เรียนท่านประธาน และท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ ดิฉัน ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นะคะ ดิฉันต้องขอบคุณท่าน สส. ทั้งคำแนะนำและการให้กำลังใจแก่ กสม. นะคะ และดิฉันก็ให้ กำลังใจแก่ท่านในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เนื่องจากว่าความเห็นและข้อเสนอแนะของ กสม. นั้น ต้องทำงานเสนอไปยังรัฐบาลในการแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องตลอด ๒ ปีที่ผ่านมาที่ กสม. ชุดที่ ๔ ทำงานในภารกิจนี้ เรามีความเห็นหลายเรื่องที่ส่งไปยัง ครม. และ ครม. ก็ได้แจ้ง ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการ ซึ่งอยู่ในการติดตามของ กสม. อย่างต่อเนื่องนะคะ มีการกล่าวว่าเรามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร ดิฉันขอกล่าวถึงแม่ชีเทเรซานะคะ ได้กล่าวไว้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่สิ่งที่รัฐมอบให้นะคะ ซึ่งอันนี้ก็สอดคล้องกับมาตรา ๔ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ในการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความ เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำไมต้องมี กสม. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายที่จะให้มีองค์กรอิสระแบบ กสม. ในตามหลักการแห่งปารีส ซึ่งเป็นสถาบันอิสระที่เรียกเป็นสถาบันกึ่งตุลาการนะคะ แล้วเรียกว่าเป็นกระบวนการ ยุติธรรมทางเลือกค่ะเพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ในบทบาทของที่มีศาล แต่เพียงลำพังเท่านั้น ด้วยข้อจำกัด ด้วยภาระที่ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ในการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลเพราะฉะนั้นในการมีสถาบันอิสระนี้แบบ กสม. จะทำให้เขาสามารถ เข้าถึงความยุติธรรมได้แต่โดยองค์กรของ กสม. ตาม พ.ร.ป. กสม. ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ยังมีข้อจำกัด ซึ่งถูกตัดไปในรัฐธรรมนูญที่เคยมีในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐
ประเด็นสำคัญที่ดิฉันจะกล่าวถึง ก็คือว่า พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่เป็นภารกิจ ของ กสม. ค่ะ เพราะหลักคิดของ พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยเป็นการไกล่เกลี่ยระหว่างเอกชน กับเอกชนที่มีความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ กสม. ทำ เป็นการกระทำระงับข้อพิพาท ด้านสิทธิมนุษยชนที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าดำเนินการกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า เช่นกรณีของรัฐ กับประชาชน กรณีของผู้ประกอบการธุรกิจกับชุมชน หรือกับพนักงาน หรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากสำหรับที่ประชาชนจะเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยได้ และ กสม. ในออสเตรเลีย หรือในต่างประเทศ ก็ใช้หลักนี้ในการที่เรียกว่าการระงับข้อพิพาท เพียงแต่ว่าเมื่อเรามีการคุยกันเราเลยเข้าใจว่าการระงับข้อพิพาทของ กสม. เหมือน พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่ค่ะ และดิฉันคิดว่าถ้า กสม. มีภารกิจนี้จะทำให้หลายเรื่องประชาชน ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะหลายเรื่องเมื่อเราเจอข้อจำกัดแบบนี้ เราจึงต้องทำความเห็น ให้ละเอียดที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้เอาหลักฐานความเห็นของ กสม.นำไปเมื่อเขาต้องการ ได้รับความยุติธรรม และนำไปขึ้นสู่การดำเนินคดีในชั้นศาล อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็น จะต้องขอให้ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติสนับสนุนในเรื่องนี้
ภารกิจอีกอันหนึ่ง ที่ กสม. จำเป็นจะต้องทำคือ การดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย ในคดีปกครอง และในคดีอาญาซึ่งถูกตัดไปในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นี้นะคะ ทำไมเราต้องมี การดำเนินคดีแทน เพราะหลายเรื่องที่เราตรวจสอบ และเราค้นพบว่ามีความยากลำบาก โดยเฉพาะคนจน และผู้ด้อยโอกาส ที่สามารถที่จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ ซึ่งมันควรจะเป็น ภารกิจของ กสม. ซึ่งใช้งบประมาณของแผ่นดินในการดำเนินการเรื่องนี้แทนพวกเขาเหล่านั้น และสิ่งเหล่านี้ที่เราคิดว่าเมื่อมาถึงวันนี้ กสม. มีข้อจำกัดเหล่านี้ เราจึงพยายามแก้ปัญหา ฝ่าวงล้อมของข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือบุคลากร หรือความต้องการทั้งจาก หลายภาคีภาคส่วนที่ให้ กสม. ทำ นอกจากที่ท่านวสันต์ได้กล่าวไป สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่า เราจะต้องพัฒนาเรื่องการส่งต่อเรื่องร้องเรียนค่ะ เรามีองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาจดแจ้ง กับ กสม. แล้วเรามีแผนในปี ๒๕๖๗ ที่จะทำให้องค์กรเหล่านี้ในการที่จะทำงานร่วมกัน ทำไมเราถึงต้อง MOU กับสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลปกครอง หรือในอนาคตที่จะ MOU กับสภาทนายความ หรือศาลยุติธรรม เพราะว่าทุกหน่วยงานก็มีข้อจำกัด เมื่อทุกหน่วยงาน มีข้อจำกัดเราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาข้อจำกัดด้วยการทำงานร่วมกันในเชิงเครือข่าย และทำงานเชิงส่งต่อนะคะ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่จะ พัฒนาทั้งระบบฐานข้อมูลและระบบการเข้าถึงการร้องเรียนให้รวดเร็วที่สุดนะคะ
ในประเด็นของการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและการส่งเสริมสิทธินี่ เราตระหนักที่จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเราตระหนักดีว่า กรณีร้องเรียนมาที่ กสม. หรือที่ท่านเล่าปรากฏการณ์ทั้งหลายอย่างที่มีการละเมิดสิทธินั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ แต่จริง ๆ มันนำไปสู่สาเหตุแห่งปัญหาคือโครงสร้างนะคะ โครงสร้าง ที่อย่างนี้คืออะไร ถ้าในแง่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราจะพบว่าจากการศึกษาของ กสม. เราค้นพบว่ามีระเบียบวิธีปฏิบัติของผู้ใช้ในกระบวนการยุติธรรมที่เกินเลยไปจาก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเรากำลังคิดว่ามีแผนจะศึกษาระเบียบ วิธีปฏิบัตินั้นที่ออกมาเกินเลยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำไม กสม. ถึงต้องทำงานเชิงรุกในการทำความเห็นทางกฎหมาย และในแง่ของกระบวนการยุติธรรม ทางปกครองนะคะ ประเด็นสำคัญที่เราก็พบเช่นกันว่าในกฎหมายหลายฉบับที่เป็นกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือสิทธิพลเมือง การเมืองก็ตาม มีการออก กฎหมายลำดับรองในแง่ประกาศกฎกระทรวง ระเบียบที่เกินเลยไปจากเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติทั้งที่พระราชบัญญัตินั้นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะทบทวนแล้วก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา ๗๗ ที่ไม่ควรมีกฎหมายที่เกินภาระจำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพของประชาชน และกฎหมายหลายฉบับไม่สอดคล้องกับสถานการณ์สากลและกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิมนุษยชน กสม. เราจะใช้หลักในการตรวจสอบคือกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิมนุษยชนทั้ง ๙ ฉบับ แล้วก็รัฐธรรมนูญ แล้วเราศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า มีข้อจำกัดอย่างไร เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปฏิญญาสิทธิการพัฒนา อันนี้เราถึงให้ ความสำคัญนะคะ
ประเด็นที่สำคัญคือ ที่ท่านกล่าวถึงสิทธิต่าง ๆ ด้านการศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ ดิฉันคิดว่าเราควรมองทั้งระบบ เพราะจริง ๆ แล้วประเด็นกฎหมายของเรา ไม่บูรณาการกันเลย แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำเพราะหน่วยงานเป็นนิติบุคคล อันนี้คือ ปัญหาใหญ่ มาตรการทางสังคมที่จะทำได้ต้องกระจายอำนาจ ไม่มีการกระจายอำนาจเลย ทั้งที่ท้องถิ่นจะสามารถทำได้หลายอย่างโดยเฉพาะมาตรการทางสังคมช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ แล้วเรามีตัวอย่างของ COVID-19 ที่องค์กรภาคประชาสังคมและท้องถิ่น สามารถทำงานได้ และที่สำคัญคืองบประมาณ งบประมาณด้านสังคมมีน้อยมากเมื่อเทียบกับ งบประมาณในด้านอื่น ๆ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เรามีความเห็นไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกคนก็ต่างบอกว่าจะเอางบจากที่ไหน ซึ่งพอเราดู ๆ งบประมาณในภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่าน้อยมากในงบประมาณด้านพัฒนาที่เรากำลัง เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม เจอปัญหาผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันก็คิดว่าท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ จะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในการพิจารณางบประมาณ และดิฉันก็เห็นใจ หน่วยงานราชการในการทำงาน ค่อนข้างมีข้อจำกัดทั้งงบประมาณและบุคลากรในการที่เขา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งน้อยมาก จึงจำเป็นต้องกระจาย กระจายไปยังองค์กร ภาคประชาสังคมในการช่วยดำเนินการเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่จะบอกว่าที่ กสม. เราพยายาม ทำงานเชิงรุกในเชิงข้อเสนอปรับปรุงกฎหมาย ที่ท่านวสันต์ได้พูดถึง เราได้สนับสนุน พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน เรามีการปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การเข้าถึง ฮอร์โมนต่อสุขภาวะทางเพศ การควบคุมผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่มีการควบคุม ๓ วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกซ้อมทรมานก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความเสมอภาคของบุคคล ในการกำหนดคุณสมบัติการล้มละลาย เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามให้เรามีการยกเลิก โดยให้เป็นล้มละลายทุจริต แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและสิทธิชุมชนที่เป็นปัญหาอมตะ นิรันดร์กาลของประเทศไทย เราพยายามให้ คทช. ได้คิดทบทวนในเรื่องนี้คือสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปรับปรุงระเบียบการคัดกรองคนต่างด้าวที่หนีภัยเข้ามาในประเทศไทย และที่สำคัญ คือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กักตัว ซึ่งกรณีของชาวอุยกูร์นะคะ ประเด็นสำคัญก็คือที่ท่าน มีการกล่าวถึงกรณีของผู้สูญหายทางการเมือง ๙ คนที่อยู่ในต่างประเทศ เราได้ทำงานเรื่องนี้ สำเร็จแล้วในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของผู้สูญหายทั้ง ๙ คนนั้น และจะมีข้อเสนอ ในปี ๒๕๖๗ นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเราติดตามมาตลอดเพราะว่ามีผู้ร้องเรียนตั้งแต่ ปี ๒๕๖๕ ในกรณีของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเรื่องกฎหมายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือที่เรียกว่า SLAPP Strategic lawsuits Against Public Participation เรามีแผน จะศึกษาในปี ๒๕๖๗ ที่จะศึกษากรณีของกฎหมายปิดปาก เพราะอันนี้เป็นการบิดเบือน กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องคดี ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีการแก้ไขใน ป. วิ. อาญา มาตรา ๑๖๑/๑ ก็ตาม แต่มาศึกษาแล้วการฟ้องคดีในลักษณะแบบนี้ จริง ๆ แล้วโดยส่วนใหญ่เมื่อมีการฟ้องคดี ไปแล้วศาลมักจะสั่งยกฟ้อง แต่ระหว่างทางช่วงการดำเนินคดี ผู้ต้องหาเขามีภาระในการต้องมาศาล เป็นระยะ ๆ และเป็นภาระแก่เขามาก และทำให้เขาต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งกรณีของ กฎหมายปิดปากที่จะศึกษานี้เป็นการคุ้มครองของผู้ที่ถูกดำเนินคดีนับแต่เขาถูกกล่าวหา ไปจนถึงขั้นการพิจารณาของศาล อันนี้เป็นเรื่องที่ในต่างประเทศ ในฟิลิปปินส์ หรือใน Asia ก็ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ การตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน ดิฉันได้กล่าวเลยค่ะ
อีกครั้ง สุดท้ายค่ะ ในการตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน เราก็กำลังตรวจสอบในเรื่องนี้ ๓ กรณีนะคะ แล้วก็ได้ร่วมกับผู้แทน AICHR ในประเทศไทยในการผลักดันให้มีข้อตกลง ระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นหลักเดียวกับที่อนุสัญญาในยุโรปได้ทำนะคะ
ในประเด็นสุดท้าย ที่มีการพูดถึงกรณีของชาวอุยกูร์ เราได้มีหนังสือ ได้มี การคุยกับ สมช. แล้วก็คิดว่ากรณีที่อุยกูร์ก็คือจำเป็นจะต้องมีสถานที่ คืออันนี้เป็นนโยบาย รัฐบาลที่จะต้องผลักดันว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นจะต้องมีสถานที่กักขังเขา ที่ไม่ใช่ ตม. สวนพลูค่ะ เพราะว่ามันไม่เหมาะสม มันควรจะไปดำเนินการที่ให้เขาอยู่ได้ อย่างมีชีวิตที่ดี แล้วก็เสนอให้มีการตรวจสุขภาพ ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาได้มาตรวจ อย่างสม่ำเสมอและรวมถึงการให้เขาควรจะต้องติดต่อกับครอบครัวที่ตุรกีให้ได้นะคะ
และประเด็นสุดท้าย ก็คือกรณีของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นะคะ เราได้มี แผนที่จะศึกษาเกี่ยวกับกฎอัยการศึก และ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่มีการควบคุมได้ถึง ๓๗ วัน เพราะในช่วงควบคุมนั้นจะเกิดการซ้อมทรมาน เราจะศึกษาเรื่องนี้ในการที่จะพิจารณาต่อ กฎหมายเรื่องนี้ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรวมถึง DNA ที่เราใช้หลักให้สมดุลระหว่าง ความมั่นคงกับสิทธิเนื้อตัวในร่างกายค่ะ ดิฉันก็ขอกล่าวเพียงแค่นี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ