นายดนุชา พิชยนันท์

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพและท่านสมาชิกนะครับ ต่อคำถามของ ท่านพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับว่าที่เราต้องมารายงาน กับสภาทุก ๓ เดือนนี้เป็นการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ทีนี้ในหมวด ๑๖ ที่เป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศนี่นะครับ อันนี้ผมต้องขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับว่า ในการติดตามการปฏิรูปประเทศก็คงจะต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องไปนะครับ เพียงแต่ว่า ในการรายงานกับสภานั้นก็คงจะเป็นการรายงานในลักษณะของรายงานประจำปีที่จะมี รายงานทุกปีนะครับ โดยการรายงานทุก ๓ เดือนนี้คงจะไม่ได้มีการรายงานแล้วนะครับ เพราะว่าอันนี้มันอยู่เรื่องบทเฉพาะกาล ๕ ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ของทางท่านสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมาติดตามนั้น อันนี้ผมต้องขออนุญาตเรียนว่าคงต้องมีการปรึกษาหารือกันนิดหนึ่งครับ กับการแก้ข้อกฎหมายครับ เพราะทางสำนักงานเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในการรายงานตามบทเฉพาะกาลทุก ๓ เดือน การรายงานครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายครับ แล้วก็ จะไม่ได้มีการรายงานอีก ส่วนอย่างไรก็ตามในเรื่องของการปฏิรูปประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะ ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ทางสำนักงานก็จะนำเสนอมา เป็นลักษณะของรายงานประจำปีครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้เดี๋ยวผมต้องไปคุยกับทางฝ่ายกฎหมายเหมือนกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่ว่าเรื่องรายงาน ๓ เดือนนี่ผมเรียนว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบพระคุณครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ กระผม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ จะขออนุญาตตอบข้อซักถาม แล้วก็ในบางเรื่องอาจจะต้องขออนุญาต รับไปเพื่อที่จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะนำข้อมูลต่าง ๆ มาแจ้ง กับท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอีกครั้งหนึ่งในภายหลัง ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณนะครับ ในข้อเสนอแนะ แล้วก็ข้อคำถามต่าง ๆ ที่ท่านสมาชิกได้มีคำถามมา แล้วก็ได้ให้ข้อเสนอแนะ มานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตไปที่ข้อแรกก่อนนะครับ ที่ท่านทวี สอดส่อง ได้สอบถาม เรื่องของการดำเนินงานภายหลังจากนี้ หลังจากสิ้นสุดแผนปฏิรูปแล้วอำนาจของ สว. เป็นอย่างไร อันนี้ผมขออนุญาตเรียนว่าผมได้ประสานไม่เป็นทางการกับทางหน่วยงาน ด้านกฎหมาย และทราบอย่างที่ผมเรียนในตอนต้นนะครับว่าอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เรื่องของการปฏิรูปประเทศของ สว. ชุดปัจจุบันที่อยู่ ณ เวลานี้เป็นอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มเติม ขึ้นมาภายใต้มาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ แล้วก็เรื่องของการรายงานทุก ๓ เดือน ก็อยู่ในมาตรานั้นด้วยเช่นกันนะครับ ทีนี้หลังจากที่สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันหมดอายุแล้ว หลังจากนี้ก็คงจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การกลั่นกรองกฎหมาย เรื่องของการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็การให้คำแนะนำ หรือว่าการให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งได้กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ถ้าหากวุฒิสภาชุดถัดไปท่านเห็นว่าอยากจะมาติดตามหรือสอบถามเรื่องของ การปฏิรูปประเทศก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้อำนาจหน้าที่ในเรื่องของการติดตาม การบริหารราชการแผ่นดินนะครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้รับคำตอบจากหน่วยงานทางด้าน กฎหมายนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งนะครับ สำหรับในเรื่องข้อคำถามของท่านสมาชิก แล้วก็ มีบางเรื่องที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ คำถามของท่านสมาชิกที่บอกว่า แผนปฏิรูปประเทศไม่ได้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับว่า ในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศเมื่อตอนเมษายน ช่วงปี ๒๕๖๐ ต่อด้วยปี ๒๕๖๑ เรามีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปทั้งหมด ๕๖ ครั้งทั่วประเทศ ที่แน่ ๆ เรามี การจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ๔ ภาค แล้วก็มีการจัดการรับฟังความคิดเห็น ในช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ ซึ่งก็มีพี่น้องประชาชนให้ความเห็นเข้ามาหลากหลาย แล้วก็ สำหรับการที่มีการปรับปรุงตัวแผนการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ท่านอาจจะเห็นว่ามันเป็น เล่มหนา ๆ ประมาณ ๑๐ กว่าเล่ม แล้วก็เหลืออยู่เป็นเล่มเล็ก ๆ อยู่แค่ด้านละประมาณ ๕ เรื่อง ซึ่งเรียกว่า Big Rock นี่นะครับ ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าสิ่งที่เราปรับส่วนใหญ่ ก็จะเป็นไปตามความเห็นของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ได้มีการให้ ความเห็นไว้ในช่วงแรกที่เราได้มีการดำเนินการเรื่องการปฏิรูปประเทศว่ามันอาจจะมี เรื่องเยอะเกินไป อาจจะดึงเอาแต่เฉพาะตรงส่วนที่มันสามารถจะเห็นผลได้ในทันทีขึ้นมา ก็ได้มีการปรับปรุงตัวนั้นในภายหลังต่อมา แล้วก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่เป็นเรื่องของตัวกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ๓๕ ฉบับนะครับ ผมขออนุญาตเรียนข้อมูลเพิ่มเติมอย่างนี้ครับว่าใน ๓๕ ฉบับ มันจะมีอยู่ ๔ ฉบับที่หน่วยงานรับผิดชอบเห็นว่าสามารถใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วได้นะครับ ส่วนอีก ๓๑ ฉบับก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ เนื่องจากว่าเราได้สอบถามไปที่ทางหน่วยงาน ต้นทาง เพราะว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปีหรือว่ารายงาน ตามมาตรา ๒๗๐ ที่รายงานทุก ๓ เดือน ความก้าวหน้าทางด้านการปฏิรูปประเทศ แล้วก็ ได้ประสานข้อมูลกับทางหน่วยงานนะครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เดี๋ยวก็จะต้องไปดูว่า ในอีก ๓๑ ฉบับที่เหลืออยู่ในขั้นตอนใดบ้าง เพราะต้องเรียนว่าเรื่องการร่างกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องแล้วก็มีผลกระทบในวงกว้าง หน่วยงานก็คงจะต้องดู ด้วยความรอบคอบเหมือนกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต้องขออนุญาตเรียนอีกครั้งหนึ่งว่าในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ในช่วง ที่ผ่านมานี่นะครับ อย่างที่เราทราบกันว่าเราโดนเรื่องของวิกฤติ COVID-19 ไป ๒ ปี ช่วงปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งก็ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มันสะดุดไปบ้าง แต่ว่าก็ได้ มีการเร่งดำเนินการในช่วงหลังนะครับ ในส่วนของผลที่เกิดขึ้นในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ตามรายงานที่ได้มีการรายงานไว้นี่นะครับ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับว่าในการปฏิรูป ประเทศ เรายึดเป้าหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในรัฐธรรมนูญจะมีการกำหนดเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ ๖ ด้าน แล้วก็มีการกำหนด ตัวผลที่คาดว่าอย่างน้อยควรจะต้องให้เกิดขึ้นนะครับ ขออนุญาตยกตัวอย่างเช่นเรื่องของ การบริหารราชการแผ่นดิน ในตัวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็มีการบอกว่าต้องมีการนำ เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการ สาธารณะต่าง ๆ หรือว่าในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างก็ควรจะต้องมีระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีความคล่องตัว เปิดเผยตรวจสอบได้ หรือว่าในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมี การกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอน เป็นต้นนะครับ ซึ่งในแต่ละเรื่องจะเห็นว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องที่พยายามทำให้เกิดกลไก หรือกระบวนการทำงานที่จะนำไปสู่การดำเนินงานปฏิรูปได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป เพราะว่าแน่นอนครับ การปฏิรูปประเทศนี่แม้ว่าในข้างต้น ๕ ปีที่ผ่านมาก็เดินไปได้ ประสบ ความสำเร็จไปได้ระดับหนึ่งนะครับ แต่ว่าก็ยังคงต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะ ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นในส่วนที่เรามีการดำเนินการจัดทำ รายงานในครั้งนี้ก็ได้มีการพิจารณาจากสิ่งที่กำหนดไว้ในผลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า อย่างน้อยต้องให้เกิดอะไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตนำเรียนข้อมูลอย่างนี้ครับว่าในเรื่องของการให้บริการของรัฐ ต่าง ๆ ที่ได้มีการพูดถึงว่าอาจจะยังไม่ได้มีการปรับปรุงไปมาก ผมก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการภาครัฐเองปรับไปสู่ระบบ Digital มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะ เรื่องของการให้บริการประชาชน เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับในเรื่องของ การให้บริการประชาชน ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนก็ได้มีการปรับให้เป็น ระบบ Digital ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ทั้งหมดมีอยู่ ประมาณ ๒,๔๒๐ บริการที่สามารถจัดทำให้เป็นระบบ Online ได้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มี การดำเนินการไปแล้วประมาณ ๘๘๙ งานบริการนะครับ ซึ่งก็จะแยกเป็นเรื่องของ งานบริการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต แล้วก็การขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ ในระบบ Online ก็จะอยู่ที่ประมาณ ๓๒๒ งานบริการ แล้วก็อีก ๑๑๗ งานบริการเป็นเรื่อง ของการชำระเงิน Online ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น และอีก ๔๕๐ งานบริการ เป็นการยื่นคำขอต่าง ๆ ที่สามารถยื่นคำขอได้ในทาง Online แล้วนะครับ เพราะฉะนั้น ก็น่าจะทำให้เรื่องของการให้บริการภาครัฐในระยะถัดไปสามารถจะให้บริการได้รวดเร็วขึ้น แล้วก็ลดปัญหาในแง่ของการรอของประชาชน หรือว่าในแง่ของภาคธุรกิจก็สามารถ ดำเนินการได้เร็วขึ้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นในเรื่องของทนายความอาสาที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงว่ามันยังไม่มี ครบถ้วนทุกสถานีตำรวจ มีอยู่แค่ประมาณ ๒๐๐ กว่าแห่งนี่นะครับ เรียนว่านอกเหนือจาก ที่เรามีการให้ทนายอาสาเข้าไปอยู่ใน ๒๐๐ กว่าแห่งนั้นแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการทำระบบร่วมกับทางสภาทนายความ ทำระบบที่เป็นระบบ Application LINE ในการที่จะให้บริการพี่น้องประชาชนติดต่อในเรื่องของข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อทำให้เขา สามารถที่จะติดต่อได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะติดต่อได้ตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา อันนี้ เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาจากทางหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของการแก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ได้มีการเน้นไปในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องของความทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐกับที่ดิน ของพี่น้องประชาชน อย่างที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐเองบางที ก็ไปออกแนวเขตครอบที่ดินของพี่น้องประชาชนไว้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่มาก่อนหน้านั้นแล้ว อะไรประมาณนี้นะครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติขึ้นมาที่จะเป็นผู้ดำเนินการ และขณะนี้เอง ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าการดำเนินงานเรื่องนี้ทำได้ค่อนข้างจะล่าช้าเหมือนกัน เพราะว่า จริง ๆ แล้วหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาก็ได้มีการร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ว่ามันมี ความล่าช้าในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิอะไรต่าง ๆ พวกนี้ที่ทำให้การดำเนินงานมันอาจจะ ล่าช้าไปสักนิดหนึ่งนะครับ แต่ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ เรื่องของ One Map ก็ได้มีการทำไปในหลายพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ถ้ามันมีการดำเนินการที่ชัดเจน เรื่องของการพิสูจน์สิทธิอะไรต่ออะไรมันก็จะเร็วขึ้น ถ้ามีการดำเนินการพิสูจน์สิทธิได้เร็ว ก็จะทำให้การทำงานเร็วขึ้นไปด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมาย ที่ท่านสมาชิกได้พูดว่า ๑๕ วันมันไม่เพียงพอ ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายมันเป็นขั้นต่ำ ๑๕ วัน แล้วก็ระบบในการรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมายก็มีทั้งระบบกลางที่จัดทำโดยสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วก็ระบบที่หน่วยงานสามารถจะเลือกได้ด้วยว่าจะทำเอง หรือจะ ใช้ระบบกลาง หรือจะใช้ทั้ง ๒ ระบบร่วมกันก็ได้ แต่ ๑๕ วันจะเป็นขั้นต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า ๑๕ วันแน่นอนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่เป็นประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กหลุดออกนอกระบบ การศึกษา พวกนี้ที่ยังคงเป็นปัญหา ที่จะต้องมีการดูแลแก้ไข ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ที่ผ่านมาในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กเล็ก มีการทำทั้งเรื่อง การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็มีการทำในเชิงมาตรการออกมาแล้วนะครับ แต่ว่าสิ่งที่ได้มีการ ดำเนินการอย่างจริงจังและเกิดผลก็คือการใช้กลไกกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา ไปช่วยนำเอาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับเข้ามาสู่ระบบ เพราะว่าจากที่ได้มี การให้ตัวเลขไว้นะครับ ก็มีการดำเนินงานไปแล้วสำหรับเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบ ได้รับความช่วยเหลือไปทั้งหมดประมาณ ๓๖,๒๖๘ คน แล้วก็ที่อยู่นอกระบบได้กลับเข้ามา อยู่ในระบบอีกประมาณ ๗,๑๔๒ คน ซึ่งอันนี้ก็ต้องเรียนว่าเป็นเรื่องขั้นต้นซึ่งคงต้องมี การดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป เพราะว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีเรื่องที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมสักนิดหนึ่งนะครับ เรื่องของจำนวน คนจนในประเทศไทย จริง ๆ แล้วถ้าโดยหลักที่ทางสำนักงานได้มีการดำเนินงานไว้ ก็จะดูจากเส้นความยากจนนะครับ เส้นความยากจนขณะนี้อยู่ที่ประมาณ ๒,๘๐๐ บาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งในเรื่องของการใช้เส้นความยากจน เพื่อมาดูเรื่องของจำนวนคนจน อันนี้เป็นมาตรฐานสากลที่ได้มีการทำกันในหลายประเทศ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองก็ต้อง เรียนว่าในปี ๒๕๖๑ จำนวนคนจนเรามีอยู่ประมาณ ๕.๗ ล้านคน ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็น การสำรวจล่าสุดมีอยู่ ๔.๔ ล้านคน คนจนก็ลดลงนะครับ แต่ทีนี้ในส่วนที่ท่านพูดถึงเรื่องของ จำนวนคนที่อยู่ในระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อันนี้เป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ทางกระทรวงการคลัง เขาตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแน่นอนก็จะต้องรวมคนกลุ่มที่เป็น คนยากจนตรงนี้ไปด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของความไม่เสมอภาค เรื่องความเหลื่อมล้ำ ต้องเรียนว่าเรื่องของ ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ ถ้าดูตั้งแต่ในช่วงปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมามีแนวโน้มลดลง ต่อเนื่องนะครับ ในปี ๒๕๖๐ ค่าดัชนีอยู่ที่ประมาณ ๐.๔๖ กว่า ๆ ตอนนี้อยู่ประมาณ ๐.๔๓ แต่เรื่องนี้ก็คงต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินงานนี้มันลดลงนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขออนุญาตใช้เวลานิดหนึ่งนะครับ ในเรื่องของภาคพลังงานที่ท่านสมาชิก หลายท่านได้มีการพูดถึงเรื่องของพลังงานที่มีราคาค่อนข้างสูงในขณะนี้ โดยเฉพาะค่าไฟ ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าระบบของเราในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าก็จะมีทั้งที่ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ดำเนินการ แล้วก็มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาในรูปแบบของ Independent Power Producer หรือว่า IPP ก็ทำมานานเป็นสิบปีแล้วระบบนี้นะครับ โดยที่ผู้ผลิตภาคเอกชนก็จะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาร่วมกัน ที่ผ่านมาราคา มันไม่ได้สูง แต่ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา จริง ๆ ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วที่ราคามันพุ่งสูงขึ้นมาก ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าในโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เราใช้ ก๊าซธรรมชาติในการผลิต ที่ผ่านมาเราใช้ก๊าซในอ่าวซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณสัก ๕ เหรียญ ต่อล้าน BTU ใช้ในการผลิตซึ่งก็ทำให้ราคามันไม่สูง แต่ทีนี้ในช่วงที่ผ่านมามันมีการหมดสัญญาของแหล่งสัมปทานก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งก็ได้มี การประมูลเรียบร้อย ผู้ได้สัญญาคนใหม่ก็จะต้องเข้าไปดำเนินการผลิต มันมีปัญหาในแง่ของ ความล่าช้าในการ Transition ระหว่างผู้รับสัมปทานเดิมกับผู้รับสัมปทานใหม่ก็ทำให้ การผลิตก๊าซในอ่าวมันตกลงไป ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำให้เราต้องมีการนำเข้าตัว LNG จากต่างประเทศเข้ามา LNG หรือว่าตัว Liquefied Natural Gas ตัว LNG ที่เข้ามาก็ต้อง เรียนอย่างนี้ครับว่าที่ผ่านมาราคาก็จะวิ่งอยู่ประมาณสัก ๗ เหรียญ ๖ เหรียญ ๘ เหรียญ ๙ เหรียญประมาณนี้ก็ไม่ได้เกินนี้นะครับ แต่ทีนี้ในช่วงปีที่แล้วราคา LNG หลังจากที่มี เหตุการณ์ในยูเครน มันทำให้ราคา LNG พุ่งขึ้นมาจากเดิมที่อยู่ประมาณ ๗-๘ เหรียญ ขยับขึ้นมาถึงประมาณ ๔๘ เหรียญต่อล้าน BTU ก็เป็นที่มาที่ทำให้ค่าไฟในประเทศเรา ต้องมีการปรับขึ้น แน่นอนครับ สูตร Ft ค่า Ft ที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวหนึ่งที่เป็นตัว Adjust ในเรื่องของค่าพลังงาน แต่ว่าตอนนี้ที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินการที่จะพยายามลดผลกระทบ กับพี่น้องประชาชนผ่านเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ เรื่องของการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งก็ได้ให้รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในการรับภาระไปก่อน ซึ่ง ณ ขณะนี้ราคา LNG ก็เริ่มกลับเข้ามา อยู่ในระดับปกติ อยู่ในระดับประมาณสัก ๑๐-๑๑ เหรียญ ซึ่งก็จะทำให้ราคาของค่าไฟ ในช่วงถัดไปมีแนวโน้มที่จะลดลงนะครับ รวมทั้งในช่วงต้นปีหน้าประมาณไม่เกินไตรมาส ๑ ของปีหน้ากำลังการผลิตก๊าซในอ่าวก็จะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เป็นปกติ ก็น่าจะทำให้ เรื่องของราคาค่าพลังงานก็คงจะลดลงนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ก็จะมาในเรื่องที่ท่านสมาชิกได้สอบถามเมื่อสักครู่นะครับ เรื่องของ การซื้อขายไฟฟ้ามันจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไหม อันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่าง การดำเนินงาน เพราะว่าตอนนี้การไฟฟ้าทั้ง ๓ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กำลังร่วมกันที่จะทำสิ่งที่ เรียกว่าเป็น Energy Trading Platform ที่จะเป็นการรับซื้อไฟจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งก็จะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกสามารถที่จะส่งไฟเข้ามาได้ แต่แน่นอนครับ เรื่องของ Third Party Access ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้คือเรื่องของตัวค่า Access ยังไม่ได้มีการพิจารณากันอย่างจริงจังว่าตกลงจะเป็น เท่าไร อย่างไร ก็เลยทำให้การทำเรื่องนี้อาจจะยังเดินได้ไม่มากนักนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้พอมาถึงเรื่องที่ท่านสมาชิกถาม เรื่องของการทำโครงข่ายไฟฟ้าต้องเรียน อย่างนี้ครับว่าในโครงสร้างของเรา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แล้วก็ทำสายส่งระดับ 500 KV ที่เป็นสายส่ง Main ที่จะส่งไปทั่วประเทศ เป็นสายส่งหลัก การไฟฟ้านครหลวงก็จะมีพื้นที่รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปริมณฑลต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้เขาก็จะมีการทำสายจำหน่าย เป็นสายจำหน่ายซึ่งก็จะแยกกัน จากสาย Main ของ กฟผ. ซึ่งก็จะรับไฟมา เช่นเดียวกันกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบ ในการพัฒนาสายส่งในต่างจังหวัด ซึ่งก็จะทำสายจำหน่ายเช่นกัน ก็จะเป็นระดับแรงดัน ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในการทำงานที่มีการดูเรื่องของ Network ขณะนี้ทาง กระทรวงพลังงานก็มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อมาพิจารณาการลงทุนในแง่ของ Network ร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือว่าให้ Network มันสามารถที่จะ Bypass ไปในหลาย ๆ ที่ได้ ไม่ต้อง Reline on Network เพียงแห่งเดียว เพราะว่าในเรื่อง Security ก็เป็นเรื่องสำคัญ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันแล้วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของโครงการต่าง ๆ รายละเอียดข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ ชลประทานที่เพิ่มขึ้น หรือว่ารายละเอียดในเชิงสถิติต่าง ๆ ผมขออนุญาตว่าเดี๋ยวจะประสาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะส่งข้อมูลมานำเรียนท่านสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเรื่องของ โครงการต่าง ๆ ทางด้านกีฬาด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้รับผิดชอบ ผมก็จะประสานให้แล้วก็จะส่งเป็นเอกสารมาให้ท่านสมาชิกต่อไปนะครับ ในเบื้องต้นผมขออนุญาตนำเรียนเพียงเท่านี้ก่อนครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ต้องขอบคุณท่านนะครับ เดี๋ยวผมจะรับประเด็นเรื่องของการดำเนินงาน ในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติไปเร่งรัดต่อนะครับ ส่วนที่ว่าผมเป็นกรรมาธิการ งบประมาณจริง ๆ ผมไม่ได้เป็นครับ อันนี้แล้วแต่ว่าทางรัฐบาลจะตั้งใครเข้าไป ผมไม่ได้เป็น โดยตำแหน่งนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นของท่านทวี สอดส่อง ผมเรียนอย่างนี้ครับ ผมก็ตอบตามที่ ผมประสานกับทางหน่วยงานด้านกฎหมายว่าจริง ๆ แล้วแผนปฏิรูปประเทศสิ้นสุดเมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดอายุประมาณ ถ้าผมจำไม่ผิด ก็วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานตามมาตรา ๒๗๐ ที่ผมได้สอบถามจากหน่วยงานทางด้าน กฎหมาย ก็ได้แจ้งผมว่าอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา ๒๗๐ สิ้นสุดลง หลังจาก ๕ ปี ก็คือหลังจากวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ การติดตามการปฏิรูปประเทศภายใต้ มาตรา ๒๗๐ ก็จะสิ้นสุดลง แต่ในแง่หน้าที่ของทางสมาชิกวุฒิสภาก็ยังมีหน้าที่ที่เขาสามารถ ถ้าดูตามมาตรา ๑๕๐ ก็คือมีการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในการทำหน้าที่งานต่าง ๆ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ทางด้านการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถ้าสมาชิกวุฒิสภา จะดำเนินการถาม หรือสอบถาม หรือติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้หน้าที่ในแง่ของการติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน อันนี้เป็นเรื่องที่ผมได้รับ คำตอบมาจากหน่วยงานทางด้านกฎหมายนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าอย่างไรนี่ผมว่าอาจจะ ต้องให้ทางหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานด้านกฎหมายจริง ๆ ได้มาตอบ เพราะว่าผมเองเป็น เลขาธิการสภาพัฒน์ พูดจริง ๆ ผมก็เป็นวิศวกร ผมไม่ได้เป็นนักกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในแง่ของการตีความด้านกฎหมายผมอาจจะไม่แน่นอนนะครับ แต่สิ่งที่ผมตอบท่านทวีก็คือ สิ่งที่ผมได้รับคำตอบจากหน่วยงานทางด้านกฎหมายที่ผมได้ไปหารือมาเมื่อสักครู่ในช่วงที่ ท่านถามครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เดี๋ยวเอาประเด็นแรกก่อนนะครับ เรื่องของหน่วยงานที่ผมปรึกษา ขออนุญาตนะครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ผมได้โทรไปหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับทางท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้รับคำตอบประมาณนี้อย่างที่ได้เรียน ท่านสมาชิกไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ของท่านอภิสิทธิ์ เดี๋ยวผมรับไปดูว่า จะมีการดำเนินการต่อเนื่องอย่างไร เพราะว่าที่ผ่านมาก็ได้มีการทำงานกับทางสมาคมพวกนี้ อยู่พอสมควรในแง่ของการปรับตัว Debate อะไรต่ออะไรเพื่อที่จะทำให้ดึงดูดเอากองถ่าย ภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามา เดี๋ยวจะไปประสานดูครับว่าจะมีการดำเนินการต่ออย่างไร ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาตินะครับ ในช่วงท้ายนี้ก็ขออนุญาตเรียนตอบเพื่อความถูกต้องในสิ่งที่ ผมได้นำเรียนสภาแห่งนี้นะครับ ขออนุญาตเรียนท่านทวี สอดส่อง นิดหนึ่งก่อนนะครับ ว่าที่ผมตอบไปนี่นะครับ ผมตอบว่าหน้าที่ตามมาตรา ๒๗๐ ของวุฒิสภาชุดปัจจุบันซึ่งมีมา ตามบทเฉพาะกาลจะสิ้นสุดลงไปพร้อมกับอายุของวุฒิสภานะครับ ส่วนหมวด ๑๖ มันเป็นเรื่องที่บรรจุไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งอันนี้ผมก็ได้บอกว่าในกรณีที่วุฒิสภา ชุดถัดไป ชุดใหม่ที่จะเข้ามานี่นะครับ และท่านอาจจะมาตามนี่ท่านก็คงตามได้ในแง่ของ เรื่องการติดตามการบริหารราชการแผ่นดินในการตั้งกระทู้ถามซึ่งก็เป็นเรื่องปกตินะครับ ผมไม่ได้บอกว่าหมวด ๑๖ สิ้นสุดลงไปด้วยนะครับ อันนี้ผมขออนุญาตนำเรียนนิดหนึ่งครับ ผมอาจจะพูดแล้วอาจจะทำให้เข้าใจผิดนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตไปที่ประเด็นเรื่องของทางสาธารณสุขนะครับ มีท่านสมาชิกได้พูด ถึงเรื่องนี้กันนะครับ ในเรื่องของตัวบุคลากร เรื่องของอะไรต่าง ๆ พวกนี้ผมเรียนว่าในช่วง ที่ผ่านมานี่แน่นอนครับ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็มีจำกัด แล้วก็โดยเฉพาะคุณหมอ และพยาบาลนะครับ ที่ผ่านมาในช่วงถ้าผมจำไม่ผิดในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาก็มี การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไประดับหนึ่ง โดยการเพิ่มอัตราของทางแพทย์และพยาบาล บุคลากร ทางสาธารณสุขเข้าไปแล้วนะครับ เรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านพัก สวัสดิการ หรือว่าเงินเดือน หรือว่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ผมเข้าใจว่าอันนี้เดี๋ยวทางสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะต้องมีการดำเนินการในลำดับถัดไปนะครับ ซึ่งอันนี้เป็น รายละเอียดที่ทางกระทรวงจะต้องเป็นคนดำเนินการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของแผนบริหารจัดการน้ำที่มีท่านสมาชิกได้พูดถึงว่าแผนอาจจะไม่ค่อย ดีนักนะครับ อาจจะมีเรื่องไม่ได้มาดูเรื่องที่ทำไปแล้วหรืออะไรพวกนี้นะครับ อันนี้เดี๋ยวผมจะ รับไปหารือกับท่านเลขาธิการสำนักงานนโยบายที่ดูเรื่องนี้โดยตรง สทนช. นะครับ ในส่วนที่ท่านสมาชิกพูดถึงเรื่องของการแจ้งความทุกท้องที่นะครับที่มี Case ที่น้องนักศึกษา ธรรมศาสตร์ที่ไม่สามารถแจ้งความได้นี่นะครับ ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ในหลาย ๆ Case ที่ผ่านมาก็มีคนที่แจ้งความได้นะครับต่างท้องที่ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ที่อาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบ เพราะฉะนั้นที่ท่านสมาชิกได้มีการอธิบายออกมา แล้วก็ได้บอกว่าให้ทางพี่น้องประชาชน ได้ทราบก็เป็นเรื่องที่ดีที่พี่น้องประชาชนจะได้ทราบ ว่าต่อไปนี้การแจ้งความทุกท้องที่ สามารถดำเนินการได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของสาธารณสุขมูลฐานที่เป็นเรื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ผมเข้าใจว่าทีมหมอ ครอบครัวก็ยังคงมีอยู่นะครับ แต่แน่นอนครับหมอและพยาบาลก็คงมากระจุกตัวอยู่ที่ กรุงเทพฯ นะครับ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็คงต้องมีการดำเนินการ ในการที่จะกระจายแพทย์และพยาบาลออกไปในต่างจังหวัด เพื่อให้สัดส่วนแพทย์ต่อ ประชากรนี่มันลดลง แล้วก็ลดภาระด้วย ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีการเพิ่มอัตราการบรรจุแพทย์ และพยาบาลเพิ่มเติมในกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง เหมือนกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องของเด็กที่หลุดออกจากระบบหรืออะไรต่าง ๆ พวกนี้ที่ท่านสมาชิก อภิปรายอันนี้เป็นค่าเป้าหมายที่เขาพยายามจะทำได้ให้ในปี ๒๕๖๕ แต่แน่นอนครับ ด้วยสถานการณ์จาก COVID-19 ที่เกิดขึ้นมาช่วง ๒ ปี แล้วก็เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องสถานการณ์ เศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อสูงก็มีผลกับภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนก็อาจจะมีการหลุดออก จากระบบ แต่ก็ต้องเรียนว่าในแผนปฏิรูปประเทศนี่ก็ได้มีกลไกที่ได้ทำมาแล้ว ก็คือกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งผมได้นำเรียนไปแล้วในตอนต้นว่าก็ได้มีการเข้าไป ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบให้กลับเข้าสู่ระบบได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คงจะต้อง มีการเร่งในการที่จะดำเนินการในการใช้กลไกกองทุนที่มีอยู่ในการช่วยเหลือเด็กให้กลับ เข้าสู่ระบบ เรื่องของครูที่มีภาระงานมากเกินไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ แล้วก็มีความ พยายามที่จะแก้มาได้ระยะหนึ่งแล้วนะครับ แต่เดี๋ยวผมต้องไป Check ดูครับว่าสุดท้ายนี่ ได้มีการปรับปรุงไปแค่ไหน อย่างไร เพราะว่าอย่างที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงนี่ก็เป็นเรื่อง ที่ถูกต้อง เพราะว่าครูนี่มีภาระเยอะ โดยเฉพาะในงานเอกสารก็อาจจะทำให้ไม่สามารถ จะมีเวลามาดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่นะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงศึกษาคง จะต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการประเมิน หรือว่ารูปแบบการจัดการของคุณครูด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ผมก็ขออนุญาตขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ ที่ได้ให้ข้อคิดเห็น ต่าง ๆ แล้วก็ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งประเด็นที่จะฝากไปในการที่จะให้ผม ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งดำเนินการ เดี๋ยวจะรับไปนะครับ ขอบพระคุณ มากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับท่านประธาน ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาสภาพัฒน์ ครับ พอดีมี คำถามหนึ่งที่ท่านสมาชิกอยากทราบคำตอบแต่ผมยังไม่ได้ตอบนะครับ เมื่อครู่นี้ลืมตอบไปครับ ขออภัยด้วยครับ เรื่องของตัวจำนวนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด ที่ตั้งมาทั้งหมดนี้ ๘๐ ท่าน มี ๖ คณะ คณะละประมาณ ๑๕ ท่าน ส่วนคณะปฏิรูปประเทศ มี ๑๓ คณะ ทั้งหมด ๑๘๕ ท่าน จะมีคณะละประมาณ ๑๔ ท่านหรือ ๑๕ ท่าน แล้วแต่นะครับ ทีนี้ในส่วนของเบี้ยประชุมนี่เป็นการจ่ายเบี้ยประชุมแบบเหมาจ่าย เหมาจ่ายรายเดือนนั้นหมายถึงว่าถ้ามีประชุมเดือนไหนถึงจะจ่าย แล้วถ้าเดือนนั้น ประชุม ๒ ครั้ง ก็จะจ่ายครั้งเดียวไม่ได้จ่ายทุกครั้ง อันนี้เป็นการปรับตัวเบี้ยประชุมหลังจากที่ แผนปฏิรูปได้มีการยกร่างเสร็จแล้วนะครับ แล้วก็ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ก็ได้สิ้นสุดอายุลงไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แล้วก็ไม่ได้มีการประชุมอีกครับ ก็เรียนเพื่อทราบครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ก่อนอื่นต้องขออนุญาตขอบพระคุณในข้อเสนอแนะหลาย ๆ เรื่องนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาภาคการเกษตรที่ท่านสมาชิกได้ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ แล้วก็มี บางเรื่องที่กระผมอาจจะขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็ต้องเรียนว่ากลไก ในการทำงานตรงนี้ก็จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตำแหน่ง อันนี้ก็เป็นที่ระบุไว้ในกฎหมายนะครับ ทีนี้ในการจัดทำที่ผ่านมา ของยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ ก็เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งมีอยู่ ๖ คณะ ก็มายกร่าง ในระหว่างที่จะมีการประกาศใช้ต่าง ๆ ในระหว่างการยกร่าง ก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นใน ๔ ภาค แล้วก็มีช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นที่จะสามารถส่งความเห็นมาได้ทั้งในช่องทางผ่าน ทาง Internet ทาง Website ของสำนักงานเอง แล้วก็ในส่วนที่เป็นเรื่องของไปรษณีย์ ก็มี ในช่วงนั้นนะครับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ให้ข้อคิดเห็นแล้วก็มาร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ในการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวาระต่าง ๆ รวม ๆ กันก็อยู่ที่ประมาณสัก ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นทางภาคประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องเรียนว่า ในยุทธศาสตร์ชาติอย่างที่ท่านสมาชิกได้มีการอภิปรายในช่วงต้นนะครับ มันเป็นทิศทางกว้าง ๆ แม้ว่าในยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์นี่ จะมีชื่อยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ว่าเป็นเรื่องอะไรนะครับ แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์นั้นในรายละเอียดก็จะเป็นทิศทางการทำงาน กว้าง ๆ นะครับ ยกตัวอย่างอย่างเช่นภาคเกษตรก็พูดถึงแค่ในเรื่องของการที่จะมีการพัฒนา ในภาคเกษตร โดยการเอาเทคโนโลยีเข้าไปเสริมในการผลิตภาคเกษตรนะครับ หรือว่าทำ เป็นเกษตรแปรรูปอะไรต่าง ๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นทิศทางกว้าง ๆ ซึ่งก็ต้องเรียนว่านโยบายรัฐบาล ในช่วงถัดไปหรือในช่วงรัฐบาลใหม่ก็ตามนี่ การทำงานนโยบายที่ได้มีการประกาศไว้ก็สามารถ ที่จะสอดรับกับตัวยุทธศาสตร์ชาติได้นะครับ แต่ในกรณีที่เห็นว่าน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ก็ไม่ได้มีความแข็งตัวนะครับ ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ทุก ๆ ๕ ปีนะครับ หรือในกรณีที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่าน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนก็สามารถดำเนินการได้ อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ในส่วนของประเด็นที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายในหลาย ๆ เรื่องนะครับ อย่างโดยเฉพาะเรื่องส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องทางภาคเกษตรนะครับ ซึ่งแน่นอนครับ GDP ในภาคเกษตรของเราเองมันก็ค่อนข้างจะต่ำประมาณสัก ๗ เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ ถ้าดูจาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมดนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาคอุตสาหกรรม แล้วก็เป็นภาคบริการนะครับ ทีนี้ในการที่จะเพิ่มตรงส่วนนั้นแน่นอนครับคงจะต้องมี การนำเอาเทคโนโลยีที่จะช่วยในการผลิตภาคเกษตรเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่จะเป็น การเพิ่มผลผลิต หรือว่าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่จะใช้ในภาคเกษตรนะครับ อย่างที่ท่านสมาชิก ได้มีการพูดถึงในเรื่องของอ้อยก็ตาม หรือว่าในเรื่องของการผลิตเพื่อแปรรูปต่าง ๆ ที่มี ท่านสมาชิกท่านได้มีการยกตัวอย่างไว้นะครับ อันนี้จะเป็นทิศทางการทำงานที่ที่ผ่านมานี่ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็ได้มีการทำงานที่จะพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องนะครับ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเรียนว่าในการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี่ปัญหาสำคัญก็จะเป็นเรื่องของ การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าช่วงที่ผ่านมานี้หลาย ๆ หน่วยงานก็ยังคิดว่ายังเป็นการทำงานแยกส่วนอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการพยายาม ที่จะดึงเอาหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยนี่เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อตอบเป้าหมายนะครับ ที่ผ่านมาก็อย่างที่ท่านสมาชิกได้เห็นในรายงานว่าการทำงานก็มีการบรรลุเป้าหมาย ในระดับสีเขียวไปแล้วประมาณสัก ๑๒ เป้าหมายใหญ่จาก ๓๗ เป้าหมายนะครับ ในส่วนนี้ในส่วนของปี ๒๕๖๕ ในบางตัวที่ยังไม่สามารถบรรลุได้นี่ก็คงจะต้องมีการเร่ง การดำเนินงานต่อไปนะครับ เพราะว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้นี่เป็นการกำหนดไว้ภายใต้ ในส่วนของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็จะเป็นการกำหนดเป้าหมายการทำงาน ในช่วงทุก ๆ ๕ ปีนะครับ ถ้า ๕ ปี ไหนยังเดินไปไม่ถึงเป้าก็คงต้องมีการปรับการทำงาน แล้วก็เร่งการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้กลไกในการตรวจราชการแล้วก็มีการปรับปรุง แก้ไขการทำงานอย่างต่อเนื่องนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของเรื่องที่ท่านสมาชิกอภิปรายในเรื่องของตัว Social Credit ที่บอกว่าทางสำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีการดำเนินการในขณะนี้ ก็ต้องเรียนว่าพอดีผมก็ได้ ประสานกับผู้อำนวยการ ป.ย.ป. นะครับ ก็ทราบว่าเรื่องนี้จริง ๆ แล้วยังอยู่ระหว่างการศึกษา ความเป็นไปได้ แล้วก็จะดูว่ามีความเหมาะสมที่จะมาใช้ในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไรในช่วงของ การดำเนินงานในการศึกษาตรงนี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันกับศูนย์คุณธรรม แล้วก็ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะดูรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่เป็นการทำความดี แล้วก็สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากพฤติกรรมการทำความดีตรงนั้น ซึ่งในระยะแรกก็จะทำงาน ร่วมกันกับ ๓ หน่วยงาน ก็คือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สภากาชาดไทย แล้วก็ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะเป็นการทำงานในเชิงบวก ก็จะไม่ได้มีมาตรการในเชิงลบ ซึ่งจะไปลิดรอนสิทธิหรือเสรีภาพของพี่น้องประชาชน หรือว่าเป็นการมุ่งจับผิดพฤติกรรมในเชิงลบของพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนเรื่องที่มีท่านสมาชิกพูดให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการขนส่ง ในเรื่องของการท่องเที่ยวนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Flight บินที่น้อยลง ต้องเรียนอย่างนี้ ว่าในช่วงหลังจาก COVID-19 ที่ผ่านมานี้ Capacity ในการขนส่งโดยเฉพาะทางอากาศลดลง ค่อนข้างมาก แต่ว่า Demand พอหลังจากที่เรามีการเปิดประเทศ เปิดการรับการท่องเที่ยว อย่างเต็มที่แล้วในช่วงประมาณกลางปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานี้ Flight บินต่าง ๆ Demand ในการเดินทางก็สูงขึ้นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาขณะนี้มันปรับตัวสูงขึ้น เพราะว่า Capacity กับ Demand มันไม่ Match กัน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ก็ต้องเรียนว่าปัญหาที่ทำให้เกิดการชะงักงัน หรือว่าขัดข้องในการทำงานเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของตัว COVID-19 ที่มีการระบาดในช่วงปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ แต่ทีนี้ก็ต้อง มีการเร่งการทำงานเพื่อที่จะทำให้การทำงานได้บรรลุเป้าหมายในช่วงถัดไปด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของแรงงานที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายเรื่องของการว่างงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่าตัวอัตราการว่างงานในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์ แน่นอนครับในช่วง COVID-19 อัตราการว่างงานค่อนข้างสูงแล้วก็ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ กว่า ๆ ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ประมาณสัก ๓๙-๔๐ ล้านคน ในขณะนี้เองก็ลดลงมา เหลือระดับ ๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต่ำเรียกว่าต่ำมาก แล้วก็ถ้าดูจาก IMD ที่มีการวัดเราก็อยู่ อันดับต้น ๆ ที่มีอัตราการว่างงานต่ำ ทีนี้ในส่วนของการว่างงานในระดับการศึกษา แน่นอนครับในระดับการศึกษาที่เป็นช่วงอายุประมาณ ๒๐-๒๔ ปี มีการมีอัตราการว่างงาน สูงเนื่องจากว่า ๑. เป็นเพราะว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ซึ่งบางส่วนนี่ เขาก็อาจจะไปเป็นเจ้าของกิจการเองมี Self-ownership ที่สามารถที่อยากจะไปเป็น เจ้าของกิจการ บางส่วนก็ไปศึกษาต่อ แต่แน่นอนครับ ในช่วงที่ผ่านมาในขณะนี้เอง อัตราการว่างงานในกลุ่มที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ แล้วก็การว่างงานในระดับการศึกษาต่าง ๆ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทีนี้ก็ต้องเรียนว่าเรื่องของการว่างงานมันเป็นปัญหาหลายประการ ด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกนี้เป็นเรื่องของผู้ที่จบการศึกษามาอาจจะไม่ Match กับ ตลาดแรงงานหรือตำแหน่งงานที่มีการเปิดรับอยู่ เพราะว่าต้องเรียนว่าในระบบของเราเอง ประมาณสัก ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นการจบมาในสายบริหาร แต่อีกประมาณ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นการจบมาในสายวิทยาศาสตร์ พวกวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรพวกนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วตำแหน่งงานที่เปิดในช่วงหลัง ๆ มันจะเป็นเรื่องของ การต้องการแรงงานที่อยู่ในระดับที่เป็นพวกวิศวกร หรือว่าวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ในสาขา ที่จบมาพวกนี้มากกว่า ก็อาจจะทำให้ผู้ที่จบมาในสาขาการบริหารอาจจะหางานทำยาก สักนิดหนึ่ง แต่ว่าแน่นอนครับในระบบเองก็มีการพยายามที่จะพัฒนา Upskill Reskill ด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้ง อว. เองก็ได้มีการทำในเรื่องของการจัดการศึกษาในลักษณะที่เป็นการเชื่อมโยง กันกับภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถที่จะตรงกับความต้องการของ ภาคเอกชน แล้วก็สามารถที่จะรับไปทำงานได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันต่อเนื่อง เช่นกัน ทีนี้อยากจะนำเรียนสักนิดหนึ่งในส่วนเรื่องของความเท่าเทียมและความเสมอภาค จริง ๆ แล้วตัวที่เราใช้วัดเราใช้ตัวชี้วัดประมาณ ๓ ตัวด้วยกันที่อยู่ในการรายงานตรงนี้ ก็จะเป็นทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางสังคม ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของ กลุ่มประชากร Top ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ Bottom ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เรื่องของ ความไม่เสมอภาคในด้านรายจ่าย ซึ่ง Gini Coefficient ปัญหาส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถจะใช้ ตัวค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ได้ เพราะว่าตัวนี้ไม่ได้มีการจัดเก็บทุกปี มีการจัดเก็บ ๒ ปีหน และในขณะเดียวกันเมื่อดูในรายละเอียดแล้วการจัดเก็บเหมือนกับ เป็นการสอบถาม ทีนี้พอถามเรื่องรายได้ แน่นอนครับสิ่งที่ได้กลับมาก็ค่อนข้างอาจจะไม่ตรง กับข้อเท็จจริงนัก เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมาใช้ในเรื่องของทางด้านรายจ่าย แต่แน่นอนครับถ้าดูเป็น Series ย้อนกลับไปในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ค่า Gini Coefficient เหล่านี้นี่ก็เริ่มมีการปรับตัว ลดลง แต่แน่นอนก็ยังอาจจะยังไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานต่อไป ทีนี้ในส่วนอื่น ๆ ในประเด็นที่ท่านสมาชิกได้มีการพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนบริหาร จัดการน้ำ ๒๐ ปีที่ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร หรือว่าเรื่องของภาคเกษตรที่อยากจะให้มี การพัฒนามากขึ้น เรื่องของ PM2.5 ที่ได้มีการพูดถึงในเรื่องนี้ต้องเรียนว่าปัญหา PM2.5 ก็เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในต้นปีที่ผ่านมานี้ก็เกิดขึ้นค่อนข้าง รุนแรง ถ้าเราไปดูในช่วงที่มี PM2.5 จะเห็นว่าจุดความร้อนมันจะอยู่ในประเทศไทย แล้วก็อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาทางท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน ในการที่จะแก้ไขปัญหาพวกนี้ร่วมกัน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องของการนำเอาเครื่องจักร แล้วก็แหล่งเงินทุน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึง ได้ง่ายขึ้น อันนี้เดี๋ยวผมจะรับไปในการที่จะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะดู เรื่องนี้ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๑๐ เขต ถ้าเราดูตัวเลข การลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี่ก็จะเห็นว่าในปี ๒๕๖๑ มีเงินลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง ๑๐ เขตอยู่ที่ประมาณ ๑๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ว่าในปี ๒๕๖๕ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น ประมาณ ๓๘,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่แน่นอนครับ ในส่วนของอัตราการขยายตัวนี้ก็ยังอาจจะ ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแง่ของ GPP เพราะว่าตัว GPP ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ต้องมี การจัดเก็บข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือตัวชี้วัดบางตัวที่กำหนดไว้บางครั้งหน่วยงานอาจจะ ยังไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูล หรือว่าจะเก็บไม่ครบถ้วน เราเองก็ต้องใช้ตัวชี้วัดที่เป็น Proxy เข้ามาอ้างอิงเพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนา เพื่อที่จะได้มีการดูได้ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ต่อไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงเรื่องของ ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนแม่บทในเรื่องของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ๖ อุตสาหกรรม เรียกว่าที่กำหนดไว้นี่ก็เป็นการกำหนดในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราคาดว่า เราเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินไปได้ แต่แน่นอนก็ไม่ได้ละทิ้งอุตสาหกรรมอื่น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ก็ได้มีการดำเนินงานมีความก้าวหน้า มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะว่าก็อย่างที่ทุกท่านทราบกันว่าก็จะมีผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นผู้ผลิตก็มาลงทุนในประเทศไทยอยู่หลายรายที่จะมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิต แต่แน่นอนครับ เรื่องของการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะว่าถ้าเราไม่ทำต่อเนื่องประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่น ๆ เขาอาจจะแซงหน้าเราไป เพราะฉะนั้นการวัดของ IMD อะไรต่าง ๆ ในสำนักที่มีการวัด มันเป็นการวัดที่ไม่ใช่เป็นการวัดแบบ Static มันก็จะเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในการทำงานเราเองก็คงอยู่เฉยไม่ได้ ก็คงต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อที่จะเร่งสร้าง ความสามารถในการแข่งขวันของประเทศ รวมทั้งเรื่องของการพัฒนาในเชิงสังคม เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนเรื่องของการพัฒนาด้านการกีฬาต่าง ๆ เดี๋ยวจะขอรับไปเพื่อที่จะไป ประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการต่อไป สุดท้ายผมขออนุญาตขอบพระคุณ ท่านสมาชิกทุกท่านที่ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการที่จะไปปรับการทำงาน แล้วก็จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการการทำงาน แล้วก็การจัดเก็บ ข้อมูลด้วย เพื่อที่จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขอบพระคุณ มากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แน่นอน ตัวเลขในปี ๒๕๖๕ ก็จะเป็นอย่างที่ท่านได้บอกไป เพราะว่าเป็นตัวเลขสิ้นปี ๒๕๖๕ ผมขออนุญาตนำเรียนว่าสิ่งที่ผมได้เรียนไปนี่เป็นตัวเลขที่เราได้มาจาก Source เดียวกัน ในส่วนที่ผมได้มีการแถลงภาวะสังคมไปในช่วง ๒ ไตรมาสที่ผ่านมาตัว New Jobber ก็เริ่มมีการว่างงานลดลง ในส่วนของการไม่ตรงกับตลาดแรงงานเป็นปัญหาที่ขณะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานศึกษาก็กำลังปรับการทำงานอยู่ เพราะว่าอันนี้มันอยู่ที่ ตัวคณะของมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เองก็ต้องเรียนว่า มันไม่ได้เป็นการทำผิดยุทธศาสตร์ชาติหรอกครับ แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีการเปิดรับนักศึกษา ในคณะต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีการปรับการทำงาน เพื่อที่จะทำให้ นักศึกษาที่จบออกมาแม้ว่าจะเป็นสายบริหารยังสามารถที่มีการมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น ในส่วนของ Upskill Reskill ของกระทรวงแรงงานผมขออนุญาตกลับไป Check นิดหนึ่งว่า งบประมาณที่เขาได้รับในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานั้นลดลงหรือเปล่า แต่ว่าที่แน่ ๆ ในช่วงที่ ผ่านมาเราปรับระบบของการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ปรับ เป็นตามทักษะฝีมือ แล้วก็มีการปรับตัวค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนที่ท่านมีข้อมูล ที่ท่านแจ้งว่าจำนวนคนที่ผ่านมาอาจจะลดลง ก็แน่นอน เมื่อได้รายได้ในทักษะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เกณฑ์การวัดก็อาจจะมีการปรับไป อันนี้ผมขออนุญาต กลับไป Check กับกระทรวงแรงงานสักนิดหนึ่งก่อนนะครับ เด็กจบใหม่ที่ตกงานเพิ่มขึ้นทุกปี อันนี้เดี๋ยวคงต้องรอดูตัวเลขนิดหนึ่ง แต่ต้องเรียนว่าได้มีความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้วในการที่จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมาสามารถมีการทำได้ แล้วก็มีโอกาสตกงาน น้อยลงครับ ขอบพระคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับ ผม ดนุชา พิชยนันท์ ครับ เลขาธิการสภาพัฒน์นะครับ สำหรับคำถาม เรื่อง Social Credit ที่ว่ามีการนำร่องในพื้นที่ไหนบ้างนะครับ ตอนนี้มีการนำร่องอยู่ใน ๑๐ หมู่บ้านหรือว่าชุมชนนะครับ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา แล้วก็กรุงเทพมหานคร ก็จะเป็นประมาณ ๑๐ ชุมชนที่มีการนำร่องใช้อยู่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นคำถามในรายละเอียด เดี๋ยวผมขออนุญาต อย่างที่ท่านสมาชิกได้นำเรียนนะครับ เดี๋ยวผมจะทำเป็นหนังสือส่งมาให้เพื่อความครบถ้วน ต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม