นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมเสนอญัตติด่วนในเรื่องคล้ายคลึงกันตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ ในญัตติด่วน ด้วยวาจาเรื่องสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาสะพานถล่ม กรณีสะพานยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการ ก็ก่อนอื่นเลยขอแสดงความเสียใจ กับญาติผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ ท่าน รวมกับมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากในกรณีนี้นะครับ อันนี้ เป็นประเด็นสำคัญในวงการของวิศวกรรมโยธาถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ที่ปล่อยให้มีอุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น ถ้าทุกอย่างทำตามหลักการ กระบวนการทางวิชาการ มันจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้แน่ ๆ ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาเร่งรัดดำเนินการให้เกิด การตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วก็ขยายผลเพื่อไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการ ก่อสร้างในโครงการอื่น ๆ ด้วยนะครับ อย่างไรก็ตามด้วยเวลาที่จำกัดผมจะพยายามอยู่ใน ประเด็นของโครงการนี้ที่กรณีของสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง มาดู Timeline กัน เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ มีการประกวดราคาด้วยวิธี e-Bidding แต่ราคาก็สังเกตได้ว่า ไม่ต่างจากราคากลางนักในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ก็มีการประกาศผู้ชนะการประมูลก็คือกิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา ราคาที่ชนะการประมูลจริง ๆ แล้วคือ ๑,๙๓๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่ง เป็นงาน ๒ ส่วน งานใน Contract ของ กทม. ๑,๖๖๔,๕๕๐,๐๐๐ บาท ก็คือพูดง่าย ๆ ประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ในส่วนของ กทม. โดยสำนักการโยธา แล้วก็จะมีงานอีกส่วนหนึ่ง สำหรับการไฟฟ้านครหลวงอีกประมาณสัก ๒๗๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท ลักษณะของงาน โดยภาพรวมก็เป็นทางยกระดับก็คือพูดง่าย ๆ เป็นสะพานยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ขนาด ๔ ช่องจราจร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วก็มีงานอื่น ๆ อย่างเช่น งานปรับปรุง สะพานข้ามคลองหนองปรือ มีงานก่อสร้างระบบระบายน้ำ มีงานก่อสร้างระบบไฟฟ้า แล้วก็แสงสว่าง โดยมีเจ้าของโครงการก็คือทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สัญญา ที่เซ็นไปลงชื่อสัญญา สนย ๑๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้เวลา ๙๐๐ วัน เริ่มจากวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๔ ถึง ๑๑ สิงหาคม ปี ๒๕๖๖ วันนี้วันที่เท่าไรแล้วครับ ท่านประธาน วันนี้วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นี่ครับถึงพยายามเร่ง แต่เดี๋ยวเรามาดู รายละเอียดกัน จริง ๆ ช่วงที่เร่งมันกลับไม่ควรเร่ง แต่มันเร่งช่วงที่มันไม่ควรเร่งคือในทาง วิศวกรรมไปเร่งมากแล้วมันพัง เดี๋ยวผมจะขยายความให้ฟังของการพังในกรณีนี้ ระยะเวลา สัญญาอย่างที่บอก ๙๐๐ วัน แต่ผมให้ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งนะครับ มีการแก้ไขสัญญา ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ โดยรวมแล้ว มีความช้าอยู่ ช้ากว่าแผนงานปัจจุบัน ๑๐.๘ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมาที่อยากให้ดูกันนะครับ คือโครงการนี้จริง ๆ ตั้งงบไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ ๒๓๙ ล้านบาท งบประมาณปี ๒๕๖๕ ไม่ตั้งเลย คือมีปัญหาเริ่มไม่ได้ ยังมีปัญหาอะไรอยู่ จะมีการหา Subcontractor จะมีการเปลี่ยนแบบกลางอากาศอะไร ต่าง ๆ ก็มีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ที่จะต้องไปตรวจสอบกันนะครับ ปี ๒๕๖๖ ตั้งงบไว้ ๕๐๐ ล้านบาท แล้วก็งบปี ๒๕๖๗ ที่จะผูกพันไปอีก ๙๒๐ ล้านบาท ตอนนี้เบิกเงินไปแล้ว ๙ ครั้ง คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้นที่เบิกไปแล้ว ๓๓๗ ล้านบาท จากข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างนั้น ผมเอามาวิเคราะห์ให้ฟังนะครับ แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือเรื่องของการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุกับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนข้อเสนอแนะ ซึ่งผมจะมีด้วยกัน ๔ ประการ มาเริ่มกัน จากเรื่องของสาเหตุก่อน รบกวนทางโสตเอาภาพขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ตอนนี้ถ้าเราติดตาม ข่าวสารก็จะมีการวิเคราะห์ถึงทฤษฎีการพังทลายหลาย ๆ แบบ อะไรพังก่อน เสาพังก่อน อาคารพังก่อน Jack พังก่อน โน่นนี่นั่น แต่เอามาบวก ลบ คูณ หาร กันแล้วนี่ แล้วก็ถาม ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญประกอบกับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงดูรูปต่าง ๆ นะครับ แล้วก็มี ทีมงานไปที่ Site ก่อสร้าง แล้วก็มีคลิป Video เป็นหลักฐาน ผมเชื่อในทฤษฎีที่เรียกว่า Wet Joint Wet Joint คืออะไรครับ Wet Joint คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพนะครับ ภาพบน คือภาพตอนที่ยังไม่พัง ภาพล่างคือภาพที่มันพังแล้ว ส่วนสีแดง ๆ ที่เป็นก้อนสีแดง ๆ อันนี้ เขาเรียกว่า Wet Joint การที่เราจะเข้าใจการพังทลาย ผมขออธิบายสั้น ๆ ว่าจริง ๆ แล้ว ตัวสะพานถ้าย้อนกลับไปดูมันเป็นลักษณะที่เรียกว่า Box Girder เป็นการเอากล่องมาต่อ ๆ กัน วางพาดอยู่บนเสาคอนกรีตนะครับ ตัวสะพานนี่เป็นคานยาวเขาเรียกว่า Continuous Span ซึ่งต่างจากพวกเวลาเราไปก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือทางด่วนซึ่งเป็น Simple Span ก็คือมี Span เดียวระหว่าง ๒ เสา แต่อันนี้มันยาว แล้วก็ในการก่อสร้างเขาก็จะเอา Segment ที่หล่อจากโรงงานเอามาต่อ ๆ กัน เคลื่อนย้ายโดยรถบรรทุกเอามาต่อ ๆ กันไว้ที่บนหัวเสา แล้วจากนั้นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Launcher แล้วก็ดึงลวดเพื่อให้มันรับน้ำหนักได้ แต่ระหว่าง แต่ละ Span มันก็จะมีช่องว่าง ๆ ประมาณสัก ๑๕-๒๐ เซนติเมตรที่โชว์เป็นกล่องสีแดง ๆ ในภาพตรงนี้เขาเรียกว่า Wet Joint คำว่า Wet Joint ก็คือหล่อเปียก เอามาหล่อในที่ คราวนี้ถ้างานเร่งมาก ๆ แล้วปูนมันไม่ได้แห้งเต็มที่ หมายความว่ามันอาจจะดูแห้งแล้ว แต่กำลังยังไม่ได้มันก็อาจจะเกิดการ Failed ขึ้น อันนี้ก็คือเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งในหลาย ๆ ทฤษฎี ซึ่งตรงนี้ผมอยากให้ดู Clip กัน เปิด Clip ที่ ๑ ประมาณวินาทีที่ ๒๕ ข้ามไป ตรงนั้นเลยก็ได้ จะได้เห็นว่าเวลาแตกนี่มันแตกจากตรง Wet Joint ครับ ข้ามไปที่ประมาณ วินาทีที่ ๒๕ ดูด้านขวาบริเวณทางยกระดับกำลังจะเริ่มพังนะครับ ท่านเห็นไหมที่เริ่มพัง มันเริ่มพังตรงนี้ สิ่งตรงนี้ละที่เขาเรียกว่า Wet Joint ซึ่ง Wet Joint ถ้ากำลังมันไม่ได้เต็มที่ คอนกรีตตอนแรก ๆ มันยังไม่มีกำลัง มันต้องทิ้งไว้ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดทิ้งไว้ใน ระยะเวลาที่ไม่เพียงพอ เพราะมัวแต่ไปเร่ง ๆ มันจะเกิดการพังอย่างนี้ขึ้น แต่ว่าโครงการนี้ มันช้าจริง ๆ นะครับ แต่กระบวนการที่มันช้าเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแบบ แบบที่ก่อสร้างไม่ตรงปกกับที่ประมูลกัน ไปหา Subcontractor อะไรต่าง ๆ พวกนี้ทำให้ช้า แต่ว่าเวลาเขาเริ่มสร้างแล้วไปเร่ง ๆ นี่มันก็พังได้นะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นทฤษฎี ที่เรียกว่าพังจาก Wet Joint ดูภาพที่ ๒ พอ Wet Joint พังนี่ตำแหน่งอื่นมันก็จะพังไป รวมถึงส่วนที่เป็น Box Girder แล้วก็ตัว Launcher ที่เป็นโครง Truss ก็หล่นตามลงมา เดี๋ยวขอเปิดคลิปที่ ๒ ให้ดูนะครับ หลังจาก Wet Joint พังแล้วว่าการพังทลายมันหน้าตา ประมาณไหน อันนี้เรากำลังวิ่งมา ท่านเห็นการพังใช่ไหมครับ อันนี้เขาก็หยุดดูการพังทลาย แล้วเดี๋ยวรถคันนี้ก็จะขับไปข้างหน้า การพังทลายแบบนี้ก็คืออันนี้มองย้อนกลับไปจากจุดที่ Wet Joint พัง แล้วเราก็จะเห็นว่ามันมีการพังทลายของส่วนที่เรียกว่า Box Girder แล้วก็ ตัว Launcher ถล่มตามลงมา ฉะนั้นการที่ Wet Joint มันพังนะครับ มันพังเพราะว่าแรงอัด จากลวดสปริงเวลาดึง เพราะว่าตัว Wet Joint ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ เพราะว่าภายหลัง การหล่อคอนกรีตกำลังวัสดุก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พอผ่านไปหลาย ๆ วันกำลังถึงจะสูงเพียงพอ ที่จะรับตัวดึงลวดความดันสูงเข้าไปได้ ฉะนั้นคำถามที่สำคัญนะครับ คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมผู้รับเหมาจึงดำเนินการดึงลวด Sling โดยที่ Wet Joint ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ คือถ้า การพังอย่างนี้มันสามารถสรุปได้ว่า Wet Joint ไม่แข็งแรงเพียงพอ ก็จะมองกลับไปได้ว่า อาจจะมีการประมาทเกิดขึ้น หรือมีการผิดพลาดเกิดขึ้น หรือมีการเร่งการทำงานนะครับ เรื่องนี้จะต้องไปสอบสวนกันโดยข้อเท็จจริงต่อไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ว่าข้อสันนิษฐาน Wet Joint จะถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้ก็จะต้องไปพิสูจน์กัน แล้วก็หาเหตุผลที่แท้จริง แล้วป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคล้าย ๆ กันอีกในอนาคตนะครับ นอกจากในส่วนของ Wet Joint แล้ว อีกคำถามที่สำคัญก็คือแล้ววิศวกรคุมงาน ซึ่งงานนี้วิศวกรคุมงานก็คือทางสำนัก การโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ทำหน้าที่ควบคุมแล้วก็ตรวจสอบผู้รับเหมาดีพอหรือยัง ทำตามขั้นตอนหรือไม่ อันนี้ก็ต้องไปตรวจสอบกันนะครับ เพราะว่าการสอบสวนเป็น เรื่องที่สำคัญที่เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ในอนาคต อันนี้ก็ฝากไว้เลยนะครับ ฉะนั้นอันนี้เราจะต้องไปดูกันว่าข้อสันนิษฐานถ้ามันเป็น ในลักษณะ Wet Joint มันก็จะเป็นอย่างที่ผมพยายามอธิบายไป แต่ถ้าไม่เป็นแบบ Wet Joint เป็นเพราะเหตุผลอื่น ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุการพังทลายที่แท้จริง เราต้องไปตาม เอาหลักฐานมาตรวจสอบกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเขาเรียกว่า Method Statement for Guarder Elections นะครับ คือปกติผู้รับเหมาก็จะต้องเอาเอกสารมาแสดงว่าขั้นตอน ในการก่อสร้างเป็นอย่างไร ปูนเท่าไรถึงจะดึงลวดได้ ต้องไปดูรายการคำนวณว่าที่เขา คำนวณถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ว่าไปหยิบแบบจากเจ้าหนึ่งมา แล้วเอามาเปลี่ยนแปลงหน้างานอีก เปลี่ยนแปลงขั้นตอนก่อสร้าง เดิมจะวิ่งคานจากซ้ายไปขวา เปลี่ยนมาวิ่งจากขวาไปซ้าย แต่ทำอะไรรายการคำนวณถูกต้องหรือยัง รวมถึงต้องไปดูบันทึกการทดสอบลูกปูน คือลูกปูน ก้อนที่เทวันนั้นเขาก็จะมีการเก็บ Sample ไว้ ถ้าไม่มีก็คือการตรวจสอบถือว่ามีปัญหา อย่างยิ่งนะครับ เพราะในงานก่อสร้างผู้รับเหมาก็จะต้องมีการเสนอวิธีการติดตั้งคานสะพาน แล้วก็แสดงขั้นตอนอย่างละเอียด รวมถึงต้องนำส่งรายงานการคำนวณเพื่อพิสูจน์ว่า การก่อสร้างมีความปลอดภัยเพียงพอ ในที่นี้ก็คือคำนวณหาตัวที่เขาเรียกว่า Straight ที่เกิด ขึ้นกับบริเวณ Wet Joint แล้วก็หาว่า Wet Joint จะต้องมีกำลังเท่าไรจึงสามารถดึงลวดได้ ต้องรอครับ พูดง่าย ๆ ต้องรอให้มันหาย Wet ก่อน รอปูนให้มันหายเปียกก่อน ให้มีกำลัง เพียงพอ ไม่ใช่ว่าไปเร่ง ๆ แล้วไปดึงมันก็จะพังอันนี้ก็ต้องไปดูกัน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือความสูญเสียครับ ความสูญเสียต่อชีวิตแล้วก็ทรัพย์สินของประชาชน ฉะนั้นการที่ สะพานถล่มครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะว่าเกิดความผิดพลาด ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลัก วิศวกรรมแน่ ๆ ไม่ใช่ว่าเป็นอุบัติเหตุแบบว่ามันเกิดขึ้นได้เสมอ มันไม่มีใครผิด ไม่ใช่ครับ เรื่องนี้ต้องมีคนผิด ต้องมีคนรับผิดชอบ และเราต้องเรียนรู้จากมันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในอนาคต จากสาเหตุที่พูดไปนะครับ การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเดินไป ข้อเสนอแนะ ที่เป็นรูปธรรมที่จะฝากไว้ในสภาแห่งนี้ส่งไปให้รัฐบาลดำเนินการ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๑ ก็คือให้ กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปเก็บ รวบรวมหลักฐาน ไปถ่ายรูป เก็บตัวอย่าง เก็บก้อนปูน เก็บเอกสารก่อนที่หน้างานจะเกิด Big Cleaning Day อันนี้สำคัญนะครับ ถ้ามี Big Cleaning Day เอกสารหลักฐานอะไร ต่าง ๆ ไม่รู้มันจะหายไปไหน Sample ปูนจะเอาไปอย่างไร ตกอะไร ทับอยู่อะไร ต้องรีบไป เก็บเลย แล้วก็ทำการพิสูจน์ให้มันรู้ข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องไปเก็บก่อน เพราะว่า ถ้าเกิดไม่เก็บแล้วเราจะไปพิสูจน์ทราบในภายหลังมันทำได้ยากยิ่ง แล้วมันก็จะไม่มีหลักฐาน ที่เป็นรูปธรรม แล้วสุดท้ายก็จะไม่มีใครผิด เรื่องนี้สำคัญนะครับ ฝากไว้เลยนะครับ ก่อนที่ จะทำ Big Cleaning Day ไปเก็บรวบรวมหลักฐานให้เรียบร้อยเสียก่อน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๒ ให้ กทม. ไปตรวจสอบเรื่องการใช้ Subcontractor พูดเป็นภาษาบ้าน ๆ ง่าย ๆ คือผู้รับเหมาไม่ตรงปก เวลาประมูลงานเจ้าหนึ่งไปประมูล เขาก็จะมี Qualification ว่าคนที่เข้ามาประมูลได้ต้องมีผลงานอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมี ความน่าเชื่อถือพอ ต้องมีฝีมือพอ ต้องมีวิศวกรพอ ต้องมีทุนทรัพย์พอ แล้วผมไม่เชื่อว่า สัญญาฉบับไหนจะเขียนบอกว่าไป Sub Sub ต่อเป็นทอดได้ โดยให้คนที่ได้งานมาก่อนก็กิน หัวคิวแล้วก็ Sub ไปให้เจ้าต่อ ๆ ไปทำ อันนี้ต้องไปดูเลยนะครับ เพราะว่าไม่อย่างนั้นเราก็จะ ได้ผู้รับเหมาไม่ตรงปก ได้ผู้มีคุณสมบัติไม่เพียงพอมาทำงานก่อสร้าง ซึ่งก็แน่นอนพอเกิด การตัดหัวคิวได้คนไม่มีคุณสมบัติมาทำงานคุณภาพก็จะลดลง โอกาสทางพังทลายก็จะสูงขึ้น นั่นคือข้อเสนอแนะที่ ๒ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๓ ให้ กทม. ชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแบบหลังการประมูล พูดง่าย ๆ มีการก่อสร้างไม่ตรงปก เรื่องนี้มีการเปลี่ยนแบบจากเดิม ตอนเอาไปประมูลกัน เป็นคอนกรีตแบบหล่อในที่ แต่ตอนนี้ที่สร้างกันก็คือหล่อจากโรงงานแล้วยกมาติดตั้ง แล้วมีการดึงลวดกันหน้างานแล้วเกิดการพังทลาย ผมไม่ได้บอกว่าวิธีนี้ไม่ดีนะครับ แต่เมื่อ มันดี คุณบอกว่ามันดีทำไมคุณไม่ออกแบบไว้อย่างนั้น ทำไมตอนประมูลไม่ใช้วิธีนั้น ทำไม ประมูลวิธีหนึ่ง แบบเป็นแบบหนึ่งแล้วก็ไปประมูล เสร็จแล้วถึงเวลาจริง ๆ ไม่ใช้ มาเปลี่ยน หน้างาน มาเปลี่ยนในภายหลัง อันนี้ต้องไปดูเลยว่ามีการก่อสร้างไม่ตรงปก คือแบบที่ใช้ใน การก่อสร้างจริงหน้างานทุกวันนี้ที่เกิดการพังทลายมาไม่ใช่แบบที่ใช้ประมูลกันเมื่อวันก่อนโน้น แต่เป็นการถูกขออนุมัติใหม่เพื่อแก้ไขหน้างาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ ๔ ที่อยากฝากไว้นะครับ ก็จะต้องให้ทาง กทม. ชี้แจงเรื่องของความเข้มงวดในการควบคุมงานก่อสร้าง อย่างเมื่อสักครู่ที่ผมเล่ามันต้องมี การเก็บ Sample ปูน มันจะต้องมี Method Statement ว่าขั้นตอนการก่อสร้างอะไร ต่าง ๆ นี้เป็นอย่างไร แล้วก็มีคนไปควบคุมว่าผู้รับเหมาทำตามสิ่งที่เขาเสนอไว้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าหน้างานก็ลุยไปมันก็จะพังอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นอย่างที่ผมบอกให้ไป ตรวจสอบ ถ้ามันมีการใช้ผู้รับเหมาไม่ตรงปก ถ้ามันมีการก่อสร้างไม่ตรงปก ถ้ามันไม่มี การควบคุมหน้างานที่ดีมันก็เกิดการพังทลายเช่นนี้ ในทางวิศวกรรมยอมไม่ได้นะครับ อันนี้อันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และที่สำคัญนอกจากข้อเสนอ ๔ ข้อแล้ว เราต้องรู้ว่าโครงการที่เราพูดถึงนี้ นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครั้งแรกนะครับ แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างใหญ่ ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งมาก ๆ เอาครั้งหลัก ๆ ที่เป็นข่าวดัง ๆ อย่างเช่นกรณีพระราม ๒ กรณีโน่นนี่นั่น พี่น้องก็คงคุ้นหูว่ารอบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุใหญ่ ๆ ที่มันสูญเสียต่อชีวิตประชาชน แล้วประชาชนนี่คือซวยขับรถมาดี ๆ เจอคานหล่นใส่อย่างนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการก่อสร้างไทยครับ ฉะนั้นพรรคก้าวไกลเราจะร่วมหาข้อเท็จจริง แล้วก็จะลดโอกาสการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อีกเสมอ ๆ ในอนาคต ถ้าไม่มาร่วมมือกันแก้ไข ปัญหาอย่างจริงจัง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ขอขอบคุณท่านประธานแล้วก็เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้อภิปรายนะครับ เท่าที่ผมได้นั่งฟังแล้วก็คิดว่าทุกคนก็น่าจะไม่ปฏิเสธว่าเรื่องนี้ควรจะให้ความใส่ใจ แล้วก็เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรจะไปสอบสวนหาสาเหตุแล้วก็หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะเราไม่อยากให้ปัญหาแบบนี้มันเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนก็ตาม โดยสรุปอย่างที่ผมได้อภิปราย ไปนะครับ ผมว่าอันนี้คือความผิดพลาด ความล้มเหลวในเชิงวิศวกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา คนตายครั้งนี้ มันเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการก่อสร้าง โดยสาเหตุ เมื่อประมวลถึงแนวทางต่าง ๆ เรายังเชื่อว่าน่าจะเป็นเกิดจาก Wet Joint Failure ส่วนจะวิเคราะห์หาสาเหตุอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ต้องมีกระบวนการตามกระบวนการ ที่เขาไปสืบสวนโดยผู้เชี่ยวชาญอะไรต่าง ๆ มาร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะไม่ว่าสาเหตุจำเป็นอะไร จะเป็น ๑ ๒ ๓ ๔ จะเป็น Wet Joint Failure หรือว่าจะเป็นตัว Launcher มันพังลงมาก่อน หรือว่าจะเป็น Girder พังลงมาก่อน มันเป็นแค่รายละเอียดที่จะต้องไปตรวจสอบกันก็คือกระบวนการขั้นตอน ๑ ๒ ๓ ๔ ทำถูกต้องไหม อย่าให้เกิดการทำลายหลักฐาน โดยอย่างที่ผมบอกเรื่องของหน้างานในวันนี้ ลูกปูนที่ใช้เป็นการเก็บตัวอย่างที่เกิดขึ้นวันนั้นอย่าให้มันหายไป อย่าให้มันเกิด การ Big cleaning ก่อนโดยที่ถึงเวลาไปสอบสวนแล้วสุดท้ายมันไม่มีใครผิด แล้วเราก็ไม่ได้ เรียนรู้ แล้วมันก็เกิดอุบัติเหตุซ้ำซากอย่างนี้ในหลาย ๆ ที่ เพราะฉะนั้นในส่วนของสาเหตุ ก็อย่างที่ผมได้เรียนไปก็ต้องไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงกัน ไปเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นไป ส่วนในข้อเสนอแนะก็คือโดยสรุปผมให้ข้อเสนอแนะเป็น ๔ ข้อ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๑ ก็คือให้ทาง กทม. แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเก็บรวบรวม หลักฐานก่อนที่หน้างานจะเกิด Big cleaning day จนทำให้การพิสูจน์ภายหลังทำได้ยากยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๒ ก็คือให้ทาง กทม. ตรวจสอบเรื่องของการใช้ Sub-contractor ที่ผมเรียกว่าเป็นปัญหาผู้รับเหมาไม่ตรงปก เจ้าที่ประมูลกับเจ้าที่ทำจริงคนละเจ้ากัน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะที่ ๓ ก็คือให้ กทม. ชี้แจงเรื่องของการเปลี่ยนแบบหลังการประมูล คือวันที่ประมูลใช้แบบแบบหนึ่งเป็นการก่อสร้างในที่ แล้วเวลาไปก่อสร้างจริงก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ผ่านการอนุมัติ แต่ว่ามันไม่ตรงปกกับสิ่งที่ประมูล เพราะฉะนั้นผมไม่ได้บอกว่าที่เขาทำ มันเป็นแบบที่ไม่ดี อาจจะเป็นแบบที่ดีกว่าก็ได้ แต่ว่าทำไมไม่เอาแบบนั้นไปใช้การประมูลกัน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนข้อเสนอแนะสุดท้าย ก็ให้ทาง กทม. ชี้แจงเรื่องของความเข้มงวด ในการคุมงานก่อสร้าง ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา ก็ขอขอบคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมกันอภิปราย แล้วก็หวังว่าทุกท่านจะใส่ใจกับงานก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต และทรัพย์สินประชาชน แล้วเราก็เห็นอยู่เสมอ ๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมได้อ่านรายงานเล่มนี้แล้วรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือว่า สกพอ. ผมมีความเห็นว่าเล่มสวย PR เก่ง แต่มีการจ้างที่ปรึกษามากมาย พากันไปต่างประเทศบ่อย แล้วก็ออกรายงานมาเพียบ ทำ MOU มาสารพัด มีตั้งแต่การทำข่าวประชาสัมพันธ์ ๓,๐๐๐ กว่าครั้ง มีการแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ จัด Event มากมาย แต่นั่นใช่เป็นสาระสำคัญ ของโครงการ EEC ไม่นะครับ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญแล้วก็อยู่ในรายงาน EEC บ้างก็คือ การลงทุน ซึ่งถ้าเราดูกันอันนี้ก็คือตัวอย่างจากรายงาน EEC ในหน้า ๕๔ ว่ามีบริษัท BYD จะมาลงทุน ๑๗,๘๙๑ ล้านบาท Horizon Plus ๓๖,๑๐๐ ล้านบาท Great Wall Motors จะลงทุน ๒๒,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากเราแยกบริษัทที่เกี่ยวกับการผลิต EV Car หรือว่ารถยนต์ EV ออกไป ซึ่งควรแยก เพราะตรงนั้นเหตุผลที่เขามาจริง ๆ เป็นเพราะ เงื่อนไขในการสนับสนุนเงินจากรัฐที่ทำให้ประชาชนซื้อได้ถูกขึ้นประมาณคันละ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ บาท และตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องมาสร้างโรงงาน ลองแยกอันนั้น ออกมาสิครับ จะเหลืออะไรอยู่บ้าง นอกจากนั้นที่สำคัญท่านควรจะแยกเป้าหมาย ไม่เอาแผน ไม่เอาเป้าหมาย ไม่เอาคำขอ BOI แต่ผมอยากดูเงินลงทุนที่แท้จริงครับ สิ่งที่ผม ถามก็คือผลการลงทุนที่แท้จริง และท่านควรจะ Report ตัวเลขนี้แล้วเอามาเปรียบเทียบ กับประมาณการว่าหากท่านไม่ทำโครงการ EEC มันจะเป็นเท่าไร เพราะประเทศก็มี Organic Growth อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ท่านกำลังจะเพิ่มมันไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานอะไร ต่าง ๆ มากมายใน EEC แต่ตัวเลขที่ท่านกำลังรายงานมามันไม่จริงครับท่านประธาน ท่านรายงานมาในสภาตัวเลขสูงถึง ๑.๙๓ ล้านล้านบาท นี่เป็นตัวเลขลงทุนจริงหรือครับ หรือเป็นแค่เป้าหมายคำขอแผน หรือท่านใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น ตรงนี้ท่านต้องไป ปรับปรุงว่าสิ่งที่เป็นจริง ๆ คืออะไร ส่วนเนื้อหาสาระหลักที่มันเกิดขึ้นในโครงการ EEC ก็มีแต่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน คือแทบจะยังไม่ได้เริ่มเลย มาไล่เลียงดูกันนะครับ ผมเอาภาพที่ขึ้นให้ดูจากรายงานในหน้า ๑๗ โครงการแรก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ผมไปเปิดสิ่งที่ท่านเคยส่งก็คือรายงานเมื่อปี ๒๕๖๐ สิ่งที่ท่านเขียนในรายงานนี้ตอนปี ๒๕๖๐ ท่านบอกว่าจะเปิดปี ๒๕๖๖ ปีนี้ปี ๒๕๖๖ ข้อเท็จจริงคือยังไม่ได้เริ่มเลยด้วยซ้ำก่อสร้างจริง ๆ แต่ท่านมา Report คราวนี้บอกว่าปี ๒๕๖๙ แล้วข้อเท็จจริงก็คือท่านเซ็นสัญญาไปแล้ว ตั้งแต่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ ทุกวันนี้ก็ผ่านไปเกือบ ๔ ปีแล้ว ยังไม่มีการตอกเสาเข็ม ลงเสา ขึ้นคานอะไรต่าง ๆ อย่างที่ควรจะเป็น มีแต่แก้สัญญาเอื้อประโยชน์ให้นายทุน แล้วก็ ลากไปเรื่อยครับ โครงการที่ ๒ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ก็เลื่อนเปิดจากปี ๒๕๖๖ ที่ระบุไว้ ในรายงานปี ๒๕๖๐ มาเป็นปี ๒๕๖๘ โครงการที่ ๓ ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ ๓ ก็เลื่อน จากปี ๒๕๖๗ กลายมาเป็น ๒ เฟส Phase แรกปี ๒๕๖๙ Phase ๒ ปี ๒๕๗๑ โครงการที่ ๔ ที่ท่านให้เป็น Flagship ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ก็เลื่อนเปิดจากปี ๒๕๖๘ เป็นปี ๒๕๖๙ อีกส่วนหนึ่งก็ตัดไปเป็นปี ๒๕๗๒ และจริง ๆ มีอีกโครงการหนึ่งที่ท่าน ไม่ได้มา Report เป็น Flagship แล้วก็คือศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือว่า MRO จากเดิม ที่โฆษณาไว้เยอะว่าจะเปิดตอนปี ๒๕๖๔ จะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แล้วตอนนี้ เป็นอย่างไรแล้ว ยกเลิกไปหรือยังครับ ท่านตอบด้วยว่าใช่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเลื่อนไปเรื่อย ๆ รอเจรจาไปเรื่อย ๆ รอหวังว่าเขาจะมาอยู่ เอาให้ชัด แผนที่ดีมันต้องชัด ผมทราบดีว่า ท่านผู้ชี้แจงไม่เกี่ยว เพราะเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ผมกำลังพูดถึงในมุม ของประเทศ เห็นได้ชัดว่าโครงการเหล่านี้มันเซ็นไปนานแล้ว รีบเซ็นไปเพื่อใคร เพื่อคนเซ็น ใช่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตอนเซ็นรายละเอียดก็แทบไม่ค่อยมี โครงการก็ยังไม่พร้อม วางแผนมาไม่ดี แล้วก็เป็นปัญหาค้างมาจนถึงทุกวันนี้ครับ ที่โฆษณา ก็เอาหน้าว่าจะเปิดปีนั้นปีนี้ เลื่อนมาเรื่อย เชื่อถือไม่ได้ ช้ากว่านี้อีก Sure สิ่งที่ผมถามหา เลยอยากให้ท่านส่งเอกสารมาก็คือตัว S Curve ที่แสดงเนื้องาน ผมกำลังพูดถึง Engineering S Curve นะครับ ไม่ใช่ Marketing S Curve ที่แบบจะทำ New S Curve โน่นนี่นั่น ท่านเลขาธิการก็มาจากกระทรวงคมนาคมเคยรับผิดชอบโครงการใหญ่ ๆ มากมายน่าจะ เข้าใจสิ่งที่ผมพูด S Curve ที่แสดงเนื้องานจริง ๆ เป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะข้อเท็จจริง มันใกล้ ๆ ๐ ผมต้องการ S Curve ของแผนเดิม แล้วแผนมันปรับปรุงมา Version ก็คือ สิ่งที่ ๒ แผนปัจจุบัน แล้วอันที่ ๓ ก็คือผลแสดงเปอร์เซ็นต์ความคืบหน้ามาด้วย มาดูตัวอย่าง ปัญหากัน ผมแสดงปัญหานี้ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ปกติเวลา เขาทำเชื่อม Terminal คือเชื่อมภายในสนามบิน แต่จะเชื่อมระหว่างสนามบิน ผมถามว่า จะมีสักกี่คนที่ขึ้นเครื่องบินไปลงที่อู่ตะเภาแล้วไปต่อเครื่องดอนเมือง นอกจากนั้นมันมีเหตุผล อะไรที่จะทำระบบรางจาก ๑ ทางมาเป็น ๔ ทาง คือชาวบ้านชาวช่องเขาทำจาก ๑ ทาง เป็น ๒ ทาง คนใช้ไม่พอจาก ๒ ทางเป็น ๔ ทาง แต่เราจะทำกันลงทุนผลาญเงินกันอย่างนี้ จาก ๑ ทางเป็น ๔ ทาง มันเหตุผลอะไรครับ แล้วก็ยังจะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ในเขตทางเดียวกันอีกก็ยังมีปัญหา ท่านต้องชี้แจงถึงโครงสร้างทับซ้อนระหว่าง สถานีกลางบางซื่อกับสถานีดอนเมืองจะเอาอย่างไร มันยังไม่จบ ท่านจะดำเนินการอย่างไร ประมูลกันมาอย่างไรก็ไม่ทราบ รถไฟความเร็วสูงจะได้รุ่นไหน สัญชาติอะไรก็ยังไม่ทราบ แต่มีการเซ็นไปแล้ว แล้วก็มีการเอื้อประโยชน์ไปแล้วด้วย แทนที่จะต้องจ่ายชำระค่าสิทธิ Airport Rail Link ๑๐,๖๗๑ ล้านบาท ท่านจะเอื้อแล้ว เอื้ออยู่ เอื้อต่อไปอย่างนี้หรือครับ เพราะฉะนั้นโครงการ EEC มันเกิดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอย่างแท้จริง ถ้าดูภาพ มันใช้หลักวิชาการอะไร มันไม่มี มันเลือกให้เขตส่งเสริมป้ายสีม่วงเป็นหย่อม ๆ มันไม่ได้ มีเหตุผลทางหลักวิชาการสนับสนุนอะไรเลย เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วโลกเขาก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ อย่างสมมติถ้าท่านเลือกมาบตาพุดแล้วค่อย ๆ ขยายเมืองอันนี้ก็ Make Sense แต่ท่าน ประกาศมา ๓ จังหวัด พื้นที่กว้าง ๆ ใหญ่ ๆ แล้วก็เลือกให้ตรงโน้นตรงนี้เป็นหย่อม ๆ อย่างนี้ ท่านทำเพื่อใครกันแน่ เพราะฉะนั้นภาพความฝันที่หลายคนอยากเห็น EEC ผมกำลัง จะสรุปแล้วครับท่านประธาน ภาพความฝันที่อยากเห็น EEC เป็นเหมือน Growth Engine หวังว่าจะดูดการลงทุน แต่ในความเป็นจริงก็คือการโตตามธรรมชาติของการพัฒนาประเทศ เพราะโครงการต่าง ๆ ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ ท่านฝันจะมีการเดินทางขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ หวังว่าจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ขนาดใหญ่อะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ความเป็นจริงก็คือโครงการไปไม่ถึงไหน เพราะวางแผนมาห่วย ท่านฝันว่าจะรดน้ำที่ยอด ยอมเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ หวังว่ามันจะหล่นมาที่รากเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ ชีวิตชาวประชาจะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ความเป็นจริงอันเจ็บปวดก็คือการเอาเงินของคน ทั้งประเทศไปเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่แบบนี้ แล้วสุดท้ายไม่เหลือลงไปสู่ประชาชน ไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นมาอย่างไร EEC เป็นพื้นที่ที่เป็นไปได้มากที่สุดต่อการทำ Growth Engine แล้วเริ่มไปแล้ว พวกผมชาวก้าวไกลในฐานะพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาลก็คงจะต้อง ตรวจสอบติดตามกันต่อไป ส่วนรัฐบาลใหม่มีผลมากนะครับ เพราะว่าอำนาจในการบริหาร งบประมาณกับข้าราชการในมืออยู่ที่พวกท่าน ท่านอย่าทำประเทศพังด้วยการเอาทรัพยากร ของคนทั้งประเทศไปเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่แบบเกินไปอีกเลย อย่างรัฐบาลที่ผ่านมา เห็นแก่คนตัวเล็กตัวน้อยบ้าง โดยสรุปนะครับประธาน ตกลงแล้ว EEC ที่บอกว่าเชื่อมโลก ให้ไทยแล่น เชื่อมโลกให้ใครแล่นกันแน่ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอตั้งกระทู้ถามสดเพื่อสอบถามท่านประธานผ่านไปยังท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงความชัดเจนของข้อมูลในโครงการแลนด์บริดจ์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและ อันดามัน โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชนจริงครับ เพราะว่าเป็น อภิมหาโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า ๑ ล้านล้านบาท พูดง่าย ๆ ว่า ใหญ่กว่า Flagship ทั้ง ๕ Project ของ EEC รวมกันอีกนะครับ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ก็พาแลนด์บริดจ์ไป Roadshow โฆษณาทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และล่าสุดก็ไปที่สวิสเซอร์แลนด์ ผมเข้าใจดีครับถึงการที่ท่าน นายกรัฐมนตรีแล้วก็ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอยากขายโครงการนี้ อยากเห็น การพัฒนาประเทศ อยากเห็นการพัฒนาภาคใต้ แล้วผมก็อยากเห็นการพัฒนาเช่นกันนะครับ แต่เราต้องแยกแยะระหว่างความฝันกับความจริง ไม่ใช่แค่อยากอย่างเดียว เราต้องมาดู รายละเอียดกันด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ฝันลอย ๆ พูดไปเรื่อย แล้วกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่อยากเห็นการพัฒนาบ้างล่ะ ไม่รักชาติบ้างล่ะ ถือหางสิงคโปร์ บ้างล่ะ อย่างนั้นไม่สร้างสรรค์เลยครับ ผมว่าเรามาคุยกันด้วยเหตุด้วยผลดีกว่า ก่อนอื่นผมอยากให้พวกเราคิดถึงคำ ๒ คำที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดเวลาพิจารณาถึงโครงการ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ คำแรกคำว่า อยากได้หรือไม่อยากได้ กับคำที่ ๒ ควรทำหรือ ไม่ควรทำ ๒ คำนี้อาจฟังดูคล้ายกัน แต่ความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คำว่า อยากได้ หรือไม่อยากได้ อันนี้ตัดสินใจไม่ยากครับ ใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลว่าเราจะได้ประโยชน์ จากโครงการนั้นไหม แต่คำว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ อันนี้ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีนะครับ ต้องมองอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิง Benefit หรือว่าผลประโยชน์จากโครงการ แล้วก็เชิง Cost หรือว่าต้นทุนจากการทำโครงการ โดยเอาประโยชน์ของประเทศไทยนี่ล่ะครับเป็นที่ตั้ง แล้วก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่ฝันไปเรื่อย โฆษณาไปเรื่อย เพราะฉะนั้น การจะตอบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ควรทำหรือไม่ควรทำมันจึงไม่ง่าย ผมเข้าใจดีนะครับ นี่คือเหตุผลที่รัฐต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ออกแบบ หาทางแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ทั้งในแง่วิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม อาจต้องใช้เงินจ้างที่ปรึกษาบ้าง แต่ว่าไม่มากหรอกครับเมื่อเทียบกับงบลงทุนที่จะเกิดขึ้นในโครงการ อย่างโครงการนี้ เรากำลังพูดถึงเงิน ๑ ล้านล้านบาท แต่หากไม่จ้างแล้วลุยเลยโดยไม่มีรายละเอียดอันนี้ น่ากลัวมากนะครับ สำคัญก็คือการจ้างที่ปรึกษาผู้ที่รับจ้างจะต้องมีความรู้และมีจรรยาบรรณ ในวิชาชีพ ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง ไม่ใช่ปั้นตัวเลขเพื่อตอบโจทย์ตามธงของ ผู้มีอำนาจที่สั่งการด้วยอาจที่ความไม่รู้ แต่อยากเห็นประเทศพัฒนา แค่อยากนะครับ เพราะฉะนั้นที่ปรึกษานี้สำคัญมากต่อการทำข้อมูลสนับสนุนที่ศึกษามาอย่างจริงจัง และเป็นกลาง เพราะการตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการระดับ ๑ ล้านล้านบาทแบบนี้ มันควรทำหรือไม่ควรทำต้องมีรายละเอียดมากพอ แล้วก็ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ใส่ใจในรายละเอียด จะฝันเอาอย่างเดียวว่าทำแล้วจะเกิดโน่น นี่ นั่นคงไม่ได้ เวลาเราศึกษา เรื่องของแลนด์บริดจ์แก่นกลางของเรื่องก็คือเวลาและค่าใช้จ่ายของสายการเดินเรือ เพราะอะไรครับท่านประธาน เพราะว่าสายการเดินเรือเป็นลูกค้าหลักที่จะหันมาใช้เส้นทาง แลนด์บริดจ์แทนที่จะใช้ช่องแคบมะละกา เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงอย่างมีนัยสำคัญ มิเช่นนั้น ก็ยากนะครับ ยากที่จะเชื่อว่าสายการเดินเรือจะเปลี่ยนใจหันมาใช้บริการแลนด์บริดจ์ ในปริมาณที่มากพอที่จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน วิธีการทางวิทยาศาสตร์สำหรับ การแก้ปัญหาในโจทย์ลักษณะนี้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้ Logit Model ซึ่งเป็นแบบจำลอง ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการประมาณการเปรียบเทียบกรณีไม่มีเมื่อเทียบกับมีโครงการ แลนด์บริดจ์นะครับ แต่หากท่านบอกว่าไม่มีการใช้แบบจำลองมาประมาณการก็คือท่านฝัน เอาอย่างเดียว ผมว่าการศึกษานี้กลวงมาก แบบนั้นไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาหรอก ฝันไปเรื่อย ใครก็ฝันได้ครับ แต่ผมก็เชื่อว่าหน่วยงานก็คงไม่กล้าฝันลอย ๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผมยังเชื่ออยู่นะครับ ยังเชื่ออยู่ว่าเขาคงจะต้องมีแบบจำลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็อยากให้ ท่านรัฐมนตรีช่วยยืนยันว่ามีการใช้ Logit Model ในการทำ Discredit Choice Analysis เพื่อเลือกระหว่างแลนด์บริดจ์กับช่องแคบมะละกา มิเช่นนั้นท่านก็ต้องตอบให้ได้ว่าท่าน จินตนาการตัวเลขมาอย่างไร มันล่องลอยแค่ไหน Assume อะไรไปบ้าง แต่หากท่านมี Logit Model หรือจะเป็นวิธีการอื่นใดในการประมาณการมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็ควร จะต้องเปิดเผยเพื่อมาถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล พวกเราพร้อมที่จะช่วยตรวจการบ้าน ที่ท่านไปจ้างที่ปรึกษามาแล้วมาทำตัวเลข เพราะว่าการที่จะดูว่ามันคุ้มค่าจริงหรือไม่มันต้อง ดูว่าอะไรที่มันอยู่ใน Discredit Choice ที่สมมุติขึ้นมาในแต่ละคู่ OD ก็คือจาก Origin ประเทศหนึ่งไป Destination อีกประเทศหนึ่งอะไรคือเวลาและค่าใช้จ่าย อันนี้ถือว่าเป็น ตัวแปรสำคัญอย่างแน่นอนที่จะวิเคราะห์ว่าคนที่จะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางนี้มีมากขนาดไหน ค่าต่าง ๆ ในปีฐานแล้วก็ปีอนาคตต่าง ๆ ซึ่งปกติก็พยากรณ์ทุก ๕ ปีล่วงหน้าไป ๓๐ ปีก็ควร จะต้องถูกเปิดเผยเพื่อให้เห็นว่าฝันที่ท่านกำลังฝันอยู่นั้นเป็นจริงได้หรือไม่ หรือว่ามันฝันใหญ่ แบบเว่อร์วังอลังการเกินไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในรายงานของ สนข. ตอนนี้มันมีแต่ตัวเลขผลลัพธ์แบบเว่อร์วังอลังการ เราจึงต้องตามไปตรวจสอบวิธีการประมาณการกัน เพราะว่ามีหลายสิ่งที่ปรากฏออกมาแล้ว น่าประหลาดใจ ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานฟัง อย่างเช่นคู่ OD จากแอฟริกาไปเอเชียใต้ ก็คือแถวอินเดีย ศรีลังกา หรือว่าจากตะวันออกกลางไปเอเชียใต้หรือจากยุโรปมาเอเชียใต้ เขาจะมีโอกาสมาใช้ท่าเรือระนองจริง ๆ หรือครับ คือเขาจะมาทำไม และที่ประมาณการมา จะมามากน้อยแค่ไหนก็ต้องไปดูกัน หรือว่าคู่ OD จากออสเตรเลียซึ่งไปตะวันออกไกล ๆ ของเราที่จะไปทางฟาร์อีสท์หรือว่าจีนฝั่งตะวันออก เซี่ยงไฮ ปักกิ่ง หรือว่าไปเกาหลี ญี่ปุ่น อะไรแถว ๆ นั้น เขาจะแวะมาใช้ท่าเรือชุมพรทำไมครับ ท่านรัฐมนตรีต้องสั่งการให้หน่วยงาน มีใจที่จะเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียด แล้วก็หากพวกผมในฐานะฝ่ายค้านได้ดูรายละเอียด พวกนั้นแล้วไม่เห็นความปกติก็คงไม่มีเหตุผลอะไรให้คัดค้าน ค้านแบบไม่มีเหตุผลก็แย่ เช่นเดียวกับการหนุนไปเรื่อยหรือว่าอวยไปเรื่อยนะครับ คือเราต้องเอาข้อมูลมากางดูกัน ผมเชื่อว่าท่านมีของนะครับ เราจึงต้องมาไตร่ตรองมาลงละเอียดกัน แล้วมาถกเถียงกัน ด้วยเหตุผล เพราะว่าผลลัพธ์ที่ประมาณการออกมาอยู่ในรายงานเล่มนี้มันสูงเกินจริงครับ ท่าเรือที่จะทำมันเป็นท่าเรือยักษ์ ขนาด ๒๐ ล้านตู้ใน ๒ ฝั่ง ฝั่งละ ๒๐ ล้านตู้ ผมให้ Sense ท่านคร่าว ๆ ง่าย ๆ ว่าท่าเรือแหลมฉบังที่เปิดให้บริการแล้ว แล้วเราเห็นได้ด้วยตาว่า ใช้การอยู่จริง แล้วก็มีฐานการผลิตมี EEC อยู่ตรงนั้นจริง มันอยู่ที่ประมาณ ๘ ล้านตู้ครับ ท่านประธาน ทีนี้เราจะทำ ๒๐ ล้านตู้นะครับ ในอนาคตที่กำลังขยายอยู่ก็คือจะขยาย แหลมฉบังให้เป็น ๑๘ ล้านตู้ แต่นี่เราจะทำ ๒ ฝั่ง ฝั่งละ ๒๐ ล้านตู้ มันฝันใหญ่ไปไหม ส่วนตัวเลขที่ร่ำลือกันว่าทำแลนด์บริดจ์จะประหยัดได้ ๒-๓ วัน นี่มันก็เป็นไปไม่ได้เห็น ๆ เราไม่ได้พูดถึงโครงการคลองไทยซึ่งอาจจะประหยัดเวลาได้จริง แต่ว่าในส่วนของโครงการ คลองไทยก็ต้องไปลงลึกรายละเอียดกันว่ามันลงทุนเยอะกว่ามันจะคุ้มค่าจริงหรือไม่ แต่เวลา เราพูดถึงแลนด์บริดจ์ระยะทางสั้นลงนิดหน่อย ย้ำว่าแค่นิดหน่อยนะครับ เพราะมันไม่ได้ ลัดมากแบบคลองปานามาหรือคลองสุเอซ แต่ว่ามันจะต้องเสียเวลาในการยกของ ยกตู้ขึ้น ยกตู้ลง แล้วก็ขนส่งทางบกซึ่งค่าใช้จ่ายก็สูงแล้วเสี่ยงต่อสินค้าหายหรือว่าเสียหายต่าง ๆ อีก แล้วก็ต้องไปยกขึ้นยกลงอีกรอบท่าเรืออีกฝั่ง แล้วเรากำลังพูดถึงเรือยักษ์ขนาด ๒๐,๐๐๐ ตู้ ที่ไม่ได้ว่างมากมาจอดรอทั้ง ๒ ฝั่ง ไปถึงแล้วมันทันการณ์พอดี คือมันต้องใช้ลานเยอะมาก ต้องมีการบริหารจัดการซึ่งสายการเดินเรือเขาก็บอกว่ามันนานขึ้นและแพงขึ้นแน่นอน ต้องเสียเวลามากขึ้นราว ๗-๑๐ วันในการทำงานจริง เขาบอกว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการ จัดการลานตู้ในท่าเรือทั้ง ๒ ฝั่ง ทำให้เรืออาจเทียบท่าใช้เวลาในการขนถ่ายประมาณ ๗-๑๐ วัน ในแต่ละฝั่ง สำหรับการยกตู้ขึ้นฝั่งแล้วก็ยกตู้สินค้าในแต่ละเที่ยวกลับ ซึ่งจะก่อให้เกิด สายการเดินเรือจะต้องเพิ่มเรืออีกอย่างน้อย ๑.๕ ลำโดยเฉลี่ยขึ้นไป ฉะนั้นการศึกษาที่ดี ต้องคิดในแง่ของ Operation ด้วยว่าตู้เป็นของบริษัทไหน ตู้ไหนหนัก ตู้ไหนเบา มันไม่ง่าย ที่จะจัดเรียงสินค้า ๒๐,๐๐๐ ตู้ แล้วก็ต้องหาเรือยักษ์มาจอดรอ ๒ ฝั่ง แม้ท่านจะบอกว่า มีระบบ Automation แต่ก็หนีไม่พ้นในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้ ช่องแคบมะละกานะครับ คือมันต้องดูเรื่องของการแข่งขัน นอกจากนั้นยังมีช่องแคบซุนดา ช่องแคบลอมบอกที่เป็นทางเลือกอีกด้วยนะครับ รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสายการเดินเรือ จะสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้การเดินเรือส่วนหนึ่ง หันมาใช้แลนด์บริดจ์ในปริมาณที่มากพอที่จะก่อให้เกิดความคุ้มค่า ผลการศึกษาจากสภาพัฒน์ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วก็ชี้ชัดว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุนทั้งเศรษฐกิจและการเงิน แล้วก็ข้อเสนอแนะ ในรายงานของสภาพัฒน์ก็คือควรปรับ Business Model โดยลดขนาดของโครงการลง เหลือเพียงบทบาทสนับสนุนการผลิตและการค้าของไทยภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดขนาดโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนไปได้อย่างมาก ลดความเสี่ยงจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อชุมชนและการเวนคืน แต่ตอนนี้ ที่กำลังทำอยู่นี้รัฐบาลกำลังเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามคือจะเพิ่มขนาด แถม Business Model ก็ไม่ได้ชัดเจนนะครับ แต่จะเร่ขายไปทั่วโลกจะขายได้หรือขายหน้าก็คงต้องติดตาม กันต่อไปว่าจะมีคนมาลงทุนจริงหรือไม่ สำหรับวันนี้กระทู้สดผมขอถามนะครับ ถามเอาเป็นรูปธรรมเลยว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะ ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าไร ขอให้ท่านรัฐมนตรีอธิบายมาชัด ๆ เอาสัก ๑ เส้นทาง ที่สำคัญก็คือเส้นทางฟาร์อีสท์จากจีนตะวันออกไปยุโรป เพราะว่าแลนด์บริดจ์คาดว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้คือสินค้าประเภท Transshipment ท่านประธานต้องให้ท่านรัฐมนตรี ตอบนะครับว่ากรณีไม่มีโครงการ คือไปใช้ช่องแคบมะละกาใช้ระยะเวลาและระยะทางเท่าไร ในสายการเดินเรือสายนี้ และถ้ามีโครงการหากสายการเดินเรือที่ไปใช้ช่องช่องแคบมะละกา จะใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเท่าไร เมื่อเทียบกับหากมาใช้แลนด์บริดจ์จะใช้ระยะเวลาและ ค่าใช้จ่ายเท่าไร ขอบคุณครับท่านประธานในคำถามแรก

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน จะพยายามถามสั้น ๆ นะครับ สรุปคำถามแรกก่อน เมื่อสักครู่ที่ฟังมาท่านบอกว่าไม่ประหยัด โดยเฉพาะในเส้นทางการเดินเรือหลัก ซึ่งในรายงานท่านทราบไหมว่าเขาบอกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ คือสินค้าประเภท Transshipment แต่ท่านตอบว่าไม่ประหยัดก็ขอโน้ตไว้นะครับ แล้วก็ ท่านชี้แจงในเรื่องของสินค้าเทกอง อันนี้ก็ขอถามให้ชัด ๆ เหมือนกันนะครับ ในคำถามที่ ๒ ว่าตกลงโครงการนี้รองรับสินค้าเทกองหรือไม่ และจะมีท่อน้ำมันหรือไม่ มีโรงกลั่นด้วย หรือไม่ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ได้คำตอบนะครับ ผมถามในคำถามที่ ๒ ไปว่ามีท่อน้ำมันหรือไม่ โรงกลั่นหรือไม่ รับสินค้าเทกองหรือไม่ ทุกอย่างคือไม่ชัดเจน แล้วที่สำคัญก็คือตกลงจะประหยัดเวลาหรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่รู้ แต่ถ้ามันไม่ประหยัดจริงก็เดี๋ยวจะทบทวน แต่ท่านไปเร่ขายทั่วโลกแล้วนี้สิครับ อย่างไร ก็ตามผมยังอยากเห็นประเทศพัฒนา แต่ท่านก็ควรจะต้องศึกษาให้มันดี ให้มันถ่องแท้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๓ เรามาดูอีกมิติหนึ่ง ซึ่งต้นทุนส่วนหนึ่งที่สำคัญของโครงการก็คือ จะหาสร้างโครงการใหญ่ ๆ Motorway ๖ ช่องจราจร ๑๒๕,๐๐๐ ล้านบาท รถไฟทางคู่ ๑ เมตร ๔๗,๐๐๐ ล้านบาท รถไฟอีกคู่หนึ่งคือจะทำจาก ๑ เป็น ๔ ๕๗,๔๖๔ ล้านบาท คือมันตลกไหมครับ คืออะไรก็ยังไม่ชัดเจนแต่จะสร้างไว้ก่อน แล้วก็สร้างใหญ่มากอย่างนี้ คือมันเดือดร้อนครับ แล้วท่านลงทุนมหาศาลอย่างนี้แล้วจะอ้างว่า EAR ๑๖.๑๘ เปอร์เซ็นต์ เอาตัวเลขมาจากไหนครับ อันนี้ต้องพิสูจน์กันหน่อยว่าปั้นตัวเลขกันมาอย่างไร คือมันสูง เกินจริง แล้วหลาย ๆ โครงการก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าปั้นตัวเลขมาสูงเกินจริง FIRR บอกว่า ๔.๖๗ แล้วก็จะทำ PPP Net Cost ๑.๔ ล้านล้านบาท แน่ใจนะครับว่าก็จะเดินแบบนี้ ขอคำยืนยัน ด้วยว่าจะทำ PPP Net Cost ๑.๔ ล้านล้านบาท คือรัฐคำถามง่าย ๆ เลยนะครับ ต้องยกที่ ให้นายทุนกี่ไร่ นานแค่ไหน ขอความชัดเจนด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่ชัดเจนอีกนะครับ ว่า PPP Net Cost ๑.๔ ล้านล้านบาทจะยกที่ให้สัมปทานกี่ไร่ นานแค่ไหน ผมเข้าใจดีว่าหลายท่าน อยากได้ แต่อย่างที่ผมเรียนขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เอาเหตุผล เอาตัวเลข มาถกเถียงกันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างมี Benefit ก็มักมี Cost ตามมาด้วย หลายคน คิดว่าช่างมันเถอะก็ต่างชาติเขาจะมาลงทุน แต่อย่าลืมว่ามันมีต้นทุนที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่า จะเป็นการที่ประชาชนสูญเสียที่ดินแบบมากเกินจำเป็น ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น โดยเกินจำเป็น มลพิษทางชายฝั่งทะเลที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงและธุรกิจ ท่องเที่ยว นี่ยังไม่นับรวมการชักศึกเข้าบ้านในปัญหา Geopolitics นะครับ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลแล้วมาถกเถียงกันให้ตกผลึกก่อน ไม่ใช่ไปเร่ขายฝัน เพราะว่า สุดท้ายหากจะทำท่านก็มีอำนาจทำครับ แต่ว่าผมและพรรคก้าวไกลก็มีหน้าที่ติดตาม และตรวจสอบ พวกเราอยากเห็นการพัฒนาเช่นกันนะครับ แต่ว่าเรื่องนี้ควรเอาแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่จะหาทำแต่โครงสร้างคมนาคม ขนาดใหญ่โต แต่สุดท้ายแทบไม่มีคนมาใช้ ตัวอย่างความล้มเหลวในภาคใต้ที่ขายฝันใหญ่ เกินจริงมีมามากมายนับไม่ถ้วนนะครับ แลนด์บริดจ์เดิมก็มีไปแล้วในเส้นทางกระบี่-ขนอม แต่ล้มเหลวแล้วพับไปในที่สุด ด่านสะเดาทำไปแล้วไม่มีคนมาใช้ ท่าเรือระนองก็มีอยู่แต่โล่งมาก คือสูญเสียทั้งเงิน เวลา แต่ผู้รับเหมารวยไปแล้วบนความทุกข์ร้อนของประชาชน สุดท้าย ขอให้พวกเราทุกคนไตร่ตรองให้ดีนะครับว่าโครงการนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่ใช่แค่อยากได้ หรือไม่อยากได้ ต้องไตร่ตรองให้ดี ดูผลการศึกษาให้ดี ลงในรายละเอียดว่าโครงการนี้ควรทำ หรือไม่ควรทำเพื่อประเทศชาติของเรา ความคุ้มค่าและโปร่งใสสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายตัวรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ แลนด์บริดจ์ นี่เป็นรายงานไม่ใช่ความคุ้มค่าของโครงการ ก็มีเนื้อหาสาระอยู่ทั้งหมด ๘๙ หน้า แต่ขาดความชัดเจนในหลายประเด็นที่สำคัญ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนั้นครับ ท่านประธาน เดี๋ยวเรามาลองไล่เลียงดูกัน ตัวอย่างที่ ๑ ในบทสรุปผู้บริหาร ย่อหน้าสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับเอกสาร ก็คือสรุปข้อความในย่อหน้าสุดท้าย เพื่อนกรรมาธิการเองก็เขียนไว้ว่า หากรัฐบาลสามารถ ตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจนและพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือเพื่อนกรรมาธิการเอง ก็บอกว่ามีหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ผมก็เลยไม่แปลกใจว่าทำไมรายงานฉบับนี้ ถึงยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนก็คือมีเพื่อนกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ๕ ท่านได้ลาออกไป เพราะว่าการเร่งปิดจบด้วยความไม่ชัดเจนในคำตอบที่ได้รับในที่ประชุมแล้วจะเร่งปิดกัน ทำไมครับ อะไร ๆ ก็ไม่ชัดเจน ตัวอย่างที่ ๒ ในบทสรุปผู้บริหาร หน้า ฉ ข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๔ มันก็ย้อนแย้งกันเองครับ ข้อที่ ๒ เขียนไว้ว่า อาจจะสามารถลดระยะเวลาและระยะทาง การขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งซึ่งจะต้องมี การศึกษาเพิ่ม ส่วนในข้อที่ ๔ ก็เขียนไว้ว่า เพราะสามารถลดเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิม และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ตกลงมันอย่างไรครับ ตกลงไปศึกษามาอย่างไรกันครับ แค่อาจจะ สามารถลดหรือว่าลดได้จริง ประเด็นนี้สำคัญนะครับ เป็นแก่นกลางของเรื่อง แก่นกลางของ ความเป็นไปได้ในโครงการ ท่านจะต้องตอบให้ได้ว่าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าไร เพราะมันส่งผลต่อการประมาณการในมิติต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญเป็นที่สุด ตัวอย่างที่ ๓ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ฉ ตอนช่วงต้นหน้าท่านบอกว่าจะให้สิทธิเอกชน ๕๐ ปี แต่พอมา กลางหน้าบอกว่ามีระยะเวลาคืนทุน ๒๔ ปี ความไม่ชัดเจนก็คือทำไมมันต่างกันมากนัก ๒๔ กับ ๕๐ หรือมันชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากจะขายดินแดน ๕๐ ปี ทั้ง ๆ ที่ความชัดเจนของ โครงการก็ยังไม่มีเลย จะยกที่ดินให้กี่ไร่ จะมีสินค้าเทกองไหม มีท่อส่งน้ำมัน มีโรงกลั่นไหม อะไร ๆ ก็ไม่ชัดเจน แต่ตั้งเป้าจะประเคน ๕๐ ปีไปก่อนแล้ว แล้วค่อยมาต่อรองกันหรือครับ ว่าประเทศไทยจะต้องเอาอะไรไปแลกบ้างอย่างนั้นหรือครับ จะเอาอย่างนั้นหรือครับ ตัวอย่างที่ ๔ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ช ท่านก็บอกว่าจำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย แล้วมันอยู่ตรงไหนในรายงานเล่มนี้ ท่านไปศึกษาอะไรมาครับ สภาแห่งนี้ให้พวกท่านไปศึกษา แล้วพวกท่านก็ไปศึกษา โดยบอกว่าผลการศึกษาจะต้องไปให้คนอื่นศึกษาอีกที คือจะเอาอย่างไร หากท่านต้องการ เวลาเพิ่มสภาแห่งนี้ก็ยินดีให้เพิ่ม แต่เราต้องการความชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ. นี้เนื้อหามันจะ ประมาณไหน มันจะเหมือนหรือแตกต่างจาก พ.ร.บ. EEC อย่างไร อย่างน้อยประเด็นสำคัญ ๆ ในหลักการท่านต้องตอบให้ได้ ตัวอย่างที่ ๕ ในบทสรุปผู้บริหาร หน้า ช ย่อหน้าที่ ๒ ท่านก็ เขียนเอาไว้ ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับการเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้นยังมี ความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ ท่านก็ทราบว่าเขากังวลอยู่ถึงความชัดเจน แล้วทำไมท่านไม่ทำให้ชัดเจนครับ คือผมเข้าใจดีว่าการศึกษานี้เนื้อหาสาระหลักก็ทำโดย สนข. ไปจ้างที่ปรึกษามาแต่มันยังไม่จบงานครับ ยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น แล้วทำไมท่านคณะกรรมาธิการ ไม่รอให้เกิดความชัดเจนในโครงการก่อน ทำไมไปเขียน รายงานแบบ Copy Paste มาผลการศึกษาก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ Final Report ก็ยัง ไม่ออกมา ข้อต่าง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน ตัวอย่างที่ ๖ ในบทสรุปผู้บริหารหน้า ซ ย่อหน้าสุดท้าย ท่านเขียนเอาไว้ว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือหรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูด การลงทุนโน่นนี่นั่น ตอบมาให้ได้ก่อนว่าจะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้ได้จริงอย่างไร เอาให้ชัดก่อนจะจินตนาการไปเรื่อย แทนที่มันจะเป็นแม่เหล็กเดี๋ยวมันจะกลับด้าน จากที่มัน จะดูดมันจะกลายเป็นผลัก เอาให้ชัด สายการเดินเรือเขาก็บอกแล้วว่ามันไม่ได้ลด ตัวอย่างที่ ๗ ในหน้า ๗๙ อันนี้ยิ่งตลกใหญ่ ข้อเสนอแนะที่ ๑ เลย ก็เขียนไว้เอง สนข. ควรกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ให้ชัดเจน คือผมก็ เห็นตรงกับเพื่อนกรรมาธิการว่าโครงการยังไม่ชัดเจน และเมื่อโครงการไม่ชัดเจนรายงาน ก็ไม่ชัดเจนแล้วจะให้ผมรับรายงานหรือครับ ท่านต้องไปพิจารณา ท่านประธานครับ จาก ๗ ตัวอย่างที่ผมหยิบยกมาในเวลาอันสั้น ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้วต่อเหตุผลที่จะไม่รับร่าง รายงานฉบับนี้ แต่ผมก็มีประเด็นให้คิดต่อว่าหากพวกเราเพื่อนสมาชิกอยากจะใจดีรับร่าง รายงานฉบับนี้ให้มันผ่าน ๆ ไป คือปัจจุบันรายงานฉบับหลักของ สนข. ที่จ้างที่ปรึกษาอยู่ มันก็ยังไม่จบ มันน่ากังวลของการใช้มติสภาไปฟอกขาวให้กับอภิมหาโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา มูลค่าการร่วมทุนกว่า ๑ ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างยังไม่มี ความชัดเจน ทำไมเราไม่รอความชัดเจนของโครงการครับ ก็ศึกษากันไปก่อนอย่าเพิ่งปิดเล่ม ศึกษาคู่ขนานกันไปก็ได้ ทำให้ข้อสงสัยต่าง ๆ มันชัดเจนมากขึ้น ทำให้การศึกษาของ สนข. สามารถคลายข้อกังวลของประชาชนได้มากขึ้น ในมุมกลับกันหากเรารีบปิดจบแล้วก็ใจดี ผ่าน ๆ อย่างที่กำลังจะทำกันอยู่นี้ อย่างที่มติวิปรัฐบาลอยากจะผ่าน ๆ มันไปแบบนี้ แต่หาก สุดท้ายผลการศึกษาของ สนข. เล่ม Final Report ออกมาแล้วมันไม่กระจ่างพอล่ะครับ มัน ไม่เป็นที่ยอมรับมากพอล่ะครับ แล้วถึงวันนั้นฝ่ายค้านจะมาขอตั้งกรรมาธิการขึ้นมา ตรวจสอบเรื่องนี้ เดี๋ยวท่านก็จะหาว่าเคยศึกษาไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมให้ตั้งอีก เอากลับไป เถอะครับ โครงการขนาดใหญ่แบบนี้อย่าใช้จินตนาการอย่างเดียวแล้วเอาเสียงข้างมาก ลากไปเรื่อย มันไม่สมควร มันต้องฟังเหตุผลกันบ้าง นอกจากในส่วนของรายงานแล้วยังมีอีก เรื่องใหญ่ ๆ ก็คือตัวเนื้อหาสาระของโครงการ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดผมอยากให้พวกท่านลอง ย้อนกลับไปดูกระทู้สดของผมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ แล้วตอบคำถามให้ชัดเจนก่อน คำถามพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือแลนด์บริดจ์นี้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของสาย การเดินเรือที่เป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์นี้ได้หรือไม่ หากท่านพิสูจน์ไม่ได้ว่า แลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอ มันก็คือฝันค้างครับ แล้วหากท่านจะดื้อดึงดันต่อไปทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างก็ยังไม่ชัดเจนอย่างนี้ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นค่าโง่ อาจจะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของสงคราม Geopolitics และที่แน่ ๆ ก็คือจะเป็นภัยค้างต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่โดนเวนคืนดังที่เคยเกิดมาแล้ว ในแลนด์บริดจ์เดิม เส้นทางกระบี่-ขนอม ในส่วนของความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง ทางเศรษฐศาสตร์ EIRR หรือว่าทาง Finance FIRR ที่ Copy Page มาจากรายงาน สนข. ก็ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ตรงนี้คงต้องไปว่ากันในรายละเอียดอีกยาวว่า Assume อะไร กันไว้บ้าง น่าเชื่อถือแค่ไหน กำไรจาก Bunker Service หรือว่าบริการเติมน้ำมันมันสูง แบบไร้ความเป็นไปได้หรือไม่ รายได้จากการที่จะให้เช่าพื้นที่ที่จะขายที่ดิน ๕๐ ปีไปนี้มันสูง เกินจริงหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน นี่คือสาระสำคัญหลัก ๆ ของโครงการเลยว่า ท่านจะเอาอะไรไปแลก ท่านประธานครับ โดยสรุปผมและพรรคก้าวไกลไม่รับร่างรายงาน ฉบับนี้ เอาไว้ให้รัฐบาลมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอก่อนแล้วค่อยมาว่ากันว่าโครงการนี้ควรทำ หรือไม่ควรทำ ไม่ใช่แค่อยากได้หรือไม่อยากได้ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน พาดพิงครับ มีการเอ่ยชื่อชัดเจนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับ ท่านประธาน ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผมถูกพาดพิงชัดเจน จริง ๆ มีการเอ่ยชื่อทางผม กับทางคุณศิริกัญญา อันนี้ก็ขอชี้แจงในเรื่องของการพาดพิงสั้น ๆ จริง ๆ แล้วมีการพูดคุยกันจริง เพราะว่าผมเคยถามกระทู้ในสภาแห่งนี้ เพียงแต่ว่าผมก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่สมเหตุสมผลมาก พอก็เลยมีการประสานให้ทาง สนข. มาชี้แจงข้อมูล อย่างไรก็ตามในครั้งแรกที่ติดต่อกันไป ปรากฏโดนเท คือทาง สนข. เบี้ยวนัดทางผมกับทางคุณศิริกัญญา ก็มีการเชิญคุณศิริกัญญา แล้วคุณศิริกัญญาก็พูดในห้องกรรมาธิการวิสามัญชัดเจนว่าจะขอไปด้วยตอนที่ผมนัดกับทาง สนข. อันนี้มีบันทึกอยู่ในห้องกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากโดนเทไป ครั้งหนึ่งผมก็ได้ไปประสาน เผอิญท่านรัฐมนตรีก็อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ เราก็มี การพูดคุยกันว่าท่านไม่ตอบผมไม่เป็นอะไร แต่อย่างน้อยให้ลูกน้องท่านในฐานะ หน่วยงาน มาชี้แจงข้อมูลในรายละเอียด ซึ่งรายละเอียดนี้มันเป็นเชิงเทคนิค การประเมิน EIR FIRR ซึ่งครั้งที่ ๒ นี้ก็ต้องขอบคุณทาง สนข. ที่มาให้ข้อมูลผมเพิ่มเติมเพียงแต่ว่าวันนี้ผมยังไม่ได้ ลงลึกในรายละเอียดตรงนั้นด้วยเวลาของสภาที่จำกัด อย่างไรก็ตามข้อมูลก็ไม่ใช่ความลับก็มี การเปิดเผยไปสู่ทีมงานที่มีการเข้าประชุมด้วย รวมถึงทีมงานของคุณศิริกัญญา แต่คำถาม ก็คือการที่คุณศิริกัญญาไม่ได้ไป จริง ๆ คุณศิริกัญญาต้องการจะไป เพียงแต่โดนบล็อกไม่ให้ไป ผมไม่อยากพาดพิงคนนอก แต่ผมบอกให้ว่าเป็นทาง สนข. ไม่ใช่ท่านรัฐมนตรีด้วย เป็นทาง สนข. แต่ไม่ใช่ตัวท่านรองผู้มาชี้แจง แต่เป็นทางหน่วยงานขอไม่ให้ผมนำคุณศิริกัญญาเข้าไป ฟังข้อมูลการชี้แจงด้วย ตรงนี้ไม่เป็นอะไรครับ ผมไม่อยากไปต่อความยาวสาวความยืดแล้ว พาดพิงบุคคลภายนอก แต่เอาเป็นว่าก็รับปากกันตรงนี้ก็ได้ครับ เพราะว่าท่านก็ยังให้ข้อมูล ไม่ครบอยู่ดี แล้วก็ในหลาย ๆ เรื่องก็อย่างที่ผมพูดในที่ประชุมว่าไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ ท่านชี้แจงนะ เห็นตรงเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเราต้องเอาเทคนิคมาคุยกัน เพราะว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าผมอยากได้หรือไม่อยากได้ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าประเทศควรทำหรือไม่ แล้วท่าน ก็เป็นหน่วยงานก็ต้องมีหน้าที่มาชี้แจง ก็รับปากกันตรงนี้ก็ได้ว่าเชิญคราวหน้ามีทางผม แล้วก็ ต้องอนุญาตให้คุณศิริกัญญาเข้าไปด้วย แล้วก็ข้อมูลที่ติดค้างกันอยู่ที่จะพูดกันในรายละเอียด เห็นตรงเห็นต่างไม่เป็นอะไร แต่เอาข้อมูลว่าท่านศึกษามาแล้วจริง ๆ เอามาคุยกัน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม