กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากพี่น้องประชาชนเชียงใหม่ เขต ๑ ค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานสภา อยู่ ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก การขอขยายเขตแนวประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ ๒ ตำบล นั่นก็คือ ตำบลสันผีเสื้อและตำบลป่าแดด ในส่วนของตำบลสันผีเสื้อ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๕ และในส่วนของตำบลป่าแดด หมู่ที่ ๓ หมู่ ๔ หมู่ที่ ๗ และหมู่ที่ ๑๓ กรณีที่มี การร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ๒ ตำบล ในการใช้ประปาหมู่บ้าน เป็นระยะเวลานานหลายสิบปี น้ำเป็นสีสนิม น้ำไม่ไหล หรือไหลน้อยในบางวัน เนื่องจาก การขยายตัวของเขตเมือง และมีจำนวนของโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การผลิตและศักยภาพของคณะกรรมการประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำประปา หมู่บ้านค่ะ ประกอบกับคุณภาพน้ำมีปริมาณเหล็กที่เกินค่ามาตรฐาน จึงเรียนท่าน ประธานสภาผ่านไปยังการประปาส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลรับผิดชอบ ในเขตพื้นที่ดังกล่าว เร่งดำเนินการและพิจารณางบประมาณในการขยายเขตจำหน่าย การประปาส่วนภูมิภาคโดยเร่งด่วนค่ะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องติดตามโครงการพัฒนาเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ตามหนังสืออ้างอิงเลขที่ ทส ๐๙๒๖.๖/๒๔๒๔ ที่ขอปรับปรุง ซ่อมแซมผิวถนนจราจรคอนกรีต ถนนเส้นทางเดิน จุดเริ่มต้นบริเวณบ้านม้งดอยปุย หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการสัญจรและเส้นทางเพื่อชมธรรมชาติ รวมถึง เป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในเส้นทางดังกล่าวค่ะ
เรื่องที่ ๓ ขอติดตามเรื่องการขออนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ และศูนย์ป้องกันไฟป่า บ้านม้งดอยปุย หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกันค่ะ ตามหนังสืออ้างอิงเลขที่ ทส ๐๙๒๖.๖/๙๙๐๑ เพื่อเป็นการส่งเสริมและแก้ไข ปัญหาด้านฝุ่นควันและไฟป่า อีกทั้งยังเป็นอาคารในการที่จะให้ข้อมูลความรู้ด้านการป้องกัน ฝุ่นควันและไฟป่าในพื้นที่ใกล้เคียงค่ะ โครงการนี้ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นของ เทศบาลตำบลสุเทพไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๒ และเรื่องที่ ๓ นี้จึงเรียน ท่านประธานสภาผ่านไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้ง ๒ โครงการดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ก่อนอื่นจะขอชื่นชมนะคะ เพราะว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนอยู่ยากขึ้น การเอารัดเอาเปรียบเพิ่มมากขึ้น ซับซ้อน และขยายวงกว้าง ก็มีสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ยืนหยัดและอยู่เคียงข้างผู้บริโภค และประชาชนชาวไทยทุกคนในการที่จะแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนอย่างเบ็ดเสร็จ จึงขอชื่นชม การทำงานและเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปนะคะ
ดิฉันขออธิบายการทำงาน และภารกิจหลักของสภาองค์กรของผู้บริโภคสักนิดหนึ่ง เพราะว่ามันจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ดิฉัน จะอภิปรายต่อไป สภาองค์กรของผู้บริโภคมีการทำงานอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน ระดับที่ ๑ คือคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศ ระดับที่ ๒ คืองานเตือนภัย ระดับที่ ๓ คืองานคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งทั้ง ๓ ระดับนี้จะดูแลทั้ง ๘ ด้านดังนี้ ๑. ด้านการเงิน และการธนาคาร ๒. ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ๓. ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ๔. ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ๕. ด้านบริการสุขภาพ ๖. ด้านสินค้าและบริการ ทั่วไป ๗. ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ๘. ด้านบริการสาธารณะ ผลงานต่าง ๆ ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นที่ประจักษ์ที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นชินคุ้นหูก็คือ การผลักดันไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP (ความตกลงแบบครอบคลุม และความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) การผลักดันเรื่องบำนาญ ประชาชน ๓,๐๐๐ บาท ให้กับพี่น้องชาวไทย แล้วก็การคัดค้านการควบรวม True DTAC ทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ว่าสิ่งที่ดิฉันจะอธิบายและแจกแจงให้ทุกท่านได้เห็นก็คือเรื่องโครงสร้างของสภาองค์กร ของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งตามชื่อ พ.ร.บ. ก็คือการจัดตั้ง ซึ่งเน้นการจัดตั้ง ไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมหรือการสร้างความเข้มแข็ง โดยดั้งเดิมอยู่แล้วก็คือสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เกิดจากการรวมตัวกันของผู้บริโภค เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค แต่ในมาตรา ๖ องค์กรของผู้บริโภคที่ประสงค์ จะเข้าร่วมต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขและมีความยากลำบาก ในการจัดตั้ง จำนวนหน่วยงานประจำจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖ มีจำนวน ๑๕ หน่วยงาน เทียบกับปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภคทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ประมาณ ๑๘ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ด้วยความเดือดร้อนและเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบ ของประชาชนผู้บริโภคทั้งหลายเกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดิฉันจึงมี ข้อคิดเห็นและเห็นควรเป็นอย่างยิ่งว่าในการเร่งตั้งองค์กรผู้บริโภคระดับจังหวัด หรือหน่วยงานประจำจังหวัด นอกจากนี้ควรตั้งไปสู่อำเภอ ตำบลต่อไปด้วย โดยการจัดตั้ง พร้อมขยายแนวคิด หรืออาสาสมัคร ความตระหนักต่าง ๆ การรู้เท่าทันกลโกง และความไม่เป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในระดับเครือข่าย ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นการสื่อสาร ในระดับ Offline ก็คือการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อสร้างความรู้ ความตระหนักสิ่งต่าง ๆ เมื่อต้อง ทำงานในระดับเครือข่ายลงลึกไปในระดับอำเภอ ตำบลแล้ว งบประมาณต่าง ๆ ในเรื่องของ การประชาสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ จากงบประมาณที่แสดงบนหน้าจอ ในเรื่องของ การประชาสัมพันธ์กว่า ๓๕.๑๙ ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้วโครงการต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่บนหน้าจอ ส่วนใหญ่จะเป็นระดับ Online ทั้งหมด ดูแลในเรื่องของ Website การสื่อสารนโยบาย ผ่าน Influencer การเสวนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ว่าควรมีการประเมินความคุ้มค่า มีตัวชี้วัด ซึ่งดูจากยอด Follow ใน LINE Official แล้วก็ใน Facebook Fanpage ซึ่งมีผู้ติดตาม ยังจำนวนน้อยอยู่พอสมควร ซึ่งในสิ่งนี้ควรมีการสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่หรืออาสาสมัคร ในการให้ความรู้ สร้างความตระหนักในการเตือนภัย คุ้มครองก่อนเกิดเหตุที่ไม่เป็นธรรม ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน จึงขอฝากข้อเสนอแนะและข้อกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ไปกับ ท่านประธานผ่านไปยังสภาองค์กรของผู้บริโภคค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวเชียงใหม่เขต ๑ ค่ะ วันนี้ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณทาง สสส. ที่เข้ามา รายงานผลดำเนินงานของปี ๒๕๖๕ ทำให้เรารู้บทบาทของ สสส. ว่าทำกิจกรรม อย่างมากมายและเป็นกองทุนเพียงไม่กี่กองทุนที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้ทำงาน อย่างเปิดกว้างนะคะ จากรายงานปี ๒๕๖๕ ฉบับนี้ดิฉันมีประเด็นข้อสงสัยอยู่ ๒ ประเด็น ด้วยกันนะคะ
ประเด็นแรก ก็คือประเด็นของเรื่องงบประมาณ ทุกวันนี้ดิฉันได้เดินทางไป สถานที่ต่าง ๆ นะคะขอ Slide ด้วยนะคะ
ดิฉันได้เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นป้ายประชาสัมพันธ์ Campaign ต่าง ๆ ตลอดถึงบนรถไฟฟ้า ดิฉันมีความกังวลว่าสิ่งที่ สสส. ได้ใช้งบประมาณไปใช้ในการทำ Campaign ต่าง ๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นงบประมาณ ที่ไม่น้อยเลย แต่ในรายงานฉบับนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ว่าพวกท่านใช้งบประมาณไปเท่าไร ดิฉันจึงอยากจะให้พวกท่านชี้แจงงบประมาณที่ใช้ไป และตัวชี้วัดถึงความคุ้มค่าของ งบประมาณที่ใช้ไปด้วยนะคะ ในส่วนของ Campaign เหล่านี้ทำให้สุขภาพของผู้คนดีขึ้น หรือไม่ หรือจากสถิติคนสูบบุหรี่ในช่วงปี ๒๕๖๔ ลดลงจากร้อยละ ๒๕.๕๔ เป็น ๑๗.๔๐ แต่ในขณะเดียวกันคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับเพิ่มขึ้น ถ้าพวกท่านจะบอกว่าตัวชี้วัดนี้คนสูบบุหรี่ ลดลง แต่จริง ๆ แล้วคนสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงนะคะ แต่พวกเขาเพียงเปลี่ยนประเภทจากคนสูบ บุหรี่ธรรมดามาเป็นสูบบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ ดิฉันจึงอยากจะให้พวกท่านวัดผล Campaign เหล่านี้ ด้วย จากงบประมาณโดยรวมของ สสส. ทั้งหมดกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท ได้แจกแจงไปยังแผน ต่าง ๆ ทั้ง ๑๕ แผน และ ๑ งานของ สสส. แต่ว่าไม่ได้มีการแจกแจงการดำเนินงาน งบประมาณในการดำเนินงานต่าง ๆ และแจกแจง Campaign ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ว่าพวกท่านใช้งบประมาณรวมในแต่ละแผนไปอย่างไร และมีการชี้วัดผลการดำเนินงาน อย่างไรบ้างนะคะ จึงอยากให้ชี้แจงในส่วนตรงนี้ด้วย
ในประเด็นที่ ๒ จากการลงพื้นที่ของดิฉันเองในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ผ่านมา ดิฉันอยากจะชื่นชมการทำงานของ สสส. ที่ได้เห็นความสำคัญของกลุ่มประชากรเฉพาะ ทั้งคนไร้บ้าน คนไร้สิทธิ กลุ่มเปราะบางซ้ำซ้อนในชุมชน ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึง ยากลำบากในการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงโควิดต่าง ๆ ที่ผ่านมานะคะ การทำงานเหล่านี้ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย ๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อยากจะพูดถึงหน่วยงาน หรือภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมมือในการที่จะผลักดันประเด็นต่าง ๆ การแก้ไขปัญหา สุขภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงและเป็นจริงได้ อยากจะอ้างถึงรายงานหน้า ๙๑-๙๒ ค่ะ มีเพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น จึงอยากจะขอเสนอแนะให้ขยายเครือข่ายได้เยอะกว่านี้ เช่นการทำงานกับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในชุมชนเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ หรือด้านสิทธิ สถานะต่าง ๆ ที่เชียงใหม่มีปัญหาเหล่านี้เยอะมาก ๆ นอกจากนี้ดิฉันคิดว่างานเหล่านี้ ควรมีการถอดบทเรียนเพื่อดูแนวทางและขยายผล เพื่อต่อยอดไปยังการขับเคลื่อน เชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป จึงอยากฝากข้อกังวลและข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านไปยังท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานผู้ชี้แจงได้โปรดพิจารณา ดำเนินงานและชี้แจงข้อกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑ วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือต่อประธานสภา จำนวน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก คือโครงการ การนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีเป็นโครงการที่จะช่วย ให้ภูมิทัศน์ของจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น แต่การก่อสร้างมีความไม่เรียบร้อย การปิดฝาหลุม ในหลุมที่จะนำสายไฟฟ้าลงไปนั้นไม่มีความเรียบร้อย และไฟส่องสว่างในการทำงานในช่วง กลางคืนไม่เพียงพอ ทำให้การสัญจรไปมาของผู้ที่สัญจรไปมาและผู้ที่อยู่อาศัยแถวนั้น เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งค่ะ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อท่อประปาที่ฝังอยู่ใต้ดิน ทำให้ ท่อประปาแตกเป็นประจำ และใช้เวลาในการแก้ไขเป็นระยะเวลาหลายวัน กระทบต่อ การดำเนินชีวิตและการค้าขายของผู้ประกอบการที่อยู่บริเวณนั้น จึงฝากเรียนประธานสภา ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนภูมิภาคได้โปรดดำเนินการเร่งพิจารณาแก้ไข เหตุการณ์ดังกล่าวด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ โครงการปรับปรุงทางเดินเท้าถนนห้วยแก้ว ซึ่งเกิดความล่าช้า ในการก่อสร้าง ตามสัญญาของโครงการนี้สิ้นสุดเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ แล้ว แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อันตราย ใกล้ย่านเศรษฐกิจและย่านท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก จึงฝากประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือเทศบาลนครเชียงใหม่ ในการเร่งดำเนินการก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยทั้งพี่น้องชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว และฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังใกล้จะถึงนี้ค่ะ
เรื่องที่ ๓ ดิฉันได้รับหนังสือร้องเรียนคัดค้านจากกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประกาศการขออนุญาตใช้พื้นที่ จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มนักศึกษามีข้อเสนอดังนี้ค่ะ ก็คือการประกาศยกเลิก เรียกร้องให้ประกาศยกเลิก ประกาศดังกล่าวซึ่งขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๔ และขอการมีส่วนร่วมในการจัดการ พื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยค่ะ จึงฝากเรียนประธานสภาไปยังอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และดิฉันยังมีข้อร้องเรียนอีก ๓ เรื่องซึ่งจะส่งเป็นแบบบันทึกข้อร้องเรียน ไปยังประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ท่านประธานคะ ปีนี้ในเขตพื้นที่ของดิฉันไม่ได้มีน้ำท่วม เกิดขึ้น แต่ในปีที่แล้วและหลาย ๆ ปีที่ผ่านมามีน้ำท่วมเกิดขึ้นและทำให้กระทบต่อ แหล่งเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ และยังไม่นับถึงพื้นที่เกษตรกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่อีกมากมายค่ะ แต่ดิฉันขอร่วมอภิปรายกับเพื่อนสมาชิกในญัตติด่วน ด้วยวาจาเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปค่ะ ขอ Slide ด้วยนะคะ
ดิฉันอยากจะฉายภาพให้ดูถึงสถิติ การนำเรื่องราวของปัญหาน้ำท่วมเข้าสภาแห่งนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงปี ๒๕๖๕ มีการยื่น กระทู้ถามในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมแล้วกว่า ๓๔ กระทู้ ญัตติกว่า ๑๑ ญัตติ ยังไม่นับรวมถึง คณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉะนั้นดิฉัน อยากจะขอสภาแห่งนี้ที่จะจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ค่ะ และขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่ดิฉันและเพื่อนสมาชิกจะพูด เรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ค่ะ
ดิฉันขอแบ่งลำดับการอภิปรายของดิฉันเป็น ๓ ช่วงด้วยกันค่ะ
ช่วงแรกคือช่วงของการเตือนภัย เมื่อวานวันที่ ๓ ตุลาคม ดิฉันได้เปิด Facebook ส่วนตัวของดิฉันเองในวันนี้เมื่อปีที่แล้วครั้งที่ดิฉันยังเป็นผู้สมัคร สส. ของ พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑ ภาพมันขึ้นเตือนว่าเมื่อวานนี้ของช่วงนี้เกิดเหตุการณ์ น้ำท่วม ดิฉันได้เข้าไปประสานงานและประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ถึงข้อมูลต่าง ๆ พื้นที่ปลอดภัยที่สามารถอพยพหนีน้ำได้ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉินที่จำเป็น สำหรับผู้ประสบภัย ดิฉันไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ดิฉันไม่อยากให้ Facebook เป็นช่องทางที่จะช่วยเตือนภัย อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ประเทศไทยควรมีระบบที่จะแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้ได้แล้วค่ะ เพราะว่ายังมีพ่อแม่พี่น้อง อีกหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึง Facebook หรือ Twitter ที่ใช้ในการแจ้งข่าว ในช่วงฤดูฝนจะมี หอเตือนภัยของจังหวัดเชียงใหม่ที่โชว์อยู่นี้ ดิฉันไม่แน่ใจว่าหอเตือนภัยแห่งนี้ทั้ง ๖ แห่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ยังใช้การได้อยู่หรือไม่ เพราะว่าดิฉันและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่เคย ได้ทราบข่าวจากหอเตือนภัยเหล่านี้เลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติของ พื้นที่ ถ้าไม่มีการประกาศภัยพิบัติ พื้นที่ภัยพิบัติก็จะไม่มีการใช้งานของหอเตือนภัยเหล่านี้ การแจ้งข่าวก็จะเป็นการแจ้งข่าวตามเสียงตามสายผ่านผู้นำชุมชน ผ่านผู้นำท้องถิ่นต่าง ๆ ดิฉันจึงอยากเรียกร้องให้มีระบบการแจ้งเตือนภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเหตุร้ายแรงต่าง ๆ ผ่านระบบ Cell Broadcasting ที่เพื่อนสมาชิกของดิฉันได้อภิปรายไปแล้วไม่รู้จะกี่ครั้ง แต่ขอย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่าระบบ Cell Broadcasting นี้คือระบบการส่งข้อมูลโดยตรง จากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเก่าหรือเครื่องใหม่ จะใช้คลื่นความถี่ 2G 3G 4G หรือ 5G ซึ่งรับประกันว่าการแจ้งเตือนนี้จะถูกส่งไปยัง พี่น้องประชาชนทุกคนค่ะ ใน Slide นี้จะแสดงถึงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในตัวเมือง เชียงใหม่ และมีข้อมูลอีกหลาย ๆ อย่าง คือ ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลของระดับ น้ำฝนซึ่งสำคัญมากที่จะใช้ในการที่จะแจ้งเตือนในช่วงฤดูฝนแห่งนี้ว่าน้ำท่วมหรืออุทกภัย จะเกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ หรือจังหวัดเชียงใหม่ หรือประเทศไทยอีกเมื่อไร ซึ่งการบูรณา การของข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากค่ะ เรามีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มากมาย แต่การบูรณาการ ไม่เกิดขึ้นจริง
ในช่วงที่ ๒ ช่วง ณ เวลาที่เกิดอุทกภัย เมื่อเกิดอุทกภัยแล้วทุกท่านอาจจะ ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ที่มีอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติ คืออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ด้วยความที่ประเทศไทยยังมีผู้ที่มีอำนาจ ในการประกาศภัยพิบัติอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง บางท่าน อาจจะไม่ได้มีความยึดโยงจากประชาชน มันถึงเวลาแล้วไหมคะที่จะปลดล็อกอำนาจ และงบประมาณต่าง ๆ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบพัฒนาที่น้อยอยู่แล้ว ถ้าเกิดเหตุ ภัยพิบัติเกิดขึ้น เขาก็จะนำงบประมาณเหล่านี้มาใช้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย แต่มันจะ เหลืองบประมาณอีกสักเท่าไรในการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ อยากจะพูด ปัญหาในพื้นที่ในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่ง ในเรื่องของกาดก้อม หรือตลาดก้อม หลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อาจจะคิดว่าเป็นตลาดค้าขายหรือว่าเป็น แหล่งชุมชน แต่จริง ๆ แล้วในภาพคิด ภาพฝัน ภาพจำ ของคนเชียงใหม่ กาดก้อม คือพื้นที่ที่ไม่ว่า จะน้ำท่วม ฝนตกเท่าไรน้ำจะท่วมขังอยู่ตลอดเวลา จึงอยากที่จะส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาที่จะแก้ไขปัญหาของกาดก้อมในบริเวณนี้ด้วยนะคะ
ในช่วงที่ ๓ ช่วงของการเยียวยา เมื่อน้ำท่วมผ่านไปก็จะเกิดความเสียหายทั้งทาง กายภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมาย อยากจะอ้างอิงข้อมูลในปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงปีที่น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ ๕๐ ปีของจังหวัดเชียงใหม่ท่วมถึง ๔ ครั้ง โดยสร้างความเสียหายต่อเมืองเชียงใหม่และย่านธุรกิจเชียงใหม่ต่าง ๆ มากมาย สำหรับน้ำท่วม ครั้งแรกมีมูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท และอีก ๓ ครั้งต่อมาอีกครั้งละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านบาท มูลค่าความเสียหายขนาดนี้เราจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลดล็อกอำนาจ และงบประมาณให้กับท้องถิ่นในการจัดการเตือนภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเยียวยา ผู้ประสบภัยที่เกิดจากอุทกภัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ค่ะ ดิฉันและเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ คน เห็นว่าการจัดการปัญหาอุทกภัยนี้ หรือปัญหาน้ำท่วมนี่เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน จึงเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล ในการเร่งแก้ไขปัญหา เหล่านี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล จากประชาชนชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ขอสไลด์ด้วยนะคะ
วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือ ต่อประธานสภา จำนวน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก คือเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย เลขที่ ทส ๐๙๐๖.๗๐๔/๕๒๘๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙ และพื้นที่จัดตั้ง สุขาภิบาลตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ จากการแบ่งเขตทั้ง ๒ ประกาศนี้ทำให้พี่น้องประชาชน หมู่ที่ ๑ บ้านช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กว่า ๒๒๐ หลังคาเรือน เป็นพื้นที่สุญญากาศ ไม่สามารถขอบริการสาธารณะใด ๆ ได้ จึงฝากประธานสภาผ่านไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ กรณีที่กระทรวงมหาดไทยมีประกาศลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ในเรื่องของกำหนดเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในวันรุ่งขึ้นของ วันที่ ๑๖ เมื่อเวลาประมาณ ๐๓.๕๙ นาฬิกา เกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเมาแล้วขับ บริเวณถนนคชสาร บริเวณคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเป็นนโยบาย ที่ดีค่ะ แต่ควรมีนโยบายหรือว่ามีมาตรการที่รองรับนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยค่ะ จึงฝากประธานสภาผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่ดี และไม่หละหลวมแบบนี้ ประกอบฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยมากขึ้น อย่าให้นโยบายที่ดีของรัฐบาลแบบนี้คร่าชีวิต พี่น้องประชาชนชาวไทยและชาวจังหวัดเชียงใหม่ของพวกเราด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ปรึกษาหารือต่อประธานสภาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายนที่ผ่านมา ในโครงการนำสายไฟลงดินแต่เกิดเหตุรถปูนตกหลุมตอนเย็นเมื่อวาน ที่ผ่านมา ซึ่งดิฉันได้ปรึกษาหารือต่อประธานสภาไปแล้วว่าการดำเนินงานของผู้รับเหมา และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่มีความเรียบร้อยในการดำเนินงานและการก่อสร้าง จึงฝาก ประธานสภาผ่านไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไข สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึงด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชน ชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ค่ะ วันนี้ดิฉันได้ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ที่จะเกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเขตพื้นที่ของดิฉันก็เป็นพื้นที่ ที่พี่น้องประชาชนกระทบกับปัญหานี้เช่นกัน ดิฉันได้เคยต่อสู้ในภาคประชาสังคม ภาคประชาชนในการที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้ว จนวันนี้ ดิฉันได้มาเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจึงขอใช้โอกาสนี้ในการร่วมอภิปรายเพื่อที่จะใช้ ร่าง พ.ร.บ. นี้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ให้กับพี่น้องประชาชนในเขตของดิฉันค่ะ
การอภิปรายในครั้งนี้ดิฉันขอเน้น เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับแผนการทำงานในปัจจุบันที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคและไม่สามารถ แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ และแผนการทำงานที่ควรจะบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. ฝุ่นพิษ หรือ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขฝุ่นควัน PM2.5 ด้วยค่ะ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีจาก บทความงานวิจัยต่าง ๆ ที่บอกถึงผลกระทบของฝุ่นควัน PM2.5 ที่กระทบทั้งชีวิต การดำรงชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่พี่น้องประชาชนจะต้องแบกรับ เพิ่มขึ้นในช่วงฝุ่นพิษ PM2.5 นี้ แล้วอย่างจังหวัดเชียงใหม่เองเป็นจังหวัดที่มีรายได้หลักมา จากการท่องเที่ยว ฝุ่นพิษนี้ก็ทำให้รายได้หลักของจังหวัดเชียงใหม่ลดลง เราจึงต้องมี การกำหนดกลไกการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ กำหนดให้ มีการพัฒนาและมีการบูรณาการกัน บริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษนี้ในปัจจุบันจากโครงสร้างกลไกของรัฐ อำนาจการจัดการ ปัญหานี้ต้นตออยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางนี้ประกอบด้วย ๘ กระทรวง ๑๒ กรม ๓ สำนักงาน ๒ กอง ๑ คณะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่มีการบูรณาการร่วมงานกัน กระจัดกระจาย แบบนี้ ต่างคนต่างทำ ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ฉะนั้นการแก้ปัญหาด้วยหน่วยงานที่มีมากมายขนาดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรอกค่ะ ท่านประธาน นอกจากต่างคนต่างทำแล้วในร่างพระราชบัญญัติปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ที่เพื่อนสมาชิกในที่นี้ได้ร่วมอภิปรายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและดับไฟป่า ทางกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นได้ขอ ไปอยู่ที่ ๑,๗๐๙ ล้านบาท แต่ได้รับจริงเพียงแค่ ๕๐ ล้านบาท ฉะนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำให้รู้ อีกว่าปัญหานี้จะอยู่กับพวกเราไปอีกยาวนาน ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ส่วนภูมิภาค คือจังหวัด อำเภอที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะเป็นหัวเรือใหญ่ในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ในระดับจังหวัด ซึ่งทำได้เพียงแค่การประสานงานร่วมมือ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะจากที่ทุกคนรู้ดีอยู่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลางมาอยู่ที่ จังหวัดแต่ละจังหวัดอาจจะไม่ถึง ๑ ปี หรือ ๑-๒ ปีก็เป็นได้ จึงขาดความต่อเนื่องในการแก้ไข ปัญหานี้ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ทำหน้าที่ได้เพียงแค่ให้เงินอุดหนุนหมู่บ้าน ผ่านมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน หรือทำได้เพียงติดตั้งจุดวัดค่าอากาศ เอารถดับเพลิงออกมาฉีดน้ำเพื่อบรรเทาสถานการณ์ หรือสิ่งที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ก็คือการแจก หน้ากากอนามัย N95 เห็นได้ชัดว่าส่วนท้องถิ่นทำได้แค่เพียงบรรเทาผลกระทบปลายทาง ของปัญหาไม่สามารถแก้ที่ต้นตอของปัญหาได้ ประเด็นปัญหาจึงเป็นเรื่องของระดับชาติและ วาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยฝั่งนิติบัญญัติหรือสภาแห่งนี้ในการร่วมพิจารณากฎหมายที่จะ แก้ปัญหาเร่งด่วนที่กล่าวไปได้ นั่นก็คือการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ถ้าพูดถึงการกระจายอำนาจแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าล่าช้าไป แต่สิ่งที่ทำควบคู่กัน ไปได้คือการที่ทำให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นี้เกิดขึ้นให้จงได้ค่ะ ดิฉันจึงขอเสนอแนะให้มีกลไกคณะกรรมการอยู่ ๓ ส่วนด้วยกัน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เน้น หน่วยงานที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเป็นหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราตั้งหน่วยงานใหม่ จากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ที่ทุกคนได้ฟัง และได้อภิปรายร่วมกันในสัปดาห์ที่แล้ว จะรู้ว่างบประมาณกว่า ๑.๒ ล้านล้านบาท เกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งหมด ซึ่งถ้ายังตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ไม่ใช้หน่วยงานเดิม โดยเพิ่ม ภารกิจเข้าไปก็จะทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเราเพิ่มสูงขึ้นค่ะ จึงอยากจะแนะนำ และขอเสนอว่าการทำงานของคณะกรรมการของ ๓ ส่วนนี้
ในส่วนแรกคณะกรรมการระดับนโยบาย โดยใช้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีหน้าที่ในการเสนอเพิ่มเติมดังนี้ ข้อแรก ในการเสนอแผนนโยบายและแผน ข้อ ๒ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศบริสุทธิ์ ข้อ ๓ กำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างเสริม ความร่วมมือการบูรณาการในการทำงานระหว่างราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนและ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ข้อ ๔ จัดให้มีการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบแบบ ย้อนกลับต่อการก่อมลพิษข้ามพรมแดน และข้อที่ ๕ ออกระเบียบให้ธุรกิจต้องจัดทำรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมโดยครอบคลุมตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำค่ะ
ส่วนต่อมาก็คือคณะกรรมการกลางที่จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดนที่จะทำการตรวจสอบนโยบาย และกรรมการระดับต่อมาก็คือ กรรมการระดับจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ซึ่งเมื่ออยู่ใกล้ชิด ประชาชนมากที่สุดก็ต้องยึดโยงจากประชาชน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งตำแหน่ง ที่มีอยู่แล้วก็คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีวาระ ๔ ปี ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ไม่สามารถ ที่จะมีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหานี้ได้เราก็เลือกตั้งกันใหม่ค่ะ เลือกคนใหม่เข้ามาทำงาน ทำหน้าที่ มีอำนาจ มีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประชาชน ปลดล็อก ภารกิจที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการแก้ไขปัญหานี้ ดิฉันจึงอยากฝากข้อเสนอแนะดังกล่าว ให้กับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ได้โปรดพิจารณานำกลไกการทำงานทั้ง ๓ ส่วนนี้ ไปประกอบในร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษและ PM2.5 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชน ชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ค่ะ วันนี้ดิฉันขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ขอสไลด์ด้วยนะคะ
ตามที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อสภาแห่งนี้เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยมีนโยบาย เร่งด่วน นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องให้กับพี่น้องประชาชนด้วยการ ส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน ด้านการผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ อีกทั้งการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจพิเศษระเบียง เศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ ซึ่ง ๑ ในนั้นก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง และได้เห็นชอบหลักการ และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนแล้วเป็นที่เรียบร้อย ดิฉันและ เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลเองก็เห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่างก็เป็นพื้นที่ สำคัญที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยหนุนเสริม ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตแรงงาน ด้านวัตถุดิบ ด้านการขนส่ง Logistics และทางด้านคมนาคมขนส่งด้านต่าง ๆ ซึ่งเดี๋ยวเพื่อนสมาชิก ของดิฉันจะมาร่วมอภิปรายในประเด็นนี้ค่ะ ด้วยศักยภาพและต้นทุนและที่ตั้งของภาคเหนือ ที่ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยสดงดงาม มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ตลอดไปจนถึงมีภูมิปัญญา ล้านนาที่จะสามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อีกทั้งจังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตพื้นที่ของดิฉันเองได้ถูกขนานนามว่าเป็นจุดศูนย์กลางของ การศึกษาภาคเหนือ ซึ่งผลิตบัณฑิตกว่า ๑๕,๐๐๐ คนต่อปี อีกทั้งภูมิประเทศของ จังหวัดเชียงใหม่และทั้งภาคเหนือได้ติดต่อกับประเทศเมียนมา สปป. ลาว และประเทศจีน ซึ่งจะเชื่อมโยงด้วยระบบโครงข่ายระบบรถไฟรางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงเพื่อ เพิ่มต้นทุนและโอกาสทางการค้า เพิ่มการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น จึงสมควรที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม Digital อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยที่จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงรายเองประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะสามารถที่จะตอบสนองและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้กล่าวไป นั่นก็คือ อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่และ จังหวัดลำพูนที่มีประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายก็สามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจาก ทั่วทุกมุมโลกมาท่องเที่ยวในจังหวัดเหล่านี้ได้ นอกจากนี้จังหวัดลำพูนเองก็เป็นที่ตั้งของ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งเดิมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเป็นอุตสาหกรรม ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะต่อยอดไปยังอุตสาหกรรม Digital ในอนาคตได้ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ของดิฉันเอง ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือ ประสานงานจากทางภาคเอกชน ทั้งภาครัฐบาลและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในจังหวัด เชียงใหม่ นอกจากนี้ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดเชียงใหม่เอง ด้วยนโยบายของ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การเพิ่มเวลาบินในสนามบินเชียงใหม่กว่า ๒๔ ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการศึกษาให้มีการสร้างสนามบินแห่งที่ ๒ ค่ะ
นอกจากนโยบายที่ดีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีแล้วที่จะดึงดูดนักลงทุน จากทั่วทุกมุมโลกมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจภาคเหนือนี้ ก็ยังมีสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและ ที่ไม่ใช่ภาษี ยกตัวอย่าง เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด ๑๓ ปี การยกเว้นอากรนำเข้าและเครื่องจักร เพื่อนำเครื่องจักรนั้นมาสนับสนุนอุตสาหกรรม เป้าหมายดังที่ได้กล่าวไป มีการยกเว้นอากรวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์บริการ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรสำหรับบางกิจกรรมจะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง ๑๐๐-๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือที่ได้กล่าวไปเป็นนโยบายที่ดี เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี แต่ดิฉันอยากจะเชื่อมโยงการถอดบทเรียนความล้มเหลว ของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เราคุ้นหูกัน เพราะดิฉันไม่อยากจะให้ ผลกระทบเดิม ๆ เกิดกับพื้นที่ใหม่ที่กำลังจะพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางด้าน สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น กากอุตสาหกรรมทั้งอันตรายและไม่อันตรายที่กำจัดได้ไม่หมด จะต้องขนส่งและ ไม่สามารถบำบัดในจังหวัดตัวเองได้ จะต้องขนส่งออกนอกพื้นที่กว่า ๓.๒ ตันต่อปี ซึ่งจะมี แนวโน้มและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในส่วนของพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในส่วนนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ได้ว่าเงิน ในกระเป๋าของประชาชนในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะจากการที่ดิฉันได้อภิปราย งบประมาณไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา งบประมาณด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานกว่า ๑,๗๐๐ ล้านบาท มีเพียงแค่ ๒๘๐ ล้านบาทเท่านั้น ที่จะพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในอุตสาหกรรม Digital และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะพัฒนา ศักยภาพแรงงานให้ตรงตามลักษณะของแรงงานใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางด้านการเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนแปลงผังเมืองและสิ่งอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐานหรือระบบ ขนส่งคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ระบบขนส่ง คมนาคมจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวต่างชาติ นักลงทุนต่าง ๆ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยว หรือมาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ หรือเขตเศรษฐกิจภาคเหนือจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ถ้าระบบ ขนส่งสาธารณะยังไม่ดีพอ ยังไม่เหมาะสมและทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงจำเป็นต้อง ศึกษาผลกระทบและการดำเนินระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้
ท่านประธานคะ ประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านของเรา นโยบายที่ดี เปรียบเสมือนเงินที่จะเติมลงมาในบ้านของเรา ยิ่งเติมเงินมากเท่าไร ประชาชนในพื้นที่ ประเทศไทยก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ทางด้านผลกระทบ การพัฒนาฝีมือ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เราก็ต้องดูแลด้วย ถ้าโครงสร้าง บ้านหลังนี้ ผลกระทบต่าง ๆ ยังเกิดขึ้น ยิ่งเราเติมเงินไปในบ้านหลังนี้มากเท่าไร สักวันหนึ่ง บ้านหลังนี้จะพังทลายลงมา โดยที่เราอาจจะไม่สามารถรับมือกับมันได้เลย ดิฉันจึงขอวิงวอน เพื่อนสมาชิกในห้องประชุมสภาแห่งนี้ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชนชาวเชียงใหม่เขต ๑ ค่ะ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือนะคะ ดิฉันอยากจะขอสรุปญัตติสั้น ๆ เพื่อที่อาจจะสามารถพัฒนาไปเป็นกรอบการทำงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดนี้ ใน ๓ ประเด็นค่ะ ประเด็นแรก คือในเรื่องของต้นทุน ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายได้ ประเด็นที่ ๓ คือในเรื่องของผลกระทบค่ะ
ในเรื่องของต้นทุน เนื่องจากภาคเหนือของพวกเราเป็นพื้นที่ที่มี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่าง ๆ นานา มีประเพณี วัฒนธรรม และมี ประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และผู้คน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราควรทำให้เกิดการกระจายอำนาจ หรือเน้นการมีส่วนร่วม ในการออกแบบเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายจากพื้นที่ขึ้นสู่ด้านบน ไม่ใช่ทำแผน จากด้านบนลงมาสู่ด้านล่างเพียงอย่างเดียวนะคะ และอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษากฎหมาย ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ด้วยค่ะ
ในประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายได้ อยากจะเอื้อประโยชน์ เอื้อรายได้ให้กับ คนในพื้นที่ เพิ่มเงินในกระเป๋าสำหรับคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แล้วก็ทำให้เงินในกระเป๋า ของพี่น้องประชาชนมีมากเพียงพอ อีกทั้งยังต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วยค่ะ
ในประเด็นที่ ๓ ในเรื่องของผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่เพื่อนสมาชิกของ ดิฉัน ทั้งจากพรรคก้าวไกลและจากพรรคต่าง ๆ ในห้องประชุมแห่งนี้ได้อภิปรายถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ ก็อยากจะให้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไตร่ตรองให้ ถี่ถ้วน และพิจารณาให้การศึกษาครั้งนี้สมบูรณ์ที่สุดค่ะ ไม่ใช่ว่ายิ่งพัฒนายิ่งทำให้เกิดปัญหา สังคมมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการพัฒนา แน่นอนที่สุดมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีปัญหาหรือผลกระทบ ซึ่งผลกระทบนั้นถ้าเราศึกษาให้ดี เราก็จะหาแนวทางป้องกัน หรือว่าแนวทางในการแก้ไขให้ดีได้ค่ะ ก่อนที่จะดำเนินโครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ ดิฉันอยากจะให้พิจารณาให้ดีค่ะ ไม่อยากจะให้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC หรือเขตเศรษฐกิจ พิเศษอื่น ๆ ย้ายที่จากพื้นที่นั้น ๆ ผลกระทบที่เกิดจากพื้นที่นั้น ๆ ย้ายที่มาที่ภาคเหนือ มาที่ จังหวัดเชียงใหม่บ้านของดิฉันเอง หรือมาที่ภาคเหนือบ้านของพวกเราค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑ ขอเสนอ รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๗ คน ๑. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๒. ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓. นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ๔. นายชำนาญ จันทร์เรือง ๕. นายพิพัฒน์ วรสิทธิ์ดำรง ๖. นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ๗. นายบรรณ แก้วฉ่ำ ขอผู้รับรองค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชน ชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานสภาอยู่ ๒ เรื่องด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก เนื่องจากเชียงใหม่ และภาคเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่นควัน และทางรัฐบาลและคณะกรรมการการจัดการปัญหา มลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนได้ออก ๑๑ มาตรการ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยจากที่ดิฉันติดตามมาโดยตลอด ก็มีมาตรการกว่า ๑๑ มาตรการนี้ มีหลาย ๆ มาตรการ ที่ยังไม่มีแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแค่การประชุมปรึกษาหารือกับทาง หน่วยงานเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น มาตรการที่ ๕ การนำเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร มาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และมาตรการที่ ๑๑ การกำหนดหลักเกณฑ์การประกาศเขต ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งดิฉันอยากจะฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานรัฐบาลและคณะกรรมการที่ดิฉันได้กล่าวถึงไปในการที่จะเร่งทำแผนปฏิบัติการ อย่างจริงจังและจริงใจ ตามที่ได้สัญญากับพี่น้องประชาชนค่ะ
เรื่องที่ ๒ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่และอำเภอเมืองของดิฉันเอง รายได้ ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของพี่น้อง ชาวเชียงใหม่ ทั้งผู้มาเยือนและผู้ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันมีบริษัทเดียวที่ทำระบบ ขนส่งสาธารณะนี้ ก็คือบริษัทเอกชนโดยชื่อรถเมล์ว่า RTC หรือรถเมล์ขาว อย่างที่ประชาชน ชาวเชียงใหม่รู้จักกัน แต่ด้วยความแบกรับ เป็นการลงทุนของเอกชน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีการแบกรับต้นทุนทางด้านค่าใช้จ่ายในการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดทำระบบขนส่ง สาธารณะนี้ ทำให้ต้นทุนค่าโดยสารต่อรอบสูงถึง ๕๐ บาทต่อเที่ยว ดิฉันจึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม หน่วยงานองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในการประสานงานร่วมมือกัน เพราะจากที่ผ่านมาได้มีการพยายามที่จะทำให้ ระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่เป็นจริง แต่ว่าขาดการประสานงานร่วมมือตั้งแต่ ระดับนโยบายและระดับงบประมาณ จึงฝากท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่ดิฉัน ได้กล่าวไปเพื่อที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่เป็นจริงอย่างเป็น รูปธรรมค่ะ ขอบคุณค่ะ