เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยองเขต ๕ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธาน ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ ปัญหาน้ำประปาหมู่บ้าน บ้านทุ่งต้นเลียบหมู่ที่ ๔ ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ประปาหมู่บ้านแห่งนี้มีจุดผลิตน้ำประปา ๒ จุด
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๕ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอหารือท่านประธานเรื่องติดตามการขออนุญาตใช้ที่ดินในพื้นที่นิคมสร้างตนเองเพื่อใช้ เป็นสวนสุขภาพให้กับชาวตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ย้อนไปเมื่อ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๕ ได้มีบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมประชาสงเคราะห์กับองค์การบริหาร ส่วนตำบลพนานิคม อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในบริเวณพื้นที่สงวนตลาดนัด ซอย ๑๓ เนื้อที่ ๕ ไร่ เพื่อก่อสร้างสวนสุขภาพเทิดพระเกียรติและศูนย์กีฬาประจำหมู่บ้าน แต่ด้วยในขณะนั้น อบต. พนานิคมยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณค่ะ เมื่อเวลาผ่านไป อบต. อำเภอพนานิคม ได้ทำหนังสือหารือไปยังผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองอีก ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เพื่อสอบถามว่ายังมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์บนที่ดินนั้นอยู่หรือไม่ ซึ่งทางผู้ปกครองนิคม สร้างตนเองก็ได้ส่งเรื่องไปยังอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้ทราบแล้ว แต่ในปี ๒๕๖๕ สภา อบต. พนานิคมได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาท้องถิ่น อนุมัติงบ ๕๐.๕ ล้านบาท พร้อมสร้างศูนย์สุขภาพ จึงได้ทำหนังสือฉบับสุดท้าย ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ไปยัง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเพื่อติดตามเรื่องนี้อีกครั้ง ทางผู้บริหาร อบต. แจ้งว่า ไม่เคยได้รับหนังสือตอบกลับจากกรมเลย ปัจจุบันก็ยังพบข้อเท็จจริงว่าที่ดินผืนดังกล่าว มีชาวบ้านทำกินอยู่ ดิฉันได้เคยทำบันทึกเรื่องร้องเรียนโดยตรงถึงท่านประธาน แล้วก็ท่านได้ กรุณาส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหารคือสำนักนายกรัฐมนตรี และดิฉันได้พยายามติดต่อสอบถาม ผ่านระบบ ๑๑๑๑ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ท่านประธานคะ ในเมืองอุตสาหกรรมบริการ ของรัฐอย่างสวนสุขภาพ สนามกีฬาหรือสวนสาธารณะเป็นสิ่งที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับ ประชาชน นอกจากจะใช้ในการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นและมลพิษแล้วยังเป็นลานกิจกรรมเพื่อ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่งเสริมความสามัคคีของชุมชนอีกด้วย จึงเรียนหารือ มายังท่านประธานให้ช่วยติดตามสอบถามไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจัดหาที่ดิน เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ให้ลุล่วงเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๕ อำเภอบ้านฉาง อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปราย สนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก คุณสาธิต ทวีผล ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจากนิคมสร้างตนเอง หรือพื้นที่จากหน่วยราชการอื่นในเขตปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยเหตุที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากทั้งหน่วยงานและชาวบ้านในประเด็นที่เกี่ยวข้องค่ะ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เคยได้รับอนุญาต ให้ใช้พื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเพื่อสร้างสนามกีฬาและสวนสุขภาพ จำนวน ๕ ไร่ ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕ ซึ่งมีเงื่อนไขของการอนุญาตว่าต้องใช้พื้นที่ภายใน ๑ ปี และจะต้องไปเจรจากับ ผู้ใช้ประโยชน์อยู่เดิมให้ออกจากพื้นที่เองด้วย แต่ในที่สุด อบต. ก็ไม่สามารถเข้าไปปรับปรุง พื้นที่ได้ทันอายุของการอนุญาต เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนแน่นหนาขึ้น มีความต้องการสนามกีฬา และสวนสาธารณะ อบต. พนานิคมจึงมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ทั้งหมด ๓ ครั้ง ฉบับแรก ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถึงผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง ทางผู้ปกครองก็ส่งเรื่องไปที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการให้พิจารณา ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ส่งถึงกรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการ อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ ฉบับไม่เคยมีการตอบกลับจากกรมแต่อย่างใดเลยค่ะ ประชาชนก็ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไรจะมีพื้นที่ที่จะช่วยส่งเสริมด้านกีฬา พื้นที่ที่จะช่วยลดปัญหา ความเครียดของชุมชนเมือง พื้นที่ที่จะช่วยให้เยาวชนได้มีกิจกรรมที่จะหลีกเลี่ยงจากยาเสพติด ดิฉันแค่สงสัยว่าทำไมจึงไม่มีการตอบกลับว่าจะได้หรือว่าไม่มี หรือว่าอย่างไร นอกจากนี้ดิฉัน ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น ๕๒ ราย เกี่ยวกับการยื่นขอเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับนิคมสร้างตนเอง ๓๖ รายเป็นผู้ถือครองหนังสือ น.ค. ๑ ที่ถือครองเกิน ๕ ปี แต่ไม่สามารถออกหนังสือ น.ค. ๓ ได้ และอีก ๑๖ รายคือผู้ที่ถือครองหนังสืออนุญาต น.ค. ๓ ที่ไม่สามารถขอออกโฉนดได้ ดิฉันขอยกตัวอย่างชัด ๆ ของผู้ร้องท่านหนึ่ง นางถิ่น ดุษฎีพักตร์ อายุ ๘๗ ปี คุณยายถือครอง น.ค. ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ มีเอกสารรังวัดเพื่อ ขอออกโฉนด ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ หลังจากถือครอง น.ค. ๓ มา ๑๙ ปี และ ในปี ๒๕๖๖ ผ่านมาอีก ๖ ปีหลังจากรังวัด หลานของคุณยายมาร้องเรียนทีมงานพรรคก้าวไกล ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม โดยที่ไม่ทราบว่าทำไมทางกรมที่ดินจึงไม่ออกโฉนดให้คุณยายสักที ทีมงานได้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสาขาอำเภอบ้านค่าย ก็พบข้อเท็จจริงว่าที่ดินของ คุณยายทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ แต่สำนักงานที่ดินก็เคยส่งเรื่องนี้กลับไปที่นิคม สร้างตนเองแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เอกสารส่งไปที่กรมแล้วค่ะท่านประธาน แต่จนถึงวันที่คุณยายมาร้องเรียนผ่านมาเกือบ ๕ ปี ดิฉันได้พูดคุยกับผู้ปกครองแล้วก็ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หารือถึงปัญหาและอุปสรรคจากการทำงานของหน่วยงาน ท่านประธานคะ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหน้าที่หลักเราทราบกันอยู่ทั่วไปว่าคือดูแลประชาชน กลุ่มเปราะบาง แต่ขณะเดียวกันสำนักงานนิคมสร้างตนเอง หน่วยงานของกรมก็เปราะบาง ไม่แพ้กันค่ะ เหตุที่งานที่เกี่ยวกับที่ดินของนิคมสร้างตนเองนั้นข้อมูลเก่าเก็บตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เอกสารเก่ากรอบใกล้ฉีกขาด แถมซ้ำช่างรังวัดของสำนักงานไม่มี ต้องใช้ช่างรังวัดของกรม เท่านั้น และจะต้องมีการวางแผนข้ามปี เพราะว่าช่างรังวัดจากส่วนกลางของกรมจะลงมา รังวัดให้จังหวัดแค่ปีละครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน เครื่องมือวัดก็เป็นระบบลากสาย ไม่ทันสมัย ระบบ ฐานข้อมูลที่รวบรวมก็เจ้าหน้าที่ก็ทำกันเอง และไม่ทันการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ปัญหาการ ขอใช้สถานที่ราชการเพื่อการสาธารณประโยชน์เป็นแค่เพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้นของที่ดิน ปัญหาที่ดินทั้งประเทศ บ่งบอกถึงการทำงาน การตัดสินใจที่ล่าช้า ตามวิถีชีวิตของประชาชน ไม่ทัน ชุมชนขยายตัวต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่ม จำเป็นต้องจัดแบ่งเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของ ลูกหลาน จำเป็นต้องจัดแบ่งให้เพื่อนร่วมอาชีพ หรือแบ่งให้เพื่อนต่างถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ท้องที่ แต่มีความผิดเพราะว่าหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้านได้ทันกับการขยายตัวของชุมชน อีกทั้งกฎเกณฑ์ ของการจัดหาที่อยู่ให้กับผู้ยากไร้ของกรมเงื่อนไขก็ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เงื่อนไขที่บอกว่าต้องมีรายได้ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี ท่านคะ รายได้วันละ ๘๓ บาท ไม่สอดคล้องเลยค่ะ
อีก ๑ ตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานของรัฐที่ล่าช้าแล้วก็สับสนต่อประชาชน อย่างมาก คือกรณีที่ดินในเขตสงวนหวงห้ามตำบลห้วยโป่งและตำบลสำนักท้อน จังหวัด ระยอง ที่ประกาศทับชุมชนเดิมจนชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องให้แก้ไข เรียกร้องตั้งแต่อดีต จนมีมติ ครม. ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๔ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันเขตป่า ส่วนที่ นอกเหนือเขตป่าก็จัดสรรให้ชาวบ้าน ผ่านมา ๕๐ กว่ากว่าปีปัญหาก็ยังอยู่ ชาวบ้านก็ยัง เรียกร้องอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชุดที่แล้ว ชาวบ้านร้องมายังทั้งกรรมาธิการของ สภาผู้แทนราษฎรแล้วก็กรรมาธิการของทางวุฒิสภา ปัญหาก็ยังอยู่ค่ะ ยังไม่เห็น แนวทางแก้ไขจากรัฐเลย ชาวบ้านเป็นทุกข์อย่างมาก บางคนโทรหาดิฉันบอกว่าไม่ไหวแล้ว ขอย้ายที่อยู่เพราะว่าเศร้าใจเหลือเกิน อยู่มาทั้งชีวิตแต่ไม่สามารถจะยกที่ดินที่ตัวเองบุกเบิก ให้กับลูกหลานได้ ดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๔ ท่าน ถึงแม้ว่าจะเป็นญัตติ ที่ชื่อแตกต่างกัน แต่เป้าหมายโดยรวมก็ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าและนิคมสร้างตนเอง เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาระเบียบต่าง ๆ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำกินของ ประชาชนในเขตป่าและนิคมสร้างตนเองต่อไป ขอบคุณค่ะ