เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอนำเสนอข้อมูล สั้น ๆ นะครับ ประกอบการนำเสนอรายงานประจำปีรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ได้จัดตั้งขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ นะครับ โดยมี วัตถุประสงค์ ๗ ข้อในมาตรา ๕ ที่มาหลักก็คือตอนนั้นทางรัฐบาลได้เล็งเห็นว่าสื่อที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนมีค่อนข้างน้อย แล้วก็ที่มีอยู่ก็ค่อนข้างที่จะ ไม่ค่อยตอบสนองต่อความจำเป็นของสถานการณ์ ครั้นจะให้ทางภาคเอกชนไปดำเนินงาน ก็จะพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อันนี้ก็เขียนไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ ในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราก็ได้นำมาจัดทำเป็น ยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กองทุนระยะที่ ๑ ในปี ๒๕๖๖ ก็เริ่มการดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์ของทุนระยะที่ ๒ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กองทุนระยะที่ ๑ ก็จะเน้นหนัก ๔ ด้าน หรือ ๔ ยุทธศาสตร์หลัก ตั้งแต่ ๑ เลยนะครับ การส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้สื่อดี ๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิด การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อนะครับ ในยุทธศาสตร์ที่ ๒ ก็มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน องค์ความรู้ การวิจัย การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นะครับ ด้านที่ ๓ เป็นเรื่องของ การรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ด้วยนะครับ ส่วนในยุทธศาสตร์ที่ ๔ ก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การส่งเสริมบทบาทของ ภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาเราก็ได้ปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์ กองทุนในระยะที่ ๒ นั้นก็เพิ่มยุทธศาสตร์ขึ้นมาด้านหนึ่งเป็นด้านที่ ๕ ด้านที่ ๕ เป็นเรื่องของ การพัฒนาองค์กร แต่ว่าในยุทธศาสตร์ระยะที่ ๒ จะเริ่มใช้จริงคือในปี ๒๕๖๖ แล้วไปสิ้นสุด ปี ๒๕๗๐ ในปี ๒๕๖๕ เราก็เริ่มทดลองนะครับว่าเอายุทธศาสตร์ที่ ๕ มาดำเนินงานด้วย ก็คือหันมาพัฒนาองค์กรหรือการทำงานหลังบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทุนเอง ในการดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนก็ได้ดำเนินงานใน ๒ รูปแบบ
รูปแบบที่ ๑ ก็คือรูปแบบของการให้ทุนสนับสนุนหรือการจัดสรรทุน ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ก็จะมีการกันเงินงบประมาณไว้ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๓๐๐ ล้านบาทตามงบประมาณที่กองทุนได้รับ ส่วนการดำเนินงานอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการดำเนินงานที่กองทุนสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ดำเนินงานเอง รวมงบทุกอย่าง งบบริหารจัดการ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่กองทุนเห็นว่าจำเป็นต้องทำ เพื่อเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้รับทุนไม่ได้ทำ ซึ่งในเรื่องของการจัดสรรทุนนั้นที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้กำหนดประเภทของทุนเป็น ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑ เป็นทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ความมุ่งหมายของทุนประเภท เปิดรับทั่วไปก็คือ มุ่งที่จะสร้างพื้นที่ให้โอกาสสำหรับคนที่ต้องการเข้าถึงแหล่งทุนหรือผู้ผลิต หน้าใหม่ ๆ นายทุนประเภททั่วไปนี้ก็เอากลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้งซึ่งมีอยู่ ๔ กลุ่มด้วยกัน ตั้งแต่กลุ่มที่ ๑ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ ๒ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่ ๓ กลุ่มคนพิการ คนด้อยโอกาส และกลุ่มที่ ๔ ก็คือกลุ่มประชาชนทั่วไป อันนี้ก็ทุนที่ได้ไปในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมีจำนวนเงินที่ไม่เยอะมาก ก็อย่างที่เรียนว่าเน้นการเข้าถึงแหล่งทุน เน้นการเปิดพื้นที่ การให้โอกาส
ประเภทที่ ๒ เป็นทุนเชิงยุทธศาสตร์ ก็จะคิดเป็นสัดส่วนของเงินที่นำมา จัดสรรทุนก็เกินครึ่งไปนิดหน่อย คือเรามี ๓๐๐ ล้านบาท ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ แล้วก็อยู่ประมาณปีละ ๑๘๐ ล้านบาท ในการจัดสรรทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ก็มุ่งเน้นผลลัพธ์ ผลผลิตเป็นสำคัญ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็มีผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องทุกปี แล้วก็ ถือว่าในฐานะคนดำเนินการเองก็ถือว่ากองทุนก็พอใจผลการดำเนินงานระดับหนึ่ง ในเบื้องต้น ผมก็ขอนำเรียนว่ากองทุนพร้อมที่จะก้าวต่อไป แล้วก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของที่ประชุมนะครับรอบนี้ขอเท่านี้ก่อนครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ จะพยายามที่จะตอบในข้อสังเกตแล้วก็คำถามของท่านสมาชิกให้ได้ มากที่สุดนะครับ แล้วก็เพื่อไม่ให้ลืมจะย้อนจากล่าสุดนะครับ เมื่อสักครู่นี้ของท่านจิรัฏฐ์ ท่านถามเรื่องอะไรคือสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อะไรคือสื่อไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ จริง ๆ ก็อย่างที่ทราบว่ากองทุนสื่อพัฒนาปลอดภัยและสร้างสรรค์นี่เป็นพระราชบัญญัติ ตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๕๘ ในมาตรา ๓ เขาเขียนนิยามไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นในนิยามคำว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในมาตรา ๓ จริง ๆ ผมคิดว่ามันเป็นตัวกำหนด Theme ที่หลาย ๆ ท่าน ถามอยู่ แต่ว่าเวลาผมไปอธิบายกับสาธารณะจะที่ไหนก็แล้วแต่ เราใช้หลักการง่าย ๆ เลยว่า สื่ออะไรก็แล้วแต่ที่คนเปิดรับแล้วเกิดความรู้สึกเกลียดชัง หดหู่ ทำให้คนขุ่นข้องหมองใจ อันนั้นเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยแน่นอน หรือสื่อที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้ข้อมูลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง รวมถึงข้อมูลที่ถูกบิดเบือนอย่างที่หลายท่านได้พยายามที่จะนำเสนออยู่ว่ามันก็มีเยอะ ในปัจจุบัน อันนั้นก็เป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ใน Netflix จริง ๆ ผมก็เป็นคนที่ดูอยู่ มีสื่อดี ๆ เยอะ แต่ว่าสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ง่าย ๆ เลยนะครับ ฉากที่มีความรุนแรง ภาพความรุนแรงในหลายเรื่องนี่เยอะมาก โดยเฉพาะภาพยนตร์หรือ Series ตะวันตก ซึ่งวันนี้ ขายความรุนแรง เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็มีประกาศว่าสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์คืออะไร เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรงนี่เป็นเรื่องแรกที่ดูกันง่าย ๆ นะครับ เรื่องที่จะทำให้ผู้คน ในสังคมทะเลาะกัน อันนั้นเป็นสิ่งที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็พยายามที่จะ วางจุดยืนมาโดยตลอดว่าเราไม่สนับสนุนไม่ว่าจะไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ของท่าน สส. สิริลภัสท่านพูดถึงเรื่องของการรณรงค์ MIDL สำหรับกลุ่ม ผู้สูงอายุ การรู้เท่าทันสื่อ Digital อันนี้เป็นความตั้งใจของกองทุนที่ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมา เราพยายามทำ แต่ว่ามันยังไม่เพียงพอ ก็อยากจะทำให้มันมากขึ้น แล้วก็เป็นความจำเป็น จริง ๆ ว่าในโครงการที่เราได้ทดลองทำไปบางส่วนแล้ว เช่น โครงการที่กองทุนดำเนินงานเอง ชื่อว่า โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ซึ่งสื่อในต่างประเทศก็ได้เข้ามาเรียนรู้ เพราะว่าเป็นโครงการ ที่นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปทำงานร่วมกับผู้สูงอายุในเรื่องของการผลิตสื่อ แล้วก็ทักษะ ในการเปิดรับสื่อ ซึ่งได้ผลดีมากนะครับในฐานะที่เราฝ่ายสำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติ เราก็ได้เสนอ เรื่องนี้ว่าต้องทำมากขึ้น ผมขอรับข้อสังเกตอันนี้เอาไว้ การทำงานร่วมกับ Content Creator นี่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจเลยของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะปรากฏในรายงานประจำปีของปีหน้า ปีนี้เราได้ทำงานร่วมกับทางหน่วยงานในต่างประเทศ เราร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ Arirang ของเกาหลีให้เป็นแม่ข่ายในการเชิญ Content Creator จากเกาหลีมาจัดอบรมในประเทศไทย เราจัดอบรมไป ๒ รอบในปีที่ผ่านมา แล้วก็ ที่ผ่านมาเราก็ได้ไปลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ชื่อว่า KOCCA อันนั้นก็พยายามจะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อจะเอามากระตุ้น การพัฒนาวงการในการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางเศรษฐกิจได้ ก็เรียนว่าจะทำให้มากขึ้นต่อไปนะครับ
มีท่านรักชนกได้พูดถึงการสนับสนุนข้ออภิปรายของท่าน สส. ธัญธร เรื่องคณะกรรมการ อันนี้ผมก็เรียนตรงไปตรงมาว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย เป็นเรื่องของ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ออกกฎหมายนะครับ เราก็ได้มาแบบนี้ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ แล้วกองทุนเองก็พยายามทำให้การสรุปปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ปีนี้ก็เป็นปีที่กองทุนกำลังเรียกว่าได้ดำเนินการให้มีการจัดทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ กฎหมาย ซึ่งก็จะได้รายงานทางคณะกรรมการ แล้วก็จะให้เผยแพร่สาธารณะต่อไปว่ากองทุน ได้ดำเนินการมาแล้ว เข้าสู่ปีที่ ๙ แล้ว มีจุดอ่อนจุดแข็ง มีความบกพร่อง มีความสำเร็จอะไร อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดถึงทั้งหมดในประเด็นข้อกฎหมายด้วย ตัววัดประสิทธิภาพจริง ๆ เราก็พยายามมาโดยตลอดในเรื่องของการที่จะวัดประสิทธิภาพรายโครงการ จริง ๆ ในการทำ สัญญาของโครงการผู้รับทุนทุกโครงการ มี KPI มากำกับทั้งสิ้นเลย แต่ยอมรับว่าในรายงาน ประจำปีเราไม่สามารถที่จะระบุ KPI หรือตัวชี้วัดรายโครงการเข้ามาในรายงานได้ ผมก็คิดว่า อย่างปีหน้าเมื่อมีข้อเรียกร้องแบบนี้เราจะทำเป็น QR Code แล้วก็จะเอา KPI ว่าโครงการนี้ มีขอบเขตที่จะต้องทำอะไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ แล้ววัดผลลัพธ์อย่างไร ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ท่านสามารถที่จะ Download ได้ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ผมจะรับไป พูดถึง เรื่องของการเข้าถึงต้องยอมรับว่าหลายโครงการที่ไม่มีการรายงานการเข้าถึง ต้องเรียนว่า โครงการที่ผลิตสื่อและเผยแพร่ของผู้รับทุนส่วนหนึ่งก็ไปออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งในการออกอากาศทางโทรทัศน์นั้นตอนหลังกองทุนก็กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าจะต้อง ออกเผยแพร่ทาง Platform Social Media ด้วย คือสื่อสังคม Online ด้วย สื่อสังคม Online ทุกวันนี้ทันสมัยมากเพราะว่ามีการวัดการเข้าถึงที่ชัดเจน แต่การรับชมผ่านโทรทัศน์ซึ่งระยะ หลังเราก็มีรายการทางโทรทัศน์น้อยลง แต่การวัดว่าผู้รับชมจริง ๆ เท่าไร ก็ดูได้เฉพาะแค่ ระดับความนิยม หรือ Rating ของสถานีโทรทัศน์นั้น ๆ เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ผลงาน ต่าง ๆ ที่กองทุนพยายามทำก็คือว่าให้มีการดำเนินการควบคู่ หรือเผยแพร่แบบคู่ขนาน ทีนี้ มีข้อเสนอในเรื่องของการที่กองทุนควรจะมีช่องทางการเผยแพร่ผลงานหรือสื่อของเราเอง เป็น Platform กลาง อันนี้ก็เรียนว่าเป็นเรื่องที่ทางกองทุนกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนโครงการ ๒ โครงการที่มีการถามว่าแล้วมันอยู่ตรงไหน เรื่องพระร่วงเป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควรตั้งแต่ตอนพิจารณาอนุมัติเป็นทุนตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เรียนว่า ณ วันนี้เรียกว่าเพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการ Edit Final สุดท้าย แล้วก็เตรียมที่จะ เปิดตัวในอีก ๒ เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นก็เป็นโครงการที่ใช้เวลานานพอสมควร สมาชิก อย่าได้แปลกใจว่าทำไมหาไม่เจอนะครับ เพราะเรียกว่ายังไม่แล้วเสร็จ แต่การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ แล้วเสร็จแน่นอน ไม่มีการทิ้งโครงการ หรือว่ามีการยกเลิก แต่ประการใดนะครับ
อีกโครงการหนึ่งที่ท่านพูดถึงเรื่องของใจอุทิศจิตอาสา เรียนว่าโครงการนี้ เราเอาข้อมูลมาประกาศเผยแพร่ว่าเป็นหนึ่งในผู้รับทุนที่ผ่านการอนุมัติ แต่ว่าในกระบวนการ พิจารณามีการตัดงบประมาณลงหลายส่วน พอประกาศผลแล้วปรากฏว่าผู้ที่ได้รับ การคัดเลือกก็คือบริษัทที่ว่าก็สละสิทธิ ไม่มาทำโครงการ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า การขอทุนอย่างที่หลายท่านเรียนว่ามีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ อันนี้เรื่องจริงครับ แล้วงบประมาณ ก็ค่อนข้างที่จะมีข้อจำกัดเยอะด้วย ผมย้ำว่าการจัดทำ KPI ของแต่ละโครงการมีชัดเจน สามารถดูได้ทุกโครงการนะครับ สิ่งที่เราคิดว่ายังไม่ได้ดำเนินการมาก็อาจจะเป็นเพราะว่า ยังไม่ได้เอารายละเอียดของแต่ละโครงการมาให้ทุกท่านดู ข้อเสนอของท่านเทอดชาติ ชัยพงษ์ เรื่องของโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แล้วหลายอย่างถ้าเราทำงานช้าหรือประเด็น บางประเด็นมันก็ตกยุคไปแล้ว ล้าสมัยไปแล้ว อันนี้เรื่องจริงครับ เพราะฉะนั้นเดิมท่านทราบ ไหมครับว่าทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใช้เวลา ๒ ปี ตอนหลังผมบอกว่า เวลา ๒ ปีนี่มันนานมากเลยนะครับ แล้วบางโครงการประเด็นมันตกยุคไป เพราะฉะนั้นเราก็ กวดขันว่าผู้รับทุนต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี ๑ ปีก็มีปัญหาอีกว่าถ้าเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ เช่น เราต้องการที่จะทำภาพยนตร์หรือทำละคร Series ละครชุด แค่การเขียนบท ก็ไป ๘ เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการในการที่จะถ่ายทำอีก ก็เลยกำลังคิดอยู่ว่าจะต้อง มีการปรับปรุงเรื่องของสัญญาการให้ทุน โครงการขนาดใหญ่อาจจำเป็นต้องใช้เวลา ๑ ปีครึ่ง หรือ ๒ ปี ส่วนโครงการที่สามารถทำให้จบภายใน ๑ ปี อันนั้นจะเป็นหลักเกณฑ์หลัก ก็โยง มาถึงเรื่องรูปแบบในการจัดสรรทุน ผมเองก็รู้สึกไม่ได้แตกต่างจากท่านนะครับว่าเกณฑ์ ในการให้ทุน หรือเกณฑ์ในการประกาศแต่ละครั้ง รายเล็กรายน้อยทำไมใช้เกณฑ์เดียวกับผู้ที่ มีความเป็นมืออาชีพหรือเป็นนิติบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานอยู่แล้ว เรื่องนี้เราก็ได้ รายงานต่อคณะกรรมการกองทุนว่าอยากจะให้ปรับให้ล้อตามปรัชญาของการให้ทุน เช่น ทุนประเภทเปิดรับทั่วไปที่หลายท่านพูดถึงโครงการขนาดเล็ก ๆ สำหรับผู้ประกอบการ รายเล็กหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ หรือคนที่ต้องการพื้นที่ ต้องการโอกาสก็ให้มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง เพราะหลายคนทำงานดีมากนะครับแต่เขียนโครงการที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ ไม่ได้ แต่ถามว่าแล้วจะไปตัดโอกาสคนเหล่านั้นซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นในข้อสังเกต เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกองทุนจะรับไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการให้มี ความชัดเจนมายิ่งขึ้น โยงมาถึงเรื่องของหลักเกณฑ์ว่าโครงการนี้ทำไม ๓๐๐,๐๐๐ บาท โครงการนี้ทำไม ๑๐ ล้านบาท ต้องเรียนที่ประชุมนะครับ เรียนท่านสมาชิก เรียนท่านประธาน ผ่านไปยังสมาชิกว่าวงเงินแต่ละโครงการเราไม่ได้กำหนดว่าแต่ละโครงการจะต้องมีวงเงิน เท่าไร เพียงแต่เราได้กำหนดเป็นประเภทว่าประเภทเปิดรับทั่วไปมีวงเงินเท่านี้ ยุทธศาสตร์ มีเท่านี้ ความร่วมมือมีเท่านี้ แล้วก็มีกี่ประเด็นที่ให้เสนอ เพราะฉะนั้นเวลาผู้ขอทุนเสนอ ก็จะเขียนขอบเขตงานของตนเองอย่างที่อยากจะทำอะไร ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วใช้เงินเท่าไร หลักของเราก็คือว่า ๑. โครงการที่ขอมาจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน และความสมดุลระหว่างเม็ดเงินงบประมาณกับขอบเขตงานที่จะทำจะต้องมีความสมดุล ถามไปในตลาดว่าถ้าต้องการทำกิจกรรมอันนี้ ผลิตสื่อนี้ใช้เงินเท่าไรก็ดูแต่เท่านี้ ไม่ได้ดูว่า โครงการนี้จะต้องมีวงเงินเท่านี้ ก็เป็นการเปิดกว้างว่าให้ทางผู้เสนอทุนได้คิดในการออกแบบ โครงการของตนเองแล้วก็ได้กำหนดงบประมาณด้วย คณะกรรมการซึ่งมีอยู่หลายชุด ตั้งแต่ คณะทำงานกลั่นกรองเบื้องต้นก็มาดูความสอดคล้อง ดูความเป็นไปได้ ถามว่าเราต้องการ โครงการที่มีความหลากหลายไหม จริง ๆ อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ท่านยกมาว่า ปี ๒๕๖๕ มีโครงการเดียวเอง บางปีเราก็อยากได้เยอะ อย่างปีล่าสุดปี ๒๕๖๖ ที่เพิ่งประกาศ แล้วก็ทำสัญญาไป เราอยากได้โครงการสำหรับเด็กมากกว่าที่ผ่านเกณฑ์ ผมได้เป็นคนหนึ่ง ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้ถามที่ประชุมว่าแล้วมันไม่มีโครงการมากกว่านี้แล้วหรือที่ผ่านเกณฑ์ คณะทำงานก็ชี้แจงว่ามันไม่ไหวจริง ๆ เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็มาดูว่าที่ผ่านมานี่เรา ประชาสัมพันธ์น้อยเกินไปอย่างที่หลายท่านตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า หรือเราประชาสัมพันธ์แล้ว แต่ว่าเรายังไม่ได้ไปฝึกอบรมในการที่จะให้คนเล็กคนน้อยได้เขียนโครงการให้มีความชัดเจน มากขึ้น อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตนะครับ
เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าปีงบประมาณ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นปีงบประมาณของระบบราชการ คือเราเริ่มวันที่ ๑ ตุลาคมและสิ้นสุด ๓๐ กันยายน แต่กฎหมายให้เรารับงบประมาณมาจาก กองทุน กทปส. ของ กสทช. ซึ่ง กสทช. มีปีงบประมาณหรือรอบปีงบประมาณเป็นปี พ.ศ. เพราะฉะนั้นกว่าที่เราจะได้เงินงบประมาณเราจะล่าช้าไปเกือบ ๒ ไตรมาส กสทช. จะพิจารณางบประมาณอย่างปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ปีงบประมาณกองทุนจะเริ่มแล้วนะครับ ในวันที่ ๑ ตุลาคมที่จะถึงนี้ กสทช. ต้องรอไปประมาณเดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม ถึงจะพิจารณางบกองทุน แล้วบางปีก็ในปีงบประมาณก็ยังพิจารณางบของกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังไม่แล้วเสร็จ
นิดเดียว ๑ นาที ท่านประธานครับ ปีที่แล้วเราได้เงินงบประมาณมาเดือนพฤษภาคม ปีนี้ครับ ปี ๒๕๖๖ นี่ เราพิจารณาทุนเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม แทนที่เราจะได้ทำสัญญา เราก็ทำสัญญา ไม่ได้เพราะเรายังไม่ได้เงิน เพราะฉะนั้นเราเพิ่งได้ทำสัญญาเมื่อเดือนพฤษภาคมต่อเนื่อง เดือนมิถุนายน แล้วเราก็เบิกจ่ายงวดแรกท่านประธาน ภายในปีงบประมาณเราเบิกจ่ายทุน ของผู้รับทุนนี้ได้แค่งวดหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันจึงมีตัวเลขของการผูกพันงบประมาณ ที่ค่อนข้างสูง อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราได้นำรายงานไว้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เราก็อยากให้ปรับ เพราะว่างบประมาณหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาจาก กสทช. เพราะฉะนั้นปีงบประมาณควรจะเป็นรอบปีเดียวกัน
ส่วนประเด็นอื่น ๆ นะครับ ผมสั้น ๆ ว่าเราก็เห็นข้อจำกัดในการทำงาน หลายอย่าง เราก็พยายามที่จะสื่อสารไปในคณะกรรมการทุกคณะ แม้จะเป็นคณะกรรมการ ชุดใหญ่ซึ่งดูนโยบาย คณะอนุกรรมการบริหารซึ่งมาคอยดูในเรื่องของโครงการ ในเรื่องของ งบประมาณด้วย แล้วในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนที่คณะรัฐมนตรีตั้ง เราก็พยายามสะท้อนปัญหา ขอให้มั่นใจและสบายใจนะครับว่าสำนักงานกองทุน ซึ่งน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติแล้วก็เป็นฝ่ายประจำมีความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วเราอยากสร้าง ให้ผลลัพธ์ ผลผลิตของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีคุณค่าต่อสังคม อย่างแท้จริง ไม่ได้ทำเล่น ๆ ครับ ยืนยันครับ ขอบพระคุณครับ