นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตต่อการจัดสรรงบประมาณของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงาน กกต. มีปัญหาค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • มีแผนการจัดซื้อจัดจ้างในหมวด ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ได้มีการกำหนดวงเงินอนุมัติกว่า ๒๔๐ ล้านบาท แต่มีข้อมูลจัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณและเบิกจ่ายได้เพียง ๒๗ ล้านบาท คงค้างกว่า ๒๑๓ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของการค้างจ่ายถึง ๘๘.๗๖ เปอร์เซ็นต์ โดย กกต. ให้เหตุผลว่าไม่สามารถแจ้งรายงานงบประมาณที่ค้างจ่ายได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ข้อแรก กกต. จังหวัดส่งแผนงานล่าช้า ข้อที่ ๒ ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาและการมีส่วนร่วม ของพลเมืองส่งแผนงานล่าช้า ทำให้ กกต. ต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารจึงกลายเป็น ภาระเงินค้างจ่ายตามที่ท่านประธานได้ทราบค่ะ ปี ๒๕๖๔ ขอรับการจัดสรรงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างจำนวนถึง ๒๘๐ ล้านบาท มีข้อมูลทำแผนเพียง ๒๗ ล้านบาท คงเหลือรอรวบรวมแผนถึง ๒๓๘ ล้านบาท ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก ในส่วนการทำแผนโครงการถูกต้องหรือไม่ อย่างไรคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ถ้าท่านยังไม่ได้จัดทำแผนแล้วยอดเงินของการขอรับการจัดสรร มีที่มาอย่างไรคะ และถ้าการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการก่อสร้างล่าช้าตามที่ท่านได้นำเรียน แจ้งข้างต้น กกต. ได้ส่งเงินค้างจ่ายคืนกลับกระทรวงการคลังหรือไม่ อย่างไร และเมื่อดิฉัน ได้ย้อนกลับไปดูรายงานผู้สอบบัญชีปี ๒๕๖๓ ดิฉันกลับพบว่าในส่วนของงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังค่ะ และมียอดเงินถึง ๘๘ ล้านบาท และจนถึง วันที่ทำรายงานเล่มนี้ มิถุนายน ปี ๒๕๖๕ ก็ยังรายงานผลตามแผนดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ ดิฉันจึงขอตั้งเป็นข้อสังเกต กกต. ของบประมาณมากกว่าความสามารถในการบริหารจัดการ ใช่หรือไม่ อย่างไร เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงปี ๒๕๖๔ ท่านก็ยังส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่แล้วเสร็จค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย อย่างที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้พูดและอภิปรายไป ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา กกต. ทราบอยู่แล้วว่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดในวันที่ ๒๓ มีนาคม ซึ่งท่านจะต้อง จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๔๕ วันนับตั้งแต่วันครบวาระ แต่ท่านกลับไม่ได้เตรียมการ ตั้งงบประมาณการเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นท่านยังใช้งบประมาณ ในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงถึง ๕.๙ พันล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในรอบ ๒๐ ปี แต่กลับไม่มีการจัดการ ระบบรายงานผลการเลือกตั้งแบบ Real time และยังมีปัญหาอีกมากมายที่เพื่อนสมาชิก ได้พูดเยอะแยะเต็มไปหมด ดิฉันจึงขอตั้งคำถามงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ควรมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้ กกต. เป็นหน่วยงานที่คุ้มค่ากับภาษี ประชาชนหรือไม่คะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับเกษตรกร ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งดิฉันนับว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกร มีช่องทางในการเข้าถึงทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนสมาชิกได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การขอกู้เงิน ของกองทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยกองทุนแบ่งผู้กู้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก เป็นหน่วยงานรัฐเป็นผู้กู้ โดยให้กลุ่มองค์กรเกษตรกรเสนอโครงการและทำสัญญา กับหน่วยงาน และประเภทที่ ๒ เป็นองค์กรเกษตรกร เช่น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจ ชุมชน เป็นผู้กู้โดยตรง โดยให้ส่วนราชการรับรองและตรวจสอบข้อมูล เมื่อดิฉันศึกษา เข้าไปที่รายงานประจำปี ๒๕๖๔ ถึงการใช้งบประมาณกองทุน ดิฉันมองว่าข้อมูลที่ท่าน ส่งผ่านมายังสภายังมีความไม่สมเหตุสมผล โดยที่ดิฉันมีข้อสังเกตในภาพรวมดังต่อไปนี้ ท่านประธานคะ ข้อสังเกตทั้งหมดแยกออกเป็น ๔ ประเด็น รบกวนขอ Slide ด้วยนะคะ หน้าตารางค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ตัวเลขอาจจะเล็กนิดหนึ่งนะคะ ท่านประธาน ขออภัย ประเด็นแรกสัญญาที่อยู่ระหว่างบังคับคดีหรืออาจจะเป็นหนี้สูญ มีมากกว่าร้อยละ ๑๐ เป็นสัญญาที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้กู้โดยตรง แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ไปทำ โครงการมา โดยเงินกู้ของบางหน่วยงานอาจถูกตีเป็นหนี้สูญถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดิฉัน คาดว่าสาเหตุอาจจะเกิดจากการที่หน่วยงานของภาครัฐผู้ให้กู้ไม่ได้ติดตามดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงิน หรือท่านอาจจะละเลยการตรวจสอบจึงทำให้โครงการล้มเหลว เกษตรกร ไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ มีสัญญาโครงการที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้กว่าร้อยละ ๘๗ และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การบังคับคดีหรืออาจเป็นหนี้สูญ แม้ว่าท่านจะขยายแผน การชำระหนี้ให้แล้ว แต่กลุ่มผู้กู้ก็ยังไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้ได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ จากการรับทราบข้อมูลจากในพื้นที่ กรณีการกู้เงินแบบองค์กร เกษตรกรเสนอกู้เอง ดิฉันทราบมาว่ามีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเป็นผู้ไปช่วยเขียนโครงการเพื่อให้ สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของตนเอง ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญนะคะท่านประธาน ถ้าเป็นข้อเท็จจริงและเกิดขึ้นจริง ก็จะตอบคำถามข้างต้นของดิฉันได้ว่าทำไมโครงการ ที่กองทุนปล่อยเงินกู้ไปจึงไม่ประสบความสำเร็จและเป็นหนี้สูญ เพราะมันไม่สะท้อนถึง ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเกษตรกร ดิฉันขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยตรวจสอบประเด็นสำคัญประเด็นนี้ด้วย ดิฉันไม่อยากให้เงินของแผ่นดิน เข้ากระเป๋าของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกษตรกรไทยควรได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนนี้ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ประเด็นสุดท้ายค่ะท่านประธาน ผลการชำระเงินกู้จาก ๔๘ โครงการที่ขอกู้มา มีการนำเงินมาปิดยอดโครงการเพียง ๓ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑ ซึ่งดิฉันขอถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก และตัวเลขที่ต่ำมากนี้อาจจะสะท้อนการบริหารจัดการ โครงการที่ไม่ค่อยเป็นผลสำเร็จ ดิฉันจึงขอตั้งข้อเสนอให้คณะกรรมการกองทุนมีมาตรฐาน ในการปล่อยเงินกู้แก่โครงการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่ก็จะมี ปัญหาของเกษตรกรที่ต่างกัน และขอให้ท่านเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยได้รับ การจัดสรรเงินกู้ให้ได้ง่ายขึ้น ดิฉันอยากขอร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านตระหนักถึงปัญหา ของการใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับเจตนารมณ์ที่กองทุนเราได้จัดตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรไทยทุกท่านได้อย่างแท้จริง ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย รบกวนขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือ ท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง เกษตรกรชาวสวนกล้วย จังหวัดสุโขทัยเป็นแหล่งปลูกกล้วยตานีเพื่อขายใบตองที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ เรามีพื้นที่ปลูกกล้วยกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยเฉพาะ ในข้อ ๕.๑.๑ กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยา จะให้การช่วยเหลือตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ ๓๐ ไร่ ตามข้อเท็จจริง กรณีไม้ผล ไม้ยืนต้น อ้อยโรงงาน และกล้วยตานี เมื่อประสบภัยธรรมชาติแล้วจะได้รับ ผลกระทบ ๒ แบบ แบบแรกไม่ตาย แต่ถูกน้ำขัง น้ำแล้ง ผลผลิตจะลดลงหรือไม่ผลิตเลย ในฤดูกาลนั้น แบบที่ ๒ ตาย แต่พืชกลุ่มนี้ใช้เวลานานกว่า ๔ เดือนจึงจะยืนต้นตาย จึงไม่ทัน การสำรวจความเสียหาย เพราะในระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องสำรวจภายใน ๙๐ วันหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ ดังนั้นที่ดิฉันได้พูดคุยปัญหากับกลุ่มเกษตรกรจึงพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาใด ๆ จากการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ของท่าน และเขาจะต้องสูญเสียรายได้นานกว่า ๖ เดือน รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มฟื้นฟู ต้นกล้วยให้กลับสู่สภาพเดิม ดิฉันจึงขอเรียนเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยแก้ไข หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้ค่ะ แก้ไขในข้อ ๕.๑.๑ กรณีพืชตายหรือไม่ตาย แต่ผลผลิตไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้ให้ช่วยตามจำนวน พื้นที่เพาะปลูกที่เสียหาย กรณีที่ ๒ อัตราการช่วยเหลือที่ประกาศไม่สอดคล้องกับต้นทุน การผลิต จึงขอให้ท่านพิจารณาเพิ่มอัตราการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับต้นทุนของการผลิต ในยุคปัจจุบัน ดิฉันในฐานะตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ ขอวิงวอนให้ท่าน รีบแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือนี้โดยเร่งด่วน เพื่อแบ่งเบาภาระและต่อลมหายใจ ให้กับเกษตรกรชาวสวนกล้วยและไม้ผลต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอเร่งรัดให้ท่านเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาราคาวัวและสุกร ตกต่ำ เพราะเป็นปัญหาที่ค้างคายาวนานกว่า ๔ ปีแล้ว ในร้านอาหารอาหารที่ทำจากเนื้อวัว มีราคาแพง สวนทางกับราคาวัวเป็น หมูเป็นในตลาดที่ถูกมาก ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงวัวและสุกรหนี้สินรุมเร้าพอกพูนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวแล้วค่ะ ดิฉันเจ็บปวดใจ เป็นอย่างมาก จึงขอเร่งรัดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาราคาวัว สุกรตกต่ำ รีบทำการเจรจาผลักดันการส่งออกโดยเร็วค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขออภิปรายญัตติเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรคือ โคกระบือ สุกร ตกต่ำค่ะ และดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาโค กระบือ ตกต่ำ ราคาโคจากเดิมเกษตรกรเคยขายได้ในราคา ๑๒๐ บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันคงเหลือ ราคา ๘๘ บาทต่อกิโลกรัม และคงราคานี้มานานกว่า ๙ เดือนแล้วค่ะ โดยดิฉันได้สอบถาม เบื้องต้นจากเกษตรกรพบว่าจุดคุ้มทุนของการเลี้ยงโค อย่างน้อยจะต้องขายโคได้ในราคา ๑๐๐ บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไป ผู้เลี้ยงจึงจะเพียงพอที่จะอยู่ได้ แต่ปัจจุบันราคาขาย ๘๐ บาท จึงเป็นราคาที่ขาดทุน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคประสบปัญหาหนี้สินรุมเร้าจากราคาที่ตกต่ำ

    อ่านในการประชุม

  • และอีกประการหนึ่ง รัฐบาลยังต้องเร่งแก้ปัญหาโค กระบือเถื่อน ซึ่งซ้ำเติม เกษตรกรเพิ่มขึ้น ดิฉันได้รับข้อร้องเรียนมาจากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงว่ามีกระบวนการนำเข้า โคเถื่อนโดยผ่านช่องทางพิเศษ และยังมีการสวมสิทธิการนำเข้า โดยช่องทางพิเศษที่กล่าวถึง เป็นช่องทางธรรมชาติผ่าน ๒ จังหวัด ช่องทางแรกอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่องทางที่ ๒ จังหวัดตาก ท่านประธานทราบไหมคะ เขาเล่าลือกันว่ามีค่าใช้จ่ายพิเศษ ต่อเที่ยวกว่า ๘๐,๐๐๐ บาท จนเป็นที่โจษจันว่า ๘๐,๐๐๐ ครบจบในที่เดียว นี่ใช่ไหมคะ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาโค กระบือตกต่ำ เพื่อจะครอบคลุมครบทุกหน่วยงาน ใน ๘๐,๐๐๐ บาทนี้นะคะ แม้ไม่มีใบอนุญาตแต่สามารถบินไปได้ทั่วประเทศ ส่งผลให้ โคกระบือที่ไม่ได้ทำวัคซีนเหล่านี้นำโรค Foot and Mouth หรือว่าโรคปากเท้าเปื่อย โรค Hemorrhagic Septicemia หรือโรคคอบวม และโรค Lumpy skin มาติดกับ โคกระบือในประเทศ ซ้ำเติมปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยง ดิฉันขอเสนอให้มีการกักโรค อย่างน้อย ๑ เดือน และต้องทำวัคซีนให้ครบ ปลอดโรคอย่างจริงจัง จึงจะสามารถแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ได้

    อ่านในการประชุม

  • และสิ่งสำคัญอีกประการค่ะ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั้งตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย บรูไน เวียดนาม หรือจีน เพราะมีความต้องการ เนื้อโคจำนวนมาก เพราะทุกวันนี้เกษตรกรไทยจะขายโคกระบือไปประเทศจีน ต้องผ่านโควตา สปป. ลาว ให้เขากินหัวคิวเกษตรกรไทยฟรี ๆ ท่านประธานทราบไหมคะเพราะอะไรรัฐบาล ของ สปป. ลาวจึงสามารถส่งโคไปประเทศจีนได้ แม้ว่าตัวเองไม่ได้เลี้ยง เพราะว่ารัฐบาลเขามีความสามารถมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาของเรา รัฐบาล สปป. ลาว มีการเจรจาไปส่งโควตาโค กระบือได้ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ตัวต่อปี โดยที่ สปป. ลาวไม่ได้เลี้ยง โค กระบือค่ะ แต่โค กระบือทั้งหมดมาจากประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องเร่งเจรจา กับประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะดิฉันมุ่งเน้นเรื่องประเทศจีนเพราะว่าอยากให้ รัฐบาลเจรจาส่งออก ๑ ล้านตัวต่อปี จึงจะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้ขายตรง ไม่ผ่านคนกลาง ไม่ถูกกินหัวคิว และไม่ถูกกดราคาค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง ดิฉันทราบมา ว่ามีการลักลอบนำเข้าโค กระบือชำแหละเถื่อนหรือโคกล่องค่ะ ถูกนำเข้ามาจากทาง ชายแดนภาคใต้ มีทั้งมาจากประเทศอินเดียและประเทศบราซิล นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไทยมีโรคระบาดไม่จบไม่สิ้น และยังส่งผลกระทบให้ราคาโค กระบือตกต่ำ รวมถึง ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินภาษีประชาชนอย่างมหาศาล เพื่อมาเป็นค่าวัคซีนป้องกันโรค เหล่านี้ ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจากปัญหา ซ้ำซากที่กล่าวมา ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของท่านนายกเศรษฐา จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือได้อย่างแน่นอนค่ะ อนาคตประเทศเรา จะสามารถส่งออกโค กระบือไปได้ทั่วโลก เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือจะจับเงินแสน มีเงินล้านหมดนี้หมดสินได้อย่างแน่นอนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • และลำดับถัดมาเรื่องหมูเถื่อนค่ะ ปัจจุบันเป็นข้อกังวลใจของผู้เลี้ยงสุกร ทั้งประเทศ ดิฉันย้ำว่าทั้งประเทศนะคะ เราทราบกันดีว่ากว่า ๒ ปีที่ผ่านมาเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาสุกรเป็นโรค ASF หรือว่าโรคอหิวาต์แอฟริกา และด้วยการ แก้ปัญหาที่ล่าช้าไม่ยอมรับความจริง กล่าวอ้างว่าสุกรเป็นโรค PRRS ไม่ร้ายแรง จนส่งผลให้ ผู้เลี้ยงสุกรกว่าหลายแสนรายถูกโรค ASF เล่นงานจนหมดเนื้อหมดตัว แทบจะขายชีวิต มาใช้หนี้ใช้สินแล้วค่ะท่านประธาน ปัจจุบันพอสถานการณ์เริ่มจะดีขึ้นเกษตรกรผู้เลี้ยง เริ่มจะกู้ชีวิตกลับมาเริ่มต้นใหม่ กลับยังต้องประสบปัญหาถูกหมูเถื่อนมาทำให้ราคาหมู ในตลาดตกต่ำ ท่านประธานทราบไหมคะ หมูเถื่อนถูกนำเข้ามาในประเทศเราและตกค้าง อยู่ที่ท่าเรือกว่า ๑,๐๐๐ ตู้ มูลค่ากว่า ๔๐๐ ล้านบาท โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนิ่งนอนใจ ไม่เร่งแก้ไขปัญหา และจากการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้หมู่เถื่อนเข้ามาในประเทศ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและคุณภาพ จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศได้รับ ผลกระทบเป็นวงกว้าง พอจะกู้วิกฤติฟื้นชีวิตขึ้นมากลับโดนหมูเถื่อนเล่นงาน ต้องตายซ้ำ ตายซาก พวกท่านพอใจหรือยังคะ

    อ่านในการประชุม

  • และปัญหาที่สำคัญถัดมา ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดิฉันขอยกตัวอย่างค่ะ ปี ๒๕๖๔ ราคาปุ๋ยอยู่ที่กระสอบละ ๕๘๐ บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ ๗๕๐-๑,๐๕๐ บาทต่อกระสอบ และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปุ๋ยยูเรียเป็นวัตถุดิบหลักที่ต้องใช้ ทางการเกษตร ปัญหาราคาปุ๋ยยูเรียที่เพิ่มสูงขึ้นจึงกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรทุกกลุ่ม และส่งผลให้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรกลับตกต่ำลง ซึ่งสวนทางกันค่ะ จึงส่งผลให้เกษตรกรมีอัตราหนี้สินเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ดังนั้นดิฉันเห็นว่าแนวทางการพักชำระหนี้ เกษตรกรของพรรคเพื่อไทยที่จะพักทั้งต้น พักทั้งดอก จึงเป็นมาตรการเร่งด่วนเพราะช่วย ต่อลมหายใจชั่วคราวให้กับพี่น้องเกษตรกร แต่ดิฉันขอเสนอการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน อีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลต้องแก้ไข ควบคุมราคาปุ๋ยยูเรียให้มีเสถียรภาพ หาแหล่งผลิต ภายในประเทศเพื่อสามารถควบคุมราคา นี่จึงเป็นการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยให้เกษตรกรได้ อย่างยั่งยืน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ที่ดินเป็นทรัพยากรที่สำคัญของคนทุกคน การออก เอกสารสิทธิที่ดินให้ส่วนที่ดินสาธารณะก็มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้หน่วยงานต่าง ๆ มีหน้าที่ดูแลรักษา และกฎหมายยังเปิดช่องทางให้ที่ดินสาธารณะ บางประเภทสามารถออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล. ได้ การออกเอกสารสิทธิ ในที่ดินให้แก่เอกชน แม้จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ดินที่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ จะต้องไม่อยู่หรือทับซ้อนในที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือที่ดินที่มีการสงวนหวงห้ามไว้ ตามกฎหมาย เช่น ที่ป่า ที่ภูเขา เกาะ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขอพูด ถึงความเดือดร้อนของประชาชนอำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอศรีสำโรงบางส่วน และอำเภอ สวรรคโลกบางส่วน ในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อใช้ สำหรับเลี้ยงสัตว์พาหนะ หรือเรียกกันว่าทุ่งเลี้ยงสัตว์ มีจำนวน ๓ แปลง ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๕ ตำบล คือ ตำบลกลางดง ตำบลทุ่งเสลี่ยม ตำบลไทยชนะศึก ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล และตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเนื้อที่รวมกันกว่า ๖๖,๔๗๕ ไร่ พื้นที่ที่ดิฉันกล่าวถึง ถูกประกาศโดยนายอำเภอสวรรคโลก เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๗๑ และยังทับซ้อนกับ พื้นที่เขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการกรมป่าไม้ ตามพระราชกฤษฎีกา ปี ๒๔๘๖ มีพื้นที่ ประมาณ ๓๓๐,๐๐๐ กว่าไร่ ครอบคลุม ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งเสลี่ยม กว่า ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ อำเภอศรีสำโรง กว่า ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ อำเภอสวรรคโลกกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ การออกเอกสารสิทธิ ในที่ดินจึงเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งแตกต่าง กันไปตามฐานะที่กฎหมายกำหนด เช่น โฉนดที่ดิน เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หนังสือ รับรองการทำประโยชน์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ให้กับประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะนั่นเป็นการรับรอง สิทธิในทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเพื่อความมั่นคงในการทำประโยชน์ในที่ดิน ส่งผลต่อ การเพิ่มผลพวงในด้านเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ที่ประกอบธุรกิจการค้า และเป็นการกระจาย รายได้สู่ภาคประชาชน ซึ่งจะสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน เพื่อเป็นทุน หมุนเวียนให้กับการประกอบอาชีพได้ และเป็นการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ การเร่งรัด การออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่รัฐ ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรับรองสิทธิของประชาชน ทั้งยังเป็นการป้องกันปัญหาข้อพิพาท ระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือเอกชนกับภาครัฐ ปัจจุบันพื้นที่ที่ดิฉันกล่าวถึงเป็นชุมชน สถานที่ราชการ ที่ทำกินของประชาชน ไม่มีสภาพป่า หรือไม่มีสภาพที่ดินสำหรับทุ่งเลี้ยงสัตว์ แล้วค่ะ ที่ดินที่ส่วนราชการครอบครองเป็น น.ส.ล. สำหรับที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ที่ของราษฎร มีการออกเอกสาร น.ส. ๓ ก. บางส่วน ที่เหลือยังไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คุณสุวชิต วงศ์สะเดิด เป็นตัวแทนราษฎร ทำการยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินในเขตหวงห้ามดังกล่าว และขอดำเนินการแก้ไขที่ดินที่ทับซ้อนกัน ตามประกาศอำเภอสวรรคโลก ที่กำหนดพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ พาหนะ ปี ๒๔๗๑ และพระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการของกรมป่าไม้ ปี ๒๔๘๖ รวมถึงได้ยื่นเรื่องถึงศูนย์บริการร่วมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ท่านประธานคะ ปัญหาเรื่องคนรุกป่า ป่ารุกคน เหมือนไก่กับไข่ที่เรายังหาข้อสรุปไม่ได้ พื้นที่ทุ่งเสลี่ยม ศรีสำโรง และสวรรคโลกบางส่วน คือภาพสะท้อนของปัญหาเรื่องนี้ได้เป็น อย่างดี เพราะเป็นข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ ล่วงเลยมายาวนานจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ ตรงนี้ ๘๐ ปีแล้ว มีผู้คน ชุมชนอาศัยอยู่ แต่ตอนที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ ท่านประธานต้องไม่ลืม ในอดีตการประกาศและนำเสนอข้อมูลข่าวสารของรัฐให้ประชาชน ทราบเป็นเรื่องที่ไม่ทั่วถึงและการเดินทางก็ไม่สะดวกเหมือนในยุค 5G แบบทุกวันนี้ ชาวบ้าน ไม่รู้ว่าที่ดินที่ตนอยู่อาศัยและทำมาหากินมาชั่วชีวิตถูกประกาศเป็นเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ และความเป็นจริงปัจจุบันที่ดินเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของตัวอำเภอแล้ว เมื่อที่ดินไม่ได้รับการปรับฐานข้อมูลและออกเอกสารสิทธิให้ถูกต้องกับความเป็นจริง ของพื้นที่ จึงส่งผลกระทบถึงชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ถูกแจ้งว่า เป็นเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่อาศัยมามากกว่า ๔ ช่วงอายุคน ชาวบ้านจึงไม่ได้รับเอกสารสิทธิ บางรายมีเอกสารแสดงการครอบครอง แต่ไม่สามารถนำที่ดินในส่วนตรงนี้ไปทำเรื่องกู้เงินที่ ธนาคาร เพราะธนาคารเขาไม่อนุมัติวงเงิน จึงทำให้ต่อยอดอาชีพไม่ได้ถ้าเราสามารถผลักดัน เอกสารสิทธิได้ จะทำให้ประชาชนที่มีที่ดินได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและจะส่งผลให้ที่ดินทั่ว ประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ดิฉันจึงเห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหาการออกโฉนดที่ดินเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน และสุดท้ายนี้ดิฉันมีข้อเสนอแนะ ๕ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. พิจารณาศึกษาปัญหาการออกเอกสารสิทธิและปัญหาที่ดินทำกิน ของราษฎรเพื่อแก้ไขปัญหาการทับซ้อนแนวเขตที่ดินของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. พิจารณาศึกษาเพื่อจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ต้องยกระดับปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนและที่ดินป่าไม้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเร่งดำเนินมาตรการที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • ๔. พิจารณาศึกษาแนวทางบรรเทา ทุเลา เยียวยาปัญหาประชาชนที่ยากไร้ ที่ถูกดำเนินคดีในระยะสั้น

    อ่านในการประชุม

  • ๕. พิจารณาศึกษาแนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการที่ดิน ของประเทศไทยในระยะยาว ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ จังหวัดสุโขทัยมีทั้งหมด ๙ อำเภอ ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • มีอำเภอที่แม่น้ำยมสายหลัก ไหลผ่าน ๕ อำเภอ โดยเริ่มจากทางด้านบนลงมาคืออำเภอศรีสัชนาลัย ไหลลงมา อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ และส่งต่อไปที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ของดิฉัน จังหวัดสุโขทัยเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คนสุโขทัยประสบปัญหา เหล่านี้วนเวียนซ้ำซาก สาเหตุสำคัญก็คือฝนตกที่เทือกเขาผีปันน้ำที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำยม ไหลลงมาจังหวัดลำปางต่อมาที่จังหวัดแพร่ ฝนตกเท่าไร ก็ไหลลงมาสู่สุโขทัยทั้งหมดค่ะ จังหวัดสุโขทัยมีประตูระบายน้ำที่บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ที่กั้นน้ำและกักเก็บน้ำได้เพียง ๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงประตูเดียว ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูฝนที่มีน้ำหลากน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย และเมื่อถึงฤดูแล้งก็ไม่มีที่กักเก็บน้ำ ตรงด้านล่างของแม่น้ำยมที่จะส่งน้ำต่อไปที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จึงทำให้น้ำ ไหลผ่านไปจนหมดเป็นสาเหตุของน้ำท่วมซ้ำซากและแล้งซ้ำซาก ท่านประธานคะ ปี ๒๕๓๔ มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เพื่อขอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะจะทำให้มีพื้นที่ รับน้ำกว่า ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านมามากกว่า ๒๐ ปีแล้ว โครงการนี้ไม่ประสบ ความสำเร็จ เนื่องจากมีการต่อต้านจากหลายภาคส่วน เพราะมองว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะทำลายทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติ แต่ดิฉันคิดว่าการเกิดน้ำท่วมน้ำแล้งส่งผลทำให้คน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมทั้งหมดเลยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาบ้านเรือน และผลผลิตทาง การเกษตรก็เสียหาย พื้นที่ทางเศรษฐกิจจมบาดาล มีคนตายจากอุทกภัยนี้ทุกปี อีกทั้งรัฐบาล ยังต้องจ่ายเงินชดเชยทุก ๆ ปี เป็นจำนวนเงินหลายพันไปจนถึงหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งดิฉันถือว่า นั่นเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ค่ะ ก่อนหน้านี้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสุโขทัยประสบ ปัญหาภัยแล้ง ประชาชนและเกษตรกรเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำ ทำการเกษตร พื้นที่การเกษตรกว่าหลายหมื่นไร่ประสบปัญหาข้าวม้านน้ำ แต่เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังไม่ทันถึง ๑ เดือนเลยค่ะท่านประธาน สุโขทัยกับประสบ ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลเพิ่มมาจากจังหวัดแพร่ ส่งผลให้พี่น้อง ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จากที่ดิฉันและทีมงานลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตาม สถานการณ์มวลน้ำที่ไหลลงมาจากทางเหนืออย่างใกล้ชิด และได้รับข้อมูลจากกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยพบความเสียหายที่พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมาก พื้นที่ ๙ อำเภอ ๖๕ ตำบล ๓๑๗ หมู่บ้าน กว่า ๔,๓๒๒ ครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ด้านเกษตรกรประสบภัยแล้ว ๙ อำเภอ พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ท่านประธานคะ ดิฉันขอย้ำว่าแม่น้ำยมจะต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือมีแหล่งเก็บน้ำที่จังหวัดพะเยาซึ่งเป็น แหล่งต้นน้ำจึงจะสามารถช่วยลดผลกระทบนี้ได้ และดิฉันขอฝากข้อเสนอแนะรวมถึง มาตรการเร่งด่วนผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือ และเพื่อให้ช่วยกันเร่งดำเนินการแก้ไขดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ ส่วนราชการโดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมชลประทานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำต้องร่วมกันแก้ กฎหมายที่ติดขัดบูรณาการทำงานหลายส่วนร่วมกัน ไม่ใช่ว่ามีโครงการ แต่ไม่ได้รับ การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๓ เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณให้รีบก่อสร้างซ่อมแซม ฝายชะลอน้ำและงานขุดลอก เพิ่มความจุแหล่งน้ำให้รวดเร็ว

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสุดท้าย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดสำรวจความเสียหายเพื่อนำไปสู่ การชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และพื้นที่ทางการเกษตรโดยด่วน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม