นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะคะ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี จากพรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้มีเรื่องหารือความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ และอำเภอเขาคิชฌกูฏค่ะท่านประธาน ทุกวันมีช้างป่าออกหากินในสวนของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย บางครั้งก็มีการเผชิญหน้าจนทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่ว่าค่าชดเชยเยียวยาที่ประชาชนได้รับ ยังไม่เป็นธรรม และดิฉันเคยลงพื้นที่ร่วมกับชุดอาสาผลักดันช้างได้เห็นถึงความยากลำบาก จริง ๆ ในการทำงานนะคะ ฝากท่านประธานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น หัวไฟ วิทยุสื่อสารให้กับชุดอาสาผลักดันช้าง รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เสี่ยงภัย ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ นะคะ ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร ขอหารือ ผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมชลประทานในเรื่องการจัดทำระบบการกระจายน้ำให้กับ เกษตรกรจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะในรูปนะคะ พื้นที่บ้านบ่อมะเดื่อเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ เหนืออ่างประแกดห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น ในปี ๒๕๖๔ สำนักงานชลประทานที่ ๙ เคยเข้าไปสำรวจแนวท่อแล้วแต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุเข้าแผนนะคะ จึงอยากขอให้ ท่านประธานและทางกรมชลประทานช่วยเร่งรัดโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับ พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟฟ้าตกดับที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ ไม่ว่าจะเป็นตำบลจันทเขลม ตะเคียนทอง คลองพลู พลวง ชากไทย หรือแม้แต่ชุมชน บ้านหนองระมานเนินสูงในอำเภอท่าใหม่ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม ก็มีปัญหานี้ เช่นเดียวกัน ใน Slide เป็นเพียงบางส่วนที่พี่น้องประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาเท่านั้นเองค่ะ ฝากท่านประธานผ่านไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ช่วยสนับสนุน งบประมาณเพื่อบำรุง ปรับปรุง แก้ไขระบบจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ปัญหาคลองพังราดตื้นเขินค่ะ ดิฉันได้รับแจ้งจากนายภาสกร สิทธิบุตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ และนายกพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกเทศมนตรีตำบลช้างข้าม ถึงปัญหาคลองพังราดตื้นเขิน ทำให้เรือประมงไม่สามารถสัญจรเข้ามาเทียบท่าได้ อย่างสะดวก ขอฝากผ่านท่านประธานไปยังกรมเจ้าท่าให้ช่วยดำเนินการขุดลอกคลองพังราด บริเวณหมู่ที่ ๘ ตำบลช้างข้าม อำเภอนายายอามด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะท่านประธาน เรื่องที่ ๕ ขอให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการพิจารณา เรื่องที่ อบต. เทศบาลท้องถิ่นในอำเภอแก่งหางแมว ส่งเรื่องเข้าไปเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ค่ะ เพราะว่าความล่าช้าทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องได้ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง จึงขอให้กรมป่าไม่เร่งพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉัน ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ สกพอ. ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • หรือที่คนทั่วไปรู้จักในเขตพัฒนา นี้ว่า EEC โดยประเด็นที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยัง สกพอ. อยู่ในหัวข้อ ของความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เขต EEC โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับการพัฒนา EEC ซึ่งสาเหตุ ที่ดิฉันหยิบยกเรื่องการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาก็เพราะว่าพื้นที่ที่ดิฉันรับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอแก่งหางแมวเป็นที่ตั้งของลุ่มน้ำวังโตนด มีมติ ครม. อนุมัติ การสร้างอ่างเก็บน้ำในแก่งหางแมว เนื่องจากลุ่มน้ำวังโตนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา แหล่งน้ำเพื่อรองรับ EEC ค่ะ ใน Slide ทุกท่านจะได้เห็นว่าที่ดิฉันตีกรอบสีแดง ๆ ไว้คือ อ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างในอำเภอแก่งหางแมว โดยในลำดับที่ ๗ อ่างพะวาใหญ่ก็กำลังดำเนินการ ก่อสร้างแล้วเสร็จไปมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลำดับที่ ๘ อ่างคลองหางแมวนี้เสร็จแล้ว กำลังอยู่ในช่วงกักเก็บน้ำ ส่วนลำดับที่ ๙ อ่างคลองวังโตนดตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขอใช้ พื้นที่ และนอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่จะต้องถูกเวนคืน พื้นที่นะคะ ซึ่งตอนนี้พ่อแม่พี่น้อง หมู่ที่ ๑ บ้านคลองยาง ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน บ้านใหม่เขาจะอยู่ที่ไหน ถ้าทุกท่านเห็นในหมายเหตุจะชัดเจนเลยว่าเป็นแผนงานรองรับ EEC ตามมติ ครม. แน่นอนเมื่อมีอ่างเก็บน้ำแล้ว ถ้าอยากใช้น้ำก็ต้องมีระบบท่อส่งน้ำ ใช่ไหมคะ EEC มีโครงการจัดทำระบบผันน้ำจากคลองวังโตนดมายังอ่างประแสร์ซึ่งมีการวางท่อ ทั้งหมด ๒ เส้น ในกรอบสี่เหลี่ยมนั่นคืออ่างเก็บน้ำที่ดิฉันกล่าวถึงไป ส่วนที่ลูกศรชี้อยู่จะเป็น แนวท่อส่งน้ำจากคลองวังโตนดส่งไปยังอ่างประแสร์ ซึ่งแนวท่อเส้นสีดำ ๆ คือท่อปัจจุบัน ที่ผันน้ำจากคลองวังโตนดไปแล้ว ปัจจุบันมีการผันน้ำไปปีละประมาณ ๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนแนวท่อเส้นที่ ๒ สีแดง ๆ เป็นแนวท่อที่กำลังดำเนินการและคาดว่าจะสามารถผันน้ำเพิ่ม ได้อีกประมาณ ๓๕ ล้านลูกบาศก์เมตร รวม ๆ แล้ว EEC จะผันน้ำจากจันทบุรีไปใช้ในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ผ่านมามีการผันน้ำจากคลองวังโตนดไปยังอ่างประแสร์ เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่น่าเศร้าคนจันทบุรีที่อยู่รอบ ๆ อ่างเก็บน้ำเขายังไม่เคยได้ใช้น้ำในอ่าง ไม่มีแม้กระทั่งท่อส่งน้ำให้กับพวกเขา ซึ่งดิฉันเพิ่งหารือเรื่องนี้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ถ้าทุกท่าน สังเกตจะเห็นว่าไม่มีท่อส่งน้ำลงมานะคะ มีแต่การปล่อยน้ำลงคลอง แล้วก็สูบน้ำจาก คลองวังโตนดไปยังอ่างประแสร์ จากที่กล่าวมาทั้งหมดท่านได้เห็นแล้วว่าอ่างเก็บน้ำ ในอำเภอแก่งหางแมวเปรียบเสมือนแท็งก์น้ำสำคัญของ EEC และในขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำ ทั้ง ๔ อ่างก็เปรียบเสมือนแท็งก์น้ำสำคัญของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีเช่นเดียวกัน เพราะว่ากว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คำถามที่ดิฉัน อยากฝากท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงก็คือว่า ท่านจะมีวิธีการบริหารการจัดการน้ำในภาวะที่มี ความเสี่ยงของสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์ El Nino ไม่ให้กระทบกับคนจันทบุรีอย่างไร และในอนาคตเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีมีแนวโน้มต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าตอนนี้ชาวสวนของเราหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีว่าทุเรียน เป็นพืชที่ใช้น้ำมาก สาเหตุนี้ท่านจะมีการบริหารจัดการน้ำระหว่างเกษตรกรชาวจันทบุรี และพื้นที่ EEC อย่างไร สุดท้ายค่ะ ดิฉันเข้าใจดีว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา EEC แต่ก็อยากบอกให้ทุกท่านทราบเช่นกันว่าน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพี่น้องชาวจันทบุรี เช่นเดียวกัน และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกล เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเราได้ร่วมกันอภิปรายในเรื่องของการจัดการภัยแล้ง แต่วันนี้ เรากับต้องอธิบายปัญหาน้ำท่วม นี่มันคืออะไรคะท่านประธาน นี่สะท้อนการบริหารจัดการ น้ำที่ขาดประสิทธิภาพหรือไม่คะ สัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีเกิดฝนตกหนักโดยเฉพาะ พื้นที่บริเวณเทือกเขาตอนบนของจังหวัด ทำให้เกิดน้ำไหลหลากอย่างรวดเร็ว คลองและแม่น้ำสายหลักในจันทบุรีมีสภาพตื้นเขินกว่าเดิมขึ้นมาก น้ำเอ่อล้นคลองเข้าท่วม บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชน จากการสรุปข้อมูลของ ปภ. ในช่วงวันที่ ๒๗-๓๐ กันยายนที่ผ่านมา พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีจำนวน ๗ อำเภอ จาก ๑๐ อำเภอ ของจังหวัดจันทบุรี รวม ๓๓ ตำบล ๑๕๙ หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า ๓,๙๐๐ ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบมากกว่า ๑๒,๐๐๐ ไร่ และที่น่าเสียใจ มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๑ ราย ซึ่งดิฉันขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วยนะคะ โดยสถานการณ์น้ำปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจันทบุรีตอนนี้ปัจจุบัน ณ วันนี้มีเกินกว่าศักยภาพของอ่างจะเก็บแล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๑๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว ค่ะท่านประธาน หมายความว่าถ้าฝนตกลงมาอีกหรือมีพายุลูกใหม่จะไม่สามารถกักเก็บน้ำ เพิ่มเติมได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำลงคลองอย่างเดียว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้น ตลิ่งซ้ำอีกค่ะ อย่างที่ดิฉันได้เคยอภิปรายไปและตั้งคำถามไปว่าจันทบุรีขาดการบริหาร จัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะว่าในช่วงฤดูฝนพี่น้องชาวจันทบุรีต้องอยู่กับ ความหวาดระแวง คืนไหนพื้นที่ฝนตกหนักก็จะนอนไม่หลับ ต้องคอยระวังว่าน้ำจะเข้าท่วม บ้านตอนไหน จะเข้าท่วมสวนตอนไหน ต้องระวังว่าจะต้องออกไปยกมอเตอร์สูบน้ำหนีน้ำ เมื่อไร สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะว่าประชาชนไม่มีระบบเตือนภัยให้กับพวกเขาค่ะ ประชาชนจะรู้ ว่าน้ำท่วมก็ต่อเมื่อเขาเปิดดูใน Facebook เปิดดู Timeline ว่ามีใคร Post หรือเปล่าว่า น้ำท่วม เปิดดูในกลุ่ม LINE ว่ามี LINE กลุ่มไหนบอกข่าวบ้างหรือเปล่าว่าน้ำท่วม ดีขึ้นมา หน่อยได้รับการแจ้งเตือน ได้รับข่าวสารจากผู้นำชุมชน นี่หรือคือวิธีการที่รัฐบาลดูแล ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน แค่นี้มันพอจริง ๆ หรือคะ ท่านประธาน และยิ่งไปกว่านั้นข้อกังวลของดิฉันก็คือปัจจุบันลุ่มน้ำวังโตนดในช่วง ๒-๓ ปี หลังมาจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ฝนตก พื้นที่บริเวณรอบ ๆ คลองวังโตนดจะเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ เพราะว่าทั้งน้ำฝนที่ตกลงมารวมกับปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยลงมาจากอ่างเก็บน้ำมีมากจนทำให้ ระบายลงสู่ทะเลไม่ทัน แล้วถ้าในอนาคตคลองวังโตนดจะต้องรองรับน้ำเพิ่มอีก ๒ อ่าง ที่กำลังจะเสร็จเร็ว ๆ นี้นะคะ คำถามก็คือว่าศักยภาพของคลองวังโตนดจะสามารถรองรับน้ำ ได้อย่างเพียงพอหรือไม่ คำถามเหล่านี้กรมชลประทานต้องมีคำตอบให้กับพี่น้องประชาชน จากที่ดิฉันได้ลงพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก และได้พูดคุยกับท้องถิ่น หลาย ๆ คน หลาย ๆ ท่านมีข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ก็น่าเสียดายในพื้นที่ มีงบประมาณไม่เพียงพอ ดิฉันเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่าอยากเห็นการกระจายอำนาจ อยากเห็นท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขจัดการปัญหาของพวกเขาเองนะคะ สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้ดิฉันจึงอยากขอเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ดิฉันอยากเห็นการเตรียมลำคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำ ลงสู่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคลองให้มีความลึกขึ้นหรือกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. อยากเห็นการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำให้มากขึ้น คำนึงถึงความเป็นอยู่ของคน ในชุมชนเดิม เช่นการมีสระน้ำในแต่ละตำบลเพื่อช่วยผันน้ำจากคลองสายหลักในช่วงฤดูฝน และใช้กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง หรือว่าจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำแบบอื่น เช่นการมองหาพื้นที่ ลุ่มต่ำที่สามารถรองรับน้ำได้ แล้วทำเป็นสนามฟุตบอลหรือสวนสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ ในตอนที่ไม่ต้องรองรับน้ำหลากนะคะ ถ้ามีพื้นที่ลักษณะแบบนี้ในการรองรับน้ำก็จะทำให้ลด ความเสียหายจากน้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรมได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. จัดทำให้มีระบบเตือนภัยประชาชน โดยระบบเตือนภัยที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำวังโตนด และลุ่มน้ำเวฬุยังขาดอยู่ ตอนนี้ก็คือระบบโทรมาตร ระบบโทรมาตร ของชลประทานที่จะสามารถช่วย Monitor และทำให้หน่วยงานมีข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับ สถานการณ์น้ำ และนำไปแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีค่ะ ดิฉันเข้าใจว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องของงบประมาณ เป็นเรื่องของการใช้เวลา รวมไปถึงการใช้ เทคโนโลยี เราอาจไม่จำเป็นต้องยกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทั้งหมดมาใช้ เพียงแต่ต้องศึกษา จากลักษณะภูมิประเทศหรือประเทศต้นแบบที่เขาประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แค่นี้เราก็จะมีแนวทางในการจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแน่นอนค่ะ ท่านอาจจะบอกว่าไม่มีใครควบคุมธรรมชาติได้ จริงค่ะเราไม่สามารถควบคุมให้ฝนตกน้อย หรือทำให้ฝนตกมากได้ แต่สิ่งที่เราทำได้อย่างแน่นอนก็คือการคาดการณ์สถานการณ์ที่จะ เกิดขึ้น และเตรียมแผนสำหรับรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ค่ะ ถ้าหากรัฐบาลตระหนักว่านี่คือ ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนจริง ๆ เพราะว่าเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกค่ะ มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงาน ดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ สะพานข้ามคลอง รอยต่อจันทบุรี-ระยองชำรุด สะพานนี้เชื่อมต่อระหว่างหมู่ที่ ๑๐ ตำบลนายายอาม อำเภอ นายายอาม จังหวัดจันทบุรี และตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เดิมสะพานนี้ สร้างโดยชาวบ้านช่วยกันรวบรวมเงินสร้างกันเอง เพื่อใช้สัญจรไปมาส่งลูกหลานไปโรงเรียน ปัจจุบันสะพานชำรุดไม่สามารถสัญจรได้ จึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นช่วยอุดหนุนงบประมาณในการซ่อมแซมสะพานดังกล่าวค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาเศษเหล็ก เศษปูนที่เกิดจากโครงการแนวกันคลื่น บริเวณ ชายหาดแหลมเสด็จของกรมโยธาธิการและผังเมือง พบเศษวัสดุก่อสร้าง เช่น หิน ตอม่อปูน และเหล็กบริเวณหน้ากำแพงกันคลื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ จึงขอ หารือผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟส่องสว่างถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ๔๐๐๙ บริเวณ หน้าศาลเขาอีกา ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ โดยสภาพของถนนเส้นนี้เป็นทางโค้ง ขึ้นเนิน ไม่มีไฟส่องสว่าง และบริเวณถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางที่ช้างป่าใช้เดินข้ามอยู่บ่อยครั้ง ใน Slide ก็จะเห็นรอยเท้าช้างที่ปรากฏอยู่ในภาพ จึงอาจทำให้รถที่สัญจรไปมาเกิดอันตรายได้ รวมถึงทีมอาสาผลักดันช้างทำงานยากมาก ๆ ด้วย จึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาไปยัง กรมทางหลวงชนบทให้ช่วยติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณถนนเส้นนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี จากพรรคก้าวไกล ดิฉันขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องถนนในตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ ชำรุด ทำให้ประชาชนสัญจรลำบากจำนวน ๓ เส้นทาง เส้นที่ ๑ ถนนสายซอยเรืองยศ ช่วงที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ บ้านแก่งน้อย สภาพในช่วงหน้าฝนก็จะสัญจร ไม่ได้เลย เส้นที่ ๒ ถนนซอย ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านตะพงบน เชื่อมต่อถนนซอย ๒ หมู่ที่ ๔ บ้านคลองเซา และเส้นที่ ๓ ถนนสายซอยอ่างตุ่ม หมู่ที่ ๗ บ้านคลองเหล็กบน ซึ่งถนน ทั้ง ๓ เส้นนี้ อบต. เขาแก้วได้ขอสนับสนุนงบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการพิจารณา ขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ช่วยจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซม ถนนทั้ง ๓ เส้นด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องถัดไป เป็นปัญหาลิงรื้อค้นข้าวของเสียหาย สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว หรือว่าหมู่ที่ ๗ บ้านคุ้งกระเบน ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จากภาพ ประชาชนจะต้องสร้างลูกกรง ทำลูกกรงมาติดรั้วรอบขอบชิดที่บ้านเหมือนแทบจะขังตัวเองอยู่ในบ้านแล้วนะคะ จึงขอเรียน ผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เร่งเข้ามา ทำหมันหรือดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เพราะความเสียหายที่เกิดจากลิงตอนนี้ประชาชนไม่สามารถขอรับการชดเชยเยียวยา จากหน่วยงานใดได้เลยค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ขอหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ๒ เรื่องดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ขอให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ให้แล้วเสร็จค่ะ อ่างนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี ๒๕๖๐ ในแผนเดิมบอกว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๕ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จค่ะท่านประธาน ดิฉันได้สอบถามไปยังกรมชลประทานเบื้องต้น แจ้งว่ามีการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อเพิ่มเติม บางส่วน ทำให้ต้องแก้ไขสัญญาใหม่ซึ่งปัญหาตอนนี้ค่ะ นอกจากพี่น้องประชาชนจะต้อง รอคอยการใช้น้ำในอ่าง ยังมีปัญหาเรื่องการสัญจรไปมาอีกนะคะ เพราะว่าโครงการ ได้ก่อสร้างทับถนนเดิมที่เป็นถนนลาดยาง ชาวบ้านต้องเบี่ยงไปใช้เส้นทางลูกรังชั่วคราว ชั่วคราวนี้ใช้มา ๖ ปีแล้ว ถนนเป็นหลุมเป็นร่อง สัญจรไปมาลำบากนะคะ ขอให้กรมชลประทาน ช่วยดำเนินการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องถัดไป เรื่องที่ ๒ ปัญหาช้างป่าค่ะ ดิฉันเคยหารือเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่ วันที่ ๑๗ สิงหาคม แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ และดิฉันก็ยื่นกระทู้ถามท่านรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเหมือนกันค่ะ บอกว่ากำลังยกร่างคำตอบ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเรื่องช้างไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะท่านประธาน ในพื้นที่ ช้างออกมาทุกวันค่ะ พี่น้องประชาชนต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ช้างออกมาทำลายต้นทุเรียน เสียหาย ทีมอาสาผลักดันช้างต้องออกปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยทุกวัน แต่ว่าพวกเขาไม่มี สวัสดิการอะไรเลยค่ะ เรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนะคะ ขอให้เห็นความสำคัญของชีวิตพี่น้องประชาชน ช่วยรีบดำเนินการ แก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรมด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี จากพรรคก้าวไกลค่ะ ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความหลากหลาย ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมอภิปราย เพื่อผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และวันนี้ดิฉันอยากเชิญชวนทุกคนยุติความเกลียดกลัว กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมพวกเรามีกลุ่ม ความหลากหลายทางเพศถึงไปมีความรักกับบุคคลเพศเดียวกัน เรามีความผิดปกติทางจิต หรือเปล่า นี่เป็นมายาคติเป็นความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในปี ๒๕๓๓ WHO ได้ถอดคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิต นั่นหมายความว่าองค์การอนามัยโลกยอมรับว่าสิ่งที่เราเป็นไม่ถือว่าเป็นโรคนะคะ ดิฉันอยาก ให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ได้เข้าใจว่าเราแค่เลือกที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น ก็เท่านั้น แม้ในทางวิชาการจะรองรับว่าพวกเราไม่ใช่คนที่มีปัญหาทางจิตมานานแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีเพื่อนของเราจำนวนมากที่ยังเผชิญกับความรุนแรง ความเกลียดชังทั้งทาง ร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่เด็กจนโตเราถูกเกลียดชังจากสังคม เราถูกกีดกันจากสังคม เราถูกทำ ให้รู้สึกแตกแยกแตกต่างจากทุก ๆ คน ด้วยกฎหมายที่ไม่ยอมรองรับสิทธิให้กับพวกเรา มีเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๒ ตอนนั้นกลุ่มองค์กรภาคีต่าง ๆ พยายามที่จะจัด งานรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยใช้ชื่องานว่า Gay Pride แต่ก็ถูกต่อว่า ถูกคัดค้าน ถูกโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรง และบอกว่าการจัดงานแบบนี้จะทำให้เสื่อมเสีย วัฒนธรรม ในปี ๒๕๖๑ จากการเก็บข้อมูลตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของมูลนิธิเครือข่าย เพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ถูกสังหารชีวิตถึง ๒๑ คน สาเหตุก็มาจากความเกลียดชังในสิ่งที่พวกเราเป็นเท่านั้นเองค่ะ ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อทำร้ายลูกเพราะรับไม่ได้ที่ลูกแต่งหญิง ความรุนแรงทางด้านร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่งค่ะท่านประธาน แต่ว่าความรุนแรงทางด้านจิตใจ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรายังต้องเผชิญ การถูกให้ค่าเป็นได้แค่ตัวตลก เราถูกสื่อขายเพื่อเป็น ความบันเทิงมุกตลกที่เต็มไปด้วยคำเหยียดหยาม คำล้อเลียน ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้ กลายเป็นกลุ่มคนอารมณ์รุนแรง การที่สื่อผลิตซ้ำแบบนี้ทำให้เราถูกตีตราจากสังคมว่าเราเป็น แบบที่ละคร แบบที่ภาพยนตร์ สื่อออกมาจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นแบบนั้นค่ะ นอกจาก ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การถูกทำร้าย ความรุนแรงจากการถูกเหยียดหยาม ถูกทำให้ เป็นตัวตลก เป็นคนน่าขำขันทั้งที่ข้างในขมขื่น อีก ๑ เรื่องที่ถือว่าเป็นความรุนแรงก็คือ ความรุนแรงที่เกิดจากรัฐค่ะ รัฐที่ควรจะดูแลคุ้มครองประชาชนอย่างเท่าเทียม กลับกีดกัน พวกเราในฐานะคู่รัก ไม่ให้สิทธิ ไม่ให้มีอำนาจในการตัดสินใจแตกต่างจากคู่รัก คู่สมรส หญิงชาย มีเหตุการณ์และเรื่องน่าเศร้ายืนยันว่าคู่รักเพศที่มีความหลากหลายไม่ได้รับโอกาส ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจทางการแพทย์ ตลอดจนเรื่องทรัพย์สินและเงื่อนไขทาง เศรษฐกิจอื่น ๆ แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วงเวลาของความเป็นความตาย ที่กฎหมายยังให้สิทธิกับญาติพี่น้องที่อาจจะไม่เคยมาดูดำดูดี หรือไม่เคยติดต่อกันมานานมา ตัดสินใจแทนพวกเราคนที่เป็นคู่รักที่ยืนอยู่ตรงหน้า สังคมไทยมีการเลือกปฏิบัติ มีความไม่ เท่าเทียม และสร้างความเกลียดกลัวต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายมามากพอแล้วค่ะ ถึงเวลา แล้วหรือยังที่ทุกท่านจะช่วยกันยุติสิ่งเหล่านี้ สร้างความเข้าใจใหม่ ยอมรับว่าพวกเรามีตัวตนจริง ยอมรับพวกเราในทางกฎหมาย และยอมรับว่าพวกเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกับท่าน คำตอบ สุดท้ายที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมด้วยสันติภาพได้ก็คือการเคารพทุกเพศและโอบรับทุก ความหลากหลายค่ะ ดังนั้นในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอีกในฐานะหนึ่งคือฐานะ มนุษย์ด้วยกันนี้ดิฉันหวังว่าทุกท่านจะร่วมกันผลักดันเครื่องมือที่เรียกว่ากฎหมายเพื่อให้เกิด ความคุ้มครอง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอคติระหว่างกัน และทำให้ความเกลียดชังและเกลียดกลัว เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพราะความแตกต่างทางเพศยุติลงสักทีค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เรื่องการผันน้ำจาก อ่างคลองหางแมว อำเภอแก่งหางแมว ไปยังอ่างศาลทรายและอ่างสะท้อน อำเภอ เขาคิชฌกูฎ เนื่องจากดิฉันได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบ้านเนินมะหาด ได้ทราบว่าในช่วงฤดูแล้งมีปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร แล้วตอนนี้ กรมชลประทานได้มีแผนทำโครงการผันน้ำจากของอ่างคลองหางแมวไปยังอ่างศาลทราย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาโครงการ จึงอยากให้กรมชลประทานดำเนินโครงการนี้ ให้สำเร็จโดยเร็วค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและน้ำการเกษตรของพี่น้อง ประชาชนบ้านบ่อมะเดื่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว เรื่องนี้ดิฉันเคยหารือ ผ่านสภาแห่งนี้ไปแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ในปี ๒๕๖๔ ทางกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาโครงการสถานีสูบน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำ คลองประแกดไปยังบ้านบ่อมะเดื่อแล้ว แต่ว่าปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินโครงการใด ๆ ซึ่งตอนนี้พี่น้องประชาชนก็ยังรอคอยด้วยความหวังว่าจะได้มีน้ำใช้ จึงขอให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ ไปยังอ่างเก็บน้ำประแกดไปคลองมะเดื่อ ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวน แห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ของท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องใช้คำว่า หนักหนาสาหัสของพี่น้องประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึง เขตพื้นที่ของดิฉันโดยเฉพาะอำเภอแก่งหางแมว แก่งหางแมวเป็นพื้นที่ตามประกาศเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๑๐ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตำบล แก่งหางแมวที่ขึ้นอยู่กับอำเภอท่าใหม่ ปัจจุบันตำบลแก่งหางแมวได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เรียบร้อยแล้ว มีประชากรประมาณ ๔๒,๐๐๐ คน ประกอบไปด้วย ๕ ตำบล คือ ตำบล ขุนซ่อง ตำบลพวา ตำบลแก่งหางแมว ตำบลสามพี่น้อง และตำบลเขาวงกต และจาก ๔ ใน ๕ ตำบลที่กล่าวมานี้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติค่ะ มีเพียงแค่ตำบลเขาวงกตเพียงตำบลเดียวเท่านั้นที่ต้องใช้คำว่า โชคดี อยู่รอดนอกเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดถึงป่า คนเมืองมักจะนึกภาพป่าที่มีต้นไม้ หนาแน่น สวยงามเขียวขจีใช่ไหมคะ แต่สภาพความจริงแก่งหางแมวไม่ได้ใกล้เคียงกับป่า ในจินตนาการของใครหลาย ๆ คนเลยค่ะ ท่านประธานจะเห็นในสไลด์ ลองดูว่าภาพที่ ทุกท่านเห็นอยู่นี้เหมือนป่าอย่างที่เพื่อนสมาชิกหรือท่านประธานคิดไว้ไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในภาพนี้เป็นตัวอำเภอ แก่งหางแมว มีร้านค้า มีร้านสะดวกซื้อ มีโรงพยาบาลเหมือนชุมชนเมืองอื่น ๆ ทั่วไป แต่ที่ต่างกันก็คือทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วที่ท่านเห็นในภาพนี้เป็นเขตป่าสงวนค่ะ ดิฉันก็ได้แต่ สงสัยว่าแบบนี้คือป่าหรือคะ นี่สมควรปฏิรูปและทบทวนการประกาศเขตป่าเพื่อให้สอดคล้อง กับปัจจุบันหรือไม่ ในอดีตท่านนายกวันชัย แสงสุวรรณ นายก อบต. แก่งหางแมว ผู้ที่ต่อสู้ เรื่องที่ดินให้กับพี่น้องแก่งหางแมวมาอย่างยาวนานเคยรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของ ชุมชนก่อนการประกาศเขตป่าสงวน และมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าแก่งหางแมวเป็นชุมชน เก่าแก่ที่อยู่อาศัยกันมานานหลายร้อยปี โดยมีหลักฐานสำคัญ เช่น วัดแก่ง ซึ่งสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ หรือแม้แต่โรงเรียนแก่งหางแมวที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยท่านขุน ภูมิประศาสน์ นายอำเภอท่าใหม่ ณ ขณะนั้น แน่นอนถ้ามีวัด มีโรงเรียนแสดงว่าต้องมีชุมชน จริงไหมคะ แต่หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พื้นที่แก่งหางแมวกลับถูกประกาศเป็น เขตป่าสงวนซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและเรื่องอื่น ๆ ของพี่น้องประชาชนมากมาย การขออนุมัติ อนุญาต ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ พี่น้องประชาชนเหลือเกิน แม้แต่เรื่องพื้นฐานมาก ๆ อย่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า เรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนที่ทุกเมืองต้องมีจะต้องล่าช้า ออกไปหน่วยงานท้องถิ่นอยากทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน อยากจะเปลี่ยนถนนลูกรังให้เป็นถนนคอนกรีตก็ยังทำไม่ได้ อยากจะขุดสระเพื่อเป็นแหล่งกัก เก็บน้ำไว้ใช้ในตำบลแก้ปัญหาภัยแล้งหรือทำระบบบริการน้ำประปาก็ยังทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ หน้าที่ของท้องถิ่นนี้เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกส่งคำขออนุญาตใช้พื้นที่ ป่าไปที่กรมป่าไม้ที่กว่าจะได้รับอนุญาตต้องผ่านกระบวนการขอใช้พื้นที่ที่ซับซ้อน เอกสาร ประกอบจำนวนมาก ใช้เวลานาน และต้องผ่านหน่วยงานหลายแห่งหลายตลบ จนบางครั้ง งบประมาณก็ตกไปแล้วค่ะ และความยุ่งยากเช่นนี้ก็ยังเอื้อให้เกิดระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ กับหน่วยงานราชการ เกิดการคอร์รัปชันติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อที่จะให้เกิดความรวดเร็ว ในการอนุมัติ บางครั้งถ้ารอนาน ๆ นายกท้องถิ่นหมดสมัยไปก็มี ขอยกตัวอย่างนะคะ ท่านประธาน การตั้งโครงการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับน้ำจะต้องผ่านระบบ Thai Water Plan ซึ่งในระบบนี้จะขอหลักฐานเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ด้วย และถ้าไม่มีโครงการนั้นก็จะถูก ปัดตกออกจากระบบทันที นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ท้องถิ่นและประชาชนขาดโอกาสที่จะมีโครงการ ในพื้นที่ ขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนยุ่งยากแบบนี้พรากเวลา พรากโอกาส พรากคุณภาพชีวิต ขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนชาวแก่งหางแมวไปไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีค่ะท่านประธาน นี่คือสภาพ ถนนจากหลาย ๆ เส้นทาง ภาพเมื่อสักครู่ที่เป็นภาพในตัวอำเภอเมืองเป็นแค่ส่วนน้อย ในอำเภอแก่งหางแมวค่ะ ถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่อไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนความไม่เจริญ เท่านั้น แต่มันหมายถึงชีวิตของพวกเขา นาทีชีวิตที่ต้องเดินทางไปให้ถึงโรงพยาบาลให้เร็ว ที่สุด แต่กลับต้องมาเจอสภาพถนนลูกรังที่เป็นหลุมที่ไม่สามารถพัฒนาได้เพราะท้องถิ่น ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ ทำไมเรื่องของคนแก่งหางแมวต้องให้คนที่ไม่รู้จักเขาเลย หรืออาจจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าแก่งหางแมวอยู่ตรงไหนของประเทศมาตัดสินใจด้วยคะ ทำไม คนแก่งหางแมวอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากมีถนนที่เดินทางได้สะดวก อยากมีระบบ ประปา อยากมีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเขาถึงทำไม่ได้เหมือนกับพื้นที่ ในอำเภออื่น ทั้ง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ทำไมต้องรอให้คนที่อยู่ไกลจากพวกเขาหลายร้อยกิโลเมตรมาเป็นคนอนุญาตด้วยคะ จากที่กล่าวมานี้ดิฉันจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหา การขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อที่จะคืนโอกาส คืนเวลา คืนชีวิตที่ดีให้กับพี่น้อง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ โดยเฉพาะพี่น้องแก่งหางแมว ประชาชนที่ดิฉันเป็น ผู้แทนของพวกเขา ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม