ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเรียนต่อประเด็นที่ท่าน สส. เลิศศักดิ์ได้สอบถามในกระทู้ถามสดด้วยวาจาในวันนี้นะครับ เป็นกระทู้ถามแรกของรัฐสภาในสมัยประชุมนี้เลยนะครับ และต้องเรียนว่าทางรัฐบาลไม่ได้ นิ่งนอนใจครับ และผมเองก็ทราบถึงความเดือดเนื้อร้อนใจของท่านเลิศศักดิ์มาเป็นเวลา หลายเดือนแล้ว เพราะว่าเราก็ถือว่าอยู่ด้วยกัน เราได้พบปะพูดคุยกัน ได้รับทราบประเด็นนี้ ซึ่งท่านได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยโดยเฉพาะเรื่องของความมั่นใจในตลาดทุนและตลาด ตราสาร รวมถึงความเสียหายที่เกิดกับพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้างนะครับ แต่เนื่องด้วย สภาวะของกลไกในการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งใช้เวลาราว ๓ เดือนกว่าเราจะตั้ง รัฐบาลกันได้ เราถึงไม่มีสภามาพิจารณาในเรื่องของกระทู้ถามมาเป็นเวลา ๓ เดือนแล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จริง ๆ เรื่องนี้ควรจะต้องนำเข้าสู่สภา แล้วก็พูดคุยกันมาตั้งแต่ ๔-๕ เดือนที่แล้ว แต่วันนี้เมื่อมีโอกาสก็นำเข้าสู่สภาแห่งนี้ในฐานะที่เป็นกระทู้ถามสด ด้วยวาจา ผมต้องเรียนผ่านท่านประธานไปยังท่าน สส. เลิศศักดิ์ในประเด็นแรกก่อนนะครับ ทางท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านไม่ได้ นิ่งนอนใจในประเด็นนี้ครับ หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกระทรวงการคลัง เข้าไปชี้แจงให้ข้อมูล และได้มีข้อสั่งการให้ไปติดตามตรวจสอบแล้วก็ไปหากลไก แน่นอนครับ ๑. ก็คือในเรื่องของการเยียวยาผู้ที่เสียหายได้รับผลกระทบ ๒. คือในการที่จะไปหากลไก ในการปิดช่องโหว่ เพราะวันนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราเห็นได้ชัดครับว่าในตลาดทุน ของประเทศไทยมันมีจุดโหว่จริง ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขในระยะอันเร่งด่วน
ส่วนคำถามของท่านนะครับ ท่านถามถึงความคืบหน้า ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐบาล อย่างที่ได้เรียน ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ทั้งทาง กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับ ต้องเรียนว่าทุกคน มีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการดำเนินงานพิจารณา หาแนวทางแก้ไข ติดตามความคืบหน้าในกระบวนการที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อยู่ใน ขั้นตอนไหน เป็นอย่างไร ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ขณะนี้การอายัดเงินของผู้เกี่ยวข้อง ในการกระทำความผิดแล้วหนีออกนอกประเทศได้ดำเนินการแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการ อดีตกรรมการ รวมถึงอดีตผู้บริหารของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น ๑๐ ราย เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ DSI ในกรณีของการตกแต่งงบการเงินของบริษัท แล้วก็การเปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบ แสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็การกระทำโดยทุจริต หลอกลวง ทั้งหมดนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา แล้วได้มีคำสั่งห้าม ผู้ถูกกล่าวโทษดังกล่าวที่เป็นบุคคลธรรมดา ออกนอกราชอาณาจักรต่อจากระยะเวลา ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งห้ามไว้เป็นการชั่วคราว และได้ประสานงานกับ DSI อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถติดตามผู้ต้องหานำตัวมาฟ้องคดีต่อศาล ให้มีการลงโทษ ผู้กระทำผิดโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการสืบสวนอยู่ อยู่ในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวน เพื่อที่จะหาตัวผู้กระทำผิดเพิ่มเติมมาดำเนินการ รวมถึงการอายัดเพิ่มเติมมากกว่า ๑๐ รายนี้ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษไว้แล้ว ผมต้องเรียนว่าขณะนี้กระบวนการทั้งหมดถึงแม้ว่า มันจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามามีอำนาจหน้าที่ เราก็ได้ติดตาม สอบถามในรายละเอียดเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับท่านสมาชิกทุกท่าน รวมถึงพี่น้อง ประชาชนว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงในเรื่องของตลาดทุน ตลาดการเงิน ตลาดตราสารเป็นอันดับต้น เราจะหาหนทางแก้ไขแล้วก็ติดตามตรวจสอบให้ครอบคลุมให้ได้ ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ก็เป็นคำตอบต่อคำถามแรกของท่านเลิศศักดิ์ครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต่อคำถามที่ ๒ ของท่านเลิศศักดิ์ คือกระบวนการในด้านของกฎหมายรวมถึงการปิดช่องโหว่ที่เมื่อสักครู่ผมได้ตอบไปแต่อาจจะ กว้างไป ไม่ได้ลงในรายละเอียดให้ทราบ ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าจากกระบวนการทำงาน ๑. ก็คือข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี รวมถึงทางกระทรวงการคลัง รวมถึง ก.ล.ต. ได้มี การทำงานประสานงานกันมาในระยะหนึ่งแล้ว ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่ากระบวนการปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความล่าช้า ในกระบวนการอายัดซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย มาตรา ๒๗๙ ที่ท่านได้นำเสนอนี่ถูกต้องครับ มันมีช่องโหว่จริง ๆ เพราะว่าเนื่องด้วยตามกฎหมายมันต้องมีหลักฐานในเชิงประจักษ์ ต้องไป ขออนุญาตหมายศาลในการดำเนินการจึงจะอนุมัติผ่านทางคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ในการที่ จะไปกระบวนการอายัดต่าง ๆ เพราะว่ามันมีดาบสองคม อันนี้ต้องเรียนด้วยความเคารพ ในกรณีการอายัดตามมาตรานี้มันเป็นการอายัดทั้งหมด ไม่ใช่อายัดเฉพาะส่วนหรือเฉพาะ บัญชี หากเราดำเนินการโดยไม่รอบคอบ สิ่งที่จะเกิดก็คือในกรณีบริษัทที่ถูกกล่าวหาแต่ยังมี ธุรกรรมปกติ มันก็จะกระทบกับความเชื่อมั่นและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของเขา อันนี้ เช่นเดียวกัน แต่ในกรณีนี้เมื่อมีเหตุแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงว่าได้เร่งในการดำเนินการ เพื่อที่จะอายัดให้เร็วที่สุด แต่ด้วยกรอบของข้อกฎหมายในกรณีที่จะต้องมีการรวบรวม พยานหลักฐานที่บอกว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทำให้กระบวนการค่อนข้างล่าช้า ผมต้องเรียน ด้วยความเคารพ สำหรับผมเองก็เป็นระยะเวลาที่รับไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกคนเห็นแล้วว่าขึ้น SP ในเรื่องของการไม่ส่งงบการเงิน ขึ้นมา ๒ เดือนนะครับ ถึงจะมี กระบวนการในการอายัดต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ อันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เรารับทราบ ขณะนี้ก็มีการพูดคุยกันในการรวบรวมข้อมูลแล้วก็หาหนทางที่จะปรับปรุงกระบวนการให้มัน รัดกุมยิ่งขึ้น ในส่วนของการดำเนินการในเรื่องของการปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เหตุการณ์เรื่องของ STARK ไม่ใช่เหตุการณ์แรกอย่างที่ท่านได้เรียน เราผ่านมาแล้วหลายตัว EARTH Energy เอง เรื่องของ FOREX มาถึงเรื่องนี้ก็ตาม ทั้งหมดต่าง ๆ มันประกอบกันเข้า ทำให้กระบวนการในการผลักดันแก้ไขกฎหมายเกิดขึ้นมาในระยะหนึ่ง ซึ่งกระบวนการ ในการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ต้องเรียนอย่างนี้ครับ มีการพิจารณากันในการปรับปรุง บทบัญญัติในส่วนของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน เพื่อไม่ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ที่สามารถกำกับ ดูแลผู้สอบบัญชี แล้วก็สำนักงานสอบบัญชี สามารถกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงประเด็นในการให้อำนาจกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการดำเนินการกรณีที่ผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชีมีลักษณะหรือการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด นอกจากนั้นยังมี กรณีในการที่จะเพิ่มบทบัญญัติในเรื่องของโทษทางปกครอง รวมถึงการบรรจุโทษปรับ เป็นพินัย ซึ่งโทษปรับเป็นพินัยก็ต้องเรียนด้วยความเคารพว่าเป็นกลไกใหม่ซึ่งเราเพิ่งผ่าน การพิจารณาของรัฐสภาไปเมื่อไม่นานมานี้ เหล่านี้จะสามารถทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อขั้นตอนผ่านเรียบร้อยแล้ว แน่นอนครับว่าก็คงจะ มาสู่ ครม. เมื่อ ครม. ได้รับการพิจารณาเห็นชอบก็จะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป ซึ่งกลไกนี้ก็คงจะต้องมาผ่านมือท่านเลิศศักดิ์ มาผ่านมือ สมาชิกทุกท่าน เพื่อที่เราจะได้หาหนทางในการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติเรื่องของ ก.ล.ต. ให้มีความรัดกุมรอบคอบยิ่งขึ้น การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีประเด็น เพิ่มเติม ซึ่งได้มีการฝากประเด็นแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ก.ล.ต. กับทางกระทรวงการคลัง เช่น รวมถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ผู้ออกหุ้นกู้ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ทันท่วงที การปรับปรุงเรื่องของ Fact sheet การปรับปรุงเรื่องของ Key Financial Ratio ต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาและสามารถยืนยันกับผู้ลงทุนในตลาดทุน ต่าง ๆ ได้ว่าสิ่งที่เขาได้รับ ข้อมูลที่เขาได้บริโภคก่อนที่จะตัดสินใจในการลงทุนต่าง ๆ นั้น เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และแน่นอนครับ ในที่สุดจะต้องมีกลไกเรื่องของ Accountability คือความรับผิดรับชอบในกรณีที่ Fact Sheet ในกรณีที่ตัวเลขเหล่านี้ที่ออกสู่สายตาของ นักลงทุนต่าง ๆ แล้วเป็นเท็จหรือไม่เป็นความจริง ในกรณีนี้ก็คงจะต้องมีการพิจารณาพูดคุย เพื่อที่จะหาทางแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ก็ขอตอบคำถามที่ ๒ ตามนี้ครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ขอยืนยันกับท่านเลิศศักดิ์และสมาชิกทุกท่านว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แล้วเราจะใช้ ความพยายามอย่างสูงสุดในการที่จะติดตามตัวผู้กระทำความผิดกลับมา แล้วก็ติดตาม เอาเงินของพี่น้องประชาชนที่เกิดความเสียหายคืนมาให้ได้ เราจะใช้ความพยายาม อย่างเต็มที่ รวมถึงการทำงานในขั้นตอนต่อไป ต้องกราบขอบพระคุณผ่านไปยัง ท่านสมาชิกในเรื่องของการจะใช้กลไกสภาที่จะทำงานคู่ขนานไปกับรัฐบาลในการที่จะ หาทางออก ศึกษาหาช่องทางในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ทางรัฐบาลขอตอบรับความหวังดี ของท่านด้วยความยินดีนะครับ แล้วเราจะทำงานร่วมกัน แน่นอนครับว่ากลไกในการทำงาน ยังจะมีต่อไป เช่นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็คงต้องได้รับความร่วมมือจาก ท่านสมาชิกทุกท่าน แล้วผมเองในฐานะที่เป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะขอนำความคืบหน้าในขั้นตอนการทำงานและแก้ไขปัญหานี้ กลับมานำเสนอต่อเพื่อนสมาชิกต่อไป ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ขั้นตอนในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่มีผู้ใดเสนอชื่ออื่น โดยหลักแล้วท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่า ขั้นตอนที่ครบถ้วนอยากจะให้ท่านประธานได้ขานมติของที่ประชุมครับ คือท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ครบถ้วนครับท่านประธาน
เสนอจำนวนครับท่านประธาน ท่านประธานครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๒ ท่านครับ เรียกว่า รองประธานสภา คนที่หนึ่ง และรองประธานสภา คนที่สอง ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นที่ท่านประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ได้กรุณา สอบถามต่อที่ประชุมนี้เป็นประเด็นที่ผมเองก็เห็นว่าเป็นประเด็นที่เราควรจะต้องมา ทำความเข้าใจกัน ซึ่งในมุมมองของผมมันอยู่ที่เจตจำนงของผู้ลงมตินะครับ เราเดินไปลงมติ เราเขียนชื่อ จะเป็นชื่อคุณปดิพัทธ์ หรือท่านวิทยาก็ตามเจตจำนงของเราชัดเจน ชื่อ สกุล ก็นับเป็นบัตรดี ชื่ออย่างเดียวก็ควรจะต้องนับเป็นบัตรดี และที่สำคัญถึงแม้จะสะกดผิด ไปบ้างเล็กน้อยเราก็ควรจะนับเป็นบัตรดี เพราะว่าเรามีผู้เสนอชื่อเพียงแค่ ๒ คน ถ้าเรา เข้าใจตามนี้ตรงกัน รวมถึงกรรมการนับคะแนนที่จะมาจากแต่ละพรรคการเมืองนี้ ถ้าไม่มี ผู้ใดขัดข้องจากสิ่งที่ผมได้นำเรียนต่อท่านประธานแล้วเราเห็นตรงกันเราก็เดินหน้า สู่การลงมติได้ครับ ท่านประธานครับ ขอความกรุณาครับ
ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดเชียงใหม่ ๒ กรณีครับ ด้วยความเคารพ ท่านประสาท ท่านเสนอว่าให้ใช้ตัวเลขก็ได้ แต่ที่ประชุมได้มีมติไปเรียบร้อยแล้วว่าเราจะให้ เขียนชื่อ ใช้การเขียนชื่อลงในบัตร อันนี้เป็นประเด็นแรก
ประเด็นที่ ๒ เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ผม ท่านประยุทธ์ แล้วก็ท่านรังสิมันต์ ได้นำเสนอต่อท่านประธาน หมายถึงว่าในกรณีที่อาจจะมีการสะกดผิด สะกดถูกบ้างเล็กน้อย ถ้าเจตจำนงมันชัดเจนว่าหมายถึงใครก็ขอให้นับเป็นบัตรดี ซึ่งตรงนี้ฟังดูที่ประชุมก็ไม่มี ใครขัดข้อง ถ้าท่านประธานจะได้ขานในสิ่งที่ผมบอกว่าชื่อเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ สะกดผิดเล็กน้อยถ้าจับใจความได้ก็ถือเป็นบัตรดีได้ ถ้าตรงกันตรงนี้เราเดินหน้าได้ครับ ถ้าท่านประธานจะกรุณาขานย้อนทวนในสิ่งที่พวกผมได้นำเสนอครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ
จุลพันธ์ เพื่อไทย เชียงใหม่ครับ กระบวนการลงคะแนนโดยขานหมายเลขนี้เรียบร้อยแล้วนะครับ ถ้าท่านประธานจะกรุณา เรียกเพื่อนสมาชิกคนไหนยังไม่ได้ลงคะแนนให้เข้าไปที่คูหาก็จะเป็นประโยชน์ เพราะว่า อาจจะยังมีท่านที่ตกหล่น แล้วจึงจะปิดการลงคะแนนนะครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ขอความกรุณา พูดอีกครั้งได้ไหมครับ เพราะพวกผมไม่ได้ยินครับ ไมโครโฟนอาจจะเบาไปสักนิดหนึ่งครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยครับ ต่อเรื่องของการประชุมของพวกเรานี้เราก็ถกเถียงกันมาทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มี ข้อเสนอมากมาย จริง ๆ แล้วมีแค่ ๒ กลุ่ม หลัก ๆ ก็คือจำนวนวันประชุมจะเป็น ๓ วัน หรือเป็น ๒ วัน ซึ่งผู้เสนอจากฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยแล้วก็พรรคก้าวไกลซึ่งก็เป็น ๘ พรรค ซึ่งมีการเจรจาในเรื่องของการร่วมรัฐบาลกันอยู่นี้ได้เสนอ ๓ วัน แต่แน่นอน มีความเห็นต่างซึ่งพวกเรายอมรับฟังครับ ท่านประธานครับ ประเด็นสำคัญกว่าในเรื่องของวัน
ประเด็นแรกที่อยากจะเรียนต่อท่านประธานคือเรื่องของเนื้อหาในแต่ละ การประชุม ซึ่งท่านรองประธาน คนที่สอง ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ต้องขอบคุณท่านนะครับ ท่านเป็นผู้ที่เสนอในเรื่องความสำคัญของการหารือในแต่ละวัน ซึ่งเพื่อนสมาชิก จากการพูดคุยกันในวงกว้างเห็นด้วยในเรื่องของการเพิ่มเวลาแล้วก็เพิ่มจำนวนของการหารือ เพราะว่านี่เป็นกลไกเดียวของสภาที่เราจะสามารถยิงตรงไปยังหน่วยงานของภาครัฐ แล้วก็ได้รับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพราะด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ พวกเราถูกมัดมือมัดเท้าไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้ ต้องขอบพระคุณในดำรินี้ แล้วก็ขอท่านประธานครับ พวกเราขอเสนอรับฟังข้อเสนอ ของท่านและขอเสนอในกรอบเรื่องของการหารือก่อนว่า ในแต่ละวันที่เราประชุมอยากจะให้ มีการหารือ ๓๐ คนเป็นอย่างน้อย และเพิ่มเวลาเป็นท่านละ ๒ นาที ๓๐ วินาที จะตกราว ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้นอย่างมหาศาล ในประเด็นแรกก่อน
ประเด็นที่ ๒ เรื่องของการถกเถียงในเรื่องของกรอบวันการประชุม เรียนต่อ ท่านประธานครับ เราคงไม่อยากจะมาลงมติในวันแรกที่เราประชุมสภาผู้แทนราษฎรกัน ในเรื่องนี้ มันหารือกันได้ ท่านได้เสนอในเรื่องของกรอบวันมาที่ ๒ วัน พวกผม ๓ วัน พวกเรามีใจอยากทำงานให้ประชาชนทุกคนครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องของข้อเสนอนี้ จากการพูดคุย ต้องกราบขอบพระคุณท่านสุธรรม แสงประทุม ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ได้เสนอเรื่องของกรอบเวลาที่ ๓ วัน และยอมที่จะเข้าใจว่าเราต้องพยายามบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งในเรื่องของ กรอบเวลานั้นผมต้องเรียนต่อท่านประธานครับ อยากจะให้ท่านประธานได้รับทราบในมุมมอง ของพวกเราว่า ๑. คือเราอยากจะให้งานสภามันเดินหน้าแล้วก็บรรลุผลตามที่พวกเรา ได้รับปากกับพี่น้องประชาชนก่อนที่เราจะเข้ามานั่งกันอยู่ในที่นี้ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะมีการประชุมแทนที่จะเป็น ๓ วัน เหลือเพียง ๒ วัน เหมือนที่เราได้เคยทำมาในอดีต ก็อยากจะให้ยึดแนวทางที่เราได้เคยทำมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรใน ๔ ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือเมื่อมีกฎหมายที่สำคัญ เมื่อมีวาระหมุดหมายที่เรามีความจำเป็นจะต้องดำเนินการ ให้แล้วเสร็จ ในแต่ละสัปดาห์เราอาจจะเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วันได้โดยขึ้นกับดำริของ ท่านประธานและการหารือร่วมกันระหว่างท่านประธานและ Whip ทั้ง ๒ ฝ่าย ข้อสรุปนี้ ก็คือหมายความว่าการประชุมเรากำหนดที่ ๒ วันไว้ก่อน และบวก ๑ เมื่อมีความจำเป็น อันนี้เป็นข้อเสนอที่น่าจะยอมรับและไปด้วยกันได้ทุกฝ่ายนะครับ
ในส่วนของการหารือนั้น ผมขอย้อนกลับไปประเด็นเรื่องของการหารือสักครู่ครับ มีเพื่อนสมาชิกได้มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ การหารือในช่วงเช้าในแต่ละวันที่พวกเราได้ทำกัน มานั้นมันเกิดประโยชน์ มีการถามตอบ มีการติดตามจากหน่วยงานของรัฐสภา ซึ่งเป็นประโยชน์ กับประชาชน เป็นประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกเป็นอย่างมาก แต่ความล่าช้าของมันเกิดขึ้นมา ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าท่านประธานจะสามารถดำริแล้วก็ประสานงานฝ่ายบริหารเพื่อให้ส่ง ตัวแทนของกระทรวง ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นคณะรัฐมนตรีนะครับ ตัวแทนของกระทรวง เจ้าหน้าที่กระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องหลาย ๆ กระทรวงมากระทรวงละคนสองคนก็พอ เพื่อมารับในช่วงเช้า เพราะเพื่อนสมาชิกมีการหารือกว้างขวาง หลากหลาย แล้วก็เข้าถึง หน่วยงานมากมาย ถ้าเขามารับฟังเราที่นี่ในช่วงเช้าก็เป็นการรับปัญหาโดยตรงเพื่อที่จะเร่งรัด กระบวนการในการแก้ไขปัญหา อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากท่านประธาน เพราะฉะนั้นผมได้เรียนท่านประธาน ๒ ประเด็นนะครับ ๑. คือการหารือ ๒. คือเรื่องของ วันประชุมที่กำหนดให้เป็น ๒ และบวก ๑ ในกรณีจำเป็น ก็ขอท่านประธานได้โปรดพิจารณาครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต่อข้อเสนอในเรื่องของ กรอบเวลาการประชุมในแต่ละวันนะครับ ระหว่างที่ท่านประธานได้หารือเพื่อนสมาชิก ผมเองก็ได้เดินปรึกษาหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย รวมถึงผู้เสนอหลายท่าน ขณะนี้ค่อนข้าง จะได้เป็นข้อสรุปที่พอจะนำเสนอเป็นญัตติต่อท่านประธานได้ นั่นก็คือให้เรามีการหารือ ในทุกเช้าที่ประชุมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง ๓๐ ท่าน ท่านละ ๓ นาที เป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง แล้วเราก็จะเริ่มเข้าสู่ระเบียบวาระหลังจากนั้น โดยเราจะเริ่มประชุมในแต่ละวันเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกาตรง เราจะได้เริ่มเข้าระเบียบวาระเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกาเหมือนเช่นที่เรา ได้เคยทำมา จะเป็นเวลาเดิมที่เราได้เริ่ม เมื่อก่อนเราเริ่ม ๙ โมงครึ่ง หารือ ๑ ชั่วโมง เข้าระเบียบวาระ ๑๐ โมงครึ่ง ครั้งนี้เราจะเริ่ม ๐๙.๐๐ นาฬิกา หารือ ๑ ชั่วโมงครึ่ง เข้าระเบียบวาระเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา ก็ขอเสนอท่านประธานและขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ ท่านประธานนัดหมายมาเพื่อกำหนดเรื่องของวันประชุมซึ่งเป็นประโยชน์แล้วเราก็ดำเนินการ จบสิ้นแล้ว แต่เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้มันมีเหตุการณ์ที่เกิดจำเพาะหน้า โดยเฉพาะ เหตุการณ์สะพานถล่มที่พื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งเพื่อนสมาชิกมีความเป็นห่วงแล้วก็เกรงว่า หากเราเนิ่นช้าไปในเรื่องของการประชุมและในการนำเสนอเพื่อมาอภิปรายในสภาจะเป็น ความล่าช้าที่จะเกิดผลกระทบในทางลบกับพี่น้องประชาชน จึงอยากจะใช้เวลานี้ที่เรามี เหลืออยู่ในช่วงวันนี้ในการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ใช้ข้อบังคับ ข้อ ๕๔ วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคห้าเสนอต่อท่านประธาน โดยผู้เสนอคือท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคเพื่อไทย ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต้องเรียนต่อท่านประธานว่า ประเด็นนี้ฟังการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๒ ท่าน ทั้งท่านสุธรรม แล้วก็ท่านพริษฐ์ ไม่ได้มีความแตกต่างครับ ทั้ง ๒ ท่านนี้เห็นความสำคัญ แล้วก็ความจำเป็นของ การเร่งดำเนินการเพื่อให้เรามีกรรมาธิการสามัญโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหา และติดตามปัญหา ของพี่น้องประชาชน ผมเองเช่นเดียวกันครับ เพียงแต่ว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในสภามา หลายสมัยนี่นะครับ กลไกที่สำคัญก่อนที่เราจะออกเป็นกรรมาธิการจะกี่คณะก็ตามนี่ คือเรื่องของข้อบังคับการประชุม วันนี้เราใช้ข้อบังคับการประชุม ฉบับปี ๒๕๖๒ นะครับ ที่เราทำกันในสมัยสภาชุดที่แล้วโดยอนุโลมครับ โดยอนุโลมเรายังไม่มีกลไกในการที่จะอยู่ ในที่ประชุมนี้ แล้วก็ใช้กลไกของสภาในการยืนยันว่านี่คือข้อบังคับการประชุมที่เราจะใช้ ต่อไปอีก ๔ ปีนะ หรือเราจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อที่จะมาพิจารณาข้อบังคับการประชุมใหม่ เพื่อปิดช่องโหว่ใด ๆ ก็ตามที่เราเห็นในข้อบังคับการประชุมที่ผ่านมาเพื่อที่จะมาสรุปกันว่า ข้อบังคับการประชุม ข้อ ๙๐ สรุปเราจะมีกรรมาธิการกี่คณะ ชื่ออะไรบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นกลไกมันยังมีที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งผมก็เช่นเดียวกับเพื่อนสมาชิก ทั้ง ๒ ท่าน คือฝากท่านประธานให้ไปเร่งดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อพวกเราจะได้เดินหน้า ทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เพื่อไทย เชียงใหม่ กระบวนการในการเลื่อนระเบียบวาระนี้นะครับ เป็นอำนาจของสภานะครับ ถ้าท่านประธานถามสมาชิกแล้ว ไม่มีผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็เป็นไปตามนั้น แต่สิ่งที่ผมจะถามเมื่อสักครู่นี้ท่านประธานใช้คำว่าเปลี่ยนระเบียบวาระ หรือว่าท่านประธานจะเลื่อนเรื่องที่จะเข้ามาเป็นเรื่องรับทราบต่อสภาครับ ถ้าเลื่อน เฉพาะเรื่องรับทราบในวันนี้เท่านั้นนี่ พวกผมไม่ติดใจอะไร แต่ถ้ามีการสลับสับเปลี่ยน ระเบียบวาระนี้มันเป็นเรื่องซึ่งค่อนข้างใหญ่นะครับ อาจจะต้องมีการพูดคุยกันเพิ่มเติม เรียนสอบถามแค่นี้ครับ ถ้าเฉพาะวาระรับทราบ แล้วในวันนี้ไม่ได้ติดใจอะไร ครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ผมขอเวลา ท่านประธานสักครู่ครับ ผม จุลพันธ์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กระบวนการของสภาเราเวลาที่มีเรื่องรับทราบเข้า จริง ๆ มันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ ๔ ปีก่อน แล้วก็ก่อนหน้านั้นอีก โดยเฉพาะเวลาที่มีเรื่องรับทราบ ถ้าเป็นรายงานการปฏิบัติงาน ของหน่วยงาน เราก็จะพิจารณาเนื้องานของหน่วยงานได้อย่างครบถ้วน แต่เมื่อเป็นรายงาน ทางบัญชี ก็จะเป็น สตง. มานั่งกันหมดเลย แล้วก็ชี้แจงการตรวจบัญชี แต่เพื่อนสมาชิก ในการอภิปรายต้องเข้าใจว่าความเป็นห่วงเป็นใยของเราคือการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เป็นหลัก กลายเป็นว่าเวลาที่เป็นรายงานทางบัญชีหน่วยงานไม่ต้องมานั่งเลย แล้วก็มีแต่ สตง. มารับหน้าพวกเราอย่างเดียว พวกเราก็ให้ข้อแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะ ปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติภารกิจที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเงินด้วย แต่ปรากฏว่ารับเรื่องไป สตง. ไม่มีทางหรอกครับ ที่จะส่งไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ถ้าท่านประธานจะกรุณา ในอนาคตเวลามีรายงานเกี่ยวกับเรื่องรายงานทางบัญชีของหน่วยงานที่ต้องมารายงานต่อรัฐสภา ต่อสภาผู้แทนราษฎร สตง. ก็มา หน่วยงานก็ส่งตัวแทนมา จะเป็นประโยชน์ที่สุด อันนี้ขอฝาก ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ผมขอหารือ ท่านประธานในเรื่องของกลไกการทำงานของเราตามกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ กำหนดในเรื่องของกรณีที่กฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นวาระที่หนึ่ง อยู่ในชั้นที่บรรจุในระเบียบวาระ หรือจบวาระที่สองแล้ว รอการเข้าพิจารณา แล้วมันยังค้างคาอยู่นี่นะครับ มันมีกลไกหนึ่งที่พวกเราเรียกกันว่า การยืนยันกฎหมาย แต่เนื่องด้วยในรัฐธรรมนูญไปกำหนดในวรรคสองของมาตรา ๑๔๗ ในเรื่องของกรอบเวลาด้วย กรอบเวลาที่ได้เรียนนี้เขาบอกว่าถ้าคณะรัฐมนตรีจะให้ ความเห็นชอบให้พิจารณาต่อไปได้จะยืนยันหรือไม่ แต่ต้องทำคำร้องขอภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าวันเรียกประชุมสภาครั้งแรก คือวันรัฐพิธี วันที่ ๓ กรกฎาคม ๖๐ วันจะครบวาระวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้แล้ว ใกล้มากแล้ว ในขณะที่เรายังไม่สามารถหานายกรัฐมนตรีได้ ผมเข้าใจว่าในกรณีดีที่สุดถ้าเราจะสามารถ หานายกรัฐมนตรีได้ตามที่พวกผมคาดหวังไว้มันก็ปลายสัปดาห์นี้ต้นสัปดาห์หน้า อย่างเร็ว ก็ต้องไปขั้นตอนในการตั้งคณะรัฐมนตรี ขั้นตอนในการโปรดเกล้าฯ แนวโน้มคือ อาจจะไม่ทันวันที่ ๓๑ สิงหาคม แต่ท่านประธานครับ กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา จากชุดก่อนมายังชุดปัจจุบันนี้มีกฎหมายที่มีความสำคัญหลายอย่าง หลายตัว ยกตัวอย่าง กฎหมายที่ยังมีการถกเถียงกันจำนวนมากในเรื่องของ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ร.บ. เรื่องการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งครูเขาแต่งดำกันทั้งประเทศ เราจะ เอาอย่างไร มีกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายก้าวหน้าที่พวกผมให้ความสนับสนุน พรรคเพื่อไทยเองให้การสนับสนุนทั้ง พ.ร.บ. ประมง พ.ร.บ. แก้ไขประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกว่าสมรสเท่าเทียมก็เป็นกฎหมายที่เราอยากจะ ผลักดันให้เดินหน้าต่อแล้วจะมาลงมติเห็นชอบกัน มันจะได้จบแล้วก็ประกาศใช้ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน แต่ผมกลัวว่ากลไกที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นว่าเราต้องโยน อำนาจในการวินิจฉัยว่าจะยืนยันกฎหมายหรือไม่ไปยังรัฐบาลรักษาการ หากเราโยนอำนาจนี้ ไปให้รัฐบาลรักษาการ เพราะด้วยกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญต้องจบภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม เกิดเขาปัดตกกฎหมายอย่างสมรสเท่าเทียม อย่างประมงมานี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนถามท่านประธาน เพราะพวกผมมีความตั้งใจที่จะเดินหน้า กฎหมายที่เป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเหล่านี้ ท่านประธานมีแนวทางอย่างไรในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องของกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ แล้วเราจะเดินหน้าอย่างไรเพื่อให้กฎหมายเหล่านี้ที่มีประโยชน์ได้เดินหน้าต่อ โดยที่ เป็นอำนาจของประชาชน โดยที่คณะรัฐมนตรีที่มาจากสภาชุดเราเป็นคนดำเนินการ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผมเข้าใจครับว่าขณะนี้ Whip ก็ยังไม่มี กลไกสภาก็ยังไม่ครบถ้วน แต่มีวิธีการครับ หากท่านประธานจะได้กรุณานัดประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเหมือนเวลาที่ ท่านประธานจะประชุมในเรื่องวาระและเอาเรื่องนี้หยิบยกมาเป็นเรื่องที่หารือกัน ผมมี ข้อเสนอ คือเราทำหนังสือโดยความเห็นชอบจากเพื่อนสมาชิกทุกพรรคการเมืองไปยัง คณะรัฐมนตรี ถ้าหากว่ามีความจำเป็นจริง ๆ อย่างที่ท่านประธานว่า กฎหมายกำหนดว่า เขาจะต้องเป็นคนยืนยันแทนเรา เราจะได้แจ้งเขาไปว่าอย่างน้อยก็ให้ยืนยันมาให้หมดดีกว่า ดีกว่าไปปัดกฎหมายที่เป็นประโยชน์ตก มันน่าจะมีทางออกที่เรามาหารือร่วมกันได้ในนาม ของตัวแทนพรรคที่มาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ อันนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีเพื่อที่ จะยืนยันว่ากฎหมายที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ยังอยู่ ก็เป็นห่วงกฎหมายทั้งเรื่องประมง ทั้งเรื่อง สมรสเท่าเทียม ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต่อเรื่องรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนสมาชิกมาชมท่านเยอะแล้วนะครับ ผมจะชี้ประเด็นที่ผมมองว่าเป็นปัญหาให้กับท่าน ผมเรียนครับ ผมก็ให้กำลังใจท่าน ในการทำงานในการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรมันมีความเชื่อมโยงกับหลายส่วนงาน ตัวสภาองค์กรคุ้มครองของผู้บริโภคเอง สคบ. เอง แล้วก็ไล่ไปถึงหน่วยงานที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ จะเป็นตำรวจ จะเป็นอะไร ซึ่งมันมีความเชื่อมโยงกันไปหมด เป็นเครือข่ายในการที่จะเข้ามา ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ ผมดูรายงานของท่าน สิ่งที่ท่านทำในประเด็นแรกเลยก็คือเรื่องของงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศ ซึ่งร่วมมือ ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศด้วย มีเครือข่ายอะไรต่าง ๆ ครอบคลุม มีข้อเสนอ ที่สำคัญ เช่น ข้อเสนอไปยัง กสทช. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องเสนอให้ไม่ควรให้มีการควบรวมธุรกิจ เช่น True DTAC มีข้อเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน ซึ่งเสนอให้มีมาตรการกำกับราคาน้ำมันที่เป็นธรรม จัดเก็บ ภาษีลาภลอย มีเรื่องของยุติการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เพื่อที่จะลด ราคาค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ผลักดันในเรื่องคิดค่าไฟแบบ Net Metering ข้อเสนอ ต่อ อย. ก็มีมาตรการกำกับในเรื่องของการห้ามใช้กัญชาในอาหาร ข้อเสนออื่น ๆ หลายอย่าง เรื่องรถยนต์ เรื่อง PM2.5 ข้อเสนอในเรื่องของตัวกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด ท่านครับ ข้อเสนอของท่านสะท้อนเสียงใกล้เคียงกับในสภาผู้แทนราษฎร ผมเองก็เคยพูดเกือบทุก ประเด็น เพื่อสมาชิกนั่งในนี้ทุกคนก็ได้ยินได้ฟัง ก็พูดกันใกล้เคียงท่าน แต่ท่านครับ ทั้งเรา และท่าน ท่านคิดไหมครับว่าข้อเสนอของท่าน ท่านเขียนมาในบทสรุปทั้งหมดไม่สำเร็จ สักเรื่อง ไม่ได้โทษท่านนะครับ ผมก็โทษตัวเองเหมือนกันเพราะผมก็พูดแล้วมันก็ไม่สำเร็จ มันเหมือนกับเราและท่านเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีอำนาจในการที่จะไปบังคับ ตัว พ.ร.บ. ของตัวสภาองค์กรคุ้มครองของผู้บริโภคเองมันไม่ได้ให้อำนาจท่านไว้ เขียนมาก็มี แต่ข้อเสนอ แต่ข้อเสนอทั้งหมดเมื่อผู้เป็นรัฐไม่รับฟังเราจึงเห็นเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น สิ่งนี้ มันเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งเราจะต้องไปหาวิธีการในการอุดช่องโหว่ ในส่วนของข้อเสนออื่น ๆ ที่มีความสำคัญที่ผมอยากจะยกประเด็นอีกสักประเด็นหนึ่งสั้น ๆ ข้อเสนอในเรื่องของ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกับกลุ่มปัญหาเฉพาะบางประเภท ท่านยกตัวอย่างมา ท่านไม่ได้เขียนชื่อบริษัทหรอก แต่ก็พูดได้ครับในสภา ไม่มีอะไร ก็เรื่องอย่าง Forex อย่างนี้ เป็นต้น เรื่องของตลาด Cryptocurrency เดี๋ยวนี้การที่เขาเอาเปรียบผู้บริโภคมันมากกว่า นั้นแล้ว มันไม่ได้เป็นรูปแบบสมัยก่อน ขายผงซักฟอกแล้วผงซักฟอกไม่เต็มกล่อง มันไม่ใช่ เรื่องว่าขายสินค้าแล้วเกินราคา หรือเอาของหมดอายุมาขาย เดี๋ยวนี้มันเลยไปแล้ว มันกลายเป็นตลาดซึ่งมีรูปแบบใหม่ เป็นตลาด Digital ซึ่งผมมีข้อสงสัยมากนะครับ ผมเข้าใจ ในความตั้งใจของท่าน ท่านมีบุคลากรที่มีความพร้อมจริงหรือไม่ในการที่จะเข้าไปกำกับ ดูแล ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องที่มันมีโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ อย่าว่าแต่ท่านเลยครับ ภาครัฐทั้งหมดผมว่าตามไม่ทันหรอกครับ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยน เร็วมาก เดี๋ยวนี้เขามี AI เขามีกลไกใหม่ ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เปลี่ยนทุกวัน บริษัทในเรื่อง ของ Cryptocurrency ที่มีปัญหาเปลี่ยนหน้าไม่ซ้ำวัน กลไกเหล่านี้ท่านจะต้องไปสร้างปีก ใหม่ในองค์กรของท่านในตัวสภาคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อที่จะมีความพร้อมในการรองรับกับ ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถรองรับกับปัญหาที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คงเป็นประเด็นที่อยากจะฝาก ผมอยากจะเรียนต่อท่านครับ ที่ใช้คำว่า เสือกระดาษ มันถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมาสังคายนากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง คณะกรรมการสภาเองด้วย สภาองค์กรของผู้บริโภคด้วย รวมถึง สคบ. ด้วย รวมถึง ฝ่ายกำกับติดตามอื่น ๆ ด้วย ที่จะมาบูรณาการมาหากลไกที่จะมีอำนาจจริง ๆ ในการที่จะ ป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อนเหมือนเช่นปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายเดี๋ยวนี้ มันไม่ใช่หลักพัน หลักหมื่น มันไปเป็นแสนล้าน เจอเรื่องของ Cryptocurrency เข้าไปทีเดียว เป็นหมื่นล้าน แสนล้าน เพราะฉะนั้นมันคือช่องโหว่ที่เราจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะฉะนั้น กลไกกฎหมายที่จะให้อำนาจกับท่านมันต้องรองรับ
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ท่านเขียนมาในรายงานของท่านในเรื่อง ของตัวเลขต่าง ๆ มีตัวเลขหนึ่งที่ผมดูแล้วผมก็สงสัย นั่นก็คือตัวเลขในเรื่องของ การดำเนินงานของท่าน ท่านใช้คำว่า การให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ มีการถูกละเมิดสิทธิแจ้งท่านมา ๑๔,๙๔๐ ราย
ประเด็นแรก จำนวนนี้ ไม่ใช่ตัวเลขจริงเด็ดขาดของผู้ที่ถูกละเมิด มันต่ำ เกินไปมาก เรารับทราบกันดี ท่านก็รู้ ผมก็รู้
ประเด็นที่ ๒ ท่านบอกว่าสามารถยุติปัญหาร้องเรียนได้ถึง ๑๓,๖๐๐ กว่าเรื่อง คิดเป็น ๙๒ เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ผมเห็นแล้วผมบอกว่าไม่จริง การยุติไม่ได้หมายความว่า เราสามารถให้ความช่วยเหลือกับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างสมบูรณ์ ดูง่าย ๆ เลย ท่านแจ้งตัวเลขนี้มาแล้วท่านก็มาสรุปติดท้ายว่ามีเงินของผู้บริโภคที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการชดเชยแล้ว ๒๐๐ กว่าล้านบาท ๒๐๐ กว่าล้านบาทนี้ห่างไกลกับมูลค่า ความเสียหายของพี่น้องประชาชนเป็นหมื่นเท่า หมายความว่ากลไกที่เรามีอยู่ยังไม่รองรับ เพียงพอ ผมพูดตัวเลขนี้ท่านก็รู้ว่าตัวเลขนี้มันไม่ใกล้เคียงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง หมายความว่าภาระหน้าที่ของท่านในการที่จะดำเนินการในอนาคตเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในกลไกที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนยังมีอีกมาก ผมก็ขอฝากท่าน ดำเนินงานต่อ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย เชียงใหม่ ขออนุญาตท่านผู้อภิปรายคนถัดไปนะครับ ด้วยความเคารพ ท่านประธานครับ ขณะนี้เวลา ๕ โมง ๒๐ นาที เราใช้เวลากับเรื่องนี้มา ๖ ชั่วโมงเศษ แต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แล้วก็เป็นรายงานปฏิรูปครั้งสุดท้าย ซึ่งพวกเราเอง ก็ให้ความสนใจ เพื่อนสมาชิกอภิปรายราว ๆ ๖๐ ท่าน เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์มาก ผมก็นั่งฟังโดยตลอด แต่ท่านประธานครับ มีคิววาระเรื่องรับทราบ ๔ หน่วยงาน ๒ หน่วยงานท้ายนี่เข้าใจว่าท่านประธานได้สั่งการให้เดินทางกลับแล้ว ซึ่งถูกต้องครับ เพราะว่าเราคงไม่สามารถเดินทางอภิปรายไปถึง ๒ เรื่องสุดท้ายได้ แต่เรื่องถัดไป คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ มีเพื่อนสมาชิกลงรายชื่อไว้ราว ๒๐-๓๐ ท่าน และอาจจะมีมาเพิ่มอีก ซึ่งเป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธานอยู่กับผมเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมา เราก็อภิปรายกันอย่างเข้มข้นโดยตลอด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยกรอบเวลา ถ้าดูแล้ววันนี้เราอภิปรายเรื่องนี้อีกราวครึ่งชั่วโมงถึง ๔๐ นาที ตอบกันอีก ๔๐ นาที ถามตอบอีกเกือบ ๑ ทุ่ม แล้วเราต้องเดินหน้าอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าจะเอาครบคน แล้วถามตอบนี่ผมว่า ๔ ทุ่มกว่าไม่จบนะครับ จะบริหารจัดการอย่างไร โดยที่เรา ไม่เสียโอกาสในการอภิปราย ผมเสนอต่อท่านประธานตรงนี้ว่าถ้าเราจะเดินหน้าจบเรื่องของ การปฏิรูปประเทศ เมื่อเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธานกำหนดกรอบครับ เพื่อนสมาชิก จะได้บริหารจัดการเรื่องเวลาและการเดินทางกันได้ ถ้าท่านประธานจะบอกว่าอภิปราย ยุทธศาสตร์ราว ๑๐-๑๕ ท่าน แล้วเราก็ไปต่อกันสัปดาห์ถัดไปจะเป็นประโยชน์ ถ้าท่านประธานจะกรุณามีกรอบให้พวกเราในการบริหารจัดการคิวทางตัวแทนแต่ละพรรค Whip ซึ่งยังไม่ได้เป็นทางการก็จะมาบริหารจัดการภายในเพื่อที่จะส่งชื่อให้ท่านประธาน แต่ว่าเรายังไม่จบนะครับ หมายความว่ายุทธศาสตร์นี่เราไปต่อกันในสัปดาห์ถัดไปถ้าจะเป็น ประโยชน์ครับ
ท่านประธานครับ
แก้ไขด้วย เพราะว่าเดี๋ยวเพื่อนสมาชิก จะเสียหายว่าไม่อยู่ในห้อง ท่านอภิปรายไปแล้ว ท่านประธานน่าจะเปิดผิดหน้า
ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับสถานบันเทิง จำนวน ๘ ท่าน ดังนี้ ๑. นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ๒. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๓. ว่าที่พันตรี สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม ๔. นายศรราม ภูมิไชย ๕. นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ๖. นายมานะ สิมมา ๗. ว่าที่ร้อยตรี ยงยุทธ ภูมิประเทศ และ ๘. พลตำรวจโท สำราญ นวลมา
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามของเพื่อนสมาชิก ที่ได้สอบถามเรื่องของกลไกในการชำระคืนกองทุนประกันวินาศภัยสำหรับกรณีเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นจากการที่มีการปล่อยในเรื่องของการประกัน COVID-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมต้องเรียนในภาพรวมก่อนนะครับ จริง ๆ แล้วกองทุนประกันวินาศภัยตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าข่ายที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และมีความจำเป็น จะต้องใช้เงินจากกองทุนไปชำระสินไหมทดแทนจำนวนทั้งสิ้น ๘ บริษัท มีเจ้าหนี้จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ กว่าคน มียอดวงเงินทั้งหมดราว ๕๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ในขณะนี้ถ้านับตั้งแต่ ปี ๒๕๖๔ มาถึงปัจจุบันเราพูดถึงกรณี ๔ บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีคำขอทั้งสิ้น อย่างที่ท่านได้เรียนนี่ตัวเลขใกล้เคียง ๖๘๐,๐๐๐ กว่าราย ดำเนินการพิจารณาคำขอไปแล้ว เพียงแค่ราว ๆ ๘๐,๐๐๐ รายเท่านั้น ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไปนะครับ ในขณะที่ยังมีคงเหลือ ราว ๖๐๐,๐๐๐ คน เป็นมูลหนี้ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอีกเกือบ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท อันนี้เป็นโครงในเบื้องต้นก่อนนะครับ ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ที่ผ่านมาในอดีตแหล่งรายได้ของกองทุนวินาศภัยที่ใช้สำหรับ ในการมาชำระคืนในกรณีนี้ได้มาจากในส่วนของตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยในอัตรา จัดเก็บสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยเพียงแค่ร้อยละ ๐.๒๕ เท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อมี เหตุการณ์ในช่วงโควิดมีการปรับตัวเลขนี้ขึ้นจาก ๐.๒๕ เป็น ๐.๕ นี่เป็นอัตราที่สูงสุดแล้ว ตามกฎหมายกำหนดที่เราจะสามารถกำหนดได้ผ่านกองทุน การนี้ทำให้มีรายรับผ่านเข้าสู่กองทุนนี้ ต่อเดือนในราว ๑,๒๐๐ ล้านบาท ๑,๒๐๐ ล้านบาทต่อเดือนนะครับ จะต้องมาชำระคืนยอดหนี้ ถ้าเกิดว่าผ่านการพิจารณาแล้วทั้งหมดราว ๕๐,๐๐๐ ราย ท่านลองคำนวณในใจคร่าว ๆ ก็ได้ว่า มันไม่ใช่ ๗ ปี มันยาวกว่านั้นอีก อันนี้เป็นประเด็นหลังจากที่เราได้รับตำแหน่งแล้วได้เข้าไปดู ในรายละเอียดแล้วเราก็เห็นถึงประเด็นปัญหาซึ่งมันควรจะต้องมีกลไกในการแก้ไข ขณะนี้ จากที่ได้รับทราบข้อมูลแล้วก็มีการพูดคุยกับทางกองทุนเอง มีกระบวนการในการพูดคุย เพิ่มเติมครับ เพราะเรารู้แล้วว่าด้วยกลไกของกฎหมายที่มันกำหนดเรื่องของเพดาน การจัดเก็บ แน่นอนว่าเพดานการจัดเก็บ ๕๐ สตางค์นี้ ถ้าเราจะขยายมีทางเดียวส่งเรื่อง เข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้วพวกเราในฐานะสมาชิกก็มานั่งแก้ไขกันปรับจาก ๐.๕ เป็น ๑ ก็ได้ เป็น ๒ ก็ได้ แต่ถามว่ามันจะเกิดความยุติธรรมกับสังคมหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมา นั่งคิดและพิจารณา เพราะคนที่จะต้องมาจ่ายคือบริษัทประกันที่อยู่ในกรอบ ไม่ได้กระทำ ความผิดใด ๆ ยังสามารถบริหารจัดการอยู่ภายใต้กรอบสิ่งที่เขาได้ดำเนินการอยู่ได้โดยปกติ ภาระก็จะถูกผลักไปยังพี่น้องประชาชนผู้เป็นผู้ซื้อประกัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกลไกในการปรับเพิ่มตัวเลขตรงนี้ยังเป็นปัญหา แต่อย่างไรก็ตามมีอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งทางกองทุนประกันวินาศภัยกำลังดำเนินการ นั่นก็คือขณะนี้เรากำลังหารือไปยังสำนัก งบประมาณเอง ทาง สบน. เองในการที่จะหากลไกตามช่องของกฎหมาย ซึ่งช่องของ กฎหมายนี่มันมีอยู่จุดหนึ่งคือมาตรา ๘๐ ของ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย เป็นเรื่องแหล่งที่มา รายได้ของกองทุน เราพูดถึงวรรคสิบเอ็ด ซึ่งวรรคสิบเอ็ดเป็นเรื่องของการที่จะได้รายรับ จากรัฐ เราก็มีการพูดคุยกันในส่วนนี้ว่าจะหากลไกอย่างไรเพื่อที่เป็นไปได้ไหมที่จะเอา งบประมาณของรัฐในการเป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะเข้ามาแบ่งเบาภาระของกองทุน เพราะกองทุนมีภาระหน้าที่จะต้องจ่ายให้กับผู้เอาประกันตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น นี่เป็นกลไกที่เรามองเอาไว้ และหวังว่าจะแก้ไขปัญหาที่ท่านได้มองว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ กลไกเหล่านี้มันกระชับขึ้นได้เร็วขึ้น
ประเด็นที่ ๒ ที่จะต้องนำเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก ท่านสมาชิกสอบถามว่าจะทำอย่างไรให้การชำระหนี้ของกองทุนให้มันได้เร็วขึ้น ต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ในประเด็นนี้อันแรกได้พูดไปแล้วก็คือเรื่องของการปรับเพิ่มตัวเลข ของการเก็บเข้ากองทุนนี้จาก ๒๕ สตางค์ เป็น ๕๐ สตางค์ ซึ่งมันเต็มเพดาน ประเด็นที่ ๒ ต้องเรียนอย่างนี้ครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงของ COVID-19 ที่ผ่านมามันเกิดความสับสน ขึ้นมาในสังคมพอสมควร กลไกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีการเรื่องการออกประกันลักษณะของ COVID-19 ขึ้นมา เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาจำนวนมหาศาลหลายช่องทาง สิ่งที่จำเป็นจะต้อง ทำคือความถูกต้องแม่นยำ ทางกองทุนใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากในการพิจารณา แล้วก็ ค้นพบว่ามันมีหลาย ๆ ประเด็นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้คำว่าการฉ้อฉลก็ได้ ในเรื่องของสินไหมทดแทน ในเรื่องของใบรับรองแพทย์ปลอมก็ตาม ในเรื่องของการพิสูจน์ การเจ็บป่วยก็ตาม มันเป็นประเด็นปัญหาซึ่งเนื่องจากกลไกนี้อย่างไรก็ตามเป็นกลไก ของงบประมาณรัฐ เป็นเงินของหลวง มีความจำเป็นที่ทางกองทุนเองจะต้องมีความรอบคอบ รัดกุมในการเข้าไปดูในรายละเอียดนะครับ
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาในการที่เกิดความช้าในการที่จะดำเนินการ ให้พี่น้องประชาชน ที่ท่านบอกว่าเหลือ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ดำเนินการมาได้คือเรื่องของ บุคลากรเองครับ ต้องยอมรับว่าตัวกองทุนประกันวินาศภัยไม่เคยวางแผนจะต้องรับมือ กับเหตุการณ์ลักษณะขนาดนี้ ขนาดความใหญ่โตของมูลหนี้มันใหญ่ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น บุคลากรต้องเรียนอย่างนี้ครับ ปี ๒๕๖๓ ทั้งหน่วยงานมีคน ๓๓ คน แต่ผมก็ได้รับทราบจากการรายงานของหน่วยงานว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วเขาก็รับทราบถึงคอขวดที่เกิดขึ้นของเรื่องบุคลากร สิ่งที่ได้ทำ ก็คือการเพิ่มบุคลากรตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ เป็นต้นมา เพิ่มจาก ๓๓ คน เป็น ๑๓๔ คน เป็น ๒๐๐ กว่าคน สุดท้ายมาอยู่ที่ ๒๐๐ กว่าคน เป็นจำนวน ที่เริ่มจะเพียงพอกับการรองรับกับการที่จะต้องไปพิสูจน์เรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าเป็นไปตามกลไกของกฎหมายทุกประการ นอกจากนั้นกองทุนประกันวินาศภัย ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นของ RT-PCR กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เหล่านี้ทำให้ กองทุนประกันวินาศภัยสามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้รวดเร็วขึ้น
ในประเด็นสุดท้ายเราได้พยายามแล้วเราก็ได้ทำแล้ว ก็คือการปรับเพิ่ม เงินสมทบกองทุนที่ได้เรียนไปแล้วจาก ๒๕ สตางค์ เป็น ๕๐ สตางค์ ซึ่งขณะนี้ทำให้มีรายรับ ต่อเดือน ๑,๒๐๐ ล้านบาทอย่างที่ได้เรียนไปในเบื้องต้น ก็เป็นเรื่องซึ่งเราได้ดำเนินการมา และยังมีภาระหน้าที่ต้องดำเนินต่อไปนะครับ ก็ตอบคำถามแรกของท่านสมาชิกครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต่อข้อซักถามข้อ ๒ ของเพื่อนสมาชิกถามถึงเรื่องของความรับผิดของบริษัทประกันวินาศภัย ทั้ง ๔ แห่งซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า
ประเด็นแรก ในกรณีของ ๔ บริษัททาง คปภ. ได้ส่งมอบหลักทรัพย์ประกัน แล้วก็เงินสำรองของบริษัทประกันภัยทั้ง ๔ บริษัทที่วางไว้กับสำนักงาน คปภ. ให้กับกองทุน ประกันวินาศภัยเป็นที่เรียบร้อย อันนี้เป็นสิ่งแรกที่เราได้ดำเนินการ ทรัพย์สินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่นะครับ อยู่ระหว่างการรวบรวมทางกฎหมาย เพื่อชำระให้กับเจ้าหนี้ต่อไป Timeline ที่น่าจะต้องเกิดขึ้นตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับ สินทรัพย์ส่วนที่เหลือนี้ไม่น่าจะเกินไปกว่า ๒ ปี อันนี้เป็นสิ่งซึ่งทางหน่วยงานได้ให้คำชี้แจงมา สำหรับกรณีการรับผิดทางกฎหมายของผู้ถือหุ้น กรรมการผู้บริหารของทั้ง ๔ บริษัท ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ตามกฎหมายแรกก่อน คือกฎหมายบริษัทจำกัด (มหาชน) บริษัทประกันทั้ง ๔ บริษัทเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ตามข้อกฎหมายแล้วความรับผิด ของผู้ถือหุ้นไม่เกินกว่าจำนวนค่าหุ้นที่ต้องชำระ
ประเด็นที่ ๒ กรณีกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทก็ตาม ไม่มีบทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติเรื่องของประกันวินาศภัยให้มีส่วนร่วมในการรับผิดกับบริษัทที่ถูกเพิกถอน ใบอนุญาต มาตอบนี่ผมก็ตอบด้วยความช้ำนะครับ แต่มันเป็นกฎหมายที่กำหนดไว้เช่นนั้น จริง ๆ อันนี้เป็นกฎหมายที่มีมาก่อนพวกเราที่อยู่ในสภาแห่งนี้จะเข้ามา มันเป็นกฎหมายที่มี และดำเนินการอยู่ อย่างไรดีเราเห็นประเด็นปัญหาเหล่านี้นะครับ สิ่งที่เราได้ดำเนินการแน่นอนว่าเมื่อดู ข้อกฎหมายแล้วทางแพ่งไม่สามารถเดินหน้าได้ แต่ทางอาญาเองนะครับ ทางสำนักงาน คปภ. ได้แจ้งความด้านอาญากับผู้บริหารแล้วก็กรรมการทุกราย ทุกบริษัท เหล่านี้จะต้อง รอตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งก็คงใช้เวลาพอสมควรเพื่อที่จะได้ความกระจ่างแจ้ง ในที่สุด และหากมีความผิดจริงก็จะได้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับ ตัวกฎหมายเองนั้น หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วได้มีข้อเสนอจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง เพื่อให้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียด เช่น
ประเด็นแรก การกำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการบริษัท ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ห้ามคนที่เคยบริหารจัดการในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นแล้วเคยไป บริหารจัดการในบริษัทซึ่งเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเข้ามาเป็นกรรมการบริหารอีก
ประเด็นที่ ๒ ผู้ที่เป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารต้องได้รับ ความเห็นชอบจากนายทะเบียน เพื่อที่จะยืนยันได้ว่าเราต้องตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบ คุณสมบัติของบุคคลเหล่านั้นอย่างเข้มงวดก่อนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ประกันในอนาคต มีการกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดของกรรมการ เช่นกำหนดการดำเนินการ ของกิจการของบริษัท กรรมการต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังผลประโยชน์ ของเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยหรือประชาชนก็ตาม
ข้อสุดท้าย กำหนดให้บริษัทจัดตั้งกรรมการบริษัทชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารจัดการที่ดี Good Governance คือมีการกำหนดในข้อกฎหมายที่จะแก้ไข ให้มีการตั้งกรรมการในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราเชื่อว่า เป็นกลไกหนึ่งที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดซ้ำ ขึ้นอีก เป็นการป้องกันแล้วก็เขียนให้มีความรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะการหากลไกที่จะไป ตามเอาตัวผู้กระทำผิดและก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศนะครับ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตอนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรอความเห็นชอบต่อไป หากผ่านคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบก็จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ก็จะถึงมือของเพื่อนสมาชิกทุกท่านในการที่จะ พิจารณารายละเอียดเพื่อที่จะแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดความรอบคอบรัดกุม และเป็นประโยชน์ต่อไป ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงรายชื่อของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี คือนายนันพง ศรียานงค์ เปลี่ยนเป็น นายสรพงค์ ศรียานงค์
ท่านประธานครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับแจ้งว่า ท่านนายกรัฐมนตรีกำลังเดินทางมาถึงแล้วครับ อย่างที่ได้เรียนครับ เพราะว่าเรื่องของ กระทู้ถาม แต่ละท่านก็มีภารกิจแล้วก็ได้มาตามเวลาที่นัดหมาย เมื่อสักครู่เมื่อเพื่อนสมาชิก ไม่ได้ถามกระทู้ถามทำให้เวลามันร่นเข้า แต่ท่านกำลังเดินทางมาถึง ขออนุญาตท่านประธาน ได้โปรดรอสักครู่ครับ
ท่านประธานครับ จุลพันธ์ครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็เรียนด้วยความเคารพครับ สิ่งที่ทางคณะรัฐมนตรีดำเนินการนี่อย่างที่ท่านทวี สอดส่อง ได้เรียน คณะรัฐมนตรีเป็นองค์คณะ ในการที่มอบหมายใครมาตอบแทนเป็นการตอบแทน องค์คณะรัฐมนตรีทั้งหมด มีผลผูกพัน เพราะฉะนั้นเมื่อได้มอบหมายมาแล้วก็เป็นไปตาม ระเบียบข้อบังคับทุกประการ ในประเด็นแรก
ประเด็นที่ ๒ ครับ อยากจะให้เห็นใจกับทางท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีนี่นะครับ เราอยู่ในสภาด้วยกันมาในสมัยก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยมีโอกาส ได้ถามตอบกระทู้ถามกันนัก วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาถึงสภาผู้แทนราษฎร เตรียมที่จะตอบกระทู้ถาม อย่างไรก็ตามผมเรียนอย่างนี้ครับ ท่านพยายามที่จะชี้ว่า เวลาถามแล้วนี่ต้องให้ตัวบุคคลที่ถูกถามมาตอบทั้งหมด อันนี้ผมเข้าใจ ผมก็เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมอยากจะเรียนต่อท่านประธานว่ากระบวนการถามนี่ท่านลองดู คำถามสิครับ กระทู้ถามมี ๗-๘ กระทู้ กระทู้ถามทั่วไป ๕ กระทู้ ถามสดด้วยวาจา ๓ กระทู้ ถามนายกรัฐมนตรีไป ๗ กระทู้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วบางหน่วยงานนี้มันเป็นเรื่องที่จำเป็น จะต้องมอบหมายเพราะว่าแต่ละคนก็จะมีภาระหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกัน ถ้าท่านจะ กรุณาในอนาคตในภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงใดท่านก็ถามไปที่นั่นตรง ๆ นะครับ ผมว่าจะเป็นประโยชน์กับการที่ทางคณะรัฐมนตรีจะเข้ามาตอบ ไม่ใช่ว่าถามไปลงไว้ที่ ท่านนายกรัฐมนตรีหมดแล้วรอให้มอบหมายอย่างนี้ พอมอบหมายมาก็เป็นปัญหา ก็ขอความกรุณาทั้ง ๒ ฝ่ายครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขออนุญาตตอบคำถามผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกในประเด็นเรื่องของแนวทาง การยกเลิกภาษี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี VAT ภาษีศุลกากรก็ตาม ในคำถามแรกเป็นคำถาม ที่เกี่ยวกับเรื่องของภาษีการนำเข้าซึ่งเป็นเรื่องของศุลกากร ผมขออนุญาตตอบคำถาม ดังนี้ครับ
ในโครงสร้างเบื้องต้นก่อนนะครับ ต้องยอมรับว่าตัวผ้าอนามัยไม่ว่าจะเป็น แบบสอดหรือว่าเป็นแบบธรรมดา มันถูกกำหนดโดย พ.ร.บ. ซึ่งก็คือ พ.ร.บ. เครื่องสำอางจริง ๆ พ.ร.บ. นี้เป็น พ.ร.บ. ที่ค่อนข้างมีอายุยาวครับ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ก็เลยถูกจัดอยู่ ในหมวดหมู่เช่นนั้น ซึ่งก็คงเป็นภาระของทางสภาในการพิจารณาเพื่อที่จะแก้ไข ทาง ครม. ก็จะรับเรื่องไปเช่นเดียวกันในการที่จะไปดูว่ากฎหมายฉบับใดมีความล้าหลัง และมีความจำเป็น จะต้องแก้ในประเด็นใดเพื่อให้มันมีความทันสมัยและเหมาะสม เพราะว่าเรื่องของผ้าอนามัย เป็นความจำเป็นของชีวิต มันไม่ใช่ทางเลือก มันไม่ใช่ตัวเลือกที่เราจะใช้หรือไม่ใช้ อันนี้ ผมเข้าใจได้ดีนะครับ แต่อย่างไรก็ตามด้วย พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผ้าอนามัยไม่ได้อยู่ในหมวดที่เป็น สินค้าฟุ่มเฟือยครับ ไม่เหมือนกับเครื่องสำอางอื่น ๆ แต่เป็นหมวดสินค้าซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นความจำเป็นนะครับ โดยปกติในหมวดฟุ่มเฟือยอาจจะมีการเก็บภาษีได้สูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ของผ้าอนามัยเองเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรเพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นอัตราสูงสุด สำหรับอนามัยนะครับ แล้วอย่างไรก็ตามเป็นสินค้าซึ่งมีการควบคุมโดยคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นสินค้าควบคุมอีกต่างหากนะครับ อย่างไรก็ตามเรื่องของ การเก็บภาษีศุลกากรผมเรียนอย่างนี้ครับ สินค้าผ้าอนามัยอยู่ภายใต้พิกัดซึ่งเรียกว่า ๙๖.๑๙ นะครับ อันนี้เป็นข้อมูลที่ทางกรมให้มานะครับ มีแบบสอดและแบบธรรมดา มีอัตราอากรขาเข้าทั่วไปอย่างที่ได้เรียนไว้ก็คือ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในข้อเท็จจริงนั้น สินค้านำเข้าในประเภทนี้จำนวนมากอยู่ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของ ATIGA เอง ความตกลง ASEAN นะครับ ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น ความตกลงอาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย อาเซียน-นิวซีแลนด์ ความตกลงไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ไทย-ชิลี ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ เหล่านี้ล้วนได้รับการยกเว้นอากรทั้งสิ้น บางกรอบยังคงมีอัตราอยู่ เช่น ความตกลงอาเซียน-อินเดียก็เก็บที่อัตราร้อยละ ๕ อันนี้ มันเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างทวิภาคีและพหุภาคีที่เรามีในรูปแบบต่าง ๆ
มูลค่าการนำเข้า ผมต้องเรียนด้วยความเคารพ มูลค่าการนำเข้าของตลาด เรื่องของผ้าอนามัยไม่สูงนะครับ ในปี ๒๕๖๑ อยู่ที่ ๑๐๑ ล้านบาท ปี ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๙๓ ล้านบาท ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ อยู่ที่ ๖๘ ล้านบาท ๖๘ ล้านบาท และ ๗๗ ล้านบาทตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดของผ้าอนามัยภายในประเทศ ๖,๐๐๐ ล้านบาท คือมูลค่าตลาดของสินค้าผ้าอนามัยทั้งหมดทุกประเภท มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยประมาณ ๘๐ ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นมูลค่านำเข้าที่ต้องชำระอากร คืออยู่นอกเหนือจากข้อตกลง ระหว่างประเทศที่ผมได้เรียนไปในประเภทต่าง ๆ นี้นะครับ มีมูลค่าที่ต้องชำระอากรจริง ๆ เพียงแค่ ๑๗ ล้านบาท เป็นอากรขาเข้าที่จัดเก็บจริงปีหนึ่งราว ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาทโดยเฉลี่ย ก็เรียกได้ว่าผลกระทบในเรื่องของการนำเข้านั้นมีค่อนข้างน้อย ในเรื่องของภาษีศุลกากร ไม่ได้มีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ อันนี้เป็นคำตอบสำหรับ คำถามแรกของท่านนะครับ ส่วนกรณีในการที่จะปรับลดองค์กรต่าง ๆ นั้นเรากำลังมีการเจรจา เรื่องของ FTA เพิ่มเติมเพื่อที่จะหารายละเอียด ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงอื่นนะครับ ด้วยความเคารพ เป็นเรื่องของทางกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เองที่จะต้อง ไปดำเนินการเจรจาในการที่จะปรับลดเรื่องของภาษีอากรขาเข้าในประเภทอื่น ๆ ในประเภท ของผ้าอนามัยในกลุ่มข้อตกลงใหม่ ๆ ข้อตกลงอื่น ๆ เพิ่มเติมนะครับ เป็นคำตอบสำหรับ คำถามแรกของท่านครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบประเด็นที่ ๒ เป็นหลายคำถามที่อยู่ในคำถามเดียว ผมจะขออนุญาตตอบอย่างนี้ครับ
ในส่วนแรกท่านได้สอบถามถึงเรื่องของการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ คือ VAT สำหรับเรื่องของสินค้าผ้าอนามัย ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ได้มีการสั่งการไปยัง ท่านอธิบดีกรมสรรพากรในการที่จะไปศึกษา หาข้อมูลไปแล้วนะครับ ท่านกำลังดำเนินการ ศึกษาอยู่ ซึ่งจากการรายงานในเบื้องต้นอย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่าตลาดผ้าอนามัยในประเทศไทย ทุกประเภทอยู่ในราว ๆ ๖,๐๐๐ ล้านบาท ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐก็ราว ๔๐๐ กว่าล้านบาท ๔๐๐ ต้น ๆ ซึ่งสำหรับภาครัฐเองไม่ได้เป็นภาระที่จะเป็นปัญหาในการที่จะพลาดเป้า ในการจัดเก็บรายได้มาบริหารจัดการอื่นใด เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างรับได้ เป็นตัวเลขที่สามารถ บริหารจัดการได้ แต่อย่างไรก็ตามกลไกต่อไป ก็คือต้องรอให้การทำการศึกษาของทางกรมสรรพากรได้เรียบร้อย ส่งมาที่ทางผม แล้วผมจะได้ส่งท่านรัฐมนตรี แล้วก็ไปที่คณะรัฐมนตรีต่อไปในการพิจารณาว่า จะดำเนินการในการงดเว้นภาษีในกลุ่มประเภทนี้ได้หรือไม่ เพราะว่าทุกคนเห็นตรงกัน ถ้าเพื่อนสมาชิกจะจำได้ในช่วงเมื่อประมาณปีก่อนหน้าที่พรรคการเมืองที่ผมสังกัดก็มีการจัด นิทรรศการในเรื่องของการพูดถึงการลดภาษี เรื่องของการแจกผ้าอนามัยเช่นเดียวกัน แนวความคิดเหล่านี้เป็นแนวความคิดซึ่งมีความเป็นปัจจุบันไม่ได้ล้ำสมัยอะไร เป็นปัจจุบัน หมายความว่าหลายพรรคการเมือง ผู้คนในสังคมมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างตรงกันในเรื่องของ ความจำเป็นในเรื่องของผ้าอนามัย เรากำลังทำการศึกษาอยู่และจะนำคำตอบมาให้กับท่าน ในความคืบหน้าต่อไป
ส่วนคำถามที่ ๒ อันนี้อาจจะออกนอกกรอบภารกิจหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แต่ผมก็จะตอบให้เพราะว่าได้มีการพูดคุยกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีแนวความคิดนี้กำลังพูดคุย เพราะว่ากลไกที่จะต้องเกิดขึ้นนอกจากกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังดูได้เพียงแค่ปีกของเรื่องภาษี ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถที่จะดำเนินการ ในการปรับลดภาษีได้ ก็ยังไม่ได้ Guarantee สำหรับการเข้าถึงสินค้าจำเป็น เช่น ผ้าอนามัย ให้กับสตรีทุกคน อันนี้ต้องยอมรับในข้อเท็จจริง การลดภาษีก็ลดได้ VAT ๗ เปอร์เซ็นต์ แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นที่ต้องแบกรับก็ยังคงอยู่ กลไกต่อไปคือต้องไปทำการศึกษา หาความเหมาะสมในกลไกที่ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ ไปรองรับในเรื่องนี้ หากภาครัฐ สามารถปรับแก้ในเรื่องของความจำเป็น ดึงออกมาจาก พ.ร.บ. เช่นเรื่องของความเป็น เครื่องสำอางได้ และปรับมันเข้าไปอยู่ในเรื่องของความจำเป็นของชีวิต ของพี่น้องที่เป็นผู้หญิง เราก็คงจะสามารถเดินหน้าในกลไกที่จะดำเนินการ ในการที่จะมีสวัสดิการสำหรับสตรีทุกคนได้ ในเรื่องของผ้าอนามัยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หมายเลข ๖๐ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลข ๖๐ เห็นชอบครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... สัดส่วน ครม. ๖ ท่าน ๑. นางสาวปรียาพร สุวรรณเกษ ๒. นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ๓. นายวิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ ๔. นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ ๕. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ ๖. นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ คือเป็นการตรวจสอบองค์ประชุมโดยที่พวกเราก็ไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัวกันครับ มีเพื่อนกำลังเดิน มาจากห้องประชุมแล้วก็ห้องพักผ่อนที่เตรียมการอภิปรายกันอยู่ เพราะว่ามีเพื่อนเตรียม ลงชื่ออภิปรายเรื่องของปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ของพรรคเพื่อไทยมีเพิ่มเติมราว ๔๐-๕๐ คน ก็อยู่ในห้องเตรียมการอภิปรายกันอยู่ ขอท่านประธานใช้เวลารอสักครู่ น่าจะกำลังทยอยมา ก็ขอความกรุณาท่านประธานนะครับ แล้วก็ขอความกรุณาผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิกที่ตรวจสอบองค์ประชุมครับ อันนี้มันเป็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกร เราเข้าใจ ว่าเมื่อวานมันมีปัญหากันเพราะเนื่องด้วยเรายังไม่มี Whip เป็นทางการ ทั้ง Whip รัฐบาล และ Whip ฝ่ายค้าน ทำให้การเจรจาต่อรองในเรื่องของญัตติต่าง ๆ มันมีปัญหาบ้าง
ก็ขอความกรุณาเพื่อนสมาชิกนะครับ ถ้าเกิดว่าเราอยากจะให้การประชุมวันนี้ราบรื่น เราก็เดินหน้าก่อน ให้มีการอภิปรายจนจบ เพราะเป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนเขารอ
การจะประท้วงต้องยกมือขึ้นครับ
ท่านประธานครับ ผมประท้วง ท่านประธานตามข้อ ๕ ครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอบพระคุณท่านลิณธิภรณ์ที่ได้สอบถามในประเด็นที่มีความสำคัญ แล้วก็ปัจจุบันทันด่วน เพราะว่าท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน เอง ได้เพิ่งแถลงในเรื่องของการเดินหน้า การแก้ไขหนี้สินทั้งระบบไปเมื่อ ๒ วันที่แล้ว ซึ่งได้นำเสนอต่อสังคม ต่อพี่น้องประชาชน แล้วก็ทางสมาชิกทุกท่านด้วย ในการแถลงในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้ให้ครบวงจร เพราะว่าตั้งแต่วันแรกที่เราเดินเข้าสู่การเป็นรัฐบาล ปัญหาเรื่องของหนี้สินเป็นปัญหา ซึ่งคาราคาซัง แล้วก็กดทับกับพี่น้องประชาชนอย่างหนัก สถานการณ์ของประเทศไทย ในตอนนี้ ภาครัฐเองตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ในส่วนของหนี้ ภาคครัวเรือนมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยที่พี่น้อง ประชาชนไม่มีกลไกในการที่จะหารายได้ใหม่ ๆ ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะหารายได้ เพื่อมา ชดเชยชดใช้กับภาระหนี้สินที่ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ แน่นอนครับว่าของรัฐบาล ส่วนหนึ่งในการที่เราจะต้องเดินหน้าหากลไกที่จะรองรับในการที่จะปรับลดภาระหนี้สินส่วนนี้ และสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะนำไปลดภาระค่าครองชีพ ลดภาระ ในเรื่องของหนี้สินของตนเอง
ประเด็นแรกผมต้องเรียนต่อท่านผู้ถามดอกเตอร์หญิงนะครับ ต้องเรียน อย่างนี้ครับว่าสำหรับมุมมองของรัฐบาลการมีหนี้มันไม่ใช่ผิดบาปนะครับ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งต้อง ยืนยันให้ตรงกันก่อน หากประเทศใดก็ตามไม่มีกลไกเครื่องมือในการก่อหนี้ ในการที่จะ นำหนี้มาประกอบอาชีพ นำหนี้มาสร้างรายได้ใหม่ ๆ ประเทศนั้นไม่มีโอกาสที่จะเจริญ รุดหน้า แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่จะเพียงพอรองรับกับพี่น้องประชาชน ภายในประเทศ เพียงแต่ว่าหนี้ที่มีนั้นก็คือควรจะต้องอยู่ในระบบ อยู่ในกติกาที่เป็นธรรม และอยู่ในระดับที่พี่น้องประชาชนจะสามารถสร้างรายได้ เพื่อที่จะบริหารจัดการกับชีวิต ตัวเองได้ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งทางรัฐบาลต้องเรียนแจ้งต่อท่านสมาชิก แล้วก็พี่น้องประชาชน ทุกคน คำถามของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าด้วยคำถามเองมีอยู่ ๓ คำถาม ๒ คำถามแรกค่อนข้างมีความเกี่ยวเนื่องกัน ในเรื่องของการที่ว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะยืนยันว่าลูกหนี้กับเจ้าหนี้มาแจ้งกับทางอำเภอแล้ว จะสามารถเดินหน้าภารกิจ ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ คำถามที่ ๒ ก็คือจะจูงใจอย่างไรเพื่อให้เขาเข้ามา แล้วดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ในเบื้องต้นเลยช่องทางที่ ท่านสมาชิกได้เรียนต่อท่านประธาน อันนี้ถูกต้องแล้วครับ มีอยู่ราว ๕ ช่องทาง ช่องทางที่ ๑ ก็คือการไปแจ้งในเรื่องของหนี้นอกระบบ ผ่านทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ หรือสายด่วน ๑๕๙๙ ช่องทางที่ ๒ คือผ่านศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือการโทรสายด่วน ๑๕๖๗ อันนี้ฝากบอกพี่น้องประชาชนด้วยครับ ช่องทางที่ ๓ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีหรือสายด่วน ๑๑๑๑ ช่องทางที่ ๔ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง ด้วยเลขหมายสายด่วน ๑๓๕๙ และช่องทางสุดท้ายผ่านทาง Web Site www.debt.dopa.go.th ซึ่งเป็น Website ของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ กลไกนี้เราได้ สร้างระบบ เพื่อที่จะรองรับในเรื่องของการแจ้งหนี้นอกระบบเหล่านี้กับภาครัฐ โดยพี่น้อง ประชาชนทุกคนที่แจ้งท่านจะได้รับสิ่งที่เรียกว่า Tracking Number เป็นเลขหมายทะเบียน ติดตาม เพราะว่าเมื่อแจ้งมาแล้วเราจะต้องเอายอดการแจ้งทั้งหมดมากระทบยอด และไม่ให้ เกิดการทับซ้อน และที่สำคัญพี่น้องประชาชนผู้เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบจะสามารถ ติดตามในเรื่องปัญหาของท่านได้อย่างตลอดครบวงจร ตั้งแต่ต้นจนแก้ไขปัญหาเสร็จ เรียบร้อย กระบวนการที่เราทำในเบื้องต้นเลยอยู่ที่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้เป็นหนี้นอก ระบบที่จะต้องแจ้งเข้ามายังศูนย์แจ้งต่าง ๆ เมื่อแจ้งมาแล้วเป็นระบบ ในเบื้องต้นเขาเรียกว่า ระบบสมัครใจ หมายความว่า ๑. ผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้ต้องมีความสมัครใจจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของตน ๒. เมื่อแจ้งมาแล้ว เราจะทำการติดต่อไปยังเจ้าหนี้นอกระบบต่าง ๆ เพื่อให้เข้ามาและ มาพูดคุยทำความเข้าใจ ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นพวกเราที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรารู้ ปัญหาดีครับว่า วันนี้หลาย ๆ คนโดนหนี้ในระดับที่ไม่สามารถที่จะหารายได้มาได้ทัน ดอกร้อยละ ๒๐ เราก็เคยได้ยิน ดอกเบี้ยแค่ ๒ เดือน สามารถมาทบต้นได้ เหตุการณ์เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นมาเป็นประจำ มีการติดตามทวงหนี้ด้วยความรุนแรง มีการติดตามทวงหนี้โดยการ โทรหาบุคคลรอบตัว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นจนกระทั่งเราอยู่กับมันจนเป็นความคุ้นชิน ซึ่งเป็นความคุ้นชินที่รัฐบาลรับไม่ได้ครับ วันนี้เราจะต้องมาแก้ไขปัญหานี้ให้มันเป็นรูปธรรม กลไกที่จะเกิดก็คือเมื่อโทรเข้ามาแล้วผู้ที่จะดำเนินการคือฝ่ายปกครอง นั่นก็คือทางอำเภอเอง หรือทางตำรวจจะต้องเป็นผู้ที่จะนัดหมายทั้ง ๒ ฝ่าย มาเจรจาไกล่เกลี่ย โดยใช้หลักการ ทางเศรษฐศาสตร์ หมายความว่าอะไร เราจะนำตัวเลขยอดหนี้ เราจะนำตัวเลขการชำระคืน ที่ผ่านมาทั้งหมด เราจะดูตัวเลขในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้มันอยู่ในกรอบของกฎหมาย ที่เป็นธรรม หากลูกหนี้เดินเข้ามาพร้อมเจ้าหนี้แล้ว เราตรวจสอบแล้วว่าสิ่งที่ท่านได้ชำระ ผ่านมา ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมดท่านอาจจะเป็นหนี้มา ๒ ปี ๓ ปี ที่ชำระผ่านมามีแต่ดอกเบี้ย แต่ยอดมันเกินกว่าเงินต้นแล้ว และชำระจนถึงจุดที่คุ้มค่ากับเงินต้นที่เจ้าหนี้นอกระบบ ได้ให้ยืมมาในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เราก็จะมีการเจรจาพูดคุยเพื่อที่จะยุติปัญหา ยุติยอดหนี้นี้ทั้งหมด สิ่งซึ่งจะจูงใจพี่น้องประชาชนให้เข้ามาแจ้ง ในเบื้องต้นอย่างที่ ท่านสมาชิกได้เรียน อันนี้เป็นข้อเท็จจริงผมก็ยอมรับครับ ทางรัฐบาลเองก็รับทราบและเรา ก็คาดหมายอยู่แล้วว่าในช่วงต้นของการดำเนินการ ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เราจะต้องเจอปัญหา นั่นก็คือพี่น้องประชาชนจะลังเล จะไม่กล้า จะเป็นห่วงในเรื่องของ สวัสดิภาพของชีวิตความเป็นอยู่ก่อนที่จะเข้ามาแจ้งกับทางศูนย์ต่าง ๆ ที่เราได้กำหนดขึ้น ยอดตัวเลขที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดหนี้ ซึ่งยังอยู่ในระดับพันล้าน หลายพันล้าน ไม่ว่าจะเป็นยอดของผู้แจ้งซึ่งอยู่ในระดับหลายหมื่นล้านก็ตาม เป็นตัวเลข ซึ่งต่ำกว่าที่เราคาดหมาย และต่ำกว่าตัวเลขจริงอยู่จำนวนมาก ในขณะนี้พี่น้องประชาชน กำลังเริ่มที่จะทยอยตัดสินใจว่าจะเข้ามาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ต่าง ๆ ที่เราได้กำหนด ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้หรือไม่อย่างไร ต้องยอมรับครับว่าเราเพิ่งเริ่มมา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคมที่ผ่านมาเพียงแค่ ๑๐ กว่าวัน พี่น้องประชาชนก็ยังต้องการความชัดเจน จากรัฐบาล สิ่งที่เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การจริงจังและจริงใจในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งกลไกที่ภาครัฐ โดยรัฐบาลจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น จะเป็นตัวยืนยันกับพี่น้อง ประชาชน ในอดีตที่ผ่านมาเราเคยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงอยู่ในช่วงปี ๒๕๔๐ กว่า ในช่วงของรัฐบาลท่านทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นเราได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยกลไกใกล้เคียงกันครับ วันนั้น ใช้ฝ่ายปกครองก็คืออำเภอ ใช้ตำรวจ แล้วก็เติมในส่วนของฝ่ายความมั่นคงคือกลุ่มทหารด้วย ทั้งหมดนี้เข้ามาร่วมกันในการเจรจากับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ผม ก็จะเรียนแจ้งต่อท่านสมาชิกว่าในช่วงต้นนั้นเราก็ประสบปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือพี่น้อง ประชาชนลังเลว่ารัฐบาลเอาจริงหรือไม่ ว่าฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจจะสามารถคุ้มครอง ความปลอดภัยให้เขาได้หรือไม่ แต่ด้วยสัญญาณที่ชัดเจนของรัฐบาล และด้วยความจริงใจ ที่เราจะเดินหน้า ผมเชื่อว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้นะครับ เราก็เชื่อว่าในที่สุดพี่น้อง ประชาชนซึ่งเป็นหนี้นอกระบบจะไหลเข้ามาสู่ภาครัฐ เพื่อที่จะหาหนทางแก้ไข
ในส่วนของเจ้าหนี้เองผมต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า สิ่งที่ท่านได้ดำเนินการ ในส่วนของเจ้าหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะการเก็บอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความผิดทางอาญานะครับ หมายความว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการเมื่อเรา รู้ตัวแล้ว เรารู้จุดแล้ว เราต้องการแก้ไขปัญหาด้วยความละมุนละม่อม ก็คือเชิญมาพูดคุย เพื่อหาความตกลงร่วมกัน หากตัวเลขที่ลูกหนี้ของท่านได้ชำระคืนท่าน มันเป็นตัวเลข ที่เหมาะสมแล้ว เราก็ควรจะต้องยุติยกเลิกกันไป ในขณะเดียวกันถ้าตัวเลขที่ลูกหนี้ของท่านชำระคืนท่าน ยังไม่ถึงจุดที่จะเป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เรื่องของ ผลตอบแทนต่าง ๆ เราก็ควรจะต้องมานั่งโต๊ะ แล้วก็มาเจรจาจัดสรรโครงสร้างเรื่องของการ ชำระเสียใหม่ เพื่อให้มันเป็นไปตามในกรอบของกฎหมายนะครับ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งเราพยายาม ที่จะดำเนินการ แล้วเราเชื่อว่าด้วยกลไกของรัฐเราสามารถที่จะพูดคุยทำความเข้าใจ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีการใช้คำว่า ลองของ ก็ได้นะครับ มีเจ้าหนี้บางรายไม่ยอมรับ ต่อกระบวนการเจรจา สุดท้ายสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือกระบวนการที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ ตามกฎหมายเพื่อเอาผิดกับกระบวนการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด การทวงถามที่ขัดต่อกฎ ต่อกฎหมาย ต่อระเบียบที่มีความเหมาะสม มีการลองของที่ว่า ก็คือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนที่มีเจ้าหนี้ไปทวงถาม แล้วก็มีลูกหนี้ไปแจ้งต่อ ศูนย์ดำรงธรรม สุดท้ายมีการใช้กำลังเข้าไปข่มขู่คุกคาม วันนี้ถูกภาครัฐดำเนินการ ตามกฎหมายเรียบร้อย เพราะฉะนั้นวิธีการที่เราจะแก้ไขในเรื่องของหนี้นอกระบบนี้ ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางที่มีความเหมาะสม และเราจะสามารถดึงเอาหนี้นอกระบบเหล่านี้ กลับเข้าสู่ระบบ เพื่อที่จะแก้ไขให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้สำเร็จนะครับ
แน่นอนครับว่ากลไกการแก้ไข อย่างแรกก็คือการเจรจา อย่างที่ ๒ ภาครัฐเอง เรามีเครื่องมือกลไก โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่าง เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีความพร้อมในการที่จะเข้าไปรองรับ ในเรื่องของยอดหนี้ที่มีอยู่ หากเจรจากันแล้วลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้ โยกเอา ภาระหนี้สินเข้ามาสู่สถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นภาครัฐกำกับเอง หรือจะเป็นธนาคารพาณิชย์เอง ก็ตาม ก็สามารถทำได้ เพื่อที่จะปรับโครงสร้างให้เป็นลักษณะของหนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับ ของกฎหมาย อันนี้เป็นแนวทางที่จะต้องดำเนินการต่อไป และในส่วนของเจ้าหนี้เอง มีเพิ่มเติมนะครับ วันนี้มันมีทางเลือกในการที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างของหนี้นอกระบบ เหล่านี้อีกวิธีการหนึ่ง นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า PICO Finance คือการเป็นสถาบันการให้กู้ ในระดับเล็ก ซึ่งกำกับโดยกระทรวงการคลังนะครับ การยื่นขอใบอนุญาตเรื่องของสินเชื่อ PICO Finance กับกระทรวงการคลัง เงื่อนไขเบื้องต้นก็คือต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ ๕ ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อได้รายละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ ไม่เกินร้อยละ ๓๓ ต่อปี ในกรณีที่มีหลักประกัน ในกรณีที่ไม่มีหลักประกันสามารถเรียกเก็บ อัตราดอกเบี้ยได้ถึง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการที่เราจะสร้างเครื่องมือกลไก การเงินในขนาดเล็ก เพื่อที่จะรองรับกับเรื่องของหนี้นอกระบบต่าง ๆ โดยเจ้าหนี้นอกระบบ เหล่านี้สามารถผันตัวเองโดยการขอใบอนุญาตกับทางกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะสามารถ ปล่อยกู้ได้ตามกฎหมาย มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ มีอัตราดอกเบี้ยที่จะมี รายได้เพียงพอกับต้นเงินของท่าน แต่พี่น้องประชาชนจะไม่เดือดร้อน ลูกหนี้จะไม่เดือดร้อน เพราะอยู่ภายใต้การกำกับของส่วนงานของรัฐ นี่ก็เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบอย่างที่ได้เรียน
ประเด็นหนึ่งที่ท่านได้เรียนต่อที่ประชุม รวมถึงการหารือของเพื่อนสมาชิก จากจังหวัดอุตรดิตถ์ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ภาครัฐเองต้องเรียนด้วยความเคารพนะครับ วันที่ท่านนายกรัฐมนตรีแถลง เราไม่ได้พูดคุยถึงประเด็นในเรื่องของการมาเจรจา ความกันแล้วระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบ เราจะดำเนินการในส่วนของอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันทันด่วนนั้นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ผมได้รับทราบประเด็นปัญหาจากท่านสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นท่านลิณธิภรณ์ จะเป็นทางสมาชิกจากอุตรดิตถ์เองก็ตาม ขอบพระคุณท่าน ที่สื่อสารมายังรัฐบาล ผมเองจะนำเรียนประเด็นปัญหานี้เพื่อที่จะนำเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรี และเร่งในเรื่องของการดำเนินการแก้ไขวิธีการ หมายความว่าอะไร สิ่งที่ผมจะนำเรียน ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ก็คืออยากจะให้มีการปรับเปลี่ยน เมื่อมีคนมาแจ้งในเรื่องของ หนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอ ไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์ดำรงธรรมหรือที่ใดก็ตาม
๒๖/๑ สิ่งที่เราจะต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกก็คือยุติในเรื่องของดอกเบี้ย ยุติในเรื่องของการให้ลูกหนี้ ต้องชำระทันที เพื่อที่การเจรจาจะได้สามารถเดินหน้าพูดคุยกันสำเร็จแล้ว ถ้าเลิกแล้วต่อกัน ถ้าแก้ไขปัญหาปรับโครงสร้างหนี้สินเหล่านั้นได้ก็เดินหน้านะครับ แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือการยุติการทวงถามที่ขัดต่อกฎหมาย ยุติการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ขัดต่อกฎหมาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องหยุด ณ วันที่มีการแจ้งต่อภาครัฐทันทีนะครับ ขอเวลาอีกเล็กน้อย นะครับท่านประธาน
ประเด็นคำถามที่ ๓ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบแล้ว มีมาตรการ ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อันนี้น่าจะ ใช้เวลาพอสมควร เดี๋ยวผมจะรวบรัดนะครับ เรียนอย่างนี้ครับว่าในเรื่องของการแก้ไข ปัญหาหนี้ หนี้แน่นอนครับมันมี ๒ ปีก ๑. ก็คือหาเงินไปชำระ ๒. ก็คือการเติมเงินให้กับ พี่น้องประชาชนเพื่อที่จะสร้างศักยภาพ เติมอาชีพให้เขา เพราะฉะนั้นนโยบายกลไก ของภาครัฐที่เราได้เดินมาทั้งหมด สามารถตอบคำถามของท่านสมาชิกได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลไกในเรื่องของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ วันนี้มีบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น AWS หรือ Amazon Web Service ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอย่างเช่น Google บริษัทอย่างเช่น Tesla ที่กำลังหมายตาการลงทุนในประเทศไทย ต่อรายเป็นแสนล้าน เหล่านี้จะสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในระยะยาว ในเรื่องของ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การปรับ Visa ฟรีให้กับหลายประเทศ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อเป็นรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน กลไกในเรื่องของการที่รัฐบาลจะเดินหน้านโยบายเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet อันนี้ก็ตอบโจทย์เดียวกัน นั่นก็คือสร้างกำลังให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย สร้างเม็ดเงิน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการหมุนเวียน ก็ตอบคำถามของ ท่านสมาชิกได้เช่นเดียวกัน กลไกทั้งหมดเมื่อประกอบรวมกันเข้าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ที่สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในการที่จะผลักดันเศรษฐกิจ ในการที่จะสร้างให้เกิด การหมุนเวียนของเม็ดเงิน สร้างให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่มากขึ้น การแก้ไขปัญหา หนี้สินด้วยรายได้เป็นฟังก์ชันและเป็นกลไกที่สำคัญในการที่รัฐบาลจะสามารถให้พี่น้อง ประชาชนประคับประคองสถานการณ์ภาระหนี้สินต่อไปได้ในอนาคตนะครับ
หนี้สินในส่วนอื่น ๆ ขออนุญาตได้เรียนต่อท่านสมาชิก เช่น ในเรื่องของ ภาคการเกษตรนั้นก็มีกลไกในการพักหนี้ เช่น ในเรื่องของ กยศ. เองก็เป็นไปตามกฎหมาย ที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กรุณาผ่านความเห็นชอบในสมัยประชุมที่แล้ว ในสมาชิก ชุดก่อนหน้าได้มีการผ่านความเห็น โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของ กยศ. ที่ไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อรัฐบาลเข้ามาเราเห็นถึงปัญหาครับว่ายังไม่ได้มีการปฏิบัติ ตามกฎหมายที่ได้ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร และวันนี้เราได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วนะครับ ก็จะสามารถปลดล็อกให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
ในเรื่องของ SME การแก้ไขปัญหา SME มีราว ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ราย ที่เกิดปัญหาในช่วงของโควิดถูกปรับเข้าไปอยู่ในสถานะของ NPL หรือหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ ในส่วนของ NPL เขาเรียกว่ารหัส ๒๑ นะครับ ซึ่งวันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าและน่าจะ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของรหัส ๒๑ ของกลุ่ม SME นะครับ นอกจากนั้นในสัปดาห์หน้าเช่นเดียวกันก็จะมีการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของประชาชนอีกราว ๑ ล้านกว่าราย เป็นประชาชนซึ่งเกิดสภาพ NPL จากในช่วงของ เหตุการณ์โควิดเช่นเดียวกันนะครับ โดนปรับเข้าไปอยู่ในรหัส ๒๑ อันนี้เป็นรายบุคคล อีกราว ๑ ล้านกว่าราย ซึ่งกลไกของภาครัฐเราก็จะดำเนินการแก้ไขผ่านทางมติ ครม. ในสัปดาห์หน้าเช่นเดียวกัน ก็ขอให้ท่านสมาชิกได้ติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ของรัฐบาลต่อไป ก็เป็นกลไกที่ขออนุญาตนำเรียนต่อท่านสมาชิกนะครับ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งระบบ ท่านเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการติดตามการทำงานของภาครัฐ ในการนำแนวทาง การแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินเหล่านี้จากภาครัฐไปสู่ประชาชน ขอให้เราได้ร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้ลุล่วงต่อไป ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนะครับ ตอบคำถามของ ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมสงสัย กราบขอบพระคุณ ที่ได้ให้โอกาสกับทางรัฐบาลได้ชี้แจงนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้นำแถลงนโยบายต่อ รัฐสภามา เราอยู่มาด้วยกันในช่วง ๓-๔ เดือนที่แล้ว นโยบายนี้เป็นนโยบายหนึ่งซึ่งทาง รัฐบาลได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมก็มีมติรับทราบนะครับ ให้รัฐบาลเดินหน้า หลังจากนั้นท่านนายกรัฐมนตรีได้มีมติผ่านมติ ครม. ในการตั้ง คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet เรื่องชื่อนี้ผมขออนุญาต นำเรียนชี้แจงต่อท่านสมาชิกด้วย ถ้าเราใช้คำว่า Digital Wallet ๑๐,๐๐๐ บาท มันทำให้ เกิดความสับสนในบางครั้งว่าสรุปแล้วมันคือเงินในรูปแบบใด มันคืออะไร แต่จริง ๆ แล้วมัน คือการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท เพราะมันคือเงินบาท เติมผ่าน Digital Wallet นะครับ หลังจากนั้นทางคณะกรรมการนโยบายก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย นั่นก็คือเป็นชุดอนุกรรมการ ซึ่งมีผมเป็นประธานก็ได้มีการประชุมกันหลายครั้งครับ มีการเชิญส่วนงานราชการเข้ามาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น แล้วก็พยายามที่จะเดินหน้าในเรื่องของตัวนโยบาย ซึ่งต้องเรียนด้วยความ เคารพถ้าเกิดว่าจะเอาข้อเท็จจริงมันมีความยากอยู่นะครับ เพราะนโยบายนี้ไม่ใช่เพียงแค่ ประเทศไทย แต่เป็นนโยบายที่มันใหม่แกะกล่อง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็ตาม คือต่างประเทศมีกลไกในการทำนโยบายในลักษณะของการเติมเงินผ่านประชาชน เช่นเดียวกัน แต่ที่เคยมีก็มีใน ๒ ลักษณะหลัก ๆ ๑. ก็คือการเติมเป็นเงินสด ๒. ก็คือใช้เป็น ลักษณะคูปองอันนี้เราเคยเห็นมา แต่ครั้งนี้เราจะใช้กลไกที่มันเป็นลักษณะของทั้ง Blockchain ทั้งเรื่องของเป็นรูปตัวเงินในระบบ Digital นะครับ ซึ่งข้อดีของมันผมต้องเรียน ว่านโยบายนี้มันหลักคิด โดยหลักมันไม่ใช่นโยบายเรื่องของการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือ ประชาชนเหมือนในอดีต แต่เป็นนโยบายในวันที่มีการเลือกตั้งต้องมีการนำเสนอนโยบายต่อ สังคม ทุกพรรคการเมืองก็บอกตรงกันหมดว่าขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มันวิกฤตมันตกต่ำ เราเติบโตไม่ได้ตามศักยภาพนะครับ ทางรัฐบาลเองก็มีการนำเสนอนโยบายนี้ในช่วงที่มี การเลือกตั้งพี่น้องประชาชนให้ความเห็นชอบ จนกระทั่งมีโอกาสเป็นพรรคแกนนำในการ จัดตั้งรัฐบาล ก็นำเสนอนโยบายนี้ต่อพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเป็นนโยบายหลักนโยบายหนึ่ง เป็น ๑ ในนโยบายหลักของเรา ซึ่งนโยบายนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชน เป็นเครื่องมือกลไก ประชาชนมีหน้าที่เดียวครับคือเติมเงินเข้าไป ๑๐,๐๐๐ บาท มีหน้าที่ใช้ให้หมดโดยเร็ว ถึงได้มีการกำหนดกรอบและขอบเขต เช่น ในเบื้องต้นคือ กรอบระยะเวลาการใช้ครั้งแรกภายใน ๖ เดือน ๒. ก็คือในเรื่องของขอบเขตระยะทาง ในเบื้องต้นเราเคยกำหนดกันว่าจะให้เป็น ๔ กิโลเมตร รอบทะเบียนบ้านเป็นทะเบียนบ้าน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อมีเสียงจากสังคมสะท้อนเข้ามาในในระดับหนึ่งเราก็รับฟัง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายจึงมีมติในการเปลี่ยนขอบเขตจาก ๔ กิโลเมตร เป็น ๑ อำเภอ หมายความว่าถ้าทะเบียนบ้านของท่านอยู่ในอำเภอใดท่านสามารถใช้ ในร้านค้าในอำเภอนั้นได้อย่างครอบคลุม สาเหตุที่เปลี่ยนหลักคิดคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานรากในแต่ละชุมชนให้มีการเจริญเติบโตในความเท่าเทียม เพราะเรามีประสบการณ์ ในอดีตในการที่รัฐอุดหนุนเงินลักษณะนี้ไปยังพี่น้องประชาชนแล้ว สุดท้ายเงินลักษณะนี้ จะไหลไปอยู่ในเมืองใหญ่ พวกเราเป็น สส. ต่างจังหวัด เราจะเห็นเงินไปโตอยู่ในอำเภอเมือง ในอำเภอเมืองบางครั้งก็จะไหลเข้าไปสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีความหนาแน่นทางเศรษฐกิจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา เราต้องการให้มันเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง อันนี้เป็นกลไกในการที่เราจะสร้างเศรษฐกิจให้มันมี ความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องของระยะทางในเมื่อเปลี่ยนจาก ๔ กิโลเมตร เป็นระดับอื่นแล้ว สิ่งที่เรานำมาพิจารณาก็คือความครอบคลุมของจำนวนร้านค้าคือจะต้องมี ผลิตภัณฑ์ให้พี่น้องประชาชนเลือกซื้อเลือกใช้ได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จึงเป็นตัวเลือกแรกนะครับในระดับพื้นที่ก็คือในระดับตำบล เราก็เห็นว่า ในหลายพื้นที่ในทั่วประเทศไทยตำบลขนาดเล็กมีครับ และตำบลเหล่านั้นไม่มีร้านค้า เพียงพอที่จะรองรับการจับจ่ายใช้สอย พอมันเหลือระดับอำเภอกับระดับจังหวัดแล้ว ถ้าเรา เลือกเป็นระดับจังหวัดเราก็จะรู้ว่าสุดท้ายเงินจะไหลเข้าไปสู่อำเภอเมือง สุดท้ายตัวเลือกก็ เลยกลายเป็นระดับอำเภอ ต่อมาเราก็มาพูดคุยกันในเรื่องของจำนวนคนที่จะเข้าสู่โครงการ ในเบื้องต้นคือ ๕๖ ล้านคน แต่เมื่อไปดูตัวเลขจริงแล้วประชากรที่อยู่ในวัย ๑๖ ปีขึ้นไปที่อยู่ ในเกณฑ์ทั่วประเทศ ข้อมูลจากทางกระทรวงมหาดไทยอยู่ที่ ๕๔.๘ ล้านคน แต่มีเสียง สะท้อนมาในหลายส่วนครับ บางส่วนบอกว่าไม่ควรทำโครงการนี้เลย บางส่วนบอกว่าให้แจก เฉพาะกลุ่มที่เป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือบัตรคนจนบางส่วนบอกว่าตัดคนรวยออก ซึ่งเป็น ข้อเสนอจากส่วนงาน อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็พูดนะครับ ทางส่วนงาน ในกระทรวงการคลังบางส่วนก็มีข้อแนะนำ ด้วยเหตุใดที่เราจึงมีการปรับเปลี่ยนต้องเรียน อย่างนี้ครับว่าเรามีความประสงค์จะให้ทุกคนตามที่ได้มีการนำเสนอต่อรัฐสภา แต่เมื่อฟัง เสียงสะท้อนแล้วกลไกของเราคือการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลักของนโยบาย เมื่อมี ข้อท้วงติงในเรื่องของกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจเราต้องรับฟัง มีตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ ที่มันชี้ชัดได้ นั่นก็คือกลไกในการเติมเงินเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่ม Top Tier คือกลุ่ม คนรวยที่สุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขเขาเรียกว่าการบริโภคขั้นสุดท้ายมัน Drop อย่างรุนแรง มันตกอย่างรุนแรง หมายความว่าถ้ากรณีเป็นแจกเงินปกติ ถ้าผมให้แบงก์พันกับ ท่านภูมิพัฒน์ ๑ ใบ ถ้าท่านภูมิพัฒน์มีรายได้เฉลี่ยเป็นกลุ่มล่างเป็นผู้ที่มีความยากไร้โอกาส ที่ท่านจะเอาเงิน ๑,๐๐๐ บาทนั้นไปอยู่ที่ประมาณ ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าจะใช้ ๘๐๐ กว่าบาท ๙๐๐ บาท
กลุ่มถัด ๆ มาก็จะลดหลั่นลงไปจุด ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ ๐.๗ เปอร์เซ็นต์นะครับ แต่สุดท้ายพอมากลุ่มบนสุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์มันชี้ชัดว่า Marginal Propensity to Consume หรือการบริโภคขั้นสุดท้ายของท่านจะตกลงไปเหลือ ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ คือหมายความว่าถ้าคนรวยเราตอบอย่างนี้ครับ ในกรณีที่คนรวยเราบังคับให้ ใช้ภายใน ๖ เดือน เราบังคับให้ใช้ต้องใช้ให้หมด แต่เมื่อท่านใช้ไปแล้ว ท่านมีค่าใช้จ่ายต่อ เดือนอยู่ที่ยกตัวอย่าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ท่านใช้เงินหมื่นที่เติมใส่ Digital Wallet ไป ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ท่านจะเก็บเงินสดส่วนตัวเข้ากระเป๋าเป็นการออม ๑๐,๐๐๐ บาท นั่นคือ มันไม่เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เราต้องการนะครับ เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาทาง คณะกรรมการรับฟัง สุดท้ายจึงมีการพิจารณาแล้วว่ากลุ่มคนบนสุดที่ว่าเราสามารถ Define หรือเราสามารถอธิบายคำจำกัดความเขาได้อย่างไร คนที่มีรายได้กลุ่มบนสุดจะมีเงินเดือน เฉลี่ยอยู่ที่ ๖๗,๐๐๐ บาท เราจึงตัดคนที่มีรายได้อยู่ในกรอบ ๗๐,๐๐๐ บาทขึ้นไปมีเงินออม อยู่ในบัญชีราว ๕๐๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไปออกจากกลุ่มที่จะได้รับสิทธิ แต่เราก็เติมสิทธิอื่น ๆ ให้เขาผ่านทางกลไกอื่นของภาครัฐ เช่น ในเรื่องของนโยบาย Easy e-Receipt ซึ่งเพิ่งจะมีผล บังคับใช้เมื่อวาน แล้วก็จะเริ่มกันในช่วง ๑ มกราคม ถึง วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เป็นนโยบายใน การกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือหากท่านสามารถเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอย สามารถหักภาษีเงินได้ในช่วงสิ้นปีได้ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วถ้าย้อนคิดมา ๕๐,๐๐๐ บาทนี้ คิดมาจากไหน ถ้าท่านอยู่ในตะกร้าคนที่มีรายได้ ๗๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ท่านจะเสียภาษีอยู่ใน Rate ๒๐ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าถ้าท่านใช้ ๕๐,๐๐๐ บาท ในช่วง วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ช่วงสิ้นปีท่านจะได้ชดเชยภาษีคืนได้หักลดหย่อน ๑๐,๐๐๐ บาท เท่ากับเงิน Digital Wallet นี่ก็เป็นกลไกที่เราคิดว่าอย่างน้อยทุกคนก็มีสิทธิได้สิทธินี้ เหมือนกัน แต่เพียงแต่ว่าถ้าท่านเป็นคนรวยอย่างน้อยท่านต้องนำเงินมาช่วยในการกระตุ้น เศรษฐกิจมาหมุนในเศรษฐกิจก่อน จึงจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเรายังมีกลไกอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่น การเติมเงินในกองทุน เช่น กองทุนพัฒนา อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้วางกรอบไว้และจะอยู่ในงบประมาณปี ๒๕๖๗ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่สภาในช่วงต้นปีนะครับ กลไกทั้งหมดนี้เราได้ยืนยัน ๑. คือนโยบายนี้เป็น การเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet เติมใส่เข้าไปใน Digital Wallet เราจะ พัฒนา Application ที่มีอยู่แล้วสุดท้ายนะครับก็คือตัว Application เป๋าตัง แต่เราจะเติม เรื่องของ Blockchain Blockchain ไม่ได้มีหน้าที่ในการทำ Transaction Blockchain มีหน้าที่ในการเป็นฐานข้อมูลที่จัดเก็บข้อมูลและมีความมั่นคงปลอดภัย มั่นใจได้ว่าข้อมูลของ พี่น้องประชาชนจะไม่สูญหายและถูกแก้ไข เราจะใช้ตัว Application ที่พัฒนามาในการที่จะ แลกเปลี่ยนซื้อขายโดยมอบหมายให้ธนาคารในกำกับของรัฐ คือธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ดำเนินการ จากการพูดคุยทั้งหมดแล้วเราเชื่อว่าตัว Application จะเสร็จในช่วง เดือนเมษายน ถามว่าทำไมช้ากว่าที่กำหนดในช่วงต้นที่เรากำหนดไว้เดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุ ก็เพราะว่ากลไกในการทำ Application ลักษณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการทดสอบเพื่อให้มั่นใจ ได้ว่าตัวโปรแกรมตัว Application มันมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้แลกเปลี่ยน เงินตราให้กับพี่น้องประชาชนนะครับ ในส่วนของแหล่งเงินเราก็มีการพูดคุยกันหลายส่วนครับ เราเคยคิดแม้แต่กระทั่งเรื่องของมาตรา ๒๘ อันนี้ก็ตอบตรง ๆ มาตรา ๒๘ ของ พ.ร.บ. วินัย ทางการเงินการคลังคือใช้ออมสินเราไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ออมสินทั้งหมด แต่กลไกโจทย์แรกที่เราได้รับมาจากท่านนายกรัฐมนตรีคืออยากจะให้เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ กลไกอื่น ๆ ไม่มีทาง เพราะว่างบประมาณแผ่นดินยังไม่เริ่ม มันก็เหลือแต่กลไกในเรื่องของ การใช้ มาตรา ๒๘ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจแล้วก็สอบถามส่วนงานที่เกี่ยวข้องว่าไม่สามารถ ดำเนินการได้ เราถึงได้เลื่อนวันเริ่มโครงการเป็นเดือนพฤษภาคมด้วยนี่คืออีกหนึ่งสาเหตุ สุดท้ายเราจะใช้งบประมาณผ่านพระราชบัญญัติการกู้เงิน ซึ่งก็คือการออกกฎหมายโดยให้ สภาเป็นผู้พิจารณาก่อน สาเหตุที่ให้ใช้กลไกนี้ เพราะมีความโปร่งใสที่สุดนำเข้าสู่สภามา ถกกันทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสได้มาพิจารณามาติดตามตรวจสอบ ชอบ ไม่ชอบ โหวต ไม่โหวต จะแก้ไขอย่างไรเป็นสิทธิของสมาชิก แล้วจึงผ่านมีผลบังคับใช้ แล้วก็จะเริ่มโครงการ ซึ่งกฎหมายนี้ใช้เวลาพิจารณา ๓ เดือนอาจจะฟังดูว่าเร็ว แต่ในข้อเท็จจริง พ.ร.บ. ลักษณะ ของ พ.ร.บ. กู้เงินเหล่านี้มีราว ๖-๗ มาตรา เนื้อหามันก็ไม่มีโครงการประกอบว่าจะต้องมาทำ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จุดใด ๆ ที่จะต้องไปตรวจสอบ แต่มันเป็นโครงการ ภาพรวมซึ่งน่าจะดำเนินการได้ทันในกรอบเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงิน ไม่ว่าจะ เป็นเรื่องของการพัฒนาตัว Application ก็ตาม เรามีความเชื่อมั่นว่าในเดือนพฤษภาคมจะ สามารถเดินหน้าตัวโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับพี่น้อง ประชาชนได้ก็ขอกราบขอบคุณท่าน สส. ที่ถามคำถามนี้ครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผมเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิก ท่านภูมิพัฒน์อย่างนี้ครับ นโยบายนี้มีข้อกำหนดสาเหตุที่เป็นเงินในรูปแบบ Digital อันนี้เป็น จุดสำคัญที่เป็นประโยชน์ แล้วก็จะเป็นกลไกที่แตกต่างจากเดิมในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลเวลา จะอุดหนุนเงินให้กับพี่น้องประชาชนไม่สามารถกำกับได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร และใช้ อะไรเพราะเป็นเงินสด แต่ในลักษณะนี้จะเป็นเงินที่มีอยู่ในรูปแบบ Digital จะสามารถ กำหนดได้ว่าต้องใช้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด จะต้องใช้ในสินค้าประเภทใดขึ้นกับร้านค้า ที่ขึ้นทะเบียนกลุ่มใดบ้าง สิ่งที่เป็นสินค้าที่ทำได้ก็คือเรื่องของสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม การบริโภค สิ่งที่ใช้ไม่ได้ผิดเงื่อนไขจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Fraud ก็คือเรื่องของการผิด วัตถุประสงค์ทั้งหมด เช่น เรื่องของการออมทำไม่ได้ เรื่องของการจ่ายหนี้สินทำไม่ได้ เรื่องของการไปซื้อสุรา เหล้า เบียร์ ไม่ได้ เอาไปใช้เล่นการพนัน ยาเสพติดไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกที่ยืนยันว่าเม็ดเงินของเราจะเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่า เงินสดทั่วไปนะครับ เพราะตัวที่ได้เรียนเมื่อสักครู่นี้คือตัวการหยุดการหมุนทางเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น เช่น การออม เช่น กันใช้หนี้สิน เมื่อเงินเข้าไปอยู่ในกระเป๋าการออมมันก็หยุดหมุน แต่กลไกของเรายืนยันว่ามันจะต้องลงไปอยู่ในสิ่งที่เกิดการผลิต การบริโภค การผลิต การจ้างงาน จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน อันนี้เป็นข้อจำกัด ที่กำหนดไว้ ส่วนสิ่งที่เรียกว่า Fraud เกิดขึ้นได้หรือไม่ เกิดขึ้นได้ครับ โครงการของรัฐในอดีต ที่ผ่านมาต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในการดำเนินนโยบาย เราดำเนินนโยบายกับคน ๕๐-๖๐ ล้านคน ถามว่าจะมีสักร้อยสักพันไหมที่ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์จะโดยจงใจ หรือไม่ก็ตาม มีครับ แต่กลไกที่เราใช้คือเรื่องของ Blockchain เป็นฐานข้อมูลนั้นจะยืนยัน ได้ว่าไม่ว่าท่านใดจะทำการที่ผิดวัตถุประสงค์ก็ตาม ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่หายไปไหน แล้วเรา จะสามารถติดตามตรวจสอบได้โดยเร็วนะครับ ในนโยบายในอดีตที่ผ่านมาเรื่องของการที่เข้า ไปอุดหนุนเงินให้กับประชาชนเช่นนี้ มีกลไกที่เกิดขึ้นในอดีตก็มีเหตุการณ์อย่างที่ท่านได้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแลกซื้อเงินสดอะไรต่าง ๆ สุดท้ายทางส่วนงานของรัฐดำเนินคดี ทั้งสิ้น เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันก็ฝากบอกผ่านไปยังพี่น้องประชาชนว่าไม่ควรทำใน ๒ ส่วน ส่วนแรกผิดกฎหมายและท่านจะถูกดำเนินคดี ส่วนที่ ๒ ในกรณีที่ท่านคิดว่าจะเอาเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ไปแลกเป็นเงินสด ๕,๐๐๐ บาท ๘,๐๐๐ บาท ก็เท่ากับ ท่านไม่ฉลาด เพราะเงินนี้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เท่ากับเงินบาทปกติ มันจะสามารถไปซื้อ ของที่ร้านสินค้าอุปโภคบริโภคใด ๆ ก็ได้ในราคาเต็ม จึงไม่มีเหตุใด ๆ ที่จะออกมาเป็นเงินสด จึงไม่เป็นเหตุใด ๆ ที่จะจูงใจให้กับพี่น้องประชาชนไปแลกเป็นเงินธนบัตรออกมาจะไม่เกิด ประโยชน์และขาดทุนนะครับ เพราะฉะนั้นเรามีความเชื่อมั่น ๑. ก็คือในกลไกที่เราสร้าง ๒. ก็คือในเรื่องของการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นผ่านทางกลไกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ของ Application ซึ่งจะมี Blockchain เอง เรื่องของบุคลากรของภาครัฐและสุดท้ายได้มีมติ ในคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ในการที่จะต้องตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ โดยมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกระทรวงดีอีเอส มีกระทรวงการคลังเป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะมี หน้าที่ในการติดตามเรื่องของ Fraud เรื่องของการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ที่ท่านได้นำเรียน ต่อสังคมต่อไป แล้วก็จะติดตามทุกบาททุกสตางค์ให้อยู่ในกรอบของกฎหมายครับ
ท่านประธาน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หมายเลข ๖๐ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หมายเลข ๖๐ รับหลักการครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กราบขอบพระคุณสำหรับคำถามของท่านจุติ ไกรฤกษ์ เป็นโอกาสที่ทางรัฐบาลจะได้ชี้แจง ทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิก รวมถึงพี่น้องประชาชนในเรื่องของกลไกในการแก้ไขปัญหา ความยากจนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จริง ๆ แล้ว คำถามของท่านนี้เต็มไปด้วยคำตอบ สำหรับผมที่จะใช้ในการที่จะอภิปรายเล่าสู่กันฟังกับท่าน เพราะว่าท่านได้มองเห็นถึง ปมปัญหาในหลาย ๆ จุดเป็นอย่างดี ซึ่งกราบขอบพระคุณในเบื้องต้นก่อน
ประการแรกเลย ท่านนายกรัฐมนตรีติดภารกิจในการไปจังหวัดเชียงใหม่ ไปดู ในเรื่องของปัญหาหมอกควัน ซึ่งก็ได้เดินทางขึ้นไปเมื่อวานนี้ วันนี้มีภารกิจต่อเนื่อง ก็เลยได้ มอบหมายให้ผมเป็นตัวแทนในการมาตอบถึงประเด็นปัญหาในเรื่องการแก้ไขปัญหาความ ยากจนของท่าน ผมเรียนด้วยความเคารพ เริ่มด้วยการที่จะอธิบายหลักคิด ซึ่งน่าจะเข้าใจ ตรงกันโดยที่ไม่ยากนัก ในเรื่องของหลักคิดในการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น แน่นอนว่า มันก็คือการเพิ่มรายได้การลดรายจ่าย แล้วก็การแก้ไขปัญหาด้านหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลนี้ มีธงหลักที่ชัดเจนในการดำเนินภารกิจในแต่ละด้านที่ผ่านมาแล้ว อย่างเช่นในเรื่องของ การลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน คือการลดรายจ่ายนั้นเรามีทั้งกระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินภารกิจในการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมีความจำเป็นกับพี่น้องประชาชนอย่างเคร่งครัด ในช่วงที่ผ่านมานี้ท่านจะได้เห็นว่าแทบจะไม่มีประเด็นปัญหาในเรื่องของราคาอุปโภคบริโภค ที่มันถีบตัวสูงขึ้นจนเกินกว่าจุดที่เหมาะสมนะครับ ในเรื่องของราคาพลังงานเองต้องกราบขอบพระคุณไปยังท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ด้วยนะครับ เพราะว่าท่านได้ดูแลในเรื่องของราคาพลังงานให้เป็นไปตามกรอบที่ทางท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมาย โดยที่เราได้ตรึงราคาในเรื่องของน้ำมัน แล้วก็ราคาไฟฟ้า โดยราคาไฟฟ้านี้ในช่วงต้นที่เป็นรัฐบาล คือไตรมาส ๔ เดือนสุดท้ายของปี ๒๕๖๖ สามารถกำหนดราคาได้อยู่ที่ ๓.๙๙ บาท ราคาของรอบใหม่สุดท้ายน่าจะจบประมาณ ๔.๑๐ บาทเศษ เป็นราคาที่มีความเหมาะสม แล้วก็ไม่เป็นภาระจนเกินไปกับพี่น้องประชาชน และสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชนไทยในการที่จะไปต่อสู้ ในตลาดโลกได้ ในการที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย อันนี้เป็นกลไกในการลด ภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งเรายืนยันว่าหลักคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นเรายัง จะตรึงในเรื่องของราคาค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนต่อไปแน่นอนครับ และเราจะเข้า ไปปรับแก้ในเรื่องของโครงสร้าง เช่นโครงสร้างราคาพลังงานต่าง ๆ เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อ งบประมาณของรัฐในระยะยาว แต่เราจะสามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้อยู่ในค่าครองชีพ ที่มีความเหมาะสมต่อไป นอกจากนั้นเรายังดูในด้านรายได้ ด้านรายได้ก็แน่นอนครับ วันนี้ ถ้าท่านได้ติดตามท่านจะเห็นโครงการ เช่นเรื่องของโครงการ Soft Power นะครับ Soft Power นี้พวกผมไม่มานั่งถกเถียงนะครับ สรุปว่าคำจำกัดความของ Soft Power คืออะไร อาจจะมีการถกเถียงในสังคมบ้าง แต่ว่าสำหรับพวกผมนี้ถ้าจะให้เล่าสู่กันฟังผ่านไป ยังท่านเองนี้ Soft Power โครงการนี้ ๑ ครอบครัว ๑ Soft Power ในเบื้องต้นตอนคิด นโยบายนี้คิดกันไปถึงว่าสรุปจะชื่ออะไรกันแน่ เพราะเราก็รู้ว่าคำว่า Soft Power มันมี ข้อจำกัด Limit ของตัวคำนี้มันมี เราก็คิดถึงเรื่องของคำว่า ๑ ครอบครัว ๑ ศักยภาพ ถ้าคำนี้ อาจจะเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะอะไร เพราะเราต้องการที่จะดึงศักยภาพของคนไทยออกมา อย่างน้อยครัวเรือนละ ๑ คน เพื่อที่จะสร้างรายได้ใหม่ให้กับเขา เพราะฉะนั้นชื่อจะเป็นอะไร ก็ตามไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่หัวใจของมันอยู่ที่การสร้างรายได้ใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ท่านอาจจะมีอาชีพอยู่แล้วรับจ้างขับรถเป็น Rider หรืออาจจะทำกับข้าวขาย แต่เรากำลังจะ สร้างช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพื่อที่จะเพิ่มรายรับให้กับพี่น้องประชาชนในแต่ละ ครอบครัวเรือน ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกสำคัญ เรามีแนวคิดที่จะเพิ่มรายได้ต่อหัว แล้วสุดท้ายนี้ เรามุ่งเป้าไปสู่การพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ในเรื่องของรายได้เองนั้นยังมีกลไกอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว เช่นเรื่องของการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ วันนี้จะเห็นได้ว่าภาคบริการกลายเป็นหัวใจ หลักในการที่จะค้ำชูระบบเศรษฐกิจของไทย ต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ รัฐบาลนี้เข้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ในภาคการผลิตนี้ ถ้าไปดูกราฟหัวยังดิ่งอยู่นะครับ หมายความว่าอัตราการผลิตนี้ยังไม่สูงนัก แต่การบริโภคที่มีอยู่รวมถึงการที่ GDP ยังพอ เติบโตได้บ้าง ถึงแม้จะต่ำกว่าศักยภาพก็ตาม ทั้งหมดมันประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญหลายสิ่ง และหนึ่งในนั้นก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันนโยบาย เช่นเรื่องของการเปิด Visa Free ให้กับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย เป็นต้น จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศใหญ่ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้า มายังประเทศไทยเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยเป็นรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนั้นใน ระยะกลางและระยะยาวเรามีโครงการในการที่จะผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสุดท้ายมันก็จะสะท้อนไปยังพี่น้องประชาชนผ่านการเป็น รายได้ เพราะมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจก็เป็นรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ต้องเรียนว่า กลไกหนึ่งที่ทำก็คือ ในเรื่องของการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ถ้าท่านจำได้ในช่วงของ การอภิปรายงบประมาณก็จะมีการนำสไลด์ขึ้นมาหลายครั้ง เป็นตัวเลขเป็นจำนวนของ นักลงทุนต่างชาติบริษัทใหญ่ ๆ ดัง ๆ จากทั่วโลกที่เขาพร้อมที่จะนำเม็ดเงินมาลงทุนใน ประเทศไทย ซึ่งต้องเรียนว่าเป็นความพยายามของท่านนายกรัฐมนตรีที่เดินทางไป ต่างประเทศและไปพบกับบริษัทเอกชนเหล่านั้นด้วยตนเอง กลไกเหล่านี้เมื่อเข้ามาสู่ประเทศ ไทยแล้วในระยะเวลาข้างหน้าก็จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียน เกิดการลงทุน เกิดการจ้างงาน เกิดอาชีพใหม่ ๆ สร้างเป็นเงินรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งนี่เป็นกลไกที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับพี่น้องประชาชนมีเงินเติมเข้ามาในกระเป๋า ที่มากขึ้น และสามารถที่จะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต
สุดท้ายก็คือในด้านของหนี้สิน ผมต้องเรียนผ่านท่านประธานไปยังท่านจุติ ไกรฤกษ์ ท่านผู้สอบถามนะครับ ด้านหนี้สินนี้ถ้าท่านจำได้เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเองในการ Kick off โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ ประชาชนอย่างครบวงจร แยกหลักคิดง่าย ๆ เป็น ๒ ส่วน ๑. ก็คือหนี้นอกระบบกับหนี้ใน ระบบ ถามว่าทำไมต้องแยก เพราะว่ากลไกในการบริหารจัดการมีความแตกต่างครับ หนี้นอกระบบเราทราบกันดีในฐานะที่เราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าหนี้นอกระบบนี้มัน กัดกินกัดกร่อนสังคมไทย ในช่วงที่มีการเดินทางไปยังจังหวัดน่านกับท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อไปดูในเรื่องของปัญหาการแก้หนี้นอกระบบ พร้อมกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยด้วย ได้พบกับพี่น้องประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนเราได้เห็นถึงสภาพความเป็นจริง ที่พี่น้องประชาชนไปกู้หนี้ยืมสินแล้ว ประกอบอาชีพแล้วเจอดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ร้อยละ ๕ ต่อวันก็ยังมี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวเลขที่เราน่าตกใจ มีการกู้ยืมเงินเป็นตัวอย่างที่นำเสนอ กับท่านนายกรัฐมนตรีมาว่ากู้ยืมเงินราว ๘๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท ใช้หนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่ยังคงจะต้องชำระเป็นรายวัน รายเดือนต่อไป รายวัน ยังต้องจ่ายออกไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะไปโปะดอกเบี้ยที่มันหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องมี กลไกที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยการผ่านทางฝ่ายปกครองและฝ่ายความ มั่นคง ก็คือตำรวจและฝ่ายมหาดไทย ทั้ง ๒ ส่วนนี้เข้ามาช่วยในการเจรจาความ หารือ หาทางออกให้กับพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้เป็นสินเหล่านี้ สุดท้ายเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ แน่นอนครับว่ามีจำนวนมากที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาแล้วก็ขั้นตอนในการที่เราจะไป ตรวจสอบความแม่นยำของข้อมูลที่มาแจ้ง ของพี่น้องประชาชนที่มาแจ้ง ๒. ก็คือมีพี่น้อง ประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้มาแจ้งกับรัฐ อาจจะรอทีท่า อาจจะรอดูความมั่นใจว่า ภาครัฐจะสามารถดูแลในเรื่องของความปลอดภัย จะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้จริง หรือไม่ แต่วันนี้เราได้ทำให้เห็นแล้วว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ เราสามารถมอบความเป็น ธรรมให้กับพี่น้องประชาชนได้ เราสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ เพราะกลุ่มหนี้สินที่มี การเจรจาความกันโดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถตัดทอนภาระหนี้ลงไปได้ไม่ต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ นี่คือหนี้สินนอกระบบ หนี้สินในระบบเองก็มีกลไกผ่านทางภาครัฐจำนวนมาก ที่เราจะลงไป ทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงการคลังเหล่านี้มีความพร้อม ในการที่จะเข้าไปรองรับหนี้สินของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มของข้าราชการ เช่น กลุ่มหนี้ครู กลุ่มหนี้ของพยาบาล กลุ่มหนี้ของตำรวจ นอกจากนั้น เรายังมีกลไกอื่น ๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือรองรับ ทั้งเรื่องของ PICO Finance Nano Finance ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่เราจะใส่เข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของหนี้สินให้กับคนในกลุ่มต่าง ๆ วันนี้ตัวเลขหนี้ถ้าท่านได้ติดตามข่าวสาร ท่านดูในเรื่องขององค์กรก็คือ เครดิตบูโรได้มี การนำเสนอต่อสังคมเมื่อ ๒ วันก่อน ตัวเลขหนี้สินที่เป็น NPL อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สำหรับภาครัฐ เราดูด้วยความเป็นห่วง มันอยู่ในวิกฤติที่เรียกว่าพี่น้องประชาชนติดหนี้ติดสิน แต่ว่าไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีกำลังมาชำระ ไม่มีรายได้ใหม่ ๆ มาช่วยเหลือตัวเอง ตรงนี้เป็นสิ่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงและเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับรัฐบาลที่เราจะต้องไปแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม นอกจากนั้นผมต้องเรียนต่อท่าน นอกจากที่เราจะ เริ่มของการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แล้วก็ลดหนี้สินของพี่น้องประชาชน วันนี้ปัญหาสำคัญ ของกลไกในการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนนั้นคือความแม่นยำของข้อมูล ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เป็นต้นมาเรามีกลไกที่จะเข้าไปดูเรื่องของคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ของผู้ที่ผ่าน คุณสมบัติแล้วก็ต้องมายืนยันตัวตนเพื่อที่จะเข้าโครงการที่เรียกว่า โครงการที่เป็นผู้มีรายได้ น้อย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนะครับ ณ วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังมีการ Update อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาล ชุดปัจจุบันก็ให้ความสำคัญว่าเรามีความจำเป็นจะต้องเข้าไป Update เพราะข้อมูลลักษณะนี้ จะต้องเรียกว่ามีความ Dynamic ของมัน มันมี Dynamic มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สามารถพ้นจากความยากจน กลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือ ตกเข้าไปอยู่ในกลุ่มความยากจนเพิ่มเติม ตัวเลขเหล่านี้มีการเคลื่อนไหว ประชาชนกลุ่มนี้มี การเคลื่อนย้ายจากกลุ่มหนึ่งไปกลุ่มหนึ่งนี้ตลอดเวลา ซึ่งภาครัฐเองต้องคอยติดตามอย่าง ใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ยื่นมือเข้าไปแก้ไขปัญหา เรื่องของสวัสดิการ เป็นสิ่งสำคัญรัฐบาลชุดนี้ก็เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มสวัสดิการให้กับพี่น้องประชาชน นโยบายในอดีตที่ได้เคยทำมาบางตัวเราก็ยังทำอยู่ เช่น เรื่องของการเติมเงินเข้าไปยังบัตร สวัสดิการนี้ก็ยังมีเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มยากไร้จะสามารถ ประคับประคองชีวิตได้ เมื่อท่านเป็นคนถามนะครับ ท่านจุติ ไกรฤกษ์ เป็นคนถามนี้ ผมก็ขออนุญาตโยงไปอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่มิติของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมจะพูดถึงเรื่องของ Digital Wallet นะครับ พูดกับท่านน่าจะเข้าใจได้ง่าย หมายความว่า อะไร เพราะว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้รู้ในเรื่องของนโยบายของรัฐในเรื่องของการบริหารจัดการ ภาครัฐ Digital Wallet ถ้าพูดถึงมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเติมเงินให้กับพี่น้อง ประชาชนอันนี้เข้าใจได้ง่าย แต่กลไกหนึ่งที่สำคัญแล้วก็เป็นหลักคิดสำคัญของเรื่อง Digital Wallet นั้นคือโครงการนี้มีฐานข้อมูลประกอบไปด้วยระบบที่เรียกว่า Blockchain Blockchain นี้หมายความว่า เป็นระบบที่จะสามารถบันทึกข้อมูลการดำเนินการ การไหลเวียน ของเม็ดเงินได้อย่างชัดเจน แล้วท่านลองนึกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คืออะไร ด้วยนโยบาย นี้จะเป็นในครั้งแรกของประเทศไทย หรือของโลกก็ว่าได้ที่เราจะสามารถเห็นถึง การเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินเมื่อรัฐบาลนี้เข้าไปอุดหนุนเรื่องของสวัสดิการให้กับประชาชน เราทำนโยบายกันมากครับ รัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราสงสัยกันมาโดยตลอด ก็คือเรื่องว่าสุดท้ายแล้วเม็ดเงินมันไหลไปอยู่ที่ใคร บางคนก็บอกว่าไหลไปอยู่กับเจ้าสัว บางคนก็บอกว่าไหลไปอยู่กับพี่น้องประชาชนที่เป็นรากหญ้า อันนี้เป็นคำถามที่เราก็ได้แต่ ถกกันและพูดกันโดยที่ไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัด หลายคนก็บอกว่าเม็ดเงินที่ลงไปแล้วแจกเงิน ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท เข้าไปที่พี่น้องประชาชน สุดท้ายแล้วมันเกิดการหมุนเวียน เปลี่ยนผ่าน เกิด Multiplier เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจกี่รอบ กี่ครั้ง ก็มีผลงานทาง วิชาการทำการศึกษา Study กันออกมากี่ครั้ง กี่หน ก็มีตัวเลขตั้งแต่จุด ๐.๘ ๐.๙ ๐.๔ ไปถึง ๑ กว่า ๆ สุดท้ายนี้มันก็ได้แต่เป็นตัวเลขทางวิชาการ ซึ่งไม่มีอะไรที่ชี้วัดได้ชัดเจน แต่ครั้งนี้ด้วยกลไกที่บอกว่ามี Digital Wallet และมี Blockchain อยู่ข้างหลังนี้ มันจะเป็น กลไกแรกที่เราจะสามารถชี้ชัดได้ว่าเมื่อรัฐบาลเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว คนแรกเขาไปซื้ออะไร คนที่ ๒ เขาไปใช้เมื่อไร คนที่ ๓ จ่ายไป ที่ไหน เงินไหลเวียนอย่างไร เราจะเห็นโครงสร้างทั้งหมดของการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่ภาครัฐใด ๆ ก็ตาม ใครมาเป็นภาครัฐนี้จะใช้ ในการออกแบบ ใช้ในการวิเคราะห์ ใช้ในการวางแผนด้านนโยบายการสร้างรัฐสวัสดิการ ให้กับพี่น้องประชาชนในอนาคต ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญครับ นอกจากนั้นยังมีกลไกในเรื่อง ของการที่มีข้อจำกัดในการใช้ เช่น เรื่องของขอบเขตพื้นที่ เช่น เรื่องของว่าห้ามใช้ซื้ออะไร และไม่ให้ใช้ซื้ออะไร เหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการที่นโยบายของรัฐในอนาคต โดยเฉพาะในการที่เราจะเข้าไปทำสวัสดิการให้กับพี่น้องประชาชน มันจะสามารถ Direct สามารถกำกับได้ว่าสุดท้ายแล้วเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ภาครัฐดำเนินการผ่านไปให้กับ พี่น้องประชาชนนั้น ในทางใดทางหนึ่งก็ตาม จะเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงตามเป้าหมาย ที่รัฐบาลได้ตั้งหวังเอาไว้ทุกประการ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กราบขอบพระคุณท่านจุติ ไกรฤกษ์ นะครับ เมื่อสักครู่เหลือบไปดูนาฬิกาก็เลยนั่งลง จริง ๆ มีค้างอีกคำถามหนึ่ง ขออนุญาตย้อนไปตอบสั้น ๆ ในเรื่องที่ท่านถามว่าความคืบหน้าของ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามปรัชญาหลักเศรษฐกิจ พอเพียง ศจพ. ท่านถามว่าถึงไหนแล้ว ผมต้องเรียนว่าเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ยืนยัน ว่าการปฏิบัติงานของ ศจพ. นี้ยังจะดำเนินต่อไป โดยจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ตามกรอบว่ามีใครที่จะต้องไปบรรจุอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้นบ้าง เข้าไปดำเนินการแล้วก็ เดินงานต่อในเรื่องของ ศจพ. เพราะว่า ศจพ. นี้ใช้เรื่องของ TPMAP ในการที่จะเข้ามา Mapping แก้ไขปัญหาความยากจนให้ตรงจุด อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ อะไรที่เป็น ประโยชน์เราเดินหน้าต่อนะครับ
ในส่วนของคำถามที่ ๒ ของท่านผมต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ในเรื่องแรก ท่านได้ชี้ช่องที่ชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งต่อปี มีแสนกว่ารายจริง ๆ และสะสมมามหาศาลจนนับไม่ถ้วน ผมว่าเป็นล้าน ๆ คน ตรงจุดนี้ รัฐบาลก็มองเห็นประเด็นปัญหา ท่านนายกรัฐมนตรีถ้าท่านจำได้ว่ามีการแถลงนโยบาย หลาย ๆ ตัว แม้แต่ตอนแถลงนโยบายเรื่องของ Digital Wallet ก็ตาม วันนั้นท่านก็พูดถึง การเติมเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ราว ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ท่านพูดถึงกองทุนที่เรียกว่า กองทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็คืออุตสาหกรรม S-CURVE พวก EV พวกเรื่องของ Semiconductor ต่าง ๆ แล้วท่านก็พูดถึงการเติมเงินเข้าไป ในกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาเป็นการเฉพาะ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว ผ่านงบประมาณปี ๒๕๖๗ เรามีการเติมเงินงบประมาณเข้าไปที่กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ๖,๐๐๐ ล้านบาท ตั้งไว้ในงบประมาณปี ๒๕๖๗ แต่กระบวนการในการพิจารณางบประมาณ ที่เรากำลังค้างกันอยู่ ซึ่งผมเองต้องเรียนต่อท่านว่าเมื่อเช้าก็ยังนั่งประชุมงบประมาณนะครับ แล้วก็ลงมาตอบคำถามท่าน แล้วสุดท้ายก็คงต้องกลับไปที่ห้องกรรมาธิการงบประมาณ ก็ยังอยู่ในชั้นที่เรากำลังเริ่มพิจารณารายมาตรา ยังไม่ได้ลงคณะอนุกรรมาธิการเลย เมื่อสุดท้ายมีการปรับลดงบประมาณแล้วจะมีการแปรญัตติเพิ่มเติม ผมเป็นหนึ่งใน คณะกรรมาธิการ ซึ่งผมยืนยันว่าหากมีคำขอเข้ามาจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษานี้ ผมยินดีนะครับ ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมาธิการในการที่จะลงมติว่าจะให้แปรญัตติเพิ่มเติม ในส่วนงบประมาณของกองทุนหรือส่วนงานใด อันนี้ก็ยินดีนะครับ
ส่วนปัญหาเรื่องของที่ดินที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน อันนี้ก็เป็น แนวความคิดของรัฐบาลในการที่จะออกโฉนด ๑๐ ล้านไร่ ถ้าท่านจำได้นะครับ เรามีใน นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแห่งนี้ เราก็จะเดินหน้าในเรื่องของโฉนดที่ดินทำกิน ในเรื่องของ กรมธนารักษ์เอง ก็มีแนวคิดในเรื่องของการที่จะมอบที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของกลไกนั้น เช่นเดียวกัน ในการที่จะมอบที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนที่จะดำเนินการแล้ว และกำลังทำอยู่ และใกล้จะเสร็จ ก็คือในเดือนมกราคมนี้จะมีที่จังหวัดอุดรธานีเป็นโครงการนำร่องที่หนองวัวซอ เป็นการเอาที่ดินทหารคืนมาให้กับกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ไปให้กับพี่น้องประชาชน เช่าใช้ในราคาที่ถูกมากเพื่อที่จะทำการเกษตร เพื่อที่จะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ดินซึ่งเคยมี ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เราก็แก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังมีที่ดินอีกจำนวนมาก ที่ดินกรมธนารักษ์มีราว ๑๐ กว่าล้านไร่ ส่วนใดที่จะสามารถเป็นประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชนในการสร้างรายได้ ในการสร้างอาชีพ ในการเป็นที่อยู่อาศัย เรายินดีที่จะทำให้ใน ราคาที่มีความเหมาะสม ปัญหาที่ท่านได้ชี้มาเป็นเรื่องของที่ดินกรมธนารักษ์กับพื้นที่ การเคหะแห่งชาติ ผมรับเป็นโจทย์ที่จะไปปรับในเรื่องของอัตราราคาเพื่อให้มันเป็นธรรมกับ พี่น้องประชาชนที่เข้ามาเช่าอยู่ แล้วก็เล่าสู่กันฟังกับท่านว่าขณะนี้เราได้ทำงานกับหลาย ส่วนงาน แม้แต่กรุงเทพมหานครเองเราก็มีการพูดคุย กรุงเทพมหานครมีปัญหาของ Low Cost Housing คือบ้านราคาถูกให้กับคนกลุ่มที่ไม่มีรายได้นัก สิ่งที่เราทำก็คือ การพูดคุยกันกับกรมธนารักษ์ คุยกับทางท้องถิ่น เช่นกรุงเทพมหานครในการที่จะวางแผน เอาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่มีอยู่ไปทำบ้านให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ โดยผ่านบริษัทธนา รักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด แล้วก็จะให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้ชำระเงินรายปี ก็คือการผ่อนคืน ให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ในขณะเดียวกันท้องถิ่นสามารถเอาพื้นที่รวมถึง อาคารที่เกิดขึ้นนี้ไปส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตน ให้พี่น้องประชาชนสามารถ เช่าอยู่ได้ในราคาถูก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกลไกที่เรากำลังพูดคุยกันมาถึงผมว่า ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็จะเดินหน้าโดยเร็วน่าจะจบภายในปีนี้ถ้าเกิดขึ้นได้ ก็เป็นอีกหนึ่ง กลไกที่เรามองว่ากลไกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานใดก็ตาม จับมือกันแล้วก็ช่วยกัน ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่าง ครบวงจร แต่หากเราร่วมมือกัน รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติที่อยู่ในห้องนี้ด้วยนะครับ การแก้ไขปัญหาของประชาชนก็คงจะลุล่วงได้ ก็ต้องกราบขอบพระคุณ ท่านจุติ ไกรฤกษ์ นะครับ สำหรับคำแนะนำข้อเสนอแนะ ซึ่งผมเองก็รับใส่ใจไว้ แล้วก็จะนำไปปฏิบัติแก้ไข ให้ดีที่สุดครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ จากพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง วันนี้ขออนุญาตท่านประธาน อภิปรายจากด้านล่างนะครับ ใช้สิทธิของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใช้สิทธิของ การเป็น สส. จังหวัดเชียงใหม่ในการอภิปรายผ่านท่านประธานนำเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งมี ความสำคัญยิ่งสำหรับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือตอนบน วันนี้ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนนำเสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศ สะอาด วันนี้ผมต้องเรียนอย่างนี้ครับ ต้องขออนุญาตทำตามระเบียบข้อบังคับการประชุม ในการนำเสนอขออนุญาตในช่วงต้นนี้จะอ่านหลักการและเหตุผล เพื่อให้เพื่อนสมาชิก ได้รับทราบ แล้วจะอภิปรายประกอบในเรื่องของแนวทางในการแก้ไขปัญหาอากาศสะอาด ซึ่งร่างนี้เป็นฉบับของพรรคเพื่อไทยครับ โดยผมเป็นผู้ยื่นเสนอ วันนี้ก็จะมีเพื่อนสมาชิกอีก จำนวนมากจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในหลาย ๆ จังหวัดที่จะนำเสนอปัญหาในมุมมอง ของตน เพื่อที่จะหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วย อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เหตุผล จากสถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษ ทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะ เวลานานอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสาเหตุมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมากมาย ทั้งการเผาในที่โล่ง การเผาตอซังของเกษตรกร การเผา พื้นที่ป่า กระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ระบบการขนส่ง กระบวนการผลิตไฟฟ้า เขตพื้นที่ก่อสร้าง เขตที่พักอาศัย รวมถึงสาเหตุจากฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ใน ต่างประเทศ ปัจจุบันมีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น และยังคงมีความเข้มข้นของมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเป็นพิษต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและตกอยู่ในภาวะอันตราย ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ ประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล งบประมาณในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งภาพลักษณ์ของประเทศ ที่สะท้อนถึงความล้มเหลว ในการจัดการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและ การจัดการมลพิษ จำเป็นต้องพัฒนาปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้มี การบริหารจัดการมลพิษอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การมีอากาศสะอาด โดยส่งเสริมให้ เกิดระบบการวางแผนเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษฝุ่นควัน กลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อม และชั้นบรรยากาศ การบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด ระบบ การบริหารราชการเชิงพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดอากาศที่ไม่สะอาด การพัฒนามาตรฐาน คุณภาพอากาศ ระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบเฝ้าระวัง ระบบเตือนภัยจาก สถานการณ์อากาศที่ไม่สะอาด ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤติ จากสภาพอากาศ และระบบการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการให้เกิดอากาศสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลักสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีสิทธิที่จะอยู่ ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ว่าด้วย หน้าที่ของรัฐซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้สมดังสิทธิของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศ สะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
ท่านประธานที่เคารพครับ นั่นเป็นหลักการและเหตุผล ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนที่กระผมได้เสนอนี้มีหลักการและเหตุผล เช่นเดียวกันกับร่าง ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอ ผมต้องกราบขอบพระคุณทางคณะรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี นะครับ ผมเองมีโอกาสได้รับฟังจากท่านโดยตรง ในเรื่องของความตั้งใจจริงในการที่จะแก้ไข ปัญหาในเรื่องนี้ วันนี้กราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกว่า ตัวท่านนายกรัฐมนตรี เองนี้ก็ได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ไปรับฟัง ไปดูปัญหา ไปดูแหล่งเกิดไฟป่าบนดอย ไปดูกลไกของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านปลัด นั่งอยู่นี่ ในการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาดับไฟต่าง ๆ ซึ่งกลไกที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่ราวปี ๒๕๕๖ ปี ๒๕๕๗ ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมานี้ สถานการณ์ในภาคเหนือหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมเคยอภิปราย ในสภาแห่งนี้ว่าหากปล่อยภาวการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันจะเป็นตราแต่เป็น ตราบาป มันจะเป็น Brand ของภาคเหนือ มันจะเป็น Brand ของการท่องเที่ยวที่ทุกคนเวลา จะไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปที่จังหวัดเชียงราย ไปในภาคเหนือตอนบน ก่อนจะเดินทางไป ทุกคนต้องโทรมาถามหมด สรุปว่าอากาศเป็นอย่างไร อยู่ได้ไหม นาทีนี้ปลอดภัยหรือไม่ กระทบทั้งชีวิตของพี่น้องประชาชน กระทบทั้งเศรษฐกิจ กระทบทั้งการเจริญเติบโต ของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนอายุเล็ก ๆ น้อย ๆ เด็ก ๆ ปัญหาเหล่านี้มันคาราคาซัง มาหลายปีไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้สิ่งแรกที่นายกรัฐมนตรีทำหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกราบขอบพระคุณ ท่านเดินทางไปต่างประเทศ ไปประเทศเพื่อนบ้านมีการประชุม ในระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หยิบยกประเด็นนี้ไปพูดคุยเพื่อให้ ทุกประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับเรารับทราบและตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงและกระทบกับชีวิตของประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ต้องกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ใส่ใจ ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี มา พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้งครับท่านประธาน ในเรื่องของการผลักดัน พ.ร.บ. สำคัญ ๆ หลายฉบับ เช่นเรื่องของการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ เรื่องของการทำกฎหมาย สมรสเท่าเทียม กฎหมายเรื่องของอากาศสะอาดนี้เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ท่านนายกรัฐมนตรี พูดหลายครั้งหลายหน เพื่อที่จะผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด วันนี้ ได้ฤกษ์งามยามดีเราเข้ามาร่วมกันในสภาแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ฉบับของคณะรัฐมนตรี ประกอบไปด้วยฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน ผมเองเป็นตัวแทนของ พรรคเพื่อไทยในการนำเสนอตัวร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีของภาคประชาชนที่เข้าชื่อ กันราว ๒๐,๐๐๐ กว่ารายชื่อ มีของพรรคร่วมฝ่ายค้านในที่สุดก็ได้เข้านะครับ กราบแสดง ความยินดีด้วย ตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะว่าส่งช้า แต่สุดท้ายก็มาทัน มาวันนี้แล้วทุกฝ่ายก็มา ร่วมกัน จุดประสงค์พวกเราตรงกัน คือการที่จะมอบอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญ เป็นของที่ เราจะส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชน ผมต้องเรียนต่อท่านประธานว่าถ้าจะใช้เวลาตรงนี้ ในการอภิปรายในเรื่องเนื้อหาต่าง ๆ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง มันไม่จบ มันมีแต่เรื่องสะเทือนใจ เรื่องคุณหมอกฤตไท เรื่องของพี่น้องประชาชน ที่สูญเสีย เรื่องของคนแม้แต่ญาติพี่น้องผมเองที่ประสบกับเหตุ อย่างเช่นลูกหลานน้ำมูกน้ำตา ไหล เลือดกำเดาไหลนี้มันเกิดโดยตลอด อันนี้เป็นสิ่งซึ่งมันเกิดมาหลายปี แต่วันนี้เรามองไป ข้างหน้า เรามีรัฐบาลชุดใหม่ เราเชื่อมั่นว่าเรามีแนวทางและกลไกในการแก้ไขปัญหาที่เป็น รูปธรรม กฎหมายที่เรากำลังทำกันอยู่จะเป็นเครื่องมืออันสำคัญสำหรับรัฐบาลใดก็ตามที่จะ เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เราพูดกันมาโดยตลอดปัญหาในภาคเหนือตอนบน ๑๗ จังหวัดนี้มีปัญหามาเรื่องของ PM2.5 เป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า เผาลักลอบในพื้นที่โล่ง การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร รวมทั้งหมอกควันข้ามพรมแดน พูดกันท่องกันปากเปียกปากแฉะ ก็พูดหลายรอบในสภาแห่งนี้ แต่ถามว่ากลไกในการแก้ไข ปัญหาเราทำอะไรได้บ้าง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบางปี Hotspot ในประเทศไทยไม่มีเลย นะครับ ในภาคเหนือไม่มีเลยเราสามารถควบคุมได้อย่าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะเป็นด้วย การเข้มงวดกวดขัน จะเป็นด้วยประชาชนเริ่มตื่นรู้ในเรื่องของกลไกการเผาต่าง ๆ แต่ปัญหา หมอกควันไม่ได้เบาบางลง สาเหตุหนึ่งแน่นอนครับ เรื่องหมอกควันข้ามแดน ผมได้เรียน ไปแล้วว่ามันอยู่ที่ผู้บริหาร วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีบินไปต่างประเทศก็นำปัญหาเหล่านี้ หยิบยกไปพูดคุย อันนี้แก้ไขได้ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ ๒ ในเรื่องของปัญหาหมอกควัน ข้ามพรมแดนนี้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ผมได้นำเสนอนี้มีเนื้อหา ซึ่งผมอยากจะเรียนต่อ ที่ประชุมว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ นั่นก็คือกลไกที่เรียกว่า Transboundary Haze Pollution ก็คือหมอกควันมลพิษข้ามพรมแดน ประเทศเดียวในโลกเท่าที่ผมรู้นะครับ อาจจะมีมากกว่านั้น ผมกราบประทานอภัยความรู้ผม อาจจะจำกัด ผมรู้แค่ว่าในภูมิภาคเรามีที่เดียวคือประเทศสิงคโปร์ที่เขามีกฎหมายลักษณะนี้ คือการที่ใช้กฎหมายมลพิษข้ามพรมแดนและเขาบังคับใช้ได้ สาเหตุก็คือเขามีมลพิษมาจาก ประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือประเทศอินโดนีเซีย มีการทำโรงงาน บางครั้งมีการเผาป่าอะไรต่าง ๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะขนาดเล็ก สุดท้ายหมอกควันมันไหลข้ามมานี้เขา โดนลมอยู่ เขาก็หาทางแก้ด้วยการออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเพื่อที่จะบังคับใช้กับบริษัทข้าม ชาติที่ไปทำมาหากินอยู่ในต่างประเทศ เช่นประเทศอินโดนีเซียว่า ถ้าคุณเผา การค้าการขาย ของคุณที่มีกับประเทศเรามันจะต้องมีปัญหา วันนี้เราเจอปัญหาเดียวกันครับ แล้วปฏิเสธ ไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ เช่น เรื่องของ Contract Farming ที่ส่งมอบไปปลูก อย่างเช่นเรื่องของข้าวโพดที่ประเทศเพื่อนบ้าน เราดูตัวเลขเราจะเห็นทันที ถ้าท่านดูเรื่องของการค้าชายแดน ตัวเลขการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์ที่ไหลมาจากประเทศ เช่น ประเทศลาวและประเทศเมียนมา อันนี้ดูตัวเลขไม่ยาก เราจะเห็นมันมี Direct Correlation กัน คือมันมีความเชื่อมสัมพันธ์ในทางตรงกันระหว่างสินค้าเหล่านี้ที่เข้ามาใน ประเทศกับภาวะหมอกควันที่มันเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้เราสามารถชี้ชัดได้และเทคโนโลยี ในปัจจุบันมันก้าวไปถึงจุดที่บอกว่าวันนี้สินค้าเกษตรที่มันไหลเข้ามานี้ คุณสามารถ ชี้ย้อนกลับไปถึงแหล่งกำเนิด Origin ของมันว่ามันกำเนิดตรงจุดไหน และจุดนั้นมันมีการเผา ไหม้หรือไม่ ท่านสามารถที่จะดูไปได้ถึงจุดนั้น และนี่จะเป็นกลไกที่สำคัญ ประกอบกับ กฎหมายฉบับนี้ที่จะให้อำนาจกับภาครัฐในการที่จะไปทำโทษ ในการที่จะไปเก็บเงิน เก็บภาษี เก็บรายได้ให้รัฐในส่วนที่มันเกิดจากการเผาไหม้ จากการที่นำสินค้าจากต่างประเทศนี้ เข้ามา เราจะมีกลไกพอที่จะไป Block ไปหยุดการนำเข้าสินค้าประเภทนี้เพื่อให้การเผา ในต่างประเทศมันลดลงด้วย ตรงนี้มันจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ผมอยากจะนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อที่ท่านจะได้รับทราบว่าวันนี้เราต้องก้าวข้ามจากปัญหาที่เคยมี แล้ววันนี้เรามีกลไกที่มัน เลยไปกว่าที่เคยคิดกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างครบวงจร ท่านประธานที่เคารพ ด้วยกลไกของกฎหมายที่จะมีขึ้น ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกัน เข้ากับความตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผมเองเป็นส่วนหนึ่งของ ครม. ก็ตาม แต่ผม ทราบดีว่าเรามีความตั้งใจนะครับ และวันนี้เรามีความจริงใจในการทำ ฝากผ่านท่านประธาน ไปยังสมาชิกทุกท่าน ฝากผ่านท่านประธานไปยังภาคประชาชนพวกท่านเองทำงานร่วมกับ พวกผมมาสักพักนะครับ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของฝ่ายค้านในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของ สส. จังหวัดเชียงใหม่ ผมเองก็มีตัวแทนเป็นเพื่อนสมาชิกในอดีตคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับท่าน เช่น คุณจักรพล วันนี้ก็ทำงานกันมาอย่างยาวนาน ผมยืนยันกับท่านถึงความจริงใจของ พวกเราในการแก้ไขปัญหา และผมยืนยันถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ในการที่จะ เดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM2.5 อย่างเป็นระบบ ก็ขอท่านประธานและเพื่อน สมาชิกได้โปรดให้ความเห็นชอบต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติเรื่องของอากาศสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยอีก ๑ ฉบับด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอเสนอรายชื่อในสัดส่วนคณะรัฐมนตรีสำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ๑. นายยงยุทธ์ ชื้นประเสริฐ ๒. นายสิทธิวี วรรณพฤกษ์ ๓. นางสาวพรทิพย์ ตัณฑวนันท์ ๔. นายชูพงศ์ คำจวง ๕. รองศาสตราจารย์วิระศักดิ์ ฮาดดา ๖. นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ และ ๗. นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ เรียบร้อยครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง วันนี้ต้องกราบขอบพระคุณท่าน สส. ชนก จันทาทอง ที่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย ของรัฐบาล ท่านได้สอบถามถึงกระบวนการทำงานของนโยบายหนองวัวซอโมเดล ซึ่งเป็น กลไกของรัฐในการมอบสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินจากพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งได้รับการส่งมอบต่อมาจากกองทัพกลาโหม ผมต้องเรียนตอบคำถามสั้น ๆ ก่อนนะครับ คำถามที่ถามก็คือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เกิดขึ้นแล้วนะครับ เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ทางรัฐบาลสามารถประสบความสำเร็จในการเดินหน้าเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องของการมอบสิทธิให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มีพื้นที่ทำมาหากินและอยู่อาศัย อันนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐ ซึ่งเราได้แถลงต่อรัฐสภา เราอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ร่วมกัน เราได้เป็น พยานกับสิ่งที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นกับรัฐสภาแห่งนี้ และเราเดินหน้าในการดำเนินการเรียบร้อย ผมต้องเรียนเล่าเท้าความให้กับท่าน สส. ชนก ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถ้าท่านย้อนภาพ กลับไปจะมีอยู่วันหนึ่งที่มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้นัดทานข้าว กับท่านผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไม่ว่าจะเป็น ผบ. สูงสุด ท่านผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ รวมถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านสุทิน คลังแสง นะครับ วันนั้นหลังจากทานข้าวท่านนายกรัฐมนตรีกลับมาที่ทำเนียบรัฐบาล ผมเองได้มีโอกาสไปพบ ท่านเองก็ได้มอบหมายภารกิจ เพราะว่าเนื่องด้วยผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ ซึ่งดูแลที่ดินของรัฐ ที่ดินราชพัสดุทั้งหมด ท่านนายกรัฐมนตรีได้ส่งมอบข่าวดี นั่นก็คือท่านได้แจ้งว่าหลังจากที่ได้มีการทานข้าว ร่วมกันแล้ว เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทางกองทัพตอบรับกับนโยบายของรัฐในเรื่องของการ เดินหน้าเรื่องการให้สิทธิที่ดินทำกินกับประชาชน นโยบายในส่วนของหนองวัวซอโมเดล เป็นเพียงแค่ปีกเล็ก ๆ ปีกหนึ่งนะครับ ต้องเรียนต่อท่านชนก จันทาทอง ว่าเป็นเพียงแค่ปีก เล็ก ๆ ปีกหนึ่งของนโยบายรัฐ เพราะเราเตรียมที่จะเดินหน้าในเรื่องของการมอบสิทธิที่ดิน ทำกินให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินก็ตาม รวม ๑๐ ล้านไร่ ถ้าเรา ยังจำกันได้ตอนที่เรามีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นั่นประกอบไปด้วยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ลักษณะของโฉนด ที่ดินการปรับเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิ ที่ดินในการที่จะใช้พื้นที่ ของรัฐที่ไม่ใช้ประโยชน์ คือกรมธนารักษ์เองตัดให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงที่ดิน ของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ตัดคืนมาให้กับกรมธนารักษ์เพื่อที่จะ ดำเนินการมอบให้กับประชาชน ทางกระทรวงกลาโหมได้ตอบรับนโยบายนี้และเป็นคน นำเสนอเองว่ากระทรวงกลาโหมมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วบางส่วน พร้อมที่จะคืนให้กับ กรมธนารักษ์เพื่อดำเนินการ ในการนี้ไม่ได้คืนเปล่า ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ตัดคืนพื้นที่เข้ามาเป็น พื้นที่ที่มีความขัดแย้งกับประชาชน เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกอะไรใด ๆ แล้วก็คืนให้กับ กรมธนารักษ์เพื่อเอาไปมอบให้ประชาชน ไม่จบแค่นั้น ทางกระทรวงกลาโหมมีความพร้อม ผมต้องกราบขอบพระคุณทางกองทัพผ่านท่านประธานไปยังกองทัพด้วย เพราะว่า ทางกระทรวงกลาโหมได้เรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่าทางกองทัพมีความพร้อมทั้งเรื่องของ เครื่องจักร บุคลากร หนองวัวซอโมเดลจึงเป็น Model ที่น่าสนใจมาก หลังจากมีการคืน พื้นที่มาเกือบ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ให้กับทางกรมธนารักษ์ ได้มีการเชิญพี่น้องประชาชนเข้ามา ลงทะเบียนมาพูดคุยในหลายประเด็น ๑. คือมีพื้นที่ที่มีการทับซ้อนแล้วก็มีประชาชน อยู่ในพื้นที่อาศัยที่ได้อาศัยทำมาหากินอยู่ในพื้นที่นั้นจำนวนหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยแก้ไข ปัญหาได้ในอดีตที่ผ่านมา เพราะถือว่าเป็นการบุกรุกโดยประชาชนกับพื้นที่ของรัฐ ไม่ว่าจะพยายามช่วยอย่างไร พวกเราที่เป็นนักการเมืองอยู่ในสภาแห่งนี้เราเคยเดินหน้าแก้ไข ปัญหาให้กับประชาชนในลักษณะที่มีการทับซ้อนกับพื้นที่รัฐ ไม่เคยชนะครับ ชนะไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินหลวงนะครับ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต แต่วันนี้เราหาทางอะลุ่มอล่วยแก้ไข ปัญหาโดยการเชิญพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคน เข้ามาพูดคุยหาหนทางแก้ไขปัญหา ร่วมกันอย่างน้อยท่านได้สิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ หนองวัวซอโมเดลจึงเกิดขึ้น และสิทธินี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิทธิการเข้าไปใช้ประโยชน์เท่านั้นนะครับ ในวันที่ได้เชิญพี่น้อง ประชาชนเข้ามารวมตัวกันในการเตรียมโครงการนั้น ผมเองก็ได้เดินทางไปที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อไปดูที่พื้นที่ มีการเชิญประชาชนเข้ามาแล้วก็มอบใบเล็ก ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน คนละใบ ในใบจะมีเขียนว่า ความประสงค์ของท่านในการใช้พื้นที่คืออะไร ท่านจะใช้ เป็นที่อยู่อาศัย ท่านจะใช้เป็นพื้นที่ในการทำมาหากิน ทำการเกษตรประเภทใด หากทำ การเกษตรท่านต้องการอะไรเพิ่มเติมในพื้นที่ของท่าน เช่นถนนเข้าแปลง เช่นการขึ้นแปลงไว้ สำหรับเตรียมการปลูก เช่นเรื่องของการทำระบบน้ำบาดาล เช่นเรื่องของการขุดบ่อนะครับ กลไกเหล่านี้ทางกองทัพได้เตรียมความพร้อมและในขณะนี้ก็เริ่มดำเนินการ โดยหน่วยงาน ของกองทัพเอง ไม่ว่าจะเป็นทหารพัฒนาหรือจะเป็นทหารช่างก็ตาม ในการที่จะลงไปในพื้นที่ แล้วก็เตรียมพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนตามที่เขาต้องการ หมายความว่านอกจากได้พื้นที่ ไปทำงานมาหากินแล้วยังได้ของแถมก็คือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการประกอบ อาชีพของพี่น้องประชาชนนั้น ๆ นี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หนองวัวซอโมเดล เป็นโครงการที่ ประสบความสำเร็จอย่างเร็ว มีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมกับโครงการเกือบเต็มพื้นที่ นั่นก็คือ ๙๐๐ กว่าราย พื้นที่ ๑,๐๐๐ กว่าแปลง ผมไม่ลงรายละเอียดในเรื่องของตัวเลขให้ท่านนะครับ แต่ว่าต้องเรียนต่อท่านชนกว่าหลังจากลงทะเบียนแล้วปัญหาที่เกิดตามมาก็มีครับ เพราะอะไรครับ เพราะในข้อเท็จจริงนั้น ด้วยกฎหมายด้วยระเบียบของกรมธนารักษ์เองนั้น มีระเบียบในการที่จะต้องจัดเก็บในเรื่องค่าใช้จ่ายในบางประเภท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่พอตัวเลย ทีเดียว ต้องเรียนต่อท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ เป็นต้นว่าค่าธรรมเนียม ในเรื่องของการแรกเข้าเพื่อเข้าทำสัญญา อัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัยแล้วก็ เพื่อการเกษตรต่าง ๆ หลักประกันสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เรื่องของค่าธรรมเนียมในการ รังวัดที่ดินราชพัสดุ เหล่านี้ผมต้องเรียนต่อท่านชนกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับทางพี่น้อง ประชาชนในการที่จะเข้ามาทำสัญญากับกรมธนารักษ์ แต่สิ่งที่ผมเองได้สั่งการลงไป นั่นก็คือ การที่กรมธนารักษ์จะดำเนินการในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อให้ประชาชนในกลุ่มที่ยากไร้ ได้สามารถมีโอกาสเข้าถึงแหล่งที่มาทำมาหากินนะครับ สิ่งที่ได้มอบหมายลงไปกับ กรมธนารักษ์ ต้องกราบขอบคุณท่านอธิบดีกรมธนารักษ์ได้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ อย่างเรียบร้อย นั่นก็คือเรางดเว้นค่าธรรมเนียมเกือบทุกประเภท วันนี้เหลือแต่เพียงหลัก ๆ ก็คืออย่างเช่นเรื่องของค่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยเป็นต้นนะครับ ถ้าไม่เกิน ๑๐๐ ตารางวา อัตรา ค่าเช่าเพื่ออยู่อาศัย คิด ๒๕ สตางค์ต่อตารางวาต่อเดือน หากเช่าที่เกินกว่า ๑๐๐ ตารางวา สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัย เราคิดอัตราค่าเช่า ๕๐ สตางค์ต่อตารางวาต่อเดือน คือถูกมาก ถูกมากจนไม่รู้จะถูกอย่างไรแล้วนะครับ หากจำเป็นเพื่อการเกษตร คือประกอบอาชีพ หากเนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน ๕๐ ไร่ คิดอัตราค่าเช่า ๒๐ บาทต่อไร่ต่อปี เนื้อที่เช่าทั้งหมด หากเกินกว่า ๕๐ ไร่ เราคิดอัตราค่าเช่า ๓๐ บาทต่อไร่ต่อปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ทั้งหมด ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดทั้งหมด เรียกเก็บหลักประกันสัญญาเช่าเท่ากับ อัตราค่าเช่าเพียงแค่ ๑ ปีเท่านั้น ผมต้องเรียนต่อท่านสมาชิกว่านี่เป็นมิติใหม่ของ กรมธนารักษ์เช่นเดียวกันนะครับเป็นการปรับเกณฑ์โดยอำนาจของท่านอธิบดีที่จะลดภาระ กับพี่น้องประชาชนที่จะเข้าสู่โครงการเรื่องการรับมอบสิทธิที่ดินในการประกอบอาชีพ แล้วผมต้องเรียนว่าหลังจากปรับลดเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ พี่น้องประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการ ในการที่จะเข้าสู่ที่ราชพัสดุในพื้นที่ของหนองวัวซอโมเดลนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวนะครับ ขณะนี้ก็ยังเปิดรับอยู่นะครับ ในกรณีที่จะเข้ามาสู่กระบวนการเพิ่มเติมทางกรมธนารักษ์เรา เองก็เปิดรับพร้อมที่พี่น้องประชาชนจะเดินเข้ามาหาและดำเนินการในลักษณะเดียวกันให้ ครบถ้วน แล้วเราจะทำให้สำเร็จโดยเร็ว กระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนี้สุดท้ายประโยชน์ ตกอยู่กับประชาชน แล้วเราจะเดินหน้าในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ที่จะส่งมอบให้กับ พี่น้องประชาชนในอำเภอ ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป นี่เป็นการตอบคำถามแรก ของท่านชนก กราบขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผมจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต่อคำถาม ข้อที่ ๒ ท่านชนก จันทาทอง ผมต้องเรียนอย่างนี้ ว่าเรายังเดินหน้าครับ แล้วเรา ทำงานคู่ขนานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ระหว่างที่เราจัดเตรียมเรื่องของหนองวัวซอโมเดล เมื่อสักครู่ผมได้เรียนท่านไป แล้วท่านก็ได้ทบทวนตัวเลข ถูกต้องครับ เป็นตัวเลขที่ฟังดูแล้ว ค่อนข้างพิเศษจริง ๆ เป็นราคาซึ่งถูกมากสำหรับพี่น้องประชาชน และเป็นโอกาสสำหรับเขา และผมยืนยันกับท่านชนกผ่านทางสภาแห่งนี้ว่าในโครงการที่จะเดินหน้าต่อไปทั้งหมดที่ท่าน ถามมานี้ เราจะใช้ Rate เรื่องของการจัดเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน ในเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศให้ได้ เพื่อให้ทั่วประเทศได้รับสิทธิเดียวกัน ในส่วนของโครงการ ที่เราทำคู่ขนานในขณะนี้ผมต้องเรียนต่อท่านชนกว่าบ่ายนี้ผมก็จะไปร่วมกับ ท่านสุทิน คลังแสง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในการทำโครงการมอบโฉนดที่ดินทำกินจากกองทัพ ให้เช่นเดียวกัน ผมต้องเรียนต่อท่านชนกว่าในส่วนของหนองวัวซอโมเดลนี้เป็นพื้นที่ของ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ของกองทัพอากาศที่ได้มอบคืนให้กับกรมธนารักษ์และจะมอบ ให้กับประชาชน เฟสต่อไปเราจะไปกันที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ ที่ได้มอบคืนมาให้เช่นเดียวกัน แล้วก็อาจจะไปที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพบก อีกครั้งหนึ่ง อันนี้เป็นพื้นที่ที่กองทัพได้เตรียมเอาไว้ จริง ๆ ผมวางเป้ากันว่าขอปีละ ราว ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ตอนนี้เราเดินหน้า ถ้ารวมทั้งหมด ตั้งแต่หนองวัวซอโมเดลมาจนถึง ๔ จุด ที่ได้เรียนเมื่อสักครู่นี้ น่าจะราว ๓๐,๐๐๐ ไร่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะเดินหน้าในการส่งคืน พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเพื่อที่จะส่งมอบให้กับประชาชน แต่ในส่วนของ กรมธนารักษ์เองนั้นผมต้องเรียนต่อท่านชนกว่าพื้นที่ที่กรมธนารักษ์ ที่เรียกว่าพื้นที่ราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์ถือทั่วประเทศมีราว ๑๒.๕ ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้ แน่นอนครับ ว่าบางส่วน ก็ใช้ประโยชน์ บางส่วนกันเป็นพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่อุทยานต่าง ๆ ก็นับรวมนะครับ แต่อย่างไร ก็ตามมีพื้นที่ที่สามารถที่จะจัดแบ่งให้กับพี่น้องประชาชนในการใช้ประโยชน์ได้ ผมเรียนว่า มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ แล้วเราจะพยายามเดินหน้าในการผลักดันโครงการที่จะส่งมอบพื้นที่ ให้กับประชาชนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศต่อไป ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดก็ตาม ก็เป็นการยืนยัน ผ่านท่านประธานไปยังท่านสมาชิกครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต่อคำถาม ข้อ ๓ ของท่านชนกนะครับ อย่างที่เรียนเมื่อสักครู่ โครงการนี้ถ้าวาดภาพใหญ่ กลไกในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของรัฐ ในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เราจะเดินหน้า ใน ๔ ปีข้างหน้านี้ อันนี้เป็นเพียงแค่ปีกเล็ก ๆ ปีหนึ่งที่เราทำกัน เราต้องวาดภาพให้เห็นว่า สิ่งที่เราจะเดินหน้าก็คือ ๑๐ ล้านไร่ ในการที่จะส่งมอบให้ถึงมือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบของโฉนด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ ส.ป.ก. ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็นสิทธิ ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่จากกรมธนารักษ์ที่ส่งมอบให้ แต่เป็นลักษณะ ของการเช่าใช้สิทธิของพื้นที่รัฐในราคาถูก ต่าง ๆ เหล่านี้จะสร้างโอกาสให้กับพี่น้อง ประชาชนในการอยู่อาศัย และที่สำคัญคือการทำมาหากิน เป็นการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับ พี่น้องประชาชน ยุติข้อขัดแย้งที่เคยมีมา โดยเฉพาะพื้นที่ของรัฐที่ท่านชนกได้เรียนถาม ผมต้องเรียนว่าตลอดช่วงชีวิตของพวกเรามาเราก็ได้ยินข่าวในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่รัฐ ในเรื่องของการที่พี่น้องประชาชนต้องมีข้อพิพาทฟ้องร้อง รัฐก็ฟ้องร้อง ประชาชนขับไล่ออก นอกพื้นที่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คาราคาซังกันมาเราสัมผัสมาโดยตลอด วันนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือการเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยหากลไกที่เป็นไปตามกรอบของกฎหมายเพื่อที่จะเดินหน้าให้ พี่น้องประชาชนสามารถมีสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เขาถือครองอยู่ได้ เราเอง ในฐานะที่เป็นรัฐ สิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือการพิพาทกับประชาชน เราพยายามลด ในเรื่องของข้อพิพาท สิ่งที่ขัดแย้ง สิ่งที่ปะทะกัน สิ่งที่ยังมีการทับซ้อนในเรื่องของพื้นที่ เราพยายามที่จะถอย ภาครัฐแน่นอนเราต้องถอย ๑ ก้าว เพื่อที่จะเปิดเวทีให้เกิดการเจรจา ให้เกิดการคุย และแน่นอนว่าด้วยกลไกของภาครัฐเอง เรามีกฎหมาย เรามีระเบียบ แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถที่จะปรับแก้ สามารถที่จะปรับปรุงเพื่อให้มันมีความสอดคล้อง กับสถานการณ์จริงและประโยชน์สูงสุดของประชาชน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พวกเราทำให้กับ ทางพี่น้องประชาชน แน่นอนว่าอย่างที่ได้เรียนกับท่านชนกไปพื้นที่ธนารักษ์อีก ๑๒.๕ ล้านไร่ ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะเปิดกล่องแจกหมดนะครับ เป็นไปไม่ได้เพราะว่าพื้นที่ของหลวง มันก็มีภารกิจที่จะต้องใช้ มีพื้นที่ที่จะต้องกันไว้สำหรับประโยชน์อื่นใดอีกมากมาย แต่แน่นอน ว่ามีพื้นที่จำนวนหนึ่งที่สามารถที่จะจัดสรรให้กับประชาชนในการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบ อาชีพ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีพี่น้องประชาชนได้รุกล้ำเข้าไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ วันนี้ กรมธนารักษ์มาในรูปแบบใหม่ เราพร้อมที่จะคุยกับประชาชนทุกคน เราพร้อมที่จะ เปิดโอกาสให้มีการมาตั้งโต๊ะเจรจามาพูดคุยและหารูปแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยที่พี่น้องประชาชนสามารถเช่าใช้พื้นที่ของหลวงโดยที่เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ แต่ในขณะเดียวกันกรมธนารักษ์เองก็จะสามารถพัฒนาพื้นที่รอบข้าง สามารถที่จะเดินหน้า ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้ เพราะฉะนั้นต้องเรียนต่อท่านชนกว่าพื้นที่ที่เราจะเดินหน้าต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานใดก็ตาม หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ วันนี้เราก็กำลังดำเนินการไป Screen พื้นที่ที่มีอยู่ ของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ เพื่อที่จะสอบถามว่าหากคืนมาและส่งมอบให้กับประชาชน เป็นประโยชน์จะติดขัดหรือไม่ ทางกองทัพได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานราชการอื่น ๆ แล้วนะครับ
๒. คือพื้นที่ในส่วนของกรมธนารักษ์ที่ถือพื้นที่ราชพัสดุด้วยตนเอง เราก็กำลัง ดูในพื้นที่ ซึ่งเราจะสามารถกันออกเพื่อที่จะให้สิทธิในการเช่าใช้กับพี่น้องประชาชนได้อย่าง ถูกต้องต่อไป ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณท่าน สส. ชนก จันทาทอง ที่ได้ห่วงใยในประเด็น ของการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การเข้าถึงที่ดินทำกินของประชาชน กราบขอบพระคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ ก็ได้รับมอบหมายให้มาตอบในกระทู้ถามแยกเฉพาะ ของท่านฐิติกันต์ ต้องกราบขอบพระคุณนะครับ ผมขอประทานอภัยด้วย เพราะว่าที่ลงมาช้า ติดกระทู้ถามสดด้วยวาจาอยู่ข้างบน และการตอบในวันนี้จะเป็น Script ธรรมดาท่านจะเห็น ผมพูดสด แต่อันนี้เนื่องด้วยมันเป็นรายละเอียดที่มันเป็นเรื่องข้อกฎหมายขั้นตอน จะขอ อนุญาตอ่านตรงนี้ แล้วตอนท้ายของแต่ละคำถามผมจะสรุปในส่วนของผมนะครับ
ในประเด็นแรก พื้นที่ตรงนี้มันเป็นเรื่องตั้งแต่เก่าก่อนตั้งปี ๒๔๖๓ เรียกว่า กระทรวงเกษตราธิการ พวกเราก็ไม่ทันกัน ซึ่งได้ดำเนินการบังคับซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จากประชาชนของบ้านบางเทาจำนวน ๒๐๔ ราย พื้นที่ ๗๐๔ ไร่เศษ มาทำเหมืองแร่ ออกประทานบัตรให้กับบริษัท บริษัทหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินการมาหลายสิบปี จนกระทั่งยกเลิก ประทานบัตร สิ้นสุดอายุลงในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๐ ปี ๒๕๒๐ เป็นปีที่มีความสำคัญ เพราะว่ามันจะมาผูกพันกับเรื่องของการคิดคำนวณเรื่องของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในปี ๒๕๒๕ กรมธนารักษ์ก็ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวขึ้นทะเบียนกับที่ดินราชพัสดุ เป็นแปลงทะเบียน ที่ ภก. ๒๖๓ ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สถานะของที่ดินแปลงดังกล่าว ถึงแม้ว่ากระทรวงเกษตราธิการจะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการโดยตรง แต่การได้มาและขั้นตอน ในการที่ครอบครองเป็นไปตามระเบียบวิธีการที่กฎหมายกำหนด และเป็นการสงวนที่ดินไว้ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และกฎหมายของ พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ ในระหว่างที่มีการทำเหมืองแร่ก็มี การบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินจำนวนมาก เมื่อราชการยกเลิกประทานบัตรเหมืองแร่ ราษฎรก็ได้ร้องขอกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งมีมติ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ให้ขายที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพคืนให้แก่ราษฎรผู้ถือสิทธิเดิมในราคาที่ ผู้ซื้อรับภาระได้ อันนี้เป็น Keyword นะครับ และให้เช่าสำหรับผู้บุกรุกภายหลัง ทั้งนี้ ก่อนดำเนินการขายและให้เช่าให้กระทรวงมหาดไทยกันที่ดินในส่วนที่ทางราชการจะต้องใช้ เพื่อสาธารณประโยชน์ไว้ด้วย อันนี้เป็นมติ ครม. ดั้งเดิมเลย ต่อมาเมื่อมีมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ อนุมัติให้ดำเนินการตามแนวทางถือครองที่ดินที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้แบ่งกลุ่มผู้ถือครองที่ดินเป็น ๓ กลุ่ม อย่างที่ท่านได้เรียน กลุ่มที่ ๑ คือขายให้กับ ราษฎรผู้ถือสิทธิเดิมหรือทายาท โดยกำหนดราคาขายจากราคาที่ดินตามที่ทางราชการบังคับ ซื้อจากราษฎร คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการ เลิกใช้ที่ดินเพื่อกิจการเหมืองแร่ ก็ต้องไปคิดคำนวณเอาว่าพื้นที่นั้น ๆ ก่อนที่ทางรัฐบังคับซื้อ ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ กว่า จนกระทั่งมาถึงปี ๒๕๒๐ เอาราคาที่ซื้อเป็นตัวตั้งแล้วคิดคำนวณ บวกอัตราดอกเบี้ย ๗.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเรื่อยมา กลุ่มที่ ๒ เป็นการขายให้กับราษฎร ผู้ถือครองที่ดินมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี นั่นก็คือถือครองที่ดินมาก่อนปี ๒๔๙๑ ๓๐ ปี นับย้อนตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ให้กับกลุ่มนี้หรือทายาท โดยกำหนดราคาขายจากราคาประเมิน ที่กรมที่ดินได้ประเมินไว้สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในปี ๒๕๒๐ ต้องเอาตัวเลขเรื่องของการประเมินที่ดินในปี ๒๕๒๐ บวกอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และกลุ่มที่ ๓ ราษฎรที่ดินครอบครองที่ดินไม่ถึง ๓๐ ปี ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ที่ดิน แต่จะดำเนินการจัดการให้เช่าตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดหา ประโยชน์ในที่ราชพัสดุตามที่กระทรวงการคลังเสนอ นั่นก็คือเข้าสู่กระบวนการเจรจา กับกรมธนารักษ์เพื่อที่จะเช่าใช้สิทธิในพื้นที่ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในอัตราที่เหมาะสม กระทรวงการคลังเองในขณะนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุเป็นที่ สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ในตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยการขายให้แก่ทายาทเจ้าของเดิม พ.ศ. .... อันนี้เป็นชื่อ กฎหมาย เพื่อนำเสนอต่อ ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งสำนักเลขาธิการ ครม. ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว โดยปกติสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะใช้ระยะเวลาประมาณ ๒ เดือน ในการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยทั่ว ๆ ไป อันนี้เป็นกรอบระยะเวลาโดยคร่าว หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอก็จะให้ตรวจพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติไปได้ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะมาพิจารณาเอกสารและ หลักฐานข้อเท็จจริงแล้ว โดยสรุปสาระสำคัญว่าหากกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบถูกต้อง ก็ดำเนินการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ต่อไป
สำหรับประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุให้แก่ผู้ครอบครองและทำ ประโยชน์ในพื้นที่ ก่อนปี ๒๔๙๑ ซึ่งมิใช่เจ้าของเดิมหรือทายาท เห็นว่าโดยที่คณะรัฐมนตรี ยังไม่ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุโดยการขายดังกล่าว จึงเป็น กรณีที่สมควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนหลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เกิดความ รอบคอบอีกครั้ง ทบทวนความเหมาะสมของราคาที่ดินในการกำหนดราคาขายที่ดินนั้นให้แก่ ราษฎรกลุ่มที่ ๒ ด้วย ประเด็นนี้ก็หมายความว่าหลังจากกฤษฎีกาตรวจทานแล้วก็จะนำเสนอ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อที่จะมาทบทวนในเรื่องของราคา เพื่อที่จะมาทบทวนในเรื่องของกลุ่มคน กลุ่มที่ ๓ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิโดย พ.ร.บ. นี้ เราก็จะไปทบทวนเพื่อหาทางออกที่มีความเหมาะสม ต่อไปนะครับ ขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรมธนารักษ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวม ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่และจำนวนราษฎรที่ถือครองให้เป็นปัจจุบันตามบัญชีรายชื่อราษฎร ทั้ง ๓ กลุ่ม พร้อมขอบเขตรูปแผนที่แสดงการครอบครองของราษฎร และพิจารณาทบทวน ความเหมาะสมของราคาขายที่ดิน เนื่องจากราคาขายที่ได้คำนวณตามมติ ครม. เมื่อปี ๒๕๔๓ มีราคาต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน ตามข้อสังเกตของสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว กระทรวงการคลังจะได้เสนอร่าง พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินเพื่อขอความเห็นชอบ ครม. พิจารณาทบทวนหลักการกำหนดราคาขาย แก่ราษฎร และอนุมัติร่าง พ.ร.บ. นี้ เมื่อ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วก็จะสามารถกำหนด ราคาขายดำเนินการขายคืนที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวให้แก่ราษฎรตามขั้นตอนทางกฎหมาย ต่อไป ค่าธรรมเนียมอื่นใดที่จะเรียกเก็บกับราษฎรนั้นจะมีการจัดเก็บตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป อันนี้เป็นที่ได้นำเสนอต่อท่านประธาน แต่อย่างไร ก็ตามผมต้องกราบขอบพระคุณท่าน สส. ฐิติกันต์ ที่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ เรียนด้วยความ เคารพผมเองก็เป็น สส. จากเชียงใหม่ ไม่เคยรู้เรื่องพื้นที่ตรงนี้เลย อันนี้ด้วยความเคารพ จนกระทั่งมาเป็นรัฐมนตรีเรื่องก็ไม่เคยมาถึงโต๊ะ เมื่อท่านมีกระทู้ถามมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่อย่างน้อยปัญหาของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตในกลุ่มนี้ได้มาถึงฝ่ายบริหาร ผมเองมาเห็นปัญหาก็รับทราบแล้วว่าเป็นเรื่องที่มันคาราคาซังมาหลายสิบปี ผมเองรับภาระ ท่านว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว ในเรื่องของราคาที่ยังเป็นปัญหานั้น ปัญหาที่มัน มีค้างกันอยู่ก็คือ ด้วยกลไกการคำนวณคิดราคาตั้งแต่ปีที่ซื้อปีที่ซื้อคือปี ๒๔๐๐ กว่า เอามา ตั้งเป็นฐาน ปี ๒๕๒๐ แล้วคิดคำนวณ ๗.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทำให้ราคามันต่ำกว่าราคาตลาด ไปมาก นี่เป็นข้อท้วงติงของทางกฤษฎีกา แต่เป็นประโยชน์กับประชาชน ตรงนี้ผมเอง ก็รับโจทย์ไว้ แล้วก็ขอทดไว้ในใจ แล้วก็จะดูว่าในคณะรัฐมนตรีเราจะพอหาทางอย่างไร แน่นอนต้องคืนสิทธินี้ สิทธิในพื้นที่นี้ให้กับประชาชน ๒. ก็คือในเรื่องราคาต้องเป็นราคา ที่เกิดประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุด แล้วก็ไม่กระทบจนเกิดความเสียหายต่อรัฐ อันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องยืนยันผ่านท่านประธานไปยังท่านสมาชิก ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นใดถึงเวลามันก็ จะมีค่าธรรมเนียมขึ้นมา แต่ผมเล่าให้ท่านฟังว่าสุดท้ายมันก็อยู่ในกรอบอำนาจของ ฝ่ายบริหารและในฝ่ายราชการ ท่านอธิบดีเองในการที่จะปรับลดหย่อนในบางกรณีเพื่อให้ การคืนสิทธิกับประชาชนสำเร็จได้ เรารับโจทย์มา และผมเองก็ขอเรียนกับท่านว่าถ้ามีโอกาส ก็จะขอลงไปพื้นที่ไปพบปะกับพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้ที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อที่จะดูปัญหา ของเขาแล้วก็หาทางแก้ไขต่อไปครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประเด็นแรกเลยที่ผมนำเสนอในเบื้องต้นแล้วผมก็บอกว่า Keyword มันคืออะไร มติ ครม. ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ บอกว่าการขายที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแล้วประกอบอาชีพคืนให้กับราษฎร ในราคาที่ผู้ซื้อรับภาระได้ เพราะฉะนั้นโจทย์มันมีมติ ครม. เดิมที่ช่วยมาคุ้มครองอยู่ เราเองก็ จะยึดหลักการนี้ เขาเสียสละที่ดินให้กับรัฐ โดนบังคับขายในอดีต วันนี้เป็นสิทธิที่เขาจะต้อง ได้รับพื้นที่นี้คืนไป แล้วก็อย่างที่ได้เรียนคือรับเป็นโจทย์ ตั้งโจทย์อันนี้ไว้ว่าอย่างน้อยจะต้อง คืนให้เขาได้ในราคาที่เป็นธรรม อันนี้ขอยืนยันผ่านท่านประธานไปยังท่านสมาชิก
คำถามข้อที่ ๒ ของท่าน ผมต้องเรียนอย่างนี้ว่าในระหว่างที่รอดำเนินการ โอนกรรมสิทธิ์เพื่อขายคืนที่ดินดังกล่าว ในกลุ่มที่ ๑ และกลุ่มที่ ๒ ราษฎรมีสถานะเพียง ผู้ครอบครองที่ดินราชพัสดุเพื่อรอให้ดำเนินการไปเป็นตามมติของ ครม. ยังไม่มีสิทธิในที่ดิน ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้เช่าที่ราชพัสดุ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จึงกระทำได้เพียงแต่ ไม่ก่อให้เกิดภาระผูกพัน อันส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการที่ราชพัสดุในภายหน้า ประเด็นนี้ถ้าเขียนอย่างนี้คำตอบก็คือไม่ได้ ผมเองก็ต้องเรียนว่าอย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของราษฎรที่อยู่อาศัยมันก็มีช่องทางที่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งรัฐสามารถ ดำเนินการในกลุ่มที่มีการบันทึกสอบสวนสิทธิไว้แล้วให้ได้รับการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัย และได้รับประโยชน์ของการขอสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตามความจำเป็นต่อ การดำรงชีวิต ซึ่งกรมธนารักษ์กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากเราดำเนินการในรูปแบบ ของการเช่า นั่นก็คือเรารู้ว่าเขากำลังจะเดินหน้าเพื่อที่จะซื้อคืนในพื้นที่นั้น ๆ แต่เราสามารถ ที่จะดำเนินการในรูปแบบของการเช่า ซึ่งเช่าผมเรียนว่าถูกมาก เมื่อสักครู่ผมตอบกระทู้ถาม สดข้างบนก็เป็นการพูดถึงเรื่องการเช่าที่ของราชพัสดุ ซึ่งเรากำหนด Rate ค่าเช่าหากเป็น ที่อยู่อาศัยไม่เกิน ๑๐๐ ตารางวา คิดตารางวาละ ๒๕ สตางค์ต่อตารางวาต่อปี ถูกมาก ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรไม่เกิน ๕๐ ไร่ เราคิด ๒๐ บาทต่อไร่ต่อปี คือถูกมาก มันเป็นกลไก ที่จะสามารถเข้ามาแทรกกลางระหว่างขั้นตอนได้ หากพี่น้องประชาชนมีความพร้อมและ ยินยอมเข้าสู่การเจรจากับทางกรมธนารักษ์ เข้าสู่กระบวนการเช่าที่ราชพัสดุในเบื้องต้นก่อน ก่อนที่กระบวนการในเรื่องของการขายที่มันจะเสร็จสิ้น เมื่อเข้าสู่การเช่าใช้พื้นที่ของ ราชพัสดุแล้ว สิทธิในการพัฒนาในการทำสาธารณูปโภคเหล่านี้ท่านจะได้ไปโดยทันที อันนี้เป็นทางออกทางหนึ่งที่ลองนำเสนอ เผื่อที่ท่านในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน จะไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในกลุ่มนั้น ๆ ว่านี่คือทางออกทางหนึ่งในการที่จะรับสิทธิ ขั้นพื้นฐานในเรื่องของการเข้าถึงสาธารณูปโภคเหล่านั้น หากทางประชาชนมีความพร้อม และยินยอมทางธนารักษ์เรายินดีที่จะดำเนินการให้ครับ ขอบพระคุณครับ