ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องที่ดินทำกิน ส.ป.ก. ตลอดหลายปี ที่ผ่านมาดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนอำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ทำหนังสือถึงพี่น้องประชาชนเพื่อขอตรวจสอบ สิทธิการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เมื่อตรวจสอบสิทธิแล้วก็ทำการยึดที่ดินพี่น้องประชาชนบ้าง ข่มขู่ ขับไล่บ้าง พี่น้องประชาชนเดือดร้อนทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส กินไม่ได้ นอนไม่หลับค่ะ ดิฉันได้สอบถามไป สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคายนั้นได้ให้ข้อมูลชี้แจงกับดิฉันว่า ได้ใช้กฎหมายในการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ก็คือใช้หลัก ๙ อรหันต์ ท่านประธานคะ พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้ ดิฉันยัง ไม่เกิดเลยค่ะ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงมีความล้าหลัง เราสมควรที่จะแก้ไขและปรับปรุง เพราะวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนนั้นเปลี่ยนไป จากวิถีชีวิตเกษตรกรรมเปลี่ยนเป็น ชุมชนเมืองค่ะ แต่ก่อนพี่น้องประชาชนอาจจะทำนาในระดับหมู่บ้าน ทุกวันนี้หมู่บ้าน เปลี่ยนระดับเป็นระดับอำเภอค่ะ ที่ผ่านมาดิฉันได้นำปัญหาความเดือดร้อนนี้เข้าไป ปรึกษาหารือกับท่านธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านได้แก้ไขปัญหาโดยการออกวงรอบที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น แต่ในระยะยาวปัญหาก็ยังไม่จบ ดิฉันจึง นำเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้ากระทรวงที่กำกับดูแล สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ให้ขอร้องช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชน โดยยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมประกอบการบังคับใช้กฎหมายด้วย ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หารือด้วยกัน ๒ เรื่องค่ะ
เรื่องแรก การขอขยายเขตไฟฟ้ายังไม่ได้รับการติดตั้งช่วยเหลือ ตัวดิฉันเอง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชุดที่ ๒๕ ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมาดิฉันได้รับการร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนจำนวนหลายหมู่บ้านด้วยกันว่าไปขอติดตั้งไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนใหม่ ผ่านมาหลายปีแล้วค่ะ ในวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการดูแลและช่วยเหลือ ดิฉันได้นำปัญหานี้ เข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรแล้วถึง ๒ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑. การขยายเขตไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรบ้านนาอุดม ตำบลนาดี อำเภอเฝ้าไร่
๒. การขยายเขตไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรบ้านหนองแวงคำภู ตำบลวังหลวง อำเภอเฝ้าไร่
๓. การขยายเขตไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรบ้านต้อนเหนือ ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จำนวน ๒๖ ครัวเรือน
๔. การขยายเขตไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรบ้านโคก ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จำนวน ๑๖ ครัวเรือน
๕. การขยายเขตไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรบ้านทรายทอง ตำบลชุมช้าง อำเภอโพนพิสัย จำนวน ๗ ครัวเรือน
ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในหน่วยงานกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยว่า ถึงแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว พี่น้องประชาชนดิฉันก็ยังรอคอยอย่างไม่เข้าใจแบบมีความหวังว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น จะเข้าไปติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนค่ะ
เรื่องที่ ๒ จุดกลับรถบ้านนิคมดงบัง ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย ช่วงถนนมิตรภาพระหว่างหนองคายไปยังบึงกาฬ หมายเลข ๒๑๒ หลักกิโลเมตรที่ ๕๐-๕๓ ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นค่ะ ฝั่งหนึ่งบ้านนิคมดงบังนั้นเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ถูกผ่ากลางด้วยถนนมิตรภาพ ลักษณะถนนเป็นถนน ๔ Lane ออกแบบเกาะกลางถนน ผ่ากลางตลอดแนวหมู่บ้านค่ะ ฝั่งหนึ่งพี่น้องประชาชนนั้นใช้อยู่อาศัยค่ะ อีกฝั่งหนึ่งจะมีวัด มีโรงเรียน มีตลาด พอการออกแบบเกาะกลางถนนนั้นเปลี่ยนวิถีชีวิตความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนค่ะ จะไปวัดก็ลำบาก ไปโรงเรียนก็ลำบาก จะไปตลาดก็ลำบาก ดิฉัน ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ในวันนี้เองปัญหา ความเดือดร้อนก็ยังไม่ได้รับการดูแลและแก้ไข ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภา ไปยังกรมทางหลวง กระทรวงมหาดไทย ถึงแม้จะผ่านไปหลายปีแต่พี่น้องประชาชน ยังรอคอยนะคะว่าจะได้รับการแก้ไข ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายเกี่ยวกับพระราชกำหนดมาตรการการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยส่วนตัวแล้วในฐานะที่ดิฉันเป็นตัวแทนของ พี่น้องประชาชนจังหวัดหนองคาย เขต ๒ เห็นว่าพระราชกำหนดกฎหมายฉบับนี้ มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ เป็นอาชญากรรมที่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยซึ่งสร้างความเสียหายให้กับความมั่นคง ของประเทศ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล หากมีกฎหมาย มาบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งก็จะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ดีให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญหน้า กับอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นได้ให้ข้อมูล และสถิติว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๑ ปีที่ผ่านมาเป็นสถิติตั้งแต่วันที่ ๑ ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ด้วยค่ะ
ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ปี ๒๕๖๕ จนถึงวันที่ ๑ มีนาคม ปี ๒๕๖๖ มีการแจ้งความคดีผ่านระบบ Online มากถึง ๒๑๘,๐๐๐ เคส มูลค่าความเสียหายนี่มากถึง ๓๑,๐๐๐ ล้านบาท ย้อนกลับไปเพียงแค่ปีเดียวค่ะ ประมาณ ปี ๒๕๖๔ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกันให้ตัวเลขไว้ว่ามูลค่าความเสียหายของอาชญากรรม ทางด้านเทคโนโลยีนั้นมีสูงถึง ๑๗,๐๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ๑๗,๐๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ๓๑,๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานคะ ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเกือบ ๑ เท่า ซึ่งอาชญากรรม ด้านเทคโนโลยีที่รับการร้องทุกข์มากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ก็คือการหลอกลวงซื้อสินค้า อันดับที่ ๒ ก็คือการหลอกลวงทางโทรศัพท์ อันดับที่ ๓ ก็คือการหลอกลวงให้กู้ แต่ไม่ได้เงิน ส่วนตัวดิฉันเองในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนจังหวัดหนองคาย เขต ๒ ใน ๑ เดือน ที่ผ่านมาดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๒ เรื่องด้วยกันที่เกี่ยวข้อง กับอาชญากรรมด้านเทคโนโลยีค่ะ
ในเรื่องแรก ได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนตำบลนาดี อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ยากจนมีอาชีพทำนา ลูกชายนั้นติดยาเสพติด ได้รับการจ้างวานให้เปิดบัญชีม้ามูลค่า ๕๐๐ บาท ตอนนี้โดนหมายเรียกเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว พ่อแม่มีอาชีพทำนาเป็นทุกข์ใจมากนะคะ
Case ที่ ๒ ได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย เป็นเด็กนักเรียนที่ชอบเล่นเกมในร้านเกม Online โดนเพื่อนหลอกไปเปิด บัญชีม้า ทั้ง ๒ เคส มีความเหมือนกันคือทั้ง ๒ ครอบครัวเป็นครอบครัวที่ยากจน โดนหมายศาลถึง ๒ ครั้ง มูลค่าความเสียหายทั้ง ๒ เคส รวมกันมีมูลค่ามากถึง ๕ ล้านบาท แม้แต่ค่ารถที่จะต้องเดินทางไปชี้แจงตำรวจที่มีหมายเรียกมายังไม่มีเลยค่ะ นี่เป็นความทุกข์ ทรมานใจของพี่น้องประชาชนค่ะ พ.ร.ก. ฉบับนี้พระราชกำหนดป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นพระราชกำหนดที่เป็นกฎหมายที่นำมาจัดการเกี่ยวกับ บัญชีม้า ซึ่งบัญชีม้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี พี่น้องประชาชน ทางบ้านที่ฟังอยู่อาจจะสงสัยบัญชีม้าคืออะไร บัญชีม้าก็คือบัญชีธนาคารที่เจ้าของบัญชีนั้น เปิดขึ้นมา แต่ไม่ได้ใช้ มีผู้กระทำผิดนั้นนำไปใช้ นำไปใช้ในการรับโอนเงินบ้าง โอนเงินออกบ้าง นำบัญชีนี้ไปซื้อสินค้าที่ผิดกฎหมายบ้าง ตัวละครในพระราชกำหนดนี้มี ๓ ตัวละครหลัก ตัวละครตัวที่ ๑ ผู้เปิดบัญชีก็คือผู้ที่ถูกหลอกลวงให้ตัวเองไปเปิดบัญชีม้า ตัวละครตัวที่ ๒ คือผู้กระทำผิด ก็คือผู้ที่ไปหลอกลวงให้เปิดบัญชีม้า ตัวละครตัวที่ ๓ ก็คือสถาบันการเงิน ในกฎหมายข้อนี้ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตค่ะ ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็น แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ไม่รอบคอบและรัดกุมอยู่ ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ตัวละครมี ๓ ตัว แต่การระบุโทษทางด้านอาญา ขอ Slide แผ่นที่ ๒ ค่ะ กลับมีตัวละครที่ได้รับผลกระทบแค่ ๒ ตัวละครเท่านั้น ๑. ผู้ที่ถูกหลอกลวง รับจ้างเปิดบัญชีจะได้รับโทษทางอาญาคือจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวละครที่ ๒ ก็คือผู้กระทำผิดคือหลอกลวงให้ไปเปิดบัญชี มีโทษจำคุก สูงสุด ๒-๕ ปี ปรับ ๒๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตัวละครที่ ๓ ก็คือ สถาบันการเงิน ผู้ที่ทำธุรกรรม ผู้ที่รู้ว่ามีการโอนเงิน รับเงิน ผู้ที่รู้ว่านำบัญชีนี้ไปซื้อสินค้า เหมือนท่านเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายยกตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้ ในความเห็นเดียวกันว่า ทำไมพระราชกำหนดนี้ถึงไม่มีบทลงโทษทางด้านอาญาให้กับสถาบันการเงิน หากมีสถาบัน การเงินนั้นผู้ทำธุรกรรมจะได้ให้ความระมัดระวังค่ะ และดิฉันคิดว่าอาชญากรรม ทางด้านเทคโนโลยีจะลดลงแน่นอนนะคะ
ข้อสังเกตข้อที่ ๒ ที่ดิฉันขอตั้งในพระราชกำหนดในเรื่องนี้ค่ะ พระราชกำหนด ในฉบับนี้มีทั้งหมด ๑๔ มาตรา แต่ในมาตรา ๑๓ ได้กล่าวไว้ว่าในวาระเริ่มแรก ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนตามที่เห็นสมควรเพื่อพิจารณาว่า เหตุอันควรสงสัย ตามมาตรานี้ไม่ได้ระบุขอบเขตคุณสมบัติของคณะกรรมการ อำนาจ ระยะเวลาในการพิจารณา ซึ่งดิฉันมีความกังวลใจด้วยส่วนตัวว่าการพิจารณาข้อผิดกฎหมาย จะเกิดความชอบธรรมและขั้นตอนการพิจารณานั้นกว่าจะแล้วเสร็จ ผู้กระทำผิดก็กังวลว่า จะกลับไปทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมันไม่ได้ทำให้อาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีนั้นลดลง โดยส่วนตัวในฐานะที่ดิฉันเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนจังหวัดหนองคาย เขต ๒ เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นมาก เพื่อที่จะมาบรรเทาทุกข์และเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ชาติประจำปี ๒๕๖๕ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ นั้น ได้กำหนดให้ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้เราต้อง ออกกฎหมายเพิ่มก็คือพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหมด ๖ ด้าน แยกแผนแม่บทถึง ๒๓ ประเด็นด้วยกัน นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เรามีแผนยุทธศาสตร์ยาวนานถึง ๒๐ ปี หรือ ๒ ทศวรรษด้วยกัน แต่ที่สำคัญกว่านั้น พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ นี้ กำหนดอย่างชัดเจนในมาตรา ๕ ว่าองคาพยพทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คณะกรรมการ และหน่วยงานราชการทุกแห่งในอนาคต จะต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ ระดับนโยบาย งบประมาณ และแผนงานต่าง ๆ วันนี้เป็นการรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประเทศไทยนั้นได้ใช้ผ่านมาแล้ว ๕ ปี ยังคงเหลืออีก ๑๕ ปีที่เราจะต้อง ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตผ่านท่านประธานสภาไปยัง คณะกรรมการชุดนี้ ทั้งหมด ๔ ข้อค่ะ
ข้อ ๑ กรอบของแผนงานที่ยาวนานถึง ๒๐ ปี ส่งผลเสียต่อการบริหาร ประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่ เท่ากับว่ารัฐบาลในอนาคต ที่ยังเหลืออีก ๑๕ ปีนี้ถูกมัดมือชกค่ะ ไร้ซึ่งอิสรภาพในการออกนโยบายที่มากกว่าเดิม ทำให้ ไม่มีความยืดหยุ่นในการบริหารประเทศ ข้อสังเกต
ข้อ ๒ แผนยุทธศาสตร์ชาติมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริงหรือไม่ ดิฉันขอ ยกตัวอย่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีทั้งหมด ๒๓ ประเด็น แต่ดิฉันขอยก ประเด็นด้านการเกษตรขึ้นมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ค่ะ ขอ Slide ด้วยนะคะ
จากรายงานหน้า ๑๙๘ ตามรายงาน ที่ทางคณะกรรมการมอบไว้ให้ แจ้งไว้ว่าแผนแม่บทด้านการเกษตรนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการ ยกระดับผลิตภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตและสินค้าการเกษตร รวมทั้ง พัฒนาศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการการเกษตร ตาม Slide ที่เห็นนี้เราได้ใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติมาแล้ว ๕ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๕ แต่ผลผลิต ทางการเกษตรต่อไร่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ยกตัวอย่าง ข้าวเปลือกนาปี เมื่อปี ๒๕๖๑ นั้น เราได้ผลผลิต ๔๕๓ กิโลกรัมต่อไร่ ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาผลผลิตก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร ปี ๒๕๖๕ นั้นผลผลิตได้เพียงแค่ ๔๔๕ กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น พืชผลตัวอื่นก็เช่นกันนะคะ
สุดท้ายแล้วบรรทัดสุดท้ายค่ะ ดูตัวอย่างที่อ้อย ปี ๒๕๖๑ นั้นผลผลิตของอ้อย ได้ที่ ๑๑,๐๐๐ กิโลกรัม ปี ๒๕๖๕ ผลผลิตกลับลดลงเหลือเพียงแค่ ๙,๖๕๗ กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น เมื่อสักครู่นี้ท่าน สส. ธีระชัย แสนแก้ว จากอุดรธานี ได้อภิปรายแล้วว่าตอนนี้ผลผลิต อ้อยของเราตกต่ำแพ้บราซิลไปแล้วค่ะ ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการที่เราจะต้อง วางแผนจัดสรรนโยบาย จัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้น เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจริงหรือไม่ Slide ถัดไปค่ะ ตอกย้ำความไร้ซึ่งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วยงบประมาณ เมื่อปี ๒๕๖๑ งบประมาณด้านการเกษตรภาคการเกษตร เราได้อยู่ที่ประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี ๒๕๖๖ ก็ได้ประมาณ ๑๒๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่ภาคการเกษตรนั้นมี GDP โตเพียงแค่ ๗.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นการตอกย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลจริงหรือไม่
ข้อสังเกตข้อที่ ๓ ก็คือตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบันนี้มีตัวชี้วัดมากถึง ๒๑๘ ตัว การกำหนดตัวชี้วัดจำนวนมากที่กว้าง หรือเป็นนามธรรมมากเกินไปจนต่อให้บรรลุ ค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัดเหล่านั้นได้ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เช่น ดิฉัน ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวชี้วัด ๒ ตัวค่ะ
ตัวชี้วัดตัวแรก ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรสำหรับประเทศไทยอยู่ใน ๑๐ อันดับแรกของโลกภายในปีพุทธศักราช ๒๕๘๐
ตัวชี้วัดตัวที่ ๒ ตัวอย่างตัวที่ ๒ ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ และศักยภาพตำรวจระดับสากลอยู่ใน ๒๐ ลำดับแรกของโลกภายในปี ๒๕๘๐
ข้อสังเกตข้อที่ ๔ จากรายงานที่ผ่านมา ๕ ปี เมื่อเจอปัญหาเรื้อรังและรุนแรง กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติใช้แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา เราเจอวิกฤติ COVID-19 เจอปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เจอปัญหาพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง เจออาชญากรรมที่เปลี่ยนไปค่ะ ตอนนี้อาชญากรรม ที่รุนแรงมากที่สุด ก็คืออาชญากรรมด้านเทคโนโลยี แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีกรอบ การพัฒนาที่ยังคงมีกรอบการพัฒนาที่ล้าหลัง ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันจึงนำเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปยังคณะกรรมการ ว่าขอตั้งข้อสังเกตทั้ง ๔ ข้อถึงเรื่องผลสัมฤทธิ์ของ แผนงานนี้ว่าการบริหารประเทศภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะบรรลุวิสัยทัศน์ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือตามคติพจน์ที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดค่ะ เราควรที่จะมียุทธศาสตร์ชาติยังคงเหลืออีก ๑๕ ปีต่อไปหรือไม่ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันได้ร่วมยื่นญัตติด่วนเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน ซึ่งญัตติของดิฉันนั้นได้ร่วม เสนอกับท่าน สส. เชิงชาย ชาลีรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออ่านร่างญัตติด่วนพร้อมกับให้เหตุผลประกอบนะคะท่านประธาน ดิฉันขอเสนอ ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไข ปัญหาการครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินเขตทับซ้อนกับที่ป่าสงวน แห่งชาติของประชาชน
เนื่องด้วยการครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. หรือเอกสาร ที่แสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ออกให้ ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นได้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ ทั้งในด้านวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินและข้อจำกัดสิทธิของผู้ครอบครองอันนำมา ซึ่งข้อพิพาททางกฎหมายกับรัฐหลายครั้ง จากการรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พบว่ามีประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมบางประการ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะในการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ที่น่าสนใจ เมื่อพิจารณาจากสภาพสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไขการสืบทอดมรดกที่ดิน ส.ป.ก. เรื่องการอนุญาต ให้นำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ในเชิงพาณิชย์นอกจากการใช้ในการเกษตรกรรมเท่านั้น เรื่องการไม่ได้ รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เกี่ยวกับการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. และประเด็นเรื่องการอนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นนำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ในการสาธารณประโยชน์ เช่นการจัดทำที่ทิ้งขยะในชุมชน ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตพื้นที่ ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่เกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อน การประกาศเป็นเขตป่ากับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหลายพื้นที่ ไม่มีสภาพความเป็นเขตป่าแล้ว ไม่อาจฟื้นฟูสภาพป่าคืนสู่ธรรมชาติได้ เนื่องจากมีประชาชน เข้าครอบครองทำประโยชน์จนมีสภาพเป็นชุมชนอยู่อาศัย กรณีนี้จึงเกิดผลกระทบ และข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ อันเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ควรได้รับ การพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิการครอบครอง และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ของประชาชนในที่ดินทั้ง ๒ ประเภทข้างต้นให้เกิดความชัดเจน ด้านหนึ่งเพื่อรักษาไว้ซึ่ง ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ อีกด้านหนึ่งเพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้มีความมั่นคง แน่นอนในนิติฐานะของตน อันถือเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญยิ่ง ที่ควรจะได้มีการศึกษา และแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วน ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวมาเพื่อให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการครอบครอง และถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินเขตทับซ้อนกับที่ป่าสงวนแห่งชาติของประชาชน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาต่อไป
ท่านประธานคะ การเสนอร่างญัตติด่วนในครั้งนี้ดิฉันได้รับการร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมากถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ พี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดหนองคายของดิฉันประกอบอาชีพเกษตรกรมากกว่าร้อยละ ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจังหวัดหนองคายของเรามีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๘๙๐,๐๐๐ ล้านไร่ พื้นที่ที่ยังไม่ได้ออก เอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชนนั้นมากถึง ๘๒๐,๐๐๐ ล้านไร่ ส่วนใหญ่ จะเป็นพื้นที่ที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่ง ส.ป.ก. ก็คือสำนักงานปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมนั้นได้ยึดการออกเอกสารสิทธิตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เก่ามาก ดิฉันยังไม่เกิดเลยค่ะ และยึดหลัก ๙ อรหันต์ ซึ่งบริบทข้อเท็จจริงในวันนี้ บริบทของสังคมนั้นเปลี่ยนไป ชุมชนเกษตรกรรมนั้นไม่ได้ทำเฉพาะเกษตรกรรมอย่างเดียว แต่ได้ประกอบอาชีพอื่นด้วย และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่พี่น้องประชาชนเข้ามาร้องทุกข์เป็นจำนวนมากถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับนั้น เนื่องจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ คนที่ได้รับ เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจึงจะต้องขายต่อ ผู้ที่ซื้อต่อนั้นก็ไม่ได้นำไป ทำอาชีพอื่น ก็ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ ซึ่งทั้ง ๒ เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่พี่น้อง ประชาชนเข้ามาร้องทุกข์ แล้วก็เป็นเรื่องที่ดิฉันต้องนำเสนอญัตติด่วนในวันนี้
และในวันนี้เองพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดหนองคายมีความหวังกับนโยบายที่ดินพรรคเพื่อไทย ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศในระหว่างการหาเสียงเอาไว้ว่าจะเร่งรัดออกโฉนด แก้กฎหมาย พิสูจน์สิทธิ จัดหา ที่ดินทำกิน ๕๐ ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ ทั้งหมดแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก ก็จะเป็นการออกโฉนดให้กับประเภทเอกสารสิทธิ ส.ค. ๑ ซึ่งจะมีประมาณ ๑ ล้านแปลง ทั่วประเทศ กลุ่มที่ ๒ ก็คือเป็นเอกสารสิทธิประเภท ส.ป.ก. ทั่วประเทศนั้นจะมีประมาณ ๓๓ ล้านไร่ เป็นโฉนดเพื่อวนเกษตรแล้วก็ป่าไม้ กลุ่มที่ ๓ จะเป็นกลุ่มป่า แยกเป็น ๓ กลุ่มย่อย ก็จะเป็นกลุ่มป่าสงวน ๗ ล้านไร่ ปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อโฉนด กลุ่มที่ ๒ ก็คือ คนพื้นที่สูงกว่า ๑๐ ล้านไร่ ปลูกได้ ขายได้ และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ ๓ ก็คือชุมชน ๒๐,๐๐๐ หมู่บ้านชาวเขา ชุมชนท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นนิคมสหกรณ์ป่าชุมชน และดิฉันก็มีเรื่อง ให้ดีใจนะคะ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายนที่ผ่านมา เมื่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า รับตำแหน่ง มีอำนาจสั่งการทันที ท่านก็ลงมือทำ นโยบายนี้ทันที และประกาศว่าจะออกโฉนด ๓๓ ล้านไร่ ที่เป็นโฉนดที่ดินของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในประเภท ส.ป.ก. ให้กับพี่น้องประชาชน ดิฉันจึงนำเรียน ผ่านท่านประธานสภาไปยังคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และเร่งรัด นโยบายการออกที่ดินทำกิน ๕๐ ล้านไร่ให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณ ค่ะท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมาดิฉันได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากแรงงานไทย ในประเทศอิสราเอล ทั้งข้อความที่แสดงความถึงความหวาดกลัวและกำลังหลบหนีกระสุน อยู่ในขณะนั้น ทั้ง Clip ภาพประกอบที่เป็นเพื่อนแรงงานไทยถูกจับตัว และขณะนั้น ได้รับบาดเจ็บ ตอนนี้ยังไม่ทราบชะตาชีวิต
กระทรวงแรงงานได้ให้ตัวเลข ว่ามีแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลมากถึง ๒๕,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงาน ที่มาจากภาคอีสานมากถึง ๑๙,๐๐๐ คน ตัวดิฉันเองได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนของ สส. ภาคอีสานจากพรรคเพื่อไทยให้นำเรื่องนี้เข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วนที่สุด คนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเป็นคนยากจน บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งตัวเอง ไปในประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อหาเงินหารายได้กลับมาส่งเสียครอบครัวที่เมืองไทย ตอนนี้ เกิดสงครามในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิต แรงงานบางคนต้องถูกจับเป็นตัวประกัน ในตอนนี้ ยังไม่ทราบชะตากรรม และที่เหลือทั้งหมดต้องหลบซ่อนตัวเพื่อที่ให้ตัวเองนั้นมีชีวิตกลับมา จากสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้ ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังรัฐบาล ไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
๑. ช่วยสื่อสารเป็นระยะ ๆ ถึงมาตรการความช่วยเหลือแรงงานไทย ในอิสราเอล
๒. รัฐบาลมีการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอลที่เสียชีวิต และจะต้องตกงานและถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทยเช่นไร เพื่อลดความหวาดกลัว เพื่อลดความวิตกกังวลให้กับแรงงานไทยในอิสราเอล เพื่อเป็นการปลอบขวัญครอบครัว ที่รอคอยการกลับมาของลูกหลาน ซึ่งตอนนี้ไม่ทราบแม้กระทั่งชะตาชีวิตของครอบครัวตัวเอง ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภคและบริโภค
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากท่าน สจ. วิทธิยา สีหาทน และท่านผู้ใหญ่บ้านบ้านภูเงิน ตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ถึงปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบเพื่อที่จะ ผลิตน้ำประปาให้กับพี่น้องประชาชนจำนวน ๔ หมู่บ้าน ๓๖๘ ครัวเรือน เดือดร้อนหลายพันคน ด้วยกันค่ะ จากวันนั้นดิฉันได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรแล้วถึง ๒ ครั้งด้วยกัน รวมครั้งนี้ดิฉันหารือรวมกันแล้วถึง ๓ ครั้ง แล้วก็ผลักดัน ติดตาม ทวงถามหน่วยงาน ที่เกี่ยวกับระบบน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำบนดิน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ น้ำใต้ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะหาแหล่งน้ำให้กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานคะ ภาพ Slide ที่เห็นนะคะ จากวันนั้นปี ๒๕๕๓ จนถึงวันนี้ปี ๒๕๖๖ ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการดูแลและแก้ไข จนถึงวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถที่จะหาแหล่งน้ำผลิต แก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนได้ เทศบาลตำบลเฝ้าไร่ได้โอนกิจการน้ำประปา ไปให้การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภา ไปยังการประปาส่วนภูมิภาคว่าท่านคงเป็นความหวังสุดท้ายของพี่น้องประชาชนที่จะช่วย ต่อท่อน้ำประปาจากอำเภอโพนพิสัยระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร เพื่อที่จะส่งมอบน้ำประปา เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหารือในเรื่อง การขอขยายเขตไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนใหม่ ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากท่านนายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ไปร้องขอติดตั้งมิเตอร์สำหรับครัวเรือนใหม่เป็นเวลานานมากแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการดูแล และแก้ไข จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำพี่น้องประชาชนมาร้องทุกข์กับ สส. อีกครั้งหนึ่ง ๑. บ้านโพธิ์ใหม่ ๒. บ้านคำเจริญ ๓. บ้านปัก ๔. บ้านคำปะกั้ง ๕. บ้านเหล่าโพธิ์ทอง ๖. บ้านคำแสนสุข ๗. บ้านโนนสีทอง ๘. บ้านดงอ่าง ๙. บ้านไทรทอง ดิฉันนำเรียน ท่านประธานสภาค่ะ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่าตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอโพนพิสัยนั้นมีทั้งหมด ๑๓ หมู่บ้าน แต่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขอติดตั้งไฟฟ้าครัวเรือนใหม่ มากถึง ๙ หมู่บ้านด้วยกัน ไม่พอค่ะ ยังไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขด้วย มันสะท้อนถึงปัญหา การบริหารจัดการภายในของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือไม่ ในเรื่องนี้จริง ๆ แล้วดิฉันเอง ได้นำเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วถึง ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และในวันนี้เป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งตลอด ๔ ครั้งที่ผ่านมาทุกหมู่บ้านที่ดิฉันนำเข้าหารือในสภา อันทรงเกียรตินี้ยังไม่ได้รับการติดตั้ง ดูแล และแก้ไขค่ะ ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภา ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยค่ะ พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ถึงมีความจำเป็น ต้องมาร้องทุกข์กับ สส. และประชาชนนั้นก็คาดหวังว่าความเดือดร้อนนั้นจะได้รับการดูแล และแก้ไข ภารกิจ อำนาจหน้าที่ งบประมาณ ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับจากรัฐบาลไป วัตถุประสงค์หลักเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ฝากท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยเร่งรัดให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินนโยบาย ตามรัฐบาลด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉันนางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หารือด้วยกัน ๒ เรื่องค่ะ
เรื่องแรก แพเครื่องสูบน้ำชำรุดเสียหาย ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนตำบลบ้านต้อน อำเภอรัตนวาปี ถึงความทุกข์ใจว่าแพเครื่องสูบน้ำนั้นชำรุดเสียหาย จากรูปที่เห็นนี้เครื่องสูบน้ำนี้ได้รับมอบจากกรมชลประทานตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เครื่องสูบน้ำไม่ได้เสียหาย พี่น้องประชาชนดูแล อย่างทะนุถนอมค่ะ แต่ปัญหาคือแพเครื่องสูบน้ำชำรุดเสียหาย ความทุกข์ใจก็คือว่าเมื่อฤดู การผลิตปี ๒๕๖๖ ไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย ไม่สามารถทำนาปีได้ ไม่มีน้ำเลี้ยงปลา และส่งผลให้ฤดูการผลิตในปีนี้ก็คือ ปี ๒๕๖๗ นาปรังไม่สามารถทำได้ค่ะ ดิฉันจึงนำเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อน ไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หนองคาย ช่วยไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ การบูรณาการหนองกุดบ้าน ตำบลนาดี อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัด หนองคาย ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาดี พร้อมทีม ผู้บริหารและกำนันตำบลนาดี ถึงความทุกข์ใจว่าหนองกุดบ้านนั้นมีพื้นที่ประมาณ ๓๔๕ ไร่ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ใช้เป็นพื้นที่ทั้งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แล้วก็สามารถกักเก็บน้ำในช่วงที่ มีปัญหาน้ำท่วมได้ และยังไม่พอค่ะ ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมบุญประเพณีได้ด้วย ตอนนี้ ไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแล ปรับปรุง แก้ไข ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภาขอให้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปดูแลปรับปรุงแก้ไขให้ด้วยค่ะ เพื่อให้ ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ขอบพระคุณมากค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันต้องกราบขอบพระคุณ ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การคลัง ที่ได้มาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของดิฉัน ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการนำที่ดินราช พัสดุของกรมธนารักษ์ ในความครอบครองของรัฐ นำมาให้ประชาชนนั้นได้เช่าเพื่อทำกินแล้ว ก็อยู่อาศัย ซึ่งตัวท่านเองมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลกรมธนารักษ์ ท่านประธานคะ ประเทศไทยของเรามีเนื้อที่ทั้งประเทศ ประมาณ ๓๒๑ ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินของรัฐนั้น ประมาณ ๑๘๓ ล้านไร่ คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือ ก็เป็นที่ดินของภาคเอกชน ประมาณ ๑๓๘ ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นที่ดินของรัฐจึงมีสัดส่วนมากกว่าที่ดินของเอกชนประมาณ ๖๐:๔๐ แล้วก็เป็น ที่ทราบกันดีว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยของเรานั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมี ความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรดินในการเป็นต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง แต่จากตัวเลขที่ดิฉันพบมามีการลงทะเบียนคนจน ในปี ๒๕๔๗ พบว่าผู้ลงทะเบียนที่เป็น ผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกินนั้นมีมากถึงประมาณ ๑,๐๐๓,๐๐๐ ราย ผ่านไป ๑๐ กว่าปีค่ะ ดิฉันก็ไปเห็นตัวเลขอีกตัวเลขหนึ่งของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ประมาณปี ๒๕๖๑ มีผู้ขึ้นทะเบียนที่เป็นผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินมากถึง ๘๒๓,๐๐๐ ราย ผ่านไป ๑๐ กว่าปี รัฐบาลในช่วงนั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขให้กับคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ ๒๐๐,๐๐๐ รายเท่านั้นค่ะ ส่วนตัวดิฉันเองเป็นตัวแทนของพี่น้อง ประชาชนจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชน ได้รับเรื่องร้องทุกข์อย่างสม่ำเสมอถึงปัญหาที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินบ้าง ครอบครองที่ดินที่เราทำกินอยู่ไม่มีเอกสิทธิ์บ้าง หรือครอบครองที่ดิน ทำกินแล้วยังเป็นของกรมธนารักษ์บ้าง แล้วก็สืบเนื่องจากรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นมีนโยบายอย่างเร่งด่วนที่จะ บริหารจัดการที่ดินของราชพัสดุในครอบครองของรัฐ หน่วยงานรัฐที่มีที่ดินจำนวนมากและ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะนำที่ดินส่วนนี้กลับมาให้พี่น้องประชาชนนั้นได้เช่าเพื่อทำกินแล้วก็อยู่ อาศัย ซึ่งหากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเศรษฐา มีความตั้งใจจริง เอาจริงเอาจัง ดิฉันก็เห็นว่า มันเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนผู้ยากจนที่จะสามารถมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน สามารถสร้างงานสร้างรายได้ เลี้ยงดูตนเองกับครอบครัวได้ ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลนี้จะสามารถ แก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนได้ค่ะ รัฐบาลได้นำร่องด้วยโครงการ หนองวัวซอโมเดลค่ะ ซึ่งครอบครองที่ดินราชพัสดุโดยกระทรวงกลาโหมจำนวนเกือบ ในระยะแรกกระทรวงกลาโหมนั้นได้ส่งมอบที่ดินเกือบ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ให้กับรัฐบาลค่ะ ดิฉันจึง มีคำถามผ่านท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลหน่วยงานกรมธนารักษ์ ผ่านท่านประธานสภา ทั้งหมด ๓ คำถามด้วยกันค่ะ
คำถามแรกค่ะ ดิฉันอยากจะถาม ก็คือกระทรวงกลาโหมโดยทหารนั้นให้ที่ดิน จริงหรือไม่ ส่งมอบถึงมือประชาชนอย่างไร คิดค่าเช่าเท่าไร และหากได้เช่าแล้วประชาชน จะใช้ประโยชน์อย่างไรจากที่ดินของกรมธนารักษ์บ้าง อันนี้เป็นคำถามแรกค่ะท่านประธาน
ก็เรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนะคะ ดิฉันฟังไปตื่นเต้นแล้วก็ขนลุกไปค่ะ ดีใจแทนพี่น้องประชาชนนะคะ ผู้ที่มีที่ดินทำกินในวันนี้มีโอกาส มีความหวังแล้วค่ะ ที่จะเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ฟังแล้วตื่นเต้นค่ะ ก็คืออัตราค่าเช่าของกรมธนารักษ์ที่คิดต่อไร่ ต่อปีให้กับพี่น้องเกษตรกรรม เพียงแค่ ๒๐ บาทต่อไร่ต่อปี หากเช่าประมาณ ๕๐ ไร่ ก็เพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น ก็ต้องขอขอบพระคุณรัฐบาลนะคะ ซึ่งเป็นคำถามต่อเนื่องจาก คำถามแรกค่ะ
คำถามที่ ๒ ที่จะถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานสภาไปก็คือว่าหาก หนองวัวซอโมเดลทำสำเร็จ รัฐบาลมีแผนดำเนินการในระยะที่ ๒ ที่ใดบ้างและคาดว่าจะมี เป้าหมายไหมว่าประมาณกี่ไร่ เพื่อที่พี่น้องประชาชนที่ฟังอยู่ตอนนี้อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ จะได้ วิ่งหาโอกาสนี้กับกรมธนารักษ์ค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน คำถาม สุดท้ายเป็นคำถามที่ ๓ ค่ะ นโยบายนี้ดีมากนะคะ จาก ๒ คำตอบที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังได้ตอบมานะคะ หากนโยบายนี้ดี รัฐบาลจะต่อยอดนโยบายการเอาที่ดิน ในความครอบครองของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่มีจำนวนมาก จะไปต่อยอดกับหน่วยงานรัฐ ราชการไหนบ้าง และเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ก็กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ ดิฉันขอใช้พื้นที่แล้วก็เวลาที่เหลือของดิฉันบอกกล่าว ผ่านท่านประธานสภาไปยัง พี่น้องประชาชนจังหวัดหนองคายที่ได้ฟังอยู่ขณะนี้ และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศค่ะ พี่น้องประชาชนจังหวัดหนองคายนั้นมีความเดือดร้อน เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่จะมีที่ดินที่เป็น ที่ดิน ส.ป.ก. บ้าง ครอบครองที่ดินที่ต้องเช่านิคมสร้างตนเองบ้าง ใช้พื้นที่จับจองบ้าง ไม่มี ที่ดินที่เป็นของตัวเอง อันนี้เป็นอีก ๑ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่พี่น้องประชาชนนั้น สามารถที่จะเป็นตัวเลือกในการแก้ไขปัญหาที่จะเข้าถึงทรัพยากรที่ดินที่เป็นต้นทุนการผลิต อย่างยิ่งใหญ่ หากได้ที่ดินจำนวนเยอะก็สามารถผลิตได้เยอะ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ก็ต้องส่งกำลังใจผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แล้วก็ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขอให้นโยบาย หนองวัวซอโมเดลนั้นสำเร็จในเร็ววัน แล้วก็ขอให้ต่อยอดนโยบายนี้ให้สำเร็จเพื่อเป็น ความหวังให้กับพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน