ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 เวลา 10.41 - 20.02 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญนั่งครับ สวัสดีเจ้าหน้าที่ทุกท่านนะครับ เดี๋ยวก่อนเริ่มระเบียบวาระการประชุม เรามีการหารือทั้งหมด ๓๐ ท่าน ท่านละ ๓ นาทีนะครับ ท่านที่ ๑ ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ พร้อมไหมครับ ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญครับ

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผมณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ท่านประธาน คงทราบดีอยู่แล้วนะครับว่าพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาขั้นตอนสุดท้าย ที่สำคัญคือการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องนี้ก็คือ สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สังกัดสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภารกิจของสำนักพิมพ์ราชกิจจานุเบกษามีเป็นจำนวนมาก แต่จำนวนบุคลากรและงบประมาณมี จำนวนน้อยไม่สอดคล้องกัน เพราะต้องประกาศไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนฐานันดร พวกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เรื่องทะเบียนการค้าบริษัทเอกชนและประเภทอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการประกาศราชกิจจานุเบกษาในเรื่องข้อบัญญัติขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. ที่มีความจำเป็นต้องออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมบ้าง หรือพระราชบัญญัติสาธารณสุขบ้าง จึงมีผลทำให้การจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีการบังคับใช้ ยังไม่สามารถบังคับใช้ ได้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกตัวอย่างเช่นขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว ได้ออกข้อบัญญัติการจัดการมูลฝอย ของอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ส่งเรื่องมาตั้งแต่ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ นี่นะครับ ๒๕๖๕ ขออภัยด้วยนะครับ คุณภาสวัฒน์ ขันธควร ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ติดตามเรื่องนี้ ปรากฏว่าขณะนี้หน่วยงานดังกล่าว ประกาศราชกิจจานุเบกษาของข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ไปถึงปี ๒๕๖๓ กว่าจะประกาศได้นะครับอีกนานทีเดียว ดังนั้นขอท่านประธานได้โปรดทำหนังสือถึง รองนายกรัฐมนตรีท่านดอกเตอร์วิษณุ เครืองาม ในฐานะที่เคยดูแลสำนักงานแห่งนี้ แล้วก็ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจด้วย ให้เร่งรัดการปรับปรุง หน่วยงานนี้ และเร่งรัดการประกาศของตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้าด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ท่านประธานครับ ขอแสดงความยินดีกับชาวนาด้วยนะครับ ปีนี้เป็นประวัติการข้าวราคาดีมากตันละ ๑๒,๐๐๐ บาท ไม่เคยอย่างนี้ไม่เคยปรากฏอย่างนี้มา ในรอบ ๒๐ ปีแล้วครับ แต่ปรากฏว่าน่าเป็นห่วงครับ ขณะนี้โรคถอดฝักดาบ ออกข้าวไม่มีเมล็ด ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ไปดำเนินแก้ไขที่ตำบาลบ้านช้าง ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง โดยเร่งด่วนต่อไปด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านกัณวีร์ สืบแสง ครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผมนายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม จะขอ ปรึกษาหารือท่านประธานในเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาสังคม ในเรื่องมาตรการการคุ้มครองประชาชนตามแนวชายแดนตะวันตกของเรา จากสถานการณ์ การสู้รบในประเทศเมียนมา ขอ Slide ถัดไปครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมคงจะไม่เข้าไปถึงเรื่องเกี่ยวกับ สาเหตุเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา แต่จะแสดงสถิติให้ทราบว่า ณ ปัจจุบันนี้ ในประเทศเมียนมาตามองค์การสหประชาชาติมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมีจำนวนมากกว่า ๑ ล้านคน ท่านประธานครับมากกว่า ๑ ล้านคนนี้ ๓๐๐,๐๐๐ คนนี่ ได้อยู่ในติดกับประเทศไทย เรียบร้อยแล้วนะครับ ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดระนอง พร้อมที่จะลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย สรุปปัญหาที่ผมจะนำเสนอคือ ๒ ปัญหาหลัก ๆ ด้วยกัน Slide ถัดไปครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันแรก ก็เป็นการบริการทางทหารของทหารเมียนมาที่มีการปฏิบัติการอย่าง ต่อเนื่องโดยไม่เลือกเป้าหมายนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะมีการปฏิบัติการทั้งทางภาคพื้น ทั้งทางอากาศ ซึ่งมีปัญหามาก ๆ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนของชาวไทยในฝั่งไทยนะครับ ใน ๒ ปีที่ผ่านมานี้ก็มีจำนวนประมาณ ๑๐๐ กว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อ ประชาชนชาวไทยนะครับ อันนี้เป็นปัญหาแรก

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ๓๐๐,๐๐๐ คนที่กำลังจะลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยนี้ ตอนนี้ประเทศไทย เรายังไม่มีศักยภาพในการที่จะดูแลทั้งหมด ๓๐๐,๐๐๐ คนนี้ ก็จะเป็นปัญหาหลัก ๆ ว่าเราจะ มีการเตรียมความพร้อมอย่างไรครับ ที่ผมจะขอเสนอท่านประธานครับ ในเรื่องเกี่ยวกับ แนวทางการแก้ไขปัญหา อยากจะเรียนท่านประธานครับที่จะทำหนังสือไปถึง ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับปัญหา อันแรกคือการปฏิบัติการทางทหารของทหารเมียนมาในการใช้กรอบความร่วมมือทั้งทวิภาคี และพหุภาคี ทวิภาคีนี่ก็ต้องมีการพูดคุยกับทางทหารเมียนมาให้ได้เรื่องที่จะกำหนด Safety Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยและรวมถึง Humanitarian Corridor คือระเบียงมนุษยธรรมให้เกิดขึ้น จากชายแดนไทย-เมียนมา ต้องเข้าไปในพื้นที่เมียนมา ๕ กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่นี้จะทำให้ ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยตามบริเวณชายแดนของเรานี่จะไม่ได้รับผลกระทบ มากนัก และรวมถึงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เข้ามาพื้นที่ ๕ กิโลเมตรนี้จะสามารถอยู่ได้ เพราะว่าจะไม่มีการปฏิบัติการทางทหาร ก็จะเป็นการวิน ๆ ทั้งชาวไทยไม่ได้รับผลกระทบ แล้วก็ทางผู้พลัดถิ่นภายในประเทศสามารถอยู่ได้ตรงนั้นนะครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ผมทราบดีครับกรอบทวิภาคีคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจำเป็นที่ ท่านนายกรัฐมนตรีต้องใช้กรอบพหุภาคี ณ ปัจจุบันนี้จะมีกรอบ ASEAN เรียบร้อยแล้วที่มี Five-Point Plan Consensus หรือว่าฉันทามติ ๕ ข้อที่ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะมีการส่ง Special Envoy มาจากอินโดนีเซียไปพูดคุยกับทางทหารพม่านะครับ ก็จะต้องมีการพูดคุย ในเรื่อง Safety Zone ในเรื่องเกี่ยวกับ Humanitarian Corridor ตรงนี้ไว้นะครับ และรวมถึง ท่านนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธาน สมช. ต้องจัดทำตัวนโยบายแนวทางปฏิบัติเป็นคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีให้มันกำกับงานของความมั่นคงชายแดนอย่างเป็นแบบบูรณาการ อันนี้ เป็นเรื่องการปฏิบัติการทางทหารขอใช้เวลาสั้น ๆ ท่านประธานครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันสุดท้าย มาตรการรองรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา การเตรียมความพร้อม ทางด้าน Humanitarian Corridor อยากจะเรียนท่านประธานช่วยประสานทางท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำในการที่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ Humanitarian Corridor ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องเก่าครับ รัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลรักษาการ ก็ยังทำงานอยู่นะครับ แต่ว่าเราเจียดงบประมาณไปเป็นส่วนน้อยในการดูแลเรื่องมนุษยธรรม ตอนนี้เราใช้โอกาส ตรงนี้ให้เป็นจังหวะในการที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเราเชิญทาง องค์การระหว่างประเทศ เชิญทางสถานทูตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เชิญภาคประชาสังคมทั้งภายใน และภายนอกประเทศนี้เข้ามาปรึกษาหารือว่าทรัพยากรท่านมีอย่างไร ศักยภาพท่านมี อย่างไร ท่านมีแผนอย่างไร และเราเป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรื่อง เกี่ยวกับ Humanitarian Corridor ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รายละเอียดหลายอย่างที่ยังพูดไม่ทันนี่สามารถทำเป็นเอกสารแนบมาได้ และเราจะได้นำเรียนทางคณะรัฐมนตรีครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทราบครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านทรงศักดิ์ มุสิกอง ครับ

นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา กระผม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอเมือง และอำเภอพระพรหม พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนอื่นวันนี้ผมคงต้องขอแสดงความยินดีกับ ท่านกำนัน ท่านผู้ใหญ่บ้าน ท่านสารวัตรกำนัน ท่านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงแพทย์ตำบล ทั่วประเทศ วันนี้เป็นวันครบรอบ ๑๓๑ ปี วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนะครับ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบัน ที่อยู่เคียงข้างประชาชน เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จการพัฒนาหมู่บ้านจากอดีตที่ผ่านมา วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องแรก สืบเนื่องจากกระผม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่าน สจ. วีระชัย อินนิมิตร สจ. เขตอำเภอพระพรหม นครศรีธรรมราช ถึงความล่าช้าของโครงการก่อสร้างถนน ๔ ช่องทางจราจร สาย ทล.๔๑๐๓-ทล.๔๐๘ ตั้งแต่สี่แยกนาพรุถึงบ้านจังหูนอยู่ในความดูแลของแขวงการทางหลวงนครศรีธรรมราชที่ ๑ กรมทางหลวง ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ อำเภอพระพรหมใช้เดินทางเชื่อมต่อกับอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งยังเป็นเส้นทาง ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าของภาคใต้ตอนล่างหลายจังหวัดเป็นเส้นทางที่มีการเชื่อมต่อกับ สนามบินนานาชาตินครศรีธรรมราช โครงการก่อสร้างถนน ๔ ช่องทางจราจรเส้นดังกล่าวนี้ ท่าน สส. ชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์เคยหารือในสภาแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ผมจึงขออนุญาตสอบถามความคืบหน้าของโครงการ ผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย

นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอพระพรหม เนื่องจากขณะนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีจำนวนมากขึ้น จากการขยายตัวของตัวเมืองรวมถึง หน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่ย้ายเข้ามาตั้งในพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่เองยังมีทั้ง มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอพระพรหม ซึ่งเป็นสาขาย่อยที่มีบุคลากร และทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการจัดการและแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน และผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ จึงอยากจะให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยกฐานะจากการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอพระพรหม เป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอพระพรหม เพื่อที่จะให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีมากขึ้นในพื้นที่ จึงขออนุญาตแจ้งผ่านมายังท่านประธานสภาครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธนเดช เพ็งสุข

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สวัสดีท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดพร้าว บึงกุ่ม พรรคก้าวไกล ขออนุญาตหารือกับท่านประธานครับ ขอ Slide ด้วยครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จากภาพฉายครับ นี่คือการสร้างบ่อสูบน้ำบริเวณซอยนาคนิวาส ๔๘ แยก ๗ ซึ่งเป็น การก่อสร้างที่ล่าช้านะครับ ทราบมาว่าอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ กทม. นะครับ จากการติดตามปีกว่าแล้วยังไม่แล้วเสร็จ บ่อระบายน้ำนี้หากเสร็จแล้ว จะสามารถเป็นทางระบายน้ำได้ดียิ่งสำหรับพี่น้องในลาดพร้าววิลเลจ และพี่น้อง ในนาคนิวาส ๔๘ เขตลาดพร้าว

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาครับ นี่คือเช่นเดียวกันครับการก่อสร้างบ่อสูบน้ำล่าช้าบริเวณช่วง คลองสองตอน ถนนนาคนิวาส เช่นเดียวกันครับ สรน. สำนักการระบายน้ำ กทม. บ่อนี้ก็อีก ปีกว่ายังไม่แล้วเสร็จเลยครับท่านประธาน วอนท่านประธานประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาทุกข์ของพี่น้องชาวลาดพร้าว บรรเทาทุกข์จาก การน้ำท่วมทุก ๆ ครั้งที่ฝนตกครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาเป็นปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกันครับ บริเวณชาวบ้านริมคลองลาดพร้าว ย่านลาดพร้าว-วังหิน ทุกครั้งที่ตกทุกครั้งที่น้ำท่วมสูงนะครับ ชาวบ้านบริเวณริมคลองได้รับ ผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง วอนท่านประธานประสานสำนักการระบายน้ำ หรือ กทม. เช่นเดียวกันครับ ช่วยดำเนินการเสริมสันเขื่อนให้แล้วเสร็จ ให้รองรับการระบายน้ำ รองรับการกักเก็บน้ำได้ดียิ่งขึ้นครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องสายสื่อสารครับ ปัญหานี้เป็นปัญหา โลกแตกของชาว กทม. ผมเชื่อว่าทุกเขตใน ๓๓ เขตของกรุงเทพมหานคร เราพบปัญหา สายสื่อสารที่มีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กสทช. ปล่อยปละละเลยให้ภาคเอกชนทิ้งสายสื่อสาร เป็นอันตรายให้กับพี่น้องประชาชน ล่าสุดผมได้รับ Case มาครับ สายสื่อสารเกี่ยวคอ รูปภาพยังอยู่ในมืออยู่เลยนะครับ วอนท่านประธานประสาน กสทช. กำกับภาคเอกชน ช่วยดูแลจัดเก็บสายสื่อสารเหล่านี้กำชับเอกชนให้ดีครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาครับท่านประธาน เรื่องหมู่บ้านถูกทิ้งร้างนะครับ ปัญหานี้เป็นปัญหา สำคัญของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันครับ นี่คือภาพตัวอย่างของหมู่บ้านอยู่เจริญ ๑๑ หมู่บ้านลาดพร้าววิลเลจ ที่ยังยกโอนไม่แล้วเสร็จ และหมู่บ้านเคหะธานี ๒ ในบึงกุ่ม วอนท่านประธาน ถึง กทม. เช่นเดียวกันครับ ช่วยดำเนินการจัดการปัญหาเรื่องยกโอน หมู่บ้านเอกชนที่ถูกทิ้งร้างให้มาอยู่ในกำกับดูแลของ กทม. ให้แล้วเสร็จโดยเร็วครับ

เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน นี่คือบึงสาธารณะลาดพร้าว ๗๑ เป็นสวนสาธารณะ หลักแห่งเดียวของพี่น้องชาวลาดพร้าว ผมเชื่อมั่นว่าสวนสาธารณะแห่งนี้สามารถพัฒนา ขีดศักยภาพได้เพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นปอดของชาวลาดพร้าวได้มาใช้สอยร่วมกัน วอนท่านประธาน ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ช่วยพัฒนาสวนสาธารณะแห่งนี้ ประชาสัมพันธ์ สวนสาธารณะแห่งนี้ให้พี่น้องได้มาใช้สอยกันอย่างสะดวกสบายด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ องอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ จากขอนแก่น เขต ๑๑ นะครับ ขออนุญาตหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่องในเบื้องต้นนะครับ

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือเรื่องโครงการถนน ๔ เลนของอำเภอบ้านไผ่หน้าโรงพยาบาล บ้านไผ่ ถนนเส้นดังกล่าวนี้แรกเริ่มเดิมทีเป็นของกรมทางหลวง และได้มีโอกาสโอนถ่าย มาเป็นของเทศบาลตำบลในเมือง ปัจจุบันนี้ถนนเส้นนี้ก็คือถนนเส้นหลักของอำเภอบ้านไผ่ ประกอบกับสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลบ้านไผ่ จะได้รับประโยชน์จากถนนเส้นนี้เป็นอย่างมาก ไม่น่าเชื่อครับท่านประธานครับ ถนนเส้นนี้ รองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลบ้านไผ่มากกว่าวันละ ๕๔๙ ราย ๑ เดือน ๑๖,๐๐๐ กว่าราย เหนือไปกว่านั้นก็คือ ถนนเส้นนี้เป็นถนนสายเลือดหลักของอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดครับ ท่านประธาน บ้านไผ่กำลังเป็นเมืองศูนย์กลางของการคมนาคม เป็นศูนย์กลางของการขนส่ง และที่สำคัญก็คือบ้านไผ่กำลังจะกลายเป็นประตูสู่อินโดจีน ดังนั้นถนนเส้นนี้เรารอคอย การโอนถ่ายจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้กับกรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิม และที่สำคัญก็คือตอนนี้มติของคณะกรรมการกระจายอำนาจได้มีมติให้โอนถนนเส้น ๒๒๒๘ ให้กับกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้วครับ เหลือเพียงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ การกระจายอำนาจชุดใหญ่ที่จะโอนถ่าย ดังนั้นเป็นความหวังของพี่น้องชาวอำเภอบ้านไผ่ ที่จะโอนถนนเส้นนี้ให้กับกรมทางหลวง แล้วเมื่อไรก็ตามที่มีการโอนให้กับกรมทางหลวง กรมทางหลวงสามารถที่จะประสานงบประมาณในการก่อสร้างถนนจากเดิม ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจรได้ครับ

นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ ขอนแก่น ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท ท่านประธานครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หมักหมมมานานตั้งแต่ ปี ๒๕๕๓ เป็นถนนของ กรมชลประทานนะครับท่านประธาน และที่สำคัญก็คือเป็นถนนที่รองรับการสัญจรไปมา ของหมู่บ้าน ๑๒ หมู่บ้านในเขตตำบลศรีบุญเรือง เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางหลักนะครับ แต่เป็น เส้นทางเดียวที่พี่น้องในเขตตำบลศรีบุญเรือง ๑๒ หมู่บ้าน รวมทั้ง ๓ หมู่บ้านจากอำเภอชนบท ตำบลชนบทได้ใช้สัญจรไปมา ที่น่าตกใจก็คือท่านประธานครับ เอกสารที่ผมถืออยู่ในมือ ทั้งหมดจำนวน ๒ กิโลเมตรนี้เป็นความเดือดร้อนภายใน ๒ ปีที่ส่งถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือกรมชลประทาน เพื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าถนนดังกล่าวนี้จะได้รับการดูแลและจะกลายเป็น ถนนที่มีคุณภาพ แล้วก็สามารถที่จะช่วยให้พี่น้องในเขตพื้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดนะครับ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ ครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ผมได้รับ เรื่องร้องเรียนจากนายโชติพนิจ นันท์พนัส ราษฎรบ้านป่ามุ่น ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนนะครับ เรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าไปในพื้นที่ของเขาเพื่อวาง ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ๒,๐๓๐ กิโลวัตต์ ลำพูน-จอมทอง เข้าไปสำรวจและทำเครื่องหมาย ในที่ดินและต้นไม้ของพวกเขา

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

บอกว่าจะชดเชยในกรณีที่ต้นไม้จะถูกตัดทิ้ง เนื่องจากการสร้างเสาไฟฟ้านะครับ มะม่วงต้นละ ๕,๐๐๐ บาท ลำไยเมตรละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งสำรวจมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ แล้วครับ ปีนี้เขาจะใส่สารมะม่วง ลำไย เขาไม่ได้ใส่ มะม่วง ลำไย ก็ราคาแพงอีก ทำให้เขาเสียประโยชน์ ดังนั้นเขาจึงสอบถามว่าเมื่อไรจะมา ดำเนินการและจ่ายเงินชดเชยให้เขา เพราะมีผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นหลายคน นักการเมือง อดีตนักการเมืองหลายคนที่มีพื้นที่ที่ดินอยู่แถวนี้ได้รับเงินชดเชยทดแทนกันหมดเรียบร้อยแล้ว ฝากท่านด้วยนะครับ จะเข้าพื้นที่ตัวเองก็ไม่ได้ มีคำเตือนนะครับถ้าจะเข้าไปต้องได้รับ อนุญาต เงินก็ไม่ให้เขา

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ นายกาญ ณ ลำปาง ราษฎรอำเภอป่าซาง ฝากผมมาว่าช่วงถนน ๑๐๖ จากบ้านสันห้างเสือ-กาดอุ้ยออน ซึ่งจะผ่านทางโรงพยาบาลป่าซางนั้นมืดมากนะครับ และตอนนี้ขณะนี้มีการก่อสร้างถนนเส้น ๑๐๖ นี้ทั้งเส้น จากอำเภอป่าซางถึงตำบลม่วงโตน อำเภอบ้านโฮ่ง ทำให้การจราจรในช่วงกลางคืนนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะ ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนนะครับ รถลื่นไถลเกิดอุบัติเหตุกันหลายรายแล้วนะครับ ฝากท่าน ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยดำเนินการด้วยครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

มีเรื่องจากท่านชลน่าน ศรีแก้ว ฝากมานะครับ ถนนลูกรังบ้านแก่งโสภา ตำบลบ้านแลวหลวง อำเภอสันติสุข เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดน่าน แล้งเป็นฝุ่น หน้าฝน เป็นดินโคลนครับท่านประธาน ท่านชลน่าน ศรีแก้ว ได้ดำเนินการนำเรื่องร้องเรียนกับ อบต. บ้านแลวหลวง อบต. บ้านแลวหลวงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหลายครั้งหลายครา แล้วนะครับ ปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าที่จะดำเนินการก่อสร้างหรือแก้ไขปัญหา ข้อเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านแต่อย่างใด ดังนั้นพวกเราจึงฝากทั้ง ๓ เรื่องที่ผมได้หารือนี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ช่วยดำเนินการแก้ไขให้พี่น้องราษฎรของผมและของท่านชลน่าน ศรีแก้ว ได้อยู่ดีกินดี มีสุขด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอเชิญท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม พิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร พรรคประชาธิปัตย์ ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่องด้วยกัน

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ผมได้รับร้องเรียนจาก นายพีระพงษ์ ปรีชานนท์ ส.อบจ. เขตอำเภอปากพนังนายขวัญชัย รอดมณี นายกเทศมนตรี เมืองปากพนัง นายบุญโชค ขำปราง นายก อบต.ปากพนังฝั่งตะวันออก นายเทวฤทธิ์ สุขพิทักษ์ นายก อบต. ปากพนังฝั่งตะวันตก สืบเนื่องจากแม่น้ำปากพนังเกิดความตื้นเขิน และมีตะกอนดินจำนวนมากเป็นเหตุให้การสัญจรทางน้ำติดขัด ในบางครั้งไม่สามารถสัญจรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และในช่วงที่มีปรากฏการณ์น้ำขึ้นจะทำให้ น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองปากพนังและบริเวณใกล้เคียง จึงขอหารือท่านประธานไปยัง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำปากพนังต่อไป ให้แก้ไขปัญหานี้ อย่างแล้วเสร็จ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายดลกะหรีม เพอสะและ ส.อบจ. เขตอำเภอหัวไทร นายสมบูรณ์ ขลุกเอียด นายก อบต. หัวไทร พันตำรวจเอก อภิชาต จันทร์สำเร็จ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหัวไทร สืบเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต บริเวณสามแยกโรงพยาบาลหัวไทร ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร ซึ่งอยู่ในทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๐๘ ล่าสุดเป็นสิ่งที่บอบช้ำที่สุดเกิดเหตุกับน้องนักเรียน นักศึกษา อายุแค่ ๑๕ ปี เสียชีวิตจากจุดบริเวณนี้และยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปทำการแก้ไข จึงขอฝากท่านประธาน ไปยังแขวงทางหลวงนครศรีธรรมราชที่ ๑ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการติดตั้ง สัญญาณระบบไฟจราจร จำนวน ๒ จุด ๑. บริเวณทางเข้าโรงพยาบาลหัวไทร ๒. บริเวณ ทางแยก และให้ไฟจราจรทั้ง ๒ จุดมีความสัมพันธ์กัน

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ กระผมได้รับร้องเรียนจากนายพีระพงษ์ ปรีชานนท์ ส.อบจ. เขตอำเภอปากพนัง นายวิเชียร สุวรรณสุทธิ์ ส.อบจ. เขตอำเภอปากพนัง สืบเนื่องจาก ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๐๙๔ ถนนปากพนัง-เชียรใหญ่-บ่อล้อ มีปริมาณการใช้รถ ใช้ถนนสัญจรมากขึ้น และเส้นทางนี้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรจึงฝาก ท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงนครศรีธรรมราช กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ขอขยายถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๐๙๔ ปากพนัง-เชียรใหญ่-บ่อล้อ จาก ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจรพร้อมไฟแสงสว่าง ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านวีรภัทร คันธะ ครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกล เขต ๖ ตัวแทนชาวพระประแดง ขอปรึกษาหารือท่านประธานดังนี้ครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ชาวบ้านบ่นกันมาครับว่า รถบรรทุกขนาดใหญ่ในพื้นที่พระประแดง เช่น ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนเพชรหึงษ์ ถนนทรงธรรม ถนนพระราชวีริยาภรณ์ ถนนซอยวัดบางหญ้าแพรก สัญจรในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็นสร้างความวิตกกังวล เรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ล่าสุดที่ถนนสุขสวัสดิ์ก็เกือบเกิดเหตุสลด เมื่อรถโม่ปูนเบียดรถมอเตอร์ไซค์ล้ม เด็กเกือบโดนทับนะครับท่านประธาน รถบรรทุก บางรายอ้างว่าสับสนเรื่องเวลาห้ามวิ่ง บางรายก็จงใจฝ่าเวลาเนื่องจากค่าปรับถูกกว่า การเพิ่มรอบจำนวนรถบรรทุก รวมไปถึงปัญหารถบรรทุกจอดกีดขวางเส้นทางจราจร ทำให้เกิดปัญหารถติด จึงอยากฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องครับว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ชาวบ้านทนกันมานานแล้วครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ ชาวบ้านบ่นกันมาอีกแล้วครับว่า คนเร่ร่อน และคนวิกลจริตบริเวณท่าน้ำพระประแดงมีจำนวนมาก สร้างความวิตกกังวล ถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ต้องสัญจรไปมา ในบริเวณดังกล่าวมากกว่า ๑๐ โรงเรียน จึงขอฝากถามไปถึงกระทรวง พม. และตำรวจ ว่ามีแนวทางการป้องกันอาชญากรรมอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้อย่างไร ในระยะยาวนะครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ปัญหาถนนครึ่งปูนครึ่งเหล็กบริเวณชุมชนบ้านปากลัดที่พูดกัน ในสภามาตั้งแต่ สส. สมัยที่แล้วก็ยังเห็นว่าเหมือนเดิมอยู่ดีนะครับ ผมทราบว่ามีการผ่าน งบประมาณจากเทศบาลเมืองลัดหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังไม่มีคนประมูลงานแสดงว่า ยังคงมีอุปสรรคอะไรบางอย่างอยู่ เรื่องนี้พูดวนเวียนกันมาหลายปีแล้วแก้ไม่ได้สักที วันก่อน มีรถล้ม มีคนเจ็บ ปีที่แล้วถึงขนาดมีคนตายนะครับดังนั้นขอฝากนะครับขอกำหนดการที่ชัดเจน และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อจะได้ไปสื่อสารต่อประชาชน ฝากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งหาทางออกของปัญหา

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน อยากฝากท่านประธานครับช่วงนี้ฤดูฝน ตลาดพระประแดงฝนตกหนักครับ น้ำหนุนสูงทีไรน้ำท่วมตลาดทุกทีนะครับ สิ่งที่มาพร้อมกับ ฤดูนี้ก็คือโรคฉี่หนูครับ ซึ่งมีหนูเป็นพาหะนำโรคนะครับ ผมกังวลมาก ๆ ครับ เพราะวันก่อน ก็เจอหนูตัวเป้งเลยนะครับ หนูนี่มันร้ายนะครับต้องระมัดระวังนะครับ โดยเฉพาะเรื่องการจับมือ เรื่องการสัมผัสครับ สิ่งปนเปื้อนนี่ครับก็อาจจะป่วยได้นะครับ ถ้าร้ายแรงมากนะครับ ประชาชนก็ถึงขนาด Shock ได้เลยนะครับ ฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ต้องเตือนประชาชนเยอะ ๆ นะครับ โดยเฉพาะใครที่คิดพิเรนทร์จะไปจับมือ สัมผัสนะครับ เตือนไปก่อน อันตรายนะครับผลที่ตามมานี่ไม่คุ้มเลยนะครับฝากท่านประธานดูแล สุขอนามัย โดยเฉพาะความสะอาดของตลาดและของประเทศไทยด้วยนะครับ ผมเป็น สส. ใหม่ อาจอภิปรายผิดถูกไปบ้างต้องขออภัยท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมตั้งใจจะเตือนนะครับ เพราะว่าก็เข้าใจว่าน่าจะพูดไม่ได้ผิดจริงนะครับ และอาจจะสร้าง ความไม่สบายใจให้เพื่อนสมาชิกท่านอื่นนะครับ แต่ไม่ต้องถอนนะครับ แต่คิดว่าต้องตักเตือน เล็กน้อยนะครับ เชิญท่านญาณีนาถ เข็มนาค ครับ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ญาณีนาถ เข็มนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอำนาจเจริญ เขต ๒ พรรคภูมิใจไทย ประกอบไปด้วยอำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา และอำเภอลืออำนาจ ต้องกราบขอบพระคุณพี่น้องทั้ง ๕ อำเภอนะคะ ที่มอบความไว้วางใจให้ดิฉันได้เป็นตัวแทนของพี่น้องในครั้งนี้ ท่านประธานสภาที่เคารพคะ ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานหลายประเด็น ซึ่งทุก ๆ ประเด็นก็เป็นปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนนะคะ เป็นถนนลาดยางของถนนลาดยางบ้านสามแยก-บ้านคำโพน ซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ทรุดโทรม เป็นถนนที่พี่น้องใช้สัญจรไปมาหลายสิบปี เป็นถนนที่ใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตร และเป็นถนนที่ต้องเดินทางเชื่อมต่อไปยังตัวเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ และที่สำคัญเป็นถนน ที่ลูกหลานต้องใช้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนนะคะ ซึ่งมีขนาดชำรุดทรุดโทรม ความยาว ๒,๘๕๐ เมตร ความกว้าง ๘ เมตร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลคำ โพนนะคะ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

เส้นที่ ๒ ถนนลาดยางคีมข่า-บ่อขยะ ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาล ตำบลสิริเสนางค์ ถนนเส้นนี้เหมือนกันค่ะท่านประธาน ชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อนะคะ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนะคะ ซึ่งมีความยาว ๑,๗๘๐ เมตร กว้าง ๘ เมตร

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ถนนเส้นที่ ๓ นะคะท่านประธาน ถนนเส้นนี้หนักค่ะท่านประธาน ลูกหลาน พี่น้องใช้สัญจรไปมามากกว่า ๑๐ กว่าปีนะคะ ซึ่งถนนเส้นนี้ติดกับโรงเรียนบ้านหินกรอง แล้วก็เป็นถนนที่อยู่ในชุมชน มีฝุ่นตลบอบอวนนะคะ เป็นผลกระทบต่อลูกหลานในการศึกษา เล่าเรียน และที่สำคัญถนนเส้นนี้ก็ยังใช้เป็นถนนที่ลูกหลานเพื่อเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนค่ะ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ถนนเส้นที่ ๔ ค่ะท่านประธาน เป็นถนน Asphaltic concrete นะคะ ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนน อจ.ถ.๐๐๐๓ แยกจากทางหลวง ๒๐๒ ถนนเส้นนี้อยู่ในการเชื่อมโยง ของ ๓ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเทศบาลตำบลปทุมราชวงศา เทศบาลตำบลห้วย แล้วก็ องค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า ถนนเส้นนี้มีความยาวอยู่ ๓,๕๐๐ เมตร มีความกว้าง ๖ เมตร ถนนเส้นนี้เป็นถนนหลักเหมือนกันค่ะท่านประธานที่ต้องเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วก็เป็นถนนที่ลูกหลานต้องใช้เป็นประจำในการมาศึกษาเล่าเรียน จริง ๆ แล้วปัญหาของพี่น้องอำนาจเจริญมีเยอะค่ะ แต่จะพูดให้จบในเวลาที่กระชั้นชิด ขนาดนี้ดิฉันคงพูดไม่หมด ก็ฝากท่านประธานนะคะไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหา ถนนทั้ง ๔ เส้นนี้ให้พี่น้องประชาชนอำนาจเจริญ ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ครับ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ พรรคเพื่อไทย อุบลราชธานีค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องกราบเรียนปรึกษาหารือท่านประธาน ๓ เรื่องค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นปัญหา ของพี่น้องทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ดิฉันอยากขอให้รัฐบาล เร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเขตพื้นที่ของดิฉันค่ะ คืออำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และอำเภอพิบูลมังสาหาร ที่มีที่ดินทำกิน อยู่ในเขตป่าไม้เสื่อมโทรม เขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเรียนท่านประธานค่ะว่าพี่น้องประชาชน ได้ตั้งรกรากถิ่นฐานประกอบสัมมาอาชีพตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ตั้งแต่ยังไม่ได้มีการประกาศ เขตอุทยานอย่างชัดเจน มาวันนี้ต้องโดนขับไล่ โดนจับ โดนกระทำด้วยกฎหมาย ดิฉัน ขอเสนอให้พิจารณากำหนดเขตแนวใหม่เพื่อเป็นการจัดสรรและเปิดโอกาสให้พี่น้อง ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินค่ะ ต่อเนื่องเรื่องของปัญหาที่ดินทำกินค่ะ ดิฉันขอฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ให้กำลังใจประชาชนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่หนี้สินท่วมตัว หนี้สินท่วมหัวเอาตัวแทบไม่รอดแล้วค่ะ ปัญหามากมายขอให้รัฐเร่งรัด การออกเอกสารสิทธิเพื่อจะได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และยังจะสามารถ สร้างประโยชน์ต่อยอดให้กับครอบครัวได้ในอนาคตค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ค่ะ ปัญหาราคาวัว ราคาควายตกต่ำอย่างมาก สืบเนื่องมาจาก ดิฉันได้คลุกคลีอยู่กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ว่าได้ว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดค่ะ ปัญหารุมเร้า รอบด้านทุกทิศทาง สินค้าทางการเกษตรตกต่ำทุกชนิด ซ้ำร้ายค่ะวัว ควาย ที่ถือเป็นตู้ ATM เคลื่อนที่อยากได้เงินเมื่อไรก็ขาย ไม่มีเงินเมื่อไรก็ขาย แต่วันนี้ตู้ ATM มีปัญหาค่ะ เกิดเบิกเงินไม่ได้ กดเงินไม่ออก มีวัวแต่ไม่มีคนซื้อ ราคาถูกยังพอทนค่ะท่านประธาน แต่ปัจจุบันนี้ขายไม่ได้เลย ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปพี่น้องประชาชน เกษตรกร นายฮ้อย พี่น้องของดิฉันจะต้องตายสถานเดียวแน่ค่ะ ดิฉันขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้หาตลาดส่งออกโค กระบือ และมีมาตรการควบคุมการนำเข้าโค กระบือ จากต่างประเทศ เพื่อต่อชีวิตต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชนค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

และเรื่องสุดท้ายค่ะ ภาพ Video ที่ท่านเห็นนะคะ คือทางหลวง จังหวัดหมายเลข ๒๑๓๔ และหมายเลข ๒๑๓๕ สายอำเภอศรีเมืองใหม่-อำเภอโขงเจียม และ Slide ถัดไปนะคะ คือทางหลวงชนบท หมายเลข ๓๐๖๐ ตำบลนิคม อำเภอสิรินธร ซึ่งถนนที่ดิฉันได้กล่าวมาข้างต้นทั้ง ๓ เส้นเป็นถนนสายหลักที่ใช้ในการสัญจร อีกทั้งยังเป็น เส้นทางที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนใช้ในการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ซึ่งสภาพปัจจุบัน มีความเสียหายชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก จากภาพจะเห็นได้ว่าพื้นถนนมีหลุมมีบ่อ เกิดขึ้นมากมายจากการใช้งานมาอย่างยาวนาน ประกอบกับไม่มีเส้นจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้งค่ะ ดิฉันขอฝากท่านประธานสภาไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ได้จัดสรร งบประมาณปรับปรุง ซ่อมแซม และขยายช่องจราจรพร้อมติดตั้งไฟฟ้ารวมทั้งปรับปรุง ผิวจราจรให้พี่น้องประชาชนโดยเร็วค่ะ ท้ายที่สุดเรียนท่านประธานค่ะ ความเดือดร้อน และความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้องประชาชนไม่สามารถรอได้อีกต่อไป ดิฉันขอฝาก ความหวังไว้กับท่านประธานค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ครับ

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรี เขต ๑ ที่มอบฉันทามติให้ดิฉันได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรตินี้ ดิฉันมีหัวข้อมาหารือ ต่อท่านประธานไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเร่งรัดและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรี โดยขออนุญาตนำเรียนเสนอดังต่อไปนี้

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี และผู้ที่ใช้ถนนทางรถไฟ เพื่อใช้ในการสัญจร ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพิ่มรถไฟฟ้ารางคู่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจร โดยมีจำนวน ทั้งหมด ๕ จุด ซึ่งมี ๒ จุดใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

จุดที่ ๑ บริเวณทางข้ามทางรถไฟสนามกีฬาดอนคาน ระหว่างเทศบาล เมืองเพชรบุรี กับองค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

จุดที่ ๒ บริเวณทางข้ามแยกตำบลต้นมะม่วงไปมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ตำบลโพไร่หวาน จึงขอนำเรียนต่อท่านประธานให้ประสานไปยังกระทรวงคมนาคม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณางบประมาณในการก่อสร้างสะพาน ข้ามทางรถไฟ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้รับผลกระทบกรณี น้ำในเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณลดลง โดยปกติเขื่อนแก่งกระจานสามารถบรรจุน้ำได้ ๗๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีน้ำอยู่เพียงแค่ ๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประชาชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีพื้นที่หลายอำเภอได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ อำเภอเมือง เช่น ตำบลดอนยาง ตำบลหนองขนาน ตำบลนาพันสาม และอีกหลายตำบล พื้นที่อยู่ปลายคลองส่งน้ำและต้องการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรม จึงทำให้มีน้ำไม่เพียงพอ ต่อการใช้งานและต่อเนื่องประเด็นปัญหาเรื่องน้ำประชาชนได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบ กรณีประตูระบายน้ำคลองอรรถสิทธิ์ซึ่งอยู่พื้นที่แม่น้ำฝั่งซ้ายเขตแนวกั้น ระหว่างหมู่ที่ ๑๓ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมือง และหมู่ที่ ๔ ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ทำให้ไม่สามารถใช้ในการเปิดปิด การระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดน้ำรั่วไหลและเอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้าน และพื้นที่ทำการเกษตร แต่เมื่อถึงฤดูฝนแม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณมากจากการระบายน้ำ ของเขื่อนเพชร ประตูระบายน้ำจึงไม่สามารถปิดกั้นน้ำได้ทำให้น้ำท่วมทุกปี ทำให้ชาวบ้าน หลายร้อยหลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน จึงขอนำเรียนท่านประธานประสานไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาวางแนวทาง เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนอื่นให้กับพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรีเพื่อแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนกรณีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และขอพิจารณาการจัดตั้ง งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองอรรถสิทธิ์ และแก้ไขปัญหาเปิดปิด การระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศักดินัย นุ่มหนู ครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ จังหวัดตราดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนะครับ มีการเพาะปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นจำนวนมากนะครับ มีพื้นที่รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๑๘๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีผลผลิตรวมกัน ไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ตัน สร้างรายได้นับหมื่นล้านให้กับจังหวัดตราด เมื่อเกษตรกร ไม้ผลที่มีรายได้ดีมันก็จะเป็นแรงจูงใจให้กับพี่น้องเกษตรกรรายอื่น ๆ หันมาในการที่จะปลูก ผลไม้กันมากขึ้น ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือเรื่องของน้ำครับท่านประธาน เรื่องของแหล่งน้ำ ที่มีไม่เพียงพอ ดังนั้นผมจึงเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดูแลในเรื่องของ การบริหารจัดการน้ำเพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรของจังหวัดตราด สร้างเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป กระผมจึงใคร่ขอให้หน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน ท่านประธานครับได้เร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

๑. ก็คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ อันนี้ ๒๐ กว่าปีแล้วครับ ที่ยังไม่มี การดำเนินการก็ริเริ่มกันมานาน ทำ EIA ไปแล้ว ๒ ครั้งนะครับ ซึ่งตอนนี้ก็เข้าใจว่าจะได้ ดำเนินการต่อในปีหน้า ก็หวังว่าจะไม่มีการเลื่อนออกไปนะครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ครับ โครงการอ่างเก็บน้ำวังตาสังข์ ที่อำเภอแหลมงอบ เรียนกับ ท่านประธานอย่างนี้ว่าที่อำเภอแหลมงอบนี้ยังไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเลยนะครับ เพราะฉะนั้น การสร้างอ่างเก็บน้ำวังตาสังข์จะเป็นประโยชน์มหาศาลเลยต่อพี่น้องเกษตรกร ก็ขอให้ดำเนินการด้วยโดยไม่ชักช้าเลยนะครับ เพราะว่ามีการเพาะปลูกไม้ผลกันเพิ่มมากขึ้น ในเขตของอำเภอแหลมงอบ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

๓. โครงการในการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำวังปลาหมอครับ ที่อำเภอเขาสมิง การบรรจุนะครับ ขนาดบรรจุ ๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ผ่านมานี้มีเพียงพอสำหรับที่จะดำเนินการ ในหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้มันเพิ่มมากขึ้นสำหรับไม้ผลและในขณะเดียวกันสถานการณ์ ภัยแล้งซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องวิตกกังวล ก็อยากที่จะให้มีการดำเนินการในการเพิ่มน้ำ ให้กับอ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ ซึ่งทำได้ใน ๒ แนวทางด้วยกันท่านประธานครับ ๑. ก็คือนำน้ำ จากอ่างเก็บน้ำเขาระกำซึ่งอยู่ไม่ไกลเอาเข้ามาเติม แนวทางที่ ๒ ก็คือขุดลอกเพิ่มเติม ให้มีพื้นที่ของการบรรจุน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

๔. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองพร้าวที่เกาะช้าง โครงการนี้ก็ทำ ๆ หยุด ๆ เดี๋ยวทำ เดี๋ยวหยุด ตอนนี้กำลังดำเนินการต่อก็หวังว่าจะไม่หยุด ก็จะได้ดำเนินการต่อ อย่างต่อเนื่องนะครับ เพราะว่าความสำคัญของอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว ที่เกาะช้างนี่ มันเอาไว้สำหรับในเรื่องของการประปา ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม Resort ต้องมีน้ำให้กับนักท่องเที่ยวนะครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

และที่สำคัญครับท่านประธานเกาะช้างนี่นะครับ ก็คือทุเรียนชะนีเกาะช้างนี่ มีชื่อเสียงอร่อยติดอันดับโลกครับ ดังนั้นความจำเป็นของการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งนะครับ

นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ

และสุดท้ายครับ ฝายคลองตะแบกท่านประธานครับ อยู่ที่ตำบลเทพนิมิต สร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ปัจจุบันนี้ชำรุด แล้วก็ผุพังจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรร งบประมาณและสร้างขึ้นใหม่ เพื่อที่จะให้พี่น้องตำบลเทพนิมิตนั้นสามารถที่จะมีแหล่งน้ำใช้ เพื่อการเกษตรครับ สรุปได้ว่าน้ำสำคัญต่อชีวิตต่อชาวตราดจริง ๆ เป็นความหวัง เป็นลมหายใจครับท่านประธาน ขอขอบคุณมาก ๆ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ครับ

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย อำเภอนาบอน ช้างกลาง ฉวาง พิปูน ขอหารือต่อท่านประธานสภา ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้ ๑. เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๘๙ ตอนท่าพุด เขาหลวง พิปูน เป็นพื้นที่ เชื่อมต่อจากอำเภอพิปูน นบพิตำ ท่าศาลา ระยะทาง ๓๓.๑๕๔ กิโลเมตร ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัยปี ๒๕๓๑ ไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้มาประมาณ ๓๐ ปี ความจำเป็น ๑. เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่อันดามันสู่อ่าวไทย ขนส่งสินค้าทางการเกษตร ฟื้นฟู การท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ๒. เป็นเส้นทางสู่สถานศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในขณะนี้เป็นศูนย์แพทย์ขนาดใหญ่ของภาคใต้ และเป็นเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช ๓. เป็นการย่นการเดินทางระยะทางจาก ๒๐๐ กิโลเมตร เหลือเพียงประมาณ ๔๐ กิโลเมตร การดำเนินการซ่อมแซม ซ่อมในรอยสร้างโดยทางหลวงแผ่นดินนครศรีธรรมราช ได้กำหนดแผนออกแบบงบประมาณในเขตป่าไม้จดเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ค่อนข้าง สำเร็จและสมบูรณ์ในขณะนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน และคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร โดยนายอารี ไกรนรา ลงพื้นที่ พร้อมคณะและท่านนายอำเภอเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาและอุปสรรค เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

อุปสรรคและปัญหา คือในส่วนที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ได้ถูก ระงับในการเข้าดำเนินการใด ๆ ทั้งที่ทางหลวงสาย ๔๑๘๙ เป็นเส้นทางหลวงในโครงการ พระราชดำริ ก่อนปี ๒๕๓๑ การร้องขอในการเข้าบูรณะเพื่อซ่อมในรอยสร้าง จึงไม่ใช่สร้าง ขึ้นใหม่ตามเหตุผลของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จึงวิงวอนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผ่านท่านประธานสภาที่เคารพ ได้โปรดพิจารณาคืนความสุขให้แก่ พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสสร้างความสุข อยู่ดีกินดีต่อไป

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับคำร้องเรียนจากคุณมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยาง รายย่อย ซึ่งราคายางปรับตัวดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ราคาต้นทุนจากคำนวณกิโลกรัมละ ๕๗ บาท แต่เกษตรกรขายได้จริงกิโลกรัมละ ๔๒-๔๓ บาท ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ กิโลกรัมละ ๓๖-๓๗ บาทเท่านั้นนะคะท่านประธาน

นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

แนวทางแก้ไข ๑. ขอให้กองทุนพัฒนาสวนยางเปิดโอกาสทางเลือกในการใช้ พื้นที่ทำกินเพื่อปลูกพืชเสริม โดยเพิ่มงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อให้มีจำนวนที่เพียงพอ กว่าเงินในกองทุนพัฒนายางที่มีอยู่ ๒. การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาเป็นกรรมการการยาง แห่งประเทศไทย ต้องได้มาจากตัวแทนเกษตรกรโดยตรง โดยปราศจากการครอบงำของ ฝ่ายการเมือง และมีประสบการณ์ตรง ๓. ต้องมุ่งเน้นการใช้ยางพาราในเขตพื้นที่ และแปรรูปยางพาราสำเร็จ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในและนอกประเทศ จึงขอรายงาน ต่อท่านประธานสภาไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรงโดยด่วน เพราะชาวสวนยางต้องอาศัยรายได้ทุกครัวเรือนในการครองชีพ ที่สำคัญนะคะ รายได้ จากการกรีดยาง เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่เพียงแต่เดือดร้อนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของประเทศไทย ในบ้านเกิดของดิฉันนะคะ แต่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ได้ปลูกยางพารานำเข้าภาษีมาเลี้ยงดูพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผ่านท่านประธานสภา ได้แก้ไข เป็นวาระสำคัญสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยด่วน กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิ์จิตต์ ครับ

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดชลบุรี พรรคเพื่อไทย อยากจะหารือท่านประธานสภา ๓ เรื่อง ๖ ประเด็นด้วยกัน ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนะครับ

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องทางชำรุดเสียหาย ๒. เรื่องทางข้ามทางสี่แยก ๓. เรื่องไฟ จราจร ที่จริงแล้วพื้นที่ผมนั้นมีทางสำคัญ ๆ หลายเส้น แต่วันนี้จะขอหารือท่านประธาน เพียง ๒ เส้น คือ เส้น ๓๓๑ และ ๓๒๔๕

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เส้น ๓๓๑ เส้นนี้จากอู่ตะเภา สี่แยกท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สู่อีสานเป็นเส้นทางที่ขนส่งสินค้าเพื่อรับ EEC เส้นทางนี้ได้เกิดชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก กิโลเมตรที่ ๖๙-๗๑ กิโลเมตรที่ ๘๓-๘๔

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เส้นทาง ๒๓๔๕ จากมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปสู่ภาคอีสาน ตอนใต้ ช่วงมาบตาพุดนั้นเป็นทาง ๔ เลนจราจร มาถึงสี่แยกหนองเสือช้าง อำเภอหนองใหญ่นั้น จะเป็น ๒ ช่องจราจร ขอหารือว่าประมาณ ๗๐ กว่ากิโลเมตรนี้ควรจะทำเป็น ๔ ช่องจราจร หรือ ๑๐ เมตรก็พอ เพียงแต่ขยายให้กว้างขึ้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สัญจรไปมาได้สะดวก จากอีสานสู่ทะเลและทะเลสู่อีสาน และตอนนี้นั้นช่วงทางมีความลำบากเสียหายมากที่สุด คือช่วงกิโลเมตรที่ ๔๓-๔๔ กิโลเมตรที่ ๕๐-๕๑ กิโลเมตรที่ ๕๓-๖๘ นั้นเสียหายแทบจะ ไม่สามารถวิ่งได้

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ประเด็นทางแยก ๓๓๑ หรือทางข้ามสี่แยกเกาะโพธิ์ อำเภอพนัสนิคม อำเภอเกาะจันทร์ เส้นทางนี้ทางหลวงได้เวนคืนที่ข้างเคียงไว้หลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถ ทำทางข้ามได้ อยากจะหารือท่านประธานทำหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการ ก่อสร้างทางข้ามเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและรถติดได้

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ เส้นทาง ๓๓๑ กิโลเมตรที่ ๙๘ สี่แยกเนินหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีนั้น เป็นทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สมควรที่จะต้องทำทางข้ามในสี่แยกนี้

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ เรื่องไฟแดง ๓๓๑ กิโลเมตรที่ ๘๓ หรือสี่แยกหนองงูเหลือม หลายสิบปีแล้วตรงนี้มันไม่มีไฟ อยู่ใกล้วัดด้วย

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๖ เส้น ๓๒๔๕ สี่แยกปรกฟ้า อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี สี่แยกนี้ชุมชนหนาแน่น ใกล้วัด โรงเรียน มัสยิด แต่ไม่มีไฟแดงให้พี่น้องประชาชนในการข้าม พี่น้องประชาชนนั้นเสียชีวิต แล้วก็ได้รับอุบัติเหตุเกือบทุกวัน จึงนำเรียนท่านประธานสภา ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพิพิธ รัตนรักษ์ ครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทย สร้างชาติ ก่อนอื่นกระผมต้องขออนุญาตนำเรียนท่านประธานหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในพื้นที่เขต ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วยอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน ตำบลเกาะเต่า และอำเภอดอนสัก ตลอดจนอำเภอกาญจนดิษฐ์ ขอ Slide ด้วยครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทาง เข้ามาท่องเที่ยวในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ นั้น เราได้มีจำนวน นักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดประมาณ ๖ ล้านกว่าคนครับ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นักท่องเที่ยวได้ลดลง เกิดภาวะ COVID-19 นักท่องเที่ยวได้ลดลงเหลือประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ กว่าคน ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ จำนวนนักท่องเที่ยวได้เพิ่มได้กลับคืนอีก ครั้งหนึ่ง ได้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ ๓,๖๐๐,๐๐๐ กว่าคนนะครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

รายได้การจัดเก็บภาษีของการท่องเที่ยว เขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ประกอบด้วยอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และ ๑๗ อำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ ประมาณ ๑๐๒,๐๐๐ กว่าล้านบาทต่อปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ เราจะสังเกตว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง รายได้ก็ลดลง เหลือประมาณ ๒๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท ส่วนในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ นักท่องเที่ยวได้กลับคืนสู่สภาพอีกครั้งหนึ่ง โดยนักท่องเที่ยว เราจัดเก็บได้ประมาณ ๒๗,๐๐๐ ล้านกว่าบาท นี่คือสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ท่องเที่ยวในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีและการจัดเก็บภาษีที่มีความสอดคล้อง ต้องยอมรับว่า จากการที่นักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามา ย่อมที่จะมีปัญหาประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กระผมขอนำเรียนในเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ให้ท่านประธานสภาทราบครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ในส่วนประเด็นที่ ๒ นั้น เรื่องของการขาดแคลนน้ำ น้ำดื่มน้ำใช้ และการเข้าถึงระบบไฟฟ้า อาชีพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาชีพเกษตรกรรม และประมงถือว่า มีความสำคัญ เป็นอาชีพหลักของเขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้านการบริการหัวใจหลักของการท่องเที่ยว ปัญหาเรื่องน้ำถือว่าเป็นปัญหาหลัก ปัญหาไฟฟ้าถือว่าเป็นปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนในเขต ๒ นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญนะครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ส่วนในประเด็นที่ ๓ นั้น เรื่องของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงออกแบบให้เหมาะสมกับเมืองท่องเที่ยว ผมขออนุญาต นำเรียนต่อนะครับ

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องผลิตการเกษตรต้องยอมรับว่าอำเภอดอนสัก และอำเภอกาญจนดิษฐ์นั้นเรามีประสิทธิภาพ ผลผลิต การต่อยอด หรือการเพิ่มมูลค่า เรายังขาดรายได้อยู่

นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

สุดท้ายนั้นกระผมต้องขอนำเรียนท่านประธาน การพัฒนาการท่องเที่ยว และการบูรณาการท่องเที่ยวกับชุมชน การกระจายรายได้ การสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตที่มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการท่องเที่ยว กระผมขอกราบเรียนท่านประธานในเบื้องต้น เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่เขต ๒ กระผมขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงการคลัง ตลอดจน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาหาแนวทางในการแก้ไขให้กับพื้นที่ดังกล่าวด้วย เพราะถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ ๒ กำลังมีความเดือดร้อนอยู่ ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล จากชาวอยุธยา และบางบาลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ขอปรึกษาหารือทั้งหมด ๕ เรื่องด้วยกันครับ

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอให้เร่งรัดโครงการปรับปรุงพื้นผิวถนนและขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข ๓๐๙ บริเวณทางเข้าวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากปัญหาพื้นผิวการจราจรที่ชำรุดและคอสะพานที่ทรุด อีกทั้งยังมี ช่องการจราจรเพียงแค่ ๒ ช่องเท่านั้น

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้เร่งรัดโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๓๘ จากสี่แยกวัดกอไผ่ถึงคลองมโนราห์ อำเภอบางบาล ซึ่งได้รับความเสียหาย จากรถบรรทุกดิน รถบรรทุกทราย ที่วิ่งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ต่อเนื่องเลยครับ ขอให้เร่งรัดแก้ไขถนนเลียบคลองมโนราห์ จากทางหลวงชนบท ๔๐๓๘ จนถึงวัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล เนื่องจากเป็นชุมชนที่มี ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากครับท่านประธาน มีทั้ง Resort โรงละคร จุดชมค้างคาวแม่ไก่ และวัดสำคัญหลายแห่ง แต่ถนนกลับทรุดโทรมเป็นอย่างมากจนกระทบต่อวิถีชีวิต และการท่องเที่ยวของชุมชน

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ขอให้แก้ไขจุดกลับรถใต้สะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดสำคัญของพวกเราชาวอยุธยาครับ เนื่องจากมีรถบรรทุกจำนวนมาก หลบด่านชั่งน้ำหนักมาใช้เส้นทางนี้ครับ ท่านประธาน ต่อเนื่องไปจนถึงตำบลปากกราน คลองตะเคียน และตำบลบ้านรุน โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประกาศว่าจะลงพื้นที่ก็พบว่ารถบรรทุกหนีมาใช้เส้นทางนี้เยอะมากขึ้นจนปัจจุบันนี้ ถนนเสียไปแล้ว ๑ เลนนะครับ ท่านประธาน พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก

นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ศูนย์ขยะต้นแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือชื่อเล่นว่าบ่อขยะบางบาล กำลังก่อปัญหาอย่างหนักให้กับพี่น้องอำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางบาลครับท่านประธาน เมื่อฝนตกหนักก็เกิดกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ แต่เมื่อฝนแล้งก็เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ เกิดเป็นมลพิษและหมอกควัน กล่าวได้ว่าอยุธยา และบางบาลนี่ถูกปกคลุมไปด้วย ๔ หมอกร้ายด้วยกันครับ ท่านประธาน ได้แก่ ๑. ฝุ่นควัน จากรถบรรทุกดิน รถบรรทุกทราย ๒. หมอกควันจากการเผาอิฐ ๓. หมอกควันจากการเผานา จนไปถึง PM2.5 และ ๔. หมอกควันจากเพลิงไหม้บ่อขยะจนเป็นมลพิษที่ส่งผลร้ายแรง ต่อสุขภาพประชาชน ผมมีข้อเสนอเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ครับ ๑. คือ ขอให้ อบจ. พระนครศรีอยุธยาเร่งหาแนวทางการจัดการขยะที่ตกค้างอยู่ในบ่อขยะโดยเร็ว ที่สุด โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพี่น้องประชาชน ๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำจัดขยะมูลฝอย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำจัดขยะได้เองโดยที่ไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอำนาจ วิลาวัลย์ ครับ

นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ อำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขต ๑ จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง

นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรกผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม ท่านแสวง ม่วงสังข์ กับพี่น้องชาวบ้าน ๖๐ หลังคาเรือน เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๒ ทุ่มได้เกิดเหตุน้ำกัดเซาะตลิ่งดินเกิดการทรุดตัวบริเวณริมแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้ถนนที่พี่น้องชาวบ้านสัญจรได้เกิดความเสียหายอย่างมากเป็นระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจร ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะทำการซ่อมแซม จึงนำเรื่องฝากผมถึงท่านประธานได้ช่วย ประสานไปยังหน่วยงานที่มีบุคลากรและมีงบประมาณเพียงพอได้เข้าช่วยเหลือดำเนินการ หรือทางกระทรวงมหาดไทยจะช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ทาง อบต. ได้ดำเนินการแก้ไข ให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วนนะครับ ชาวบ้านเป็นห่วงว่าถ้าดำเนินการล่าช้าความเสียหาย จะลุกลามบานปลายทำให้รั้วบ้านและตัวบ้านได้รับความเสียหายตามไปด้วย ขอฝาก ท่านประธานเร่งรัดประสานงานหน่วยงานที่สามารถดำเนินการได้ช่วยเหลือปรับปรุง เรื่องดังกล่าวด้วยครับ ส่วนรายละเอียดผมขอส่งเป็นหนังสือให้ท่านประธานครับ

นายอำนาจ วิลาวัลย์ ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับร้องเรียนจากนางสาวเพ็ญทรัพย์ คุณแม่ของน้องฟลุค นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ได้ประสบอุบัติเหตุในขณะอยู่ที่โรงเรียน ขณะที่รับประทาน อาหารกลางวันที่โรงเรียนได้มีเด็กรุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ วิ่งชนเข้ากับน้องฟลุคจนเป็นเหตุให้ น้องฟลุคล้มลงศีรษะฟาดพื้นอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้กะโหลกศีรษะร้าว เลือดคั่งในสมอง แพทย์ต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน แพทย์ได้แจ้งกับคุณพ่อคุณแม่น้องว่าน้องอาจเป็น เจ้าชายนิทราได้ แต่การผ่าตัดเป็นไปด้วยดีน้องสามารถฟื้นกลับมาได้แต่ไม่สมบูรณ์ ระหว่างนี้ น้องยังต้องรักษายังไม่สามารถเดินเองได้ แล้วก็มีอาการปวดหัวเป็นบางครั้ง ผมได้นำเรื่องนี้ มาปรึกษาหารือกับท่านประธานเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือให้กับครอบครัวของน้องฟลุค เพราะคุณแม่มาร้องเรียนกับผมว่าตั้งแต่ผ่าตัดจนย้ายกลับมาอยู่บ้านยังไม่มีหน่วยงานไหน เข้ามารับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณแม่ได้รับเงิน ๕,๐๐๐ บาท จากทางโรงเรียน ที่มอบให้ แล้วก็บอกว่าจะนำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับคณะผู้บริหาร จนเวลาเกือบ ๑ เดือน ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูและประกันอุบัติเหตุที่ทางโรงเรียนทำไว้ให้กับน้องก็ปฏิเสธ การเยียวยา เรื่องนี้ผมเลยอยากฝากถึงท่านผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการว่าท่านต้องหาแนวทาง ป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ขึ้นต้องมีหน่วยงานเข้าไปรับผิดชอบดูแล ประกันอุบัติเหตุ ที่ทางโรงเรียนทำให้ก็เบิกจ่ายได้สูงสุดเพียง ๕,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ ครั้ง น่าจะเป็นการเอาเปรียบ กับเด็กและครอบครัวมากเกินไป ผมจึงอยากฝากทางกระทรวงศึกษาธิการช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย แล้วก็ฝากท่านประธานช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลครอบครัวน้องหน่อยนะครับ อย่างน้อยก็ให้น้องได้มีเงินไปรักษาตัวให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะตอนนี้ครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ลำบากเพราะต้องเสียเวลาแล้วก็เสียการทำมาหากินในการดูแลน้อง กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง ๑ ตำบล คือตำบลหนองไผ่ ใคร่ขออนุญาต ท่านประธานหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัด ใกล้เคียงดังนี้นะครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรกปัญหาจราจรติดขัดบนถนน ๒๐๒๓ จากแยกมิตรภาพ หมายเลข ๒ ก็คือถนนขอนแก่น-อุดรธานี นั่นละครับ ถึงที่ว่าการอำเภอวังสามหมอ โดยเริ่มต้นจากถนน ที่เมืองเก่า ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปีไปถึงหน้าที่ว่าการอำเภอวังสามหมอซึ่งเป็น ๒ ช่องจราจร ในช่วงเวลาเร่งด่วนจราจรสัญจรไปมามีรถสะสมเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาล สงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ มีรถติดสะสม ๒-๓ กิโลเมตร จึงขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัด ขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจรบนถนนสาย ๒๐๒๓ จากอำเภอกุมภวาปีไปถึงอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี โดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดนะครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ๒ ข้างทาง บนถนนเมืองเก่า ตำบลพันดอนถึงตำบลเมืองใหม่ อำเภอกุมภวาปี ซึ่งระยะทาง ๖ กิโลเมตร ซึ่งทั้ง ๒ ฝั่งนี้ ไม่มีเลย ไม่มีไฟจราจรนะครับ ไฟฟ้าของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนและมีผู้คนสัญจร ไปมาจำนวนมาก ในเวลากลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างเลย แล้วก็พี่น้องประชาชนก็จะเกิด ความเดือดร้อนแล้วอาจจะเกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาก็ได้

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาสะพานข้ามลำน้ำปาวชำรุดทรุดโทรมอย่างมากนะครับ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะพานแห่งนี้ ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ รวมแล้วประมาณ ๔๕ ปี เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดอุดรธานีที่ใช้เส้นทางนี้ หรือแม้กระทั่งจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยที่ได้เดินทาง มาตรงจุดนี้ ผ่านอำเภอกุมภวาปีแห่งนี้สัญจรไปมาได้หลายจังหวัดนะครับ ที่ได้เดินทางมา จากกรุงเทพมหานครก็จะผ่านแยก ไม่ต้องเข้าอุดรธานีก็จะผ่านแยกไป อำเภอกู่แก้ว อำเภอหนองหาน ไปสว่างแดนดิน ถึงบึงกาฬ นอกจากนั้นก็ไปถึงพังโคน สกลนคร และนอกจากนี้ก็จะเดินทางไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ที่เป็นเขตติดต่อได้นะครับ เพราะฉะนั้น การขนส่งสินค้าทางด้านการเกษตรซึ่งมีปัญหามาก ข้าว อ้อย มัน ยาง ถ้าหากว่าสะพานแห่งนี้ ทรุดโทรมเกิดอุบัติเหตุถล่มลงมาอีกมันจะเกิดปัญหาเหมือนกับลาดกระบังครับ จึงอยากจะ ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดสร้างสะพานลำน้ำปาวแห่งนี้ใหม่ได้แล้ว แล้วก็ทำเป็น ๔ ช่องจราจร พี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนพี่น้องทั่วประเทศไทยที่ได้ สัญจรไปมา เข้าไปดูแหล่งท่องเที่ยว ไปอะไรต่าง ๆ เดินทางไปมา ก็จะได้รับความสะดวก เป็นอย่างมากครับ ขอกราบขอบคุณครับ สวัสดีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสัญญา นิลสุพรรณ ครับ

นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายสัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขต ๓ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมขออนุญาตนำข้อหารือของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มานำเรียนท่านประธานดังนี้นะครับ ก่อนอื่นพี่น้องจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร กราบขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ท่านได้กรุณาอนุมัติ งบประมาณในการสร้างฝายกั้นน้ำชั่วคราวแม่น้ำปิง ฝายหนองขวัญ ซึ่งจะทำให้พี่น้อง ประชาชนทั้ง ๓ จังหวัดได้รับประโยชน์ในการก่อสร้างครั้งนี้ ซึ่งท่านได้อนุมัติงบไป ๓๐๐ ล้านบาท

นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องแรกที่ผมจะขออนุญาต ในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัยเองครับท่านประธาน ก็ยังมีพื้นที่ที่ยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งซึ่งได้แก่หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ และตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย ซึ่งผมได้รับการประสานงานจากท่านกำนันลำภู เลิศเมือง กำนันตำบลบางแก้ว ว่าเกษตรกรกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนไม่มีน้ำ ใส่นาข้าวนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการแก้มลิงดอนยาวอันเนื่องมาจาก พระราชดำริที่บ้านกระทุ่มโทน แต่ว่าความจุของอ่างยังน้อยอยู่ จึงอยากให้เพิ่มความจุ ของอ่างดังกล่าว และอ่างดังกล่าวเองก็มีพื้นที่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ ซึ่งกั้นขวาง ระหว่างแม่น้ำปิงกับอ่างดังกล่าว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกรุณาหาวิธีในการที่จะ ได้ผันน้ำจากแม่น้ำปิงไปเก็บยังอ่างดังกล่าวนะครับ

นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องขอให้มีการผลักดันโครงการประตูระบายน้ำคลองเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองหัวดุมครับท่านประธาน จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เราได้ขับเคลื่อนกันมาหลายปีนะครับ ซึ่งต้องขอบคุณทางกรมชลประทาน ซึ่งท่านได้กรุณาลงพื้นที่เข้าไปสำรวจแล้วก็ออกแผนรังวัด ซึ่งได้ทราบว่าในขณะนี้ ทางกรมชลประทานเองได้มีการประชุมชี้แจงประชาชนได้ทราบแล้วว่ามีการวางแผน ในการจ่ายค่าทดแทนในปี ๒๕๖๗ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการรออนุมัติงบประมาณ ในปี ๒๕๖๗ จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณางบประมาณเพื่อการดำเนินการ ในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมากเลยนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ ครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาความขัดแย้ง ของรถรับจ้างหรือรถแท็กซี่บริการสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต ระหว่างรถป้ายเหลือง รถป้ายเขียว และรถป้ายขาวหรือที่เราเรียกกันว่ารถ Application ประการแรกครับ ปรากฏว่ามีกลุ่มแท็กซี่ ที่ทำตัวหรือมีพฤติกรรมเป็นคิวรถแท็กซี่ Mafia ทำการข่มขู่รถแท็กซี่ป้ายเหลือง ตาม Slide ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านประธานนะครับ รวมไปถึงมีการข่มขู่รถแท็กซี่ป้ายขาวหรือที่เรา เรียกกันว่ารถ Application และที่ผ่านมาไม่นานนี้ที่ปรากฏในหน้าสื่อข่าวต่าง ๆ นะครับ มีการข่มขู่ผู้โดยสารให้ลงจากรถซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อุกอาจมาก และทำให้ผู้ประกอบการ รถแท็กซี่มิเตอร์ ป้ายเหลือง หรือแท็กซี่เหลือง แดง และแท็กซี่ป้ายขาว Application ทำการรับส่งผู้โดยสารแต่เพียงขาเดียวเพราะเข้าไปแล้วไม่กล้ารับผู้โดยสารกลับออกมา เพราะเกรงว่าจะถูกคุกคามจากกลุ่มคิวรถบางแห่งที่มีพฤติกรรมเป็นแท็กซี่ Mafia นะครับ และเหตุนี้เองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่ารถโดยสาร โดยเฉพาะค่ารถโดยสารสาธารณะ ในจังหวัดภูเก็ตมีอัตราที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ นะครับ ขออนุญาตกลับไปที่ Slide แผ่นที่ ๑ ก่อนครับ ต้นทุน รถแท็กซี่ไม่เท่ากันระหว่างป้ายเหลือง ป้ายเขียวที่มีต้นทุนสูงกว่าป้ายขาว ตรงนี้ทำให้เกิด ความไม่เป็นธรรมและทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบของผู้ประกอบการรถแท็กซี่

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ นะครับ รถแท็กซี่ป้ายขาวที่เป็นรถ Application ที่ผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมก็ถูกปรับ แล้วก็กลับมากระทำความผิดซ้ำอีกเพราะโทษปรับมันช่างเบา เหลือเกินครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

สิ่งที่ผมอยากจะหารือท่านประธานในข้อแรกก็คือฝากไปยังกระทรวง คมนาคมและ/หรือกรมการขนส่งทางบกนะครับ ให้ลดต้นทุนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ทั้ง ๓ ป้ายสีให้อยู่ในอัตราใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ รถรับจ้างสาธารณะ ขอให้เพิ่มอัตราโทษของผู้ประกอบการรถแท็กซี่นะครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ประการถัดมาในข้อที่ ๒ ขอ Slide ถัดไปด้วยนะครับ ข้อที่ ๒ ที่ผมหารือ ท่านประธานนะครับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการฝ่าธงแดงลงเล่นน้ำทะเลจำนวน ๕ ราย ผมหารือท่านประธาน ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ เพิ่มอำนาจให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรามนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิด การสูญเสียของนักท่องเที่ยวที่ฝ่าธงแดงลงเล่นน้ำในจังหวัดภูเก็ต

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ข้อหารือข้อสุดท้ายในข้อที่ ๓ นะครับ เป็นเรื่องห้องน้ำโรงเรียนครับ ผมได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในโรงเรียนของรัฐหลายแห่งว่า ห้องน้ำโรงเรียนไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เป็นไปตามคู่มือการจัดการส้วมสาธารณะของกรมอนามัย และไม่เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ระยะที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ถึงพุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไป เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เมื่อได้รับข้อร้องเรียน ผมลงตรวจสอบพื้นที่จริง ได้พบว่า โรงเรียนหลายแห่งมีห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านสมชาติครับ เลยเวลาเยอะแล้วครับ เดี๋ยวทำเป็นหนังสือตามมานะครับ ขออภัยด้วย ต่อไปเป็นท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ครับ ๑.๕๐ บาทต่อกิโลกรัม และได้อนุมัติให้มีการชดเชยช่วยเหลืออีก ๗๕ สตางค์ต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา ๓ เดือน แต่ท่านประธานครับเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมได้รับหนังสือจาก คุณตะวัน ตีบกลาง ประธานสหกรณ์โคนมเทพสถิต ได้ขอให้ติดตามเรื่องสำคัญ ๒ เรื่องครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้เร่งรัดเงินชดเชย ๗๕ สตางค์ต่อกิโลกรัม วงเงิน ๒๓๗ ล้านบาท ผมนำเรียนท่านประธานครับว่าเรื่องนี้ได้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มานานพอสมควรครับ ซึ่งที่สำคัญครับที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ได้อนุมัติให้ใช้งบกลางปี ๒๕๖๖ แต่วันนี้ผ่านไปเกือบ ๑ ปีแล้วครับเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินชดเชย กระผมจึงขอให้ กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้เร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ต้องตอบ เกษตรกรให้ได้ว่าเขาจะได้เงินเมื่อไร ต้องชัดเจนครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ครับเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคมที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการโคนม และผลิตภัณฑ์นม หรือ Milk Board ได้มีมติให้ปรับราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น ๒.๒๕ บาท ต่อกิโลกรัม แต่ผ่านไปแล้ว ๕ เดือนครับ ยังไม่มีวี่แววความคืบหน้าล่าสุดครับท่านประธาน Milk Board ก็คือท่านปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าเรื่องนี้ ได้เตรียมเอกสารพร้อมแล้วแต่ไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากประเด็น การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. ในชุดรักษาราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๙ ซึ่งกระผม มีความเห็นแย้งผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายข้อห้ามตามมาตรา ๑๖๙ ทั้ง (๑) และ (๓) กระผม จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งว่าสามารถจะดำเนินการ ได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้เร่งรีบในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรโคนมให้เร็วที่สุดครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่าน ทินพล ศรีธเรศ ครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ทินพล ศรีธเรศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๕ พรรคเพื่อไทย กระผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้รับร้องเรียนจากท่านกำนัน และสารวัตรกำนันตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงความเดือดร้อนของ พี่น้องบ้านบ่อ ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่าทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมบ้านเรือนและโรงเรียน แล้วก็ไหลเข้าอาคารเรียน แล้วก็ไหลเข้าบ้านเรือนหลาย ๆ ครั้งได้ประกาศหยุดเรียน ได้รับความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วครับสาเหตุเกิดจากถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ เส้นทาง กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ตั้งแต่มีการก่อสร้างเสร็จ พบว่าถนนเส้นนี้ขวางทางระบายน้ำออกจาก หมู่บ้าน แล้วก็มีท่อระบายน้ำที่ยังมีขนาดเล็กแล้วก็ลอดใต้ถนนซึ่งมีระยะทางยาว ไม่สามารถ ที่จะระบายน้ำได้ทัน จึงเรียนท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ เส้นทางกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ช่วงกิโลเมตรที่ ๒๓-๒๗ ระหว่างบ้านหนองบัว-บ้านท่ากลาง ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ น้ำชีทะลักท่วม หยุดปิดการจราจรไป เมื่อน้ำลด ผิวจราจรก็เสียหาย แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ซ่อมบำรุงไปแล้วโดยการใช้หินคลุกมา ซ่อมแซมชั่วคราว แล้วก็เกิดหลุมเป็นบ่ออีก เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งครับ จึงฝากท่านประธาน เรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยซ่อมบำรุงให้ได้มีมาตรฐานด้วยครับ

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ไม่มีไฟส่องสว่างเวลากลางคืนตรงทางแยกที่ออกจากถนน ๔ เลน สายกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ถนนเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ East West Economic Corridor เป็นทางแยกเชื่อมไปบ้านกุดคลอง ตำบลดอนจาน อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ จุดนี้ เวลากลางคืนมืดมากครับ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งชาวบ้านก็เลยร้องเรียนมา อยากได้ไฟส่องสว่าง ในเวลากลางคืน

นายทินพล ศรีธเรศ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เรื่องทวงถามการขอใช้อาคารสถานที่ของเทศบาลตำบลหนองอีบุตร สืบเนื่องจากมีการประกาศยกเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คือโรงเรียนนิคมกุฉินารายณ์ หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทางเทศบาลตำบลหนองอีบุตรเห็นว่าอาคาร สถานที่ยังใช้งานได้ จึงได้ทำเรื่องขอใช้อาคารสถานที่ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ทั้งนี้การดำเนินการขอใช้พื้นที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาอย่างเร่งด่วนด้วยครับ เพราะว่าถ้าปล่อยเวลาเนิ่นนานไปจะทำให้อาคาร สถานที่ทรุดโทรมและประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ และพื้นที่ของกระผมมีทั้งท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก เอาไว้มีรัฐบาลใหม่จะนำเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมานำเรียนปรึกษากับ ท่านประธานในโอกาสต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่าน นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ครับ

นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๙ จังหวัดเชียงใหม่ พรรคพลังประชารัฐ กระผมมีเรื่องหารือต่อท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม กรณีโครงการก่อสร้างถนน Bypass อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทางหลวงที่ ๑๐๘ เริ่มต้นที่ทางหลวง ๑๐๘ กม. ๕๔+๙๗๑ บรรจบทางหลวง ๑๐๘ กม. ๖๒+๑๗๙ รวมระยะทาง ๗.๖๓๙ กม. งบประมาณประมาณ ๙๐๕ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ใน แผนของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมแล้วนะครับ หลังจากที่ทางหลวง ๑๐๘ ได้สร้างเสร็จเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ก็เลยทำให้ พี่น้องประชาชนในเขตอำเภอจอมทองและอำเภอใกล้เคียงของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับ ความเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องการจราจรติดขัด เนื่องจากรูปของทางหลวง ๑๐๘ นี่มันเป็นรูป นาฬิกาทราย พอขาขึ้นไปบรรจบที่ กม. ที่ ๕๔+๙๗๑ ขาล่องนี่ กม. ที่ ๖๒+๑๗๙ เป็นรูป นาฬิกาทราย ฉะนั้น Speed ของรถหรืออะไรต่าง ๆ การจราจรก็จะมาติดขัดใน เขตอำเภอจอมทองซึ่งเป็น ๒ ช่องทางจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งแก่พี่น้องประชาชน มลพิษในช่วงเวลาเร่งด่วนของการจราจรก็เกิดมลพิษ พี่น้องได้มีความเสียหายบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนหลายรายแล้ว ฉะนั้นจึงขอฝากท่านประธานนะครับ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ทางหลวง ๑๐๘ เป็นช่องทางที่จะเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะเชื่อมต่อไปประเทศเมียนมา ประเทศจีน ฉะนั้นถ้าทางหลวงตรงนี้เสร็จสมบูรณ์ในอนาคตนี่ก็จะเป็นช่องทางที่เชื่อมในการที่ขยายเศรษฐกิจ ของภาคเหนือตอนบนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในโอกาสต่อไปนะครับ ฉะนั้นนี้จึงขอฝาก ท่านประธานได้หารือผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ช่วยเร่งรัด ในการที่จะทำถนน Bypass ตรงนี้ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน และเป็นการที่จะเชื่อมต่อเศรษฐกิจต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยชาติ รุจิพรวศิน ครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอนำปัญหา ของพี่น้องชาวนครราชสีมา เขต ๒ มาหารือกับท่านประธาน ๓ เรื่องครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาเรื่องไฟริมถนนซึ่งมีแต่เสาไฟแต่ไฟไม่ติดมาเป็นเวลานานแล้ว และยังเป็นถนนสายหลักที่พี่น้องประชาชนถึง ๔ ตำบล มะเริง หนองระเวียง หนองบัวศาลา และหัวทะเล ใช้เพื่อเดินทางสัญจร เส้นทางประกอบไปด้วย

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

๑. จากสามแยกโลตัสตำบลหัวทะเลไปจนถึงหน้าสวนพระเทพฯ ตำบล หนองระเวียง

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

๒. ถนนสาย ฉ. เส้น ๑๑๑๑ จากตำบลมะเริงไปตำบลหนองบัวศาลา จากการสำรวจพบว่าไฟริมถนนบริเวณดังกล่าวไม่ติดมาเป็นเวลานานเกือบปี เพราะหม้อแปลง ไฟฟ้ากับสายไฟถูกขโมย ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้ให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนครับ ถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมไปถึง มีการจี้ มีการปล้น เกิดขึ้นได้ ผมขอฝากท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการติดตั้งให้มีไฟส่องสว่าง เพื่อให้พี่น้องชาวหัวทะเล มะเริง หนองบัวศาลา และหนองระเวียง ได้ขับขี่รถอย่างปลอดภัย

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาของพี่น้องชาวตำบลบ้านโพธิ์ ถนนเส้นหน้าโรงเรียนบ้านหนองบัว ซึ่งมีนักเรียนกว่า ๑๐๐ ชีวิตถนนเส้นนี้เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเส้นทาง ประชาชนชาวบ้านโพธิ์ ขับขี่รถลำบาก เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผู้ปกครองใช้ส่งน้อง ๆ ไปเรียนหนังสือ ซึ่งเป็น อันตรายทั้งตัวผู้ขับขี่ รวมไปถึงน้อง ๆ นักเรียนที่เดินอยู่ข้างทางจะเกิดอันตราย จึงอยากฝาก ท่านประธานช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไขด้วยครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายผมได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องชาวตำบลจอหอ ๒ เรื่อง ๑. น้ำประปามีลักษณะขุ่นและไม่สะอาด ไม่สามารถนำไปอุปโภคหรือบริโภคได้ ๒. ถนนหลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเส้นบึงทับช้าง บ้านปูน เส้นหน้าเจริญภัณฑ์ และอีกหลายจุด เวลาฝนตกมักจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้พี่น้องชาวจอหอ และประชาชนผู้สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากครับ ผมขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย การประปาส่วนภูมิภาค อบต. จอหอ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนชาวจอหอด้วยครับ สำหรับวันนี้ผมขอนำ ปัญหาพี่น้องชาวนครราชสีมา เขต ๒ มาหารือกับท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ครับ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะนำปัญหาพี่น้องประชาชนมาหารือ เนื่องจากวันนี้เป็นวัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอส่งกำลังใจให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุก ๆ ท่าน แล้วก็ฝากทาง กระทรวงมหาดไทยได้ดูแลเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายของพ่อแม่ลูกนะคะ อันนี้ก็ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ฝากมา จากการลงพื้นที่วันนี้มีเรื่องมาหารือท่านประธาน ๔ เรื่อง

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ พี่น้องประชาชนที่ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง แล้วก็ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำอุปโภค ขอให้ทางการประปาส่วนภูมิภาค ช่วยขยายเขตเข้าไปที่พื้นที่ดังกล่าวนะคะ ก็นำเรียนท่านประธานค่ะ

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการจราจรที่ประชาชนใช้รถใช้ถนนบริเวณแยก โพธิ์เก้าต้นข้างใต้ทางรถไฟรางคู่ แล้วก็เป็นถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่บริเวณแยกโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ปัญหาความเดือดร้อนก็คือว่าจากเดิมนั้นแยกโพธิ์เก้าต้นเคยมี สัญญาณไฟจราจร แต่พอถนนสร้างเสร็จสัญญาณไฟจราจรไม่มีค่ะ แล้วมีวงเวียนมาแทน วงเวียนก็เป็นขนาดที่เล็กมาก ถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักนะคะ เนื่องจากเมื่อสักครู่บอกว่า ทางแยกโพธิ์เก้าต้นนะคะ สิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากได้ก็คือขอสะพานข้ามแยกโพธิ์เก้าต้น แล้วก็ขอสัญญาณไฟจราจรนะคะเพราะเนื่องจากว่าวงเวียนที่มีขนาดเล็กนี้ รถก็เลย ต้องแย่งกัน คือวัดใจกันเลยค่ะว่าใครจะเข้าก่อนใครจะเข้าทีหลังนะคะ เรื่องนี้ทางกรมทางหลวง ของจังหวัดลพบุรีก็ได้นำเรื่องส่งมาที่กระทรวงแล้วนะคะ อันนี้ก็ฝากทางกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาต่อเนื่องไป

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของไฟส่องสว่าง ณ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๑ ลพบุรี-สิงห์บุรี ช่วงวัดโพธิ์ศรีไปถึงเทศบาลตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง ในเวลากลางคืน มืดมากแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง

นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ก็ได้รับเรื่องจากท่านเจ้าอาวาสวัดคุ้งท่าเลา เรื่องขอไฟฟ้าส่องสว่าง เช่นกัน บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๒๘ หน้าวัดคุ้งท่าเลา ตำบลบางพึ่ง ถึงบริเวณ เขตติดต่ออำเภอบ้านหมี่ ในเวลากลางคืนก็รู้สึกไม่ปลอดภัยในการสัญจรเช่นกันนะคะ ทั้งเรื่องที่ ๒ เรื่องที่ ๓ และเรื่องที่ ๔ นำเรียนท่านประธานถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจะขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาที่ซ้ำซากที่เป็นต้นตอ ของความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ซึ่งพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รายย่อยวันนี้พบปัญหาเรื่องการนำเข้าหมูเถื่อนค่ะ ขอ Slide แผ่นถัดไปเลยค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัญหาหมูเถื่อน ที่มีการลักลอบนำเข้ากันมาอย่างต่อเนื่อง บางส่วนได้มีการส่งจำหน่ายกันอย่างเกลื่อนตลาด รวมทั้งมีการค้าขายหมูเถื่อนในโลก Online ค่ะ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกออกได้ว่า อันไหนเป็นหมูไทย อันไหนเป็นหมูเถื่อน ท่านประธานทราบไหมคะว่าหมูเถื่อนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเมื่อมาอยู่ในตู้แช่นาน ๆ จะเป็นหมูที่ด้อยคุณภาพค่ะและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ของผู้บริโภคอย่างที่ไม่รู้ตัว จากสถิติการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนในปี ๒๕๖๖ ที่มีการตรวจยึด และอายัดได้มีจำนวนทั้งสิ้น ๔,๔๐๐ กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ กว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะ ท่านประธานคะสิ่งที่ดิฉันกังวลอยู่ในขณะนี้ก็คือว่าปริมาณหมูเถื่อนที่มีการตรวจพบ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ รัฐมีวิธีการดำเนินการจัดการอย่างไรคะ เพื่อให้เกิด ความโปร่งใสและไม่เปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้มี การเร่งดำเนินการดังนี้ค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. อยากให้มีการตรวจสอบตู้แช่ทั้งหมดที่มีในท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออื่น ๆ ทั่วประเทศว่ามีตู้แช่หมูเถื่อนที่แอบแฝงหรือเล็ดรอดจากการตรวจ Check ของเจ้าหน้าที่ อยู่หรือไม่

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. มาตรการในการทำลายฝังกลบหมูเถื่อน ซึ่งเป็นของกลางต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส่และตรวจสอบได้ค่ะ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และ DSI อื่น ๆ ควรมีการเพิ่มเติมตัวแทนจากผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หรือกระทั่ง ตัวแทนจากภาคประชาชนค่ะ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นประจักษ์พยานในการฝังกลบ หรือทำลายหมูเถื่อนเหล่านี้ เพราะวันนี้เกิดคำถามมากมายว่าหมูเถื่อนเหล่านี้ได้มีการฝังกลบ และทำลายจริงตามปริมาณที่จับกุมหรืออายัดได้หรือไม่ค่ะ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ อาจทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความวิตกกังวลว่าบริโภคหมูเถื่อนเข้าไปตามร้านชาบู หมูกระทะต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ดังนั้นคำถามวันนี้เจ็บแต่ต้องจบ จึงฝากถึง DSI กรมปศุสัตว์ รวมถึงกรมศุลกากรให้เร่งตรวจสอบและดำเนินการเรื่องปัญหาหมูเถื่อน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่าน ชัยทิพย์ กมลพันธุ์ทิพย์ ครับ

นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่าประธานที่เคารพ กระผม นายชัยทิพย์ กมลพันธุ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๕ พรรคพลังประชารัฐ ขออนุญาตเรียนหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดังนี้ ปัญหาการจราจรถนนสายบ้านสิงห์-บ้านแพ้ว ทางหลวงหมายเลข ๓๓๓๕ เป็นถนนที่เริ่มต้นจากตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผ่านตำบลหัวโพธิ์ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ไปเชื่อมต่อกับถนนสายบ้านแพ้ว-นครปฐม ทางหลวงหมายเลข ๓๗๕ เขตอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันถนนสายดังกล่าว เป็นถนน ๒ ช่องจราจร ความกว้างรวมไหล่ทางประมาณ ๙ เมตร ความยาวตลอดเส้นทาง ๑๗.๖๙๐ กิโลเมตร ถนนสายดังกล่าวเป็นถนนเชื่อมต่อ ๓ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดราชบุรี จากการสำรวจพบว่ามีผู้ใช้รถสัญจรผ่านไปมาเฉลี่ย ประมาณวันละ ๑๔,๘๐๐ คัน เกิดอุบัติเหตุ ๔๘ ครั้งต่อปี และมีผู้เสียชีวิต ๒ คนต่อปี กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ จากข้อมูลที่ผมได้กล่าวไปเบื้องต้นนั้นเป็นข้อมูลจริงที่ผมได้ไปขอรับมาจาก หน่วยงานราชการทั้งสิ้นจึงจะเห็นได้ว่าเป็นถนนที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรใช้ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตรและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกันถึง ๓ จังหวัด ซึ่งผมเอง ก็แปลกใจนะครับว่าถนนที่มีความสำคัญอย่างนี้ทำไมในยุคปัจจุบันยังเป็นถนนที่เป็น ๒ ช่องทางจราจร วันนี้ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนเสียงของพี่น้องประชาชนฝากเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โปรดพิจารณาแก้ไขโดยขยายถนนให้เป็น ๔ ช่อง จราจร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงขออนุญาตกราบเรียนมาด้วย ความเคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ ขอนำปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเข้าหารือกับ ท่านประธานดังนี้ครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาของบ้านน้ำแจ้งพัฒนา หมู่ที่ ๑๕ ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หมู่บ้านนี้ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินโคลนสภาพสัญจรไปมาลำบากมาก ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน หมู่บ้านนี้ไม่ได้ขาด แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่หมู่บ้านนี้ขาดคือโอกาส และสิ่งที่ต้องแบกรับไว้คือต้นทุนชีวิต ที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องถนนทางเข้าหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ หมู่ที่ ๖ ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านหมู่ที่ ๖ รอถนนเส้นนี้มา ๒๒ ปี แต่สิ่งที่ได้ คือถนนคอนกรีตกว้างแค่ ๔ เมตร ไม่มีไหล่ทาง ขอบถนนสูง ๑๕-๒๐ เซนติเมตร การสัญจรไปมาลำบากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กระจกมองข้างแตก ประสบอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ถ้าล้อรถตกไหล่ทางก็จะเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยทำไหล่ทางให้เขาหน่อยหรือขยายผิวถนนให้กว้าง อีกสักนิดหนึ่ง ไหน ๆ ได้ถนนมาแล้วขอให้ได้ถนนที่ปลอดภัยและมีคุณภาพครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องนี้ผ่านมายังท่านนายกทวีทรัพย์ ตาฉิมมา นายก อบต. ท่าสะแก ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ เรื่องซ่อมสะพานข้ามน้ำพึง สะพานนี้ เชื่อมระหว่างหมู่ที่ ๕ ตำบลท่าสะแกไปยังหมู่ที่ ๗ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ ๒ ตำบลนี้สัญจรไปมาผ่านสะพานนี้ แต่สะพานนี้ถูกน้ำป่าพัดไปเมื่อคราวฝนตกหนัก เมื่อปีที่แล้ว และสะพานหายไปทั้งสะพานครับ ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้วจนถึงบัดนี้ครบรอบ ๑ ปี ยังไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลแก้ไข ก็ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยไปซ่อมแซมสะพานนี้เพื่อให้ได้รับการสัญจรไปมาอย่างสะดวกครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ปัญหาการขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอ เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้พูดถึงปัญหาราคาสัตว์ที่เป็นปศุสัตว์ราคาตกต่ำ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทย คือปัญหาการขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอครับ ตอนนี้ประเทศไทย ประสบปัญหาหนักขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอ ๑๕๒ อำเภอจาก ๘๗๘ อำเภอคิดเป็น ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ เกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ที่หนักกว่านั้นคือจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกขาดปศุสัตว์อำเภออยู่ ๓ อำเภอจาก ๙ อำเภอ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และในเดือน ตุลาคมนี้จะลาออกอีก ๑ อำเภอ คืออำเภอชาติตระการ เพราะฉะนั้นในเดือนตุลาคมนี้ จังหวัดพิษณุโลกจะขาดปศุสัตว์อำเภอ ๔ อำเภอ คืออำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอชาติตระการ การขาดปศุสัตว์อำเภอก็เหมือนไปโรงพยาบาล แล้วไม่มีหมอครับ ขีดความสามารถในการรักษาย่อมมีอยู่อย่างจำกัด และเมื่อในยามวิกฤติ การแก้ไขปัญหาก็อาจจะไม่ทันท่วงทีครับ และการขาดปศุสัตว์อำเภอก็เหมือนการขาดคน ให้ความรู้ในการแนะนำเกษตรกรที่เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย คนที่น่าจะเข้าใจปัญหานี้ ดีที่สุดก็คือท่านประธานนะครับ ฝากท่านประธานไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ครับ

นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๓ อำเภอโพธาราม อำเภอจอมบึง พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่ เกี่ยวข้อง ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนชาวอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี รวมถึงผู้ใช้ถนนเส้นทางหลวง หมายเลข ๓๐๘๗ ตอนควบคุม ๐๑๐๐ ตอนราชบุรี-แก้มอ้น ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๘ บริเวณแยกร้านไก่คู่ ทางเข้าหมู่บ้านหนองกระทุ่ม แยกนี้ไม่มีอะไร บอกเตือนเลยครับท่านประธานทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งยิ่งถ้าเป็นนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ขับรถ มาจากที่อื่นจะไม่รู้เลยว่าข้างหน้าเป็นจุดตัดสี่แยก ประชาชนเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน มากมาย สิ่งที่ประชาชนอยากได้ก็คือวงเวียนหรือสัญญาณไฟจราจร และถนนเส้นเดียวกันนี้ เองบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๖+๙๐๔ ตลอดเส้นทางก็ยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งถนนเส้นที่กล่าว มานี้เป็นถนนสายหลักที่ใช้ในเขตอำเภอจอมบึงไปยังอำเภอสวนผึ้ง รวมถึงไปยังจังหวัดกาญจนบุรี อีกเส้นทางหนึ่ง โดยเฉพาะวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางเทศบาลเมืองจอมพล อำเภอจอมบึง ได้ทำเรื่องประสานขอความอนุเคราะห์ไปยัง แขวงทางหลวงราชบุรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ก่อสร้างวงเวียน หรือติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครับท่านประธาน กระผมจึงขอฝากเรื่องดังกล่าวให้ท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งดำเนินการ สำรวจก่อสร้างวงเวียนหรือติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อประชาชนจะได้ ใช้เส้นทางนี้ขับขี่สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้นครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านอัครนันท์ กัณณ์กัตตินันท์ ครับ

นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี เขต ๑ พรรคเพื่อไทย มีเรื่องปรึกษาหารือกับท่านประธานถึง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวกาญจนบุรีอยู่ ๒ เรื่องครับท่านประธาน

นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรกคือปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชนเมืองครับ เป็นปัญหาที่เกิดผลกระทบ ครอบคลุม อปท. หลายแห่ง เริ่มจากน้ำป่าไหลบ่าผ่านทางภูเขา จาก อบต. แก่งเสี้ยน มาจากภูเขาตอง เทศบาลเมืองปากแพรก ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนเมืองครับ เขตเทศบาลตำบล ท่ามะขาม เทศบาลตำบลแก่งเสี้ยน และเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่รองรับ การไหลของน้ำบ่า จนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขัง รอการระบายในเขตพื้นที่ชุมชน เทศบาล เมืองกาญจนบุรี และเทศบาลเมืองปากแพรก ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากครับท่านประธาน เป็นปัญหาที่พี่น้องคนเมืองกาญจน์ได้ประสบพบเจอกันเป็นประจำ และจำเป็นที่ทางรัฐบาล ต้องรีบเข้ามาแก้ไขโดยด่วน โดยสมัยก่อนกว่าน้ำจะท่วมต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันฝนตก ๒-๓ ชั่วโมงก็น้ำท่วมแล้วครับท่านประธาน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนนะครับ โดยพื้นที่ มีดังต่อไปนี้ครับ ๑. คือถนน Bypass เลี่ยงเมืองกาญจนบุรี ๒. ถนนพัฒนาการตลอดเส้น ๓. บริเวณตลาดเรดซิตี้ หมู่บ้านจงเจริญ ๔. หมู่บ้านร่วมพัฒนา ๕. ชุมชนชุกโดน ๖. ชุมชน สัมพันธ์นิเวศน์ ๗. ชุมชนอู่ทอง-สี่แยกวังสารภี ๘. ชุมชนบ้านบ่อ และ ๙. คือถนน ๓๒๓ แสงชูโต อีกทั้งการสัญจรที่เป็นไปได้อย่างลำบากก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่พื้นที่พวกนี้ ยังคงมีความซับซ้อนของพื้นที่ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคตครับ และได้บรรเทาสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชนในวันที่ฝนตกหนักครับท่านประธาน ผมจึงขอ อนุญาตกราบเรียนไปยังท่านประธานผ่านไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาหารือครับ

นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ เป็นปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนชาวกาญจนบุรี ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนานครับ กาญจนบุรีมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย แต่ใช้จริงได้เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ครับท่านประธาน พื้นที่เหล่านี้ถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย เช่น พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ประชาชน ไม่สามารถขอน้ำ ขอไฟได้ แล้วก็พื้นที่ทางทหารนะครับ ดังนั้นผมอยากจะขอ เรียนท่านประธานนะครับ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหมเข้ามาช่วย หาแนวทางในการช่วยให้ประชาชนสามารถขอน้ำ ขอไฟได้ครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ หารือครบ ๓๐ ท่านแล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๒๙ คน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนสมาชิกนะครับ ขณะนี้มีสมาชิกลงชื่อประชุมแล้ว ๓๓๒ ท่าน ครบองค์ประชุมนะครับ ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระนะครับ สมาชิกมีเรื่องหารือ หรือครับ เชิญครับท่านณัฐชา

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตหารือท่านประธานสักเล็กน้อยนะครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมครับ ท่านประธานครับ ผม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จากชาวบางขุนเทียน บางบอน ท่านประธานครับ เรื่องปรึกษาหารือ ในสภาชุดนี้ได้เริ่มต้นมาอย่างดีแล้วนะครับ แต่ว่าผมมีเรื่องที่จะพูดคุยและสื่อสารไปยัง ท่านประธานในส่วนของการติดตามครับ ท่านประธานสังเกตไหมครับตั้งแต่เมื่อวานนี้ จนถึงวันนี้นะครับ ผู้ที่ปรึกษาหารือมีการปรึกษาหารือเรื่องที่ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากว่า ประสิทธิภาพของการปรึกษาหารือของเรานั้นไม่ส่งผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงครับ ในสภาชุดที่ ๒๕ ที่ผ่านมาผมมีการปรึกษาหารือเรื่องเดิมและยังไม่มีการแก้ไขค้างอยู่จำนวน ๓-๔ เรื่อง บางเรื่องมีการปรึกษาหารือซ้ำ ๓-๔ รอบ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแก้ไข แล้วก็ได้รับ หนังสือจากสภาว่าส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว แล้วก็เงียบหายไป คือภารกิจหน้าที่ ของสภาไม่ใช่นำเรื่องของเราส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วอย่างเดียวครับ ต้องติดตาม ความคืบหน้าให้ด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อลดปัญหาในสภาชุดที่ ๒๕ ที่เคยเกิดขึ้น ในสภาชุดที่ ๒๖ ที่กำลังเริ่มต้นอยู่นี้ผมอยากให้ท่านประธานได้นำเรียนท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ในการที่จะ จัดตั้งคณะกรรมการที่จะมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง ในการที่จะติดตามเรื่องของ การปรึกษาหารือ เสร็จแล้วนี่หลังจากการปรึกษาหารือจะได้มีการสรุปสักเล็กน้อยครับว่า กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม ภายใต้กรมทางหลวงมีเรื่องค้างจำนวนกี่เรื่อง ปรึกษาหารือไปแล้วกี่รอบ สรุปให้กับพี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบครับ ไม่อย่างนั้น สส. เขตเวลามาพูดในสภาแห่งนี้แล้วมันไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่นี่เขาจะบอกว่า สส. เขต ไม่ตามงานบ้างละ เขาจะบอกว่าปรึกษาหารือแล้วมันไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ถูกต้อง ไม่ได้แก้ไข ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนบ้างละครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นอยากจะฝากเรื่องนี้ ให้ท่านประธานได้ช่วยแก้ไขในสภาชุดที่ ๒๖ ของเราด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านอันนั้นเป็นประท้วงนะครับ ท่านจะหารือในแนวเดียวกันหรือเปล่าครับ เป็นประเด็นเดียวกันหรือเปล่าครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คนละประเด็นครับท่านประธาน

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวสักครู่ครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอประเด็นที่ท่านณัฐชายกขึ้นมาก่อนว่ามีสมาชิกท่านใด อยากให้ความเห็นเพิ่มเติมไหมครับ แต่ขอสั้น ๆ นะครับ ก็คิดว่าน่าจะเห็นตรงกันนะครับ เดี๋ยวผมจะนำเรียนทางประธานสภานะครับ แล้วก็ท่านที่ดูแลเรื่องข้อปรึกษาหารือก็จะเป็น ท่านรองประธานท่านที่สองนะครับ เดี๋ยวเราจะมีการประชุมเรื่องนี้ด้วยกันนะครับ ท่านรอมฎอนมีอะไรครับ ขอโทษครับ มีไหมครับ เชิญครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีประเด็นที่อยากจะปรึกษาหารือ ท่านประธานนิดหน่อยครับ เพราะว่าสืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ววันเดียวกันนี้นะครับ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วมีการยื่นญัตติด่วนให้ทางสภาได้พิจารณาผลกระทบ แล้วก็ข้อเสนอแนะ ต่อรัฐบาลในกรณีเหตุการณ์โกดังดอกไม้เพลิงระเบิดที่นราธิวาสนะครับ แล้วก็ท่านประธาน ในที่ประชุมวันนั้นมีการรับปากคำมั่นว่าจะส่งเรื่องให้ทางคณะรัฐมนตรีในการที่จะพิจารณา ข้อเสนอแนะของสมาชิกสภา แล้วก็ตอนนี้ก็ครบ ๗ วันแล้วนะครับท่านประธานครับ ก็เลยอยากจะขออนุญาตท่านประธานได้ติดตาม ทวงถามถึงคำตอบ หรือว่าข้อตอบสนอง จากทางคณะรัฐมนตรีครับ ผมทราบดีว่าทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือส่งไปเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม แล้วก็ทราบดีว่าตามข้อบังคับก็อยู่ในกรอบเวลาภายใน ๖๐ วัน แต่ไหน ๆ ท่านประธาน ในที่ประชุมวันนั้นก็ได้กำชับเอาไว้นะครับ ก็อยากจะเรียนถามท่านประธานนะครับ ให้มีการติดตามคำตอบนี้จากคณะรัฐมนตรีครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เดี๋ยวอย่างไรทางเจ้าหน้าที่ช่วยติดตามเรื่องนี้กับทางคณะรัฐมนตรีนะครับ แล้วก็ส่งคำตอบที่เป็นเอกสารให้กับผู้เสนอญัตติด่วนทั้งหมดนะครับ เมื่อสักครู่มีสมาชิก เพื่อไทย ขอโทษครับผมมองไม่ค่อยชัด ท่านฐิติมาครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ อยากจะขอปรึกษาท่านประธานถึงเรื่องหารือนี้นิดหนึ่งว่า เนื่องจากว่า สส. ในพื้นที่จะเจอ ปัญหาของพี่น้องประชาชนเยอะมากทีเดียว กว่า Loop มันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ พูด ๓ นาทีนี้มันนานหลายเดือน เป็นไปได้ไหมคะที่ให้ สส. ทำเป็นหนังสือถึงท่านประธาน ถึงความเดือดร้อน พร้อมภาพประกอบอะไรมันก็เหมือนกับเราพูดในสภา แต่เป็นหนังสือ เพื่อที่จะแบ่งเบา การที่เราจะรอนานเหลือเกินนี่ เป็นไปได้ไหมคะ ขอปรึกษาค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันนะครับท่านฐิติมา แล้วก็เพื่อนสมาชิกครับ โดยที่สามารถรับเป็นหนังสือร้องเรียนนะครับ เสนอข้อร้องเรียนจากทางสำนักการประชุมได้ แต่ก็แน่นอนว่าการพูดนี่ก็ทางหน่วยงานก็จะได้ยินทันที สมาชิกก็ลองแบ่งสัดส่วนดูนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

แล้วก็อีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือการตั้งกระทู้ถามนะครับ และให้มี การตอบในราชกิจจานุเบกษา อันนี้ก็จะทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น หรือว่าเราจำเป็น ต้องใช้กลไกของกรรมาธิการที่จะเร่งขึ้นมาตอนนี้เราก็จะมีโอกาสนำเรื่องเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนเข้าไปหารือกันในชั้นกรรมาธิการได้ครับ ผมคิดว่าเราน่าจะต้องเข้าวาระแล้ว มีท่านใดติดใจ หรือจะหารือเรื่องอะไรอีกไหมครับ ผมขอเข้าวาระนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกครับ สำหรับการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เนื่องจากเราพยายาม จะจัดให้ทางหน่วยงานได้เข้ามาชี้แจงให้มีประสิทธิภาพที่สุดนะครับ ไม่ให้มีการเลื่อน หรือว่าไม่ให้มีความไม่พร้อมต่าง ๆ เลยมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระเบียบวาระ การประชุมเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้ามาชี้แจงตามคิวที่เหมาะสมได้ครับ แต่ข้อบังคับบอกว่าการดำเนินการจะต้องตามลำดับระเบียบวาระที่การประชุมตั้งไว้ เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตหารือท่านสมาชิกนะครับว่าผมขอจะสลับตำแหน่ง สลับลำดับเวลา ให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้ามาชี้แจงได้ ก็จะมีการขอปรับเปลี่ยนระเบียบวาระ สักเล็กน้อยครับ สมาชิกท่านใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ เชิญท่านจุลพันธ์ครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เพื่อไทย เชียงใหม่ กระบวนการในการเลื่อนระเบียบวาระนี้นะครับ เป็นอำนาจของสภานะครับ ถ้าท่านประธานถามสมาชิกแล้ว ไม่มีผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็เป็นไปตามนั้น แต่สิ่งที่ผมจะถามเมื่อสักครู่นี้ท่านประธานใช้คำว่าเปลี่ยนระเบียบวาระ หรือว่าท่านประธานจะเลื่อนเรื่องที่จะเข้ามาเป็นเรื่องรับทราบต่อสภาครับ ถ้าเลื่อน เฉพาะเรื่องรับทราบในวันนี้เท่านั้นนี่ พวกผมไม่ติดใจอะไร แต่ถ้ามีการสลับสับเปลี่ยน ระเบียบวาระนี้มันเป็นเรื่องซึ่งค่อนข้างใหญ่นะครับ อาจจะต้องมีการพูดคุยกันเพิ่มเติม เรียนสอบถามแค่นี้ครับ ถ้าเฉพาะวาระรับทราบ แล้วในวันนี้ไม่ได้ติดใจอะไร ครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนท่านจุลพันธ์นะครับ แล้วก็ท่านสมาชิกเป็นการปรับเปลี่ยนวาระเฉพาะเรื่องรับทราบ ภายในวันนี้เท่านั้นครับ สมาชิกท่านใดมีข้อคิดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านประธานนะครับ ที่เรื่องรับทราบในครั้งนี้ ยังให้หน่วยงานได้มาสรุปชี้แจง ๕ นาที เพราะเรื่องรับทราบทั้งหมดเกิดจากกฎหมาย แต่สิ่งที่อยากจะให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ท่านประธานครับเป็นไปได้หรือไม่เรื่องรับทราบ แต่ละเรื่องนี่ ท่านประธานให้คนในองค์กรสภา เช่น สำนักวิชาการ ถ้าอะไรเป็นเรื่องกองทุน เรื่องงบประมาณก็ให้สำนักงบประมาณสภาช่วยดูและช่วยกลั่นกรอง อย่างน้อยที่สุดรายงาน ที่ส่งมาเป็นไปตามกฎหมายไหม มีการใช้เงินใช้ทองอย่างไร หรืออย่างเช่นกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติอย่างนี้ ดูว่าเป็นไปตามมาตรฐานรัฐธรรมนูญไหม คณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติปกป้องสิทธิของรัฐมากกว่าปกป้องสิทธิของประชาชน ทำไมประชาชน ทั้งประเทศยังไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในลักษณะอย่างนี้ สมาชิก ๕๐๐ คน บางคน ไม่ได้อ่าน จะได้มีเวลาอ่านจากเจ้าหน้าที่สภา ซึ่งเราก็มีงบประมาณสภาค่อนข้างเยอะ อันนี้อยากจะฝากเพิ่มเติมจาก ๕ นาที ให้ท่านกรุณาพิจารณาให้คนในสภาหรือองค์กร ในสภาได้ช่วยย่อยรายงานแล้วสรุปมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยจะเป็นสิ่งที่ดีครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวจะนำเรื่องนี้ปรึกษากับทางท่านประธานสภา เชิญท่านจุลพันธ์ครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอเวลา ท่านประธานสักครู่ครับ ผม จุลพันธ์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กระบวนการของสภาเราเวลาที่มีเรื่องรับทราบเข้า จริง ๆ มันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ ๔ ปีก่อน แล้วก็ก่อนหน้านั้นอีก โดยเฉพาะเวลาที่มีเรื่องรับทราบ ถ้าเป็นรายงานการปฏิบัติงาน ของหน่วยงาน เราก็จะพิจารณาเนื้องานของหน่วยงานได้อย่างครบถ้วน แต่เมื่อเป็นรายงาน ทางบัญชี ก็จะเป็น สตง. มานั่งกันหมดเลย แล้วก็ชี้แจงการตรวจบัญชี แต่เพื่อนสมาชิก ในการอภิปรายต้องเข้าใจว่าความเป็นห่วงเป็นใยของเราคือการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เป็นหลัก กลายเป็นว่าเวลาที่เป็นรายงานทางบัญชีหน่วยงานไม่ต้องมานั่งเลย แล้วก็มีแต่ สตง. มารับหน้าพวกเราอย่างเดียว พวกเราก็ให้ข้อแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะ ปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติภารกิจที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเงินด้วย แต่ปรากฏว่ารับเรื่องไป สตง. ไม่มีทางหรอกครับ ที่จะส่งไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ถ้าท่านประธานจะกรุณา ในอนาคตเวลามีรายงานเกี่ยวกับเรื่องรายงานทางบัญชีของหน่วยงานที่ต้องมารายงานต่อรัฐสภา ต่อสภาผู้แทนราษฎร สตง. ก็มา หน่วยงานก็ส่งตัวแทนมา จะเป็นประโยชน์ที่สุด อันนี้ขอฝาก ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เป็นข้อเสนอที่มีประโยชน์มากนะครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตท่านประธานครับ นำเรียนเสริมท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติเมื่อสักครู่นะครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารายงาน การตรวจสอบการเงินและรายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เรารับทราบ จริง ๆ มันจะต้องมาคู่ขนานกัน เวลามามันเป็นรายงานที่จะต้องมาตรงกัน ถ้าเกิดไม่ตรงกัน ผมเข้าใจว่าเราไปเอารายงาน สตง. ขึ้นมา แล้วรายงานผลการปฏิบัติงานก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง มันคนละครั้ง คราวนี้คำถามของผมต่อเนื่องมีอีกนะครับ คำว่า รับทราบ ของเรา ตอนที่ ผมเป็นอดีตเลขาธิการ กสทช. อยากจะนำเรียนว่า คำว่า รับทราบ เรามีคำถามกลับไป ก็คือเขานำไปปฏิบัติหรือเปล่าครับ ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราไม่รับทราบได้ไหมครับ ความหมายของผมคือรายงานที่เขาเสนอเข้ามามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เห็นด้วย แต่เราจะทำอย่างไรที่บอกว่าถ้าเขาไม่ดำเนินการตามที่เราบอกมันจะต้องไม่รับทราบ รายงานนี้ เพื่อที่จะให้เขานำไปปฏิบัติให้ได้ ผมยกตัวอย่างนะครับ เรื่องรายงานที่เมื่อวาน สมาชิกผู้ทรงเกียรติของเราได้มีการอภิปรายกันเรื่องเงินเดือนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มี การปรับปรุงเอง มีการทำเองอะไรทั้งหมด เขาจะนำข้อสังเกตตรงนี้ไปปรับปรุง แล้วรายงาน กลับมาที่เราให้รับทราบว่าเขานำข้อสังเกตของเราไปดำเนินการหรือไม่ ตรงนี้มันเป็น สาระสำคัญมาก เพราะว่าเราพูดกันถึงเรื่องรับทราบ หน่วยงานเขาก็คิดว่ามาเสนอรายงาน กับเราตอบอะไรก็ได้ ตอบอย่างไรก็ได้ ตอบกลับไปแล้วก็ถือว่ารับทราบแล้ว ที่ประชุมก็ถือว่า รับทราบ แต่ผลปฏิบัติไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ เราจะ ทำให้เกิดผลปฏิบัติอย่างนี้ได้อย่างไรครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมคิดว่าเราหารือกันพอสมควรนะครับ ผมใช้เวลามากกว่าในเรื่องนี้ยังไม่ได้นะครับ เพราะเดี๋ยวจะทำให้การประชุมดำเนินการต่อไปไม่ได้ ผมขอท่านมานพเป็นท่านสุดท้าย สั้น ๆ นะครับ เป็นประเด็นเดียวกันไหมครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นเดียวกันครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง อยากจะปรึกษาท่านประธานต่อรายงานของหน่วยงาน ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิกให้ความสำคัญในเรื่องรายงานของหน่วยงานจำนวนมาก ทีนี้เรื่องเวลาครับ ท่านประธาน ผมเข้าใจว่าทำอย่างไรให้รายงานที่มันค้างอยู่ได้ทยอยผ่านการรายงาน ต่อสภาผู้แทนราษฎรให้รวดเร็วมากขึ้น ทีนี้เรื่องเวลาโดยปกติที่ผ่านมาเรายึดปฏิบัติก็คือว่า โดยมาตรฐานท่านละ ๗ นาที แต่ผมเข้าใจว่า ถ้าจะประหยัดเวลาเพื่อที่จะให้ เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเยอะขึ้นในประเด็นที่ ๑

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เพื่อให้รายงานของหน่วยงานได้ไหลไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ครับ ถ้าขยับเวลาคือเป็น ๕ นาที เป็นมาตรฐานเพื่อที่จะให้ทั้งการมีส่วนร่วมของเพื่อนสมาชิก ในสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ทั้งที่จะให้รายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ถูกรายงานรวดเร็ว มากขึ้น อยากจะหารือท่านประธานครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สำหรับข้อเสนอที่มีประโยชน์ของสมาชิกทั้ง ๔ ท่านนะครับ ผมก็จะนำเรียนปรึกษากับทาง ท่านประธานสภา แล้วก็รองท่านที่สอง เพื่อจะหาข้อสรุปในการพัฒนาแนวทางในการประชุม รับทราบรายงานต่อไปนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของจำนวนเวลา แล้วก็จำนวนผู้อภิปราย ตอนนี้ยังเป็นสภาพที่เรา ยังไม่มี Whip เพราะฉะนั้นการสื่อสารไปในแต่ละพรรคก็ขอความร่วมมือว่าประชุมกัน ในประเด็นไหน อย่างไรบ้าง ค่อนข้างมีข้อติดขัดเล็กน้อยนะครับ แต่ถ้าเรามี Whip รัฐบาล Whip ฝ่ายค้านก็จะดีขึ้นนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอเข้าสู่รายงานที่ ๑ เลยนะครับ และวันนี้เราก็จะดำเนินการตามแบบเดิม ทางหน่วยงานก็จะ Brief Highlight ว่ารายงานนี้มีความคืบหน้าอย่างไร แล้วก็ประเด็นสำคัญ อย่างไรบ้าง ๕ นาที แล้วก็จะเป็นทางสมาชิกได้ร่วมอภิปรายครับ ก็ขอเป็นหน่วยงานแรก เลยนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

วาระที่ ๒.๘ รับทราบรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญผู้ชี้แจงเลยครับ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม ข้อบังคับ ข้อ ๓๑ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมมีท่านพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครับ มีท่านศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ท่านวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ท่านพิทักษ์พล บุญยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ท่านหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครับ ขอบคุณที่ให้เกียรติสภานะครับ จะขอทางตัวแทน ของผู้ชี้แจงได้สรุปรายงานให้ฟังให้กับสมาชิก แล้วก็พี่น้องประชาชนฟัง ๕ นาทีก่อน เชิญครับ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

สวัสดีค่ะ กราบเรียนท่านประธานสภา แล้วก็เรียนท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรตินะคะ ดิฉันชื่อพรประไพ กาญจนรินทร์ เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินะคะ ก็จะมารายงาน ๒ ฉบับ อย่างที่เมื่อสักครู่นี้ท่านประธานได้เกริ่นนำแล้วนะคะ คือรายงาน ผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี ๒๕๖๕ แล้วก็ผลการปฏิบัติงานของ กสม. ปี ๒๕๖๕ เราก็จัดทำโดยประมวลจากเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วก็ประมวลจากข้อมูลข้อคิดเห็น ซึ่งทางท่าน สส. ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้เมื่อคราวที่แล้วที่มา ก็ประกอบด้วยในการที่จัดทำรายงาน ทั้ง ๒ ฉบับนะคะ ฉบับแรกคือรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ปี ๒๕๖๕ ก็ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้เราจะต้องทำรายงานเหล่านี้ให้เสร็จ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินนะคะ แล้วก็ต้องสรุปปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนของรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับเรื่องประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ก็มีประเด็นหลัก ๆ ที่เราจะประมวลที่จะรายงานในวันนี้ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป. แล้วก็หลักการระหว่างประเทศซึ่งเราเป็นภาคีนะคะ มี ๕ ด้าน ก็ประกอบด้วย

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ด้านแรก เรื่องการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งปีที่แล้วมีที่สำคัญ ๒ สถานการณ์ค่ะ คือเรื่องของโควิด แล้วก็เรื่องของการใช้เสรีภาพ ในการชุมนุม อันนี้เป็นด้านแรกที่เราบรรจุไว้ในรายงานผลการประเมินสถานการณ์นะคะ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

แล้วอีก ๓ ส่วน ก็จะเป็นเรื่องของภายใต้กรอบพันธกรณี อันแรกก็เป็นเรื่องของ สถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง ๕ ประเด็นที่สำคัญที่เราประมวลไว้ ก็มีเรื่องของ อันแรกสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันที่ ๒ เรื่องของการกระทำทรมานและการบังคับให้ สูญหายนะคะ อันที่ ๓ เป็นเรื่องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันที่ ๔ เป็นเรื่องของ สถานการณ์ในภาคใต้ อันที่ ๕ ก็เป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องของ เสรีภาพของสื่อมวลชน แล้วก็เสรีภาพในการรวมกลุ่ม อันนี้คือด้านที่ ๒

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ด้านที่ ๓ ที่เราประเมินไว้ก็คือเรื่องของสถานการณ์ด้านสิทธิ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ก็มี ๕ ประเด็นสำคัญ ก็มีเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิ การศึกษา สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากร แล้วก็สิ่งแวดล้อม แล้วก็เรื่องของธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ด้านที่ ๔ ก็เป็นเรื่องของการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มบุคคลก็มี ๗ ประเด็นสำคัญ ก็มีเรื่องของสิทธิเด็ก สิทธิของผู้สูงอายุ สิทธิคนพิการ สิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศ เรื่องของสถานะและสิทธิของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แล้วก็เรื่องของสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเข้าใจว่าเมื่อวานก็มีการเสนอ พ.ร.บ. เรื่องนี้ แล้วก็เรื่องสิทธิของกลุ่มคนจนเมือง อันนี้คือภาพรวมในเรื่องของการรายงานสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนของปี ๒๕๖๕

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในส่วนของพัฒนาการจากการที่เราประเมินก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านที่เห็นว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดีก็มีอยู่ ๔-๕ ประการ อันแรกก็คือว่าหลังจากที่มี ภาวะเรื่องของโควิดปีที่ผ่านมาก็มีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิดได้ครอบคลุมเพียงพอ ในประชากรกลุ่มต่าง ๆ เรื่องของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้ บุคคลสูญหาย อันนี้ก็ออกมาเป็น พ.ร.บ. เรียบร้อย บังคับใช้แล้ว เรื่องของนักเรียนที่หลุดออก จากระบบ เนื่องจากสถานการณ์ของโควิดก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น แล้วก็มีการที่ ครม. อนุมัติ การคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่รับเบี้ยซ้ำซ้อน แล้วก็สวัสดิการอื่น ๆ ก็มีการคืนให้

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

แล้วอันสุดท้ายที่เห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นก็คือการที่รัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือ กับผู้ที่หนีภัยสงครามมาบริเวณชายแดน ก็ยึดหลักการที่จะไม่ส่งคนกลับไปสู่อันตราย อันนี้รวมทั้งก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อป้องกันโรคให้แก่ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนความท้าทายคือเป็นเรื่องที่คงจะต้องมีการแก้ไขต่อไป ก็มีเรื่องของความพร้อม ของหน่วยงานของภาครัฐในการที่จะบังคับใช้กฎหมายป้องกันและทรมานและกระทำให้ บุคคลสูญหาย แล้วก็มีเรื่องของการแพร่ระบาดก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่เกิดภาวะความรู้ถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย แล้วก็มีเรื่องของสิทธิชุมชนไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่รับผลกระทบ จากเขตป่าอนุรักษ์ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แล้วก็โครงการพัฒนาของรัฐ แล้วก็การประกอบ กิจการบางประเภทที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน แล้วก็เรื่องของการมีมาตรการคุ้มครอง เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงที่ยังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ คนพิการก็ยังไม่สามารถจะ เข้าถึงสิทธิในด้านต่าง ๆ ได้ แล้วก็มีเรื่องของสถานะสิทธิซึ่งมีคนที่ยังไม่มีบัตรประชาชน และเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ได้อีกจำนวนมาก อันนี้คือภาพรวมเรื่องของสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา เราก็มีข้อเสนอแนะซึ่งก็จะปรากฏอยู่ในรายงานที่ได้นำเรียนให้ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ทราบแล้ว คืออันนั้นในส่วนของอันแรก รายงานฉบับแรก

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ฉบับที่ ๒ คือเรื่องของผลการปฏิบัติงานของ กสม. ก็มีอยู่ ๕ ด้าน อันแรก ก็คือเรื่องการตรวจสอบรายงานข้อเท็จจริง เรื่องการละเมิด ปีที่ผ่านมานี้เรารับเรื่องร้องเรียน ประมาณ ๑,๑๔๑ เรื่อง ได้ตรวจสอบแล้วก็ช่วยเหลือ รวมทั้งส่งต่อหน่วยงานอื่น ๙๒๔ เรื่อง ที่เหลืออีก ๒๒๕ เรื่องเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ก็เลยไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้ อันนี้คือส่วนแรกในการทำงาน

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ เรื่องของการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็มีการเสนอมาตรการหรือเสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ก็มีทั้งหมด ๗ เรื่อง แล้วก็ได้จัดทำรายงานประเมิน สถานการณ์ ซึ่งเป็น ๑ ในภารกิจก็ทำเรียบร้อยแล้วอย่างที่นำเสนอเมื่อสักครู่

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตนะครับ เราขอจังหวะช่วงแรกแค่ ๕ นาทีก่อน แล้วถ้าสมาชิก ได้มีการอภิปรายแล้วมีอะไรจะตอบเพิ่มเติมค่อยเป็นหลังจากนั้นนะครับ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

หมายความว่าอันที่ ๒ เรื่องของผลการปฏิบัติงานยังไม่ต้องบรรยายใช่ไหมคะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

คืออยากให้เป็นแค่ Highlight เพราะสมาชิกทุกท่านเขามีรายงานอยู่แล้วครับ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

OK ค่ะ อย่างนั้นอันที่ ๒ ก็คงไม่มีอะไรแล้ว ก็เป็นการทำงาน อย่างนั้นเรามี กสม. อีก ๒ ท่าน แล้วก็เลขาธิการที่จะมาชี้แจงนะคะ เชิญได้เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกที่เข้าชื่อไว้นะครับ ท่านแรก เป็นท่านชลธิชา แจ้งเร็ว ครับ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขตเทศบาลท่าโขง และตำบลคลองสาม จากพรรคก้าวไกลค่ะ ก่อนอื่นดิฉันขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติหรือ กสม. ที่ยังคงบทบาทในการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในทุกมิติ และพยายามที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลภายใต้ข้อจำกัดที่รัดกุม และตัวองค์กร โดยในวันนี้ดิฉันขออภิปรายในฐานะเพื่อนที่ช่วยกันทำงานขับเคลื่อน ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานสากลไปด้วยกัน โดยเมื่ออ่านรายงานแล้ว ดิฉันอาจพูดได้ว่า กสม. ยังต้องการความกล้าหาญในการชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา สิทธิมนุษยชนในบ้านเรา นั่นคือการที่องคาพยพของรัฐไม่ยินยอมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน และต่อไปนี้จะเป็นเหตุผล ๒ ประการของดิฉันว่าทำไมดิฉันถึงพูด ดังกล่าวนะคะขอ Slide ถัดไปด้วยค่ะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เหตุผลแรกก็คือเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบการละเมิด สิทธิที่เกิดขึ้น ดิฉันชื่นชมระบบการร้องเรียนต่าง ๆ ของ กสม. ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง ได้ง่าย แล้วก็สามารถติดตามเรื่องได้ โดยในรายงานของ กสม. เองก็มีสถิติการรับ เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่จากที่ดิฉันได้รับฟังความคิดเห็น จากภาคประชาสังคม ดิฉันพบว่าในกรณีที่จะร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจ ของรัฐหรือกระทบกับความมั่นคงของรัฐช่องทางการร้องเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ดูเหมือน จะไม่เป็นผลและดูเหมือนจะไม่เห็นถึงความพยายามของ กสม. อย่างสุดความสามารถ ในการผลักดันเพื่อให้มีการตรวจสอบแล้วก็การติดตามเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ขอ Slide ถัดไปด้วยค่ะ ตัวอย่างก็จะเป็นเช่นกรณีของการถูกอุ้มหายและอุ้มฆ่านักกิจกรรมชาวไทย ที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้เดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกลอภิปรายต่อไปนะคะ หรือกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม อย่างรุนแรงซึ่งขัดกับมาตรฐานสากล นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนของ กสม. แล้ว จริง ๆ กสม. เองก็มีบทบาทในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิในพื้นที่ โดยดิฉันมีข้อสังเกตว่า กสม. ตีความอำนาจของตัวเองตามกฎหมายให้แคบจนไม่สามารถที่จะดำเนินบทบาท ในการตรวจสอบเชิงรุกในบางกรณีได้ อย่างเช่น การสังเกตการณ์คดีฟ้องร้องกลั่นแกล้ง เพื่อปิดปาก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับนายทุนใหญ่และคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน หรือการเข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิในต่างแดนที่มีการลงทุน ของคนไทย อีกทั้ง กสม. เองก็มีบทบาทในการเข้ามาสังเกตการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา อย่างมีความหมาย อย่างมีนัยน้อยจนเกินไป โดยในส่วนนี้ดิฉันมีข้อเสนอแนะต่อ กสม. ๒ เรื่องด้วยกันนะคะ ๑. ต้องปรับปรุงโครงสร้างในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ภาคประชาสังคมมั่นใจได้ว่าทุกเรื่อง ร้องเรียนที่เขาร้องเรียนเข้าไปทาง กสม. เองจะผลักดันอย่างเต็มที่ ๒. คือการขยายขอบเขต อำนาจให้มีบทบาทของการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการ ยุติธรรม เช่นการสังเกตคดีทางการเมืองและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเป็นรายงาน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

เหตุผลข้อที่ ๒ ก็คือเรื่องของความครอบคลุมข้อเท็จจริง และการวิเคราะห์ สถานการณ์ในรายงาน ดิฉันชื่นชมค่ะ ในรายงานฉบับนี้ครอบคลุมสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันพบว่ายังขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญที่ เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งมักจะมีหน้าที่ในการคุกคามประชาชนและขาดการชี้ชัด อย่างตรงไปตรงมาว่าผู้ที่มีอำนาจเหล่านี้ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล อย่างไรบ้าง โดยดิฉันขอยกตัวอย่างดังนี้ค่ะ กรณีแรกก็คือกรณีของการสลายการชุมนุม ของกลุ่มราษฎรหยุด APEC เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้วแต่ในรายงานฉบับนี้ไม่ได้ ระบุให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในเหตุการณ์คุณพายุ บุญโสภณ ซึ่งเป็นเพื่อนของ ดิฉันเอง เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ตาขวาจนตาบอด และมีผู้ชุมนุม อีกอย่างน้อย ๕ คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ใช้ก็กระสุนยางยิงบริเวณร่างกายด้านบนขึ้นไป ซึ่งขัดกับมาตรฐานสากลอย่างแน่นอนนะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

อีก ๑ ตัวอย่างก็คือเรื่องของกรณีที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาในคดีมาตรา ๑๑๒ หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่ปัจจุบันมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้สั ดส่วน และที่สำคัญคือการขัด กับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นะคะ เช่น คำสั่งให้ ใส่กำไล EM กับนักกิจกรรม ถึงแม้ว่าจะไม่มีพฤติการณ์ของการหลบหนี หรือว่าการไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน หรือคำสั่งห้ามเข้าร่วมการชุมนุม หรือคำสั่งห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ซึ่งในรายงานฉบับนี้ของ กสม. ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ อีกทั้งในรายงาน ฉบับนี้ของ กสม. เองก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของมาตรา ๑๑๒ ว่าขัดกับกฎหมาย สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือ ICCPR อย่างไรบ้าง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเอง ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานของ UN จะมีความเห็นต่อปัญหาทั้งในเรื่องของการบังคับใช้ กฎหมายและบทบัญญัติของมาตรา ๑๑๒ ไว้ และมีข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย มาโดยตลอดก็ตามนะคะ

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

อีก ๑ ตัวอย่างสุดท้ายก็คือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการ ฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากหรือว่า Anti-SLAPP Law ซึ่งในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ระบุ ไม่ได้วิเคราะห์ลงลึกไปให้เห็นถึงปัญหาว่าเหตุใดองค์กรและบุคลากร ในวงการอัยการและศาลจึงไม่ปรากฏกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันก็ขอแนะนำว่าในช่วงที่ผ่านมาเองมีงานสัมมนาของภาคประชาสังคมที่จัดขึ้น ในหัวข้อปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมายสู่การมี Anti-SLAPP Law ในประเทศไทย ก็หวังว่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อ กสม. นะคะ ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันมีข้อเสนอแนะกับ กสม. ๒ ประการด้วยกัน ประการแรก ในรายงานถัดไปของ กสม. จะต้องครอบคลุมถึง สถานการณ์ขณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสถานการณ์สิทธิได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญ คือต้องไม่ลดทอนมิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นของผู้ละเมิดนะคะ ประการที่ ๒ ในรายงานถัดไป ของ กสม. จะต้องประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการกระทำ ในลักษณะใดบ้างที่เป็นการกระทำที่ขัดหรือละเมิดกับสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล

นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ปทุมธานี ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะ ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันกล่าวมาชี้ให้เห็นว่าในการทำงานของ กสม. ยังมีท่าทีในลักษณะของความเกรงใจต่อองคาพยพของรัฐ จนไปลดทอนบทบาทที่สำคัญ ที่จำเป็นของ กสม. ลง โดยดิฉันขอสนับสนุนให้ กสม. สร้างความไว้วางใจให้กับภาคประชาสังคม ในการทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนนะคะ ในลักษณะที่กล้าเผชิญหน้ากับต้นตอของปัญหา ไปด้วยกันนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ พรรคเพื่อไทย เชียงราย เขต ๕ ประกอบด้วยอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอพญาเม็งราย และตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

วันนี้ต้องขอบคุณทางคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนที่ได้นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ และรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ชุดเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นไปตามกรอบระยะเวลาของการรายงานนะครับ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อประชาชนตรงนี้ครับ วันนี้เป็นวันพิเศษต้องขอแสดง ความยินดีกับ ๑๓๑ ปีวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งท่านเป็นนักปกครองท้องที่ผู้เป็นด่านหน้า ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน พี่น้องประชาชนครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี ๒๕๖๐ นั้นได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระซึ่งเป็นที่พึ่งและเป็นความหวังในการที่จะมาดูแล พี่น้องประชาชนเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นหน้าที่หลักจะต้อง คำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทย และผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญ นี่คือองค์กรอิสระที่เป็นความหวังของประชาชนครับ วันนี้ผมคงจะไม่อภิปรายเกินเลยไปในเอกสารที่ท่านส่งมา เพราะฉะนั้น ๒ ฉบับ ที่ท่านนำเสนอมานั้นก็ครอบคลุมในภารกิจทั้งหมด ในด้านสิทธิมนุษยชน ในเอกสารหน้า ๔๑ ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นมีหน้าที่ในการรับเรื่อง ร้องเรียน ปีนี้รับเรื่องร้องเรียนถึง ๑,๑๔๙ เรื่อง รับไว้ ๙๒๔ เรื่อง ไม่รับไว้ ๒๒๕ เรื่อง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการนั้นเป็นหน่วยงานที่รอรับเรื่องนะครับ ถ้าประชาชนมีปัญหา กระทบสิทธิ ดำเนินการมีการร้องก็รับเรื่องและดำเนินการจะเห็นว่าปีหนึ่ง ๑,๐๐๐ กว่าเรื่อง เท่านั้นเองครับ ทีนี้ถ้าถามว่ามีแค่นี้หรือประเทศไทยก็คงไม่ใช่ครับ มันคงมีเยอะกว่านี้ แต่คนที่ยังไม่ร้อง คนที่ยังไม่สามารถจะร้องได้ไม่อยู่ในสถานะที่ต้องถูกร้องได้ อันนี้ก็เป็น บุคคลที่จะต้องดูแลเช่นเดียวกัน นี่จากเอกสารหน้า ๔๑ นะครับ เพราะฉะนั้นประเด็นที่ ร้องเรียนมากที่สุดเราจะเห็นว่าสิทธิและสถานะบุคคลเป็นเรื่องแรกครับ สิทธิในกระบวนการ ยุติธรรม สิทธิชุมชนก็เป็นเรื่องรองลงมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามสิทธิและสถานะบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อการทำหน้าที่ในหลาย ๆ เรื่องของบุคคลในประเทศของเรานะครับ ผมอยากขอเรียนอย่างนี้ครับว่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ถ้าผมมองนี่ผมมองใน ๒ แนวทางของท่านก็คือท่านทำงานในเชิงรับนะครับ รับเอกสาร รับเรื่องร้องเรียน และดำเนินการ ถ้าใครไม่ถูกรับ ไม่ถูกร้อง ท่านก็ไม่รับและไม่ดำเนินการ แล้วก็ไม่ได้ แก้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาของสังคมมากมายในบ้านเมืองเราที่มีอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นปัญหา ที่จะต้องแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียม เกิดสิทธิเสรีภาพได้อย่างแท้จริงนั้นก็ต้องเป็นการทำงาน ในเชิงรุกครับ เชิงรุกที่เข้าถึงปัญหาได้ เมื่อสักครู่นี้ผู้อภิปรายก็นำภาพต่าง ๆ เข้ามา ผมไม่ขอ นำภาพเหล่านั้นมา Review ซ้ำ และเราก็เห็นปัญหาเหล่านี้เหมือน ๆ กันในบ้านเมืองเรา แต่เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ ปัญหาเรื่องนี้กระทบเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ฉะนั้นเชิงรุกท่านอาจจะมีบ้างครับ เรื่องแรกที่ผมเห็นก็คือการเสริมสร้างทุกภาคส่วนของสังคม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน การอบรมนักบริหารระดับสูง อบรมครู อบรมหน่วยงานของรัฐ ผลิตสื่อเด็กอะไรต่าง ๆ มันยังไม่ถึงประชาชน อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ของ กสม. ที่ต้องไปทำนะครับ หรือเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่น ของ กสม. ระดับโลก และขอชมท่านก็คือปรับสถานะของ กสม. จาก B เป็น A นะครับ อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในการทำงานของ กสม. นะครับ ปัญหาสิทธิมนุษยชน ของประเทศไทยมีมายาวนานและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญจึงให้มี กสม. เพื่อที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาสิทธิเหล่านี้

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ปัญหาแรกที่เราเจอมาตลอด เห็นตลอดก็คือปัญหาการลิดรอนสิทธิในทุก ๆ เรื่อง เรื่องแรกที่เราเห็นชัด ๆ ที่สุดก็คือการปฏิวัติรัฐประหารของประเทศ ไทยเรามีปฏิวัติรัฐประหาร มาแล้ว ๑๓ ครั้ง มีกบฏอีก ๑๑ ครั้ง และปฏิวัติ ๑ ครั้ง จนเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ จนถึงทุกวันนี้ ครั้งล่าสุดมีการปฏิวัติเมื่อปี ๒๕๕๗ ด้วยใคร ก็คงจะรู้ แต่อย่างไรก็ตาม เพราะยังมีการคืนอำนาจให้ประชาชนบางส่วนได้ ปี ๒๕๖๒ มีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มี สส. มากที่สุดก็เป็นฝ่ายค้าน จนมาถึงการเลือกตั้งปี ๒๕๖๖ นี่คือพัฒนาการ ของการคืนสิทธิบางส่วนให้กับประชาชน

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

อย่างไรก็ตามครับ ปัญหาที่ ๒ ก็คือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การทำร้าย ทำลาย การจับกุมคุมขัง การกลั่นแกล้งรังแกประชาชนราษฎรผู้อ่อนแอยังมีอยู่ รวมถึงความยุติธรรมที่ล่าช้าก็เป็นความไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกัน การจับแพะในหลาย ๆ คดี ที่เราเห็น จริง ๆ เอามาให้ดูได้แต่ก็ไม่อยากจะรื้อฟื้นสิ่งเหล่านั้นนะครับ เดี๋ยวจะถือว่า เป็นความขัดแย้งในสังคม แต่วันนี้เรามาพูดกันอย่างสร้างสรรค์ว่าเหล่านี้คือปัญหาของประเทศ นอกจากนั้นครับ เดี๋ยวนี้ยังมีวิธีใหม่นั่นคือการใช้ IO ใช้โลก Social ในการที่จะถล่มทำลาย ซึ่งกันและกัน กลั่นแกล้งกัน อันนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกันนะครับ เพราะฉะนั้น การที่จะให้มีสิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อคนอื่นนะครับ เรื่องของการใช้ความรุนแรง ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์หรือผู้เห็นต่าง ประเทศไทยเราเป็นเมืองศาสนาครับ เมืองพุทธศาสนา เมืองศาสนาอื่น ๆ ที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เราไม่ควรจะมีการทำร้าย ทำลายและรังแกซึ่งกันและกันครับ เรื่องของการหายสาบสูญของบุคคล ของนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ อันนี้ผมว่าถ้า กสม. มีหน้าที่โดยตรงที่เข้าไปให้สิทธิแล้วก็ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นบทบาทสำคัญของ กสม. รวมถึงสภาพความเลวร้ายของเรือนจำ สถานกักกันสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ต่าง ๆ ครับ การจับกุมคุมขังอย่าง ตามอำเภอใจ หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบในการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทางสังคมที่เห็นต่าง เพราะฉะนั้นสิทธิของมนุษย์จึงคู่กับเสรีภาพ เพราะฉะนั้นเสรีภาพ คือสิ่งที่เราต้องทำไม่เกินสิทธิคนอื่นเช่นเดียวกัน นี่คือปัญหาบางส่วนครับ ผมเชื่อว่าเดี๋ยวคงมี พี่น้องได้พูดถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมาก และคงมีภาพประกอบนะครับ อย่างไรก็ตามเสรีภาพ ส่วนบุคคลต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่นเช่นเดียวกันนั้น สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดิน เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของตนเอง ของส่วนรวม และการรวมกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการแสดงออก การพูด การชุมนุม การชอบ ไม่ชอบ กระบวนการยุติธรรม สิทธิด้านการศึกษา สิทธิด้านสุขภาพที่ต้องเข้าถึง อย่างเท่าเทียมกันนี่เป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะฉะนั้นเสรีภาพและสิทธิ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่สุดสำหรับประชาชนชาวไทย

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ฝากถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็คือเชิงรุกครับ ก็ต้องเข้าถึงปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ โดยเร็วโดยทีม ไม่ต้องรอเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ต่าง ๆ แก้ไขปกป้องผู้อ่อนแอ ผู้เปราะบาง สร้างการรับรู้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม ถูกต้อง ให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระโดย กสม. จึงจะเป็นความหวัง ของประชาชนอย่างแท้จริงครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ แล้วจะต่อด้วยท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นะครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉันธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานครเขต ๒ หรือปทุมทวัน สาทร และราชเทวี พรรคก้าวไกลค่ะทุกท่าน วันนี้ดิฉันมาพูดเรื่องการละเมิดสิทธิ ของผู้ลี้ภัยและหลักการไม่ส่งกลับ โดยอ้างอิงถึงรายงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของ กสม. ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย ทั้งหมด ๙๘,๐๐๐ คน ซึ่งประกอบด้วยลี้ภัยชาวเมียนมา ประมาณ ๙๔,๐๐๐ คน คนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงทั้ง ๙ ศูนย์ บริเวณชายแดนไทยและเมียนมา และผู้ลี้ภัยในเมือง ประมาณ ๔,๐๐๐ คน จาก ๔๐ สัญชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองโดยรอบ อันนี้เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจาก UNHCR นะคะ ตั้งแต่รัฐประหารปี ๒๕๕๗ คนไทยอย่างน้อย ๑๐๐ คนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย ๖ คน หายตัวไปอย่างลึกลับ ในกลุ่มประเทศอาเซียนและมีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยเข้ามา ในประเทศเรา ๕๘ คน ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนดเวลาค่ะท่านประธาน โดยที่ ๒ คน เสียชีวิตไปแล้วในที่กักขังใน ตม. ค่ะ การเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไม่สามารถที่จะรอ ได้อีกต่อไป ในวันนี้ดิฉันจึงอยากขออภิปรายกรณีผู้ลี้ภัยในประเทศเรา จากรายงานของ กสม. ได้มีรายงานว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐพบกับผู้ลี้ภัยคือ ๑. การพิสูจน์ความกลัวที่มีมูลความจริง หรือที่เรียกว่า Well-founded fear ผู้อ้างสิทธิผู้ลี้ภัยต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาทั้งสอง มีความหวาดกลัวต่อการถูกประหัตประหารหรือ Persecution หากพวกเขาเดินทางกลับไป ยังประเทศบ้านเกิดค่ะ ความกลัวของพวกเขานั้นมีพื้นฐานมาจากความรู้สึกที่เป็นกลาง และข้อเท็จจริง ๒. ต้องเคารพในหลักการไม่ส่งกลับหรือ Non-refoulement อย่างไรก็ดี ในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. ๑๙๕๑ นั้น ไม่มีช่องทางร้องเรียนแม้แต่ประเทศที่ให้สัตยาบัน แล้วค่ะ ๓. มีการเคารพเจ้าหน้าที่ชายแดนเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ Geneva Conventions ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่เป็น General Principle แล้วก็ Opinion Juris นะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

-๓๐/๑ หลักการการไม่ส่งกลับจึงเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ แต่ในส่วนนี้ ก็ยังพบปัญหาอยู่เมื่อมองในสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนะคะ โดยจะขอเน้นไปที่ข้อ ๒ คือเรื่องการเคารพหลักการ Non-refoulement หรือการไม่ผลักดัน ผู้ลี้ภัยกลับประเทศหรือส่งกลับไปตายนั่นเองค่ะ ขอ Slide ถัดไปค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาการพิจารณาหลักการ Non-refoulement แยกออกเป็น ๓ ข้อ ดังต่อไปนี้

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. โครงสร้างทางกฎหมายระบบกฎหมายของไทยไม่ยอมรับให้สามารถนำ กฎหมายระหว่างประเทศมาปรับใช้ได้โดยตรง เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบที่เรียกว่า Duelist หมายความว่าอนุสัญญาทุกอย่างที่เราให้สัตยาบันต้องมีการ Corporate หรือ Incorporate Formulate เข้าไปหรือบัญญัติเข้าไปในกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ของไทยค่ะ การนำกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้โดยหลักแล้วต้องผ่านการอนุวัติ Implementation ทางนิติบัญญัติเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. หลักการ Non-refoulement เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีลักษณะเป็นหลักการอย่างกว้าง ถ้าไม่มีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ในระบบกฎหมายของไทยเพื่อความมั่นคงแน่นอนและนิติฐานะ และเพื่อให้สามารถยึดหลัก ปฏิบัติที่ชัดเจนอาจก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ทั้งสำนักงาน ตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับข้อนี้คือกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายฮาคีม อัล อาไรบี บุคคลที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย แต่เป็นที่ต้องการตัวจากทางการบาห์เรน ให้ไทยส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่บาห์เรนจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลักการ Non-refoulement ประกอบกับการพิจารณาส่งตัวบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน อย่างไรก็ดีในขณะนั้นในปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ยังไม่มีกฎหมายไทยที่ระบุปรับใช้หลักการนี้ แต่อย่างใดค่ะ จึงไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาประกอบการพิจารณาไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ และเนื่องด้วยประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วย สถานะผู้ลี้ภัยใด ๆ อันมีผลให้ต้องอนุวัติโดยการต้องตรากฎหมายในประเทศหรือปรับแก้ กฎหมายในประเทศเสียก่อนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยประเทศไทยจึงจะมีความพยายามผลักดัน กฎหมายในระดับรองคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีทำมาเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย แทนกฎหมายระดับรองนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วระเบียบสำนักนายกก็มีปัญหาในหลายประการ ในเรื่องของการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด ไม่ผ่านรัฐสภาด้วยนะคะ และการที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกได้โดยอาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารแต่อย่างเดียว

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาการพิจารณาหลักการ Non-refoulement ข้อ ๓ การละเลยการปฏิบัติ หน้าที่การไม่มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนอาจนำไปสู่การไม่ปฏิบัติตาม หลักการ Non-refoulement โดยไม่มีบทลงโทษใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว อันก่อให้เกิดการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศหลายกรณี เช่น การส่งชาวอุยกูร์ จำนวนมากกลับประเทศที่จะต้องกลับไป Face กับการประหัตประหาร หรือการขังลืม ใน ตม. จนเสียชีวิตถึง ๒ รายมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ซึ่งทั้งหมดดิฉันก็เคยได้มายื่นหนังสือ กับ กมธ. ต่างประเทศแล้วกับ ๑๑ องค์กรที่เป็นองค์กร NGO ที่ทำเรื่องผู้ลี้ภัย นี่ขัดต่อกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๘๖ หรือ ICCPR ซึ่งเป็น สนธิสัญญาที่ไทยเข้าร่วมภาคีมีผลบังคับใช้มาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ขอ Slide ถัดไปค่ะ ทางออก ของปัญหานะคะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. การออกกฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ พรรคก้าวไกลกำลังผลักดัน พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลรัฐต้องยึดมั่นปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมาย

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. การเก็บส่วยจากแรงงานข้ามชาติเพื่อผ่าน Agent เพื่อให้ได้บัตรชมพู ต้องกำจัดส่วยแรงงานข้ามชาติค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. ให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัย เช่น สิทธิในการศึกษา สิทธิในการทำงาน เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย เสรีภาพในการไม่ถูกกักขัง ที่ผ่านมารัฐให้การสนับสนุนน้อยมาก มีแต่มูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง การใช้ทัศนคติทางความมั่นคงในการจัดการกับผู้ลี้ภัยรัฐควรสนับสนุนและใช้ทัศนคติ สิทธิมนุษยชน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๔. ลงสัตยาบันอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ และพิธีสาร ที่เกี่ยวข้องกับสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓ มีภาคีทั้งหมดแล้ว ๑๔๖ ภาคี และภาคีในอนุสัญญามี ๑๔๗ ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยลงสัตยาบันกับอนุสัญญา ทั้ง ๒ ฉบับ ที่มีผลผูกพัน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และช่องทางที่ ๕ สำคัญมาก ประเทศเราต้องสร้างช่องทางการร้องเรียน สำหรับผู้ลี้ภัย หรือที่เรียกว่า Individual Complain Panel เพื่อพัฒนาช่องทางการร้องเรียน ให้เข้าถึงง่ายต่อผู้ลี้ภัย เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกละเมิดสิทธิ และอาจถูกผลักดัน ให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างง่ายดาย เช่น ช่องทางการร้องเรียนที่มีภาษา ของผู้ลี้ภัย เช่น ภาษาพม่า หรือเจ้าหน้าที่ กสม. ที่มีล่ามแปลภาษาทำงานเชิงรุกในค่าย ของผู้ลี้ภัยค่ะ และสร้างหน่วยงานรัฐอย่างเป็นกิจจะลักษณะที่มีอำนาจและหน้าที่ในการดูแล เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ลี้ภัย การละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด หลักการ ไม่ส่งกลับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการเรียนและประกอบอาชีพค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันขอเรียนด้วยความห่วงใยผ่านท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิทธิประชาชน ในประเทศไทยตามหลักการ และกติกาสากลด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้คนทุกคนไม่ว่าจะวัยใด เพศสภาพ หรือเพศวิถีใด นับถือศาสนาใด หรือมีสถานะทางเศรษฐกิจอย่างไร มีความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย หรือ Everyone is equal before the law กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับเรากำหนด ๗ นาทีก็จริง แต่ถ้ายังมีสาระสำคัญก็ยังต่อได้บ้าง ไม่ต้องรีบขนาดนั้นนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวชวเลขจะจดไม่ทัน แต่ว่าก็ให้เคารพ ๗ นาทีไว้ก่อน แล้วก็ท่านใดต้องการเพิ่มเติมก็แค่แจ้งว่าอยากจะขอเพิ่มอีกสัก ๒ นาที หรือ ๓ นาที ก็พอเป็นไปได้ครับ ขอเชิญท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมตั้งจิตมาแต่ไกลตั้งใจมาแต่บ้านครับ จะมาอภิปรายเพื่อตั้งข้อสังเกตในรายงานของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฟังไปฟังมาท่านผู้ชมทางบ้านอาจจะตั้งคำถามว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีไว้ทำไม ทั้งที่จริง ๆ แล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติมีบทบาทหน้าที่มีผลงานมากมาย แต่ว่าการตั้งคำถามดังกล่าวนั้นมันนำไปสู่คำตอบ ที่ว่าหรือวันนี้เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้แบบเท่ ๆ ประเทศอื่นเขามี เราก็มีบ้าง ดังนั้นการลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตของผมจึงไม่ใช่การลุกขึ้นมาพูดแบบเท่ ๆ ครับ แต่เอาจริง ๆ พรรคเพื่อไทยอ่านรายงานรู้ดูรายงานเป็นครับ จากรายงานผลการปฏิบัติงาน ปี ๒๕๖๕ ผมขอ Slide ด้วยนะครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียน การกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน ๑,๑๔๙ เรื่องและได้รับไว้ดำเนินการ ๙๒๔ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๔๒ ซึ่งมีการจำแนกเรื่องร้องเรียนเป็นประเภทต่าง ๆ เป็นแยกตามประเภท สิทธิมนุษยชนตามพื้นที่ที่เกิดเหตุ ตามเพศผู้ร้องเรียน แล้วก็ตามช่องทางการร้องเรียน เฉพาะเรื่องที่ได้รับไว้ดำเนินการทั้งหมด ๙๒๔ เรื่อง ได้รับไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ๒๓๖ เรื่อง รับไว้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๖๔ เรื่อง รับไว้เพื่อศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะ ๒๙ เรื่อง และรับไว้ดำเนินการช่วยเหลืออื่น ๆ อีก ๔๙๕ เรื่อง ท่านประธานผมมีข้อสังเกตครับ เฉพาะเรื่องร้องเรียนที่รับไว้ดำเนินการประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น มีการระบุว่าสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือเสร็จสิ้นไปแล้ว ๑๔๒ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๘๖.๕๘ คำถามคือเรื่องร้องเรียนที่บอกว่ารับไว้ตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนที่บอกว่ารับไว้เพื่อศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะ รวมถึงเรื่องที่รับไว้อื่น ๆ นี่นะครับ และไม่มีการแจ้งผลว่าเรื่องที่ว่านั้น มีการดำเนินการเสร็จสิ้นไปกี่เรื่อง ช่วยเหลือได้จริง ๆ หรือไม่ ประเด็นคือท่านได้มีการแจ้งกลับ ผู้ร้องให้ช่วยถึงผลการดำเนินการหรือไม่ และหากมีการดำเนินการแจ้งกลับนั้นท่านมีมาตรการ ในการดำเนินการอย่างไร ในการที่จะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนได้ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการ ในการร้อง อย่างที่บอกครับว่า กสม. ไม่ควรจะทำงานในเชิงรับ คือเน้นรับเสียเป็นหลักครับ หรือบางคนไป กสม. ก็ไปยื่นพร้อมซอง แต่ว่าการดำเนินการที่สำเร็จเสร็จสิ้นนั้นมีกี่เรื่อง ดำเนินไปถึงขั้นไหนอย่างไร มีการตอบหรือสื่อสารอย่างไร ผมไปดูปัญหาจากรายงานครับ ท่านประธาน ผมพบปัญหาและอุปสรรคที่ กสม. ได้ระบุไว้ในรายงานนี่ ๓ ประการด้วยกัน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ เป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสม. กรณีมีการรายงานสถานการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่ง กสม. เห็นว่าการกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจดังกล่าวตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ นั้น ไม่สอดคล้อง กับหลักการความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขัดกับหลักการปารีส และ กสม. ได้มี การเสนอขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปยัง ครม. แล้วเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ผมมีความเห็นว่า ถ้า กสม. จะขอแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ นั้น กสม. ก็ควรจะต้องขอเสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๗ (๔) ด้วย เพราะว่าในมาตรานี้ได้บัญญัติให้ กสม. มีอำนาจหน้าที่ ในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อสังเกตข้อที่ ๒.๒ ตามที่ กสม. ระบุว่า พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้ให้อำนาจการประนีประนอมข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.ป. พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่มีบทบัญญัติดังกล่าว ผมขอตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ ท่านประธาน หากมีการแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้ครอบคลุมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ด้วยนั้น อาจจะซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ป. การไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ และหากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจริง ควรที่จะแก้ไข พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้รวมถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและควรปรับเพิ่ม ทุนทรัพย์ให้สูงกว่าเดิม ความจริงเรื่องของการไกล่เกลี่ยกับการประนีประนอม ถ้าไปถาม ผู้เสียหายหรือผู้ร้องนี่นะครับ ไกล่เกลี่ยก็น่าจะพอรับได้ แต่ประนีประนอมสำหรับผู้ได้รับ ผลกระทบผู้เสียหายอาจจะทำใจลำบาก แต่ประเด็นที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกันนี่นะครับ ก็ควรจะ เปลี่ยนจากคำว่า ไกล่เกลี่ย เป็นการประนีประนอมและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับคำว่า ไกล่เกลี่ย ตาม พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อสังเกตข้อที่ ๒.๓ เรื่องการไม่ตอบข้อเสนอของ กสม. ในเรื่องของ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจาก กสม. ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับบัญชา หน่วยงานนั้น ๆ กรณีนี้มีความเห็นนะครับว่า กสม. นั้นควรจะแจ้งต่อ ครม. และรัฐสภา เพื่อให้กำชับหรือติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ และรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีที่รายงานต่อสภา ควรระบุว่าได้มีการแจ้งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานใดแล้วด้วย ท่านประธานที่เคารพครับ ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม ผมขอให้กำลังใจ กสม. ให้ท่านได้ไปยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิผลให้ลุล่วงและทำงาน แข่งกับเวลา ตรงไหนที่เป็นอุปสรรคท่านต้องทะลุและผ่าทางตันไปให้ได้ อย่าเอาความหวัง ของประชาชน อย่าเอาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบผู้เสียหายไปนั่งทับไว้ที่ซอกตึก วันนี้ทุกคนอยากเห็นการยกระดับของ กสม. ซึ่งที่ผมกราบเรียนในเบื้องต้นนี้ครับว่า เรามี กสม. ไม่ได้มีไว้แบบเท่ ๆ แต่ต้องแก้ปัญหาได้จริงครับกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปรเมษฐ์ จินา เชิญครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ สุราษฎร์ธานี ก็เห็นด้วยกับท่านอนุสรณ์ เนื่องจากว่าที่ผ่านมา เราก็คงจะเห็นว่าเป็นการตั้งรับเสียส่วนใหญ่ แต่ว่าปัญหาที่เกิดในพื้นที่เป็น ๑๐-๒๐ ปี ยังค้างคาอยู่แล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วก็เมื่อสักครู่ที่น้องเขาได้นำเสนอในเรื่องของผู้อพยพ อันนี้ผมก็มี Case Study ในส่วนของอำเภอเล็ก ๆ อำเภอพระแสง เขามีการจับโรฮิงญา ไปไว้ ๑๗ คนแล้วก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบ ส่งไปหน่วยงานไหนก็ไม่ได้ก็ไปไว้ที่โรงพักเล็ก ๆ ๑๗ คน แล้วก็เกิดกรณีที่ค่าเลี้ยงดูเป็นเดือน แล้วหลังจากนั้นก็เกิดกรณีแหกห้องขังมา หนีไปทั้ง ๑๗ คน แต่ว่าด้วยความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วก็กู้ภัยที่เกี่ยวข้องก็เฝ้าระวัง แล้วก็ตามจับมาได้หมดทั้ง ๑๗ คน อันนี้ผมหารือว่าจะต้องมีหน่วยงานกลางหรือว่ามีองค์กรอะไร ที่เข้าไปรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้พื้นที่เล็ก ๆ เขาต้องรับผิดชอบด้วยตัวของเขาเองนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ทีนี้มาในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มาในวันนี้ ก็ต้องขอขอบคุณมากนะครับ เนื่องจากผมก็เคยนำเรียนแล้วว่าในส่วนของญัตติต่าง ๆ หรือว่ารายงานต่าง ๆ ที่จะเข้ามาให้ทางสภาเห็นชอบผู้ที่รับผิดชอบหรือว่าเจ้าของหน่วยงาน ต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง ไม่ใช่ว่าส่งเอกสารมาหรือว่าเป็นการฟอกรายงานว่าจะต้องนำเสนอสภา ให้รับทราบเป็นรายปีอันนั้นไม่เป็นการสมควร จะต้องให้เกียรติกับสภา วันนี้ผมก็อยากจะ ยกตัวอย่างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. ที่ทำรายงานได้สวยงาม ดูง่าย แล้วก็ที่สำคัญก็คือเป็นปัจจุบันด้วย มีการเปรียบเทียบปี ๒๕๖๔ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ แต่ว่าในเรื่องของ รายงาน หน้า ๑๑๒ ก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้นิดหนึ่ง เนื่องจากว่ามันมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นผิดสังเกต นั่นก็คือในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ปี ๒๕๖๔ จ่ายเพียงแค่ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่มา ปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นมา เป็น ๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ปี ๒๕๖๔ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ปี ๒๕๖๕ ๕,๑๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็รายจ่ายค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ปี ๒๕๖๔ จ่ายไป ๓,๙๐๐,๐๐๐ บาท แต่ว่าปี ๒๕๖๕ จ่ายถึง ๘,๘๐๐,๐๐๐ บาท อันนี้ก็คือ การตั้งข้อสังเกต เดี๋ยวสักครู่ก็คงจะขอคำตอบด้วยนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ทีนี้มาในเรื่องของการที่จะพัฒนาในส่วนของ กสม. ให้ยกระดับมากยิ่งขึ้น ก็มีปัญหาอยู่ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมันมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ๓,๓๓๐ ล้านบาท ทำมาแล้ว ๑๓ ปี ทีนี้ชาวบ้าน ๒ ข้างทางของริมคลองชลประทาน เขาก็หวังว่าเมื่อทำเสร็จแล้วถ้าเขามีน้ำใช้ในการเกษตรหรือว่าการทำอุตสาหกรรมเขาก็คง จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่านี่สร้างมาแล้ว ๑๐ กว่าปี ๑๓ ปี ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท สร้างเป็น อนุสาวรีย์ไม่สามารถใช้ได้ ความเดือดร้อนของชาวบ้านก็คือเหมือนกับเราทำถนนเกาะกลาง แล้วก็น้ำมันไม่สามารถไหลผ่านจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติได้ ทำให้มันแช่น้ำอยู่ แล้วก็ผลผลิตทางการเกษตรของเขาไม่ว่าจะเป็นยางพาราหรือว่าพืชผลอื่นแช่น้ำ แล้วก็เกิดความเสียหายตาย แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของการสัญจร เนื่องจากว่า เหมือนเรามีคลองชลประทานผ่านมาจากบ้านคุณปู่คุณย่าหรือว่าบ้านสามีภรรยา ที่อยู่ ๒ ฝั่งคลองชลประทานมันไม่สามารถจะเชื่อมต่อกันได้ แล้วก็เป็นเวลานาน เขาก็เดือดร้อนในการใช้ทางอ้อม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือว่าความยุ่งยากในการขนส่ง สินค้าหรือว่าขนส่งวัสดุทางการเกษตรไปจำหน่ายตามร้านค้าหรือว่าตามตลาด มันมี ความยุ่งยาก แล้วก็หลายขั้นตอน แล้วก็มันเป็นเวลาเนิ่นนานมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ๓ อำเภอ อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน แล้วก็อำเภอท่าฉาง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ทราบว่า เขามีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งก็มองว่าในส่วนของคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติก็อาจจะมีบุคลากรน้อย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีอยู่ ๔-๕ ท่าน แต่ว่าด้วยปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านผมมองว่าต้องใช้ภาคีเครือข่ายให้เป็น ประโยชน์ ๑. ก็คือในเรื่องของศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่แต่ละจังหวัด ๒. ผู้นำ ๓. ถ้าเป็นไปได้ มีความกังวลว่าลงไปพื้นที่แล้วไม่รู้ว่าไปติดต่อใคร หรือว่าประสานงานใคร ให้ใครเป็น คนช่วยเหลือก็ติดต่อ สส. ในพื้นที่ได้เราพร้อมที่จะช่วยดำเนินการ อำนวยความสะดวก แล้วก็ลงไปร่วม เพื่อให้ปัญหาของชาวบ้านที่ค้างคามานานได้มีการแก้ไขนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

แล้วก็อีก Case หนึ่ง ก็คือในส่วนของนิคมสร้างตนเอง อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีการสร้างเขื่อนของโครงการชลประทาน แล้วก็สร้างเขื่อนโดยทำ Spillway สูง ทีนี้พื้นที่เหนือเขื่อนที่ปลูกพืชผลทางการเกษตรก็ลักษณะเดียวกันเกิดการใช้น้ำ เป็นปริมาณกว้าง เขาก็ต้องการที่จะให้ลด Spillway ลงมานิดหนึ่ง เพื่อลดพื้นที่ที่เกิด ความเสียหายให้น้อยลง แล้วก็ร้องเรียนไปแล้วกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปแล้วนะครับ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เขาก็เลยถวายฎีกา พอถวายฎีกาเสร็จแล้วมันก็ต้องย้อนลงมาที่ต้นเรื่องเดิมอีกครับ ก็วิ่งไปวิ่งมาอยู่แบบนี้ปัญหา ชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข ผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะให้มีการดำเนินงานเชิงรุกมาก ยิ่งขึ้นนะครับ ลงไปดูในพื้นที่ด้วยตนเอง แล้วก็แสวงหาทางออกด้วยการบูรณาการ ใช้ภาคี เครือข่ายภายในพื้นที่ ทุกจังหวัดช่วยกันทำแล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ผมมองว่า เป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็น บางทีเราอาจจะทำเรื่องของการตั้งรับอยู่อย่างเดียว แล้วก็ ดูเอกสารในห้อง Air อยู่อย่างเดียวนะครับ ถ้าลงไปพื้นที่ด้วยเราจะเห็นหน้างานนะครับ แล้วก็ จะเห็นสภาพความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เขาต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีนะครับแต่ละแห่งที่ผมเข้าไปดู แล้วก็เขาร้องเรียนเข้ามานะครับ ก็อยากจะฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ช่วยลงไปดูในพื้นที่ที่ผมเสนอแนะตรงนี้ด้วย แล้วก็อยากจะให้ทำงานเชิงรุกในส่วนของ พื้นที่อื่น ๆ ด้วยนะครับ ก็น่าจะมีปัญหาในพื้นที่หลายจังหวัด ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปิยรัฐ จงเทพ เชิญครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระโขนง เขตบางนา พรรคก้าวไกล ขออนุญาตขึ้น Slide ครับท่านประธาน

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

วันนี้ผมขออนุญาตมาขยายประเด็น เกี่ยวกับเรื่องของผู้ลี้ภัย หรือสิทธิของผู้ลี้ภัยจากเพื่อนสมาชิกที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากว่าเนื้อหาในเรื่องของผู้ลี้ภัยนั้นค่อนข้างจะมีรายละเอียดซับซ้อน แล้วก็มีส่วน เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาต่าง ๆ ระหว่างประเทศจึงอาจจะไม่ครอบคลุมภายใน ๗ นาที ของเพื่อน ๆ สมาชิกท่านก่อนหน้านะครับ ผมมีข้อตั้งคำถามตัวโต ๆ ครับท่านประธานว่า ผู้ลี้ภัยใช่มนุษย์หรือไม่ ที่ผมถามแบบนี้เพราะว่าเหตุผลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินี้ มีพันธะสำคัญที่ให้กับพี่น้องประชาชนและคนทั้งโลกว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยนั้นจะกระทำมิได้ หรือกระทำก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย หรือจะต้องมีการรายงานให้เกิดขึ้นในข้อเท็จจริง ฉะนั้นแล้วเราจะเห็นว่าหลายครั้งจะมี การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น และในรายงานของ กสม. นี้ ทั้ง ๒ ฉบับนั้นก็มีการรายงาน เพียงเฉพาะในเรื่องที่ กสม. เลือกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น หรือมีผู้ร้อง หรือมีการนำเสนอเท่านั้น แต่ยังมีหลายรายงาน ซึ่งเป็นรายงานที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่กลับไม่พบในรายงานของ กสม. ของประเทศไทยเอง เราจะเห็นว่าเพื่อนสมาชิกได้พูดถึงเรื่องผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่หลบลี้ภัยสงคราม มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนของประเทศไทยกว่า ๙๐,๐๐๐ คน รายงานนี้อยู่ในรายงานของ กสม. ครับท่าน แต่ว่ารายงานนี้กลับไม่ลงรายละเอียดว่ามันยังมี ผู้ลี้ภัยที่อยู่กว่า ๔๐ ประเทศทั่วโลกนี่หลบลี้หนีภัยอยู่ในประเทศไทยกว่า ๕,๐๐๐ ราย รายงานนี้ถูกรายงานโดย UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาตินะครับ แต่ทำไมรายงานชิ้นนี้กับไม่พบในรายงานของ กสม. นะครับ ๔,๐๐๐ ราย ๕,๐๐๐ ราย เกือบ ๖,๐๐๐ รายนี้ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ ครับท่านประธาน และที่สำคัญคือนอกจากพวกเขา ต้องหลบอยู่ภายใต้กฎหมายที่ไม่ได้รับการรองรับของประเทศไทย เรายังไม่มี พ.ร.บ. ผู้ลี้ภัย แต่เรากลับมีพวกเขาอยู่ในประเทศโดยที่พวกเราไม่ทราบเลยว่ามีอยู่ที่ไหน อย่างไร และเขา ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง Slide ต่อไปครับท่านประธาน เราจะเห็นว่า การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยแต่ไม่พบอยู่ใน รายงานของ กสม. นะครับ เราจะเห็นว่ารายงานข่าวปี ๒๕๖๔ เลยครับ เดือนพฤศจิกายน ช่วงปลายปีมีชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยการเมืองเข้ามาหลบอยู่ในประเทศไทยและถูกส่งกลับประเทศ พวกเขา ในขณะที่พวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้วนะครับ เขากำลังอยู่ ในขั้นตอนของการขอไปประเทศที่สามครับ รับรองโดย UN แต่กับถูกจับกุมหลังจากที่มาทำ หนังสือยื่นขอที่ประเทศไทยแล้วถูกส่งกลับกัมพูชาครับ

นายปิยรัฐ จงเทพ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกท่านหนึ่งครับ เป็นคนประเทศลาว ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ถูกบังคับให้สูญหาย หรือถูกอุ้มนั่นเองในประเทศไทย ไม่มีในรายงานนี้ใน กสม. มีผู้ถูกอุ้มหายกลางห้าง ในประเทศไทยหลังจากที่ออกมาจากสำนักงาน UN ของประเทศไทยแล้วถูกส่งกลับ เวียดนามครับ ไม่มีการลงรายละเอียดใน กสม. ครับ กรณีเดียวกันครับอุ้มหายชาวเวียดนาม เพื่อนของเขาเองครับ เมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๖ นี้เอง ในขณะที่เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ของ UNHCR แล้วนะครับ Slide ถัดไปครับ มีการเกิดขึ้นลักษณะเดียวกันในประเทศ เพื่อนบ้านแต่เป็นคนไทยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคุณวันเฉลิม หรือหลาย ๆ Case กรณี อาจารย์สุรชัยก็เป็นหนึ่งใน Case นั้น ซึ่งถูกพบเป็นศพหลังจากที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับมีรายงานเพียงเล็กน้อยในประเทศไทยนะครับ แต่ก็ไม่พบการสืบสวนสอบสวนต่อไป ในการนำเสนอให้กับรัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงนะครับ Slide ถัดไปครับ นี่คืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองบุคคลทุกคน ที่สูญหายโดยการบังคับ ประเทศไทยเคยให้เจตนารมณ์ว่าจะเข้าภาคีอนุสัญญานี้ ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ครับ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการดำเนินการต่อในการลงนาม เพื่อเข้าร่วมอย่างเป็นทางการหรือให้สัตยาบันนะครับ เนื่องจากว่าอนุสัญญานี้เป็นอนุสัญญา ที่สำคัญมาก เป็นสาระสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องกำหนดให้บุคคลที่สูญหายนั้นหรือถูกบังคับนั้น เป็นฐานความผิดกฎหมายอาญา หรือกระทำในนามของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นความผิดนะครับ ซึ่งครอบคลุมไปถึงบุคคลที่หายสาบสูญนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนชาติไทยหรือคนไทย นี่คือสิ่งที่มีหลายประเทศเข้าร่วมแต่ประเทศไทยเพียงแต่แสดงเจตนารมณ์ แต่ไม่ได้มีการลงนาม ในสัตยาบันนี้นะครับ ซึ่งก็อยากจะสอบถามไปทาง กสม. เช่นเดียวกันครับว่าเหตุใดจึงยัง ไม่ได้มีการผลักดันเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลหรือติดขัดในเรื่องใดบ้างนะครับ เพราะว่าเราให้ เจตนารมณ์ไปตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕ ก็นานนับ ๑๐ ปี จนกระทั่ง พ.ร.บ. อุ้มหาย ของเรานั้นมีการประกาศใช้ไปแล้วนะครับ ก็ไม่แน่ใจว่ายังติดขัดเรื่องใดอยู่บ้างนะครับ ฉะนั้น Slide ถัดไปครับ เรายังมีเรื่องของกฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผลักดัน กลับประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ว่าอย่างที่เพื่อนหลายท่านได้พูดไปว่ามันมีเรื่องเกี่ยวกับ อนุสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องการผลักดันกลับประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เพื่อนได้ให้รายละเอียดไปแล้ว ผมจึงไม่ขอลงรายละเอียด แต่ผมอยากจะย้ำสาระสำคัญที่ว่าถ้าเรามีเรื่องนี้อยู่ในการลงนามนั้น เราจะไม่สามารถขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุ อันเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายนะครับ เรื่องนี้เราก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้า ในการที่จะดำเนินการอย่างจริงจังครับท่าน สุดท้ายแล้วผมมีข้อซักถามข้อสุดท้าย ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ได้มีการรายงานการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติที่ถูกบังคับ ให้สูญหายหรือถูกจับในประเทศไทยอย่างไรบ้าง และมีมาตรการคุ้มครองเสรีภาพ ของพวกเขาในอนาคตหรือไม่อย่างไรครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอกุมภวาปี เขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง ตำบลหนองไผ่ ท่านประธานครับ ผมใคร่ขอแสดงความคิดเห็นไปยังผู้ชี้แจงถึงข้อห่วงใยและข้อสังเกต ในรายงานฉบับนี้ ท่านประธานครับ ผมมองว่า กสม. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญและปกป้อง สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน เป็นองค์กรที่เป็นความหวังที่พึ่งให้ความคุ้มครอง สิทธิเป็นของพี่น้องประชาชน กสม. เป็นองค์กรที่นานาอารยะประเทศในโลกนี้ที่ปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญและเป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในการพิทักษ์รักษา สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนครับ ผมได้ศึกษาจากรายงานพบว่า กสม. เป็นองค์กรที่ต้อง ทำหน้าที่ตามสนธิสัญญาหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบสหประชาชาติที่ประเทศไทย มีภาคีแล้ว เป็นภาคีแล้ว ๗ ฉบับ ที่ลงนามแล้ว และอยู่ในระหว่างการเป็นภาคีอีก ๑ ฉบับ รวมแล้ว ๘ ฉบับครับท่านประธาน อย่างไรก็ตามผมมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อ กสม. ทั้ง ๆ ที่ผมมีความศรัทธาองค์กรอิสระ มีองค์กรเดียวนี่ละครับที่พอมีความศรัทธาบ้าง

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก อำนาจของคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ ประกอบกับพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ พอสรุปได้ว่า กสม. มีอำนาจหลัก ๆ ตรวจสอบรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันแก้ไข และละเมิดสิทธิ ของมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานครับ จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ กสม. มีอำนาจเพียงให้การเสนอแนะหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเท่านั้น มันเป็นเพียงคำตอบที่ทำให้เราเห็นว่ากรณีที่ร้องเรียนและถูกละเมิดทางสิทธิมนุษยชน ของพี่น้องประชาชนที่ปรากฏในรายงานทั้ง ๒ เล่มนี้ มีแต่บอกว่าเสนอแนะ เสนอแนะ และเสนอแนะ ไปหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น ท่านประธานครับมีอำนาจทางกฎหมาย เมื่ออำนาจทางกฎหมายของ กสม. มีเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้การเสนอแนะเท่านี้ หรือครับ จะทำให้ กสม. จะให้ผู้ร้อง และหน่วยงานของรัฐมีละเมิดสิทธิของชุมชนเสียเอง ก็จะเป็นการผิดกฎหมาย ทำเกินอำนาจหน้าที่ ผมได้ศึกษารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๗ พบว่า กสม. มีอำนาจ อำนาจเสนอเรื่องความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่มีกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อำนาจเสนอเรื่องความเห็นถึง ศาลปกครองในกรณีว่าหน่วยงานของรัฐออกกฎ คำสั่ง ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออำนาจฟ้อง คดีศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิประชาชน ของส่วนรวม ท่านเห็นหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ มีปัญหาจริง ๆ ท่านประธานครับ บัญญัติให้องค์กรที่ควรมีอำนาจ แต่ไปตัดอำนาจเขา แต่บางองค์กรที่ไม่ควรมีอำนาจ ท่านก็ให้อำนาจจนวุ่นวายเกิดวิกฤติของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ไปหมด

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ผมได้เข้ามาดูพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปี ๒๕๖๖ ที่เกี่ยวข้องกับ กสม. ได้รับการจัดสรร พบว่าในองค์กรอิสระ ทั้ง ๖ องค์กร กสม. ได้รับงบประมาณเพียงน้อยนิดครับท่านประธาน งบประมาณน้อยที่สุด ในบรรดาองค์กรอิสระ ได้รับงบประมาณเพียง ๒๐๐ กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง แล้วจะเอา อะไรไปเพียงพอต่อการดูแลพี่น้องประชาชน ประชาชนในเมืองไทยไม่ว่า ระดับโลกแล้วนะ ก็อย่างที่ท่านผู้อภิปรายหลายท่านได้บอกผม มันเป็นองค์กรที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งความเห็น ของผมคิดว่าในโลกยุคสมัยและประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะต้องให้ ความสำคัญกับองค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครอง ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ดังนั้นเราควรที่จะให้การสนับสนุน กสม. ทั้งงบประมาณ กำลังคนให้มีเพียงพอกับภารกิจ เพื่อให้ช่วยเหลือดูแลสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนครับท่านประธาน แล้วผม ก็ไปพบอีกเรื่องหนึ่งก็คือภาพรวมของทรัพยากรของ กสม. พบว่าสำนักงานภูมิภาคนั้น คือสำนักงานภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และสำนักงานภาคอีสานบอกว่าจะตั้ง ก็เห็นตั้ง อยู่ที่ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา แต่อีสานของผมยังไม่มี ทราบว่าจะไปตั้งที่จังหวัดขอนแก่น ก็ยังไม่เห็นสำนักงานเลยครับ สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจ ทำไมตอนนี้เปิด Site งานจริง ๆ เฉพาะภาคใต้เท่านั้น ซึ่งเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นี่เองครับ พี่น้องประชาชน ที่อยู่ท้องไร่ท้องนาจะเข้าไปร้องเรียนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไรละครับ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านประธานครับ สำนักงานภาคใต้ที่เปิดเพียงแห่งเดียวก็มีการจัดสรรบุคลากรเพียง ๑๙ คน เท่านั้น แล้วผมยังทราบมาว่าทุกวันนี้ก็ยังบรรจุไม่ครบ ที่แย่ไปกว่านั้นคือการดึงเอาบุคลากร ซึ่งมีน้อยนิดอยู่นั้นกลับมาใช้ในส่วนกลางอีก ขอนิดหนึ่งครับท่านประธาน การบริหารบุคลากร เช่นนี้ทำให้พี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดไม่รู้จักองค์กรของท่านนะครับ พี่น้องยิ่งรู้สึกว่า อยู่ห่างไกล ไร้การดูแลจากองค์กรของท่าน ชาวบ้านก็ต้องคิดว่าเข้าถึงท่านยากเหลือเกิน แม้กระทั่งตัวกระผมเองก็คิดว่าท่านอยู่ห่างไกลผมเหลือเกินจริง ๆ ครับ พี่น้องประชาชน ถูกกลั่นแกล้ง เอาให้ชัด ๆ ก็คือว่าถูกจับ เจ้าหน้าที่ของรัฐเอายาบ้าไปยัดแล้วเรียกค่าไถ่ มีอยู่ทั่วประเทศท่านจะดูแลอย่างไร ผมไม่เอ่ย เมื่อวานนี้ก็พูดเรื่อง ป.ป.ส. ไปแล้ว เอาเรื่องสั้น ๆ แค่นี้ละครับ มีอยู่ทั่วทุกแห่ง อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มันกากเดนเผด็จการ แล้วก็มาต่อตรงนี้ครับ ผมถึงตั้งคำถามกับท่านประธานไปยังผู้บริหารของ กสม. ว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่ ถ้าจริงเหตุใดต้องทำเช่นนี้ แล้วท่านมีแนวทางในการที่จะให้สำนักงาน กสม. ได้กระจายทั่วทุกภูมิภาคได้หรือไม่ครับ เพื่อจะได้ดูแลสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้กับ พี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ผมขออนุญาตตั้งคำถามว่าการที่เยาวชน ออกมาชุมนุมและใช้เสรีภาพในการแสดงออก เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประเทศที่ปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตยให้การรับรองไว้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และยังรับรอง ความเห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ แต่ในกรณีที่กลุ่ม Mob ที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม Mob ทะลุ ทะลุอะไรก็ไม่รู้ ที่ชุมนุมเรียกร้องที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ ที่ผ่านมานี้ครับท่านประธาน อ้างว่าเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อประท้วง พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย แต่กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นการคุกคาม ความเห็นต่าง มีการใช้ความรุนแรงล้ำเส้นในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ มีการขว้างปาสิ่งของ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีการฉีด Spray มีอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ไม่รู้ มีการเอาน้ำมันไปราด เกือบเผาครับ ถ้าเกิดว่าเผาพรรคเพื่อไทยขึ้นมาอะไรจะเกิดขึ้นนะครับ นี่การใช้สิทธิเสรีภาพเกิน ส่วนเกิน จริง ๆ ครับ ผมขออนุญาตพูดตรงนี้ละ มันก็คงจะต้องเกี่ยวข้องครับ การกระทำดังกล่าวนี้ ท่านประธานครับ ผมเคยเห็นเฉพาะพวกเสพยาบ้าในต่างจังหวัดนี่นะครับ ภาพมันหลอน พอมันหลอนแล้วมันก็คิดว่าตัวเองเป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นผีสางนางไม้ก็ไม่รู้ พอมันหลอนขึ้น ตัวเองก็ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ เตะยาย ทำร้ายตา ฆ่าปู่ ฆ่าย่า เตะสลบคาตีนก็มีครับ ดังที่เป็นข่าว อยู่ทุกวันนี้ มันเสมือนแบบนั้นนะครับ เสมือนพวกเสพยาบ้าและหลอนยาบ้า ถึงจะไปเผา บ้านตัวเอง เพราะฉะนั้นความคิดเห็นว่าหลักการชุมนุมโดยสงบที่จะต้องปราศจากอาวุธ ความรุนแรง และหลักการแสดงออก และการพูดการแสดงการกระทำ ไม่เป็นการกระทบ ต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ และไม่ดูหมิ่นคนอื่น ด้อยค่าคนอื่น ๒ อย่างนี้ผมคิดว่ามันจะต้องมี ขอบเขต ท่าน กสม. ท่านประธาน หรือเลขาคณะกรรมการ ท่านมีความเห็นอะไร ต่ออะไรต่าง ๆ กับสิ่งเหล่านี้ไหม หรือจะปล่อยไปเลยตามเลย ผมเห็นด้วยในการที่จะให้ จัดงบประมาณให้ท่านนะครับ ถ้าเข้าสภาเมื่อไรผมจะยกมือให้ เพราะองค์กรอิสระอื่น ๆ มีงบประมาณเยอะแยะที่เข้ามารายงานตรงจุดนี้ ที่เราอภิปรายไปแล้วเมื่อวาน ๒-๓ วันที่ ผ่านมานั้น แต่พวกท่านได้แค่ ๒๐๐ กว่าล้านบาท แล้วจะเอางานเยอะแยะไปหมด แม้กระทั่ง ในโลกนี้ต้องดีเลิศประเสริฐศรี ต้องมีสิทธิมนุษยชน ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในประเทศนี้ทั้งนั้น แต่งบประมาณมันน้อยนิดเท่านั้นเองนะครับ ผมถึงอยากจะถามท่านประธานไปยัง กสม. ว่า กรณีเช่นนี้ กสม. มีอำนาจในการที่จะปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้ถูกคุกคามหรือไม่ หรือผู้เห็นต่าง วันนั้นผมไป วันจันทร์นี่นะครับ ผมไปไม่ได้ประชุมพรรค ลงมาไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคภูมิใจไทยไปเจอครับ ปิดกั้น เอาสิทธิอะไรไปตรวจละครับ เขาเป็นตำรวจ เป็นจราจรหรือเปล่า ไปตรวจคนจะออกจะกลับบ้านนะครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นบังคับ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในโลกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อันนี้มันกากเดน เผด็จการ คิดแบบนี้เอาแต่ใจตัวเอง มันเป็นเผด็จการครับ ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ผมขอให้ท่าน ผมไม่ได้ว่าท่านนะครับ ใครฟังอยู่ก็รับฟังเอาเองก็แล้วกัน ขอให้ทาง กสม. นี่ทำหน้าที่ ของพวกท่าน พวกเรายินดีในการที่จะสนับสนุน ก็ขอให้พวกท่านได้พิจารณาออกสื่อด้วย ก็ได้ครับ ไม่ต้องกลัว ออกสื่อว่ามันทำไม่ถูกต้อง อย่างนี้สิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ต้องปกป้องด้วยสิทธินะครับ ผมก็ขออนุญาตแค่นี้ละครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ มันจะยาวครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็ขอบคุณครับที่รักษาเวลานะครับ ต่อไปท่านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ครับ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ธัญก็ขออนุญาตเป็นส่วนหนึ่ง ในการอภิปรายรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ในหมวดที่ธัญจะพูดก็คงจะเป็นในเรื่องของ ๕.๔ สิทธิสตรี และความเสมอภาคทางเพศ แล้วก็ ๕.๕ ผู้มีปัญหา สถานะและสิทธิของคนผู้ลี้ภัยนะคะ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ธัญก็คงจะต้องพูดถึงในเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ปัจจุบันนี้กฎหมายประเทศไทยเราก็มีการแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ มาตรา ๓๐๕ ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งท่านก็ได้รายงานว่ามีการกำหนด หญิงสามารถ ยุติการตั้งครรภ์ได้ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ แล้วก็มีรายงานในเรื่องของ เงื่อนไขของอายุครรภ์ที่เกิน ๑๒ สัปดาห์แต่ไม่เกิน ๒๐ สัปดาห์ แล้วก็อธิบายในหลักเกณฑ์ ของแพทยสภา แล้วก็มีการสรุปปัญหา ๔ ประเด็นนะคะ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรกก็คือปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย มีการปฏิเสธ และไม่ส่งต่อสถานพยาบาลที่ให้บริการ ๒. กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการ ได้อย่างสะดวก ๓. ขาดระบบกำกับและควบคุมมาตรฐานในเรื่องการส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการ ยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย ๔. สถานบริการยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเพียงแค่ ๔๗ จังหวัดเท่านั้นในปัจจุบันนี้ ส่วนตัวที่ธัญท่านคิดว่าจะต้องเพิ่มเติมลงไปในรายงาน ก็คือการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่สื่อสาร ถึงเป้าหมายสำคัญคือการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ธัญอยากให้ท่านลองคิดดูก่อนว่า ธัญอยากให้ท่านสื่อสารกับหน่วยงานรัฐว่าการสื่อสารการยุติตั้งครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ มันเป็นข้อความที่ควรสื่อสารจริงหรือเปล่า มันเป็นข้อความที่สื่อสารไปแล้วประชาชนรู้สึกว่า ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือเปล่า ทุกวันนี้เราก็อยู่ในประเทศ ที่มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่แล้ว เลือกตั้งก็มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่แล้ว พอฉันจะยุติ การตั้งครรภ์ปุ๊บหันมาดูประกาศฉันก็มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ธัญต้องการที่จะ ให้มีการสื่อสารมีความชัดเจนที่ไม่จำกัดสิทธิหรือกีดกันผู้อื่นออกไป คือบอกไปเลยชัด ๆ ว่า ประเทศนี้เรามีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นั่นคือการสื่อสารสิทธิมนุษยชนสู่สังคม และไม่มีการกีดกันกลุ่มใดออกไปจากความปลอดภัย ท่านต้องลองคิดดูว่าถ้าท่านเป็นผู้หญิง คนหนึ่ง ท่านเห็นการประกาศที่บอกว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย ไม่ว่าท่านจะมี อายุครรภ์เท่าไร ท่านก็จะเดินเข้าสู่ความปลอดภัยของกระบวนการแพทย์ ในเรื่อง กระบวนการภายในในการจัดการนั้นก็เป็นเรื่องขอสถานพยาบาล แต่ถ้าเกิดท่านเห็น การประกาศว่ายุติการตั้งครรภ์ ๑๒ สัปดาห์ท่านก็เคยเกิดความกังวลแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันคือกันคนออกไปสู่การทำแท้งเถื่อน เพราะจริง ๆ แล้วถ้าหากท่านพิจารณากฎหมาย ธัญนั่งในกรรมาธิการด้วย แน่นอน ๓.๑ เรากำหนดให้ผู้หญิงไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์สามารถ ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอประกบกับคณะรัฐมนตรี ท่านไปดู มาตรา ๓๐๕ นั่นคือร่างของพรรคก้าวไกลที่กลายมาเป็นมาตรา ๓๐๕ แล้วถ้าท่านอ่านให้ดี นั่นคือการที่ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตลอดอายุครรภ์

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ธัญก็อยากจะเพิ่ม นอกจากเรื่องเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้หน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพแล้ว ธัญก็ต้องขอบคุณท่านมากที่ได้มีการพูดถึงความไม่เท่าเทียม ทางเพศหรือประเด็น GRB Gender Responsive Budgeting ก็คือท่านพูดถึงในเรื่องของ ค่าจ้างระหว่างชายหญิงที่มีความแตกต่างอยู่ แล้วก็มี Gap ที่น้อยลง แต่ก็มีพูดถึงภาระ ของผู้หญิง ๒ ด้าน คือเขาต้องทำงานนอกบ้านและในบ้าน ท่านได้พูดถึงตรงนี้แล้ว แต่ว่า ธัญอยากจะเพิ่มเติมข้อเสนอที่อาจจะยังไม่ได้มีในรายงาน ผู้หญิงแบกรับภาระในเรื่องทำงาน นอกบ้านและในบ้าน นั่นหมายถึงว่าผู้หญิงถูกกดขี่อยู่ในระบบวิธีคิดแบบประเทศไทย เพราะอะไรคะ เพราะเราไม่ให้มูลค่าเศรษฐกิจงานของผู้หญิงหรือการตั้งครรภ์ หรือสิ่งที่ ชดเชยในขณะที่พวกเธอตั้งครรภ์ ท่านควรจะมีการนำเสนอนโยบายหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐว่า ท่านควรจะมีการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ให้มูลค่าเศรษฐกิจงานของผู้หญิงอย่างไร อันนั้น ก็เป็นประเด็นสำคัญ และมันไม่ใช่แค่เรื่องค่าเศรษฐกิจอย่างเดียว มันหมายถึงเวลาที่ผู้หญิง ต้องใช้มากกว่าผู้ชาย และมันอาจจะได้คำตอบในประเด็น Sex Worker ที่ท่านไม่ได้มีรายงานว่า พวกเขาอยู่ในสถานะแบบใดในประเทศไทยในขณะนี้

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา หมวด ๔ การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้มีการอธิบายปัญหาของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี ๒๕๕๘ ว่า ต้องมีการปรับปรุง เห็นด้วยค่ะ เพราะว่าเนื่องจากอำนาจการวินิจฉัยนั้นไม่เป็นที่สิ้นสุด แล้วอย่างที่ข่าวออกมาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายตามเพศสภาพ การบริจาคโลหิต หรืออีกหลายกรณีที่เป็นข่าวที่ วลพ. วินิจฉัยแล้วก็ไม่เป็นที่สิ้นสุด แล้วก็มีการร้องกลับ แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนได้นำเสนอคือร่างพระราชบัญญัติขจัดเลือกปฏิบัติ ต่อบุคคล ฉบับที่ค้างสภา เรื่องนี้ธัญก็อยากให้ท่านได้บรรจุในรายงานของสิทธิมนุษยชนด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง แล้วก็มีข้ออ้างว่าเป็นร่างการเงิน ร่างกฎหมายฉบับนี้ คุ้มครองการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เรื่องถิ่นกำเนิด เรื่องเชื้อชาติ เห็นไหมคะว่าจะสัมพันธ์ถึงผู้ลี้ภัย ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ผู้อยู่รวมเชื้อ HIV สถานะของบุคคล สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การศึกษา การอบรม ศาสนา ความเชื่อ หรือความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติ ในสังคมนี้ นี่คือกฎหมายที่ค้างสภาอยู่ แต่ไม่ได้มีอยู่ในการรายงานของท่าน มีข้ออ้างว่า เป็นด้านการเงิน เราก็มีข้อโต้แย้งแล้วว่าธัญได้รับทราบข่าวว่ากรมคุ้มครองสิทธิก็ได้ ดำเนินร่างดังกล่าวที่ไม่เป็นด้านการเงิน แล้วก็พร้อมที่จะประกบกับภาคประชาชน

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ประเด็นผู้ลี้ภัยหลาย ๆ ท่านอาจจะได้พูดไปแล้วของเพื่อนสมาชิก พรรคก้าวไกล ธัญขอเข้าประเด็นเร็ว ๆ เลยก็คือว่าไม่มีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยยังไม่เป็น ภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยควรมีการลงนาม เพราะในขณะนี้ผู้ลี้ภัยเข้าเมืองและมีสถานะ อย่างผิดกฎหมาย แม้ว่าจะได้รับรองจาก UNHCR ว่าเป็นสถานะผู้ลี้ภัยก็ตาม จำนวนผู้ลี้ภัย ในรายงานท่านมีความชัดเจนพูดกันรวม ๆ ๑๐๐,๐๐-๑๒๐,๐๐๐ คนในประเทศไทย แล้วยกตัวอย่างสมมุติฐานง่าย ๆ ว่าหากมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก เพราะฉะนั้นเราจะมี LGBT ในผู้ลี้ภัยน่าจะประมาณ ๑๐,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ คน คำถามธัญคือว่าท่านได้รายงานสถานการณ์ไหมว่าคนที่ลี้ภัยมาจากโซมาเลียประเทศ ที่มีความเกลียดชัง LGBT แล้วเขาลี้ภัย แล้วเขาต้องอยู่กับผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเอง มีความเปราะบางมากแค่ไหน นั่นคือประเด็นแรก เราจะมีวิธีการคัดกรองอย่างไร ท่านจัดลำดับความสำคัญอย่างไรในขณะที่ LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศหนีครอบครัวมา ที่ตามฆ่าพวกเขาและต้องอยู่ในประเทศที่มีความเกลียดชัง LGBT ท่านมีความระแวดระวัง และมีกระบวนการคัดกรองตรงนี้อย่างไร ธัญได้รับทราบว่าท่านมีการอธิบายในประเด็น ความคืบหน้าของการคัดกรอง แต่ธัญอยากจะเพิ่มเติมในประเด็นของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในรายงานฉบับนี้เลย ท่านต้องลองนึกดูว่ากลุ่มที่มีความเกลียดชัง กลุ่มความเชื่อ สุดโต่ง พร้อมที่จะฆ่า พร้อมที่จะทำร้าย พร้อมที่จะละเมิดในทุกรูปแบบและพวกเขาต้องอยู่ บ้านพักพิงในประเทศของเขาที่มีความเกลียดชังและท่านจะแก้ไขปัญหาและตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างไร ขอบคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง เชิญครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายเรื่องรับทราบรายงาน ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

รายงานผลการประเมินสถานการณ์ ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือเรียกย่อ ๆ ว่า กสม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ท่านประธานคะ วาระนี้จึงเป็นเรื่องรับทราบพร้อม ๆ กัน ๒ รายงาน ซึ่งก็เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๗ (๒) แล้วก็ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๕ แล้วก็ยังเป็นไปตามมาตรา ๒๖ ของ พ.ร.ป. ที่ให้ ทาง กสม. เองต้องจัดทำรายงานขึ้นมาเสนอต่อใคร เสนอต่อรัฐสภา ครม. แล้วก็เผยแพร่ต่อ ประชาชน มาตรา ๒๖ (๔) ที่ดิฉันสนใจมากก็คือ บอกว่าชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริง ที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม อันนี้น่าสนใจนะคะ ทีนี้รายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ โดยเฉพาะ รายงานประเมินสามารถบอกหลายเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ จึงอยากให้ทุกคนให้ความสนใจในรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม. เอง เพราะว่า ครม. สามารถกำชับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้ทั้งหมดเลย ให้ดำเนินการตามที่ กสม. เสนอแนะนะคะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ทาง กสม. เสนอแนะแล้ว ครม. ก็ดี หรือส่วนราชการก็ดีหน่วยงานนั้น ๆ ก็ดี ไม่ดำเนินการหรือใช้เวลาในการดำเนินการ ก็ให้แจ้งเหตุผลต่อ กสม.โดยมิชักช้า ตามมาตรา ๔๓ คำว่า ไม่ชักช้า ก็เลยทำให้ดิฉันสนใจไปเรื่อยเลยนะคะท่านประธาน

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ดิฉันเห็นว่าของ กสม. งานยิ่งใหญ่มาก ท่านต้องดูแลทั้งประเทศ มันมีหลายเรื่องเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิแรงงาน สิทธิทางด้านสุขภาพ การศึกษา ชุมชน ที่ดิน เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ อะไรไม่รู้เต็มไปหมดเลย เดี๋ยวเพื่อน ๆ ก็คง จะอภิปรายในเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายกันไป

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ดิฉันสนใจในเรื่องของคนพิการค่ะ ดิฉันสนใจว่าในปี ๒๕๖๕ เป็นปีที่กำหนด ว่าปีแห่งการปฏิรูปงานด้านคนพิการ ค้นหาคนพิการเชิงรุกในชุมชน และนำผู้ตกหล่นมาขึ้น ทะเบียนคนพิการเพื่อรับสิทธิสวัสดิการและการคุ้มครองต่าง ๆ เป็นปีของผู้พิการ ขนาดนั้นเลยนะคะ ซึ่งท่านประธานจำได้ไหมคะว่าเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๖ จะมีลูกสาวคนหนึ่งของผู้ที่นอนติดเตียงอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เขาก็มาร้องว่า เขาต้องพาพ่อเขาไปทำบัตรประชาชนที่อำเภอ สุดท้ายเรื่องราวต่าง ๆ น่าเห็นใจเขามาก เขาต้องสูญเสียคุณพ่อแค่เพียงการไปทำบัตรประชาชน จนกระทั่งนายอำเภอเมืองปทุมธานี ต้องมาไหว้ขอโทษกับลูกสาวกับครอบครัว ที่เจ้าหน้าที่ห้องบัตรพาพ่อไปทำบัตรประชาชน ก็แค่ถ่ายภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แต่วันรุ่งขึ้นเขาเสียชีวิต อันนี้น่าเห็นใจ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ซึ่งในวันถัดมาบอกว่า Case นี้เขาบอกนะคะ เขาขอ ให้เป็น Case สุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ที่บกพร่องต้องมีการลงโทษ ก็พูดกันไว้แบบนี้ ท่านประธานคะ ดิฉันสนใจเรื่องของคนพิการที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมา ก็สนใจว่าทาง กสม. จะพูดถึงเรื่องคนพิการ พูดบอกว่าทุกปีเลยที่มาชี้แจงจะบอกว่า คนพิการยังมีอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ทางเท้า พื้นถนนมีสภาพชำรุด มีสิ่งกีดขวาง มีรถเมล์ชานต่ำสำหรับคนพิการที่นั่งเก้าอี้รถเข็นไม่เพียงพอ สนามบินไม่มีที่ลาดขึ้นลงเครื่องบิน ท่าเรือบางแห่งก็ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ คนพิการที่ใช้เก้าอี้รถเข็น ขอภาพด้วยค่ะ อยากจะเรียนถามท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงนะคะว่า ท่านต้องมาชี้แจงซ้ำ ๆ แบบนี้ ดูภาพนะคะรถเมล์ที่เป็นทางลาดที่จะให้เขาขึ้นรถเมล์ให้ได้ ถามว่าเรามีแบบนี้สักแค่ไหน อย่างไร มันไม่เพียงพอ แล้วก็ยังไม่เพียงพอทุก ๆ ปีแบบนี้ และภาพทางขวามือเป็นภาพที่ทางลาดสูงมากจนเขาขึ้นไม่ได้แบบนี้ กสม. ก็ต้องสนอกสนใจ ใช่ไหมคะ และถามว่าท่านรายงานไปยัง ครม. รายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า อย่างไร อยากจะเห็นรายงานท่านจริง ๆ และหน่วยงานนั้นตอบท่านมาอย่างไร ทำไมท่านถึง มาพูดแบบนี้ทุกปีว่าไม่เพียงพอ ติดปัญหาโน่นนี่ ดิฉันก็สนใจตรงคำว่า ไม่ชักช้า นะคะว่า มันจะช่วยอะไรกับท่านได้บ้างหรือเปล่าเพราะว่าเราได้ยินบ่อย เราเห็นบ่อยเลยภาพที่รถเมล์ แบบนี้ก็ดี หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนคนที่เป็นคนพิการ ซึ่งดิฉัน มีพรรคพวกที่เป็นคนพิการ เป็นเพื่อนฝูงเยอะมาก เขาน่าเห็นใจมากแบบนี้เยอะ มันจะเป็น อีกนานแค่ไหนคะ อยากทราบจากผู้ชี้แจงด้วยนะครับว่าท่านชี้แจงไปแล้วเป็นอย่างไร เขาตอบท่านมาอย่างไรจนไม่อยากที่จะได้ยินคนที่เข้ามาว่าทาง กสม. ซึ่งเป็น ผู้ที่มีความสำคัญมากต่อสังคมไทยบอกว่าท่านเป็นเพียงเสือกระดาษหรือเปล่า ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ อีก ๕ นาทีเราจะปิดรับรายชื่อผู้อภิปรายนะครับ ถ้าท่านใด ยังสนใจอยู่ก็ภายใน ๕ นาที ให้มาลงชื่อ ต่อไปท่านคุณากร มั่นนทีรัย เชิญครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพครับ ผม คุณากร มั่นนทีรัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ขอเรียนท่านประธานฝากไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินะครับ เพื่อติดตาม สังเกตการณ์ แล้วก็ตรวจสอบในเรื่องราว ๓ ประเด็นที่ผมจะอภิปรายดังต่อไปนี้นะครับ ในเรื่องที่ ๑ ขอ Slide หน่อยนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องของกระบวนการ จับกุมเด็กและเยาวชนนะครับ ถ้าเกิดตามกฎหมายแล้ว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จะเห็นได้ว่าถ้าเด็กและเยาวชน โดนจับซึ่งหน้า เมื่อพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเด็กและเยาวชนคนนั้นแล้ว ต้องส่งศาลเยาวชนเพื่อตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนนะครับว่าการจับนั้นชอบด้วย กฎหมายหรือไม่นะครับ เช่น จับแล้วได้ส่งตัวถึงศาลภายใน ๒๔ ชั่วโมงหรือเปล่า ถูกจับโดย ทำร้ายร่างกายหรือไม่ ถูกบังคับหรือถูกพันธนาการหรือไม่ ได้แจ้งให้พ่อแม่หรือสิทธิติดต่อ ทนายความอย่างใดหรือไม่ ซึ่งเมื่อศาลท่านลงมาพิจารณาแล้วหากมีเหตุดังกล่าวต่อไปนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะต้องปล่อยตัวเด็กและเยาวชนคนนั้นไปนะครับ และมันยังมี อีก Case หนึ่งนะครับ ในกรณีที่ตัวเด็กหรือเยาวชนมามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง โดยปกติแล้วถ้าหากดูใน พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะต้องส่งตรวจสอบการจับที่ศาลนะครับ ให้ส่งตัวไปที่สถานพินิจได้เลย แล้วให้สถานพินิจดำเนินพิจารณาสอบถามอายุ ประวัติ ต่าง ๆ นานาตามกระบวนการไปนะครับ แล้วก็ดูว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องอย่างไร อันนี้ ก็คือเป็นภาพรวมนะครับ Slide ถัดไปความจริงไม่ว่าคุณจะถูกจับซึ่งหน้า หรือคุณจะมอบตัวหรือจะเป็นกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ตำรวจจับส่งศาลหมดเลยครับ ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทะลุทะลวงหมดทุกมาตราเลย ไปศาล แม้ว่าในฐานะผมเป็นทนายสิทธิมนุษยชน ผมก็ผ่านเรื่องนี้มาหลายเรื่อง แม้ว่าผมจะ แถลงว่าน้องที่ถูกจับนี่ ไม่ได้ส่งตัวภายใน ๒๔ ชั่วโมง ศาลก็ถามเจ้าพนักงานสอบสวนว่า ได้รับตัวน้องมาตอนไหน ถึงศาลเมื่อไรนะครับ ความเป็นจริงแล้วนี่ มันอาจจะมีบางกรณี ที่น้องเขาถูกจับ ถูกจับเสร็จปุ๊บรถตำรวจก็ไปวน ตามกฎหมายก็คือให้ส่งถึงเจ้าหน้าที่ท้องที่ สถานีตำรวจท้องที่ทันที แต่นี่บางกรณีก็ขับรถวนข้ามคืนข้ามวันไปเกิน ๒๔ ชั่วโมงครับ ปรากฏว่าอย่างไรศาลบอกว่า ๒๔ ชั่วโมงนี่นับตั้งแต่พนักงานสอบสวนรับตัวครับ แล้วก็ รับพิจารณาตรวจสอบผ่านการจับ แม้ว่าจะถูกพันธนาการ เขียนคำแถลงไปศาลก็ยังรับ ฝากขัง ถูกทำร้ายร่างกายตีหัวแบะ ผมไปรับตัวจากโรงพยาบาลแล้วก็พาไปศาลด้วย จริง ๆ ศาลต้องไม่รับนะครับ แต่ศาลก็รับไว้ก่อนแล้วให้เหตุผลว่าไม่เป็นไร อันนี้เป็นข้อต่อสู้ ค่อยต่อสู้ในคดีแล้วกันนะครับ คำว่า ค่อยต่อสู้ในคดี ในประเด็นดังกล่าวนี้มันมีผลกระทบ หลายอย่าง ทั้งตัวเด็กและเยาวชนและพ่อแม่ของเยาวชนคนนั้น ภาระที่เกิดขึ้นก็คือ การเดินทางเด็กต้องรายงานตัวต่อศาล เด็กต้องไปสถานพินิจ ถามว่าเด็กไปคนเดียวหรือเปล่า ไม่ครับ พ่อแม่ต้องไปด้วย รายงานตัวต่อศาล ไปสถานพินิจ ไม่ใช่ไปครั้งเดียวนะครับ กว่าจะผลัดฟ้อง ๗ ผลัด อะไรอย่างนี้นะครับ ๗-๘ เดือน ต้องไปรายงานตัวทุกเดือน และทุกเดือนพ่อแม่ก็ต้องไปด้วย อันนี้คิดว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพเดี๋ยวฝาก ๆ ดูแลเรื่องนี้ หน่อยนะครับ พ่อแม่ที่ทำมาหากิน ขายของก็ต้องลาหยุด ถ้าถูกส่งไปศาลจังหวัดปทุมธานี ทำงานอยู่นนทบุรีก็เดินทางไกลค่ารถค่าลาก็มากพอสมควรนะครับ ก็ฝากไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

มีปัญหาอีกปัญหาหนึ่งครับ ศาลเยาวชนและครอบครัวรับพิจารณาคดี เฉพาะบุคคลที่อายุยังไม่เกิน ๑๘ ปี แต่มีข้อยกเว้นในมาตรา ๙๗ ใน พ.ร.บ. นี้ เพื่อประโยชน์ แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์ การกระทำความผิดเป็นคดีที่อยู่ ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดย ๑. สภาพร่างกาย ๒. สภาพจิตใจ ๓. สติปัญญา และ ๔. นิสัย ยังมีสภาพเฉกเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน ก็ให้ศาลนั้นโอนคดีมายังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในทางความเป็นจริงครับผมเคยทำ คำแถลงและศาลก็ได้ไต่สวนเขาบอกว่า ให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปตรวจสอบว่ายังเป็นเด็ก และเยาวชนหรือเปล่า ๑. ผมพาไปโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนก็บอกว่า มันไม่สามารถมีวิธีที่ตรวจสอบออกมาเป๊ะ ๆ ว่าเด็กคนนี้มันไม่เกิน ๑๘ ปี หรือเด็กคนนี้ มันเกิน ๑๘ ปีแล้วนะครับ มีแต่ว่ารักษาตามอาการ ก็คือเป็น Bipolar Insomnia หรือ Depression หรือเปล่า สูง ต่ำ ดำ ขาว เตี้ย โย่ง ก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่นะครับ สติปัญญา ผมไปคุยกับหมอหลายท่าน หมอหลายท่านบอกว่า สติปัญญา แม้แต่หัวหน้าองค์กรอาจจะมี IQ ต่ำกว่าพนักงานก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้น การพิจารณา IQ เด็กกับ IQ ผู้ใหญ่มันก็พิจารณาไม่ได้อยู่ดี ทีนี้ก็ได้ไปโรงพยาบาลของรัฐอีกแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลของรัฐแห่งนั้นศาลก็ชอบส่งไปตรวจสอบ หมอทางด้านจิตวิทยาได้ตรวจสอบเขาก็บอกว่ามันไม่มีวิธีตายตัวหรอกสติปัญญา และนิสัย นี่จะบ่งบอกว่าเป็นเด็กและเยาวชนได้หรือเปล่า แต่ก็ได้คุยได้พูดกันเบื้องต้นแล้ว ทางแพทย์จิตวิทยาก็ได้ออกหนังสือมายังศาลว่าสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัย ของเยาวชนคนนี้มีเฉกเช่นเยาวชน แล้วก็หนังสือส่งศาล แล้วศาลก็ทำการพิจารณาไต่สวน อีกรอบ ศาลบอกว่าคนนี้อยู่ในอำนาจศาลพิจารณาของศาลอาญา ไม่สามารถไปศาลเยาวชน และครอบครัวกลางได้ เพราะบุคคลนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนเด็กและเยาวชน ซึ่งสวนทาง กับใบรับรองแพทย์ครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย หลายท่านอาจจะยังไม่เคยนะครับ ขอหน้าเมื่อสักครู่นี้ก่อนหน้า หน้าหนึ่ง ถ้าดูหน้านี้ดูเผิน ๆ เหมือนบัตรประชาชนถูกต้องไหมครับ เรื่องนี้ผมก็ได้ดำเนินการ มาแม้กระทั่งชั้นศาลหรือผ่านทางกองเมือง Slide ถัดไปนะครับ ท่านลองดูด้านหลังบัตร เขียนว่าสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อพึงปฏิบัติสำหรับ ผู้ถือบัตรประจำตัว

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

๑. บัตรนี้มิใช่บัตรประจำตัวประชาชน เขาเรียกว่าบัตรชมพูนะครับ ถามว่า เกิดอะไรขึ้น มันกระทบต่อสิทธิการทำงานนะครับ เวลาเราไปสมัครงานเราใช้บัตรประชาชน พอนายจ้างเห็นว่าบัตรนี้ไม่ใช่บัตรประชาชน บัตรอะไรวะนี่ บุคคลไร้รากเหง้า ไม่รับทำงาน 7-Eleven ไม่รับ Big C Lotus ทุกที่เลยไม่รับนะครับ เพราะฉะนั้นบัตรนี้มันเป็นบัตรที่จำกัด เสรีภาพของบุคคลไร้รากเหง้าที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนทำให้เกิดลิดรอนสิทธิในการทำงาน สิทธิประกันสุขภาพ สิทธิในการยอมรับจากประชาชน เจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งเพื่อนตัวเอง ที่เรียนโรงเรียนเดียวกันนี่บอกคุณเป็นใครนี่ ไร้รากเหง้า แปลว่าอะไร ไม่มีพ่อแม่หรืออย่างไร Slide ถัดไปนะครับ อันนี้เท่ากับไปคัดทะเบียนราษฎร์มานะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านคุณากรครับ เลยเวลา ๓ นาทีครึ่งแล้ว ช่วยสรุปนะครับ

นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ

ได้ครับ Slide สุดท้าย ไปคัดมานี่จะพบว่า มารดาชื่อบุญเทียน บิดาชื่อสังข์ สัญชาติไทยทั้งคู่ บิดามรณะไปแล้ว มารดาชื่อบุญเทียน ยังมีสถานะอยู่ในทะเบียนบ้านรู้สึกว่าถ้าจำไม่ผิดจะอยู่ยโสธร แต่ไม่สามารถติดตามตัวได้ ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่าทางรัฐน่าจะรับเรื่องไปทำเป็นบัตรประชาชนธรรมดาหรือเปล่า อย่างไร ก็ฝากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยติดตามสังเกตการณ์การตรวจสอบทั้ง ๓ เรื่องที่ได้อภิปรายไปนะครับ หวังว่าจะได้เห็นอยู่ในรายงานของปีงบประมาณหน้านะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ ถ้าเกิดว่าได้ยินเสียงออดก็ครบ ๗ นาทีนะครับ ถ้าข้อมูลยังมี เหลืออยู่ก็ช่วยกระชับ คือผมไม่ว่าอะไรนะครับ ก็ช่วยกระชับเข้ามาหน่อย เพราะว่าหลายท่าน ใช้เวลาเกินเยอะ เพราะว่ามีผู้อภิปรายเยอะมาก ก็ฝากทุกท่านช่วยเหลือบดูเวลาที่หน้าบัลลังก์ ด้วยนะครับ พวกเราจะได้พูดกันเยอะ ๆ ต่อไปท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ เชิญครับ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉันนางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย นครราชสีมา เขต ๔ อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอโนนไทย ๗ ตำบล ก่อนอื่น ขอขอบคุณท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็คณะทำงานทุกท่านที่ทำงาน อย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดเพื่อสิทธิ ประโยชน์สิทธิของประชาชน ดิฉันเข้าใจว่าอำนาจหน้าที่ ของท่านหลากหลายและกว้างขวาง และดิฉันขอชื่นชมและยินดีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติที่ปรับเลื่อนจากระดับ B เป็น A จากที่ดิฉันได้อ่านรายงานของท่านนะคะ ดิฉันมีข้อสงสัย และข้อสังเกตเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุอยู่ ๔ ประเด็น

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ประเทศไทยถูกประกาศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เมื่อปีที่แล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และในอีกไม่กี่ปีโครงสร้างประชากร จะเปลี่ยนไปในปี ๒๕๘๓ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น ๒๐ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด ทาง กสม. มีข้อแนะนำหรือคำแนะนำอย่างไรให้กลุ่มบุคคลที่จะเข้าสู่ วัยสูงอายุรวมถึงแผนงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิของเขาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุ มีอัตราที่สูงขึ้น แล้วก็กลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะจากการรายงานสถานการณ์ เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่มผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มผู้เปราะบางมาก แล้วในช่วงนั้นมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และกลุ่มผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรังด้วยค่ะ ไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี และขั้นตอนกระบวนการในการลงทะเบียนที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ในการแพร่ระบาดนะคะ กลุ่มผู้สูงอายุมักจะเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างค่ะ และเป็นกลุ่มที่มีอุปสรรค ในการเข้าถึงมาตรการรัฐเรื่องการเยียวยา เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความสามารถ ในการใช้เทคโนโลยีด้วย แล้วก็ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการลงทะเบียน จากข้อมูล ในการรายงานได้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอาจจะขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ ในการดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น แต่จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุกลับเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพียงเพราะว่าไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ในช่วงนี้ทาง กสม.มีแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างไร เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มบุคคล ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงนะคะ ส่วนใหญ่ ในปัจจุบันโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่าง ๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งการรักษาพยาบาล ทางไกล และการช่วยเหลือหรือเยียวยาต่าง ๆ อันนี้ประเด็นแรกค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่ดิฉันตั้งคำถามก็คือในการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนของผู้สูงอายุ คือการดูแลผู้สูงอายุ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี โดยให้ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ ต้องการทำงานเข้าถึงโอกาสค่ะ ให้เขามีโอกาส ในการทำงานที่เหมาะสม แต่จากผลการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการประกอบ อาชีพ เช่น การจ้างงาน ซึ่งดำเนินงานโดยกรมการจัดหางาน งบประมาณปี ๒๕๖๕ สามารถ ดำเนินงานให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา ๓๓ จำนวน ๑๗๗,๖๘๓ คน ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากในปี ๒๕๖๔ ก็ตาม แต่กลับลดน้อยลงกว่า ปี ๒๕๖๓ เกือบ ๗๐,๐๐๐ คนค่ะท่าน ทั้ง ๆ ที่ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยได้รับการประกาศว่า เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และจากสถิติผู้สูงอายุในไทยปี ๒๕๖๕ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีจำนวนของผู้สูงอายุอยู่ ๑๒ ล้านกว่าคน ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติ ของผู้สูงอายุที่มีงานทำและมีรายได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมคิดเป็นร้อยละ ๑.๓๙ ของผู้สูงอายุทั้งหมด และถ้านำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือว่ายังมีศักยภาพ ในการทำงานที่ดีอยู่ ก็คือช่วงอายุ ๖๐-๖๙ ปี ซึ่งมีจำนวน ๗ ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ ๒.๔๙ ของจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก และจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากร และสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่าผู้สูงอายุมีรายได้น้อยยังต้องรับเงินจากบุตรหลานอยู่ ๕๗.๗ เปอร์เซ็นต์นะคะ ซึ่งในอนาคตจะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ครองโสดเพิ่มขึ้น มีจำนวนบุตรที่ลดลงหรือไม่มีบุตร มีสัดส่วน ผู้ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจาก ปัจจุบัน ไม่มีแหล่งรายได้จากบุตรและคู่สมรสแล้วนะคะ ในส่วนนี้จึงอยากสอบถามทาง กสม. นะคะว่าจะมีคำแนะนำไหมหรือมีการวางแผนงานและแนวทางในการดำเนินงาน อย่างไรเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงการทำงาน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ จากรายงานสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของ กสม. รวมทั้งสิ้น ๑,๑๔๙ เรื่อง พบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุจำนวน ๑ เรื่องแต่จากสถานการละเมิดสิทธิ ผู้สูงอายุในปี ๒๕๖๕ พบเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายกรณี เช่น ในข่าวทีวีต่าง ๆ เช่น กรณีผู้สูงอายุ จำนวนมากถูกล่ามโซ่ไว้ในศูนย์ผู้ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง กรณีหญิงสูงอายุถูกคนร้ายใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายและข่มขืนค่ะ และกรณีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่คนเดียวในบ้านพัก จนมีสภาพร่างกายที่ซูบผอมนะคะ อันนี้ก็คือเป็นกรณีในข่าวนะคะ แต่กรณีในพื้นที่ของ เมย์เองก็มีค่ะ ถูกทอดทิ้งไว้คนเดียวก็เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนตัวเมย์เองได้เข้าไปเยี่ยม ๑ ครั้ง ก็เกิดความคิดว่าอยากให้มีมาตรการที่ดูแลและเยียวยาเขามากกว่านี้ค่ะ อันนี้ก็จากรายงาน พบว่า กสม. มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นค่าใช้จ่ายฝึกอบรมเพิ่มขึ้น ๔ ล้านกว่าบาทในปี ๒๕๖๕ แต่คิดว่าในหลาย ๆ ท่านก็พูดเรื่องค่าใช้จ่ายไปแล้วนะคะ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายส่วนเลยค่ะ อย่างไรก็ตามที่ตั้งข้อสังเกตไปและซักถามไปก็เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านให้ผู้พิการ ให้ผู้ป่วย ติดเตียงหรือผู้สูงอายุ อยากให้ท่านลงพื้นที่เชิงลึกมากกว่านี้ จะเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อปฏิบัติงานและพัฒนางานได้ดียิ่งขึ้น ดิฉันเองลงพื้นที่สูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอโนนไทย ทราบเลยค่ะว่ามีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นเยอะจริง ๆ แล้วก็ผู้พิการ แล้วยิ่งต่อไป อยู่ในสังคมวัยผู้สูงวัยนะคะ ดิฉันในฐานะตัวแทนชาวบ้านจากที่ตั้งคำถามไปขอให้พัฒนา ให้ดีขึ้น ตามความหมายก็คือความมีคุณธรรม ความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรอมฎอน ปันจอร์ เชิญครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ท่านผู้ชี้แจง แล้วก็เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ผม รอมฏอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกลครับ ผมขอ Slide ด้วยครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มา พบปะและก็ได้สนทนากับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ชี้แจง ผมคงมี ประเด็นเพิ่มเติมจากเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเด็น จากมุมมอง จากพื้นที่ ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปัตตานีนะครับ เพราะว่าที่นั่นถือว่าเป็นพื้นที่ที่ด้านหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ความมั่นคงสูง อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่ที่เปราะบางต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนนะครับ จากหลายฝ่าย ผมขอตั้งประเด็นเอาไว้นะครับ กสม. องค์กรอิสระที่ควรอิสระในสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุที่ต้องโยงกับเรื่องสันติภาพ ก็เพราะว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นเสาหลัก เป็นประเด็นพื้นฐานอันหนึ่งของ การสร้างสันติภาพด้วย ผมได้ความรู้เยอะครับจากรายงานทั้ง ๒ ชิ้นของทาง กสม. เอง โดยเฉพาะรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ผมจะขออนุญาตโฟกัสไล่เรียง ทีละประเด็น ผมมี ๒-๓ ประเด็นไล่เรียงไป เพื่อที่จะเป็นทั้งคำถาม เป็นทั้งข้อสังเกต และอยากจะให้เพื่อนสมาชิกได้พิจารณาตามไปด้วยนะครับ Slide ถัดไป ผมขออนุญาต ตั้งต้นตรงนี้เลยครับ จริง ๆ ในรายงานมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดน ภาคใต้อยู่ไม่กี่หน้า แต่ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้นนะครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรกที่อยากจะตั้งประเด็นไว้เลยคือเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงครับ น่าจะเป็นการเกริ่นนำแล้วก็น่าสนใจมากครับ ทาง กสม. ได้หยิบยกเอาฐานข้อมูล ของทั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และทั้งทาง กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า ขึ้นมาเทียบเคียงเพื่อให้เห็นว่าทิศทางจริง ๆ แล้วก็มีทิศทางลง แต่ว่าในปี ๒๕๖๕ นี่กระดกขึ้น นิดหน่อย แต่ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตอย่างนี้นะครับ ฐานข้อมูลทั้ง ๒ ฐานนี้จริง ๆ มีระเบียบวิธีที่แตกต่างกัน และจริง ๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับการประเมินสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนด้วย เพราะว่าฐานข้อมูลของ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้าเท่าที่ผมทราบ ไม่รวมปฏิบัติการของฝ่ายเรา ของฝ่ายเราในความหมายนี้คือของฝ่ายรัฐ จึงเป็นไปได้ว่า การพิจารณาภาพรวมของสถานการณ์การละเมิดสิทธิในมิติต่าง ๆ อาจจะพร่องไป ผมอยากตั้งข้อสังเกตอย่างนี้และเสนอต่อทาง กสม. นะครับว่าเวลาที่เราใช้คำว่า การใช้ ความรุนแรง หรือว่าประเมินสถานการณ์ใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ เรามีคำที่เป็นทางการการก่อเหตุรุนแรงที่เป็นถ้อยคำที่เป็นทางการของฝ่ายรัฐ แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าความรุนแรงมันเกิดขึ้นได้จากหลายฝ่ายและน่าจะรวมการละเมิด สิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน ซึ่งในความหมายนี้ผู้ละเมิดก็อาจจะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจจะเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจที่ผมขอชมเชยเมื่อเปรียบเทียบ เนื้อหาสาระของตัวรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับข้อมูลจาก แหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์ติดตาม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิประสานวัฒนธรรมกลุ่มยาซัด หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนปาตานี ก็จะพบว่ามีเนื้อหา หลายอย่างที่เหมือน ที่มีอยู่ ที่ถูกบรรจุเอาไว้ แล้วก็มีบางอย่างที่หายไปเรื่องหนึ่งที่จะต้อง ขอชมเชยครับ คือการพูดถึงเด็กกำพร้าซึ่งเป็นผลกระทบจากความรุนแรงตลอดเกือบ ๒๐ ปี ถึง ๑,๔๐๐ กว่าคน มีการพูดถึงเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งจริง ๆ ในศัพท์เทคนิค ในด้านสิทธิมนุษยชนก็จะใช้ในภาษาอังกฤษอีกอันหนึ่งคือ Extrajudicial killing ซึ่งผม ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีความสอดทับสอดคล้องกับมโนทัศน์วิสามัญฆาตกรรมมากน้อยขนาดไหน เพราะว่าการสังหารนอกกฎหมายนี่ก็จะเป็นอีกความหมายหนึ่งด้วย แต่เอาเถอะก็มีการระบุ เอาไว้ในตัวรายงานชิ้นนี้ด้วย มีการพูดถึงการเสียชีวิตของพลเรือนระหว่างการช่วยราชการ ในเหตุปะทะปิดล้อมในฐานะเป็นคนไปช่วยเจรจาแล้วผิดพลาดแล้วทำให้เกิดการเสียชีวิต มีการพูดถึงประเด็นที่สำคัญมากคือการตรวจเก็บ DNA ในเด็ก แต่ ๒ กรณีหลังนี้ อยากทราบนะครับว่าทาง กสม. ได้มีการติดตามข้อเสนอแนะที่ทาง กสม.ให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เราเห็นแต่ว่าในบันทึกรายงานก็มีแต่การนำเสนอว่า ได้มีข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ๆ DNA น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่หายไปครับ ก็เป็นเรื่องการประเมินการบังคับใช้กฎอัยการศึกและข้อเสนอแนะ ผมทราบดีในรายงาน ก็ระบุถึงกฎหมายพิเศษถึงการบังคับใช้และการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นความคืบหน้าของรัฐบาล แต่สิ่งที่หายไปอย่างน่าเสียดายก็คือไม้แข็งกว่านั้น ก็คือตัวกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัว ๗ วันแรก โดยไม่ตั้งข้อหา อันนี้เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการซ้อมทรมาน แต่ไม่ได้ถูกพูดถึงเลยอย่างน่าตกใจ ทั้ง ๆ ที่ กฎอัยการศึกประกาศใช้เกือบ ๒๐ ปีแล้วในพื้นที่นี้ อันนี้ผมคิดว่าในรายงานในปีถัดไป หรือว่าการให้ความสำคัญของ กสม. ควรให้ความสำคัญกับไม้แข็งไม้แรงอย่างกฎอัยการศึก ด้วยนะครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สถานการณ์เด็กในการขัดกันทางอาวุธ Children and Armed Conflict ในรายงานของกลุ่มด้วยใจมีการพูดถึง รายงานประจำปีของ ๒๕๖๕ มีการพูดถึง แต่ผม เข้าใจว่า กสม. อาจเอาออกไปหรือไม่ได้สนใจในประเด็นนี้ เพราะว่าเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยง และมีความเปราะบางในทางการเมืองอยู่พอสมควร แต่ก็ควรที่จะต้อง Mention ไว้นะครับว่า รายงานที่ทางเลขาธิการสหประชาชาติได้ทำเอาไว้แม้ว่าเคยมีแต่ว่าได้ถูกเอาออกไปบ้างแล้ว การปรับตัวต่อภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนของ กอ.รมน. อันนี้เดี๋ยวจะพูดในประเด็นถัดไปนะครับ เรื่องที่น่าสนใจแล้วก็น่าเสียดายมากที่ไม่ได้มีการะบุเอาไว้คือเหตุการณ์ในการชุมนุมมลายูรายอ ของเยาวชนเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้วปี ๒๕๖๕ เรื่องนี้มีมิติแง่มุมหลากหลายมากนะครับ แต่ไม่ได้อยู่ในตัวรายงานด้วย น่าเสียดายครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นการสะท้อน เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินะครับ ซึ่งทาง กสม. น่าจะมีการติดตาม มีการ Monitor นะครับ คำถามที่จริง ๆ อยากจะถามทาง กสม. คือเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่กิจกรรมก็จะเป็นเรื่องการอบรม ความรู้ต่อเครือข่ายและเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามก็คือว่าการริเริ่มเหล่านี้ของ กสม. มันสร้าง ความแตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างนะครับ อันนี้ก็อยากจะให้มีการพูดถึง Impact ของมันนะครับ

นายรอมฎอน ปันจอร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายผมอยากพูดถึงเรื่องปัญหาความเป็นอิสระครับ ในรายงานของทาง กสม. พูดถึงการพยายามจะยกระดับถูกพิจารณาในการยกระดับขึ้นจากเกรด B มาเป็น Tier A ซึ่ง ๑ ในเงื่อนไขสำคัญคือการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วก็การแก้ไข รัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งไม่ช้าก็เร็วเข้าใจว่าทางสภาแห่งนี้อาจจะได้มีการพิจารณาข้อเสนอนี้จาก ทาง กสม. แต่นั่นเป็นมิติในทางนานาชาตินะครับ ผมอยากจะชี้ให้เห็นอีก ๒ Level อีก ๒ ระดับ ก็คือระดับชาติและระดับพื้นที่ครับ ระดับชาตินี่ผมคิดว่าอาจจะถึงเวลาที่ทาง กสม. อาจจะทบทวนสถานภาพขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง กสม. นี้ที่เป็น ส่วนหนึ่ง เป็นหน่วยงานที่อยู่ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าภาพเป็นหน่วยงานความมั่นคงทั้งนั้นเลยนะครับ ทั้ง สมช. ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. ปัญหาก็คือว่าการมีกิจกรรม มีตัวโครงการแค่ใช้งบประมาณแค่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กว่าบาท แต่อยู่ภายใต้การกำหนดตัวชี้วัดของหน่วยงานความมั่นคงเหล่านั้น ก่อให้เกิดคำถามได้ครับว่า กสม. จะมีความเป็นอิสระในการทำงานได้มากน้อยเพียงใด และในระดับพื้นที่ อันนี้ไม่เกี่ยวกับ กสม. โดยตรง แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวของ กอ.รมน. น่าสนใจครับ มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาภายใต้คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า หรือแม่ทัพภาค ๔ นั่นเองนะครับ ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยา ในการติดตาม กรณีการละเมิดสิทธิต่าง ๆ หลายครั้งมีความสับสนครับ มีความสับสนว่ามีการเรียกกันว่า เป็น กสม. กอ.รมน. กสม. กอ.รมน. กลายเป็นว่าคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญนี่นะครับ เกิดความสับสนในพื้นที่ครับว่าตกลงแล้วตัวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่อะไร กันแน่ เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่งของ กอ.รมน. ของทหารหรือว่าเป็นองค์กรอิสระนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ทาง กสม. ควรจริงจัง ควร Take serious แล้วก็น่าจะมีการสนทนากับ หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้หลักประกันในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสลายความสับสนที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนนะครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เลยเวลามา ๓ นาทีกว่านะครับ ต่อไปนะครับท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ คณะทำงาน กสม. กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ อำเภอชัยบาดาล วันนี้ผมขอใช้ช่วงเวลาในสภา อันทรงเกียรตินี้อภิปรายในส่วนของรายงานของ กสม. นะครับ ผมขออนุญาตลงลึก ด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันสิทธิด้านการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เนื่องจากผมได้ลงพื้นที่เอง ได้พบเจอกับพี่น้องประชาชน ได้รับข้อคำถามมากมายว่า ๓-๔ ปีมานี้เนื่องด้วยโลกของเรา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท สำคัญในชีวิตเรา อาทิตย์ที่แล้วเราก็มีเพื่อน ๆ สส. ได้อภิปรายเกี่ยวกับในส่วนของ พ.ร.ก. Cyber แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมา ๓-๔ ปีมานี้คือ COVID-19 ครับ เกิดความเหลื่อมล้ำมาก ๆ ครับ หลังจากมีการทำ Work From Home บ้าง มี Learning From Home บ้าง ในพื้นที่ที่ไกล ออกไปนี่ครับ พี่น้องประชาชนหรือครอบครัวที่ค่อนข้างด้อยโอกาสไม่มีอุปกรณ์ครับ รวมถึง ยังไม่มีความคุ้นชิน ความคุ้นเคยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ทำให้หลาย ๆ ครั้งไม่เข้าถึง การศึกษา บริบทการศึกษาทั่วโลกปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี แต่พี่น้องประชาชนยังไม่ได้มีความคุ้นชิน ซึ่งผมก็เห็นตามในรายงานต่าง ๆ ที่ว่ามีผู้ได้รับ ผลกระทบ โดยเฉพาะต่างจังหวัดครับ ไม่ใช่เพียงแค่ในส่วนของ COVID-19 แต่ปัญหา เศรษฐกิจทำให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษา เนื่องด้วยต้องช่วยในส่วนของ ครอบครัวทำมาหากิน เพื่อที่จะมีเงินในการที่จะมาซื้อ Tablet บ้างซื้ออุปกรณ์บ้าง รวมถึง ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่น้อง ๆ จะต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นค่า Internet และสิ่งสำคัญครับ ในพื้นที่ต่างจังหวัดนี่นะครับ ท่านอย่าว่าแต่ Tablet เลยครับ อย่าว่าแต่ค่าใช้จ่ายเลยครับ สัญญาณโทรศัพท์ หรือไฟฟ้าในหลาย ๆ ที่ก็ยังเข้าไม่ถึง มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำครับ เมื่อ COVID-19 ผ่านไป ๓-๔ ปี เราได้มีการกลับมาเปิดสถานที่ศึกษาแบบปกติแล้วก็จริง แต่น้อง ๆ ที่เสียโอกาสไปแล้วนี่ครับเวลาผ่านแล้วก็ผ่านไปนะครับ มันทำให้เขาเสียโอกาส ตลอด ๒-๓ ปีมานี้ หรือทำให้ชีวิตเขาอีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้าได้เปลี่ยนไปครับ ผมก็อยากจะ ซักถามว่าเราจะมีมาตรการใด ๆ ไหมที่จะชดเชยโอกาสที่น้อง ๆ เหล่านั้นเสียไป ผมฟังแล้ว ก็รู้สึกหดหู่ครับ ผมเคยเจอน้อง ๆ ถามว่าพี่ พี่ชายครับ พี่มีฝันไหม พี่ฝันอยากจะเป็นอะไร ผมก็เล่าความฝันของน้อง ๆ ให้ฟัง หนึ่งในนั้นก็คือการที่มายืนอยู่ตรงนี้เพื่อมาเป็น กระบอกเสียงให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของผม แล้วผมก็ถามว่าน้อง ๆ ฝันอะไรบ้าง น้อง ๆ ต้องตั้งใจเรียนนะ น้องเขาก็บอกโอกาสเรียนของผมยังแทบจะไม่ค่อยมี เลยครับ แต่สิ่งสำคัญน้อง ๆ กลับบอกผมว่าผมไม่กล้าฝันครับ แค่จะกล้าฝันก็ไม่กล้าแล้ว เพราะไม่มีโอกาสทางการศึกษา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโตไปจะเป็นอะไรนะครับ

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

จาก Slide ข้างต้นนี่นะครับก็ทำให้เรา เห็นว่ามีน้อง ๆ เด็กส่วนใหญ่นี่ครับที่เข้าเรียนเมื่อถึงวัย แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องออกในระหว่าง ที่ทำการศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากทางครอบครัวบ้างนะครับ ปัจจัยจากด้านที่ปรับตัว ไม่ทันเกี่ยวกับด้านการศึกษาบ้างครับ ขอ Slide ต่อไปครับ ในส่วนของอัตราการศึกษานี่ครับ เมื่อเราต้องแบ่งเป็น ๒ ส่วน

นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ

ส่วนแรก คือส่วนที่เป็นมัธยมศึกษาตอนต้นกับมัธยมศึกษาตอนปลาย เราก็จะ เห็นได้ชัดว่าในช่วงการมัธยมศึกษาตอนต้นก็ยังมีน้อง ๆ หลายคนที่เริ่มจะต้องกลับไป ช่วยครอบครัวทำมาหากินแล้ว ในส่วนตอนปลายจะเห็นได้ชัดอีกเช่นกันว่าตอนปลาย หลายคนต้องสละโอกาสแล้วก็สละสิ่งที่ตัวเองอยากจะเรียนเพื่อที่กลับไปช่วยครอบครัว ในการทำงานมากกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น ผมก็อยากจะซักถามว่าเราจะมีโอกาส ในการชดเชยโอกาสที่น้อง ๆ เหล่านี้ได้สูญเสียโอกาสบ้างไหม เพราะสมัยนี้เรามีการ e-Learning มีหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะให้น้อง ๆ ในการที่รู้เท่าทันโลกในการพัฒนาชีวิตส่วนตัว ของเขา ในส่วนนี้ผมก็อยากจะขอพูดเรื่อง Quality กับ Quantity ด้วยนิดหนึ่ง จาก Chart ต่าง ๆ เรามีผลประเมินด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงปริมาณ อย่างเดียวไม่ได้ของนักศึกษา หลายครั้งเราเอาดัชนีชี้วัดในส่วนตรงที่ว่าประเทศใด ๆ บ้าง ที่มีนักศึกษาจบจำนวนเยอะไหมหรือน้อย แต่วันนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องดูที่มาตรฐาน และโอกาสให้กับน้อง ๆ ด้วยว่าเขาจบไปแล้วหรือแม้แต่น้อง ๆ ที่ไม่มีวุฒิการศึกษา – แต่น้อง ๆ ได้รับเรียน รับรู้ในสิ่งต่าง ๆ ให้เท่าทันโลก ผมคิดว่าสิ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่น้อย กว่าวุฒิของการศึกษานะครับ เพราะว่าต้องให้เขาได้เท่าทันแล้วได้ใช้ชีวิตอยู่บนความเป็นจริง ให้รู้ว่าโลกสมัยนี้ไปไกลถึงขั้นไหน เราควรจะก้าวทันในด้านของเทคโนโลยีไหม ในการมีชีวิตอยู่ เด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้าครับท่านประธาน ผมเป็นห่วงในส่วนของน้อง ๆ ที่ไม่ได้รับ โอกาส โดยเฉพาะน้อง ๆ ในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการขาดในเรื่องของเทคโนโลยี ขาดในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ต่าง ๆ เรามีมากมายครับ แต่เราต้องสอนให้เขา รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย สำหรับของผมในวันนี้ก็เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ รักษาเวลาได้ดีมากนะครับ ต่อไปท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เชิญครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นผมขออนุญาตชื่นชมทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มาชี้แจงในวันนี้ว่า มีทั้งท่านประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็ เลขาธิการมาชี้แจงเองผมอยากจะฝากเรียนท่านประธานเรื่องแรกว่าถ้าเป็นรายงานประจำปี ของหน่วยงานที่เป็นลักษณะอย่างนี้อยากจะให้ตัวท่านประธานกรรมการของหน่วยงานนั้น กรรมการและเลขาธิการมาชี้แจงเป็นตัวอย่างเหมือนกับหน่วยงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราจะได้ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องนี้ผมอยากจะนำเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้ อยากจะนำเรียนผ่านท่านประธานไป ผมเข้าใจอย่างนี้ว่าเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากที่ผม ศึกษามาในรายงานปี ๒๕๖๕ เรื่องร้องเรียนมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๑๔๙ เรื่อง ไม่รับไว้พิจารณา ๒๒๕ เรื่อง คงเหลือ ๙๒๔ เรื่อง เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าเรื่องร้องเรียนทั้งหมด เป็นการที่ประชาชนมาร้องเรียนเองแทบทั้งสิ้น อยากจะให้หน่วยงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้ทำงานเชิงรุกบ้าง ทำไมผมถึงอยากจะเรียนว่าท่านมีอำนาจ ตามกฎหมายที่ออกมา ท่านมีอำนาจในการทำงานเชิงรุกหลายประเด็นมาก ผมเรียนนะครับ ผมขออนุญาตอ่าน สิทธิมนุษยชน หมายความว่าอย่างไร มาตรา ๔ เขียนไว้ชัดว่า สิทธิมนุษยชน หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของ บุคคล บรรดาที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย หรือตามหนังสือ สัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ท่านเห็นนะครับว่าท่านมี อำนาจหน้าที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก คราวนี้ที่ผมอยากให้ท่านทำงานเชิงรุกนะครับ ท่านมาดู ในมาตรา ๖ ของท่าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้างครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๑ เขียนไว้ชัดเจนว่าตรวจสอบ และรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทาง ที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับ ความเสียหายจากการละเมิดสิทธินั้น ดังนั้นท่านจะเห็นว่า คำว่า ตรวจสอบ ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่มาร้องเรียนเท่านั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของท่านในการที่จะเข้าไปตรวจสอบเอง โดยที่ไม่ต้องรอเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผู้มาร้องเรียนกับท่านแต่อย่างใด ผมอยากจะฝากเรียน ว่ามันมีกฎหมายที่สนับสนุนให้ท่านทำในเรื่องนี้ต่อไปได้นะครับว่ากฎหมายเขียนอำนาจ ในมาตรา ๓๔ ไว้ชัดเจนว่าท่านมีอำนาจในการดำเนินการเองได้ ไม่ต้องรอให้ผู้มาร้องเรียน เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะเป็นผู้แจ้ง หรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบซึ่งการได้มาในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และทำข้อเท็จจริง ให้ปรากฏโดยไม่ชักช้า เพราะฉะนั้นผมฝากเรียนท่านว่าในมาตรา ๓๔ เขียนสนับสนุน มาในมาตรา ๖ ใน (๑) ของท่าน ท่านมีอำนาจในการทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นปรากฏ เป็นข่าวอะไรทั้งสิ้นท่านสามารถที่จะตรวจสอบได้ครับ คราวนี้มาดูอีกนิดหนึ่งนะครับท่านประธาน อยากจะเรียนถามว่าในมาตรา ๔๐ ที่ท่านมีอำนาจทำเองได้เลยตั้งแต่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมา ท่านเคยมี การดำเนินการในส่วนนี้บ้างไหมครับ ในมาตรา ๔๐ เขียนไว้บอกว่าในกรณีที่มีสถานการณ์ อันกระทบหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ดำเนินการตรวจสอบแล้วจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ ประเทศในเรื่องนั้นขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรายงานให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป อย่างสมมุตินะครับ เมื่อท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้อภิปรายไปบอกว่าการใช้กระสุนยางยิงจนประชาชนตาบอดอย่างนี้ มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงอย่างนี้ ท่านได้เข้าไปดำเนินการในส่วนนี้ตามมาตรา ๔๐ ที่ท่านมี อำนาจหน้าที่ แล้วรายงานข้อเท็จจริงต่อรัฐสภาหรือต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบในส่วนนี้ บ้างไหมครับ คือผมอยากจะเรียนถามว่ากฎหมายให้อำนาจหน้าที่ท่านมากเลยในการที่จะ ดำเนินการ ไม่อยากให้ท่านตีความกฎหมายของท่านทำงานในวงแคบ เพราะว่ากฎหมาย ให้ท่านทำงานในวงกว้าง แต่ขณะนี้ท่านตีความของท่านทำงานในข้อจำกัด ทำให้ กระบวนการในการทำงานของท่านจำกัดอยู่ในการทำงานที่น้อยมาก ยังมีเขียนไว้อีกนะครับ ท่านประธาน มาตรา ๕๙ เขียนอีก ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๕ (๑) มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๔ อย่างที่กระบวนการในการทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีก ผมดูแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานเชิงรุก เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นผมอยากจะเห็นรายงานประจำปีในปีต่อไป ไม่อยากเห็น ๙๒๔ เรื่อง อยากจะเห็นท่านมีการรับเรื่อง ดำเนินการเรื่องเชิงรุกขึ้นไป อยากเห็นเป็น ๑๐,๐๐๐ เรื่อง ๒๐,๐๐๐ เรื่อง แก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนในการถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ ท่านจะเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างมากมาย ท่านมีอำนาจในการดำเนินการในส่วนนี้ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานฝากไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าขอให้ท่าน ทำงานในเชิงรุก ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการที่เขาถูกละเมิดสิทธิในส่วนนี้ จะเป็นที่ ชื่นชมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นความหวังของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ รักษาเวลาได้ดีนะครับ ต่อไปท่านรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล เชิญครับ

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยครับ สำหรับการอภิปรายของกระผมวันนี้ ก็คงขออนุญาตที่จะวิพากษ์วิจารณ์รายงานประเมิน สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือที่เราเรียกว่า กสม. ที่นำเสนอต่อสภาในวันนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่านได้อภิปราย ไปในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมเข้าใจดีครับว่าอำนาจหน้าที่ เท่าที่เขียนไว้โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าจะเจาะจงอำนาจหน้าที่ของท่านไว้ในเรื่องของ การตรวจสอบ เสนอความเห็น ให้คำแนะนำ ทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่าก็คงจะไม่ให้อำนาจหน้าที่ถึงขั้นในเชิงที่จะมีอำนาจบริหาร มีอำนาจสั่งการอะไร อันนี้ก็ต้องกล่าวโดยตรงด้วยความเป็นธรรมว่ามันก็เป็นเรื่องของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าเจตนา จะให้อำนาจหน้าที่ของท่านมากน้อยเพียงไร ผมเข้าใจว่าเขาคงจะคิดว่าไม่อยากให้ กสม. มีอำนาจมากกว่ารัฐบาล ไม่อยากให้ กสม. มีอำนาจไปบังคับบัญชาให้ทำโน่นทำนี่เหมือนกับ องค์กรอิสระบางอย่าง ตัวอย่างเช่น วันดีคืนดีผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่าให้อำนาจ กกต. ที่จะออกใบส้ม ก็ไปเขียนไว้ ในรัฐธรรมนูญว่าต่อไปนี้ กกต. ออกใบส้มได้ ทั้ง ๆ ที่อำนาจเหล่านี้ในอดีตที่ผ่านมานี่เขาให้ ศาลยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบอะไรทั้งหลาย วันดีคืนดี นึกสนุกขึ้นมาก็เอา กกต. ไปออกใบส้ม แล้วที่ผ่านมาเลือกตั้งครั้งหนึ่งก็ออกใบส้มไปครั้งหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วท้ายที่สุดก็เกิดเรื่องเกิดราวฟ้องคดีกันจนท้ายที่สุดศาลบอกว่า กกต. ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมก็ค่อนข้างจะสนับสนุนว่าถ้าจะ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่โดยจะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแก้ไขกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญก็ยินดีสนับสนุนว่า ให้ กสม. มีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจาก การเสนอแนะการทำคำชี้แจงทั้งหลาย ที่ผมสนใจอยากอภิปรายในวันนี้ครับ ท่านประธาน ที่เคารพ กราบเรียนผ่านไปยัง กสม. ผมอยากจะพูดถึงเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในรายงานของท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องของเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือเรื่องของการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ และเป็นเรื่องที่โต้เถียงหลักการกันมาช้านานพอสมควรแล้ว รายงานของท่านเรื่องสิทธิ ในกระบวนการยุติธรรม ท่านพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ปี ๒๕๕๘ เรื่องเงินทองที่จะ เอาไปประกันผู้ต้องหาและจำเลย ท่านพูดถึงเรื่องเรือนจำแออัด ต้องนอนกัน ๒ คนอย่างนี้ เป็นต้นนะครับ แล้วก็ผมไปพบว่าท้ายที่สุดเรือนจำแออัด ผู้ต้องหาจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ เปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดคือผู้ต้องหาและจำเลยในคดียาเสพติด เมื่อวานเราก็พูดยาเสพติดกัน ไปแล้วเป็นปัญหาสังคม ท่านพูดถึงเรื่องความล่าช้าในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ กันว่าความล่าช้านั้นคือความอยุติธรรม ท่านพูดถึงเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย และพูดถึง เรื่องอื่น ๆ อยู่บางเรื่อง แต่ว่าเสียดายครับ เรื่องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยไม่ได้มี การพูดถึงเลย พูดถึงบ้างโดยเฉพาะคาบเกี่ยวเรื่องกองทุนยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอาเงิน ไปประกันตัวผู้ต้องหาจำเลยเท่านั้น ที่ผมอยากจะเน้นเรื่องนี้เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ ถกเถียงกันมานาน ทั้งในแวดวงวิชาการและในทางปฏิบัติ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตอย่างนี้ครับว่าเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้การรับรองไว้ เช่นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา ๒๙ บอกว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลใดกระทำผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนผู้กระทำผิดมิได้ การควบคุมผู้ต้องหา หรือจำเลยกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหลบหนี การควบคุมผู้ต้องหาจำเลย ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เขาหลบหนี การขอประกันตัวต้องได้รับการพิจารณาโดยพลัน การไม่ให้ ประกันตัวต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ท่านประธานครับ ปัญหาใหญ่ของ ประเทศไทยในเรื่องสิทธิในการประกันตัว มีอยู่ว่าเรามีกฎหมายฉบับหนึ่ง เขาเรียกประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายฉบับนี้นี่บัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาไม่นานนะครับ ๒๔๗๗ แล้วก็ทราบว่าศึกษาว่ากฎหมายฉบับนี้ แท้ที่จริงก็ไปลอกเลียนแบบต่างประเทศเขามา เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต กฎหมายประเทศไหนเขาพอจะมีก็เอามาใส่ไว้ใน วิ. อาญา การใส่เรื่อง การประกันตัวไว้ใน วิ. อาญา ความสำคัญก็คือว่าได้มีการให้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาหรือศาล ในการไม่ให้ประกันตัวไว้หลายกรณี ตัวอย่างที่ผมอยากจะยก เช่น ถ้าจะไปก่อเหตุร้าย อย่างอื่น ถ้าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ถ้าคิดว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำท้ายที่สุดศาลก็อาจจะใช้ ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัว ท่านประธานครับ แต่ว่าถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับนี่ เหตุผล ในการประกันตัว ไม่ให้ประกันตัว เขียนไว้อย่างเดียวครับ เพื่อป้องกันมิให้เขาหลบหนี เพราะฉะนั้นนักวิชาการหรือใครต่อใครจึงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการที่ศาลใช้ดุลยพินิจ อย่างกว้างขวางในขณะนี้คำถามคือว่าเกินเลยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตต่ออีกนิดเดียวจะใช้เวลาไม่มาก ผลจากการที่ ป. วิ. อาญาได้เขียนไว้เช่นนี้ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เขียนมาว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือป้องกันไม่ให้หนี มันเกิดอะไรขึ้นครับท่านประธาน ก็แปลว่า ๑. การให้ประกันหรือไม่ให้ประกันเป็นดุลยพินิจ ของศาลอย่างกว้างขวาง และถูกวิจารณ์ว่าใช้ดุลยพินิจเกินเลยรัฐธรรมนูญ ๒. บทบัญญัติว่า สันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนบริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ในระหว่างนั้นจะปฏิบัติกับเขาดังผู้กระทำความผิดไม่ได้ บทบัญญัตินี้ไร้ผล

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการสุดท้ายครับท่านประธาน ขออนุญาตแป๊บเดียว ก็คือว่าผลจาก การที่กฎหมายมันลักลั่นกันเช่นนี้ทำให้เกิดวิธีปฏิบัติ เกิดแนวปฏิบัติที่มันผิดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายอยู่หลายเรื่อง ผู้ต้องหาในคดีอาญาในขณะนี้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ถูกศาล พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดแต่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ถูกคุมขังเหมือน ๆ กับผู้ต้องหา จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิดแล้ว ผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริสุทธิ์ในอดีตเคยถูก เขาเรียกอะไรครับท่านประธาน เขาเรียกพิมพ์นิ้วมือ พวกผม ๔-๕ คนนี้เคยถูกพิมพ์นิ้วมือ มาแล้วครับ ข้อหาอะไรครับ มาตรา ๑๑๖ ไปแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยในขณะที่เขามี คสช. มีประกาศคณะกรรมการฉุกเฉินอะไรก็ว่ากันไป ท้ายที่สุดก็ดำเนินคดีอาญา ต้องไปพิมพ์ นิ้วมือ ท้ายที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง ขณะนี้ประวัติของพวกกระผมกับคนหลายคนยังติดอยู่ใน แฟ้มอาชญากรรม เป็นวิธีข้อปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างไรไม่ทราบ ในเรื่องที่ ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เราเลือกตั้งกัน ผมมีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบบุคคลที่มาสมัครรับเลือกตั้งว่า ต้องหาคดีอะไรไหม ไม่น่าเชื่อครับท่านประธาน กดไปกดมา ดูไปดูมา บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ไม่เอาออก ศาลสูงสุด พิพากษายกฟ้องแล้วก็ยังมีประวัติอยู่ในนั้น นี่คือแนวทางที่กฎหมายลักลั่นกัน วิธีปฏิบัติ แตกต่างกัน ท่านประธานครับ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมาทบทวนในแง่ของ สิทธิกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา และจำเลย ก็ขอประทานโทษท่านประธานที่เกินเวลาไปเล็กน้อย ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ไม่เป็นไรครับ ต่อไปท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เชิญครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ นราธิวาส ประกอบด้วย อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ขออนุญาตมีส่วนร่วม ในการอภิปรายรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันดีที่เรียกว่า กสม. คือตามรายงานที่นำเสนอต่อสภาของเราในปีนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่ดูแลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ ปวงชนชาวไทยในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นองค์กรสำคัญที่จะเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ด้วยเวลามีจำกัด รายงานที่ท่านเสนอมามีหลายประเด็น แต่ผมขออนุญาตในฐานะที่เป็น สส. ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขออนุญาต ลงในประเด็นเฉพาะที่ท่านเสนอรายงานมาในบทที่ ๓ เกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ตั้งแต่หน้า ๕๑ ถึงหน้า ๕๕ ท่านประธานที่เคารพ ทุกครั้ง บ่อยครั้ง ที่ กสม. เสนอต่อสภาของเราในแต่ละปี ผมก็มีโอกาสได้อภิปรายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของ พี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมขอเรียนอย่างนี้นะครับท่านประธานว่าตามรายงาน ของ กสม. ในปีนี้ของปี ๒๕๖๕ ถ้าดูความแตกต่างกับรายงานที่เสนอมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ข้อเท็จจริงยังไม่เท่าทันกับ สถานการณ์ แล้วสิ่งที่ผมอยากเห็นที่สุดก็คือตามรัฐธรรมนูญ กสม. มีอำนาจในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีต้องมีความเห็นเสนอมายัง กสม. โดยไม่ชักช้าตามข้อเสนอของ กสม. แต่รายงานทุกฉบับผมยังไม่เคยเห็นที่ท่านเสนอ ไปยังคณะรัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ท่านได้เสนอไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับพี่น้องใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ยังไม่เคยปรากฏในรายงาน ผมจึงอยากให้ทาง กสม. การเสนอรายงาน ใน พ.ศ. ๒๕๖๖ อยากให้ท่านเขียนรายงานเกี่ยวกับคำตอบของคณะรัฐมนตรีที่ท่านเสนอ ไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะว่าการละเมิดสิทธิ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้มันมีมานานแล้วก็ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เหตุการณ์ความไม่สงบ เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปี กสม. ก็ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่จะช่วยปรามลดเงื่อนไข แล้วท่านก็ต้องกล้าที่จะเสนอความจริงที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับนี้ ปี ๒๕๖๕ การละเมิดสิทธิที่ท่านเสนอมีอยู่ ๒ ข้อ มันเป็นเรื่องเดิม ๆ การไปตรวจผู้ต้องสงสัย ที่บ้านโดยเจ้าหน้าที่ทหาร มีเด็กอยู่ด้วย การควบคุมตัวถูกซ้อมทรมานก็มีอย่างนี้มาตลอด แต่ผมอยากเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กสม. ว่าท่านต้องเท่าทันกับสถานการณ์ เพราะ การละเมิดสิทธิมนุษยชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้มันกำลังกลายพันธุ์ เมื่อมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผมก็อยากเห็น บทบาทของ กสม. ในการขยับทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เรามี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกาศใช้ตั้งแต่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเรื่อง ของการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วก็ปกป้องสิทธิมนุษยชนของพี่น้องเพื่อไม่ให้ละเมิด สิทธิมนุษยชน แต่ปัจจุบันนี้ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยัง ไม่เข้าใจ ยังเข้าไม่ถึงกฎหมายฉบับนี้ ทั้ง ๆ ที่ผมเอง ผมไม่อยากให้กฎหมายฉบับนี้ ดำเนินการเป็นไปตามข้อกฎหมาย เพราะเมื่อไรที่มีการนำกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ นั่นหมายความว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ท่านในฐานะเป็น กสม. อยากให้มีบทบาท ในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าหากถูกทรมานจากการใช้กฎหมายพิเศษ ต้องดำเนินการอย่างไร หากมีญาติพี่น้องที่สูญหายต้องดำเนินการอย่างไร

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ขอเพิ่มเติมประเด็นที่ผมเรียนให้ท่านประธาน ทราบว่าปัจจุบันนี้มันมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เฉพาะแต่ เรื่องของการควบคุมตัว แต่มันเป็นเรื่องที่มีการกลายพันธุ์ ยกตัวอย่างการฟ้องคดี SLAPP ฟ้องคดี SLAPP ก็คือฟ้องปิดปาก มีหลายกรณีตอนนี้ที่นักกิจกรรมหรือภาคประชาสังคม ในพื้นที่ถูกฟ้องปิดปาก ฟ้องโดยไม่ได้หวังผลชนะคดีหรอกครับ แต่ไม่ให้มีการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น กรณี มีการปิดล้อมตรวจค้น หรือมีการปะทะเกิดการวิสามัญฆาตกรรม ด้วยยุคปัจจุบันนี้มีสื่อ Social แล้วก็ประชาชนเฝ้าติดตามอยากรู้ความจริงจากการเผยแพร่ของนักกิจกรรม ปรากฏว่าเวลามีการ Live สดก็มีการดำเนินคดีปิดปาก หลาย Case นักกิจกรรมในพื้นที่ ตอนนี้ที่ถูกฟ้องในคดีลักษณะอย่างนี้ มีกรณีหนึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือการฟ้องคดี กับครอบครัวญาติพี่น้องที่จะมีการขุดศพของญาติเขา เข้าไปขัดขวาง ทั้ง ๆ ที่ว่ามันเป็นเรื่อง การบกพร่องของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กับผู้เสียชีวิตฝังศพเสร็จแล้ว ผ่านไปไม่กี่วัน ก็จะไปขุดศพมาพิสูจน์ตัวตน ลักษณะอย่างนี้เขาก็ปกป้องสิทธิของเขา ก็ถูกฟ้องคดีหาว่า ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และมีอีกหลายกรณีที่นักกิจกรรมในพื้นที่ การเข้าไป ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบก็หาว่าเป็นพวกเดียวกัน การรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมลายู การรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่มันจะมีมากขึ้นในวันข้างหน้า ก็ถูกเพ่งเล็งกับเจ้าหน้าที่ว่า กำลังปลุกปั่น ปลุกระดมกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือ สถานการณ์ใหม่ที่มันกำลังเกิดขึ้น แล้วก็จะก่อให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ผมก็เลยอยากให้ทาง กสม. ให้เท่าทันกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มันกำลังมีการกลายพันธุ์ ยังไม่รวมถึง การปิดล้อมตรวจค้นที่มีสถิติว่าวิสามัญฆาตกรรมตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ เสียชีวิตไปตั้ง ๕๘ ศพ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่ปรากฏในรายงาน แล้วก็ยังไม่ปรากฏว่า กสม. ได้เสนอแนะ ไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอดิศร เพียงเกษ เชิญครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดขอนแก่น วันนี้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากปัตตานีมาฟังการประชุมของเรา กระผมถือโอกาสขอส่งความปรารถนาดีในวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านวันนี้ไปหากำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ต้องขอโทษด้วยบางที สส. บางท่านไม่ได้ เข้าไปร่วม เพราะเราประชุมสภาที่นี้ ๑๐ สิงหาคม วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บำบัดทุกข์มายาวนาน ทุกท้องที่ บำรุงสุขชาวประชาสามัคคี ขอสดุดีเป็นกำลังใจ เจริญเทอญ สำหรับ กสม. หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมอภิปรายวันนี้ก็เกรงใจ แต่จำเป็นอยากจะสอบถามท่าน การละเมิดสิทธิมนุษยชนของท่านกับของผมเหมือนกันหรือไม่ สำหรับผมนี้ถือว่าการก่อการกบฏ ก่อการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด ในเมืองไทย มีไหมครับ หยก ๆ นี้ ๙ ปีย้อนหลัง ปี ๒๕๔๙ ผมโดน ต่อมาปี ๒๕๕๗ ทำ ผมอยากถามว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นต่อการก่อการกบฏ ทำรัฐประหาร ไว้ในรายงานวิจัยของท่านหรือไม่ และสนใจเรื่องนี้ไหม ในขณะที่เขาทำรัฐประหาร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยังรับเงินเดือนเฉยอยู่หรือไม่ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็มีศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จนป่านนี้มีรายงานวิจัยสักเรื่องไหม ผลกระทบจาก การทำรัฐประหาร ซึ่งเราเดินมาสู่จุดที่การเมืองกำลังเดินยาก มันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนหรือไม่ แล้ว กสม. คิดอยากจะทำเรื่องนี้ไหม คณะกรรมการของท่านบางคน ก็หนีหัวซุกหัวซุนไปอยู่ต่างประเทศ ไม่รู้ว่าท่านวสันต์รู้จักกับคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ไหม เดี๋ยวนี้อดีต กสม. ของท่านไปอยู่ที่ไหน ท่านได้สนใจเพื่อนฝูงของท่านหรือไม่ที่โดน การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ท่านกินเงินเดือน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เฉยหรือไม่ ผมอภิปราย ผมไม่ใช่ว่าจะไม่ให้กำลังใจท่านนะครับ ผมเห็นว่าผลงานของท่านก็ทำรูปเล่ม สวยไป แต่วิธีปฏิบัติ ผมเป็นครู ผมสอนหนังสือปริญญาโท ปริญญาเอก ผมให้ท่านแค่ C นะครับ C ยังไม่ถึง B ด้วย เพราะว่าสิทธิมนุษยชนระเบิดอยู่ข้าง ๆ ท่าน หลายปีท่านไม่รู้เรื่องเลย การชุมนุมของเสื้อแดง ๙๙ ศพ บาดเจ็บ ๒,๐๐๐ คน จนป่านนี้มีเรื่องวิจัยจาก กสม. ไหม อยู่ในเล่มนี้หรืออยู่ในปีไหนไหมครับ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ถึงจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนครับ ผมพูดด้วยความเกรงใจ อาจารย์จรัลบอกว่าอดิศร ช่วยพูดหน่อย ถ้าวสันต์มาถามเขาหน่อยว่าคิดถึงผมไหม ว่าเขาอยู่ต่างประเทศนี่เขาเคยเป็น อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือว่าเพื่อนฝูงลืมเขาไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เราเติบโต จากเดือนตุลาคมด้วยกัน จนมาถึงป่านนี้อายุไม่ต้องนับครับ มันใกล้ไปทุกขณะแล้ว จนป่านนี้ เมื่อ ๖ ตุลาคม ๑๔ ตุลาคม พฤษภาทมิฬ สิทธิมนุษยชนในประเทศนี้มันควรจะบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญอย่างนี้หรือเปล่าครับ ท่านปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ปี ๒๕๖๐ ก็ฉีกปี ๒๕๕๗ มา ผมไม่อยากอธิบายครับ อยากรู้สิทธิหน้าที่ของท่านจริง ๆ ท่านสนใจ สิทธิมนุษยชนของมนุษย์ที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์หรือไม่ รู้หรือเปล่าทุกวันนี้มันเบียดขับ ทางการเมือง จับนักเรียน นักศึกษา นักเรียน นักศึกษาเราเคยเป็นมาก่อน มันคิด มันอยากจะแสดงออก อาจจะไม่เหมาะสม คุณก็ต้องปรับปรุงต่อไป เรื่องนี้ต่างหากท่านต้อง ทำเป็นรูปธรรม ท่านทำมาสวยหรู ท่านต้องการงบประมาณเพิ่มอีกหรือเปล่าครับ หรือว่า งบมันไม่มี หรือว่า กสม. ตามขอนแก่นไม่มี ตามสงขลาไม่มี อยากจะสร้างแบบองค์กรอื่น ๆ ไหมครับ ป.ป.ช. ก็มีทุกจังหวัดแล้ว อยู่ไปอยู่มาก็ไปสนิทสนมกับพรรคพวกเลยไม่รู้จะสอบใคร ท่านครับ ผมอภิปรายบางสิ่งบางอย่างไม่น่าพูด แต่วันนี้ถือโอกาสพูดนะครับ การรัฐประหารมันเป็น สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าท่านไม่ทำวิจัยเรื่องนี้ ผมขอเสนอ แล้วจะหา งบประมาณให้ท่านทำวิจัยเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำวิจัยองค์กรของท่านยุบเถอะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านอดิศรที่รักษาเวลานะครับ ต่อไปท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู นะครับ เชิญครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม อาจารย์วรวิทย์ บารู จากเขต ๑ ปัตตานี พรรคประชาชาติ ต้องขอขอบคุณ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินะครับที่ได้มาให้ความรู้ ให้รายละเอียดต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าสิทธิมนุษยชนมันเป็นสากล มันเป็นเรื่องของทุกคน ประกอบกับ ประเทศไทยโดยอัตลักษณ์ โดยนิสัยของคนไทยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกคนที่หนีร้อน มาพึ่งเย็น แต่ในบางกรณีของผู้ลี้ภัยนี่นะครับมันเป็นเรื่องซึ่งน่าเศร้า ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนกรกฎาคมได้รับรายงาน อันนี้ผมคิดว่านักสิทธิมนุษยชนก็คงทราบดีมีผู้เสียชีวิต แล้วนะครับซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจำนวน ๑๓ คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นคนซึ่งอายุยังไม่มากยังไม่ถึง ๕๐ ปี เพราะฉะนั้นคำถามที่ตามมาก็คือว่าการปฏิบัติ ต่อคนเหล่านี้ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ การดูแลทางการแพทย์ของเขาเหล่านี้อย่างที่ผม บอกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสากล แล้วก็โดยลักษณะของคนไทยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตใจ ที่งดงามไม่น่าที่จะเป็นลักษณะอย่างนี้ สูงครับ ๑๓ คน แล้วคำถามเหล่านี้มันจะต้องถูก ตั้งขึ้นมาว่าจากสถานที่อันคับแคบ ผมยกตัวอย่างเช่นว่าผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกจับทางใต้และถูกส่งมา ส่วนหนึ่งก็ถูกส่งกลับไปยัง ประเทศจีน โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยแต่ผู้ชาย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเด็กและผู้หญิงจะถูกส่งไปที่ตุรกี ทำไมต้องเป็นประเทศตุรกี เพราะ ความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้กับเชื้อชาติ เชื้อสายเขาที่อุยกูร์ เพราะว่าเขาค่อนข้างที่จะใกล้ชิด ในการพิสูจน์อัตลักษณ์ก็น่าที่อยู่ใกล้ชิดกับทางตุรกีมาก ผมพูดตรงนี้ ๑๓ คนที่เสียชีวิตไป ๓ คนเป็นอุยกูร์ นอกนั้นก็ไม่ได้เป็นอุยกูร์ ตรงนี้ถ้าหากว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เป็นสากล แล้วก็ควรที่จะดูแลคนเหล่านี้ไม่ใช่กักขังไว้ที่ ตม. ที่สวนพลู ในสถานที่แคบ ๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าหากว่าคนเหล่านี้ผมอาจจะเน้นตรงที่ทางออกของหลายผู้ลี้ภัย เช่น อุยกูร์ เขาไม่ต้องการที่อยู่ในประเทศไทย เขาต้องการที่จะไปยังประเทศมาเลเซีย แล้วก็ไปเลือก ประเทศที่สามต่อไป แต่เนื่องจากว่าการเข้ามาของคนเหล่านี้มาในปี ๒๕๕๗ ปีที่ปฏิวัติพอดี แล้วก็เกิดการปฏิบัติต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้นในช่วงเหล่านั้นขณะนี้ ๑๐ ปีแล้วนะครับ ปี ๒๕๕๗ เกือบจะ ๑๐ ปีแล้วคนเหล่านี้ก็อยู่เหมือนเดิม ได้รับการปฏิบัติเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ ทางออกมีมากมาย ผมเข้าใจว่าทาง ตม. เองก็คงกระอักกระอ่วน แล้วคนเหล่านี้ไม่ใช่เป็น ผู้ผิด เป็นฆาตกร เป็นผู้ลี้ภัยมาแล้วก็ถูกรับรองโดยกฎหมายสากล ข้อพันธกรณีอะไรต่าง ๆ โดย UN เพราะฉะนั้นผมว่าในสิ่งเหล่านี้ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยทำไม่ได้จะส่งไปยังประเทศ ที่เขาต้องการจะไปไม่ได้ก็ควรที่จะปฏิบัติต่อเขาให้ดี หรือถ้าหากความประสงค์ของเขา อย่างเช่นว่า ทางประเทศตุรกีต้องการให้เขาไปอยู่ที่โน่น แล้วคนเหล่านี้ถ้าหากส่งเขาไปเขาก็ จะได้เจอครอบครัวเขาที่โน่น ดูเหมือนว่ามันมีอะไรอยู่ในลักษณะที่ปฏิบัติตรงนี้สำหรับ ประเทศไทย อย่าลืมว่า OAIC ก็ดูในเรื่องเหล่านี้ด้วย กสม. เราก็ต้องระมัดระวัง ในเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ ผมเข้าใจว่าองค์กรอิสระควรที่จะได้ดำเนินการในลักษณะที่เป็น อิสระ ไม่ใช่ภายใต้ของใครคนใดคนหนึ่งหรือว่ารัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หากไม่สามารถที่จะ ดำเนินการตามที่เขาต้องการได้ก็ควรที่จะให้หน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่นว่า OAIC นั้น เลือกประเทศที่เขาต้องการจะไปให้เขาเลือกประเทศ ให้ผลักตรงนี้ แทนที่จะเป็นประเทศไทย ผลักเขาออกไป เราคุมขังเขา เขาเป็นมนุษย์ ทีนี้เราให้เขาอยู่ในลักษณะที่ไม่มีสุขภาพ อยู่ในอันตราย สภาพที่คับแคบ ท่านสามารถที่ไปดูได้ที่สวนพลู ห้องขังปกติธรรมดานี่ละครับ ทีนี้คนเหล่านี้บางทีสุขภาพอนามัยให้เขาได้ออกกำลังกายให้เขาได้ขยับขยาย ได้ขยับตัวอะไร ต่าง ๆ เหล่านี้ หรือไม่ถ้าหากว่าตั้ง Camp ตั้งอะไรขึ้นมา เขาสามารถที่จะอยู่ในลักษณะ ของชุมชน สุขภาพอนามัยของคนเหล่านี้ก็จะดีขึ้นก็จะได้รับการดูแล ที่สำคัญที่เสียชีวิตไปทั้ง ๑๓ คนปรากฏว่าไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรในเรื่องลักษณะของทางการแพทย์ เพราะฉะนั้น ผมถือว่าอันนี้มันโหดร้ายจนเกินไปกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันนี้ ต้องดูเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยทั้งหมด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของรัฐบาลใด รัฐบาลหนึ่ง แต่ว่าเหล่านี้เป็นภาพลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยที่ถูกยอมรับไปทั่วโลก ไฉนเลยเรามาเจอกรณีเช่นนี้เราละเลย เป็น ๑๐ ปีแล้วได้รับการละเลย ทั้ง ๆ ที่เรามี ในลักษณะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมีพันธกรณีเหล่านี้กับนานาชาติ อันเป็นสากล อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มี การพูดคุย ผมทราบว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้ ผมยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าถ้าหากว่าเราจัดการไม่ได้ทางออกมันมีอีกเยอะแยะในการที่จะให้ คนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นฆาตกร เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายนะครับ เดี๋ยวจะได้ผู้ชี้แจงได้ชี้แจง เชิญท่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ก่อนอื่นก็ต้องขอสวัสดีแล้วก็ยินดีกับท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ตัวผมเองก็มีความคาดหวังว่าประเทศไทยน่าจะ มีการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไทย แต่ถ้าท่านดูงบประมาณประเทศที่มี การละเมิดสิทธิสูงอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างเช่นประเทศไทยนี่ก็พบว่าท่านมีงบประมาณ ปีละ ๒๕๐ ล้านบาทเอง อะไรที่มันเป็นเรื่องสิทธิของประชาชนกับการจัดงบประมาณ มันช่างน้อยนิดเหลือเกินนะครับ แล้วก็การจะแก้เรื่องสิทธิมันก็แก้ยาก คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่ใน ๕ องค์กรที่เรารู้ดีคือ กกต. มีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. แล้วก็มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มี ป.ป.ช. คราวนี้ผมอยากให้ท่านกรรมการก็รู้ดี แต่ผมอยากให้ประชาชนได้คิดตามไปด้วย คนที่อยู่ในองค์กรอิสระนี่เขามีหลักที่สำคัญ ผมถือว่าเป็นปรัชญาของท่าน และเป็นเรื่องที่ ถ้าท่านขาดความรับผิดชอบในปรัชญาข้อนี้ความรับผิดชอบมีความสำคัญต่อประเทศ ประเทศใดถ้าผู้มีความรับผิดชอบขาดความรับผิดชอบความวิบัติก็จะตามมา หน้าที่ของ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเขาบอกว่าท่านต้องปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของ องค์กรอิสระอยู่ ๔ ประการ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ต้องโดยสุจริต

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ โดยเที่ยงธรรม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ โดยกล้าหาญ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ ท่านต้องปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลยพินิจ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมอยากให้ความสำคัญของความว่ากล้าหาญ ความกล้าหาญกับการขี้ขลาด มันจะตรงกันข้ามกัน ความกล้าหาญกับความธุระไม่ใช่ ไม่อยากเข้าไปยุ่ง อันนี้ไม่ใช่ ความกล้าหาญ ในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมาก ๆ ผู้รับผิดชอบ ผู้บังคับใช้กฎหมาย กับคนชั่วที่แข็งแกร่งจะใช้ผู้ปกป้องคุ้มครองสิทธิที่อ่อนแอ ท่านซื่อสัตย์แต่ท่านอ่อนแอ ไม่มีความกล้าหาญ ท่านซื่อสัตย์อาจจะไม่เข้มแข็ง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ก็ต้องยอมรับอย่างที่ ท่านอาจารย์ชูศักดิ์ได้พูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เขาเจตนาจะให้คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคนมาแก้ตัวให้กับรัฐบาล ท่านดูได้จากมาตรา ๒๔๗ ที่อำนาจ หน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะใน (๔) ก็คือท่านต้องชี้แจงและรายงาน ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในอดีตนั้นเขามี หน้าที่ในการตรวจสอบการละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามพันธกรณีของ ระหว่างประเทศ สิทธิมันใหญ่ แล้วเวลาจะรายงานนี่ก็ให้รายงานต่อสภา แต่ท่านก็ไปรายงาน ต่อรัฐบาล อันนี้จึงเป็นปัญหา ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมาก ถ้าเรื่องที่ เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่าบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญท่านก็ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าเรื่องที่ขัดแย้งกับศาลปกครอง หรือใช้คำสั่งทางการปกครองมิชอบ ท่านก็ส่งไปที่ ศาลปกครองได้ หรือถ้าเห็นว่าผู้เสียหายได้รับผลกระทบเป็นคนยากไร้ ท่านก็ฟ้องแทนได้ ในศาลยุติธรรม แต่อำนาจนั้นเนื่องจากเขากลัวท่านจึงไม่ได้ให้อำนาจ อันนี้ก็ถือว่าท่านได้ทำ หน้าที่วันนี้ก็ค่อนข้างที่จะในระดับหนึ่ง ท่านกรรมการครับ ท่านประธาน เพื่อให้เข้าเนื้อหา สักนิดหนึ่ง จริง ๆ มันมีหลายเนื้อหา ผมอยากให้ท่านดูในหน้า ๗๙ อันนี้ผมถือว่าเป็น สิทธิมนุษยชนที่สำคัญ สิทธิเรื่องการศึกษา ท่านทราบไหมว่าท่านเขียนไว้เรื่อง กยศ. กยศ. อยากให้เอา Slide ขึ้นมาดูสักนิดหนึ่ง

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กยศ. ในอดีต ก่อนปี ๒๕๖๖ คนยากไร้ คนที่ไม่มีเงินจะไปเรียนหนังสือ กฎหมายเก่า พลเอก ประยุทธ์ ได้แก้เมื่อปี ๒๕๖๐ ให้มีดอกเบี้ย ๗.๕ เปอร์เซ็นต์ ให้มีเบี้ยปรับ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ รวมดอกเบี้ย กับเบี้ยปรับ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ ๒๕ คนทำธุรกิจกำไรร้อยละ ๒๕ ยังน้อย เวลาคิด เวลาไปใช้หนี้ก็ให้ไปใช้เบี้ยปรับ แล้วก็ให้ดอกเบี้ยและเงินต้น ดังนั้นเราจึงเห็นว่าก่อนที่จะ มาแก้ปี ๒๕๖๐ คนใช้หนี้กู้มา ๓๐๐,๐๐๐ บาท ใช้หนี้ไป ๓๐๐,๐๐๐ บาท ยังเหลือหนี้ อยู่ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท เพราะเวลาใช้หนี้ ลำดับการใช้หนี้ก็ไปใช้หนี้เบี้ยปรับ แล้วค่อย ไปใช้ดอกเบี้ยกับใช้เงินต้น แต่เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ. กยศ. ไปราวเดือนมีนาคม เราให้ยกเลิก มาตรา ๔๔ การคิดดอกเบี้ยอันนี้ แล้วเปลี่ยนใหม่ว่าต่อไปถ้าจะมีดอกเบี้ยก็ไม่ให้เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะมีเบี้ยปรับก็ไม่ให้เกิน ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ สรุปจาก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับนั้นไม่เกิน ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ ผมขออีกสักนาทีครึ่งนะครับ ปรากฏว่าที่สำคัญที่สุดเราต้องการที่จะให้มีผลย้อนหลังไปผู้กู้ทั้งหมดไม่ว่าจะบังคับคดี ไม่ว่าจะถูกยึดทรัพย์ ไม่ว่าจะถูกดำเนินการ โดยไปเขียนไว้ในมาตรา ๒๗ ให้เอาไปใช้กับหนี้ ที่อยู่บังคับคดีถ้าถูกยึดทรัพย์ แล้วหลักเกณฑ์การหักก็ให้ไปใช้กับทุกคน คือสรุปแล้ว กยศ. ไม่ขาดทุนแต่กำไรน้อย เพราะวันนี้กำไรประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์สำหรับคนกู้ คนยากไร้ คนไม่มีเงิน แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมมาถึงปัจจุบัน ซึ่งบังคับ กยศ. ต้องไปใช้เกณฑ์นี้ วันนี้ยังไม่แก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ จะรอรัฐบาลใหม่หรืออย่างไร ทั้ง ๆ ที่ท่านละเว้นมาตลอด เพราะกฎหมายบอกว่าให้ยกเลิกมาตรา ๔๔ เดิม แล้วให้มาใช้ใหม่ ท่านก็ไปใช้กฎเกณฑ์เดิม ลักษณะเช่นนี้ ท่านเขียนเรื่องการศึกษาว่าจะเป็นหน้าที่ท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติต้องไปดู คน ๖ ล้านกว่าคน คนที่ถูกได้รับผลกระทบมากมาย นี่คือตัวอย่างนะครับ หลาย ๆ อย่างไม่ได้พูดถึงครับ ผมอยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นที่พึ่ง และเป็นที่หวังของประชาชน หลาย ๆ เรื่องท่านก็พยายามจะทำถึงแม้ว่าการให้งบประมาณ ท่านน้อยนิด ดังนั้นจึงขอให้กำลังใจนะครับ แต่ขอเอาเรื่องนี้ไปช่วยติดตามให้หน่อยครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกก็หมดผู้อภิปรายนะครับ เชิญผู้ชี้แจงครับ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณค่ะ กราบเรียนท่านประธาน และท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ คือมีหลายประเด็นมาก แต่เข้าใจว่าหลาย ๆ ท่านจะพูดเรื่องของผู้ลี้ภัย ซึ่งเรื่องนี้ทาง กสม. ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เราก็มีเครือข่ายของเราที่ชายแดนที่จะมาร่วมกันหาทางแก้ไขทั้งโดยตรงแล้วก็โดยอ้อมนะคะ มีการประชุมกันทั้งทาง สมช. มหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องนะคะ เรื่องนี้ก็อยู่ในกระบวนการ ที่เราพยายามติดตามแก้ไขอยู่ รวมทั้งเรื่องของการที่จะเป็นภาคีต่าง ๆ ก็เคยมีหนังสือไปยัง หน่วยงานของรัฐหลายครั้ง ถึงนายกรัฐมนตรีหลายครั้งเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้นะคะ นิดหนึ่งค่ะในส่วนของสำนักงานขอนแก่นก็เปิดแล้วนะคะ กรณีที่มีท่านสอบถามนะคะ อยู่ที่ตลาดจอมพลอย่างไรก็เดี๋ยวคงจะมีการประสานไปยังท่าน สส. ที่อยู่ในพื้นที่นะคะ การทำงานเชิงรุกเป็นสิ่งที่เราอยากทำอย่างมากมาย เรามีการลงพื้นที่ มีการหยิบยกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องรับเรื่องร้องเรียนที่ได้มีการลงสถิติไว้ แต่เรื่องที่เป็นเรื่องที่เราหยิบยกขึ้นเอง ก็มีหลายกรณี แล้วก็หลาย ๆ เรื่องก็คงอยู่ระหว่างการดำเนินการ และอยู่ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งอาจจะยังไม่ปรากฏในรายงานของ ปี ๒๕๖๕ อันนี้ในภาพรวมแต่ว่าในเชิงรายละเอียดเดี๋ยวจะ ขอให้ท่าน กสม. วสันต์ แล้วก็ กสม. ศยามล อธิบายในแต่เรื่องที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมา ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับท่าน บอกชื่อด้วยนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ขออนุญาตเสริมท่านประธานแล้วก็อธิบายเรื่องเพิ่มเติมในบางส่วน ก่อนอื่นต้อง ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจความคิดเห็น แล้วก็ข้อเสนอแนะของท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้กรุณา อภิปรายแล้วก็ได้ให้คำแนะนำนะ หลายอย่างที่ท่านได้ให้คำแนะนำหรือช่วยชี้แนะ ทาง กสม. ก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานเชิงรุก กสม. พยายามที่จะ ทำงานให้รวดเร็วโดยตระหนักว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แล้วก็ เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว อย่างที่ท่านบอกว่าความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม เรามีการปรับปรุงกระบวนการในการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องของ การตรวจสอบ แล้วก็ประสานการคุ้มครอง เรื่องที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากจะมี การร้องเรียนเข้ามาบางส่วน คณะกรรมการได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเอง แล้วก็นอกจาก การตรวจสอบซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลานานหน่อยเนื่องจากว่าอาจจะมีกระบวนการจะต้อง รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทุกด้าน ดูข้อกฎหมายแล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับหลัก สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ทาง กสม. ให้ความสำคัญกับเรื่องการประสานการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสามารถทำได้เร็ว แล้วก็สามารถที่จะ ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที บ่อยครั้งมากกว่าการตรวจสอบ ก็ในช่วงที่ผ่านมา กสม. ก็ให้ ความสำคัญกับการประสานการคุ้มครองแล้วก็ประสานการให้ความช่วยเหลือ นอกเหนือจาก การตรวจสอบ อย่างที่ท่านตระหนักว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล แล้วก็เป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้องกับทุกคนมีงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ มากมาย ในส่วนของรายงาน เท่าที่เราได้รายงานก็จะมีทั้งสถานการณ์พิเศษแล้วก็สถานการณ์ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม การรายงานก็อาจจะไม่สามารถ ที่จะรายงานได้อย่างครบถ้วน ทุกเรื่องทุกประเด็น แต่ก็จะน้อมรับข้อเสนอแนะของท่านไปดู ไปพิจารณาในรายละเอียดเรื่องที่ท่านอยากจะให้ความสำคัญมากขึ้น

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตนำเรียนว่าในการประสานการคุ้มครอง คือเราทำงานเชิงรุก โดยมีการลงพื้นที่ไปเปิดคลินิกสิทธิมนุษยชนนะครับ ก็คือว่าแทนที่จะตั้งรับรอให้คนมา ร้องเรียนเราก็ลงพื้นที่ไป แล้วก็ไปรับเรื่องร้องเรียนในกลุ่มชุมชนหรือว่าในสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิสถานะบุคคลหรือว่าคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แล้วการเปิดสำนักงานที่ภาคใต้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่เราต้องการที่จะให้ กสม. สามารถ เข้าถึงได้ง่าย ได้สะดวกขึ้น ภาคใต้สถานการณ์การละเมิดสิทธิอาจจะรุนแรง ก็เลยเป็นที่ที่เราไปเปิดสำนักงานเป็นแห่งแรก ส่วนภาคอีสานอย่างที่ท่านประธานบอกนะครับ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ แล้วเดือนกันยายนเดือนหน้านี้ก็จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการ แล้วก็ยังมีแผนงานที่จะเปิดที่จังหวัดภาคเหนืออีกด้วย อันนี้ก็เป็นในส่วนที่เราจะให้สามารถ เข้าถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ง่ายขึ้น มากขึ้นนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสม. ขออนุญาตนำเรียนครับว่า ในการทำหน้าที่ของประชาชนนั้น กสม. ได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ สุจริต แล้วก็ปราศจากอคติในการใช้ดุลยพินิจ เรามีที่มาจากหลายด้านด้วยกันในการทำงาน ก็ทำงานเป็นองค์คณะแล้วก็ช่วยกันดู ก็ยืนยันครับว่าในการทำงานมีความเป็นอิสระ แล้วก็เป็นความอิสระจากทุกฝ่าย ทุกด้าน อย่างไรก็ตามครับ เราก็ตระหนักถึงความสำคัญ ของการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เรื่องของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการเฝ้าระวังนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขออนุญาตนำเรียนว่าเรื่องแผนงานบูรณาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราอาจจะได้รับงบประมาณจากส่วนนี้ด้วย ขอเรียนว่าไม่ได้มีผลต่อเรื่องของความเป็นอิสระ ของ กสม. แต่แต่อย่างใด แผนงานที่เราดำเนินการก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์ แล้วก็เป็นไป ตามทิศทางของ กสม. แล้วก็ในการดำเนินงานเราก็มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ตัวชี้วัด ก็เป็นเรื่องกว้าง ๆ เท่านั้นเองครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กสม. ก็ขออนุญาตนำเรียนว่า กสม. ตระหนักดีครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของ กสม. เอาไว้ ซึ่งเราเห็นว่ามีบางเรื่องที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเรามีความไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะ มาตรา ๒๔๗ (๔) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา ๒๖ (๔) ด้วย เรื่องที่จะต้องชี้แจง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยไม่ชักช้าหากมีการรายงานไม่ถูกต้อง อยากจะนำเรียนว่า เราเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบริหารกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระหรือสถาบันสิทธิ มีความแตกต่างกัน หน้าที่ในการชี้แจงบางเรื่องเราเห็นว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ในขณะที่ องค์กรอิสระก็จะทำหน้าที่โดยอิสระของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของการตรวจสอบ หรือเรื่องของการรายงานสถานการณ์สิทธิต่าง ๆ เช่นเดียวกันบทบาทในการทำงาน หลายต่อหลายเรื่อง กสม. เองมีบทบาทในฐานะที่เป็นเหมือนผู้แนะนำ เป็นเหมือนผู้ตรวจสอบ แล้วก็เสนอแนะทั้งในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย ในเรื่องของการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่ว่า กสม. เองบางเรื่องอาจจะไม่ได้มีอำนาจ หน้าที่ที่จะไปลงในแง่ของการปฏิบัติเองนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านได้กรุณาแนะนำมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิคนพิการ เรื่องของผู้สูงอายุ สิทธิเด็ก สิทธิทางการศึกษา หรือว่าเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยนะครับ ก็ขอน้อมรับที่จะไปพูดคุยกัน แล้วก็ไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายนะครับ อยากเรียนว่า กสม. เองให้ความสำคัญกับ ภาคีเครือข่ายเป็นอย่างยิ่งนะครับ ทั้งในแง่การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ ในประเทศ ทั้งที่เป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม แล้วก็เอกชน รวมทั้งฝ่ายวิชาการ แล้วก็หน่วยงานต่าง ๆ นะครับ ในช่วงปีสองปีนี้เรามีงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วเราก็มีการให้น้ำหนักกับเรื่องกับประเด็นบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษเพื่อที่จะกำหนด เป้าหมาย เพื่อที่จะกำหนดเรื่องที่เราจะขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายให้มีความชัดเจน แล้วก็ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดนะครับ ก็ขออนุญาตเรียนนะครับว่าอย่างปีที่แล้วเราก็ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เราให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิสถานะ บุคคลนะครับ เราให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของโควิด เรื่องของกลุ่ม หลากหลายทางเพศ แล้วปีนี้เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มีการพูดถึงเรื่องการซ้อมทรมาน เรื่องของการอุ้มหายนะครับ แล้วก็มีการตั้งอนุกรรมการ ขึ้นมาติดตามเรื่องนี้ มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาล เรื่องเกี่ยวกับ การผลักดัน พ.ร.บ. การต่อต้านการทรมาน แล้วก็การอุ้มหาย มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมในเรื่องเกี่ยวกับหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือหลัก Presumption of Innocent อย่างที่ท่านอาจารย์ชูศักดิ์ ได้กรุณาพูดถึง เราได้พูดถึงเรื่องปัญหาการอายัดตัว พูดถึงเรื่องของสิทธิในการประกันตัว แล้วก็เรื่องของทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งที่ผ่านมามีการรวมเอาไว้หมด เมื่อท่านพิมพ์ลายนิ้วมือ ก็จะมีอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากการที่ กสม. ได้เสนอแนะ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตอบรับแล้วก็มีการแก้ไข หลังสุด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แก้ไขระเบียบ แล้วก็มีการแยกบัญชีออกมาอย่างชัดเจน ระหว่างบัญชีของผู้ที่ถูกกล่าวหา คนที่เป็นจำเลยกับคนที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้วว่าเป็นผู้ที่ กระทำความผิด นอกจากนั้นก็จะมีการแยกบัญชีของเด็กและเยาวชน รวมทั้งบัญชีของ ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินอะไรพวกนี้ด้วย ดังนั้นตัวนี้ผมคิดว่าประชาชนโดยทั่วไปนับเป็น สิบ ๆ ล้านที่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแถลงเรื่องนี้อีกครั้ง ในวันศุกร์หน้า

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติก็ต้องเรียนว่าปีนี้สมัชชาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จะให้ความสำคัญนอกเหนือจากเรื่องของสิทธิชุมชน เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน เรื่องเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เรื่องสถานะบุคคล เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลก็จะมีการผลักดัน เสนอแนะให้มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อที่จะให้การคุ้มครองบุคคลต่าง ๆ ครอบคลุมขึ้น ขณะเดียวกันก็มีประเด็นในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวด้วยที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวนี้ก็จะครอบคลุมถึงทั้งสตรี ทั้งเด็ก ทั้งผู้พิการ แล้วก็ผู้สุงอายุ รวมทั้งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วย อันนี้ก็เป็นกระบวนการในการทำงานของ กสม. ที่พยายามทำงานเชิงรุก คือแทนที่จะตั้งรับแล้วก็ตรวจสอบเป็นรายกรณี เราก็จะพยายามรวบรวมเรื่อง หรือว่าทำการศึกษาวิจัย หรือตั้งเวทีพูดคุย เสวนากันนะครับ แล้วก็นำเสนอข้อเสนอเพื่อที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งให้มีการแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็วแล้วก็ทันท่วงทีครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างนะครับ ในเรื่อง เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้ทาง ครม. มีมติเรื่องให้ความเห็นชอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค ซึ่งก็ตัดโรควัณโรคออกไป เท้าช้างยังอยู่ แต่ว่าก็ไปเพิ่มโรคจิตกับโรคอารมณ์ผิดปกติเข้ามา ซึ่งตรงนี้ทาง กสม. ก็ได้จัดเวทีคุยกับภาคีเครือข่ายคนพิการนะครับ แล้วก็มีข้อเสนอแนะ ไปทาง ครม. และทาง ก.พ. จนท้ายสุดทางคณะรัฐมนตรีก็ได้กรุณาทบทวนแล้วก็แก้ไข ตัดเรื่องโรคจิตแล้วก็เรื่องอารมณ์ผิดปกติออกไปจากกฎ ก.พ. มีอีกหลายเรื่องที่ กสม. ได้ ดำเนินการ แต่อาจจะไม่ได้มีโอกาสชี้แจงบ้าง ไม่ได้มีโอกาสสื่อสารบ้างนะครับ จริง ๆ เราก็ ตระหนักดีนะครับว่าการสื่อสารกับสาธารณะเป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ ก็พยายามที่จะสื่อสาร มีแถลงข่าวประจำสัปดาห์ทุกสัปดาห์ มีกรณีที่อาจจะเรียกว่านำมาสื่อสารกับสังคมเป็น เหมือนกับกรณีศึกษาว่ามีการละเมิดสิทธิเรื่องแบบนี้ ๆ มันขัดกฎหมาย หรือว่าขัดหลักการ สิทธิมนุษยชนอย่างไร กสม. มีข้อเสนอแนะอย่างไรนะครับ ทาง กสม. ก็พยายามที่จะ แถลงข่าวทุกสัปดาห์นะครับ นอกจากนั้นก็จะมีออกแถลงการณ์บ้างนะครับ แต่ว่าเนื่องจาก เรื่องสิทธิมนุษยชนนี่กว้างขวางและบางทีมีประเด็นที่เกี่ยวพัน แล้วก็มีความซับซ้อน ในหลาย ๆ เรื่องนะครับ เราก็ไม่ได้แถลงทุกเรื่อง ทุกประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่จะต้อง ตรวจสอบนะครับ เราก็จะต้องใช้เวลาแล้วก็จะต้องพิจารณา แล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับ ทุกฝ่ายนะครับ นอกจากนั้นก็มีการร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ในการที่จะผลิตสื่อเพื่อที่จะสร้าง ความตระหนักในเรื่องของสิทธิมนุษยชน อย่างงบประมาณที่เพิ่มขึ้นที่ท่านได้ถามเรื่อง เกี่ยวกับการสื่อสารในปี ๒๕๖๕ เรามีผลิตวีดิทัศน์ในเรื่องเกี่ยวกับการจับอย่างระวังเป็นเรื่อง เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การจับกุมสิทธิของผู้ต้องหา เรามีการพูดถึงเรื่องของรักต้องไม่ละเมิด ไม่ใช่ว่าเรารักใครชอบใครแล้วเราก็ไปกะเกณฑ์หรือว่าไปควบคุม หรือไปกำหนดจนไป ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็มีอีกหลายเรื่องที่ กสม. อาจจะได้ดำเนินการแต่ก็อาจจะไม่ได้สื่อสาร ในวงกว้าง ก็ต้องขอบพระคุณท่านที่กรุณาได้ซักถามแล้วก็ได้นำเสนอ มีโอกาสก็จะได้ชี้แจง ในรายละเอียด แล้วก็เข้าใจว่าท่านศยามลจะมีเพิ่มเติมครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน และท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ ดิฉัน ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นะคะ ดิฉันต้องขอบคุณท่าน สส. ทั้งคำแนะนำและการให้กำลังใจแก่ กสม. นะคะ และดิฉันก็ให้ กำลังใจแก่ท่านในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เนื่องจากว่าความเห็นและข้อเสนอแนะของ กสม. นั้น ต้องทำงานเสนอไปยังรัฐบาลในการแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องตลอด ๒ ปีที่ผ่านมาที่ กสม. ชุดที่ ๔ ทำงานในภารกิจนี้ เรามีความเห็นหลายเรื่องที่ส่งไปยัง ครม. และ ครม. ก็ได้แจ้ง ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการ ซึ่งอยู่ในการติดตามของ กสม. อย่างต่อเนื่องนะคะ มีการกล่าวว่าเรามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร ดิฉันขอกล่าวถึงแม่ชีเทเรซานะคะ ได้กล่าวไว้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่รัฐมอบให้นะคะ ซึ่งอันนี้ก็สอดคล้องกับมาตรา ๔ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ในการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความ เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำไมต้องมี กสม. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายที่จะให้มีองค์กรอิสระแบบ กสม. ในตามหลักการแห่งปารีส ซึ่งเป็นสถาบันอิสระที่เรียกเป็นสถาบันกึ่งตุลาการนะคะ แล้วเรียกว่าเป็นกระบวนการ ยุติธรรมทางเลือกค่ะเพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ในบทบาทของที่มีศาล แต่เพียงลำพังเท่านั้น ด้วยข้อจำกัด ด้วยภาระที่ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ในการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลเพราะฉะนั้นในการมีสถาบันอิสระนี้แบบ กสม. จะทำให้เขาสามารถ เข้าถึงความยุติธรรมได้แต่โดยองค์กรของ กสม. ตาม พ.ร.ป. กสม. ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ยังมีข้อจำกัด ซึ่งถูกตัดไปในรัฐธรรมนูญที่เคยมีในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ประเด็นสำคัญที่ดิฉันจะกล่าวถึง ก็คือว่า พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่เป็นภารกิจ ของ กสม. ค่ะ เพราะหลักคิดของ พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยเป็นการไกล่เกลี่ยระหว่างเอกชน กับเอกชนที่มีความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ กสม. ทำ เป็นการกระทำระงับข้อพิพาท ด้านสิทธิมนุษยชนที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าดำเนินการกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า เช่นกรณีของรัฐ กับประชาชน กรณีของผู้ประกอบการธุรกิจกับชุมชน หรือกับพนักงาน หรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากสำหรับที่ประชาชนจะเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยได้ และ กสม. ในออสเตรเลีย หรือในต่างประเทศ ก็ใช้หลักนี้ในการที่เรียกว่าการระงับข้อพิพาท เพียงแต่ว่าเมื่อเรามีการคุยกันเราเลยเข้าใจว่าการระงับข้อพิพาทของ กสม. เหมือน พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่ค่ะ และดิฉันคิดว่าถ้า กสม. มีภารกิจนี้จะทำให้หลายเรื่องประชาชน ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะหลายเรื่องเมื่อเราเจอข้อจำกัดแบบนี้ เราจึงต้องทำความเห็น ให้ละเอียดที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้เอาหลักฐานความเห็นของ กสม.นำไปเมื่อเขาต้องการ ได้รับความยุติธรรม และนำไปขึ้นสู่การดำเนินคดีในชั้นศาล อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็น จะต้องขอให้ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติสนับสนุนในเรื่องนี้

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ภารกิจอีกอันหนึ่ง ที่ กสม. จำเป็นจะต้องทำคือ การดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย ในคดีปกครอง และในคดีอาญาซึ่งถูกตัดไปในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นี้นะคะ ทำไมเราต้องมี การดำเนินคดีแทน เพราะหลายเรื่องที่เราตรวจสอบ และเราค้นพบว่ามีความยากลำบาก โดยเฉพาะคนจน และผู้ด้อยโอกาส ที่สามารถที่จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ ซึ่งมันควรจะเป็น ภารกิจของ กสม. ซึ่งใช้งบประมาณของแผ่นดินในการดำเนินการเรื่องนี้แทนพวกเขาเหล่านั้น และสิ่งเหล่านี้ที่เราคิดว่าเมื่อมาถึงวันนี้ กสม. มีข้อจำกัดเหล่านี้ เราจึงพยายามแก้ปัญหา ฝ่าวงล้อมของข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือบุคลากร หรือความต้องการทั้งจาก หลายภาคีภาคส่วนที่ให้ กสม. ทำ นอกจากที่ท่านวสันต์ได้กล่าวไป สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่า เราจะต้องพัฒนาเรื่องการส่งต่อเรื่องร้องเรียนค่ะ เรามีองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาจดแจ้ง กับ กสม. แล้วเรามีแผนในปี ๒๕๖๗ ที่จะทำให้องค์กรเหล่านี้ในการที่จะทำงานร่วมกัน ทำไมเราถึงต้อง MOU กับสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลปกครอง หรือในอนาคตที่จะ MOU กับสภาทนายความ หรือศาลยุติธรรม เพราะว่าทุกหน่วยงานก็มีข้อจำกัด เมื่อทุกหน่วยงาน มีข้อจำกัดเราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาข้อจำกัดด้วยการทำงานร่วมกันในเชิงเครือข่าย และทำงานเชิงส่งต่อนะคะ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่จะ พัฒนาทั้งระบบฐานข้อมูลและระบบการเข้าถึงการร้องเรียนให้รวดเร็วที่สุดนะคะ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในประเด็นของการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและการส่งเสริมสิทธินี่ เราตระหนักที่จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเราตระหนักดีว่า กรณีร้องเรียนมาที่ กสม. หรือที่ท่านเล่าปรากฏการณ์ทั้งหลายอย่างที่มีการละเมิดสิทธินั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ แต่จริง ๆ มันนำไปสู่สาเหตุแห่งปัญหาคือโครงสร้างนะคะ โครงสร้าง ที่อย่างนี้คืออะไร ถ้าในแง่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราจะพบว่าจากการศึกษาของ กสม. เราค้นพบว่ามีระเบียบวิธีปฏิบัติของผู้ใช้ในกระบวนการยุติธรรมที่เกินเลยไปจาก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเรากำลังคิดว่ามีแผนจะศึกษาระเบียบ วิธีปฏิบัตินั้นที่ออกมาเกินเลยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำไม กสม. ถึงต้องทำงานเชิงรุกในการทำความเห็นทางกฎหมาย และในแง่ของกระบวนการยุติธรรม ทางปกครองนะคะ ประเด็นสำคัญที่เราก็พบเช่นกันว่าในกฎหมายหลายฉบับที่เป็นกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือสิทธิพลเมือง การเมืองก็ตาม มีการออก กฎหมายลำดับรองในแง่ประกาศกฎกระทรวง ระเบียบที่เกินเลยไปจากเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติทั้งที่พระราชบัญญัตินั้นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะทบทวนแล้วก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา ๗๗ ที่ไม่ควรมีกฎหมายที่เกินภาระจำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพของประชาชน และกฎหมายหลายฉบับไม่สอดคล้องกับสถานการณ์สากลและกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิมนุษยชน กสม. เราจะใช้หลักในการตรวจสอบคือกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิมนุษยชนทั้ง ๙ ฉบับ แล้วก็รัฐธรรมนูญ แล้วเราศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า มีข้อจำกัดอย่างไร เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปฏิญญาสิทธิการพัฒนา อันนี้เราถึงให้ ความสำคัญนะคะ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ประเด็นที่สำคัญคือ ที่ท่านกล่าวถึงสิทธิต่าง ๆ ด้านการศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ ดิฉันคิดว่าเราควรมองทั้งระบบ เพราะจริง ๆ แล้วประเด็นกฎหมายของเรา ไม่บูรณาการกันเลย แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำเพราะหน่วยงานเป็นนิติบุคคล อันนี้คือ ปัญหาใหญ่ มาตรการทางสังคมที่จะทำได้ต้องกระจายอำนาจ ไม่มีการกระจายอำนาจเลย ทั้งที่ท้องถิ่นจะสามารถทำได้หลายอย่างโดยเฉพาะมาตรการทางสังคมช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ แล้วเรามีตัวอย่างของ COVID-19 ที่องค์กรภาคประชาสังคมและท้องถิ่น สามารถทำงานได้ และที่สำคัญคืองบประมาณ งบประมาณด้านสังคมมีน้อยมากเมื่อเทียบกับ งบประมาณในด้านอื่น ๆ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เรามีความเห็นไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกคนก็ต่างบอกว่าจะเอางบจากที่ไหน ซึ่งพอเราดู ๆ งบประมาณในภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่าน้อยมากในงบประมาณด้านพัฒนาที่เรากำลัง เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม เจอปัญหาผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันก็คิดว่าท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ จะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในการพิจารณางบประมาณ และดิฉันก็เห็นใจ หน่วยงานราชการในการทำงาน ค่อนข้างมีข้อจำกัดทั้งงบประมาณและบุคลากรในการที่เขา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งน้อยมาก จึงจำเป็นต้องกระจาย กระจายไปยังองค์กร ภาคประชาสังคมในการช่วยดำเนินการเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่จะบอกว่าที่ กสม. เราพยายาม ทำงานเชิงรุกในเชิงข้อเสนอปรับปรุงกฎหมาย ที่ท่านวสันต์ได้พูดถึง เราได้สนับสนุน พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน เรามีการปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การเข้าถึง ฮอร์โมนต่อสุขภาวะทางเพศ การควบคุมผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่มีการควบคุม ๓ วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกซ้อมทรมานก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความเสมอภาคของบุคคล ในการกำหนดคุณสมบัติการล้มละลาย เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามให้เรามีการยกเลิก โดยให้เป็นล้มละลายทุจริต แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและสิทธิชุมชนที่เป็นปัญหาอมตะ นิรันดร์กาลของประเทศไทย เราพยายามให้ คทช. ได้คิดทบทวนในเรื่องนี้คือสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปรับปรุงระเบียบการคัดกรองคนต่างด้าวที่หนีภัยเข้ามาในประเทศไทย และที่สำคัญ คือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กักตัว ซึ่งกรณีของชาวอุยกูร์นะคะ ประเด็นสำคัญก็คือที่ท่าน มีการกล่าวถึงกรณีของผู้สูญหายทางการเมือง ๙ คนที่อยู่ในต่างประเทศ เราได้ทำงานเรื่องนี้ สำเร็จแล้วในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของผู้สูญหายทั้ง ๙ คนนั้น และจะมีข้อเสนอ ในปี ๒๕๖๗ นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเราติดตามมาตลอดเพราะว่ามีผู้ร้องเรียนตั้งแต่ ปี ๒๕๖๕ ในกรณีของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเรื่องกฎหมายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือที่เรียกว่า SLAPP Strategic lawsuits Against Public Participation เรามีแผน จะศึกษาในปี ๒๕๖๗ ที่จะศึกษากรณีของกฎหมายปิดปาก เพราะอันนี้เป็นการบิดเบือน กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องคดี ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีการแก้ไขใน ป. วิ. อาญา มาตรา ๑๖๑/๑ ก็ตาม แต่มาศึกษาแล้วการฟ้องคดีในลักษณะแบบนี้ จริง ๆ แล้วโดยส่วนใหญ่เมื่อมีการฟ้องคดี ไปแล้วศาลมักจะสั่งยกฟ้อง แต่ระหว่างทางช่วงการดำเนินคดี ผู้ต้องหาเขามีภาระในการต้องมาศาล เป็นระยะ ๆ และเป็นภาระแก่เขามาก และทำให้เขาต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งกรณีของ กฎหมายปิดปากที่จะศึกษานี้เป็นการคุ้มครองของผู้ที่ถูกดำเนินคดีนับแต่เขาถูกกล่าวหา ไปจนถึงขั้นการพิจารณาของศาล อันนี้เป็นเรื่องที่ในต่างประเทศ ในฟิลิปปินส์ หรือใน Asia ก็ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ การตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน ดิฉันได้กล่าวเลยค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออนุญาตนะครับ ใช้เวลาพอสมควรแล้ว จะขอเป็นนาทีสุดท้ายนะครับ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกครั้ง สุดท้ายค่ะ ในการตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน เราก็กำลังตรวจสอบในเรื่องนี้ ๓ กรณีนะคะ แล้วก็ได้ร่วมกับผู้แทน AICHR ในประเทศไทยในการผลักดันให้มีข้อตกลง ระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นหลักเดียวกับที่อนุสัญญาในยุโรปได้ทำนะคะ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ในประเด็นสุดท้าย ที่มีการพูดถึงกรณีของชาวอุยกูร์ เราได้มีหนังสือ ได้มี การคุยกับ สมช. แล้วก็คิดว่ากรณีที่อุยกูร์ก็คือจำเป็นจะต้องมีสถานที่ คืออันนี้เป็นนโยบาย รัฐบาลที่จะต้องผลักดันว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นจะต้องมีสถานที่กักขังเขา ที่ไม่ใช่ ตม. สวนพลูค่ะ เพราะว่ามันไม่เหมาะสม มันควรจะไปดำเนินการที่ให้เขาอยู่ได้ อย่างมีชีวิตที่ดี แล้วก็เสนอให้มีการตรวจสุขภาพ ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาได้มาตรวจ อย่างสม่ำเสมอและรวมถึงการให้เขาควรจะต้องติดต่อกับครอบครัวที่ตุรกีให้ได้นะคะ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

และประเด็นสุดท้าย ก็คือกรณีของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นะคะ เราได้มี แผนที่จะศึกษาเกี่ยวกับกฎอัยการศึก และ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่มีการควบคุมได้ถึง ๓๗ วัน เพราะในช่วงควบคุมนั้นจะเกิดการซ้อมทรมาน เราจะศึกษาเรื่องนี้ในการที่จะพิจารณาต่อ กฎหมายเรื่องนี้ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรวมถึง DNA ที่เราใช้หลักให้สมดุลระหว่าง ความมั่นคงกับสิทธิเนื้อตัวในร่างกายค่ะ ดิฉันก็ขอกล่าวเพียงแค่นี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ทางผู้ชี้แจงครบถ้วนไหมครับ สักครู่นี้มีสมาชิกยกมือ ท่านฐิติมา ท่านทวี แล้วก็เป็น ท่านอดิศร เป็นซักถามกลับมาใช่ไหมครับ ฉะนั้นขอเรียกตามนี้เลย ท่านฐิติมาก่อน เชิญครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเองได้ถามไว้ตอนต้นนะคะ ซึ่งทราบดีว่าท่านผู้มาชี้แจงก็คงจะเจอะเจอกับหลากหลาย ในแง่มุมหลากหลาย สิทธิอะไรต่าง ๆ ก็จะทำให้มึนไปหมดว่าอย่างนั้นเถอะนะคะ เพราะฉะนั้นจึงอาจจะตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง คำถามที่ดิฉันถามไปนี่ ก็ไม่ได้ตอบนะคะ ก็เลย จะมาถามในช่วงนี้ซึ่งคิดว่าเป็นช่วงที่ถามตอบกันโดยตรง คืออย่างนี้ค่ะ พี่น้องคนพิการเขาก็ จะด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขานะคะ คือหมายถึงว่าเขาอยากจะได้แต่มันไม่เคยได้ เขาก็ถามมาว่าเมื่อไรเขาถึงจะได้ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านรถเมล์ที่เมื่อสักครู่นี้ เราพูดกันถึงนะคะ ที่ดิฉันพูดถึงรถเมล์ชานต่ำอะไรแบบนี้ เขาก็อยากจะได้ ทีนี้ดิฉันอยากจะ โยงไปถึง มาตรา ๔๓ ใน พ.ร.ป. ที่บอกว่า ในกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้รับรายงาน หรือข้อเสนอแนะจากท่านแล้วนี่ ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว กรณีใด ไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบ โดยไม่ชักช้า ดิฉันอยากจะถามว่า สิ่งที่ท่านพูดถึงว่ามันเป็นปัญหาว่ามันไม่มีรถเมล์ชานต่ำ เพียงพอนะ ทางลาดก็ไม่พอ อ้ายนี่ก็ไม่พอ ทางกระทรวงคมนาคม หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ใด ๆ เขาตอบท่านมาอย่างไร เราจะได้รู้ว่ากระบวนการในการทำงานของท่านนี่มันเป็น อย่างไร ท่านแจ้งไป ชี้แนะไปเขาต้องตอบกลับมาตามกฎหมาย มาตรา ๔๓ แล้วเขาตอบว่า อย่างไร ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

จะเป็นคำถามรวดเดียว ๓ ท่านเลยนะครับ แล้วก็ตอบทีเดียวนะครับ เชิญท่านทวีครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ท่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตอบ ๒ คน แต่เฉี่ยวไปนิดหนึ่ง คือกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เราเขียนไว้ในมาตรา ๒๙ ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้กระทำผิดก่อน และก่อนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้นะครับ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิด มิได้ คำว่า และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้ มันมีอย่างนี้ครับ วันนี้เหมือนเรา เห็นความผิด การไม่ปฏิบัติก็คือวันนี้เรามีผู้ต้องขังในเรือนจำอยู่ ถ้าตัวเลขเมื่อวานนี้ ก็ ๒๖๕,๙๙๙ คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องหาเด็ดขาด คือศาลได้ตัดสินถึงที่สุด ๒๑๓,๒๕๐ คน อันนี้คือผู้ต้องหาเด็ดขาด แต่เป็นผู้ต้องขังระหว่าง ก็คือว่าเขายังไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดอยู่ ๕๒,๗๓๖ คน หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ปัญหาวันนี้คือที่ชัดเจนก็คือผู้ไม่ได้กระทำผิดขังรวมกับ ผู้กระทำผิดทุกเรือนจำ แม้ว่าเวลาไปถามก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร ก็บอกว่าเวลาเยี่ยมหรือเวลานั่น ให้แยกกันเล็กน้อย แต่ในทางปฏิบัตินี่คืออยู่ด้วยกัน วันนี้เราปล่อยให้การกระทำผิด รัฐธรรมนูญอยู่ตลอด คราวนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไหน ๆ จะเข้าไปดูในกระบวนการยุติธรรม ลองเข้าไป คือถ้าท่านไปศึกษาท่านอาจจะแก้ไม่ได้ แต่รายงานของท่าน มันจะเป็นเกราะ สำหรับข้าราชการดี ๆ ที่อยากจะปฏิบัติ เพราะว่าบางคนเวลาถูกจับเรื่องเช็คเรื่องคนรวย ทะเลาะกัน พอเข้าไปข้างในก็ต้องไปอยู่เป็นนักโทษ อันนี้ฝากให้เป็นการบ้านไปด้วยครับ ที่ท่านบอกว่าจะเข้าไปดู แต่ไม่ได้พูดข้อนี้ครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอดิศรครับ เป็นท่านสุดท้ายนะครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ขอขอบพระคุณท่านกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยความจริงก็รู้จักกันสนิทกัน และรู้ความรู้ความสามารถของท่านวสันต์ ภัยหลีกลี้ ถือว่า เป็นน้องที่ดีของประชาชน เป็นลูกที่ดี ผมดีใจที่ท่านได้พูดถึงผู้ลี้ภัย ผมก็เลยอยากถามท่านว่า ผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านก็ดี ไปอยู่ยุโรป ฝรั่งเศส โดยเฉพาะศิษย์เก่าสิทธิมนุษยชนของท่าน อาจารย์จรัลที่ว่า และคนอื่น ๆ อยู่อเมริกา ผู้สื่อข่าวชื่อจอม สุนัย จุลพงศธร อะไรทำนองนี้ครับ ท่านจะประกาศยืนยัน หรือเปล่าว่าประเทศไทยกลับมาได้แล้ว สิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐประหารทำแล้วมันไม่มีแล้ว กลับมาท่านยืนยันได้ไหมครับ มีผู้ลี้ภัยลักษณะทำนองนี้ ท่านจะแก้ไขอย่างไร เพราะ ต่างประเทศท่านก็จะช่วยเหลือกุลีกุจอ แต่คนของเราที่รับใช้ชาติบ้านเมืองมาชั่วชีวิต เขารับไม่ได้ต่อการรัฐประหารออกไป เปิดช่องทางเขามาไหม แล้วอีกประเด็นหนึ่ง ผมอยากให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบหรือเปล่าว่าปัจจุบันนี้มีนักโทษการเมือง ท่านยอมรับต่อที่ประชุมแห่งนี้ได้ไหมครับว่าประเทศไทยยังมีนักโทษการเมืองอยู่ มีกี่คน ขังลืมกี่คน ข้อหา ประกันตัวไม่ได้ประกันตัว ข้อห้ามโน้นข้อห้ามนี้ท่านให้ความเห็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของประชาชนที่ท่านว่าทำได้ไหม ผมอยากให้ ท่านเปิดเผยผู้ลี้ภัยครับเพื่อนผม วิสา คัญทัพ จะได้กลับคืนมาไหม ไพจิตร อักษรณรงค์ จะกลับมาร้องเพลงให้คนไทยฟังได้ไหม เขาไม่ได้ผิดอะไร เขาพร้อมกลับมาได้หรือเปล่า ประกาศนียบัตรที่คุณผู้ลี้ภัยที่อยู่ต่างประเทศอยากได้คือคำรับรองจากคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ทางผู้ชี้แจงชี้แจงสุดท้ายครับ เชิญครับ สมาชิกซักถามเพิ่มเติมใช่ไหมครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ถูกต้องครับ ขออนุญาตซักถาม เพิ่มเติมนิดเดียวครับ จะได้ต่อเนื่องกับเพื่อนผมที่ได้พูดไปเมื่อสักครู่นะครับ ผมฟังรายงาน จากท่านประธานรอบแรกนะครับ ท่านก็บอกว่ามีผู้ที่มีลี้ภัยเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งท่านก็ได้ ติดตามดูว่าได้รับการดูแลอย่างไร และท่านรู้สึกว่าดูแลในสภาพดี คราวนี้ผมอยากทราบ ตัวเลขครับว่าขณะนี้มีผู้ลี้ภัยจากเพื่อนบ้านหรือจากที่ไหนก็ตามทั่วโลกเข้ามาอยู่ในประเทศ ไทยทั้งหมดสักกี่คน แล้วก็ผมคิดว่าสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้อง เตรียมการต่อ ในกรณีที่รอบบ้านเราเริ่มเกิดภาวะของสงคราม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่าขออนุญาตเอ่ย ก็มีการอพยพของชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลเข้ามาเป็นระยะ คราวนี้ถ้าเกิดสงครามขนาดใหญ่ ผมเชื่อว่าหลายท่านเคยมีประสบการณ์จากสงคราม เวียดนามที่เรารับผู้อพยพเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพจำนวนมากมาย ท่านเตรียมการไหมครับว่า ถ้าเกิดกรณีเช่นนั้นเราจะเอางบประมาณจากส่วนไหน เราจะได้รับการดูแลจากสหประชาชาติ หรือใครหรือไม่นะครับ วันนี้ผมไม่รู้นะครับว่าผู้อพยพที่เราดูแลอยู่ทั้งประเทศเท่าไร แล้วถ้าเกิดสงครามใหญ่จริง ๆ เป็นล้านคนเราจะทำอย่างไรครับ ขออนุญาตที่จะหาทางออก ว่าท่านเตรียมการอย่างไรไว้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ท่านประธาน แล้วก็ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ ดิฉัน พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. ขอตอบคำถามของท่านวิทยาก่อนในคำถามสุดท้าย คือจริง ๆ ผู้ลี้ภัยตอนนี้ก็คงเป็นแสน อยู่ใน ๙ ค่ายบริเวณชายแดน อันนี้ก็นอกเหนือจากอีก ๕,๐๐๐ คนที่เมื่อสักครู่มีท่าน สส. ท่านหนึ่ง พูดถึงว่าก็อยู่ในห้องกักต่าง ๆ จริง ๆ ก็ต้องสารภาพว่ามันก็เป็นเรื่องที่เราส่งเสียงได้ แต่คนที่ ดำเนินการคือ ตม. มท. แล้วก็ สมช. ในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ เราก็มีข้อเสนอแนะ เป็นระยะ ๆ รวมทั้งล่าสุดเรื่องของอุยกูร์เราก็มีหนังสือที่เขียนค่อนข้างชัดเจนว่าควรจะ ปล่อยเขาออกไปได้แล้วไม่ควรจะกักไว้ สถานกักเราก็ไปดูเป็นระยะ ๆ ว่ามันไม่มีสุขอนามัย ได้มาตรฐานเลย ในส่วนนี้ก็จะต้องไปกระตุ้น ต้องใช้คำว่า กระตุ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งการที่จะไม่เก็บไว้ แล้วไม่ส่งไปในที่อันตรายด้วยมันก็มี ๒ ส่วน เก็บไว้ก็ไม่ดี แต่ส่งไปในที่อันตรายก็ไม่ได้ เหมือนกันก็เป็นเรื่องที่เราควรต้องหารือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สมช. UNHCR แล้วก็ มท. แล้วก็แม้กระทั่งทางด้านของความมั่นคงในการที่จะจัดการในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เข้าใจตอนนี้ก็คือเกรงเรื่องถ้าเผื่อว่าปล่อยให้มาทำงานก็จะกลัวเรื่องของความมั่นคง กลุ่มอุยกูร์ส่งไปก็จะมีประเทศอีกบางประเทศที่ไม่ประสงค์สิ่งนั้นอยากจะให้เก็บไว้ แล้วให้กลับไปที่ประเทศต้นทาง อันนี้ก็เป็นส่วนที่ยังต้องผลักดันต่อไป มันก็มีทั้งมิติ ความมั่นคงระหว่างประเทศแล้วก็เรื่องของสิทธิมนุษยชน ส่วนอีก ๒ เรื่องที่ยังค้างอยู่ เดี๋ยวจะขอให้ท่านวสันต์กับท่านศยามลช่วยชี้แจงค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านประธานครับ ท่านประธานและท่านผู้มีเกียรติครับ ก็ขออนุญาตตอบ ๒-๓ ประเด็น ที่ท่านได้กรุณาซักถามเพิ่มเติมนะครับ กรณีเรื่องของคนพิการก็อย่างที่ได้เรียนว่า ก็เป็นประเด็นที่ทาง กสม. ได้จับแล้วก็ได้ทำงานร่วมกับทางภาคีเครือข่ายอยู่ มีหลายประเด็น ด้วยกัน อย่างเช่น เรื่องโรคร้ายแรง กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคร้ายแรง หรืออย่างที่มีการออก พระราชกำหนดป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ Cyber นี่ก็มี ประเด็นที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไปในเรื่องของทรัพย์สินที่จะไม่ถูกหลอก โดยเฉพาะ Application ดูดเงิน แต่ว่าก็อาจจะกระทบกับสิทธิของผู้พิการทางสายตาที่จะเข้าถึง Application ของธนาคาร อันนี้ทาง กสม. ก็ได้คุยกับทางสมาคมคนพิการ ทางสมาคม คนตาบอดแห่งประเทศไทย คุยกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวง DES แล้วก็ทางตำรวจ Cyber เพื่อที่จะหาทางออกแล้วก็คุ้มครองสิทธิ ของผู้พิการ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นระยะ อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการโดยสารเครื่องบิน เรื่องผู้พิการทางสายตาที่จะโดยสาร ทางเครื่องบินมีโควตา เรื่องของผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่อาจจะไม่ได้รับความสะดวก ในการเดินทาง หรือมีประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ Lithium ที่จะนำขึ้นเครื่อง กสม. ก็ได้พิจารณา เรื่องเหล่านี้ แล้วก็มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้มีการแก้ไข บางกรณี ก็อาจจะมีข้อเสนอให้มีการเยียวยาด้วยนะครับ หลายเรื่องก็ได้รับการตอบรับแล้วก็ ดำเนินการ แต่บางเรื่องก็อาจจะอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งทาง กสม. ก็จะติดตาม แล้วก็ จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนแล้วก็ผลักดันต่อไป อันนั้นเป็นเรื่องของสิทธิ ของคนพิการนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหา หรือว่าคนที่เป็นจำเลย ก็เห็นด้วยกับทางท่านทวี สอดส่อง ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ เรื่องนี้ได้คุยกับทางอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งท่านปลัดกระทรวงยุติธรรม แล้วก็ผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นไปในทิศทางเดียวกับท่านว่าผู้ที่ถูกกล่าวหายังต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการที่นำตัวไปควบคุมเอาไว้กับผู้ต้องขังเด็ดขาดก็เป็นเรื่องที่ ไม่ถูกหลัก เราก็มีข้อเสนอตั้งแต่เรื่องที่ควรจะพิจารณาว่ามีแนวทางในการดำเนินการ อื่น ๆ ไหม อย่างเช่น เรื่องกำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือว่าเรื่องที่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เอาตัวมาขัง แม้กระทั่งเรื่องที่ว่าถ้าอยู่ในเรือนจำแล้วจะมีการแยกส่วนอย่างไรให้ชัดเจน รวมถึงเรื่องที่ว่า สามารถที่จะควบคุมตัวอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่สถานที่ข้างนอกได้หรือเปล่า โดยที่นับรวมว่าเขาได้ ถูกคุมขังแล้ว ถ้าศาลตัดสินว่าเขามีความผิดก็ให้นับรวมตัวนี้ด้วย เพราะปัจจุบันการที่ศาล ปล่อยตัวแล้วก็ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ แต่ว่าต้องอยู่ที่บ้านอาจจะไปไหนไม่ได้ ๒๔ ชั่วโมง ยกเว้นจะต้องขออนุญาตกรณีนี้ก็คือไม่ถูกนำตัวไปคุมขัง แต่เมื่อถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็ไม่สามารถที่จะหักออกได้ครับ เรื่องพวกนี้ทาง กสม. ก็ได้คุยกับทางกระทรวงยุติธรรม แล้วก็พยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหาตรงนี้อยู่ ก็ทราบว่าคงจะต้องมีการแก้ไขระเบียบของ ทางราชทัณฑ์เพื่อที่จะให้การดูแลเรื่องนี้เป็นไปตามหลักการได้มากยิ่งขึ้น เข้าใจว่า บางเรือนจำก็มีสภาพความพร้อมมากกว่าบางแห่ง ในขณะที่เรือนจำเก่าก็จะมีปัญหา ในการแยกส่วนอยู่ แต่ก็พยายามที่จะขับเคลื่อนร่วมกันนะครับ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตมาที่ท่านอดิศร เพียงเกษ ขออนุญาตที่เอ่ยนามนะครับ เรื่องที่ ท่านได้ถามเรื่องเกี่ยวกับการรัฐประหารในครั้งที่แล้ว จริง ๆ ก็ต้องถือว่าการรัฐประหาร เป็นการละเมิดสิทธิของพลเมือง เป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย ก็คงเห็นตรงกัน แต่ปัญหา ก็คืออย่างนี้ว่าเมื่อมีการรัฐประหารแล้วองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ถูกยุบตามไปด้วยนะครับ เหมือนกับที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้ Function ต่อ องค์กรอิสระทาง กสม. ก็ไม่มีสภาพแล้ว ไม่ได้นั่งทำงานกินเงินแสนต่อไป ขณะเดียวกันในเรื่องเกี่ยวกับการลี้ภัยของผู้ที่อาจจะมี ความเห็นต่าง แล้วก็ได้รับผลกระทบจากเหตุทางการเมือง ขออนุญาตเรียนว่าจริง ๆ ปัญหา หลายอย่างการแก้ไขอาจจะต้องเป็นการแก้ไขในระดับนโยบายในเรื่องทางการเมืองนะครับ การเมืองอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเท่าที่ได้ติดตามก็คิดว่าน่าจะมีแนวโน้มไปในทาง ที่ดีไหมครับ เพราะว่าจริง ๆ คนไทยทุกคนที่อยู่ต่างประเทศสามารถที่จะกลับมาเมืองไทยได้ ทั้งนั้น ถ้ามีคดีก็อาจจะต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ติดคดีอะไรก็สามารถ ที่จะกลับมาได้ แต่ผมคิดว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องใช้การเมืองเข้าแก้ไข ซึ่งสภาจะมีส่วน ในเรื่องนี้มากครับ ต้องขออนุญาตเรียนชี้แจงอย่างนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านอดิศร ขออนุญาตจริง ๆ นะครับ เพราะว่าเราล่วงเลยเวลามานานมากแล้วครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นิดเดียวครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอฝากสุดท้ายนะครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม อดิศร เพียงเกษ ผมลุกขึ้นมาชมเชยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้ทำคำพูดที่ยิ่งใหญ่ ไว้ในสภาว่าการรัฐประหารคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมจะจำท่านครับ ท่านเมื่อวานนี้ กับวันนี้เหมือนกัน เรามีจุดยืนเหมือนกันต้านรัฐประหาร ขอชมเชย ตอนแรกว่าจะยุบ กสม. เดี๋ยวนี้ไม่ยุบแล้วครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณสำหรับผู้ชี้แจงแล้วก็สมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมอภิปรายเรื่องนี้นะครับ อันนี้ ก็เฉกเช่นเดียวกับ ป.ป.ส. เมื่อวาน เพราะว่าเป็นประเด็นที่ต้องมีเวลาในการอภิปราย ถกเถียงแล้วก็ชี้แจงเป็นเวลานาน อีก ๓ รายงานก็จะไม่นานขนาดนี้ ก็ขอบคุณสำหรับ กสม. แล้วก็เป็นกำลังใจให้นะครับ เมื่อจบการอภิปรายซักถามแล้วก็ถือว่าเรารับทราบ รายงานของ กสม. เรียบร้อยแล้วนะครับ ต่อไป

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๑๐ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สมาชิกครับ เพื่อเราจะสามารถจัดการเวลาการประชุมได้นะครับ ตอนนี้ เริ่มมีการมาลงชื่อ จะเฉลี่ยอยู่ที่รายงานละ ๘-๑๐ ท่านนะครับ ผมขอเป็นกติกาตามนี้นะครับ ว่าเมื่อทางหน่วยงานได้ชี้แจง ๕ นาทีแล้ว และผ่านการอภิปรายไปแล้ว ๒ ท่านของแต่ละ รายงาน ผมก็จะปิดการให้ลงชื่อนะครับ ผมขอเรียนเชิญผู้ชี้แจงจากกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เลยครับ จะมีท่านธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ท่านชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ท่านธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนครับ ท่านปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ ท่านวนิดา วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการบริหารงาน ท่านพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ท่านสุธิตา หมายเจริญ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร และท่านวรปรัชญ์ อินทนิล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและยุทธศาสตร์ ขอเรียนเชิญครับ วันนี้มาทีมใหญ่เลยนะครับ เดี๋ยวจะเป็นทางกองทุนได้ Brief ก่อนนะครับ เรื่อง Highlight ของรายงานแล้วก็สาระสำคัญนะครับ แต่ขอเวลาไม่เกิน ๕ นาที เพราะยังมีโอกาส ในการชี้แจงได้อีกเยอะนะครับ เรียนเชิญเลยครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอนำเสนอข้อมูล สั้น ๆ นะครับ ประกอบการนำเสนอรายงานประจำปีรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ได้จัดตั้งขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ นะครับ โดยมี วัตถุประสงค์ ๗ ข้อในมาตรา ๕ ที่มาหลักก็คือตอนนั้นทางรัฐบาลได้เล็งเห็นว่าสื่อที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนมีค่อนข้างน้อย แล้วก็ที่มีอยู่ก็ค่อนข้างที่จะ ไม่ค่อยตอบสนองต่อความจำเป็นของสถานการณ์ ครั้นจะให้ทางภาคเอกชนไปดำเนินงาน ก็จะพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อันนี้ก็เขียนไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ ในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราก็ได้นำมาจัดทำเป็น ยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กองทุนระยะที่ ๑ ในปี ๒๕๖๖ ก็เริ่มการดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์ของทุนระยะที่ ๒ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กองทุนระยะที่ ๑ ก็จะเน้นหนัก ๔ ด้าน หรือ ๔ ยุทธศาสตร์หลัก ตั้งแต่ ๑ เลยนะครับ การส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้สื่อดี ๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิด การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อนะครับ ในยุทธศาสตร์ที่ ๒ ก็มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน องค์ความรู้ การวิจัย การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นะครับ ด้านที่ ๓ เป็นเรื่องของ การรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ด้วยนะครับ ส่วนในยุทธศาสตร์ที่ ๔ ก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การส่งเสริมบทบาทของ ภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาเราก็ได้ปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์ กองทุนในระยะที่ ๒ นั้นก็เพิ่มยุทธศาสตร์ขึ้นมาด้านหนึ่งเป็นด้านที่ ๕ ด้านที่ ๕ เป็นเรื่องของ การพัฒนาองค์กร แต่ว่าในยุทธศาสตร์ระยะที่ ๒ จะเริ่มใช้จริงคือในปี ๒๕๖๖ แล้วไปสิ้นสุด ปี ๒๕๗๐ ในปี ๒๕๖๕ เราก็เริ่มทดลองนะครับว่าเอายุทธศาสตร์ที่ ๕ มาดำเนินงานด้วย ก็คือหันมาพัฒนาองค์กรหรือการทำงานหลังบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทุนเอง ในการดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนก็ได้ดำเนินงานใน ๒ รูปแบบ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

รูปแบบที่ ๑ ก็คือรูปแบบของการให้ทุนสนับสนุนหรือการจัดสรรทุน ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ก็จะมีการกันเงินงบประมาณไว้ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๓๐๐ ล้านบาทตามงบประมาณที่กองทุนได้รับ ส่วนการดำเนินงานอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการดำเนินงานที่กองทุนสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ดำเนินงานเอง รวมงบทุกอย่าง งบบริหารจัดการ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่กองทุนเห็นว่าจำเป็นต้องทำ เพื่อเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้รับทุนไม่ได้ทำ ซึ่งในเรื่องของการจัดสรรทุนนั้นที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้กำหนดประเภทของทุนเป็น ๓ ประเภท

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

ประเภทที่ ๑ เป็นทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ความมุ่งหมายของทุนประเภท เปิดรับทั่วไปก็คือ มุ่งที่จะสร้างพื้นที่ให้โอกาสสำหรับคนที่ต้องการเข้าถึงแหล่งทุนหรือผู้ผลิต หน้าใหม่ ๆ นายทุนประเภททั่วไปนี้ก็เอากลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้งซึ่งมีอยู่ ๔ กลุ่มด้วยกัน ตั้งแต่กลุ่มที่ ๑ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ ๒ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่ ๓ กลุ่มคนพิการ คนด้อยโอกาส และกลุ่มที่ ๔ ก็คือกลุ่มประชาชนทั่วไป อันนี้ก็ทุนที่ได้ไปในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมีจำนวนเงินที่ไม่เยอะมาก ก็อย่างที่เรียนว่าเน้นการเข้าถึงแหล่งทุน เน้นการเปิดพื้นที่ การให้โอกาส

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

ประเภทที่ ๒ เป็นทุนเชิงยุทธศาสตร์ ก็จะคิดเป็นสัดส่วนของเงินที่นำมา จัดสรรทุนก็เกินครึ่งไปนิดหน่อย คือเรามี ๓๐๐ ล้านบาท ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ แล้วก็อยู่ประมาณปีละ ๑๘๐ ล้านบาท ในการจัดสรรทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ก็มุ่งเน้นผลลัพธ์ ผลผลิตเป็นสำคัญ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็มีผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องทุกปี แล้วก็ ถือว่าในฐานะคนดำเนินการเองก็ถือว่ากองทุนก็พอใจผลการดำเนินงานระดับหนึ่ง ในเบื้องต้น ผมก็ขอนำเรียนว่ากองทุนพร้อมที่จะก้าวต่อไป แล้วก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของที่ประชุมนะครับรอบนี้ขอเท่านี้ก่อนครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปจะเป็นโอกาสของสมาชิกได้อภิปรายนะครับ ก็จะเริ่มด้วย ท่านเอกราช อุดมอำนวย และต่อไปเป็นท่านศรัณย์ ทิมสุวรรณ เรียนเชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพนะครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล ผมได้รับทราบรายงานประจำปีของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ และปลอดภัยของปี ๒๕๖๕ ต้องชื่นชมว่ารายงานอ่านง่าย แต่อยากขอให้ท่านลองลง รายละเอียดของสถิติประเภทของโครงการที่จะเห็นสัดส่วนของผู้ที่เข้ามายื่นขอรับทุน จากโครงการสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยนะครับว่าเป็นใครและได้รับทุนเท่าไรจะดีมาก คือมีอยู่ในท้ายรายการ แต่ว่าอยากจะเห็นภาพรวมสรุปที่จะเห็นภาพชัดเจนตรงกัน กองทุนนี้ ก็เป็นความตั้งใจที่จะต้องการสื่อที่ส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมาย เป็นเด็กและเยาวชน ตลอดจนต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวและสังคม ส่งเสริมความสามัคคี ชื่อยาวนิดหนึ่งนะครับ ซึ่งใน พ.ร.บ. เขียนเอาไว้แบบนี้มันกว้าง เหมือนแม่น้ำ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับโลกแห่งอนาคตก็สงสัยจะต้องขอแรง เพื่อนสมาชิกในที่ประชุมมาคุยกันใหม่ว่ากองทุนแบบนี้ควรจะมีทิศทางในแบบไหน แล้วโครงสร้างของกรรมการก็จะคล้าย ๆ กับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แบบนี้อาจจะเกิดการแทรกแซงจากภาครัฐหรือไม่ มันควรจะเป็นอิสระและยึดโยงกับ ประชาชน หรือควรจะไปรวมกับกองทุนหรือว่าสื่อที่เป็นสื่อสาธารณะแบบ Thai PBS หรือไม่ เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่ต้องการเป็นสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยอย่างแท้จริง กับท่านผู้อำนวยการกองทุนท่านมีความตั้งใจในการบริหารกองทุนนี้ แต่ผมคิดว่าผมอยากมี ข้อเสนอแนะว่าอยากให้ท่านสำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อการดำเนินงาน เพราะว่าเท่าที่ ผมอ่านนี่มันขาดการดำเนินงานในวัตถุประสงค์ข้อ ๔ ในเรื่องของการสนับสนุนการมีส่วนร่วม ของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่เห็นอย่างเด่นชัดเลยว่ากองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ ประชาชนอย่างไร

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกเรื่องที่นำเรียนนะครับท่านประธาน ก็คือว่าความร่วมมือในการเผยแพร่ อยากจะให้มีความหลากหลายมากกว่านี้ แล้วต้องมีการเก็บสื่อวีดิทัศน์รวบรวมไว้ใน ฐานเดียวกัน บริหารจัดการเนื้อหาให้เป็นระบบมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกันได้นะครับ อาจจะทำเป็น Application กลางแบบ Netflix ที่จะสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงและรับชมได้ง่ายนะครับ หรืออาจจะไปร่วมมือในการเผยแพร่สื่อให้สามารถเข้าถึงได้

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ตัวอย่างรายการที่เห็น ใน Slide เป็นรายการปริศนาฝาผนัง เป็นรายการที่ได้รับการสนับสนุน บางรายการเน้นผลิต แต่ว่าคนดูอาจจะน้อยหรือแทบจะไม่คุ้มกับสัดส่วนการลงทุนเลย ผมก็ลองไปตรวจสอบ รายการนี้ก็ดีนะครับ ให้อธิบายความรู้ด้านศิลปะบนกำแพงวัดอะไรแบบนี้ก็ได้รับเงินทุน ๑ ล้านบาท แต่ว่ารายการมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรจะให้คนเข้าไปดู ไม่เบื่อหน่าย อันนี้ที่เป็นตัวอย่างของรายการผู้ผลิตอิสระ ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในขณะที่ Influencer สามารถที่จะไปถ่ายรายการสารคดีท่องเที่ยวในต่างประเทศ ประชาชนรับชม ยอดชมเป็นแสนเป็นล้านนะครับ ก็เป็นรายการที่เข้าเกณฑ์ของการพิจารณา หรือไม่ ก็อาจจะต้องทำงานเชิงรุกในแง่ของการสนับสนุนรายการแบบอิสระประเภทนี้หรือเปล่า หรือว่าสื่ออย่างประชาไทยที่เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็น Website ก็ควรจะได้รับการสนับสนุน หรือเปล่า ผมเห็นรายการอย่างเช่นรายการนอกแผนที่ ซึ่งได้รับงบประมาณแบบบุคคล เป็นโครงการยุทธศาสตร์ได้รับ ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ตัวชี้วัดของรายการแบบนี้ก็ไม่ชัดเจนนะครับ ผมคิดว่าทิศทางของกองทุนในอนาคตก็ต้องไม่ผูกขาดกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง แต่ว่าต้องให้ สื่อท้องถิ่น สื่อรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อยได้รับการส่งเสริมมากขึ้น ซึ่งกองทุนนี้ก็จะตอบโจทย์ ในแง่ของการให้ทุนสนับสนุนนะครับ ซึ่งสังคมก็ตั้งคำถามเยอะ เพราะว่ากองทุนนี่แน่นอน มีผู้เสนอเข้ามา ๓๐๐ กว่าราย แต่ว่ามีผู้ที่พิจารณา คือมีงบประมาณที่จะสามารถผ่านเกณฑ์ได้ ก็เพียง ๕๗ ราย ผมเข้าใจก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ว่าผมชวนมาดูตัวเลขงบประมาณ ที่ได้รับการสนับสนุนตามประเภทโครงการนี่จะเห็นว่าในโครงการแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็น ด้านโครงการทั่วไป เชิงยุทธศาสตร์และความร่วมมือ เมื่อลงไปดูรายละเอียดเชิงลึกจริง ๆ นี่ผมแทบจะไม่เห็นความแตกต่างนะครับ แทบจะแยกไม่ออกมันดูไม่มีหลักเกณฑ์ ดังนั้น ผมจึงเสนอว่าจริง ๆ การแบ่งประเภทนี่อาจจะต้องเป็นชนิดประเภทบุคคล ประเภท บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ หรือหน่วยงานรัฐ คืออาจจะแบ่งตามเกณฑ์ผู้ผลิตเพื่อให้เกิด การแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือว่าถ้ามหาวิทยาลัยต้องการสนับสนุนงบ ที่ผลิตสื่อก็ควรเป็นการผลิตสื่อที่สนับสนุนให้นักศึกษานิเทศศาสตร์ เพราะถ้าจะผลิตสื่อ เพื่อเป้าหมายผู้รับชมนี่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ก็ต้องให้ผู้ผลิตเหล่านั้นส่งมาในนามบุคคล ไปเลย เป็นต้น แบบนี้นะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนโครงการที่ผ่านการพิจารณา ผมขอเสนอแนะว่าอยากให้ท่านลง รายละเอียดไปในรายงานไปเลยให้เห็นว่าสัดส่วนเนื้อหาของรายการนี่ให้คะแนนน้ำหนัก เท่าไร ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ประสบการณ์ในการทำสื่อ คุณภาพของแผน โครงงาน หรืออื่น ๆ เขียนไปเลยให้ชัดเลยครับว่าท่านให้น้ำหนักการพิจารณาคืออะไร จะได้ไม่เป็น ข้อครหา

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และส่วน Slide สุดท้าย ผมจัดกลุ่มก้อนให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทนี่ได้รับการจัดสรร สูงสุด และมีงบประมาณสูงสุดคือ ๑๔ ล้านบาท ในขณะที่บุคคลได้รับงบประมาณสูงสุดนี่ ๖.๔ ล้านบาท และผมจึงอยากจะเสนอแนะว่าอยากให้สนับสนุนสื่อรายเล็ก เพราะว่า พวกเขามีกำลังความคิด มีความสร้างสรรค์ มีความคล่องตัวอยู่แล้วนะครับ ก็อยากจะให้ท่าน เพิ่มลงไปหรือว่าสื่อท้องถิ่น สื่อเฉพาะกลุ่ม Website ที่มีคุณภาพ ปราชญ์ชาวบ้านก็ควร ได้รับการสนับสนุนถ้าจะเป็นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือท่านจะต้องเพิ่มเกณฑ์ การพิจารณา อาจจะเป็นประเภทของสื่อ เช่น กองทุนจากเดิมที่แบ่งเป็นทั่วไป เชิงยุทธศาสตร์ ร่วมมือ ท่านอาจจะให้เป็นลักษณะของสื่อ Digital สื่อ Website แบ่งประเภทของมันใหม่ นี่เป็นข้อเสนอแนะที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ แล้วก็หวังว่าในรายงานของปีถัด ๆ ไปจะเห็น ดัชนีชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของโครงการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านศรัณย์ ทิมสุวรรณ ครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผมศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย กับรายงานของกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สวัสดีทุกท่านนะครับ เจอกันหลายปีตั้งแต่สมัยที่แล้วก็ต้องยอมรับ ว่าจริง ๆ ท่านก็ทำรายงานมาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แล้วก็โดยส่วนตัวนะครับ จากวัตถุประสงค์ จากที่ท่านผู้ชี้แจงได้มีโอกาสแจ้งกับที่ประชุม มารายงานกับที่ประชุม คือด้วยวัตถุประสงค์เอง ผมเห็นด้วยนะครับ แล้วก็คิดว่ามันเป็นจุดประสงค์ที่ดีที่เราจะร่วมกันทำสื่อให้ปลอดภัย และสร้างสรรค์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากรายงานฉบับนี้

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

อย่างแรก พูดถึง Theme ก่อน คือพอเราบอกว่าสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พอเราดูในรายงานผ่าน ๆ และพอเราเจาะลึกลงไป ผมบอกเลยว่ารายงานนี้ได้แสดงให้เห็นว่า รายการที่ได้รับทุนสนับสนุนค่อนข้างที่จะมี Theme ที่ค่อนข้างเจาะจง ก็คืออาจจะเกี่ยวกับ การสอนต่าง ๆ ให้ข้อคิดต่าง ๆ เรื่องศาสนา เปิดไปไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่าง ๆ หรือรายการ ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องข่าวปลอม อันนี้ผมก็เห็นว่าในปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็น Theme หลัก ของกองทุนเลยที่ว่าส่งเสริมสื่อที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้ประชาชนเข้าใจว่า แบบไหนเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ ซึ่งผมไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ผิดนะครับ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกท่าน แล้วกันครับอย่าว่าติเลย ก็คือรายงานฉบับนี้ผมอยากให้มันมี KPI ที่เราเห็นตรงกัน ก็คือในนี้ ท่านเอามาคือท่านบอกว่ามีคนขอมาเท่าไร ท่านให้ไปเท่าไร ท่านให้เต็มวงเงินทุกปีอยู่แล้ว ผมเห็นในรายงาน แต่ที่ผมอยากจะทราบคือแต่ละโครงการ แต่ละรายการที่ท่านได้ให้ไปนี้ มันเข้าถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้มากน้อยขนาดไหน เพราะผมเข้าใจว่านี่คือเป้าหมายหลัก ของการใช้เงินกองทุนใช่ไหมครับ ถ้าท่านจะทำรายการเพื่อบอกกับประชาชนว่าตอนนี้ ภัย Online กำลังมานะครับ สื่อ Online แบบไหนที่เชื่อได้ เชื่อไม่ได้ การแยกข่าวจริง ข่าวปลอมต่าง ๆ นี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือท่านต้องทำให้ประชาชนเห็นได้มากที่สุด ซึ่งผมไม่เห็น ในรายงานว่าจากทั้งหมดเงิน ๓๐๐ กว่าล้านที่ท่านให้ไปทั้งหมด ๕๐ หรือ ๑๐๐ โครงการ ๑๐๐ รายการที่ท่านช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เป็นบุคคลหรือเป็นบริษัทต่าง ๆ สื่อเหล่านี้เข้าถึงประชาชนได้มากน้อยขนาดไหน เพราะว่าเรียนตามตรงหลายปีที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าท่านให้ทุนสนับสนุนบางรายการ หรือทำภาพยนตร์บางเรื่อง แต่เราไม่ได้ เห็นผลสัมฤทธิ์ว่าเงินที่ท่านได้ให้สนับสนุนไปมันส่งผลประโยชน์ถึงประชาชนในประเทศนี้ มากน้อยขนาดไหน ผมไม่อยากให้รายงานแต่ละปีมันเป็นการที่ท่านบอกว่า ปีนี้เราให้ไป ๑๐๐ โครงการ ๑๐๐ โครงการมีอะไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ ไปออกงานที่ไหนบ้าง ให้รายการ อะไรบ้าง แต่พอเราดูแล้วหรือประชาชนฟังแล้วเขาไม่รู้ว่ารายการเหล่านี้คือรายการอะไร หรือเขาไม่เคยผ่านตา ผมมองว่าการให้หรือการสนับสนุนนี้ท่านอาจจะต้องมีข้อกำหนด ที่สามารถทำให้ท่านได้รับผลที่ต้องการได้ คืออย่างน้อยให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากกว่านี้ ผมเรียนตามตรงว่าหลายโครงการที่ผมดูในเล่มนี้แล้วลองไปตามดูผู้ชมน้อยมาก ผมไม่ได้ว่า มันผิดหรืออะไร เพียงแต่ว่ามันไม่ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ของกองทุน แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อไป สมมุติปีละ ๓๐๐ ล้านบาท ๔ ปีก็เป็น ๑,๐๐๐ ล้านบาทแล้ว ถ้าเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาทนี้ ไม่สามารถตอบโจทย์หรือช่วยให้ประชาชนเข้าใจสื่อ หรือรับสื่ออย่างสร้างสรรค์ได้ แล้วแบบนั้น มันจะมีประโยชน์อะไร

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ประเด็นต่อไปก็คือเรื่องการให้ทุนนี่ละครับ จริง ๆ ผมเคยทักท่านไปหลายทีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่แล้วว่ามันมีบางกลุ่ม ผมจะไม่เอ่ยก็แล้วกันว่ากลุ่มไหนที่แยกกันมาขอโครงการ กับท่าน เสนอมาว่าอยากทำรายการนี้ อยากทำรายการนั้น อยากทำสื่อประเภทนี้ ๑ ๒ ๓ ๔ มาด้วยชื่อต่างกัน มาด้วยบริษัทต่างกัน เป็นบุคคลบ้าง เป็นกลุ่มบริษัทบ้าง แต่จริง ๆ แล้ว เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน อันนี้ผมเข้าใจว่ามันอาจจะตรวจ Check ยาก ถ้าท่านบอกว่าปีหนึ่ง ท่านมีคำขอสนับสนุนเข้ามาเป็น ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ แต่ผมมองว่าอยากให้ช่วยกันดู เพราะว่านี่คือความน่าเชื่อถือของกองทุนของท่าน ถ้ามีคนไปเห็นว่า ๕๐ โครงการของท่านนี่ ๑๐ กว่าโครงการเป็นบริษัท เป็นคนกลุ่มเดียวกันที่มาขอแล้วได้นี่ ในอนาคตมันจะเป็นปัญหา มากกว่านี้นะครับ แล้วผมเล็งเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาก็มีประเด็นคล้าย ๆ ประมาณนี้อยู่แทบ ทุกปี ก็อยากจะฝากให้ท่านช่วย Check ให้ละเอียดเพื่อที่ในอนาคตประชาชนจะได้เชื่อมั่นว่า ท่านทำตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างจริงจัง

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

และเรื่องสุดท้ายที่อยากจะนำเสนอก็คือจากรายงาน เราคงเห็นข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ท่านให้รายการ ให้สื่อประเภทภาพยนตร์ หรือรายการทีวี แต่แล้วจริง ๆ ในประเทศไทยมันมีสื่ออีกหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ และอาจจะ ขอสนับสนุนจากท่านน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นอาจจะเป็นวิทยุชุมชน ยกตัวอย่างนะครับ สามารถเข้ามาร่วมกับท่านได้มากน้อยขนาดไหน ท่านสามารถร่วมสร้างสื่อ ในระดับชุมชนได้มากน้อยขนาดไหน

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

และประเด็นสุดท้ายครับก็คือถ้าท่านบอกว่าท่านต้องการสร้างสื่อที่มีคุณภาพ สร้างสื่อที่ปลอดภัย ผมมองว่าการให้ครั้งเดียวมันอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าถ้าท่านให้ ๑ ครั้ง เขาทำออกมา ๑ รายการ ถ้ารายการดีแล้วเขาเอาไปทำต่อได้ อันนั้นก็อาจจะถือว่า ประสบความสำเร็จ แต่มันมีน้อยครับ การที่รายการรายการหนึ่งไม่ว่าจะเป็น Influencer ที่เป็นบุคคลหรือเป็นบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลา การให้เงินก้อนหนึ่ง ปีหนึ่งแล้วหวังว่าเขาจะกลายเป็นสื่อที่ดีที่สร้างสรรค์ในชุมชนในประเทศของเรานี่ผมว่า มันเกิดขึ้นยากมาก ท่านอาจจะต้องดูเป็นระยะทางว่าถ้าเป็นกลุ่มคนหรือบริษัทที่มี Potential มากพอสามารถพิจารณาที่จะสนับสนุนเป็นระยะเวลาได้ไหม เพื่อที่เขาจะ สามารถทำงานของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากให้กับ ทุกท่านครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ตอนนี้ก็อภิปราย ๒ ท่านแล้วนะครับ ผมขอปิดการลงชื่ออภิปรายนะครับ ท่านสุดท้ายจะเป็นท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ นะครับ ขอเชิญท่านต่อไปนะครับ ท่านอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภานะครับ แล้วก็ผู้บริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องจากว่ากองทุนนี้ได้รับ เงินรายได้หรือเงินอุดหนุนจากการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผมเข้าใจว่าตัวกองทุนที่ให้เงิน ท่านมานี่ก็คงอยากจะเห็นโจทย์ที่เอาเงินที่เก็บมาจากงานโทรทัศน์ แล้วก็มากระจายกลับคืน ให้กับสังคม ผมไล่ไปตามรายงานเลยนะครับ ตาม Slide แล้วกัน ผมขอ Slide เปิดหน้า ถัดไปเลยครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในรายงานของท่านก็บอกถึง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงในปีปัจจุบันที่ท่านส่งรายงานคือปี ๒๕๖๕ ตัวที่เป็นสีฟ้าก็คืออันที่ ท่านให้บอกตามยุทธศาสตร์ที่เป็นเรื่องทั่วไป กับอันที่เป็นสีส้มก็คืออันที่เรื่องที่ให้ตาม ยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าในท้าย ๆ มานี่เราก็จะให้เงินไปตามยุทธศาสตร์ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมกำลังมองว่าโอกาสของคนตัวเล็ก คนที่อยู่ในต่างจังหวัด คนที่เริ่มต้น ทำงานใหม่ ๆ ทางด้านสื่อสร้างสรรค์นี่โอกาสก็จะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นผมอยากเห็น ก็คือเรื่องเกณฑ์ในการพิจารณาของปีถัดไป เช่นในปี ๒๕๖๖ ว่าสัดส่วนของเกณฑ์ในการจัดสรรทุน ให้ทางตัวที่เป็นยุทธศาสตร์ของสถานการณ์ของตัวกองทุนเอง กับอันหนึ่งก็คืออันที่เป็นเรื่อง ทั่วไปที่จะเปิดให้กับคนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นนะครับ ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะไม่มีโอกาสเห็น หรือส่งเสริมกับเยาวชนที่จะทำงานเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ใน Slide ที่ ๒ ผมไล่ไปตามรายงานของท่านนะครับ ก็คือตัวจำนวนเงิน รายละเอียดของตัวสื่อที่ท่านให้มาตามรายงานนี้ ในปี ๒๕๖๕ ท่านให้ไว้ที่เปิดรับทั่วไป ๕๗ โครงการ ด้วยเงินประมาณ ๑๐๓ ล้านบาท แล้วก็ประเภทยุทธศาสตร์ ๗๐ โครงการ ด้วยเงิน ๑๗๙ ล้านบาท แล้วก็อันที่เป็นเรื่องความร่วมมือ ๕ โครงการ ๑๖ ล้านบาท ส่วนในปี ๒๕๖๖ ที่เตรียมทำแผนไว้ ท่านก็ให้ไว้ในสัดส่วนที่ดูใกล้เคียงกัน แต่พอลง รายละเอียดในตัวเลขของโครงการต่าง ๆ ผมก็ไปนั่งดูรายละเอียด ในนั้นมันมีรายละเอียด ตั้งแต่โครงการย่อย ๆ เล็ก ๆ ก็คือ ๓๐๐,๐๐๐ บาท จนไปถึงโครงการ Scale ขนาดใหญ่ คือ ๑๔ ล้านบาท หรือแม้กระทั่งในปี ๒๕๖๖ ที่ท่านเตรียมให้ ๘.๕ ล้านบาท ใน Scale ของโครงการที่แตกต่างกัน ซึ่งความจริงท่านก็ได้ชี้แจงไว้ในข้อเสนอแนะของทีมประเมิน โครงการว่าได้แบ่งโครงการไว้ใน Scale ที่เป็น S M L นะครับ ผมอยากเห็นว่าความแตกต่าง ของตัวเลขที่มันจาก ๓๐๐,๐๐๐ บาทจนถึง ๑๐ กว่าล้านบาทนี่มันมีวิธีการจัดสรร ด้วยวิธีอะไรได้บ้าง มันมีเกณฑ์ในการพิจารณาที่จะให้เงินกับโครงการต่าง ๆ ด้วยเกณฑ์อะไร เพราะว่าลองอ่านในรายงานนี่ไม่มีเกณฑ์ในการที่จะให้ทราบว่าเราให้เงินโครงการนี้เท่าไรบ้าง พอเปิดไปดูในหน้า ๒๒ ของรายงาน ก็ไปดูเงินที่ท่านใช้จ่ายในปี ๒๕๖๕ ๕๗๒ ล้านบาท แล้วก็ตัวโครงการนี่ท่านให้ไว้ที่ ๒๙๙ ล้านบาท เงินที่ท่านจ่ายในเฉพาะปีนี่พอไปดูข้อที่เป็น งบประมาณที่ใช้ผูกพัน ท่านปล่อยให้เงินผูกพันของปี ๒๕๖๕ ไปถึง ๓๖๒ ล้านบาท ซึ่งเทียบแล้วก็คือประมาณ ๖๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเพดานเงินที่ค่อนข้างเยอะมาก หลังจากที่ท่านได้เงินงบประมาณประจำปีแล้วเอาไปปล่อยไว้เป็นเงินผูกพันซึ่งค่อนข้าง เยอะมาก เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นก็คือว่าในอนาคตข้างหน้าทำอย่างไรมันถึงจะทำให้เรา สามารถจ่ายเงินงบประมาณได้ปีต่อปี แล้วก็เข้าใจได้ว่าในบางโครงการนี้ท่านอาจจำเป็น ที่จะต้องจ่ายในระยะเวลาเกิน ๑ ปี แต่ผมเชื่อว่าเราคงจะต้องมีเพดานในการจ่ายนะครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนใน Slide อันที่ ๓ ผมก็หยิบตามตัวอย่างของท่านนะครับ ที่ท่านให้ไว้ เป็น Highlight ของ ๒ โครงการ โครงการแรกก็คืออันที่บอกว่าเป็นโครงการเด่นของปี ๒๕๖๕ ชื่อว่า บินล่าฝัน A Time to Fly โครงการนี้ให้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แล้วก็มีผลสัมฤทธิ์ในปีนี้เอง หรือโครงการที่ชื่อว่า White Monkey หนุมานขาว ก็ให้ไว้ตอนปี ๒๕๖๓ แล้วเพิ่งจะมา สัมฤทธิ์ ทั้ง ๒ โครงการ พอผมลงไปดูในรายละเอียด เช่น เงินงบประมาณ ๑๐ ล้านบาททั้งคู่ แต่เวลาที่ผมเปิดเข้าไปดูใน Review ภาพยนตร์ เพราะอันนี้ฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปด้วย ผมไปเปิดดูใน Review ก็ไม่พบว่าเรื่องนี้มีการ Review ในระบบของภาพยนตร์ ไปดูใน Thailand Box Office ก็มีรายได้ฉายอยู่ ๑๔ วัน ได้ ๓.๓ ล้านบาท ซึ่งมันไปเปรียบเทียบ กับหนังของเอกชนในช่วงเวลาเดียวกัน ชื่อ บัวผันฟันยับ ในเวลา ๑๔ วันเหมือนกัน เขามีรายได้ ๗๕ ล้านบาท ในขณะที่หนังของเรามีรายได้อยู่ที่ ๓.๓ ล้านบาท เพราะฉะนั้น ผมก็เลยอยากให้ท่านช่วยดูในฝั่งเรื่องการรับรู้ของคนดูด้วยว่าคนดูมีการรับรู้เท่าไร ผมขออีกนาทีเดียวครับท่านประธาน แม้กระทั่งวิธีการที่จะให้คนรับรู้ ผมก็เข้าไปดู รายละเอียด ก็พบว่ามีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๘๑๖๓.๓/ว๙๑๗๘ ซึ่งลงวันที่ ๗ ธันวาคม เมื่อปีที่แล้ว บอกว่าให้เราช่วยเกณฑ์เอานักเรียนไปเข้าชมหนังเรื่องนี้ด้วย โดยการที่บอกว่าให้ใช้เงินงบประมาณในหมวดค่าจัดการเรียนการสอน การทำกิจกรรมของ ผู้เรียนเพื่อไปเกณฑ์ให้ตัวเลขของคนเข้าชม แล้วก็ต้องทำแบบสอบถามตอบกลับคืนมาด้วย เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์นี่ผมหวังว่าเมื่อเราพยายามลงทุนแล้ว ให้เงินไป ๑๐ ล้านบาทแล้ว เราก็คงหวังผลที่มันจะทำให้มันมีผลสัมฤทธิ์ต่อคนดูด้วย เพราะฉะนั้นใน Slide สุดท้ายก็คือมี คำถามกับท่าน ๒ ข้อ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อแรกก็คือข้อมูลทั้งหมดที่ท่านผู้บริหารกองทุนเสนอมานี่ผมคิดว่าแนวทาง ในการจัดสรรโครงการท่านทำอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ก็คือเรื่องตัวชี้วัดในกองทุนต่าง ๆ ในโครงการต่าง ๆ ว่าท่านมีตัวชี้วัด ในกองทุนเท่าไร ซึ่งจริง ๆ แล้วเราวัดได้ทั้งตัวที่เป็น ROI หรือ SROI ได้ทั้งคู่ แล้วก็ในตัว กองทุนเองผมว่าท่านก็มีอนุกรรมการอยู่ ๖ ชุด แต่ว่าในอนุกรรมการชุดกลั่นกรองนี่ท่าน ไม่ได้ระบุชื่อไว้ว่าใครเป็นกรรมการอนุกรรมการกลั่นกรองนะครับ เพราะว่าเป็นคนที่ระบุ กองทุนเอง แล้วก็ข้อแนะนำของชุดกรรมการประเมินนี่ผมก็มีความเห็นสอดคล้องครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร จากเขตบางแคและเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ ผมขออนุญาตอภิปรายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องขอขอบคุณ ทางหน่วยงานทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติสภาแห่งนี้มาชี้แจงด้วยตนเองนะครับ ๒ ข้อสังเกต หลักครับท่านประธาน ขอ Slide ด้วยครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒ ข้อสังเกตหลักนะครับ คือความหลากหลายของโครงการที่ยื่นเสนอเพื่อรับการสนับสนุนจากกองทุนนะครับ และการติดตามความสำเร็จของโครงการที่ได้รับจากกองทุนนะครับ ความหลากหลายของ โครงการนะครับท่านประธาน ประเภททุนสนับสนุนในปี ๒๕๖๕ นั้นเราจะเห็นว่า แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท เป็นประเภทเปิดรับทั่วไป ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ และประเภท ความร่วมมือนะครับ หากเราดูที่กรอบวงเงินสนับสนุนนั้นประเภททั่วไปอยู่ที่ ๙๐ ล้านบาท ส่วนประเภทเชิงยุทธศาสตร์นั้นคูณ ๒ ทวีคูณเป็นเท่าตัวขึ้นมาที่ ๑๘๐ ล้านบาท จำนวน โครงการที่นำเสนอนะครับ ประเภททั่วไปอยู่ที่ ๓๗๑ โครงการ ตามมาด้วยประเภท เชิงยุทธศาสตร์ที่ ๓๖๘ โครงการ โดยจำนวนเงินอนุมัตินั้น ๑๗๙ ล้านบาท ถูกอนุมัติไปที่ ประเภทยุทธศาสตร์มากเป็นอันดับ ๑ ส่วนประเภทความร่วมมืออยู่ที่ ๑๖.๑๓ ล้านบาท เมื่อเรามองประเภททุนเปิดรับทั่วไปที่ได้รับการสนับสนุนอันดับ ๑ ก็จะเป็นสื่อสำหรับกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ อันดับ ๒ เป็นสื่อสำหรับเด็ก อันดับ ๓ เป็นโครงการ เพื่อความรู้เท่าทันสื่อ และตระหนักรู้ปัญหาครับ ส่วนอันดับที่ ๔ นั้นมีเพียง ๑ เรื่องเท่านั้น คือสื่อเพื่อสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ข้อสังเกตจาก Slide เมื่อสักครู่ คืออะไรครับท่านประธาน

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๑ การขาดความหลากหลายของหัวข้อที่สามารถเข้าถึงมวลชนนะครับ ผมคิดว่าถ้าเราเพิ่มความหลากหลายให้มีการกระจายตัว และมีค่าเฉลี่ยที่มากกว่านี้ จะสามารถดึงดูดพี่น้องประชาชนและเข้าถึงพี่น้องประชาชนจากหลากหลายกลุ่มให้เข้ามา สนใจสื่อได้มากยิ่งขึ้นนะครับ รวมไปถึงหัวข้อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิเพื่อความเท่าเทียม และหลากหลายทางเพศยังคงมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหัวข้ออื่น ๆ นะครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ กองทุนอาจพิจารณาสนับสนุนด้านภาพยนตร์ Series หรือละคร โทรทัศน์ ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาขณะนี้และเข้าถึงประชาชนได้เป็นจำนวนมากนะครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ การประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนอาจจะยังไม่เข้าถึง ประชาชนในวงกว้างมากพอครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เมื่อเรามาดูคณะกรรมการกองทุน ทั้งหมดจะมีอยู่ ๒๐ ตำแหน่งนะครับ ท่านประธาน ประธานกรรมการมาจากรองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการมาจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และประกอบไปด้วย ๗ ปลัดกระทรวง และ ๙ ผู้ทรงคุณวุฒิ ดังที่ท่านอาจจะเห็นอยู่ในแผนภาพ แผนภูมิด้านซ้ายมือนะครับ ถ้าเราจะแยกจำนวนของ คณะกรรมการนี้ที่มีความเกี่ยวพันกับสื่อมวลชน เกี่ยวพันกับศิลปะจริง ๆ อาจจะมีอยู่เพียง ๕ ตำแหน่งจาก ๑๗ ตำแหน่ง ถ้าไม่รวมประธานและเลขานุการนะครับ ดังที่ผม Highlight เป็นสีดำอยู่ทางด้านขวามือครับ จะดีแค่ไหนครับถ้าเราสามารถจะเพิ่มคณบดีในมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ ทางด้านสื่อสารโทรทัศน์ และศิลปะเข้ามา ในโครงสร้างนี้ด้วย นอกจากจะสามารถนำผลงานของนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เข้ามารับทุนของกองทุนนี้ด้วยแล้วยังสามารถเพิ่มความหลากหลายให้กับผลงาน และเป็นประโยชน์ในภาพรวมได้มากกว่านี้ และสัดส่วนของปลัดกระทรวงซึ่งมีอยู่ ค่อนข้างมาก อาจจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกำกับควบคุมเนื้อหามากกว่าการสนับสนุน และสร้างสรรค์หรือไม่ สำหรับผลการดำเนินการของกองทุน การจัดสรรงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ นะครับ ๕๗๒ ล้านบาท ผูกพันงบประมาณข้ามปีถึง ๓๖๒ ล้านบาท คิดเป็น ๖๓.๓๓ เปอร์เซ็นต์ สำหรับงบประมาณผูกพันในปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ เป็นงบประมาณ ผูก ๒๖.๑๒ เปอร์เซ็นต์ จุดนี้เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการจัดสรรงบประมาณซึ่งมีงบ รอเบิกจ่ายสูงกว่า ๒ เท่าตัว ถึง ๖๓.๓๓ เปอร์เซ็นต์ การดำเนินงานของกองทุนและกิจกรรม ที่ยื่นขอไม่เสร็จสิ้นพร้อมตรวจรับในปีงบประมาณหรือเปล่า มีความคืบหน้าอย่างไร

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ คือกรอบเวลาการตรวจรับงาน เพราะในปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ นั้น รวมทั้งสิ้น ๓ ปี เบิกจ่ายแล้ว ๓๙๑ ล้านบาท ยังมีผูกพันคงเหลืออีก ๑๓๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๖ นะครับ

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ครับ ประสิทธิภาพในการสื่อสารสำหรับโครงการที่เสร็จสิ้นช้านะครับ ในบางโครงการเป็นโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเร็วครับ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความมั่นคงปลอดภัยทาง Cyber หรือข้อมูลทางสุขภาวะ หรือสาธารณะสุข เราไม่สามารถ รอเป็นหลาย ๆ ปีได้ ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นอุบัติการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นต้น

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๔ บทบาทกองทุนในการผลักดันช่องทางการนำเสนอผลงาน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางของ Social Media ต่าง ๆ หากท่านดูใน YouTube มีหลายโครงการที่ได้รับทุนจาก กองทุนนี้ครับ แต่ยอด View น้อยอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่นั่นเป็นผลงานที่ค่อนข้างดีมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เรามีการประชาสัมพันธ์ทั้ง Online และ On Ground ให้มากกว่านี้ ให้พี่น้องประชาชนสามารถเสพผลงานที่ทุกท่านรังสรรค์ขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้มากกว่านี้

นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๕ เป็นระบบการเปิดเผยข้อมูลหรือ Open Data ปัจจุบันแล้ว Website ของกองทุนนะครับ ผมเข้าไปดูก็มีการจัดแสดงผลงานที่ได้รับทุนเพียงบางส่วน จึงมีข้อเสนอ ให้เปิดเผยข้อมูลเป็น Open Data เลยนะครับ รายงานสถานะของทุกโครงการให้เห็นว่า โครงการนี้อยู่ในสถานะอะไร ดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน และมีช่องทางการเผยแพร่ ผลงานอะไร อาจจะแนบ Link ไปให้เขาเลยนะครับ นักศึกษาที่ต้องการศึกษาผลงาน หรือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจจะได้เข้าถึงผลงานเหล่านี้ได้โดยสะดวกครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ ครับ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงราย เขต ๕ อำเภอเทิง อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล และตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ พรรคเพื่อไทยครับ วันนี้รายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชื่อก็บอกแล้วว่าสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นความปลอดภัยอยู่ที่คนใช้สื่อนะครับ ไม่ใช่ความปลอดภัยของสื่อ เพราะฉะนั้นสื่อจะทำอย่างไรที่ให้คนใช้และปลอดภัยได้ ทำอย่างไรสื่อถึงจะสร้างสรรค์ ให้คนที่ใช้สื่อนั้นมีพัฒนาการอย่างสร้างสรรค์ได้ เป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ นี่คือ จุดสำคัญที่สุด บนโลกของการเปลี่ยนแปลงครับ โลก Digital 4.0 ยุคสมัยของ Digital Disruption Social Media มาแรง IO มอมเมาสร้างข้อมูลเท็จ AI มาช่วยในการทำงาน มากขึ้น ยุค Machine to Machine เราสามารถเปิด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัตโนมัติโดยผ่าน Application ได้ เราสามารถที่จะใช้กล้องวงจรปิดโดย Application เป็นยามเฝ้าบ้าน แทนได้ เราสามารถที่จะใช้ Digital ในการทำงานแทนเราได้หลายเรื่อง นี่คือโลกยุคใหม่ สู่การเรียนรู้ใหม่ในยุค Digital ที่มีเครื่องมือบนฝ่ามือมือเดียว ไม่ว่าจะบนฝ่ามือ บนจอ บนผนังอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป วิธีการจัดการเรียนรู้หรือวิธีสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในชาติก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุในสังคม ประเทศชาติของเรานั้นได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ต่อชีวิต ตนเอง สังคม และประเทศชาติ นี่คือโลกยุคใหม่ ภารกิจสำคัญของกองทุนสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะฉะนั้นการที่รายงานประจำปีได้นำเสนอ ออกมาก็พยายามที่จะมองในทุกมิติให้รัดกุมและรอบด้านว่าสิ่งที่เราดำเนินการอยู่เป็นเพียง แค่รูปแบบหรือไม่ หรือเราต้องการผลไปยังประชาชนอย่างแท้จริงโดยตรง เพราะฉะนั้น โลกของการเปลี่ยนแปลงใหม่ตรงนี้มันเร็วมาก เร็วทุกวันเร็วทุกวินาที เร็วจนตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นการสร้างสื่อใหม่ ๆ ให้กับเยาวชน ให้กับเด็ก ให้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างมากที่สุด เพราะฉะนั้นคนกำลังตามสื่อ ตามโลก AI จึงเป็นภารกิจของกองทุนที่มีโอกาสทำ วันนี้เดี๋ยวจะพูดต่อเรื่องของงบประมาณที่ท่านได้รับ เพราะฉะนั้นภารกิจของกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้น

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการแรกที่ท่านดำเนินการคือสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดสื่อปลอดภัย คือให้มีสื่อให้มาก ๆ ในทุกรูปแบบ ทุกมิติที่ดำเนินการอยู่ที่ครอบคลุมทั้งหมดนะครับ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ คือสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการที่จะผลิตสื่อออกมา ในการมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ คือสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และการเฝ้าระวังสื่อ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

นี่เป็นภารกิจสำคัญของท่าน ผมมองแล้วภารกิจที่ ๒ ภารกิจที่ ๓ สำคัญที่สุด โดยเฉพาะข้อ ๓ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ปู่ย่าตายายได้เรียนรู้ในเครื่องมือ ช่องทาง อย่างสร้างสรรค์ของโลก Social ทุกรูปแบบ ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์ต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อสังคม และประเทศชาติเพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นในฝ่ามืออาจจะไม่ใช่ สิ่งที่เห็นในโลก Online อาจจะไม่ใช่ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้สื่อที่มันใช่ ที่มันถูกต้องไปสู่มือของประชาชน ให้การรับรู้ได้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดนี่คือหน้าที่ การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ๒๕๖๕ งบประมาณทั้งหมด ๕๗๒ ล้านกว่าบาท คงเหลือ ๖ เปอร์เซ็นต์ แสดงว่างบประมาณไปใช้ ไม่ทันแน่ ๆ ๖ เปอร์เซ็นต์ แล้วงบประมาณผูกพันคงเหลืออีก ๑๓๘ ล้านกว่าบาท ๒๖.๑๕ เปอร์เซ็นต์ รวมแล้ว ๒ ยอดนี้จะอยู่ที่ประมาณ ๑๗๗ ล้านกว่าบาท ซึ่งสามารถ ใช้ประโยชน์อะไรได้อีกมากในการที่จะให้มีเครื่องมือ มีช่องทางสำคัญให้คนทุกกลุ่ม อย่าไป เฉพาะกลุ่ม อย่าทำเพราะเป็นตัวอย่างไม่ได้ ในยุคสมัยนี้เป็นเพียงตัวอย่างไม่เกิดประโยชน์ ไม่ส่งผล เพราะทุกคนมันรับรู้ทั่วถึง เท่าทันได้ทุกคน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะสร้าง สื่อเหล่านี้ออกมา ที่ท่านดำเนินการอยู่ อาทิ ภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์ ดนตรี การแสดงโขน เกม และอื่น ๆ เป็นการปลูกฝังทัศนคติค่านิยมที่ดีต่อการสร้างความสามัคคี ต่อการสร้างความรักชาติ รักแผ่นดินถิ่นเกิด อันนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต้องขอชื่นชม แต่สิ่งที่จะต้อง ดำเนินการต่อคือความครอบคลุมต่อกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ที่ท่านได้เสนอมาตรงนี้ มหาวิทยาลัย ๒๔ แห่งเท่านั้นเอง ซึ่งเรามีถึง ๗๗ แห่ง เพราะฉะนั้นไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป ก็จึงเป็นหน้าที่ของพวกเรานะครับว่ากองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงต้องดำเนินการ ให้มากขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น วันนี้ทำเป็นตัวอย่างไม่ได้ ต้องทำเพื่อทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย มันถึงจะประสบ ความสำเร็จ แม้เราช้า ๑ วันก็ช้าไปหลายก้าวแล้ว เพราะการเดินทาง ความก้าวหน้าต่าง ๆ มันเดินเป็นวินาทีครับ แต่สิ่งที่ผมเห็นที่พบจาก Paper ที่นำเสนอตรงนี้ เราจะพบว่าสิ่งที่ ท่านทำก็คือนอกเหนือจากสื่อต่าง ๆ แล้ว การสัมมนา การอบรม การพัฒนาต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ ให้กับกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ผมว่าตรงนี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด สิ่งที่เป็นคำตอบปัจจุบันที่เรา จำเป็นจะต้องทำก็คือเปลี่ยนมาให้เขาได้ทำเองโดยการสนับสนุนงบประมาณ สนับสนุน กองทุนให้เขาทำ ให้กับเด็ก ให้กับเยาวชน และประชาชนที่มีความสนใจเรื่องนี้ ที่มี ความเข้าถึงเรื่องนี้ และมีความลึกซึ้งในเรื่องนี้ที่จะสื่อสารอย่างถูกต้อง ปลอดภัย นี่เป็นเรื่อง สำคัญครับ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ เปลี่ยนการสร้างเป็นการให้เขาทำเอง Learning by Doing โดยการคิด ทำ ประเมินเอง แล้วก็เรียนรู้เอง โดยมีกฎ กติกา มีกรอบทิศทางที่ถูกต้อง โดยยึด ประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ แผ่นดินถิ่นเกิดเป็นสำคัญ

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ งบประมาณที่มีอยู่ใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดต่อประชาชน ทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ ทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ให้มาก ที่สุด

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ การชื่นชม เปลี่ยนจากรางวัลโล่ต่าง ๆ ให้เป็นทุนในการผลิต ในการสร้างสรรค์ เพื่อชีวิตและสังคมที่ดี

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ

และประการสุดท้าย การประเมินผลการปฏิบัติงานตรงนี้ต้องประเมิน อย่างรอบด้านทุกภาคส่วน ทั้ง Stakeholder ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อที่จะเกิดการปรับปรุง พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป ขอบคุณกองทุนครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านรักชนก ศรีนอก ครับ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากชาวจอมทอง บางบอน หนองแขม ขอร่วมอภิปรายรายงานประจำปีของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยดิฉันมี ๓ ประเด็นด้วยกัน

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ดิฉันต้องขอสนับสนุนท่านธัญธรว่าใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ ตามมาตรา ๑๔ กำหนดเอาไว้ว่า Board บริหารหรือคณะกรรมการ ประธานจะมาจาก นายกรัฐมนตรี และรองประธานจะมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยอีก ๗ ตำแหน่งที่เป็นกรรมการจะมาจากปลัดแต่ละกระทรวง รวมถึงเลขาธิการ กสทช. แค่ที่มา ของกรรมการบริหารก็อดทำให้ตั้งคำถามไม่ได้ว่าแนวทางของกองทุนนี้จะถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาสื่อหรือควบคุมสื่อ และจะถูกเลือกปฏิบัติเฉพาะกับสื่อที่สนับสนุนหรือเอาไว้อวย รัฐบาลหรือไม่ กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์จะสร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้าคณะกรรมการ หรือ Board บริหารเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถให้คุณให้โทษและหาประโยชน์ จากกองทุนนี้ได้

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ตัววัดประสิทธิภาพในโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ดิฉันไม่เห็น ในเล่มรายงานนี้ ต้องบอกว่ารายงานฉบับนี้อ่านง่าย มีโครงการที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ไม่มีคือ ตัววัดประสิทธิภาพ ดิฉันจะลองยกตัวอย่างโครงการ และขออนุญาตตั้งคำถามไปด้วย โครงการที่ได้งบเกิน ๑๐ ล้านบาท เช่น ภาพยนตร์เรื่อง พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม ได้งบประมาณ ๓๐ ล้านบาท ละครส่งเสริมจิตอาสาและหน้าที่พลเมือง ชุด ใจอุทิศจิตอาสา เธอและฉันใต้ฟ้าผืนเดียวกัน ได้งบประมาณ ๑๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินก้อนใหญ่ แต่ดิฉัน ขออนุญาตถามนะคะว่าไม่สามารถ Search เจอทั้ง ๒ โครงการนี้ใน Internet ได้ว่า มีความคืบหน้าโครงการไปเป็นอย่างไรแล้วบ้าง ดิฉันดีใจที่กองทุนมีการส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาพยนตร์และละคร ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้กำกับและผู้เขียนบทมืออาชีพ เขาบอกว่าเป็นการยากมากที่จะ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้ มีการสนับสนุนซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยและเงื่อนไขเยอะ บางท่านฝากดิฉันตั้งคำถามมาผ่านไปยังท่านประธาน ผ่านไปยังคณะกรรมการที่นั่งอยู่ว่า ถ้าไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออวยสถาบัน หรือสนับสนุนในแนวทางเดียวกับรัฐบาล สืบทอดอำนาจจะมีโอกาสที่ได้งบเป็นกอบเป็นกำแบบนี้บ้างหรือไม่คะ เกณฑ์การสนับสนุน อาจจะมีแต่ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการเลือกปฏิบัติกับบางโครงการ บางคน แนวคิดบางแบบ หรือไม่ ต่อมาค่ะ มีหลายโครงการที่ได้งบประมาณสูงแต่ไม่มีคนดู ยกตัวอย่างเช่น The Winner เกมพิชิตฝัน ได้เงินไป ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่มีผู้ชม Online ทั้งหมดมีประมาณ ๒๐ EP รวมทุก EP มีคนชมแค่ ๓๐๐,๐๐๐ คน โครงการนักสืบสายรุ้ง Season 2 ได้รับเงินสนับสนุน ๔ ล้านบาท มีผู้ชมรวมกันทุก EP ๒๐๐,๐๐๐ ยอดวิวเท่านั้น โครงการผลิตครูดีสร้างคนดี มีทั้งหมด ๑๒ ตอน มีคนดูเพียง ๑๓๐,๐๐๐ คนเท่านั้น อีกหลายโครงการที่ดิฉันไปไล่เปิด ดูมา มี Clip ใน YouTube ให้เปิดดูได้ มีเงินสนับสนุนหลักล้านบาท แต่มีผู้ชมแค่หลักแสนเท่านั้น บางทีเป็นหลักหมื่นด้วย เป็นการดีที่จะมีการสนับสนุนความหลากหลายของการสนับสนุนสื่อ ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกชาติพันธุ์ ทุกความหลากหลาย แต่ถ้าทำโครงการแล้ว ไม่ติดตลาดบ้างนี่มันไม่เป็นไร แต่ถ้าทำหลาย ๆ โครงการแต่ว่าท่านไม่มีการวัดประสิทธิภาพเลย และยังดำเนินในแนวทางเดิม ไม่มีการแก้ไข ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ผลิตสื่อโดยไม่หวังผลว่า จะมีคนเสพหรือไม่ ดิฉันเกรงว่าประชาชนก็จะตั้งคำถามว่าเป็นการตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำหรือไม่

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกรายการค่ะ รายการกนกยกสยามสัญจรนะคะ จากช่อง TOP News รายการนี้ได้เงินสนับสนุนไปถึง ๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท เกือบ ๕ ล้านบาทนะคะท่านประธาน มากเป็นอันดับต้น ๆ ในรายงานฉบับนี้เลยนะคะ ดิฉันไม่ทราบว่าท่านที่สนับสนุนเงินให้ รายการนี้ทราบหรือไม่ว่าช่อง TOP News นี้มีการนำเสนอข่าวในแนวทางแบบไหน หรือว่า เพราะว่ากองทุนชอบแนวทางแบบนี้ก็เลยสนับสนุนช่องนี้ พอมาเห็นโครงการนี้ดิฉันถึงต้อง ตั้งคำถามแทนพ่อแม่พี่น้องประชาชนจำนวนมากค่ะว่าท่านมีเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการ อย่างไรถึงจะให้เงินในการสนับสนุน ต้องบอกว่าบางโครงการที่ดีก็อยากให้ได้รับการสนับสนุน สนับสนุนแล้ว สนับสนุนอยู่ สนับสนุนต่อ แต่บางโครงการที่รู้สึกว่าเป็นการตำน้ำพริกละลาย แม่น้ำ ทิ้งงบไปเปล่า ๆ ก็อยากจะให้มีการทบทวน หรือว่าอาจจะช่วย Promote ให้มัน ตรงกลุ่มมากขึ้นนะคะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ กองทุนนี้มีการสนับสนุนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้าน ข่าวปลอมเป็นจำนวนมาก ซึ่งดิฉันก็เห็นดีเห็นงามกับการที่ทำสื่อในการรณรงค์ในการต่อต้าน ข่าวปลอม แต่ที่ดิฉันอ่านแล้วดิฉันรู้สึกห่อเหี่ยวใจ เพราะว่ารู้สึกว่ามันยังไม่มีการวัดผล ยังไม่มีการประเมินประสิทธิภาพค่ะ เพราะว่าขนาดในกลุ่ม LINE ของข้าราชการจำนวนมาก ยังมีการส่งต่อข่าวปลอมกันอยู่เยอะมาก ๆ เลยนะคะ เช่น พรรคก้าวไกลจะตัดบำนาญ ข้าราชการ อันนี้ตอนดิฉันหาเสียงต้องตอบคำถามทุกวัน หรือในกลุ่ม LINE สว. ซึ่งเป็น ตำแหน่งที่ควรจะมีวิจารณญาณมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ก็ยังมีการส่งต่อข่าวปลอมกันอยู่ว่าจะมี ฐานทัพอเมริกาเข้ามาตั้งในไทย ดิฉันก็อยากที่จะให้ท่านส่งเสริมโครงการต่อต้านข่าวปลอม ใน Application LINE นะคะ ลองดูส่วนนี้สักนิดหนึ่ง และดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต กองทุนจะมีความโปร่งใส และมีตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพชัดเจนมากขึ้นในการวัดผลโครงการ ที่อนุมัติไป และดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในรายงานงบฉบับหน้า ฉบับต่อไปท่านจะใส่ เอาตัวชี้วัดประสิทธิภาพ วัดประสิทธิผลลงไป แทนที่จะเป็นการใส่แค่ผลงานที่มีแต่รูปภาพ เท่านั้น ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ผมมีความจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำแป๊บหนึ่งนะครับ ผมขอพัก การประชุม ๕ นาทีนะครับ แล้วเดี๋ยวเรากลับมาก็จะเป็นท่านสิริลภัสนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๕.๔๑ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๕.๔๕ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอดำเนินการประชุมต่อนะครับ เรียนเชิญท่านสิริลภัส กองตระการ ครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับการกลับมาแล้วก็สวัสดีท่านคณะผู้ชี้แจงด้วยนะคะ ดิฉัน นางสาวสิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล หลังจากที่ได้อ่านรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ แล้ว จริง ๆ ก็มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เพื่อที่จะเป็นแนวทาง ในการทำงานแล้วก็ปรับใช้เพื่อพัฒนา แล้วก็ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เป็นประเด็นเรื่องของเพิ่มเติมการรณรงค์การรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อ Social Media ของผู้สูงวัย ตามที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้อภิปรายกันไปแล้ว ขอ Slide ขึ้นด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

การอ้างอิงจากสำนักงาน สถิติแห่งชาติ Slide ถัดไปเลยค่ะ เราจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุตอนนี้เรามีอยู่ร้อยละ ๑๖.๙ ของประชากรในประเทศอยู่ที่ ๑๓.๓ ล้านคน แล้วเรามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น และอ้างอิงจากนิด้าโพลว่าผู้สูงอายุก็มีสัดส่วนการใช้สื่อ Online ที่มาก โดยเฉพาะใน LINE รองลงมาก็คือ Facebook นั่นเอง อ้างอิงจากข้อมูลวารสารสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ สุขภาพปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓ เรื่องความชุกและความสัมพันธ์ระหว่างการติดสื่อ Social Media กับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้สูงอายุที่มารับบริการที่คลินิกตรวจโรคเวชศาสตร์ ครอบครัว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ข้อมูลนี้พบว่าการติดสื่อ Social Media กับภาวะ ซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลองเปรียบเทียบกันดูนะคะ ถ้าเราเปรียบเทียบในกลุ่มเป้าหมายที่ทางท่านคณะผู้ชี้แจง แบ่งเป็นเด็ก แบ่งเป็นผู้สูงอายุ แล้วก็แบ่งเป็นภาคประชาชน ในทางเด็กเราก็จะมีผู้ปกครอง ที่คอยกำกับดูแลหรือว่าควบคุมเนื้อหาสื่อในสิ่งที่เด็ก ๆ จะเสพได้ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ ข้อมูลด้วยตัวเอง ใน Length ของเยาวชนเองเขาก็มีการตรวจสอบหรือว่ามีการเข้าถึง แหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หรือว่ามีการตรวจสอบหรือว่ามีการ Fact check จากคนที่ใช้สื่อ Social Media ในสังคมนั้นด้วยกันเองด้วย แต่ในทางกลับกันในกลุ่มของผู้สูงอายุไม่ได้มี แหล่งหรือว่ามีช่องทางในการที่จะเข้าไป Check ข้อเท็จจริงอย่างที่คุณรักชนกได้อภิปราย ไปเมื่อสักครู่ก็มีการแชร์ข่าว Fake News เยอะมาก ๆ นะคะ ถ้ามีการเพิ่มโครงการ ในการรณรงค์เรื่องของการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุก็จะดีมาก ๆ เลย เท่าที่เห็นในรายงาน ก็มีโครงการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้แล้ว แต่ว่าสัดส่วนยังอาจจะมีน้อยอยู่ ก็อาจจะเพิ่มโครงการ ตรงนี้ไปนะคะ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งถ้าลองดูในหลาย ๆ บ้านเรื่องของการควบคุม กำกับ ดูแล เนื้อหา เชื่อได้เลยว่าในหลาย ๆ บ้านอาจจะไม่ค่อยมีลูกหลานหรือว่าใครที่จะเข้าไปกำกับดูแล เรื่องของการเสพสื่อของผู้สูงอายุมากนัก

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นต่อไปนะคะ ก็คือเรื่องของการประเมินผลงาน เป็นข้อเสนอแนะจาก ทางคณะกรรมการเอง ๒ ข้อด้วยกัน เรื่องของการสำรวจการรับรู้ของประชาชน ก็มี เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วเรื่องของการวัดค่า KPI หรือว่าประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วก็มีเรื่องของการสนับสนุนทุนให้กับผู้ผลิตสื่อที่มีศักยภาพสูง ตรงนี้ดิฉันอยากจะมี ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรับรู้หรือว่าร่วมรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม มากขึ้น ก็คือการทำงานร่วมกับ Content Creator หรือว่า Influencer ทำแบบนี้เพื่ออะไร เพราะว่าคนเหล่านี้ Influencer เหล่านี้เขาเป็นคนที่ ๑. มีเอกลักษณ์ในการผลิต Content หรือเนื้อหาที่ชัดเจน ๒. เขามีกลุ่มผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าเรา สามารถดึง Influencer เข้ามาทำ Content ใด ๆ ต่าง ๆ แล้วดึงกลุ่มคนที่ติดตามเขาเหล่านั้น กลับเข้ามาติดตามผลงานในองค์กรของท่านที่ท่านได้ทำ ก็จะเป็นการสามารถเพิ่มผู้ชมได้ อย่างที่เพื่อน ๆ ได้อภิปรายไปว่าบาง Clip อาจจะมียอด View น้อย แต่ถ้าเกิดเราได้ Influencer เหล่านี้เข้ามาช่วยกระตุ้นสื่อที่พวกท่านผลิตไปก็อาจจะมีการเข้าถึงการเข้าชม มากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งคือการลงทุนกับ Influencer อาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณที่มีเยอะ ขนาดนั้นก็ได้ เป็นการลงทุนน้อย แต่ว่าการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพนะคะ จากข้อมูลการรายงานก็มีโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติไปต่ำสุดอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท สูงสุดอยู่ที่ ๑๔ ล้านบาท หรือว่าเป็นภาพยนตร์ก็อยู่ที่ ๓๐ ล้านบาทเลย อยากให้ลองปรับดูว่า ถ้าเกิดเราสามารถซอยโครงการ อาทิเช่นยกตัวอย่างนะคะ โครงการที่อนุมัติ ๑ ล้านบาทนี่ เราอาจจะซอยมาเป็นโครงการเล็ก ๆ เพื่อสนับสนุน Influencer เป็นสิบโครงการ โครงการ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทแบบนี้และดึงคนเข้ามามากขึ้นอาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ในรายงานว่าองค์กรมีการทำงานร่วมกันกับสื่อแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทาง Online หรือว่าสื่อทางช่องทางต่าง ๆ ก็อยากจะฝากตรงนี้เรื่องของ การอบรมแล้วก็รณรงค์ให้สื่อต่าง ๆ มีความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวมากขึ้น เพราะว่า ตอนนี้ก็เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เสพสื่อมาก ๆ ก็จะมีภาวะเรียกว่าเราจะไปป้องกันสภาวะ Headline Stress Disorder หรือว่าความเครียดสะสมจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้มันอาจจะส่งผลกระทบได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดันโลหิ ตสูง โรควิตกกังวล หรือว่าโรคซึมเศร้า ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ๓ ประเด็นด้วยกันที่อยากจะฝากทางองค์กรในการที่จะเข้าไป เพิ่มเติมแล้วก็พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับกองทุนที่เรียกว่า สื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งสื่อนี้อยากจะให้เม็ดเงินที่ลงทุนไปคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เป็นท่านสุดท้ายนะครับ ท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ เชิญครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ สมัยที่ผ่านมาผมก็ไม่ค่อยได้มี โอกาสได้อภิปรายสำหรับรายงานของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาจจะด้วย ความโชคร้ายที่ผมอาจจะติดงานกรรมาธิการตลอด รอบนี้มีโอกาสได้แสดงความเห็น ก็ต้อง ขอแสดงความเห็นตรง ๆ นิดหนึ่งครับ ใช้เวลาไม่นานครับ คือกองทุนนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ จริง ๆ แล้วมีการพยายามยื่นร่างเข้าสู่สภามาตั้งแต่ปี ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะปี ๒๕๕๒ ปี ๒๕๕๓ เป็นประชาชนรวมชื่อกันมา ๑๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็ไป ๆ มา ๆ สุดท้ายก็มี รัฐประหาร แล้ว พลเอก ประยุทธ์ก็ไปจับร่างฉบับนี้มาปัดฝุ่นแล้วก็ยื่นเข้า สนช. สุดท้าย ก็ผ่านมาเป็น พ.ร.บ. กองทุนฉบับนี้นะครับ เหมือนกับว่ากองทุนฉบับนี้มันเกิดขึ้นเพื่อที่จะหา วิธีจะเอาเงินจากกองทุนของ กสทช. มาใช้ กองทุน กทปส. ซึ่งก็ได้เงินจากกองทุนนี้ปีละ ๕๐๐ ล้านบาท จริง ๆ แล้วก็พันธกิจเดียวกันด้วยนะครับ งานคล้าย ๆ กันเลยนะครับ ให้ทุน ลักษณะเดียวกันเลย ก็ยังงงอยู่ทำไมจะต้องแยกกันไปอย่างนี้นะครับ ท่านประธานครับ ปีละ ๔๐ ตัวเลขน่าจะประมาณนี้นะครับ ถ้าผิดตรงไหนท่านช่วยชี้แจงด้วยนะครับ พันธกิจก็มีอยู่ ๓ อย่าง อย่างแรกคือสนับสนุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อย่างที่ ๒ คือส่งเสริมให้ ประชาชนใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ แล้วก็อย่างที่ ๓ คือส่งเสริมให้ ประชาชนมีทักษะที่จะรู้เท่าทันสื่อ ผมก็ตามฟังท่านผู้จัดการไปพูดหลาย ๆ ที่นะครับ ท่านก็จะบอกว่าสื่อสมัยนี้มันเกิดขึ้นง่ายมากเลย แล้วก็สื่อเลว ๆ มันเยอะ มันต้องแยก ระหว่างสื่อดี สื่อเลวให้ได้ ประชาชนจะได้ปลอดภัย ก็คือถ้ามันสร้างสรรค์ ถ้ามีสื่อสร้างสรรค์ มันก็แปลว่ามีสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ถูกไหมครับ สื่อสิ้นคิดพูดง่าย ๆ ถ้ามีสื่อปลอดภัยก็เท่ากับ มันจะต้องมีสื่ออันตราย ทีนี้ผมก็เลยสงสัยครับ อยากจะตั้งคำถามมานานแล้วว่า สื่อสร้างสรรค์ สื่อปลอดภัยมันเป็นอย่างไรครับ ท่านช่วยยกตัวอย่างแบบเป็นรูปธรรมให้ผม เข้าใจได้ไหมครับ เอาปัจจุบันนี้ว่าสื่อที่มันอันตราย สื่อที่มันสิ้นคิดมันเป็นอย่างไร สื่อค่ายไหน ท่านพูดชื่อย่อก็ได้นะครับ ผมจะได้รู้ จะได้ไม่ให้ลูกให้หลานไปดูเรื่องพวกนี้ ไม่รู้ Netflix ที่ผม ดูทุกวันนี้มันสร้างสรรค์หรือเปล่า ท่านถึงขนาดมีคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ที่มีภรรยาท่าน สว. คำนูณเป็นประธาน เป็นมา ๒ สมัยติดแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าเกิดมันอันตราย มันสิ้นคิดนี่มันส่งผลกระทบอะไร อย่างไรกับเราครับ คือผมไม่เข้าใจจริง ๆ อันนี้ไม่ได้จะกวนประสาทนะครับ ผมอยากรู้ว่าสื่ออันตรายคืออย่างไร ผมนั่งดูอยู่ในโทรศัพท์แล้วมันมีมือโผล่ขึ้นมาตบผม คือผมอยากรู้มันไม่ปลอดภัยอย่างไรครับ สื่อนี่ เห็นภาพไหมครับว่าผมสงสัยตรงไหน ผมไม่ได้จะกวนประสาทนะครับ คือที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้ถาม ครั้งนี้ก็อยากจะถามจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างไรสื่อไม่สร้างสรรค์ สื่ออะไรนี่ ท่านประธานครับ ปี ๒๕๖๕ อย่างที่บอก ๕๑๕ ล้านบาท ให้ทุนไป ๓๐๐ ล้านบาท ที่เหลือท่านก็จัดการเอง สิ่งที่ท่านจัดการเองหลัง ๆ มันแปลก ๆ ครับ มันเหมือนกับว่า ท่านผู้จัดการเกษียณแล้วจะไปบวชอย่างไรก็ไม่รู้เพราะมันมีแต่สื่อที่ไปทำกับวัดทั้งนั้นเลย ไปวัดแล้วก็ไปทำ ผมไม่ได้เอาภาพขึ้นนะครับ แต่ถ้าเอาภาพขึ้นจะเห็นชัดมาก โครงการ งานมหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข คือเป็นเกี่ยวกับพระ เกี่ยวกับวัดประมาณเกือบครึ่ง แล้วก็เห็นท่านผู้จัดการไปบรรยายพิเศษด้วย วิถีแห่งความศรัทธาในพุทธศาสนากับ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ผมก็ดู Clip ท่านจนจบนะครับ ก็ไม่รู้ คือถ้าเกี่ยวกับพระ เกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับประเพณีไทย อันนี้คือสร้างสรรค์ใช่ไหมครับ Safe Safe เลยว่าสร้างสรรค์แน่ ๆ แล้วถ้ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มันจะสุ่มเสี่ยง จะไม่สร้างสรรค์ จะไม่ปลอดภัยหรือเปล่าผมก็กลัว ท่านไม่เคยที่จะเอาไปต่อยอดเลย อันนี้ ผมห่วงนะครับ เพราะว่า ๗ ปีท่านผลิตออกมา ๙๙๕ Clip นะครับ ปีละ ๑๔๐ Clip สื่อที่ ท่านทำนี่ ผมไปไล่ดู คือไปไล่ดูเพราะอยากรู้ว่าสื่อที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร และมันปลอดภัย กว่า Netflix ที่ผมดูอยู่อย่างไร ก็ยังแยกไม่ออกเท่าไรนะครับ จริง ๆ Netflix สนุกกว่าเยอะเลยด้วย แล้วก็ท่านมีช่องทางสื่อสารอยู่ ๒ ที่ครับ คือ Facebook กับ YouTube YouTube น่าจะ เป็นที่หลัก ๙๙๕ Clip ที่คนดูน้อยมากนะครับ เรียนตามตรงกับเงิน ๕๐๐ ล้านบาท มีคน ติดตามอยู่ ๒๓,๐๐๐ คน ยอด View รวมกัน ๑๓ ล้านครั้งตลอด ๗ ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า ท่านน่าจะใช้ประโยชน์จากมันได้มากกว่านี้นะครับ ท่านใช้เงินไปเยอะนะครับ ๗ ปี ปีละ ๕๐๐ ล้านบาท เท่าไรครับ แล้วก็มีโครงการที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ผมก็เลย อยากให้ท่านจริงจังหน่อย ไม่อย่างนั้นก็เดี๋ยวจะเสื่อมพระเกียรตินะครับ มีการ์ตูน Animation ที่ในหลวงท่านทรงประพันธ์เอง แต่งเองเลยด้วย ๘๔ ตอน ผมก็ไล่ดูอยู่นะครับ แต่ไม่มียอด View เลยครับ แถมมี Comment ด้วยว่า ป. ๕/๑ โรงเรียนนฤมิตรวิทยาคม มาครับ คือไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นคุณกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยครับถ้าทำแบบนี้ แล้วก็ งบประมาณเยอะนะครับ ที่ผ่านมาท่านก็ไม่เคยมี KPI ชัดเจนเลย ไม่รู้ว่าหนุมานที่ท่านอภิสิทธิ์ พูดไปนี่ไม่รู้ว่าใช้เงินในการสร้างไปเท่าไร แต่ที่แน่ ๆ คือท่านเอาเงินไปให้เด็ก ๙ โรงเรียน ไปดูหนังตัวเอง คือสร้างเองแล้วก็จ้างเด็กมาดูหนังตัวเอง สรุปมันสนุกหรือเปล่ายังไม่รู้เลย และได้เงินเท่าไร ขาดทุนหรือเปล่าครับ ผมก็อยากรู้ ท่านกำลังเอาหนุมานไปทำลาย หรือเปล่าผมก็อยากรู้ ไม่รู้ว่าสื่อท่านมันปลอดภัยจริงหรือเปล่า แล้วก็หลายอย่างก็ไม่เกิด ขึ้นจริงนะครับ พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม อันนี้ได้งบเยอะที่สุดโครงการ ๓๐ ล้านบาท ผมอยากทราบว่ามันไปฉายที่ไหนครับ หรือว่าปิดไปแล้ว เจ๊งไปแล้วหรืออย่างไรครับ ไปทำ เป็นแผ่น DVD หรือเปล่า หรืออย่างไร ผมก็อยากดูครับ อยากรู้มันเป็นอย่างไร คือถ้าเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ท่านจะให้มูลค่ามันสูงกว่าปกติ และพระร่วงไม่ได้เป็นกษัตริย์ตัวจริง ด้วยนะครับ เป็นนิทานนะครับ อีกนิดเดียวครับท่านประธาน หลัง ๆ คือเข้าใจครับมันมี โครงการที่ท่านบอกว่าจะทำ ให้เงินไปแล้วแต่ไม่มีผลผลิตออกมาให้เราเห็นเยอะ เกี่ยวกับ ลูกทุ่ง เกี่ยวกับการจัดประกวด Dancer เพลงลูกทุ่ง อันนี้ผมก็ยังไม่รู้มันจะสร้างสรรค์กว่า ไปเต้นอย่างอื่นอย่างไร แต่ว่าผมไม่เห็นผลผลิตเลยครับว่ามันอยู่ไหน มีหนังด้วยนะครับ มีละครเป็น Series ที่มีเรื่องอะไรลำส้ำอะไรสักอย่างหนึ่ง คือหาดูยากมากขอช่อง One โฆษณามาครั้งเดียวและหายไปเลยที่บอกได้ทุนจากท่าน แล้วก็ไม่รู้ว่าถ่ายถึงไหนแล้ว ทีนี้ว่า งบที่เหลือที่ผมเป็นห่วงก็คืองบการจัดงานสัมมนา งานอบรมอะไรของท่าน แล้วก็การจัด ประกวด เยอะที่สุดคือการจัดประกวด ท่านจะประกวดให้ทุนผมเข้าใจได้ แต่ว่าท่านจะ ประกวดท่านแจกรางวัลทีโรงแรมหรูหรานะครับ งานใหญ่โตถ่ายรูปกันเต็ม แต่งตัวหล่อ สวยกัน ผมว่าไม่ใช่เงินน้อย ๆ แต่ท่านให้ทุนรวมทั้งงานแค่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทอย่างนี้ คนได้ ที่ ๑ ๕๐,๐๐๐ บาท คนได้ที่ ๒ ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าจัดงานท่านน่าจะเกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท มันเกิดประโยชน์จริงหรือครับ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่ท่านเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ ผมคิดว่ามันไม่คุ้มเลยครับ อย่างนี้เอาเงินไปให้เขาทำเองดีกว่า ท่านไม่ใช่สื่อนะครับอย่าลืม ท่านพยายามจะไปสอน คนอื่น ไปสอนสื่อว่าสื่อที่ดีมันเป็นอย่างไร สื่อที่มีวุฒิภาวะ สื่อที่มีวิจารณญาณ สื่อที่เป็นห่วงสังคม มันเป็นอย่างไร แต่ท่านไม่ใช่สื่อ แล้วผมก็ไม่คิดว่าหน่วยงานราชการจะต้องทำตัวเป็นสื่อด้วย ผมว่าหลักการมันผิดนะครับ เป็นไปได้ทบทวนแล้วก็หาช่องทาง หาวิธีการที่มันจะทำให้เงิน ๕๐๐ ล้านบาทมันเป็นประโยชน์มากกว่านี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ก็เท่านี้ครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณนะครับ สำหรับผู้อภิปรายที่ได้ลงชื่อก็ได้อภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับ จะขอทางผู้ชี้แจง ได้ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่สมาชิกมีโอกาสซักถามแล้วก็อภิปราย เรียนเชิญครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ จะพยายามที่จะตอบในข้อสังเกตแล้วก็คำถามของท่านสมาชิกให้ได้ มากที่สุดนะครับ แล้วก็เพื่อไม่ให้ลืมจะย้อนจากล่าสุดนะครับ เมื่อสักครู่นี้ของท่านจิรัฏฐ์ ท่านถามเรื่องอะไรคือสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อะไรคือสื่อไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ จริง ๆ ก็อย่างที่ทราบว่ากองทุนสื่อพัฒนาปลอดภัยและสร้างสรรค์นี่เป็นพระราชบัญญัติ ตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๕๘ ในมาตรา ๓ เขาเขียนนิยามไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นในนิยามคำว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในมาตรา ๓ จริง ๆ ผมคิดว่ามันเป็นตัวกำหนด Theme ที่หลาย ๆ ท่าน ถามอยู่ แต่ว่าเวลาผมไปอธิบายกับสาธารณะจะที่ไหนก็แล้วแต่ เราใช้หลักการง่าย ๆ เลยว่า สื่ออะไรก็แล้วแต่ที่คนเปิดรับแล้วเกิดความรู้สึกเกลียดชัง หดหู่ ทำให้คนขุ่นข้องหมองใจ อันนั้นเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยแน่นอน หรือสื่อที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้ข้อมูลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง รวมถึงข้อมูลที่ถูกบิดเบือนอย่างที่หลายท่านได้พยายามที่จะนำเสนออยู่ว่ามันก็มีเยอะ ในปัจจุบัน อันนั้นก็เป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ใน Netflix จริง ๆ ผมก็เป็นคนที่ดูอยู่ มีสื่อดี ๆ เยอะ แต่ว่าสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ง่าย ๆ เลยนะครับ ฉากที่มีความรุนแรง ภาพความรุนแรงในหลายเรื่องนี่เยอะมาก โดยเฉพาะภาพยนตร์หรือ Series ตะวันตก ซึ่งวันนี้ ขายความรุนแรง เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็มีประกาศว่าสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์คืออะไร เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรงนี่เป็นเรื่องแรกที่ดูกันง่าย ๆ นะครับ เรื่องที่จะทำให้ผู้คน ในสังคมทะเลาะกัน อันนั้นเป็นสิ่งที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็พยายามที่จะ วางจุดยืนมาโดยตลอดว่าเราไม่สนับสนุนไม่ว่าจะไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

ของท่าน สส. สิริลภัสท่านพูดถึงเรื่องของการรณรงค์ MIDL สำหรับกลุ่ม ผู้สูงอายุ การรู้เท่าทันสื่อ Digital อันนี้เป็นความตั้งใจของกองทุนที่ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมา เราพยายามทำ แต่ว่ามันยังไม่เพียงพอ ก็อยากจะทำให้มันมากขึ้น แล้วก็เป็นความจำเป็น จริง ๆ ว่าในโครงการที่เราได้ทดลองทำไปบางส่วนแล้ว เช่น โครงการที่กองทุนดำเนินงานเอง ชื่อว่า โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ซึ่งสื่อในต่างประเทศก็ได้เข้ามาเรียนรู้ เพราะว่าเป็นโครงการ ที่นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปทำงานร่วมกับผู้สูงอายุในเรื่องของการผลิตสื่อ แล้วก็ทักษะ ในการเปิดรับสื่อ ซึ่งได้ผลดีมากนะครับในฐานะที่เราฝ่ายสำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติ เราก็ได้เสนอ เรื่องนี้ว่าต้องทำมากขึ้น ผมขอรับข้อสังเกตอันนี้เอาไว้ การทำงานร่วมกับ Content Creator นี่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจเลยของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะปรากฏในรายงานประจำปีของปีหน้า ปีนี้เราได้ทำงานร่วมกับทางหน่วยงานในต่างประเทศ เราร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ Arirang ของเกาหลีให้เป็นแม่ข่ายในการเชิญ Content Creator จากเกาหลีมาจัดอบรมในประเทศไทย เราจัดอบรมไป ๒ รอบในปีที่ผ่านมา แล้วก็ ที่ผ่านมาเราก็ได้ไปลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ชื่อว่า KOCCA อันนั้นก็พยายามจะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อจะเอามากระตุ้น การพัฒนาวงการในการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางเศรษฐกิจได้ ก็เรียนว่าจะทำให้มากขึ้นต่อไปนะครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

มีท่านรักชนกได้พูดถึงการสนับสนุนข้ออภิปรายของท่าน สส. ธัญธร เรื่องคณะกรรมการ อันนี้ผมก็เรียนตรงไปตรงมาว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย เป็นเรื่องของ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ออกกฎหมายนะครับ เราก็ได้มาแบบนี้ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ แล้วกองทุนเองก็พยายามทำให้การสรุปปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ปีนี้ก็เป็นปีที่กองทุนกำลังเรียกว่าได้ดำเนินการให้มีการจัดทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ กฎหมาย ซึ่งก็จะได้รายงานทางคณะกรรมการ แล้วก็จะให้เผยแพร่สาธารณะต่อไปว่ากองทุน ได้ดำเนินการมาแล้ว เข้าสู่ปีที่ ๙ แล้ว มีจุดอ่อนจุดแข็ง มีความบกพร่อง มีความสำเร็จอะไร อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดถึงทั้งหมดในประเด็นข้อกฎหมายด้วย ตัววัดประสิทธิภาพจริง ๆ เราก็พยายามมาโดยตลอดในเรื่องของการที่จะวัดประสิทธิภาพรายโครงการ จริง ๆ ในการทำ สัญญาของโครงการผู้รับทุนทุกโครงการ มี KPI มากำกับทั้งสิ้นเลย แต่ยอมรับว่าในรายงาน ประจำปีเราไม่สามารถที่จะระบุ KPI หรือตัวชี้วัดรายโครงการเข้ามาในรายงานได้ ผมก็คิดว่า อย่างปีหน้าเมื่อมีข้อเรียกร้องแบบนี้เราจะทำเป็น QR Code แล้วก็จะเอา KPI ว่าโครงการนี้ มีขอบเขตที่จะต้องทำอะไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ แล้ววัดผลลัพธ์อย่างไร ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ท่านสามารถที่จะ Download ได้ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ผมจะรับไป พูดถึง เรื่องของการเข้าถึงต้องยอมรับว่าหลายโครงการที่ไม่มีการรายงานการเข้าถึง ต้องเรียนว่า โครงการที่ผลิตสื่อและเผยแพร่ของผู้รับทุนส่วนหนึ่งก็ไปออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งในการออกอากาศทางโทรทัศน์นั้นตอนหลังกองทุนก็กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าจะต้อง ออกเผยแพร่ทาง Platform Social Media ด้วย คือสื่อสังคม Online ด้วย สื่อสังคม Online ทุกวันนี้ทันสมัยมากเพราะว่ามีการวัดการเข้าถึงที่ชัดเจน แต่การรับชมผ่านโทรทัศน์ซึ่งระยะ หลังเราก็มีรายการทางโทรทัศน์น้อยลง แต่การวัดว่าผู้รับชมจริง ๆ เท่าไร ก็ดูได้เฉพาะแค่ ระดับความนิยม หรือ Rating ของสถานีโทรทัศน์นั้น ๆ เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ผลงาน ต่าง ๆ ที่กองทุนพยายามทำก็คือว่าให้มีการดำเนินการควบคู่ หรือเผยแพร่แบบคู่ขนาน ทีนี้ มีข้อเสนอในเรื่องของการที่กองทุนควรจะมีช่องทางการเผยแพร่ผลงานหรือสื่อของเราเอง เป็น Platform กลาง อันนี้ก็เรียนว่าเป็นเรื่องที่ทางกองทุนกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนโครงการ ๒ โครงการที่มีการถามว่าแล้วมันอยู่ตรงไหน เรื่องพระร่วงเป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควรตั้งแต่ตอนพิจารณาอนุมัติเป็นทุนตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เรียนว่า ณ วันนี้เรียกว่าเพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการ Edit Final สุดท้าย แล้วก็เตรียมที่จะ เปิดตัวในอีก ๒ เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นก็เป็นโครงการที่ใช้เวลานานพอสมควร สมาชิก อย่าได้แปลกใจว่าทำไมหาไม่เจอนะครับ เพราะเรียกว่ายังไม่แล้วเสร็จ แต่การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ แล้วเสร็จแน่นอน ไม่มีการทิ้งโครงการ หรือว่ามีการยกเลิก แต่ประการใดนะครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

อีกโครงการหนึ่งที่ท่านพูดถึงเรื่องของใจอุทิศจิตอาสา เรียนว่าโครงการนี้ เราเอาข้อมูลมาประกาศเผยแพร่ว่าเป็นหนึ่งในผู้รับทุนที่ผ่านการอนุมัติ แต่ว่าในกระบวนการ พิจารณามีการตัดงบประมาณลงหลายส่วน พอประกาศผลแล้วปรากฏว่าผู้ที่ได้รับ การคัดเลือกก็คือบริษัทที่ว่าก็สละสิทธิ ไม่มาทำโครงการ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า การขอทุนอย่างที่หลายท่านเรียนว่ามีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ อันนี้เรื่องจริงครับ แล้วงบประมาณ ก็ค่อนข้างที่จะมีข้อจำกัดเยอะด้วย ผมย้ำว่าการจัดทำ KPI ของแต่ละโครงการมีชัดเจน สามารถดูได้ทุกโครงการนะครับ สิ่งที่เราคิดว่ายังไม่ได้ดำเนินการมาก็อาจจะเป็นเพราะว่า ยังไม่ได้เอารายละเอียดของแต่ละโครงการมาให้ทุกท่านดู ข้อเสนอของท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ เรื่องของโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แล้วหลายอย่างถ้าเราทำงานช้าหรือประเด็น บางประเด็นมันก็ตกยุคไปแล้ว ล้าสมัยไปแล้ว อันนี้เรื่องจริงครับ เพราะฉะนั้นเดิมท่านทราบ ไหมครับว่าทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใช้เวลา ๒ ปี ตอนหลังผมบอกว่า เวลา ๒ ปีนี่มันนานมากเลยนะครับ แล้วบางโครงการประเด็นมันตกยุคไป เพราะฉะนั้นเราก็ กวดขันว่าผู้รับทุนต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี ๑ ปีก็มีปัญหาอีกว่าถ้าเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ เช่น เราต้องการที่จะทำภาพยนตร์หรือทำละคร Series ละครชุด แค่การเขียนบท ก็ไป ๘ เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการในการที่จะถ่ายทำอีก ก็เลยกำลังคิดอยู่ว่าจะต้อง มีการปรับปรุงเรื่องของสัญญาการให้ทุน โครงการขนาดใหญ่อาจจำเป็นต้องใช้เวลา ๑ ปีครึ่ง หรือ ๒ ปี ส่วนโครงการที่สามารถทำให้จบภายใน ๑ ปี อันนั้นจะเป็นหลักเกณฑ์หลัก ก็โยง มาถึงเรื่องรูปแบบในการจัดสรรทุน ผมเองก็รู้สึกไม่ได้แตกต่างจากท่านนะครับว่าเกณฑ์ ในการให้ทุน หรือเกณฑ์ในการประกาศแต่ละครั้ง รายเล็กรายน้อยทำไมใช้เกณฑ์เดียวกับผู้ที่ มีความเป็นมืออาชีพหรือเป็นนิติบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานอยู่แล้ว เรื่องนี้เราก็ได้ รายงานต่อคณะกรรมการกองทุนว่าอยากจะให้ปรับให้ล้อตามปรัชญาของการให้ทุน เช่น ทุนประเภทเปิดรับทั่วไปที่หลายท่านพูดถึงโครงการขนาดเล็ก ๆ สำหรับผู้ประกอบการ รายเล็กหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ หรือคนที่ต้องการพื้นที่ ต้องการโอกาสก็ให้มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง เพราะหลายคนทำงานดีมากนะครับแต่เขียนโครงการที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ ไม่ได้ แต่ถามว่าแล้วจะไปตัดโอกาสคนเหล่านั้นซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นในข้อสังเกต เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกองทุนจะรับไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการให้มี ความชัดเจนมายิ่งขึ้น โยงมาถึงเรื่องของหลักเกณฑ์ว่าโครงการนี้ทำไม ๓๐๐,๐๐๐ บาท โครงการนี้ทำไม ๑๐ ล้านบาท ต้องเรียนที่ประชุมนะครับ เรียนท่านสมาชิก เรียนท่านประธาน ผ่านไปยังสมาชิกว่าวงเงินแต่ละโครงการเราไม่ได้กำหนดว่าแต่ละโครงการจะต้องมีวงเงิน เท่าไร เพียงแต่เราได้กำหนดเป็นประเภทว่าประเภทเปิดรับทั่วไปมีวงเงินเท่านี้ ยุทธศาสตร์ มีเท่านี้ ความร่วมมือมีเท่านี้ แล้วก็มีกี่ประเด็นที่ให้เสนอ เพราะฉะนั้นเวลาผู้ขอทุนเสนอ ก็จะเขียนขอบเขตงานของตนเองอย่างที่อยากจะทำอะไร ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วใช้เงินเท่าไร หลักของเราก็คือว่า ๑. โครงการที่ขอมาจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน และความสมดุลระหว่างเม็ดเงินงบประมาณกับขอบเขตงานที่จะทำจะต้องมีความสมดุล ถามไปในตลาดว่าถ้าต้องการทำกิจกรรมอันนี้ ผลิตสื่อนี้ใช้เงินเท่าไรก็ดูแต่เท่านี้ ไม่ได้ดูว่า โครงการนี้จะต้องมีวงเงินเท่านี้ ก็เป็นการเปิดกว้างว่าให้ทางผู้เสนอทุนได้คิดในการออกแบบ โครงการของตนเองแล้วก็ได้กำหนดงบประมาณด้วย คณะกรรมการซึ่งมีอยู่หลายชุด ตั้งแต่ คณะทำงานกลั่นกรองเบื้องต้นก็มาดูความสอดคล้อง ดูความเป็นไปได้ ถามว่าเราต้องการ โครงการที่มีความหลากหลายไหม จริง ๆ อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ท่านยกมาว่า ปี ๒๕๖๕ มีโครงการเดียวเอง บางปีเราก็อยากได้เยอะ อย่างปีล่าสุดปี ๒๕๖๖ ที่เพิ่งประกาศ แล้วก็ทำสัญญาไป เราอยากได้โครงการสำหรับเด็กมากกว่าที่ผ่านเกณฑ์ ผมได้เป็นคนหนึ่ง ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้ถามที่ประชุมว่าแล้วมันไม่มีโครงการมากกว่านี้แล้วหรือที่ผ่านเกณฑ์ คณะทำงานก็ชี้แจงว่ามันไม่ไหวจริง ๆ เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็มาดูว่าที่ผ่านมานี่เรา ประชาสัมพันธ์น้อยเกินไปอย่างที่หลายท่านตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า หรือเราประชาสัมพันธ์แล้ว แต่ว่าเรายังไม่ได้ไปฝึกอบรมในการที่จะให้คนเล็กคนน้อยได้เขียนโครงการให้มีความชัดเจน มากขึ้น อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตนะครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าปีงบประมาณ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นปีงบประมาณของระบบราชการ คือเราเริ่มวันที่ ๑ ตุลาคมและสิ้นสุด ๓๐ กันยายน แต่กฎหมายให้เรารับงบประมาณมาจาก กองทุน กทปส. ของ กสทช. ซึ่ง กสทช. มีปีงบประมาณหรือรอบปีงบประมาณเป็นปี พ.ศ. เพราะฉะนั้นกว่าที่เราจะได้เงินงบประมาณเราจะล่าช้าไปเกือบ ๒ ไตรมาส กสทช. จะพิจารณางบประมาณอย่างปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ปีงบประมาณกองทุนจะเริ่มแล้วนะครับ ในวันที่ ๑ ตุลาคมที่จะถึงนี้ กสทช. ต้องรอไปประมาณเดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม ถึงจะพิจารณางบกองทุน แล้วบางปีก็ในปีงบประมาณก็ยังพิจารณางบของกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังไม่แล้วเสร็จ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านผู้จัดการครับ ท่านต้องกระชับแล้ว ขอสรุปนะครับ

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

นิดเดียว ๑ นาที ท่านประธานครับ ปีที่แล้วเราได้เงินงบประมาณมาเดือนพฤษภาคม ปีนี้ครับ ปี ๒๕๖๖ นี่ เราพิจารณาทุนเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม แทนที่เราจะได้ทำสัญญา เราก็ทำสัญญา ไม่ได้เพราะเรายังไม่ได้เงิน เพราะฉะนั้นเราเพิ่งได้ทำสัญญาเมื่อเดือนพฤษภาคมต่อเนื่อง เดือนมิถุนายน แล้วเราก็เบิกจ่ายงวดแรกท่านประธาน ภายในปีงบประมาณเราเบิกจ่ายทุน ของผู้รับทุนนี้ได้แค่งวดหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันจึงมีตัวเลขของการผูกพันงบประมาณ ที่ค่อนข้างสูง อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราได้นำรายงานไว้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เราก็อยากให้ปรับ เพราะว่างบประมาณหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาจาก กสทช. เพราะฉะนั้นปีงบประมาณควรจะเป็นรอบปีเดียวกัน

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นอื่น ๆ นะครับ ผมสั้น ๆ ว่าเราก็เห็นข้อจำกัดในการทำงาน หลายอย่าง เราก็พยายามที่จะสื่อสารไปในคณะกรรมการทุกคณะ แม้จะเป็นคณะกรรมการ ชุดใหญ่ซึ่งดูนโยบาย คณะอนุกรรมการบริหารซึ่งมาคอยดูในเรื่องของโครงการ ในเรื่องของ งบประมาณด้วย แล้วในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนที่คณะรัฐมนตรีตั้ง เราก็พยายามสะท้อนปัญหา ขอให้มั่นใจและสบายใจนะครับว่าสำนักงานกองทุน ซึ่งน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติแล้วก็เป็นฝ่ายประจำมีความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วเราอยากสร้าง ให้ผลลัพธ์ ผลผลิตของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีคุณค่าต่อสังคม อย่างแท้จริง ไม่ได้ทำเล่น ๆ ครับ ยืนยันครับ ขอบพระคุณครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขอ ๑ นาทีได้ไหม นิดเดียวครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สักครู่นะครับ มีท่านใดจะซักถามเพิ่มเติมไหมครับ มีท่านจิรัฏฐ์ แล้วก็ท่านอดิศร แล้วก็ ท่านอภิสิทธิ์นะครับ จะเป็น ๓ ท่าน ผมขอท่านละแค่ ๑ นาทีในลักษณะของคำถามนะครับ เชิญครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน คือด้วยความเคารพครับ ผมเป็นห่วงจริง ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกองทุนหรอกครับ แต่ว่า ผมกลัวว่ากองทุนเท่าทันสื่อที่ไม่เท่าทันโลกมันไม่สร้างสรรค์เลยสำหรับผม เพราะฉะนั้น คือเรื่องความรุนแรงเรื่องอะไรนี่ ผมเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งเร็ว ๆ นะครับ ละครเรื่องหนึ่งที่ผม ชอบดูมากเลย ผัวกับเมีย สามีภรรยา สามีพายเรือไปหาปลา กลับมาถึงบ้าน หิวข้าว ภรรยา ยังไม่ได้ทำกับข้าว ยังไม่ได้หุงข้าว โมโหเอาไม้พายฟาดภรรยาตกน้ำตาย ลูกร้องไห้ ภรรยา ไปเกิดใหม่เป็นปลาบู่ว่ายมาหาลูก ภรรยาคนที่ ๒ มาเจอปุ๊บจับปลาบู่มาขอดเกล็ดเอาไปทำ ต้มยำ เสร็จแล้วก็เอาไปปลูกออกมาเป็นต้นมะเขืออีก นี่โคตรโหดร้ายทารุณเลย นี่โคตรรุนแรง เลยนะครับ เราสอนเด็กเราทุกวันนี้แบบนี้นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านจิรัฏฐ์ครับหมดเวลาอภิปรายแล้วครับ ต้องเป็นคำถามซักถามนะครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เด็กชอบความรุนแรงแล้วโตมา เพราะฉะนั้นผมอยากให้ท่านเข้าใจว่าโลกมันไปไกลแล้วนะครับ ท่านต้องเท่าทันโลก ด้วยนะครับ

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องที่ผมอยากจะฝากว่ามันมีโครงการที่ท่านควรจะทำ ในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือพวก Call Center ครับ ที่ท่านไปทำกับตำรวจทำกับอะไร ผมเห็นด้วยและชอบมากเลย ท่านควรจะทำเยอะ ๆ นะครับ ควรจะมีสื่อที่สอนประชาชน เรื่องของการรู้เท่าทันเรื่องของ Call Center ด้วย อันนี้ฝากด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นท่านอดิศรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมก็ใหม่สำหรับ พ.ร.บ. นี้ ผมพยายามตั้งใจฟังท่านทั้งหลายที่ได้กรุณาแสดงความคิดเห็น ผมถามจริง ๆ ครับว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการมี พ.ร.บ. พออยู่นาน ๆ ไปก็ตั้งสถานีโทรทัศน์เอง อยู่ไปนาน ๆ ก็ตั้งสถานีวิทยุเอง หาอยู่หากินไม่เปิดเผยที่ไปที่มาของทรัพย์สิน ผมถามตรงไปอย่าโกรธ นะครับท่านประธานผ่านไป อนาคตมีความคิดจะตั้งสถานีโทรทัศน์เองไหมครับ เพื่อให้เป็น สถานีโทรทัศน์ที่เป็นสื่อปลอดภัยในอุดมการณ์ของท่าน จะเป็นแบบ Thai PBS หรือหลายต่อหลายอัน ช่อง ๗ ช่อง ๕ เป็นแล้วเป็นเลย ถามจริง ๆ เพราะว่าในมาตรา ๙ (๔) กระทำการอื่นใด บรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ท่านมีทางเดินไปสู่ตั้ง สถานีโทรทัศน์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชื่อมันดีนะครับหนุมาน ก็จะเป็นหนุมานที่ปลอดภัย ตุ๊กตาที่ท่านตั้งขึ้นมานี่คนอื่นทำใช้ไม่ได้ สถานีโทรทัศน์นี้ ในอนาคตของกองทุนนี้จะเป็นสื่อที่ปลอดภัย ไม่จำเป็นหรอกว่าต่อไปนี้คนดูอายุเท่าไร อย่างนั้นใช่ไหมครับผมขอถาม ถ้าจะเดินไปสู่การตั้งโทรทัศน์ ผมว่าอย่าตั้งเลยครับ เดี๋ยวนี้ เขาดูมือถือ บ้านผมไม่มีโทรทัศน์สักเครื่องครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอภิสิทธิ์ครับ เป็นท่านสุดท้ายนะครับ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล บัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ข้อกังวลผมนี้นะครับคือในยุทธศาสตร์ที่ ๔ ที่ท่านเขียนว่าเรื่องการมีส่วนร่วม เนื่องจากว่า สื่อของท่านนี่ลูกค้าโดยตรงคือตัวเยาวชน แล้วก็ผู้สูงอายุทั้งหลาย แล้วก็เหตุผลในท้าย พระราชบัญญัติของท่านพูดถึงเรื่องคุณภาพ เรื่องเยาวชน เรื่องการพัฒนาสื่อ ผมอยากเห็น เยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำโครงการต่าง ๆ หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการเลือกโครงการต่าง ๆ เพราะเนื่องจากว่าตัวสื่อวันนี้ถ้าเผื่อเราเอาคนอายุ ๖๐ ปีขึ้น มานั่งตัดสินใจให้เด็กอายุ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปี ๑๘ ปีว่าให้เขาเข้าใจกัน ผมคิดว่ามันเป็นไป ไม่ได้หรอกครับ เพราะฉะนั้นท่านต้องพยายามเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในกลุ่มลูกค้าของท่าน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะเลือกโครงการ ถ้าท่านยังเลือกโครงการเดิมด้วยวิธีการเดิม ด้วยคนอายุ ๖๐ ปีขึ้นมาตัดสินใจ ผมเชื่อว่ามันไม่สามารถสื่อถึงเหตุผลในท้ายพระราชบัญญัติได้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอเชิญผู้ชี้แจงครับ

นายธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผมขอสั้น ๆ ตอบคำถามนะครับ เรื่องของ Call Center เราก็พยายามหาความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน แล้วก็จะทำให้มากขึ้นตามที่ท่านแนะนำ ต่อไปนะครับ อันนี้ก็เป็นความตั้งใจที่อยู่ในแผนอยู่แล้วนะครับ ของท่านอดิศร เพียงเกษ เรียนยืนยันไม่มีแนวความคิดที่จะไปเป็นเจ้าของเองนะครับ บทบาทของกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เราเน้นเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุน เป็นผู้อำนวยความสะดวก เราไปดู Model ของ KOCCA KOCCA ก็ไม่ได้ทำเองครับ แล้วก็ประสบความสำเร็จมากครับ เพราะฉะนั้นท่านอย่าได้กังวลเลยครับ ถ้าผมยังเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์นี่ท่านจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้แน่นอน ของท่านอภิสิทธิ์นะครับ ผมก็เห็นด้วยว่า เรื่องของสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน เราก็พูดถกเถียงกันเยอะว่าต้องให้เด็กได้มีส่วนร่วม ปีที่แล้วเราก็เลยมีโครงการที่เรียกว่า Digital Camping หรือ Digit Camp ให้น้อง ๆ เยาวชน ได้มาคิดเอง ทำสื่อเอง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตของสมาชิกทั้งหลาย ส่วนใหญ่เราก็คิดมาก่อนแล้วนะครับ แล้วผมคิดว่าเกือบทุกเรื่องที่เราเห็นด้วยนะครับ ผมในนามของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และในฐานะผู้จัดการจะรวบรวม ข้อคิดเห็นทั้งหลายสรุปนำเสนอคณะกรรมการที่เป็นฝ่ายนโยบายให้รับทราบความเห็น ของสมาชิกเพื่อการปรับปรุงองค์กรต่อไปครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานและท่านสมาชิกครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากนะครับ ในการอภิปรายนี้ทางผู้ชี้แจงก็เห็นข้อสังเกตหลายอย่างในการที่ต้อง ปรับปรุง พ.ร.บ. แล้วผมก็คิดว่าทางสมาชิกก็มีข้อสังเกตที่อยากจะปรับปรุง พ.ร.บ. เช่นเดียวกัน ผมก็เลยคิดว่าอย่างไรเรามาร่วมมือกันต่อได้ในการพัฒนาด้วยกันครับ ขอบคุณ ทางหน่วยงานที่มาชี้แจงนะครับ ที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุน พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้วนะครับ เราเหลืออีก ๒ หน่วยงานนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๑๑ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ ของกองทุน การออมแห่งชาติ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนนี้มีสมาชิกเข้าชื่อมาทั้งหมด ๑๐ ท่านนะครับ ก็คิดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่งสำหรับรายงานฉบับที่ ๓ นะครับ ผมขออนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อ ๗๖ ขอเชิญท่านจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ท่านอรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล รองเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ด้านการลงทุน ท่านฐิตาภา นทีวรวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานบัญชีและการเงิน ท่านลภัสรสา ศรีเทียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน วางแผนการตลาดและส่งเสริมการออม ขอบคุณที่ให้เกียรติสภาครับ ก็เป็นไปตามที่เราคุยกัน ก็จะให้หน่วยได้ Brief ๕ นาที แล้วก็ให้สมาชิกมีโอกาสได้ซักถามครับ เรียนเชิญครับ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ขอสรุปเสนอรายงานประจำปี ๒๕๕๘ และรายงานประจำปี ๒๕๕๙ ดังต่อไปนี้

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

สาระสำคัญของรายงานประจำปี ๒๕๕๘ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีการตรวจสอบงบการเงิน ประกอบไปด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ และงบรายได้ค่าใช้จ่าย งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิสำหรับ สิ้นสุดวันเดียวกัน รวมถึงหมายเหตุประกอบงบ สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญและหมายเหตุอื่น ๆ โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กอช. มีสินทรัพย์รวมจำนวน ๑,๑๘๓ ล้านบาท หนี้สินรวม ๗.๐๘ ล้านบาท มีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ ๑,๑๗๖ ล้านบาท ซึ่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่ประเภทเงินฝากธนาคาร จำนวน ๙๖๔ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๘ กอช. มีสมาชิกสะสมในปีแรกอยู่ที่ ๓๙๐,๐๐๐ กว่าคน โดยมีการนำส่งเงินสะสมของสมาชิกรายบุคคล และผลประโยชน์จำนวน ๗๓๔ ล้านบาท กอช. มีรายได้รวมทั้งหมด ๑๔.๔๙ ล้านบาท เป็นรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุน กอช. มีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน ๕๔ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร งานทะเบียนที่สำคัญในตอนจัดตั้งกองทุน ระยะเริ่มแรกของการจัดตั้ง กอช. ได้ให้ ความสำคัญยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน ได้แก่

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ คือยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กร เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐาน อันประกอบไปด้วยด้านระบบบัญชี ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านจัดหาพื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์ สำนักงาน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการออม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านระบบงานในการรองรับสมาชิก ประชาสัมพันธ์ในช่วง เปิดตัวด้วยการสร้างเครือข่ายในการรับสมัครสมาชิก

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ คือยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน เพื่อให้เงินที่นำไปลงทุน ในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง ในระยะแรก กอช. ได้รับอนุมัติโครงสร้างองค์กร จำนวน ๖๐ อัตรา ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้บริหารจัดการกองทุนในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ จำนวน ๗๒๕ ล้านบาท ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ กอช. ได้มีการรับสมัครสมาชิกในวันแรก มีสมาชิกมาสมัคร ๑๕๐,๐๐๐ กว่าคน เป็นเงินรวมที่ประชาชนส่งมาอยู่ที่ ๑๓๗ ล้านบาท ณ สิ้นปี ๒๕๕๘ มีสมาชิกทั้งสิ้นคือ ๓๙๑,๐๐๐ กว่าคน มีเงินสะสม จำนวน ๔๘๕ ล้านบาท ในทิศทางการหา สมาชิก กอช. ได้เน้นการลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเปิดโอกาส ให้มีการสื่อสาร ๒ ทาง เนื่องจาก กอช. เป็นหน่วยงานใหม่ เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องใช้ ความเข้าใจในการพูดคุยกับสมาชิก พึ่งพาการแลกเปลี่ยน อาศัยกลไกเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อจะต่อยอดและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ในระยะ ๔ เดือนแรกจึงเน้นการประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อเป็นการสื่อสารในวงกว้าง ด้านระบบทะเบียนสมาชิกได้มีการพัฒนา ระบบทะเบียนสมาชิกเพื่อสามารถรองรับในการบริการประชาชนในกลุ่มเป้าหมายอย่างมี ประสิทธิภาพ ด้านการลงทุนได้ดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดลงทุน หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ณ สิ้นปีธันวาคม ๒๕๕๘ มีเงินลงทุน จำนวน ๑,๑๕๔ ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในเงินฝากธนาคาร

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

สาระสำคัญในรายงานประจำปี ๒๕๕๙ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบงบการเงิน ประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน ณ สิ้นปีวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ เป็นงบรายได้ค่าใช้จ่าย งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ งบกระแสเงินสด และประกอบรายละเอียดเงินลงทุนสำหรับสิ้นสุดในวันเดียวกัน รวมถึงหมายเหตุสรุป นโยบายการบัญชีที่สำคัญ โดยสรุปสาระสำคัญดังต่อไปนี้

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กอช. มีสินทรัพย์รวมจำนวน ๓,๒๙๒ ล้านบาท หนี้สินรวม ๑๘.๒๐ ล้านบาท มีสินทรัพย์สุทธิรวมอยู่ที่ ๓,๒๘๙ ล้านบาท ซึ่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นประเภทเงินฝากประจำ และพันธบัตรรัฐบาล จำนวน ๓,๑๖๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๙ มีสมาชิกจำนวนสะสมอยู่ที่ ๕๒๔,๐๐๐ กว่าคน เพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๕๘ จำนวน ๑๓๐,๐๐๐ กว่าคน โดยที่มีการนำส่งเงิน สะสมของสมาชิกรายบุคคลอยู่ที่จำนวน ๑,๑๐๙ ล้านบาท

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กอช. มีรายได้รวมอยู่ที่ ๔๐.๑๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๒๕ ล้านบาท ซึ่งในส่วนใหญ่จะเกิดจากรายได้ จากดอกเบี้ย และการลงทุน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กอช. มีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน ๗๓ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่าย กับบุคลากร ค่าใช้จ่ายกับสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายจากการออม ประชาสัมพันธ์ และค่าสมาชิกเป็นสำคัญ โดยมีผลขาดทุนสุทธิจากการวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไร ขาดทุน หรือ Mark to Market หลักทรัพย์ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง จำนวน ๑๒ ล้านบาทเศษ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

กอช. ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ ในปี ๒๕๖๐ ถึงปี ๒๕๖๔ ประกอบ ยุทธศาสตร์หลัก ๔ ด้าน ได้แก่

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

อันที่ ๑ ผลักดันและสร้างสมาชิกการออมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสมาชิกและให้เกิด การออมอย่างต่อเนื่องด้วย

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ การบริหารเงินลงทุนที่มีผลประโยชน์อย่างมั่นคง เพื่อการบริหารเงินลงทุน ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามนโยบายที่กำหนด

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ พัฒนาองค์กรให้มีการจัดการที่มีความทันสมัย ระบบเครือข่ายเชื่อมโยงให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ ส่งเสริมการธรรมาภิบาลในองค์กร พัฒนาองค์กรให้มีการบริหาร จัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีความทันสมัย สะดวก โปร่งใส และตรวจสอบได้

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ด้านสมาชิกในปี ๒๕๕๙ มีสมาชิกทั้งสิ้น ๕๒๔,๐๐๐ กว่าคน เพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๕๘ อยู่ที่ ๑๓๐,๐๐๐ กว่าคน เงินสะสมจากสมาชิกอยู่ที่ ๑,๓๐๐ ล้านบาทเศษ ด้านปัญหาสมาชิกเน้นขอความร่วมมือสำหรับชุมชน แล้วก็มีธนาคารของรัฐ ๓ แห่ง ที่ช่วยดูแล กอช. คือ ธ.ก.ส. ออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุน การออมแห่งชาติ ต้นฉบับ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าเองก็มาทำหน้าที่เลขาธิการ กอช. เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๑ แล้วก็ได้มีการนำเสนอรายงานประจำปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขอบพระคุณท่านค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายซักถามของสมาชิกนะครับ ขอเริ่มที่ท่านภัณฑิล น่วมเจิม แล้วก็เป็นท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา คลองเตย ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็จะเป็นการรับทราบรายงาน ประจำปี ซึ่งเดี๋ยวคงมีผู้อภิปราย ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ นี้มันก็ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่ผมคงขอข้าม ประเด็นนี้ไป ก็ขอถือวิสาสะเอาปี ๒๕๖๔ มาพูดเลยนะครับ ว่าปัจจุบันท่านก็บริหารทรัพย์สินอยู่ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ในหน้าถัดไป ซึ่งรวมรายได้แล้วท่านก็หาประโยชน์จากการไป ลงทุนต่าง ๆ รายได้อยู่ที่ ๑๕๐ ล้านบาท ก็คิดประมาณ ๑ กว่าเปอร์เซ็นต์ ผมว่าต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยนะครับ เอาไปฝากแบงก์ เอาไปฝากกองทุนต่าง ๆ หรือเอาเงินมาให้ผมบริหาร ผมบริหารได้ดีกว่านี้ ๑๕๐ ล้านบาทนะครับ ลำพังตัวท่านเองท่านมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่อดีต ผ่านมามากกว่ารายได้ รายจ่ายท่านตอนนี้ก็ ๑๖๐ ล้านบาท ขาดทุนนะครับ ลำพังตัวท่านเอง ท่านก็ยังเลี้ยงตัวท่านเองไม่ได้เลยนะครับ ขาดทุนครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หน้าต่อไปครับ Net Asset Value คือมูลค่าสินทรัพย์ ณ ปัจจุบัน เข้าใจว่า มันก็ผ่านมาแล้วเกือบ ๑๐ ปี ตอนนี้ก็ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาทที่เป็นมูลค่าของกองทุนท่านนะครับ NAV ก็ตกอยู่ ๑๑ บาท คือมันไม่ค่อยขึ้นมาเยอะ ท่านไม่ได้สามารถสั่งสมความมั่งคั่งขึ้นมาได้เลย ทั้ง ๆ ที่ท่านได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ จากเงินสมทบจากรัฐ ๑๐ บาทตั้งต้น ตอนนี้เป็น ๑๑ บาทกว่า คำนวณแบบง่าย ๆ แล้วกัน ปัญหาคือตอนนี้ KPI ท่านต้องการให้คนเข้ามาอยู่ในการออมมากขึ้นซึ่งก็ดี พันธกิจของท่าน ก็คืออยากจะส่งเสริมการออมใช่ไหมครับ แต่ปัจจุบันดูสิครับ ท่านมีลูกค้าทั้งหมด เริ่มเข้าสู่ Plateau แล้ว คือมันค่อนข้างอิ่มตัวแล้วครับ จากเดิมท่านไปเกณฑ์คนมา ๓๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ คนผ่านกลไกต่าง ๆ กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน สหกรณ์ท่านก็ไปพยายาม ต้อนคนเข้ามา แต่การสั่งสมการออมมันไม่ขยับเลยนะครับ ดูนี่มันเฉลี่ย ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท หารด้วย ๒ ล้านกว่าคน เขาก็มีเงินติดบัญชีหรือกองทุนอยู่ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ บาท ผมดู แล้วยอดมันก็นิ่งมาตลอด คือใส่เงินเข้ามาแล้วก็เท่าเดิมตลอด เทียบกันกับผู้ที่ถือบัญชีอยู่ ทั่วทั้งประเทศไทย คือประเทศไทยเรามี ๗๐ ล้านคน ติ๊งต่างนะครับ มีเงินฝากทั้งหมด อยู่ในระบบ ๑๐ กว่าล้านล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยออกมาแล้วบัญชีหนึ่งจะมีเงินอยู่ในนั้นประมาณ ๔๐,๐๐๐ กว่าบาท ของท่านมี ๔๐๐ กว่าบาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเยอะมากเลยนะครับ ก็ไม่รู้ออมอย่างไร แล้วคิดเป็นสัดส่วนเข้าถึงประชากรอยู่แค่ ๓ เปอร์เซ็นต์เองครับ ผ่านมา ๑๐ ปีแล้วท่านส่งเสริมการออมให้มาเปิดเงินกับท่านได้แค่ ๓.๕ เปอร์เซ็นต์ ปัญหาคือ มันไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย กองทุนของท่านนี่ต้องการที่จะ Target แรงงานอิสระใช่ไหมครับ ผู้ประกอบการ หรือคนที่เขาไม่ได้อยู่ใน Payroll หรือเข้าข่ายอยู่ในประกันสังคมที่รับเงินเดือน แต่ปรากฏว่าท่านไปเอาเกษตรกรมาครับ เกษตรกรเขาเป็นหนี้เยอะอยู่แล้วนะครับ เขาจะมาออม ไหวหรือครับ ถ้าเผื่อรัฐสนับสนุนเงินควรจะไปช่วยเรื่องหนี้ของเกษตรกรมากกว่าครับ เขามาออมไม่ไหวหรอกครับ ๔๐๐-๕๐๐ บาท เรื่องอายุสมาชิกก็อีกประเด็นหนึ่ง มันไม่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากร เด็ก ๑๘-๓๐ ปีเข้ามาใหม่น้อยนะครับ ส่วนคนอายุ ที่มากขึ้นไป มากกว่า ๖๐ ปีก็น้อยมาก ความจริงเขายังออมได้อยู่นะครับ ท่านจะทำอย่างไร กับเรื่องจำนวนสมาชิกที่จะให้มันเพิ่มขึ้น แล้วก็ยอดออมรวมถึงผลประกอบการ ก็ฝากไว้ด้วย แล้วกันนะครับ ในเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งผมคิดว่าเอาเงินภาษีมาอุดหนุน เดี๋ยวคงมี ท่านอื่นอภิปรายนะครับ เรื่องเบี้ยประชุม เรื่องคนที่เข้ามาเป็นกรรมการ ผมว่ามันซ้ำซ้อนครับ เมื่อสักครู่ผมไปสมัครกับธนาคารกรุงไทย ผมว่าเขาอธิบายได้ดีกว่า Website ของท่านอีกครับ ทำไมเรามีกลไกภาครัฐอยู่แล้ว ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน พวกนี้ไม่ให้เขาทำล่ะครับ จะมาจัดตั้งกองทุนตรงนี้ใหม่ขึ้นมาทำไม เสียเงินเสียทอง ขาดทุน ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ย มากนะครับ แล้วก็ไม่ได้ส่งเสริมการออม มีคนในข่าววิพากษ์ถึงว่าปิดไปเลยดีกว่าไหมครับ กองทุนนี้ ฝากไปด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพร ของอำเภอเทพา ท่านประธานครับ รายงาน ประจำปีของกองทุนการออมแห่งชาติ ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ปี ๒๕๕๔ ปัจจุบันปี ๒๕๖๖ เป็นระยะเวลาเกือบ ๑๒ ปี แต่วันนี้ครับ มีรายงานการปฏิบัติงาน ปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการเปิดตัวกองทุน ผมเองต้องใช้วิชากองทุนศึกษากองทุนทิพย์นี้ครับ ในช่วงระยะเวลา ๘ ปีครับท่านประธาน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ถึงปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นช่องว่าง เพราะฉะนั้นคำถามแรกที่คณะกรรมการกองทุนต้องตอบให้กับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะลุกขึ้น ทำไมเพิ่งมาชี้แจง ด้วยเหตุผลกลใด ท่านประธานครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ เกิดขึ้นทั้งหมดผมเองอยากจะบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านได้รายงานเมื่อสักครู่ ปี ๒๕๕๘ ๑,๑๗๖ ล้านบาท แต่วันนี้ปี ๒๕๖๖ ยอดเป็นหมื่นล้าน ท่านประธานครับ เพราะฉะนั้น สถานะปัจจุบัน ปี ๒๕๖๖ ทำไมผมย้ำครับท่านประธาน เพราะวันนี้เรามาตรวจสอบ ปี ๒๕๕๘ มันเป็นคำถามว่าในห้วงเวลาดังกล่าวข้อมูลมันมีความคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะลุกขึ้นมาอภิปรายไม่สามารถที่จะอ้างอิง ข้อมูล ณ ปัจจุบันได้ในรายงานฉบับนี้ เพราะฉะนั้นทรัพย์สินของกองทุนการออมแห่งชาติปัจจุบันยอดเท่าไรกันแน่ จำนวนสมาชิก เริ่มจาก ๓๐๐,๐๐๐ ปีที่ ๒ เป็น ๕๐๐,๐๐๐ ปีปัจจุบันกี่ล้านคน และงบกองทุนนี้ปัจจุบัน เป็นงบเท่าไร กำไรแต่ละปีสุทธิเท่าไร เหมือนเพื่อนสมาชิกได้อ้างถึงเมื่อสักครู่นี้ สิ่งที่สำคัญครับ ผลตอบแทนให้กับสมาชิกที่เป็นสมาชิกกองทุนนี้ได้รับการตอบแทนเท่าไร คุ้มหรือไม่ ท่านประธานครับ การอภิปรายครั้งนี้คงไม่มีประโยชน์เหมือนที่ผมบอก เพราะมันเป็นการอ้างอิง ข้อมูลเก่า และจะมีเพื่อนอีกหลายคนลุกขึ้นมา เพราะฉะนั้นประเทศไทยครับท่านประธาน มันเป็นเรื่องที่แปลกครับ ผมเองเป็นคนต่างจังหวัด เกิดในชุมชนต่างจังหวัด มีกองทุน การออมมากมายตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ที่ผมจำความได้ แต่มันก็สามารถต่อยอดได้ครับ แต่วันดีคืนดี เมื่อมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปส่งเสริม เข้าไปดูแลเจ๊งเกือบทุกกองทุนครับ มีการทุจริต มีการอมเงินกองทุน และกองทุนขนาดใหญ่ก็ล้มลง ยกตัวอย่างที่อำเภอจะนะบ้านผมครับ ท่านประธานครับ วันนี้ท่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ กองทุนที่ผมจะนำกล่าวในตอนนี้ก็คือ กองทุนสัจจะวันละบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา โดยดอกเตอร์ชบ ยอดแก้ว เริ่มจากให้พี่น้องประชาชนที่เป็นสมาชิกเก็บเงินสะสมวันละ ๑ บาท แล้วก็จะได้รับ ค่าตอบแทนในเรื่องของการรักษาเมื่อเสียชีวิต ผมเองนะครับท่านประธานครับ มีโอกาส ไปเป็นประธานฌาปนกิจศพ ก่อนที่ฌาปนกิจศพก็จะมีการมอบเงินกองทุนสัจจะวันละบาท ของอาจารย์ชบ ยอดแก้ว ทุกครั้งครับ แต่วันนี้ครับ ผมไปในหลายพื้นที่การมอบเงินนี้ ลดน้อยลง และยอดเงินจาก ๗๐,๐๐๐ บาท ๘๐,๐๐๐ บาท เหลือ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นผมอยากจะสอบถามว่า สถานะของกองทุนสัจจะวันละบาทของดอกเตอร์ชบ ยอดแก้ว อยู่ในสถานะไหน กองทุนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนเขาหรือเปล่า ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้เองผมก็เห็นด้วยในการออมโดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่จะให้ พี่น้องประชาชนได้มีส่วนในการออม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดผมเองอยากให้พี่น้องประชาชน เข้าถึงกองทุนนี้ และตอบแทนสมาชิกอย่างเป็นธรรม ผมได้ฟังเพื่อนสมาชิก ปี ๒๕๖๔ รายงานว่ากำไรที่ท่านไปประกอบการได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นการตอบแทนสมาชิก ท่านตอบแทนอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันก็คือกองทุนต่าง ๆ ในประเทศไทย ไปลงทุนในประเทศและต่างประเทศประสบปัญหาขาดทุนครับ และกองทุนออมแห่งชาติของท่าน ก็เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่ได้รายได้จากดอกเบี้ย แต่ในการลงทุนในยอดเงินอื่น ๆ ท่านไม่ได้ชี้แจง ผมก็เลยฝากว่าท่านต้องระวังในการลงทุนในระยะยาว ในระยะสั้น เพราะมันจะมีผลกระทบ กับสมาชิกหลายล้านคน เพราะฉะนั้นผมก็เลยฝากว่า ๑. อย่าลืมเจตนารมณ์การตั้งกองทุน การออมแห่งชาติ เขาทำเพื่อใครครับ ทำเพื่อประชาชนที่เกษียณและเป็นสมาชิก เพราะฉะนั้น อย่าให้กองทุนนี้ตั้งตนเป็นสถาบันการเงินอีก ๑ แห่งที่จะระดมเงิน แล้วก็แข่งกับสถาบัน การเงินอื่น ๆ ๒. อย่าเป็นนักลงทุนเพื่อเน้นผลกำไร เพราะท่านจะมีโอกาสขาดทุนสูงมาก เหมือนกองทุนระหว่างประเทศที่ประสบผลปัญหาในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญครับ นี่คือหัวใจ สำคัญที่สุด เงินกองทุนที่สมทบครับท่านประธาน มันมาจากไหนครับ มันมาจากภาษี ประชาชน มันมาจากงบประมาณประจำปีที่ท่านได้รับอุดหนุนจากสภาแห่งนี้ไป เพราะฉะนั้น ท่านจงตระหนักว่าเงินนี้เป็นเงินเก็บจากกระเป๋าชาวบ้าน เงินสมทบก็คือเงินภาษีของประชาชน ท่านกำลังบริหารจัดการเงินของประเทศของประชาชน อย่าทำให้กองทุนนี้ล่ม และอย่าทำให้ ประชาชนผิดหวัง ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงท่านประธานคะ สำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการดิฉันเห็นด้วยนะคะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็จากรายงานที่ดิฉันดูมามีความสงสัยหลายประการ มีคำถามเกิดขึ้น มากมายว่ากองทุนนี้คุ้มค่าจริงหรือไม่ ขอ Slide ค่ะ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ด้วยหลักการนะคะ กองทุนนี้ สามารถเริ่มต้นออมเงินได้ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ดีนะคะ ให้เยาวชนได้ออมเงิน แล้วก็มีเงินเก็บจนถึงบำนาญได้มีเงินใช้ เราเป็นผู้ปกครองก็สามารถที่จะออมให้ลูกได้ โดยหลักการดีค่ะ ทีนี้พอมาดูรายงานก็อย่างที่หลายท่านกล่าวไปแล้ว วันนี้ที่ฉันจะขอ สั้น ๆนะคะ เพราะดิฉันไปดู พ.ร.บ. อ่านทุกข้อเลยค่ะ ก็ไปเจอข้อหนึ่งคือมาตรา ๕๖ ซึ่งคิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมถึงย้อนหลังไปตั้ง ๕-๖ ปี ในนั้นบอกไว้ว่าต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๘๐ วันนับจากวันสิ้นปีบัญชี เหตุใดปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ จึงเพิ่งมาถึงสภา นี่คือคำถามนะคะ เดี๋ยวก็คิดว่าท่านคง เตรียมคำตอบไว้แล้วนะคะ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สำหรับค่าใช้จ่ายนะคะ พอดิฉันไปดูก็ตกใจเลย ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลหรือไม่ จากที่ดูเป้าหมายทำไว้ดูดี เป้าหมายดูดีคือจะเพิ่มขึ้นไป แต่เมื่อไปดูลึก ๆ จริง ๆ เพิ่มเป็นแค่ หลักแสนเอง แต่งบประมาณที่วางไว้คือวางไว้เป็นวงเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท เทียบกับสมาชิก ที่มีเป้าว่าจะเพิ่มขึ้นแค่หลักแสน ในมุมมองดิฉันคือไม่คุ้มค่านะคะ Slide ถัดไปเลยค่ะ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อมาค่ะ พอยิ่งไปดูรายละเอียด พอไปดูของปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ดิฉันก็ไล่ดู มาเรื่อย ๆ เลย จนถึงปี ๒๕๖๔ ยิ่งตกใจ และส่วนใหญ่งบประมาณที่หมดไปจะหมดไปกับ ในส่วนของบุคลากร ดิฉันไม่ติดขัดอะไรกับเงินเดือนของข้าราชการนะคะ แต่ในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือนทั้งหมดและงบประมาณทั้งหมดของกองทุนที่ใช้ คือเงินภาษีประชาชน เป็นหน้าที่ของดิฉันที่จะต้องสงสัยและตรวจสอบ ดิฉันก็สงสัยว่า ทำไมกองทุนนี้ทุกปีเลยจะมีงบประมาณหมดไปกับบุคลากรเป็นอย่างนี้ตลอด ปี ๒๕๕๘ ๑๐.๗ ล้านบาท ปี ๒๕๕๙ ๓๗.๘ ล้านบาท พอมาดูปี ๒๕๖๔ กระโดดขึ้นมา ๖๗ ล้านบาท ทำไมถึงมากขนาดนี้ แล้วพอไปดูเงินค่าใช้จ่ายกรรมการอีก ๔.๗ ล้านบาท นี่คือล่าสุดเลยนะคะ ปี ๒๕๖๔ ที่ดิฉันไปดู คำถามคือซ้ำซ้อนหรือไม่ จำเป็นจริงหรือไม่ เพราะว่าพอไปดูโครงสร้าง บริหาร กรรมการบางท่านเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คำถามคือท่านเหล่านี้ มีเงินเดือนอยู่แล้วใช่หรือไม่ เหตุใดยังต้องมีเงินตรงนี้ไปจ่าย แล้วถ้าไปดูคณะกรรมการชุดอื่นอีก ปรากฏว่าในชุดอื่นก็มีการประชุมแต่ก็ไม่ได้มากพอที่คิดว่าจะต้องใช้เงินถึง ๔-๕ ล้านบาท ใช่ไหมคะ ดิฉันก็มีคำถามว่าเหตุใดต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ เท่ากับประสิทธิภาพของงาน และในแง่ของบุคลากร ถ้าเป็นบริษัทเอกชนดิฉันเป็นประธานบริษัท ดิฉันก็จะถามว่าที่มีอยู่ งานที่ได้ออกมากับจำนวนคนที่มีคุ้มค่าหรือไม่ คนมีมากเกินไปหรือไม่ และดูจากผล มันแตกต่างกัน ไม่คุ้มค่า ต่อไปเลยค่ะ ผลที่ดิฉันบอกก็คืออย่างนี้ค่ะ ท่านดูนะคะ ประชากรไทย อายุ ๑๖-๖๐ ปี ทุกเพศมีอยู่ประมาณ ๔๒ ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมแล้วประมาณ ๒๓ ล้านคน อยู่ในกองทุนนี้ประมาณ ๒.๔ ล้านคน แปลว่าอะไรคะ แปลว่ามีคนไทยที่ตกหล่น ไม่อยู่ในระบบใดเลย ๑๖.๕ ล้านคน ถ้าท่านทำงานแล้วมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพกับ งบประมาณที่ใช้ไปตัวเลขคงไม่ใช่ ๑๖.๕ ล้านคน คงจะคุ้มค่ามากกว่านี้นะคะ ต่อไปเลยค่ะ ดูตรงนี้นะคะ อาชีพส่วนใหญ่ที่มีก็อย่างที่เพื่อนสมาชิกบอกไปแล้วส่วนใหญ่คือเกษตรกร แต่ดิฉันสงสัยว่าทำไมคนค้าขายซึ่งน่าจะมีเงินในการมาจ่ายเงินออมทำไมถึงน้อยเหลือเกิน พอไปดูภาคอีกก็จะไปเป็นภาคอีสานเสียมากกว่า ทำไมภาคอื่นยังน้อย ต่อไปเลยค่ะ ดิฉันอยากจะเสนอก็คือว่าเป็นไปได้กองทุนนี้ดิฉันมีความเข้าใจว่ามันน่าจะซ้ำซ้อนกัน กับกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะมาตรา ๔๐ บางข้อก็น่าจะใช้ด้วยกันได้ น่าจะรวมกันได้ เพราะฉะนั้นขอให้สมาชิกเป็นสมาชิกได้ทั้ง ๒ กองทุนได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๐ ควรจะเป็นได้ทั้ง ๒ กองทุนเลย แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้ อย่างนั้น ยุบเถอะค่ะ รวมกันเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามาตรา ๔๐ เขามีสิทธิที่ประโยชน์ มากมาย รักษา มีสงเคราะห์บุตร มีทุพพลภาพ มีอะไรต่าง ๆ นานามากมาย ต่อมาที่อยากจะเสนอ ก็คือว่าในอดีตเพดานของท่านอยู่ที่ ๑๓,๐๐๐ บาท ปัจจุบันตั้งแต่มีนาคม ๒๕๖๖ ดิฉันทราบว่า เพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปีแล้ว แต่มันดูย้อนแย้งนะคะ วัตถุประสงค์คือบอกว่าให้ประชาชน ออมเงิน แต่ทำไมท่านมีเพดานล่ะคะ ไม่ควรจะมีเพดาน ควรจะให้ออมแบบไม่จำกัดไปเลย ไม่อย่างนั้นมันจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน คำว่า ออม คือออม ไม่ควรจะมีเพดาน

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อเสนอแนะต่อไป เงินสมทบโดยรัฐไม่ต้องมีขั้นบันไดแบบนี้ค่ะ ให้มีไปเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยอัตราเดียวกันแล้วไม่ต้องมีช่วงอายุด้วย ควรจะมีทุกช่วงอายุให้เหมือนกัน หมดเลย ดิฉันอยากจะเสนอคือในการทำงานของกองทุนที่ผ่านมาที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ดิฉันมองว่าอาจจะยังทำงานเชิงรุกไม่มากพอ เพราะฉะนั้นขอเสนอให้เกิดแรงจูงใจให้ประชาชน ออมมากขึ้น คือทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเหมือนเอกชน ทำการตลาดมากขึ้น ดิฉันถามเพื่อนสมาชิก หลายคน ถามพี่น้องประชาชนมีหลายคนที่ไม่รู้จักว่ากองทุนนี้คืออะไร มีด้วยหรือ แล้วดิฉัน ก็มองว่ากองทุนนี้จริง ๆ ท่านสามารถที่จะทำการตลาดให้เป็นกองมรดกได้เลยด้วยซ้ำ เพื่อแข่งขันกับการออมในตลาดทุนหรือว่าธนาคารอื่น ๆ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดิฉันอยากจะฝากไว้ สุดท้ายนี้ถ้าท่านอยากจะให้กองทุนนี้ดำรงอยู่ต่อไป ท่านควรทำให้มีกำไรมากกว่านี้ แล้วท่านปักธงไปเลย ๓ ม. เลยค่ะ ทำให้กองทุนนี้มั่นคง ในสายตาประชาชน ให้ประชาชนมองว่ากองทุนนี้มั่นคงกว่ากองทุนอื่น ๆ มากกว่าไปลง ในตลาดหลักทรัพย์หรือไปในธนาคารอื่น ตอนนี้มีกองทุนมากมายเลย ท่านต้องทำให้ ประชาชนรู้สึกมั่นคงเขาถึงจะมาลงทุนกับท่าน ให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจว่าเงินจะไม่หาย แล้วมีเงินใช้ยามเกษียณจริง ๆ ต่อมาคือทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึกว่าท่านมีความแตกต่าง ถ้าในแง่การตลาดท่านต้องแตกต่าง สิ่งที่ท่านต่างได้คือท่านต้องทำให้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้ นี่คือสิ่งที่กองทุนอื่นเขาทำไม่ได้ ดิฉันฝากไว้ด้วยนะคะ เพราะว่าทั้งหมดที่มีค่าใช้จ่าย ในกองทุนนี้คือเงินจากภาษีประชาชน ขอให้ท่านใช้ให้คุ้มค่าด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร เชิญครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในเรื่องของกองทุน การออมแห่งชาติ ผมก็ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติที่ได้เห็น ความสำคัญของผู้สูงอายุ ในปัจจุบันประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็มีประชากร ผู้สูงอายุมากขึ้น ๆ ในปัจจุบันเรามีถึง ๑๔ ล้านคน นโยบาย วัตถุประสงค์เป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะอย่างน้อยที่สุดวันนี้ประชากรที่พึ่งพาตนเองได้ในยามสูงอายุมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ที่จะช่วยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด ดังนั้นการออมก็เป็นวิธีช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลพยายาม ที่จะสนับสนุนให้ผู้สูงวัยนั้นได้พึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้แล้วผู้สูงวัยซึ่งอยู่คนเดียว หรืออยู่ ๒ คนตายายมีจำนวนมากขึ้นถึงประมาณ ๔ ล้านครอบครัวทีเดียว แล้วใครล่ะครับ จะดูแล นอกจากการเตรียมตัว แต่กองทุนนี้เป็นกองทุนใหม่ซึ่งเกิดขึ้น ถ้าหากว่าจะตั้งต้น ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ แต่จริง ๆ แล้วก็เริ่มต้นการเริ่มหาสมาชิกในปี ๒๕๕๘ ก็เพียง ๘ ปีเท่านั้น ผมก็อยากจะให้ทั้งกำลังใจ อาจจะมีข้อบกพร่องในการทำงานละ แต่วัตถุประสงค์ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ Comment ไปก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกความคิดนำเสนอ เป็นสิ่งที่ดีงาม จากสมาชิกเริ่มต้นในปี ๒๕๕๘ ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนนั้นเป็นการจัดตั้ง ของแรงงานนอกระบบเท่านั้น แล้วก็มีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนด กฎเกณฑ์ขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องของอายุที่จะให้เพียง ๖๐ ปีเท่านั้น แต่ขณะนี้ปัจจุบัน ท่านก็ต้องทราบว่าผู้สูงอายุนั้นก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไป จากค่าอายุเฉลี่ย ๗๘-๘๐ ปี แต่ขณะเดียวกันกองทุนผู้สูงอายุวันนี้ก็กำหนดให้ส่งถึงอายุเพียงแค่ ๖๐ ปี ผมถึงอยากจะเห็นว่า ในเมื่อของสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำไมครับ ข้อกฎเกณฑ์ กติกา หรือเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังเขียนไว้ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะโดยเฉพาะผู้สูงวัยปัจจุบันนี้ เป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ในตลาดแรงงาน และต้องพึ่งพาตนเองด้วยการทำงาน จึงน่าจะเพิ่มอายุ ในการส่งหรือเงินออมมากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะเงินกองทุนนี้เป็นการออมภาคสมัครใจ ซึ่งบางทีผมว่ามันไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย น่าจะมีเงื่อนไขในการที่จะมีแรงจูงใจ สมัครใจในเชิงบังคับ แล้วก็จูงใจให้มีความรู้สึกว่ามีการออมอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้สมาชิกที่มาร่วมอยู่ในวงการการออมนี้ ผมเชื่อว่าการประชาสัมพันธ์อย่าง ท่านสมาชิกได้กล่าวไปนี้ ผมก็เชื่อว่าการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การเข้าถึงผู้สูงวัย หรือประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่ ๑๕ ปีผมว่ายังน้อย โดยเฉพาะ ๑๕-๒๐ ปียังอยู่ในวัยการศึกษา ผมว่าน่าจะบรรจุเข้าไปในหลักสูตร หรือส่งเสริมเด็ก ๆ แต่ขณะเดียวกันผมเชื่อเหลือเกินว่า ในสังคมปัจจุบันนี้เด็กยังไม่มีรายได้ก็อาจจะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการที่สังคมผู้สูงอายุวันนี้ลูกมีบุตรช้า ต้องมีภาระในการที่จะส่งเสีย ลูกหลานเล่าเรียนจนอายุเกือบ ๖๐ ปี พออายุ ๖๐ ปีเริ่มที่จะสบายตัวพอที่จะออมได้ ก็ถูกขีดจำกัดด้วยเงื่อนไขข้อบังคับของกองทุนเงินออม ดังนั้นสิ่งที่ควรจะแก้ไขคือเรื่องของ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะผู้สูงวัย น่าจะเพิ่มจากเมื่อก่อนนี้ ๕๐-๖๐ ปี เป็น ๖๐-๗๐ ปี เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะในชนบทนั้น ในเขตเลือกตั้ง ของผมนี่ ผมเห็นทุกครั้งที่มีการประชุม อสม. ประชุมกองทุนหมู่บ้าน ประชาชนต้องการ ที่จะฝาก ต้องการที่จะออม เพียงแต่ว่าช่องทางในการที่กองทุนได้เข้าไปไหม ได้บริหารเชิงรุกไหม อีกอันหนึ่งที่น้อง ๆ สมาชิกได้กล่าวไปแล้วในเรื่องของประกันสังคมในมาตรา ๔๐ อันนี้ ด้วยเหตุว่าเขาได้ให้สวัสดิการชดเชยในเรื่องของเวลาที่เจ็บป่วยหรือการตาย ค่าทำศพ กองทุนการออมแห่งชาติน่าจะบริหารให้เงื่อนไขที่ดีเพื่อเป็นการกระตุ้นประชาชน ผมเชื่อว่า กองทุนนี้เป็นเพื่อผู้สูงวัยอยู่แล้ว เป็นทางออกของสังคมเพื่อลดภาระ เป็นสวัสดิการที่ดีครับ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีการถูกตำหนิติติงอย่างใด ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กองทุนนี้ปฏิบัติการ เพียงแต่ให้รับฟังข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำของสมาชิกทุกคนที่ล้วนแล้วแต่มองว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ ที่เข้ามาสู่การสมทบตั้งแต่ทุก ๆ ช่วงวัยที่ไม่เท่ากันนั้นเป็นเงินของประเทศชาติ ควรจะมองถึง ประโยชน์ที่จะให้ และประโยชน์อันนี้ก็เป็นการช่วยประเทศชาติในทางตรงทีเดียวครับ ในสังคมผู้สูงวัยต้องการการดูแลที่ดี เป็นภาระ ดังนั้นมาตรา ๔๐ ของประกันสังคมนี้ จึงอยากจะให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะสมัครได้ทุกกองทุนที่เขามีความสามารถ ส่วนเรื่อง เพดาน Maximum ในการที่ออมนั้นผมเห็นด้วยว่าควรจะมีเพดานครับ มิฉะนั้นแล้วจะเป็น ช่องทางของคนที่มีเงินจำนวนมาก ๆ ฝากใส่เพื่อต้องการเงินสมทบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นผมจึงกราบเรียนมายังประธานสภาที่เคารพผ่านไปยังกองทุน สุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจครับ เพราะกองทุนนี้เป็นสวัสดิการที่ดี เพื่อประโยชน์ของสังคม ผู้สูงอายุ เป็นทางเลือกและให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเข้าถึงสวัสดิการอย่างดีครับ ขอกราบ ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก็รักษาเวลาได้ดีนะครับ ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ประเด็นเกี่ยวกับรายงาน ประจำปี ๒๕๕๘ กับปี ๒๕๕๙ ของคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กอช. ผมมีข้อคิดเห็นดังนี้ครับ โดยหลักการแล้วกองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีแนวคิดที่ดีนะครับ เพราะต้องการที่จะให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบการค้า เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือผู้ประกอบอาชีพเป็นวิศวกร สถาปนิก ที่ไม่มีโอกาสจะเข้าถึงระบบบำนาญ หลังจากที่เกษียณ สามารถที่จะออมเงินกับกองทุนแล้วก็จะมีเงินที่คล้าย ๆ กับบำนาญ เช่นเดียวกับที่ข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีกันอยู่นะครับ แต่อย่างไรก็ดีโดยโครงสร้างของ กองทุนที่จัดเอาไว้ที่ระบุว่าระหว่างอายุ ๑๕-๓๐ ปีจะมีเงินสมทบจากภาครัฐปีละไม่เกิน ๖๐๐ บาท หรือสมทบให้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน ๖๐๐ บาท ระหว่างอายุ ๕๐-๖๐ ปีจะมีเงินสมทบให้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่เกินปีละ ๑,๒๐๐ บาทต่อปี โดยโครงสร้างตัวนี้ก็จะทำให้ประชาชนที่สนใจเข้ารวมกับกองทุน ถ้าเขาคิดถึงผลตอบแทน เขาก็คงจะคิดว่าถ้าเงินสะสม ๖๐๐ บาท ภาครัฐก็สนับสนุนสมทบเข้ามาอีก ๖๐๐ บาท เป็นจุดที่เขาได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าอายุ ๕๐-๖๐ ปี เงินสะสม ๑,๒๐๐ บาท เงินสมทบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๑,๒๐๐ บาท ก็เป็นจุดที่จะได้ผลตอบแทนสูงสุด ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะเป็น สาเหตุที่เราพบว่ากองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อพิจารณาเป็นรายต่อบุคคลมียอดเงินที่ต่ำมาก ถ้าอยากจะให้กองทุนนี้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องเพดานนี้บางส่วนนะครับ สำหรับในรายงานฉบับปี ๒๕๕๘ ผมมีข้อสงสัยอยู่ ๒-๓ ประการนะครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการลงทุนนะครับ ในหน้า ๖๑ มีการระบุว่า มีเงินลงทุนทั้งสิ้น ๑,๑๕๔.๕๗๓ ล้านบาท ในขณะที่หน้า ๙ ซึ่งเป็นข้อมูลตอนตั้งกองทุน ขึ้นมาใหม่ ๆ ระบุว่า ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม กอช. มีเงินสะสมของสมาชิกรวม ๔๘๕.๔๕ ล้านบาท เงินสมทบจากรัฐบาล ๒๖๓.๐๘ ล้านบาท รวมแล้วก็ ๗๐๐ กว่าล้านบาทเท่านั้นเองนะครับ ก็มีตัวเลขที่แตกต่างกันอยู่ก็เลยสงสัยว่าในตอนเริ่มต้นนี่กองทุนเกิดจากเงินสะสมของสมาชิก บวกกับเงินสมทบของภาครัฐรวมแล้ว ๗๐๐ กว่าล้านบาท แต่เหตุไฉนภายใน ๖ เดือนนี่นะครับ กลายเป็น ๑,๑๕๔ ล้าบาท ก็เป็นข้อสงสัยที่ผมขออนุญาตสอบถามครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนอีกข้อหนึ่งก็เป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนะครับ ซึ่งในมาตรา ๒๐ (๖) ระบุว่าคณะกรรมการสามารถที่จะมอบหมายหรือเลือกสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลทำหน้าที่จัดการบริหารกองทุนของกองทุน กอช. ได้ ก็เลยมีข้อสงสัยนะครับว่า จนถึงปัจจุบันนี้คณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งหรือว่าจ้างผู้ใดให้บริหารกองทุน กอช. ไม่ว่าจะ บางส่วนหรือเท่าไรก็แล้วแต่นะครับ มีการดำเนินการแล้วหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ขออนุญาต ฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจงด้วยครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องของรายงานที่ค่อนข้างจะล่าช้ามาก ณ วันนี้ เป็นปี ๒๕๖๖ แต่รายงานที่ส่งเข้ามาให้เราพิจารณากลับเป็นของปี ๒๕๕๘ กับของปี ๒๕๕๙ ซึ่งค่อนข้างจะช้ามาก ทั้ง ๆ ที่ในมาตรา ๕๒ ของพระราชบัญญัติ กอช. นี้ก็บอกว่า การรายงานต่อคณะรัฐมนตรีให้รายงานอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องผลการดำเนินงานของ กอช. นั้นเป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความสนใจและประสงค์จะทราบ อย่างทันเหตุการณ์เลยให้รายงานทุก ๆ ๑ เดือน อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง และถ้าหาก ดูมาตราอื่น ๆ ต่อมาก็จะมีระบุคือจากมาตรา ๕๓ ถึงมาตรา ๕๖ ก็จะมีระบุครับว่า เรื่องงบการเงินให้ทำให้เสร็จภายใน ๑๒๐ วัน หลังจากนั้นก็ให้ส่งให้ผู้สอบบัญชี ซึ่งกรณีนี้ ก็คือ สตง. สตง. ก็ต้องตรวจให้เสร็จภายใน ๑๕๐ วัน หลังจากนั้นก็จะต้องมีการทำรายงาน ฉบับที่ส่งมาให้พวกเราทั้งปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ ให้กับสภาแห่งนี้ภายใน ๑๘๐ วัน เพราะฉะนั้นมันก็ล่าช้ามามากไปหลายปี เลยขออนุญาตปรึกษาท่านประธานครับว่า ถ้าหากว่ารายงานของท่านมีพร้อมอยู่แล้ว เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าท่านต้องทำ จากปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ ถ้าท่านจะเสนอเข้ามาพร้อมกัน แล้วเราก็พิจารณา พร้อม ๆ กันไปเลยตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ถึงปี ๒๕๖๕ เพื่อที่จะให้การพิจารณาในเรื่องของ ผลประกอบการ หรือรายงานการทำงานของคณะกรรมการ กอช. เป็นไปอย่างทันท่วงที ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่เราจะมาพิจารณารายงานสำหรับปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ขออนุญาตฝากเป็นความกังวลจากท่านประธาน ไปถึงผู้ชี้แจงด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนุชา บูรพชัยศรี เชิญครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องบอกว่าวันนี้ผมก็รู้สึกยินดีที่ทางด้าน กอช. มารายงานให้กับทางด้านสภาทราบ ซึ่งผมเอง ก็ได้รับทราบถึงแนวคิดการที่รัฐบาลตั้งแต่สมัยปี ๒๕๕๓ แล้วที่อยากให้ประชาชนมีเรื่องของ การออมในวัยเกษียณ ที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่ได้มีอาชีพที่เรียกว่า อยู่ในคล้าย ๆ บริษัท ห้างร้านอะไรต่าง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่จะเป็นสวัสดิการให้เขาในเรื่อง ของการออมเลย ผมทราบเรื่องนี้ดีเพราะว่าผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในการพิจารณา พ.ร.บ. เรื่องของการออมแห่งชาติตั้งแต่สมัยปีนั้น แล้วก็ทราบดีว่ากว่าที่จะ มาถึงวันนี้ได้มีอุปสรรคมากมายเลย พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศในราชจานุเบกษาให้มีการบังคับใช้ หรือว่ามีผลตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ก็จริง แต่จากเหตุผลทางการเมืองหลาย ๆ ส่วนกองทุนนี้ ต้องเข้าไปแฝง เรียกว่าแฝงอยู่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมอยู่หลายปีเลยทีเดียว แล้วก็คลอดออกมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงของรัฐบาลของท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นความสำคัญเรื่องของการออมในครั้งนี้ เลยเป็นที่มาที่ไปว่ากองทุนการออมแห่งชาติ ได้กลับคืนชีพมาอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๕๘ รวมจนกระทั่งถึงวันนี้ก็คงจะมีระยะเวลาประมาณ เกือบ ๘ ปีแล้วที่ได้ดำเนินการมา ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ทราบดีว่าอาจจะยังไม่ประสบ ความสำเร็จสักเท่าไร แล้วก็ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เองในปี ๒๕๖๖ ได้มีการปรับปรุงในเรื่อง ของร่างกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการสมทบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระยะช่วงอายุ อะไรต่าง ๆ แล้วก็จะมีเงินที่จะสมทบให้เต็มที่เลยทุกช่วงอายุพร้อม ๆ กันในวงเงินไม่เกิน ๑,๘๐๐ บาท แล้วก็ในส่วนของ ๓๐,๐๐๐ บาทที่จะเป็นเงินที่จะสามารถออมอะไรต่าง ๆ ได้ทั้งหมดในระบบ อันนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเป็นแรงจูงใจในการที่จะให้เกิด การออมมากขึ้น ซึ่ง ณ ปี ๒๕๖๕ จนถึงปี ๒๕๖๖ ผมทราบว่าสมาชิกตอนนี้ก็น่าที่จะเฉียด ๆ ใกล้กับ ๒,๖๐๐,๐๐๐ คนแล้ว แต่ถ้าถามผมว่าเมื่อกลับไปถึงปี ๒๕๕๓ ที่ผมได้เรียนท่านประธานว่าผมมีโอกาสได้เป็น กรรมาธิการในการที่คลอด พ.ร.บ. ฉบับตอนนี้ ผมคิดว่าผมอยากที่จะเห็นการที่สมาชิก มีมากกว่านี้อย่างแน่นอนนะครับ เพราะว่าจากตัวเลขนี่เรามองกันว่าตอนนี้มีกลุ่มแรงงาน นอกระบบประมาณกว่า ๑๙ ล้านคนเลยทีเดียว ทำอย่างไรที่เราจะนำตัวเลขตรงนี้ให้มาเป็น ในส่วนหนึ่งของสมาชิกได้ อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายกับทางด้านผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องของแนวทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้กฎกระทรวงก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมอยากที่จะให้ทางด้านกองทุนได้พิจารณาเพิ่มเติมไม่ใช่ให้หยุดแค่นี้ แต่ทำในเชิงรุก ด้วยการไป Survey ก็ดี การไปหาความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้กองทุนนี้ พูดง่าย ๆ ว่ามีเสน่ห์มากขึ้นในการที่จะชักจูงสมาชิกเข้ามาได้ อย่าเพียงแค่รอให้สมาชิก เข้ามาสมัคร แต่เราคงจะต้องเข้าไปเพื่อที่จะทำอย่างไรที่จะไปจูงใจเขามากขึ้น เพราะฉะนั้น ในเรื่องของยุทธศาสตร์การผลักดัน การสร้างสมาชิก การออม เป็นสิ่งที่อยากที่จะให้ลงไป เป็นในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสได้เห็นรายงานของท่านในปัจจุบัน ปี ๒๕๖๕ มีการสร้าง ภาคีเครือข่ายซึ่งผมเห็นด้วยเลยครับ ลงไปถึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ไปหาเด็กนักเรียน มีการลงไปถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางด้านกระทรวง พม. ไปถึงเรื่องของกระทรวงยุติธรรม อะไรต่าง ๆ ทั้งหมด อันนี้เห็นด้วยในการที่จะเพิ่มสมาชิกต่าง ๆ แต่คงต้องมีเชิงรุกมากขึ้น กว่านี้ในการที่จะทำให้เป็นจุดที่น่าสนใจให้ประชาชนที่ผมเรียกว่าอย่างน้อยเราคิดว่า กว่า ๑๙ ล้านคนเข้ามามีเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ในเรื่องของช่องทางด้วยในการที่จะทำให้ เมื่อสมัครเป็นสมาชิกแล้วการตัดบัญชีการทำอะไรต่าง ๆ เอาให้ง่ายที่สุดไม่ให้เกิดปัญหา ในการที่พอมาแล้วก็รู้สึกว่าวุ่นวายหรือว่ายาก ณ วันนี้ผมทราบว่าไม่มีการเตือนสำหรับ คนที่เป็นสมาชิกว่าเดือนนี้ยังไม่ได้มีการส่งเงินเข้ามานะ ผ่านไปแล้วอีก ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือนก็ยังเงียบอยู่ อันนี้ผมคิดว่าถ้าเราทำแบบนี้เพราะว่าบางครั้งการออมเงินตรงนี้ คงจะต้องมีการกระตุ้นเตือนให้เขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการที่เป็นยุทธศาสตร์การลงทุน ก็ต้องบอกว่าในภาวะปัจจุบันซึ่งที่ผ่านมามีผลตอบแทนการลงทุน เรียกว่าในช่วง COVID-19 ก็ดี ในช่วงที่มีเรียกว่าการพิพาทระหว่างประเทศมากมายเลย แล้วก็รวมถึงเรื่องของสาเหตุอื่น ๆ อีกมาก การที่ได้ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ ๑.๘๕ เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าก็พอรับได้ ดีกว่าในบางส่วน ที่ไปลงทุนแบบเรียกว่าเป็น Aggressive หรือว่าลงทุนแบบเสี่ยงมากเกินไป และทำให้เกิด ความเสียหาย อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่กองทุนควรจะต้องดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของ การที่จะทำอย่างไรให้มีเสน่ห์อย่างที่ว่า ลองดูว่าเราจะทำอย่างไรคล้าย ๆ กับกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพในภาคเอกชน หรือว่า Provident Fund ที่เขาทำอยู่ลองดูว่าถ้าเกิด Matching ให้คล้าย ๆ กันทำให้มีความรู้สึกว่ากองทุนนี้เป็นเหมือนคล้าย ๆ กับอนาคตของเขาได้จริง ๆ ในการออมนะครับ ส่วนเรื่องของผลการตอบแทนควรจะต้องมี Benchmark ว่าเราบริหาร กองทุนแล้วมันดีกว่าการที่เราไปจ้างผู้จัดการกองทุนหรือไม่ อันนี้คงจะต้องมาดู เพราะว่า เราไม่ใช่เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่เป็น Professional ในการที่จะมาดูเรื่องของการลงทุนทั้งหมด เรามาเป็น Professional ในเรื่องของการหาสมาชิกได้หรือไม่ ส่วนเรื่องอะไรที่เป็นอย่างอื่น เรา Outsource ได้ไหม แล้วก็ลดต้นทุนด้วยการที่ไปจ่าย Front-end Fee ให้กับทางด้าน Professional ที่เขาดูเรื่องของการลงทุนเป็นแสน ๆ ล้านแล้วจะดีกว่าในส่วนของตัวเรา เพราะว่าทุกคนก็ทราบดีอยู่ว่าถ้ามีในส่วนของ Portfolio ที่มากมันก็สามารถที่จะ Diversify หรือว่ากระจายการลงทุนไปได้ดีกว่านะครับ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทางด้านคณะผู้บริหาร ของกองทุนให้ดำเนินการในสิ่งดี ๆ เหล่านี้ต่อเนื่องต่อไป และผมเองที่ผ่านมาในฐานะโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ แต่รู้ครับว่ามันยาก แต่คงต้อง พยายามต่อไป เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดีในเรื่องของการออมทุกท่านคงทราบดีครับ ขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายเอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านประธานที่เปิดให้สมาชิกสภาแห่งนี้ ได้อภิปรายหน่วยงานรับงบประมาณองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะได้รายงานผลการดำเนินงาน แต่ผมก็เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกหลายคนที่บอกว่ารายงานชุดนี้ ปี ๒๕๕๙ เหมือนเจาะเวลา หาอดีตท่านส่งมาได้อย่างไร แต่ว่าอยากจะให้ท่านเร่งนำรายงานฉบับปัจจุบันมาส่งต่อสภา แห่งนี้เพื่อรายงานให้พี่น้องได้เห็น ให้ตัวแทนของพี่น้องประชาชนได้ตรวจสอบ ยืนยันอีกครั้งว่า ท่านจะต้องรีบ ไม่ใช่เอาปี ๒๕๕๙ มาให้สภาดู แล้วก็ไม่รู้ว่าดูแล้วจะพูดไปเพื่อประโยชน์อะไร แต่ว่ากองทุนการออมท่านมีเป้าหมายแน่นอนเป็นแรงงานนอกระบบ หรือว่าผู้ประกอบอาชีพ อิสระ ผู้มีรายได้น้อย ออมเพื่อวัยเกษียณ แต่ปัญหาก็คือว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังตั้ง รัฐบาลกันไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีคนไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ก็น้อย รายจ่ายภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง ส่งผลให้คนไม่มีเงินที่จะไปออม เขาไม่อยากสมัครเข้าเป็นกองทุนการออม แห่งชาติแบบนี้เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ คือรายได้ยังไม่เพียงพอเหลือที่จะไปออม จึงเสนอว่า ท่านต้องทำงานแข่งกับภาคเอกชน ธนาคาร ประกันสังคม ไม่อย่างนั้นถ้าเอามาเรียงตัว องค์กรท่านรั้งท้ายเลยนะครับ ท่านต้องหาลูกค้าเพิ่ม หาประชาชนที่จะมาเข้าร่วมออมเพิ่ม และคนที่เป็นสมาชิกการออมอยู่ท่านต้องส่งเสริมให้เขา Active ไม่ใช่ออมมาแล้วก็ไม่รู้ จะออมต่ออย่างไร แล้วไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์อะไรเลย อยากให้องค์กรอยู่ได้ก็เสนอแนะว่า ท่านจะต้องปรับแบบ ๓๖๐ องศา โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้ก็คือการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไหน ๆ พูดถึงปี ๒๕๕๙ แล้วผมก็อยากให้ท่านดูก็แล้วกันว่าในแผน ประชาสัมพันธ์ที่ท่านรายงานมาในรอบปี ๒๕๖๙ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ ๑๕ ครั้ง สื่อวิทยุ Facebook มันไม่ตอบโจทย์ ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ว่าสื่อที่ท่านทำมันจะช่วยจูงใจให้ประชาชนมาออมอย่างไร หรือในหน้าที่ ๕๑ ท่านไปจัด Event งานแสดงนิทรรศการวันออมแห่งชาติ Thailand Smart Money 2016 OTOP City ท่านคิดว่าผู้ที่เข้าไปร่วมงานเป็นกลุ่มเป้าหมายของท่านหรือครับ หรือเป็น คนมีสตางค์ หรือคนที่ไปจัด Event เพราะฉะนั้นแผนประชาสัมพันธ์ของท่านมันต้องทบทวน แล้วนอกจากนี้ในการใช้สื่อ ผมไปตรวจสอบทั้งใน Facebook Website ขององค์กร มีข้อความเยอะแยะเต็มไปหมด ถ้ากลุ่มเป้าหมายของท่านคือผู้สูงอายุผมก็ไม่อ่านหรอกครับ เปิดมาเยอะมาก แล้วท่านต้องไปดูของที่อื่นว่าเขาปรับสื่ออย่างไร ไปดูของธนาคารเอกชน ก็ได้ครับ ปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ดูเข้าถึงง่าย ไม่ใช่ดูแล้วก็เป็นองค์กรที่เหมือนลับแล ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ที่ท่านใส่มาว่าจะต้องสื่อสารเชิงรุก ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเชิงรุกอย่างไร มันไม่ชัดเจนนะครับ ท่านจัดกิจกรรมนิทรรศการแบบนี้ และในสื่อใหม่ อย่างเช่น Facebook ท่านก็เปิด Facebook นะครับ ผมก็ไปดูมีผู้ติดตาม ๑๐๐,๐๐๐ คน ยอดผู้ติดตามยังน้อยกว่า คุณไอซ์ รักชนก ศรีนอก อีกนะครับ แล้วท่านก็ยังมี Promotion ๘ เดือน ๘ มีคนมากด Like ๑๕ คน แสดงความคิดเห็น ๓ คน มี Knock Knock พบกัน คุยกัน Live กับ กอช. เวลาเที่ยง ใครจะดูท่านตอนเที่ยง ถ้าสมมุติว่ากลุ่มเป้าหมายของท่านเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่าท่านจะต้องมีการปรับแผนของการทำสื่อเชิงรุกเพื่อหาลูกค้าให้ ประชาชนเข้าถึงการออมได้มากขึ้น มันจะมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ ต้องมีคนที่เข้ามา ร่วมกับท่าน ท่านจะให้ประชาชนรักกองทุนของท่าน ปกป้องกองทุนของท่าน ประชาชน เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับท่านได้ แต่ตอนนี้ถ้าสมาชิกทุกคนบอกว่าปิดกองทุนนี้ ไม่มีใครรู้สึกอะไรเลย เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่ามันสำคัญอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นผมจึงเสนอแนะด้วยความหวังดีนะครับ และอีกประเด็นหนึ่งสำคัญก็คือว่า การออมจะมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ท่านต้องทำให้มันแตกต่าง ตอนนี้มันมีกองทุน ประกันสังคม มาตรา ๔๐ ผมอยากให้ท่านผู้ชี้แจงช่วยตอบด้วยนะครับว่า ในใจลึก ๆ ท่านอยากจะยุบรวมกันไหม เอามาตรา ๔๐ ยุบรวมมา ท่านบริหารจัดการอย่างเดียว หรือท่านจะยุบไปให้มาตรา ๔๐ เขาทำ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ผมฟังเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ คนอภิปรายมานี่ แสดงความเห็นในทิศทาง เดียวกันว่า ยุบกองทุนของท่านไปรวมกับกองทุนประกันสังคมดีกว่าไหม ประหยัดทรัพยากร ไม่ต้องเสียเงินค่าบริหาร ไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างบุคลากร นอกจากนี้ก็ยังยืนยันว่าถ้าหากว่า ท่านจะส่งเสริมให้มีการออมของแรงงานนอกระบบให้ครอบคลุมและเสมอภาค ท่านอาจจะต้อง เพิ่มการเข้าถึงการออมของผู้มีรายได้ต่ำที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน แรงงานนอกระบบเหล่านี้ ที่เขาประสงค์อยากจะสะสมอาจจะต้องประยุกต์ใช้แนวคิดของสวัสดิการสำหรับการทำงาน หรือการทำงานสาธารณะเอามารองรับ แล้วท่านอาจจะต้องไปหาพี่น้องที่เข้าไม่ถึงสื่อ อย่างพี่น้องชนบทที่อยู่ห่างไกล เพราะฉะนั้นฝากสุดท้ายเลยสำคัญว่าองค์กรท่านจะอยู่ได้ ท่านจะต้องมีเครื่องมือ และเครื่องมือสำคัญที่ท่านจะให้คนเข้ามาร่วมกับท่านคือสื่อ ประชาสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมรับทราบรายงานของท่านแบบนี้นะครับ ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ไปก่อน แต่หวังว่ารายงานฉบับถัด ๆ ไป ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๔ ท่านจะปรับปรุง มันก็ไม่ทันแล้ว ปี ๒๕๖๖ ปี ๒๕๖๗ ในอนาคตแล้วกันท่านจะปรับปรุงในเรื่องของ การประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มให้ประชาชนเข้าถึงและเห็นความสำคัญ ของการออม ปรับรูปแบบขององค์กรใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ และที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายท่านเจาะให้ชัดเจนนะครับ ท่านจะเอากลุ่มออมตั้งแต่วัยเด็ก ออมวัยชรา ท่านโฟกัสสื่อให้ตรงว่าท่านจะสื่อสารแบบไหน ทั้งหมดนี้อภิปรายด้วยความหวังดีจริง ๆ หวังว่าท่านจะปรับในอนาคต แล้วเดี๋ยวเรามาเจอกันในรายงานฉบับถัด ๆ ไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ท่านประธานครับ เป็นวันที่ ๑๐ สิงหาคม เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในโอกาสนี้ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ประชาสัมพันธ์ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านได้ช่วย ไปหาสมาชิกให้กับกองทุน กอช. ไปด้วยนะครับ เนื่องจากว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หลายคนก็มีใช้บริการอยู่ ท่านประธานครับ ผมเองวันนี้ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และขออนุญาตอภิปรายเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นลูกค้าด้วย ๒,๖๐๐,๐๐๐ กว่าคน ผมคือ หนึ่งในสมาชิกที่ซื้อกองทุนในตอนนั้นจำได้ว่าเป็นเลขาธิการท่านสมพรนะครับ ก็ด้วยเจตนาว่า การที่เกิดให้มีกองทุนนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี วันนี้ฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่านพูด ผมคิดว่าเจตนา เดียวกันเพื่อที่จะเสนอแนะ แล้วก็อยากเห็นกองทุน กอช. บรรลุเป้าหมายให้มันมีความเติบโต แล้วก็เพื่อที่จะให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นนะครับ เมื่อเราดูจำนวนการเพิ่ม เมื่อเราดูในส่วนของ สัดส่วนของเงินออม ทุกคนก็เห็นว่ามันน้อยมาก มันน้อยโดยที่มันน่าจะดีกว่านี้ครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการที่จะมาอภิปราย ส่วนหนึ่งใจผมก็เห็นใจผู้บริหารกองทุน กอช. แต่อีกใจหนึ่งก็กังวลแล้วก็ห่วงใยสมาชิกอีก ๒,๖๐๐,๐๐๐ กว่าคนว่าถ้าเรามันมีเงินออม อย่างนี้เราน่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปออมในส่วนอื่นดีกว่าหรือไม่ แล้วก็ในประเทศไทยวันนี้ กองทุนสวัสดิการก็มีเยอะมาก มีหลายรูปแบบ แต่ว่าในส่วนของกองทุน กอช. นั้นก็คงจะเป็น กองทุนที่ เช่น ไม่ใช่เป็นข้าราชการ ไม่ได้สมัครเป็นลูกจ้าง จะไม่เป็นกองทุนสมาชิกในส่วน ขององค์กรอื่น แล้วก็เป็นความมั่นคงในเรื่องของชีวิตในอนาคต ประเด็นสำคัญเพื่อนสมาชิก หลายคนก็อภิปรายกันมาก็คงจะมีแนวทางเหมือนกัน ผมอยากเห็นในส่วนของความมั่นคง ในส่วนของกองทุน ความมั่นคงว่ามันมีความยั่งยืนอย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีความมั่นคง สมาชิกกองทุนที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกก็มีความรู้สึกอุ่นใจ เมื่อมีความอุ่นใจในส่วนของกองทุนก็คงจะต้องทำประชาสัมพันธ์เชิงลึก แล้วก็ทำประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึง ผมคิดว่าการใช้เงินงบประมาณในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ บางส่วนที่ เพื่อนสมาชิกอภิปรายมาก็แสดงว่ามันยังไม่เข้าเป้าในเรื่องของการไปประชาสัมพันธ์แล้ว สมาชิกมันไม่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ตรงเป้าหมาย สวัสดิการในความจูงใจ การจูงใจ ที่จะให้เข้าถึงในส่วนของข้อมูลรับรู้ แล้วก็ผลประโยชน์จากการที่จะไปร่วมในกองทุน อันนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญว่า การเข้าถึงในส่วนของบุคคลที่เรายังไม่มีเงินกองทุนที่จะใช้ชีวิตในวัยชรา ผมเองวันนี้ไม่ต้องจ่ายเงินกองทุนประจำปีแล้ว วันนั้นผมยังมีความสงสัยว่าผมจะไปจ่ายปีละ ๑๓,๕๐๐ บาท พอไปดูเสร็จแล้วว่าสิทธิของผมไม่ต้องจ่ายแล้ว แต่คราวนี้หลายคนก็ไม่ทราบว่า เมื่อสิทธิไม่จ่ายในระหว่างกองทุนที่เราเป็นสมาชิกอยู่ สมมุติว่าเราลาออกอย่างนี้เราได้สิทธิ อะไรบ้าง มันจะมีความรู้สึกคุ้มทุนในการที่เราจ่ายเงินไปหรือไม่ แล้วก็ถ้าในกรณีเราปล่อย ให้ครบ แล้วพอสิ้นสุดในการเบิกจ่าย แล้วค่าชดเชยอะไรต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้มันจำเป็นจะต้องมี การประชาสัมพันธ์และมีการทำให้มันง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่า ในภาพรวมความจูงใจในเรื่องของเชิงนโยบายของคณะกรรมการกองทุนบริหารการจัดการ ผมคิดว่ายังไม่เข้าถึงตลาดกลุ่มเป้าหมายของสมาชิกในพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้นะครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

เรื่องอื่น ๆ ในเรื่องของการเอางบกองทุนไปลงทุนแล้วให้ได้กำไรคืนมา เมื่อเราฟังตัวเลขแล้วก็รู้สึกน้อย น้อยกว่าที่จะเอาเงินไปฝากธนาคารประจำ บางครั้งต่อรอง ได้ดอกเบี้ยเกินกว่าในส่วนของ ๑ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็คงจะต้อง ไปคิดว่าการที่ไปประชาสัมพันธ์ หรือว่าการเอาเงินไปลงทุนนั้นเราเอาเงินส่วนนี้ไปจัดกิจกรรม หรือว่าเป็นการตอบแทน จูงใจเชิญชวนให้สมาชิกเก่าที่จะไปหาสมาชิกเพิ่มในลักษณะ อย่างไรบ้าง อันนี้ก็ถือว่าเป็นการลงทุน เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะให้สมาชิก ซึ่งเขาเข้าใจอยู่แล้ว แล้วเขาก็ได้ผลประโยชน์อยู่แล้วก็สามารถจะหาสมาชิกในกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มขึ้นได้ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของพี่น้องประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านต้องไปในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล อบต. อบจ. เทศบาล อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ที่จะได้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของผลดีผลเสีย สำหรับผมเพื่อนสมาชิกก็พูดไปหลายท่านแล้ว ในเรื่องของความไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ทันสมัยในเรื่องของข้อมูลในการรายงานต่อสภานะครับ แต่ผมเชื่อว่าท่านเลขากับทีมงานที่มานั่งฟังอยู่นั้นก็คงจะได้ข้อเสนอแนะ แล้วก็คงจะต้องไป ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งก็ขอชื่นชมนิดหนึ่งในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เวลาเราพ้นตำแหน่ง หรือเข้ารับตำแหน่งใหม่นั้นมันจำเป็นจะต้องเอาเอกสารของกองทุน ไปรายงานบัญชีทรัพย์สินด้วย ก็โชคดีผมโทรไปประสานที่กองทุนก็ส่งหลักฐานเพื่อที่จะให้ผม ไปประกอบเอกสารการที่ผมมีสิทธิในกองทุนนั้นรายงานต่อ ป.ป.ช. ด้วยความรวดเร็ว พอสมควร อันนี้ก็ขอชื่นชมว่าทางทีมงานเลขา เจ้าหน้าที่ที่เราประสานงานไปผ่าน ๓ ธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือว่าธนาคาร ธ.ก.ส. แล้วก็ใน ๓ ธนาคารนี้ ก็ควรจะให้มีมาตรฐานในเรื่องของการบริการที่เท่าเทียมกันในด้านข้อมูล ผมอยากให้คะแนน ธนาคารออมสินมาอันดับ ๑ ธนาคารกรุงไทยมาอันดับ ๒ และธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นอันดับ ๓ ในเรื่องของการบริการข้อมูลลูกค้าแล้วก็เข้าถึงข้อมูล อันนี้อาจจะไม่ถูกต้องไปทุกแห่ง แต่ว่าเท่าที่ผมไปสัมผัสมานั้นผมยังมีความเชื่อว่าออมสินใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอันดับ ๑ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณกัลยพัชร รจิตโรจน์ เชิญครับ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ก็ขอขอบคุณกองทุนการออมแห่งชาติที่มาชี้แจงในวันนี้ด้วยนะคะ จากเพื่อนสมาชิก ทุกท่านได้พูดไปแล้ว ก็คือว่าทำไมมันถึงเป็นรายงานของประมาณ ๗-๘ ปีที่แล้ว ดิฉันก็ได้ ตามเข้าไป Check ใน Website มาแล้วก็เห็นว่าของปี ๒๕๖๔ ก็มีการเติบโตค่อนข้างดี ก็อยากจะเห็นรายงานตัวปัจจุบันในคราวหน้าด้วยนะคะ

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

๑๐๔/๑ ปัญหาที่พบก็คือกองทุนการออมสามารถช่วยให้คนจน นักเรียน นักศึกษาสามารถส่งเสริม การออมได้ แต่ในความคิดของดิฉันนะคะ แต่จะไม่นำไปสู่การสร้างหลักประกันหลังเกษียณ เพราะเพดานการออมต่ำเกินไป คืออยู่ที่แค่ ๑,๑๐๐ บาทต่อเดือน และเพดานผลตอบแทน ที่ต่ำเกินไปก็คือไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท ไม่จูงใจให้คนหันมาออมกับ กอช. โดยเฉพาะเมื่อได้ คำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปเงินในอนาคตตอนอายุ ๖๐ ปีก็จะยิ่งมีมูลค่าลดน้อยลงไปอีก

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อีกปัญหาหนึ่งก็คือด้วยความที่ผลตอบแทนการออมทำให้ผู้ต้องการออมเงิน มากกว่านี้ต้องเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารอื่น ทำให้คนที่มีต้นทุนจำกัดเขาไม่สามารถทำ ธุรกรรมจบในที่เดียวได้

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ต่อมาเป็นข้อสังเกตและคำถามนะคะ จากรายงานดิฉันไม่เห็นรายละเอียดกิจกรรม หรือหลักสูตรที่พูดถึงการเพิ่มความรู้เท่าทันด้านการเงินและการออม หรือ Financial Literacy เลยนะคะ มีเพียงกิจกรรมว่าไปร่วมมือกับใคร และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกี่คน ต่อมาก็คือขาดตัวเลขของกลุ่มเป้าหมายที่หลุดจากการออมกับ กอช. นะคะ ซึ่งมี ๓ นัย ก็คือ ๑. กอช. ให้แรงจูงใจด้านการเงินต่ำทำให้คนไปออมกับคนอื่นมากกว่า ๒. กลุ่มเป้าหมาย มี Financial Literacy มากขึ้นเลยย้ายไปออมที่อื่น หรือ ๓. กลุ่มเป้าหมายขาดเงิน ขาดสภาพคล่องเลยเอาเงินออมไปใช้นะคะ เพราะเหตุใดกองทุนทำงานผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี แต่เพดานการออมเงินและผลตอบแทนจึงเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่าที่ควรนะคะ คณะกรรมการ มีการประเมินการดำเนินงานอย่างไร ในรายงานขาดรายละเอียดยุทธศาสตร์การส่งเสริม การออมที่เมื่อสักครู่แจ้งไปเรื่องเกี่ยวกับ Financial Literacy ก็คือยกตัวอย่างเช่น ยังขาด การนำเสนอว่าการเพิ่ม Financial Literacy ควรจะมีเนื้อหาใด ให้กระบวนการเรียนรู้ อย่างไร และวัดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างไร จึงจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการออม มีลักษณะนิสัยการออมมากขึ้น ในรายงานระบุเพียงกิจกรรมการออกร้านที่ทำให้ทางรัฐสภา ไม่แน่ใจว่ากิจกรรมที่ลงทุนไปนั้นเกิดผลมากน้อยเพียงใด จึงขอให้ทีมงานได้ตอบคำถาม และระบุในรายงานเพิ่มเติมในปีต่อ ๆ ไปนะคะ รายงานขาดรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่เป็นวัตถุ มีเพียงจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกองทุน เงินในกองทุนโดยรวม แต่ยังขาดตัวเลข และแนวโน้มอื่น ๆ ที่เห็นรายละเอียดผลลัพธ์มากขึ้น เช่น จำนวนเงินในบัญชีของสมาชิก จำนวนการหลุดออกจากกองทุนของสมาชิก การเข้าถึงกองทุนของสมาชิก พฤติกรรมการออม และการลงทุนอื่น ๆ คะแนนการเรียนรู้ รวมทั้งข้อร้องเรียนหรือชื่นชมกิจการของ กอช. การขาดรายละเอียดดังกล่าวจะทำให้รัฐสภา และเจ้าของภาษีประชาชนไม่ทราบข้อมูล ความคุ้มค่า ถ้าหากไม่คุ้มค่าเราจะได้ตัดออก หรือถ้าเกิดหากคุ้มค่าเราจะได้ส่งเสริมกองทุน การออมเพิ่มขึ้น

นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ต่อไปก็คือคำถามสุดท้ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อยากจะถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร กรณีชาวบ้านที่ไม่มีเงินแม้แต้น้อยนิดเลยที่จะออม ควรส่งเสียงเรื่องนี้สะท้อนมาในรายงาน ด้วยนะคะ ฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านนพพล เหลืองทองนารา เชิญครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิรามครับ สำหรับหน่วยงาน กอช. กองทุนการออมแห่งชาตินะครับ ท่านครับ ไม่รู้มันเป็นเพราะเหตุผลใด ผมอยากทราบจริง ๆ นะครับ ก็เหมือนอย่างที่เพื่อน ๆ ผู้แทนมากมายที่ทุกคนขึ้นมาก็บอกเหมือนกันว่าทำไมรายงานเพิ่งเอามาปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ แต่ใน Website ของท่าน กอช. มันมีถึงปี ๒๕๖๕ แล้ว ขนมาทีเดียวไม่ได้หรือ ไม่ต้องกลัวว่า คนที่เป็นผู้แทนราษฎรจะเหนื่อยหรอกนะครับ เราไม่เหนื่อยหรอกครับเราเป็นมนุษย์ พันธุ์พิเศษ ท่านครับ เอามาทีเดียวเราก็ไม่ต่อว่าต่อขานท่านหรอกครับ เรากลับจะดีใจด้วยซ้ำว่า ท่านให้เกียรติสภา ท่านจะชักช้าเมื่อก่อนหน้านี้แล้วเริ่มต้นเอามาให้เราดูตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๕ เราจะชื่นชมท่านมากกว่านะครับ นี่ผมขอตำหนิท่านจริง ๆ นะครับ แล้วผมเองเห็นแล้วบอกตรง ๆ ผมไม่ค่อยอยากจะคุยกับท่านแล้วครับ ในเรื่องของปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ คุยไปก็เท่านั้นละครับ จะไม่รับรายงานหรือมันก็กระไรอยู่นะครับท่าน ผมเอง ก่อนที่จะคุยถึงท่านนี่นะครับ ส่วนผมจะคุยปีไหนก็ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของผมแล้วนะครับ แต่ผมก็โยงไปถึงท่านนั่นละ ถึงปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ นี่ละครับ แต่ลำดับแรกในเมื่อวันนี้ เป็นวันสำคัญก็เป็นวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมเองและทุก ๆ คนเราก็ทราบ ดีอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นผมเองก็ขออนุญาตตรงนี้ที่จะขอแสดงความชื่นชมท่านราชสีห์ ผู้ภักดีทุกท่านนะครับ ที่ท่านได้ดูแลเป็นส่วนหนึ่งของบ้านของเมืองทำให้พวกเราประชาชน ได้อยู่เย็นเป็นสุขนะครับ รางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านดีเด่นเกิดมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศกที่ ๑๒๓ ก็คือ ๒๔๔๘ มาถึงบัดนี้แล้วก็ขอให้รางวัลนี้เป็นกำลังใจให้กับคนทำงานนะครับ ท่านผู้แทน จาก กอช. ท่านครับ ตอนที่ท่านเริ่มหาสมาชิกครั้งแรกผมตกใจมาก มีสมาชิกผู้แทนบางท่าน ก็บอกว่าเหมือนไปเกณฑ์มา ท่านว่ามีการเกณฑ์ไหมครับ แต่ผมว่ามีนะ เพราะผมเป็น คนหนึ่งที่โดนถูกเกณฑ์ด้วยแต่ผมไม่เอา เพราะหลักการของ กอช. คือการให้มาเป็นสมาชิก โดยความสมัครใจ แล้วมาเกณฑ์ เกณฑ์ทำไม หายอด ไม่เข้าท่าจริง ๆ นะครับ ท่านครับ ผลการดำเนินงานของท่านแม้ว่าดูมันจะน้อยผมก็ว่าน้อยละ ไปต่อรองกับธนาคารเหมือนอย่าง ท่านสฤษฏ์พงษ์พูด ผมว่าคุ้มค่ากว่านะครับ แต่เอาละแต่ก็ถือว่าท่านก็ทำงานได้ในระดับหนึ่ง ที่ก็ไม่ได้ทำให้กองทุนขาดทุน หรือว่าในเส้นค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนท่านก็ยังให้สูงกว่า เข้าใจครับ ผมเองยังติดใจอยู่ตรงที่ว่าในฐานะที่เป็นผู้แทนสมัยที่แล้ว ผมอยู่คณะกรรมาธิการ การสวัสดิการสังคม เราคุยกันในเรื่องของคุณสมบัติของคนที่จะเป็นสมาชิก ท่านก็บอกแล้วว่า ท่านจะขยายถึง ๖๕ ปี อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอผมมาดูในรายงานของท่าน ไม่ใช่รายงาน ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ นะครับ ก็บอกเลยนะครับ แต่ว่ามันก็สืบเนื่องเพราะท่านเคยบอกเราไว้ว่า อันนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของกองทุน เพราะฉะนั้นแล้วกองทุนก็เหมือนค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา อะไรที่เป็นประสบการณ์ก็เรียนรู้แล้วก็พยายามที่จะแก้ไข เพราะฉะนั้นผมเองก็อยากจะบอก ท่านว่าจนมาถึงรายงานฉบับที่ผมดูล่าสุด ณ สิ้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ท่านเองนี่นะครับ สิ่งที่พูดไว้จะขยายคุณสมบัติ อายุเอย อะไรเอยก็ยังเป็นแค่รอพิจารณาอยู่ แล้วจะรอไปเมื่อไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ อย่างไรก็เร่งรัดด้วย ท่านครับในส่วนของการเติบโตของท่าน การคาดการณ์ถ้าผมปิดปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ ผมเองก็คิดว่าท่านคงจะแย่แน่ละ เพราะว่า การเติบโตของสมาชิกเอย อะไรเอยนี่มันไม่เท่าไร เพราะดูแล้วอัตราการเพิ่มขึ้นมันน้อยมาก แต่ผลปรากฏว่าพอเปิดหลังจากปี ๒๕๕๙ มาตกใจ ท่านเตรียมคำถามไว้ด้วยวันที่ท่านมา รายงานว่าในช่วงปี ๒๕๖๑ รอยต่อปี ๒๕๖๑ แล้วข้ามกระโดดไปปี ๒๕๖๒ สมาชิกจากที่ ท่านเคยมีอยู่ ๖๑๐,๐๐๐ คนเศษ กลายเป็น ๒,๓๐๐,๐๐๐ ท่านเตรียมคำตอบไว้ให้หน่อยนะครับ ท่านจะมารายงานของปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๒ เมื่อไรผมถามแน่ ท่านตอบให้หน่อยว่า มันกระโดดมาเพราะอะไร แล้วหลังจากนั้นแล้วพอเป็นปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ จาก ๒,๓๐๐,๐๐๐ ก็เพิ่มมาอีก ๕๐,๐๐๐ อีก ๑ ปีก็เพิ่มอีก ๓๐,๐๐๐ นั่นละท่านทำ อีกแล้วหรือ การไปบังคับให้คนมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุน สุดท้ายท่านครับ เป้าหมาย ของท่านสรุปแล้วตกลงท่าน Open ใช่ไหม หรือว่าประสบการณ์ที่สอนท่านมาในการดำเนินงาน ของกองทุนว่าตกลงแล้วควรจะต้องไปกลุ่มอาชีพไหน กลุ่มอายุเท่าไร เด็ก ๆ สมัยเหมือน ออมสินนี่ท่านควรทำไหม น่าทำนะ ท่านครับ ท่านลองกลับไปทบทวนของท่านหน่อยเถอะนะครับ แล้วก็ชี้เป้าให้มันชัดเจน เราอยากจะสร้างวินัยการออมให้กับคนในชาติ ในเมื่อไม้แก่มันดัดยากนักท่านก็ลองเปลี่ยน บ้างเถอะครับ ไปนักเรียน ไม่ใช่ว่าเขาหัวอ่อนนะครับ เพียงแต่ว่าเขาเหมือนผ้าขาว เอาอะไรสาด เอาอะไรเขียนเข้าไป เอาสีไหนแต้มเข้าไป สีมันก็เด่นชัด อย่างไรก็ฝากท่านด้วย กราบขอบพระคุณท่านครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ก็หมดผู้อภิปรายแล้วนะครับ เชิญทางกองทุนครับ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน แล้วก็กราบเรียนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพทุกท่าน ดิฉันต้องบอกว่าขอประทานโทษจริง ๆ ว่าทำไมปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ เพิ่งมารายงาน อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งตั้งกองทุน แล้วก็ต้องทำระบบ โครงสร้างต่าง ๆ แล้วก็เป็นกองทุนเพิ่งตั้งมาใหม่ แล้วก็ลงทุนในพื้นที่เยอะ ดิฉันเองมา รับหน้าที่นี้ตอนปี ๒๕๖๑ ทุกปีรายงานครบถ้วนค่ะ ปี ๒๕๖๕ เดี๋ยวคงเจอท่านอีกรอบหนึ่ง เรียนเป็นแนวทางเดียวกัน ต้องบอกว่า พ.ร.บ. กอช. ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ อย่างที่ ท่านอนุชาเรียนไปแล้วว่ามาดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ในการรับสมาชิก เราเป็นกองทุนที่จะปิดช่องว่างสำหรับแรงงานนอกระบบ ณ วันนั้นอาจจะมีแรงงาน นอกระบบประมาณ ๒๐ กว่าล้านคน แต่ ณ วันนี้จะเหลือแค่ ๘ ล้านคน เพราะว่าปีที่ผ่านมา ทางประกันสังคม มาตรา ๔๐ (๑) (๒) (๓) รณรงค์ให้มีการสมัครเป็นสมาชิกถึง ๑๐ กว่าล้านคน ทำให้ตรงนี้เหลือแค่ ๘ ล้านคน ที่ประชาชนที่ไม่มีอะไรดูแลเกี่ยวกับเรื่องบำเหน็จบำนาญเลย หนี้สินที่เราได้ตัวเลขมาใหม่ ต้องบอกว่า กอช. เองเป็นกฎหมายที่ไว้สำหรับประชาชนที่อายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ถึง ๖๐ ปีบริบูรณ์สามารถออมกับเราได้ ขั้นต่ำในการส่งเงินคือครั้งละ ๕๐ บาท ขั้นสูงสุดวันนี้เพิ่งปรับกฎกระทรวงใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือออมสูงสุดได้ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท เขาจะส่งเท่าไรก็ได้ในปีนี้นั้น แต่รัฐบาลกำหนดการสมทบเป็นช่วงอายุ ก็คือถ้าอายุ ๑๕-๓๐ ปี จะได้ครึ่งหนึ่งของเงินออม แต่ไม่เกิน ๑,๘๐๐ บาท หมายความว่า ถ้าน้องใส่วันนี้ ๑๐๐ บาท เดือนหน้าได้ ๕๐ บาท ใส่ ๑๐,๐๐๐ บาท ได้ ๑,๘๐๐ บาท แต่ถ้าอายุ ๓๐-๕๐ ปี รัฐบาลจะสมทบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเงินออม ก็ไม่เกิน ๑,๘๐๐ บาท เช่นเดียวกัน ถ้าอายุ ๓๐ ปี ใส่ ๑๐๐ บาท ก็ได้ ๘๐ บาท ถ้าใส่ ๑๐,๐๐๐ บาท จะได้ ๑,๘๐๐ บาท อายุ ๕๐-๖๐ ปี รัฐบาลให้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเงินออม แต่ก็ไม่เกิน ๑,๘๐๐ บาท ใส่ ๑๐๐ บาท ได้ ๑๐๐ บาท ใส่ ๑,๘๐๐ บาท ได้ ๑,๘๐๐ บาท อันนี้คือหลักการของ กอช. คราวนี้การดำเนินงานของเราต้องบอกว่าเราตระหนักเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทย จะต้องรู้จักออมก่อนใช้ อันนี้ต้องบอกว่าที่ท่านอภิปรายมาว่าตอนต้นปีอาจจะไม่มีเรื่อง รายงานนี้ แต่ที่ปีหลัง ๆ มาเรามีการลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้าน เรามีการบูรณาการทำงาน ค่อนข้างแน่นแฟ้นกับกระทรวงมหาดไทย ลงไปสู่ผู้ใหญ่บ้าน สร้างตัวแทนในหมู่บ้าน ลงถึงตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็ลงถึง พอช. ก็ลงด้วย แล้วก็ธนาคารของรัฐในปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ที่ช่วยเราจะมีธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย แต่ปัจจุบันนี้เราขยาย เครือข่ายค่อนข้างเยอะมากนะคะ ก็เพิ่มมาที่ล่าสุดก็คือธนาคารอิสลามแบงก์ แล้วก็ยังมี ตัว Counter Service มี Application มี LINE Ads มีทุกอย่างที่จะสอดคล้องกับภาวะ ปัจจุบัน อันนี้เป็นสิ่งที่เราดำเนินการมาถึงปีปัจจุบัน ต้องบอกว่า ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ อาจจะดูยังน้อยอยู่ เพราะว่าเป็นปีเริ่มต้นในการสร้างหน่วยงาน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกอันหนึ่ง คือการลงทุนของ กอช. จะมีกฎหมายพิเศษว่า ถ้ากองทุนบริหาร ขาดทุน เมื่อ ๖๐ ปีต่ำกว่าเงินฝากประจำ ๑ ปี ทางกองทุนต้องชดเชยเงินให้ อันนี้เป็นสิ่งที่ เราไม่สามารถจะลงทุนอะไรเสี่ยง ๆ ได้ ปัจจุบันนโยบายการลงทุนตอน ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ กำหนดไว้ว่าจะต้องลงทุนในความเสี่ยงต่ำ ร้อยละ ๘๐ ส่วนใหญ่ในปีแรกจะเห็นว่าอยู่ใน เงินฝากเท่านั้นนะคะ แล้วถัด ๆ มาก็จะลงทุนในหุ้นกู้บ้าง พันธบัตรรัฐบาลบ้าง แต่ปัจจุบัน เรามีการปรับในการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำประมาณร้อยละ ๗๐-๘๐ แต่ว่าจะมีหุ้นกู้ประชาชนเข้ามารวมด้วย ซึ่งก็มี Rating A ขึ้นไปที่เราลงทุน อีกทั้งกองทุน อสังหาริมทรัพย์ก็ลงในนั้นประมาณ ๗-๘ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในระยะยาว อยู่ที่ประมาณร้อยละ ๒-๓ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ที่เราทำอยู่ค่ะ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำไมทำขาดทุน การรับงบประมาณแผ่นดินของเราต้องมี การทำ Procession ล่วงหน้า ๓ ปี บางทีรายงานประจำปีจะเป็นพันล้านบาท แต่จริง ๆ เราได้รับมาแค่หลักไม่กี่ร้อยล้านบาทเองนะคะ อันนี้เป็นการประมาณการรายงานประจำปี แต่จริง ๆ แล้วต้องรายงานให้กับทางรัฐมนตรีทุกเดือนด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาเราก็มีการ Monitor อย่างใกล้ชิด คณะกรรมการเองอย่างที่ท่านเรียนไปแล้วว่าจะเป็นตัวแทน ถึงจะเป็นโดยตำแหน่ง แต่ท่านปลัดก็ส่งตัวแทนมา เนื่องจากว่ามันเป็นกองทุนที่เราต้องช่วยกันดูแล

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกข้อหนึ่งที่ถามว่าทำไมเรามีค่าใช้จ่ายบุคลากรเยอะ ต้องบอกว่าเราไม่มีสาขา เราต้องพึ่งพิงเครือข่ายค่ะ เพราะเรามองว่าการมีสาขาเป็นการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งที่เรากำลังดำเนินงานคือว่าเราพยายามที่จะสร้างเครือข่ายให้อย่างแน่นแฟ้นจากธนาคาร ของรัฐทั้งหมด ๕ สถาบันด้วยกัน ก็พยายามอบรมให้ความรู้ เนื่องจาก กอช. เป็นงานฝาก บางธนาคารอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ หรือว่าบางสาขาอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องเรา เราก็พยายาม ประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำอยู่

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งคือการที่ท่าน สส. อภิปรายว่า กอช. เองจะมีการปรับปรุง เราก็มีการประชุม ทุก ๆ ๕ ปี กอช. จะต้องมีการดูว่าเงินสะสมสมทบเหมาะกับสถานการณ์ไหน ตอนตั้งกองทุนปี ๒๕๕๘ ครั้งแรกเรามีการออมได้เต็มเพดานแค่ ๑๓,๒๐๐ บาท แล้วก็สมทบ เป็น ๖๐๐ บาท ๘๐๐ บาท ๑,๒๐๐ บาท ที่ท่านอภิปรายไปแล้ว ปัจจุบันเราก็ปรับ แล้วอีก ๕ ปีข้างหน้าคณะกรรมการต้องกลับมาทบทวนเพื่อเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีอนุมัติถัดไป เพื่อเป็นการดูแลพี่น้องประชาชนว่าในอนาคตคุณต้องมีอย่างน้อยบำนาญกับ กอช. ไว้ใช้ เป็นรายเดือน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งคือว่า กอช. เองถ้าสมาชิกเสียชีวิตระหว่างทางก็ตาม มันจะเป็น มรดกตกทอดกับทายาทเขา การบริหารจัดการของ กอช. เป็นบัญชีรายบุคคล ออมน้อย ได้น้อย ออมมากได้มาก ไม่ใช่จะแก่ก่อนได้ก่อน ความมั่นคง สถานะของกองทุนดิฉันคิดว่า มีความมั่นคงสูงเพราะว่าเราทำระบบงานกองทุนแบบสากล ก็ต้องบอกว่าเหมือน กบข. เหมือนสมาชิกที่เป็นบัญชีรายบุคคลแล้วมีการดูแลกันอย่างใกล้ชิด แล้วก็มีระบบงานที่เรามี การลงทุนเราก็ทำเอง ยังไม่ได้จ้างใคร เพราะเนื่องจากสินทรัพย์เราแค่ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งท่านรองเลขาธิการก็มาด้วย มีอนุกรรมการลงทุนตามกฎหมาย จะต้องกำกับดูแล การลงทุนอยู่ในกรอบที่เราวางนโยบายไว้ โดยมีท่าน Board กำกับอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราต้องระมัดระวังการดำเนินการที่เกี่ยวกับการลงทุน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

สำหรับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดิฉันขอรับไว้ว่าสิ่งที่ท่าน สส. อภิปรายในวันนี้ ต้องบอกว่าเป็นประโยชน์ต่อกองทุนมาก เรามองว่ากองทุนนี้ต้องช่วยกันเพื่อจะทำงาน เราเองก็มองเห็นเรื่องประกันสังคมเหมือนกันว่าควรจะต้องมารวมกัน เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ สอดรับกัน ซึ่งประกันสังคมเขาดูเรื่องสวัสดิการชดเชยแรงงานเวลาเขาป่วย หรือฌาปนกิจสงเคราะห์ แต่ กอช. นี่ชัดเจนคือบำนาญภาคประชาชน ซึ่งตอนนี้เราก็มีการเสนอแก้กฎหมายอย่างที่ ท่านเสนอมาแล้วว่ายังไม่ถึงไหน จริง ๆ ต้องบอกว่ากระบวนการการแก้กฎหมายของเรา เราก็เสนอผ่าน Board ไปแล้วตอนนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง เราจะขอปรับไปประมาณ ๔-๕ ข้อ ข้อแรกคือขยายอายุสมาชิกปัจจุบันเป็น ๖๕ ปี จากเดิม ๖๐ ปี อันที่ ๒ คือ ความร่วมมือบูรณาการให้มาตรา ๔๐ ทั้งหมดสามารถสมัครคู่กับ กอช. ได้ อันที่ ๓ ก็คือ อาจจะกันบำเหน็จให้กับสมาชิกบางส่วน บำนาญบางส่วน เพราะส่วนมากสมาชิกจะบอกว่า อยากได้เงินก้อน ซึ่งจริง ๆ แล้วหลักการเราคืออยากมีเงินเดือนให้ใช้ตลอดชีพ อันที่ ๔ ก็คือว่า ถ้าเขามีความจำเป็นก็สามารถที่จะขอคืนเงินได้ในกรณีที่เขาจะใกล้เสียชีวิต อะไรประมาณนี้ค่ะ ซึ่งเราเสนอเข้าไป ซึ่งอยู่ในการทำพิจารณา ถ้าเสร็จแล้วก็คงจะเข้ามาที่รัฐสภาแห่งนี้ อีกครั้งหนึ่งค่ะ อย่างไรก็ตามระบบงานต่าง ๆ เรามองว่าสิ่งที่เราตั้งใจ ทีมงานเองก็ดี ที่เรามารับผิดชอบตรงนี้ต้องบอกว่ามุ่งมั่นตั้งใจ เราลงพื้นที่ค่อนข้างต้องบอกว่าเกือบทุกเดือน ลงไปตอนที่เราทำตอนนี้ปัจจุบันคือมุ่งสู่นักเรียนน้อง ๆ มัธยม เพื่อให้เข้าใจว่าออมก่อนใช้ เป็นอย่างไร ออมวันละ ๑๐ บาทได้อะไร เพราะ กอช. ขั้นต่ำคือ ๕๐ บาท รัฐบาลออมให้ ๒๕ บาท เพราะฉะนั้นน้องอาจจะต้องสนใจ ตอนนี้เราลงนักเรียนเป็นหลักแล้วค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าส่วนที่เหลืออีก ๘ ล้านคน น่าจะเป็นน้อง ๆ นักเรียนอีก ๔ ล้านคน ที่เราทำ อันที่ ๒ คือเราร่วมมือกับมหาวิทยาลัย พยายามจะให้มีการเรียนรู้เรื่องการบริหาร จัดการการเงินส่วนบุคคล เราก็มีการทำ มองกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย จะให้อย่างไร เข้าสู่หลักสูตรให้กับนักเรียนน้อง ๆ เยาวชนทุกคนได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินของเขา ในอนาคตด้วยค่ะ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออม แห่งชาติ ต้นฉบับ

สำหรับเรื่องอื่น ๆ ก็ขออนุญาตรับไปปรับปรุงงานบริการต่าง ๆ ที่ท่าน เสนอแนะมา ด้านประชาสัมพันธ์ก็ดี การบริการสมาชิกก็ดี เราหวังอย่างยิ่งว่ากองทุนนี้ จะอยู่คู่ชาวไทย ให้เขามาเลือกใช้บริการกองทุนของเรา เพราะกองทุนของเรามีความยากคือ ด้วยความสมัครใจค่ะ แล้วแต่เขาจะมาออม แล้วถ้าออมเราก็จะสมทบให้ แต่ถ้าไม่ออมเราก็ จะต้องบอกว่าเชิญชวนให้เขามาออมทุกปี ซึ่งเราก็มีการเตือนสมาชิกทุกปี สมาชิกเดิมต้องมาออม ต่อเนื่อง เพราะว่าเราก็มีการที่จะให้เขาเข้าใจว่าเราเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง แต่เป็นกองทุนที่เราไม่มีสาขา เราต้องพึ่งพาตัวสำนักงานธนาคารของรัฐทั้งหมด แต่เราเอง ก็พยายามพัฒนา Application ให้เข้าถึงเตือน แล้วก็มี LINE Ads เพื่อให้เขาเข้าถึง เพราะคนไทย ส่วนมากใช้ LINE ค่ะ ก็จะขออนุญาตตอบโดยรวมค่ะ ถ้าท่าน สส. จะมีข้อแนะนำอะไร ทาง กอช. ยินดี รายงานประจำปีของเราคงพบกันในปี ๒๕๖๕ ในเร็ว ๆ นี้ได้ทำเสร็จแล้วค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านยังติดใจใช่ไหมครับ เชิญครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ผมขอปรึกษาท่านประธานนิดหนึ่งครับว่า ในกรณีที่หน่วยงานองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานที่ต้องมาชี้แจงกับสภาแห่งนี้ ผมอยากให้ฝ่ายกฎหมายลองปรึกษาหารือด้วยว่า การที่จะรวบรวมข้อมูลแต่ละปี ถ้าไม่จำเป็นว่าปีต่อปี หรือว่าจะรวบยอดเพื่อให้เป็นปัจจุบัน ได้หรือเปล่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครับท่านประธาน ปี ๒๕๕๘ แล้วถามว่าเมื่อไรจะ Update เพราะฉะนั้นฝากฝ่ายกฎหมายและท่านประธานด้วยว่า องค์กรเหล่านี้มันมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ยังไม่ Update เพราะฉะนั้นก็ฝากทางกองทุนการออมแห่งชาติว่า การชี้แจงต่อสภา ระเบียบ มันไม่ได้กำหนดเวลาไว้หรือครับ แล้วเราจะอภิปรายรายงานการประชุมแบบข้อมูลปัจจุบัน ได้เมื่อไร นี่ก็คือสิ่งที่พวกผมเองไม่ได้ติดใจในเนื้อหาประเด็น เมื่อสักครู่นี้ผู้ที่ชี้แจงท่านประธาน สังเกตไหมครับ ท่านไม่กล้าลงรายละเอียดปัจจุบันเพราะมันไม่ได้อยู่ในเล่มนี้ เพราะฉะนั้น พวกเราก็พูดแต่ปี ๒๕๕๘ แต่ปัจจุบันท่านไม่กล้าพูดหรอกครับ เพราะว่าเขาให้มาอภิปราย ในเรื่องของปี ๒๕๕๘ ก็เลยฝากท่านประธานฝ่ายกฎหมายของสภาว่า เราจะแก้ปัญหา หน่วยงานองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานที่ต้องมาชี้แจงกับสภานี้ให้มัน Update รวบยอด ผิดระเบียบหรือเปล่า ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านสมาชิกครับ คือว่ารายงานทุกเรื่องมันจะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี แล้วก็เข้ามาสู่สภา อย่างเช่นยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศทุก ๓ เดือนก็ต้องรายงานต่อสภา แต่ต้องไปผ่าน ครม. ก่อน ดังนั้นความล่าช้าก็ไปติดอยู่ที่การประชุมคณะรัฐมนตรี อันนี้ ช้าส่วนหนึ่ง แล้วก็มารอ แต่ว่ามารอเยอะ ทีนี้ก็ว่างบ้าง ไม่ว่างบ้าง เราก็ต้องทวงไปว่า รีบ ๆ เอามาเสนอต่อสภา นี่ค้างเยอะ ไม่ใช่เฉพาะเราที่ว่ามีปัญหา แต่ว่าหน่วยงานบางที ก็ไม่ว่างนะครับ นี่ก็เป็นปัญหา จริง ๆ แล้วเราอยากจะเปิดให้เสนอรายงานทั้งวันแบบนี้ แล้วก็รวบ ๆ มา เดี๋ยวเราจะพยายามประสานให้เขารวบรัดไม่ให้คั่งค้างแบบนี้ ต้องขอรับปาก ท่านสมาชิกครับ นี่ตกค้างนะครับ ต้องมาดูระบบใหม่ ปี ๒๕๖๔ เขารายงานไปแล้วต่อสภา นี่ตกค้าง เดี๋ยวมาทำระบบใหม่ คิดว่ารัฐบาลใหม่แล้วก็ผู้แทนยุคใหม่เดี๋ยวจะเริ่มปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์ไม่ให้คั่งค้าง ขอบคุณท่านสมาชิกนะครับ มีท่านใดสงสัยอีกไหมครับ ถ้าไม่มีถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ ของกองทุน การออมแห่งชาติแล้วนะครับ ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๑๖ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีสมาชิกจะอภิปรายไหมครับ มีนะครับ ถ้าอย่างนั้นผมก็ขออนุญาตให้ผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ ขอเชิญผู้มีรายชื่อต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุมนะครับ ท่านไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ท่านพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คุณสุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คุณภมรศรี แดงชัย ผู้อำนวยการสำนักธรรมาภิบาล และบริหารทั่วไป คุณภัณฑิกา สหายมิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลยุทธ์งบประมาณ และการเงิน คุณกนิษฐา คุณาวิศรุต รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาส ทางการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ขอเชิญทุกท่านเข้าประจำที่นะครับ มีท่านสมาชิกที่ได้เสนอชื่อมาเพื่อขออภิปราย เราจะเริ่ม ที่ท่านที่ ๑ ท่านนพดล ปัทมะ เชิญครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก่อนที่จะพูดถึงรายงานประจำปีของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ผมขออนุญาต กราบเรียนดูป่าทั้งป่าเรื่องการศึกษาสักนิดหนึ่งก่อนนะครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่า ปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทยมันมีอยู่ ๒ เรื่อง ก็คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ เรื่องของคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำบางคนอาจจะใช้คำว่าเสมอภาค หรือใช้คำว่าโอกาส ก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเราหนีไม่พ้น ๒ เรื่องใหญ่ซึ่งเราต้องจัดการ ปัญหาของประเทศไทย ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาในเชิงระบบ เรามีกรรมการเต็มไปหมดเลยครับท่านประธาน เราลองดูนะครับ เรามีคณะรัฐมนตรี เรามีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เรามีคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เรามีกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าลงไปในระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐานมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยเต็มไปด้วยคณะกรรมการ ไปหมด เพราะฉะนั้นมันจึงมีปัญหาเรื่อง Accountability หรือความรับผิดชอบทางการเมือง หลายประเทศความรับผิดชอบทางการเมืองว่าคุณล้มเหลวหรือไม่อยู่ที่คณะรัฐมนตรี แต่หลายเรื่องอำนาจของคณะรัฐมนตรีถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ เพราะเรามีคณะกรรมการ อิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น เมื่อไม่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนมันก็มีปัญหาว่า ความล้มเหลวใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ผมดูตัวชี้วัดนิดหนึ่ง ท่านประธานครับ มันมีตัวชี้วัด หลายตัว เรามาดูว่าไม่ว่าท่านจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาทางการศึกษาของไทย การจัดอันดับทางการศึกษา การทดสอบทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน อ่านภาษาไทยด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ของ PISA Programme for International Student Assessment ของ OECD คะแนนประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ อยู่ที่ ๔๒๓ ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ ๓๙๓ ปีล่าสุดนะครับ ปีสุดท้ายยังไม่ได้ประกาศผล ท่านประธานที่เคารพครับ ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งผมจะให้ท่านดูเรื่องของภาษาอังกฤษ ท่านจะเห็นลดลำดับมาเรื่อย ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ มีปี ๒๕๖๕ เพิ่มเข้ามา ๓ ลำดับอยู่ที่ ๙๗ เมื่อปี ๒๕๖๔ อยู่ลำดับที่ ๑๐๐ เราแพ้หลายประเทศ อันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป อันนี้คือ ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าท่านจะใส่งบประมาณไปเท่าไร ท่านจะมีแผนปฏิรูปไปเท่าไร ท่านจะมีแผนการศึกษาแห่งชาติไปเท่าไร ท่านจะมี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไปเท่าไร ท้ายที่สุดนี่คือตัวชี้วัดที่เป็นพยานหลักฐานชัดเจนที่สุดว่าการศึกษาไทยเรามาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกพูดชัดเจนนะครับ ถ้าเราเพิ่มคะแนน PISA เราจะเพิ่ม GDP เราจะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ ทีนี้กลับมาดูต้นไม้ที่มีค่าที่เรียกว่า สมศ. ในป่าใหญ่ ๆ ของการศึกษา ผมชื่นชม สมศ. ด้วยความจริงใจ ในฐานะที่เป็นลูกครูประชาบาลเด็กต่างจังหวัดมาเป็นเด็กวัดที่กรุงเทพฯ แล้วก็ได้เรียนหนังสือ ผมชื่นชมการทำงานของท่าน ขอบคุณท่าน แล้วก็ขอให้ท่าน ประสบความสำเร็จ ท่านประธานที่เคารพครับ มาดูงบประมาณสิครับ บทบาทของ สมศ. นี่สำคัญมาก ดูงบประมาณครับ ปี ๒๕๖๔ อยู่ที่ประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ลดลงมาอยู่ที่ ๕,๖๐๐ กว่าล้านบาท นี่เป็นตัวเลขงบประมาณหลังโควิดนะครับ การเกิดโควิด ซึ่งในรายงานของท่านได้สะท้อนปัญหาโควิดกระทบอะไรบ้าง ๑. กระทบเด็ก หลุดจากระบบการศึกษา ๒. กระทบ Learning Loss หรือการเรียนรู้ที่ถดถอย ๓. กระทบ ครอบครัวที่เปราะบาง ถ้าท่านตามข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อผูกคอลูก ๑๐ ขวบเสียชีวิต แล้วก็ผูกคอตัวเองตายเพราะว่าความยากจน แล้วในที่เกิดเหตุ มีจดหมายขอทุนจาก กสศ. ไม่ใช่ความผิดของ กสศ. ครับ แต่ความผิดของระบบทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าเงินไม่กี่พันบาทสามารถช่วยชีวิตคนได้ ผมเจ็บปวดครับท่านประธาน เห็นลูกหลานของเราต้องเสียชีวิตในสภาพแบบนี้เป็นเรื่องที่เศร้าครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทีนี้มาประเด็นครับ ผมดูโครงการหลาย ๆ โครงการของท่านมีโครงการ พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา มีโครงการทุนนวัตกรรม มีโครงการ พัฒนาทักษะเยาวชน มีโครงการพัฒนาครู โครงการท่านเยอะ แต่งบประมาณส่วนใหญ่ ประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาทท่านไปช่วยกับกองทุนเสมอภาค ช่วยเด็กประมาณ ๑.๓ ล้านคน ผมใช้ตัวเลขหารดู ท่านประธานครับ ปีหนึ่งจะได้ประมาณครอบครัวละ ๒,๗๖๓ บาท ตกเดือนละประมาณ ๒๓๐ บาทต่อคน ซึ่งต่ำมาก อันนี้ไม่ใช่ความผิดของท่าน แต่เป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องสนับสนุนงบประมาณของท่านให้เพิ่มมากขึ้น ผมมาถึงจุดนี้ผมคิดว่าในเมื่อ ความจำกัดของงบประมาณ อยากจะเรียกร้อง อยากจะเสนอท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ว่า ระหว่างปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับปัญหาเรื่องคุณภาพ กสศ. ควรจะโฟกัสหรือเน้นที่เรื่อง ของความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก ทำให้ดีเลยครับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวเลขเด็กนอกระบบ เด็กยากจนพิเศษ เด็กจากครอบครัวที่มีปัญหา ให้มีข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อสนับสนุน การทำงานของประเทศ เน้นที่ความเหลื่อมล้ำ ถ้าท่านไปเน้นเรื่องคุณภาพด้วย ซึ่งมันมี หน่วยงานเยอะแยะไปหมด ผมว่างานจะอาจจะซ้ำซ้อนกันได้ อันนี้เป็นข้อเสนอแนะที่ผม เสนอให้ท่านกรุณาไปพิจารณานะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมมีเวลาอีก ๒๗ วินาที ขออนุญาตนิดเดียวเป็นข้อสุดท้ายอยากจะเสนอเผื่อจะเป็นประโยชน์ ผมมีข้อเสนอให้ท่านดู อย่างนี้ท่านประธานครับ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ก็คือว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัด การศึกษา ต้องกระจายไม่กระจุก โครงสร้างที่ผ่านมาล้มเหลวแล้วก็เราต้องเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจโดยกระจายอำนาจการศึกษาให้มากขึ้นท่านประธานครับ ต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์ใหม่ กระจายให้โรงเรียน กระจายให้เขตพื้นที่

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ต้องสร้างหลักในแง่ความรับผิดชอบก็คือ Accountability ให้เกิดขึ้น ล้มเหลวอย่างไรองค์กรนั้นต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะผมคิดว่าความรับผิดชอบ ต้องกลับมาที่คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าจะให้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งท่านไม่รู้จะรับผิดชอบกับใคร

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเพิ่มคะแนน PISA จะเพิ่ม คะแนนอันดับความสามารถของเด็กไทยในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่ม GDP แล้วก็เพิ่ม ขีดความสามารถให้ประเทศ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ พวกเราถ้ามีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณให้ กสศ. อย่างแน่นอน ท่านประธานครับ เพื่อเพิ่มให้เด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ ตั้งเป้าครับ ครั้งแรกตอนมีกองทุนนี้ท่านควรจะมีงบประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทางด้าน การศึกษาทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีประมาณ ๑ เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่านั้น เราตั้งเป้าว่าจะต้องไป ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทางด้านการศึกษาให้ได้ เพราะงานของท่านมีประโยชน์โดยตรง กับเด็กลูกหลานของเรา

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ ท่านประธานครับ ผมอยากจะให้ กสศ. เน้นที่แก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำพูดมาแล้ว โฟกัสที่เรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำให้เสร็จ เรื่องคุณภาพการศึกษา ให้โอกาสให้หน่วยงานอื่นได้ทำ

นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ก็คือเป้าหมายของเราเด็กทุกคนอยากเรียนต้องได้เรียน อยากรู้ต้องได้รู้ ต้องไม่มีเด็กของเราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่านประธานครับ โครงการ Zero Drop Out หรือว่าการหลุดออกจากระบบการศึกษา ๐ คนต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ อันนี้ เป็นหน้าที่ของ กสศ. โดยตรง ในอดีตพรรคไทยรักไทยเคยมีโครงการหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะทำโครงการหลักประกันโอกาสทางการศึกษาถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นให้จงได้ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือว่า กสศ. ท่านประธานครับ แม้เราจะคุ้นเคย กับนโยบายเรียนฟรีมาหลายปีแล้ว แต่เราต้องยอมรับว่าต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาในประเทศไทยนั้นมาจากการที่การศึกษานั้นยังไม่ฟรีจริง สถิติหนึ่งที่น่าตกใจครับ คือในทุก ๆ ๑๐๐ บาทที่ถูกใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศนี้ รัฐเป็นคนจ่ายเพียงแค่ ๗๘ บาทเท่านั้น อีก ๒๒ บาทนั้นเป็นสิ่งที่ครัวเรือนและผู้ปกครองทั่วประเทศนั้นต้องควัก ออกมาจ่ายเอง ท่านประธานครับ ดังนั้นโจทย์หลักที่ผมอยากจะตั้งในการอภิปรายวันนี้ ก็คือเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการดำเนินการของ กสศ. ตลอดระยะเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ที่จะช่วยให้เราเห็นทางออกในการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เรามีระบบที่สามารถ แปรเงินนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับประกันสิทธิในการเรียนฟรีของเด็กทุกคน ผมมีทั้งหมด ๔ คำถามที่อยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ในวันนี้ครับ ขออนุญาต ขึ้น Slide คำถามที่ ๑ ครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๑ เกี่ยวข้องกับงบ ที่ กสศ. นั้นจัดสรรให้กับผู้ปกครองของนักเรียนยากจนพิเศษภายใต้ชื่อโครงการทุนเสมอภาค ถ้าเราย้อนไปดูรายงานประจำปีของ กสศ. ที่ผ่านมาเราจะค้นพบว่าอัตราเงินอุดหนุนทุน เสมอภาคที่ กสศ. จัดสรรให้กับนักเรียนยากจนพิเศษนั้นนิ่งอยู่ที่ ๓,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๓ นับรวมกันเป็น ๔ ปีการศึกษา ความนิ่งของอัตรานี้ก็ดูจะสวนทาง กับสภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ครัวเรือนของครอบครัวยากจนพิเศษ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นครับท่านประธาน ผมอยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ว่า กสศ. นั้นมีแผนจะเพิ่มอัตราของทุนเสมอภาคหรือไม่ และหากมีจะเป็นอัตราที่เท่าไร และนอกจากแผนในการเพิ่มอัตราแล้ว กสศ. มีแผนจะขยายฐานนักเรียนไหมครับ ที่จะเข้าเกณฑ์ในการได้รับทุนเสมอภาคตรงนี้ และหากจะขยายนั้นจะขยายอย่างไร

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ไปสู่คำถามที่ ๒ เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับงบที่กระทรวงศึกษาธิการนั้น จัดสรรไปที่โรงเรียนสำหรับการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนทุกคนทั่วประเทศ แม้งบก้อนนี้อาจจะไม่ได้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ กสศ. แต่ผมเชื่อว่า กสศ. ก็รับรู้ดีว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศนั้นขาดแคลนทรัพยากร ก็เป็นเพราะ การจัดสรรงบให้แต่ละโรงเรียนนั้นใช้สูตรที่อ้างอิงรายหัวนักเรียนหรือว่าจำนวนนักเรียน เป็นหลัก ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดเล็กนั้นเสียเปรียบ มีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีครูไม่พอ สำหรับทุกวิชา มีครูไม่พอสำหรับทุกระดับชั้น ครูที่มีอยู่น้อยนิดแล้วก็ต้องแบกรับภาระ ทั้งงานสอนและงานด้านอื่น ๆ ในบางโรงเรียนคุณครูก็ต้องวิ่งไปเชิญชวนให้ผู้ปกครองนั้น ส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนของตนเองเพื่อพยายามจะเพิ่มให้โรงเรียนนั้นมีงบประมาณเพียงพอ ในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ผมเข้าใจดีว่าสถานการณ์นี้มันไม่มีทางออกที่ง่ายนัก แต่คำถามที่ ๒ ที่ผมมีครับ ที่อยากจะถามท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่า กสศ. นั้น มีข้อเสนออย่างไร เพื่อทำให้การจัดสรรงบประมาณระหว่างโรงเรียนนั้นมีความเป็นธรรม มากขึ้น และเพื่อทำให้เด็กทุกคนนั้นเข้าถึงโรงเรียนที่มีงบประมาณเพียงพอในการจัด การศึกษาที่มีคุณภาพ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ไปสู่คำถามที่ ๓ ครับท่านประธาน เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ ในการจัดสรรงบประมาณระหว่างการให้งบประมาณตรงไปที่ผู้ปกครองหรือว่านักเรียน ในฐานะผู้รับบริการการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบประมาณผ่านไปที่โรงเรียน ในฐานะผู้ให้บริการการศึกษา ท่านประธานครับ ผมคิดว่าคำถามนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการออกแบบระบบงบประมาณด้านการศึกษาในภาพรวม และผมเชื่อว่าคงไม่มีหน่วยงานใด อยู่ในจุดที่จะตอบประเด็นนี้ได้ดีไปเท่ากับ กสศ. ที่ผมพูดแบบนี้ครับ ก็เพราะว่าหากเรา พิจารณาเงินอุดหนุนประเภทต่าง ๆ ที่ถูกจัดสรรให้กับนักเรียนยากจนพิเศษที่ กสศ. นั้น มีส่วนร่วมและรับบทบาทหลักในการคัดกรอง เราจะเห็นว่านักเรียนกลุ่มนี้ได้รับเงินอุดหนุน เพิ่มเติมผ่านกลไก ๒ ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่าทุนเสมอภาคที่ กสศ. นั้น จ่ายตรงไปให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในลักษณะของ Demand-side Financing ส่วนประเภทที่ ๒ เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ สพฐ. นั้นจัดสรรไปที่โรงเรียน ในลักษณะของ Supply-side Financing คำถามที่ ๓ ที่ผมมีครับ ที่อยากจะถามท่านประธาน ผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นการให้เงินอุดหนุนแบบไหนครับ มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และหากเราสามารถออกแบบระบบงบประมาณได้ใหม่ เริ่มต้น จาก ๐ ใหม่หมดเลย ทาง กสศ. คิดว่าเราควรจะออกแบบระบบงบประมาณที่เน้นไปที่ การอุดหนุนแบบ Demand-side Financing หรือแบบ Supply-side Financing มากกว่ากัน และในสัดส่วนอย่างไร

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มาสู่คำถามข้อสุดท้าย ข้อที่ ๔ ครับ เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาระหว่างแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ที่ผมต้องถาม ประเด็นนี้ครับ เพราะผมอยากจะให้ประชาชนนั้นได้เห็นว่าตั้งแต่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๖๑ กสศ. ได้ดำเนินการมาถึงทุกวันนี้ด้วยสัดส่วนงบประมาณที่น้อยกว่าที่ถูกออกแบบไว้ตอนแรก เพราะหากเราไปดูข้อสังเกตของคณะผู้ยกร่างในคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กสศ. นั้นได้ระบุไว้ชัดนะครับว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ กสศ. ในช่วงแรก ๆ นั้นควรจะอยู่ที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงครับ ตามภาพที่ปรากฏ ใน Slide นี้เราจะเห็นว่าตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาตัวเลขนั้นกลับอยู่เพียงแค่ ๐.๕-๑.๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าหากเราจัดสรรงบประมาณของ กสศ. ตามเป้าหมายดั้งเดิมที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่ถูกวางไว้ตอนแรก กสศ. จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น ถึงปีละประมาณ ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นครับท่านประธาน คำถามสุดท้ายที่ผมอยากจะถาม ท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. ก็คือว่าหากในอนาคตหน่วยงานของท่านได้รับการจัดสรร งบประมาณเพิ่มขึ้นจริง แน่นอนซึ่งบางส่วนอาจจะมาจากการประหยัดงบประมาณ โดยการยกเลิกโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่อาจจะไม่จำเป็น และถูกทักท้วงว่า เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับคุณครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่หากสามารถเพิ่ม งบประมาณให้กับหน่วยงานท่านได้จริง ท่านคิดว่าท่านจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ กับอะไรครับ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างคุ้มค่า ต่อภาษีของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าหาก กสศ. มีคำตอบที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล ต่อ ๔ คำถามนี้ ผมหวังว่าเราจะเริ่มเห็นแสงสว่างครับ ที่จะช่วยนำพาประเทศเราเดินหน้า ไปสู่การปฏิรูประบบการศึกษา และปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อให้ทุกคน ได้เรียนฟรีจริง ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจทาง กสศ. ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง ประเทศเราจะไม่จำเป็นต้องมีกองทุนที่ทำหน้าที่ในลักษณะที่ท่านทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะว่าท่านจะล้มเหลวครับ แต่เพราะผมหวังว่าท่านจะประสบความสำเร็จ ในการสร้างระบบที่ทำให้เด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนสามารถเข้าถึง การศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทัดเทียมกันครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ เชิญครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมก็ขอมีส่วนร่วมอภิปรายในการรับทราบรายงานประจำปี เรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ คำว่าความเสมอภาคทางการศึกษา ท่านก็เขียนไว้มันก็หมายความว่าการให้ประชาชนมีสิทธิ ที่จะได้รับการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงเสมอภาค อันนี้ละครับ แล้วก็ความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา ท่านพยายามจะบอกว่าคือความไม่เท่าเทียมในทางการศึกษา อันเนื่องมาจาก คุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษา คำพูดทุกคำพูดนะครับ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดมา แล้วก็ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อจะให้ลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความเสมอภาค แต่ผมคิดว่า ยิ่งตั้งกองทุนความเสมอภาค ยิ่งตั้งการทำงานมันยิ่งเป็นการซ้ำซ้อน มันยิ่งเกิดความไม่เสมอภาค เพราะที่มีอยู่แล้วมันก็ไม่ค่อยเสมอภาคอยู่แล้ว ในกองทุนเพื่อความเสมอภาคนี่ท่านก็พยายาม จะบอกว่าเราได้งบประมาณมาน้อย คนก็น้อย เงินก็น้อย การทำงานก็ยากลำบาก ผมถึงบอก อย่างไรครับว่า โดยเฉพาะการศึกษาในวันนี้โครงสร้างประชากรก็เปลี่ยนแปลง สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย เด็กเกิดลดลงปีละ ๔๐,๐๐๐ คน แสดงว่าเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาลดลงปีละ ๔๐,๐๐๐ คน โรงเรียนของ สพฐ. ปัจจุบันนี้มีเกือบ ๓๐,๐๐๐ โรง ครึ่งหนึ่ง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กต่ำกว่า ๑๒๐ คน แล้วครึ่งหนึ่งก็ต่ำกว่า ๖๐ อันนี้ละครับผมถึงอยากกราบเรียนมายังท่านประธานสภาที่เคารพ ผ่านไปยังกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งท่านก็บอกว่ามีงบน้อยอยู่แล้ว ภารกิจก็น้อย ข้อมูลต่าง ๆ จริง ๆ แล้วข้อมูลมันมีอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษาถ้าท่านจัดตั้งขึ้นมาแล้วกระจายอำนาจ หรือทุกภาคส่วนมีข้อมูลอยู่เต็มไปหมดแล้ว แต่ขณะเดียวกันกองทุนนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่าเพื่อเด็ก ที่มีความยากจนเป็นพิเศษ ผมถึงอยากจะยกตัวอย่างแค่ในเขตพื้นที่ของผมในเขตอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี เอาให้มันกระชับง่าย ๆ และเห็นตัวเลขที่ชัดเจน มีโรงเรียน สพฐ. อยู่ประมาณ ๑๑๓ โรง ๖๖ โรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กต่ำกว่า ๑๒๐ คน ที่ต่ำกว่า ๖๐ คน มีถึง ๓๒ โรงเรียน ทุกวันนี้คุณครูอย่าไปหาแต่คุณภาพเลย ครูก็ไม่พอโรงเรียนจะต้องแจกซองผ้าป่าขอเงินชาวบ้าน ผมเองเป็น สส. ในเขตพื้นที่ก็ต้องดูแลช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกันไม่ว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชน จะช่วยเหลืออย่างไรก็มีการให้ปลา แล้วเงินหมดก็ต้องขอกันใหม่ ผู้บริหารองค์กรบริหาร ส่วนท้องถิ่นซึ่งรับผิดชอบกันอยู่ก็นั่งปรึกษาหารือกัน ผมได้ประชุมกับทางเขตพื้นที่ ก็ยังบอกว่าโอกาสตรงนี้ พ่อแม่พี่น้องครับ ท่านประธานสภาที่เคารพ ผ่านไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรของกองทุนเพื่อความเสมอภาค วันนี้ครูขาดแคลน แต่โครงการต่าง ๆ ที่ท่าน สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาเพื่อคนรุ่นใหม่ ให้โอกาสกลับส่งไปเรียนครูเพื่อเป็นครู รักถิ่น วันนี้เด็กก็ลดลงทุกวัน ท่านเคยถามไหมว่าโครงการอย่างนี้ก็ต้องอีกหลายปี ๔-๕ ปี กว่าจะกลับมาเป็นครูเพื่อรักถิ่นและท่านคิดว่าจะได้บรรจุไหม ทำไมท่านไม่เอางบประมาณ ตรงนี้ทำโครงการครูในถิ่น เอามาพัฒนาให้งานทำแล้วก็อยู่ในถิ่นตรงนั้น จะไม่มีประโยชน์ มากกว่าหรือครับ แล้วมันก็ตรงประเด็นกับความต้องการของชุมชนที่แท้จริง ผมอยากให้ท่าน ทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่ มิใช่สนองตอบต่อผู้ต้องการ สร้างโครงการขึ้นมา หรือโครงการในเรื่องของสร้างอาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งท่านบอกแล้วว่า ต้องการบูรณาการ เชื่อมโยง เพราะงบประมาณมันน้อย บุคลากรก็น้อย ท่านทำไมไม่ดึง องค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วม ภาคธุรกิจต้องการส่งเสริม ต้องการแรงงาน วันนี้ทางเขตอำเภอ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เรามีเขตอุตสาหกรรม มีแรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างมากมาย แสดงว่าเราขาดแรงงานอยู่แล้ว บริษัทห้างร้านต้องการคนส่งให้เรียนทุกอย่างเหล่านี้ มันก็จะเป็นการลดงบประมาณของภาครัฐ ท่านต้องการบริหารจัดการแบบเชิงบูรณาการ เชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ดึงภาคเอกชนในเขตพื้นที่เข้ามาร่วม ในการจัดการบริหาร ตรงนี้สิครับ ท่านก็สามารถที่จะลดงบประมาณ ลดคนได้อย่างมากทีเดียว จึงเป็นการสร้างโครงการพัฒนาศักยภาพอาชีพ โดยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเข้ามา รวมกัน ดังนั้นวันนี้ผมถึงบอกว่าโครงการที่เผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นจำนวนนับหมื่นโรงที่ต้องการความช่วยเหลือ แล้วโรงเรียนก็ต้องหาเงินกันและท่านคิดว่า อย่างไรจะเอาคุณภาพเกิดขึ้นมาได้ เงินจำนวนที่มีอยู่จะทำอย่างไรครับ ไม่ต้องไป PISA ไม่ต้องไปโครงการ O-NET อะไรหรอกครับ แค่เด็กจะอ่านออกเขียนได้ทุกวันนี้ ประชากร ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้นับวันก็น้อยลง ท่านจะรู้ว่าจนหรือรวยอย่างไรครับ วันนี้ อสม. พ่อแม่ ตั้งท้องปุ๊บ อสม. ไปถึงบ้านแล้ว ยิ่งกว่าไข่งูจงอางอีก คนเกิดแต่ละวัน ๆ นี่ ท่านไปหาเถอะครับ ข้อมูลตรงนี้มีเต็มพร้อมอยู่แล้วจะจนพิเศษ จนระดับกลาง จนน้อย จนมาก ท่านไม่ต้องไปหา ตรงไหนหรอกครับ ไปในเขตพื้นที่ ดังนั้นผมถือว่าโครงการที่จำเป็นที่สุดที่กองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาอยากจะรีบด่วนที่สุด และมีคุณค่ามากที่สุด

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

-๑๑๔/๑ นั่นคือการช่วยเหลือให้มีครูสอนโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ที่ว่าท่านน้อยแล้วนี่จ้างครูในเขตชุมชน สร้างงานให้ประชากรในพื้นที่ช่วยเหลือกันเองโดยมีครู แล้วคุณภาพก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะสื่อ คอมพิวเตอร์หรือครูตู้นั้นเป็นแต่อุปกรณ์ช่วยในการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ครูคือหัวใจ ของการเรียนที่ช่วยให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กในระดับก่อนประถม หรือเด็ก ป. ๑ มีคุณภาพที่สุด คือต้องการคุณครู ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาที่ได้มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึง การศึกษาของเด็กไทยทุกคนค่ะ แต่แน่นอนว่าปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาที่สำคัญ และจำเป็นที่จะต้องใช้สรรพกำลังในหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันแก้ไข ขอ Slide แผ่นถัดไปเลยค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

จากเล่มรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันมีข้อสังเกตที่สำคัญอยู่ ๒ ประการ เด็กยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงปี ๒๕๖๕ ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ ๑.๓ ล้านคน ในตัวเลขเด็กยากจนพิเศษเหล่านี้ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยในเอกสารหน้า ๑๙ อยู่ประมาณ ๑,๐๔๔ บาทต่อเดือน ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นรายวันก็คือวันละ ๓๔ บาท

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ขอ Slide แผ่นที่ ๒ ค่ะ ดิฉันเห็นว่าแนวโน้มดัชนีราคาด้านอาหาร และการเดินทางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทุกปี โดยมีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็น ค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนจะต้องแบกรับในด้านต่าง ๆ และมันหมายถึงอาจส่งผลต่อการสนับสนุน ให้เด็กได้มีโอกาสในการศึกษา ล่าสุดเมื่อสักครู่นี้มีเพื่อนสมาชิกได้นำเรียนไปแล้ว สัปดาห์ที่แล้ว มีเด็กยากจนต้องเสียชีวิตและขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะว่าไม่สามารถกู้ยืม กสศ. ได้ ความน่ากลัวของเรื่องนี้มันเกิดจากความจน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะสภาพเศรษฐกิจนั้นเชื่อมโยงและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน ขอ Slide แผ่นถัดไปค่ะ นี่คือข่าวที่สมาชิกได้ยกตัวอย่างให้เราได้เห็นค่ะ ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอและมีคำถาม ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดการดำเนินงานของ กสศ. ดังนี้ค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างแรกอยากให้ กสศ. มีระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนว่าปัจจุบัน มีเพียงพอแล้วหรือยัง ทั้งในเชิงกว้างว่าครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่หรือไม่ และในเชิงลึก คือการเข้าถึงเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่แท้จริงครอบคลุมหรือไม่ มีข้อเสนอแนะกับ กสศ. เหมือนที่เพื่อนสมาชิกท่านที่แล้วได้นำเสนอไป เรามีหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่มีความใกล้ชิด อยู่กับประชาชนและชุมชน เช่น อสม. ดังนั้นหน่วยงานนี้ถ้ามีความเชื่อมโยงร่วมมือกัน อาจจะทำให้เราได้ข้อมูล และเด็กยากจนพิเศษไม่ตกหล่นสามารถได้รับการพึ่งพาจากรัฐได้ค่ะ นอกจากนี้อยากเสนอให้ กสศ. เปิดช่องทางให้มีการส่งข้อมูลของตัวเด็กถึง กสศ. ได้โดยตรง

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อเสนอประการที่ ๒ สนับสนุนแนวทางของ กสศ. ในการขยายระดับการช่วยเหลือ หรืออุดหนุนตั้งแต่ระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะจะเท่ากับครอบคลุม มิติในการอุดหนุนทางการศึกษาของเด็กไทย

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อเสนอประการที่ ๓ อยากให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ อย่างกราฟที่แสดงเมื่อสักครู่นี้เรื่องของค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้น การอุดหนุนเงินจึงควรแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจและสภาวะเงินเฟ้อเพื่อให้สอดรับกับ ค่าครองชีพ แต่ขอให้เป็นไปในปีการศึกษาแต่ละปี โดยอาจพึ่งพิงอย่างรวดเร็วจากงบกลาง ของรัฐบาล ถ้าหากสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น การ Fixed Cost เป็นเงินอุดหนุนอย่างชัดเจนนั้น อาจเพิ่มภาระกับรัฐบาลในอนาคต

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อสุดท้าย สนับสนุนให้ กสศ. ประกอบการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีออกมาตรการ ในการลดค่าใช้จ่าย Internet เพื่อให้ครัวเรือนที่มีความยากจนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ได้ง่ายขึ้น

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉันหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับ เด็กไทยทุกคน ไม่ควรเป็นเหตุผลว่าความยากจนทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้เรียน และประเทศ จะเจริญได้ค่ะ ถ้าเกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ไม่พูดพร่ำทำเพลงดีกว่านะครับ เวลามีน้อย ๗ นาที ปัจจุบันโรงเรียน ในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด ถ้ายอมรับกันตรง ๆ ก็มีโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ปัจจุบันก็น่าจะมีอยู่ราว ๆ ประมาณ ๑๕,๐๐๐ แห่ง และถ้าเราดูจากอัตราการเกิดของ ประชากรที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้จำนวนโรงเรียน ขนาดเล็กก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่านี้แน่ ๆ โรงเรียนที่มีขนาดไม่ถึง ๒๐๐ คนก็มีอยู่ราว ๆ ๗,๐๐๐ โรงเรียนแล้ว หลายแห่งก็เตรียมเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทุกครั้งที่เวลาเราพูดถึง ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หลายคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาก็มักจะต้องพูดอ้อม ๆ อยู่ในสถานะน้ำท่วมปาก เพราะว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนี้ทีไรก็จะถูกต่อว่าต่อขานหาว่า เป็นคนใจร้ายที่คิดจะยุบเลิกโรงเรียน จนทำให้ปัญหานี้ต้องถูกแก้แบบอ้อม ๆ และหลายครั้ง ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างที่ควรจะเป็นเลย จนสุดท้ายทำให้ปัญหานี้ก็ลุกลามบานปลายไปเรื่อย ๆ โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งผู้อำนวยการก็ไม่มี ครูก็ไม่ครบชั้น คุณครูที่มีอยู่ก็ต้องทุ่มเท อุตสาหะอย่างมาก จำนวนนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็ต้องอยู่กับ การเรียนการสอนที่อยู่ในสภาพจำกัดจำเขี่ย สุดท้ายภาระก็ตกไปอยู่ที่ชุมชนโดยที่รัฐไม่คิด ที่จะเหลียวแล พอภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงถดถอยแบบนี้ประชาชนต้องปากกัดตีนถีบ สุดท้ายพอรับภาระไม่ไหว โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ก็ทยอยล้มหายตายจากกันไปเองในที่สุด สุดท้ายโรงเรียนที่เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนก็กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ภาครัฐหลงดีใจ มาโดยตลอดครับ คิดว่าการทำอย่างนี้สุดท้ายจะเป็นอุบายที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก ยุบเลิกไปเอง โดยที่ประชาชนได้แต่มองตาปริบ ๆ ไม่มีปากไม่มีเสียง แต่ผมยืนยันครับ มันเป็นการคิดที่ผิดถนัด เพราะทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเดินผ่าน โรงเรียนที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง นี่ละครับ คือสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความรู้สึกที่ไม่ไว้วางใจ ที่มีต่อรัฐ แล้วการดำเนินการนโยบายใด ๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและประชาชน ในอนาคตก็จะเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะว่าประชาชนก็จะหวาดระแวงกับรัฐเสมอ ภายใต้ การจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว ที่เมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิกของผมคุณพริษฐ์ได้พูดไป โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย งบประมาณก็ได้น้อยตามไปด้วย แม้ว่าจะมี งบประมาณเพิ่มเติมพิเศษ แต่ก็คิดเป็นรายหัวอยู่ดีครับ เพิ่มเติมแค่หัวละ ๕๐๐ บาท อย่างไรก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายคงที่ในการดูแลอาคารสถานที่ภายในโรงเรียน พองบประมาณ มีจำกัด สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตของนักเรียน ในโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรงเรียนที่มีนักเรียน ๕๐๐ คน ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างอาหารกลางวัน ๕๐๐ คนได้หัวละ ๒๒ บาท ต่อวัน คิดเป็นเงินก็ ๑๑,๐๐๐ บาทต่อวัน มันก็พอจัดสรรได้ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเกิดโรงเรียนขนาดเล็กแค่ ๔๐ คน นี่ครับ งบมาต่อหัว วันละ ๓๖ บาท มากกว่า ๒๒ บาท แต่พอคูณ ๔๐ เข้าไปวันหนึ่ง ๑,๔๔๐ บาท เงิน ๑,๔๐๐ บาทจะไปจัดสรรอาหารกลางวัน ที่มีคุณภาพอะไรได้ อย่างนี้ครับที่เขาเรียกว่าการที่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถบริหารให้มี ความประหยัดต่อขนาดได้ หรือมันไม่มี Economy of Scale นั่นเอง ที่ผ่านมาครับ การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กนี่นะครับก็ทำกันแบบอ้อม ๆ ครับ ครูไม่ครบชั้นก็พยายาม สอนแบบคละชั้น ดีครับมีการใช้สื่อมาช่วย แต่มันดีไม่สุดครับ ถ้าตราบใดก็ตามที่โรงเรียน ขนาดเล็กยังต้องสอนแบบ ๘ สาระวิชา เรียนเยอะสอบเยอะ การบ้านเยอะ ไม่รู้เรียนอะไร เยอะแยะ ปีหนึ่ง ๑,๒๐๐ ชั่วโมง สิ่งที่ทำอยู่ก็ทำได้แค่ทุเลาปัญหา แต่ปัญหาไม่ได้แก้ การควบรวมโรงเรียนที่ผ่านมา การจ่ายเงินชดเชยค่าเดินทางให้เด็กนะครับ วันหนึ่ง ๑๐-๒๐ บาทต่อวัน ผมถามครับว่าเงินแค่นี้จะไปจัดหา ไปจัดจ้างรถบริการสาธารณะอะไรได้ คุณครูที่เขากรุณาเอารถ Pickup ส่วนตัวไปรับส่งเด็ก ก็กลัวครับว่าถ้าวันดีคืนดีเกิดอุบัติเหตุ ขึ้นมาใครจะต้องมารับผิดชอบ การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เรา ต้องพูดกันตรง ๆ กับประชาชนว่ากระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของ โรงเรียนขนาดเล็กเสียใหม่ แต่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนที่มียุทธศาสตร์ครับท่านประธาน มีความโปร่งใสให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ไปสั่งยุบโรงเรียนเขาดื้อ ๆ แบบนี้ไม่ได้ครับ เพราะว่าโรงเรียนเหล่านี้ปู่ย่าตาทวด ปู่ย่าตายาย มีความผูกพันกับชุมชน มาโดยตลอด ก่อนอื่นเลยครับ ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการแล้วก็หน่วยงานทางด้าน การศึกษา รวมทั้ง กสศ. ครับจะต้องออกมายืนยันช่วยกันครับว่าโรงเรียนที่อยู่กลุ่ม Protected School อยู่บนเขา อยู่บนเกาะแก่ง หรืออยู่บนพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโรงเรียน ใกล้เคียง ที่มีอยู่จำนวนประมาณสักเกือบ ๑,๖๐๐ แห่งจะต้องไม่ยุบแน่ ๆ ยุบมีเรื่องนะครับ และที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่ไม่ยุบนะครับ แต่ต้องมีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ที่เพียงพอ ต่อการบริหาร ไม่ได้จัดแบบรายหัวอีกต่อไป คงที่ต้องใช้เท่าไรก็ต้องจัดเท่านั้น เพื่อให้จัด การศึกษาให้มีคุณภาพให้ได้ ไม่ได้จัดแบบรายหัวแบบที่ทำอยู่ โรงเรียนที่ถูกควบรวมครับ ต้องมีนโยบายในการถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น มีงบอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อทำให้โรงเรียนที่ถูก ควบรวมนี่ได้รับการปรับปรุง และถูกนำไปใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้และกิจกรรมชุมชน ไม่ถูกปล่อย ให้รกร้าง ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐอีกต่อไป มีการจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับท้องถิ่นครับ ในการจัดบริการรถโรงเรียนเพื่อรับส่ง นักเรียนไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในท้องถิ่น พอโรงเรียนถูกปรับลดให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน โรงเรียนก็จะมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการ ให้โรงเรียนมีความปลอดภัย ห้องน้ำถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์การเรียนการสอนมีความทันสมัย มีครูครบชั้น ครบวิชา มีงบในการพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสม ผมยืนยันครับว่าตาม พ.ร.บ. ของ กสศ. ในมาตรา ๕ (๑) (๕) (๖) ผมคิดว่า กสศ. สามารถเป็นแกนหลักเลยนะครับ ในการเข้ามาผลักดันการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง กล้าหาญที่จะเสนอ แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยและข้อเท็จจริง เพื่อคลี่คลายอคติ และความไม่เข้าใจกันที่เกิดขึ้นอยู่ใน ณ ขณะนี้ อีกนิดหนึ่งครับท่านประธาน และหากพิจารณา จากรายงานผลการดำเนินงานนะครับ ของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน กสศ. ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ ดูตามผมนะครับ ที่หน้า ๑๑๖ ตามข้อสังเกตของ คตส. ก็ระบุครับว่า มีเงินรับคืนของโครงการ กสศ. เงินรับคืนตรงนี้ก็มียอดสูงขี้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเชื่อครับว่า กสศ. สามารถเอางบประมาณส่วนนี้ เอาเงินรับคืนส่วนนี้มาจัดตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ ในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนได้เป็นอย่างดี สำหรับ ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กผมพูดตรง ๆ ครับ หากว่าจะต้องถูกเกลียดเพราะว่าเราพูดความจริง เราก็ต้องกล้าที่จะถูกเกลียด เพราะถ้าเราต้องการรักษาโรคที่มันเป็นอยู่ เราก็ต้องกล้า กินยาที่ขม ต้องกล้าที่จะผ่าตัดเพื่อไม่ให้โรคร้ายลุกลามบานปลาย ผมเชื่อว่า กสศ. มีศักยภาพที่จะเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กนี้ได้ ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นปัญหาที่เรารู้สึกอึดอัดเวลาที่เราต้องพูดถึง แต่ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไข ปัญหานี้แบบตรงไปตรงมาก่อนที่มันจะสายเกินไป และผมยินดีที่จะร่วมมือกับ กสศ. ในทุกเวทีในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผมจะแจ้ง ๓ ท่านจากนี้ไปนะครับ ท่านแรกท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ท่านที่ ๒ ท่านขัตติยา สวัสดิผล แล้วก็ท่านที่ ๓ ท่านปวิตรา จิตตกิจ เชิญท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นแล้วก็ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตในเรื่องของ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผมอยากจะให้ดูสถิติ ไม่ทราบมี Slide ไหมครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

คือปัจจุบันนี้เท่าที่ไปดูจาก Slide แรก ๆ ว่า เด็กไทยยังขาดโอกาสแล้วก็ความไม่เท่าเทียม แล้วก็ความไม่เสมอภาคมีอยู่จริง เด็กในกระบวนการทั้งหมดอยู่ในข้อมูลปี ๒๕๖๔ ๗.๓๒ ล้านคน แต่ปรากฏว่าท่านประธานครับ เด็กที่อยู่ในจำนวนผู้ด้อยโอกาสและเด็กพิการในปี ๒๕๖๔ มีถึง ๓,๖๒๕,๐๔๘ คน ถ้าคิดเป็น สัดส่วนเปอร์เซ็นต์แล้ว ๔๙ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นใน ๔๙ เปอร์เซ็นต์ จาก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เด็กด้อยโอกาสเกือบครึ่ง ๔๙ เปอร์เซ็นต์นี่มันอีก ๑ เปอร์เซ็นต์ ก็ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ผมไม่แน่ใจว่าตัวเลขอันนี้มันจะชัดเจนแค่ไหนนะครับ ซึ่งในส่วนของความไม่เท่าเทียม หรือความไม่เสมอภาค ท่านประธานครับ ในกระบวนการระบบการศึกษามันไม่ใช่เท่าเทียม ในเรื่องของเด็กอย่างเดียว ความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคของผู้บริหาร ของครู ในโรงเรียนก็มี แต่บางคนไม่กล้าพูดไม่กล้าเปิดเผยในความขัดแย้ง ในเรื่องของโครงสร้าง ในเรื่องของการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องดูว่า ความไม่เสมอภาคของผู้บริหาร ของครู ของเด็กนักเรียน และความไม่เสมอภาคของ ผู้ปกครองในการที่จะได้สิทธิ ท่านประธานครับ บางโรงเรียนความไม่เสมอภาคในปัจจุบัน มันมีอยู่จริง ถ้าเราไปเปรียบเทียบว่าโรงเรียนไหนจะดี โรงเรียนไหนสวัสดิการดี ผู้ปกครอง เด็กนักเรียนก็แห่เอาเด็กนักเรียนไปกระจุก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ในระดับอนุบาล ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ โรงเรียน อย่างโรงเรียนที่จังหวัดกระบี่ โรงเรียนสังข์ทอง ซึ่งบริหารจัดการที่ดี เด็กนักเรียนไปอยู่ในภาคใต้เป็นเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองส่งไปเรียน มากที่สุดถึง ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน มันก็ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้บริเวณ ในอำเภอหรือเขตเดียวกันก็เจ๊งไม่มีเด็กไปเรียน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีเด็กไปเรียนมันก็จะต้อง แก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ก็ตามที่เพื่อนสมาชิกบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการอย่าไปหวงอำนาจ บางโรงเรียนไม่มีเด็กแล้ว มีอยู่ไม่กี่คน ครูมากกว่าเด็กอย่างนี้ การยุบรวม การควบรวม การบริหารจัดการเพื่อที่จะให้เด็ก ผู้ปกครอง เขาจะได้ไปหาที่เรียนและมีคุณภาพไม่ก่อให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ อันนี้มันเป็นปัญหาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปดำเนินการแก้ไข เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเรียนมันไม่ใช่ในเรื่องของสายสามัญ มันไม่ใช่ส่วนสังกัดของ กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว มันยังมีสายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น โรงเรียนในสังกัด อบต. เทศบาล อบจ. โรงเรียนอาชีวศึกษาอีกในสาย อาชีพอย่างนี้ ซึ่งปัจจุบันความไม่เท่าเทียมในส่วนของสายอาชีวศึกษาก็มีอยู่มาก จัดเป็นเขต เด็กที่ตกขอบนอกระบบอย่างนี้ วันนี้ท่านประธานครับ เด็กที่อยู่ในภาคบังคับที่บอกให้เรียนฟรี ตั้งแต่ ป. ๑ ยัน ม. ๖ เด็กมันหลุดกรอบไป เด็กมันตกเกณฑ์ไม่สามารถที่จะเอาเด็กไปเรียนได้ ซึ่งมันผิดกฎหมายด้วยนะครับ มีถึง ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน ผมถามว่าเด็ก ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนนี้ ใครรับผิดชอบ ทำไมถึงจะหลุดออกไปนอกกรอบ แม้กระทั่งวันนี้เราเปลี่ยนรูปแบบของ กศน. เป็นกรมไปแล้วก็คาดว่าน่าจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของการบริหารจัดการผมคิดว่า เราต้องไปดูหลายมิติ หลายบริบทในเรื่องของเด็กนักเรียน ของโครงสร้าง วันนี้เด็กนักเรียน น้อยลงมากทีเดียว เราสังเกตเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐกับมหาวิทยาลัยของเอกชน วันนี้ต้องไปทำตลาด คล้าย ๆ ไปตกเขียวเด็กนักเรียนตั้งแต่ ม. ๔ ๓๐ เราต้องการที่จะควบคุมในเรื่องของสายสามัญเพื่อเข้าอุดมศึกษาให้น้อยลง สัดส่วนในเรื่องของสายอาชีวะให้มากขึ้น แต่ปรากฏ ณ วันนี้ยังทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ เพื่อที่จะให้การศึกษาทุกระบบ ทุกสาย เพื่อที่จะให้มีมาตรฐานเดียวกัน แล้วก็ลดความไม่เท่าเทียม หรือลดความเหลื่อมล้ำให้ดียิ่งขึ้นนะครับ ด้วยความหวังว่า กระทรวงศึกษาธิการนั้นต้องเป็นแม่งาน จะต้องเป็นองค์กรหลัก องค์กรใหญ่ในการที่จะเข้าไป มีส่วนร่วม ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านขัตติยา สวัสดิผล เชิญครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงรายงานประจำปีของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานะคะ ก็ต้องขอส่งคำชมผ่านท่านประธานไปยังทางกองทุนว่ารายงานเล่มนี้เป็นรายงานที่ดีมาก ๆ มีรายละเอียดครบถ้วน แล้วก็มีลูกเล่นดีมาก โดยเฉพาะในหน้า ๘๔ ที่แสดงถึงผลงาน ชีวิตที่ผลิดอกออกผลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นการร่วมมือกัน ระหว่าง กสศ. และภาคเอกชน ท่านประธานคะที่ผ่านมาประเทศไทยเราต้องเผชิญกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แน่นอนว่าผลกระทบที่เราได้รับนั้นมีหลายด้าน และหนึ่งในผลกระทบนั้นก็คือผลกระทบทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในวัย ศึกษาเล่าเรียน ขอ Slide ค่ะ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สถานการณ์โควิดค่ะ ท่านประธานมีเด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากการศึกษาเป็นจำนวนกว่า ๑.๓ ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเส้นความยากจน พอสถานการณ์ กลับเข้าสู่สภาวะปกติสิ่งที่เกิดขึ้นเด็กที่หยุดเรียนไปกลับไปเรียนแต่เรียนตามไม่ทัน เกิดปัญหา เด็กมีความรู้ถดถอย ถ้าหากเราไม่มีมาตรการรองรับเราจะสูญเสียเด็กกลุ่มนี้ไปเลยทั้งรุ่น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านี้มีการเรียนรู้ถดถอยก็เนื่องมาจากว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อการเรียนการสอนนะคะ โดยเฉพาะ ในช่วงโควิด ทุกคนต้องการ Internet ทุกคนต้องการคอมพิวเตอร์ ทุกคนต้องการ Tablet ทุกคนต้องการมือถือ Slide ถัดไปค่ะ ภาพที่เห็นเป็นภารชี้ให้เห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำ ภาพทางซ้ายเป็นเด็กที่มี ความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการศึกษา ภาพทางขวาเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มา จากครัวเรือนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีได้ เกิดภาวะ ถดถอยทางการศึกษา ไม่มีการพัฒนาทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ต้องออกจากระบบ การศึกษาไปและนั่นคือการส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่น ท่านประธานคะยิ่งจนยิ่งเข้าถึง การศึกษาระดับสูงได้น้อย และระดับการศึกษาค่ะคือตัวชี้วัดที่แม่นยำที่สุดที่จะคาดการณ์ ถึงความจนในอนาคตได้ ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้วค่ะ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความพยายามป้องกันปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ที่จะเกิดขึ้น การเข้าไม่ถึงการศึกษา การรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วยการมีนโยบาย One Tablet per Child ขึ้นของพรรคเพื่อไทย แต่น่าเสียดายว่าเกิดรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ เสียก่อนทำให้นโยบายนี้ต้องหยุดชะงักไป ไม่เช่นนั้นถ้ายังมีนโยบายนี้ต่อไปเด็กที่มีฐานะ ยากจนก็จะเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่านี้จะมีการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกับคนที่ มีโอกาสมากกว่าได้น้อยลง ความเหลื่อมล้ำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็จะเกิดขึ้นได้ น้อยกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ที่เกิดขึ้นนี่ละค่ะ มันทำให้เราถึงจะต้องมี กสศ. หรือกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่ ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับความชื่นชมมาโดยตลอด แต่จาก รายงานประจำปีฉบับนี้ดิฉันก็ยังมีข้อห่วงใยอยู่นิดหนึ่งไม่มากนะคะ พอดีดูจากรายงาน งบการเงินค่ะ เพราะว่าพออย่างที่พูดไปว่าเรามีเด็กที่อาจจะต้องขาดโอกาสในการเรียนอยู่ ประมาณ ๑.๓ ล้านคน นั่นหมายความว่า กสศ. จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากที่จะต้องดูแล เด็กกลุ่มนี้ให้ทั่วถึงนะคะ จากงบการเงินเมื่อเทียบระหว่างปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ กองทุน ของ กสศ. มีรายได้รวมลดลงประมาณ ๒๐๐ กว่าล้านบาท หรือประมาณลบ ๔ เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ที่ประมาณ ๖๐ กว่าล้านบาท คำถามคือตัวเลขรายได้ที่ลดลงกว่า ๔ เปอร์เซ็นต์จะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่ เมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ของ กสศ. ที่ต้องดูแลเด็ก ที่อาจจะถูกออกจากการศึกษาถึง ๑.๓ ล้านคน อันนี้คือขอฝากถามท่านประธานผ่านไปยังกองทุน ในขณะที่งบรายจ่ายมีส่วนของงบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมา มันคือเงินเดือนของบุคลากรในปี ๒๕๖๕ มันเพิ่มขึ้นกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๔ ค่าใช้จ่ายบุคลากรรวมก็ขึ้นเกือบ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ คำถามคือทำไมเงินเดือนของบุคลากรถึงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือมีการเพิ่มเงินเดือนให้บุคลากรตัวเลขมันถึงได้ออกมาเป็นแบบนี้ ไปดูที่สินทรัพย์ค่ะ จากในงบการเงินจะเห็นว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง ๑.๖ ล้านบาท คือหายไป ๘๘ เปอร์เซ็นต์ คำถามคือสินทรัพย์หมุนเวียนที่ลดลงมันถูกแปลงไปเป็นอะไร หรือเปล่า และตัวเลขที่มันลดลงไปถึง ๘๘ เปอร์เซ็นต์นี้มันน่ากังวลไหมสำหรับกองทุน ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนก็เช่นกันนะคะ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนลดลงเกือบ ๓๐๐ ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๔ คำถามเดียวกันกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนนี้ มันถูกแปลงไปเป็นอะไร และตัวเลขที่ลดลงไปเกือบ ๓๐๐ ล้านบาทนี้น่ากังวลหรือไม่ สินทรัพย์โดยรวมติดลบตอนนี้อยู่ประมาณ ๑๐๐ ล้านกว่าบาทน่ากังวลหรือเปล่า อันนี้ ฝากถามกองทุนนะคะ หากว่าประเด็นงบการเงินที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ก็ต้องขอชื่นชมว่า กสศ. นั้นทำงานได้ดีมาก แต่หากมีปัญหาก็คงต้องขอให้ทาง กสศ. นั้น รีบหาทางแก้ไขค่ะ น่าเสียดายที่รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีดัชนีชี้วัดถึงผลความสำเร็จของ งบประมาณต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดสรรให้ รวมถึงเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่ได้จากภาคเอกชน ไม่อย่างนั้นรายงานฉบับนี้จะเป็นรายงานที่สมบูรณ์ที่สุด ขอ Slide ถัดไปค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขอส่งกำลังใจผ่านท่านประธานไปให้ กสศ. ที่ทำงานอย่างหนักจนได้รับงบประมาณ จากรัฐบาลแล้วก็ได้รับเงินอุดหนุนจากเอกชน อย่างเช่น Candidate นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย คุณเศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการและอดีตกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เคยทำโครงการ Zero Dropout ออกหุ้นกู้ ๑๐๐ ล้านบาท ของแสนสิริเพื่อสนับสนุน กสศ. ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านปวิตรา จิตตกิจ เชิญครับ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ภาษีเจริญ แขวงบางเชือกหนัง และศิริราช กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ อย่างที่ทราบกันดีว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และผู้ด้อยโอกาสให้มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้ในการดำรงชีวิต ดิฉันสนับสนุนการดำเนินงาน ของ กสศ. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความร่วมมือ จากเครือข่ายต่าง ๆ รวมไปจนถึงการจัดการการศึกษาให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนให้เข้าถึง การศึกษาตามที่รัฐกำหนดขึ้น

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่รัฐควรจะรีบตัดสินใจ และลงทุน และให้ความสำคัญอย่างมาก คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กในช่วง ปฐมวัยอย่างจริงจัง เนื่องจากเด็กปฐมวัยเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และเป็นเหมือน กระดุมเม็ดแรก ถ้าเราได้ให้เขาในสิ่งที่ดี ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดีเขาจะต่อยอด ในอนาคต เติบโตเป็นประชากรที่ดีของประเทศ รวมถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ ก็จะได้ไม่ต้องกังวลและสามารถไปทำมาหากิน หาอาชีพได้อย่างปกติสุข

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จากผลการสำรวจของ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี ๒๕๖๕ พบว่าเด็กปฐมวัยในปี ๒๕๖๕ มีระดับความพร้อมทางด้านการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กปฐมวัย ในปี ๒๕๖๓ และ ปี ๒๕๖๔ ในทุกด้าน และเมื่อพิจารณาจากภาพประกอบก็จะเห็นว่า มาตรการปิดสถานศึกษาในช่วง COVID-19 นั้นส่งผลต่อพัฒนาการ ส่งผลต่อสภาวะถดถอย ทางการเรียนรู้ และทำให้เด็กไทยไม่มีความพร้อมในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่พร้อมทางการศึกษาของเด็กคนหนึ่งนั้นจะเกิดจากความยากจน เพียงอย่างเดียว แต่อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนความไม่พร้อมทางการศึกษาของเด็ก ๆ นั่นก็คือ ครอบครัวแหว่งกลางค่ะ ซึ่งเด็กไทยกว่าร้อยละ ๖๕.๗๖ กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ครอบครัว แหว่งกลางคืออะไรคะ ก็คือครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรของตัวเองได้ และต้องส่งบุตร ของตัวเองไปให้กับปู่ย่าตายาย ส่วนตนเองนั้นอาจจะมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ต้องไปทำมาหาเลี้ยงตัวเอง หาอาชีพเพื่อให้ได้รายได้ และส่งรายได้กลับไปยังปู่ย่าตายายที่เลี้ยงดูบุตรตัวเอง ปัญหาจาก ครอบครัวแหว่งกลางส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาของเด็กปฐมวัยและการเรียนรู้ที่ล่าช้า สอดคล้อง กับการสำรวจของกรมอนามัยในปี ๒๕๖๕ ที่พบว่าปัญหาของเด็กปฐมวัย ร้อยละ ๔๗ ขาดพัฒนาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา และปัญหาของการใช้ภาษา ร้อยละ ๗๕.๒ และปัญหาในเรื่องของความเข้าใจในการใช้ภาษาร้อยละ ๖๐.๒ ท่านประธานคะ จากที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่ากลุ่มเด็กปฐมวัยนี้แทบจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับ ผลกระทบจากสภาพสังคม โรคระบาด ครอบครัว รวมไปถึงการขาดโอกาสที่เข้าถึงการศึกษา ที่เหมาะสม

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นด้วยและชื่นชมในการทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมา ที่ได้ดำเนินโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งใช้งบประมาณ ๗๐ ล้านบาท โดยหลักการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ กสศ. ตามมาตรา ๕ (๑) ที่กล่าวถึงการส่งเสริม สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยให้ได้รับ การพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย และดิฉันก็ขอเสนอแนะให้มีการเพิ่มงบประมาณเพื่อขยายผลเพิ่มเติมจากพื้นที่นำร่อง ๑๒ จังหวัด และส่งเสริมให้เกิดกลไกในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้มากกว่า ๑๒ กลไก จากรายงาน กสศ. ประจำปี ๒๕๖๕ เล่มนี้นะคะ ในหน้า ๓๘ กสศ. ผลิดอกออกผล เพราะหากมองผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๑ ในรายงานเล่มนี้ จากหน้า ๙๕ จะพบว่าการจัดสรรงบประมาณที่เข้าถึงนั้นจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการเข้าถึง การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและวัยเรียนเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างจากกลุ่มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเข้าเรียนน้อย มีจำนวนลดลงน้อยกว่า ร้อยละ ๘๕ จาก ๑๘,๓๔๕ คน เหลือเพียง ๑,๐๒๔ คน ในภาคเรียนที่ ๑ ของปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งก็พบว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ ท่านประธานคะ ดิฉันว่าถึงเวลาแล้วค่ะ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะลงทุนกับงบประมาณ ให้กับการดำเนินงานของ กสศ. จากอดีตที่เคยได้รับการจัดสรรราวร้อยละ ๐.๕-๑.๕ ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมดของประเทศ ปรับขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมดของประเทศ ตามที่คณะกรรมการอิสระการปฏิรูป การศึกษาเป็นผู้เสนอ เพื่อเพิ่มเติมโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และสำหรับประเทศนี้ พ่อแม่ไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขในการพัฒนา เด็กคนหนึ่ง แต่รัฐจะต้องเป็นทั้งพ่อแม่ และเป็นโอกาสที่สามารถโอบอุ้มทำให้พวกเขาเติบโต ตามความปรารถนาได้อย่างมีคุณภาพ

นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ดิฉันและพรรคก้าวไกลยินดีที่จะร่วมกับขับเคลื่อนกับกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้เป็น ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างพลเมืองไทยสู่พลเมืองโลก จากการให้ความสำคัญเริ่มต้นที่กระดุมเม็ดแรกอย่างเด็กปฐมวัยร่วมกันค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญครับ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๔ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นวันประชุมซึ่งก็ตรงกับวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ๑๐ สิงหาคม ขออนุญาตใช้โอกาสนี้ยกย่องและเชิดชูเกียรติทางกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่พวกเรา สส. ไม่สามารถไปลงพื้นที่แล้วก็ร่วมเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาได้ ก็ขอใช้โอกาสนี้ยกย่อง เชิดชูเกียรติแล้วก็เป็นกำลังใจให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ สารวัตร แล้วก็สมาชิกท้องที่ ท้องถิ่นทุกท่าน ให้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่พี่น้องประชาชนต่อไปค่ะ

นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ พูดถึงตามรัฐธรรมนูญไทยแล้ว การศึกษาเป็นสิทธิที่คนไทย ควรจะต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงแล้วก็มีคุณภาพ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทุก ๆ คน ที่เป็นคนไทยควรที่จะได้รับการศึกษา รวมถึงภาครัฐก็ควรที่จะต้องช่วยส่งเสริมแล้วก็พัฒนา คุณภาพการศึกษา การเรียนของไทย แล้วก็พัฒนาการศึกษาประสิทธิภาพของครูด้วย เช่นเดียวกัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นกองทุนที่มีประโยชน์ เป็นหนึ่ง ในเครื่องมือที่จะสามารถพาเราไปยังจุดมุ่งหมายตรงนั้นได้ ช่วยพัฒนาการบุคลากรในประเทศ ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ที่เรียกว่าเป็นรากฐานของประเทศไทยเราช่วยในการพัฒนาบ้านเมือง ในอนาคต กองทุนจึงควรที่จะมีบทบาทในการช่วยเพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ท่านจะแค่เก็บข้อมูลแล้วก็ส่งต่อให้กับองค์กรต่าง ๆ ให้ไปดำเนินการ แล้วก็แก้ไขเท่านั้น จริง ๆ แล้วถ้าตามพระราชบัญญัตินะคะ องค์กรของท่านหรือว่ากองทุน ของท่านก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เฉกเช่นเดียวกัน ไม่ต้องแค่รวบรวมข้อมูลแล้วก็ส่งต่อ เท่านั้น แต่ว่าท่านสามารถปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันเพื่อที่จะสร้างความเสมอภาคในการเรียนรู้ และการศึกษา เพราะทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่ายังมีเด็กที่หลุดการศึกษามากขึ้นทุก ๆ ปี จึงทำให้ดิฉันมาสงสัยว่าวันนี้ผลลัพธ์หรือว่าวัตถุประสงค์ของท่านถือว่าสำเร็จหรือยังคะ เพราะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของท่านในวันนี้สิ่งที่เราเห็นมันมีตัวเลขมากขึ้นที่มีเด็กหลุดออก จากการศึกษา ดังนั้นการมีกองทุนกับไม่มีกองทุนทำให้ดิฉันเริ่มสงสัยค่ะว่ามันจะแตกต่างกัน อย่างไร วันนี้ต้องบอกว่าถ้าดูจากตามรายงานเล่มนี้ เป็นปีแรกที่ทาง กสศ. ได้ดำเนินการ ตามแผนกลยุทธ์ ๓ ปีฉบับใหม่ และด้วยทรัพยากรที่ท่านได้รับจากรัฐบาล ท่านเขียนไว้ว่า ท่านจะมุ่งสร้างสรรค์องค์กรของท่านที่มีให้เป็นองค์กรที่มีขนาดกะทัดรัด แต่ก็ยังมี ประสิทธิภาพสูง แต่ว่าภาระหน้าที่ของท่านมันใหญ่มากนะคะ ท่านต้องดูแลควบคุมไปทั่วประเทศ วันนี้เรามาพูดถึง การศึกษาของเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาส เราพูดถึงเด็กที่มีภาระแล้วก็ความจำเป็นทางด้านครอบครัว เราพูดถึงเด็กที่ครอบครัวของเขาขาดความพร้อม แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นนี่เด็ก ๆ เหล่านี้หลุดออก จากระบบการศึกษาเป็นล้านคน คำถามค่ะ ด้วยภารกิจเหล่านี้ ภารกิจที่ใหญ่ขนาดนี้ ท่านบอกว่าท่านจะเปลี่ยน แล้วก็มุ่งให้องค์กรของท่านเป็นองค์กรขนาดกะทัดรัดและมี ประสิทธิภาพ อันนี้ดิฉันขอแสดงความเป็นห่วงไปด้วยนะคะ เพราะปัญหาที่พูดมา มันก็สะท้อนผ่านรายงานการดำเนินการของท่าน เมื่อไปดูว่าการดำเนินงานผลิต พัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้ การสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียน พื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นที่เรียกว่าครูรุ่นใหม่หรือว่าครูรักษ์ถิ่นในปี ๒๕๖๕ ได้ผลิต และพัฒนาครูเป็นจำนวน ๓ รุ่น รวมแล้ว ๘๖๓ คน บรรจุในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ๖๙๙ แห่ง และในปีการศึกษา ๒๕๖๗ มีครูรักษ์ถิ่นแค่เพียง ๓๒๘ คน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของท่าน หรือว่าหน่วยงานนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็การศึกษาได้มากน้อยเพียงใด เพราะว่าเมื่อดูจำนวนตัวเลขในแต่ละปีมีบุคลากร ทางการศึกษาของท่านเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของท่านแค่หลักพันเท่านั้นเอง เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะไปเจอกับหัวข้อโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดูแล้วแนวทางก็ดูดี อ่านแล้วรวม ๆ ดูดีมาก แต่ต้องบอกว่าความครอบคลุมมันยังต่ำเกินไป เพราะในปี ๒๕๖๕ ทาง กสศ. ได้จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ครอบคลุม เพียงแค่ ๑๒ จังหวัด รวมไปถึงแม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก แล้วก็ยังมีบางจังหวัด ในอีสาน แล้วก็ในเขตภาคใต้ แต่ด้วยที่ดิฉันเป็น สส. จังหวัดเชียงรายต้องบอกเลย การลงพื้นที่ ทุกครั้งยังเห็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของน้อง ๆ และเด็กที่ด้อยโอกาสค่ะ ถามว่าวันนี้ ไม่ใช่แค่จังหวัดเชียงราย แต่อยากจะทราบว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรถึงจะครอบคลุมได้ ทั่วทั้งประเทศ และต้องใช้งบประมาณมากอีกเท่าไร เด็กเหล่านี้เมื่อได้พูดคุยแล้วทุกคนเป็นเด็ก ที่มีความฝัน ทุกคนอยากเป็นครู อยากเป็นทหาร อยากเป็นอาจารย์ แต่ว่าสิ่งที่พวกเขา เหล่านั้นไม่ได้รับคือโอกาส พวกเขาอยากจะฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเขาให้ดีขึ้น นั่นก็ต้องเริ่มจากการศึกษาถูกต้องไหมคะ วันนี้จึงอยากเห็นให้ทุกท่านมองกว้าง ๆ มีเป้าหมาย ให้กว้างขึ้นแล้วก็ดูอย่างมีวิสัยทัศน์ให้มันครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่จะแก้ไข เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา และให้ได้รับการแก้ไขและครอบคลุมจริง ๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอิทธิพล ชลธราศิริ เชิญครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม อิทธิพล ชลธราศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ผมอยากสอบถามผ่านท่านประธานไปยังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครับ ในกระบวนการคัดกรองความยากจนของนักเรียน นักเรียนที่จะได้รับจัดสรรทุนเงินอุดหนุน หรือนักเรียนทุนเสมอภาคที่ต้องให้คุณครูผู้ดูแลนักเรียนออกไปเยี่ยมบ้าน แล้วก็นำข้อมูล ผ่าน กสศ. โดยกรอกผ่าน Website แล้วก็ให้ กสศ. เป็นผู้คัดกรองความยากจนโดยวิธีการวัด รายได้ทางอ้อม ขอ Slide ครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก ผมได้สอบถามไปยังเพื่อนครู หลาย ๆ ท่านว่าการที่คุณครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนครูบอกว่าการไป เยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นเรื่องที่ดีทำให้ได้รู้จักนักเรียนมากขึ้น เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ไม่ถือว่า เป็นภาระที่หนักเกินไป แต่เป็นหน้าที่ครูผู้เสียสละที่จะทำ เพราะการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ต้องไปนอกเวลาราชการหลังเลิกเรียน หรือว่าวันเสาร์ วันอาทิตย์ ซึ่งใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ในการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนครับ ทั้งนอกเวลา ทั้งเงินส่วนตัว แต่คุณครูก็ยินดีที่จะทำ ต้องขอชื่นชมแล้วก็ขอบคุณคุณครู ทุกท่านทั่วประเทศ ผมทราบว่าคุณครูบรรจุใหม่เงินเดือนเริ่มต้น ๑๕,๘๐๐ บาท ผ่อนค่ารถ ค่าเช่าบ้าน หรือว่าค่าครองชีพต่าง ๆ ก็หมดแล้ว อันนี้น่าเห็นใจคุณครูทุกท่าน ครูผู้เสียสละ เราอาจจะได้ยินบ่อย ๆ ในทางเจตนารมณ์ อุดมการณ์เราอาจจะพูดได้ แต่ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เงินเดือนคือติดลบครับ จึงฝากท่านประธานผ่านไปยัง กสศ. แล้วก็ผู้ชี้แจงวันนี้ หากเป็นไปได้ อยากให้มีการประสานงานกันแชร์ข้อมูลกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าผมสอบถาม เพื่อนครูว่าการเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นเรื่องปกติพื้นฐานที่ สพฐ. ให้คุณครูทำเพื่อบันทึกข้อมูล พื้นฐานของนักเรียนอยู่แล้ว ทำไมเราไม่คุยกันก่อนในหน่วยงานว่ามีข้อมูลพื้นฐานไหน ที่เอามา Link กัน ข้อมูลที่อยู่ใน DMC ก็มีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว แค่เราเพิ่มส่วนที่เป็นรายได้ ของผู้ปกครอง หรือว่าข้อมูลที่ทาง กสศ. ต้องการ คุยกันก่อน แล้วก็ก่อนที่จะลงไปสำรวจ พอไปสำรวจเสร็จต้องกลับมากรอกข้อมูลผ่าน Website ซึ่งก็ต้องกรอกคนละ Website อีก เป็นการเพิ่มภาระงานของครูไปมากกว่าเดิมอีก อยากให้หน่วยงานทำงานบูรณาการกันหน่อย Link ข้อมูลกันหน่อยการทำงานจะได้ไม่ซ้ำซ้อน จะได้ไม่ต้องลงไปเยี่ยมบ้านนักเรียน หลาย ๆ ครั้งเพื่อสำรวจข้อมูล ไม่ใช่พอมีหน่วยงานไหนที่ต้องการข้อมูลก็ลงไปเก็บข้อมูลอีก เราต้องลดภาระงานครูอย่างอื่นเพื่อคืนครูให้กับห้องเรียน

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ อยากสอบถามไปยัง กสศ. ถึงการใช้หลักเกณฑ์แบบไหนบ้าง ในการคัดกรองนักเรียนที่จะได้รับทุนเสมอภาค สามารถสื่อสารหรือว่าให้รายละเอียดกับ คุณครูได้หรือไม่ เพราะว่าเพื่อน ๆ ครูฝากถามมาเยอะว่าจะได้ตอบกลับผู้ปกครองได้ว่า เป็นอย่างไร เพราะเวลาคุณครูไปเยี่ยมบ้านผู้ปกครองก็ต้อนรับ แล้วก็คาดหวังว่าพอคุณครู มากรอกข้อมูลขอทุนให้นักเรียนแล้วนักเรียนจะได้รับทุน แต่พอไม่ได้รับทุนผู้ปกครอง ก็มาถามคุณครูว่าทำไมถึงไม่ได้ แต่คุณครูก็ไม่สามารถตอบผู้ปกครองได้เพราะคุณครู ไม่ใช่ผู้คัดกรอง จึงอยากให้ทาง กสศ. ให้เหตุผลหรือสามารถบอกเหตุผลได้ไหมว่า Case ไหน ที่ไม่ได้รับเพราะอะไร ตอบกลับใน Website ที่ทาง กสศ. ให้คุณครูกรอกก็ได้ครับ เพราะว่า มีรายละเอียดแต่ละคนอยู่แล้วครับ ผมขอยกตัวอย่าง ๒ กรณี กรณีที่นักเรียนอยู่บ้านเดียวกัน พ่อแม่คนเดียวกัน นักเรียนเป็นพี่น้องกันก็คืออยู่คนละชั้น คนพี่ได้รับทุน คนน้องไม่ได้รับทุน แบบนี้มีหลักเกณฑ์ในการคัดกรองอย่างไร หรือว่าบ้านหลังนี้ได้ซ้ำแล้วก็เลยไม่ให้น้อง หรือว่า มีประเด็นเรื่องผลการเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอยากให้ทาง กสศ. สื่อสารเหตุผลที่ไม่ได้รับ แบบนี้กลับให้คุณครูได้รับทราบ ขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งครับ นักเรียน A มีรายได้ ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน ๓,๐๐๐ บาท นักเรียน B มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน ๑,๐๐๐ บาท อยู่โรงเรียนเดียวกัน อยู่ห้องเดียวกัน ลักษณะครอบครัวครัวเรือนเหมือน ๆ กัน ผลการคัดกรอง นักเรียน A ได้รับทุน แต่ว่านักเรียน B ไม่ได้รับทุน แบบนี้อยากให้ทาง กสศ. แจ้งหลักเกณฑ์ว่า มันเป็นอย่างไรให้สื่อสารกลับไปที่คุณครู จริง ๆ เราก็เชื่อมั่นในกระบวนการวิธีการคัดกรอง แต่ว่าอยากให้สื่อสารกลับครับ

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ มีประเด็นที่อยากฝากเป็นข้อเสนอแนะไปยัง กสศ. ทุนที่นักเรียนได้รับ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จากข้อมูลที่รายงานทุนเสมอภาคคือ ๓,๐๐๐ บาท ต่อปีต่อคน ตกเฉลี่ยวันละ ๘.๒๑ บาท อยากให้ทาง กสศ. ช่วยพิจารณาถึงมูลค่าทุน ที่เหมาะสมในการช่วยเหลือว่าสามารถให้มากกว่านี้ได้หรือไม่ สามารถเพิ่มมูลค่าทุน รายหัวให้สูงกว่านี้ได้หรือไม่ จึงอยากเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ กสศ. ผู้ชี้แจงวันนี้ช่วยพิจารณาด้วย แล้วก็ผมขอชื่นชม กสศ. ที่ทำงานทุ่มเทเพื่อนักเรียนทุกคน เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องหลุดจาก ระบบการศึกษา เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นายอิทธิพล ชลธราศิริ ขอนแก่น ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ครับ ปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ทราบว่า ครม. อนุมัติ แผนงบประมาณใหม่เป็นจำนวนเงิน ๗,๙๘๕ ล้านบาท สำหรับกองทุน กสศ. พบว่ามี การอนุมัติงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกนิดเดียวครับ ถ้า กสศ. งบประมาณเพิ่มขึ้นแสดงว่าการบริหารจัดการระบบการศึกษาของรัฐบาล หรือว่าการบริหาร จัดการด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการศึกษาของรัฐบาลล้มเหลว จึงต้องมี กสศ. เพื่อเข้ามาแก้ไข ลบข้อบกพร่องปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ เราจะไม่ต้องมี กสศ. เลยถ้าระบบการศึกษา ระบบสวัสดิการที่บ้านเราดี สำหรับเด็กยากจนต้องมี กสศ. อยู่ เพราะว่ายังมีเด็กยากจน ยังมีสวัสดิการที่ยังไม่ดี เราต้องไม่ใช่การเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่เพิ่มผู้รับทุนให้มากขึ้น แต่เรา ต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ ต้องไปแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษา ไปดูที่ระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของครอบครัวของพ่อแม่เขาแล้วค่อยจะลดจำนวนผู้รับทุนลงจนไม่มีเลย ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณพนิดา มงคลสวัสดิ์ เชิญครับ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานปี ๒๕๖๕ ของกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จากการศึกษารายงานฉบับนี้ของ กสศ. พบว่างานหลัก ของกองทุนคือการสนับสนุนเงินให้กับเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษ และเพื่อการพัฒนาครู ให้มีคุณภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หากแต่เกณฑ์ในการเข้าถึงและกระบวนการ ในการคัดกรองอาจจะยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของกองทุน ซึ่งส่งผลให้เรา ยังคงเห็นสถิติของการที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ดิฉันขออนุญาต ยกตัวอย่าง Case เพื่ออภิปรายในวันนี้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกรณี ข่าวล่าสุดที่สร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมเป็นอย่างมากที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน ให้เกียรติกล่าวถึง และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ดิฉันลุกขึ้นมาอภิปรายในวันนี้ คือกรณีที่ คุณพ่อตัดสินใจจบชีวิตคุณลูก และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองจากโลกนี้ไปเพราะความยากจน ยากจนในขนาดที่ว่าทางคุณพ่อเองไม่มีเงินที่จะให้ลูกไปโรงเรียนต้องงัดสังกะสีที่บ้านไปขาย ยากจนในระดับที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ บ้านถูกตัดทั้งน้ำทั้งไฟ อาศัยอยู่ในความมืดมายาวนาน กว่า ๓ ปีจนเพื่อนบ้านต้องแบ่งน้ำให้ใช้ และเหตุการณ์สลดหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็พบว่า ในบ้านของน้องมีแบบ Form การขอทุนจากทาง กสศ. อยู่ด้วย ซึ่งวันนี้ดิฉันก็ได้ Print มาด้วย สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าน้องอยู่ในครัวเรือนที่มีสภาวะรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนของไทย อย่างแน่นอน แล้วก็เป็นนักเรียนที่น่าจะเข้าข่ายที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับทุนมาไม่น้อยกว่า ๓ ปีแล้วด้วย แต่ตกหล่นและกำลังอยู่ในกระบวนการการพิจารณารับสิทธิ ดิฉันจึงขออนุญาต กล่าวถึงกระบวนการเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่ากระบวนการคัดกรองเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ เห็นกระบวนการที่อาจจะมีปัญหาที่อยากจะตั้งข้อสังเกตฝากท่านประธานไปถึงกองทุนดังนี้ การสำรวจคือจะต้องให้ครูประจำชั้นไปเยี่ยมบ้านเพื่อสำรวจความยากจนของนักเรียน ที่จะมีสิทธิได้รับทุน ต้องมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนประมาณ ๒,๗๐๐ กว่าบาท และ/หรือต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนพิเศษคือ ๑,๙๐๐ กว่าบาท ซึ่งนอกนั้นยังไม่พอ เท่านั้น ยังไม่พอ ยังมีวิธีการคัดกรองที่ทาง กสศ. เองใช้คำว่าการวัดรายได้ทางอ้อม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอื่น ๆ อีก ๘ ด้าน เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ของใช้ในครัวเรือน เป็นเรื่องที่ค่อนข้าง น่าเศร้าที่เราจำเป็นจะต้องเอาความจนของเรามาวัดเป็นคะแนนเพื่อจัดอันดับว่าเราจะได้รับ ทุนนั้นหรือไม่ คุณครูก็จะคัดกรองอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าวถึง นำข้อมูลเหล่านี้ส่งไปที่กองทุน ซึ่งกระบวนการ ที่ว่ามาทั้งหมดใช้เวลาอย่างน้อย ๓ เดือน เห็นได้ว่านอกจากเราจะมีเกณฑ์ที่พิสูจน์ ความยากจนซ้ำจนซ้อนอย่างมากแล้ว ใช้เวลาพิจารณานานแล้ว สิ่งนี้อาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เด็กที่เข้าข่ายเกณฑ์ได้รับทุนตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิจากกองทุน และซึ่งอาจจะเป็น เหตุผลที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่าง Case ตัวอย่างนี้ เป็นอีกจำนวนมากค่ะ

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

จากสถิติของทาง กสศ. เองในปี ๒๕๖๕ มีนักเรียนที่คัดกรองแล้วว่า มีครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวน ๒.๕ ล้านคน แต่มีนักเรียนที่ได้รับ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพียง ๑.๘ ล้านคน คิดตัวเลขง่าย ๆ นะคะท่านประธาน เท่ากับว่า มีนักเรียนอีกประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ คนที่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากทั้ง กสศ. เอง และการอุดหนุน ปัจจัยขั้นพื้นฐานอื่น ๆ เลย ดิฉันจึงอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงตัวแทนกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ สถิติที่ดิฉันกล่าวมาข้างต้นทางกองทุนมีแนวทางในการที่จะขยาย ฐานการอุดหนุนเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ ท่านเองมีแนวทางที่จะทบทวนเกณฑ์การคัดกรองเพื่อให้นักเรียน ที่เข้าข่ายเข้าถึงกองทุนนี้ สิทธิการได้รับเงินทุนนี้ได้ง่ายขึ้นหรือไม่

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ ท่านจะเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนที่มีสภาวะ ครอบครัวยากจนกะทันหันที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้การช่วยเหลือได้ ทันท่วงทีหรือไม่

นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะท่านประธาน แม้ดิฉันจะเห็นว่ากองทุนนี้มีการดำเนินการส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อการสงเคราะห์และแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกของกองทุน ยังสำคัญและจำเป็นอย่างมากในปัจจุบันที่เรายังไม่มีรัฐสวัสดิการที่จะครอบคลุมการศึกษา อย่างถ้วนหน้า ที่ซึ่งจะสามารถป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทย และสร้างความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อ ๆ ไปจะได้เห็น การดำเนินการในมิติอื่น ๆ ของทางกองทุนนี้ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดัน ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเชิงระบบที่เราต่างก็ทราบดีว่าเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาในประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าการศึกษาจะต้อง เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้ความร่วมมือกับ กสศ. ในทุก ๆ ด้านเพื่อให้การศึกษาที่เท่าเทียมกัน ตัดวงจร การส่งต่อความจน ส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กไทย ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค ถ้วนหน้า เท่าเทียม และไม่ต้องพิสูจน์สิทธิความยากจน แบบนี้อีกต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เหลืออีก ๔ ท่านสุดท้ายนะครับ ก็ขออนุญาตให้คุณชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ได้หารือนิดหนึ่ง เชิญครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ คือตอนแรกผมกะว่าจะขอหารือหลังจากที่ทางทุกท่าน แล้วก็ทางหน่วยงานได้ทำการตอบคำถาม จนเสร็จแล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องที่อยู่ภายนอกหน่วยงานนี้ ทีนี้ก็เลยจะปรึกษาท่านประธานว่า จะให้ผมพูดเลยหรือเปล่าครับ หรือจะให้ท่านอื่นได้พูดก่อน เพราะจะเป็นการรบกวนเวลา ของสภาแล้วก็ท่านอื่น ๆ ที่กำลังต่อคิวการพูดอยู่ เพราะว่าตอนนี้ผมเองก็รอได้ แล้วเป็นเรื่อง ที่อยู่ในหน่วยงานที่ไม่มาเฉย ๆ ถ้าอย่างไรให้ทางท่านอื่น ๆ ได้พูดต่อ และหน่วยงาน ได้เป็นผู้ตอบคำถามก่อนจะไม่รบกวนเวลาสภา เดี๋ยวผมรอหลังจากเสร็จทุกท่านก็ได้ครับ ท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

คือถ้าเสร็จก็ปิดเลยนะครับ ถ้าท่านจะหารือตอนนี้ก็หารือ เพราะว่าเดี๋ยวเพื่อน ๆ จะรอ นิดหนึ่ง

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ได้ครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอเวลาสั้น ๆ แค่ไม่เกิน ๓๐ วินาทีนะครับ ก็จะเป็นเรื่องที่หน่วยงานก็คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไม่มาในวันนี้ แต่ทีนี้ผมรับหนังสือที่เป็นหนังสือร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนมา ๒ สัปดาห์แล้ว แล้วเนื่องจากยังไม่มีคณะกรรมาธิการสามัญที่จะผลักดันปัญหาของพี่น้องประชาชนในเรื่อง การจัดการช้างป่า ซึ่งมีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๑ ซึ่งพอดำเนินการ ตามแผนของยุทธศาสตร์ชาติมาจนถึงปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่าการดำเนินงานนี้ทำให้เกิดปัญหา กับพี่น้องประชาชนชาวบ้าน และหน่วยงานต่าง ๆ ช้างป่าจากที่ออกมาในเขตป่าตะวันออก เข้ามาสู่เขตพื้นที่ของผม จากที่ออกมาปีละประมาณ ๒,๐๐๐ กว่า Case ตอนนี้เมื่อปี ๒๕๖๕ รายงานล่าสุดคือออกมาทำให้เกิดผลเสียหาย และทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนถึงตอนนี้ ล่าสุดปี ๒๕๖๕ ๑๖,๐๐๐ กว่าครั้งที่ออกมา และชาวบ้านเสียชีวิตล่าสุดจนถึงตอนนี้ ๒๐ กว่าคน รวมถอยหลังกลับไปตั้งแต่เริ่มต้นแผนยุทธศาสตร์ชาติเสียชีวิตรวม ๆ ออกมาแล้ว ๕๐-๖๐ คนเข้าไปแล้ว คำถามคือเราจะเดินต่อตามแผนยุทธศาสตร์อย่างไร และในเมื่อวันนี้ ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มา ผมเลยจะขอส่งหนังสือที่พี่น้องประชาชนได้ฝาก มายังผม ผ่านไปยังท่านประธานเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ปัญหา ช้างป่าตะวันออกที่อยู่ในแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้รับทราบปัญหาและแนวทาง การแก้ไข แล้วก็ขอฝากเอกสารนี้ให้กับท่านประธาน แล้วเดี๋ยวผมจะยื่นไว้ตรงที่ด้านหน้า บัลลังก์นะครับ ขอบคุณท่านประธานที่ได้มอบเวลาให้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ เราได้วางแผนไว้ว่ามีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้วย ทีนี้หลายท่านได้เตรียมตัวที่จะอภิปราย ซึ่งครั้งนี้ผมโชว์เลยเล่มใหญ่มาก เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่จบชุดแรกตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ ใช้งบประมาณร่วม ๑ ล้านล้านบาทแต่ว่าวันนี้ไม่มา ซึ่งการเตรียมตัวของสมาชิกก็เตรียมตัวกันเยอะแยะนะครับ อันนี้ก็คือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะรายงานแล้วก็ไม่มา อันนี้ก็คือเราต้องแก้ไขเพื่อให้สถาบันนิติบัญญัติของเราได้มี ความศักดิ์สิทธิ์มากกว่านี้ ขอบคุณมากนะครับ ต่อไปเชิญท่านสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ไม่ทราบว่าผมอ่านถูกหรือเปล่าครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ ปัตตานี อำเภอยะหริ่ง และอำเภอมายอ พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มต้นการรับทราบรายงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ด้วย ๒ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคม การศึกษาของเราครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เหตุการณ์ที่ ๑ นักศึกษาหญิง อายุ ๑๔ ปีผูกคอตายที่จังหวัดสงขลา เพราะโดนครูห้ามเข้าเรียนเนื่องจากเป็นเด็กยากจน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

เหตุการณ์ที่ ๒ ที่เกิดที่อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ผูกคอตายติดกับตัวบ้าน เหตุเกิดจากความยากจนเหมือนกันครับท่านประธาน พ่อไม่มีเงินจะให้ลูกไปโรงเรียนถึงขั้น ต้องรื้อสังกะสีหลังคาบ้านไปขาย ในที่สุดก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเหมือนกันครับท่านประธาน ๒ เหตุการณ์นี้คำถามฝากท่านประธานถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยินดี กับความสำเร็จในเล่มรายงานของ กสศ. ในขณะที่สังคมเรามีเด็กผูกคอตายทุกปีเพราะไม่มี เงินเรียนได้หรือครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

ตามที่มาตรา ๕๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ วรรคสี่ รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพจะพึ่งตนเองในการดำรงชีวิตครับท่านประธาน ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า จะต้องดูแลถึงอายุเท่าไร ซึ่งในหมวดมาตรา ๕๔ กำหนดไว้ว่าให้รัฐจัดกองทุนช่วยเหลือ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ในวรรคห้า รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาให้มีการศึกษาสอน หรือทำให้นักเรียนสามารถ เรียนรู้และพัฒนาไปตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง แต่จนถึงปัจจุบันผู้ยากไร้ ระดับชั้นปริญญาตรีและอุดมศึกษายังไม่มีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้เลย กองทุน เพื่อความเสมอภาค กสศ. ก็ดูแลเฉพาะผู้ศึกษาระดับไม่เกิน ม. ๖ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน ให้เรียนฟรีอยู่แล้วครับ แม้รัฐบาลจะมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาก็ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ แบบให้เปล่า กลับไม่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ต้องเลื่อนชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ ระดับอุดมศึกษา แต่นำไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เรียนฟรีอยู่แล้ว ไม่ใช่ข้ออ้างหน้าที่ กับกองทุน กยศ. แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อจะให้ การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนกองทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาครับท่านประธาน นอกจากนั้นยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนเพราะภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้เรียนเพราะไม่มี ข้าวกิน ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีชุดนักเรียนใส่ ไม่ได้เรียนเพราะต้องดูแลพ่อแม่ ต้องออกมา ทำมาหากิน และสุดท้ายไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงินค่าเล่าเรียน ปัจจุบันคนจนที่สุด ในจำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยเพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเองครับ จากข้อมูล กสศ. จากเหตุนี้จึงควรยุบกองทุน กยศ. มารวมกองทุน กสศ. เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริงและเพิ่มขอบเขต การศึกษาของคนยากจนและคนทุกคนให้อยู่ในระดับตนที่พึงพอใจ ซึ่งรัฐควรดูแล อย่างแท้จริงมากกว่า ๑๒ ปี รัฐต้องเป็นพ่อแม่ที่ให้โอกาสลูกได้เรียน ให้โอกาสลูกได้พัฒนา ให้การสนับสนุนและให้โอกาสลูกมีสังคมให้การเรียนรู้ สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไก ทำให้สังคมดีขึ้น มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาชญากรรมลดลง อันนี้เป็นผลดีสู่สังคมรัฐเอง ไม่ใช่หรือครับ

นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย รัฐควรขยายสัดส่วนผลประโยชน์ครอบคลุมนักศึกษา ทุกระดับให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ กสศ. ควรขยาย ครอบคลุมนักศึกษาสถาบันปอเนาะ โรงเรียนบูรณาการ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอย่างตาดีกาด้วยครับท่านประธาน เพราะมาตรา ๕๔ กำหนดไว้ว่า ให้รัฐจัดกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ในวรรคห้า รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสถานที่ศึกษาเพื่อให้มีการเรียน การสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน เด็กทุกคน จะต้องมีสิทธิและจะเลือกเรียนตามความถนัดของตน โดยรัฐไม่ควรจะกำหนดให้เขาเรียน ตามรัฐเท่านั้นเอง ขอขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา พบว่ามากมายหลายเรื่องเลยที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาแล้วก็ลด ความเหลื่อมล้ำในภาคการศึกษา สามารถช่วยเด็กนักเรียนยากจนได้หลุดจากระบบ การศึกษาก็ได้เป็นล้านคน ช่วยผู้ด้อยโอกาส ช่วยคนพิการ ท่านประธานคะ ดิฉันเคยเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เห็น ความเหลื่อมล้ำในการจัดงบประมาณของการศึกษามากมาย คืองบประมาณรายหัว ที่น้อยและไม่เท่าเทียมเห็นเยอะมาก โรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบทจะอยู่ไม่ได้เลยเพราะว่า ให้งบน้อย เพราะบางโรงเรียนมีแค่ ๖๐ คน อย่างนี้เป็นต้น แต่โรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมือง มีนักเรียนเยอะก็ได้งบประมาณเยอะ นี่คือไม่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน ในกรุงเทพฯ ได้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสหารายได้เองด้วยนะคะ นอกงบประมาณ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าเราเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัย ในต่างจังหวัด ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะกลับกันเลย งบประมาณที่ให้ น้อยมาก ต่อหัวนี่ถือว่าแตกต่างกันอย่างมาก ๆ เลยนะคะ เป็นพันต่อหัว กับเป็นร้อย ต่อหัว ดังนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาก็ส่งผลถึงคุณภาพทางการศึกษาอย่างยิ่ง ระหว่างคนเมืองกับคนชนบทที่แตกต่างกัน ท่านประธานคะปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกและดิฉันก็คิดว่า ไม่เห็นข้อความใด ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้เลยนะคะท่านประธาน มันเป็นเรื่องของ ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่เห็นเลย หรือการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้กับเด็กไทย

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานคะเด็กไทยในทุกวันนี้ ระดับการใช้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูดยังใช้การไม่ได้ เพราะเด็กไทยในชนบทท่านดู สภาพอาคารเรียนหรือสถานที่สิคะ คือเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนภาษาอังกฤษหรือพูด กับครูเจ้าของภาษาอังกฤษเลย เด็กที่เรียนในระบบ Inter กลับกันนะคะ อีกภาพหนึ่ง ถัดไปเลยนะคะ อันนี้คือภาพที่เด็กชนบทที่เขาเป็นอยู่ แต่ในขณะที่อีกภาพหนึ่ง Slide ต่อไป เด็กที่เรียนในระบบ Inter เรียนแบบ English Program มีค่าเล่าเรียนที่แพง ๆ โรงเรียน เหล่านี้มีแรงที่จะจ้างครูที่เป็นเจ้าของภาษามาสอนได้ใช่ไหมคะ ดิฉันเคยสอบถามโรงเรียน ในต่างจังหวัดว่าจะแก้ไขอย่างไร ผอ. โรงเรียนก็ตอบว่าไม่มีงบประมาณจ้างครูฝรั่ง อยากจะจ้างมาก บางโรงเรียนก็ไปขอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. แต่ก็ช่วย ไม่ได้มาก ทำอย่างมากก็คือแค่มี Camp ภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง จ้างครูฝรั่งก็เป็นครั้งเป็นคราว เท่านั้น บางโรงเรียนต้องใช้เงินสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าช่วยเหลือมาเป็นครั้งคราว หลาย ๆ ครั้งที่พยายามทำเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย หลาย ๆ ที่ก็พยายามอยู่ ดิฉันเห็นว่าการอ่อนศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษเป็นความเหลื่อมล้ำระดับสูงมาก เพราะในระบบการศึกษาไทยลูกคนมีเงินในสังคมระดับสูงได้เรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League เลยก็ว่าได้ หรือเรียนมหาวิทยาลัย ระดับโลกในต่างประเทศ ดังนั้นเด็กมีเงินก็จะมีโอกาสทางการศึกษา มีโอกาสทางการพูด ภาษาอังกฤษต่าง ๆ นานา มีอนาคตที่ดี มีงานทำ แต่ว่าต่างจากเด็กยากจนทั่ว ๆ ไป หรือในชนบทที่มีโอกาสเรียนแค่โรงเรียนธรรมดายังยากลำบากเลยค่ะท่านประธาน ดังนั้น ดิฉันจึงเห็นว่ากองทุนนี้มีแสงสว่างให้กับเด็กไทยที่จะมีอนาคตที่เท่าเทียมได้ ท่านประธานคะ ในมาตรา ๑๓ ของกองทุนบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา กองทุนจะดำเนินการเอง หรือจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่นก็ได้ในการนี้ ให้กองทุนมีอำนาจสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้น คำถามของดิฉันจึงถามว่า ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีแนวทางจะพัฒนา การเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยสนับสนุนให้มีความช่วยเหลือ ไปที่สถานศึกษาเพื่อให้มีการเรียนการสอนบ้างหรือไม่ แล้วท่านมีแผนงานที่จะให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในชนบทได้เรียนกับครูฝรั่งบ้างหรือเปล่า ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เหลืออีก ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ ต่อไปท่านนพพล เหลืองทองนารา เชิญครับ

นายนพพล เหลือทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับ ผมเองก็ขอที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องของรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ กสศ. หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางด้าน การศึกษา พอมีกองทุนนี้มาผมเองค่อนข้างที่จะสบายใจมากขึ้น เพราะว่าไม่ว่าแต่ตัวผม หรอกครับ แม้แต่ทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี่เราก็ต้องยอมรับกันว่าในส่วนของภาคส่วนการศึกษา ที่พวกเราได้มีอนาคตได้ยืนมาอยู่ถึงทุกวันนี้ก็เพราะทางด้านการศึกษา และโดยเฉพาะครู ก่อนหน้าที่จะมี กสศ. คนที่รับภาระหนักประการหนึ่งก็คือคุณครู ผมยอมรับเลย แล้วผมก็สงสารมาก เพราะผมระลึกในใจอยู่เสมอว่าครูไม่ใช่เหมือนพ่อแม่ คนที่ ๒ แต่ครูนั้นเป็นพ่อแม่คนที่ ๒ แล้วในเมื่อพ่อแม่คนที่ ๒ ผมลำบาก ในฐานะความเป็นลูก อย่างผมก็ไม่สบายใจหรอกนะครับ แต่พอวันหนึ่งมี กสศ. ขึ้นมาผมเองก็ดีใจที่จะมาช่วย แบ่งเบาภาระในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาจากคุณครูบ้าง ผมเองต้องขอบคุณ แต่ทีนี้ในการปฏิบัติงาน ดำเนินงานของ กสศ. เราก็ต้องยอมรับกันว่าสามารถที่จะช่วยเหลือ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางภาคการศึกษาได้พอสมควร แต่ผมเองยังมีความรู้สึกว่า การเหลื่อมล้ำทางการศึกษานอกจากในเรื่องของทุนทรัพย์แล้วก็เหมือนอย่างท่านนพดล ปัทมะ กับท่านสฤษฏ์พงษ์ได้บอกว่าในเรื่องของความเสมอภาคทางการเรียนการสอน โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ อย่างในจังหวัดพิษณุโลกมีโรงเรียนทั้งหมด ๔๙๗ โรงเรียน แต่ว่าใน ๔๙๗ โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง ๒๒๔ โรงเรียน นั่นก็คือ เป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก หมายความว่ามีนักเรียนตั้งแต่ ๑ คน จนถึง ๑๒๐ คน ถัดจากนั้น ไป ๑๒๑ คน จนถึง ๖๐๐ คน นั่นก็เป็นโรงเรียนขนาดกลางก็ว่าไป แล้วทีนี้ในเรื่องของ การจัดงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็ก พวกเราก็ทราบกันดีอยู่ว่านโยบายของทาง สพฐ. ทางกระทรวงศึกษาธิการก็คือจัดเป็นรายหัว อย่างโรงเรียนขนาดเล็กบางโรงเรียนไม่น่าเชื่อว่า มีนักเรียนกันอยู่ ๑๑ คน แล้วเขาจะทำอย่างไรถ้าคิดตามรายหัว ผมอยากให้ทาง กสศ. ได้เข้ามาเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ผมเองต้องขออภัยที่ไม่ได้อ่านทั้งหมดว่าวัตถุประสงค์ของ กสศ. เอื้อมไปถึงตรงส่วนนี้ไหม แต่ว่าด้วยความที่ท่านเองในวิสัยทัศน์ของท่านที่เขียนมาอยู่ที่ หน้าที่ ๓ หน้าที่ ๔ ท่านก็บอกในเรื่องของการจัดระบบการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกัน ผมเองก็อุปมานเอาว่าน่าจะเอื้อมถึงในส่วนของการให้ความเสมอภาคในเรื่องของการเรียน การสอน เพราะว่าทางพวกเราก็ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใย โดยเฉพาะในส่วนของทาง พรรคเพื่อไทยเราก็พูดเสมอ เมื่อสมัยที่แล้วที่เราเป็นฝ่ายค้านอยู่ ๔ ปี ทุกครั้งไม่ว่าจะเรื่อง งบประมาณ หรือว่าการรายงานของทางรัฐมนตรีหรือทางไหนก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา เราพยายามจะมุ่งเน้นว่าขอให้เลิกเสียทีเถอะในการที่จะจัดสรรงบประมาณรายหัวลงไปให้ ตามโรงเรียนต่าง ๆ เพราะมิฉะนั้นแล้วโรงเรียนขนาดเล็กก็ย่อมเสียโอกาส แล้วก็โอกาส ในการพัฒนาไม่มีเลย อย่าว่าแต่โอกาสในการพัฒนาเลย เอาให้คงอยู่มันยังคงอยู่ไม่ได้เลย แล้วก็ยังต้องไปรบกวนคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งท่านก็เต็มใจในการที่จะช่วยสถานศึกษา ในการที่จะหาเงินหาทอง แต่มันไม่ใช่ที่นะครับ มันไม่ใช่เรื่อง เพราะว่าแค่ท่านเหล่านั้น ได้เสียสละมาช่วยดูแลโรงเรียน มาช่วยปกป้องโรงเรียนนั่นก็มากพอสมควรแล้ว แล้วยังจะต้อง ให้ท่านได้เสียสละเงินทอง เพราะจริง ๆ แล้วในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ผ้าป่าการศึกษาก็ไม่ได้มา จากไหนหรอกครับ มาจากคนที่เป็นกรรมการสถานศึกษาทั้งนั้นละครับ เพราะฉะนั้นผมเอง ก็อยากจะฝากท่านไปถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วย ขอให้ในเรื่องเหล่านี้การจัดงบประมาณ ไปสู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กขอให้ได้มีความยุติธรรมขึ้น คุณครูทั้งหลาย ที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กอดทนกันจนช่วงหลังยังต้องมีการจัดตั้งสมาคมครูโรงเรียนขนาดเล็กขึ้น เพื่อจะดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ดิ้นรนให้มีคุณภาพทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ยังคงอยู่ จะอยู่กี่คนก็ช่าง แต่ตราบใดยังมีนักเรียนอยู่ ยังมีชื่ออยู่ในสารบบนั่นก็คือโรงเรียน แล้วเป็นสิ่งที่จะมีนักเรียนอยู่ ๑ คน หรือ ๒ คน นั่นก็คืออนาคตของชาติทั้งนั้น ใครจะไปรู้ นักเรียนที่อยู่โรงเรียนขนาดเล็ก ๒ คนในโรงเรียนนั้นวันหนึ่งอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วผมขอฝากท่านได้ช่วยดูในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่นนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ต้องขอบคุณท่านประธานและขอสวัสดีทางผู้แทน กสศ. กสศ. นี่เราต้อง มาทบทวนกันนิดหนึ่งว่าท่านเกิดมาจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เพื่อจะปฏิรูปการศึกษา ในหมวดปฏิรูป มาตรา ๒๖๑ ให้มีคณะกรรมการ กสศ. รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เขียนขึ้น โดยคนจำนวนหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นคนดี การเป็นคนดีกับการที่สังคมดีผมจะชอบคนในสังคมดี เพราะคนในสังคมดีนั้น มันจะทำให้สังคมมีความสมานฉันท์ ด้วยการเกิดขึ้นก็มีชิงออก พระราชบัญญัติขึ้นมา โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ออกก่อนที่จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วัตถุประสงค์จริง ๆ ก็คือจะมาแก้ปัญหารัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ คือในกรณีผู้ยากไร้ หรือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในสังคมไทยจะต้องได้เรียนทุกคน เราก็ไปสู่ในทฤษฎีว่าต่อไปนี้ คนไทยทุกคนจะต้องอ้างเหตุไม่เรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินไม่ได้ การอ้างเหตุไม่เรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา ๕๔ ในมาตรา ๕๔ ในวรรคสี่ วรรคท้าย บอกว่าให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการ ศึกษา คือเป็นกองทุนฟรีก็เป็นกองทุน กสศ. ในการมารายงานของ กสศ. กสศ. นี่ไม่ได้อยู่ใน ระบบการศึกษาเลย กสศ. เป็นองค์กรนอกกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. เป็นองค์กรพิเศษ ที่เกิดเพราะรัฐธรรมนูญ คือถ้าในวงการกระทรวงศึกษาธิการก็บอกว่าดีเหมือนกันจะได้ดิ้น หลุดพ้นจากระบบราชการ จากระบบกระทรวงศึกษาธิการที่มันเทอะทะ เดินหลุดออกมา แต่ในจำนวนหนึ่งก็บอกว่า กสศ. ไม่ต้องรับผิดชอบถ้าเกิดความบกพร่อง ความดีก็รับเอาไว้ แต่ถ้าเกิดความด้อยคุณภาพการศึกษาก็ไปโทษกระทรวงศึกษาธิการ โทษระบบการศึกษา ประการสำคัญคือที่ผมรู้สึกว่าเสียใจนิด ๆ กับการรายงานของปี ๒๕๖๕ เพราะผมได้พูดเสมอเลยว่า ในรายงานที่ผ่านมาวัตถุประสงค์ของท่าน ๗ ข้อ ซึ่งท่านรับภารกิจตามกฎหมายนั้น ท่านเคยทำ มาให้เห็น เช่นในปี ๒๕๖๓ ผมยังจำได้ว่าท่านมารายงานว่ากองทุนได้ใช้เงินไปกับพวกที่มีวุฒิ ในระดับก่อนประถมศึกษาถึง ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ในระดับมัธยมปลาย ปวส. ท่านใช้ไป แค่ ๔,๐๐๐ กว่าคน นี่ปี ๒๕๖๓ คือ ๑.๓ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการที่ ท่านต้องไปช่วย คือสรุปท่านต้องยอมรับว่าเรามีการศึกษาภาคบังคับ วันนี้การศึกษาภาคบังคับเด็ก ทุกคนจะต้องได้รับเงินถ้าไปเรียนโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนของท้องถิ่นจะได้ ๓๘,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาทต่อหัวต่อคนต่อปี ถ้าเด็กโดยเฉพาะเด็กที่ชายขอบหรือเด็ก ที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาต้องเรียนตามอัตลักษณ์มีเรียนศาสนาด้วย รัฐก็จะให้แค่ ๑๕,๐๐๐-๑๖,๐๐๐ บาทต่อหัวต่อคน แล้วให้โรงเรียนไปจัดการ แต่เราก็พบว่ามีเด็กจำนวน มากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และต้องการจะเรียนหนังสือ แต่ว่าเขาไม่ได้เรียนเพราะเขาไม่มีเงิน ก็คือเด็กที่เรียนจบมัธยมศึกษาจะเข้าอุดมศึกษา จะต้องไปกู้เงิน กยศ. การกู้เงิน กยศ. ก่อนปี ๒๕๖๖ ก็มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจำนวนร้อยละ ๒๕.๕ แม้จะลดแล้วแต่พอไปฟ้องศาล ก็จะร้อยละ ๒๕.๕ เราก็ได้มาแก้ไขถึงจะแก้ไขว่าจะไม่ให้มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับก็เหลือ ร้อยละ ๑.๕ แต่เวลาคิดดอกเบี้ย เวลาเราไปจ่ายคืนต้องไปจ่ายเบี้ยปรับก่อน แล้วไปจ่าย ดอกเบี้ย ลูกหนี้ กยศ. จำนวนมากเป็นล้าน ๆ ไปจ่ายเงินเท่าไรเงินต้นก็เท่าเดิม การแก้ครั้งนั้น ก็เป็นการแก้เพื่อให้ได้ทั้งระบบ ถ้าใครยังมีหนี้อยู่ถ้าไปใช้หนี้ก็ให้เปลี่ยนวิธี คือถ้าไปจ่าย ให้ไปจ่ายเงินต้นก่อน ให้คิดเงินต้นก่อนแล้วไปคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งวันนี้กฎหมายนี้ มีผลใช้บังคับทันทีเพราะเราไปยกเลิกกฎหมายเก่า แต่ กยศ. ก็ยังไม่ใช้ สังคมไทยเราจึงเป็น หนี้ที่เกิดจากการขยันเรียน การแก้ กยศ. ครั้งดังกล่าวเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ กยศ. ได้กำไร น้อยลงเท่านั้น จากเคยได้กำไร ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์กลับมาได้กำไรแค่เสมอตัว คราวนี้กองทุน ของท่านพอท่านไม่รายงานมาอย่างนี้เราก็ไม่รู้ว่าระบบคัดกรองเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมได้รับ การร้องเรียนมากที่สุดคือกลุ่มโรงเรียนเอกชนในภาคใต้ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนเด็กไม่สามารถเข้าถึงบริการของท่าน เพราะท่านไปเขียนให้ สพฐ. ตชด. แม้จะตอนหลังพอผมอภิปรายไปท่านก็ไปมีข้อกำหนดแต่ก็เข้าไม่ถึง อันนี้เป็น กองทุนไม่เสมอภาคทางการศึกษา ท่านไปสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมคิดว่า ท่านต้องเปลี่ยนวิธีคิด ผมอยากให้ท่านทำข้อ ๖ ข้อ ๗ ไปทำการศึกษาวิจัย ไปทำการพัฒนา ท่านไม่มีความรู้ในท้องถิ่นเท่ากับท้องถิ่นหรอกครับ ท่านกระจายอำนาจไปเหมือนประเทศ ที่เจริญแล้วเรื่องการศึกษา กยศ. ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการจัดองค์กรแบบอำนาจนิยม ต้องเอาอำนาจมาส่วนกลาง ผมจึงอยากให้ท่านรวมกองทุน กสศ. กับ กยศ. ด้วยกัน แล้วก็ มาสร้างการเรียนฟรีเพื่อมีคุณภาพไปสู่รัฐสวัสดิการได้แล้วครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญทางท่านผู้จัดการกองทุนได้ตอบคำถามท่านสมาชิก เชิญครับ

นายไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ ผ่านท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปนะครับ สำหรับทุก ๆ กำลังใจแล้วก็ทุก ๆ คำแนะนำ ที่ กสศ. จะรวบรวมไปปรับปรุงการดำเนินงานในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ผมขออนุญาต จัดกลุ่มของประเด็นที่จะขอตอบคำถามข้อซักถามและข้อสังเกต ดังนี้

นายไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก่อนอื่นทาง กสศ. ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการกล่าวถึงในหลาย ๆ โอกาสในวันนี้ ผมขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าน้องคนนี้ได้รับทุนจาก กสศ. มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๑ แล้วได้รับต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๓ ปี แล้วด้วยความตั้งใจของการออกแบบปรับปรุง ระบบการคัดกรองให้ลดภาระงานแล้วก็ให้มีความคล่องตัวได้มากที่สุดเราจึงกำหนดให้มี การปรับปรุงข้อมูลทุก ๆ ๓ ปีเท่านั้น ตอนนี้พอครบถึง ป. ๔ จึงถึงเวลาที่น้องจะต้องมีโอกาส ในการปรับปรุงข้อมูลว่าสถานะครัวเรือนยังคงมีระดับเช่นเดิมใช่ไหม ซึ่งครัวเรือนนี้น้องคนนี้ และคุณพ่อได้มีการปรับปรุงข้อมูลมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และผลการคัดกรองก็พบว่าน้องจะยังคงได้ทุนเสมอภาคต่อเนื่องไปจนถึง ป. ๖ และจะต่อเนื่อง ถึง ม. ๓ รวมถึงต่อ ๆ ไปถ้าเกิดสถานะครัวเรือนยังเป็นเช่นเดิมอย่างนี้อยู่ จึงต้องขอกราบเรียนว่า ในกรณีนี้น้องเป็นนักเรียนที่ได้ทุน และจะยังได้ทุนต่อไปก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ขึ้นมานะครับ ผมจึงขอนำเรียนว่าในส่วนของการคัดกรองความยากจน กสศ. ได้ทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับต้นสังกัดทั้ง ๖ สังกัด ตั้งแต่สังกัดที่เป็นโรงเรียนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อปท. ตชด. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนของสำนักพระพุทธศาสนา ส่วนของโรงเรียนเอกชนนะครับ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราได้มีโอกาสสนับสนุน นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนสังกัดเอกชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ารวมสงขลาก็เป็น ๔ จังหวัด ในปีนี้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๕๙๐ คน จากจำนวนที่ได้มีอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น กสศ. ได้ขยับเริ่มต้นทำงานกับโรงเรียนเอกชนแล้ว แล้วก็เป็นโรงเรียนเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร กลุ่มเป้าหมายนี้จึงได้รับการทำงานด้วย เรารวบรวมระบบต่าง ๆ ให้เป็น ระบบเดียว ๑. ก็คือเวลาคุณครูเยี่ยมบ้านที่ต้องทำอยู่แล้วในแต่ละปี คุณครูจะทำการคัดกรอง ความยากจน คุณครูจะทำการคัดกรองความเสี่ยงเรื่องของระบบ ดูแล ช่วยเหลือนักเรียน ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพจิต ความเสี่ยงเรื่องของภาวะครอบครัวที่เป็นครอบครัวแหว่งกลาง หรือเรื่องอื่น ๆ สุขภาพต่าง ๆ ก็จะทำงานในระบบเดียวกันนี้ และระบบในการเยี่ยมบ้าน เพื่อที่จะทำให้คุณครูสามารถทำงานได้ครั้งเดียวไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกระดาษ รูปแบบ Offline Smartphone หรือรูปแบบ Online ที่ Smartphone ก็ได้ หรือจดกลับมาทำต่อ ที่โรงเรียนก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกของครูทุก ๆ คน ระบบนี้จึงพยายามออกแบบให้มี ความรัดกุมแล้วก็มีการรับรอง ๓ ฝ่าย กรณีที่บางทีอาจจะมีบางครอบครัวที่เด็กที่เป็นพี่ กับน้องได้ผลไม่เท่ากัน นั่นก็เพราะว่าผมต้องกราบเรียนจริง ๆ ครับว่าในแต่ละปี กสศ. ถูกตัดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีเราสามารถจัดสรรให้เท่าที่รัฐบาลมีงบประมาณ จัดสรรให้ ในบางปีเกณฑ์จึงจะต้องเป็นเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณมี ไม่เพียงพอ บางทีเกณฑ์จึงผ่อนคลายได้มากขึ้น เนื่องจากงบระมาณมีมากพอ แล้วครูแต่ละคน ที่กรอกข้อมูลเข้าไปก็อยู่คนละระดับชั้นวิธีการกรอกข้อมูลก็จะแตกต่างกันไป เราใช้การคัดกรอง ผ่านการกรอกสถานะครัวเรือนเป็นหลัก เพื่อที่จะให้มีความมั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูล ที่มาจากข้อเท็จจริง แล้วก็มีการรับรอง ๓ ฝ่าย แล้วท้ายที่สุดก่อนที่เราจะมีการจ่ายเงิน เราให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้เห็นรายชื่อเด็กทุกคนในโรงเรียนที่ได้ เพื่อมีการทักท้วงมาได้ มีอะไรไม่ถูกต้อง มีอะไรผิดปกติสามารถทักท้วงมาได้ ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้โรงเรียนได้มีส่วนร่วม ตรงนี้อย่างเต็มที่แล้วด้วยนะครับ ซึ่งข้อเสนอแนะอื่น ๆ จะขอนำไปปรับปรุงกระบวนการ ต่อไป และเรื่องของงบประมาณที่ถูกปรับลดทุกปีนะครับ ในปีนี้ในเดือนมกราคมมติ ครม. พูดที่ตัวเลข ๗,๐๐๐ กว่าล้านจริง ๆ ครับ แต่เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ก็มีการปรับลด งบประมาณเรากลับลงมาที่ ๖,๐๐๐ ล้านบาทเท่าเดิม เราก็จะถูกปรับลดงบประมาณทุก ๆ ปี ปีละ ๒๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นประจำ เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ถูกปรับลดทำให้ กสศ. แม้จะมีการตัดเกณฑ์ความยากจนที่เรามีข้อมูลเด็กทุก ๆ คนจนถึงแตะเส้นความยากจนเลยครับ ที่ ๒,๗๐๐ บาท หรือ ๒,๘๐๐ บาท แต่เราจ่ายเท่าที่เรามีเงินที่รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาล และเราสนับสนุนเด็กที่เป็นการศึกษาภาคบังคับก่อน เพราะกฎหมายมันบังคับเอาไว้ว่า เด็กที่ตามรัฐธรรมนูญเรื่องของอนุบาล ตาม พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับคือเด็กที่เรียน จนถึง ม. ๓ เราจึงต้องจ่ายตรงนี้ก่อน แต่เด็กคนอื่น ๆ เรามีข้อมูลอยู่แล้วน้องที่เคยอยู่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปัจจุบันเข้าสู่ ม. ปลาย ปวช. แล้วเรามีข้อมูลของเขาอยู่ ต้องกราบเรียนว่าด้วยคำแนะนำของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติตั้งแต่ปีที่แล้วทาง กสศ. ได้ไปทำงานร่วมกับ กยศ. เราได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับ กยศ. ส่งข้อมูลทุกคนที่สามารถ ที่จะเข้าเกณฑ์ ได้รับเงินทุนของ กยศ. และทาง กสศ. ได้พยายามทำงานร่วมกับ กยศ. ว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่ของ กยศ. สามารถให้ทุนการศึกษาได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ บริหารของ กยศ. ประกาศกำหนด เราได้เข้าไปขอทำงานร่วมกับ กยศ. หากมีอะไรที่ กสศ. สามารถร่วมพัฒนาหลักเกณฑ์เพื่อให้น้อง ๆ ได้รับทุนการศึกษา มีอะไรที่สามารถที่จะทำให้ การเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเป็นการเชื่อมโยงโดยใช้ข้อมูล และระบบสารสนเทศ ต่อเนื่องกันไปเราก็จะทำให้การทำงานตรงนี้มีความเสมอภาคตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา ให้จงได้นะครับ ในส่วนของการทำงานเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก กสศ. ได้มีการวิจัยร่วมกับธนาคารโลก แล้วก็มีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าในระยะเวลาอีก ๓ ปีข้างหน้าตามแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ เราจะโฟกัสการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กในกลุ่มที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้เลย ตามมติ ครม. ในเรื่องของ ๖ กิโลเมตร ตรงนี้มีอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐-๑,๖๐๐ โรงเรียน ทั่วประเทศ ครูรักถิ่นเป็นเพียงแค่หนึ่งในความพยายามที่จะไปให้ถึงโรงเรียนเหล่านี้ ครูรักถิ่น ปีละ ๓๐๐ คนก็จะไปให้ครบทั้ง ๑,๕๐๐-๑,๖๐๐ โรงเรียน เราจะมีสูตรจัดสรรงบประมาณ ที่เรากำลังวิจัยพัฒนาเพื่อจะนำเสนอสูตรจัดสรรงบประมาณที่มีความเสมอภาคมากขึ้น สูตรที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กลืมตาอ้าปากได้ สามารถที่จะจัดการเรียนการสอนได้ มีความเสมอภาคเทียบกับจุดอื่น แต่ตรงนี้ก็อีกเช่นกันครับ งบประมาณวิจัยของ กสศ. ถูกปรับลด ๗๐ เปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่องทำให้เราไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะทำข้อมูล แล้วก็ทำการวิจัยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร เราก็อยากจะทำให้ได้ ครบทุกวงเล็บในมาตรา ๕ แต่เวลาเราได้รับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาเราทำได้เท่าที่มี งบประมาณ แต่ก็มีความพยายามที่เราจะพยายามระดมทรัพยากรจากช่องทางอื่น ๆ เช่นกัน ในเรื่องของถ้าเกิด กสศ. ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมเราจะทำอะไร ผมต้องกราบเรียนว่า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเป็นประเทศที่แก่ก่อนรวย เรากำลังมีสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ที่เด็กเกิดลดลงเรื่อย ๆ เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้เด็กแม้แต่คนเดียวหลุดออกไปจากระบบ การศึกษาอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นถ้าเกิดมีงบประมาณที่เพิ่มเติมเราจะพยายามสนับสนุนให้มี การดูแลเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้ครบถ้วน ตามเส้นความยากจน ถ้ามีภาพ Slide เอาขึ้นได้นะครับ

นายไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต้นฉบับ

ก็คือเป็นภาพโค้งระฆังคว่ำที่หลาย ๆ ท่านเห็นอยู่ในเล่มรายงานประจำปีแล้ว ถ้าเกิดเราสามารถ ที่จะทำให้งบประมาณเหล่านี้ไปได้จนสุดเส้นสีเหลือง ปัจจุบัน กสศ. ดูแลได้ถึงแค่เส้นสีส้ม ตามงบประมาณที่ได้มีการจัดสรร แต่เรามีข้อมูลไปจนถึงจรดเส้นสีเหลืองเลย ถ้าเกิดรัฐบาล สามารถจัดสรรงบประมาณมา ไม่จำเป็นต้องจัดผ่าน กสศ. นะครับผมขอกราบเรียน จัดสรร ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ แต่เรามีข้อมูลชี้เป้าให้เงินเหล่านี้ไปถึง กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น ถ้าไปถึงได้ทรัพยากรมนุษย์ของไทยจะมีคุณภาพสามารถที่จะเติบโต ไปเป็นกำลังสำคัญ ตัวเลขที่ผมอยากจะกราบเรียนก็คือว่าเด็กที่อยู่ใต้เส้นความยากจนตรงนี้ มีเพียงแค่ร้อยละ ๑๒ เท่านั้นที่สามารถไปถึงระดับอุดมศึกษาได้ เด็กที่จบ ม. ๓ แล้วเป็นเด็ก ยากจน หรือยากจนพิเศษที่ได้ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนหรือทุนเสมอภาค ๑๗๕,๐๐๐ คน สอบติด TCAS ม. ๖ ปีนี้เพียงแค่ ๒๑,๐๐๐ คนเท่านั้น เรามีตัวเลขเหล่านี้ เรามีข้อมูลเหล่านี้ อยู่ถ้าเกิดสามารถที่จะนำงบประมาณมาช่วยตรงนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากครับ เพิ่มการเลื่อน ชั้นทางสังคม ช่วยแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และในท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้ประเทศไทย ออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ภายในเวลาที่เราตั้งใจเอาไว้ เพราะว่าประเทศไทยถ้าเกิดว่า ประชากรเหล่านี้สามารถออกจากกับดักความยากจนได้ ประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญ ในกำลังแรงงานที่จะแก้ไขปัญหาการออกจากกับดักรายได้ปานกลางและนำมาจ่ายภาษี ฐานภาษีเราจะกว้างขึ้น แล้วเราจะมีงบประมาณไปทำเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้อีกมากเลยครับ

นายไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต้นฉบับ

ในส่วนของข้อเสนออื่น ๆ ที่ทุก ๆ ท่านได้ให้มานี้ กสศ. ขอน้อมรับเอาไว้ เพื่อไปจัดทำกระบวนการการทำงาน แล้วก็จะเตรียมตัวในกระบวนการงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ถ้าเกิดเรามีโอกาสในปี ๒๕๖๗ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่เราได้มีการเสนอไป และได้มี โอกาสในการนำเอาข้อเสนอแนะจากเวทีแห่งนี้ ในสภาแห่งนี้ไปประกอบการปรับปรุงพัฒนา โครงการ เราก็หวังว่าจะได้มีโอกาสกลับมารายงานความคืบหน้าของภารกิจเรื่องของ ความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่ง กสศ. ขอย้ำนะครับว่าไม่ได้เป็นภารกิจที่ทำได้แต่องค์กรเดียว แต่ กสศ. จะขอได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน เพื่อทำให้ ภารกิจนี้บรรลุเป้าหมายได้ในเวลาที่พวกเราได้อยู่เห็นด้วยกันทุก ๆ ท่าน ขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านพริษฐ์จะหารือเกี่ยวกับกองทุนไหมครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ไม่เกี่ยวกับกองทุนครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาแล้วนะครับ ต้องขอบคุณทางกองทุนครับ เชิญท่านพริษฐ์จะหารือเล็กน้อยนะครับ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ใช้เวลา ไม่นานครับ ผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล จะขออนุญาตหารือท่านประธานก่อนที่จะปิดประชุมครับ หากท่านประธานจะพอกรุณา จำความได้นะครับ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วผมได้มีโอกาสปรึกษาหารือท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ เกี่ยวกับข้อบังคับ ข้อที่ ๙๐ เพื่อเสนอให้ท่านนัดประชุมตัวแทนทุกพรรคการเมือง เพื่อปรึกษา หารือกันเรื่องการเดินหน้าในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ๓๕ คณะ พอมาในที่ประชุมรัฐสภา วันศุกร์ที่แล้วท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ก็ได้แจ้งกลับมาว่าท่านเห็นชอบกับแนวทาง แล้วก็ได้มอบหมายให้ท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ท่านรองพิเชษฐ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการนัดประชุมของตัวแทนทุกพรรคเพื่อมาหารือร่วมกัน เดินทางมาถึง วันนี้ทางพรรคก้าวไกลเท่าที่ผม Check กับเพื่อนสมาชิกทุกคนยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมี การประชุมดังกล่าวเมื่อไร ก็เลยขออนุญาตใช้เวทีนี้ก่อนจะปิดการประชุมสอบถามท่านประธานนิดหนึ่งว่าท่านได้นัด กับตัวแทนทุกพรรคแล้วหรือยัง เพื่อปรึกษาหารือในการเดินหน้าตั้งกรรมาธิการ ๓๕ คณะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ตรงนี้หลังจากที่ท่านมอบหมายให้ผมรับผิดชอบ ตอนนี้ต้องดูรายละเอียดก่อนนะครับ แล้วก็ ขอให้ทางผู้ประสานงานของทุกพรรคมาคุยกันก่อน แล้วอย่างไรก็ค่อยตัดสินใจกันเพราะผม ตัดสินใจเองไม่ได้ก็ให้ตัวแทนพรรคมาคุยกันนะครับ แล้วท่านนัดกันมาก็แล้วกันครับ ขอตัวแทน พรรคหลัก ๆ มาคุยกันก่อน ขอบคุณมากครับ เชิญครับท่านอดิศรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ พรรคเพื่อไทย ต่อข้อหารือของเพื่อนสมาชิกผมคิดว่าก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะสภาของเรา มีกรรมาธิการตามข้อบังคับ ๓๕ คณะ ถ้าได้มีโอกาสคุยกันทุกฝ่าย ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะได้ ทำงานแล้วก็ประสานกับฝ่ายบริหาร ซึ่งสัปดาห์นี้คงจะมีตัวนายกรัฐมนตรี คิดว่าอย่างนั้นนะครับ ในขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไปพร้อม ๆ กัน จะเป็นการทำงานควบคุมประสานงาน ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ทางเพื่อไทยพร้อมที่จะไปพูดคุยกับท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

จริง ๆ แล้วอยากจะได้ให้ Whip ก่อนนะครับ Whip ที่เป็นทางการนะครับ อย่างไรก็คุยกัน นอกรอบก่อนก็แล้วกัน แล้วก็มาคุยกับผมนะครับ ขอให้ตัวแทน Whip ชั่วคราวลองปรึกษา หารือกันก่อน ก็เราประชุมกันมาพอสมควรแล้วครับ ผมขอปิดประชุมครับ ขอบคุณครับ