปากว่าคนส่วนใหญ่ในธุรกิจนี้อยากทำ ทุกอย่างให้สุจริต ขอ Slide ที่ ๒ ครับ จาก Slide จะเห็นได้ว่ากฎหมายสถานบันเทิงปัจจุบัน ให้น้ำหนักไปในเรื่องศีลธรรมอันดีมากกว่าสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีดุลยพินิจมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ หรือเลี่ยงกฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจย้อนกลับมากระทบกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ของประชาชนได้ ดังนั้นถ้าจะแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถานบริการเพื่อลดปัญหาการเรียกรับ ผลประโยชน์ก็ต้องหาสมดุลระหว่างความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีกับสิทธิเสรีภาพ ในการประกอบอาชีพให้ได้ และอย่าเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ผมโชคดีไปเจอ หนังสือเล่มหนึ่ง คู่มือปฏิบัติงานกฎหมายสถานบริกา รฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๓ จัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คู่มือเล่มนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ในการทำงานที่ดี และมีประโยชน์มาก พอผมดูภาพรวมของคู่มือทั้งฉบับจำนวน ๓๘๔ หน้า ต้องบอกว่ามี กฎหมายและแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เยอะมาก ซึ่งผมแบ่งเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับกฎหมายออกมาให้เห็นภาพได้ทั้งหมด ๓ ส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๑ กฎหมายหลัก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๑๕ ฉบับ แต่กฎหมายหลัก จริง ๆ จะมี ๓ ฉบับ คือ พ.ร.บ. สถานบันเทิง พ.ศ. ๒๕๐๙ และประกาศคำสั่ง คณะรัฐประหารอีก ๒ ฉบับ ส่วนที่เหลือคือกฎหมายระดับรองลงมา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. สถานบันเทิง ออกระเบียบและคำสั่งต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ แนวนโยบายที่ต่อเนื่องจากกฎหมายหลัก มีการออกหนังสือ ๔๓ ฉบับ ซึ่งเป็นแนวนโยบาย แนวปฏิบัติ ข้อสั่งการโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย หรืออธิบดี กรมการปกครอง เพื่อเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศใช้ในการควบคุมสถานบันเทิง ในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ กฎหมายเสริม มีกฎหมายและหนังสือที่เกี่ยวข้อง ๑๕ ฉบับ โดยจะแบ่งเป็น ๓ ประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันนี้อยู่ใน อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยตรง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ กฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งจะกำหนด วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่และการอุทธรณ์โต้แย้งของประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ กฎหมายที่เกี่ยวกับการขออนุญาตกิจการร้านวีดิทัศน์ มีการเปิด คาราโอเกะ อันนี้อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นี่คือภาพรวมทั้งหมด ของกฎหมายและเอกสารที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งมีถึง ๗๓ ฉบับ ซึ่งเยอะมากจนน่ากังวลว่าเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจะจำได้อย่างไร ผมขอยกตัวอย่างปัญหาเรื่องการสั่งลงโทษสถานบริการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีกฎหมายให้ อำนาจ ๓ ฉบับ พ.ร.บ. สถานบันเทิง ประกาศคณะปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแต่ละฉบับกำหนดฐานความผิด กำหนดระยะเวลาและผลทางกฎหมายในการลงโทษแตกต่างกัน พ.ร.บ. สถานบริการ กำหนดให้แค่เพิกถอนใบอนุญาต แต่คำสั่ง พลเอก ประยุทธ์กำหนดว่านอกจากเพิกถอน ใบอนุญาตแล้วยังห้ามไม่ให้ใช้สถานที่นั้นเพื่อประกอบกิจการ ประกอบสถานบริการอีก ๕ ปี ส่วนประกาศของ จอมพล สฤษดิ์กำหนดว่าถ้าผิดครั้งแรกให้ปิด ๓๐ วัน ผิดครั้งที่ ๒ ให้ปิด ๖๐ วัน แล้วผิดครั้งต่อไปปิดโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ปัญหาคือมีความคลุมเครือ ซ้ำซ้อนเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง เช่นความผิด เรื่องเดียวกันอาจลงโทษคนนี้อีกอย่าง แต่ใช้กับอีกคนอีกอย่างหนึ่งซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุ ที่เกิดการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการได้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน อำนาจในการตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานบริการควรอยู่ที่ใคร ตัวอย่างเช่นเพื่อนนักดนตรีของผมที่จังหวัดจันทบุรีบอกว่า อยากให้มีการขยายเวลา เพื่อจะได้มีรอบเล่นดนตรีมากขึ้น เมื่อมีรอบเล่นดนตรีมากขึ้นก็จะมี รายได้มากขึ้น ซึ่งถ้าอยากจะแก้เรื่องนี้ต้องรอให้พวกเราที่สภาแก้กฎหมาย หรือไม่ก็ต้องรอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงใหม่เท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะ นำเสนอก็คือบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในท้องถิ่นขออภัยครับ บางเรื่องเราจำเป็นต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่มีส่วน เกี่ยวข้องในท้องถิ่นได้มีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้น เช่นเรื่องวันเวลาเปิดปิด เรื่อง Zoning เรื่องค่าธรรมเนียมในการอนุญาต เพราะแต่ละพื้นที่มีมุมมองทางความคิดแตกต่างกัน จันทบุรี พัทยา เชียงใหม่ หาดใหญ่ แม่ฮ่องสอน แต่ละคน แต่ละพื้นที่มีแนวคิดแบบนี้ มีแนวคิดต่อเรื่องนี้ไม่เหมือนกันแน่นอน ดังนั้นเราจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับ ใช้แนวคิดความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีมาเป็นกรอบในการออกกฎหมายเพื่อควบคุม กำกับดูแลสถานบริการจนกระทบสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน มากเกินสมควร รวมทั้งการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจที่กระทรวงมหาดไทย และการให้ ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางก็เปิดช่องให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ และปิดกั้น โอกาสทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ดังนั้นต้องคิดใหม่ แม้ว่ามาตรการควบคุมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ จำเป็นต้องนึกถึงเศรษฐกิจ ปากท้องของคนทำมาหากินควบคู่ไปด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุน ญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ท่านประธานครับ ผมเชื่อมั่นในสภาผู้แทนราษฎรของเราทุกพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมา ล้วนเห็นด้วยกันว่ารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มีปัญหาทั้งในด้านที่มาและเนื้อหาที่ขัดกับหลักการ ประชาธิปไตย แม้ในรายละเอียดพวกเราจะเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ก็พยายามใช้กระบวนการ รัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ตลอดเวลา ย้อนกลับไปในรัฐสภาชุดที่ผ่านมา รัฐสภามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน ๕ ครั้ง หากเฉลี่ยอายุของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีแค่ ๔ ปี เราต้องพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง คำถามก็คือแก้ไข ปีละ ๑ ครั้งเยอะไปไหม คำตอบก็คือเยอะ แต่เยอะไปก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าแก้แล้วทำให้ บ้านเมืองดีขึ้น มีกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ท่านประธานครับ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คือการแก้แต่ละครั้งกลับล้มเหลว ประเทศชาติไม่ไปไหน เพราะบรรดาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชนที่มีรวมแล้วกว่า ๒๖ ฉบับ สามารถผ่านรัฐสภาได้เพียงแค่ ฉบับเดียวคือการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตร ๒ ใบแบบรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ แต่ประเด็นอื่น ๆ กลับถูกปัดตก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกอำนาจปฏิรูปประเทศของ สว. การปิดสวิตช์ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. เพิ่มสิทธิเสรีภาพ ประชาชน รื้อมรดก คสช. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือองค์กรอิสระ รวมทั้งการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง คำถามก็คือว่าปัญหาอะไรที่ทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงแก้ไขได้ยากเย็นแสนเข็ญ คำตอบก็คือการวางกลไกสืบทอดอำนาจ ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งผมสรุปได้ ๓ กลไก

    อ่านในการประชุม

  • กลไกแรก บทบัญญัติมาตรา ๒๕๖ ที่กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยากกว่าปกติ โดยการกำหนดให้ สว. ๑ ใน ๓ หรือประมาณ ๘๔ คนจาก ๒๕๐ คน ต้องเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านได้

    อ่านในการประชุม

  • กลไกที่ ๒ สว. แต่งตั้ง ๒๕๐ คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. ที่ขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้เสียงข้างมากในรัฐสภาจะเห็นชอบอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งต้องติดเงื่อนไข สว. ๘๔ คนเสมอ

    อ่านในการประชุม

  • กลไกที่ ๓ ศาลรัฐธรรมนูญ ผมคงไม่พูดถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ยึดโยงกับประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ปัญหาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้ก็มาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ๔/๒๕๖๔ ที่ต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • นั่นจึงเป็นที่มาของความพยายามแสวงหาทางออกเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรของเราร่วมใจกันลงมติเห็นชอบให้คณะรัฐมนตรี จัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยเสียงของสภาผู้แทนราษฎรออกมาเป็น เอกฉันท์ แต่น่าเสียดายที่ญัตตินี้ถูกวุฒิสภาปัดตกไป ท่านประธานครับ เราเห็นอิทธิฤทธิ์ ของรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่ต้องอธิบายอะไรแล้ว เพราะพรรคการเมืองที่ผมสังกัดตั้งแต่ พรรคอนาคตใหม่ จนวันนี้เป็นพรรคก้าวไกลประสบชะตากรรมตั้งแต่ยุบพรรค แกนนำ ถูกตัดสิทธิ ถูกขัดขวางไม่ให้เป็นรัฐบาล และอนาคตถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ไม่รู้อะไร จะเกิดขึ้นอีก แล้วยิ่งหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเราก็เห็นพลังของพี่น้องประชาชน คนธรรมดาที่ร่วมมือร่วมใจกันเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ รายชื่อ โดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วันเองครับ เพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและให้มีสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นผมจึงอยากขอให้พวกเราสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันอีกครั้ง เหมือนสภาสมัยที่แล้วทำและร่วมกับพี่น้องประชาชน เสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชน ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปด้วยกัน ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่วันนี้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลได้เสนอญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลเองก็ได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไว้แล้ว และยังมีร่างกฎหมาย จากพรรคอื่น ๆ อีก เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมทั้งยังมีร่างกฎหมายของภาคประชาชน อีก ๑ ฉบับ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการล่ารายชื่อ ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การเมืองทั้งในและนอกสภาในวันนี้พวกเราเห็นตรงกันในหลักการที่ว่าจะต้องมีการทำอะไร สักอย่างในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง อย่างไรก็ตามผมทราบดีว่าในรายละเอียด ร่างกฎหมายแต่ละฉบับเสนอแตกต่างกันออกไป เช่น การระบุให้ชัดเจนถึงช่วงเวลา เหตุการณ์ ข้อหาและบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องนำไป ถกเถียงกันต่อในขั้นตอนของกรรมาธิการและการร่างกฎหมาย ประเทศไทยตกอยู่ในวังวน แห่งความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยรอบล่าสุดถ้านับตั้งแต่การรัฐประหาร ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ก็กินเวลาชีวิตของพวกเรามาแล้วมากกว่า ๑ ทศวรรษ และถ้าย้อนกลับไปที่ รัฐประหารปี ๒๕๔๙ ก็เท่ากับว่าพวกเราอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า ๑๘ ปี เข้าไปแล้ว ผมย้อนนึกถึงตัวเองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเมื่อ ๑๘ ปีก่อน ตอนนั้นผมยังอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุแค่ ๑๗ ปี ปัจจุบันผมอายุ ๓๕ ปีแล้วครับ ก็เท่ากับว่าความไม่ปกติทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นตอนนี้อยู่กับตัวผมมาเกินครึ่งชีวิตไปแล้ว จากคนที่ไม่สนใจการเมือง ไม่ได้อยากยุ่งกับการเมือง วันนี้ต้องกลายมาเป็นนักการเมือง กลายมาเป็นผู้แทนราษฎรอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ท่านประธานครับ สำหรับประเทศไทย การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ ระยะเวลา ๙๐ กว่าปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เราเคยออก กฎหมายระดับพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว อย่างน้อย ๒๓ ครั้ง ในจำนวนนั้น ๑๑ ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมแก่บรรดาคณะรัฐประหาร ที่เข้ามายึดอำนาจ ซึ่งการรัฐประหาร ๒ ครั้งล่าสุดที่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในปัจจุบัน ก็คือรัฐประหารปี ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๗ คณะรัฐประหารก็นิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญ การเขียนนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือมักนิรโทษกรรม การกระทำความผิดไว้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทุกการกระทำและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ การใช้อำนาจรัฐ แล้วไม่ได้ระบุว่านิรโทษกรรมให้ความผิดฐานใดเป็นการเฉพาะ นอกจาก การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารที่ทำกันเป็นปกติแล้ว ในประวัติศาสตร์ของการนิรโทษกรรม ทั้งหมด ๒๓ ครั้ง ยังมีอีกถึง ๖ ครั้ง ที่มีการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้พยายามทำ การรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จแล้วกลายเป็นกบฏ ดังนั้นถ้ารวมการนิรโทษกรรมทั้งหมด ๒๓ ครั้ง จะเห็นว่ามีจำนวน ๑๗ ครั้ง ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารที่ทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ ถ้าเห็นข้อมูลเช่นนี้แล้วก็อาจจะกล่าวได้ว่าการนิรโทษกรรมในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะถูกใช้ เพื่อตอบสนองและเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจมากกว่าการทำรัฐประหาร เพียงเท่านั้น แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ เช่นกัน ซึ่งในอดีตมีเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญอยู่ ๓ ครั้งด้วยกันครับท่านประธาน ที่นำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ครั้งที่ ๑ เหตุการณ์การชุมนุม ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์การชุมนุม ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และครั้งสุดท้ายก็คือจากการชุมนุมพฤษภาทมิฬ ปี ๒๕๓๕ กฎหมายจะกำหนดขอบเขตด้านเวลาว่าหากกระทำสืบเนื่องจากการชุมนุมภายใน วันใดบ้างจึงจะถูกนิรโทษกรรม แต่ไม่มีขอบเขตด้านฐานความคิด ฐานความผิดไม่มีข้อยกเว้น ข้อหาใดเป็นพิเศษ กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ว่าหากการกระทำของบุคคลผิดกฎหมายใด ให้ถือว่า ไม่ผิดกฎหมาย เช่นเหตุการณ์ชุมนุมช่วง ๖ ตุลาคมมีคดีที่กระทบกับสถาบันเบื้องสูงก็ได้รับ การนิรโทษกรรม และแน่นอนว่าทุกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก็จะได้รับ การยกเว้นการกระทำผิดเสมอ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของ ผู้ชุมนุมด้วยก็ตาม ผมเข้าใจดีว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เป็นความต้องการให้ คณะกรรมาธิการพิจารณาหลักการของการนิรโทษกรรมโดยรอบคอบและรัดกุม รวมทั้งได้รับ การยอมรับทุกภาคส่วน และวางรายละเอียดการนิรโทษกรรมตามแบบฉบับที่จะต้องมีการระบุ ให้ชัดเจนถึงช่วงเวลา เหตุการณ์ ข้อหาและบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งการอภิปราย ตั้งแต่ต้นของผมก็อยากจะขอให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาการนิรโทษกรรม ที่แม้จะไม่ตรงไปตามหลักการบ้าง แต่สุดท้ายไม่ว่าจะข้อหาอะไร คดีอะไรที่เกิดขึ้นกับประชาชน ทั่วไปไม่เคยมีเงื่อนไขและข้อยกเว้นจะไม่นิรโทษกรรม สุดท้ายผมหวังว่าการตั้งกรรมาธิการ ชุดนี้จะสร้างหลักประกันและพื้นที่ปลอดภัย มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและเป็นต้นทาง ในการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองกันในสังคมไทยให้ได้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรายุทธ ทองสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผม ขอลุกขึ้นมาอภิปรายญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา และจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขฟื้นฟูและเยียวยากรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล ท่านประธานครับ เหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลและชายฝั่งโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณฝั่งอ่าวไทยตะวันออก ถ้าเราไม่คิดจะหาทางป้องกัน แก้ไข บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วสุดท้ายเหตุการณ์น้ำมันรั่วมันจะกลายเป็นเหตุการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี ดังจะเห็น จากข้อมูลที่ปรากฏใน ๒๐ ปีที่ผ่านมาครับท่านประธานว่ามีเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ ถึง ๑๗ ครั้ง หรือเฉลี่ยแล้วก็ปีละ ๑ ครั้งครับท่านประธาน ผมเชื่อว่าทุกคนตระหนักดี เรื่องน้ำมันรั่วว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ อย่างแน่นอน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ ผลกระทบทางตรงแน่นอนว่าพี่น้องประชาชนที่อยู่ ในพื้นที่จังหวัดที่เกิดน้ำมันรั่ว ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวระยองหรือพี่น้องชาวจังหวัดชลบุรี ที่อยู่ในภาคของการท่องเที่ยวโรงแรม ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้า ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าหากไม่มีนักท่องเที่ยวครับ ภาคประมงโดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถ ประกอบอาชีพของตัวเองได้ ขาดรายได้ดูแลครอบครัว หรือบางคนอาจจะต้องเลิกอาชีพ ประมงไปเลยครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนทั่วไปก็อาจจะได้รับมลพิษจากการสัมผัส น้ำทะเลหรือรับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อน ผลกระทบทางอ้อมแน่นอนว่าเรื่องนี้ ส่งผลต่อภาพใหญ่ของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยตะวันออก ถ้าเหตุ น้ำมันรั่วเกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง อย่างไรเสียก็กระทบต่อจังหวัดจันทบุรีบ้านผมไม่มากก็น้อย เพราะทะเลของทั้ง ๒ จังหวัดคือทะเลเดียวกันครับท่านประธาน ผมขออนุญาตยกข้อมูล จากสำนักข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งได้เก็บข้อมูลสถิติน้ำมันรั่วก็พบว่าในทะเลฝั่งอ่าวไทยตะวันออก มีจังหวัดที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดระยอง สมุทรปราการ ชลบุรี และฉะเชิงเทรา แต่มีข้อมูลว่ามีการพบก็น้ำมันดินจำนวน ๔ ครั้งในทะเลจันทบุรี ซึ่งใน รายงานของสำนักข่าวไทยพีบีเอสก็บอกว่าทั้ง ๔ ครั้ง ไม่ทราบสาเหตุและที่มาที่ไปของ ก้อนน้ำมันดินนั้น ในเมื่อจังหวัดจันทบุรีไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เราก็คงเดาไม่ยากครับว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากจังหวัดใกล้เคียงที่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ซึ่งนั่นคือผลกระทบข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัด ท่านประธานครับ เจ้าก้อนน้ำมันดินที่ผมกล่าวมานี้ลักษณะเป็นก้อนสีดำ ขนาดเล็กพบได้บริเวณชายหาด มีลักษณะเป็นก้อนเหนียว ๆ หนืด ๆ สีดำคล้ายยางมะตอย ซึ่งเท่ากับว่าถ้ามันอยู่ที่ชายหาดก็จะเป็นการทำลายทัศนียภาพการท่องเที่ยว หรือถ้า ก้อนน้ำมันดินจมลงทะเลก็อาจจะกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวปะการัง อันตรายอีกอย่างก็คือ ก้อนน้ำมันดิบนี้เต็มไปด้วยสารปรอทที่เป็นโลหะหนักเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ถ้าสะสมหนักมาก ขึ้นมันจะจมลงทะเลไปคลุมหญ้าทะเล สัตว์ทะเล ถ้าจับสัตว์น้ำเอามากินก็อาจจะมีโลหะหนัก ปนเปื้อน และถ้าเราสัมผัสโดยตรงก็อาจจะเกิดการระคายเคืองผิวได้ครับ ซึ่งถ้าใครไม่รู้ไปจับเข้าก็อาจจะได้รับอันตรายเช่นกันครับท่านประธาน ขณะที่ภาคประมง ก็เสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรกัน ท่านประธานครับ ผมเคยมีโอกาส ได้คุยกับพี่น้องประมงพื้นบ้านในจังหวัดระยอง ลำพังแค่ไม่มีน้ำมันรั่วทรัพยากรทางทะเล ของจังหวัดระยองก็น้อยลงแล้วครับ แต่นี่พอเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วขึ้นซ้ำ ๆ ก็แน่นอนว่า เขาจำเป็นจะต้องออกเดินทางไปที่ไกลขึ้น เสี่ยงชีวิตมากขึ้น แน่นอนว่าต้นทุนในการเดิน ทางเข้าออกนอกพื้นที่ก็สูงขึ้นครับท่านประธาน และการไปหากินต่างถิ่นก็อาจจะไม่ง่ายนัก ถ้าต้องแข่งกับคนในพื้นที่ครับ ท่านประธานครับ ภาคตะวันออกของเราไม่ได้ขับเคลื่อน เศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เรายังมีภาคของการท่องเที่ยว ภาคของการเกษตร ประมงที่เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนประเทศ เรื่องการท่องเที่ยวเมื่ออ่านข่าวก็จะเห็นได้ว่า รัฐบาลตั้งใจจะดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาในประเทศผ่านการท่องเที่ยวให้มากที่สุด ทั้ง ๒ เรื่อง พวกเราทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าสำคัญครับท่านประธาน แต่ทั้ง ๒ เรื่องจะยั่งยืน ไม่ได้เลยถ้าเราไม่จัดสมดุลของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันได้ กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเลในพื้นที่จังหวัดอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทำให้เกิดผลกระทบ ในวงกว้างและสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความเสียหาย ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยเลยในขณะที่ผู้ก่อ ความเสียหายและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ได้ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเพียงพอเหมาะสมครับ ท่านประธานครับ ผมขอเดาว่าวันใดวันหนึ่งของปีนี้ เราจะได้ เห็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีกครั้งครับ แล้วเราก็จะเห็นภาครัฐจัดงานกินปู กินกุ้ง สร้างความ เชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเช่นกัน แต่ผมขอให้การเดาครั้งนี้เป็นการเดาที่ผิดนะครับ ท่านประธาน สุดท้ายนี้ผมหวังว่าสภาของเราจำเป็นจะต้องมานั่งพูดคุยหาทางออกเรื่องนี้ กันอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้นเพื่อให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม กับทุกภาคส่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเดินหน้าไปอย่างมีสมดุล ดังนั้นผมจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและจัดทำมาตรการ ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและเยียวยากรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม