ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตที่จะอภิปรายร่วมด้วย เพราะว่าผมเอง ให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน มาช้านาน แล้วก็ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงมาพอสมควร เหตุการณ์เรื่องพลุระเบิดนี่ถ้าท่านประธานจำได้ นอกเหนือจากที่ตลาดมูโนะ สุไหงโก-ลก ที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียให้แก่พี่น้องประชาชนมหาศาล ผมเข้าใจว่าไม่ไกลมานี้เกิดเหตุที่ จังหวัดลำพูน เกิดเหตุที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ทำนองเดียวกันเพียงแต่ว่าอันตรายร้ายแรง ไม่เกิดขึ้นเท่าที่นราธิวาส ท่านประธานครับ ผมคิดว่าเรามีกฎบัตร กฎหมายที่มีมาตรฐาน พอสมควร ตัวอย่างเรื่องของพลุ เรื่องของวัตถุระเบิด เรื่องดอกไม้เพลิงทั้งหลาย เราก็มี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สาระสำคัญคือต้องได้รับ อนุญาตในการนำเข้า ต้องได้รับอนุญาตในการผลิต ต้องได้รับอนุญาตในการจัดจำหน่าย ต้องได้รับอนุญาตในการเก็บรักษา แล้วมีนายทะเบียนควบคุมกำกับดูแล กฎหมายอาวุธปืนนี้ ในกรณีนายทะเบียนเห็นว่าที่เก็บรักษาอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตประชาชนก็อาจจะสั่งให้ย้ายได้ นอกเหนือจากนั้นเรายังมี พ.ร.บ. วัตถุอันตรายที่เข้ามาดูแลในเรื่องให้คำนิยามว่าวัตถุ อันตราย รวมถึงพลุ ดอกไม้เพลิงทั้งหลาย แล้วก็ห้ามเก็บรักษาไว้ในที่ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัย เรามีประกาศกระทรวงมหาดไทยอยู่หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานเหล่านี้ในแง่ของการ นำเข้า การเก็บรักษา การดูแล ท่านประธานที่เคารพครับ เหตุที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้อง เหล่านี้ เพราะว่าทรัพย์เหล่านี้ วัตถุเหล่านี้เป็นวัตถุอันตราย คำว่า วัตถุอันตราย คือสิ่งที่มัน สามารถเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้โดยง่าย วันดีคืนดีมันนึกอยากจะระเบิดขึ้นมาโดย อากาศร้อน ในสมัยก่อนร้อนมากมันก็ระเบิดตู้มต้ามขึ้นมา มันจำเป็นต้องมีการควบคุม เพื่อป้องกันอันตรายต่อพี่น้องประชาชน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่นราธิวาสผมก็ติดตามดูก็พบว่า พลุหรือวัตถุอันตรายเหล่านี้ ข้อที่ ๑ ท่านประธานครับ ไม่ได้รับอนุญาต ชัดเจนก็คือไม่ได้รับ อนุญาต ปัญหาก็คือว่าคุณมีสิ่งที่เป็นอันตรายจำนวนมหาศาลเช่นนี้เก็บไว้ แถมเก็บไว้ใน ที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่บ้านเมือง นายทะเบียนที่ดูแลตามกฎหมายเหล่านี้ไม่เห็นเลย หรือครับ ไม่รู้เลยหรือครับว่าในชุมชนนี้มีพลุจำนวนมหาศาลอยู่ และอาจจะเป็นอันตราย ต่อพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งผมเองโดยวิจารณญาณของวิญญูชนทั่วไปคงไม่มีใครเชื่อว่า นายอำเภอ นายทะเบียนทั้งหลายจะไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมเลยสรุปว่า เรามีกฎหมายที่ดีพอสมควร มีการควบคุมกำกับดูแล แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นเป็นประจำ เราก็มาอภิปรายกันวัวหายล้อมคอกอยู่เป็นประจำ ผมสรุปสาเหตุ สำคัญได้ ๑. เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลย ไม่ดูแล ไม่กำกับดูแล ไม่ควบคุม อันนี้ชัดเจนที่สุด ที่นราธิวาสชัดเจนที่สุดผมเข้าใจว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมันจะมีอิทธิพลมีอะไร ต่าง ๆ ก็อภิปรายกันไปพอสมควรแล้ว ข้อ ๒ ผมสังเกตดูคงจะพบว่ามีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน มีเรื่องของสินบน แน่นอนที่สุดครับ คนระดับนี้ ๒๕๕๙ ก็มีคดี และท้ายที่สุดมาทำแบบนี้อีก ผมคิดว่าคงจะต้องมีการให้สินบนให้อะไรต่าง ๆ ต่อเจ้าหน้าที่พอสมควรไม่อย่างนั้นคงอยู่ ไม่ได้ โดยสรุปรวมความครับท่านประธานที่เคารพ ผมคิดว่าเราคงต้องตระหนักชัดว่า เรื่องมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นต้องเอาเจ้าหน้าที่มาลงโทษ ต้องติดตามเยียวยาความเสียหายกลับมาให้พี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และตาม จำนวนพอสมควร ถ้าไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รับรองครับอีกหน่อยก็เกิดแบบนี้อีก แล้วก็ จะลุกลามต่อไปในอนาคต ผมฝากท่านประธานครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสนใจ เป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญสำหรับเรื่องของชีวิตความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชนคนไทย ขอบพระคุณครับ
-๑๔๗/๑
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยครับ สำหรับการอภิปรายของกระผมวันนี้ ก็คงขออนุญาตที่จะวิพากษ์วิจารณ์รายงานประเมิน สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือที่เราเรียกว่า กสม. ที่นำเสนอต่อสภาในวันนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่านได้อภิปราย ไปในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมเข้าใจดีครับว่าอำนาจหน้าที่ เท่าที่เขียนไว้โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าจะเจาะจงอำนาจหน้าที่ของท่านไว้ในเรื่องของ การตรวจสอบ เสนอความเห็น ให้คำแนะนำ ทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่าก็คงจะไม่ให้อำนาจหน้าที่ถึงขั้นในเชิงที่จะมีอำนาจบริหาร มีอำนาจสั่งการอะไร อันนี้ก็ต้องกล่าวโดยตรงด้วยความเป็นธรรมว่ามันก็เป็นเรื่องของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าเจตนา จะให้อำนาจหน้าที่ของท่านมากน้อยเพียงไร ผมเข้าใจว่าเขาคงจะคิดว่าไม่อยากให้ กสม. มีอำนาจมากกว่ารัฐบาล ไม่อยากให้ กสม. มีอำนาจไปบังคับบัญชาให้ทำโน่นทำนี่เหมือนกับ องค์กรอิสระบางอย่าง ตัวอย่างเช่น วันดีคืนดีผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่าให้อำนาจ กกต. ที่จะออกใบส้ม ก็ไปเขียนไว้ ในรัฐธรรมนูญว่าต่อไปนี้ กกต. ออกใบส้มได้ ทั้ง ๆ ที่อำนาจเหล่านี้ในอดีตที่ผ่านมานี่เขาให้ ศาลยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบอะไรทั้งหลาย วันดีคืนดี นึกสนุกขึ้นมาก็เอา กกต. ไปออกใบส้ม แล้วที่ผ่านมาเลือกตั้งครั้งหนึ่งก็ออกใบส้มไปครั้งหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วท้ายที่สุดก็เกิดเรื่องเกิดราวฟ้องคดีกันจนท้ายที่สุดศาลบอกว่า กกต. ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมก็ค่อนข้างจะสนับสนุนว่าถ้าจะ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่โดยจะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแก้ไขกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญก็ยินดีสนับสนุนว่า ให้ กสม. มีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจาก การเสนอแนะการทำคำชี้แจงทั้งหลาย ที่ผมสนใจอยากอภิปรายในวันนี้ครับ ท่านประธาน ที่เคารพ กราบเรียนผ่านไปยัง กสม. ผมอยากจะพูดถึงเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในรายงานของท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องของเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือเรื่องของการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ และเป็นเรื่องที่โต้เถียงหลักการกันมาช้านานพอสมควรแล้ว รายงานของท่านเรื่องสิทธิ ในกระบวนการยุติธรรม ท่านพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ปี ๒๕๕๘ เรื่องเงินทองที่จะ เอาไปประกันผู้ต้องหาและจำเลย ท่านพูดถึงเรื่องเรือนจำแออัด ต้องนอนกัน ๒ คนอย่างนี้ เป็นต้นนะครับ แล้วก็ผมไปพบว่าท้ายที่สุดเรือนจำแออัด ผู้ต้องหาจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ เปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดคือผู้ต้องหาและจำเลยในคดียาเสพติด เมื่อวานเราก็พูดยาเสพติดกัน ไปแล้วเป็นปัญหาสังคม ท่านพูดถึงเรื่องความล่าช้าในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ กันว่าความล่าช้านั้นคือความอยุติธรรม ท่านพูดถึงเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย และพูดถึง เรื่องอื่น ๆ อยู่บางเรื่อง แต่ว่าเสียดายครับ เรื่องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยไม่ได้มี การพูดถึงเลย พูดถึงบ้างโดยเฉพาะคาบเกี่ยวเรื่องกองทุนยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอาเงิน ไปประกันตัวผู้ต้องหาจำเลยเท่านั้น ที่ผมอยากจะเน้นเรื่องนี้เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ ถกเถียงกันมานาน ทั้งในแวดวงวิชาการและในทางปฏิบัติ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตอย่างนี้ครับว่าเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้การรับรองไว้ เช่นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา ๒๙ บอกว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลใดกระทำผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนผู้กระทำผิดมิได้ การควบคุมผู้ต้องหา หรือจำเลยกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหลบหนี การควบคุมผู้ต้องหาจำเลย ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เขาหลบหนี การขอประกันตัวต้องได้รับการพิจารณาโดยพลัน การไม่ให้ ประกันตัวต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ท่านประธานครับ ปัญหาใหญ่ของ ประเทศไทยในเรื่องสิทธิในการประกันตัว มีอยู่ว่าเรามีกฎหมายฉบับหนึ่ง เขาเรียกประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายฉบับนี้นี่บัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาไม่นานนะครับ ๒๔๗๗ แล้วก็ทราบว่าศึกษาว่ากฎหมายฉบับนี้ แท้ที่จริงก็ไปลอกเลียนแบบต่างประเทศเขามา เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต กฎหมายประเทศไหนเขาพอจะมีก็เอามาใส่ไว้ใน วิ. อาญา การใส่เรื่อง การประกันตัวไว้ใน วิ. อาญา ความสำคัญก็คือว่าได้มีการให้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาหรือศาล ในการไม่ให้ประกันตัวไว้หลายกรณี ตัวอย่างที่ผมอยากจะยก เช่น ถ้าจะไปก่อเหตุร้าย อย่างอื่น ถ้าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ถ้าคิดว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำท้ายที่สุดศาลก็อาจจะใช้ ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัว ท่านประธานครับ แต่ว่าถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับนี่ เหตุผล ในการประกันตัว ไม่ให้ประกันตัว เขียนไว้อย่างเดียวครับ เพื่อป้องกันมิให้เขาหลบหนี เพราะฉะนั้นนักวิชาการหรือใครต่อใครจึงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการที่ศาลใช้ดุลยพินิจ อย่างกว้างขวางในขณะนี้คำถามคือว่าเกินเลยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตต่ออีกนิดเดียวจะใช้เวลาไม่มาก ผลจากการที่ ป. วิ. อาญาได้เขียนไว้เช่นนี้ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เขียนมาว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือป้องกันไม่ให้หนี มันเกิดอะไรขึ้นครับท่านประธาน ก็แปลว่า ๑. การให้ประกันหรือไม่ให้ประกันเป็นดุลยพินิจ ของศาลอย่างกว้างขวาง และถูกวิจารณ์ว่าใช้ดุลยพินิจเกินเลยรัฐธรรมนูญ ๒. บทบัญญัติว่า สันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนบริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ในระหว่างนั้นจะปฏิบัติกับเขาดังผู้กระทำความผิดไม่ได้ บทบัญญัตินี้ไร้ผล
ประการสุดท้ายครับท่านประธาน ขออนุญาตแป๊บเดียว ก็คือว่าผลจาก การที่กฎหมายมันลักลั่นกันเช่นนี้ทำให้เกิดวิธีปฏิบัติ เกิดแนวปฏิบัติที่มันผิดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายอยู่หลายเรื่อง ผู้ต้องหาในคดีอาญาในขณะนี้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ถูกศาล พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดแต่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ถูกคุมขังเหมือน ๆ กับผู้ต้องหา จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิดแล้ว ผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริสุทธิ์ในอดีตเคยถูก เขาเรียกอะไรครับท่านประธาน เขาเรียกพิมพ์นิ้วมือ พวกผม ๔-๕ คนนี้เคยถูกพิมพ์นิ้วมือ มาแล้วครับ ข้อหาอะไรครับ มาตรา ๑๑๖ ไปแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยในขณะที่เขามี คสช. มีประกาศคณะกรรมการฉุกเฉินอะไรก็ว่ากันไป ท้ายที่สุดก็ดำเนินคดีอาญา ต้องไปพิมพ์ นิ้วมือ ท้ายที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง ขณะนี้ประวัติของพวกกระผมกับคนหลายคนยังติดอยู่ใน แฟ้มอาชญากรรม เป็นวิธีข้อปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างไรไม่ทราบ ในเรื่องที่ ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เราเลือกตั้งกัน ผมมีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบบุคคลที่มาสมัครรับเลือกตั้งว่า ต้องหาคดีอะไรไหม ไม่น่าเชื่อครับท่านประธาน กดไปกดมา ดูไปดูมา บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น บุคคลนี้ต้องหาคดีนั้น อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ไม่เอาออก ศาลสูงสุด พิพากษายกฟ้องแล้วก็ยังมีประวัติอยู่ในนั้น นี่คือแนวทางที่กฎหมายลักลั่นกัน วิธีปฏิบัติ แตกต่างกัน ท่านประธานครับ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมาทบทวนในแง่ของ สิทธิกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา และจำเลย ก็ขอประทานโทษท่านประธานที่เกินเวลาไปเล็กน้อย ขอบพระคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตที่จะอภิปรายญัตติที่คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ และคณะ ได้นำเสนอต่อสภานี้โดยได้เขียนญัตติว่า ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามประชาชน ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านประธานที่เคารพครับ ก่อนที่จะลงลึกในรายละเอียด ผมขอเท้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาสักเล็กน้อย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและหลายพรรค การเมืองต้องการที่จะจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย เรามีความพยายามที่จะ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๕๖๓ ต่อเนื่องมาถึงปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นที่มาของคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ซึ่งหลายท่านได้กล่าวอ้างไปแล้ว ในครั้งนั้นพรรคเพื่อไทย ได้นำเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เพื่อจัดตั้ง สสร. โดยให้ สสร. มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน จำนวน ๒๐๐ คน และมีคณะกรรมาธิการมายกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ร่างของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นขอทำใหม่ทั้งฉบับโดยยกเว้นหมวด ๑ หมวด ๒ ขออนุญาตที่จะกราบเรียนท่านประธานว่าในขณะเดียวกันก็มีร่างของพรรคพลังประชารัฐ ในขณะนั้น ขอประทานโทษที่ต้องเอ่ยถึงชื่อพรรคนะครับ ก็นำเสนอว่าขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนกัน สาระตรงกันก็คือว่ายกเว้นหมวด ๑ หมวด ๒ ในขณะเดียวกันก็แตกต่างกันคือว่าของพรรคเพื่อไทยนั้นเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด ของพรรค พลังประชารัฐในขณะนั้นบอกว่าเลือกตั้ง สสร. ๑๕๐ คน ที่เหลือมาจากรัฐสภา ๒๐ คน มาจากที่ประชุมอธิการบดี ๒๐ คน ที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นคือขอให้มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาด้วย ๒๐ คน อย่างนี้เป็นต้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ก็ต้องขอประทานโทษ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เหตุผลที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เพราะว่าร่วมคิดร่วมทำมาด้วยกัน ปัญหาใหญ่ก็คือว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยยกเว้นหมวด ๑ หมวด ๒ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยจึงไม่ร่วมลงชื่อด้วย ท่านประธานครับ ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น ไม่มีเรื่องคำถามประชามติ ขอย้ำนะครับ ไม่มีเรื่องคำถามประชามติ มีเพียงการขอแก้ไข มาตรา ๒๕๖ แล้วตั้ง สสร. ขึ้น เหตุที่ไม่มีประชามติเพราะว่าขณะนั้นเรื่องประชามติมีได้ตาม มาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือถ้าคุณแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิธีแก้รัฐธรรมนูญแล้วต้องไป ทำประชามติ เพราะฉะนั้นต้องขอประทานโทษ ต้องขอท้วงติงการอภิปรายที่ผมได้ยิน เมื่อไม่นานมานี้ กล่าวอ้างถึงพรรคเพื่อไทย กล่าวอ้างถึงอดีตหัวหน้าพรรคว่าคำถามมันก็ เหมือนเดิม คำถามประชามติมันก็เหมือนเดิม มีถ้อยคำเหมือนเดิมหมด ทำไมครั้งนั้น ไม่คัดค้าน ครั้งนี้มาคัดค้าน ก็กราบเรียนว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่เคยมีการตั้งคำถามประชามติ คราวที่แล้วเสนอร่างแก้ไขมาตรา ๒๕๖ เท่านั้น โดยเหตุนี้ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจเพราะว่า มีการกล่าวอ้างถึงอดีตหัวหน้าพรรคผมว่าครั้งนั้นไม่คัดค้าน ครั้งนี้มาคัดค้านทำไม สรุปว่า ประชามติเกิดขึ้นครั้งนี้ครั้งแรกที่เราถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ เกิดขึ้น ท่านประธานครับ ในญัตตินี้ตั้งคำถามว่าท่านเห็นชอบ หรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบันโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน พิจารณาจากญัตตินี้แล้ว ผมอ่านโดยละเอียดประกอบ ผมตีความแล้วก็เข้าใจตาม ลายลักษณ์อักษรที่ท่านเขียนในญัตติว่าท่านเสนอญัตติมาเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัย ที่ ๔/๒๕๖๔ โดยท่านไปตีความคำวินิจฉัยนี้ว่าการทำประชามติต้องเริ่มต้นจากการถาม ประชาชนเสียก่อน ก่อนที่จะมีญัตติเข้าสู่รัฐสภา พูดง่าย ๆ พอเริ่มต้นยกที่ ๑ ก็ถามประชาชน ก่อนเลยว่าท่านเห็นชอบไหม ควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีญัตติเข้าสู่สภา ถ้าเป็น เช่นนี้ก็แปลว่าท่านเชื่อว่าการทำประชามตินั้นต้องทำ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ก็คือถามประชาชน ตามคำวินิจฉัย ที่ ๔/๒๕๖๔ ครั้งที่ ๒ ก็คือแก้มาตรา ๒๕๖ ครั้งที่ ๓ เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่แล้ว ขณะเดียวกันผู้เสนอญัตติอ้างมาตรา ๙ (๔) กฎหมายประชามติ ความหมาย ก็คือถ้าอ้างมาตรานี้มันก็คือสภานี้จะมีมติรับญัตติอย่างไรก็ตามทีไม่สิ้นสุด ต้องไปที่วุฒิสภา เพื่อให้เขามีมติให้สอดคล้องกับมติของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าเขาไม่มีมติสอดคล้องกันก็แปลว่า ญัตติที่นำเสนอในวันนี้ตกไปไม่สามารถนำไปสู่รัฐบาลได้ ผมตั้งข้อสังเกตนะครับ ถ้าเราอ่าน กฎหมายประชามติดี ๆ แม้เราจะมีมติเป็นประการใดก็ตามที ทั้ง ๒ สภาก็ตามที แต่เขาไม่ได้บังคับรัฐบาลว่าต้องทำประชามติตามที่เราเสนอ เหตุผลสำคัญก็คือว่ารัฐบาล มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลเรื่องงบประมาณ การทำประชามติแต่ละครั้งเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้อง ใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลเขาไม่เห็นชอบกับมติของเราก็ไปทำอะไรไม่ได้ อันนี้คือปัญหา โดยรวมครับท่านประธานที่เคารพ ผมศึกษาเรื่องของรัฐธรรมนูญในขณะนี้ มันจะมีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่ ๓ ประการ
ประการแรก ก็คือทำประชามติกี่ครั้ง ผมกราบเรียนไปแล้วว่าคนอ่าน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตอนท้ายเขาบอกว่าทำ ๒ ครั้ง แต่บางคนอ่านละเอียดเลย บอกว่าทำ ๓ ครั้ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าควรจะทำกี่ครั้ง
ประการที่ ๒ ก็คือแก้ไขทั้งฉบับเดียว มีความหมายเพียงใด บางท่านบอกว่า แก้ไขทั้งฉบับก็คือแก้ได้ทุกหมวด ทุกอะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันไป แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วม รัฐบาลในขณะนี้หลายพรรคแก้ทั้งฉบับก็จริง แต่ข้อยกเว้นหมวด ๑ หมวด ๒ ที่เราขอยกเว้นนี้ ก็ขอมาตั้งแต่อดีตในการยกร่างคราวที่แล้ว หมวด ๑ ไม่มีอะไรมากครับ ส่วนใหญ่เขาไม่แก้ไข เหตุผลเพราะว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ อำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชน ตรงนี้เคยแก้ในประวัติศาสตร์เหมือนกัน เมื่อก่อนใช้คำว่า อำนาจ อธิปไตยมาจากประชาชน เขาก็เปลี่ยนคำว่า มาจาก เป็น ของ ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น หมวดนี้ หมวด ๒ ก็ไม่แก้กันอยู่แล้ว เป็นที่รับรู้กันอยู่
ประการที่ ๓ ก็คือว่าเราควรจะมี สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือว่า บางส่วน อันนี้ความเห็นอย่างคราวที่แล้วที่ผมยกให้เห็นตอนต้น พรรคพลังประชารัฐ ก็บอกว่าขอสรรหามาบางส่วน ขอเอาตัวแทนนิสิต นักศึกษามาด้วย แต่ของเราก็บอกว่า เอาเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด แล้วแก้ปัญหาโดยไปตั้งคณะกรรมาธิการเอาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งหลาย นี่คือความไม่ลงรอยกันในเรื่องของการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การทำประชามติ ท่านประธานครับ ขณะนี้ก็ทราบกันดีว่ารัฐบาลมีนโยบายแล้วก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อทำประชามติ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา สิ่งที่เรา ได้จากรัฐบาลที่ผมฟังมาก็คือว่ารัฐบาลประสงค์จะทำประชามติ รัฐบาลประสงค์จะมี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็คิดว่าก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าให้รัฐบาลเขาศึกษาให้สะเด็ดน้ำว่า ควรจะเป็นอย่างไร แล้วเราก็รอดู ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ติดขัดที่เราจะเสนอความเห็นทั้งหลาย ทั้งปวงไป แม้ว่าญัตติวันนี้อาจจะตกไป แต่ผมคิดว่าก็ไม่มีอะไรขัดข้องที่จะเสนอความเห็น ของเราไปให้รัฐบาลเขาพิจารณา จะเป็นเรื่องที่ว่าเราจะได้ตั้งความหวังว่าอนาคตไม่นาน เราจะมีการทำประชามติกัน อนาคตไม่นานเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กัน อย่างนี้เป็นต้น ก็กราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตที่จะกราบเรียน อภิปรายร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งท่านศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑๒,๘๘๘ คน เป็นผู้เสนอ ท่านประธานครับ แน่นอนที่สุด โดยส่วนตัวกระผมนี้ ผมคิดว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้น เหตุผลสำคัญเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปแล้วว่าเป็นไปตามมาตรา ๗๐ ของ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บัญญัติให้รับรอง ให้รัฐพึงส่งเสริมให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจ อย่างสงบสุข หรือกรณีที่มาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี จารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ นอกจากนั้นก็คิดว่าเป็นไปตามข้อ ๒๗ ของกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐต้องมีหลักประกันที่จะมี วัฒนธรรมความเชื่อและภาษาของตนเอง เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ผมคิดว่าร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ความเป็นจริงแล้วก็ต่อสู้ผลักดันกันมายาวนาน ผมเองก็คิดว่าเป็นร่างพระบัญญัติ ที่น่าจะต้องส่งเสริมสนับสนุนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศที่กราบเรียน ไปแล้ว อย่างไรก็ตามท่านประธานที่เคารพครับ ผมก็ขออนุญาตที่จะตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมาย ฉบับนี้ดูไปแล้วก็ยังมีความ ประทานโทษนะครับต้องใช้คำว่า ยังมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ อยู่มากมายหลายประเด็น ที่น่าจะต้องมาหยิบยกพิจารณากันอย่างถ่องแท้
ประการที่ ๑ ท่านประธานครับ ท่านผู้ร่างครับ ท่านประชาชน ท่านศักดิ์ดาครับ ท่านบอกว่าให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้เป็นมาตราแรก ๆ เลยครับ ก็หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้ให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ มารักษาการ แล้วก็บอกว่าให้มีอำนาจออกกฎ ระเบียบ กติกาทั้งหลาย กฎ ระเบียบทั้งหลาย ถ้าประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ถือว่าใช้บังคับได้ แต่ทีนี้ผมดูองค์กรบริหารที่ท่าน จัดตั้งขึ้น เช่น บอกว่าให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมืองเลือกมาจากสมาชิกแต่ละกลุ่มไม่เกิน ๕ ท่าน ให้มีกรรมการบริหารสภา ๑๕ คน ให้มีคณะผู้อาวุโส ให้มีสำนักงานสภา องค์กรบริหาร ตามกฎหมายฉบับนี้ของท่านไม่มีตัวแทนรัฐบาล ไม่มีองค์กรใด ๆ หรือองคาพยพใด ๆ ที่จะ เข้าไปเป็นองค์ประกอบ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทั้งหลาย ผมใช้คำว่า ความเกาะเกี่ยวระหว่างสภาชุมชนกับรัฐบาล ไม่มี แต่ว่าท่านให้นายกรัฐมนตรี มารักษาการ สมมุติว่าท่านจะออกกฎระเบียบทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็เอากฎระเบียบไปที่ทำเนียบ นายกรัฐมนตรีท่านช่วยกรุณาลงนามหน่อย ถามว่าท่านจะมีพื้นฐานอะไรที่จะเกาะเกี่ยว ในแง่ของการบริหารงานประเภทนี้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง และท้ายที่สุด มันจะทำให้สภาของท่านมีกฎหมายรองรับยึดโยงกับฝ่ายบริหาร แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ท่านกับฝ่ายบริหารไม่มีเลย นี่คือเรื่องที่ผมอยากกราบเรียน ไม่มีกลไกที่จะเชื่อมโยงกับ ฝ่ายบริหารเลย ที่น่าจะแปลกใจอย่างมากก็คือว่าท่านร่างว่าท่านจะบริหารโดยกองทุน แล้วท่านก็บอกว่ากองทุนของท่านมาจากไหน ๑. มาจากการบริจาค ๒. มาจากดอกผลที่ได้จาก การบริจาค ๓. มาจากเงินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน แปลว่าอะไรครับ ท่านจะบริหารสภาของท่าน บริหารชนเผ่าพื้นเมืองของท่าน ถ้าผมอ่านนี้ก็คือท่านไม่ต้องการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเลย เพราะว่าถ้าท่านไม่เขียนเลยว่าเงินอุดหนุนจากรัฐ ท่านก็ไม่มี ก็แปลว่าในท้ายที่สุดนี้ถ้ารัฐบาล จะให้เงินอุดหนุนท่าน นายกรัฐมนตรีเกิดว่าอยากสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองของท่านจะให้บอก ขอเงินงบประมาณมาอุดหนุนท่านหน่อย ท่านก็ไม่ได้เขียนรองรับไว้เลย แต่ที่สำคัญครับ ท่านประธานที่เคารพ ผมอ่านดูละเอียดแล้วกองทุนประกอบด้วยอะไรครับ กองทุน ประกอบด้วยตัวแทนของท่าน แต่ว่าท่านดันไปเอาตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเอาตัวแทน สำนักงบประมาณเข้าไปเป็นกรรมการกองทุน ถ้าเงินไม่มาจากรัฐบาลเลยท่านเอาไปทำไม แล้วเขาจะไปรู้เรื่องรู้ราวอะไรว่าท่านไปเอาเงินบริจาคมาจากไหน เหล่านี้เป็นต้น ผมว่าปัญหา ของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่ความเกาะเกี่ยวตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และจะทำให้ท้ายที่สุด ถ้ากฎหมายนี้ผ่านไปมันก็จะเป็นสภามาลอย ๆ แต่ว่าความเกาะเกี่ยว เกี่ยวโยงกับรัฐบาล โดยเฉพาะท่านไปให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยที่ไม่ได้มีความเกาะเกี่ยวกันเลยในแง่ของ การบริหารองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ก็ไม่มีตัวแทนนายกรัฐมนตรี ไม่มีตัวแทนรัฐบาลเข้าไปเป็น กรรมการอะไรร่วมด้วยเลย แล้วท่านก็บอกว่าให้นายกรัฐมนตรีออกกฎระเบียบ ผมว่าเป็น ปัญหาที่น่าจะต้องไปคิดนะครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าท้ายที่สุดมันก็จะไปบริหารลอย ๆ ไม่รู้จะ บริหารไปที่ไหน ผมได้ค้นดูแล้วผมคิดว่ามันมีร่างพระราชบัญญัติทำนองเดียวกันที่เคย นำเสนออยู่หลายร่าง เช่น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นผู้คิดขึ้นแล้วก็นำเสนอ ร่างกฎหมาย ฉบับของคณะอนุกรรมการกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่างกฎหมายของ กลุ่มกระบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเหล่านี้ มันน่าจะเอากฎหมายเหล่านี้ มาผนวกรวมกัน แล้วท้ายที่สุดลองบูรณาการให้เห็นว่ามันควรจะปรับตรงนั้น แก้ตรงนั้น อะไรต่าง ๆ แต่ผมสนับสนุนว่ามันต้องมีกฎหมายนี้ แต่ของท่านมีข้อบกพร่องเยอะครับ ก็กราบเรียนด้วยความเคารพครับ
กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ผม ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมขอใช้โอกาสนี้ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม การทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งรัฐบาลได้นำเสนอขึ้นในวันนี้ ผมเข้าใจว่าความจำเป็นของการ ปรับแก้กฎหมาย ขออนุญาตใช้คำว่า กฎหมาย ป.ป.ท. แล้วกันนะครับ ในเรื่องนี้ก็คงจะอ้าง เหตุผลความจำเป็นจากการที่เรามีรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๔ (๒) ประกอบกับวรรคสอง ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม การทุจริตที่จะสามารถกระทำแทนได้ ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง หรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางระดับ เพราะฉะนั้นขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าจะสมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้น โดยรวมแล้วท่านประธาน ที่เคารพก็หมายความว่าขณะนี้ ป.ป.ท. ก็มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญดังต่อไปนี้
ประการที่ ๑ ก็คือเรื่องที่รับมอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาให้ทำหน้าที่ ซึ่งท่านก็ไปแบ่งแยกกฎหมายเป็น ๒ เรื่อง ก็คือ ๑. ก็คือเรื่องที่มีการรับมอบเป็นการทั่วไป ๒. ก็คือเรื่องที่รับมอบเป็นรายคดีหรือเป็นการเฉพาะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่รับมอบมานั้น จะต้องไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บางระดับ ขณะเดียวกันก็มีอำนาจหน้าที่ ในเรื่องของการประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. โดยตรงในการที่จะไต่สวน สอบสวนวินิจฉัยชี้ขาดทั้งหลาย โดยท่านก็มีความจำเป็นต้องแก้บทนิยามในเรื่องของ การทุจริต ในเรื่องของการประพฤติมิชอบนั้นไม่ให้หมายรวมถึงการทุจริตด้วย อันนี้ก็เป็น หลักการสำคัญที่นำเสนอในวันนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมได้อ่านร่าง พ.ร.บ. ที่ท่าน นำเสนอนี้แล้วก็อยากจะมีข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้
ข้อสังเกตประการที่ ๑ ที่ผมอยากเรียน กราบเรียนฝากไปยังรัฐบาลก็คือว่า ท่านกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. ไว้ตามมาตรา ๑๗ เดิม ของพระราชบัญญัติมาตรการ ฝ่ายบริหาร ปี ๒๕๕๑ ที่สำคัญท่านกำหนดไว้ใน (๖) ที่ผมขออนุญาตที่จะทบทวนอ่านให้ฟังว่า ให้ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ อันนี้คือกฎหมาย เดิม ปี ๒๕๕๑ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ (๖) ร่างใหม่ที่ท่านนำเสนอ ท่านมาเขียนไว้ใน (๘) สาระสำคัญที่ท่านมาเขียนก็คือว่า ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปี เสนอต่อ ครม. เพื่อทราบและเผยแพร่ต่อประชาชนให้ทราบด้วย สาระสำคัญที่ กระผมยกมาเปรียบเทียบของเก่าก็คือรายงานคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ส่งมายังสภา ผู้แทนราษฎร ส่งไปวุฒิสภา ส่งไปคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ว่าท่านตัดอะไรออกไปหมด เลยครับ ร่างใหม่ของท่านก็ตัดสภาผู้แทนราษฎรออก ตัดวุฒิสภาออก ท่านให้รายงานไปยัง คณะรัฐมนตรี แล้วบวกถ้อยคำว่า เพื่อรายงานให้ประชาชนทราบ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ประชาชนทราบอย่างไร รายงานโดยวิธีใด ที่ผมเน้นย้ำตรงนี้ก็คือว่าเราประชุมสภา ผู้แทนราษฎรกันเป็นประจำ ส่วนใหญ่ก็มักจะได้รับรายงานจากองค์กรอิสระทั้งหลาย เป็นรายงานประจำปีที่จะมาตรวจสอบ แล้วเราก็ซักถามกันมากบ้างน้อยบ้างก็สุดแต่ ขอถาม ประเด็นนั้นประเด็นนี้ ผมย้ำว่าสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็มีอำนาจหน้าที่ในการไปตรวจสอบ ราชการทั้งหลาย ก็คือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผลการ ปฏิบัติงานประจำปีของท่านควรได้รับการรายงานมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตรงนี้ท่านตัดออกไป ผมก็ตั้งเป็น ข้อสังเกตว่าท่านไปคิดให้ดีนะครับ ท่านตัดออกตรงนี้เอาไปเอามาสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ อาจจะไม่รับหลักการร่างของพวกท่านก็ได้ เพราะว่าท่านบอกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องรายงานแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ฝากเป็นข้อสังเกตครับ อันนี้ก็ฝากไป อาจจะไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ก็ต้องขออนุญาต ชื่นชมร่างของคุณวิโรจน์ มีตรงนี้ครับ เพียงแต่ท่านตัดวุฒิสภาออกไป แต่มีอยู่ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรให้รายงานเข้ามา ก็ต้องขอชื่นชมว่าท่านก็ทันสมัย แล้วก็ถือว่าสาระสำคัญ ยังไม่ทิ้งไปทั้งหมด นี่คือเรื่องที่ ๑ ที่อยากฝากเป็นข้อสังเกต
ข้อสังเกตประการที่ ๒ ที่อยากจะฝากไว้ เป็นข้อสังเกตก็คือเรื่องของ มาตรา ๒๘ ในมาตรา ๒๘ นี้คณะกรรมการ ป.ป.ท. อาจจะไม่รับเรื่องต่าง ๆ บางเรื่อง บางลักษณะไว้ได้ เช่น เรื่องตามมาตรา ๒๗ (๑) (๒) (๓) (๓) นี้ก็คือเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็มีอำนาจที่จะไม่รับเรื่อง ของเดิมท่านกำหนดไว้ว่าถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาเห็นสมควรให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และแจ้งให้ ป.ป.ท. ทราบก็ได้ หมายความว่าเรื่องที่ไม่รับเรื่องนี้อาจจะส่งไปยังผู้บังคับบัญชา แต่ว่าเป็น อำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการ ท่านมาแก้ในมาตรา ๒๗ ว่าเรื่องเหล่านี้ ถ้าเลขาธิการ ป.ป.ท. เห็นสมควรอาจส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาให้ไปพิจารณาตามอำนาจ หน้าที่ แล้วรายงานให้ ป.ป.ท. ทราบก็ได้ ผมตั้งข้อสังเกตว่าท่านไปแก้กฎหมายแบบนี้ หมายความว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของท่านเลขาธิการว่าจะส่งไปหรือไม่ส่งไปก็ได้ ผมถามว่ามันอาจจะเกิดความลักลั่นหรือไม่ อำนาจเดิมเป็นของคณะกรรมการ แต่เลขาธิการ จะมาใช้ดุลยพินิจว่าเรื่องนี้ส่ง เรื่องนั้นไม่ส่งก็ได้ อันนี้ผมว่าเป็นการแก้กฎหมายที่ต้องคำนึงครับ ท่านประธานครับขอเวลาอีกแป๊บเดียวนะครับ กรณีรับเรื่องไว้แล้วก่อนเกษียณอายุ ป.ป.ท. มีอำนาจที่จะสอบสวนไต่สวนต่อไปได้ กฎหมายเก่าของท่านต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่เกษียณอายุ พูดง่าย ๆ แต่ว่าท่านแก้ไปว่า ต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน ๓ ปี แปลว่าท่านขยายเวลาการทำหน้าที่ของท่านออกไป ๑ ปีจากกฎหมายเดิม ที่มีไว้ ผมเรียนว่าการแก้กฎหมายมันน่าจะปรับให้เร็วขึ้นด้วยซ้ำไป ความล่าช้าเป็นความ อยุติธรรม ข้าราชการเกษียณเขาต้องรอท่าน ๓ ปีกว่าจะรู้เรื่องอะไรทั้งหลายทั้งปวง ท่านประธานครับก็ขอฝากเป็นข้อสังเกตประมาณนี้ กระผมเห็นด้วยในหลักการที่ควรมี กฎหมายฉบับนี้ แต่ฝากไว้ในชั้นกรรมาธิการอาจต้องไปปรับแก้หลายประเด็นครับ ขอบพระคุณครับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ชูศักดิ์ ศิรินิล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผม ขออนุญาตที่จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ โดยมีหลักการและเหตุผลที่จะกราบ เรียนท่านประธานต่อไป
หลักการที่สำคัญที่กระผมได้อ่านไปแล้วก็คือการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เหตุผลที่อยากจะกราบเรียนท่านประธาน ก็คือว่า โดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการ ที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัด ชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยเฉพาะบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงให้งดใช้บังคับบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่อ้างถึง สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการ ที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น ทำให้ การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีปัญหาข้อขัดข้องในการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายประการ ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง รูปแบบที่ให้ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่เหมาะสม แก่สถานการณ์ของพื้นที่ ทำให้การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหามากขึ้น จึงสมควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้คณะที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ตามคำสั่งฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลง เพื่อให้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลใช้บังคับต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขออนุญาตท่านประธาน ที่จะอธิบายเพิ่มเติมโดยสังเขปว่าการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นโดยหลักแล้วเราก็ ทราบกันดีว่าเรามีพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ในพระราชบัญญัติฉบับนี้เรามีมาตราสำคัญที่กำหนดไว้ก็คือ มาตรา ๑๙ ที่กำหนดว่าให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษานี้มาทำหน้าที่สำคัญก็คือการให้คำปรึกษาแก่ ศอ.บต. ในการบริหาร ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่ในการเห็นชอบ แผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต. ความคิดของผู้ร่างกฎหมายในขณะนั้นผมก็ ต้องขออนุญาตกราบเรียนว่าก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างจะน่าชื่นชม เพราะท่านได้คิดว่าการที่ จะบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีการมีส่วนร่วมของพี่น้อง ประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ พูดง่าย ๆ ประชาชนเจ้าของพื้นที่ทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่นั้น จะต้องมีส่วนร่วมในแง่ของการบริหาร ในแง่ของการกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหลาย โดยเหตุนี้ สภาที่ปรึกษาจึงประกอบด้วยบุคคลที่กำหนดขึ้น แล้วกำหนดว่าไม่เกิน ๔๙ คน ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขียนว่าจังหวัดละ ๑ คน ผู้แทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัด ละ ๑ คน ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้แทนเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนา ผู้แทน ทางด้านบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มสตรี หอการค้า รวมไปถึงสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมแล้วไม่เกิน ๔๙ คน สภาที่ปรึกษาที่เขียนไว้ในมาตรา ๑๙ สะท้อนให้เห็นคนที่เขา ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาว่าเขาต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีผู้แทนของ ภาคประชาชนในพื้นที่ในระดับต่าง ๆ ในภาคต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะศาสนา ไม่ว่า จะเป็นผู้แทนเอกชน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ผู้นำทางศาสนาต่าง ๆ เหล่านี้ ก็นับว่า เป็นความคิดที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศก็มีการใช้บทบัญญัติ ที่เราทราบกันดีในขณะนั้น ก็คือมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ทั้งหลายที่จะมาออกประกาศคำสั่งใด ๆ มีผลบังคับใช้ เขาคิดกันในขณะนั้นคือว่าบทบัญญัติของสภาที่ปรึกษาในแบบนี้ องค์กรของรัฐ เช่น ศอ.บต. หรือ กอ.รมน. ทั้งหลายขาดการนำในแง่ของการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระนั้นเลยเขาก็เลยออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เป็นที่ทราบกัน สาระสำคัญของ คำสั่งที่ออกมาที่เราจำเป็นจะขอยกเลิกกันเห็นตรงกันว่าควรจะยกเลิกก็คือว่า ไปงด การบังคับใช้มาตรา ๑๙ ของสภาที่ปรึกษาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ ตาม พ.ร.บ. บริหาร ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ เขาเป็นกฎหมายอยู่ดี ๆ ก็ออกคำสั่งว่า ของดใช้บังคับมาตรานี้และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาไว้ โดยให้ไปแต่งตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหาร การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลี่ยนจากสภาที่ปรึกษาที่เขาเขียนไว้ในกฎหมายเป็น คณะกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาที่มีอยู่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย แล้วก็เพิ่มจำนวนกรรมการขึ้นมา บอกว่าเดิมของเขาไม่เกิน ๔๙ คน ท่านก็ไปเพิ่มเสียเป็น ไม่เกิน ๖๐ คน กรรมการมาจากไหนบ้างครับ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งนายกแต่งตั้ง ไม่เกิน ๔๕ คน จำนวน ๔๕ คนที่นายกแต่งตั้งนั้นเขาใช้คำว่า มาจากการปรึกษาหารือกันของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ก็หมายความว่าให้องค์กรเหล่านี้ไปสรรหาบุคคลมาแล้วก็เสนอชื่อ ให้นายกแต่งตั้งไม่เกิน ๔๕ คน ส่วนที่ ๒ ก็จากการเสนอชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เกิน จังหวัดละ ๒ คน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งดูแลจังหวัดต่าง ๆ เหล่านั้นเสนอชื่อมาแล้วก็ แต่งตั้ง ส่วนที่ ๓ ก็คือผู้ทรงวุฒิไม่เกิน ๕ คน
ข้อสังเกตกระผมอยากจะเรียนท่านประธานก็คือว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการ แบบนี้ก็คือเป็นที่เห็นได้ชัดว่าก็คือเป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่หัวหน้าส่วนราชการ ไปไว้ที่ ส่วนกลางว่าจะแต่งตั้งใคร ก็เป็นอำนาจคุณไปเลือกมาแล้วก็เสนอชื่อให้นายก ไม่มีผู้แทนดังที่ มาตรา ๑๙ เขากำหนดไว้ ผลจากการเขียนคำสั่งหัวหน้า คสช. เช่นนี้ เพียงเท่านั้นไม่พอ ก็บอกว่าบทบัญญัติอะไรก็ตามทีที่มีอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษานั้นให้งดใช้บังคับไปด้วย แล้วก็เอาอำนาจทั้งหลายเหล่านั้นมาไว้ที่คณะกรรมการที่เขากำหนดขึ้นตามคำสั่งที่ ๑๔ ผลจากการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้ได้มีการสดับตรับฟัง ได้มีการหารือ ได้มีการปรึกษาหารือกัน เขาบอกว่าเป็นผลทำให้การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความอะไรครับ ขาดที่อย่างยิ่งก็คือขาดการมีส่วนร่วมของ พี่น้องประชาชน ทำให้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นกลับมีปัญหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหานี้ก็สะท้อนมา แม้กระทั่งรัฐบาลนี้เข้ามา เห็นท่านรองนายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคผม ก็ไปประชุมกันทางภาคใต้ ก็มีเสียงสะท้อนมาจากองค์กรทั้งหลายทั้งปวงว่าควรจะต้องยกเลิก คำสั่งที่ว่านี้เสีย เพื่อกลับไปใช้กฎหมายที่เคยมีอยู่ และถูกงดบังคับใช้ไปก็คือมาตรา ๑๙ ดังกล่าวมา เพราะฉะนั้นในขณะนี้จึงมีความหมายว่าเราทั้ง ๓ ร่างที่เรานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นของพรรค ก้าวไกล ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย มีความประสงค์อันเดียวกันก็คือว่า เจตนารมณ์เหมือนกันคือว่าควรจะยกเลิกคำสั่งนี้เสีย เพื่อกลับไปใช้กฎหมายที่เขาบัญญัติ ไว้เดิมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้เดินหน้าต่อไป ให้ประชาชนที่อยู่ในฝ่ายต่าง ๆ นั้นเขามี ส่วนร่วมในการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ผมจึงคิดว่าพวกเราสภาผู้แทนราษฎร คงเห็นแล้วว่าการตราพระราชบัญญัติ ๓ ฉบับเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยที่สุด ทำให้การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความเจริญก้าวหน้าและมุ่งไปสู่สันติสุข มุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป ผมอยากจะจบแบบนี้ครับท่านประธานที่เคารพ ผลจากการ ที่เราทำแบบนี้ แล้วผมเองก็มีความรู้สึกส่วนหนึ่งก็คือว่า เราจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายของ ประเทศไทยของเราในขณะนี้ พวกเราสภาผู้แทนราษฎรควรจะต้องมาตระหนักและทบทวน กันด้วยความจริงใจ ด้วยความจริงจังเสียทีหรือไม่ ผมจะพูดอะไรครับท่านประธานที่เคารพ ถ้าท่านยึดอำนาจการปกครองประเทศ แล้วยึดอำนาจเสร็จท่านก็ไปออกคำสั่งนั้น ออกประกาศนี้ ออกคำสั่งที่ ๑๔/๒๕๕๙ ใช้เวลาเท่าไร บางท่านเขาบอกว่าใช้เวลาวันเดียว ไปถึงก็เซ็น ระบบบ้านเราเป็นกฎหมาย พอศาลฎีกาไปวินิจฉัยว่าเมื่อเขาได้อำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกประกาศ ออกคำสั่งอะไรได้ เป็นกฎหมายไปหมด ซึ่งผมเองโดยส่วนตัวผมก็โต้แย้งระบบ แบบนี้มาช้านาน ครั้นเราจะยกเลิก เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เราเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราจะยกเลิก ผมต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยกเลิกคำสั่งที่ ๑๔/๒๕๕๙ พรรคก้าวไกลต้องเสนอร่างบัญญัติ พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติ วันนี้เรา รับหลักการตั้งกรรมาธิการพิจารณา ๓ วาระ เสร็จจากสภาผู้แทนราษฎรไปวุฒิสมาชิก วุฒิสมาชิกก็อีก ๓ วาระ ท้ายที่สุดมีกฎหมายสำเร็จก็คือพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่. ๑๔/๒๕๕๙ ใช้เวลาเท่าไรครับท่านประธานที่เคารพ บางที อาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน บางกฎหมายใช้เวลาเป็นปี ที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ก็กราบเรียน ท่านประธานว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรของเราคงจะต้องตระหนักว่าระบบแบบนี้ มันควรจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทยได้หรือยัง มันจะหมดไปได้คือว่าทั้งเรา ทั้งศาล ต้องร่วมมือกันในแง่ของการไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใด ๆ ไม่ยอมรับงานยึดอำนาจ การปกครองประเทศ ไม่ยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็น อุทาหรณ์ ฝากเป็นข้อคิดกับพี่น้องสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทั้งหลายว่าเราคงจะต้อง ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ของเราในส่วนนี้ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ