ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
ครั้งที่ 19 วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566 เวลา 10.39 - 20.39 นาฬิกา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมผมอนุญาตให้ท่านสมาชิกได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ แล้วก็ใช้เวลา ๒ นาที ท่านแรก เชิญท่านฉลาด ขามช่วง เชิญครับ
นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ฉลาด ขามช่วง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๒ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาต่อไป
นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
เรื่องแรก สืบเนื่องจากขณะนี้พี่น้องคนไทยเกือบทั้งประเทศประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เช่น อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร มีตำบลผักแว่น ตำบลม่วงลาด ตำบลดงสิงห์ ตำบลแสนชาติ ตำบลดินดำ อำเภอเชียงขวัญ มีตำบลเชียงขวัญ ตำบลพระเจ้า ตำบลบ้านเขือง ตำบลพระธาตุ อำเภอโพธิ์ชัย มีตำบลสะอาด ตำบลดอนโอง และอำเภอธวัชบุรี มีตำบลธวัชบุรี ตำบลเหล่านี้อยู่ติดกับริมแม่น้ำชีครับ และผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งและน้ำจากเขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ที่ปล่อยน้ำมาโดยไม่ดูว่าข้างล่างจะได้รับผลกระทบอย่างไร ตอนนี้น้ำล้นตลิ่งอย่างมากทำให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องเกษตรกรข้าวกล้าในนาราษฎรเกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันไปสำรวจตรวจสอบให้เกิดความเรียบร้อยและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากน้ำลดซึ่งคาดว่ายังท่วมอีกนานนะครับ ท่วมอยู่ ท่วมแล้ว และจะท่วมต่อไป ท่านประธานครับ
นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องพักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่า หนี้ ๓๐๐,๐๐๐ บาทนั้นไม่ครอบคลุมทั่วไป จึงขอรัฐบาลได้ขยายวงเงินพักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน ๓ ปี ทั้งต้นทั้งดอกไม่เกิน ๑ ล้านบาท ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านปิยรัฐ จงเทพ ท่านภาควัต ศรีสุรพล ท่านสาธิต ทวีผล เชิญท่านปิยรัฐ จงเทพ ครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระโขนง เขตบางนา พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมขออนุญาตหารือท่านประธาน ๑ ประเด็นด้วยกันครับ คือเรื่องที่ตั้งสถานีดับเพลิงย่อย บางนา ขออนุญาต Slide ขึ้นด้วยครับ
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สถานีดับเพลิงย่อยบางนานี้ ถ้าเราไปดูในเขตพื้นที่บางนากว่า ๑๘ ตารางกิโลเมตรนั้นมีประชากรในทะเบียนบ้าน ๘๖,๐๐๐ คน ประชากรแฝงอีกหลายแสนคนครับ แต่มีสถานีดับเพลิงย่อยเพียง ๑ สถานี ในพื้นที่เขตบางนาครับ นั่นเราไปดูในพื้นที่เราจะเห็นว่าจะมีเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ๆ ครั้งสำคัญ ๆ เฉลี่ยแล้วปีละถึง ๑๑ ครั้ง ยังไม่นับรวมเหตุเพลิงไหม้ย่อย ๆ อีก แล้วเราไปดู พื้นที่ในเขตบางนา สีม่วงที่ท่านเห็นนั้นคือพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในครอบคลุมของสถานีดับเพลิง ที่จะเข้าถึงจุดเกิดเหตุภายใน ๘ นาทีตามมาตรฐานสากล ส่วนรัศมีสีเขียวที่เห็นนั้นคือสถานี ดับเพลิงต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจะเห็นว่าไม่มีสถานีใกล้เคียงของเขตบางนาถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะบริเวณถนนบางนา-ตราด และซอยสุขุมวิท ๑๐๕ (ซอยลาซาล) เราจะไปดูประชากรหรือผังเมือง ผังสีส้มนั้นเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตบางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ ชุมชนเมืองและอุตสาหกรรม จะเห็นว่าเมื่อพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันแล้ว มีโอกาสสูงมากที่จะเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะวัตถุไวไฟในโรงงานอุตสาหกรรม
นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ฉะนั้นเราจึงต้องไปถามจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ทราบว่าเขากำลังหาพื้นที่ตั้งสถานีย่อยเพิ่มเติม ซึ่งสำรวจแล้วพบว่า อยู่บริเวณความรับผิดชอบของกรมทางหลวง จึงขอความอนุเคราะห์หมวดทางหลวงบางนา กม. ๔ ถนนบางนา-ตราด กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรพื้นที่ขนาด ๒ งาน ให้กับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการดำเนินการ จัดตั้งสถานีดับเพลิงย่อยตามหนังสือเลขที่ กท ๑๘๐๕ (๑) ด้วยครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปคุณภาควัต ศรีสุรพล
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ภาควัต ศรีสุรพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องจะมา ปรึกษาหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องนะครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอำเภอสีชมพูที่ได้รับ ผลกระทบจากช้างป่าแตกโขลงออกจากเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จำนวน ๔๐-๕๐ เชือก ผ่านมาทางอำเภอวังสะพุง อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
ข้ามลำน้ำพองมาตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๖ เชือก ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ภูกระดึง ภูค้อ ภูกระแต รวมถึงฝ่ายปกครองกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนจิตอาสาได้ช่วยกันผลักดันให้ช้าง กลับพื้นถิ่นหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ผมจึงอยากนำเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยครับ
นายภาควัต ศรีสุรพล ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย โรงพยาบาลอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เนื่องด้วยปัจจุบันทางโรงพยาบาลอำเภอสีชมพู เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๖๐ เตียง รับผิดชอบประชาชนประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน และเป็นอำเภอที่ห่างไกลที่สุดของจังหวัดขอนแก่น มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ๒๕๗ คน ขาดแคลน ห้องพักอาศัยอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจ ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ภายในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีห้องพักแค่เพียง ๗๗ ห้อง แต่จำนวนผู้ที่ต้องการห้องพัก มีถึง ๑๒๙ คนซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถจัดสรรได้เพียง ๑๐๐ คนเท่านั้น บางห้องอยู่กัน ๒ คน ซึ่งทำให้เกิดความแออัดไม่เป็นส่วนตัว และบ้านพักอาศัยที่มีในปัจจุบันนี้เก่าแก่โบราณมากครับ ท่านประธาน ผมจึงอยากนำเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ออกมาสำรวจติดตามแก้ไขปัญหาให้กับโรงพยาบาลอำเภอสีชมพูด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสาธิต ทวีผล เชิญครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องหารือ ท่านประธานทั้งหมด ๔ เรื่องครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณวิรุจน์ อินทร์เลิศ กำนันตำบลนิคมสร้างตนเอง หมู่ที่ ๑๐ บ้านซับเสือแมบ มีชาวบ้านอาศัยอยู่รวมกันกว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน อยู่ในที่ดินที่มีอยู่ใน ความดูแลของทหารครับท่านประธาน ดังนั้นการสร้าง ซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัย การเข้า ไปสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนน น้ำ ไฟของเทศบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากทางกองทัพครับ ผมขอฝากปัญหานี้ ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงกลาโหมให้ช่วยเมตตาชาวบ้านด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาอุบัติเหตุบ่อยครั้งบริเวณ วงเวียนกรมประชา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวนั้นเป็นวงเวียน แต่ไม่มีลักษณะเป็นวงกลม เป็นลักษณะคล้ายวงรีครับท่านประธาน ดังนั้นผู้สัญจรสามารถจะใช้ความเร็วรถได้มาก ๆ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวในยามค่ำคืนนั้นไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอ ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากคุณอานนท์ เพิ่มชาติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลนิคมสร้างตนเอง ว่าอยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนั้นเข้ามาทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวงเวียนให้ปลอดภัยกว่าเดิมครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ของอำเภอเมืองลพบุรีได้แก่ บริเวณ สามแยกนิคม ซอยโรงเรียนพระนารายณ์ หลายหมู่บ้านปรีดาวิลเลจ ซอยท่าศาลา ๔ หรือที่ เขาเรียกกันว่าซอยบ้านกรองน้ำ บริเวณตลาดโต้รุ่งสระแก้ว บริเวณพื้นที่ของตำบลป่าตาล ในหลายหมู่บ้าน ของตำบลเขาสามยอดหลายหมู่บ้าน บริเวณที่กล่าวมานี้หากมีฝนตก ติดต่อกันหลายชั่วโมงจะทำให้น้ำระบายไม่ทันมีน้ำเอ่อล้นขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ จึงทำให้ น้ำท่วมขังเข้าบ้านเรือน ข้าวของเสียหายสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับ พี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ น้ำเหนือที่กำลังจะมาถึงนี้ถ้าหากว่ามีการปล่อยลงมาที่ คลองชัยนาท-ป่าสัก แล้วมีฝนตกซ้ำลงมาจะทำให้น้ำจากเทือกเขานั้นผสมกับน้ำ ในคลองชัยนาท-ป่าสัก ทำให้ตำบลเขาพระงามนั้นจะได้รับผลกระทบไปด้วยครับ ท่านประธาน ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ปัญหาระบบไฟในโรงเรียนบ้านคลองสาริกา ตำบลน้ำสุด อำเภอพัฒนานิคม ระบบไฟไม่ได้มาตรฐานครับท่านประธาน ทำให้ครูและเด็กนักเรียน ถูกไฟดูดบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยเข้าไปดูแลด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านอัคร ทองใจสด ท่านอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ท่านวรโชติ สุคนธ์ขจร เชิญท่านอัคร ทองใจสด ครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ รบกวนขอ Slide ด้วยนะครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ผมมีเรื่องหารือทั้งหมด ๔ เรื่อง ด้วยกันครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ก็คือการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ทางชาวไร่อ้อยจังหวัดเพชรบูรณ์เราต่างรอคอยเงิน ๑๒๐ บาท ที่ทาง ครม. ได้เคยจะจัดสรรให้สำหรับการตัดอ้อยสด แล้วก็ยังมีอีก ๑ ปัญหาก็คือ การที่ทาง ครม. หรือทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะตัดเงินอ้อยไฟไหม้สำหรับการที่เราส่งอ้อยไปให้กับทาง โรงงานน้ำตาล แล้วจะตัดทั้งหมด ๙๐ บาทต่อ ๑ ตัน หรือการปนเปื้อนนะครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือ ปัญหาถนนสายบ้านหินดาดไปพุขาม ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๘ เป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ก็คือ ถนนบ้านปึกหวายไปหนองบง ซึ่งอยู่ในตำบลท่าโรง หมู่ที่ ๓ และไปตำบลบ่อรัง หมู่ที่ ๑๙ มีระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ซึ่งเกิดปัญหาบ่อยครั้ง เกิดอุบัติเหตุ แล้วสัญจรไม่สะดวกเลยครับตรงนี้ ส่วนที่ ๓ คือปัญหาความปลอดภัย ของโรงเรียนชุมชนบ้านโคกสะอาด ซึ่งเด็กนักเรียนจะต้องข้ามถนน ๘ ช่องจราจรด้วยกัน ซึ่งมีความอันตรายมากสำหรับเด็กนักเรียนทุกท่าน แล้วก็ยังมีอุบัติเหตุบ่อยครั้งอีกครับ ก็ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วก็ กรมทางหลวงชนบท ฝากปัญหานี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
วันนี้ผมมีความเดือดร้อน ของประชาชนในจังหวัดสมุทรสงครามมาปรึกษาหารือกับท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่อง ดังต่อไปนี้ครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เนื่องด้วยโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าเป็นโรงพยาบาล ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม รับผิดชอบประชากรทั้งจังหวัดสมุทรสงครามเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ คน ทางโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพในสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับ การบริการที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ อาคารมีอายุการใช้งานเฉลี่ย ๓๐-๔๐ ปี สภาพเก่าและทรุดโทรม เกิดความแออัดของผู้รับบริการ ทั้งนี้โรงพยาบาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ๑๐ ชั้น ตามแบบเลขที่ ๑๐๐๙๗ เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ปัจจุบันยังไม่ได้รับ การจัดสรรงบประมาณ กระผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขช่วยเร่งรัด โครงการดังกล่าวเพื่อให้ชาวจังหวัดสมุทรสงครามได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุข ที่ดีขึ้นกว่าเดิมครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาของการประปาส่วนภูมิภาคในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี ประชาชนร้องเรียนมายังผมเป็นจำนวนมากว่ามีการหยุดจ่ายน้ำบ่อย บางตำบลจ่ายน้ำถึง แค่ ๕ ทุ่ม ผมได้เข้าหารือกับผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสงคราม พบปัญหา คือจังหวัดสมุทรสงครามไม่มีแหล่งผลิตน้ำเป็นของตนเองและผลิตน้ำไม่เพียงพอ อุปกรณ์ ท่อชำรุดทำให้น้ำสูญเสียเยอะ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสงคราม ได้ขอจัดสรร งบประมาณโครงการก่อสร้างระบบน้ำดอนทรายขนาด ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และปรับปรุงคันสระเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบพร้อมวางท่อส่งน้ำ วงเงินงบประมาณ ๑๙๘,๕๙๒,๐๐๐ บาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้การจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดโครงการ ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำประปาของประชาชนในพื้นที่ด้วยครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ จังหวัดสมุทรสงครามมีคลองมากกว่า ๓๐๐ คลอง บางคลองตื้นเขินมีผักตบชวาจำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณ ในการจัดการไม่เพียงพอ กระผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังจังหวัดสมุทรสงครามร่วมกับ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง สำรวจคลองทั้งหมดที่มีปัญหา เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ หรือสนับสนุนเครื่องจักรมาแก้ไขปัญหานี้โดยด่วนครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวรโชติ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตสักครึ่งนาทีครับ เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้วูบหมดสติ เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นครับ ณ ที่ประชุมสภาแห่งนี้ วันนี้ผมได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด Bypass หัวใจเรียบร้อยแล้ว สามารถกลับมาทำงานที่นี่ได้อีกครั้ง ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ เพื่อขอบคุณท่านสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน วชิรพยาบาล ขอ Slide ด้วยครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
ที่ช่วยเหลือผมในวันนั้น ตลอดจนทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ร่วมรักษาผมจนหายเป็นปกติ ผมขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริงครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวรโชติ สุคนธ์ขจร เชิญครับ
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เขต ๔ วันนี้มีเรื่องหารือท่านประธานสภาอยู่ ๒ เรื่องด้วยกันครับ
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องถนนเส้นอำเภอวังโป่งไปอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ถนนเส้นนี้ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้เป็นที่เรียบร้อย มีแบบเรียบร้อยนะครับ ซึ่งเรา ก็ของบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพชรบูรณ์ ระยะทางประมาณ ๕,๔๐๐ เมตร ครับท่านประธาน เป็นถนนที่จะใช้สัญจรไปมา ระหว่างอำเภอวังโป่งและอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และร่นระยะทางได้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งงบประมาณประมาณ ๖๐ ล้านบาท รวมสะพานด้วย อยากฝาก ท่านประธานไปถึงกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ช่วยผลักดัน งบประมาณให้กับถนนเส้นนี้ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
แล้วอีกเรื่องหนึ่งครับท่านประธาน เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม โครงการต่าง ๆ ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดปัญหาเรื่องการถ่ายโอนของถนน วันนี้อุทกภัยน้ำพัดผ่านถนนขาดหลายสาย อยากฝากเรียนท่านประธานสภาไปยัง กระทรวงมหาดไทยถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ช่วยเล็งเห็นความสำคัญของ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตชนบทด้วย เพราะว่าถนนที่ขอมามันเป็นเส้นชีวิต ของเขาที่เขาจะต้องใช้เดินทุกวันในชีวิตประจำวัน วันนี้ถนนหลายสายในอำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง อำเภอหนองไผ่ รวมจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งจังหวัด แล้วผมคิดว่าทั้งประเทศ ก็เป็นเหมือนกันนะครับ อยากฝากท่านประธานสภาไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยเร่งรัด ผลักดันงบประมาณในส่วนดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณมากครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
กราบขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ท่านวิภาณี ภูคำวงศ์ ท่านศนิวาร บัวบาน เชิญท่านศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นะครับ
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดนครราชสีมา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนมาหารือในสภา ๒ เรื่องครับ
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องน้ำกัดเซาะลำคลอง เนื่องจากพื้นที่ตำบลด่านจากตำบลกำปัง ตำบลสำโรง ในเขตอำเภอโนนไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองและเขื่อน ลำเชียงไกร
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ในช่วงเวลาแล้งไม่มีน้ำใช้ เลยครับ สภาพคลองน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรนะครับ แต่ครั้นเมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักมีน้ำหลาก ริม ๒ ฝั่งคลองได้รับผลกระทบจากน้ำ ตลิ่งของ คลองเชียงไกรและคลองเสวซึ่งพาดผ่านตำบลกำปัง ตำบลด่านจาก และตำบลสำโรง ของอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งวันละนิด ๆ จนตลิ่งที่เป็นที่ดิน ทำกินของชาวบ้านที่ใช้ในการทำการเกษตรด้วย เพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิต นำมากินมาใช้ และขายเพื่อจุนเจือครอบครัว น้ำที่ไหลผ่านได้พัดพาเอาดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ที่ดินถูกกัดกินไปเรื่อย ๆ เหลือน้อยแล้วครับ บางบ้านถูกกัดกินไปถึง ๑๐๐ ตารางวา เลยทีเดียว ชาวบ้านบางคนที่มีที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งของคลอง เมื่อน้ำหลากก็ถูกมวลน้ำซัด เอาที่ดินพังทลายไป ความเสียหายที่ตามมาก็คือปัญหาโฉนดที่ดินตกน้ำครับ ซึ่งอยากหารือ ผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทานช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามกรอบอำนาจหน้าที่ของท่านนะครับ
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ตามที่ Slide แสดงอยู่ จากปัญหาถนนเข้าซอยริมสระวัดประโดก ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ถนนพังทลายติดต่อกันมาเป็นเวลา ๔ ปี ซ่อมแล้วซ่อมอีก เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมา แต่ว่าก็ยังไม่เป็นการถาวรสักที เพราะงบประมาณที่มีนั้นเพียงพอแค่ซ่อมแซมในเบื้องต้นเท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ ถนนติดริมน้ำถูกน้ำเซาะกัดตลิ่งไปเช่นกันจนพังลง จึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ของท่านเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้ใช้รถใช้ถนน อย่างปลอดภัยด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิภาณี ภูคำวงศ์ เชิญครับ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๘ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือเรื่องปัญหาในพื้นที่ค่ะท่านประธาน ประเด็นที่ ๑ ขอ Slide ด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายปรีชา ช่างภา กำนันตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี เรื่องขอความอนุเคราะห์ขุดลอก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่อ่าง ๓,๘๐๕ ไร่ แต่ยังไม่เพียงพอกับการใช้น้ำ ของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความประสงค์ขอขยายขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพิ่มเพื่อเป็นประโยชน์ ทางการเกษตรที่มีพื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ และยังชะลอน้ำไม่ไหลท่วมในเขตอำเภอเมือง มัญจาคีรีค่ะ ดิฉันจึงอยากขอฝากท่านประธานไปยังสำนักงานกรมชลประทานที่ ๖ เร่งเข้ามา ดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องในพื้นที่ด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่บ้านใหม่ชัยพร ตำบลพระบุ อำเภอพระยืน เรื่องขอพิจารณาน้ำประปาเค็มซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ใช้น้ำระบบ ประปาผิวดินน้ำไม่สะอาดต่อการอุปโภคบริโภค และยังทำให้สุขภาพร่างกาย สุขภัณฑ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ เกิดความเสียหายอย่างมาก ดิฉันอยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง คือการประปาส่วนภูมิภาคเขต ๖ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา หากเป็นไปได้จัดการ ระบบให้เป็นระบบการประปาส่วนภูมิภาคให้พี่น้องได้ใช้น้ำสะอาดต่อการอุปโภคบริโภคด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ประเด็นสุดท้ายค่ะท่านประธาน ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก พี่น้องพื้นที่บ้านโนนตุ่น หมู่ที่ ๗ ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง เรื่องขอขยายขุดลอกหนองน้ำเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันหนองน้ำเทพนิมิตมีพื้นที่ ๑๐ ไร่ เป็นหนองน้ำที่มีสภาพตื้นเขินที่ใช้ ในการทำการเกษตรในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรซึ่งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร จึงอยากจะฝากท่านประธานไปยังสำนักงานกรมชลประทานที่ ๖ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะต่อไปจะเข้าสู่ช่วงปัญหาภัยแล้ง จึงอยากจะขยายขุดลอกหนองน้ำเพิ่มเพื่อรองรับ ใช้ในฤดูแล้งด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศนิวาร บัวบาน เชิญครับ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตาก แต่วันนี้ดิฉันขอหารือปัญหาของพ่อแม่พี่น้องในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอ Slide ด้วยค่ะ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก โรงเรียนบ้านบัววัฒนา ตำบลบัววัฒนา มีน้ำท่วมขังซ้ำซากมานานหลายสิบปีแล้วค่ะท่านประธาน ช่วงฤดูฝนนี้คือ ท่วมขังอยู่นานมาก ทางโรงเรียนก็แจ้งไปที่หน่วยงานหลายรอบแล้ว แต่ว่าทางเทศบาล ก็บอกว่าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศึกษาธิการ ส่วนทางศึกษาธิการก็บอกว่าเป็นพื้นที่ รับผิดชอบของทางเทศบาล ทางคุณครูที่โรงเรียนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเลย ดิฉันจึงขอหารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วก็กระทรวงศึกษาธิการให้ช่วย เข้ามาดำเนินการตรงนี้ด้วยนะคะ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ถนนโยธาธิการเพชรบูรณ์ ๒๐๖๔ ระหว่างบ้านติ้วน้อย ตำบลบ้านโภชน์ ถึงบ้านไร่เหนือ ตำบลบัววัฒนา ชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทั้ง เส้นทางเลยค่ะท่านประธาน ก็ขอหารือไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้ง ๒ ตำบลได้สัญจรไปมา อย่างปลอดภัยด้วยนะคะ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ทางหลวงชนบท ๒๐๐๕ เส้นหนองไลย์-โคกเจริญ ระหว่างสะพาน บ้านปากคลองกรวด หมู่ที่ ๒ ตำบลนาเฉลียง ถึงวัดนิลาวรรณประชาราม หมู่ที่ ๔ บ้านตะกุดงาม ตำบลวังโบสถ์ เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ช่วงเวลากลางคืนไม่มีไฟส่องสว่าง มืดมากค่ะ เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากเลยค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงขอหารือไปยังแขวงทางหลวงชนบท จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยติดตั้งไฟส่องสว่างถนนบริเวณดังกล่าวด้วยเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ท่านที่ ๒ ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านที่ ๓ ท่านนรินทร์ คลังผา เชิญท่านกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ครับ
นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ หนองคาย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ เขต ๑ อำเภอเมือง อำเภอสระใคร และ ๓ ตำบล อำเภอโพนพิสัย วันนี้ผมใคร่ขอปรึกษาหารือ ท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีที่เมื่อต้นเดือนที่แล้วท่านได้เดินทางไปยังที่ จังหวัดหนองคาย โดยท่านไปดูเกี่ยวกับเรื่องรถไฟรางคู่ และไปดูเส้นทางที่รัฐบาลที่แล้ว ได้อนุมัติ ผมใคร่ขอกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับเส้นทาง มิตรภาพอุดรธานี-หนองคาย ในเดือนนี้จังหวัดหนองคายหลายท่านก็ทราบ จะมีปรากฏการณ์ ธรรมชาติก็คือบั้งไฟพญานาค ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ของเดือนนี้ ซึ่งพี่น้อง ทั่วประเทศจะหลั่งไหลเดินทางเข้าสู่จังหวัดหนองคายอย่างมากมาย แต่ว่าในการก่อสร้าง ถนนที่จะเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดหนองคายและไปยังอำเภอโพนพิสัยและรัตนวาปีนั้น และผมได้ลงไปดูพื้นที่การก่อสร้างเสร็จแล้วประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในช่วง วันดังกล่าวอาจจะมีบางช่วงบางตอนที่มีการก่อสร้างอยู่ ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ Clearing หรือดูแลว่าสิ่งไหนพอที่จะเอาออกได้เพื่อไม่ให้คนที่สัญจรไปมานั้นเกิดอุบัติเหตุ แล้วอีกเส้นหนึ่งเป็นเส้นวงแหวนรอบนอก ตอนนี้ก็ทำเสร็จไปแล้ว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าจุดที่ จะ Bypass วงแหวนรอบนอกไปที่ตำบลหาดคำและตำบลหินโงมเพื่อตัดออกไปยัง อำเภอโพนพิสัยนั้น ตอนนี้ถนนไม่มีไฟส่องสว่างในการสัญจรไปมาก็จะเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็ในตำบลวัดธาตุนั้นมาตลาดโพธิ์ชัยใช้เส้นนี้ละครับ พี่น้องประชาชนได้เสียชีวิต อย่างมากมายหลายท่าน ซึ่งในเขตเลือกตั้งของผม ผมก็ไปงานศพของท่าน ผมใคร่ขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องไฟส่องสว่างเพื่อจะให้ทันงานบั้งไฟ พญานาค ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ขอขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ เชิญครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ในการแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวานนี้ แล้วจะอนุญาตปรึกษาหารือท่านประธานในการส่งต่อข้อเสนอ ๓ ด้านไปยัง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๑ คือเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัย เหตุการณ์การกราดยิงเมื่อวานนั้น ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่าน SMS จากหน่วยงานรัฐ จะต้องอาศัยระบบแจ้งเตือนภัยจากเอกชนหรือการค้นหาข้อมูลกันเองในสื่อ Social ดังนั้นผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแบบ Cell Broadcasting ของรัฐที่จะเป็นการส่งข้อความเข้ามือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๒ ครับท่านประธาน คือเรื่องของการครอบครองอาวุธปืน แม้พื้นที่ถูกใช้ก่อเหตุเมื่อวานนี้เป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยนั้นมีอัตราผู้เสียชีวิต จากอาชญากรรมปืนสูงเป็นอันดับที่ ๓ ของทวีปเอเชียนั้นก็เป็นสัญญาณบ่งบอกชัด เพราะเราอาจจำเป็นต้องมาทบทวนเรื่องของการครอบครองอาวุธปืนทั้งระบบ ดังนั้น ผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาแนวทางปรับปรุงทั้งกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธ มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางการค้าขายปืนนอกระบบให้มีความรัดกุม มากขึ้น
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอสุดท้ายครับท่านประธาน ข้อเสนอที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องของข้อมูล เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุและการป้องกันพฤติกรรมการเลียนแบบ ท่านประธานครับ ตั้งแต่เกิดเหตุ เราเห็นในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและประวัติของผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยชี้ชัดว่าการประโคมข่าวในลักษณะดังกล่าวนั้นมีความสุ่มเสี่ยง ที่อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ดังนั้นครับท่านประธาน ผมอยากจะหารือท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดแชร์เรื่องราวของ ผู้ก่อเหตุเพื่อส่งสัญญาณดัง ๆ ไปทั่วประเทศครับ ว่าการกระทำอันอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์ แบบนี้จะไม่มีวันทำให้คุณได้แสง หรือความสนใจจากใครสักคนแม้แต่นิดเดียวครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนรินทร์ คลังผา ครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายนรินทร์ คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอนำ ข้อร้องเรียนของประชาชนที่มีปัญหาต่าง ๆ ๓ เรื่องดังนี้ ขอ Slide ด้วยครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรกนะครับ เรื่องสนามกีฬาสวนหลวง เฉลิมพระเกียรติเทศบาลตำบลโคกสำโรง เดิมเป็นสนามของอำเภอแต่ให้เทศบาล ตำบลโคกสำโรงดูแล ณ วันนี้มีความเสื่อมโทรม ไฟส่องสว่างยามค่ำคืนที่มีการแข่งขันกีฬา หรือการซ้อมกีฬาไม่สามารถจะทำการฝึกซ้อมหรือเล่นกีฬาได้ แล้วก็ลู่วิ่งต่าง ๆ มีการชำรุด ทรุดโทรมมากเนื่องจากใช้งานมานานนะครับ โดยการก่อสร้างของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยการดูแลของเทศบาลตำบลโคกสำโรง ณ วันนี้ท่านนายกเทศบาล ท่านนายกเทศมนตรี สุรีรัตน์ วรปัญญา ได้เรียนมายังผมว่าและตอนนี้ของบประมาณไปแล้ว แต่ไม่สามารถ จะผลักดันมาลงได้เนื่องจากว่างบประมาณมันสูง เกือบ ๑๐ ล้านบาท ทั้งลู่วิ่งและไฟส่องสว่าง พร้อมกับปรับปรุงซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่สึกหรอ ดังนั้นก็ขอให้ทางท่านประธานฝากไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าให้ช่วยมาดูแลงานตรงนี้หน่อย ให้ก่อสร้างโดยเร่งด่วน
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องอาคารอนุบาล ๓ ห้องเรียน ของโรงเรียนโคกสำโรง โดยการร้องขอของท่าน ว่าที่ร้อยตรี ธนโชติ หร่ายรา ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกสำโรงนะครับ อาคารนี้คืออาคารเก่าของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และปัจจุบันปรับปรุง เป็นห้องเรียนของเด็กอนุบาล ซึ่งมันไม่มีความเหมาะสมในการเรียน ก็อยากจะขอให้ทาง กระทรวงศึกษาธิการได้จัดห้องเรียนอนุบาล ๓ ห้องเรียน ให้กับโรงเรียนโคกสำโรงครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องทางหลวงหมายเลข ๑ ซึ่งตรงตลาดวงศ์สว่างมีอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง เนื่องจากว่าไฟสัญญาณจราจรและป้ายเตือนชะลอความเร็วต่าง ๆ ไม่มีเลยนะครับ ในเขตชุมชนด้วย ขอให้กรมทางหลวงได้ดำเนินการแก้ไข และช่วยเหลือเยียวยา ในการลดอุบัติเหตุในครั้งนี้ครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
และสุดท้ายครับ ขอฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานในการแก้ไข ปัญหาที่ผมหารือไว้ เรื่องน้ำท่วมตลาดเทศบาลตำบลโคกสำโรง ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
อีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านแอนศิริ วลัยกนก ท่านที่ ๒ ท่านปทิดา ตันติรัตนานนท์ ท่านที่ ๓ ท่านเกียรติคุณ ต้นยาง เชิญท่านแอนศิริ วลัยกนก ครับ
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน แอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล ดิฉันมีเรื่องจะหารือ
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ สายสื่อสาร ขาดห้อย ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ถนนประชาอุทิศ ถนนราษฎร์บูรณะ เป็นจำนวนมาก ดิฉันเกรงว่าสายขาดห้อยจะเป็นอันตรายกับผู้ที่สัญจรไปมา และในพื้นที่ของ ดิฉัน เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกสายสื่อสารฟาดเข้าที่ตาเมื่อ ๒ เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงพื้นที่ ไปเยี่ยมอาการน้อง และน้องเกือบเสียดวงตาไปเกือบ ๑ ข้าง บ้านน้องมีฐานะยากจน จึงฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเยียวยาในการรักษาโดยเร่งด่วนด้วยนะคะ
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ประปาหัวแดง การติดตั้งประปาหัวแดงในหมู่บ้านวิเศษสุข ประชาอุทิศ ๗๙ มีผู้อาศัยอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าหลังคาเรือน เคยมีเหตุเพลิงไหม้ ในพื้นที่รกร้างด้านหลังของหมู่บ้านวิเศษสุข แต่ประปาหัวแดงอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ทำให้หน่วยงานดับเพลิงเข้าไปดับเพลิงยาก จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตั้ง และตรวจสอบสำรวจพื้นที่โดยเร็ว
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ พื้นที่สนามกีฬาบริเวณใต้ทางด่วนกิโลเมตรที่ ๙ และใต้ทางด่วน ฝั่งธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างทางด่วน ทางหน่วยงาน จึงได้เรียกคืนพื้นที่ทั้ง ๒ จุดไปในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งทั้ง ๒ จุดนี้เดิมมีผู้ใช้สนามกีฬา เป็นจำนวนมาก จึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากโครงการก่อสร้าง เสร็จสิ้น อยากให้พื้นที่ส่วนนี้กลับมาเป็นสนามกีฬาอย่างเดิม
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เรื่องปัญหายาเสพติด ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพื้นที่ เป็นจำนวนมาก การขายยาเสพติดยิ่งกว่าขายขนม จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไป ตรวจสอบ ดิฉันไม่อยากให้ลูกหลานของพวกเราเป็นปัญหาต่อไป ฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปทิดา ตันติรัตนานนท์ เชิญครับ
นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานที่เคารพคะ จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ ดิฉันได้หารือผ่านท่านประธานในเรื่องการนำเสนอตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็น Water Plant City การหารือในวันนี้ดิฉันอยาก นำเสนอว่าทำไมเราจึงอยากให้เกิด Water Plant City ขึ้นตามแนวชายแดนจังหวัดสุรินทร์ บ้านของดิฉัน
นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
ปัญหาปัจจุบันชาวบ้านทำการเกษตร มาอย่างยาวนาน แต่หนี้สินที่มีก็ยังอยู่เช่นเดิมค่ะท่านประธาน แถมเพิ่มมาก็ยังคือหนี้อีก ถ้าเรามาวิเคราะห์กันถึงสาเหตุว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้คงจะมี หลากหลายปัญหา แต่ดิฉันมองว่าในหลายปัญหานี้มี ๑ ปัญหาที่เราสามารถหยิบขึ้นมาทำ แล้วก็คงจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้บ้าง คือการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดรายได้ ที่ยั่งยืนค่ะท่านประธาน คนที่มองว่าคนทำนาก็บอกว่ายั่งยืนแล้ว แต่ท่านประธานคะ คนทำนารู้ดีว่าค่าปุ๋ยแพง ค่าแรงแพง ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยว เหล่านี้คือปัญหาที่ทำให้ชาวนา ทำนาแล้วไม่เหลือเงิน เราจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดรายได้อื่น ๆ ด้วย ท่านประธานคะพื้นที่ในเขตอำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง อำเภอพนมดงรัก ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท เป็นพื้นที่ชายแดนตามแนว เทือกเขาพนมดงรัก มีแหล่งน้ำที่กักเก็บน้ำมากมายตลอดแนวชายแดน เราสามารถ ปลูกทุเรียน เงาะ ลำไย มันสำปะหลัง และไม้ผลอื่น ๆ ได้อย่างดี แต่เราขาดซึ่งโอกาสคือ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ค่ะท่านประธาน ทำอย่างไรเราจะสามารถปรับปรุงขุดลอก อ่างเก็บน้ำ ทำคลองส่งน้ำ ทำคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปให้เกษตรกรได้ใช้ตลอดทั้งปีเพื่อสร้าง อาชีพและรายได้เพิ่มจากการทำนาเพียงอย่างเดียว หากสามารถช่วยให้เกษตรกรตาม แนวชายแดนบริหารและเพิ่มผลผลิตได้ดีแล้ว เรื่องการตลาดน่าจะไม่เกินความสามารถ ของรัฐบาลชุดนี้ ดิฉันจึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า จะเป็นกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมทรัพยากรน้ำ โปรดได้ยินเสียงเรียกร้องของเกษตรกรที่อยากหมดหนี้ด้วยค่ะ ท่านประธานคะขออนุญาต สั้น ๆ อีกนิดหนึ่งเรียนท่านประธานสภาไปถึงเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ จังหวัดสุรินทร์จะมี การจัดงานประจำปีคืองานแสดงช้าง เชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่าน วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนช้าง วันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีการจัดแสดงช้าง ก็ฝากเชิญเพื่อน ๆ สมาชิก กราบขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกียรติคุณ ต้นยาง เชิญครับ
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๗ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องที่จะหารือกับท่านประธานจำนวน ๖ เรื่อง
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องเดิมที่เคยปรึกษาหารือ ไว้ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า คือเรื่องทางเข้าโรงพยาบาล ไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งยังไม่มีทางม้าลาย แล้วก็ไม่มี สัญญาณจราจรทำให้ผู้ที่มาใช้บริการได้รับความลำบาก
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องเดิมที่เคยปรึกษาหารือไว้ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า คือเรื่องสะพานข้ามคลองพระพิมลราชาหลังวัดละหาร ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากสะพานดังกล่าวมีลักษณะสูง และลาดชันทำให้ประชาชนได้รับความลำบากในการที่ใช้สัญจรข้ามคลอง
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ถนนเลียบคลองเจ๊กหน้าโรงงาน ไบร์ท พรีแคสเตอร์ และหน้าหมู่บ้าน ลลิลพร็อพเพอร์ตี้ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นหลุม เป็นบ่อทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ที่คลองนาหมอน หมู่ที่ ๑๑ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ชาวบ้านได้รับ ความเดือดร้อนเนื่องจากว่าไม่สามารถจะนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตรกรรมได้
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ไฟฟ้าริมถนนบางกรวย-ไทรน้อยน่าหมู่บ้านชวนชมพาร์ค ๓ จนถึงทางโค้งมุ่งหน้าบ่อขยะไทรน้อย หมู่ที่ ๑ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ดับมาเป็นเวลา ๑ ปีแล้วทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตราย ในเวลาค่ำคืน
นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ เรื่องสุดท้ายไฟหน้าปั๊มน้ำมัน PT ถนนบางกรวย-ไทรน้อย หมู่ที่ ๑๐ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ไฟฟ้าบริเวณนี้ก็ได้มาเป็นเวลา ๑ ปีแล้ว จึงขอท่านประธานได้โปรดทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชน ในเขตอำเภอบางบัวทองและอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ที่รับความเดือดร้อนด้วยนะครับ และในโอกาสนี้ เนื่องจากผมเคยหารือมาแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า ผมมีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องยื่นหนังสือกับท่านประธานในวันนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านพรเทพ ศิริโรจนกุล ท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ ท่านอำนาจ วิลาวัลย์ เชิญท่านพรเทพ ศิริโรจนกุล ครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพรเทพ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๖ พรรคเพื่อไทย ได้แก่ อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง และอำเภอพระทองคำ วันนี้ขอปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ทั้งหมด ๔ ประเด็นครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ เรื่องการขาดแคลน น้ำอุปโภคบริโภคไม่มีน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของตำบลตาจั่น ตำบลขามสมบูรณ์ ซึ่งต้อง ขอขอบคุณท่าน ผอ. สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๕ ที่ได้ออกมาสำรวจและทำแผนโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวบ้าน ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ให้ช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อทำระบบกระจายน้ำถังแคปซูล ปั๊มแรงดันสูบน้ำดิบ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาให้พี่น้องประชาชนทั้ง ๒ ตำบลครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ปัญหาด้านการคมนาคมถนนหลวงหมายเลข ทล.๒๓๖๙ เส้นพระทองคำ-บ้านเหลื่อม ระยะทางกว่า ๔๐ กิโลเมตร เนื่องจากถนนเส้นนี้ชำรุดทรุดโทรม ผิวถนนขรุขระไม่ได้รับการพัฒนามากว่า ๓๐ ปี อีกทั้งถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนที่พี่น้องใช้สัญจร ไปมาหาสู่กันหลายอำเภอ เป็นถนนเลี่ยงเมือง เลี่ยงรถติดในช่วงเทศกาล ผมจึงอยากขอฝาก ท่านประธานไปยังกรมทางหลวงให้ช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขเป็นถนน ๔ ช่องทาง การจราจรให้กับพี่น้องประชาชนครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เรื่องปัญหาทางด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลคง เรียนว่า อำเภอคงมีทั้งหมด ๑๐ ตำบล มีประชากรกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งหากเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบปัญหาอุบัติเหตุจะต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอคง ซึ่งปัจจุบันนี้ สภาพแออัดมาก ขาดแคลนบุคลากร เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอไม่สามารถรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ อีกทั้งยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นห้องผ่าตัด ห้องผ่าคลอด ทำให้เมื่อมี Case หนัก ๆ เข้ามาต้องส่งไปยังโรงพยาบาลอื่นเท่านั้น ผมจึงอยาก ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาแก้ไขปรับปรุง เพื่อเพิ่มบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ เรื่องปัญหาราคาโค กระบือ ที่ตอนนี้ราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ต้นทุนที่มีค่าเลี้ยงดูที่สูงขึ้น อาหารแพงขึ้น แต่ราคาขายกลับถูกลงทุกวัน สมัยก่อน ตัวเดียว ๒๐,๐๐๐ บาท สมัยนี้ ๒ ตัวยังไม่ได้ ๒๐,๐๐๐ บาทเลย เลยฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยหาตลาดส่งออกโค กระบือ พร้อมทั้งมาตรการควบคุมการนำเข้า โค กระบือจากต่างประเทศเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ของประเทศไทยด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านบุญเลิศ แสงพันธุ์ เชิญครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๔ เรื่อง
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาสายไฟ สายสื่อสารสภาพรกรุงรังในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ขอ Slide ด้วยนะครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
สร้างความเดือดร้อนให้กับ ประชาชนที่อยู่อาศัยในตำบลบางจากและในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์เป็นอย่างมาก สายไฟ สายสื่อสารที่ถูกปล่อยไว้เหนือศีรษะผู้คนมีสายไฟไหม้ก็หลายหน และมีสายขาด กีดขวางการจราจรจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขจัดระเบียบ สายไหนไม่ได้ใช้นำออกด้วยครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาวิกฤติระบาดของปลาหมอสีคางดำในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ท่านประธานครับปัญหานี้คือปัญหาใหญ่ ของเกษตรกร คนทำวังเลี้ยงกุ้งหอยปูปลาอย่างมาก ปลาหมอสีคางดำหรือปลาเอเลียน เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ จากข้อมูลของสภาเกษตร จังหวัดสมุทรปราการมีเกษตรกรทำวังที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า ๕๔,๐๐๐ ราย ลงกุ้ง ลงปลา ลงหอยเป็นแสน วิดวังมาได้ปลาหมอสีคางดำแทนครับ โดยไม่มีเงินช่วยเหลือเยียวยา และยังไม่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาใด ๆ จากรัฐบาลอย่างจริงจัง ขอให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่แก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วยครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ดินฝั่งทะเล ท่านประธานครับ ผมได้รับ เรื่องร้องเรียนจากนายชาตรี อ่วมสอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ และประชาชนในพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่ามีปัญหาเรื่องการกัดเซาะที่ดินชายฝั่งทะเล ที่ทวีความรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก ผมขอเสนอผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางจัดสรรงบประมาณ เสนอโครงการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะที่ดินแนวฝั่งในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพราะนอกจากช่วยป้องกันการกัดเซาะแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขต อำเภอพระสมุทรเจดีย์ได้ด้วยครับ
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
และปัญหาสุดท้าย คือปัญหาเสาไฟฟ้ากลางคลองสรรพสามิตและคลองย่อย ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จากปัญหาการกัดเซาะที่ดินชายฝั่งจากเดิมเสาไฟฟ้าที่อยู่บนฝั่ง ก็กลับกลายอยู่กลางคลองล้มเอียงตามภาพเลย ผมขอประธานสั่งการการไฟฟ้าย้ายเสาไฟฟ้า ออกด้วยครับ เพราะมีประชาชน เด็กนักเรียนสัญจรทางเรือเป็นจำนวนมาก อย่ารอให้เกิด การสูญเสียเลยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านอำนาจ วิลาวัลย์ เชิญครับ
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ อำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖ ผมได้ลงพื้นที่กับท่านเกียรติ ศิริวัฒน์ภัทรา นายก อบต. เนินหอม ท่านสมเดช ด้วงทอง ผอ. ส่วนสำรวจและออกแบบ กรมทรัพยากรน้ำ ท่านบุญอนันต์ มิตรประสิทธิ์ ผอ. แขวงทางหลวงชนบท ท่านรองนายก ท่านผู้ใหญ่บ้าน ท่านสมาชิก พี่น้องประชาชน ต่อข้อร้องเรียนน้ำไหลเข้าพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนพี่น้องประชาชน เราได้วิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขไว้ดังนี้ ดูจากภาพถ่ายทางอากาศแนวเส้นสีฟ้า คือแนวคูคลองสาธารณะที่มีอยู่เดิม ในกรอบสีฟ้า ๆ ที่เป็นแอ่งน้ำมีพื้นที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน แนวทางแก้ไข
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
๑. พัฒนาพื้นที่ให้เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อไว้ให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำในการเกษตร ช่วงฤดูแล้ง คำนวณจากพื้นที่ขนาด ๑๒ ไร่จะสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คิว
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
๒. จัดทำถังสูงพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจ่ายกระแสน้ำ ให้กับพี่น้องในตำบลเนินหอมหมู่ที่ ๑๔ หมู่ที่ ๑๖ หมู่ที่ ๑๘ หมู่ที่ ๑๙ เนื้อที่การเกษตร ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
๓. จัดทำ Box Culvert เพื่อระบายน้ำลงคูคลองธรรมชาติ เนื่องจากผมมี เวลาน้อยแค่ ๒ นาทีในการหารือ รายละเอียดส่วนอื่นผมจะขอนำเสนอในโอกาสหน้านะครับ ผมขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานจัดสรรงบประมาณพิจารณาโครงการนี้ด้วย
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องของพี่น้องชาวตำบลโคกไทย หมู่ที่ ๔ เกี่ยวกับไฟฟ้าตกมา เป็นเวลา ๒ เดือนแล้ว ฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานไฟฟ้าอําเภอศรีมโหสถ ช่วยเร่งรัดดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล เชิญครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือกับประธานสภาในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เนื่องจากเมื่อวานนี้เป็นวันอังคารที่ ๓ มีฝนตกหนัก ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตกหนักประมาณ ๔ ชั่วโมง ซึ่งวัดปริมาณน้ำฝนได้อยู่ที่ ประมาณ ๗๒ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างหนัก และในเขต อำเภอเมืองเป็นเขตที่มีชุมชนอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ในจังหวัดระยองของเรา พอมีฝนตกหนักทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องของการรอระบายน้ำ ที่ท่วมลงมาอย่างรุนแรง หลังจากที่เวลาผ่านไปตอนนี้ก็คือน้ำได้เริ่มลดลงเรื่อย ๆ แล้วคาดว่า จะสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ แต่กว่าที่พี่น้องชาวบ้านจะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมขังนี้ได้ เขาได้รับผลกระทบในเรื่องของน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ถูกตัดเส้นทางการจราจรเข้าออก หมู่บ้าน บางหมู่บ้านถึงกับต้องขาดแคลนน้ำ ขาดแคลนอาหารในขณะที่มีน้ำท่วมขังอยู่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังสูง ชาวบ้านบางคนถึงกับต้องปล่อยให้รถจมน้ำอยู่ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซากในเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งดิฉันขออนุญาต ปรึกษาหารือกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล มาบตาพุด เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลเนินพระ เพื่อให้มีการจัดการป้องกัน การแก้ไข แล้วก็เพื่อพัฒนาระบบการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ขอบพระคุณมากค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านซาการียา สะอิ เชิญครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม นายซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคภูมิใจไทย ประกอบไปด้วย อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ แล้วก็อำเภอสุคิริน ท่านประธานครับผมมีเรื่องหารือของปัญหา ชายแดนภาคใต้ประเด็นใหญ่ ๆ ๒ ประเด็นด้วยกันนะครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
ประเด็นแรก เป็นประเด็นเกี่ยวกับการวิจัยในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝากท่านประธานไปยัง
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
กระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยสนับสนุนงบประมาณวิจัยในเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ แล้วก็เรื่องสันติภาพ และขอเรียน ถามกระทรวง อว. ว่าขณะนี้กระทรวง อว. มีนโยบายด้านการวิจัยอะไร เพื่อที่จะใช้แก้ปัญหา ความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีนโยบายส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัย สถาบันความรู้ ให้ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่เป็นเช่นไรบ้าง
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ คือประเด็นเรื่องถนนซึ่งเป็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๑ คือเส้นทางหมายเลข ๔๑๐๗ มะรือโบ-ตันหยงมัส เป็นเส้นทางหลัก ของ ๓ อำเภอด้วยกัน ประกอบไปด้วย อำเภอระแงะ อำเภอยี่งอ แล้วก็อำเภอรือเสาะ ปัจจุบันผิวทางเกิดความชำรุดเสียหายหนัก เกิดจากน้ำท่วมทุก ๆ ปีทำให้เกิดความเสียหาย บ่อยครั้งครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๒ คือเส้นทางหมายเลข ๔๒๑๗ สายดุซงญอ-ไอร์ตากอ อยากให้ กระทรวงคมนาคมช่วยขยายเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้เส้นทางนี้ เนื่องจาก เป็นเส้นทางหลักไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอจะแนะ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๓ เป็นเส้นทางหมายเลข ๔๐๖๒ จาก อบต. สุคิรินไปวัดพระธาตุภูเขาทอง เป็นเส้นทางเก่าแก่ประมาณ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นเส้นทางขนาดเล็ก เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเส้นทาง ไม่ได้รับการซ่อมแซมเป็นเวลานาน อยากฝากกระทรวงคมนาคมช่วยดูแลด้วยครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๔ เป็นเส้นทาง ๔๐๕๖ สายเขากง-สุไหงโก-ลก เป็นเส้นทางที่ต้องการ ขยายทางจราจร เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักจากอำเภอเมืองไปยังด่านชายแดนสุไหงโก-ลก
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๕ เป็นเส้นทางหมายเลข ๔๑๕๕ จากบาเจาะไปยังบ้านทอน เป็นเส้นทางหลักจากจังหวัดปัตตานีไปยังสนามบินบ้านทอน เป็นเส้นทางที่มีความคับแคบ อยากให้ขยายเส้นทางเพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัย
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๖ เป็นเส้นทางหมายเลข ๔๑๖๘ สายต้นไทร-ปะลุกาสาเมาะ เป็นเส้นทางที่ต้องการขยายถนนจราจร
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
จุดที่ ๗ เป็นเส้นทาง ๔๐๕๕ สายมะนังตายอ-จือมอ อยากจะให้ขยายด้วย เหมือนกัน สุดท้ายมีอีก ๒-๓ จุด เวลาไม่ทันซึ่งขอฝากเป็นรายงานให้กับท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับต่อไปท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ เชิญครับ
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๔ อย่างที่ เพื่อนสมาชิกได้ทราบกันมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดลำปาง ก็เป็น ๑ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดิฉันจึงรวบรวมความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนเขต ๔ มาหารือผ่านท่านประธานดังนี้ค่ะ อำเภอเกาะคา ตำบลเกาะคา มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๔ ได้รับความเสียหายสะพานเชื่อมต่อ ระหว่างตำบลวังพร้าวและตำบลศาลาเสียหายค่ะ สำหรับอำเภอเถินได้รับความเสียหาย ๓ ตำบล ตำบลเวียงมอกเสียหาย ๖ แห่งด้วยกัน ก็คือสะพานของหมู่บ้านที่ ๖ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ และหมู่ที่ ๑๔ ตำบลแม่มอก สะพานเสียหายทั้งหมด ๖ แห่งหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๖ นอกจากนี้ยังมีหมู่ที่ ๑๒ ด้วยนะคะ สำหรับตำบลแม่ปะ สะพานและพนังกั้นน้ำหมู่ที่ ๙ ได้รับความเสียหาย ก็อยากจะฝากผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. หรือ อบจ. หวังว่า การรวบรวมความเสียหายมาหารือผ่านรัฐสภาแห่งนี้จะเป็นการเร่งให้หน่วยงานรับผิดชอบ ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับต่อไปท่านยศวัฒน์ มาไพศาลสิน เชิญครับ
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีครับ ท่านประธานครับเมื่อวานนี้ผมเองได้ลงพื้นที่ ในตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพราะว่าได้รับการร้องเรียนจาก พี่น้องชาวนาในเขตตำบลตะคร้ำเอน ตำบลดอนชะเอม ตำบลสนามแย้
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ซึ่งในการร้องเรียนนั้นคือร้องเรียน เกี่ยวกับมหากาพย์ของ Motorway สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ๘๑ ครับเนื่องจากว่าเดิมที ที่ผ่าน ๆ มาตั้งแต่สมัยที่แล้วที่ผมเป็นผู้แทนมา เรื่องของ Motorway มีปัญหาอยู่ต่อเนื่อง มาโดยตลอดโดยเฉพาะการก่อสร้างทำให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ ในเรื่องของถนน Motorway โครงการนี้ได้ขวางทางน้ำ แล้วต้องกราบขอบพระคุณ ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการในขณะนั้นที่แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องมาโดยตลอด ในช่วงที่เกิดปัญหา และวันนี้ในบริเวณจุดที่กำลังก่อสร้างด่านเก็บเงินของตอนที่ ๑๘ ถึงตอนที่ ๑๙ ตอนที่ ๒๐ อยู่บริเวณวัดตะคร้ำเอน ก็กำลังก่อสร้างและทำให้ โครงการที่กำลัง ก่อสร้างตรงนี้นั้นขวางทางน้ำ ทางผู้ควบคุมงานแล้วก็หน้างานบอกว่าสร้างท่อแล้วครับ แต่เมื่อวานผมลงไปดูในพื้นที่การสร้างท่อมันสูงกว่าระดับน้ำ ก็เลยไม่ทราบว่าจะสร้างทำไม สร้างให้เกิดปัญหาเพื่ออะไร จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ Project หรือว่าผู้ควบคุมหน้างานช่วยดูและประเมินก่อน แล้วก็ให้แก้ไขปัญหาโดยด่วนครับ เรื่องแรก
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
แล้วก็เรื่องที่ ๒ ไม่มีรูปครับเป็นเรื่องที่ผมได้รับการร้องเรียนจากนายก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเสา ท่านจำลอง สุวรรณประเสริฐ เรื่องของการให้ในส่วน ของโยธาธิการจังหวัด ได้ช่วยไปดำเนินการสร้างสะพานให้ใหม่ในเส้นข้ามแม่น้ำแม่กลอง ก็คือจากเทศบาลตำบลลูกแก ข้ามไปยังตำบลท่าเสา ที่เรียกว่าสะพานเก่ามีอยู่สะพานเดียว มันพังแล้วครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ท่านพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ท่านชาตรี หล้าพรหม เชิญท่านอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ เชิญครับ
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานที่เคารพครับ เนื่องจากวันนี้ผมขอหารือท่านประธาน เกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้พิการ สืบเนื่องจากผมได้รับการร้องเรียนจาก พี่น้องผู้พิการถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐบาล ผมก็เลยได้ตรวจสอบและหาข้อมูล ได้พบว่าปัจจุบันผู้พิการสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ได้คนละ ๖๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องมีดอกเบี้ย แต่ต้องชำระคืนภายใน ๕ ปี เมื่อผมได้ศึกษาลงในรายละเอียดก็พบปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของ พี่น้องผู้พิการหลายประการดังนี้ครับ
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี และผู้ค้ำประกันต้องเป็นข้าราชการ หรือเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ ซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากให้กับผู้พิการอย่างยิ่งครับ
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ การขอข้อมูลที่ยุ่งยากและไม่จำเป็น เช่น แผนผังที่อยู่อาศัย แผนผังสถานที่ประกอบอาชีพ หนังสือรับรองเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน รูปถ่ายเต็มตัว ๔ คูณ ๖ นิ้ว สัญญาเช่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในการกู้ของผู้พิการครับ
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ขั้นตอนในการพิจารณา
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
๓.๑ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนค่อนข้างยากและซับซ้อน มีการจัด และประเมินความสามารถของผู้ที่จะชำระเงินซึ่งเป็นการคาดเดาเสียส่วนใหญ่ครับ
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
๓.๒ การพิจารณามีความล่าช้าใช้เวลามาก ต้องใช้เวลานานในแต่ละคน ผมจึงขอนำเรียนท่านประธานว่าทั้ง ๓ ประเด็นนี้ ถ้าคนปกติคงไม่ใช่เรื่องยากลำบาก ในการหาเอกสารและคนค้ำประกัน แต่ในกรณีของผู้พิการนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับผู้พิการ อยากให้พิจารณาลดขั้นตอนและเอกสาร ที่ไม่จำเป็นออกน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้พิการเป็นอย่างมากครับ นอกจากนี้สิ่งที่เสนอแนะ ในข้างต้นมีข้อเสนอเพิ่มเติมฝากท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการแห่งชาติ ขอให้ท่านพิจารณาลดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนต่าง ๆ ให้ความสะดวกยิ่งขึ้น โดยให้ผู้พิการใช้บัตรเพียงใบเดียว ไม่ต้องมี ผู้ค้ำประกัน เนื่องจากสมัยก่อนผู้พิการมีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่มากนัก แต่สมัยปัจจุบันผู้พิการได้เข้าถึงระบบ Internet
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สรุปนะครับ สรุปเกินเวลา
นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ อุดรธานี ต้นฉบับ
สื่อสังคม Online จึงอยากให้ ท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดลดขั้นตอน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ เชิญครับ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานสภาคะ วันนี้ดิฉันขอเสนอปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งฤดูแล้งก็ขาดน้ำ ฤดูฝนน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรค่ะ ผ่านท่านประธานไปยังผู้อำนวยการโครงการ ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งหมด ๕ เรื่องดังนี้นะคะ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือขอให้พัฒนาแหล่งน้ำที่คลองแม่เทียบและคลองโกรงเกรงเหนือ ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ แก้ไขระบบระบายน้ำคลองลำแตงกวา หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ และหมู่ที่ ๑๓ ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะ หมู่ที่ ๘ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ขุดลอกคลองพระรถ หมู่ที่ ๔ ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ขุดลอกคลองแห้ง หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ ฝากไปถึงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขในเรื่อง ของน้ำตื้นเขินแล้วก็น้ำท่วมไหลหลาก
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องขอความอนุเคราะห์ติดตามงบประมาณซ่อมแซม คลองส่งน้ำด้วยไฟฟ้า หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม เนื่องจากคลองส่งน้ำดังกล่าว เกิดการชำรุด ดินทรุดตัว คอนกรีตแตกร้าวทำให้การสูบน้ำขึ้นมาน้ำเกิดการรั่วไหล และเสียหาย พี่น้องประชาชนพยายามที่จะซ่อมกันเองด้วยงบประมาณของพวกเกษตรกร กันเอง แต่ว่าเนื่องจากเสียหายจำนวนมากและใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถ ที่จะดำเนินการแก้ไข จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาแก้ไขปัญหา ดังกล่าวโดยเร่งด่วน
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขออนุมัติงบประมาณสร้างเขื่อนริมตลิ่ง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม เนื่องจากพื้นที่ริมตลิ่ง ๔๐๐ เมตรถูกน้ำกัดเซาะและพังทลายในริมแม่น้ำน่าน ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนในการใช้รถใช้ถนนในการสัญจรเป็นอย่างมาก
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ชาวไร่อ้อยฝากมาค่ะ ขอให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือในเรื่องของ การตัดอ้อยสดในฤดูหีบ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ ตันละ ๑๒๐ บาทเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากในเดือนธันวาคมนี้จะถึงฤดูหีบอ้อยแล้วพี่น้องชาวไร่อ้อยไม่มีทุน จึงฝากไปที่ กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชาตรี หล้าพรหม
นายชาตรี หล้าพรหม สกลนคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ชาตรี หล้าพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต ๒ สส. ลูกชาวนา พรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๑ เรื่อง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุพนังน้ำก่ำขาดในช่วงระหว่างอำเภอเมือง ตำบลโคกก่อง และอำเภอโคกศรีสุพรรณ ในขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะชะลอน้ำได้ ทำให้ น้ำทะลักไหลท่วมพื้นที่ไร่นาของพี่น้องเกษตรกร ตอนนี้ประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ไร่ ซึ่งความเดือดร้อนในตอนนี้อยากฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปกำกับ ดูแล ลงไปเพื่อเยียวยาพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยตอนนี้ ซึ่งพนังน้ำก่ำนั้นมีปัญหา มายาวนานฝั่งซ้ายก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีน้ำทะลักจากพนังน้ำก่ำออกไป แต่ยังมี ลำน้ำสาขาต่าง ๆ ซึ่งฝั่งอำเภอโพนนาแก้ว ไม่ว่าจะเป็นตำบลนาตงวัฒนา ตำบลบ้านโพน และตำบลเชียงสือก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน สิ่งสำคัญฝากไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ไปดูแลเยียวยาและหาทางแก้ไขให้พี่น้องเกษตรกรมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านพิพิธ รัตนรักษ์ ท่านยูนัยดี วาบา ท่านอับดุลอายี สาแม็ง เชิญท่านพิพิธ รัตนรักษ์ เชิญครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๒ พรรครวมไทยสร้างชาติ กระผมขออนุญาตหารือท่านประธานสภาดังนี้สัก ๓ เรื่องครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เนื่องจากกระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านผู้ใหญ่บ้าน นายธนกฤต เจริญธรรม กระผมได้ลงในพื้นที่ได้เห็นถึงความเดือดร้อน การขาดแคลนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ปัญหาเรื่องน้ำประปาขาดแคลน
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
น้ำไม่ไหล ไหลน้อยมากครับ พี่น้องประชาชน ในเขตพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ในพื้นที่มีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ ๒๙๓ ครัวเรือน ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จำเป็นต้องอาศัยน้ำประปามาใช้ในครัวเรือน มีโรงเรียน มีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวนประมาณ ๑๐๐ กว่าคน ซึ่งเบื้องต้นการประปา มีการประสานงานของบประมาณในการวางท่อน้ำให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม แต่งบประมาณ ไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวค้างอยู่ที่การประปาส่วนภูมิภาคของจังหวัด กระผมขอฝาก ท่านประธานสภาที่เคารพ ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด ช่วยเร่งรัดพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการขยายระบบท่อประปาในเขตพื้นที่ให้กับชุมชน บ้านดอนสักด้วยครับท่านประธาน
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือเนื่องจากโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีคนไข้เข้ารักษาจำนวนมากทั้งชาวบ้านในพื้นที่และแรงงาน ข้ามชาติ กระผมได้รับเรื่องมาจากท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายธานินท์ นวลวัฒน์ ปัญหาโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยใน ได้ประมาณ ๑๒๐ เตียง แต่ปัญหาอยู่ว่าปัจจุบันผู้ป่วยมาใช้บริการจริงประมาณ ๑๙๕ เตียงต่อวัน จำนวนเตียง ไม่เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยในในแต่ละวันนี้มาใช้บริการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหา แนวทางแก้ไข ปรับปรุง ต่อเติมตัวอาคาร เพื่อวางมาตรฐานรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ กับปริมาณผู้ป่วยที่มาใช้บริการแต่ละวันครับท่านประธาน กระผมขอความอนุเคราะห์ ขอจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่มีหน้าที่ ดูแลทุกข์สุขของพ่อแม่พี่น้องประชาชนของอำเภอกาญจนดิษฐ์ด้วยครับท่านประธาน
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
Slide ที่ ๓ ครับ ปัญหาของ Slide ที่ ๓ คือปัญหาของการท่องเที่ยว ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน ในแต่ละปีมีจำนวนมาก และปี ๒๕๖๕ มีจำนวน นักท่องเที่ยวประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคน และสถานการณ์ปกติเฉลี่ยตกประมาณปีละ ๖๐๐,๐๐๐ กว่าคน จากสภาพที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าสะพานท่าเทียบเรือเกาะเต่ามีขนาดเล็ก และมีสะพานเก่าสามารถเห็นได้ชัด ในช่วงฤดูของการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวแออัด จนทำให้นักท่องเที่ยวล้นออกมาข้างนอกไม่สามารถสัญจรไปมาได้ การใช้ถนนหนทางอาจจะ ทำให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ ทำให้เกิดลักษณะภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับการท่องเที่ยว เกาะเต่ามีศักยภาพที่สวยงาม น้ำทะเลใส ปะการังสวย มีสถานที่ผลิตนักดำน้ำ อันดับหนึ่งของโลก สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้ประเทศมายาวนาน เมืองสมุย และเมืองพะงัน และเมืองเกาะเต่ามีความอุดมสมบูรณ์เรื่องการท่องเที่ยว สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยกว่าเมืองท่องเที่ยวที่อื่นครับท่านประธาน พี่น้องชาวเกาะ ๓ เกาะ ประกอบด้วยเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ขอต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ ๓๐ ให้มาเยี่ยมเยือนพบปะพี่น้อง ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นเกียรติให้กับพี่น้องชาวเกาะทั้ง ๓ เกาะ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ท่านยูนัยดี วาบา เชิญครับ
นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายยูนัยดี วาบา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ ๔ จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานครับเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน เวลาเกือบเที่ยงคืน เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหลายจุดในพื้นที่ของผม อำเภอสายบุรี อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น มีเหตุโจมตีฐานกองร้อยทหารพราน ๔๔๑๓ บ้านโต๊ะบาลา ตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี มีการปะทะประมาณ ๑๐ นาทีนะครับ ชาวบ้านโดนลูกหลงคือน้องฟีรฮัน โตะแซ น้องเป็น เสาหลักของครอบครัว ซึ่งในเวลาขณะนั้นเกือบเที่ยงคืนวิถีชีวิตของชุมชนคนปัตตานีก็คือ อยู่ร้านน้ำชา ซึ่งการโจมตีฐานในคืนนั้น น้องก็จะโดนลูกหลง ซึ่งน้องอายุ ๑๙ ปี ตอนนี้อยู่ ICU โรงพยาบาลปัตตานี ถ้าเกิดน้องออกจากโรงพยาบาลแล้ว คาดว่าคงจะไม่สามารถ ประกอบอาชีพได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาให้น้องฟีรฮันด้วยนะครับ
นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ผมจะพูด ก็คือเรื่องทบทวนฐานกองร้อยที่อยู่ในชุมชน ท่านประธานครับ ท่านลองนึกภาพฐานกองร้อยอยู่ในชุมชนด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้า ด้านหน้าเป็นร้านน้ำชา ด้านข้างเป็นบ้านของชาวบ้าน เวลาเกิดเหตุลักษณะนี้ชาวบ้านจะมีผลกระทบได้รับบาดเจ็บ บ้านเรือนเสียหาย สุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ อส. ขอเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และผมยืนยันว่าฐานกองร้อยให้อยู่เพื่อดูแลประชาชน แต่ควรที่จะออกห่างจากชุมชน ท่านประธานครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอับดุลอายี สาแม็ง
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ พรรคประชาชาติ ผมขอหารือกับท่านประธานสัก ๔ เรื่องนะครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องด่านตรวจค้นบนถนนสาย ๔๑๐ ซึ่งมีปัญหาเกิดอุบัติเหตุ กันบ่อย
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
อยากจะให้มีการปรับปรุงสถานที่ ที่หน้าด่านให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องของการจราจรบนท้องถนน อย่างที่เห็นในรูปเป็นด่านที่ อยู่ในระหว่างเขตกรงปินัง ซึ่งเขตรอยเดินต่ออำเภอบันนังสตาครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องการชดเชยค่าทุเรียนที่ช้างไปทำลายต้นทุเรียนในพื้นที่ของ ๓ อำเภอ อำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตา ซึ่ง ณ ขณะนี้ทางเกษตร ทาง ปภ. ก็จะไปชำระค่าเสียหายให้กับต้นเหล่านี้ประมาณไร่ละ ๔,๐๔๘ บาท ซึ่งตกต้นละ ประมาณ ๒๐๐ กว่าบาท แล้วก็จริง ๆ แล้วความเสียหายที่เกิดต่อต้น ณ ขณะนี้ราคาปัจจุบัน ก็ตกประมาณต้นละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยเฉพาะผลผลิตในปีนี้ ส่วนค่าต้นทุเรียนอีกประมาณ สักไม่รู้จะประเมินมูลค่าได้อย่างไร ก็ประมาณสัก ๑๐,๐๐๐ บาท ก็ตกประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ณ ขณะนี้ก็อาจจะไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าจริงปัจจุบัน อยากจะให้มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของค่าชดเชยเหล่านี้ และรีบไปชดเชยให้ดำเนินการ อย่างเร่งด่วน
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ก็คือเรื่องขอการเยียวยา เกิดจากวันที่ ๒๘ ที่ผ่านมา ที่เขต อำเภอเบตง บ้านบ่อน้ำร้อนซึ่งมีการเลี้ยงปลานิลน้ำไหลซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย แล้วก็ มีฝนตกหนักน้ำไหลเข้าในพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาเกิดความเสียหายเกือบ ๆ ๒๐ ล้านบาท ก็อยากจะให้ทางจังหวัดไปเยียวยาแก้ไขโดยไม่ต้องรอว่าพื้นที่ไม่มีการประกาศอุทกภัย เป็นการล่วงหน้า ก็อยากจะให้เอาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเลยนะครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เรื่องการร้องเรียนของชลประทานที่สร้างในพื้นที่ของชาวบ้าน เพื่อรองรับในภัยพิบัติที่จะเกิดในอนาคตข้างหน้า เรื่องภัยแล้งก็อยากจะให้ไปดูแลระบบของ ชลประทาน เรื่องฝาย เรื่องท่อ เรื่องอะไรให้ดี ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดปัญหาใน ๑ ตำบลเต็ม ๆ ของอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านถนอมพงศ์ หลีกภัย แล้วก็ตามด้วยท่านฐิติมา ฉายแสง ท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญท่านถนอมพงศ์ หลีกภัย ครับ
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จากจังหวัดตรัง เขต ๑
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้บริหารประเทศภายใต้ การบริหารของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วยพรรคร่วมรัฐบาลมีศักยภาพพอ ในการทำงานนะครับ พรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ขอบคุณท่านประธานมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง เชิญครับ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง เขต ๑ จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ท่านประธาน ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก Page ของคุณ IQ นี่หว่า แล้วก็สมาชิก อบต. วัชระ ชื่นบาน ว่า หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองเปรง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ถนนในหมู่บ้านไม่มีไฟ ตอนกลางคืนก็มืดอันตรายมาก ขอภาพด้วยนะคะ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เส้นที่ ๑ เส้นหลังวัดจรเข้น้อยจากบ้าน คุณสำอางค์ ตุ้มวิจิตร ถึงบ้านคุณป้อม ศรีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑ กิโลเมตร เส้นที่ ๒ เส้นคลองรางปีกนกซีกซ้าย จากบ้านคุณคม พวงเจริญ ถึงบ้านคุณบารมี จั่นจิตรเพชร ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เส้นที่ ๓ เส้นคลองรางปีกนซีกขวา บ้านคุณพล ศุภฤทธิ์ ถึงบ้านคุณสำราญ แสงสี ๑ กิโลเมตร
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าดับบ่อยมากในหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองหลวงแพ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลบางแก้ว บริเวณหน้าวัดเกาะจันทาราม อำเภอเมือง หมู่ที่ ๑๖ ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จึงอยากให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาแก้ไขโดยด่วน
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ท่าน สจ. ไพบูลย์ ลายประดิษฐ์ ได้ร้องเรียนมาเรื่องคอสะพาน ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลคลองเปรง และคอสะพานหน้าวัดเปร็งไพบูลย์ ธัญญาหาร หมู่ที่ ๘ เชื่อมหมู่ที่ ๗ ตำบลคลองเปรง บนถนนสาย ๓๐๑๔ คือถนน รพช. ชำรุดทรุดตัวทำให้เวลาวิ่งลงตรงคอสะพานกระแทกอย่างแรงเลยค่ะ ดิฉันเองก็ใช้อยู่นะคะ เป็นจริงเลยค่ะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขด้วยค่ะ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ ๔ ปัญหาผักตบชวาที่ไม่สามารถไหลผ่านตอม่อ สะพานเบี่ยงที่ทำการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่มีระยะห่างระหว่างตอม่อแค่เพียง ๓ เมตร เองนะคะท่านประธาน แต่ว่าประชาชนสัญจรไปมาไม่ได้ แล้วก็ท่านผู้ใหญ่บ้านวสวัตติ์ หลำเจริญ ต้องออกมาตัดผักตบชวาทุกเช้าเลยค่ะ นั่นหมายความว่าทางเบี่ยงสายนี้ทำกันมา ๓ ปีกว่า เขาเลยถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อไรจะสร้างให้เสร็จ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญครับ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือกับท่านประธานเรื่องความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง จังหวัดเชียงราย
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องสัญญาณไฟบนเสาไฟฟ้าในเขตเทศบาลของตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มันมีสายไฟฟ้าที่มันห้อยระโยงระยางต้องเรียกว่าเป็นอันตราย กับพี่น้องที่ใช้ถนน แล้วก็สัญจรไปแถวนั้นเจออุบัติเหตุบ่อยมาก อยากจะฝากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยไปดูแลอันไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ขอให้เอาออกได้ค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องการขยายเขตไฟฟ้าในหมู่บ้านใหม่สามัคคีธรรมของบ้านสาขา ปางเกาะทราย ตำบลป่าหุ่งของอำเภอพาน ตรงนี้เป็นเขตอุทยานซึ่งจะขยายไฟฟ้ามันขอ ค่อนข้างยากแล้วก็ติดปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านแก้ไขโดยการขอเชื่อมไฟฟ้ากับบ้านใกล้เคียง ซึ่งก็เรียกว่ามันไม่มีความปลอดภัยแน่นอนค่ะ ดังนั้นตอนนี้ในเรื่องของอุทยานแห่งชาติ คือไม่ติดขัดอะไร ก็ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยไปดูแลเรื่องการไฟฟ้าไม่เพียงพอ ของบ้านสาขาปางเกาะทราย บ้านใหม่สามัคคีธรรมด้วยค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นการปรับปรุงและขยายไหล่ทางของถนนของบ้านฮ่องหลง บ้านถ้ำที่ตำบลป่าหุ่งเช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากปัญหาไหล่ทางค่อนข้างแคบ แล้วรถมอเตอร์ไซค์ เวลาขับผ่านจะมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งด้านข้างเป็นคลองทำให้รถสามารถล้มได้ แล้วก็ เจออุบัติเหตุเยอะมาก ก็ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะคะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องเชื่อมถนนระหว่าง ๒ อำเภอ นั่นก็คืออำเภอพาน ตำบลสันกลาง แล้วก็อำเภอแม่สรวย ตำบลแม่พริก อยากจะขอเชื่อมถนนเส้นนี้เป็นถนน การเกษตรให้เชื่อมระหว่าง ๒ อำเภอ จะทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางแล้วก็ขนส่งทางด้าน การเกษตรได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ เป็นเรื่องเส้นทางถนนหมายเลข ๑๑๒๖ เป็นถนนของทางหลวง ระหว่างอำเภอพานกับอำเภอป่าแดด อยากจะขอให้ช่วยขยายถนนตรงนี้จาก ๒ เลนให้เป็น ๔ เลน เพื่อเป็นการสัญจร มันเป็นถนนหลักค่ะ เพราะว่าเส้นทางนั้นเป็นป่า แล้วก็ มีทางโค้งอันตรายเยอะมาก เรียกว่าสัญญาณไฟก็ไม่พอเพียง อยากจะขอให้ท่านประธาน ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแล้วก็เรื่องเดือดร้อนแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดเชียงรายอย่างเร่งด่วนค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ท่านอภิชาติ แก้วโกศล เชิญท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล เชิญครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม บัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย ก่อนอื่นผมต้องเรียนว่าพี่น้องที่เลี้ยงหมู ทั่วประเทศ ฝากกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ช่วยทำลายหมูกล่อง ๑๖๐ ตู้ที่ท่าเรือ เฉกเช่นเดียวกับกุ้ง หรือข้าวโพด หรือข้าวสาลีที่นำเข้ามาเป็นการทำลายเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น พี่น้อง ผู้ที่เลี้ยงหมูฝากกราบขอบพระคุณมาครับ ขอหารือท่านประธานสัก ๒-๓ เรื่องนะครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องของผู้ที่ใช้รถใช้ถนนเป็นเรื่องที่ทะเลาะกันอยู่ตลอดสำหรับ คนที่ใช้รถบนถนน และมีพี่ตำรวจที่หวังดีคอยจับความเร็วอยู่เกิน ๑๒๐ ทะเลาะกันอยู่ตลอด เกิน ไม่เกิน ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Calibrate ความเร็วด้วยเดี๋ยวจะเกิดประเด็นเหมือน คดีบอสอีกครับ เรื่องนี้ทะเลาะกันมาตลอดนะครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องยาเสพติด ประชาชนทั้งประเทศมีความเดือดร้อนมากครับ จากเรื่องของยาเสพติดเนื่องจากกฎหมายของเราอ่อน ท่านประธานครับเดี๋ยวนี้กฎหมาย จะเข้าข้างผู้ค้าไปแล้ว ๕ เม็ด เป็นผู้เสพ ไม่เกิน ๕ เม็ดเป็นผู้เสพ ก็เลยกระจายสินค้า กันทั่วประเทศไปหมดเลย แล้วก็เกี่ยวกับค่ารางวัลหรือนำจับเดี๋ยวนี้ก็อ่อนมากเลยครับ ได้ค่ารางวัลน้อย เมื่อก่อนพี่ตำรวจได้ค่ารางวัลนำจับเม็ดละ ๓ บาท ตอนหลังเหลือเม็ดละ ๑ บาท ตอนนี้เหลือคดีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แล้วต้องมาซอยคดีเป็นเล็ก ๆ อีกก็เลยไม่ค่อย มีการจับกุมกันสักเท่าไรครับ เรื่องนี้ฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องของฌาปนกิจของพี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งประเทศ ที่ผ่านกรมการปกครองที่ทำกันมานาน ขอความชัดเจนนิดหนึ่ง พี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มี ๒๙๘,๐๐๐ กว่าคนครับ เขาอยากจ่ายคนละ ๒ บาท เพื่อให้ได้เงินฌาปนกิจ ถ้าเสียชีวิต ได้สัก ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท แบบ อสม. บ้าง ก็พร้อมที่จะให้หักบัญชีคนละ ๒ บาท แต่ว่าขอผ่านท่านประธานไปถึงกรมการปกครองช่วยดูความชัดเจนเรื่องนี้ให้พี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนิดหนึ่ง ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสรวงศ์ เทียนทอง เชิญครับ
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง จังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องไฟส่องสว่างตามไหล่ทาง จากตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ ผมได้รับการร้องเรียนจากนางรัตนากร พุฒเส็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ เรื่องไฟส่องสว่างถนนทางหลวง หมายเลข ๓๔๗๙ ถนนรัชตะวิถี จากอำเภอคลองหาดถึงอำเภออรัญประเทศ หมู่ที่ ๑ บ้านสี่แยกทันใจ แล้วก็หมู่ที่ ๕ บ้านป้ายเขียว ขอความกรุณาแขวงการทางและทางหลวง ชนบทเขาสารภี ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องพื้นที่พิพาทระหว่างประชาชนกับกองทัพและหน่วยงานของรัฐ มี ๒ จุดครับท่านประธาน ที่แรกผมได้รับการร้องเรียนจากนายวิฑูรย์ ศรีสุนทร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ บ้านโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ จากเรื่องนี้ ๔๖ ราย กินพื้นที่ ๘๗๒ ไร่ ๒ งาน ซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ค. ๑ ซึ่งออกให้เมื่อปี ๒๔๙๘ และเมื่อปี ๒๕๖๒ นี้เองกองทัพบกได้นำป้ายไปติดในที่ดินแห่งนี้ ข้อความว่าที่ดินราชพัสดุ น.ส.ล. เลขที่ ๙๑๑/๒๕๐๔ กองทัพบกขอใช้ประโยชน์จำนวน ๘๗๒ ไร่ ๒ งาน ทำให้ พี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่สบายใจครับ ฝากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และกองทัพบกเร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายสุภา น้อยมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ บ้านโคกสะพานขาว ตำบลป่าไร อำเภออรัญประเทศ และนางทองม้วน พิมพา อายุ ๗๑ ปี รวมถึงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในที่ดิน ส.ค. ๑ ซึ่งถูกอดีตนายอำเภอเพิกถอน ไปเมื่อปี ๒๕๔๔ ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๙ จนถึงปัจจุบัน ๒๗ ปีแล้วครับท่านประธาน มีผู้ถูกร้องเรียน ๘ ราย กินพื้นที่ ๒๐๐ ไร่ อย่างไรก็แล้วแต่ ป้าทองม้วนฝากมาให้หน่วยงาน ของรัฐตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบพิสูจน์สิทธิด้วยตัวเอง แล้วก็ขอให้ผู้ที่ได้รับ ความเดือดร้อนร่วมเป็นกรรมการด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอภิชาติ แก้วโกศล เชิญครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอนำเรื่องปรึกษาหารือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ทางธรรมชาติจนได้รับเลือกจากองค์การ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลก ทางธรรมชาติและยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกหลายแห่ง แต่ปัญหาในพื้นที่คือเส้นทาง สัญจรของชาวบ้านยังไม่ได้รับการพัฒนา
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
พื้นที่ที่ ๑ เส้นทางสัญจรเข้าหมู่บ้านพุเข็ม หมู่ที่ ๑๐ ตำบลแก่งกระจาน ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวเป็นทางลูกรังมีระยะทางหลายกิโลเมตร เป็นความลำบาก ในการใช้รถใช้ถนนในการสัญจรของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ และยังมีโรงเรียนบ้านพุเข็มซึ่งตั้งอยู่ ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทำให้นักเรียนไปโรงเรียนมีความลำบากเช่นกัน อยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยพัฒนาและดูแลเรื่องดังกล่าวด้วยครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
พื้นที่ที่ ๒ เส้นทางถนนเข้าหมู่บ้านหินลาด ตำบลห้วยแม่เพรียง เชื่อมต่อกับหมู่บ้านห้วยโศก ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน เส้นทางมีเส้นทางนี้ มีความสำคัญมากกับชาวบ้านทั้ง ๒ ตำบลในการสัญจร ในการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้รับการพัฒนาเช่นกัน อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ทางหลวงชนบท ก็อยากให้หน่วยงานดังกล่าวช่วยเร่งรัดดูแลเส้นทางดังกล่าวด้วยนะครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
พื้นที่ที่ ๓ เส้นทางเข้าหมู่บ้านบางกลอย หมู่บ้านโป่งลึก หมู่บ้านพุไทร หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ของตำบลห้วยแม่เพรียง เส้นทางดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการพัฒนา ชาวบ้านมีความลำบากในการใช้รถใช้ถนน ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล และแก้ไขเพื่อให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกสบายในการสัญจร
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
ที่กล่าวมาทั้ง ๓ พื้นที่ของหมู่บ้านของอำเภอแก่งกระจานเป็นพื้นที่ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทำให้ชาวบ้านมีความลำบาก ไม่ว่าจากการใช้รถใช้ถนนในการใช้ ชีวิตประจำวัน การขนส่งสินค้าทางการเกษตร ก็ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขด้วย ผมขอขอบพระคุณหน่วยงานพัฒนาเคลื่อนที่ ๑๓ สำนักงานภาค ๑ หน่วยบัญชาการ ทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ออกสำรวจพื้นที่จัดทำโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน ขุดลอกแหล่งน้ำลำธารเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่อำเภอบ้านลาด อำเภอเขาย้อย อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีนะครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย จากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวานนี้ครับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียชีวิต ทุกท่านนะครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๒ ท่านสุดท้าย ท่านแรก ท่านวัชระพล ขาวขำ ท่านที่ ๒ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ เชิญท่านวัชระพล ขาวขำ ครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้กระผมขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนำเรียนผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ กระผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ใช้ถนนสัญจรไปมา เส้นทางระหว่างอำเภอเมืองไปอำเภอกุดจับครับ ถนนหมายเลข ทล.๒๒๖๓ ระยะทาง ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ปัจจุบันถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักที่พี่น้องประชาชนใช้สัญจร เชื่อมต่อไปยังหลายอำเภอในจังหวัดอุดรธานี แล้วยังสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดหนองคาย หนองบัวลำภูได้ครับ สภาพถนนปัจจุบันค่อนข้างแคบ และมีพี่น้องประชาชนสัญจร เป็นจำนวนมาก บางช่วงถนนชำรุดเสียหายทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ขอให้ดำเนินการก่อสร้างถนน เป็นถนน ๔ เลน พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่ม ความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับ ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีมีถนนรอบเมือง หรือถนนวงแหวนรอบที่ ๑
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ซึ่งมีปริมาณจราจรค่อนข้างหนาแน่นครับ พี่น้องประชาชนใช้ถนนวงแหวนสัญจรหลายหมื่นคันต่อวัน บางช่วงเวลามีการจราจรติดขัด อย่างมาก เนื่องจากเป็นถนนวงแหวนที่สามารถเชื่อมโยงไปได้หลายจังหวัด ทั้งจังหวัด หนองคาย ขอนแก่น หนองบัวลำภู และสกลนคร รวมไปถึงมีพี่น้องประชาชนจาก สปป. ลาว ที่เดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยจังหวัดอุดรธานีเป็นจำนวนมากในแต่ละวันครับ เพื่อเป็นการแก้ปัญหารถติดและการจราจรหนาแน่นในจังหวัดอุดรธานี จึงขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการก่อสร้างถนนวงแหวน รอบที่ ๒ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนที่สัญจรในจังหวัด อุดรธานีด้วยครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ สืบเนื่องจากช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น ทั้งอำเภอกุดจับ อำเภอเมืองอุดรธานี ทำให้ไร่นาบ้านเรือน ของพี่น้องเกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก กระผมจึงขอฝากผ่านท่านประธาน ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เร่งดำเนินการเยียวยา พี่น้องชาวเกษตรกรจังหวัดอุดรธานีที่ได้รับผลกระทบจากพืชผลการเกษตรและการปศุสัตว์ เสียหายโดยเร่งด่วนด้วยครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน เขตสาทร และเขตราชเทวี พรรคก้าวไกล
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เขตปทุมวันในเขตที่ดิฉัน ได้รับเลือกตั้ง เป็นย่านเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล มีนักท่องเที่ยวมาจาก ทุกสารทิศ คือห้างที่รายล้อม เช่น เอ็มบีเค เซ็นทรัลเวิลด์ และห้างสรรพสินค้ามากมาย เมื่อวานได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมค่ะ ก่อนอื่นดิฉันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ เยียวยาทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเร่งด่วน
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สรุปเหตุการณ์นะคะ ก่อนอื่นดิฉันต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต และครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับผลกระทบทุกท่านที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ สะเทือนขวัญดังกล่าว เหตุที่ทุกคนทราบดีนะคะ เมื่อวานประมาณ ๔ โมงเย็น ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนซึ่งอยู่ในเขตปทุมวัน ในเบื้องต้นมีผู้ถูกกราดยิงทั้งสิ้น ประมาณ ๗ ราย ตัวเลขยังไม่นิ่งนะคะ เสียชีวิตแล้ว ๒ ราย และได้รับบาดเจ็บ ๕ ราย ผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นนักนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มากับลูกสาวฝาแฝด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และรายที่ ๒ เป็นหญิงแรงงานชาวเมียนมา นโยบาย Free Visa ประเทศจีน นี่จะส่ง ผลกระทบอย่างร้ายแรง และสิ่งสำคัญคือผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุเพียง ๑๔ ปีเท่านั้น ค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงขอรบกวนให้สื่อมวลชนทุกท่านและพี่น้องประชาชนไม่เปิดเผยหน้าตา และชื่อจริงของผู้กระทำผิด เนื่องจากเป็นสิทธิของเด็ก และเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ตัวอย่าง อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกามีพฤติกรรมเลียนแบบหลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิง ทุก ๆ ครั้งนะคะท่านประธานจากสถิติ หลังทราบข่าวดิฉันและเพื่อนสมาชิก สส. จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ เขต ๓ กทม. ได้เร่งรุดไปยังที่เกิดเหตุในทันที และมีคำถามเกิดมากมาย ในหัวของดิฉันค่ะ ๑. อาวุธปืนเข้ามาในห้างสรรพสินค้าได้อย่างไร กฎหมายควบคุมอาวุธปืน นอกระบบที่มีความหละหลวมในเชิงปฏิบัติอย่างมาก และรัฐไทยยังไม่มีระบบเตือนภัย สาธารณะที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการแก้ไข อย่างเข้มงวดเรื่องนโยบายป้องกันอาวุธปืนเถื่อน หรือที่เรียกว่า Blank Firing Guns ซึ่งการดัดแปลงสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. ควบคุมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔ Blank Guns หรือปืนประดิษฐ์ ไม่ถือว่าเป็นอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งเทียม อาวุธปืน และไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการซื้อปืนดังกล่าว จึงมีผู้ขายมากมาย ภายใน Internet และทำให้ถูกนำไปใช้ก่อคร่าชีวิตผู้อื่นอย่างเช่นเมื่อวานนี้
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ มาตรการการตรวจอาวุธ ก็คือการตรวจอาวุธในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการเตือนภัยสาธารณะในเหตุฉุกเฉินเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัย ดิฉัน แปลกใจว่าอาวุธปืนเช่นนั้นเข้าประตูห้างไปได้อย่างไร เครื่องตรวจจับโลหะที่ตั้งอยู่ เป็นเพียงเครื่องประดับหรือคะ เขตปทุมวันเป็นเขตเศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีชื่อเสียงเป็นหน้าตาของประเทศไทย ไม่เพียงแค่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แต่ไม่ว่า จะเป็นที่อื่น ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ประชากรพลุกพล่าน ควรมีเครื่องตรวจจับโลหะ มีระบบรักษาความปลอดภัย มี SMS เตือนจากรัฐเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในโศกนาฏกรรม กลางเมืองเช่นนี้อีก เพื่อรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทย กราบขอบพระคุณค่ะ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๘๐ คน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขณะนี้มีท่านสมาชิกมาลงชื่อ ๓๓๒ ท่าน ครบองค์ประชุมแล้วนะครับ ผมขอเปิดการประชุม และดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ไม่มี
นายอรรถกร ศิริลัทยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จากจังหวัด ฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคพลังประชารัฐ ผมขออนุญาตยื่นเป็นญัตติครับเพื่อที่จะ ขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออาศัยตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๕๔ (๒) ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยจะ ขออนุญาตเสนอเรื่องที่เสนอใหม่ เรื่องที่ ๖.๑ และ ๖.๒ ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นำมาพิจารณาในวันพรุ่งนี้หลังจากวาระกระทู้ถามครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอเลื่อนวาระแก้ข้อบังคับ มีผู้รับรองถูกต้อง ดังนั้นผมจะถามที่ประชุมว่าจะมีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ในกรณีของการเสนอให้มีการเลื่อนวาระการประชุม ในเรื่องที่ ๖.๑ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นผู้เสนอ) และ ๖.๒ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้เสนอ) ผมได้อ่านรายละเอียดแล้ว ท่านประธานครับ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญ ถ้าจำไม่ผิด เป็นจำนวน ๓ คณะด้วยกัน ฉะนั้นในประเด็นหลักการผมไม่ติดใจแต่ประการใดครับ และผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญก่อนที่จะนำเข้าไปสู่การทำหน้าที่กรรมาธิการอย่างเต็มรูป เพียงแต่ว่านิดเดียว ท่านประธานครับเมื่อผมย้อนกลับไปดูในระเบียบวาระที่ ๕ มีร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ค้าง การพิจารณาอีก ๓ ฉบับ เป็นร่างข้อบังคับ ๑ ฉบับด้วย ซึ่งความจริงร่างข้อบังคับ อีกฉบับหนึ่งนั้นเนื้อหารายละเอียดเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำครับ มีการแก้ไขอำนาจหน้าที่ หลายฉบับด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ ก็ควรจะพิจารณาไปพร้อมกัน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนร่างกฎหมายภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทยเขาก็รอกันมานาน ผมเข้าใจว่าถ้าเป็นไปได้ท่านประธานคงรับปากพวกเรา ว่าอาจจะมีการเปิดวาระการประชุมเป็นพิเศษ อาจจะเป็นในวันศุกร์ใดวันศุกร์หนึ่งของ เดือนตุลาคมเพื่อพิจารณาสิ่งเหล่านั้นอย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ครับ ฉะนั้นอาจจะฝาก ท่านประธานได้พิจารณาประกอบ แต่หลักการที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอให้มีการเลื่อนใน ๖.๑ และ ๖.๒ ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านในฐานะผู้มีเสนอ ๑ อีกฉบับด้วย ก็มิได้มีประเด็น คัดค้าน หรือเห็นแตกต่างเป็นประการใดครับ ก็เห็นด้วยกับที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เรื่องวันศุกร์นะครับ เดี๋ยวท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็จะกำหนดว่าจะใช้ วันศุกร์ไหนเร็ว ๆ นี้จะได้ประชุมเพิ่มอีก ๑ วัน เมื่อไม่มีสมาชิกท่านใดขัดข้องเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบนำร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามระเบียบวาระที่ ๖.๑ และ ๖.๒ ขึ้นมาพิจารณา ภายหลังจบการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ในที่ประชุมครั้งถัดไปนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระต่อไป ผมขอปรึกษาที่ประชุมเพื่อนำเรื่องตามระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร จะมีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการตามนี้นะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ เลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สภาผู้แทนราษฎร
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๙ และข้อบังคับ ข้อ ๙๐ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และในการตั้ง กรรมาธิการสามัญจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และข้อบังคับ ข้อ ๙๐ และข้อ ๙๑ ได้กำหนดการได้มาของกรรมาธิการสามัญไว้ดังนี้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้น จำนวน ๓๕ คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยคณะกรรมาธิการ จำนวน ๑๕ คน สมาชิกคนหนึ่งจะดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการสามัญได้ไม่เกิน ๒ คณะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. การเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้ไม่เกิน จำนวนกรรมาธิการ และการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า ๕ ท่าน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมาธิการ ถ้ามีการเสนอชื่อ กรรมาธิการเท่ากับจำนวนจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้น เป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้ามีการเสนอชื่อมากกว่าจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดให้ออกเสียง ลงคะแนนเป็นการลับ ดังนั้นผมจึงขอดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับกำหนดไว้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ขอเชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้ง ขอผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๕ ท่าน เชิญครับ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติ ขออนุญาตท่านประธานเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จำนวน ๑๕ ท่านดังนี้ พรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ๒. นายคุณากร มั่นนทีรัย ๓. นายเกียรติคุณ ต้นยาง ๔. นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ๕. นางสาวนิตยา มีศรี ๖. นายวีรวุธ รักเที่ยง พรรคเพื่อไทยจำนวน ๓ ท่าน คือ ๑. นายชัยเกษม นิติสิริ ๒. นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ๓. นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน คือ ๑. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๒. นายมานพ ศรีผึ้ง พรรคพลังประชารัฐจำนวน ๑ ท่าน คือนายองอาจ วงษ์ประยูร พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวิทยา แก้วภราดัย พรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ และพรรคเป็นธรรม จำนวน ๑ ท่าน คือนายกัณวีร์ สืบแสง ขอผู้รับรองด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ขอเชิญท่านเลขาธิการอ่านรายชื่อก่อนนะครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ๑. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ๒. นายคุณากร มั่นนทีรัย ๓. นายเกียรติคุณ ต้นยาง ๔. นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ๕. นางสาวนิตยา มีศรี ๖. นายวีรวุธ รักเที่ยง ๗. นายชัยเกษม นิติสิริ ๘. นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ๙. นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ๑๐. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๑๑. นายมานพ ศรีผึ้ง ๑๒. นายองอาจ วงษ์ประยูร ๑๓. นายวิทยา แก้วภราดัย ๑๔. นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ และ ๑๕. นายกัณวีร์ สืบแสง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒ คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เชิญสมาชิก เสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งขอผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๕ ท่าน เชิญครับ
นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดมหาสารคาม กระผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการสภา จำนวน ๑๕ ท่าน ดังต่อไปนี้ สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ๒. นายนิติพล ผิวเหมาะ ๓. นางสาวทิสรัตน์ เลาหพล ๔. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ในคณะกรรมาธิการกิจการสภา จำนวน ๕ ท่าน คือ ๑. นายอดิศร เพียงเกษ ๒. นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ๓. นายประเสริฐ บุญเรือง ๔. นายแพทย์ภาณุ พรวัฒนา ๕. นายฉลาด ขามช่วง สัดส่วนคณะกรรมาธิการกิจการสภา พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ประกอบด้วย ๑. นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ๒. นายพลพีร์ สุวรรณฉวี สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวกุลวลี นพอมรบดี สัดส่วนของพรรคประชาชาติ จำนวน ๒ ท่าน คือ ๑. นายซูการ์โน มะทา ๒. นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ท่านสมาชิกท่านใดเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ตามนี้ เชิญท่านเลขาธิการครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการ สภาผู้แทนราษฎร ๑. นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ๒. นายนิติพล ผิวเหมาะ ๓. นางสาวทิสรัตน์ เลาหพล ๔. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ๕. นายอดิศร เพียงเกษ ๖. นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ๗. นายประเสริฐ บุญเรือง ๘. นายแพทย์ภาณุ พรวัฒนา ๙. นายฉลาด ขามช่วง ๑๐. นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ๑๑. นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ๑๒. นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ๑๓. นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ๑๔. นายซูการ์โน มะทา และ ๑๕. นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓ คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ขอเชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อ พร้อมทั้งขอผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม นายสัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรครวมไทย สร้างชาติ ขออนุญาตนำเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ในสัดส่วนของรัฐบาล ได้แก่ ๑. พรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ๒. นางสาวชญาภา สินธุไพร ๓. นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ๔. นายสุรเกียรติ เทียนทอง ในสัดส่วน ของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายศักดิ์ ซารัมย์ ๒. นายซาการียา สะอิ สัดส่วน ของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สัดส่วนของ พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายธนกร วังบุญคงชนะ ๒. นายสัญญา นิลสุพรรณ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออนุญาต ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านข้ามไปใช่ไหมครับ ขอเสนอเพิ่มได้ไหม ท่านอ่านข้ามไปหรือเปล่า
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
อันนี้ในสัดส่วนของฝั่งรัฐบาลที่ได้รับ รายชื่อมา ในส่วนของฝ่ายค้านรบกวนทางพรรคก้าวไกลเสนอเพิ่มเลยก็ได้ครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ๒. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ๓. นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ๔. นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ ๕. นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ๖. นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ขอผู้รับรอง ด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกไม่มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมได้เห็นชอบตามนี้ เชิญท่านเลขาธิการครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ๑. นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ๒. นางสาวชญาภา สินธุไพร ๓. นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ๔. นายสุรเกียรติ เทียนทอง ๕. นายศักดิ์ ซารัมย์ ๖. นายซาการียา สะอิ ๗. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ๘. นายธนกร วังบุญคงชนะ ๙. นายสัญญา นิลสุพรรณ ๑๐. นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ๑๑. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ๑๒. นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ๑๓. นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ ๑๔. นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ และ ๑๕. นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะกรรมการจัดงานประเพณีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ ประจำปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗ จำนวน ๑๒ ท่าน ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้ง ในคณะที่ ๔ คณะกรรมาธิการกีฬา ขอเชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้ง ผู้รับรอง ๕ ท่านด้วย เชิญครับ
นายปริญญา ฤกษ์หร่าย กำแพงเพชร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายปริญญา ฤกษ์หร่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการกีฬา จำนวน ๑๕ ท่าน มีดังต่อไปนี้ ท่านที่ ๑ นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ท่านที่ ๒ นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ท่านที่ ๓ นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ พรรคเพื่อไทย ท่านที่ ๑ นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ท่านที่ ๒ นายวัชระพล ขาวขำ ท่านที่ ๓ นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ท่านที่ ๔ นายธเนศ เครือรัตน์ ท่านที่ ๕ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคภูมิใจไทย เป็นจำนวน ๒ ท่าน ท่านที่ ๑ ท่านองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ท่านที่ ๒ นายพิชัย ชมภูพล พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ท่านที่ ๑ นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ท่านที่ ๒ นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ พรรครวมไทย สร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวิชัย สุดสวาสดิ์ พรรคประชาชาติ เป็นจำนวน ๒ ท่าน ท่านที่ ๑ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ท่านที่ ๒ นายสุไลมาน บือแนปีแน เป็นจำนวนทั้งหมด ๑๕ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการกีฬา ๑. นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ๒. นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ๓. นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ ๔. นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ๕. นายวัชระพล ขาวขำ ๖. นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ๗. นายธเนศ เครือรัตน์ ๘. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ๙. นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ๑๐ นายพิชัย ชมภูพล ๑๑. นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ๑๒. นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ๑๓. นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ๑๔. นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ และ ๑๕. นายสุไลมาน บือแนปีแน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๕ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขอเชิญท่านสมาชิกได้เสนอชื่อ พร้อมผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ นครปฐม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน ๑๕ ท่าน ในสัดส่วนของ พรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นางสาวภัสริน รามวงศ์ ๒. นายมานพ คีรีภูวดล ๓. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ๔. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๕. นางสาวการณิก จันทดา ๖. นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี ๒. นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ๓. นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล ในสัดส่วน ของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช ๒. นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือรองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ๒. นายนพดล มาตรศรี ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ๑. นางสาวภัสริน รามวงศ์ ๒. นายมานพ คีรีภูวดล ๓. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ๔. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๕. นางสาวการณิก จันทดา ๖. นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ ๗. นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี ๘. นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ๙. นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล ๑๐. นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช ๑๑. นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ ๑๒. นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ๑๓. รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ๑๔. นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ และ ๑๕. นายนพดล มาตรศรี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะสมาคมสันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย จำนวน ๕๐ ท่าน สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๖ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ เชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้ง ผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ จำนวน ๑๕ ท่าน ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ๒. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ๓. นายองค์การ ชัยบุตร ๔. นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ๒. นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร ๓. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ๔. นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล ๕. นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร ๒. นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ๒. นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ในสัดส่วน ของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายปรเมษฐ์ จินา และสัดส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ คน คือนายชาตรี หล้าพรหม ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ๑. นางสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ๒. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ๓. นายองค์การ ชัยบุตร ๔. นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ ๕. นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ๖. นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร ๗. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ๘. นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล ๙. นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข ๑๐. นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร ๑๑. นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ๑๒. นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ๑๓. นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ๑๔. นายปรเมษฐ์ จินา และ ๑๕. นายชาตรี หล้าพรหม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๗ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ท่านสมาชิก เสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ๕ ท่าน ๑. นายศักดินัย นุ่มหนู ๒. นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน ๓. นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย ๔. นายสรวีย์ ศุภปณิตา ๕. นายณรงเดช อุฬารกุล ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ดังนี้ ๑. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๒. นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ ๓. นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ๔. นางฐิติมา ฉายแสง ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสุธรรม จริตงาม สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายธานินท์ นวลวัฒน์ สัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สัดส่วน ของพรรคไทยสร้างไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายชัชวาล แพทยาไทย และพรรคเพื่อไทยรวมพลัง จำนวน ๑ ท่าน คือนางพิมพกาญจน์ พลสมัคร ขอผู้รับรองด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ เชิญท่านเลขาธิการขานชื่อก่อนนะครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ๑. นายศักดินัย นุ่มหนู ๒. นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน ๓. นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย ๔. นายสรวีย์ ศุภปณิตา ๕. นายณรงเดช อุฬารกุล ๖. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๗. นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ ๘. นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ๙. นางฐิติมา ฉายแสง ๑๐. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ๑๑. นายสุธรรม จริตงาม ๑๒. นายธานินท์ นวลวัฒน์ ๑๓. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ๑๔. นายชัชวาล แพทยาไทย และ ๑๕. นางพิมพกาญจน์ พลสมัคร
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๘ คณะกรรมาธิการการคมนาคม ท่านสมาชิกเสนอชื่อ กรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการการคมนาคม จำนวน ๑๕ ท่าน ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ๔ ท่าน ๑. นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ ๒. นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ๓. นายสรวงศ์ เทียนทอง ๔. นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ๒. นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ๓. นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ๔. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา ๒. พีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอนุรัตน์ ตันบรรจง ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอนุชา บูรพชัยศรี ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสมยศ พลายด้วง ตัวแทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายนพดล มาตรศรี และตัวแทนจากพรรคไทย สร้างไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนางสุภาพร สลับศรี ขอผู้รับรองครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการคมนาคม ๑. นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ ๒. นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ๓. นายสรวงศ์ เทียนทอง ๔. นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ๕. นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ๖. นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ๗. นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ๘. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ๙. นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา ๑๐. นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ๑๑. นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ๑๒. นายอนุชา บูรพชัยศรี ๑๓. นายสมยศ พลายด้วง ๑๔. นายนพดล มาตรศรี และ ๑๕. นางสุภาพร สลับศรี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๙ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ขอเชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้ง ผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ จำนวน ๑๕ ท่าน สมาชิกจากพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน คนที่ ๑ นายรังสิมันต์ โรม คนที่ ๒ นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม คนที่ ๓ นายมานพ คีรีภูวดล คนที่ ๔ นายรอมฎอน ปันจอร์ คนที่ ๕ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ คนที่ ๖ นายปิยรัฐ จงเทพ พรรคเพื่อไทย ๓ ท่าน คนแรก พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี คนที่ ๒ นายสุธรรม แสงประทุม คนที่ ๓ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน คนที่ ๑ นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ คนที่ ๒ นายชูกัน กุลวงษา จากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวัชระ ยาวอหะซัน และจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายยูนัยดี วาบา และสุดท้าย จากพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายซูการ์โน มะทา ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีท่านสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ๑. นายรังสิมันต์ โรม ๒. นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ๓. นายมานพ คีรีภูวดล ๔. นายรอมฎอน ปันจอร์ ๕. นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ๖. นายปิยรัฐ จงเทพ ๗. พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ๘. นายสุธรรม แสงประทุม ๙. นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ๑๐. นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ ๑๑. นายชูกัน กุลวงษา ๑๒. นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ๑๓. นายวัชระ ยาวอหะซัน ๑๔. นายยูนัยดี วาบา และ ๑๕. นายซูการ์โน มะทา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๐ คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค เชิญท่านสมาชิก เสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ ๒ ขออนุญาตท่านประธานและที่ประชุมในการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครอง ผู้บริโภค จำนวนทั้งหมด ๑๕ ท่าน ดังนี้ พรรคก้าวไกล ๔ ท่าน ๑. นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ ๒. นายภัณฑิล น่วมเจิม ๓. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ๔. นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ๒. นางสาวชนก จันทาทอง ๓. นายรวี เล็กอุทัย ๔. นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายไตรเทพ งามกมล ๒. นายธนยศ ทิมสุวรรณ สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา และ ๒. นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ สัดส่วน พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอนุชา บูรพชัยศรี สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สัดส่วนพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอับดุลอายี สาแม็ง ทั้งหมด ๑๕ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค ๑. นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ ๒. นายภัณฑิล น่วมเจิม ๓. นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ๔. นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ๕. นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ๖. นางสาวชนก จันทาทอง ๗. นายรวี เล็กอุทัย ๘. นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ๙. นายไตรเทพ งามกมล ๑๐. นายธนยศ ทิมสุวรรณ ๑๑. นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ๑๒. นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ๑๓. นายอนุชา บูรพชัยศรี ๑๔. พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ และ ๑๕. นายอับดุลอายี สาแม็ง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๑ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน เชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ น่าน ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส. จังหวัดน่าน เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสาวแอนศิริ วลัยกนก ๒. นายวรท ศิริรักษ์ ๓. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๔. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๖ ท่าน ๑. นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ๒. นายธนาธร โล่ห์สุนทร ๓. นายวิรัช พิมพะนิตย์ ๔. นายวารุจ ศิริวัฒน์ ๕. นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ๖. นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ๒. นายธนยศ ทิมสุวรรณ สัดส่วน พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สัดส่วนพรรครวมไทย สร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายจุติ ไกรฤกษ์ สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวุฒิพงษ์ นามบุตร ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบัน การเงินและตลาดการเงิน ๑. นางสาวแอนศิริ วลัยกนก ๒. นายวรท ศิริรักษ์ ๓. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๔. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ๕. นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ๖. นายธนาธร โล่ห์สุนทร ๗. นายวิรัช พิมพะนิตย์ ๘. นายวารุจ ศิริวัฒน์ ๙. นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ๑๐. นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ๑๑. นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ๑๒. นายธนยศ ทิมสุวรรณ ๑๓. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ๑๔. นายจุติ ไกรฤกษ์ และ ๑๕. นายวุฒิพงษ์ นามบุตร
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๒ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เชิญท่านสมาชิกเสนอ ชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ๒. นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ ๓. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ๔. นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สัดส่วนจากพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ๒. นายนพดล ปัทมะ ๓. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ๔. นางสาวจิรัชยา สัพโส ๕. นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. ท่านชลัฐ รัชกิจประการ ๒. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ สัดส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอัคร ทองใจสด พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ และสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายศุภโชค ศรีสุขจร ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ๑. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ๒. นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ ๓. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ๔. นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ๕. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ๖. นายนพดล ปัทมะ ๗. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ๘. นางสาวจิรัชยา สัพโส ๙. นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ๑๐. ท่านชลัฐ รัชกิจประการ ๑๑. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ๑๒. นายอัคร ทองใจสด ๑๓. หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ๑๔. นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ และ ๑๕. นายศุภโชค ศรีสุขจร
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๓ คณะกรรมาธิการการตำรวจ เชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อ กรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ จำนวน ๑๕ ท่าน สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๒. นายฐากูร ยะแสง ๓. นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ๔. นางทิพา ปวีณาเสถียร สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ๒. นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ๓. พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา ๔. นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายจักรกฤษณ์ ทองศรี สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือ จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายชัยชนะ เดชเดโช ๒. นายทรงศักดิ์ มุสิกอง สัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายอนุชา สะสมทรัพย์ สัดส่วนพรรคใหม่ จำนวน ๑ ท่าน คือนายกฤดิทัช แสงธนโยธิน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ ๑. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๒. นายฐากูร ยะแสง ๓. นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ๔. นางทิพา ปวีณาเสถียร ๕. นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ๖. นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ๗. พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา ๔. นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ๙. นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ๑๐. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว ๑๑. จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล ๑๒. นายชัยชนะ เดชเดโช ๑๓. นายทรงศักดิ์ มุสิกอง ๑๔. นายอนุชา สะสมทรัพย์ และ ๑๕. นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๔ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตาม การบริหารงานงบประมาณ เชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรอง ๕ ท่าน เชิญครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี เขตคลองสาน แขวงบางปะกอก พรรคก้าวไกล ผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการ ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ จำนวน ๑๕ ท่านด้วยกันครับ พรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ๒. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๓. นายธัญธร ธนินวัฒนาธร ๔. นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ๕. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ๖. นางสาวรักชนก ศรีนอก สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ ๒. นายพัฒนา สัพโส ๓. นายนิกร โสมกลาง พรรคภูมิใจไทย ๑. นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ ๒. นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายอนุรักษ์ จุรีมาศ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ท่านสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ ประชุมเห็นชอบตามนี้ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ ๑. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ๒. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๓. นายธัญธร ธนินวัฒนาธร ๔. นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ๕. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ๖. นางสาวรักชนก ศรีนอก ๗. นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ ๘. นายพัฒนา สัพโส ๙. นายนิกร โสมกลาง ๑๐. นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ ๑๑. นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ๑๒. นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ๑๓. นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน ๑๔. นายสรรเพชญ บุญญามณี และ ๑๕. นายอนุรักษ์ จุรีมาศ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๕ คณะกรรมาธิการการทหาร เชิญท่านสมาชิกเสนอชื่อ กรรมาธิการ พร้อมทั้งผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๕ ท่าน เชิญครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการทหาร จำนวน ๑๕ ท่าน สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ คน ๑. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ๒. นายชยพล สท้อนดี ๓. เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข ๔. นายเชตวัน เตือประโคน ๕. นายเอกราช อุดมอำนวย ๖. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สัดส่วนจากพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายสุรเกียรติ เทียนทอง ๒. นายโกศล ปัทมะ ๓. นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ๔. นายพนม โพธิ์แก้ว สัดส่วน พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายสยาม เพ็งทอง ๒. นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สัดส่วนจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายองอาจ วงษ์ประยูร สัดส่วนจาก พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และสัดส่วนจาก พรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือนายเดชอิศม์ ขาวทอง ขอผู้รับรองครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีท่านสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการทหาร ๑. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ๒. นายชยพล สท้อนดี ๓. เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข ๔. นายเชตวัน เตือประโคน ๕. นายเอกราช อุดมอำนวย ๖. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ๗. นายสุรเกียรติ เทียนทอง ๘. นายโกศล ปัทมะ ๙. นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ๑๐. นายพนม โพธิ์แก้ว ๑๑. นายสยาม เพ็งทอง ๑๒. นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ ๑๓. นายองอาจ วงษ์ประยูร ๑๔. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ ๑๕. นายเดชอิศม์ ขาวทอง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๖ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ขอเชิญผู้เสนอครับ
นายเอกธนัช อินทร์รอด หนองคาย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายเอกธนัช อินทร์รอด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดหนองคาย ขออนุญาตเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ๒. นายยอดชาย พึ่งพร ๓. นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ๔. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสาวจิราพร สินธุไพร ๒. นายเอกธนัช อินทร์รอด ๓. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ๔. นายอภิชา เลิศพชรกมล สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ ๒. นายอรรถพล ไตรศรี สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ๒. นายจีรเดช ศรีวิราช สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายศาสตรา ศรีปาน สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สัดส่วนของพรรคเสรีรวมไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายมังกร ยนต์ตระกูล ทั้งหมดจำนวน ๑๕ ท่านครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ผมขอว่าที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ๑. นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ๒. นายยอดชาย พึ่งพร ๓. นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ๔. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ๕. นางสาวจิราพร สินธุไพร ๖. นายเอกธนัช อินทร์รอด ๗. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ๘. นายอภิชา เลิศพชรกมล ๙. นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ ๑๐. นายอรรถพล ไตรศรี ๑๑. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ๑๒. นายจีรเดช ศรีวิราช ๑๓. นายศาสตรา ศรีปาน ๑๔. นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ และ ๑๕. นายมังกร ยนต์ตระกูล
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๗ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการ พร้อมขอชื่อผู้รับรองครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายอภิชาติ ศิริสุนทร ๒. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ๓. นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ๔. นายกฤช ศิลปชัย ๕. นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายสิงหภณ ดีนาง ๒. นายทรงยศ รามสูต ๓. นายนิคม บุญวิเศษ ๔. นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายรุ่งโรจน์ ทองศรี ในสัดส่วน พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายชัยมงคล ไชยรบ ๒. นายปกรณ์ จีนาคำ ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสันต์ แซ่ตั้ง ในสัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายสรชัด สุจิตต์ ในสัดส่วนพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอับดุลอายี สาแม็ง ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ๑. นายอภิชาติ ศิริสุนทร ๒. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ๓. นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ๔. นายกฤช ศิลปชัย ๕. นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ๖. นายสิงหภณ ดีนาง ๗. นายทรงยศ รามสูต ๘. นายนิคม บุญวิเศษ ๙. นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ๑๐. นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ๑๑. นายชัยมงคล ไชยรบ ๑๒. นายปกรณ์ จีนาคำ ๑๓. นายสันต์ แซ่ตั้ง ๑๔. นายสรชัด สุจิตต์ และ ๑๕. นายอับดุลอายี สาแม็ง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถูกต้องขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๘ คณะกรรมาธิการการปกครอง ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๑๑ พรรคภูมิใจไทย ขอเสนอชื่อคณะกรรมาธิการการปกครอง จำนวน ๑๕ ท่าน ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายวุฒินันท์ บุญชู ๒. นายศิริโรจน์ ธนิกกุล ๓. นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ๔. นายอิทธิพล ชลธราศิริ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายสรรพภัญญู ศิริไปล์ ๒. นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๓. นายนรากร นาเมืองรักษ์ ในสัดส่วนของ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ๒. นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ๓. นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสัญญา นิลสุพรรณ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายราชิต สุดพุ่ม สัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายเสมอกัน เที่ยงธรรม ในสัดส่วนของพรรคท้องที่ไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายบัญชา เดชเจริญศิริกุล ขอผู้รับรอง ด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ พอดีมีรายชื่อ ตกหล่น แล้วก็ผิดพลาดประมาณ ๒-๓ ท่าน เมื่อสักครู่นี้ผมประสานกับทาง Whip ฝ่ายรัฐบาล เดี๋ยวจะขออนุญาตท่านประธานรวบรวม แล้วก็แก้ในตอนท้ายทีเดียวจะได้ ไม่ต้องแทรก เพราะว่าผิดมา ๒ รายแล้ว เลยขออนุญาตแจ้งท่านประธานก่อน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านอัครเดชอันนี้อยู่ในคณะกรรมาธิการการปกครองไหมครับ หรือว่าชุดอื่นด้วยครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
อยู่ในคณะกรรมาธิการ การปกครอง แล้วก็ชุดอื่นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
OK ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเจ้าหน้าที่ช่วยประสานด้วยจะได้แก้ไขในสุดท้ายรอบเดียวของ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอบคุณครับ ฝ่ายเลขาธิการเชิญอ่านรายชื่อคณะกรรมาธิการ การปกครองก่อนครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการปกครอง ๑. นายวุฒินันท์ บุญชู ๒. นายศิริโรจน์ ธนิกกุล ๓. นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ๔. นายอิทธิพล ชลธราศิริ ๕. นายสรรพภัญญู ศิริไปล์ ๖. นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๗. นายนรากร นาเมืองรักษ์ ๘. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ๙. นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ๑๐. นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ๑๑. นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ๑๒. นายสัญญา นิลสุพรรณ ๑๓. นายราชิต สุดพุ่ม ๑๔. นายเสมอกัน เที่ยงธรรม และ ๑๕. นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก็ตามที่ทางรัฐบาลแจ้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อในคณะที่ ๑๘ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๑๙ คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครอง ส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อครับ
นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร มหาสารคาม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย กระผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครอง ส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ จำนวน ๑๕ ท่าน ดังต่อไปนี้ ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ๑. นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ๒. นายวีรนันท์ ฮวดศรี ๓. นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ๔. ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ในสัดส่วน พรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายเกษม อุประ ๒. นายพรเทพ พูนศรีธนากูล ๓. นายบุญแก้ว สมวงศ์ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ๒. นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ๓. นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ๔. นายนรินทร์ คลังผา ในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนางขวัญเรือน เทียนทอง ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเกรียงยศ สุดลาภา ในสัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนายหรั่ง ธุระพล และในสัดส่วน พรรคชาติพัฒนากล้า คือนายประสาท ตันประเสริฐ ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอ ตามที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ๑. นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ๒. นายวีรนันท์ ฮวดศรี ๓. นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ๔. ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๕. นายเกษม อุประ ๖. นายพรเทพ พูนศรีธนากูล ๗. นายบุญแก้ว สมวงศ์ ๘. นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ๙. นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ๑๐. นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ๑๑. นายนรินทร์ คลังผา ๑๒. นางขวัญเรือน เทียนทอง ๑๓. นายเกรียงยศ สุดลาภา ๑๔. นายหรั่ง ธุระพล และ ๑๕. นายประสาท ตันประเสริฐ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๐ คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปราม การฟอกเงินและยาเสพติด ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอ รายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ๒. นายคำพอง เทพาคำ ๓. นายสิริน สงวนสิน ๔. นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ พรรคเพื่อไทย จำนวน ๖ ท่าน ๑. นายดนุพร ปุณณกันต์ ๒. นายกรวีร์ สาราคำ ๓. นายพลากร พิมพะนิตย์ ๔. นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ๕. นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ๖. นายอรรถพล วงษ์ประยูร พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ๒. นางสุขสมรวย วันทนียกุล พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พรรครวมไทย สร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายชัชวาลล์ คงอุดม พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเดชอิศม์ ขาวทอง ทั้งหมด ๑๕ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอถือตาม ที่ประชุม เห็นชอบตามนี้นะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปราม การฟอกเงินและยาเสพติด ๑. นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ ๒. นายคำพอง เทพาคำ ๓. นายสิริน สงวนสิน ๔. นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ๕. นายดนุพร ปุณณกันต์ ๖. นายกรวีร์ สาราคำ ๗. นายพลากร พิมพะนิตย์ ๘. นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ๙. นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ๑๐. นายอรรถพล วงษ์ประยูร ๑๑. นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ๑๒. นางสุขสมรวย วันทนียกุล ๑๓. นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ๑๔. นายชัชวาลล์ คงอุดม และ ๑๕. นายเดชอิศม์ ขาวทอง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๑ คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทา ผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ประดิษฐ์ สังขจาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ สัดส่วนจากพรรคก้าวไกล จำนวน ๕ ท่าน ๑. นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ๒. นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ๓. นางสาวศนิวาร บัวบาน ๔. นายสาธิต ทวีผล ๕. นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สัดส่วนจากพรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ ๒. นายทินพล ศรีธเรศ ๓. นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สัดส่วนจากพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ๒. นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ๓. นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ๔. นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ สัดส่วนจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวรโชติ สุคนธ์ขจร สัดส่วนจาก พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร สัดส่วนจาก พรรคประชาชาติ ๑ ท่าน คือนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอถือ ตามที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทา ผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ๑. นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ๒. นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ๓. นางสาวศนิวาร บัวบาน ๔. นายสาธิต ทวีผล ๕. นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ๖. นายศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ ๗. นายทินพล ศรีธเรศ ๘. นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ ๙. นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ๑๐. นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ๑๑. นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ๑๒. นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ ๑๓. นายวรโชติ สุคนธ์ขจร ๑๔. นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร และ ๑๕. นางสุพัชรี ธรรมเพชร
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๒ คณะกรรมาธิการการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ จำนวน ๑๕ คน ดังนี้ สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายนพดล ทิพยชล ๒. นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ ๓. นายปรีติ เจริญศิลป์ ๔. นายธีรัจชัย พันธุมาศ สัดส่วน พรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ๒. รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ๓. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ๔. นายกิตติ สมทรัพย์ ๕. นายนิพนธ์ คนขยัน สัดส่วน พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางสุขสมรวย วันทนียกุล ๒. นายสุทธิชัย จรูญเนตร สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย จำนวน ๑ ท่าน คือนางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณมากครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอถือตามที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ ๑. นายนพดล ทิพยชล ๒. นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ ๓. นายปรีติ เจริญศิลป์ ๔. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ๕. พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ๖. รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ๗. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ๘. นายกิตติ สมทรัพย์ ๙. นายนิพนธ์ คนขยัน ๑๐. นางสุขสมรวย วันทนียกุล ๑๑. นายสุทธิชัย จรูญเนตร ๑๒. นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ๑๓. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ๑๔. ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ และ ๑๕. นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ผมขอกลับไปที่คณะที่ ๒๑ อีกครั้งหนึ่งมีการแก้ไขรายชื่อสมาชิก ของพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ ๑๕ ขอเชิญเลขาธิการช่วยอ่านเพื่อความถูกต้อง ด้วยครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ในคณะที่ ๒๑ รายชื่อคณะกรรมาธิการการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ลำดับที่ ๑๕ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถูกต้องไหมครับทางพรรคประชาธิปัตย์ ถูกต้องนะครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๓ คณะกรรมาธิการการพลังงาน ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ดิฉันขออนุญาตเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการพลังงาน จำนวน ๑๕ ท่าน ดังต่อไปนี้ ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ ๒. พันโท สินธพ แก้วพิจิตร ในสัดส่วนพรรคก้าวไกลจำนวน ๔ ท่าน ดังนี้ ๑. นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ๒. นายชลธานี เชื้อน้อย ๓. นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ๔. นายศุภโชติ ไชยสัจ ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ดังนี้ ๑. นายพรเทพ ศิริโรจนกุล ๒. นายภาควัต ศรีสุรพล ๓. นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ คน ดังนี้ ๑. นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ ๒. นายถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ ในสัดส่วน พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ คน คือนายพิทักษ์เดช เดชเดโช ในสัดส่วนพรรคชาติพัฒนากล้า จำนวน ๑ คน คือนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ในสัดส่วนพรรคประชาธิปไตยใหม่ จำนวน ๑ คน คือนายสุรทิน พิจารณ์ ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมเห็นตามที่ ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการพลังงาน ๑. นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ๒. นายชลธานี เชื้อน้อย ๓. นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ๔. นายศุภโชติ ไชยสัจ ๕. นายพรเทพ ศิริโรจนกุล ๖. นายภาควัต ศรีสุรพล ๗. นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ๘. นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ ๙. นายถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ ๑๐. นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ๑๑. นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ ๑๒. พันโท สินธพ แก้วพิจิตร ๑๓. นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ๑๔. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล และ ๑๕. นายสุรทิน พิจารณ์
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๔ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน ปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ๒. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๓. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ๔. นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ๕. นายวรายุทธ ทองสุข ๖. นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ๒. นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ๓. นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ๔. นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายประดิษฐ์ สังขจาย ๒. นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายวิริยะ ทองผา สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายธนกร วังบุญคงชนะ สัดส่วนพรรคประชาชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ๑. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ๒. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๓. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ๔. นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ๕. นายวรายุทธ ทองสุข ๖. นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ๗. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ๘. นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ๙. นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ๑๐. นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ๑๑. นายประดิษฐ์ สังขจาย ๑๒. นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช ๑๓. นายวิริยะ ทองผา ๑๔. นายธนกร วังบุญคงชนะ และ ๑๕. นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๕ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ จำนวน ๑๕ ท่าน สัดส่วน พรรคก้าวไกล จำนวน ๕ คน ๑. นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๒. นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ๓. นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ๔. นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ๕. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สัดส่วน พรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ คน ๑. นายรวี เล็กอุทัย ๒. นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ๓. นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ๔. นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ คน ๑. นายฤกษ์ อยู่ดี ๒. นายสุวรรณา กุมภิโร สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ คน คือนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ คน คือนางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ คน คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาชาติ จำนวน ๑ คน คือผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ขอบคุณค่ะ ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มีผมถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ๑. นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๒. นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ๓. นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ๔. นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ๕. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ๖. นายรวี เล็กอุทัย ๗. นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ๘. นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ๙. นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ๑๐. นายฤกษ์ อยู่ดี ๑๑. นายสุวรรณา กุมภิโร ๑๒. นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ๑๓. นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ ๑๔. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ ๑๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๖ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผมขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ ในสัดส่วนของ พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ๒. นางสาวชุติมา คชพันธ์ ๓. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ๔. นางสาวปวิตรา จิตตกิจ ในสัดส่วนของ พรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ๒. นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ๓. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ๔. นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ๕. นายณพล เชยคำแหง ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายสังคม แดงโชติ ๒. นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ๒. นายไผ่ ลิกค์ ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพิพิธ รัตนรักษ์ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สิน ทางปัญญา ๑. นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ๒. นางสาวชุติมา คชพันธ์ ๓. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ๔. นางสาวปวิตรา จิตตกิจ ๕. นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ๖. นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ๗. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ๘. นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ๙. นายณพล เชยคำแหง ๑๐. นายสังคม แดงโชติ ๑๑. นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ๑๒. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ๑๓. นายไผ่ ลิกค์ ๑๔. นายพิพิธ รัตนรักษ์ และ ๑๕. นายประมวล พงศ์ถาวราเดช
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๗ คณะกรรมาธิการการแรงงาน ขอเชิญ สมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นายสังคม แดงโชติ ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายสังคม แดงโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายสุเทพ อู่อ้น ๒. นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ๓. นายสหัสวัต คุ้มคง ๔. นายเซีย จำปาทอง ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายธีระชัย แสนแก้ว ๒. นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร ๓. นายอมรเทพ สมหมาย ๔. นางสาวประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธิ์ ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ๒. นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ๓. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๔. นายกิตติ กิตติธรกุล ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายทวี สุระบาล ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพิพิธ รัตนรักษ์ และในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวสุภาพร กำเนิดผล ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการการแรงงานครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน ๑. นายสุเทพ อู่อ้น ๒. นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ๓. นายสหัสวัต คุ้มคง ๔. นายเซีย จำปาทอง ๕. นายธีระชัย แสนแก้ว ๖. นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร ๗. นายอมรเทพ สมหมาย ๘. นางสาวประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธิ์ ๙. นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ๑๐. นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ๑๑. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๑๒. นายกิตติ กิตติธรกุล ๑๓. นายทวี สุระบาล ๑๔. นายพิพิธ รัตนรักษ์ และ ๑๕. นางสาวสุภาพร กำเนิดผล
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๘ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร เขต ๒ พรรคก้าวไกล ขอเสนอชื่อ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ๒. นายณกร ชารีพันธ์ ๓. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ๔. นางสาวชุติมา คชพันธ์ สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายชูชัย มุ่งเจริญพร ๒. นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร ๓. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๔. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ๒. นายไชยชนก ชิดชอบ สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน ๑. นายปรเมษฐ์ จินา สัดส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์จำนวน ๑ ท่าน คือนายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สัดส่วนของพรรคไทยสร้างไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ๒. นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ผมถือตามที่ประชุมเห็นชอบนะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ๑. นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ๒. นายณกร ชารีพันธ์ ๓. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ๔. นางสาวชุติมา คชพันธ์ ๕. นายชูชัย มุ่งเจริญพร ๖. นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร ๗. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๘. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ๙. นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ๑๐. นายไชยชนก ชิดชอบ ๑๑. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ๑๒. นายปรเมษฐ์ จินา ๑๓. นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ๑๔. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ และ ๑๕. นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๒๙ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผล เกษตรกรรม ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล ๔ ท่าน ๑. นายคริษฐ์ ปานเนียม ๒. นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ๓. นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ ๔. นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายนพพล เหลืองทองนารา ๒. นายโกศล ปัทมะ ๓. นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ๔. นางสาววิลดา อินฉัตร พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายอำนาจ วิลาวัลย์ ๒. นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายจักรัตน์ พั้วช่วย ๒. นายอนันต์ ผลอำนวย พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายสมบัติ ยะสินธุ์ แล้วก็พรรคพลังสังคมใหม่ จำนวน ๑ ท่าน คือเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผล เกษตรกรรม ๑. นายคริษฐ์ ปานเนียม ๒. นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ๓. นายกิตติภณ ปานพรหมมาศ ๔. นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ๕. นายนพพล เหลืองทองนารา ๖. นายโกศล ปัทมะ ๗. นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ๘. นางสาววิลดา อินฉัตร ๙. นายอำนาจ วิลาวัลย์ ๑๐. นายภราดร ปริศนานันทกุล ๑๑. นายจักรัตน์ พั้วช่วย ๑๒. นายอนันต์ ผลอำนวย ๑๓. นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ๑๔. สมบัติ ยะสินธุ์ และ ๑๕. เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๐ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จำนวน ๑๕ ท่านครับ สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ๒. นายปิยชาติ รุจิพรวศิน ๓. นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ ๔. นายวีรภัทร คันธะ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นางเทียบจุฑา ขาวขำ ๒. นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ๓. นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ๔. นายภาณุ พรวัฒนา ๕. นางสาวสกุณา สาระนันท์ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายซาการียา สะอิ ๒. นายษฐา ขาวขำ สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายคอซีย์ มามุ สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สัดส่วนพรรคเพื่อไทยรวมพลัง จำนวน ๑ ท่าน คือนายสมศักดิ์ บุญประชม ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องครับ ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ๑. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ๒. นายปิยชาติ รุจิพรวศิน ๓. นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ ๔. นายวีรภัทร คันธะ ๕. นางเทียบจุฑา ขาวขำ ๖. นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ๗. นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ๘. นายภาณุ พรวัฒนา ๙. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๑๐. นายซาการียา สะอิ ๑๑. นายษฐา ขาวขำ ๑๒. พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ๑๓. นายคอซีย์ มามุ ๑๔. นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ และ ๑๕. นายสมศักดิ์ บุญประชม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๑ คณะกรรมาธิการการศึกษา ขอเชิญ สมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายธนา กิจไพบูลย์ชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการศึกษา จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายปารมี ไวจงเจริญ ๒. นายสุรวาท ทองบุ ๓. นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ๔. ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง พรรคเพื่อไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ๒. นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ๓. นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. นายโสภณ ซารัมย์ ๒. นายเอกราช ช่างเหลา และ ๓. นายสฤษดิ์ บุตรเนียร พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน ๑. นายจำลอง ภูนวนทา พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพิทักษ์เดช เดชเดโช พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายสรชัด สุจิตต์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการ ขอโทษครับ ฝ่ายเลขาขออีกครั้ง เหมือนสัดส่วนพรรคเล็กจะหายไป ๑ ลำดับ อย่างไรขอตรวจทานด้วยครับ
นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ขอประทานโทษครับ พรรคครูไทย เพื่อประชาชน นายปรีดา บุญเพลิง ขอประทานโทษครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการศึกษา ๑. นายปารมี ไวจงเจริญ ๒. นายสุรวาท ทองบุ ๓. นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ๔. ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง ๕. นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ๖. นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ๗. นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ๘. นายโสภณ ซารัมย์ ๙. นายเอกราช ช่างเหลา ๑๐. นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ๑๑. นายจำลอง ภูนวนทา ๑๒. รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ๑๓. นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ๑๔. นายสรชัด สุจิตต์ และ ๑๕. นายปรีดา บุญเพลิง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๒ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ขอเชิญสมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขต ๒ จังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการสวัสดิการ สังคม ตามสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๕ คน ๑. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ๒. นายกัณตภณ ดวงอัมพร ๓. นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ ๔. นางสาววรรณวิภา ไม้สน ๕. นายสมดุลย์ อุตเจริญ พรรคเพื่อไทย จำนวน ๔ คน ๑. นางสาวชญาภา สินธุไพร ๒. นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ๓. นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ๔. นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ คน ๑. นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ๒. นายธนา กิจไพบูลย์ชัย พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ คน ๑. นางรัชนี พลซื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ คน คือนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ คน คือนายกาญจน์ ตั้งปอง พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ คน คือนายศุภโชค ศรีสุขจร ขอผู้รับรองค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ขอบคุณครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้นะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ๑. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ๒. นายกัณตภณ ดวงอัมพร ๓. นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ ๔. นางสาววรรณวิภา ไม้สน ๕. นายสมดุลย์ อุตเจริญ ๖. นางสาวชญาภา สินธุไพร ๗. นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ๘. นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ๙. นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข ๑๐. นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ๑๑. นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ๑๒. นางรัชนี พลซื่อ ๑๓. นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ๑๔. นายกาญจน์ ตั้งปอง และ ๑๕. นายศุภโชค ศรีสุขจร
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๓ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ขอเชิญ สมาชิกเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข จำนวน ๑๕ ท่าน ดังนี้ สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๕ ท่าน ๑. นางสาวสิริลภัส กองตระการ ๒. นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ๓. นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ ๔. นายสรพัช ศรีปราชญ์ ๕. นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ๒. นายทศพร เสรีรักษ์ ๓. นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ๔. นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ๕. นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายอลงกต มณีกาศ ๒. นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนางสาวกาญจนา จังหวะ พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพงษ์มนู ทองหนัก พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนางอวยพรศรี เชาวลิต ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ๑. นางสาวสิริลภัส กองตระการ ๒. นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ๓. นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ ๔. นายสรพัช ศรีปราชญ์ ๕. นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ๖. นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ๗. นายทศพร เสรีรักษ์ ๘. นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ๙. นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ๑๐. นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ๑๑. นายอลงกต มณีกาศ ๑๒. นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ๑๓. นางสาวกาญจนา จังหวะ ๑๔. นายพงษ์มนู ทองหนัก และ ๑๕. นางอวยพรศรี เชาวลิต
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๔ คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน ๑๕ คน สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๓ คน ๑. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ๒. นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ ๓. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๗ คน ๑. นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ๒. นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ๓. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ๔. นายพชร จันทรรวงทอง ๕. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ๖. นายวรวงศ์ วรปัญญา ๗. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ในสัดส่วนของ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ คน ๑. นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ๒. นายไชยชนก ชิดชอบ สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ คน คือนางสาวตรีนุช เทียนทอง สัดส่วนของ พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ คน คือนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ และสัดส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ คน คือนายวุฒิพงษ์ นามบุตร ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้นะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๑. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ๒. นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ ๓. นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ๔. นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ๕. นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ๖. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ๗. นายพชร จันทรรวงทอง ๘. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ๙. นายวรวงศ์ วรปัญญา ๑๐. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ๑๑. นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ๑๒. นายไชยชนก ชิดชอบ ๑๓. นางสาวตรีนุช เทียนทอง ๑๔. นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ และ ๑๕. นายวุฒิพงษ์ นามบุตร
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นกรรมาธิการชุดสุดท้ายเป็นการเลือกตั้งในคณะที่ ๓๕ คณะกรรมาธิการ การอุตสาหกรรม ขอเชิญสมาชิกเสนอชื่อกรรมาธิการครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอเสนอชื่อคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้ สัดส่วน ของพรรคเพื่อไทย จำนวนทั้งหมด ๖ ท่าน ๑. นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ๒. นายชูศักดิ์ แม้นทิม ๓. นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ ๔. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ๕. นายรชตะ ด่านกุล ๖. นายรัฐ คลังแสง สัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นายชวาล พลเมืองดี ๒. นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ๓. นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ๔. นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. นางญาณีนาถ เข็มนาค ๒. นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๒ ท่าน ๑. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ๒. นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบตามนี้ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ๑. นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ๒. นายชูศักดิ์ แม้นทิม ๓. นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ ๔. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ๕. นายรชตะ ด่านกุล ๖. นายรัฐ คลังแสง ๗. นายชวาล พลเมืองดี ๘. นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ๙. นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ๑๐. นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ๑๑. นางญาณีนาถ เข็มนาค ๑๒. นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ ๑๓. นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ๑๔. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และ ๑๕. นางสาวกุลวลี นพอมรบดี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปจะเป็นที่ท่านอัครเดชแจ้งใช่ไหมครับ การเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขอเรียนเชิญครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตท่านประธานได้แก้ไขสัดส่วนกรรมาธิการของ พรรครวมไทยสร้างชาติทั้งหมด ๓ คณะ คณะแรก คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค จากนายอนุชา บูรพาชัยศรี เป็นนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ คณะที่ ๒ คณะกรรมาธิการ การปกครอง จากนายสัญญา นิลสุพรรณ เป็นนายถนอมพงศ์ หลีกภัย คณะที่ ๓ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม จากนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เป็นนายเกรียงยศ สุดลาภา ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถูกต้องครับ ฝ่ายเลขาธิการเปลี่ยนแปลงรายชื่อเรียบร้อยแล้วใช่ไหมครับ
ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ขอเปลี่ยนแปลง เดิมคณะกรรมาธิการกีฬา จากนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ในสัดส่วนของพรรคประชาชาติ เปลี่ยนเป็น นางสุพัชรี ธรรมเพชร แทน ขอบคุณท่านประธานครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครบถ้วนครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตที่จะแก้ไขรายชื่อคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จากนางสาวสกุณา สาระนันท์ เปลี่ยนเป็น นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครบถ้วนครับ ขอบคุณครับ ทางฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีท่านใดจะเปลี่ยนแปลงอีกไหมครับ เชิญครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาต แก้ไขรายชื่อในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ของคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผล เกษตรกรรม จากนายชิษณุพงศ์ เป็นนายกฤษฐ์หิรัญ ผมขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต้องขอทั้งชื่อและนามสกุลนะครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอแก้ไข จากนายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล เป็นนายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ครบถ้วนครับ มีท่านใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายชื่ออีกไหมครับ ถ้าไม่มี เราก็ได้ทำการเลือกตั้ง แล้วก็รับรองรายชื่อของคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง ๓๕ คณะ เรียบร้อย ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนสมาชิกครับ เนื่องจากมีสมาชิกจะขอเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ขอเชิญสมาชิกเสนอญัตติ พร้อมผู้รับรองครับ เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ขออนุญาตท่านประธาน เพื่อที่จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้โดยด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการ บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านธีระชัยครับ เดี๋ยวผมต้องขออนุญาตเลื่อนระเบียบวาระก่อน ก็จะมีท่านธีระชัยเสนอ ๑ ท่าน แล้วก็ที่ผมได้ข้อมูลมาคือ ท่านคริษฐ์ ปานเนียม เดี๋ยวให้เสนอก่อนเลยครับ เดี๋ยวจะให้ท่านธีระชัยอภิปรายในตอนหลัง แถลงเหตุผลครับ ก็เป็นหัวข้อในทำนองเดียวกัน จะเสนอไหมครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอข้ามไปก่อนนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกครับ ตามที่ท่านธีระชัย แสนแก้ว ได้เสนอญัตติ เป็นเรื่อง ที่ยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ข้อบังคับ ข้อ ๒๘ กำหนดให้ที่ประชุมจะต้องพิจารณา เฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ดังนั้นผมขอถามที่ประชุมว่าจะมีสมาชิกท่านใด คัดค้านการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ หรือไม่ครับ ถ้าไม่มีสมาชิก ท่านใดคัดค้าน ผมขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบ ให้พิจารณาญัตติเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนครับ ท่านคริษฐ์จะเสนอใช่ไหมครับ เชิญครับ แค่แจ้งเสนอก็พอนะครับ เดี๋ยวเรื่องการแถลงเหตุผลจะตามลำดับ ให้ท่านธีระชัยก่อนนะครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เดี๋ยวผมขอเสนอ ด้วยนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านสมาชิกครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม นายสัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเข้ามา ผมเองก็เห็นด้วย แล้วก็ขออนุญาตได้เสนอญัตติด่วนในเรื่องนี้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้น ต่อไป จะต้องมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็จะเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ ก็ขออนุญาตเสนอญัตติด่วนเรื่องนี้ด้วยนะครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ได้ครับ เดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่ประสานทางเอกสารด้วย ก็ถือว่าท่านได้เสนอแล้วนะครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
แต่ว่าจะขอเป็นการแถลงเหตุผลหลังจากที่ท่านคริษฐ์ เชิญท่านคริษฐ์ครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล มีความห่วงใยต่อราษฎรพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ขยายวงกว้างสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรอย่างแสนสาหัส และมีแนวโน้มที่จะขยาย วงกว้างขึ้นในหลายพื้นที่ จึงขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่อง ให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ก็ไม่มีสมาชิกท่านใดคัดค้าน เพราะฉะนั้นผมขออาศัยอำนาจ ตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้พิจารณาญัตติเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน ขอเชิญผู้เสนอท่านแรกแถลงเหตุผล เชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผมขอขอบคุณท่านประธานที่ได้กรุณาบรรจุวาระเร่งด่วนในวันนี้ให้กับเพื่อนสมาชิก เพื่อที่จะได้อภิปรายกัน ท่านประธานครับ ผมขอกราบเรียนกับท่านประธานว่าธนาคารโลก หรือ World Bank ได้มีการประเมินว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม อันดับ ๙ ของโลกนะครับ โลกนี้มีกี่ประเทศท่านก็นับดูเอาเองแล้วกันเราเป็นอันดับ ๙ ที่มันมีปัญหา จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยกำลังสู่ฤดูมรสุมอย่างใหญ่หลวง มีฝนตกชุก และมีปริมาณน้ำสูง และได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมความกดอากาศต่ำอย่างแรง พัดคลุม ทะเลอันดามันและอ่าวไทยทำให้เกิดพายุหมุนในเขตร้อนและพายุลูกใหม่ โคอินุกำลัง ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ บางพื้นที่ความเสี่ยงและเกิดอุทกภัยขั้นวิกฤติในหลายจังหวัด เช่น ภาคเหนือตั้งแต่ จังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย ลงมาถึงจังหวัดนครสวรรค์ หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ แล้วทีนี้ ก็โยงมาถึงภาคอีสานซึ่งเป็นเขตติดต่อกันอย่างมากมาย จนมีผลกระทบอย่างมากมายนะครับ ท่านประธาน เพราะฉะนั้นกระผมจึงอยากจะขอกราบเรียนกับท่านประธานว่าญัตติที่ได้เสนอ ไปนั้นมันเป็นญัตติที่มันเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน อย่างเร่งด่วน อาจจะเป็นญัตติที่ซ้ำซาก แต่ปัญหามันก็เกิดซ้ำซากท่านประธานครับ เพราะอะไร เพราะว่าประเทศไทยหรือในโลกนี้มันจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน มันไม่มี ใครรู้หรอกว่าพายุดีเปรสชัน หรือพายุฝนปกติมันจะไปจะมาเมื่อไร อะไร อย่างไร ความกดอากาศมันจะทำให้เกิดปัญหาเกิดขึ้น ณ วันนี้ผมอยากจะขอกราบเรียนว่าภาคเหนือ และภาคอีสานในหลายจังหวัดตามที่เป็นข่าวว่าเกิดปัญหาขึ้นจนเกิดอุบัติเหตุน้ำท่วม ไหลบ่าลงมาทำให้รถไฟด่วนพิเศษขบวนที่ ๑๓ จากเชียงใหม่ตกราง น้ำป่าไหลทะลัก ๓ วันถึงจะกู้ได้ อยู่ที่สถานีบ้านปิน จังหวัดแพร่ ต้องใช้เวลากู้ถึง ๓ วัน นอกจากนี้พื้นที่ เกษตรกรรมพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหายน้ำท่วมขัง ตลอดจนพืชผักการเกษตร เน่าตาย ปลาในกระชังถูกน้ำพัดเสียหายอย่างมากมายในหลายพื้นที่ ท่านประธานครับ กรมอุตุนิยมวิทยายังแจ้งมาว่าในวันที่ ๓-๖ ตุลาคมร่องมรสุมจะพัดผ่านประเทศไทยตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเวียดนามตอนกลางแถวดานังจะเคลื่อนเข้าสู่ ภาคตะวันออกอ่าวไทยตอนบน และภาคกลางตอนล่าง แนวร่องมรสุมประกอบกับมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมในทะเลอันดามันภาคใต้และอ่าวไทยกำลังแรงขึ้น ลักษณะ เช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนจะตกหนักมากครับ และในขณะเดียวกันส่วนคลื่นลมพัดทะเลอันดามันสูง ๑-๒ เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นอาจจะถึงสูงกว่า ๒ เมตรในระยะเวลาวันที่ ๖ ถึงวันที่ ๙ ตุลาคมนี้ ท่านประธาน ร่องมรสุมจะเลื่อนไปพัดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุม ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยอ่าวไทย ลักษณะ เช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน ห้ามก็ไม่ฟังครับ ท่านประธาน ที่เคารพครับภาคเหนือและภาคอีสานของกระผมมีฝนตกมาก และท่วมแล้วกำลังจะท่วมอีก ท่านประธานครับ นอกจากนี้พายุที่ผมได้กราบเรียนไปโคอินุบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ ในวันที่ ๕ วันที่ ๖ นี้ อีก ๒ วันนี้ คาดว่าพายุไต้ฝุ่น ลูกนี้จะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกและมีแนวโน้มจะเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ ๙ ถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคมนี้ ทำให้ประเทศใกล้บ้าน ประเทศเพื่อนบ้าน สปป. ลาว ตั้งแต่เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต ลงไปถึงจำปาสักฝนตก ระดับปานกลางถึงตกหนัก แล้วผ่านมาทางแถวจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๐ จะมีฝนตกหนัก เพราะว่าระหว่างดีเปรสชันกับพายุฝนปกติมันจะ มาบรรจบกันครับ พอมาบรรจบกันมันก็ระเบิดทันที คำว่าระเบิดลงมามันก็จะทำให้ ฝนตกหนัก เพราะฉะนั้นปัญหาต่าง ๆ ผมเชื่อมั่นผมเชื่อกรมอุตุนิยมวิทยาครับ ทายมาทีไร ก็แม่นทุกที ต้องขอชมเชยกรมอุตุนิยมวิทยา และเราดูข้อมูลท่านประธานครับ ดูข้อมูลน้ำ ในพื้นที่ของภาคะวันออกเฉียงเหนือ ใน ๕ แห่งที่ผมยกตัวอย่าง ก็คือ เขื่อนห้วยหลวง ๑๒๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้หรือ ๑๙๕ ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว น้ำเริ่มที่จะเต็ม เขื่อนแม่น้ำอูน ๔๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ๙๓ เปอร์เซ็นต์แล้วจะเต็มจะล้นแล้ว ณ วันนี้ เขื่อนน้ำพุง ๑๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ ๘๕ ใกล้เต็มแล้ว เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ๑,๗๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ร้อยละ ๙๐ แล้วครับ และเขื่อนลำปาว ๒,๐๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ๑๐๔ แล้วครับ ใกล้แล้วตอนนี้เขื่อนลำปาวที่อยู่ จังหวัดกาฬสินธุ์กำลังจะผ่อนคลายโดยการเปิดประตูน้ำเขื่อน ถ้าเปิดประตูน้ำเขื่อนลงไป ก็จะไปท่วมแถวร้อยเอ็ดแล้วครับ แถวกาฬสินธุ์ค่อย ๆ ทยอยไปท่วมไร่นาสาโทของ พี่น้องประชาชนมันก็จะเกิดปัญหาเกิดขึ้น และในขณะเดียวกันเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ ทั้ง ๒ เขื่อนนี้ยังพอรับน้ำได้อีกมากพอสมควร ก็คือเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำอยู่ที่ ๗๕.๖๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และเขื่อนจุฬาภรณ์ ยังมีปริมาณน้ำเพียง ๖๐.๘๒ เปอร์เซ็นต์ นี่คือตัวเลขที่ชัดเจนที่ได้ค้นมา โดยเฉพาะปัญหา ต่าง ๆ เหล่านี้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน น่าเป็นห่วงมาก เพราะที่ระบายน้ำจากเขื่อนก็ต้องมีพื้นที่ที่รองรับมวลน้ำมหาศาลนี้ กระผมขอกราบเรียนกับท่านประธานว่าสถานการณ์ ณ วันนี้เป็นสถานการณ์ที่ตึงเลย ท่านประธานครับ คำว่าตึงนี้ก็คือมันแน่นเปี๊ยะเลยครับ เพราะฉะนั้นในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เขื่อนลำปาวลงมาเกิดน้ำท่วมไหลหลากบริเวณตรงจุดนี้กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี สถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีก็จะเดินทางไปอุบลราชธานี ยโสธรในวันศุกร์นี้เพื่อที่จะไปดูเพื่อไปหาวิธีการในการป้องกันมันเป็นผลมาจากหย่อมความกด อากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านประเทศไทยครับท่านประธาน ส่วนปริมาณน้ำเขื่อนที่ทาง ภาคเหนือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรากำลังพูดเรื่อง El Nino เรากำลังหาวิธีการในการทำอย่างไร ถึงจะมีน้ำ แต่ในขณะเดียวกันวันนี้เราต้องมาพูดเรื่องน้ำท่วมอีกแล้วท่านประธาน ไม่ท่วม ก็แล้ง ไม่แล้งก็ท่วมก็อยู่อย่างนี้ท่านประธาน ผมก็เลยบอกว่า ณ วันนี้ในลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำน่านยังน้อยอยู่ ความหมายก็คือที่กักเก็บน้ำเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ขออนุญาตเปิดภาพหน่อย ผมมีข้อมูลอยู่นะครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
มีข้อมูล มีภาพของจริงด้วยนะครับ ขออนุญาต เปิดไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมพูดถึงเรื่อง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำ นี้ละครับก็คือปัญหา ต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้น สื่อมวลชนต่าง ๆ ก็รู้ พี่น้องประชาชนก็รู้ ทีวีออกทุกวันครับ โดยร่อง ความกดอากาศและแนวฝนตกส่วนใหญ่ตกท้ายเขื่อนท่านประธานครับ ไม่ได้ตกบนเขื่อน ถ้าตกบนเขื่อนน้ำก็จะไหลลงเขื่อนก็ไม่มีปัญหามันก็จะจุน้ำได้ แต่ในขณะเดียวกันร่องมรสุม จากดีเปรสชันที่มาจากดานังที่ผมว่าจะไหลลงมาออกมามันจะไปปะทะกัน เขาเรียกว่า ดีเปรสชันปะทะกันกับฝนธรรมดา ร่องมรสุมจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ทะเลอันดามันก็จะไป ปะทะกัน พอปะทะกันก็จะลงมาพอมันร่วงมาแล้วถ้าน้ำประมาณสัก ๒๐๐ มิลลิเมตร ก็คือ ท่วมใหญ่เลย เพราะปกติฝนก็จะประมาณสัก ๑๐๐ กว่ามิลลิเมตร ๑๓๐ มิลลิเมตร ก็ถือว่า น้ำเต็มที่แล้วก็ถือว่าเป็นตกใหญ่แล้วนี้คือปัญหา อย่างตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน ๒ ลุ่มน้ำ แม่น้ำวัง น้ำฝนน้ำท่าที่เกิดขึ้นขณะนี้เกิดจำนวนมาก คือมันเกิดจำนวนมากอยู่ที่ท้ายอ่างเขื่อน ท้ายอ่างเขื่อนกิ่วลม กิ่วคอหมาทำให้ไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ นี่ละคือปัญหาของประเทศไทย มันก็จะเป็นธรรมชาติของมัน ท่านประธานวิธีการแก้ระบบง่าย ๆ แต่อาจจะสิ้นเปลืองหน่อย วิธีแก้ ก็คือสิ้นเปลืองพลังงานจำนวนมากทำประตูระบายน้ำปิดปากน้ำวังก่อนลงแม่น้ำปิง แล้วใช้เครื่องสูบน้ำประมาณ ๖๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีสูบน้ำขึ้นไปเก็บ คือตกหน้าเขื่อน แล้วก็สูบน้ำขึ้นไปเอาไปไว้หลังเขื่อน ถ้าได้น้ำปีละ ๒๐๐-๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร มันก็จะทำให้ เรามีน้ำกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดู หรือเป็นการต้อนรับ El Nino แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง ดำเนินการจะใช้เรื่องของพลังงานไฟฟ้าจำนวนสูงมากท่านครับ อาจจะเปลืองเงินมาก ก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันระหว่างรัฐบาลกับไฟฟ้า เพราะว่าไฟฟ้ากับเขื่อนก็อยู่ด้วยกัน กับชลประทานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลกับรัฐบาล ไฟฟ้าเขามีแต่เก็บเงิน พอเก็บเงินเขาก็มีสตางค์ครับ พอมีสตางค์แล้วก็เอาไฟฟ้าสมทบกันคนละครึ่งทำเรื่องนี้ได้ คิดเอากรอบไม่ต้องเอางบประมาณอย่างเดียวก็เอางบประมาณจากรัฐวิสาหกิจเข้ามาใส่กัน แล้วก็ทำปั่นเข้าไป เอาสูบน้ำขึ้นไปมันก็จะเป็นวิธีการในการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นตัวอย่าง ตามรูป หมายความว่าประตูระบายน้ำตามหมายเลข ๓ ผมส่งแล้วท่านประธาน ตามหมายเลข ๓ กั้นแม่น้ำวัง ที่บ้านน้ำผึ้งหรือหมายเลข ๔ กั้นแม่น้ำวังที่บ้านโอ่งน้ำ แล้วทำสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำขึ้นไปเขื่อนภูมิพล ซึ่งมี ๕๐ เปอร์เซ็นต์เขื่อนภูมิพล ณ วันนี้ยังจุน้ำได้อีกเป็น ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่วิธีการนี้อาจจะลงทุนสูงตามที่ผมได้กราบเรียน ไปเบื้องต้น แต่วิธีการที่ผมเสนอนี้มันต้องคิดนอกกรอบแล้วมันก็แก้ปัญหาได้ ๒ ทาง คือลดปริมาณน้ำที่ไหลลงมาได้จำนวนมากและยังมีน้ำเหลือไว้เก็บในเขื่อนภูมิพลอีก ในยามแล้งครับท่านประธาน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
อีกประการหนึ่ง ท่านประธานกระผมมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ในภาคอีสานของผมอย่างมาก ภาคเหนือก็ห่วงเหมือนกันเดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกมาพูด ๓๐ กว่าคน เฉพาะพรรคเพื่อไทยของผม เพราะสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ในภาคอีสาน มีหลายจังหวัด ผมถามในใจ คิดในใจมาโดยตลอดว่าทำไมภาคอีสานเมื่อก่อนก็แล้ง ดินแยกแตกระแหง เดี๋ยวนี้ท่วมทุกปีแล้วมันเพราะอะไรครับท่านประธาน ท่วมแล้วแล้ง แล้งแล้วท่วม โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำก็เกิดขึ้นหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดภาวะ น้ำไหลเอ่อล้นฝั่งแม่น้ำลำธารหรือทางน้ำ ได้รับความเสียหาย พืชผักผลไม้ก็เน่าเสียเป็นปกติ ที่ผมอยากจะขอกราบเรียนต่อท่านว่ามันเสียหายเป็นอย่างมาก ลุ่มน้ำในภาคอีสานก็คือ ลุ่มน้ำชี น้ำมูล น้ำโขง มีปัญหา มีปัญหาอย่างหนึ่งก็คือตรงบริเวณตอนล่างลุ่มน้ำมูลก็คือ ทิศทางน้ำต้องไหลผ่านแก่งสะพือ ท่านประธานเคยไปเที่ยวแก่งสะพือไหมครับ อำเภอพิบูลมังสาหาร เดี๋ยวก็มี สส. จังหวัดอุบลราชธานีก็จะพูดต่อนะครับ จังหวัด อุบลราชธานี แก่งสะพือนี้มีลักษณะคล้าย ๆ หินตามธรรมชาติที่เป็นตัวล็อกน้ำให้ท้ายน้ำ เกิดระบายน้ำแม่น้ำโขงได้ยากมาก เวลาน้ำท่วมมันไหลลงไปจากนี้ละ จากบ้านผมอุดรธานี ไหลไปร้อยเอ็ด ไปอะไรต่าง ๆ ไหลภาคเหนือมา พอไหล ไหล ไหลไปแล้ว พอไหลไปแล้ว มันจะต้องลงแม่น้ำมูล พอลงแม่น้ำมูลมันก็จะไหลไปทางแก่งสะพือ ไหลไปแล้วมันมีโขดหิน ก็ทำให้ไหลช้า ถ้าภาคเหนือต้นไม้มันไม่ค่อยมี แล้วปกติถ้าต้นไม้เยอะมันก็จะไหลช้าลง พอไหลช้าลง มันก็จะท่วมช้าลง ปัญหาเหล่านี้ก็จะทำให้ดินแตก ดินภูเขา ท่านประธานครับ ท่านประธาน ไม่ได้ปิดผมนะครับ ใกล้จะจบแล้ว ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพท่านประธาน ให้ผมพูดให้จบเถอะนะครับ เพราะว่ามันเป็นปัญหาเหลือเกิน พอแก่งสะพือมันไหลลงทะเล ได้ช้าเพราะมีโขดหิน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐเขามีการวิจัยนะครับ มีการวิจัย เคยศึกษา ทางน้ำ แหล่งทางน้ำจะดีไหม อ้อมทางฝั่งแม่น้ำมูลดีไหม อ้อมแก่งสะพือดีไหม เพราะว่า ถ้าไปตรงเลยมันไหลยาก เพื่อควบคุมน้ำจากแม่น้ำมูลไหลไปทางท้ายแก่งสะพือ ก็ยังไม่ได้ ทำตอนนี้ครับ ยังไม่ได้ทำ อันนี้คือปัญหาที่ต้องพูด พอรัฐบาลได้ฟังว่าเราส่งไปถ้าทำได้ ก็ทำครับ และปัญหาอีกอย่างก็คือลักษณะลำน้ำชีและลำน้ำมูลมีลักษณะอีกอย่าง เรียกว่า แทบไม่มีที่จะทำให้น้ำไหลออกทางซ้ายหรือทางขวา ไม่เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาครับ ท่านประธานครับ บ้านท่านมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านไหม แม่น้ำเจ้าพระยามันจะไหลทางซ้าย และออกทางขวา ไหลมารวมกันที่ปากน้ำโพ มีการผันน้ำออกซ้าย ผันน้ำออกขวา เอาน้ำทุ่ง เอาน้ำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร จะเห็นได้ว่าทำนาข้าวได้ ๒-๓ ครั้งเพราะมีน้ำ มันจะแตกต่างกัน ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาก็เข้าไปตามทุ่งได้ สามารถควบคุมและชะลอ การไหลบริเวณได้น้ำจำนวนมากท่านประธานครับ แต่ลำน้ำมูลอย่างไรก็ผ่านจังหวัด อุบลราชธานีอย่างเดียว ผ่านใจกลางเมืองวารินชำราบ ผ่านใจกลางเมืองอุบลราชธานี ทุกครั้งท่วมเมื่อคราวที่แล้ว เดี๋ยวนี้กำลังรอท่วมครับ ปัญหาก็คือว่าน้ำท่วมขังยาวนานมาก แล้วต้นเหตุหนึ่งก็คือในภาคอีสานสภาพดินส่วนใหญ่ก็เป็นดินทราย พอน้ำท่วมมากหน่อย ก็จะเกิดการเซาะกัดตลิ่งพังทลายเร็วมาก แล้วยังมีปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการทำผังเมือง ขยายชุมชนไปขวางทางไหลของน้ำ ไม่มีทางระบายน้ำ จึงต้องทำให้น้ำท่วมทุกปี อันนี้ ผมก็เลยกราบเรียนกับท่านทั้งหลายว่าอย่างกรณีจังหวัดอุดรธานี ผมอยากจะขอกราบเรียน ว่าวิธีแก้ เมื่อก่อนนั้นน้ำท่วมจังหวัดอุดรธานีเป็นประวัติศาสตร์เลย น้ำท่วมจังหวัดอุดรธานี ท่วมในเมืองตลอด เพราะมันเป็นแอ่ง มันตั้งมานานแล้วจังหวัดอุดรธานี พอเป็นแอ่ง ปี ๒๕๔๔ หลังจากท่วมหาดใหญ่แล้ว เราเอาวิธีการในการท่วมของเมืองอุดรธานีเราจะแก้ อย่างไร ตอนนั้นได้มีคณะทำงานของจังหวัด และในขณะนั้นผมเป็น สส. พอดี และรัฐบาล ขณะนั้นโดยการนำของท่านทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกพื้นที่ไปบัญชาการ คือน้ำท่วมจังหวัดอุดรธานี ร้านทอง เท่านี้ละครับท่านประธาน แล้ววิธีการในการแก้ไข ท่านไปดูชี้เปรี้ยงปร้างแป๊บเดียว สั่งการแป๊บเดียวจัดงบประมาณ ไป ๗๐๐ ล้านบาท แล้วก็ทำคลอง Bypass ไม่ต้องเข้าเมืองอุดรธานี Bypass ลงซ้ายลงขวา ลงไปเลยครับ ลงไปเขี่อนห้วยหลวงเก็บน้ำไม่ได้อีกด้วย แล้วก็ลงไปแม่น้ำโขงอีก ถ้าห้วยหลวง มันเต็มลงไปแม่น้ำโขงอีกครับท่านประธาน นี่ละครับคือวิธีการในการแก้ไขปัญหาของ จังหวัดอุดรธานีมีแล้ว ไม่ได้ท่วมเมือง ถ้าท่วมเมืองเศรษฐกิจยิ่งแย่เพราะมันไหล ลงคลอง ลงคลองที่เขาจัดการ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ที่เขาจัดการมันก็ไหลเร็วมาก ๆ ขุด คลอง แล้วก็ทำหน้าที่ดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงมาจนพี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานี ชื่นชมท่านนายกทักษิณมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องขออนุญาตเอ่ยนาม ก็คนทำดีก็ต้องเอ่ย ไม่มีปัญหา ไม่ได้อวยครับ เพราะท่านก็ไม่ได้อยู่กับเรา เพราะความจริงผมได้เอ่ยอ้างขึ้นมานี้ และในขณะเดียวกันจังหวัดอุดรธานีสามารถที่จะเก็บน้ำได้ ถ้ามันไหลบ่าออกมาไม่ต้อง ปล่อยทิ้งไปถึงเขื่อนลำปาวครับ ของพวกเราอำเภอกุมภวาปี ของผมนี่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอกู่แก้วของจังหวัดอุดรธานี และมันมีลุ่มหนองหานซึ่งเป็นอ่างซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่มากครับ พื้นที่ใหญ่มากก็คือประมาณ ๒๔,๐๐๐ ไร่ อยู่ในบริเวณตรงนี้ ทะเลบัวแดง ตรงทะเลบัวแดง นี่ละครับ เราไม่ต้องการดูทะเลบัวแดงอย่างเดียว แต่เราต้องการเอาน้ำที่มันไหลทิ้ง นี่ครับไหลเข้าไปจัดการประตูน้ำให้ไหลเข้าไปอยู่ตรงนั้น เก็บได้เยอะ แล้วก็ค่อยทยอย เวลามันจะล้นแล้วก็ค่อยทยอยคล้ายฝายกั้น เขาเรียกว่าทำนบกั้นน้ำ ทำนบกั้นน้ำใหญ่ เล็กทำให้หมด ตรงจุดนี้ใช้ถ้ากรมชลประทานแต่ไม่ต้องทำโครงการใหญ่ ๆ หรอก ถ้าโครงการใหญ่ๆ มันทำยากก็มาทำโครงการเล็ก ๆ อย่างกรณีที่โครงการใหญ่ ๆ ที่มันมี ปัญหาที่น้ำท่วมแถวภาคเหนือ แถวสุโขทัย แม่วังน้ำยมไม่มีเขื่อน เขื่อนใหญ่ไม่มี น้ำยมเขื่อน ไม่มีใหญ่ อย่างกรณีที่ภาคเหนือยังมีจังหวัดตาก มีเขื่อนภูมิพล มีเขื่อนสิริกิติ์ พอมีเขื่อนสิริกิติ์ แล้วมันก็มีน้ำอยู่ตรงนั้นที่ผมบอกว่ามันยังมีน้ำที่จะต้องไหลตรงจุดนี้อีก ถ้าทางใต้ แล้วเสร็จเรียบร้อยพอมันไหลลงมามันก็มีปัญหา แล้วเราเอาน้ำที่มันเป็นธรรมชาติลงมา มาแล้วก็เอาเข้าในตรงนี้ เอาเข้าในสถานที่ที่มันมีธรรมชาติอยู่เยอะแยะ แต่เดี๋ยวนี้ปัญหาว่า ขอบอกเลย ขอบอกท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลที่เราจะต้องนำเสนอนี้ก็คือว่า อ่างเก็บน้ำ หนองหาน คำว่า อ่างเก็บน้ำหนองหาน ก็คือกุมภวาปี สถานที่ผาแดงนางไอ่นั่นละครับ ท่านรู้จักประวัติศาสตร์ของผาแดงนางไอ่ไหมครับ ตรงนั้นละครับมันจะเป็นอ่างเก็บน้ำเยอะ แล้วทีนี้ถ้าขุดลงมาแล้วก็สามารถเก็บได้เป็นแสน ๆ ลูกบาศก์เมตร แล้วก็สามารถนำน้ำ ตรงนี้ไปให้พี่น้องได้รับหลายแสนไร่ และในหลายจังหวัดด้วย แล้วค่อย ๆ ทยอยไป วิธีการ บริหารจัดการน้ำต้องทำอย่างนี้ครับ ท่านประธานครับที่ผมได้กล่าวมานี้เป็นเบื้องต้น เท่านั้นเอง ผมขอกราบขอบพระคุณที่ได้ให้โอกาสผมในวันนี้ และขอให้โอกาส และที่ ท่านกรุณาได้บรรจุญัตตินี้ซึ่งเป็นญัตติด่วน ซึ่งเป็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อน กระผมใคร่ขออภิปรายแต่เพียงเท่านี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปจะเป็นท่านสมาชิกเสนอญัตติด่วนในทำนองเดียวกันนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาน้ำท่วมเพื่อหา แนวทางป้องกันและเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนครับ โดยท่านสัญญา นิลสุพรรณ ขอเชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นายสัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตท่านประธานครับ เนื่องด้วยปัญหาน้ำท่วมซึ่งขณะนี้ หลาย ๆ ท่านก็คงจะได้เห็นว่าขณะนี้เองนี่ปัญหาน้ำท่วมเริ่มขึ้นแล้ว โดยตอนนี้ที่หนักหน่วง ก็คือจังหวัดสุโขทัยในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ก็จะลงมาที่พิษณุโลก มากำแพงเพชร มาพิจิตร และสุดท้ายก็จะเป็นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งผมนำเรียนท่านประธานว่าพื้นที่ผมเอง นี่นะครับ ผ่านแม่น้ำทั้ง ๔ สาย ปิง วัง ยม น่าน ผ่านในเขตอำเภอบรรพตพิสัย อำเภอ เก้าเลี้ยว อำเภอชุมแสง สุดท้ายมวลน้ำของภาคเหนือเกือบทั้งหมดจะไปถูกพักไว้ที่ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง อำเภอเมือง โดยเฉพาะพื้นที่รอบ ๆ บึงบอระเพ็ดที่พี่น้อง ก็คงได้ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่นะครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ในปัจจุบันนี้ในบึงบอระเพ็ดศักยภาพจริง ๆ สามารถขุดลอกแล้วก็ กักเก็บน้ำได้อีกเยอะ อยากให้ปัญหาเหล่านี้ได้มีการพัฒนา ที่ผ่านมาจังหวัดนครสวรรค์เอง ได้เคยมีการคิดโครงการสี่แควโมเดลครับท่านประธานเพื่อที่จะให้เป็นพื้นที่รับน้ำสำหรับ เวลาน้ำหลาก น้ำท่วมโดยตรง ท่านประธานรู้ไหมว่าในพื้นที่นครสวรรค์เอง ในหลายตำบล ในอำเภอชุมแสงเกือบครึ่งหนึ่งสามารถที่จะทำการเกษตรได้แค่ครั้งเดียวโดยอาศัยน้ำฝน ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ทำในหลายตำบล ตำบลหนองกระเจา ตำบลไผ่สิงห์ แต่กำลังจะได้ผลิตผล นิดหน่อยตอนนี้ข่าวร้ายมาแล้วก็คือน้ำเหนือมาแล้ว นับเวลาถอยหลังที่จะลงมาพื้นที่ ที่เขาทำการเกษตร ตอนนี้หัวใจก็ลงไปอยู่ที่ตาตุ่มกันว่าพอผลผลิตทางการเกษตรเริ่มเติบโต สักนิดหนึ่งน้ำจะท่วมอีกไหม ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ก็ท่วมตลอด อันนี้ผมอยากจะให้ได้พิจารณา โครงการตรงนี้คือเราเสนอไปแล้วว่าในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ในอำเภอชุมแสง อำเภอเก้าเลี้ยว บางส่วน ตำบลหนองเต่าเราจะเป็นพื้นที่รับน้ำให้ เพราะว่าต้องยอมรับเลยว่าถ้าน้ำไม่มา กักเก็บที่นี่ภาคกลางไม่เหลือ บริเวณเขื่อนเจ้าพระยาก็รับน้ำได้ไม่มาก สุดท้ายก็จะเอ่อล้นมาที่นี่ ผมอยากให้โครงการตรงนี้ทางรัฐบาลได้พิจารณา เพราะว่าพื้นที่ของพี่น้องประชาชน เขาพร้อมที่จะเป็นพื้นที่ที่จะรับภาระตรงนี้แต่ขอให้มีมาตรการที่เหมือนกับเยียวยา เหมือนกับช่วยเหลือพวกเขา วันนี้เองระดับน้ำที่อำเภอชุมแสงอีกนิดเดียวก็จะท่วมแล้ว วันนี้เริ่มเข้าแล้วที่อำเภอชุมแสงนี้ก็คือตำบลบางเคียน แล้วก็ตำบลท่าไม้ ตำบลทับกฤช ตรงนี้เริ่มแล้ว ซึ่งนับเวลาถอยหลังอีกไม่นานรับรองได้มวลน้ำในภาคเหนือหลังจากที่ผ่าน อำเภอบางมูลนาก อำเภอโพทะเลของจังหวัดพิจิตร พี่น้องของจังหวัดพิจิตรก็เดือดร้อนหนัก วันนี้เองผมก็ได้รับการประสานมาจากในพื้นที่เหมือนกันว่า สส. ฝากพูดด้วย เพราะว่า ในพื้นที่เขาเองทุกปีก็จะต้องพึ่งพาหน่วยงานทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นถุงยังชีพ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเรือในการที่เขาจะต้องสัญจรในช่วงเวลาที่น้ำท่วม ผมอยากให้การพูดคุยในวันนี้ ได้ส่งไปยังรัฐบาลเพื่อจะได้มีการเตรียมการในสิ่งเหล่านี้
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
วันนี้ผมว่าปีนี้เราโชคดีจริง ๆ ที่สภาได้มีการถกญัตติด่วนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะว่าที่ผ่านมาทุกปีครับท่านประธานท่วมจน เกือบถึงหลังคาแล้วถึงจะค่อย ๆ หามาตรการ ต้องขอบคุณหน่วยงาน ปภ. เองที่ผ่านมา หลาย ๆ ปีที่ผมได้เคยประสานงาน ต้องขอบคุณทางจังหวัด ทางหน่วยงานองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด หรือว่าแม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล ซึ่งท่านก็มีแผน รับมือแต่ผมนำเรียนว่าไม่เพียงพอครับท่านประธาน ที่ผ่านมาได้ประสบกันมาแล้วว่า เดี๋ยวท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ก็จะบอกแล้ว สส. ไม่เหลือแล้วงบที่จะเอา ไปให้พี่น้องประชาชน ถุงยังชีพหรืออะไรก็ตามไม่มีเงินที่จะไปซื้อให้ นี่คือสิ่งที่ผ่านมา ในแต่ละปี เพราะว่าอย่างนครสวรรค์ผมบอกเลยว่าไม่ได้ท่วมแค่เดือนหนึ่ง เพราะเรารับน้ำนี่ เรารับน้ำกันที ๒-๓ เดือน อันนี้เป็นภาระที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็รับภาระ แต่ก็ขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชนหลายหน่วยงาน ต้องขอบคุณ ณ ที่นี้ รัฐวิสาหกิจหลาย ส่วนที่ท่านได้กรุณาในการส่งถุงยังชีพไปให้ในแต่ละปีที่ผ่านมา
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
แต่ปีนี้ในเมื่อเราได้มีการมาพูดคุยกันในสภาแห่งนี้แล้วได้นำเรื่องที่จะนำส่งไป ยังรัฐบาลนี้ ผมคิดว่าก็เป็นโอกาสที่ดีจริง ๆ ที่รัฐบาลจะได้เตรียมการ ข้อมูลน้ำท่วมแทบจะ ไม่แตกต่างไปจากทุกปีก็จะ Loop เดิม ที่เดิม ตรงไหนที่เคยท่วมอยู่ตรงนั้นก็จะท่วมอย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลเหล่านี้ถ้าหน่วยงานทางท้องถิ่นต่าง ๆ ทางจังหวัดได้นำข้อมูล เหล่านี้แล้วก็นำเสนอไว้ให้กับทางรัฐบาลเพื่อเตรียมการไว้เลย วันนี้น้ำสุโขทัยอาจจะ หนักที่สุด ต่อไปนี้แทบจะเรียกว่าแทงหวยได้เลยว่าจะต้องมาตรงไหน เดี๋ยวตรงไหนจะท่วม ปริมาณขนาดนี้เดี๋ยวตรงนี้จะท่วม ผมว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำการบ้านกันให้ดี หน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมการตรงนี้พี่น้องประชาชนก็จะได้รับผลกระทบที่น้อยลง ผมนำเรียนว่าผมเคยพูด ในสภาแห่งนี้หลายครั้งมาก ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องภัยแล้ง แต่ที่ผมพูดภัยแล้งก็เพราะว่าเวลา เกิดน้ำหลากแบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสุดท้ายอย่างที่ผมบอกว่าอย่างชุมแสงเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่พอน้ำไปไม่เหลือเลย ไปแบบก็ไปตามอัตโนมัติ เพราะว่าไม่สามารถจะกักเก็บน้ำในช่วงที่ น้ำหลากแบบนี้ไว้ได้ ในอำเภอบรรพตพิสัยหลายตำบลที่อยู่ริมแม่น้ำปิงอย่างไรก็ท่วมแน่นอน หนีไม่พ้น ตำบลบ้านแดน ตำบลบางแก้ว ตำบลท่างิ้ว ตำบลหูกวาง ตำบลอ่างทอง แต่ว่าสิ่งที่ท่านประธานครับหลังจากน้ำลดเขาต้องรับภาระอีกอย่างหนึ่งริมตลิ่ง ก็คือน้ำพา ตลิ่งไปด้วย นี่คือปัญหาจากน้ำท่วม น้ำหลากไม่ได้ว่ามีปัญหาอย่างนี้แค่อย่างเดียว หลังจาก น้ำลดเมื่อไรก็เตรียมเลยว่าตลิ่งนี่เตรียมทรุดได้เลย หลาย ๆ พื้นที่ปีที่แล้วเพิ่งจะไปสำรวจ กันเองว่าหลังพื้นที่น้ำลดแล้วมีพื้นที่ไหนที่จะต้องไปซ่อมแซมเรื่องตลิ่ง ปีนี้ก็เตรียมอีกแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือจริง ๆ แล้วหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องตลิ่ง ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือว่ากรมเจ้าท่า แต่ว่าผมเรียนว่าทางกรมโยธาธิการและผังเมือง อาจจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูงเวลาจัดการเรื่องตลิ่ง แต่ว่าหน่วยงานที่ผมเห็นประสิทธิภาพ ในการทำงานแล้วชื่นชมและเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่จะมีประสิทธิภาพ ก็คือกรมเจ้าท่า ท่านประธานในเรื่องของการมีวิธีเปลี่ยนเส้นทางน้ำแล้วก็ไปทำเอาทรายไปโปะริมตลิ่ง ผมได้ขอความกรุณามาในหลายพื้นที่ ต้องขอบคุณท่านอธิบดีกรมเจ้าท่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมที่ท่านได้เล็งเห็น แต่ว่ากำลังทำอยู่ในพื้นที่ชุมแสง ตอนนี้น้ำท่วมแล้ว ถ้าท่านจะกรุณาในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณเรื่องเรือดูดทรายก็ประสานกันที ก็ค่อนข้างนาน มีงบประมาณไหมครับ ซื้อเพิ่มได้ไหม เรือดูดทรายตรงนี้ผมว่ามีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะน้ำแล้งก็สะดวกด้วยไปดูดทรายเพื่อให้ร่องน้ำเข้าไปยังพื้นที่เกษตรกรก็ดี ยิ่งช่วง น้ำท่วมก็จะเห็นผลถ้าท่านมีตลิ่งไว้ตลิ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานเหมือนกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่ใช้ได้ ใช้การได้ ผมได้เห็นแล้ว ผมอยากให้ทางกรมเจ้าท่าได้ส่งเสริมแล้วก็สนับสนุน โครงการตรงนี้ หลังน้ำท่วมรับรองได้ว่าท่านจะได้รับเรื่องร้องเรียนตลิ่งพังอีกมากมาย นี่คือปัญหาหนึ่งที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม ก็ย้อนกลับมาครับท่านประธาน สิ่งที่ผมเคยพูดไว้ว่า พอเสร็จน้ำท่วมเมื่อไรเราจะเข้าสู่ภัยแล้ง วันนี้ผมเองก็ยังรู้สึกเสียดายสักเล็กน้อยว่า คือในพื้นที่ของอำเภอชุมแสงอ่างเก็บน้ำหลายอ่างเก็บน้ำออกแบบเสร็จเรียบร้อย ฝากท่านด้วยในพื้นที่ของสันเนินทองเอง ของอำเภอชุมแสง ตำบลบางเคียน ตำบลนี้เลย เป็นตำบลรับน้ำ Auto ทุกปี อัตโนมัติว่าอย่างไรก็ต้องรับ แต่พอน้ำไปแล้วไปหมดเลย แล้วก็ฝากโครงการที่จะทำประตูน้ำตรงปากคลองเกรียงไกร ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ คือเขาทุกข์ระทมในช่วงรับน้ำอย่างน้อยพอน้ำไปหมดก็เหลือน้ำไว้ให้เขาดูหน่อย เพราะว่า เวลาน้ำแล้งพื้นที่นี้ก็แล้งที่สุดทำการเกษตรได้ปีละครั้งเหมือนกัน
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ส่วนท่านสมาชิกท่านที่แล้วได้พูดถึงเรื่องแม่น้ำยมไม่มีการกักเก็บน้ำ ในแม่น้ำยมไว้ได้เลย นี่คือปัญหาที่พูดกันมาในกรรมาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำ ทั้งระบบ ผมเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการได้เข้าไปตรวจกันทั้งหมด ก็มีความเห็นตรงกัน ทั้งหมดว่าน้ำยมจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ ก็ฝากไว้ด้วยว่าขับเคลื่อนทำให้เป็น รูปธรรมจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ตั้งแต่พิจิตรมาก็ควรจะมี จังหวัดพิจิตรในหลายพื้นที่เหมาะสม จังหวัดนครสวรรค์เองอย่างที่ผมนำเรียนพื้นที่อำเภอชุมแสง ในตำบลเกยไชยระหว่างแม่น้ำน่าน กับแม่น้ำยมมาบรรจบกันตรงวัดเกยไชยเหนือ ตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่เราจะ กักเก็บน้ำไว้ พอแม่น้ำยมและแม่น่านมารวมกันเสร็จก็ไปพื้นที่ประตูคลองวังหมาเน่า อันนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะจะสามารถผันน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดได้โดยตรงไม่ต้องไป ผ่านสถานีสูบน้ำที่ตำบลทับกฤชเสียค่าไฟเดือนหนึ่งหลายแสนเป็นล้านเพื่อสูบน้ำ เข้าบึงบอระเพ็ด แต่ถ้าเราสามารถที่จะสร้างประตูน้ำตรงนี้ คือผมว่ามีโครงการอีกหลาย โครงการที่ศึกษาไว้หมดแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะมาคุยกันใหม่ แต่ผมอยากให้รัฐบาลนี้ได้กรุณา ลองพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะทำโครงการเหล่านี้ โครงการเหล่านี้สำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือว่า สทนช. เองก็ได้มีการศึกษาไว้พอสมควรนะครับ ผมอยากให้ ปัญหาน้ำท่วมของเรามีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
สุดท้ายท่านประธานก็อยากจะฝากไว้ว่าหน่วยงานในจังหวัดเองมี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ผมเรียกว่าเป็นผู้บัญชาการปัญหาที่เกิดในจังหวัด ก็ฝากรัฐบาล อาจจะฝากไปยังหน่วยงานนี้ ทางท่านผู้ว่าจะสามารถบูรณาการในการเตรียมการรับมือให้กับ พี่น้องประชาชน ก็หวังว่าในข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของเพื่อนสมาชิกในวันนี้เอง โดยผมผู้เสนอ ญัตติและเพื่อนสมาชิกที่จะร่วมอภิปราย แล้วก็ได้นำเสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปยังรัฐบาล จะได้ทำให้มาตรการในการรับมือภัยน้ำท่วมในปีนี้ก็ได้มีผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน ได้น้อยที่สุด แล้วก็ขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ทุก ๆ ท่าน ก็ยืนยันในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการที่จะเข้าไปหา มาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนครับ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกท่าน กราบขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปเป็นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมและมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปครับ โดยท่านคริษฐ์ ปานเนียม ขอเรียนเชิญครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล จากที่ได้เสนอญัตติ ด่วนไป ผมขออภิปรายเหตุผลดังนี้ครับ ท่านประธานครับต้นตอของปัญหาน้ำท่วมในเขต ภาคเหนือตอนล่างที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นจนถึงตอนนี้มีความสำคัญกับปัญหาภัยแล้ง ซ้ำซาก และเกี่ยวพันกับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวพันกับคณะรัฐมนตรี ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวง มหาดไทย และผูกพันไปถึงงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจัดสรรให้กับแต่ละกรม แต่ละกระทรวง ต่อไป การบริหารจัดการน้ำ การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากเท่าไรครับ ท่านประธาน การหาที่ให้น้ำอยู่และหาทางให้น้ำไปคำนี้ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เข้าใจไม่ยาก แต่การลงมือทำนั้นยากมาก ซึ่งกระผมและพรรคก้าวไกลทราบดี และต่างตระหนักดีว่า การเสนอญัตติเร่งด่วนในวันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร ร่วมกันอย่างยั่งยืน ผมขอเสนอแนะรายละเอียดต่อไปนี้เพื่อรวมกันให้เป็นเรื่องเดียวสำหรับ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคตที่จะมาถึงไปพร้อมกันครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และจนถึงตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และจังหวัดตาก ทั่วทั้ง อำเภอสามเงาและอำเภอบ้านตาก ปริมาณน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ถนนหนทางชำรุดขาดพัง บ้านเรือน ไร่นา สวนเกษตรของราษฎรเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำวัง ท่านประธานครับแม่น้ำวังปกติลำน้ำจะมีการรับปริมาณการไหลของน้ำได้ อยู่ที่ ๔๕๐-๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ท่านประธานทราบไหมว่าเพียงแค่ฝนตกครั้งเดียว ของสัปดาห์ที่ผ่านมาวัดความเร็วการเคลื่อนตัวของน้ำที่สถานีวัดน้ำที่บ้านดอนชัยได้ ๑,๑๓๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล้นแน่นอน มิหนำซ้ำในพื้นที่ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ เดิมทีเป็นพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากมาอย่างยาวนานของจังหวัดตาก กลับต้องเผชิญปัญหาน้ำป่า ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ๒ ปีซ้อน มันเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามที่ชวนทุกท่านคิด ถ้าจะมีน้ำมาท่วมขนาดนี้ เราหาที่ให้น้ำอยู่ เก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งดีกว่าหรือไม่ ผมขอ Slide ครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
ผมได้ติดตามสถานการณ์วิเคราะห์มา เพื่อรายงานต่อที่ประชุมแห่งนี้ผ่านท่านประธานสภานะครับ ข้อมูลน้ำจากสถานการณ์ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ วันที่ ๓ ตุลาคม เมื่อวานนี้เอง สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ยังเป็นปกติถึงขั้นน้อยและน้อยมาก หลายแห่งทั่วประเทศยังต้องการมวลน้ำมหาศาล เพื่อเก็บกักไว้ ยกเว้นบางแห่งที่เต็มคาราเบลไปแล้ว โดยเฉพาะ Zone ตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ท่านประธานครับ ทำไมน้ำท่วมที่ลำปาง ทำไมน้ำถึงท่วมที่จังหวัดตาก ผมย้อนไปดูข้อมูลจึงหายสงสัยเพราะการระบายน้ำเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๔ ถือว่าการระบาย น้ำในวันนี้ยังเป็นปกติครับท่านประธาน นั่นหมายความว่าพี่น้องทั้งลุ่มน้ำภาคกลางยัง สบายใจได้ แต่ทำไมมันถึงท่วมหนักที่ ๒ จังหวัดนี้ดังที่กล่าวมา ภาพนี้แสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางมากมายในอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง รวมปริมาณความจุ ๑๘.๖ ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นคือเรามีน้ำอยู่ครับ แต่เราไม่มีทาง ไม่มี ที่ให้น้ำไป เมื่อเอ่อล้นท่วมก็อย่างที่เห็นครับท่านประธาน ทีนี้มาดูปริมาณน้ำในเขื่อน ของภาคเหนือครับ เขื่อนที่เต็มความจุแล้วมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลที่จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ยังต้องการปริมาณน้ำสำรองอีกมาก น่าแปลกใจไหมครับเรายังต้องการปริมาณน้ำเติม ในเขื่อน แต่กลับไปท่วมที่บ้านเรือน ใกล้ความจริงแล้วครับ และเมื่อตรวจสอบสถานี น้ำต่าง ๆ เพื่อวัดระดับเทียบกันกับแนวตลิ่งทุกจุดปกติ ยกเว้นที่สถานีแม่น้ำวังเท่านั้น มาถึงตรงนี้สามารถสรุปได้ทันทีครับท่านประธานว่าแม่น้ำวังมีสถานะตื้นเขิน หากไล่ตั้งแต่ ต้นสายจนถึงปลายสายของลำน้ำ จากข้อมูลไม่มีการขุดลอกมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ดังนั้น ที่กล่าวมาข้างต้นลำน้ำรับการไหลได้ ๔๐๐-๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปริมาณที่ไหลมาคือ ๑,๑๓๖ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำมีมากแน่นอนนะครับ ประกอบกับการไม่ได้ขุดลอก เป็นเวลานาน ผมเชื่อว่าแม่น้ำวังในวันนี้รับได้แค่ ๓๐๐-๔๐๐ ลูกบาศก์เมตรเท่านั้นครับ แล้วน้ำส่วนเกินจะไปไหนได้นอกจากท่วมบ้านเรือน ไร่นาเกษตรกร สร้างความเสียหายให้กับ พี่น้องประชาชนนั่นเองครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
Slide สุดท้ายครับ อันนี้คือภาพที่เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ยังไม่หมดนะครับ แต่ว่ากรอบมันเล็ก ท่านประธานครับมวลน้ำมหาศาลขนาดนี้จะเอาไปไหนครับ จะเอาไปทิ้ง จะเอาไปสมทบกับแม่น้ำปิงที่ปากวัง แล้วก็ปล่อยให้มาท่วมภาคกลางอย่างนั้นหรือครับ ผมเสนอให้ผันไปช่วยในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากจะได้ไม่สูญเปล่าครับ คนจังหวัดตากบ้านผม ใน Zone แล้งก็ได้แต่เฝ้ามองน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องอภิปรายเรื่องนี้ คือเมื่อฝนเปลี่ยนทิศไม่ตกลงในพื้นที่ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำอย่างที่ตั้งใจ ย้ายไปตกยังพื้นที่ป่า เขา และอุทยานแห่งชาติ ทั้งในพื้นที่ จังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะจังหวัดลำปางที่อุทยานแห่งชาติแม่วะ ส่งผลให้ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา กระจายไปทุกทิศทุกทาง เหตุเพราะไม่มีที่กักเก็บน้ำ ไม่มีทางให้น้ำไป เราไม่มีแนวทางในการพาน้ำในที่แล้ง และยังปล่อยให้ท่วมจนเกิดวิกฤติ ซ้ำซากในทุกปี ที่กล่าวมาราษฎรหลายแสนคนรับเคราะห์กรรมนี้ และหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับ ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน ประชาชนทิ้งถิ่นฐานอยู่ไม่ได้ บางท่านแค่คิดจะกลับมา ทำการเกษตรที่บ้านก็เตรียมใจขาดทุนไว้ตั้งแต่จะกลับมาเลย ท่านประธานครับเรามาเปลี่ยน พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากโดยการนำน้ำส่วนเกินไปเติมในที่แล้งเถอะครับ ตัวอย่างอ่างแม่เชียงราย มีพื้นที่คาบเกี่ยวกันระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดลำปาง ปัจจุบันน้ำเต็มพิกัด แต่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์สักเท่าไร เมื่อฝนมา น้ำป่ามาก็เอ่อท่วมล้นบ้านเรือน เราสามารถเชื่อมโยงผ่องถ่าย น้ำจากแหล่งนี้ไปสู่พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากที่ตำบลโป่งแดงได้ ด้วยระยะทางเพียง ๑๖.๙ กิโลเมตรเท่านั้น แก้ท่วมได้ แก้แล้งได้ในคราวเดียวกันเลยครับ การขุดลอกแม่น้ำวัง ที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่นี้คือช่วยเปลี่ยนที่ตื้นเขินให้จำเป็นอย่างยิ่ง การขุดเพื่อเพิ่ม เพิ่มหาทางให้น้ำไป หาทางให้น้ำไปหาคนที่เขาต้องการ ให้น้ำไปในที่ที่จุดต้องการ การขุด แบบเหวี่ยงทิ้งที่ผ่านมาเอามาแปะไว้ข้างตลิ่ง ไม่เอาแล้วครับ ตรวจสอบยากมันส่อทุจริต ขอแบบขุดแล้วขนออกจะได้ตรวจสอบได้ ด้วยการตรวจสอบด้วยปริมาณดิน แบบนี้โปร่งใสดี ส่วนแนวตลิ่ง ๒ ข้างทางขอเสนอให้ออกแบบทำให้เป็น Riprap ครับ Boxes Gabion จำพวกคันดินทั้งหลาย ขอไม่เอาแล้วเพราะต้านทานกระแสน้ำไม่ไหว ทำทิ้งทำขว้าง สิ้นเปลืองงบประมาณครับท่านประธาน
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
สุดท้ายผมอยากจะขอเชิญชวนผ่านท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและข้าราชการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมใจตั้งใจแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนี้อย่างเป็นระบบ อย่างมีความหวังให้กับพี่น้องประชาชน ผมเองวันนี้มีโอกาสเข้าสภามาทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่า ๔ ปีข้างหน้า จะได้เข้ามาไหมอาจจะเป็นครั้งเดียวของผมก็ได้ แต่ผมแบกความหวัง แบกความฝันของ พี่น้องประชาชนผมมาเต็มบ้านเลยครับเพื่อมาพูดแทนเขาในวันนี้ ผมอยากเห็นการจัดการน้ำ ที่ร่วมมือกันตั้งใจทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้สักทีครับ ผมและพรรคก้าวไกล ยืนยัน ขอสนับสนุนเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ผู้เสนอญัตติด่วนทั้ง ๓ ท่าน ก็ได้เสนอเรียบร้อยแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิก ตอนนี้ฝ่ายค้านลงชื่อทั้งหมด ๒๒ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๓๔ ท่าน สัดส่วนยังไม่ได้เป็นถึงกับ ๒ ต่อ ๑ เพราะฉะนั้นผมจะเรียกสลับกัน ๑ ต่อ ๑ ก่อน และเมื่อฝ่ายค้านไม่มีใครอภิปรายแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายรัฐบาลอภิปราย ต่อเนื่องกันในช่วงท้ายผมขอท่านแรกเลย ท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ พรรคก้าวไกลครับ
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง โดยจะขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ท่านประธานได้เห็นภาพ อย่างชัดเจนเพื่อที่จะสามารถส่งประเด็นนี้ให้กับทางคณะรัฐมนตรีได้แก้ไขต่อไป ขอ Slide ครับ
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ในพื้นที่ลำน้ำแม่ขาน น้ำจะเริ่มต้นจาก พื้นที่ราบสูงในอำเภอสะเมิง แล้วไหลเข้าสู่อำเภอสันป่าตองผ่านตำบลน้ำบ่อหลวง ตำบลบ้านแม ตำบลทุ่งสะโตก แล้วไหลบรรจบกับน้ำแม่วางที่ตำบลบ้านกลางก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก ของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นก็คือแม่น้ำปิงที่ตำบลท่าวังพร้าว ซึ่งพื้นที่ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น ท่วมทุกปีครับ ในปี ๒๕๖๕ ท่านประธานทราบไหมครับว่าท่วมกี่ครั้ง ๖ ครั้งด้วยกัน และในปี ๒๕๖๖ นี้ เดือนกันยายนเดือนเดียวท่วมไปแล้ว ๒ ครั้ง แน่นอนครับการเยียวยา เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว แต่ว่าประชาชนต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่ต้นเหตุ วันนี้ผมจึงขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไขโดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ส่วนแรก เมื่อปริมาณน้ำมหาศาลในทุก ๆ ปีแบบนี้เราต้องมีจุดรองรับน้ำครับ จัดทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลาย ๆ จุด หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าอ่างเก็บน้ำพวง โดยเริ่มต้นที่จุดแรกผมขอเสนอแนะจัดทำที่ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง ในพื้นที่นี้ จะมีฝายไม้ไล่ลอ ฝายคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเจอกับปัญหาฝายขาดอยู่แล้ว พอฝายขาดแล้วเป็นอย่างไร น้ำก็ไม่สามารถที่จะไหลเข้าสู่ประตูกรมชลประทานไปหล่อเลี้ยง ภาคเกษตรกรรมได้ ปัญหานี้ถูกทิ้งมานานหลายปี ผลกระทบต่อประชาชนนั้นมากมายมหาศาล ประชาชนต้องลงขันรวมเงินกันเองเพื่อที่จะไปซื้อไม้ยูคาลิปตัส ไปซื้อกระสอบทรายมาจัดวาง ทำแนวกั้นน้ำ และให้ทาง อบต. น้ำบ่อหลวง อบจ. เชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณเครื่องจักร ในการถมดินทำแนวคันดินชั่วคราวเพื่อให้ระดับน้ำมันสูงเพียงพอที่จะไหลลงสู่ประตูน้ำ ชลประทานได้ ในอดีตนั้นฝายนี้จะเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เมื่อกรม ที่เป็นเจ้าภาพถูกยุบไปทำให้ภารกิจนี้ถูกถ่ายโอนมายัง อบต. น้ำบ่อหลวงทันที ซึ่งแน่นอน การที่ถ่ายโอนเฉพาะภารกิจ แต่ไม่มีงบประมาณและบุคลากรแบบนี้ท้องถิ่นไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ต่อให้มัดรวมกันเลย อบต. ทั้งหมดของอำเภอสันป่าตอง แล้วก็ อบจ. เชียงใหม่ด้วยก็ยังไม่มี งบประมาณเพียงพอที่จะแก้ไขได้ ในจุดนี้เราต้องยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้ง ๒ ตัว โดยให้ กระทรวงมหาดไทยจัดงบประมาณในการซ่อมแซมฝายตรงนี้เพื่อ ๑. ให้มีน้ำใช้ในทาง เกษตรกรรมตลอดทั้งปี ๒. จัดทำอ่างกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยตรงนี้ เราสามารถใช้การออกแบบและการศึกษาจากกรมชลประทานได้ และให้ทาง กรมชลประทานศึกษาออกแบบและจัดทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมตามตำแหน่ง และปริมาณการกักเก็บน้ำที่ได้คำนวณไว้ การที่เราทำอ่างเก็บน้ำพวงแบบนี้มันไม่ได้ช่วยแค่ ปัญหาน้ำท่วมนะครับ แต่มันยังช่วยปัญหาน้ำเซาะดินพังทลายได้ด้วย ผมขอยกตัวอย่าง ให้เห็นภาพเป็น ๒ เหตุการณ์
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เหตุการณ์ที่ ๑ นั่นก็คือพื้นที่ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง อันนี้เป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนต้องลงขันกันเองรวมเงินกันเองอีกแล้วเพื่อจะแก้ไข ป้องกันไม่ให้บ้านของพวกเขาพังทลายไปกับน้ำป่าไหลหลาก เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง ว่านี่ใช่หน้าที่ของประชาชนหรือเปล่า
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เหตุการณ์ที่ ๒ ที่บ้านสันควงคำ ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง อันนี้หนักเลยครับ บ้านหายไปทั้งหลัง บ้านหายอย่างเดียวไม่พอถนนหายไปแล้ว แล้วเสาไฟฟ้าก็กำลังจะหายไปตามด้วย โดยสรุปแล้วน้ำเซาะดินทลายไปในแนวลึกกว่า ๒๐ เมตร และในแนวยาวกว่า ๑๐๐ เมตร ท่านประธานลองคิดภาพตามนะครับ ถ้าอยู่ ๆ วันหนึ่งบ้านพร้อมที่ดินของท่านประธานต้องถูกน้ำป่าพลัดพรากหายไป โฉนดที่ดินทั้งผืน ต้องกลายเป็นแม่น้ำ ท่านประธานจะรู้สึกอย่างไร นี่เรายังไม่ได้พูดถึงโครงการชลประทาน ของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ที่จะส่งน้ำจากคลองชลประทานลงไปสู่ พื้นที่น้ำแม่ขานอีกนะครับ ปัจจุบันอำเภอสันป่าตองยังไม่ใช่พื้นที่รับน้ำด้วยซ้ำไปแต่น้ำท่วม ทุกปี ขณะนี้ไม่อยากจะคิดว่าถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จโดยที่เราไม่ได้มีแผนการจัดเก็บน้ำใด ๆ เลยมันจะขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าทางกรมชลประทานเองไม่มีทางที่จะปล่อยให้พื้นที่ อำเภอสันป่าตองน้ำท่วมเพิ่มเติมขึ้น โดยไม่มีการจัดทำอ่างเก็บน้ำหรือระบบการเก็บน้ำ ใด ๆ เลย ในต้นน้ำแม่ขาน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมขอฝากท่านประธานกำชับไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงปัญหานี้ด้วย ฟังดูทั้งหมดแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับท่านประธานปัญหาดูเหมือนจะเร่งด่วนหรือเปล่า แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ปัญหาระบบข้อมูลก็หนักไม่แพ้กันครับ ในพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปีขนาดนี้เรากลับมีจุดวัดระดับ น้ำเพียงแค่จุดเดียว และจุดเดียวตรงนั้นก็ยังไปอยู่ที่ปลายน้ำก่อนที่จะปล่อยน้ำลงแม่น้ำ สายหลักอย่างแม่น้ำปิงอีกต่างหาก แล้วปัญหาเป็นอย่างไรล่ะ ประชาชนไม่สามารถประมาณ ค่าน้ำได้เลย ไม่มีทางรู้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าปริมาณน้ำจะมาเท่าไร และจะมาเมื่อไร อย่าว่า แต่ประชาชนเลยครับ เจ้าหน้าที่ของรัฐเองยังแจ้งกับผมเลยว่าไม่มีข้อมูล นี่เราทำงาน กันอย่างไร เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติงานอยู่หน้างานต้องทำงานเหมือนคนตาบอดแบบนี้ ได้อย่างไร
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมขอนำเสนอในส่วนที่ ๒ ในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ที่เราทำได้ทันที นั่นก็คือการจัดทำสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติม จุดแรกที่บ้านห้วยโท้ง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จุดนี้จะทำให้เราสามารถประเมินค่าระดับน้ำที่ ตำบลท่าวังพร้าวและตำบลบ้านกลางได้ล่วงหน้า ๓ ชั่วโมง และจุดที่ ๒ ที่จุดชมวิว น้ำแม่ขาน อำเภอสะเมิง จุดนี้ก็ทำให้เราสามารถประเมินราคาค่าน้ำได้ล่วงหน้า ๖ ชั่วโมง เช่นกัน เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็ก ๆ แบบนี้แต่มันส่งผลคุณูปการกับประชาชนได้มากกว่า ๑,๐๐๐ ครัวเรือนนะครับ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เราจำเป็นต้องทำให้ได้เพื่อเราจะได้มีสถานี วัดระดับน้ำที่ประเมินระดับน้ำและประเมินปริมาตรอัตราการไหลของน้ำให้ได้ เพื่อนำตรงนี้ ไปสู่ระบบการแจ้งเตือนต่อไปโดยใช้ระบบการแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ หรือว่า Cell Broadcast ที่สามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทุก ๆ คนในพื้นที่นั้น ๆ อ้างอิง จากเสาโทรศัพท์ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อไป โดยการส่งข้อความจะเป็นการส่งข้อความที่มีเสียง เรียกเขาหรือว่า Ringtone เฉพาะเสียง ประชาชนฟังเสียงแล้วจะรู้เลยนี่คือการแจ้งเตือน ภัยพิบัติ และมีการใช้ภาษาในข้อความการแจ้งเตือนเฉพาะตามเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องนั้น ๆ ไปด้วย ระบบตรงนี้ผมได้มีการอภิปรายกับทาง กสทช. ไปแล้ว และก็ ได้อภิปรายกับนายกรัฐมนตรีในวันแถลงนโยบายไปแล้ว ผมจึงขอฝากท่านประธานกำชับ ทางคณะรัฐมนตรีให้บรรจุวาระนี้ในการประชุมครั้งต่อไปด้วย และวันนี้ขอฝากเพิ่มเติมไปยัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้เร่งจัดทำ แนวทางการปฏิบัติเพื่อประสานทาง กสทช. ให้ประสานต่อไปยังผู้ประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย มันต้องมีมานานแล้วครับท่านประธาน ระบบนี้มันต้องมีให้ได้ภายใน ปีนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้มันถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องไม่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากแบบนี้เกิดขึ้น อีกต่อไป ปัญหานี้ไม่ช้าก็นานมันก็ต้องแก้ไขอยู่ดี แล้วทำไมเราไม่แก้วันนี้ไปเลยละ จัดทำ อ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากแล้วให้ประชาชนได้ใช้ในฤดูแล้ง เอาน้ำไปใช้ในทาง เกษตรดีกว่าปล่อยให้ไปท่วมบ้านประชาชนได้รับความเสียหายแบบนี้ เราแค่บริหารน้ำ ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แล้วแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ผม นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่น ก็ต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ ท่านที่กรุณายื่นญัตติด่วนภัยพิบัติ น้ำท่วมขึ้นในวันนี้ ซึ่งวันนี้ท่านประธานครับ จากข่าวที่ท่านประธานเคยดูใน TV ก็ดีครับ วันนี้จังหวัดอุบลราชธานีน้ำท่วม วันนี้น่าน้อยใจแทนพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผมเกิดมา ๔๖ ปีแล้วครับ น้ำก็ท่วม ๔๖ ครั้ง น้ำท่วมทุกปีที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ไม่เคย มีรัฐบาลใดเหลียวแลพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเลย เพื่อจะไปแก้ไขปัญหาให้ พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีให้ยั่งยืนครับ ปีที่แล้วน้ำท่วม ๑๐,๐๐๐ ครัวเรือน ปีนี้น้ำท่วม ๑,๔๐๐ ครัวเรือน มันไม่ได้อยู่แค่ว่าท่วมมากท่วมน้อย แต่มันท่วมทุกปีท่านประธานครับ สงสารพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่ต้องย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงทุกปี วันนี้พี่น้องชาวจังหวัด อุบลราชธานีเดือดร้อนครับ อยากขอให้ทางท่านประธานส่งถึงทางรัฐบาลครับ ขอความจริงใจ ที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ ไม่ใช่ว่าไม่มีโครงการใดที่จะแก้ไขปัญหาได้เลย จริง ๆ แล้วมีโครงการอยู่ ๒ โครงการที่ผ่านมาครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
โครงการแรก ก็คือโครงการผันน้ำมูลสู่แม่น้ำโขง ที่สมัยท่านทักษิณ ชินวัตร ทำไว้ครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
โครงการที่ ๒ ของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เคยมาขอที่สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๔ แต่ขอแล้วพอปฏิวัติเสร็จโครงการดังกล่าวหายไป หมดท่านประธานครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
วันนี้พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเดือดร้อนครับ ซึ่งการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ก็มีอยู่แล้วและปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี สส. ที่สนใจก็จะรู้หมดว่า แหล่งน้ำที่สำคัญ อย่างเช่นแม่น้ำมูลไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มากองไว้ที่อุบลราชธานี แม่น้ำชียาวที่สุดในประเทศไทยไหลมาจากชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร แล้วก็มาที่อุบลราชธานี พอมากองเสร็จที่อุบลราชธานี มันมีเขื่อนธรรมชาติเขื่อนหนึ่งที่ชื่อว่าแก่งสะพือช่วยกั้นน้ำไว้ไม่ให้น้ำไหลเร็ว ทำให้น้ำท่วม ทุกปี รู้ครับว่าปัญหานี้เกิดจากแก่งนี้จะระเบิดก็ไม่ได้ครับ ถ้าระเบิดแก่งนี้ออก ความเดือดร้อนมากขึ้น เพราะแก่งนี้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้น้ำหมดไปจาก อุบลราชธานี แก่งนี้ช่วยในหน้าแล้งที่อุบลราชธานีไม่เคยน้ำแล้งเลยครับ ทำการเกษตรได้ดี แต่โครงการที่ผมพูดกับท่านประธานไปคือโครงการแรกผันแม่น้ำมูลสู่แม่น้ำโขง เรียนท่านประธานว่าโครงการนี้แก้ไขปัญหาได้จริง แต่ใช้งบประมาณมหาศาลมาก แล้วก็ ยาวนาน ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมามีท่านรัฐมนตรี ๓ ท่านไปที่จังหวัดอุบลราชธานีไปดูวิธีการ แก้ไขปัญหา เจ้าของพื้นที่คือท่านเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปกับท่านธรรมนัส ไปกับท่านไชยา พรหมา ไปเสร็จปุ๊บไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีท่านเกรียง กัลป์ตินันท์ ช่วยคิดโครงการใหม่ขึ้นมาและโครงการนี้ใช้เงินน้อย แล้วก็ทำได้ เร็วด้วย คือทำอุโมงค์ลอดแก่งสะพือครับ และทำประตูน้ำไว้ด้วย หน้าแล้งแล้วปิด ถ้าเกิด อุบลราชธานีแก้ไขสำเร็จน้ำเลิกท่วมหลายจังหวัดจะได้อานิสงส์ไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ น้ำก็จะไม่ท่วมครับ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ก็จะไม่ท่วมด้วยครับ จะได้อานิสงส์ทั้งหมด กราบเรียนท่านประธานครับว่าวันนี้ ช่วยฝากเรื่องเหล่านี้ถึงรัฐบาลชุดนี้ถึงท่านเศรษฐา ทวีสิน ให้ท่านลงไปดูและไปช่วยดูแล พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากน้ำลดแล้วพี่น้องประชาชนยังได้รับการเยียวยา ไม่ทั่วถึงครับ ดูจากสมัยที่แล้ววันนี้พี่น้องประชาชนที่น้ำท่วมติดเกาะอยู่ที่บ้านคูเดื่อ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ก็ยังได้เงินไม่ครบ และบางหลังท่วมถึง หลังคาบ้าน แต่พอน้ำลดเสร็จปุ๊บได้เงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน เอาเงินไปซื้อกระสอบปูน ได้แค่กระสอบเดียวครับ วันนี้ความเป็นธรรมของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี มันไปไหน วันนี้กราบเรียนให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องที่จะดูแลความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนว่าจะเยียวยาหรือจะช่วยเหลืออะไรก็ช่างครับ วันนี้ต้องได้รับความเป็นธรรม ช่วยเหลือให้พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเราได้ลืมตาได้สักทีครับ ด้วยปัญหาน้ำท่วมนี้ เราลำบากครับท่านประธาน แต่โชคดีได้ยินข่าววันที่ ๖-๗ ตุลาคมนี้ท่านเศรษฐา ทวีสิน พร้อมคณะรัฐมนตรีหลายท่านจะลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถึงพื้นที่ครับ ก็กราบเรียนทุกท่านใครไปด้วยก็จะเห็นวรสิทธิ์อยู่นั่นนะครับ คอยรับ พี่น้องประชาชนพร้อมกับ สส. พรรคเพื่อไทยทุกคน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านชลธานี เชื้อน้อย ครับ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๓ พรรคก้าวไกล อำเภอเมือง อำเภอแม่เมาะ และอำเภอแม่ทะ ประสงค์ที่จะอภิปรายร่วมในญัตติน้ำท่วมในพื้นที่ ภาคเหนือ ท่านประธานครับเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าหลากเข้าท่วม บ้านเรือน ตัดเส้นทางสัญจร ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก น้ำป่ามาเร็วแรง และไป อย่างเร็ว แต่ทิ้งความเสียหายไว้อย่างมหาศาล อาทิตย์นี้ทราบว่าจะมีพายุเข้ามาอีก ครับท่านประธาน ชาวบ้านเพิ่งทำความสะอาดบ้านไป ยังไม่ทันจะเรียบร้อยต้องมาเฝ้าระวัง อีกว่าอาทิตย์นี้จะไปอยู่ตรงไหน นอนหลับไม่เต็มตา ผมว่ามาตรการสำคัญคือเราจะมีการเตือน ชาวบ้านอย่างไรให้ทันท่วงทีก่อนน้ำป่ามาถึง เมื่อต้นน้ำต้องอุ้มน้ำเป็นจำนวนมากน้ำถึงจะ หลากลงมา ผมเชื่อว่าหน่วยงานที่จัดการน้ำย่อมมีข้อมูล ย่อมมีสถิติ เราควรจะนำข้อมูล เหล่านั้นมาประเมินเส้นทางน้ำ ปริมาณน้ำฝน หรือจุดติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ซึ่งสามารถ ส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานหลักที่มีการบูรณาการร่วมกัน
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
ผมทราบมาว่าบางหน่วยงานก็มี Application แต่ว่าเป็นการเข้าถึงที่ยุ่งยาก มากครับ ต้อง Download เข้ามาในโทรศัพท์ส่วนตัว บางท่านพ่อแก่แม่เฒ่าอยู่ที่บ้าน คนเดียวใช้โทรศัพท์ 2G Download Application ไม่เป็น 3G ใช้ไม่เป็น เพราะฉะนั้น Cell Broadcast ควรจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เรานำเข้ามาสำหรับภัยพิบัตินี้นะครับ อย่างเพื่อนผม สส. ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ซึ่งก็อภิปรายในประเด็นของ Cell Broadcast ไป เมื่อ กสทช. เข้ามารายงาน ซึ่งปีนี้ ปี ๒๕๖๖ แล้วประสิทธิภาพของ Cell Broadcast ดีกว่า SMS ครับ ไม่ใช่แค่เหตุการณ์น้ำท่วม แต่เหตุการณ์ยิงกันที่ห้างสรรพสินค้า เมื่อวาน ก็สามารถใช้เทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาช่วยเหลือได้นะครับ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
อีกประการหนึ่ง นอกจากการแจ้งเตือนแล้วก็คือปัญหาสุขภาพที่มากับน้ำป่า น้ำหลาก น้ำท่วม สมาชิกหลาย ๆ ท่านในสภาแห่งนี้ก็คงทราบดีและมีประสบการณ์ การลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม ฉี่หนูเอย ฮ่องกงฟุตเอย สุขภาพอนามัยจากการกินเอย ผมเพิ่งไปลงพื้นที่มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังคันเท้าอยู่เลยครับท่านประธาน แต่พี่น้องประชาชนอยู่กับน้ำเกิน ๒๔ ชั่วโมง โรคที่ติดตามมาจะเป็นอย่างไร
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย การซ่อมแซมเยียวยา ผมจะขอเน้นแค่ประเด็น สาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน หรือตลิ่งที่ทรุด ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ พื้นที่ ก็ติดเขตป่าใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะได้ซ่อมแซม หรือบางที่อาจจะทำไม่ได้เลย เป็นไปได้หรือไม่ครับว่าเราจะมีคณะกรรมการในแต่ละจังหวัดที่อนุญาต อนุมัติ ให้มีการซ่อมแซมบนสาธารณูปโภคเดิมได้เลย โดยไม่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงาน ส่วนกลางเพื่อเป็นการลัดขั้นตอน หรือที่เราชอบพูดกันว่าเป็นการกิโยตีนกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานก็อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีการร่วมกัน ของหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลำปางหรือในจังหวัดอื่น ๆ ที่จะสามารถอนุมัติงบประมาณ ในการซ่อมแซมในพื้นที่เดิม เราต้องยอมรับครับว่าในพื้นที่เขตภาคเหนือหรือในพื้นที่ ของจังหวัดลำปางมีหลายที่พ่อแม่พี่น้องไม่มีเอกสารสิทธิในการใช้ชีวิตเป็นถิ่นที่อยู่ แต่มีถนน มีสาธารณูปโภค มีสะพานที่ใช้ในการสัญจรมากว่า ๔๐-๕๐ ปี แต่ว่า เมื่อเกิดอุทกภัย หรือเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทั้งที่เรามีงบประมาณ ปัญหาตัวนี้ต้องย้อนไปถึง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ พ.ร.บ. ป่าสงวน พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่นิยามว่าพื้นที่ใดที่ไม่มีเอกสารสิทธิถือว่าเป็นพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานในจังหวัด อบจ. อปท. เทศบาลตำบล ไม่สามารถและไม่กล้าที่จะอนุมัติ งบประมาณเหล่านี้มาแก้ไข กฎหมาย ๒ ตัวนี้ไม่ทันยุคทันสมัย ถึงเวลาสังคายนากฎหมาย เพื่อให้อำนวยความสะดวกกับประชาชน ถ้าให้พูด Case นี้อีก ๒ ชั่วโมงก็พูดได้ครับ เพราะฉะนั้นเฉพาะหน้านี้การให้พื้นที่โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว ควรให้อำนาจสั่งการกระจายอำนาจลงไป ท่านที่อยู่ส่วนกลาง อยู่กระทรวง จะไปรู้ดีเท่าคน ในพื้นที่ได้อย่างไร ฝากถึงรัฐบาล แม้ท่านเพิ่งจะมาเป็นรัฐบาล แต่เราทุกคนทราบปัญหาเหล่านี้ดี ในสภาชุดที่แล้วก็มีหลายท่านอภิปรายไว้เป็นอย่างดี ปัจจุบันหลายท่านก็ไปเป็นรัฐมนตรี ขอให้นำสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางปฏิบัติ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ขอสรุป ๓ ประเด็นสั้น ๆ ๑. การเตือนภัยล่วงหน้า ๒. ภาวะ สุขภาพของประชาชนที่ประสบภัย และ ๓. การกิโยตีนกฎหมายและขั้นตอนในพื้นที่ เขตภัยพิบัติ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านประเสริฐ บุญเรือง ครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ บุญเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๖ พรรคเพื่อไทย ขอขอบคุณผู้เสนอญัตติเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหา อยู่ในหลายพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ของผมก็โดนปัญหานี้นะครับ ด้วยเหตุพื้นที่ของผมอยู่ใน บริเวณเทือกเขาภูพาน ภูสีฐาน ในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอนาคู อำเภอห้วยผึ้ง ซึ่งเป็นเขตต้นแม่น้ำลำพะยังในบ้านดงหมู ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง แม่น้ำลำพะยังมีความยาวทั้งหมด ๒๒๕ กิโลเมตร ผ่านอำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุฉินารายณ์ ไปอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเสลภูมิ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดยโสธร บรรจบกับ แม่น้ำชีที่จังหวัดยโสธร
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ในพื้นที่ กระผมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วม แต่ว่าปีนี้มาแปลก ท่านประธานครับ ต้นเดือนกันยายน ๓ วัน ๓ คืนท่านประธานน้ำท่วมเกือบเต็มพื้นที่ จนท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ยืนดู Slide ที่เห็นอยู่ในนี้ ท่านออกไปในพื้นที่จังหวัด ขอนแก่น ท่านเห็นข่าวที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ในพื้นที่ของผม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่แถบ พื้นที่สูงยังเจอปัญหาขนาดนี้ ท่านเห็นแล้วท่านได้มอบให้ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนนะครับ ก็ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการที่เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านประธานครับ ในพื้นที่ที่พวกผมที่ว่าต้นน้ำเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำวังคำเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เป็นแม่น้ำลำพะยัง ๒๒๕ กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่จังหวัดยโสธรนั้นปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็คือปัญหา แม่น้ำตื้นเขิน สถานที่กักเก็บน้ำยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น เวลาฝนตกมา ผลกระทบน้ำท่วมเหมือนกับน้ำหลาก ๓-๔ วันจบออกไป ปัญหาเรื่องพืชผลทางการเกษตร เสียหายมันก็จะเป็นบางส่วน และบางจุดที่ได้รับผลกระทบคือที่ต่ำเท่านั้น แล้วทีนี้เมื่อมันไหล ไปรวมกันแล้วไปออกอยู่ที่อำเภอเสลภูมิ อำเภอเสลภูมิรับน้ำจากแม่น้ำลำพะยังเต็ม ๆ นี่ละครับคือปัญหาที่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าการแก้ไขปัญหาปกติแก้ไขปัญหา ก็แบบเดิม ๆ เพราะว่าอะไร มองลักษณะทางภูมิศาสตร์น้ำอยู่ที่สูงมันก็ต้องไหลลงไปอยู่ที่ต่ำ อยู่แล้วนะครับท่านประธาน แต่ว่าเราทำอย่างไรในปัญหาที่เกิดขึ้นคือแม่น้ำตื้นเขิน จำเป็นนะครับ ผมเสนอแนะไว้ว่าเราก็ต้องขุดลอกแม่น้ำลำพะยังที่ในส่วนของตื้นเขิน แล้วก็ ทำฝายเป็นช่วง เป็นช่วง เป็นช่วงไว้ เพื่ออะไร เพื่อชะลอน้ำที่น้ำไหลแรงไปมาก ชะลอน้ำ ไม่ให้ไหลไปถึงเร็ว ๒ วันถึงอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง ๒๐๐ กว่ากิโลเมตรนี้ ผมบอกว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ผลกระทบจากแม่น้ำลำพะยังไปสู่แม่น้ำชี แล้วแม่น้ำชีก็ไปสู่ แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานีอย่างที่ท่าน สส. อุบลราชธานีท่านกล่าวถึงก็รับน้ำเต็ม ๆ นี่คือการแก้ไขปัญหาถ้าเราขุดลอกทำฝายไปแล้ว แล้วก็พยายามจะแก้ปัญหาในส่วนที่เป็น ทั้งแก้มลิง เป็นอ่างเก็บน้ำเราต้องทำ พวกผมเสนอการก่อสร้างเข้าไป ๑๐ กว่าปีที่เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร อ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ๑๐ กว่าปีมีแต่ทำเรื่อง ทำ EIA แล้วก็ทำ EIA ปีที่ ๑ ปีที่ ๒ แล้วก็มีปัญหาในพื้นที่หรือเปล่า แต่ว่าไม่จัดตั้งงบประมาณเข้าไปใช้ อ่างขนาดกลางเก็บน้ำได้หลายสิบล้านลูกบาศก์เมตร เกือบ ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเอาตรงนั้นเข้ามาน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อยไหลลงมาสู่แม่น้ำยังตรงที่บ้านบอนเขียว ถ้าน้ำไม่มาปุ๊บกักเก็บได้เป็น ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วแก้มลิงต่าง ๆ ทั้งอ่างเก็บน้ำ แล้วแก้มลิงที่จะทำการก่อสร้างไม่ว่าหนองมะง๊อง หนองแจนแลน พื้นที่ ๑๕๐-๒๐๐ ไร่ ถ้าแก้ปัญหาอย่างนี้เราจะไม่ได้เห็น เราจะไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาเดิม ๆ แต่ปัจจุบันถ้าท่าน ได้เห็น เดี๋ยวปัญหาที่ต้องเจอก็คือ ๑. น้ำท่วมขึ้นมาประชาชนมีปัญหาเราก็ไปแจกของ แจกของ ล่องเรือล่องเรือ ไปถ่ายรูปถ่ายรูปลง Facebook แล้วก็กลับ นี่ครับปัญหาวนไปวนมา ไม่มีจบสิ้นเพราะอะไร เพราะว่าต้นน้ำเราไม่แก้ กลางน้ำโดนแน่ ปลายน้ำไม่ต้องถามถึง จังหวัดอุบลราชธานีรับเต็ม ๆ ณ ปัจจุบันนี้ จังหวัดยโสธรในพื้นที่ของท่าน สส. บุญแก้วรับน้ำ จากแม่น้ำลำพะยังและแม่น้ำชีเข้าไป ท่าน สส. สุรชาติ แม่น้ำมูลก็รับไปเต็ม ๆ จนไปถึง อุบลราชธานี ถ้ารูปแบบการแก้ปัญหาผมบอกว่าผลกระทบมูลค่าความเสียหายที่มันเกิดขึ้น อย่างเช่น ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เอาปัญหามูลค่าความเสียหายมาแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ มาก่อสร้างฝาย รับรองไม่ต่ำกว่าได้ร้อยฝายพันฝาย แก้ปัญหากักเก็บน้ำให้น้ำไหลลงไป ช้าที่สุด แล้วก็เก็บน้ำขุดลอกอะไรต่าง ๆ เก็บกับน้ำ ผมว่ามีความเชื่อว่าสามารถที่จะ แก้ปัญหาได้ เรื่องอย่างนี้มันต้องทำ ผมฝากถึงรัฐบาล ถามว่าความห่วงใยของรัฐบาลนั้น มีแน่นอน เพราะว่าเกิดปัญหาขึ้นท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็ให้ท่านรัฐมนตรีว่าการธรรมนัส เข้าไปดูแลพื้นที่ของผม แต่ว่าพื้นที่ของผมเป็นแหล่งที่ผลิตข้าวเหนียวอันดับหนึ่งของโลก ก็คือข้าวเหนียว GI ที่เขาเรียกว่าข้าวเหนียวเขาวง พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร เพราะว่ามันไหลหนีแล้วเป็นน้ำหลากเข้าไป ๓-๔ วัน แต่ว่าคนที่ได้รับเต็ม ๆ ก็คือด้านล่าง ฉะนั้นจึงเรียนฝากรัฐบาลปัจจุบัน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ ต้องดูที่ต้นน้ำ ถ้าต้นน้ำแก้ปัญหาได้สำเร็จ กลางน้ำก็จะไม่มีปัญหา เมื่อกลางน้ำไม่มีปัญหาแล้วปลายน้ำก็บรรเทาเบาบางลง จึงเรียนมาเพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบ ปัญหาที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณด้านซีกของอำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสยพื้นที่ของ จังหวัดกาฬสินธุ์เดี๋ยวนี้อยู่ตะเข็บแม่น้ำชีรับเต็ม ๆ เหมือนกันท่านประธาน ทุกปีมีปัญหา ลักษณะนี้ จึงฝากไว้ว่าการแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ต้องเอาใจใส่ แล้วมองมิติ แล้วให้ทะลุต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำให้สำเร็จลุล่วงอย่างแท้จริงนะครับ ด้วยความเคารพท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ครับ
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพี่น้องลำปาง เขต ๔ อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก อย่างที่ทราบกัน พี่น้องลำปาง โดยเฉพาะลำปาง Zone ใต้บ้านดิฉันได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม บ้านเรือนเสียหายหนักทุกอำเภอที่กล่าวมา ดิฉันจึงขอร่วมอภิปรายในวันนี้ค่ะ แต่ก่อนอื่น ที่จะอภิปรายดิฉันต้องขอชื่นชมพ่อเมืองแม่เมืองจังหวัดลำปางนะคะ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านชัชวาลย์ ฉายะบุตร และท่านตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้เข้าพื้นที่ประสบภัยเป็นหน่วยงานแรก ๆ และนอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึง ปภจ. หน่วยงานอาสากู้ภัยต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่หน้างานที่ปฏิบัติงาน อย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบค่ะ แต่กระนั้นแล้ว ดิฉันก็ยังเล็งเห็นการบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้ภาระงานที่หนักหนาสาหัส ต้องมาตกอยู่กับผู้ที่ปฏิบัติงานหน้างาน
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นแรก เรื่องของการแจ้งเตือนภัยของศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่แม่นยำ ขออนุญาตยกตัวอย่างจากพื้นที่ของดิฉันจากที่สังเกตได้ และเชื่อว่าข้อสังเกตนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ คือศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประจำจังหวัดลำปางมีหอแจ้งเตือนภัยเพียง ๒ หอ ซึ่งขั้นตอนการแจ้งเตือนภัย ก็คือให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เมื่อข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ส่งมาเจ้าหน้าที่ก็จะส่งผ่านไปยังระบบ Next Gen และหัวหน้า ปภ. จังหวัดก็จะต้องนำเสนอ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขั้นตอนเหล่านี้มันช้านะคะท่านประธาน การแจ้งเตือนที่ล่าช้า น้ำมาตอนตีสอง ตีสาม แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปที่พื้นที่เกิดเหตุก็ปาเข้าไป ๑๐ โมง ๑๑ โมงแล้วค่ะ สุดท้ายบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายหลายร้อย หลังคาเรือนท่วม บางตำบลท่วมทุกหมู่บ้าน แล้วอย่างไรคะประชาชนจะต้องเผชิญ ชะตากรรมจากการรอสัญญาณเตือนภัยที่ล่าช้าแบบนี้หรือคะ นอกจากล่าช้าแล้วยังไม่ตรงกับ ข้อเท็จจริง ศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไม่มีการประกาศเตือนแจ้งต่อประชาชนให้ทราบ ล่วงหน้าเลย
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
จากข้อมูลของ Page ในวันที่ ๒๙ กันยายนที่ผ่านมา น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา ที่ตำบลแม่มอก และตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน ที่ตำบลสบปราบ ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ แต่รายงานหน้า Page ยังแจ้งว่าสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติดี แม้กระทั่งรายงานตอนเย็น เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ก็ยังไม่รายงานตรงกับความเป็นจริง ยังรายงานว่าน้ำขึ้นสูงเล็กน้อย แต่ท่วมไปแล้ว ๓ อำเภอ คืออำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่าแย่แล้ว อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. ต่าง ๆ ไม่ได้รับการแจ้งเตือนเช่นเดียวกัน ทำให้หน่วยงานที่ต้อง เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ควรแล้วหรือไม่ที่เราควรจะต้อง ปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเหล่านี้ให้มันดีขึ้นกว่านี้
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของพื้นที่ที่ท่วมซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในอำเภอเกาะคา ที่ตำบลลำปางหลวงได้รับน้ำระบายมาจากลำแม่น้ำตาล จากตำบลปงยางครก อำเภอห้างฉัตร ไหลมาเพื่อรอการระบายลงสู่แม่น้ำวัง น้ำจากลำน้ำเข้ามา ๖-๗ เมตร ขนาดของลำน้ำ แต่มาเจอท่อระบายน้ำที่เป็นคอคอดอยู่ที่ตำบลลำปางหลวงขนาดเพียง ๑.๕ เมตร ไม่พอ ในท่อเต็มไปด้วยทรายและเศษขยะแล้วน้ำจะไปไหน เข้าท่อไม่ได้ก็เอ่อล้นท่วมเข้าหมู่บ้าน บ้านม้าทั้ง ๓ หมู่บ้าน และอื่น ๆ อีก แล้วท่วมไม่ใช่เพียงแค่เขตดิฉันยังท่วมย้อนกลับไปที่ อำเภอห้างฉัตรอีก อีกบริเวณหนึ่งที่มีเทศกาลน้ำท่วม ก็คือที่แม่เชียงรายบนเขตติดต่อ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ตรงนี้ก็เป็นลุ่มน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำวัง พื้นที่เหล่านี้ท่านประธาน ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเลย ท่วมก็ท่วมทุกปีจนชาวบ้านบอกดิฉันว่า มันท่วมเป็นเทศกาลแล้วค่ะ สส.
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องของการเยียวยา การอพยพ การหาแหล่งพักพิง และการช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร ตลอดจนเรื่องของการเดินทางของราษฎร ไม่มีเลยค่ะ กว่า ปภ. จะเข้ามา เมื่อเวลาน้ำท่วมท่วมในหลายพื้นที่เขตของดิฉันมี ๕ อำเภอ ท่วมทุก อำเภอ การช่วยเหลือเข้าไปไม่ทัน ไม่มีการเตรียมการทำงานเชิงรุกเลย ตลอดจนโรคระบาด ที่มากับน้ำตอนนี้ก็ยังไม่เห็นทางสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ เลย การเยียวยาต่าง ๆ มีขั้นตอนมากมายล่าช้าและไม่ทันต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่าง ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองจ่ายราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินจะต้องมีขั้นตอนให้ อปท. ส่งเรื่องขึ้นไปให้อำเภอ ถ้ามีเงิน ก็ช่วยเหลือเยียวยากันไป ถ้าไม่มีก็ต้องส่งให้ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาแล้วก็มาช่วยเหลือต่อไป กว่ามันจะส่งเรื่องกลับมาพี่น้องประชาชนไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้นะคะท่านประธาน เหล่านี้มันเป็นการบรรเทาสาธารณภัยมันไม่ใช่การป้องกัน เพราะถ้าการป้องกันจะต้องมี ระบบ ระเบียบ มีประสิทธิภาพกว่านี้มันจะต้องมีการทำงานเชิงรุกร่วมเข้ามาด้วย และเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ให้ต้องเจอกับเทศกาลน้ำท่วม เทศกาลที่แสน เจ็บปวดเหล่านี้อีก ดิฉันจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คือให้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมให้ชุมชนได้มาร่วมออกแบบให้มันเข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงควรจะเข้าไปเร่งพัฒนาระบบนี้
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ คือเรื่องของการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน ราชการ ดิฉันไปลงพื้นที่มาทุกอำเภอของดิฉันไม่มีศูนย์ปฏิบัติการ การช่วยเหลือต่าง ๆ แยกกันทำ หน่วยงานใครหน่วยงานมัน อาสากู้ภัยก็ทำไปอย่างหนึ่ง หน่วยงานเอกชนก็ทำ ไปอย่างหนึ่งดูแลกันไปตามมีตามเกิด
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
สุดท้ายการสร้างทุ่งรับน้ำที่ไม่ใช่ทุ่งรับกรรมในหน้าน้ำที่มีน้ำเข้ามา จำนวนมากควรจะต้องมีการหาพื้นที่ให้น้ำมีทางที่อยู่มีทางที่จะไป คือให้มีทุ่งระดับน้ำ มีการจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียโอกาสในการทำการเกษตร และนอกเหนือจากหน้าน้ำหลาก ควรจะมีการประกันราคาพืชผลเกษตรเผื่อว่าในกรณีที่น้ำยังเข้าทุ่งอยู่แต่ว่ามันเป็นการทำ เกษตรของพี่น้องเกษตรกร และนี่ก็คือข้อเสนอของดิฉันที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วม อภิปรายของดิฉันในครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายค่ะ เพราะว่าพี่น้องประชาชน เดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้มาเยี่ยมสภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ทางฝ่ายวิชาการได้พิมพ์เอกสารมาอยู่ ๕๐ ชุด เดี๋ยวแจกให้ ท่านได้เป็นข้อมูลประกอบการอภิปราย ตอนนี้ปิดรับท่านสมาชิกที่จะมาลงชื่ออภิปราย เพราะว่าตอนนี้มีอยู่ ๕๐ ท่าน ก็ขอปิดรับนะครับ ต่อไปท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ เชิญครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้เรามาพูดปัญหาน้ำท่วม ท่านประธานครับ น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคม เดือนกันยายน เดือนตุลาคม ก็จะท่วมแถวภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอมาเดือนธันวาคมปลายปีหรือต้นปีก็จะลงไปท่วมที่ภาคใต้ เกิดอย่างนี้ทุกปี ผมเชื่อว่าต่อเนื่องมา ประเทศไทยเสียงบประมาณเกี่ยวกับเรื่อง ในการเยียวยาดูแลรักษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนไม่มีที่สิ้นสุดครับ ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุ ไม่มีทางหรอกครับที่เราจะแก้ไขปัญหาได้ วันนี้ ทุกรัฐบาลผมเชื่อว่าเราแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ผมมาดูข้อมูลในช่วงปี ๒๕๕๔ เกิด การน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ผมเชื่อว่าท่านประธานคงจำได้ ในปีนั้นเกิดจากฝนตกมาก น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถที่จะรองรับน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือได้ เกิดจากอะไรครับ เกิดจากน้ำบนภูเขาในพื้นที่ หรือที่เราเรียกว่าเขาหัวโล้น หรือพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ ไหลบ่าลงมา อย่างรวดเร็ว เราจะมีเขื่อนกี่เขื่อน มีอ่างเก็บน้ำกี่อ่างก็ตาม ถ้ามันเต็มน้ำจะไปไหนล่ะครับ ก็ต้องปล่อย ปล่อยลงปิง วัง ยม น่าน ลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก้นเจ้าพระยาอยู่ที่ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถที่จะรองรับน้ำที่ไหลได้ วินาทีละไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือเราเรียกว่า ๓,๐๐๐ คิวเซก แต่ในปีนั้นปรากฏว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีถึง ๕,๐๐๐ คิวเซก เกินมา ๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีโครงการหรือมีนโยบายที่จะสร้าง Floodway ขอภาพด้วยครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
มีโครงการที่จะสร้าง Floodway เห็นไหมครับ ๒ ข้างทางคือของแม่น้ำเจ้าพระยา เราเรียกว่าฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อที่จะระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างละ ๑,๐๐๐ คิวเซก เพื่อให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำที่ท่วมก็จะเกิดจากน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นขึ้นมา วันนี้โครงการนี้ยังไม่เกิด เพราะว่าน่าเสียดายเกิดการปฏิวัติเสียก่อน ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีปฏิวัติโครงการนี้รัฐบาล นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ทำเสร็จแล้วครับ ไม่ใช่จะมี Floodway อย่างเดียว เป็นทาง ระบายน้ำอย่างเดียวหรอกครับ ๒ ข้างทาง Floodway ยังมีถนนจากภาคตะวันตก ไปภาคเหนือ แล้วจากภาคตะวันออกไปภาคเหนืออีกด้วย โครงการนี้เป็นโครงการที่ พรรคเพื่อไทยเสนอเป็นนโยบายข้อ ๘ วรรคสอง ไว้ ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิดกับรัฐบาลนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของคนภาคกลางและกรุงเทพฯ รวมทั้งคนปริมณฑลด้วยครับ ทีนี้น้ำท่วมเกิดจากการไหลลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่สูงหรือพื้นที่เขาหัวโล้น สาเหตุก็คือป่าไม้ ถูกทำลาย ผมขออนุญาตที่จะเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวและยั่งยืนนะครับ เราจะได้ไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาระยะสั้นทุกปี ๆ ที่เกิดอย่างนี้นะครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
อันดับแรกเลยครับ โครงการแรกที่ผมจะเสนอ คือโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ เวลาฝนตกนะครับ พื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้หรือไม่มีสิ่งกีดขวางนี่น้ำก็จะไหลลงมาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือจะพัดพาตะกอน หรือเกิด Erosion หน้าดินลงมาอย่างรวดเร็วครับ น้ำที่ท่วม จะเห็นว่ามีสีขุ่น มีตะกอนตามมาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหน้าดินถูกพัดพาจากน้ำทุกปี ๆ ดินก็จะเสื่อมคุณภาพ เวลาประชาชนจะไปปลูกพืชหรือทำการเกษตรดินก็เสื่อมสภาพ ก็จะต้องใช้ต้นทุนในการปรับปรุงดินอีกจำนวนมหาศาล ถ้าเราสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ น้ำไหลช้าลงน้ำก็จะซึมลงดิน ก็จะเป็นชั้นน้ำบาดาล ประชาชนก็ยังมีโอกาสที่จะได้ใช้ในฤดูแล้ง เห็นไหมครับท่านประธาน อันนี้คือฝายต้นน้ำที่ชาวบ้านเขาอุทิศตน สละเงินช่วยกันสร้างครับ หรือเรียกว่าฝายประชาอาสา ผมอยากจะเสนอรัฐบาลให้สร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อให้ น้ำไหลลงในพื้นที่ต่ำหรือพื้นที่ราบให้ช้าที่สุด
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
โครงการที่ ๒ คือการปลูกหญ้าแฝก เห็นไหมครับหญ้าแฝกเป็นพืชที่ราก จะลึก ๒-๓ เมตรเลย เมื่อรากลึกก็จะยึดหน้าดินไว้ จะทำให้การพังทลายของหน้าดินน้อยลง สิ่งตามมาคือในระบบรากเวลาฝนตกมาน้ำก็จะซึมลงไปในระบบรากของหญ้าแฝก อีกด้วย อันนี้ก็จะเป็นการช่วยนะครับ ช่วยลดทอนน้ำฝนที่จะไหลลงมาสู่พื้นล่าง หรือในบ้านเรือนที่ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบด้วย ถ้าเราปลูกหญ้าแฝกกันการพังทลาย ของหน้าดินนะครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย คือการฟื้นฟูสภาพป่าบนพื้นที่เขาหัวโล้น ถ้าเรามีพื้นที่ป่า ทางภาคเหนือหรือในจังหวัดใด ๆ ก็ตามที่เป็นภูเขาหัวโล้นหรือเป็นพื้นที่สูง ถ้าเราปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ผมเชื่อว่าการไหลของน้ำ เมื่อฝนตกลงมาก็จะช้าลง ป่าจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ ๑. น้ำจะซึมลงใต้ดิน ๒. การไหลของน้ำก็จะช้าลง พื้นที่ที่ประชาชนอยู่ บ้านเรือนอยู่ใน พื้นที่ราบหรือข้างล่างนี่น้ำก็จะท่วมช้าลง เพราะฉะนั้นป่ามีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถที่ กักเก็บน้ำได้จำนวนมหาศาล วันนี้จากข้อมูลของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ป่าของประเทศไทยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเทียบง่าย ๆ ก็ประมาณ ๔ เท่าของเขื่อนภูมิพลนะครับ ถ้าเราช่วยกันสร้างป่า ปลูกต้นไม้ ผมเชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมที่เราแก้ไขกันทุกปีก็จะหมดไป เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ท่านประธานครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชิญครับ
นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๖ อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วก็อำเภอแม่จันค่ะ วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสได้ร่วมอภิปรายกับ เพื่อนสมาชิก ญัตติเกี่ยวกับน้ำท่วมในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสำหรับดิฉันเองได้มีโอกาสได้นำเรื่อง น้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่เขตอำเภอแม่สาย แล้วก็อำเภอแม่จันมาในช่วงที่หารือความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้วนะคะ แล้วก็วันนี้ก็เป็นโอกาส อีกครั้งหนึ่งที่จะมีโอกาสได้สื่อสารกับท่านประธานอีกครั้งหนึ่งนะคะ ขอ Slide ด้วยนะคะ
นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ
จากสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วม ฉับพลันในเขตพื้นที่เชียงราย อำเภอแม่สาย แล้วก็อำเภอแม่จันนะคะ ในอำเภอแม่สาย จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้จะอยู่ที่ทางฝั่ง ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็คือประเทศเมียนมา แต่ผลกระทบของการที่น้ำท่วมไหลหลาก ก็จะเกิดขึ้นทั้งฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของเราแล้วก็ฝั่งประเทศไทยด้วยนะคะ ซึ่งในการจัดการตรงนี้ไม่สามารถที่จะจัดการได้เพียงทางฝั่งรัฐไทยของเราเท่านั้น จะต้องประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจะเห็นการแก้ไขน้ำท่วมในทุก ๆ ปี ในวันนี้ ขณะที่ดิฉันได้นำเรื่องมาอภิปรายต่อท่านประธานที่เขตพื้นที่แม่สายอาจจะยังไม่มี การท่วมแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเฝ้าระวังในทุก ๆ เวลา ถ้าน้ำท่วมขึ้นมา หรือว่าขึ้นในระดับที่สูงขึ้นก็จะเตรียมตัวเพื่อจะขนย้ายของไว้ที่สูง แต่ก็ยังอยู่ในช่วง สถานการณ์ที่เกิดความกังวล เพื่อจะเป็นการแก้ไขต่อไปจึงได้นำเรื่องนี้มาร่วมอภิปรายกับ เพื่อนสมาชิก ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สายเองจะมีแม่น้ำสายแล้วก็แม่น้ำรวกที่เป็นแม่น้ำที่ใช้ ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทยของเรา ซึ่ง ๒ ฝั่งน้ำก็จะเกิดการท่วม ถ้าเป็น แม่น้ำสายก็จะท่วมในบริเวณตำบลแม่สายแล้วก็ไหลลงไปสู่เขตเทศบาลแม่สายมิตรภาพไปถึง ตำบลเกาะช้างของอำเภอแม่สาย เมื่อปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาการท่วมไหลหลากตรงนี้ สร้างความเสียหายให้กับครัวเรือนทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐ ครัวเรือน แล้วก็มีเทศบาล ตำบลแม่สายได้นำความช่วยเหลือมายังพี่น้องที่ประสบกับปัญหาตรงนี้ ซึ่งเราเห็นว่า ไม่อยากจะเห็นภาพของการต้องรองรับการเกิดปัญหาในทุก ๆ ครั้ง แต่เราอยากจะเห็น การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะว่าเห็นการจัดการได้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ น้ำท่วมในช่วงทุก ๆ ปีของช่วงฤดูฝน เมื่อน้ำท่วมหรือน้ำไหลหลากก็จะเกิดการพังทลาย ของตลิ่ง อันนี้เป็นภาพของน้ำท่วมในปีล่าสุดที่ผ่านมาที่ท่วมอย่างรุนแรงแล้วก็ยาวนานด้วย แล้วก็ดิฉันได้ลงพื้นที่ไปดู อันนี้เป็นแม่น้ำรวกที่เป็นอีกฝั่งหนึ่งที่มองข้ามไปก็จะเป็นฝั่ง ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลย แล้วก็เป็นด้านตลิ่งที่น้ำกัดเซาะเข้ามา ซึ่งทางเดินน้ำก่อน หน้านี้ไม่ใช่เป็นเส้นทางนี้จะเป็นเส้นที่เขยิบออกไปอีก ตอนนี้ทางฝั่งรัฐไทยก็ถูกน้ำกัดเซาะ จนเสียดินแดนไปบางส่วน ส่วนจุดตรงนี้จะเป็นจุดของตลาดสายลมจอยแล้วก็เป็นสะพาน ข้ามไปทางฝั่งประเทศเมียนมา จุดตรงนี้จะเป็นจุดที่ชาวบ้านจะสังเกตการขึ้นและลงของน้ำ ตลอดเวลา ซึ่งภาพนี้ดิฉันถ่ายเมื่อ ๒ เดือนที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันขึ้นมาประมาณขั้นบันไดแล้ว จาก Slide ที่ผ่านมาก็คือจะไม่มีสัญญาณการแจ้งเตือนใด ๆ เพราะว่าอย่างที่ดิฉันเรียนไปแล้ว ว่าต้นน้ำจะอยู่ทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่สามารถที่จะมีจุดสัญญาณ แจ้งเตือนใด ๆ มาถึงทางเราได้ เราเพียงแต่ต้องเตรียมการในการรับมือแล้วก็ ขนย้ายข้าวของเพื่อจะหนีน้ำเท่านั้น ส่วนตรงนี้เป็นภาพของตลิ่งที่เดิมทีแม่น้ำตรงนี้จะไม่ได้ กว้างขนาดนี้ แต่ถูกกัดเซาะมาเรื่อย ๆ จนพังไปเรื่อย ๆ แล้ว อันนี้เป็นภาพปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ ในปัญหาตรงนี้ดิฉันจึงมีข้อเสนอที่จะให้เห็น การแก้ไข ก็คืออยากจะเสนอเร่งรัดคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นหรือว่า TBC แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ให้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับประเทศเมียนมาเพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าวร่วมกับประเทศไทยโดยด่วน แล้วก็อยากให้ TBC ไทยควรจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ หรือว่าแผนการแก้ไขปัญหา ซึ่งให้ท้องถิ่นท้องที่ ภาคประชาสังคม แล้วก็พี่น้องในพื้นที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอชายแดนที่ติดประเทศเมียนมาได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แล้วอีก พื้นที่หนึ่งในเขตของดิฉันก็คือพื้นที่ตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน เป็นสภาพปัญหาน้ำท่วม ไหลหลากเหมือนกัน อันนี้เป็นภาพของขยะที่ไหลมาตามแม่น้ำจากฝั่งจากฝั่งเมียนมา ที่ไหลมาแล้วสุดท้ายก็มากองเอ่ออยู่ที่ทางน้ำของประเทศของเราตรงนี้ก็ยังต้องเป็นภาระ แล้วก็บทบาทหน้าที่ของทางท้องถิ่นของเราที่จะต้องไปเอาขยะขึ้นมา สร้างกลิ่นเหม็นด้วย อันนี้ก็จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในอำเภอแม่จันซึ่งเพิ่งท่วมไปก็คือเขตพื้นที่ตำบลแม่ไร่ ส่วนตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากมาจากข้างบนดอยอำเภอแม่ฟ้าหลวง แต่ว่า ส่วนตรงนี้จะเป็นส่วนกลางน้ำ และหลังจากถ้าตรงนี้ท่วมเสร็จก็จะไหลลงไปสู่ปลายน้ำ ก็จะท่วมต่อไปยาว ๆ กันไป เพราะฉะนั้นดิฉันจึงอยากจะเสนอให้มีการแก้ไขในเรื่อง ของการจัดการระบบน้ำอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ แล้วก็ปลายน้ำ แล้วก็พื้นที่ ที่มีผลกระทบในเขตเส้นน้ำนั้น ๆ ถ้าอยู่ในพื้นที่ของประเทศของเรา เพราะว่าไม่เพียงแต่ หน้าฝนน้ำจะท่วมแล้ว หน้าแล้งก็ยังขาดน้ำด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นดิฉันจึงขออภิปราย แล้วก็เสนอไปยังท่านประธานให้มีการได้ขับเคลื่อนแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ดิฉัน ขอฝากเพียงเท่านี้ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง เชิญครับ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ วันนี้ขออนุญาตที่จะอภิปรายถึงเรื่องของภัยพิบัติน้ำท่วม ท่านประธาน วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๖ เราได้อภิปรายในญัตติเรื่องของภัยแล้ง El Nino ไป เราก็ พยายามที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ข้อเสนอแนะกันต่าง ๆ นานา ๒ สัปดาห์ ผ่านมา วันนี้ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องน้ำท่วม ซึ่งกำลังเผชิญกันอยู่เยอะ มากเลย
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราแล้งซ้ำซาก แล้วเราก็ท่วมซ้ำซาก เรากำลังเผชิญอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้นวัฏจักรน้ำในประเทศไทย ปริมาณฝนตกต่อปีมันประมาณ ๗๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ฝนตกลงมา เรากักเก็บน้ำได้แค่เพียง ๙๐,๐๐๗ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ที่เหลือไปไหน ๕๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรไหลลงทะเลบ้าง ระเหยไปสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เติมไป ในชั้นบาดาลบ้าง พื้นที่การเกษตรของประเทศไทยประมาณ ๑๔๙ ล้านไร่ และพื้นที่ ชลประทานที่ดูแลได้ ๓๔ ล้านไร่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นชลประทานซึ่งมีอายุมาถึง ๑๒๐ ปี ก็ทำกันได้แค่นี้ ดังนั้นเราอาจจะต้องหาหนทางกันแล้วว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อจะแก้ปัญหา ไม่ว่าจะแล้งหรือจะท่วม ดิฉันขอเสนออย่างนี้ว่าดิฉันสนใจแล้วก็อยากจะนำเสนอถึงเรื่องของ ธนาคารน้ำใต้ดิน ธนาคารน้ำใต้ดินสามารถช่วยทั้งท่วมและแล้ง ถ้าแล้งเราสามารถเก็บน้ำ ใต้ดินและเอาน้ำนั้นมาใช้ในยามที่ขาดแคลน น้ำบาดาลขุดเพียงตื้น ๆ ก็เจอน้ำเสียแล้ว เพราะมันไปอยู่ในใต้ดิน น้ำท่วมก็ยังสามารถทำให้มันซึมผ่านลงไปยังใต้ดินได้ เวลาน้ำหลาก ก็ยังสามารถลดความรุนแรงของกระแสน้ำได้ ทีนี้มาดูรายละเอียดกันจากสิ่งที่ดิฉันเสนอ ธนาคารน้ำใต้ดิน ลักษณะของชั้นดินตามธรรมชาติจะมีชั้นดินอ่อน ชั้นแรกชั้นดินอ่อนคือ ผิวดิน ชั้นที่ ๒ ก็คือชั้นดินเหนียวซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ อย่างฉะเชิงเทราเองอาจจะ ชั้นดินเหนียวเยอะมากเลย ลึกมากเลย แต่บางที่ภาคอีสานหรือภาคเหนือก็อาจจะตื้น ๆ เท่านั้นเอง ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นหินอุ้มน้ำ ชั้นที่ ๔ คือกรวด ทราย ถ้าชั้นที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ มันก็คือชั้นหินอุ้มน้ำและถ้าต้องการเก็บน้ำก็ต้องไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำให้ได้นั่นเอง นี่คือ การทำธนาคารน้ำใต้ดินซึ่งมีทั้งระบบปิดแล้วก็ระบบเปิด ระบบปิดก็ทำไม่ได้ยากอะไรเลย สมมุติว่าเรากำลังพูดถึงพื้นที่ที่ธรณีวิทยานั้นไม่ได้ขุดลงไปลึกมากมายใส่ท่อระบายอากาศไว้ เอาหินก้อนใหญ่ ๆ ใส่ไว้เต็ม แล้วเราก็ใช้มุ้งสีฟ้า ๆ มาปิดแล้วจึงกลบด้วยหินก้อนเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้ผงต่าง ๆ มันลงไปได้ง่าย ความกว้างอาจจะแค่เพียง ๑ เมตร คูณ ๑ เมตร ลึก ๑ เมตรก็ได้ หรือว่าลึกกว่านั้นหน่อยก็ได้ บางที่ทำแค่นี้เองก็สามารถที่จะเป็นธนาคาร น้ำใต้ดินแบบปิดได้ ไม่ได้ใช้พื้นที่ใหญ่โตอะไรเลย แล้วก็ถ้าเป็นแบบปิดอยู่ข้างบ้านแค่เล็ก ๆ แบบนี้สามารถเก็บน้ำลงไปใต้ดิน เพราะฉะนั้นทำแบบนี้สามารถอยู่ตรงบริเวณซักล้างก็ได้ ทุกบ้านทำได้หมด
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
อันนี้เป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดอาจจะครึ่งไร่ ๑ ไร่ ทำไปจนกระทั่ง มันผ่านฝนไป ๑ ฝน น้ำใต้ดินมันขึ้นมาได้ด้วย ก็สามารถจะเอาน้ำนี้ไปทำนา ไปทำสวน ไปอะไรก็แล้วแต่ เดี๋ยวอีกไม่กี่ชั่วโมงหรือวันรุ่งขึ้นมันก็ขึ้นมาอีกท่านประธาน ท่านประธานคะอยากจะชวนดูภาพนี้ เป็นภาพของตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร น่าสนใจมากดิฉันไปเยี่ยมดูธนาคารน้ำใต้ดิน จุดขาว ๆ ที่เห็นอยู่นี้ จำนวน ๓,๐๐๐ จุดก็คือธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ซึ่ง ๑๒ หมู่บ้านของเขาทุกหลังคาเรือน ทำตามหมดเลย ขุดแบบเล็ก ๆ ๓,๐๐๐ แห่ง ทุกคนทำหมด เพราะฉะนั้นเขาไม่เจอกับปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง จุดสีเหลือง ๆ คืออะไร สีเหลือง ๆ คือธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิด จะครึ่งไร่ ๑ ไร่ก็แล้วแต่เขาก็มีด้วย เพราะฉะนั้นเขามีทั้งปิดและเปิด ท่านดูว่าจากมะละกอที่เขา ตอนแล้ง ๆ เขาปลูกได้แค่เพียง ๑๐๐ กว่าไร่ แล้วก็ทรมานมากไม่มีน้ำ ต่อมาพอทำ ธนาคารน้ำใต้ดินทั้งแบบปิดและเปิดเขาสามารถมีน้ำที่จะทำแปลงปลูกมะละกอได้เป็น ๕,๐๐๐ ไร่เลย นี่คือตัวอย่างที่ดี ถามว่าเขาทำแบบนี้ได้อย่างไรเป็นเพราะเขามีผู้นำที่ดี เขามีท่านอดีตนายก อบต. วังหามแห ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว คุณไฉน อำไพริน เป็นผู้นำเป็น ที่น่าเชื่อถือดังนั้นผู้คนจึงทำตามเขา และเรามาดูว่าถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ท่านสนอกสนใจเหลือเกินเรื่องพวกนี้ ท่านเป็นผู้นำที่ดีและท่านบอกให้ทุกคนทำตามกัน ทั่วประเทศเลย อะไรจะเกิดขึ้น สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้เป็นอย่างดี วัฏจักร ในฤดูแล้งเราไม่มีน้ำปลูกพืช พอไม่มีน้ำชลประทานก็ช่วย พอชลประทานช่วย ช่วยได้ ไม่เพียงพอ เพราะชลประทานช่วยได้แค่เพียง ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง พืชตาย พอพืชตายเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ วัฏจักรฤดูแล้งเป็นแบบนี้ วัฏจักรฤดูฝนเป็นอย่างไร ลงทุนปลูกพืชกัน ใส่ปุ๋ยกัน เก็บเกี่ยวตอนฝนตก และแล้วน้ำก็ท่วมอีก พื้นที่เกษตรกร ต่าง ๆ นานาเสียหาย เสียหายขาดรายได้ เราอยู่กับวัฏจักรของแล้ง วัฏจักรของน้ำท่วม อยู่ตลอดเวลามันถึงเวลาแล้วค่ะท่านประธาน ถึงเวลาที่จะต้องหาหนทางแก้ไขปัญหา ดิฉัน จึงเสนอว่าธนาคารน้ำใต้ดินเป็น Idea ที่ดี ซึ่งดิฉันคิดว่าคณะเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ดี ของรัฐบาลชุดนี้น่าจะต้องนำความคิดของคณะเกษตรของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่ามีธนาคาร น้ำใต้ดินไปช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชิญครับ
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ท่านประธานคะ ปีนี้ในเขตพื้นที่ของดิฉันไม่ได้มีน้ำท่วม เกิดขึ้น แต่ในปีที่แล้วและหลาย ๆ ปีที่ผ่านมามีน้ำท่วมเกิดขึ้นและทำให้กระทบต่อ แหล่งเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ และยังไม่นับถึงพื้นที่เกษตรกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่อีกมากมายค่ะ แต่ดิฉันขอร่วมอภิปรายกับเพื่อนสมาชิกในญัตติด่วน ด้วยวาจาเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปค่ะ ขอ Slide ด้วยนะคะ
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ดิฉันอยากจะฉายภาพให้ดูถึงสถิติ การนำเรื่องราวของปัญหาน้ำท่วมเข้าสภาแห่งนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงปี ๒๕๖๕ มีการยื่น กระทู้ถามในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมแล้วกว่า ๓๔ กระทู้ ญัตติกว่า ๑๑ ญัตติ ยังไม่นับรวมถึง คณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉะนั้นดิฉัน อยากจะขอสภาแห่งนี้ที่จะจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ค่ะ และขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่ดิฉันและเพื่อนสมาชิกจะพูด เรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ค่ะ
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ดิฉันขอแบ่งลำดับการอภิปรายของดิฉันเป็น ๓ ช่วงด้วยกันค่ะ
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ช่วงแรกคือช่วงของการเตือนภัย เมื่อวานวันที่ ๓ ตุลาคม ดิฉันได้เปิด Facebook ส่วนตัวของดิฉันเองในวันนี้เมื่อปีที่แล้วครั้งที่ดิฉันยังเป็นผู้สมัคร สส. ของ พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑ ภาพมันขึ้นเตือนว่าเมื่อวานนี้ของช่วงนี้เกิดเหตุการณ์ น้ำท่วม ดิฉันได้เข้าไปประสานงานและประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ถึงข้อมูลต่าง ๆ พื้นที่ปลอดภัยที่สามารถอพยพหนีน้ำได้ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉินที่จำเป็น สำหรับผู้ประสบภัย ดิฉันไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ดิฉันไม่อยากให้ Facebook เป็นช่องทางที่จะช่วยเตือนภัย อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ประเทศไทยควรมีระบบที่จะแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้ได้แล้วค่ะ เพราะว่ายังมีพ่อแม่พี่น้อง อีกหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึง Facebook หรือ Twitter ที่ใช้ในการแจ้งข่าว ในช่วงฤดูฝนจะมี หอเตือนภัยของจังหวัดเชียงใหม่ที่โชว์อยู่นี้ ดิฉันไม่แน่ใจว่าหอเตือนภัยแห่งนี้ทั้ง ๖ แห่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ยังใช้การได้อยู่หรือไม่ เพราะว่าดิฉันและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่เคย ได้ทราบข่าวจากหอเตือนภัยเหล่านี้เลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติของ พื้นที่ ถ้าไม่มีการประกาศภัยพิบัติ พื้นที่ภัยพิบัติก็จะไม่มีการใช้งานของหอเตือนภัยเหล่านี้ การแจ้งข่าวก็จะเป็นการแจ้งข่าวตามเสียงตามสายผ่านผู้นำชุมชน ผ่านผู้นำท้องถิ่นต่าง ๆ ดิฉันจึงอยากเรียกร้องให้มีระบบการแจ้งเตือนภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเหตุร้ายแรงต่าง ๆ ผ่านระบบ Cell Broadcasting ที่เพื่อนสมาชิกของดิฉันได้อภิปรายไปแล้วไม่รู้จะกี่ครั้ง แต่ขอย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่าระบบ Cell Broadcasting นี้คือระบบการส่งข้อมูลโดยตรง จากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเก่าหรือเครื่องใหม่ จะใช้คลื่นความถี่ 2G 3G 4G หรือ 5G ซึ่งรับประกันว่าการแจ้งเตือนนี้จะถูกส่งไปยัง พี่น้องประชาชนทุกคนค่ะ ใน Slide นี้จะแสดงถึงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในตัวเมือง เชียงใหม่ และมีข้อมูลอีกหลาย ๆ อย่าง คือ ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลของระดับ น้ำฝนซึ่งสำคัญมากที่จะใช้ในการที่จะแจ้งเตือนในช่วงฤดูฝนแห่งนี้ว่าน้ำท่วมหรืออุทกภัย จะเกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ หรือจังหวัดเชียงใหม่ หรือประเทศไทยอีกเมื่อไร ซึ่งการบูรณา การของข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากค่ะ เรามีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มากมาย แต่การบูรณาการ ไม่เกิดขึ้นจริง
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ในช่วงที่ ๒ ช่วง ณ เวลาที่เกิดอุทกภัย เมื่อเกิดอุทกภัยแล้วทุกท่านอาจจะ ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ที่มีอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติ คืออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ด้วยความที่ประเทศไทยยังมีผู้ที่มีอำนาจ ในการประกาศภัยพิบัติอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง บางท่าน อาจจะไม่ได้มีความยึดโยงจากประชาชน มันถึงเวลาแล้วไหมคะที่จะปลดล็อกอำนาจ และงบประมาณต่าง ๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบพัฒนาที่น้อยอยู่แล้ว ถ้าเกิดเหตุ ภัยพิบัติเกิดขึ้น เขาก็จะนำงบประมาณเหล่านี้มาใช้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย แต่มันจะ เหลืองบประมาณอีกสักเท่าไรในการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ อยากจะพูด ปัญหาในพื้นที่ในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่ง ในเรื่องของกาดก้อม หรือตลาดก้อม หลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อาจจะคิดว่าเป็นตลาดค้าขายหรือว่าเป็น แหล่งชุมชน แต่จริง ๆ แล้วในภาพคิด ภาพฝัน ภาพจำ ของคนเชียงใหม่ กาดก้อม คือพื้นที่ที่ไม่ว่า จะน้ำท่วม ฝนตกเท่าไรน้ำจะท่วมขังอยู่ตลอดเวลา จึงอยากที่จะส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาที่จะแก้ไขปัญหาของกาดก้อมในบริเวณนี้ด้วยนะคะ
นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ในช่วงที่ ๓ ช่วงของการเยียวยา เมื่อน้ำท่วมผ่านไปก็จะเกิดความเสียหายทั้งทาง กายภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมาย อยากจะอ้างอิงข้อมูลในปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงปีที่น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ ๕๐ ปีของจังหวัดเชียงใหม่ท่วมถึง ๔ ครั้ง โดยสร้างความเสียหายต่อเมืองเชียงใหม่และย่านธุรกิจเชียงใหม่ต่าง ๆ มากมาย สำหรับน้ำท่วม ครั้งแรกมีมูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท และอีก ๓ ครั้งต่อมาอีกครั้งละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านบาท มูลค่าความเสียหายขนาดนี้เราจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลดล็อกอำนาจ และงบประมาณให้กับท้องถิ่นในการจัดการเตือนภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเยียวยา ผู้ประสบภัยที่เกิดจากอุทกภัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ค่ะ ดิฉันและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ คน เห็นว่าการจัดการปัญหาอุทกภัยนี้ หรือปัญหาน้ำท่วมนี่เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน จึงเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล ในการเร่งแก้ไขปัญหา เหล่านี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งเขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อน ๆ สมาชิกพูดเรื่องน้ำท่วม การแก้ปัญหา ธนาคารน้ำใต้ดิน วันนี้ผมอยากจะนำเรียนว่าไหน ๆ น้ำก็ท่วมแล้วไม่ได้ซ้ำเติมนะครับ แต่ต้องการเอาน้ำใช้แก้ปัญหาไว้ในฤดูแล้งเวลาน้ำมันหมด อย่างบ้านผมท่านประธานครับ มีลำน้ำสงครามกั้นกับสกลนคร หน้านี้น้ำท่วม แต่หน้าแล้งน้ำเกือบหมดครับ ดังนั้น เมื่อมันท่วมแล้วหน้าแล้งเราจะเอาน้ำไว้แก้ปัญหาการเกษตรในฤดูแล้ง วันนี้อยากนำเรียน เสนอผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาล ไปยังทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อหน้าแล้งไม่มีน้ำ แต่หน้านี้น้ำมันเยอะ น้ำมันมากก็ทำประตูปิดเปิดเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ในฤดูแล้ง ๒. สร้างฝายด่วน เรื่องฝายแกนดินซีเมนต์อันนี้ทำง่าย ใช้งบประมาณ ไม่มากด้วย แม่น้ำสงครามยาว ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร ไหน ๆ ก็ท่วมแล้ว แล้งให้มีน้ำได้ทำ การเกษตรหน่อย ก็ฝากผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานที่เคารพครับ บึงกาฬบ้านผมทำนาครับ นามีอยู่ ๓ ประเภท นาลุ่ม นาดอน นาราบ วันนี้นาดอนอาศัยว่าปีนี้ถ้าฝนดีก็จะได้เก็บเกี่ยว แต่นาลุ่ม ก็เดือดร้อนครับ น้ำก็จะท่วม อย่างจังหวัดบึงกาฬบ้านผมมีอำเภอหนึ่งท่านประธานเชื่อไหม ว่าทั้งแล้งทั้งท่วมภายในปีหนึ่ง จ่ายเงินชดเชยไปเกือบ ๔๐ ล้านบาท ท่วมกับแล้ง ดังนั้น อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลผ่านไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าวันนี้ ไหน ๆ ก็รู้ว่าจะท่วมอยู่แล้ว ไหน ๆ ก็จะแล้งอยู่แล้ว นาดอนอาศัยว่าน้ำมาก แต่ก็ไปซ้ำเติม กับนาลุ่ม ตรงที่นาลุ่มผมฝากผ่านท่านประธานไปยังผู้เกี่ยวข้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าไหน ๆ มันก็ลุ่มอยู่แล้ว เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ไหม รัฐบาลชดเชยก็ได้ไม่กี่สตางค์ หรอกครับ ไม่คุ้มในการทำนา นาดอนก็เหมือนกันเวลาฝนทิ้งช่วงก็ตายแล้งครับ ดังนั้น ตรงตายแล้ง เราจะทำอย่างไรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยที่ให้มันเหมาะสม ผมก็จะฝากกระทรวง เกษตรและสหกรณ์แทนที่จะชดเชยอย่างที่ผมกราบเรียนว่าปีหนึ่งเกือบ ๓๐-๔๐ ล้านบาท มันไม่คุ้มกันเลยนะครับ ต่อไปถ้าเราแก้ปัญหาท่วมก็ไม่ท่วม แล้งก็ไม่แล้ง เพราะแล้ง ไม่ปลูกข้าว ปลูกพืชอย่างอื่น เช่น พอดีเห็นบอกว่านำถั่วเหลือง ถั่วเขียว มาจากต่างประเทศ มากมายขาดดุลการค้าอย่างเยอะแยะ เปลี่ยนได้ไหมมาทำตรงนี้
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
๒. นาน้ำท่วมหรือว่านาที่ลุ่ม ผมไม่ทราบว่าจะทำอะไรดีครับ แต่กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรน่าจะมองตรงนี้ทะลุปรุโปร่งนะครับ ก็อยาก ฝากผ่านท่านประธานไปถึงรัฐบาล ไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว น้ำมันมาแล้ว หน้าฝนห้ามไม่ได้แล้ว แต่จะเอาหน้าแล้งเอาน้ำไปใช้อย่างที่ ผมกราบเรียนนะครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
อันที่ ๑ ประตูปิดเปิดน้ำอยากได้มากปิดเอามาก ต้องการให้มันไหลไปเร็ว ก็เปิดให้มันเต็มที่ ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นการแก้ปัญหาเตรียมรับ El Nino ด้วยและเตรียม รับน้ำเวลามันจะหมดเวลาหมดหน้าฝนก็ได้ชะลอน้ำกักน้ำไว้ดังที่ผมกราบเรียน
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
อันที่ ๒ วันนี้นาดอน นาลุ่ม ฝาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้เกี่ยวข้องด้านเกษตรทั้งหลายไปดูว่าพื้นที่ จังหวัดบึงกาฬของกระผม หรือว่าเพื่อน ๆ ทั่วประเทศที่มีนาลุ่ม นาดอน เหมือนกับบึงกาฬ ผมนี่จะไม่ต้องได้เยียวยา ไม่ต้องท่วม ไม่ต้องแล้ง แก้ปัญหาระยะยาวไปเลยว่าต่อไปนี้ จะไม่มีท่วม มีแล้ง
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
ท้ายสุดนี้ก็เป็นกำลังใจให้กับพี่น้องคนไทยที่ถูกมรสุมพายุถล่มน้ำท่วม เห็นใจครับ แต่ผมก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลก็คงไม่ได้นิ่งนอนใจ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ก็ไม่ได้หยุด โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเตรียมแผนที่จะไปเยี่ยมพี่น้องที่ถูกอุทกภัย ก็ขอเป็นกำลังใจ ให้เพื่อนร่วมชาติได้มีกำลังใจในการสู้ในอนาคตคิดว่าเมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนในการป้องกัน แก้ปัญหาทั้งแล้ง ทั้งท่วม ก็จะเป็นโอกาสดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในชาติจะได้ ลืมตาอ้าปากมีความสุขโดยเฉพาะพี่น้องภาคเกษตรต้องอาศัยน้ำ น้ำคือชีวิต น้ำคือสิ่งที่จะ เป็นการแก้ปัญหาด้านเกษตรทุกชนิดให้มีความอุดมสมบูรณ์พืชพันธุ์ธัญญาหาร ต้นไม้ ก็ต้องการน้ำ ท้ายที่สุดนี้ก็ขอเป็นกำลังใจครับผู้ที่น้ำท่วม และฝากผ่านท่านประธานไปยัง รัฐบาลว่าต้องการแก้ปัญหาทั้งแล้ง ทั้งท่วมในอนาคต ขอกราบขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านเตรียมตัวนะครับ ท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ท่านประภาพร ทองปากน้ำ ท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ เชิญท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน สังกัดพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอมาร่วมอภิปรายในญัตติด่วนที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอกรณีน้ำท่วมครับ ก่อนอื่น ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมทุก ๆ ท่านนะครับ สำหรับจังหวัดลำพูนของผม ปีนี้ได้รับภัยภาวะน้ำท่วมอยู่หลายอำเภอนะครับ ส่วนพื้นที่ของผมมีอำเภอเมือง อำเภอแม่ทา ที่ได้รับผลกระทบ โดยปัญหาหลัก ๆ ผมจะขอแบ่งปัญหาออกเป็น ๒ ลำน้ำใหญ่ ๆ นะครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๑ ลำน้ำแม่ทา ปีนี้แม่น้ำแม่ทา ชาวบ้านใต้ลำน้ำแม่ทาได้รับน้ำท่วมเป็นปีที่ ๒ ติดต่อกันนะครับ แต่ปีนี้ถือว่าได้รับภาวะ น้ำท่วมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อันนี้ต้องขอขอบคุณทางหน่วยงานทางราชการและทุกภาคส่วน ที่มีการร่วมมือประสานงานกันแจ้งการเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้มวลน้ำที่มี ปริมาณก้อนใหญ่เหมือนปีที่ผ่านมาได้แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ตั้งแต่ช่วงจุดเช็กน้ำที่สะป๊วด ที่เหมืองจี้ และที่ป่าซางทำให้สามารถแบ่งมวลน้ำออกเป็น ๓ ก้อน ลดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เหมือนปีที่ผ่านมาได้ครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
อย่างไรก็ดีปัญหาน้ำท่วมก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เพราะในบางพื้นที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ ดังนั้นในส่วนที่มีพนังกั้นน้ำชาวบ้านได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบที่มี ปริมาณน้อย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำชาวบ้านต้องทนทุกข์ ทนรับน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นปีที่ ๒ พืชผลทางการเกษตรที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองก็ถูกน้ำทำให้เสียหาย ดังนั้นผมจึงมีแนวทางให้ทางรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดขึ้น ที่ลำน้ำแม่ทา โดยอยากให้หน่วยงานของรัฐบาลสร้างพนังกั้นน้ำในพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกัน ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ผมทราบดีว่าในการสร้างพนังกั้นน้ำตลอดแนวลำน้ำแม่ทาต้องใช้ งบประมาณมหาศาล ดังนั้นผมจึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปศึกษาและสร้าง พนังกั้นน้ำในพื้นที่ที่มีชุมชน เพื่อลดปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่พี่น้องของผม และยังเป็นการช่วยให้รัฐบาลสามารถนำงบประมาณไปสร้างพนังกั้นน้ำได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และยังเป็นการรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติของลุ่มน้ำแม่ทาได้ด้วยนะครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๒ ผมจะขอนำท่านประธานมาที่แม่น้ำปิงตรงพื้นที่ฝายพญาอุต ที่ตำบลริมปิง จากภาพท่านประธานจะเห็นว่าบริเวณทางด้านบนฝายและทางด้านท้ายฝาย มีความสูงของระดับน้ำต่างกันถึง ๒ เมตร ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้านที่อยู่ทางด้านบนฝาย ซึ่งได้แก่ชาวบ้านที่ตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า ตำบลหนองช้างคืนในพื้นที่จังหวัดลำพูนนะครับ อันนี้ยังรวมไปถึงพื้นที่ของชาวบ้านตำบลสันทรายมหาวงศ์ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ของเพื่อนสมาชิกของผม สส. การณิก จันทดา ที่ได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน ทาง สส. การณิกก็เลยบอกว่าขอนำเรื่องนี้ผ่านให้ผมมาช่วยพูดอีกครั้งหนึ่งนะครับ ก็คือระดับน้ำ ที่สูงเกิน ๒ เมตร ลำน้ำที่ตามคลองของชาวบ้านไม่สามารถที่จะระบายลงสู่แม่น้ำปิงได้ เนื่องจากแม่น้ำปิงต้องรอให้ฝายพญาอุตระบายน้ำออกไป แต่ปัญหาความเป็นจริงก็คือ ฝายพญาอุตสร้างมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๒ ปัจจุบันมีสภาพใช้การไม่ได้ครับ บริเวณแกนที่เปิดปิดวาล์ว ระบายน้ำตอนนี้ชำรุดเสียหาย ที่สำคัญก็คือโครงสร้างของฝายตอนนี้มีการแตกร้าว รอการที่ จะถูกพังทลายจากมวลน้ำก้อนใหญ่ก้อนต่อไปนะครับ ดังนั้นผมจึงมีแนวทางให้ทางรัฐบาล ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องในจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ ก็คืออยากจะฝาก ให้ทางรัฐบาลมอบหมายให้ทางกรมชลประทานเข้าไปศึกษาออกแบบและสร้างฝายใหม่ ทดแทนฝายเดิม คือฝายพญาอุตที่ใช้การไม่ได้แล้ว เพราะ Concept ของฝายกักเก็บน้ำ จะต้องช่วยระบายน้ำในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำหลากในฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ของผมสามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำปิงได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ ดังนั้นผมจึงขอฝากผ่าน ท่านประธานส่งต่อไปทางรัฐบาลได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมชลประทานศึกษา การสร้างฝายใหม่ให้สามารถนำน้ำจากแม่น้ำปิงไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านประภาพร ทองปากน้ำ เชิญครับ
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ จังหวัดสุโขทัยมีทั้งหมด ๙ อำเภอ ขอ Slide ด้วยค่ะ
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
มีอำเภอที่แม่น้ำยมสายหลัก ไหลผ่าน ๕ อำเภอ โดยเริ่มจากทางด้านบนลงมาคืออำเภอศรีสัชนาลัย ไหลลงมา อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ และส่งต่อไปที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ของดิฉัน จังหวัดสุโขทัยเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คนสุโขทัยประสบปัญหา เหล่านี้วนเวียนซ้ำซาก สาเหตุสำคัญก็คือฝนตกที่เทือกเขาผีปันน้ำที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำยม ไหลลงมาจังหวัดลำปางต่อมาที่จังหวัดแพร่ ฝนตกเท่าไร ก็ไหลลงมาสู่สุโขทัยทั้งหมดค่ะ จังหวัดสุโขทัยมีประตูระบายน้ำที่บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ที่กั้นน้ำและกักเก็บน้ำได้เพียง ๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงประตูเดียว ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูฝนที่มีน้ำหลากน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย และเมื่อถึงฤดูแล้งก็ไม่มีที่กักเก็บน้ำ ตรงด้านล่างของแม่น้ำยมที่จะส่งน้ำต่อไปที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จึงทำให้น้ำ ไหลผ่านไปจนหมดเป็นสาเหตุของน้ำท่วมซ้ำซากและแล้งซ้ำซาก ท่านประธานคะ ปี ๒๕๓๔ มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เพื่อขอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะจะทำให้มีพื้นที่ รับน้ำกว่า ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านมามากกว่า ๒๐ ปีแล้ว โครงการนี้ไม่ประสบ ความสำเร็จ เนื่องจากมีการต่อต้านจากหลายภาคส่วน เพราะมองว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะทำลายทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติ แต่ดิฉันคิดว่าการเกิดน้ำท่วมน้ำแล้งส่งผลทำให้คน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมทั้งหมดเลยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาบ้านเรือน และผลผลิตทาง การเกษตรก็เสียหาย พื้นที่ทางเศรษฐกิจจมบาดาล มีคนตายจากอุทกภัยนี้ทุกปี อีกทั้งรัฐบาล ยังต้องจ่ายเงินชดเชยทุก ๆ ปี เป็นจำนวนเงินหลายพันไปจนถึงหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งดิฉันถือว่า นั่นเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ค่ะ ก่อนหน้านี้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสุโขทัยประสบ ปัญหาภัยแล้ง ประชาชนและเกษตรกรเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำ ทำการเกษตร พื้นที่การเกษตรกว่าหลายหมื่นไร่ประสบปัญหาข้าวม้านน้ำ แต่เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังไม่ทันถึง ๑ เดือนเลยค่ะท่านประธาน สุโขทัยกับประสบ ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลเพิ่มมาจากจังหวัดแพร่ ส่งผลให้พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จากที่ดิฉันและทีมงานลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตาม สถานการณ์มวลน้ำที่ไหลลงมาจากทางเหนืออย่างใกล้ชิด และได้รับข้อมูลจากกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยพบความเสียหายที่พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมาก พื้นที่ ๙ อำเภอ ๖๕ ตำบล ๓๑๗ หมู่บ้าน กว่า ๔,๓๒๒ ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ด้านเกษตรกรประสบภัยแล้ว ๙ อำเภอ พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ท่านประธานคะ ดิฉันขอย้ำว่าแม่น้ำยมจะต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือมีแหล่งเก็บน้ำที่จังหวัดพะเยาซึ่งเป็น แหล่งต้นน้ำจึงจะสามารถช่วยลดผลกระทบนี้ได้ และดิฉันขอฝากข้อเสนอแนะรวมถึง มาตรการเร่งด่วนผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือ และเพื่อให้ช่วยกันเร่งดำเนินการแก้ไขดังนี้ค่ะ
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ ส่วนราชการโดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมชลประทานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำต้องร่วมกันแก้ กฎหมายที่ติดขัดบูรณาการทำงานหลายส่วนร่วมกัน ไม่ใช่ว่ามีโครงการ แต่ไม่ได้รับ การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณให้รีบก่อสร้างซ่อมแซม ฝายชะลอน้ำและงานขุดลอก เพิ่มความจุแหล่งน้ำให้รวดเร็ว
นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดสำรวจความเสียหายเพื่อนำไปสู่ การชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และพื้นที่ทางการเกษตรโดยด่วน ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ เชิญครับ
นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี คนปทุมธานีลุ่มน้ำเจ้าพระยานะครับ ขอ Slide ด้วยครับ
นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ตอนนี้จังหวัดปทุมธานีได้รับ ผลกระทบจากภัยน้ำท่วมแล้วนะครับ ซึ่งจริง ๆ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ เป็นปากน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่การเตือนภัยกลับหย่อนยานแล้วก็ขาดตกบกพร่อง เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี ผมขอยกตัวอย่างประกาศฉบับนี้เขียนว่า แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยาใช่ไหมครับ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาเตือนแค่ Zone ของจังหวัด พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่มีจังหวัดปทุมธานี ผมถามว่าจังหวัดปทุมธานีไม่ได้ท่วม หรือครับ แล้วประกาศนี่ก็ประกาศเพียงว่าน้ำเพิ่มสูงขึ้นแค่ ๑-๑.๕๐ เมตร แต่ท่านระบุ ได้ไหมครับว่าตำบลหัวเวียงน้ำขึ้นเท่าไร ตำบลบางบาลน้ำขึ้นเท่าไร ตำบลโผงเผงน้ำขึ้นเท่าไร ถามว่าดีอย่างไร ชาวบ้านเขาจะได้รู้ครับว่าเขาจะต้องยกของหนีน้ำที่กี่เซนติเมตร สมมุติ ยกเมตรหนึ่งแต่น้ำมาเพิ่ม เขาต้องยกรอบ ๒ ยกรอบ ๓ มันเหนื่อยกับการรับมือภัยน้ำ ดูทาง ด้านขวา อันนี้ผมเอามาจาก Website ไม่มีข้อมูลขึ้น อันนี้คือสถานีบางไทร ที่ C29 บางที ตัวเลขก็ขึ้น บางทีตัวเลขไม่ขึ้น นี่เป็นตัวที่บอกระดับน้ำว่าน้ำไหลผ่านสถานีบางไทรเท่าไร ผมไม่รู้เลยครับ นี่ขนาด Website ของหน่วยงานรัฐ ส่วนด้านขวาเป็นรายงานสถานการณ์น้ำ ทุกท่านจะเห็นนะครับ จาก C2 C13 มาจนถึง C35 จบที่พระนครศรีอยุธยาอีกแล้วครับ ผมถามว่าแม่น้ำเจ้าพระยานี่ออกปากอ่าวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือเปล่าครับ ผมไม่ได้ กล่าวว่าคนอยุธยา แต่หน่วยงานราชการนี่ทำไมถึงไม่เตือนปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ที่เป็นถัดไปเขาจะได้รู้บ้าง เขาก็อยากรู้ว่าน้ำที่ปทุมธานีจะเพิ่มขึ้นเท่าไร จะท่วมเท่าไร จะสูงขึ้นเท่าไร เขาก็อยากรู้ครับ ประชาชนคนปทุมธานีรอคอยว่าจะมีการเตือนของปทุมธานี เสียที แต่ก็ไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องง่ายมากตั้งเสาวัดระดับน้ำขึ้นมา เอา Staff Gauge ไปแปะ แล้วก็เอากล้อง CCTV ไปจับขึ้น Online ดูง่ายมาก อันนี้ของเทศบาลนครรังสิต ใช้งบ ไม่เยอะ ขอช่วยทำให้ปทุมธานีด้วยนะครับ อันนี้เป็นแบบ On Ground อันนี้ที่เขื่อน เจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาทำได้ ปทุมธานีทำไม่ได้ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเหมือนกัน ผมไม่ได้เรียกร้องให้แค่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดทุก ๆ จังหวัดที่แม่น้ำไหลผ่าน แล้วก็ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมควรจะมีการเตือนภัยทั้งแบบ Online Online ก็ได้หลากหลายนะครับ ไม่ใช่แค่กล้อง CCTV มีอันอื่นอีกมากมาย On Ground ก็ไม่ใช่แค่ตั้งป้ายแล้วก็ปักธง มันมี อื่น ๆ อีก แจ้งไปยังเทศบาลให้เทศบาลเป็นเสียงตามสายก็ดี ออกรถประกาศก็ดี มันมีหนทาง อื่น ๆ อีกมากมาย ประกาศทางวิทยุชุมชนก็ดี ขอให้ช่วยทำหน่อย การจ่ายเงินเยียวยานะครับ การจ่ายเงินเยียวยาของภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นการทำบุญ ไม่ใช่สวัสดิการ แต่เราคิดว่ามันเป็น สวัสดิการ ไม่ใช่การทำบุญ ท่านต้องประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อเป็นการรับรองของผู้ที่ได้รับ ผลกระทบว่าจะได้รับการดูแลหลังน้ำลดแล้ว จริง ๆ เงินเยียวยานี่น้ำท่วมอยู่ก็จ่ายได้นะครับ ไม่ต้องรอน้ำลดก่อน มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในเขตภัยพิบัติแต่ได้รับผลกระทบ เหมือนกัน แต่ไม่ได้อยู่ในประกาศเขตภัยพิบัติก็ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือครับ อย่างคลอง บางโพธิ์เหนือฝั่งเหนือเขาไม่ได้อยู่ในเขตภัยพิบัติ เขาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เขาไม่ได้ อยู่ในเขตภัยพิบัติตามประกาศเขาก็ไม่ได้รับเงินดูแลเยียวยา พื้นที่พิเศษที่เกิดจากการท่วม เพราะการบริหารจัดการของกรมชลประทาน เช่น คลองรังสิต คลองรังสิตส่วนปากคลอง เป็นส่วนที่จะได้รับน้ำมาจากคลองเปรมเหนือ คลองเปรมใต้ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แล้วก็สูบ เพื่อมายังสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต Zone นี้จะได้รับน้ำเยอะมาก เพราะว่าน้ำมาจากทุกที่ แต่ไม่มีการเตือนภัย ไม่มีการดูแล ไม่มีการเยียวยา ถุงยังชีพนี่บางทีได้ไปข้าวก็แข็ง ปลากระป๋องใกล้หมดอายุหรือเป็นของถูก คือท่านให้ประชาชนเหมือนแบบประชาชนเป็นคน ไม่มีสิทธิ เป็นพลเมืองชั้น ๒ ชั้น ๓ ในประเทศนี้ ทุกท่านมีคำถามมากมายเกี่ยวกับน้ำท่วม ใช่ไหมครับ เพื่อนสมาชิกที่อภิปรายอยู่ในที่นี้ก็มีคำถามมากมายเช่นเดียวกันครับว่า การจัดการน้ำนี่มันมีหรือเปล่า และมันควรจะเป็นอย่างไร ประเทศเราควรทำไหม บ้านผมได้รับ ผลกระทบน้ำท่วมตอนปี ๒๕๕๔ หนักมาก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นรัฐบาลก็มีแผนครับ แล้วพอรัฐประหารแผนนั้นก็หายไป จนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เราจะเอาอย่างไรกันดี อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดเอาเองว่าเป็นแผนการจัดการของกรมชลประทาน ที่ทุกท่านเห็นเส้นสีแดง คือถนนที่ชิดแม่น้ำมากที่สุด ผมเอามาแค่เฉพาะส่วนหนึ่ง ส่วนอำเภอเมืองกับส่วนตำบล บ้านกลาง ท่านจะเห็นว่ามันจะมีพื้นที่นอกเส้นสีแดงใช่ไหมครับ กรมชลประทานจะใช้ว่า พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ ผมถามว่าพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำนี่คืออะไร คือพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปี ใช่ไหม ถ้าท่านจะให้พื้นที่นี้น้ำท่วมทุกปีท่านเคยไปคุยกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนหรือยังว่าจะ ให้เขาได้รับน้ำท่วมทุกปี ไม่เคยนะครับ ผมก็อยู่ในนั้นไม่เคยได้รับ ไม่เคยมีหนังสือมาเรียกคุย ไม่เคยเชิญประชุมใด ๆ ทั้งสิ้นปล่อยให้เราอยู่ในแนวนอกคันกั้นน้ำโดยปริยาย โดยที่ทาง กรมชลประทานให้เหตุผลว่าเป็นวิถีชีวิต ใช่ครับเป็นวิถีชีวิต แต่ถ้าเราเลือกได้เราเลือกไม่ท่วม เช่นเดียวกันทุ่งรับน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เป็นทุ่งรับน้ำไม่ใช่ทุ่งรับกรรม เพราะฉะนั้น อย่าเอากรรมมาให้เขา มันเป็นการบริหารจัดการของภาครัฐที่เราสามารถจัดการได้ แต่ทำไม ถึงทำไม่ได้เสียทีนะครับ ผมก็อยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แผนจัดการบริหารน้ำ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศที่มีภูมิภาคอยู่ใน Zone นี้นะครับ เพราะฉะนั้นอยากฝาก รัฐบาลช่วยดูแลจัดการ แล้วก็บริหารจัดการน้ำให้ดีกว่านี้ รวมทั้งถ้ามีแผนก็ช่วยกรุณาเร่ง โดยเฉพาะการเยียวยาช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผมอยากให้เร่งจัดการไม่ต้องรอน้ำลด ทุกคนได้รับความลำบาก ฝากรัฐบาลด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ ท่านที่ ๒ ท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ท่านที่ ๓ ท่านพลากร พิมพะนิตย์ เชิญท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ เชิญครับ
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๒๘ ๒๙ ๓๐ ที่ผ่านมา เดือนกันยายน จังหวัดลำพูนบ้านผม น้ำท่วม โดยเฉพาะที่อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง ขณะนี้น้ำลดแล้วแต่ความเสียหายยังคงอยู่ ท่านประธานครับ พี่น้องประชาชนที่อยู่ริมน้ำลี้ ต่างได้รับผลกระทบอย่างมากมาย น้ำลี้ต้นกำเนิดอยู่ที่อำเภอทุ่งหัวช้าง แล้วไหลมาอำเภอลี้ เสร็จแล้วน้ำลี้เส้นนี้ไหลขึ้นทางเหนือไปที่อำเภอบ้านโฮ่ง แล้วไปลงสบกันที่แม่น้ำปิง ที่บ้านวังสะแกง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ระยะทาง ๑๙๐ กิโลเมตร ในระหว่าง ทางของน้ำลี้นี้มีแม่น้ำสาขาหลายแห่ง เช่น ห้วยแม่ฮ้าง ห้วยป่าตึง ห้วยแม่สา ท่านประธานครับ ธรรมชาติของน้ำลี้นะครับมาเร็ว ไปเร็ว ไหลแรง พอไหลเสร็จด้านข้างของ ฝั่งแม่น้ำเสียหายทั้งหมด ที่อำเภอลี้เสียหายหนัก พี่น้องประชาชนที่มีบ้านอยู่ใกล้ ๆ น้ำลี้ พังเสียหาย ตลิ่งที่ปีที่แล้วก็โดนน้ำลี้ซัดพัง ปีนี้ยังไม่ได้ซ่อม มวลน้ำมาใหม่อีกแล้วพังเยอะ กว่าเดิม ดังนั้นหนทางแก้ไขรัฐบาลต้องเร่งรีบนะครับ ท่านประธานครับ ที่อำเภอบ้านโฮ่ง ก็ท่วม ๒-๓ วันเหมือนกัน จนถึงเวียงหนองล่องปีที่แล้วสะพานวังสะแกงน้ำมาทรุด แต่ปีนี้ พังทลายลงไปทั้งหมดเลย ดังนั้นฝากท่านประธานถึงรัฐบาลเรื่องการแก้ไขหลังจากที่น้ำท่วม เสร็จแล้วต้องดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ท่านประธานครับ ผมขอเสนอการแก้ไข ครับท่านประธาน เราต้องจัดทำฝายในห้วยต่าง ๆ ที่น้ำจะไหลลงมาถึงน้ำลี้ และที่สำคัญที่สุด พี่น้องประชาชนบ้านผมอยากให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้นน้ำลี้ เช่น ที่อำเภอ ทุ่งหัวช้าง หรืออำเภอลี้ก็ได้ เพราะว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำคือการสร้างทะเลสาบน้ำจืด ที่มนุษย์ทำขึ้น สามารถบังคับน้ำได้ครับท่านประธาน เวลาน้ำมากก็กักเก็บน้ำไว้ และเวลาที่ ฝนตกเราก็ค่อย ๆ ทยอยปล่อยไป อย่าให้น้ำลี้ที่มีความเชี่ยว ความแรงไหลโดยตามใจของ ธรรมชาติน้ำ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายนะครับ ผมเข้าใจดีว่าการจะสร้างอ่างเก็บน้ำแต่ละอ่างนั้นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ที่จะต้องไปขออนุญาตกรมทรัพยากรน้ำก็ดี เราจะต้องไปทำ EIA ก็ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พี่น้อง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะว่ากว่าจะสร้างอ่างแต่ละอ่างได้นั้นต้องใช้เวลาหลายปี อย่างบ้านผมเพิ่งวางศิลาฤกษ์อ่างเก็บน้ำห้วยจะกาไปเมื่อเดือนที่แล้ว ท่านประธานทราบ ไหมครับว่าอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนใช้เวลา ในการขออนุญาตที่จะก่อสร้างใช้เวลาถึง ๓๐ ปีครับท่าน ดังนั้นฝากท่านประธานถึงรัฐบาล ให้มีความจริงใจในการแก้ไขเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งด้วย และการทำ EIA นั้นมีอายุ ๕ ปี เหมือนที่บ้านผมที่อ่างแม่สะป๊วด ที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กะว่าจะสร้างอ่าง พอเอา EIA มาดูปรากฏว่า EIA ที่ทำไว้นั้นเกิน ๕ ปี ดังนั้นจะต้องกลับไปทบทวน EIA อีก สิ่งที่ชาวบ้าน จะได้รับก็คือความล่าช้าในการก่อสร้างอ่าง ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนในเรื่องน้ำ ทั้งท่วม ทั้งแล้ง ขอให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และแก้ไข กฎหมายที่สำคัญ ๆ ในการอนุญาตที่จะให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ให้ลดระยะเวลา ในการศึกษาวิจัยและลดระยะเวลาในการที่จะอนุญาตให้สร้างอ่างด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ท่านประธานครับ บ้านผมติดแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงข้ามศาลากลาง จังหวัดอ่างทอง เผื่อบางท่านอาจจะไปเยี่ยมเยียนไปพบปะกัน การนั่งดูแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ สิ่ง Romantic เสมอไป ไม่ใช่ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจเสียจริงปลาไม่กินเหยื่อ ไม่ใช่น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ท่านประธานครับ หากเป็นญัตติที่มีการอภิปรายหรือเตรียมการ กันเป็นเบื้องต้น ผมเองก็คงมี Slide ที่จะชี้ให้เห็นหลายประการว่าปัญหาของน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด แต่เนื่องจากเป็นญัตติด่วน ไม่มีเวลาเตรียมข้อมูล หรือ Slide ทั้งหมด ซึ่งก็น่าเสียดายว่าปี ๒๕๖๔ เราก็พูดถึง เรื่องนี้ ปี ๒๕๖๕ เราก็พูดถึงเรื่องนี้ ปี ๒๕๖๖ เราก็ยังต้องพูดถึงสถานการณ์น้ำท่วม แล้วก็ เป็นสถานการณ์ที่มาเร็วไปเร็ว ยังไม่รู้ว่าจะไปจบเมื่อไรครับ ผมมีอยู่ ๕ ประการ ด้วยกันที่คิดว่า เป็นประเด็นสำคัญ แล้วก็เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แน่นอนครับ ผมคงพูดถึงจำเพาะเจาะจงในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ เราต้องทำความเข้าใจว่าแม้ปริมาณฝนนั้น หรือปริมาณน้ำนั้น จะเป็นปริมาณที่ไม่อาจคาดเดาได้แบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่สามารถคาดการณ์ ได้เลยครับ ในแต่ละปีนั้นเราคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์มรสุมเป็นอย่างไร สถานการณ์พายุ จะเข้าช่วงไหน พายุที่เข้านั้นมีปริมาณ มีความต่ำ ความสูงมากน้อยขนาดไหน อยู่เหนือเขื่อน หรือใต้เขื่อน แบบใด อย่างไร แต่ในเมื่อน้ำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติโดยตัวของมันเอง แต่การจัดการนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องของคนครับ เราคงปฏิเสธความรับผิดชอบ ในแง่ของการจัดการไม่ได้ ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือความจริงใจของรัฐบาล ในการสื่อสารสถานการณ์ หรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่าปีนี้ไม่ท่วมแน่ ๆ ปีนี้แล้งนะอย่าเพิ่งทำการเกษตรต่าง ๆ แต่ต้องให้ข้อมูลความเป็นไปได้ที่ถูกต้องกับพี่น้อง ประชาชน นั่นเป็นประการที่ ๑ ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ เวลาที่เราพูดถึงระบบน้ำท่วม มันไม่ควรเป็นเรื่องที่ประชาชน ต้องมานั่ง Monitor หรือติดตามกันรายวัน ผมยกตัวอย่างวันนี้มาประชุมสภา ผมต้องนั่งอ่าน แต่เช้าว่าวันนี้ขณะนี้มีน้ำที่ผ่านประตูน้ำเจ้าพระยาเท่าไร ผ่านประตูน้ำบรมธาตุเท่าไร ผ่านประตูน้ำชันสูตร ยางมณี ผักไห่ ลำชวด พระงาม คลองสาหร่าย ม่วงเตี้ย โพธิ์ปั้น คลองตาเที่ยง ท่าอู่ คลองขนาก ราดมะไฟ ศาลาแดง โคกช้าง ไปคลอง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ลาดชะโด ผักไห่ เจ้าเจ็ดเท่าไร ผมคิดว่าเกินกำลังความสามารถของพี่น้องประชาชนที่จะนั่ง Monitor ครับ ก็จะบอกว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ผ่านนั้นความเร็วของน้ำจะมาถึงปากแม่น้ำ จะมาถึงจุดต่าง ๆ มากน้อย ขนาดไหน แต่สิ่งที่เราคาดหวังก็คือระบบเตือนภัยครับ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือระบบเตือนภัย ที่จะบอกว่าด้วยสถานการณ์ขณะนี้ความเป็นไปได้ หรือปริมาณมันจะมาถึงไหน ผมคิดว่า แน่นอนครับ ผมไม่ปฏิเสธการชักธงว่าจะต้องมีธงเขียว ธงเหลือง ธงแดงในการเตือน ผมเอง ก็ต้องเคยรับผิดชอบในแง่ของการดูแล สมัยที่คุณพ่อเป็นรองนายกเทศมนตรีที่ต้องรับผิดชอบ การป้องกันน้ำท่วม แต่ว่ามันมีระบบเตือนภัยที่หลากหลาย และครอบคลุมกว่านั้นหรือไม่ ตีสองตื่นขึ้นมาเพื่อมากรอกกระสอบทรายกันทุกบ้านในชุมชน มันไม่ควรเรียกว่าสิ่งนี้คือ ระบบเตือนภัยครับ นั่นเป็นประการที่ ๒ ท่านประธานครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ ก็คือเรื่องของการช่วยเหลือในสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น ท่านประธานอยากจะให้เห็นภาพนิดหนึ่งว่าสมัยที่เราน้ำท่วมกันเมื่อปีที่แล้ว พวกผมเอง สส. พรรคก้าวไกล คุณทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ หลายท่านลงพื้นที่ บางพื้นที่ของ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่วม ๓ เดือน ต้องพังผนังชั้น ๒ ลงมาเป็น ที่นอนคนเฒ่าคนแก่ที่เราเข้าไปเยี่ยมบ้าน ฉะนั้นสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นมันต้อง มีรูปแบบ หรือ Package ที่พิเศษไปหลากหลาย เช่น ในกรณีของที่พี่น้องไม่ต้องการออก จากบ้าน ระบบการส่งอาหารจะต้องเป็นอย่างไร ในกรณีพี่น้องจำเป็นต้องไปทำงานระบบเรือ Logistics เบื้องต้นเราใช้ศัพท์สูงไปนิดหนึ่ง แต่เอาง่าย ๆ ก็คือระบบที่พาเขามาต่อไปทำงาน จะเป็นอย่างไร ในกรณีของคนเจ็บป่วยเอาอย่างไร หมา แมวก็สำคัญ เพื่อนสมาชิกผม สส. นิติพล ผิวเหมาะ สามารถประสานหน่วยงานที่ดูหมา แมว ว่าบ้านไหนมีหมามีแมวติดค้าง น้ำท่วมจะมีองค์กรใดเข้าไปช่วยเหลือแบบใด ประการใด ห้องน้ำที่ถูกออกแบบในแง่ ของการช่วยเหลือน้ำท่วมนั้นเป็นห้องน้ำที่สามารถขับถ่ายได้จริงหรือไม่ ท่านประธาน นึกภาพพี่น้องประชาชนนั่งเรือออกมา ๓-๔ กิโลเมตร ระยะทางมันดูใกล้ แต่เวลานั่งเรือ ๓-๔ กิโลเมตร คดเคี้ยวออกมาตอนมืด เสาไฟฟ้าอยู่ตรงไหน ตอม่ออยู่ตรงไหน ไม่รู้นะครับ ออกมาเพื่อมาขับถ่ายในจุดที่ห้องน้ำที่ลอยอยู่ในน้ำ และท้ายที่สุดไม่สามารถขับถ่ายได้ ปีที่แล้วผมก็เอาภาพแบบนี้ให้ดู นั่นเป็นประการที่ ๓ ที่พูดถึงเรื่องของการช่วยเหลือที่ต้องมี Package ที่สมบูรณ์ แต่หลากหลายรูปแบบที่เพียงพอต่อกระบวนการให้ความช่วยเหลือ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๔ ท่านประธานครับ คือเรื่องการเยียวยาครับ การเยียวยาตกลง วันนี้อำนาจชัดเจนหรือยังว่าการประกาศเขตภัยพิบัตินั้นจะต้องเป็นของผู้ใด รอนายอำเภอ ประกาศ รอผู้ว่าราชการจังหวัด รอกระทรวงมหาดไทยประกาศเขตภัยพิบัติ พี่น้องผักไห่ ก็ถาม พี่น้องบางบาลก็ถาม พี่น้องโผงเผงอ่างทองก็ถาม เพราะเหตุใดท้องถิ่นถึงไม่สามารถ ออกเขตภัยพิบัติของตนเองแล้วดึงทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเองนั้นมาพูดถึงเรื่องการเยียวยา มาพูดถึงการช่วยเหลือ ท่านประธานทราบไหมครับ ในแต่ละปีการซ่อมบ้านถ้าเราไม่ได้ อาสาสมัครจากองค์กรต่าง ๆ มูลนิธิ องค์กรต่าง ๆ ที่วิ่งเข้ามา ไม่ได้อาสาสมัครที่จะมา กวาดล้างบ้านที่สกปรกหลังเกิดน้ำท่วมไปแล้วระบบรัฐทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นสิ่งที่ ผมเรียกร้องก็คือกรณีของการช่วยเหลือและการเยียวยาต้องไปพร้อมกันครับ เงินช่วยเหลือ ชั่วคราวทำอย่างไร และเมื่อเกิดเหตุแล้วหลังเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมแล้วจะสามารถช่วยเหลือ เยียวยากันแบบใด ประการใด ให้อำนาจ กระจายอำนาจไปท้องถิ่นสิครับ แล้วลองดูว่าเขาจะ ทำเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของเขาได้ไหม นั่นเป็นประการที่ ๔ ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๕ ท่านประธานครับ เป็นประการสุดท้ายคือเรื่องการป้องกัน วันนี้เราชัดหรือยังว่าตกลงแม่น้ำเจ้าพระยามีไว้ทำไม แม่น้ำเจ้าพระยามีไว้เพื่อการผลักดัน น้ำเค็ม มีไว้เพื่อเอาน้ำประปามาทำให้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือมีไว้เพื่อเป็น เส้นทางการเดินเรือของนายทุนอย่างที่เพื่อนสมาชิกผมเคยอภิปราย ฉะนั้นถ้าท่านประเมินว่า ศักยภาพการรองรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายไม่พอครับ ต้องพูดกันถึง เรื่องเส้นทางทางเลือก ท่านอาจจะใช้คำว่า Floodway ก็ได้ ผมเห็นข้อมูลของพรรค รัฐบาล ท่านจะทำเจ้าพระยา ๒ กับเจ้าพระยา ๓ แต่ท่านต้องคิดดี ๆ ว่าพื้นที่ที่เจ้าพระยา ๓ ที่ตัดออกมาตั้งแต่ตอนเหนือของจังหวัดอุทัยธานีออกมา ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร มาออกที่ อ่าวไทยนั้น ผ่านเส้นทางน้ำที่ทับซ้อนกับแม่น้ำอีก ๒-๓ เส้น ผมไม่มีเวลาอภิปราย แต่ผมคิดว่า การป้องกันต้องมองทั้งระบบการบริหารจัดการครับ ไม่ใช่แต่เพียงการทำ Floodway แต่การกระจายน้ำและทำความเข้าใจกับธรรมชาติของน้ำ ตลอดจนทำความเข้าใจกับ องคาพยพของพื้นที่ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ก็ขออนุญาตฝากทั้ง ๕ ประเด็น ไปยังรัฐบาล แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพลากร พิมพะนิตย์ เชิญครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทยครับ ท่านประธานครับ เรื่องน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถหาวิธีลดความรุนแรงและการบรรเทาผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยใช้มาตรการป้องกันและการบริหารจัดการน้ำท่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามเรียนรู้มาตลอดเวลา
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่ของกระผมเกิดน้ำท่วม ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติครับท่านประธาน เกิดจากฝีมือของมนุษย์ในการบริหารจัดการน้ำ การคาดคะเน การคาดเดาสถานการณ์น้ำที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเอ่อล้นจึงต้องปล่อยน้ำลงสู่ ไร่นาพี่น้องประชาชน ขอภาพประกอบด้วยครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ แนวทางป้องกัน ความเสียหายจากน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการก่อสร้างที่นำมาใช้ลดความรุนแรงของน้ำ เช่น การปรับปรุงลำน้ำ การใช้ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน และพนังกั้นน้ำ เป็นต้น นอกจากนั้นมีมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ประกอบ ไปด้วยมาตรการป้องกันความเสียหาย การบรรเทาทุกข์ เช่น การวางผังเมือง การพยากรณ์ การเตือนภัยน้ำท่วม ซึ่งโดยเฉพาะทั่วไปแล้วควรใช้ทั้ง ๒ มาตรการ เพื่อมีประสิทธิภาพ ในการบรรเทาภัยพิบัติที่ดียิ่งขึ้น ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้วที่เราจะจริงจังกับสิ่งที่เราพูด มาในทุก ๆ รัฐบาล พูดซ้ำทุก ๆ ปี เรามีหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำประมาณ ๓๘ หน่วยงาน ถามว่ามีการบูรณาการคุยกันอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง มีการบริหารทรัพยากรที่ดีในวันที่ประชาชนเขาเริ่มจะมีความหวังในเรื่องของ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวกำลังตั้งท้อง แต่กลับต้องมานั่งปาดน้ำตารอรับมาม่า กับปลากระป๋องเพื่อบรรเทาทุกข์ทุกปีครับท่านประธาน ประสิทธิภาพและความสำเร็จ ในการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ อย่าง คือ การเข้าใจการยอมรับ การเกิดน้ำท่วม และการตอบสนองจากภาครัฐ ภาคประชาชนในการดำเนินการแผนบริหาร จัดการน้ำท่วม ผมจึงอยากเห็นทุกภาคส่วนหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกอย่างเป็น ระบบครับท่านประธาน สิ่งที่ผมอยากนำเสนอคือ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๑. ความสำคัญของเขื่อน พนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำและชะลอน้ำ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๒. คือการปรับปรุงสภาพลำน้ำทางธรรมชาติทุกสาย จะมีค่าปริมาณความจุ อยู่จำนวนหนึ่งในแต่ละลำน้ำ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๓. เส้นทางน้ำอ้อมเมือง การผันน้ำอ้อมพื้นที่ท่วม มีหน้าที่ ๒ อย่าง ในการบรรเทาน้ำท่วม ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งมีลักษณะกว้างและตื้นสำหรับผันน้ำ ลงมาเก็บไว้เมื่อเกิดน้ำท่วมในเขตชุมชน เป็นการลดปริมาณการไหลในลำน้ำสายหลักได้
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๔. พื้นที่ชะลอน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำท่วม แนวคิดวิธีนี้เป็นการยอมให้ น้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนที่มีความสำคัญน้อย เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำท่วมลงในแม่น้ำ เพื่อลดการสูญเสียโดยการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ ต้องป้องกันการสร้างฝายยกระดับเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๕. อ่างเก็บน้ำบรรเทาน้ำท่วมครับท่านประธาน ในสภาวะที่เหมาะกับ การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำ สามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บน้ำไว้ชั่วคราว ซึ่งมีประโยชน์เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๖. การปรับปรุงระบบระบายน้ำ การระบายน้ำไหลนองอยู่ด้านหลังคันดิน หรือพนังกั้นน้ำที่ใช้ป้องกันน้ำท่วมให้ออกจากพื้นที่
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๗. ปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๘. พยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม การพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม เป็นการประมาณลำดับขั้นตอนการเกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำช่วงเวลาการเกิดอัตราไหลสูงสุด ซึ่งแต่ละจุดลำน้ำปริมาณน้ำเท่านี้จะมีค่าไม่เท่ากัน และเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณน้ำฝน ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท้ายสุดครับท่านประธาน ต้องขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในเบื้องต้น คือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้รวดเร็ว และทันท่วงที ส่วนมาตรการในการดูแลระยะยาวของพี่น้องประชาชน ก็ฝากไปถึง ท่านประธานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ศึกษาหาแนวทางป้องกันในการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ ไม่ให้เป็นละครเรื่องเดิมที่ฉายซ้ำทุกปี ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านธีรัจชัย พันธุมาศ ท่านที่ ๒ ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ท่านที่ ๓ ท่านพุธิตา ชัยอนันต์ ท่านธีรัจชัย พันธุมาศ มาหรือยังครับ ไม่มานะครับ ต่อไปเชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ก่อนนะครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูงนะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปราย แล้วก็ขอสนับสนุนญัตติของท่านธีระชัย แสนแก้ว และเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ พรรคที่ได้ นำเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับ ผลกระทบอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบค่ะ ท่านประธานคะ ก่อนอื่นดิฉันก็ขอแสดงความชื่นชมกับเจ้าหน้าที่ทุก ๆ ท่านนะคะ ที่ได้เข้าไป ช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบอุทกภัย แล้วก็ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องที่ได้รับความเสียหาย ด้วยนะคะจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันนี้ ซึ่งประเทศไทยเรานี้ก็เกิดมรสุมมาหลาย ๆ ลูก ก็ทำให้ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากก็เกิดปัญหาน้ำท่วม ดิฉันเองก็ขออนุญาตพูดในพื้นที่ น้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุนะคะ ขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นจังหวัด อุดรธานี หนองบัวลำภู และหนองคาย ซึ่งสภาพภูมิประเทศของจังหวัดอุดรธานีนี้ก็จะอยู่ ใต้เทือกเขาภูพานซึ่งจะเชื่อมจังหวัดเลยจนถึงสกลนคร แล้วก็เทือกเขาภูพานนี้จะเป็น เทือกเขาที่ยาวหลายร้อยกิโลนะคะ จนถึงหนองคาย จนถึงฝั่งแม่น้ำโขง
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ในเทือกเขาภูพานนี้เวลาฝนตกหนัก น้ำก็จะไหลลงมาจากเทือกเขาภูพานก็จะลงมาตามรางน้ำ ลำห้วยเล็ก ห้วยน้อย ลำห้วยใหญ่ เช่น ลงมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอสุวรรณคูหานะคะ ก็จะไหลผ่านมาที่อำเภอบ้านผือ โดยลำห้วยโมง พอลำห้วยโมงไหลผ่านไปทางอำเภอบ้านผือแล้วก็จะไหลมาบรรจบกับลำห้วย น้ำฟ้า ลำห้วยรางนะคะ แล้วก็จะไหลลงไปสู่อ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน พออ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ซึ่งอยู่ในจุดของตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ และอีกส่วนหนึ่งก็จะเชื่อมอำเภอเมือง จังหวัด หนองคายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงก็จะมีประตูปิดเปิดอยู่ที่ท่าบ่อ ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่ง เส้นทางหนึ่งก็จะขึ้นจากอำเภอบ้านผือผ่านสันเขาอีก คดเคี้ยวเลี้ยวลดหลายกิโลเมตรเข้าไป อำเภอน้ำโสมน้ำไหลหลากจากเทือกเขาภูพานก็ไหลลงลำห้วยโสมและลำห้วยราง ลำห้วยโสม และลำห้วยรางนี้ก็จะไหลผ่านหลายตำบลนะคะ น้ำก็จะไหลผ่านหลายตำบล ผ่านอ่างเก็บน้ำ ผ่านลำห้วยต่าง ๆ ในขณะที่ผ่านลำห้วย ผ่านอ่างเก็บน้ำนั้น ในลำห้วยนั้นก็ตื้นเขินนะคะ ตื้นเขินน้ำก็ทะลักเข้ามาท่วมไร่นาพี่น้องประชาชน เข้าท่วมบ้าน และขณะเดียวกันแม่น้ำนี้ ก็จะไหลผ่านไปยังจากอำเภอน้ำโสมแล้วเข้าอำเภอนายูงก็จะไหลไปที่บ้านน้ำโสม อำเภอ สังคม จังหวัดหนองคายนี่ก็จะมีประตูปิดเปิดน้ำอยู่ ทำไมดิฉันต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะว่าในพื้นที่อำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง พอเกิดน้ำท่วมแล้วไม่มีที่เก็บกักน้ำ เพราะอะไรละคะ เพราะอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ กุดลิงง้อ อ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ่างเก็บน้ำบ้านน้ำทรง อ่างเก็บน้ำเหล่านี้เป็นโครงการ พระราชดำริแต่ตื้นเขินค่ะท่านประธาน ไม่สามารถจะเก็บน้ำ รองรับน้ำจำนวนมากได้ ตื้นเขิน แล้วขณะเดียวกันพอตื้นเขินแล้วน้ำก็ไหลท่วมบ้านเรือน แล้วในคลอง ลำห้วยต่าง ๆ ที่ดิฉันพูดถึงนี่น้ำไม่สามารถที่จะระบายออกได้เร็วได้เพราะมีขยะ มีวัชพืช มีเศษไม้ กีดขวางทางน้ำ น้ำก็ไม่มีที่ไปก็ต้องมาท่วมบ้านพี่น้องประชาชน มาท่วมถนนหนทาง สัญจร ไปมาไม่สะดวก ทำให้สะพานขาด นี่คือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขต ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ก็คงจะเป็นเหมือน ๆ กันที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้พูดถึง ดิฉันเอง ก็ขออนุญาตนำเสนอแก้ปัญหาแผนระยะสั้นของในพื้นที่ลำห้วยน้ำโสม ลำห้วยราง แล้วก็ ลำห้วยที่ไปบรรจบที่อำเภอท่าบ่อ ซึ่งมี ๒ ประตูกั้นน้ำอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ ก็ขออนุญาต นำเสนอแก้ปัญหาก่อนแบบเร่งด่วน ก็ขอให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ในจังหวัดอุดรธานีมีเยอะเหลือเกินค่ะ งบประมาณก็ได้น้อย ที่ผ่านมา ๘-๙ ปี ขออนุญาตนิดหนึ่งนะคะท่านประธาน แล้วก็ให้กำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ขอขยายและเพิ่ม ประตูระบายน้ำ ๒ จุด ที่อำเภอท่าบ่อและที่ปากโสม อำเภอสังคม แล้วก็ขอเพิ่มเครื่องดันน้ำ ทุกจุดอย่างน้อย ๕ เครื่อง แล้วก็ขอให้ขยายประตูระบายน้ำให้กว้างขึ้น ตอนนี้ประตูระบายน้ำ แคบเหลือเกิน
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ดิฉันขอเสนอแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ขออนุญาตลัดขั้นตอน ขอเสนอ การแก้ปัญหาพัฒนาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบลุ่มแม่น้ำโมง โดยประกอบไปด้วย ๓ โครงการ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
โครงการที่ ๑ เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริจังหวัดหนองคาย
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
โครงการที่ ๒ โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมงพร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่ง ในจังหวัดอุดรธานีในลุ่มห้วยโมงตอนกลาง
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
โครงการที่ ๓ โครงการผันน้ำห้วยลานและห้วยคุกที่จังหวัดหนองคาย เพื่อบรรเทาน้ำท่วมลุ่มห้วยโมงตอนล่าง
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ทั้งนี้การพัฒนาลุ่มห้วยโมงจะช่วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในการระบายน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ กลางน้ำได้อย่างเป็นระบบ และมีประโยชน์ ประชาชนในภาคอีสานตอนบนอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภูได้รับประโยชน์มาก เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เพราะฉะนั้นดิฉันจึงขอเสนอการแก้ปัญหาอันนี้ และสุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอเสนอให้รัฐบาลชุดนี้ นำแผนบริหารจัดการน้ำไปบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านพุธิตา ชัยอนันต์ เชิญครับ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พุธิตา ชัยอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๔ พื้นที่อำเภอสันทราย ทั้งอำเภอและอำเภอแม่ริม ตำบลดอนแก้ว เมืองแก้ว และแม่สา ท่านประธานคะ เนื่องจาก พ่อแม่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของดิฉันได้ประสบปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี ท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่หลายหมู่บ้าน หลายตำบล ดิฉันจึงขอใช้เวลาในสภาแห่งนี้เพื่ออภิปรายปัญหาที่มาที่ไป รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก วิกฤติน้ำท่วมขังรอระบาย หลังฝนตกหนักในเชียงใหม่ เขต ๔ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือการขยายเมืองอย่างไม่ เหมาะสม กีดขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติ เราพูดกันมานานและพูดกันมาตลอด ถึงการผลักดันแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องรื้อสร้างผังเมืองใหม่ แก้ไขปัญหาพื้นที่รองรับน้ำ ปรับปรุงทางระบายน้ำ ในการอนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่นั้น ก็จะต้องไม่ขัดขวางทางน้ำผ่าน แต่สิ่งเหล่านี้ที่พวกเราพูดกันมานานก็ไม่เคยมีความคืบหน้า เท่าที่ควร พื้นที่ชุ่มน้ำที่เคยเป็นพื้นที่ซับน้ำถูกถมทำลายด้วยการเติบโตของเมืองที่ไม่ได้ มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรมากมาย มีการตัดถนนที่ขวางทางน้ำ ปิดช่องทางระบายน้ำ หลายพื้นที่เป็นปัญหาซ้ำซากประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะพื้นที่ ที่เป็นรอยต่อของความรับผิดชอบก็มีการเกี่ยงกันไปมา ยกตัวอย่างเช่น ซอยบ้านพระนอน ๒๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จุดนี้อยู่เยื้องกับ อบจ. เชียงใหม่และอยู่ ใกล้กับศูนย์ราชการ แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจุดนี้จะเป็นจุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซากทุกทีทุกปีที่มีฝนตก หนัก เมื่อเร็ว ๆ นี้วันที่ ๒ กันยายนก็ท่วมไปแล้วครั้งหนึ่ง อีก ๒ สัปดาห์ก็ท่วมอีก ประชาชน ในพื้นที่ต้องทนสภาพแบบนี้มานานเป็นสิบ ๆ ปี อีกจุดหนึ่งหมู่บ้านศิริพร ๒ ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย หมู่บ้านนี้ก็ท่วมเป็นประจำเมื่อฝนตกหนัก ชาวบ้านพาดิฉันเดินลุยน้ำเพื่อดู ปัญหาพบปัญหามากมาย ปัญหาหนึ่งที่พบคือการวางท่อของถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒๑ ที่อยู่สูงกว่าลำรางระบายน้ำของหมู่บ้าน ตรงนี้ก็จะขอให้กรมทางหลวงช่วยเร่งดำเนินการ ด้วยค่ะ จุดที่ ๓ อีกจุดหนึ่งคือหมู่บ้านสินธนา หมู่ที่ ๒ ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย ก็เหมือนกันกับ ๒ จุดแรก ที่ดิฉันได้อภิปรายไป คือน้ำท่วมรอระบายซ้ำซากทุกปี จะเห็น ได้ว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านของประชาชนถูกเยียวยาโดยเครื่องสูบน้ำเล็ก ๆ จาก ภาครัฐ เมื่อมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องประชาชนก็ทำได้เพียงแค่ภาวนาขอให้อย่ามีฝนตกลง มาอีกเลย เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยค่ะ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่ง คือการลงทุนในโครงสร้างที่จะช่วยควบคุมน้ำท่วม นี่ก็สำคัญ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากความต้องการของประชาชน ตรงนี้ก็จะช่วยรองรับน้ำ ป้องกันอุทกภัยแล้วก็ภัยแล้งได้ ท่านประธานคะ ในเขตพื้นที่ของดิฉันอ่างเก็บน้ำห้วยแม่แฝก ประชาชนทำเรื่องร้องขอไปกว่า ๒๐ ปีแล้ว เรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่กรม กระทรวง ไม่ไปถึงไหน อันนี้ก็ขอฝากให้ช่วยเร่งพิจารณาด้วย
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
สาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่ง คือการบุกรุกที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงของกลุ่มนายทุน เอกชนและหน่วยงานราชการ เช่น การขุดทราย การดูดทรายไปขาย ทำลายระบบนิเวศ ทางน้ำไหลตามธรรมชาติ ไม่มีใครกล้าออกมาจัดการเพราะมีผู้รู้เห็นได้ประโยชน์กัน หลายฝ่าย สรุปปัญหาเรื่องผังเมือง การกระจายอำนาจ และการคอร์รัปชันนี้ก็เป็นเหตุสำคัญ เหตุใหญ่อย่างหนึ่งของปัญหาการที่มีน้ำท่วมขังซ้ำซาก และการแก้ไขปัญหานี้จะต้องมี การวางผังเมืองใหม่ พื้นที่ไหนที่สมควรเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่การเกษตร ตรงไหนเป็นพื้นที่ที่เป็นทางระบายน้ำต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะต้องไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ในทางการเมือง ธุรกิจ และกลุ่มผู้มีอำนาจใดแอบแฝงค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข แล้วก็ท่านการณิก จันทดา ท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข เชิญครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติด่วนในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา น้ำท่วม แล้วก็การเยียวยาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพื่อนำเสนอ ไปยังรัฐบาลนะครับ วันนี้ผมก็ต้องขออภิปรายในบริบทของจังหวัดตากในพื้นที่ของผม จังหวัดตากได้แบ่งพื้นที่ชัดเจนเป็น ๒ ฝั่ง คือฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก คือฝั่งแม่สอด กับฝั่งเมืองตากกั้นโดยเทือกเขาถนนธงชัย ๒ ฝั่ง มีปัญหาคล้าย ๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน โดยชัดเจน ฝั่งอำเภอเมือง ๔ อำเภอ วังเจ้า เมืองตาก บ้านตาก แล้วก็สามเงา ก็จะเกิด ปัญหาอยู่ ๒ อย่าง คือน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะอำเภอสามเงาซึ่งมีแม่น้ำวังไหลผ่าน เกิดน้ำท่วมซ้ำซากแล้วก็แล้งซ้ำซ้อนทุกปี สังเกตได้หากมีการเกิดน้ำท่วมของจังหวัดลำปาง ตากก็ไม่เคยรอดสักที่ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำท่วมลำปางหนักมากตั้งแต่อำเภอเมืองไล่มา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน แล้วก็อำเภอแม่พริก แต่สุดท้ายก็ไหลมาลงที่อำเภอสามเงา อำเภอสามเงา ท่านประธานเชื่อไหมว่าที่ผ่านมามีน้ำท่วมทุกปี และสร้างความเสียหายทุกปี แม่น้ำวังเอาตั้งแต่เขื่อนกิ่วลมผ่านลำปางจนถึงจังหวัดตาก จนถึงไหลลงบริเวณปากวัง ไหลลงแม่น้ำปิง แม่น้ำวังเส้นนี้จะไหลลงที่อำเภอบ้านตากลงแม่น้ำปิง ๗๐ กิโลเมตร ที่ผ่านอำเภอสามเงาไม่มีฝายกั้นน้ำหรืออาคารบังคับน้ำแม้แต่แห่งเดียว แต่ถัดจากไปตั้งแต่ อำเภอแม่พริก อำเภอเถิน อำเภอสบปราบ จนถึงลำปางมีเขื่อนป้องกันมากมายเยอะมาก แต่จังหวัดตากไม่มีสักอัน ที่ผ่านมามีการศึกษาสำรวจอาคารบังคับน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ในฤดูแล้งและป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน มีการศึกษาการทำ Bypass จากแม่น้ำวังไหลลง แม่น้ำปิงอย่างรวดเร็วหลายจุด แต่ก็ได้แค่สำรวจ ไม่เคยเกิดขึ้นสักที ปีนี้อีกปีหนึ่งถือว่า อำเภอสามเงา จังหวัดตาก น้ำท่วมหนักมากนะครับ มีถนนขาด สะพานขาด หลาย ๆ หมู่บ้านถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ล่าสุด จังหวัดตากได้รับข่าวดีวันเสาร์ที่ ๗ ที่จะถึงนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงพื้นที่ไปดูผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง ดูทั้งเขื่อนภูมิพล ดูปริมาณน้ำที่จะใช้ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาแม่น้ำวังของจังหวัดตาก ผมเชื่อมั่นในฝีมือ ของท่านรัฐมนตรีน่าจะได้ทราบข้อเท็จจริง และน่าจะแก้ไขโดยเร็วครับ กลับมาอีกฝั่งนะครับ ฝั่งตะวันตก ๕ อำเภอชายแดน ตั้งแต่อำเภออุ้มผาง อำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด อำเภอ แม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง ๕ อำเภอชายแดน มีแม่น้ำเมยกั้นระหว่างประเทศไทย กับประเทศเมียนมา ฝนตกชุกทุกปี แตกต่างกับจังหวัดตากฝั่งตะวันออกอย่างสิ้นเชิงตกทุกปี แต่ไม่เคยเก็บได้สักปี สำคัญถ้าหากวันไหนแม่น้ำเมยเกิดฝนตกหนักและแม่น้ำเมย เพิ่มระดับสูงขึ้น แม่น้ำต่าง ๆ ห้วยต่าง ๆ ที่ไหลลงจาก ๕ อำเภอที่ผมบอกไหลลงแม่น้ำปิง ก็จะทำให้น้ำ ๒ สายนี้ไปบรรจบกันแล้วทำให้เอ่อหนุนไหลท่วมบ้านเรือนเสียหายทุกปี ประชากร หมู่บ้านที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนได้รับความเดือดร้อนตลอดนะครับ แล้วก็ ไม่ได้รับการแก้ไขเสียที ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวป้องกันตลิ่งหรือขุดลอก หรือแม้กระทั่ง การสร้างอ่างเก็บน้ำในแม่น้ำห้วยต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณเทือกเขา ๕ อำเภอนี้ทำได้ยากมาก ที่ผ่านมามีการสำรวจหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายท่านประธานก็ทราบกันดีก็ติด ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า ขอแล้วขออีกก็ไม่เคยได้สักที แม้กระทั่งบนดอยหากเกิดฝนตกหนัก ก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก พัดบ้านเรือนเสียหาย ดินโคลนถล่มปิดกั้นถนน หลายหมู่บ้าน โดนตัดขาดเป็นอาทิตย์ ก็เกิดจากว่าเราไม่มีสิ่งสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนนคอนกรีต Riprap หรือแนวป้องกันอะไรต่าง ๆ เพราะเราขออนุญาตใช้พื้นที่ไม่ได้ ท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ อยากจะแก้ไขให้มันมีมาตรฐานให้มันถาวรแต่ก็ทำไม่ได้เพราะติด การขออนุญาตใช้พื้นที่ ปัญหานี้สำคัญ บางที่งบมีแต่ทำไม่ได้ ก็ทำให้เกิดภัยแล้ง เกิดน้ำท่วม อ่างแทนที่จะเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงแม่น้ำเมยโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไหลลงแม่น้ำเมยก็ลงไป บรรจบแม่น้ำสาละวิน ไหลลงทะเล คนไทยไม่ได้ใช้เลยครับ ถ้าเราสร้างอ่างก็จะเป็นตุ่ม กักเก็บน้ำไว้ไม่ให้น้ำท่วม ไม่ให้น้ำหลาก หน้าแล้งเราก็จะได้ใช้น้ำตลอด หลายอ่าง อ่างห้วย แม่ปะแล้ง อ่างแม่ละเมาตอนบน อ่างแม่ระมาด อ่างขะเนจื้อ อ่างห้วยหินฝน อ่างอะไรต่าง ๆ ที่เขาขอสร้างโดนตัดสิทธิหมดเนื่องจากต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า ก็อยากจะฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านควร ผ่อนคลายกฎระเบียบ ยกเว้นระเบียบเป็นบางเรื่อง หรือว่าบางเรื่องที่มันอยู่โดยกฎหมาย ก็พยายามแก้ ไม่อย่างนั้นประชาชนก็เดือดร้อน น้ำท่วมซ้ำซาก น้ำหลากซ้ำซ้อน แล้วก็แล้ง ทุกปี ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านการณิก จันทดา เชิญครับ
นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉัน ขอร่วมอภิปรายในญัตติหัวข้อน้ำท่วมภาคเหนือนะคะ ถึงประเด็นความสอดคล้อง ความมีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องของโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ของ สทนช. หรือว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติค่ะ ดิฉันได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยงาน ท้องถิ่น เมื่อปลายปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้เข้าร่วมประชุมผังน้ำ โดยเฉพาะผังน้ำลุ่มน้ำปิง ในโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ร่วมกับทาง สทนช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าได้รับเสียงสะท้อนมาจากหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำงาน ใกล้ชิดกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง น้ำรอการระบายในพื้นที่ ต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาได้มีความกังวลเกี่ยวกับบางยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทฉบับนี้ค่ะ เนื้อหา ในที่ประชุมกล่าวว่ามีการเขียนกำหนดรหัส Zone พื้นที่ โดยดิฉันจะพูดถึง ๒ โซน ที่สำคัญ
นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ
Zone แรกพื้นที่ทางน้ำหลากริมน้ำ ดิฉันหรือว่าประชาชนก็ไม่ได้มี ความกังวลแต่อย่างใด เพราะว่าทาง สทนช. ได้วิเคราะห์จากลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะ การเกิดน้ำท่วม ระดับน้ำท่วม แล้วก็ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดอุทกภัย
นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ
แต่ว่า Zone ที่ ๒ Zone ที่เรียกว่า พื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ ในส่วนนี้ในพื้นที่ที่ดิฉันรับผิดชอบไล่ตั้งแต่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลท่าศาลา ตำบล หนองป่าครั่ง ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอสารภีทุกตำบลอีก ๑๒ ตำบล รวมไปถึง อำเภอสันกำแพง ตำบลแช่ช้าง ตำบลบวกค้าง ตำบลสันกลาง ส่วนนี้ดิฉันและหน่วยงาน ท้องถิ่นไม่ได้มีความติดใจแต่อย่างใด หากพื้นที่ของตนจะต้องรับมวลน้ำเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ อื่น ๆ ที่ใกล้เคียง ตามหลักน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ พื้นที่ไหนที่อยู่สูงกว่าก็ย่อมต้องการ ระบายน้ำในพื้นที่ของตนออก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ของตน แต่ว่าในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ได้มีใครอยากจะรับมวลน้ำมหาศาลนี้ เว้นแต่ในภาคพื้นที่ที่มีเกษตรกรรม หน่วยงานท้องถิ่นต้องเพิ่มภาระงาน เพิ่มภาระกำลังคน ต้องระดมทุกทรัพยากรที่มี เพื่อช่วย ระบายมวลน้ำเหล่านี้ออกไปทั้ง ๆ ที่ในแต่ละท้องถิ่นทั้งตัวเทศบาล อบต. รวมไปถึง อบจ. มีศักยภาพในการจัดการมวลน้ำเหล่านี้ไม่เท่ากัน พอ สทนช. แบ่ง Zone แล้ว ก็ได้ทำ ข้อเสนอแนะให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำตามรหัส Zone โดยระบุว่าถ้าเป็นพื้นที่ ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ชนบทและปศุสัตว์ อนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม ชุมชน แล้วก็อื่น ๆ บางประการ แต่ในข้อเสนอแนะของ การใช้พื้นที่ในอนาคตไว้แบบนี้ ส่วนนี้ในความเป็นจริงของพื้นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุ เพราะพื้นที่ที่ดิฉันได้กล่าวไปเบื้องต้นจะเป็นพื้นที่เมืองแทบจะทั้งหมด พื้นที่ของดิฉัน ในปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยและอุตสาหกรรมค่ะ แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ เมื่อได้รับมวลน้ำมหาศาลย่อมเกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างและเป็นมูลค่า ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ หรือแม้แต่ถ้าหากท่านจะระบุว่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วพื้นที่ เกษตรกรรมของเกษตรกรไม่ได้มีความสำคัญหรือคะ ทำไมพื้นที่เกษตรกรรมถึงจะต้อง แบกรับภาระมวลน้ำขังไว้ในพื้นที่ของตน ดิฉันจึงอยากจะให้มีการทบทวนแผนแม่บทของ ส่วนมาตรการที่ชัดเจนและสนับสนุนเพื่อให้พื้นที่รับน้ำเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำอย่างมี ประสิทธิภาพ สามารถจัดการได้ตรงตามวัตถุประสงค์โดยไม่เพิ่มภาระให้กับท้องถิ่นมากเกิน ศักยภาพ หากแผนแม่บทนี้ของ สทนช. มีผลบังคับใช้จริง ๆ ค่ะ นอกจากแผนแม่บทของ โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ดิฉันขอพูดถึงในพื้นที่จริงที่ท่วมจริง อย่างในพื้นที่ ปัญหาน้ำล้นตลิ่งของลำน้ำปิง พนังกั้นน้ำปิงบางจุดไม่ได้มาตรฐาน ทำอย่างไรเราคนเชียงใหม่ ถึงจะมีพนังกั้นแม่น้ำที่ได้มาตรฐาน มีความคงทนถาวร สามารถประคอง ป้องกันเป็นปราการแรก ระหว่างน้ำกับชุมชน ยกตัวอย่างจุดต้นน้ำฝายพญาคำ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำปิงจะทราบดี หากพูดถึงร้านลาบบังเก้อ ขออนุญาตที่เอ่ยชื่อร้าน บังเก้อ คือที่หลบภัย แต่ว่าถ้าแตกเมื่อไรน้ำมวลมหาศาลนั้นก็จะกอง ไปอยู่ที่ภาคประชาชน จุดนี้พังแล้วได้ทำเป็นพนังกั้นน้ำชั่วคราวมีกระสอบทรายกั้น แม้ว่าจะอยู่ใกล้กับจุด P1 สถานีสะพานนวรัฐที่เป็นจุดที่บอกระดับน้ำไล่ลงมาไปยังจุดพนัง กั้นน้ำตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ซึ่งชาวบ้านจะเรียกจุดฝายตรงนี้ว่าจุดฟันหลอ ต่อให้ ระดับน้ำปิงรวมนี่จะไม่สูง แต่ในเมื่อมันไม่มีฟันมวลน้ำมันก็ทะลักเข้าโจมตีตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภีอยู่ดี ดังนั้นดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน กรม กระทรวง ทุกฝ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือแก้ไขที่ต้นเหตุและสร้างพนังกั้นน้ำ ปิงตลอดแนวที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการวางแผนเมื่อน้ำมาแล้วไม่มีทางระบายออก เราจะ ระบายน้ำที่ผิดพลาดนี้ออกไปได้อย่างไร ฝากท่านประธานด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล เชิญครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้เป็นเรื่องที่ดียิ่งที่มีญัตติเร่งด่วนในการแก้ปัญหา ภัยพิบัติน้ำท่วม ท่านประธานครับ ๒-๓ วันผ่านมานั้น แม้กระทั่งวันนี้ไปที่ที่ว่าการรถไฟมา ก็ยังถามว่าสุโขทัยเป็นอย่างไรบ้าง แวะไปซ่อมนาฬิกา เขายังถามผมว่าสุโขทัยเป็นอย่างไรบ้าง ผมตอบคำเดียวว่าสุโขทัยก็คือ ซ้ำซาก ซ้ำซากอย่างไร ท่วมซ้ำซาก แล้วก็แล้งแบบยั่งยืน สุโขทัยเป็นโรงละครโรงหนึ่งที่มี เวลาน้ำท่วมนั้นผู้หลักผู้ใหญ่เยอะมาก ๔ ปี เต็ม ๆ เลยที่เรารอคอยสิ่งที่เราคาดหวังไว้ จะแก้ปัญหาน้ำท่วมก็คือประตูน้ำ ผมพูดครั้งนี้คงเป็นครั้งที่ ๑๐ แล้ว การบริหารจัดการน้ำ ที่จะไม่ให้ลำน้ำยมที่มีปัญหามากที่สุดไม่มีต้นทุนน้ำก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้น สมัยที่แล้วผมเป็น ผู้แทนเข้ามาผมก็พูด
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
ท่านครับ วันนี้การจะทำให้น้ำนั้น บริหารจัดการที่ดี ๑. ต้องกักน้ำไว้ ๒. ควบคุมน้ำให้ได้ ๓. กระจายน้ำให้ดีให้ทั่วไม่ให้เกิด ความเสียหาย ลำน้ำยมทำมาตลอดครับ อานิสงส์ที่ดีวันนี้เรามีมิตรภาพที่ดีจากพะเยา พี่น้อง เชียงม่วนช่วยกันกักเก็บน้ำไว้โดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ โดยท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ที่พาไปดู ทุกที่อย่างน้อยก็เก็บน้ำไว้หน่วงน้ำไว้ให้กับแพร่เพื่อจะให้แพร่นั้นจะหน่วงน้ำไว้ให้สุโขทัย ต้องขอบคุณพี่น้องชาวแก่งเสือเต้น อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น ที่มีนโยบายเดียวคล้าย ๆ กับ ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ โดยท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ติดตามไปดูงาน สส. อีกมา ๒๐ กว่าชีวิต ว่าแม้กระทั่งอีสานเองก็ต้องทำแบบนี้ ผมบอกแล้วว่าลำน้ำยมไม่มีเขื่อน ผมบอกแล้วว่าต้อง ขอประตูน้ำ ๔ ประตู อยู่ที่แพร่ บ้านหาดอ้อน ๑ จุด บ้านวังชิ้น วังน้ำเย็น ๑ จุด แล้วก็ บ้านหาดเสี้ยว ศรีสัชนาลัย ๑ จุด ลงมาจนท้ายสุดก่อนถึงบ้านหาดสะพานจันทร์ ทุกวันนี้ ที่เป็นพระเอกอยู่ก็คือเกาะน้อย ท่านประธานครับ วันนี้สอบถามไปผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กรมชลประทานเป็นหลัก ได้คำตอบว่ายังไม่ได้ดำเนินการอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ผ่าน EIA เท่านั้นครั้งเดียว แล้วก็ให้ไปตรวจไปเขียนรายงานส่งขึ้นมาใหม่แค่นี้เองครับท่าน ๔ ปีเต็ม ๆ บอกว่าไม่มีงบประมาณ เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานนั้นไม่มีเวลา ไม่มีพอที่จะมาออกแบบ ถ้าทางเจ้าหน้าที่กรมชลประทานออกแบบ ท่านประธานครับ ใช้งบประมาณ ๒ ล้านบาท ไม่เกิน ๓ ล้านบาท ถ้าให้เอกชนออกแบบสำรวจพร้อมด้วยไม่เกิน ๔๐๐ วันนี่ครับ ทำ Package ไปเลย ๑๐๐ ล้านบาท ๔ ตัว ลงทุนแล้วไม่เกิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท ๔,๐๐๐ ล้านบาท มันจะลดความเสียหายเศร้าโศกจนไปถึงพิษณุโลกจนไปถึงพิจิตร นครสวรรค์จนถึงชัยนาท ที่ต้องปิดประตูเปิดประตูเขื่อนเจ้าพระยา พูดอย่างนี้หลายครั้งพูดแล้วพูดอีกพี่น้องจากที่อื่น เขาบอกว่าเมื่อไรจะสร้างประตู ๔ ประตูนี้ จะสร้างอย่างไรครับกรมชลประทานไม่ออกแบบ บอกไม่มีสตางค์ ผมเลยบอกว่าวันนี้ดีใจผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านเอาจริง โดยเฉพาะ ท่านนายกรัฐมนตรีของเราท่านเศรษฐา ทวีสิน สั่งให้หลาย ๆ ท่านโดยเฉพาะท่านประธานน้ำ ก็คือ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย แล้วก็ ฯพณฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน ตลอดจนเมื่อวานก่อน ท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ท่านบินเงียบไปดูน้ำ ด้วยตัวเอง ผมไม่สามารถไปต้อนรับท่านได้ เพราะผมอยู่ในหุบเขาที่ถนนพัง ท่านรัฐมนตรี ธรรมนัสไม่เหมือนรัฐมนตรีอื่น ขอชื่นชม ท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ชั่วขณะหนึ่งช่วงนั้น ท่านยังลงไปช่วยสุโขทัยดูแลพี่น้องเขื่อนพังบ้านลง ท่านดูครับ ในวันนี้ สุโขทัยเป็นอย่างไรครับ ในรูป บ้านไถลไป เขื่อนพัง ผมจึงกราบเรียนว่าวันนี้หากรัฐยังไม่ได้ มีการบูรณาการโดยเฉพาะเงิน CEO ด้านของผู้ว่าฯ นั้นไม่ดำเนินการในการเข้ามาช่วยในการ ที่จะทำโครงการกักเก็บควบคุมน้ำในพื้นที่นอกชลประทาน มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรที่จะให้มีน้ำ ในพื้นที่ตามแผนแม่บทของการบริหารจัดการน้ำ ท่านประธานครับ วันนี้นอกจาก ๔ ประตูแล้ว ประตูที่ทุกวันนี้ที่ใช้อยู่คือบ้านหาดสะพานจันทร์ ฯพณฯ ท่านสมศักดิ์และอีกหลาย ๆ ท่าน ออกทำคลองฝั่งขวา ฝั่งซ้าย ตัวผมนี่เป็นลำน้ำยม ฝั่งขวาคือทางแยกไปเส้นหนึ่ง ฝั่งซ้ายไป เส้นหนึ่ง วันนี้หากไม่มีคลองฝั่งซ้ายที่มีอยู่สุโขทัยคงไม่ใช่เป็นเพียงแค่จังหวัดที่น้ำท่วมคงเป็นทะเล ยิ่งใหญ่มหาสมุทร ผมถึงบอกว่าวันนี้คลองฝั่งซ้ายได้ช่วยคนสุโขทัย ช่วยคนพิษณุโลกช่วยคน พิจิตรได้มากที่สุด บางส่วนต้องขอโทษพิษณุโลกซึ่งต้องปล่อยไปบ้างในคลองน้ำไหล เพื่อป้องกันเมือง ป้องกันเศรษฐกิจในสุโขทัยไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ งบประมาณ ๓,๓๕๐ ล้านบาท ที่จะบูรณาการคลองฝั่งขวา แขนขวา ขาซ้ายพอใช้ได้แล้ว น้ำมา ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ ปล่อยไปตรงลำตัวแม่น้ำลำใหญ่ ในตัวเราคือแม่น้ำยม ๕๐๐-๖๐๐ หรือ ๔๐๐ ก็พอ ปล่อยไป ฝั่งขวาแล้ววันนี้ ๔๐๐ กว่า ยังไม่เสร็จนะครับ ถ้าหากมีคลองฝั่งขวาได้บูรณาการอีก ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ท่านดูครับ วันนี้สิ่งที่ขอไปถ้าไม่ได้ปีนี้ ปีหน้าเราจะเสียเป็นหมื่นล้านบาท สุโขทัยดังทุกช่อง ปากแคว คลองกระจง ป่ากุมเกาะ ท่านดูครับ ขอ Slide ดูน้ำครับ เรามี แม่น้ำยม ๒ ชั้น ท่านเห็นไหมว่านี่น้ำตาของคนสุโขทัย ไม่ใช่น้ำตาของกรมชลประทานที่ไป ยืนชี้ให้ดูผู้หลักผู้ใหญ่ว่ามันมาแค่นี้นะ มันเอาแค่นี้นะ แล้วก็กลับไป ๔ ปีเต็ม ๆ งบประมาณ ออกแบบจุดละ ๒๕ ล้านบาท ถ้าอนุมัติให้ ๔ ประตู ของท่านรัฐมนตรีวรวัจน์ด้วย จากแพร่ คือหาดอ้อน รองลงมาคือที่วังชิ้น วังน้ำเย็น รองลงมาที่ศรีสัชนาลัยที่แม่สำ รองลงมาอีก นิดหนึ่งก็จะช่วยการหน่วงน้ำเอาไว้ให้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ท่วมทุกวันนี้ ท่านประธานครับ จะให้จักรวาลคนนี้ไปกราบกรมชลประทาน ช่วยเอาสตางค์เล็ก ๆ น้อย ๆ ขี้ขยะตรงนี้ มาออกแบบและสำรวจให้เสร็จในปีหน้าเถอะครับ วันนี้ทุกประตูยังไม่มีสักเส้นเดียวในเขต พูดอย่างหน้าตาลอย ๆ ว่าไม่มีงบประมาณ ถ้าให้ตัวเองทำกรมชลประทานก็บอกว่าไม่มีคน ผมกราบเรียนไปถึงท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ตลอดจนท่านประธาน กนช. ทุกท่าน สุโขทัยอย่าให้หลั่งน้ำตาไปถึงพิษณุโลก พิจิตร ถ้าหากว่ายังไม่ทำประตูน้ำ ๔ ตัว ยังไม่พัฒนาคลองฝั่งขวาให้คนสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก จนถึงนครสวรรค์ ชัยนาทใช้ ไม่ต้องไปเยี่ยมแล้วครับ ไม่ต้องไปยืนชี้กระดาน บอกว่ามันไหลแค่นี้ มาแค่นี้ ผมจำจนนอนละเมอแล้วครับ กราบเรียนประธานว่า ของบประมาณในการออกแบบและสำรวจให้กับคนสุโขทัย ให้กับคนแพร่ และคนพะเยา ในการที่จะทำเขื่อนต่าง ๆ ตัวน้อย ๆ เขื่อนแกนดินที่ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ นั้นได้นำร่อง ไปไกลแล้วครับ รัฐบาลโดยคำสั่งของท่านนายกรัฐมนตรี คือท่านเศรษฐา ทวีสิน ขอเถอะครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่านนะครับ ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ท่านเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ท่านมานพ คีรีภูวดล เชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ วันนี้ผมขอ อภิปรายญัตติเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมร่วมกับเพื่อน ๆ รวมทั้งการเยียวยาด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลาย ๆ ท่านได้พูดถึงน้ำท่วมทาง ภาคเหนือที่มีปัญหาหนักในตอนนี้ แล้วส่วนเพื่อนของผมนะครับ เจษฎา ดนตรีเสนาะ เป็น สส. แบบแบ่งเขต ปทุมธานีเช่นกัน ได้พูดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจนะครับ ปทุมธานี ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเราเลยนะครับ ไม่ค่อยได้รับการดูแล ไม่ค่อยได้ออกข่าว การเยียวยา ก็ไม่ทั่วถึง ปัญหาน้ำท่วมนี้เกิดขึ้นจริง ผมขอภาพให้ดู ขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
อันนี้เป็นปี ๒๕๖๔ ที่เราลงไป ลุยน้ำ ที่เห็นในเรือคือคุณเจษฎาและผมนะครับ เราไปแจกน้ำ แจก Gel กันยุง แล้วอันนี้ ก็ทีมงานของพรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี อันนี้คือหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผมขอ แค่ ๒ ภาพเท่านั้น ให้ท่านดูว่าเรามีปัญหาน้ำท่วมจริง เนื่องจากปทุมธานีเป็นเมืองอกแตก ก็คือมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง ทำให้ทุก ๆ ปีน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีเลยนะครับ ท่วมจนชิน ท่วมจนไม่มีใครดูแล อันนี้ผมก็จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวปทุมธานีว่าเราต้องการการดูแลเยียวยาเช่นกัน แล้วในวันนี้ปทุมธานีนอกจากพื้นที่ใกล้แม่น้ำแล้ว ยังมีพื้นที่ของหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากว่าในอดีตเป็นพื้นที่นาที่โล่งมีพื้นที่รับน้ำเยอะแยะมากมาย แต่ปัจจุบันนี้ปทุมธานี กลายเป็นปริมณฑล ซึ่งก็มีหมู่บ้านไปสร้างจำนวนมาก เมื่อหมู่บ้านสร้างจำนวนมาก การระบายน้ำก็ไม่สามารถระบายได้อีกต่อไป บางพื้นที่ไม่มีท่อระบายน้ำปล่อยให้น้ำขัง แล้วก็ค่อย ๆ ซึมลงดิน ส่วนพื้นที่ที่มีท่อระบายน้ำก็มีการอุดตัน บางแห่งก็ไม่ได้รับการขุดลอก บางลำน้ำก็มีผักตบชวาเต็มไปหมด ทำให้เกิดน้ำท่วมขังทุกปี บางแห่งก็ท่วมขังกัน ๒ เดือน อันนี้เป็นแค่ ๓ วัน แผ่นนี้คือสิ่งที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ผ่านมา อย่างเช่นชุมชน ในซอยบางบอน ๑๕ ข้างวัดใหม่ คลอง ๙ ซอยใกล้ร้านอาหารทิวไผ่ ถนนหน้าวัดสระบัว คลอง ๑๓ หนองสามวัง คลอง ๑๓ หมู่ที่ ๔ ถนนเลียบคลอง ๑๐ ฝั่งตะวันตกบึงบา-หนองเสือ หมู่ที่ ๑ บึงสนั่น ชายคลองวัดใหม่กลาง คลอง ๑๐ คลอง ๑๔ บึงคอไห บ้านเลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลลำไทร บ้านเลขที่ ๘/๘ หมู่ที่ ๘ ลำน้ำพัฒนา หมู่ที่ ๒ ซอย ๒ บ่อตกปลา ทั้งพืชอุดม ลำไทร แล้วก็บึงคอไห ทุกพื้นที่จะเห็นว่าน้ำท่วมหมดเลยใน ๒-๓ วันที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะ ตรงที่ติดริมน้ำเท่านั้น เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะมาเป็นตัวแทนของชาวปทุมธานี แล้วก็ ประชาชนทั้ง ๗๖ จังหวัด ในการพูดถึงเรื่องระบบเตือนภัย เรื่องแรก คือระบบเตือนภัย เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของการเยียวยา วันนี้ผมขอโฟกัสแค่ ๒ เรื่องนี้ ระบบเตือนภัยของเรา ผมอยากจะนำเสนอระบบที่เรียกว่า Cell Broadcasting System หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า CBS หรือ CB ระบบนี้สามารถส่งเตือนภัยให้กับมือถือของทุกท่านในบริเวณนั้นเป็น ล้าน ๆ เครื่อง ภายในเวลาไม่ถึง ๑๐ วินาที เป็นระบบที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในตอนนี้ ท่านลองสำรวจดูว่าระบบแจ้งเตือนภัยระดับชาติของไทยยังไม่มีทุกวันนี้ เกาหลีใต้ มีตั้งแต่ ๑๘ ปีที่แล้ว ส่วนระบบ CB ในยุโรปก็ใช้มา ๑๑ ปีแล้ว ค่อนข้างจะน่าเชื่อถือ แล้วก็ ใช้งานได้จริง ระบบ CB ถูกพูดถึงครั้งแรกที่เป็นกระแสเหตุการณ์จ่าคลั่งที่กราดยิงที่โคราช ก็มี สส. หลายท่านแนะนำให้ใช้ระบบ CB นี้ในการที่จะแจ้งเตือนประชาชนว่าเมื่อจ่าคลั่งขับรถ ไปห้างสรรพสินค้าแจ้งเตือนประชาชนในละแวกห้างสรรพสินค้าเลยว่ามีอันตราย มีคนกราดยิง กำลังไปที่นั่นจะได้มีการป้องกันอย่างทันท่วงทีได้ แล้วในเหตุการณ์ของน้ำท่วม เราสามารถ แจ้งเตือนประชาชนได้ก่อน อย่างที่คุณเจษฎาเพื่อนของผมได้บอกไปว่าคุณไม่มีการแจ้งเตือน ปทุมธานีเลย ถ้าเกิดเรามีระบบนี้เราจะได้สามารถบอกเฉพาะกลุ่ม สามโคกก็เจาะจงลง ไปเลยอำเภอนี้ บริเวณนี้จะท่วมประมาณ ๑.๕๐ เมตร ก็ว่าไป อย่างภาพที่ผมลุยน้ำตรงนั้น จริง ๆ แล้วประมาณเมตรเดียว แต่ถ้าเกิดลุยต่อไปท่วมหัว ชาวบ้านบอกว่าไม่ควรเข้าไปลึก กว่านั้น แล้วระบบของ CB ก็สามารถที่จะรองรับ 2G 3G 4G 5G ได้หมด มีความเร็วมาก ในการส่งสัญญาณ แล้วก็ไม่ต้องกลัวค่ายมือถือล่ม เพราะไม่ได้ส่งสัญญาณผ่านค่ายมือถือ แต่ส่งสัญญาณผ่านเสาโทรศัพท์ตรงไปที่มือถือทุกเครื่องในละแวกนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศ ไทยหรือคุณมาจากต่างประเทศ เอาโทรศัพท์มาจากต่างประเทศได้รับ Message ได้รับ ข้อความเหมือน ๆ กันได้เลยในเวลาไม่เกิน ๑๐ วินาที ท่านจะรู้เลย ก็คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ กราดยิงเมื่อวานนี้ที่สยามพารากอน ตรงนั้นสามารถแจ้งเตือนประชาชนในห้างได้เลย เขาจะ ได้รู้ทั่วถึงกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบางคนอาจจะยังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรในสถานการณ์ฉุกเฉิน แบบนั้น อันนี้คือระบบเตือนภัย เคยมีอดีต สส. ของพรรคอนาคตใหม่ คุณไกลก้อง ไวทยากร ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. เสนอระบบนี้ กสทช. บอกว่ากำลังพิจารณาแล้วจะนำมาใช้ น่าจะ ใช้ได้ในปีหน้า ซึ่งก็หมายถึงปีนี้ แต่ปีนี้เกือบจะหมดปีแล้วเหลืออีกเพียง ๓ เดือน ก็อยากฝาก ท่านประธานครับช่วยถาม กสทช. หน่อยครับว่าระบบ Cell Broadcasting นี่เราจะมีโอกาส ได้ใช้หรือเปล่า แล้วก็ฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วยครับ ระบบนี้น่าสนใจมาก ๆ อยากให้ท่านพิจารณา และนำมาใช้เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้วางใจได้นะครับว่าเรามีระบบเตือนภัย ระดับชาติที่มีประสิทธิภาพสูงจริง ๆ อันนี้คือระบบ CB Cell Broadcasting
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องที่ ๒ ที่ผมจะพูดถึงคือการเยียวยา ทุกปีปทุมธานีตกหล่นเยอะมาก ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาหลายบ้านยังไม่ได้รับเงินเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็ยื่นเอกสารครบถ้วน โดยเฉพาะ เขตของผมก็มีแจ้งเข้ามามีการตกหล่น ยื่นไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ พอสอบถามไปก็คือมีผู้ใหญ่บ้าน มาแจ้งเรื่องให้ยื่นเอกสารทั้งหมดเสร็จแล้วก็ส่งไปยังเทศบาล เทศบาลก็เซ็นรับ เซ็นรับเสร็จ ก็ส่งไปที่อำเภอ อำเภอก็เซ็นรับแล้วเรื่องก็ค้างอยู่ตรงนั้น ไม่รู้ว่าถึงไหนชาวบ้านยังมาตาม ที่ผมอยู่เลย ตรงนี้ต้องฝากด้วยนะครับ ตอนนี้ปี ๒๕๖๖ แล้ว เงินเยียวยาปี ๒๖๖๕ ยังไม่ได้ รับเลย มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทำไมการเยียวยาถึงช้าขนาดนี้ ลองคิดดูตอนเราจ่ายภาษีนี่ ประชาชนก็ต้องไปเตรียมเอกสารเอง ยื่นทุกอย่างเอง เอาเงินไปจ่ายถึงที่ จ่าย Online หรือว่าอะไรก็ตาม แต่เวลาเราจะขอเงินเยียวยานี่เหมือนกับเราต้องไปขอ ๆ ทำไมถึงไม่มายื่น ให้ถึงบ้านบ้างครับ อย่างไรฝากท่านประธานพิจารณาการเยียวยาให้ประชาชนด้วยนะครับ เขาเดือดร้อนก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว อย่าให้เขาต้องไปเสียเวลาตามเงินเยียวยาอีกต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เชิญครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมขอใช้สิทธิ อภิปรายต่อญัตติขอให้สภาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขออนุญาต ที่จะเสนอปัญหา แล้วก็แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำเลยอย่างเป็นระบบเพื่อให้เห็นถึง การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ของจังหวัดเลยครับ ก็คือปัญหาเรื่องของ น้ำท่วมซ้ำซาก และปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำ ทั้ง ๒ นี้เรื่องเกิดขึ้นพร้อมกันสลับไปมา ในแต่ละปี ๆ ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดเลยเป็นภูเขา แล้วก็มีแม่น้ำเลยไหลผ่าน ผมถือว่าเป็นจุดแข็งอันหนึ่งที่จะเป็นโอกาสที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แล้วก็การขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาต้องถือโอกาสชื่นชมทางภาคเอกชน แล้วก็ภาครัฐ รวมถึง NGO หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำ ท่วมซ้ำซากในบริเวณที่เป็นเขตเมือง ก็คือเขตเทศบาลเมืองเลย เขตเทศบาลตำบลนาอาน เขตองค์การบริหารส่วนตำบลชัยพฤกษ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลเมือง ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำเลยไหลผ่าน แล้วก็มีแม่น้ำสาขา ๒ สาขาไหลมาบรรจบกัน ทำให้เกิด น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี ก็คือแม่น้ำเลยบวกกับแม่น้ำหมาน แล้วก็แม่น้ำลาย ท่านประธานครับ เมื่อวันก่อนผมเพิ่งไปลงพื้นที่ แล้วก็มอบถุงยังชีพให้กับพี่น้องในพื้นที่ของบ้านนาบอน ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเลย พื้นที่ตรงนี้ผมไปทุกปีตลอดระยะเวลาในการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรอบที่แล้ว ๔ ปีก็ไป ๔ ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๕ แล้วครับ แล้วถ้าหาก เราไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบมันก็เกิดครั้งที่ ๖ ครั้งที่ ๗ ครั้งที่ ๘ ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ดังนั้นวิธีการแก้ไขผมว่าไม่ยากครับ ยึดเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ปี ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านมีพระราชดำริต่ออธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ท่านบอกอธิบดีกรมชลประทานว่า ต้องสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ และป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเลย ๔ แห่ง ก็คือเขื่อนภูหลวง เขื่อนน้ำทบ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก และเขื่อนน้ำลาย ๓ เขื่อนแรก สร้างไปเกือบเสร็จหมดเรียบร้อยแล้ว คือเขื่อนภูหลวงสร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๙ กักเก็บน้ำได้ถึง ๓๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำทบ สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๖๔ กักเก็บน้ำได้ ๗ ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนที่มีชื่อว่าประตู ระบายน้ำศรีสองรักสร้างเสร็จในปี ๒๕๖๖ กำลังจะเสร็จครับ เหลืออีกอันหนึ่งครับก็คือเขื่อน น้ำลาย เขื่อนน้ำลายนี่ละครับตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๙ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณเขตเมืองได้เป็นอย่างดีครับ เพราะจะช่วยกักเก็บ น้ำไว้ในช่วงหน้าแล้งไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ใช้ในด้านเกษตรกรรม และในขณะเดียวกัน ก็สามารถชะลอน้ำไม่ต้องมาสมทบกับแม่น้ำเลยไหลท่วมในเขตเมือง เขื่อนน้ำลายในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาออกแบบ และผ่านขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า IEE เสร็จเรียบร้อยแล้ว พี่น้องประชาชนแถวนั้นบอกกับผมว่าถ้าครั้งนี้ ไม่ดำเนินการก่อสร้างเสียทีจะเลิกหวังแล้ว เพราะตลอดระยะเวลา ๔๖ ปีที่ผ่านมา ไปสำรวจแล้ว ศึกษาแล้ว แล้วก็ปล่อยทิ้งไป น้ำก็ท่วม ดังนั้นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมว่ายึดเอาแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แล้วเร่งรัดการก่อสร้าง เขื่อนน้ำลายแห่งนี้ ผมเชื่อว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนที่ต้องเก็บข้าวเก็บของทุกปีในการหนีน้ำ รอบนี้พี่น้องบ้านนาบอน ๒ ครั้งแล้ว ดังนั้นขอให้ดำเนินการเถอะครับ และลุ่มน้ำเลยยังมี พื้นที่ที่จะเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอีก ๒ แห่ง ที่อยากจะฝากกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมชลประทานไปพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน นั่นคือการสร้าง ฝายยางกั้นแม่น้ำเลย บริเวณบ้านท่ามะนาว ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง นี่จุดหนึ่ง อีกจุดหนึ่ง ก็คือฝายยางกั้นแม่น้ำเลยที่บ้านปากหมาก ตำบลศรีสองรัก ๓ เรื่อง ที่ผมได้กราบเรียน ท่านประธานไปนี่ครับ ถ้ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำโครงการ ทั้ง ๓ โครงการนี้ ไปดำเนินการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ผมเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำในบริเวณ ลุ่มน้ำเลยจะเกิดประสิทธิภาพ ไม่มีน้ำท่วมซ้ำซาก และมีน้ำที่จะเก็บไว้ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้อย่างมีระบบ และจะมีประสิทธิภาพมากครับ และพี่น้อง ประชาชนคนจังหวัดเลยที่ได้รับผลกระทบเรื่องของน้ำท่วมซ้ำซากมาตลอดระยะเวลา หลายสิบปีก็จะได้รับการแก้ไขปัญหา จึงฝากเรื่องนี้ผ่านทางท่านประธานไปยังรัฐบาล แล้วก็ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดดำเนินการ ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมานพ คีรีภูวดล เชิญครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมอยากจะพูดอย่างนี้ก่อน ท่านประธานครับ ท่านประธานอยู่ในสภาตรงนี้มานาน ผมคิดว่าเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการเรื่องน้ำท่วม เรื่องน้ำแล้ง ท่านคุ้น ๆ ไหมครับว่าเราตั้งมากี่ครั้งแล้ว ท่านคุ้น ๆ ไหมครับว่าแต่ละยุค แต่ละสมัยมักจะตั้งอย่างนี้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นคำถามแรกของผมว่าครั้งนี้ถ้าจะเป็นการตั้ง ครั้งสุดท้ายโดยการมองทั้งระบบ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากท่านประธานครับ ผมขอ Slide ด้วยนะครับ แผ่นแรกเลยนะครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมคิดว่า เรื่องของน้ำท่วมมันไม่ใช่แค่เรื่องของภัยพิบัติแล้วนะครับท่านประธาน มันไม่ใช่แค่เรื่องของ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติเรื่องกระบวนการบริหารจัดการที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ ส่วนกลาง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกว่า การบริหารจัดการที่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เราจะต้องมานั่งคุยกันทุกปี ๆ พี่น้องต้นน้ำ กลางน้ำต้องมาทะเลาะกัน ส่วนราชการก็จะมาทะเลาะกัน แล้วก็มาสู่สภาตรงนี้ ผมคิดว่า อันนี้คือระบบที่มันเป็นปัญหาใช่หรือไม่
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นแรกครับท่านประธาน ผมคิดว่าเรามาดูเรื่องของหน่วยงาน ปี ๒๕๖๐ เราบอกว่าเราจะมีศูนย์น้ำอัจฉริยะ แล้วตัวนี้มันทำหน้าที่อะไรครับ ลืมบอกว่า Fast Track สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูล สามารถที่จะจัดการบริหารตัดสินใจได้เลย ท่านประธานครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าปี ๒๕๖๕ ล่าสุด หน่วยงาน ๕ หน่วยงาน ได้มาลงนาม ข้อตกลงร่วมกันว่าจะเป็นหน่วยงานที่มาทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน มีทั้ง กนช. มีทั้ง สทนช. และหน่วยงานอื่น ๆ สิ่งสำคัญที่สุดผมคิดว่างบประมาณที่แผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ ๒๐ ปี ในช่วง ๕ ปี ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ เราใช้เงินงบประมาณไปแล้ว ๔๑๑,๙๐๐ กว่าล้านบาท คือถ้าไม่พูดไม่ได้ครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนจะไม่เห็น และงบประมาณตรงนี้ไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ตั้ง ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ใน ๕ ปี และทำไมน้ำยังท่วมล่ะ ไหนว่าเรามีข้อมูล ไหนว่าเรามีกลไก หน่วยงานที่ทำความร่วมมือ และใช้งบประมาณขนาดนี้ อันนี้มาดูเฉพาะเรื่องระบบบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรา บอกว่าข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ หรือที่เรียกว่า Big Data ของ หน่วยงาน ใช้งบประมาณไป ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้ววันนี้ที่ท่วมอยู่ทำให้พี่น้องที่ลุ่มน้ำยม พี่น้องแพร่ พี่น้องสุโขทัย พี่น้องในพื้นที่ บางคนก็จะเอาเขื่อน บางคนก็จะไม่เอาเขื่อน ข้อมูล เหล่านี้มันอยู่ตรงไหน ทำให้หน่วยงานและพี่น้องประชาชนจะต้องตัดสินใจร่วมกันครับ ข้อมูลอยู่ตรงไหนครับ Big Data ใช้งบประมาณไม่น้อยเลยนะครับท่านประธาน เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ๗,๑๖๐ กว่าล้านบาท โดยเฉพาะระบบ Big Data ประมาณเกือบ ๓,๐๐๐ ล้านบาท เราบอกว่าข้อมูลอัจฉริยะของเรา หน่วยงาน พี่น้องประชาชนก็จะมาถาม ว่าเป็นอย่างไรครับ หน่วยงานเข้ามาถาม ประชาชนมาถามอย่างนี้ครับ แล้วปีนี้น้ำจะเยอะ อีกไหมคะ ไม่คิดจะปล่อยไปทางอื่นหรือเปล่าคะ แล้วอันนี้รบกวนช่วยพิจารณาด้วยครับ พื้นที่น้ำแล้ง เพาะปลูกไม่มีน้ำ บลา บลา บลานะครับท่านประธาน การทำงานเชิงรุกไม่มีน้ำ ประชาชนไม่เคยสนใจ น้ำจะท่วมทุกปี และข้อสุดท้ายบอกว่าตกลงน้ำเจ้าพระยาจะปล่อย ไหมคะ อันนี้เราบอกว่าข้อมูลศูนย์น้ำที่มันเป็นอัจฉริยะ แล้วทำไมไม่มีใครตอบพี่น้อง ประชาชนเลย ทั้งหมดที่ผมยกมานี้ผมคิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผมถามว่ามันเป็นภัยพิบัติที่เป็น ธรรมชาติอย่างเดียวไม่เพียงพอครับ มันคือภัยพิบัติในเชิงระบบบริหารจัดการในการรวมศูนย์ อำนาจการบริหารจัดการ พื้นที่ท้องถิ่นคนที่เจอปัญหาไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหา อย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร จะประกาศภัยพิบัติไหม จะเอาน้ำไปทางไหน จะขุดลอกไหม จะทำเขื่อนไหม จะทำอ่างไหม ทำไม่ได้เลยครับส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน กรมที่ดิน กรมป่าไม้ ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ส่วนกลาง แล้วเราจะบริหาร จัดการอย่างนี้ผมคิดว่าที่แท้จริงแล้วภัยที่มันมาทุกปี หลายท่านก็บอกว่าซ้ำซาก แล้วมันรู้แล้ว ปีหน้ามันก็จะมา แล้วอีกไม่กี่เดือนก็จะเจอแล้ง เรื่องฝุ่นอีกแล้ว มันก็มาทุกปีครับ แต่ระบบ การบริหารจัดการที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย ท่านประธานครับ อันนี้กรณี ลุ่มน้ำยมนะครับ ผมคิดว่าถ้ามีข้อมูลจริง ๆ ที่เราใช้งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท และ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท ในการทำ Big Data เพื่อประกอบการตัดสินใจ ทำไมไม่เอาข้อมูล มาให้พี่น้องประชาชนทั้งลุ่มน้ำได้ตัดสินใจครับ อันนี้คือปัญหาใหญ่หรือเปล่าครับ บทสรุปครับท่านประธานตรงนี้สำคัญที่สุด ผมคิดว่าเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็เจออยู่ทุกปี เพราะว่าสถานการณ์โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝนก็ดี มรสุมที่มา แต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน เราก็รู้นะครับโดยเฉพาะประเทศไทยก็มาทุกปี แต่สำคัญที่สุด ก็คือว่าเราก็จะใช้กระบวนการมาพูดคุยกันแบบนี้ทุกปี ๆ การคิดแก้ปัญหาเชิงระบบนี้ ผมคิดว่าถ้ายังอยู่ที่ส่วนกลางในการแก้ไขปัญหา ถ้ายังใช้กลไก ระดับกลางในการตัดสินใจและอนุมัติงบประมาณ ผมคิดว่าท่วมแล้ว ท่วมอยู่ ท่วมอีก ท่วมต่อไป ท่วมอย่างยั่งยืนแน่นอนถ้าแบบนี้ครับ สิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจในการแก้ปัญหา ท่านประธานครับ เราจำเป็นจะต้องเอาอำนาจในการบริหารจัดการพร้อมงบประมาณลงไปสู่ ในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในระดับภูมินิเวศ ลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้เขา ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นวิชาการ บนพื้นฐานการมี ส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้มันถึงจะเกิดการแก้ปัญหาแล้วเราไม่จำเป็น จะต้องมาตั้งคณะกรรมาธิการแบบนี้
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามสุดท้าย ท่านประธานครับ ทุก ๆ ครั้งที่เราจะอภิปรายเสนอรัฐบาล ต่าง ๆ เหล่านี้ มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุด ผมอยากให้พิจารณา ถ้าเอาแบบนี้ผมคิดว่าไม่ยั่งยืน ผมไม่อยากเห็นการอภิปรายครั้งนี้เพื่อที่จะเป็นเหตุผลในการที่จะทำให้รัฐบาลได้ใช้ งบประมาณแบบตามใจ การแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนที่เกิดปัญหาอุทกภัยแบบเร่งด่วน ก็ต้องดำเนินการ แต่เมื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ใช้เหตุผลในการสนับสนุนจากรัฐสภาแล้วมา ทำงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ปัญหา ประกาศภัยต่าง ๆ แล้วไม่ลืมระบบใหญ่ที่อยู่ใน แผนแม่บท ๒๐ ปี ลืมทั้งหมดที่คิดในเชิงโครงสร้าง ลืมทั้งหมดที่จะบริหารจัดการที่เป็น ทั้งลุ่มน้ำและให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ถ้าแบบนี้ไม่ยั่งยืนครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ไม่อยากเห็นการอภิปรายครั้งนี้เป็นแค่เรื่องของการแก้ปัญหาชั่วคราว ผมอยากจะเห็น การแก้ปัญหาที่มันมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผมได้อภิปรายนี้ได้มองแบบทั้งระบบ ซึ่งแผนบริหาร จัดการน้ำ ๒๐ ปี เราก็มีแล้ว เราใช้งบ ๕ ปี ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เฉพาะเรื่องข้อมูล ก็ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท เราจำเป็นจะต้องบริหารจัดการเป็นเชิงระบบและให้พื้นที่เป็น คนตัดสินใจครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ท่านอิทธิพล ชลธราศิริ ท่านทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย เชิญท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สส. จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านประธานที่เคารพครับ ตั้งแต่ผมเกิดมา จังหวัดกาฬสินธุ์ก็เริ่มสร้างเขื่อนลำปาว พอมีเขื่อนเราก็ดีใจ แต่วันนี้มันเกินกำลังของ เขื่อนลำปาวก็จะปล่อยน้ำเพราะว่าตอนนี้ ๑๐๔ เปอร์เซ็นต์แล้ว ทางโครงการเขื่อนลำปาว ก็ปล่อยน้ำไป แต่ผลกระทบก็คือประชาชนที่อยู่รอบเขื่อนลำปาว โดยเฉพาะอำเภอเมือง อำเภอหนองกุงศรี อำเภอยางตลาด แล้วก็ลามลงไปถึงอำเภอร่องคำ แล้วก็อำเภอกมลาไสย ซึ่ง สส. เกือบทุกคนในจังหวัดกาฬสินธุ์มีการกระทบจากการน้ำท่วมหมด ผมเห็นการทำงาน ของราชการ ผมเห็นการเก็บกักน้ำที่ผิดพลาด ถึงเวลาปล่อยน้ำที่ให้มันเป็นธรรมชาติ ก็ไม่ปล่อย เก็บกักไว้จนเกินกว่าเหตุแล้วก็มาระบาย วันนี้น้ำท่วมจากจังหวัดอุดรธานี เลยลงมาที่จังหวัดกาฬสินธุ์เขื่อนลำปาว แล้วก็ออกมาที่ลำน้ำพาน ต่อไปเป็นลำน้ำชี แล้วก็ ไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด ไปที่จังหวัดยโสธร แล้วก็ไปท่วมหนักที่จังหวัดอุบลราชธานี ผมบอก เลยว่าวันนี้สิ่งที่น้ำท่วมเกิดอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรก ก็คือภัยธรรมชาติ อย่างที่ ๒ คือ ภัยการเมือง เพราะอะไรท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้นักการเมืองที่เข้าไปเป็นใหญ่เป็นโต เป็นรัฐมนตรี เป็นท้องถิ่น เป็นอะไร ไม่ประสานกันครับ คิดอยากทำงบประมาณอย่างไรก็ทำ อย่างบ้านผมลำน้ำมีพนังกั้นมาตลอด พองบมาได้ทีละ ๕๐๐ เมตร ๓๐๐ เมตร ๔๐๐ เมตร ตรงที่เป็นฟันหลอน้ำก็ไหลบ่าเข้ามาท่วมไม่เสร็จสักที ท่านประธานที่เคารพครับ ผมอยากฝากไปหาหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้าจะทำก็ทำ ระยะทาง ๓-๔ กิโลเมตร ๕ กิโลเมตร ทำให้เสร็จครับ ไม่ใช่มีงบมานิดหนึ่ง กรมโยธาธิการ และผังเมืองก็บอกว่ามีแค่นี้ กรมเจ้าท่าก็บอกว่ามีแค่นี้ สิ่งต่าง ๆ พวกนี้ ลำน้ำต่าง ๆ พอเอ่อ ขึ้นมาก็ท่วม พี่น้องประชาชนที่เขาได้รับผลกระทบ ถามว่าวันนี้สินค้าเกษตรเขาถูกน้ำท่วม ชีวิตเขาหวังพึ่งกับผลงานและสินค้าเกษตรแต่ต้องมาพังพินาศหมด เงินชดเชยมันไม่คุ้ม หรอกครับ ก็ขอบคุณรัฐบาลด้วยครับที่จัดเงินชดเชยไปตลอด แต่ถามว่ามันจะคุ้มกับของ ที่เสียไปไหม มันไม่คุ้มครับ แต่วันนี้ผมอยากให้ภัยพิบัติที่เกิดจากการเมือง คุยกันให้มัน ชัดเจนหน่อยว่าจะทำอะไรให้มันเป็นระบบ รัฐมนตรีบางคนคิดบอกว่าเอาน้ำขึ้นไปไว้ข้างบน แล้วปล่อยลงมา รัฐมนตรีบางคนบอกว่าเอาน้ำข้างล่างปล่อยไปข้างนี้ ผมบอกว่าวันนี้คิดกัน อบต. เขาไม่มีเงินหรอกครับ เทศบาลก็ไม่มีเงินครับ อย่างเทศบาลลำพาน เทศบาล บึงวิชัย เทศบาลทุกเทศบาลที่อยู่ในระบบลำน้ำ เขาไม่มีเงินมากพอที่จะทำพวกนี้ได้ วันนี้ฝาก ผู้มีอำนาจที่ครอบครอง ฝากทุกคนที่ดูแลภัยพิบัติพวกนี้ แก้ให้เป็นระบบหน่อยครับ ผมสงสารชาวบ้านนี่ครับ มาทำไมครับ มาขนของออกจากทางแล้วก็มาแจกถุงยังชีพ กินมาม่าจนหน้าเป็นมาม่าแล้วครับ ก็มีมาม่า ๑ ถุง น้ำปลา กินจนเป็นโรคไต ก็ขอบคุณนะครับ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไร แต่ต้องกราบเรียนว่าสภาพความเป็นอยู่ที่อยู่บนจอนะครับ ชีวิต ความเป็นอยู่ของราษฎรต้องเจออย่างนี้ทุกปี แล้วก็เป็นมาตลอดตั้งแต่ผมเป็นเด็กจนโต จนแก่ แต่ก็ไม่แก่เท่าไรหรอกครับ ก็จนถึงวันนี้ละครับ ก็ต้องบอกว่าวันนี้มันก็อยู่ ในสภาพเดิมคือท่วม แล้วอีก ๒ เดือน ท่านประธานทราบไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น อีก ๒ เดือน เตรียมภัยแล้งแล้วครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมก็ตกใจอยู่ว่าวันนี้ภัยพิบัติน้ำท่วม อีก ๒ เดือน ภัยแล้ง แล้วการที่น้ำไหลออกมานี่ปล่อยทิ้ง ไม่เคยเก็บไว้ให้เป็นประโยชน์เลย ผมกราบเรียน ท่านผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอะไร ที่เกี่ยวข้องกับพวกนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรืออะไรต่าง ๆ ถ้าระดมตรงไหน ได้ระดมเถอะครับ ระดมให้ชาวบ้านเขาได้อยู่รอดปลอดภัย ระดมให้มันเสร็จเป็นโครงการ ไป ๆ วันนี้ผมกราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่าผมก็ขอบคุณนะครับ วันนี้ท่านรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีก็เห็นบอกว่าจะไปอุบลราชธานี แล้วก็อาจจะเลยมาที่กาฬสินธุ์ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไชยา พรหมา ก็ลงกาฬสินธุ์ในวันเสาร์ กับวันอาทิตย์ ขอบคุณสำหรับความคิดที่อยากจะทำในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมกราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียวครับ เกิดจาก การเมืองของพวกเราด้วยที่สร้างระบบขึ้นมาเป็นอย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรครับท่านประธาน ที่เคารพ ผมกะว่าวันนี้ขอให้ทำให้จริง ๆ จัง ๆ ช่วยชาวบ้านจริง ๆ จัง ๆ ไม่ใช่ต้องเกิดมา มีท่วม แล้ง ท่วม แล้ง ท่วม แล้ง อยู่อย่างนี้ มันเจ็บกระดองใจครับ ก็ขอขอบคุณ ท่านประธานที่เคารพด้วยความเคารพครับ สวัสดีครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านอิทธิพล ชลธราศิริ เชิญครับ
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของผมมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม น้ำท่วมขัง เป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ผมขอนำเสนอปัญหาน้ำท่วม ๒ แบบ ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เดือนที่ผ่านมาในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเป็ด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจน้ำท่วมขังสูง ถนนบางเส้นไม่สามารถสัญจรได้ ท่วมบ้านเรือนเสียหาย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ข้าวของ พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นถนนบ้านเกาะ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านหนองโจด บ้านคำไฮ โรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น ถนนมะลิวัลย์ช่วงหมู่บ้านอโณทัย หมู่บ้านแก่นพยอม หมู่บ้านพวงเพชร ถนนสีหราชเดโชไชย ชุมชนสีฐาน ๓ ชุมชนมิตรภาพ ตำบลในเมือง บริเวณจุดกลับรถถนนมิตรภาพ บ้านโนนตุ่น บ้านกุดกว้าง ถนนกลางเมือง ซอย ๕ ถนนประชาสโมสร และอีกหลาย ๆ จุดที่ผมอาจจะ ไม่ได้กล่าวถึง ฝนตกเป็นเรื่องธรรมชาติเป็น เรื่องปกติ ฝนตกมากน้ำก็ท่วมเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่น้ำท่วมขังบ้านเรือนพี่น้องประชาชนแล้วไม่ได้รับการแก้ไขเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปี บางที่เพิ่งท่วมปีสองปีที่ผ่านมา บางที่ท่วมมา ๑๐-๒๐ ปี ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่เหมือนเดิม อันนี้เรื่องไม่ปกติแล้ว เราจะปล่อยให้ท่วมแบบนี้อีกนานเท่าไรครับ เราจะไม่มีกลไก วิธีใด จัดการปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่ได้ หรือเกิดความสูญเสีย น้อยที่สุดเลยหรือครับ จากที่ผมได้ลงพื้นที่สัมผัสสอบถามพี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน บางท่านบอกว่าพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมขังโดยตลอดทุกปี สร้างความลำบากให้ ผู้อยู่อาศัย ประชาชนต้องขนย้ายข้าวของออกไปอาศัยตามโรงแรม หรือที่ต่าง ๆ และเมื่อ น้ำลดก็ต้องกลับมาซ่อมแซมบ้านเรือน หมดเงินไปหลายหมื่นหลายแสน เคยได้รับเงินเยียวยา ปีหนึ่ง ๕,๐๐๐ บาท แต่น้ำท่วมทุกปี เขาไม่อยากได้เงินเยียวยาแต่อยากให้แก้ไขปัญหา และป้องกันน้ำท่วมมากกว่า
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
อีกท่านบอกว่าบ้านของเขาปี ๒๕๖๕ เป็นปีแรกที่น้ำท่วมครับ แล้วก็ก่อน หน้านี้ไม่เคยท่วมไม่ว่าฝนตกหนักขนาดไหน แต่พอมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเยอะ ๆ บ้านเรา ก็ได้สระน้ำมาเป็นของแถมทุกปีแบบไม่ต้องร้องขอ น้ำท่วมคือผลพลอยได้หรือเปล่า ระบบ ระบายน้ำไม่ได้รองรับจำนวนบ้านเรือนที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ทัน นี่เป็นผล พลอยได้ที่ไม่อยากได้
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
อีกรายบอกว่าแค่ฟ้าร้อง ซอยเข้าบ้านน้ำก็ท่วมรอแล้วครับ นี่เป็นเพียง ๓ ราย ที่ผมขอนำมายกตัวอย่างเป็นเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชนจากประเด็นปัญหา น้ำท่วมขังซ้ำซากในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เขตพื้นที่เมืองในจังหวัดขอนแก่นครับ
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
น้ำท่วมแบบที่ ๒ ครับ น้ำเอ่อล้นจากลำน้ำครับ ที่เกิดจากลำน้ำพอง ในเขตพื้นที่ตำบลบึงเนียม ตำบลหนองตูม ตำบลโคกสีครับ บ้านเรือนพี่น้องประชาชนที่อยู่ ติดกับลำน้ำพองนอกจากจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว บางทีท่วมเป็น เดือนสองเดือนครับ และท่วมแทบทุกปี และยิ่งเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำ ระบายน้ำออกยิ่งทำให้ น้ำเอ่อสูงขึ้น น้ำก็ไหลระบายสู่แม่น้ำชีไม่ได้ บางปีปล่อยน้ำจนหมดเขื่อนไม่สามารถมีน้ำ ทำเกษตรได้ ณ ปัจจุบันตอนนี้น้ำในเขื่อน ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ต้องเฝ้าระวังเพราะตอนนี้มีทั้งพายุ เข้ามา แล้วตอนนี้น้ำก็ปริ่มตลิ่งแล้ว ก็ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนก็เกรงว่าจะท่วมอีกครับ พี่น้องประชาชนบอกว่าจังหวัดขอบคุณเขาครับ เป็นผู้เสียสละ เป็นพื้นที่รับน้ำไม่ให้นำเข้าไป ท่วมเมือง พี่น้องประชาชนบอกว่าเราไม่ได้อยากเป็นผู้เสียสละตลอดไปครับ น้ำท่วมบ้าน เดินทางเข้าออกลำบาก ไปทำงานก็ลำบาก ยังท่วมพื้นที่ทำการเกษตรด้วย ได้เงินเยียวยา น้ำท่วมบ้าน ๕,๐๐๐ บาท น้ำท่วมไร่นาก็ต้องพิสูจน์ความเสียหาย พิสูจน์การท่วม กว่าจะ ได้รับเงินเยียวยาข้ามปี ท่วมล่าสุดกันยายน ๒๕๖๕ เพิ่งได้รับเงินเยียวยาเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ แล้วแบบนี้พี่น้องประชาชนเลือกอะไรได้บ้างครับ ยังไม่พอสำหรับพื้นที่บ้านเรือน พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่กับริมน้ำพอง เมื่อน้ำท่วมก็ได้รับความเดือดร้อนและเมื่อน้ำลด ก็ได้รับความเดือดร้อนอีกเช่นกันครับ เพราะว่าบริเวณริมตลิ่งดินจะทรุดและปัจจุบันดิน ก็หายลงไปอยู่ในลำน้ำแล้ว ยังไม่พอครับ บางหลังห้องน้ำ ห้องครัวไปอยู่ในลำน้ำแล้วครับ และปัจจุบันก็มีการทรุดตัวของบ้าน อีกไม่นานบ้านทั้งหลังก็คงต้องลงไปอยู่ในลำน้ำ เหมือนกัน ผมลงพื้นที่ล่าสุดวันที่ ๑ ตุลาคมที่ผ่านมาครับ พี่น้องประชาชนบ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียมให้ไปดูสถานการณ์ปัจจุบันว่าบ้านเริ่มทรุดตัว และถ้าน้ำลดลงครั้งนี้บ้านทั้งหลัง ต้องลงไปอยู่ในลำน้ำพองแน่นอน ผมเคยหารือในสภาแห่งนี้ไปแล้วกับการของบสนับสนุน งบประมาณในการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่ง โดยทราบว่าเรื่องอยู่ในการดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง อยากฝากท่านประธานไปยัง คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเร่งด่วนพื้นที่บ้านเรือนพี่น้องประชาชน ที่อยู่ริมตลิ่งบ้านบึงฉิม ตำบลบึงเนียม จังหวัดขอนแก่นครับ ท่านประธานครับ จากปัญหา ที่กล่าวมาข้างต้นผมขอสรุปและขอเสนอแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังนี้
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ในส่วนแรก อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนจัดการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้นเราจะมีวิธีการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้างกรณีที่ประสบ ปัญหาน้ำท่วม น้ำท่วมขัง เพราะบางครั้งท่วม ๓ วัน ๕ วัน ไม่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ก็ไม่เข้าระเบียบ วิธีการ ไม่สามารถรับเงินเยียวยาใด ๆ ได้ หรือกรณีที่ได้รับก็ได้รับช้า และน้อยไม่เพียงพอ ช่วงที่ฝนไม่ตกก็อยากจะให้เร่งพร่องน้ำออก ขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดคลองระบายน้ำ เป็นต้น
นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ
สำหรับระยะยาว อยากให้มีการทำงานบูรณาการกัน มีการออกแบบระบบผังเมือง ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่มีหมู่บ้านเกิดขึ้นมาใหม่มากมายแต่ระบบผังเมืองยังเป็นการออกแบบ แบบเดิมอยู่ บางทีการสร้างก่อสร้างต่าง ๆ สร้างถนนแต่ไม่มีระบบระบายน้ำไม่มีร่องระบายน้ำ พอมีงบก็มาสร้างร่องระบายน้ำใหม่ แต่ละเทศบาลพื้นที่ติดกัน ควรทำงานบูรณาการกัน ร่วมมือกัน หารือกันเรื่องแผนผังเส้นทางน้ำ ไม่ใช่ท่วมมาก็ปิดประตูระบายน้ำในเขตตัวเอง เพื่อไม่ให้เขตตัวเองน้ำท่วม จนไม่มีทางระบายน้ำที่เป็นระบบทั้งเมือง ใครจะทำก็ทำ ใครจะ สร้างก็สร้างไม่เชื่อมกัน Slope ของท่อระบายน้ำไม่ได้ระดับ ไร้ทิศทางไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน จึงอยากฝากท่านประธาน ถึงเวลาแล้วที่กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องเร่งสำรวจและวาง แผนผังเมืองใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สังคม บ้านเรือนชุมชน รวมไปถึง โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำกับดูแลอยู่ที่มีความล่าช้า ผู้รับเหมา เบิกเงินงวดที่ ๑ ได้ก็ไปขึ้นหน้างานจุดใหม่เพื่อให้เบิกงวดต่อไป งวดที่ ๑ ของงานชิ้นต่อไปได้ ทำให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้า พอจังหวัดไปเร่งจุดก่อสร้างจุดไหนก็ย้ายเครื่องจักร ย้ายแรงงานไปจุดนั้นทิ้งจุดเดิม พอเกิดฝนตกทีนี้ก็น้ำท่วมสิครับท่านประธาน จึงอยากให้มี การเร่งรัดผู้รับเหมาเร่งดำเนินการโดยด่วนด้วย และสำหรับพื้นที่ลำน้ำพองและพื้นที่ที่เป็น พื้นที่รับน้ำน้ำท่วมทุกปี อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีการแก้ไข หรือถ้า แก้ไขไม่ได้พี่น้องประชาชนก็พร้อมที่จะปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมได้ แต่ขอให้มี วิธีการเยียวยาที่เหมาะสมกับพี่น้องประชาชน จะเป็นวิธีการเช่าพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำของ พี่น้องประชาชนก็ได้ หรือจะมีวิธีอื่นที่เหมาะสมก็ยินดีมาก ๆ ครับ ขอเป็นกระบอกเสียง เสียงสะท้อนปัญหาของพี่น้องประชาชนจังหวัดขอนแก่นในพื้นที่ที่น้ำท่วมดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ครับ
นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย จากวิกฤติอุทกภัยหรือภัยน้ำท่วมที่ผ่านมาทั้งภาคเหนือ ในหลายจังหวัด เช่น แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก บริเวณลุ่มน้ำยมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านก็ได้อภิปรายถึงวิกฤติภัยแล้งหรือ El Nino ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและประชาชนอย่างมาก เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็กำลังเผชิญ ปัญหาใหม่นั่นคือปัญหาน้ำท่วมที่เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการต่อไปน้ำท่วมภาคเหนือก็จะไหลลงมาถึงนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมน้ำของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน หรือเรียกปากน้ำโผล่ เพี้ยนมาเป็นปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้นน้ำเจ้าพระยาทั้งแม่น้ำ ๔ สาย น้ำมา รวมกันในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงมาถึงจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และ กทม. ล้วนต่างได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ท่วมลงมาจาก ภาคเหนือทั้งสิ้น ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ล้วนต่างเป็นทางผ่านของน้ำทั้งสิ้น จากมวลน้ำจะถูกแยก ออกไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการระบายน้ำคือ ชลประทานจะระบายน้ำไปยังสิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี น้ำที่ไปแต่ละจังหวัดก็จะเข้าทุ่งนา ลงห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นประตูน้ำโรงสูบน้ำขนาดใหญ่กรมชลประทาน ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนประตูน้ำขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง หรือโรงสูบน้ำขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งประตูระบายน้ำที่อยู่ตามท้องทุ่งหรือคลองต่าง ๆ ค่อนข้างจะเป็นปัญหา อย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อสร้างเสร็จก็จะถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลจะเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล หรือ อบจ. ก็แล้วแต่ แต่กลับไม่ได้รับ การสนับสนุนงบประมาณท้องถิ่นในการซ่อมบำรุงประตูน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าอยู่ในสภาพปกติดี ก็สามารถช่วยระบายน้ำได้ดี รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ เพราะประตูน้ำหรือโรงสูบน้ำเหล่านี้ช่วยระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วมและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังได้ ในระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าเวลาน้ำท่วมจะระบายน้ำเข้าทุ่งประตูน้ำก็ไม่สามารถ ใช้ได้ การเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่สามารถทำได้ เราเห็นตามข่าวประตูน้ำ หรือโรงสูบน้ำสร้างแล้วไม่ได้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ตามที่เราเคยเห็นข่าวท่านรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงสูบน้ำที่ไม่สามารถใช้งานได้ ผมอยากให้กรมชลประทานหันกลับมาดู ปัญหาเหล่านี้ที่เราสร้างแล้วเราถ่ายโอนให้ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. ถ่ายโอนว่าเราจะแก้ปัญหา อย่างไรดี เพราะวัตถุประสงค์กระทรวงหรือรัฐบาลต้องการให้ท้องถิ่นดูแลสร้างความเข้มแข็ง เพราะประตูน้ำหรือโรงสูบน้ำนั้นไม่ได้ใช้งานเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือระบายน้ำเท่านั้น ประตูน้ำ โรงสูบน้ำ ประโยชน์ที่ได้รับคือช่วยบริหารน้ำให้เกษตรกรชาวนาได้มีน้ำทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง สรุปการดำเนินงานก่อสร้างอาคารชลประทานต่าง ๆ เช่น ท่อระบายน้ำ อาคารสถานีสูบน้ำ หลังดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและถ่ายโอนให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ตามภารกิจถ่ายโอนของกรมชลประทานเพื่อให้ท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันน้ำท่วม การระบายน้ำหรือสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรให้กับ พื้นที่เพาะปลูกในท้องถิ่นและให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เพื่อใช้ในการปรับปรุง ซ่อมแซม บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ท่อส่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีความสะดวกคล่องตัวในการ สูบน้ำใช้ในการทำการเกษตรหรืออื่น ๆ และเพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ แต่กลับพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงปล่อยให้อาคารต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายโอน เสียหาย ไม่สามารถสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรหรือทำการระบายน้ำขังได้เวลาน้ำท่วมขัง เมื่อมี การร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหน่วยงานราชการที่เป็นผู้สร้างให้เข้ามาซ่อมแต่ก็ไม่สามารถ ซ่อมบำรุงได้ เนื่องจากเป็นภารกิจถ่ายโอนและไม่สามารถจัดหางบประมาณสนับสนุนได้นั้น ทำให้เกิดปัญหาปล่อยอาคารรกร้างว่างเปล่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ มีปัญหาตั้งแต่ การถ่ายโอนจนถึงปัจจุบัน กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ก่อสร้างโรงสูบน้ำ ต่าง ๆ ให้เข้ามาดูแลและจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้จะได้ไหมครับ ถึงเราจะมี พ.ร.บ. ถ่ายโอนก็ตาม ควรจะปรับปรุง พ.ร.บ. แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งเกษตรกร ที่ทำนาด้วย ทั้งจังหวัดนครสวรรค์และทั้งประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ครับ
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกล เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเราได้ร่วมกันอภิปรายในเรื่องของการจัดการภัยแล้ง แต่วันนี้ เรากับต้องอธิบายปัญหาน้ำท่วม นี่มันคืออะไรคะท่านประธาน นี่สะท้อนการบริหารจัดการ น้ำที่ขาดประสิทธิภาพหรือไม่คะ สัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีเกิดฝนตกหนักโดยเฉพาะ พื้นที่บริเวณเทือกเขาตอนบนของจังหวัด ทำให้เกิดน้ำไหลหลากอย่างรวดเร็ว คลองและแม่น้ำสายหลักในจันทบุรีมีสภาพตื้นเขินกว่าเดิมขึ้นมาก น้ำเอ่อล้นคลองเข้าท่วม บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชน จากการสรุปข้อมูลของ ปภ. ในช่วงวันที่ ๒๗-๓๐ กันยายนที่ผ่านมา พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีจำนวน ๗ อำเภอ จาก ๑๐ อำเภอ ของจังหวัดจันทบุรี รวม ๓๓ ตำบล ๑๕๙ หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า ๓,๙๐๐ ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบมากกว่า ๑๒,๐๐๐ ไร่ และที่น่าเสียใจ มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๑ ราย ซึ่งดิฉันขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วยนะคะ โดยสถานการณ์น้ำปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจันทบุรีตอนนี้ปัจจุบัน ณ วันนี้มีเกินกว่าศักยภาพของอ่างจะเก็บแล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๑๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว ค่ะท่านประธาน หมายความว่าถ้าฝนตกลงมาอีกหรือมีพายุลูกใหม่จะไม่สามารถกักเก็บน้ำ เพิ่มเติมได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำลงคลองอย่างเดียว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้น ตลิ่งซ้ำอีกค่ะ อย่างที่ดิฉันได้เคยอภิปรายไปและตั้งคำถามไปว่าจันทบุรีขาดการบริหาร จัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะว่าในช่วงฤดูฝนพี่น้องชาวจันทบุรีต้องอยู่กับ ความหวาดระแวง คืนไหนพื้นที่ฝนตกหนักก็จะนอนไม่หลับ ต้องคอยระวังว่าน้ำจะเข้าท่วม บ้านตอนไหน จะเข้าท่วมสวนตอนไหน ต้องระวังว่าจะต้องออกไปยกมอเตอร์สูบน้ำหนีน้ำ เมื่อไร สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะว่าประชาชนไม่มีระบบเตือนภัยให้กับพวกเขาค่ะ ประชาชนจะรู้ ว่าน้ำท่วมก็ต่อเมื่อเขาเปิดดูใน Facebook เปิดดู Timeline ว่ามีใคร Post หรือเปล่าว่า น้ำท่วม เปิดดูในกลุ่ม LINE ว่ามี LINE กลุ่มไหนบอกข่าวบ้างหรือเปล่าว่าน้ำท่วม ดีขึ้นมา หน่อยได้รับการแจ้งเตือน ได้รับข่าวสารจากผู้นำชุมชน นี่หรือคือวิธีการที่รัฐบาลดูแล ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน แค่นี้มันพอจริง ๆ หรือคะ ท่านประธาน และยิ่งไปกว่านั้นข้อกังวลของดิฉันก็คือปัจจุบันลุ่มน้ำวังโตนดในช่วง ๒-๓ ปี หลังมาจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ฝนตก พื้นที่บริเวณรอบ ๆ คลองวังโตนดจะเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ เพราะว่าทั้งน้ำฝนที่ตกลงมารวมกับปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยลงมาจากอ่างเก็บน้ำมีมากจนทำให้ ระบายลงสู่ทะเลไม่ทัน แล้วถ้าในอนาคตคลองวังโตนดจะต้องรองรับน้ำเพิ่มอีก ๒ อ่าง ที่กำลังจะเสร็จเร็ว ๆ นี้นะคะ คำถามก็คือว่าศักยภาพของคลองวังโตนดจะสามารถรองรับน้ำ ได้อย่างเพียงพอหรือไม่ คำถามเหล่านี้กรมชลประทานต้องมีคำตอบให้กับพี่น้องประชาชน จากที่ดิฉันได้ลงพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก และได้พูดคุยกับท้องถิ่น หลาย ๆ คน หลาย ๆ ท่านมีข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ก็น่าเสียดายในพื้นที่ มีงบประมาณไม่เพียงพอ ดิฉันเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่าอยากเห็นการกระจายอำนาจ อยากเห็นท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขจัดการปัญหาของพวกเขาเองนะคะ สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้ดิฉันจึงอยากขอเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
๑. ดิฉันอยากเห็นการเตรียมลำคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำ ลงสู่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคลองให้มีความลึกขึ้นหรือกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
๒. อยากเห็นการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำให้มากขึ้น คำนึงถึงความเป็นอยู่ของคน ในชุมชนเดิม เช่นการมีสระน้ำในแต่ละตำบลเพื่อช่วยผันน้ำจากคลองสายหลักในช่วงฤดูฝน และใช้กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง หรือว่าจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำแบบอื่น เช่นการมองหาพื้นที่ ลุ่มต่ำที่สามารถรองรับน้ำได้ แล้วทำเป็นสนามฟุตบอลหรือสวนสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ ในตอนที่ไม่ต้องรองรับน้ำหลากนะคะ ถ้ามีพื้นที่ลักษณะแบบนี้ในการรองรับน้ำก็จะทำให้ลด ความเสียหายจากน้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรมได้ค่ะ
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
๓. จัดทำให้มีระบบเตือนภัยประชาชน โดยระบบเตือนภัยที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำวังโตนด และลุ่มน้ำเวฬุยังขาดอยู่ ตอนนี้ก็คือระบบโทรมาตร ระบบโทรมาตร ของชลประทานที่จะสามารถช่วย Monitor และทำให้หน่วยงานมีข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับ สถานการณ์น้ำ และนำไปแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีค่ะ ดิฉันเข้าใจว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องของงบประมาณ เป็นเรื่องของการใช้เวลา รวมไปถึงการใช้ เทคโนโลยี เราอาจไม่จำเป็นต้องยกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทั้งหมดมาใช้ เพียงแต่ต้องศึกษา จากลักษณะภูมิประเทศหรือประเทศต้นแบบที่เขาประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แค่นี้เราก็จะมีแนวทางในการจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแน่นอนค่ะ ท่านอาจจะบอกว่าไม่มีใครควบคุมธรรมชาติได้ จริงค่ะเราไม่สามารถควบคุมให้ฝนตกน้อย หรือทำให้ฝนตกมากได้ แต่สิ่งที่เราทำได้อย่างแน่นอนก็คือการคาดการณ์สถานการณ์ที่จะ เกิดขึ้น และเตรียมแผนสำหรับรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ค่ะ ถ้าหากรัฐบาลตระหนักว่านี่คือ ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนจริง ๆ เพราะว่าเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกค่ะ มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปครับ ขอเชิญคุณสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ครับ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมต้องขอขอบคุณท่านธีระชัย แสนแก้ว ผู้เสนอญัตติเรื่องปัญหาน้ำท่วม ท่านประธานครับ ผมขอพูดถึงเมื่อปี ๒๕๖๕ อำเภอกันทรารมย์น้ำได้ท่วมอย่างหนัก ท่วมทั้งหมด ๗ ตำบล ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ไร่นาเสียหาย หลายหมื่นไร่ ซึ่งอำเภอกันทรารมย์นั้นแม่น้ำมูลไหลผ่าน และมีแม่น้ำสาขาคือห้วยขะยุง และห้วยทาไหลลงลำน้ำมูล อำเภอกันทรารมย์มีฝายหัวนาปิดกั้นลำน้ำมูล แต่ปีนี้ถือว่าโชคดี ที่น้ำในลำน้ำมูลยังไม่ท่วม เพราะการบริหารจัดการของ ผอ. ฝายหัวนา ได้บริหารน้ำ เป็นอย่างดี ปีนี้อำเภอกันทรารมย์ติดลุ่มน้ำมูลไม่ท่วม ฝายหัวนามีคลองส่งน้ำใช้งานไม่ได้ ประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ และเครื่องสูบน้ำก็ใช้ไม่ได้ ทราบว่าทางกรมชลประทานจะได้ ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น ผมว่าถ้าจะถ่ายโอนให้ท้องถิ่นนั้นก็ควรจะเอางบประมาณให้กับ ท้องถิ่นด้วย ณ ปัจจุบันนี้ท้องถิ่นนั้นช่วยเหลือตัวเองก็ลำบากไม่มีงบประมาณ มีงบประมาณ ก็มีแค่จำกัด แต่ทางกรมชลประทานจะถ่ายโอนเกี่ยวกับคลองน้ำที่จะไหลลงสู่ท้องนานั้น ก็คิดว่าถ้าจะให้ท้องถิ่นต้องเอาเงินงบประมาณไปให้กับเขาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะไปซื้อ เครื่องสูบน้ำ ทุกวันนี้เครื่องสูบน้ำก็เก่ามาก ใช้การไม่ได้ อยากจะฝากท่านนายกรัฐมนตรีสั่ง การไปยังรัฐมนตรีที่รับผิดชอบให้ทางกรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการนะครับ ขอ Slide ด้วยครับ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ ที่ตำบลทาม อำเภอกันทรารมย์ น้ำได้ท่วม มีบ้านผึ้ง บ้านเจี่ย บ้านทาม น้ำกำลังท่วมไร่นา อย่างหนัก ตอนนี้ท่วมไปประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่แล้ว ซึ่งน้ำเป็นลำน้ำชีไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ แล้วก็ไหลลงมาสู่จังหวัดขอนแก่น มาจังหวัดมหาสารคาม แล้วก็มาจังหวัดร้อยเอ็ด มาจังหวัด ยโสธร และมาถึงอำเภอกันทรารมย์ ณ ปัจจุบันนี้น้ำได้ท่วมเป็นจำนวนมาก ในลำน้ำชีนั้น หน้าแล้งน้ำจะแห้งขอด คนเดินผ่านไปมาได้ แต่ถึงหน้าฝนน้ำจะท่วมเป็นจำนวนมากทุกปี ไม่ใช่เฉพาะปีนี้
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอเสนอแนะให้รัฐบาลควรทำเป็นฝายชะลอน้ำ เป็นช่วง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน หน้าแล้งพี่น้องประชาชนก็จะได้มี น้ำใช้ หน้าฝนน้ำก็จะไม่ท่วม ฝากท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ช่วยไปดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชน เพราะว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนในตำบลทามนั้น เดือดร้อน เพราะว่าปีที่แล้วเขาก็ได้รับความเดือดร้อนแต่มาปีนี้ก็ท่วมอีก เพราะว่าแม่น้ำชีนั้น ไหลมาจากทางจังหวัดชัยภูมิ ไหลมาจำนวนมาก ผมก็ต้องขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวุฒิพงศ์ ทองเหลา ครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอผ่านไปก่อนนะครับ เป็นคุณจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ตั้งแต่ผมได้มีโอกาสมาอยู่ที่สภาแห่งนี้ครั้งแรก ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ก็จำได้ว่าสภาแห่งนี้มีการพูดถึงวิธีการแก้ไขเรื่อง ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมมาโดยตลอด แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีการแก้ไขอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น การเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัยเนื่องจากน้ำท่วมบ้านเรือน หรือเป็น การเยียวยาพ่อแม่พี่น้องที่ต้องได้รับผลกระทบต้องเจ็บป่วย หรือเยียวยาพ่อแม่พี่น้อง เกษตรกรที่มีปัญหาพืชผลการเกษตรเสียหาย มีการชดเชยความเสียหายให้กับพ่อแม่พี่น้อง ที่เป็นเกษตรกรก็ดี หรือจะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการสร้างเขื่อนรอบข้าง ทั้งนี้ก็เพื่อ ป้องกันมิให้น้ำท่วม แต่อย่างไรก็ดีนะครับเรามีวิธีการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งก็ไม่เคยจะหมดสิ้นจากประเทศไทยครับ จริง ๆ ผมค่อนข้าง จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในสมัยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่มีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแบบเฉพาะหน้า เยียวยาเฉพาะหน้า แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ทำให้พวกเราเห็นอยู่แล้วว่าการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ เป็นแต่ การเยียวยาเฉพาะอาการที่ปรากฏเท่านั้น ถ้าเปรียบกับการรักษาพยาบาลก็เหมือนกับ ถ้าปวดหัวตัวร้อนก็กินยาแก้ปวดหัวตัวร้อน แต่สาเหตุแห่งโรคที่แท้จริงมิได้มีการดำเนินการ แก้ไข นอกจากนี้นะครับท่านประธาน ด้วยสภาวะของโลกร้อน โลกเดือด หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า Climate Change นี่นะครับ ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทำให้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปครับท่านประธาน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการไปตรวจสำรวจที่ขั้วโลก ก็พบว่าปริมาณน้ำแข็งในขั้วโลก Antarctica ขั้วโลกใต้มีพื้นที่ลดลงถึง ๑ ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งก็หมายความว่าน้ำแข็งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ละลายและกลายเป็นน้ำทะเล ย่อมทำให้ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งจึงย่อมจะทวีความรุนแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตามลำดับครับท่านประธาน ดังนั้นผมจึงอยากจะขอเสนอให้รัฐบาลนอกจากจะดูเรื่อง การเยียวยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว อยากจะให้มีการนำวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างครบวงจรเป็นระบบกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อที่ว่าพวกเราจะได้แก้ปัญหา เรื่องนี้ให้มีความเด็ดขาด ให้เป็นมรรคผลยิ่งกว่าเดิม ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล แล้วก็จะมาที่คุณพรรณสิริ กุลนาถศิริ นะครับ คุณกมนทรรศน์อยู่ไหมครับ เชิญเลยครับ ขอบคุณครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนขอมี ส่วนร่วมเพื่อตั้งญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมา หรือเมื่อวานนี้มีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง โดยเฉพาะตำบล มาบตาพุด ตำบลทับมา และตำบลเนินพระบางส่วน มีฝนตกเป็นเวลานานกว่า ๔ ชั่วโมง โดยวัดปริมาณน้ำฝนในเขตอำเภอเมืองได้มากกว่า ๙๐ มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วม เฉียบพลัน ถนนหลายสายในพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ อยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของชุมชนเมือง เหตุผลสำคัญที่ทำให้พื้นที่อำเภอเมือง และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดระยองเกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก โดยเฉพาะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลายปี หลังมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการวางผังเมืองที่ไม่ได้รัดกุมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะ เพื่อให้รองรับกับการขยายตัวของเขตเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมีการถมที่ดินในจุด ที่เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร บ้างก็มีการรุกล้ำในพื้นที่ลำรางสาธารณะเป็นเหตุ ให้เกิดน้ำท่วมขัง การระบายน้ำไม่ดีพอ เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งเตือน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือของหน่วยงานท้องถิ่น ที่รับผิดชอบเรื่องการป้องกันการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมโดยตรง โดยส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ จะได้รับการแจ้งเตือนจากภาคประชาชนและเป็นการส่งต่อข่าวสารกันเองในภาคประชาชน เท่านั้น ส่วนมากประชาชนในพื้นที่ที่มีการสื่อสารผ่านทาง Social หรือทาง Social Network ต่าง ๆ ก็จะเป็นการสื่อสารในวงที่ไม่กว้างนักทำให้ประชากรบางกลุ่มตกหล่นการแจ้งเตือนไป การเตรียมความพร้อมรับมือก็ทำได้ไม่ดีพอ เมื่อรู้ตัวอีกทีหนึ่งน้ำก็หลากหรือว่าน้ำท่วมขัง ในพื้นที่สูงมากแล้วทำให้มีความเดือดร้อนในแต่ละชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ชุมชนหนองโพรงหรือว่าตำบลทับมา รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ด้วยที่มีน้ำท่วมขังอย่างสูง ทำให้ รถยนต์ สินทรัพย์ ของมีค่าต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยทำให้เกิด ความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน นี่ไม่ใช่แค่เพียงแค่พื้นที่เดียวยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่เกิดความเสียหายอย่างหนัก การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของท้องถิ่นก็ยังไม่ดีพอ มีความขาดแคลนทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รวมถึงบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอต่อ การเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซาก น้ำท่วมแบบนี้ ในพื้นที่ทั้งพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลทับมา ตำบลเนินพระ เป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม อยู่บ่อยครั้งเมื่อมีฝนตกอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำระเบียบราชการก็ยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้แก้ไข ปัญหาภัยพิบัติได้ล่าช้าลง อำนาจการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินอยู่ในมือผู้ว่าหรืออำนาจ ในการจัดการบริหารแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยู่ในมือของส่วนกลางเสียส่วนใหญ่ แทนที่จะเป็นอำนาจของท้องถิ่น เพื่อจะได้บริหารงาน บริหารงบประมาณได้รวดเร็ว และทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นกับพี่น้องประชาชน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นค่ะท่านประธาน ถึงเวลาแล้วหรือยังคะที่เราจะคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อให้เขาได้สามารถบริหารงาน จัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงบริหารงบประมาณในท้องถิ่นของพวกเขาได้
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ดิฉันอยากจะฝากท่านประธาน ไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อให้สั่งการไปยังหน่วยงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เป็น ปัญหาเรื้อรังของอำเภอเมือง จังหวัดระยอง รวมถึงเป็นปัญหาเรื้อรังในอีกหลาย ๆ พื้นที่ด้วย ให้รีบหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากอย่างยั่งยืน อย่าให้คนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ กลายเป็นคนที่ต้องรับกรรม ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณพรรณสิริ กุลนาถศิริ ครับ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้นดิฉันขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพี่น้องทั่วไทยที่ส่งกำลังใจ ให้ชาวจังหวัดสุโขทัยที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซาก และหนักมากในช่วง ๔-๕ วัน ที่ผ่านมา และขณะนี้น้ำก็ยังแช่ขังอยู่อีกหลายพื้นที่ และดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในญัตติ ปัญหาเรื่องด่วนภัยพิบัติน้ำท่วมในวันนี้ค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ จังหวัดสุโขทัย อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมค่ะ ลุ่มน้ำยมในส่วนของจังหวัดสุโขทัยมีระยะทาง ๑๗๐ กิโลเมตร จากความยาวทั้งหมด ๗๓๕ กิโลเมตร พอมาถึงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะในส่วนของ อำเภอเมือง เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าคอขวดและเป็นแอ่งกระทะ น้ำจากทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็น ตอนเหนือหรือทางทิศตะวันตกห้วยแม่มอก และด้านล่างของจังหวัดก็หลั่งไหลมา ในแอ่งกระทะนี้ทุกข์ระทมมาอย่างยาวนานค่ะ ท่านประธานคะ พื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อน หรือแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฤดูฝนน้ำหลากน้ำไหลลงมาแล้วก็ไหลผ่านไปไม่สามารถ กักเก็บได้ ในช่วงฤดูแล้งก็แล้งซ้ำซากแล้งสุดขีด นี่คือการบริหารที่มีความเหลื่อมล้ำทำให้เกิด ปัญหาอย่างหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย ในกลุ่มลุ่มน้ำยมในพื้นที่นี้มีเพียงประตู ระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ที่อำเภอสวรรคโลก เป็นที่พึ่งแห่งเดียวใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ในการระบายน้ำไปยังแม่น้ำยมฝั่งซ้าย แม่น้ำยมฝั่งขวา แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีศักยภาพ เพียงพอที่จะดูแล ป้องกัน แล้วก็แก้ไขปัญหาได้ วิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ ๔-๕ วันที่ผ่านมา นั่นก็คือ พื้นที่ในส่วนของหมู่ที่ ๑ ตำบลปากแคว เมืองสุโขทัยน้ำกัดเซาะตลิ่งพังความยาวกว่า ๑๐๐ เมตร ถนนทรุด น้ำเชี่ยวกรากท่วมบ้านเรือนเสียหายกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน สะพานวังใหญ่ อำเภอ ศรีสำโรง น้ำกัดเซาะดาดคอนกรีตบริเวณคอสะพาน น้ำผุดท่วมข้ามถนนไปยังพื้นที่เรือกสวน ไร่นาพี่น้องประชาชน ในส่วนของตำบลวังทองและตำบลวังใหญ่เสียหายมากกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน ในพื้นที่ตำบลยางซ้าย อำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งตรงนี้เป็นแอ่งกระทะที่ใหญ่ที่สุด น้ำได้ไหลหลากอ้อมไปจากบริเวณปากแคว วังทอง วังใหญ่ ไหลลงไปที่คันดินของตำบลยางซ้าย พังทลายเกิดความเสียหายและเป็นทุกข์อย่างยิ่งให้กับพี่น้องประชาชนมากกว่า ๒๐๐ ครัวเรือน รวมทั้งพบสภาพปัญหาว่าสะพานพระร่วง เทศบาลเมืองสุโขทัยเก่า ชำรุด รวมทั้งสะพานพระแม่ย่า วัดศรีเศวตวนาราม ตำบลยางซ้าย ตอม่อมีปัญหาแตกร้าวค่ะ ท่านประธานคะ ความเสียหายในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม ๖๕ ตำบล ๓๑๗ หมู่บ้าน ๔,๓๒๒ ครัวเรือน พี่น้องประชาชน ๘,๙๐๒ คน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ๑๒๖,๗๓๔ ไร่ เป็นข้าวมากกว่าร้อยละ ๖๐ ข้าวโพด พืชไร่ พืชสวน ไร่นาเสียหายเป็นจำนวนมาก ความเสียหาย ทั้งสิ้นทั้งปวงคาดว่าไม่ต่ำกว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท ในครั้งนี้ค่ะ อย่างไรก็ตามความทุกข์ระทม ตรงนี้ชาวสุโขทัยได้ร่วมด้วยช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการช่วยตัวเอง ในเบื้องต้น และดิฉันขอเสนอการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ใน ๓-๔ ประเด็นดังต่อไปนี้
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ในประเด็นแรก ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง แขวงการทาง กรมทางหลวง ชนบท และกระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการ ประการแรก ตรวจสอบสภาพความแข็งแรง ของพนังกั้นน้ำบริเวณเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ซึ่งสูงราว ๓ เมตร มีความปลอดภัยแข็งแรง มากน้อยแค่ไหน และชาวสุโขทัยส่วนใหญ่บอกว่าไม่เอาอีกแล้ว ถ้าสูงกว่านี้บดบังภูมิทัศน์ เมืองของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมองดูแล้วเป็นความมหัศจรรย์ประติมากรรมที่น่าหดหู่ใจ เป็นอย่างยิ่ง
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาสะพานพระร่วง สะพานพระแม่ย่า สะพานโตโยต้า สะพานวังทอง สะพานวังใหญ่ และสะพานศรีสำโรง เพื่อให้อยู่ในสภาพ ปัจจุบันที่มีความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชน
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เร่งรัดให้สร้างตลิ่งบริเวณตำบลปากแคว หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๗ ระยะทางประมาณ ๑,๗๐๐ เมตร บรรจุไว้ในแผนแล้ว รวมทั้งตลิ่งแม่น้ำยมตลอดสาย
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ขอเร่งรัดโครงการปากพระโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ในบริเวณอำเภอเมืองสุโขทัย พี่น้องประชาชนมีความพร้อมเชิงพื้นที่แต่ขาดการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องของกรมชลประทาน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำหนองเสาเถียรที่ตำบลไกรใน รวมทั้ง ขอให้เปิดเส้นทางจราจรผันน้ำแหล่งน้ำคูคลองให้สมบูรณ์ครบถ้วนค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ดิฉันขอเสนอใน ๔ ประเด็น ดังต่อไปนี้เพื่อ ไปยังกรมชลประทาน ตลอดจนในส่วนของ สทนช. จะได้บรรจุเข้าแผนงานและโครงการ ต่อไป
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ขอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ถึงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ขอให้เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ๒ แห่ง ซึ่งอยู่ใน ระหว่างสำรวจแต่ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็คือ ประตูระบายน้ำบ้านเวียงเชียงชื่น ตำบลแม่สำ และประตูระบายน้ำบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ขอเสนอให้กรมชลประทานได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จากเขื่อนภูมิพล สู่กำแพงเพชร เข้าสู่ท่อทองแดง สู่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ขอให้กรมชลประทานเร่งรัดสำรวจออกแบบก่อสร้างแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝายในพื้นที่ ลุ่มน้ำยม ตลอดจนในพื้นที่ต้นน้ำ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อเพิ่มพื้นที่ น้ำต้นทุนให้ประชาชนและเกษตรกรต่อไป จึงขอเสนอแนวทางดังกล่าวนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหานะคะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้กับพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวุฒิพงศ์ ทองเหลา ครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม วุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล จากเหตุการณ์ น้ำท่วมอุโมงค์ทับลานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายนที่ผ่านมา สัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นน้ำป่าจากฝั่งเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งไหลบ่ามารวมกันบริเวณอุโมงค์ ทับลาน หรือ Wildlife Corridor บนทางหลวงสาย ๓๐๔ อุโมงค์ที่ด้านบนนั้นเป็นพื้นที่ สีเขียวเชื่อมระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
และอุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อให้ สัตว์ป่าสามารถสัญจรผ่านไปมา และยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัด นครราชสีมาเข้าด้วยกัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างอุโมงค์ทับลานแล้วเสร็จ เมื่อปี ๒๕๖๒ นับเป็นการใช้งานมายังไม่ครบ ๕ ปีครับท่านประธาน เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม อุโมงค์ไปแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ หลังจากการสร้างตัว ประตูทับลานได้ประมาณ ๑ ปี เกิดระดับน้ำสูงตามภาพ ๒ เมตร อุโมงค์เปิดใช้งานเมื่อครั้ง ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ ๒๘ กันยายน เป็นการท่วมครั้งที่ ๒ สำหรับอุโมงค์นี้ กระผม ขออนุญาตไล่ลำดับสาเหตุที่มาว่าเหตุใดอุโมงค์ที่อยู่บนพื้นที่สูงในแนว Contour ภูเขา ป่าเขาใหญ่ และป่าทับลานจึงมีเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง จากภาพนี้จะเป็นแผนที่อย่างง่าย เราจะเห็นว่า ฝั่งทางด้านขวามือจะเป็นป่าเขาใหญ่ซึ่งมีเส้นทางน้ำสีฟ้าไล่ยาวลงมาจากเขตอุทยาน ส่วนเส้นสีแดงด้านขวามือจะเป็นป่าทับลานซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำนะครับ เราจะเห็นว่าจุดที่เกิด คอขวดตามที่ลูกศรชี้จะเป็นจุดที่อยู่ปลายปล่องอุโมงค์ด้านบน ทางเชื่อมไปที่ตัวถนนเส้น ๓๐๔ ทางไปโคราช ส่วนตอนล่างนั้นบรรจบกับปราจีนบุรี เราจะเห็นว่าจุดนี้เองจะมีมวลน้ำมาก ในแผนที่ในการระบายน้ำนี้เราจะเกิดปัญหาว่าการระบายน้ำลงมาในลำคลองในเส้นทางน้ำที่ เป็นลำคลองชื่อคลองยาง สีฟ้า ๆ นั้นไม่ทัน โดยจุดรับน้ำคลองยางจะเป็นจุดที่เรียกว่า ลำน้ำ พระยาธารในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คลองวังมืดในอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งไหลมา บรรจบกันในระหว่างเส้นเหนือจากจุดที่เป็นคอขวด ในจุดที่ลูกศรชี้นี้เองมีขนาดแคบ และหักศอก ขนาดลำคลองกว้างประมาณ ๘-๑๐ เมตร เมื่อมีน้ำป่าต้นฤดูฝนไหลหลาก มาจากบริเวณทางป่าเขาใหญ่และป่าทับลานแน่นอนครับว่าไม่สามารถรับการไหลของน้ำป่า ลงสู่แม่น้ำสายใหญ่ได้ทัน เราจะเห็นภาพมุมสูงชัดเจนว่าในระหว่างที่มีน้ำป่ามวลมหาศาล ไหลลงมาจากทางฝั่งป่าเขาใหญ่และทับลาน จุดบริเวณที่เป็นคอขวดจะเป็นจุดที่เป็นหักศอก ของลำคลอง ซึ่งกว้างประมาณเพียงแค่ ๘-๑๐ เมตร และเรายังจะเห็นส่วนที่มีการสร้างเป็น แนวกำแพงป้องกันสัตว์ออกนอกพื้นที่หรือ Guide fence ที่อุทยานเขามาสร้างไว้ จากภาพเราจะเห็นมุมบนว่าตัว Guide fence ที่เป็นแนวเขตล้มพังระเนระนาดจากการสร้าง กีดขวางมวลน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นน้ำป่าต้นฤดูที่ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาน้ำหลากบวกกับบริเวณ ลำคลองมีลักษณะตื้นเขิน บางช่วงตื้นเพียงแค่ ๕๐ เมตร ผมจะให้ดูมุมล่างชัด ๆ ในการสร้าง แนว Guide fence กีดขวางทางน้ำนะครับ Guide fence ทั้งหมดในระยะทางซึ่งทาง อุทยานได้สร้างไว้ล้มพัง เมื่อสักครู่เราเห็นจากภาพมุมสูงแล้วว่าเป็นแนวทางขวางทางน้ำ อย่างไร แน่นอนครับลักษณะเป็น Contour ภูเขา น้ำไหลจากข้างบนลงข้างล่าง ต่อมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุการณ์เพียงแค่อุโมงค์ทับลานที่เราเห็นในข่าวเพียงอย่างเดียวที่มี การท่วมและรถไม่สามารถสัญจรไปได้เป็นระยะเวลาครึ่งวัน หรือในปี ๒๕๖๓ เป็นระยะเวลา นานถึง ๒ วัน ที่ทางประตูเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรีไม่สามารถจะผ่าน สัญจรได้ ใน Slide นี้เองจะเป็น Video ไม่แน่ใจว่าสามารถเปิดได้ไหมนะครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ตัว Slide นี้เดี๋ยวผมอธิบายภาพ ขออนุญาตให้ดูภาพก่อนนะครับ ตรงนี้ถ้าเราได้ยินเสียงด้วยมันจะเป็นเสียงของกระแสน้ำป่า ที่ค่อนข้างรุนแรง ผมอธิบายไปก็คือในพื้นที่นอกจากตัวประตูอุโมงค์อุทยานทับลาน ซึ่งเรา จะเห็นในข่าวว่ารถไม่สามารถสัญจรผ่านได้และเกิดน้ำท่วม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นชาวบ้าน บริเวณตำบลบุพราหมณ์ หมู่ที่ ๗ และหมู่ที่ ๑๐ ไล่ลงมาตั้งแต่ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชาวบ้านอยู่กันด้วยความยากลำบากครับ ต้องอพยพหนีน้ำ รถต้องขับออกมาจอดในพื้นที่ที่ปลอดภัย ระดับน้ำสูงถึงอก และมีความเชี่ยวมากนะครับ เราจะเห็นว่าผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ตัวประตูอุโมงค์มีปัญหา แต่ชาวบ้านที่อาศัย อยู่ในบริเวณก็ใช้ชีวิตได้ยากลำบากเช่นกัน หากคร่าว ๆ ที่ผมพอจะสรุปแล้วภายหลังจาก การสร้างอุโมงค์ทับลานเกิดขึ้นตามผลการศึกษาผลกระทบ EIA ต้องระบุว่ามีการประเมินผล กระทบของการก่อสร้างหลังใช้งาน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาผลกระทบจากหน่วยงานใด ที่เข้ามาประเมินการใช้งานผลกระทบปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจากข้อสังเกตทางเชื่อมอุโมงค์ ค่อนข้างสูง หากสัตว์ป่าที่จะต้องข้ามตัวอุโมงค์เชื่อว่าต้องมีแข้งขาหักครับ นอกจากที่ข้ามไป แล้วต้องเจอกับลำคลองอีก การข้ามฝั่งระหว่างทับลานและป่าเขาใหญ่ เพื่อที่จะมีการผสม พันธุ์ของสัตว์ป่าก็ทำได้ยาก
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะ ส่วนที่ ๑ ในการแก้ปัญหา ควรปรับปรุงรั้วน้ำทางสัตว์ใหม่ไม่ให้ กีดขวางทางน้ำที่ไหลจากป่าเขาใหญ่และป่าทับลาน
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๒ คือเร่งขุดลอกคลองวังมืด ซึ่งเป็นคลองสำคัญที่จะเชื่อมลงสู่แม่น้ำ ปราจีนบุรีที่มีขนาดเล็กและตื้นเขินให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้ง ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๖๓ และปีที่ผ่านมาก็คือปีนี้ การก่อสร้าง ทางธรรมชาตินั้นถึงแม้จะมีการคำนึงถึง และเตรียมการสำหรับการตรวจสอบผลกระทบที่จะ เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าเหล่านั้น เราต้องตั้งคำถามด้วยครับว่าการออกแบบโครงการที่ต้องคำนึงถึง แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติขึ้นตามธรรมชาติเราได้คำนึงถึงมันมากน้อยเพียงใด และในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นอีกในภัยพิบัติที่ใหญ่กว่านี้ หรือปริมาณฝนในป่าเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติ ทับลานเราจะต้องมีการเตรียมตัวรับมืออย่างไร ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้ อย่างเร่งด่วนนะครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนิยม วิวรรธนดิฐกุล คุณนิยมอยู่หรือเปล่าครับ อย่างนั้นผมจะข้ามไปที่คุณคำพอง เทพาคำ นะครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคอีสาน ผมเพิ่งกลับจากไปเยี่ยมพี่น้องชาวลุ่มน้ำยัง ลุ่มน้ำชี ตั้งแต่อำเภอโพนทองลงมาจนถึงอำเภอ เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านหนองบุ่ง บ้านโนนเชียงหวางเป็นเกาะถูกตัดขาดจากโลก ภายนอก การสัญจรไปมาต้องใช้เรือ การเข้าออกก็ยากลำบาก ลูกเล็กเด็กแดงไปโรงเรียน ก็ยากลำบาก นาข้าวไม่ต้องถามถึงจมน้ำเกิน ๗ วัน ก็เน่าไปแล้วนะครับท่านประธาน ลงมา อีกนิดหนึ่งก็เป็นแถวบ้านดงแจ้ง บ้านนาวี บ้านท่าเยี่ยม เลยลงมาก็จะเป็นบ้านโพธิ์ซัน บ้านโพธิ์ตาก อำเภอเสลภูมิ ก็จมด้วยเช่นกันนะครับ ผมก็เพิ่งรู้นะครับว่าคำว่า น้ำยังมันมี ที่มาทำไมชื่อน้ำยัง เพราะบอกว่าถ้าเป็นฤดูฝน ฤดูน้ำหลาก เพราะน้ำยังจะเป็นแม่น้ำที่ชันมาก ไหลมาจากภูพานลงมาจนถึงแม่น้ำชี ลำห้วยจะชันมาก แล้วน้ำไหลแรงมากนะครับ พอถึงหน้าแล้งน้ำจะไม่เหลือครับ ชาวบ้านบอกว่าชื่อน้ำยังเพราะว่ามันต้องบอกเป็นเคล็ด บอกว่าให้มันยังไว้ก่อน ท่านประธานครับ มีข้อเรียกร้องฝากของพี่น้องลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำยัง จากหมู่บ้านต่าง ๆ อย่างที่ว่านะครับ อย่างบ้านโพธิ์ซัน บ้านโพธิ์ตาก เขาก็บอกว่าให้รัฐบาล เตรียมค่าชดเชยเป็นไว้ด้วยสำหรับข้าวนาปี ก็คือไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท ไร่ละ ๑,๒๐๐ บาท ไม่พอหรอกครับ แล้วก็รอนานด้วยรอเป็นปี เที่ยวนี้ขอ ๓,๐๐๐ บาท ไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท แล้วก็ขอชดเชย เร็ว ๆ ด้วยนะครับ เพราะว่ามันเสียหายมาก แล้วก็เตรียมค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ข้าวในช่วงของ นาปรัง แล้วก็ค่าน้ำทำนา ทำนาปรังไม่ได้ทำฟรีนะครับ ต้องเสียค่าสูบน้ำไปไร่ละ ชั่วโมงละ ก็แล้วแต่การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง เรื่องข้อมูลไม่ต้องห่วงครับชาวบ้านเขาเตรียมไว้แล้ว เพียงเจ้าหน้าที่ลงไปเอามาใช้ประโยชน์ได้เลย เอามาใช้ช่วยเหลือพี่น้องได้เลย ไม่ต้องไป สำรวจอะไรมากมาย เพราะว่าน้ำมันท่วมมาทุกปี ๆ แล้วก็สถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมครับท่านประธาน ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากดูเหมือนว่า จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่ว่ามันคนละเรื่องกันอยู่นะครับ เราก็บอกว่ามันเป็นธรรมชาติมันเป็น อย่างนั้น แต่หลาย ๆ ท่านที่อภิปรายมาก็บอกว่ามันนอกเหนือจากธรรมชาติแล้ว มันยังเป็น เรื่องของการบริหารจัดการน้ำด้วย เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิด การสูญเสีย ไม่เฉพาะพืชพันธุ์ธัญญาหาร รวมทั้งวิถีชีวิต รวมทั้งสัตว์เลี้ยง บางทีก็อันตราย ถึงชีวิตด้วยนะครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนสาเหตุก็อย่างที่ว่านะครับ ว่าเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของการเปลี่ยนแปลง ของสิ่งแวดล้อม มีการสร้างสิ่งกีดขวางจากโครงการหน่วยงานภาครัฐด้วย จากภาคธุรกิจ ภาคเอกชนไปสร้างพื้นที่รุกเข้าไปในพื้นที่ของพื้นที่รับน้ำ แล้วที่สำคัญหลายท่านก็ต้องบอก ยืนยันว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานอย่าง กรมชลประทานใช้งบประมาณปีหนึ่งไม่น้อยนะครับท่านประธาน ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ได้มาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หน่วยงานที่ได้มากที่สุด หลายท่านที่เคย บริหารกรมชลประทานก็บอกว่ามันไม่รู้หายไปไหนงบประมาณ ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปใช้อะไรมันถึงทำให้เรื่องของการบริหารจัดการน้ำไปไม่ถึงไหนนะครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
การแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วม น้ำท่วมบอกว่าต้องสร้างเขื่อน น้ำแล้งก็ต้อง สร้างเขื่อนอันนี้เราคิดกันมา ๕๐-๖๐ ปีแล้วนะครับ โครงการไม่รู้เป็นร้อย ๆ โครงการ เรื่องของเขื่อนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาแล้ง ท่วม หลายโครงการก็มีปัญหากระทบกับธรรมชาติ กระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ยกตัวอย่างปากมูลครับท่านประธาน ปากมูลนี่สร้างมา ๓๐-๔๐ ปีแล้ว จนบัดนี้ความขัดแย้ง ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวปากมูลก็ยังไม่ได้รับ การแก้ไข ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการดูแล พี่น้องปากมูลก็ยังเดือดร้อน พลัดที่นา ลาที่อยู่ เกิดความขัดแย้ง ๓๐ ปีแล้ว แต่น้ำก็ยังท่วมเมืองอุบลราชธานีอยู่นะครับ วันนี้ก็ กำลังท่วมกันอยู่ กำลังขนข้าวขนของ หาที่อยู่อาศัยกันอยู่พี่น้องชาวอุบลราชธานี ชาววารินชำราบ ก็บอกแล้วว่าให้พร่องน้ำตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่จะไล่ขยะ ไล่ตะกอนออกจากแม่น้ำมูลบ้าง วันนี้ก็เห็นบอกว่าจะประกาศ เรื่องของการศึกษาเรื่องการจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำมูลมีเอกสาร ทั้งสถาบันการศึกษา ทั้งภาคเอกชนมากมายเลย ไม่ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเอาขึ้นหิ้งหมด ไม่เชื่อไม่มีใครเอาไปใช้ นักพัฒนาเอกชนเขาก็ทำมีเอกสารมากมาย แต่ไม่ยอมเอาไปใช้ บอกว่าให้เปิดเขื่อนปากมูลก่อนได้ไหม พร่องน้ำไล่ตะกอนออก ไล่ขยะออก ไล่น้ำเน่าออก แต่ไม่ยอมทำ ก็ท่วมกันไป ท่านประธานที่เคารพครับ ข้อเสนอแนะเอาที่ภาคอีสาน ก็แล้วกัน ปริมาณน้ำทั้งภาคมีอยู่ประมาณ ๒,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ลองขุด ลองใช้ผลการศึกษาไปขุดลอกออกไปบึง หนองต่าง ๆ บึงแก สารพัดชื่อมีเยอะแยะไปหมด สามารถที่จะรองรับน้ำในภาคอีสาน ทั้งภาคได้ไหม ๒,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรนี่ไม่ต้องให้ ไหลลงไปแม่น้ำมูลแล้วไปท่วมชาวอุบลราชธานีนะครับ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แหล่งน้ำเล็ก ๆ ท้องถิ่นสามารถจัดการได้ก็ให้เขาสามารถจัดการได้ กระจายงบประมาณ กระจายอำนาจลงไปครับท่านประธาน เพื่อที่จะชะลอน้ำไม่ให้น้ำไหลลงไปรวมกันเป็นมวลน้ำมหาศาล เครือข่ายลุ่มน้ำชีเขามี การจัดการน้ำมีแผนไว้แล้ว หน่วยงานรัฐจะเอาไปใช้ก็ไม่น่าเป็นปัญหาอาจจะไปถาม คุณประมวลอันนี้ขออนุญาตเอ่ยชื่อเจ้าของผลงาน แล้วก็ถ้าจะให้ดีวันนี้น้ำกำลังท่วม จัดตั้ง กองทุนน้ำท่วม จ่ายแล้วครับ ท่วมทันที จ่ายทันที ครอบครัวละ ๓,๐๐๐ บาท ที่จะดูแล พี่น้องได้ทั้งอุปโภคบริโภคไม่ต้องไปใช้ถุงยังชีพให้มันยาก จัดซื้อจัดจ้างเดี๋ยวมีปัญหากัน ก็อย่างที่กราบเรียนพี่น้องชาวลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำยังฝากเตือนอีกที ฝากท่านประธานอีกทีว่า เขารอที่จะให้เขาได้ทำข้าวนาปรังอยู่ ข้อมูลผมมีให้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณบุญแก้ว สมวงศ์ ครับ
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายบุญแก้ว สมวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคเพื่อไทย วันนี้ก่อนอื่นกระผมก็ต้องขอขอบคุณท่าน สส. ที่เสนอญัตติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับ พี่น้องประชาชน ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของจังหวัดยโสธร ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอค้อวัง อำเภอมหาชนะชัย ซึ่งเขตพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี แล้วก็ฝั่งลำเซบายก็จะมีอำเภอป่าติ้ว ผมขอ Slide หน่อยครับ
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
ตรงนี้เป็นลำน้ำชีไหลผ่านช่วงนี้เป็น บ้านทรายงาม ตำบลกุดกุงที่น้ำท่วมตัดขาด เส้นทางตัดขาดช่วงนี้น้ำก็กำลังจะมาอีก ผมได้นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาทุกปีที่ผมอยู่สภาแห่งนี้มาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ก็มีหลาย รัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะลำน้ำชี แม่น้ำชีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุด ๗๖๕ กิโลเมตร ไหลมาจากต้นน้ำก็คือชัยภูมิผ่านมานครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ลงมาสู่ยโสธร แล้วก็ผ่านไปยังอุบลราชธานี แม่น้ำชีเป็น แม่น้ำสายหลักช่วงหน้าแล้งก็แล้ง ช่วงหน้าฝนก็ท่วม แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหานั้นนะครับ ผมขอเรียนท่านประธานว่าทุกวันนี้พี่น้องเกษตรกรได้รับ ความเสียหายอยู่เป็นแสนกว่าไร่ที่จังหวัดยโสธร แล้วก็เราแก้ปัญหาช่วงที่หน้าแล้ง ผมอยาก ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมชลประทาน โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบ โดยท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งท่านก็ออกพื้นที่แล้วก็ไปพบปะพี่น้องประชาชน ก็อยากให้เราต้องดูกลั่นกรองให้ดีก่อนจะทำงบประมาณ ผมเห็นทางกรมชลประทานไปทำ งบประมาณไว้ไปทำแต่คลองส่งน้ำ สถานีสูบน้ำแต่ไม่มีน้ำใช้หน้าแล้ง แต่หน้าฝนน้ำก็ท่วม เราจะแก้ปัญหาก็คือ ๑. ให้ทำฝาย ทำเขื่อนกั้นน้ำแม่น้ำชีเพื่อกักเก็บน้ำไว้ช่วงหน้าแล้ง แล้วก็ จะแก้ปัญหาน้ำที่จะมาท่วมเพื่อจะลดปัญหาน้ำท่วมของพี่น้องเกษตรกร อันนี้ละครับ คือปัญหา แล้วการเยียวยาผมยังคิดว่ารัฐบาล โดยการนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งท่านก็ จะลงไปดูวันที่ ๗ ท่านจะลงพื้นที่ยโสธรผมก็ดีใจ ท่านจะเห็นปัญหา แล้วก็รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เราจะแก้อย่างไร เราก็แก้เพื่อ ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปภ. เราต้องมาจับเข่าคุยกันแก้ปัญหาให้มันจริงจัง ไม่ว่าจะต้องการลงพื้นที่ ถ้าแก้ปัญหาแล้วเราก็ ต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้มันก็ซ้ำซากอย่างนี้ละครับ เราจะหาวิธีแก้ได้อย่างไร ส่วนลำน้ำเซ ลำน้ำเซก็มีอยู่ ๒ ตำบล ที่ได้รับผลกระทบก็คือตำบลเชียงเพ็ง แล้วก็ตำบลโพธิ์ไทร ซึ่งเป็น พื้นที่ของกระผมเอง ได้รับความเดือดร้อน น้ำที่มาแต่ละปีเราต้องรับ พี่น้องประชาชนเป็นคน รับผลกระทบทุก ๆ ปี ๒ หมู่บ้าน บ้านดอนกระยอม แล้วก็บ้านทรายงาม ตรงนี้ละครับ ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว แล้วก็อำเภอมหาชนะชัย ก็จะมีตำบลม่วง แล้วก็ตำบลฟ้าหยาด ตำบลผือฮี ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก แล้วก็อำเภอค้อวัง ก็จะมี ตำบลกุดน้ำใส ตำบลฟ้าห่วน เราจะแก้ปัญหาเพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างไร อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผมหวังว่ารัฐบาลชุดนี้โดยการนำของ ท่านเศรษฐา ทวีสิน พร้อมกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อจะนำปัญหาของพี่น้องประชาชนเพื่อจะ มาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ตรงไหนที่เรายังไม่ขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง ที่ต่อไป สาขา เราขุดลอกเลยครับ อย่าไปทำเลยครับสถานีสูบน้ำ สถานีสูบน้ำที่ทำไปแล้วใช้ไม่ได้ ให้ไปแก้ตรงนั้น ผมขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานเลยครับ กรมชลประทาน ถ้าจังหวัดยโสธรอย่าเพิ่งไปตั้งงบประมาณเพื่อทำคลองส่งน้ำนะครับ เพราะว่าตอนนี้คลองส่งน้ำ ที่กรมชลประทานไปทำไว้ร้างหมดแล้วครับ ตอนนี้หม้อแปลงก็หาย ผมเคยพูดในสภา มาหลายครั้งแล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าอยากแก้ไขจริง ๆ ก็ขุดลอกก่อน ขุดลอกเพื่อ กักเก็บน้ำ แล้วจะลดน้ำท่วมของพี่น้องประชาชน ทำฝายกั้นน้ำไว้เพื่อชะลอน้ำ เพื่อเกษตรกร ยามหน้าแล้งครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเอกราช อุดมอำนวย ครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เขตดอนเมืองมีพี่น้องประชาชนตั้งบ้านเรือน อาศัยใกล้คลองเปรมประชากร ขณะนี้ก็กำลังมีการสร้างเขื่อนแต่ว่ายังไม่แล้วเสร็จ ก็อยากจะ กระทุ้งในเรื่องของการที่หน่วยงานรัฐไปดูเรื่องของความกว้างของคลองว่าจะเหมาะสม ในการระบายน้ำหรือไม่ ในเขตดอนเมืองก็เป็นหน้าเป็นตานะครับ นักท่องเที่ยวมาใช้ สนามบิน มาพักอาศัยในโรงแรม เจอสภาพน้ำท่วมขัง ปัญหาต่าง ๆ ก็อายเขานะครับ อยากจะให้หน่วยงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเร่งรีบในการที่จะแก้ปัญหา เพราะว่าดอนเมือง ก็คือหน้าตาของประเทศ ท่านผู้ว่า กทม. ก็เคยไปติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำที่ดอนเมือง อยู่บ่อย ๆ ก็มีการเสนอเรื่องของการลอกท่อระบายน้ำปีละ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ก็เลยอยากจะ สอบถามนะครับว่าการที่เสนอ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ความคืบหน้าดำเนินการถึงไหน แล้วเรื่อง ของการสร้างแก้มลิงเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับและระบายน้ำ การพัฒนาข้อมูล Digital ในพื้นที่เสี่ยงความปลอดภัย ผมรอติดตามนะครับ เพราะว่าในเขตดอนเมืองการลอกท่อดูยัง ไปไม่ถึงไหนเลย ก็กลัวว่าน้ำจะท่วมบ้านของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ การสร้าง ระบบระบายน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพถือเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เครือข่าย คู คลอง แม่น้ำ ท่อระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตู ระบายน้ำ อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยโดยเร็ว ปัจจุบันนี้ขีดความสามารถในการรองรับการระบายน้ำนี่ก็จะอยู่ที่ฝนตกสะสมรวมไม่เกิน ๗๘ มิลลิเมตร ใน ๑ วันนะครับ ๑ วัน เฉลี่ยตกได้ประมาณ ๓ ชั่วโมง หรือว่าแปลงเป็น ความเข้มของฝนไม่เกิน ๕๘.๗ มิลลิเมตรต่อชั่วโมงนะครับ คน กทม. จะรู้ดีว่าถ้ายิ่งฝนตก ในช่วงที่ชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าทั้งเย็นก็มีโอกาสที่จะน้ำท่วมขังได้นะครับ ประเด็นที่ผมอยากจะ เสนอแนะก็คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ กทม. ก็เป็นความหวังที่จะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ หรือในพื้นที่เขตลุ่มต่ำ พื้นที่ที่มีระบายน้ำที่เป็นพื้นที่ จำกัดซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำไปแล้ว จากข้อมูลปี ๒๕๖๕ ก็คือประมาณ ๔ แห่ง รวมระยะทางประมาณเกือบ ๒๐ กิโลเมตร มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำประมาณ ๑๙๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำคลองเปรมประชากร การก่อสร้าง บึงมักกะสัน หรือว่าอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และโครงการ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากลาดพร้าวเพื่อระบายลงในแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่าในปี ๒๕๖๖ นี่ก็มีแผนที่จะก่อสร้างอีก ๒ แห่ง ใช้วงเงินกว่า ๒.๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ผมก็ติดตามนะครับ หวังว่าโครงการระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัว สู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เดิมกำหนดปี ๒๕๖๙ คลองนี้เป็นอย่างไรครับท่านประธาน จะเป็น อุโมงค์ที่ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเริ่ม ลอดไปใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ออกไปสู่ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองซุงใกล้สะพานพระราม ๗ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ ๑๐๙ ตารางกิโลเมตร รวม ๕ เขต ทั้งดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางเขน จตุจักร ผมหวังว่าอุโมงค์ที่จะสร้างนี่ก็จะสามารถเร่งรัด เพื่อให้ทันในฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ในขณะนี้นะครับ และในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนจากน้ำเหนือหนุนซึ่งก็ที่ เพื่อนสมาชิกได้ประสบปัญหา น้ำตรงนั้นจะไม่ระเหยไปไหน ก็ต้องระบายมาสู่คลองต่าง ๆ รวมถึงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นผมว่ามาตรการไม่ว่าจะเป็นการเรียงกระสอบทราย การติดเครื่องสูบน้ำการระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำของ กทม. ก็คงจะมีแผนที่จะรองรับ แล้วนะครับ แต่ผมก็หวังว่าการขุดคลอง ๑๗ จุด การเสริมผิวจราจรต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนนี้ ไม่ทราบว่ามีคลองเปรมประชากรหรือไม่ เพราะว่าผมยังไม่เห็นนะครับ ดังนั้นผมจึงหวังว่าจะ มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม กทม. ไม่ว่าจะเป็นเขตไหน และบริหาร จัดการได้ดีและแตกต่างจากยุคที่ผ่านมา ผมจึงอยากให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยาและสถานการณ์ฝนตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ในการแก้ไข สถานการณ์แบบเร่งด่วน มี Radar ตรวจวัดสภาพอากาศอย่างติดตามใกล้ชิด ดังนั้นพี่น้อง กทม. ก็จะได้อุ่นใจว่าในช่วงที่ฝนตกหนักแบบนี้อย่างน้อยจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมได้ และถ้าหากมันท่วมจริง ๆ ก็อย่าลืมนะครับ ในเรื่องของการเยียวยา เพราะคนจนเมือง ถ้าบ้านยากจนแล้ว ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง แล้วยังต้องออกไปทำงานถ้าเขาไม่สามารถไป ทำงานได้ รายได้เขาก็จะหายไป เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญที่อยากจะเห็นด้วยกับเพื่อน สมาชิก ผมจึงได้อภิปรายสนับสนุนว่าเห็นด้วยกับญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้ตั้งขึ้น และหวังว่า สภาแห่งนี้จะได้รวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง ประชาชนต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ถ้ายังไม่พร้อมจะข้ามไปก่อนครับ มาที่คุณสุภาพร สลับศรี นะครับ แล้วก็จะกลับไปที่คุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ เชิญครับ คุณสุภาพรครับ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย ตำบล ศรีฐาน และตำบลทุ่งมน ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายร่วมกับเพื่อนสมาชิกในญัตติเรื่องปัญหาน้ำท่วม และขอฝากข้อสังเกต ข้อคิดและนำเสนอปัญหา พร้อมขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีรายละเอียดดังนี้
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ประการแรก สภาพปัญหาของจังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ มีแม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลัก โดยหากจะเปรียบเทียบไปก็มิต่างจากจังหวัดอุบลราชธานี คือจังหวัด ยโสธรเป็นพื้นที่ปลายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจุดสุดท้าย เพื่อให้เห็นภาพค่ะท่านประธาน ลุ่มน้ำยังที่ต้นทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็จะผ่านมาจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วก็ผ่านมาจังหวัดยโสธร ก็คือตำบลเดิด แล้วก็ตำบลดู่ทุ่งและสิ้นสุดลำน้ำยัง โดยไหลลงสู่แม่น้ำชีที่บ้านแจ้งน้อย ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลจากปัญหาน้ำท่วมก็คือตำบล ค้อเหนือ ถือเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่น้ำต้องท่วมซ้ำซากทุกปี ย้ำนะคะท่านประธาน ท่วมแบบ ซ้ำซากทุกปี แก้ไขมิได้สักที เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดลำน้ำทำให้เกิดปัญหา ซึ่งประชาชนจังหวัดยโสธรประสบปัญหา ณ ปัจจุบันนี้ พื้นที่ตำบลค้อเหนือซึ่งประสบปัญหา ก็จะเป็นบ้านโนนหัน บ้านดอนกลอย มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน ประกอบกับพื้นที่การเกษตร เกษตรกรรมเสียหายประมาณ ๕,๓๗๐ ไร่ ดิฉันจึงอยากจะวอน ฝากถึงรัฐบาลจัดงบดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนด้วย
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
อีกทั้งเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อให้ทันต่อปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน พื้นที่ไหนที่เข้าเกณฑ์ โดยเฉพาะตำบลค้อเหนือหรือตำบลอื่น ๆ หรือพื้นที่ อื่น ๆ ควรเร่งพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนปัญหาแก้ไขระยะยาว ดิฉันขอความเมตตาจากรัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดทำถนนพนังกั้นน้ำความกว้างประมาณ ๔ เมตร ความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ณ จุดบ้านดอนยาง ตำบลค้อเหนือ เพราะว่าประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันก็ร่วมไป กรอกทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ซึ่งดิฉันหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการสำรวจพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาที่ซ้ำซาก เหล่านี้ให้หมดไป
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
จุดที่ ๒ ค่ะท่านประธาน ที่ดิฉันอยากจะฝากก็คือตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ตำบลนี้ติดอยู่ฝั่งลุ่มน้ำชี ถือเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำยัง น้ำชี แล้วก็ลุ่มน้ำ ลำทวน มีการรับมวลน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมหนักทุกปี แต่ปัญหาที่พบคือ อบต. เขื่องคำได้รับ การสนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างน้อย น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ภาระงานของ อบต. เขื่องคำซึ่งต้องแบกภาระรับผิดชอบ ดิฉันจึงอยากจะขอความเมตตาจาก รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุน เพราะหากจะกล่าวไปแล้วพื้นที่ตำบลเขื่องคำ คือพื้นที่ที่เสียสละแบกปัญหาเป็นแก้มลิงรับน้ำจากพื้นที่อื่น ๆ เกือบทุกปี
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
จุดที่ ๓ ที่อยากจะฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือ บ้านโนนรัง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ การเกษตรได้รับผลกระทบทุกปีถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่เป็นบ้านขนาดเล็ก ๖๐ หลังคาเรือน แต่มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณเกือบ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งค่อนข้างมาก ในพื้นที่นี้ น้ำที่ท่วมไม่ใช่น้ำหลากแต่เป็นน้ำจากฟ้าคือน้ำฝน เพราะเป็นพื้นที่ที่ต่ำ เมื่อฝนตกมาไม่มีทาง ที่จะระบายน้ำออกเพราะมีปัญหาเรื่องการขยายตัวของชุมชนรอบข้างขวางทางน้ำ แต่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการทำช่องระบาย Box Converse ก็ได้ หรือการสร้างจุดสูบน้ำ ระบายลงคลองส่งน้ำของกรมชลประทานที่อยู่ใกล้จะได้ระบายลงสู่ลุ่มน้ำลำโพง หากเป็น ไปได้ก็อยากจะวอนรัฐบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องขอความเมตตาลงพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องบ้านโนนลัง ตำบลกระจายด้วยนะคะ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
อีกปัญหาหนึ่งที่อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็คือปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจของพี่น้องที่ได้รับปัญหาเรื่องน้ำท่วม ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องด้านสุขภาพ โรคมือเท้าเปื่อย บาดแผลจากการทิ่มตำ อุจาระร่วง ตาแดง หรือโรคจากความเครียด เครียดจากข้าวของเสียหาย เครียดจากผลผลิตการเกษตรได้รับ ผลกระทบกระเทือน ก็อยากจะฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดูแลแล้วก็เยียวยาเรื่องพื้นที่ ที่ได้รับผลจากความเดือดร้อนได้
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
สุดท้าย เมื่อสักครู่หรือเมื่อเช้านี้ก็ได้ทราบข่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทีมผู้ติดตามจะลงพื้นที่อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด แล้วก็ยโสธรด้วย หากท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็คณะผู้ติดตามพอมีเวลาก็โปรดลงพื้นที่เขต ๑ จังหวัดยโสธรซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดยโสธรด้วย ขอบคุณ ท่านประธานมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ครับ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ถ้าพูดถึงอำเภอบางระกำคนก็จะถามว่าน้ำท่วมไหม ปีนี้น้ำท่วมไหม เราพี่น้องชาวอำเภอบางระกำเราไม่ชอบน้ำท่วมเพราะเราเดือดร้อน และเราก็ไม่มีความสุข พื้นที่อำเภอบางระกำเป็นพื้นที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างค่ะ ท่านประธาน ภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ในฤดูน้ำหลากหรือฤดูฝนของทุกปี อำเภอบางระกำก็จะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นจำนวนมาก พื้นที่ของอำเภอบางระกำ เปรียบเสมือนสะดือซึ่งสะดือในช่วงของฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้าก่อน แล้วก็จะไหลออกไป ทีหลังสุด เมื่อสิ้นฤดูน้ำหลากน้ำที่ท่วมขังก็จะระบายออกได้ทีหลังพื้นที่อื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ก็จะเป็นเกิดขึ้นทุกปี ท่านประธานคะ น้ำในแม่น้ำยมนี่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามพื้นที่ อำเภอบางระกำ ลุ่มน้ำยมฝั่งซ้ายก็จะเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด พื้นที่ บางระกำเป็นพื้นที่พิเศษที่จะรับน้ำทั้งหมด ๓ ลุ่มน้ำ ได้แก่ น้ำยม น้ำน่าน และน้ำปิง จากโครงการท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งทั้ง ๓ ลุ่มน้ำนี้ ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาบางจุด น้ำล้นตลิ่งคันดินแล้วก็ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ข้ามถนนท่วมพื้นที่การเกษตร ทำให้พืชผลทาง การเกษตรได้รับความเสียหาย ชาวบ้านก็จะต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะน้ำที่ไหลบ่ามานี้มีมวลมหาศาลทำให้การแก้ไข ปัญหาและการบริหารจัดการน้ำเกินศักยภาพของท้องถิ่นที่จะดำเนินการเองได้ ยกตัวอย่าง เห็นได้ชัดเจนก็คือในกรณีที่แม่น้ำยมเหนือจากจังหวัดสุโขทัยมีมาปริมาณมากทำให้เกิน ขีดความสามารถที่แม่น้ำยมไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยรับได้ ก็จะผันน้ำจากแม่น้ำยม สายปัจจุบันที่อำเภอสวรรคโลกเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า โดยจะไหลผ่านพื้นที่อำเภอ พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกและเข้ามาท่วมอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอบางระกำซึ่งมีพื้นที่ ประมาณ ๒๖๕,๐๐๐ ไร่ และสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรนะคะ ท่านประธาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็น พื้นที่เศรษฐกิจและมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ซึ่งข้อมูลปัจจุบันพบว่าตอนนี้ ขณะนี้ เมื่อเช้านี้ พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำได้ท่วมขังที่อำเภอบางระกำไปแล้ว ๑๖๔,๓๕๙ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๖๒ ปริมาณน้ำทั้งสิ้นขณะนี้อยู่ที่อำเภอบางระกำ ๒๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของทั้งหมดที่เราสามารถรับได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเกษตรกรของอำเภอบางระกำจึงเป็น ผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นผู้ที่ยอมเสียพื้นที่การเกษตรเพื่อให้เป็นที่รองรับน้ำ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสุโขทัยไม่ให้เกิดอุทกภัย และเป็นการชะลอน้ำให้กับ พื้นที่ตอนล่าง ซึ่งเราเรียกการบริหารจัดการน้ำนี้ว่าบางระกำโมเดล เมื่อครั้งรัฐบาลของ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่านได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ น้ำในพื้นที่ลุ่มของอำเภอบางระกำไว้สองมาตรการ มาตรการแรก ก็คือไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง โดยการจัดปฏิทินการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับในฤดูน้ำหลาก โดยเกษตรกรจะเก็บ เกี่ยวผลผลิตให้เสร็จก่อนที่น้ำจะเข้ามา มาตรการที่ ๒ ใช้สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ กับระบบชลประทานเดิมซึ่งในพื้นที่เดิมมีอยู่แล้ว และสร้างมานานแล้วค่ะ โดยได้จัดสรร งบประมาณลงมาขุดลอกคลอง สร้างประตูระบายน้ำตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ มาโดยตลอด อีกทั้งยังให้บางระกำโมเดลเป็นต้นแบบกับการใช้ในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้ค่ะ ท่านประธานคะ อำเภอบางระกำมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงแค่ ๓ แห่ง ได้แก่ บึงตะเครงเก็บน้ำ ได้ ๑๓.๕๔ ล้านลูกบาศก์เมตร บึงระมาณเก็บได้ ๑๖.๐๖ ล้านลูกบาศก์เมตร บึงขี้แร้งได้ ๑.๔๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรวมทั้ง ๓ แห่ง จุน้ำได้ทั้งสิ้น ๓๑.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ท่านประธานคะ คิดเป็นร้อยละ ๘ ของน้ำทั้งหมด ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ชาวอำเภอ บางระกำรับน้ำไว้ แล้วน้ำอีก ๓๖๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่มีพื้นที่กักเก็บ จะต้องถูกปล่อย ทิ้งเสียเปล่าแล้วนำมาเก็บไว้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเพื่อที่จะใช้ในช่วงฤดูแล้งในต่อไป ดิฉันจึง ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ช่วยพิจารณาความเหมาะสมทางด้าน วิศวกรรม เพื่อก่อสร้างประตูกักเก็บน้ำไว้เป็นช่วง ๆ ในลักษณะขั้นบันไดในลำคลอง ธรรมชาติของอำเภอบางระกำ เพราะตลอดฤดูฝนน้ำในคลองมีปริมาณมาก แต่ไม่สามารถ พักน้ำเก็บไว้เป็นช่วง ๆ ได้ เพราะเนื่องจากขาดอาคารชลประทานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการบริหารจัดการน้ำ การก่อสร้างอาคารชลประทานในแต่ละแห่งขอเรียนให้ทราบว่าจะมี ความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่เพื่อให้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้งเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังประโยชน์ทางอ้อมให้กับพี่น้อง ที่ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ถ้าหากมีน้ำอยู่ในพื้นที่และเกษตรกรก็อยู่กับครอบครัว เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมให้ลดน้อยลงและคุณภาพชีวิตดีขึ้นค่ะ โครงการชลประทาน มีความประสงค์ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าติดตามเร่งดำเนินการดังนี้
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
โครงการที่ ๑ ปรับปรุงของกรุงกรักพร้อมอาคารประกอบ โดยก่อสร้างประตู ระบายน้ำที่บ้านนิคมพัฒนา บ้านทุ่งอ้ายโห้ และระบบระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ ที่วัดพรหมเกษร บ้านหนองบัวนา บ้านพรสวรรค์ บ้านทุ่งใหญ่ บ้านหนองอ้อ คลองบึงแหง บ้านท่ามะเกลือ บ้านหนองไผ่ คลองพระรถ ซึ่งมีงบประมาณกว่า ๖๕๐ ล้านบาท ขอให้ กรมชลประทานได้ช่วยขยายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอบางระกำ และขอให้ ชลประทานพิจารณาส่งน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของอำเภอบางระกำ โดยขยาย เขตพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงจังหวัดกำแพงเพชร ให้อยู่ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ในระยะยาว และขอให้เยียวยาชดเชยพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ขอให้ รัฐบาลเร่งการแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน โดยการพิจารณาสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคค่ะ และสุดท้ายนี้เราควร ช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด อย่าให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง อย่าให้น้ำท่วมได้สร้างน้ำตาให้กับประชาชนของเราอีกเลยค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชัชวาล แพทยาไทย แล้วก็จะกลับมาทางนี้คุณวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เชิญคุณชัชวาลครับ
นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวงครับ ต้องกราบขอบพระคุณผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิก ผู้ทรงเกียรติที่ได้มองเห็นปัญหาของพี่น้องประชาชนแล้วก็นำมาอภิปรายในสภาแห่งนี้ ซึ่งวันนี้เป็นปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำหลาก
นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เป็นปัญหาที่เคียงคู่กับสภาแห่งนี้ มาช้านาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกหลายท่าน จะผ่านไปกี่ปีสภาแห่งนี้ก็ต้องมาถกกัน เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก อดคิดไม่ได้ครับ ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก หวังว่าปีต่อไปถ้ามีโอกาสเข้ามาสภาแห่งนี้คงไม่ได้เอาปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำหลาก มาอภิปรายในสภาแห่งนี้ครับท่านประธาน เมื่อสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่ผ่านมา เราก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลายคณะกรรมาธิการหนึ่งในนั้นเป็นคณะอนุ กรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล ๔๐๐ กว่าหน้าครับท่านประธาน ที่ผมไปตามมา มีรายละเอียดเยอะแล้วก็มีข้อเสนอเยอะแยะไปหมด มีประโยชน์ต่อการแก้ไข ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่ายังเจอปัญหาน้ำท่วมอยู่ดี หวังว่ารอบนี้ เราจะแก้ปัญหาได้ ผมขอนำเรียนอย่างนี้ครับว่าเหตุใดพื้นที่ส่วนมากของประเทศไทย จึงประสบปัญหาน้ำท่วม จนกลายเป็นปัญหาที่ประชาชนจำใจต้องยอมรับและต้องอยู่กับมัน ให้ได้ เมื่อวิเคราะห์ครับ ประเทศไทยของเรามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีไม่ได้ต่างกันมากครับ อาจจะมีเหลื่อมกันบ้างในบางปีแต่ก็เหลื่อมไม่เยอะท่านประธาน แต่ที่น่าสังเกตคือกลับมี ปัญหาเรื่องน้ำท่วมรุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ผมจำแนกออกเป็น ๒ ด้าน
นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ด้านแรกเป็นเรื่องของธรรมชาติ ด้านภูมิศาสตร์ ธรรมชาติของน้ำก็คือ น้ำจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ ปัจจุบันนี้การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไปเยอะมาก ความเจริญของเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรมันไม่ตอบโจทย์ต่อสภาพการไหล ของน้ำครับ มีการสร้างตึกรามบ้านช่อง หมู่บ้านจัดสรรขวางทางน้ำไหล แม้น้ำฝนจะมี ปริมาณเท่าเดิมแต่ทางน้ำไหลกลับน้อยลงไม่สัมพันธ์กันน้ำก็ท่วมครับ บางพื้นที่ ทำการเกษตร มีการใช้ที่ดินที่ไม่ได้คำนึงถึงการเอื้อให้ทางน้ำไหลก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน สุดท้ายก็ไปท่วมบ้านเรือน ท่วมพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชน หากดูจากรายงาน หลายหน่วยประกอบกันพบว่าพฤติกรรมฝนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมีเปลี่ยนนิดเดียว แค่นั้นเองครับ ก็คืออาจจะมีทิ้งช่วงนาน แต่พอบทจะตกก็ตกแป๊บเดียว อย่างปีนี้ครับ ๒ อาทิตย์ที่แล้วเราเพิ่งหารือกันเรื่องสภาพความแห้งแล้ง แต่มาอาทิตย์นี้เราต้องมาพูดถึง น้ำท่วม ข้อมูลต่าง ๆ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถพยากรณ์ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง พยากรณ์ให้ได้ครับ ต้องเจอกับพฤติกรรมฝนดังกล่าว แต่ไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาจาก หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนเสียที ทำให้สุดท้ายพี่น้องประชาชนก็ต้องพบเจอกับ ปัญหาซ้ำซาก พอฝนผ่านมาก่อนแล้งเหมือนเดิม
นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ส่วนปัญหาด้านที่ ๒ ที่ผมเจอน่าจะเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ถ้าเรา นำปัญหาข้างต้นด้านภูมิศาสตร์ อันเป็นปัญหาที่หน่วยงานต้องรับทราบอยู่แล้วครับ หน่วยงาน ออกมาแก้ไข เรามองย้อนกลับไปประเทศไทยมีหน่วยงานที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเยอะมาก ทั้งระดับท้องถิ่นเอง ระดับส่วนภูมิภาคเราก็มี ระดับกรม กองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทานกรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ เรามีหน่วยงานเยอะแต่ขาดการบูรณาการ พอทำงานร่วมกันจริง ๆ ก็ร่วมกันไม่ได้ ท่านประธาน ต่างคนต่างทำ เปรียบเหมือนวงดนตรีต่างคนต่างเล่น เล่นคนละ Key ไปด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายปัญหานี้จึงคาราคาซังอยู่อย่างนี้ครับ ไม่สามารถแก้ไขได้สักที พื้นที่ ที่แล้งก็แล้งต่อไป พื้นที่ท่วมก็ท่วมต่อไป ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของภาครัฐ ผมมองว่าเรา ก็ทำได้ดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีการดูแลเยียวยา อันนี้ผมเห็นด้วยแต่ในระยะยาว ท่านต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ท่านประธานครับ ต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำและนำไปสู่การแก้ไข สภาพเมืองให้เหมาะสมกับการไหล อีกทั้งระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีต้องมองว่ากำลังมี ปัญหา ทางรัฐบาลต้องทำการสังคายนาและแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ผมขอ ยกตัวอย่าง โครงการหนึ่งที่แก้ไขปัญหาพี่น้องชาวอีสานเป็นโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นั่นคือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ มีการสมมุติ มีหัว มีตัว มีท้าย แล้วก็มีขา ขาก็คือลำน้ำสาขาต่าง ๆ มีประตู เปิดปิดน้ำ ท่านได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหาน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน หรือหน่วยงานท้องถิ่นเอามาบูรณาการช่วยเหลือพี่น้อง ในการแก้ไขปัญหาท่วม ปัญหาแล้งจะช่วยได้เยอะมาก ขอนำเรียนท่านประธานที่ให้โอกาส ได้นำเรียนปัญหาต่าง ๆ ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ถ้ายังไม่อยู่ผมจะขอให้คุณกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ เมื่อเรียกสักครู่ ก็ตอนนี้มาแล้ว ขอเชิญคุณกิตติศักดิ์ก่อนก็ได้ คุณกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ แล้วจะกลับมาที่ คุณทิพา ปวีณาเสถียร ครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ กระผม นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นการอภิปรายเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ที่เกิดจากพายุดีเปรสชันซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปัจจุบัน ท่านประธานครับ ประเทศไทยของเรา ยังประสบปัญหาเรื่องของทั้งน้ำท่วม แล้วก็ฝนแล้งเป็นประจำ จนเรียกว่าประเทศไทยเรา ไม่น้ำท่วม ก็ฝนแล้ง ซึ่งตอนนี้ท่านประธานครับ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดมหาสารคาม และในประเทศไทยของเราถือว่ารุนแรงแล้วก็กระทบกับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรเราจะต้องลงทุนใน Megaproject ที่จะต้องลงทุนเรื่องน้ำ น้ำคือชีวิต แล้วในช่วง ของการที่น้ำมาเราเก็บกักน้ำได้น้อยมาก น้ำจะไหลทิ้ง ถ้าทางบ้านผมแม่น้ำชีก็ไหลไป ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ก็ไปท่วมที่ทั้งร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี แล้วก็ออกแม่น้ำโขงไป เสียดายครับท่านประธาน แต่ถ้าเรามีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีการลงทุน ด้านการจัดเก็บน้ำ ประเทศไทยของเราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้นะครับ โดยเฉพาะอีสาน มหาสารคามมีพื้นที่ชลประทานแค่ ๑๓ เปอร์เซ็นต์ครับท่านประธาน ภาคกลาง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วผมอภิปรายหลายครั้งว่าคนอีสานถ้าได้น้ำก็หายจนแล้ว รายได้ของ คนอีสานน้อยกว่าภาคกลาง ๓ เท่า น้อยกว่านะครับ แล้วก็ภาคกลางมากกว่าเรา ๓ เท่า น้ำก็มากกว่าเรา ๓ เท่า สังเกตน้ำกับรายได้ประชากรจะแปรไปตามกัน ผมยกตัวอย่าง ตอนช่วงนี้ในพื้นที่มหาสารคาม ก็ขอรูปด้วยนะครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
มหาสารคามเป็นจังหวัดที่ แม่น้ำชีไหลพาดผ่าน ผมอยู่อำเภอเมืองมหาสารคาม ตอนนี้ในรูปก็เป็นน้ำนาข้าว พี่น้องเกษตรกรที่ตำบลลาดพัฒนา แล้วก็ตำบลห้วยแอ่ง ตำบลท่าตูมตอนนี้เรียกว่า โดนน้ำท่วมหมดแล้วครับ ท่านประธานครับ น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกครั้ง แล้วพี่น้องก็เจอปัญหาเรื่องของน้ำท่วมนาทุกครั้ง เขากังวลครับ เขากังวลว่าน้ำท่วมนี่มีปัญหาแล้ว ค่าชดเชยยังไม่ได้อีก หรือได้ก็ได้น้อย เทียบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าปุ๋ยที่สูงขึ้น มันไม่เพียงพอหรอกครับ แล้วการบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้จะต้องมีความแม่นยำแล้วก็ให้ประชาชนกระทบน้อยที่สุด ท่านประธานครับ ในจังหวัดมหาสารคามนี่เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำชีไหลผ่าน แล้วก็เป็นน้ำชี ที่มาจากทางอำเภอชนบท มาจากจังหวัดขอนแก่น แล้วก็จังหวัดชัยภูมิ ท่านประธานครับ น้ำชีไหลผ่านนี่ก็จะมีน้ำมาเติมจากทางน้ำพองมาชนกันที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วตรงนี้ เป็นคอขวดก็ทำให้น้ำเอ่อที่จังหวัดมหาสารคาม เพราะฉะนั้นของเรานี่ก็จะต้องเจอปัญหา ทุกครั้ง ในรูปก็เป็นพี่น้องนี่ต้องช่วยกันระดมนะครับ ระดมทั้งสรรพกำลัง ระดมทั้งทราย ทั้งถุงที่จะต้องมากรอกทราย สิ่งต่าง ๆ เราชินกันเป็นประจำ สส. ผมก็ต้องไปดูแลพี่น้อง ซึ่งปัญหาต่าง ๆ นี่เกิดขึ้นทุกปีนะครับ ท่านประธานครับ เรื่องของการชดเชยเกษตรกร ผมเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้าใจเกษตรกรจะชดเชยให้รวดเร็ว เหมาะสม กับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทีนี้ท่านประธานครับ ในพื้นที่ตำบลลาดพัฒนาก็จะมีทั้งบ้านบุ่งคล้า บ้านท่างาม บ้านเลิงบ่อ บ้านหนองหวาย บ้านกุดซุย เป็นที่ไหลผ่านของห้วยคะคาง แล้วส่วน ของตำบลห้วยแอ่ง ตำบลท่าตูม ตำบลเขวา แล้วก็มีเรียกว่ากุดซุยด้วยท่านประธานครับ ในสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ก็จะมีน้ำมาจากลำห้วยกุดเชียงสา ลำห้วยแกดำมาสมทบด้วยนะครับ ซึ่งทำ ให้บ้านกุดเวียนนี่ได้รับความเดือดร้อนประจำทุกปี ตอนนี้พี่น้องก็โทรศัพท์มาหาผมเมื่อเช้านี้ ก็เป็นปัญหาเรื่องของบ้านกุดเวียนที่มีน้ำมาจากกุดเชียงสาเข้ามาสมทบ ก็ต้องขอให้หน่วย บริหารกรมชลประทานของชีกลางนี่ได้ช่วยในการดูดน้ำสูบน้ำให้รวดเร็วยิ่งขึ้นนะครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ส่วนอีกประการหนึ่ง ท่านประธานครับ เรื่องของที่เก็บน้ำหรือว่าอ่างเก็บน้ำ หลายที่ในจังหวัดมหาสารคามนี่เรียกว่าน้อยลงมากนะครับ คือมี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่ สามารถกักเก็บแต่แค่ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นอ่างโคกก่อ จริง ๆ แล้วน้ำไหล ผ่านอ่างโคกก่อปีละ ๓๐ ล้านคิวต่อปี เราเก็บได้แค่ ๔ ล้านคิวนะครับ ซึ่งอันนี้มันมีปัญหา เรื่องของว่ายังมีการตื้นเขินอีก ถ้ารัฐบาลลงทุนในการที่จะขุดลอกอ่างโคกก่อ อ่างแกดำ อ่างแก่งเลิงจาน ซึ่งแก่งเลิงจานถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดเก็บน้ำก่อนเข้าถึงเมือง มหาสารคาม ซึ่งเมืองมหาสารคามนี่ถ้าแก่งเลิงจานล้นนี่ครับ ปีที่แล้วพนังกั้นน้ำที่แก่งเลิงจาน พังครับท่านประธาน ทำให้น้ำเข้ามาในเขตตัวเมืองมหาสารคามเรียกว่าในรอบ ๓๗ ปี ไม่เคยพัง ปีที่แล้วนี่พนังกั้นน้ำที่แก่งเลิงจานมีการพังขึ้นมาก็ทำให้น้ำเข้ามาในเขตอำเภอเมือง ในเขตเมืองมหาสารคาม ที่ผมบอกก็คือว่าการที่เราจะต้องระบายน้ำให้ลงแม่น้ำชี ให้เร็วที่สุดก็ต้องบอกว่าในแก่งเลิงจานนี่เรามีประตูระบายน้ำที่ท่าสองคอน ก็อยากฝากทาง กรมชลประทานที่จะต้องให้งบประมาณในการเพิ่มกำลังสูบ แต่ก่อน ๔ หัวสูบ ๑ ล้านคิวต่อวัน เป็น ๘ หัวสูบ เป็น ๒ ล้านคิวต่อวัน และตรงกุดแดงตอนนี้ก็ไม่มี ตรงประตูน้ำท่าตูมเช่นกัน ก็อยากให้ทางกรมชลประทานได้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้วขอให้รัฐบาลเพื่อไทยในการที่จะ ลงทุนด้านน้ำให้รวดเร็วยิ่งขึ้นครับ ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีผู้ที่ประสงค์จะอภิปรายฝ่ายค้านเหลืออีก ๔ ท่าน ฝ่ายรัฐบาลเหลืออีก ๑๔ ท่าน ผมอยากให้ Whip ฝ่ายรัฐบาลลองประสานงานดูว่า ๑๔ ท่าน ของท่านนี่จะมีผู้ประสงค์ อภิปรายเหลืออีกสักกี่ท่าน จริง ๆ แล้วผมก็อยากจะให้จบในวันนี้ได้ก็ดี เพราะว่าหลายท่านอาจจะไม่ประสงค์ จะอภิปรายแล้ว ถ้าเราจบสัก ๑ ทุ่ม ๑ ทุ่มครึ่งก็น่าจะเป็นการดีทุกฝ่าย พรุ่งนี้จะมี การประชุมต่อนะครับ ลองประสานดูครับ แล้วก็แจ้งมาให้ทราบด้วยครับ ต่อไปขอเชิญ คุณทิพา ปวีณาเสถียร ครับ
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันเป็นผู้แทนของคนลำปาง เขตเทศบาลนคร อำเภอเมืองบางส่วน และอำเภอห้างฉัตร เมื่อดิฉันได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ประชาชนในเขตพื้นที่ดิฉันได้รับปัญหา ดิฉันนิ่งนอนใจไม่ได้ค่ะท่านประธาน เมื่อสัปดาห์ก่อนกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยน้ำท่วม ภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น ทิศทางฝนมาจากประเทศเมียนมา เข้าทางจังหวัด อุทัยธานี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จะผ่าน เข้าเขตจังหวัดลำปาง ไปต่อที่จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเกิดน้ำท่วมหนักทั่วภาคเหนือ ที่จังหวัดลำปางมีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอเกาะคา อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองปาน อำเภอเมือง อำเภอเสริมงาม จึงเกิดอุทกภัยทั่วภาคเหนือดังเพื่อน สส. ของแต่ละจังหวัดระดมกำลังช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้กำลังใจ รับฟังปัญหา และบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ และในคืนวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้วเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม เมื่อดิฉันทราบว่าเกิดน้ำป่า ไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านจำ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ดิฉันพร้อมด้วย ทีมผู้ช่วย ทีมปฏิบัติงานลงพื้นที่ประสบภัยทันที และเหตุการณ์นี้ดิฉันได้ร่วมลงพื้นที่ กับนายอำเภอนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นายอำเภอห้างฉัตร นายกย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศบาล ตำบลปงยางคก
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
จากการลงพื้นที่พบว่ามีมวลน้ำป่าไหล หลากพัดเอาเศษกิ่งไม้ เศษขยะและวัชพืชมากมายลอยมากับน้ำที่ไหลเชี่ยว และหนาแน่น จึงเป็นเหตุให้น้ำทะลักล้นเข้าท่วมบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงกับคลองระบายน้ำ โดยเฉพาะ ในวัดหน้าวัด ตลาดบ้านจำ และด้านหลังวัด ด้วยเหตุที่หมู่บ้านจำเกิดน้ำท่วมแบบนี้ทุก ๆ ปี ดิฉันลงพื้นที่อุทกภัยที่นี่ทุกปีตั้งแต่ดิฉันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย สส. นะคะ ดิฉันจึงถือโอกาสนี้ นัดหารือกับท่านนายอำเภอท่านนายกเทศมนตรีตำบลปงยางคก เพื่อหารือแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ อย่างถาวร เพื่อดูแลและแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้มาอย่างยาวนาน จากการปรึกษาหารือร่วมกับนายนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นายอำเภอห้างฉัตร และนายกย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลปงยางคก เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมบ้านจำ ซึ่งท่วมติดต่อกัน ซ้ำซากมาเป็นเวลา ๒๔ ปี ในฝั่งของตำบลปงยางคกนั้นมีการขุดลอกท่อก้างปลาในทุก ๆ ปี ทำให้ปีนี้มีน้ำที่ท่วมน้อยกว่าเดิม แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำที่ไหลลากผ่านจากเทือกเขาขุนตาล ไหลผ่านอำเภอห้างฉัตร แม่ตาล และมาถึงตำบลปงยางคก น้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขานี้ มีไม่น้อยกว่า ๒๐-๓๐ เมตร พอถึงหมู่บ้านจำแล้วจะเหลือทางเข้าของน้ำแค่ ๑๐-๑๒ เมตร แล้วท่วมต่อไปที่บ้านม้า ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ที่อยู่ในเขต ๔ ของลำปางนะคะ เหลือแค่ประมาณ ๓-๔ เมตรเท่านั้นเอง ติดตรงที่ปากขวด ตรงนี้มันเป็นจุดปากขวดนะคะท่าน อยู่ที่ตำบลลำปางหลวง วางท่อแค่ ๑.๕๐ เมตร มีดินทรายทับถมมาติดอยู่ตรงบริเวณนี้ทำให้ น้ำไหลไม่สะดวก แล้วก็เอ่อล้นกลับไปท่วมที่ตำบลปงยางคก ในส่วนนี้ตำบลปงยางคกได้มีการทำความสะอาดขุดลอกท่อทุกปี ทำให้น้ำไหลสะดวกขึ้น แต่คอขวด ณ จุดที่อยู่บ้านม้านั้นมันไม่สามารถไหลได้ เลยเป็นปัญหาของ ๒ ตำบล ที่จะต้อง หารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหานี้นะคะ น้ำเอ่อล้นที่นี่ทุกปีมา ๒๔ ปีแล้ว ทำให้ประชาชน ในเขตบ้านจำ ตำบลปงยางคก และบ้านม้า ตำบลลำปางหลวง เจอปัญหาในพื้นที่ทุก ๆ ปี เป็นประจำกว่า ๓๐๐ กว่าหลังคาเรือน เมื่อไม่ใช่พื้นที่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาล ตำบลปงยางคกที่ดิฉันดูแลอยู่ จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้ ต้องหารือกับเทศบาล ตำบลลำปางหลวงในการแก้ไขร่วมกัน เบื้องต้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้งบประมาณ มาทำพื้นที่ขุดท่อแบบก้างปลาเพื่อบรรเทาปัญหาให้ส่วนหนึ่ง เรื่องนี้ดิฉันหารือร่วมกับ สส. เขต ๔ จังหวัดลำปางเรียบร้อยแล้วเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ และดิฉันขอฝาก ท่านประธานแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขน้ำท่วมซ้ำซากนี้ให้หมดไปอย่างถาวร
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
อีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเป็นพื้นที่ของเกษตรกรตำบลบ้านค่า ดิฉัน ได้มอบหมายให้กับทีมผู้ช่วยและทีมปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์ อุทกภัย เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ณ บ้านค่า ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เหตุอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากฝายทุ่งปึ๋ง ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จำนวน ๘ หมู่บ้านด้วยกัน เหตุอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากฝายทุ่งปึ๋งมีคันรับน้ำ อบต. ที่ได้ทำไว้ มันเกิดการทลาย มันพังมา ทิศทางน้ำมันก็ไหล ที่ไหลผ่านมันทำให้เกิดปัญหาอย่างนี้ทุก ๆ ปี โดยเฉพาะพี่น้องบ้านค่ากลาง หมู่ที่ ๒ บ้านทุ่งโจ้ หมู่ที่ ๓ แล้วก็บ้านค่าหลวง หมู่ที่ ๔ น้ำทะลักเข้าบ้านเรือนหลายหลัง รวมถึงพื้นที่เกษตร ชาวบ้านต้องการฝายที่มั่นคงในการ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และผันน้ำไม่ให้ไหลเข้าที่นาได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน ที่นี่มีปัญหาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อย่างไรดิฉันก็ฝากท่านประธานประสานงานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขและเยียวยาผู้ประสบภัย ขอบคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ กิตติ์ธัญญา วาจาดี ครับ
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขตเลือกตั้งที่ ๔ อำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ น้ำคือชีวิต คนขาดน้ำไม่ได้ สัตว์เลี้ยง พืชขาดน้ำไม่ได้ แต่น้ำถ้าจำนวนมากเกินไปก็คร่าชีวิตได้ ท่านประธานคะ จังหวัดอุบลราชธานีโดยเฉพาะอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง ประสบปัญหาน้ำท่วม ทุกปี ปีที่แล้วน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีสูงถึง ๑๑ เมตรกว่า มาปีนี้ปี ๒๕๖๖ น้ำท่วม จังหวัดอุบลราชธานี ๗ เมตรกว่า ถึงจะท่วมน้อยหรือท่วมมากก็สร้างปัญหาให้กับ คนอุบลราชธานีอย่างสาหัส ท่านประธานคะ ดิฉันมองว่าสิ่งที่ดิฉันได้พูดทุก ๆ ปี ตั้งแต่เป็น สส. ครั้งแรกคือปี ๒๕๖๒ ณ วันนี้ดิฉันก็ได้พูดเรื่องนี้อีกซ้ำซาก เห็นท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้อภิปรายในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพใหญ่ ฉะนั้นดิฉันขอพูดในภาพเล็ก ขณะนี้เวลาถ้าเกิดน้ำท่วมขัง จำนวนฝนที่ตกมามาก ๆ ไม่เพียง แค่บ้านที่อยู่ข้างลุ่มน้ำมูลที่น้ำท่วม บ้านในเขตชุมชนไม่ว่าจะเป็นเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ เขตเทศบาลแสนสุข หรือในไร่นา ของชาวบ้านก็น้ำท่วมเช่นเดียวกัน นี่คือปัญหาของการสร้างผังเมืองและปัญหาของการขุด ลอกคลองเล็กน้อยที่เป็นเส้นเลือดฝอยยังขาดเรื่องนี้ค่ะ งบประมาณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน ต่าง ๆ ดิฉันอ้อนวอนให้รัฐบาลนำ งบประมาณเพื่อสนับสนุนในการลอกคลองเล็กน้อย ท่านจะลงในงบประมาณของท้องถิ่นก็ได้ ท่านจะลงในงบประมาณของหน่วยงานในภาครัฐต่าง ๆ ก็ได้ เพียงแค่ช่วยกันทำปัญหาเรื่องนี้ ให้มันหมดไป ฝนตกมามากเท่าไร คลองตื้น ห้วยน้ำลำคลองตื้นเขินเต็มไปด้วยวัชพืช ไม่ว่า คุณจะทำประตูเปิดปิดระบายน้ำ ไม่ว่าจะทำฝายขนาดใหญ่เท่าไหนก็แล้วแต่มันก็ท่วมบ้าน ชาวบ้านเหมือนเดิม แล้วจังหวัดอุบลราชธานีท่วมแต่ละครั้งไม่ใช่ระยะเวลา ๒ วัน หรือ ๓ วัน ท่วมที ๓ เดือนค่ะ ปัจจุบันนี้ท่วมเกือบ ๑ เดือนแล้วค่ะท่านประธาน มันก็จะสร้าง ความน่ารำคาญ น่าสงสาร น่าเห็นใจให้กับชาวบ้าน สิ่งที่ตามมาคือบ้านพัง ข้าวของเครื่องใช้พัง สัตว์เลี้ยงถ้าขนไม่ทันก็เสียชีวิต และอีกอย่างหนึ่งเมื่อน้ำลดก็เกิดปัญหาบ้านเข้าไปอยู่อาศัย ไม่ได้ ข้าวของเสียหาย น้ำท่วมไม่ต่างจากไฟไหม้นะคะ ดิฉันขอนำเรียนท่านประธาน สู่หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในการที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของน้ำท่วมค่ะ ดิฉันขอฝากไปถึง กรมทางหลวง เหตุผลเพราะว่าถนนทางหลวงโดยเฉพาะแยกหนองตาโผ่น อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เกิดปัญหาอย่างยิ่งใหญ่ คือเวลาน้ำท่วมมาแล้วน้ำระบายช้า ฝนตก ๑ ชั่วโมง รอระบายอยู่เกือบครึ่งวัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันมองว่าควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ อาคารสูบน้ำเพื่อระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๒. การขุดลอกห้วย ฝาย แล้วก็ทำแก้มลิง ขอเร่งรัดการขุดลอกลำห้วย แก้มลิง ฝาย ระบบกระจายน้ำบ้านบกตก หมู่ที่ ๑ บ้านตาติด หมู่ที่ ๓ บ้านผึ้งตก หมู่ที่ ๗ ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ ๒. ขออาคาร บังคับน้ำบุ่งเอียด พร้อมกับขุดลอก ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ๓. ขออาคารบังคับน้ำห้วยไผ่ และห้วยข้าวสาร พร้อมกับขุดลอก บ้านโนนหนาด ตำบลสระสมิง ๔. ขออาคารบังคับน้ำที่บริเวณห้วยซัน ตำบลเมืองศรีไค บ้านโคกเจริญ ๕. อาคารบังคับน้ำบ้านห้วยหอยพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลโพธิ์ใหญ่ ตรงนี้ดิฉันขอฝากไปยัง กรมทรัพยากรน้ำค่ะ
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพคะ การแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนจะแก้ไขเพียงแค่ จังหวัดอุบลราชธานี ดิฉันว่ามันเป็นปลายเหตุค่ะ ดิฉันกำลังคิดถึงนโยบายของท่านนายก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยทำไว้ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าปัดฝุ่นเอามาใหม่แล้วมาทำดี ๆ ค่ะ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่รับน้ำมาตั้งแต่ต้นแม่น้ำมูล โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เพื่อจะลงแม่น้ำโขง อ่วมค่ะ ถ้า ๓-๔ จังหวัดนี้ท่วม อุบลราชธานี ไม่รอดค่ะ อีกต้นทางคือแม่น้ำชี ไม่ว่าจะเป็นชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร ก็มาที่อุบลราชธานีอีกเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นถ้าจะยั่งยืนจริง ๆ ดิฉันอยาก เสนอโครงการที่ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยทำเอาไว้ค่ะ ต่อรัฐบาลชุดนี้ว่ากลับมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วทำให้เรื่องของกักเก็บน้ำเวลาน้ำท่วมเอาไว้ใช้ในเวลาน้ำแล้งอย่างได้ผลและยั่งยืน สวัสดีค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวีรภัทร คันธะ ครับ
นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม วีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง ยกเว้นตำบลบางจาก ท่านประธานครับ ช่วงนี้ของปีคือช่วงหน้าฝน เป็นที่ทราบดีนะครับว่า ช่วงนี้น้ำมักจะท่วมในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรื่องนี้มาจาก ๓ สาเหตุนะครับท่านประธาน นั่นก็คือฝนที่ตกหนัก น้ำท่วมที่มาจาก ภาคเหนือและน้ำหนุนจากทะเล ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการก็เหมือนลูกเมียน้อยรับน้ำจาก กรุงเทพฯ ตลอดครับ น้ำท่วมเป็นประจำ น้ำท่วมส่งผลเสียต่อการคมนาคม การเดินทาง การใช้ชีวิตของผู้คน สร้างโรคภัยไข้เจ็บ อย่างเช่น โรคฉี่หนู ถ้าท่านยังจำได้ผมก็เคยอภิปราย ไปแล้วนะครับว่าหนูนี่มันร้าย ที่สำคัญน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่มีโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ อย่างไรก็ตามครับ ท่านประธาน ปัญหาน้ำท่วมนี่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเลยครับ แม้เมื่อสมัยช่วง รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเสนอการจัดการน้ำทั้งระบบแล้ว แต่โครงการดังกล่าว ก็ไม่ทันที่จะได้เริ่ม เนื่องจากการขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ และ คสช. หรือแผนการย้าย โรงงานอุตสาหกรรมไปพื้นที่อื่นเพื่อลดความแออัดในพื้นที่ เลี่ยงความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมฉับพลันนะครับ ผมขอถามครับว่ามีแผนหรือไม่ครับ การเตรียมการรับมือ การพร่องน้ำในลำคลอง ขุดลอกหนอง บึง ผมมีคำถามว่าองค์กร ท้องถิ่นให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ไหมครับ ผมทราบมาว่าบาง อบต. บางเทศบาลไม่ได้มี ความใส่ใจเลยครับท่านประธาน บางที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน หรือหาแนวทาง การแก้ปัญหาร่วมกันด้วยซ้ำนะครับ ไม่รู้ว่าขยะหรือโคลนตมอะไรไปปิดกั้นทางเดิน ไปแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อันนี้ผมไม่ได้เหมารวมที่ทำดีแล้วก็ทำดีต่อไปครับ แต่ที่แย่ ๆ ก็ควรจะพิจารณาเช่นกัน ไม่อย่างนั้นประชาชนก็ร้องเรียนไปสิครับ คันตามนิ้วมือ นิ้วเท้าไป สิครับ ท่านประธานครับ เนเธอร์แลนด์เขาวางแผนกันมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ทำเขื่อนกันมา ตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นแผนเพื่ออนาคตเพราะแผ่นดินบ้านเขาต่ำกว่าน้ำ ส่วนจังหวัด สมุทรปราการจมแล้วจมอีก ท่วมแล้วท่วมอีก ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปหาแผนที่ไหน มองเห็นภาพ อนาคตมีแต่ภาพปลาที่วิ่งอยู่ในแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการ สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนสร้าง สนามบินสุวรรณภูมิพื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนา เป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติ เครื่องสูบน้ำ ๑๐๐ คิว ก็เอาอยู่ แต่เดี๋ยวนี้หมู่บ้านเกิดใหม่ในพื้นที่ที่รู้ว่าท่วมแน่ ๆ ก็ยังปล่อยให้สร้างเพิ่ม สุดท้ายก็มี ประชาชนเป็นเหยื่อ เป็นผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้นเสียอย่างนั้นครับท่านประธาน เอาเปรียบ ประชาชนกันแบบนี้เคยมีการกำกับดูแลกันบ้างไหมครับ เดี๋ยวเครื่องสูบน้ำ ๑๐๐ คิวก็จะ ก็จะไม่พอแล้วครับ น้ำท่วมกันตลอดศกแบบนี้เคยมีการวางแผนไหมครับ ทุกวันนี้ พระประแดงบ้านผมนี่น้ำทะเลหนุนทีฝนตกหนักที น้ำท่วมขังยาว ๆ ไปเลยครับ สวนสุขภาพ ลัดโพธิ์ ท่าน้ำพระประแดงท่วมตลอดในช่วงน้ำทะเลหนุนช่วงนี้เลยกันยายน ตุลาคม ถ้าบ้านผม อยู่แถวนั้นก็คงต้องเตรียมโทนาฟเป็นยาสามัญประจำบ้าน เพราะว่าน้ำท่วมขังทีไรการสูบน้ำกว่า จะนำน้ำออกไปได้ก็ใช้เวลาเนิ่นนาน
นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
สุดท้ายข้อเสนอแนะของผมก็คือว่า ควรมีระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และการรับมือเฉพาะในพื้นที่ครับ การใช้เทคโนโลยีในการคาดการณ์และเตือนภัย รวมถึง พยากรณ์การเกิดน้ำท่วมในรายพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่น้ำท่วมเป็นประจำ และส่งเสริม การโยกย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ขวางทางน้ำไปพื้นที่ที่ปลอดภัย ที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้าง แผนที่มีอนาคต บูรณาการความร่วมมือร่วมกัน และสื่อสารให้ประชาชนรับทราบถึงข้อมูล ที่จำเป็นให้ได้มากที่สุด และผมก็ยังคงมีความฝันและมีความหวังว่าจังหวัดสมุทรปราการ บ้านเมืองที่ผมอยู่ผมคงไม่ต้องเตรียมโทนาฟอีกต่อไปครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ครับ
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แพร่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ น้ำท่วมเป็นปัญหาหลัก เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ผมต้องเรียน ท่านประธานว่าผมตามเรื่องน้ำท่วมมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี แล้วผมเรียนท่านประธานด้วยครับว่า ให้เวลาอีก ๒๐ ปี ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ครับ ไม่มีทางครับ ทำไมผมถึงพูดแบบนั้น ท่านประธานได้ยินคำว่าน้ำเหนือใช่ไหมครับ ท่านสมาชิกอภิปราย น้ำเหนือ ๆ ใช่ครับมันจะมาจากภาคเหนือครับ แต่ภาคเหนือเคยแก้ไขปัญหาน้ำได้ไหมครับ ติดเขตป่า ทำ EIA ขออนุญาตขอกรมป่าไม้ ขออุทยานขอแล้วขออีก ตั้งงบประมาณ ไม่มีทาง ผมตามเรื่องนี้มามากกว่า ๒๐ ปี แก้ไม่ได้ แล้วก็พูดไว้ตรงนี้ในสภาแห่งนี้ อีก ๒๐ ปี ก็แก้ไม่ได้ ท่านประธานครับ ขอ Slide ให้ดูนะครับ
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แพร่ ต้นฉบับ
จริง ๆ เรื่องน้ำไม่มีอะไรครับ ก็เกิดจาก ฝนตกหนักในพื้นที่เกินกว่ารับได้ เกิดจากที่น้ำในแม่น้ำสูงเกินกว่าตลิ่ง ตลิ่งรับไม่ได้ ปกติก็แก้ไขโดยไปขุดลอก สูบน้ำออก บางที่ก็ใช้เขื่อนป้องกันตลิ่ง ยกระดับตลิ่งให้สูงขึ้น ก็ทำแค่นั้นละครับ ผมต้องกราบเรียนท่านประธานครับ วันนี้น้ำเหนือที่เราพูดกัน ก็คือ ปิง วัง ยม น่าน ที่ว่านี่ ๓ น้ำ ปิง วัง น่านนี่มีเขื่อน แต่แม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก เป็นแม่น้ำที่มี ความชันสูงและเป็นแม่น้ำที่ทำให้เกิดความเสียหาย น้ำท่วมจากแพร่ ฝนตกกระหน่ำจากแพร่ ลงไปสุโขทัย ไปพิษณุโลก ไปพิจิตร ไปนครสวรรค์ มาถึงกรุงเทพมหานคร เกิดจากน้ำสายนี้ ทั้งสิ้นเพราะเป็นแม่น้ำสายหลักที่ทำให้เกิดปัญหา เดี๋ยวผมจะชี้ให้ท่านประธานเห็นว่าทำไม ถึงพูดแบบนั้น ท่านประธานครับ ปีนี้ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีปัญหาน้ำท่วมหนัก ผมเรียน ท่านประธานวันที่ ๒๖ ๒๗ ๒๘ เกิดน้ำท่วมฝนตกในเขตของพะเยา แพร่ แต่ว่าน้ำมาท่วม ตรงปลายน้ำก็คืออำเภอลองและอำเภอวังชิ้น แต่พอมาในวันที่ ๒๙ เกิดฝนตกหนักอีก ๑ คืน ท่านประธานครับ จากการที่จังหวัดประกาศภัยพิบัติแค่ ๒ อำเภอ คืออำเภอลอง กับอำเภอวังชิ้น ๙ ตำบล ๗๑ หมู่บ้าน คืนเดียวเท่านั้น วันที่ ๓๐ ต้องประกาศเป็น ๔๐ ตำบล แล้วก็กลายเป็น ๑๙๘ หมู่บ้าน เหตุนี้คือเกิดเหตุที่เกิดปัญหาแล้วครับ และผม เรียนท่านประธานครับ วันนี้พูดไปถึงการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานในจังหวัดด้วย ท่านประธานเชื่อไหมครับ น้ำท่วมแพร่วันแรกวันที่ ๒๙ ผมขอให้จังหวัดประกาศภัยพิบัติ น้ำกำลังมาแล้ว รู้แล้วน้ำกำลังไหลมา กำลังจะบ่าท่วมบ้านเรือนประชาชน จังหวัดตอบว่า อย่างไรครับ จังหวัดตอบบอกว่าเดี๋ยวขอให้เกิดการท่วมให้หมดก่อนจะได้รู้ว่าท่วมที่ไหน แล้วค่อยประกาศ ท่านประธานครับ ตลกไหมครับ ผมโทรศัพท์ไปถึงท่านเกรียง กัลป์ตินันท์ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ช่วยแจ้ง ปภ. หน่อย ท่านกรุณาโทรศัพท์ ให้ครับ แจ้งไปที่ ปภ. จังหวัดแพร่ เขาบอกว่าอย่างไรครับ ไม่ทันครับ วันนี้วันเสาร์ ขอประกาศวันจันทร์ก็แล้วกัน น้ำกำลังจะท่วม หนักไปกว่านั้นพอวันที่ ๓๐ เกิดน้ำท่วมหนัก ท่วมไปจนถึง ๕ ใน ๘ อำเภอของแพร่ ท่วมไปถึง ๑๙๘ หมู่บ้าน มีอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย ๒ ตัว คืออ่างเก็บน้ำแม่แย้ ที่บ้านแม่ยุ้น เด่นชัย แล้วก็ที่ปางงุ้นที่อำเภอวังชิ้น เขื่อนมี แนวโน้มจะแตก กรมชลประทานบอกแตกแน่ ๆ ขนเครื่องจักรไปที่หน้าอ่างครับ แล้วบอกว่า ขอใช้งบภัยพิบัติ จังหวัดตอบว่าอย่างไรรู้ไหม เบิกไม่ได้ ต้องรอวันจันทร์ ผมเรียน ท่านประธานผ่านไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านบอกว่าเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ในกระทรวงมหาดไทย แต่ผมยืนยันครับเรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดแพร่ แล้วก็ใน กระทรวงมหาดไทย ผมแล้วก็ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย ขอรับความช่วยเหลือ ขอรับ การเยียวยาแต่ยังไม่ได้ วันนี้ท่านประธานไปดูความเสียหายที่เกิดขึ้นนะครับ นี่น้ำป่าไหล แพร่นี่ป่าไหลทะลักพังพินาศหมดครับ ถนนเสียหายพังพินาศหมดครับ สุโขทัยข้าวกล่อง ผมไม่รู้ได้หรือเปล่า ยังไม่ได้เลยกระมัง ขอไปยังไม่ได้เลยครับ ความช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้ วันนี้ต้องกราบเรียนท่านประธานไปถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ต้องซักซ้อมความเข้าใจ ในเรื่องของน้ำท่วมกันใหม่ ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องของภัยพิบัติกันใหม่ ถ้าเราทำแบบนี้ไม่มีวันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ ปล่อยให้ท่วมไปก่อน เหนื่อยไปก่อน แก้ไขอย่างไร ไม่ทราบ แล้วไปดูว่านี่คือภัยพิบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภานี้พูดถึง ภัยพิบัติน้ำท่วมทั้งสิ้นแต่ความช่วยเหลือที่ไปมันน้อยมากครับ แล้วก็ไม่ช่วยเหลือจริงจังเลย อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผมจะชี้ให้ท่านประธานเห็น ขอดูตารางน้ำหน่อย ท่านประธานครับ น้ำท่วมที่จังหวัดแพร่ที่อำเภอวังชิ้น ท่าน สส. จักรวาล ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ไปด้วยกัน ท่านประธานดู Y.37 ที่อำเภอวังชิ้นนี้ จากวันที่ ๒๖ ฝนตกครั้งแรก วันที่ ๒๖ ๒๗ ๒๘ น้ำขึ้นจาก ๒.๘๐ เมตร ขึ้นไป ๓ เมตร ขึ้นไป ๕ เมตรเพิ่มทีละ ๒ เมตร ๕ เมตร ๖ เมตร ขึ้นถึง ๘ เมตร ตรงนั้นลองดูผังของแม่น้ำครับ ขอดูตรงผังของแม่น้ำ บริเวณนั้น ท่านประธานครับ ท่านประธานดูตลิ่งที่แพร่สูง ๑๑ เมตร ความจุน้ำเวลาน้ำผ่าน ผ่านไปถึง ๑,๓๓๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วไปดูที่สุโขทัย สุโขทัยตลิ่งเหลือแค่ประมาณสัก ๘ เมตรเศษ แล้วความจุเท่าไรครับ ความจุอยู่แค่ ๖๙๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อให้สุโขทัยทำกำแพงกั้นน้ำ ต่อให้ทำอย่างไรก็ตาม ไม่มีวันรองรับน้ำป่าจากแพร่ได้ วิธีการแก้ไขทำอย่างไร ท่านประธานครับ ต้องเรียนว่าไม่มีทางที่ไปแก้ไขที่ปลายน้ำ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือไปกักเก็บน้ำไว้บนภูเขา เราทำเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ ไปกักเก็บไว้บนภูเขาที่อยู่ทางภาคเหนือมีทั้งหมดแล้วครับ อย่าปล่อยให้น้ำมันไหลลงมาในแม่น้ำ แล้วเกิดเหตุแบบนี้ ไม่มีวันที่จะแก้ไขได้ ก็ต้องอนุญาต เรียนท่านประธานว่าการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม อย่าแก้ตรงปลายน้ำ น้ำมันจะล้นแก้ว น้ำกำลังจะท่วม น้ำจะล้นแม่น้ำ ท่านประธานต้องไปกักน้ำในส่วนที่จะล้นไปอยู่ข้างบน อย่าปล่อยลงมา ซึ่งส่วนนี้คุยกันหน่วยงานน้ำทั้งหมดแล้วไม่ได้ ปีนี้งบประมาณปี ๒๕๖๗ แก้ได้ไหม ไม่ได้ งบประมาณปี ๒๕๖๘ ทันไหม ไม่ได้ ท่านประธาน ไม่มีทางครับ ทั้งหมด จะต้องออกแบบก่อสร้างสำรวจ ขออนุญาตขอ EIA ตั้งงบประมาณอีก ๒๐ ปีก็ไม่สำเร็จครับ ท่านประธานครับ ท่านประธานดูน้ำทั้งหมด แผนงานทั้งหมดอยู่ตรงนี้ผมอธิบายไปทัน แต่ว่ากราบเรียนด้วยว่าทั้งหมดที่เห็นมายังไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เลย น้ำที่ผ่านมาแพร่มา ปีหนึ่ง ๒,๔๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ขอกักไว้แค่ ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ยังทำไม่ได้เลยครับ ท่านประธาน ทุกคนก็จะมากระจายไปทุกจังหวัด แล้วทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพังไปมาจังหวัด ส่วนตอนล่างทั้งหมด สุโขทัยตลิ่งพังหมดแล้ว ฝายพังหมดแล้ว ทุกอย่างพังหมด นี่คือสิ่งที่เกิด ขึ้นกับประเทศไทยครับท่านประธานครับ เพราะฉะนั้นผมอาจจะมีเวลาไม่เพียงพอ แต่ขอ สรุปให้ท่านประธานฟังว่าถ้ารัฐบาลไม่กำหนดมาตรการเด็ดขาด ไม่ออกกฎหมายพิเศษ เพื่อแก้ไขภัยพิบัติทำอย่างไรก็ไม่มีวันที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมประเทศนี้ได้ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปคุณชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติด่วน เรื่องปัญหาน้ำท่วมเพื่อส่งมอบปัญหาให้กับรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ท่านประธานครับ เมื่อคืนมีฝนตกหนักทั่วพื้นที่ ทั้งจังหวัดระยอง มีหลายจุดเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง แต่จุดที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นจุดที่มีปัญหาหนักกว่าที่อื่น
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
คือที่บ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย เหตุผลที่จุดนี้มีปัญหาหนักกว่าที่อื่นเพราะจุดที่เสียหายเป็นพนังกั้นน้ำในบ่อ เก็บน้ำ ซึ่งเป็นบ่อที่มีน้ำปนเปื้อนสารปิโตรเลียม ไฮโดรคาร์บอน น้ำมัน และไขมัน ๑๐๖ ซึ่งถูกจัดว่าเป็นวัตถุอันตรายในระดับที่ ๕๐ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชี รายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๘ ของโรงงานกำจัดของเสีย ที่ชื่อว่าบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ครับท่านประธาน หลังจากฝนตกหนักพนังกั้นน้ำแตก ผลกระทบฉับพลันที่เกิดขึ้นคือบ้านเรือนของพี่น้อง ประชาชนโดยรอบพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหายรุนแรง น้ำที่ไหลออกมาไหลเข้าท่วม บ้านเรือนพี่น้องประชาชน ไหลเข้าไปในสวนและเรือกสวนไร่นา พื้นที่นี้ผมเคยไปลงพื้นที่ มาแล้ว ยางพารารอบ ๆ ที่ปลูกอยู่ใกล้ ๆ สวนแค่น้ำไหลออกมาบ้างเป็นบางระยะก็ตาย ทั้งสวนแล้วครับ ตอนนี้ไหลออกมาเพราะทำนบแตก ก็ไม่ต้องคิดกันเลยครับว่าพืชผล การเกษตรจะเสียหายขนาดไหน และย้ำอีกครั้ง น้ำที่ไหลออกมาจากบ่อนี้ไม่ใช่น้ำธรรมดา ที่ไหลมาตามน้ำท่วม แต่เป็นน้ำสารเคมีที่ปนเปื้อน แล้วตอนนี้ได้ไหลทะลักลงไปรวมกับน้ำ ในคลองโบสถ์ ไหลเข้าทางมาบกลางไปที่คลองน้ำงู เข้าสู่คลองใหญ่ สุดท้ายน้ำสายนี้ ที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลไปจบที่แม่น้ำระยอง แม่น้ำสายหลักของจังหวัดระยอง เตรียมตัว ไหลลงสู่ทะเลเป็นที่เรียบร้อย ท่านประธานครับ ความเสียหายกว้างใหญ่ขนาดนี้เกิดขึ้นจาก จุดเล็ก ๆ จุดเดียว คือโรงงานที่ชื่อว่า บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จุดเริ่มต้นของโรงงานแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ครับ ตอนนั้น บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ได้มีการขอใบอนุญาตประกอบ กิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านบ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร ถึงขนาดว่าชาวบ้าน ต้องไปตั้งเต็นท์ขวางไม่ให้รถขนขยะเข้าไปในโรงงานที่กำลังขอใบอนุญาต อยู่กันเป็นเดือน ๆ มาแล้วนะครับ ผมเคยไปลงพื้นที่มาหลายครั้ง หลังจากคัดค้านมานานมาก แต่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ก็ไม่หยุดโครงการ พยายามขอใบอนุญาตพร้อมลักลอบดำเนินการต่อไป เรื่อย ๆ ทั้งที่ยังไม่มีใบอนุญาต จนสุดท้ายหลังจากคัดค้านเป็นอย่างหนัก ทางกรมโรงงาน อุตสาหกรรมก็มอบใบอนุญาตให้ในปี ๒๕๖๐ ไป ๗ ใบ ความเสียหายเลยยิ่งรุนแรงขึ้น เรื่อย ๆ ตรงจุดที่เป็นน้ำสีดำใน Slide คือบ่อที่มีสารเคมีไหลไปรวม แล้วก็มีบ่อข้าง ๆ ที่น้ำไหลลงไปรวมข้าง ๆ เป็นน้ำสีน้ำตาลที่ตอนนี้ทำนบพังทลายลงไปแล้วนะครับ สุดท้าย ประชาชนในพื้นที่จึงตัดสินใจที่จะยื่นฟ้องบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในปี ๒๕๖๔ และชนะคดี ในปี ๒๕๖๕ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ยื่นฟ้อง ๑๕ ราย เป็นจำนวนรวม ๒๐,๘๒๓,๗๑๘ บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี นับจาก วันที่ฟ้องเป็นต้นไป เรื่องไม่ได้จบแค่นี้ครับ เพราะหลังจากนั้นในเดือนมกราคม ปี ๒๕๖๖ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ทำสัญญา ๒ ฉบับ ในวงเงิน ๑๒ ล้านบาท ว่าจ้างให้ บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการรับเหมาบำบัดของเหลวและกากตะกอนของเสีย ที่เป็นอันตราย แต่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แล้วไม่มีการตรวจสอบอะไรที่มากพอ ผมเคย ประสานไปหลายครั้ง ไปลงพื้นที่มาหลายครั้งผลที่เกิดขึ้นก็อย่างที่เห็น ถ้าทำได้ดี ฝนตก น้ำท่วมครั้งนี้ก็จะไม่เกิดปัญหา พอพนังกั้นน้ำแล้วน้ำเคมีก็ไหลเข้ามา ทะลักเข้าสู่บ้านเรือน ของประชาชนและเรือกสวนไร่นาเสียหายเป็นอันมาก ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าพืชผลการเกษตร จะเสียหายอีกเท่าไร ไม่รู้ว่าน้ำเสียนี้จะไหลไปที่ทะเลไหม จะกระทบประมงหรือไม่ แล้วความทุกข์นี้มันจะจบที่ไหนครับ หรือจะจบที่อาหารทะเลที่อยู่ที่พวกเราผมก็ไม่ทราบแล้ว เรื่องนี้เราได้ยินกันวันนี้เพราะน้ำท่วมออกมา แต่ว่าเรื่องนี้ยาวนานมา ๑๒ ปีแล้วครับ ที่ชาวหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย ต้องแบกรับ แล้วมันจะต้องไหลออกมา กี่ครั้งที่มีฝนตก เรื่องนี้เราไม่มีทางทราบได้ ระบบราชการก็เชื่องช้า แล้วเราต้องลุ้นอีกกี่ครั้ง ว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเท่าไรถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มีอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องทำนอง เดียวกันครับท่านประธาน แต่ย้ายตำแหน่งไปแค่นิดเดียว ใน Slide นี้คือน้ำที่ไหลออกมา เมื่อคืนแล้วไปถ่ายมาวันนี้ ตอนเช้านี้คือน้ำไหลผ่าน สารเคมีตอนนี้คือฝังอยู่ตามถนนแล้วก็ บ้านเรือนประชาชนแล้ว
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
อีกจุดหนึ่งเป็นเหตุคล้าย ๆ กัน เกิดขึ้นที่คลองช้างตาย มีเหตุเมื่อปี ๒๕๕๘ เดือนมีนาคม ริมถนนสาย ๔๐๐๖ บ้านคลองช้างตาย หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองตะพาน พื้นที่ ๒๐ ไร่ มีการลักลอบนำน้ำทิ้งสารเคมีและวัตถุอันตรายใส่บ่อซีเมนต์ ๑๐ บ่อ ไปวางไว้ แล้วก็ ฝังไว้ แล้วก็มีการแจ้งให้หน่วยงานมาตรวจสอบ พบว่าเป็นสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็น ทำให้เกิด การวิงเวียนกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ มีหน่วยงานมาตรวจสอบมากมาย หน่วยงานสั่งการให้ ผู้เช่าที่ดินผืนดังกล่าวขนย้ายสารเคมีและวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่โดยเร็วเพราะอาจจะ ปนเปื้อนรั่วไหลออกมาอีก ให้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งก็น่าจะจบตอนปี ๒๕๕๘ นะครับ สรุปผ่านมา ๘ ปี ฝนตก น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าสารเคมีตรงนั้นที่ถูกสั่งให้ย้ายไม่ไหนเลย มันอยู่ที่เดิม แล้วน้ำฝนก็ชะเอาสารเคมีพวกนี้อีกจุดหนึ่งที่คลองช้างตาย ไหลเข้าไปรวมที่ คลองกะเฉด เข้าคลองทับมา ไหลเข้าแม่น้ำระยอง และลงทะเลไปอีกเป็นที่เรียบร้อย จากฝน ตกหนัก น้ำท่วมครั้งนี้
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียง ๒ กรณี ที่ผมสะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับปัญหาจากฝนตกหนักและน้ำท่วม ผมไม่ทราบว่ามีอีก กี่หลุม หรืออีกกี่โรงงานที่ฝั่งอะไรแบบนี้ไว้ในเขต EEC ไว้ในเขตบ้านเรือนของประชาชน ไว้ในเขตที่พี่น้องทำการเกษตร และผมต้องรอให้ฝนตก น้ำท่วมทุกครั้งหรือถึงจะได้รับทราบ ว่ามีสารเคมีไหลลงไปในพื้นที่การเกษตร ไหลเข้าบ้านเรือนประชาชนให้เดือดร้อน เรื่องนี้น้ำท่วมเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง แต่น้ำท่วมครั้งนี้พาเอาปัญหาที่ใหญ่กว่าไหลมากองรวมกัน และผมขอแจ้งไว้ ณ ที่นี้ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฝากไปยังรัฐมนตรีเพื่อให้ทราบ ว่าเรื่องนี้น้ำท่วมก็เป็นปัญหา สิ่งที่ตามมาปัญหาอาจจะหนักกว่านี้ถ้ามีปัญหาสารเคมีปนเปื้อน ไหลออกไปพร้อมน้ำท่วมครั้งนี้ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ครับ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย พรรคเพื่อไทย เขต ๒ วันนี้ผมขออภิปราย แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พอพูดถึงจังหวัดสุโขทัยนี่ทุกคนในประเทศไทยก็จะรู้ว่าถึงฤดูน้ำ แล้วสุโขทัยน้ำท่วมไหม ท่วมเมื่อไรนะครับ อันนี้เพราะสุโขทัยน้ำท่วมทุกปี สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากลำน้ำแม่ยมที่ไหลจากแพร่มาที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ แล้วก็ไปอำเภอบางระกำ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
สาเหตุที่ ๒ ก็คือน้ำมาจากห้วยท่าแพ อำเภอศรีสัชนาลัย แล้วก็น้ำมาจาก แม่มอก อ่างเก็บน้ำแม่มอก ที่ล้น Spillway ไหลมารวมที่จังหวัดสุโขทัยนะครับ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
สาเหตุที่ ๓ ก็คือน้ำจากแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านระบบท่อทองแดงมาทางอำเภอ คีรีมาศ แล้วก็สู่สุโขทัยตอนล่าง
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
สาเหตุที่ ๔ ก็คือน้ำป่าที่ท่วมลงในอ่างเก็บน้ำแม่กลองค่าย อ่างเก็บน้ำ แม่รำพัน อ่างเก็บน้ำกิ่วหญ้าแทนของตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอยไหลมาตำบล เมืองเก่าและตำบลบ้านกล้วยแล้วก็ลงสู่แม่น้ำยม แล้วก็เหตุที่น้ำท่วมก็จะเกิดจากสาเหตุ หลัก ๆ สิ่งที่เราอยากจะแก้ไขในด้านของจังหวัดสุโขทัยก็คือ ๑. ของอำเภอคีรีมาศ เนื่องจาก มีน้ำจากท่อทองแดงไหลมา ก็อยากจะให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่อง ไม่ว่าเรื่องภัยแล้ง ไม่ว่า น้ำท่วม อันนี้เราได้เสนอโครงการไปแล้วว่ามีการขุดลอกหนองอ้อ หมู่ที่ ๔ บ้านยางแหลม ตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ แล้วก็มีขุดลอกแก้มลิงทุ่งลานช้าง หมู่ที่ ๓ บ้านปากคลองเรือ ตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ แล้วก็ยังมีอ่างเก็บน้ำทุ่งพันทลายที่สำหรับจะไว้แก้ไขภัยแล้ง แล้วก็ป้องกันปัญหาน้ำท่วมของอำเภอคีรีมาศ แล้วก็หน่วงน้ำเพื่อจะได้ไหลลงแม่น้ำยม ต่อไปนะครับ แล้วก็ของอำเภอกงไกรลาศไม่ว่าน้ำมวลต่าง ๆ ที่ไหลมาจากศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง หรือว่าแตกออกทั้งซ้ายทั้งขวาของแม่น้ำยมก็จะไหลไปรวมกันที่อำเภอ กงไกรลาศ ก็อยากให้มีการแก้ไขก็คือขุดแก้มลิงที่หนองเสาเถียรที่ท่านพรรณสิริได้พูดไว้ว่า ให้มีการขุดลอกหนองเสาเถียร ตำบลไกรใน อันนี้ก็จะฝาก แล้วก็ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ ก็จะมีเขตเศรษฐกิจ มีการปลูกข้าวประมาณ ๒,๗๐๐ กว่าไร่ เนื่องจากมวลน้ำไปเยอะ ก็อยากจะให้มีการสร้างประตูน้ำ แล้วก็ริมตลิ่งที่มีส่วนที่ต่ำก็เสริมเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขต เศรษฐกิจของอำเภอกงไกรลาศนะครับ แล้วก็อันดับที่ ๓ ของอำเภอบ้านด่านลานหอยเพื่อให้ การแก้ไขและป้องกันน้ำท่วม ก็อยากจะให้มีการขุดแก้มลิงทุ่งหนองค้อ ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ครม. มาแล้วเมื่อปี ๒๕๖๐ ว่าจะให้มีการก่อสร้างแก้มลิงทุ่งหนองค้อ เพราะว่าแก้มลิงทุ่งหนองค้อก็จะรับน้ำจากที่ผม พูดว่าสาเหตุน้ำหลากที่จะไปท่วมที่สุโขทัยที่ล้น Spillway แม่รำพัน ล้น Spillway แม่กลองค่ายไหลมา ก็อยากให้มีการขุดแก้มลิง เพราะว่าขุดแก้มลิงทุ่งหนองค้อ ขุดประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ แล้วก็รับน้ำได้ ๒๕ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้เพื่อป้องกันน้ำท่วมของจังหวัดสุโขทัย แล้วก็ไหลลงเข้าแม่รำพัน เพราะว่าน้ำเมื่อปี ๒๕๖๔ ที่ท่วมของจังหวัดสุโขทัย น้ำก็มาจาก อำเภอบ้านด่านลานหอยแล้วก็อำเภอทุ่งเสลี่ยม โดยล้นจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ปริมาณน้ำ ที่ไหลมาท่วมอำเภอเมืองก็ประมาณ ๒๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเรามีการขุดลอกแก้มลิง ของทุ่งหนองค้อ อำเภอบ้านด่านลานหอยของจังหวัดสุโขทัยก็จะป้องกันน้ำท่วม จังหวัดสุโขทัย แก้ไขภัยแล้งให้กับอำเภอบ้านด่านลานหอย เพราะว่าอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัยแห้งแล้ง โดยท่าน สส. จักรวาลเคยพูดไว้เมื่อปี ๒๕๕๔ ว่าแย้ยังออกมาหายใจ อันนี้ก็จะฝากว่าโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ก็อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ ขอขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณธีรัจชัย พันธุมาศ ครับ
นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ขออนุญาตอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็น ปัญหาหลักของประเทศก็ว่าได้ ทุกครั้งที่มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรหลังจากการเลือกตั้ง ปัญหาน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่มาเข้าสภาทุกครั้งในญัตติแต่ละญัตติขึ้นมา ผมขอเรียนในส่วน ของปัญหาน้ำท่วมที่ในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ขอเรียนท่านประธานที่เคารพนะครับ น้ำที่จะมาท่วมในกรุงเทพมหานครนั้นมีทั้งหมด ๔-๕ อัน แต่หลัก ๆ ๓ อัน ก็คือ ๑. น้ำเหนือที่จะมา น้ำเหนือที่จะมาก็คือจะมา ๒ ปีก ปีกแรกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปีกที่ ๒ มาจากแม่น้ำป่าสัก ปีกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกั้นในส่วนของเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท และมีน้ำที่ออกมาคลองชัยนาท-ป่าสัก ไหลลงมาสู่คลองระพีพัฒน์แล้วก็เข้ามาสู่คลอง พระองค์เจ้าไชยานุชิตส่งเข้าสมุทรปราการแล้วออกสู่อ่าวไทย สายที่ ๒ นั้นก็มาจากเขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ไหลมาลงที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตแล้วก็ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วก็มาลง ในส่วนคลองระพีพัฒน์ก็ไหลมาสู่เหมือนกัน นอกจากนั้นใต้เขื่อนก็ออกมาจากแม่น้ำ เจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เป็นน้ำเหนือที่เข้ามา ถ้าช่วงใดที่มีฝนตกเยอะและนำเอ่อล้น ปริมาณน้ำ จากเหนือมาก ๆ ก็จะไหลเข้ามา แต่ไม่ได้ไหลน้ำที่สะอาดเข้ามา เพราะน้ำต้องผ่านดินแดน ขึ้นมาแล้วเยอะ เป็นน้ำเน่า น้ำเสีย ผ่านเข้ามาเยอะมาท่วมในส่วนกรุงเทพมหานคร ถ้าระบายไม่ทันก็ไม่ได้ คลองในกรุงเทพมหานครเป็นคลองที่ทุก ๑ กิโลเมตร ก็จะมีคลอง ๑ กิโลเมตร มีทั้งคลองขุดคลองธรรมชาติ และคลองทั่วไปที่การป้องกันน้ำท่วมนั้นมีขยะ มีในส่วนของผักตบชวาพืชน้ำต่าง ๆ ไม่สามารถไหลต่อได้ เพราะกระบวนการที่จะขจัด เหล่านั้นมันไม่มีระบบในการจัดการที่ดีทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทุกปี ผมเรียนเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าในส่วนของกรุงเทพมหานครที่มีการดำเนินการป้องกันแก้ไขน้ำท่วม โดยใช้ระบบพื้นที่ ปิดล้อมด้วยการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลบ่า เข้าท่วมพื้นที่และบริเวณภายในพื้นที่ปิดล้อมได้ ดำเนินการก่อสร้างเพื่อระบายน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนตกในพื้นที่ให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งพื้นที่เป็น ๓ พื้นที่ เรามาดู พื้นที่ทั้งหมดในการปิดล้อมมีประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ปิดล้อมด้านตะวันออก แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคันกั้นน้ำพระราชดำริ พื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่ ชุมชนและเมือง อีกพื้นที่หนึ่งคือพื้นที่เขตเลือกตั้งผมเอง ก็คือพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำ เจ้าพระยา คันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ นอกคันกั้นน้ำพื้นที่ประมาณ ๔๖๘ ตารางกิโลเมตร ซึ่งกรุงเทพมหานครใช้เป็นที่รองรับน้ำหลากตามธรรมชาติ หรือ Floodway เพื่อระบาย น้ำหลากจากพื้นที่ตอนเหนือด้านตะวันออกมาลงพื้นที่ด้านใต้สู่ทะเลไม่ให้ไหลบ่าพื้นที่ล้อม ในคันกั้นน้ำ พื้นที่ที่ ๓ คือพื้นที่ด้านตะวันตก ก็คือ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ผมเรียนอย่างนี้นะครับ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออกซึ่งค่อนข้างจะถูกเป็นที่รองรับน้ำมาตั้งแต่อย่างน้อย ๆ ก็ปี ๒๕๓๕ ๓๑ ปีแล้ว พื้นที่ตรงนี้จะถูกน้ำท่วมขังประมาณปีละ ๒-๔ เดือน ประมาณกันยายน ถึงพฤศจิกายนบ้างแล้วแต่พื้นที่ เมื่อไม่กี่วันก่อนฝนตกขึ้นมาน้ำเหนือยังไม่เต็มที่ ตอนนี้กำลัง คาอยู่ในแถวชัยนาทยังไม่เต็มที่ แต่เมื่อ ๒ วันก่อนฝนตกขึ้นมา มีปริมาณน้ำฝนประมาณ ๗๖.๕ มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนตกในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออกประมาณ ๔.๖ มิลลิเมตร ทำให้น้ำท่วมขังในคลองลำพุทรา ในเขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตหนองจอกก็เริ่มท่วมแล้ว ผมไปลงพื้นที่ก็เจอน้ำท่วมในบ้านที่อยู่ริมคลองอยู่เป็นหลายคลองเต็มไปหมดเลย นี่ขนาดว่า แค่น้ำฝน น้ำอันแรกคือน้ำเหนือที่มา อันที่ ๒ คือน้ำฝน ถ้าฝนตกเกิน ๙๐ มิลลิเมตรขึ้นไป นั่นก็คือน้ำท่วมหนักและจะขังและขังประมาณแบบนี้ทุกที ผมพูดถึงในเรื่องของน้ำทะเลหนุน ทุกเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมก็จะมีน้ำทะเลหนุนขึ้นมา ถ้าหนุนขึ้นมาสูงและประกอบกับ ๓ น้ำที่ตรงกัน ก็จะทำให้น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน นั่นจะทำให้กรุงเทพฯ ตะวันออก ในพื้นที่เขตของผมคือหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสามวา จะมีน้ำท่วม ๒ เดือน เป็นอย่างน้อย และเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่กว้างในส่วนตรงนี้ ผมมองถึงความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างการจัดการน้ำโดยใช้ระบบปิดล้อม ปิดพื้นที่ตรงนั้นไปแล้วกันไม่ให้น้ำเข้าส่วนใน ผมเชื่อว่าในขณะนี้วิธีคิดเหล่านั้นควรจะเปลี่ยน รัฐบาลควรจะหันมาทางที่ว่าจัดระบบระบายน้ำ ให้ตรงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้โดยตรง จัดระบบทางน้ำ หรือจัดที่พักน้ำ คือในส่วนที่เรียกว่าแก้มลิงขึ้นมาในพื้นที่ และชดเชยในส่วนคนที่ต้องเสียพื้นที่น้ำตรงนั้น ขึ้นมา แล้วให้ระหว่างแล้งก็สามารถมีพื้นที่ใช้ทำเกษตรได้และน้ำท่วมก็จะไม่ท่วมได้นาน หรือไม่ท่วมเลยในส่วนนี้ หรือว่าจัดในส่วนที่เป็นเมืองที่อยู่กับน้ำได้หลาย ๆ ประเทศผมไปดู จากนักวิชาการที่คิดขึ้นมาเขาทำเมืองที่อยู่กับน้ำได้และบางที่เขามีการเสนอให้มีแก้มลิง ในทะเล ซึ่งกั้นเป็น ๓๐ กิโลเมตร คูณ ๓๐ กิโลเมตร มีน้ำไหลลงสู่แล้วก็น้ำสู่ออกทะเลไป ทำให้มีเมืองอีกเมืองหนึ่งอยู่ที่ริมทะเล ตรงนี้รัฐลงทุนก็ไม่มากแต่สามารถแก้ได้เด็ดขาด และสามารถทำให้พื้นที่ตรงนี้เราแบ่งผังเมืองเป็นบล็อก ๆ เป็น Zone ขึ้นไป ๓๐ คูณ ๓๐ ในพื้นที่ตรงนี้มีสาธารณูปโภค มีอะไร โรงเรียนดี ๆ อยู่ขึ้นไป แล้วก็จัดน้ำระบายสู่บล็อก คมนาคมที่ดี ผมว่าตรงนี้ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านพื้นที่อยู่อาศัยเราจะหายไป และปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตะวันออกก็จะไม่มีท่านประธานครับ รัฐบาลแก้ไขด้วยการที่ แต่ละปีก็มาทำปัญหา การเยียวยาก็ช้า มาอภิปรายตรงนี้ขึ้นไปแต่ไม่เคยแก้ที่โครงสร้าง นั่นคือการทำผังเมือง การจัดระบบน้ำ การทำแก้มลิงอย่างที่ผมบอกว่าในส่วนของทะเล ในส่วนตรงนี้ขึ้นไป เมื่อไรจะทำครับ แล้วตัดสินใจสักที พื้นที่ ๔๖๘ ตารางกิโลเมตร สามารถ เป็นพื้นที่น่าอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่ของผม หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสามวา จะต้องเป็นพื้นที่ที่คอยรับเคราะห์น้ำทุกปี ๒-๔ เดือน ตรงนี้อยากจะขอให้ รัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาจากประชาชนแล้วได้กรุณาเห็นคนหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง เป็นคนที่มีสถานะที่เท่าเทียมกับคนในเขตพื้นที่อยู่ในคันกั้นน้ำด้วย ในศูนย์กลางด้วย และให้ โอกาสเราได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่แห้งปกติแล้วทำเกษตรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ในส่วนนี้ตามที่พึงจะเป็น อย่าลดทอนสิทธิความเสมอภาคของเราเลยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนพพล เหลืองทองนารา ครับ
นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นพพล เหลืองทองนารา พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ไม่ค่อยมีศักยภาพ ท่านประธานครับ ในสิ่งที่มีเพื่อนสมาชิกเราได้เสนอญัตติด้วยวาจาในเรื่องเกี่ยวกับปัญหา เรื่องของน้ำท่วมแล้วก็การเยียวยา ท่านครับ พูดก็พูดนะครับ เรื่องของน้ำท่วมไม่ว่าจะเป็น โครงการส่งน้ำใด ๆ ก็แล้วแต่ในประเทศไทย หรือสำนักชลประทานใด ๆ ก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่ปัญหาไม่แตกต่างกันเลย นั่นหมายความว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนั้นปัญหาน้ำท่วม หรือน้ำแล้งเกิดจุดไหนมันก็เกิดอยู่จุดนั้น ผมเองขอเริ่มด้วยสิ่งแรกที่ผมคิดว่ามันมี ความสำคัญมากที่สุดในการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง นั่นก็คือจิตวิญญาณของ ความเป็นข้าราชการที่สำนึกในหน้าที่ของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเริ่ม จากตัวของบุคลากรก่อน เรื่องเงินทองทั้งหลาย โครงการต่าง ๆ ถ้าคนมีคุณภาพเงินทอง จะมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่ แล้วทางรัฐบาลเห็นประโยชน์เท่าไรก็ให้ แต่ปัญหาเรื่องคน ผมเองตั้งแต่คลุกคลีเรื่องน้ำกับชาวบ้าน ผมนึกท้อใจที่สุดก็เรื่องคนครับ ผมขอเรียกร้องตรงนี้ ผมเองนับถือกรมชลประทาน นับถือหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำเป็นอย่างมาก แต่ว่าผมก็ต้อง สะท้อนในสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้รับฟัง ท่านครับ การบริหารจัดการน้ำเป็นส่วน สำคัญที่สุด ปีนี้เห็นกันได้ชัดมันไม่สมควรที่จะน้ำท่วม เมื่อก่อนหน้านี้ประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ อย่างในพื้นที่ของผม อย่างที่ผมเคยพูดไปเมื่อคราวที่แล้วเมื่อ ๒-๓ อาทิตย์ก่อน อย่างโครงการนเรศวรซึ่งดูแลพื้นที่ ๙๑,๐๐๐ ไร่ ในทุ่งสาน ทุกคนอายุมากหน่อยก็คงจะเคย ได้ยินเพลงทุ่งสานสะเทือนจุดตรงนั้นละครับ น้ำด้านใต้ก็ไม่มี น้ำด้านเหนือยังไม่มา มีแต่ฝนตก ในพื้นที่ แต่ผลปรากฏว่าน้ำท่วมในทุ่งสานซึ่งมันเป็นไปได้อย่างไร นั่นก็คือตรรกะนะครับ หลังจากที่ไปดูตัวเลขทั้งหลายแล้ว การเชื่อมโยงระหว่าง ทรบ. ทั้งหลาย ประตูน้ำทั้งหลาย กับเขื่อน กับฝ่าย กับคลอง กับแม่น้ำทั้งหลายที่โยงใยกันตรงนั้น ดูแล้วเห็นได้ชัดเลยว่า นั่นเป็นเพราะการบริหารงาน การบริหารการจัดการน้ำของกรมชลประทานนั้นถือว่าแย่มาก วันนี้ถ้ามาพูดถึงเรื่องของน้ำยมซึ่งตอนนี้กำลังเป็นข่าวว่าได้เกิดน้ำหลากมา ผมเองต้องกราบ ขอบพระคุณท่าน สส. สุโขทัยทุกท่าน แล้วก็ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ท่านเองได้เอาใจใส่ มีคนเคยบอกว่าน้ำที่ท่วมพิษณุโลกมาจากสุโขทัย ถูกต้องครับ ผมไม่เถียงว่ามาจากสุโขทัย แต่ผมไม่เห็นด้วยถ้ามีคนมาบอกว่าน้ำนั้นเป็นเพราะสุโขทัย ผลักมาที่พิษณุโลก เป็นเพราะนักการเมืองผลักมา ผมอยากจะทำความเข้าใจกับพี่น้อง ในพิษณุโลกว่าไม่ใช่เลยครับ แล้วถ้าอย่างนั้นคนพิจิตรเขาก็ว่าผมได้สิว่าผมผลักน้ำไปทาง พิจิตร ไม่ใช่ มันอยู่ตรงที่ว่าการรับน้ำการประสานงานระหว่างสำนักงานชลประทานที่ ๔ ของสุโขทัยกับสำนักงานชลประทานที่ ๓ ของพิษณุโลกมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันแค่ไหน แล้วก็มี การตั้งรับมวลน้ำกันอย่างไร แก้ไขกันอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้วผมอยากจะเน้นหนักที่สุดก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำโดยบุคคลมากกว่า เรื่องประตูน้ำอะไรทั้งหลายผมไม่เท่าไร แต่พูดถึงสำหรับแม่น้ำยมซึ่งค่อนข้างจะอาภัพ เพราะว่าไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการกักเก็บน้ำ ผมเองเห็นด้วยที่จะให้มีประตูน้ำที่อำเภอวังชิ้นในเขตจังหวัดแพร่อีก ๒ ประตู แล้วก็ที่อำเภอ ศรีสัชนาลัยของท่าน สส. จักรวาลอีก ๒ ประตู ซึ่งจะเป็นการหน่วงน้ำ แล้วก็อีกส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยเหลือ ผมจะไม่พูดถึงในพื้นที่ผม แต่ว่าจะพูดถึงการช่วยเหลือบริเวณน้ำท่วมด้านใต้ พิษณุโลกไปจนมาถึงกรุงเทพฯ จนน้ำลงไปทะเลนะครับ นั่นก็คือโครงการบางระกำโมเดล วันนี้โครงการบางระกำโมเดลแม้ว่าจะมีบางส่วนที่ดูเหมือนว่าไม่สมเหตุสมผลที่จะทำ โครงการนี้ต่อไป แต่มันก็เป็นบางส่วน แต่ว่าจริง ๆ แล้วโครงการโดยส่วนรวมถือว่าใช้ได้ ทีเดียว ปัจจุบันศักยภาพที่เป็นอยู่ที่ได้มีการดำเนินการแล้วของโครงการบางระกำโมเดล คือ ๒๖๕,๐๐๐ ไร่ แล้วสามารถหน่วงน้ำได้ในฤดูน้ำหลาก ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จริง ๆ แล้วศักยภาพของบางระกำโมเดลสามารถหน่วงน้ำได้ถึง ๕๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ว่าพื้นที่จะต้องขยายออกไปเป็น ๓๘๒,๐๐๐ ไร่ ผมเองอยากที่จะเรียกร้องให้ท่านได้สำรวจไปตั้งต้นกันใหม่สำหรับบางระกำโมเดลอีกครั้งหนึ่ง ว่าตรงจุดไหนที่ท่านขีดวงไว้แล้ว แต่ว่ากลับกลายเป็นผลเสียกับราษฎรควรเอาพื้นที่ ตรงนั้นของราษฎรออก และพื้นที่ตรงไหนที่ดูแล้วมันสมควรที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งที่ หน่วงน้ำได้ อะไรได้ ให้ท่านรีบศึกษาแล้วก็จัดการ ท่านครับ น้ำฝนแต่ละปีที่ตกลงมา ในประเทศไทยประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำท่าอีกประมาณ ๒๑๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่ผลปรากฏว่า การกักเก็บน้ำในบ้านเราทั้งหมด โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๑๑๐ โครงการ ขนาดกลาง ๘๘๙ โครงการ ขนาดเล็กอีก ๒๐,๓๙๗ โครงการ รวมแล้วเก็บน้ำได้เพียง ๘๒,๙๐๐ กว่าล้าน ลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ยังไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นผมอยากที่จะเรียกร้อง ให้ทางกรมชลประทาน ตลอดจนข้าราชการในกรมชลประทานได้เอาใจใส่ เป็นหน้าที่ ของท่าน ทุกคนรอความหวังจากท่านโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร เราช่วยกันเถอะครับ เราเปรียบเทียบเกษตรกรเหมือนกระดูกสันหลังนะครับ อย่างอื่นแข้งขาหักอะไรก็ยังรักษาได้ อะไรได้ แต่กระดูกสันหลังถ้าลองชำรุดไปแล้วก็พิการนะครับ และถ้าชาวนาพิการ ประเทศไทยก็คงพิการกันทั้งประเทศละครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายแพทย์โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๑ อำเภอเมือง พรรคเพื่อไทย ต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานนะครับที่อนุญาตให้ผม ได้ขึ้นมาอภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการบริหาร การแก้ปัญหาน้ำท่วมและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน จังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดที่เพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านได้กล่าวขึ้นมาแล้วว่าเป็นต้นน้ำของแม่น้ำชี ทุก ๆ ปีจังหวัดชัยภูมิก็จะได้ ประสบปัญหาน้ำท่วม แล้วก็จะเริ่มที่จังหวัดชัยภูมิยาวไปจนถึงขอนแก่น ยาวไปถึง มหาสารคามของท่าน สส. จิรวัฒน์ แล้วก็ไปจบที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอย่างนี้ทุก ๆ ปี เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเขต ที่ผมได้รับผิดชอบเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ๒ ปี ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ พื้นที่เมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เทศบาลเมืองชัยภูมิได้รับผลกระทบ คือน้ำท่วม ท่วมผ่าน ๑ วัน ผมไม่ว่าครับ แต่ท่วมขังเกือบ ๗ วัน พื้นที่เศรษฐกิจได้รับปัญหา เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้เป็นญัตติที่สำคัญของคนอำเภอเมืองและคนจังหวัดชัยภูมิที่อยากจะ ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลชุดนี้ครับ ด้านทิศเหนือของเขตเศรษฐกิจของอำเภอเมือง จังหวัด ชัยภูมิ รับน้ำจากเขื่อนลำปะทาว ส่วนทิศใต้ของอำเภอเมืองชัยภูมิรับน้ำจากแม่น้ำชี การบริหารจัดการเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ชาวชัยภูมิฝากรัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เรา ประสบปัญหาน้ำท่วม ชัยภูมิบ่นว่าชัยภูมิน้ำท่วมครับ แต่พอพ้นแค่หน้าฝน การบริหาร จัดการการเก็บน้ำไม่มี เราก็ประสบปัญหาน้ำแล้ง เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้ฝากทางรัฐบาล ช่วยพิจารณา
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ผมจะขอกล่าวอันดับแรก ปัญหาน้ำท่วมของเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ปัญหาอันดับแรกเกิดจากขาดพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนลำปะทาวเพื่อชะลอ หรือผ่อนน้ำไม่ให้เข้าสู่ตัวเมืองเร็วจนเกินไป จึงอยากฝาก อยากขอให้กรมชลประทาน โดยสำนักงานก่อสร้างขนาดกลางหรือขนาดใหญ่พิจารณาจัดสร้างแหล่งเก็บกักน้ำอันได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยชัน ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำตาดฟ้า ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำบ่อทองคำ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิและสำคัญนอกจากอ่างเก็บน้ำ การขุดลอกลำคลองหรือลำน้ำให้มีความลึกมากขึ้น ความกว้างมากขึ้นเพื่อจุน้ำได้มากขึ้น จะเป็นส่วนที่ทำให้น้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิลดลง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอก ขยายลำห้วยชีลอง ขุดลอกขยายลำปะทาว ขุดลอกขยายลำห้วยกอก ขุดลอกลำห้วยน้อย ทั้งหมดนี้คือเส้นเลือดที่จะนำน้ำเข้าสู่เมือง แต่ถ้าเราขยายเขาโอกาสที่น้ำจะท่วมในเขต เทศบาลเมืองชัยภูมิผมเชื่อว่าจะลด
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๒ ครับ เป็นปัญหาสำคัญของระบบราชการหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่นี่คือปัญหาสำคัญของคนอำเภอเมืองชัยภูมิ คือโครงการผันน้ำลำปะทาว ฝั่งซ้าย เพื่อผันน้ำ เอาไปลงที่อ่างหินลับมีด ปรากฏว่าโครงการต้องเสร็จภายในปี ๒๕๖๔ แต่นี่ปี ๒๕๖๖ ไม่เสร็จ เพราะผู้รับเหมาหนีงาน และวันนี้ยังไม่สามารถหาผู้รับเหมาได้ สำคัญครับ งบประมาณเพียงแค่ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท กรมชลประทานไม่มีให้ แต่ทุกครั้งที่น้ำท่วมเมือง ชัยภูมิ ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ เราต้องสูญเสียพื้นที่เศรษฐกิจและงบประมาณที่เสียหายต่อ การช่วยเหลือประชาชนอีกกี่ร้อยล้านบาท ผมเชื่อว่าภาครัฐเห็นความสำคัญนี้และผมเชื่อว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนี้จะเอากลับไปทำ ทำให้คนชัยภูมิมีความสุขมากขึ้นครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งที่จะช่วยทำให้น้ำไม่ท่วมขังในอำเภอเมืองจังหวัดชัยภูมิ และเขตเทศบาลก็คือการผ่อนน้ำ การเบี่ยงน้ำ เพราะฉะนั้นก็ต้องฝากนะครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ถัดไปครับวันนี้ปัญหาวันนี้สด ๆ ร้อน ๆ พื้นที่ด้านใต้ของอำเภอเมืองจังหวัด ชัยภูมิ ซึ่งได้แก่บ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจาก การที่น้ำชีล้นท่วม เนื่องจากพนังกั้นลำน้ำชีพังทลาย น้ำกระฉอกล้นออกมาบริเวณพื้นที่บ้านเสี้ยวน้อย ท่วมประชาชนทั้งหมด ๑๔๐ หลังคาเรือน และพี่น้องประชาชนกว่า ๖๐๐ คน วันนี้อยู่กับน้ำ จมน้ำ ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของอำเภอเมืองชัยภูมิ ก็อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาจัดสร้างพนังกั้นลำน้ำชีให้กับพี่น้องชาวบ้าน เสี้ยวน้อย ตำบลบ้านค่าย ยาวมาจนถึงเขตเทศบาล ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ สำคัญครับการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำชี เพื่อชะลอน้ำ เพื่อผันน้ำให้ ไม่มาเร็วจนเกินไปแล้ว ค่อย ๆ มาเพื่อไม่ให้เกิดการท่วมแล้วลากผ่านไปจังหวัดชัยภูมิ ไปขอนแก่น ไปมหาสารคาม แล้วไปจบที่อุบลราชธานีนี่คือสิ่งสำคัญ อยากฝากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนะครับกรมชลประทานช่วยสนับสนุนงบประมาณ สร้างอ่างเก็บน้ำให้เสร็จสิ้นสักที อ่างเก็บน้ำลำกระจวนอ่างเก็บน้ำโป่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ และปรับปรุงบึงละหาน ที่อำเภอจัตุรัสให้เป็นพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ชะลอน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ ตัวอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิเร็วจนเกินไป
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ การแก้ปัญหา Zone ใต้ หรือ Zone ใต้ของอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิที่ติดกับลำน้ำชี คือการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำคืออ่างเก็บน้ำที่อยู่ในอำเภอจัตุรัส อำเภอซับใหญ่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ เพื่อไม่ให้น้ำล้นกลับคืนมาที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และสำคัญครับ การสร้างพนังกั้นน้ำตั้งแต่อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี้มาจนถึงพื้นที่ตำบลบ้านค่าย มาจนถึงเขตเทศบาลบ้านค่ายต้องฝากให้ทางกรมชลประทานและกรมโยธาธิการช่วย พิจารณา
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
สุดท้าย ผมฝากประเด็นสำคัญนี้พี่น้องชาวชัยภูมิและคนอีสานทุกคน อยากเห็นรัฐบาลชุดนี้บริหารจัดการเพื่อไม่ให้น้ำท่วมและไม่อยากให้เกิดน้ำแล้งกับ คนภาคอีสานอีกต่อไป ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ เราเคยได้ยินมานมนานแล้วกับคำว่า ฝนตกคนก็แช่ง ฝนแล้งคนก็ด่า นั่นแสดงให้เห็นว่าเราวนเวียนอยู่กับภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้งมายาวนานแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยใน ๕ จังหวัด และหลายจังหวัด ในภาคเหนือของลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะน้ำที่เอ่อล้นท่วมมายังอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ จะเห็นได้ว่าเมื่อปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมสูงถึง ๑๓ เมตร มาปีนี้น้ำท่วมสูง ๑๑ เมตร ท่านประธาน อำเภอวังชิ้นยังอ่วมจมบาดาลเช่นเคย เพราะมีมวลน้ำมหึมามาแรง มาเร็ว กวาดเอาบ้านเรือน ไร่นา สวน เสียหายใหญ่หลวงมากมาย ทั้งแพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัยระทม อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ถึงปากน้ำโพสู่ลุ่มเจ้าพระยาได้รับผลกระทบสูญเสีย พี่น้องประชาชน เดือดร้อน ท่านประธานครับ ผมขอให้กำลังใจผู้สูญเสียและผู้เข้าไปให้การช่วยเหลือ ทุกองค์กรที่บรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ทั้งลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล ลุ่มน้ำภูพาน ที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างรุนแรงเช่นกัน ท่านประธานที่เคารพครับ ภัยธรรมชาติพายุ ฝนตก น้ำท่วม เป็นสิ่งที่พวกเราได้รับผลกระทบเกือบทุกปี
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เช่น เกิดน้ำท่วมที่ตำบลกุดหมากไฟ อูบมุง โนนหวาย หนองอ้อ ตำบลหมากหญ้า ตำบลหนองวัวซอ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลน้ำพ่น อำเภอหนองวัวซอ ก็เช่นกันครับท่านประธาน ซึ่งมีลำห้วยหลวงเป็นสายเลือดใหญ่ ใช้หล่อเลี้ยงประชาชนในการใช้อุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เขื่อนห้วยหลวงมีพี่น้องทำการเกษตรกว่า ๘๐,๐๐๐ ไร่ ๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ใช้ปริมาณน้ำ ในการอุปโภคบริโภค ฉะนั้นเขื่อนห้วยหลวงจึงเป็นแหล่งต้นทุนที่มีปริมาณความจุน้ำ ๑๓๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะทางถึง ๒๗๗ กิโลเมตร จากอำเภอหนองวัวซอ อำเภอกุดจับ อำเภอเมือง อำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอเพ็ญ อำเภอบ้านดุง อำเภอสร้างคอม ถึงอำเภอ โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ไหลลงสู่น้ำโขงที่โพนพิสัยครับท่านประธาน การบริหารจัดการ น้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากควรแก้ไขปัญหาด้วยการทำ โครงการ เช่น ทำ Floodway อย่างนโยบายปี ๒๕๕๔ ที่ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้วางโครงการไว้ แต่เสียดายไม่สามารถนำมาใช้ การปลูกหญ้าแฝก การทำโครงการแก้มลิง การวางระบบ Gallery โครงการทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งเราได้ยินคุ้นชินกับการเรียกว่าฝายแม้ว ท่านประธานที่เคารพครับ การเตรียมป้องกันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แม้แต่ในพื้นที่ ของพี่น้องประชาชน อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำซำตมขาว ตำบลทมนางาม อ่างเก็บน้ำโสกรัง ตำบลโนนสะอาด อำเภอโนนสะอาด จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมได้ การสร้างสถานี สูบน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถที่จะแก้ไขระบบส่งน้ำ อย่างเช่น บ้านโนนเชียงค้ำ ตำบลทับกุง อำเภอหนองแสง เราพูดถึงอำเภอหนองแสงผมจะละเลยไม่ได้ว่าภูฝอยลมเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีภูมิทัศน์ มีธรรมชาติที่งดงาม มีน้ำตก และเป็นที่ท่องเที่ยว เชิงนิเวศที่มีผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลไปเที่ยวชม แม้แต่ชาวต่างประเทศก็มีการไปพักค้างแรม กางเต็นท์ ตั้ง Camp หลับนอนสูดโอโซนอย่างมี ความสุข ถ้าท่านประธานมีโอกาสผมก็ขอเรียนเชิญท่านประธานนะครับ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ขึ้นชื่อลือนามในจังหวัดอุดรธานี ท่านประธานครับ เหตุเกิดที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภัยพิบัติน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ๕ จังหวัด ที่ผมกล่าวมาแล้วทางภาคเหนือ หรือว่าจะเป็นที่อำเภอหนองวัวซอ อำเภอหนองแสง อำเภอโนนสะอาด อำเภอเมือง อำเภอเพ็ญ อำเภอศรีธาตุ และอีกหลายอำเภอในจังหวัดอุดรธานี ย่อมเกิดผลกระทบหลังน้ำท่วม ทำให้ถนนชำรุดเสียหาย ถูกตัดขาด ทำให้พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาลำบาก เดือดร้อนมาก ขอฝากไปยังผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคมช่วยดูแลแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง ประชาชนด้วยครับ ส่วนการเยียวยาก็จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นการมอบ น้ำดื่ม อาหาร ถุงยังชีพ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกาชาด หรือผู้มีจิตศรัทธา ท่านประธานครับ ผมอยากเรียนไปยังรัฐบาลว่าขอให้รัฐบาลซึ่งนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ของประชาชน นายเศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมให้เข้าไปช่วยเหลือดูแล และเรื่องเงินค่าชดเชยต่อไร่ ให้พี่น้องประชาชนผู้เสียหายด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณทรงยศ รามสูต ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ก็จะขออภิปรายในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งแต่เช้ามานี้ผมก็ฟัง เพื่อนสมาชิกให้ข้อมูลการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือ ผมจะโฟกัสเฉพาะภาคอีสานนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะอภิปราย เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในฐานะที่ผมเป็น สส. จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำซึ่งแม่น้ำยม บางส่วนก็มาจากพะเยาและน่าน แล้วก็ลงสู่แพร่ สู่สุโขทัย แต่หลัก ๆ ของน้ำน่าน จะลงสู่ อุตรดิตถ์แล้วก็ลงสู่กรุงเทพมหานคร ถึงเจ้าพระยา ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์มาจากแม่น้ำน่าน แต่ท่านประธานเชื่อไหมครับว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกสู่จังหวัดน่านเฉลี่ยปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จังหวัดน่านสามารถเก็บกักน้ำได้เพียงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ประมาณ ๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะอะไรครับ เพราะจังหวัดน่านเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่เขาเยอะ ทำยากนะครับ พื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดน่านนะครับ ๗,๕๘๑,๐๓๕ ไร่ เป็นพื้นที่ป่า ๔,๖๔๐,๗๔๗ ไร่ เรามีหมดนะครับ ทั้งอุทยาน ป่าสงวน ป่าต้นน้ำ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า มีลุ่มน้ำ A1 A2 A3 A4 A5 ครบนะครับ แถมเป็นเมืองประวัติศาสตร์อีก อยู่กันมากว่า ๖๐๐-๗๐๐ ปี พอ พ.ร.บ. ป่าสงวนประกาศปุ๊บชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้น เวลาจะลงมือทำอะไรต่าง ๆ ยากมากนะครับ การจะทำเขื่อนแต่ละเขื่อนถึงแม้เราจะมี เทือกเขาเยอะ เนื่องจากความลาดชันของภูเขาไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกจุด มันจะต้องดูจุดที่ทำเวิ้ง ที่จะสามารถรับน้ำได้เยอะ อย่างเช่นผมยกตัวอย่างอ่างน้ำกิ จุน้ำได้ ๕๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้ทำ EIA เสร็จแล้ว ทางกรมชลประทานกำลังกันพื้นที่นะครับ ท่านก็หวังว่าทางรัฐบาล จะให้งบกันพื้นที่เยอะหน่อยนะครับ เพราะส่วนใหญ่งบกันพื้นที่จะกระจายกันไปทั่วประเทศ ถ้าทำช้าอาจจะล่าช้าออกไปก็ฝากไว้ ก็จะเป็นอ่างน้ำกองที่จะจุน้ำได้ ๗๓ ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วก็อ่างน้ำยาวตอนเหนืออีก ๓๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ปัญหาใหญ่ในการที่จะทำเขื่อน ส่วนใหญ่ก็คือในเรื่องของกระบวนการที่ล่าช้า ต้องทำ EIA ก่อน ๕๐๐ วันนะครับ ต้องดู ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของปีนี้กับปีที่แล้วมันต่างกันอย่างไร ทำเสร็จปุ๊บก็ต้องไปขอกันพื้นที่ ถ้ากันไม่เสร็จ เพราะต้องขออนุญาตกลับไปกลับมาเกิน ๕ ปี นับ ๑ ใหม่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ กินเวลามาก แล้วพอตกลงกันได้เสร็จปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดไปเจรจากับผู้ได้รับผลกระทบ คือชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ รัฐก็ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าชดเชย ค่าเยียวยาได้ จ่ายได้แต่ว่าค่าต้นไม้ที่เขาปลูก ปลูกมากี่ปี ชาวบ้านก็จะไม่ค่อยชอบนะครับ เพราะส่วนใหญ่ ที่เหนือน้ำที่ได้รับผลกระทบเขาไม่ค่อยได้ประโยชน์ เงินชดเชยก็ไม่ได้ คนได้รับประโยชน์อยู่ที่ ปลายน้ำ ตรงนี้มีปัญหาเยอะนะครับ ผมยกตัวอย่างเขื่อนน้ำยาวที่จังหวัดน่าน ท่าน สส. สิรินทร รามสูต ภรรยาผมสมัยเป็น สส. น่าน กว่าสิบปีกว่าจะผลักดันสำเร็จ เชื่อไหมครับกว่า จะสำเร็จพอชลประทานมีสตางค์ไปประชาคมชาวบ้าน จุดที่สูงที่สุดที่อยากจะทำ ชาวบ้าน บอกทำไม่ได้ เพราะกระทบน้ำท่วม รัฐไม่มีเงินมาเยียวยา จุดกลางก็ทำไม่ได้ สุดท้ายไปจุดที่ ต่ำที่สุด มันเป็นการเสียดายงบประมาณของประเทศเพราะความล่าช้า เพราะฉะนั้น เราจะแก้ไขอย่างไร โชคดีท่าน สส. วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ท่านบอกว่าที่พะเยาก็มีปัญหาเหมือนกัน ต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย ต้องมีกฎหมายเฉพาะเหมือนอย่างที่ท่าน สส. วรวัจน์ ได้กล่าวไป เมื่อเช้า เมื่อคืนผมก็เลยไปยกร่างมาฉบับหนึ่งเผื่อทางรัฐบาลจะนำไปใช้ เป็นตุ๊กตานะครับ พ.ร.บ. บูรณาการพัฒนาพื้นที่ป่ากรณีพิเศษ ทำอย่างไรครับ ในหลักการก็คือว่าหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ อย่างเช่นกรมชลประทานตรงไหนจะทำกันพื้นที่ไว้ให้ขออนุมัติโดยมติ คณะรัฐมนตรี แล้วก็มีคณะกรรมการระดับชาติมาจากตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการคลัง ระดับจังหวัดก็มีระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่มาทำอะไร อันดับแรกมาบูรณาการในการประสานงานในพื้นที่ การจัดการพื้นที่ที่ใช้ ระยะเวลา ๓ ปี ๕ ปี ๗ ปี ให้มันเหลือสัก ๖ เดือน ปีหนึ่ง ปีครึ่งได้ไหมเป็นกรณีพิเศษ ในพื้นที่พิเศษ แล้วเวลาทำ EIA ๕๐๐ วัน ผ่านไปสัก ๑ ปี ถ้ามีแนวโน้มจะทำก็สามารถ เริ่มกันพื้นที่ได้ มันจะได้เจรจาได้อย่างเต็มที่
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
ประเด็นสำคัญที่สุดต้องเพิ่มนะครับ ที่สำคัญคือจะต้องกำหนดว่ารัฐสามารถ ที่จะจ่ายเงินค่าเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐนี้ ที่เขาไม่มีเอกสารสิทธิ ที่อยู่ในพื้นที่ป่า โดยกระทรวงการคลังก็จะกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ครอบครองไม่เกิน ๕ ปีได้ เท่าไร ๑๐ ปีได้เท่าไร ๑๕ ปีได้เท่าไร เพราะฉะนั้นถ้า พ.ร.บ. นี้ประกาศออกมาได้ฝากให้ รัฐบาลไปนำเสนอ ผมว่าทุกฝ่ายก็จะพอใจ รัฐก็จะทำป่าได้อย่างเต็มที่ชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำ ที่อยู่เหนือน้ำเขาก็จะได้ประโยชน์ ถ้ารัฐบาลไม่มีเวลาผมยกร่างมาให้ก็ได้จะเริ่มจากกฎหมายนี้ เป็น พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน ถ้าส่งไปที่กระทรวงการคลังฝากรีบส่งกลับมาให้ด้วยนะครับ และที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ผมจำได้ท่านเป็น นายกรัฐมนตรีใหม่ ๆ ท่านบอกว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ถ้ามัน ติดขัดที่กฎระเบียบก็แก้ไขที่กฎระเบียบ ติดขัดที่กฎหมายก็แก้ที่กฎหมาย เรื่องนี้มันติดขัด ในเรื่องของกระบวนการในการประสานงานบูรณาการร่วมกันของฝ่ายรัฐ แล้วก็ปัญหา อีกอย่างก็คือมันไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะมาดูแลเยียวยาพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ของภาครัฐ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนเพราะเขาไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแก้ กฎหมายออกมาเป็นกฎหมายพิเศษ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีกฎหมายพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ออกมา ประเทศชาติก็จะได้มีโอกาสได้แก้ไขเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่นะครับ ก็หวังว่ารัฐบาลจะนำ เรื่องนี้ไปพิจารณาต่อไป ขอขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ ครับ
นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตอำเภอปากช่อง พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานและสภาแห่งนี้ ที่ให้ผมเป็นผู้แทนราษฎรที่มาหารือนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาพูด ในสภาแห่งนี้ และวันนี้ขอสนับสนุนญัตติเร่งด่วนหาทางแก้ไขภัยพิบัติน้ำท่วม ท่านประธานครับ ด้วยประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นชาวเกษตรกรเสียส่วนใหญ่ ประชากร ๘,๐๙๔,๙๕๔ ครัวเรือน คิดเป็น ๙,๓๖๘,๒๔๕ ราย ที่ทำการเกษตร เป็นเกษตรกรที่ทำ เกษตรกรรม ท่านประธานครับ สิ่งที่จำเป็นที่สุดนั่นก็คือน้ำ น้ำนั้นเป็นปัจจัยในการทำ การเกษตร และน้ำนั้นเป็นอุปสรรคและปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวเกษตรกร ทั่วประเทศในยามที่น้ำแล้งพี่น้องประชาชนลำบากยากเข็ญเหลือเกินครับ ไม่มีน้ำที่จะทำ การเกษตร และไม่มีน้ำแม้จะใช้กินใช้อยู่ก็ไม่มี นี่คือปัญหาหลักของพี่น้องประชาชนคน ทั้งประเทศที่ทำเกษตรกรรม ในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนนั้นได้หวังเหลือเกินครับว่า ถ้ามีหน้าฝนในภายข้างหน้านั้น จะได้ใช้น้ำฝนในการทำการเกษตร แต่ไม่ได้ดังที่ความฝัน ความหวังไว้เนื่องจากว่าเวลามีน้ำ ก็มีน้ำเยอะเสียจนท่วมท้น จนกระทั่งพืชผลทางการเกษตรนั้นจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถที่จะ เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรได้ ที่ผ่านมาต้นทุนการเพาะปลูกนั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแพง ปุ๋ยแพง แต่ขายพืชผลทางการเกษตรไม่ได้ ท่านประธานครับ สาเหตุของการที่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นก็คืออาจเป็นฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล และการที่ฝนตกมากเกินไป คือมีพายุเข้า หลังจากนั้นจะมีพี่น้องประชาชนได้สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำและทำลายต้นไม้ ต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดปัญหาขึ้น วิธีแก้ก็คือเราจะต้องมีมาตรการในการบังคับให้กับ พี่น้องประชาชนได้ตระหนักรู้ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นผลที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วม จากวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ ถึง ๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้ เกิดน้ำป่าไหลบ่า ท่วมตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระจายไปทุกภูมิภาค ๙๕ อำเภอ ๓๒๒ ตำบล ๑,๓๖๕ หมู่บ้าน ๒๔,๔๒๓ ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมาไม่จบไม่สิ้นเสียที สะพานพัง ถนนเสียหาย ท่านประธานครับ วิธีแก้ไขนั่นก็คือเอาถุงยังชีพไปส่งมอบให้กันหน้าบ้านแล้วก็ซ่อมถนน ซ่อมสะพานเพียงเท่านี้หรือ ไม่ใช่วิธีแก้ไขที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงสนับสนุน การตั้งญัตติด่วนหาทางแก้ไขภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ และขอกราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิก ที่ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนทั้งประเทศ
นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมต้องการให้ มีการแก้ไขอย่างรีบด่วน ศึกษาหาแนวทางให้เป็นระบบยั่งยืนถาวรไม่ให้นำกลับมาท่วมอีก หรือถ้าน้ำท่วมต้องมีการบำบัด ชดเชยเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างรีบด่วนครอบคลุม ทุกพื้นที่ ท่านประธานครับ อำเภอปากช่องบ้านผมก็มีปัญหาเฉกเช่นเดียวกับพี่น้องประชาชน คนทั้งประเทศนะครับ ยามฝนตกน้ำที่อยู่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ไหลผ่ากลางหมู่บ้าน ตำบล ผ่านไปยังเทศบาลเมืองปากช่องและไปลงอยู่ที่เขื่อนคลองไผ่ ลำตะคอง พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบ ๒ บริเวณข้างทางแสนสาหัสลำบากลำบนมากเหลือเกินครับ ผมจึงใคร่ขอฝากท่านประธานว่ามีการศึกษาญัตติหาทางแก้ไขภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ ขอให้ไป ศึกษาที่บ้านผมเขาใหญ่ ปากช่อง โคราช เนื่องจากต้องการให้ศึกษาว่าวิธีป้องกันน้ำท่วมนั้น ให้สัมฤทธิผล โดยให้พี่น้องประชาชนได้ลืมตาอ้าปากได้ จากนั้นอยากให้มีการศึกษา ในการที่จะเก็บน้ำไว้ในยามที่น้ำไหลบ่าเยอะเพื่อจะเก็บไว้ในหน้าแล้งจะได้มีใช้ วันนี้พี่น้อง ประชาชนคนปากช่องลำบากมากครับ ผมจึงขอวิงวอนท่านประธานนะครับ สิ่งหนึ่งที่ผม อยากจะฝากท่านประธาน พี่น้องประชาชนที่อยู่ทางบ้านเปียกปอนด้วยน้ำฝนแล้วก็มีคราบ น้ำตาครับ ผมต้องการฝากให้ท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และ ครม. ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งคณะกรรมาธิการที่ตั้งแล้วให้ลงไปเป็น ครม. สัญจร ไปยืนเคียงบ่าเคียงข้างใจพี่น้องประชาชนที่มีคราบน้ำตา ผมเห็นเพื่อนสมาชิกเดือดร้อน ทุกคนครับ โดยเฉพาะอุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย เฉกเช่นเดียวกัน ให้พี่น้องประชาชน ได้หวังกับพรรคเพื่อไทย หวังกับรัฐบาลชุดนี้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ได้อย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป นับจากนี้จะมีผลให้พี่น้องประชาชนนั้นได้อยู่ดีกินสบาย ต้องฝาก ท่านประธานและเห็นชอบในการเสนอญัตติเร่งด่วนหาทางแก้ไขภัยพิบัติครั้งนี้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณอำนาจ วิลาวัลย์ ครับ
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ อำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย จากปัญหา น้ำท่วมในหลายพื้นที่แต่ดูจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ขอ Slide หน่อยครับ
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรามาดูปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในแต่ละ พื้นที่ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดามีน้ำอยู่ ๗๒.๒ เปอร์เซ็นต์ อ่างขุนด่านปราการชลมีเยอะ หน่อย ๙๑.๙ เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำพระปรงมีอยู่ ๔๗.๗ เปอร์เซ็นต์ อ่างพระสะทึงมีอยู่ ๖๑.๔ เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าน้ำที่ท่วมน่าจะมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ แล้วไหลท่วม ในพื้นที่บ้านเรือนประชาชนนะครับ เหตุที่น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ประชาชนเนื่องจากว่า เราจะต้องรักษาพื้นที่ทางการเกษตรไว้ เราจะต้องปิดประตูระบายน้ำในหลาย ๆ ที่ เพื่อให้น้ำ ไม่ไหลไปท่วมพื้นที่นาของชาวบ้าน ตามภาพนะครับ ถ้าเรามีการบริหารจัดการโปรแกรม การเพาะปลูกให้เป็นระบบเราจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นนะครับ ทุ่งบางพลวงเป็นพื้นที่ การเกษตรอยู่ในเขตชลประทานนะครับ เคยมีเนื้อที่ประมาณ ๔๕๒,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ ๔ อำเภอของเมืองปราจีนบุรี คือ อำเภอเมือง อำเภอศรีมโหสถ อำเภอ บ้านสร้าง และอีก ๓ อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา คืออำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น และอำเภอพนมสารคาม ผมเลยอยากเสนอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานได้คิดหาแนวทาง ถ้าเราจะสามารถจัดโปรแกรมการเพาะปลูกให้กับ ชาวบ้าน ให้ชาวนา โดยให้ในเขตชลประทานได้ทำการเพาะปลูกก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลาก และให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนเพื่อนำพื้นที่ทุ่งนาเป็นพื้นที่รับน้ำเราจะสามารถรับน้ำได้จำนวนมาก เพราะในเขตทุกบางพลวงมีพื้นที่ถึง ๔๕๒,๐๐๐ ไร่ จะสามารถรองรับน้ำล้นตลิ่งไม่ให้ไปท่วม พื้นที่ของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าการบริหารจัดการน้ำในเรื่องการเพาะปลูกเป็นเรื่องสำคัญ ฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาได้ช่วยหาแนวทาง และทำ ความเข้าใจกับชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการวางแผนการเพาะปลูก และการป้องกัน ในการเพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งไปท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านนะครับ ถ้าเรามี การบริหารจัดการที่ดีหน่วยงานจะต้องเป็นหน่วย Support เพราะว่าชาวบ้านไม่มี ความเข้าใจ ชาวบ้านเมื่อเห็นน้ำก็ลงมือเพาะปลูก แต่ถ้าเกิดเรามีการวางแผนงานที่ดีว่าทุ่งนี้ ปลูกช่วงไหน แล้วพื้นที่นอกเขตชลประทานปลูกช่วงไหน อันนี้จะทำให้เรามีพื้นที่รองรับน้ำ ได้นะครับ
นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน สืบเนื่องจากที่ผมหารือไว้เมื่อเช้านี้ ตามที่ ผมหารือเมื่อเช้านี้น้ำไหลท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในเขต ตำบลเนินหอม ผมขอนำเสนอรายละเอียดดังต่อไปนี้ เส้นสีน้ำเงินคือเส้นทางน้ำที่เป็นคูคลอง ธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในกรอบสี่เหลี่ยมสีฟ้า ๆ เป็นแอ่งน้ำขนาด ๑๒ ไร่เศษ ในเส้น สีขาวคือแนวถนน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่ผมได้ลงพื้นที่กับท่านนายก ท่าน ผอ. สำนักงาน ทางหลวงชนบท แล้วก็ท่าน ผอ. สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทรัพยากรน้ำเราได้มี แนวทางแก้ไขไว้ดังนี้ครับ คือเราจะต้องปรับปรุงแอ่งน้ำ ๑๒ ไร่ ให้เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อเอาไว้ ให้กับพี่น้องชาวบ้านได้ใช้ในยามหน้าแล้ง แล้วก็จัดตั้งหอถังสูงพร้อมเครื่องสูบน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสูบน้ำ ลำเลียงน้ำไปให้กับพี่น้องในหมู่ที่ ๑๔ หมู่ที่ ๑๖ หมู่ที่ ๑๘ หมู่ที่ ๑๙ ตำบลเนินหอม ในวงสีแดง ๆ ท่านประธานครับ คือแนวถนนที่ไป ขวางทางน้ำทำให้น้ำในแอ่งน้ำไม่สามารถไหลลงสู่คูคลองธรรมชาติได้ อันนี้เราจะต้องจัดทำ เป็น Box Culvert แล้วก็มีประตูปิดเปิดเพื่อระบายน้ำลงมาสู่คลองธรรมชาติ แล้วก็ ในคลองธรรมชาติเส้นนี้เมื่อระบายลงมาแล้วจะสามารถทำให้พื้นที่การเกษตรด้านล่าง ไม่ว่า จะเป็นตำบลบ้านพระ ตำบลดงขี้เหล็กที่อยู่ใต้จากบริเวณแนวเขาลงมาจะได้รับประโยชน์ จากการที่เราจัดทำอ่างเก็บน้ำในครั้งนี้ด้วยนะครับ เพื่อยังผลให้กับพี่น้องประชาชนได้ใช้ ประโยชน์ร่วมกันครับ ก็ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงบประมาณ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วก็กระทรวงมหาดไทย ให้เห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชน แล้วก็ช่วยผลักดันนโยบายเร่งด่วนให้กับตำบล เนินหอม เพื่อจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง กราบขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ครับ
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า ท่านประธานครับ ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในหลาย ๆ พื้นที่นั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ โลก หรือที่เรียกว่า Climate Change ซึ่ง Climate Change นั้นก็เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
จากการเกิดขึ้นของภาวะ โลกร้อน ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นมาจากการกระทำของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากมายมหาศาล จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม จากท่อไอเสีย รถยนต์หรือเครื่องบิน การตัดไม้ทำลายป่า และการเผาไหม้ต่าง ๆ เป็นต้น ท่านประธานครับ นับตั้งแต่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้น บรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับหนึ่งซึ่งทำให้ธรรมชาติไม่สามารถที่จะรองรับไว้ได้ เกิดการเสียดุลของธรรมชาติ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตามมา ท่านประธานครับ คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของ สภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC ได้รายงานว่าเมื่อโลกร้อนยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศ ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทำให้วัฏจักรของน้ำ ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น การเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง การเกิดฝนตกหนัก หรือเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา การเกิด พายุหมุนที่รุนแรง หรือการเกิดภาวะความแห้งแล้ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิด ผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติที่ชาวโลกของเรากำลังประสบอยู่ใน ขณะนี้ ท่านประธานครับ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ดอกเตอร์ซาร์โคเนได้ กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยสูงเป็นอันดับที่ ๙ ของโลก รองจาก เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ที่จำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยง ความเสียหายทั้งหลายที่จะเกิดจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ท่านประธานครับ ธนาคารโลกได้รายงานว่าจากการเกิดอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นครั้งที่ รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง ๖๘๐ คน และส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ ๑๓ ล้านคนแล้ว ยังสร้างความเสียหายและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง ๑.๔๓ ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ๑๒.๖ เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือ ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วยกับ ธนาคารโลกว่าเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหา อุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งการวางแผนในระยะสั้นและในระยะยาว ในทุกลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำ เริ่มตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นต้นไป ไม่ว่า จะต้องใช้งบประมาณมากน้อยสักเพียงใดเราก็จำเป็นต้องทำครับท่านประธาน เพราะถ้าหาก เรามัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวแล้ว เราก็ไม่มีวันที่จะแก้ปัญหา อุทกภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างถาวรเลย ท่านประธานครับ เมื่อเปรียบเทียบกับ การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และ Logistics แล้ว เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศของภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนแล้วที่มี การก่อสร้างทั้งถนน Motorway ระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงซึ่งต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินหลายล้านล้านบาทเราก็ยังกล้าลงทุน ท่านประธานครับ แต่เรายังไม่เคยที่จะลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของน้ำ ดังนั้น ในการแก้ปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบ ที่เกิดจากน้ำท่วมขังแล้ว ก็จำเป็นต้องสร้างระบบเก็บกักน้ำหรือแก้มลิง และระบบ ชลประทานเพื่อการเกษตรพร้อมกันไปด้วย ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยจากชีวิตและทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัย มีน้ำใช้ เพื่อการอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม อย่างพอเพียงและยั่งยืน ท่านประธานครับ ถ้าเรามีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมเป็นการ อย่างพอเพียงแล้ว เกษตรกรสามารถที่จะทำไร่ทำนา ทำเกษตรกรรมได้อย่างเต็ม ความสามารถตามปกติ และสามารถที่จะสร้างผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย และสามารถขายผลิตผลได้ในราคาที่เป็นธรรมแล้ว ผมก็เชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สิน ของเกษตรกรก็คงจะหมดสิ้นไป และเกษตรกรไทยก็คงจะลืมตาอ้าปากได้อย่างแน่นอน
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ในที่สุดนี้ผมจึงขอฝากให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณา ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการแก้ไขปัญหาอุทุกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก ครั้งแล้วครั้งเล่าให้หมดสิ้นไป รวมทั้งการพัฒนาระบบชลประทานและแหล่งเก็บกักน้ำ ให้พอเพียงกับความต้องการทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมและเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคของประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ขอบคุณมากท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ครับ
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา พื้นที่ผมอยู่ใน อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้าถูกกำหนดให้เป็นทุ่งรับน้ำโพธิ์พระยา ทุ่งรับน้ำ เจ้าเจ็ด และอีกบางส่วนของทุ่งรับน้ำผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่เกือบ ๆ ๑ ล้านไร่ ชาวบ้านให้ผมมาบอกท่านประธานว่า เอาคำว่า ทุ่งรับน้ำคืนไป เพราะเป็นทุ่งที่รับกรรมทั้งปี รับกรรมทุกปี พื้นที่ทุ่งรับน้ำนี้เปรียบเสมือน กินน้ำใต้ศอก หรือเป็นกระโถนท้องพระโรง ยามน้ำมากก็ระบายมาท่วมก่อน ยามน้ำน้อย ก็กักเก็บไว้ตอนบนก็แล้งก่อน ท่านประธานที่เคารพครับ ปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ น้ำมาก ท่วมซ้ำซ้อนกัน ๒ ปี ความทุกข์ยาก ความลำบาก ความเดือดร้อน ยังหลอกหลอน ใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ ทั้งกิน อยู่ ถ่ายทุกข์ หลับนอน การสัญจรไปมา บ่อกุ้ง บ่อปลา นาข้าวเสียหาย ชดเชยเยียวยาทั้งล่าช้า ไม่คุ้มค่า กับการลงทุน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการโครงการต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น คันดินป้องกันน้ำท่วมจากวัดดอนยอไปตำบลมะขามล้ม และตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า คันดิน คันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมริมคลองสองพี่น้องฝั่งขวา ระยะทาง ๔.๗ กิโลเมตร คันกั้นน้ำคลองสองพี่น้องฝั่งขวา ตั้งแต่คลองเพนียด คลองบางบอน ระยะทาง ๕.๗ กิโลเมตร ของนายกชลิต โพธิ์พันธุ์ ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง ยกระดับถนน วัดดงตาล ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง นอกจากอุทกภัยแล้วยังเกิดโจรภัยขึ้นในพื้นที่ อำเภอบางปลาม้า มีการลักตัดสายไฟประตูระบายน้ำสาลี ตำบลสาลี กับประตูระบายน้ำ คลองดาบเงิน ตำบลตะค่า มิใช่จะเสียหายเฉพาะทรัพย์สินของทางราชการเท่านั้น ยังกระทบไปถึงพี่น้องเกษตรกรด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งจับกุมผู้ก่อเหตุให้ได้โดยเร็วเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นอีก
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ภายใน ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในเวลา ใกล้เคียงกัน นี่ละครับท่านประธาน สัญญาณเตือนภัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรง แบบโลกเดือดพล่านเกิดขึ้นแล้วครับ อุทกภัยในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งระบายน้ำ ทิ้งทะเลหรือลงแม่น้ำโขงเพื่อให้แห้งเร็วก็ทำไม่ได้อีก เพราะอะไรครับ เพราะต้องคำนึงถึง ภัยแล้งจาก El Nino ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย เห็นใจจริง ๆ ครับ จะเอาน้ำไว้ก็ถูกด่าถูกว่า จะปล่อยน้ำหมดอนาคตก็อดน้ำ ท่านประธานครับ ลำบากใจ เหลือเกินผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นก็ขอให้กำลังใจครับ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พม. คงจะต้องนำสิ่งของไปมอบให้ หลังน้ำท่วม ท่านรัฐมนตรี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกรมชลประทาน ปีนี้บริหารน้ำยากจริง ๆ ครับ
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ การแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่อย่างนี้ ปัญหา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรง โลกเดือดพล่านขึ้น ภูมิอากาศสูงขึ้นอย่างสุดขั้ว เช่น น้ำท่วมนิวยอร์ก น้ำท่วมปักกิ่ง น้ำท่วมหิมาลัย ขณะนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ของโลก มันเป็น ปัญหาใหญ่ของประเทศ ปัญหาใหญ่ ๆ อย่างนี้ครับ รัฐบาลตัวใหญ่ นายกรัฐมนตรีขนาดใหญ่ ต้อง Thinking big ต้องคิดใหญ่ ๒ เรื่องครับ
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก เราควรจะมีกระทรวงทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราควรจะมีกระทรวงนี้หรือยังครับ เราจะรวมหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไว้ด้วยกัน อย่างเช่นกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร อย่างเช่น สำนัก นายกรัฐมนตรีเอา สทนช. มารวมอยู่ด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเปลี่ยนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในสมัยรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา รวมทั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมาไว้รวมกัน แล้วบริหารอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นให้ได้
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
Thinking big ประการที่ ๒ คิดใหญ่ประการที่ ๒ Megaproject จำเป็น แล้วครับ เมื่อสักครู่คุณหมอวรรณรัตน์พูดไปแล้วว่าเราลงทุนทางคมนาคมเป็นแสน ๆ ล้านบาท เมืองเรา ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมีเกษตรกรเป็นหลัก เราทำไม ไม่ลงทุน Megaproject ทางน้ำให้มากขึ้น อีสาน ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ระบบชลประทาน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติของเราในอนาคต คุ้มมากครับท่านประธาน ถ้าน้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้งอย่างยั่งยืนแล้วไม่ต้องแจกเงิน ไม่ต้องพักชำระหนี้ จะทวีสินให้กับ เกษตรกรให้กับชาวบ้านอย่างแน่นอนครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณแนน บุณย์ธิดา สมชัย ครับ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทยค่ะ ท่านประธานคะ ญัตติในวันนี้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม ถ้าดิฉัน ไม่พูดก็คงจะไม่ได้เพราะวันนี้มีการกล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยครั้ง และโดยเฉพาะ ที่สำคัญที่สุดพื้นที่ที่ดิฉันดูแลรับผิดชอบนี่เป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนที่จะเจอแก่งต่าง ๆ ในลำน้ำมูล ก่อนที่จะไปถึงเขื่อนปากมูลที่เป็นปัญหาถกเถียงกันว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับลำน้ำมูลนะคะ ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่ ที่น่าแปลกใจคือสัปดาห์ที่แล้วสภาเราเพิ่งคุยกันเรื่องน้ำแล้งนะคะ El Nino สัปดาห์นี้เราคุยกันน้ำท่วมแล้ว และที่ต้องพูดต่อมาค่ะท่านประธาน รบกวนห้องโสตช่วยขึ้น ภาพแรกนะคะ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ที่ต้องคุยเรื่องในเขตพื้นที่ ดิฉันค่ะ ภาพนี้คือภาพปัจจุบันของวันนี้ ที่ตรงนี้คือบริเวณที่เรามองเห็นไปตรงขาว ๆ นั่นค่ะ นั่นคือจุดที่แก่งสะพืออยู่ค่ะ ถ้าท่านมองจากริมตลิ่งถือว่าระดับน้ำ ณ วันนี้ของอำเภอ พิบูลมังสาหารปกตินะคะ ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ใกล้น้ำท่วม เพราะดูจากหลัก ตลิ่งแล้วนี่หลายเมตร ขออนุญาตรูปต่อไปค่ะ ซึ่งดิฉันมีแค่ ๒ รูปเท่านั้น รูปต่อไปนี้ เป็นรูปบริเวณบ้านท่าเสียว ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหารค่ะ ที่ดิฉันเอารูปนี้ขึ้นมา ถ้าท่านจะสังเกตนะคะว่าระดับแม่น้ำมูลนี่ต่ำกว่าเมื่อสักครู่มากกว่าบริเวณที่แก่งสะพือด้วยซ้ำ เพราะเนื่องจากตรงนี้ถ้าท่านมองไกล ๆ ท่านจะเห็นตรงนั้นเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำค่ะ ดอนตาดไฮและเป็นแก่งที่มีอีกประมาณ ๑๓ แก่ง นับจากแก่งสะพือลงมาก่อนถึงเขื่อนปากมูล เพราะฉะนั้นที่ดิฉันพูดถึงข้อมูลนี้พูดเพื่ออะไรคะ เพื่อที่จะให้ทุกคนทราบว่าเหตุการณ์ ปัจจุบัน ณ วันนี้ ๒ รูป ที่ดิฉันโชว์ขึ้นมาเอารูปลงได้นะคะ ๒ รูปที่โชว์ขึ้นมาเป็นรูปของวันนี้ ดิฉันให้เลขานุการดิฉันไปถ่ายให้เลยว่าอยากทราบระดับน้ำปัจจุบันใน Zone ที่เขาบอกว่า น้ำท่วมเยอะ ๆ เป็นอย่างไร ในเขตพื้นที่ดิฉันน้ำปกติ น้ำไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติที่จะบอกว่าน้ำท่วม แต่พวกเราก็เฝ้าระวังเพราะว่าปีที่แล้วที่เรามีปัญหาเพราะเนื่องจากพายุเข้าจังหวัด อุบลราชธานีเต็ม ๆ ทำให้เรื่องน้ำนี่สำคัญที่สุดมันก็เลยท่วม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เป็นข่าว อยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ตรงไหนก็ตามแต่ของอุบลราชธานีที่ท่วม เราต้องย้อนกลับไปด้วย ย้อนกลับไปว่าเหตุการณ์ที่น้ำท่วมนี่มันเป็นบริเวณตรงไหน เกิดเพราะอะไร เป็นบริเวณ น้ำท่วมซ้ำซากหรือเปล่า เพราะอะไร ทำไมเราถึงจะต้องมาโทษในสิ่งที่เป็นปลายน้ำที่ขณะนี้ น้ำไม่มี มีเป็นปกติยังไม่ถึงขั้นระดับวิกฤติของน้ำท่วม ถามว่าปัจจุบันนี้ค่ะในระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ผ่านมา การก่อสร้างบ้านเรือน การก่อสร้างชุมชน การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่เป็นที่ของ เอกชนที่ที่จังหวัดเคยใช้เป็นพื้นที่รับน้ำต่าง ๆ ของจังหวัดมันได้หายไปเกือบหมดแล้ว กลายเป็นพื้นที่ที่เขาพัฒนา เพราะมันเป็นสิทธิของเขา เป็นพื้นที่ของเขาในการพัฒนา ของจังหวัด เมื่อเป็นแบบนี้การที่พื้นที่รับน้ำของจังหวัดลดน้อยลง แต่ดิฉันก็ยังไม่เห็นแผน ดิฉันเคยอภิปรายในสภานี้ไม่ต่ำกว่า ๓ รอบค่ะ เรื่องแก้มลิงของจังหวัดอุบลราชธานีที่มัน หายไป หายไปเพราะอะไรคะ อย่างที่บอกเมื่อสักครู่ที่เอกชนที่เขาพัฒนาเป็นบ้านเรือนเขา ที่ทุกอย่างเมื่อหายไปปุ๊บนี่เรายังไม่ได้เห็นโครงการที่จะพัฒนาเพื่อกักเก็บน้ำ เรามีแต่จะบอก ว่าให้ผันน้ำออกเอาน้ำไป เรามีแต่จะเทน้ำทิ้งค่ะ เราไม่คิดถึงว่าผ่านแค่หน้าฝน ๒ เดือนนี้ แล้วอีก ๑๐ เดือนที่เหลือ เราจะใช้น้ำอะไรกันคะ ถ้าเราบอกว่าแก่งสะพือต้องมีการทำอะไร สักอย่าง แก่งต่าง ๆ จะบอกเลยว่าแก่งสะพือแตะต้องไม่ได้ค่ะ ทำไมถึงบอกแบบนั้น บอกได้เลยนะคะว่าถ้าไม่มีแก่งสะพือน้ำในจังหวัดอุบลราธานีไม่เหลือจะทำอะไรทั้งสิ้นในช่วง หน้าแล้ง ไม่ต้องพูดถึงการเกษตร แม้แต่น้ำประปาก็ทำไม่ได้ค่ะ เพราะนี่คือปราการ ด่านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถกักเก็บน้ำให้ชาวอุบลราชธานีมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ถามว่าถัดจากแก่งสะพือไปอีก ๑๓ แก่ง ที่ต้องบอกว่าไม่ใช่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เป็นเหมือนแก่งธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว และนอกจาก ๑๓ แก่งแล้ว เรายังมีดอนก็คือเกาะนี่ค่ะ เกาะกลางน้ำในแม่น้ำมูลขนาดใหญ่อีก ๔ เกาะ นี่ก็เป็นปราการด่านธรรมชาติทั้งหมด ทำไม เราไม่หาวิธีว่าทำอย่างไรที่น้ำจะไหลเร็วขึ้น ส่วนที่กักน้ำได้ท่านก็เก็บเอาไว้ ส่วนที่เราจะทำ ท่านก็ต้องดูไม่ใช่คิดอะไรไม่ออกท่านก็จะบอกแค่ว่าจะผันน้ำทิ้ง ผันน้ำทิ้ง ไม่เหลือน้ำไว้ใช้ หน้าแล้งหรือคะ อันนี้ต้องคิดนะคะ ไม่ใช่พอตอนหน้าแล้งเดี๋ยวพวกเราก็มาตั้งญัตติคุยกัน เรื่องน้ำแล้งอีก พอคุยกันเรื่องน้ำแล้งแป๊บหนึ่งเรามาคุยน้ำท่วมอีก สัปดาห์เดียวคุยกัน ๒ เรื่องเลยแล้งกับท่วม เพราะฉะนั้นถึงอยากจะบอกว่าเรื่องต่าง ๆ เราต้องมองย้อนกลับไป ว่าเหตุการณ์และเหตุผลต่าง ๆ เกิดอะไรขึ้น แก้มลิงของจังหวัดที่เราเคยมี ที่เราหายไป เราสามารถใช้ตรงไหนได้ การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าหน้าฝน จะบอกว่าเราเปิดเขื่อน ช้าไหม จะบอกว่าปีนี้ก็ไม่ช้านะคะ ปีนี้เปิดเขื่อนจนกระทั่งบริเวณรูปที่ ๒ ดิฉันโชว์เมื่อสักครู่ บริเวณตรงนั้น Zone อำเภอตรงนั้น ๒ ฝั่ง เขาถึงขั้นบอกว่าปิดเขื่อนได้ไหม เพราะน้ำตรง เขาคือลดลงมากจนแทบจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว แต่น้ำเหนือขึ้นไปไหนเขาก็ลงมาเรื่อย ๆ มา เอื่อย ๆ แบบช้า ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องเขื่อนก็คือว่าเป็นปกติของเขา แต่ถามว่าการบริหาร จัดการก่อนที่จะเข้าหน้าฝน การขุดลอกคูคลองต่าง ๆ การเตรียมทางน้ำต่าง ๆ การสำรวจ ล่าสุดว่าทางน้ำที่เคยใช้ในอดีตที่ผ่านมาอยู่ตรงไหนบ้าง โดนรุกล้ำหรือเปล่า มันตื้นเขิน หรือเปล่า หรือได้เตรียมความพร้อมอะไรหรือเปล่า น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า แล้วอีกอย่างหนึ่ง จะไปบอกว่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูก็คงจะไม่ถูกต้องเสมอไป ในเมื่อประเด็นปัญหา ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ในปัจจุบันที่ขยายเมืองมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เราเตรียม ความพร้อมขนาดไหน ดิฉันได้ยินคำว่าบูรณาการมาหลายปีมาก แต่พูดตรง ๆ แทบจะไม่เห็น โครงการไหนที่ใช้คำว่า บูรณาการได้อย่างสมบูรณ์ ที่แก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ ดิฉัน เจอเพื่อนสมาชิกหลายท่านที่นั่งอยู่บริเวณนี้ ๒ เดือนที่แล้ว อยุธยาปวดหัวมากเพราะว่าแล้ง แต่ตอนนี้ปวดหัวหนักกว่าเดิมเพราะจะท่วม นี่ค่ะถึงบอกว่าหน่วยงานราชการจะบอกว่า ทำงานหรือเตรียมงานเป็นฤดูคงไม่ได้ ท่านต้องเตรียมล่วงหน้า แล้วคงต้องบอกให้ได้ว่า ต้องเตรียมอย่างไร พื้นที่ที่เคยเป็นรับน้ำเคยมีอยู่หรือไม่ หายไปหรือเปล่า ที่ตรงไหนเคยเป็น ที่ผันน้ำตามปกติ ช่องทางปกติยังอยู่ดีอยู่หรือเปล่า หรือมันหายหมดแล้ว หรือมันตื้นเขิน หมดแล้วจนเป็นเหตุให้น้ำทุกอย่างมันไหลเร็วและไหลมารวมกันอยู่ที่แม่น้ำสายหลัก แล้วก็ เป็นเหตุให้น้ำท่วมอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ต้องขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าแยกกันทำ ช่วยบูรณาการ จริง ๆ ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณประดิษฐ์ สังขจาย ครับ
นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ประดิษฐ์ สังขจาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ ๕ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตร่วมอภิปรายพิจารณาหาแนวทาง แก้ไขปัญหาน้ำท่วม แล้วก็การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา เขต ๕ ประกอบด้วย อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอลาดบัวหลวง และอำเภอบางซ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี วันนี้ผมเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตนี้ ถ้าจะไม่อภิปรายหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี จากที่ได้ฟังท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลาย ๆ ท่านซึ่งเป็น สส. ทางภาคเหนือได้นำเรียนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของ ภาคเหนือ จะได้เห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและหลายจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดคาดการณ์จะส่งผลกระทบทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง คลองบางบาล จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอ ผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ๑-๑.๕ เมตร ข้อมูลจากชลประทาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับปริมาณการระบายน้ำท้าย เขื่อนเจ้าพระยา วันที่ ๒๘ กันยายน อยู่ที่ ๕๑๖ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันที่ ๒ ตุลาคม อยู่ที่ ๑,๐๔๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้ววันนี้วันที่ ๔ ตุลาคม เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา อยู่ที่ ๑,๔๔๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ท่านประธานครับ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำภายใน ๗ วันนั้น สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอลาดบัวหลวง และอำเภอบางซ้ายเป็นปัญหาที่เกิดมาจากน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนเจ้าพระยาไหลลงมาในแม่น้ำ เจ้าพระยาผ่านมาในแม่น้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเขต ๕ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา เราเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำน้อยไหลผ่าน จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขต ๕ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเขตที่มีพื้นที่ทุ่งรับน้ำเยอะที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ ที่รองรับน้ำก่อนจะระบายสู่กรุงเทพมหานครแล้วก็ปล่อยลงทะเล ที่ผ่านมาชาวจังหวัด พระนครศรีอยุธยาถือว่าเป็นผู้รับผิดชอบมวลน้ำก่อนที่จะไหลเข้าไปท่วมกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่คนในพื้นที่ไม่ได้ยินดีกับสิ่งเหล่านี้ ปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางซ้าย อำเภอลาดบัวหลวงประสบภัย น้ำท่วมหนักหนาสาหัส ไม่ต่ำกว่าปี ๒๕๕๔ สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานผ่านไป ยังท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วันนี้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต ๕ ซึ่งมีอำเภอเสนา อำเภอผักไห่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี วันนี้ผ่านมา ๑๐ กว่าปี หลังจากปี ๒๕๕๔ ก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ผมเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่พี่น้องที่จะต้องอาศัยอยู่กับน้ำ ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขาดแคลนห้องน้ำ ขาดแคลนอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค คนแก่หลายคนไม่อยาก ออกจากบ้าน เพราะอะไรครับ เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินที่อยู่ในบ้าน วันนี้สิ่งที่ผมต้อง กราบเรียนท่านประธาน อยากจะขอความกรุณาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาทาง แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังสักที ด้วยเวลาที่มีน้อยก็อยากจะฝากท่านนายกรัฐมนตรีได้ช่วยแก้ไข ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของอำเภอผักไห่และอำเภอเสนา เพราะอะไรครับ เพราะมัน เป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่ว่าจังหวัดไหนจะท่วมก็แล้วแต่สุดท้ายก็ต้องมาท่วมที่อำเภอ ผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอลาดบัวหลวง แล้วอำเภอบางซ้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออยากให้ รัฐบาลหาแนวทางในการเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทันท่วงที แล้วก็ให้เพียงพอกับความเสียหาย ที่ชาวบ้านได้รับทุกปี ก็หวังว่าทางรัฐบาลจะสนใจ ใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากที่เกิดขึ้น ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ครับ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย ผมต้องขอกราบขอบคุณทางผู้ที่ยื่นญัตติด้วยวาจาในเรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ อย่างเร่งด่วนครับ ท่านประธานที่เคารพครับ จังหวัดระนองเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ บางท่านอาจจะเข้าใจว่า จังหวัดระนองมีภูเขา มีน้ำตก แต่ในสิ่งหนึ่งเมื่อมีฝนตกชุก ฝนแปดแดดสี่ จังหวัดระนอง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
ยกตัวอย่างที่อำเภอกระบุรีก็คือเป็น น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ตกทุกปี ท่วมทุกปี จนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นนายกท้องถิ่นอดีต หรือปัจจุบันก็ดีจะต้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน คือไม่ต้องรอ จังหวัดประกาศให้เป็นภัยพิบัติ ในส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องเข้าไปดูแล ยกตัวอย่างในพื้นที่อำเภอกระบุรีที่ผมก็ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน ก็มีท่าน นายกนฤมล บุญช่วย ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านเป็นนายกองค์การส่วนตำบลปากจั่น พร้อมผู้บริหารและสมาชิก ท่านต้องลงพื้นที่เพื่อเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้ความเร่งด่วนทุกปี ตกทุกปี ให้ความช่วยเหลือทุกปี จนมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่นั่นคือ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมีเกี่ยวกับประตูระบายน้ำในหมู่บ้าน นั่นคือการก่อสร้างที่ไม่มี ผู้ที่รับผิดชอบในโครงการนี้ ก็คือเป็นอาคารบังคับน้ำบ้านนาน้อย บ้านเกาะกลาง ซึ่งวันนี้ ก็ต้องขอกราบขอบคุณทางท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านนายกองค์การตำบล ปากจั่น ที่ท่านได้นำปัญหานี้สะท้อนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่นคือกรมชลประทาน ได้เข้ามาสำรวจและออกแบบใหม่เพื่อให้ประตูระบายน้ำหรือประตูบังคับน้ำนี้ได้ใช้ประโยชน์ ให้ดีกว่านี้ แล้วก็สามารถที่จะทำให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องเกิดภาวะของน้ำท่วม อีกพื้นที่หนึ่ง เป็นพื้นที่เทศบาลตำบลน้ำจืดของอำเภอกระบุรีเช่นกัน ผมก็ได้รับการประสานในเรื่อง เกี่ยวกับน้ำท่วมจากผู้ใหญ่หมู่ที่ ๙ ท่านอัมพร สมทบ ขออนุญาตต้องเอ่ยนามท่าน แล้วก็ หมู่ที่ ๑ ท่านผู้ใหญ่สมหวัง แสงสง่า ตลอดจนท่านสมาชิกสภาท้องถิ่น ท่าน สท. ณัฐพล สังข์กุล หรือท่าน สจ. อภิชาติ หลีกภัย ซึ่งก็ต้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา เช่นกัน ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีผลกระทบ นั่นคือเป็นปัญหาจากที่ฝายบ้านปลายคลองซึ่งอยู่ที่ หมู่ที่ ๙ ของผู้ใหญ่ที่ผมได้เอ่ยนามเมื่อสักครู่นี้ เป็นฝายของกรมชลประทานเก่าและเป็นฝาย เล็กนิดเดียว ถ้าเกิดฝายนี้ได้รับการแก้ไขให้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะช่วยบรรเทา ในเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมข้างล่างได้อย่างดี ซึ่งฝายนี้จริง ๆ แล้วเป็นฝายที่ได้รับการดูแลจาก กรมชลประทาน ฝายนี้ถ้าเกิดได้รับการแก้ไขและได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ผมว่า จะช่วยบรรเทาในเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วม และยังกักเก็บน้ำให้กับพี่น้องประชาชนในอำเภอ กระบุรีได้หลายตำบลเช่นกัน กลับมาที่อำเภอเมืองระนอง ตรงอำเภอเมืองระนองก็มีปัญหา น้ำท่วมซ้ำซากเช่นกัน ผมได้ลงพื้นที่เองเป็นปัญหาเกี่ยวกับน้ำกัดเซาะตลิ่งจนทำให้พื้นที่ของ พี่น้องประชาชนเสียหายเข้าไปถึงพื้นที่เกษตรกร เข้าไปถึงพื้นที่บ้านเรือน ได้รับผลกระทบ บางท่านบางพื้นที่จะต้องใช้งบประมาณเอง ยกตัวอย่างที่ผมได้ลงพื้นที่นี้ได้ไปซื้ออุปกรณ์ กันน้ำกัดเซาะตลิ่งเอง จนวันนี้ที่ซื้อมาก็พังทลาย ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือบรรเทาให้กับ พี่น้องประชาชนได้เช่นกัน สิ่งที่ตามมานั่นคือปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ค่าดูแลของท้องถิ่น ที่จะต้องเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือ มีพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาอย่าง ยาวนานนั่นคือที่อำเภอสุขสำราญเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ หรือเกิดจาก คลื่นสึนามิเมื่อปี ๒๕๔๗ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก สมัยที่ผมเป็นอดีตนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดระนอง พื้นที่นี้จริง ๆ แล้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพี่น้องประชาชน โดยเป็นพี่น้องมุสลิมโดยตรงที่จะมาท่องเที่ยวและหารายได้ในการเลี้ยงครอบครัว ให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยว แต่วันนี้พื้นที่นี้กลับโดนน้ำกัดเซาะตลิ่ง โดนน้ำกัดเซาะถนน จนได้รับความเสียหาย ถนนที่เห็นเมื่อสักครู่นี้เป็นถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยที่ ผมได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับการดูแลก็ได้จากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นกัน ที่ได้ลงพื้นที่เองต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านนายกอารีดีน อินตัน ท่านเป็น นายกเทศมนตรีกำพวน แล้วก็ผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้าไปดูแล ตลอดจนมีท่านมนัส พึ่งแย้ม หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแหลมสน ก็มาให้ข้อมูลผมในเรื่องเกี่ยวกับน้ำกัดเซาะ ถนนเส้นนี้ วันนี้จะเห็นได้ว่ามีความลำบาก สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยว อยู่เลยถ้าเกิดไม่ได้รับการแก้ไข น้ำที่กัดเซาะถนนไปได้รับความเสียหายกับพี่น้องประชาชน นั่นคือน้ำไหลไปท่วมบ้านเรือนแล้วก็ผลผลิตทางการประมงของพี่น้องประชาชน อย่างมากมายนะครับ จึงต้องขอฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทานก็ดี กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือแม้ตลอดจนผู้บริหารในส่วนของ ภาครัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ได้ลงไปศึกษาและให้ความช่วยเหลือเยียวยากับพี่น้อง ประชาชนที่ผมได้รับการสะท้อนมาในวันนี้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในส่วนของการที่จะ ยื่นญัตตินี้ให้กับ ครม. ก็คงจะต้องเข้าสู่การพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป ขอกราบขอบคุณ ท่านประธานมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุดท้าย คุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะได้รวบรวม ส่งให้กับรัฐบาลได้นำไปบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ผมอยากจะต่อว่า นอกจากเป็นระบบแล้วต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยครับ ท่านประธานครับ จนถึง ณ ขณะนี้ เรื่องของน้ำท่วมไม่ว่าท่านจะอยู่กรุงเทพฯ อยู่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก จะเป็น สส. จะเป็นเกษตรกร ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ท่าน สส. วัชระพล ขาวขำ ฝากเรียนนะครับว่า สัปดาห์ที่แล้วบอกว่าน้ำท่วมบ้าน ตอนนี้น้ำได้ลดแล้ว นั่นแปลว่าอะไรครับ ทุกคนประสบ กับปัญหานี้ และต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ จนถึงขณะนี้มีจังหวัดที่เรียกว่าจมน้ำไป ประมาณ ๖ จังหวัด กระทบต่อพี่น้องประชาชนประมาณ ๑๖,๐๐๐ ครัวเรือน อย่างไม่ เสียหายนี่นะครับ แต่ละปีหลักหมื่นล้านบาท เฉพาะปีที่แล้วปีเดียว ปี ๒๕๖๕ มีมูลค่า ความเสียหายที่เกิดจากสินค้าทางการเกษตรเสียหายสูงถึง ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็น ความเสียหายที่กระทบต่อ GDP ประมาณร้อยละ ๐.๒๒ และสถานการณ์น้ำท่วมจนถึง ขณะนี้เริ่มที่จะคาดการณ์ได้ยาก ประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีล้ำสมัย ก็ไม่ได้เป็น หลักประกันว่าจะไม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม พูดถึงเรื่องน้ำท่วมทุกคนก็จะไปนึกถึง Model แบบที่เรียกว่าเนเธอร์แลนด์โมเดล เพราะคำว่า Nether แปลว่า ต่ำกว่า เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขามีเทคโนโลยีบริหารจัดการที่เรียกว่า Delta Works นั่นหมายความว่ามีเทคโนโลยีขนาดนั้นนะครับ แต่ ๗๐ ปีที่แล้ว เขาก็ประสบปัญหาได้รับ ความเสียหายจากน้ำท่วมชนิดที่เรียกว่าต้องหันกลับมาบูรณาการและผลักให้เป็นวาระ แห่งชาติ มาที่ใกล้ ๆ บ้านเราครับ ประเทศสิงคโปร์ขณะนี้ได้เตรียมการและตั้งคณะทำงาน อย่างเป็นระบบเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้สิงคโปร์อาจจะ เป็นประเทศที่จมน้ำ นั่นหมายความว่าประเทศไทยในวันนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ เราต้องหันกลับมาและร่วมกันหาแนวทางและทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ถามว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีคิดแผนบูรณาการไหม ต้องตอบว่า มีครับ หลังปี ๒๕๕๔ รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำเสนอโครงการ แผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปเชิญเอานักปราชญ์ ราชบัณฑิต องค์การ สถาบันชั้นนำระดับโลกมาคิด Module กันได้ทั้งหมด ๑๐ Module เสนอมา ๘ กลุ่มงาน คัดเหลือ ๖ กลุ่มงาน แต่น่าเสียดายว่าโครงการในวันนั้นไม่เกิดขึ้น และเราก็นึกเสียดายครับว่าถ้าวันนั้นโครงการบริหารจัดการน้ำ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาทเกิดขึ้น เราคงพ้นจากวังวนน้ำท่วม น้ำแล้ง วันนี้ถ้าเราไปดูการรายงานข่าวที่เรียกว่า Airtime ครับ เวลาของสื่อกระแสหลัก TV ช่องหลักวันนี้นำเสนอข่าวน้ำท่วมน้อยลง ๆ ทุกขณะ ช่องหลัก นำเสนอไม่เกิน ๑๐ นาทีครับท่านประธาน เพราะอะไรครับ เพราะอาจจะเกิดภาวะคุ้นชิน มีการล้อกันในโลก TikTok ว่าเมื่อก่อนน้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา สมัยนี้ต้องบอกว่า น้ำท่วมขนของหนี น้ำลดขนของกลับแล้วรอรับเงินเยียวยา เราจะชินไม่ได้ครับ เราต้องลุก ขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอาชนะและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ผมไปถอด ๑๐ Module และไปถอด ๖ กลุ่มงาน ที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตของพรรคเพื่อไทยได้คิดไว้ร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก พรรคเพื่อไทยมีปรัชญาว่าพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน พรรคเพื่อไทยอ่านเรื่องน้ำรู้ ดูเรื่องน้ำเป็นครับ ผมจะได้เสนอ ๕ แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๑ ถึงเวลาที่เราจะต้องนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงนำมา ปรับใช้และเอานวัตกรรมนี้มาใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ หลายโครงการ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระดับหลายแสนล้านบาท เรายังกล้าลงทุน แต่ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบบูรณาการ ลาที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำไมเราไม่กล้าลงทุน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๒ ถึงเวลาที่เราต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะบริหาร จัดการน้ำแบบบูรณาการ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ใช้คำว่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้าใช้ภาษาแบบผู้ว่าชัชชาติ ก็ต้องบอกว่าต้องเชื่อมสอดประสานบูรณาการระหว่าง เส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ถึงเวลาที่เราต้องบูรณาการโครงการระบบชลประทาน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ต้องมาเป็นเส้น ต้องมาเป็น Package
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๓ น้ำต้องมีที่อยู่ น้ำต้องมีที่ไป เราต้องหาที่อยู่ให้น้ำ พื้นที่ใด ที่เป็นทุ่งรับน้ำต้องได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเยียวยา และต้องพัฒนา มองไปถึงเรื่องของแหล่งกักเก็บน้ำจืด พื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในวันนี้ถ้าเราเปลี่ยนมุมคิด ย้ายฝั่งคิดจะนำไปสู่มาตรการต่อไป
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๔ คือเรากล้าคิดนอกกรอบ หมายความว่าแทนที่เราจะปล่อยให้ เป็นพื้นที่รับน้ำซ้ำซาก เราเปลี่ยนเป็นระบบธนาคารน้ำ และเอาน้ำที่เกิดจากน้ำท่วมมาขาย ให้กับเกษตรกร ก็พัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ไปขายให้การไฟฟ้าก็สามารถ ผลิตเป็นไฟฟ้าได้ นี่คือการเปลี่ยนและลักษณะของการยกระดับพัฒนาการคิดแบบ นอกกรอบ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๕ ถึงเวลาที่เราต้องพัฒนาระบบเตือนภัย หลายเรื่องประเทศไทย เราขาดการซ้อม เราไม่ได้ซ้อมครับ เฉกเช่นเดียวกันวันนี้น้ำท่วมเราก็ต้องซ้อม จะอพยพ ผู้ประสบภัยไปไหน หลายประเทศต้องซ้อม ประเทศไทยก็ต้องซ้อม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมกล่าวสรุปในตอนท้ายว่าน้ำท่วมไม่ใช่โชคชะตา และน้ำท่วมถ้าผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ เราเสียเวลามากว่า ๑๐ ปี และเราจะเสียเวลาอีกต่อไปไม่ได้แล้ว กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่มีผู้อภิปราย แล้วนะครับ คุณธีระชัย แสนแก้ว เจ้าของญัตติจะขอสรุป เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผม ใคร่ขอขอบคุณท่านประธานที่ได้รับญัตติด่วนในวันนี้ และขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ช่วยกัน สะท้อนสาเหตุ และสภาพปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ของพี่น้องประชาชน ผมขออนุญาตในการที่ จะใช้โอกาสนี้อภิปรายสรุปญัตตินี้ เพื่อนำเสนอเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลในการที่จะแก้ไขต่อไป ขอเสนอให้รัฐบาลดังนี้ครับท่านประธาน คือปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ขอเสนอให้เป็นการแก้ไข เป็น ๒ ระยะ ระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์น้ำท่วมอย่างเร่งด่วนและเร่งรัด รวมทั้งป้องกันผลกระทบที่รุนแรงที่จะมีขึ้นอีกต่อไปในทันทีเลย และการแก้ไขปัญหา ระยะยาวเพื่อให้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอนาคตและยังช่วยกันแก้ปัญหาภัยแล้ง อีกประการหนึ่งด้วย ให้พี่น้องประชาชนสามารถมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอในอนาคตได้ครับ มาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนครับท่านประธาน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๑. ให้สนับสนุนการจัดกระสอบทรายและสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหา น้ำท่วม
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๒. ให้เตรียมอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน สนับสนุนถุงยังชีพ อาหารแห้ง สิ่งจำเป็น เครื่องมือวัตถุ อุปกรณ์ จัดซับน้ำตาสนับสนุนในลุ่มน้ำต่ำของพื้นที่
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๓. ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติงานเมื่อฝนตก ทุกเมื่อ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วน เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมทางทหารด้วยนะครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๔. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข่าวสารวิเคราะห์ผลกระทบภัยน้ำท่วม และความคิดของพี่น้องประชาชนนำเสนอสื่อมวลชนเมื่อลงพื้นที่ด้วย
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๕. ให้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและสถานการณ์น้ำบนป้ายจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนกล้อง CCTV และตรวจสอบความพร้อมของระบบวิทยุ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๖. ให้บริการแนะนำด้านสุขภาพอนามัยและวิธีการป้องกันการติดเชื้อโรค ต่าง ๆ ที่มากับภัยน้ำท่วมให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง แจกยาสามัญประจำบ้าน ทุกครัวเรือน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๗. ให้ตรวจสอบงานก่อสร้างสาธารณูปโภครถไฟฟ้า อาคารสูง ป้ายโฆษณา จัดซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน พร้อมสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๘. ให้บริการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเมื่อรถยนต์ขัดข้อง จัดรถยก รถลากจูง อำนวยความสะดวกในการจราจรเพื่อป้องกัน Clear เส้นทางคมนาคมในการช่วยเหลือ ผู้ที่ประสบภัยในการฉุกเฉิน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๙. ให้แจ้งจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยงระดับน้ำในคลอง หนอง บึงตามแผนพร้อม ของเจ้าหน้าที่และรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ Update ตลอดเวลา
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๑๐. ในการประสานงานแจ้งสภาพอากาศให้แก่หน่วยงานทุกพื้นที่จัดรถ สายตรวจและลงพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่มีผู้ฉวยโอกาสในการจัดเตรียมรายชื่อ ติดต่อผู้ประสานงานช่วยเหลือพร้อมเบอร์โทรศัพท์อย่างฉุกเฉิน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ มาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว สั้น ๆ ท่านประธาน กระผมอยากจะเสนอให้รัฐบาลเร่งศึกษาโครงการผันน้ำในภาคอีสาน และภาคเหนือเป็นการเร่งด่วน โดยเริ่มรับฟังเสียงจากความเห็นของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ว่าท่านมีความต้องการโครงการผันน้ำหรือไม่ รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการ ผันน้ำทั้งข้อดีข้อเสียให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐ กับประชาชน ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขออนุญาตยกตัวอย่างที่ต่างประเทศที่มี การแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจนก็คือ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบของประเทศจีน ท่านครับ รายงานจากสำนักงานข่าวซินหัวว่าจีนเพิ่งประกาศความสำเร็จของโครงการผันน้ำ จากใต้สู่เหนือซึ่งเป็นอภิมหาโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ท่านประธานครับ ผันน้ำจาก แม่น้ำแยงซีเกียงไปแล้ว ๒ สาย ถึง ๕.๓ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โครงการนี้ท่านประธานครับ ผันน้ำจากใต้ไปสู่ภาคเหนือของจีน ผันน้ำจากแม่น้ำแยงซีเกียงแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกไปตาม เส้นทางถนนสายตะวันออก สายกลาง สายตะวันตก เพื่อส่งน้ำไปในสถานที่แห้งแล้งทางตอน เหนือ รวมทั้งเมืองหลวงของกรุงปักกิ่ง ซึ่งโครงการนี้เพิ่มเติมให้กับแม่น้ำกว่า ๕๐ แห่ง ด้วยปริมาณ ๘,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร ท่านประธานครับ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือฟื้นฟูน้ำบาดาล ที่เผชิญปัญหาถูกใช้ประโยชน์มากเกินไปกว่า ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร โครงการนี้เกิด ประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวจีนถึง ๑๔๐ ล้านคน ในภูมิภาคตอนเหนือรวมถึงเมืองใหญ่ เมืองปักกิ่ง และเทียนสิน และพึ่งพาโครงการนี้ในฐานะ แหล่งน้ำหลักในปี ๒๕๕๗ รัฐบาลจีนยังคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๙๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๕๐ จะมี ชาวจีนมากกว่า ๔๐๐ ล้านคน ที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการผันน้ำนี้ โดยจะได้ราว ๔๔,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเลยทีเดียวครับท่านประธาน รัฐบาลนี้โดยการนำของพรรค เพื่อไทย คิดใหญ่ทำเป็นต้องคิดเรื่องใหญ่ ๆ ครับ ลงทุนครั้งเดียวได้ประโยชน์มหาศาล ผมใคร่ขอสรุปเพียงแค่นี้ครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจะขอกล่าวขอบคุณกับท่านสมาชิก เชิญครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขอถือโอกาสขอบพระคุณท่านสมาชิกที่เสนอ ญัตติแล้วก็ท่านสมาชิกทุกท่านที่ได้อภิปรายในญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน เพื่อส่งเรื่อง ให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ดิฉันเองได้รับทราบนโยบายต่าง ๆ ที่ ท่านนายกรัฐมนตรีท่านเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อพี่น้องประชาชน ขณะนี้ ในสถานการณ์หลายจังหวัดได้ประสบปัญหาน้ำท่วม และท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับให้ คณะรัฐมนตรีทุกท่านที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวงได้เฝ้าติดตามและให้ความช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้วก็ทันท่วงที ไม่ให้พี่น้องประชาชนพบกับปัญหาความยากลำบาก และมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละจังหวัดด้วย นอกจากนั้น ท่านนายกรัฐมนตรียังมีหมายกำหนดการที่จะลงพื้นที่ของพี่น้องประชาชน ในวันศุกร์ที่ ๖ และวันเสาร์ที่ ๗ จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอุบลราชธานี ถ้าท่านสมาชิก ท่านใดที่อยู่ในพื้นที่ได้ขอความร่วมมือได้ลงไปพื้นที่เพื่อไปพบกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วยกันนะคะ นอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องของภัยแล้ง ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในบางพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มาช่วยเรื่องการทำฝาย แกนดินซีเมนต์ ซึ่งจะเป็นเรื่องของการเก็บกักน้ำ ลอกคูคลอง การทำฝาย Soil-Cement จะสามารถเก็บกักน้ำสะสมน้ำใต้ดินเพื่อให้มีน้ำปริมาณมาก เนื่องจากในโครงการต่าง ๆ ล้วนเป็นโครงการที่มีประโยชน์ จากคำแนะนำของท่านสมาชิกทุก ๆ ท่านรัฐบาลก็มีมาตรการ มีการวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง แล้วก็ระยะยาว ทุกปัญหาทุกข้อเสนอแนะรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขอน้อมรับและจะนำไปวางแผนเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหา น้ำท่วมและน้ำแล้งต่อไป ขอขอบคุณท่านสมาชิกอีกครั้งค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ จากการที่ผมได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกตลอดทั้งวันนั้น ก็มีความเห็นไปในทิศทางตรงกัน คือเห็นด้วยกับญัตติด่วนที่เสนอในวันนี้ เพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ ผมจึงขออาศัย อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ เพื่อจะถามท่านสมาชิกว่าควรจะส่งญัตติด่วนนี้ไปให้รัฐบาล พิจารณาดำเนินการ หรือจะเห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่มีสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่นผมก็ถือว่า ที่ประชุมนี้ลงมติเห็นชอบให้ส่งญัตติเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปนะครับ ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่าน ขออนุญาตปิดประชุมครับ