ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ครั้งที่ 18 วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.42 - 20.20นาฬิกา
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิกได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ จะให้ปรึกษาหารือตามลำดับรายชื่อ ท่านละ ๒ นาที ท่านธัญธรมาหรือยังครับ เชิญท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่องดังนี้ครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาการวางท่อประปาในซอยเพชรเกษม ๕๑ ป้ายที่ประกาศของ การประปานครหลวงระบุว่างานจะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม แต่ปัจจุบันงานก็ยัง ไม่เสร็จ ขอให้แจ้งพี่น้องประชาชนติดป้ายใหม่บอกว่าล่าช้าเพราะอะไร และจะแล้วเสร็จ จริง ๆ เมื่อไร หลาย ๆ ครั้งที่มีการวางท่อซ่อมถนนวันที่จะถูกยืดออกไปเรื่อย ๆ กำหนด วันเสร็จสิ้นตรวจรับงานควรจะตรงเวลากว่านี้ และควรมีมาตรการค่าปรับหรือเลิกจ่ายงาน ให้กับผู้รับเหมาเจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้า บังคับใช้อย่างจริงจัง สืบเนื่องจากเรื่องแรก
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ พอมีการวางท่อประปาใหม่ ทำฝั่งหนึ่งอีกฝั่งหนึ่งก็จะมีปัญหา อิฐ หิน ดิน ปูน ไปกองอยู่ในท่อ อีกข้างหนึ่งก็มีปัญหาน้ำท่วมขังตามมา แก้ปัญหากันไม่ได้ สักที ขณะนี้ในหมู่บ้านเพชรเกษม ๒ ฝั่งใต้ ทั้งซอยเพชรเกษม ๕๕/๑ และ ๕๕/๒ มีประชาชน ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากครับ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาวิธีการที่ให้นำเศษ วัสดุต่าง ๆ ไปทิ้งอย่างถูกวิธี และมีมาตรการด้านความปลอดภัย นำกรวยมากั้น นำเชือกมากั้น ให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องมาเจอกับพื้นต่างระดับ แล้วขับรถอันตรายในตอนกลางคืน อีกต่อไป
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดประจำถิ่นของไทย โดยปกติจะมี การระบาดซ้ำในทุก ๒-๕ ปีเป็นระบาดครั้งใหญ่ และปัจจุบันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อก็เริ่มมากขึ้น อีกครั้ง เสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งครับ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่ง ประชาสัมพันธ์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีมาตรการด้านการรับวัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เชิญครับ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานค่ะ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกลค่ะ ขออนุญาตนำสไลด์ขึ้นด้วยนะคะ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
วันนี้ดิฉันมีเรื่อง ปรึกษาหารือท่านประธาน จากเรื่องร้องเรียนของประชาชนพื้นที่แจ้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมา
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องของรถบรรทุก รถขนดิน ที่วิ่งเข้ามาในพื้นที่เขตสายไหม และเขตบางเขนบางส่วน บนถนนเทพรักษ์ บนถนนสุขาภิบาล ๕ และถนนสายไหม โดยปัญหา จากรถบรรทุกรถขนดินหลัก ๆ อยู่ ๔ ประเด็นด้วยกันค่ะ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นแรก เรื่องรถบรรทุกวิ่งนอกเวลาที่กฎหมายอนุญาตในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งในช่วงเช้าและเย็น ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นจำนวนมาก
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องรถขนดินหลายคันทำดินตกหล่นระหว่างทาง สร้างความ เดือดร้อนให้กับผู้ใช้ถนนเป็นจำนวนมาก แล้วก็สุ่มเสี่ยงในการที่จะเกิดอุบัติเหตุด้วย
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ รถบรรทุกจำนวนมากขับรถเร็วมาก ๆ สร้างความรู้สึก ไม่ปลอดภัยให้กับประชาชน มีประชาชนร้องเรียนมาใน Page ทนายแจม Page ก้าวไกล สายไหม หรือว่า Page สะพานใหม่จำนวนมากกว่ามีรถบรรทุกขับรถเร็ว อันตราย ก็อยากให้ แก้ไขปัญหาด้วย
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย เนื่องจากบริเวณถนนเส้นเทพรักษ์ยังไม่มีข้อบังคับจราจร ทำให้หลายครั้งที่รถบรรทุก รถบัส รถโดยสารจอดริมถนนอย่างภาพเมื่อสักครู่ ทำให้กีดขวาง ทางเข้าออกของผู้อาศัยอยู่บริเวณนั้น แล้วก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายครั้งมาก ๆ ดิฉันจึงขอหารือ ท่านประธานผ่านไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบค่ะ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล สายไหม เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลบางเขน เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลคันนายาว ให้ช่วย เข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนด้วยค่ะ ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านทรงศักดิ์ มุสิกอง เชิญครับ
นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผมได้รับทราบปัญหาจากท่านนายกธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาล เมืองปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องการขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อ ความมั่นคงระดับชุมชนจากสำนักทรัพยากรน้ำ เขต ๖ จังหวัดตรัง ในพื้นที่ของตำบลปากพูน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้านในพื้นที่บ้านสวนจันทร์ หมู่ที่ ๕ และพื้นที่บ้านมะม่วงทอง หมู่ที่ ๗ รวมประชากรกว่า ๓๖๐ ครัวเรือน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวยังมี ทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน มัสยิดและวัดรวมอยู่ด้วย เทศบาลเมืองปากพูนได้ ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ และได้ส่งเอกสารไปให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๖ จังหวัดตรัง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ จึงขออนุญาตฝากท่านประธานประสานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วยครับ
นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
อีกประเด็นก็คงจะเป็นโครงการปรับภูมิทัศน์ปากน้ำแห่งอนาคต หมู่ที่ ๔ ตำบลปากพูน เพื่อสร้างท่าเรือและปรับภูมิทัศน์ ฝากกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อขอรับ งบประมาณจากงบพัฒนาเมืองเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ด้วยครับ
นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องถัดมา นางสุขุมาล แก้วประภาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช แจ้งถึงอันตรายของเส้นทางน้ำจากคลองพรุ ในพื้นที่หมู่ที่ ๖ ที่มีการกัดเซาะจนพื้นถนนเสียหายเป็นวงกว้าง ระยะทางของถนนมีกว่า ๑,๕๐๐ เมตร แล้วก็เส้นทางจราจร มีชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๖ ของ ตำบลนาพรุ จึงฝากท่านประธานสภาไปยังกรมชลประทานในการจัดทำโครงการก่อสร้าง พนังกั้นดินคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ท่านชูศักดิ์ ลักษโณสุรางค์ ประธานสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม ร้องเรียนเรื่องถนนสายศูนย์ราชการตำบลนาพรุ ระยะทาง ๕,๖๐๐ เมตร ไม่มีไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางหลักในการ เชื่อมต่อไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการอำเภอพระพรหม เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนตำบลนาพรุ จึงขออนุญาตเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งเสาไฟฟ้า ๒ ข้างทางด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านบุญแก้ว สมวงศ์ เชิญครับ
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายบุญแก้ว สมวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร พรรคเพื่อไทย ขอหารือ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ชาวอำเภอคำเขื่อนแก้ว เนื่องจากถนนสาย ๒๓ จังหวัดยโสธรไปจังหวัดอุบลราชธานี ทางชาวบ้านอำเภอคำเขื่อนแก้วอยากให้ทำเกาะกลางช่วงระหว่างโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ไปถึงบ้านดอนเขือง แล้วก็เปิดจุดกลับรถระหว่างทางเข้าวัดพระธาตุกู่จาน ซึ่งเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวของพี่น้องชาวจังหวัดยโสธร
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือถนนสาย ๒๐๔๓ มหาชนะชัย-พนมไพร ถนนสายนี้เป็น ๒ ช่องจราจร ก็อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ขอให้กรมทางหลวงได้ขยายช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อสัญจรไปมา และถนน สาย ๒๓๕๑ มหาชนะชัย-ค้อวัง ยางชุมน้อยไปถึงจังหวัดศรีสะเกษ ถนนสายนี้ก็เป็นถนน ๒ ช่องจราจร ก็อยากฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยขยายเป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อให้พี่น้องได้สัญจรไปมาได้สะดวก แล้วก็อีกสายหนึ่งก็คือ สาย ๒๐๘๓ ระหว่างอำเภอมหาชนะชัยไปอำเภอราษีไศล ไปอำเภอ อุทุมพรพิสัย และไปจังหวัดศรีสะเกษและต่อไปถึงจังหวัดสุรินทร์ ก็อยากให้ช่วงมหาชนะชัย ไปอำเภอราษีไศล ขอให้ขยายเป็น ๔ ช่องจราจร เพราะว่าถนนสายนี้พี่น้องประชาชน ได้สัญจรไปมาหลายจังหวัด แล้วก็ขอให้ทางหลวงชนบทช่วยก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี ระหว่างบ้านทรายงาม ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ข้ามไปยังบ้านกุดพันเขียว ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สัญจรไปมาสะดวก เพื่อขนสินค้า เพื่อการเกษตร และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือผมได้รับร้องเรียนผ่านมาถึงท่านรัฐมนตรี ธรรมนัส พรหมเผ่า เนื่องจากพี่น้องได้ประสบภัยน้ำท่วมช่วงฤดูฝน ท่วมไร่นาแล้วก็พืชผลทางการเกษตร อยากให้ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ช่วยอนุมัติเงินเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ขอสไลด์เลยนะครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ ท่านประธาน ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือกับท่านในระดับประเทศถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วย ค่าฝุ่นพิษในอากาศของอำเภอลำลูกกาสูงลิ่วเลย ทุกวันจะติดอันดับ Top 10 ล่าสุดเมื่อเช้านี้ ผมต้องรีบเปลี่ยนสไลด์เพราะค่าฝุ่นรุนแรงมาก แล้วถ้าท่านจะจัดการเรื่องของชาวนาห้ามเผานา ก็ขอให้เยียวยาชาวนาให้เพียงพอด้วย ผมอยากให้ชุมชนกับชาวนาอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้อง ทะเลาะกัน
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อนแล้วก็สกปรก มีทั้งสีเหลือง มีทั้งกลิ่น ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานีเลย แก้ไขไม่ได้สักทีเป็น ๑๐ ปีแล้ว ทำไมกรุงเทพฯ น้ำไหลแรงได้ครับ คนปทุมธานีก็จ่ายภาษีเหมือนกัน ขอให้ท่านมาหาทาง แก้ไขให้คนปทุมธานีด้วยนะครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ รถบรรทุกวิ่งทั้งวันทั้งคืน รถบรรทุก รถพ่วง เส้นสีแดงอันนี้เป็น พื้นที่ผม อำเภอลำลูกกา คลอง ๕ ถึงคลอง ๗ ทล.๓๓๑๒ มีการห้ามวิ่งช่วงเร่งด่วน อันนี้ ผมกำชับผู้กำกับ แล้วผู้กำกับก็สามารถที่จะบรรเทาความเดือดร้อนได้ แต่เมื่อเส้นสีแดง วิ่งไม่ได้ เขาก็หันไปวิ่งเส้นสีฟ้ากัน ปท.๕๐๓๑ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เส้นนั้นจะเล็กกว่า อีกแค่ ๒ เลน ทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดมากเลย ส่วนเส้นสีเขียวระหว่างคลอง ๗ ถึง คลอง ๙ ไม่มีการห้ามรถบรรทุกวิ่ง ทำให้มีการวิ่งตลอดทั้งวันทั้งคืน และปัญหาก็คือว่า ประชาชนเริ่มขยายมาอยู่ตรงนี้เยอะมาก ๆ เลย คลอง ๗ ถึงคลอง ๙ ก็อยากให้มาตรวจสอบ ดูแลกันด้วย หลายหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันดูแล
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องสุดท้าย เรื่องที่ ๔ ก็คืออันนี้ผมพาตำรวจไปจับมาเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่ ๔ คืองานวัด หลอกลวงประชาชนบอกว่า ๒๐ บาท ๓ ถาด ให้เงินหน้าม้ามาซื้อ ๒๐ บาท ๓ ถาด พอประชาชนไปเล่นจริง ๆ กลายเป็นว่า ๒๐ บาทนี้ต่อลูก ๓ ถาดคือ ๓๐๐ บาท ประชาชนเล่นไป ๖ ถาด ๖๐๐ บาท แล้วก็ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กเลย เพราะว่าพอผมพาตำรวจไปจับปุ๊บออกข่าวเกือบทุกช่องเลย แล้วถ้าเกิดโกงกันแบบนี้คืนหนึ่ง ๕๐ คนได้ ๓๐,๐๐๐ บาท มี ๑๐ คืน ๓๐๐,๐๐๐ บาท อันนี้คือปัญหาทั่วประเทศเลย แล้วประชาชนเขาจะไปเที่ยวงานวัดเพื่อความสนุกแต่กลับต้องมาเจอแบบนี้ ปัญหายาเสพติด ในประเทศอาจจะแก้ได้ยาก แต่ปัญหานี้ปัญหาเล็ก ๆ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ขอให้ ท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจโดยตรงให้กวดขันตำรวจให้จัดการเรื่องนี้ด้วย อยากให้ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุขไม่ต้องเดือดร้อนแบบนี้ ขอบคุณมาก สวัสดีครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เชิญครับ
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพรของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมี ๒ เรื่อง
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
เรื่องแรกก็คือการขอให้กระทรวง คมนาคมจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนน ๔ ช่องทางจราจร สาย ๔๐๘๕ ดังที่ท่านเห็น ปัจจุบันถนนเส้นนี้เราก่อสร้างเป็นถนน ๔ เลนไปแล้ว ๑๑ กิโลเมตร เหลือประมาณ ๗ กิโลเมตร ระหว่างแยกตำบลลำไพล บ้านลำเปา จนถึงบ้านปลักบ่อของอำเภอสะบ้าย้อย เพราะฉะนั้นถนนเส้นนี้พี่น้องประชาชนเรียกร้องมาตลอดว่าเมื่อไรจะมาออกแบบ เมื่อไร จะจัดสรรงบประมาณมาให้ เพราะฉะนั้นฝากไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้จัดสรรงบประมาณ ๔ เลน ขอย้ำว่า ๔ เลน ไม่ใช่ขยายไหล่ทาง
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือเมื่อปี ๒๕๖๔ ผมได้อภิปราย ปรากฏว่ากรมที่ดินได้จัดสรร งบประมาณก่อสร้างสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาอำเภอสะบ้าย้อย งบประมาณ ๒๔ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๑๑ ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ลงพื้นที่ที่จังหวัดสงขลา ผมก็ได้นำเรียนว่า ก่อสร้างเสร็จมานานแล้วครับ วันนี้พี่น้องประชาชนเขาทวงถามว่าเมื่อไรสำนักงานที่ดิน อำเภอสะบ้าย้อยจะเปิด เพราะฉะนั้นปัญหาอุปสรรคภายใน โดยเฉพาะกรมที่ดินวันนี้เราได้ อธิบดีมาแล้ว แต่สิ่งที่เราทราบก็คือตราประทับของสำนักงานที่ดินของอำเภอสะบ้าย้อย ยังไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นฝากท่านอธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ และพี่น้องชาวสะบ้าย้อยหวังว่าให้ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธานในพิธีเปิดของ สำนักงานที่ดินอำเภอสะบ้าย้อยในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุขสมรวย วันทนียกุล เชิญครับ
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ดิฉัน นางสุขสมรวย วันทนียกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอำนาจเจริญ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือ ๒ ประเด็น เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกหลาน เยาวชน และ พี่น้องชาวจังหวัดอำนาจเจริญค่ะ
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
เรื่องแรก กรณีอาคารเรียน ไม่เพียงพอรองรับการเรียน เนื่องจากอาคารหลังเก่ามีสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้งานได้ โรงเรียนอำนาจเจริญเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาอุบลราชธานี ปัจจุบันมีอาคารเก่า ๑ หลัง ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการขายทอดตลาด และจะรื้อถอนให้เป็นที่ว่างเปล่าเพื่อรองรับการก่อสร้าง อาคารใหม่ โดยโรงเรียนอำนาจเจริญได้เสนอตั้งงบประมาณประจำปี ๒๕๖๘ จำนวน ๑ หลัง และได้เสนอไปที่กระทรวงศึกษาธิการแล้วค่ะ
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
เรื่องต่อมาคือการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและ การเกษตรในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จากการลงพื้นที่พบผู้นำชุมชน นายก อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ดิฉันเดินทางไปพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัด อำนาจเจริญ พบว่าพื้นที่ตำบลนาหมอม้า ตำบลดอนเมย ตำบลน้ำปลีก ได้รับผลกระทบจาก การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร ซึ่งโครงการชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ทำเสนอโครงการไปยังกรมชลประทานจำนวน ๓ โครงการดังนี้
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
๑. สถานีสูบน้ำไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองเรือ ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
๒. โครงการอาคารบังคับน้ำพร้อมขุดลอกห้วยไผ่ บ้านแก้งกฐิน ตำบล นาหมอม้า อำเภอเมือง
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
๓. โครงการอาคารบังคับน้ำขุดลอกห้วยเลิง บ้านดอนเมย อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
นางสุขสมรวย วันทนียกุล อำนาจเจริญ ต้นฉบับ
หากได้รับงบประมาณในส่วนนี้จะทำให้พื้นที่หลายตำบลในจังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ดิฉันจึงขอฝากกราบเรียนท่านประธานให้ช่วยเร่งรัด งบประมาณดังกล่าวให้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุภาพร สลับศรี
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ยโสธรเมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิต ข้าวหอมมะลิ วันนี้ขอหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดยโสธรที่มา รับบริการที่โรงพยาบาลยโสธร นั่นก็คือเรื่องสถานที่จอดรถแออัดและไม่เพียงพอต่อ ผู้รับบริการ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ จังหวัดยโสธรมีทั้งหมด ๙ อำเภอ มีจำนวนประชากรประมาณ ๕๒๘,๐๐๐ คน โรงพยาบาลยโสธรเป็นโรงพยาบาลประจำ จังหวัด เป็นโรงพยาบาลขนาด Size S มีบุคลากรให้บริการประมาณ ๑,๓๐๐ คน มีผู้ป่วย มารับบริการเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ย ๑,๐๐๐ คนต่อวัน เป็นผู้ป่วยใน ๕๐๐ คนต่อวัน อันนี้ไม่ได้ นับประชาชนที่มาใช้บริการที่ไม่เจ็บป่วย โรงพยาบาลยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ ๓๒ ไร่ แต่ที่ จอดรถในโรงพยาบาลรองรับได้ประมาณ ๒๐๐ คนต่อวัน ส่งผลให้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ล้นทะลักออกมาจากนอกโรงพยาบาล ทำให้ผู้รับบริการต้องจอดรถตามขอบถนนข้าง โรงพยาบาล บางคันต้องจอดไกลห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร บางคันต้องไป จอดในสถานที่ของเอกชนซึ่งไกลและต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งโรงพยาบาลยโสธรอยู่ใกล้สี่แยก ไฟแดง ใกล้โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ยิ่งทำให้เกิดความแออัดและสถานที่จอดรถ ไม่เพียงพอมากยิ่งขึ้น ท่านประธานคะ เจ็บป่วยกายและใจก็ถือว่าหนักอยู่แล้ว ยังต้องมาวน หาที่จอดรถอีก กว่าจะได้ที่จอดรถ กว่าจะได้เข้าไปรับการรักษาก็ใช้เวลานาน รวมทั้งต้องมา ห่วงทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือสิ่งของมีราคากว่าจะหามาได้ แสนยากลำบาก ถ้าสูญหายหรือเกิดความเสียหายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ดิฉันจึงเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดสนับสนุนเมตตางบประมาณ ก่อสร้างอาคารที่จอดรถให้พี่น้องชาวจังหวัดยโสธร และวาดหวังว่าน่าจะได้ โปรดเมตตา งบประมาณ ปี ๒๕๖๘ หรือปี ๒๕๖๙ ถ้าได้จะทำให้พี่น้องชาวจังหวัดยโสธรปลอดภัย ทางด้านร่างกายและจิตใจ และเกิดความอบอุ่นใจเมื่อมารับบริการที่โรงพยาบาลยโสธรค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปท่านพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ เชิญครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ผม พิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๓ จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลสำโรงเหนือ ตำบลด่านสำโรง ตำบลเทพารักษ์ และตำบลบางเมืองใหม่ครับ วันนี้ผมได้ นำปัญหาในพื้นที่มาปรึกษาหารือกับท่านประธานเพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องแรก จากผลที่ผมลงพื้นที่ ไปสำรวจพบสายสื่อสารห้อยรุงรังเป็นจำนวนมากในพื้นที่ตำบลบางเมืองใหม่ ตำบลเทพารักษ์ ตำบลสำโรงเหนือ และสายสื่อสารส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว แต่หน่วยงานเอกชน เจ้าของสายสื่อสารดังกล่าวไม่ได้มีการเข้ามาเก็บ มิหนำซ้ำยังมีการติดเพิ่มเรื่อย ๆ วางพาดสายทำใหม่ไม่เป็นระเบียบทำให้เกิดความรกรุงรัง ดังภาพที่อยู่ในสไลด์ครับ บางครั้ง เกิดไฟช็อตหรือไฟไหม้สายสื่อ ผมนำเรียนท่านประธานผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ปัญหาดังกล่าวเพื่อป้องกันเหตุต่าง ๆ ที่จะตามมาและเพื่อทัศนียภาพที่ดีขึ้นของบริเวณ ดังกล่าวด้วยครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเกิดเหตุ เพลิงไหม้ในหลากหลายพื้นที่ ปัญหาที่พบคือความลำบากในการเข้าพื้นที่ของรถดับเพลิง บางพื้นที่ถนนแคบจนรถไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ผมขอนำเรียนท่านประธานผ่านไปยัง การประปานครหลวงจังหวัดสมุทรปราการเพิ่มจุดประปาหัวแดงในพื้นที่ตำบลบางเมืองใหม่ ตำบลเทพารักษ์และตำบลสำโรงเหนือ บริเวณชุมชนหรือซอยที่รถดับเพลิงเข้าถึงลำบาก พร้อมทั้งตรวจสภาพความพร้อมในการใช้งานของประปาหัวแดงที่มีอยู่แล้วว่าอยู่ในสภาพ ที่พร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการระงับเหตุได้ทันท่วงทีครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปท่านชูกัน กุลวงษา เชิญครับ
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาด้วยความเคารพ ผม ชูกัน กุลวงษา จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมีปัญหาที่จะนำความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนมาเสนอท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้านหนองยอ บ้านโพนแพง บ้านดงอินำ บ้านสองคอน ไม่มีน้ำในการทำการเกษตรปลูกพืชในฤดูแล้งและ เลี้ยงสัตว์ เพราะฉะนั้นใน ๓-๔ หมู่บ้านนี้มีสถานีสูบน้ำที่ทำการไม่ได้มาหลายสิบปี เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้หางบประมาณมาซ่อมแซม สถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าของบ้านสองคอนให้กับพี่น้องที่เดือดร้อน เพราะหมู่บ้านทั้ง ๔ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านหลักในการปลูกพืชทางการเกษตร เพราะฉะนั้นขอนำเรียน ท่านประธานเพื่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตามภาพที่เห็นก็คือสถานีสูบน้ำที่ชำรุด ทรุดโทรมไปมาก ไม่ได้รับการดูแล เพราะฉะนั้นขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เข้าไปดูแล และปรับปรุงแก้ไขให้สถานีสูบน้ำแห่งนี้เป็นสถานีที่สูบน้ำไปให้ประชาชนนั้นได้ทำการเกษตร และเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ครับ
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องของทหารผ่านศึก ทหารผ่านศึกนั้นถือว่าเป็นทหารที่ดูแล ประเทศ ฉะนั้นเมื่อเขาปลดเกษียณแล้วเขาได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกในการที่ไปรบ ก็ดี ไปทำสงครามก็ดี ไม่มีใครเหลียวแลเขา ฉะนั้นทหารผ่านศึกจึงขอเงินช่วยค่าครองชีพ เพื่อผดุงเกียรติเป็นรายเดือนจากรัฐบาล โดยผ่านท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาลว่าจัดงบประมาณให้กับหน่วยงานทหารผ่านศึก ซึ่งทหารผ่านศึกเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งเขาก็ไม่ได้อยากไปรบ เขาก็ไม่ได้อยากไปสงคราม แต่ผู้บังคับบัญชาก็ให้เขาไปทำสงครามไปรบ ยกตัวอย่างไปประเทศเวียดนามก็ดี ไปประเทศ เกาหลีก็ดี หรือว่าสมรภูมิในประเทศไทย ร่มเกล้าก็ดี ช่องบกก็ดี เขาค้อก็ดี สมรภูมิภูพานก็ดี เขาเหล่านี้หลังจากที่เขาเกษียณอายุราชการแล้ว บางคนตอนที่ยังไม่ได้เกษียณอายุราชการ ก็เสียแข้งเสียขาหรือว่าพิการอะไรต่าง ๆ นานาเหล่านี้ ฉะนั้นครอบครัวทหารผ่านศึกก็ลำบาก ก็ขอ ฝากท่านประธานผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ผ่านไปยังรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ช่วยดูแล เงินช่วยค่าครองชีพเพื่อผดุงเกียรติเป็นรายเดือนของทหารผ่านศึกที่เขารอคอย เงินช่วยค่าครองชีพ เพื่อผดุงเกียรติเป็นรายเดือนที่เขาจะได้ก็สมควรที่เขาจะได้ เพราะเขาปกป้องผืนแผ่นดินไทย เขาปกป้องทุกสิ่งทุกอย่างให้พี่น้องประชาชนชาวไทยเรานั้นได้อยู่เย็นเป็นสุข อันนี้ก็ขอฝาก ท่านประธานได้ช่วยดูแลทหารผ่านศึก ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ไม่ว่าหน่วยตำรวจที่ไปได้บัตรทหารผ่านศึกมา ก็ขอกราบขอบคุณท่านประธานที่ได้กรุณา ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน เชิญครับ
นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล ขอหารือ กับท่านประธาน
นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผู้พิการในจังหวัดนครราชสีมากว่า ๙๙,๐๐๐ คน ฝากผมมา ทวงถามว่าเมื่อไรศูนย์บริการคนพิการโคราชที่กำลังสร้างอยู่ที่ตำบลหนองบัวศาลา ด้วยงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนกว่า ๓๐ ล้านบาท เมื่อไรศูนย์บริการคนพิการแห่งนี้จะสร้างเสร็จและได้เปิดใช้ กำหนดการเดิมนั้นจะต้อง เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยมีงวดเงินและงวดงานทั้งสิ้น ๑๒ งวดตามลำดับ ต่อมา ผู้รับจ้างได้เสนอแผนก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ปัจจุบันนี้ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ และถึงแม้จะแจ้งว่าสร้างเสร็จไปแล้วกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยัง ไม่มีท่าที่ว่าจะได้เปิดใช้งาน โดยตัวอาคารมีสภาพเสื่อมโทรม จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมานาน กว่า ๔ ปี ยังไม่มีการส่งมอบอาคาร จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยตอบพี่น้องผู้พิการจังหวัดนครราชสีมาว่าเมื่อไรศูนย์คนพิการแห่งใหม่ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้สักที เงินงวดงานที่ไม่ทราบว่าเบิกไปก่อนหรือจ่ายตาม ประเมินงวดงานหรือไม่ อย่างไร มีการจ่ายเงินค้ำประกันที่ผิดสัญญาหรือไม่ อย่างไร ใบเสนอ ราคาวัสดุมีการเสนอทั้งที่ผิดสัญญาดำเนินงานหรือไม่ อย่างไร
นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำประปาโคกสูง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ ปัญหาหลักคือ บ่อพักน้ำที่วัดบ้านโคกสูงไม่มีที่บำบัดน้ำเสีย จึงทำให้ระบบกรองน้ำที่มีอยู่ยังกรองไม่ได้ผล เท่าที่ควร และยิ่งตอนนี้คลองที่นำน้ำมาผลิตน้ำประปาที่มาจากเขื่อนโพธิ์เตี้ยมีจำนวน ปริมาณที่น้อยและน้ำไม่ไหลเวียน ยิ่งทำให้น้ำเป็นตะกอนไม่สะอาดมากขึ้นกว่าเดิม จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณางบประมาณขุดลอกและขยายทางน้ำพื้นที่บริเวณตำบลโคกสูง หมู่ที่ ๒ และ หมู่ที่ ๑๑ ซึ่งตรงจุดนี้หากมีการขุดลอก รวมไปถึงหากสามารถพิจารณาขยายทางน้ำและ ขยายจุดกักเก็บน้ำได้ คาดว่าจะบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำให้ชาวตำบลโคกสูงได้อย่างยั่งยืนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรวี เล็กอุทัย เชิญครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมขอปรึกษาหารือในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จังหวัดอุตรดิตถ์รวม ๓ ประเด็นครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ประเด็นแรกผมได้รับแจ้งจากองค์การบริหาร ส่วนตำบลพญาแมน และองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะเฟือง ถึงสถานการณ์ภัยแล้งพบว่า ขณะนี้น้ำในคลองสายหลักและคลองสาขาต่าง ๆ มีปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและ น่าเป็นกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรม ค่อนข้างมากครับ โดย ณ ปัจจุบันต้องขอขอบคุณทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือจัดสรรเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่จากการประเมิน สถานการณ์ปริมาณของน้ำที่ผันเข้ามานั้นยังไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมของพี่น้อง เกษตรกรทั้ง ๒ พื้นที่ ดังนั้นผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์โปรดช่วยสั่งการไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านให้ช่วยพิจารณา หาแนวทางเพิ่มปริมาณการจัดสรรน้ำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วยครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ประเด็นถัดมา ผมได้รับแจ้งถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ บ้านไร่ปู่ฉิม หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหุบเขา เป็นเหตุทำให้ยังขาดสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ เพราะที่บ้านไร่ปู่ฉิมนี้เองก็เป็น พื้นที่สำคัญซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตำบลแม่พูลและ ตำบลนานกกก รวมถึงพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่มีการเข้าไปทำสวนทุเรียนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโปรดช่วยเข้ามาหาแนวทางตั้งเสาสัญญาณโทรคมนาคม เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนนี้ของชาวลับแลด้วยครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
สุดท้ายในช่วงปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ต้องเผชิญ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งสำหรับภัยแล้งนั้นพบว่ามีพี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบ กว่า ๑,๐๐๐ ราย และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า ๘,๕๐๐ ไร่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอตรอนของผม โดยมีการประเมินว่าทั้งจังหวัดจะได้รับความช่วยเหลือ จากภัยแล้งนี้เป็นวงเงิน ๑๖.๗ ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของอุทกภัยหรือน้ำท่วม เช่น บนรูป ในหน้าจอที่ทุกท่านเห็น ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ทะเล แต่เป็นไร่นาของพี่น้องเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม ในตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล ซึ่งโดยรวมทั้งจังหวัดมีผู้ประสบภัยกว่า ๑,๕๐๐ ราย และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า ๑๒,๔๐๐ ไร่ ซึ่งคาดว่าจะต้องได้รับการช่วยเหลือกว่า ๑๘.๘ ล้านบาท แต่ท่านประธานครับผมได้รับแจ้งจากพี่น้องเกษตรกรว่าการได้รับเงิน ช่วยเหลือดังกล่าวจากรัฐบาลนั้นยังไม่ครบถ้วน ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง โปรดช่วยเร่งดำเนินการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาให้กับพี่น้องเกษตรกรจังหวัด อุตรดิตถ์ให้ครบถ้วนโดยเร็วด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เชิญครับ
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมี ๒ ประเด็นที่จะนำมาปรึกษาหารือกับท่านประธานนะครับ
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้เราควรใช้จังหวะเวลาที่ นักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มากเตรียมความพร้อมพื้นที่ท่องเที่ยวของเราให้มีความปลอดภัย มีความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อม ขอสไลด์ครับ
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติที่อ่าวมาหยา หาดนพรัตน์ธารา จังหวัดกระบี่ รูปที่ท่านเห็นซ้ายมือ จะมีการขึงสลิงในการที่จะขึ้นบริเวณหาดไม่แข็งแรง ซึ่งการขึงสลิงที่ไม่แข็งแรงอาจจะเกิด อุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยวได้ ในขณะเดียวกันรายได้ของหาดนพรัตน์ธาราเก็บเงินได้ มากกว่า ๗๐๐ ล้านบาทต่อปี มูลค่าสูงกว่าปั๊มน้ำมันหลาย ๆ แห่งรวมกันเสียอีก แต่ท่านลอง ดูรูปขวามือ ห้องน้ำท่านจะพบว่ามีแต่คราบไคลต่าง ๆ หนำซ้ำยังมีการชำรุดไม่สามารถ ใช้งานได้อีกด้วย ผมหวังว่าเขตอุทยานต่าง ๆ จะใช้จังหวะช่วงเวลานี้ไปตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ ที่อยู่ในมือของท่านว่ามีความปลอดภัย มีความสะอาด และรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เราทราบกันดีว่ารัฐสภาของเรานี้เป็นแหล่งที่ใช้ทรัพยากร มากที่สุด ในขณะที่เราเป็นผู้นำประเทศในการชี้นำความคิดให้กับราษฎรเช่นกัน ผมอยาก จะถือโอกาสนี้เราลองมาตระหนักดีว่าเราควรจะลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิดได้อย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น เรามีขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากมายในแต่ละวัน ขวดน้ำพลาสติก กล่องอาหารในช่วงเบรก ท่านประธานอาจจะสั่งงดการใช้ขวดน้ำพลาสติกก็ได้ด้วยการใช้แก้วน้ำ แทนหรืออาจจะแจกกระบอกน้ำให้กับสมาชิกทุกท่านในการประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งผมได้เริ่มทดลองทำมาแล้วในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการขยะ แบบบูรณาการ เรางดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็หวังว่าคณะประชุม อื่น ๆ จะดำเนินการตามบ้าง จริง ๆ ก็ไม่ได้มีแค่ตัวขยะพลาสติก เรามีเศษอาหาร เรามี กระดาษ เรามีไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างสิ้นเปลืองด้วย เป็นต้น
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
และข้อสุดท้าย ผมอยากจะขอเรียนท่านประธานว่าตอนนี้มีผู้ร้องมากกว่า หาจุดเติมน้ำดื่มด้วยวิธีการใช้กระบอกนี้ยากเหลือเกิน อยากฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ครับ ต่อไปท่านชลัฐ รัชกิจประการ เชิญครับ
นายชลัฐ รัชกิจปราการ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ชลัฐ รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอหารือเรื่องความรุนแรงของประเทศอิสราเอลครับ ต้องบอกว่าเรื่องที่มันเกิดขึ้นมา เนิ่นนาน ตอนนี้ได้ขยายตัวไปถึงประเทศอียิปต์และประเทศรอบข้าง ต้องบอกว่าตอนนี้ ทางประเทศอิสราเอลได้บุกไปถึงทางใต้ของปาเลสไตน์
นายชลัฐ รัชกิจปราการ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ซึ่งเกิดความตึงเครียดว่า ถ้ามันไปถึงประเทศอียิปต์ ประเทศอียิปต์ได้เตรียมรถถังพร้อมแล้ว แล้วก็พร้อมฉีกสัญญากับ ประเทศอิสราเอลเมื่อความรุนแรงไปกระทบกับประเทศเขา มาดูฝั่งเหนือครับตอนนี้ ความรุนแรงได้ไปถึงซีเรียได้ไปถึงเยเมนแล้ว ซึ่งถ้าจะดูจากสไลด์ที่ ๒ ที่ขึ้นมันจะเกิดความ ตึงเครียดในทางประเทศรอบข้างจนไปกระทบถึงประเทศอิหร่าน ซึ่งเมื่อวานนี้ได้เกิดการระเบิด ท่อแก๊สขึ้นถึง ๒ ท่อ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นฝ่ายไหน แต่ทำให้ความตึงเครียดในช่องแคบฮอร์มุซ เกิดขึ้น ซึ่งในช่องแคบนี้จะเป็นช่องแคบที่ติดระหว่างซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ แล้วก็ UAE ช่องแคบนี้สำคัญอย่างไร ในช่องแคบนี้มีเรือน้ำมันผ่านมากกว่า ๒ ล้านล้านบาร์เรล ต่อวัน หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของทรัพยากรน้ำมันโลก ๗๖ เปอร์เซ็นต์นี้ไป Supply ที่เอเชีย ๕๔ เปอร์เซ็นต์ ของปี ๒๐๒๑ Supply มาที่ประเทศไทย ผมเลยอยากฝากไปทางกระทรวง แรงงานแล้วก็กรรมาธิการการแรงงานครับว่าถ้าหากมีการ Block ช่องแคบนี้ของประเทศ อิหร่าน ฝากทางกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้ ตรึงราคาพลังงานของประเทศไทย ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก เชิญครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน อำเภอเมือง อำเภอแม่ทา และอำเภอบ้านธิ จากพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธานทั้งหมดอยู่ ๔ เรื่องครับ ขอสไลด์ครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ถนนเลี่ยงเมืองท่าจักร- เหมืองง่า เรื่องดังกล่าวผมเคยหารือกับที่สภาแห่งนี้ไปแล้ว ๑ ครั้ง และได้รับการแก้ไข แต่แก้ไขได้เพียงแค่ครึ่งเดียว ทำให้ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวยังเกิดความเดือดร้อน ถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ผมจึงอยากให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำพูน ช่วยติดตามให้ผู้รับเหมากลับเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จด้วยนะครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัจจุบันจังหวัดลำพูนได้เกิดปัญหาไฟป่าขึ้นในหลายจุดและในหลาย พื้นที่ของจังหวัดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งอาสาสมัครป้องกันไฟป่าได้ดูแลใน พื้นที่ป่าของตนเอง แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการปฏิบัติ อุปกรณ์ หรือว่างบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วย ดำเนินการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแผนการปฏิบัติการ งบประมาณในการ ดำเนินการต่อสู้ไฟป่าให้ด้วยนะครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างเส้นทางหลวง หมายเลข ๑๑๔๗ ซึ่งเป็น เส้นทางที่พ่อแม่พี่น้องอำเภอบ้านธิใช้สัญจรไปจังหวัดเชียงใหม่และเดินทางเข้าไปในตัวเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งในเวลากลางคืนจะเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยวและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงอยาก ให้แขวงทางหลวงจังหวัดลำพูนได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้ด้วยนะครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของวัคซีนอหิวาต์สัตว์ปีก ได้รับการร้องเรียนมาจาก ผู้เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดลำพูนครับ ปกติทุก ๆ ปีจะขอไปรับวัคซีนจากกรมปศุสัตว์อำเภอ เพื่อกลับมาฉีดไก่ของตนเอง แต่ปีนี้ทางผู้เลี้ยงไก่เข้าไปขอวัคซีนที่ปศุสัตว์อำเภอ แต่กลับ ได้รับแจ้งว่าวัคซีนไม่มีแล้ว แต่พอกลับเข้าไปหาซื้อได้ Page Online ทั่วไป กลับพบว่าวัคซีน ของกรมปศุสัตว์มีขายทั่วไปใน Page Online ต่าง ๆ และขายกันในราคาขวดละ ๑๘๐ บาท จึงอยากให้กรมปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าวด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เชิญครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนดังนี้ครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ น้ำคือชีวิต เขื่อนห้วยหลวงมีต้นกำเนิดลำห้วยหลวงอยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ ระยะทางต้นน้ำ ๕๐ กิโลเมตร จากตำบลอูบมุง ตำบลกุดหมากไฟ ไหลผ่านตำบลโนนหวาย ตำบลหนองอ้อ ตำบลหมากหญ้า ตำบลหนองบัวบาน ตำบลน้ำพ่น ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ มารวมลงเขื่อนห้วยหลวง ที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ ตำบลโคกสะอาด ตำบลกุดจับ อำเภอเมืองอุดรธานี ความยาว ของเขื่อนซึ่งเป็นเขื่อนดิน ยาว ๔,๙๐๐ เมตร กว้าง ๖ เมตร สูง ๑๓.๕๐ เมตร มีความจุระดับ ๑๓๕.๕๖๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุระดับต่ำสุด ๖.๕๙๔ ล้านลูกบาศก์เมตร มีประตู ระบายน้ำขนาด ๖ คูณ ๖ เมตร ระบายน้ำได้ ๗๑๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ประตูระบายน้ำ แห่งนี้เคยใช้เป็นที่แข่งเรือพระราชทานชิงถ้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งท่านรัฐมนตรี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ให้มีการขุดลอกสมัยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วก็เราใช้ ในกิจกรรมนี้มาตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านประธานครับ ผมอยากให้กรมชลประทาน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยผลักดันงบประมาณในการขุดลอกส่วนที่ตื้นเขิน และช่วย กำจัดผักตบชวาที่เป็นปัญหาแก้ไม่จบสิ้น เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการใช้การอุปโภคบริโภค การเกษตรและการประมง แล้วก็ฝากท่านนายกรัฐมนตรีท่านเศรษฐา ทวีสิน ขอให้ท่าน ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้พี่น้องประชาชนเขื่อนห้วยหลวงและพี่น้องชาวจังหวัด อุดรธานีซึ่งใช้อุปโภคบริโภคทั้งในเทศบาลนครอุดรธานี สถานที่ราชการต่าง ๆ ตลอดจน โรงเรียนและวัดวาอาราม ฝากท่านนายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดอุดรธานีโดยด่วนด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ เชิญครับ
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ขออนุญาตหารือท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ในเรื่องของการทบทวนพระราชบัญญัติ การพนันที่ควบคุมโดยกระทรวงมหาดไทย บัญชีแนบท้ายที่ระบุให้บิลเลียดหรือสนุกเกอร์ เป็นการพนันชนิดหนึ่ง มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะหยิบออกจาก พ.ร.บ. การพนัน อำนวย ความสะดวกเรื่องนี้ให้กับคนวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโต๊ะบิลเลียดหรือสนุกเกอร์ ที่ระบุว่าเป็นการพนัน ผมก็มองว่าไม่ว่าจะกีฬาชนิดไหนก็สามารถที่จะเป็นการพนันได้ มันจะมีใครคิดไหมว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมี Champion สนุกเกอร์ระดับโลก ตั้งแต่ ต๋องศิษย์ฉ่อยหรือน้องมิ้งค์สระบุรี ที่เป็นแชมป์สากลสนุกเกอร์ระดับโลก หากกฎหมาย ยังมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม เหล้า บุหรี่ หรือสิ่งเสื่อมโทรมให้กับสังคม อันนี้ท่านอาจจะต้อง ทบทวนแล้วเปลี่ยนแนวคิดให้ทันกับยุคปัจจุบัน อย่าไปมองว่าการพนัน จริง ๆ แล้วมันเป็น ในเรื่องของการใช้ทักษะฝีมือความแม่นยำ การแก้ไขหมากต่าง ๆ ที่อยู่บนโต๊ะ ซึ่งเหล่านี้ มันคือการฝึกสมองและการแก้ไขปัญหามันทำให้เรามีทักษะที่เพิ่มขึ้น การแก้ไขกฎหมายอาจจะไม่ใช้อำนาจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ใช้อำนาจ ที่วงการกีฬาจะสามารถทำได้ เพราะมันไปถูกเขียนไว้ในกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกฎหมายการพนันซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองและตำรวจ เข้าใจดีว่ากระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพ แต่หน่วยงานนี้ไม่ใช่เจ้าภาพหลักในการแก้ไขกฎหมาย ผู้ถือกฎหมายเป็นกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ มันจึงเป็นช่องทาง ที่ทำให้เกิดส่วยโต๊ะสนุกเกอร์มากมาย เป็นแหล่งรายได้หลักของเจ้าหน้าที่เลยก็ว่าได้ กฎหมายการพนันควรจะไปควบคุมเรื่องอื่น ไม่ใช่ควบคุมประเภทหรือกำหนดกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ของกีฬาสากลว่ายังเป็นการพนันอยู่ สนุกเกอร์หรือบิลเลียดเป็นอาชีพได้ครับ เราไม่อยากเสียโอกาสการพัฒนาอาชีพกีฬาชนิดนี้อีกต่อไปแล้ว สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ชื่อเสียงให้กับประเทศไทย นักสนุกเกอร์ในอนาคตไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นการสันทนาการ ที่เป็นการพนันแล้ว นักกีฬาเหล่านี้อาจจะสามารถสร้างเงินสร้างอาชีพไปแข่งขันกีฬา ระดับโลกคว้าเงินรางวัล หรือแม้แต่ตัวนักกีฬาเองก็สามารถไปอยู่สโมสรต่าง ๆ ทำให้อาชีพ นักกีฬามีความมั่นคงได้ แม้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีการออกใบอนุญาตพิเศษ เพื่อให้สถานบริการสนุกเกอร์ได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์ฝึก นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ ตรงจุด สนุกเกอร์เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่อยู่ใน พ.ร.บ. การพนัน ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่จะ ถอดออกจากบัญชีการพนันเพื่อทำให้สนุกเกอร์ไทยพัฒนาสู่อาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย เชิญครับ
นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สกลนคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ได้นำเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือกับท่านประธาน เพื่อโปรดดำเนินการแก้ไขดังนี้
นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สกลนคร ต้นฉบับ
ข้อ ๑ พี่น้องทางเขตตำบลเหล่าปอแดง โดยท่านนายกเทศมนตรี นายสุทัศน์ โคตรธรรม ได้นำเรื่องเสนอขอให้ทางสำนักงานกรมทางหลวงชนบทได้แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นบริเวณสี่แยกจุดตัดบ้านหนองแดงไปวัดธาตุดุม ซึ่งเป็นจุดตัดในระหว่างถนน ทางหลวงชนบทสายบ้านโพนยางคำ-บ้านด่านม่วงคำ ซึ่งไม่มีไฟจราจรและไม่มีไฟส่องสว่าง มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน บ่อยครั้ง
นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สกลนคร ต้นฉบับ
ในประเด็นที่ ๒ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของโรงเรียนมัธยมพิเศษขนาดใหญ่ ของจังหวัดสกลนคร โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลที่มีนักเรียนอยู่ถึงประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าคน จัดการเรียนการสอนตามปกติ แต่เนื่องจากจำนวนห้องเรียนที่ได้เพิ่มขึ้นมามีห้องเรียนพิเศษ ที่ต้องใช้ไฟจำนวนมากขึ้นมา ทำให้หม้อแปลงเดิมที่เคยใช้จ่ายไฟไม่เพียงพอ ไฟติด ๆ ดับ ๆ ทำให้อุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหาย จึงใคร่ขอให้ท่านประธานได้แจ้งไปถึงทาง กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้โปรดให้การสนับสนุนหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่จะทำให้กระแสไฟของโรงเรียนได้ดำเนินการได้อย่างดี
นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สกลนคร ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย ขอเสนอปัญหาของพี่น้องประชาชนบ้านดงขุมข้าวใต้ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลพังขว้าง ที่ประสบปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอ เนื่องจากหม้อแปลงเล็กเกินไป และ ชุมชนที่อยู่ในหมู่บ้านมีจำนวนมาก ทำให้ไฟติด ๆ ดับ ๆ อุปกรณ์การใช้ไฟฟ้าของพี่น้อง ประชาชนก็เสียหาย ก็ขอให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสกลนครเข้าไปช่วยดำเนินการ แก้ไขให้ด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านวัชระ ยาวอหะซัน เชิญครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วัชระ ยาวอหะซัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมืองและอำเภอยี่งอ จังหวัด นราธิวาส พรรครวมไทยสร้างชาติครับ วันนี้ผมขอหารือเรื่องการบริการหลังน้ำท่วม จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาสที่ว่าได้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ท่วมสูง หลายเมตรสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไร่นาบ้านเรือนแล้วก็ สถานศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะวันนี้ผมได้รับการร้องเรียนจากกำนันอานนท์ ลอตันหยง ท่านก็เป็นห่วงเรื่อง รั้วโรงเรียน เพราะว่าเขตผมปรากฏว่ารั้วโรงเรียนนี้พังกันหลายสิบแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บ้านโคกแมแน โรงเรียนบ้านมะนังกาหยี โรงเรียนบ้านโคกสุมุ โรงเรียนบ้านจะแลเกาะ โรงเรียนบ้านโต๊ะนอ โรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง เฉพาะเขตผมก็เป็นสิบแล้วท่านประธาน แล้วถ้า ๑๓ เขตของ ๓ จังหวัดชายแดนเยอะนะครับท่านประธาน อย่างไรก็แล้วแต่ ๓ จังหวัด เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ วัด โดยเฉพาะวัดลำภู พังเป็นแถบ สงสารเด็กนักเรียน ผมเป็นห่วงเพราะว่าโรงเรียนเขต ๑ ของผมส่วนใหญ่จะเป็น เขตภูธร ไม่ใช่ชุมชนเมืองหรือเขตเทศบาล ผมเป็นห่วงเรื่องงูพิษ สัตว์ร้าย ต้องรีบสร้าง รั้วโรงเรียน อย่างในภาพจะเห็นว่าหนังสือเสียหายหมด อาคาร อะไรชาวบ้านช่วยได้ครับ โต๊ะเรียนเราประกอบ ชาวบ้านช่วย ผอ. หลาย ๆ ท่านก็เป็นห่วง โดยเฉพาะผมก็เข้าไป ดูตลอด แล้วก็ได้เห็นว่าความทุกข์ยากของเด็กนักเรียน ผมเป็นห่วงว่าภัยอันตรายจะมาถึง โดยเฉพาะกำนันเองท่านบอกว่าวัวท่านหนัก ๓๕๐ กิโลกรัมโดนงูจงอางกัด ท่านบอกว่า ต้องรีบช่วย รีบแก้ หลาย ๆ เรื่องในจังหวัดนราธิวาสวันนี้ท่านผู้ว่าราชการเองก็ทำงานได้ รวดเร็วทันใจ ศอ.บต. ก็ลงไปช่วย ถนนหนทางเสียหายเยอะเป็นร้อยครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ท่านที่ ๒ ท่านยอดชาย พึ่งพร ท่านที่ ๓ ท่านกฤช ศิลปชัย เชิญท่านฐิติกันต์ครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง และตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวภูเก็ตมาปรึกษาหารือ ท่านประธาน ดังนี้
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ คนบ้านเคียนร้องเรียนมาว่าปัจจุบันโรงพยาบาลถลางต้องรองรับ ผู้ป่วยในเขตอำเภอถลางจำนวนมาก รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำและนักท่องเที่ยวในกรณีที่ เจ็บป่วยบนเครื่องบิน ไม่สอดคล้องกับจำนวนหมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ เหมาะสมต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลกของจังหวัดภูเก็ต จนชาวบ้านขนานนามว่า เป็นโรงฆ่าสัตว์ ต้องการการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ฝากกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการ ด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เกาะงำที่สวยงามตั้งอยู่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต อยู่ไม่ห่างจาก ฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต ปัจจุบันมีผู้บุกรุกล้อมคอกเลี้ยงแพะ พยายามจับจองพื้นที่ ฝากไปทางกรมป่าไม้ดำเนินการตามกฎหมายไม่ให้มีการจับจองพื้นที่ดังกล่าวด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ไม่ห่างจากเกาะงำ บริเวณอ่าวปอ อ่าวกุ้ง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ Jet Ski เพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวขับขี่ในลักษณะหวาดเสียว คลื่นจากความเร็วของ Jet Ski ไปทำลายระบบนิเวศ และรบกวนวิถีชีวิตพี่น้องชาวประมง ฝากไปยังกรมเจ้าท่ากวดขันและควบคุมไม่ให้มีปริมาณเยอะ ให้มีการใช้งาน Jet Ski ที่ไม่มี ลักษณะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ คนบ้านดอนฝากถามถึงความคืบหน้าของโครงการขยายผิวจราจร บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๓๐ หรือถนนบ้านดอน-เชิงทะเล ที่เวนคืนไปแล้วแต่ยัง ไม่ดำเนินการก่อสร้างเพื่อลดการจราจรติดขัด ฝากไปยังกระทรวงคมนาคมดำเนินการด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ พี่น้องคนในทู ตำบลกะทู้ บริเวณวัดกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้รับความเดือดร้อนจากรถขนดินที่ไม่มีผ้าใบคลุม ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง ก่อความ เดือดร้อนรำคาญกับร้านค้าและประชาชนผู้สัญจรไปมา ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามกฎหมายด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ คนในทูร้องเรียนมาว่าถนนวิชิตสงครามตั้งแต่บริเวณหน้าสนามกอล์ฟ ถึงวัดกะทู้ชำรุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ปรับปรุงซ่อมแซมให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านยอดชาย พึ่งพร เชิญครับ
นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายยอดชาย พึ่งพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ผู้แทนเมืองพัทยา ผู้แทน เมืองท่องเที่ยวครับ วันนี้ผมมี ๒ ประเด็นความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวหนองปรือ เมืองพัทยา
นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนผ่านมายังผู้แทนราษฎรว่า ซอยพัฒนาการ ๘ ถนนพัฒนาการ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมี ลักษณะเป็นถนนดินลูกรังลาดเอียง เวลาฝนตกน้ำจะไหลเอาดินทรายจากเนินลงมากอง บนถนนพัฒนาการ ทำให้ถนนลื่นทราย ชาวบ้านที่สัญจรด้วยรถมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บกันบ่อยครั้ง ชาวบ้านแจ้งว่าได้ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือต่อหน่วยงาน ในพื้นที่ไปหลายครั้งให้ทำถนนพร้อมวางท่อระบายน้ำ แต่ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการ ทั้งที่เป็นเขตเมืองอยู่ห่างจากชายทะเลแหล่งท่องเที่ยวและถนนสุขุมวิทเพียง ๓ กิโลเมตร
นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ จากโครงการการขุดลอกอ่างเก็บน้ำชากนอก ตำบลหนองปรือ และตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน จากการดำเนินงานของผู้รับเหมาได้สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องจากฝุ่น จากรถบรรทุก ทำให้มีผลกระทบต่อระบบ หายใจ และอุบัติเหตุจากการที่รถบรรทุกดินทำดินทำทรายตกลงบนถนน บริเวณถนน ทุ่งกลม-ตาลหมัน ปากซอยทุ่งกลม-ตาลหมัน ๑๐ และซอยทุ่งกลม-ตาลหมัน ๑๘ เป็นจำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้ทางโดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ลื่นไถลได้รับ บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย และอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิตก็เป็นได้ จึงอยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เทศบาลหนองปรือและเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในฐานะเจ้าของพื้นที่ รวมไปถึงกรมชลประทานในฐานะเจ้าของโครงการให้เคร่งครัด มีมาตรการในการควบคุมมาตรฐานในการใช้รถบรรทุกดิน รวมไปถึงการดูแลชุมชนที่ได้รับ ผลกระทบนี้ ทั้ง ๒ ประเด็นนี้ชาวบ้านเขาเลยฝากความทุกข์ร้อนนี้ให้ผมนำมาเรียน ท่านประธานและขอให้ท่านประธานเมตตาใช้กลไกของสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้างต้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกฤช ศิลปชัย ครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธาน วันนี้ผมมีเรื่องขอปรึกษาหารือกับท่านประธานทั้งหมด ๓ เรื่อง
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องแรก ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประมงพื้นบ้านว่าขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรื้อสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำระยอง บริเวณหน้าวัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง เนื่องจากเวลาน้ำขึ้นทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถสัญจรเรือประมง ลอดใต้สะพานเหล็กชั่วคราวดังกล่าวได้ แล้วก็ขณะนี้สะพานถาวรก็ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เปิดดำเนินการแล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรื้อสะพานเหล็กดังกล่าวออก เรื่องนี้ ขอให้ท่านประธานประสานไปยังเทศบาลนครระยองให้พิจารณาดำเนินการดังกล่าว
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลตะพง ได้รับผลกระทบกลิ่นจากฟาร์มหมู ซึ่งมีการเลี้ยงฟาร์มหมู ฟาร์มสุกร ในพื้นที่จำนวนมาก มีการส่งกลิ่นรบกวนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง หน้าหนาวที่ผ่านมาก็มี กลิ่นรุนแรงมาก เรื่องนี้ขอฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลตะพงให้พิจารณา หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณแยกปากทางเพ ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ก็มีเสาไฟ High Mast แต่ว่าไม่มีไฟ เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ก็ขอฝากท่านประธานให้ประสานไปยังแขวงทางหลวงระยองเพื่อแก้ไขปัญหา แล้วก็ เร่งดำเนินการให้มีไฟส่องสว่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านนิคม บุญวิเศษ เชิญครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขอนำเรื่องเดือดร้อนของประชาชนมาปรึกษาหารือท่านประธาน ๒ เรื่อง
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาของประชาชนที่ใช้ ถนนหมายเลข ๒๓๕๐ ของกรมทางหลวง สายหนองหาน-กุมภวาปี กม.๒๐ ผ่านบ้านค้อน้อย ตำบลคอนสาย อำเภอภู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี มีสภาพที่คับแคบ และมีจุดโค้งที่หักศอกที่เป็น อันตรายมาก รถวิ่งมาเร็วแหกโค้งชนบ้านเรือนของประชาชนเสียหาย จึงขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแล้วก็ขยายไหล่ทางให้กว้างขึ้น ปรับความลาดชันและแนวโค้งให้อยู่ ระยะที่ปลอดภัยกว่าเดิมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชนอีกต่อไป
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาใหญ่ครับท่านประธาน ปัญหาเรื่องช้าง ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน หลายจังหวัดที่มีปัญหานี้ และเช่นเคยปัญหานี้เกิดกับประชาชน หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดือดร้อนอย่างมาก ขอชมคลิปด้วยครับ ประชาชนร้องเรียนมาที่ผม ท่านประธานครับ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ช่วยเร่งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชนช่วยกันจัดเวรยาม เฝ้าจุดระวังให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ และที่สำคัญช่วย สร้างโป่งเทียม ช่วยสร้างแหล่งน้ำให้เพียงพอ และควรจะมีการปลูกพืชที่เป็นอาหารช้างป่า เช่น กล้วยป่า สัปปะรดป่า และพืชอื่น ๆ เพื่อให้ช้างมีอาหารเพียงพอไม่มารบกวนชาวบ้าน ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านพุธิตา ชัยอนันต์ เชิญครับ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ดิฉัน พุธิตา ชัยอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๔ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอหารือ กับท่านประธาน ๓ เรื่องดังนี้ ขอสไลด์ค่ะ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ประชาชนผู้ใช้ถนนโชตนา บริเวณจุดกลับรถโรงพยาบาลนครพิงค์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร้องเรียนเข้ามายังดิฉันถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการสัญจร ซึ่งได้รับผลกระทบต่อชีวิต ในความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล โดยพบปัญหาว่าบริเวณ ถนนโชตนาตรงจุดกลับรถโรงพยาบาลนครพิงค์ในช่วงเช้ารถของประชาชนที่จะเข้า โรงพยาบาลไม่สามารถเลี้ยวเข้าได้ เนื่องจากมีรถฝั่งตรงกันข้ามที่มาจากศาลากลางจังหวัด ที่มุ่งหน้าอำเภอแม่ริมมีจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อจะเลี้ยวเข้าโรงพยาบาลก็พบว่ามีรถสะสม จำนวนมากบริเวณจุดกลับรถไปยังอุโมงค์ อีกทั้งยังมีรถที่จะมาจากทางสายหลักมุ่งหน้าไปยัง อำเภอ ซึ่งส่งผลต่อการเดินรถแล้วก็อุบัติเหตุ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวย ความสะดวกบริเวณดังกล่าวด้วยค่ะ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ บริเวณแยกทุ่งหมื่นน้อยหรือแยกหน้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีสวน เกาะกลางถนนแล้วก็ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่บดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่ใช้รถใช้ถนน ทำให้บริเวณนี้มีอุบัติเหตุแล้วก็มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นจำนวนบ่อยมาก ประชาชนได้ร้องเรียน มายังดิฉันขอให้มีการรื้อถอนปรับปรุง เพราะอันตรายมากจริง ๆ ค่ะ จึงขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าไปกำกับดูแลแล้วก็ใส่ใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยค่ะ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ดิฉันขอหารือกับท่านประธานค่ะ ที่ห้องอาหารของ สส. ของพวกเรามีเจ้าหน้าที่ที่คอยบริการแล้วก็อำนวยความสะดวกในเรื่องของอาหารการกิน ของพวกเราตั้งแต่เช้าจนเย็น จนเราปิดประชุมค่ะ แต่ว่าพวกเขาไม่มีเก้าอี้นั่งพักบริเวณจุดที่ พวกเขาให้บริการพวกเราเลยค่ะ ก็อยากจะขอหารือกับท่านประธานแล้วก็คณะกรรมาธิการ กิจการสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเรื่องของเก้าอี้ให้พวกเขาได้นั่งพักด้วย เพราะว่าดิฉันรับประทานอาหารไปแล้วก็เห็นพวกเขายืนตลอดทุกครั้งที่ดิฉันเข้าไป แล้วดิฉัน ไม่สบายใจ รับประทานอาหารไม่อร่อยเลย ก็ขอให้ช่วยพิจารณาด้วย ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านวุฒิพงศ์ ทองเหลา ครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๔ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี พรรคชาติพัฒนากล้า วันนี้ผมมีเรื่องหารือความเดือดร้อน ในพื้นที่ต่อท่านประธาน ๔ เรื่องด้วยกัน ดังนี้ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๑ แหล่งน้ำในคลองท่าแห ตำบลบ้านหอย อำเภอประจันตคาม มีพืชและผักตบชวาปกคลุมในระยะทางกว่า ๔ กิโลเมตร ส่งผลให้ปัจจุบันน้ำดิบที่ผลิตประปาหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นสีดำและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น โดยในหมู่บ้านมีผลกระทบแล้วกว่า ๔ หมู่บ้าน เกินกำลัง อบต. บ้านหอยจะแก้ไข จึงฝากถึง หน่วยงานชลประทานเร่งช่วยแก้ไขปัญหาครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๒ ปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ทางหลวงเส้น ปจ.๓๐๑๖ บริเวณ บ้านคลองโสม หมู่ที่ ๖ ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ ดับมาเป็นเวลาร่วมปีแล้ว
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๓ ยังอยู่ที่เรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ทางหลวง ๓๐๔ หลักกิโลเมตรที่ ๑๒๘ ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๕๒ ไฟฟ้าส่องสว่างดับตลอดทาง เนื่องจากเส้นทางบริเวณดังกล่าว เป็นทางเชื่อมไปยังภาคอีสาน แล้วยังเป็นถนนเส้นหลักที่ใช้สัญจรในเขตนิคม ๓๐๔ จึงทำให้ เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุของผู้ที่สัญจรไปอย่างมากครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ปัญหาเรื่องสุดท้าย ปัญหาที่ ๔ จากการหารือเมื่อประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว เรื่องลานจอดจุดพักรถบริเวณทางหลวง ๓๐๔ ศาลเขาปู่โทน ในบริเวณดังกล่าวมีเรื่องของ การผลักดันเรื่องบริเวณจุดจอดรถขนส่งหรือรถบรรทุกเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุตามภาพที่ขึ้น ในสไลด์ ปัจจุบันจังหวัดปราจีณบุรีได้เริ่มมีการผลักดันโครงการลานจุดพักรถแล้ว แต่ผมยังมี ความกังวลในเรื่องความล่าช้าเนื่องจากต้องขออนุญาตกับพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงอยากเรียนฝากท่านประธานให้ช่วยประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อช่วยเร่งรัดการขอใช้พื้นที่ทำโครงการเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุและ การเสียชีวิตของประชาชนที่สัญจรในบริเวณเส้นทางดังกล่าว ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน เชิญครับ
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน ๑ เรื่อง
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนและนักเรียนที่ใช้สะพานศรีมงคลวชิรานุสรณ์ข้ามสะพานแม่น้ำปิง ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นเวลา ๑๙ ปี ที่สร้างบนถนนสาย กพ.๑๐๓๘ แยก ทล.๑ เกิดการทรุดตัวและเสียหายอย่างหนัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ยังไม่ได้มีการซ่อมแซม แต่ปล่อยรอให้มีการซ่อมซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร วันนี้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่า จะมีการทำมาค้าขายหรือนักเรียนที่จะต้องใช้สะพานแห่งนี้เป็นที่สัญจรข้ามไปเรียนยังอีกฝั่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นอยากจะให้ประธานช่วยกำชับแล้วก็ทำเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ดำเนินการซ่อมแซมสะพานแห่งนี้ไปก่อนก็ได้ ยังไม่ต้องทำทั้งหมด แต่ว่าซ่อมแซมเพื่อให้มัน สามารถใช้การได้ในการที่พี่น้องประชาชนซึ่งจำเป็นต้องใช้สะพานนี้สัญจรข้ามไปมาเพื่อให้ เกิดความคล่องตัว หากไม่มีการแก้ไขแล้วต้องรอไปต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมาใหม่หรือจะ ซ่อมนานมันก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชน ทุกวันนี้นักเรียน ที่จะต้องใช้สะพานนี้ข้ามไปเรียนอีกฝั่งหนึ่งแต่ต้องใช้เวลาอ้อมเป็น ๑๐ กิโลเมตร ไปกลับ ๓๐ กิโลเมตร เพราะฉะนั้นมีน้อง ๆ นักเรียนต้องการอยากที่จะย้ายที่เรียนใหม่ และไม่อยากเรียนที่เดิมแล้วเพราะว่ามันเป็นการเดินทางที่ยาวไกล แล้วทำให้ไปเรียน ไม่ทัน ปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นอยากจะให้มีการแก้ไข อีกทั้งตัวท่านนายก อบต. วังแขม แล้วก็นายชัยวัฒน์ วัฒนานุกูล ได้มีการพูดคุยกันแล้วก็หาวิธีการที่จะแก้ไข แต่ไม่สามารถได้ข้อสรุป เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาดูแลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญครับ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ขออนุญาต หารือกับท่านประธาน ๓ เรื่อง ดังนี้
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องแรก ขอให้มีการปรับปรุงเส้นทางถนนจราจร ถนนหมายเลข ๑ ที่บริเวณ หน้าโรงเรียนพานพิทยาคมไปจนถึงแยกวัดชัยมงคล เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แล้วก็ยังมีทางร่วมทางแยกเป็นถนน ๖ แยก หน้าตลาดหกแยก ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ขอให้มีการติดตั้งไฟจราจร ปรับปรุงพื้นผิว กำหนดจุดจอดรถให้ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ ก็จอดกันริมถนนทางหลวง แล้วก็เพิ่มแสงสว่างให้กับเส้นนี้ด้วยค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอขยายน้ำประปาส่วนภูมิภาคให้กับอำเภอพาน อำเภอป่าแดด เนื่องจากอำเภอพานในเขตรัศมี ๕ กิโลเมตร นับจากตรงการประปายังไม่มีน้ำประปาใช้ อย่างทั่วถึง แล้วในอำเภอป่าแดดเองแม้แต่น้ำประปาส่วนภูมิภาคก็ยังไม่ถึงนะคะ ขอให้มีการ ขยายเขตให้บริการน้ำประปาแล้วก็สร้างระบบน้ำประปาใหม่ด้วยค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องปัญหาขาดแคลนบุคลากรครูในเขตอำเภอพาน ใน Zone ชนบทแล้วก็บนดอย และในอำเภอป่าแดด ในเขตชนบทเช่นเดียวกัน เนื่องจากโรงเรียนนี้ อยู่บนดอยแล้วก็ห่างไกลจากอำเภอเมือง ขาดงบสนับสนุนให้บุคลากรครูเข้าไปสอนนักเรียน จึงอยากให้มีการบรรจุครูอาจารย์เพิ่มค่ะ และขอให้สนับสนุนค่าครองชีพเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจแล้วก็สวัสดิการแรงจูงใจให้บุคลากรครูด้วยค่ะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ในตำบลห้วยสักและตำบลดอยลานขาดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ครอบคลุม หรือบางพื้นที่ก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลย ยกตัวอย่างเช่น หมู่ที่ ๓๑ บ้านเนินสะดวก ตำบลห้วยสัก บ้านปงอ้อ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลดอยลาน บ้านใหม่น้ำเย็น หมู่ที่ ๙ ตำบลดอยลาน และบ้านโละป่าตุ้ม หมู่ที่ ๗ ตำบลดอยลาน ขอให้มีการขยาย สัญญาณโทรศัพท์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเสาสัญญาด้วย ก็ขอฝากท่านประธาน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวจังหวัดเชียงรายด้วยค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส เชิญครับ
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ ปัตตานี อำเภอมายอ และอำเภอยะหริ่ง ขอหารือกับท่านประธาน ปัญหาความกับเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่ง ตั้งแต่พื้นที่ตำบลตะโละกาโปร์จนถึงตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี บริเวณสายแหลมตาชี ทางหลวงชนบท ปน.๒๐๖๒ กิโลเมตรที่ ๑๔+๖๐๐ ถูกกัดเซาะอยู่เป็น ประจำครับท่านประธาน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายเข้ามาแก้ปัญหาถนนสายนี้ ในระยะยาวซึ่งมีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีครับท่านประธาน ซึ่งที่ดินชาวบ้าน ถูกน้ำทะเลกลืนไปแล้วหลายร้อยไร่ตลอดแนวชายหาด ในขณะปัจจุบันการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวกลับไม่มีแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำ ลักษณะเฉพาะหน้า แต่มีผลทำให้การกัดเซาะยิ่งรุนแรงมากขึ้น พอมีการกัดเซาะถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการเอาหินมาวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ปีต่อไปก็กลับมา กัดเซาะอีก ก็ปัญหาเดิม ๆ ครับท่านประธาน ดังนั้นจากการลงพื้นที่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการทำงานเพื่อจัดทำแผนป้องกันการกัดเซาะ ชายฝั่งอย่างเป็นระบบ และขอให้รัฐบาลช่วยจัดสรรงบประมาณไปจัดทำเขื่อนกันคลื่น นอกชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะด้วยครับท่านประธาน
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ขยายถนนทางหลวง ปน.๒๐๖๖ จากปาลัสถึงบ้านดูวา ซึ่งจากเดิมถนนสายนี้มีขนาด ๘ เมตร ซึ่งเป็นการจราจรไปมา เป็นจำนวนมาก แต่ถนนค่อนข้างคับแคบ จึงขอให้ขยายถนน ๘ เมตรเป็น ๑๒ เมตรครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง เชิญครับ
นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผมขอหารือ กับท่านประธานถึงเรื่องถ่ายโอนถนนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นถนนของ เส้น อบต. เทศบาล อบจ. หรือถนน รพช. ในสมัยอดีตครับ
นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา ต้นฉบับ
วันนี้การเจริญเติบโตของเมืองที่มีอัตรา ที่สูงขึ้น ถนนหลายเส้นทางเป็นทางสัญจรที่มีความสำคัญ ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกทุกคน ในห้องนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ต่างกันว่าทำไมถนนบางเส้นไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม บำรุง นั่นก็เพราะบางเส้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่งได้รับถ่ายโอนมาไม่งบเพียงพอ ลำพังเงินเดือนของข้าราชการ ลูกจ้างประจำก็แทบ จะไม่เหลือแล้วครับ จะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมแซม มาบำรุงก่อสร้าง ปัจจุบันนี้ประเทศไทย มีถนน ๗๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รับผิดชอบอยู่แค่ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร ส่วนอีก ๖๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรอยู่ภายใต้การดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระผมจึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยให้จัดสรร งบประมาณ ให้เล็งเห็นถึงการกระจายอำนาจให้มาสู่ท้องถิ่น มาสู่ อบต. เทศบาล อบจ. เพื่อซ่อมแซมบำรุงการก่อสร้างถนนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อน โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีไฟฟ้า มีประปา ระบบขนส่งที่ดีผมเชื่อว่า ประเทศเราพัฒนาไปไกลกว่านี้ครับ เมื่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการดูแล กรมทางหลวง กรมทางหลวง ชนบทก็มีแนวทางที่จะถ่ายโอนคืนถนนกลับสู่ส่วนกลางได้ กว่า ๒๐ ปีของการโอนภารกิจนี้ เส้นทางบางเส้นทางมีการเปลี่ยนแปลงถนนบางเส้นที่สำคัญในพื้นที่การเดินทาง การขนส่ง ที่เกินกว่าท้องถิ่นสามารถลงทุนพัฒนาได้ ยิ่งกว่านั้นการเดินทางของผู้ใช้รถทั่วไปก็น่าจะเป็น การลงทุนที่เหมาะกว่า ผมคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ก็อยากจะฝากท่านประธาน เป็นตัวกลางประสานผ่านฝ่ายกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย กระทรวง คมนาคม และกรรมาธิการการคมนาคมไว้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านถนอมพงศ์ หลีกภัย
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้กระผมมีเรื่องจะหารือท่านประธานในเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง เนื่องจาก ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เนื่องจาก จังหวัดตรังของกระผมมีการท่องเที่ยวซึ่งได้ชื่อว่ามีเกาะแก่งที่สวยงามที่สุดในโลก จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดในกลุ่มอันดามันที่มีเกาะแก่งไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ ไม่ว่าด้านอาหารการกินก็ไม่เป็น สองรองใคร แต่นั่นสิครับท่านประธาน จังหวัดตรังของผมเสียเวลาและเสียโอกาสมานาน ในเรื่องของการท่องเที่ยว ผมก็ได้นั่งปรึกษากับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งท่านก็ได้ เดินทางมารับหน้าที่ใหม่ ๆ คือ ท่านทรงกลด สว่างวงศ์ ศึกษาการ Boom ของการท่องเที่ยว จังหวัดตรัง ซึ่งรายได้ของจังหวัดตรังบ้านผมได้ขาดหายไปจากการท่องเที่ยวนานครับ ด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามัน จังหวัดตรังบ้านผมเป็นสองรองกระบี่ รองจากจังหวัด ภูเก็ต รองจากจังหวัดพังงา เพราะอะไรครับท่านประธาน เพราะว่าการคมนาคมของ จังหวัดตรัง ไม่ว่าจะทางอากาศ ไม่ว่าจะทางรถไฟ หรือไม่ว่าจะทางรถยนต์ การจราจรต่าง ๆ ที่จะลงสู่ภาคใต้บ้านผมเสียเวลามามาก เพราะฉะนั้นในส่วนของการจราจรทางอากาศ เครื่องบิน ผมก็เคยประสบกับตัวเองครับท่านประธาน เครื่องบินไม่สามารถจะลงได้ในช่วง หน้าฝน บินวนไปวนมา ผมก็เคยติดอยู่หลายครั้ง วนไปวนมาไม่สามารถจะลงได้ ต้องไปลง จังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจังหวัดกระบี่ ไม่ว่าหาดใหญ่หรือจังหวัดภูเก็ต ทำให้เสียเวลาล่าช้า ไม่ว่าชาวไทยและชาวต่างชาติ ผมขออีกนิดครับท่านประธาน อยากจะฝากท่านประธานถึง ผู้รับผิดชอบ ทางด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ดี ทางด้านกระทรวงคมนาคมก็ดี ช่วยจัดเส้นทางคมนาคมให้มีความสะดวกในการที่จะไปสู่เมืองท่องเที่ยวครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านรำพูล ตันติวณิชชานนท์
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอุบลราชธานี เขต ๙ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร พรรคไทยสร้างไทย ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานฝากถึงท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ ๒๕๖๗ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำเป็น จริง ๆ ค่ะท่านประธาน พี่น้องชาวอำเภอนาจะหลวยของดิฉันขอความเมตตาจาก ท่านประธาน ดังนี้
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก นายศิริศักดิ์ สุบิน นายก อบต. โนนสวรรค์ พร้อมสมาชิก อบต. และชาวบ้าน ต้องการถนน คสล. สายบ้านดงสว่างไปดงชี ตำบลโนนสวรรค์ ถนนกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑,๙๐๐ เมตร งบประมาณ ๔,๓๖๐,๔๐๐ บาท
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก นายณรงค์ จรรยากรณ์ นายก อบต. พรสวรรค์ พร้อมสมาชิก อบต. และชาวบ้าน ต้องการถนน ๒ โครงการ โครงการที่ ๑ ถนน คสล. สายหนองดง-บ้านบุ่งคำ ตำบลพรสวรรค์ ถนนกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑,๑๕๐ เมตร งบประมาณ ๒,๖๖๐,๐๐๐ บาท โครงการที่ ๒ ถนน คสล. สายบ้านคุ้ม ตำบลพรสวรรค์ ไปบ้านคำบอน ตำบลบ้านตูม ถนนกว้าง ๔ เมตร ยาว ๒,๓๐๐ เมตร งบประมาณ ๕,๓๐๙,๐๐๐ บาท
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายนิรันดร์ เสมอสุข นายก อบต. โสกแสง พร้อมสมาชิก อบต. และชาวบ้าน ต้องการถนน ๓ โครงการดังนี้ ถนนที่ ๑ บ้านคำม่วง หมู่ที่ ๓ ตำบลโสกแสง อำเภอนาจะหลวยไปบ้านหนองยู ตำบลโนนค้อ อำเภอ บุณฑริก ถนนกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑,๐๐๐ เมตร งบประมาณ ๓ ล้านบาท โครงการที่ ๒ ถนน คสล. บ้านทับไฮ ตำบลโสกแสง ไปบ้านโนนแดง ตำบลบ้านตูม ถนนกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑,๐๐๐ เมตร งบประมาณ ๓ ล้านบาท โครงการที่ ๓ ถนน คสล. จากบ้านคำม่วง หมู่ที่ ๓ ตำบลโสกแสงไปบ้านโนนแดง ตำบลบ้านตูม กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑,๐๐๐ เมตร งบประมาณ ๓ ล้านบาท ดิฉันขอฝากเรื่องร้องเรียนเรื่องถนน ๖ โครงการ ซึ่งจำเป็นที่สุดของ พี่น้องชาวอำเภอนาจะหลวย เพราะว่าฤดูฝนน้ำท่วม ถนนขาดถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จึงขอความเมตตาจากท่านประธานสภาฝากถึงท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของพี่น้องชาวอำเภอนาจะหลวย ขอขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข เชิญครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมอยู่ ๑ เรื่อง ในเรื่อง การปรับปรุงถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๕ เส้นบ้านตาก-แม่ระมาด ซึ่งมีระยะทางทั้งหมด ๘๕ กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมาถนนเส้นนี้มีการชำรุดทรุดโทรมทุกปี หากมีฝนตกชุกก็จะเจอ ดินโคลนถล่มพัดพาถนนขาดหลายจุด แล้วก็ก่อให้เกิดคอสะพานขาด เป็นทุกปี แต่ที่ผ่านมา ก็ต้องขอบคุณกรมทางหลวง โดยเฉพาะแขวงทางหลวงตากที่ ๑ และ ๒ ก็ได้เข้ามาแก้ปัญหา แบบทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราว ทำสะพานแบริ่ง ตลอดจนทำสะพานข้าม แล้วก็ ปรับปรุงตลอด แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงก็ได้เป็นบางช่วง เนื่องจากถนนเส้นนี้ผมคิดว่า เป็นถนนที่มีความสำคัญมาก เป็นถนนเส้นทางสำรองเพียงเส้นเดียวที่จะเชื่อมต่อระหว่าง จังหวัดตากมายังอำเภอแม่สอด ก็คือหมายความว่าถ้ามาจากกรุงเทพฯ หรือมาจากส่วนไหน ถ้าจะข้ามไปอำเภอแม่สอดต้องใช้ถนนเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำรองเส้นเดียว ถ้าถนนตาก-แม่สอด ถนนสายเอเชียตัดขาดก็ต้องใช้เส้นทางนี้เส้นเดียวเท่านั้น จึงอยากจะขอทางกระทรวง คมนาคมเร่งปรับปรุงเส้นทางนี้ โดยการขยายจุดชุมชนให้เป็น ๔ เลน จุดไหนที่เป็นจุดเสี่ยง ก็ต้องทำให้มันดีขึ้น ขยายไหล่ทาง แล้วก็เส้นทางนี้คับแคบมาก แล้วก็เตรียมการป้องกัน ในจุดที่จะมีปัญหาในอนาคต เนื่องจากถนนเส้นนี้ชาวบ้านก็ยังได้ใช้ประโยชน์สูงมาก โดยเฉพาะชาวตำบลสามหมื่น ตำบลแม่ตื่น ตำบลขะเนจื้อ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด ได้ใช้เส้นทางนี้ บ้านม้งใหม่พัฒนา อำเภอบ้านตากก็ใช้เส้นทางนี้ในการที่จะลงไปทำธุระ ในเมือง ทำการค้าขาย หรือทำสิ่งอื่น ๆ ก็ดี และที่สำคัญเส้นทางนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ที่สวยมาก มีจุดชมวิวสวย ๆ เยอะ เป็นทางไปยังอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ อุทยานแห่งชาติ ดอยสอยมาลัย ที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๗ ก็มีการจัดสรรงบประมาณประมาณหลายสิบล้านบาท เหมือนกันแต่ก็ไม่เพียงพอ จึงขอให้ทางกระทรวงคมนาคมเร่งจัดสรรงบประมาณให้ถนนเส้นนี้ มีมาตรฐานโดยเร็วยิ่งขึ้นครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เชิญครับ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานในปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนในเขตพื้นที่ของดิฉันค่ะ อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และ อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งอำเภอที่ดิฉันได้กล่าวมามีพื้นที่ถิ่นฐานอาศัยอยู่ห่างไกลจาก ตัวจังหวัด มีพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งเรียนท่านประธานค่ะ พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่เรียบง่าย หาอยู่หากินค่ะ แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล การขึ้นศาลของพี่น้องประชาชนถือเป็น เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่กว่าการขึ้นศาลนั้นคือการเดินทางไปศาล รถที่จะไปก็ต้องเช่า ต้องเหมา ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด ตีสาม ตีสี่ เดินทางร้อยกว่ากิโลเมตร วันนี้ดิฉัน จึงอยากจะปรึกษาท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงยุติธรรม ขอให้มีการจัดตั้งศาลจังหวัด ตระการพืชผลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ขออนุญาตขอสไลด์ค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
จากสไลด์ที่ทุกท่าน ได้เห็น อันนี้คือแผนที่ของจังหวัดอุบลราชธานีค่ะ จังหวัดอุบลราชธานีมีประชากรมาก เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ แต่มีศาลจังหวัดเพียงแค่ ๒ แห่ง ตรงสีแดงคือตัวเมือง อุบลราชธานี แล้วก็มีอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอเดชอุดม สำหรับพี่น้องประชาชนใน Zone ล่าง แต่ในส่วนของ Zone เหนือ คือที่ดิฉันได้ Highlight ไว้เป็นสีเขียวเข้ม นี่คือเขตพื้นที่ของดิฉัน มีอำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม แล้วก็มีเขตพื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ ที่ต้องอาศัยการเดินทาง เข้าตัวเมืองเพื่อไปศาลอีกหลายอำเภอด้วยกันค่ะ มีทั้งอำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอ โพธิ์ไทร อำเภอกุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผล วันนี้ดิฉันจึงจะขอเสนอทางท่านประธาน ผ่านไปยังกระทรวงยุติธรรมว่าขอให้มีการจัดตั้งศาลที่อำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นอำเภอ ที่อยู่ใจกลางและมีความพร้อมที่จะรองรับการตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี ขอบพระคุณ ท่านประธานเป็นอย่างสูงค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เชิญครับ
นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด เพชรบูรณ์ เขต ๕ ขอหารือความเดือดร้อน ขอให้สภาช่วยแจ้งกรมทางหลวง ขอ ๒ เส้นทาง ช่วยปรับปรุงผิวการจราจร ถนนสาย ทล.๒๑ กรุงเทพมหานคร-สระบุรี ช่วงกิโลเมตรที่ ๑๕๐ อยู่ที่อำเภอบึงสามพันถึงอำเภอหนองไผ่ ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๖๔ ถนนเส้นนี้เป็นถนน สายหลัก จากกรุงเทพมหานคร-สระบุรี ไปถึงหล่มสัก เป็นเส้นทางเดียวที่เราใช้สัญจรติดต่อ กับทางกรุงเทพมหานคร เราไม่มีรถไฟ เราไม่มีเครื่องบินบิน แล้วก็ปัจจุบันท่านจะเห็นว่า จังหวัดเพชรบูรณ์จะมีจัดกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวบ่อยครั้ง นักท่องเที่ยวที่เดินทางไป เที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ก็จะใช้พาหนะในเรื่องของการใช้รถใช้ถนนหลายลักษณะ ก็คือเป็นรถ ขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซค์ Bigbike แล้วก็รถยนต์ แล้วก็รถโดยสาร ถนนช่วงที่ดิฉันกล่าวมานี้ ปะผุจนไม่เห็นเนื้อของถนน ปะเล็ก ๆ ด้วย เป็นหลุม เป็นบ่อ แตกร่อน แล้วก็เป็นคลื่น อุปสรรคสำหรับรถเล็กก็คือถ้าวิ่งไปในช่องทางซึ่งถนนมันแตกอันตรายถึงชีวิตของผู้ขับขี่ แล้วก็ถ้าหากว่าถนนเป็นคลื่น รถใหญ่ใช้ ตอนนี้เราก็ขนผักจากหล่มสักเข้าตลาดไท เข้าตลาด สี่มุมเมืองก็ใช้ถนนเส้นขาเข้ากรุงเทพมหานครมันก็เป็นร่อง เป็นคลื่น รถก็จะทรงตัวไม่อยู่ ก็จะเป็นอันตรายเช่นกัน อีกเส้นหนึ่งก็คือขอให้ปรับปรุงผิวการจราจรเส้น ทล.๒๒๕ จาก สี่แยกราหุลไปถึงบ้านซับบอน เส้นนี้ไปออกชัยภูมิค่ะ ซ่อมมาใหม่ไม่นาน แต่ว่าตอนนี้ แตกร้าวเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ช่วยจัดงบปรับปรุงเส้นทางทั้ง ๒ เส้นทางให้กับคนเพชรบูรณ์และผู้ใช้ เส้นทางตรงนี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกรวีร์ สาราคำ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายกรวีร์ สาราคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้ กระผมมีเรื่องหารือต่อท่านประธาน ๓ เรื่อง ดังนี้
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ กระผมได้ลงพื้นที่กับ สจ. จักรพงษ์ แสนคำ ได้รับเรื่องร้องเรียน จากคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะ อปพร. ที่เป็นหน่วยงานจิตอาสา เป็นกลุ่มคนที่ดูแล ความสงบในชุมชน กระผมอยากฝากท่านประธานผ่านไปถึงกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นช่วยหยิบยกการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะ อปพร. ในชุมชน ถึงแม้ว่าจะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน แก่ผู้มีจิตอาสาที่จะดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กับพี่น้องประชาชน คณะกรรมการหมู่บ้านและ คณะ อปพร. ได้ร้องขอความเห็นใจถึงผู้มีอำนาจในการอนุมัติตั้งค่าตอบแทนด้วยครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ กระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ศอ.บต. คนอง พานใย บ้านน้ำรอด ตำบลนาทราย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี และนายจักรพงษ์ วิบูลย์กุล นายกเทศบาล ตำบลโคกสูง ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถึงความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้หลายครัวเรือน ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก และได้ยื่น คำร้องขอไปทางการไฟฟ้าในเขตนั้น ๆ และได้ติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ นับเวลาเป็นแรมปี แล้วครับ แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากขอขยายเขตไฟฟ้าเพื่อเป็นการบรรเทา ความเดือดร้อนและความลำบากการใช้ชีวิตแบบไม่มีไฟฟ้า กระผมอยากจะขอให้การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้ราษฎร บ้านน้ำรอด ตำบลนาทราย อำเภอพิบูลย์รักษ์ และตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัด อุดรธานี อย่างเร่งด่วนด้วยครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย กระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายธวัชชัย หาญธงชัย กำนัน ตำบลสะแบง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านตำบล สะแบง ในเรื่องเกี่ยวกับการสัญจร ซึ่งถนนมีสภาพชำรุดเสียหาย สะพานไม้ที่มีอยู่ก็หักพัง ทำให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางนี้ กระผมจึงอยากฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มงบประมาณในการสร้างถนน สร้างสะพาน คอนกรีตให้กับพี่น้องประชาชนเกษตรกรตำบลสะแบงและตำบลใกล้เคียงใช้เส้นทางนี้ ส่งพืชผลทางการเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพในครอบครัว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วย อย่างเร่งด่วนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านแนน บุณย์ธิดา สมชัย เชิญครับ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะวันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือ น่าจะเป็นการตามเรื่องมากกว่าค่ะ เพราะว่า เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ๓-๔ อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอพิบูลมังสาหารที่ต้องใช้ สะพานข้ามแม่น้ำมูล
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ภาพขึ้นได้เรื่อย ๆ นะคะ สะพานแห่งนี้สร้างมา ๓๐-๔๐ ปีแล้วค่ะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสะพานยังแข็งแรงดีอยู่ แต่สิ่งที่ เกิดขึ้นคือบริเวณนี้ในระยะ ๒๐ กิโลเมตรนี้มีสะพานข้ามแม่น้ำมูลเพียงแห่งเดียว และปัญหา ก็คือสะพานแห่งนี้ไม่สามารถขยายได้มากกว่านี้แล้ว เนื่องจากทั้งหัวสะพานและปลายสะพาน ก็จะไปติดเขตชุมชนเมือง ทีนี้ปัญหาคืออย่างนี้ค่ะท่านประธาน เมื่อมีหน้าเทศกาล ในสมัยก่อนก็จะรถติดไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง รถพยาบาลต่าง ๆ ก็ต้องขับไปไกลอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเพื่อใช้อีกสะพานข้ามมายังโรงพยาบาล แล้วดิฉันต้องตามเรื่องเนื่องจากได้มี การสำรวจออกแบบแล้วค่ะ เสร็จตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วในการสำรวจออกแบบสะพาน ข้ามแม่น้ำมูลแห่งที่ ๒ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร เพื่อที่พี่น้องทั้งอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอ ตาลสุม อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่จะได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงอำเภอสิรินธรด้วยจะได้ ใช้ประโยชน์ ฉะนั้นขออนุญาตตามเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมว่าหลังจากที่สำรวจออกแบบแล้ว อยากให้ติดตามเรื่อง อนุมัติให้สร้างโดยเร็วพลัน ทั้งสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งที่ ๒ และ ทางเลี่ยงเมืองเพื่อให้พี่น้องประชาชนบรรเทาในการจราจร ไม่ใช่แค่ช่วงวันหยุดพิเศษ ขณะนี้ ทุก ๆ วันสะพานแห่งนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงในการผ่าน ยิ่งช่วงเช้าและช่วงเย็น ช่วงเวลาก่อนเข้าเรียนกับเลิกเรียน เพราะฉะนั้นก็ขอฝากไปยังกระทรวงคมนาคมให้พิจารณา โครงการนี้โดยด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศรีญาดา ปาลิมาพันธุ์ เชิญครับ
นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ดิฉัน ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอปรึกษาหารือส่งข้อมูลการแก้ไขปัญหาการเพิ่ม แหล่งน้ำกินน้ำใช้ในจังหวัดภูเก็ตให้ทันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ การขยายตัวของประชากรในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะรองรับนโยบาย Free Visa ของรัฐบาล ถ้าย้อนกลับไปก่อนจะเป็นยุคการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตมีการขุดแร่ดีบุก ทำเหมืองแร่ ทั้งพื้นที่เอกชนและสัมปทานบนพื้นที่รัฐ ตามภาพนะคะ ขอภาพที่ ๑ ค่ะ
นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ทำให้เกาะภูเก็ต มีขุมเหมืองทั้งรัฐและเอกชน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มากกว่า ๑๐๐ แห่ง และภูเก็ตเองยังมีพื้นที่ ที่เป็นเนินเขาและแอ่งเขาที่สามารถทำเป็นอ่างน้ำรองรับน้ำฝนได้ดี ในช่วงที่เริ่มมีการ ท่องเที่ยวมาแทนทำเหมืองแร่ แหล่งน้ำใหญ่แห่งแรกของจังหวัดภูเก็ตเขื่อนบางวาด ตั้งอยู่ใจกลางเกาะภูเก็ตเพื่อกระจายน้ำไปทางเหนือเกาะและพื้นที่ใต้เกาะ เมื่ออุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเติบโต การใช้น้ำจากบางวาดซื้อน้ำจากขุมเหมืองที่กระจายกันอยู่ทั่วเกาะ ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก ปี ๒๕๔๖ ได้มีทัวร์นกขมิ้นของท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณชินวัตร รัฐบาลไทยรักไทยได้ลงพื้นที่แก้ปัญหาโดยอนุมัติการสร้างอ่างเก็บน้ำ บางเหนียวดำและบริเวณเหนือเกาะและอ่างเก็บน้ำคลองกะทะบริเวณทางใต้ของเกาะภูเก็ต ทันที มีภาพมาฝากค่ะ ทราบว่าปัจจุบันมีการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบรรยากาศดีมาก เชิญชวนไปภูเก็ต แวะไปถ่ายรูปกัน ในช่วง ๑๐ ปีผ่านมาเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในหน้าแล้ง ทางกรมชลประทานใช้การสูบน้ำกลับเพื่อเติมน้ำในเขื่อนบางวาดเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งถ้าฝนตกลงมาพอก็จะแก้ปัญหาได้ดี ดังนั้นในระยะสั้นนี้ฝากท่านประธานไปยัง กรมชลประทานเร่งรัดโครงการตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อดึงน้ำกลับในเขื่อนบางเหนียวดำ และ วางแผนประเมินการใช้น้ำจากศักยภาพขุมเหมืองทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อนำสู่การจัด ความสำคัญในการของบประมาณ และทราบว่าที่จังหวัดพังงามีโครงการสนามบินอันดามัน ซึ่งจะมีการเตรียมแหล่งน้ำมาก จังหวัดภูเก็ตก็จะได้เชื่อมต่อกันต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ หมดผู้อภิปราย ท่านสมาชิกครับ ก่อนที่จะเข้าระเบียบวาระ เนื่องจากเมื่อวานนี้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี ได้พูดในที่ประชุมในลักษณะเสียดสี ใส่ร้าย ข่มขู่ ประธานในที่ประชุมอย่าง รุนแรงว่าประธานที่ประชุมไม่มีความเป็นกลาง แล้วให้ประธานต้องขอโทษเขา ท่านสมาชิกครับ ผมก็เรียนท่านชาดาไปว่าผมจะขอกลับไปตรวจสอบคลิปต่าง ๆ ที่นำมาเสนอ ก็ขอทำความเข้าใจ กับท่านรัฐมนตรีนะครับ ทางสภาเราได้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและวินิจฉัย ความเหมาะสมในการนำเสนอข้อมูล ขอสไลด์ด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีคณะกรรมการที่จะตรวจสอบข้อมูลที่จะออกสื่อต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจว่าความเหมาะสม ต่าง ๆ แล้วก็จะมีหลักเกณฑ์การส่งข้อมูลประกอบการอภิปรายของท่านสมาชิก หลักเกณฑ์ ก็บอกเป็นข้อ ๆ แล้วก็ในวรรคสุดท้ายของหลักเกณฑ์ที่เราจะนำเสนอข้อมูลทางสื่อ Online นั้น ผมจะอ่านให้ฟังว่า ทั้งนี้ ข้อมูลที่ไม่ต้องปกปิดหรือเบลอภาพ ได้แก่ ภาพคณะรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ บุคคลในวงงานของสภา หนังสือเวียนต่าง ๆ ประกาศ ระเบียบของ หน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นที่เปิดเผยต่อที่สาธารณชนอย่างกว้างขวางแล้ว ดังนั้นการที่มีภาพ ของท่านรัฐมนตรีแล้วก็ไม่ได้เบลอหน้าของท่านก็เป็นเงื่อนไขที่เราได้ใช้กันมาตลอด ฉะนั้นก็ ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับท่านรัฐมนตรี ในที่ประชุมแห่งนี้ผมให้เกียรติสมาชิก ทุกท่าน ไม่ว่าอายุ ๒๐ กว่าปี หรืออายุ ๘๐ กว่าปี เมื่อเราเข้ามาอยู่ในห้องนี้แล้ว ประชาชน ให้ความไว้วางใจให้ท่านมาเป็นตัวแทนของเขา สิทธิและเอกสิทธิ์ของท่านทุกคนเท่าเทียมกัน ผมพยายามดำเนินการประชุมในฐานะที่ท่านได้เลือกผมมาเป็นตัวแทนในการประชุม ก็พยายามที่จะรักษาความยุติธรรม ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปเข้าข้างใคร ลำเอียงกับใคร ขอชี้แจงกับท่านรัฐมนตรีนะครับ ถ้ามีปัญหาก็คุยกันข้างนอกได้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๘๑ คน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อประชุม ๒๙๗ ท่าน ครบองค์ประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑.๑ กระทู้ถามด้วยวาจา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. นายพิทักษ์เดช เดชเดโช เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ถาม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ท่านรัฐมนตรีพร้อมแล้ว เชิญท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลุ่มน้ำ ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องตั้ง กระทู้ถามสดด้วยวาจากับท่าน พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กรณีการกัดเซาะชายฝั่ง ผมต้องขอกราบเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าพื้นที่ที่อยู่ ในการกัดเซาะแนวชายฝั่งเป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งอยู่ใน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ปลูกพืชผลทางการเกษตรหรือบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ผมต้องขอกราบเรียนว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานในภาครัฐ ท่านประธานที่เคารพ กรณีเนื่องจากการเกิดมรสุม ในทุกปี ปรากฏว่าตลอดแนวชายฝั่งของอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร จังหวัด นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นทำให้พี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนเสียหายทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ รวมไปถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นประจำทุกปี
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
แต่การแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมา ผมได้หารือในสภาแห่งนี้ไปแล้วจำนวน ๒ ครั้งก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้จึงตั้งกระทู้ถามสด กับท่านรัฐมนตรี ก่อนนี้ผมได้หารือไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อศึกษาออกแบบ ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้กับพี่น้องประชาชน แต่เนื่องด้วยความ คาบเกี่ยวของพื้นที่ซึ่งอยู่ในการดูแล อยู่ในการครอบครองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มันเป็นปัญหาระหว่างรัฐกับรัฐครับท่านประธาน วันนี้ผมจึงต้องกระทู้ถาม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผมจะแบ่งออกมาเป็นประเด็นสัก ๔ ประเด็นในพื้นที่ ซึ่งตลอดแนวชายฝั่ง ของอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร ในอำเภอปากพนังที่อยู่แนวชายฝั่งมี ๖ ตำบลด้วยกัน อำเภอหัวไทร ๒ ตำบล ซึ่งรวมระยะทั้งหมด ๗๓ กิโลเมตร แต่ในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๕๙- ๒๕๖๕ ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างไปแล้ว ๑๕ โครงการ เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น ๑๕ กิโลเมตร งบประมาณ ๑,๓๐๐ กว่าล้านบาท ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ ดำเนินการศึกษาออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งในอำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราชเสร็จแล้วจำนวน ๒ พื้นที่ จึงขอความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของตำบลแหลมตะลุมพุก จำนวน ๓๘๘๐ เมตรและอยู่ในพื้นที่ของตำบล ปากพนังฝั่งตะวันออก ๔,๑๐๐ เมตร โดยทั้ง ๒ โครงการนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและขอให้เสนอแนะข้อคิดเห็นโครงการมาตรการ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและการแก้ไข ในมติที่ประชุม เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทบทวนโครงการเสนอคณะทำงานเพื่อพิจารณา กลั่นกรองในปีงบประมาณถัดไป เพื่อพิจารณาในการเห็นชอบนำไปสู่การทำรายงานประเมิน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมต่อไป พื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบอีกพื้นที่หนึ่งที่ผมได้ลงพื้นที่ไปพบคือ ตำบลขนาบนาก ตั้งแต่คอสะพานบ้านหน้าโกฏิถึงแนวหินเขื่อนเดิมมีความยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร ยังประสบปัญหาการกัดเซาะจากคลื่นน้ำทะเล ที่ผ่านมาก็ได้มีหนังสือจากท้องถิ่น ของอำเภอปากพนังไปถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ได้ร่วมกันพิจารณาโครงการ ได้ร่วมกัน ทำประชาคมกับพี่น้องประชาชน วันนี้ก็ได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว พี่น้อง ประชาชนตลอดแนวชายฝั่งมีความเห็นด้วยกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในส่วนที่ ๔ โครงการป้องกันเขื่อนกัดเซาะริมตลิ่งในสัดส่วนของอำเภอหัวไทร ในส่วนของหมู่ที่ ๖ ในตำบลหน้าสตนก็เกิดการกัดเซาะอยู่ทุกปี ในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ลง พื้นที่ไปด้วยตนเองพร้อมกับผู้นำปกครองท้องถิ่นหรือผู้นำปกครองท้องที่ ท่านทราบหรือไม่ ว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทุกปี ปีนี้เกิดขึ้นไปประมาณ ๒-๓ ครั้ง ความหวาดผวาของพี่น้องประชาชน ความระแวง ความคิดว่าจะไร้ถิ่นที่อยู่ ความคิดว่า ผลอาสิน ความคิดว่าพื้นที่ที่จะอยู่ พื้นที่ที่อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ตั้งแต่บรรพบุรุษ จะสูญหายไปเพราะไร้การดูแล ไร้การเข้าไปแก้ไขปัญหาจากรัฐ ปัญหาเหล่านี้ผมต้องขอ กราบยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซากมาเป็นระยะเวลาถึง ๗-๘ ปีแล้วครับท่านประธาน ผมลง ไปดูพื้นที่ชายฝั่งตามภาพที่อยู่ในสไลด์ครับ แม้กระทั่งศาลพระภูมิยังหนีเจ้าของบ้านเลยครับ ที่เป็นสิ่งปกปักรักษา ที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ยังต้องบอกลา ตามภาพเลยครับท่านประธาน ต้องบอกลาว่า ลูกหลานเอ๊ย เจ้าที่อยู่ไม่ได้แล้ววันนี้ แม้กระทั่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ไม่ได้ เรื่องนี้ผมถึงต้องมาพูดให้กับสภาเหล่านี้ในฐานะตัวแทนของพี่น้อง ประชาชน เมื่อคืนผมฝันดีมากเมื่อจะตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน ฝันดีมาก ฝันว่าท่านรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้ผม นอนไม่หลับเลยครับ ท่านประธาน เพราะที่ผ่านมาก็มีมาบ้าง ไม่มาบ้าง ผมถือว่าท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ วันนี้ให้ โอกาสกับพี่น้องลุ่มน้ำปากพนัง และท่านมาตอบแล้วผมมีความหวังในใจ แล้วกลับไปนอนฝัน ต่อว่าท่านจะแก้ปัญหาให้กับผม ผมถือว่าท่านเป็นรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับพี่น้อง ประชาชนและให้ความสำคัญกับสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ เราอย่าไปพูดว่าประชุมไม่มา สภาไม่ตอบ แต่วันนี้ท่านมาตอบผมแล้ว ผมรู้สึกยินดีและรู้สึกปลื้มปิติกับชาวบ้านของ ลุ่มน้ำปากพนัง
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ผมจะเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ ๑ กับท่านรัฐมนตรี เนื่องจากกรมโยธาธิการและ ผังเมือง ได้เสนอโครงการเขื่อนหินใหญ่เรียงแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของตำบล ปากพนังฝั่งตะวันออกและตำบลแหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่งอย่างรุนแรงและซ้ำซาก โดยเป็นการเสนอโครงการป้องกันชายฝั่งต่อเนื่องจาก โครงการป้องกันเขื่อนกัดเซาะของกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมืองที่สร้างเสร็จแล้ว ก่อนประกาศ EIA และเป็นลักษณะโครงการเดียวกัน แต่คณะกรรมการกลั่นกรองได้ให้ กลับไปทบทวน แล้วกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และรวดเร็วอย่างไร ขอถาม คำถามที่ ๑ ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะตอบ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนและอาจารย์ โรงเรียนประทีปวิทยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา สภาผู้แทนราษฎรยินดี ต้อนรับ คณะผู้บริหารสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ยินดีต้อนรับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครู นักเรียน โรงเรียนบ้านกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับทั้ง ๓ คณะ เชิญท่านรัฐมนตรี ตอบคำถามแรกครับ
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดังนี้ สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น พื้นที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนหินใหญ่เรียงเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ชายฝั่ง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ในบางบริเวณได้มี การก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งในพื้นที่ก่อนอยู่แล้ว แล้วก็โครงการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอโครงการต่อคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการ การกัดเซาะชายฝั่งทะเลพิจารณา และคณะอนุกรรมการมีมติให้กลับไปทบทวนโครงการ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื่องจากการดำเนินการโครงการ และอาจจะกระทบไปถึงบริเวณปลายแหลมตะลุมพุกได้ ราษฎรในพื้นที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อยากได้เขื่อนกันคลื่นซึ่งเป็นโครงการแข็งแรง มีความคงทนถาวร แต่ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้แก้ไขโดยการปักรั้วไม้ชะลอคลื่น ซึ่งเป็นโครงการ ไม่ถาวรและอยู่ได้ไม่นาน ราษฎรในพื้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว ประกอบกับประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดว่าการสร้างเขื่อนกันคลื่นทุกขนาด ต้องทำ EIA ส่งผลการแก้ไขปัญหาราษฎรในพื้นที่ทำให้เกิดความล่าช้า คำถามที่ท่าน สส. ถามมาผมขอชี้แจงดังนี้ ทางกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ๑. ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มอบหมายให้ ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงไปรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว ๒. ทางกระทรวงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการปักรั้วไม้ดักตะกอน ทรายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะทางความยาว ๒๐๐ เมตร เพื่อลดผลกระทบของการกัด เซาะชายฝั่งและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการติดตามผล การดำเนินงาน ในส่วนพื้นที่อำเภอปากพนังซึ่งมีปัญหาที่ซับซ้อนและยังมีชายฝั่งที่สมบูรณ์ และสวยงาม การแก้ไขปัญหาต้องใช้รูปแบบที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง กระทรวงจึงได้มอบหมายให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการบูร ณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลลงพื้นที่เพื่อไปศึกษารูปแบบและแก้ไขปัญหา ที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน หรือประมาณปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงครับ
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นฉบับ
สำหรับคำถามที่ ๒ เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทางกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ใช้วิธีการชั่วคราวคือ ๑. การแก้ไขปัญหาระยะสั้น การวางกระสอบทรายหรือการปักรั้วไม้ดักตะกอนทราย ๒. การแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางกระทรวงพยายามเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หากเป็นรูปแบบที่ต้องจัดทำ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ตามกฎหมาย ทางกระทรวงก็จะให้คำแนะนำ เพื่อเร่งรัดกระบวนการ เพื่อให้การแก้ไขไปด้วยความรวดเร็ว ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญคำถามที่ ๒ ท่านพิทักษ์เดช เชิญครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ช่วงคำถามที่ ๒ ผมจะถาม ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานของท่านเป็น ผู้ออกประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ ให้นำเขื่อนติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาดกลับมา ในการจัดทำรายงาน EIA ใหม่ จากที่เคยยกเลิกเขื่อนติดแนวชายฝั่งทะเลขนาด ๒๐๐ เมตร ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ไปเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นเวลา ๑๐ ปี ที่ท่านเคยยกเลิก EIA เพื่อให้ทันกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหา การกัดเซาะชายฝั่ง ปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่ชาวบ้านยังประสบปัญหาการกัดเซาะอยู่ ต้องการ แก้ไขอย่างเร่งด่วน ขอให้ท่านพิจารณา ทบทวน ยกเว้น หรือผ่อนผันการทำ EIA ในพื้นที่ ที่ได้รับภัยพิบัติซ้ำซากรุนแรง หรือเป็นพื้นที่ประสบปัญหาคลื่นลมรุนแรงทุกปีเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนให้ราษฎรในพื้นที่นั้น ๆ ได้อีกหรือไม่ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรี คำถามที่ ๒ ครับ
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นฉบับ
สำหรับคำถามที่ ๒ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้แจงรายละเอียดกับท่าน สส. ต่อไปครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับคำถามที่ ๓
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ผมถาม ๒ คำถามครับ แล้วก็ ผมจะขออนุญาตท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรในการนำปัญหาเหล่านี้ที่อยู่ในเอกสาร เหล่านี้ส่งให้ถึงมือท่าน พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยตัวกระผมเอง ขอขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไป
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. นายสัญญา นิลสุพรรณ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านสัญญาพร้อมแล้ว เชิญถามคำถามแรกครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องด้วยในขณะนี้กระแสสังคมได้มีความรุนแรงอย่างมาก จึงเป็นที่มาที่ผมได้นำกระทู้ มาถามท่านรัฐมนตรี คือ ท่านชลน่าน ศรีแก้ว ในวันนี้ เกี่ยวกับกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศล่าสุดในเรื่องของการกำหนดปริมาณยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ครอบครองเพื่อเสพ จริง ๆ ในกฎกระทรวงนี้ก็มียาเสพติดหลายประเภท แต่ผมนำเรียน ว่ายาเสพติดที่เป็นประเด็นที่สุดก็คือแอมเฟตามีนหรือว่ายาบ้า ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่ายาบ้า เป็นยาเสพติดที่ในปัจจุบันนี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายจริง ๆ ครับท่านประธาน แทบจะ ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนในปัจจุบันนี้จะต้องมียาบ้าเข้าระบาด อันนี้ผมว่าท่านสมาชิกทุกท่าน ในที่นี้ก็คงเห็นตรงกัน ซึ่งจากการออกกฎกระทรวงดังกล่าวก็ได้มีความคิดเห็น ซึ่งมี การคัดค้าน ทักท้วง แล้วก็ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ต่าง ๆ ประการแรกก็คือด้วยความเป็นห่วงว่า จะเป็นการทำให้เยาวชนได้เข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่ผมได้ทราบมา ในเรื่องของการที่ยาเสพติดในปัจจุบันนี้โดยเฉพาะอย่างที่ผมบอกว่ายาบ้า กลายเป็นว่า ซื้อขายกันอย่างสะดวกสบาย เมื่อวานนี้เองครับท่านประธานก็เพิ่งจะมีข่าวจับกุมผู้ที่ค้า ซึ่งผู้ที่ค้าเองก็ยอมรับเลยว่าจากการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ ผมจะใช้คำว่าอย่างไรดี การค้าขายคึกคัก เขาใช้คำว่า ครึกครื้น คึกคัก เพราะว่าลูกค้าสั่งมากขึ้น อันนี้เป็นประเด็นที่ สะท้อนมาว่าการที่เรากำหนดตรงนี้จะเหมาะสมหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่เดี๋ยวผมจะนำไปสู่ คำถามที่จะถามท่านรัฐมนตรีนะครับ นอกจากนั้นความเป็นห่วงเรื่องของการบำบัดผู้ที่ได้ผ่าน การตรวจสอบว่าเป็นผู้เสพก็ยังมีความเป็นห่วงว่าการบำบัดนี้จะสามารถบำบัดผู้ที่ติด ยาเสพติดได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน สถานที่ที่จะรองรับความพร้อมต่าง ๆ ในการที่บำบัด ดีแค่ไหน อันนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมได้จับจ้อง วันนี้ต้อง กราบขอบคุณท่านรัฐมนตรี วันนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ท่านได้มาตอบด้วยตัวเองในวันนี้ ผมก็กราบขอบพระคุณท่านไว้ก่อน ก็จะได้เป็นที่กระจ่างและตอบข้อสงสัยได้ เพราะฉะนั้น ผมขออนุญาตท่านประธานเข้าสู่คำถามที่ ๑ ครับ ผมอยากทราบเหตุผลที่มาของกระบวนการ ต่าง ๆ ที่ท่านได้เป็นที่มาของการกำหนดปริมาณยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ที่ทำให้ สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ อยากให้ท่านรัฐมนตรีได้อธิบายให้ทราบว่าที่มาที่ไป อะไร อย่างไร เหตุผลประกอบต่าง ๆ ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีตอบคำถามที่ ๑ ครับ
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องขอบคุณผ่านท่านประธาน ไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านสัญญา นิลสุพรรณ ที่ได้ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องของกฎกระทรวงที่กำหนดปริมาณ ยาเสพติดที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ในคำถามแรก เหตุผลที่มาของการกำหนดกฎกระทรวงและกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์เป็นมาอย่างไร ผมกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิก เหตุผลประการที่ ๑ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายประมวลยาเสพติด ในมาตรา ๑๐๗ บทบัญญัติกฎหมายมาตรา ๑๐๗ ในวรรคสองได้เขียนไว้ในกรณีที่มี การครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท ๑ ประเภท ๒ ในปริมาณเล็กน้อย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดในกฎกระทรวงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ ตรงนี้มันเป็นที่มาของว่า จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงรองรับการใช้บังคับตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรานี้ แต่ก่อนถึงวรรคสองผมขยายความนิดเดียวครับ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าไปออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นความผิด ท่านประธานที่เคารพ ในวรรคหนึ่งเขาห้ามครับ มาตรา ๑๐๗ ห้ามครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ประเภท ๑ ประเภท ๒ ห้ามหมดครับ บทห้ามนี้มีบทลงโทษ พูดง่าย ๆ ครอบครองถือว่ามีความผิด ตามกฎหมาย แต่วรรคสองที่ออกมาตรงนี้เพื่อรองรับเจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของ กฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิด ผมเน้นนะครับ ให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิดได้มี โอกาสกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีในสังคมได้ และต้องการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า ผู้ที่หลงผิด อยู่ขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีพฤติกรรมการเสพ เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด ๑,๙๐๐,๐๐๐ คน คนเหล่านี้อยู่ในชุมชน อยู่ในบ้านเมืองเรา ถ้าเราไม่แก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้ก็จะมี พฤติกรรมที่เลวร้ายหนักแน่นขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็หนักหนาสาหัสไป แล้วก็ผันตัวเองไปเป็น ผู้ค้า เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เลยให้โอกาสว่าจะต้องแก้ไขคนกลุ่มนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มใหม่ก็เลยให้โอกาส ถ้ามีครอบครองไว้ไม่เกินกำหนดให้สันนิษฐาน เบื้องต้นไว้ก่อนว่า เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นนะครับ ไม่ใช่สันนิษฐานเด็ดขาด มีไว้เพื่อเสพ เพื่ออะไรครับ เพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษา ตรงนั้นจะเป็นข้อชี้บ่งว่าเมื่อเข้าสู่การบำบัดรักษา แล้วเขาจะได้มีโอกาสไม่ต้องรับโทษ เพราะฉะนั้นเหตุผลแรกเป็นอย่างนี้ว่าเป็นไปตาม กฎหมาย
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ที่มาของการกำหนดปริมาณมาอย่างไร ผมกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปเพื่อนสมาชิกด้วยความเคารพว่า ๑. เรามีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกรรมการที่อยู่ในกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานอยู่ ประกอบด้วยฝ่ายของ ป.ป.ส. ทางยุติธรรม ทางทหาร ทางตำรวจ ทางอัยการ ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณา ว่าปริมาณที่เหมาะสมที่จะตอบโจทย์ของคำว่า ในปริมาณที่เล็กน้อย ตามกฎหมายบัญญัติไว้ คืออะไร ก็กราบเรียนด้วยความเคารพว่ายาบ้า แอมเฟตามีนหรือเมทแอมเฟตามีนมีข้อสรุป อยู่ที่ ๕ เม็ด หรือ ๕ หน่วยการใช้ น้ำหนักสุทธิไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม เม็ดหนึ่ง ๑๐๐ มิลลิกรัมครับ อันนี้เป็นสิ่งที่กรรมการพิจารณาออกมา เหตุผลที่ผมได้รับทราบ แล้วนั่งฟังกรรมการเขาพิจารณา เหตุผลที่ ๑ เป็นเหตุผลการแพทย์ เหตุผลที่ ๒ เป็นเหตุผล เกี่ยวกับตัวผู้เสพ เหตุผลที่ ๓ เป็นเกี่ยวกับกระบวนการการค้าการขาย เขาใช้เหตุผล ๓ เหตุผลมาประกอบกันแล้วก็พิจารณากำหนดจำนวนเม็ดออกมา
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
เหตุผลที่ ๑ เกี่ยวกับการแพทย์ ทำไมเป็น ๕ เม็ดครับ ใช้ลักษณะของอาการ ที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดเป็นตัวชี้วัด ในทางการแพทย์ถ้ามีผู้เสพยาบ้า แอมเฟตามีน หรือ เมทแอมเฟตามีนในปริมาณที่เกิน ๕ เม็ดจะเริ่มมีอาการทางจิต หวาดระแวง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว จะเริ่มมีอาการ เพราะฉะนั้นเราใช้อาการทางการแพทย์เป็นตัววัดว่าถ้าเราปล่อยให้ เกิดมีอาการอย่างนี้มันจะเข้าสู่การเป็นอันตรายต่อสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถกำหนด ไว้ที่ไม่เกิน ๕ เม็ด และสามารถที่จะเอาเขาเข้าสู่การบำบัดได้ก่อนก็จะเป็นการป้องกัน
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
เหตุผลที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องของตัวผู้เสพ พฤติกรรมการเสพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยตรง เขาให้เหตุผลว่าสิ่งที่เขาพบคือผู้เสพมักจะพกยาอยู่ที่ ๑ เม็ด ๒ เม็ดหรือ ๓ เม็ด มักจะไม่เกิน ๕ เม็ดเพื่อไว้เสพ เพราะฉะนั้นเลยเป็นข้อสันนิษฐานว่าถ้าเกิน ๕ เม็ดมันน่าจะมี เหตุผลอื่นแล้วเกี่ยวกับพฤติกรรมของการเสพของผู้พกยาเสพติดนั้น
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องของการค้า เขาให้เหตุผลว่าผู้ค้าส่วนใหญ่จะทำ Packaging อยู่ที่ ๑๐ เม็ด ๑๐ เม็ด ๑๐ เม็ด สำหรับผู้ค้ารายย่อย เพื่อคุ้มทุน เพื่อเปิดโอกาส ให้ได้มีโอกาสได้ขายมากขึ้น การที่จะไปแบ่งซอยย่อยเป็น ๕ เม็ด ๕ เม็ดนี้โอกาสที่มันจะ ไม่คุ้มทุนมีเยอะ และ ๑๐ เม็ดนี้เขาเห็นว่าผู้ซื้อสามารถที่จะมีทุนทรัพย์หรือมีเงินที่จะซื้อได้ ก็เป็นเหตุผลโดยรวมเขาก็เลยกำหนดอยู่ที่ ๕ เม็ด ซึ่งการกำหนดของคณะกรรมการไม่ได้ สิ้นสุด ก็เสนอเป็นร่างกฎกระทรวง ในคำถามนี้ผมต้องขออนุญาตอธิบายให้ลงชัดไปว่า แล้วกฎกระทรวงออกมาได้อย่างไร เสนอเป็นร่างกฎกระทรวงแล้ว เราเอาร่างกฎกระทรวงนี้ เข้าสู่เวทีการรับฟังความเห็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๑๕ วัน เปิด Platform ต่าง ๆ ทั้งทางตรง ทางอ้อม Website ให้ทุกคนมาแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง ที่กำหนดปริมาณยานี้ หลังจาก ๑๕ วันแล้วเราก็เอาความคิดเห็นทั้งหลายมาประมวลว่า เห็นด้วย เห็นต่างอย่างไร แน่นอนครับ มีเห็นต่าง แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วย เมื่อเห็นด้วยเราจึง นำร่างนี้เสนอคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ว่า เห็นชอบกับร่างและหลักการของการกำหนดปริมาณยา ร่างนี้จึงถูกส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่าง พิจารณาร่างว่าเป็นไปตามแบบแผนขั้นตอนการเสนอกฎกระทรวงหรือไม่ หลังจากนั้น กฤษฎีกาส่งกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีหน้าที่และอำนาจที่จะลงนามในกฎกระทรวงนั้น ผมลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ แล้วก็ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ นี่คือที่มาที่ไปของการออก กฎกระทรวง ขออนุญาตตอบคำถามแรกครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญผู้ถามคำถามที่ ๒ เชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ จากคำตอบของ ท่านรัฐมนตรีในคำถามแรกก็ขออนุญาตนำเข้าสู่คำถามที่ ๒ เลยนะครับ ผมขออนุญาตถาม ท่านรัฐมนตรีแทนสังคมเลยครับ ขออนุญาตว่าในเรื่องของตัวชี้วัดทางการแพทย์ครับ ท่านรัฐมนตรี คือในปัจจุบันนี้ที่กำหนดไว้ว่า ๕ เม็ดส่งผลต่อจิตประสาท คือก็มีคำถามว่า แล้วในกรณีถ้าเขาเสพทุกวัน วันละเม็ด ๒ เม็ดอย่างนี้ มันจะมีผลไหมทางการแพทย์ แล้วจำนวน ๕ เม็ดจะตอบโจทย์ไหม อันนี้เป็นคำถามที่ผมอยากจะฝากไป และพ่วงไปด้วย เรื่องของความพร้อมครับท่านรัฐมนตรี ในเรื่องของการบำบัดว่าสถานที่ ซึ่งทราบว่ากระทรวง สาธารณสุขน่าจะเป็นเจ้าภาพในการบำบัด ก็อยากจะถามว่าความพร้อมสำหรับการบำบัด แล้วก็การติดตามผู้ที่ได้รับการบำบัดนี้ได้มีแผนงานอย่างไรไว้บ้าง แล้วมีความพร้อมแค่ไหน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรี ตอบคำถามที่ ๒ ครับ
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
ท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณคำถามที่ ๒ จากเพื่อนสมาชิกครับ เรื่องของปริมาณยาที่ท่านถามว่า เสพวันละเม็ด วันละเม็ดนี้จะมี อาการอย่างไร และเสพ ๕ เม็ดจะเป็นอย่างไร ท่านประธานที่เคารพ เรื่องการเสพยาเสพติด มันจะออกฤทธิ์ต่อสมอง ไปทำลายสมอง ในปริมาณที่สะสมก็มีการกร่อนทำลายสมองได้ เช่นกันถ้าใช้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ แม้จะปริมาณที่เล็กน้อยแต่มีการใช้ต่อเนื่องก็จะมีผล ต่อสมอง ทางด้านจิตใจและร่างกายเช่นกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมเองอยากจะกราบเรียน เราแบ่งลักษณะอาการของผู้เสพไว้โดยอาศัยอาการทางจิตเป็นหลัก กลุ่มผู้ใช้คือผู้เสพ ๑ เม็ด ๒ เม็ดในแต่ละวันจะไม่มีอาการทางจิต เราเคยถือว่าเป็นเป็นกลุ่มผู้ใช้ประเภทที่ ๑ ถ้าจัดสี เป็นสีเขียวครับ ที่ผมต้องบอกสีเขียวเพราะมันมีผลต่อเรื่องการบำบัด แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว ซึ่งกลุ่มนี้ผมกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก ในปี ๒๕๖๖ มีถึง ๑,๔๖๐,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๗ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๖,๐๐๐ คน กลุ่มนี้เป็นคนที่ ไม่มีอาการครับ ไม่มีอาการทางจิตเลย แต่ถ้าขยับเป็นปริมาณที่มากขึ้น เช่นเกิน ๕ เม็ดขึ้นไป จะเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง อันนี้เขา เรียกเป็นประเภทที่เริ่มมีอาการ เราจะจัดอยู่ในประเภทสีเหลืองและสีส้ม กลุ่มนี้ในปี ๒๕๖๖ มีถึง ๔๕๖,๐๐๐ คน ปี ๒๕๖๗ ตั้งแต่เดือนตุลาคมมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ ๑๐ ๓,๐๐๐ คน กลุ่มที่เป็นสีแดงหรืออันตราย ผู้ติดเลยนะครับ แล้วกลุ่มนี้พร้อมที่จะเป็นอันตรายต่อสังคม ผมมีสไลด์ให้แต่ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้ฉาย กลุ่มนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อสังคม เขาเรียก SMI-V (Serious Mental Illness with High Risk to Violence) ต้องขออนุญาตท่านประธาน ที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นกลุ่มที่มีอาการทางจิตที่จะเป็นอันตรายต่อสังคม ขณะนี้ ป.ป.ส. มีตัวเลขอยู่ในมือ ๔,๔๐๐ กว่าคน เข้าสู่การบำบัดแล้ว ๔,๐๐๐ คน เหลือประมาณ ๔๐๐ คน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอน กลุ่มนี้ ๓๕,๐๐๐ คน ปี ๒๕๖๗ ๕,๐๐๐ คน อันนี้คือ ลักษณะที่เราแบ่งตามอาการตามที่ท่านได้เป็นข้อห่วงใย
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
ประเด็นของ ความพร้อมเรื่องของสถานบำบัด ผมกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ นโยบาย แก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อรัฐสภา แห่งนี้ จะต้องลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องยาเสพติดให้ได้ภายใน ๑ ปีแล้วประกาศแผนออกมาเลย ในการดำเนิน การประกาศแนวทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนชัดเจน ปลุก เปลี่ยน ปราบ เปลี่ยน คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ตรงนี้เราเลยนำเอานโยบายนี้มารองรับในนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข เราใช้เป็นนโยบายที่จะต้องเร่งรัดปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐๐ วัน หรือ Quick Win ๑๐๐ วัน กราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ ในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุขเราก็เตรียมการที่จะรองรับเรื่องนี้ โดยกำหนดให้มีสถานบำบัดยาเสพติด ซึ่งเราได้กระจายไปทุกจุดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนที่เป็น การบำบัดทางการแพทย์ กราบเรียนท่านประธานครับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ศูนย์บำบัดยาเสพติดตามที่กระจายอยู่ ๗ ศูนย์ทั่วประเทศรองรับ ทุกจุด มีมินิธัญญารักษ์อยู่ในโรงงานชุมชน รองรับการบำบัดอยู่ถึง ๑๕๓ แห่ง เราเตรียมการ ไว้พร้อมหมดครับ มีหน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านยาเสพติดและจิตเวชอยู่ในโรงเรียนชุมชน ทำได้ ขนาดนี้ถึงร้อยละ ๘๐ กว่า เพราะฉะนั้นสถานบำบัดทางการแพทย์เราพร้อมครับ เรามั่นใจว่า ทำรองรับไว้หมดแล้ว
เรื่องที่ ๒ เป็นสถานบำบัดที่เราใช้ชุมชนเป็นฐาน เราเรียกใช้ชุมชนเป็นฐาน ในการบำบัด ขออนุญาตท่านประธานใช้ภาษาอังกฤษครับ Community Based Treatment and Rehabilitation ต้นฉบับ
CBTx ที่ท่านได้ยินมาบ่อย ๆ ตรงนี้เองสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพื่อรองรับในการปฏิบัติโดยไม่ต้องเอาคนออกจากชุมชนเพื่อจะแก้ปัญหาการคืนกลับ เพราะปัญหาที่เราเจอ ที่เราทำมาในอดีตที่มันไม่ประสบผลสำเร็จเพราะว่าเราแยกเอาผู้ที่ เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้เสพยาเสพติดเข้าไปบำบัดอีกทีหนึ่ง เมื่อครบกำหนดแล้วส่งกลับมา ชุมชนซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมเดิม เพื่อนก็คนเดิม วิธีการต่าง ๆ อยู่ในชุมชนเหมือนเดิม ก็กลับมาเสพซ้ำอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำขณะนี้ กฎหมายฉบับนี้วิธีการใหม่ เราใช้ว่า ชุมชนเป็นฐานในการบำบัด กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มี ๕ เสือที่อยู่ในชุมชน มีพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ ๆ อยู่หลายที่ ๕ เสือ หรือ ๕ เสาหลักที่อยู่ ในชุมชนนี้ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายท้องถิ่น คำว่า ร่วมมือกัน คือจับมือกัน โอบอุ้มชุมชนสังคมนั้นที่เราเรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ ขณะนี้ เราได้ดำเนินการไปถึง ๑๐๐ ชุมชน หลังจากวันที่ ๒๔ ที่ผ่านมาเราได้เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ เชิญคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอซึ่งเป็นแกนกลาง เป็นแกนหลักที่จะ ขับเคลื่อนเรื่องนี้เข้ามาประชุมสัมมนาร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติออกไป ทำชุมชน ให้เข้มแข็ง เป็นชุมชนล้อมรักษ์ ตรงนี้เริ่มกระจายทั่วไป ๒๐๐ อำเภอทั่วประเทศรับไป ดำเนินการใน ๓๑ จังหวัด เพราะฉะนั้นสถานบำบัดที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ท่านสัญญา ได้กรุณาถามนี้เรามั่นใจว่าเรามีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของ CBTx หรือชุมชนบำบัดนี้ จะเป็นสถานบำบัดฟื้นฟูทางสังคม การบำบัดเราแยกเป็นการปฏิบัติทางแพทย์และการบำบัด ทางสังคม คนที่ไม่มีอาการ แต่เป็นผู้เสพหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราเข้าสู่การบำบัดทาง สังคมก่อนที่จะคืนเขาสู่สังคมโดยรวม บำบัดเพื่ออะไรครับ ๑. เรื่องของมิติสุภาพทางด้าน ร่างกายและจิตใจของเขา ทำอย่างไรให้เขามีความเข้มแข็ง มิติทางด้านปัญญา มิติทางด้าน อาชีพและการศึกษา สถานะทางสังคม เตรียมชุมชนที่จะโอบอุ้มและเข้าใจ และให้อภัยเขา ตรงนี้มันเป็นหลักการที่เราเชื่อว่าภายใต้กฎหมายฉบับนี้การคืนคนดีหรือให้โอกาสคนที่หลง ผิดเข้าสู่สังคมจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา หลายคนไปยึดติดกับกฎหมายเดิม ๆ กฎหมายเดิม ใช้ลักษณะบังคับบำบัด แยกสถานบำบัดเอาไปแต่ไม่ได้แก้ไขสิ่งแวดล้อมโดยรวม กลับไปเสพ ซ้ำเยอะมากครับ แต่ถ้าเราใช้ระบบชุมชนเป็นฐานในการบำบัด เชื่อมั่นครับที่ทำมา เช่น หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดตัวอย่าง อำเภอเก้าเลี้ยวที่นครสวรรค์ ตำบลหัวโทนเป็นตัวอย่างที่ ทำสำเร็จแล้วคือใช้ชุมชนเป็นฐาน เขาได้รับเรื่องของการศึกษาที่ดี เรื่องอาชีพที่ดี ได้รับ การยอมรับจากสังคม เขาอยู่ได้ในสังคมครับ อันนี้คือความพร้อมและวิธีการที่เราทำ เราพร้อมครับ การบำบัด หลายคนหลายท่านถามว่ามันจะสำเร็จหรือ ที่ท่านสมาชิกได้ ตั้งข้อสังเกตไว้นี้ เดิมครับ ปัญหาจากกฎหมายเดิม ๆ ไม่สำเร็จครับ เอาเข้าค่าย ๑๕ วันแล้ว กลับมาคืนที่ชุมชนเขากลับไปเสพด้วยซ้ำ แต่ยุคใหม่นี้เรามั่นใจว่าเราทำสำเร็จแน่นอน ประเด็นที่เรามั่นใจคืออะไรครับ ๑. การบำบัดการแพทย์ลดอาการ ลดความบอบช้ำทาง สมองให้เขากลับฟื้นคืนมาใช้เวลาอย่างน้อย ๔ เดือน ๔ เดือนเสร็จแล้วผ่านการประเมิน ทำครบตามกระบวนการทุกอย่าง ผู้อำนวยการสถานบริการแห่งนั้นหรือโรงพยาบาลแห่งนั้น ออกหนังสือรับรองว่าผ่านการบำบัดแล้ว ขั้นตอนต่อไปส่งสู่สถานบำบัดในชุมชน ไปดำเนินการ อย่างที่ผมว่า แล้วติดตามอีก ๑ ปี เพราะฉะนั้นความมั่นใจของเราตรงนี้ที่เราเชื่อว่าระบบการบำบัด รักษา ฟื้นฟูแบบใหม่ ของเรา เราจะแก้ไขปัญหา แล้วสามารถคืนโอกาสคน ๑,๙๐๐,๐๐๐ คน ให้กลับคืนสู่สังคมได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเข้าใจว่าท่านสมาชิกมีข้อสงสัยตั้งแต่เริ่มที่จะถามเรื่องของ การให้โอกาสเป็นผู้ครอบครองมีไว้เสพแล้วไม่ผิดกฎหมาย ตรงนี้ผมขออนุญาตเน้นย้ำกับ ท่านประธานด้วยความเคารพ เป็นการให้ข้อมูลที่ออกไปแพร่หลายในสังคมมาก บอกว่า มีครอบครองยาบ้า ๕ เม็ดไม่ผิดกฎหมาย ท่านประธานครับ เสพ มีครอบครองไว้เพื่อเสพ เพื่อค้า ล้วนผิดกฎหมายหมดครับ มีโทษครับ ครอบครองไว้เพื่อเสพ โทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เข้าสู่กระบวนการตามที่เราให้โอกาส หลังจากที่มีสันนิษฐานไว้ก่อนเบื้องต้นว่าเป็นผู้เสพ ครอบครอง ๕ เม็ด ไม่มีพฤติกรรมการค้า ถ้ามีพฤติกรรมการค้า เม็ดเดียวเข้าสู่กระบวนการครับ รับโทษ แต่ถ้าไม่มีพฤติกรรมการค้า ยังพิสูจน์ไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการของการเข้าสู่บำบัด การเข้าสู่กระบวนการนี้จะพ้นผิดเมื่อ ๑. ต้องสมัครใจ ๒. ต้องผ่านการบำบัดจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์วิธีการที่คณะกรรมการ เรากำหนด เช่น ๔ เดือน ๓. ได้หนังสือรับรองจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าผ่าน การบำบัดแล้ว ๓ ข้อนี้จะเป็นหลักฐานไปยืนยันกับผู้ดำเนินคดีว่าผ่านการบำบัด เขาถึง บอกว่าไม่ต้องรับผิดครับ จะไม่รับผิดเมื่อผ่านการบำบัดครบถ้วน ๓ ข้อนี้เท่านั้น ถ้าทำไปแล้ว ไม่สำเร็จ หนีไปรับโทษครับ บำบัดแล้วไม่ได้รับหนังสือรับรอง ยังอยู่ในข้อหานะครับ ข้อหาว่ามีความผิดอยู่ จนผ่านกระบวนการถึงจะไม่ต้องรับโทษ ผมใช้คำว่า ไม่ต้องรับโทษ ไม่ได้พ้นผิดนะครับ เป็นการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมที่ใช้การบำบัดเป็นการ ลงโทษแทน แทนที่จะเอาไปขัง นี่คือความมั่นใจทั้งหมดที่ผมอยากจะกราบเรียนผ่าน ท่านประธานไปยัง เพื่อนสมาชิกที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องสถานบำบัดและวิธีการบำบัด ขอบพระคุณท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนและครูจากศูนย์เครือข่ายแว้งพัฒนา จำนวน ๗ โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านยะหอ โรงเรียนบ้านแม่ดง โรงเรียนบ้านตอแล โรงเรียนนิคมสร้างตนเองแว้ง โรงเรียนบ้านจะมาแกะ โรงเรียนบ้านบางขุด และโรงเรียน บ้านตำเสาพัฒนา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับเยาวชน ทุกท่านนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปคำถามที่ ๓ เชิญท่านผู้ถามครับ มีเวลาเหลืออยู่แค่ ๓ นาที เชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ขออนุญาตท่านรัฐมนตรีนะครับ จากที่ท่านชี้แจงก็อยากจะฝากไปทางพวกผู้ค้าว่าท่านเข้าใจผิด อย่างที่ผมนำเรียนครับ กลายเป็นว่าผู้ค้าเข้าใจว่า ๕ เม็ดไม่มีความผิดก็เลยคึกคัก แต่ท่าน รัฐมนตรีได้ชี้แจงเมื่อสักครู่ก็อยากจะบอกว่าเข้าใจใหม่นะครับ มีความผิด สุดท้ายจะถาม ท่านรัฐมนตรีครับ จากที่ท่านบอกนี้ผมก็เห็นด้วยในเรื่องของการคิดบวก แล้วก็การคืนเข้าสู่ สังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เสพ ผมคิดว่าน่าจะเห็นด้วยกับโครงการ ดังกล่าว เพราะว่าก็ไม่อยากให้บุตรหลานของตนเสียคนไปมากกว่านี้ แต่อย่างไรก็ดีครับ ท่านประธาน ก็ยังมีด้านลบที่เราคงต้องตั้งข้อสังเกตไว้ แล้วก็เรียนถามท่านรัฐมนตรีคือ ในกรณีถ้าเราดูเรื่องผลดี ผลเสีย ของการใช้กฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ถ้าผลเสียในเรื่องของ การไปส่งเสริมผู้ค้าหรือว่าการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่นี้เกิดขึ้น ในกรณีที่ เกิดขึ้นนี้กฎกระทรวงดังกล่าวที่จะสามารถปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือจะทำอย่างไรได้ไหม อันนี้คงเป็นคำถามสุดท้าย ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญรัฐมนตรีครับ ตอบสั้น
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
ท่านประธาน ที่เคารพครับ คำถามว่า กรณีกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับแล้วมีผลเสียที่เกิดขึ้นจะมีการปรับแก้ได้ หรือไม่ ด้วยความเคารพท่านประธานครับ กฎกระทรวงเป็นการออกตามบทบัญญัติของ กฎหมาย ในการปรับแก้ก็ปรับแก้ได้เฉพาะเรื่องของปริมาณ แต่ต้องมีกฎกระทรวงออกมา รองรับ เช่น ปริมาณ ๕ เม็ดที่กำหนดเรื่องของยาบ้ามันไปทำให้เกิดผลกระทบคือผลเสีย มากกว่าผลดี ก็ต้องไปพิจารณาใหม่ว่าจำนวน ๕ เม็ดเหมาะสมหรือไม่ จะเป็น ๓ เม็ด หรือ ๑๕ เม็ด เดิมกำหนด ๑๕ เม็ด ประกาศ คสช. ลดมาเหลือ ๕ เม็ด ๑๐๘/๒๕๕๗ นะครับ ขณะนี้ ๕ เม็ดเหมือนกับประกาศ คสช. แต่ผมมั่นใจว่าการประกาศแบบนี้มันแตกต่างจาก กฎหมายฉบับเดิม บังคับบำบัด ไม่ให้โอกาส ฉบับนี้เราให้โอกาสคนดีกลับคืนสู่สังคม เราจับตัว แล้วก็มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ผมมั่นใจว่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ก็ยินดีครับ ถ้ามันมีเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้นในสิ่งที่เป็นผลร้าย เป็นผลกระทบต่อสังคม แม้กระทั่งตัวพระราชบัญญัติ สภาแห่งนี้ก็ต้องมาช่วยกันแก้ว่าทำอย่างไรให้นำพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ปี ๒๕๖๔ ที่บังคับใช้อยู่นี้ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน กฎกระทรวงเรื่องเล็กมากครับ ไปแก้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะเขาเพียงแต่กำหนด ปริมาณเล็กน้อย เล็กน้อยนี้เท่าไรเท่านั้นเอง ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
กระทู้ถามที่ ๑.๑.๓ กระทู้ถามสดด้วยวาจา ท่านภคมน หนุนอนันต์ ถาม ท่านนายกรัฐมนตรี แต่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านรอง นายกรัฐมนตรีกำลังเดินทาง ยังมาไม่ถึง ขอเวลาสักพักหนึ่ง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. นายรังสรรค์ มณีรัตน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ผมขอเลื่อนเอากระทู้ถามที่ ๙๙ กระทู้ถามของ นายรังสรรค์ มณีรัตน์ เรื่อง ติดตามความคืบหน้าโครงการขยายถนน เส้น ๑๐๖ ช่วงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึงอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และถนนหมายเลข ๑๐๖ ช่วงตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถึงตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม นางมนพร เจริญศรี มาตอบแทน ตอนนี้ผู้ถามและผู้ตอบอยู่ในห้องแล้ว ผมขอเอา กระทู้นี้ขึ้นมาถาม เดี๋ยวรอท่านรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ด้วยวาจา ท่านสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่น ไหมครับ ขออนุญาตตามนี้ก่อนนะครับ เชิญท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ ถามคำถามแรกครับ
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นผม ต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ท่านบรรจุกระทู้ของผมให้มาถามในวันนี้ และกราบ ขอบพระคุณท่านมนพร เจริญศรี ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มาตอบกระทู้ ของผมนะครับ สืบเนื่องถนนหมายเลข ๑๐๖ จากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึงอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเป็นถนนสายหลัก
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
ในอดีตใช้ในการสัญจรไปมาค้าขายระหว่าง กรุงเทพมหานครมาจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ แต่หลังจากมีการตัดถนนหมายเลข ๑๑ เชียงใหม่-ลำปาง ปรากฏว่าถนนเส้น ๑๐๖ นี้ความสำคัญกลับด้อยลงมาเพราะว่าคนหันไปใช้ ถนนหมายเลข ๑๑ มากกว่า เพราะมีความสะดวกแล้วก็ปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูนอยากเห็นการค้าขายและการคมนาคมเดินทางกลับมา พลิกฟื้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยมีการประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้บรรจุโครงการ ก่อสร้างถนนเส้น ๑๐๖ ช่วงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึงอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน งบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ก่อสร้างก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเสียก่อน แต่หลังจากนั้น เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไปประชุมสัญจร ที่จังหวัดพิษณุโลก ก็ฟื้นกลับมาว่าสมควรที่จะสร้างถนนเส้น ๑๐๖ นี้เป็น ๔ เลน แล้วก็ให้มีการดำเนินการทำสำรวจ วิจัย แล้วก็ออกแบบ ซึ่งผ่านมาหลายปีพอสมควร ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งหากมีการดำเนินการตามที่มติคณะรัฐมนตรี ๒ ครั้งที่ผ่านมา การก่อสร้างถนน เส้นนี้จะเริ่มต้นที่แยกดอนไชย อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แล้วมาสิ้นสุดที่ตำบลดงดำ อำเภอลี้ ซึ่งจากภาพที่ท่านรัฐมนตรีได้ดูว่าถนนเส้นนี้เป็นโค้ง เป็นภูเขา มีขนาด ๒ เลน ซึ่งระยะทาง ไม่ได้ไกลเลย เชื่อมระหว่าง ๒ อำเภอ ๒ จังหวัดนี้แค่ประมาณ ๒๙ กิโลเมตร แต่ว่า การเดินทางไม่สะดวกสบาย ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางถึงประมาณ ๑ ชั่วโมง หรือคนที่ ไม่คล่องขับรถต้องใช้เวลาถึง ๑ ชั่วโมงกว่า ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ถนนเส้นนี้จะเป็นโค้ง เป็นภูเขา เป็นเหว แต่ละวันรถที่ไปใช้มีประมาณถึง ๑๕,๐๐๐ คันต่อวัน ถึงแม้ว่าจะเสี่ยง เกิดอุบัติเหตุ แต่ถนนเส้นนี้สามารถย่นระยะทางในการเดินทางเข้าสู่จังหวัดลำพูน รวมถึง ไปจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงเป็นทางลัดที่จะไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้นถ้าหากมีการ ก่อสร้างถนนเส้นนี้เสร็จผลกระทบกับพี่น้องชาวบ้านจะเกิดแต่สิ่งดี ๆ ครับท่านประธาน เพราะว่าอย่างน้อยการค้าขาย การขนส่งสินค้าทางการเกษตร รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูนสามารถส่งไปที่ท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอำเภอลี้บ้านผมมีที่ท่องเที่ยวมากมายครับ เช่น น้ำตกก้อหลวง ดูภาพนะครับ เหมือนสระมรกตเลย เสร็จแล้วไปไหว้พระพุทธบาทผาหนาม ไปชมหมอกยามเช้า รวมถึง บ้านโฮ่งครับ ไปดูนกยูงป่า และไปไหว้พระพุทธบาทสามยอด ไปชมทะเลหมอก หลังจากนั้น ถนนเส้นนี้เชื่อมสู่อำเภอป่าซาง ไปไหว้พระพุทธบาทตากผ้า เสร็จแล้วไปซื้อผ้าฝ้ายทอมือที่ บ้านดอน อำเภอป่าซาง เสร็จแล้วถึงจะไปในเมืองลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ได้ ซึ่งความฝัน ของพวกผมนะครับ เราได้ดำเนินมาหลายปี ปี ๒๕๖๓ สมัยนั้นผมได้ดำรงตำแหน่งใน คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ได้ไปทำสัมมนาที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ ๑,๐๐๐ คน เพราะว่ามีตัวแทนจากทุกหมู่บ้านของ อำเภอลี้มาร่วมสัมมนาว่าเราจะพัฒนาถนนเส้นนี้อย่างไร ซึ่งมีคำถามพี่น้องประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะขยายถนนเส้นนี้เป็นถนน ๔ ช่องจราจร พี่น้องเรา ๙๒ เปอร์เซ็นต์ ตอบคำถามว่าสมควรที่จะขยาย และร้อยละ ๗๓.๕ บอกว่าเห็นด้วย และคุ้มค่าการลงทุน เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงมีการอนุมัติงบประมาณมาประมาณ ๓๐ ล้านบาท เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ให้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ วิจัยถนนเส้นนี้ว่าจะสามารถก่อสร้างขยายเป็น ๔ ช่องจราจรได้หรือไม่ อย่างไร ดังนั้นผมจึงมีคำถาม ถามท่านรัฐมนตรีมนพร เจริญศรี ที่เคารพว่ากระทรวงคมนาคมมีความคืบหน้าในการสำรวจ วิจัย และออกแบบถนนเส้น ๑๐๖ ช่วงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึงอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนว่าการสำรวจวิจัยจะแล้วเสร็จเมื่อไร และเมื่อสำรวจวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะของบประมาณก่อสร้างถนนเส้นนี้ได้เมื่อไร อย่างไร ขอทราบรายละเอียดครับ กราบขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรีตอบคำถามแรกครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มา ตอบกระทู้ของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เนื่องจากวันนี้ท่านสุริยะมีนัดหมายประชุมสำคัญ ที่กระทรวงคมนาคม ดิฉันต้องขอถือโอกาสขอบคุณคำถามของท่านสมาชิกนะคะ ท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ในประเด็น คำถามของท่านสมาชิก ดิฉันขอฉายภาพโดยรวมของถนนเริ่มจากที่อำเภอเถิน ขอภาพสไลด์ ภาพแรกค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ทางใต้ของจังหวัดลำปาง ก่อนจะถึงอำเภอเมืองลำปาง มีระยะทางประมาณ ๙๘ กิโลเมตร แล้วก็มีเส้นทางที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำพูน ซึ่งมีอยู่ ๓ เส้นทางที่จะสามารถเชื่อมต่อไปยัง จังหวัดลำพูน โดยเส้นทางหลวงหมายเลข ๑ เริ่มจากอำเภอเมืองตาก แล้วก็ไปที่อำเภอ บ้านตาก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ไปจนถึงอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน แล้วก็ไปที่อำเภอ สบปราบ อำเภอเกาะคา ยาวไปจนถึงอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง นี่คือเส้นทางแรกที่ใช้ เส้นทางไปสู่จังหวัดลำพูน เส้นทางที่ ๒ เป็นทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ เริ่มจากอำเภอสวรรคโลกไปจนถึงอำเภอทุ่งเสลี่ยม ไปถึงจังหวัดสุโขทัย แล้วก็ไปเชื่อมกับอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ยาวไปถึงอำเภอลี้ แล้วก็ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง เข้าไปที่ตัวเมืองจังหวัดลำพูนค่ะ ในเส้นทางที่ ๓ คือทางหลวง หมายเลข ๑๑๒๔ เริ่มจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไปถึงอำเภอวังชิ้น อำเภอลอง แล้วก็ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ค่ะ ท่านประธานที่เคารพ นี่คือ ๓ เส้นทางที่เป็นเส้นทางเข้าสู่ ตัวจังหวัดลำพูน สำหรับอำเภอลี้ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดลำพูนอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด ลำพูน และเป็นอำเภอที่ห่างไกลจากตัวเมืองมากที่สุดถึง ๑๐๖ กิโลเมตร ซึ่งสภาพพื้นที่ โดยทั่วไปที่อำเภอลี้เป็นป่าเขาสูง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นพื้นที่ที่มี ความสวยสดงดงาม เป็นโบราณสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอ ตามรูปภาพ โดยถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักที่ตัดผ่านอำเภอคือทางหลวงหมายเลข ๑๒๖ เชื่อมต่อระหว่างอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ผ่านอำเภอลี้ แล้วก็เชื่อมต่อไปยังอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง อำเภอเมือง แล้วก็เข้าสู่จังหวัดลำพูน ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ นี้มีระยะทาง ๕๒ กิโลเมตร แล้วก็เป็นถนน ๔ ช่องจราจร ซึ่งมีระยะทางรวมแล้ว ๕.๖ กิโลเมตร ในตัวชุมชน ที่อำเภอลี้ ซึ่งคำถามที่ท่านสมาชิกได้ถามในช่วงที่ผ่านมา ทางกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้ นิ่งนอนใจในการที่จะพัฒนา แล้วก็บำรุงรักษาในเส้นทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากว่าถนนสายดังกล่าวจะต้องเป็นถนนช่วงที่ต้องตัดผ่านภูเขา มีทางลาดชัน แล้วก็ ต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ เตรียมความพร้อมที่จะมีการพัฒนาถนนให้เป็น ๔ ช่องจราจร โดยขออนุญาตเท้าความ ไปเมื่อปี ๒๕๖๕ ได้รับงบในการศึกษาออกแบบ หรือว่า EIA เป็นระยะทาง ๒๙ กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษา ที่ดิฉันโชว์ภาพให้ดูในกรอบของวงกลมสีแดงค่ะ อยู่ในระหว่าง การศึกษา EIA แล้วก็เมื่อศึกษา EIA เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของ กฎหมาย ในขั้นตอนตรงนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี ๒๕๗๐ ทางกระทรวงคมนาคมก็จะเสนอ ขอรับงบประมาณซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๓ ปี คาดว่าในปี ๒๕๗๓ ถนนเส้นนี้ก็จะมี การก่อสร้างเสร็จ แล้วพี่น้องประชาชนก็จะได้ใช้เส้นทางนี้ต่อไป นอกจากนั้นในงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้รับการจัดสรร ซึ่งอยู่ในช่วงของการพิจารณาในวาระที่ ๒ อยู่ในเล่มขาวคาดแดง ได้ดำเนินการก่อสร้างในระยะทาง ๒.๓ กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง ๓๐ ล้านบาท ก็ฝากท่านสมาชิกให้อนุมัติผ่านงบประมาณในก้อนนี้ด้วย ซึ่งถนนดังกล่าวก็จะ สร้างเสร็จภายใน ๑ ปีงบประมาณ ก็จะสามารถให้พี่น้องประชาชนได้ใช้สัญจรไปมาได้ ส่วนบางช่วงที่เป็น ๒ ช่องจราจรดังในภาพข้างล่าง ก็จะเห็นว่าเป็นระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ทางกรมทางหลวงก็ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนา โดยจะขอรับการสนับสนุน งบประมาณในปีถัดไป ขออนุญาตตอบคำถามแรกของท่านสมาชิกค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครู นักเรียน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๕๒ (ชุมชนบ้านต้นไพ) อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับครับ ต่อไปคำถามที่ ๒ ครับ ท่านสมาชิกถามท่านรัฐมนตรีครับ
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ต้องกราบ ขอบพระคุณนะครับ คำตอบของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มนพร เจริญศรี ที่เป็นความหวังของพี่น้องชาวบ้าน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ว่าจะมีการก่อสร้างแน่นอน ปี ๒๕๗๐ จะต้องมีการลงจอบแรกสำหรับถนนเส้นนี้ แต่ก่อนที่จะถึงปี ๒๕๗๐ ท่านประธาน ที่เคารพครับ ถนนเส้น ๑๐๖ นี้มีการก่อสร้างอยู่ ๒ ช่วง คือช่วงจากตำบลป่าไผ่ถึงตำบล แม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนงบประมาณ และขณะนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้าง แล้วอีกช่วงหนึ่งคือจากตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ถึงตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แต่ถนนเส้นนี้ยังมีอีกประมาณ ๓๐ กว่า กิโลเมตรซึ่งยังไม่ได้มีโครงการที่จะก่อสร้าง ซึ่งถ้าหากเราจะก่อสร้างจากตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จนถึงตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนแล้วนั้น ถนนเส้น ๑๐๖ จากอำเภอลี้ มาบ้านโฮ่ง มาจนถึงอำเภอป่าซางนั้นจะกลายเป็น ๔ เลนทั้งหมด เพราะว่าถนนเส้นนี้อย่างที่ผม กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าเป็นถนนเส้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยอดีต ถ้าหากอยากให้ลำพูน ฝั่งใต้รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ฝังใต้มีความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นเราต้อง ขยายถนนเส้นนี้เป็นถนน ๔ ช่องจราจรให้ได้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคมนาคม ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางเป็นวงรอบ ๓ จังหวัดการท่องเที่ยว เข้ามาที่อำเภอลี้ จังหวัด ลำพูน เสร็จแล้วไปเที่ยวต่ออำเภอบ้านโฮ่ง หลังจากนั้นไปซื้อผ้าฝ้ายที่ป่าซาง แล้วเข้าจังหวัด ลำพูนไปกราบพระธาตุหริภุญชัย แล้วเข้าไปเที่ยวเชียงใหม่ หลังจากนั้นเดินทางต่อไปอำเภอ แม่ริม อำเภอแม่แตง ไปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสร็จแล้วไปในเมืองแม่ฮ่องสอน มาลงอำเภอแม่สะเรียง กลับเข้ามาดอยอินทนนท์ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เสร็จแล้วเลี้ยวขวากลับเข้าอำเภอบ้านโฮ่งมาอำเภอลี้เพื่อกับกรุงเทพมหานคร แบบนี้จะเป็น การส่งเสริมการคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งขนาดถนนไม่ดียังมีปริมาณ รถสัญจรถึง ๑๕,๐๐๐ คันต่อวัน แต่ถ้าหากเพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คันต่อวัน และ ๑ คันใช้เงินประมาณ ๑,๐๐๐ บาทต่อคัน จะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นโดยการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว ดังนั้นผมจึงมีคำถามที่ ๒ ถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มนพร เจริญศรี ว่ากระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะขยายถนนหมายเลข ๑๐๖ ช่วงตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถึงตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน จาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจรหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมตอบคำถามสุดท้ายครับ เชิญครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ สำหรับคำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิกนะคะ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงมีแผนงานที่จะขยายเส้นทางทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ ช่วงอำเภอลี้ ถึงอำเภอบ้านโฮ่ง ซึ่งระยะทางในเส้นทางดังกล่าวมีระยะทางทั้งสิ้น ๖๗ กิโลเมตร ซึ่งจะขยายเป็น ๔ ช่องจราจรแล้ว แล้วก็ระยะทางที่ขยายเป็นระยะทางไปแล้ว ๑๓.๙ กิโลเมตร บริเวณชุมชนที่อยู่ในตัวของเทศบาลอำเภอบ้านโฮ่ง ในปี ๒๕๖๖ ค่ะท่านประธาน ได้รับ การจัดสรรงบประมาณเพื่อขยายเป็นถนน ๔ ช่องจราจร บริเวณที่บ้านแม่ป่าไผ่ ตำบลแม่ตืน ที่ท่านสมาชิกได้มีคำถาม เป็นระยะทาง ๑๓.๔ กิโลเมตร เป็นวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น ๖๕๐ ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างดังที่ดิฉันได้โชว์รูป ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการ ก่อสร้างแล้ว มีปริมาณผลงานอยู่ที่ประมาณ ๑๓ เปอร์เซ็นต์ ต้องขออภัยพี่น้องประชาชนว่า ในช่วงระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างพี่น้องที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาไม่สะดวก แต่กรม ทางหลวงก็ได้กำชับว่าต้องมีสัญญาณจราจร มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้พี่น้อง ในระหว่างช่วงการเดินทางแล้วก็ช่วงที่มีการก่อสร้างค่ะท่านประธาน ในปี ๒๕๖๘ ก็จะสามารถ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ แล้วก็สามารถที่จะเปิดดำเนินการให้พี่น้องประชาชนใช้เส้นทาง ดังกล่าว ซึ่งนโยบายนี้ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้มีนโยบายที่จะ ขยายโครงข่ายของเส้นทางคมนาคมไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ ให้มีความเจริญเทียบเท่ากับ เมืองใหญ่ ๆ เช่นเดียวกับที่จังหวัดลำพูนค่ะท่านประธาน ในปี ๒๕๖๘ ซึ่งขณะนี้กระทรวง คมนาคมได้ดำเนินการที่จะบรรจุงบประมาณเพื่อขยายเส้นทางดังกล่าวเป็น ๔ ช่องจราจร บริเวณบ้านศรีบุญเรืองที่ตำบลบ้านโฮ่ง ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตร เป็นวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น ๘๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๓ ปี จะมีการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี ๒๕๗๑ ดิฉันเข้าใจว่าก็คงจะอยู่ในสมัยที่ท่านสมาชิกยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรอยู่ เป็นผลงานของท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ หยิบกระทู้นี้ขึ้นมาถามกระทรวงคมนาคม สำหรับช่วงที่ยังเหลืออีก ๒ ช่องจราจร ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร กรมทางหลวงก็จะได้บรรจุไว้ในแผนการพัฒนาโดยจะเสนอขอรับงบประมาณ ในปีถัดไป โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็จะเป็นกระทรวงที่ได้สนับสนุนยุทธศาสตร์ การพัฒนาของจังหวัดลำพูนเพื่อเน้นให้จังหวัดลำพูนเป็นบ้านเมืองแห่งอุตสาหกรรม หัตถอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดลำพูน นอกจากนั้น จังหวัดลำพูนก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แล้วก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อวางรากฐานของระบบทางหลวงที่เราเน้นเรื่องของความสะดวก ความปลอดภัย เชื่อมโยง กับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมของประเทศและเพื่อความอุดมสุขของพี่น้อง ประชาชน ท่านประธาน สุดท้ายดิฉันต้องขอบคุณท่านสมาชิกนะคะ ท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ นอกจากท่านเองได้มีความสนใจพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ท่านยังได้นำเสนอปัญหาเรื่องของราคาลำไยไม่เป็นราคา ผลผลิตการเกษตรไม่เป็นราคา ซึ่งถ้าเกิดเราได้ถนนเส้นนี้ขยายเป็น ๔ ช่องจราจร ดิฉันเชื่อมั่นว่าถนนเส้นนี้ก็จะเป็นเส้นทางหนึ่ง ในการที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน แล้วก็ขยายไปสู่การท่องเที่ยว ขยายไปสู่การขนส่ง คมนาคมให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดลำพูนได้เดินทางโดยสะดวกและปลอดภัย ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ท่านรังสรรค์ ยังมีอะไรจะฝาก
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม รังสรรค์ มณีรัตน์ ผมต้องเป็นตัวแทนพี่น้องจังหวัดลำพูนกราบขอบพระคุณ ท่านมนพร เจริญศรี และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้อนุเคราะห์งบประมาณและดูแลพี่น้องชาวบ้านเป็นอย่างดี สำหรับถนนเส้น ๑๐๖ อีกนิดหนึ่งครับ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ท่านประธาน จากตัวเมืองลี้ ออกมาที่บ้านป่าจี้ ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ช่วงนั้นยังเป็น ๒ ช่องอยู่ แต่เป็น โครงการเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้นก็ฝากทางกระทรวงคมนาคม ไหน ๆ จะทำแล้ว ทำอีกสัก ๒ กิโลเมตรให้ด้วย กราบขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านผู้ถามแล้วก็ท่านรัฐมนตรีนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่า กระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ได้มอบหมายให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม เวชยชัย เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๑๕๑ เชิญท่านภคมน หนุนอนันต์ ครับ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี เรื่อง การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ สื่อมวลชน ท่านประธาน ดิฉันขอเริ่มต้นแบบนี้ค่ะ เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน นั่นหมายรวมถึงว่าเรากำลังพูดถึงเสรีภาพของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และดิฉันขอนำเอา เหตุการณ์บางช่วงบางตอนมาอธิบายให้เห็นภาพรวมก่อนเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามในวันนี้ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ มีการละเมิดเสรีภาพสื่อในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลัง การ Sensor การเข้าไปควบคุมและแทรกแซงการทำงานที่มีช่วงการรัฐประหาร รวมถึง การฟ้องปิดปากสื่อ หรือที่เราเรียกกันว่าการฟ้อง SLAPP ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ มีนักข่าวพลเมือง ที่เขาทำข่าวสืบสวนสอบสวนผลกระทบจากเหมืองแร่ในเมืองเลยถูกนายทุนฟ้องร่วมกับ ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีที่ออกอากาศ เรื่องนี้เรียกร้องค่าเสียหาย ๕๐ ล้านบาท เดือนกันยายน ๒๕๖๔ ตำรวจได้เข้าจับกุม Admin Page สำนักข่าวราษฎร และ Page ปล่อยเพื่อนเรา จำนวน ๒ คน ในขณะที่เขากำลังทำหน้าที่รายงานสถานการณ์การชุมนุม เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ กอ.รมน. แจ้งความ ๒ นักข่าวจากสื่อ Online ที่ใช้ชื่อว่า Wartani เขาเป็นสื่ออิสระของพี่น้องมลายูในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เขาทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริง เพื่อปกป้องและยืนยันความชอบธรรมของประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ Admin Page ขุนแผนแสนสะท้าน สื่ออิสระที่ติดตามการชุมนุมตั้งแต่การชุมนุมของ เยาวชนในปี ๒๕๖๔ เขาโดนจับในคดีมาตรา ๑๑๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ มทบ.๓๓ แจ้งความสำนักข่าว Lanner สำนักข่าว Online ที่ติดตามประเด็นสังคมการเมืองมา อย่างต่อเนื่อง เขาถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นในมาตรา ๑๑๖ และเหตุการณ์การประชุม APEC ในปี ๒๕๖๕ มีสื่อมวลชนถูกทำร้าย ๔ คน ทั้งที่เขามีปลอกแขน สามารถเห็นด้วยตาเปล่าว่า เขากำลังทำหน้าที่รายงานข่าว เหตุการณ์เหล่านี้ที่ดิฉันยกมามันเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาล ยุคเผด็จการ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการจับกุมสื่อมวลชนของสำนักข่าวประชาไทย ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ จากกิจกรรมของผู้ชุมนุม กลุ่มหนึ่งที่พ่นสีข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ หรือเกือบ ๑ ปีแล้ว โดยหมายจับเชื่อมโยงว่าสื่อมวลชนถ่ายภาพกิจกรรมพ่นสีเพื่อนำเสนอข่าวนั้นเป็นการกระทำ ร่วมสนับสนุนผู้กระทำผิดในคดีอาญาค่ะ ประเด็นคือรัฐบาลโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจ แห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายควรให้ความเคารพและคำนึงถึง สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการจำกัดหรือระงับเสรีภาพไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีต้องไม่สร้างข้อจำกัด หรือก่อให้เกิดความหวาดวิตกในการนำเสนอข่าวต่อสาธารณะ นอกจากไม่สมควรมีใคร ถูกฟ้องปากแล้ว สิ่งที่ดิฉันจะตั้งคำถามคือ การดำเนินคดีดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินคดี โดยข้ามขั้นตอน เป็นการส่งหมายจับโดยไม่มีการส่งหมายเรียกมาก่อน แต่ดิฉันเข้าใจว่า นี่เป็นเรื่องในรัฐบาลที่แล้ว แต่การข้ามขั้นตอนแบบนี้ไม่มีหมายเรียกแบบนี้ ไม่แน่ใจว่า ท่านปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร และจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาในกระบวนการ ยุติธรรมนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะกับคดีฟ้องปิดปากแบบนี้ เพราะหากตอบไม่ได้ นี่จะเป็นการ ทำลายความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และประเด็นสำคัญ ที่ต้องตั้งคำถามค่ะ นี่คือการส่งสัญญาณเตือนสื่อมวลชนเพื่อสร้างความหวาดกลัวต่อการทำ หน้าที่ของกลุ่มคนวิชาชีพนี้หรือไม่
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านรัฐมนตรีตอบคำถามแรกครับ เชิญครับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ได้ฟังกระทู้ ถามสดที่ท่านถามก็รู้ถึงความห่วงใยของท่านที่มีต่อสื่อมวลชน ซึ่งก็ต้องกราบเรียนยืนยันว่า รัฐบาลเองเรายืนยันว่าเราเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วเราก็ห่วงใยในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพของสื่อมวลชน ทุกอย่างที่เกิดนี้เราพูดหลักการมันไม่ ตอบโจทย์ หลักการนี้เราชัดเจนอยู่แล้วครับ ผมเชื่อว่าท่านกับผมก็เห็นไม่ต่างกัน รัฐบาลกับ ฝ่ายค้านก็เห็นไม่ต่างกัน แต่เวลาเกิดกระบวนการมันต้องไปดูรูปธรรมที่เกิด แล้วก็ต้องไปดูว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ ตามสิ่งที่เกิดขึ้น ผมฟังท่านเกริ่นมา ตอนแรกก็ยังนึกอยู่ว่าทำไมถึงถอยหลังไปยาวอย่างนั้น เราก็รู้กันอยู่แล้วว่ารัฐบาลที่ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นการเกริ่นยาวไป บางทีมันจะสร้างความไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลนี้ ยังดีที่ท่านได้พูด ในสุดท้ายว่าอันนี้เป็นของรัฐบาลเก่า ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ ควรจะเข้ามาสู่รัฐบาลนี้เลยว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องหนึ่งถ้าไปโยงแบบนั้น ทำเหมือนกับว่ารัฐบาลนี้ได้เห็นพ้องต้องกันแล้วก็ทำมาตลอด ผมก็อยากเรียนว่าไม่อยากให้ ใช้วาทกรรมแบบนี้ หรือการใช้เหตุผลแวดล้อมเหล่านี้มาคุยแล้วก็มาหาทางแก้ปัญหากับ รัฐบาลปัจจุบัน อันนี้ก็ฝากท่าน แต่ว่าสิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมดนี้ผมกราบเรียนท่านอย่างนี้ ผมว่ารัฐบาลนี้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนตามระบอบ ประชาธิปไตย แล้วก็มาจากการที่พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งวุฒิสภาด้วย ได้ให้ความไว้วางใจแล้วก็โหวตให้ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้เข้ามายืนอยู่ตรงนี้ได้มาจากเสียงประชาชนผ่านตัวแทนของพวกเขา ในสภา นี่คือเป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภาโดยแท้ และหัวใจของประชาธิปไตยคือเสรีภาพ และหลักการถ่วงดุลอำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คืออำนาจการถ่วงดุลจากเสียงของประชาชนโดยตรง อันนี้เห็นพ้องต้องกันครับ และเสียง ของประชาชนที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชนก็เป็นเรื่องที่สำคัญก็เห็นพ้องต้องกันเหมือนกัน ดังนั้น อำนาจการถ่วงดุลจากเสียงประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะเสียงที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชน จึงเป็นหน้าที่ เป็นงานของรัฐบาลที่จะต้องปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนในฐานะเป็นอีกหนึ่ง ในการสร้างสมดุลอำนาจในสังคมประชาธิปไตย เรื่องนี้รัฐบาลยืนยันนะครับ แล้วก็คิดว่า เป็นสิ่งที่เราจะปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราเห็นไม่ต่างกันหรอกครับ เรามาจากการเลือกตั้ง เราเห็น คุณค่าของการที่ประชาชนจะทำหน้าที่ในการถ่วงดุล อันนี้ก็ไม่ต่างกันครับ การใช้สิทธิ เสรีภาพของทั้งสื่อมวลชน ของประชาชนก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละส่วนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ ก็ต้อง เป็นไปตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นถ้ามีสิ่งใดที่จะล่วงเกินหรือละเมิดสิ่งนี้ก็ต้องให้กระบวนการ ยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมยังไม่ยืนยันนะครับ หรือจะมาสรุปว่าเป็นอย่างไร ผมคิดว่าขณะนี้ กระบวนการยุติธรรมกำลังจะทำหน้าที่ เรื่องนี้จริง ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลที่แล้ว แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้โดยตรง แล้วก็ดำเนินการมาโดยตลอด แล้วมีการสืบสวน ที่จริงเขาจับผู้กระทำผิดคนเดียว หลังจากนั้นเขาได้มีการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งมี หลักฐาน อันนี้เราก็ยังฟังหูไว้หู ก็คือว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาดำเนินการตาม กระบวนการที่เขาไปสืบทราบ แล้วก็มีหลักฐาน ซึ่งจริงหรือไม่จริงอำนาจการตัดสินใจ อยู่ที่ศาล เขาได้รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ไปขออำนาจศาล ศาลอนุมัติให้ดำเนินการ ออกหมายจับได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ เหล่านี้คือกระบวนการที่เป็นไป อาจจะมีตรงโน้นตรงนี้ บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมคิดว่านั่นไม่เป็นประเด็น ประเด็นสาระสำคัญคือเขาได้ดำเนินการตาม กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่หรือเปล่า แล้วผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ได้สนับสนุนตรงนี้อย่างเต็มที่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะกราบเรียนทุกท่านผ่านท่านประธาน กราบเรียนทุกท่าน อย่างนี้ว่า รัฐบาลชุดนี้อยู่ในอำนาจมาเพิ่งทำงานได้ ๕ เดือนอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว หลายครั้ง เป็นการทำงานโดยที่ไม่ได้มีงบประมาณอะไรมาทำตามโครงการที่ตัวเองอยากทำ รัฐบาลนี้ ๖ เดือนยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการลงทุนเลย เราทำในโครงสร้างต่าง ๆ ที่สั่งสมมาจากความผิดในอดีต หรือปัญหาที่เกิดขึ้นทับถมมา เพราะฉะนั้นในเรื่องที่ท่านถาม ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการที่เราจะดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรุนแรง หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจเราก็กำลังทำ ซึ่งสังคมมีความเห็นแตกต่างกัน หลายเรื่องก็ยัง ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็มีความเห็น เราก็กำลังเข้าไปดู เข้าไปวาง ในรายละเอียดต่าง ๆ ก็ขอบคุณที่ให้ข้อคิดให้รัฐบาลได้ไปพิจารณาแล้วก็ทำให้รอบคอบยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอำนาจของรัฐบาลอย่างไรก็ไม่มีทางเหนือกฎหมาย เพราะฉะนั้นในเมื่อ กระบวนการทางกฎหมายกำลังทำ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราอย่าเพิ่งไปสรุปหรือด่วนสรุปว่า ตรงนี้รัฐบาลปิดปาก หรือตรงนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลองดูกระบวนการยุติธรรมก่อนดีไหม ถ้าชัดเจนแล้วว่ามันไม่ได้มีหลักฐานอะไรและมันคุกคาม ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็ไม่ปล่อยอำนาจ ของประชาชนหรือเสรีภาพของประชาชนถูกคุกคาม แต่ถ้าด่วนสรุปไป ไปยืน มีความเห็นต่าง ไปโดยสิ้นเชิง ผมว่าวันนี้ทุกสิ่งที่ใช้กฎหมายหรือการทำงานต้องคำนึงถึงหัวใจของพี่น้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็ต้องคำนึงถึงหัวใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่าง ๆ ซึ่งอาจจะ มีผิดบ้าง ถูกบ้างก็ว่ากันเป็นราย ๆ ไป อย่าเหมารวมว่ามันเป็นระบบไปทั้งหมด สิ่งที่สำคัญ อันหนึ่งก็คือว่ารัฐบาลนี้ที่ผมอยากยืนยันท่านใน Social Media ท่านนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเกือบทุกท่านต่างก็เคยถูกการวิพากษ์วิจารณ์ มากไปกว่านั้นยังมีเรื่อง Fake News แล้วก็เรื่องใส่ร้ายป้ายสีที่เกิดขึ้น ทั้งตัวท่านนายกรัฐมนตรีและหลาย ๆ คน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นบางครั้งบางเรื่องก็เป็นการเข้าข่ายลักษณะ Harassment คือการคุกคาม แต่รัฐบาลยังไม่เคยมอบหมายใครไปฟ้องคนเหล่านั้นเลยนะครับ ผมเชื่อมั่นในเสรีภาพ ในการพูด และเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนในสังคม และมั่นใจว่าความหลากหลายของ เนื้อหาเหล่านี้ ท้ายที่สุดมันจะถูกคัดกรองด้วยตัวมันเองจากวุฒิภาวะของสังคมและจาก ประชาชนที่มีจิตใจเที่ยงธรรมจะได้มองเห็นว่า กระบวนการทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร มันเป็นความผิดแบบไหน หรือใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผมคิดว่าวันนี้กรณีของสื่อมวลชน ๒ ราย ที่เป็นช่างภาพจากสำนักข่าวประชาไทและ Spacebar รัฐบาลก็เสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเรียนให้ทราบว่าหมายจับนี้ออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ทางตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีพยานหลักฐานที่ทำไว้ก่อนที่ ครม. ที่ท่าน นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้นกระบวนการออกหมายจับและกระบวนการ ดำเนินการจับกุมไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจที่รัฐบาลนี้จะเข้าไปก้าวก่ายได้ ท่านคงไม่สบายใจ ถ้ามันมีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วรัฐบาลนี้เข้าไปก้าวก่าย ไปจัดการ ไปกำหนดให้ตำรวจ หรือกำหนดให้มีกระบวนการที่ทำแล้วให้มันไปผิดพลาดหรือไปแทรกแซงกระบวนการ ยุติธรรม เห็นด้วยกับหลักการท่านนะครับ แต่ผมว่าเวลามาตีความหรือเอามามองใน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควรดูอย่างรอบคอบ ทำใจให้เป็นธรรม อย่าเพิ่งใช้ความรู้สึก ความชอบ หรือความสนับสนุน หรือความเห็นใจที่เกินไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ผมว่าต้องรอดูรูปธรรม ของปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านคงไม่สบายใจหรอกถ้าจะให้รัฐบาลนี้ไปล้วงลูกในทุกคดีความที่ เกิดขึ้น ผมว่าปล่อยให้กระบวนการทำไป แล้วถ้ามันมีปัญหากระบวนการเราก็ต้องช่วยกันแก้ไข อยากเรียนอย่างนี้ครับว่าทั้ง ๒ ท่านวันนี้ได้รับการประกันตัว แล้วก็ทุกอย่างกำลังเดินไปตาม กระบวนการยุติธรรม รอสักนิดดีไหมครับ รอให้กระบวนการต่าง ๆ มันเผยออกมาว่ามันถูก มันผิด หรือถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร แล้วเราค่อยมาร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาตรงนั้น อย่างไรด้วยกัน ผมไม่อยากเห็นการมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นแล้วเราก็ไปดำเนินการ แล้วก็รีบไปยืน แล้วหลาย ๆ อย่างเวลานี้มันสับสนไปหมด เมื่อวานที่ดูสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเช้าเป็น Viral ของสังคม สังคมดูกันหมด ไม่มีใครสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมถามทุกท่านที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะยิ่งเรื่องเมื่อวานนี้ถ้าดูกันเฉพาะฉาบฉวยท่านสบายใจหรือครับที่อดีตหัวหน้า พรรคท่านหรือหัวหน้าท่านไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนที่กำลังก่อคดีคุกคามขบวนเสด็จอยู่ โบราณเขาบอกว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เราเข้าใจ เราเห็นใจ เรารักใครถ้าทำไม่ดีเราก็ต้อง ช่วยกันตักเตือน คัดค้าน เดี๋ยวนี้เขาไม่ตีกันครับ เขาใช้การพูดคุย การให้ความรู้ ให้ความคิด ให้เข้าใจว่าสิ่งใดกฎหมายบังคับ สิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร แล้วอยู่ ๆ เรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องมาโทษรัฐบาล ผมว่าฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ อย่างมีเหตุผล แทนที่จะไปพูดถึงบุคคลที่ได้ดำเนินการไปถูกผิดแล้วก็ให้เข้าสู่กระบวนการ ทางยุติธรรมอย่างเคร่งครัด ท่านเรียกร้องให้เคร่งครัดครับ เวลานี้กระบวนการยุติธรรม เคร่งครัด แล้วก็พยายามจะดำเนินการ เมื่อวานท่านกำลังเรียกร้องให้เคร่งครัด อยู่ดี ๆ วันนี้ ท่านบอกว่าเรากำลังใช้อำนาจไปคุกคาม ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่รัฐบาลคือดำเนินการ ตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงและให้กระบวนการยุติธรรมนั้นเอื้ออำนวยความยุติธรรมกับ ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง ท่านก็คงไม่สบายใจถ้าใครมากล่าวหาท่านโดยตรงก็เป็นอย่างโน้น อย่างนี้ หรือว่าอยู่เบื้องหลังอะไรต่าง ๆ ใจเย็น ๆ นะครับ อยากให้ช่วยกันคิดช่วยกันดู แล้วก็ ทุกอย่างว่ากันไปตามเหตุผล ทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไปสร้างเรื่องเท็จ มาทำร้ายการแสดงออกของพี่น้องประชาชน อันนั้นเรามาคุยกัน เป็นหน้าที่ของทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านต้องดำเนินการ แต่ขณะนี้ไม่ได้ถูกปิดกั้นการแสดงออก เพียงแต่การแสดงออกนั้น สมควรหรือไม่สมควร ทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไปพ่นสี กำแพงวัดพระแก้ว หรือการที่จะไปบีบแตรไล่ขบวนเสด็จหรือจะแทรกเข้าขบวนเสด็จ เหมือนกันทั้งหมดครับ กฎหมายก็พยายามทำ แต่ก็พยายามให้ความนุ่มนวล จนหลายท่าน อาจจะบอกว่าทำไมกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำงานอย่างเคร่งครัดเหมือนอย่างที่ท่าน อภิปรายสนับสนุนเมื่อวานว่าขบวนเสด็จอย่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานให้เต็มที่ เคร่งครัด แต่พอมีเรื่องเกิดขึ้นเราพยายามจะให้เป็นไปโดยอิงกระบวนการยุติธรรม ท่านยังตั้ง คำถาม ผมคิดว่าก็รับฟังไว้เป็นอุทาหรณ์นะครับ ผมก็จะพยายามนำเรื่องนี้เสนอ ครม. ให้ช่วย พิจารณา แต่ว่าอยากให้ช่วยดูเรื่องให้ครบถ้วนแล้วอย่าเพิ่งด่วนสรุป อย่าเพิ่งใช้วาทกรรม เมื่อวานนี้ท่านพูดหลายเรื่องดี แต่การที่ใช้กลไก ใช้เงื่อนไข หรือใช้ปมบางสิ่งบางอย่าง ผมดูข่าวบางช่องถ่ายรูปสภาแล้วก็มีไฟลุกท่วมจอ ท่านอยากให้ความขัดแย้งใหม่กลับมา หรือครับ รัฐบาลนี้พยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปแล้ว แล้วถ้าความขัดแย้งแบบใหม่ เกิดขึ้นมาท่านกำลังปลุกให้กระแสสังคมมันเกิดชนหน้ากัน ท่านอยากเห็นเมืองไทย ใน ๑๐ ปีที่ผ่านมากลับไปสู่วังวนแบบเดิมหรือครับ เพราะฉะนั้นผมอยากเรียนท่านว่า ท่านอย่าห่วง รัฐบาลนี้ยืนยันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ผ่านทาง สื่อมวลชน แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือสื่อมวลชน หรือรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ต้องรักษากฎกติกาสังคมถึงจะสงบสุข ทุกอย่างจะเดินไปได้ ส่วนกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นจากคน บุคคลทำงาน มันมีจุดรั่วหลายจุด ไม่สมบูรณ์ จุดอะไรต่าง ๆ เรามาช่วยกัน แก้ปัญหาครับ ผมเชื่อว่าจากการที่เป็นไปอยู่แล้วก็ที่ผมได้นำเสนอนี้คงทำให้ท่านสบายใจขึ้น ว่าท่านไม่ต้องห่วงรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้ยังยืนยันคุ้มครองสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านผู้ถามใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ ขอโทษนะครับก่อนจะถาม ตอนนี้ เราต้องบริหารตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้กระทู้หนึ่งไม่เกิน ๓๐ นาที ตอนนี้เวลาของท่านรัฐมนตรีหมดแล้ว ทีนี้ก็ต้องดูว่าทางท่านผู้ถามจะสามารถบริหารเวลา แล้วเผื่อเวลาสำหรับการตอบด้วย เรียนเชิญครับ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานผ่านไป ยังท่านรัฐมนตรี ก่อนอื่นดิฉันดีใจที่ท่านยังยืนยันในหลักการและเชื่อในเสรีภาพของ ประชาชน แต่คราวนี้เราต้องตั้งหลักกันตรงนี้ก่อน ตั้งสติกันตรงนี้ก่อนว่าดิฉันไม่ได้พูด เรื่องขบวนเสด็จหรืออะไรเลย วันนี้เรากำลังพูดกันเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน อย่าเพิ่ง ไปไกลมากกว่านั้น อยู่ในหลักการนี้ก่อนอยู่ในเรื่องนี้ก่อน ดิฉันขอถามคำถามที่ ๒ เลย และเดี๋ยวจะกลับมาตอบในสิ่งที่ท่านต้องตั้งข้อสังเกตไว้ เหตุผลที่ดิฉันต้องย้อนกลับไปไกล อย่างที่ท่านบอกในช่วงต้นเพราะดิฉันมีความกังวลใจ เนื่องจากบริบทสื่อมวลชนในประเทศไทย เราต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่าบ้านเราสื่อไม่ได้เป็นอิสระจากทุนอย่างเด็ดขาด ขนาดนั้น โดยเฉพาะธุรกิจสื่อมวลชนต้องพึ่งพาแหล่งทุนในการสนับสนุนเพื่อดำเนินธุรกิจ จากบริบทที่ว่ามาทำให้การที่รัฐกดดันสื่อและปิดปากสื่อ ผ่านการสร้างความกลัวทำได้ง่าย มาก ๆ ค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วทุนจะไปกดดันสื่อต่อ ไม่มีทุนไหนที่พร้อมแบกรับความเสี่ยง โดยการทำให้รัฐไม่พอใจ สิ่งที่ดิฉันพยายามจะสื่อด้วยบริบทดังกล่าวนี้ทำให้สื่อไม่มีอิสระมากพอ อย่าลืมว่าสื่อมวลชน เขาต้องอาศัยความน่าเชื่อถือในการทำงาน เมื่อมีรัฐมาออกหมายจับเท่ากับว่ารัฐไปลดทอน ความน่าเชื่อถือของเขา และเมื่อถูกตีตราว่าผิดไปแล้วตั้งแต่ต้น ต้นสังกัดที่ต้องพึ่งพาทุน เขาก็ต้องออกมาปกป้องตัวเองและเลือกที่จะผลักไสแรงงานเหล่านี้ให้ออกไป กรณีแบบนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง เช่นในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลหรือเหตุการณ์ การชุมนุมต่าง ๆ มีสื่อที่ถูกให้ออกจากงานเนื่องจากออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หลายครั้ง และสื่อบางคนเขาถูกละเมิดโดยรัฐ เช่น เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมก็ไม่กล้า ที่จะฟ้องดำเนินคดีกลับเพราะทางต้นสังกัดขอไว้ และการกระทำดังกล่าวนี้เป็นการสร้าง ความหวาดกลัวในอดีตในยุคเผด็จการค่ะ ดิฉันย้ำนะคะ ที่ท่านกล่าวมาคือเป็นยุคเผด็จการ แต่วันนี้เราอยู่ในยุครัฐบาลพลเรือน แล้วเราจะปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อไปอย่างนั้นหรือคะ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือมีสื่อจำนวนมากเขาจำเป็นต้องออกมาเป็นสื่ออิสระเนื่องจากไม่สามารถ อยู่ในระบบเหล่านี้ได้ และสื่ออิสระเหล่านี้เองที่กลายเป็นเป้าของรัฐบาลเผด็จการในอดีต ด้วยการจับกุมคุมขังดำเนินคดี ที่มากกว่านั้นคือมีการพยายามขีดเส้นเสรีภาพของสื่อ มีความ พยายามออกมาบอกว่าใครเป็นสื่อบ้าง ให้มีการลงทะเบียนสื่อโดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นสื่อที่มี ต้นสังกัด มีการลงทะเบียนโดยมีการรับรองจากกรมประชาสัมพันธ์บ้าง จากตำรวจบ้าง ราวกับว่ารัฐสามารถเป็นคนชี้ได้เลยว่าใครเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ หากท่านให้เหตุผลว่า การลงทะเบียน การมีต้นสังกัดหรือการมีใบรับรองเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อเก็บข้อมูล ดิฉัน พอที่จะเข้าใจและรับฟังได้ค่ะ แต่ต้องถามต่อว่าหลังจากนี้ไปในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้เรามีข้อกำหนดอะไร และข้อกำหนดของท่านยังมีความสำคัญที่จะใช้ต่อไปได้ หรือไม่ สรุปคำถามที่ ๒ สิ่งที่ดิฉันอยากถามคือ ในยุครัฐบาลพลเรือนนี้เราจะมีการคุ้มครอง เสรีภาพสื่ออย่างไรบ้าง และจะมีแนวใดที่จะยืนยันได้ว่าคนที่อาจอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชุมนุมทุกคน รัฐเองจะประกันเสรีภาพสื่อในการทำข่าวในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ล่อแหลมนี้ได้อย่างไรโดยที่ไม่ละเมิดเสรีภาพในการทำงานของพวกเขาค่ะ และที่สำคัญ ที่สุดจากคำถามข้อที่แล้วดิฉันอยากย้ำตรงนี้ เรื่องการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องเล็กค่ะ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเลย มีการออกหมายจับเลยโดยไม่เคยมี หมายเรียก อันนี้ไม่ดำเนินตามกระบวนการอยู่แล้วแน่นอนค่ะ ซึ่งนี่ไม่ใช่การด่วนสรุปของ ดิฉัน และดิฉันเป็นห่วง และต้องย้ำเรื่องนี้เพราะในสังคมที่มีความเห็นต่างกระบวนการ ยุติธรรมต้องเชื่อถือได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ดิฉันไม่ได้บอกว่ารัฐนี้ ปิดปาก หรือรัฐบาลแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตาม กระบวนการเช่นนี้เราจะแก้ไขมันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น จะ Guarantee หรือมีแนวทาง อย่างไรเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมนี้เป็นไปตามขั้นตอน วันนี้ที่ดิฉันยกเรื่องราวเหล่านี้มา ไม่ใช่ดิฉันไม่ทำการบ้าน ไม่ใช่ดิฉันไม่รู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว รู้ค่ะ ทราบดีค่ะ แต่ในเมื่อวันนี้รัฐบาลของท่านเป็นผู้บริหารประเทศเราจำเป็นที่เอาเรื่องนี้มาพูดกัน ดิฉัน คิดว่ารัฐสภาอาจจะเป็นพื้นที่ที่กว้างและปลอดภัยที่สุดแล้วในสังคมตอนนี้ที่เราจะหยิบเรื่องนี้ มาพูดกัน เรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ที่แห่งนี้ละค่ะคือพื้นที่ปลอดภัย ที่สุดแล้วที่เราจะคุยกันเรื่องนี้ ดิฉันขอต่อเลยนะคะ เวลาเหลือจะให้รัฐมนตรีได้มีโอกาส ที่จะตอบอีกครั้ง และสิ่งที่รัฐต้องตระหนักอยู่เสมอคือสื่อไม่ใช่ PR หรือ IO ของรัฐ เราอย่าติด นิสัยของพวกเผด็จการ เมื่อไรก็ตามที่เขาหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ หยิบปากกาขึ้นมา บันทึกสถานการณ์ ข้อเท็จจริงออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับค่ะ เพราะหน้าที่ที่สำคัญของสื่อ คือการนำเสนอข้อเท็จจริง หน้าที่หลักของสื่อไม่ใช่การนำเสนอความเห็นเพื่อเทิดทูนและ สร้างความราบรื่นให้แก่รัฐบาล แต่เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนปรากฏการณ์ สะท้อน ความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะมีประโยชน์กับฝ่ายไหนก็ตาม แล้วเราต้องไม่ลืมว่านั่นคือสิ่งที่ สื่อทั้ง ๒ คนที่ถูกหมายจับไปเขาได้ทำสิ่งนั้นอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ไม่ว่าความสัมพันธ์ ส่วนตัวของเขากับแหล่งข่าวจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้นดิฉันคิดว่าไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ การนำเสนอเหตุการณ์ความจริงที่เกิดขึ้นที่ต้องอาศัยสื่ออิสระหรือสื่อขนาดเล็กออกมาพูด เพราะอะไรคะ เพราะสื่อใหญ่ ๆ ไม่มีใครกล้าพูดแล้วค่ะ และสุดท้ายก็กลับไปวน Loop เดิมว่าสื่อขนาดเล็กแบบนี้ก็ต้องโดนรัฐบาลฟ้อง และหาก จะพูดเรื่องของความสัมพันธ์ ดิฉันว่าถ้าตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เราไม่ยึดหลักการไว้ดิฉันว่า พูดกันยาวค่ะ เพราะในแวดวงการเมืองเองก็มีให้เห็นอยู่ ดิฉันอยากเห็นภาพที่แตกต่างไปจาก ช่วงรัฐบาลเผด็จการ เพราะในช่วงที่ผ่านมาสื่อมวลชนเขาถูกกดให้หลังขดหลังงอ เราจะทำ อย่างไรให้เขาสามารถยืนตรงให้หลังตรงได้ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ประเด็นที่แหลมคม ในสังคม ดิฉันคิดว่าท่านเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน ท่านควรจะภาคภูมิใจที่สังคมเรา กล้าที่จะขับเคลื่อนประเด็นที่ก้าวหน้าในสังคมมากกว่าการทำข่าว Drama ข่าวฆาตกรรม พอเป็นข่าวแบบนี้รัฐแทบจะไม่เคยยุ่งเลย แต่เมื่อไรก็ตามที่เป็นเรื่องของสังคม เป็นประเด็น ทางการเมืองรัฐก็ต้องสอดมือเข้ามาทันที ในฐานะคนเคยทำสื่อดิฉันอยากยืนยันอีกครั้งค่ะ เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน การผลักให้สื่อเป็นคู่ขัดแย้งเท่ากับว่า ท่านกำลังเลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้ามกับประชาชน ถ้าสื่อถูกปิดหู ปิดตา ปิดปาก แล้วใคร จะเป็นหู เป็นปาก เป็นตาแทนประชาชน ดิฉันยังคงหวังว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะสลัด รอยต่อของรัฐบาลเผด็จการได้ แล้วคืนศักดิ์ศรี คืนเสรีภาพให้กับสื่อมวลชน ดิฉันมีเพื่อนพ้อง น้องพี่ในวงการหลายคนค่ะ พวกเขาภาคภูมิใจกับการทำงานสะท้อนเสียงของประชาชน แม้รายได้จะน้อยนิดแต่เขาก็ภาคภูมิใจและอยากมีเสรีภาพในการทำงาน ดังนั้นคืนศักดิ์ศรี หน้าที่ คืนเสรีภาพให้พวกเขาเถอะนะคะ ดิฉันไม่เห็นเหตุผลใดเลยที่รัฐบาลจะไม่ส่งเสริม เสรีภาพของสื่อ ไม่เห็นเหตุผลใดเลยที่จะทำตามรัฐบาลเผด็จการที่เคยทำมาก่อน เว้นแต่ว่า ท่านจะจงใจเลือกให้เป็นอย่างนั้นและปล่อยให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเท่านั้นเองค่ะ เหตุการณ์ดำเนินคดีดังกล่าวผ่านไปแล้วก็จริง แต่ดิฉันอยากให้เราเข้าใจตรงกัน ย้ำอีกครั้งค่ะ สื่อมวลชนคือกลุ่มอาชีพที่อยู่ตรงกลางในสังคม ดิฉันยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะอะไรคะ เพราะคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเปิดพื้นที่ตรงกลางให้กว้างที่สุด ให้บุคคลที่สามในสังคม ให้คนที่เขาอยู่ตรงกลางตรงนี้ได้มีหน้าที่ ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ อย่าตีตราหรือผลักไสเขา ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอีกเลย ดังนั้นคำถามสุดท้ายและสำคัญที่สุด รัฐบาลจะมีแนวทาง ที่จะส่งเสริมเสรีภาพของสื่ออย่างไรไม่ให้ถูกละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ไม่ให้ถูก Censor ไม่ให้ถูกฟ้องร้องปิดปากแบบนี้ และรัฐบาลจะ Guarantee ได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ ลิดรอนเสรีภาพครั้งนี้จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือครั้งสุดท้ายของสื่อมวลชนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ที่ประชุมครับ ผมดูการบริหารเวลานะครับ เนื่องจากกระทู้ทั่วไปอีก ๒ กระทู้จะมีการเลื่อน เพราะฉะนั้นผมจะ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สักครู่ครับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
ผมเพิ่งพูดไปครั้งเดียว แล้วก็มีประเด็น
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมกำลังจะบอกว่าเรามีเวลาเพิ่มครับท่าน ผมขออนุญาตชี้แจงก่อนนะครับ ก็คือตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องให้ไม่เกิน ๓๐ นาที แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ประเด็นสำคัญของ เนื้อหาสาระในการถามและตอบ เพราะฉะนั้นผมจะเพิ่มเวลาให้ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๕ นาที สรุปแล้วเรามีเวลาอีก ๑๐ นาที หลังจากที่หมดเวลาตามนาฬิกา ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ จริง ๆ ก็ไม่ต้องเพิ่มขยายขนาดนั้นก็ได้ครับ เพราะว่า ผู้ถามกระทู้สดก็พูดไปเยอะมากแล้วในแต่ละประเด็น ก็เพียงจะตอบสั้น ๆ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ก็คืออย่ากังวลใจ อย่าหมกมุ่นกับสิ่งที่เคยเกิด แล้วก็อย่า จินตนาการต่อเนื่องว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมเรียนยืนยันว่ารัฐบาลนี้ ให้ความเคารพต่อเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชน เรายึดตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มาตรา ๓๕ ที่ถือว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและข้อคิดเห็น เราส่งเสริมให้สื่อ กำกับดูแลควบคุมกันเอง เพราะฉะนั้นผมอยากกราบเรียนว่าเรายึดถือตามรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องที่ท่านพูดมานี้ผมไม่อยากให้ท่านเอาเรื่องอดีตแล้วก็มาผูกพันกับเรื่องปัจจุบัน แล้วมาเสนอ วันนี้เราเห็นเหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าเวลาหยิบเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมา ถ้าบอกว่ารัฐบาลนี้จะคุกคามสื่อ ผมว่าหลายคอลัมนิสต์ หลายรายการที่พูดอยู่วันนี้พูดถึง รัฐบาลในทางที่ไม่ดีมากมาย และรัฐบาลนี้ไม่เคยเข้าไปแตะต้องเลยครับ ถือว่าเป็นเสรีภาพ เพราะฉะนั้นอยากให้ทำใจให้กว้าง ๆ จริง ๆ แล้วก็ถึงแม้ท่านจะเป็นสื่อมวลชนมาก่อน ก็ต้อง เรียนยืนยันว่าสื่อมวลชนทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย เราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแน่นอน แต่ท่านต้องใช้สิทธิเสรีภาพในกรอบ ซึ่งเกินเลยไปบ้างรัฐบาลนี้ก็ยังไม่เคยเข้าไปทำอะไร เพราะฉะนั้นก็อยากยืนยันว่ารัฐบาลนี้ยึดมั่นในเสรีภาพ ส่วนสื่อ ๒ ท่าน ท่านอย่าไปกังวลใจ แทนเขาครับ กระบวนการยุติธรรมเขาดำเนินการไป ถ้าถึงที่สุดแล้วมีปัญหาว่าหลักฐาน ไม่เพียงพอที่จะไปทำอย่างนั้น เราค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเขาดำเนินการไม่เหมาะ ผมก็ ได้คุยครับ คิดว่าจะระมัดระวังในสิ่งที่ตอบ แต่เขายืนยันว่าเขามีหลักฐานครบถ้วน เราทั้ง ๒ ฝ่ายอย่าเพิ่งไปยืนข้างใคร รอหลักฐานก่อนแล้วค่อยมาว่าดีไหมครับ ถ้าหลักฐานมันชัด ประเด็นคำถามของท่านมันก็ไม่เกิด แต่ตั้งคำถามไม่ชัดมันก็จะคิดไปได้ว่านี่คือกระบวนการ คุกคามสื่อก็ค่อยมาว่ากัน แต่ว่าถ้าหลักฐานมันชัดท่านก็ต้องเข้าใจ แล้วก็ต้องยอมรับว่า กระบวนการมันเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้เรายังไม่สรุป ก็ให้กระบวนการมันดำเนินการไป แล้วก็ สุดท้ายผมรู้ดีครับ รัฐบาลนี้รู้ดีว่าสื่อไม่ใช่ PR แล้วไปใช้ IO ของใคร ไปถามประชาชนดูว่า สื่อมวลชนของรัฐบาลวันนี้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ IO ให้รัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ดูได้ทุกช่องครับ ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ ช่องไทยพีบีเอส เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องอย่างนี้แค่เกิดเฉพาะบางเรื่องแล้ว มาบอกว่ารัฐบาลคุกคามสื่อ อยู่กับความเป็นจริง และผมคิดว่าคนตอบได้ดีที่สุดว่า รัฐบาล คุกคามสื่อหรือว่าคนที่กล่าวหาพูดไม่ครบถ้วนโดยมีประโยชน์ที่ตัวเองอยากเชื่ออยากเห็น แล้วก็อยากจะพูดฝ่ายเดียว ประชาชนคือคำตอบครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านผู้ถามจะใช้สิทธิต่อไหมครับ ทางผู้ถามเหลือ ๖ นาที แล้วก็ผู้ตอบเหลือ ๒ นาทีครึ่ง เชิญครับ
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านรัฐมนตรี ดิฉันยังยืนยันอีกครั้ง ดิฉันยังไม่ได้กล่าวหาอะไรเลย ดิฉันขอใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเราจะคุยกันถึงหลักการในอนาคต แต่ท่านก็ยังยืนยัน แล้วก็วนอยู่ กับเรื่องของบุคคล ดิฉันยืนยันว่าเราคุยกันวันนี้เพื่อหลักการในอนาคตค่ะ และสิ่งนี้ปล่อยผ่าน ไม่ได้จริง ๆ ท่านย้ำหลายครั้งเรื่องของการสร้างวาทกรรม วาทกรรมความขัดแย้ง ท่านคะ ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามหรือข้อสงสัย ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาจาก ความรู้สึกว่ามันไม่มีความยุติธรรม การแก้ปัญหาของความขัดแย้งคือการตอบคำถามของ ความรู้สึกเหล่านั้นอย่างสิ้นสงสัยต่างหาก และความขัดแย้งนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นหากรัฐชี้หน้า คนตั้งคำถาม หรือรู้สึกเช่นนั้นว่าเป็นการว่าชี้หน้าว่าอย่าสร้างวาทกรรม การใช้คำพูดนี้ เป็นแค่การปฏิเสธว่าปัญหานั้นไม่มีอยู่จริงและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใด ๆ ไม่เป็นอะไรค่ะ แม้วันนี้ดิฉันจะไม่ได้คำตอบอะไรเลยก็ตาม แต่ดิฉันถือว่าดิฉันได้ใช้พื้นที่สภาแห่งนี้เพื่อนำ เรื่องนี้มาพูดคุยกันแล้ว ที่เหลือดิฉันเชื่อว่าสังคมและประชาชนจะจับตาการทำงานของ รัฐบาล ดิฉันฝากไว้อย่างเดียวค่ะ ท่านอย่าให้ลูกผสมที่ท่านผสมข้ามขั้วมากลืนกินท่านไป ทั้งหมด ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรีครับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ต้นฉบับ
ท่านยังติดใจเรื่องการตั้งรัฐบาลอยู่ แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อ เลยติดใจ เรื่องลูกผสม จริง ๆ มาตามกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด ทั้งหมดนะครับ สิ่งที่ท่านพูดนี้ ผมคิดว่าถ้าหลักการเราไม่ต่างกัน รัฐบาลนี้ยืนยันอยู่แล้ว ปัญหาคือท่านมองว่ารัฐบาลนี้ไม่รับฟัง แล้วก็เอาต่าง ๆ นี้มาปกป้องตัวเองแล้วชี้หน้าคนอื่น ผมว่าทั้งหมดอยู่ที่ข้อเท็จจริง การปฏิบัติ ที่เป็นจริงอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่คนเห็น ท่านจะพูดวาทกรรมสวยหรูอย่างไร หรือท่านจะบอกว่า ท่านเป็นสื่อมวลชนมาอย่างไรก็ตาม ผมว่าวันนี้เราเถียงกันเรื่องรูปธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดูว่า มันจะเป็นอย่างไร รัฐบาลยืนยันว่ารัฐบาลยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นในการให้เสรีภาพ พี่น้องประชาชน และยึดมั่นในการเคารพเสรีภาพของสื่อ สิ่งที่แตกต่างกันนี้คือการมอง รูปธรรมและมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปธรรม ทุกกรณีที่เกิดขึ้นกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับความมั่นคงมันเป็นเรื่องที่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูด ท่านบอกว่าเราไปทำเพื่อชี้หน้า แล้วก็ทำให้มันเกิดความรุนแรงมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องมันมีอยู่ ทั้ง ๒ มุมมอง ถ้าท่านหยิบมาพูดแล้วมันเกิดความเป็นจริงมันก็กลายเป็นจุดชนวนให้ ความขัดแย้งในสังคมมันขยายตัวมากขึ้น ผมถึงถามว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ปลุกให้เกิดความรุนแรง ๒ ฝ่ายมาชนกัน ชนะกัน จะปกป้อง ฝ่ายหนึ่งหรือจะเสริมฝ่ายหนึ่งก็ตาม ล้วนแต่กำลังจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นเป็นความวุ่นวาย เพื่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา เศรษฐกิจประเทศล้มเหลวมาจนถึงขนาดนี้ท่านต้องการ หรือครับ ก็อยากให้เข้าใจสิ่งนี้ แล้วผมคิดว่าท่านพูดกับผมพูดอาจจะไม่เหมือนกัน หรือ พื้นฐานข้อมูลต่างกันแต่ทัศนะอาจจะต่างกัน ข้อมูลอาจจะเหมือนกันแต่ทัศนะอาจจะต่างกัน ประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่าง ๆ มีกระบวนการมาอย่างไร มีปัญหา อย่างไร ท่านแสดงความเห็นอย่างไร ท่านแสดงบทบาทอย่างไร รัฐบาลทำอะไร ทุกอย่าง เป็นอย่างไร ประชาชนเป็นคำตอบครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ทั้งผู้ถามและผู้ตอบก็ใช้สิทธิครบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แล้วก็เรียนท่านรัฐมนตรีว่าไม่ต้องห่วงสภาไฟไหม้อะไร
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ไม่ได้ แล้วครับ ท่านหมดเวลาแล้วครับ แต่เมื่อวานเราคุยเรื่องละเอียดอ่อนจริงครับ แต่ทุกอย่าง คุยได้ครับ ภาพไฟไหม้อะไรน่าจะ Fake News ขอบคุณครับ ผมขอดำเนินการประชุมต่อครับ กระทู้ถามสดทั้ง ๓ กระทู้ก็ได้ดำเนินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนกระทู้ถามแยกเฉพาะก็มีการ สลับลำดับขึ้นมาถามก่อน ส่วนกระทู้ที่เหลือมีการเลื่อน เชิญท่านปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธาน ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อยากจะขอหารือท่านประธานเรื่องการถามกระทู้ ผมพบว่าในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา บางครั้งท่านผู้ถามกระทู้ก็จะค่อนข้างบริหารเวลาได้ดี อาจจะใช้เวลาในคำถามแรกประมาณ ๖ นาที ๗ นาทีเพื่อเหลือเผื่อไว้อีก ๒ คำถาม และในหลาย ๆ ครั้งก็มอบเวลาที่เหลือให้กับ ท่านรัฐมนตรีในการชี้แจงด้วยซ้ำ แต่ผมพบจริง ๆ ว่าในหลาย ๆ ครั้งตั้งแต่คำตอบแรก บางที หลาย ๆ ครั้งรัฐมนตรีใช้เวลาจนหมด ซึ่งผมคงไม่ได้กล่าวหาว่าจะเจตนาหรือว่าอะไร แต่ผม ก็อยากจะให้สภาแห่งนี้มีการถามตอบกันอย่างเต็มที่ให้ครบถ้วนทุกประเด็น ผมคิดว่า การบริหารเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ท่านประธานอาจจะหารือกับท่านประธานอีก ๒ ท่าน ว่าเรื่องการบริหารจัดการเวลาในการตอบท่านรัฐมนตรีจะทำอย่างไรดี ในบางสัปดาห์ที่อาจจะ มาครบกันทุกกระทู้และไม่สามารถชดเชยเวลาแบบนี้ได้ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อันนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามบริหาร แต่เนื่องจากข้อบังคับนี้ส่วนใหญ่ท่านผู้ถาม ก็จะถามสั้นกว่าท่านผู้ตอบเพราะว่าเป็นลักษณะของคำถาม แล้วก็ไม่ใช่การอภิปราย เพราะฉะนั้นอาจจะจำเป็นที่จะต้องเขียนข้อบังคับกันใหม่ในส่วนของกระทู้ถาม แต่ในส่วน ของสิทธิในการบริหารตามข้อบังคับก็จะเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว แต่ว่าทางประธานก็มี ข้อยืดหยุ่นได้ในกรณีที่มีกระทู้บรรจุไม่ครบก็สามารถใช้ได้ครับ เชิญครับ
นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม ไชยวัฒนา ติณรัตน์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคาม กระผมอยากตั้งข้อสังเกตแล้วก็ ท้วงติงข้อบังคับ ข้อ ๙ นิดเดียวครับว่า การตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาผมอยากให้ดูข้อบังคับ ข้อ ๑๕๖ ผมไม่ได้ไปก้าวล่วงกระทู้ที่ผ่านมา ผมชื่นชมเสียอีกในการนำเสนอกระทู้เมื่อสักครู่นี้ แต่ภายใต้ข้อบังคับ ข้อ ๕๖ ผมกราบเรียนว่า (๑) เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของ ประชาชน (๒) เป็นเรื่องที่กระทบถึงผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ (๓) เป็นเรื่อง เร่งด่วน ผมอยากให้ท่านประธานทั้ง ๓ ท่านได้หารือกันว่าอำนาจของท่านประธานที่จะ วินิจฉัยว่ากระทู้ถามสดด้วยวาจาใดที่จะเข้าลักษณะเป็นกระทู้ถามสดด้วยวาจาใน ๓ วงเล็บนี้ ผมไม่ได้ตำหนิกระทู้เมื่อสักครู่นี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นกระทู้ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ผมอยากจะท้วงติง อยากให้ข้อสังเกตของท่านประธานที่เคารพของกระผมว่ากระทู้ถามสดแต่ละสัปดาห์นั้น ขอให้เป็นกระทู้ที่อยู่ใน ๓ วงเล็บที่กระผมได้นำกราบเรียนท่านประธานครับ ไม่ได้ประสงค์ สิ่งใดครับ ขอบคุณท่านประธานที่ให้โอกาสครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก็เป็นข้อเสนอของทั้ง ๒ ฝ่ายเรื่องเวลา แล้วก็เรื่องของการพิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นวาระด่วนหรือไม่ อย่างไร ทั้ง ๒ เรื่องเดี๋ยวผมจะกราบเรียนท่านประธานแล้วก็จะมีการ ปรับปรุงให้เป็นไปตามที่ท่านสมาชิกได้ให้คำแนะนำ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้ดำเนินการถามและตอบ ที่ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะแล้วครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและสมาชิก ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน อันนี้เป็นกระทู้ถาม แยกเฉพาะก็จะดำเนินการพร้อมกับที่ห้องประชุมใหญ่ หลังจากหารือเสร็จแล้วก็จะมาถึง กระทู้ถาม ซึ่งตอนนี้เป็นกระทู้ถามสดและกระทู้ถามทั่วไปในห้องประชุมใหญ่นะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ อยากจะเรียนท่านสมาชิกว่าเรื่องกระทู้ถามแยกเฉพาะนั้น ก็มีกฎระเบียบให้ถามและตอบได้ครั้งละไม่เกิน ๒ เรื่อง และต้องถามตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๗๒ และข้อ ๑๗๓ ประกอบข้อ ๑๖๗ ครับ ก็เรียนให้ทราบ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟัง ขอความร่วมมือจากผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาฟัง ขอให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ที่กำหนดว่า ผู้เข้ารับฟังต้องรักษามารยาท ประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมอยู่ในลักษณะที่รักษาความสงบ ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ตามไม่ควรจะกล่าววาจาหรือแสดงปฏิกิริยาเป็นการรบกวนห้องประชุม เช่น ใช้วัสดุ หรืออุปกรณ์สื่อสารใด ๆ เพื่อบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการซึ่งจะ ทำลายเสียงที่ห้องประชุม และเนื่องจากการประชุมนี้มีการถ่ายทอดสู่บุคคลภายนอกด้วย จึงเรียนให้ที่ประชุมทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ดำเนินการให้ก่อสร้างยกระดับถนนเพื่อ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมถนน สายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ บ้านบางบ้า ตำบลชุมแสง สงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สายบ้านหนองพะยอม-บ้านตระแบกงาม ตำบล ชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เนื่องจากกระทู้ถามนี้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีได้ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการถามกระทู้นี้ก็ได้อนุญาตให้ผู้ที่มาสนับสนุนข้อมูลคือ นายพิชิต หุ่นศิริ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เข้ามาในห้องนี้ด้วยนะครับ ขอเชิญคุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ถามได้ครับ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมในเรื่องของความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างถนนยกระดับเพื่อป้องกันน้ำท่วม ของถนนทั้ง ๒ สาย ซึ่งประกอบด้วย ๑. ถนนสายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ ผ่านบ้านท่านางงาม บ้านกรุงกรัก บ้านบางบ้า ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๑๓ กิโลเมตร ๒. ถนนสายบ้านหนองพะยอม-บ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๑๐.๘๐ กิโลเมตร
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเกิดอุทกภัยมาจากแม่น้ำยมไหลบ่าเข้าท่วมตำบล บางระกำ ตำบลท่านางงาม ตำบลชุมแสงสงคราม เป็นประจำทุกปี ซึ่งมีราษฎรอยู่อาศัย จำนวน ๒,๐๐๐ หลังคาเรือน ประสบปัญหาอย่างนี้ทุกปี ทำให้ถนนเส้นนี้มีความจำเป็น อย่างมากที่เขาจะได้สัญจรเข้าออกเพื่อที่จะได้ออกมาติดต่อกับโลกภายนอก ซึ่งทำให้เขาไม่มี พื้นที่ที่จะเก็บสิ่งของอุปโภคบริโภคทางด้านการเกษตร การปศุสัตว์ ยานพาหนะต่าง ๆ ถนนเส้นนี้นอกจากนั้นแล้วเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พื้นที่น้ำท่วมจะเห็นเป็นพื้นที่สีดำทั้งหมด ในเวลากลางคืนนะคะ ทำให้พี่น้องได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมานเป็นเวลามามากกว่า ๕๐ ปี ขอถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับ พี่น้องประชาชนค่ะ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
คำถามที่ ๑ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม มีแผนการก่อสร้าง ยกระดับถนนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมของถนนทั้ง ๒ สายนี้หรือไม่ อย่างไร และ ๒. ถ้ากรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม มีแผนแล้ว ขณะนี้ความคืบหน้าในการ ก่อสร้างของโครงการทั้ง ๒ โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนใด และได้กำหนดกรอบระยะเวลา ของโครงการหรือไม่ว่าจะได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างไร ขอทราบรายละเอียดค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เมื่อสักครู่ผมลืม มีประชาชนเข้าฟังด้วยคือ นายรชต รอดคลองตัน อนุญาตได้ครับ เชิญท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมค่ะ วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาตอบกระทู้ของท่านพิมพ์พิชชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย และต้องขอบคุณท่านสมาชิกเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาถามคำถามนี้ เพราะคำถามนี้เป็นคำถาม ที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาอย่างยาวนานค่ะ ดิฉันขออนุญาตทวนคำถามของท่านสมาชิก อีกครั้งหนึ่งนะคะ กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบทมีแผนการก่อสร้างยกระดับ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ๒ สายคือ ถนนสายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ ไปถึงบ้านบางบ้า ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และถนนสายบ้านหนองพะยอม บ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก หรือไม่อย่างไร รวมทั้ง ท่านสมาชิกได้ถาม ๒ คำถามคือ ความคืบหน้าและมีแผนการอย่างไร ดิฉันขออนุญาต ท่านประธานในการที่จะตอบคำถามของ ท่านสมาชิกทั้ง ๒ คำถามเลยนะคะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
คำถามแรก กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบท โดยเฉพาะ ถนนช่วงแรกเป็นถนนสายช่วงบ้านวังแดงหรือบ้านบางระกำ ตำบลบางระกำ อำเภอบางบ้า ตำบลชุมแสงสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ขออนุญาตขึ้นสไลด์ค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ตามสไลด์ ก็จะเห็นว่าเส้นสีเขียวดังแสดงที่เห็นในแผนที่เป็นถนนท้องถิ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ช่วงบ้านบางระกำถึงบ้านบางบ้า ซึ่งถนนดังกล่าว เป็นการก่อสร้างถนนยกระดับดังกล่าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกและอยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดก็มีงบประมาณที่จะต้องสร้างและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ดังกล่าว พอมาดูสายที่ ๒ เป็นถนนสายบ้านหนองพะยอมถึงบ้านตระแบกงาม คือเส้นสีแดงที่ แสดงในแผนที่ ซึ่งเดิมเป็นถนนท้องถิ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ. พิษณุโลก ประทานโทษค่ะ เส้นดังกล่าวเป็นเส้นอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล ชุมแสงสงคราม ก็คือ อบต. และไม่ได้เป็นเส้นทางที่กรมทางหลวงชนบทถ่ายโอนนะคะ แล้วก็ เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ประกอบกับองค์การบริหาร ส่วนตำบลชุมแสงสงครามมีงบประมาณไม่เพียงพอและบุคลากรที่จำกัดที่ไม่สามารถดูแล รับผิดชอบในถนนสายดังกล่าว จึงมีมติโดยใช้ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ถ่ายโอนเส้นทางดังกล่าวมาอยู่ในความรับผิดชอบของทางหลวงชนบทเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖ เมื่อปีที่แล้ว ท่านประธานที่เคารพ ขณะนี้มีถนนหลายสายที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นไม่มีศักยภาพที่จะดูแลบำรุงรักษาหรือมีงบประมาณไม่เพียงพอ กรมทางหลวง ชนบทได้มีการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการโดยประสานกับคณะกรรมการกระจาย อำนาจนะคะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าถนนเส้นใดที่มีงบประมาณไม่เพียงพอและ ไม่สามารถที่จะดูแลเส้นทางให้พี่น้องประชาชนสัญจรไปมา ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ใช้มติที่ประชุมสภา แล้วนำเสนอท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ๆ เพื่อประสานงาน ต่อที่สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดทุกจังหวัด สามารถส่งมอบเส้นทางนี้มาให้ทาง กรมทางหลวงชนบท ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมแล้วก็ประสานร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นั่นก็คือภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมี การถ่ายโอน ขณะนี้มีอยู่หลายเส้นทางนะคะ ซึ่งขณะนี้ในเส้นทางดังกล่าว ขอยกตัวอย่าง กรณีภารกิจนี้เรามีการริเริ่มทำที่จังหวัดบึงกาฬ โดยเอาเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่เรานำร่อง คาดว่าถ้าเราได้ดำเนินการนำร่อง ไปแล้วเราจะได้รู้ว่าข้อไหนที่มีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ข้อไหนที่ต้องมีการปรับปรุง ก็จะนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงการถ่ายโอนภารกิจเหล่านั้นกลับคืนมาให้ กรมทางหลวงชนบทในอนาคตต่อไปค่ะ ต่อมาเมื่อกรมทางหลวงชนบทได้รับมอบและบรรจุ เป็นโครงการทางหลวงชนบทแล้ว เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ปี ๒๕๖๗ เราก็จะขึ้นทะเบียนเป็น ทางหลวงชนบท ก็จะมีหมายเลข ยกตัวอย่างเช่น หมายเลข ๑๒๙๓ ที่บ้านหนองพะยอม ไปจนถึงบ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็น ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ตลอดแนวเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเส้นทางนี้ก็จะมีพี่น้องประชาชนที่ใช้ สัญจรไปมา ประกอบไปด้วย ๔ หมู่บ้านก็คือ บ้านหนองพะยอม บ้านบางบ้า บ้านชุมแสงสงคราม และบ้านตระแบกงามค่ะ กรมทางหลวงชนบทเมื่อได้สำรวจแล้ว เพิ่งรับโอนเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อสำรวจแล้วเราก็ได้รับทราบว่าเมื่อประชาชนเดือดร้อน ตามที่ท่านสมาชิกได้ถามกระทู้ วันนี้ กรมทางหลวงชนบทก็จะบรรจุลงไปในแผนเพื่อขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๘ ก็ขออนุญาต นำเรียนเบื้องต้นในคำถามแรก
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
คำถามที่ ๒ ขณะนี้กรมทางหลวงชนบทได้ซ่อมบำรุงบริเวณที่ชำรุดเสียหาย ดังขึ้นในภาพ ก่อนการปรับปรุง ขณะการปรับปรุง แล้วก็หลังการปรับปรุงแล้ว ซึ่งปกติ การบำรุงเส้นทางที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมก็จะเป็นงานปรับปรุงอำนวยความสะดวก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ปัจจุบันนี้เส้นทางนี้เราเรียกว่าเส้นทาง ทล.๔๐๕๘ ก็สามารถใช้สัญจรไปมาได้แล้ว อาจจะเพราะว่าตอนที่ท่านสมาชิกได้ตั้งกระทู้ ถามแยกเฉพาะก็คงเป็นเวลาก่อนที่ทางหน่วยงานจะเข้าไปดำเนินการ ขณะนี้เส้นทาง ดังกล่าวได้ทำการปรับปรุง แล้วก็พี่น้องประชาชนได้สัญจรไปมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนการแก้ไข ปัญหาในระยะยาว เราก็จะมีการยกระดับมาตรฐานของถนนพร้อมกับก่อสร้างระบบระบายน้ำ อาทิเช่น ท่อลอดกลม ท่อลอดเหลี่ยม หรือว่าสะพาน เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่าง เพียงพอกับปริมาณที่น้ำมาแต่ละปี โดยกรมทางหลวงชนบทได้พิจารณาเข้าแผนงบประมาณ ตามลำดับ ซึ่งความสำคัญของถนนสายนี้ก็จะอยู่ในลำดับต้น ๆ ที่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา ในระยะยาวต่อไปได้ค่ะ โดยเฉพาะกรมทางหลวงชนบทซึ่งเป็นกรมที่ได้มีโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่พี่น้องประชาชนในระดับอำเภอซึ่งเป็นตำบล แล้วก็อำเภอเล็ก ๆ เราก็จะเข้าใจดีว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการสัญจรไปมาขนพืชผลการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็น และขณะเดียวกันโครงข่ายของทางหลวงชนบทเองก็ได้มีการปรับปรุงเส้นทางต่าง ๆ ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระดับ อบจ. หรือว่าระดับเทศบาล หรือว่า อบต. กรมทางหลวงชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาถนนหนทางเหล่านี้จะสร้างความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณพิมพ์พิชชาถามเป็นครั้งที่ ๒ ครับ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ต้องขอบคุณกรมทางหลวงชนบทที่จะได้บรรจุถนนสายบ้านหนองพะยอมถึงบ้านตระแบกงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ในงบประมาณปี ๒๕๖๘ ซึ่งจะได้ช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนได้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันในสายบ้านวังแดง ตำบลบางระกำ ดิฉันได้ทราบ มาว่าเป็นของ อบจ. พิษณุโลก แต่ว่างบประมาณปี ๒๕๖๗ อนุมัติเพียง ๒๐ ล้านบาท ซึ่งจะได้ระยะทางประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดที่ชาวบ้านใช้สัญจรออกไป ลำบากมาก ดังนั้นเมื่อท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงมาอาจจะต้องกลับไปเพื่อที่จะไปปรึกษา อบจ. พิษณุโลก เพราะว่า ๑๓ กิโลเมตร แล้วทำได้ ๓ กิโลเมตรนี้อาจจะยังไม่สามารถที่จะ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้ อาจจะต้องขออนุญาตนำไปปรึกษาทาง อบจ. พิษณุโลกว่าจะ ยกถนนให้กับกรมทางหลวงชนบทได้หรือไม่ เพราะว่าถมค่อนข้างสูงนะคะ ต้องมีมากกว่า ๑ เมตร เพราะไม่อย่างนั้นพี่น้องจะออกมาไม่ได้เลยนะคะ
นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ
อันนี้คือตอนที่ไปมันท่วม แค่ประมาณ ๑๕-๓๐ เซนติเมตร ตอนที่ไปนี้ไปก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ท่านลงพื้นที่บางระกำ ท่านลงพื้นที่วันที่ ๑๔ ตุลาคม แต่ว่าวันนี้ที่ไปคือ ๑๓ ตุลาคม พอเรา เข้าไปตรงนี้ยังน้อยอยู่นะคะ แต่พอผ่านวัดเข้าไปลงไปมันลึกมาก ทะเบียนรถของสมาชิกหาย เลยนะคะ เพราะว่ามันลึกมาก ประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ตอนนี้ยังพอดูได้อยู่ ถ้าช่วงที่ ทุกท่านเห็นที่จะมีใส่รองเท้าอะไรอย่างนี้นะคะ ถ้าดูจากในรูปคือเป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข เร่งด่วนเพราะว่าเขาบอกว่าเขาทรมานมาก เขาไม่สามารถที่จะไปได้ อันนี้ก็คืออยู่ข้างทาง นะคะ รถคันนี้ความสูงก็ต้องมากกว่า ๖๐ เซนติเมตรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่อาจจะ ต้องกลับไป แล้วก็บรรจุไว้เพื่อให้ อบจ. พิษณุโลกส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมทางหลวงชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับพี่น้อง กราบขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมตอบครั้งที่ ๒ ครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ในประเด็นคำถามที่ ๒ ก็จะอยู่ในขั้นตอน ขั้นตอนแรกก็คือ นำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทำหนังสือถึงสมาชิกสภาจังหวัดในเขตนั้น ๆ ผ่านไปถึงท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อบรรจุระเบียบวาระของการโอนเส้นทาง ดังกล่าวให้ทางหลวงชนบท เมื่อมติสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางท่านนายกก็ทำหนังสือถึง ทางหลวงชนบทจังหวัดพิษณุโลก ทางหลวงชนบทจังหวัดพิษณุโลกก็ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท แล้วเราก็จะบรรจุเรื่องราวเหล่านั้น คงมี อปท. หลายแห่ง มีความประสงค์ที่จะโอนเส้นทางดังกล่าวกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของทางหลวงชนบท กรมทางหลวงชนบทก็จะรวบรวมแล้วก็นำเสนอในส่วนของผู้ที่รับผิดชอบนำเสนอรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการกระจายอำนาจร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นในการถ่ายโอนเส้นทางดังกล่าวมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ในโอกาสต่อไปค่ะ ซึ่งทุกภารกิจที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กรมทางหลวง ชนบท กระทรวงคมนาคมเราได้ให้ความใส่ใจ แล้วก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิกนะคะ ท่านพิมพ์พิชชาที่ท่านได้ลงไปดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถนนหนทาง เรื่องของปัญหาอุทกภัย ก็ต้องขอชื่นชมท่านและให้กำลังใจนะคะ แล้วก็หวังว่าพี่น้อง ประชาชนจะได้พึ่งพาท่านสมาชิกที่สนใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เป็นอันว่า จบกระทู้ถามที่ ๑ ในห้องประชุมแยกเฉพาะในวันนี้นะครับ ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คุณมนพร เจริญศรี แล้วก็ผู้ถามกระทู้นี้คือคุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ครับ ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. เรื่อง ปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างสถานีรถไฟ ความเร็วสูง พระนครศรีอยุธยา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้มาตอบกระทู้ถามเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ แต่เนื่องจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ติดภารกิจเร่งด่วน ไม่สามารถ มาตอบกระทู้ถามนี้ได้ จึงขอเลื่อนกระทู้ถามนี้ออกไปในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง คือในสัปดาห์หน้า กระทู้นี้ก็เลื่อนไป สัปดาห์หน้านะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. เรื่อง ปัญหาน้ำท่วมในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร นายนพพล เหลืองทองนารา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดราชการสำคัญ ไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ คือสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกัน เราก็อนุญาตให้เลื่อนตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๔. เรื่อง การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรมชุมชน อย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรีมีภารกิจที่สำคัญ ไม่อาจจะมาตอบกระทู้ถามในวันนี้ได้ จึงขอเลื่อนตอบ กระทู้ถามนี้ออกไปในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕. เรื่อง การแก้ไขถนนชำรุดและเป็นหลุมเป็นบ่อในพื้นที่บ้านพะลาน- ปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยติดภารกิจสำคัญ แล้วได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามนี้แทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี ติดภารกิจที่สำคัญไม่อาจจะมาตอบกระทู้ถามในวันนี้ได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ ออกไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง คือ ขอเลื่อนเป็นสัปดาห์หน้าครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๖. เรื่อง การปรับปรุงและแก้ไขสะพานไม้สีส้มชำรุด ซึ่งประชาชน ใช้สำหรับสัญจรไปสถานีรถไฟฟ้าคูคต นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ และเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดภารกิจ ที่สำคัญไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามนี้ได้ และขอเลื่อนการตอบกระทู้นี้ออกไปเป็นวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง คือเลื่อนเป็นสัปดาห์หน้านะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตกลงวันนี้ก็ได้ถามตอบ ๑ กระทู้ นอกนั้นเลื่อนออกไปครับ สำหรับวันนี้ ในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะก็จบเพียงเท่านี้ ขออนุญาตปิดประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุมซึ่งไม่ปรากฏในระเบียบวาระ คือ การดำเนินงานตามข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีดำริให้จัดทำสรุปข้อมูลการส่งปรึกษาหารือ และแจ้งผลการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุม สรุปแล้วตอนนี้ ในการประชุมครั้งที่ ๑-๑๐ มีสมาชิกที่หารือทั้งหมด ๑,๑๒๘ ข้อ มีการแจ้งผลการดำเนินงาน ตามข้อหารือแล้ว ๒๘ ข้อ มีข้อหารืออยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งผล จำนวน ๑,๑๐๐ ข้อ เอกสารทั้งหมดก็จะแจ้งให้กับท่านสมาชิก แล้วท่านสมาชิกก็สามารถเข้าไป Check ผลการตอบแล้วก็การชี้แจงของหน่วยงานได้ใน Website ของการปรึกษาหารือ จึงแจ้งที่ ประชุมทราบครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นเรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุมซึ่งปรากฏในระเบียบวาระ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒.๑ รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒.๒ รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
หน่วยงานที่เข้าชี้แจงขอเลื่อนการชี้แจงออกไปก่อน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
รับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปี ที่ ๑ (สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่หนึ่ง) จำนวน ๓ ครั้ง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครั้งที่ ๑๔ วันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครั้งที่ ๑๕ วันพุธที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครั้งที่ ๑๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ทางเจ้าหน้าที่ได้วางให้สมาชิกได้ตรวจดูก่อนที่จะเสนอให้สภารับรองแล้ว มีท่านใดจะขอแก้ไขรายงานหรือมีมติที่จะไม่รับรองรายงานไหมครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นถือว่าที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมของทั้ง ๓ ครั้งดังกล่าวครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔.๑ รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐาน ของประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมพิจารณาเสร็จแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วยรองประธานคณะกรรมาธิการ ท่านวรรณวิภา ไม้สน ได้มีหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมาธิการติดภารกิจสำคัญในวันนี้ จึงขอเลื่อนการรายงานออกไปเป็น วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔.๒ รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เสร็จแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญคณะกรรมาธิการเข้าประจำที่ครับ และในการนี้ผมได้อนุญาต ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมชี้แจงด้วย ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ ๑๐๔ วรรคสอง ขอเชิญ รายชื่อดังต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุม ๑. ศาสตราจารย์สุชาติ ธาดาธำรงเวช ที่ปรึกษา ประจำคณะกรรมาธิการ ๒. รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ๓. นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ๔. นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะทำงานจัดทำรายงาน ตอนนี้กรรมาธิการเข้าประจำที่พร้อมแล้ว ขอเชิญ ประธานคณะกรรมาธิการแถลงครับ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการต่อสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ตามที่ที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๕ (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) นั้น ตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๖๖ ข้อ ๔๙ ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการศึกษาไว้ ๙๐ วัน ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการ ๓๕ ท่าน การศึกษาเกี่ยวกับระบบที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ คณะกรรมาธิการ วิสามัญได้พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ในภาพรวม ทั้งนิยาม รูปแบบโครงการ แลนด์บริดจ์ รูปแบบการลงทุน เหตุผลความจำเป็น ประโยชน์ที่โครงการแลนด์บริดจ์คาดว่า จะได้รับ ตลอดจนโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติของความมั่นคงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความคิดเห็นของภาคเอกชนที่มีและเกี่ยวข้อง มิติด้านอุตสาหกรรม มิติด้านต่างประเทศ ความคิดเห็นของหน่วยงานในพื้นที่และผู้แทนประชาชน ตลอดจนพื้นที่ ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ทั้งนี้คณะกรรมาธิการ ได้เสนอข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเพื่อจะนำไปศึกษาและดำเนินการต่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประเทศชาติต่อไป ถ้าดูภาพรวมความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบแล้วจะเห็นได้ว่าโครงการ แลนด์บริดจ์ก็คือโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้เพื่อจะได้มีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งด้านอ่าวไทยและอันดามัน ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร ท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นการก่อสร้าง ในพื้นที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบรถไฟรางคู่และทางหลวงพิเศษ มอเตอร์เวย์ ภายใต้แนวคิดและการพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกิจการเชิงพาณิชย์ โดยได้คัดเลือก จุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองคือ บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวนาง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยเหตุผลสำคัญที่มีการศึกษา โครงการแลนด์บริดจ์เพราะว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและเป็นประตูสู่การ ขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาคและระหว่างทวีปของโลก ซึ่งอยู่ ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ โดยเฉพาะทางภูมิศาสตร์ทาง ภาคใต้ของประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน ภายใต้เขต เศรษฐกิจพิเศษของภาคใต้ ตลอดจนการขนส่งสินค้าของประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงเหมาะสมที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น เพื่อขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาคระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลกนี้
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๒. หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดในการเดินเรือของช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็น โอกาสของประเทศไทยจะสร้างการเปลี่ยนแปลง แชร์ส่วนแบ่งตลาดการเดินเรือค่าธรรมเนียม ของช่องแคบมะละกา
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๓. มีแนวโน้มในการจูงใจให้ผู้ประกอบการขนส่ง นักลงทุน ให้ใช้ประโยชน์ จากเส้นทางแลนด์บริดจ์เส้นนี้ เพราะสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางให้ได้ดีกว่าเดิม
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๔. เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ ศูนย์กลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมขนส่งของเอเชีย
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
โดยคาดการณ์ว่า ๑. ผลการดำเนินการจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และการลงทุนระดับนานาชาติ ๒. เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง การอุตสาหกรรม ๓. เป็นการคมนาคมที่สะดวกและมีประสิทธิภาพของการขนส่ง ๔. โอกาส ของการจ้างงาน เพิ่มรายได้ ๕. อุตสาหกรรมหลังท่า ๖. การลงทุนภายใต้เศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ ตลอดจนการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ผลลัพธ์ที่จะได้ คนรุ่นใหม่มีงานทำ มีที่อยู่อาศัย มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ไฟฟ้า เพียงพอกับความต้องการ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จำนวนประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนองประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร ๑๕๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ มีอยู่ มีกิน มีใช้ ทำให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตร ยางพารา และพืชผลต่าง ๆ ของทางภาคใต้ และเมื่อการขนส่งสะดวกก็จะทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้น เปิดการท่องเที่ยวทั้ง ๒ ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น ประชาชน ขายสินค้าการเกษตรได้ราคาเพิ่มขึ้น ผลกระทบจะทำให้สร้างความเจริญ พัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ ตลอดจนเพิ่ม GDP ของประเทศ ประเทศไทยจะเป็น จุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูสู่การขนส่งสินค้าของภูมิภาคออกไปทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก ลดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ สร้างสุขให้กับชุมชนปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต เป็นต้น
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ข้อสังเกต
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๑. รัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะและควรออกกฎหมายในรูปแบบ พิเศษที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมในบริบทของภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการเพื่อมาดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้อง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๒. รัฐบาลควรศึกษารายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์ทุกมิติ ทั้งผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชน วิถีชีวิต ประมงพื้นบ้าน ตลอดจนตัวอย่าง ต่าง ๆ และสื่อสารต่อประชาชนทุกพื้นที่ให้มีความเข้าใจทุกมิติ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
๓. รัฐบาลควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาและดำเนินการการเวนคืน ที่ดิน ชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน การศึกษาการเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อรองรับ อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร เพื่ออุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ และอุตสาหกรรม ให้เพียงพอ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ซึ่งทุกท่านได้สภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติแห่งนี้สามารถศึกษา รายละเอียดในเล่มรายงานของคณะกรรมาธิการได้ โดยสรุปโครงการแลนด์บริดจ์เป็น เครื่องมือหรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุนให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคม อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศไทย ต่อไป ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและ ประเทศไทยโดยรวม ซึ่งคณะกรรมาธิการจึงเสนอรายงานและข้อสังเกตต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการพิจารณาเพื่อให้รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาและ ดำเนินการต่อไปให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดระบบบูรณาการในการทำงานร่วมกันอันจะเกิด ประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป กระผมในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แลนด์บริดจ์ จึงขออนุญาตท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้คณะกรรมาธิการแต่ละท่าน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอผลงานด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเด็นเกี่ยวข้องต่อไปครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านกรรมาธิการท่านใดจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าไม่มี จะเป็นการอภิปรายของ ทางสมาชิก ตอนนี้มีผู้เข้าชื่อ ฝ่ายค้าน ๘ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๘ ท่าน เพราะฉะนั้นจะเรียกสลับ ๑ ต่อ ๑ ขออนุญาตเริ่มที่ฝ่ายค้าน เชิญท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ภูมิลำเนาจังหวัดกระบี่ คนภาคใต้ ก่อนอื่นก็ต้องฟ้อง ท่านประธานคณะกรรมาธิการว่าการทำงานของเลขานุการชุดนี้มีข้อตำหนิมากมาย เพราะว่า ในคณะกรรมาธิการที่จะต้องมาชี้แจงหลายคนไม่ได้รับหนังสือครับท่านประธาน ไม่ยอม แจ้งเขา กลายเป็นว่าเขาไม่สามารถรับทราบว่าวันนี้จะมีการชี้แจงต่อสภาแห่งนี้ ต้องขอตำหนิ ท่านประธานคณะกรรมาธิการโดยตรงด้วยครับ แล้วก็คณะทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการ ประจำด้วย สำหรับรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ซึ่งที่เป็นรูปเล่มออกมา แล้วก็ผมฟัง ท่านประธานได้สรุปเมื่อสักครู่มันย้อนแย้งกับเอกสารที่ท่านเสนอต่อสภาครับ เพราะอย่าง คำพูดคำหนึ่งที่ท่านบอกว่า จะสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งได้ แต่ในเอกสารเขียน ว่า อาจจะสามารถลดได้ แปลว่าท่านประธานคณะกรรมาธิการพยายามผลักดันเสียเหลือเกิน ว่ารายงานฉบับนี้จะมีผลดี แต่แทบจะไม่พูดถึงผลเสียของการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ อันนี้เลย นั่นหมายความว่าท่านกำลังพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับรายงานหนังสือเล่มนี้ เดี๋ยวท่านมีโอกาสแก้ตัวก็ลองตอบมานะครับ รายงานฉบับนี้เขียนบอกเหลือเกินว่าประเทศไทย อยากเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งประตูขนส่ง แลกเปลี่ยนสินค้า อยากเป็นศูนย์กลาง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ผมคิดว่าอยากเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติปล้นอำนาจมากกว่า เพราะว่า ปฏิวัติมาหลายครั้งหลายหนเสียเหลือเกิน แล้วก็การทำโครงการนี้เกี่ยวข้องกับกระทรวง คมนาคม สนข. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ผลงาน ของท่านดีมากครับ ถนนพระราม ๒ สร้างมาเจ็ดชั่วโคตร ทางกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ยังไม่เสร็จสักที วันนี้จะทำโครงการใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาทำโครงการอะไรต่อครับ ที่บ้านผม เซาท์เทิร์นซีบอร์ดครับ เวนคืนที่ดิน ๓๐๐ เมตร ๒ ข้างทางจากอำเภอขนอม จังหวัด นครศรีธรรมราช ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาถึงจังหวัดกระบี่บ้านผม เริ่มตั้งแต่รัฐบาล สมัยก่อนยุคโน้น แล้วก็โฆษณาชวนเชื่อ ย้อนดูข้อมูลข่าวสารได้เลยครับ ประเทศไทยจะดี นักลงทุนจะมา ไม่ต่างกันเลยครับ เหมือนกับโครงการนี้พยายามจะโฆษณาเหลือเกิน แล้วก็ สุดท้ายเป็นอย่างไรครับ ร้างครับ ตอนนี้เป็นถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่คนกระบี่ หรือว่า คนกรุงเทพฯ ที่จะลงไปจังหวัดกระบี่ใช้เส้นทางแล้วก็เชื่อมต่อที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็ ที่ผ่านมาเห็นไหมครับ บอกว่าจะใช้ตรงกลางให้เป็นประโยชน์ สุดท้ายครับ ขออนุญาต เอ่ยนามครับ รองประธานท่านหนึ่ง คนกระบี่บ้านผมก็ต้องไปรณรงค์ว่าตรงกลางนั้นเลยครับ ต้องให้พื้นที่เอามาใช้ประโยชน์ เสียหายนะครับ ไปเวนคืนที่ดินคนเป็นหมื่นไร่ สวนปาล์ม เยอะแยะ เสียหายครับ แล้วรอบนี้จะเวนคืนที่ดินอีก แล้วก็ไม่มีข้อมูลบอกชัดเจน แล้วใน ข้อสรุป ซ เขียนชัดนะครับ หากรัฐบาลตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน มีคำถามเกิดขึ้น เยอะแยะในชั้นกรรมาธิการครับท่านประธาน และผู้มาชี้แจงโดยเฉพาะ สนข. ก็ตอบไม่ได้ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมครับ กรรมาธิการท่านหนึ่ง อาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง วันนี้ ไม่ได้รับเอกสารเรื่องนัดประชุมและมาชี้แจง ท่านจะได้พูดได้ แต่วันนี้ผมต้องมาพูดแทนท่าน เพราะท่านตั้งคำถามในชั้นกรรมาธิการ ทาง สนข. ยังตอบไม่ได้ ทางหน่วยงานราชการ ยังตอบไม่ได้ บอกว่าผลกระทบที่เคยทำที่ EEC ภาคตะวันออกเวลาถมทะเลนี่ชายหาด เสียหายหาดแสงจันทร์เสียหายเป็น ๑๐ กว่ากิโลเมตร แต่ผลการศึกษาตอนนั้นบอกเสียหาย แค่ ๔-๕ กิโลเมตรแค่นั้นเอง นี่คือการถมทะเลที่โครงการแลนด์บริดจ์นี้กำลังจะทำอยู่ ความกังวลของคนภาคใต้นี่ ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากพัฒนาภาคใต้บ้านผมนะครับ อยากครับ แนวทางการพัฒนาภาคใต้มีเยอะแยะ เคยถามคนภาคใต้โดยตรงไหมครับว่าเขาอยากได้อะไร รองประธานคณะกรรมาธิการ บ้านผมพวกเรายังเคยพูดถึงเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ทางรถไฟ ระบบราง จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดสตูลเลยครับ ทำไมรัฐบาลไม่สนใจแบบนี้ครับ จะเอาโครงการแบบนี้ แล้วท่านบอกว่า ขอบเขตการศึกษามีมิติทางกฎหมาย ติดขัดครับ ไม่ติดขัดอย่างไรครับ หน่วยงานราชการ มาตอบการประชุมชี้แจงของเรา ซึ่งรายงานฉบับนี้ทำภายใต้การประชุมเพียงแค่ ๑๐ ครั้ง ครับท่านประธาน แน่นอนครับ ไม่มีทางรอบคอบ ไม่มีทางรัดกุม ไม่มีทางละเอียดอ่อน แล้วก็ ไม่มีทางที่จะเป็นฐานที่จะให้หน่วยงานอื่นมาเอาไปเป็นข้อมูลได้แน่นอน เพราะตอบคำถาม ได้ไม่ชัดเจนครับ หน่วยงานราชการที่มาตอบเขาก็บอกชัดว่าติดขัดข้อกฎหมาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เยอะแยะครับป่าไม้ และมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกทำลายครับ มิติความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอบเขตการศึกษา ถูกมัดมือชกครับท่านประธาน กรรมาธิการไปประชุมความคิดเห็นของประชาชนที่อำเภอ หลังสวน จังหวัดชุมพร Start เริ่มการประชุมเวลา ๑๑.๔๕ นาฬิกา สนข. เปิดภาพฉายสไลด์ ติด ๆ ขัด ๆ ภาพไม่มี เสียงหาย เสียเวลาครับ มีทหาร มีตำรวจ ไปตรึงกำลังประชาชน และ บอกว่าให้ประชาชนพูดได้แค่ ๕ คน นี่หรือครับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมภาคประชาชน ตามขอบเขตการศึกษา ล้มเหลวครับ ถัดมาจากนั้นไปไหนครับ โน่นครับ ข้ามมาอำเภอ พะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เริ่มเวลา ๑๔.๒๕ นาฬิกา แล้วก็รีบปิดประชุม นี่การมีส่วนร่วมของ ภาคประชาชนในการทำศึกษาเรื่องนี้ล้มเหลวครับท่านประธาน ในชั้นกรรมาธิการครับ การประชุมครั้งที่ ๗ ครั้งที่ ๘ ธันวาคม เชิญผู้แทนประชาชนก็เชิญเฉพาะ อบจ. ครับ แต่ อบต. หน่วยงานเล็ก ๆ ไม่มีครับ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รายงานฉบับนี้ ผมคิดว่ามีข้อบกพร่องเยอะแยะมากมาย ท่านบอกว่ามติคณะรัฐมนตรี ครม. ของคุณเศรษฐา ที่รับหลักการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จริง ๆ แล้วยุทธศาสตร์ชาติวางภายใต้รัฐบาลที่มา จากเผด็จการ ท่านมาจากรัฐบาลพลเรือน วันนี้ไปรับลูกยุทธศาสตร์ชาติจากรัฐบาลเผด็จการ ได้อย่างไรครับ อายเขาตายเลย เสียชื่อหมดครับ แล้วก็บอกว่าจะได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ลดเวลา ลดระยะทางขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง รายงานมันก็ขัดแย้ง กันเองครับ ข้างต้นก็บอกแล้วว่าอาจจะ แต่บางข้อความก็บอกว่าลดต้นทุน ร่นระยะทาง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ครับ มีอย่างนั้นที่ไหนครับ กรรมาธิการเราเวลาถามหลายอย่าง เช่น กรรมาธิการเราถามว่ามีท่อส่งน้ำมัน ทำไมบางครั้งถึงไม่มี ก็ตอบไม่ได้ครับท่านประธาน สมาคมเจ้าของเรือที่มาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ ผมตั้งคำถามเดียวกับท่านบอกว่าสมาคม เจ้าของเรือในประเทศไทยเคยพูดถึงหรือเรียกร้องโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไหม เขาตอบว่า อย่างไรท่านประธาน เขาบอกว่าไม่เคยมีการพูดถึงเลย โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่ผมบอก บ้านผมตรงกลางเดี๋ยวนี้ใช้เลี้ยงวัวครับ มีแค่รถวิ่ง แล้วบอกว่าทำแล้วจะดึงดูดนักลงทุน โฆษณาสวยหรู ออก Roadshow เหมือนข่าวการพยายามทำคลองไทย คลองจีนเปี๊ยบเลย ท่านประธานครับ เรื่องแบบนี้จะดีหมดได้อย่างไรครับ ท่านพัฒนาบนคราบน้ำตา ความเดือดร้อนของประชาชนที่อำเภอพะโต๊ะ คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ท่านจะเรียกร้อง ให้เขาเสียสละ ภาคใต้มีฐานเศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรป่าไม้ ป่าโกงกาง ต้นน้ำ ทะเล หาดทราย สัตว์น้ำ วิถีชีวิตประมงนะครับ ผมเรียกร้องให้นักวิชาการ ข้าราชการส่วนกลาง ข้าราชการดี ๆ มืออาชีพออกมาพูดความจริง โครงการนี้ การศึกษานี้ คนที่ได้รับผลประโยชน์ ก็คือบริษัทที่ปรึกษาของ สนข. ได้เงินครับ มันก็ดีหมดสิครับ วันนี้ลองตอบหน่อยว่าท่าน ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเป็นอย่างไร แล้วท่านบอกว่าจะให้ความสุขกับชุมชน เมื่อสักครู่ ท่านประธานบอก ชุมชนเขามีความสุขอย่างไรครับ เขามาตั้งคำถามท่านยังตอบไม่ได้เลย มะทมมาจากระนอง มาตั้งคำถาม แล้วประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ระนองนะครับ เรื่องเล็ก ๆ รัฐบาลยังแสดงฝีมือไม่ได้เลยครับ ครม. ไปประชุมที่ระนองยังแก้ปัญหาเรื่องสะพาน ข้ามคลองบ้านมอแกนไม่ได้เลย สุดท้ายฝรั่งต้องไปสร้างสะพานให้เด็ก ๆ ที่เดิมว่ายน้ำข้าม คลองกลับบ้าน ฝรั่งออกเงิน รัฐบาลเป็น ครม. ไปประชุมแท้ ๆ เขยคนระนองไปประชุมที่ ระนองยังแก้ปัญหาไม่ได้ น่าอายครับ นี่จะไปทำโครงการใหญ่ ๆ ไม่ไหวหรอกครับ รายงาน ฉบับนี้บอกว่าจะต้องออกกฎหมายพิเศษ SEC อันนี้ก็สอดคล้องของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกแล้ว ตกลงนี่ท่านรับลูกหมดเลยหรือครับ รัฐบาลเผด็จการนี่ท่านรับลูกหมดเลยหรือครับ ท่านไม่คิดจะทบทวนอะไรเลยหรือครับ ผมเชื่อว่าเรื่องป่าต้นน้ำที่หายไป พี่น้องประชาชนวันนี้ เขาเรียกร้องว่าวันนี้ค่าเวนคืนในทะเลพี่น้องชาวประมงเขาบอกว่าท่านสามารถให้ได้ไหมละ ๒,๐๐๐ บาทต่อวันในระยะร้อยปี ที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เขาขอ ๑๐ ล้านบาท เขาขอ ไร่ละ ๑๐ ล้านบาท ขอร้อยปีท่านให้เขาได้ไหม สวนทุเรียนเขามีมากมายขนาดไหน ความมั่นคงทางพลังงานท่อน้ำมัน เดี๋ยวนี้เขาไปถึงไหนแล้วครับ การเปลี่ยนแปลงเชิง โครงสร้างพลังงาน เขาใช้พลังงานสะอาด ท่านยังวางท่อหรือไม่วางท่อก็ยังตอบไม่ชัดเลยครับ เพราะฉะนั้นในรายงานฉบับนี้ผมบอกตรง ๆ รับไม่ได้ครับ ไม่มีจำนวนประชาชนที่ถูกเวนคืน ไม่มีตัวเลขที่ดินจำนวนเท่าไร ไม่มี คนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ได้บัตรประชาชนที่จังหวัดระนอง อีกเยอะครับปัญหาเล็ก ๆ ยังแก้ไม่เป็น ยังแก้ไม่ได้เลย น่าอายครับ ประเทศไทยบอกจะเอา โครงการ Megaproject อย่างโน้นอย่างนี้ อดีตรัฐมนตรีอยู่ในชั้นกรรมาธิการนะครับ คุณชาติดีก็บอกช่วยมองข้ามประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าเอาเรื่องเล็ก ๆ มาพูด นี่ประเด็นเล็ก ได้อย่างไรครับวิถีชีวิตชาวบ้านที่เขาต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ใช้ไม่ได้ครับแบบนี้ ไม่มีรายชื่อ ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐาบอกว่าจะดูแล ประชาชนทุกคน นี่นายกรัฐมนตรีพูดนะครับ ถ้าทุกคนจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะในหลักธรรมะ ความถูกต้องคือเป็นเป็นประโยชน์กับทุกคนและไม่เป็นโทษกับทุกฝ่าย ไปทบทวนดู ถ้าท่านบอกว่าท่านเป็นชาวพุทธจริง ที่อำเภอหลังสวนที่ผมบอกครับ ชาวบ้าน ออกมาคัดค้าน ในรายงานก็บอกว่าประชาชนทั้งหมดของจังหวัดชุมพรไม่คัดค้าน เขียนมาได้ รายงานฉบับนี้ ไม่น่าเชื่อนะครับ ฐานทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่ สวนผลไม้ต่าง ๆ ต้องถูก ทำลาย ผมคิดว่าเรื่องนี้การพัฒนาภาคใต้ผมสนับสนุนครับ เรามีฐานทรัพยากรเยอะแยะ วันนี้เรามีนิคมอุตสาหกรรมสงขลายังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เรามีท่าเรือที่ชุมพร เรามีท่าเรือ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดกระบี่เคยสร้างมาแล้ว และเป็นอย่างไร ร้างครับ สุดท้ายเอาให้ อบจ. กระบี่ดูแลให้เป็นท่าเทียบเรือประมงให้เขาเช่า โครงการที่คิด มาจากส่วนกลางทั้งนั้นเอาไปยัดเยียดให้ประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการส่วนกลางเก่ง มาจากไหนครับ วันนี้มีรายงานเดิม ๆ เรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ว่าจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หรือ TDRI หรือหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งนักวิชาการที่มาออกสื่อครับ ผมอยากให้ท่านแสดงเจตนารมณ์ออกมาจริง ๆ ครับ ผมไม่รับรายงานฉบับนี้ครับ ท่านประธาน ขออภัยที่อภิปรายเกินเวลาที่ขอไว้ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์และ ช่วยตอบคำถามผมด้วย ผมไม่รับรายงานฉบับนี้ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกอย่างนี้นะครับ ท่านใดจะใช้เวลาเกิน ๗ นาทีมาแจ้งล่วงหน้าได้เลย เพราะผมเข้าใจว่ามันเป็นรายงานที่ต้องใช้เวลาในการอภิปรายในแต่ละประเด็นค่อนข้างมาก เราจะได้บริหารเวลาได้ถูกต้อง ของท่านณัฏฐ์ชนนคงไม่มีอะไรเดี๋ยวเราอภิปรายต่อ เชิญท่านประธานคณะกรรมาธิการ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ผมขอ ชี้แจงประเด็นที่ว่าไม่มีการแจ้งกรรมาธิการทุกท่านให้มาร่วมประชุมในวันนี้ ไม่จริงครับ หนังสือออกจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สผ ๐๐๑๔/ว ๔๓ สำนักการประชุม เรื่อง ระเบียบวาระ จากว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถึงรายละเอียดทั้งหมดที่ให้มาชี้แจง และหนังสือออกตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ อันนี้ไม่จริง ที่ท่านบอกไม่มีการชี้แจง ไม่ได้มีการเรียกให้มาชี้แจง ประเด็นที่ ๒ ใน LINE กลุ่มท่านดู นะครับ แลนด์บริดจ์ของท่านก็มี ของผมก็มี ทุกคนที่เป็นกรรมาธิการก็มีการแจ้งไปใน LINE กลุ่มว่าให้มาร่วมประชุมในวันนี้ ชัดเจนครับ ท่านกรุณาดูด้วย ถ้าท่านไม่มีเดี๋ยวมาขอที่ผม ผมส่ง ให้ท่านครับ เดี๋ยวส่ง LINE ให้ท่านดูด้วย ขอชี้แจงในประเด็นนี้ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านประเสริฐพงษ์ครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธาน ที่ชี้แจงครับ ประเด็นก็คือว่าท่านไม่ได้แจ้งล่วงหน้าในเวลาอันเหมาะสม เหมาะควรด้วย ซึ่งท่านบอกว่าใน LINE นี้แจ้งจริง แต่กลายเป็นว่าแจ้งในระยะเวลาที่กะทันหัน และหนังสือ ก็ไม่ถึงกรรมาธิการท่านอื่นครับ ผมยืนยันว่าอุปสรรคนี้ทำให้การค้นหาความจริงของรายงาน ฉบับนี้บกพร่อง ขอตำหนิอีกครั้งครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญกรรมาธิการครับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กรรมาธิการครับ ผมขออนุญาตใช้สิทธิ พาดพิงจากท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ที่ท่านบอกว่าเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ และเป็นคนกระบี่ด้วย มีผมอยู่คนเดียวครับท่านประธานที่เป็นคนกระบี่ แล้วก็คงจะสนิท กับท่านประเสริฐพงษ์พอสมควร ที่เพื่อนสมาชิก ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เนื่องจากว่าเมื่อสักครู่ท่านพาดพิงผมเรื่องเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่จริงแล้วเซาท์เทิร์นซีบอร์ดนั้น ไม่ใช่ความกว้าง ๓๐๐ เมตรนะครับ ความกว้าง ๒๐๐ เมตร ความยาว ๑๕๐ กว่ากิโลเมตร จากจังหวัดกระบี่ไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็เชื่อมไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็ต้อง ยอมรับว่าโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากว่ามีพี่น้องประชาชนคัดค้านด้วย แล้วก็ ถนนตรงกลาง ๒๐๐ เมตร ตอนแรกเขาจะมีรางรถไฟท่อน้ำมัน ท่อน้ำ แล้วก็ถนนรถยนต์ ปรากฏว่าโครงการหัวกับหางถูกมีการประท้วง มีการคัดค้านเป็นระยะเวลานานมาแล้วครับ ก็ทำให้โครงการนี้ได้ประโยชน์ คนภาคใต้ก็ได้ประโยชน์ ก็คือมีถนนที่มีความกว้าง ๒๐๐ เมตรก็ได้ประโยชน์ แต่ว่าความประโยชน์ที่ได้มามันอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ผมพยายามบอกว่าในเรื่องของการทำโครงการ Magaproject นั้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่มีประชาชนหรือคนเห็นต่าง และในบ้านผมมีหลายเรื่อง เช่น ในเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ไม่สำเร็จ ก็มีคนคัดค้าน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คณะกรรมาธิการมีเวลาจำกัด แต่ในเรื่อง ความเห็นต่างมันมีแน่นอน แต่ว่าในคณะกรรมาธิการจะต้องเก็บความเห็นต่างทั้งหมดไว้ ในรายงาน อันนี้ก็คือวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ แต่ไม่ได้หมายความว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้มีอำนาจในเรื่องของการที่จะชี้ให้สร้างหรือไม่สร้าง เพราะฉะนั้นหน้าที่ ในส่วนของการเก็บรวบรวมข้อมูลก็ต้องฟังความให้เต็มที่กับระยะเวลาในการลงพื้นที่ แต่ว่า ในส่วนของการเก็บรายละเอียดนั้นก็สามารถเพิ่มเติมได้ ซึ่งในวันนี้ก็เป็นเรื่องของการชี้แจง รายงาน ก็เป็นเรื่องปกติในเรื่องของการรับรองรายงานหรือว่าชี้แจงรายงานที่ไปศึกษามาแล้ว ก็คงจะไม่สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นมีความผิดได้ก็สามารถให้เพื่อนสมาชิก ได้เติมเต็ม แล้วก็ได้พิจารณาโหวตออกเสียงกันตามกติกา ตามมติ แต่ผมกราบเรียนว่าในส่วน ของโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่มีปัญหาก็คือมีการประท้วง แล้ววันนี้ก็มีปัญหาอีก ก็เป็น การตั้งญัตติกระทู้เพื่อที่จะให้สภาเขาแก้ปัญหา ก็แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ขออนุญาตชี้แจง แค่นี้ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกรรมาธิการครับ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมาธิการ ก่อนอื่นต้องขอ กราบขอบพระคุณท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ขอบคุณมากครับที่ท่านเป็นห่วงเป็นใยพี่น้อง ประชาชนชาวจังหวัดระนองเป็นอย่างดี อีกอย่างหนึ่งผมเข้าใจว่าท่านอยู่ท้องถิ่นกับผม มาก่อน สิ่งหนึ่งที่เมื่อสักครู่ท่านพาดพิงถึงจังหวัดระนองแล้วก็พาดพิงถึงท่านรอง นายกรัฐมนตรี ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ตลอดจนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ท่านบอกว่าการลงพื้นที่ของท่านไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดระนองเลย ผมขอกราบนำเรียนไปถึงท่านประธานสภาไปถึงผู้ที่ได้อภิปรายเมื่อสักครู่นี้ กราบนำเรียนว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านไม่เคยทอดทิ้งพี่น้องประชาชน ทุก ๆ จังหวัด โดยเฉพาะยิ่งวันที่มีการประชุม ครม. สัญจร ท่านทราบถึงปัญหาเรื่องนี้ดี แล้วท่านก็ลงพื้นที่ติดตามเกี่ยวกับสะพานมอแกนที่ท่านได้พาดพิงเมื่อสักครู่นี้ และวันนี้ ต้องขอบคุณมากจริง ๆ ที่ท่านพูดก็พูดถูก อภิปรายถูก มีการระดมทุนจากพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน แล้วก็พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิของฝรั่งที่ท่านบอกไว้จาก ชาวต่างชาติ อันนั้นถูกต้องครับ แต่ท่านทราบไหมครับว่าการเข้าไปช่วยเหลือถ้าเผื่อไม่ได้ ท่านรองนายกรัฐมนตรีไปสั่งการ ถามว่าสามารถสร้างสะพานนี้ได้ไหม ท่านครับ ขออนุญาตนะครับ เรื่องนี้มันเป็นการเข้าไปก่อสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มันติดเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ เขตป่าสงวนแห่งชาติเกาะพยามในเขตป่าชายเลน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๓ และวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่กว่า เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในการสร้างสะพานตรงนี้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน คือต้องยกเว้น ขอมติ ครม. เรื่องนี้ทราบดีครับเป็นงบของจังหวัด ๒๐ ล้านบาท ทางจังหวัด ก็ทราบดี แต่ติดปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งในสิ่งนี้ท่านรอง นายกรัฐมนตรีท่านลงพื้นที่ และท่านก็กำชับจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเองว่าวันนี้ต้องมีการ เร่งระดมในการก่อสร้างสะพานชั่วคราวให้กับชาวมอแกนก่อน และวันนี้เป็นการก่อสร้าง สะพานให้กับน้อง ๆ เรียบร้อยแล้ว เสร็จเรียบร้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ท่านก็ไม่ได้นิ่งดูดาย วันนี้ท่านนำเรื่องนี้เข้าไปสู่ที่ประชุมมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ตอนประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดระนอง และเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็รับเรื่องนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เห็นด้วยในการที่จะดำเนินการก่อสร้าง สะพานตรงนี้ให้เป็นสะพานถาวรอีก ขอนำเรียนถึงท่านประเสริฐพงษ์ว่าขอบพระคุณมาก ที่ท่านเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องชาวจังหวัดระนอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดท่านไม่ได้ทิ้ง และที่ท่าน บอกว่าเกี่ยวกับการสำรวจชาวมอแกนที่ยังไม่มีเอกสารหรือบัตรประชาชน ตอนนี้ท่านก็ตาม เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน วันนี้จังหวัดระนองสำรวจพื้นที่จังหวัดของระนองว่ามีชาวมอแกน แล้วก็ พี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้สัญชาติกี่คน วันนี้ชาวระนองกำลังสำรวจและอำเภอก็ทำเรียบร้อย แล้วเรื่องนี้ ผมว่าวันนี้ที่ท่านเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องประชาชน ขอกราบขอบคุณมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดท่านพาดพิงถึงท่านรองนายกรัฐมนตรีของผมนี้ ท่านไม่สามารถที่จะมา ชี้แจงได้ วันนี้ต้องขออนุญาตขึ้นมาชี้แจงให้กับท่านรองนายกรัฐมนตรีหน่อย ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวท่านจะเสียหาย เพราะท่านได้ลงพื้นที่ และในส่วนทุก ๆ เรื่องท่านได้เอาข้อมูลประชุม ครม. สัญจรแล้วก็ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดแล้วครับ ก็ขอฝากท่านประธานด้วย กราบขอบคุณครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ประท้วงหรือครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เปล่าครับ จะขออนุญาต ปรึกษาหารือเพื่อบริหารเวลาครับท่านประธาน ท่านประธานอนุมัติไหมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมดูรายชื่อผู้อภิปราย ทั้งหมดแล้วมี ๑๗ ท่าน ทางเราผู้อภิปรายได้ถูกกำหนดต้องเขียนลงไปว่าจะอภิปราย ประมาณกี่นาที ทีนี้ถ้าเกิดผู้อภิปรายคนหนึ่งข้างล่างนี้ลุกขึ้นอภิปราย แล้วกรรมาธิการ อีก ๓ ท่านลุกขึ้นมาตอบ ผมคิดว่าการบริหารเวลามันจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร ผมขอให้ ท่านประธานได้กรุณาวินิจฉัยด้วยว่าเราควรจะทำอะไร ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สำหรับการพาดพิง อันนี้ผมก็เห็นด้วยว่าถ้ามันมีการอ้างอิงถึงหลายเหตุการณ์ เดี๋ยวเราจะไม่ได้ถกเถียงกันในเรื่องของแลนด์บริดจ์ จะถกเถียงเรื่องของเซาท์เทิร์นซีบอร์ด แล้วก็สะพานมอแกนซึ่งมันไม่ใช่รายละเอียดของรายงาน ก็ขอความกรุณาไม่ให้มีการพาดพิง ที่ไม่จำเป็นแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตามมันคงต้องมีการเอ่ยถึงบ้างถึงโครงการต่าง ๆ ที่มี บทเรียน ก็อยากให้กรรมาธิการใช้เวลาให้จำกัดในการตอบแต่ละประเด็น ส่วนเรื่องของ การตอบ จริง ๆ เป็นสิทธิของกรรมาธิการ แต่ผมก็เห็นด้วยว่าถ้าอภิปรายสักครึ่งทาง ท่านกรรมาธิการเก็บประเด็นไว้ก่อนแล้วก็ตอบในรอบเดียว แต่ในส่วนของเรื่องหนังสือ ประชุมผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องตอบด่วนก็เลยอนุญาตให้ทางประธานคณะกรรมาธิการ ได้ตอบ เราดำเนินการตามนี้นะครับ เชิญท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ผมเอง เป็นคนที่เสนอญัตติ ๑ ใน ๕ ญัตติ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ และมีกรรมาธิการ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวกับผม ๔ ท่าน คือ นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส. ระนอง ภาคใต้ ๒. นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส. กระบี่ ภาคใต้ ๓. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส. สตูล ภาคใต้ และนางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านประธานครับ ญัตติที่ผมเสนอไป เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสงขลา และ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงให้เป็น ส่วนหนึ่งกับโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือว่า SEC ปรากฏว่า ญัตติผมไม่อยู่ในรายงานฉบับนี้ แต่ไม่เป็นอะไรครับ เพราะฉะนั้นผมเองจะบอกว่าวันนี้ จังหวัดสงขลาและ ๓ จังหวัด ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว แต่จากการศึกษาของ กรรมาธิการได้มายำรวมทั้งหมดเราก็พอเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นผมขอสรุปสั้น ๆ ตามที่ ประธานคณะกรรมาธิการได้ลุกขึ้นชี้แจง เพราะว่ามีการทำท่าเรือน้ำลึก ๒ ฝั่งทะเลก็คือ ฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน ๑. บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัด ชุมพร ๒. บริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง --------------------------- เพราะฉะนั้น ๒ เส้นทางที่กรรมาธิการได้กำหนดไว้มีหลัก ๆ ก็คือเรื่องของมอเตอร์เวย์ ๖ ช่องทางจราจร ทางรถไฟ ๔ ทาง และทำระบบท่อเผื่อไว้การลงทุนในอนาคต และมี การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามแนวเส้นทางตลอดโครงการ นี่คือข้อสรุปชัด ๆ เพราะฉะนั้น คำถามเป็นบทสรุปของกรรมาธิการชุดนี้คือการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์เป็นของเอกชน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ และท่านไม่คิดทางเลือกอื่นเผื่อไว้ในกรณีที่เอกชนไม่สนใจ เช่น ๑. รัฐบาลลงทุน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๒. รัฐบาลกับเอกชนลงทุน ๕๐:๕๐ เพราะฉะนั้น กรรมาธิการประเมินว่าการให้เอกชนลงทุน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พูดง่าย ๆ สัมปทาน ๕๐ ปีครับ ท่านใช้หลักการอะไรในการให้สัมปทานถึง ๕๐ ปี กรรมาธิการได้ประเมินจะคืนทุนภายใน เท่าไรครับท่านประธาน ๒๔ ปีครับ เพราะฉะนั้นหน่วยงานไหนที่ให้ข้อมูลกรรมาธิการชุดนี้ ในเรื่องตัวเลขปีสัมปทานและปีคุ้มทุนในเรื่องของระยะเวลามันต้องมีข้อมูลอ้างอิงให้ชัดเจน เพราะว่าอะไรครับ นักลงทุนที่จะมาลงทุนและคนที่อ่านรายงานฉบับนี้ก็จะได้เห็น อย่างชัดเจนเพราะมันเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ สรุปโครงการ แลนด์บริดจ์จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภาคใต้ แต่สิ่งที่รัฐบาลและกรรมาธิการต้อง ตระหนักมีอยู่ ๔ ข้อตามที่ท่านประธานคณะกรรมาธิการได้ลุกขึ้นชี้แจง
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
๑. ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ท่าน สส. คงกฤษลุกขึ้นมาชี้แจงเมื่อสักครู่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นการศึกษาโครงการ ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคใต้ ทำไมผมเน้นแบบนี้ครับ เพราะโครงการ Megaproject หรือ โครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ ของเอกชน เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่จะได้รับ แรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ จาก NGOs นี่คือสิ่งที่กรรมาธิการต้องตระหนัก
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
๒. เรื่องเอกสารสิทธิ ค่าตอบแทนในการเวนคืนต้องถูกต้องและเป็นธรรม และจะมีปัญหาทุกโครงการครับ ในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปัญหาก็คือเอกสารสิทธิและที่ดินทำกิน ของประชาชน เพราะฉะนั้นโครงการนี้เมื่อมีการเวนคืนโดยประกาศของรัฐบาลก็จะส่งผลกับ คนภาคใต้ทุกโครงการ เพราะอะไรครับ มันไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้นการจ่ายค่าอาสิน ค่าตอบแทนจะมีความแตกต่างกัน มันจะเป็นปัญหาอุปสรรคหลายโครงการที่ผ่านมา ฝากกรรมาธิการไว้ด้วย
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
๓. กรรมาธิการชี้แจงว่าการจัดการไฟฟ้า การจัดการแหล่งน้ำในโครงการ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง นี่คือเรื่องสำคัญครับ เพราะว่าการจะใช้ไฟฟ้า การจะแย่งน้ำกับ เกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่พาดผ่าน ปัจจุบันในพื้นที่พาดผ่านเป็นพี่น้องเกษตรกรและกำลัง จะนิยมปลูกทุเรียน เพราะฉะนั้นเป็นคำตอบที่รัฐบาล เป็นคำตอบที่กรรมาธิการต้องตอบ ให้ได้ว่าไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า เราหาได้ครับ แต่เรื่องการจัดการน้ำ ในเรื่องของแหล่งน้ำ รัฐบาล จะจัดการอย่างไรไม่ให้กระทบกับเกษตรกร ไม่ให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
๔. ท่านประธานครับ ข้อที่ ๔ น่าสนใจมากครับ การจ้างแรงงานในพื้นที่ โครงการของรัฐเอกชน หลอกชาวบ้านครับ ผมเองอภิปรายเมื่อ ๔ ปีที่แล้วครับท่านประธาน โครงการนิคมอุตสาหกรรมที่อำเภอจะนะบ้านผม ปรากฏว่า ศอ.บต. บอกว่าจะจ้างแรงงาน คนอำเภอจะนะ ๑๐๐,๐๐๐ อัตรา แต่คนอำเภอจะนะมีอยู่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน เมื่อสักครู่ผมฟังจากท่านประธานบอกว่าจะจ้างแรงงานที่จังหวัดระนองแสนกว่าคน ที่จังหวัด ชุมพรแสนกว่าคน ตัวเลขเหล่านี้ครับท่านประธานมันจะเป็นตัวเลขค้านกับความรู้สึก สิ่งที่ผมนำเรียนทั้งหมดไม่ใช่ติเพื่อไม่เห็นด้วย แต่ติเพื่อจะปิดช่องว่างของกรรมาธิการ ผมเอง อยากจะบอกว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศไม่เชื่อมั่นในโครงการของรัฐก็คือเรื่องของ แรงงาน เพราะมีการรับปากรับคำก่อนที่โครงการจะเกิดว่าเมื่อโครงการเกิดประชาชนจะได้ ทำงานในพื้นที่ แต่สุดท้ายเป็นอะไรครับ ยามครับ เป็นอะไรครับ คนสวนครับ ผมเองก็เลย อยากจะฝากคณะกรรมาธิการทุกท่าน สิ่งที่ผมนำเรียนไม่ใช่เป็นการค้าน แต่เป็นการเสริม เพราะผมเองไม่ได้อยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารฉบับนี้ จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าถ้ามันมีความสมบูรณ์แบบในตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันจะเป็นการสนับสนุน กระตุ้นให้กับนักลงทุนที่จะมาลงทุนมาเปิดรายงาน ของท่านและของสภาแห่งนี้ สุดท้ายนี้ผมเองในฐานะคนภาคใต้อยากเห็นโครงการนี้เกิด และให้กรรมาธิการกลับไปทบทวนหรือฟังคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกที่เห็นต่างและ เห็นด้วย ผมเองก็ขอขอบคุณทุกท่าน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ มีท่านอนุชาจะใช้สิทธิพาดพิงใช่ไหมครับ
นายอนุชา บูรพชัยศรี กรรมาธิการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุชา บุรพชัยศรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ สักครู่นี้พอดีเห็นท่านกรรมาธิการ หลายท่านได้ลุกขึ้นมาในการที่ใช้สิทธิพาดพิง ผมก็เลยมิได้ขึ้นมาในช่วงหลังจากที่ผู้อภิปราย ท่านแรกได้กล่าวเรื่องของแลนด์บริดจ์ตรงนี้ เพราะว่าด้วยความเกรงใจท่านประธานบอกว่า ขอให้อภิปรายไปอีกสัก ๑-๒ คน แต่ผมกลัวว่าเดี๋ยวจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดถ้าผม ไม่ลุกขึ้นมาชี้แจงในส่วนที่มีการพาดพิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสมาชิกจากพรรคก้าวไกล เมื่อสักครู่นี้ได้อภิปรายแล้วก็พาดพิงถึงรัฐบาลชุดที่แล้วที่พูดถึงท่านอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วก็พูดถึงเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติว่าทำไมคณะกรรมาธิการ ชุดนี้หรือว่าในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ถึงได้ดำเนินการโครงการในลักษณะที่ว่าเป็นมรดกมาจาก รัฐบาลชุดที่แล้วที่ไม่มีความเหมาะสม แต่ผมอยากเรียนท่านตรง ๆ แล้วก็สั้น ๆ นิดเดียว เพื่อความเข้าใจตรงกันว่ายุทธศาสตร์ชาติมันเป็นเหมือนเรื่องของการที่เราควรจะต้องมี เข็มทิศของประเทศ แล้วมันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่ารัฐบาลจะเป็นเผด็จการหรือจะเป็นอะไร ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ประเทศไหน ตอนนี้เป็นเรื่องปกติที่เขาควรจะต้องมีวิสัยทัศน์ ก็ควรจะต้องมี Vision เพราะฉะนั้นในส่วนของตรงนี้ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่ เขาพูดถึงเรื่องของการที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่งคั่ง มีความมั่นคง มีความยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตรงนี้ไม่ได้ มีปัญหาอะไร เรื่องของการที่จะเดินหน้าในการที่เราจะทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการ อะไรทั้งสิ้นเลย แล้วในส่วนของเรื่องของโครงการแลนด์บริดจ์ หรือแม้กระทั่งในส่วนของ การที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ที่เป็นเรื่องของ SEC มันก็เป็นส่วนหนึ่งของ ยุทธศาสตร์ชาติที่ประเทศเราควรจะต้องมีที่กำลังจะพูดถึงเรื่องของด้านการสร้างขีด ความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ผมอยากจะเรียนท่านประธานอย่างนี้ ครับว่า ถ้าหากเราได้พิจารณาในส่วนของรายงานฉบับนี้ในเรื่องของเนื้อหา ในเรื่องของ เทคนิค ในเรื่องของประเด็นที่อยู่ในรายงานนี้ ผมคิดว่าการที่กรรมาธิการจะลุกขึ้นมาก็อาจจะ ไม่ต้องชี้แจงบ่อยครั้ง แต่เมื่อสักครู่นี้หลังจากที่ท่านได้อภิปรายไปแล้วมีกรรมาธิการลุกขึ้นมา ชี้แจงถึง ๓ ท่าน แล้วผมก็เว้นวรรค แล้วผมเป็นท่านที่ ๔ ถ้าเราพูดถึงเรื่องของการเมืองผม มั่นใจแน่นอนครับ กรรมาธิการก็จะขอใช้สิทธิถ้าหากมีการพาดพิงหรืออะไรต่าง ๆ ที่อาจจะ ไม่ใช่เนื้อหาสาระจากในส่วนของรายงานที่เกี่ยวข้องกับทางด้านโครงการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่าง อ่าวไทยและอันดามัน หรือว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ถ้าเราพูดถึงเรื่องของประเด็นเหตุผล เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไรกับเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางด้านรายงานฉบับนี้ ผมมั่นใจเหลือเกินครับว่าทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรรมาธิการก็พร้อมที่จะ ชี้แจง แต่ถ้าท่านมีการพาดพิงในลักษณะแบบนี้ผมคิดว่ากรรมาธิการที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้อง ลุกขึ้นมา ปกติผมจะไม่มีการลุกขึ้นมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่กลัวว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะ เข้าใจผิดในสิ่งที่ท่านได้พาดพิงในส่วนของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งผมก็มีโอกาสได้ทำงานเป็น ส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย ก็เลยต้องการที่จะขึ้นมาเพื่อที่จะทำความเข้าใจกับ สภาแห่งนี้ว่าทุกอย่างเป็นไปในส่วนของการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ของการพัฒนา ประเทศชาติของเราไปในแนวทางที่ถูกต้องแล้วก็เหมาะสม ไม่ได้คิดที่จะพูดถึงเรื่องของ การเมืองอะไรทั้งสิ้น หรือว่าใครที่รัฐบาลชุดนี้ของท่านเศรษฐา ทวีสิน หากจะเอาโครงการอะไร ของรัฐบาลชุดที่แล้วมาทำก็อย่าให้ได้พูดเลยว่า เป็นสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐบาล ที่เรียกว่าเผด็จการ เพราะว่าในปี ๒๕๖๒ ก็มีการเลือกตั้งปกติ ในสมัยนั้นพรรคอนาคตใหม่ ก็มีการลงเลือกตั้งอะไรต่าง ๆ ในส่วนของฝ่ายค้านอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดพูดอะไร ที่มันนอกเหนือจากประเด็นในรายงานนี้ผมเกรงว่ากรรมาธิการก็อาจจะต้องลุกขึ้นมาชี้แจง อีกครั้งหนึ่งครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอสั้น ๆ นะครับท่านประเสริฐพงษ์ แล้วก็ไม่อยากให้เป็นการตอบโต้ ในประเด็นทางการเมือง
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ไม่ได้ตอบโต้อะไรครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ผมพูดและที่ผมอ้างถึงว่าเป็นเรื่องของมติ ครม. ปี ๒๕๖๑ นั่นหมายความว่า เป็นยุคของรัฐบาลที่มาจากเผด็จการแน่นอน ผมพูดข้อเท็จจริง ประชาชนฟังอยู่ เขาคง ไม่เข้าใจผิดเหมือนที่ท่านกรรมาธิการชี้แจงครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณ ผมขอไปที่ท่านราชิต สุดพุ่ม ครับ
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายราชิต สุดพุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาตที่จะอภิปรายและเสนอแนะการรายงานผลการพิจารณา ศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ท่านประธาน ผมขออนุญาตใช้คำย่อว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ Southern Economic Corridor ใช้คำว่า SEC และโครงการขนส่งอ่าวไทยอันดามัน ใช้คำว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ถ้าดูจาก เอกสารก็จะพบว่ามีการดำเนินการก่อสร้างและมีการสร้างแรงจูงใจอยู่ ๔-๕ ประการ
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการแรก มีการสร้างท่าเรือ ๒ แห่งที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร มีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ ขนาด ๖ ช่องจราจร ๙๐ กิโลเมตรเชื่อมระหว่างท่าเรือ การสร้าง รถไฟ การเตรียมพื้นที่ขนส่งทางท่อ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณท่าเรือและ ตามเส้นทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม การกำหนด BOI เพื่อดึงดูดนักลงทุน ท่านประธาน ผมยอมรับว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ดีที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของภาคใต้ และของประเทศได้ แล้วก็มีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนโครงการ SEC แล้วก็ได้ดูจากรายงาน ก็พบว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับโครงการ มีเป็นส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย มีความกังวล อันนี้จากรายงานนะครับ มีความกังวลว่าจะไปคาบเกี่ยวทำลายพื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ มีความกังวลเกี่ยวกับการเวนคืนค่าที่ดิน ค่าอาสิน ค่าตอบแทน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิเป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ของภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน มังคุด ไม้ผล ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ แต่สิ่งที่ผม มีความกังวลและที่อยากจะเสนอแนะเพิ่มเติมในการศึกษาดังกล่าว ผมเองไม่ได้มอง ในประเด็นเป็นเรื่องธุรกิจ เป็นเรื่องการลงทุนของกลุ่มนายทุน แต่ผมพยายามที่จะเสนอแนะ เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาภายในประเทศ ช่วยเหลือดูแลผลกระทบภายในประเทศ ตลอดจน สภาพพื้นที่ภาคใต้เพื่อเป็นข้อสังเกต ทั้งนี้มุ่งหวังเพื่อพี่น้องเกษตรกร พี่น้องประชาชน รากหญ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมมีข้อเสนอแนะดังนี้ครับท่านประธาน
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ โครงการ SEC ที่บอกว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับแลนด์บริดจ์นั้น ไม่ได้มีบอกรายละเอียดว่ามีรายละเอียดอย่างไร มีพัฒนาพื้นที่ใดบ้าง อุตสาหกรรมที่มีเป็น อะไร แล้วก็ความสัมพันธ์ระหว่าง SEC กับแลนด์บริดจ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ โครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่หลาย ๆ ท่านบอกว่าเป็นอนุสาวรีย์นั้น มีเฉพาะถนนนั้น เช่น โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ท่าเทียบเรือ การขนส่งทางน้ำ ถามว่า จะพัฒนาควบคู่กับแลนด์บริดจ์ไปได้อย่างไร ไม่มีการบอก ไม่มีการศึกษา
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ควรจะมีการถอดบทเรียนความล้มเหลวของโครงการ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ดูผลกระทบจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดมาเป็นบทเรียนกับโครงการ แลนด์บริดจ์ที่จะทำ
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๔ ผมคิดว่าเป็นการขนส่งเป็น เป็น Logistics เพราะฉะนั้น ต้องมองภาพรวมว่าในการเชื่อมการขนส่งทางบกจากใต้สุดของประเทศไทย จากภาคกลาง หรือที่อื่น ๆ จะมาสอดรับสัมพันธ์ สอดคล้อง และเกิดประโยชน์กับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ศึกษานี้ได้อย่างไร
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๕ การจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์มีการก่อสร้างท่าเรือ ถมทะเล ทั้ง ๒ ฝั่ง ประมาณ ๕๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ ไร่ มีการสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ๖ ช่องจราจร ทำอุโมงค์ นิคมอุตสาหกรรม การพาณิชย์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป อย่างมากมาย โดยเฉพาะในทางทะเล ในพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ Ramsar Sites จะต้องมี การประเมินผลอย่างละเอียด มีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด และที่สำคัญครับ ท่านประธาน การกัดเซาะชายฝั่งมีแน่นอน ท่านดูอะไรครับ สร้างท่าเรือสงขลาเพียงท่าเรือ เดียวผลกระทบตอนนี้ยังแก้กันหมดเลย นี่ท่านไปถมทะเลทั้งอ่าวไทย ทั้งอันดามัน ผลกระทบ ใหญ่หลวงแน่นอน ท่านต้องศึกษารายละเอียด แล้วก็นำมาแก้ไขให้ได้
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๖ ที่สำคัญ การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ศึกษาจัดทำโครงการ ต้องตรงไปตรงมากับพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ท่านต้องบอกพี่น้องประชาชน อย่างตรงไปตรงมา พี่น้องประชาชนจะได้ตัดสินใจต่อโครงการที่ท่านทำอยู่
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการสุดท้าย ลักษณะพื้นที่ภาคใต้มีลักษณะเป็นด้ามขวาน แคบและยาว บริเวณกลางพื้นที่ก็จะเป็นภูเขา เป็นที่ราบสูง เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูฝน ในช่วงหน้าน้ำก็จะเกิด อุทกภัยตลอด เนื่องจากพื้นที่จากที่ราบสูงไปสู่ทะเลทั้ง ๒ ฝั่งมีระยะสั้น แล้วจะเกิดน้ำท่วมขัง และพื้นที่ภาคใต้จะมีการถูกตัดขาดเสมอมา ตัวอย่างที่ท่านเห็นก็คืออุทกภัยปลายปี ๒๕๕๙ และปี ๒๕๖๐ อันนี้ควรที่จะเป็นบทเรียนให้ท่านศึกษา ผมคิดว่าถ้าอย่างนี้ท่านไม่ศึกษา ผลกระทบต่อโครงการมีอย่างแน่นอน
นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นผมขอฝากสิ่งที่ผมเสนอไปทั้ง ๖-๗ ประการ ทั้งนี้มุ่งหวังให้ โครงการเกิดประโยชน์ที่สุดของประเทศ แล้วก็ทั้งนี้มุ่งหวังเพื่อให้พี่น้องประชาชน ให้เกษตรกรพี่น้องชาวรากหญ้าได้กินดีอยู่ดี ถ้าโครงการสำเร็จเขาก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้า โครงการนี้ล้มเหลวเขาจะไม่เหลืออะไรเลยครับท่านประธาน ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน กระผมใคร่ขออนุญาตในการที่จะอภิปรายเพื่อเป็นการสนับสนุนของคณะกรรมาธิการ วิสามัญที่พิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและ อันดามัน เรียกง่าย ๆ แลนด์บริดจ์ครับ ผมเป็น สส. อีสาน ผมเป็นคนจังหวัดอุดรธานี หลาย ๆ ท่านก็บอกว่าทำไมไปยุ่งอะไรกับ ทางใต้ ทางอะไรต่าง ๆ ท่านครับ พอผมได้อ่านผมก็ศึกษามาบ้าง บ้านผมมันมีแต่โขง ชี มูล มันไม่ได้มีทะเล เพราะฉะนั้นผมก็ต้องการสนับสนุนว่าถ้าหากโครงการใหญ่ ๆ อย่างนี้ มันเกิดขึ้นในประเทศไทย คนบ้านผมไม่ต้องไปประเทศอิสราเอลหรอกครับ ต้องมาทำงานที่นี่ แม้กระทั่งทุกวันนี้ไปกรีดยาง ไปเรือประมงอะไรต่าง ๆ คนบ้านผมทั้งนั้น แล้วก็คนต่างชาติ ที่อยู่ใกล้ ๆ ผมคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผมถึงจะอภิปรายสนับสนุนครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพครับ เรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้ประเทศไทยเราไม่ได้ลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ อย่างนี้มานานแล้ว ก็เห็นแต่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อก่อนก็ถกเถียงกัน อย่างนี้ ดี ไม่ดี อะไรอย่างไร พอสุดท้ายท่านทักษิณ ชินวัตร ก็มาตัดสินใจทำสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางใหญ่ในการที่จะทำให้ทุกวันนี้มีความเจริญรุ่งเรืองของสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ท่านประธานครับ โครงการแลนด์บริดจ์เป็นการเชื่อม ประเทศไทยเข้าสู่ทางเดินเรือของโลกโดยประตูการค้าเป็นศูนย์กลางขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมทั้งเป็นเขตตั้งเศรษฐกิจเสรี เป็นการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทางภาคใต้ ผมเคยอภิปราย ตรงนี้ว่าประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางด้านการเกษตร การขนส่งสินค้า ซึ่งถ้าหากว่าเรามี ท่าเรือที่มันมีความมั่นคง แข็งแรง แล้วก็มีการออกไปได้มันก็สามารถที่จะส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น ครับท่านประธาน แล้วรัฐบาลก็ได้มีการจุดวิสัยทัศน์ในการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ มันจะทำให้เรานึกถึงความยิ่งใหญ่ของการคมนาคมขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ข้ามทวีป อย่างคลองสุเอซของประเทศอียิปต์ หรือคลองปานามา ในประเทศปานามา และยังมองไปถึง เส้นทางใกล้ ๆ ของประเทศเรา สิงคโปร์ ประเทศเท่ากำปั้นนี้ แล้วทำไมเขารวย มีแต่ดินเค็ม มีแต่เขาก็ไม่รู้ แล้วทำไมเดี๋ยวเขาถึงรวย เขากล้าครับ ประเทศเล็ก ๆ เขาคิดใหญ่ทำเป็น เหมือนพรรคเพื่อไทยนี้ เรามีนโยบายบอกว่า เราคิดใหญ่ ทำเป็น เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ นี่คือ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผมต้องขอขอบคุณทุกพรรค ที่เป็นคณะกรรมาธิการศึกษาตรงจุดนี้ ท่านประธานครับ ท่าเรือน้ำลึก ๒ ฝั่งทะเลคือท่าเรือ น้ำลึกอ่าวไทยของจังหวัดชุมพรและท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมี เส้นทางเชื่อม ๒ แห่ง ระยะทางประมาณ ๙๐ กิโลเมตร มีมอเตอร์เวย์ ๖ ช่องจราจร ระยะ ๙๐ กิโลเมตร ระยะทางรถไฟจำนวน ๔ ทาง แล้วจะมีการเตรียมพื้นที่ทำระบบขนส่งทางท่อ สำหรับผู้ลงทุนในอนาคตเป็นการขนส่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน นอกจากนี้ครับท่านประธาน พื้นที่โดยรอบของแลนด์บริดจ์จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณท่าเรือแนวเส้นทางของ โครงการมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามแนวเส้นทางโครงการ แล้วมีกำหนดสิทธิ ประโยชน์ให้กับผู้ที่จะมาลงทุน ท่านประธานครับ ตอนที่เราเริ่มสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลไทยเป็นคนสร้างเอง เราใช้งบประมาณของประเทศทุกบาททุกสตางค์ เมื่อเป็น โครงการขนาดใหญ่เราใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มาศึกษาอีกเป็นเวลานานตอนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะสร้าง เสร็จสมบูรณ์ก็กินเวลาไปหลายสิบปี เราจะรอช้าอยู่ทำไม เผลอ ๆ รุ่นหลานรุ่นลูกเราเป็น คนทำ ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้เราจะทำวันไหน แต่ตอนนี้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการก่อสร้าง โครงการแลนด์บริดจ์แก้ปัญหาระยะที่ยาวนาน และการแก้ปัญหาในการลงทุนอย่างมหาศาล รัฐบาลนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปเสนอให้กับต่างชาติ จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีท่านไป ต่างประเทศ ไปบ่อย ๆ ก็ไปชวนคนมาลงทุน ถ้าทำตรงนี้รองรับแล้วเขามาครับ ไม่ว่าจะเป็น อภิมหาเศรษฐี มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะดูไบ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งจีน เขามีความเจริญครับ ณ วันนี้ไปดูประเทศจีน ประเทศใหญ่ เมื่อประมาณ ๒๐-๓๐ ปีมันไม่เป็นอย่างนี้ แล้วเดี๋ยวนี้ เขาเป็นมหาอำนาจแล้ว อเมริกายังแพ้เขาเลย นักลงทุนรายใหญ่จากประเทศดูไบ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น จีน เหล่านี้ล้วนเงินทุนมหาศาล และมีสาขาที่สามารถจะลงทุนยาวได้ เราไม่ได้เอาเงินของเรานะครับ เราชวนเขามา ถ้าเขามา เขาตั้งใจ ถ้าเขามีความเชื่อมั่น เราเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ววันนี้ แล้วยังจะเป็นประชาธิปไตยอีก แต่ถ้าหากมันวุ่นวาย ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ท่านประธานที่เคารพ อย่างจีนตอนนี้เขาลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง มาถึงประเทศลาวแล้ว ท่านข้ามไปดูสิถึงประเทศลาว แต่ปัญหาใหญ่คือเส้นทางที่เขาสร้าง จำกัดสิ้นสุดอยู่แค่ประเทศลาว พวกเขาขาดทุนแน่นอนถ้าอยู่แค่ประเทศลาว เพราะว่า ประเทศลาวมีประชากรน้อยมาก สัดส่วน GDP ของลาวก็เล็ก และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของลาวก็ยังมีน้อย เพราะฉะนั้นมันจะต้องอาศัยประเทศไทย มันจะต้องคิดใหญ่ ๆ คิดกว้าง ๆ แบบนี้ แล้วสำคัญแม้จีนจะมีรถไฟความเร็วสูงมาถึงลาวแต่เขาไม่มีเส้นทางสู่ทะเลอยู่ดี ลึก ๆ แล้ว จีนยังต้องการทะเลตอนใต้เชื่อมโยงกับสิงคโปร์อยู่ดี ท่านประธานที่เคารพครับ แล้วโครงการ แลนด์บริดจ์ของมาเลเซียก็อยู่ห่างจากเกาะมะละกา ท่าเรือสิงคโปร์เพียง ๓๘๐ กิโลเมตร เขายังไม่เห็นต้องกลัวเลย ไม่เห็นว่าเขาต้องกังวลเลยครับ แม้คิดว่าจะแพ้สิงคโปร์ เขากำลังทำ แล้วมาเลเซียเขาก็มีเป้าหมายเหมือนเรานี่ละ คือมีเป้าหมาย Logistics เชื่อมโยงกับฝั่งทะเล อันดามันกับมหาสมุทรแปซิฟิก แล้ววัตถุประสงค์ของการพัฒนาเหมือนกัน เช่น พัฒนาทะเล น้ำลึก การสร้างรถไฟรางคู่ และสร้างทางด่วน จุดเด่นของแลนด์บริดจ์ของมาเลเซียคือ Port Klang คือภาษามาเลเซีย ซึ่งเป็นท่าเรือระดับโลกสามารถรองรับตู้ Container ได้ ๑๓.๗ ล้านตู้ ติดอันดับที่ ๑๒ ของโลก และขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังของเราเป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลก รับได้เพียง ๘.๗ ล้านตู้เท่านั้นเอง ซึ่งเขาได้เปรียบไทยอย่างมากที่สุดแล้ว มาเลเซีย เริ่มโครงการไปแล้ว แต่ขณะนี้เรายังไม่ได้เริ่มโครงการเลยครับ มันต้องสู้กัน สู้ระดับโลกแล้ว จะมามัวพริกเขือเกลือปลาร้าอยู่นี่มันจะรวยได้ที่ไหน เพราะฉะนั้นจีนเคยลงทุนทำโครงการ ท่าเรือน้ำลึกในพม่าและปากีสถานแล้ว แต่โครงการ ๒ ประเทศนี้ไม่สำเร็จเพราะผลตอบแทน ทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่าเพราะว่าปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง ทุกวันนี้ยังรบกันอยู่ครับ แล้วการส่งสินค้าไปเส้นทางยังมีสงครามกัน เขาก็ต้องถอยออกมาแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาที่จะมาตรง นี้ ท่านประธานครับ ประเทศไหนที่มีความมั่นคงทางการเมือง ประเทศนั้นมันจะฟื้นขึ้นมา ทันที ของเราเริ่มจะมีความมั่นคงแล้ว จีนต้องเบนเข็มเข้ามาหาพวกเรา และเข้ามา มีส่วนในโครงการของประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อจากเราไป ประเทศลาวแล้วก็ออกไปทะเล ท่านประธาน ตอนนี้มาเลเซียมีการก่อสร้างโครงการ แลนด์บริดจ์ ECER และ ECRL ตั้งอยู่บริเวณรัฐปะหัง กลันตัน ตรังกานู ระยะทางโครงการนี้ ห่างจากแลนด์บริดจ์ของเราประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ตอนนี้เขาดำเนินการสร้างไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะเขาสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ผมต้องเรียนให้ทราบเพื่อจะได้ชี้แจง ท่านประธานขออีกสักหน่อยครับ เพราะว่าเราอภิปรายน้อย ๆ วันนี้เอาเรื่องเดียวก็ได้ครับ ท่านประธานที่เคารพ กระผมมีความเข้าใจและมีความกังวลถึงความกังวลของเพื่อน สส. แล้วพี่น้องประชาชน กังวลว่าโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการขนาดใหญ่อาจจะสร้าง ปัญหาหรือมลพิษที่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ที่คุย ๆ กันนะครับ ท่านประธานครับ โครงการใหญ่ ๆ ในประเทศจีนพอเขาดำเนินการสร้างความเจริญแล้ว เขาก็เอาเงินทุนตรงนั้นมาแก้ไขปัญหาอากาศของเขา ท่านจำได้ไหมพวกเรานำ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเข้ามาอยู่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ถ้าร่าง พระราชบัญญัติอากาศสะอาดขึ้นมา โครงการรองรับ แล้วก็เอาเงินจากพวกนายทุนที่มา ลงทุนเพื่อที่จะมาปรับปรุงให้อากาศหายใจสะอาดขึ้นกว่าเดิมมันจะได้ไม่เป็นโรคปอดตาย หมดครับ ท่านประธานที่เคารพ อย่างที่เราเห็นชัด ๆ ว่าปักกิ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อน PM2.5 ฝุ่นพิษ สีขาวทั่วเมือง น้ำสะอาด น้ำใช้ดื่มก็ไม่มี แต่ตอนนี้พัฒนาประเทศไปไกลแล้ว ขนาดใหญ่ด้วย แล้วมีผลตอบแทนจากขนาดใหญ่ก็สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศจีน นำเงินมาพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชนได้ ต้องยกตัวอย่างให้เห็น ใกล้จะจบแล้วครับท่านประธาน จากเหตุเรื่อง แลนด์บริดจ์ของมาเลเซียที่จะมาเป็นคู่แข่งสำคัญ Logistics Hub กับประเทศเราในภูมิภาคนี้ ซึ่งเราจะอยู่เฉย ๆ เป็นไทยเฉยไม่ได้แล้ว ค้านได้ แนะนำได้ แต่อย่าไม่เห็นด้วยเลยนะครับ จากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลได้ใช้เงินลงทุนก่อสร้างแลนด์บริดจ์ที่อาศัยเงินทุนต่างชาติ ๆ ไม่ได้ ขายชาติ คุณมาลงทุน คุณได้สตางค์ เราก็ได้สตางค์ด้วย จากเหตุผลที่ประเทศเราไม่ได้ลงทุน ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มานานแล้ว นี่คือเหตุผลที่ผมสนับสนุน และจากเหตุผลประเทศเรา เป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายสินค้าเฉพาะที่มาจากจีน และจีนสู่ทะเล กระผมไม่อยากจะ ให้ประเทศไทยพลาดโอกาสนี้ กระผมจึงขอสนับสนุนการสร้างแลนด์บริดจ์ และเห็นชอบกับ คณะกรรมาธิการที่ได้ศึกษามาแล้ว และคงจะต้องดูกันต่อไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชมนะครับ คณะนักเรียนและครู โรงเรียนพนมศึกษา อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาฟังแลนด์บริดจ์พอดีเลยนะครับ เชิญท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครับ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับรายงานแลนด์บริดจ์ ฉบับนี้ยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบและความชัดเจนอีกมากมาย ถ้าจะอ่านดูในรายงานฉบับนี้ เพียงอย่างเดียว เปิดไปที่หน้า ฉ ข้อ ๒ อาจจะสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่ง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม อันนี้ประการที่ ๑ ไปดูที่หน้า ๕๒-๕๗ มีคำถามจากเอกชน มากมายถึง ๒๕ ข้อ และโดยสรุปว่ายังไม่มีความชัดเจนและต้องการการศึกษามากขึ้น อันนี้ แค่ดูจากรายงานฉบับนี้เองก็มีคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่มากมาย ในส่วนตัวของกระผมเองนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรที่จะสามารถตอบคำถามได้ ๓ คำถามสำคัญ กับโครงการแลนด์บริดจ์นี้ก่อนที่จะเดินหน้าต่อครับท่านประธาน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๑ เราจะลงทุนเม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเป็น PPP ก็ตาม มันไม่มี Option อื่นแล้วใช่ไหมที่ดีกว่านี้ ที่เป็นการลงทุนที่เหมาะสมกว่านี้เพื่อให้ถึง เป้าหมายในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องภาคใต้ และยกระดับความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ อันนี้เป็นคำถามข้อที่ ๑
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๒ การที่จะจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและ สังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นทำอย่างไร เวลาเราพูด เราพูดถึงว่าข้อดีของมันคืออะไร ไม่มีใคร พูดหรอกครับว่าความเสี่ยงหรือข้อเสียเหล่านั้นมีอะไรบ้าง อันนี้ผมคิดว่าเป็น Cost-Benefit Analysis สั้น ๆ ที่ควรที่จะ รวมอยู่ในรายงานฉบับนี้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามสำคัญข้อที่ ๓ วิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคใต้แล้วก็ประเทศไทย มันเป็น Trade Off ที่เราต้องเลือกว่าอันที่ ๑ ยกตัวอย่าง เราอาจจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า ไม่เป็นที่ ๒ รองใคร หรือเราจะเป็นเส้นทาง เสริมเรือ Feeder ที่มีท่าเรืออย่างที่โครงการนี้นำเสนอ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมคิดว่าอันนี้เป็น ๓ คำถามที่ไล่จากภาพใหญ่มาที่ภาพย่อย จากมหภาค มาที่จุลภาคที่เราต้องตอบร่วมกัน ในฐานะที่เราเป็นประเทศไทยแห่งนี้ สำหรับคำถามข้อที่ ๑ รายละเอียด คำถามคือ เม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาท เราจะสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนพี่น้อง ภาคใต้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้บ้าง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ภาพที่ท่านประธานเห็นตอนนี้ ฝั่งซ้าย ๑ ล้านล้านบาท ต้องย้ำชัด ๆ ว่าอันนี้คือโครงการ PPP อาจจะใช้การลงทุนจาก เอกชนภายในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ แต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง มากกว่าการเวนคืนที่ดินมีอยู่ครับ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-โคราช ตอนแรกก็โฆษณาบอกว่า จะใช้ PPP สุดท้ายแล้วรัฐต้อง Subsidize ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันเม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาทนั้น ถ้ามองในทางฝั่งขวาแล้วเอาจิตใจ เอาสมองของพี่น้องคนภาคใต้มาคิดว่า เขาต้องการอะไร อะไรคือวิสัยทัศน์ของเขา อะไรคือปัญหาของเขา แล้วเราก็สามารถที่จะดึง ต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ผมยกตัวอย่างแค่ ๔-๕ ตัวอย่างครับ ท่านประธาน ตัวอย่างที่ ๑ เป็นไปได้ไหมว่าภาคใต้จะเชื่อมต่อกับมาเลเซียกับสิงคโปร์ให้เป็น แหล่งพลังงานสะอาดอันดับหนึ่งของประเทศไทย พลังงานหมุนเวียน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในภาคใต้ ๒,๑๔๖ เมกะวัตต์ในช่วงเวลา ๒๐ ปี อีกหน่อยมาเลเซีย สิงคโปร์ อยากจะลงทุน ใน Cloud Center อยากจะลงทุนในอะไรที่มันสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้พลังงานสะอาด ภาคใต้ของ เรามีให้ เราคิดกันเรื่องชลประทานให้กับพี่น้องภาคใต้ได้ไหมครับ เกษตร ๒๔ ล้านไร่ ในภาคใต้มีชลประทาน ๓ ล้านไร่เท่านั้น เราบอกว่าเราอยากจะเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ชลประทานน้ำยังไม่มีเลย เราใช้งบประมาณตรงนี้พัฒนาแหล่งน้ำให้พี่น้องภาคใต้ได้ไหมครับ เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ ทำไมเวลาเราคุยเรื่อง Megaproject เราเลือกแต่เรื่องก่อสร้าง กับถนนหนทาง ท่าเรือ ถนน รถไฟ ทำไมบุคลากรพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับการศึกษาและคุณภาพ สุขภาพที่ดีจะเป็นไปไม่ได้ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ยาง ปาล์ม ผลไม้ ทั้งหมดทั้งมวล นี้เป็นการศึกษาจากทางสภาพัฒน์ก็ดี เป็นการศึกษาจากงบประมาณแผ่นดินปีนี้ครับ ผมเอา งบประมาณแผ่นดินปีนี้ว่าถ้าต้องทำอย่างนี้ให้ชลประทานทั้งภาคใต้หมดใช้งบประมาณเท่าไร รวมออกมาครึ่งหนึ่งครับ ๔๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ผมเอาเงินที่เหลือไปแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ให้กับพี่น้องภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ที่ปัตตานี ที่ยะลาด้วยยังได้ ยังมีเงินเหลือเลย แล้วสามารถทำแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน สามารถเอาต่างชาติมองให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เขา จะได้ประโยชน์จากการลงทุนให้กับพี่น้องภาคใต้ ยกระดับเขาด้วย ลดความเหลื่อมล้ำเขา ด้วย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศก็ทำได้ ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องแสดง ให้กับพี่น้องประชาชนได้เห็นว่า Option ในการพัฒนาภาคใต้มีอะไรบ้าง และด้วยกลไก เงื่อนไขอะไรที่ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะลงทุนในเรื่องของแลนด์บริดจ์ที่ใช้งบประมาณมาก ขนาดนี้ใช้เวลามากไปกว่านี้ อันนี้คือคำถามสำคัญข้อที่ ๑ ที่เราต้องตอบได้ว่านี่คือการลงทุน ที่เหมาะสมที่สุดของภาคใต้และไม่มีทางเลือกอื่นให้เราเลือกแล้วถึงจะยอมบอกได้ว่าโอเค นี่คือคำถามที่มหภาคที่สุด แล้วเราค่อยต่อไปคำถามข้อที่ ๒ ครับท่านประธาน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามข้อที่ ๒ Cost-Benefit Analysis ทุกสิ่งที่อยากจะได้มันก็ต้องมีสิ่งที่ จะต้องเสียไป ท่านประธานทราบไหมครับว่าพื้นที่ที่เรากำลังจะพัฒนานี้เป็นพื้นที่มรดกโลก ทั้งหมด ๖ แห่ง แล้วความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำ Ramsar ที่เรา ไปจดทะเบียนกับเขาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ หรืออะไรประมาณนี้ครับ นานมากแล้ว เป็นพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางทะเลแล้วก็ทางบก เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร เป็นการเวนคืน ที่ดินที่เป็นสวนทุเรียนแล้วก็สวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เป็นเรื่องของการกัดเซาะ ชายฝั่ง เป็นเรื่องของน้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นอย่างที่ระยองกับ EEC ที่เคยเกิดขึ้น หรือ การสูญเสียพื้นที่ประมง ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือต้นทุนที่เราต้องจ่าย ถ้าใครเป็นนักเรียน เศรษฐศาสตร์อย่างรองหัวหน้าพรรคผมอยู่ตรงนี้ เศรษฐศาสตร์ ๑๐๑ Externality คือเวลา เราเขียนกราฟมันมี ๒ ด้าน แต่ว่าผลกระทบที่มันมานี้ส่วนใหญ่แล้วคนเขาไม่ค่อยมารวม ตรงนี้มันมูลค่าเท่าไรครับ ที่มันไปแล้วไปเลยแล้วไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาได้ เราจะให้ เอกชนเป็นคนดูแลเรื่องสัมปทาน ผมถามว่าเรามีกลไกพิเศษอะไรที่ให้สัมปทานกับเอกชน หรือต่างชาติ มีอะไรรับประกันความเป็นอยู่และความเป็นธรรมของชีวิตคนแล้วก็สิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเสียไปกับภาพนี้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต่อมาเป็นคำถามที่ ๓ คำถามที่สำคัญอีกเช่นเดียวกัน เรื่องเกี่ยวกับ Opportunity ไปแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ Cost-Benefit Analysis ไปแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ Trade Off บ้างครับ การที่เราจะเลือกอย่างหนึ่งก็ต้องเสียอีกอย่างหนึ่ง มันยากครับที่จะทำให้ ๒ อย่างอยู่ด้วยกันได้ อันที่ ๑ สำหรับผม ผมมองว่าพื้นที่นี้ มรดกโลกขณะนี้ สิ่งแวดล้อมขณะนี้ ไข่มุก ของอันดามันขณะนี้ นี่คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เราวางแผนยุทธศาสตร์ไปข้างหน้า และพัฒนาให้เห็นได้ว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ๕๐ ปีจะเป็นการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ ขนาดไหน พื้นที่ตรงนี้ มูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมดเท่าไร ท่านประธาน ๓ ล้านล้านบาท เฉพาะภาคใต้อย่างเดียวเป็นมูลค่าเท่าไรของการท่องเที่ยวของประเทศไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ครับ ๑ ล้านล้านบาท ผมตีว่าได้สัก ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วถ้าเกิดมี โครงการนี้เกิดขึ้น เสียหายไปแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ คูณด้วย ๕๐ ปี นั่นคือมูลค่าที่เราต้องเสียไป นี่คือ Opportunity Cost ที่เราต้องเสียไป เมื่อเราจะเลือกทางฝั่งขวาว่าเราต้องการที่จะเป็น Hub เรือขนส่งสินค้าที่เพิ่มเติมที่เป็นเส้นทางรองจากเส้นทางเดินเรือหลัก ไม่ว่าจะเป็นของ ประเทศสิงคโปร์หรือของประเทศมาเลเซียก็ตาม นี่คือ ๓ คำถามสำคัญที่สุดที่ยังไม่มีคำตอบ ในรายงานฉบับนี้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาถึงเรื่องจุลภาคบ้างครับ จุลภาคที่สำคัญที่สุดซึ่งก็คือตรงกับคำถามที่ หน้า ฉ แล้วก็หน้าที่ ๕๒ ของ ๕๗ ฉบับนี้ครับ ผมคิดว่าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าผมเป็น เอกชนแล้วเลือกว่าจะเลือกโครงการแลนด์บริดจ์ แล้วจะทำอย่างไรที่จะสามารถแชร์ส่วนแบ่ง การเดินเรือในภูมิภาคนี้ให้มาที่โครงการเราได้ ตอบแบบสามัญสำนึกที่สุด แบบชาวบ้านที่สุด ทางของเรามันก็ต้องเร็วกว่า สะดวกกว่าหรือว่าถูกกว่า แต่จากรายงานที่มาก็บอกว่าอาจจะ ลดเวลา คราวนี้ไม่มีรายละเอียดอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะอนุมานได้ว่าจะเร็วกว่า สะดวกกว่า จริงหรือเปล่าครับ ถ้าเกิดจะต้องมีเรือมารอทั้ง ๒ ฝั่ง ย้ายจากเรือเป็นราง เป็นรถ แล้วกลับไป เป็นเรืออีกทีหนึ่ง เรือก็ต้องมารอทั้ง ๒ ฝั่ง สินค้าเสียหายใครรับผิดชอบ ถูกกว่า อันนี้ก็ต้อง ขอรอรายละเอียด ซึ่งตรงนี้ชัดเจนมากเลยว่าสมมุติฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องตรงนี้ก็มี คำถามจากทางภาคเอกชนตั้งแต่หน้า ๕๒ ถึงหน้า ๕๗ รวมทั้งหมด ๒๕ ข้อที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะฉะนั้นถ้ากรรมาธิการชุดนี้หรือทางรัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบคำถาม ๓ คำถามสำคัญ ของผม รวมถึงคำถามต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ในตัวของมันเองได้ ผมไม่สามารถรับ รายงานฉบับนี้ได้ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่น ผมต้องขอนำเรียนท่านประธาน ขอบคุณท่านประธานคณะกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการ ที่ได้มาอภิปรายผลการดำเนินการในเรื่องการศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ผมเองนั้นในฐานะที่เป็นผู้แทนหรือว่าในฐานะที่เป็นผู้แทนของพี่น้อง ชาวจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นพื้นที่ที่โครงการนี้ลงในพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ผมเองนั้น อยากนำเรียนท่านประธาน ฝากถึงเพื่อนสมาชิก ฝากถึงผู้ที่มาชี้แจง ผมเองนั้นไม่ได้มองว่า เป็นโครงการที่ได้รับผลประโยชน์แค่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง หรือพี่น้องชาวภาคใต้ ทั้งหมด แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่จะได้รับผลประโยชน์ทั่วทั้งประเทศ ในฐานะของ โครงการซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างประเทศ ผมนำเรียน ด้วยความเคารพว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่มีปัญหาอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ ๑. ในเรื่องของการให้ข้อมูล กับพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สนข. เอง หรือไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ทางภาครัฐเอง ฝากถึงท่านประธานครับ จริง ๆ แล้วเหมือนท่านสมาชิกอภิปรายผ่านไป เมื่อสักครู่ ผมมองเห็นแล้วว่าในเรื่องของการที่มีผลกระทบ ท่านเอาเกาะตะปูของจังหวัด พังงามาไว้ที่จังหวัดระนองมันไม่ใช่ครับ สิ่งที่ท่านบอกว่าจะไปกระทบในเรื่องของ การท่องเที่ยว ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด มันไม่ใช่พื้นที่ของจังหวัดระนอง ตรงนั้น เป็นพื้นที่ของจังหวัดพังงา เพราะฉะนั้นแล้วผมเชื่อว่าไม่มีใครรู้พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ เท่ากับคนระนองและคนชุมพร เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้ผมเองก็ขอชื่นชมท่านกรรมาธิการ หลายท่านที่เดินทางไปจังหวัดชุมพรแล้วไปรับฟังปัญหากัน เรารับฟังปัญหากันจริง ๆ ครับ ผมเองก็ไปร่วมเวทีที่จังหวัดชุมพรด้วย และเพื่อนก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด ระนองก็ไปร่วมเวทีด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเขากำลังเดือดร้อนและเขากำลังไม่เข้าใจ การที่ให้ข้อมูลชาวบ้าน บิดเบือน และอีกอย่างหนึ่งคือการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ ผมเอง ก็ขอนำเรียนท่านประธานว่า สนข. เองนั้นต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงครับ เพราะท่านเป็น หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานที่ศึกษารายละเอียดทั้งหมด ท่านต้องให้ข้อมูลให้ชัดเจนว่าพี่น้อง ประชาชนที่เดือดร้อนโดยเฉพาะตำบลพะโต๊ะ แล้วก็ที่อำเภอหลังสวน ที่จังหวัดระนอง ก็เหมือนกันครับ เขาจะมีผลกระทบ แล้วก็เขาจะได้รับผลประโยชน์และการเยียวยาแบบไหน ไม่ได้เป็นหมื่นไร่ครับ จริง ๆ แล้วสวนทุเรียนก็ไม่ใช่เป็นหมื่นไร่ แต่พี่น้องประชาชนบางคน บางท่าน บางพื้นที่เขามีแค่ ๒๐ ไร่ มี ๑๐ กว่าไร่ เขาแทบจะหมดทั้งพื้นที่เลย เหลือไม่เกิน ๒ ไร่ แล้วก็อยู่ประมาณนั้นทั้งหมด เพราะฉะนั้นแล้วผมนำเรียนท่านประธานนะครับ เน้นย้ำ ถึง สนข. เน้นย้ำถึงรัฐบาล เน้นย้ำถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าอยากให้โครงการนี้เกิด ท่านต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องของการให้ข้อมูล ถามใจพวกเราชาวจังหวัดชุมพร ชาวจังหวัด ระนองและพี่น้องชาวภาคใต้ ผมบอกได้เลยโครงการนี้ผมอยากจะเห็นอย่างแรงครับ เพราะเป็นโครงการตั้งแต่ผมเด็ก ๆ ผมเล็ก ๆ ครับ เป็นโครงการที่สร้างมาแล้วผิดหวังกันมา ตลอดเวลา ตอนแรกเป็นการขุดคลองไทยครับ และใครตั้งใจที่อยากจะให้ขุดคลองไทย แต่พวกผมไม่ยอม ด้วยเหตุผลว่ามันเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวในเรื่องของความมั่นคง ดีแล้วครับ ตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็น โครงการที่จะสร้างในเรื่องของเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง และเป็นสิ่งที่จะต่อสู้ด้วยกัน ทั้งโลกได้ก็คือประเทศไทยต้องมีโครงการแลนด์บริดจ์ และพี่น้องชาวจังหวัดชุมพร พี่น้อง ชาวใต้ พวกเราเป็น ๙๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร แล้วเกษตร ของพวกเรามันเกี่ยวก้อยกับท่าเรือ เกี่ยวก้อยกับขนส่ง เกี่ยวก้อย Logistics ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นแล้วใครไม่ได้เกิดภาคใต้ ใครไม่ได้นั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปสู่ภาคใต้เหมือนกับผม ทุกอาทิตย์ไม่มีความรู้สึกหรอกครับ แต่ผมเองนั้นเดินทางขึ้นลงกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา ผมมีความรู้สึกเลยครับ รถบรรทุกตู้ Container วิ่งตามหลังกันตลอดเวลาทำให้ถนนติดขัด ตลอดเพราะทางลงสู่ภาคใต้มีแค่ถนนเส้นเดียว ทุกคนอย่ามะโนครับ อย่าคิดครับว่า โครงการนี้เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวจะไม่คุ้มในการลงทุน ผมนำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพว่า คนที่จะมาลงทุนเขามีแนวคิด เขามีความคิด เขามีการศึกษาเป็นระบบ และเขาศึกษายิ่งกว่า คนที่จะให้เขามาลงทุนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้วท่านไม่ต้องกลัวครับ ถ้าเขามาลงทุนแล้ว เขาขาดทุน ไม่มีคุ้มค่ากำไรเขาไม่มาลงทุนหรอกครับ ผมชื่นชมคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เราเป็นแค่การศึกษาอย่างเดียว เราไม่ได้เป็นผู้วางโจทย์ว่าจะต้องก่อสร้างแลนด์บริดจ์ แต่คน ที่วางโจทย์คือรัฐบาลครับ คือท่านนายกรัฐมนตรีครับ คือท่านรัฐมนตรีครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ท่านเองต้องไปให้ความรู้ ให้ความกระจ่างกับพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีผลกระทบ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร พี่น้องชาวพะโต๊ะมีผลกระทบแน่นอนครับ ท่านจะไปเยียวยา จะไป เวนคืนเขาระดับไหน เพราะในเขตพื้นที่นั้นมันยุ่งยากด้วยการไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินครับ บางเจ้าเขามีเอกสารสิทธิที่ดิน แต่บางเจ้าไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ผมนำเรียนท่านประธานด้วย ความเคารพ ถ้ารัฐบาลจะเอาจริง ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษและเวนคืนให้เท่ากัน และยกคนที่ มีผลกระทบไปวางไว้ตรงที่มันไม่มีปัญหา เพราะพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร เรามีพื้นที่ว่างพอที่จะให้พี่น้องประชาชนทำมาหากิน แต่ต้องเป็นฝ่ายของรัฐบาลอย่างเดียว ต้องเป็นอำนาจรัฐที่จะไปดูแลพี่น้องประชาชนที่มีผลกระทบ เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้ผมเอง ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนหนึ่งผมอยากได้ครับ แต่การอยากได้ของผมไม่อยากจะให้ พี่น้องประชาชนคนพะโต๊ะ พี่น้องประชาชนคนหลังสวน พี่น้องประชาชนคนระนองมี ผลกระทบ เพราะฉะนั้นที่กรรมาธิการมาชี้แจงในวันนี้เป็นผลดีกับพื้นที่จังหวัดชุมพร เป็นผลดีกับพื้นที่ที่จะมีปัญหาในเรื่องของการเยียวยา ก็ฝากถึงรัฐบาลและฝากถึงผู้ที่มาชี้แจง ทั้งหมดครับ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจเกิดขึ้นในเรื่องของการเยียวยา พี่น้องประชาชน คนจังหวัดชุมพรผมเชื่อว่ามีความรู้กันหมดครับ เขายินดีที่จะให้โครงการใหญ่ ๆ Megaproject อย่างนี้ลงไปอยู่แล้ว แต่ปัญหาความชัดเจนครับ ผมอยากนำเรียนท่านประธานหา ความชัดเจนให้กับพี่น้องประชาชนบ้านผมนิดหนึ่ง อย่างน้อย ๆ พื้นที่คาบเกี่ยวที่ผมบอกให้ ท่านประธานได้รับทราบนี้เขาไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินครับ บางเจ้าก็มีเอกสารสิทธิที่ดิน ทีนี้ มีคนไปให้ความรู้เขา ไปบอกเขาว่าคนที่มีเอกสารสิทธิที่ดินจะได้ไร่ละเท่านี้ คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ดินจะได้ไร่ละเท่านี้ แต่พืชทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะทุเรียนเขาได้เท่ากันครับ เวลาขาย ขายราคาเดียวกันครับ เขาไม่ได้ไปอ้างเอาเอกสารสิทธิครับ เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นผลดีของ พี่น้องชาวจังหวัดชุมพรเป็นผลดีกับพี่น้องชาวพะโต๊ะ ชาวหลังสวน ชาวระนอง เมื่อเอามาคุย กันในสภาแล้วคุยกันให้ชัดเจนครับ ตั้งใจไหมครับ ถ้ารัฐบาลตั้งใจที่จะให้โครงการนี้เกิด โดยเฉพาะมอบหมายให้จังหวัดลงไปให้ความรู้เขา มอบหมายให้อำเภอลงไปให้ความรู้เขา มอบหมายให้ท้องถิ่นไปให้ความรู้เขา แล้วก็สร้างฐานในเรื่องของการปฏิบัติให้มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมบอกท่านประธานด้วยความเคารพครับ เมื่อสักครู่ผมลงชื่อครับ เขาให้แค่ ๗ นาที ผมเห็นในนี้มีคนได้ถึง ๑๐ นาทีเลย ผมเจ้าของพื้นที่จริง ๆ ผมอยากได้ ๓๐ นาที ด้วยซ้ำครับ เพื่อตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของผมแทนพี่น้องประชาชนคนจังหวัดชุมพร ผมอยากได้ความรู้ครับ ฝากถึง สนข. ด้วย ไปบอกเรื่องแบบให้ชัดเจน ไปบอกเรื่องเยียวยา ให้ชัดเจน เพราะพื้นที่ท่านมีอำนาจอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้คนที่ไหนก็ไม่ทราบที่มาพูดอยู่ในจังหวัด ชุมพร มาพูดอยู่ในที่อำเภอพะโต๊ะนี่ครับ ให้ความรู้ชาวบ้าน น.ส. ๓ ได้ไร่ละ ๒ ล้านบาท อย่างนี้ แล้ว ส.ป.ก. ไร่ละ ๑ ล้านบาทอย่างนี้ คนไม่มีเอกสารสิทธิได้นิดหน่อย ได้แค่ต้น ผลอย่างนี้มันไม่ใช่ครับ เพราะฉะนั้นแล้วผมบอกท่านประธานด้วยความเคารพว่าพื้นที่ที่จะ เป็นเศรษฐกิจอันรุ่งเรือง อันใหญ่โตมโหฬาร แล้วเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประเทศเรานั้น ลืมตาอ้าปากพี่น้องลูกหลานจะได้มีงานทำกัน แต่เอาจริงเอาจังกันหน่อยครับ จริง ๆ แล้ว ท่านประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาท่านก็ทราบเหมือนกับผมนี่ครับ ประกาศเป็น พื้นที่พิเศษได้ไหม แล้วให้เขาได้รับเงินเยียวยาเท่ากัน แล้วประกาศเป็นพื้นที่พิเศษได้ไหม ยกคนที่มีผลกระทบเยียวยาเขา แล้วเอาเข้าไปไว้ในพื้นที่ที่มันว่างเปล่าอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่ต้องไปรุกป่าไม้ด้วยครับ ถามครับ ผมเป็นตัวแทนของพี่น้องชาวจังหวัดชุมพรถามผม นี่ครับ จะได้รู้ว่าปัญหาของจังหวัดชุมพรมันคืออะไร ไม่ต้องมาคุยกันแล้วยกเอาจังหวัดอื่น มาให้พวกเราดูครับ แหล่งท่องเที่ยวที่ยกมาเมื่อสักครู่ไม่ใช่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง อยู่จังหวัดพังงาครับ ไม่มีใครรู้เท่าพวกเราหรอกครับ เพราะฉะนั้นผมนำเรียนท่านประธาน ด้วยความเคารพว่าวันนี้ผมเองนั้นในฐานะเจ้าของพื้นที่จังหวัดชุมพร ถามใจผมในฐานะคนใต้ ถามใจผมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทยผมอยากให้เกิดโครงการนี้ ครับ อยากให้เกิดครับ แต่เกิดอยู่ภายใต้ความไม่เดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอบคุณมาก ครับประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เพื่อนสมาชิกครับ เราไม่ได้กำหนดว่าทุกท่านจะต้องพูด ๗ นาที ท่านใดที่ต้อง ใช้เวลาเกิน ๗ นาทีก็สามารถแจ้งได้ เพียงแต่ต้องแจ้งให้ชัดเจนแล้วก็บริหารกัน ผมเข้าใจว่า ญัตตินี้มันต้องอภิปรายในรายละเอียดเยอะ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำตามข้อบังคับ ข้อ ๖๙ ด้วยว่าไม่ให้มีการวนเวียนซ้ำซากหรือว่าประเด็นซ้ำกัน ทางเพื่อนสมาชิกก็ช่วยบริหาร ตามนี้ด้วย แล้วก็หลังจากที่ท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อภิปรายเสร็จ จะขอปิดรายชื่อการลงชื่อ เพื่ออภิปรายครับ เชิญท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายตัวรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ นี่เป็นรายงานไม่ใช่ความคุ้มค่าของโครงการ ก็มีเนื้อหาสาระอยู่ทั้งหมด ๘๙ หน้า แต่ขาดความชัดเจนในหลายประเด็นที่สำคัญ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนั้นครับ ท่านประธาน เดี๋ยวเรามาลองไล่เลียงดูกัน ตัวอย่างที่ ๑ ในบทสรุปผู้บริหาร ย่อหน้าสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับเอกสาร ก็คือสรุปข้อความในย่อหน้าสุดท้าย เพื่อนกรรมาธิการเองก็เขียนไว้ว่า หากรัฐบาลสามารถ ตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจนและพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือเพื่อนกรรมาธิการเอง ก็บอกว่ามีหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ผมก็เลยไม่แปลกใจว่าทำไมรายงานฉบับนี้ ถึงยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนก็คือมีเพื่อนกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ๕ ท่านได้ลาออกไป เพราะว่าการเร่งปิดจบด้วยความไม่ชัดเจนในคำตอบที่ได้รับในที่ประชุมแล้วจะเร่งปิดกัน ทำไมครับ อะไร ๆ ก็ไม่ชัดเจน ตัวอย่างที่ ๒ ในบทสรุปผู้บริหาร หน้า ฉ ข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๔ มันก็ย้อนแย้งกันเองครับ ข้อที่ ๒ เขียนไว้ว่า อาจจะสามารถลดระยะเวลาและระยะทาง การขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งซึ่งจะต้องมี การศึกษาเพิ่ม ส่วนในข้อที่ ๔ ก็เขียนไว้ว่า เพราะสามารถลดเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิม และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ตกลงมันอย่างไรครับ ตกลงไปศึกษามาอย่างไรกันครับ แค่อาจจะ สามารถลดหรือว่าลดได้จริง ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เป็นแก่นกลางของเรื่อง แก่นกลางของ ความเป็นไปได้ในโครงการ ท่านจะต้องตอบให้ได้ว่าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าไร เพราะมันส่งผลต่อการประมาณการในมิติต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญเป็นที่สุด ตัวอย่างที่ ๓ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ฉ ตอนช่วงต้นหน้าท่านบอกว่าจะให้สิทธิเอกชน ๕๐ ปี แต่พอมา กลางหน้าบอกว่ามีระยะเวลาคืนทุน ๒๔ ปี ความไม่ชัดเจนก็คือทำไมมันต่างกันมากนัก ๒๔ กับ ๕๐ หรือมันชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากจะขายดินแดน ๕๐ ปี ทั้ง ๆ ที่ความชัดเจนของ โครงการก็ยังไม่มีเลย จะยกที่ดินให้กี่ไร่ จะมีสินค้าเทกองไหม มีท่อส่งน้ำมัน มีโรงกลั่นไหม อะไร ๆ ก็ไม่ชัดเจน แต่ตั้งเป้าจะประเคน ๕๐ ปีไปก่อนแล้ว แล้วค่อยมาต่อรองกันหรือครับ ว่าประเทศไทยจะต้องเอาอะไรไปแลกบ้างอย่างนั้นหรือครับ จะเอาอย่างนั้นหรือครับ ตัวอย่างที่ ๔ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ช ท่านก็บอกว่าจำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย แล้วมันอยู่ตรงไหนในรายงานเล่มนี้ ท่านไปศึกษาอะไรมาครับ สภาแห่งนี้ให้พวกท่านไปศึกษา แล้วพวกท่านก็ไปศึกษา โดยบอกว่าผลการศึกษาจะต้องไปให้คนอื่นศึกษาอีกที คือจะเอาอย่างไร หากท่านต้องการ เวลาเพิ่มสภาแห่งนี้ก็ยินดีให้เพิ่ม แต่เราต้องการความชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ. นี้เนื้อหามันจะ ประมาณไหน มันจะเหมือนหรือแตกต่างจาก พ.ร.บ. EEC อย่างไร อย่างน้อยประเด็นสำคัญ ๆ ในหลักการท่านต้องตอบให้ได้ ตัวอย่างที่ ๕ ในบทสรุปผู้บริหาร หน้า ช ย่อหน้าที่ ๒ ท่านก็ เขียนเอาไว้ ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับการเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้นยังมี ความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ ท่านก็ทราบว่าเขากังวลอยู่ถึงความชัดเจน แล้วทำไมท่านไม่ทำให้ชัดเจนครับ คือผมเข้าใจดีว่าการศึกษานี้เนื้อหาสาระหลักก็ทำโดย สนข. ไปจ้างที่ปรึกษามาแต่มันยังไม่จบงานครับ ยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น แล้วทำไมท่านคณะกรรมาธิการ ไม่รอให้เกิดความชัดเจนในโครงการก่อน ทำไมไปเขียน รายงานแบบ Copy Paste มาผลการศึกษาก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ Final Report ก็ยัง ไม่ออกมา ข้อต่าง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน ตัวอย่างที่ ๖ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ซ ย่อหน้าสุดท้าย ท่านเขียนเอาไว้ว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือหรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูด การลงทุนโน่นนี่นั่น ตอบมาให้ได้ก่อนว่าจะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้ได้จริงอย่างไร เอาให้ชัดก่อนจะจินตนาการไปเรื่อย แทนที่มันจะเป็นแม่เหล็กเดี๋ยวมันจะกลับด้าน จากที่มัน จะดูดมันจะกลายเป็นผลัก เอาให้ชัด สายการเดินเรือเขาก็บอกแล้วว่ามันไม่ได้ลด ตัวอย่างที่ ๗ ในหน้า ๗๙ อันนี้ยิ่งตลกใหญ่ ข้อเสนอแนะที่ ๑ เลย ก็เขียนไว้เอง สนข. ควรกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ให้ชัดเจน คือผมก็ เห็นตรงกับเพื่อนกรรมาธิการว่าโครงการยังไม่ชัดเจน และเมื่อโครงการไม่ชัดเจนรายงาน ก็ไม่ชัดเจนแล้วจะให้ผมรับรายงานหรือครับ ท่านต้องไปพิจารณา ท่านประธานครับ จาก ๗ ตัวอย่างที่ผมหยิบยกมาในเวลาอันสั้น ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้วต่อเหตุผลที่จะไม่รับร่าง รายงานฉบับนี้ แต่ผมก็มีประเด็นให้คิดต่อว่าหากพวกเราเพื่อนสมาชิกอยากจะใจดีรับร่าง รายงานฉบับนี้ให้มันผ่าน ๆ ไป คือปัจจุบันรายงานฉบับหลักของ สนข. ที่จ้างที่ปรึกษาอยู่ มันก็ยังไม่จบ มันน่ากังวลของการใช้มติสภาไปฟอกขาวให้กับอภิมหาโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา มูลค่าการร่วมทุนกว่า ๑ ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างยังไม่มี ความชัดเจน ทำไมเราไม่รอความชัดเจนของโครงการครับ ก็ศึกษากันไปก่อนอย่าเพิ่งปิดเล่ม ศึกษาคู่ขนานกันไปก็ได้ ทำให้ข้อสงสัยต่าง ๆ มันชัดเจนมากขึ้น ทำให้การศึกษาของ สนข. สามารถคลายข้อกังวลของประชาชนได้มากขึ้น ในมุมกลับกันหากเรารีบปิดจบแล้วก็ใจดี ผ่าน ๆ อย่างที่กำลังจะทำกันอยู่นี้ อย่างที่มติวิปรัฐบาลอยากจะผ่าน ๆ มันไปแบบนี้ แต่หาก สุดท้ายผลการศึกษาของ สนข. เล่ม Final Report ออกมาแล้วมันไม่กระจ่างพอล่ะครับ มัน ไม่เป็นที่ยอมรับมากพอล่ะครับ แล้วถึงวันนั้นฝ่ายค้านจะมาขอตั้งกรรมาธิการขึ้นมา ตรวจสอบเรื่องนี้ เดี๋ยวท่านก็จะหาว่าเคยศึกษาไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมให้ตั้งอีก เอากลับไป เถอะครับ โครงการขนาดใหญ่แบบนี้อย่าใช้จินตนาการอย่างเดียวแล้วเอาเสียงข้างมาก ลากไปเรื่อย มันไม่สมควร มันต้องฟังเหตุผลกันบ้าง นอกจากในส่วนของรายงานแล้วยังมีอีก เรื่องใหญ่ ๆ ก็คือตัวเนื้อหาสาระของโครงการ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดผมอยากให้พวกท่านลอง ย้อนกลับไปดูกระทู้สดของผมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ แล้วตอบคำถามให้ชัดเจนก่อน คำถามพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือแลนด์บริดจ์นี้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของสาย การเดินเรือที่เป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์นี้ได้หรือไม่ หากท่านพิสูจน์ไม่ได้ว่า แลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอ มันก็คือฝันค้างครับ แล้วหากท่านจะดื้อดึงดันต่อไปทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างก็ยังไม่ชัดเจนอย่างนี้ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นค่าโง่ อาจจะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของสงคราม Geopolitics และที่แน่ ๆ ก็คือจะเป็นภัยค้างต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่โดนเวนคืนดังที่เคยเกิดมาแล้ว ในแลนด์บริดจ์เดิม เส้นทางกระบี่-ขนอม ในส่วนของความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง ทางเศรษฐศาสตร์ EIRR หรือว่าทาง Finance FIRR ที่ Copy Page มาจากรายงาน สนข. ก็ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ตรงนี้คงต้องไปว่ากันในรายละเอียดอีกยาวว่า Assume อะไร กันไว้บ้าง น่าเชื่อถือแค่ไหน กำไรจาก Bunker Service หรือว่าบริการเติมน้ำมันมันสูง แบบไร้ความเป็นไปได้หรือไม่ รายได้จากการที่จะให้เช่าพื้นที่ที่จะขายที่ดิน ๕๐ ปีไปนี้มันสูง เกินจริงหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน นี่คือสาระสำคัญหลัก ๆ ของโครงการเลยว่า ท่านจะเอาอะไรไปแลก ท่านประธานครับ โดยสรุปผมและพรรคก้าวไกลไม่รับร่างรายงาน ฉบับนี้ เอาไว้ให้รัฐบาลมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอก่อนแล้วค่อยมาว่ากันว่าโครงการนี้ควรทำ หรือไม่ควรทำ ไม่ใช่แค่อยากได้หรือไม่อยากได้ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ปิดการลงชื่ออภิปรายแล้ว ทางกรรมาธิการก็ใช้สิทธิชี้แจง เชิญท่านอนุชาครับ
นายอนุชา บูรพชัยศรี กรรมาธิการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุชา บูรพชัยศรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ หลังจากที่ได้ฟังท่านสมาชิก ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของเนื้อหาของรายงาน เราก็คงจะพูดถึงเรื่องของประเด็นเนื้อหาจริง ๆ ก่อนอื่นก็ต้องตอบในส่วนของประเด็นที่มีคำถามมากมายในเรื่องของความเหมาะสมของ การศึกษารายงานฉบับนี้ ผมคงไม่ได้ใช้เวลานานเพราะว่ามีสมาชิกหลายท่านได้ลงชื่ออภิปรายไว้เยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นผมก็จะเข้าสู่ประเด็นแบบเรียกว่าสั้น ๆ เลย อย่างแรกก็คือพูดถึงเรื่องของ งบประมาณที่อาจจะต้องมีการพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ในการที่จะลงทุน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเพื่อพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ แล้วก็ตามที่ท่านสมาชิกฝ่ายค้านได้พูดถึงเรื่องของการที่เรา จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านใดได้บ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงจะ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการที่ยุทธศาสตร์ได้มองภาพเอาไว้ว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ เรากำลังที่จะปรับจากประเทศที่มีรายได้ ที่เขาเรียกกันว่ากับดักของรายได้ของประเทศ จากในปัจจุบัน ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้ GDP เราสูงขึ้น ทำอย่างไรให้รายได้ในส่วนของพี่น้อง ประชาชนไม่ใช่เฉพาะพี่น้องภาคใต้อย่างเดียวสามารถที่จะยกระดับได้ ต้องเรียนอย่างนี้ว่า ถ้าเราดำเนินการในลักษณะปัจจุบันที่ทำอยู่คงไม่สามารถดำเนินการได้ที่เราจะยกระดับ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะ GDP หรือว่ารายได้ของพี่น้องประชาชน เราคง จะใช้ที่เรียกง่าย ๆ ว่าวิธีการที่เป็นแบบ Traditional หรือวิธีการที่เรียกว่าในปัจจุบันที่เรา เคยทำมาอยู่ในอดีต ต่อให้เราสร้าง Value หรือมูลค่าเพิ่มในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรมหรืออะไรต่าง ๆ ทั้งหมดมันก็อาจจะไม่สามารถที่เราจะก้าวข้ามในส่วนของ กับดักตรงนี้ไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงชุดปัจจุบันก็คือเราต้องคิด อะไรที่มันออกไปแนวใหม่ ๆ บ้าง ออกไปแนวใหม่ ๆ ตรงนี้ก็คือว่าธุรกิจหรือว่าสิ่งที่เรา จะต้องทำ ก็คือก่อนหน้านี้คงจะพูดถึงเรื่องของไทยแลนด์ ๔.๐ อุตสาหกรรม ๔.๐ หรืออะไร ต่าง ๆ แต่ ณ ตอนนี้มันไปเร็วมาก เราพูดถึงเรื่องของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อุตสาหกรรม AI อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางด้าน Sustainable Development ในการ ที่จะต้องทำอะไรก็แล้วแต่ต้องดูในเรื่องของ สภาพแวดล้อม ต้องดูในเรื่องของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วย แล้วก็เรื่องของการที่เราจะต้อง เข้าอยู่ในประชาคมโลก ไม่ได้มีการที่จะเดินอะไรที่มันผิด ไม่สอดคล้อง อย่างเช่น COP การที่ เราต้องไปมีส่วนร่วมในเรื่องของการที่จะทำอย่างไรที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้น้อยที่สุดอะไรต่าง ๆ พวกนี้ เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมในอนาคตเราคงต้องเห็นว่ามี การบริการมากขึ้น อะไรต่าง ๆ มากขึ้น อุตสาหกรรม Silicon Valley หรืออุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านซอฟท์แวร์อะไรต่าง ๆ มันไม่ได้กำหนดขึ้นมาหรอกครับว่าสุดท้ายแล้ว เป็นเพราะพื้นที่เขาเหมาะสมอย่างไร แต่มันเป็นการที่จะต้องเป็นการนำเสนอวิสัยทัศน์ของ รัฐบาลในการที่จะนำเสนอว่าเราจะไปทางไหน กรรมาธิการชุดนี้ก็คงเช่นเดียวกันครับ มีการศึกษาในลักษณะแบบนี้ ณ วันนี้ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร การศึกษาจึงมีการสรุปว่า จากนี้ไปควรจะต้องทำอะไร มีบางส่วนของทางด้านสมาชิกได้มีการกล่าวถึงเรื่องของการที่ว่า ณ วันนี้มันเป็นเรื่องของคมนาคมขนส่งหรือไม่ ณ ตอนนี้กรรมาธิการก็ได้ตกผลึกหลังจากที่ได้ เรียนเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะคมนาคม แต่ต้องบอกว่า สนข. เองต้องเป็น หน่วยงานที่น่าเห็นใจที่สุดครับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษาตรงนี้ก็ดี หรือในเรื่องของ การที่จะต้องได้รับคำพูดถากถางอะไรต่าง ๆ จากในที่ประชุมกรรมาธิการเองก็ดี หรือว่า ในส่วนของการอภิปรายในสภาแห่งนี้ แต่อย่าลืมว่ากรอบในการที่มีการเสนอให้ทางด้าน สนข. ไปมีการพิจารณาเรื่องของความเหมาะสม หรือความคุ้มค่า หรืออะไรต่าง ๆ มันเป็น การส่งให้กับทางด้าน สนข. กระทรวงคมนาคมไปดูเฉพาะเรื่องของแลนด์บริดจ์ นั่นคือ เรื่องของท่าเรือฝั่งชุมพร ท่าเรือฝั่งระนอง ไปดูเรื่องของ Traffic ที่จะมีระหว่างกันระหว่าง ๒ ท่าเรือ แล้วก็ไปดูเรื่องของที่ว่าจะมีการ Bypass มาต่าง ๆ หรือไม่หากมีการใช้ในส่วนของ แลนด์บริดจ์ที่เรียกว่าเป็น One Port Two Sides ไม่ใช่เป็นท่าเรือที่จะต้องมีการ Double Handling สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ได้ตกผลึกในคณะกรรมาธิการชุดนี้ แล้วก็มีข้อเสนอแนะ ว่าจากนี้ไปต้องทำอะไร คณะกรรมาธิการกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะของที่ รัฐบาลส่งมาแล้วเราก็มา Stamp ตรายางว่าควรจะต้องทำหรือไม่ทำ แต่เรามาศึกษาว่าอะไร ที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ กรรมาธิการชุดนี้ก็จะเสนอแนะในสิ่งที่ควรต้องดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะอ่านในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหน้า ๗๙ เรามีหลาย หน่วยงานเลยครับ ไม่ใช่เฉพาะคมนาคมอย่างเดียว มีทั้งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มีทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้ง ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง มีทั้งสำนักงานทั้งทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมไปถึงสำนักงานสภาพัฒน์ คณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการคลัง รวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมายเลย ที่จะต้องดำเนินการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เราทำงานแบบไซโล ไม่ได้ ไซโลคืออะไรครับ จะมาเป็น Department จะเอาเฉพาะกระทรวงไหนกระทรวงหนึ่ง ส่งรายงานเข้ามา แล้วก็มาสรุป แล้วก็มาตัดสินใจว่าแลนด์บริดจ์ทำได้ ไม่ได้ เป็นอย่างนั้น ไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าในกรรมาธิการเองก็มีข้อสรุปว่าอันนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้ที่จะเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ผมคิดว่าอย่างนี้ ตอนนี้ กรรมาธิการทุกท่านที่นั่งอยู่ ที่ไม่ได้ลาออกไปนี่เข้าใจตรงกันครับว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มี SEC มาสนับสนุน ตรงกันข้ามครับ ถ้าสมมุติว่า SEC ไม่เกิด ผมมั่นใจ เหลือเกินว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่เดินหน้าในส่วนของโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าถ้าเราดูแค่เพียงเฉพาะว่าจะมีตู้ Container เข้ามาที่ท่าเรือชุมพรเท่าไร จะมีตู้ Container เข้ามาที่ท่าเรือชุมพรเท่าไร จะมีการขับเคลื่อนในส่วนของการที่ว่าพูดง่าย ๆ Alternative Route หรือว่าในการขนส่งที่จะไม่ใช้ในส่วนของไปทางด้านใต้ที่แหลมมะละกา อย่างไร ผมมั่นใจเหลือเกินครับว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ชัดเจนมากเลยว่าถ้าหากว่าไม่มี การพัฒนาในส่วนของ SEC เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้คงไม่เกิดแน่นอนในส่วนของแลนด์บริดจ์ คงไม่เกิดแน่นอน คำว่า แลนด์บริดจ์ ต้องให้ทุกท่านได้เข้าใจแล้วครับ ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง ในเรื่องของการคมนาคมขนส่งระหว่าง ๒ ท่าเรือเท่านั้น มันเป็นทั้งการทำท่าเรือด้วย ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำถามอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของที่ว่าใครจะมาลงทุน รัฐบาลก็พูด ชัดเจน กรรมาธิการชุดนี้ก็สรุปชัดเจนว่าเราจะใช้ในลักษณะของ PPP หรือการร่วมทุนกับ ทางด้านภาคเอกชน นั่นหมายความว่าหากมีการศึกษาแล้ว สิ่งที่ สนข. กับทางกระทรวง คมนาคมได้ไปศึกษามา รวมถึงเล่มนี้ที่เรามีการศึกษามันเป็นแค่ปฐมบทเท่านั้นเอง มันเป็น แค่บทนำบทเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ไม่มีใครหรอกครับที่เขาจะมาลงทุน ๑ ล้านล้านบาท แล้วเอา รายงานของ สนข. ไปทำ หรือเอารายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ไปทำ Feasibility อันนี้ ไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิดว่าเล่มนี้คือ Feasibility Study เล่มนี้ไม่ใช่เรื่องของการศึกษาว่าคุ้มทุน หรือไม่คุ้มทุน จะทำหรือไม่ทำ แต่เล่มนี้ศึกษาว่าส่งไปให้รัฐบาลว่าจากนี้ไปควรจะต้อง ดำเนินการในลักษณะอย่างไรเพื่อที่จะหาคำตอบเพิ่มเติม ผมคิดว่าจะได้เข้าใจตรงกัน กับสมาชิกที่จะอภิปรายต่อ ๆ ไปว่าเล่มนี้ไม่ใช่ Final Report หรือว่าเป็น Feasibility ที่จะ ดำเนินการในลักษณะแบบนั้น แต่เล่มนี้เป็นลักษณะของการที่ว่าจะนำเสนออย่างไร อย่างที่ ผมบอกก็คือว่าไม่ใช่ต่างคนต่างทำ กระทรวงแต่ละกระทรวงเสนอเข้ามา เราคงเคยเห็น ในอดีตว่าที่ผ่านมา อันนี้ก็คือคำถามต่อเนื่องจากที่ท่านสมาชิกทางสภาได้พูดถึงเรื่องที่ว่า จะคุ้ม ไม่คุ้มกับชีวิตความเป็นอยู่ ผมขออนุญาตที่จะรวมไปเลยว่าแล้วเรื่องของความสมดุลล่ะ วิสัยทัศน์จะเป็นอย่างไร จะเลือกผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศในอีก ๕๐ ปีอย่างไร ทั้งหมดตรงนี้ ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่าเราคงไม่สามารถที่จะพูดไปไกลขนาดนั้น เพราะว่า อย่างที่ผมเรียนก็คือคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่ในการที่จะบอกรัฐบาลว่านโยบาย รัฐบาลควรต้องทำอะไร สิ่งที่เราได้ศึกษาในวันนี้หรือว่าที่กรรมาธิการได้สรุปในวันนี้แล้วนำมา เสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ก็คือเรากำลังจะบอกว่าถ้าหากจะเดินหน้าโครงการนี้ จะต้องเดินหน้าอย่างไรเพื่อความรอบคอบ การลงพื้นที่ของกรรมาธิการ เราไปกันแค่คืนเดียว เท่านั้นครับ ๒ วัน งบประมาณก็มีเท่าที่สภาผู้แทนราษฎรมอบให้ แล้วถ้าบอกว่าเราเปิดปลาย ไว้เลยว่าไม่จำเป็นที่จะต้องปิด ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบเร่งในการทำสรุปรายงานฉบับนี้ คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เราจะใช้เงินกันเท่าไรครับ ลองดูสิครับ สนข. ทำแค่เพียง Traffic Flow ระหว่าง ๒ ท่าเรือเท่าไร ท่าเรือจะใช้ TEU ตู้ Container คอนเทนเนอร์เท่าไร เขาใช้ งบประมาณเป็น ๑๐ ล้านบาท เราอยากใช้งบประมาณของสภาแห่งนี้ อย่างที่ท่านเคยพูดควรจะต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ มากที่สุด เราจะเปิดปลายตรงนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะใช้เวลาสักประมาณ ๒ ปี ท่านคิดว่าจะทำ ได้ไหมละครับ ผมก็อยากจะถามท่านประธานด้วยว่าท่านประธานจะอนุญาตด้วยหรือไม่ ถ้าหากทางด้านประธานคณะกรรมาธิการของคณะนี้มาขอต่ออยู่เรื่อย ๆ ผมก็กลัวว่าสมาชิก ฝ่ายค้านก็คงจะต้องบอกว่าทำไมยังไม่เสร็จสักที ทำไมต้องใช้งบประมาณมากมายอะไรขนาดนั้น เราแค่เป็นการที่จะนำเสนอข้อมูลในเบื้องต้นเพื่อให้รัฐบาลได้ไปดำเนินการต่อแค่นั้นเอง แล้วในส่วนของฝ่ายเลขานุการหรือ สนข. ก็ต้องบอกว่าโจทย์ที่เขาได้รับมาคือเรื่องของ คมนาคมขนส่งแค่นั้นเอง แต่ในกรรมาธิการของเราได้มีการมองเห็นภาพกว้างแล้วว่ามันไม่ใช่ เฉพาะคมนาคมอย่างที่ผมเรียนให้ทราบ มีหน่วยงานอีกหลายหน่วยงานอีกมากมายที่จะต้อง เข้ามาดำเนินการเรื่องของ พ.ร.บ. SEC ก็เหมือนกัน ณ วันนี้ก็มีแค่ในส่วนที่ว่าสมาชิกได้ นำเสนอร่างกฎหมายเข้ามาเพียงแค่ฉบับเดียว เราก็มีการเสนอครับว่ารัฐบาลควรจะต้อง เร่งรีบ พิจารณาที่จะนำกฎหมายเข้ามาเช่นเดียวกันในการที่จะต้องดู ผมมีการถามกับ ทางด้าน สนข. ว่าแล้ว พ.ร.บ. SEC ที่จะกำหนดขึ้นมาใครจะเป็นคนร่างขึ้นมาหรือว่าเป็นฝ่าย ของรัฐบาล ณ วันนี้ก็ต้องบอกว่า สนข. เขาก็มึนเหมือนกัน พอกรรมาธิการบอกว่ามันไม่ใช่ เฉพาะในส่วนของแลนด์บริดจ์แล้วนะ มันเป็นเรื่องของภาคอุตสาหกรรมภาพใหญ่ ถ้าอย่าง นั้นคนที่ต้องร่าง พ.ร.บ. ตรงนี้ก็ไม่ใช่ สนข. แล้วสิ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่กรรมาธิการนำเสนอ ครับว่าควรจะต้องเป็นหน่วยงานอื่นหรือไม่ ผมมีโอกาสได้อภิปรายในสภาเพื่อนำเสนอตลอด แต่หากว่าการเสนอของกรรมาธิการชุดนี้เป็นในรูปแบบลายลักษณ์อักษรแบบนี้รัฐบาลก็จะได้ เดินหน้าต่อไปได้ว่าถ้าอย่างนั้นใครจะต้องเดินหน้าในการที่จะต้องเป็นฝ่ายเลขานุการของการ ที่จะต้องทำโครงการนี้ ไม่ใช่เฉพาะแลนด์บริดจ์ มันจะต้องเป็นในส่วนของ SEC จะเป็น สภาพัฒน์หรือไม่ จะเป็นใครก็แล้วแต่ ตรงนี้ส่วนหนึ่งของกรรมาธิการก็ได้มีการสรุปอยู่ในนี้ ค่อนข้างที่จะชัดเจน แต่ถ้าท่านจะลงลึกในรายละเอียด จะเอาให้ได้ว่าสรุปแล้วมันคุ้มค่า หรือไม่ในการที่จะต้องตัด หรือว่า Bypass แหลมมะละกาตรงไป ผมบอกได้เลยครับว่า แม้กระทั่ง สนข. ณ วันนี้เขาไม่สามารถที่จะตอบได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่างบประมาณ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในปี ๒๕๖๗ ก็ยังมีการพิจารณาว่าจะให้ สนข. ในการที่เขาจะเอาเงินไป ศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่ แต่แน่นอนครับ ถ้า ณ ตอนนี้ผมก็เรียนให้ทราบว่าหน่วยงานอื่น ๆ เขาอาจจะมองว่า ปี ๒๕๖๗ นี้งบประมาณอาจจะไม่ทัน เขาก็เตรียมที่จะนำเสนอในส่วนของ งบประมาณที่จะไปศึกษาในภาพรวมทั้งหมดในปี ๒๕๖๘ เพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนหน้านี้ ต้นเดือนมีนาคมคงจะได้มีการพิจารณาในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ของงบประมาณ แล้วหลังจากนั้นอีก ๓-๔ เดือนเท่านั้นท่านจะเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะไม่ใช่เป็นการที่จะศึกษาผ่านทางด้านกระทรวงคมนาคมอีกต่อไป แต่จะเป็นการศึกษาผ่าน งบประมาณของกระทรวงอื่น ๆ อีกมากมายที่จะรวมศูนย์ รวมศูนย์ตรงนี้ก็คือว่าไม่ใช่ต่างคน ต่างทำ แต่เป็นการรวมศูนย์ในการที่จะพิจารณาภาพรวมว่า SEC จะเกิดหรือไม่ คำถามที่ เมื่อสักครู่ท่านสมาชิกฝ่ายค้านได้พูดถึงว่าเราจะดำเนินการให้กับประชาชนในการที่จะเป็น ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ต้องบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ฟันธงแน่นอนว่าต้องทำ อดีตที่ผ่านมาเรามี ในเรื่องของการที่ว่าเราจะสร้างแลนด์บริดจ์ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปที่ จังหวัดพังงาแล้วก็จังหวัดกระบี่ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ต่อเนื่องจากนั้นมาอีกประมาณเกือบ ๓๐ ปี ก็มีการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์อีกเช่นเดียวกัน คราวนี้ไปที่ไหนครับ พาดอีกแบบหนึ่ง มาจากจังหวัดสงขลาไปที่ท่าเรือปากบารา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านอนุชาครับ ไม่ได้อยากขัดจังหวะนะครับ แต่ท่านใช้เวลาเยอะพอสมควรแล้วเดี๋ยวจะมี สมาชิกถามอีกหลายรอบ
นายอนุชา บูรพชัยศรี กรรมาธิการ ต้นฉบับ
จะขออนุญาตสรุปเลยครับ หลังจากนั้นก็คือไปที่ท่าเรือปากบารา ตรงนี้ก็ไม่ได้อีกเหมือนกันเพราะว่าพี่น้องประชาชน ภาคใต้ก็มองภาพว่าไม่อยากให้สร้างเพราะว่าตอนนั้นทางด้านจังหวัดสตูลหรือว่าท่าเรือ ปากบารามองภาพว่ามันใกล้สถานที่ท่องเที่ยวเกินไป สุดท้ายก็เลยมาสิ่งที่เรากำลังดำเนินการ อยู่ในส่วนของจังหวัดชุมพร จังหวัดระนองตรงนี้ ถ้าหากสุดท้ายแล้วพี่น้องประชาชนภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชุมพร จังหวัดระนองอย่างเดียว แต่รวมไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็จังหวัดสุราษฎร์ธานีมองว่าโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไม่เหมาะสม ผมมั่นใจเหลือเกินว่า รัฐบาลก็คงจะไม่เดินหน้าทู่ซี้ต้องทำให้ได้ เหมือนเช่นที่กรรมาธิการชุดนี้ได้พยายามที่จะ พิจารณาว่าเราไม่ได้ฟันธง แต่เราคิดว่ารัฐบาลควรจะต้องดำเนินการอย่างไรที่จะให้โครงการนี้เกิดความครอบคลุม ทั้งหมด แล้วก็ต้องขอขอบคุณคำถามของท่านด้วย เป็นคำถามที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะดำเนินการได้อย่างไร แต่มั่นใจเหลือเกินว่ามีตัวแทนของ ทางด้านรัฐบาลมาฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่าน ได้ดำเนินการในส่วนของคำถามทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นคำถามที่ต้องถามด้วย แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในรายงานฉบับนี้ ผมก็หวังว่าในส่วนของหน่วยงานที่มาฟังวันนี้ก็จะได้นำ คำถามที่ท่านได้กรุณาอภิปรายวันนี้ไปเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายงานของกรรมาธิการด้วย ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ขอใช้สิทธิพาดพิง ฝ่ายค้านครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านณัฐวุฒิครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ท่านประธานครับ ท่านอนุชา บูรพชัยศรี ต้องขอประทานโทษที่เอ่ยนาม ท่านสมาชิกที่ได้อภิปราย ท่านได้ พาดพิงฝ่ายค้านในลักษณะว่าหากมีการขอต่อระยะเวลาการศึกษา สมาชิกฝ่ายค้านก็จะตั้ง คำถามว่าทำไมถึงไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอันนี้ไม่เป็นความจริง ผมต้องเรียนท่านประธานแบบนี้ว่า หลายเรื่องที่เป็นญัตติ ไม่ว่าจะเป็นญัตติจากพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มีการขอต่อเวลา มาโดยตลอด เช่น กรณีของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งก็มีการขอต่อระยะเวลาหลายครั้งก็ยังไม่แล้วเสร็จ หรือแม้กระทั่งกรณีของการศึกษาประเด็นเรื่องตัว G ของนักเรียนที่ยังไม่มีรายการสถานะ บุคคลก็ยังไม่แล้วเสร็จ แล้วก็มีการขอต่อเวลา ทางพวกเราฝ่ายค้านก็ให้ความเห็นอย่างมี วุฒิภาวะไปแต่ละรายงานครับ ถ้าไม่เสร็จจริง ๆ เราเห็นว่ามีความจำเป็นก็อนุญาตให้มี การต่อระยะเวลาได้ครับ แต่ของท่านเมื่อครบระยะเวลาคือในกลางเดือนมกราคมท่านไม่ได้ ขอต่อ อันนี้คือความเป็นจริง ท่านไม่ได้ขอต่อ แล้ววันนี้ท่านกลับมาพูดในลักษณะว่า ถ้าต่อแล้วเกรงว่าฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วย ไม่ใช่นะครับ ฉะนั้นตรงนี้ต้องขออนุญาตชี้แจง ท่านประธานว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วท่านไม่ได้ขอต่อ รายงานฉบับนี้จบตามระยะเวลา แต่จะสมบูรณ์หรือไม่ รับหรือไม่ หรือเรียนด้วยความเคารพ ถ้าจำเป็นฝ่ายค้านอาจจะขอ ลงมติเป็นรายบุคคลเพื่อจะได้รู้ว่าใครรับหรือไม่รับ ฉะนั้นต้องขออนุญาตชี้แจงต่อ ท่านประธานด้วย ขอบพระคุณครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขออนุญาตนะครับ ท่านประเสริฐพงษ์ใช้สิทธิหลายรอบแล้วเดี๋ยวอาจจะไว้ตอนจบ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อย่างนั้นผมประท้วง ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมประท้วงท่านประธาน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๙ ท่านประธานไม่ได้ทักท้วงกรรมาธิการ ที่ลุกขึ้นพูดคำว่า การอภิปรายของพวกผมเป็นการใช้คำถากถาง ซึ่งเรื่องนี้ผมรับไม่ได้ ท่านพูดคำว่า ถากถาง ผมให้ท่านประธานวินิจฉัยว่าไม่สุภาพหรือเปล่า และผมขออนุญาตให้ ท่านถอนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวผมขอตรวจสอบก่อนว่าเป็นคำพูดในช่วงไหน อย่างไร แต่ว่าตอนที่สมาชิกที่ไม่เห็นด้วย อภิปรายก็มีคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่จำเป็นต้องถอน แต่ผมขอ ตรวจสอบในเรื่องของบริบทก่อน แล้วผมอยากเรียนท่านกรรมาธิการด้วยนะครับ พอดี มีคำถามว่าเราต่ออายุได้ไหม ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือกรรมาธิการวิสามัญสามารถขอต่ออายุได้ เราไม่ได้ประหยัดงบประมาณขนาดนั้น แล้วเราพยายามจะให้มีกรรมาธิการวิสามัญน้อยที่สุด แล้วส่งไปที่กรรมาธิการสามัญเพื่อจะศึกษาในเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ อันนี้ก็เป็นนโยบายของ ท่านประธาน ขอเชิญท่านกานสินี โอภาสรังสรรค์ ครับ
นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน กานสินี โอภาสรังสรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันมีเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์มาให้ข้อเสนอแนะค่ะ แลนด์บริดจ์เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญสำหรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้หรือ SEC ที่มีความพร้อมถัดจากระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ตัวโครงการแลนด์บริดจ์ ในปัจจุบันอยู่เส้นทางจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง ซึ่งจังหวัดที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ๆ มี ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัด นครศรีธรรมราช ไม่เพียงแต่ ๔ จังหวัดที่ได้ประโยชน์จากโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ประชาชน ทั้งประเทศที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน เพิ่มโอกาส จะมีนักลงทุน จากต่างชาติซึ่งจะดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดดุลการค้า เพิ่มช่องทางการส่งออกของสินค้าในประเทศ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อยู่ระหว่าง ๒ มหาสมุทรใหญ่ คือมหาสมุทรอินเดียที่เชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป อีกด้านหนึ่งคือมหาสมุทรแปซิฟิกที่เชื่อมกับประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะ เป็นจีน ญี่ปุ่น เอเชีย ตะวันออก หรือแม้กระทั่งอเมริกา และประเทศลาตินอเมริกา เหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งตรงด้ามขวานที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการขนส่ง ของโลกเลยทีเดียว ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะท่านประธานที่โครงการแลนด์บริดจ์ที่จะส่งเสริม ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ตั้งที่น่าลงทุนของโลก เป็น Hub ใหม่ในการคมนาคมระหว่าง ๒ มหาสมุทรได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ทางภาคใต้ อีกด้วยค่ะ ทำไมโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นทางเลือกอีกทางเลือกให้กับนักลงทุน เพราะว่า โครงการสามารถช่วยประหยัดเวลาการขนส่งของ ๒ มหาสมุทรโดยไม่ต้องไปอ้อมที่ช่องแคบ มะละกา และด้วยตอนนี้สภาพของช่องแคบมะละกามีความแออัดเป็นอย่างมาก มีเรือผ่าน วันละประมาณ ๑,๕๐๐ ลำต่อวัน ซึ่งการผ่านบางครั้งจะต้องลอยเรือรอผ่านช่องแคบมะละกา ๒-๓ วัน ท่านประธานคะ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานีและ จังหวัดนครศรีธรรมราชจะมีพื้นฐานรายได้หลัก ๆ จะเป็นรายได้จากการเกษตร ๕๐ เปอร์เซ็นต์ การท่องเที่ยว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และตามด้วยรายได้จากอุตสาหกรรม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ ทุกจังหวัดในพื้นที่มีความยินดีที่จะมีโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นความหวังของพวกเขา และในพื้นที่เองก็มีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ปลูกปาล์ม มากที่สุดในประเทศ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ มีการเตรียมโครงการ Oil Palm City ให้สอดคล้องกับ โครงการแลนด์บริดจ์ มีการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการเกษตรบ้านเราได้ ขายสินค้า ได้มีการพัฒนาให้มีการแปรรูปมีมูลค่าที่สูงขึ้น หรือจะเป็นสินค้าพวกทุเรียนหรือ ผลไม้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนแปลงใหญ่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปลูกใหม่ที่จะออกสู่ ตลาดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ สามารถที่จะทำให้สินค้าเกษตรกรพี่น้องภาคใต้ ส่งออกได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ทุเรียนค่ะ ผลไม้ ไม้ผล ยางพารา หรือสินค้าทาง การเกษตรอื่น ๆ สามารถส่งออกได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางแลนด์บริดจ์ และทางเรายังได้มี การคิดดำเนินการตีตรารับรองสินค้าหรือเรียกว่าศูนย์เตรียมความพร้อมการส่งออกเบ็ดเสร็จ หรือเรียกว่า OSEC พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อให้สินค้าทางการเกษตรของเราได้มี ความได้เปรียบ สามารถส่งออกแข่งขันกับคู่แข่งขันต่างประเทศที่มีสินค้าใกล้เคียงกับเราได้ ในประเด็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตร และไม่เป็นมลพิษจากการที่ประเทศเรามีการเชื่อมโยง การขนส่งจากจีนผ่านโครงการ One Belt One Road จากประเทศจีนผ่านประเทศลาว มาประเทศไทย เราจะต้องจัดกระบวนการขนส่งของ One Belt One Road ให้มีการแข่งขัน สู่มหาสมุทรอินเดียที่ประเทศไทยผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ และยังทำให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน มีแหล่งในการขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงหรือปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ามาสู่ ภาคอุตสาหกรรม ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนโดยมีต้นทุนเรื่องการขนส่งที่ได้เปรียบคู่แข่ง ประเทศเพื่อนบ้านได้อีก ทั้งนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมจากไทยเองสามารถส่งออกได้ อย่างสะดวกผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้ามาทั้งฐานการผลิต ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเกิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ยุคใหม่ของประเทศไทย ไม่เพียงแต่การเพิ่มการจ้างงานพื้นฐาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน โดยในเชิงพาณิชย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ใหม่ของภาค ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่นับองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะตามมาที่จะสร้างชุมชนขนาดใหญ่ สำหรับคนที่จะมาอยู่ศูนย์กลางด้านการธนาคารการเงินของโลก การสื่อสารการค้าปลีกค้าส่ง หรือแม้กระทั่งงานบริการร้านอาหารจะได้ประโยชน์ทุกหย่อมหญ้าค่ะท่านประธาน สุดท้าย โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้นี้ดิฉันคาดหวังและขอสนับสนุนอย่างยิ่งกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับปากท้องของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ยินดีต้อนรับครับ ขอเชิญสมาชิกท่านต่อไป ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยง การขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ เสนอญัตตินี้ให้ทางสภาได้ไปศึกษาครับ ท่านประธานครับ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร หรือที่เราเรียกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่อยู่ ในความสนใจของพี่น้องประชาชนอย่างมาก รัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการนี้ เห็นได้จากที่ท่านนายกรัฐมนตรีก็พยายามไปขายโครงการนี้กับทั่วโลก ทั้งผู้นำและนักธุรกิจ ในหลายประเทศ ภายในโครงการนี้บอกว่าจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ๒ ฝั่งทะเล มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ไปจนถึงการขนส่งระบบท่อและการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ในบริเวณโดยรอบ โดยจะมีการลงทุนในการพัฒนาโครงการนี้ที่มหาศาล ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้พี่น้อง ประชาชนในพื้นที่และสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ในขณะนี้ ยังขาดความชัดเจนในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งการประหยัดเวลาในการขนส่ง อีกทั้งยังเกิด คำถามและความกังวลที่หลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกังวลด้านความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าในการลงทุน ใครจะเป็นผู้ใช้บริการ ไปจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต ในเรื่องอาชีพ ที่อยู่ อาศัยและที่ทำกิน จากรายงานเล่มนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้เขียนถึงข้อกังวล เหล่านี้ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าข้อเสนอแนะเหล่านี้รัฐบาลต้องใส่ใจและดำเนินการ อย่างรอบคอบ โดยวันนี้ผมขอเน้นย้ำถึงความกังวลใน ๒ ประเด็นด้วยกันก็คือ ประเด็น ความกังวลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ สำหรับ ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะมีแผนพัฒนาขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างระบบราง ถนน และท่าเรือที่จะมีการถมทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน จะมีการสร้างขึ้นในจังหวัดระนองซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่อยู่ระหว่าง การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยพื้นที่นี้มีความหลากหลาย ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายาก โครงการพัฒนาที่ใหญ่เช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อ ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากและทรัพยากรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงปัญหาการขุดลอกมลพิษน้ำเสีย การกัดเซาะชายฝั่งและ การรั่วไหลของน้ำมันจากการเดินเรือที่อาจตามมาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สำคัญที่สุด คือผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่พึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ทั้งเป็นแหล่งอาหารและ แหล่งรายได้ สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของ พี่น้องประชาชนอย่างถี่ถ้วน โดยรัฐบาลเองก็ต้องเตรียมมาตรการในการป้องกันและ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด รัฐบาลจะต้องคำนึงว่าทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมนั้นประเมินมูลค่าได้ยากเพราะมีมูลค่ามหาศาล หากถูกทำลายหรือทำให้เสียหาย ไปแล้วจะฟื้นฟูหรือกู้กลับคืนมานั้นเป็นไปได้ยาก
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความกังวลถึงผลกระทบก็คือผลกระทบต่อ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่ริมชายฝั่ง ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต เรื่องอาชีพ และที่อยู่อาศัย โดยประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และ การท่องเที่ยว พี่น้องมีความกังวลถึงวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปและอาชีพที่อาจสูญเสีย หากโครงการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและต่อทรัพยากรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีความกังวลว่า จะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ในการสร้างรายได้เท่าที่ควร หรือได้ไม่คุ้มเสีย
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
อีกเรื่องที่สำคัญก็คือมีความกังวลในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่อาจต้อง สูญเสียไป ไปจนถึงการเวนคืนที่ดินว่าจะได้รับค่าเวนคืนที่เหมาะสมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า ต้องทำให้เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
สำหรับประเด็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ผมคิดว่ารัฐบาลต้องฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือคัดค้านก็ยิ่งต้องฟังครับ โดยรัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จะได้ประโยชน์อะไร จะมีผลกระทบอะไรที่ตามมา จะมีการเวนคืนที่ดินอย่างไรให้เหมาะสม จะมีการชดเชยอย่างไรให้เป็นธรรม จะมีการเงินชดเชยอย่างไรให้เป็นธรรม โดยการพัฒนาพื้นที่นี้ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไร ให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วม ได้ประโยชน์สูงสุด และต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งต้องไม่เป็น โครงการที่ผู้ได้ประโยชน์มีเพียงผู้ลงทุนหรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเพียงเท่านั้น ท่านประธานที่เคารพ โครงการที่ใหญ่เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับประเด็นความท้าทายและข้อกังวลที่หลากหลาย ที่สำคัญคือจะต้องรับฟัง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วน ร่วมในการพัฒนาและเพื่อให้เป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน อย่างแท้จริง เพราะหากหวังแต่จะสร้างครับ จะดันโครงการอย่างเดียวแต่ประชาชนไม่มี ส่วนร่วม ไม่ได้ประโยชน์โครงการนี้ก็คงไปต่อได้ยาก ท่านประธานครับ ที่ผมพูดวันนี้ไม่ได้ หมายความว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ผมคิดว่าเราไม่เห็นภาพครับ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับ และ ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างรอบคอบและรอบด้านในทุกมิติ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเราจะต้องนำตัวอย่างปัญหาจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศและต่างประเทศเข้ามาพิจารณาศึกษาเป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้เพื่อให้ เป็นโครงการที่ยั่งยืนและเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้ โดยสรุปแล้วผมคิดว่ารัฐบาล ควรนำข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากสภาแห่งนี้ไปพิจารณา และในท้ายที่สุดหากมี โครงการนี้เกิดขึ้นก็ต้องให้มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ น้อยที่สุดและคำนึงถึงประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญที่สุด ขอบคุณ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ครับ
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) แล้วผมขอเน้นย้ำใน ๓ ประเด็น เพื่อให้เกิดการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนและการสื่อสารให้เกิดความชัดเจน เพิ่มขึ้นในอนาคต
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก โครงการ แลนด์บริดจ์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ครอบคลุมพื้นที่ ๔ จังหวัดครับท่านประธาน คือ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัด สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ๔ จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวต่างชาติเข้าใจกันดีว่า เป็น Strategic Location หรือเป็นทำเลที่ตั้งที่มีอิทธิพลมากในเรื่องของการประกอบธุรกิจ ในอนาคต พื้นที่ตรงนี้เชื่อมน่านน้ำ ๒ ฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน สามารถรองรับการขนส่ง ออกได้หลายช่องทาง และเป็นที่น่าสนใจของการตั้งเป็นแหล่งที่ตั้งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือว่าพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ โครงการ SEC ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด One Port Two Sides หรือว่าการที่เป็นท่าเรือที่มีทางออกทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาในท่าเรือเดียวกัน ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้จะสามารถรองรับการขนส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้าหรือว่าแปรรูป สินค้าและส่งออกไปในเส้นทางอื่นได้อย่างดีครับท่านประธาน สินค้าในบริเวณนี้จะเป็นสินค้า ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยและพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมาก โครงการ แลนด์บริดจ์เองเป็นโครงการลงทุนเส้นทางรถไฟรางคู่ระหว่างท่าเรือ ๒ ฝั่งเชื่อมต่อกัน จากฝั่งระนองไปที่ฝั่งชุมพร โครงการนี้เพิ่มโอกาสอีกโอกาสหนึ่งให้กับ SEC ก็คือการรองรับ การผ่านสินค้าจาก ๑ ฝั่งไปอีก ๑ ฝั่ง ดังนั้นโครงการนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาความคุ้มทุน ร่วมกันกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทั้งเขตครับท่านประธาน การพิจารณาเงินลงทุน ๑ ล้านล้านบาท จะพิจารณาเพียงแค่มูลค่าการส่งผ่านสินค้าจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ พื้นที่เขตเศรษฐกิจนี้ได้รับการประเมินจากสภาพัฒน์ว่าถ้ามีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว จะสามารถทำให้การเติบโต GDP ของประเทศไทยจาก ๔ เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นไปได้ถึง ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แล้วก็จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่มากกว่า ๒๘๐,๐๐๐ ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องภาคใต้และพี่น้องคนไทยอย่างชัดเจนครับท่านประธาน
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องความคุ้มทุน เราจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าการลงทุน ๑ ล้านล้านบาทนี้ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน เราไม่ได้ใช้วิธี การลงทุนที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการร่วมทุน กับภาคเอกชน ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ และมุ่งเน้น ที่จะเดินทางไปตามประเทศต่าง ๆ เพื่อชักจูง เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติในกลุ่ม สายการเดินเรือและการบริหารขนส่งชั้นนำระดับโลกจากนานาประเทศเข้ามาร่วมลงทุน ในประเทศไทย เพราะท่านเข้าใจดีครับท่านประธานว่า Key Success Factor ของ การบริหารแลนด์บริดจ์ให้ประสบความสำเร็จ คือต้องบริหารท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงินลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และประหยัดต้นทุนขนส่ง มากไปกว่านั้นเราจำเป็น จะต้องมี Partner ที่เป็นสายเรือขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรง แล้วก็มีเครือข่ายการขนส่งที่มี มูลค่าสูงอยู่แล้ว เพราะถ้าเราได้ Partner หรือว่าพันธมิตรที่ดีก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจและดึงดูดการขนส่งในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นการคุ้มทุน ของโครงการหรือไม่ เราจะพิจารณาแค่การศึกษาในเบื้องต้น ณ ปัจจุบันไม่ได้ เพราะว่า ชาวต่างชาติหรือว่านักลงทุนต่างชาติ ไม่มีนักลงทุนชาติใดเชื่อการศึกษาของผู้เสนอการลงทุน เพียงด้านเดียว ในทางกลับกันศักยภาพต้นทุนที่ต่างกันของผู้ลงทุนแต่ละราย รวมถึงวิสัยทัศน์ ที่ต่างกันของเอกชนแต่ละรายจะส่งผลต่อการคุ้มทุนของโครงการต่างกันด้วยเช่นกัน ดังนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผ่านมาทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเชิญชวนและรับฟัง ความคิดเห็นของชาวต่างชาติเท่านั้น เรามีเวลาอีกประมาณเกือบ ๒ ปีครับท่านประธาน เราจะประมูลโครงการนี้ในช่วงปลายปี ๒๕๖๘ ดังนั้นระหว่างนี้ ๒ ปีเป็นระยะเวลาที่รัฐบาลยัง สามารถปรับเปลี่ยนโครงการให้มีความเหมาะสมและสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามา ร่วมประมูลให้ได้มากที่สุดได้ เพราะเมื่อมีการประมูลที่กว้างขวางและมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดกับพี่น้องคนไทยและพี่น้องภาคใต้อย่างแน่นอนครับ ท่านประธาน
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในประเด็นสุดท้าย เรื่องการแข่งขันกับเส้นทางการเดินเรือของสิงคโปร์ ผมอยากชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตตามกราฟในภาพอย่างที่เห็นครับท่านประธาน ตัวเลขในกราฟ เป็นสถิติปริมาณตู้สินค้าเปลี่ยนถ่ายที่ท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือสิงคโปร์ดำเนินธุรกิจมานานแล้ว แล้วก็มีปริมาณสินค้าผ่านทางประมาณ ๓๖-๓๗ ล้านตู้มาต่อเนื่องครับท่านประธาน ในช่วง ปีที่ผ่านมาทางสิงคโปร์มีการประเมินว่าจะมีปริมาณสินค้าผ่านทางมากขึ้น จึงเร่งรัดให้เกิด การทำท่าเรือแห่งใหม่ ชื่อท่าเรือ Tuas ครับ ท่าเรือ Tuas เปิดเฟส ๑ ในปี ๒๐๒๒ แล้วก็ ขยายการรองรับการขนส่งที่ท่าเรือสิงคโปร์สูงขึ้น และก็มีการคาดการณ์ว่าท่าเรือ Tuas นี้ เปิดครบสมบูรณ์ในปี ๒๐๔๐ แล้วจะสามารถรองรับการเติบโตหรือว่าจำนวนตู้เพิ่มขึ้นครับ ท่านประธาน จาก ๓๗ ล้านตู้เป็น ๖๕ ล้านตู้ แลนด์บริดจ์ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน แลนด์บริดจ์ ของประเทศไทยในเฟส ๑ ครับท่านประธาน ทั้ง ๒ ท่าเรือรวมกัน เรารองรับ ตู้ขนส่งสินค้านี้ที่ประมาณ ๑๐ ล้านตู้ ๑๐ ล้านตู้ คิดเป็นเพียง ๑ ใน ๓ ของการประเมิน Demand ส่วนเพิ่มที่สิงคโปร์ประเมินไว้ครับท่านประธาน ดังนั้นการเปิดโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อรองรับ ๑๐ ล้านตู้ไม่ใช่การแย่งอุปสงค์ของทางสิงคโปร์ แต่เป็นการเปิดโอกาสทาง เศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยเพื่อรองรับปริมาณความต้องการส่วนเพิ่มที่อาจจะเกิดขึ้นใน พื้นที่ Southeast Asia ของเรา และมากไปกว่านั้นครับท่านประธาน หากเราสามารถทำได้ดี เรายังสามารถขยายโครงการนี้ได้ขึ้นไปอีกถึง ๔๐ ล้านตู้ในปี ๒๕๘๒ เมื่อการดำเนินการ เสร็จสิ้นครบทุกเฟสครับท่านประธาน
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมเห็นชอบการศึกษารายงานฉบับนี้ครับ และอาจจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเรื่องความคุ้มทุนเพิ่มในอนาคตร่วมกันกับเอกชน ที่จะเข้ามาร่วมประมูลกับเรา แต่ผมก็ขอเน้นย้ำครับว่าการทำงานของรัฐบาลที่นำโดย พรรคเพื่อไทย เรามุ่งสร้างโอกาสทางการค้า สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เรามองหาโอกาส เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ครับ แล้วก็อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนและเพื่อน ๆ ในสภา ทุกท่านให้มุ่งมองโอกาสต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศมากกว่าที่จะมองแต่ปัญหา ในทุกโอกาสของรัฐบาล ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เพื่อนสมาชิกครับ ตอนนี้เราปิดการลงชื่อแล้ว เรามีฝ่ายค้านทั้งหมดที่เหลืออีก ๙ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๓ ท่าน เพราะฉะนั้นผมจะปรับสัดส่วนการเรียกเป็น ๓ : ๑ ขอฝ่ายค้าน ๓ ท่านเตรียมตัวนะครับ ท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ และ ท่านศิริกัญญา ตันสกุล เชิญท่านกันต์พงษ์
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตมีนบุรี สะพานสูง พรรคก้าวไกล วันนี้ขอร่วมอภิปรายโครงการแลนด์บริดจ์ จากชื่อโครงการก็คือ แลนด์บริดจ์ แต่ทำไปทำมา อ.เอท กลัวว่ามันจะกลายเป็น Landslide คำว่า Landslide ก็คือแผ่นดินถล่ม ก็กลัว แบบนั้น ทีนี้เหตุการณ์มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ก็เลยขออนุญาตให้ข้อสังเกต แล้วก็เป็น ข้อสงสัย คำว่า Landslide นี้มันก็คือคำว่า Slide ทั้งหมดมี ๕ ตัวอักษร เรามาเริ่มที่ตัวแรก เลยครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ตัวที่ ๑ คือตัว S เราเน้นคำว่า Sustainable Economy ซึ่งก็แปลว่าเป็นการ ทำเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ท่านประธานครับ เราจะยั่งยืน โครงการแลนด์บริดจ์มันมีมา ๓๐๐ ปีแล้ว และนอกจาก ๓๐๐ ปี เมื่อสัก ๕๐ ปีที่ผ่านมาเราก็จะมีโครงการที่เรียกว่า คอคอดกระ หรือเป็นเหมือนกับขุดคลองกระ ซึ่งก็มีการศึกษามาเยอะแยะมากมาย สุดท้ายแล้วจาก ขุดคลองเรามาเปลี่ยนเป็นเรื่องของการสร้างเป็นถนน หรือเป็น Railway ก็คือเป็นการใช้ รถไฟแทน ถามว่ามันจะคุ้มค่าหรือมีความยั่งยืนไหม คำตอบเมื่อสักครู่นี้เรื่องของ GDP มีท่านสมาชิกได้ตอบแล้วครับว่าจะเพิ่มประมาณ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ อ.เอทถามว่ามันคุ้มค่า จริง ๆ ไหม เพราะว่ารายงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานจาก สนข. หรือรายงาน จากสภาพัฒน์ก็ได้บอกแล้วว่ามันจะคุ้มค่าจริงหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ อ.เอท ก็เป็นห่วง เพราะฉะนั้นเราต้องมานั่งคิดให้ดีว่า สุดท้ายแล้วโครงการนี้มันจะทำให้พวกเราที่เป็นผู้ใช้ แรงงานหรือกับดักของคนที่มีรายได้ปานกลางหลุดออกมาจากรายได้ปานกลางไหม อันนี้คือ สิ่งสำคัญครับ เราจะปลดล็อกให้พวกเรามีรายได้ที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาได้ หรือเปล่า นี่คือตัว S แรก เรียกว่า Sustainable Economy เศรษฐกิจแบบยั่งยืน
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ต่อมาตัวที่ ๒ คือตัว L L ในที่นี้คือ Logistic หลายท่านครับ เพื่อนสมาชิก อ.เอท พูดเยอะมากครับ คุ้มทุนไหม หรือเวลามันจะสั้นลงจริงไหม เดี๋ยวเรามาคำนวณกันเลย เรือปกติประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน หรือ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน เรือ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน เราก็จะบรรทุกได้ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ T ก็คือเรื่องของ Twenty Equality เรื่อง Unit ก็คือเป็นเหมือนกับตู้ ๒๐ ฟุต เรือลำหนึ่งสมมุติ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ก็จะมีตู้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตู้ เวลาเอาตู้ขึ้นตู้ลงจาก ฝั่งหนึ่งคืออันดามันไปอีกฝั่งหนึ่งของชุมพร ถ้าเราเอาตู้ขึ้นตู้ลง Load และ Unload รวมกัน ก็ประมาณ ๔ ครั้ง ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง ต่อทั้งหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาขึ้น เอาลง แล้วก็ ผ่านทางรถไฟ เฉลี่ยแล้วประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ยูเอสดอลลาร์ ถ้าไปเปรียบเทียบกับอีกที่หนึ่ง ก็คือที่ช่องแคบมะละกา เขาจะใช้ประมาณ ๓,๐๐๐ หรือประมาณสัก ๑๐๐ ดอลลาร์ ท่านสังเกตไหมว่าค่าใช้จ่ายถูกลงแล้ว นี่คือเฉพาะแค่ค่า Load กับ Unload ทีนี้เรามาคิดต่อ แล้วเวลาล่ะ เวลามันจะคุ้มค่าไหม เราบอกว่ามีเวลาประมาณสัก ๕ วัน ๗ วัน ไม่ต้องอ้อม สมมุติท่าเรือจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง มีเรือมาจอดสัก ๑๐ ลำ เรือ ๑ ลำมีอยู่ ๑๐,๐๐๐ ตู้ ๑๐ ลำก็ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตู้ ๑๐๐,๐๐๐ ตู้ที่ต้องคอยขึ้นลง ๆ เสร็จไม่พอต้องผ่านทาง รถไฟ รถไฟ ๑ ขบวนประมาณ ๕๐๐ TEU หรือ ๕๐๐ ตัวที่เป็นตัว Load ฉะนั้นขบวนหนึ่ง ๕๐๐ ตู้ แต่เรามีรออยู่ ๑๐๐,๐๐๐ ตู้ อ.เอทคำนวณแล้วครับ วันหนึ่งต้องใช้ ๒๐๐ เที่ยว แล้วเราจะเอาเวลาตรงไหน มันจะ Save จริงไหม นี่คืออีกหนึ่งปัจจัย เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิก ถามครับ เวลา Save ไหม ๒. ต้นทุนถูกไหม ๒ อย่างนี้ถ้าเราคำนวณแบบเล่น ๆ ก็ไม่ถูกแล้ว เห็นไหมครับ นี่คือ L ตัวที่ ๒ ที่ อ.เอทอยากที่จะชี้แจง
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ต่อมาตัว I ครับ I คืออะไร I คือ Infrastructure อ.เอทอยากจะแนะนำว่าเรา เอาไปทำอย่างอื่นก่อนดีไหมครับ สนามบินให้ดีขึ้นกว่านี้ดีไหม หรือจะทำระบบที่เป็น Network รถไฟจาก ๑๔ จังหวัดเลยครับ ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ถนนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ระบบราง รถเมล์ครับ ตอนนี้รถเมล์ภาคใต้ถามว่ามีจริงหรือเปล่า นี่คือ สิ่งที่ อ.เอทอยากจะเห็นว่าเราไปทำ Infrastructure อย่างอื่นจะดีกว่าไหม หรือตอนนี้ Infrastructure ที่เราจะทำอีก ปี ๒๕๖๘ ก็คือท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เฟส ๓ เอาอีกแล้ว ทีนี้มีเฟส ๓ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง แล้วมาเจอตรงจังหวัดระนองอีก เจอกับจังหวัดชุมพรอีก เราจะแข่งกันเองไหมครับ นี่คือคำถามหรือข้อสังเกตที่ อ.เอทอยากจะฝากไป
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ต่อมาครับ ๑ ตัวก็คือตัว D D ที่นี้คือ Domestic ครับ Domestic คืออะไร แปลว่าท้องถิ่น เมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิก แม้กระทั่งคณะกรรมาธิการเองก็บอกกับ อ.เอทว่าเรามี การประท้วงเยอะจากพี่น้องประชาชน สิ่งเหล่านั้นที่เขาประท้วงเพราะอะไรครับ เพราะพี่น้อง ในคนท้องถิ่นเขาไม่อยากได้ ถามว่าเขาอยากได้อะไร แน่นอนครับ เรื่องของเทคโนโลยีการ ทำยาง เรื่องของการเกษตร เรื่องของภาระ เรื่องของการใช้น้ำถูกไหมครับ เรื่องของพลังงาน ในอนาคต เมื่อสักครู่นี้ท่าน สส. ก็คือพิธาก็ได้พูดไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นเรามาลงทุน ด้านอื่น ยังมีเงินเหลืออีกมหาศาล นี่คือสิ่งที่ อ.เอทอยากที่จะบอกว่าเราได้ปรึกษาแล้วหรือยัง กับคนที่เป็นพี่น้องประชาชนว่าเขาอยากได้จริงไหม หรือเราแค่อยากทำเพื่อเอาใจนักลงทุน นี่คือสิ่งที่อยากจะเน้น เพราะว่าตอนนี้นายกรัฐมนตรีของเราก็ไป Salesman ขายทุกที่ งาน BI ล่าสุดที่เขาครบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาก็ยังคงไปนำเสนออยู่ ขออนุญาตครับ นำเสนอให้กับ พี่น้องที่เป็นท้องถิ่นก่อน นี่คือตัว D ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ SLIDE ตัว E สุดท้ายก็คือ Environment ซึ่งก็แปลว่าสิ่งแวดล้อม อันนี้สำคัญครับ เมื่อสักครู่เพื่อน สส. ร่มธรรมก็ได้พูดมาครับ ท่านครับ ถ้าเราจะทำท่าเรือ ต้องถมดินฝั่งซ้ายและฝั่งขวาทางตะวันออก ตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอันดามันหรือจะอ่าว ไทย ถ้าเป็นฝั่งอันดามันต้องถมอีก ๗,๐๐๐ ไร่ ถ้าฝั่งของอ่าวไทยอีกประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ ถมที่ลงไปในทะเล ทีนี้ใครเดือดร้อน ปลาใช่ไหมครับ สิ่งแวดล้อมใช่ไหมครับ ป่าชายเลน ใช่ไหมครับ อีกเป็นหมื่น ๆ ไร่ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้สิ่งแวดล้อม ทำให้การท่องเที่ยว GDP ของภาคใต้ ๑.๓ ล้านล้านบาทเราดีอยู่แล้ว เสริมเกี่ยวกับอะไรเข้าไปครับ เสริมเกี่ยวกับ เรื่องของการท่องเที่ยวเข้าไป เสริมเรื่องการเกษตรเข้าไป อ.เอทคิดว่าน่าจะดีกว่า อย่างมหาศาล เพราะภาคใต้ก็คือไข่มุก ก็คือเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการที่จะท่องเที่ยว หนึ่งในประเทศไทย ฉะนั้นสุดท้ายนี้ อ.เอทอยากที่จะเห็นแลนด์บริดจ์คือการลงทุนแห่งชาติ ไม่ใช่หายนะของชาติในอนาคต ขอบพระคุณครับ Respect
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณจุลพงศ์ อยู่เกษ ครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สวัสดีท่านกรรมาธิการทุกท่าน ขอบคุณในความร่วมมือตลอดเวลาที่เราเป็นกรรมาธิการ ร่วมกันมา ผมได้อ่านรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่นำเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ เราเห็นว่ามีหลายประเด็นในรายงานที่เพื่อนสมาชิกท่านอื่น ๆ ได้อภิปรายไปแล้ว ผมเข้าใจดีว่า โครงการแลนด์บริดจ์นี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ โครงการนี้ จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นกับรัฐบาล รัฐบาลสามารถทำให้โครงการนี้เกิดก็ได้ หรือทำให้ไม่เกิดก็ได้ ก่อนอื่นผมต้องขอย้ำว่าพรรคก้าวไกลเราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาภาคใต้ แต่ที่ผมลาออกจาก กรรมาธิการเพราะผมไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะผมเป็นเด็กอย่างที่ ท่านประธานคณะกรรมาธิการบอกกับผู้สื่อข่าวว่าไม่อยากทะเลาะกับเด็ก ผมหวังว่าท่านคง หมายถึงผม แล้วทำไมเราถึงไม่เห็นด้วย ท่านประธานครับ เวลาที่ใครได้รับมอบหมายให้ทำ รายงานหรือศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเราจะต้องศึกษาให้รอบด้าน คนทำรายงานต้องทำใจ กลาง ๆ ทำการศึกษารอบด้าน อย่าไปตั้งคำตอบไว้ก่อนแล้วค่อยหาข้อมูลที่สนับสนุนคำตอบ มาใส่ไว้ในรายงานครับ สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีรายงานการศึกษาของหน่วยงานสำคัญ ของรัฐบาล ๒ หน่วยคือ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งถือเป็น มันสมองของรัฐบาล และอีกหน่วยงานหนึ่งคือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและ จราจร หรือ สนข. สภาพัฒน์ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาและผลสรุปออกมาว่าไม่คุ้มทุนกับ การลงทุน ส่วน สนข. จ้างเอกชนศึกษาและผลการศึกษาออกมาว่าคุ้มทุน ในบรรณานุกรม หรือการอ้างอิงเอกสารที่อยู่ตอนท้ายรายงานทำไมถึงอ้างแต่รายงานการศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ของ สนข. เท่านั้น ทำไมเลือกเอาผลการศึกษาของ สนข. มาใส่ในรายงานนี้ และโยนผลการศึกษาของสภาพัฒน์ทิ้งไปครับ ทำไมไม่นำผลการศึกษาของทั้ง ๒ หน่วยงาน มาใส่ในรายงานเพื่อเปรียบเทียบกัน และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคณะกรรมาธิการจะตั้ง ข้อสังเกตหรือข้อเสนอเช่นใดก็เขียนไว้ในรายงานก็ได้ รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า รายงานผล การพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง โครงการแลนด์บริดจ์ ผมขอตั้งคำถามว่าใครศึกษาครับ รายงานนี้มาจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการเอง หรือรายงานนี้เลือกเอาผลการศึกษาของ สนข. มาใส่ครับ ตอนประชุมกรรมาธิการครั้งแรก เพื่อนสมาชิกที่เป็นกรรมาธิการจาก พรรคก้าวไกลของผมก็เสนอต่อท่านประธานว่าให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อศึกษาในเรื่องย่อยเป็นเรื่อง ๆ ไปเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาของสภาพัฒน์ และ สนข. แต่การร้องขอนั้นก็ถูกปฏิเสธ เลิกเอาตัวเลข GDP มาอ้างถึงการเจริญเติบโตของ ประเทศเถอะครับ เพราะตัวเลข GDP ไม่ได้เป็นตัวเลขชี้ความเหลื่อมล้ำหรือชี้ความสุขของ ประชาชน เลิกความคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเสียทีครับ มันล้าสมัยมากแล้ว โครงการ EEC เป็นอย่างไรเห็นกันอยู่ พื้นที่ประเทศไทยอื่น ๆ ไม่ใช่พื้นที่ที่ต้องดูแลเหมือนกันหรือครับ คุ้มหรือไม่คุ้ม มีเรือกี่ลำมันเป็นตัวเลขที่จำเป็นที่ต้องมาเทียบเคียงให้เห็นกันนะครับ เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปหลายประเด็นแล้ว ผมขอลงไป Macro ในรายงานสักนิดครับ ผมจะขอยกตัวอย่างตัวเลขคณิตศาสตร์ที่ที่ปรึกษา สนข. ทำตัวเลขขึ้นมาแล้วใส่ไว้ในรายงาน ว่าผลตอบแทนทางการเงิน หรือ FIRR ที่ ๘.๖๒ เปอร์เซ็นต์นั้นคุ้มทุน ๒๔ ปี ในที่ประชุม คณะกรรมาธิการผมขอตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิรายปีจากที่ปรึกษามาคำนวณ ขอแค่ ๓ ปี นะครับ นับแต่วันที่เปิดโครงการ ไม่ต้องถึง ๒๔ ปี แต่ที่ปรึกษาก็ให้คำตอบผมไม่ได้ ทำไมผม ต้องขอตัวเลขเงินสดสุทธิครับ ท่านที่ทำงานการเงินจะรู้เลยเพราะตัวเลขกระแสเงินสดสุทธิ คือตัวเลขที่นำไปคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน แล้วตัวเลขกระแสสุทธิมาจากไหน ตัวเลขกระแสสุทธิก็คือมาจากรายได้ของโครงการ เช่น สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ตัวเลข กระแสสุทธิคือรายได้ที่มาจากค่าผ่านแลนด์บริดจ์และค่าบริการอื่น ๆ นะครับ ตัวเลข ค่าผ่านทางและค่าบริการอื่น ๆ มาจากไหน ก็มาจากการคาดการณ์ว่ามีเรือสักกี่ลำที่จะมาใช้ แลนด์บริดจ์ ตรงนี้ที่ทำให้เราเห็นว่าการคาดการณ์ตัวเลขของสายการเดินเรือมาใช้ แลนด์บริดจ์นั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีความไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ในเมื่อท่านมีตัวเลข ตอบแทนทางการเงิน FIRR ทำไมท่านจะตอบที่มาของตัวเลขนี้ไม่ได้ครับ แล้วท่านนายกรัฐมนตรี ยกเอาตัวเลขนี้ไปขายโครงการ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีคงเชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลข ที่ถูกต้อง ท่านประธาน เวลาเราซื้อของเราดูที่ไหนครับ เพราะเราเชื่อใจ Salesman ใช่ไหม เราถึงซื้อ ท่านนายกรัฐมนตรีเองท่านก็บอกว่าท่านเป็น Salesman ประเทศไทย เพราะฉะนั้น คนที่เขาจะซื้อนี้เขาต้องมีความเชื่อถือในท่านนายกรัฐมนตรีและตัวเลขครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมคำนวณดู ให้เทียบระหว่างจำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการขนส่งบนโครงการแลนด์บริดจ์ ผมต้องขอ เวลาเกินนิดหนึ่งครับท่านประธาน จำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์ กับจำนวนคาร์บอนที่การขนส่งทางเรือโดยช่องแคบมะละกา การขนส่งทางแลนด์บริดจ์ผลิต คาร์บอนสูงกว่าการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาถึง ๑๔ เท่า อันนี้ผมไม่ได้คำนวณเอง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมคำนวณ ผมถามท่านกรรมาธิการที่ทราบเกี่ยวกับการกู้เงิน ระหว่างประเทศว่าสภาพตลาดการกู้เงิน สภาพนักลงทุนในขณะนี้ โครงการที่ผลิตคาร์บอนเครดิต มากมายขนาดนี้มีใครเขาจะให้กู้ครับ ผมเรียนถามตรง ๆ เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถรับรอง รายงานฉบับนี้ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์นี้ได้
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน เลิกพูดตัวเลขครับ เลิกพูดถึงความคุ้มทุนครับ เรามาพูดถึงความเป็นมนุษย์ดีไหมครับ ตั้งแต่โครงการนี้เกิดขึ้นมามีการวัดแนวทาง ผมลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการ ประชาชนมาบ่นว่านอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่รู้จะตายที่ไหน นี่คือความเป็นมนุษย์ของประชาชนในโครงการที่เราจะต้องดูแลมากกว่าการคุ้มทางการเงิน มากกว่าสิ่งอื่นใดครับ ขออีกนิดเดียวครับ ในรายงานนี้เอาเข้าจริง ๆ ผมก็ถึงบางอ้อว่าทำไม ถึงมีการเขียนรายงานนี้ออกมา เพราะในข้อเสนอแนะในรายงานนี้มีข้อเสนอแนะว่าจะต้อง ไปทำการศึกษาอีกประมาณ ๒๐ เรื่อง หมายความว่าเราจะต้องตั้งงบประมาณไปใช้ ในการศึกษาอีก ๒๐ เรื่องใช่หรือไม่ เฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่ผ่านมานี้เราใช้ไป ๖๘ ล้านบาทแล้วที่ทำการศึกษา แล้วเราจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปทำการศึกษาอีก ๒๐ เรื่องหรือครับ เพราะฉะนั้นผมเองไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณศิริกัญญา ตันสกุล ครับ
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉัน เป็นอดีตกรรมาธิการของกรรมาธิการที่ศึกษาแลนด์บริดจ์ฉบับนี้ค่ะ แล้วก็เหตุผลที่ลาออก เป็นเพราะว่าไม่สามารถที่จะให้ความเห็นกับตัวรายงานฉบับนี้ซึ่งแทบจะไม่ได้มีการแก้ไข อะไรเลยจากวันที่ดิฉันได้ลาออกมา ท่านประธานที่เคารพ จริง ๆ เพื่อนสมาชิกได้พูดว่าทำไม การศึกษานี้ถึงได้มีธงมาก่อนล่วงหน้า แต่ดิฉันก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ทางคณะกรรมาธิการ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่มาจากฟากฝั่งรัฐบาลมีธงมาจากบ้านแล้วว่าเราควรจะทำโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเพราะว่ามติ ครม. เองก็ดี หรือว่าเป็นนโยบายที่กลายเป็นนโยบายหลักของ รัฐบาลไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภาก็ตาม แต่สิ่งที่เราจำเป็น ที่จะต้องกังวลใจถึงแม้ว่าเราจะมีธงแล้วก็ตาม ก็ต้องดูว่าผลการศึกษาที่นำมาสู่ธงนั้นมันถูก ศึกษามาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วก็ถูกต้อง มีสมมุติฐานที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ดิฉันก็ปฏิบัติ หน้าที่กรรมาธิการตามปกติที่จำเป็นที่จะต้องมีการสอบถามกับทางหน่วยงานที่มีหน้าที่ รับผิดชอบในการทำรายงานของ สนข. ที่เป็นจุดกำเนิดเป็นสารตั้งต้นของรายงานฉบับนี้ อย่างถี่ถ้วนก่อนเพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าธงนำที่ทางฝั่งรัฐบาลนั้นได้มอบให้มานั้น เราจะสามารถเดินตามธงนี้ได้อย่างมั่นใจได้อย่างไร แต่ดิฉันกลับไม่ได้คำตอบที่ดิฉันต้องการ แล้วก็หลายครั้ง หลายวาระที่ได้มีการสอบถามก็ถูกตัดการสอบถาม แล้วก็นำไปสู่การที่ สุดท้ายข้อมูลคำตอบยังไม่ได้ แต่ว่าสุดท้ายกรรมาธิการก็จบเสียก่อนค่ะ ที่ร้ายแรงกว่านั้น รายงานฉบับนี้กลับใช้ตัวรายงาน สนข. โดยที่ไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วก็ เรียกได้ว่าก๊อบปี้ผิด ก๊อบปี้ถูก ยกตัวอย่างเช่น หน้า ๒๓ หัวข้อที่ ๒.๖ การศึกษาเปรียบเทียบ โครงการคลองไทยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเปิดฉากมาอย่างเร้าใจว่าเราคงจะได้เรียนรู้อะไร จากการเปรียบเทียบทั้ง ๒ โครงการนี้ แต่สิ่งที่ได้ก๊อบปี้มาจากรายงานของ สนข. ของรายงาน ฉบับนี้ก็คือการทำ Literature Review หรือว่าการทบทวนวรรณกรรม ก็คือไปทบทวนวรรณกรรมของรายงานของสภาพัฒน์ได้ศึกษาทั้ง ๔ แนวทางไว้แล้ว ทั้งกรณีฐาน กรณีแลนด์บริดจ์ กรณีที่เป็นคลองไทย แล้วก็กรณี GMS และในรายงาน ฉบับนั้นพูดชัดเจนว่าทางเลือกที่ ๒ ก็คือโครงการแลนด์บริดจ์กับโครงการคลองไทยไม่คุ้มค่า แต่รายงานฉบับนี้ก็ตัดมาเพียงแค่เท่านี้แล้วก็ปิดจบ ไม่ได้มีการอภิปรายใดๆ ว่าศึกษา เปรียบเทียบแล้วเกิดอะไรขึ้น อย่างที่มีกรรมาธิการหลายท่านพูดถึงว่ารายงานฉบับนี้มันยัง ไม่ชัดเจน แต่ที่มันร้ายแรงก็คือว่ามันเป็นการตัดแปะความเห็นของหลาย ๆ หน่วยงานที่ได้ เข้ามาให้คำชี้แจงกับทางกรรมาธิการ โดยที่กรรมาธิการเองไม่ได้พยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น หน้า ๕๒-๕๗ ที่เป็นความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ณ วันนั้น ที่ภาคเอกชนเข้ามาถาม ทางกรรมาธิการก็ไม่ได้มีคำตอบให้ สนข. ก็ไม่ได้มีคำตอบให้กับ ภาคเอกชนเช่นเดียวกัน สุดท้ายดิฉันต้องมาตามสอบถามในหลาย ๆ ประเด็น จนถึงทุกวันนี้ ดิฉันก็ยังตามสอบถามอยู่ ในเมื่อพวกท่านไม่ให้ดิฉันสอบถามในคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ดิฉันก็จะไปสอบถามในที่อื่น ๆ ในที่สาธารณะ ตามสื่อต่าง ๆ รวมไปถึงกรรมาธิการ งบประมาณค่ะ แล้วดิฉันได้คำตอบเพิ่มเติมจากที่พวกท่าน กรรมาธิการหลาย ๆ ท่านบอกว่า ดิฉันไม่ได้ตั้งใจฟัง ไม่ได้เข้าประชุม หรือว่ามาสาย แต่คนอื่นเข้าใจกันหมด แต่ว่าลองมาดู คำถามที่ดิฉันได้ถามกับทาง สนข. แล้วได้คำตอบมาเพิ่มเติมว่าเป็นสิ่งที่ท่านทราบหรือไม่ ๗ คำถามยังได้คำตอบไม่หมด แต่ว่าเรามาดูกันว่ามีคำตอบอะไรที่เพิ่มเติมมาบ้าง
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามที่ ๑ ดิฉันก็พูดถึง เรื่องของเส้นทางเดินเรือว่าเส้นทางเดินเรือที่เป็นคู่ระหว่างเอเชียใต้กับยุโรป-แอฟริกา- ตะวันออกกลางเขาจะมาใช้แลนด์บริดจ์ทำไม เราได้คำตอบแล้วค่ะท่านประธาน ในที่สุด ทาง สนข. ก็ได้มีการส่งข้อมูลให้กับทางกรรมาธิการงบประมาณ แล้วก็ทำให้ดิฉันได้ตัวเลข มาดู ณ วันนี้ค่ะ ปรากฏว่าเวลาที่ สนข. ทำตัวรายงานกลับไม่ได้พิจารณาเส้นทางที่เป็น เส้นทางโดยตรงที่เรือแม่จะเดินทางผ่าน ยกตัวอย่างเช่นเส้นทางเอเชียใต้-ยุโรป ก็พิจารณา เฉพาะเจนไน-รอตเตอร์ดัม แล้วก็บอกว่าเจนไน-รอตเตอร์ดัมไม่มีเส้นทางตรงหรือว่า Direct Service ข้างล่างเจนไน-รอตเตอร์ดัมก็จะพูดถึงเรื่อง Existing through ก็คือ สายเดินเรือตรงที่ไม่ได้มีการถ่ายลำ อันที่ ๒ Existing Transshipment ก็คือการเดินทางของ เส้นทางเดินเรือที่มีการถ่ายลำและ LB ก็คือย่อมาจาก Landbridge ค่ะท่านประธาน ท่านประธานลองดู Existing Transshipment ที่เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ระยะระหว่าง Land Bridge กับ Transshipment ท่านประธานจะเห็นว่าระยะทางในการที่เอามาใช้นี้ใช้ถึง ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร นั่นก็คือหมายความว่าเส้นทางจากยุโรปมาเอเชียใต้หรือเอเชียใต้มายุโรป จะต้องมา Transship อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ก่อน ซึ่งทำให้เส้นทางมันถึงได้ยาวนาน แต่อย่าง ที่ดิฉันถาม ถามแล้วถามอีกว่าทำไมถึงไม่ใช่โคลัมโบ แต่วันนี้ก็ได้รับคำตอบแล้วว่า เพราะว่า เอาตัวเจนไนมาคิด แล้วก็เลยไม่ได้เอาโคลัมโบมาเป็นท่าเรือสำหรับการถ่ายลำ ที่ตลก มากกว่านั้น ก็คือเส้นทางเอเชียใต้กับมิดเดิลอีสต์พิจารณาจากคู่ Port ก็คือ Chennai to Bellary หรือว่า to Bellary มา Chennai ปรากฏว่าตัวเลขมันผิดแน่ ๆ ก็คือค่าระวางเรือ หรือว่า Ocean Freight คิดในกรณีที่เป็น Transshipment ไว้แค่ 200 U.S. Dollar ต่อตู้ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ระยะทางมันยาวกว่าการที่เรือแม่วิ่งตรงเป็น Direct Service ถึง ๒ เท่า แต่ว่าค่าระวางกลับลดลง ที่สำคัญค่ะท่านประธาน พอไปเป็นแลนด์บริดจ์ลดลงกว่าเดิมอีก จากถ่ายลำมาประเทศสิงคโปร์ ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร 200 U.S. Dollar พอมาแลนด์บริดจ์ ๘,๐๐๐ กิโลเมตรลดลงมาอีก เหลือแค่ 163 U.S. Dollar ต่อตู้ แบบนี้ดิฉันก็ไม่รู้ว่า ความน่าเชื่อถือยังจะเหลืออยู่หรือไม่ ส่วนเซาท์เอเชีย แอฟริกา ก็ไม่ได้บอกว่าแอฟริกาเป็น Port ไหน ถ้าเส้นทางนี้สรุปแล้วมันไม่ได้มีการเกิดขึ้นจริงหรือว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้มีใครมาใช้ เส้นทางนี้จริง ๆ ปริมาณสินค้าที่เราประมาณการไว้นี้จะหายไปประมาณ ๙ ล้านตู้ต่อปี เส้นทางเจ้าปัญหาเส้นทางต่อมาก็คือในเรื่องของเอเชียตะวันออกกับออสเตรเลีย อันนี้ ผิดจัง ๆ เลยท่านประธาน จากข้อมูลที่ทาง สนข. ให้กับทางกรรมาธิการงบประมาณมานี้ เราจะเห็นว่าเส้นทางที่เรียกว่า Existing Transshipment ก็คือการถ่ายลำที่มีอยู่ปกติไม่มี ปกติเขาก็คือใช้เรือแม่วิ่งตรงกันอย่างที่ดิฉันได้อภิปรายไปหลายครั้งหลายหนและพยายาม หาคำตอบจากทาง สนข. ว่าทำไมถึงรวมเส้นทางนี้มา วันนี้ สนข. ก็เอามาให้ดูเองว่า จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีใครเขาถ่ายลำกันหรอกระหว่างออสเตรเลียกับเอเชียตะวันออก ที่สำคัญ ที่สุดก็คือเส้นทางที่เรือแม่เดินเป็น Direct Service เป็นเส้นทางบริการตรงอยู่นี้ใช้ระยะเวลา น้อยกว่าและใช้ต้นทุนน้อยกว่า ถ้าเป็นไปตามที่ สนข. ใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเส้นทาง เดินเรือ เส้นทางนี้มันไม่ควรจะต้องมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะให้ดิฉันต้องถามไม่รู้กี่รอบ ทั้งในห้องกรรมาธิการ ทั้งกับสื่อสาธารณะ กับกรรมาธิการ กับทาง สนข. ในห้องกรรมาธิการ งบประมาณตั้งหลายรอบทำไม ในเมื่อในที่สุดตัวเลขมันก็ฟ้องแล้วว่าคุณหยิบมาผิด เส้นทาง เดินเรือนี้มันไม่ควรจะต้องรวมตั้งแต่ต้น และถ้าไม่รวมเส้นทางนี้หายไป Net Net ค่ะ ท่านประธาน ๒.๕ ล้านตู้ต่อปี นี่ยังไม่รวมเรื่องของอาเซียนอะไรอีกนะคะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ คำตอบอะไรเพิ่มเติม ที่น่ากังวลค่ะ คำถามถัดมา คำถามที่ ๖ เรื่องของการคำนวณการเติบโต ของท่าเรือ วันนั้นก็เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงไปใช้การเติบโตของท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือตันจุง เปเลปาส ซึ่งทำออกมาแล้วสูงมาก ทาง สนข. ได้ให้คำตอบในห้องกรรมาธิการงบประมาณ บอกว่าไม่ได้ใช้ ทั้ง ๆ ที่ในตัวรายงานได้เขียนชัดเจนว่า ใช้การเติบโตจากท่าเรืออื่น ๆ มา ในการประมาณการ บอกว่าไม่ได้ใช้แล้วค่ะ ใช้ GDP Growth แทน ก็คือการเติบโตของ GDP ของประเทศคู่ค้ามาแทน ซึ่งแน่นอนว่ามันประหลาด เพราะว่าจริง ๆ ก็ใช้ตัวการเติบโตของ Trade Volume ก็ได้แต่ท่านไม่ใช้ ท่านมาใช้ GDP Growth แต่สิ่งที่ประหลาดกว่านั้นก็คือ ถ้าดูปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือมะละกาเราจะเห็นว่ามันโตเพียงแค่ ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แต่การเติบโตของสินค้าที่มาผ่านท่าเรือของแลนด์บริดจ์กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่าในช่วง ๕ ปี แบบนี้ดิฉันไม่รู้ว่ายังจะเชื่อตัวรายงาน สนข. ได้หรือไม่ และรายงานฉบับนี้ที่อ้างอิง รายงาน สนข. ไปเต็ม ๆ แบบนี้แล้วเรายังจะเชื่ออะไรได้อยู่หรือเปล่า
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อันสุดท้าย การประเมินความคุ้มค่า แล้วก็มีตัวความคุ้มค่าทางการเงินที่ สุดยอด คุ้มมาก สามารถคืนทุนได้ภายใน ๒๔ ปี โดยที่มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ ๘.๖๒ เปอร์เซ็นต์ เราก็ได้ Excel มา สุดท้ายและท้ายที่สุดได้ถึงแม้จะไม่ได้จาก คณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์แต่ก็ได้มาจากกรรมาธิการงบประมาณค่ะ แล้วปรากฏว่ารายได้ ที่เป็นรายได้จากท่าเรือ Over มาก สูงมากค่ะ ก็คือปีแรกบอกว่าจะได้รายได้จากท่าเรือ ๕๘,๐๐๐ ล้านบาท อันนี้ดิฉันคิดว่ากรรมาธิการที่นั่งอยู่ข้างบนไม่มีใครทราบ ยกเว้นที่มาจาก สนข. ถึงจะทราบเรื่องนี้ เพราะว่าในรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ ๒ ยังไม่มีเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ดิฉันอ่านแล้วไม่มีเรื่องของรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน แต่วันนี้มาแล้วค่ะ ๕๘,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท และมาจากรายได้ของท่าเรือ เพียงแค่ ๘,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทที่มาจากการขายน้ำมันนี้มันจะ เป็นไปได้อย่างไร ท่านประธานลองคิดดูถ้าเราไม่มีโรงกลั่นเอง กำไรที่เราจะได้จากการขาย น้ำมันต่อ ๑ ตันอยู่ที่ประมาณแค่ ๑๐ ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น ถ้าจะกำไร ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็คือจะต้องมีการขายน้ำมันประมาณ ๑๔๐ ล้านตันต่อปี ๑๔๐ ล้านตันต่อปี คิดเป็น ๓ เท่า ที่สิงคโปร์ขายอยู่ตอนนี้ ๔๕ ล้านตันต่อปีค่ะท่านประธาน ก็หมดคำจะพูดว่าแล้วเราศึกษา อะไรกันอยู่ รายงานฉบับนี้กำลังรับรองความผิดพลาดอะไรกันอยู่ แล้วดิฉันกังวลมากจริง ๆ ท่านอาจจะไม่กังวล ไม่อาย แต่ดิฉันอายเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องออกไปพูดกับต่างชาติ เรื่องโครงการนี้โดยที่เนื้อในมันเป็นแบบนี้ค่ะท่านประธาน จริง ๆ แล้วไม่ได้ทำเพื่อที่จะเป็นฝ่ายค้านแล้วต้องค้านทุกเรื่อง แต่ว่าเราก็ยังต้องรักษา ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีของเราเอาไว้บ้างค่ะ และดิฉันเองไม่ได้มีปัญหา กับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และยินดีพร้อมใจถ้าจะมีการรื้อรายงานของ สนข. และรื้อรายงาน ของกรรมาธิการใหม่อีกครั้งหนึ่งดิฉันก็จะยินดีมาก ๆ และถ้าเกิดสามารถที่จะศึกษาใหม่ มีแนวทางใหม่ขึ้นมาแล้วมันคุ้มค่าดิฉันก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการใหม่นั้นค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ทางกรรมาธิการ จะขอชี้แจงครับ ขอเชิญคุณจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ครับ
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ผม จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ เป็นในส่วนของ สนข. ครับ เมื่อสักครู่มีประเด็นที่ได้มีการชี้แจง ในเรื่องต่าง ๆ สำหรับตัวรายงาน ผมขออนุญาตพูดถึงรายงานของ สนข. เลย ซึ่งรายงานของ สนข. เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกรรมาธิการชุดนี้ได้นำมาใช้ในการศึกษา ก่อนอื่นในตัวรายงานของ สนข. ในเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์นี้เรามองว่าประเด็นสำคัญของการพัฒนาตัวโครงการ แลนด์บริดจ์ ก็คือตัวยุทธศาสตร์ของการเป็นตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย เรื่องแลนด์บริดจ์ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมาอย่างน้อย ๆ ก็ ๕๐ ปี เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบันทำไม ตัวโครงการแลนด์บริดจ์ถึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ปัจจุบันถ้าเกิดทุกท่านเห็นใน รายงานของกรรมาธิการหรือในรายงานของ สนข. เราจะเห็นว่าปัญหาเรื่องของการติดขัด ในช่องแคบมะละกาเกิดขึ้น แล้วก็เริ่มมีปัญหาที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการที่สายเรือ จำเป็นจะต้องหาเส้นทางสำรองมันเริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของการมีปัญหาของประเทศที่เป็นมหาอำนาจ หลาย ๆ ที่ อย่างเช่นที่เราเห็นว่าถ้าเกิดมีในเรื่องของการ Attack ในเรื่องของการมีปัญหากับ เส้นทางเดินเรือก็จะทำให้เกิดปัญหาทั่วโลก อันนี้ก็เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ก็คือความพร้อมในเรื่องของด้าน IT ดังนั้นตัวโครงการนี้ก็เลย เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านักลงทุนก็เริ่มมีการติดต่อเข้ามา ในเรื่องของการดูพื้นที่แล้วก็ดูเรื่องของรายงาน ซึ่งในรายงานของ สนข. ที่ทางท่านผู้อภิปราย ในเรื่องของการเปรียบเทียบในแนวเส้นทาง ขออนุญาตที่เอ่ยนามท่านสุรเชษฐ์ สนข. เคยได้ ชี้แจงในเรื่องของตัว Assumption ต่าง ๆ เมื่อสักครู่ที่ทางผู้อภิปรายได้เอามาชี้ให้เห็นว่า ในเรื่องของการวิ่งที่เป็นวิ่ง Through ไม่ได้มีการเอามาคิดในตาราง เนื่องจากว่าเราตัด ในส่วนนั้นออกไปตั้งแต่แรกแล้ว อย่างเช่นในการขนส่งใน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มี Service ที่เป็น Through Service อยู่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้เอาส่วน Service ๕๐ เปอร์เซ็นต์ตรงนั้นมาคิด เรามองว่าใน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ที่จำเป็นจะต้องมีการทำ Transshipment เกิดขึ้น ในสิงคโปร์หรือในท่าเรืออื่น ๆ อย่างช่องแคบมะละกา ถ้าเกิดมาใช้แลนด์บริดจ์ Cost จะถูกลงหรือว่าแพงขึ้น ระยะเวลาที่ใช้จะมากหรือน้อยลง ซึ่งเหล่านี้ได้เอาไปคิดว่าแล้ว สัดส่วนจริง ๆ ที่จะแบ่งมาใช้แลนด์บริดจ์เป็นเท่าไร วันนั้นถ้าท่านได้ฟังท่านก็อาจจะได้ภาพ ที่ชัดกว่านี้ แล้วก็รวมถึงว่าประเด็นที่ว่าทำไมไม่ใช้ Port Colombo ในการทำเป็น Transshipment Hub ถ้าท่านดูข้อมูลในปัจจุบันในเรื่องของการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน แอฟริกามาเซาท์เอเชีย หรือว่าทางยุโรปไปเซาท์เอเชียก็ใช้ท่าเรือสิงคโปร์เป็น Hub ถ้าเกิด ท่านดูข้อมูลสักนิด ท่าเรือโคลัมโบเราเป็นใช้เป็น Hub ที่ทำ Transshipment เพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แล้วท่านมาบอกว่าแล้วจะมีคนมาส่งแลนด์บริดจ์ไหม ทำไมไม่ใช้ โคลัมโบเป็น Hub แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วโคลัมโบก็ไม่ได้เป็น Hub ในการขนส่ง ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ท่าเรือที่มะละกาเป็น Hub อยู่ดี
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ขออนุญาตตอบเรื่องข้อสงสัยประเด็นอื่น ๆ นะครับ ในคณะกรรมาธิการ สนข. เราชี้แจงชัดเจนว่า Key Success Factor ของตัวโครงการนี้ประกอบด้วย ๕ เรื่อง
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็คือเรื่องของ Operation ทำไมเราถึงบอกว่ามันจำเป็นต้อง เป็น One Port Two Sides ทำไมต้องพิจารณาตัวโครงการแลนด์บริดจ์เป็นท่าเรือเดียว แล้วก็มีประตูออก ๒ ฝั่ง เนื่องจากเราไปศึกษาประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ในอดีตเรามี ในเรื่องของการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเองก็ตามหรือแลนด์บริดจ์ ตัวเส้นทาง สงขลา-ปากบาราก็ดี ในอดีตที่ผ่านมาภาครัฐวาง Position ไว้ว่าภาครัฐเป็นผู้ลงทุน แล้วค่อย ไปหาลูกค้า แล้วก็ได้มีการแยกส่วนในการพัฒนา อย่างเช่นในเรื่องของการก่อสร้างถนน กรมทางหลวงก็เป็นคนก่อสร้าง ในเรื่องของการพัฒนาท่าเรือก็จะเป็นกรมเจ้าท่าในการ ดำเนินการ เราเห็นปัญหาตรงนี้ว่าเวลาเราพูดถึงแลนด์บริดจ์มันจำเป็นต้องมีองค์ประกอบ ทั้งหมดพร้อมกัน ดังนั้นในโครงการการศึกษาแลนด์บริดจ์ของ สนข. นี้เราก็ต้องเอาทั้งท่าเรือ ทั้งการเชื่อมต่อรถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ ๒ ฝั่งรวมเป็นโครงการเดียว และจำเป็นต้องมี Operator รายเดียวโครงการนี้ถึงจะสำเร็จ อันนี้ก็คือ Concept ว่าทำไม Operation จึงเป็นสิ่งสำคัญ
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เรื่องของนักลงทุน เป็น Key Success Factor หนึ่ง เนื่องจาก ในการที่เราบอกว่าคนที่จะมาลงทุนจำเป็นจะต้องมี Demand จำเป็นจะต้องมีลูกค้าอยู่ในมือ ดังนั้นนักลงทุนที่เรามองว่าเป็น Potential สำหรับการลงทุนโครงการนี้ก็จำเป็นต้องมี Liner จำเป็นต้องมีผู้ให้บริการการเดินเรือที่เป็นระดับโลกเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ รวมถึง ผู้ที่เป็น Port Operator ผู้บริหารท่าเรือก็จำเป็นจะต้องรวมกันมาเป็นกลุ่มสำหรับนักลงทุน แล้วก็มาบริหารในโครงการนี้
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เรื่องกฎหมาย นักกฎหมายปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากว่าโครงการแลนด์บริดจ์เรามีส่วนประกอบด้วยกันทั้ง ๓ ส่วน ไม่มีหน่วยงานไหนที่สามารถเป็นเจ้าของโครงการได้เพียงแค่หน่วยงานเดียว จำเป็นต้องมี กฎหมายในการพัฒนาพื้นที่ SEC ทำไมถึงต้องมี SEC เนื่องจากว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็น แค่ ๑ ส่วนประกอบในการพัฒนาพื้นที่ SEC ดังนั้นเราก็จะมองว่าในส่วนของการพัฒนา SEC เป็นภาพใหญ่ที่สำคัญ แล้วก็โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นส่วนที่จะเอื้อทำให้เกิดการพัฒนา ตรงนั้น
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
และอีก ๒ ประเด็นก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม อันนี้อาจจะตอบผู้อภิปราย หลาย ๆ ท่าน ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำมาตรการต่าง ๆ ซึ่งการทำในเรื่องของการรับฟังความเห็นของประชาชนในด้าน สิ่งแวดล้อมเราจำเป็นจะต้องลงพื้นที่ไปคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อที่จะกำหนดเป็น มาตรการ ซึ่งตรงนี้ก็จะไปตอบปัญหาว่าแล้วคนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทางพะโต๊ะเอง หรือว่าประมงชายฝั่งเองจะมีมาตรการอะไรที่จะไปช่วยเหลือเขา ซึ่งตรงนี้มันจะออกมา หลังจากที่เราทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งโครงการ แล้วก็รวมถึงการรับฟัง ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ในโครงการนี้เราลงไปกระทำการรับฟังความเห็นของ ประชาชนในพื้นที่ในรายตำบล แล้วก็ลงไปในรายหมู่บ้าน ตรงนี้เรามองว่าประชาชนในพื้นที่ เป็น Key Success สำคัญอีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของการพัฒนาตัวโครงการ
นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ในเรื่องของตัวเลขต่าง ๆ ที่เราใช้ในการทบทวน อันนี้มีที่มาที่ไปครับ เมื่อสักครู่ที่ท่านเห็นว่าเรื่องของตัวค่าระวางทำไมแค่ ๒๐๐ เหรียญ อันนี้เป็นข้อมูลจริงที่ ทางสายเดินเรือ Charge ต่อตู้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดท่านอยู่ในวงการเรื่องของการขนส่งสินค้า ทางทะเล สินค้ามันไม่จำเป็นว่าขาไปกับขากลับจำเป็นต้องเท่ากัน ผู้ที่จะกำหนดค่าระวางคือ ผู้ให้บริการทางการเดินเรือ เราก็มองว่าถ้าค่าระวาง ณ ปัจจุบันมาทำการทำ Transshipment ที่สิงคโปร์ด้วยราคานี้ มีการอ้างอิงจากในเรื่องของรายละเอียดจาก Website ของผู้ให้บริการ เดินเรือ เรามองว่าถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นก็มีการวิเคราะห์ในเรื่องของระยะทาง ที่มันจะลดลง แล้วก็เวลา หลักสำคัญอย่างที่ทางผู้อภิปรายก็คือว่าในเรื่องของ Cost and Time มันเป็นเรื่องสำคัญ ในเรื่องของการที่สายเดินจะเลือกมาเดินทางในแต่ละเส้นก็คือ ต้องดูทั้ง Cost ก็คือราคา ราคาสู้ได้ไหม Time เวลาสู้ได้ไหม แต่ว่าการที่จะมาใช้แลนด์บริดจ์ เราไม่ได้บอกว่าสินค้าที่มีโอกาสแล้วมี Cost and Time ถูกกว่า แล้วก็เวลาน้อยกว่าจะมาใช้ ทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดไปดูในรายละเอียดเราบอกว่าเราไม่ได้แบ่งมาทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีในเรื่องของการตัดสินใจของสายเดินเรือ มีฟังก์ชันต่าง ๆ ในเรื่องของการวิเคราะห์ว่า ระยะเวลาที่ถูกลงมันจะดึงสายเดินเรือ จะดึงสินค้ามาผ่านมากน้อยแค่ไหน รวมถึง กลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน เราไม่ได้มองว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะมาใช้แลนด์บริดจ์จะเป็นเรือ ที่เป็นเรือขนาดใหญ่บรรทุก ๒๐,๐๐๐ ตู้ เพราะว่าเราต้องมองความได้เปรียบของตัวเราเองก่อน แลนด์บริดจ์จะมีความได้เปรียบสำหรับการขนส่งสินค้าที่เป็นเรือ Feeder แต่ Feeder ไม่ใช่ Size ประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ นะครับ เรามองว่าสินค้าที่มาใช้ในแลนด์บริดจ์สามารถ รองรับตัวเรือได้มากถึง 8,000 TEU ต่อลำ ซึ่งตรงนี้คือพอเรามอง Position แล้วว่าเราควร จะแข่งด้านไหน ด้านไหนเราแข่งไม่ได้ เราก็ไม่ไปแข่งกับสิงคโปร์ เราไม่ได้ไปแข่งกับมะละกา หรอกครับ เพราะฉะนั้นเราต้องมองความสามารถของตัวเองก่อน แล้วเราก็ดึงเฉพาะสินค้า ตรงนั้นมาผ่านตัวแลนด์บริดจ์ ก็เป็นหลักที่มาว่าทำไมเราถึงคิดสินค้าบางประเภท และไม่คิด สินค้าบางประเภท แล้วก็สินค้าบาง Route ไม่คิดสินค้าบาง Route คือเรามองเฉพาะ Route ที่แข่งได้ ประเภทสินค้าที่แข่งได้ตัว Demand ที่แข่งได้ จึงเป็นที่มาของตัวเลขต่าง ๆ ที่ทาง สนข. ใช้ในการศึกษา ก็ขออนุญาตชี้แจงในประเด็นนี้ครับ ขอบคุณครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน พาดพิงครับ มีการเอ่ยชื่อชัดเจนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้ที่อภิปรายแล้ว ก็ขอให้ใช้สิทธิเฉพาะพาดพิง จะไม่มีอภิปรายต่อนะครับ เชิญคุณสุรเชษฐ์ครับ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผมถูกพาดพิงชัดเจน จริง ๆ มีการเอ่ยชื่อทางผม กับทางคุณศิริกัญญา อันนี้ก็ขอชี้แจงในเรื่องของการพาดพิงสั้น ๆ จริง ๆ แล้วมีการพูดคุยกันจริง เพราะว่าผมเคยถามกระทู้ในสภาแห่งนี้ เพียงแต่ว่าผมก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่สมเหตุสมผลมาก พอก็เลยมีการประสานให้ทาง สนข. มาชี้แจงข้อมูล อย่างไรก็ตามในครั้งแรกที่ติดต่อกันไป ปรากฏโดนเท คือทาง สนข. เบี้ยวนัดทางผมกับทางคุณศิริกัญญา ก็มีการเชิญคุณศิริกัญญา แล้วคุณศิริกัญญาก็พูดในห้องกรรมาธิการวิสามัญชัดเจนว่าจะขอไปด้วยตอนที่ผมนัดกับทาง สนข. อันนี้มีบันทึกอยู่ในห้องกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากโดนเทไป ครั้งหนึ่งผมก็ได้ไปประสาน เผอิญท่านรัฐมนตรีก็อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ เราก็มี การพูดคุยกันว่าท่านไม่ตอบผมไม่เป็นอะไร แต่อย่างน้อยให้ลูกน้องท่านในฐานะ หน่วยงาน มาชี้แจงข้อมูลในรายละเอียด ซึ่งรายละเอียดนี้มันเป็นเชิงเทคนิค การประเมิน EIR FIRR ซึ่งครั้งที่ ๒ นี้ก็ต้องขอบคุณทาง สนข. ที่มาให้ข้อมูลผมเพิ่มเติมเพียงแต่ว่าวันนี้ผมยังไม่ได้ ลงลึกในรายละเอียดตรงนั้นด้วยเวลาของสภาที่จำกัด อย่างไรก็ตามข้อมูลก็ไม่ใช่ความลับก็มี การเปิดเผยไปสู่ทีมงานที่มีการเข้าประชุมด้วย รวมถึงทีมงานของคุณศิริกัญญา แต่คำถาม ก็คือการที่คุณศิริกัญญาไม่ได้ไป จริง ๆ คุณศิริกัญญาต้องการจะไป เพียงแต่โดนบล็อกไม่ให้ไป ผมไม่อยากพาดพิงคนนอก แต่ผมบอกให้ว่าเป็นทาง สนข. ไม่ใช่ท่านรัฐมนตรีด้วย เป็นทาง สนข. แต่ไม่ใช่ตัวท่านรองผู้มาชี้แจง แต่เป็นทางหน่วยงานขอไม่ให้ผมนำคุณศิริกัญญาเข้าไป ฟังข้อมูลการชี้แจงด้วย ตรงนี้ไม่เป็นอะไรครับ ผมไม่อยากไปต่อความยาวสาวความยืดแล้ว พาดพิงบุคคลภายนอก แต่เอาเป็นว่าก็รับปากกันตรงนี้ก็ได้ครับ เพราะว่าท่านก็ยังให้ข้อมูล ไม่ครบอยู่ดี แล้วก็ในหลาย ๆ เรื่องก็อย่างที่ผมพูดในที่ประชุมว่าไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ ท่านชี้แจงนะ เห็นตรงเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเราต้องเอาเทคนิคมาคุยกัน เพราะว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าผมอยากได้หรือไม่อยากได้ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าประเทศควรทำหรือไม่ แล้วท่าน ก็เป็นหน่วยงานก็ต้องมีหน้าที่มาชี้แจง ก็รับปากกันตรงนี้ก็ได้ว่าเชิญคราวหน้ามีทางผม แล้วก็ ต้องอนุญาตให้คุณศิริกัญญาเข้าไปด้วย แล้วก็ข้อมูลที่ติดค้างกันอยู่ที่จะพูดกันในรายละเอียด เห็นตรงเห็นต่างไม่เป็นอะไร แต่เอาข้อมูลว่าท่านศึกษามาแล้วจริง ๆ เอามาคุยกัน ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณศรีโสภา โกฏคำลือ
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมการอภิปรายสนับสนุนรายงานพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษา โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ของคณะกรรมาธิการ วิสามัญ มีการประชุมพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์โดยการประชุมทั้งสิ้น ๑๐ ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ และครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๗ ตลอดเวลาของคณะกรรมาธิการชุดนี้นอกจากกรรมาธิการจะร่วมศึกษาเอกสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องแล้วยังมีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนข. หรือ สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร และยังมีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ พี่น้องประชาชน แต่แน่นอนว่าแม้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้ คณะกรรมาธิการได้ซักถามอย่างเต็มที่ก็อาจจะมีคณะกรรมาธิการบางส่วนที่ยังรู้สึกว่า ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ค่ะ เพราะเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละท่านที่จะคิด เช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่ามูลค่าของโครงการนี้คือ ๑ ล้านล้านบาท รัฐบาลไทย เราไม่ได้เป็นคนลงทุนเอง เราไม่ได้กู้ และเราไม่ได้ใช้ภาษีของประชาชน แต่เป็นการ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงการนี้ ดังนั้นผลการศึกษาจะออกมามี รายละเอียดครบถ้วนเพียงใด คำถามสุดท้ายคือความคุ้มค่าของตัวโครงการที่เป็นคำถามของ นักลงทุนหรือผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำถามที่รัฐบาลไทยจะต้อง ออกไปตอบคำถามนั้นแทนพวกเขา ซึ่งหน้าที่ของเราคือต้องทำอย่างไรให้โครงการนี้มีความดึงดูด สำหรับนักลงทุนต่างชาติ และคอยอำนวยความสะดวก ตลอดจนประเมินผลได้ผลเสีย ที่มีผลกระทบต่อประเทศ และประเมินผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนคนไทย จะได้รับ ไม่ใช่ไปคิดแทนนักลงทุนว่าสุดท้ายจะคุ้มค่าหรือควรลงทุนหรือไม่ เพราะนั่น เป็นคำถามที่เขาต้องตอบเองค่ะ ท่านประธาน โครงการนี้ใช้งบศึกษาโครงการเป็นจำนวนเงิน ๖๕ ล้านบาท บวกกับงบประมาณจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติต้องใช้อีก ๔๕ ล้านบาท รวมกันแล้วเป็น ๑๑๓ ล้านบาท การใช้งบประมาณ ๑๑๓ ล้านบาทเพื่อลงทุน เม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาทนั้นดิฉันมองว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก ๆ และไม่มีเหตุผลใดที่จะไป คัดค้าน ธรรมชาติของนักวิชาการอาจจะคุ้นชินกับรายละเอียดและสนุกกับรายละเอียดนั้น ๆ แต่การเป็นนักบริหารที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้า สิ่งสำคัญต้องรู้จักมองให้กว้าง คิดให้ใหญ่ และจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ดิฉันในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งกรรมาธิการทุกท่านล้วนเป็นคนไทย อยากเห็นเศรษฐกิจ ประเทศของเราเติบโตไปข้างหน้าหลังจากที่อยู่ในภาวะเติบโตถดถอยมานาน ดังนั้นเราควร สนับสนุนโครงการนี้ให้เดินต่อไปข้างหน้า อย่าตั้งคำถามหรือทำทุกทางเพียงเพื่อเอาชนะ ทางการเมืองซึ่งเป็นการตัดโอกาสของเศรษฐกิจไทย ประเทศไทย และประชาชนคนไทย อย่างน่าเสียดายค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตอนนี้ มีผู้ขออภิปรายอีก ๘ ท่าน กรรมาธิการจะขอชี้แจง ผมว่าจะขอให้ผู้อภิปรายได้อีกสัก ๓ ท่าน ๔ ท่าน แล้วจะให้ท่านชี้แจงสักครั้งหนึ่ง เพราะถ้าชี้แจงข้างบนเดี๋ยวพาดพิงข้างล่างก็ตอบอีก เพราะว่าเรามีรายชื่ออีกหลายท่านจริง ๆ ก็เอาไว้อีก ๓ ท่าน เดี๋ยวผมจะให้กรรมาธิการชี้แจง สักครั้งหนึ่ง แล้วก็ต่อไปก็อภิปรายให้จบก็จะได้ชี้แจงเสียทีเดียว ขอให้เป็นไปตามนี้นะครับ ขอเชิญคุณฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมี ส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ฉบับนี้ครับ ท่านประธานครับ ด้วยงบประมาณกว่า ๑ ล้านล้านบาทในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์นั้นจะคุ้มค่า การลงทุน และที่สำคัญพี่น้องประชาชนชาวใต้จะได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง ท่านประธานครับ เริ่มต้นที่การจัดเวทีรับฟังที่ไม่ทั่วถึงทั้งภูมิภาค อย่างในจังหวัดภูเก็ตเอง ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทต่อปีก็ไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน โดยเฉพาะผลกระทบที่รวมไปถึงแนวทางการชดเชยการเยียวยาต่อวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ ปกติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ชาวประมง การท่องเที่ยว เป็นต้น ในรายงานฉบับนี้ผมไม่เห็นตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบ และแนวทาง การเยียวยาแก้ไขใด ๆ เลย สินค้าหลักของประเทศไทยที่จะใช้บริการแลนด์บริดจ์นี้คืออะไร หรือเป็นแค่ทางผ่านของสินค้า แล้วทิ้งปัญหาและผลกระทบให้กับพี่น้องชาวใต้ ในรายงาน ก็ไม่มีว่าจะมีตำแหน่งงานเท่าไร มีอาชีพเพิ่มขึ้นอะไรบ้าง หากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ Logistics เรามั่นใจไหมว่าพี่น้องในจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง หรือจังหวัดอื่น ๆ จะเพียงพอ กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง แล้วพี่น้องที่ทำการเกษตร ทำประมง ธุรกิจรายย่อยจะมี โอกาสนั้นกับเขาบ้างไหม ผมไม่พบรายละเอียดใด ๆ ในรายงานเล่มนี้เลย ปัญหาข้อกังขา ข้อสงสัยหลาย ๆ ประเด็นก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำชี้แจงหรือข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ใด ๆ ทั้งนี้การทุ่มงบประมาณกว่า ๑ ล้านล้านบาททั้งที่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยัง รองรับได้ไม่เพียงพอ ปัจจุบันพี่น้องชาวระนองยังต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ตอยู่เลย หรือจะเรื่องโครงข่ายการขนส่งระหว่างจังหวัด ภายในจังหวัดที่ปัจจุบันก็ยังไม่มี ความพร้อมหรือรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดภาคใต้ได้ ไหนจะผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่ามิได้ที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม มีบางส่วน กระทบมาถึงอุทยานแห่งชาติสิรินาถในจังหวัดภูเก็ต แต่พี่น้องชาวภูเก็ตก็ไม่ได้มีข้อมูลใด ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ไม่ได้เข้าร่วม ไม่มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดภูเก็ตเลย ทั้ง ๆ ที่ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวมากมายมหาศาล จนไม่อาจจะฟื้นฟูได้อีก เอาง่าย ๆ ครับท่านประธาน แค่ปัญหาเรื่องตั๋วเครื่องบินแพงในวันนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถ แก้ไขปัญหาใด ๆ ได้เลยครับ ยังไม่รวมถึงการแก้ปัญหาจราจรติดขัด สาธารณูปโภคขั้น พื้นฐานที่จะมารองรับการพัฒนาพื้นที่ ถนนจากแลนด์บริดจ์มาภาคใต้ตอนล่างมีหรือยัง ท่านประธานครับ สั้น ๆ ง่าย ๆ จากเหตุผลที่กล่าวมาผมไม่อาจสนับสนุนรายงานฉบับนี้ ได้ครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกัณวีร์ สืบแสง ครับ
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตอภิปรายไม่ยอมรับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการที่เรียกว่า แลนด์บริดจ์ ท่านประธานครับ เหตุผลที่ผมไม่ยอมรับ ไม่ใช่ว่า ผมปฏิเสธการพัฒนา แต่ผมจะยอมรับการพัฒนาที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น การที่มี ผลการศึกษาออกมาอย่างนี้เป็นการตอบโจทย์ที่ไม่ตรงจุด การตอบโจทย์ที่ไม่ตรงจุดนี้จะแบ่ง ด้วยกันเป็น ๒ เหตุ เหตุแรก โจทย์อันแรกที่ตอบมาก็คือโจทย์ที่มีการตอบโจทย์ของระหว่าง ประเทศ แง่มุมระหว่างประเทศครับท่านประธาน เราเห็นว่าผลการพิจารณาออกมาบอกว่า ในเวทีระหว่างประเทศมีประเทศหลาย ๆ ประเทศสนใจในการที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการ แลนด์บริดจ์ในประเทศไทยระหว่างกัน มีท่าเรือที่ชุมพรและระนอง มีหลาย ๆ คนอยากจะ ลงทุนตรงนี้ แต่ท่านประธานครับ ในเวทีระหว่างประเทศ มีนักวิชาการระหว่างประเทศ ที่เป็นนักวิชาการประเทศอินเดีย ชื่อว่า เชลานี (Charany) ได้เคยพูดไว้ในเรื่องหนึ่ง เหตุผล ในการทำของประเทศจีนร่วมกับ BRI หรือว่า Belt Road Initiative โครงการจีนเชื่อมโลก เขาพูดชัดเจน Debt-Trap Diplomacy คือการทูตในการขุดหลุมพราง การติดหนี้ อันนี้ ชัดเจนเพราะว่ามันเป็นปัญหาของจุดยืนทางการทูตของประเทศไทยที่เราไม่เคยมี การเปลี่ยนแปลง เราไม่เคยมองเห็นว่าสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เหล่านี้ของประเทศไทยเราคืออะไร ประเทศไทยเราอยู่จุดไหนในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยเราพร้อมหรือไม่ในการที่ได้รับ การพัฒนา Megaproject อันนี้ เข้ามาในประเทศไทย Debt-Trap Diplomacy คือสิ่งที่ เรียกว่าคนที่จะทำงานโครงการเชื่อมจีนเชื่อมโลกนี้ประเทศจีนยืนยันชัดเจนบอกว่าเขาไม่ได้ เกี่ยวข้องกับการให้กู้เงินให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่จะมาลงทุนกับ BRI ผมว่า BRI นี้ เกี่ยวข้องกับ โครงการแลนด์บริดจ์ แต่ท่านคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาหรือไม่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับ BRI Public Private Partnership ที่จะเกิดขึ้น การลงทุนรัฐ เอกชน เป็นหุ้นส่วนกัน ท่านว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย รัฐบาลไทยจะได้เงินเข้ามาให้กับพี่น้องประชาชนเท่าไร อันนี้ท่านต้องตอบนะครับ ผมยัง ไม่เห็นในรายงานของท่าน
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อันที่ ๒ ผลกระทบอีกอันหนึ่งภายในประเทศ แง่มุมภายในประเทศ การสร้างท่าเรือนี้ฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง ฝั่งแปซิฟิกอยู่ที่จังหวัดชุมพร รวมกันแล้ว แค่ท่าเรืออย่างเดียว ๑๒,๐๐๐ ไร่ กินพื้นที่ ๒๔ ชุมชน ๖ ตำบล ๔ อำเภอของ ๒ จังหวัด ท่านรู้หรือไม่เวลาการสร้างออกไปแล้วการเชื่อมโยงระหว่าง ๒ ท่าเรือนี้กินพื้นที่ที่มี สวนทุเรียนของพี่น้องตรงนั้นเท่าไร เม็ดเงินเท่าไรแต่ละปีที่พี่น้องอยู่ด้วยกันตรงนั้นมา ๔,๕๐๐ ล้านบาทที่เขาสามารถทำได้ ทำไมเราไม่มองว่าเรามีต้นทุนทรัพยากรอะไร ทำไม เราไม่เอาการลงทุนต่าง ๆ นานานั้นมาช่วยสนับสนุนทรัพยากรท้องถิ่นของเราให้มีการพัฒนา นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบในเรื่องอุทยานแห่งชาติ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลชายฝั่ง ป่าสงวน แห่งชาติพื้นที่ชีวิตคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. แหล่งปะการังธรรมชาติและ แหล่งปะการังเทียม รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติหรือคนไทยพลัดถิ่น ที่ตอนนี้กำลังเรียกร้องสัญชาติตัวเขาอยู่ หากท่านไล่เขาออกไปจากพื้นที่แล้วคนที่ไม่มีตัวตน จะไม่สามารถมีตัวตนได้อีกต่อไป ท่านคิดว่าคนเพียงไม่กี่พันคนเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญหรือ พวกเรา ฝ่ายนิติบัญญัตินี้เราจะมองว่าคนหนึ่งคนมีชีวิตจิตใจเหมือนกันไม่มีค่า ไม่ใช่นะ ผมว่าไม่ได้ เราต้องพิจารณาให้ดีครับ ผลกระทบทางธรรมชาติยังไม่ได้พูดถึงในเรื่องเกี่ยวกับการที่สร้าง ท่าเรือตรงอุทยานแห่งชาติแหลมสน ปากอ่าวคลองระโนด ป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก และกำลังจะเป็นมรดกโลก ท่านจะตอบโจทย์โลกอย่างไรหากเราไปทำลายทรัพยากรตรงนั้นเสีย แล้วเราจะรักษามรดกโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลานเราต่อไปอย่างไร การทำประมงที่เป็นปากท้อง ของชาวจังหวัดระนอง เราจะตอบโจทย์อย่างไรครับท่านประธาน ประเทศไทยต้องดูนะครับ จุดยืนทางการทูตของเราว่าเราเป็นประเทศขนาดกลางเราจำเป็นต้องมีการพัฒนา ไม่ได้ตอบ ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นจำเป็นต้องตอบโจทย์ของประเทศเรา สิ่งต่าง ๆ ที่ผมได้พูดไปหลาย ๆ ครั้งว่าการพัฒนานี้ต้องไม่ใช่มองแค่โลกาภิวัตน์ เราต้องดูเรื่องเกี่ยวกับ Localization หรือที่เรียกว่าท้องถิ่นนิยม เราต้องพยายามพาประเทศไทยพาขึ้นไปให้ได้สู่ จุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์ แต่ต้องไม่ลืมชุมชนท้องถิ่น ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมจะให้ ผู้อภิปรายอีก ๑ ท่าน แล้วก็จะให้กรรมาธิการตอบก่อนในช่วงนี้ ก็ขอให้คุณเอกราช อุดมอำนวย ได้อภิปรายคนต่อไป หลังจากนั้นก็จะให้กรรมาธิการตอบก่อน เชิญคุณเอกราชครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขอบคุณท่านประธานที่เปิดโอกาสให้ผมได้อภิปรายรายงานผล การพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ท่านประธานครับ ผมอ่านรายงานฉบับนี้แล้วก็เห็นแต่ด้านดี เห็นแต่ รายงานที่เป็นด้านเดียวที่อยากจะให้เห็น ลองดูง่าย ๆ ครับท่านประธาน ปกติแล้วในบทที่ ๒ ในเรื่องของการรวบรวมแหล่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ ปรากฏว่ารายงานเล่มนี้ก็อ้างอิงจากแหล่งอ้างอิงเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ แนวคิด การทบทวนวรรณกรรมที่นำแนวคิดเชิงระบบมาหรือว่านำมติคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ชาติ แล้วก็ต่าง ๆ มานี้ก็จะทำให้เห็นว่าเป็นความต้องการจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ขาดไป นั่นก็คือเสียงของประชาชน เสียงของคนที่เขาอยากจะสะท้อนครับ วันนี้ผมขออนุญาต ท่านประธานทำหน้าที่อธิบายถึง ๑๐ เหตุผลที่คนชุมพรเขาค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ผมขออนุญาตเติมลงไปครับท่านประธานที่จะให้ท่านประธานได้เห็นว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ เขาอยากจะบอก ส่งเสียงอะไรบ้าง เขาอยากจะบอกว่าโครงการนี้สร้างความเสียหายต่อที่ดิน ทำกินของชาวสวนทุเรียนที่เป็นอาชีพหลักและสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลและสร้าง ความเสียหายต่อชาวประมงริมทะเล ชาวบ้านเขาอยากจะบอกว่าเป็นการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านเขาอยากบอกว่าเป็นการทำลายการท่องเที่ยวของคนในพื้นที่ ชาวบ้านเขาบอกว่าการประกาศให้บริเวณท่าเรือตลอดแนวยาวริมทะเลและส่วนอื่น ๆ กว่า ๕๐,๐๐๐ กว่าไร่ของตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะได้รับ ผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำทะเลเสีย อากาศเสีย ขยะมลพิษ สารตกค้าง ทะเลไปทำลายสัตว์น้ำต่อไป มีการละเมิดสิทธิที่ดินส่วนบุคคลของชาวบ้าน แม่น้ำพะโต๊ะ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวนซึ่งเป็นแหล่งสำคัญด้านการเกษตรอาจถูกทำลายเพื่อเส้นทาง รถไฟมอเตอร์เวย์และท่อน้ำมัน อำเภอหลังสวนซึ่งเป็นแหล่งทุเรียนและตลาดทุเรียนที่มีชื่อเสียง โดยมี GDP อันดับ ๑๐ ของประเทศสามารถส่งออกทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลก็ถูกทำลาย เพื่อสร้างทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ ท่อน้ำมัน น้ำใช้ของประชาชนอาจถูกแย่งชิงไปเพื่อใช้ ในการอุตสาหกรรมและทำให้ชาวบ้านขาดน้ำ ต้องซื้อจากเอกชนที่มีราคาแพง ชุมพรเป็น แหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง กับเกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะสมุย อาจจะทำให้โอกาสในการ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้หมดไปด้วย และแม่น้ำหลังสวนมีประเพณีแห่พระ แข่งเรือ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแหล่งลุ่มน้ำหลังสวนมายาวนาน เป็นที่รวมความสามัคคีของคน ชาวหลังสวน และใช้ในการแข่งเรือยาวประจำปีซึ่งจะได้รับผลกระทบด้วย นี่คือส่วนหนึ่งของ เสียงของพี่น้องประชาชนที่เขาไม่เห็นด้วย แต่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้แบบละเอียดครับ นี่คือเสียงของประชาชนที่เราไม่ได้มองไปครับท่านประธาน ผมคงไม่เจาะรายละเอียดที่ลึกไป กว่านี้เหมือนที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไป แต่ผมอยากสะท้อนแบบนี้ครับว่าผมไม่เห็นด้วย และคัดค้านรายงานฉบับนี้ที่ออกมาด้วยเหตุผลความจำเป็นเรื่องนี้ว่าท่านยังขาดการรับฟัง เสียงของประชาชน และแหล่งอ้างอิงจากเล่มรายงานนี้ที่นำมาจาก สนข. ฉบับเดียวก็มีปัญหา เพราะเมื่อผมไปตรวจสอบแล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ก็เป็นเพียงด้านเดียว เพราะว่าประชาชนเขาก็สะท้อนมาว่าไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา และผมก็มาดู จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ปรากฏรายงานที่เป็นข้อที่ผมได้กล่าวไปเลย ดังนั้นครับท่านประธาน ผมไม่ได้อยากจะ คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ แต่มันมีข้อเสนออื่น ๆ ที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น รายงานของสภาพัฒน์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยระบุว่าทางเลือกในการสร้าง แลนด์บริดจ์มีความเหมาะสมในลำดับ ๓ ด้วยคะแนน ๑๙.๓ แล้วก็บรรดา ๔ ทางเลือกก็เป็น ส่วนที่ทางเลือกได้คะแนนน้อยที่สุดคือโครงการคลองไทย แต่อย่างนี้ก็แล้วกันครับ ท่านประธาน คือในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ว่าโครงการไหนควรจะสร้างเป็นระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้อย่างยั่งยืนหรือ SEC ก็ต้องมาดูคะแนนและพิจารณาจากหลากหลายแหล่งข้อมูล ต้องการข้อมูลมากเพียงพอที่จะทำหรือตัดสินใจ ไม่ใช่ข้อมูลเพียงด้านเดียวที่จะบอกว่าดีนะ ควรทำนะ นี่คือความต้องการทางการเมือง วันนี้เราเป็นผู้แทนราษฎรของประชาชน เราอย่าลืมเสียงของพวกเขา โอเค ถ้าท่านมีเหตุผล เพียงพอที่จะบอกว่าวันนี้เราจะต้องพัฒนา แต่ว่ามันจะต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมและดีมาก เพื่อจะตอบประชาชนได้อย่างทุกฝ่าย วันนี้เราเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่เปิดรับทุกคน ผมก็ขอ อภิปรายสรุปอย่างนี้ครับท่านประธานว่าผมไม่เห็นด้วยกับรายงานการพิจารณาศึกษาญัตติ เล่มนี้ แล้วผมหวังว่าในการพัฒนาศึกษาต่อ ๆ ไป เพราะในเล่มนี้เห็นบอกว่าท่านศึกษาแล้ว แต่ว่ารัฐบาลควรจะศึกษาอีก คือออกเป็นพระราชบัญญัติใช่ไหมครับที่เกี่ยวกับเรื่องของ ด้านกฎหมาย ดังนั้นก็เป็นบทเรียนหนึ่งว่าในการทำรายงานนี้ก็อยากให้มีความรอบด้าน และคำนึงถึงเสียงของพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ กรรมาธิการครับ ท่านแรกก็คือคุณศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ครับ
นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ในฐานะกรรมาธิการ ก่อนอื่นดิฉัน จะขอชี้แจงเพิ่มเติมในส่วนของมุมมองที่จะเพิ่มเติมให้ทางท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรได้มีความเข้าใจกับโครงการนี้เพิ่มเติม ปัจจุบันในโลกเรานี้เราพูดกันถึง Sea Power คืออำนาจทางทะเล หนึ่งในข้อที่บ่งชี้การมีอำนาจทางทะเลก็คือท่าเรือ การที่ โครงการแลนด์บริดจ์เป็น Megaproject ที่มีต่างชาติเอาเม็ดเงิน ๑.๑ ล้านล้านบาท มาลงทุน สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกอย่างดี มีมาตรฐาน พร้อมกับ Know-how ต่าง ๆ ให้กับเรา อันนี้ อาจจะทำให้พวกเราสามารถที่จะมีท่าเทียบเรือที่จะเชื่อมต่อไปอีกหลาย ๆ ที่ ทีนี้ก่อนที่จะไป ถึงความเชื่อมโยงดิฉันขอกลับมาตรงเรื่องท่าเทียบเรือ ดิฉันคิดว่าสมาชิกหลายท่าน มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับท่าเทียบเรือที่จะเกิดขึ้น ท่าเทียบเรือที่จะเกิดขึ้นหัวท่าไม่ได้มีการไป ทับที่ดินในกรณีที่มีสวนทุเรียน ท่าเทียบเรือนี้ออกห่างตรงในส่วนหัวท่านี้ ห่างจากฝั่ง ๔-๕ กิโลเมตรทั้ง ๒ ด้าน ใช้ Reclaimed Land ในส่วนของน้ำลึก เราออกไปกลางทะเลค่ะ แล้วเราไปอยู่ในจุดที่ลึกของร่องน้ำลึก แล้วก็ Reclaimed Land แล้วก็ทำพื้นที่ทะเลขึ้นมา ที่มันเป็นพื้นดินขึ้นมากลางทะเล แล้วใช้เชื่อมก็คือใช้สะพานจากหัวท่าที่มีอยู่เชื่อมออกไป ดังนั้นในเรื่องของสวนทุเรียนที่จะไปทับไม่มี ท่านกรุณาชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนทางบ้าน ได้เข้าใจในเรื่องนี้ด้วยค่ะ ทีนี้เวลาที่ท่านพูดถึงท่าเทียบเรือท่านจะนึกถึงเรือ ท่านนึกถึง สิ่งของ นึกถึงความเชื่อมโยง ดิฉันจะบอกให้นะคะ โครงการนี้ จริง ๆ Megaproject อันนี้ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle อันนี้จะเป็น Initiate โดยมาเลเซีย เขาต้องการที่จะมีความร่วมมือเชื่อมโยงกลุ่มภูมิภาคมุสลิมเพื่อจะทำให้เกิด Global Islamic Economic ซึ่งมันเป็น New Trend ของโลกมุสลิม อันนี้จะทำให้พี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัด ปัตตานี จังหวัดยะลา จะได้รวมกันกับกลุ่มที่เป็นพื้นที่ของมาเลเซียในส่วน Bordering ทำให้ พี่น้อง ๒ ประเทศมีความเชื่อมโยงกัน สามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากัน แล้วก็ทำธุรกิจด้วยกัน เพราะว่าตรงส่วนนั้นเขาก็จะสร้างท่าเทียบเรือเหมือนกัน แล้วไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน ถ้ามองให้ดี นี่คือการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดเซาท์อีสต์เอเชียให้มีกำลัง ที่เขาเรียกว่า Sea Power วันนี้ Sea Power ไม่ได้เป็นแค่ของประเทศไทย ถ้าเรามีท่าเทียบเรือ ๒ แห่งมันจะเป็น Sea Power ของอาเซียน เวียดนามทางใต้ก็กำลังที่จะสร้างท่าเทียบเรือ ท่านประธานคะ ดิฉันฝากไปยัง พี่น้องประชาชนว่าไม่ต้องกังวลค่ะ โครงการนี้อย่างไรรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐาก็จะ ผลักดัน ท่านเองท่านก็ไปหลาย ๆ ประเทศเพื่อต้องการให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย เพราะวันนี้เราต้องมองโลกให้กว้างขึ้น มอง Geopolitics มอง Sea Power มองสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้แค่ Land แต่เราต้องดูใน Sea ด้วย ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ กรรมาธิการ คุณคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ เรียนเชิญครับ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่ เคารพ ผม คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ในฐานะกรรมาธิการ ขออนุญาตเพิ่มเติมการชี้แจงเกี่ยวกับ ประเด็นที่ผู้อภิปรายได้อภิปรายเกี่ยวกับมรดกโลก ซึ่งขอพูดถึงการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ จังหวัดระนองซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันหรือเรียกว่ามรดกโลก ขออนุญาต ท่านประธานแล้วก็ผู้อภิปรายนะครับ พื้นที่นี้เป็นการขอขึ้นบัญชีเมื่อปี ๒๕๔๗ ตั้งแต่พื้นที่ ของจังหวัดระนองลงมาจังหวัดพังงาและมาจังหวัดภูเก็ต มาถึงตรงอุทยานแห่งชาติ สิรินาถบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต ขอนำเรียนว่าในการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ้าดูจากแผนที่ หรือการก่อสร้างจะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ไม่ได้ติดในแนวการขอขึ้นพื้นที่มรดกโลก จะไปติดในส่วนของถนนแล้วก็สะพานเป็นบางส่วน แต่ถึงอย่างไรแล้วในส่วนนี้ ในการขอขึ้น พื้นที่มรดกโลกก็ยังอยู่ในขั้นตอนของ ทส. หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังรวบรวมเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ประเด็นต่าง ๆ แล้วก็นำเสนอให้ สผ. สผ. ก็จะนำเสนออันนี้ผ่าน ทส. และ ทส. นำเสนอไปถึง ครม. เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาในชั้นของ ครม. อีกครั้งหนึ่ง จะขอนำเรียนว่าประเด็นคือว่ารัฐบาลจะเลือกปฏิบัติอย่างไรให้โครงการ แลนด์บริดจ์เกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจ หรือจะเลือกในการขอใช้พื้นที่เป็นมรดกโลกเพื่อ การอนุรักษ์ สิ่งนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ฉะนั้นกรรมาธิการชุดนี้อย่างที่นำเรียนว่าวันนี้ รัฐบาลชุดนี้จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีพื้นที่ทับซ้อนหรือข้อมูลที่มีปัญหากับ พี่น้องประชาชน สิ่งที่อยากจะกราบเรียนให้กับผู้อภิปรายได้ฟังว่าวันนี้พี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดระนองได้เห็นด้วยในสิ่งที่อยากให้มีโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น แล้วก็ยังเห็นด้วย ในความเป็นธรรมชาติ แต่ถึงอย่างไรแล้วถ้าเกิดตรงไหนที่เป็นประโยชน์และสามารถสร้าง รายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับพี่น้องชาวจังหวัดระนองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะตอบโจทย์ให้รัฐบาล เลือกได้ว่าจะนำโครงการแลนด์บริดจ์ก่อนหรือจะเลือกมรดกโลกก่อน สิ่งนี้ก็ขอนำเรียน ผ่านท่านประธานสภาไปถึงผู้ชี้แจงทราบครับ กราบขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูง ผม บัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย เป็นการถกเถียงแล้วก็พูดกันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัฐบาล ที่แล้วเรื่องแลนด์บริดจ์ ผมเองยินดี แล้วก็เห็นด้วย แล้วก็สนับสนุนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มี ข้อสังเกตไว้นิดหนึ่งสำหรับผลกระทบในเรื่องเดียวครับ ในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ส่วนแลนด์บริดจ์สำหรับคนที่จะมาสร้างก็คือชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน ผมเชื่อว่าคนที่จะมา ลงทุนเขาก็คงได้คิดแล้วก็วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าการที่จะมาทำแลนด์บริดจ์มันคุ้มค่ากับ เงินที่เขาจะมาลงทุนเป็นเงินจำนวนที่มากขนาดนั้น สิ่งที่เป็นห่วงก็คือในส่วนของไทยเรานี้ เมื่อเกิดโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นก็ต้องมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ในหลาย ๆ พื้นที่ อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำลำชีที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้อย่างที่จังหวัดชัยภูมิ ทำตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ก็ยังมีปัญหาที่ยังได้รับเงินเวนคืนไม่ครบ อันนี้เป็นปัญหาที่จะต้องเกิดแน่ ๆ ในอนาคต ถ้าแลนด์บริดจ์ได้เกิดขึ้น เพราะจะมีพื้นที่ในฝั่งของจังหวัดชุมพร พื้นที่ประมาณ ๕,๘๐๐ ไร่ และจังหวัดระนอง อีกประมาณ ๖,๙๐๐ กว่าไร่ มันก็จะมีผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ที่ตามมา ก็ฝาก ท่านกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ แล้วก็สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านช่วยดูเรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก และผมเชื่อว่าแลนด์บริดจ์จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ก็ขอฝากไว้แค่นี้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร ธนบุรี คลองสาน บางปะกอก พรรคก้าวไกล ผมก็ขออภิปรายสั้น ๆ เรื่องนี้นะครับ คือแค่ อยากจะถามจากใจจริง อยากให้ตอบเพราะว่าอ่านรายงาน แล้วก็จริง ๆ ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ เท่าไร แล้วก็ได้ดูตามข่าวบ้าง ซึ่งจริง ๆ ผมเองก็ติดตามเรื่อง Project ของ Belt and Road Initiative ของประเทศจีนอะไรอย่างนี้ หรือว่าการค้าระหว่างประเทศ Geopolitics อยู่บ้าง เพราะสนใจ หลายคนก็อาจคิดว่าผมสนใจแต่เรื่องเบียร์หรือเปล่า แต่จริง ๆ ในบาร์ก็ได้คุยกัน หลายเรื่อง ล่าสุดผมต้องบอกอย่างนี้ก่อนครับ ผมก็สงสัยในการเติบโตของโลกใบนี้ ไปในอนาคตที่หลายคนบอกว่าอันนี้จะสร้างเศรษฐกิจโน่น นี่ นั่น คือผมว่ามันมีหลายร้อย วิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้นได้ การทำ Digital Wallet ก็อย่างหนึ่ง การทำแลนด์บริดจ์ ก็อย่างหนึ่ง แต่ผมอยากจะให้บันทึกไว้ในสภาแห่งนี้ครับ จริง ๆ แล้วจากการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอสในปีนี้ CEO ของ Google ก็ได้บอกเลยครับว่าโลกใบนี้ ในปี ๒๐๑๓ หรือปี ๒๐๑๔ Productivity ทั้งโลกนี้ถ้าเอาเรื่อง Inflation อะไรสักอย่างไป คำนวณ เราไม่โตขึ้นแล้ว หมายความว่าเป็นครั้งแรกที่เรา Stackness โดย Productivity ก็เลยคิดว่า ทั้งหมดในเล่มนี้ที่คำนวณความเป็นไปได้ในอนาคตมันจะเป็นจริงได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ก็อยากให้ทุกคนคิดดี ๆ ว่าในอนาคตมันจะเติบโต เราจะมีตู้เพิ่มขึ้นหรืออาหาร น้อยลงอย่างที่ผู้ชี้แจงว่าผมก็คงไม่ก้าวล่วงเพราะไม่ได้นั่งในกรรมาธิการของท่าน
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ตอนแรกผมก็ดีใจ เห็นท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ขออนุญาตพาดพิง เพราะออกข่าวไม่ได้เสียหายอะไร ท่านก็ไปที่ประเทศศรีลังกา ผมก็ตาม Project นี้อยู่นานครับ มันชื่อท่าเรือฮัมบันโตตา ประเทศศรีลังกา ผมก็ดูกำหนดการ ท่านนายกรัฐมนตรี ผมว่าเดี๋ยวท่านนายกได้ไปดูท่าเรือนี้แน่เลย พอดู Project นี้แล้วกลับมา น่าจะเปลี่ยนใจไม่ทำแลนด์บริดจ์แล้ว เพราะว่าท่าเรือดังกล่าวตอนนี้แล้วก็ติด Debt-Trap ที่ทางเพื่อนสมาชิกพรรคเป็นธรรมก่อนหน้าได้อภิปรายไป เป็นของจีน ๙๙ ปีไปแล้ว ก็นึกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ไปครับ บังเอิญทางการประเทศศรีลังกาใจดีครับ หรือว่าพาไป ท่าเรือนั้นไม่ได้เพราะเป็นของจีนไปแล้วก็ไม่ทราบ พาไปดู Colombo Port City ขึ้นภาพ ได้เลยครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ซึ่งโครงการนี้ผมจะเล่าเป็น อุทาหรณ์ทั้งท่าเรือและอันนี้ มีนักการเมืองศรีลังกาอยากดัง บอกเป็น Megaproject ภาพ เป็นอย่างนี้ คือจะเป็นดูไบ จะเป็นสิงคโปร์ โน่น นี่ นั่นครับ อันนี้สิ่งฉันคิด ภาพต่อไปครับ สภาพความเป็นจริงครับ อันนี้คือกำหนดการเสร็จปี ๒๐๒๔ ผมว่ารูปจาก BBC แต่ก็อาจจะ ปี ๒๐๒๓ อันนี้ผมว่าเป็นอุทาหรณ์ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็น่าจะไปเยี่ยมชมแล้วล่ะ ผมคิดว่า อาจจะมีนำมาคิดไตร่ตรองทบทวนให้ดีก็ได้ ขอบคุณสำหรับภาพครับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ด้วยความเป็นห่วง แล้วผมเป็นนักกฎหมายไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แล้วผมอ่านรายงานนี้ ด้วยความเคารพ คืออาจจะมีข้อคำนึงถึงเรื่องทางกฎหมายอะไรน้อยมาก แล้วก็สิ่งที่ผมกังวล ได้กล่าวไปข้างต้นมันไม่มีคำตอบในนี้ เข้าใจอยู่ครับ บอกว่าเป็น PPP โน่น นี่ นั่น แต่รายละเอียด ของสัญญานี้ได้มีการพูดคุยหรือศึกษากันแค่ไหน หรือจะศึกษาแค่เรื่องความคุ้ม ไม่คุ้ม ต่าง ๆ นานา ซึ่งถ้าได้เพิ่มเรื่องกฎหมายไปในอนาคต เติมในข้อสังเกตไป ผมก็จะขอบคุณ เป็นอย่างยิ่ง และผมทราบว่ารายงานฉบับนี้ตัวท่านเองก็บอกว่ามันไม่ได้สมบูรณ์อะไร เพราะในรายงานนี้ บอกว่าให้ไปศึกษารายงานเพิ่มเติมอีกใช่ไหมครับ ถ้าคณะไหนหรือใครจะไปทำต่อก็อยากให้ ดูเรื่องสัญญาแล้วก็ข้อกฎหมายดี ๆ เพราะว่าไม่อยากให้ซ้ำรอยที่ประเทศศรีลังกาแล้วก็ หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แล้วผมยืนยันครับว่า Key Success ที่ทางคณะกรรมาธิการ ได้ชี้แจงมาก่อนมีหลายอย่างมาก และผมว่า Key Success แรกคือการทำรายงาน อย่างตรงไปตรงมา แล้ว Key Success ที่ ๒ จริง ๆ มันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขตัวเงิน หรอกครับ คือผมเชื่อว่าโครงการนี้มีโอกาสเดียวที่จะผ่านได้เลยคือเรื่องของ Geopolitics ผมว่า มันขีดเส้นได้ครับ มีไม่กี่ประเทศที่จะทำอันนี้แล้วก็ได้ประโยชน์ที่มันไม่ได้คูณเป็นตัวเงิน อย่างประเทศจีนเป็นต้นที่เขาสามารถมีทางออกอื่นถ้าหากช่องแคบมะละกาโดนมหาอำนาจ ทางตะวันตกปิด เป็นต้น อย่างไรก็เป็นรัฐบาลอยู่ใช่ไหมครับ ก็ให้กำลังใจรัฐบาลครับ หวังว่า ทำผ่านแล้วทุกอย่างจะโอเค แต่เนื่องด้วยเหตุผลที่ผ่านมาผมจึงไม่อาจที่จะให้รายงานเล่มนี้ ผ่านได้เนื่องจากข้อมูลผมว่าไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ ด้วยความเคารพครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผมต้องชี้แจงว่าตัวผมเอง เป็นอีก ๑ คนที่อยู่ในกรรมาธิการชุดนี้แล้วก็ตัดสินใจลาออก เพราะว่ารายงานที่ไม่สมบูรณ์ คืออย่างนี้ครับ ส่วนตัวผมเคารพรักกรรมาธิการทุกท่าน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งท่านประธานวิสุทธิ์เอง ทั้งคุณหมอศรีญาดา ทั้งพี่อิ่ม พี่เอ ทั้งพี่เจมส์ ทั้งครูมานิตย์ก็ไม่มี ปัญหาอะไรกันเลยครับท่านประธาน แต่ต้องตัดสินใจอภิปรายไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ โดยมี ๔ ประเด็นที่ต้องแจ้งให้ทราบตรงกัน
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ไม่มีใครคิดขัดขวางความเจริญของภาคใต้ และส่วนตัวผมยังไม่เคย พูดสักครั้งว่าผมคัดค้านโครงการ ถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการนโยบายอื่น ๆ ที่ทำ ให้คนใต้รวยได้ผมยินดีและยินดีสนับสนุน แต่ตอนนี้ที่ต้องการคือพิสูจน์ความจริงที่มาของ ตัวเลขของรายงานฉบับนี้ที่ท่านจะเอาเข้ามาผ่านสภาชุดนี้ และสุดท้ายก็ส่งต่อไปให้รัฐบาล ผมต้องการแค่ความถูกต้องเท่านั้นครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ หน้าที่และเป้าหมายของกรรมาธิการชุดนี้ครับ พิจารณาศึกษา โครงการแลนด์บริดจ์ทั้งรูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุน จะลงทุนแบบไหน อย่างไร ความคุ้มค่า กำไรขาดทุนเท่าไร เหตุผลที่ต้องทำแลนด์บริดจ์เพราะอะไร ใครได้ประโยชน์ โอกาส อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของภาคใต้คืออะไร แลนด์บริดจ์จะพลิกชีวิตคนใต้ได้จริง หรือเปล่า ผลกระทบต่อประชาชน ต่อธรรมชาติ ความมั่นคง และแนวทางแก้ไขคืออะไร แต่ตัวรายงานที่กรรมาธิการส่งสภากลับรวบรัดการศึกษาและไม่มีการค้นหาความจริง ให้รอบด้าน ผมคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์กับภารกิจที่เราได้รับจากสภาแห่งนี้เพื่อทำหน้าที่ หาคำตอบให้กับพี่น้องประชาชนครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ผมขอเรียกรายงานฉบับนี้ว่า รายงานแห่งความย้อนแย้ง ตัดแปะ และใช้ไม่ได้จริง ดูหน้า ฉ ครับ ผลการศึกษา ขีดเส้นใต้ ย้ำนะครับ นี่คือผลการศึกษา ของกรรมาธิการแล้ว หน้าต่อไปหน้า ฉ ครับ จุดแข็งของโครงการ ดูข้อที่ ๓ สีม่วงครับ หลีกเลี่ยงปัญหาติดขัดการเดินเรือในช่องแคบ แต่ความจริงกรรมาธิการท่านใดไปพิสูจน์ว่า ช่องแคบมันติดขัด เราเห็นกับตาแล้วหรือครับ เอกชนคนเดินเรือเขาก็พูดกับท่านแล้วว่า มันไม่ได้แออัด มันไม่ได้คับแคบ ที่มันตันจริง ๆ มันคือท่าเรือสิงคโปร์ มันไม่ใช่ตัวช่องแคบ และท่านก็ไม่ไปพิสูจน์ แล้วทุกวันนี้ท่าเรือสิงคโปร์เขาก็มีแผนขยายท่าเรือเพื่อรองรับเรือเพิ่ม ถ้ามันแคบจนมันไปไม่ได้เขาจะลงทุนเพิ่มทำไมครับ ถ้าง่ายที่สุดส่งคนไป Live สดครับ ท่านประธานครับ เอาให้จบตรงนี้เลยครับ ส่งคนไป Live สดจะได้จบ ๆ ครับ จะได้รู้จริงว่า มันแออัด ไม่แออัดครับ เถียงกันอยู่แบบนี้แล้วมาใส่ในรายงาน ดูข้อที่ ๒ อาจจะสามารถ ลดระยะเวลาและต้นทุน ประหยัดต้นทุนได้ แต่ไปต่อครับ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม สีเขียวครับ แปลว่ายังไม่แน่ใจว่าลดระยะเวลาและต้นทุนได้จริงหรือไม่ แต่หน้าเดียวกัน ข้อ ๔ ครับ เพราะสามารถลดระยะเวลาเดินทางและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ นี่มันรายงานแห่งความย้อนแย้ง หน้าเดียวกัน ข้อ ๒ ข้อ ๔ ก็ย้อนกันเองแล้วครับ ต่อไปหน้า ๒๓ หน้า ๒๔ ผลการศึกษา ย้ำนะครับว่านี่คือผลการศึกษา แต่ดูสีเขียวครับ สนข. สนข. สนข. ครับ นี่ก็อบปี้ นี่ท่าน พิจารณาหรือก็อบปี้ครับ หมดนี้ถ้าท่านประธานดูนะครับ ทุกหน้า Reference อย่างดี สนข. หมดเลยครับ หน้า ๓๐ หน้า ๓๑ รูปแบบการลงทุน ท่านบอกต้อง ๕๐ ปี จังหวัดระนองต้อง ๓ เฟส ต้องรองรับตู้ให้ได้ ๒๐ ล้านตู้ จังหวัดชุมพรก็ ๒๐ ล้านตู้ สีเขียวเหมือนกันครับ สนข. มาหมดเลย ก๊อบปี้อย่างเดียว ท่านทำแบบมีวิชาการ คือท่านมี Reference ครับ แต่ศึกษา ไม่เป็นตามหลัก เพราะท่านต้องเป็นกลาง ศึกษารอบด้าน ศึกษาของทุกฝ่าย แต่ท่านไม่ค้นหา ความจริงท่าน Copy Paste สนข. หมดเลยครับ กรรมาธิการมีหน้าที่เพื่อหาความจริงให้กับ ประชาชน ผมถามว่าผมขอไว้ตั้งแต่วันแรก Breakdown Excel เราอยากเห็นว่ารายได้ของที่มา จำนวนเรือมีเท่าไร ค่าก่อสร้างเท่าไร ๑ ล้านล้านบาทที่ สนข. บอกมันจริงหรือเท็จ โชว์มาหน่อย ตั้งแต่วันแรกผมขอยันวันสุดท้ายผมก็ไม่ได้คำตอบครับท่านประธาน หน้า ๓๔ ต่อครับ มาอีกแล้ว ลดระยะเวลาได้ ๕ วันครับ เมื่อสักครู่ ฉ ยังบอกเลยว่าอาจจะย่นระยะเวลาได้ให้ ไปศึกษา แต่ตอนนี้มาบอกลดเวลา ๕ วันครับ ต่อไปหน้า ๖๑ บอกว่าจะลดเวลาจาก ๙ วัน เหลือ ๕ วัน ถ้าคำนวณเลขออกนี่คือ ๔ วันครับ สรุปเมื่อสักครู่บอก ๕ วัน ตอนนี้บอก ๔ วัน ก่อนหน้าบอกไปศึกษาเพิ่มเติม สรุปย้อนไปย้อนมาครับท่านประธาน สรุปว่าท่านจะเอา อย่างไรครับ และช่องแคบก็เหมือนเดิม เขียนว่าช่องแคบแออัดก็ไม่ได้พิสูจน์ครับ จำนวน คนจ้างงาน ๒๘๐,๐๐๐ คน นี่ไม่รู้เอาตัวเลขมาจากไหน จะจ้างงาน Full Time Part Time จ้างเขาเงินเดือนเท่าไร ไม่มีใครครับ ใครก็มโนขึ้นมาได้ครับ วันนี้ผมบอก ๓๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ก็ทำได้ครับ ต่อไปหน้า ๒๒ จำนวนตู้ อันนี้ก็มาจาก สนข. เหมือนกันครับ จำนวนตู้และ หน้าต่อมา หน้า ๓๕ เอาจำนวนตู้ไปทำอะไร มาคำนวณครับ NPV Net Present Value ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท BEC Ratio ๑.๓ EIRR ๑๗ เปอร์เซ็นต์ FIRR ๘ เปอร์เซ็นต์ Payback Period ๒๔ ปี GDP บอกอีกว่าจะโตจาก ๔ เปอร์เซ็นต์ ไป ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธาน GDP รายไตรมาสท่านมีปัญญาคำนวณล่วงหน้าขนาดนั้นเลยครับว่าจะ ๔ เปอร์เซ็นต์ ไปเอา ตัวเลขมาจากไหน แล้วค่าเสียโอกาส Opportunity Cost ทั้งรายได้เรื่องจากการท่องเที่ยว ที่หายไป อาชีพประมงทั้งหลายที่เขาต้องเสียไป สิ่งแวดล้อม รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ไม่เคยถูกเข้ามาคำนวณในโครงการนี้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่ผมบอกท่านตั้งแต่วันแรกแล้วว่า ให้คำนวณแต่ก็ไม่คำนวณครับ ต่อไปหน้า ๗๖ สรุป มาเขียนในสรุป โครงการนี้จะเป็น แม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุน และท่านใช้ตัวหนามากเลยนะครับ กะให้คนเห็นชัด ๆ ต่อไป หน้า ๗๘ นี่หน้าเดียวกันครับ ท่านเขียน แม่เหล็ก ๒ รอบเลยครับ ย้ำ ๆ ชัด ๆ ครับ แต่พอไปดู หน้า ๗๙ ท่านแนะนำ ครม. ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ของปริมาณตู้ที่จะผ่านโครงการ และต่อครับ ทบทวนข้อมูลต้นทุนขนส่ง แล้วท่านไปเขียนไปได้อย่างไรครับว่าจะเป็นแม่เหล็ก ท่านไปเอาตัวเลขมาจากไหนครับ EIRR เท่านั้น เท่านี้ FIRR GDP จะโต ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านมาถามว่าจำนวนตู้ให้ไปตรวจสอบก่อน ข้อมูลต้นทุนขนส่งให้ไปตรวจสอบใหม่ ตัวเลข พวกนี้ต้องใช้หมดในการ Forecast Demand นี่คือ Factor หลัก ๆ เลย จำนวนตู้มันบอก ได้หมดเลยครับ กำไร ขาดทุน ระยะเวลาคืนทุนเท่าไร แต่ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ มันคือ เท่าไร แล้วก็ไปห้อยท้าย ๆ ครับว่าให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนตู้และทบทวนข้อมูล ต้นทุน ไปแอบ ๆ อยู่แค่นั้น มีอยู่แค่นั้นทั้งหมด ๑๕๐ หน้ามีอยู่แค่นี้ครับ แล้วถ้าท่าน สส. ท่านอื่นสงสัย อยากทราบอื่น ๆ ก็ดูที่หน้า ๕๒-๕๗ ได้ครับ มีเอกชนทั้งหลายเขาเขียนมา หมดแล้วครับว่ามันคืออะไร ตัวเลขมันไม่น่าใช่ ซึ่งกรรมาธิการควรจะพิจารณาศึกษาและ พิสูจน์ความเป็นจริงครับ แต่เราไม่ได้ทำเลยตลอด ๙๐ วัน ไม่ได้ถามครับ
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน คนถามเยอะครับ ทำไมต้องรู้ว่ากำไร ขาดทุนเท่าไร เราไม่ได้จ่ายเงินนี่ ต่างชาติเขาลงทุนศึกษาเอง ไม่ดีเดี๋ยวเขาก็ไม่เอา เราจะเอา ไปทำไม อย่างนั้นต้องถามกลับตั้งแต่วันแรกครับ แล้วจะตั้งกรรมาธิการมาศึกษาทำไมครับ ถ้าจะ Copy Paste สนข. ถ้าไม่อยากรู้อะไรเลยจะตั้งกรรมาธิการมาทำไม แต่ตอบคำถาม ว่าทำไมเราจำเป็นต้องรู้ เพราะแลนด์บริดจ์คือการลงทุนร่วม คำว่า ร่วม ขีดเส้นใต้นะครับ สัมปทานที่ดิน สิทธิรอบท่าเรือ เดี๋ยวท่านก็ต้องให้ครับ แนวรถไฟ สิทธิของตัวท่าเรือ ถ้าเกิด มีท่อน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมันเดี๋ยวท่านก็ต้องให้ครับ ถมทะเลเสียรายได้ท่านก็ต้องคำนวณครับ ค่าเวนคืนท่านก็ไม่นับหรอกครับ ค่าชดเชยชาวบ้านที่เสียรายได้ก็ไม่คำนวณหรอกครับ ไม่ใช่ พูดลอย ๆ นะครับว่าเราไม่ลงทุน เราไม่มีต้นทุน เราไม่ลงเงิน ไม่จริงครับ เราลงทั้งเงิน ลงทั้งที่ดิน ให้ทั้งสัมปทานครับท่านประธาน Deal ธุรกิจจะชวนใครมาลงทุนก็แล้วแต่เพื่อแลกกับ สัมปทานเราจำเป็นต้องรู้ต้นทุน รายได้ ค่าเสียโอกาส ค่าเสียหายของโครงการว่ามันเท่าไร เพราะจะเจรจาร่วมทุนมันต้องมีการต่อรองครับ นักธุรกิจทุกคนต้องมีการต่อรอง ถ้าตัวเลข ในมือท่านมั่วจะมีการต่อรองได้อย่างไร มันไม่มีหลักฐานครับ ท่านรู้ไหม EEC ทุกวันนี้ ออกข่าวลงทุนกันหมื่นล้านเพื่อแลกกับสิทธิ BOI ลงทุนจริง ๆ ถึงหมื่นล้านหรือเปล่า BOI เคยไปตรวจหรือเปล่าครับว่าลงทุนจริง ๆ เท่าไร เราเล่นประกาศข่าวเสร็จ ให้สิทธิเสร็จ จบครับ และท่านนายกรัฐมนตรีต้องบอกว่าเป็น Salesman ที่เก่ง ท่านตั้งใจหาคนมาร่วม ลงทุน อันนี้ดีครับ แต่ท่านไปบอกทุกคนว่ากำไร ๆ แต่เอาจริง ๆ ถ้าเกิดต่างชาติไปศึกษามาแล้ว บอกว่าขาดทุน เขาจะมองท่านนายกรัฐมนตรีอย่างไร และตอนนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไพ่ในมือของ ตัวเราเองมันเลขอะไรด้วยซ้ำ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรต่อรองราคาที่เท่าไร ไม่รู้ว่าอะไรคุ้มหรืออะไร ไม่คุ้ม ถ้าเขาขอที่ดินรอบท่าเรือ ๒ กิโลเมตร ท่านให้เขาทันไหม ถ้าขอ ๓ กิโลเมตรละครับ ขอ ๔ กิโลเมตรละครับ ขอ ๕ กิโลเมตรละครับ ขอ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ท่านไม่รู้อะไรเลย ท่านไม่รู้จริง ๆ ครับ ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำ เราจะถอยได้ถึงเมื่อไร นักลงทุนเขาต้องรู้ครับ เรารู้แล้วว่า เราอยากได้เงินจากนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนเขาก็รู้ครับว่าเราอยากได้เงินจากเขา เพราะฉะนั้นเขาต่อรองขอสัมปทานเยอะอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้าเราไม่มีตัวเลขในมือเขาต่อ อย่างเดียว เราไปไม่รอดแน่นอนเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มออก Start แล้วครับ เพราะเอาข้อมูลไม่จริง มาอยู่ในรายงานแบบนี้ ไม่พิสูจน์ความจริง ความไม่รู้คือความเสี่ยงของการลงทุนที่ตกอยู่ กับประเทศไทย ผมคิดว่าเอารายงานกลับไปทำใหม่ดีกว่าไหมครับ ศึกษาให้มันสมบูรณ์ก่อน แล้วค่อยเอากลับเข้ามาก็ไม่สาย ถ้าข้อมูลตรงไหนพิสูจน์ไม่ได้ ตัดออกก่อนเถอะครับ อย่ามาใส่ กันหลอก ๆ เลย ไม่มีประโยชน์ ตัวรายงานออกไปแบบนี้ เสียชื่อกรรมาธิการ เสียชื่อสภา แห่งนี้ เสียชื่อประเทศไทยครับขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุดท้าย ขอเชิญคุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด และหลังจากนั้นถ้ากรรมาธิการจะชี้แจงตอบก็เตรียมตัวได้ เชิญท่านอนุสรณ์ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงตัวประกาศตนว่าผมนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ขอลาออกจากคณะกรรมาธิการ วิสามัญแลนด์บริดจ์และไม่เคยคิดจะลาออกแต่อย่างใด เหตุที่ไม่คิดจะลาออกเพราะว่า ผมไม่ได้เป็นกรรมาธิการชุดนี้ตั้งแต่ต้น
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ผมศึกษา ผมอ่านรายงานรู้ ดูรายงานเป็นครับ ชื่อเขาก็บอกว่า รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ นี่เขาบอกว่าเขาศึกษาครับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยง การขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ผมต้องขอเรียนว่าผมอ่าน อยู่ ๒ รอบผมก็เห็นว่าครบถ้วนรอบด้าน ไม่ได้เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศชาติอะไร เลยครับ เป็นการทำงานของกรรมาธิการที่สมศักดิ์ศรี ครบถ้วนรอบด้าน ภายใต้กรอบภารกิจ กรอบงบประมาณ เราก็ทำกันได้เต็มที่ครับ แต่ถ้ากรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์จะไปจ้าง บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกแพง ๆ อันนั้นต้องเป็นประเด็นคำถาม แต่พวกเราซึ่งเป็น กรรมาธิการวิสามัญเป็นศูนย์รวมจากทุกพรรคการเมือง มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีนักคิด ผู้รู้ มีภาครัฐ เอกชน มี สนข. ที่ท่านโดนพาดพิง ผมยึดสุภาษิตช่างตัดผมครับท่านประธาน หลายหัวดีกว่าหัวเดียวครับ เป็นไปได้อย่างไรที่คนขนาดนี้จะมารายงานแล้วใช้ไม่ได้เลย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในรายงาน ไม่ได้มีธงครับ และไม่ได้สรุป ไม่ได้ชี้ชัด ไม่ได้บังคับกดดันรัฐบาลว่าจะต้องเดินหน้าทำ โครงการนี้หรือไม่ทำ ชื่อก็บอกว่าศึกษา และเมื่อศึกษาจบแล้วก็ส่งไปให้รัฐบาลเท่านั้นเอง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๔ เรื่องผลกระทบและการเยียวยาประชาชน ในพื้นที่ผมเห็น ในกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ก็มีตัวแทนจาก สส. ครับ ในพื้นที่และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง เขาก็ น่าจะมีความเป็นตัวแทนในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และหากจะมีการชดเชยเยียวยา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิประโยชน์ ดูแลรักษาวิถีชุมชน หากต้อง มีการเวนคืน หากต้องมีการเยียวยา ผมเชื่อครับว่าการดำเนินการนั้นจะต้องเป็นไปตาม หลักการทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวัสดิการพื้นฐานภาครัฐที่พึงมี พึงได้รับ ครั้นจะไปดูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะ EIA EHIA ศึกษาไม่พอ ศึกษาเพิ่มครับ ไปเปิดเวที ทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงประชาชน ถ้าฟังไม่พอรัฐบาลก็ไปฟังเพิ่มได้ครับ แต่ถ้าชี้เฉพาะ กรอบการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ผมเห็นว่าครบถ้วนรอบด้าน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๕ มีการไปบอกว่าไปเปรียบเทียบกับหลายประเทศของเรา ยังห่างไกล ผมก็ติดตามภารกิจท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา มีบริษัทเอกชน เอาเฉพาะสัญชาติ อเมริกาที่ให้ความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทยครั้งนี้ ผมไล่เอาเฉพาะบริษัท ที่เป็นระดับ Big 5 ของประเทศเขาครับ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท SSA Marine บริษัทผู้ให้บริการ ทางทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก เขาบอกเขาสนใจโครงการนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เขาบอกว่าเปิดเมื่อไร ขอให้บอกครับ บริษัท จาค็อบส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการบอกว่าน่าสนใจ บริษัท Amazon Web Services (AWS) บริษัทในเครือของ Amazon.com เขาบอกว่าเพิ่งมาบอก แต่จะรีบมาดูครับ eBay Website Shopping Online รายใหญ่ของอเมริกาบอกว่าสนใจ โครงการนี้ครับ บริษัท The Port of Long Beach หน่วยงานท่าเรือ Long Beach ของ แคลิฟอร์เนีย Wabtec ผู้ให้บริการอุปกรณ์ระบบ Solution Digital ชั้นนำระดับโลกและ บริการเสริมสำหรับภาคการขนส่งสินค้าและบริการของสหรัฐอเมริกาเขาบอกเขาสนใจ ไหนละครับ เสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศ ทำประเทศชาติเสียโอกาส ถ้าท่านพยายามจะเข้าใจ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งท่านจะเข้าใจ แต่ถ้าท่านพยายามจะไม่เข้าใจ ท่านจะขยับห่างไกลและ หนีห่างจากความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๖ มีคำถามในเชิงลักษณะว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาไปต่างประเทศ ไปเอาโครงการที่ยังไม่ได้ข้อสรุปไปพูด ผมถามว่าถ้าไม่พูดตอนนี้จะพูดตอนไหนครับ เปิดสัก ๓ ปีแล้วโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ แล้วก็ไปเร่ขายโครงการอย่างนั้นหรือครับ ในการไปพบปะประเทศเจรจาการค้า คุยเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคตครับ แน่นอนครับ อดีต ปัจจุบันแก้ไม่ได้ แต่เอาอนาคตไปขายได้ครับ และผมเชื่อมั่นว่าบริษัทชั้นนำของโลก เห็นในโอกาสนี้ มันมีศัพท์ในทางการลงทุนเขาบอกว่า แม้โครงการยังไม่เกิด แต่เขารับรู้ โอกาส และเมื่อรับรู้โอกาสส่งสัญญาณจะลงทุน เกิดดัชนีความเชื่อมั่นที่เรียกว่าการรับรู้ รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๗ คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ เราไม่สามารถมองได้ จากจุดนี้ครับ หลายโครงการขนาดใหญ่ก็เกิดคำถามแบบนี้ แต่วันนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เพราะมองไกล มองไปถึงอนาคต วันนี้ถึงจุดที่เราต้องเลือกว่าเราจะเป็นคนประเภทไหน เราจะเป็นคนที่เห็นโอกาสในทุกปัญหาหรือเราจะเป็นคนที่เห็นปัญหาในทุกโอกาส ตัดสินใจ ได้ครับ แต่ในชั้นนี้ผมชี้ชัด ๆ ว่าผมเห็นชอบ และยืนยันอีกรอบว่าไม่คิดจะลาออกจาก กรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญ คณะกรรมาธิการชี้แจงครับ
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายกิตติ ลิ่มสกุล เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษา โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือต่อไปนี้ผมใช้คำว่า แลนด์บริดจ์ ส่วนโครงการภาคใต้ขอใช้คำว่า SEC ผมขอใช้สไลด์ภาพที่ ๑๖ กับภาพที่ ๑๗ เท่านั้น สำหรับโครงการนี้โดยพื้นฐานผมอยากจะทำความเข้าใจกับทางท่านผู้อภิปรายและ ท่านผู้ทรงเกียรติ เดิมรัฐบาลใช้คำว่า แลนด์บริดจ์ เป็นเรื่องหลัก ผมเป็นที่ปรึกษาและ เป็นคนเขียนโครงการ SEC หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้กับสภาพัฒน์ แล้วก็ได้คำนวณสิ่งต่าง ๆ แล้วก็เสนอให้สภาพัฒน์หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นวันนี้กระผมจะขอสรุปนิดหนึ่งว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วเป้าหมายจริง ๆ ของงานครั้งนี้มันคืออะไร สำหรับงานครั้งนี้แนวคิดของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือที่เรียกว่า SEC ต้องเป็นแนวคิดหลัก สมาชิกหลายท่านก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ส่วนเรื่องของ แลนด์บริดจ์นั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นตัวชี้นำ ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะว่าภาคใต้ได้เสียสละ ให้กับการพัฒนาในภาคอื่น ๆ มานาน อย่างที่ท่านสมาชิกบางท่านได้อภิปรายว่าถนนก็มีแต่ ถนนเล็ก ๆ ๒ เลนซึ่งติดขัดพอสมควร ซึ่งในครั้งนี้การพัฒนา SEC จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ของรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลนี้ด้วย ซึ่งในนี้ท่านจะเห็นว่าการที่เป็นโครงการ SEC เราได้ คำนวณไว้ชัดเจนว่าจะต้องใช้เงินไปประมาณเท่าไรในการพัฒนา ซึ่งโครงการ SEC นั้น การใช้เงินแล้วก็มีการพัฒนาในหลายรูปแบบ ในหลายรูปส่วน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ การพัฒนาที่ว่าด้วยเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ของภาคใต้เรา ซึ่งแน่นอนครับ ในส่วนของ SEC ผมได้เสนอชัดว่ามันจะต้องมีโครงการต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้กระชับต่อเวลาเรามาพูด กันว่างบประมาณแผ่นดินที่จะวางกับ SEC นั้นมันอาจจะมีข้อจำกัด ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายดี แล้วก็การพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งหมายถึงรวมจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จริง ๆ มันก็รวมทั้งหมด เพราะฉะนั้นกรอบของ SEC กับกรอบของแลนด์บริดจ์มันเป็นเรื่อง เดียวกัน แลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ ผมขอย้ำ เมื่อสักครู่ท่านรองประธานได้พูดชัดเจนว่า ในการพัฒนา SEC นั้น เราขาด LB หรือ Land Bridge ไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่า ข้อจำกัดด้านงบประมาณ แล้วก็เป็น Game Changer หรือเป็นสิ่งที่เรามองภาพที่กำลังจะ เปลี่ยนแปลงไป ในขณะนี้พลวัตของ Geopolitics และการพัฒนาของประเทศมหาอำนาจ สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ได้นำเสนอโครงสร้างของ Belt and Road Initiative หรือโครงการของประเทศจีนที่มีความสำคัญมากที่จะเลื้อยลงมา จากข้างบนลงมาผ่าน ประเทศรอบบ้านของเรา แล้วก็ลงมาที่จะเข้าสู่มหาสมุทรอันดามันและมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษของเราได้ให้ส่วนที่เป็นที่ตั้งของภาคใต้ให้มาโดยที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าล้อมรอบด้วยทะเล ๒ ฝั่ง ซึ่งหลายประเทศไม่สามารถจะมีเช่นนี้ได้ เพราะฉะนั้นเรา คิดว่าควรจะทำคลองไทยบ้าง อะไรบ้าง แต่มันก็ได้ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นในรัฐบาลนี้ ได้ต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาของแลนด์บริดจ์ ซึ่งในการ พัฒนาแลนด์บริดจ์ผมจะพูดให้ชัดเจนว่าถ้าเราจะคิดเฉพาะเรื่องอุปสงค์ต่อการเดินเรือ เพราะมีสมาชิกหลายท่านนั้นได้อ้างอิงของ Demand for Transshipment ที่ท่านเห็นนี้ ก็คือภาพสีส่วนที่เป็นสี Containerization ส่วนที่เป็นสีน้ำเงิน ถ้าท่านดูอาจจะไกลนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตามอย่างที่ท่านสมาชิกได้พูดว่ามันไม่คุ้ม Speed หรือเวลา แล้วก็การรอคอยของเรือ รวมทั้ง Double Handling การจัดการเรื่องท่าเรือซึ่งจะต้องมีการขนขึ้นขนลง เท่าที่ ผมศึกษาที่ทาง สนข. ได้ศึกษามาในทางวิศวกรรมศาสตร์นั้น ผมคิดว่าในเรื่องของ วิศวกรรมศาสตร์ที่กำลังพัฒนาก้าวไปข้างหน้า มันไม่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาที่ว่าเป็น Double Handling แล้วก็ช้า เพราะว่าในที่สุดแล้วท่าเรือมันจะเป็น Automation หมด อย่างเช่นท่าเรือของประเทศสิงคโปร์อันใหม่นี้เขาจะเป็น Fully-automated นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เราต้องการที่จะไปเพิ่มอุปสงค์ในส่วนที่ อุปสงค์ของท่าเรือมะละกามันมีเพิ่มขึ้นเยอะ เมื่อสักครู่มีท่านผู้มีเกียรติบางท่านได้นำเสนอ แล้วว่า Demand มันเพิ่มขึ้นมาก เราเพียงแต่ไปเสริม ฟังให้ดีนะครับ เราไม่ใช่ที่จะไปแย่งชิง เพราะว่าจริง ๆ ท่าเรือมะละกา แล้วก็ที่ Port Klang มันจะใหญ่มาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำไม่ใช่เราจะพัฒนาท่าเรือเพื่อไปแย่งชิง แต่เราต้องการ พัฒนา SEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่สำคัญที่สุดเมื่อเรามี One Port หรือ Two Side หรือจะเรียก Two Port Single Handling หรือ Single Operation ก็แล้วแต่ ตัวนี้มันจะ เป็น Game Changing หรือการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ที่เรามีความเชื่อมโยงกับฝั่งตลาด ที่อยู่ทางฝั่งแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี และฝั่งที่เป็นฝั่งตะวันตก เช่น ประเทศอินเดีย เพราะ ๒ ฝั่งนี้มีความพัฒนาไม่เท่ากัน ฝั่งหนึ่งอาจจะต้องการวัตถุดิบจาก อีกฝั่งหนึ่ง วัตถุดิบขั้นกลางที่จะผลิตต่อไปเพื่อนำไปขาย อีกฝั่งหนึ่งก็อาจจะต้องการส่งสินค้า สำเร็จรูปมาให้อีกฝั่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เราคิดว่าทุกอย่างจะเป็น Transshipment หมด มันไม่ใช่อย่างนั้น ในอนาคตการพัฒนาแลนด์บริดจ์มันจะเป็นเครื่องมือสำคัญของ SEC ที่จะ ก่อให้เกิด S-Curve ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็น S-Curve หลังท่า เมื่อสักครู่หลายท่านได้พูดไปแล้ว ผมจะไม่พูดมากมายนะครับ โดยเฉพาะคุณหมอศรีญาดาพูดไปแล้วสักครู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ คนภาคใต้จะได้ ภาคใต้หมายถึงทั้งภาคใต้เลยที่จะได้ก็คือว่ามันจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และที่สำคัญของเราเป็น Trade Hub ศูนย์กลางทางการค้า ระหว่าง ๒ ฝั่ง จริงอยู่ครับหลายท่านพูดเหมือนว่าทุกอย่างเป็นเพียงภาพสถิตย์ ขณะนี้ ถ้าผู้ประกอบการทางเดินเรือหรืออะไรบอกไม่พร้อมแล้วก็ไม่สามารถจะแข่งขันได้ อันนี้เป็น ภาพปัจจุบัน ภาพในอนาคตมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็มีการเปลี่ยนแปลงทาง เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นท่าเรือที่เกิดขึ้น ๒ ฝั่งของแลนด์บริดจ์มันจะค่อย ๆ เป็นฐานของ ประเทศเราในการที่จะขนของ ส่งของ นำเข้าเพื่อผลิต ตั้งแต่ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ลงมาข้างล่างเพื่อจะเชื่อมโยงกับภาคใต้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่โครงการนี้ที่รัฐบาลได้มุ่งที่จะพัฒนานั้นไม่ใช่เพื่อพัฒนาท่าเรือ เราอาจจะ เข้าใจกันอีกนิดหนึ่งว่าเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ อันนี้เรื่องที่ ๑ ขอให้ท่าน เข้าใจ
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ ผมคิดว่ารายงาน สนข. ในฐานะผมเป็นคนศึกษาเรื่อง SEC ด้วย แล้วพอดีทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เชิญผมมาเป็นที่ปรึกษา มาเรื่องแลนด์บริดจ์นี้ ผมอยู่ตลอดเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็เห็นว่าทาง สนข. ได้ตอบคำถามไปพอสมควร แล้วที่เขียนมา ผมอ่านดูตั้งหลายเล่มแล้ว หลายครั้ง เพราะมันมีหลาย Version ผมเห็นว่าทางผู้เขียน รวมทั้งผมก็เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนด้วย มีความเอื้ออาทรที่รับฟังในส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ Demand สำหรับเรื่อง Transshipment ซึ่งอันนี้ผมคิดว่า ท่านกรรมาธิการได้เข้าใจดีถึงเรื่องความไม่เห็นด้วย ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ท่านสมาชิกบางท่านจะใช้คำว่า จะ หรือ อาจจะ หรือ ศึกษาเพิ่ม มันเป็น ความจริงว่าเราให้เกียรติกับผู้ที่มาคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วย หรือแนะนำ อันนี้ก็ข้อที่ ๒
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ เรื่องของการการพัฒนา SEC โดยมีแลนด์บริดจ์มันมีผลกระทบ สิ่งแวดล้อมไหม ผลกระทบต่อ Ramsar Site ไหม เท่าที่ผมดูแผนที่อย่างละเอียดแล้วก็พบว่า ท่าเรือที่จังหวัดระนองมันจะอยู่ห่างจากที่ Ramsar Site มาถึงพื้นที่ชุ่มน้ำประมาณสัก ๓ กิโลเมตร เพราะฉะนั้นก็ขอยืนยันว่ามันอยู่ออกนอกเขต Ramsar Site จริงอยู่อาจจะต้อง มีผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง แต่ว่าในทางเทคนิคและอื่น ๆ ผมได้เรียนถามทาง ทช. ทรัพยากรธรรมชาติและอื่น ๆ เขาก็บอกว่าสามารถจะมีเทคโนโลยีหรือมีวิธีการจัดการได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งเรื่องท่าเรือด้วย ตัวท่าเรือเองไม่ได้อยู่ติดพื้นดิน มันอยู่ออกไป นอกชายฝั่งในเขตน้ำลึก ถามว่ามีผลกระทบไหม คงมีผลกระทบแต่คงให้น้อยที่สุด อะไรบ้าง เช่น จะต้องมีการถมดินมันก็ต้องมีบ้าง แต่ว่าเขามีเทคโนโลยีสำหรับให้ปลาเคลื่อนย้ายตัวเอง ได้ตามริมชายฝั่ง นั่นหมายความว่าผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงขนาดเล็กได้รับ การดูแลไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นอันนี้ข้อที่ ๓ ส่วนเรื่องของป่าไม้ เรื่องของผลตอบแทนต่อ ชาวบ้านที่อำเภอพะโต๊ะและพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งที่จังหวัดชุมพรด้วย ในกรณีเช่นนี้ผมเข้าใจว่า ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงไปประมาณ ๗-๘ ข้อว่าจะชี้จะมี การชดเชยอะไร อย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อเสนอของท่าน ซึ่งแน่นอนครับมันคงจะต้องทำต่อไป ดูในรายละเอียด เพราะว่าตัว Parameter มันอาจจะต้องมีการพูดคุยกัน
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๔ หลังจากนี้ไปจะเดินไปอย่างไร ได้คุยกันแล้วผมเองก็มีแนวคิด ที่ชัดเจนว่า ๑. เนื่องจากว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีผลกระทบในระดับใด ระดับหนึ่ง มีทั้งบวกและลบ ซึ่งผมเชื่อว่า EIRR หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม แล้วก็ ทางด้านสิ่งแวดล้อม ในทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนก็คือ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วก็คืนทุนได้ ใน ๒๐ กว่าปี แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไปนี้มันไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาเถียงกัน แล้วก็ หลายท่านก็บอกว่าไม่เอาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอ้างอิง จากนี้ไปขั้นตอนมันน่าจะ เป็นว่า ๑. หลังจากที่รายงานฉบับนี้ได้รับการให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ แล้วก็ทำ Take Note ไปแล้ว สุดท้ายแล้วในที่สุดมันคงจะต้องเข้าสู่ ครม. และอาจจะต้องมีการทำการศึกษา เพิ่มเติม อย่างที่หลายท่านบอก ทำไมต้องเพิ่มเติม เพราะอันนี้เป็น Fact Finding เบื้องต้น แล้วมันก็มีข้อที่คำนวณหรือข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างการศึกษา ๒ อัน แน่นอนพวกเรา ไม่ใช่จะมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ เพราะฉะนั้นมันมีข้อสมมุติฐาน มีหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นก็คงจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แล้วก็อาจจะต้องมีการทำอย่างไรให้ส่วนที่เป็น สมมุติฐานตรงกัน รวมทั้ง Demand ด้วย Demand สำหรับการเดินเรือต่าง ๆ แล้วที่สำคัญ ที่สุดเพื่อจะให้เกิดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ในส่วนของรายงานนี้ก็คือขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะสำคัญที่สุดคือการตั้งการศึกษาเรื่องกฎหมาย เมื่อสักครู่มีท่านผู้มีเกียรติบอกว่า ไม่มีกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องที่ท่านชี้ถูกต้อง สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกฎหมายที่เรียกกันว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการดูแลพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ SEC ซึ่งแน่นอนรายละเอียดมันคง ไม่เหมือนของ EEC เพราะ EEC นั้นอาจจะมีการรอนสิทธิในหลายรูปหลายแบบ แต่ภาคใต้ เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ แล้วก็สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนมันอาจจะมี การรอนสิทธิระดับใดระดับหนึ่ง ดังนั้นคิดว่าจะต้องมีเรื่องของกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วก็มี การตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาเพื่อจะไปเป็นสำนักงานต่าง ๆ
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
โดยสรุปแล้วก่อนที่จะใช้เวลาไม่นานเกินไป กระผม นายกิตติ ลิ่มสกุล ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญขอยืนยันว่ารายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่รับฟัง ความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายประชาชน ผมก็อยู่ที่กรรมาธิการ รวมทั้ง มีการเดินทางไปพื้นที่ มันจะพอไหม มันคงไม่พอ ก็ฝากไว้ว่าผมเองส่วนตัวสำหรับรายงาน อันนี้เป็น Fact Finding เบื้องต้นผมรับได้ รับได้ในทางวิชาการ แล้วก็เสนอแนะว่าหลังจากที่ เคลียร์กับทางรัฐบาลแล้วก็จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอะไรบ้าง ดังต่อไปนี้ ๑. เรื่องของ กฎหมาย SEC ๒. ถ้าจะมีการมาลงทุนโดยภาคเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ต้องมี การพิจารณาเรื่องตัวแบบทางการเงินและตัวแบบการลงทุน Financial Model And Investment Model ที่ชัดเจนมีผลตอบแทนและมี Assumption ที่ชัดเจน อันที่ ๓ เอกชน ถ้าจะมาลงทุน เขาอยู่ดี ๆ มาเชื่อกระดาษรายงานเล่มนี้คงไม่ใช่ เขาคงเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะต้อง ทำอะไรบ้าง สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการออกกฎหมาย SEC ซึ่งแน่นอนอยู่ใน Type Line อยู่แล้ว การออกกฎหมายที่ชัดเจนจะทำให้ต่างชาติ หรือนักลงทุนทั่วไป หรือนักลงทุนไทยก็แล้วแต่ มั่นใจในเรื่องของการพัฒนาท่าเรือ พัฒนาระบบ Handling ต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรม หลังท่า รวมทั้งการพัฒนา S-Curve อันนี้หมายถึงว่าบางประเทศถ้าเขาเห็นผลของการออก กฎหมายและการวางแผนรูปแบบการใช้ที่ดินที่ชัดเจนอาจจะมีการย้ายโรงงานอุตสาหกรรม มาประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมหลังท่าก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราได้เขียนกฎหมาย เราจะเขียนกฎหมาย รวมทั้งมีข้อชัดเจนว่าเรื่องของ สิ่งแวดล้อมเราต้องดูแล อันนี้ชัดเจน ผมขอฝากให้ท่านผู้ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ผมก็เชื่อว่า ทางคณะกรรมาธิการและทาง สนข. และทางเรานี้ก็จะนำไปพิจารณาแล้วก็นำเสนอต่อไป ในขั้นสุดท้ายทั้งหมดนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
กรุณาสรุปด้วยครับ
รองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ได้ครับ มีเรื่องที่สำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องของแหล่งน้ำจะมีการแย่งชิงกันระหว่างอุตสาหกรรมกับ ประชาชนหรือไม่ ผมคิดว่าอันนี้ทางท่าน สส. เองและท่านที่อยู่ในพื้นที่เขามีการระมัดระวัง แล้วก็คิดว่ามีการพูดคุยกับรัฐบาล อย่าลืมว่าโครงการนี้หลักของมันคือพัฒนา SEC ระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้ที่สภาพัฒน์วางไว้ ผมเป็นคนคำนวณตัวเลขการลงทุนให้กับสภาพัฒน์ และคิดว่าตัวเลขมันอาจจะสูง ดังนั้นเราก็เลยคิดว่ามันควรจะมีเรื่องของแลนด์บริดจ์เข้ามาด้วย อันนี้ไปถึงรัฐบาลคิด ซึ่งมันก็สอดคล้องที่ผมคิดไว้แล้ว เพราะฉะนั้นงานครั้งนี้โดยสรุปแล้ว กระผมในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ขอให้ความเห็นชอบ แล้วก็ ยืนยันว่ารายงานทั้งหมดที่ทำมานี้มีเหตุมีผล แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะหลายอย่างเราก็จะรับฟังไว้ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
การอภิปรายได้ สิ้นสุดแล้ว เชิญครับ ไม่อภิปรายซ้ำนะครับ เอาส่วนที่พาดพิง
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจากว่าท่านกรรมาธิการได้มาชี้แจง ซึ่งยังมีอีกหลายคำถามที่ท่านก็ไม่ได้ตอบ เช่น ผมถามว่ามีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงหรือไม่ อะไร อย่างไร ท่านก็ไม่ได้ตอบ ก็ไม่เป็นอะไรเพราะว่าเราประหยัดเวลาสภา แล้วก็ท่านคงจะหาตัวเลข มาตอบผมไม่ได้ด้วย แล้วก็ขอใช้สิทธิพาดพิงว่าเมื่อสักครู่ท่านกรรมาธิการท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านทันตแพทย์หญิงศรีญาดาท่านได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงว่าการทำ ท่าเรือไม่มีผลกระทบกับชาวสวนทุเรียนอำเภอพะโต๊ะ ก็จริงครับ สวนทุเรียนไม่ได้อยู่ในทะเล แต่ถนนมันกระทบกับสวนทุเรียนเขาครับ เพราะฉะนั้นในการชี้แจงของท่านไม่น่า ตรงประเด็น แล้วก็ไม่น่าจะโดนใจของคนที่รับฟังข้อมูล โดยเฉพาะที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัด ชุมพรด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
การอภิปราย สิ้นสุดลงแล้วนะครับ ผมคิดว่ามันพาดพิงไปมา ท่านตอบสั้น ๆ เลย
นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ดิฉัน ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ในฐานะกรรมาธิการ เมื่อสักครู่ท่านอาจจะไม่ได้ฟัง ทางสมาชิกพรรคก้าวไกลได้พูดถึงเรื่องท่าเรือว่าไปกระทบกับสวนทุเรียน ดิฉันพูดถึงเรื่อง ท่าเรือค่ะ แล้วก็ชี้แจงให้ว่าในส่วนของท่าเรือหัวท่าไม่ได้มีส่วนที่เป็นสวนทุเรียน แน่นอน ในส่วนที่เป็นแลนด์บริดจ์เรื่องของถนนมอเตอร์เวย์มันไปกระทบอยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นประมาณ สัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะ ๗๐ เปอร์เซ็นต์จะเป็นที่ดินของภาครัฐ ก็ขอทำความเข้าใจนะคะ เพราะดิฉันไม่ได้เข้าใจผิด แล้วก็ชี้แจงให้ถูกต้องค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมจะขอมติจาก ที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ ท่านสมาชิกที่อยู่ข้างนอกหรือว่าอยู่ในห้องกรรมาธิการต่าง ๆ ขอให้เข้ามาในห้องประชุมนี้ เพื่อจะลงมติกับรายงานของคณะกรรมาธิการครับ จะขอเวลาสัก ๒ นาที เผื่อคนที่อยู่ในห้อง กรรมาธิการ อย่างไรส่งสัญญาณกับสมาชิกที่อยู่ข้างนอกด้วย
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผมวิสุทธิ์ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ผมเกรงว่าสมาชิกที่อยู่ ในห้องงบประมาณจะใช้เวลามากกว่า ๒ นาที ขอสัก ๗-๘ นาทีระหว่างเดินทางครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ได้ เอากลาง ๆ ก็แล้วกัน สัก ๕ นาที
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ นิดเดียวครับท่านประธาน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ครับ เนื่องจากว่าเมื่อเช้านี้ระหว่างประชุม กรรมาธิการมีเสียงสัญญาณเตือนลงมติขึ้นในห้องกรรมาธิการหลายห้อง มีการสอบถามไป เขาก็บอกว่าซ้อม เดี๋ยวจะมาลงมติเรื่องแลนด์บริดจ์ ผมก็เกรงว่ากดไปรอบนี้สมาชิกจะ ไม่เข้าใจว่าตกลงรอบนี้ซ้อมหรือจริง ถ้าอย่างนั้นต้องสื่อสารว่ารอบนี้เอาจริง แล้วก็ลองดูก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ลงเป็นรายบุคคล ใช้บัตร แต่ว่าถ้าจำเป็นเดี๋ยวดูก่อนว่าเอาอย่างไรดี แต่ว่าอยากจะให้ท่านประธานสื่อสารเจ้าหน้าที่ไปถึงห้องกรรมาธิการว่ารอบนี้ไม่ซ้อมนะครับ เอาจริงครับ เดี๋ยวจะเข้าใจคลาดเคลื่อน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็ขอให้สมาชิก ที่อยู่ในห้องกรรมาธิการงบประมาณ ที่อยู่ข้างหน้านี้ก็คงเข้ามาแล้ว ช่วยเข้ามาหน่อยครับ เราจะให้เวลาตามที่ขอสัก ๕ นาทีเพื่อจะเดินมา แต่ถ้าเห็นว่าไม่เดินเข้ามาแล้วก็อาจจะ ดำเนินการต่อไป
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ อีกรอบหนึ่งครับ ท่านประธาน จอแสดงผลเวลา Check องค์ประชุมมันไม่ขึ้นเลยครับ ท่านประธานกำชับเจ้าหน้าที่นิดหนึ่ง รอบนี้ไม่ได้ซ้อม เอาจริงแล้วครับ จอไม่ขึ้นครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่ดู ความเรียบร้อยด้วยครับ สำหรับผู้ที่เข้ามาแล้วในห้องประชุมนี้ท่านกดบัตรแสดงตนได้นะครับ ท่านสมาชิกที่อยู่ข้างในห้องแล้วท่านกดบัตรแสดงตนด้วย ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับบัตร กดแล้ว มีความขัดข้องอย่างไรแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วย อย่าเพิ่งลงมติ เพราะว่าเราจะดูจำนวนแสดงตน เข้าที่ประชุมก่อน
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
๙๙ แสดงตนครับ รหัส ๙๙ ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๙๙ แสดงตน เจ้าหน้าที่จดด้วย แต่ท่านอย่าไปกดต่อนะ เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่จดแล้ว
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ กิตติ์ธัญญา วาจาดี ๐๒๒ แสดงตนค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๐๒๒ แสดงตน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ณัฐวุฒิ อีกรอบครับ ด้วยความเคารพครับ จอมันไม่ขึ้นครับ พวกผมก็แสดงตนไปตั้งนานแล้ว ไม่แน่ใจว่าจอท่านประธานเห็นไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ยังไม่เห็นครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ยังไม่เห็นเหมือนกัน อยากรู้ แค่นั้นครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่ช่วย รายงานด้วยถ้าเครื่องไม่พร้อม มาแล้วครับ ผมคิดว่าตอนนี้องค์ประชุมครบแล้ว คนที่เข้า มาแล้วยังไม่ยังไม่แสดงตนมีผู้ใดบ้าง
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ๓๗๑ แสดงตนค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓๗๑ แสดงตน เชิญเลยครับคนที่ยังไม่ได้แสดงตน
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานค่ะ เบญจา แสงจันทร์ ๑๙๙ แสดงตนค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑๙๙ แสดงตน
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เดชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓๘๗ แสดงตน ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่รายงานด้วยครับ ตอนนี้มีผู้ที่อยู่ในห้องประชุมตามตัวเลขนี้ คือ ๔๐๓ แสดงตนทางไมค์อีก ๕ ก็เป็น ๔๐๘ ถือว่าครบองค์ประชุมครับ
นายสมยศ พลายด้วง สงขลา ต้นฉบับ
๓๙๒ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ปิดไปแล้ว ไม่เป็นอะไรครับ ท่านอยู่ ตอนลงมติท่านสามารถจะลงมติได้ครับ แต่ถ้าลงมติแล้วมีปัญหาว่า เครื่องกดไม่ลงก็แจ้งทางวาจาได้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปก็จะให้ท่านใช้สิทธิลงคะแนน ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับรายงานของ คณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ท่านผู้ใดไม่เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงกรุณากดปุ่ม งดออกเสียง
นางสาวกิตต์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ กิตติ์ธัญญา วาจาดี ๐๒๒ เห็นด้วยค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๐๒๒ เห็นด้วย เจ้าหน้าที่จดด้วย
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ๙๙ เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๙๙ เห็นด้วย
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ๒๐๒ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เบอร์เท่าไร เจ้าหน้าที่จะได้หาไรง่าย
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ต้นฉบับ
๒๐๒ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒๐๒ ไม่เห็นด้วย
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓๘๗ ไม่เห็นด้วย มีผู้ใดยังไม่ลงคะแนนออกเสียงครับ ลงเรียบร้อยแล้วขอให้เจ้าหน้าที่รายงานผลด้วย มีผู้มา ใช้สิทธิ ๔๑๙ เห็นด้วย ๒๖๙ ไม่เห็นด้วย ๑๔๕ บวกอีก ๒ ก็เป็น ๑๔๗ เมื่อสักครู่นี้มีผู้ใด ยังไม่ลงคะแนน
นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้นฉบับ
ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย จังหวัดน่าน ขออนุญาตลงคะแนน เห็นชอบครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เห็นชอบก็บวกอีก ๑ เป็น ๒๗๐
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ท่านประธานปิดลงมติไปแล้ว ด้วยความเคารพต่อท่านคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ผมคิดว่าไม่ใช่บวก ๑ นะครับ จะต้องมีการลงบันทึกไว้ว่าท่านมาลงมติภายหลัง ท่านแสดงเจตจำนงเช่นนั้น แต่ไม่ใช่นับรวมในคะแนนที่ลงมติไปแล้วนะครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เมื่อสักครู่ปิด การลงคะแนนก็ต้องขออภัยคุณหมอชลน่านด้วย ก็บันทึกด้วยนะครับ ท่านหมอชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาแสดงตนเห็นด้วย แต่ว่าได้ปิดการลงคะแนนแล้ว ขอบคุณครับ เป็นอันว่ามติเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าที่ประชุมนี้เห็นด้วย กับรายงานของคณะกรรมาธิการ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญคุณปกรณ์วุฒิ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธาน ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนที่จะเข้าระเบียบวาระถัดไปผมขออนุญาตท่านประธานนิดเดียวครับ ผมเห็นว่าช่างภาพ น่าจะถ่ายรูปไว้เยอะตอนที่ลงมติ แล้วผมอยากจะแจ้งแบบนี้ครับว่าผมไม่มั่นใจจริง ๆ ว่า เมื่อสักครู่นี้เรามีสมาชิกอยู่ในห้องนี้ถึง ๔๐๐ ท่านจริงหรือเปล่า ผมอยากได้ภาพที่ ช่างภาพถ่ายไว้ในช่วงนี้ลงมติ เดี๋ยวนี้ AI มันนับหัวได้ว่าภาพที่ถ่ายมานั้นมีทั้งหมด กี่หัว เดี๋ยวเราลองมาดูกันว่ามีสมาชิกอยู่ครบจริงตามจำนวนที่ลงมติหรือไม่ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อันนี้ก็เป็น ความเห็น แต่ก็ต้องประกาศตามคะแนนที่ปรากฏ ขอบคุณมากครับ ขอบคุณทุกฝ่ายครับ ท่านสมาชิกอย่าเพิ่งออกครับ เมื่อสักครู่ผมไม่ได้ดูว่าในรายงานนี้มีข้อสังเกตด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตามที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานไว้ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ เมื่อเห็นด้วย กับรายงานของคณะกรรมาธิการแล้วต้องถือว่าเห็นด้วยกับข้อสังเกตด้วย อันนี้ต้องลงมติด้วย สมาชิกที่กำลังจะออกไปอย่าเพิ่งไป ผมลืมดูว่าในรายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ มีข้อสังเกตด้วย จะต้องมาลงมติครั้งหนึ่งเรื่องท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกต เชิญครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมครูมานิตย์ครับ ไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางอะไรหรอกครับ เสียงท่านประธานมันเบามันค่อย ต้องให้ดังกว่านี้ ว่ายังมีการลงมติในเรื่องข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพราะว่าสมาชิก ข้างหลังไม่ได้ยินเขาก็เลยจะเดินออกไปทำภารกิจอยู่ข้างนอก
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
อีกนิดเดียวครับประธานครับ ผมลุกขึ้น มาพูดหลายครั้งไม่ว่าเครื่องเสียงในห้องนี้ควรจะปรับปรุง นี่ถ้าจำไม่ผิดครั้งที่ ๕ แล้วครับ เครื่องเสียงในห้องนี้สภาเราสร้างเป็นหมื่นล้าน แล้วก็วันนี้ที่ณัฐวุฒิพูดก็ถูกต้อง ผมนั่งประชุม กรรมาธิการตอนเช้าไฟกระพริบลงมติ เสียงหวอก็ดัง มันดูเสมือนว่ามันขัดข้องไปทั้งหมดเลย ครับท่านประธาน แล้วมันก็จะผิดพลาด พอผิดพลาดสังคมเขาก็โทษเราได้ จริง ๆ แล้ว เรื่องเหล่านี้ไม่น่าที่จะให้เกิดขึ้นในระบบของรัฐสภา เพราะว่ามันเป็นเรื่องไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง เรื่องเครื่องเสียง เรื่องระบบเสียง เรื่องไฟลงมติ ผมขอฝากท่านประธานรัฐสภาไว้อีกครั้งหนึ่ง กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณครูมานิตย์ครับ โดยเฉพาะเสียง ผมได้ยินเสียงสมาชิกพูดค่อนข้างชัด แต่เวลาประธานพูด บางทีข้างบนก็มีความรู้สึกว่าเสียงเบามาก ตอนที่ผมอยู่ข้างนอกเสียงของท่านสมาชิกพูดชัด แต่ว่าประธานข้างบนนี้ไม่ค่อยได้ยิน ดังนั้นฝากเจ้าหน้าที่ช่วยดูเครื่องเสียงบนบัลลังก์ประธาน และของสมาชิกด้วย เพราะว่าถ้ามีปัญหาเรื่องเสียงแล้วการประชุมเราก็จะไม่ได้ผลด้วย ก็ขอ เรียนย้ำอีกครั้งสำหรับท่านสมาชิกที่อยู่ข้างนอกหรือกำลังจะเดินออกไปที่ห้องกรรมาธิการ ขอให้กรุณาเข้ามาในห้องประชุมอีกครั้งหนึ่งครับ เพราะว่ารายงานฉบับนี้มีข้อสังเกตด้วย แล้วเราต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตด้วย กำลังเดินมาหลายคน ขอเชิญอีกครั้งครับท่านสมาชิกมาลงมติเรื่องนี้ก่อน ต่อไปผมจะขอมติจากที่ประชุมว่า เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการหรือไม่ ก่อนจะลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ เราจะลง มติข้อสังเกต แต่ก่อนที่ลงมติขอตรวจสอบองค์ประชุม สมาชิกที่เข้ามาในห้องประชุมนี้แล้ว กรุณากดบัตรแสดงตนครับ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ๙๙ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๙๙ แสดงตน มีสมาชิกท่านใดยังไม่แสดงตน
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๐๒๒ แสดงตนค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๐๒๒ แสดงตน จดไว้ด้วย
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓๘๗ แสดงตน ยังมีสมาชิกท่านใดมีปัญหาเรื่องการแสดงตนบ้างครับ กำลังเดินเข้ามาอีก ๑ คน เชิญ แสดงตนได้เลยครับ แสดงตนหมดแล้วขอปิดการแสดงตน ช่วยรายงานด้วยครับ ในจอ แสดงตน ๓๙๗ และแสดงตนโดยทางวาจา
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผมกดแล้วไฟมันไม่ขึ้นครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
กดแล้ว ไฟยังไม่ขึ้น ช่วยไปดูด้วย อันนี้ถือว่าแสดงตนแล้ว เจ้าหน้าที่ช่วยไปดูด้วย ตอนนี้ก็ ๓๙๗ บวก ๓ เป็น ๔๐๐ ครบองค์ประชุม สัญญาณไฟไม่ติดใช่ไหม อันนี้ก็บันทึกไว้ด้วยก็แล้วกัน ถ้ามี ปัญหาภายหลังก็ถือว่าครบองค์ประชุมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็จะต้องถามมติ ต่อไปว่าท่านจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ ถ้าท่านเห็นด้วยกับ ข้อสังเกตโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง เชิญลงมติได้ครับ
นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง หมายเลข ๙๙ เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
บันทึกด้วยนะครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ ๒๐๒ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒๐๒ ไม่เห็นด้วย
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ กิตติ์ธัญญา วาจาดี ๐๒๒ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๐๒๒ เห็นด้วย
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓๘๗ ไม่เห็นด้วย มีอีกไหมครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานสักครู่ครับ พอดี ท่าน สส. พุธิตา มีปัญหาเรื่องบัตรนิดหนึ่งครับ กรุณาสักครู่ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ครับ ช่วยดูนิดหนึ่ง ถ้ามีปัญหาเรื่องบัตรก็แสดงตนทางวาจาได้ครับ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๒๖๕ ไม่เห็นด้วย เมื่อสักครู่กดผิดค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒๖๕ ไม่เห็นด้วย มีท่านใดยังมีปัญหาเรื่องลงคะแนนครับ ไม่มีนะครับ ก็ขอปิดการลงคะแนน แสดงผลครับ มีผู้มาลงมติ ๔๐๒ ท่าน เห็นด้วย ๒๖๑ บวกอีก ๒ เป็น ๒๖๓ ไม่เห็นด้วย ๑๓๙ บวก ๓ เป็น ๑๔๒ เสียงข้างมากในที่ประชุมนี้เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการและข้อสังเกต อันสุดท้ายนี้คือข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ก็ถือว่าที่ประชุมนี้เห็นด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอขอบคุณ คณะกรรมาธิการทุกท่าน ขอบคุณสมาชิกด้วยที่มาลงคะแนนเสียงครบถ้วนบริบูรณ์
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก่อนเรื่องที่ค้างพิจารณานี้ผมขอเรียนสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง ความจริงทาง สำนักงานเลขาธิการได้ส่งหนังสือแล้ว พรุ่งนี้การประชุมร่วมงดครับ เลื่อนออกไปก่อนครับ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ขออนุญาตครับ รบกวนท่านประธาน ผม ชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เมื่อเช้านี้ท่านรองประธานได้กล่าว ณ สภาแห่งนี้ถึงเหตุการณ์ เมื่อวานนี้ แล้วท่านประธานบอกว่าเป็นระเบียบที่จะเปิดเผยรูปได้ ผมไม่ติดใจ แต่ท่านประธาน บอกว่ากล่าวหารุนแรงว่าประธานลำเอียง ผมว่าผมไม่ได้พูดเรื่องประธานลำเอียง แล้วสิ่งหนึ่ง ที่ประธานพูดมาว่าจะเป็น สส. อายุมาก อายุน้อย ซึ่งมันไม่เกี่ยวครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเท่าเทียมกัน จะกี่สมัย จะ ๑๐ สมัย จะ ๑ สมัย หรือจะอายุมาก อายุน้อย เท่ากันหมดครับ แต่สิ่งที่สำคัญคือที่บอกว่าระเบียบของฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ว่าเป็นแบบนี้ แบบที่ท่านได้พูดถึงนั้น ผมเรียนด้วยความเคารพ ผมติดใจว่าท่านทำข้อความนี้ท่านดูเรื่องกฎหมาย PDPA หรือเปล่า แล้วท่านต้องดูเจตนาในการอภิปราย การเอารูปขึ้นมา หรือจะเป็นแนวทางว่าต่อไปนี้ พิจารณาแต่รูป คำอภิปรายไม่พูดถึงก็ไม่เป็นอะไร แต่มันต้องมีแนวทางครับ แต่สิ่งที่ ท่านประธานพูดเมื่อเช้านี้ผมถือว่าเรื่องมันจบไปแล้ว ท่านไม่จบ ผมถึงมาพูดวันนี้ต่อ เพราะว่าการที่ท่านพูดบนบัลลังก์เมื่อเช้านี้ผมถือว่าผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ท่านประธาน จะเอาแนวทางไหน หรือจะลองให้ผมฟ้องดูเพื่อกฎหมายดีไหม ซึ่งผมไม่คิด และผมก็ไม่ได้ มองว่าท่านประธานผิด แต่ท่านประธานก็พูดเองว่าไม่ได้ดู แต่ผมพูดถึงเจ้าหน้าที่ แต่คำแถลง ของท่านประธานเมื่อเช้านี้ผมว่ามันไม่เหมาะสมครับ แล้วเป็นเรื่องที่ท่านไม่จบ ผมจบแล้ว พอหลังอภิปรายไปแล้วผมถือว่าผมทำหน้าที่แล้ว ผมก็ทำหน้าที่ของผมตรงนั้นแล้ว แต่เมื่อเช้านี้ผมถือว่าท่านประธานไม่จบ แล้วผมก็ไม่ได้ว่าท่านว่าท่านลำเอียง แต่ผมถามว่าวิธีคิด คิดอย่างไร แต่จะมาบอกว่าอาวุโส อายุน้อย อายุมาก มันเกี่ยวอะไร ผมถามท่านประธานด้วยความเคารพ เรารักชอบพอกันนะครับ แต่เมื่อเช้านี้ผมถือว่าท่านประธานไม่จบ ผมเรียนว่าออกแนวทางในการปฏิบัติมาด้วย พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอรูปภาพไปเป็นภาพ AI แท้ ๆ ก็ไม่ได้รับอนุมัติ แต่ถ้าลักษณะนี้ได้รับ อนุมัติก็จะได้เป็นแนวทางในการที่เราจะทำงานต่อไปในวันข้างหน้า กราบเรียนด้วย ความเคารพครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไประเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ประธาน อยากคุยกับผมข้างนอกใช่ไหมครับ เดี๋ยวก็เชิญได้เลยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวผมทำหน้าที่ของผมก่อน ผมไม่ใช่นักเลง ผมไม่ใช่เจ้าพ่อ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ประธาน พูดเองนะครับ ประธานพูดเอง แล้วใครนักเลงครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานด้วยความเคารพ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวผมทำหน้าที่เสร็จนะครับ เจอข้างนอก
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ครับ ตอนไหนก็ได้สำหรับผม แต่ประธานพูดเองให้เจอกันข้างนอก
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวผมทำหน้าที่ก่อนนะครับ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
แต่นักเลงนี่ ท่านประธานก็ต้องถอนคำพูดไหมคำนี้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ถอนคำพูด
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
โอเคครับ จบครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวค่อยเจอข้างนอกนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ ท่านณัฐวุฒิมีอะไรครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประท้วงท่านประธานตาม ข้อ ๙ อยากให้ท่านประธานควบคุม การประชุมครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานเริ่มเข้าสู่วาระ ถัดไปแล้วครับ แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญที่มีเพื่อนสมาชิกรออภิปรายหลายท่าน ต้องขอบพระคุณ ทุกท่าน แล้วก็คิดว่าอยากจะให้การประชุมเดินหน้าต่อครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทย สร้างชาติ ผมดูแล้วบรรยากาศเย็นนี้ดูท่าไม่ค่อยดีแล้วครับท่านประธาน ผมว่าหลายท่าน ก็ยืนบ้าง นั่งบ้าง มองโน่นนี่บ้าง ผมเสนอให้ท่านปิดประชุมครับ เอาไว้วันพุธหน้าค่อยเริ่มต้น กันใหม่ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธาน ขออนุญาตครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ตอนนี้มีญัตติที่ติดค้างอยู่เยอะมาก ๆ ในคิวครับ และเป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มีหลายท่านเสนอ ครั้งนี้ มีผู้เสนอญัตติ ๕ ท่าน อย่างน้อยให้การประชุมดำเนินการไปโดยราบรื่น แล้วก็ให้ การอภิปรายของสภาของเราที่ประชาชนตั้งความหวังและรอคอยการทำงานของเราเดินหน้า ต่อเถอะครับท่านประธาน เพราะว่าถ้ายิ่งเลื่อนไปเรื่อย ๆ ญัตติก็ยิ่งค้างสะสมไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดีวันนี้ผมอยากให้การเดินหน้า อย่างน้อยก็ไปตามที่วิปคุยกันก่อนก็ยังดี รบกวน ท่านประธานวินิจฉัยด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านผู้เสนอยังไม่มีผู้รับรอง เดี๋ยวให้เขาดำเนินการไปก่อนเถอะครับ ถ้าท่าน อยากจะกลับท่านกลับก่อนได้
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออนุญาตประธานครับ ผม เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ที่ผมเสนอเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะผมอยากกลับบ้าน ผมอยู่ปิดประชุม ทุกครั้ง แต่ผมเห็นว่าบรรยากาศวันนี้ดูแล้วมันก็ไม่น่าสร้างสรรค์ ทั้งที่วันนี้เราประชุมมา บรรยากาศเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด เพิ่งจะมีช่วงเย็นนี้เอง เรื่องญัตตินี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น มานานแล้ว
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ผมยืนใช้สิทธิ ประท้วงท่านผู้อภิปรายอยู่นะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่เป็นอะไรนะครับท่าน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมใช้สิทธิประท้วง ท่านผู้อภิปรายครับ ประท้วงท่านประธานตาม ข้อ ๙ ข้อ ๖๙ แบบเดียวกับที่ท่านผู้อภิปราย ประท้วงพวกผมเมื่อวานนี้ นอกประเด็นครับ แล้วก็ผมขอเสนอญัตติให้เดินหน้า การประชุมต่อ ขอสมาชิกรับรองด้วยครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณคุณหมอทศพร ด้วยนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านยังไม่ได้เสนอปิดนะครับ เพราะว่ายังไม่มีผู้รับรอง
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ เป็นเพียงขอหารือท่านประธานครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมใช้สิทธิเดินหน้าประชุมต่อ มีผู้รับรองถูกต้องครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวนะครับ ขออนุญาตให้เขาได้คุยกันก่อน
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมยังไม่ได้เสนอเป็นญัตติ ผมแค่หารือครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
หารือ ไม่เป็นอะไรครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านต้องเข้าใจตามนี้ด้วย
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ครับ ขออนุญาตดำเนินการต่อนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๕.๑ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ จังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ นายทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เนื่องจากญัตติที่เกี่ยวเนื่องกันอีก ๔ ฉบับ คือ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและ โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ นายมานพ คีรีภูวดล เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการลดขั้นตอนในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำประโยชน์ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตสร้าง ขยาย หรือปรับปรุงถนนสาธารณะ ที่ประชาชนใช้เดินทางสัญจรแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากนิคมสร้างตนเอง หรือพื้นที่จากหน่วยงานของราชการอื่นในเขตปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายสาธิต ทวีผล เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน สามารถรวมระเบียบวาระการประชุม เพื่อนำมาพิจารณาและลงมติพร้อมกันได้ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) จะมีสมาชิก ท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ผมขอดำเนินการดังนี้ เชิญผู้เสนอญัตติแถลงเหตุผลตามลำดับ ท่านที่ ๑ ท่านทรงยศ รามสูต เชิญท่านทรงยศเสนอ เหตุผลครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดีตาม มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ เนื่องด้วยกรณีหน่วยงานรัฐจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนา บริการสาธารณะในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยขออนุมัติอธิบดีกรมป่าไม้ตามมาตรา ๑๖ แห่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวน แห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙ พบว่าโครงการพัฒนาบริการสาธารณะในเขตป่าสงวน แห่งชาติที่ผ่านมาเกิดปัญหาความล่าช้าในกระบวนการ ขั้นตอนการอนุมัติ โดยต้องใช้ ระยะเวลาในการดำเนินการขออนุมัติหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อโครงการจัดสรร งบประมาณของหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เนื่องจาก ที่ผ่านมาหน่วยราชการรัฐสามารถสร้างถนนหลักเชื่อมหมู่บ้านในเขตป่าสงวนได้ แต่ปัจจุบัน การปรับปรุงซ่อมสร้างทับถนนเดิมของหมู่บ้านซึ่งมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ชำรุดเสียหาย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยงานของรัฐอื่นใดมีโครงการปรับปรุงถนนเดิมอยู่ ในเขตป่าสงวนโดยจะซ่อมแซม ลาดยาง หรือเทคอนกรีตต้องขออนุญาตอธิบดีกรมป่าไม้ก่อน ดำเนินโครงการ และในกรณีหมู่บ้านมีโครงการของรัฐลงในพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่าสงวน ที่มีลักษณะสิ่งปลูกสร้างถาวรก็ต้องรอใบอนุญาตก่อนดำเนินโครงการ ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือ อนุญาต อนุมัติ และตอบกลับ งบประมาณที่ตั้งขอจัดสรรไว้ก็ตกไป จึงควรศึกษาแนวทาง ในการพัฒนาอย่างบูรณาการร่วมกันของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนร่วมกัน พิจารณาหาแนวทางลดขั้นตอนความซับซ้อนและพัฒนาระบบการอนุญาตอนุมัติให้เป็นไป ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นผมจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอน การอนุมัติของอธิบดีตามมาตรา ๑๖ จริง ๆ เป็นมาตรา ๑๙ ด้วยนะครับ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ที่จะนำมาแก้ในครั้งนี้ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ผมจึงขออาศัย ข้อบังคับการประชุม พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ เสนอหลักการและเหตุผลดังนี้
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
ต้องยอมรับนะครับ ประเทศไทยนี้ปัญหาเอกสารสิทธิเป็นปัญหาใหญ่มาแต่ใน อดีต คืออย่างจังหวัดน่านบ้านผมเรามีมากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว มีพร้อมกับจังหวัดสุโขทัย แล้วต่อมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์เขาบอกว่าสมัยเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนพระยาติโลกราชจากจังหวัด เชียงใหม่ก็มาตีจังหวัดน่านที่บ่อเกลือเป็นสงครามเกลือ นั่นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดน่าน มีคนอยู่อาศัยมาก่อนกว่า ๕๐๐ ปี แล้วโดยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาก็เลยทำให้มีปัญหา ในเรื่องของการออกเอกสารสิทธิ ส่งผลให้ปัจจุบันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของ เอกสารสิทธิมากกว่าสิทธิครอบครอง โดยดูจาก พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑) เขาบอกว่า ป่า หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน นั่นก็แสดงว่า ถ้าเราไม่มีเอกสารสิทธิเขาคิดว่าเป็นป่าหมด ซึ่งพอมาตรา ๕๔ เขาก็เลยบอกว่า ห้ามมิให้ผู้ได้ ก่อสร้างแผ้วถางหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันทำลายป่า แล้วต่อไปหน่วยงานของรัฐเอง ก็พยายามที่จะออกกฎหมายมา
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
อันนี้คือภาพแผนที่ของจังหวัดน่าน เรามีพร้อม จังหวัดสุโขทัย มีก่อนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนสยาม เอาภาพนี้ลงก่อนก็ได้ คราวนี้ ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลเองก็รู้ว่ากฎหมายเรื่อง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่งออกมาสัก ๖๐-๗๐ ปีนี้ แต่คนทั่วประเทศอยู่กันมากกว่าหลายร้อยปี ก็เลยมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ รัฐบาลแล้ว ๆ มาเขาทำอย่างไร เขาก็จะพยายามเยียวยา ตรงไหนเป็นชุมชนก็พยายามให้ หมู่บ้าน ให้ความเจริญไปสู่ ให้การศึกษา ตั้งโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อสัก ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ตอนเสียงปืนแตก พวกหนึ่งมีความเชื่อในเรื่องของคอมมิวนิสต์หรือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็เลยมีปัญหา รัฐบาลก็ต้องทำสงครามแย่งชิงประชาชน ตรงไหนที่เป็นทางเกวียนเราก็ตัด ถนนลูกรังเข้าไปทับ ตรงไหนมีคนอยู่เยอะเราก็ไปตั้งโรงเรียนเพื่อที่จะให้ระบบการศึกษา ไปให้ความรู้กับประชาชน ตรงไหนมีคนเยอะเราก็ตั้งสุขศาลาและพัฒนาเป็นอนามัย เป็น รพ.สต. ต่อมาจนกระทั่งเหตุการณ์สงบในปี ๒๕๒๓ จริง ๆ กฎหมายตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ เขาเขียนไว้เลย มาตรา ๑๔ เขาบอก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรือที่อยู่อาศัย มันก็จะสอดรับกับ พ.ร.บ. ป่าไม้ ก็เลยทำให้ กฎหมายฉบับนี้จริง ๆ รัฐไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ แต่ที่ผ่านมาเขาใช้ระบบบูรณาการมา ตั้งแต่อดีต เขาทำอย่างไร ในอดีตตรงไหนเป็นพื้นที่ป่าเขาจะไปเจรจา สมมุติในอดีตโครงการ ของทางหลวงชนบทหรือของ อบต. จะไปทำในพื้นที่ป่า จะไปคุยกับป่าไม้ก่อนว่าผมจะ เทถนนทับตรงนี้นะ ไม่ได้บุกเบิกป่าเพิ่ม ป่าไม้จะดูไม่มีปัญหา เครื่องจักรเข้าวันไหน วันนั้น ผมไม่ไปตรวจหรือไปทางอื่น ถ้าเข้าไปก็เป็นความผิดซึ่งหน้าก็ต้องจับ เมื่อทำงานเสร็จ สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ หรือสมัยก่อน สมัยท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์มีของโครงการ SML ให้ชาวบ้านคิดว่าจะแก้ปัญหาอะไรในพื้นที่ ชาวบ้านอยากจะ ซ่อมแซมทำถนนในหมู่บ้านก็ทำได้ หรือจะสร้างโรงสี สร้างอะไรในหมู่บ้านก็ทำได้ แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ มีการยึดอำนาจโดยพวกที่อยากได้อำนาจ เขาขึ้นมาปุ๊บเขาก็มาร่างกฎหมายใหม่ ร่างกติกาหลายต่อหลายเรื่องโดยเฉพาะโครงการทวงคืนผืนป่าซึ่งส่งผลกระทบมาก เพราะพวกที่เข้าไปร่างไปยึดนี้อาจจะไม่เห็นความสำคัญของรากหญ้า เหมือนอาทิตย์ที่แล้ว เรื่องกฎหมายประมงก็ไม่ให้ความสำคัญกับพี่น้องประมงรากหญ้า อันนี้ก็เช่นกันครับ ทวงคืน ผืนป่า เขาเข้าใจว่าป่ามันเป็นป่า หรือว่าเขาไม่รู้ว่าคำว่า ป่า หมายถึงคนที่เขาอยู่กับป่า แล้วก็ หมู่บ้านที่เขาอยู่รอบ ๆ ป่ามันเป็นความหมายของพื้นที่ป่านี้ด้วย เพราะตามโครงการ ทวงคืนผืนป่านี้ เขาบอกโครงการใดของรัฐที่ไปทำในพื้นที่ป่าจะต้องมีเอกสารจากกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอามาวางประกบ ถ้าไม่มีโดนเรียกเงินคืน ที่จังหวัด ลำปางมีระดับผู้ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหลายต่อหลายคนโดนกันมาแล้ว ก็เลยเขียนเสือ ให้วัวกลัว หน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะกล้าทำ ก็ต้องทำหนังสือมาขอ ซึ่งก็ส่งผลมาก ผมยกตัวอย่างที่บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา นี่คือกลุ่มกาแฟสันเจริญซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน สมัยภรรยาผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดน่าน ท่าน สส. สิรินทร เราจัดงบไป ผลักดันทำโรงคั่วกาแฟ ทำได้ ทำลานตากได้ แต่ปัจจุบันนี้พอหลังจากปี ๒๕๕๗ ปรากฏว่า เขาอยู่ในเขตป่า เมื่อปีที่แล้วมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เขาจะส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนนะครับ มีงบให้ ๓ ล้านบาท เข้าทุกหลักเกณฑ์ ปรากฏไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ แต่ก็ต้องขอบคุณนะครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรมท่านจะไปที่จังหวัดน่าน แล้ววันเสาร์ จะขึ้นไปที่นี่ อาจจะแก้ปัญหาเรื่องของเอกสารสิทธิหรือ คทช. อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มาดูว่า จะทำอย่างไร ซึ่งปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐเองเขาก็บอกว่าจริง ๆ มันก็มีแนวทางที่จะ ขออนุญาต เขาจะบอกว่าขั้นตอนในการขออนุญาตเข้าทำในเขตป่า คือผู้ขออนุญาตจะต้อง ส่งเอกสารไปที่ สจป. พื้นที่ ก็คือสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ หลังจากนั้น สจป. ก็จะ ส่งไปที่กรมป่าไม้ กรมป่าไม้ก็ส่งกลับมาที่ สจป. พื้นที่ แล้วไปถึงผู้ขออนุญาตแล้วก็สำรวจ รูปนี้ก็เป็นรูปของกรณีที่เข้าทำประโยชน์ในเขตของมติคณะรัฐมนตรี ก็คล้าย ๆ กัน ขออนุญาตไปที่ สจป. ไปกรมป่าไม้ คณะกรรมการป่าไม้ ไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วก็มากรมป่าไม้ กลับมา สจป. เป็นผู้รับอนุญาต ขั้นตอนยุ่งยาก ภาพต่อไปเลยครับ อันนี้ยิ่งยุ่งยากไปใหญ่เลย ในเรื่องของป่าสงวนแห่งชาติ จะยื่นหลายที่ โดยเฉพาะขั้นต่อไปก็จะต้องมีการสำรวจเรื่อง EIA เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มันเป็นพื้นที่เขื่อน ผลประโยชน์ถ้าเกิน ๕,๐๐๐ ไร่ ก็ต้องทำการวิจัย ๕๐๐ เมตร ถ้าเกิน ๑ กิโลเมตร ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ต้องทำ EIA ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะฉะนั้นโครงการต่าง ๆ ที่มันอยู่ในพื้นที่ป่า บางครั้งบางคราไม่สามารถ ดำเนินการได้เพราะว่าท้องถิ่นหรือ อบต. เขาไม่มีงบไปทำ EIA หรือ EHIA แล้วแต่สภาพ ปัญหา อย่างน้อย EIA เต็มที่ก็ ๕๐๐ วัน อบต. เขาอยู่ได้แค่ ๔ ปี แต่ถ้าหน่วยงานรัฐใหญ่ ๆ ก็น่าจะทำได้ ก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไร ซึ่งผลที่ทราบก็คือว่าตั้งแต่โครงการนี้ออกมาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๗ มีหน่วยงานของรัฐที่ขอเข้าไป โดยเฉพาะอบต. ซึ่งเขารับผิดชอบในพื้นที่เป็น จำนวนมาก สมัยรัฐบาลชุดที่แล้วผมเห็น สส. หารือในสภาเยอะ ภรรยาผมก็เคยหารือว่า รอหนังสือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อบต. จะตั้งงบให้ จนเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่มา ล่าสุดเมื่อ ๒ วันผมดูข่าวว่าหน่วยงานท้องถิ่นไปติดตามนะครับ แล้วเมื่อไร จะอนุมัติ มีอยู่ ๖๐,๐๐๐ กว่าเรื่องที่รอการอนุมัติ วันนั้นผมเจอคนอยู่คนหนึ่งเขาบอกสงสัย คณะกรรมการนี้เขาไม่ค่อยเข้าประชุมเพราะรู้สึกองค์ประชุมไม่ครบอยู่เรื่อย แต่ผมก็ไม่เชื่อ มันอาจจะติดปัญหาโน้นปัญหานี้ คราวนี้ก็ปรากฏว่าที่จังหวัดน่านมีอยู่ ๒ ตำบล ตำบลสะเนียน แล้วก็ตำบลขุนน่าน นี่คือท่านนายกสว่าง เปรมประสิทธิ์ เป็นนายก อบต. สะเนียน แต่ก่อนเป็น ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นกำนัน และเป็นนายก ท่านสู้เรื่องป่ามาโดยตลอด อดีตท่านก็เป็นประธาน สาขาพรรคประชาธิปัตย์ แต่พอลงท้องที่ท่านก็ลาออก ถึงแม้เลือดท่านจะสีฟ้า ผมสีแดง แต่เพื่อประชาชนเราทำงานร่วมกันได้ ผมก็ไปขอความรู้แลกเปลี่ยนกันว่าท่านทำอย่างไรถึง ดำเนินการเรื่องนี้ได้ ท่านก็บอกว่าท่านดำเนินการตามมาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติเขาบอกว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าสงวน แห่งชาติ อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนได้ ท่านก็ดูว่ามันมีข้อกฎหมายตรงนี้ก็พยายาม ที่จะสื่อสารไปถึงข้างบน ปรากฏว่าสื่อสารหลายทีก็ไปไม่ถึง โชคดีปลายปี ๒๕๖๔ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จไปทรงงานที่เมืองน่าน ซึ่งท่านไปทุกปี ไม่ว่าจะใกล้ไกลท่านไปดูแลจังหวัดน่านทุกปี ปีนั้นท่านไปที่ตำบลสะเนียน ต้องขอบคุณ ปีนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้นคือท่านรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา ท่านไป ถวายงาน นายก อบต. ๒ คนนี้ก็ไปปรึกษารัฐมนตรีว่าที่ผ่านมานายกคนเก่าก็เสนอไปตาม มาตรา ๑๖ เสนอตามมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ ปรากฏว่ามันไม่ได้สักทีหลาย ๆ พื้นที่ แต่ว่า มาตรา ๑๙ น่าจะได้ ท่านรัฐมนตรีก็ใจดีเรียกท่านอธิบดีมาสอบถาม ก็ปรากฏว่าถ้าทำตาม มาตรา ๑๙ มันไม่ต้องทำ EIA เพราะกรณีทำทับที่เดิม ก็เป็นไปได้ หลังจากนั้นก็คือการนับ หนึ่งเริ่มต้น ใช้เวลา ๑๐ เดือนกว่าจะประสบความสำเร็จ ที่ยกตัวอย่างกรณีนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ในส่วนของข้าราชการประจำอะไรที่มันใหม่ อะไรที่มันเสี่ยงเขาไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาจจะ งานเยอะก็ไม่ทราบ แต่ในส่วนของข้าราชการการเมืองอะไรเพื่อพี่น้องประชาชน ถ้ามัน เป็นไปตามตัวบทกฎหมายแก้ไขได้เขาพยายามจะแก้ไขนะครับ แต่ก็ต้องขอบคุณท่านอธิบดีหลังจากรัฐมนตรีไฟเขียวก็เริ่มดำเนินการนับหนึ่งในการที่จะ แก้ไขเรื่องนี้ ผมก็จะขอยกตัวกรณีตัวอย่างว่าเขาทำอย่างไรตามมาตรา ๑๙ เริ่มต้นก็คือ หน่วยงานของพื้นที่ ส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่ป่าที่สูงมันจะมีพี่เลี้ยง ซึ่ง อบต. สะเนียน ของตำบล สะเนียนเขามีคณะโครงการพัฒนาพื้นที่สูงภายใต้โครงการหลวงสะเนียนเป็นพี่เลี้ยง เพราะอย่างที่ผมบอก มาตรา ๑๙ เขาบอกว่าให้อธิบดีมอบหมายให้เจ้าพนักงาน เพราะฉะนั้น ในส่วนของ อบต. ที่ผ่านมาเขาจะยังไม่ค่อยเชื่อ แต่ถ้ามีหน่วยงานของรัฐที่เขาอยู่ข้างบนหรือ ดูแลจะเชื่อ ทาง อบต. ก็ทำหนังสือไปถึงโครงการหลวง โครงการหลวงก็สำรวจ หลังจากนั้น โครงการหลวงก็ทำหนังสือฉบับต่อไป ทำหนังสือไปถึงป่าไม้ของจังหวัดน่าน แล้วหลังนั้น ป่าไม้น่านก็ทำไปถึงป่าไม้แพร่ เพราะว่าป่าไม้น่านขึ้นกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ ของแพร่ แพร่ก็ทำหนังสือไปถึงอธิบดี หลังจากอธิบดีตรวจดูแล้วไม่มีปัญหาก็จะอนุมัติ โดยโครงการที่ส่งไปมันจะต้องกำหนดรายละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง จุดเริ่มต้นละติจูด ที่เท่าไร ลองจิจูดที่เท่าไร ตามรายงานจะมีโครงการอะไรบ้าง จะสร้างประปาตรงไหน จะทำ ถนนตรงไหนต้องระบุให้เรียบร้อย แล้วก็จะต้องมีแผนที่แนบท้าย เพื่ออะไร พออธิบดี เขาจะอนุมัติหนังสือ เราต้องเขียน ๑ ๒ ๓ โครงการ ต้องมีรายละเอียด แล้วจากนั้นอธิบดี ก็จะมีหนังสือมาถึงโครงการหลวงว่ายินดีอนุมัติตามที่ท่านร้องขอ และหลังจากนั้นฉบับต่อไป อธิบดีก็จะตั้งตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นผู้ดูแล ตามมาตรา ๑๙ นี้ว่าโครงการต่าง ๆ ที่มาลงนี้ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างตามที่เสนอหรือเปล่า ตามละติจูด ลองจิจูดนี้หรือเปล่า แต่เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหม่ พอดีโครงการหลวง ข้าราชการเขากลัวเขาก็เลยทำหนังสือเชิญส่วนราชการไปทำ MOU ทางท่านผู้ว่าราชการ จังหวัดเองก็มา ทางโครงการหลวงก็มา ทาง อบต. ทางป่าไม้ ส่วนกลางมา แล้วหลังจากนั้น ก็เริ่มดำเนินการ ใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ ๑๐ เดือน ผมถามสาเหตุที่ ๑๐ เดือน ผมถามนะครับ เนื่องจากจังหวัดน่านเรามีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งดูแลพื้นที่สูงทั้งหมดประมาณ ๑๕ ตำบล ขอไป ๑๐ ปี เขาบอกถ้าเราไม่ทำขอไปเขาจะคิดว่า ขอไปปีเดียว งบประมาณมาก็ตก ฉะนั้นขอให้ ๑๐ ปี เพราะฉะนั้นโครงการต่าง ๆ ที่ขอไปนี้ จะไม่ระบุงบประมาณว่าใช้เท่าไรเพราะว่าไม่รู้จะได้ทำปีไหน แต่ว่าคุณต้องทำตามนี้ภายใน ๑๐ ปี ผมยกอย่างนะรับที่ผ่านมา นี่โครงการถนนไปบ้านห้วยเฮือ บ้านห้วยระพี สมัยก่อน สมัยภรรยาผมเป็น สส. เป็นเขตป่า ตอนนั้นเราก็ผลักดันงบประมาณไปทำถนนนิดหน่อยได้ อบต. ก็ทำถนนได้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมาทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นป่าลุ่มน้ำ A1 ขอก็ขอยากมาก ปรากฏว่าล่าสุดหลังจากได้อนุมัติตามมาตรา ๑๙ ถนนเส้นนี้เมื่อก่อนนี้มีคน เคยเสียชีวิต อุ้มท้องจะไปคลอดลูก เสียชีวิต หน้าฝนหมดสิทธิเลยต้องใส่โซ่ ก็โชคดีว่าได้ตาม มาตรา ๑๙ นี้ แต่เนื่องจากมาตรา ๑๙ มีระยะเวลา ๑๐ ปี ตอนนี้ผ่านมา ๓ ปีแล้ว ได้ข่าวว่า เดือนหน้าท่านนายกรัฐมนตรีจะไป ครม. สัญจรที่จังหวัดพะเยาก็ฝากด้วยนะครับ อันนี้ จำเป็นเร่งด่วน ๙ กิโลเมตร ๓๙ ล้านบาท นอกจากนี้ผมสอบถามทางโครงการที่ดูแลตรงนี้ ในส่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เขาบอกเขาดูแลอยู่ ๑๕ ตำบล แต่ว่าในแต่ละตำบลก็อาจจะได้ไม่ครบทุกบ้าน ตอนนี้กำลังดำเนินการที่จะขอเฟส ๒ อยู่ คือเฟส ๑ อาจจะไม่ครบทุกบ้าน แล้วก็บางครั้งบางคราอาจจะไม่ครบทุกโครงการ ตอนนี้ กำลังทำเฟส ๒ อยู่ ผมก็ถามว่าโครงการนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหน เขาบอกเริ่มต้น Model มาจากที่เชียงใหม่ ที่แม่แตง อันนั้นก็ทำทั้งอำเภอ แต่เนื่องจากว่ารายละเอียดมันไม่ชัด ก็ยัง ไม่ค่อยเรียบร้อยเพราะมันต้องขออนุมัติโครงการไปพร้อมกัน ส่วนที่จังหวัดเชียงรายที่ ดอยช้างกับที่ดอยวาวีก็ทำเรื่องขอไป แต่เขาบอกมันมีปัญหานิดหนึ่งตรงที่ว่าเอกสารสิทธิ ชื่อมันเป็นชื่อหนึ่ง แต่ว่าเอกสารที่ครอบครองจริง ๆ เป็นชื่อของคนจากที่อื่นก็เลยมีปัญหา แต่ปรากฏว่าหมู่บ้านนี้ประสบความสำเร็จเพราะว่ามีการทำรายละเอียดของขอบเขตที่ดิน รายแปลงละเอียดก็เลยทำให้การพิจารณาได้ไว หลังจากนั้นจาก ๒ ตำบลนี้ที่ผ่านก็เป็นกรณี ตัวอย่าง ตอนนี้ ๑๕ ตำบลแล้วในพื้นที่จังหวัดน่านที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๙ เพราะฉะนั้นผมก็เลยเสนอขึ้นมาว่าตรงนี้มันน่าจะเผยแพร่ให้คนรู้ เพราะตอนที่ผมมา ร่างกฎหมายนี้ มาร่างญัตตินี้ ตอนคุยกับนายกเขาบอกมาตรา ๑๙ มาถึงนี่เขาบอกมันต้อง มาตรา ๑๖ ถามพรรคพวกที่เป็นกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในอดีตเขาบอกมันก็ยื่นตามมาตรา ๑๖ แต่ปรากฏว่ามาตรา ๑๖ มีปัญหาอย่างที่กล่าวไว้แล้ว บางทีมันต้องทำ EIA มันมีปัญหา แต่กรณีนี้ตามมาตรา ๑๙ แต่ว่าเราต้องหาพี่เลี้ยง แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าจังหวัดน่านมี ๙๐ กว่าตำบล เป็นพื้นที่ที่เป็นโครงการพื้นที่สูงประมาณ ๑๕ ตำบล ยังเหลืออีกประมาณ ๗๐ ตำบลที่อยู่ในเขตป่า เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้อง พิจารณาว่าจะทำอย่างไร เช่น จะให้จังหวัด ซึ่งเขาก็มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา ๑๐ เขามีคณะกรรมการควบคุมดูแลรักษาป่าสงวนประจำจังหวัด มีผู้ว่าราชการ จังหวัดเป็นประธานอยู่แล้ว ความจริงถ้าบูรณาการให้ตรงนี้เขามาดูแลในกรณีที่ทำในพื้นที่ป่า ที่ไม่ได้ไปกระทบเขตป่าสงวน ทำทับโครงการเดิมน่าจะมอบหมายให้ตรงนี้ ผมก็เลยเสนอเป็น โครงการให้ตั้งญัตติขึ้นมาเพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ เพราะปัญหาเรื่องนี้ มันมีปัญหาเยอะมากว่าเราจะทำอย่างไร ให้ความรู้กับชาวบ้าน แต่อย่างน้อยผมว่าอันดับแรก เราต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน อบต. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทำเรื่องเสนอขอใช้โดยตรง อย่างน้อยเขายังไม่รู้เลยครับ ที่ผ่านมาเขาขอมาตามมาตรา ๑๖ ตามมาตรา ๓๑ โดยตลอด ทำไม่ได้เรื่องมันถึงค้าง ก็อยากจะให้ความรู้กับชาวบ้าน มีกรณีตัวอย่างไปสอนเขา ตรงไหน ถ้าเป็นเขตป่าขอตามนี้ แต่ถ้ากรณีเป็นอุทยานต้องขอตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ มาตรา ๕๔ บางที มันมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ ต้องให้ความรู้เขา อย่างน้อยผมว่าเราควรจะตั้งกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้จะได้แก้ไขปัญหาเรื่องที่โครงการรัฐจะไปลงในพื้นที่ ซึ่งตาม รัฐธรรมนูญเราจะต้องให้เสรีภาพ คนที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องได้รับการดูแลจากรัฐโดย เท่าเทียมกัน ฉะนั้นก็อยากจะฝากให้เพื่อนสมาชิกได้พิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ ๔๙ มาศึกษาเรื่องนี้และหาทางแก้ไข ขอขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมานพ คีรีภูวดล เชิญครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ เพื่อประหยัดเวลาผมขออนุญาตดำเนินการ ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผมขออ่านญัตติแล้วก็หลังจากนั้นผมจะ ให้เหตุผลว่าผมยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและ โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ด้วยปัญหา ข้อร้องเรียนอย่างต่อเนื่องของพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงปัญหาอุปสรรค ต่าง ๆ ที่ติดขัดในการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา รวมถึงโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีความล่าช้า หลายแห่ง แม้จะพยายามเสนอโครงการรับงบประมาณต่อเนื่องทุกปีก็ไม่สามารถที่จะได้รับการอนุมัติ ทั้งในเขตพื้นที่ที่เป็นเขตป่าและเขตพื้นที่อุทยาน เขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่ของรัฐอื่น ๆ ส่งผล ให้คุณภาพของพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในเขตป่าที่ดินของรัฐกลายเป็นปัญหาที่สั่งสม มานาน กระทบกับการพัฒนาขั้นพื้นฐานของชีวิตพี่น้องประชาชน แม้รัฐธรรมนูญในมาตรา ๕๖ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะเป็นหน้าที่ ของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติเป็นปัญหาในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ ผมเลย เสนอญัตตินี้ให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตามข้อบังคับ ข้อ ๔๙ เพื่อหาแนวทางต่อไป
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ ประเทศไทยมีทั้งหมด ๗๕,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน หมู่บ้านที่เป็นปัญหาที่ผมได้ยื่นญัตติก็คือไม่สามารถที่จะพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานตามเจตนาของรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ หมู่บ้านครับ ที่ดินของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ กรมป่าไม้ และที่ดินอื่น ๆ ของรัฐ เขตทหาร ที่สหกรณ์ ปัญหาทั้งหมดครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนบอกผมอย่างนี้ครับ ท่าน สส. หมู่บ้านของผมชอบด้วยกระทรวงมหาดไทยครับ เพราะมีผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านเลขที่ มีกรรมการ มี อปพร. หมู่บ้านของผมชอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข มี อสม. มีสาธารณสุข หมู่บ้านของผมชอบด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการเพราะมีครู มีโรงเรียน ทำไมหมู่บ้านของผม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่อนุญาตให้เป็นคนไทย อันนี้คือปัญหาใหญ่ ปัญหาทั้งหมดผมศึกษามาตลอดชีวิตและผมเสนอในการประชุมอภิปรายรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ มาตลอด ปัญหามันอยู่ที่การอนุญาต กระบวนการอนุญาตต้องให้คนที่ไม่ใช่พื้นที่เป็นคน อนุญาตครับ ผมจะกินข้าว ผมจะทำอะไรผมต้องขออนุญาตคนที่อยู่กรุงเทพฯ ที่เรียกว่า อธิบดี เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาอย่างเดียว ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ผมคิดว่าไม่ต้องคิดทำอย่างอื่น เมื่อเป็นกระบวนการอนุญาตก็ไม่ต้องมี อนุญาตสิครับ เพราะว่าหมู่บ้านมันชอบด้วยกฎหมาย อยู่แล้ว อันนี้คือสาระสำคัญที่ผมจะอภิปราย ท่านประธานครับ ผมอยากจะให้เห็นภาพว่า ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในเมื่อหมู่บ้านมันชอบด้วยกฎหมายหลาย พ.ร.บ. หลายกระทรวง แต่ว่ากระบวนการพัฒนาตรงนี้งบประมาณทุกปี งบประมาณ ๓.๓ ล้านล้านบาท คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเข้าถึงในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องโครงสร้าง พื้นฐาน เมื่อที่มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานราชการซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณไม่ว่า กรมไหน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการ กรมอะไรก็ตามแต่เวลาเข้าไปดำเนินการ ไม่สามารถดำเนินการได้ อันนี้คือปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นก็คือว่ากระบวนการขออนุญาต มันเป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นก็คือหมู่บ้านที่ชอบด้วยกฎหมาย เส้นทางเดิม ถนนเดิม โครงสร้างพื้นฐานเดิม ๆ ที่ อบต. หมู่บ้านเขามีอยู่แล้วก็ไม่ต้องอนุญาตครับ ใครมีงบประมาณ ก็ลงไปทำเลย ยกเว้นพื้นที่ที่จะเปิดใหม่อันนี้ต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องมีคณะทำงาน ทั้งหมดนี้ครับท่านประธานถ้าท่านฟังผมก็จะจบ ทีนี้เรามาดูรายละเอียด เปิดสไลด์เลยครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คือปัญหาเรื่องนี้ผมคิดว่า สส. ในสภาผู้แทนราษฎรทุกภูมิภาค ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคกลาง อาจจะไม่มีเขตป่าเยอะ แต่ว่าเขตทหารก็เยอะ ที่ราชพัสดุ ปัญหาข้อร้องเรียนของพี่น้อง ประชาชน การประชุมสภาที่ปรึกษาหารือท่านประธานเรื่องพวกนี้ทั้งนั้นครับ โครงสร้าง พื้นฐานถนน ไฟฟ้า ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานที่ผมได้อภิปรายไปแล้วว่ามันเป็นสิทธิ ของประชาชนที่รัฐจะต้องให้บริการพี่น้องประชาชน สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในแต่ละปีผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนจะต้องขอ งบประมาณ มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นข้อสังเกต โครงการบางโครงการโดยเฉพาะ ทางหลวงชนบท บางพื้นที่ผมจะไม่เอ่ยถึงหมู่บ้าน ตำบลนะครับ อยู่ในแผนงบประมาณ และชาวบ้านก็ทราบว่าโครงการนี้จะเข้ามาแล้ว หน่วยงานก็แจ้งแล้ว ทางอำเภอหรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แจ้งแล้วว่าโครงการนี้จะได้รับการพัฒนา พอใกล้ ๆ ปลายปีปรากฏว่า โครงการที่ไม่ได้รับอนุญาตทางกรมขอใช้สิทธิขอคืน งบประมาณตรงนี้คล้าย ๆ ว่าเอาไปฝาก ไว้กับพี่น้องชายขอบที่รู้ว่าการอนุญาตเป็นอุปสรรค เอาเงินไปฝาก ถึงเวลาไม่ได้ทำก็ขอ งบประมาณคืน และไม่ได้คืนที่คลังครับ คืนไว้ที่กระทรวงและกรม ไม่รู้เอาไปใช้ที่ไหนต่อ เราก็จะเห็นถนนโผล่ที่ทุ่งนาที่ไม่มีชุมชนอยู่ ท่านประธานเราไม่อยากเห็นภาพอย่างนี้ ข้อติดขัดในข้อกฎหมาย จริง ๆ แล้วท่านสมาชิกก็อภิปราย ก่อนการรัฐประหารผมคิดว่า กระบวนการของท้องถิ่น อบต. เขาก็ดำเนินการตามปกติ แผนพัฒนา ๕ ปี ๑๐ ปี งบ อบจ. งบท้องถิ่น งบจากส่วนกลาง งบที่สนับสนุนส่วนกลางเขาก็ลงมาสนับสนุนก็ดำเนินการไปเลย แต่หลังจากนั้นมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีกระบวนการย้อนกลับมาที่ส่วนกลาง ที่น่าเศร้าที่สุด ที่อำเภออมก๋อย อบต. จะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กได้รับงบประมาณจากส่วนกลางมาทำ ศูนย์เด็กเล็กนะครับท่านประธาน ใช้พื้นที่ไม่เกิน ๑ ไร่ ปรากฏว่าไม่อนุญาตให้ทำ แล้วงบประมาณก็คืนหมด แล้วเด็กจะไปอยู่ที่ไหนครับ เรากำลังพูดถึงคน คนที่เท่าเทียม เราพูดถึงคนที่จะต้องมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง เด็กก็คืออนาคตของพวกเรา กระบวนการอนุญาตอย่างนี้ผมถามว่าเราจะสร้างความเป็นธรรม และเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร สไลด์แผ่นต่อไปผมคิดว่าผมอยากจะให้ท่านประธานได้เห็นภาพ อันนี้ก็คือผมยกตัวอย่าง เขาก็บอกว่าพยายามแก้ปัญหา แล้วมติ ครม. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผมใช้คำว่า มติ ครม. ที่เขาเรียกว่า มติ ครม. นิรโทษกรรม บอกว่าจะปิดแล้ว ไม่อนุญาตแล้ว ปรากฏว่าหมู่บ้านทั้งประเทศอยู่ในเขตป่าอยู่ โรงเรียนก็ยังอยู่ในเขตป่า สถานี ตำรวจอยู่ในเขตป่า บางอำเภอยังอยู่ในเขตป่าท่านประธาน คือจริง ๆ แล้วต้องไปจับ นายอำเภอ ข้าราชการที่ทำงานตรงนั้นไม่ได้ขออนุญาตเลย ถ้าอย่างนั้นก็คือว่าให้แจ้งใหม่ ให้ทำข้อมูลใหม่ คล้าย ๆ นิรโทษกรรม วันนี้นิรโทษกรรมที่อยู่ในมือผมนี้ ตามมติ ครม. ๒๑,๙๐๘ แปลง ยื่นไปแล้ว ๔๐,๐๐๐ กว่าแปลง เกินไปแล้ว ๓๐,๐๐๐ แปลง ทั้งหมดนี้ มันกองไว้อยู่ที่ ทสจ. ซึ่งเป็นหน่วยอนุญาตที่จะส่งไปส่วนกลาง แล้วผมคิดว่าท่านอธิบดีและ ส่วนต่าง ๆ จะทำอย่างไร อันนี้คือปัญหาทั้งหมดเลยครับ เรายังไม่ได้พูดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐ เช่นกรมธนารักษ์ เช่นเขตทหาร ผมไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พี่น้อง ที่นั่นอยู่กันนาน เป็นเขตทหาร เป็นที่ราชพัสดุ ข้างในเป็นตำบลครับ มีสถานีอนามัย โรงเรียน มัธยมถึง ม. ๓ ไม่มีสายไฟฟ้าครับ หมอก็บอกว่าเวลาผู้บังคับบัญชาบอกว่าจะต้อง ฉีดวัคซีน จะต้องป้องกัน วัคซีนต้องแช่ความเย็นครับ จะเอาไฟฟ้าที่ไหน ไฟฟ้าโซลาเซลล์ Solar House ที่ว่านี้เวลาฝนตก แสงไม่พอมันก็ทำงานไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็น ข้ออนุญาตที่มันยุ่งยากลำบากนี้มันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและเป็นข้อขัดขวางของ ส่วนราชการเกือบทั้งหมดเลยครับท่านประธาน ทีนี้เรามาดูนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐาได้แถลงไว้ตอนแถลงนโยบายในเรื่องนี้ชัดเจนว่าจะลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ เพื่อเปิดประตูการค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทย บริหารในรูปแบบของการกระจาย อำนาจ ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ให้มีคุณภาพชีวิต เรื่องนี้เรื่องสำคัญท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนะครับ อันนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ ในระดับ อบต. ในระดับจังหวัด ถ้าหากว่าท่านนายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ ที่ผมอภิปรายนี้ถ้าทำไม่ได้คือไม่ต้องคิดที่จะทำเรื่องอื่นแล้วครับ เรื่องนี้มันไม่ต้องไปแก้ กฎหมายอะไรมากมาย ไปดูในระเบียบครับ ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการแค่ ๒ กระทรวงก็จบ คือกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ดูแลคน ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องป่า แต่มันมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน ผมเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าหมู่บ้านเกิดก่อนที่จะมีการประกาศ เขตอุทยานและเขตป่าสงวน จริง ๆ แล้วคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประกาศทับที่ของกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น ๒ กระทรวงนี้ต้องคุยกัน สั่งการ ไปเลย เรื่องนี้มันจะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ นะครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ เรื่องที่จะต้องไปแก้กฎหมายอะไรมากมาย เป็นแค่อำนาจของฝ่ายบริหารเขาสั่งการลงไป ผมใช้เวลาพอสมควร ผมอยากให้ท่านประธานไปดูรูปก็แล้วกันเพื่อเห็นบรรยากาศ สิ่งที่ น่าสนใจ โรงเรียนนั้นน่าจะเป็นที่เกาะพยามที่นักเรียนจะต้องว่ายน้ำไปโรงเรียน ที่จังหวัด ระนอง ชาวบ้านก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ สามัคคีกันเอาอุปกรณ์เท่าที่มีแก้ปัญหาครับ ภาพต่อไปเห็นไหมครับ สายไฟ Digital ครับท่านประธาน อันนี้ที่อำเภอสบเมย ข้างในเป็น โครงการของ ตชด. ด้วย ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีท่านเสด็จแล้วก็ไปสร้างตรงนี้ แต่ปรากฏว่าปักเสาไฟแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง อย่างไรครับท่านประธาน เป็นเสาไฟฟ้าแบบ Digital ครับ ต่อไปครับท่านประธาน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ ประชาชนทำผ้าป่าระดมทุนเพื่อแก้ปัญหา และมี พระด้วยนะครับท่านประธาน เราจะอยู่อย่างนี้หรือครับ งบประมาณที่เราพูดกันเยอะแยะ มากมาย โครงสร้างพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมคิดว่าให้ อบต. ให้ท้องถิ่น ให้อำเภอ ให้จังหวัด เขาจัดการเถอะครับ ไม่ใช่เขาไม่มีงบ อบจ. บางพื้นที่มีครับ อบต. บางพื้นที่มีครับ แต่สิ่งที่ เขาทำไม่ได้ก็คือเขาบอกว่าต้องขออนุญาต ช่วงสุดท้ายแล้วครับ สิ่งที่ผมเสนอผมอยากจะให้ ท่านประธานเข้าใจในประเด็นอย่างนี้ว่าพื้นที่เดิมทั้งหมดที่ถูกประกาศเป็นหมู่บ้านตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ มีผู้ใหญ่บ้าน มีกำนัน มีอะไรพวกนี้ มีขอบเขต ในแนบ ท้ายกฤษฎีกาเขาจะเขียนไว้อยู่แล้วว่าหมู่บ้านนี้สันเขาไหน ทิศตะวันออกถึงไหน ทิศตะวันตก ถึงไหน มีอยู่แล้วครับท่านประธาน ตำบลนี้อยู่ในเขตทิศไหนถึงไหน ในกฤษฎีกาประกาศเขต หมู่บ้านเขตปกครองมันมีอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าหมู่บ้านเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย อันเดิม ที่มันมีอยู่ชอบด้วยกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นและชุมชนจะทำ ไม่ต้องขอ อนุญาต ดำเนินการได้เลย ยกเว้นพื้นที่เปิดใหม่ อยากจะฝากเรื่องนี้ไปยังท่านรัฐมนตรี สิ่งที่ ผมจะทำหน้าที่ต่อไปคือผมจะศึกษารายละเอียด ถ้าหากว่ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญผมจะ ศึกษารายละเอียดในรูปธรรม รูปแบบ แนวทาง และจะเสนอตามไป อะไรที่นายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารสั่งการได้ดำเนินการไปเลยครับ เราไม่อยากจะอยู่ด้วยกันในประเทศนี้ที่มันมี ความเหลื่อมล้ำ นอกจากเศรษฐกิจแล้ว เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ผมคิดว่าแค่นี้ถ้าเราทำไม่ได้ไม่ต้องคิดทำอย่างอื่นครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านผู้เสนอญัตติท่านต่อไป ท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข เชิญครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ผมขอเสนอญัตติในการให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการลดขั้นตอนในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำประโยชน์ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ขออนุญาตท่านประธานอ่านนะครับ อาจจะยาวหน่อย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ เรื่อง การเขาทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผัน มติ ครม. เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้อีก ๑๒๐ วัน ปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้ยื่นขออนุญาตตามห้วงระยะเวลา และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำ ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันได้ทันกำหนดตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ โดยเฉพาะการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าทำประโยชน์ตามความเป็นจริง ไม่มีสภาพเป็นป่าไม้ ไม่มี การแผ้วถางตัดต้นไม้ หรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในป่าได้รับความเสียหาย เสื่อมสภาพ หรือหมดสิ้นไป แต่เป็นเพียงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือเพื่อให้บริการสาธารณะ ในเขตหมู่บ้าน เขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสภาพเป็นเขตชุมชน ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เช่น การปรับปรุงถนน การก่อสร้างระบบ ประปาในพื้นที่สาธารณประโยชน์ สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม การขุดลอกแหล่ง น้ำตามธรรมชาติมิให้ตื้นเขินถือเป็นการบำรุงรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ หรือมิใช่เป็นการ ก่อสร้างใหม่ มีผลทำให้ของการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะ ประสงค์ใช้พื้นที่ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการ จากปัญหาอุปสรรค ดังกล่าวเป็นเหตุให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถจัดการบริการสาธารณะให้ประชาชน ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากกระบวนการดำเนินการขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตให้ใช้ ประโยชน์ในพื้นที่ป่ามีความยุ่งยากซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนตามที่ร้องขอได้ จึงทำให้ประชาชนได้รับการบริการการแก้ไข อย่างทันต่อเวลา ทำให้เสียโอกาส เกิดความไม่พึงพอใจในการบริการของภาครัฐ เกิดความ ไม่แน่นอนในการใช้ประโยชน์ และอาจทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นผู้ใช้ประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะต้องถูก ดำเนินคดีตามกฎหมายทุกครั้ง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุญาตให้ใช้ ประโยชน์และขาดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้สู่ปัญหาความขัดแย้ง เช่น การให้ใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนร่วมกันดำเนินการต่าง ๆ ไม่มีกฎหมายให้ อำนาจ เป็นการใช้ดุลยพินิจตามหลักเกณฑ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าในสถานการณ์เฉพาะเรื่อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวดเร็ว อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาการขาดหน่วยงานกลางที่มี อำนาจในการจัดทำการดูแลเข้าทำประโยชน์จากพื้นที่ป่า ขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่าง หน่วยงาน ผู้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่กับกรมป่าไม้ ดังนั้นผมจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการลดขั้นตอนในการ ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลและรายละเอียด จะชี้แจงต่อไป
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
ผมขออนุญาตท่านประธานใช้เวลาไม่นานในการอภิปรายประกอบญัตติ ของผม ที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๒๕ ต่อเนื่องจากสมัยที่ ๒๖ ผมได้มีโอกาส หารือ ได้มีโอกาสอภิปรายในสภาหลายต่อหลายครั้ง ครึ่งหนึ่งเป็นการพูดเรื่องการขออนุญาต ใช้พื้นที่ป่าเป็นหลัก เช่นเดียวกับ สส. แม่ฮ่องสอน สส. ปกรณ์ จีนาคำ ท่านก็พูดเรื่องนี้ตลอด สาเหตุเนื่องจากจังหวัดตากกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็จะชิงกัน ๒ จังหวัดนี้ละครับที่มีพื้นที่ป่า เยอะมาก เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ฉะนั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก็ต้องอยู่กับป่า เขาออกไปไหนไม่ได้ ปัญหาคือที่ผ่านมานี้มันมีปัญหาการเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่แล้ว คนที่อยู่ ในพื้นที่ป่าขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข เรื่องการสาธารณูปโภค การสื่อสาร ทุกอย่างมีปัญหาหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการตั้ง องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล ที่อยู่ในพื้นที่ การสนับสนุนงบประมาณ จากภาครัฐไม่เคยทำได้เลย ปีนี้งบประมาณที่ลงจังหวัดตากในงบอุดหนุนเฉพาะกิจเท่าที่ ทราบมีหลายองค์กรท้องถิ่นไม่ได้รับ เนื่องจากปัญหาคือก่อนที่เขาจะได้รับงบประมาณ เขาต้องทำเรื่องไปยังหน่วยงานเบื้องบน การทำงานหน่วยงานเบื้องบนก็ต้องขออนุญาต ใช้พื้นที่ป่า ถ้าไม่ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่างบปัดตกหมด หรือบางครั้งได้งบมาจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งมาแล้วต้องรอการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าก็ทำไม่ได้ งบก็ตกไป ชาวบ้านที่ขาดโอกาสอยู่แล้วในพื้นที่ก็ยิ่งขาดโอกาสไปเรื่อย ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งห่าง ยิ่งห่าง หลาย ๆ หมู่บ้านมีการอพยพออก ลูกหลานไม่อยู่กับพ่อกับแม่ ออกมาอยู่ ในเมือง หลาย ๆ ที่มีแต่คนแก่ เด็กเข้ามาทำงานในเมือง ถ้าท่านทำสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทาง ไฟฟ้า การสื่อสารให้เขา เขาจะกลับไปอยู่หมู่บ้านเขา หลาย ๆ แห่งมีพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะในการพัฒนา แต่พอท่านปิดกั้นอย่างนี้อย่างไรเขาก็ต้องเอาตัวรอด ของเขา การขออนุญาตพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นอย่างที่ผมบอก จะสร้างถนนหนทาง การจะพัฒนาคนอะไรต้องเริ่มจากการขออนุญาตทั้งนั้น สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าที่ผมบอก การจะใช้งบตัวเองขององค์กรปกครองท้องถิ่นก็ทำได้ยาก อปท. ผมยกตัวอย่าง อบต. แม่สอง กับ อบต. แม่อุสุ ตำบลท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาดกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ๒ อบต. นี้มีงบประมาณประจำปีต่อปีประมาณ ๕๐ ล้านบาท ทั้งงบลงทุนแล้วก็งบประจำ ท่านประธานเชื่อไหมตอนนี้เงินสะสมเขามีเกือบร้อยกว่าล้านบาททั้ง ๒ อปท. เพราะอะไร รู้ไหมครับ ทุกปีเงิน ๕๐ ล้านบาท เขาก็จะได้ใช้แค่เป็นเงินเดือน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ประเพณี จัดงบอะไรต่าง ๆ แต่งบลงทุนเขาไม่ได้ใช้เลย เพราะเขาขออนุญาตใช้พื้นที่ไม่ได้ พอจะทำ สตง. ก็มาตรวจ นักร้องก็เยอะ ทำให้มีปัญหา ครั้นนายกจะพลีชีพ จะให้เซ็น ช่างไม่เอาอีก ปลัดค้านอีก ผลเสียก็ตกกับชาวบ้าน ชาวบ้าน ไม่ได้มีการพัฒนา เงินก็กอง กอง กองเรื่อย ๆ พอกองเรื่อย ๆ กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่นก็นึกว่า อบต. นี้รวย จริง ๆ ไม่ใช่ครับ เขาไม่ได้ทำอะไรมานาน พอนึกว่ารวยก็ไม่ให้ งบเขา ปัญหาก็พ่วงไปอย่างนี้ครับ มันทำให้เกิดปัญหาที่ผ่านมา ที่ผ่านมานี้การขออนุญาต ตามกรอบเวลาใช้แค่ ๓ เดือน ผมเชื่อว่าเก่งสุดคือ ๑ ปี บางที ๒ ปีตีกลับไม่ได้เลย สาเหตุ ผมไม่ได้โทษเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผมไม่โทษกรมป่าไม้ ผมไม่ได้โทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหามันเกิดจากขั้นตอนที่เราล็อกทุกอย่าง พื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น ๑ ลุ่มน้ำชั้น ๒ ลุ่มน้ำชั้น A มีไม่รู้กี่ลุ่มน้ำ แล้วท่านประธานเชื่อไหมครับ เอาเฉพาะป่า กรมป่าไม้ก็แบ่งเป็นป่าตาม ครม. ป่าสงวน ป่าตามมติ แล้วทุกป่ามีผู้อนุญาตไม่เหมือนกัน สักป่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่ ครม. บางอันก็อยู่ที่ปลัดกระทรวง บางอันก็อยู่ที่รัฐมนตรี บางอัน อธิบดีเซ็นได้ก็จบ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มันทำให้มีความซ้ำซ้อนยากที่จะแก้ไขได้ ที่ผมได้เสนอ ญัตติ ครม. ได้อนุญาตให้ทำคำขอที่โครงการที่ทำไปแล้วและให้ทำคำขอย้อนหลังมา จริง ๆ เหมือนเพื่อนสมาชิกได้พูดเมื่อสักครู่ว่าเหมือนนิรโทษกรรม หลังจากป่าวประกาศแล้ว เอาเฉพาะ อปท. ไม่นับหน่วยงานอื่น ๑๒๐,๐๐๐ กว่าโครงการที่ขอไป เมื่อตอนบ่ายนี้ ผมเข้าประชุมคณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจ ๑ ท่านอธิบดีกรมป่าไม้เข้ามาชี้แจงงบพอดี ผมถามท่านว่าตั้งแต่ ๑๒๐,๐๐๐ โครงการทำได้เท่าไร ท่านเชื่อไหม ทำได้สัก ๒,๐๐๐ โครงการ อันนี้ขนาด ครม. อนุมัตินะครับ อนุมัติให้รีบทำ รีบเร่ง ๒,๐๐๐ โครงการ แล้วปรากฏ ผมก็ถามเขาอีกว่าแล้วปี ๒๕๖๗ นี้มีเป้าหมายอย่างไร ท่านบอกว่าปี ๒๕๖๗ เป้าหมายจะทำ อีก ๕,๐๐๐ โครงการ ท่านคิดดูครับ ๕,๐๐๐ โครงการ ขอมา ๑๒๐,๐๐๐ โครงการ ทำ ๒,๐๐๐ โครงการ ๕,๐๐๐ โครงการ ทำได้ ๗,๐๐๐ โครงการ เหลืออีก ๑๐๐,๐๐๐ โครงการ ผมว่าชาติหน้าก็ยังไม่เสร็จ แล้วที่สำคัญสำนักงบประมาณอนุมัติให้กรมป่าไม้ ๕,๐๐๐ คำขอ ในการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ในการขออนุญาต คำขอละเท่าไร ๖๐๐ บาท ๕,๐๐๐ ให้คำขอละ ๖๐๐ บาท ๖๐๐ บาท ให้เจ้าหน้าที่ ๒ คนออกไปก็ไม่พอแล้วครับ นอนก็ไม่รู้ว่า นอนที่ไหน กินก็ไม่รู้จะกินที่ไหน เป็นเรื่องที่มันต้องแก้ไข ขั้นตอนนี้สำคัญ ปัจจัยคนก็ต้อง สำคัญ อุปกรณ์ก็ต้องสำคัญ ที่ผ่านมาผมเชื่อว่า ๒,๐๐๐ โครงการที่ได้รับการอนุญาตจาก กรมป่าไม้ สาเหตุหลัก ๆ มาจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะบางที่ผู้บริหาร ใจป้ำหน่อย อยากจะให้สำเร็จเร็ว ๆ เพราะเป็นฐานคะแนนของเขา เขาก็จัดรถ อบต. ไปรับ เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกทุกอย่างมันถึงเกิดขึ้นได้ ถ้าที่ไหนไม่รอตามคิว ไม่ใช่ว่า มีการลัดคิวของกรมป่าไม้นะครับ เป็นการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะออกแต่ไม่มีงบ ปีนี้ที่ผมบอกว่า ได้งบแล้ว ก็ได้ ๖๐๐ บาท และอย่างนี้จะไปได้อย่างไรครับ ฉะนั้นผมก็อยากจะให้ทาง หน่วยงานราชการต่าง ๆ มาพูดคุยกัน แต่ข่าวดีนะครับ ผมได้นำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ท่านได้ดำริ แล้วจะให้วาระนี้เป็นวาระของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การขออนุญาตของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และโดยเฉพาะที่สำคัญที่เรา พูดนี่คือกรมป่าไม้ ตอนนี้กรมป่าไม้ได้วางกรอบแนวทางในการจะอนุญาตไว้หลายแนวทางมาก มาตรา ๑๙ ที่คน พูดกันเยอะ ๆ คือการร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้กับหน่วยงานที่งบประมาณทำ MOU ร่วมกัน แล้วทำ อันนี้ก็ทำส่วนหนึ่ง แต่การทำมาตรา ๑๙ นี้มันทำได้เฉพาะเป็นบางเรื่อง การขอ งบประมาณถ้าใช้มาตรา ๑๙ งบมันต้องมาจากส่วนกลาง ไม่อย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเป็นงบของ อปท. เอง โอเค มีโอกาสที่จะใช้มาตรา ๑๙ ได้ แต่ถ้างบจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ท่านไม่มีสิทธิใช้มาตรา ๑๙ เลยครับ การไฟฟ้าที่จะเข้าไปทำงาน MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการปักเสาพาดสาย อันนี้มาตรา ๑๙ ได้อยู่ แต่ถ้าหน่วยงาน อปท. จะไปของบจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น อปท. เอย จังหวัดเอย อะไรต่าง ๆ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วย กระทรวงมหาดไทยไม่มีสิทธิใช้มาตรา ๑๙ ฉะนั้นผมก็อยากจะเสนอแนะให้ทุกหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมาชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย รวมถึง หน่วยงานตรวจสอบ ปัญหาตอนนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่แรก และผมยืนยันเลยผมอยู่ในเหตุการณ์ มาตลอดมา ๑๐ กว่าปี เพราะผมอยู่องค์กรปกครองท้องถิ่น ปัญหามันเริ่มจากการร้องเรียน ท่านเคยได้ยินแล้วท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดหนึ่งโดนติดคุกเพราะไม่ได้ขออนุญาต ใช้พื้นที่ แต่ตอนนี้ท่านพ้นมลทินแล้วครับ ท่านฟ้องศาลท่านชนะ แต่อย่างไรก็ตามพอเกิด เหตุการณ์อย่างนี้หลาย ๆ ท้องถิ่นไม่กล้าขยับ สตง. ก็ดี ป.ป.ช. ก็ดี เวลาท่านจะตัดสินใจอะไร สักอย่างท่านต้องดูองค์ประกอบรวม ๆ ยึดถือผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าไม่ได้ขออนุญาต ไม่มี Tick ในช่องว่าขออนุญาตใช้พื้นที่หรือยัง ผิด เรียกค่าสินไหม ทดแทน ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้บริหาร ข้าราชการ ช่าง ปลัด ผมว่าอย่างนี้ไม่ถูก ท่านให้เขาทำแล้วท่านไปดูสิครับว่าเขาทุจริตอย่างไร ทำงานตรง Spec ไหม อย่างนี้มันจะ เหมาะกว่า ไม่ใช่ไปไล่จับการขออนุญาตใช้พื้นที่ ผมว่าท่านไม่น่าทำ ถึงท่านจะโดนร้อง อาจจะมีบุคคลที่สามร้องท่านก็ต้องแก้ไขให้เขาเพราะว่ามันไม่มีเรื่องทุจริต มันเป็นเรื่องไม่ทำตาม กรอบระเบียบนิดเดียว ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีเหตุผล การมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนในพื้นถิ่น นั้น ๆ ภูมิภาคนั้น เช่น ป่าไม้ก็มอบอำนาจให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑ ถึง ๑๐ กว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักอุทยาน แห่งชาติเขตนั้น หรือให้ดีท่านมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเลย ลงจังหวัดเลย โดยเฉพาะของผมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตากพร้อม ท่านได้ตั้งกลุ่มต่าง ๆ มาเพื่อจะรองรับ การอนุญาตใช้พื้นที่เรียบร้อย ท่านให้ความร่วมมือดีทุกอย่าง ฉะนั้นมอบอำนาจท่านผู้ว่าราชการ เลยครับ ให้ท่านผู้ว่าราชการยืนยันไปว่าพื้นที่นี้ไม่ได้เป็นป่าแล้ว ผู้ว่าราชการก็ไม่ต้องทำเลย ให้ทางนายอำเภอจัดประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกท้องถิ่น ทำประชาคมไป ถ้าชาวบ้าน บอกว่าถนนเส้นนี้ใช้กันมา ๑๐-๒๐ ปีแล้ว ถึงจะอยู่ในป่า ถึงจะทำถนนก็ไม่ใช่ปัญหา ผมว่า เรื่องนี้จบเร็ว แล้วที่สำคัญที่สุดผมอยากให้ ครม. นำเรื่องนี้เข้า ครม. และตัดสินใจอย่างใด อย่างหนึ่ง ปัญหาเหมือนที่บอก กฎหมาย ระเบียบ เอาไว้ป้องกัน แต่คนที่ร่างระเบียบคือ ผู้มีอำนาจ ถ้าท่านยกเลิกระเบียบไปเสีย ลดขั้นตอนไปเสีย ดูข้อเท็จจริง ป่ามันไม่ใช่ป่าแล้ว มันเป็นถนนแล้ว มันเป็นชาวบ้านแล้ว เป็นชุมชนแล้ว ท่านก็อนุญาต ไม่ต้องไปทำอะไร เยอะแยะ ก็ฝากนำเรียนท่านประธานไปยังผู้มีอำนาจ และผมยืนยันว่าผมอยากให้มีการตั้ง กรรมาธิการวิสามัญในเรื่องนี้ ผมไม่อยากจะให้โยนไปถึงกรรมาธิการสามัญชุดใดชุดหนึ่ง แล้วก็มาตั้งคณะทำงาน ผมทราบว่ามีการตั้งคณะทำงานชุดนี้ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่แค่คณะทำงานไม่มีอำนาจครับ อนุกรรมาธิการก็ยังดี ท่านก็ยังไม่ได้ตั้งอนุกรรมาธิการ แต่จริง ๆ แล้วผมอยากให้ตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ หรือว่าท่านจะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้มันเกิดประโยชน์กับประชาชน เร่งรัดการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าให้เร็วที่สุดครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปเป็นญัตติของท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ท่านได้มอบหมายให้ ท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ได้เป็นผู้นำเสนอเหตุผลแทน เชิญครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทย สร้างชาติ ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่าน สส. อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ให้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการกำหนด หลักเกณฑ์การขออนุญาตสร้าง ขยาย หรือปรับปรุงถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้เดินทางสัญจร แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ในอดีตที่ผ่านมา เราได้ใช้สอยเส้นทางตั้งแต่พวกเราอาจจะยังไม่เกิดด้วย เราได้ใช้เส้นทางทั้งถนนหนทาง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตั้งแต่ถนนดิน เป็นพนังกั้นน้ำ จนพัฒนามาเป็นทางลูกรัง แล้วก็มาเป็น ถนนลาดยาง ถนนคอนกรีตจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ในท้องถิ่นถนนเหล่านี้มีการดูแล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถือว่าเป็นปกติมาโดยตลอด จนกระทั่งได้เกิดปัญหามา ไม่นานนี้เองที่ทางสำนักงบประมาณได้มีเงื่อนไขว่าในการที่จะรับงบประมาณนั้นจะต้องได้รับ ความยินยอมจากเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของหน่วยงานให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงเป็นปัญหา ที่ทำให้เกิดเป็นปัจจุบันนี้ ในการพัฒนาของท้องถิ่นนั้นติดขัดไปหมดตั้งแต่การตั้งงบประมาณ หลังจากได้งบประมาณส่วนอื่น ๆ มาแล้วไม่มีใบอนุญาตให้ใช้ก็ติดขัดตรงนี้อีก ฉะนั้นในเรื่องนี้ เป็นปัญหามาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ที่โคราชที่ถนนขาขึ้นเขาใหญ่ อันนั้นเป็นการลักตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งต่างจากท้องถิ่นที่เขาไม่ได้มีการตัดไม้ทำลายป่า เขาเพียงแต่พัฒนา ปรับปรุง ขยายถนน หรือลำคลองให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทั้งหมดเลยครับ จากประมวล กฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ ได้บัญญัติให้ที่ดินซึ่งไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือเป็นของรัฐ ประกอบด้วย มาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งบัญญัติให้ ป่า หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ด้วยบทบัญญัติ ดังกล่าว ทำให้ถนนหนทางทั้งหมดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ออกเป็น หนังสือสำคัญที่หลวงเกิดปัญหาในการปรับปรุง พัฒนา เป็นอย่างมาก แต่ประชาชนก็ยังต้อง ใช้ประโยชน์ตรงนี้อยู่ หากหน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องสร้าง หรือขยาย หรือปรับปรุง ถนนต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลานาน ไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งประชาชนใช้เดินทางสัญจรตั้งแต่ก่อนกฎหมาย ใช้บังคับ จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศที่มีหน้าที่ในการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนนหนทาง ทั้งหมดที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ด้วยสภาพปัญหาและความจำเป็นของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีความจำเป็นต้องดำเนินการที่จะต้องก่อสร้างและขยาย ปรับปรุงเช่นกัน ให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการจราจร อันจะเป็นประโยชน์สูงต่อ การใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตให้ชัดเจนมากขึ้น ในการที่จะไปดำเนินการปรับปรุงหรือก่อสร้างอะไรก็แล้วแต่ และกำหนดให้เป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์การขออนุญาตที่มี ความสะดวก รวดเร็ว อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ผมจึงขอเสนอ ญัตติดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตสร้าง ขยาย หรือปรับปรุงถนนทางสาธารณะ ที่ประชาชนใช้เดินทางสัญจรมา แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านผู้เสนอญัตติท่านสุดท้ายที่จะแถลงเหตุผล ท่านสาธิต ทวีผล เชิญครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ผู้แทนของพี่น้อง ชาวห้วยโป่ง หลุมข้าว เขาพระงาม ท่าศาลา นิคมสร้างตนเองโคกตูม และอำเภอพัฒนานิคม ทั้งอำเภอ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานที่กรุณาบรรจุ ญัตติของผมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ แล้วก็ขออนุญาตอ่านในส่วนของเหตุผลของญัตติ ให้ที่ประชุมแห่งนี้รับฟังนะครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการ สาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมและ สนับสนุนจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในประเทศไทยอีกหลายแห่งมีความประสงค์ก่อสร้างสำนักงานหรือกิจการต่าง ๆ แต่ไม่มี พื้นที่เป็นของตนเอง ทำให้การปฏิบัติงานเกิดความไม่สะดวก ไม่สามารถให้บริการประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความประสงค์ที่จะขออนุญาต เข้าใช้พื้นที่จากนิคมสร้างตนเอง จำนวน ๔๓ แห่งทั่วประเทศ หรือพื้นที่จากหน่วยงาน ราชการอื่นเพื่อปรับปรุงที่ให้ใช้ประโยชน์กับทางราชการ การจัดงาน และการให้บริการ สาธารณะ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้การปฏิบัติงาน การดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่จากนิคมสร้างตนเองหรือพื้นที่จากหน่วยงานราชการอื่น มีระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที การปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงยังขาด ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ท่านประธานที่เคารพ นิคมสร้างตนเองนั้นเป็นงานจัดสวัสดิการ สังคมรูปแบบหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการมาพร้อมกับการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปี ๒๔๘๓ ปัจจุบันนั้นคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ นิคมสร้างตนเองนั้นได้ตั้งขึ้นสมัยของท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนิคมสร้างตนเองแห่งแรกคือนิคมสร้างตนเองลพบุรีและนิคมสร้างตนเองสระบุรี โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อนำที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้นมาให้ประชาชนได้ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ ให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ในลักษณะชุมชนที่เป็นระเบียบ พัฒนาให้ประชาชน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ท่านประธาน หากเรามองวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองตามที่ผมได้อภิปราย ไปข้างต้นจะเห็นได้ว่านิคมสร้างตนเองเป็นงานจัดการสวัสดิการที่ดีและมีประโยชน์กับ พี่น้องประชาชนในขณะนั้นอย่างมาก แต่วันนี้เวลาผ่านมากว่า ๘๐ ปี ยุคสมัยได้เริ่ม เปลี่ยนแปลงไป ภารกิจต่าง ๆ ของนิคมสร้างตนเองนั้นในหลายแห่ง จากที่มีทั้งหมด ๔๓ แห่ง ทั่วประเทศไทยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้ ได้แก่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระยอง จังหวัดพังงา จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัด เชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัด สกลนคร จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล จังหวัดระนอง และจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งหมดแล้ว ๓๓ จังหวัด โดยครอบคลุมพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า ๑๐๐ แห่ง ท่านประธานครับปัจจุบันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. และเทศบาล ซึ่งเป็น หน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า ก้าวไกลในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการ ดูแลให้บริการสาธารณะเพื่อประชาชนในท้องถิ่นเพื่อให้น้ำไหล ไฟฟ้าสว่าง ทางดี และ การบริการด้านอื่น ๆ เช่น สาธารณสุขพื้นฐาน การศึกษาท้องถิ่น การพัฒนาป่าชุมชน การส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และจารีตประเพณีท้องถิ่น แต่ปัจจุบันพบว่า การดำเนินงานให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในการทำบริการ สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นิคมสร้างตนเองและพื้นที่ราชการอื่น ๆ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต้องดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงาน ต่าง ๆ ซึ่งมีระบบ ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการที่ค่อนข้างนานหลายเดือน หรือบางกรณีหลายปี ทำให้การทำงานบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วย ความล่าช้า หรือบางโครงการนั้นไม่สามารถดำเนินการได้เลย ยกตัวอย่างในพื้นที่ของจังหวัด ลพบุรี เนื่องจากจังหวัดลพบุรีนั้นเป็นนิคมสร้างตนเองแห่งแรกของประเทศไทย การขออนุญาต ของเทศบาลจะดำเนินการสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงถนน เทศบาลหรือ อบต. นั้นจะต้อง นำเรื่องขออนุญาตจากนิคมสร้างตนเองทำให้มีความล่าช้าในการดำเนินการ โครงการกว่าจะ มีการอนุมัติ นายกหรือผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่นหมดวาระไปแล้วครับท่านประธาน ถ้าการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้กลับมาอีกก็ไม่มีปัญหาครับ ได้ดำเนินการต่อ หรือถ้าเกิดว่าไม่ได้ กลับมาแล้วนายกท่านใหม่มาสานงานที่คณะบริหารชุดเดิมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่มันไม่ใช่เรื่อง ที่ต้องให้ประชาชนมานั่งรอการอนุมัติโครงการจากท้องถิ่นโดยมีขั้นตอนในการขออนุญาต ที่เนิ่นนาน เพราะนี่คือผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ ผมต้อง ขอขอบพระคุณท่านประธานอีกครั้งที่กรุณาบรรจุญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจากนิคมสร้างตนเองหรือพื้นที่จากหน่วยงานราชการอื่นในเขตปกครองของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลังจากที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกันเสร็จสิ้นแล้วผมจะขอ กลับมาสรุปญัตติอีกรอบนะครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ มีท่านสมาชิกแสดงตนที่จะอภิปราย ผมจะขานชื่อ ๓ ท่านแรกก่อน ท่านแรก ท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ท่านที่ ๒ ท่านทิพา ปวีณาเสถียร ท่านที่ ๓ ท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ญัตตินี้ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการ ร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวน เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่คนที่เดือดร้อน วัดครับ มัสยิดครับ โรงเรียนครับ นี่คือหน่วยที่เดือดร้อน ผู้เสนอญัตติไม่ได้กล่าวถึง ปัญหาคืออะไรครับ คือหน่วยรับงบประมาณไม่สามารถทำ โครงการในพื้นที่ดังกล่าวได้ เช่น อบต. เทศบาล อบจ. จังหวัด หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็น หน่วยงานรับงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล เพราะอะไรครับท่านประธาน สาเหตุง่าย นิดเดียว เมื่อก่อนเป็นไหม ไม่เป็นครับ ทำไมปัจจุบันมันเป็น เพราะสำนักงบประมาณกำหนด ไว้ว่าทุกโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ นี่คือที่มาที่ไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่ขออะไรจะเกิดขึ้น ทำโครงการถ้าคุณไม่ขออนุญาตใช้ที่จากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ป่าสงวน อะไรจะเกิดขึ้น ตามมาดูครับ โครงการไม่ผ่านพิจารณาครับ ถ้าเป็นของ อบต. ก็ไปตกในขั้นของจังหวัด เพราะท้องถิ่นจังหวัด บอกว่าเอกสารไม่ครบ โดน สตง. ตรวจสอบเพราะเป็นพื้นที่ไม่ได้ขออนุญาต มีคดีตัวอย่าง มากมาย ที่น่ากลัวที่สุดคืออะไรครับ ป.ป.ช. มีการร้องเรียน ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีนายก อบต. ท้องถิ่นหลายคนหลุดจากตำแหน่งและไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ ที่บ้านผมสะบ้าย้อย มีครับ และที่สำคัญที่สุดคือถูกเจ้าหน้าที่เจ้าของพื้นที่แจ้งความดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นใครจะเป็นคนเสียประโยชน์ ประชาชนครับ เสียประโยชน์เรื่องอะไร ถนน ทางระบายน้ำ ไฟฟ้าสาธารณะ การจัดการเรื่องแหล่งน้ำการเกษตร การบริหารศูนย์พัฒนา เด็กเล็ก บริการสาธารณสุขมูลฐาน การส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว พื้นที่ดังกล่าวไม่มีโอกาสที่จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ปัญหาพื้นที่ขอยกตัวอย่าง ๓ หน่วยหลัก ๆ เพื่อจะได้เข้าใจง่าย ๑. พื้นที่ป่าไม้ อันนี้ปัญหาเยอะครับท่านประธาน ๒. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ๓. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สังกัดอะไรครับ สังกัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรามาดูว่าเส้นทางมันยากขนาดไหน ผมขอยกตัวอย่าง ให้ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกได้เห็นว่ามันยากจริง ๆ เอาพื้นที่ป่าไม้ก่อน พื้นที่ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ถ้าจะขอต้องทำอย่างไร ๑. หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องยื่นคำขอกับสำนักงาน จัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ อบต. เทศบาล อบจ. หรือหน่วยงานอื่นต้องทำหนังสือเป็น โครงการขอ ๒. ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สั่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจว่า เป็นพื้นที่ป่า เป็นพื้นที่อะไร แล้วก็มารายงาน ลำดับต่อไป เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่เสร็จ เห็นชอบครับ แล้วเสนอให้ใคร เสนอให้กับผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่ออนุมัติ จบหรือยัง ไม่จบครับ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ต้องเสนอให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับ ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ ผอ. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ออกหนังสืออนุญาตให้ดำเนินการได้ ท่านประธานลองนึกภาพ จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้ายในการอนุมัติใช้เวลาเกือบปี แต่กรณีใช้พื้นที่เกิน ๒๐ ไร่ มันมีแต่นิดหนึ่ง ต้องส่งให้กรมป่าไม้อนุมัติ เห็นไหมครับนี่เฉพาะป่าไม้อย่างเดียว เส้นทาง จะยากมาก กว่าจะถึงเวลางบประมาณตกพอดี อีกหน่วยหนึ่ง ขออนุญาตใช้พื้นที่ ความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผมเชื่อมั่นว่าพื้นที่ของ เพื่อนสมาชิกหลายคนอยู่ในพื้นที่อุทยาน ยากมากครับ ๑. เราตั้งต้นจากหน่วยเจ้าของ งบประมาณเสนอโครงการให้กับหัวหน้าอุทยาน ๒. หัวหน้าอุทยานพิจารณาแล้วก็เห็นชอบ เห็นชอบไม่พอ หัวหน้าอุทยานต้องตรวจสอบเอกสารและตรวจสอบพื้นที่ และมี ความเห็นชอบคล้าย ๆ กับกรมป่าไม้ ลำดับต่อไป เสนอผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ อนุรักษ์ของจังหวัดให้ความเห็นชอบ และ ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เห็นชอบเสนอให้กับ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชอนุมัติ นี่แค่ตัวอย่างครับ แต่อุปสรรคมันเกิด จากอะไร เกิดจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื่องจากผู้ที่ไปขออาจจะไม่ทราบว่า เป็นพื้นที่ดินลุ่มน้ำชั้น ๑ ชั้น ๒ มันต้องศึกษาผลกระทบ EIA เห็นไหมครับอุปสรรคเยอะมาก เพราะฉะนั้นผมยกตัวอย่างให้เห็นชัด ครับท่านประธาน บ้านบางหน๊ะ ผมเคยอภิปรายในสภา แห่งนี้ ตำบลสำนักแต้วของอำเภอสะเดา เขาตั้งหมู่บ้านมาประมาณ ๕๐ ปี มีประมาณ ๒๐๐ กว่าหลัง ติดพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ดำเนินการหมดเรียบร้อย มีถนนลาดยางเรียบร้อย เจ้าหน้าที่อุทยานก็ไปขออนุญาตจากทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาสะเดาอนุมัติงบ ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาทเพื่อขยาย ปรากฏว่าอุทยานไม่อนุมัติ ยังมืดอยู่ทุกวันนี้ และที่บ้านคลองแวว ตำบลบาโหย ผมเคยอภิปราย เขาก็ต้องการเรียกร้อง เหตุการณ์เช่นเดียวกันครับ และที่สำคัญ ที่สุด ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหลายคนโดนคดีมากมายหลายพื้นที่ พื้นที่ไหนที่มี ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ ท่านประธานเชื่อมั่นเลยครับ ชาตินี้เขาคงไม่ได้รับงบประมาณ จากประเทศ จึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จัดตั้งขึ้นแก้ปัญหาการอนุญาตใช้พื้นที่ ให้รวดเร็วขึ้นครับ ๒. ให้ทันปีงบประมาณ ๓ ทุกหน่วยรับงบประมาณใช้งบประมาณเป็น ประโยชน์ให้กับประชาชน ๔. ไม่ติดคุกและโดนคดี ๕. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานทุก ๆ คนครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านทิพา ปวีณาเสถียร เชิญครับ
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันมาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องคนลำปาง ดิฉันลงพื้นที่ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาหลายกรณี แต่มันเรื่องเยอะมาก วันนี้ดิฉันขอยกตัวอย่างมา ๓ กรณี นะคะ
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
ดิฉันอยากผลักดันการแก้ปัญหาข้อจำกัด พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่ส่งผลให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้า อยากให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวย ความสะดวกแก่ประชาชน สืบเนื่องมาจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล แห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือยื่นไปยังคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครอง ส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ และคณะกรรมาธิการการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการดำเนินการแล้ว อีกทั้ง ยังได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กฤษฎีกาตีความกรณีโครงการบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง ในพื้นที่ป่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตดำเนินการเพราะเป็นการทำ สาธารณูปโภค แต่การทำถนนในพื้นที่ป่ากลับต้องขออนุญาต ทำให้เกิดกรณีพิพาทและเกิด ความล่าช้าในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันยกตัวอย่างกรณีพิพาท เกิดจากการดำเนินโครงการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านนายโต้ง บ้านทุ่งเกวียน หมู่ที่ ๖ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นเหตุให้ทางเทศบาลตำบลเวียงตาล ถูกกรมป่าไม้ฟ้องร้องและดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า พุทธศักราช ๒๔๘๔ จากการ ปรับปรุงพื้นที่ทำโครงการทำถนนสาธารณะ ทั้งที่เป็นพื้นที่นอกเขตป่าสงวน เป็นที่ดินที่มี เอกสารสิทธิ เป็นโฉนดที่ชาวบ้านอุทิศให้ แต่กลับถูกตีความว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เบื้องต้นรับทราบข้อมูลว่าช่วงดำเนินการก่อสร้างถนนนั้นได้ทำการ ขออนุญาตกรมป่าไม้และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อำเภอ และทางจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ทางป่าไม้แจ้งว่าอยู่นอกพื้นที่ป่า ที่ดินดังกล่าว ๒ ข้างทางมีโฉนดที่ระบุว่าเป็นทางเข้าบ้าน และเป็นพื้นที่สาธารณะ
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
กรณีที่ ๒ เรื่องของการขอเอกสารสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย จังหวัดลำปาง หรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ พื้นที่ ๒๕,๕๘๐ ไร่ ออกจากป่าไม้ถาวร คณะรัฐมนตรีได้ลงมติว่าได้จำแนกที่ดินพื้นที่ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้ายหรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ ในพื้นที่ จังหวัดลำปางออกจากป่าไม้ถาวรให้เป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร ในพื้นที่บางส่วนของ ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลต้นธงชัยบางส่วน ตำบลบ่อแฮ้วบางส่วน ตำบลบ้านเป้าบางส่วน และตำบล บ้านเอื้อมบางส่วน ได้ทำการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินสำหรับที่ดินในพื้นที่ ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้ายหรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ มาก่อนการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๓ แต่ว่าในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถ ทำนิติกรรมต่าง ๆ ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารก็ไม่ได้ แบ่งแยกให้ลูกหลานก็ไม่ได้ ทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินทำกินและการดำรงชีวิตของผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ซึ่งเรียกร้องกันมานับ ๓๐ ปีผ่านมาแล้ว กรณีที่ ๓ ปัญหาพื้นที่จัดสรรที่ดินทำกินของ ตำบลนิคมพัฒนาและตำบลบุญนาคพัฒนา เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ปัจจุบัน ได้ยื่นเรื่องไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงความเดือดร้อน อยากให้เจ้าหน้าที่ออกพื้นที่ทำกิน ให้กับประชาชนที่ยากจนเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในที่ดินป่าสงวนของหมู่บ้านนิคมพัฒนา ที่ไม่ได้ทำประโยชน์แล้วนั้นเป็นนิคมสร้างตนเองกิ่วลม หมู่บ้านเวียงทอง หมู่ที่ ๑๓ ตำบล นิคมพัฒนา ให้สามารถทำประโยชน์ในที่ดิน ปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย มีสาธารณูปโภคครบครัน โดยที่ไม่มีค่าเช่า ซึ่งภาครัฐเริ่มเก็บค่าเช่ากับพวกเขาในปี ๒๕๖๓ หากชาวบ้านไม่มีกำลังจ่าย เจ้าหน้าที่ก็ขอให้ออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งพวกเขาได้อยู่อาศัยที่นี่มานานนับ ๑๕ ปีค่ะ และขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวน ส่งผลต่อปัญหาโฉนดที่ดินในการ ทำธุรกรรมการเงิน ทางตัวแทนชุมชนได้ร้องเรียนว่าในอดีตนั้นสามารถนำโฉนดที่ดินที่ได้รับ การจัดสรรเมื่อครั้งสละที่อยู่อาศัยบ้านของพวกเขาเพื่อให้ภาครัฐไปสร้างเขื่อนกิ่วลม ก่อนหน้านี้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารได้ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นำโฉนดที่ดินฉบับเดิมไปขอกู้ธนาคารแต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากธนาคารแจ้งว่าต้องไปขอ หนังสือรับรองที่ดินจากกรมป่าไม้เพื่อยืนยันว่าโฉนดที่ดินนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า เพราะธนาคาร แจ้งว่าตาม DSI MAP ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทรายคำใต้ จึงไม่สามารถ อนุมัติสินเชื่อได้ จากข้อเรียกร้องและการร้องเรียนที่ดิฉันได้รับมา ๓ เรื่องนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาเกิดจากขั้นตอนการดำเนินงานการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของที่ดินป่าสงวนและการใช้ พื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งมีขั้นตอนระหว่าง ๒ หน่วยงาน ที่ต้องประสานงานกัน ส่งเรื่องต่อกันไปมาแต่ละหน่วยงานทำให้ใช้ระยะเวลานานกว่าเรื่องจะ ไปถึงขั้นตอนของการอนุมัติของอธิบดี ทำให้เกิดความล่าช้า ประชาชนได้รับผลกระทบต่อ การดำรงชีวิต ดิฉันจึงเห็นควรและสนับสนุนทุกญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอน การอนุมัติของอธิบดีตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๗ ขอบพระคุณมากค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน ขออนุญาตร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาแนวทางการลดขั้นตอนในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำประโยชน์ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต ๒-๓ ประเด็น
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก วันนี้ดีใจที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้ยื่นญัตติ เพราะวันนี้ ป่าสงวนนั้นเป็นเหตุอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปว่าการจะพัฒนาต่าง ๆ ติดขัดครับ ขออนุญาตล่าช้า ติดขั้นตอน กว่าจะได้ทำ กว่าจะได้พัฒนา กว่าจะได้สร้าง ยากเหลือเกิน วันนี้ผมเชื่อมั่นว่าเมื่อเราเข้าสู่กระบวนการเพื่อเป็นกฎหมายออกมาใช้ ตรงไหนมันช้าเราตัด ออกไป เอาตรงไหนที่มันรวดเร็วทันใจเพื่อมาแก้ปัญหาให้พี่น้องทั้งประเทศ ผมยกตัวอย่าง จังหวัดบึงกาฬครับท่านประธาน วันนี้ป่าสงวนหลังที่ว่าการอำเภอพรเจริญ ในเทศบาล พรเจริญยังเป็นป่าสงวน สร้างตึกสร้างบ้านกันมาเป็น ๑๐๐ ปีแล้วครับ นี่คือชี้ให้เห็นว่าป่าที่ ออกไว้นานแล้ว วันนี้ป่าจะได้หมดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ป่าที่เป็นป่าอยู่ก็ต้องคงไว้ อันนี้ สร้างบ้านไว้แล้ว อย่างบ้านผมเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว วันนี้ผมก็ค่อนคนไปแล้ว ๖๕ ปีแล้ว ป่าสงวนแห่งชาติไม่มีใบอะไรเลยครับ ดังนั้นถ้ารัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี กราบเรียน ครับ เอาของจริงว่ากัน เมื่อป่าไม่มีแล้ว สร้างบ้านสร้างที่อยู่อาศัยแล้วก็ออกระเบียบ ออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ขออนุญาตออกอะไรหรอก ออก น.ส. ๓ ออกโฉนดในที่อยู่อาศัย มันจะได้สะดวกสบาย จะได้เป็นขวัญและกำลังใจ จะเป็นทรัพย์มรดกให้ลูกให้หลาน วันนี้ ต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิก ผมเชื่อมั่นว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่านก็คงพบปัญหาเช่นกันในเรื่อง ป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้นวันนี้ผมเรียนว่าหากเราร่วมด้วยช่วยกัน กฎหมายไหนมันติดมันขัด ผู้แทนทุกท่านมีหน้าที่เสนอ ผมเชื่อมั่นว่าผู้แทนวันนี้ต้องการเห็นความสุขของพี่น้องในชาติ เพื่อนสมาชิกทั่วประเทศ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกที่พบปัญหา เราเอา ปัญหานั้นมาแก้ปัญหาให้ป่ามันถูกต้อง ถ้าเป็นป่าก็ให้มันเป็นป่าต่อไป เมื่อเป็นบ้านของ ชาวบ้านแล้วก็ให้เลิกเป็นป่า ออกเอกสารสิทธิให้ได้ให้แก่ชาวบ้าน วันนี้วัดที่สร้างในเขตป่าไม้ ก็ยังขออนุญาต แต่ยินดีครับ ได้ยินข่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า วันนี้ถ้าวัดอยู่ในป่าไม้ก็ต้องออกระเบียบหรือว่าอนุญาตให้มันถูกต้องแบบรวดเร็ว อันนี้ดีครับ วัดก็จะได้สร้างให้ถูกต้อง บ้านเรือนก็จะได้อยู่ถูกต้อง จะไม่ได้เป็นป่าไม้ต่อไปแล้ว วันนี้ชื่นชม ดีใจครับที่เราจะมีกฎหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศชาติได้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่เพื่อนสมาชิก พูดว่าจะขออนุญาตสร้างสถานที่ท่องเที่ยว จะขออนุญาตปักเสาไฟฟ้าเข้าในหมู่บ้าน ได้มอง แต่ไฟฟ้าบ้านข้างเคียง ติดเขตป่า นี่คือปัญหา ดังนั้นปัญหาตรงนี้เราต้องแก้ กฎหมายฉบับนี้ เชื่อมั่นว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่านคงเห็นด้วยในการเสนอญัตติวันนี้ในวาระแรก และนำไปสู่ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ กลั่นกรองให้ดีที่สุด แก้ให้ง่ายที่สุด อันไหนติดขัด ติดระเบียบ เอาออกไป เอาผลประโยชน์ที่พี่น้องทุกคนในชาติได้ประโยชน์เอาเข้ามาแทน แล้วเราจะได้ พัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ท่านประธานครับ ดังนั้นวันนี้ผมเห็นด้วย อย่างยิ่งที่ท่านผู้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาและออกเป็นพระราชบัญญัติต่อไปเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ จะได้ เจริญเท่าทันและความเท่าเทียมในสังคมก็จะเกิด ไม่ใช่ว่าที่อื่นเจริญแล้ว แต่เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ ในป่าซึ่งไม่มีป่าแล้ว แต่ไปติดคำว่า ป่า จะสร้างอะไรไม่ได้สักที จะได้มีความสุขกันทั่วหน้า ครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ท่านที่ ๒ ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ท่านที่ ๓ ท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี เชิญท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีต พรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ภูมิลำเนาจังหวัดกระบี่ครับ ขออภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา การเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของ ชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ซึ่ง สส. มานพ คีรีภูวดล เป็นผู้เสนอ รวมทั้งท่าน สส. สาธิต ทวีผล จากพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ญัตตินี้มีความสำคัญมากครับ ท่านประธาน เพราะว่าเป็นปัญหาความเรื้อรังของการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งบ้านผม มันเกี่ยวข้องกับป่าชายเลนด้วย ไม่ใช่ป่าไม้บนภูเขา บนดอย หรือว่าเป็นพื้นที่ราบทั่วไป ในเขตเหล่านั้น ในเขตอุทยานเอย เขตพื้นที่ป่าไม้เอย ในพื้นที่จังหวัดกระบี่หรือภาคใต้ หลายจังหวัดมีการขอใช้โดยเอกชนมาแล้วครับ แล้วก็การอนุญาตโดยกรมป่าไม้ให้เช่าพื้นที่ เป็นหลักหมื่นไร่ก็ยังมีนะครับ ที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร เขาทำอะไรครับ ปลูกปาล์มครับ แล้วได้สัมปทานสัญญาเช่าจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหรือกรมป่าไม้ในอดีตเป็น ๒๐-๓๐ ปีครับ เอกชนเหล่านั้นสร้างเนื้อสร้างตัว จากการเช่าเป็นบริษัทหรือเป็นรูปแบบการจดทะเบียนนิติบุคคลเล็ก ๆ จนกระทั่งสร้าง ความร่ำรวยเป็นบริษัทจดทะเบียนมหาชนเข้าในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความร่ำรวย เอกชน เหล่านั้นสามารถใช้พื้นที่ป่าได้ครับ แถมเวลาหมดสัญญาสัมปทานก็ได้สิทธิตามระเบียบของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วยว่าถ้าทำถูกต้องได้สิทธิต่อ และตอนนี้ ก็ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ผมอยากจะฝากท่านประธานไปถึงสำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ เขตที่ ๑๒ สาขากระบี่ที่ดูแลเรื่องนี้ ณ ขณะนี้มีความพยายามเสียเหลือเกินในพื้นที่ ที่หมดสัญญาสัมปทานไปแล้วแต่ก็พยายามจะอยู่อาศัยต่อ ยึดพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ในเขตพื้นที่ของตัวเองที่เคยเช่าอยู่ และมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ ผมเปรียบเทียบ เหล่านี้เพื่อให้ท่านประธานได้เห็นว่าพวกบริษัทเอกชนสามารถได้ใช้พื้นที่ป่าสงวน ได้ใช้พื้นที่ป่า ได้ใช้พื้นที่ป่าโกงกางสบาย ๆ แต่เวลาเอกชนอื่น ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เวลาจะไปขอใช้ประโยชน์เพื่อทำหน้าที่ของตนเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่บ้านผมมีเส้นถนนอยู่ในเขตครับ ที่ทำสะพานข้ามไป เกาะลันตานั่นละครับ ปรากฏว่าอยู่ในเขตป่า แต่ไม่สามารถที่จะไปลาดยางในระยะทางแค่ ๒ กิโลเมตรตอนนั้นได้ ต้องอาศัยถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเดินทางไปราชการที่จังหวัดกระบี่ แล้วก็มี การประชุมแล้วก็สั่งฟันธงว่าลาดยางได้ นั่นหมายความว่าอุปสรรคของการใช้ดุลยพินิจของ คนในพื้นที่โดยเฉพาะข้าราชการส่วนภูมิภาคเกรงกลัวอะไรกันนักหนา เวลาของเอกชนอื่น ๆ ที่เขาร่ำรวยอนุญาต อนุมัติกันรวดเร็ว จะขออนุญาตสร้างท่าเรือในเขตป่า จะขออนุญาต ทำถนน ทำได้ครับในเขตอุทยาน ผมไปร้องเรียนหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่เขตอุทยานคลองสน ใกล้ ๆ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง ณ วันนี้เจ้าของเรื่อง ยังไม่สามารถที่จะไปติดตามได้เลยครับ แล้วล่าสุดพี่น้องชาวบ้านส่ง LINE มาบอกผมว่ามี การบุกรุกในเขตพื้นที่ป่าอำเภอเกาะลันตา ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อยู่ในเขตป่าสงวนชัด ๆ เกิดอะไรขึ้นครับ ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินงาน ไม่เข้าไป ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่กรณีนายทุนใหญ่ก็ปล่อยเลยตามเลยกันไป แต่กรณีของ ชาวบ้านนี่ เปล่า ไม่มีทางครับ ยากมาก ยังมีอีกหลายเคส ไม่ว่าจะเป็นเคสการบุกรุกทำสนาม กอล์ฟที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่จัดการเต็มที่ ผสมโรงกับ หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย เผลอ ๆ ไปออกโฉนดทับที่ของป่าสงวนได้ด้วย เรื่องแบบนี้ รัฐบาลต้องให้ความสนใจและให้นโยบายอย่างจริงจัง ไม่ว่ากระทรวงมหาดไทย กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ และเมื่อสักครู่ผมได้ยินว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และผมก็ยังกังวลว่าจะเป็นช่องว่างอาศัยให้ท่านรัฐมนตรี โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผมอยากให้ท่าน ระมัดระวังว่าข้าราชการมีโอกาสที่จะเสนอต้มท่านได้ เพราะเขาจะอาศัยช่องนี้ให้เอกชน ได้เช่าสัญญาที่หมดสัมปทานต่อหลักพันไร่ หมื่นไร่ แต่ในขณะที่พี่น้องประชาชนจะเข้าไปใช้ พื้นที่ตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชนก็ตาม ทำยากเหลือเกินครับ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งที่สะพานข้ามคลองที่จังหวัดระนองที่วันนี้มีการพูดถึงหลายครั้ง ที่หมู่บ้าน มอแกนก็เช่นเดียวกันครับ ทำไมอนุญาตกันยากเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่ไปก่อสร้างค้างคาเอาไว้ และล่าสุดสะพานท่าเรือที่เกาะกำนุ้ย อำเภอเกาะลันตา มีการอนุญาตให้สร้างได้ สร้างสะพาน ให้เอกชนรายเดียวใช้ได้ แต่เวลาชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านขอใช้พื้นที่ป่าทำสะพาน ให้ประมงพื้นบ้านให้เรือลำเล็ก ๆ ได้เข้าจอดขนถ่ายกุ้ง หอย ปู ปลา ทำไม่ได้ครับ ข้าราชการ ภูมิภาคเขาถือกฎหมายเป็นใหญ่เสียเหลือเกิน แต่ในขณะกับเอกชนที่ร่ำรวยก็ให้ความสำคัญ กับเอกชนที่ร่ำรวยมากกว่าชาวบ้าน ท่านประธานครับ ขณะนี้ผมคิดว่าเรามาไกลถึงขนาดที่ ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ภาคประชาชนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขา อยากจะพัฒนาพื้นที่ของเขาเอง และอยู่ในพื้นที่เขตป่าเหมือนที่ท่าน สส. มานพของผม ได้อภิปรายไปแล้วว่าเราไม่สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้ง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่อยู่ ในเขตป่าแล้วก็ไปประกาศทับที่ที่ชาวบ้านอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านผมครับ ยกตัวอย่างอีก เคสหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นที่เกาะลันตา เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ พี่น้องประชาชนถือ น.ส. ๓ ถือ ส.ค. แต่เวลาไปขอออกโฉนดไม่ได้ครับ แต่นายทุนไปดูเลยวันนี้ ออกโฉนดสร้างโรงแรม สร้างที่พักได้สบาย ๆ ครับท่านประธาน เรื่องนี้คือความเหลื่อมล้ำที่อยากจะอภิปรายทิ้งไว้ว่า กรรมาธิการหรือกรรมาธิการวิสามัญที่จะจัดตั้งขึ้นมาครั้งนี้ผมคิดว่าอย่าผลักภาระไปให้ กรรมาธิการสามัญการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลยครับ งานเขาเยอะ อยู่แล้ว ถ้าได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะผมคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหาให้ พี่น้องประชาชนได้ นี่หลักคิดแบบ Win Win นะครับ รัฐบาลได้หน้า ฝ่ายค้านเสนอปัญหาเข้าไป พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์ แต่ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย เพิกเฉย หรือปล่อยให้เอกชน อาศัยช่องว่างเอาเปรียบชาวบ้านต่อ ผมรับไม่ได้ ผมคิดว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ คงจะได้ยินการอภิปรายของพวกเราครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเทียบจุฑา ขาวขำ เชิญครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามที่เพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะท่าน สส. ทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ แล้วก็ท่าน สส. หลายพรรค เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้นำเสนอ ได้อภิปรายไปก็คงจะเป็นปัญหาแล้วก็ประเด็นเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตการใช้ ป่าสงวน พูดถึงปัญหาอุปสรรค แนวทางต่าง ๆ ปัญหาที่สำคัญก็คือกระบวนการ ขั้นตอน การขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตป่าสงวน ตามมาตรา ๑๖ จากคู่มือของกรมป่าไม้
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ขั้นตอนการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ ที่อยู่อาศัยเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในเขตป่าสงวนนี้ดิฉันได้ศึกษากระบวนการ ขั้นตอน การขออนุญาตจากพื้นที่ จากจังหวัดเข้ามากรม จากกรมกลับไปหาพื้นที่ กลับไปกลับมาที่จะ พิจารณาถึงการอนุญาตให้ใช้ จากอธิบดีกรมป่าไม้ รับเรื่องแล้ว แล้วก็ตรวจสอบ อนุญาต ขั้นตอนสุดท้ายกว่าจะอนุญาต ดิฉันรวบรัดเลยนะคะ นับเวลาขั้นตอนการยื่นขอ การตรวจสอบ ตรวจสอบที่ทำการจังหวัด ตรวจสอบที่กรม ตรวจสอบที่คณะกรรมการจังหวัด แล้วก็ให้คณะกรรมการของกรมป่าไม้ประชุม รวมทั้งหมด ๒๖๒ วัน เกือบ ๑ ปี ดิฉันว่ามันนานไป จริง ๆ แล้วมันควรจะลดขั้นตอนให้ได้ ย่นระยะ ได้มากกว่านี้ ควรจะกระจายอำนาจไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีไหม ใช้ระบบ เข้ามาบริหารจัดการ เพราะเดี๋ยวนี้มันก็ทันสมัยแล้ว ทางเขตขอนแก่น ท่าน สส. วันนิวัติก็พูด เหมือนกัน ก็บ่นเหมือนกัน ทาง สส. เทอดชาติก็พูดเหมือนกันว่าการติดต่อประสานงานกับ กรมป่าไม้ โดยเฉพาะจะขออนุญาตใช้ที่เขตป่าสงวนล่าช้ามาก ดังนั้นดิฉันก็ขออนุญาตโยง เข้ามาที่จังหวัดอุดรธานีของดิฉันที่ดิฉันได้รับการร้องเรียนในพื้นที่พี่น้องอำเภอน้ำโสมและ อำเภอนายูง พี่น้องอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนที่พวกเขาอยู่มานมนานแล้ว เกือบเป็นร้อยปีก็ว่าได้ ตั้งแต่บรรพบุรุษ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ทำมาหากินอาศัยอยู่ในบริเวณ พื้นที่มานานแล้วก็ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ตามสไลด์นะคะ เขตอำเภอน้ำโสมและอำเภอ นายูงประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ท่านประธานคะ ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนของ อำเภอน้ำโสมและอำเภอนายูงเป็นเขตป่าไม้ถาวร เป็นป่าน้ำโสม-ป่านายูงตามมติ ครม. วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ตั้งเป็นเขตป่าสงวนป่านายูง-ป่าน้ำโสม ตามกฎกระทรวง ไม่รู้กฎหมายกี่ฉบับ ระเบียบกี่ฉบับ อันนี้ก็ฉบับที่ ๗๘๐ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็เป็นเขตป่าสงวน เป็นพื้นที่หวงห้าม ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนด แล้วก็อยู่ในเขตปฏิรูปตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดในเขตท้องที่ คือพื้นที่ในอำเภอนายูง ตำบลโนนทอง ตำบลบ้านก้อง ตำบลนายูง เขตอำเภอนายูงห้ามหมดเลย อำเภอน้ำโสม ๗ ตำบลก็ห้าม ดิฉันเลยต้องมาขอพูดกับ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง เดี๋ยวนี้เจริญหมดแล้ว มีเทศบาล มีหมู่บ้าน มีอำเภอ มีร้านค้า Mini Mart Mini Shop เต็มไปหมดแล้วค่ะ เจริญไปหมดแล้ว แต่ออกโฉนด ไม่ได้ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารดังกล่าวนี้เขาบอกว่าไม่ได้แจ้งการ ครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อมันมี ปัญหาอย่างนี้ดิฉันก็ไปค้นเอกสารมา ขอนำเสนอหรือข้อเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับ ป่าสงวน กรณีที่ดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้กันเขตออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมพัฒนาที่ดินก็กันเขตออกจาก เขตป่าไม้ถาวร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็กันเขตดังกล่าวนี้ออกจาก เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้กรมที่ดินดำเนินการตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับ ชาวบ้าน เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับ ประชาชนทุกปี โดยเฉพาะปี ๒๕๖๗ นี้ก็มีการประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ๖๘ จังหวัด จังหวัดอุดรธานีก็มีค่ะ แต่ขาดอำเภอน้ำโสมและอำเภอนายูง ไม่มีงบประมาณเข้าไปสำรวจ ไม่สามารถจะดำเนินการสำรวจเข้าโครงการนี้ได้ เนื่องจากอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรทั้งอำเภอค่ะ ท่านประธาน มันอยู่กันได้อย่างไรคะท่าน ดังนั้นดิฉันจึงขอให้ท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น ดิฉันก็ขอฝากด้วยว่าขอให้ ศึกษาถึงระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับป่าสงวนนี้ ช่วยแก้ไขด้วยเถอะค่ะ เพื่อดำเนินการ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้รับการถือครองสิทธิที่ดิน สามารถนำไปใช้ประโยชน์จาก ที่ดินอันนี้ได้ เป็นการสร้างโอกาสให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำทุนนั้นมาประกอบอาชีพ ดำรงชีพ เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติทุกญัตติที่นำเสนอในวันนี้ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดในพื้นที่เขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ ด้วยค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี เชิญครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่กรุณาให้ผมได้ร่วมอภิปรายในญัตติ เรื่อง ขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขต ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ที่ท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล และเพื่อนสมาชิกจากพรรค ก้าวไกลได้ร่วมกันเสนอญัตตินี้ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันอีก ๔ ญัตติ ท่านประธานครับ ปัญหา การเข้าไม่ถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของชาวบ้านด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้าง พื้นฐานของชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าประชาชนไม่มีสิทธิ ขอน้ำ ขอไฟฟ้า ขอถนนตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไปติดขัดที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แสดงว่าการที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ บังคับใช้กฎหมายของตัวเองกับประชาชนนั้นในบาง กรณีอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ท่านประธานครับ ผมเข้าใจดีถึงเจตนาดีของ ท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล ขออภัยที่เอ่ยนาม ไม่เสียหาย ว่าท่านมานพและเพื่อนสมาชิก จากพรรคก้าวไกลของผมมีเป้าหมายที่จะหาทางออกให้กับพี่น้องประชาชนที่ตั้งรกราก บ้านเรือน ทำมาหากินในพื้นที่ป่ามาก่อนที่พื้นที่ของตัวเองจะถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน แห่งชาติหรืออุทยาน พูดสั้น ๆ ว่าป่ามารุกคน ไม่ใช่คนไปรุกป่า เราจำเป็นต้องหาทางออก ให้ชาวบ้าน ให้พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการพัฒนาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหา หาทางออกได้จะทำให้เกิด การแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่อยู่กันมาก่อนป่า พร้อม ๆ กับขีดเส้นให้ชัดว่าปัจจุบัน ป่าที่สมบูรณ์อยู่ตรงไหนบ้าง ห้ามบุกรุกเพิ่มเติม ห้ามทำมาหากินเพิ่ม เรื่องนี้ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวครับท่านประธาน ผมขอยกตัวอย่างครับ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
หาดฟรีด้อมจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ หน่วยงานต่าง ๆ ได้ตรวจสอบพื้นที่หาดฟรีด้อม หมู่ที่ ๑ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ไปอนุญาตให้มี การทำร่มเตียงให้บริการนักท่องเที่ยว รวมไปถึงยังขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเข้าข่าย ผิดกฎหมาย วันนั้นได้ทำบันทึกกำหนดให้ผู้บุกรุกครอบครองที่เอาเก้าอี้ ร่มเตียงออกจากพื้นที่ แต่ต่อมา การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับหัวหน้ายังไม่มีการเอาเก้าอี้ออกแต่อย่างใด กลับยังขายอยู่ เหมือนเดิม จนมาถึง ๒-๓ วันที่แล้วผมได้ลงพื้นที่ดังกล่าวและร่วมประชุมกับท่านผู้ว่าราชการ จังหวัดภูเก็ต จนมาถึงวันนี้หาดฟรีด้อมได้กลับมาอยู่สภาพเดิม ไม่มีร่มเตียง ไม่มีการขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีการละเมิดผิดกฎหมาย ท่านประธานครับ กรณีนี้ถือเป็นกรณี ตัวอย่างของการขีดเส้นไม่ชัด พอไม่ชัดก็จะมีเจ้าหน้าที่บางคนใช้ช่องโหว่ในการดำเนินการ ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์กับนายทุนบางราย ยกตัวอย่างต่อไป ที่ชุมชน โรงเรียนบ้านฉลอง หมู่ที่ ๖ ตำบลฉลอง อำเภอเมือง พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดิน ภ.บ.ท. ๕ กับ ส.ป.ก. และที่บ้านตีนเขา หมู่ที่ ๓ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ทั้ง ๒ พื้นที่มีปัญหา เรื่องการขอใช้ไฟฟ้า เพราะต้องลากสายไฟฟ้าผ่านพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานาคเกิด หน่วยงานในพื้นที่ก็ไม่กล้าตัดสินใจอนุญาตให้ชาวบ้านเพราะกลัวผิดกฎหมาย และเส้นทาง ถนนหลวงปู่สุภา-ป่าตอง ที่เชื่อมตำบลฉลองไปตำบลป่าตองซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจ ทำให้ภูเก็ตทำเรื่องนี้ขออนุญาตตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าเพื่อเชื่อม ๒ ตำบล แต่อธิบดีกรมป่าไม้ยังไม่อนุมัติ อีกตัวอย่างหนึ่ง ผมขอยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียนจากพ่อแม่ พี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีถนนดินแดงเชื่อมระหว่างหมู่ที่ ๑ ตำบลยางค้อม อำเภอพิปูน และหมู่ที่ ๓ ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง เส้น ๔๑๙๔ ถูกตัดขาดระหว่าง ๒ หมู่บ้านที่อยู่กันคนละฝั่งเขา ชาวบ้านเรียกว่า ควนหมากลับ ถ้าไม่สุภาพขออภัยครับ แต่ชาวบ้านเรียกกันแบบนั้นจริง ๆ โดยความหมายก็คือ ขนาดสุนัขยังต้องหันหลังกลับ ถนน ๒ เส้นนี้เชื่อมต่อกันไม่ได้เพราะตัดผ่านพื้นที่ป่าไม้ ระยะเพียง ๗๐๐ เมตรเท่านั้น พอตัด ถนนเชื่อมกันไม่ได้ชาวบ้านทั้ง ๒ ฝั่งต้องขับรถอ้อมกันหลายสิบกิโลเมตร ทั้ง ๓ ตัวอย่างนี้ เป็นกรณีตัวอย่างปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขาเป็นคนไทย เหมือนกัน ทำมาหากินจ่ายภาษีเหมือนกันทำไมไม่มีสิทธิใช้ถนน ใช้ไฟฟ้าเหมือนคนอื่น ๆ ท่านประธานครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรามีหน้าที่ทำกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม วันนี้ผมขอสนับสนุนญัตตินี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง ประชาชน ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ท่านที่ ๒ ท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ท่าน ๓ ท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดศรีสะเกษครับ ปัญหาที่ผมจะขออนุญาตอภิปรายวันนี้ก็เป็นเรื่อง ของการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมป่าไม้ ที่มี อปท. ยื่นเรื่องเพื่อขอปรับปรุงหรือซ่อมถนน จากข้อมูลที่ทราบน่าจะประมาณ ๖๐,๐๐๐ กว่าราย แต่ก็ปรากฏว่าผ่านมาเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน หรือบางส่วนอาจจะถึงปี แต่ก็ปรากฏว่าทางกรมป่าไม้ก็ยังไม่ได้มีคำตอบกลับมาว่าจะอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ พอสอบถามไปก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมันมี ประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายอย่างนี้ คือตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๖ การจะเข้าใช้ประโยชน์หรืออาศัยอยู่ในป่าสงวนจะต้องขออนุมัติจากอธิบดี ซึ่งอธิบดีจะต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรี ส่วนมาตรา ๑๙ เป็นอำนาจของอธิบดีโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนั้นกฎหมายกำหนดให้อธิบดีจะต้องมีหน้าที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติ จึงไม่มีเหตุที่ท่านอธิบดีจะเก็บเรื่องดองไว้เป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือบางส่วนอาจจะถึงปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ที่ผมกล่าวว่าไม่ถูกต้องเป็นเช่นนี้ครับ แม้ว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จะไม่ได้มีการกำหนดว่าการพิจารณาอนุมัติ ของอธิบดีจะต้องดำเนินการในเวลาเท่าใด ๑๕ วันหรือ ๓๐ วัน แต่ถ้าหากดูจาก พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุม การดำเนินการทางปกครองของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ถ้าท่านดูในมาตรา ๓๙/๑ ท่านก็จะเห็นว่าการที่มีหน่วยงานของรัฐก็ดีหรือประชาชนก็ดี ขอให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมี อำนาจทำคำสั่งทางปกครอง แล้วผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองจะต้องออกคำสั่งตามที่ กฎหมายกำหนดเวลาไว้ หากกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาไว้ท่านก็จะต้องมีคำสั่งอนุมัติหรือ ไม่อนุมัติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายในระยะเวลา ๓๐ วัน อันนี้เป็นกำหนดเวลาที่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดบังคับไว้ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้อง ปฏิบัติตาม และอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดเช่นเดียวกันว่าท่านอธิบดีกรมป่าไม้จะต้อง ดำเนินการในเวลาเท่าใด ก็คือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการปฏิวัติ เป็นการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานของรัฐอย่างมี นัยสำคัญ กล่าวคือถ้าท่านประธานจำได้ แต่เดิมพวกเราเวลาที่ไปทำบัตรประชาชนบางครั้ง ต้องรอ ๓ อาทิตย์ ๔ อาทิตย์ หรือเป็นเดือน แต่หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เราก็จะพบว่าการดำเนินการอนุมัติต่าง ๆ ของ หน่วยงานราชการเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น การขอบัตรประชาชนก็สามารถทำได้ ในวันเดียว หรือจนปัจจุบันนี้ก็ทำเสร็จภายใน ๑๕ นาทีหรือ ๒๐ นาทีเท่านั้น หรือสมัยก่อน ที่พวกเราไปทำเรื่องของที่ดิน แต่เดิมใช้เวลามากกว่า ๑ วัน แต่ปัจจุบันนี้ก็สามารถทำได้ ในวันเดียว และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้ก็เป็นอีกหลักเกณฑ์หนึ่งซึ่งท่านอธิบดีกรมป่าไม้จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน ซึ่งในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ได้วางหลักการไว้ว่า ในการที่มี ผู้ขออนุญาตหรือมีคำขอใด ๆ ก็ตาม หน่วยงานของรัฐจะต้องมีวิธีการ ขั้นตอน ให้ชัดเจนว่า ถ้ามีหน่วยงานหรือบุคคลใดมาขออนุญาตจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และหน่วยงาน ของรัฐคือท่านอธิบดีจะต้องพิจารณาอนุมัติในเวลาเท่าใด ถ้าหากว่าในกรณีใดกฎหมายไม่ได้ ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าจะต้องดำเนินการในเวลาเท่าใด มีการกำหนดว่าท่านก็ต้องดำเนินการใน ๑๕ วัน ซึ่งก็เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการดำเนินการของท่านอธิบดีกรมป่าไม้ไว้ ดังนั้น ในการที่ท่านอธิบดีกรมป่าไม้ไม่พิจารณาเรื่องที่มีการขออนุมัติซ่อมแซมถนนในเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นถนนเดิมจึงเป็นการกระทำที่น่าจะขัดกับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙/๑ แล้วก็ขัดกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ซึ่งไม่น่าจะชอบ แล้วก็ มีอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถดูแลในเรื่องนี้ได้ก็คือคณะกรรมการ ก.พ.ร. หรือคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ ซึ่งปัจจุบันก็มีท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านปานปรีย์ มหิทธานุกร เป็นประธาน แล้วก็ท่านพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรองประธาน ขออภัยที่เอ่ยนามท่าน ไม่ใช่ เรื่องเสียหาย คณะกรรมการ ก.พ.ร. ก็มีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา ในการพิจารณาของกรมป่าไม้เช่นเดียวกันว่า กรมป่าไม้เมื่อมีการทำเรื่องขอให้มีการอนุมัติให้มีการซ่อมบำรุงถนนซึ่งเป็นถนนเดิม กรมป่าไม้ จะต้องพิจารณาอนุมัติด้วยหลักเกณฑ์หรือในระยะเวลาเท่าใด ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ ผมก็ขออนุญาตฝากท่านประธานไปยังท่านอธิบดีกรมป่าไม้ และคณะกรรมการ ก.พ.ร. ให้ได้โปรดพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพราะปัจจุบันนี้มีประชาชนและ อปท. จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ เชิญครับ
นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าเป็นปัญหาที่ทำให้จังหวัดตาก บ้านผมมีความเจริญที่ล่าช้า ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง ประชาชนทุกข์ทนลำบากมา หลายสิบปี เป็นอุปสรรคต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ใช่ว่าพวกเขา ไม่อยากทำ เขาอยากทำใจจะขาดครับ บาง อบต. ไม่ต้องรองบประมาณ เขามีเงินสะสม เกือบ ๒๐๐ ล้านบาทแต่ใช้ไม่ได้ จะใช้พัฒนาเรื่องได้ก็ต้องรอการอนุญาตจากกรมป่าไม้ หรืออธิบดี ซึ่งมันล่าช้ามากครับ ไปติดขัดที่ระเบียบขั้นตอนการขออนุญาต ไปกระจุกเป็น คอขวด รออาศัยอำนาจอธิบดีแต่เพียงผู้เดียว ไม่รู้กี่แสนเรื่องที่ไปกองรออยู่ เฉพาะแค่จังหวัดตาก ก็หมื่นกว่าเรื่องแล้วครับ จังหวัดตากมีพื้นที่ป่าไม้เกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีอุทยาน ๗ แห่ง เหมือนที่ท่านมานพได้กล่าวไว้ครับ กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้เขามีหมู่บ้าน มีบ้านเลขที่ ชัดเจน กระทรวงศึกษาธิการให้เขามีโรงเรียน มีศูนย์เด็กเล็ก กระทรวงสาธารณสุขให้เขามี อนามัย มี รพ.สต. แต่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่อนุญาต ให้เขามีถนนดี ๆ มีไฟฟ้าใช้ หรือจะอนุญาตแต่ละทีก็ใช้เวลาหลายปี คนที่รอมันท้อใจครับ ตั้งแต่ผมมาเป็นผู้แทนราษฎรผมมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ ผมอภิปรายไป ๒ ครั้ง หารือไป ๓ ครั้ง ยื่นหนังสือร้องทุกข์ ร้องเรียน ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อีก ๔ ครั้ง ขออนุญาตที่ประชุม กรรมาธิการเชิญกรรมาธิการลงไปพื้นที่เพื่อศึกษาเรื่องการขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ป่าอีก ๑ ครั้ง การประชุมครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น ๕ อำเภอชายแดน นายอำเภอ ทั้ง ๕ นายกทั้ง ๕ อำเภอมาหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง
นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ บ้านพี่น้องม้งที่เขา อพยพมาอยู่ในตำบลคีรีราษฎร์และตำบลรวมไทยพัฒนาตามที่รัฐบาลในขณะนั้นขอให้เขา อพยพจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วสัญญาว่าเมื่อครบ ๓๐ ปีจะออกเอกสารสิทธิให้ บางครอบครัว บางบ้านมีที่เป็น ๑๐๐ ไร่ เขาเสียสละยอมมาอยู่ตามที่รัฐขอ แต่ทุกวันนี้เขายัง ไม่มีเอกสารใด ๆ เลยครับ ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำบ้านดี ๆ เขาอยากทำดี ๆ เหมือนบ้านเรา แต่เขาไม่รู้เลยว่าเมื่อไรเขาจะถูกไล่ เขาไม่มีความเชื่อมั่นใด ๆ เลยที่เขาจะยอมใช้เงิน มาสร้างบ้านดี ๆ อยู่ นี่เป็นรูปที่ผมประชุมร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๔ แล้วก็ หาทางออกร่วมกัน แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แต่ก็มีการ Update มีการสร้าง LINE กลุ่ม แล้วก็ ให้มีการส่งหนังสือที่ยังขาดตก แต่ละหน่วยงานที่ยังขาดตกแล้วก็ส่งหากันให้เร็วขึ้น ดีกว่า ส่งเอกสารกันไปมา ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นบ้านเลตองคุมีการคลอดลูก ถนนบ้านเลตองคุ กว่าจะลงมาเจอถนนดำไม่รู้กี่สิบกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๓-๔ ชั่วโมง เฉพาะหน้าแล้งนะครับ ถ้าหน้าฝนก็เละเป็นโจ๊กครับ ถนนบ้านธงชัยผมพูดหลายรอบมาก ๆ ก็มีการรับปากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเร่งให้ เพราะว่ามันได้เป็นที่ทับซ้อนกับอะไรเลย ผมขอไปตั้งแต่ผมเป็น สส. ใหม่ ๆ จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ ทำเลยครับ หมู่บ้านปางส่างคำ ในภาพจะเห็นเสาไฟฟ้าต้นใหญ่ ๆ เป็นไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน หมู่บ้าน แต่หมู่บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ สะพานที่แม่กุ เดิมทีมีสะพานอยู่แล้ว แต่มันชำรุดพังลงไป อบต. ก็มีงบประมาณทำ แต่ขอไปขอหลายปีมากครับ ผมไปตามให้อีกเกือบปีก็ยังไม่ได้ทำ เลยครับ อบต. พบพระ เขื่อนป้องกันตลิ่ง เขาอยากจะทำเขื่อนป้องกันตลิ่งครับ เพราะว่า น้ำกัดเซาะ ได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่าให้ดูแล แต่พอจะปกป้องผืนแผ่นดินไทยของเรา กลับทำไม่ได้ ต้องไปขอทางกรมป่าไม้ ขอทางกรมเจ้าท่า ขอไปขอมาไม่ได้ทำ ตอนนี้หายไป ๒๐ กว่าไร่แล้วครับ ตรงกันข้ามกันครับ แม่น้ำเมย ตรงกันข้ามเป็นฝั่งพม่า เขาเสียหายไป นิดเดียว เขาก่อสร้างปูนซีเมนต์อย่างดีเลยครับ เทศบาลพบพระจะขอสร้าง Sky Walk ผ่านน้ำตกนางครวญเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อชุมชน ก็ต้องติดการขออนุญาต แล้วแบบนี้พี่น้องจังหวัดตากบ้านผมเมื่อไรจะพบกับความเจริญสักที ผมเข้าใจพี่น้อง ประชาชน แล้วก็เข้าใจหน่วยงานราชการว่ามันติดขัดที่ระเบียบ
นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ถ้าพวกเราในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรทำเรื่องที่ กำลังอภิปรายนี้สำเร็จ แก้ไขมาตรการ แก้ไขระเบียบที่มันล้าหลัง ไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์ ปัจจุบัน ความเจริญทั้งหลาย ไม่ว่าจะถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา รวมไปถึงสัญญาณ โทรศัพท์ที่บางหมู่บ้านยังไม่มีเลย พี่น้องประชาชนคนไทยที่พบเจอกับปัญหานี้โดยเฉพาะ ๕ อำเภอชายแดน อำเภอแม่สอด อำเภอพระพบ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง คงจะมีความสุขเป็นอย่างยิ่งเลยครับที่จะได้เข้าถึงความเจริญเหมือนคนอื่นอย่างทั่วถึงและ เท่าเทียม ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญครับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมขออนุญาตท่านประธานเพื่อสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านประธานครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนมานาน แล้วก็ไม่ใช่แต่เรื่องของเขตป่าอย่างเดียว มันจะ ส่งผลในเรื่องของถนน ไฟฟ้า ประปา ความลำบากของพี่น้องประชาชน ผมจะขออนุญาต พูดในภาพรวม แล้วก็จะยกตัวอย่างเป็นเคสจริงในจังหวัดพื้นที่ของผมคือจังหวัดกระบี่ ท่านประธานครับ ผมเคยไปตรวจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือ บ้านท่านประธาน จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่บนดอยต่าง ๆ ปรากฏว่า อบต. บาง อบต. มีเงิน สะสมเหลือ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาท ผมถามว่าทำไมมีเงินสะสมมากมายเหลือเกิน เขาบอกว่า นโยบายในส่วนของสภาอนุมัติทำถนนแต่ปรากฏว่าทำไม่ได้ติดเขตป่า แล้วก็ขออนุญาตอะไร ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ ในที่สุดงบประมาณก็ตกเป็นเงินสะสมไปเรื่อย ๆ ท่านประธานครับ ท่าเรือในส่วน ของภาคใต้ ท่าเทียบเรือซึ่งมันมีอยู่แล้ว แล้วท่าเรือชำรุดครับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งงบประมาณไปซ่อมใหม่อย่างนี้ต้องขออนุญาตนะครับ ถ้าในส่วนของป่าชายเลนอะไร ต่าง ๆ นั้นถ้าไม่อนุญาตทำไม่ได้นะครับ มีความผิดด้วย แล้ว สตง. ก็เล่นงานด้วย สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าควรที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในการประชุม ชุดที่ ๒๕ ของสภาผู้แทนราษฎร ผมเคยเสนอหลายครั้ง ทั้งหารือด้วย ตั้งญัตติ ตั้งกระทู้ให้ตอบในราชกิจจานุเบกษาก็ไม่เป็นผล ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าในพื้นที่จังหวัดกระบี่นั้น เกาะฮั่ง ๑๐๐ ปี ไม่มีไฟฟ้าใช้ สมัยที่ผ่านมานั้นรัฐบาลมี ครม. สัญจรที่จังหวัดกระบี่ ผมก็เอาเรื่องนี้มาบอกสื่อมวลชน บอกว่า เกาะฮั่งในพื้นที่อำเภอเหนือคลอง ๑๐๐ ปีไม่มีไฟฟ้าใช้ หมายความว่า อบต. ไม่ใช่ไม่มีงบ เขามีงบ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็จะลงไปปักเสาพาดสายให้ แต่ปรากฏว่าติดเขตป่า เมื่อติดเขตป่าก็ทำไม่ได้ แล้วก็ต้องใช้ในส่วนของไฟโซลาเซลล์ ไฟฟ้าไม่ได้ ถนนก็ไม่ได้
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ถนนสายหลักก็คือถนน บ้านศาลาด่าน-บ้านสังกาอู้ เป็นถนนรอบเกาะ ทหารช่างเคยไปทำให้ อยู่ในเขตพื้นที่ผมครับ มีระยะทางที่ติดเขตป่า แต่เป็นถนนอยู่แล้วสัก ๒ กิโลเมตรกว่า ๆ เกือบ ๓ กิโลเมตร ประชาชนก็ใช้ได้ แต่ว่าของป่าไม้เขตอุทยานเขาก็มีรั้วกันไม่ให้ผ่าน นักท่องเที่ยวเวลาจะขับรถ ไปเที่ยวบริเวณเกาะลันตา ไปถึงจุดแนวเขตป่าต้องย้อนกลับทางเดิม ๒๒ กิโลเมตร แต่ถ้าเกิดว่า ตรงนี้อุทยานประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตัดถนนเพียง ๒ กิโลเมตรกว่า นักท่องเที่ยว พี่น้องประชาชนผ่านไปมาสะดวกก็ย่นระยะทางหลายกิโลเมตรด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเคสข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นทั้ง ๘ อำเภอในจังหวัดกระบี่มีเหตุการณ์อย่างนี้ หมดเลย ผมเลยถามรวบรวมว่าเคสทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดมีสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยดูแล สันนิบาตเทศบาลก็มี สมาคมสันนิบาตเทศบาลดูแล อบต. ก็มีสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลดูแล ๓ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นอันนี้มารวบรวมประเด็นปัญหาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ๗,๘๕๓ แห่ง มีเคสกรณีที่ติดเขตป่าซึ่งอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประมาณกี่เรื่อง ปรากฏว่ารวบรวมได้ที่ติดเรื่องอย่างนี้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าเรื่อง ท่านประธานลองคิดดูว่าในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเคสอย่างนี้ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าเรื่อง พี่น้องประชาชนจะเดือดร้อนกี่ล้านคน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กต่อไปแล้ว ผมเป็นห่วงว่า ในส่วนของสภาแห่งนี้ไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยตรง โดยเฉพาะ ก็ไปฝากให้ กรรมาธิการสามัญ อาจจะเป็นคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ ซึ่งผมทราบว่าท่านประธานของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเขามีเรื่องการร้องเรียนต่าง ๆ มีหลายร้อยเรื่อง ผมเกรงว่าการจัดทำเรื่องอย่างนี้ มันอาจจะมีความล่าช้า ควรที่จะทำอย่างไรก็ตาม ไม่ว่านโยบายของรัฐบาล กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรนำเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน แล้วก็ทุกคนไปเจอปัญหา ในเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถอยหลังทันที เนื่องจากเป็นเรื่อง ยากแล้ว เป็นเรื่องยากที่คุยกันแบบชนิดไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะฉะนั้นในขณะที่กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีอยู่หลายกรมดูแลในเรื่องของป่า ดูแลในเรื่องของ อุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติวันนี้มีตั้ง ๑๕๐ กว่าอุทยาน อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ ทำเงินรายได้มีประมาณ ๒๘ แห่ง แต่ในพื้นที่เหล่านี้ที่เพื่อนสมาชิกพูดกันนี้มันเป็นเขต แนวถนนไปแล้ว มันเป็นเขตที่ประชาชนใช้กันมาชั่วลูกชั่วหลานแล้ว แต่เวลาท้องถิ่นเขามีเงิน เขาจะเอางบประมาณไปทำกลับทำไม่ได้ ท่านประธานลองคิดดูสิครับว่ามันเจ็บแค้นขนาดไหน เจ็บแค้นในเรื่องของถนนยังพอไหว ขับรถยนต์ผ่านได้ แต่เรื่องไฟฟ้า ถ้าเสาไฟฟ้าไม่ไป สายไฟฟ้าไม่มีมันจะสว่างไสวได้อย่างไร น้ำประปาวางท่อไม่ได้มันจะขนน้ำไปทางท่อ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ๒ เรื่องที่ลำบากก็คือประปากับไฟฟ้า ถนนก็ลำบาก เนื่องจากว่า มันมีฝุ่นแล้วเวลาหน้าฝนมันก็เป็นหลุมเป็นบ่อ เกาะปออีกแห่งหนึ่ง เกาะปอที่เกาะลันตา ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็น ๑๐๐ ปีมาเช่นกัน ท่าเทียบเรือก็ไม่ดี ท่าเทียบเรือมีทั้งหมด ๖๘ แห่ง ในฝั่งทะเลอันดามันนั้น ไปดูเถอะครับว่าติดอยู่ในเขตป่าชายเลนหลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะท่าประมงของพี่น้องเป็นท่าประมงชายฝั่ง เป็นท่าประมงพื้นบ้าน พี่น้องประชาชน ประมงชายฝั่งเขาหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว แต่ท่าเทียบเรือที่ขึ้นลงเรืออย่างนี้มันมีความยากลำบาก เพราะเนื่องจากติดขัดในประเด็นข้อกฎหมาย ติดขัดในระเบียบข้อบังคับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ ผมกราบเรียนท่านประธานว่าทางออกของรัฐบาล กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านนายกรัฐมนตรีก็คงจะต้องมอบให้รองนายกรัฐมนตรี หรือว่าท่านจะไปกำกับสั่งการว่าเรื่องอย่างนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการหรือว่าให้มันเบ็ดเสร็จ ภายในจังหวัด ในขณะที่มันมีชั้นในเรื่องของการสั่งการว่าถ้าในกรณีมีถนนอยู่แล้ว ประชาชน ใช้มาก่อนแล้วจะทำอย่างไรให้มันรวดเร็ว ให้มันง่ายขึ้น เว้นแต่ในเรื่องของการที่จะไปบุกรุก เปิดป่ากันใหม่ แต่ผมเห็นว่าถ้าในกรณีไปเช่าป่าเป็นพันเป็นหมื่นไร่ก็ยังทำได้ง่าย ง่ายกว่า ในกรณีที่มีถนนสั้น ๆ อยู่แล้ว แล้วก็ไปลาดยางทำให้มันดีขึ้น อีกทางออกเรื่องหนึ่งก็คือ ก็ให้อุทยานหรือป่าไม้ทำเสียเอง แล้วก็ให้งบประมาณขององค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นโอนงบให้ ป่าไม้ทำ แต่โดยความเป็นจริงแล้วป่าไม้เขาก็ไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่เขาเอาเงินเอางบไปให้ป่าไม้ทำ เนื่องจากว่าถ้าเขาทำเองในที่ดินเขามันจะไม่ผิด แต่เขาก็ไม่ทำ อย่างนี้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ ราชการเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร ก็ฝากเป็นข้อคิดแล้วก็ข้อนำเสนอ ในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เป็นแสนเคสคดีที่รออยู่ ประชาชนหลายล้านคน ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ เชิญครับ
นางสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๕ อำเภอบ้านฉาง อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปราย สนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก คุณสาธิต ทวีผล ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจากนิคมสร้างตนเอง หรือพื้นที่จากหน่วยราชการอื่นในเขตปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยเหตุที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากทั้งหน่วยงานและชาวบ้านในประเด็นที่เกี่ยวข้องค่ะ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เคยได้รับอนุญาต ให้ใช้พื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเพื่อสร้างสนามกีฬาและสวนสุขภาพ จำนวน ๕ ไร่ ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕ ซึ่งมีเงื่อนไขของการอนุญาตว่าต้องใช้พื้นที่ภายใน ๑ ปี และจะต้องไปเจรจากับ ผู้ใช้ประโยชน์อยู่เดิมให้ออกจากพื้นที่เองด้วย แต่ในที่สุด อบต. ก็ไม่สามารถเข้าไปปรับปรุง พื้นที่ได้ทันอายุของการอนุญาต เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนแน่นหนาขึ้น มีความต้องการสนามกีฬา และสวนสาธารณะ อบต. พนานิคมจึงมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ทั้งหมด ๓ ครั้ง ฉบับแรก ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถึงผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง ทางผู้ปกครองก็ส่งเรื่องไปที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการให้พิจารณา ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ส่งถึงกรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการ อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ ฉบับไม่เคยมีการตอบกลับจากกรมแต่อย่างใดเลยค่ะ ประชาชนก็ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไรจะมีพื้นที่ที่จะช่วยส่งเสริมด้านกีฬา พื้นที่ที่จะช่วยลดปัญหา ความเครียดของชุมชนเมือง พื้นที่ที่จะช่วยให้เยาวชนได้มีกิจกรรมที่จะหลีกเลี่ยงจากยาเสพติด ดิฉันแค่สงสัยว่าทำไมจึงไม่มีการตอบกลับว่าจะได้หรือว่าไม่มี หรือว่าอย่างไร นอกจากนี้ดิฉัน ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น ๕๒ ราย เกี่ยวกับการยื่นขอเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับนิคมสร้างตนเอง ๓๖ รายเป็นผู้ถือครองหนังสือ น.ค. ๑ ที่ถือครองเกิน ๕ ปี แต่ไม่สามารถออกหนังสือ น.ค. ๓ ได้ และอีก ๑๖ รายคือผู้ที่ถือครองหนังสืออนุญาต น.ค. ๓ ที่ไม่สามารถขอออกโฉนดได้ ดิฉันขอยกตัวอย่างชัด ๆ ของผู้ร้องท่านหนึ่ง นางถิ่น ดุษฎีพักตร์ อายุ ๘๗ ปี คุณยายถือครอง น.ค. ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ มีเอกสารรังวัดเพื่อ ขอออกโฉนด ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ หลังจากถือครอง น.ค. ๓ มา ๑๙ ปี และ ในปี ๒๕๖๖ ผ่านมาอีก ๖ ปีหลังจากรังวัด หลานของคุณยายมาร้องเรียนทีมงานพรรคก้าวไกล ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม โดยที่ไม่ทราบว่าทำไมทางกรมที่ดินจึงไม่ออกโฉนดให้คุณยายสักที ทีมงานได้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสาขาอำเภอบ้านค่าย ก็พบข้อเท็จจริงว่าที่ดินของ คุณยายทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ แต่สำนักงานที่ดินก็เคยส่งเรื่องนี้กลับไปที่นิคม สร้างตนเองแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เอกสารส่งไปที่กรมแล้วค่ะท่านประธาน แต่จนถึงวันที่คุณยายมาร้องเรียนผ่านมาเกือบ ๕ ปี ดิฉันได้พูดคุยกับผู้ปกครองแล้วก็ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หารือถึงปัญหาและอุปสรรคจากการทำงานของหน่วยงาน ท่านประธานคะ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหน้าที่หลักเราทราบกันอยู่ทั่วไปว่าคือดูแลประชาชน กลุ่มเปราะบาง แต่ขณะเดียวกันสำนักงานนิคมสร้างตนเอง หน่วยงานของกรมก็เปราะบาง ไม่แพ้กันค่ะ เหตุที่งานที่เกี่ยวกับที่ดินของนิคมสร้างตนเองนั้นข้อมูลเก่าเก็บตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เอกสารเก่ากรอบใกล้ฉีกขาด แถมซ้ำช่างรังวัดของสำนักงานไม่มี ต้องใช้ช่างรังวัดของกรม เท่านั้น และจะต้องมีการวางแผนข้ามปี เพราะว่าช่างรังวัดจากส่วนกลางของกรมจะลงมา รังวัดให้จังหวัดแค่ปีละครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน เครื่องมือวัดก็เป็นระบบลากสาย ไม่ทันสมัย ระบบ ฐานข้อมูลที่รวบรวมก็เจ้าหน้าที่ก็ทำกันเอง และไม่ทันการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ปัญหาการ ขอใช้สถานที่ราชการเพื่อการสาธารณประโยชน์เป็นแค่เพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้นของที่ดิน ปัญหาที่ดินทั้งประเทศ บ่งบอกถึงการทำงาน การตัดสินใจที่ล่าช้า ตามวิถีชีวิตของประชาชน ไม่ทัน ชุมชนขยายตัวต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่ม จำเป็นต้องจัดแบ่งเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของ ลูกหลาน จำเป็นต้องจัดแบ่งให้เพื่อนร่วมอาชีพ หรือแบ่งให้เพื่อนต่างถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ท้องที่ แต่มีความผิดเพราะว่าหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้านได้ทันกับการขยายตัวของชุมชน อีกทั้งกฎเกณฑ์ ของการจัดหาที่อยู่ให้กับผู้ยากไร้ของกรมเงื่อนไขก็ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เงื่อนไขที่บอกว่าต้องมีรายได้ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี ท่านคะ รายได้วันละ ๘๓ บาท ไม่สอดคล้องเลยค่ะ
นางสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ระยอง ต้นฉบับ
อีก ๑ ตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานของรัฐที่ล่าช้าแล้วก็สับสนต่อประชาชน อย่างมาก คือกรณีที่ดินในเขตสงวนหวงห้ามตำบลห้วยโป่งและตำบลสำนักท้อน จังหวัด ระยอง ที่ประกาศทับชุมชนเดิมจนชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องให้แก้ไข เรียกร้องตั้งแต่อดีต จนมีมติ ครม. ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๔ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันเขตป่า ส่วนที่ นอกเหนือเขตป่าก็จัดสรรให้ชาวบ้าน ผ่านมา ๕๐ กว่ากว่าปีปัญหาก็ยังอยู่ ชาวบ้านก็ยัง เรียกร้องอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชุดที่แล้ว ชาวบ้านร้องมายังทั้งกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรแล้วก็กรรมาธิการของทางวุฒิสภา ปัญหาก็ยังอยู่ค่ะ ยังไม่เห็น แนวทางแก้ไขจากรัฐเลย ชาวบ้านเป็นทุกข์อย่างมาก บางคนโทรหาดิฉันบอกว่าไม่ไหวแล้ว ขอย้ายที่อยู่เพราะว่าเศร้าใจเหลือเกิน อยู่มาทั้งชีวิตแต่ไม่สามารถจะยกที่ดินที่ตัวเองบุกเบิก ให้กับลูกหลานได้ ดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๔ ท่าน ถึงแม้ว่าจะเป็นญัตติ ที่ชื่อแตกต่างกัน แต่เป้าหมายโดยรวมก็ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าและนิคมสร้างตนเอง เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาระเบียบต่าง ๆ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำกินของ ประชาชนในเขตป่าและนิคมสร้างตนเองต่อไป ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล เชิญครับ
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยความเคารพ ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย อำเภอนาบอน อำเภอ ช้างกลาง อำเภอฉวาง และอำเภอพิปูนค่ะ ด้วยญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดพื้นที่ ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติของอธิบดี ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้น ดิฉันมีความเห็นด้วยและสนับสนุนญัตติดังกล่าวของ เพื่อนสมาชิกทั้ง ๔ ท่านที่ได้นำเสนอญัตตินี้เข้าสู่สภา แล้วก็รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัญหาเรื่องสิทธิทำกินแล้วก็การสร้างประโยชน์การพัฒนาในที่ดินที่ติดเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติจะเป็นปัญหาให้กับการพัฒนาอย่างกว้างขวางทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ดิฉันขอนำเรียนท่านประธานสภาเพื่อที่จะยกตัวอย่างในเขตพื้นที่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หลาย ๆ อำเภอทั้งหมดทั้ง ๒๓ อำเภอล้วนแล้วแต่มีปัญหาเดียวกัน แต่ในนามที่ดิฉันอยู่ใน การดูแลเขต ๘ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ยกตัวอย่าง เนื่องจากพื้นที่ที่ดิฉันได้นำเรียน ท่านประธานมาในสภาแห่งนี้อย่างน้อย ๒ ครั้งมาแล้ว นั่นก็คือเรื่องของการจัดการขยาย ความเจริญในเรื่องของการพัฒนาเส้นทางสู่การพัฒนาระหว่างอำเภอพิปูนไปสู่อำเภอนบพิตำ ซึ่งเป็นถนนสาย ๔๑๘๙ สาย ๔๑๘๙ นี้เป็นการเริ่มต้นระหว่าง ๒ ฝั่ง เขาเรียกว่าเกลอเขา เกลอเล นั่นก็คือเปิดพื้นที่ระหว่างอำเภอพิปูนกับอำเภอนบพิตำ ซึ่งในเขตอำเภอพิปูนหลาย อำเภอจะใช้ประโยชน์ในการเดินทาง ลัดเส้นทางไปสู่ทางทะเล ทางริมฝั่งทะเลในฝั่งอำเภอ ขนอม-สิชล ซึ่งมีความสำคัญในเรื่องของการเดินทางไปสู่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ แล้วอีกไม่นานก็จะมีการเปิดเส้นทางก้าวไปสู่การสร้างสะพานจากสมุยมาสู่ ขนอมด้วย อันนั้นก็คือเป็นโอกาสที่จะทำให้ ๒ ฝั่งเขาแล้วก็ทางทะเลได้เชื่อมทางกัน ซึ่งขณะนี้ติดปัญหาอยู่ที่การขออนุญาตใช้ในการซ่อมสร้าง ไม่ได้เป็นเปิดการสร้างใหม่ดังที่ ท่านสมาชิก ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านสฤษฏ์พงษ์ได้กล่าวนำเรียนไปเบื้องต้นก็เป็นปัญหา เดียวกัน นั่นก็คือเป็นการไม่ได้เปิดพื้นที่ใหม่ แต่เป็นการซ่อมสร้างถนนเส้นนี้เป็นระยะที่เป็น ช่วงของอุทยานแค่ ๑๕ กิโลเมตรเองค่ะ อันนี้ก็คือเกิดปัญหารายละเอียดดังที่ได้นำเรียน หารือในสภาแห่งนี้มาอย่างน้อย ๒ ครั้งแล้วค่ะท่านประธาน
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ การขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ใจกลางชุมชนที่ล้อมรอบ ด้วยความเป็นชุมชนเมือง ไม่มีสภาพความเป็นป่าเหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในการ ขอพื้นที่สร้างโรงเรียน ในขณะนี้ในที่ดินป่าสงวนควนพลองซึ่งอยู่ใจกลางเมืองของ อำเภอช้างกลาง ซึ่งติดเขตกันกับอำเภอฉวางยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกมากมายก็ยังไม่ได้ ดำเนินการที่จะคืนสิทธิ ให้อำนาจสิทธิของพี่น้องประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ดิฉันขอนำเรียนท่านประธานว่าในการขอใช้พื้นที่ในป่าสงวนดังกล่าวเพื่อที่จะใช้เป็นที่สร้าง ของโรงเรียนวัดจันดี ซึ่งหลายปีก่อนเกือบ ๑๐ ปีมีน้ำท่วมอย่างรุนแรง โรงเรียนวัดจันดีเป็น โรงเรียนมัธยม แล้วก็มีนักเรียนเกือบ ๒๐๐ คน ใช้ที่ดินของวัดจันดีเป็นที่อาศัยอยู่ ตอนนี้ได้ ขออนุญาตที่ป่าสงวนควนพลองเพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่ของโรงเรียน ซึ่งอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ในเทศบาลตำบลหลักช้างได้ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เช่นกัน ซึ่งในพื้นที่ตำบลหลักช้างมีพื้นที่น้อยมาก ไม่พอที่จะมีการจอด แล้วก็ความสะดวกในการตั้ง สำนักงานของเทศบาลหลักช้าง จึงขออนุญาตมาใช้พื้นที่นี้ก็ทำอย่างยากเย็นมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ดิฉันจึงเห็นความจำเป็น จากการที่มีประสบการณ์ใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ดิฉันเป็นสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่แห่งนี้ในการสร้างโรงพยาบาลประจำ อำเภอชื่อว่าโรงพยาบาลพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ และหลังจากนั้นก็ได้ผลักดันในการจัดตั้งขอใช้พื้นที่สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ของจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ในขณะนั้นยุ่งยากมากในเรื่องของเวลาในการ ประสานงาน แต่ก็ไม่มีความย่อท้อของผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ของทุกภาคส่วนที่ทำให้สำเร็จ เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นมา ณ บัดนี้ดิฉันได้มาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน่าจะมี โอกาสที่จะนำมาเสนอในสภาแห่งนี้เพื่อที่จะได้มีการเชื่อมโยง จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาขอ เริ่มต้นอนุมัติใหม่ ต้องกราบขอบพระคุณได้คำแนะนำจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ไม่เอ่ยนามท่านไม่ได้ ถือว่าท่านเป็นคนเปิดเส้นทางให้ในการประสานงาน ไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ นั่นคือท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ขณะนี้ได้ดำเนินการประสานงาน ในส่วนหนึ่งขอใช้ที่ดินแห่งนี้เพื่อตั้งโรงเรียนวัดจันดี แล้วก็การจัดตั้งสำนักงานของเทศบาล ตำบลหลักช้าง และส่วนหนึ่งดิฉันได้เห็นความยากลำบากของการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะฤดูกาลที่ผ่านมาที่กำลังจะเข้าฤดูกาลใหม่ นั่นคือชาวสวนมังคุด ซึ่งนำมังคุดไปเททิ้งในอำเภอเมือง ที่ผ่านมาน่าสลดใจนะคะ ดิฉันจึงได้แนวคิดนี้จากพี่น้อง ประชาชน จึงขอใช้ที่ดินแห่งนี้ด้วยในการที่จะจัดตั้งจุดศูนย์รวมของผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียนซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์แล้วก็เป็นรายได้ อย่างมหาศาลของพี่น้องเกษตรกรในละแวกนั้นทั้ง ๗-๘ อำเภอ ขณะนี้การดำเนินการขอใช้ พื้นที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ จึงขอกราบเรียนท่านประธาน ขอเวลาอีกนิดหนึ่งค่ะ ท่านประธาน เรื่องนี้สำคัญจริง ๆ ขณะนี้ยังจะต้องไปใช้ผ่านการพิจารณาจากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นก็คือเทศบาลหลักช้างเห็นชอบ ดังนั้นถ้าเป็นแบบนี้ในการเสนอญัตติของ เพื่อนสมาชิกเพื่อที่จะลัดขั้นตอน ลดขั้นตอนที่จะวิ่งกลับไปกลับมาในเรื่องของการประสานงาน แล้วก็เรื่องของเอกสาร ก็เห็นควรที่จะกระจายอำนาจตรงนี้ลงมาเพื่อที่จะให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นหรือส่วนใดของจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องลดขั้นตอนตรงนี้นะคะ
นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉันขอนำเรียนอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในเรื่องของพี่น้อง ประชาชนในส่วนที่ดินควนพลอง ส่วนที่เหลืออีกมากมายเกือบ ๒,๐๐๐ ไร่ที่พี่น้องประชาชน ได้อาศัยอยู่เป็นเกาะกลาง ไม่ใช่เป็นที่ป่าไม้แล้ว ก็เห็นควรที่จะมาพิจารณาอนุมัติให้กับ พี่น้องประชาชนที่ครอบครองที่ดินอยู่นั้นตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดได้มีสิทธิทำกินในที่ดินผืนนั้น ขณะเดียวกันดิฉันได้นำเรียนหารือในสภาแห่งนี้ในตำบลละอาย อำเภอฉวาง ตำบลสวนขัน อำเภอช้างกลาง ที่ได้ขอใช้เอกสารสิทธิในที่ดินแห่งนั้นมาตั้งแต่เกือบ ๑๐๐ ปีที่มี การประกาศของทางภาครัฐให้กรมธนารักษ์ประกาศให้เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งดิฉันก็ยังไม่ได้ มีการตอบรับจากการหารือตั้งแต่ ๒-๓ ครั้งมาแล้ว นี่คือเป็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรและ พี่น้องของประเทศไทยทั้งหมด ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติดังกล่าวของเพื่อนสมาชิก ทั้ง ๔ ท่าน เพื่อยังประโยชน์จากการพัฒนาในพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้เป็นป่าแล้ว เป็นการคืน ความสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริงค่ะ ขอกราบขอบคุณท่านประธาน ด้วยความเคารพค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปรัชญาวรรณ ไชยสืบ เชิญครับ
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๒ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวน แห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ของท่าน สส. มานพ คีรีภูวดล เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องใช้คำว่า หนักหนาสาหัสของพี่น้องประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึง เขตพื้นที่ของดิฉันโดยเฉพาะอำเภอแก่งหางแมว แก่งหางแมวเป็นพื้นที่ตามประกาศเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๑๐ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตำบล แก่งหางแมวที่ขึ้นอยู่กับอำเภอท่าใหม่ ปัจจุบันตำบลแก่งหางแมวได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เรียบร้อยแล้ว มีประชากรประมาณ ๔๒,๐๐๐ คน ประกอบไปด้วย ๕ ตำบล คือ ตำบล ขุนซ่อง ตำบลพวา ตำบลแก่งหางแมว ตำบลสามพี่น้อง และตำบลเขาวงกต และจาก ๔ ใน ๕ ตำบลที่กล่าวมานี้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติค่ะ มีเพียงแค่ตำบลเขาวงกตเพียงตำบลเดียวเท่านั้นที่ต้องใช้คำว่า โชคดี อยู่รอดนอกเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดถึงป่า คนเมืองมักจะนึกภาพป่าที่มีต้นไม้ หนาแน่น สวยงามเขียวขจีใช่ไหมคะ แต่สภาพความจริงแก่งหางแมวไม่ได้ใกล้เคียงกับป่า ในจินตนาการของใครหลาย ๆ คนเลยค่ะ ท่านประธานจะเห็นในสไลด์ ลองดูว่าภาพที่ ทุกท่านเห็นอยู่นี้เหมือนป่าอย่างที่เพื่อนสมาชิกหรือท่านประธานคิดไว้ไหมคะ
นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ
ในภาพนี้เป็นตัวอำเภอ แก่งหางแมว มีร้านค้า มีร้านสะดวกซื้อ มีโรงพยาบาลเหมือนชุมชนเมืองอื่น ๆ ทั่วไป แต่ที่ต่างกันก็คือทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วที่ท่านเห็นในภาพนี้เป็นเขตป่าสงวนค่ะ ดิฉันก็ได้แต่ สงสัยว่าแบบนี้คือป่าหรือคะ นี่สมควรปฏิรูปและทบทวนการประกาศเขตป่าเพื่อให้สอดคล้อง กับปัจจุบันหรือไม่ ในอดีตท่านนายกวันชัย แสงสุวรรณ นายก อบต. แก่งหางแมว ผู้ที่ต่อสู้ เรื่องที่ดินให้กับพี่น้องแก่งหางแมวมาอย่างยาวนานเคยรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของ ชุมชนก่อนการประกาศเขตป่าสงวน และมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าแก่งหางแมวเป็นชุมชน เก่าแก่ที่อยู่อาศัยกันมานานหลายร้อยปี โดยมีหลักฐานสำคัญ เช่น วัดแก่ง ซึ่งสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ หรือแม้แต่โรงเรียนแก่งหางแมวที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยท่านขุน ภูมิประศาสน์ นายอำเภอท่าใหม่ ณ ขณะนั้น แน่นอนถ้ามีวัด มีโรงเรียนแสดงว่าต้องมีชุมชน จริงไหมคะ แต่หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พื้นที่แก่งหางแมวกลับถูกประกาศเป็น เขตป่าสงวนซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและเรื่องอื่น ๆ ของพี่น้องประชาชนมากมาย การขออนุมัติ อนุญาต ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ พี่น้องประชาชนเหลือเกิน แม้แต่เรื่องพื้นฐานมาก ๆ อย่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า เรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนที่ทุกเมืองต้องมีจะต้องล่าช้า ออกไปหน่วยงานท้องถิ่นอยากทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน อยากจะเปลี่ยนถนนลูกรังให้เป็นถนนคอนกรีตก็ยังทำไม่ได้ อยากจะขุดสระเพื่อเป็นแหล่งกัก เก็บน้ำไว้ใช้ในตำบลแก้ปัญหาภัยแล้งหรือทำระบบบริการน้ำประปาก็ยังทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ หน้าที่ของท้องถิ่นนี้เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกส่งคำขออนุญาตใช้พื้นที่ ป่าไปที่กรมป่าไม้ที่กว่าจะได้รับอนุญาตต้องผ่านกระบวนการขอใช้พื้นที่ที่ซับซ้อน เอกสาร ประกอบจำนวนมาก ใช้เวลานาน และต้องผ่านหน่วยงานหลายแห่งหลายตลบ จนบางครั้ง งบประมาณก็ตกไปแล้วค่ะ และความยุ่งยากเช่นนี้ก็ยังเอื้อให้เกิดระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ กับหน่วยงานราชการ เกิดการคอร์รัปชันติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อที่จะให้เกิดความรวดเร็ว ในการอนุมัติ บางครั้งถ้ารอนาน ๆ นายกท้องถิ่นหมดสมัยไปก็มี ขอยกตัวอย่างนะคะ ท่านประธาน การตั้งโครงการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับน้ำจะต้องผ่านระบบ Thai Water Plan ซึ่งในระบบนี้จะขอหลักฐานเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ด้วย และถ้าไม่มีโครงการนั้นก็จะถูก ปัดตกออกจากระบบทันที นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ท้องถิ่นและประชาชนขาดโอกาสที่จะมีโครงการ ในพื้นที่ ขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนยุ่งยากแบบนี้พรากเวลา พรากโอกาส พรากคุณภาพชีวิต ขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนชาวแก่งหางแมวไปไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีค่ะท่านประธาน นี่คือสภาพ ถนนจากหลาย ๆ เส้นทาง ภาพเมื่อสักครู่ที่เป็นภาพในตัวอำเภอเมืองเป็นแค่ส่วนน้อย ในอำเภอแก่งหางแมวค่ะ ถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่อไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนความไม่เจริญ เท่านั้น แต่มันหมายถึงชีวิตของพวกเขา นาทีชีวิตที่ต้องเดินทางไปให้ถึงโรงพยาบาลให้เร็ว ที่สุด แต่กลับต้องมาเจอสภาพถนนลูกรังที่เป็นหลุมที่ไม่สามารถพัฒนาได้เพราะท้องถิ่น ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ ทำไมเรื่องของคนแก่งหางแมวต้องให้คนที่ไม่รู้จักเขาเลย หรืออาจจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าแก่งหางแมวอยู่ตรงไหนของประเทศมาตัดสินใจด้วยคะ ทำไม คนแก่งหางแมวอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากมีถนนที่เดินทางได้สะดวก อยากมีระบบ ประปา อยากมีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเขาถึงทำไม่ได้เหมือนกับพื้นที่ ในอำเภออื่น ทั้ง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ทำไมต้องรอให้คนที่อยู่ไกลจากพวกเขาหลายร้อยกิโลเมตรมาเป็นคนอนุญาตด้วยคะ จากที่กล่าวมานี้ดิฉันจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหา การขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อที่จะคืนโอกาส คืนเวลา คืนชีวิตที่ดีให้กับพี่น้อง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ โดยเฉพาะพี่น้องแก่งหางแมว ประชาชนที่ดิฉันเป็น ผู้แทนของพวกเขา ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง เชิญครับ
นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ผู้แทนคนหน้ามนจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ หากจะพูดถึงเรื่องระบบการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในเขต พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าอนุรักษ์แล้วเราก็ต้องพูดถึงปัญหาในเรื่องของสิทธิในที่ดิน ทำกินไปพร้อม ๆ กัน เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินนี้เป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศบ้านเรามา อย่างช้านานครับ โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ผู้เข้ามาประกาศเขตที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์หรือที่ดิน สาธารณประโยชน์ทับที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นตั้งรกรากมาอย่าง ยาวนานครับ หลาย ๆ พื้นที่มีการพิสูจน์หลักฐานทางกายภาพ ยกตัวอย่างเช่นวัดวาอาราม ตรวจสอบอายุแล้วก็เห็นได้ว่ามีมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ของรัฐเสียด้วยซ้ำไป บางแห่ง ถึงขั้นมีเอกสารสิทธิด้วยนะครับท่านประธาน แต่กลายเป็นว่ารัฐมาประกาศทับในที่ดินของ พวกเขาทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บุกรุก หลายกรณีรัฐอนุโลมให้อยู่ได้โดยไม่มีการฟ้องร้อง แต่มีเงื่อนไขว่าไม่สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเองได้ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และไม่ได้รับ ความช่วยเหลือใด ๆ จากนโยบายของทางภาครัฐ อีกทั้งการอุดหนุนราคาสินค้าการเกษตร ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควรครับ กลายเป็นคนเถื่อนบนที่ดินของบรรพบุรุษตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ได้ที่ดินมาอย่างถูกต้องแต่ก็ถูกอำนาจรัฐทำให้กลายเป็นแค่คนขออยู่อาศัย ปัญหาที่ดิน ของรัฐประกาศทับที่ดินของประชาชนแบบดื้อ ๆ แบบนี้เราเห็นทั่วประเทศมากมาย ข้อเท็จจริงรัฐเองก็ปฏิเสธไม่ได้จนมีการต้องตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้ จากระเบียบของ สำนักนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๕๗ นั่นก็คือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือพวกเรา เรียกกันสั้น ๆ ว่า คทช. นี่ละครับ ก่อนจะยกระดับขึ้นมาเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดนายกสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. บทบาทหลัก ๆ สำคัญนั่นก็คือการมาพิสูจน์สิทธิและการจัดสรรที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน แต่การทำงานของ สคทช. ที่ผ่านมากลับไม่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องของ กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเท่าที่ควร มิหนำซ้ำยังตอกย้ำในปัญหาเรื่องนี้ให้เลวร้ายลึกไปกว่าเดิม ทั้งกระบวนการจัดสรรที่ดินของ คทช. ที่มีปัญหาหลักอยู่ที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ปี ๒๕๔๑ ซึ่งมันเก่ามาก โบราณ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ภาพถ่ายพื้นที่ไหนถ้าหากมี ลักษณะตรงกับภาพถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๑ ก็จะถือว่าว่าเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวน พี่น้องไม่สามารถ เข้าไปทำมาหากินได้ หากใช้เกณฑ์แบบนี้จริง ๆ เกือบทุกพื้นที่จะกลายเป็นพื้นที่ล่อแหลม ตามหลักนิยามของรัฐบาลทันที ส่งผลให้ถูกจำกัดในเรื่องของการประกอบอาชีพ รวมทั้ง การพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า หรือน้ำประปา หากมี การพิสูจน์สิทธิจนผ่านเกณฑ์เหล่านี้ไปแล้ว แต่การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชน ในหลายพื้นที่กลับได้เพียงแค่สิทธิในการอยู่อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวครับ โดยต้องได้รับอนุญาต จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่นั้นก่อน หากประชาชนยอมรับในเงื่อนไขนี้เท่ากับเขายอมรับว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินของประชาชนอีกต่อไปทันที กระบวนการพิสูจน์สิทธิ เช่นนี้ทำให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มหลาย ๆ กลุ่มทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ ๑๓ นิคม ๑๕ ป่า หรือ ๑๗ สหกรณ์ รวมตัวกันเพื่อที่จะต่อต้านและพยายามเรียกร้องสิทธิในการมี กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องในเขตพื้นที่ของผมมีการจัดตั้งสหกรณ์นิคม ดงมูลหนึ่ง จำกัด และสหกรณ์นิคมดงมูลสอง จำกัด ซึ่งทั้ง ๒ ที่ ท่านรัฐมนตรีธรรมนัสเพิ่งจะ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน แล้วก็ไปให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะช่วยพิจารณาในเรื่องของการออกโฉนด ให้กับพี่น้องประชาชน ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่ของท่านจะไม่เป็นการหลอกพี่น้อง ประชาชนให้พี่น้องไปต้อนรับท่านอย่างเดียวนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่ของท่าน จะสร้างคุณูปการให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผมก็ต้องขออนุญาตขอบพระคุณล่วงหน้าถ้าเกิดท่านทำได้อย่างนั้นจริง ๆ สหกรณ์นิคม ดงมูลหนึ่ง จำกัด และสหกรณ์นิคมดงมูลสอง จำกัด ได้มีการเรียกร้องให้มีการเพิกถอน ป่าเสื่อมโทรมตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงทุกวันนี้กินระยะเวลา ๓๔ ปี พวกเขาก็รอกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พวกเขาได้ทำมาหากินเป็นที่ดินของบรรพบุรุษที่จะ สร้างโอกาสเลี้ยงดูครอบครัว แต่ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารก็จะมีความพยายามที่จะทวงคืน พื้นที่ส่วนนี้กลับไปเป็นของรัฐ ส่งกลับไปกลับมาแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหา ในพื้นที่เองได้ มีครั้งหนึ่งที่ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวนของผมเกิดปัญหาภัยแล้ง ภูมิประเทศ เป็นลักษณะอยู่บนเชิงเขา เกิดปัญหาภัยแล้ง หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาแล้วว่าต้องมีการ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แต่เนื่องจากกฎกระทรวงหรือว่าเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างไม่สามารถทำให้ ท้องถิ่นสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ถามว่าท้องถิ่นทำอย่างไร หวานอมขมกลืน ทำอะไร ก็ไม่ได้ กลืนไม่ได้คายไม่ออก อมไว้อยู่อย่างเดียว สุดท้ายจุกอกตายครับท่านประธาน พี่น้อง ประชาชนที่รอน้ำ รอความช่วยเหลือก็รอต่อไป เพราะว่าการขออนุญาตในการขุดเจาะบ่อ บาดาลต้องผ่านกรม กอง กระทรวงต่าง ๆ ผ่านขั้นตอนอีกเยอะแยะมากมาย รอไม่ไหว สุดท้ายท้องถิ่นไปแอบทำจนในที่สุดถูกจับกุมดำเนินคดี ณ ทุกวันนี้ยังเป็นประเด็นกันอยู่เลย ครับท่านประธาน หรือจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชุมชนโนนหนองลาด ตำบลบ้านขาม อำเภอ น้ำพอง ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่แยกออกมาจากบ้านโนนเชือก ตำบลบ้านขาม พี่น้อง ประชาชนเรียกร้องในเรื่องของถนนหนทางที่จะเข้าสู่ตัวชุมชน หรือแม้แต่เรื่องของน้ำประปา หรือแม้แต่ในเรื่องของไฟฟ้า ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการ ในเรื่องนี้ให้ได้ เหตุผลแบบเดียวกันกับที่เพื่อน ๆ สมาชิกหลายคนได้อภิปรายไปครับ เนื่องจากที่ดินมันอยู่ในส่วนของรัฐ พี่น้องประชาชนเขาก็เลยต้องหวานอมขมกลืนอย่างนี้ กันต่อไป ความเดือดร้อนที่พวกเขากำลังรอความช่วยเหลือก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป นี่ละครับ คือความยากลำบาก เพียงเพราะหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจ ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที หรือต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนตามกฎ ตามระเบียบ เพียงเพราะที่ดินเหล่านี้ยังเป็นของรัฐ และยังไม่ได้เป็นของพี่น้องประชาชน ผมไม่แปลกใจครับท่านประธานที่สุดท้ายกลไก คทช. มันจะล้มเหลวในการพิสูจน์สิทธิและการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้ยอมรับกระบวนการที่มันไม่มีความยุติธรรมในเรื่องนี้ ผลการดำเนินการ ในรอบ ๘ ปีที่บันทึกไว้ในปี ๒๕๖๕ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าแนวทางเรื่องนี้ล้มเหลว ทั้งในเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกินที่จากเดิมตั้งเป้าไว้จะทำ ๑,๔๘๓ พื้นที่ แต่กลับทำได้ จริง ๆ เพียงแค่ ๓๓๘ พื้นที่ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ ๒๓ จากกลุ่มเป้าหมายที่ดินเท่านั้น ท่านประธานสุดท้ายแล้วครับ เรื่องนี้จะแก้ไขปัญหาก็ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ดินของ ประชาชนที่เขาทำมาหากินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษปลดล็อกให้เขาเถอะครับ คืนกรรมสิทธิ์เต็มตัว ให้กับเขา ให้เขาได้ออกแบบชีวิตด้วยตัวของพวกเขาเอง Design ความต้องการของพวกเขา ด้วยตัวของพวกเขาเอง หากรัฐบาลยังจะทำตัวเหมือน คสช. ที่ผ่านมา ทวงคืนผืนป่า ไม่เอา สิทธิของประชาชนเป็นตัวตั้ง การจัดการปัญหาเรื่องที่ดินเหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จครับ ทางออกเดียวคือรัฐต้องให้การยืนยันว่าสิทธิในที่ดินเป็นของประชาชน จึงจะสามารถแก้ไข ปัญหานี้ทั้งระบบได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านมีอะไรไหมครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอญัตติเปลี่ยนระเบียบ วาระตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๑) โดยขอนำระเบียบวาระที่ ๕.๗ และ ๕.๑๘ ของการประชุม ครั้งที่ ๑๗ ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กับคณะ เป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาต่อจาก ระเบียบวาระที่ ๕.๑ ในการประชุมวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยมีท่านสมาชิกเสนอญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) โดยขอนำ ระเบียบวาระที่ ๕.๗ และ ๕.๑๘ ของการประชุมครั้งที่ ๑๗ คือ ร่างพระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กับคณะ เป็นผู้เสนอกับ ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ มาพิจารณาต่อจากระเบียบวาระที่ ๕.๑ ในการประชุมวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุม เห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมตามที่มีผู้เสนอ ท่านสมาชิกครับ วันนี้เราประชุม กันมาพอสมควรแล้วครับ ขอปิดประชุมครับ