เรียนท่านประธานสภา ผม สยาม เพ็งทอง สส. จังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย มีข้อหารือกับท่านประธานเรื่อง Ramsar Site หรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหนองกุดทิงครับ หนองกุดทิงเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬเพียง ๕ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล ประกอบไปด้วย บึงกาฬ โนนสมบูรณ์ และโคกก่อง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่ มีประชาชนที่อาศัย และมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับแหล่งน้ำแห่งนี้ประมาณ ๒,๕๐๐ ครัวเรือน โดยใช้แหล่งน้ำแห่งนี้ ในการดำรงชีพไปกับการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เป็นต้น จนต่อมาในช่วง ปี ๒๕๕๒ ได้มีการประกาศให้หนองกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหรือ Ramsar Site ตั้งแต่วันนั้น เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันครับท่านประธาน สภาพของหนองกุดทิงก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากภาพท่านประธานจะเห็น มี Slide มี Video นะครับ
จากภาพ ท่านประธานจะเห็นว่าเต็มไปด้วย จอกแหนและจอกหูหนูยักษ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬในขณะนี้ครับท่านประธาน ปริมาณจอกแหนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่และเกิดความเสียหายมากมาย ทำให้ อุดตันช่องทางเดินน้ำ เสี่ยงต่อน้ำล้นและน้ำท่วม ทำให้ปลาในน้ำไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ กระทบต่อคุณภาพของน้ำ ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดำเนินการอะไรเลยครับท่านประธาน และจากข้อมูลโดยรวม พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจว่าการยกหนองกุดทิงให้เป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำโลกจะทำให้ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรอบดีขึ้น แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาพัฒนาครับท่านประธาน และในทางกลับกัน มีแต่หน่วยงานเข้ามาห้ามไม่ให้พี่น้องประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ได้เลย เพราะมีการประกาศเป็นเขตห้ามล่า เมื่อปี ๒๕๖๒ ที่เพิ่งผ่านมาครับ ตรงนี้เป็นภาพ กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากออกมาคัดค้านการประกาศเป็นเขตห้ามล่า หลายครั้ง มันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชนทั้ง ๓ ตำบลครับ ว่าตั้งแต่หนองกุดทิงประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกและเขตห้ามล่า ทำให้หลายครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ได้รับความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่แหล่งน้ำแห่งนี้อยู่คู่กับวิถีชีวิตของประชาชน เป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นปากเป็นท้องของพี่น้องประชาชนทั้ง ๓ ตำบลมาอย่างยาวนาน ท่านประธานครับ เป็นเรื่องที่ดีครับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการที่จะเข้ามาอนุรักษ์ แหล่งน้ำแห่งนี้เอาไว้ แต่เนื่องจากหนองกุดทิงเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยง กับปากท้องและวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ควรจะให้ประชาชนสามารถเข้าไป ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อทั้งประชาชนและหนองกุดทิงได้ครับท่านประธาน จึงอยากฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงที่เกี่ยวข้องนะครับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ช่วยแก้ไข ปัญหาดังกล่าว ด้วยการยกเลิกประกาศเขตห้ามล่า และยกเลิกพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหนองกุดทิง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้พี่น้องประชาชนคนบึงกาฬด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ เสื้อผ้าไทยที่ผมใส่อยู่นี้คือผ้าทอมือ ของพี่น้องอำเภอโซ่พิสัย ลายหมากเบ็ง ลายประจำจังหวัดบึงกาฬ เมืองยางพาราของ ภาคอีสานครับ เพราะจังหวัดบึงกาฬปลูกยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน และเป็นลำดับที่ ๗ ของประเทศ
โดยจากพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดกว่า ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ มีการปลูกยางพารามากถึงประมาณ ๘๗๐,๐๐๐ ไร่ คิดเป็น ๖๑ เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ตัวเลขตรงนี้ชัดเจนครับว่ายางพารานั้นเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และเป็นปากท้องของพี่น้องคนบึงกาฬ ท่านประธานครับ ปัญหาของพี่น้องชาวสวนยาง โดยสรุปมีอยู่ ๒ ข้อครับ ๑. ราคายางตกต่ำ ๒. ราคาปุ๋ยสูงขึ้น จากข้อมูลเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว ราคายางก้อนถ้วยอยู่ประมาณ ๘๐ บาท ราคาปุ๋ยอยู่ที่ประมาณ ๖๐๐ บาท แต่ในปัจจุบันครับท่านประธาน ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ประมาณ ๒๐-๒๔ บาท บางช่วง ตกต่ำลงถึง ๑๒ บาท และราคาปุ๋ยอยู่ที่ประมาณ ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ บาท ผ่านมา ๑๐ กว่าปี ราคายางตกต่ำลงถึง ๔ เท่า แต่ในขณะเดียวกันราคาปุ๋ยกลับสูงขึ้นถึง ๒ เท่าท่านประธานครับ ยางพารา คือลมหายใจและปากท้องของพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬ ถ้าราคายางดีความเป็นอยู่ของประชาชนก็ดี แต่ปัจจุบันเสียงสะท้อนจากชาวสวนยางต่างพูด เป็นเสียงเดียวกันว่าลำบากรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย บางครอบครัวต้องไปกู้ทำให้ต้อง เป็นหนี้เป็นสิน พี่น้องชาวสวนยางจึงอยากให้ช่วยแก้ปัญหา โดยให้ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ ประมาณ ๓๐-๓๕ บาท และให้ราคาปุ๋ยอยู่ที่ประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่พี่น้อง ชาวสวนยางอยู่ได้ครับท่านประธาน ผมเป็น สส. สมัยแรก แต่ได้ติดตามการทำงานของ สภาแห่งนี้มาหลายปี ได้เห็นเพื่อนสมาชิกพูดถึงปัญหาของราคายางพาราหลายครั้ง จึงหวังเป็น อย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางพาราอย่างจริงจัง และเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าราคายางดี เศรษฐกิจในประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วยครับ จึงอยากฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยแก้ไขปัญหา ดังกล่าว ให้พี่น้องคนบึงกาฬและชาวสวนยางทั่วประเทศครับ ด้วยความเคารพครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ เรื่องที่จะขอหารือในวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องสุขภาพของพี่น้องคนบึงกาฬ จากข้อมูลปี ๒๕๖๖ ในสถานการณ์ของแพทย์จังหวัดบึงกาฬมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชาชนน้อยที่สุดในประเทศไทย โดยหมอ ๑ คน ต้องดูแลประชาชนถึงประมาณ ๖,๐๐๐ คน เพราะทั้งจังหวัดมีหมออยู่เพียง ๗๓ คน ในขณะที่ประชากรมีประมาณ ๔๒๐,๐๐๐ คน ตัวเลขตรงนี้ชัดเจนว่าหมอไม่เพียงพอ ต่อการดูแลพี่น้องประชาชน โดยปัญหาสำคัญมีอยู่ ๓ ประการ
๑. การขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งทั้งจังหวัดมีแพทย์เฉพาะทางรวมทุกสาขาเพียง ๓๘ คน เท่านั้น ๒. การขาดแคลน พยาบาล ๓. ปัญหาเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย
เนื่องจากโรงพยาบาลบึงกาฬเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ศักยภาพ การรักษาจึงไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค เช่น โรคที่ต้องผ่าตัดสมอง บาดเจ็บในสมอง โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น ที่บึงกาฬไม่มีหมอด้านนี้ก็ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า เช่น โรงพยาบาล อุดรธานี หรือโรงพยาบาลสกลนคร ซึ่งก็มีผู้ป่วยมากอยู่แล้วทำให้การส่งต่อล่าช้า และเป็นอุปสรรค อีกทั้งการขาดแคลนพยาบาลก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจังหวัดบึงกาฬ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและต้องรองรับผู้ป่วยจากต่างชาติด้วย เพราะปัจจุบันมีพี่น้องจาก สปป. ลาวเข้ามารับบริการค่อนข้างมาก จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยแต่ละปีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อไปเมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๕ บึงกาฬ-บอลิคำไซแล้วเสร็จคาดว่าจะมี ผู้เข้ามารับบริการเพิ่มมากขึ้นอีกครับท่านประธาน จึงอยากให้ช่วยแก้ปัญหาโดยการเพิ่ม บุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพิ่มแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลให้เพียงพอ เพิ่มโอกาส ให้เด็ก ๆ และเยาวชนจังหวัดบึงกาฬสามารถเข้าถึงทุนการศึกษาด้านการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มบุคลากรในภูมิลำเนา ตลอดจนการยกระดับศักยภาพของ รพ.สต. ในแต่ละ ตำบล เพื่อลดการรอคอย ลดการแออัด ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยแก้ไข ปัญหาดังกล่าว เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องคนเป็นบึงกาฬด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ๓ ท่านดังนี้ครับ ๑. นายแพทย์อลงกต มณีกาศ ๒. นายเศรษฐการ เศรษฐกิจภาภรณ์ ๓. รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ใยอนงค์ ทิมสุวรรณ ขอผู้รับรองครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพและ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด บึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย เรื่องที่จะขอหารือวันนี้เป็นเรื่องความมั่นคงชายแดนของไทย ในพื้นที่ดอนโคราชบริเวณแม่น้ำโขง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬครับ
ในสนธิสัญญา TRACE ปี ๒๔๓๖ สรุปได้ว่า ในแม่น้ำโขงถ้ามีแม่น้ำสายแยก แยกออกเป็นหลายสายให้ใช้ร่องน้ำลึกที่ติดกับฝั่งไทยที่สุด เป็นเส้นแบ่งเขตแดน หมายความว่าเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจะเป็นของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมด ซึ่งสัญญาฉบับนี้ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมากครับท่านประธาน โดยเฉพาะในปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป หลายพื้นที่ที่เป็นสายแยกของแม่น้ำโขง ที่ติดกับฝั่งไทยไม่ได้เป็นร่องน้ำลึกครับ เป็นเพียงแค่ทางน้ำผ่าน ร่องน้ำตื้นเขินเรือขนาดใหญ่ ไม่สามารถสัญจรได้ บางพื้นที่กลายเป็นแผ่นดินติดกับประเทศไทยแล้ว เช่นที่ดอนโคราชของ จังหวัดบึงกาฬครับ แต่ในพื้นที่ดอนโคราชกลับมีพลเรือนและกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบ ฝ่ายมาสร้างถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นแผ่นดินที่ติดกับตลิ่งของไทย แต่ทำไมเรากลับปล่อยปละละเลยให้ประเทศอื่นมาอยู่อาศัย พื้นที่ตรงนี้มันไม่ควรจะเป็นของ ประเทศอื่นครับ มันควรจะเป็นของประเทศไทยครับท่านประธาน แล้วยังทราบมาอีกครับว่า น่านน้ำบริเวณดอนโคราชมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางจากเรือของไทยประมาณเที่ยวละ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติครับ เป็นแม่น้ำสากลที่ใช้ร่วมกัน ระหว่างนานาประเทศ การที่มีกลุ่มคนมาอาศัยอยู่และเรียกเก็บค่าผ่านทางแบบนี้เป็นเรื่องที่ ถูกต้องหรือไม่ครับท่านประธาน ท่านประธานครับ จังหวัดบึงกาฬยังมีปัญหาสำคัญอีกเรื่อง คือเรื่องของยาเสพติดที่ระบาดไปทั่วทั้งจังหวัด และตรงพื้นที่ดอนโคราชอาจจะเป็นจุดเสี่ยง สำคัญในการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับแผ่นดินไทย ทำให้การลักลอบสามารถทำได้โดยง่าย จึงอยากให้ช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่แก้จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนอีกมาก โดยเฉพาะ จังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง และถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้จะทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนเพิ่มอีก หลายพันไร่และสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ครับ เอาไปแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินให้ กลุ่มสมัชชาคนจนหรือเกษตรกรผู้ยากไร้ก็ได้ครับ จึงอยากฝากท่านประธานไปยัง ท่านนายกรัฐมนตรีและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม โดยท่านสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งท่านเป็นคนอีสานเหมือนกันครับ และเชื่อว่าท่านมีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงชายแดนเป็นอย่างดี ขอให้ช่วยเร่งตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาติและพี่น้องคนบึงกาฬด้วยครับ ด้วยความ เคารพครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการ ที่ปรึกษาชายแดนใต้ และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ในสัดส่วนของ พรรคภูมิใจไทยจำนวน ๓ ท่านครับ ๑. สส. ซาการียา สะอิ ๒. นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ๓. นายนัจมุดดีน อูมา ขอผู้รับรองครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพและเพื่อน สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย
เรื่องที่จะขอหารือวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเดินทางของพี่น้องประชาชนคนบึงกาฬครับ คือบริเวณถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ไปยังอำเภอปากคาด ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวถือว่าเป็นถนนสายหลักสำคัญที่พี่น้องประชาชนใช้สัญจรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดหนองคายเพื่อเข้าสู่จังหวัดอุดรธานีครับ เพราะในแต่ละวัน โดยส่วนมากคนบึงกาฬจะเดินทางไปที่จังหวัดอุดรธานีเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ การค้าระหว่างจังหวัดที่กลุ่มพ่อค้าและนักลงทุนต้องเดินทางไปทำการค้าในทุก ๆ สัปดาห์ ด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ต้องขนส่งผลผลิตด้านการเกษตรเป็นประจำ และโดยเฉพาะกับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ลูกหลานคนบึงกาฬที่ไปเรียนหรือไปศึกษาต่อ ที่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องที่จังหวัดอุดรธานีครับ และในปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬกำลังได้รับความนิยมในเรื่องของการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะ เดินทางมาที่บึงกาฬก็ต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้เช่นกันครับ เห็นได้ชัดครับท่านประธานว่า ถนนเส้นดังกล่าวนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนคนบึงกาฬ และจาก ที่ได้รับการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่คือถนนชำรุดเสียหายหลายจุด ทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มีรถสัญจรมากทุกวันจึงทำให้เกิดปัญหา เรื่องการจราจรติดขัดตามมา และที่สำคัญครับท่านประธาน ถนนเส้นนี้ยังเชื่อมโยงกับ สะพานไทย-ลาว แห่งที่ ๕ บึงกาฬ-บอลิคำไซ ที่กำลังก่อสร้าง แล้วจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ครับ และถ้าหากสะพานสร้างเสร็จเชื่อว่าจะมีจำนวนรถสัญจรเพิ่มมากขึ้นอีก ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ และการจราจรก็จะเพิ่มมากขึ้นครับท่านประธาน จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวง ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม ให้ช่วยพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยการขยายช่องทางเป็นถนน ๔ เลน บนถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ บริเวณตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ไปยัง อำเภอปากคาด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการสัญจร บนท้องถนนของพี่น้องคนบึงกาฬ และประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดบึงกาฬ ด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ เสื้อผ้าทอที่ผมใส่มาวันนี้เป็นผ้าลาย มัดหมี่ นาคะบูชาเจติยาคีรี ลายอัตลักษณ์ของพี่น้องอำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ เพราะเรื่อง ที่จะขอหารือวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องอำเภอศรีวิไลทั้งอำเภอ โดยผมได้รับแจ้งจากพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอศรีวิไล ถึงสภาพปัญหาของที่ว่าการ อำเภอที่ชำรุดทรุดโทรมและมีสภาพที่คับแคบ
จากข้อมูลครับท่านประธาน ที่ว่าการอำเภอศรีวิไลได้ใช้งานมากว่า ๓๕ ปี แล้วครับ ตั้งแต่ตอนยังเป็นกิ่งอำเภอ และจากการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม พบว่ามีสภาพ ชำรุดทรุดโทรมมากจริง ๆ ครับ ทั้งหลังคารั่วและโครงสร้างอาคารเสียหายหลายจุด ทำให้ เกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชนผู้มาใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งปัญหาเรื่อง สถานที่ที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่วนราชการบางส่วนต้องย้ายไปตั้งอยู่ นอกที่ว่าการอำเภอ ส่งผลกระทบต่อการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน เป็นอย่างมากครับ และเนื่องจากปัจจุบันบึงกาฬได้ยกฐานะเป็นจังหวัด เมื่อปี ๒๕๕๔ ทำให้ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนประชากรของอำเภอศรีวิไล ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้การบริการพี่น้องประชาชนภายใต้สถานที่ที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรม ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ท่านประธานครับ อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีครับว่าที่ว่าการ อำเภอนั้นเป็นสถานที่ที่สำคัญเอาไว้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้บริการพี่น้องประชาชนทุกคน ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ดังนั้นเรื่องความพร้อมของสถานที่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญครับ ท่านประธาน จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างที่ว่าการอำเภอศรีวิไลหลังใหม่เพื่อให้มีความพร้อมและความเหมาะสม ของสถานที่ ตลอดจนเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้อง ประชาชนคนบึงกาฬด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ