ท่านประธานครับ นพดล ๑๗๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ นพดล ๑๗๗ เห็นด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก่อนที่จะพูดถึงรายงานประจำปีของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ผมขออนุญาต กราบเรียนดูป่าทั้งป่าเรื่องการศึกษาสักนิดหนึ่งก่อนนะครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่า ปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทยมันมีอยู่ ๒ เรื่อง ก็คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ เรื่องของคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำบางคนอาจจะใช้คำว่าเสมอภาค หรือใช้คำว่าโอกาส ก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเราหนีไม่พ้น ๒ เรื่องใหญ่ซึ่งเราต้องจัดการ ปัญหาของประเทศไทย ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาในเชิงระบบ เรามีกรรมการเต็มไปหมดเลยครับท่านประธาน เราลองดูนะครับ เรามีคณะรัฐมนตรี เรามีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เรามีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เรามีกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าลงไปในระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐานมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยเต็มไปด้วยคณะกรรมการ ไปหมด เพราะฉะนั้นมันจึงมีปัญหาเรื่อง Accountability หรือความรับผิดชอบทางการเมือง หลายประเทศความรับผิดชอบทางการเมืองว่าคุณล้มเหลวหรือไม่อยู่ที่คณะรัฐมนตรี แต่หลายเรื่องอำนาจของคณะรัฐมนตรีถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ เพราะเรามีคณะกรรมการ อิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น เมื่อไม่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนมันก็มีปัญหาว่า ความล้มเหลวใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ผมดูตัวชี้วัดนิดหนึ่ง ท่านประธานครับ มันมีตัวชี้วัด หลายตัว เรามาดูว่าไม่ว่าท่านจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาทางการศึกษาของไทย การจัดอันดับทางการศึกษา การทดสอบทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน อ่านภาษาไทยด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ของ PISA Programme for International Student Assessment ของ OECD คะแนนประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ อยู่ที่ ๔๒๓ ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ ๓๙๓ ปีล่าสุดนะครับ ปีสุดท้ายยังไม่ได้ประกาศผล ท่านประธานที่เคารพครับ ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งผมจะให้ท่านดูเรื่องของภาษาอังกฤษ ท่านจะเห็นลดลำดับมาเรื่อย ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ มีปี ๒๕๖๕ เพิ่มเข้ามา ๓ ลำดับอยู่ที่ ๙๗ เมื่อปี ๒๕๖๔ อยู่ลำดับที่ ๑๐๐ เราแพ้หลายประเทศ อันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป อันนี้คือ ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าท่านจะใส่งบประมาณไปเท่าไร ท่านจะมีแผนปฏิรูปไปเท่าไร ท่านจะมีแผนการศึกษาแห่งชาติไปเท่าไร ท่านจะมี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไปเท่าไร ท้ายที่สุดนี่คือตัวชี้วัดที่เป็นพยานหลักฐานชัดเจนที่สุดว่าการศึกษาไทยเรามาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกพูดชัดเจนนะครับ ถ้าเราเพิ่มคะแนน PISA เราจะเพิ่ม GDP เราจะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ ทีนี้กลับมาดูต้นไม้ที่มีค่าที่เรียกว่า สมศ. ในป่าใหญ่ ๆ ของการศึกษา ผมชื่นชม สมศ. ด้วยความจริงใจ ในฐานะที่เป็นลูกครูประชาบาลเด็กต่างจังหวัดมาเป็นเด็กวัดที่กรุงเทพฯ แล้วก็ได้เรียนหนังสือ ผมชื่นชมการทำงานของท่าน ขอบคุณท่าน แล้วก็ขอให้ท่าน ประสบความสำเร็จ ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูงบประมาณสิครับ บทบาทของ สมศ. นี่สำคัญมาก ดูงบประมาณครับ ปี ๒๕๖๔ อยู่ที่ประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ลดลงมาอยู่ที่ ๕,๖๐๐ กว่าล้านบาท นี่เป็นตัวเลขงบประมาณหลังโควิดนะครับ การเกิดโควิด ซึ่งในรายงานของท่านได้สะท้อนปัญหาโควิดกระทบอะไรบ้าง ๑. กระทบเด็ก หลุดจากระบบการศึกษา ๒. กระทบ Learning Loss หรือการเรียนรู้ที่ถดถอย ๓. กระทบ ครอบครัวที่เปราะบาง ถ้าท่านตามข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อผูกคอลูก ๑๐ ขวบเสียชีวิต แล้วก็ผูกคอตัวเองตายเพราะว่าความยากจน แล้วในที่เกิดเหตุ มีจดหมายขอทุนจาก กสศ. ไม่ใช่ความผิดของ กสศ. ครับ แต่ความผิดของระบบทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าเงินไม่กี่พันบาทสามารถช่วยชีวิตคนได้ ผมเจ็บปวดครับท่านประธาน เห็นลูกหลานของเราต้องเสียชีวิตในสภาพแบบนี้เป็นเรื่องที่เศร้าครับ
ทีนี้มาประเด็นครับ ผมดูโครงการหลาย ๆ โครงการของท่านมีโครงการ พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา มีโครงการทุนนวัตกรรม มีโครงการ พัฒนาทักษะเยาวชน มีโครงการพัฒนาครู โครงการท่านเยอะ แต่งบประมาณส่วนใหญ่ ประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาทท่านไปช่วยกับกองทุนเสมอภาค ช่วยเด็กประมาณ ๑.๓ ล้านคน ผมใช้ตัวเลขหารดู ท่านประธานครับ ปีหนึ่งจะได้ประมาณครอบครัวละ ๒,๗๖๓ บาท ตกเดือนละประมาณ ๒๓๐ บาทต่อคน ซึ่งต่ำมาก อันนี้ไม่ใช่ความผิดของท่าน แต่เป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องสนับสนุนงบประมาณของท่านให้เพิ่มมากขึ้น ผมมาถึงจุดนี้ผมคิดว่าในเมื่อ ความจำกัดของงบประมาณ อยากจะเรียกร้อง อยากจะเสนอท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ว่า ระหว่างปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับปัญหาเรื่องคุณภาพ กสศ. ควรจะโฟกัสหรือเน้นที่เรื่อง ของความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก ทำให้ดีเลยครับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวเลขเด็กนอกระบบ เด็กยากจนพิเศษ เด็กจากครอบครัวที่มีปัญหา ให้มีข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อสนับสนุน การทำงานของประเทศ เน้นที่ความเหลื่อมล้ำ ถ้าท่านไปเน้นเรื่องคุณภาพด้วย ซึ่งมันมี หน่วยงานเยอะแยะไปหมด ผมว่างานจะอาจจะซ้ำซ้อนกันได้ อันนี้เป็นข้อเสนอแนะที่ผม เสนอให้ท่านกรุณาไปพิจารณานะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมมีเวลาอีก ๒๗ วินาที ขออนุญาตนิดเดียวเป็นข้อสุดท้ายอยากจะเสนอเผื่อจะเป็นประโยชน์ ผมมีข้อเสนอให้ท่านดู อย่างนี้ท่านประธานครับ
ประเด็นที่ ๑ ก็คือว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัด การศึกษา ต้องกระจายไม่กระจุก โครงสร้างที่ผ่านมาล้มเหลวแล้วก็เราต้องเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจโดยกระจายอำนาจการศึกษาให้มากขึ้นท่านประธานครับ ต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์ใหม่ กระจายให้โรงเรียน กระจายให้เขตพื้นที่
ประเด็นที่ ๒ ต้องสร้างหลักในแง่ความรับผิดชอบก็คือ Accountability ให้เกิดขึ้น ล้มเหลวอย่างไรองค์กรนั้นต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะผมคิดว่าความรับผิดชอบ ต้องกลับมาที่คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าจะให้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งท่านไม่รู้จะรับผิดชอบกับใคร
ประเด็นที่ ๓ พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเพิ่มคะแนน PISA จะเพิ่ม คะแนนอันดับความสามารถของเด็กไทยในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่ม GDP แล้วก็เพิ่ม ขีดความสามารถให้ประเทศ
ประเด็นที่ ๔ พวกเราถ้ามีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณให้ กสศ. อย่างแน่นอน ท่านประธานครับ เพื่อเพิ่มให้เด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ ตั้งเป้าครับ ครั้งแรกตอนมีกองทุนนี้ท่านควรจะมีงบประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทางด้าน การศึกษาทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่านั้น เราตั้งเป้าว่าจะต้องไป ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทางด้านการศึกษาให้ได้ เพราะงานของท่านมีประโยชน์โดยตรง กับเด็กลูกหลานของเรา
ประเด็นที่ ๕ ท่านประธานครับ ผมอยากจะให้ กสศ. เน้นที่แก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำพูดมาแล้ว โฟกัสที่เรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำให้เสร็จ เรื่องคุณภาพการศึกษา ให้โอกาสให้หน่วยงานอื่นได้ทำ
ประเด็นสุดท้าย ก็คือเป้าหมายของเราเด็กทุกคนอยากเรียนต้องได้เรียน อยากรู้ต้องได้รู้ ต้องไม่มีเด็กของเราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่านประธานครับ โครงการ Zero Drop Out หรือว่าการหลุดออกจากระบบการศึกษา ๐ คนต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ อันนี้ เป็นหน้าที่ของ กสศ. โดยตรง ในอดีตพรรคไทยรักไทยเคยมีโครงการหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะทำโครงการหลักประกันโอกาสทางการศึกษาถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นให้จงได้ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้เป็นการอภิปรายวาระที่สำคัญ ผมขออนุญาตรบกวนเวลาสภา ร่วมอภิปรายรับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศแล้วก็แผนยุทธศาสตร์ชาติ ท่านประธาน ที่เคารพครับ หลังรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เราจะสังเกตว่ามันมีบทบัญญัติ หรือเงื่อนไข หลาย ๆ เรื่องนะครับ ท่านลองดูครับ
การกำหนดกรอบทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลในการร่างนโยบายจะต้องทำตามแผนปฏิรูปประเทศ ในขั้นตอนที่ ๑ นะครับ ขั้นตอนที่ ๒ ก็คือมีเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ยังจะต้องทำ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการปฏิรูป ๑๓ คณะ มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และมีคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็มีรัฐธรรมนูญ คือประเทศไทยนี่ ผมอดคิดไม่ได้ว่าเป็นสังคมอุดมแผน แต่ขาดแคลน ความสำเร็จ นี่คือเป็นประเด็นแรกที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธาน
ทีนี้ปัญหาของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติกับปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ ท่านประธานครับ ผมไปศึกษาว่ามันมีรัฐธรรมนูญประเทศในบางพื้นที่มีเขียนในลักษณะ ประเทศไทย ของสหรัฐอเมริกาดูก็ไม่มี ของเยอรมนีดูก็ไม่มีนะครับ ของอิตาลีก็ไม่มี ท่านประธานที่เคารพครับ อันนั้นมันเป็นปัญหาในเชิงหลักการว่าคนที่ไปเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประธานร่างซึ่งเคยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามานี่ ท่านได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ แผนยุทธศาสตร์ชาติแม้ท่านใดจะบอกว่า มันมีความยืดหยุ่นก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าการกำหนดเป้าหมายไว้ ๒๐ ปี แล้วก็แก้ไข ไม่ง่ายครับท่านประธาน จะมีขั้นตอนในการแก้ไขพอสมควร ถ้าเราไปศึกษาใน พ.ร.บ. จัดทำแผนยุทธศาสตร์นี่ จะรู้เลยครับว่ามันมีขั้นตอนการจัดทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ยืดหยุ่น อย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งมันมีการแข็งตัวแล้วก็ต้องใช้เวลา
ประเด็นที่ ๓ ครับท่านประธานครับ ผมคิดว่าอันนี้ถ้าจะตั้งคำถาม มันเป็นส่วนขยายของรัฐราชการหรือไม่ การจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร หรือการจำกัดอำนาจ ของรัฐสภาในการที่จะพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการ ประชาธิปไตย เพราะว่าการทำงบประมาณหรือการทำนโยบายรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้นนะครับ
ประเด็นที่ ๔ ครับท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่ามันเป็นการกัดกร่อน หรือบั่นทอนหลักการความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร หรือ Accountability และขณะเดียวกัน เป็นการไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง เพราะถ้าประชาชนไปหาเสียง เลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองไปหาเสียงเลือกตั้ง แล้วพี่น้องประชาชนสนับสนุนนโยบายของ พรรคการเมือง แต่พอชนะเลือกตั้งเสร็จจะตั้งรัฐบาลจะต้องทำตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่บั่นทอนเจตจำนงของประชาชน
สรุปนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความไม่ไว้วางใจของคนร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการที่จะให้มีฝ่ายบริหารที่ไม่มีกรอบในการที่จะร่างนโยบายรัฐบาล ทีนี้ท่านประธานครับนั่นเป็นปัญหาในเชิงหลักการ ผมขออนุญาตเป็นปัญหาในเชิง เนื้อหาสาระที่ท่านได้รายงานมานะครับ ท่านประธานครับ ต้องยอมรับว่า ๕ ปีที่ผ่านมา ในแง่ของการปฏิรูปประเทศยังห่างไกลความสำเร็จ ยังห่างไกล ยังทำได้น้อย ผมขออนุญาต ดู Slide ถัดไปนิดหนึ่งครับท่านประธาน
ประเด็นแรกที่เป็นปัญหาในเชิงสารัตถะ หรือปัญหาในแง่เนื้อหา คือเนื้อหา ซ้ำซ้อน ถ้าท่านดูแนวนโยบายแห่งรัฐท่านจะเห็นครับ ในเรื่องของการพัฒนาความสามารถ ของประเทศมันมีอยู่ในมาตรา ๗๕ อยู่แล้ว แต่การปฏิรูปประเทศก็ยังไปเขียนในมาตรา ๒๕๘ ซ้ำอีกว่าเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน มาตรา ๗๕ ต้องพัฒนาความสามารถ ในการแข่งขัน ถ้าดูในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายในแนวนโยบายแห่งรัฐบอกว่ารัฐ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ท่านก็ยังไปเขียนในการปฏิรูปประเทศว่าดำเนินการ บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อยที่มันซ้ำซ้อนแล้วก็ซ้ำซาก ความจริงถ้าเขียนดีจะต้องเขียนว่าต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับ หลักนิติธรรม นี่จะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพมากกว่านี้
ประเด็นที่ ๒ ครับ นอกจากจะซ้ำซ้อนแล้วก็ซ้ำซากแล้ว ผมคิดว่าเวลานี้ มันไม่ใช่เวลาของการรอการปฏิรูปครับ ปัญหาหลายอย่างในประเทศนี้มันเป็นเวลาแห่งการ แก้ไขปัญหาลงมือทำทันที ผมยกตัวอย่างการรายงานในแผนรายงานการปฏิรูปของท่าน ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ท่านบอกว่ามีแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา PM2.5 ให้มีฝุ่นละอองเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าท่านจำได้ ว่าที่ผ่านมาฤดูกาลที่ผ่านมานี่ ฤดูหนาวที่ผ่านมานี่ปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาอย่างมาก เราไม่มีเวลาทำแผนแล้วครับ เราต้องลงมือ ผมคาดหวังที่จะเห็นท่านรายงานว่าแก้ปัญหา PM2.5 ฝุ่นข้ามแดนโดยการเจรจา MOU กับประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา เจรจากับผู้ผลิต อาหารสัตว์ ในแง่ของการกำจัดสิ่งเหลือทางด้านการเกษตร เปลี่ยนรถเมล์ใน กทม. เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถเมล์ไฟฟ้า หรือจัดหาเครื่องมือให้ชาวไร่อ้อยได้ตัดอ้อยโดยไม่ต้องเผา ผมอยากจะเห็นการรายงานความสำเร็จในลักษณะนี้ครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๓ ผมคิดว่าบางเรื่องที่รายงานนี่มันไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ แต่มันเป็น มาตรการ ยกตัวอย่างด้านการเมืองท่านรายงานบอกว่ามี Application ตาสับปะรด ผมคิดว่า มันไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ครับ ด้านบริหารราชการแผ่นดินมีระบบจองคิวเพื่อขอทำ Passport นี่ก็ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ มันเป็นมาตรการ ด้านกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีทนายอาสาที่สถานี ตำรวจจำนวนหนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่ความสำเร็จผลสัมฤทธิ์ครับ นี่เป็นมาตรการ ซึ่งผมคิดว่าผมเห็นใจ ท่านเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บางทีเราต้องไปควานหาผลสำเร็จที่ คิดว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์มารายงาน ก็น่าเห็นใจท่านนะครับ เพราะว่าท่านเป็น ฝ่ายเลขาของคณะกรรมการปฏิรูป ท่านประธานที่เคารพครับ เนื่องจากมีเวลาจำกัด ผมขออนุญาตลงลึกนิดเดียว เรื่องของการศึกษาหลายคนบอกว่ามันมีความสำเร็จ ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ครับ คือสภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย มันมีความซ้ำซ้อน มีคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็คือทำการปฏิรูปนั่นเอง มีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แล้วก็ยังมีกระทรวงศึกษาธิการ อันนี้การแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนี่ไม่ใช่เรากลัดกระดุมผิดเม็ดครับ แต่เรา มีกระดุมหลายเม็ดจนเกินไปเพื่อที่จะลงในรังดุมรังเดียวนี่มันทำไม่ได้ มันทำไม่สำเร็จ ผมคิดว่าเราต้องมาดูเรื่องตัวเลขกันนิดหนึ่งครับ ปัญหาการศึกษามันมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง อย่างที่ผมบอกเรามีคณะกรรมการมากเกินไป แล้วก็เรายังเกาไม่ค่อยถูกที่คันเท่าที่ควร ปัญหาพื้นฐานทางการศึกษามีอยู่ ๒ เรื่องครับ ๑. ความเหลื่อมล้ำ ๒. เรื่องคุณภาพ ท่านประธานที่เคารพครับ เรื่องความเหลื่อมล้ำนี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อวาน นักวิชาการทางด้านการศึกษาได้ให้ข้อมูลครับ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ ลูกหลานของเรา ซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของเรานี่หลุดจากระบบการศึกษา ๑๐๐,๐๐๐ คน เศร้าไหมครับ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ๑๐๐,๐๐๐ คน ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูเรื่องของการศึกษา ปฐมวัยนิดหนึ่ง กสศ. งบประมาณน้อย ท่านประธานครับ ปี ๒๕๖๕ ได้งบประมาณประมาณ ๕,๖๐๐ ล้านบาท เด็กได้คนละ ๓,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ คน ต่อ ๑ ปี เท่ากับเดือนละ ๒๕๐ บาท มันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เรื่องของการศึกษาปฐมวัย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชื่อเฮคเมน เขาพูดชัดเจนครับ การลงทุนในเด็ก ๑-๖ ปี ให้ผลตอบแทน ๗ เท่า เขาศึกษามาแล้วครับ เพราะฉะนั้นถ้าปฏิรูปการศึกษาแล้วยังอิดออดในการสนับสนุน งบประมาณให้ กสศ. ถือว่าเกาไม่ถูกที่คันครับท่านประธาน ทำไมครับ สมองของเรานี่ ๐-๖ ขวบนี่สมองพัฒนาเซลล์สมองพัฒนา จะเป็นคนดีหรือไม่ดีที่เป็นผู้ใหญ่นี่ขึ้นอยู่กับ การพัฒนาสมองช่วง ๖ ปี เพราะฉะนั้นอุปมาอุปไมยเหมือนการปั้นปูนนะท่านประธานครับ ถ้ามันแข็งแล้วมันปั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมองของเด็กนี่ ๐-๖ ปีนี่มันจะพัฒนา แล้วเรา ต้องลงทุนในเด็กของเรา ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูเรื่องของผลสัมฤทธิ์ที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผมขอดู ในรายงานของท่าน บอกว่าปี ๒๕๖๔ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒๙,๐๐๐ กว่าแห่ง สิ่งซึ่งเราคาดหวังก็คือมันต้องมี รายงานว่ามีการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒๙,๐๐๐ เป็น Smart Daycare หรือเป็น ศูนย์เด็กเล็กอัจฉริยะ มีมาตรฐานชาติด้านการดูแลเด็ก ด้านโภชนาการ สื่อการเรียนรู้ สนามเด็กเล่น ครูปฐมวัย สุขภาวะ และความปลอดภัย นี่คือสิ่งซึ่งเราคาดหมายจะได้รับ จากการปฏิรูปประเทศไม่ใช่มารายงานในเชิงปริมาณ ท่านประธานครับขอเวลาอีกนิดเดียว มาดูว่าที่ทำสำเร็จหรือไม่นี่ ขอดู ๓ ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดแรก ทำโดยประเทศไทย เป็นสถาบันทดสอบทางการศึกษาของชาติ ท่านเห็นผล O-NET ของชั้น ม.๓ ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๔ ชัดเจนครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ลดลงครับ ยกเว้นวิทยาศาสตร์ ๆ เพิ่มขึ้นนิดเดียว มาดูตัวชี้วัด อีกตัวหนึ่งครับ ท่านประธานที่เคารพครับ อันนี้ผมขออนุญาตพูดซ้ำนะครับ วันนั้นอภิปราย ไปแล้วก็คือเรื่องของ PISA ท่านประธานที่เคารพครับ แม้แต่การอ่านของเรายังคะแนนลดลง จาก ๔๐๐ กว่าหรือ ๓๙๓ การอ่านภาษาไทยด้วยนะครับไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษ เพราะอะไร เพราะการออกแบบทดสอบของ PISA ก็คือทดสอบ Critical Thinking หรือการคิด ในเชิงวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นเราต้องเพิ่มมาตรฐานในส่วนนี้ อย่างที่ผมบอกเพิ่มคะแนน PISA เพิ่ม GDP เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดูตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งครับท่านประธาน อันดับ PISA ลดลง ๕๑ จาก ๖๖ ประเทศ ๕๐ จาก ๖๕ ประเทศ ๕๕ จาก ๗๑ ประเทศ ๖๖ จาก ๗๙ ประเทศ ปีล่าสุดอยู่ ๖๖ จาก ๗๙ ประเทศ หรือ ๑๓ ลำดับจากรั้งท้าย ท่านประธานครับ ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งคือภาษาอังกฤษลดลงตลอดครับ ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นมา ๓ ลำดับ ภาษาอังกฤษเราอ่อนเรารู้ และเมื่อสักครู่ อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย แต่มันยังไม่สัมฤทธิผล ท่านประธานที่เคารพครับ การลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา พรรคไทยรักไทยเคยทำเรื่องโครงการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมและหน้าที่ ทางการเมืองของพรรคการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะตั้งขึ้น เราจะทำ โครงการหลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง เพื่อทำให้เราเพิ่มขีด ความสามารถของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมครับท่านประธานครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธาน ๑๗๗ แสดงตนครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน ที่เคารพครับ วันนี้ผมใส่ชุดดำมาขออนุญาตมาคารวะดวงวิญญาณของผู้บริสุทธิ์ ปีละ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน ล่าสุดครอบครัวชาวมาเลเซียขับรถที่บริเวณ Motorway มีรถย้อนศร เข้ามาแล้วก็ชนกับรถของชาวมาเลเซียผู้บริสุทธิ์ คุณแม่อายุ ๓๐ กว่าเสียชีวิต กอดลูกอายุ ๒ เดือน แล้วก็ลูกเสียชีวิตด้วยเช่นกัน และขณะเดียวกันก็มีลูกอายุ ๕ ขวบ ซึ่งเข้า โรงพยาบาลแล้วตื่นขึ้นมาคงจะกำพร้าแม่ ท่านประธานที่เคารพครับ เรื่องอุบัติเหตุบน ท้องถนนนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราพูดกันหลายครั้ง สภาอภิปรายมาหลายครั้งว่าเสียหายปีละ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท คนบาดเจ็บปีละเป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน ตายปีละเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน ประเทศไทยยังติดลำดับอันดับที่ ๑ ของอาเซียนที่มีอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุด แล้วติด ลำดับที่ ๘ ของโลก เราพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกครับ แต่ปัญหานี้ยังดำรงอยู่ ผู้บริสุทธิ์ยังต้องตาย ทุกวันผมไม่อยากให้ความตายเป็นความเคยชินของสังคมไทยครับ วันนี้ขออนุญาตลุกขึ้นมา เพื่อทวงความเป็นธรรมให้คนที่ไม่ควรตายจากอุบัติเหตุ ท่านประธานที่เคารพครับเราไม่ควร จะรอให้เป็นญาติของเรา ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา รัฐสภาช่วยได้ รัฐบาลช่วยได้ หน่วยงาน ของรัฐช่วยได้ ผมมาย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งวันนี้โดยมีข้อเสนออยู่ ๕ ข้อ ในเวลาแค่ ๒๕ วินาที เรื่องแรก อันเดียวที่ต้องทำเร่งด่วนก็คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีประเทศใด ในโลกที่ย่อหย่อนกฎหมายแล้วประเทศเจริญครับท่านประธาน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อังกฤษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดทั้งนั้นครับถึงเจริญ เพราะฉะนั้นก็ฝาก ท่านนายกรัฐมนตรี ฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้บริสุทธิ์ด้วยครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เมื่อ ๒๗ ปีที่แล้วเมื่อผมเป็น สส. สมัยแรกก็ได้มาอภิปรายในสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นมาตรา ๒๑๑ ซึ่งต้องให้เครดิตกับรัฐบาล ในขณะนั้นคือ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา และสภาในขณะนั้นได้ผลักดันจนมีการเลือกตั้ง สสร. วันนี้ ๒๗ ปีผ่านไปก็ต้องมาอภิปรายประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ท่านประธาน ที่เคารพครับ วันนี้ผมจะไม่เสียเวลาท่านประธานเพื่อมาอภิปรายว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ นั้นไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร วันนี้ผมจะไม่มาอภิปรายว่าเนื้อหา รัฐธรรมนูญในอุดมคติควรจะมีเนื้อหาในเรื่องใดบ้าง และวันนี้คงจะไม่มาอภิปรายว่า พรรคการเมืองได้มีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยมั่นคงกว่ากัน เพราะเรื่องนั้นก็คงจะสามารถ ตรวจสอบดูได้จากการดำเนินการของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในอดีต พรรคเพื่อไทยนั้น เคยพยายามเสนอกฎหมายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขให้มี สสร. ๒ ครั้งที่มาจากการเลือกตั้ง ของประชาชนแต่ไม่สำเร็จนะครับ ซึ่งคงไม่มีเวลาที่จะมาอธิบายว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เดือนสิงหาคมแล้วก็เดือนมิถุนายนแต่ก็ไม่สำเร็จ ผมคิดว่า ญัตติที่เสนอในวันนี้เป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วยในหลักการว่าควรจะมีการทำประชามติเพื่อตั้ง สสร. ให้มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันนั้นผมเห็นด้วย แต่ประเด็นไม่ใช่ว่าเราควรจะมี สสร. หรือไม่ แต่ประเด็นเราจะแก้ไขกฎหมายให้สำเร็จได้อย่างไรมากกว่าที่เป็นประเด็นในขณะนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายมั่นคงชัดเจนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายว่าจะมีการตั้ง สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นเป็นนโยบายหรือเป็นสัญญาหาเสียงหรือ Eelectoral Pledge ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็ได้มีมติการตั้งกรรมการ เพื่อมาศึกษาในการจัดทำประชามติเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ท่านประธานที่เคารพครับ มีบางคนบอกว่าการทำเช่นนั้นเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งผมอยากกราบเรียนว่าประเด็น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก แล้วก็มีความท้าทาย มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้ามีการปรึกษาหารือกันจากภาคส่วน ต่าง ๆ ทั้งเอกชน สื่อมวลชน พรรคการเมือง วุฒิสภา ผมคิดว่าจะทำให้โอกาสในการแก้ไข รัฐธรรมนูญให้มี สสร. มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุดครับ ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่า การใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่กี่สัปดาห์ ผมเข้าใจว่าท่านรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือนและก่อนปีใหม่ ซึ่งเหลือเพียงประมาณ ๒ เดือนเท่านั้นเอง เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคมควรจะต้องมี ข้อสรุป แล้วผมคิดว่าถ้าเกินกว่าปีใหม่ไปมากก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการซื้อเวลาได้ แต่ในขณะนี้ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลต้องการซื้อเวลานะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ดูองค์ประกอบของคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นก็มีองค์ประกอบหลายฝ่าย มีทั้งสื่อมวลชน มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าใจว่ามีวุฒิสมาชิกด้วย แล้วก็มี ภาคเอกชนด้วย รวมทั้งนักวิชาการ เพราะฉะนั้นผมมั่นใจว่าครั้งนี้รัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ เราจะมาสร้างประวัติศาสตร์ในการที่จะตั้ง สสร. แล้วก็มาร่างรัฐธรรมนูญที่คิดว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผมมั่นใจว่าตัวชี้วัดของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอสมควร แต่เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ครับ เราก็มี วัตถุดิบ มีองค์ความรู้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก คิดว่าน่าจะทำ ได้ดี
ทีนี้มาถึงประเด็นความตั้งใจของรัฐบาลซึ่งผมไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลย วันนี้ผมลุกขึ้นมาอภิปรายนี่ผมเห็นด้วยในการทำประชามติ อยากจะกราบเรียนท่านประธาน และพี่น้องประชาชนที่ติดตามการอภิปรายว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนมั่นคงแน่วแน่สนับสนุน เดินหน้าทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ของประชาชนในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หวังว่าในวันพรุ่งนี้การพาดหัว ก็คงจะไม่บอกว่ารัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำญัตติเพื่อที่จะขวางการทำประชามติ คงไม่ใช่เช่นนั้นนะครับ ผมอยากจะกราบเรียนว่าความท้าทายในญัตติของวันนี้มันมีอยู่ ๒-๓ ประเด็นที่อาจจะไม่ผ่านและไม่บรรลุผล
ประเด็นแรก ก็คือว่าการเสนอญัตติเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อส่ง ให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติตามมาตรา ๙ (๔) ของ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามตินั้น นี่มันไม่ใช่เสียงของสภาผู้แทนราษฎร มันเป็นมติของรัฐสภา ซึ่งผมเข้าใจว่าถ้าใช้คำเช่นนั้น คงจะต้องไปขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง เราลองคิดดูสิว่าญัตตินี้จะผ่าน หรือได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือไม่ นั่นเป็นประเด็นแรก
ประเด็นที่ ๒ ถ้าสมมุติว่ารัฐสภามีความเห็นชอบแล้วส่งญัตตินี้ไปให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อทำการออกเสียงประชามติ คณะรัฐมนตรีก็ยังมีดุลยพินิจ หรือ Descretion ในการที่จะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ อันนั้นก็ยังเป็นความท้าทาย ขั้นตอนที่ ๒
ประเด็นที่ ๓ คณะรัฐมนตรีในขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา หาแนวทางการทำประชามติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์ ผมใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่เวลาเป็นเดือนครับ ก็ไม่น่าจะเป็นการซื้อเวลาหรือเสียเวลามาก จนเกินไปสำหรับการหาฉันทานุมัติ หาความเห็นชอบ หาการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ในการที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปนะครับ
ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่คงจะต้องทำความเข้าใจกับท่านประธานสภา และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในขณะนี้ พรรคเพื่อไทยเคยเสนอให้มี สสร. ๒ ครั้งในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ในเนื้อหาของการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ พรรคเพื่อไทยเขียนไว้ชัดเจนว่า เราจะไม่แก้ไขหมวด ๑ และหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ ถ้าท่านประธานกรุณาพิจารณา ญัตติที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้จะเห็นว่าคำถามในการออกเสียงประชามติค่อนข้างกว้าง เพราะฉะนั้นก็คือการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่มีกรอบใด ๆ ซึ่งท่านจะให้เหตุผลว่า คุณกลัวอะไรในเมื่อตัวแทนจากประชาชนจะเป็นคนเลือก สสร. ก็ให้เขามีเสรีภาพในการร่าง แต่จุดยืนที่มั่นคงของพรรคเพื่อไทยก็คือพรรคจะไม่แก้ไขหมวด ๑ และหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ นั่นเป็นประเด็นที่ชัดเจนที่เห็นแตกต่างกันในแง่ของคำถาม
ประเด็นที่ ๒ ผมเห็นว่าโอกาสที่ญัตตินี้จะประสบความสำเร็จก็จะต้องฝ่าฟัน หรือจะต้องข้ามความท้าทาย ๒-๓ เรื่องอย่างที่บอก ความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะต้องไปให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีดุลยพินิจในการที่จะไม่เห็นชอบด้วย ซึ่งเรื่องนั้นก็เป็น ความท้าทายและโอกาสจะประสบความสำเร็จผมคิดว่าไม่ค่อยมากนะครับ เพราะฉะนั้น ผมก็เลยเห็นว่าการที่เราจะรอเวลาสักประมาณไม่กี่สัปดาห์หรือไม่เกิน ๒ เดือนที่จะให้ คณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นมาได้พิจารณาสอบถามความคิดเห็นอย่างรอบคอบ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เรามีโอกาสที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับมี สสร. ไปร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยตั้งใจจริงในการที่จะให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น แล้วผมมีความมั่นใจว่าสัญญาที่เราให้ไว้กับพี่น้องประชาชนในครั้งนี้เราจะทำตาม โดยไม่บิดพลิ้ว แล้วก็มั่นใจว่าเมื่อเวลามาถึงเราคงจะได้มีการอภิปรายอีกครั้งหนึ่งว่าเนื้อหา ของการแก้ไขหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลหรือของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ขอบคุณท่านประธานที่เคารพครับ
ท่านประธานครับ นพดล ๑๗๗ แสดงตนครับ