เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตากค่ะ ท่านประธานคะ จากการประเมินผลรายยุทธศาสตร์ ณ สิ้นปี ๒๕๖๕ พบว่า ๓ ใน ๖ ยุทธศาสตร์ที่ประเมินผลการดำเนินงานและพบว่าแย่ลงคือขีดความสามารถ ในการแข่งขันและการกระจายรายได้ ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ๒ ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง และส่งผลต่อ ๓ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ คือประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเติบโต อย่างยั่งยืน ดิฉันจึงใคร่ขออภิปรายใน ๒ ประเด็นนี้ค่ะ ขอ Slide ด้วยค่ะ
จาก Slide แรกนี้นะคะ ท่านจะเห็นว่าเป็นความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยกับเป้าหมายระดับ ประเด็นนะคะ ท่านสังเกตเห็นไหมคะว่าจากตัวชี้วัดตาม Slide นี้จะเน้นไปที่การเติบโตทาง เศรษฐกิจ อันได้แก่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดที่มีพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แล้วก็มูลค่าการลงทุนนะคะ ดิฉันมีคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงดังนี้ค่ะว่าท่านแน่ใจได้อย่างไรคะว่าผลิตภัณฑ์ มวลรวมนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้มาจากแหล่งที่มาอื่น เช่น เรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือแม้แต่ตัวชี้วัด ในเรื่องของมูลค่าการลงทุน ซึ่งจากแผนดูเฉพาะแค่มูลค่า ที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนไม่ได้มีการ กล่าวถึงจำนวนของผู้ที่มาลงทุนในแต่ละขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังไม่มีการรายงานนะคะว่าเมื่อเขาลงทุนแล้วยังมีการเปิดกิจการอยู่ หรือไม่ หรือว่าผลประกอบการดีขึ้นหรือลดลงอย่างไร อันเนื่องมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของเรา เพราะว่าหากเราดึงดูดให้เขามาลงทุนแล้วเราก็ควรที่จะดูแลให้เขาจนประกอบการ สำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปด้วยค่ะ
ต่อไปนะคะ หากพิจารณาในเชิงการพัฒนาที่ยั่งยืนควรมีทั้ง ๓ เสา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนะคะ ดังที่ดิฉันได้กล่าวไปว่าตัวชี้วัดนั้นเน้นไปที่มิติเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียว แน่นอนค่ะมีส่วนในเรื่องของเมืองน่าอยู่ที่น่าจะสะท้อนถึงมิติสังคมได้บ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะสะท้อนถึงมิติสังคมได้มากน้อยขนาดไหน แต่ยังไม่สามารถ Guarantee เรื่องความยั่งยืนได้ค่ะ รัฐบาลเราให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติไม่ใช่หรือคะ จะเป็นการดีที่รายงานก็จะได้รวมชุดตัวชี้วัด ความยั่งยืนเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแรงงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การทุจริต ติดสินบน หรือแม้แต่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้สร้าง ความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะมาลงทุน ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของเราสามารถส่งเสริม แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนได้ด้วย Slide ถัดไปค่ะ ถ้าหากเรามาดูที่ Slide นี้ขอให้ดูที่ข้อ ๓ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ท่านจะเห็นว่าตัวชี้วัด ทั้ง ๒ ค่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมและมูลค่าการลงทุนยังต่ำกว่าค่าเป้าหมาย โดยรายงานได้กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายหลัก ๆ คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ดิฉัน คิดว่ายังมีปัจจัยภายนอกนอกเหนือจากนั้นอีกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของทุนจีน การย้าย ฐานการผลิตของผู้ประกอบการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็รวมถึงการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศด้วย นี่ก็เป็นอีก ๑ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่ยังไม่ค่อยมี ความยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไร นอกจากนี้รายงานยังเสนอแนะให้เร่งรัด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหากโครงสร้าง พื้นฐานเสร็จแล้วจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนนะคะ เพราะว่าท่านอย่าลืมตั้งแต่เรามีนโยบาย เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้ เราใช้งบประมาณกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ไปถึงกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายถึงภาษีของประชาชนล้วน ๆ
ต่อไป Slide สุดท้ายได้เลยค่ะ จากประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดิฉันจะขอ อภิปรายต่อเนื่องมาที่ประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน ดิฉันได้นำผลการดำเนินงาน แล้วก็เป้าหมายของทั้ง ๘ แผนแม่บทย่อยมาทำการ Normalize อะไรนะคะ แล้วก็ Plot กราฟเป็นแผนภูมิใยแมงมุมจากที่ท่านเห็นใน Slide นะคะ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง เป้าหมาย แล้วก็ผลสัมฤทธิ์ของแต่ละแผนย่อย ดิฉันพบว่าแผนแม่บทส่วนใหญ่บรรลุ เป้าหมายค่ะ ซึ่งก็ต้องขอชื่นชม ยกเว้นเพียงแต่การบริโภค และการผลิตของประเทศนะคะ ดิฉันจึงเจาะลึกลงไปในประเด็นนี้ ซึ่งทางผู้จัดทำแผนได้ระบุประเด็นท้าทาย ในเรื่องของ เหมือนเดิมค่ะ การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของ ประเทศคู่ค้า แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีประเด็นท้าทายอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก เช่น ประเด็น สงครามภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อห่วงโซ่ อุปทานทางการเกษตร ต่อเนื่องไปยังความมั่นคงทางอาหารของโลกรวมทั้งของประเทศไทย เราเองด้วยค่ะ นอกจากแผนแม่บทย่อยเรื่องการบริโภคและการผลิตของประเทศแล้วนะคะ ดิฉันยังตั้งข้อสังเกตถึงแผนแม่บทย่อย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยด้วยนะคะ Slide จบแต่เพียงแค่นี้ค่ะ ที่บรรลุเป้าหมาย โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้เกือบถึง ๑๘ เปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๕ ซึ่งอันนี้ก็ต้องขอชื่นชมอีกครั้งนะคะ แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจนะคะว่าท่านมีวิธีการตั้งเป้าหมายอย่างไร เนื่องจากไม่ได้มีระบุไว้ในรายงานนะคะ อันที่จริงแล้วดิฉันอยากเสนอว่าหากประเทศไทย สามารถทำการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดีเยี่ยมอย่างนี้แล้วนะคะ อาจจะ พิจารณาเพิ่มเป้าหมายในปี ๒๕๗๐ ไหมคะ จากเดิมท่านตั้งไว้ที่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะต้อง ทำการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี ๒๕๗๐ อาจเพิ่มเป็น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๗๐ แล้วก็ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ภายในปี ๒๕๗๓ ตามเป้าหมายความเป็นกลางทาง คาร์บอนเดิมที่ท่านได้ตั้งเป้าไว้นะคะ แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลมีความลังเลว่าจะปรับเป้าหมาย แล้วก็จะไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้อย่างไร พรรคก้าวไกลเรายินดีที่จะให้คำแนะนำค่ะ เพราะว่า เรามีชุดนโยบายการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน แล้วก็เป็นธรรมด้วยนะคะ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วก็ได้รับประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกันเตรียมพร้อมอยู่แล้วค่ะ ทั้งหมดนี้ดิฉันจึงขอเรียนมาเพื่อฝากท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงเพื่อพิจารณาด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะมาปรึกษาหารือท่านประธานเพียงเรื่องเดียว แต่เป็นเรื่องที่สำคัญแล้วก็ ใหญ่มาก แล้วก็มีมานานมากแล้วด้วย ยังไม่เคยมีการจัดการกับปัญหานี้อย่างถาวรเสียทีค่ะ นั่นคือเรื่องการขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ขอ Slide ด้วยค่ะ
ภาพที่ท่านเห็นนี้เกิดในอำเภอ แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ้านของดิฉันเองค่ะ มีฝุ่นควันปริศนาลอยข้ามพรมแดนมาจาก ประเทศเมียนมาเข้ามาสู่ฝั่งไทยนะคะ ชาวบ้านในพื้นที่ที่สูดดมควันพิษเข้าไปเกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ แล้วก็เจ็บคอเป็นอย่างมาก เพื่อนสมาชิก สส. ดิฉันค่ะ สส. รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บรรทุกใส่รถบรรทุก แล้วก็ข้ามฝั่งไปเผาที่ประเทศเมียนมาอันนี้จาก ที่ท่านเห็นเป็นจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ๔ ปีย้อนหลังค่ะ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่ดิฉันก็ไม่ได้ฟันธงว่าสาเหตุของโรคนั้นเกิดมาจาก การเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว เพราะในพื้นที่ก็ยังมีปัญหา PM2.5 ที่เกิดจาก การเผาเศษซากจากการเกษตรด้วยค่ะ
Slide ต่อไป เรามีชุดข้อกฎหมายแล้วก็ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาบาเซล แล้วก็พิธีสารบาเซล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกฎหมายเหล่านั้นยังมีช่องโหว่ เนื่องด้วยบัญชีรายชื่อ วัตถุอันตรายระบุให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในบัญชี ๕.๒ ที่เป็นของเสียเคมีวัตถุ อนุญาต โดยประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำผ่านขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้ นอกจากนั้นในประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้นำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่มีการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต แต่ปัญหาค่ะ
Slide ต่อไป ปัญหาคือทางเมียนมาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังไม่มีกฎหมายเรื่องการจัดการของเสียอันตรายตามข้อกำหนด ของพิธีสารบาเซลด้วย ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอให้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา งดนำผ่านขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร ไม่ใช่ เพียงแค่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดบ้านดิฉันเท่านั้น ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ระหว่าง พรมแดนด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตากค่ะ ท่านประธานคะ เราได้ฟังการอภิปรายจากเพื่อนสมาชิก ในด้านต่าง ๆ ของรายงานไปแล้วดิฉันใคร่ขออภิปรายในเชิงลึกในส่วนของผู้พิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เปราะบาง แล้วก็ผู้ที่มีรายได้น้อย ขอ Slide ด้วยค่ะ
Slide ต่อไปค่ะ ก่อนอื่นดิฉัน จะขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้พิการในประเทศไทยก่อน ท่านทราบหรือไม่ทางสำนักงาน สถิติแห่งชาติได้รายงานว่าในประเทศไทยมีผู้พิการเป็นจำนวน ๕ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ประชากรทั้งประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ก็มีรายงานออกมาอีกว่ามีผู้พิการเพียงแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นค่ะ ที่ได้รับการ ออกบัตรประจำตัวคนพิการ นี่แสดงถึงอะไรคะยังเหลือผู้พิการอีกส่วนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึง สวัสดิการของภาครัฐ นอกจากนั้นคนพิการเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และยังไม่มีงานทำอีกด้วยค่ะจาก พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่าหน่วยงานจะต้องมีการจ้างงานคนพิการ ๑๐๐ ต่อ ๑ นั่นหมายความว่าจากจำนวนผู้ปกติทั้งหมด ๑๐๐ คนจะต้องจ้างคนพิการ ๑ คน แต่ข้อมูล ที่ดิฉันค้นพบ ดิฉันค้นพบว่าปัจจุบันนี้ภาครัฐยังมีการจ้างงานคนพิการเพียงแค่ ๑๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก
ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านของคนพิการไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางด้าน การเดินทาง การสื่อสารการเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ แล้วก็เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ ส่งผลให้คนพิการหลาย ๆ ท่าน ยังขาดโอกาสทางการศึกษาถูกกีดกัน ในด้านการทำงานโดนล้อเลียน ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ รายได้ไม่เพียงพอ ต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งขาดผู้ดูแล แล้วก็ขาดอุปกรณ์ในการช่วยเหลือคนพิการต่าง ๆ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ ต่อเนื่องกัน จากที่ดิฉันได้อ่านรายงานการดำเนินงานของ สสส. ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมที่ท่าน ก็ได้ให้ความสำคัญของกลุ่มคนพิการซึ่งเป็น อีก ๑ กลุ่มคนที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูง ท่านก็มี กิจกรรมส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำ หากแต่ว่าอย่างที่ดิฉันได้นำเสนอไปว่าปัญหา ของคนพิการนั้นมีมากมาย แต่ดิฉันก็พบในรายงานว่าจะมีกิจกรรมเรื่องเกี่ยวกับส่งเสริม ให้คนพิการมีงานทำเพียงแค่กิจกรรมเดียว
จากนวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมนี้ คร่าว ๆ คือท่านก็เปิดโอกาส ให้คนพิการได้มีงานทำในพื้นที่ที่คนพิการได้อาศัยอยู่ ซึ่งส่งผลดีคือคนพิการก็ไม่ต้องเดินทาง ไปที่ไกลบ้าน อีกทั้งสถานประกอบการก็ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้คนพิการได้รับเงินจากผู้ประกอบการได้โดยตรง ผลสัมฤทธิ์ ของโครงการนี้คืออะไรคะ คือผู้พิการมีงานทำมากกว่า ๗,๐๐๐ คนต่อปี แต่เมื่อดิฉันมาหา ข้อมูลเชิงสถิติแล้วดิฉันพบว่าถ้าเกิดนำจำนวนผู้พิการที่มีงานทำ ๗,๐๐๐ คนต่อปีจะคิดได้เป็น ๑๓ เปอร์เซ็นต์ของคนพิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ซึ่งก็ยังนับว่ายังเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้าง ต่ำอยู่นะคะ ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าท่านได้แบบมีการตั้งเป้าหมายหรือไม่ว่าคนพิการจะต้องมี จำนวนผู้ที่มีงานทำเพิ่มขึ้น หรือว่ามีเป้าหมายจำนวนเท่าไรต่อปี
ดิฉันมีข้อเสนอแนะเล็กน้อยเกี่ยวกับการส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำก็คือ ทาง สสส. อาจจะหาหน่วยงานหลักมาร่วมเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ หรือว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กิจกรรมของท่านดีมาก ท่านสามารถเสนอกิจกรรมนี้เป็น Model การจ้างงานเชิงสังคมต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะ มาถึงนี้ได้ ให้เขาได้ไปขับเคลื่อนหรือว่าทดลองทำเป็น Sandbox ร่วมกันเพื่อที่จะส่งเสริม ภาครัฐให้มีการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นจาก ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ Slide ต่อไปค่ะ อันนี้ก็เป็นอีก ๑ กิจกรรมที่ทาง สสส. ได้จัดร่วมกับภาคีเครือข่ายคืองานวิ่ง ด้วยกัน อันนี้ดิฉันก็ได้ไปสัมผัสมาโดยตรงก็ถือว่าเป็นประสบการณ์อันดีที่เปิดโอกาสให้ ผู้พิการแล้วก็ผู้ที่ไม่พิการได้มีปฏิสัมพันธ์กันได้มาร่วมวิ่งด้วยกัน เราก็ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ทำให้ดิฉันเห็นว่าจริง ๆ แล้วผู้พิการก็ไม่ได้ต่างจากคนปกติเรา ทั่วไปนะคะ เราก็มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันนี้ก็ต้องขอชื่นชมในกิจกรรมนี้ด้วยนะคะ
อย่างที่ดิฉันแจ้งว่าปัญหาของผู้พิการนั้นมีมากมายหลายปัญหา ทาง สสส. อาจจะเสนอกิจกรรมเพิ่มเติมให้ครอบคลุมแล้วก็ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นนะคะ เช่น อาจจะ เป็นทางด้านการสนับสนุนการศึกษา การเพิ่มการจ้างงานคนพิการ ปรับปรุงบ้านเรือนชุมชน ที่ผู้พิการอาศัยอยู่ หรือว่าเพิ่มผู้ดูแลคนพิการแล้วก็ล่ามภาษามือ
คือดิฉันเข้าใจว่าข้อเสนอแนะบางข้ออาจจะแบบนอกเหนือจากอำนาจ บทบาทหน้าที่ของ สสส. แต่ สสส. สามารถเป็นกลไกกลางเชื่อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้เชื่อมเข้าด้วยกันแล้วก็ร่วมขยายผล เรื่องการปรับสภาพแวดล้อมหรือว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะให้กับ ผู้พิการนะคะ อันนี้รวมถึงกลุ่มคนผู้เปราะบางต่าง ๆ ด้วย เช่น เรื่องของขนส่งสาธารณะ หรือว่าอาคารสาธารณะต่าง ๆ นำ Concept เกี่ยวกับ Universal Design ที่ออกแบบ ให้กลุ่มเปราะบางทั้งหลายสามารถเข้าถึงแล้วก็ใช้งานได้จริงค่ะ ดิฉันก็ฝากทาง สสส. ผ่านทางท่านประธานไว้แต่เพียงแค่นี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตาก แต่วันนี้ดิฉันขอหารือปัญหาของพ่อแม่พี่น้องในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอ Slide ด้วยค่ะ
เรื่องแรก โรงเรียนบ้านบัววัฒนา ตำบลบัววัฒนา มีน้ำท่วมขังซ้ำซากมานานหลายสิบปีแล้วค่ะท่านประธาน ช่วงฤดูฝนนี้คือ ท่วมขังอยู่นานมาก ทางโรงเรียนก็แจ้งไปที่หน่วยงานหลายรอบแล้ว แต่ว่าทางเทศบาล ก็บอกว่าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศึกษาธิการ ส่วนทางศึกษาธิการก็บอกว่าเป็นพื้นที่ รับผิดชอบของทางเทศบาล ทางคุณครูที่โรงเรียนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเลย ดิฉันจึงขอหารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วก็กระทรวงศึกษาธิการให้ช่วย เข้ามาดำเนินการตรงนี้ด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๒ ถนนโยธาธิการเพชรบูรณ์ ๒๐๖๔ ระหว่างบ้านติ้วน้อย ตำบลบ้านโภชน์ ถึงบ้านไร่เหนือ ตำบลบัววัฒนา ชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทั้ง เส้นทางเลยค่ะท่านประธาน ก็ขอหารือไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้ง ๒ ตำบลได้สัญจรไปมา อย่างปลอดภัยด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ ทางหลวงชนบท ๒๐๐๕ เส้นหนองไลย์-โคกเจริญ ระหว่างสะพาน บ้านปากคลองกรวด หมู่ที่ ๒ ตำบลนาเฉลียง ถึงวัดนิลาวรรณประชาราม หมู่ที่ ๔ บ้านตะกุดงาม ตำบลวังโบสถ์ เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ช่วงเวลากลางคืนไม่มีไฟส่องสว่าง มืดมากค่ะ เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากเลยค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงขอหารือไปยังแขวงทางหลวงชนบท จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยติดตั้งไฟส่องสว่างถนนบริเวณดังกล่าวด้วยเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตาก ท่านประธานคะ เรื่องโอกาสในอนาคตที่ชายฝั่งทะเลแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีโอกาสที่น้ำจะท่วมถาวรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด พวกเราทราบกันดี มานานแล้ว เนื่องจากว่ามีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้สนับสนุนประเด็นนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ
กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองริมชายฝั่งทะเลที่เสี่ยงจมน้ำ นอกจากนี้งานวิจัยยังเปิดเผยว่ามีโอกาสที่พื้นที่ น้ำท่วมจะรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินเป็นบริเวณกว้างถึง ๘๐ กิโลเมตร ทางคณะกรรมการ ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC คาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ เมตร ภายในปี ค.ศ. ๒๑๐๐ หรืออีกประมาณ ๗๗ ปีข้างหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะส่งผลให้ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลอาจจะ จมน้ำได้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เปราะบาง มี ๓ ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อเนื่องกัน ซึ่งส่งผลให้กรุงเทพมหานครเสี่ยงต่อการจมน้ำในอนาคตอันดับแรก เรามีการใช้น้ำบาดาล มานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งในอดีตกาลส่งผลให้เรามีการสูญเสียน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครยังมีการใช้ที่ดินที่เต็มศักยภาพ การขยายตัวของเมืองก็ส่งผลให้เช่นกัน กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นเมืองเดี่ยวที่ขยายแบบไร้ขีดจำกัด ประชากร หนาแน่น มีประชากรมากกว่า ๑๐ ล้านคน ภายในพื้นที่ที่จำกัดเพียงแค่ ๑,๕๐๐ ตาราง กิโลเมตร ทั้ง ๓ ปัจจัยนี้ส่งผลต่อการทรุดตัวของชั้นหินเฉลี่ยประมาณ ๒-๓ เซนติเมตรต่อปี นอกจากนั้นผนวกกับเรื่องน้ำทะเลหนุนตอนนี้เราอยู่ภายใต้ภาวะโลกเดือด ส่งผลให้ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตรต่อปี ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจส่งผลให้พื้นที่ กรุงเทพมหานครแล้วก็ปริมณฑลจมหายไปในอีก ๕๐-๗๐ ปีข้างหน้าได้ ดิฉันเคยกล่าว ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลไปแล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีความเสี่ยง ด้านสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับที่ ๙ ของโลก หากเรายังมีการใช้ที่ดินแล้วก็สูบน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง โอกาสที่กรุงเทพมหานคร จะจมบาดาลก็จะมาเร็วขึ้นค่ะ เมื่อเราได้ทราบถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ถึงเวลา ที่เราจะต้องพิจารณาทางเลือกที่เราจะใช้ในการแก้ปัญหา แน่นอนเรามีหลายทางเลือก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในการอภิปรายในวันนี้ เราจะต้อง ทำการศึกษาถึงความเสี่ยงแล้วก็โอกาสของแต่ละทางเลือก ยกตัวอย่างเช่น การปรับ ผังเมืองเดิม ซึ่งตอนนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ค่อนข้างแน่นแล้ว ก็อาจจะ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการลงทุนเพิ่มก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่ม ที่ไม่สูงนัก นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาจากธรรมชาติ โดยพึ่งพาป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล แต่อย่าลืมว่าป่าชายเลนของเราก็มีพื้นที่ที่ไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอ ความแรงของคลื่นได้ หรือนอกจากนั้นเราอาจเลือกใช้วิธีการสร้างโครงสร้างแข็งในการป้องกัน ประเทศเนเธอร์แลนด์มี Delta Work ซึ่งเป็น Megaproject โครงการที่ใหญ่มากประกอบ ไปด้วยโครงการย่อยทั้งหมด ๑๖ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน แล้วก็กำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็จะต้องทำงาน ผสมผสานกัน แต่อย่าลืมว่าเนเธอร์แลนด์เขาใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท หรือทางเลือกสุดท้ายย้ายเมืองหลวง เราจะย้ายไปไหน ย้ายเมื่อไร จะย้ายอย่างไร ย้ายเป็นบางส่วนหรือย้ายทั้งหมดอย่างไรคะ แน่นอนเราจะต้องมีการศึกษารวมถึงหลักเกณฑ์ ในการเลือกเมืองหลวงด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่ต้องเคลื่อนย้าย แล้วก็ใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงมาก สำหรับการจัดผังเมืองใหม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรคำนึงถึงความจำเป็น เช่น อัตราที่แผ่นดินทรุด ถึงขั้นที่จะต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่ ความคุ้มค่า คุ้มทุนในระยะยาว รวมถึงความยั่งยืน ที่จะเกิดขึ้นด้วย หากจะแก้ปัญหานี้เราสามารถทำได้ทันที แล้วก็ดำเนินการไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้งองคาพยพ ดิฉันจึงขอเสนอ
เรื่องแรกเกี่ยวกับรัฐบาลควรที่จะมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ประเทศสิงคโปร์มีสถาบันป้องกัน ชายฝั่งและรับมือกับน้ำท่วม ประเทศไทยเราเองอาจสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ทั้งภาครัฐเอง แล้วก็หน่วยงานการศึกษาทั้งหลาย นอกจากนั้นเราควรส่งเสริมให้มี การออกแบบอาคาร แล้วก็โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติมากขึ้น หรือที่เรา เรียกกันว่า Resilience Infrastructure ปรับผังเมืองเดิมคือไม่ต้องก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง เพิ่มเติมที่จะมาขวางทางน้ำ แล้วก็เพิ่มพื้นที่รับน้ำ อาจจะมีการลดหย่อนภาษีให้เอกชน ที่ใช้ที่ตนเองเพื่อแก้ไขปัญหาที่อิงกับแนวธรรมชาติ นอกจากนั้นดิฉันขอเสนอให้กระจาย ความเจริญไปสู่หัวเมืองใหญ่ สร้างเมืองรองต่าง ๆ ให้มีศักยภาพทัดเทียมเทียบเท่ากับ กรุงเทพมหานคร สร้างงานตามภูมิภาคเพื่อลดการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ ดังเช่น ประเทศเยอรมนีนอกจากเบอร์ลินที่เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีแล้วยังมีเมืองมิวนิค เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เมืองสตุ๊ตการ์ต แล้วก็เมืองอื่น ๆ ที่มีความเจริญไม่แพ้เมืองหลวงเลย นอกจากนั้นเราก็ยังจะต้องทำการป้องกันเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองที่มีอยู่เดิมแล้วด้วย กรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ควรเริ่มทยอยทำเสียแต่วันนี้ ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรุ่งนี้เป็นวันลดภัยพิบัติ สากล กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ทั่วโลกให้ความสำคัญว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรเริ่มดำเนินการเสียแต่ตอนนี้ ก็ขอฝากรัฐบาลควรศึกษาทั้งระบบให้รอบคอบ รอบด้าน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว เรามีเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ มากมาย ท่านสามารถนำไปใช้ในแต่ละขั้นตอนของการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ที่คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ แล้วก็เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อที่จะเลือกแนวทางที่ดี ที่สุด แล้วก็เป็นประโยชน์ที่สุดกับทุกภาคส่วน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ เราต้องยอมรับว่าทุกการพัฒนาย่อมมีผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อม ผลกระทบเชิงบวก เชิงลบ รวมทั้งผลกระทบสะสมตามกาลเวลานะคะ ดังที่เพื่อนสมาชิกดิฉัน ก็ได้อภิปรายซึ่งค่อนข้างครอบคลุมในหลาย ๆ มิติแล้วนะคะ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าดิฉันก็ขออภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาโครงการ Landbridge นี้นะคะ
ดิฉันจะขอใช้เวลา ๗ นาที อันมีค่าอภิปรายถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ระบบนิเวศ แล้วก็ชุมชนในพื้นที่นะคะ ซึ่งยังไม่ค่อยมีท่านใดที่เจาะจงไปถึงในด้านนี้ จากภาพที่ได้เห็นในภาพรวมโครงการ Landbridge จะมีการพัฒนาครบทั้ง ๔ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก ทางราง แล้วก็ทางท่อนะคะ ทางน้ำคืออะไรคะ จะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ทางบกจะมีการก่อสร้าง Motorway ทางหลวง พิเศษระหว่างเมืองเป็นระยะทางค่อนข้างยาวถึง ๘๐ กว่ากิโลเมตร ทางรางมีรถไฟทางคู่ แล้วก็รถไฟขนส่งตู้สินค้า รวมถึงทางท่อคือการขนส่งน้ำมันค่ะ ถ้าเกิดเราดูในภาพรวมก็ดูดี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศ แต่ถ้าเกิดเรา Zoom in หรือ Zoom เข้าไปดูใกล้ ๆ แล้ว ดิฉันจะขออภิปรายในรายละเอียดในแต่ละช่องทางค่ะ
ช่องทางแรก การขนส่งทางน้ำ โครงการนี้จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่เราขอขึ้นบัญชีมรดกโลกซึ่งเป็นฝั่งอันดามัน ฝั่งระยอง พื้นที่นี้มีคุณค่า อย่างไร พื้นที่นี้ค่อนข้างเปราะบางค่ะท่านประธาน เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์แล้วก็ พืชพันธุ์ที่หายาก ระบบนิเวศนั้นก็เป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ การที่เราก่อสร้าง โครงการพัฒนาขึ้นมาในพื้นที่ก็มีความเสี่ยงว่าเราจะได้ขอขึ้นมรดกโลกของ UNESCO หรือไม่ เราจะมีประโยชน์อย่างไรในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เราจะได้รับความช่วยเหลือแล้วก็ สนับสนุนด้านวิชาการแล้วก็การเงินนะคะ นอกจากนั้นก็ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ชาวต่างชาติมีความสนใจเข้ามาเที่ยวในท้องที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ต่อชุมชนด้วย นอกจากนั้นในพื้นที่เป็นป่าชายเลนค่ะท่านประธาน ป่าชายเลนมีประโยชน์อย่างไรคะ Blue Carbon เป็นระบบนิเวศที่กักเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุดที่หนึ่งในโลกนะคะท่านประธาน รัฐบาลมีนโยบาย Carbon Neutrality ไม่ใช่หรือคะ คือนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ๒๐๕๐ เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อช่วยดูดแล้วก็กักเก็บคาร์บอนเนื่องจาก ป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อย ๑-๕ ตันต่อไร่ต่อปี ในพื้นที่จังหวัดระยองนะคะ นอกจากนั้นป่าชายเลนยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเราสามารถนำไปขาย Carbon Credit ได้ด้วยค่ะ
ช่องทางที่ ๒ คือการขนส่งทางท่อเพื่ออะไรคะ เพื่อใช้ในการขนส่งน้ำมันค่ะ ข้อนี้ดิฉันตั้งข้อสงสัยว่าทุกวันนี้เราก็ยังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดที่ระยองเพื่อนสมาชิกดิฉันก็เพิ่งอภิปรายไปนะคะ ดิฉันจึงขอตั้งคำถามว่าตอนนี้เราได้มี เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง แทนที่เราจะดำลงไปปิดวาล์วทางใต้ทะเล ตอนนี้ มีเทคโนโลยีที่สามารถสั่งเปิดปิดได้ผ่าน Application แล้วค่ะ แล้วนอกจากนั้นเรามีวิธีการ กำจัดคราบน้ำมันที่ถูกวิธีแล้วหรือยัง แทนที่จะเป็นการกดน้ำมันลงไปให้จมอยู่ใต้ก้นทะเล ทางรัฐบาลมีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมไหม กองทุนเยียวยาประชาชน อย่างเป็นธรรมมีหรือยัง ดิฉันอยากเห็นทางรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการป้องกันแล้วก็ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางทะเล ภาพที่ท่านเห็นคือผลกระทบจากที่น้ำมันรั่วไหล ในทะเล เราจำเป็นจะต้องมีการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นค่ะท่านประธาน เพราะถ้าเกิด มันเกิดขึ้นแล้วนี่ยากที่จะฟื้นฟูเยียวยาสภาพแวดล้อมให้กลับมาดังเดิมได้นะคะ สัตว์เหล่านี้ ไม่สามารถเข้ามาในสภาแล้วก็เรียกร้องความเป็นธรรมได้ ดิฉันก็ขอพูดแทนพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาเหล่านั้นสำคัญอย่างไรคะ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารค่ะ เป็นอาหาร ให้เรากิน ถ้าน้ำมันเจือปนในทะเลก่อให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารค่ะ ส่งผลกระทบนะคะ ตลอดทั้งห่วงโซ่อาหารทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลได้ ปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิ ในน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังไม่พอ ยังจะต้องมาเจอความเสี่ยงจากปัญหาน้ำมันรั่วไหลอีก อันนี้ ก็ต้องขอฝากไว้ด้วยนะคะ
ช่องทางต่อไปค่ะ คือการขนส่งทางบกและทางราง ซึ่งดิฉันดูรายละเอียด โครงการแล้วก็จะผ่านพื้นที่ป่านะคะ ดิฉันก็จะขอฝากไว้นิดหนึ่งว่าถ้าเกิดเราจะตัดถนนผ่าน พื้นที่ป่าแล้วก็ช่วยคำนึงถึงพวกสัตว์ป่าด้วยนะคะ เพราะว่าบางเส้นทางอาจจะเป็น การเดินทางของสัตว์ค่ะ เราก็อาจจะไปสร้างสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางเดินเขาได้ก็อาจจะ ทำทางเชื่อมสำหรับสัตว์ให้เขาหน่อยนะคะ เพื่อที่เขาก็จะได้ไม่เดินข้ามถนนซึ่งจะเป็น อันตรายเกิดอุบัติเหตุด้วยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยจากที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก็มี ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ครอบคลุมรอบด้าน เรามีการศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโครงการนี้ไปแล้วนะคะ แต่เรายังไม่มีการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA จำเป็นที่จะต้องศึกษา SEA เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษาควรเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดิฉันก็ขอฝากไว้แต่เพียงแค่นี้ค่ะ ท่านประธาน ขอบคุณมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้มีเรื่องจะมาปรึกษาหารือท่านประธานทั้งหมด ๒ เรื่องด้วยกันค่ะ เป็นปัญหาในพื้นที่ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์
เรื่องแรก มีจดหมายน้อยจากประชาชนในพื้นที่มาถึงทางทีมงานเครือข่าย พรรคก้าวไกล อำเภอหนองไผ่ ว่ามีปัญหาเรื่องยาเสพติดหรือยาบ้าขายกันเกลื่อนเลย ในอำเภอหนองไผ่ โดยเฉพาะในตำบลนาเฉลียง ตำบลยางงาม ตำบลบ่อไทย แล้วก็ตำบล ท่าด้วง ราคาถูกมากค่ะ ประมาณเม็ดละ ๒๐-๓๐ บาทเองค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นพื้นที่ขายก็คือ ไม่ห่างไกลกับสถานีตำรวจเลยนะคะ จึงฝากหารือไปยังทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วก็ กระทรวงมหาดไทยช่วยสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดูแลในเรื่องยาเสพติดด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ ทางเครือข่ายพรรคก้าวไกล อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนนว่าถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑ สายสระบุรี-หล่มสัก มีไหล่ทางยุบตัวฝั่งขาเข้าอำเภอหนองไผ่ บริเวณบ้านเนินมะค่าถึงบ้านคลองศรีเทพ ผู้ใช้รถ ใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุกันหลายราย ก็ได้ทำการประสานงานไปยังหมวดทางหลวงหนองไผ่แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขอฝากไปยังกระทรวงคมนาคม ช่วยสั่งการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจร ไปมาด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตาก จังหวัดดิฉันพื้นที่ชายแดนประสบปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ เราใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่นละอองขนาดเล็กมานานนับสิบปีแล้วค่ะท่าน ประธาน ตามที่ท่านอาจารย์คนึงนิจได้นำเสนอไปเบื้องต้นนะคะ ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้ ก็เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งค่ะ สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงยอดเขาเท่านั้น ยังมีเหง้าของปัญหาอยู่ ใต้น้ำ ซึ่งเป็นปริมาณมหึมาที่เรายังมองไม่เห็น ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ควรแก้ที่ต้นตอของ ปัญหาค่ะ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นนะคะ
รัฐบาลจึงผลักดันแล้วก็สนับสนุนการปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาอย่างยาวนาน จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้แล้วก็มลพิษ ทางอากาศข้ามพรมแดนเป็นลำดับค่ะ
จากแผ่นภาพที่ท่านเห็นด้านซ้ายมือจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย กราฟช่วงที่ ๒ เป็นประเทศลาว และกราฟสุดท้ายเป็นประเทศเมียนมาร์ กราฟนี้บ่งบอกถึง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด จากภาพท่านจะเห็นว่าภายในระยะเวลา เพียง ๕ ปี การเปลี่ยนแปลง พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเปลี่ยนแปลงไปถึง ๒-๓ เท่า เลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ประเทศไทยเรายังขาดก็คือกลไกทางกฎหมาย แล้วก็การกำหนด นโยบายที่กำหนดภาระรับผิดหรือ Accountability ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง กับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นค่ะ ก่อนอื่นก็ขอขอบคุณคุณเบย์ กลุ่มก้าวกรีน อาสาสมัครของเราที่ช่วยจัดทำสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ของพรรคก้าวไกลให้เราเข้าใจกันภายในสไลด์เดียวนะคะ หลัก ๆ แล้วตามที่ท่าน สส. ภัทรพงษ์ ได้นำเสนอไปในเบื้องต้น ร่างพระราชบัญญัตินี้จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบูรณาการ การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ แล้วก็ภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบ การติดตามตรวจสอบหรือที่เราเรียกว่า Testability มีการเฝ้าระวังการเตือนภัย และเรายังมี คณะกรรมการจัดการฝุ่นพิษ ซึ่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้กับสภาผู้แทนราษฎรให้ รับทราบ เพื่อที่จะได้เปิดให้อภิปรายร่วมกันอย่างกว้างขวาง เพื่อที่พี่น้องประชาชนก็จะได้ รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการด้วยค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ เราใช้เวลา เป็นปีกว่าที่จะรอร่างกฎหมายแต่ละตัวที่จะผ่านแล้วก็บังคับใช้ได้ แต่ว่าเราทุกคนใช้เวลาทุก วินาทีในการสูดอากาศในการหายใจ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะ มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดิฉันได้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาร่วมกับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแก้ไขปัญหา แล้วก็ฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คณะเราได้แวะไปที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปดูร่องรอยของการเผาไหม้ เพราะว่าพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วช่วงประมาณ เดือนสิงหาคม จากสถิติที่เกิดขึ้นเราจะพบได้ว่าตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา โอกาสที่ ไฟไหม้ป่าจะเป็นปีที่เป็น El Nino หรือที่เราประสบปัญหาภาวะภัยแล้งเป็นหลัก เมื่อ ๑๐ ปี ที่ผ่านมา ป่าพรุควนเคร็งประสบปัญหาไฟไหม้ถึง ๔ ครั้ง ในช่วง ๑๐ ปี ปีนี้เช่นกันเราอยู่ใน ภาวะ El Nino หรือภาวะภัยแล้ง ดิฉันก็จะขอฝากภาครัฐบาล ถึงมาตรการการป้องกัน การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยป่าที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในฤดูแล้งนี้ ก็ถือว่าวันนี้เป็นที่ ประจักษ์กันแล้วว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด ดิฉันก็เป็นอีก ๑ คน ที่ร่วมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติร่างของภาคประชาชนเมื่อหลายปีมาแล้วร่วมกับท่าน สส. ร่มธรรม แล้วก็ร่วมกับประชาชนอีกกว่า ๒๐,๐๐๐ รายชื่อที่ร่วมลงชื่อกันมา ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แล้วก็การเผาในที่โล่งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาด เล็กเพียงอย่างเดียวยังเกิดก๊าซต่าง ๆ ขึ้นมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้นภาวะอากาศสุดขั้ว แล้วก็ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะตามมา ไม่มีกฎหมายใดที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา เพื่อให้ การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพทั้งระบบ จำเป็นจะต้องมีการบังคับใช้ร่วมกับกฎหมายอื่น ๆ พรรคก้าวไกลเราจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดควบคู่ไปด้วย แล้วก็จะได้ นำเสนอในวาระต่อ ๆ ไป นอกจากนี้เรายังรอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่ม ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกลับเข้ามาพิจารณาในสภา เพื่อรับรองสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง ในการดำรงชีวิตและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืนไม่ให้ พวกเขาได้ตกเป็นจำเลยเรื่องของการเผาอีกต่อไป ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอญัตติด่วนร่วมด้วยนะคะ เป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง เสนอแนะ แนวทาง ป้องกัน กอบกู้ ฟื้นฟู เยียวยา อุบัติการณ์โรงงานโกดังเก็บพลุระเบิด เพื่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ผ่านมา ๑ สัปดาห์แล้วค่ะท่านประธาน กับเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตามที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๒๓ ราย บาดเจ็บสาหัสอีก ๗ ราย อาคารพังราบเป็นหน้ากลอง ดิฉันและเพื่อนสมาชิก ก็ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ประสบเหตุด้วยนะคะ ท่านประธานที่เคารพคะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด หากเรานับย้อนกลับไปภายใน ๑๕ ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุโรงงานโกดังเก็บพลุระเบิดมากกว่า ๒๐ ครั้งมาแล้วค่ะท่านประธาน เฉลี่ยแล้ว นี่คือเกิดขึ้นทุกปีค่ะ ปีหนึ่งเกิดขึ้น ๑-๒ ครั้ง เราคงจะจำได้นะคะ ช่วงกลางปีที่แล้วมีโรงงาน ทำพลุดอกไม้ไฟระเบิดที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๘ ราย แล้วก็ยังส่งผลให้บ้านเรือนกว่า ๓๐ หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย ตามมาติด ๆ เดือนเดียวกันนั้นเอง กลางตลาดมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต ๑๑ ราย บาดเจ็บเกือบ ๔๐๐ ราย แล้วก็บ้านเรือนเสียหายกว่า ๗๐๐ หลังคาเรือน ตอนนี้ที่ตลาดมูโนะก็ยังอยู่ ระหว่างการฟื้นฟูเยียวยาอยู่นะคะ คือนี่ไม่นับรวมอุบัติเหตุโรงงานพลุระเบิดที่เกิดขึ้นแล้ว ทั่วประเทศตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คือดิฉันละอายที่จะพูดว่าอุบัติเหตุ เพราะว่ามันเกิดขึ้น บ่อยมากจนเป็นอุบัติการณ์ไปแล้วค่ะท่านประธาน มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งร้อยแล้วก็บาดเจ็บ อีกนับไม่ถ้วน วิถีชีวิตของชาวบ้านจะต้องเปลี่ยนไป นี่ยังไม่คิดมูลค่าความเสียหายทาง เศรษฐกิจอีกไม่รู้เท่าไร หากจะถามว่าแล้วทำไมชาวบ้านเลือกที่จะทำงานที่เสี่ยงแบบนี้ คำตอบก็คือพวกเขาไม่มีทางเลือกค่ะ เพราะในพื้นที่ไม่มีงานทำ จึงต้องยอมทำงานที่เสี่ยง อันตราย ซึ่งดีกว่าที่จะอดตายค่ะ เราทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาเรามาดูสาเหตุ ของปัญหากันบ้างนะคะ แม้ว่าโรงงานพลุส่วนใหญ่จะมีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน โรงงานส่วนใหญ่ได้ขออนุญาตทางท้องถิ่นจัดตั้งกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แล้วก็ มีประกาศของหลายกระทรวงที่ครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์เรื่องอาคารสถานที่ แล้วก็มีวิธีการ กำกับดูแลการผลิตดอกไม้เพลิงแล้วนะคะ แต่ประกาศเหล่านั้นก็ยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอ ทั้งในเรื่องของทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณดอกไม้เพลิงที่เก็บสะสมไว้ นอกจากนี้สถานที่ผลิตพลุยังไม่ถูกนับเป็นโรงงานตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่มีสถานะเป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบการทำดอกไม้ไฟเท่านั้นค่ะ กรมโรงงาน อุตสาหกรรมจึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจะนอนหลับได้อย่างไร ถ้าเกิดเขาไม่ทราบเลยว่าโกดังพลุแถวบ้านเขามีวัตถุอันตรายเก็บไว้เป็นปริมาณเท่าไร แล้วก็มีกระบวนการจัดเก็บที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นค่ะท่านประธาน เราจำเป็นต้องมี กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยแล้วก็การเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมค่ะ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติการรายงาน การปล่อยแล้วก็การเคลื่อนย้ายสารมลพิษสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ร่าง พ.ร.บ. PRTR เข้าสภาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ใจความหลัก ๆ ของร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็คือสถานประกอบการนะคะ สถานประกอบการในที่นี้หมายความรวมถึงโรงงาน อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แล้วก็กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้าย สารมลพิษที่อาจทำให้เกิดอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้ หรือเพื่อประการอื่นใดก็ตามค่ะ อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อโรงงานผลิตแล้วก็โกดังเก็บพลุเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงโรงงานที่เก็บสารมลพิษทั้งหมด เช่น เราคงได้ทราบข่าวกรณีหมิงตี้ เคมีคอลที่จังหวัดสมุทรปราการที่เคยระเบิดรุนแรง แล้วก็ปล่อยสารพิษอันตรายเต็มพื้นที่ จะดีกว่าไหมถ้าเกิดเราสามารถทราบปริมาณสารมลพิษที่โรงงานนั้น ๆ ได้เก็บอยู่ค่ะ ดิฉัน ก็หวังว่าทางสภาจะเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แล้วก็บรรจุเข้าวาระเพื่อพิจารณา โดยเร็ว ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากเรื่องของกฎหมายควบคุมดูแลแล้ว รัฐก็ควรสร้างงาน สร้างอาชีพ แล้วก็พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ด้วยค่ะ ท้ายนี้คือสิ่งที่ทิ้งไว้หลังจากเกิดเหตุคือร่องรอยของความสูญเสีย ทั้งสูญเสีย สมาชิกในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียโอกาสต่าง ๆ มากมาย กรณีโรงงานพลุระเบิด ที่สุพรรณบุรี หน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางแล้วก็ในท้องถิ่นรวมถึงมูลนิธิต่าง ๆ ได้ยื่นมือ เข้ามาให้ความช่วยเหลือแล้วนะคะ แต่อย่างไรก็ตามการเยียวยาสภาพสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่เท่าไร แต่การเยียวยาสภาพจิตใจนั้นต้องอาศัยระยะเวลา อาจต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามา ช่วยดูแลด้วย ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปลี่ยนจาก อุบัติการณ์เป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ เพราะเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมันยากที่จะ เอากลับคืนมาค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ จากการที่ได้ฟังเพื่อนสมาชิกทุกท่านได้อภิปรายเกี่ยวกับญัตตินี้ไป ดิฉัน ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทางรัฐบาลถอดบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์นี้ นำข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ จากเพื่อนสมาชิกไปพิจารณาแล้วก็ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าไป ตรวจสอบโรงงานผลิตพลุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย การทบทวนแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมแล้วก็รัดกุมยิ่งขึ้น หรือจะเป็นเรื่องของความจำเป็นที่ควรมี ประกันภัยให้กับคนงาน นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ PRTR เพื่อปิดช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องดำเนินการ ชดเชยเยียวยาทั้งกายและใจให้รวดเร็วที่สุด เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันจะขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับ International Women Day หรือ วันสตรีสากลค่ะ
ได้ค่ะท่านประธาน เนื่องจากว่าวันสตรีสากลตรงกับวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี และปีนี้กำลังจะเวียนมาบรรจบใน เดือนหน้านี้แล้ว ดิฉันทราบข่าวมาจากทาง UNDP ว่ากำลังจะมีโครงการสัมมนาเพื่อส่งเสริม ความเสมอภาคทางเพศในรัฐสภาไทย ดิฉันขอเรียนถามท่านประธานว่าทางเราจะมีแนวทาง การให้ความร่วมมือกับวันสตรีสากลนี้อย่างไรบ้าง และนอกจากนั้นดิฉันอยากขอเรียนถาม ท่านว่าทางรัฐสภาชุดที่ผ่าน ๆ มาได้มีการดำเนินงานของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย และในสภาชุดนี้จะมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐสภาชุดที่แล้วอย่างไรบ้าง ดิฉันจึงขอให้ ท่านประธานช่วยเร่งติดตามดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตากค่ะ บ้านดิฉันอยู่จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ภาคตะวันตกของประเทศ มีพื้นที่ป่ามากเป็นลำดับ ๒ รองจากภาคเหนือ ถ้าเทียบจากพื้นที่ป่าทั่วทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าทั่วประเทศไทยลดลง ลดลงมาในเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ด้วยความที่พื้นที่ป่าลดลง เราจำเป็นจะต้องมีกลไกในการตั้งกองทุนขึ้นมา ปัจจัยอีก ๑ ปัจจัยที่ทำให้เรามีความจำเป็น ในการตั้งกองทุน นอกจากเรื่องของพื้นที่ป่าก็จะเป็นในเรื่องของทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นในส่วนของทั้งทรัพยากรบุคคลแล้วก็งบประมาณ นอกจากนั้นแล้วยังมีกองทุน ที่มีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแต่ละกองทุนก็ยังมีข้อจำกัดของแต่ละกองทุนอยู่ แล้วดิฉันจะได้ อภิปรายในรายละเอียดในแต่ละปัจจัยในลำดับต่อไปนะคะ ปัจจัยแรกในเรื่องของพื้นที่ป่า จากกราฟที่ท่านเห็นด้านซ้ายมือ ๕ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าทั่วทั้งประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากสาเหตุหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรก จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ ประโยชน์ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือว่าการเจริญ การขยายตัวของเมือง สาเหตุที่ ๒ จากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐ สาเหตุที่ ๓ ก็คือ เกิดจากไฟป่า แล้วก็จากการลักลอบตัดไม้ ดิฉันเข้าใจดีว่าเราจำเป็นจะต้องมีกลไกทางการเงิน โดยการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา แต่ดิฉันก็คิดว่าวัตถุประสงค์หนึ่งของกองทุนก็คือต้องการเพิ่ม พื้นที่ป่า ท่านอย่าลืมว่าที่ผ่านมาเรายังมีคดีคงค้างตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วอยู่ว่ารัฐบาลต้องการ เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า จะต้องปลูกป่าเพิ่มขึ้นอีก ๓๐ ล้านไร่ตามแผนแม่บทป่าไม้ของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการแย่งยึดที่ดินกับชุมชนที่อยู่เดิมอยู่แล้ว ไม่ได้มีการให้สิทธิกว่า ๓๐,๐๐๐ คดี จับกุมได้เพียงแค่ ๑๐,๐๐๐ คดี แล้วก็ยังมีคดีแห้งอีก ๒๐,๐๐๐ คดี ดิฉัน ก็เกรงว่าถ้าเกิดเราจัดตั้งกองทุนนี้แล้ว ก็ฝากทางคณะกรรมการกองทุนได้คำนึงถึงข้อนี้ด้วย ว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าจะไม่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งกับชุมชนต่อไป นอกจากนั้นปัจจัยในเรื่องของ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ทางภาครัฐมีโครงการผันน้ำยวมซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่ ซึ่งคาดว่า จะผันน้ำยวมจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ โครงการนี้ก็คิดว่าจะเป็นการลดพื้นที่ป่าต้นน้ำเหมือนกัน ไม่ต่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งก็จะเป็นการลดพื้นที่ป่าเช่นกัน อย่างไรดิฉันก็ขอ ฝากข้อห่วงกังวลตรงนี้ไปถึงรัฐบาลด้วยว่า ถ้าเกิดโครงการพัฒนาต่าง ๆ จะต้องทำให้พื้นที่ป่าลดลงมันจะย้อนแย้งกับวัตถุประสงค์ของ กองทุนรักษาป่าต้นน้ำนี้หรือไม่ อย่างไร ปัจจัยต่อไป การมีข้อจำกัดของบุคลากร อย่างเช่น ที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วในเบื้องต้น พื้นที่ป่าทั่วทั้งประเทศมีประมาณ ๑๐๐ ล้านไร่ แต่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าคน ถ้าเกิดคำนวณออกมาจะพบว่าเจ้าหน้าที่ ๑ คนดูแลพื้นที่ประมาณหมื่นกว่าไร่ แต่ถ้าเกิดเราตัดพื้นที่ป่าชุมชนออกไปซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ ๖ ล้านไร่ ก็จะพบว่าเจ้าหน้าที่ ๑ คนก็ยังจะต้องดูแลพื้นที่เกือบหมื่นไร่อยู่ดี ซึ่งดิฉันคิดว่ามันก็เกินกำลังมากกว่าเจ้าหน้าที่ ๑ คนจะดูแลได้ค่ะ
ในเรื่องของข้อจำกัดของงบประมาณ กราฟด้านซ้ายที่ท่านเห็นคืองบประมาณ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี ๒๕๖๕ ท่านจะเห็นได้ว่างบประมาณ ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สูงถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นกรมที่ได้รับการจัดสรรสูงที่สุดในกระทรวง รองลงไปตามไปติด ๆ ก็คือกรมป่าไม้ ประมาณ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงบประมาณที่จะจัดสรรไปนั้นมีมูลค่าไม่น้อยเลย แต่ถ้าเกิด เราเจาะดูในส่วนของงบจ้างเหมาบุคลากร เราจะพบว่างบจ้างเหมาบุคลากรของกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีงบสูงสุดมากถึงประมาณ ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ของงบ ทั้งกระทรวง ทั้งนี้ทั้งนั้นการจ้างดังกล่าวเป็นเพียงค่าตอบแทนชั่วคราว ไม่ได้มีความมั่นคง แล้วก็ไม่ได้เกิดแรงจูงใจใด ๆ ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ควรพิจารณา โครงสร้างอัตรากำลังให้สอดคล้องแล้วก็เหมาะสมกับภารกิจงานต่อไปค่ะ
ปัจจัยที่ ๓ ในส่วนของข้อจำกัดของกองทุนที่มีในปัจจุบัน อย่างที่ดิฉันเรียน ในเบื้องต้น ณ ตอนนี้เรามีกลไกทางการเงินซึ่งเป็นกองทุนต่าง ๆ มีอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ แต่ละกองทุนก็จะมีขอบเขต กิจกรรมที่สามารถดำเนินการในกองทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กองทุนสิ่งแวดล้อมที่เน้นไปถึงป้องกันแล้วก็รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราอาจจะมี กลไกทางการเงิน ก็คือตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อที่จะอุดช่องว่างตรงนี้ ทั้งนี้ ทั้งนั้นดิฉันขออภิปรายสนับสนุนญัตติ สส. เลาฟั้งที่เสนอให้นำหลักการให้ผู้ที่ได้รับบริการ จากระบบนิเวศจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ทำหน้าที่อนุรักษ์โดยตรงมาใช้ ซึ่งหลักการนี้ จะเป็นการใช้มาตรการจูงใจแล้วก็กลไกการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมขึ้นระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน แล้วก็ชุมชนในท้องที่ หลักการนี้คือนำเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทน การให้บริการของระบบนิเวศมาใช้ แล้วก็นอกจากนี้ยังสามารถนำกลไกในเรื่องของคาร์บอน เครดิตหรือว่า Biodiversity Credits เข้ามาร่วมใช้ได้เหมือนกัน ประเทศไทยยังไม่ได้มี การนำหลักการนี้มาใช้ แต่มีที่ประเทศเวียดนามเขาใช้หลักการนี้ในการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยชาวบ้านจะได้รับเงินร้อยละ ๘๐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับร้อยละ ๒๐ ของ มูลค่าที่กำหนดไว้ในสัญญา นอกจากนั้นเราสามารถนำมาใช้เพื่อชดเชยให้กับกิจกรรมการ พัฒนาต่าง ๆ ได้ ในตัวอย่างเป็นกิจการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแล้วก็ธุรกิจท่องเที่ยว โดยรัฐบาล กลางแล้วก็องค์กรส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันบริหารจัดการแล้วก็จัดสรรรายได้ให้กับชุมชน ในพื้นที่ที่เขาดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าทางสภาจะมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำหรือไม่ ดิฉันขอฝากข้อควรคำนึงถึงด้วยว่าหากเรามี กองทุนแล้วก็ควรคำนึงถึงเรื่องของการดำเนินการแล้วก็การจัดสรรเงินของกองทุนให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตรงกับวัตถุประสงค์กองทุนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลของ กองทุนอย่างแท้จริง ขอบคุณค่ะท่านประธาน