ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 10 วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 10.36 - 21.08 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมรายงานการประชุมสรุปการประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกนะครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะขออนุญาตให้ท่านสมาชิก ได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ โดยผมจะให้ ปรึกษาหารือตามลำดับรายชื่อและเวลาที่ยื่นโดยใช้เวลาท่านละ ๓ นาทีนะครับ ท่านแรก ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ท่านพร้อมหรือยังครับ

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

วันนี้ขออนุญาตกราบเรียนเชิญ ท่านประธาน ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ และชาวไทยทั้งประเทศ ไปร่วมงานบุญ งานมหากุศลปิดทองไหว้พระพุทธโคดม และประเพณีทิ้งกระจาดวัดหลวงพ่อขอม หรือวัดไผ่โรงวัว ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จัดระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๖ เป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน ถนนลาดยางสาย ๓๔๒๒ ที่เรียกว่าถนนที่ไปลาดบัวหลวง ไปถึงอำเภอสองพี่น้อง วัดไผ่โรงวัวจะตั้งอยู่กึ่งกลาง ก็คือกิโลเมตรที่ ๑๕ มีการจราจรหนาแน่น ทั้งรถเล็ก รถใหญ่ รถไข่ รถนักเรียน วิ่งไปมา จำนวนมาก วัดนี้เลยไปหน่อยจะเป็นโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๕ ช่วงนี้จะเป็นทางโค้ง อันตราย กรมทางหลวงนำแท่ง Barrier วางกั้นกลางถนนเพื่อแยก ๒ ฝั่ง และเมื่อเลย แท่ง Barrier แล้วห้ามกลับรถ แต่ก็มีการลักไก่กันอยู่เสมอทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ และเป็นอันตรายต่อนักเรียนที่ใช้เส้นทางนี้ ท่านพระครูอนุกูลปัญญากร เจ้าอาวาส และท่านบำรุง เสียงเพราะดี ไวยาวัจกรวัด จึงมีความเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง แขวงการทาง ออกแบบเพื่อปรับปรุงไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ผมได้นำเรื่องนี้มาหารือ เมื่อสมัยที่แล้ว ชุดที่ ๒๕ แต่ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณ ดังนั้นวันนี้ขอบารมีท่านประธาน จะไปร่วมงานประจำปีนี้นะครับ ช่วยกรุณาทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงอีกครั้ง เพื่อให้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณมาปรับปรุง และถือเป็นการทำบุญใหญ่ร่วมกันครับ

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง คุณดณิษา ใจเพ็ชร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกฤษณา อำเภอบางปลาม้า เป็นพื้นที่ที่ประสบวาตภัย บ้านหลายหลังคาเรือนเสียหาย ได้รับความกรุณา จากท่าน พันตำรวจโท ชินโชติ พุฒิวรรธธาดา ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นไปตามคำขวัญของกรมราชทัณฑ์ที่ว่า กทม. ลอกท่อ อบต. ซ่อมบ้าน กรมราชทัณฑ์ ให้บริการ ก็ขออนุญาตใช้โอกาสนี้ขอบคุณที่ท่านส่งนักโทษไปร่วมดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านทั้งหมด ก็คงไม่รบกวนท่านประธานทำนะครับ เพียงแต่ว่าฝากการหารือนี้ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศนิวาร บัวบาน ครับ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะมาปรึกษาหารือท่านประธานเพียงเรื่องเดียว แต่เป็นเรื่องที่สำคัญแล้วก็ ใหญ่มาก แล้วก็มีมานานมากแล้วด้วย ยังไม่เคยมีการจัดการกับปัญหานี้อย่างถาวรเสียทีค่ะ นั่นคือเรื่องการขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ภาพที่ท่านเห็นนี้เกิดในอำเภอ แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ้านของดิฉันเองค่ะ มีฝุ่นควันปริศนาลอยข้ามพรมแดนมาจาก ประเทศเมียนมาเข้ามาสู่ฝั่งไทยนะคะ ชาวบ้านในพื้นที่ที่สูดดมควันพิษเข้าไปเกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ แล้วก็เจ็บคอเป็นอย่างมาก เพื่อนสมาชิก สส. ดิฉันค่ะ สส. รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บรรทุกใส่รถบรรทุก แล้วก็ข้ามฝั่งไปเผาที่ประเทศเมียนมาอันนี้จาก ที่ท่านเห็นเป็นจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ๔ ปีย้อนหลังค่ะ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่ดิฉันก็ไม่ได้ฟันธงว่าสาเหตุของโรคนั้นเกิดมาจาก การเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว เพราะในพื้นที่ก็ยังมีปัญหา PM2.5 ที่เกิดจาก การเผาเศษซากจากการเกษตรด้วยค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป เรามีชุดข้อกฎหมายแล้วก็ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาบาเซล แล้วก็พิธีสารบาเซล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกฎหมายเหล่านั้นยังมีช่องโหว่ เนื่องด้วยบัญชีรายชื่อ วัตถุอันตรายระบุให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในบัญชี ๕.๒ ที่เป็นของเสียเคมีวัตถุ อนุญาต โดยประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำผ่านขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้ นอกจากนั้นในประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้นำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่มีการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต แต่ปัญหาค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป ปัญหาคือทางเมียนมาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังไม่มีกฎหมายเรื่องการจัดการของเสียอันตรายตามข้อกำหนด ของพิธีสารบาเซลด้วย ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอให้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา งดนำผ่านขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร ไม่ใช่ เพียงแค่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดบ้านดิฉันเท่านั้น ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ระหว่าง พรมแดนด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพลของอำเภอเทพา พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ เขาบอกว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่ปัจจุบันเขาบอกว่าเป็นกระดูกทับเส้นครับ เพราะรายได้ต่ำ ชาวสวนยางบ้านผมก็เช่นกันเราเปรียบเหมือนกระดูกเชิงกรานของประเทศ แต่วันนี้สภาพของชาวสวนยางเขาบอกว่าเป็นกระดูกพรุน กระดูกแตก เดินไม่ได้ ชาวสวนยาง ที่ผ่านมาที่เงียบนิ่งเฉย ไม่ใช่เพราะอยู่ดีกินดี ไม่ใช่เพราะมีความสุขในอาชีพ เพราะฉะนั้น ถึงท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ ของประเทศไทย และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเร่งด่วน ข้อ ๕ เพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร อันนี้พวกผมเห็นแล้วรู้สึกดีใจ ท่านประธานครับ เมื่อ ๙ ปีที่แล้วปี ๒๕๕๗ ที่ควนหนองหงษ์ ชะอวด นครศรีธรรมราช ราคายางเท่าไรครับ ๙๐-๙๕ บาท เรียกร้องให้ได้ ๑๒๐ บาท วันนี้ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ สงขลาบ้านผมน้ำยางสด ๔๐ บาท แต่มาดูว่ายาง ๑ กิโลกรัม ได้ ๔๐ บาทจริงหรือเปล่า ไม่จริงครับท่านประธาน ยาง ๑ กิโลกรัมไปทำ DRC หรือยางแห้ง ได้ ๐.๓ คูณ ๔๐ ได้ ๑๒ บาท แบ่งเถ้าแก่ ลูกกุหลี ๖ บาท ตัด ๒ คนได้ ๓ บาท สรุปแล้ว ชาวสวนยาง ๑ กิโลกรัม เป็นลูกจ้างได้ ๓ บาท เพราะฉะนั้นยาง ๒๐ ไร่ในพื้นที่บ้านผมถือว่า เป็นเถ้าแก่ มาดูครับ ต้องตัด ๒ คนผัวเมียตั้งแต่ตี ๑ ใช้เวลาประมาณ ๙ ชั่วโมง ๑๐ โมง ถึงจะขายน้ำยางได้ นี่คือ ๒๐ ไร่ ได้น้ำยางเท่าไร ๘๐ กิโลกรัม ๘๐ กิโลกรัมน่าจะได้ ๓,๖๐๐ บาท ไม่ใช่ครับ โลกแห่งความเป็นจริงคือเท่าไร ๘๐ กิโลกรัม ไปทำ DRC ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ได้เงินมาทั้งหมด ๙๖๐ บาท แบ่งเถ้าแก่ ลูกกุหลี คนละครึ่ง เหลือเท่าไร ๔๘๐ บาท มันต้องกรีด ๒ คน สรุปแล้วได้คนละ ๒๔๐ บาท ทำงาน ๙ ชั่วโมง นี่คือของจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือราคายาง ๖๐ บาทตามราคาต้นทุน วันนี้คน ๑.๗ ล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และ ๖ ล้านครอบครัวที่เป็นชาวสวนยางรอความหวังจากรัฐบาล ชุดนี้ ๖๐ บาท สิ่งที่เขาต้องการฝากท่านนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพรเทพ ศิริโรจนกุล ครับ

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพรเทพ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมมีข้อปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง และอำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด ๔ ประเด็น

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เรื่องของการคมนาคมถนนสาย นม.๒๑๖๐ เส้นบ้านวัด ตำบลเทพาลัยถึงสี่แยกไฟแดงดอนใหญ่ อำเภอคง ระยะทาง ๑๙ กิโลเมตร ถนนเส้นนี้ เป็นถนนสายทางหลักที่เชื่อมระหว่างอำเภอ มีการสัญจรของรถยนต์อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นเส้นทางลัดในช่วงเทศกาลไปสู่จังหวัดชัยภูมิได้ ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยัง กรมทางหลวงให้ช่วยพิจารณาช่วยขยายช่องทางการจราจรให้เป็นถนน ๔ เลน พร้อมด้วย ไฟส่องสว่าง ๔ จุด จุดที่ ๑ บ้านโนนสีฟัน หน้า อบต. ขามสมบูรณ์ จุดที่ ๒ บ้านหนองบง หนองสมอ จุดที่ ๓ บ้านโนนวัด จุดที่ ๔ หน้า อบต. เมืองคง

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ห้วยตะคร้อ ตำบลโนนเต็ง เชื่อมตำบลหนองมะนาว อำเภอคง มีความทรุดโทรมเป็นหลุม เป็นบ่ออย่างมากครับ ไม่ได้บำรุงรักษามาเกือบ ๓๐ ปี ผมจึงอยากฝากท่านประธานไปยัง กรมชลประทานให้ช่วยจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซมให้กับพี่น้องชาวบ้านโดยเร็ว

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากสะพานข้ามลำสะแทด ช่วงถนนมิตรภาพหลักกิโลเมตรที่ ๑๙๙+๐๗๕ ตรงนั้นเล็กมากครับ ระบายน้ำไม่ทัน จะทำให้ถนนในช่วงนี้ทำหน้าที่เหมือนเขื่อนกักเก็บน้ำ น้ำท่วม รถติด ปิดถนน ท่วมไปจนถึง ไร่นาพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องอำเภอคง อำเภอโนนแดง ผมจึงอยากฝากท่านประธาน ไปยังกรมทางหลวงให้ช่วยเร่งขยายสะพานนี้ด้วยครับ แล้วก็ฝากไปยังกรมชลประทาน ที่ช่วยสร้างโครงการแก้มลิงบ้านตราชู ตำบลตาจั่น อำเภอคง เพื่อรองรับน้ำที่เอ่อล้น มาใช้ในช่วงที่แห้งแล้งด้วย

นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ เรื่องของการจัดมหกรรมพืชสวนโลกในปี ๒๕๗๒ ในวันที่ ๑๓ ที่จะถึงนี้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศหรือ AIPH มาตรวจประเมิน โครงการที่โคกหนองลังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง ต้องบอกเลยว่าพื้นที่ใน Zone นี้ เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เจริญครับ ๑๐ อำเภอทางด้านเหนือของจังหวัดนครราชสีมาของเราไม่มี สถานที่ท่องเที่ยวเลย หากมีกิจกรรมใหญ่ ๆ เข้ามาในพื้นที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา จับจ่ายใช้สอย มีการประชุมเชิงวิชาการต่าง ๆ มากขึ้น และที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้จะช่วยส่งเสริม ภาคเกษตรกรรมไทย กระจายโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นความหวัง ของพี่น้องในจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมากครับ ผมจึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา แล้วก็นายกรัฐมนตรีคนใหม่ท่านเศรษฐา ทวีสิน ให้ช่วยร่วมกันบูรณาการให้งานพืชสวนโลกที่อำเภอคงนี้เกิดขึ้นเพื่อพี่น้องประชาชน ในนครราชสีมาของเรา ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัยชนะ เดชเดโช เชิญครับ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช วันนี้ผมมีเรื่องจะหารือท่านประธานอยู่ ๓ เรื่อง

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่อง ๑ สืบเนื่องจากผมได้รับหนังสือร้องเรียนจาก สจ. อภิสิทธิ์ เกิดศิริ ให้ดำเนินการในการขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจร ถนนสาย ทล.๔๒๒๗ บ้านสำนักขัน ถึงบ้านเหนือคลอง ที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ ถนนเส้นนี้อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง มีการใช้สัญจรไปมาเยอะ เนื่องจากว่าถนนเส้นนี้เป็นการใช้ระหว่างอำเภอจุฬาภรณ์ ไปอำเภอทุ่งสง และต่อไปจังหวัดตรังได้ เพราะฉะนั้นผมอยากฝากท่านประธานไปถึง กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมด้วยครับ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขณะนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าสู่ฤดูกาลมังคุด ขณะนี้ราคา มังคุดบางวันก็ราคาดี บางวันก็ราคาตกต่ำ เนื่องจากว่ามีปัญหาในการออกใบ GAP ก็ดี หรือล้งยังเปิดดำเนินการทำงานไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ดี ทำให้พี่น้องเกษตรกร ชาวสวนมังคุดที่อยู่ในพื้นที่พรหมคีรี นบพิตำ ลานสกา ร่อนพิบูลย์ ท่าศาลา และในจังหวัด นครศรีธรรมราชอีกหลายอำเภอได้รับผลกระทบ เนื่องจากว่าราคาบางวันก็เหลือไม่ถึง ๒๐ บาท บางวันก็ ๔๐ บาท เพราะฉะนั้นผมอยากฝากท่านประธานไปยังผู้รับผิดชอบ ของกระทรวงเรื่องนี้ให้แก้ไขราคามังคุดโดยเร่งด่วนนะครับ

นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับหนังสือร้องเรียนจากท่าน สส. ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ เนื่องจากว่าขณะนี้มีการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดระยอง พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วก็สมุทรปราการทั้ง ๔ พื้นที่นี้ มีการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนแล้วก็ทำให้ประเทศเสียหายมาก มีการลักลอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้จับจ้อง ไม่ได้ติดตามอย่างเร่งรัด และทำให้ประเทศเสียหายเป็นแสนล้านบาท ผมอยาก ฝากท่านประธานสภาไปถึงนายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขการค้าน้ำมันเถื่อนโดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ที่ผมทราบมามีบุคคลที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ที่เป็นพ่อค้าน้ำมันเถื่อนอยู่ อักษรย่อ ช ก็ฝากท่านประธานไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องนี้ต้องมีการดำเนินการแก้ไข อย่างเร่งด่วนโดยเร็ว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่าให้เสียหายปีละเป็น แสนล้านบาท เราต้องนำภาษีเหล่านี้กลับคืนมาพัฒนาประเทศให้ได้ ผมฝากนำเรียน ท่านประธาน ๓ เรื่องแค่นี้ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิทวัส ติชะวาณิชย์ ครับ

นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๕ เขตคันนายาว เขตบึงกุ่ม เฉพาะแขวงคลองกุ่ม วันนี้ผมมีเรื่องจะปรึกษาท่านประธาน ๓ หัวข้อด้วยกัน

นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๑ ปัญหาบริเวณแยกรามอินทรา กม. ๘ เนื่องจากการขยายตัว ของประชากรในพื้นที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ผมจึงอยาก ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันบรรเทาปัญหาการจราจร รวมถึง ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนดังนี้ ผมอยากขอฝาก ท่านประธาน ช่วยเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เนื่องจากปัจจุบันมีการขยาย ระยะเวลาก่อสร้างมานานกว่า ๓ ครั้ง และกำหนดสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๗

นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ จากในรูปท่านประธานจะเห็นแผ่นเหล็กวางปิดไว้บริเวณปากซอยคู้บอน ตรงทางเลี้ยวเข้าสู่ถนนรามอินทราซึ่งค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะในช่วงเวลาฝนตก รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านแผ่นเหล็กดังกล่าวลื่นล้มเป็นจำนวนมาก ประชาชนเขาฝากถามมา มีไว้ทำไม รวมถึงสภาพถนนที่ไม่เรียบเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมขอฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่สำรวจและดำเนินการปรับปรุงคืนถนนให้เรียบคืนให้ ประชาชนด้วยครับ ปัญหาที่ ๓ ปัญหาทางม้าลาย อยากให้เพิ่มสัญญาณไฟกำกับการข้าม ทางม้าลายเพื่อช่วยความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่ข้ามแยกดังกล่าว ปัญหาที่ ๔ กล้องและ ไฟจราจร ผมอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและซ่อมแซมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้อยู่ ในสภาพพร้อมใช้งาน การลงพื้นที่จากในรูปท่านประธานจะเห็นว่ากล้องที่สามารถใช้ได้นั้น มีเพียงแค่ ๒ ตัว จากเดิมมี ๘ ตัว

นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ปัญหาเรื่องการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ผมทราบดีว่า ปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครกำลังแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้อยู่ แต่ผมอยากปรึกษาหารือ ท่านประธานถึงมาตรการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อน อยู่ระหว่างที่รอ การแก้ไขกฎหมาย พอจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนได้หรือไม่ เพื่อช่วยให้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกและสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ผมขอยกตัวอย่างในภาพ ภาพนี้เป็นซอยนวมินทร์ ๔๒ แยก ๘ ฝั่งซ้ายและ ๒๓ ฝั่งขวา Slide ถัดมา จะเป็นซอยนวมินทร์ ๒๔ หมู่บ้านศรีนคร ซอย ๕ ปัญหาตอนฝนตกทำให้เกิด น้ำท่วมขังหลายวัน ชาวบ้านร้องเรียนไปหลายครั้ง แต่ก็ยังสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะเป็นที่ดินเอกชนเป็นแบบนี้มายาวนานกว่า ๓๐ ปี เจ้าของหมู่บ้านเดิมยังไม่โอน กรรมสิทธิ์ให้ กทม. ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ผลเลยตกมาที่ประชาชน จากในรูปฝนตก ตกทีถนนเปลี่ยนเป็นคลอง เพราะไม่มีการลอกท่อมานานแสนนานครับ ปัญหาสุดท้าย ผมขอฝากท่านประธาน ถนนประเสริฐมนูกิจ บริเวณหน้าร้านอาหาร ชอกโกแลตวิลล์เป็นแบบนี้มายาวนานกว่า ๑ ปีที่ไม่มีแสงสว่างครับ สุดท้ายนี้ผมอยากขอ ขอบคุณทุกคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชนชาวคันนายาว ชาวบึงกุ่ม ผมจะไม่ทำให้ ท่านผิดหวัง จะทำอย่างสุดความสามารถ คันนายาว บึงกุ่มต้องไม่เหมือนเดิม ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ อำเภอ กบินทร์บุรี อำเภอนาดี พรรคภูมิใจไทยครับ ก่อนอื่นก็ขอแสดงความยินดีที่เราจะได้ มีการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยก็จะได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพราะเรา พูดแล้วทำครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะปรึกษาหารือ ผมได้รับร้องเรียนจากท่านกำนันธนกร สุริยธนธร ท่านผู้ใหญ่สมยศ ทองมงคล หมู่ที่ ๕ ท่านผู้ใหญ่ทวี สิงหนาม หมู่ที่ ๖ ท่านผู้นำชุมชน ประชาชนจำนวนมากครับ ผ่านมายังท่านนายกเถี้ยว พันชำนาญ นายก องค์การบริหารส่วนตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ถึงเรื่องความจำเป็น สมควรที่จะสร้างจุด U-turn จุดกลับรถเพิ่มเติม ขอ Slide ด้วยครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ในถนนสุวรรณศร สาย ๓๓ กิโลเมตรที่ ๑๙๒ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างถนนสุวรรณศร และทางหลวงชนบทสาย ๒๐๔๑ ซึ่งในแต่ละวันจะมีประชาชนสัญจรเดินทางติดต่อ กับหน่วยราชการ ในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ขนส่งสินค้า พืชผล ทางการเกษตร เชื่อมมายังถนนสุวรรณศร ซึ่งต้องไปกลับรถ U-turn ถึง ๔ กิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นก็จะเชื่อมต่ออำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอเมือง และจุด ศูนย์อุตสาหกรรม ๓๐๔ อุตสาหกรรมสหพัฒน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลนนทรี มีหน้าที่ในการจะป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถกู้ภัย รถพยาบาล และรถมูลนิธิจะได้สามารถไปกลับรถ U-turn ได้ และช่วยเหลือปัญหาฉุกเฉินได้อย่างทันเวลาครับ จึงกราบเรียนไปยัง ท่านประธานสภาผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา และเรื่องนี้ อบต. นนทรีได้ส่งไปยังท่าน ผอ. แขวงการทางปราจีนบุรีตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว จะได้มี การสนับสนุนและทำนโยบายนี้ให้สัมฤทธิผลเถอะครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาของถนน ๓๐๔ ฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา ซึ่งเป็นถนน สาย Main หลักของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงกิโลเมตรที่ ๑๕๐ ถึงกิโลเมตรที่ ๑๖๕ ช่วงนิคมไฮเทค ตำบลลาดตะเคียน ถึงสี่แยกสามทหาร อำเภอกบินทร์บุรี ชำรุดเป็นหลุม เป็นบ่อ เป็นอุปสรรคต่อการจราจร อีกทั้งยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วง ฤดูฝนนี้เรามีอุบัติเหตุบ่อย และการเดินทางรถต้องวิ่งสลับ Lane ไปมา ดังนั้นจึงกราบเรียน ไปยังท่านประธานสภาที่เคารพถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดกรุณาเห็นความสำคัญกับชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ได้รับความสะดวกสบายครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ เชิญครับ

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านอำเภอกันทรารมย์ อำเภอน้ำเกลี้ยง และอำเภอโนนคูณ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมได้รับการร้องเรียนจาก นายกรินทร์ทอง เวียงคำ กำนันตำบลบัวน้อย และพี่น้องประชาชนชาวตำบลบัวน้อยว่า ค่าชดเชยน้ำท่วมตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ทางรัฐบาลยังไม่ได้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ฝากไปยัง รัฐบาลช่วยเร่งรัดเบิกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อนหาเงินไม่ได้ ฝากไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายสนั่น สุขอ้วน นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลหนองบัว เรื่องการขยายถนนจากความกว้าง ๔ เมตร เป็น ๕ เมตร จากบ้านสีถาน หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองบัว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงบ้านค้อ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดู่ ขอ Slide ด้วยครับ

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ถนนสายนี้ พี่น้องสัญจรไปมาหลายหมู่บ้าน ๓ ตำบล ช่วงปี ๒๕๖๕ น้ำท่วมสูงประมาณ ๒ เมตร อยู่ประมาณ ๑ เดือน ทำให้ถนนเสียหาย รัฐบาลก็ไม่มาดูแลหรือจัดสรรงบประมาณ เพื่อมาซ่อมแซมถนนสายนี้ ถนนสายนี้ออกจากบ้านค้อเป็นถนนที่มีความกว้าง ๕ เมตร ประมาณ ๒ กิโลเมตร พอมาถึงบ้านสีถานถนนจะเหลืออยู่ประมาณ ๔ เมตร รถสวนทางกัน ลำบาก ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายอิทธิพล นนทา นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลยาง เรื่องถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายทาง ศก.ถ.๑๔๒/๐๐๓ บ้านสร้างเหล่า หมู่ที่ ๓ ถึงบ้านโพนลังกา หมู่ที่ ๖ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสาย ศก.ถ.๑๔๒/๐๑๖ บ้านหนองกี่ หมู่ที่ ๗ เชื่อมระหว่างสายบ้านโคก บ้านคำเนียม หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ถนน ๒ สายนี้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน จนเกิดความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ยิ่งช่วงนี้เป็นหน้าฝนทำให้ การสัญจรไปมาลำบาก จึงขอฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายวันชัย บัวหอม รองนายกองค์การ บริหารส่วนตำบลน้ำเกลี้ยง เรื่องถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก รหัสทางหลวงท้องถิ่น ๘๙/๐๐๓ สายทางสี่แยก ถนนบ้านน้ำเกลี้ยง-บ้านไร่เอราวัณ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลเขิน หมู่ที่ ๖ ตำบลน้ำเกลี้ยง ซึ่งถนนเส้นนี้ชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ ถนนลูกรังพี่น้องประชาชนใช้สัญจรไปมาระหว่างตำบลน้ำเกลี้ยงและตำบลเขิน จะใช้ขนสินค้าทางการเกษตร จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ

นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องชาวบ้านหัวเหล่า หมู่ที่ ๖ ตำบลบก อำเภอโนนคูณ ว่าถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๘๕ กันทรลักษ์-บ้านหัวเหล่า เป็นหลุมเป็นบ่อ ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ผมเคยหารือไปในสภาแห่งนี้ ๒ ครั้งแล้ว แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ดำเนินการ ฝากท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และองค์การ บริหารส่วนตำบลบก ผมจะมีเอกสารส่งให้ท่านประธานครับ ขอขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสรวีย์ ศุภปติตา ครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

สวัสดีครับท่านประธาน นามสกุลผม ท่านกล่าวผิด ผมนามสกุลศุภปณิตาครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรวีย์ ศุภปณิตา สส. จังหวัดปทุมธานี เขต ๑ อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอเมือง ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางหลวง พรรคก้าวไกล ขอปรึกษา หารือท่านประธานครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่า เดือดร้อนจากถนนสาย ๓๔๐ วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปสุพรรณบุรี ผ่านอำเภอลาดหลุมแก้ว มีประชากรใช้ถนนสัญจรไปมามากและหนาแน่น และด้วยความรวดเร็วเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีประชาชนล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก จึงขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานผ่านไปยัง ท่านประธานว่าสมควรสร้างสะพานต่างระดับเพื่อตอบสนองกับความเจริญของพื้นที่ รถผ่านมาก มีอุบัติเหตุเกิดบ่อย ถ้ามีสะพานต่างระดับขึ้นมาแล้วจะสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้อง ประชาชนมากยิ่งขึ้นครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องโรงเรียนชั้นประถม ไม่มีนักการภารโรงเรียน ของ สพฐ. ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม. ๓ ไม่มีนักการภารโรง ครูและนักเรียนต้องรับหน้าที่ล้างห้องน้ำ ทำให้สมาธิในการเรียนหนังสือขาดไป แล้วต้องผลัดเวรกันไปทำความสะอาดห้องน้ำ ครูต้องกลับบ้านผิดเวลาต้องช่วยนักเรียนทำความสะอาดห้องน้ำ จึงขอให้ท่านประธาน ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดสรรงบประมาณมาจ้างภารโรง ทำหน้าที่ทำความสะอาดโรงเรียน ลดภาระการตกงานแก่พี่น้องประชาชนได้ด้วยครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องไฟแสงสว่างถนน ถนนในอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก และอำเภอเมืองปทุมธานี ขาดแสงสว่าง ขาดความสว่าง เส้น ๓๔๖ เส้น ๓๔๗ เส้น ๓๐๗ และเส้น ๓๑๑๑ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบแขวงการทางปทุมธานี แขวงทางหลวงนนทบุรี และแขวงทางหลวงชนบทปทุมธานี หน่วยงานดังกล่าวขาดงบประมาณในการบูรณะ ซ่อมแซม และลงพื้นที่ทราบมาว่ามีขโมยลักลอบตัดสายไฟและหม้อแปลงไฟฟ้าครับ จึงต้อง เรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความอนุเคราะห์ช่วยจัดสรรงบประมาณ มาดูแลต่อไปครับ

นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ กระผมลงพื้นที่บ้านธาตุ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัด ปทุมธานี มีพี่น้องประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะพื้นที่บ้านธาตุ เป็นพื้นที่ต่ำอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีประตูระบายน้ำดูแลโดยกรมชลประทาน แต่ขาดแคลน เครื่องสูบน้ำครับ เครื่องสูบน้ำตัวเล็กและกำลังน้อย จึงขอความอนุเคราะห์ท่านประธาน กราบเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องสูบน้ำอีก ๒ เครื่อง ให้มีกำลังแรงพอเหมาะสมกับพื้นที่สัก ๒ เครื่องมาตั้งบริเวณนี้ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศักดิ์ ซารัมย์ ครับ

นายศักดิ์ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดิ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขตพื้นที่ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอหนองหงส์ มีอยู่ ๓ ตำบล ตำบลไทยสามัคคี ตำบลเสาเดียว ตำบลสระทอง และอำเภอคูเมือง ตำบลเกาะสำราญ จากการที่กระผมได้พบปะพี่น้อง ประชาชนแล้วก็พบข้อปัญหาหลายเรื่องที่จะต้องมานำเรียนท่านประธานสภาเพื่อจัดการ แก้ปัญหา

นายศักดิ์ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องเอกสารสิทธิที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อำเภอลำปลายมาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลแสดงแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศเป็นพื้นที่ การเกษตร ส่วนมากแล้วประชาชนยังไม่มีที่ทำกิน ส่วนมีที่ทำกินแล้วก็จะมีเอกสารสิทธิที่ดิน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมีอยู่คือในพื้นที่นั้นยังมีคอกทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ประชาชนเข้าไปจับจองที่ดิน ที่ทำกินมาช้านาน แต่ยังไม่สามารถที่จะออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็น คอกทำเลเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ และมีประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ครัวเรือน ซึ่งไม่สามารถที่จะออกเอกสารสิทธิได้ ฉะนั้นในวันนี้ถ้าหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดินสามารถใช้กลไกของรัฐ ใช้ข้อกฎหมายเข้าไปสำรวจตรวจสอบ เพื่อที่ จะออกเอกสารสิทธิที่ดินให้ประชาชน ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่สมควรที่จะออกให้

นายศักดิ์ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เรื่องการจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ ๖,๐๐๐ กว่าโรง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ อำเภอหนองหงส์ อำเภอคูเมือง อำเภอบ้านใหม่ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่อำเภอ ลำปลายมาศมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ ๕๐ กว่าโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนนักเรียน ๑๒๐ คนลงมา แต่ในจำนวน ๕๐ โรงเรียนนั้นไม่มีผู้บริหารโรงเรียนอยู่ ๑๙ โรงเรียน ฉะนั้นความยุ่งยาก ในการบริหารโรงเรียนนั้นมีปัญหาล่าช้า ก็เรียนฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร จะยุบรวมหรือจะสร้างเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามาก โดยเฉพาะครูโดยเฉลี่ยแล้วโรงเรียนละ ๔ คนต่อโรงเรียน ฉะนั้น ในการแก้ปัญหานั้นล่าช้ามาก เช่นครูสอนอยู่ทุกชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาล ไม่ว่าจะเป็น ชั้นประถมศึกษา ครู ๔ คนสอนอยู่ ๔ ชั้นเรียน ทำทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน ไม่ว่าจะเป็นข้อราชการ หรือเป็นครูใหญ่ก็ได้เป็น ฉะนั้นปัญหามันเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ ในเรื่องของงบประมาณที่ได้จัดทำขึ้นงบประมาณน้อยมาก โรงเรียนขนาดเล็กควรจะมี การจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวัน ๒๗ บาทต่อหัวต่อวัน บางโรงเรียน โดยเฉพาะ ผมขอยกตัวอย่าง โรงเรียนบ้านหนองซอแซในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศมีนักเรียน ๔๖ คน ฉะนั้นวันหนึ่งได้รับ อาหารกลางวันเพียง ๑,๒๐๐ บาทน้อยมาก และเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับจัดสรรแต่ละปี ปีหนึ่ง ๓๖๕ วันได้รับจัดสรรงบประมาณจากทางราชการนักเรียน ๔๖ คน หัวละ ๑,๗๐๐ บาท ๑,๘๐๐ บาท โดยเฉลี่ยแล้วก็วันละ ๙ บาท ใน ๑ ปีการศึกษา หรือ ๒ ปีการศึกษานี้นักเรียน ๔๖ คนได้รับงบประมาณไปแค่ ๘๐,๐๐๐ กว่าบาททั้งปี ฉะนั้นในการบริหารโรงเรียนนั้น ถ้าขาดงบประมาณไปแล้วไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นวันนี้ก็ขอนำปัญหา ด้านการศึกษามาเรียนท่านประธานครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฉลาด ขามช่วง ครับ

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ฉลาด ขามช่วง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานเพื่อนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือท่านประธานเพื่อผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่อไป

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้กรมทางหลวงชนบทขยายถนนสาย ๔๐๒๖ จากร้อยเอ็ด ไปอำเภอโพธิ์ชัย ช่วงจากสะพานลำชีถึงป่าซาง อำเภอโพธิ์ชัย ซึ่งเหลือระยะทางเพียง ๖ กิโลเมตรเศษ ๆ ครับ

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงชนบทขยายถนนและสะพาน ถนนสาย ๔๐๓๓ ร้อยเอ็ด-ดินดำ ให้ตลอดสายนะครับ

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้กรมทางหลวงขยายถนน ทล.๒๓๒๗ จากปากทางโพธิ์ชัย เข้าอำเภอโพธิ์ชัยเป็น ๔ ช่องจราจร ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างอยู่ ได้งบไปเพียง ๕๐ ล้านบาท จึงขอให้กรมทางหลวงจัดงบให้ตลอดสายนะครับ

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ขอให้กรมทางหลวงติดตั้งไฟสัญญาณจราจรในถนนสาย ๒๑๔ ร้อยเอ็ด-ลำชี ช่วงปากทางอำเภอจังหารเข้าตัวที่ว่าการอำเภอจังหาร ช่วงที่ ๒ จุดที่บ้านหัวดง เข้าตำบลดงสิงห์ จุดที่ ๓ ถนนสาย ๒๐๔๔ ร้อยเอ็ด-โพนทอง ช่วงบ้านคัดเค้า ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำชี ดังนี้ครับ จุดที่ ๑ ที่บ้านดินดำ ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จุดที่ ๒ บ้านคุยค้อ ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จุดที่ ๓ บ้านหนองแก่ง ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จุดที่ ๔ บ้านราษฎร์ วัดราษฎร์วารี บ้านท่าลาด หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๙ ตำบลม่วงลาด อำเภอจังหาร

นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ เนื่องจากขณะนี้ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดข้าวกล้าในนา ราษฎรกำลังจะตาย ไม่ใช่ตายเฉพาะคนนะครับ ข้าวกล้าก็จะตาย ขอให้รัฐบาลเร่งทำฝนเทียม โดยที่ร้อยเอ็ดมีสนามบินสามารถรองรับเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ ขอให้เร่งรัดทำฝนเทียมให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านคอซีย์ มามุ ครับ

นายคอซีย์ มามุ ปัตตานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคอซีย์ มามุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขต ๒ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอหนองจิก พรรคพลังประชารัฐ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมมีข้อหารือต่อท่านประธานอยู่ ๒ ประเด็น ซึ่งเป็นความเดือดร้อนที่ประชุมร่วมรับฟังผู้บริหารท้องถิ่นและกำนันในเขตพื้นที่ ดังนี้

นายคอซีย์ มามุ ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ นายก อบต. ทรายขาว นายอับดุลเลาะ ขาเล็มดาเบะ ขอให้เร่งรัดแก้ไขพื้นที่ทำกินให้กับประชาชนในเขตตำบล ทรายขาวและตำบลใกล้เคียงมีผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันมีการกำหนดให้เป็นเขตป่าไม้ก่อนและภายหลังที่ประชาชนเข้าไป ทำประโยชน์เพื่อปลูกยางพารา ปลูกทุเรียน และที่อยู่อาศัย ต่อมาหน่วยงานป่าไม้มีการเก็บ ข้อมูลจากประชาชนเพื่อตรวจสอบสถานะสิทธิก็พบว่าประชาชนบางรายมี ส.ค. ๑ บางราย ก็ได้เข้าทำประโยชน์อย่างยาวนานและเปิดเผย จึงขอนำเรียนต่อท่านประธานสภาไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอธิบดีกรมป่าไม้ เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังนี้ ๑. ขอให้แก้ไขปัญหากรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าทำ การปรับปรุงพื้นที่เพื่อโค่นยางพารา ต้นทุเรียนที่หมดอายุเพื่อเพาะปลูกใหม่ เพราะวันนี้ มีการจับกุมประชาชนที่เข้าไปดำเนินการ ท่านประธานที่เคารพครับ ทราบไหมว่าวันนี้ ทุเรียนทรายขาวเป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงสร้างรายได้ให้กับจังหวัดปัตตานีอย่างมาก ถ้าปลูก ทดแทนไม่ได้ ประชาชนก็จะไม่มีรายได้ ๒. เร่งพิจารณาเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการพัฒนาก่อสร้างถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำ ให้กับประชาชน เพราะ คำขอตกค้างมานาน กระผมเห็นว่าการที่ประชาชนได้ใช้สิทธิชีวิตในเขตดังกล่าวนี้ ไม่ใช่บุกรุกทำลายป่าเพิ่มจากเดิม แต่ประชาชนกำลังช่วยสร้างมูลค่าทางธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปัตตานี จึงขอนำเรียนต่อท่านประธานสภาไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ เร่งวางแนวทางให้ประชาชนได้รับสิทธิการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

นายคอซีย์ มามุ ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ นายมะรอดิง บาเหม เกี่ยวกับปัญหาภารกิจที่ได้รับถ่ายโอนจากกรมชลประทาน ซึ่งประกอบด้วยคลองส่งน้ำ ทำนบ ประตูน้ำ ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๖ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพไม่พร้อมที่จะใช้ประโยชน์ ประกอบกับ อบต. ท่าเรือมีงบประมาณ ไม่เพียงพอในการซ่อมแซม ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ไร่ และยังกระทบต่อการป้องกันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุน จึงขอนำเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยผ่านไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนกรณีที่ อบต. ท่าเรือ ได้รับถ่ายโอนภารกิจ แต่มีงบประมาณไม่เพียงพอ ในการซ่อมแซมคลองส่งน้ำดังกล่าว จึงขอนำเรียนและขอขอบคุณท่านประธานสภา เป็นอย่างสูง ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรัชนก สุขประเสริฐ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ดิฉัน นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดสมุทรปราการ ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

๑. ปัญหาเรื่องถนนแพรกษา ถนนทางหลวง หมายเลข ๓๑๑๖ สายบางปิ้ง-แพรกษา ที่มีการขุดแล้ว ขุดอยู่ ขุดต่อ มาเป็นระยะเวลายาวนานมาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็น อย่างมากกับถนนเส้นนี้ค่ะท่านประธาน จนชาวบ้านในพื้นที่กล่าวขานและเรียกถนนเส้นนี้ว่า ถนนเจ็ดชั่วโคตร แต่สำหรับดิฉันแล้วเรียกถนนเส้นนี้ว่าถนนเวทมนตร์ เพราะว่าชั้นล่างสุด ของถนนอาจจะมีสิ่งพิเศษแปลกปลอมซ่อนอยู่ก็ได้ค่ะ ดิฉันจึงใคร่ขอความกรุณาความเห็นใจ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการให้แล้วเสร็จช่วยคืนถนนแพรกษา ให้คนแพรกษาด้วย รวมไปถึงไฟส่องสว่างทางข้ามถนนด้วยค่ะ ช่วยคืนความปลอดภัย ให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนอันเป็นที่รักของดิฉันด้วยนะคะ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

๒. ปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำเสียสารเคมีในพื้นที่เขตบางปู เป็นการปล่อย น้ำเสียค่ะ ปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำเสียสารเคมีในเขตพื้นที่บางปูส่วนใหญ่จะมีโรงงาน อยู่เป็นจำนวนมากและมักจะมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำสาธารณะ การปล่อยน้ำเสีย จากโรงงานซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จำนวนมาก นอกจากน้ำเสียแล้วยังมีปัญหาเรื่องของกลิ่นที่บางโรงงานปล่อยอยู่เป็นประจำ ผลกระทบนี้ส่งผลกระทบต่อด้านการใช้ชีวิตและสุขภาพของพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างหนัก ตัวอย่างเช่นหลังชุมชนหลังวัด ๑๒ ธันวาราม ตำบลปางปูใหม่ ดิฉันได้ลองไปทดสอบอยู่ ประมาณ ๒ ชั่วโมง ดิฉันยังรู้สึกมีอาการเวียนศีรษะคลื่นไส้ แล้วชาวบ้านที่เขาต้องใช้ชีวิต อยู่แบบนั้นในทุก ๆ วันจะทุกข์ทนขนาดไหนคะ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบแก้ไขเร่งด่วนให้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๖ มีอำเภอ สังขะ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอศีขรภูมิ พรรคภูมิใจไทย สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม เลิศล้ำศิลปะ มวยไทย ก่อนอื่นกระผมขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้อง แมอาว บองปะโอน แซมซาย ที่มอบ ความไว้วางใจให้กระผมมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของท่านในวันนี้ กระผมได้รับเรื่องราว ร้องทุกข์จากนายวินัย นาสวน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกาด และนายสมควร ชนะสงคราม กำนันตำบลพระแก้วแก้ว มีปัญหาความเดือดร้อนนำมาหารือในที่ประชุมสภา วันนี้ ขอภาพด้วยครับ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนน สืบเนื่องจากถนนหมายเลข ๒๔ โชคชัย-เดชอุดม ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเชื่อมระหว่างจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี และเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้ปรับขนาด ๔ เลนจราจร ทำให้มีปริมาณรถที่ใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก และใช้รถ ด้วยความเร็วสูง โดยเฉพาะช่วงสี่แยกตำบลสะกาดและตำบลพระแก้ว จุดผ่านดังกล่าว ไม่มีสัญญาณไฟจราจร หรือทางลอด ทางข้าม พ่อแม่พี่น้องทั้ง ๒ ฟากถนน หลาย ๆ หมู่บ้าน หลาย ๆ ชุมชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก การใช้ใช้ชีวิตประจำในการเดินทาง ข้ามไป U-turn ไปกลับ ๓-๔ กิโลเมตร เพราะอีกฝั่งมีศูนย์ราชการ มีวัด โรงเรียน สำนักงาน องค์การบริหารส่วนตำบล มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ต้องเดินทางไปเรียน พี่น้องประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันและไปทำภารกิจติดต่อราชการ หน่วยงานระดับอำเภอ ระดับจังหวัดต่อไป

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ กระผมได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลทับทัน ท่านธนจักร เนื่องจากถนนหมายเลข ๒๐๗๗ สุรินทร์-ลำดวน-สังขะ ได้มีการขยายถนนเป็น ๔ เลนจราจรมีโคมไฟฟ้าสว่างสวยงามทันสมัย เดินทางสัญจรไปมา สะดวกปลอดภัย เชื่อมโยงการคมนาคม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้าขายชายแดน ระหว่าง ๒ ประเทศ ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ ที่ท่านได้ให้ความสำคัญอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการ และขอบคุณท่าน สส. ปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส. คนเดียวในจังหวัดสุรินทร์ที่ผ่านมาได้ติดตาม ประสานงานจนสำเร็จเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาวสุรินทร์ ประเด็นที่นำมากล่าวตรงนี้ ก็คือว่าถนนยังไม่สุดเส้นสายโครงการเหลือระยะทางอีก ๑๑ กิโลเมตรถึงอำเภอสังขะ ช่วงทางแคบ ไม่มีไหล่ทาง ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วงป่าสวนหนองคูเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฉะนั้นขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมได้ช่วยดำเนินการเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องด้วยครับ ขอขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านนิคม บุญวิเศษ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขอหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนดังนี้ ภาพด้วยครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ จากที่ผมลงพื้นที่ได้พบกับ นายจารึก กมลอินทร์ ประธานกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนและประธานศูนย์ข้าวชุมชน ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด ศูนย์ข้าวชุมชนนั้นเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่เป็นตัวแทนขององค์กรชาวนา ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีได้มาตรฐาน แล้วก็ที่ผ่านมานั้นมีปัญหาอุปสรรคมากมายครับ นี่คือภาพที่ลงพื้นที่จริง รับปัญหาจริง ก็สรุปปัญหาอุปสรรคมีดังนี้ ปัญหา ๑ ปัญหาจากปุ๋ย ยาราคาแพง ปัญหาที่ ๒ ปัญหารถเกี่ยวนวดข้าวซึ่งไม่ใช่เป็นของกลุ่มชุมชนตัวเอง ซึ่งมันมี การปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้คนละสายพันธุ์กัน ปัญหาที่ ๓ ปัญหาเรื่องรถไถ ปัญหาที่ ๔ ปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ ควรจะมีการปรับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอ เพื่อบริหารจัดการน้ำและการกำจัดวัชพืชได้อย่างดี ปัญหาที่ ๕ ไม่มีเครื่องอัดฟาง ควรจะมีเครื่องอัดฟางให้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ข้าว ชุมชนด้วยครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องถนนทรุดโทรมเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ผมเชื่อว่า หลาย ๆ พื้นที่จะมีปัญหาเหล่านี้ ภาพต่อไปครับ นี่คือถนนเส้นดงเย็น-คำชะโนด ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนที่จะไปท่องเที่ยววัดศิริสุทโธคำชะโนด แล้วก็เชื่อมโยงไปถึง ถนนป่าเป้า-คำสะอาด ๒ เส้นนี้เป็นถนนเส้นเดียวกันเมื่อมีฝนตกก็จะมีน้ำท่วมขังเป็นหลุม เป็นบ่อ ก็เลยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อที่ให้ประชาชน ไม่เดือดร้อนนะครับ ภาพต่อไปครับ ถนนลาดยาง อด.๓๐๒๓ นาโฮง-โพธิ์ท่าเมือง เส้นนี้ ก็เช่นกันเป็นหลุมเป็นบ่อ ภาพต่อไป ถนนสาย สน.๒๐๑๘ บ้านโคกศรี-ป่าเป้าทอง ขอบคุณนายธนากร แล้วก็นายก อบต. อัครฉัตร ขันธะมูล นายก อบต. คำฝอย โพนธาตุ อบต. ถ่อนนาลับที่ลงพื้นที่แล้วก็รับเรื่องราวร้องทุกข์มาครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ จากนายสุรศักดิ์ โสภา ตัวแทนชาวบ้านโนนใหญ่ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ภาพต่อไปครับ เนื่องจากถนนเชื่อมโยง ระหว่างตำบลโพธิ์ไทร ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะ เป็นหลุมเป็นบ่อ ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อไม่ให้ เกิดความเหลื่อมล้ำ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัยมงคล ไชยรบ ครับ

นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร เขต ๕ พรรคพลังประชารัฐ มีเรื่องหารือกับท่านอยู่ ๓ ประการ

นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ

ประการแรก เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากอำเภอสว่างแดนดินเป็นอำเภอขนาดใหญ่มีสถานีตำรวจอยู่ทั้งหมด ๓ สถานี แต่สถานีที่ก่อให้เกิดปัญหาก็คือสถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งมีเขตรับผิดชอบอยู่ ๑๒ ตำบล และมีประมาณ ๓ ตำบลที่อยู่ติดกับจังหวัดอุดรธานี และไม่มีตำรวจเข้าไปดูแล ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้นำท้องที่อันได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ซึ่งไม่ได้ร้องเรียนธรรมดา เนื่องจากประชาชนได้แลเห็นว่าเขาไม่ได้รับการเอาใจใส่จากตำรวจ จึงได้บริจาคเงิน สร้างป้อมตำรวจชุมชนติด Air Conditioner ให้ด้วย ด้วยหวังว่าจะมีตำรวจไปดูแลประจำ อยู่ที่ป้อม คณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ไปพบกับผู้บังคับการตำรวจภูธรสกลนครเพื่อขอเจ้าหน้าที่ ตำรวจไปประจำการ ณ ป้อม ผ่านมา ๔ เดือนยังไม่มีตำรวจใด ๆ ไปประจำการอยู่ มีแต่ ตำรวจอาสาซึ่งเป็นประชาชน วันนี้ประชาชนชายขอบปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับ การดูแลจากข้าราชการตำรวจ เราได้เห็นตำรวจไปเฝ้าอยู่ร้านทองซึ่งเป็นเขตในเมือง แต่เขตชายขอบนั้นประชาชนร้องขอก็ดี สร้างป้อมตำรวจติด Air Conditioner ให้ก็ดี แต่ไม่มีตำรวจไปประจำการอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการก็คือความเท่าเทียม ผมเชื่อมั่นว่า ข้าราชการนั้นถ้าแปลให้ตรงตัว ข้า แปลว่า ผู้รับใช้ ราชะ แปลว่า ราชา การ แปลว่า งาน เพราะฉะนั้นข้าราชการก็คืองานของพระเจ้าแผ่นดิน งานของพระเจ้าแผ่นดินก็คืองานดูแล ทุกข์สุขของประชาชน ข้าราชการตำรวจควรที่จะให้ความเท่าเทียมกับประชาชนในท้องที่ด้วย นั่นเป็นข้อหารือประการที่ ๑

นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนสาย ๒๐๔๒ ซึ่งเห็นอยู่ในภาพ เป็นถนนเชื่อมระหว่างอำเภอเจริญศิลป์และอำเภอ สว่างแดนดิน ที่ประชาชนในอำเภอเจริญศิลป์สามารถที่จะเดินทางเข้าจังหวัดแล้วย่น ระยะทางได้ ๔๐ กิโลเมตร แต่ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ เพราะฉะนั้นอยากกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบกรุณาช่วยไปทำให้ด้วยนะครับ

นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ อำเภอสว่างแดนดินเป็นอำเภอขนาดใหญ่และมีหลายอำเภอ ที่จะเข้าจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนครต้องผ่านที่อำเภอสว่างแดนดิน และกรมทางหลวง ได้ไปสำรวจถนนเลี่ยงเมือง ทั้งทำประชาคม ทั้ง EIA ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ผ่านมาทั้งหมด ๙ ปี ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เพราะฉะนั้นอยากวิงวอนกรมทางหลวงว่าช่วยไปทำเรื่องนี้ให้ด้วยครับ เพราะจะเป็นการลดอุบัติเหตุ เป็นการที่จะทำให้คนสว่างแดนดินที่รอคอยมานั้นได้สมหวัง สักที ขอกราบเรียนสั้น ๆ แค่นี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฉัตร สุภัทรวณิชย์ เชิญครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล ตำบลในเมือง ตำบลโพธิ์กลาง ตำบลหนองไผ่ล้อม ผมมีเรื่องขอหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่อง ขึ้น Slide เลยครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นโครงการพัฒนา ลำตะคอง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จากภาพที่เห็นเป็นความพยายามที่จะพัฒนา ๒ ข้างทางลำตะคองบริเวณกลางเมืองโคราช แต่ว่าเมื่อเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ชมภาพต่อไป ด้วยกันครับ นี่ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามาเยอะมาก การพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ในตัวมันเองนะครับ แต่การพัฒนาที่ละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ มีการสอบถามเข้ามาเยอะ ๓ ประเด็น ๑. โครงการลักษณะนี้ได้ทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ได้รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนที่อยู่ ๒ ข้างทางลำตะคอง โรงเรียนที่อยู่ตรงนั้น ถ้าตรงนี้ เกิดน้ำท่วมขึ้นมานะครับ น้ำท่วมกลางเมืองโคราช แล้วก็จะมีผลกระทบไปถึงโรงพยาบาล มหาราชนครราชสีมา ๒. มีการสอบถามว่าการสร้างโครงการลักษณะนี้ได้ขออนุญาต กรมเจ้าท่าหรือยัง กรมชลประทานอนุญาตหรือยังครับ ๓. พี่น้องประชาชนได้สอบถาม มาว่าได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางด้านต่าง ๆ เพียงพอหรือยัง ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้ข่าวว่าพื้นที่รับน้ำใหม่จะมีมากกว่าเดิม คำถามคือท่านได้ ทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อลำน้ำอันเป็นหัวใจของ ชาวโคราชหรือยัง หรือท่านแค่ชงเองกินเอง แล้วปล่อยปัญหาให้เป็นเรื่องของชาวบ้านไป ขอกราบเรียนผ่านท่านประธานได้สอบถามไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ พบเหตุทุจริตกิจกรรมสหกรณ์เพื่อการศึกษา สหกรณ์โรงเรียน เป็นธุรกิจผูกขาดประเภทหนึ่ง แต่เลี่ยงบาลีไปเป็นกิจกรรมสหกรณ์เพื่อการศึกษา ทำให้ มักไม่เปิดเผยผลการดำเนินงาน ไม่มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ไม่มีการตรวจสอบหรือแบ่งแยก บัญชีกับการเงินอย่างชัดเจน ซึ่งเอื้อต่อการทุจริตเป็นอย่างมากครับ แล้วก็มีการเรียกร้อง ให้ไปตรวจสอบ ๒๔ มิถุนายน มีการเรียกร้องให้เข้ามาตรวจสอบ และวันที่ ๒๖ มิถุนายน ทางทีมงานได้เข้าไปพูดคุย ไปขอข้อมูลกับทางโรงเรียน แต่ทว่าสหกรณ์นี้เป็นการดำเนินงาน โดยบุคลากรภายในโรงเรียนทั้งหมดทำไมต้องใช้เวลาตรวจสอบยาวนาน หาเงินมาคืนได้หรือยัง ไม่ใช่โครงการเจอ จ่าย จบนะครับ มีพลเมืองดีได้รวบรวมข้อมูลส่ง ป.ป.ช. พลเมืองดีท่านนี้ ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลอันมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพฤติกรรมทุจริตมูลค่าหลักล้านจนถึงหลายล้านนี้ ได้เกิดขึ้นจริง นี่คือโรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังประจำจังหวัด ท่านลองนึกดูว่าเรามีโรงเรียนกี่แห่ง ในประเทศนี้มีธุรกิจผูกขาดนอกจากการตรวจสอบเช่นนี้อีกกี่แห่ง เราควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ เห็นเรื่องทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้เลยหรือครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธิวัลรัตน์ อังกินันทน์

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันขอนำปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในจังหวัด เพชรบุรีซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ขออนุญาตนำเรียนท่านดังต่อไปนี้

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เนื่องจากดิฉันได้ลงพื้นที่ พบปะผู้นำชุมชนและผู้ประกอบอาชีพเรือประมงในพื้นที่ตำบลปากทะเล และได้ทราบถึง ปัญหาดินโคลนตะกอนทางทะเลที่ได้ทับถมปากคลองทางเข้าออกของเรือประมงพื้นบ้าน เพื่อออกสู่ทะเลอ่าวไทย เป็นเหตุให้เรือประมงไม่สามารถออกไปจับสัตว์น้ำได้และเพื่อ เลี้ยงชีพ ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตำบลบางแก้ว ตำบลบางขุนไทร และตำบล แหลมผักเบี้ย ท่านประธานสภาที่เคารพคะ ท่านทราบหรือไม่ว่าจากผลกระทบของปัญหา ข้างต้นส่งผลให้พี่น้องชาวประมงไม่สามารถออกมาหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ ดิฉันจึงเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไข ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าจังหวัดเพชรบุรีก็ไม่ได้ ละเลยที่จะแก้ไขปัญหาดินโคลนทะเลที่ทับถมทางเข้าออกของเรือ โดยนำเครื่องจักรมาขุดให้ ปีละ ๑ ครั้ง แต่วันนี้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้การทับถมของโคลนทะเล มีมากขึ้นกว่าเดิม และจากการขุดลอกโคลนดินด้วยวิธีดังกล่าวทำให้เกิดการทับถมของ เศษเปลือกหอยจากการขุดลอก จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจึงทำให้ได้ข้อสรุปแนวทาง การแก้ไขดังนี้คือ ๑. ขอให้การขุดลอกดินโคลนทะเลที่มาปิดทางเข้าออกของเรือประมง เพิ่มขึ้นจากปีละ ๑ ครั้ง เป็นทุก ๆ ๖ เดือน ๒. ขอให้สร้างแนวป้องกันเศษเปลือกหอยที่จะ Slide หล่นไปทับปิดทางเรือของชาวบ้าน ทิศทางเดินเรือในการประกอบอาชีพประมง ๓. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงมาดูเพื่อกำจัดเศษเปลือกหอยที่ได้ จากการขุดลอกออกไป เนื่องจากการขุดลอกที่ผ่านมาทำให้เศษเปลือกหอยที่เกิดการทับถม เป็นจำนวนมาก และชาวบ้านไม่สามารถกำจัดเศษเปลือกหอยออกไปได้ เนื่องจากเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การขนย้ายหรือการกำจัดเศษเปลือกหอยของชาวบ้านไม่สามารถทำได้ ด้วยตัวเองเนื่องจากเกรงว่าจะผิดกฎหมาย จึงขอนำเรียนท่านประธานสภาไปยังอธิบดี กรมเจ้าท่าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งงบประมาณประจำปีให้กับ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรีเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อใช้ในการขุดลอกดินโคลน และสร้างแนวป้องกัน และขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งแก้ไข การกำจัดเปลือกหอยดังกล่าวด้วยค่ะ

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ สืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านแหลมที่ประกอบ อาชีพประมง นาเกลือ และนาข้าว ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลหนุน ด้วยลักษณะ พื้นที่ของอำเภอบ้านแหลมจะมีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ทำให้น้ำเค็มท่วมขังและท่วมเข้าไปในพื้นที่นาข้าวของประชาชน ส่งผลให้นาข้าว ได้รับความเสียหายและประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้ามาปะปนกับน้ำจืด สร้างความเดือดร้อน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทำนาข้าวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงขอนำเรียนต่อ ท่านประธานสภาไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้ง ทำประตูน้ำเค็มเพิ่มเติมขึ้น

นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เพชรบุรี ต้นฉบับ

และอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพูดถึงในวันนี้ คือได้รับร้องเรียนจากชาวบ้าน ในพื้นที่ประสบปัญหาลิงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ โดยไม่สามารถควบคุมจำนวนของลิงได้ เนื่องจากมีการแพร่พันธุ์ อย่างรวดเร็ว อาทิเช่น เขาวัง เขาหลวง เขาทะโมน เขาบันไดอิฐ และอำเภอบ้านแหลม ในปัจจุบันมีลิงมากกว่า ๒๐,๐๐๐ ตัว ส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่และความปลอดภัยของ นักท่องเที่ยว จึงขอฝากไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องให้ช่วยเร่งรัดและดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขอหารือค่ะ เรื่องที่ ๑ สะพานข้ามคลอง หลวงแพ่งทรุดตัวหนักใกล้ถล่มเลย สะพานนี้อยู่ระหว่างตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับเขตลาดกระบัง กทม. เป็นรอยต่อ ๒ จังหวัดพอดีเลยค่ะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ โดยเอกชน แล้วก็ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ไปแล้ว ส่วนลำคลองนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทานค่ะ ประชาชนเคยร้องเรียนทั้งภาครัฐฝั่งฉะเชิงเทรา ฝั่ง กทม. ให้เข้ามาตรวจสอบโครงสร้าง เพื่อทำการซ่อมแซมแก้ไข แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ เขตลาดกระบังก็มาติดประกาศคำสั่งห้ามผ่าน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน ทำให้ประชาชนเสียหายได้ ทีนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในฉะเชิงเทรา หมู่บ้านเลคการ์เดน แล้วก็ประชาชนที่อยู่ในคลองหลวงแพ่งราว ๓๐๐ หลังคาเรือนไม่มี ที่เข้าออกแล้วนะคะ จำเป็นต้องขอใช้เส้นทางเข้าออกผ่านมาทางหมู่บ้านลากูนา ซึ่งทางด้าน นิติบุคคลก็ได้ขอเก็บค่าผ่านทาง ๓๕๐ บาทต่อรถยนต์ ๑ คันต่อเดือน ซึ่งต้องจ่ายล่วงหน้า เป็นเวลา ๖ เดือนด้วย จึงเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่หนักกับพี่น้องประชาชน อย่างไร ก็ตามวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ดิฉันได้เคยยื่นหนังสือถึงท่านผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ช่วยจัดสรรงบประมาณมาแก้ไข แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่นะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นว่า ปัญหาของสะพานนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ทั้งฉะเชิงเทรา กทม. กรมชลประทาน จึงขอให้ท่านประธานประสานทั้ง ๓ หน่วยงานเลยเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนโดยด่วน ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรม เพราะมีประชาชน ยังลักลอบใช้สะพานนี้อยู่

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอสัญญาณไฟจราจร ๒ จุด จุดที่ ๑ บริเวณสามแยกถนนมหาจักรพรรดิ์ ตัดถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จุดที่ ๒ บริเวณ สามแยกบนถนนทางหลวงฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว เชิงสะพานหนึ่งซึ่งจะเลี้ยวไปวัดจุกเฌอ กับวัดสมานรัตนาราม ตำบลบางขวัญ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ กระแสไฟฟ้าตกและดับบ่อยทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย จึงต้องขอขยายไฟฟ้ามีดังนี้ค่ะ หมู่ที่ ๒ ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลคลองเปรง หมู่ที่ ๕ ริมคลองลำรางกัญชา ตำบลคลองเปรง ซอยเจริญสุข หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกะไห ขอขยายไฟฟ้า ส่วนหมู่ที่ ๙ ริมคลองบางเรือน ตำบลบางกะไหนั้นขอขยายเขตไฟฟ้า จากริมคลองขึ้นบนถนน ทั้งหมดนี้อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่าอยากได้สะพานลอยข้ามถนน สาย ๓๐๔ ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงกิโลเมตรที่ ๕๒ บริเวณใกล้กับวัดคลองเจ้า มีโรงเรียน ตลาด หมู่บ้านจัดสรรมากมายเลยหลายแห่ง หมู่บ้านเรสซิเด้นท์ หมู่บ้านปริม หมู่บ้านสุวินท์ธารา ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา หากได้สะพานลอยบริเวณนั้นจะเพิ่ม ความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างดีค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณกานสินี โอภาสรังสรรค์

นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน กานสินี โอภาสรังสรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันมีข้อหารือในพื้นที่กับท่านประธานค่ะ

นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๑. ตามที่ดิฉันได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ดิฉันได้รับเรื่องให้เร่งติดตาม เรื่องโรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีแออัด อาคารที่กำลังก่อสร้างล่าช้า ส่งผลให้ไม่เพียงพอ ต่อการใช้บริการสำหรับผู้ป่วย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำวันละประมาณ ๒,๐๐๐ คน ผู้มาใช้บริการจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชน

นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๒. ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดในพื้นที่มีทั้งโรงเรียน ตลาด และแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นเส้นสัญจรหลัก ดิฉันจึงอยากให้มีการขยายช่องทางถนนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ติดขัดดังนี้ จุดที่ ๑ จากสะพานบางชุมโถเชื่อมไปโยงถนนสาย ๔๒๐ ขึ้นสะพานศรีสุราษฎร์ จุดที่ ๒ จากปลายทางถนนตลาดล่าง ซอย ๑๖ ข้ามแม่น้ำตาปีเชื่อมไปยังหัวแหลมต่อเนื่อง ข้ามแม่น้ำคลองบางขนาก เชื่อมไปยังสาย ๔๐๒ เชื่อมไปยังสะพานศรีสุราษฎร์ออกสนามบิน สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมพื้นที่เมืองเจริญเติบโต การสัญจรไปมาต้อง ติดต่อได้รอบทิศทาง ช่องทางการจราจรออกรอบเมืองในปัจจุบันยังมีน้อย จึงต้องเพิ่ม โครงข่ายสามารถกระจายการจราจรโดยรอบได้ ภายในตัวเมืองมีประชากรและประชากรแฝง มีทั้งศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยราชการระดับศูนย์ภาคใต้ตอนบน จึงขอให้ ผู้รับผิดชอบขอหน่วยงานกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

๓. ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีบึงขนาดใหญ่มีพื้นที่ ๑,๒๗๐ ไร่ ซึ่งเป็นบึงที่สามารถ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด และเป็นบึงที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งอยู่ในจุด บริเวณพื้นที่รับน้ำบริเวณกว้างระบายออกสู่ทะเลที่ออกสู่อ่าวบ้านดอน ในพื้นที่สามารถ ทำโครงการแก้มลิงแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยหน่วยปกครอง ท้องถิ่นพัฒนาตามศักยภาพ จากการที่เมืองขยายตัวเร็วทำให้เกิดภาวะน้ำเสียจากครัวเรือน ลงสู่บึง ดิฉันเห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดทำระบบ บำบัดน้ำเสีย เพื่อให้สภาพน้ำในบึงสะอาด เพื่อให้คงระบบนิเวศไว้อย่างสมบูรณ์ สุดท้ายดิฉัน กราบขอบพระคุณพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ที่มอบความไว้วางใจให้ดิฉัน ทำหน้าที่ในสภา กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านญาณธิชา บัวเผื่อน เชิญครับ

นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ ๔ เรื่อง

นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เมื่อ ๒ อาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันได้ลงพื้นที่พบกับชาวบ้าน และผู้นำชุมชน หมู่ที่ ๓ บ้านสะพานหินล่าง และหมู่ที่ ๔ บ้านโชคดี ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พวกเขาอยากให้มีสัญลักษณ์จราจรบริเวณสามแยกโรงเรียน บ้านโชคดี เนื่องจากบริเวณนั้นมีโรงเรียน มีแหล่งชุมชน มีร้านค้า ๒ ข้างทาง ช่วงเช้า และช่วงเย็นคนจะพลุกพล่านมาก ประกอบกับผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณนั้นขับรถกัน ด้วยความรวดเร็วทำให้มีอุบัติเหตุบาดเจ็บเสียชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากมีสัญลักษณ์จราจร ไม่ว่าจะเป็นไฟกระพริบ ป้ายเตือนเขตชุมชน เขตโรงเรียนลดความเร็ว คนที่ใช้รถใช้ถนน บริเวณนั้นก็จะมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินลงได้ จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังแขวงทางหลวงชนบทตราด และกระทรวงคมนาคมด้วยค่ะ

นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอสัญญาณไฟจราจรบริเวณถนน ๓๑๗ จันทบุรี-สระแก้ว แยกเข้า เขื่อนคีรีธาร ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ช่วงหาเสียงที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาส ไปหาเสียงที่ตลาดทัพนครและบริเวณใกล้เคียง ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นได้สะท้อน ให้ฟังว่าพวกเขาต้องการให้มีไฟเขียวไฟแดงที่แยกนี้ เพราะว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในแต่ละครั้งนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นอุบัติเหตุหนัก จะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย เพราะว่า แยกนั้นเป็นถนน ๔ เลน เป็นแยกวัดใจ คนส่วนใหญ่จะใช้รถใช้ถนนกันด้วยความรวดเร็ว จึงอยากขอให้แขวงทางหลวงจันทบุรีได้พิจารณาติดตั้งไฟสัญญาณจราจรให้กับชาวบ้าน เพื่อลดอุบัติเหตุและป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอหารือไปยังแขวงทางหลวง จันทบุรี กระทรวงคมนาคมด้วยค่ะ

นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้ช่วยทำวงเวียนที่สี่แยกทุ่งขนาน ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เรื่องนี้ทาง อบต. ทุ่งขนานได้ทำเรื่องรวมถึงทำแผนไว้เรียบร้อยแล้ว แขวงทางหลวงจันทบุรีได้ลงพื้นที่สำรวจเรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงอยากขอให้ช่วยจัดสรร งบประมาณลงมาเพื่อที่จะก่อสร้างวงเวียนนี้ให้กับชาวบ้านโดยเร็ว ขอหารือไปยังแขวงทาง หลวงจันทบุรีและกระทรวงคมนาคมค่ะ

นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เป็นปัญหาเรื่องช้างป่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในสมัยที่แล้ว สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าไปแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม ในปีที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการตั้ง งบประมาณสำหรับการสนับสนุนศูนย์อาสาผลักดันช้างป่าศูนย์ละ ๕๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ถือว่าได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้มากเลยทีเดียว เพราะว่า ชาวบ้านนำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออุปกรณ์ในการป้องกันและผลักดันช้างป่า เช่น หัวไฟฉาย ลูกปิงปองที่จุดไล่ช้าง น้ำมัน รวมถึงน้ำดื่ม ถึงแม้ว่าการสนับสนุนเงินจำนวนนี้จะเป็น การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ว่าชาวบ้านก็ยังได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก ดิฉันจึงขอ ชื่นชมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอยากให้ท่านช่วยตั้งงบประมาณนี้ ต่อเนื่องไปทุกปี เพราะว่าชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนจริง ๆ ค่ะ ขอหารือไปยังกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสำนัก งบประมาณด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอลงกต มณีกาศ ครับ

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายแพทย์อลงกต มณีกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ต้องกราบขอบพระคุณพี่น้องชาวจังหวัดนครพนมที่เมตตาผม และให้โอกาสผมและท่านชูกัน กุลวงษา กลับมาเป็น สส. อีกครั้งหนึ่งครับ วันนี้ผมขออนุญาต หารือท่านประธาน ๕ เรื่อง

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องสมองไหล สมองไหล มักจะเกิดกับแพทย์ที่จบใหม่ กราบเรียนว่าไม่ใช่แต่ปัญหาเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทน ที่ไม่เหมาะสมครับ แต่เรื่องของสวัสดิการ เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องอุปกรณ์การแพทย์ มีส่วน สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการลาออกของแพทย์ที่จบใหม่ ผมได้รับเรื่องร้องทุกข์จากน้อง ๆ แพทย์ที่จบใหม่ไม่ว่าจะจบ ๖ ปีหรือเรียนต่อเฉพาะทาง ว่าตอนนี้หอพักแพทย์ไม่เพียงพอ น้องบางรายต้องได้เช่าอยู่ Apartment นอกโรงพยาบาล น้องบางรายต้องได้อยู่บนตึกผู้ป่วย ต้องกินนอนเป็นประจำที่นั่นในการอยู่เวร ฝากไปถึงกระทรวงสาธารณสุข ผมกราบเรียน ท่าน ผอ. โรงพยาบาลนครพนมแล้ว ทราบว่าขอไปทุกปี แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรร ล่าสุด ทราบว่าอยู่ในแผนปี ๒๕๖๙ โน่น อยากจะให้ท่านประธานแจ้งไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า ก่อนที่แพทย์จะลาออกไปมากกว่านี้กรุณาช่วยแก้ไขดำเนินการด้วยครับ

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากราษฎรในเขตตำบลนาหนาด ตำบลน้ำก่ำ ตำบลอุ่มเหม้า และตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม ในเรื่องของปัญหาแมลงวัน และกลิ่นจากบ่อขยะ ซึ่งบ่อขยะที่ว่านี้เป็นบ่อขยะของเทศบาลธาตุพนม ตั้งอยู่บ้านโปร่ง หนองเปง ตำบลฝั่งแดง ปัญหาตอนนี้คือขยะมันล้นมาก แล้วงบประมาณของเทศบาล ธาตุพนมนั้นไม่เพียงพอต่อการกำจัดขยะ ต้องสงสารพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าบางราย บางครั้ง บางช่วง ต้องได้กางมุ้งกินข้าว ฝากท่านประธานไปยัง ผู้เกี่ยวข้องด้วยต้องเร่งรัดแก้ไขเรื่องนี้เป็นการด่วนครับ

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมเองเป็นที่ปรึกษาสมาคมกีฬาจังหวัดนครพนม ซึ่งสมาคมกีฬา จังหวัดนครพนม ท่านศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกสมาคมอยู่ ปัญหาเรื่องของสนามกีฬา จังหวัดนครพนมมี ๑๒ อำเภอ แต่ว่ามีแค่ ๒ อำเภอเท่านั้น ที่มีสนามกีฬามาตรฐาน ก็คือในเขตเทศบาลเมืองและอำเภอเรณูนคร ในภาพเป็นสนาม ที่เรียกว่าสนามเมืองเว สเตเดียม ในเขตอำเภอเรณูนคร เป็นแค่ ๒ แห่งใน ๑๒ อำเภอ ยังขาดอีก ๑๐ แห่ง ฝากท่านประธานแจ้งไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ช่วย จัดสรรเรื่องนี้ด้วยนะครับ หลายคนอยากเห็นฟุตบอลไทยไปฟุตบอลโลก แต่สนามกีฬา ระดับอำเภอยังไม่มี

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ตอนนี้เกิดอุทกภัยในหลาย ๆ ตำบลของจังหวัดนครพนมรวมถึง ทั้งหมด ๑๒ อำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ๕๖ ตำบล อยากฝากเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ครั้งนี้ แล้วเรื่องของถนนหนทางต่าง ๆ นะครับ เพราะว่า อปท. ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. หรือว่าเทศบาลงบต่าง ๆ ไม่พอเพียงในการที่จะมาดูแลก่อสร้างเรื่องถนน

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้ายครับ จังหวัดนครพนมเองเป็นปัญหามานานในเรื่องของ ตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพงมาก อยากเห็นจังหวัดนครพนมเป็นแหล่งท่องเที่ยว พี่น้องชาวไทย หลายท่านอยากไปเที่ยวนครพนมเพราะเห็นว่าวิวทิวทัศน์ ๒ ฝั่งโขงที่จังหวัดนครพนม สวยที่สุดในประเทศไทย แต่ว่าค่าเครื่องบินแพงมาก นอกจากนั้นแล้วยังเป็นปัญหากับ ลูกหลานชาวจังหวัดนครพนมที่มาทำงานอยู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในการที่จะ กลับบ้านอย่างฉุกเฉิน เพราะว่าญาติพี่น้องเจ็บไข้ได้ป่วยต้องบินกลับไป แต่ราคาตั๋วเครื่องบิน แพงมาก ตอนนี้ทราบว่าการบินไทยหลุดจากการฟื้นฟูแล้ว มีกำไรแล้ว ควรจะคืนกำไรให้กับ ชาวต่างจังหวัดด้วย กราบขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณพี่หมอครับ ต่อไปท่านประภาพร ทองปากน้ำ เชิญครับ

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๓ พรรคเพื่อไทย รบกวนขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ

วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือ ท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๒ เรื่อง

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง เกษตรกรชาวสวนกล้วย จังหวัดสุโขทัยเป็นแหล่งปลูกกล้วยตานีเพื่อขายใบตองที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ เรามีพื้นที่ปลูกกล้วยกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยเฉพาะ ในข้อ ๕.๑.๑ กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยา จะให้การช่วยเหลือตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ ๓๐ ไร่ ตามข้อเท็จจริง กรณีไม้ผล ไม้ยืนต้น อ้อยโรงงาน และกล้วยตานี เมื่อประสบภัยธรรมชาติแล้วจะได้รับ ผลกระทบ ๒ แบบ แบบแรกไม่ตาย แต่ถูกน้ำขัง น้ำแล้ง ผลผลิตจะลดลงหรือไม่ผลิตเลย ในฤดูกาลนั้น แบบที่ ๒ ตาย แต่พืชกลุ่มนี้ใช้เวลานานกว่า ๔ เดือนจึงจะยืนต้นตาย จึงไม่ทัน การสำรวจความเสียหาย เพราะในระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องสำรวจภายใน ๙๐ วันหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ ดังนั้นที่ดิฉันได้พูดคุยปัญหากับกลุ่มเกษตรกรจึงพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาใด ๆ จากการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ของท่าน และเขาจะต้องสูญเสียรายได้นานกว่า ๖ เดือน รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มฟื้นฟู ต้นกล้วยให้กลับสู่สภาพเดิม ดิฉันจึงขอเรียนเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยแก้ไข หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้ค่ะ แก้ไขในข้อ ๕.๑.๑ กรณีพืชตายหรือไม่ตาย แต่ผลผลิตไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้ให้ช่วยตามจำนวน พื้นที่เพาะปลูกที่เสียหาย กรณีที่ ๒ อัตราการช่วยเหลือที่ประกาศไม่สอดคล้องกับต้นทุน การผลิต จึงขอให้ท่านพิจารณาเพิ่มอัตราการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับต้นทุนของการผลิต ในยุคปัจจุบัน ดิฉันในฐานะตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ ขอวิงวอนให้ท่าน รีบแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือนี้โดยเร่งด่วน เพื่อแบ่งเบาภาระและต่อลมหายใจ ให้กับเกษตรกรชาวสวนกล้วยและไม้ผลต่อไปค่ะ

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอเร่งรัดให้ท่านเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาราคาวัวและสุกร ตกต่ำ เพราะเป็นปัญหาที่ค้างคายาวนานกว่า ๔ ปีแล้ว ในร้านอาหารอาหารที่ทำจากเนื้อวัว มีราคาแพง สวนทางกับราคาวัวเป็น หมูเป็นในตลาดที่ถูกมาก ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงวัวและสุกรหนี้สินรุมเร้าพอกพูนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวแล้วค่ะ ดิฉันเจ็บปวดใจ เป็นอย่างมาก จึงขอเร่งรัดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาราคาวัว สุกรตกต่ำ รีบทำการเจรจาผลักดันการส่งออกโดยเร็วค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เชิญครับ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันนำเรียนความเดือดร้อนที่เป็นปัญหาอยู่ตลอดทุกปีทุกหน้า

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

พอถึงเวลาหน้ามังคุด จังหวัดนครศรีธรรมราชเราเดือดร้อนและเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยค่ะ วันนี้จึงอยากจะมานำเรียนท่านประธานพร้อมทวงถามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถาวร เมื่อ ๒-๓ อาทิตย์ที่ผ่านมามังคุดออกสู่ตลาดของภาคใต้ช่วงเริ่มต้นเลยราคามา ๗๐-๑๐๐ บาท มังคุดภูเขาราคาดี แต่มังคุดใน Zone ด้านล่างราคาค่อย ๆ ดิ่งเหวตกลงมา ตอนนี้รับซื้อกันอยู่ ๒๕-๓๐ บาท ท่านประธานคะ ปัญหามันอยู่ที่คนกำหนดราคาไม่ใช่ เกษตรกรค่ะ แล้วคนรับซื้อเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดราคา วันนี้กลุ่มผู้รับซื้อหรือที่เรารู้จักกัน ในนามล้งมีจำนวนไม่มากในจังหวัด เมื่อถึงเวลาชาวบ้านไปสอยมังคุดมาแล้วจำเป็นต้องขายค่ะ เพราะมังคุดถึงเวลามันก็แข็งมันก็เสีย แต่เมื่อราคาเปิดมาเท่าไรก็ต้องขาย นี่คือปัญหาที่เกิด วนเวียนซ้ำซากเป็นประจำ ดิฉันจึงมาใช้พื้นที่ในสภาเพื่อผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันนี้เราต้องแก้ปัญหาราคาพืชผลของพี่น้องเกษตรกร ทั้งประเทศ และทำเป็นแผนแม่บทมีการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ต้องมีการช่วยกันก่อนหน้าที่หน้ามังคุดจะออกมาค่ะ กระทรวงพาณิชย์ต้องชัดเจนว่าถ้ามังคุด ล้นตลาดมา เรามีตลาดให้เกษตรกรสามารถรวมตัวกันแล้วส่งไปขายเพื่อแข่งกับล้งได้ ตรงไหนบ้าง กรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่าวันนี้ที่กลุ่มล้งอ้างว่าไม่มี GAP ท่านก็ต้องจัด เจ้าหน้าที่ให้เพียงพอสามารถออก GAP ให้กับเกษตรกรได้ ถ้าท่านทำเองไม่ได้ ท่านต้องจ้าง Outsource ไปช่วยทำให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครอบคลุมพื้นที่ ทางล้งจะได้มีข้ออ้างค่ะ สำคัญที่สุดวันนี้ถ้าหน่วยงานราชการอ้างว่ามังคุดไม่ใช่มังคุดคุณภาพ ทางหน่วยงานราชการ ก็ต้องไปช่วยส่งเสริม มีทุนให้กับเกษตรกร มีความรู้ให้กับเกษตรกร และที่สำคัญต้องสร้าง เกษตรกรให้เข้มแข็ง ให้เขาสามารถขายตรงสู่มือผู้บริโภคได้ค่ะ ช่วยลดต้นทุน ช่วยสร้าง ความเข้มแข็ง กระจายรายได้ กระจายโอกาส นี่คือหน้าที่ของข้าราชการของประเทศนี้ค่ะ สิ่งที่ดิฉันกังวลดิฉันไม่อยากให้เกษตรกรต้องเป็นเครื่องมือของการจับมือกันของผู้ประกอบการ และข้าราชการที่คิดไม่ดีต่อเกษตรกร ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ เชิญครับ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนำเสนอต่อท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่อง ขออนุญาตเปิด Slide ค่ะ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาริมตลิ่งพัง เนื่องจากอุทกภัยทำให้ดินทรุดและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กพังเสียหาย ในพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำยม เนื่องจากดิน Slide ทำให้โบราณสถาน กุฏิพระ และบ้านเรือนได้รับความเสียหายบริเวณ หน้าวัดวังเป็ด หมู่ที่ ๒ ตำบลบางระกำ ในพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ บ้านย่านยาว หมู่ที่ ๙ บ้านวังตาบัว ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำได้กัดเซาะ ริมตลิ่งเสียหายหนักมากค่ะ ดิฉันจึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้าง เขื่อนริมตลิ่งริมแม่น้ำยมและริมแม่น้ำน่านในพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนค่ะ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้ขยายเขตชลประทานในพื้นที่ของแม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอ บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ซึ่งฤดูน้ำหลากเราจะรับน้ำท่วมทุกปี ขณะนี้พื้นที่เกษตรกรตำบลหนองกุลา ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลคุยม่วง ตำบลบึงกอก ตำบลพันเสา ตำบลบ่อทอง ตำบลปากแรด ตำบลวังอีทก ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลบางระกำ ตำบลท่านางงาม ได้เกิดภัยแล้งทำให้เราไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร เรามองเห็นน้ำ จากโครงการท่อทองแดงแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชรมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ อำเภอบางระกำของเราไม่มีน้ำเลย เหมือนสองมาตรฐานไหมคะ ท่านประธานคะ เหตุใด กรมชลประทานถึงจัดสรรน้ำให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอบางระกำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ดิฉันขอความเห็นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอบางระกำ เราตามน้ำกันมาจากโครงการแม่น้ำปิงกว่า ๒๐ ปี ดิฉันจึงขอให้กรมชลประทานได้เข้ามา สำรวจและออกแบบพื้นที่ทำแก้มลิงและขยายเขตชลประทานให้กับพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวา ของอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกโดยเร่งด่วน

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย ขอให้แก้ไขภัยแล้งให้กับพื้นที่ตำบลวัดตายม ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม โดยขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำฝนหลวง เป็นการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และดิฉันขอให้กรมชลประทานปรับปรุงฝายน้ำล้น ให้มีประตูปิดเปิดที่หมู่ที่ ๖ ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาการกักเก็บน้ำ และระบายน้ำ ในการนี้พี่น้องชาวจังหวัดพิษณุโลกโดยเฉพาะอำเภอบางระกำหวังว่าจะได้รับ การแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ด้วยความขอบพระคุณค่ะ สุดท้ายนี้ดิฉันขอส่งเอกสารผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เหลืออีก ๔ ท่านสุดท้าย ก็ขอเชิญท่านสมาชิกที่อยู่ตามห้องพักแล้วก็อยู่ด้านนอก เข้าห้องประชุม เดี๋ยวเราจะได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เชิญท่านสมาชิกเข้าห้องนะครับ ต่อไปท่านสมบัติ ยะสินธุ์ เชิญครับ

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขต ๒

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

กระผมมีข้อหารือเกี่ยวกับการขออนุญาต ทำประโยชน์ในเขตป่า ปี ๒๕๕๘ เพื่อประโยชน์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ค้างโครงการที่ไม่ได้รับอนุญาตประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าโครงการ จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้รับ งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัด แม่ฮ่องสอน ผมได้รับการร้องเรียนจากแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าว่าไฟฟ้า ในแม่ฮ่องสอนตอนผมพูดปี ๒๕๕๔ นั้นมี ๑๕๔ หมู่บ้าน แต่มาถึงปัจจุบันนี้ยังเหลืออีก ๑๐๔ หมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ผมยกตัวอย่างตำบลแม่สวดมีเสาไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว แต่ไร้สายครับ ท่านประธานอย่าคิดว่ามัน High-tech ไม่มีสายไฟฟ้าและไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะว่าติดปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ป่า แล้วก็มีอีกตำบลหนึ่งตำบลสบเมย หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ เหมือนกัน ตำบลแม่นาจาง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๔ ตำบลสันติคีรีอีก ๖ หมู่บ้าน ตำบลขุนแม่ลา โดยเฉพาะหมู่บ้านทุ่งพระพร หมู่ที่ ๔ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็มีบ้านแม่กองคา หมู่ที่ ๑๐ ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันนี้ มีเสาไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว มีสายไฟเรียบร้อย แต่ว่าไม่มีไฟฟ้าใช้ครับ ติดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ พื้นที่ป่า แล้วยังมีโครงการถนนอีกที่ไม่ได้รับการพัฒนา ถนนเชื่อมระหว่างตำบลขุนแม่ลาน้อย อำเภอขุนแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อันนี้ก็ไม่ได้รับการพัฒนา ถนนตำบลแม่นาจางทั้งตำบลเลยนะครับ แล้วก็ถนนเชื่อม ของอำเภอสบเมยทั้ง ๑๑ หมู่บ้านก็ยังไม่มีการพัฒนาเลย ตรงนี้ยังมีระบบประปาอุปโภค บริโภคเพื่อการเกษตรอีกของตำบลขุนแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณ เพราะว่าแม่ฮ่องสอนเรามีความกันดารและยากจน ต้องเอาเกณฑ์กันดารและความยากจน ไปพิจารณาด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๖ อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน ๔ ตำบล พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ตั้งแต่ดิฉัน ลงพบปะพี่น้องในพื้นที่ได้รับฟังประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องหลายประเด็น แต่ว่าวันนี้ดิฉันจะขอนำมาหารือท่านประธาน ๓ ประเด็นด้วยกัน ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สายซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แม่น้ำสายเป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างประเทศไทย แล้วก็เมียนมา ทุก ๆ ช่วงหน้าฝนจะมีฝนตกหนักแล้วก็ทำให้เกิดน้ำท่วม น้ำท่วมทีไร ก็จะสร้างความเสียหายให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนนะคะ ล่าสุดท่วมติดกันถึง ๔ ครั้ง และเป็นระยะเวลายาวนาน ๒-๓ สัปดาห์ พ่อแม่พี่น้องได้รับความเดือดร้อน และข้าวของ ที่ต้องจำหน่ายเสียหายเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ช่วยกันมอบถุงยังชีพช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ว่าสิ่งที่พ่อแม่ พี่น้องฝากมาคืออยากให้เห็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการแก้ไขไม่ให้เกิด น้ำท่วมในบริเวณนี้อีกนะคะ จึงเรียนไปยังท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมประสานงานระหว่างประเทศ แล้วก็แก้ไขปัญหาน้ำท่วมนี้ต่อไป

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปัญหาความซับซ้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ ความเท่าเทียมด้านการรักษาพยาบาล แล้วก็ข้อจำกัดของโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นอำเภอในจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่อยู่ในภูเขาสูงครอบคลุมทั้งหมด ๔ ตำบลด้วยกันคือ ตำบลแม่สลองนอก ตำบลแม่สลองใน ตำบลเทอดไทย และตำบลแม่ฟ้าหลวง มีประชากรทั้งหมด ๗,๖๕๕ คน แต่ว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่รองรับผู้ป่วยได้เพียงแค่ ๓๐ เตียง มีบุคลากรที่เป็นคุณหมอเพียงแค่ ๗ ท่านในการรับรองแล้วก็ดูแลผู้ป่วย ทั่วทั้งอำเภอนะคะ ทางโรงพยาบาลจึงเสนอว่าอยากจะให้มีการขยายระดับและขนาดของ โรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลระดับกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้การบริการแก่ผู้ป่วย ทุก ๆ คน เพิ่มเลขที่ตำแหน่งในการจ้างบุคลากร เพิ่มสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละในพื้นที่ห่างไกลแล้วก็ติดชายแดน

นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ปัญหาการจัดการน้ำในแม่น้ำคำแล้วก็แม่น้ำแม่ไร่ของพื้นที่ อำเภอแม่จันนะคะ ทุกครั้งที่มีฝนตกหนักก็จะมีน้ำท่วม และเมื่อช่วงหน้าแล้งก็จะไม่มีน้ำใช้ ซึ่งแม่น้ำนี้มีความยาวทั้งหมด ๘๕ กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถประสบ ความสำเร็จได้ จึงนำเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งเข้าจัดการแก้ไข ปัญหานี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ครับ

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม เชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ ๖ อำเภอภูเขียวและอำเภอบ้านแท่น พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอนำปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในหลายเรื่องดังนี้ครับ

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปัญหาการจราจรบริเวณ สี่แยกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เรื่องนี้ ผมได้รับการร้องเรียนจากนางวิไลวรรณ มานะศิลป์ นายกเทศมนตรีตำบลภูเขียวและพี่น้อง ประชาชนถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยในการสัญจรไปมาผ่านสี่แยกดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากว่า บริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีทั้งโรงเรียน มีทั้งสถานที่ราชการ และมีทั้งธนาคาร ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว ทำให้มีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะรถบรรทุก เนื่องจาก แยกนี้มีทางหลวงสาย ๒๐๑ พาดผ่านไปยังหลายจังหวัด แต่แยกดังกล่าวนี้ไม่มีสัญญาณ ไฟจราจรและไม่มีการแบ่งช่องการจราจรที่ชัดเจน ทำให้รถไม่ชะลอความเร็ว ส่งผลให้เกิด อุบัติเหตุต่อพี่น้องประชาชน ทำให้สูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินครับ ดังนั้นผมจึงขอให้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรบริเวณสี่แยกดังกล่าว ซึ่งผมทราบมาว่า ได้มีการออกแบบแล้วครับ แต่ว่ายังไม่มีงบประมาณดำเนินการ

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอขยายผิวจราจรจาก ๒ เลน เป็น ๔ เลน ใน ๒ เส้นทาง เส้นทางที่ ๑ ทางหลวงหมายเลข ๒๑๘๗ จากแยกหนองแวง ตำบลโอโล อำเภอภูเขียวไปยังแยกหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีความชำรุดเสียหายหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณที่ผ่าน บ้านหนองแวง อำเภอภูเขียว สายทางที่ ๒ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๕๕ จากแยกหนองสองห้อง ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว ไปยังแยกห้วยยาง อำเภอคอนสาร ซึ่งถนนสายนี้ไปยังแหล่ง ท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิที่สำคัญ ๆ เช่น น้ำผุดทับลาว เขื่อนจุฬาภรณ์ แล้วก็ทุ่งกะมัง ทั้ง ๒ สายทางนี้เป็นสายทางหลักแยกออกจากทางหลวงสาย ๒๐๑ ซึ่งด้วยปริมาณรถที่มาก และด้วยความคับแคบของถนนทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงขอให้กรมทางหลวง ขยายผิวจราจรจาก ๒ เลน เป็น ๔ เลน

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้รับการร้องเรียนจาก นางพูมใจ ประทุมคำ นายก อบต. กวางโจน และนายสิทธิพล โชคบัณฑิต นายก อบต. บ้านดอน อำเภอภูเขียว ถึงปัญหา การจราจรในเขตพื้นที่ ๒ ตำบล เนื่องจากว่าถนนหลายสายชำรุดเสียหายมาเป็นเวลานาน จนบางสายพี่น้องประชาชนเรียกกันว่าถนนกุหลาบครับ ถนนกุหลาบนี่ไม่ใช่ถนนที่โรยด้วย กลีบกุหลาบนะครับ แต่เป็นถนนที่มาแล้วหลาบ เข็ดแล้ว หลาบแล้ว ไม่ยอมมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นโดยเฉพาะสายทาง ชย.ถ.๑-๐๐๕๔ บ้านกวางโจน-บ้านโนนตุ่น ตรงนี้นักเรียน ไปโรงเรียนยากลำบากมาก ฉะนั้นขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เพิ่มงบให้กับ อบจ. ชัยภูมิ ในภารกิจที่มีมากมายของ อบจ. เพื่อดำเนินการให้แก่พี่น้องประชาชนครับ

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย สั้น ๆ เป็นปัญหาเรื่องเกณฑ์ใหม่เบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เป็นที่กล่าวถึงของผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ท่าน สส. ภราดร ปริศนานันทกุล จากพรรคภูมิใจไทยก็ได้หารือไปแล้วนะครับ ผมขอฝากท่านประธาน ผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าให้ช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดสวัสดิการ ต่อผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้าและทั่วถึงครับ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสุดท้าย ท่านกัณวีร์ สืบแสง ครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ขออนุญาต หารือท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและรวมถึงท่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการพิจารณาทบทวนการกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียใหม่นะครับ อันนี้ก็จะเป็น ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และรวมถึง ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ผมจะขออนุญาตเรียกว่าปาตานี ท่านประธานครับ ๑๙ ปีที่ผ่านมาเงินงบประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จากเม็ดเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ได้ลงไปในพื้นที่ปาตานีตรงนี้เพื่อจะหาสันติภาพแบบยั่งยืน แต่ ๑๙ ปีที่ผ่านมาเรายังไม่เห็น สันติภาพแบบยั่งยืนเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะมีการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ถูกจุด การตั้งสมมติฐาน ที่อยากจะลดแค่จำนวนเหตุความรุนแรงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องลด และขจัดเงื่อนไขของความรุนแรงจากทุกฝ่ายนะครับ ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาจากต้นราก ของปัญหา เราจะสามารถส่งสัญญาณและสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นทาง เศรษฐกิจและเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้ ข้อเสนอของผมจากทางพรรคเป็นธรรมจะเป็น ข้อเสนอแบบเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน สภาความมั่นคงแห่งชาติจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินการอย่างเร่งด่วน

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันแรก การปรับลดพื้นที่ การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในห้วงปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ซึ่งเป็นแผนอยู่แล้วนะครับ ในแผนการทบทวนการปฏิบัติการปรับลดพื้นที่ระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ขอให้จัดให้เร็ว ขอให้ปรับให้เร็ว ทบทวนอันนี้ให้เร็วและให้เยอะ ให้มีการกำหนดลดพื้นที่ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตรงนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อจะลดเงื่อนไขในเบื้องต้นนะครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ จำเป็นต้องมีการทดแทนกลไกการถ่วงดุลอำนาจกองทัพ การมีส่วนร่วม และเพิ่มการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ ณ ปัจจุบัน การทดแทนกลไกรักษาความมั่นคง ในพื้นที่ปรับจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพงานการข่าว และเร่งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และรวมถึงการจัดระเบียบด่านความมั่นคง และจุดตรวจ จุดสกัด ภายใต้กรอบกลไกใหม่ จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มาเป็นกลไกกำกับของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของจังหวัด เพื่อสร้างกลไกพลเรือนเพื่อถ่วงดุลอำนาจของกองทัพ และเปิดต่อการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ตรงนี้ที่จะเป็นการลดเงื่อนไขในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๓ ท่านประธานครับ ที่จำเป็นต้องเร่งด่วนในการจัดทำ ก็คือเรามีกลุ่ม ของพี่น้องไทยพุทธซึ่งอยู่ในพื้นที่จำนวน ๘๑ ชุมชน เราจำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของ พี่น้องไทยพุทธที่ต้องมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของพี่น้อง เรามองว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ในการเสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายการก่อเหตุรุนแรง และมีความกังวลต่อการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินตรงนี้ เพื่อจะนำข้อมูลมาพัฒนาแนวทาง มาตรการ และเครื่องมือการรักษา ความปลอดภัยทดแทน พ.ร.ก. ฉุกฉินตรงนี้ให้ในระดับที่ยอมรับได้และเพียงพอที่จะทำให้ พี่น้องไทยพุทธของเราสามารถเดินใช้ชีวิตวิถีของตนเองได้อย่างปลอดภัยและมีเกียรติ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๔ เรื่องสุดท้าย ขอหารือผ่านท่านประธาน ผมทราบดีว่าตอนนี้ มีเพื่อนสมาชิกของ ๓ พรรค พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชาติ ได้มี การเสนอญัตติในเรื่องดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง ระยะยาว ก็จะขอให้ เสนอญัตติไปเรียบร้อย ใน ๓ พรรค ขอให้ท่านประธานช่วยเร่งรัดนำญัตติต่าง ๆ ขึ้นมา หารือตอนนี้โดยเร็วครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ จบการหารือ ครั้งต่อไปก็ขอให้ท่านสมาชิกได้ซ้อมก่อนให้ได้เวลา ๓ นาที จะได้ไม่เกินเวลา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๖๘ คน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อประชุมจำนวน ๓๑๗ ท่าน ครบองค์ประชุมแล้ว ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม จำนวน ๑ เรื่อง

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๑ รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จึงขอเชิญสมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการ ขอเชิญท่านเลขาธิการ อ่านพระบรมราชโองการครับ

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

“พระบรมราชโองการ

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ประกาศ

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ที่ประชุมร่วมกัน ของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จึงแต่งตั้งให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นางวัชราภรณ์ รัตนโกเศศ จันทรเจริญ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญนั่งครับ ต่อไปเป็นเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการพิจารณารับทราบรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผมเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณา เรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจึงมีการปรับเปลี่ยน เชิญท่านอดิศรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ผมเห็นเมื่อวานนี้เป็นสถานการณ์ที่ดี ปรากฏการณ์ธรรมชาติตามสื่อมวลชนได้เผยแพร่ไป ผมคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสพูดในสภา ที่เราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำอยู่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏการณ์ ธรรมชาติรุ้งกินน้ำเป็นวงงามสวยเด่นอร่ามฟ้า เหมือนจะบอก ณ วันนี้ถึงเวลา จับมือกันไป ข้างหน้าประเทศไทย ขอขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านอดิศรครับ ขอต่อนะครับ ขอปรับเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมไปจากเดิม เฉพาะในการประชุมในวันนี้ ซึ่งผมได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้ามา ชี้แจงเพื่อที่จะได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมพร้อมในการเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมแล้ว ผมขอปรึกษาหารือที่ประชุมเพื่อขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมเรื่องที่จะพิจารณา รับทราบขึ้นมาพิจารณาก่อนตามลำดับดังนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ตามระเบียบวาระที่ ๒.๖

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามระเบียบวาระที่ ๒.๘

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๓. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ตามระเบียบวาระที่ ๒.๙

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๔. รับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามระเบียบวาระที่ ๒.๑๔ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบดำเนินการตามนี้นะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๖ รับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ได้เชิญผู้ชี้แจงรับทราบรายงานกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนะครับ รายชื่อ ผู้ชี้แจง ท่านที่ ๑ ท่านสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ท่านที่ ๒ ท่านเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ท่านที่ ๓ ท่านทัศนีย์ เนตรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ท่านที่ ๔ ท่านวรีวสยา สินธุเดชะ ผู้อำนวยการกองแผนงาน ท่านที่ ๕ ท่านวีรวัฒน์ ยิ่งยง วิศวกร ชำนาญการพิเศษ ท่านที่ ๖ ท่านพิมพ์ชนก ภู่ประดับ นักวิชาการทรัพยากรธรณี ชำนาญการพิเศษ ท่านที่ ๗ ท่านใบพร ปาวรีย์ นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ ท่านที่ ๘ ท่านมาลี เพ็ญเขตรวิทย์ นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการพิเศษ ท่านที่ ๙ ท่านศุภกรณ์ หอมจันทร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ท่านนำเสนอสัก ๕ นาทีก่อนได้ไหม เชิญครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

กราบเรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ขออนุญาตนำเรียนรายละเอียดกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลโดยสังเขปครับ กองทุน พัฒนาน้ำบาดาลตั้งขึ้นตามมาตรา ๗ จัตวา วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาต หารือท่านประธานครับ ด้วยความเคารพ ผม อรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา พลังประชารัฐ ปกติตามธรรมเนียมแล้วผู้ชี้แจงต่อสภาไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือใครที่เข้ามาชี้แจงต่อสภาเรา จะใช้วิธีการยืนขึ้นแล้วก็พูด ยกเว้นท่านประธานนะครับ แต่ว่าท่านผู้ชี้แจงเห็นเขานั่งอยู่ ก็เลยอยากจะเรียนผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าถ้าเราทำให้มันเป็นตามธรรมเนียม ก็ดีครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

พอดีไม่ได้ดู ท่านมาใหม่นะครับ ท่านรองอธิบดียืนขึ้นแล้วก็แนะนำตัวก่อน แล้วก็ชี้แจง ต้องขอโทษด้วย

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ต้องขอประทานโทษ ด้วยนะครับ ผมมาใหม่ ไม่ค่อยได้เข้าสภาครับ ในส่วนของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลตั้งขึ้นตาม มาตรา ๗ จัตวา วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ มีชื่อย่อว่า กพน. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา วิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม โดยรายได้จากกองทุนมาจาก ๒ ส่วน ส่วนแรก ก็คือเงินที่ได้จากการเรียก เก็บค่าใช้น้ำตามมาตรา ๗ (๒) ที่นำส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ และส่วนที่ ๒ ก็คือเงินที่ได้จากการเรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ตามมาตรา ๗ (๒/๑) ซึ่งการใช้จ่ายในกองทุนนี้จะมีอยู่ ๔ ส่วน ก็คือตามมาตรา ๗ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๖ มีอยู่ ๔ ข้อ ข้อที่ ๑ การศึกษา สำรวจ วิจัย และการวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม ข้อที่ ๒ การช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทดแทน และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล ข้อที่ ๓ ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนตามที่ตกลงกับ กระทรวงการคลัง ข้อที่ ๔ ค่าใช้จ่ายในการจ้างเอกชนจัดเก็บค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์ น้ำบาดาล จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกที่จะอภิปรายซักถามตอนนี้มีอยู่ ๑๖ ท่าน ผมคิดว่าอีกสัก ๑๐ นาที เราจะปิดรับรายชื่อนะครับ ฉะนั้นท่านใดจะอภิปรายในเรื่องนี้ก็ขอให้มาลงชื่อภายใน ๑๐ นาทีนี้ ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออภิปราย ให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ อีกหนึ่งปัญหา ที่ประชาชนคนไทยต้องเผชิญอย่างหนักหน่วงและรุนแรงคือภัยแล้ง แต่เป็นภัยที่แปลกมาก เพราะตรงที่เรามีน้ำมากมายทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ และแก้มลิงธรรมชาติ สร้างขึ้นมา เรามีอ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ และเรามีคลองส่งน้ำ บ่อน้ำตื้นที่ใช้กักเก็บน้ำมากมาย ที่ทางราชการสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ และเรามีหน่วยงานราชการมากมายที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน ท่านประธานครับ แต่ประเทศเรายังขาดแคลนน้ำทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร และจะยิ่งขาดแคลน มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และสุดท้ายก็กระทบต่อ ความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ El Nino ก็ได้บ่งชี้ว่าเราจะได้รับ ผลกระทบจากภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรง เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยแล้งนี้ได้ด้วย นโยบายของภาครัฐ ด้วยแผนงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องบูรณาการทำงาน ร่วมกันและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกองทุนต่าง ๆ ท่านประธาน ที่เคารพครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง แต่มีภารกิจที่ใหญ่โตและเป็นแถวหน้าสำหรับการแก้ไข ปัญหาภัยแล้ง จากที่เป็นกรมเล็ก ๆ กลับเป็นความหวังสูงสุดของพี่น้องเกษตรกรและพี่น้อง ประชาชนทั่วประเทศ วันนี้ไม่ว่าใครขาดแคลนน้ำก็จะนึกถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และแม้ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากร แต่กรมนี้ก็ได้สร้างผลงาน อันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับกระทรวง ทส. ได้มากมายเลยทีเดียว ที่สำคัญคือได้นำน้ำใต้ดิน ที่มีอย่างมหาศาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ กรมนี้ผมคิดว่าเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และตอนนี้หวังไปถึงน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งท่ามกลางความขาดแคลนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผมคิดว่าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพราะมีกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลทำงานคู่ขนาน ไปกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยตามรายงานผมเห็นด้วยที่กองทุนได้สนับสนุนงานวิจัย ที่สำคัญหลายงาน อาทิเช่น โครงการศึกษาสำรวจจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนน สายหลักและสายรองทั่วประเทศ โครงการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของแหล่งน้ำ บาดาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลในภาคเกษตรกรรม ท่านประธาน ที่เคารพครับ จากรายงานนี้ผมมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง ดังนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ขอให้งานศึกษาวิจัยทุกชิ้นจัดทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการจัดหาน้ำบาดาล เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อบริการนักวิจัยหรือคนขอทุนวิจัยอาชีพที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ ซึ่งนักวิจัยประเภทนี้วนเวียนไปขอเงินเพื่องานวิจัยตามหน่วยงานต่าง ๆ นักวิจัยจริง ก็มีมากมายซึ่งควรค่าแก่การสนับสนุน แต่นักวิจัยทิพย์ก็มีไม่น้อยที่ควรค่อนข้างแก่การกำจัด ให้หมดสิ้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ผมขอให้ สตง. หรือให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและมี ความเชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบการใช้เงินจำนวนนี้ ในประเด็นความคุ้มค่าของทุกงานวิจัย ที่กองทุนได้อนุมัติเงินให้ดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งหากิน หาประโยชน์ จากงานวิจัย ทำความเสียหายให้กับทรัพยากรของชาติและความเสียหายแก่งบประมาณ ของแผ่นดิน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. งานวิจัยหลายโครงการมีการทำมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีกให้สิ้นเปลืองงบประมาณนะครับ เพียงแต่ให้เอามาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นการประหยัดรายจ่าย สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำงานวิจัยด้านอื่น ที่เป็นประโยชน์มากกว่าได้ ทั้งนี้ควรมีความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหลายประเทศมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการนำ น้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ขอให้ช่วยทำวิจัยเรื่องการสูบกลับน้ำจากทะเลสาบพัทลุงและทะเลสาบ สงขลามาใช้ประโยชน์ไหมว่ามีความคุ้มค่า มีประโยชน์หรือไม่ ขอให้ช่วยทำวิจัยการบริหาร จัดการน้ำในพัทลุงว่าสามารถกระจายน้ำให้ทั่วถึงได้อย่างไร ซึ่งจังหวัดพัทลุงมีอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ ๓ ที่ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางอีกหลายที่ มีคลองขนาดใหญ่ ผ่านทุกตำบล ท่านประธานครับ แต่หลายหมู่บ้านยังขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำผลวิจัย ไปใช้แก้ไขปัญหาที่พัทลุงและที่อื่น ๆ ที่มีสภาพปัญหาคล้ายกันด้วยนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. โครงการน้ำบาดาลพื้นที่เกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น แหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอ การกระจายน้ำไม่ทั่วถึง ขอให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกองทุนเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เพราะเกินกำลังของท้องถิ่น ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้เอง

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๖. ปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนและร้องขอน้ำบาดาล ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผมในจังหวัดพัทลุงซึ่งมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำในหลายหมู่บ้าน หลายตำบล ในหลายอำเภอ เช่น ตำบลตะโหมด ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด ตำบลโคกสัก ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว ตำบลวังใหม่ ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน ตำบลเกาะนางคำ ตำบลหารเทา ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ตำบลคลองเฉลิม ตำบลกงหรา ตำบลคลองสายขาว อำเภอกงหรา ผมขอให้ใช้เงินกองทุนจัดทำแผนงานโครงการสำรวจความต้องการ สำรวจ ความเดือดร้อนในเรื่องน้ำของทุกพื้นที่ทั่วจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ จะได้ไม่มี หมู่บ้านที่ตกหล่น แล้วกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ขอให้ทยอยของบประมาณดำเนินการต่อไป เป็นการใช้เงินกองทุนที่ตรงเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ครับ ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าน้ำคือชีวิต และวันนี้ผมคิดว่าทุกคน คงจะเห็นตรงกันว่าเราจะต้องช่วยชีวิตของพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อน เรื่องการขาดแคลนน้ำให้ได้ ผมจึงขอนำเรียนข้อเสนอแนะเหล่านี้ผ่านท่านประธานไปยัง กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แต่ก่อนอื่นที่ดิฉัน จะอภิปรายนะคะ ต้องขอชมเชยการนำผลกำไรของกองทุนนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน เกือบ ๘๐๐ ล้านบาท ส่วนในประเด็นที่ดิฉันจะอภิปรายคือรายละเอียดต่าง ๆ ในหมายเหตุ ประกอบการเงินมีหลายรายการที่เป็นข้อสังเกตของดิฉัน

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

เริ่มที่หมายเหตุที่ ๖ ลูกหนี้การค้าค้างชำระกว่า ๑๗๐ ล้านบาท และมีลูกหนี้ ค้างชำระ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๔ มากถึง ๑,๒๑๘ รายการ อยากเรียนถาม ผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงว่าปัจจุบันได้มีการติดตามทวงถามรับชำระเรียบร้อยแล้ว หรือไม่ หากยังไม่มีการติดตามทวงถาม ดิฉันขอเสนอแนะให้ลองปรึกษากรมสรรพากรดู

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

หมายเหตุต่อไป หมายเหตุที่ ๑๑ มีการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง เกือบ ๑,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่างบในการอุดหนุนในการศึกษาและวิจัยพัฒนาน้ำบาดาล ๒ ปีรวมกัน อยากทราบว่าตรงนี้มันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพน้ำบาดาลของประเทศไทย อย่างไร และมันเป็นการใช้จ่ายงบประมาณถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหรือไม่

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

หมายเหตุต่อมา อยู่ในหมายเหตุที่ ๒๓ การอุดหนุนและบริจาคมีหลายรายการ ที่เป็นข้อสังเกตของดิฉัน จะขอยกตัวอย่างสั้น ๆ สัก ๒-๓ รายการค่ะ รายการที่ ๑๘ โครงการเสริมสร้างศักยภาพการกำกับดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาล ตาม พ.ร.บ. น้ำบาดาล ใช้งบประมาณไปกว่า ๙๗ ล้านบาท ดิฉันอยากทราบว่าโครงการตรงนี้ค่าใช้จ่าย ใช้ไปกับอะไรบ้าง และมีความคุ้มค่าหรือไม่ ท่านวัดผลอย่างไรคะ รายการที่ ๕๒ มีการศึกษาการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในการบริหารจัดการน้ำบาดาล ศึกษาการสร้าง ศูนย์การเรียนรู้ ท่านใช้งบไปกับการศึกษาที่จะสร้างศูนย์หนึ่งกว่า ๙๐๐,๐๐๐ บาท ศึกษาอย่างไรคะ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

หมายเหตุต่อไป รายการที่ ๖๐ เป็นการศึกษาทบทวนร่างกฎหมายน้ำบาดาล ใช้งบประมาณไปกว่า ๓ ล้านบาท หากคิดเป็นเงินที่จ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำเป็นเงินค่าตอบแทนท่านละ ๕๐,๐๐๐ บาท ท่านจะได้ กองทัพผู้เชี่ยวชาญกว่า ๖๐ กว่าคน ท่านศึกษาแล้วได้อะไรบ้าง มีข้อเสนอในการปรับปรุง แก้ไขร่างกฎหมายที่ว่าด้วยน้ำบาดาลอย่างไร

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

หมายเหตุข้อสุดท้าย หมายเหตุที่ ๒๔ เป็นรายจ่ายกว่า ๖๐๐ ล้านบาท คิดเป็นรายจ่ายถึง ๑ ใน ๓ ของรายจ่ายทั้งหมด แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดแล้วปรากฏว่า เป็นการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์อะไรดิฉันก็ไม่สามารถทราบได้ เพราะไม่มีในรายงานฉบับนี้ ก็ต้องสอบถามผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงว่า ขาดทุนจากอะไร ทั้งหมดเมื่อพิจารณาจากงบทั้งหมดจะเห็นได้ว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ ใช้ไปกับการลงทุนในสิ่งก่อสร้างอาคาร การศึกษาอบรม แต่ในความเป็นจริงนั้นประชาชน ในหลายพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำดิบที่เป็นน้ำผิวดิน เขามีแต่น้ำบาดาล แต่ดิฉันกลับพบว่าคุณภาพ ของน้ำบาดาลหลายพื้นที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย เพราะฉะนั้นดิฉัน จึงขอเสนอด้วยความหวังดีไปยังกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลให้ท่านได้กำหนดเป้าหมาย ที่เน้นความสำคัญต่อจำนวนบ่อบาดาลที่เพียงพอและมีคุณภาพต่อประชาชนนะคะ เพราะให้ประชาชนได้มีความมั่นคงในชีวิต เพราะน้ำคือชีวิต ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านประเสริฐ บุญเรือง ครับ

นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ บุญเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอขอบคุณกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ที่ได้เข้ามาชี้แจงการทำงานในปีที่ผ่าน ๆ มา ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง กับกองทุน และได้เห็นผลลัพธ์ที่มีความหวังกับพี่น้องประชาชนอย่างมากมาย มีทั้งกำไร และมีทั้งหนี้ที่คงค้างไปอยู่ที่มันเกิดขึ้น น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ น้ำคือชีวิต ตามศาสตร์ ของพระราชาบอกว่าถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ดังนั้นมันถึงเกี่ยวข้องกับชีวิตของพี่น้องประชาชน และเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ อยู่บนโลกใบนี้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ท่านประธานที่เคารพ เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าต่อไปนี้เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ และคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ El Nino ที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดปัญหา ภัยแล้งขึ้นมาอยู่ประมาณ ๓-๔ ปีต่อไปนี้ ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน ตามที่คาดการณ์ไว้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหรือยัง ซึ่งเรา เห็นการบริหารจัดการน้ำไม่ว่าระบบชลประทานของกรมทรัพยากรน้ำ สทนช. สำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เห็นในรูปแบบการบริหาร การจัดการ แบบเดิม ๆ เดิม ๆ ในที่นี้ก็คือถ้าเป็นหน้าแล้งก็มาตั้งงบประมาณ ก็ไปขุดสระเติมน้ำบนดิน คือน้ำจากฟ้า อีกส่วนหนึ่งก็คือทำฝายกั้นไว้ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่มีค่าอยู่มากมายอยู่ทั้งใต้ดิน เรานำน้ำบาดาล ขึ้นมาใช้แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์เศษ ๆ เท่านั้น ณ ปัจจุบันนี้ ท่านประธานที่เคารพ ปี ๒๕๖๔ ถึงปี ๒๕๖๖ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้งบประมาณให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปี ๒๕๖๔ เป็นสิ่งที่เริ่มต้น ผมได้รับการประสานงานจากท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในสมัยนั้นบอกว่ามีงานอยู่ในพื้นที่ของกระผม ขอรูปขึ้นมาเลยนะครับ

นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

มีการจัดทำแหล่งน้ำบาดาลใต้ดิน ขนาดใหญ่ ผมก็คิดว่าการทำน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ในรูปแบบลักษณะนี้คิดในรูปแบบเดิม ๆ ก็คือว่าถ้าการทำงานในรูปแบบเดิมคือเจาะน้ำบาดาลแล้วก็นำน้ำขึ้นมาใช้ คิดว่ามันเป็น เหตุการณ์ปกติ ไม่มีการตื่นเต้น เพราะว่ารูปธรรมชัดเจนก็คือน้ำบาลดาลธรรมดา แต่ปรากฏว่าปี ๒๕๖๔ ในพื้นที่ผมตำบลสระพังทอง ตำบลหนองผือ ตำบลสายนาวัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้างบาดาลแหล่งนั้น วิธีการรูปแบบการทำน้ำบาดาลรูปแบบ ใหม่ ท่านประธานครับ เขาจะเจาะน้ำประมาณ ๖-๗ บ่อแล้วสูบน้ำขึ้นมา สูบน้ำ ขึ้นมาเก็บไว้ในถังพักขนาดใหญ่ ๓-๔ ลูก ถังพักแต่ละลูกเก็บได้ประมาณ ๑ ล้านกว่าลิตร ทำให้การบริหารการจัดการน้ำเราเคยเอารถน้ำไปแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในกรณีฤดูแล้ง ก็คือเมษายน พฤษภาคม ช่วงนั้นไปปุ๊บไปทำทดสอบจุดแรกตามศาสตร์ของพระราชา ออกไปปุ๊บปรากฏว่าการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จเลยครับท่านประธาน พื้นที่ ๓-๔ ตำบลใช้น้ำ จุดนี้ต่อท่อเข้าไป ผมก็เลยบอกท่านอธิบดีศักดิ์ดาว่าถ้าเป็นลักษณะนี้พื้นที่ภาคอีสาน ที่เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งถ้าเราทำโครงการลักษณะนี้จะประสบผลสำเร็จมาก ปี ๒๕๖๖ รูปแบบ ลักษณะนี้ รูปแบบลักษณะที่เห็นอยู่ในจอปี ๒๕๖๖ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ๔๘ แห่งที่จะก่อสร้างขึ้น ทำเสร็จไปแล้วทั้งหมด ๒๙ แห่ง โครงการจะสิ้นสุดนะครับ ฝากท่านรองอธิบดี โครงการจะสิ้นสุดอีกไม่กี่เดือน สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการคือปี ๒๕๖๔ ถึงปี ๒๕๖๖ จะสิ้นสุดงบประมาณ เงิน ๗๐๐ กว่าล้านบาทที่ได้รับการจัดสรรจากงบกลาง ท่านไปทำอย่างไร ทำให้การบริหารการจัดการ ปัจจุบันมีการร้องเรียน ร้องเรียนสิ่งที่เป็น ความหวังของพี่น้องประชาชน ทำเสร็จไปแล้ว ๑๙ แห่ง ไม่เบิกให้เขาก็มี เห็นหนังสือมากมาย ไม่เบิกเงินให้เขาตั้ง ๖๐๐ กว่าล้านบาทบริษัทรับจ้าง แต่ว่าใช้น้ำที่ดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่นที่เห็นในรูป นี่คือเล่าให้ท่านฟังว่าการบริหารจัดการต่อไปนี้ให้ดำเนินการว่าสิ่งที่เป็น ความหวังของพี่น้องประชาชนและแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ ผมสื่อไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหลือระยะเวลาอีกเดือนเศษ ๆ จะได้รัฐบาลใหม่ จากรัฐบาลเก่าจนถึงมารัฐบาลใหม่ ณ ปัจจุบันนี้ใครที่เข้าไปแล้วต้องบริหารจัดการให้เรียบร้อย อย่าให้มีปัญหา พี่น้องประชาชนเขามีความหวัง และในพื้นที่ของผมก็มีความหวัง เช่นตำบล นาขามรอในโครงการนี้ ๑ ใน ๔๘ แห่งนี้รอการดำเนินการอยู่ครับ กราบขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ครับ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ตามที่ผมได้ตรวจรายงานของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล งบประมาณที่ตั้งไว้หรือที่ใช้จ่ายไป ผมตรวจแล้วมันไม่มีงบที่จะตั้งงบมาเพื่อจะบำรุงรักษา ก็อยากจะให้ทางกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อบำรุงรักษาบ่อบาดาล น้ำบาดาล เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากนะครับ เพราะว่าทุกวันนี้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าภาคอีสานหรือภาคเหนือก็ขาดแคลนน้ำและอยู่ห่างไกลจากน้ำประปาภูมิภาค จำเป็นจะต้องใช้น้ำบ่อบาดาล ที่ผ่านมาเราเห็นในชุมชนในหมู่บ้านที่มันขาดแคลนน้ำ เป็นจำนวนมาก ก็ขอสนับสนุนงบประมาณและโครงการทำประปาหมู่บ้าน แต่ว่าในเมื่อ ทำประปาหมู่บ้านลงไปแล้วน้ำที่ใช้ได้บางทีน้ำบางบ่อก็ใช้ได้แค่ปีเดียวมันก็เป็นประปา ร้างไปแล้วครับ เพราะไม่มีน้ำ ก่อนอื่นผมว่าก่อนที่ท่านจะลงสร้างประปาหมู่บ้าน ท่านต้องสำรวจและวิเคราะห์น้ำว่ามันสามารถใช้น้ำได้เท่าไร ไม่ใช่สร้างไปแล้วปีเดียว ก็ไม่มีน้ำใช้แล้วครับ มันก็เสียหาย แล้วงบประมาณก็เสียหายไปเยอะ ทางกรมทรัพยากร น้ำบาดาลน่าจะตั้งงบประมาณเพื่อไปสนับสนุนเกี่ยวกับการบำรุงรักษา บ่อไหนที่มันตัน บ่อไหนที่มันเป็นน้ำด่าง พวกนี้มันต้องเข้าไปดูแลรักษา ถ้าปล่อยให้กับชุมชนในหมู่บ้าน หมู่บ้านก็ไม่มีเงินที่จะไปจ้างเขามาเป่าบ่ออีก ทำอะไรก็ทำไม่ได้ถ้าไม่มีงบประมาณไป สนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องบำรุงรักษานี่มันสำคัญมากครับ ทั้งประเทศหลายล้านบ่อที่ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ร้างไปที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย อยากจะฝากให้กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ท่านได้ประสานกับกองกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อตั้งงบประมาณไปดูแลรักษาบ่อน้ำ ที่ใช้การไม่ได้นะครับ

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

แล้วก็อีกส่วนหนึ่ง น้ำบาดาลที่ใช้เพาะปลูกตัวนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้อง เกษตรกรเป็นอย่างมาก ส่วนมากที่ทำไร่ ทำนา ทำสวน อะไรพวกนี้ มันไม่สามารถที่จะ เอาน้ำจากแหล่งน้ำจากชลประทานเข้ามาได้ ก็อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้อยากจะ ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปสำรวจความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ทำการเกษตร เพื่อเพาะปลูกนะครับ ไม่ว่าทำไร่ทำนาก็สามารถที่จะเจาะน้ำบาดาล บ่อบาดาลได้ ที่ไหน ไม่มีไฟฟ้าเข้า ก็ใช้น้ำบาดาลแบบโยกหรือว่าเครื่องสูบสูบขึ้นมาได้ พี่น้องประชาชนเขามี ความต้องการ เพื่อจะไปแก้ปัญหากับการเกิดภัยแล้งในอนาคตข้างหน้า ผมหวังเป็นอย่างยิ่ง พี่น้องประชาชนคนที่ห่างไกลจากน้ำประปาภูมิภาคเขาต้องการมาก ก็เป็นผลดีมาก ถ้ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาลหรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือนะครับ ก็ขอขอบคุณมาก ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ เชิญครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ในสภาที่มีข้อหารือตั้งแต่เช้าเกือบทุกวันที่เรามีการประชุม สมาชิก ส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงเรื่องน้ำที่ขาดแคลน ด้วยความห่วงใยของประชาชน วันนี้โชคดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเป็นหัวใจหลักเกี่ยวกับเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำ เพื่อการเกษตรในชนบท ในประเทศไทยในพื้นที่ ๓๒๐ ล้านไร่ ๑ ล้านไร่อยู่ในเขตชลประทาน แต่งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำประมาณเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ที่กรมชลประทาน อยู่ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เศษ ๆ เท่านั้นเอง คิดแล้วไม่ถึง ๓ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณบริหารจัดการน้ำ เป็นกรม ที่น่าสงสารครับ ผมอยู่ที่นี่มา ๓ ปีเต็ม ไม่ขาดเลยสักวันเดียว แล้วก็ไม่เคย ผมได้เรียนรู้ แล้วเข้าใจว่าผมนี้เป็นกรมวิชาการ มีดอกเตอร์มากมาย มีนักธรณีเต็มกรม มีวิศวกรมากมาย แต่ปัญหาคือการขับเคลื่อนหรือการเอากรมนี้ไปช่วยเหลือประชาชนน้อยมากนะครับ เพราะวัฒนธรรมของประเทศไทยเราใช้น้ำผิวดินครับ เราใช้ระบบชลประทานเป็นหลัก เพราะมีอะไรเราจะนึกถึงแต่ชลประทาน แต่พื้นที่อีก ๒ ล้านไร่หรืออีก ๒ ส่วนของประเทศ อยู่นอกระบบชลประทานทั้งหมดทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเพื่อนสมาชิกก็มาพูดถึงว่า ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร วันนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลผมเชื่อว่าเป็นกรมที่จะแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ครับ ขอ Slide ครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

บนโลกใบนี้มีแหล่งน้ำที่เป็นน้ำเค็ม ๙๗ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมหาสมุทรและอยู่ในทะเล อีก ๓ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำจืด ในน้ำจืด ๓ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำแข็ง Glacier หิมะ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นน้ำผิวดิน ที่เราเห็นแล้วใช้อยู่แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นนะครับ ๒๙ เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำใต้ดิน น้ำใต้ดิน มาจากไหนครับ โลกใบนี้กำเนิดมา ๔,๕๖๐ ล้านปี ไม่นานนี้ ๔,๐๐๐ กว่าล้านปีแล้ว ฝนตก ลงมาเม็ดแรกตกลงมาไปไหนครับ ก็ต้องซึมลงใต้ดินไปสะสมอยู่ใต้ดินในชั้นน้ำบาดาล ถ้าผิวดินอิ่มตัวเมื่อไรก็จะเกิดมีการไหลบ่าของน้ำลงไปตามห้วย หนอง คลอง บึง แล้วก็ไปใน แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เห็นไหมครับ ฝนตกมาเรื่อย ๆ น้ำบาดาลก็ไปสะสมแล้วไปกักขังอยู่ใน ใต้ดิน ในประเทศไทยมีอ่าง มีเขื่อนมากมายเลยที่เราสร้างไว้เพื่อกักเก็บน้ำด้วยระบบ ชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ตาม หรือส่วนราชการอื่น ๆ ก็ตามที่สร้างอยู่ ภาชนะอันนี้ผมเรียกว่าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้มีแค่ ๗๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่น้ำ ที่กักเก็บไว้เวลาฝนตกในฤดูฝนเก็บไม่เต็มหรอกครับ เก็บได้ประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเวลากรมชลประทาน หรือ กฟผ. จะปล่อยน้ำมาให้ประชาชนได้ใช้ในระบบ การเกษตรก็ตามหรือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก็ตาม จะต้องรักษาน้ำไว้อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อรักษาระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งน้ำในอ่างที่เก็บสะสมไว้ จะใช้ได้ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ถ้าปีใดฝนตกน้อยก็อาจจะเหลือ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรหรือ ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่จะเอาน้ำมาใช้ได้ แต่มาดูน้ำบาดาลเสียดาย Slide ไม่ได้ให้เพื่อนสมาชิกได้ดู แต่น้ำบาดาลที่สะสมไว้ ที่ผมบอกว่ามี ๒๙ เปอร์เซ็นต์ น้ำผิวดินมี ๑ เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยมีน้ำบาดาลที่ระดับ ประมาณ ๒๐๐ เมตรลึกลงไปจากผิวดินมีอยู่ถึง ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าคิดง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็เหมือนว่าน้ำบาดาลมีระดับล้าน แต่น้ำผิวดินที่มีภาชนะเก็บใส่แค่ ๗๐,๐๐๐ เห็นไหม เพราะฉะนั้นน้ำบาดาลมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ในชนบทด้วยระบบประปาหมู่บ้านก็ดีเราใช้ น้ำผิวดินให้ประชาชนใช้ด้วยระบบประปาบาดาล น้ำผิวดินมาจากไหน ก็มาจากน้ำฝนที่ตกมาแล้ว สะสมไหลบ่าลงมาในอ่างเก็บน้ำและห้วย หนอง คลอง บึง แล้วท้องถิ่นก็ไปสูบน้ำผิวดินขึ้นมา ทำระบบประปา น้ำผิวดินผ่านอะไรมาบ้าง ผ่านสารเคมีพืชไร่พืชผลทางการเกษตรก็ตาม ที่ใช้ยา เช่น มีสาร Paraquat Glyphosate สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสารละลายที่อยู่ในน้ำทำให้ ประชาชนเป็นโรคผิวหนัง เป็นมะเร็งผิวหนังมากมาย อย่างเช่นที่ผมเคยลงไปที่หมู่บ้าน คลองเจริญ ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เป็นโรคผิวหนังเกิดจากสาร Paraquat น่าสงสารมาก เคยเป็นข่าวใหญ่โตมาเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน วันนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็เข้าไปแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำผิวดินเปลี่ยนมาเป็น น้ำใต้ดินเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วเขาจะใช้น้ำใต้ดิน เพื่อเป็นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร เสียดายไม่มี Slide น้ำบาดาล นอกจากเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถ้าเราเข้าไปใน 7-ELEVEN น้ำดื่มทุกชนิดส่วนใหญ่เป็นน้ำบาดาลทั้งสิ้นนะครับ ไม่ว่าน้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ไวน์ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจากน้ำบาดาลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนรวย ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเศรษฐกิจเกือบทั้งนั้น เราจะเห็นตัวอย่าง เพื่อนสมาชิกเราเคยได้ยิน โรงงานทางภาคอีสานขาดแคลนน้ำไหมครับ มีแต่ภาคตะวันออกขาดแคลนน้ำ เพราะว่า ภาคอีสานเป็นแหล่งน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาล เวลาเขาจะตั้งโรงงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม ใด ๆ ก็ตามเขาต้องหาแหล่งน้ำใต้ดินก่อน เพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศไทยคนที่ใช้น้ำบาดาล มีแต่คนรวย ผมอยากให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลโดยเฉพาะกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลช่วยไป สำรวจหาแหล่งน้ำแล้วส่งต่อให้กับส่วนราชการเพื่อนำน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ดินเอามาใช้ ประโยชน์ให้กับประชาชนครับ อย่าไปให้คนรวยใช้ ผมว่าควรจะหยุดเกี่ยวกับการอนุญาต ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำดี ๆ คุณภาพดีเอาไปใช้ แล้วให้คนจนหรือประชาชน ที่ขาดแคลนใช้น้ำผิวดินครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ทางฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์นะครับ อย่างไรเรื่องของ Slide ประกอบให้เตรียม ให้พร้อม เพราะว่าท่านผู้อภิปรายต้องใช้ ครั้งต่อไปขอให้จัดให้เรียบร้อยนะครับ ต่อไป ท่านสุภาพร สลับศรี เชิญครับ

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๑ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาต อภิปรายตั้งข้อสังเกตระเบียบวาระการประชุมที่ ๒.๖ รับทราบรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยมีรายละเอียดอภิปรายดังนี้

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ประการแรก ดิฉันรับทราบรายงานและไม่ติดใจในรายงานชุดนี้และในฐานะ ที่ดิฉันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกก็ยอมรับตรง ๆ ว่ายังไม่คุ้นชื่อหรือรู้จักกองทุน พัฒนาน้ำบาดาลในบทบาทอำนาจหน้าที่ แต่พอได้เริ่มศึกษาก็เห็นว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ถือว่าเป็นองค์กรภาครัฐที่สำคัญ มีบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยงานเสริมเป็นแหล่งทุน เพื่อการศึกษา การวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำบาดาลที่จะมีผลเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ อีกหลายแห่ง และมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลที่ชัดเจน เพราะดิฉันเชื่อว่าน้ำคือปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต หลายพื้นที่ในภาคอีสานก็ล้วน มีปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำดื่ม น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือน้ำเพื่อการเกษตร ที่สำคัญทรัพยากรน้ำนั้นมิใช่เพียงน้ำจากฟ้าคือน้ำฝน น้ำผิวดินจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง หรือแม่น้ำ ลำน้ำต่าง ๆ เท่านั้น แต่น้ำจากใต้ดินหรือที่เรา เรียกว่าน้ำบาดาลก็มีความสำคัญไม่แพ้แหล่งน้ำอื่น ๆ เลย ดังนั้นที่ดิฉันขอพูดก็คืออยากจะให้ เราช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจงานบทบาทหน้าที่ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้กองทุนนี้มีงบประมาณหรือมีแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นนะคะ เพื่อจะได้มาบริหารและทำภารกิจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ท่านประธานและคณะผู้ชี้แจงทุกท่าน ดังที่ดิฉันได้นำเรียน เบื้องต้นว่าดิฉันเป็น สส. เขต ๑ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีทั้งหมด ๓ เขต และมีทั้งหมด ๙ อำเภอ เมื่อดิฉันได้ศึกษาแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลจังหวัดยโสธรที่ได้รับความกรุณาแล้วก็อนุเคราะห์ จากข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดยโสธร ขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ แล้วก็ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ก็พบว่าจังหวัดยโสธรของดิฉันยังมีปัญหาน้ำหายาก หลายพื้นที่ หลายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเลิงนกทา อำเภอไทยเจริญ อำเภอกุดชุม อำเภอทรายมูล ๔ อำเภอนี้น้ำหายาก ปริมาณน้ำน้อย ทั้งน้ำผิวดิน ใต้ดิน เพราะฉะนั้น ก็ยังคาดหวังว่าหากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลก็ดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดี หากท่านมีองค์ความรู้ มีนวัตกรรม มีโครงการดี ๆ ก็โปรดเมตตาเผยแพร่ให้ชาวจังหวัดยโสธร และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาเรื่องนี้ อย่างเช่นเมื่อ ๑-๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาบ้านคำไผ่ ขออนุญาต ยกตัวอย่างตำบลดงมะไฟมีปัญหาเรื่องน้ำประมาณ ๗๐ หลังคาเรือนกว่า ๓๐๐ ชีวิต ต้องอาศัยรถน้ำไปส่งน้ำในพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น และเมื่อดิฉันลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนก็ร้องเรียนปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ก็ช่วยกันเต็มที่ แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายทีเดียว เพราะอำเภอทรายมูลนั้นน้ำผิวดินหายาก น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลจุดที่เยอะก็ยังไม่กระจาย และบางแห่งยังเป็นน้ำใต้ดินที่กร่อยเค็มไม่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภคหรือการเกษตร ก็ขออภิปรายเป็นข้อสังเกตและเป็นข้อบันทึกไว้นะคะ

นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ขอตั้งข้อสังเกตไม่มั่นใจว่าจะสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลจะดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมได้หรือไม่ นั่นก็คือปัญหา โลกร้อนและภัยแล้ง ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลและหลาย ๆ หน่วยงานให้ความสำคัญต่อนโยบาย ปลูกป่า แล้วก็แน่นอนอยู่แล้วว่าป่านั้นการปลูกต้นไม้อาจจะไม่ยากนัก แต่ถ้าปลูกแล้ว ต้นไม้จะรอดไหม จะมีน้ำหล่อเลี้ยงไหม ซึ่งดิฉันก็เป็นลูกอีสาน คนบ้านนอก ในพื้นที่อีสาน เราจะมีดอนปู่ตา มีป่าเล็ก ๆ แทบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ราษฎรได้อาศัยป่าเหล่านี้ เป็นแหล่งอาหารดำรงชีพ บางครั้งก็เก็บเห็ด ทุกวันนี้ดงป่าเล็ก ๆ เหล่านี้เริ่มหาย ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากภัยแล้ง ขาดแหล่งน้ำ และองค์ความรู้ที่จะทำให้ป่าดงดอนดำรงความสมบูรณ์ชุ่มชื้นกลับคืนมาได้ ซึ่งในมุมมองความคิดเห็นของดิฉันถ้าไม่ผิดหลักเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล ดิฉันก็อยากจะเห็นงานวิจัยหรือโครงการต้นแบบนำน้ำบาดาลมาทำให้ผืนป่า กลับมาเขียวขจี เป็นโครงการต้นแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพัฒนาต่อยอดต่อไป ถ้าไม่ผิดหลักเกณฑ์ของการใช้งบของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนะคะ สุดท้ายก็ขอขอบคุณ คณะกรรมการผู้ชี้แจงทุกท่านและท่านประธานที่ให้ดิฉันได้อภิปรายตั้งข้อสังเกต ขอบคุณ ท่านประธานมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๒ ท่านต่อไป นายปรเมษฐ์ จินา ๔ นาที แล้วก็ท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ๓ นาที เชิญท่านปรเมษฐ์ครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ต้องขอขอบคุณทางผู้สอบบัญชี แล้วก็รายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สืบเนื่องจากว่าในส่วนของวัตถุประสงค์ หลัก ๆ แล้วก็คงจะเน้นในเรื่องของการศึกษา วิจัย พัฒนา การสร้างความตระหนัก แต่ที่เป็นไปได้ที่ชาวบ้านต้องการก็อยากจะได้ในสิ่งที่ชาวบ้านเขาจับต้องได้เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากข้อเสนอแนะไป ๒-๓ ประเด็น แล้วก็อยากจะให้ท่านประสาน กับทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อที่จะทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างแท้จริงนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็เป็นเรื่องของการทำงานแบบเชิงรุก ถ้าเป็นไปได้ท่านก็คงไปดู ข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรมหรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความขาดแคลนของแหล่งน้ำ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือว่าเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมมีอยู่แห่งหนึ่งก็คือ ในส่วนของเทศบาลตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ พอช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็จะต้องซื้อน้ำที่เป็นรถกระบะแล้วก็ มีค่าใช้จ่ายเยอะ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ณ ปัจจุบันในส่วนของภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็จะมีการทำพืชเศรษฐกิจตัวใหม่นั่นก็คือในเรื่องของทุเรียนแปลงใหญ่ ถ้าเป็นไปได้เราอยากจะให้จับต้องตรงนี้ได้ ก็สามารถจะไปช่วยเหลือเขาตรงนั้นได้

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ สิ่งสำคัญเมื่อมีการดึงน้ำบาดาลมาใช้เยอะ เราก็คงจะต้องมี การเติมน้ำบาดาลลงไปในแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งจากการศึกษาหลาย ๆ แห่งก็พบว่าเราแนวคิด ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ถ้าเป็นไปได้ก็เอาผลการศึกษาวิจัยแล้วเอามาใช้ไปเติมน้ำใต้ดินให้กับ แหล่งน้ำบาดาลเพื่อจะได้เกิดความต่อเนื่องไม่ขาดแคลน อันนี้ก็เป็นส่วนที่อยากจะเสนอแนะ เพิ่มเติมนะครับ แล้วก็ส่วนที่อยากจะหารือเพิ่มเติมในเรื่องของระบบรายงานเนื่องจากว่า ผมดูแล้วค่าใช้สอยเพิ่มขึ้นจาก ๑๒ ล้านบาท มาเป็น ๘๑๐ ล้านบาท แต่ว่าดูระบบรายงาน ข้อมูลเป็นเรื่องของการใช้จ่ายในการผลักเงินเป็นรายได้แผ่นดิน อาจจะต้องแยกหมวด เพื่อไม่ให้ชาวบ้านสับสนครับ ขอนำเรียนท่านประธาน เชิญท่านวิชัยต่อครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านวิชัยครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดชุมพร ผมได้เห็นรายงานจากที่รายงานมา ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ดีใจที่มีหน่วยงานที่ใช้เงินไปอบรมแล้วก็ทำวิจัยเพื่อให้เกิดแนวคิด และเพื่อให้เกิดแนวทางในการพัฒนาไปสู่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้มากขึ้น ในส่วนนี้ผมเอง ต่อจากท่านปรเมษฐ์ ผมก็อยากนำเรียนถึงท่านที่มาชี้แจง แล้วก็ฝากถึงกรมทรัพยากร น้ำบาดาลนิดหนึ่งว่าตอนนี้หลายองค์กร โดยเฉพาะอุตุนิยมวิทยาของโลกเตือนเรื่อง El Nino ในเรื่องของปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ แล้วก็สืบเนื่องไปถึงปี ๒๕๖๗ เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้สบายใจก็คือในเรื่องของกรมทรัพยากร น้ำบาดาล เพราะน้ำผิวดิน ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีที่จะหล่อเลี้ยงและอุปโภคบริโภคให้กับ พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องในด้านการเกษตรในเขตพื้นที่ของผมเองก็คือเขต จังหวัดชุมพร อำเภอเมืองกับอำเภอสวี ได้เดือดร้อนในเรื่องการใช้น้ำของสวนทุเรียน ในเรื่องของการเกษตรเป็นอย่างมาก เจาะน้ำบาดาลก็มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องกฎหมาย ซ้ำซ้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง เพราะฉะนั้นแล้ว ผมนำเรียนกับท่านประธานฝากถึงผู้ตรวจการนิดหนึ่งว่าช่วยส่งเสริมให้กรมทรัพยากร น้ำบาดาลนั้นออกไปทำงานกันในเชิงลึกแล้วก็เชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเหมือนกับตำบลครน ตำบลทุ่งระยะ ตำบลนาสัก แล้วก็อีกหลาย ๆ ตำบล ที่ยังไม่ได้เอ่ยชื่อ ผมบอกท่านได้เลยว่าเราเดือดร้อนในเรื่องของน้ำในเรื่องการพัฒนา ในสวนทุเรียน สวนผลไม้ต่าง ๆ ทำให้ทุเรียนนั้นยืนต้นตายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้ว ขอให้เปิดโอกาสและท่านลองไปใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ผมไม่เคยเห็นว่ากรมทรัพยากร น้ำบาดาลลงในพื้นที่จังหวัดชุมพรเลย เพราะฉะนั้นแล้วก็เป็นนิมิตหมายที่ดีวันนี้ผมได้ฝาก ทางกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ท่านอาจจะไปศึกษาแล้วที่จังหวัดชุมพรแต่ก็ยังไม่ได้เห็น ในเรื่องของการพัฒนาโดยชัดเจนในเรื่องของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อยากเห็นถังใหญ่ ๆ ถังสูง ๆ เพื่อพัฒนาให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรนะครับ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้เขาได้ในช่วง ภัยแล้ง ปรากฏการณ์ El Nino ที่ผ่านมาปี ๒๕๖๖ แล้งมาถึง ๖ เดือน ทำให้พี่น้องประชาชน ขาดแคลน แล้วก็พี่น้องที่ใช้น้ำอุปโภคโดยเฉพาะในเรื่องของประปาส่วนภูมิภาคในเขตอำเภอสวี ในเขตเทศบาลขาดแคลน มีน้ำเค็มหนุนขึ้นมา ต้องการแก้ไขปัญหาก็คือต้องใช้กรมทรัพยากร น้ำบาดาลอย่างเดียว ผมเองก็กราบขอบพระคุณท่านประธานที่เห็นความเดือดร้อนของ พวกเรา ที่แบ่งเวลาให้พวกผม ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชยพล สท้อนดี ครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จตุจักร หลักสี่ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ขอรบกวนระยะเวลาสั้น ๆ ผมมีเพียง ๒ ประเด็น ก็อาจจะซ้ำกับท่านสมาชิกก่อนหน้า นิดหนึ่ง แต่พอดีมันเป็นประเด็นที่เรียกว่ากระตุกจิตสะกิดใจมากเลยกับเรื่องลูกหนี้ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๗๐.๗ ล้านบาท ค้างชำระมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ มีทั้งหมดจำนวน ๑,๒๑๘ ราย มันเป็นจำนวนที่เยอะมากนะครับ ทีนี้มันไป กระทบเรื่องเงินของตัวกองทุนด้วย เพราะว่าเราจะต้องมีค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งตาม อัตราที่เห็นเขียนไว้ในรายงานนี้คือคนที่ค้างระยะเวลาชำระหนี้เกินกว่า ๑๒๐ วัน ถึง ๑ ปี จะเผื่อไว้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหนี้ แล้วก็คนที่เกินกว่า ๑ ปีก็จะต้องเผื่อไว้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยของหนี้ ทีนี้ถ้าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีการเผื่อไว้ถึง ๑๖๘.๓ ล้านบาทเลย คือจำนวน ๑๗๐ ล้านบาท แล้วก็เผื่อไว้ ๑๖๘.๓ ล้านบาท แสดงว่าเกิน ๑ ปีกันมาทั้งหมด เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระมานานมาก ผมเลยอยากทราบว่ามีแผนที่จะทวงหนี้อย่างไรบ้าง หรือมีแผนที่จะหารายได้ตรงนี้เข้ามาอย่างไรบ้าง เพราะว่าถ้าเกิดมันเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมกลัวว่ามันจะไม่ยั่งยืนต่อตัวกองทุนสักเท่าไร ต้องขอบอกว่าผมยืมเงินมาซื้ออาหารเที่ยง จากเพื่อนยังโดนทวงหนี้โหดกว่านี้เลยนะครับ

นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ มีเรื่องที่ผมเห็นแล้วก็สะกิดใจเหมือนกันคือเรื่องของหมายเหตุ ที่ผู้สอบบัญชีได้เขียนไว้ หมายเหตุประกอบการเงิน ข้อ ๑๓ เรื่องของเงินรับรอการตรวจสอบ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ จำนวน ๑๕.๘ ล้านบาท ที่หน่วยงานไม่สามารถหาหลักฐาน เกี่ยวกับเงินรับรอการตรวจสอบให้ตรวจสอบได้ ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้เป็นที่พอใจกับรายการที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินรับ รอการตรวจสอบได้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าจำเป็นต้อง ปรับปรุงรายการที่เกี่ยวข้องใดบ้าง จำนวนเท่าใด อันนี้ผมอยากทราบรายละเอียดครับ เงิน ๑๕.๘ ล้านบาทผมคิดว่าเป็นเงินจำนวนมาก ที่หลักฐานไม่น่าหายไปไหนได้ มันไม่ใช่ใบเสร็จที่ไปซื้อน้ำ ๗ บาทแล้วก็เผลอทำหายไปอย่างนั้น ๑๕.๘ ล้านบาทเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะมากเลย เลยอยากให้ท่านผู้ชี้แจงช่วยชี้แจงหน่อยว่า เงินตรงนี้คือเงินอะไร เกี่ยวข้องกับอะไร แล้วมันหายไปไหน แล้วเราจะสามารถตรวจสอบมัน ได้อย่างไร เพราะว่าถ้าเกิดยังมีข้อนี้อยู่ในรายงานมันก็เหมือนการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วเอามาส่ง เพราะมันขาดไปช่องหนึ่ง เผลอ ๆ อาจจะต้องปรับงบปรับอะไรกันอีก เต็มไปหมดเลยเหมือนกัน อย่างไรก็ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ครับ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ และเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายวาระรับทราบรายงาน ของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานที่เคารพ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมีเพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ ใช้จ่ายในการศึกษา วิจัย และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน จึงเป็นกองทุนที่มีความสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถ เข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามเมื่อดิฉันได้ศึกษารายงานการเงิน ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ดิฉันพบว่ามีข้อน่าสงสัยบางประการในการใช้งบประมาณ ของกองทุนนี้ โดยดิฉันขอสรุปข้อสังเกตและนำเสนอต่อท่านประธานดังนี้ค่ะ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กองทุนมีผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ขาดทุนถึง ๑,๐๘๒ ล้านบาท จากที่เคยมีกำไร ๕๕๙ ล้านบาทในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดยเป็นผลมาจากการที่กองทุน มีรายได้เพิ่มเพียง ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ ๓.๕ เท่า เมื่อเทียบกับ ปีก่อนค่ะ ดิฉันมีประเด็นสงสัยในหมวดค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนและบริจาค โดยในปี ๒๕๖๔ กองทุนมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ ๕๙๖ ล้านบาท หรือสูงกว่าปี ๒๕๖๓ ถึง ๑๐๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดดิฉันพบว่ากองทุนมีจำนวนโครงการที่ได้รับการอุดหนุนหรือบริจาค ในปี ๒๕๖๔ จำนวน ๗๐ โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๓ เพียง ๑๕ โครงการ หรือ ๒๗ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง ๓๐๑ ล้านบาท ทั้งที่ลักษณะของโครงการที่ได้รับอุดหนุน จากกองทุนในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นโครงการเพื่อการศึกษา หรือสำรวจเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตและมีคำถามดังนี้

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

กองทุนมีระเบียบหรือกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาทุนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในแต่ละโครงการอย่างไร ในแต่ละโครงการท่านมีการวัดผลสัมฤทธิ์อย่างไร มีการนำผลสัมฤทธิ์ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องในแต่ละพื้นที่ของโครงการมากน้อยเพียงใด และขอเสนอผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงให้ช่วยขยายพื้นที่โครงการศึกษาสำรวจไปยัง พื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางในการนำแหล่งน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ให้เกิด ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะทวีคูณ มากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำในชีวิตประจำวันและการทำเกษตร ของเกษตรกรในขณะนี้ค่ะ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

อย่างที่ได้เรียนท่านประธานไปข้างต้นกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมีความสำคัญ อย่างมาก ดิฉันอยากให้ใช้เงินกองทุนดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์และเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง จึงขอเรียนความเห็นข้อสังเกตและส่งคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้บริหารกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไปค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ผม พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทางคณะผู้บริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่ให้เกียรติมาชี้แจงด้วยตัวเอง ผมคงจะใช้เวลาไม่นานในการอภิปรายประเด็นเรื่องการจ่ายเงินของตัวกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล ขอ Slide ด้วยครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องขอบเขต อำนาจในการใช้จ่ายเงินของตัวกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนะครับ ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ. น้ำบาดาล ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๔๖ ในมาตรา ๗ จะระบุไว้ว่าการใช้เงินในกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลหรือว่า กพน. จะใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าท่านไล่ดูตาม Slide ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ โดยสรุปก็คือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา การสำรวจ วิจัย วางแผนแม่บท อุดหนุนกิจการ ต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารของกองทุนเท่านั้นเอง แต่ผมอยากจะเน้นก็คือให้ท่าน ดูที่ข้อ ๒ มีการระบุว่าเราจะต้องนำเงินมาช่วยเหลือแล้วก็อุดหนุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล คำว่า อนุรักษ์ นั่นก็หมายถึงว่าถ้าหากพื้นที่ใดมีการปนเปื้อน เราต้องดำเนินการฟื้นฟูเพื่อให้แหล่งน้ำบาดาลนั้นกลับมามีสภาพปกติ ซึ่งการมีสภาพปกตินั้น ก็หมายถึงว่าประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาลนั้นได้ จาก Slide ที่ผ่านมา ท่านก็จะเห็นว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์อะไรแล้ว ทีนี้เรามาดูว่าหลังจากที่ผมเอาข้อมูล ในการใช้จ่ายเงินของกองทุนมาแยกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งผมแยกออกมาได้ประมาณ ๕ กลุ่มด้วยกัน ซึ่งกลุ่มหลัก ๒ ใน ๓ ของเงินในการใช้จ่ายจะใช้ในการศึกษาสำรวจ ด้านธรณีวิทยา แล้วก็พัฒนา แล้วก็แก้ไขปัญหาของการขาดแคลนน้ำบาดาล ซึ่งผมคิดว่า ประเด็นนี้ทุกคนเห็นด้วย เพราะเราเชื่อมั่นว่าการมีแหล่งน้ำบาดาลที่สมบูรณ์แล้วก็พร้อม ที่จะจ่ายให้กับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผม Highlight สีแดงไว้ ก็คือเงินที่ท่านใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและปัญหาดินทรุดตัวมีทั้งหมด ๕ โครงการ ค่าใช้จ่ายไป ๑๔ ล้านบาท จำนวนเปอร์เซ็นต์ท่านสังเกตเห็นไหมครับ เราดำเนินการในเรื่องนี้ เพียงแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงิน ๖๐๐ ล้านบาท หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้ ผมยังไม่ได้พูดถึงว่าการใช้จ่ายในปี ๒๕๖๔ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ ถึง ๒ เท่า จาก ๓๐๐ ล้านบาทขึ้นไปถึง ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน จากที่ผมทำการศึกษามาจากรายงานประจำปีของทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพบว่ามีพื้นที่ ในการปนเปื้อน ๕ แห่งด้วยกัน แต่เราดำเนินการทำการศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูเพียง ๑ แห่ง ยังเหลืออีก ๔ แห่งที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา นี่คือเป็น ๑ ใน ๕ แห่งเป็นตัวอย่างน้ำปนเปื้อน ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนที่อำเภอเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่นี้เป็นอ่างเก็บน้ำ ประชาชนเคยใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำ ในการใช้เป็นแหล่งน้ำในการใช้ในชีวิตประจำวัน ของเขาปัจจุบันพบว่ามีการปนเปื้อน ซึ่งจากการตรวจสอบมีการปนเปื้อนมาตั้งแต่แหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำบาดาล จนกระทั่งไหลต่อมาที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ท่านจะเห็นสีแดง ๆ ซึ่งอันนั้นคือเป็น การปนเปื้อนของโลหะ ซึ่งได้แก่พวกโลหะหนักประเภทเหล็ก ทองแดง แมงกานีส ปัจจุบัน พื้นที่นี้ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู พื้นที่นี้จากปี ๒๕๖๔ ที่อยู่ในรายงานจนถึงปัจจุบันนี้ปี ๒๕๖๖ OK นะครับ ผมคาดว่าปัญหาในการดำเนินการก็คงต้องใช้เวลาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามผมมีความคิดว่าเราควรจะนำเงินกองทุนไปเยียวยาให้กับผู้เดือดร้อนก่อน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนี้หรือหาสาเหตุต้นทางของมันว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ในรายงานปี ๒๕๖๔ พบอีกว่ายังมีพื้นที่ในการปนเปื้อนจากหลุมฝังกลบขยะจากโรงงาน ประกอบกิจการประเภทรับบำบัดกำจัดของเสียซึ่งเป็นการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการปนเปื้อนจากโรงงานเพลิงไหม้ที่โรงงานหมิงตี้ ซึ่งท่านทราบคงจะจำกันได้ที่เกิดเพลิงไหม้ จังหวัดสมุทรปราการ โครงการเหล่านี้ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูนะครับ

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในปัจจุบันผมคาดว่าจากปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ และต่อไปเราจะเจอ ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนรุนแรงมากขึ้นจากการจัดการของเสียที่ไม่ถูกต้อง การปนเปื้อน จะส่งผลถึงดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน เป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ การปนเปื้อนจะส่ง ผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เพราะนี่คือการอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไว้ น้ำคือชีวิต เราขาดน้ำไม่ได้ในแต่ละวัน การที่จะให้เขาต้องไปซื้อน้ำเองซึ่งเขาก็ต้องเสียเงิน แล้วก็สูญเสียลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวันของเขาไป ผมจึงเรียกร้องท่านว่าอยากจะให้ ท่านพิจารณานำเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลมาช่วยในการบำบัดฟื้นฟู จากเดิมซึ่งมีอยู่ ๒ เปอร์เซ็นต์ที่ผมเรียนไป ถ้าเพิ่มได้ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ในอนาคตจะดีมากนะครับ หลังจากนั้น ท่านอาจจะไปฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเป็นอันดับถัดไป ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ครับ

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออภัย เพราะไม่คิดว่าจะไว กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ถ้าเราจะถามถึงกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลนั้น ยังไม่คุ้นเคยเลยครับ ผมเองเป็น สจ. มา ๓ สมัย แล้วก็ สส. ตลอดจน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพิ่งจะทราบคร่าว ๆ ไม่กี่วันนี้ ในขณะที่เราสัมผัส กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาตลอด กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนั้นถ้าฟังหลาย ๆ ท่านพูดคุยกัน ก็คงจะเป็นกองทุนศูนย์ของการวิจัยสำรวจและพัฒนา ตลอดจนอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลทั่วไป ท่านประธานครับ วันนี้งานวิจัยหรืองานสำรวจของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนี้ผมว่า ใช้งบประมาณที่มองเห็นอยู่นั้นยังมากเกินไปแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ คำว่าไม่ประสบ ความสำเร็จคือว่าหน่วยงานท่านจะถูกตรวจสอบตลอดไป เพราะว่าท่านไม่เคยนำสิ่ง จากการวิจัยหรือสำรวจนั้นเข้าไปชี้แจงในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นท้องถิ่น อบต. อบจ. ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ที่ท่านทำมาว่าพื้นที่นี้ที่ท่านตั้ง สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลถึง ๑๒ เขต อย่างสุโขทัยนั้นมีอยู่เขต ๗ มีตั้ง ๗ จังหวัด แต่มี หน่วยงานตั้งอยู่ที่กำแพงเพชรเพียงหน่วยงานเดียว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ท่านถูกอภิปราย ในสภาแห่งนี้ถ้าท่านเอางบประมาณมาเพื่อทราบ ฉะนั้นสิ่งที่ตักเตือนลงไปหรือผมขอฝาก ไปว่าท่านทำงานอะไรแล้วควรเอาข้อมูลลงไปในพื้นที่ให้มากที่สุดโดยเฉพาะท้องถิ่น วันนี้ เราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าปัญหาน้ำคือปัญหาของชาติ ที่ผมได้อภิปรายในวันยุทธศาสตร์ชาติ ไปแล้วว่าแผนแม่บทของน้ำ ๒๐ ปีมันยาวเกินไป ยาวจนที่ไม่สามารถจะประเมินได้ว่า เขตนอกชลประทานนั้นจะต้องเก็บน้ำใช้ในแต่ละปีให้ได้ ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มันนานเกินไป แต่ผมก็ชื่นชมกรมทรัพยากรน้ำกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเป็นกรมที่ดูแลพื้นที่นอก ชลประทานอย่างดีเยี่ยม ยกตัวอย่างเขต ๗ ซึ่งดูของ ๗ จังหวัด กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก ดูได้อย่างไร สำนักงานเดียวดู ๗ จังหวัด วันนี้ไปดูว่า บุคลากรก็เริ่มเกษียณกันแล้ว อายุมากแล้ว เครื่องจักรก็เก่าแก่ จำนวนก็น้อย แต่ปริมาณ ที่พี่น้องเขาร้องขอเข้ามาในหน่วยงานมากขึ้น ผมถึงว่างบประมาณที่ตั้งไว้ในกองทุน พัฒนาน้ำบาดาลของท่านบางส่วนที่มันไม่ได้ใช้ หรือบางส่วนที่สามารถจะสนับสนุนลงไป ในพื้นที่ โดยเฉพาะท่านก็สนับสนุนอยู่แล้ว เพราะว่าถ้ากรมไหนหรือสำนักงานไหน ในเขตไหน ๑๒ เขตบุคลากรน้อยก็มาบอกท่าน ท่านก็มีสนับสนุนลงไปที่ทราบอยู่ ตลอดจน เครื่องจักรที่มีการเสียหายฉุกเฉินเห็นแล้วท่านก็สนับสนุนไป อันนี้ขอชื่นชม เพื่อทราบถามจาก กรมต่าง ๆ ถามจากสำนักงานต่าง ๆ ท่านก็ทำได้ดี แต่วันนี้หน้าที่ของท่านนั้นไม่แพ้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำนั้นเก็บน้ำไว้บนบก แต่ท่านมีภาระเพิ่มอีกภาระหนึ่ง นอกจากจะทำน้ำให้ใช้บนบกแล้ว ท่านต้องเอาน้ำจากน้ำฝนแต่ละปีนั้นลงไปธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งต้องชื่นชมเขต ๗ ที่เข้าดำเนินการในพื้นที่ ๗ จังหวัด โดยเฉพาะสุโขทัยร่วมมือกับ อบจ. สุโขทัย ดูจากแผ่น Slide วันนี้ท่านดูเครื่องจักรนะครับ เดี๋ยวจะดูของท้องถิ่นต่างกันอย่างไร อันนี้คือการเจาะสะดือน้ำลงไปในพื้นที่เพื่อเอาน้ำลงไปธนาคารน้ำใต้ดิน ตามองค์พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชดำรัสว่าควรจะเอาน้ำลงไปในแผ่นดิน ถามกลับไปว่าวันนี้ท่านทำงานวิจัยรู้ว่าใน ๑๒ เขต ๗๗ จังหวัดโพรงดินเป็นอย่างไร ชั้นดิน เป็นอย่างไร ปริมาณน้ำเป็นอย่างไร ท่านเคยลงไปบอกในพื้นที่ไหมว่าตรงนี้ต้องเจาะลงไป เท่าไรถึงได้น้ำดี หรือตรงนี้เจอน้ำตม ตรงนี้เจอน้ำสนิม ผมอยากให้งานของท่านตรงนี้ ชัดเจนกับท้องที่ท้องถิ่น แล้วก็หากเป็นไปได้สำนักงานขยายไปอีกหน่อยหนึ่ง ๒ จังหวัด สัก ๑ สำนักงาน วันนี้ท่านห่างเหิน ยกตัวอย่างเขต ๗ อยู่ที่กำแพงเพชรที่เดียวแล้ว ถ้าผม อยู่อุตรดิตถ์ ผมอยู่ที่ไกล ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสนใจที่จะมา MOU กับท่าน น้อยมาก อันนี้เป็นของ อบจ. สุโขทัย อันนี้เอาน้ำขึ้นบกมาใช้ในประปาซึ่งทำควบคู่ไปกับเขต ๗ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลของท่าน ซึ่งท่าน ผอ. นั้นดีมากให้ความร่วมมือประสานกัน ที่ยืนใส่เสื้อกั๊กคือท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยท่านมนู พุกประเสริฐ ท่านให้ความตระหนักว่าน้ำดีน้ำใช้เพื่อถิ่นไทยสุโขทัย อันนี้ท่านทำไว้เจาะไว้เพื่อการเกษตรด้วย เพื่อไปใช้น้ำประปา เผื่อภัยแล้งที่ข้างหน้าจะเกิดขึ้นว่าน้ำที่สมัยที่โยธาเจาะเอาไว้มันจะตื้น เกินไป มันไม่พอกันใช้ ท่านเลยสำรวจแล้วก็ดำเนินการให้อย่างเร่งด่วน เลยควบคู่ไปกับ เอาน้ำลงแผ่นดินเพื่อเป็นธนาคารน้ำใต้ดินกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล อันนี้ขอชื่นชม บุคลากรของท่านเขต ๗ ที่ตั้งใจทำ แต่ที่สำคัญวันนี้ท่านบอกว่าเครื่องจักรไม่พอครับ ท่านดูของ อบจ. กับของท่าน ของท่านนั้นเหมือนจะเช่ามาด้วยซ้ำเพราะเร่งทำ สส. หลายท่านก็เข้าไปดูงานมากมายและให้ความสนใจอีสานกับทางเหนือ โดยเฉพาะ สุโขทัยเป็นแผ่นดินที่ลุ่มตอนเหนือซึ่งรับน้ำหลากจากพะเยา น่าน แพร่ ทุกปีน้ำจะท่วม จึงเหมาะสมที่ควรจะเจาะน้ำลงบาดาลเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน จึงกราบเรียนไปถึงว่างบบางส่วน ของงานวิจัยหรืองานสำรวจที่ยังไม่ได้มีความสำคัญอะไรทั้งสิ้น เอาไปใช้ซื้อเครื่องจักรก็ดี หรือไปสร้างบุคลากรใหม่ ๆ เพื่อจะรองรับบุคลากรที่มีความสามารถเชี่ยวชาญที่จะเกษียณไป อันนี้ต้องฝากท่านไว้ว่าอาจจะช่วยให้แผ่นดินที่อยู่นอกเขตชลประทานนั้น โดยท่านมีบทบาท กับกรมทรัพยากรน้ำให้ MOU ด้วยกัน ให้ร่วมกันบูรณาการจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ อย่างที่วังตะคร้อนั้นผมไปทำ Solar Cell ท่านเอา Solar Cell ไปวิจัย ถ้าบาดาลเรานั้น ตั้งเหมือน อบจ. สุโขทัยว่าพื้นที่ที่มีติดต่อกันอยู่ประมาณ ๔-๕ เจ้าที่มีโฉนดที่ดินนั้น เจาะ ๑ บ่อใช้ร่วมกันเพื่อลดปริมาณในการเจาะแผ่นดินเรา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญซึ่ง อบจ. สุโขทัยดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลของท่านอย่าง เข้มแข็ง ผมกราบเรียนว่างบวิจัยและสำรวจและบางทีไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ที่ไม่มีความสำคัญ หรือส่วนใหญ่จะทำค้างคาไว้ เอาไปงบต่อปีตัดออกบ้าง เอาไปซื้อเครื่องจักรให้กับสำนัก ทรัพยากรน้ำบาดาลของท่าน นั่นคือผลงานที่จะลงพื้นที่ของท่าน แล้วท่านขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ว่างบเยอะแล้วขาดทุน เรื่องการเก็บค่าน้ำ เก็บค่าธรรมเนียมนั้น ขอให้ไปพิจารณาใหม่ว่าพี่น้องกำลังเดือดร้อนการใช้น้ำ แต่ท่านมาเก็บค่าน้ำในปริมาณที่ แพงเกินไป หรือไม่ควรเก็บ ท่านก็ไปพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร ก็ฝากไว้ตรงนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรวี เล็กอุทัย ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ตามที่ผมได้อ่านรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ผมมีข้อสงสัยและข้อสังเกต ในรายงานฉบับนี้อยู่บางประเด็นครับ จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามกับทางกองทุน ในประเด็นดังต่อไปนี้ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นแรก ผมมีข้อกังวลต่อ เงินรับรอการตรวจสอบ โดยในหมายเหตุที่ ๑๓ ครับท่านประธาน เมื่อพิจารณาจะพบว่า ทั้งในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ จะมียอดรับรอการตรวจสอบทั้ง ๒ ปีซึ่งรวมกันแล้ว เป็นเงินกว่า ๓๒ ล้านบาท โดยเป็นเงินที่รับชำระโอนค่าใช้น้ำและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล จากผู้ประกอบการโอนมายังบัญชีธนาคารพาณิชย์ของหน่วยจัดเก็บรายได้ครับ แต่ปัญหา ที่เกิดขึ้นปรากฏว่ามีเงินคงค้างอยู่ใน ๔ บัญชี ซึ่งมีอีกกี่บัญชีก็ไม่อาจทราบได้ อีกทั้ง ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีมานั้นเป็นเงินของผู้ใดบ้าง ซึ่งถึงแม้ว่า ในเอกสารจะระบุด้วยเจตนาที่ดีว่ามีการนำส่งเงินก้อนนี้เป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่ผล ที่เกิดขึ้นทำให้มีข้อกังวลว่าทำไมถึงไม่มีการวางระบบหรือการตรวจสอบการเข้ามา ของเงินรายได้นี้อย่างเป็นระบบเพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย เพราะเรื่องการรับเงิน จ่ายเงิน หรือการเข้าออกของเงินนั้นควรจะต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และป้องกันการทุจริต นอกจากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้น ผมจึงคิดว่าทางกองทุนควรจะต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาเช่นนี้อีก รวมถึงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ในประเด็นถัดไป ผมมีข้อสงสัยต่อการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ ตามหมายเหตุที่ ๒๔ ของเอกสารรายงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นของกองทุน ในประเด็น ของการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ก็เป็นประเด็นที่คล้ายคลึงกันกับที่ทางเพื่อนสมาชิก บางท่านได้อภิปรายไป การโอนสินทรัพย์นี้มียอดถึง ๖๑๖ ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ ที่อยู่ ๔๐ ล้านบาทนั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงอยากขอความรู้ว่า การโอนสินทรัพย์ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ นั้นทำไมถึงมีความแตกต่างกันมากถึงขนาดนี้

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ส่วนต่อมาที่อยากให้ชี้แจงนั่นก็คือสินทรัพย์ที่โอนไปนั้นคืออะไรบ้าง ทำไม ถึงต้องมีการโอน และมีความจำเป็นอย่างไร เพราะจำนวนเงินที่ขาดทุนในส่วนนี้มีปริมาณ ที่สูง และสูงกว่าหมวดค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนและการบริจาค ซึ่งเป็นการนำเงินไปจัดทำ โครงการในปี ๒๕๖๔ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโอนสินทรัพย์นี้เป็นการโอนสินทรัพย์อะไร ทำไมถึงต้องโอน และหากโอนแล้วทำให้เกิดขาดการขาดทุนมากในระดับที่มากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทขณะนี้ ยังควรมีความจำเป็นที่จะต้องโอนอยู่จริงหรือไม่ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมมีข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของทั้งประเทศ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีในบริบทปัจจุบัน ที่สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและของทั้งโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่ส่งผลต่อพี่น้องประชาชนต้องประสบพบเจอกับปัญหาภัยแล้ง และ El Nino ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยตรงของประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในภาพรวมของประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนำไปใช้ใน ๔ ส่วน ก็คือ เพื่อการเกษตร เพื่ออุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว เพื่ออุตสาหกรรม และเพื่อรักษาระบบนิเวศ ในขณะที่ประเทศไทยเรามีน้ำบาดาลสะสมอยู่ที่ประมาณ ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร โดยทุกปีเราสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ราว ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ตามรายงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอ Slide ถัดไปครับ ผมมีกรณีตัวอย่าง อยากจะขอนำเสนอ ยกตัวอย่างกรณีของที่บ้านผมหรือจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามข้อมูล ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในภาพรวมนั้นจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และกว่า ๙๒ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคของการเกษตร ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานนั้นมีความต้องการใช้น้ำ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และนอกเขตชลประทานอีก ๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึง เพื่อการอุปโภคและบริโภค และการท่องเที่ยว ๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเห็นได้ชัดว่า พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดอุตรดิตถ์เวลานี้นั้นยังประสบปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ผมจึงมีความเห็นว่า การเพิ่มและพัฒนาแหล่งน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องนี้ นั่นก็คือการพัฒนา แหล่งน้ำบาดาลจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ดังนั้นการจัดทำ โครงการที่เกิดขึ้นของกองทุนควรมีการกระจายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ใน ๒๗ แอ่งน้ำบาดาลที่มีอยู่ ไม่ควรกระจุกอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ที่ผมกล่าวแบบนี้ เนื่องจากว่าเมื่อดูตามรายชื่อของโครงการต่าง ๆ ในปี ๒๕๖๔ ที่ชี้แจงอยู่ในหมายเหตุที่ ๒๓ ของเอกสารรายงานนั้น พบว่าโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดหรือพื้นที่เดิม ๆ เพียงเท่านั้นเอง แต่ปัญหาความขาดแคลน ความต้องการใช้น้ำของพี่น้องประชาชนนั้นเกิดขึ้นทั่วประเทศครับ ท่านประธาน ผมจึงอยากขอฝากเรื่องนี้ให้ทางกองทุนช่วยพิจารณากระจายงบประมาณ ให้เหมาะสมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วยครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

และโดยสรุปครับ ผมต้องการเห็นการบริหารงานของกองทุนมีประสิทธิภาพ และมีความรัดกุมมากกว่านี้ ควรมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพราะการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นนั้นมาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งควรจะต้องนำไปดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและครอบคลุม ไม่กระจุกอยู่เพียงแค่ในพื้นที่บางแห่ง รวมไปถึง ควรมีการดำเนินโครงการที่มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และตรงความต้องการของทุกพื้นที่ด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตกราบเรียน ผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมการกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อน ๆ สมาชิกได้พูด หลายประเด็นแล้ว ผมจะลงเจาะลึกเลยครับท่านประธาน วันนี้น้ำกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะ พื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลำห้วย หนอง คลอง บึง บ้านตัวกระผม บ้านเพื่อน ๆ สมาชิกก็คงจะ ใกล้เคียงกัน ทุกปีไม่เคยแห้งแล้ง ปีนี้เริ่มแห้งแล้ว ดังนั้นผมมองเห็นว่ากองทุนพัฒนา น้ำบาดาล หลายท่านบอกว่าได้ทำชลประทานต่าง ๆ แล้วน้ำบนดิน วันนี้ผมคิดของผมนะครับ ท่านประธาน ท่านผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการน้ำบาดาลท่านเก่ง เพราะท่านมีนักธรณีวิทยา มีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ผมอยากเสนออย่างนี้ครับ เรื่องรายละเอียดกองทุนเพื่อน ๆ พูดไปแล้ว อยากเสนอแนะว่ามันเป็นไปได้ไหมดังที่ผมคิด

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเอานักธรณีวิทยาวิศวกรของท่าน ไปสำรวจในพื้นที่ทั่วประเทศอย่างที่เพื่อน ๆ สมาชิกพูดไปเมื่อสักครู่นี้ว่าต้องกระจายเสมอภาค ไปสำรวจว่าตรงนี้มันมีน้ำไหม อย่าง อบต. บ้านผมหรือบ้านใดก็แล้วแต่ทั่วประเทศไปสำรวจ ท่านมีลูกน้อง ท่านมีผู้เชี่ยวชาญ เอาเงินกองทุนไปสำรวจเจาะตรงนี้ อบต. เทศบาลก็จะได้ ช่วยท่านเจาะตรงนี้ หรือชาวบ้านจะได้เจาะของเขาเองก็ได้ อันนี้ประการแรก

นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ วันนี้ภาคเกษตร หลายท่านก็พูดประเทศไทยภาคเกษตรกร ภาคเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวนทั่วประเทศ ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่อีสานบ้านผม ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นภาคเกษตรกร ดังนั้นทั่วประเทศเป็นภาคเกษตรที่มีเกษตร กองทุนนี้ไปเจาะน้ำเอาไว้เป็นน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ทำงานการเกษตร ไม่ต้องจ่าย ค่าไฟฟ้า ผมเห็นหลายโครงการที่ไปทำดี ทำต่อไปเถอะ เงินไม่พอขอรัฐบาลเพราะเป็น การแก้ปัญหาพี่น้องภาคเกษตรเวลามันแล้งเติมน้ำได้ พืชผลทางเกษตรของพี่น้องก็จะไม่ได้ ตายแล้งครับ อันนี้ผมเสนออย่างนี้เลย ถ้าท่านทำได้อยากให้ท่านทำ เพราะจะเป็นการแก้ปัญหา ปากท้องพี่น้องเกษตรกรโดยตรง เชื่อมั่นครับ ทุกท่านเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากพี่น้อง ภาคเกษตรอยู่ดีกินดี พืชพันธุ์ธัญญาหารดีก็มีความสุข ดังนั้นขอบคุณ และขอสนับสนุน กองทุนนี้เจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ให้มาก ๆ ทั่วประเทศ และยืนยันต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศและเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ วันนี้ ผมได้หวนมาเป็นผู้แทนอีกครั้งหนึ่ง อย่างหลายท่านบอกว่างบประมาณกระจุกเมื่อครู่นี้ ผมยืนยันถึงผมจะอยู่พรรครัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี ขออนุญาตเอ่ยชื่อท่าน ท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านพูดชัดทุกคนในประเทศเป็นคนไทยด้วยกัน เรียนท่านว่าถึงจะอยู่รัฐบาล ความเสมอภาคทั้งประเทศต้องเกิด เพราะนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ไม่ได้นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ดังนั้นสบายใจได้พี่น้องที่เคารพที่อยู่ทางบ้าน บอกผ่านท่านประธานว่าวันนี้ เรามาร่วมพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการนี้ดีต่อพี่น้องเกษตรกรมากขอสนับสนุนเต็มที่ งบประมาณไม่เพียงพอ ผมเชื่อมั่นหลาย ๆ ท่านพูดเมื่อครู่นี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน คงเห็นใจพี่น้องภาคเกษตร เห็นใจพี่น้องที่ต้องการใช้น้ำ ก็พร้อมสนับสนุนครับ ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายแล้วก็แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในวาระ รับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลในปี ๒๕๖๔ นะคะ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แล้วก็งานวิจัย แล้วก็ขึ้นอยู่ที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกรมที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชน ในชนบท พี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ ตอนนี้พี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ในจังหวัด ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานีขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เพื่อการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง น้ำบาดาลก็จะได้ใช้เป็นที่สำคัญในยามยาก ยามที่ขาดแคลน ก็ต้องใช้น้ำบาดาล เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้ดำรงชีพอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำ ดิฉันเห็นว่า น้ำคือชีวิต เพราะว่าเป็นหลักสำคัญที่จะต้องใช้อุปโภคบริโภคแล้วก็เพื่อการเกษตร ดิฉัน เห็นว่าสำคัญอย่างยิ่ง น้ำในการเกษตรทุกวันนี้เราอาศัยน้ำฝนน้ำจากฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อชีวิต ความอยู่รอด ถ้ามีน้ำคนก็อยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็ยังอยู่ได้ ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้นะคะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ในกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลดิฉันก็อ่านตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๐ วัตถุประสงค์หลักคือใช้เงินทุนเพื่อการใช้จ่ายการศึกษาและวิจัย พัฒนาอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม อันนี้สำคัญเป็นอย่างมากเลย แล้วก็ภารกิจ ที่จะอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจสำคัญของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการบริหารจัดการน้ำให้ครบวงจรนะคะ ซึ่งจะเห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำผิวดิน พื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ ที่แตกต่างกัน จะสร้างให้เกิดความสมดุลในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของชุมชน ทุกมิติ ก็เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลคือ การจัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคให้หมู่บ้านและชุมชนให้เพียงพอนั้น ดิฉันเองขอสนับสนุน แนวคิดการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกคือท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ได้พูดอภิปรายให้เข้าใจถึง น้ำบาดาลและกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แล้วก็เข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร หรือพี่น้อง ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด ดิฉันก็ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน เพราะท่านให้แนวคิดที่ดี

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉันขอไปประเด็นสำคัญที่ข้อมูลของกรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้แจ้งว่าปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรามีแหล่งน้ำใหญ่ ๆ ๓ แหล่งก็คือ แอ่งเจ้าพระยาตอนบนที่ใช้บริการได้แก่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง สุโขทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตอนล่างก็สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี แต่ส่วนที่สำคัญดิฉันสนใจ ภาคอีสานก็คือแอ่งอุบลราชธานี โคราช แล้วก็แอ่งอุดรธานี สกลนคร ๒ แอ่งนี้มีพื้นที่ถึง ๒ ใน ๓ ของภาคอีสานซึ่งเป็นขนาดใหญ่ค่ะ ถือว่าเป็นแอ่งน้ำบาดาลที่มีความสำคัญ ของคนภาคอีสาน ครอบคลุมในภาคอีสานทุกจังหวัด พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เจาะแหล่งน้ำบาดาลได้ยาก เนื่องจากปริมาณน้ำน้อย น้ำน้อยยังไม่พอ น้ำบาดาล ที่นี่ยังกร่อยเค็มด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นทำให้พี่น้องภาคอีสานเดือดร้อนขาดแคลนน้ำมาก ๆ ทำความเดือดร้อนกับพี่น้องเกษตรกร ดิฉันจึงขอเสนอให้กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลได้จัดสรร งบประมาณการศึกษาวิจัยในเขตภาคอีสานเพิ่มขึ้น เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลให้พี่น้องเกษตรกร ได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ได้ใช้ประโยชน์ ได้ชีวิตที่ดีขึ้น

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานในหมายเหตุที่หน้า ๒๓ ค่าใช้จ่าย จากเงินอุดหนุนและบริจาคหน้า ๒๑ ถึงหน้า ๒๙ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ รวม ๙๗ โครงการ จะเห็นได้ว่าบางโครงการมีขึ้น ๒ ปี บางโครงการใช้ปีเดียว ดำเนินการปีเดียว รวมงบประมาณ ที่ใช้ในส่วนนี้เกือบ ๙๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ ใช้ไป ๒๙๔ ล้านบาท และปี ๒๕๖๔ ใช้ไป ๕๙๕ ล้านบาท ดิฉันมีข้อสังเกตอยู่บางประการ ในนี้มี ๑๔ โครงการเท่านั้นที่อยู่ในภาคอีสาน มีโครงการที่ ๕ โครงการที่ ๓๓ โครงการที่ ๓๗ โครงการที่ ๔๕ โครงการที่ ๔๗ ดิฉันคงไม่ลง รายละเอียด จะยกตัวอย่างให้ท่านฟังว่าพื้นที่อีสานเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลอาชีพหลัก คือการเกษตร แต่ทำไมในเรื่องของการจัดการบริหารน้ำน้อยลง น้อยมาก ๆ พื้นที่ในภาคอีสาน เป็น ๑ ใน ๓ ของประเทศนะคะ ดังนั้นดิฉันจึงขออนุญาตเสนอแนะผู้ชี้แจงที่มาในวันนี้ ขออนุญาตท่าน แนะนำท่าน ขอให้ ท่านได้สงสารและเมตตาคนภาคอีสานเถอะค่ะ ขุดเจาะน้ำบาดาลก็เจาะยาก น้ำบาดาล ก็มีน้อย ขอให้ท่านจงเพิ่มงบประมาณไปช่วยขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้มีจำนวนบ่อบาดาล มาก ๆ เพิ่มขึ้นยิ่งขึ้นนะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย ขออภิปรายรายงานผลการตรวจสอบบัญชีและรายงาน เงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยาน ๒๕๖๔ ดังต่อไปนี้ ก่อนอื่น ที่ผมจะไปถึงตรงนั้น ผมมีข้อสังเกตตรงนี้อยู่นิดหนึ่งว่าหลายท่านพูดกันถึงแต่เรื่องน้ำนะครับ แม้กระทั่งงบประมาณที่จะใช้กับเรื่องน้ำ แต่ส่วนการเติมน้ำลงไปในดินนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าอะไรที่ใช้ไปก็ย่อมหมดไป แล้วยิ่งหลังจากนี้ปรากฏการณ์ El Nino ก็น่าจะเกิดขึ้น อีกระยะหนึ่ง ๒-๓ ปี น้ำก็จะยิ่งหมดไปเรื่อย ๆ ผมมีข้อสังเกตอย่างนี้ว่าถ้ากรมทรัพยากรน้ำ ได้บรรจุเรื่องพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดินลงไปนิดหนึ่งให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศได้พัฒนาตรงนี้ เพิ่มสะดือน้ำลงไปทั้งประเทศเพื่อเติมความชุ่มชื้นในดินขึ้นไป มันก็จะสามารถบรรเทาเรื่องแล้ง เรื่องอะไรได้อีกเยอะแยะมากมาย ทุกวันนี้ใช้กันอย่างเดียวนะครับ ไม่ได้รู้ว่าสิ่งที่น้ำฝน เติมลงไปในดินมันแค่ไหลลงไปแล้วก็ระเหยไป ถ้าเรามีสะดือน้ำหรือธนาคารน้ำใต้ดิน เยอะแยะมากมายทั่วประเทศเหมือนเป็นเตาหลุมขนมครกเลย ผมเชื่อว่ามันน่าจะสร้าง ความชุ่มชื้นให้กับผืนแผ่นดินไทยทั้งประเทศ ความแห้งแล้งก็อาจจะน้อยลงไป ตรงนี้ก็ขอ ฝากไว้นิดหนึ่งครับ ผมมีเพียง ๒-๓ ประเด็นที่อยากซักถามนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในหน้า ๑ ลูกหนี้ตามความรับผิดชอบทางละเมิด กรณียื่นครุภัณฑ์ให้สำรวจ เครื่องตรวจสภาพน้ำบาดาลด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จำนวน ๕ ราย เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ระบุว่าครุภัณฑ์ดังกล่าวได้ถูกโจรกรรมไปพร้อมรถยนต์ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สรุปว่าได้รับความเสียหายประมาณ ๑,๖๓๕,๗๖๖.๓๔ บาท โดยให้ชำระงวดละ ๑๓๖,๕๔๕ บาท ณ ขณะวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ชำระไปแล้ว ๓๒ งวด คงเหลืออีก ๑,๒๕๓,๗๐๗ บาท ซึ่งต้องชำระอีกไม่น้อยกว่า ๑๑๙ งวด หรือเกือบ ๑๐ ปีทีเดียว ๙ ปีกว่า ปัจจุบันอุปกรณ์ชุดนี้ได้มีการตั้งงบประมาณจัดซื้อแทนครุภัณฑ์ที่หายไปมาแล้ว หรือไม่ ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำมีครุภัณฑ์สำรวจแบบนี้กี่ชุดครับ เนื่องจากในปี ๒๕๖๖ ต่อมาถึงปี ๒๕๖๘ กรมอุตุนิยมวิทยาได้เตือนทุกรัฐบาลทั่วประเทศเตรียมรับมือสภาพอากาศ แบบสุดขั้วจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ El Nino ประกอบกับเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ศูนย์ติดตามและแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คาดการณ์พื้นที่การเกษตรที่จะได้รับผลกระทบภัยแล้งปี ๒๕๖๖ ปี ๒๕๖๗ ประมาณ ๑๖.๕๑ ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยารวมถึง ๒๒ จังหวัด ในพื้นที่ ๗.๓๔ ล้านไร่ และนอกเขตชลประทานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้งรวม ๖๐ จังหวัด ทั่วประเทศพื้นที่ ๙.๑๗ ล้านไร่ จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ชุดสำรวจเพื่อขุดเจาะ น้ำบาดาลหลายพื้นที่ของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรงนะครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไปข้อ ๒ หน้า ๑๖ กรณีเงินจำนวน ๔,๗๓๐,๒๖๓.๘๕ บาท เป็นรายได้ น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่หน่วยงานจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สูงกว่าหลักฐานการรับเงินหรือนำส่งซ้ำของหน่วยงานจัดเก็บรายได้ ๒ แห่งคือ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการครับ งบประมาณ ปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ จำนวน ๔,๕๐๓,๓๔๑.๓๐ บาท และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการเมื่องบประมาณปี ๒๕๔๘ จำนวน ๒๒๖,๙๒๒.๑๒ บาท ปัจจุบันหน่วยจัดเก็บรายได้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพื่อขอถอนเงินคืนและส่งเงิน ที่ถูกต้องต่อไปนะครับ ขอสอบถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ๑๗ ปีแล้ว โอกาสที่จะให้บุคลากรที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องได้เมื่อใด ในเงินส่วนนี้ผ่านมาถึง ๑๗ ปีที่ไม่รู้ ข้อมูลว่ามันมาจากตรงไหน มันจะไปอย่างไร ถ้าจะให้ดีถ้าอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขออนุญาตให้ผมยืมเงิน ๔ ล้านกว่าบาทไปเติมน้ำมันให้เครื่องบินฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งไม่มีงบประมาณบินตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ถึงวันนี้ไม่มีงบประมาณที่จะบินขึ้นทำฝนเทียม ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ กำลังเดือดร้อนมากมาย ตรงนี้ฝากกราบเรียนท่านประธาน ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนิดหนึ่งครับ แล้วก็ขอฝากท่านพี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งประเทศ สำรวจข้อมูลแหล่งน้ำที่อยู่ตามหมู่บ้าน ตำบล ๓ ปีข้างหน้านี้จะแล้งมาก ๆ เพื่อรวบรวมน้ำ เข้าไปเพื่อใช้อุปโภคบริโภคให้ได้ก่อนนะครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชัชวาล แพทยาไทย ครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานและสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ขอร่วมอภิปรายในรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเป็นหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสนับสนุนงบในการศึกษาวิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม จากการรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินของผู้มาชี้แจงเป็นการตอบตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจริงครับ แต่ผมมี ประเด็นข้อสังเกตอยู่ ๓ ประเด็นด้วยกันดังนี้

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เรื่องการใช้งบประมาณสนับสนุนการศึกษา สำรวจ ค้นคว้า วิจัย ซึ่งตามเอกสารที่ผู้ชี้แจงส่งมาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุน ในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ มีการศึกษามากกว่า ๙๗ โครงการ ใช้งบประมาณเกือบ ๙๐๐ ล้านบาท และหากมองย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเมื่อปี ๒๕๔๖ เกือบ ๒๐ ปี ท่านจะใช้งบประมาณในการดำเนินการวิจัยมากมายขนาดไหนครับ ซึ่งผม ไม่มั่นใจว่าทั้ง ๙๗ โครงการของปีที่ผ่านมาทุกโครงการจะได้รับการต่อยอดแก้ไขปัญหา ให้พี่น้องประชาชนหรือไม่ หากเป็นไปตามข้อสังเกตของผม บางโครงการอาจจะไม่คุ้มค่า กับงบประมาณที่สูญเสียไป

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การศึกษา วิจัย ครอบคลุมปัญหาที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน หรือไม่ครับ ตาม Website ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลซึ่งมีการแสดงผลโครงการที่ได้รับ การสนับสนุนจากกองทุน แต่เมื่อผมลองค้นคว้าพิมพ์คำว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่จัดตั้ง กองทุนมา ๒๐ ปี มีเพียง ๑ โครงการเท่านั้นเองที่ทางกองทุนสนับสนุน ได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย หากมองความเป็นจริงแล้วจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอีก ๑ พื้นที่ที่ควรได้รับการแก้ไขปัญหา เรื่องน้ำใต้ดิน เพราะเหตุใดนั่นหรือครับท่านประธาน ขอ Slide หน่อยครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ดูจากแผนที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ ของผมจะอยู่ด้านล่างตรงที่ Highlight สีแดง ๆ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เขต ๗ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอเมืองสรวง อำเภอปทุมรัตต์ เป็นพื้นที่น้ำเค็มสีแดงไม่สามารถ นำน้ำขึ้นมาใช้ได้ ประชาชนต้องอาศัยน้ำอุปโภคบริโภคจากน้ำประปาผิวดิน ๒ สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่เขต ๗ จังหวัดร้อยเอ็ดมาหารือ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ เมื่อกลับบ้านไปพบว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ทั้งในต่างจังหวัดและในจังหวัดร้อยเอ็ดเองได้ส่งภาพปัญหาความเดือดร้อนเข้ามาประกวดกัน ใหญ่เลยครับ หลายพื้นที่เจอปัญหาเช่นเดียวกัน ณ ขณะนี้ก็ยังมีการส่งเข้ามา อย่างล่าสุด มี ๓ ปัญหา อย่างพี่น้องบ้านหนองอ่าง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลกำแพง น้ำประปาขุ่นเหลือง ต้องใช้น้ำประปาผิวดิน เพราะเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ไม่ได้ บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ๖ หมู่บ้านต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภคมา ๑ เดือนแล้ว เพราะน้ำประปาผิวดินใช้ไม่ได้ครับ ไม่มีน้ำสำรอง เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้ บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโนนสว่าง อำเภอเกษตรวิสัย เดือดร้อนมาหลายปีแล้ว แหล่งน้ำประปาผิวดิน ใช้ไม่ได้ เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้ เค็มครับ จากปัญหาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมของพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด Zone ล่าง เขต ๗ มีสภาพน้ำใต้ดินเค็ม หากจะดูพื้นที่แผนที่แล้วผมอิจฉา พื้นที่อื่น ท่านประธานดูสิครับประชาชนพื้นที่อื่นได้ใช้น้ำสะอาด มีแหล่งน้ำใต้ดินเพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภค แต่พอมาดูพื้นที่ของตัวเองสงสารพี่น้องที่ทนทุกข์มาหลายปี ไม่มี น้ำใช้อุปโภคบริโภค ไม่มีน้ำสะอาด ไม่มีมาตรฐาน จะมีก็แค่เพียงแหล่งน้ำผิวดินที่ผมเคย นำมาร้องเรียนแล้ว สามวันดีสี่วันไข้ มาบ้าง ไม่มาบ้าง ไม่รู้เมื่อไรจะแก้ปัญหานี้ได้เสียทีครับ ท่านประธาน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย องค์ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุน จากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเป็นชุดข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดิน ภายใต้การกำกับของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มหรือไม่ ยกตัวอย่างครับ ท่านประธาน ตอนนี้ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัยผมกำลังมีการริเริ่มที่จะดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าขยะบนดินแดนปลูกข้าวหอมมะลิ และยังได้รับการรับรองข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI พี่น้องประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ข้อสังเกตก็คือตำแหน่งที่ตั้ง ของโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานใหญ่ขนาดนี้สิ่งที่จะต้องมีคือน้ำครับ โรงไฟฟ้าขยะอยู่บนจุดที่เป็น แหล่งน้ำบาดาลที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งของอำเภอเกษตรวิสัยใน Slide ท่านประธานครับ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้นี่คือใคร พี่น้องประชาชนหรือเปล่า ไม่ครับ ผมมองว่า เป็นกลุ่มทุนครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เพราะการวิจัย และการศึกษาเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การพัฒนา และการได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาของพี่น้องที่กำลังเผชิญอยู่ ผมจึงอยากฝากท่านประธานไปยังกองทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำบาดาล ในอนาคตผมหวังว่า ท่านจะเป็นตะเกียงนำทางที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ พื้นที่ที่เผชิญปัญหาเรื่องน้ำแล้งจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ อย่าให้คำว่า อีสานจะไม่แล้ง เป็นเพียงวาทกรรมที่เป็นแค่ฝันของพี่น้องชาวอีสาน ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านอดิศร เพียงเกษ ครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่อธิบดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อปี ๒๕๖๔ ท่านได้เสนอรายงานมาที่สภาของเราตามระบอบวิถี ประชาธิปไตย ท่านอธิบดีเดี๋ยวนี้กลับมาเป็นผู้ตรวจสอบรายงานที่ตนเองทำเอง ขออนุญาต เอ่ยนามคือท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. จากเมืองกาญจนบุรี ผมฟังการตรวจสอบที่คนคนเดียวตรวจสอบกันก็สนุกไปอย่างครับ นี่คือระบอบประชาธิปไตย ก็หวังว่าท่านรองอธิบดีจะเดินตามรุ่นพี่มาเป็นผู้แทนราษฎรต่อไป การเสนอรายงานนี้ ผมถามสั้น ๆ รายงานของผู้สอบบัญชีเสนอต่อกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ความเห็นมีเงื่อนไข ความตอนหนึ่งในวรรคสามตามหมายเหตุประกอบการเงิน ข้อ ๑๓ เงินรอรับการตรวจสอบ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ จำนวน ๑๕,๘๒๕,๙๐๑.๒๗ บาท หน่วยงานไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับเงินรับรอการตรวจสอบให้ตรวจสอบได้ สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้เป็นที่พอใจกับรายการที่เกี่ยวข้อง กับบัญชีเงินรับรอการตรวจสอบได้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า จำเป็นต้องปรับปรุงรายการที่เกี่ยวข้องใด จำนวนเท่าใด ผมอ่านแล้วไม่เข้าใจคำว่า มันมีเรื่องหลักฐานพยานที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือว่าใช้เงิน ๑๕ ล้านบาทหาใบเสร็จไม่ได้ หรือยังไม่มีโครงการ ผมอยากทราบจากผู้ตรวจสอบหรือจากหน่วยงานว่าบรรทัดนี้ ๑๕ ล้านบาทมันมีเงินจำนวนใดบ้าง มันไปปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้สภา ไม่ให้คณะรัฐมนตรี รับทราบมีรายการอะไรบ้าง แสดงว่าตรวจสอบไม่ได้ เหมือนบางหน่วยงานไปตรวจสอบแล้ว ไม่พบอะไร พอไปตรวจสอบราชการลับเขาไม่ให้ตรวจ เพราะมันเป็นการลับ ในกองทุน พัฒนาน้ำบาดาลมันมีงบลับอยู่หรือเปล่าครับ มี ไม่มีก็ต้องเปิดเผย อย่าให้เหมือนหน่วยงาน ที่มีเครื่องแบบนะครับ งบราชการลับก็มันลับ จะเปิดเผยได้อย่างไรในที่ประชุม อย่าให้เป็น อย่างนั้น ผมสนับสนุนกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพราะเราพูดน้ำบาดาลมาเกือบเป็นศตวรรษแล้ว พูดเรื่องความแล้ง พูดเรื่องต่าง ๆ โขง ชี มูล พูดเรื่องกี่เปอร์เซ็นต์ เท่าไร เรามีข้อมูลหมด แต่เรายังไม่ปฏิบัติการ จึงอยากทราบเงินจำนวนน้อย ๆ ที่ผมยกขึ้นมา ๑๕ ล้านบาท ที่ตรวจสอบไม่ได้ ไม่สามารถหาหลักฐานอะไรได้ มันคืออะไร จึงขออนุญาตโดยสาร ถามเรื่องเล็ก ๆ ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน ครับ

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม กฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ก่อนอื่นผมก็ต้องยอมรับ ตรง ๆ ว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาลตั้งแต่เกิดมาผมยังไม่เคยได้ยินชื่อ แต่พอมาอ่านวัตถุประสงค์ แล้วก็ความเป็นมาก็พอเข้าใจได้ อันนี้ในความเข้าใจของผมเข้าใจว่าบ้านเราหลายหน่วยงาน ราชการมีหน้าที่ดี ๆ แต่ว่าขาดการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ผมเห็นท่านอาจจะมีความภูมิใจในเรื่องของการมีเงินเหลือส่งเข้าคลัง อันนี้อาจจะเป็น ความภูมิใจของหน่วยงานท่านที่ว่าสามารถดำเนินการแล้วมีเงินเข้าสู่คลังได้เป็นจำนวน มหาศาล แต่นั่นผมมองว่าไม่น่าจะใช่เป็นความภูมิใจในการที่จะเอามาเป็นตัวชี้วัด แต่สิ่งหนึ่งที่ผม อยากเห็น พอมาอ่านศึกษาจริง ๆ แล้วมีหลายจุดหลายประเด็นมากที่กองทุนพัฒนา น้ำบาดาลควรต้องเอาไปปรับปรุงหลาย ๆ อย่าง ส่วนเรื่องเงินที่มาที่ไปชี้แจงไม่ได้ จริง ๆ ผมก็จะพูด แต่ว่าท่านผู้อภิปรายได้พูดไปก่อนหน้านี้แล้ว ผมก็จะข้ามไป ประเด็นสำคัญ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ท่านไปพิจารณาดูทุนวิจัยการศึกษา ดูงานอะไรต่าง ๆ มีมากมาย ผลลัพธ์ที่ได้มาผมก็ไม่ทราบว่าท่านได้มีการเอาไปโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลทั่วไปได้เข้าไปดู รับทราบ จริง ๆ หลายตัวที่ผมดูเพิ่งเห็นเองว่ามีการทำโครงการอะไรดี ๆ เยอะแยะเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยสบายใจเท่าไรในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใช้งบประมาณ อย่างในหมายเหตุ ข้อ ๑๙ ค่าใช้สอย ผมไปดูเรื่องของค่าประชาสัมพันธ์ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ๖ ล้านกว่าบาท ถ้าผมดูไม่ผิด ปี ๒๕๖๓ อันนี้ท่านเขียนไว้เองงบประชาสัมพันธ์ ๖,๒๐๐,๐๐๐ บาท ปี ๒๕๖๔ เพิ่มมาอีกล้านเศษ ๆ ก็คือ ๖,๓๐๐,๐๐๐ บาท เพิ่มอีก ๑ ล้านบาท แต่ผมไม่เห็นว่าสิ่งที่ท่าน ใช้งบประมาณไปในส่วนนี้ได้เอาไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ แล้วให้บุคคลภายนอกที่เขารับรู้ถึง โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานท่านว่าได้มีการทำอะไรไป อย่างไรบ้าง แล้วที่สำคัญก็ย้อนไป ดูอีกว่าโครงการที่ท่านได้ให้เงินสนับสนุนในหมายเหตุ ข้อ ๒๓ ที่ท่านเขียนมาในรายงานนี้ หมายเหตุ ข้อ ๒๓ เงินอุดหนุน เงินบริจาคอะไรต่าง ๆ มีการใช้จ่ายกับโครงการศึกษา การพัฒนาอะไรเยอะแยะไปหมดเลยนะครับ ผมเองก็มาดูแล้วเงินที่ใช้ไป โครงการเหล่านี้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เลยถ้ารู้แค่เฉพาะหน่วยงาน แล้วก็องค์กรที่เขาได้รับเงินไป สนับสนุนแล้วก็เอาไปทำกัน แต่ท่านไม่ได้มีการใช้งบประมาณที่ท่านใช้จ่ายไปอย่างสูง ผมถือว่าเยอะ เพราะเมื่อสักครู่ผมเข้าไปดูใน Website ของท่าน ผมก็ไม่เห็นมีอะไรที่มัน จะต้องใช้เงินถึงขนาดขนาดนั้นเลย ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ท่านอาจจะมีการใช้เป็น แผ่นพับหรือ Brochure อะไรผมไม่ทราบ แต่ว่าเท่าที่ผมดูใน Website มันไม่ได้จะใช้ งบประมาณขนาดนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นมาก ๆ อย่างที่ทุกท่านพูดก็คือว่าน้ำคือชีวิต วันนี้บ้านเรา ประเทศไทยเราประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้น้ำ ในการอุปโภคบริโภค แล้วก็ทำเกษตรกรรมค่อนข้างเยอะนะครับ ผมไม่สนใจว่าในส่วนหนึ่ง เราจะรอน้ำฝน เราจะรออะไร บางทีการไม่ตกต้องตามฤดูกาลของฝนมันก็มีมากมาย แต่สิ่งหนึ่งสำคัญที่สุดวันนี้ในหลาย ๆ ท้องที่ระบบธนาคารน้ำใต้ดินมีทั้งระบบปิด ระบบเปิด ซึ่งผมก็เข้าไปอ่านเมื่อสักครู่นี้เองแล้วก็เข้าไปดูข้อมูล ผมเองอยากให้ทางกองทุนไปดูนิดหนึ่งว่า การสนับสนุนหรือการใช้จ่ายในเรื่องของการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน บนดินอะไรต่าง ๆ หรือระบบปิด ระบบเปิดควรจะต้องมีการส่งเสริม ซึ่งจริง ๆ ตรงนี้ความเข้าใจของผม ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เวลาน้ำท่วมเรามีธนาคารน้ำใต้ดินกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง สูบขึ้นมา หรือในหลาย ๆ ท้องที่ผมก็เห็นว่าอย่างหมายเหตุของโครงการ ข้อ ๒๓ ที่ผมเห็น ปี ๒๕๖๔ หน้า ๒๒ ที่ท่านรายงานมาเติมน้ำใต้ดินระดับใต้ดินในเขตพื้นที่ทุ่งบางระกำ อันนี้ใช้เงินงบประมาณไป ๑ ล้านกว่าบาท ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ที่ในโครงการที่ท่านเขียนมา อันนี้ผมอ่านไม่ละเอียดเนื่องจากว่ามีเวลาน้อย ผมเห็นหลายที่ทำเกี่ยวกับโครงการธนาคาร น้ำใต้ดินผมเห็นด้วย เพราะว่ามันจะได้แก้ปัญหาเรื่องภัยแล้ง เรื่องน้ำท่วมอะไรต่าง ๆ แต่ก็มีผลการศึกษาในเรื่องของนักวิชาการบางท่านที่บอกว่าการทำธนาคารน้ำใต้ดินอาจจะ ส่งผลกระทบในเรื่องของระบบการกรองน้ำอะไรต่าง ๆ อันนี้เราไม่ว่ากัน แต่ผมอยากให้ทาง กองทุนมีนักวิจัยที่ได้รับทุนไปแล้วเอามาชี้แจง แล้วก็เอามาโฆษณาว่าการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นระบบปิดก็ดี ระบบเปิดก็ดี มันจะส่งผลให้กับการกักเก็บน้ำ แล้วจะช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนที่จำเป็นต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคหรือแม้แต่การทำเกษตรกรรม มันจะมีผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ผมอยากจะฝากไว้ แล้วถ้ามีโอกาสในครั้งหน้าถ้าท่าน มารายงานผมจะติดตามเรื่องนี้ต่อว่า ท่านเอางบประมาณเรื่องเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ แล้วก็งบวิจัย งบอะไรต่าง ๆ เอาไปใช้อย่างไร ให้มันเกิดประโยชน์แค่ไหน อันนี้ในประเด็น อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้นะครับ

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในเรื่องของเงิน เงินรอการตรวจสอบนี้เมื่อสักครู่พูดไปแล้ว ไม่เป็นไรครับ ผมไม่พูดซ้ำ แต่ว่าผมอยากฝากอีกนิดหนึ่งสั้น ๆ นิดเดียวในเรื่องของเงินที่เหลือคืนคลัง ผมไม่อยากให้ท่านไปคิดเป็นตัวชี้วัดว่ามันเป็นผลสำเร็จของหน่วยงาน แต่อยากให้มีเงิน งบประมาณเอาไปจัดเป็นกองทุนแล้วส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากเงินงบประมาณ เหล่านี้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ พร้อมไหมครับ อย่างนั้นผมขออนุญาตข้ามก่อน เชิญท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออภัย ผมอ่านผิดใบครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

แก้ไขด้วย เพราะว่าเดี๋ยวเพื่อนสมาชิก จะเสียหายว่าไม่อยู่ในห้อง ท่านอภิปรายไปแล้ว ท่านประธานน่าจะเปิดผิดหน้า

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอโทษด้วยครับ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ทั้งท่านธัญธารีย์แล้วก็ท่านพูนศักดิ์อภิปรายไปแล้ว ขออภัยนะครับ ต่อไปเป็นท่านสุไลมาน บือแนปีแน ครับ

นายสุไลมาน บือแนปีแน ยะลา ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สุไลมาน บือแนปีแน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ขอบคุณท่านประธานที่ให้โอกาสได้พูด ผมเข้าใจว่าชื่อผม หายไปแล้ว ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางตัวแทนกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่ได้เข้ามาชี้แจง แล้วก็มารับฟังข้อสังเกตจากเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติของสภาเราในวันนี้ ซึ่งหลาย ๆ ท่าน ได้นำเสนอแล้วก็ได้สะท้อนถึงปัญหา ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ของเรา ท่านประธานครับ หนึ่งในพันธกิจของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลก็คือการเพิ่มบทบาท และเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและใช้ ทรัพยากรน้ำบาดาล ในประเทศไทยเราใช้งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลกับการก่อสร้าง ระบบชลประทาน แต่ในขณะเดียวกันกลับมีพี่น้องจำนวนมากที่อยู่นอกระบบชลประทาน แล้วก็ยังคงได้รับปัญหา แล้วก็ยังขาดในเรื่องของการเข้าถึงของน้ำ ยังมีอีกหลายที่ครับ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในทุก ๆ สัปดาห์ที่เรามีการประชุม ในการหารือทุกครั้งก็จะมีเรื่องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุก ๆ เพื่อนสมาชิกได้สะท้อนหารือผ่านไปยังท่านประธาน ดังนั้นแล้ว ทรัพยากรน้ำบาดาลจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอันดับ ๑ ของพี่น้องประชาชน เพื่ออะไร เพื่อการบริโภคอุปโภค และที่สำคัญคือเรื่องของการทำการเกษตร ผมก็เลยอยากจะชี้ให้เห็น ถึงปัญหาในเรื่องของอุปโภคบริโภคแบ่งอยู่เป็น ๒ ปัญหาหลัก ๆ ด้วยกัน ๑. ในเรื่อง ของด้านปริมาณน้ำ ๒. ในเรื่องของด้านคุณภาพ ท่านประธานครับ ในภูมิประเทศบ้านผมเอง จังหวัดยะลาหรือพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี วันนี้ภูมิประเทศบ้านผมโดยส่วนใหญ่แล้ว บางส่วนก็จะมีภูเขาบ้าง ที่ราบบ้าง ในส่วนที่ราบ อาจจะยังคงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของน้ำบาดาลเท่าไร แต่วันนี้ถ้าเราสังเกตดี ๆ จังหวัด ยะลาเองเรามี GDP ที่มาจากส่วนภาคการเกษตรมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ วันนี้ถ้าเราจะเห็น ก็คือเรื่องของทุเรียนครับ วันนี้ผลผลิตของพี่น้องชาวยะลาที่ผลิตสู่ตลาดเพื่อให้พี่น้อง ประชาชนและส่งออกไปยังต่างประเทศก็ดี อย่างน้อยที่สุดปีนี้เราผลิต ๘๐,๐๐๐ กว่าตัน ฉะนั้นแล้วเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญกับภาคเกษตรกรในเขตพื้นที่บ้านผมเป็นอย่างยิ่งนะครับ และที่สำคัญก็คือต้นทุเรียนบางส่วนไปปลูกในส่วนที่เป็นหุบเขา ไม่ว่าจะเป็น Zone อำเภอบันนังสตาก็ดี อำเภอเบตงก็ดี อำเภอกาบังก็ดี วันนี้ภาคเกษตรกรยังคงประสบปัญหา ในเรื่องน้ำอีกหลายเรื่อง ซึ่งทางกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลผมเข้าใจว่าเป็นกองทุนที่ให้ ความสำคัญในเรื่องของการวิจัย วันนี้เราจะทำอย่างไรในเรื่องของการที่จะพัฒนา เรื่องของการเพิ่มปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำก็ดี ถ้าดูจากรายงานที่เข้ามาชี้แจงในสภาวันนี้ ในหลาย ๆ โครงการดูเหมือนว่าจะเป็นงานวิจัย แต่ถ้าเราไปลง Detail ลึก ๆ จริง ๆ ไม่ต่างจากงานก่อสร้างเลยครับ ฉะนั้นแล้ววันนี้อยากจะให้ย้อนกลับไปดูถึงเป้าหมายหลัก สำคัญในเรื่องของการวิจัย ก็อยากจะให้เน้นในเรื่องของการวิจัยจะทำอย่างไรในการที่จะ เพิ่มปริมาณน้ำให้เสมอภาคในส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ท่านประธานครับ ในวันนี้ถ้าเรา ดูในหลาย ๆ โครงการก็ดีที่ได้ลงงบประมาณไปเพื่อก่อสร้าง ถ้าเราไปดูแล้วโครงการต่าง ๆ ที่สร้างไว้วันนี้อาจจะมีสภาพที่ไม่สามารถพร้อมในการใช้งาน ฉะนั้นเราอยากจะฝากในเรื่อง ของการลงไปดูเพื่อทำให้งบประมาณที่เราลงไปแล้วสามารถยังคงใช้งานได้อีก เพราะสิ่ง เหล่านี้คืองบประมาณที่มาจากพี่น้องประชาชนนะครับ และสุดท้ายท้ายที่สุดผมเชื่อ เป็นอย่างยิ่งว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาลจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับพี่น้องเกษตรกรในฤดูแล้ง ฉะนั้นแล้ววันนี้ปัญหาหลัก คือในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำจะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่ยังไม่ได้รับงบประมาณ หรือพื้นที่ ที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำบาดาลมีส่วนร่วมจากกองทุนให้มากที่สุดนะครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ครับ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต ๗ อุบลราชธานี ดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ตามที่ดิฉันได้ฟังและดูรายงานของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ดิฉันพบว่ามีการเรียกเก็บเงิน จากพี่น้องเกษตรกรอยู่ ๒ ส่วน ส่วนแรกคือค่าใช้น้ำบาดาลตามมาตรา ๗ (๒) และส่วนที่ ๒ คือค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล มาตรา ๗ (๒/๑) โดยการเรียกเก็บเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามเกษตรกรอยู่ใน ส่วนที่ได้รับยกเว้นการอนุรักษ์น้ำบาดาล โดยการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก และเพื่อการเลี้ยงสัตว์ในอัตราไม่เกินวันละ ๕๐ ลูกบาศก์เมตร ในอดีตเวลาพูดถึงภาคอีสาน ทุกคนคงจะนึกถึงความแห้งแล้ง นึกถึงดินที่แตกระแหง และนึกถึงความยากจนใช่ไหมคะ จนถึงปัจจุบันนี้ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ยังคงแห้งแล้ง ในหลายพื้นที่ของอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ ของดิฉันประชาชนยังคงทุกข์ยากลำบาก และชลประทานก็ยังเข้าไม่ถึงในหลาย ๆ พื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานีบ้านเกิดเมืองนอนของดิฉันเองเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านถึง ๓ สาย แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และรวมถึงลำน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลผ่านอีกหลาย ๆ สาย ซึ่งย้อนแย้งกับการจัดสรรน้ำเหลือเกินค่ะ เพราะแม้ว่าจะอยู่ติดกับแม่น้ำหลายสาย แต่ระบบ การกระจายน้ำก็ยังไม่ทั่วถึงประชาชน ทุกวันนี้ในเขตพื้นที่ของดิฉัน ยกตัวอย่างเช่น อำเภอสิรินธรพี่น้องประชาชนต้องลุ้นกันทุกวัน เพราะเขาต้องใช้น้ำประปาที่ได้มาจากน้ำผิวดิน นอกจากจะลุ้นกับการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา ทุก ๆ วันยังคงต้องลุ้น เปิดก๊อกน้ำแต่ละทียังคง ต้องลุ้นว่าวันนี้น้ำจะขุ่นหรือว่าน้ำจะใส ดิฉันห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนของดิฉันค่ะ เพราะการเก็บน้ำผิวดินไว้ในบ่อเก็บเช่นนี้มีโอกาสนำเชื้อโรคกลับมากระจายสู่พี่น้อง ประชาชนได้ และในส่วนของภาคการเกษตรตอนฝนตกน้ำก็ท่วมหนัก แต่พอฝนแล้งก็แล้งหนักมากเช่นกัน ไม่รู้จะหาน้ำที่ไหนมาทำการเกษตร ลำพังสินค้าทางการเกษตรตกต่ำก็ลำบากมากพออยู่แล้ว แต่เขาก็ยังคงต้องเอาเงินเก็บไปจ้างเอกชนมาเจาะน้ำบาดาลอีก ทุกข์อยู่ ทุกข์แล้ว และต้องทุกข์ต่อไปอีก ทุกข์ซ้ำ ทุกข์ซ้อน แต่ก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่เจาะแล้วยังไม่จบ ด้วยความที่เขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพยากร น้ำบาดาล และการขอ นบ.๔ นบ.๕ ก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเอกสาร หนำซ้ำหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ พี่น้องของดิฉันก็ต้องกระเสือกกระสนทำทุกวิถีทาง เพื่อจะหาน้ำมากิน หาน้ำมาใช้ จากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ก็ได้รับฟังปัญหานี้มาตลอด ฟังแล้ว อดเห็นใจไม่ได้ กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทต้องแบ่งมาเจาะน้ำบาดาล ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะถ้าหากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลตรวจพบว่าพี่น้องเกษตรกรไปเจาะน้ำบาดาล มาใช้เองก็ต้องโดนปรับภายหลังอีก แค่จะมีน้ำใช้ในแต่ละวันต้องยากลำบากขนาดนี้เลยหรือคะ เมื่อประชาชนต้องเจาะน้ำบาดาลแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ส่งผลถึงการวิเคราะห์การใช้น้ำบาดาล รวมถึงการอ้างอิงถึงพื้นที่เกษตรเพื่อวางแผนและปรับปรุงการใช้น้ำในอนาคต จึงเกิด ความคลาดเคลื่อนหรือใช้การไม่ได้เลย เพราะจำนวนของบ่อบาดาลจริงที่ขึ้นทะเบียน มีในระบบเพียงแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และยังมีบ่อบาดาลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก เป็นจำนวนมาก จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดดิฉันมีข้อแนะนำจึงขอฝากทางคณะกรรมการ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ๓ ข้อ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ข้อแรก ดิฉันอยากให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตั้งโครงการให้หน่วยงาน ท้องถิ่นที่มีความจำเป็นขอให้มาสำรวจและขุดเจาะให้บริการให้ทั่วถึงมากกว่านี้ หากมีติดขัด เรื่องทรัพยากรหรือรถขุดเจาะไม่เพียงพอ ก็ขอให้ท้องถิ่นขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณ มาที่กองทุน เพื่อไปแก้ไขปัญหาความลำบากเรื่องน้ำบาดาลให้พี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ดิฉันขอให้หาวิธีการงดเว้นค่าปรับชั่วคราวให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้การบริหารการใช้น้ำบาดาลอย่างเป็นระบบถูกต้องและแม่นยำ นำบ่อน้ำบาดาลทุกบ่อ เข้าสู่ระบบ กระตุ้นให้พี่น้องเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำฐานข้อมูล และการมีส่วนร่วม ในการดำเนินการของโครงการน้ำบาดาลในพื้นที่นั้น ๆ ค่ะ

นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ดิฉันอยากให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย เช่นระบบ Online ปริมาณ การใช้น้ำบาดาลจะลองติดตั้งแบบสุ่มกระจายตัวอย่างทั่วประเทศก็ได้ เพื่อรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้สามารถมีข้อมูลนำมาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในอนาคตได้อย่างแม่นยำค่ะ ฝากถึงพี่น้องที่รักของดิฉันทุกคนนะคะ พี่น้องทางบ้านค่ะ สู้เขาเด้อค่ะ บ้านเฮามันแล้ง สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ผู้แทนของพ่อแม่พี่น้องขอสู้ ขอเป็นปากเสียงแทนพ่อแม่พี่น้องบ้านเฮาทุกคนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตนะครับ ท่านเกรียงศักดิ์ติดภารกิจเล็กน้อย ขอผ่านไปก่อนครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ถ้าอย่างนั้นขอไปที่ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ครับ

นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย กระผมต้องขอกราบขอบพระคุณทางคณะกรรมการและผู้ชี้แจงจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ทุก ๆ ท่าน ท่านประธานที่เคารพครับ น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นและเป็นแหล่งน้ำ ทางเลือกที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรรม แล้วก็น้ำที่จะใช้ในชุมชนต่าง ๆ ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบ น้ำบาดาลมากว่า ๔๐ กว่าปีแล้ว อดีตที่ผ่านมาการใช้น้ำบาดาลนี้มีปริมาณมาก แล้วก็มีการใช้ ในเรื่องของเกษตรกรรมมีอย่างจำกัด และตอนนี้มีไม่เพียงพอกับเกษตรกรรมแล้วก็กับพี่น้อง ประชาชนทั้งประเทศ จนปี ๒๕๔๖ นี้ผมทราบมาว่ามีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นในกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ หรือโดยย่อว่า กพน. มีวัตถุประสงค์ ก็เพื่อเป็นทุนการใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พัฒนาในเรื่องเกี่ยวกับน้ำบาดาล โดยสำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาลมีอำนาจหน้าที่ ในการบริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลต่าง ๆ ของกองทุน จากรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ที่แสดง รายงานทางการเงินมีสาระสำคัญก็คือ งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงาน ทางการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิและส่วนทุน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมมีข้อสังเกตฝากท่านประธานไปถึงทางคณะกรรมการผู้ชี้แจงในส่วนของกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน ซึ่งระบุว่าค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่าย ที่รัฐจ่ายเป็นเงินอุดหนุน หรือเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่องค์กรหรือบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับ ผลตอบแทนทางการเงิน หรือไม่ได้รับสินค้าและบริการใด ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรง ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนนี้จ่ายตามกฎหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลหรือเพื่อวัตถุประสงค์ ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น กระผมต้องขออนุญาต เอ่ยนามท่าน สส. ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อันนี้ต้องขอกราบขอบคุณด้วยที่ท่านได้ตั้งข้อสังเกต ในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนและบริจาค ทั้งหมด ๙๗ โครงการ ในปี ๒๕๖๓ ซึ่งมีเงินทั้งสิ้น ๒๙๔ กว่าล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ มีเงินอุดหนุนสูงถึง ๕๙๕ กว่าล้านบาท ซึ่งมีความแตกต่างกันมากทั้ง ๒ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่เป็นการศึกษาโครงการสำรวจ พัฒนา และอบรมตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ภาคใต้มีอยู่ ๔ โครงการ ๒ ปี ยกตัวอย่าง โครงการที่ ๗ สำรวจเขตอุทยานอุทกธรณีวิทยาน้ำบาดาล ศึกษาแหล่งน้ำบาดาลที่จังหวัด สงขลาและน้ำพุร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โครงการที่ ๓๒ อบรมแนวทางบริหาร จัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพังงา โครงการที่ ๗๐ สำรวจปริมาณศักยภาพน้ำบาดาลที่จังหวัดภูเก็ต และอีกโครงการ โครงการที่ ๔ โครงการที่ ๘๖ ศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ที่อำเภอปากพะยูน ที่ตำบลเกาะนางคำ จังหวัดพัทลุง ๔ โครงการที่ภาคใต้ มีทั้งหมด ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ๒ ปี ในงบอุดหนุนและงบบริจาคมี ๔ โครงการ เลยตั้งข้อสังเกตว่า ท่านใช้แนวทางไหนในการที่พิจารณาหรือในการที่จะอุดหนุนให้กับแต่ละจังหวัดอย่างไร ก็ต้องขอขอบคุณทางท่าน สส. ที่ได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้แล้วนะครับ เป็นการตั้งข้อสังเกต ท่านประธานที่เคารพครับ ที่บ้านผมจังหวัดระนองน้ำแล้ง ไม่น่าเชื่อฝนแปดแดดสี่ ไม่มีน้ำเลย เมื่อน้ำแล้งต้องหาน้ำ บางครั้งวิ่งไปขอใช้น้ำจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะยิ่งสวนทุเรียน สวนมังคุด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ส่งออกทั่วโลก ที่บ้านในวง อำเภอละอุ่น และน้ำแล้ง ที่ตำบลบางแก้ว แล้วก็ที่ กม. ๓๐ ซึ่งอยู่ในส่วนของเกษตรและชุมชนทั้งสิ้นไม่มีน้ำใช้ จึงขอฝาก ท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจง ตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่าท่านใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการที่จะอุดหนุน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี หรือที่จังหวัดอื่น ๆ ก็ดี แต่มีส่วนหนึ่งผมโชคดีพอดี ผมให้ผู้ช่วยและทีมงานได้ไปขอข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทสจ. ของจังหวัด ท่านก็ได้ฝากไปที่สำนักงานเขตจังหวัดตรัง และผมก็ได้ข้อมูลมาว่าจังหวัดระนองโชคดียังมี สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๖ จังหวัดตรัง มีการดำเนินการในปี ๒๕๖๕ มีอยู่ ๕ แห่ง ก็มีเกษตรกร ๔ แห่ง ชุมชน ๑ แห่ง ปี ๒๕๖๖ ๓ แห่ง มีเกษตร ๒ แห่ง แล้วก็ชุมชนอีก ๑ แห่ง และสิ่งหนึ่งที่ผมฝากไปที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โครงการที่ ๒๒ ที่มีการศึกษาสำรวจและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ขนาดใหญ่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ SEC เรามีการพูดถึงอยู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ต้องขอฝาก ท่านประธานถึงกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลด้วยช่วยพิจารณาที่จะต้องช่วยผลักดันในการศึกษา ลงมาที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดระนอง นั่นคือมีโครงการ Megaproject Landbridge ที่จะเกิดขึ้น วันนี้ระนองยังไม่มีน้ำใช้ ก็คงฝากท่านประธานไปถึงกองทุน พัฒนาน้ำบาดาลด้วยว่าอย่างไรก็ขอให้ความสำคัญกับพี่น้อง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดระนองครับ ขอกราบขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายรายงานงบการเงินและกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งเป็นงบประมาณที่ทราบกันดี ทั่วประเทศว่ามีความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานที่เราดู ปริมาณน้ำบนโลก ขอ Slide นะครับ

นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ

ซึ่งมีปริมาณน้ำทั้งมหาสมุทร ๙๗ เปอร์เซ็นต์ ตามแผนผังนี้เราจะเห็นว่าการบริหารจัดการน้ำจะมีทั้งน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน สำหรับน้ำบนดินเป็นที่ทราบกันว่าเราจะต้องบริหารจัดการในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน น้ำใต้ดินนั้น เป็นทรัพยากรที่มีจำนวนมาก ภาพที่ ๒ เราสามารถที่จะเอาน้ำประปาบาดาลใต้ดินมาพัฒนา เศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ของไทยเราได้ โรงงานที่ผมกล่าวถึงมีการบริหารจัดการเป็นหมื่น ๆ ล้านโดยใช้ทรัพยากร น้ำใต้ดินเรามาบริหาร ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เสียดายที่เจ้าของเป็นคนสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็มีส่วนหนึ่ง ที่ถือหุ้นของประเทศไทย ไม่เป็นไรครับ นี่ก็คือการนำน้ำใต้ดินมาพัฒนาสามารถที่จะยกระดับ เคลื่อนทัพเศรษฐกิจของไทยเราได้ ส่วนภาพที่ ๓ ก็จะเป็นเรื่องเครื่องจักรกลที่จะเป็น เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเขต ๑๐ จังหวัดอุดรธานีดูแล ๖ จังหวัด อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร นครพนม หนองคาย บึงกาฬ ซึ่งผมก็ขออนุญาตเอ่ยนามที่ท่าน ผอ. วินิต ดูแลเป็นอย่างดีในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แล้วภาพต่อไปครับ นี่คือการปฏิบัติหน้าที่ ของพี่น้องเราก็คือคนที่ท่านดูแล ภาพต่อไป อันนี้ผมมีโอกาสได้ไปดูพื้นที่ที่ขุดเจาะ บ่อน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผู้อำนวยการเขต ๑๐ ท่านก็ได้ดำเนินการที่อำเภอ หนองวัวซอเขตเลือกตั้งของผมตอนนี้ก็ติดตั้งไปหลายหน่วยงานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีความต้องการน้ำประปาบาดาลที่จะมาใช้ในการอุปโภคบริโภค เพราะพี่น้องส่วนมากก็เป็นเกษตรกร ฉะนั้นกิจกรรมที่เราจะต้องช่วยพี่น้องเกษตรกร นั่นก็คือน้ำ แหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องนำมาใช้โดยเฉพาะน้ำใต้ดินน้ำบาดาล ซึ่งเรามีทรัพยากรตรงนี้มากมาย บางคนก็อาจจะบอกว่ามีธนาคารน้ำใต้ดินเยอะแยะ แต่เราไม่สามารถที่จะนำมาใช้ เนื่องจากว่าขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ ผมเข้าใจดีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นผมมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาสามารถ ที่จะทำงานได้เลย ไร้รอยต่อนะครับ ฉะนั้นฝากพี่น้องที่เป็นเกษตรกรว่าพวกเราห่วงใย ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน ไม่ว่าอยู่พรรคอะไร ก็มีความสนใจ แล้วก็ให้ความมั่นใจในพี่น้องประชาชนว่าเราทำงานเพื่อพี่น้องเกษตรกร เพื่อที่จะยกระดับ กระดูกสันหลังของชาติให้เป็นผู้ที่มีรายได้ นอกจากราคาพืชผลดีแล้วมันจะต้องมีแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ฉะนั้นฝากหน่วยงานของท่านนะครับ ถ้าท่าน บริหารจัดการตรงนี้มีปัญหาอะไร ท่านมีหน้าที่ที่จะแจ้งและรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราจะได้รับทราบร่วมกัน แล้วก็นำปัญหานี้ไปแก้ไขให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้อง ชาวเกษตรกรผู้เป็นสันหลังของชาติ ไม่ว่าจังหวัดอะไรหรือทุก ๆ จังหวัด โดยเฉพาะ ที่จังหวัดอุดรธานีเขตเลือกตั้งของผมนี้ก็ยังต้องการบริหารจัดการน้ำในการที่จะส่งเสริม พืชเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าว มัน ยางพารา ปาล์ม ทุกสิ่ง ซึ่งทุกอย่างเราต้องมี การบริหารจัดการน้ำที่ดีแล้วก็เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเชิญท่านพชร จันทรรวงทอง

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากการที่ผมได้อ่านรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ พบว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาลหรือ กพน. จัดตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์เป็นทุนใช้จ่าย ในการศึกษา วิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อพิจารณา ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ถือว่าเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ดีมาก เพราะน้ำคือชีวิต ประชากรบนโลกทุกคนล้วนต้องการน้ำเพื่อดำรงชีวิตนะครับ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขจัดความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน และในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงในเขตพื้นที่ของผม อำเภอสีคิ้วและอำเภอปากช่องยังขาดแคลนน้ำผิวดินหรืออยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ การพัฒนา แหล่งน้ำขึ้นเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งในรูปแบบของอุปโภค บริโภคหรือเพื่อการเกษตร ถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการจัดหา น้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อทุกหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้าน ทรัพยากรน้ำให้แก่ประชาชน และเมื่อพิจารณาในรายงานฉบับนี้มีข้อสังเกตดังนี้

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๑ ในเรื่องของเงินสดและการเทียบเท่าเงินสดพบว่าในปี ๒๕๖๓ มีสินทรัพย์ส่วนนี้ถึง ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ในปี ๒๕๖๔ พบว่าสินทรัพย์ในส่วนนี้ มีเงินสดเหลือ ๑,๔๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๖๓ ถึง ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท และเมื่อมาดูหมายเหตุข้อ ๕ หน้าที่ ๑๐ พบว่าเงินฝากคลังซึ่งเป็นเงินที่หน่วยงานได้ฝากไว้ กับกระทรวงการคลังภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายโดยไม่มีดอกเบี้ย สามารถเบิกถอนได้ เมื่อต้องการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ในระเบียบที่ระบุข้อจำกัดในการใช้จ่าย ผมจึงมีข้อสังเกตว่า เงินฝากคลังในปี ๒๕๖๔ ลดลงจากปี ๒๕๖๓ เป็นอย่างมาก ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท และอยากสอบถามไปทาง กพน. ว่าได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง เพราะเพียงแค่ ปีเดียวได้มีการเบิกเงินในส่วนนี้ใช้จ่ายถึง ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๒ เมื่อมาดูตรงหมายเหตุข้อ ๖ หน้าที่ ๑๑ ลูกหนี้การค้าพบว่า ในปี ๒๕๖๔ มีรายได้ค้างรับ ซึ่งถือเป็นรายได้จากค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ที่หน่วยงานจัดเก็บรายได้ต่าง ๆ ค้างนำส่งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ เป็นจำนวนสูงถึงกว่า ๒๗๙ ล้านบาท จึงอยากสอบถามทาง กพน. ว่าจะมี แนวทางในการจัดการหรือดำเนินการกับรายได้ค้างรับส่วนนี้อย่างไร เพื่อให้สามารถติดตาม รายได้ส่วนนี้นำกลับเข้ากองทุนได้โดยเร็ว เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้รายได้ค้างนำส่งกองทุน เนิ่นนานเป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปี และในส่วนของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่จำนวนสูงถึงกว่า ๑๖๘ ล้านบาท เป็นค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ ค่าใช้น้ำบาดาล และค่าอนุรักษ์ น้ำบาดาล ที่ค้างชำระระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ เช่นกัน ในส่วนนี้ก็อยาก จะขอสอบถามทาง กพน. ว่ามีมาตรการที่จะติดตามหนี้สงสัยจะสูญในส่วนนี้อย่างไรเพื่อที่จะ ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้สูญ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๓ จากวัตถุประสงค์ของกองทุนที่เป็นทุนใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี ๒๕๖๔ กองทุนได้มีค่าใช้จ่าย อุดหนุนแล้วบริจาคเป็นจำนวนเกือบ ๖๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่ง กพน. ได้นำไปใช้จ่ายในหลาย โครงการเกือบ ๑๐๐ โครงการ จึงอยากสอบถามว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เงินกองทุนได้นำไปใช้ ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนหรือไม่ และโครงการต่าง ๆ เหล่านี้มีดัชนีชี้วัดอย่างไร ว่าสามารถนำผลประโยชน์กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนได้จริง และความคืบหน้าของแต่ละ โครงการเป็นไปอย่างไรบ้าง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยของเราได้ประสบปัญหาภัยแล้ง El Nino ทาง กพน. ได้มีแผนงานหรือแนวทางในการรับมือปัญหานี้อย่างไรบ้างและมีแนวทาง อย่างไรที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรหรือผู้ใช้น้ำให้สามารถมีน้ำกินน้ำใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะมีคำกล่าวที่สำคัญว่า ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ในส่วนนี้จึงอยากฝากให้ทาง กพน. เตรียมพร้อมที่จะ รองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งกับพี่น้องประชาชน

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

ข้อสังเกตที่ ๔ ค่าใช้จ่ายอื่นในหมายเหตุข้อ ๒๔ หน้า ๒๙ ในรายงาน พบว่ามีการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์สูงถึงกว่า ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ หลายร้อยล้านบาท ในส่วนนี้จึงอยากสอบถามทาง กพน. ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้มีการขาดทุน จากการโอนสินทรัพย์เยอะถึงเพียงนี้ แล้วสินทรัพย์ที่โอนไปเป็นสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง ท่านประธานครับ จากทั้งหมดนี้มีการเงินหลายรายการที่กระผมมีข้อสงสัย เพราะว่า ทาง กพน. มีค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ในส่วนนี้จึงอยากฝากให้ทาง กพน. มีความละเอียดรอบคอบหรือมีการตรวจสอบการดำเนินงานอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน แล้วขอให้ทางกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง El Nino เพื่อพี่น้อง เกษตรกรชาวไทยทุกคน ขอขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับ วันนี้เรามีคณะครูแล้วก็นักเรียนจากโรงเรียนบ้านปากพู่ จังหวัด พังงา ได้รับชมอยู่ด้านบนด้วย ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้าย ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณทางกองทุน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ได้มาชี้แจงต่อสภาในวันนี้ ความจริงถ้าเอาตามที่ท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ พูดก็ต้องบอกว่ากรมนี้เป็นกรมที่อุดมไปด้วยนักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร นักธรณีวิทยา เรียกว่ามีนักปราชญ์ราชบัณฑิตแน่นกรม แต่โจทย์ที่ต้องตีให้แตกก็คือว่าเราจะเอาองค์ความรู้ ที่มีอย่างมากมายนั้นไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องตามไปดู ก็คือว่างานวิจัยที่ได้ใช้งบประมาณโดยการสนับสนุนของกองทุนนั้นได้ถูกนำไปต่อยอด นำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เราไม่อยากเห็น งานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง แต่ต้องเป็นงานวิจัยที่เอาลงมาจากหิ้ง และไปแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง ให้กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานครับ น้ำคือชีวิต น้ำคือปัจจัยพื้นฐานในการผลิต อย่างน้อยก็ ๓ ด้านหลัก ๆ ก็คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรม น้ำเพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมก็แบ่งได้ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะปัญหา El Nino ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโลกร้อน จริงอยู่ว่า เรามีน้ำในผิวดิน แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ใส่ใจหรือมุ่งมั่นในการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดินที่ดูแล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลนั้น ก็เรียกว่าเราจะขาดโอกาสการเติมความมั่นคงในเรื่อง ทรัพยากรน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชน แต่เรื่องของการพัฒนารัฐบาลได้ให้นโยบายไว้ ว่าสนับสนุนงานวิจัยที่จะไปดูในเรื่องของ ๑. เกี่ยวกับการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นหลัก ๒. งานวิจัยนั้นจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแล้ง ๓. ต้องเป็น การสร้างความสมดุลและบริหารจัดการโครงการศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนา และอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย คำถามต่อไปก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงเงินสนับสนุนของกองทุน ๑. งานวิจัยนั้นจะต้องมีเป้าหมายและมีแนวทางที่ชัดเจน ๒. ตอบสนองต่อความต้องการ ของประชาชน ๓. นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ผมมีข้อห่วงใยสัก ๕ ประการด้วยกัน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อห่วงใยประการที่ ๑ ทำอย่างไรเราถึงจะเปิดกว้างให้นักวิจัยได้สามารถ เข้าถึงเงินสนับสนุนได้กว้างและมาก และหลากหลายกว่านี้ ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ได้รับ งบวิจัยสนับสนุนนั้นไม่เป็นการ Lock Spec หลายโครงการต่างคนต่างทำ มองปัญหา แบบแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อห่วงใยประการที่ ๒ ผมอยากจะให้เทียบสัดส่วนของงบสนับสนุนงานวิจัย ว่าได้รับงบไปแล้วงานวิจัยดังกล่าวถูกนำไปปรับใช้ ถูกนำไปต่อยอด ไปใช้จริงอย่างไร ถ้าเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ศึกษาและวิเคราะห์ความคุ้มค่า คุ้มทุนได้อย่างชัดเจน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อห่วงใยประการที่ ๓ ผมอยากให้กองทุนได้ออกสำรวจแหล่งน้ำ ออกให้เยอะ สำรวจให้มาก ขุดให้มาก อย่าไปผลักภาระหรือไปฝากความหวังไว้กับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จะฝากไว้ อบต. หรือองค์กรใดก็ตามแต่ เขามีปัญหาทั้งเรื่องของบุคลากร เรื่องของเครื่องมือเครื่องไม้ เรื่องของงบประมาณ อยากจะฝากในข้อที่ ๓ ว่าอยากให้ทาง กองทุนสำรวจให้มาก แล้วขุดเจาะให้มาก งบไม่พอมาบอกครับ จะบอกกรมทรัพยากร น้ำบาดาลหรือบอกทางกระทรวงก็ได้ แล้วก็บอกรัฐบาลได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อห่วงใยประการที่ ๔ มีการแอบอ้างจากมิจฉาชีพให้เข้าใจว่าสามารถ จะวิ่งเต้นให้เข้าถึงเงินสนับสนุนของนักวิจัย เข้าถึงกองทุนได้ ซึ่งตกเป็นข่าวแล้วก็มีเหยื่อ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และเรื่องของการแอบอ้างนั้นไม่ได้หลอกเฉพาะนักวิจัย มีการไปหลอกลวงพี่น้องประชาชนซึ่งไม่เกี่ยวกับกองทุน ไม่เกี่ยวกับทางกรม เช่นกรณี ของการอ้างว่าได้รับงบอุดหนุน เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จากการขุดเจาะ บ่อบาดาล ๑ บ่อประมาณ ๑ ล้านบาท แต่ว่าได้รับเงินอุดหนุนเหลือแค่บ่อละ ๒๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท พี่น้องประชาชนก็ไปลงขันกันมา สุดท้ายได้ลงเงินครับ แต่ว่า ไม่ได้บ่อ เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะการแอบอ้าง คือชื่อกองทุนนี้ดีกองทุน พัฒนาน้ำบาดาล ถูกนำไปแอบอ้างทั้งในส่วนของให้นักวิจัยเข้ามาและในส่วนของพี่น้อง ประชาชน ผมอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานพี่น้องประชาชนคนอีสานขาดน้ำ ท่านอดีตอธิบดี ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ก็บอกว่าน้ำบนผิวดินภาคอีสานอาจจะขาด แต่แหล่งน้ำใต้ดินที่สั่งสมมา เป็นพันปีหมื่นปีเราสามารถนำไปพัฒนาแล้วก็ต่อยอดได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท้ายที่สุด ผมขอให้กำลังใจทั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แล้วก็กรมทรัพยากร น้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ได้เดินหน้าทั้งเรื่องงานวิจัย แล้วก็ไปขุดเจาะให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชนครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ สมาชิกที่เข้าชื่อก็ได้อภิปรายจนครบถ้วนแล้ว ต่อไปขอเชิญทางผู้ชี้แจง ได้ตอบข้อซักถามแล้วก็การอภิปรายของสมาชิกเลยครับ เรียนเชิญครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ กราบขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะ ติชม แล้วก็คำถามนะครับ คำถามมีทั้งหมด ๒๕ ท่าน ผมขออนุญาตไปเร็ว ๆ นะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ก็ต้องขอบคุณท่านเป็นอย่างมากที่ได้กรุณา ให้ข้อเสนอแนะหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการนำงานวิจัยไม่ใช่แค่อยู่ในหิ้ง ที่เอามาใช้ ได้จริงนะครับ ซึ่งกรมก็มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน ก็ขอบพระคุณท่านครับ แล้วก็ในส่วน ของเกาะนางคำหรือว่าพื้นที่ต่าง ๆ ใด ๆ ก็ตามในพัทลุง เดี๋ยวทางเราจะให้ทางเจ้าหน้าที่ ประสานไปเพื่อจะพิจารณาต่อไป ถ้าตรงไหนเข้าแผนได้ก็จะเข้าแผนเลย ขอบคุณครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒ ท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สอบถามเรื่องลูกหนี้ค้าง ๑๗๐ ล้านบาท ปัจจุบันก็ได้ส่งเข้าคืนคลังแผ่นดินครบเรียบร้อยแล้วครับ แล้วก็ในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง ๑,๐๐๐ ล้านบาท เนื่องจากโครงการศึกษาวิจัยของเราบางครั้งมีการก่อสร้างด้วย ไม่ว่า จะเป็นระบบก่อสร้างที่เป็นระบบใหญ่ ซึ่งมีถัง มีบ่อ มีปั๊มน้ำ ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเป็น ราคาในสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับเงินที่ถูกโอนทรัพย์สินติดลบ ๖๐๐ ล้านบาท ก็คือการที่เราโอนทรัพย์สินและทยอยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำต่อไป ในส่วนของโครงการเสริมสร้าง ๙๗ ล้านบาท จริง ๆ เป็นโครงการที่เงินไม่เยอะนะครับ จริง ๆ คนที่ได้รับก็คือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ๗๖ จังหวัด หรือเราเรียกว่า ทสจ. สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้ใน การตรวจสอบบ่อเถื่อน แล้วก็เร่งรัดหนี้สิน หนี้ค้างต่าง ๆ ส่วนในเรื่องของศูนย์เรียนรู้พัฒนา จัดการน้ำบาดาลเรามีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้จริงที่บางเขน ซึ่งเราก็ได้รับนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษามากมาย ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติท่านใดอยากจะมาเยี่ยมชม กรมก็ยินดีครับ ในส่วนของน้ำหลายพื้นที่ไม่ผ่านกรมอนามัย ส่วนใหญ่ของเราน้ำบาดาล ก็ผ่านเกณฑ์หมดนะครับ ยกเว้นบางพื้นที่ไม่ทราบว่าถ้ามีก็รบกวนให้รายละเอียดกรม กรมจะได้เข้าไปดูแล ขอบคุณครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๓ ท่านประเสริฐ บุญเรือง ได้ให้ข้อชี้แจง เสนอแนะหลายเรื่อง แล้วก็เร่งรัดกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเรื่องของการเบิกจ่ายงบกลาง เดี๋ยวทางกรมจะเร่งรัด ต่อไปในการเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นให้ทันภายในปีงบประมาณครับ ขอบคุณครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๔ ท่านเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ได้กรุณาให้ข้อแนะนำในเรื่องของ การตั้งงบซ่อม ซึ่งงบซ่อมจริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านนะครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพยายามตั้งงบซ่อมตลอดเวลา เพราะว่าบางครั้งในหลายพื้นที่ ชาวบ้านไม่สามารถซ่อมเองได้ กรมก็จะพยายามเจียดเงินของกรมทุกครั้งที่ทำได้ลงไปช่วย ชาวบ้านครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๕ ท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. พรรคเพื่อไทย ก็ขอบคุณท่านที่กรุณา ให้คำชี้แนะ แล้วก็ข้อรายละเอียดเรื่องการบริหารจัดการน้ำบาดาล

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๖ ท่านสุภาพร สลับศรี ได้พูดถึงเรื่องของแผนที่ยโสธรที่ยังมีหลายพื้นที่ ที่หาพื้นที่ยาก แล้วก็เรื่องโลกร้อน ภัยแล้ง ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะนำข้อคิดเห็น ของท่าน ข้อเสนอแนะไปปรับปรุงต่อไปนะครับ แต่ถ้าเกิดมีพื้นที่ที่มีความจำเป็น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ยินดี วันนี้เรามีทีมมาเต็มประสิทธิภาพ ตามที่ท่านได้พูดไว้ มีทั้งดอกเตอร์หลายคน ทั้งนักธรณีวิทยา นักวิชาการต่าง ๆ ที่เตรียมมารับเรื่อง ถ้าเกิด มีความจำเป็นครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๗ ท่านปรเมษฐ์ จินา ที่ได้พูดเรื่องการเติมน้ำหรือว่าในเรื่องของ ทุเรียนแปลงใหญ่ ก็ขอบคุณข้อเสนอแนะแล้วก็ยินดีนะครับ ถ้าเกิดมีพื้นที่ที่จำเป็นก็ยินดี ก็รบกวน เดี๋ยวผมจะให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ แล้วก็จะนำพิจารณาเสนอเข้าแผนต่อไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๘ ท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ พูดถึงในเรื่องของอยากให้กรมมีการศึกษา เชิงลึกแล้วก็เชิงรุกมากขึ้น ก็ขอบคุณท่านนะครับ แล้วเดี๋ยวถ้าเกิดมีกรณีในเรื่องของพื้นที่ ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นในภาคใต้ เดี๋ยวผมให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๙ ท่านชยพล สท้อนดี ในเรื่องของลูกหนี้ ๑,๒๑๘ ราย ปัจจุบันนี้ ส่งครบเรียบร้อยแล้ว เมื่อครู่นี้ได้แจ้งไปแล้วครับ ขอบคุณครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๐ ท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ก็ได้พูดเรื่องเงินอุดหนุน กรณีตัวนี้ หลักเกณฑ์ตัวชี้วัดผมขออนุญาตตอบเป็นตัวหนังสือ เพราะว่ารายละเอียดมันเยอะครับ เดี๋ยวจะไม่ทันเวลา เพราะว่ามีอีกหลายรายละเอียด แล้วก็ขอบคุณท่านที่ได้มีความกรุณา ตั้งใจดีที่อยากให้กรมดำเนินการเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างทั่วถึงนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๑ ท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เรียนท่านจริง ๆ ว่ากรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้มีการไปช่วยเหลือในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเยอะมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำโจน ซึ่งน้ำเป็นกรด pH2 น้ำสีเขียวเลย หรือว่าเป็นที่ แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมี VOCs หรือที่เอกอุทัยซึ่งลงข่าว ๓ มิติตลอด ทั้ง ๓ พื้นที่ของเอกอุทัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้ร่วมมือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ก็ต้องยอมรับว่า ในบางครั้งกฎของเมืองไทยในการจัดการสิ่งแวดล้อมก็คือ Polluter Pays Principle หรือ PPP เพราะฉะนั้นหลักการเราก็ต้องฟ้องไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกันนะครับ แล้วก็ค่าฟ้องต่าง ๆ บางทีไม่ใช่หลัก ๑๐ ล้านบาท ผมยกตัวอย่างเช่นอ่างลุ่มน้ำโจนซึ่งปัจจุบันนี้ได้ฟ้องร่วม ระหว่างกรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตอนนี้ฟ้องบริษัท ไปทั้งหมด ๒,๐๐๐ ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นโจทก์ฟ้องทั้งหมด ๕๕๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินจริง ๆ ตัวนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับเงินกองทุนที่มีอยู่นะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าในบางส่วนที่เราสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางวิชาการเราทำตลอดเวลาอยู่แล้วครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๒ ท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ต้องขอบคุณท่านที่ได้กรุณาเข้าใจ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเรื่องของเครื่องจักร ซึ่งปัจจุบันนี้เครื่องจักรกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ของเราอายุมากกว่าอายุการทำงานของผมคือ ๓๐ กว่าปี ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ว่าช่างเจาะ เราก็พยายามทำอย่างสุดความสามารถครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๓ ท่านรวี เล็กอุทัย ในเรื่องของขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ก็ได้ แจ้งไปแล้ว แล้วก็ขอบคุณท่านรวีที่ได้กรุณาเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ อย่างมาก จริง ๆ ผมจบด้านบริหารจัดการน้ำ Demand-side ของประเทศตอนนี้จริง ๆ คือ ๑๕๐,๐๐๐ ล้าน อย่างที่ท่านแจ้งครับ แต่ Supply-side ตอนนี้คือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน แปลว่า จริง ๆ ประเทศยังขาดอีก ๓๐,๐๐๐ ล้าน คำถามคือเราจะบริหารจัดการเอาน้ำผิวดินกับน้ำ ใต้ดินมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Supply-side ที่ขาดไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๔ ท่านนิพนธ์ คนขยัน ก็ต้องขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาให้ข้อแนะนำ ในเรื่องต่าง ๆ เดี๋ยวกรมก็จะนำไปปรับปรุงใช้ต่อไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๕ ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ขอบคุณท่านนะครับ ผมเข้าใจในเรื่อง ภาคอีสานเป็นอย่างดีเพราะว่าได้ลงพื้นที่ภาคอีสานตลอดเวลา ก็มีความเห็นใจ แล้วตอนนี้ ก็อย่างที่ท่านว่านะครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะพยายามนำงบประมาณนี้ไปใช้ใน กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ไปใช้ในการเจาะสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยในแหล่งน้ำที่หายาก

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๖ ท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ได้พูดเรื่องการเติมน้ำใต้ดิน แล้วก็ ในเรื่องของ TV Borehole ในลูกหนี้ต่าง ๆ ตอนนี้เราได้ทำการซื้อเพิ่มเติมแล้ว TV Borehole เรามีทั้งหมด ๘ ชุด ในเรื่องของอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องบัญชีนี้เดี๋ยวขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ ตอบเป็นเอกสารอีกทีนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๗ ท่านชัชวาล แพทยาไทย ผมก็เข้าใจจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอำเภอเกษตรวิสัย แล้วก็ยังมีอำเภอปทุมรัตต์ด้วยซึ่งอยู่ในเขตที่ท่านดูแล ใน ๒ Zone นี้เป็น Red Zone หรือ Zone สีแดงของภาคอีสานใน Zone นั้นจริง ๆ ครับ ซึ่งเราก็มีโครงการหลายที่ช่วยพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นที่ศรีสมเด็จต้องยอมรับว่าธรณีตรงนั้นยาก แต่ว่ากรมจะรับไปพิจารณาแล้วก็นำเข้าแผนต่อไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๘ ท่านอดิศร เพียงเกษ กรณี ๑๕.๘ ล้านบาท ก็ได้ตอบไปแล้วนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๑๙ ท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน ต้องการทราบผลลัพธ์ประชาสัมพันธ์ จริง ๆ ประชาสัมพันธ์กรมเรามีหลายช่องทางนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Facebook LINE Ads YouTube แล้วก็ TikTok แต่ว่าบางครั้งเราอาจจะประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ช่องทางน้อยไป กรมก็ขออนุญาตรับแนวทางท่านไปปรับปรุงต่อไปครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒๐ ท่านสุไลมาน บือแนปีแน ก็ได้กรุณาพูดในเรื่องของโครงการ ต่าง ๆ เดี๋ยวกรมก็จะรับข้อเสนอแนะไปในเรื่องของปริมาณคุณภาพน้ำที่ท่านได้ว่าไว้ครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒๑ ท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ก็พูดในเรื่องของเงิน ผมแจ้งอย่างนี้ ก็คือถ้าประปาไม่สามารถเข้าถึง เกษตรก็ใช้น้ำฟรี โดยส่วนใหญ่เกษตรกรในภาคอีสาน ก็ใช้น้ำฟรีครับ แต่ถ้ามี Zone ไหนที่มีประเด็นอะไรเดี๋ยวทางกรมก็จะให้เจ้าหน้าที่ไปประสาน เพื่อหารือรายละเอียดได้ แล้วเรื่องที่ท่านฝากในเรื่อง ๓ ข้อ กรมก็จะรับไปดำเนินการ ต่อไปนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒๒ ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ในเรื่องของ ๔ โครงการภาคใต้ แล้วก็ SEC กรมก็จะรับไปดำเนินการต่อไปครับ ในเรื่องของ SEC EEC หรือ สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ พูดถึงนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้ความสำคัญตลอด เพราะเราทราบว่าน้ำไม่ได้เพียงแค่ อุปโภคบริโภค ยังเป็นเพื่อการเกษตรและเพื่ออุตสาหกรรมด้วยครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒๓ ท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ขอบคุณกับคำติชมแล้วก็ความเข้าใจ รูปนั้นเป็นรูปจริงที่ช่างเจาะของเราเวลาเจาะน้ำโคลนเข้าเต็มตัวเลย ก็ตากแดดตากฝนตลอด อันนั้นคือชีวิตช่างเจาะซึ่งไม่ต่างกับ ตชด. เลยครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านที่ ๒๔ ท่านพชร จันทรรวงทอง ในหลาย ๆ เรื่องก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ในเรื่องของแผนงานรับมือนะครับ ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้เตรียม ในการรับมือ El Nino เดี๋ยวเราจะมีโครงการศึกษาสำรวจ โดยการที่รับพื้นที่ที่หาน้ำยาก ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อมาเจาะศึกษาสำรวจ แล้วก็นำไปต่อยอดในโครงการจริงครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ท่านสุดท้าย ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ได้กรุณาให้คำแนะนำเป็นบัญญัติ ๕ ประการให้กับกรม เดี๋ยวกรมก็จะรับไปใช้ต่อนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

แล้วก็ในสุดท้ายนี้นะครับ หากมีข้ออันใดก็ตามที่ผมตอบยังไม่หมดหรือว่า ตอบไม่ Clear ไม่ชัดเจน ก็รบกวนเดี๋ยวอาจจะต้องส่งเป็นเอกสารต่อไปครับ ขอบพระคุณ ทุกท่านมากครับ ขอบคุณครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรองนะครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมขอประท้วงท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมขอประท้วงท่านประธาน หมวด ๑๐ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย ข้อ ๑๘๑ วรรคสอง การแต่งกายของสมาชิกนั้นให้แต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา หรือสากลนิยม หรือชุดพระราชทาน หรือชุดตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด ผมเห็นท่านประธานแล้ว ผมไม่สบายใจ ท่านแต่งกายไม่เรียบร้อย ผมกลัวว่าจะเป็นบรรทัดฐานในที่ประชุมแห่งนี้ เพราะสถานที่ตรงนี้เป็นรัฐสภา ผมอยากให้ท่านเป็นตัวอย่างกับสมาชิก ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ในเรื่องของสากลนิยมผมก็มีโอกาสได้หารือเรียบร้อยแล้ว ผมก็ใส่สูท แล้วก็ เสื้อคอจีน ไม่ได้มี Necktie ซึ่งก็เป็นการแต่งกายที่สุภาพเป็นไปตามระเบียบครับ ถ้าอย่างนั้น ผมขอเป็นท่านสมาชิกที่ติดใจ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านประท้วงหรือครับ เชิญท่านรภัสสรณ์ครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องการแต่งกายผมว่าไม่ต้อง เป็นประเด็น ผมวินิจฉัยแล้วครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดลำปาง ๒ ประเด็นสั้น ๆ ประเด็นแรก คำถาม ที่ไร้คำตอบ ดิฉันถามถึงการศึกษาการสร้างศูนย์การเรียนรู้

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เดี๋ยวนะครับ เมื่อสักครู่เป็นลักษณะของการประท้วงนะครับ เดี๋ยวเราวินิจฉัยเรื่องของ ที่ท่านสมาชิกประท้วงก่อน แล้วก็เดี๋ยวจะเปิดโอกาสให้ซักถามเพิ่มเติม ตามคิวครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

รับทราบค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สมาชิกครับ ต่อไปจะเป็นการซักถามเพิ่มเติมที่ยังติดใจกับประเด็นของการชี้แจงอยู่ ท่านใด ต้องการอภิปรายซักถามเชิญยกมือได้เลยครับ เชิญครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

ถามได้แล้วใช่ไหมคะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ

ต่อเนื่องจากเมื่อสักครู่คำถาม ที่ไร้คำตอบค่ะ ดิฉันถามถึงเรื่องการศึกษา การสร้างศูนย์การเรียนรู้ ๙๐๐,๐๐๐ บาท ท่านจะสร้าง ใช่ค่ะดิฉันทราบ แต่ท่านศึกษาอะไรบ้างและผลเป็นอย่างไร คำถามที่ ๒ การศึกษาทบทวนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำบาดาล ตรงนี้ดิฉันก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่วนในเรื่องคุณภาพของน้ำบาดาล ในมือของดิฉันคือรายงานสถานการณ์น้ำบาดาล ของประเทศไทยเป็นตัวอย่างของจังหวัดลำปาง รายงานล่าสุดที่ดิฉันได้รับคือของปี ๒๕๕๘ หน้า ๑๐๑ คุณภาพน้ำบาดาลของจังหวัดลำปางกล่าวคือมีปริมาณเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๕-๓๐ มิลลิกรัมต่อลิตร และมีปริมาณ Fluoride เกินมาตรฐานของน้ำบาดาลกระจาย อยู่ทั่วไป พบมากสุดอยู่ที่ ๔.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร พบอยู่ที่อำเภอเกาะคาและอำเภอเมือง ในอำเภอเมืองคุณภาพน้ำบาดาลยังเป็นแบบนี้ และท่านบอกดิฉันว่าน้ำส่วนมากผ่านเกณฑ์ มาตรฐาน ก็กราบเรียนไปยังท่านประธานนะคะ ขอให้ผู้ชี้แจงได้ตอบคำถามให้ชัดเจน อีกครั้งหนึ่งว่าข้อมูลของดิฉันถูกต้องแล้วหรือไม่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านใดซักถามเพิ่มเติมไหมครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๔ ผมมีเรื่องรบกวนสอบถาม ทางท่านผู้มาชี้แจง ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลผ่านท่านประธาน ผมรบกวนเวลา สักครู่ครับ ขอเวลาสัก ๕ นาที ผมมีประเด็น ผมขออ้างถึงโครงการของกรม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขออนุญาตนะครับ อันนี้ไม่ได้ให้อภิปรายแล้ว

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอสัก ๕ นาทีได้ไหมครับท่านประธาน เป็นประเด็นเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ไม่ได้ครับ อันนั้นต้องเป็นการอภิปรายที่มาลงชื่อ ให้เป็นคำถามไม่เกิน ๒ นาที เชิญครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอคำถามเลย OK ครับ ถ้าอย่างนั้น ผมขอสรุป เป็นคำถามเลยนะครับ มีประเด็นที่ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลออกใบอนุญาต ขุดเจาะให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ถนนศรีสมาน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มี ๓ คำถาม ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

คำถามแรก โครงการนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหลังจากออกใบอนุญาต ไปแล้ว ได้ดำเนินการลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงบ้างหรือยังครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ถ้าท่านได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่มีการขุดเจาะโครงการน้ำบาดาลนี้ จริงแล้ว ท่านทราบหรือไม่ว่าตอนนี้มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

คำถามที่ ๓ คำถามสุดท้ายครับ ผมทราบดีว่าโครงการขนาดเล็กแบบนี้ น่าจะไม่มีการทำ EIA EIA คือการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการที่จะสร้างนั้น ๆ ว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ชุมชนรอบด้านบ้าง ผมคิดว่าโครงการเล็ก ๆ แบบนี้คงไม่มี แต่ถึงไม่ได้ทำ EIA ก็จริง ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาต ให้กับทางสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถ้าท่านได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบการดำเนิน โครงการแล้วพบว่ามีปัญหากระทบกับพี่น้องประชาชน ท่านก็สามารถที่จะระงับโครงการได้ อยู่ดีนะครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ผมขอฝาก ๓ คำถามนี้ให้กับทางท่านอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผ่านท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ คิดว่าไม่มีใครแล้ว เชิญท่านผู้ชี้แจงได้เลยครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทั้ง ๒ ท่านที่ได้กรุณาสอบถามเพิ่มเติมนะครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตตอบคำถามท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ อีกครั้งหนึ่งนะครับ ในส่วนของการศึกษาการสร้างศูนย์เรียนรู้ ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นการสร้างระบบน้ำ ซึ่งเป็นระบบทำน้ำขวดให้กับประชาชนได้เห็นว่าน้ำบาดาลที่ใช้จริงสามารถนำมาใช้ต่อ ได้อย่างไร เพราะจริง ๆ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่บางเขนมีบ่อที่เจาะแล้วประมาณ ๓๐ ปี ยังไม่เคยมีปัญหาเลยนะครับ ซึ่งเราเจาะไปนานมากแล้ว ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ น้ำส่วนหนึ่ง เราก็ใช้ในการผลิตน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็เลย มีการสร้างศูนย์เรียนรู้ตัวนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนนำมาใช้ต่อยอด ทราบว่าน้ำบาดาลจริง ๆ สามารถนำมาใช้ต่อยอดอย่างไรบ้างในเรื่องของการอุปโภคบริโภคครับ ในส่วนของรายงานการศึกษาปี ๒๕๕๘ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับ ทรัพยากรน้ำบาดาล คือทรัพยากรที่อยู่ใต้พื้นดิน เหล็กหรือว่า Fe เป็นสิ่งที่มีอยู่มากเป็นอันดับ ๓ ของโลก รวมถึง Fluoride ด้วย เพราะฉะนั้นในบางพื้นที่จริงอยู่ที่น้ำบาดาลมีเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกพื้นที่จะสามารถเจาะน้ำบาดาลได้ เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการเป็นอย่างนี้ ในหลายพื้นที่ ที่เราไม่สามารถจัดการน้ำบาดาลได้ เรามีความคิดใหม่ครับ ทำไมจะต้องไปเจาะในที่ที่น้ำ คุณภาพไม่เหมาะสม เราก็ไปเจาะน้ำในที่ที่ไกลออกไปแล้วก็ส่งน้ำมา นั่นเขาเรียกว่าโครงการ ส่งน้ำบาดาลระยะไกลครับ ก็ขออนุญาตชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อมูลตรงนั้นไม่ผิด แต่ตรงไหนก็ตาม ที่คุณภาพน้ำซึ่งนักธรณีวิทยาเรารู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เราจะไม่เข้าไป แล้วเราจะเลี่ยงไปทำวิธีอื่นแทนเพื่อช่วยเหลือประชาชนครับ

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้นฉบับ

ในส่วนที่ตอบคำถามท่านนพดล ทิพยชล เรื่องกรณีของศรีสมานนะครับ ตรงนี้ผมยังไม่ทราบเรื่อง เดี๋ยวผมขออนุญาตกลับไปตรวจสอบนะครับ แล้วก็รีบแจ้งท่าน โดยด่วน ขอบพระคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณทางผู้ชี้แจงที่ได้ตอบคำถามของสมาชิกทั้ง ๒๕ ท่าน ก็ถือว่าเป็นอันรับทราบรายงาน ของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ขอบคุณทุกท่านมากนะครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านอดิศรครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผม อดิศร เพียงเกษ พรรคเพื่อไทย แบบบัญชีรายชื่อ ผมลุกขึ้นปรึกษาท่านด้วยความไม่สบายใจอีกครับ ต่อข้อประท้วงของ คุณนิคม บุญวิเศษ ด้วยความเคารพ ข้อบังคับที่ใช้ในสภาต้องให้สมาชิกรัฐสภาใช้เท่าเทียมกัน ผมเป็นกรรมาธิการร่างข้อบังคับชุดนี้ด้วย ด้วยความเคารพ การแต่งกายเป็นเรื่องสำคัญ ท่านประธานได้วินิจฉัยไปอย่างนั้น แต่สมาชิกหลายคนเห็นว่าการแต่งกายลักษณะ ที่ท่านประธานทำอยู่นี้จะเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่สากลนิยมอะไรทำนองนั้น ผมว่าหาทางออก ดีไหมครับ ตั้งกรรมการมาพิจารณาเรื่องการแต่งกายสมาชิกรัฐสภาสากลนิยมต่าง ๆ ให้เป็น รูปกรรมการ เพื่อจะให้สมาชิกทุกคนได้ใช้ไปพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้สถาบันของเราเป็น สถาบันที่ทุกคนรับรอง ผู้มาชี้แจงเมื่อสักครู่นี้นั่ง ท่านประธานก็บอกต้องยืน มีสมาชิกนะครับ ทุกคนต้องใช้ระเบียบข้อบังคับทั้งคนอยู่ในและอยู่นอก ผมเกรงใจท่านประธาน เพราะผม รักท่านประธาน ผมไม่อยากให้ท่านประธานโดนอะไรไปมากกว่านี้ ผมมองอย่างไร มันไม่ใช่แบบพระราชทานอะไรทำนองนั้น ด้วยความเคารพ เพื่อเป็นกลาง เพื่อแก้ปัญหานี้ ให้เป็นปัญหาส่วนรวม ก็มาถกเรื่องนี้โดยคณะกรรมการ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ได้ครับ ผมว่าเราอย่าใช้เวลาเรื่องนี้เลยนะครับ ผมอยู่ในการประชุมสมัยที่แล้วก็มี การพูดคุยกันเรื่องเครื่องแต่งกายพอสมควร แล้วก็เป็นแนวปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมา ผมเอง ก็เคารพทุกท่านนะครับ ถ้าไม่สบายใจอย่างไรเดี๋ยวผมแต่งตัวให้ดีขึ้นได้ แต่ผมยืนยัน ผมแต่งตัวถูกต้องตามระเบียบของสภาทุกประการนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านปกรณ์วุฒิประท้วงหรือครับ สมาชิกครับ ผมไม่อยากใช้เวลาเรื่องนี้แล้ว ผมคิดว่าอย่างไร ข้อเสนอของท่านอดิศรผมจะรับไปว่าเราจะมีความชัดเจนในเรื่องของข้อบังคับเรื่องนี้ให้ดีขึ้น แล้วอย่างไรก็ดีผมให้เกียรติสมาชิกทุกท่านที่แต่งตัวหลากหลายมากนะครับ วันนี้ถ้าเอา สากลนิยมกันจริง ๆ หลายท่านก็คงจะไม่ผ่านถ้าใช้มาตรฐานแบบเดิม แต่ตอนนี้ผมคิดว่า เราเข้าสู่เรื่องเนื้อหาการประชุมเลย ส่วนเรื่องของระเบียบต่าง ๆ นั้นผมจะนำไปพิจารณา แล้วก็ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ฉะนั้นผมว่าประเด็นนี้เราจบแล้วนะครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ไม่ใช่ประเด็นนี้ แต่เป็นประเด็นที่ ผมไปคิดดูเมื่อวานนี้ผมนอนไม่หลับทั้งคืน หลังจากที่ผมประท้วง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

หมูกระทะก็จบแล้วครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

หมูกระทะ คำที่ท่านบอกว่าถ้าใคร อยากจะกินหมูกระทะกับผมให้มาลงชื่อ ผมก็ได้ยินเต็มหู ผมก็ทั้งเกรงใจ คือผมก็อยู่สภานี้ อันนี้สมัยที่ ๕ เพียงแต่เว้นวรรคไป ๑๕ ปีเท่านั้นเองครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านครับ ขออนุญาตนะครับ แล้วก็ตอนนี้เรามีแขกมาเยี่ยมชมด้วย ผมไม่อยากให้สภา เราใช้เวลากับเรื่องที่ไม่เป็นสาระของการประชุม ขออนุญาตจริง ๆ อันนี้ไม่อนุญาตให้พูด ประเด็นนี้ ขออนุญาตด้วย ด้วยความเคารพครับ ไม่เป็นไรครับ เรื่องนี้จบแล้ว ไม่อนุญาต ให้พูดนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒.๘ รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตให้ผู้ชี้แจงเข้าร่วมการประชุม ๑. ท่านจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ๒. ท่านธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สายงานนโยบายและแผน ๓. ท่านธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สายงาน โครงสร้างพื้นฐาน ๔. ท่านพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน ๕. ท่านชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก จะเป็นการนำเสนอรายงานจากท่านเลขาธิการก่อนเวลาประมาณ ๕ นาที แล้วก็จะเป็นสมาชิกที่ได้เข้าชื่อในการอภิปราย เริ่มจากท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เรียนเชิญครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผมขออนุญาต นำเสนอสรุปรายงานประจำปีของสำนักงาน EEC เป็น PowerPoint ครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ในการดำเนินการของสำนักงาน EEC เราดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. มีกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยกลไกในการทำงาน จะทำงานโดยมีองค์กรที่เป็นคณะกรรมการชื่อคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้วก็มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC ๑๔ คน แล้วก็ทางสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ กระบวนการของสำนักงาน EEC ก็จะมีแผน แล้วก็มีแผนสำคัญที่สุด จะเรียกแผนภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพใหญ่ในการพัฒนา เสร็จแล้วก็จะมีแผนย่อย อยู่อีกหลายฉบับ ซึ่งการดำเนินการแผนภาพรวมในปี ๒๕๖๕ สิ้นแผนไปพอดี แล้วก็ในปีนี้ ต่อไปจนถึงปี ๒๕๗๐ ก็จะมีแผนฉบับใหม่ เมื่อมีแผนภาพรวมแล้ว ก็จะมีแผนเกี่ยวเนื่อง ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องพัฒนาคน เรื่องท่องเที่ยว เรื่องเกษตร เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมือง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปเลยครับ ในผลงานที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๕ ทางคณะกรรมการนโยบาย ผมขออนุญาตใช้ชื่อย่อว่า สกพอ. สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีเป้าหมายในการลงทุน ๑.๗ ล้านล้านบาท ซึ่งในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาก็มีการลงทุนไปประมาณ ๑.๙๓ ล้านล้านบาท ถ้าตีกลม ๆ ก็เป็น ๒.๒ ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนใน EEC จำนวนที่ตัวเลข ๒.๒ ล้านล้านบาท ก็จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งก็เป็นส่วนของใช้งบประมาณของรัฐจะลงรายละเอียดอยู่ใน (๓) ประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วก็เป็นโครงการ PPP อยู่ประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วก็ที่เหลือเป็นเอกชนลงทุน ซึ่งการลงทุนเรานับยอดจากบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่สำนักงาน BOI ได้ออกให้ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา รวมแล้วประมาณ ๑.๒๕ ล้านล้านบาท

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ขอ Slide ถัดไปครับ รูปนี้จะเป็นรูปแสดงว่านักลงทุนรายใหญ่ ๆ ที่เข้ามาใน EEC จะเป็นใครบ้าง หลัก ๆ จะมีคนลงทุนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเยอะหน่อย ก็จะมีอย่างเช่น บริษัท BYD แล้วจะมีคนที่เกี่ยวข้องก็คือทำแบตเตอรี่ แล้วก็จะมีที่ไม่ใช่เชิงอุตสาหกรรมโดยตรง ก็จะมี Theme Park ที่ท่านสมาชิกบางท่านอาจจะเคยผ่านที่พัทยาจะเห็น Theme Park โคลัมเบียชื่อ Aquaverse อยู่ในพัทยาก็มีการลงทุนจากต่างประเทศไป แล้วที่เหลือก็จะมี พวกรถ EV แล้วก็มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องของ ปตท. ไทยก็ไปร่วมทุนกับบริษัท Foxconn ก็ทำเกี่ยวกับเป็นฐานการผลิตยานยนต์เหมือนกันครับ ส่วนหนึ่งที่ผ่านมาในรอบ ๕ ปี ทางท่านสมาชิกได้รับทราบข่าวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา ๕ ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาปีที่แล้วก็มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในสำนักงาน EEC และในเขต EEC เขาจะมีโครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ อยู่ ๔ โครงการใหญ่ ก็จะเป็นท่าเรือ ๒ ท่าเรือ คือที่แหลมฉบังแล้วก็ที่ท่าเรือมาบตาพุดเสร็จแล้วก็จะมีการขยายสนามบินอู่ตะเภา แล้วก็จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐานวงเงินในการลงทุนโดยรวมแล้ว ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเศษ ซึ่งในรอบปี ๒๕๖๕ ก็มีการเริ่มดำเนินการไป เช่นมี การเริ่มถมทะเลไปบ้าง บางสัญญาก็ได้เริ่มกระบวนการเกี่ยวกับส่งมอบพื้นที่ไป แต่ยังมี ความล่าช้าอยู่จนถึงในปี ๒๕๖๕ สำนักงาน EEC ใน Slide รูปนี้คือแสดงให้เห็นกลไก ในการทำงาน ก็คือว่า EEC จะครอบคลุม ๓ จังหวัด ก็คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี แล้วก็จังหวัดระยอง ส่วนการดำเนินงานของ EEC เป็นเรื่องการให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริม การลงทุน พื้นที่การลงทุนจะกำหนดไว้อยู่ในพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น หมายความว่าใครที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในเขตพื้นที่ ก็จะมีอยู่แล้วรวม ๒๘ แห่ง อยู่ทางรูปซ้ายมือ นอกจากนั้นทาง EEC ก็จะมีพื้นที่ที่สงวนไว้ ที่พยายามจะดูไว้สำหรับบางอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทาง EEC ได้ดูแลอยู่จะมีเพียงแค่ ๑๒ อุตสาหกรรมเท่านั้น ในการส่งเสริมการลงทุนเราจะเน้นใน ๑๒ อุตสาหกรรม ซึ่งจะ แตกต่างจากทาง BOI ซึ่งดูในอุตสาหกรรมที่กว้างขวางกว่า

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ขออนุญาต Slide ถัดไปครับ ผลงานการดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีการเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ในช่วงที่ EEC ดูแลเราปั้นบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับ เรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย จริง ๆ ตัวเลขที่มีการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาจะมีเกือบ ๆ ๒๐,๐๐๐ คน ๑๙,๔๒๕ คน แต่ถ้าเราดูในภาพใหญ่ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ดูแลในอุตสาหกรรม เป้าหมายก็จะมีอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ส่วนเรื่องของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ในโครงการที่เราดูเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ในพื้นที่ EEC จะมีโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ๘๖ โครงการ แล้วได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ๒๙ โครงการ ก็ยังเหลืออีกประมาณ ๒๐ โครงการ ซึ่งโครงการถ้าเราเจาะไปดูที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้อง กับเรื่องการบำบัดน้ำเสียแล้วก็ขยะ ซึ่งในกรณีขยะหลัก ๆ แล้วการดำเนินการในพื้นที่ การเติบโตของพื้นที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องขยะอยู่เยอะพอสมควร ในรูปก็ได้แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขยะมูลฝอยชุมชนไปแค่ไหน อย่างไรบ้าง ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด แต่อยากเรียนโดยสรุปว่าขยะมีเพิ่มขึ้นจริงครับ แต่ในที่สุดแล้ว มันมีระบบบริหารจัดการที่ดีขึ้น แล้วพยายามจะให้ระบบการจัดการขยะเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับพัฒนาแหล่งน้ำ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งว่าในการลงทุน โดยทั่ว ๆ จะต้องมีการดูถึงความพร้อมของแหล่งน้ำด้วย แล้วหลายท่านก็คงจะทราบดีว่า ในพื้นที่ ๓ จังหวัดของ EEC เป็นพื้นที่ที่บางปี บางช่วงระยะเวลามีข้อจำกัดเกี่ยวกับ เรื่องแหล่งน้ำด้วยเหมือนกัน โครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่ก็จะมี ๓๘ โครงการใหญ่ คนที่ดูแลหลักเป็นสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดูแลในภาพที่เกี่ยวกับนโยบายแล้วก็มีการจัดสรรโครงการที่เกี่ยวข้อง โครงการที่ได้รับจัดสรรในแผนนี้เป็นแผนที่ดำเนินการดูปริมาณน้ำจนถึงปี ๒๕๘๐ เลย ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วก็จะมี ๒๒ โครงการ เสร็จไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง ๑๑ โครงการ และกำลังดำเนินการอยู่ ๑๑ โครงการ แต่ยังมีโครงการที่รองบประมาณ จะต้องดำเนินการอยู่อีก ๑๖ โครงการ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนในมุมการพัฒนาชุมชน สิ่งหนึ่งที่อยากขออนุญาตนำเรียนท่านสมาชิกว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาใน EEC ท่านสมาชิกจะได้เห็นได้ยินเกี่ยวกับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ พยายามดึงดูดการลงทุนมา แต่จริง ๆ แล้วในพื้นที่ EEC อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชนด้วย ส่วนหนึ่งที่เราดำเนินการที่ผ่านมาจะเป็น เรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อสามารถจะรับ ประโยชน์จากการลงทุนได้ ในรูปก็เป็นตัวอย่างว่าที่เรามีการเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นเยาวชน กลุ่มที่เป็นบัณฑิตอาสา ซึ่งจะช่วยดูแลพื้นที่ให้ แล้วก็พยายามเอาคนในพื้นที่เข้ามาเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนครับ เรามีกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกด้วยเป็นกองทุนที่ใช้สำหรับในการเยียวยาประชาชน แล้วก็ดูแลเรื่องการศึกษา เพื่อที่จะให้เราดูแลพื้นที่ได้ แล้วในขณะเดียวกันก็สามารถจะเตรียมคนเอาไว้สำหรับ ในการรองรับการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นจากที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายครับ เพราะฉะนั้นในพื้นฐาน EEC ก็จะมีมุมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ เราพยายามจะดึงการลงทุน มาให้ได้ และการลงทุนของ EEC ในส่วนใหญ่ แล้วก็ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นการลงทุน ในอุตสาหกรรมที่ High-tech หน่อยที่ทันสมัย จะไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหนัก เสร็จแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมคืออุตสาหกรรมเราเชื่อว่าจะมีการจ้างงาน ที่ผ่านมาเรามี การพยายามเตรียมคนให้รองรับว่าสามารถจะได้ประโยชน์จากการทำงานในอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จะมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เราพยายามจะไปดูเศรษฐกิจชุมชนให้สามารถ รับประโยชน์ได้จริง ๆ และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแล ๆ เรื่องเมืองด้วย เพราะในที่สุดแล้ว การการทำงานที่เกี่ยว EEC เป็นเรื่องของการพัฒนาเมืองโดยใช้การลงทุนเป็นตัวนำครับ ขออนุญาตสรุปมีเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตอนแรกท่านขอไว้ ๕ นาที ตอนนี้ประมาณ ๑๐ นาที ถ้าท่านจะสรุปสุดท้ายก็ยังได้นะครับ แล้วก็ให้สมาชิกอภิปราย ขอบคุณมากครับ จะเป็นคิวของท่านสมาชิกอภิปราย ท่านแรก ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพยิ่งครับ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าผมอ่านในรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกว่า สกพอ. ผมเรียนอย่างนี้ว่าในแผนมันดีมาก ผมอ่านแล้วชื่นชมมากเลยครับ เพียงแต่ว่าผลการปฏิบัติงานมันไม่เป็นไปตามแผน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเลย เราจะทำอย่างไรครับ พระราชบัญญัติของ EEC ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ผมเรียนท่านว่า มาถึงวันนี้ปี ๒๕๖๖ แล้ว เข้าใจว่า ๕ ปี จะ ๖ ปีแล้ว แต่ผลงานของ EEC มันไม่ได้ออกมา ที่เป็นรูปธรรมเลยครับ จะกราบเรียนท่านประธานว่าในแผนมันสวยหรูมาก ผมคิดว่า เดินอยู่บนวิมานเลย เพียงแต่ว่าผลการทำงานมันไม่ออกมาเลย แต่เราจะทำอย่างไร ผมเรียนท่านอย่างนี้ว่า ๑. เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ๓-๔ เรื่อง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินตอนนี้ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วครับ ๒. เรื่องท่าอากาศยานอู่ตะเภา ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วตอนนี้ ๓. ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ ๓ ไปถึงไหนแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ไปถึงไหนแล้วตอนนี้ อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาว่าจะพัฒนา ตรงนี้เราต้องทำอย่างไร มันไม่มีความคืบหน้าอะไรที่เป็นรูปธรรม ขณะนี้ทุกคนรอคอย ในเรื่องพวกนี้ สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนต่อไปอีกว่าอำนาจหน้าที่ของ สกพอ. มันยิ่งใหญ่มาก จริง ๆ ท่านประธานครับ ผมเปิดดูในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษ ท่านประธาน ทราบไหมว่าตั้งแต่มาตรา ๔๘ ไปจนถึงมาตรา ๖๐ เป็นบทยกเว้นที่ให้อำนาจของเขตพัฒนา พื้นที่พิเศษเยอะมาก แต่ผลงานมันไม่ออกมา เราจะทำอย่างไร ผมเสนอทางออกให้ครับ ท่านเลขาธิการเองหรือคณะกรรมการนโยบายที่กำกับดูแลต้องกล้าตัดสินใจในการทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ช่วงโควิดที่เขามีปัญหา การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภา การพัฒนาท่าเทียบเรือต่าง ๆ ที่มีปัญหาในช่วงโควิดต่าง ๆ สัญญาที่เซ็นไปแล้ว แต่มัน เดินหน้าไม่ได้ เราจะทำอย่างไรส่วนนี้ในการที่จะพัฒนา ตรงนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ผมอ่านในแผนของท่าน ๑๑-๑๒ เรื่อง ผมขออนุญาตว่า สิ่งที่ผมจะเน้นในวันนี้นะครับ ขออนุญาตเรียนท่านประธานว่าเราเอาโครงการที่เป็นได้จริง แล้วกันเราเรียกกันว่าอุตสาหกรรม Quick Win ก็คือเรามีโอกาสที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ ประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะให้พื้นที่ EEC ของเราดึงดูดนักลงทุนลงมาได้ ผมเรียนอย่างนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ อุตสาหกรรมดิจิทัลเดินหน้าให้เร็ว อุตสาหกรรมดิจิทัลท่านติดขัด กฎหมายที่ตรงไหน ท่านรีบยกเว้น รีบดำเนินการ ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ท่านอย่ามาคิดนักลงทุนจากประเทศไทยนะครับ ผมขออนุญาตเรียนท่านว่าหน้าที่ของ EEC เราดึงดูดนักลงทุนที่มาจากต่างประเทศเพื่อที่จะให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC ให้ได้ ผมเรียนท่าน ต่อไปอีกว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญที่สุดคือผมอยากเห็นท่านไปเจรจากับ Facebook YouTube มาจัดตั้งศูนย์ Data Center ในประเทศไทยได้ไหมครับ จะมีการลงทุนที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศไทย ก่อนปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีแต่เลข ๒ หลัก ทั้งนั้น วันนี้ประเทศไทยผมคิดว่าในยุคนี้จะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเลข ๒ หลักได้อีก ครั้งหนึ่ง ถ้าท่านทำตามที่เรากำลังเสนอแนะว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญในโลกยุคนี้ ท่านติดต่อเถอะ ขณะนี้มันติดขัดที่อะไรรู้ไหมครับ ติดขัด ที่กฎหมายของเราเท่านั้นเอง ท่านเปิดดูมีตั้งแต่มาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๖๐ ของท่าน ใน พ.ร.บ. EEC ที่ยกเว้นการที่ท่านจะให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยได้แล้ว ท่านติดขัดที่กฎหมาย พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในมาตรา ๘ ที่เขียนไว้ว่า นักลงทุนต่างประเทศที่เขาไม่มาลงทุนในประเทศไทย เขาเขียนไว้ว่าอย่างไรรู้ไหมครับ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคล ผมถามหน่อยว่าอุตสาหกรรมขนาดนี้ YouTube Facebook ที่เขาใหญ่ ๆ จะมาจัดตั้งศูนย์ Data Center ในประเทศไทย เขาจะให้นักลงทุนมาลงทุน ในประเทศไทยโดยที่เขาจะให้คนไทยถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์มันเป็นไปได้ไหมครับ ท่านติดต่อ ไปอย่างไรก็ไม่มีใครที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เขาบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้จะให้คนไทย มาถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วคนต่างประเทศจะมาถือหุ้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ มันเป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้ อยากจะฝากเรียนท่านประธานครับว่าวันนี้เราเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร EEC มีหน้าที่เสนอในการที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีการลงทุนในส่วนนี้ ผมอยากจะฝากเรียน ท่านประธานว่าต่อไปนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเราในวันนี้ โทรศัพท์ออกไปแต่ก่อนก็คิดว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเราฝากไว้ที่สิงคโปร์ วันนี้ท่านประธานทราบไหมว่าสิงคโปร์ศูนย์ Data Center เขาก็เต็มแล้ว ไม่รู้ว่าศูนย์ Data Center ตอนนี้ไปอยู่ที่ประเทศไหน ข้อมูลของคนไทย ถึงได้รั่วไหล เอามาจัดตั้งในประเทศไทยเถอะในวันนี้นะครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมขออนุญาตท่านประธานเร็ว ๆ นะครับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเชิงสุขภาพ ขออนุญาตเรียนท่านประธานครับ อุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ จัดตั้งโรงพยาบาลที่มีความสำคัญอยากให้จัดตั้งจริง ๆ จัดตั้งในพื้นที่ EEC ได้ระดับเขตยกเว้น พิเศษ โดยเฉพาะคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญ ผมเรียนว่าจากต่างประเทศเขาจะต้องมาขอ ใบประกอบโรคศิลปะจากเมืองไทย จะต้องมาสอบใบประกอบโรคศิลปะจากเมืองไทย ไม่มี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาในประเทศไทยแล้วมา สอบใบประกอบโรคศิลปะ มันสอบไม่ผ่านหรอกครับ เขาเก่งในประเทศนั้นอยู่แล้ว ยกเว้น กับกระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องพวกนี้ให้สำเร็จครับ จะมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่าง ๆ ของเราที่ต้องเกิดขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกมากครับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีต่าง ๆ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ อุตสาหกรรมยานยนต์ วันนี้เปลี่ยนแล้วว่าเรากำลังจะใช้รถไฟฟ้า เพราะฉะนั้นสร้างบุคลากรของพวกเรารองรับการทำงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ตั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อรองรับงานเทคโนโลยีทางด้านนี้ให้ได้ ท่านประธานครับ พอดีผมมีเวลาจำกัด อยากจะฝากเรียนท่านประธานว่าสิ่งที่ผมนำเรียนไปอยากจะเห็น ประเทศไทยของเราในยุคนี้พัฒนาเป็นเลข ๒ หลักให้ได้นะครับ เราจะย้อนยุคในอดีตที่เห็น ภาพในความหวังของประเทศที่บอกว่าทุกคนก่อนปี ๒๕๔๐ ผมเรียนท่านประธานว่าทุกคน มีความหวังหมดครับ หลังจากนั้นเศรษฐกิจของเรา Drop ลง ในวันนี้ขอเถอะปี ๒๕๖๖ เราอยากเห็นภาพเศรษฐกิจเป็นเลข ๒ หลัก ความหวังของประเทศเรานี้คนรุ่นใหม่อยากจะเห็น ประเทศไทยของเรามีการพัฒนามากยิ่งขึ้นครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ คุณฐากรมากครับ ขณะนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรของเราขอต้อนรับท่านอาจารย์และนักเรียน จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ราชบุรี มากครับที่กำลังนั่งฟังการประชุม ของเราข้างบน สภาของเรายินดีต้อนรับทุกท่านครับ ผู้ที่อภิปรายต่อไปก็คือคุณกฤช ศิลปชัย แล้วก็ให้เตรียมตัวไว้เลยคนถัดไปคือคุณอนุชา บูรพชัยศรี เชิญคุณกฤชครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ส่วนของโครงการในบ้านผม โครงการก่อสร้าง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ ๓ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ Megaproject ของ EEC โครงการ ก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ ๓ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าโครงการถมทะเลมาบตาพุด ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและการเติบโตของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่โครงการดังกล่าวยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อห่วงกังวล อยู่หลายอย่างครับ รวมถึงโครงการดังกล่าวนี้ยังสร้างผลกระทบมากมายมหาศาลให้แก่ทะเล ระยอง ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมถึงวงจรอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมง อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมจะมีประเด็นอภิปรายวันนี้ทั้งหมด ๔ ประเด็น

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ด้านสุขภาพของประชาชนครับ ที่ผ่านมาการดำเนินงาน ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังมีค่า VOCs เกินมาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมานี้ท่านยังไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จาก Chart ที่ผมเปิดใน Slide ท่านจะเห็นว่าสารหลายตัวมีค่าเกินมาตรฐานไปมาก เช่น สาร Butadiene บริเวณวัดหนองแฟบ ๐.๔๖ ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน ๑.๓ สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ๐.๘๗ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้วครับ ซึ่งสารเหล่านี้มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ ๐.๓๓ เท่านั้นเอง ตัวต่อไปก็คือสาร Benzene ณ ที่ทำการ ชุมชนบ้านพง ๒.๙ สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ๒.๓ ชุมชนบ้านเนินพยอม ๒.๖ ซึ่งจากค่ามาตรฐาน อยู่ที่ ๑.๗ จึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าชาวระยองอยากจะขอให้ท่านทบทวน แผนการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ได้แล้ว ตอนนี้ชีวิตคนระยองแขวนอยู่บน เส้นด้ายแล้วครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การดำเนินงานก่อสร้างท่าเรือที่หละหลวมขาดความรับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตาม EHIA หลังจากโครงการได้ดำเนินการก่อสร้าง สร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ต่อทะเลระยองครับ และนี่คือภาพความหละหลวมของการก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบ ของประชาชน ภาพนี้คือทุ่นและม่านกันตะกอนที่มีช่วงขาดและไม่มีการปล่อยม่านกันตะกอน ลงสู่บริเวณผิวดินในทะเล ส่งผลให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ ทำการประมงของพี่น้องชาวประมง นอกจากนี้ยังมีทุ่นและม่านกันตะกอนหลุดลอยออกไปติดกับใบพัดเรือ ส่งผลให้ชาวประมง กระเด็นตกเรือไปกระแทกกับเรือและตกน้ำทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน จากกรณีนี้พี่น้องชาวประมงต้องเย็บถึง ๗ เข็ม ออกทำการประมงไม่ได้ ๑๐ วัน ไหนจะต้อง ซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหาย แต่การชดเชยก็ชดเชยคนที่ได้รับความเสียหายเพียง ๑๒,๐๐๐ บาท เป็นธรรมแล้วหรือครับ และหาก Case นี้ผู้ประสบเหตุเกิดอาการ Shock เนื่องจากการเสียเลือดมากหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ท่านจะรับผิดชอบเขาอย่างไร ครอบครัว เขาจะอยู่อย่างไร จะรับผิดชอบเขาไหวหรือไม่ครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ เรื่องการทำ EIA EHIA ไม่ครอบคลุม โครงการถมทะเลไม่ครอบคลุม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบ ๆ โครงการมีกลุ่ม ประมงราว ๆ ๒๑ กลุ่มในรัศมีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านั้น ตอนนี้ ผลกระทบไปทั้งอ่าวระยองแล้วครับ การแจ้งรับฟังความคิดเห็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชาวประมงไม่ทั่วถึง จากภาพท่านจะเห็นวงสีแดงกับสีเขียว นี่คือที่ตั้งกลุ่มประมง รอบ ๆ โครงการทั้งหมด วงสีแดงคือกลุ่มที่ได้รับเชิญให้ทำประชาคมเสนอความคิดเห็น แต่กลุ่มสีเขียวกลับไม่ได้รับเชิญ มีการข้ามไปข้ามมาครับ ส่งผลให้มีการเรียกร้องความเป็นธรรม ในเรื่องของการถมทะเล

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เป็นธรรม ขาดหลักเกณฑ์ ในการคิดคำนวณที่เป็นธรรมของประชาชน หลังจาก EIA ที่ไม่ครอบคลุมมีการร้องขอ ความเป็นธรรมให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการครับ โดยพี่น้องประชาชนได้ยื่นเรื่องดังกล่าวถึงหลายหน่วยงาน ทั้งการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องต่อจังหวัดระยอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการพิจารณาและเสนอ หลักเกณฑ์การช่วยเหลือออกมาแล้ว โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาพร้อมมีข้อเสนอ ให้นำหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาจากโครงการท่าเรือแหลมฉบังมาเป็นต้นแบบ ในการชดเชย คือชดเชยให้เรือประมงวันละ ๑,๐๐๐ บาท หรือเท่ากับปีละ ๓๖๕,๐๐๐ บาท แบบเท่ากันทุกคน ในระยะเวลาก่อสร้างแล้วก็ระยะเวลาฟื้นตัวครับ ในส่วนของจังหวัดระยอง ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และได้สรุปหลักเกณฑ์ออกมา มีการคิดคำนวณหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว แบ่งเป็นค่าสูญเสียการจับสัตว์น้ำ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องออกไปทำประมงไกลขึ้นอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ชดเชยในระยะเวลาก่อสร้างก็คือ ๓ ปี ทางนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ตอบกระทู้ของคุณรังสิมันต์ โรม เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๕ ยืนยันว่าขณะนี้พร้อมที่จะจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวประมงระยองตามที่ คณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์คิดคำนวณแล้ว แต่สุดท้ายทางผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยไม่สนใจหลักเกณฑ์ดังกล่าวปัดตก โดยตัดสินใจจ่ายเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อราย จ่ายแบบครั้งเดียวจบ นี่คืออะไรครับ ผมยังสงสัยว่าผู้ว่า กนอ. นี้ ใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีแล้วหรือ ถ้าเปรียบเทียบกันมาตรฐานระยะเวลาเท่ากันคือ การก่อสร้าง ๓ ปี แล้วก็ฟื้นตัวอีก ๒ ปี ในด้านซ้ายท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยวันละ ๑,๐๐๐ บาท ทุกกรณี ท่าเรือมาบตาพุดโดยคณะทำงานหลักเกณฑ์ของจังหวัดระยองเฉลี่ยวันละ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท ส่วนการจ่ายจริงเฉลี่ยอยู่วันละ ๕๔.๗๙ บาท หนักไปกว่านั้นในเอกสาร การรับเงินเยียวยาท่านยังไปจำกัดสิทธิพี่น้องประชาชนห้ามเรียกร้อง ฟ้องร้อง หรือใช้สิทธิ ทางศาลใด ๆ ต่อการสูญเสียพื้นที่ทำกินอีก ผมขออนุญาตสรุปครับ คนระยองไม่เคยคิดขวาง การพัฒนา และยินยอมพร้อมให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่อยากให้ EEC ทบทวน การดำเนินงานของท่านในประเด็นที่ผมกล่าวมา อยากให้ท่านรับฟังเสียงจากผู้แทน ของประชาชน ที่วันนี้ผมนำปัญหาความเดือดร้อนมาชี้แจงต่อท่านโดยตรงทำให้มันดีครับ เห็นอกเห็นใจกันบ้าง และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะนำเรื่องที่ผมอภิปรายนี้ไปทบทวน และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของท่าน ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณคุณกฤช ต่อไปขอเชิญคุณนายอนุชา บูรพชัยศรี ครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้เป็นการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สกพอ. มารายงานประจำปี ๒๕๖๕ ให้สภาได้รับทราบ ผมคงไม่ได้มีข้อสังเกตหรือว่ารายละเอียด ที่จะต้องลงไปเฉพาะในปี ๒๕๖๕ นะครับ แต่ที่อภิปรายก็อยากจะเน้นย้ำถึงความสำคัญ ในการที่เชื่อมโยงมา สัปดาห์ที่แล้วผมพูดถึงเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติซึ่งก็เป็นแผนในระดับที่ ๑ เรื่องของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของอนาคตไทย ในปี ๒๕๘๐ ต่อลงมาในเรื่องของ แผนในระดับที่ ๒ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสภาพัฒน์ซึ่งตอนนี้เราใช้อยู่เป็นฉบับที่ ๑๓ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ แล้วก็ให้ที่ประชุมแห่งนี้ได้รับทราบรวมถึงพี่น้องประชาชนก็คือ แนวคิดในการดำเนินงาน ของ EEC มาจากแผนระดับที่ ๑ ยุทธศาสตร์ชาติ มาสู่ในเรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ แล้วมาถึงแนวทางที่จะทำอย่างไรที่เราจะไปถึงยุทธศาสตร์ตรงนั้น เพราะฉะนั้นขอ Slide นิดหนึ่งเลยครับ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สิ่งแรกที่ผมอยากจะให้ทุกท่าน ทั้งในที่ประชุมแห่งนี้ แล้วก็ด้านนอกที่ประชุมประชาชนทั่วไปได้เห็นแนวคิดที่สำคัญ ของรัฐบาลที่ผ่านมาในช่วงของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ EEC เราทราบกันดีอยู่ว่า เรามีการดำเนินการในพื้นที่ ๓ จังหวัดก็คือ ระยอง ชลบุรี แล้วก็ฉะเชิงเทรา ที่เราเรียกกันว่า EEC Eastern Economic Corridor แต่ว่าเขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีการแบ่งออกไปอีกมากมายเลย เป็น ๗ พื้นที่ ที่อยากนำเสนอคือ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide EECh เมื่อสักครู่นี้เป็นเขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ตามที่เราทราบอยู่ก็คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ไปที่อู่ตะเภา

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปก็คือ EECd ยังมีตัว d ต่อด้วย เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล d ก็คือ Digital เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศ ให้เป็น Digital Innovation Hub ของ ASEAN ไม่ใช่ของทางด้าน Southeast Asia อย่างเดียว

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป เรายังมี EECmd ด้วย เป็นเขตส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์ ครบวงจรตอนนี้อยู่ที่พัทยา ตรงนี้ก็จะยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ แล้วก็รองรับ สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าคำว่า md นี่ก็คือ Medical ที่เราจะมีอยู่ใน EEC

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป ก็คือเรื่องของ EECi อันนี้สำคัญมากเป็นเรื่องของการที่จะส่งเสริม นวัตกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก็คือเรื่องของ Innovation i มาจาก Innovation ตรงนี้จะยกระดับประเทศไทยสู่ผู้ส่งออกนวัตกรรมในเรื่องของ Innovation ต่าง ๆ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป เรื่องของ EECa a อันนี้ก็คือเขตส่งเสริมเมืองการบิน ภาคตะวันออก a ก็มาจาก Aviation เราเป็นศูนย์กลางการบิน ในเรื่องของภูมิศาสตร์ เรามีพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต่อยอดธุรกิจตรงนี้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ EEC ต้องตอบโจทย์ต่อไป

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไปก็คือ EECg อันนี้พูดถึงเรื่อง Genomics เริ่มพูดถึงเรื่องของ Genetic ต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของในอนาคตที่เราต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นเรื่องของเทคโนโลยี Park ที่เราจะต้องมีการส่งเสริมเทคโนโลยี ชั้นสูงในพื้นที่ EEC

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Slide ต่อไป ก็คือเรื่องของการที่จะต้องต่อยอดจากเดิมที่เราพูดถึงเรื่องของ S Curve ในเรื่องที่เรามีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ แล้วก็อุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยี ชีวภาพต่อมาเป็น S Curve ที่เราพัฒนาต่อเนื่องกันมาอีก ๗ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบิน และ Logistics อุตสาหกรรมพัฒนา เรื่องของคนและการศึกษา อุตสาหกรรมป้องกันประเทศก็สำคัญเรื่องของ Defend หุ่นยนต์ เรื่องของ AI เรื่องของการแพทย์ครบวงจร แล้วก็เรื่องของเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อย่างไรก็ตามในเรื่องของการผลักดัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Cluster ที่ ๑ เรื่องของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ แน่นอนจะต้อง ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์แบบครบวงจร โดยเน้นบริหารจัดการเพื่อยกระดับ การบริหารทางการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างที่กล่าวไปแล้วเรื่องของ Genomics ก็ดี เรื่องของการแพทย์ที่แม่นยำหรือว่า Precision Medical

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Cluster ที่ ๒ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ตรงนี้ก็จะต่อยอด อุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์หุ่นยนต์ เราจะนำเรื่องของ 5G เข้ามาเพื่อที่จะ พัฒนา Platform ต่าง ๆ เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิตพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคตได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Cluster ที่ ๓ เรื่องของ EV เรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ไม่ใช่ แค่เพียงเรามาเป็น OEM อย่างเดียว เราจะต้องเป็นฐานที่จะผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า หรือว่าส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย อุตสาหกรรมเศรษฐกิจเกี่ยวข้อง กับทางด้านบริการ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในอนาคตที่เราจะต้องเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องของการบริการการบิน

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Cluster ที่ ๔ เรื่องของ Logistics การท่องเที่ยวรายได้ดี การท่องเที่ยว เชิงสุขภาพก็เป็นอีก Trend หนึ่งในปัจจุบัน รวมถึงอุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

Cluster ที่ ๕ ที่ตอนนี้ต้องบอกว่าประเทศไทยเราเป็น Champion อยู่ก็คือ อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green Economy) เราประกาศไปใน Bangkok Goal ตอนที่เรามีการประชุม APEC ไปแล้วว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราเป็น Champion แล้วต่างประเทศเอง ก็ให้การยอมรับอยู่ในปัจจุบัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้น Cluster ต่าง ๆ ตรงนี้คงต้องมีการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านประธานครับ ตอนนี้เรามีนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะให้ก้าวสู่ต้นแบบการส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถที่จะ ดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่เคยมีวางแผนกันไว้แล้ว เพื่อที่จะให้ ทุก ๆ อย่างได้ดำเนินการต่อไป แล้วในอนาคตเราก็ไม่มีแค่เฉพาะ EEC ครับ เราจะขยายไป ภาคเหนือเป็น NEC เราจะขยายไปภาคใต้เป็น SEC ต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะได้เกิดการพัฒนา ครอบคลุมทั่วประเทศไทย แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำด้วยครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอบคุณคุณอนุชาครับ ต่อไปคุณสหัสวัต คุ้มคง แล้วก็เตรียมตัวต่อไปคุณอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ เชิญคุณสหัสวัตครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๗ จังหวัดชลบุรี ผมได้อ่านรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรียบร้อย ในฐานะที่ผม เป็นคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในพื้นที่ EEC เฉพาะในเขตของผมเองก็มีโรงงานตั้งอยู่ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ โรงงาน มีแรงงานอยู่หลายแสนคน ดังนั้นเรื่องที่ผมอยากจะอภิปราย ในวันนี้ก็กลับมาเรื่องแรงงานครับ ผมอยากจะชวนท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก Board EEC และพี่น้องประชาชนมาดูกันว่าปัญหาแรงงานในพื้นที่ EEC ปัจจุบันมีอะไรบ้าง และการดำเนินงานของ EEC ไปถึงไหนแล้ว ผมไปอ่านรายงานการดำเนินงานของ EEC มา ๑๕๐ กว่าหน้าก็ไม่ค่อยเห็นเนื้อหาอะไร ผมเลยไปดูแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ อีกเกือบ ๒๐๐ หน้า ถึงได้เห็นว่า ในบทที่ ๗ มันจะมีตรงส่วนชี้วัด ถึงมีบอกว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง และหนึ่งในตัวชี้วัดคือ การจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอีกตัวคือกำลังคนเพียงพอ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย คำถามที่ผมถามตรงนี้ครับ ตัวชี้วัดดังกล่าวทำไมไม่มีในรายงานนี้เลย สัมฤทธิผลหรือไม่ แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมพาไปดูกัน ผมจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่ามีงานเพิ่มจริงไหม ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ ปัญหาคือเรามีอาชีพ สงวนที่สงวนไว้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะงานที่อยู่ในสายการผลิตและกรรมกร โดยเรา ได้ยกเว้นให้กับ MOU ๓ สัญชาติ ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเราพบว่ามีแรงงานจีน จำนวนมากที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ ขอ Clip Video ครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ถ้าดูจาก Clip นี้คนที่คลุกคลีกับการทำงาน ในโรงงานก็จะเห็นเลยว่าเป็นแรงงานในส่วนของการผลิตแน่นอนดูจากชุดได้เลย แต่ละวัน ก็ขนไปทำงานแบบนี้ตามใน Clip เป็นรถ Bus รถตู้เยอะแยะแบบนี้เลย ถ้าท่านยังไม่เชื่อผม ไม่เป็นไรครับ ผมจะพาไปดูพื้นที่จริงใน EEC ภาพเหล่านี้เป็นอาคารหอพัก แห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีจำนวน ๑๘ ตึก ตึกละ ๕ ชั้น ชั้นละ ๓๐ ห้อง มีประชากรจีนประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ แห่งที่ ๒ ตำบลบ่อวิน มีจำนวน ๑๘ ตึก ตึกละ ๕ ชั้น ชั้นละ ๓๐ ห้อง มีประชากรจีนประมาณ ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถัดไป ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง ๔ ตึก ตึกละ ๔ ชั้น มีประชากรจีนประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถัดไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน ๘ ตึก ตึกละ ๗ ชั้น ชั้นละ ๑๘ ห้อง คาดว่ามีประชากรชาวจีนประมาณ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าตีคร่าว ๆ ประมาณนี้ก็ไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ คน อันนี้อย่างต่ำ และผมจะถามว่าถ้าเป็น สายงานอื่นที่ไม่ใช่สายงานกรรมกรหรือการผลิต ถ้าเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ. EEC จะใช้คนเยอะขนาดนี้หรือครับ โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหากับการใช้แรงงาน ต่างชาติ ผมทำงานกับพี่น้องแรงงานมา ผมเข้าใจดีว่าหลายอาชีพคนไทยเองก็ไม่ได้ทำ แล้วก็ไม่ได้อยากทำ จำเป็นที่ต้องนำเข้าแรงงาน แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่าแรงงาน เหล่านี้เป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือไม่ เข้าเมืองมาอย่างถูกต้องหรือไม่ และท้ายที่สุด ผมก็อยากจะถามว่าที่เราพูดกันว่าประเทศจะได้ประโยชน์ ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นนั้นมันจริงหรือไม่ครับ เหมือนว่าเรากำลังนำเข้าแรงงานที่ผิด กฎหมายจำนวนมากในพื้นที่ EEC นี่คือพื้นที่ไม่เกิน ๑๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ EEC กว้างใหญ่แค่ไหน และจะมีลักษณะแบบนี้อีกเยอะสักเท่าไร อันนี้เราต้องดูกันให้ดี นี่ยังไม่นับว่ามีทุนจีน มีธุรกิจร้านค้าที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้า ได้รับผลกระทบเต็มไปหมด แต่ส่วนนี้ผมจะยังไม่พูดถึงตอนนี้นะครับ คราวนี้มาดูกันว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ต้องเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ต้องดีขึ้น เรามาดูตัวเลขผู้ว่างงานกัน อันนี้ดูแค่ ๒ จังหวัดคือจังหวัดระยองกับจังหวัดชลบุรี อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์ แรงงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เริ่มกันที่ชลบุรีก่อนเลย ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เราพบว่ามีการระบาดของ COVID-19 มีผู้ว่างงานอยู่ที่ ๑.๑๙ เปอร์เซ็นต์ และปี ๒๕๖๔ เพิ่มมากขึ้นเป็น ๑.๒๘ เปอร์เซ็นต์ ปี ๒๕๖๕ เป็น ๑.๒๗ เปอร์เซ็นต์ เยอะกว่าช่วงโควิดอีกนะครับ มาต่อกันที่ระยอง ปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๑.๐๕ และปี ๒๕๖๔ ตกลงมาที่ ๑.๐๒ แต่ปี ๒๕๖๕ ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น ๑.๔๔ เปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงกว่า ช่วงโควิดอีกเช่นกัน ในขณะที่ตัวเลขว่างงานเฉลี่ยของทั้งประเทศไทยมีตัวเลขการว่างงาน อยู่ที่ ๑.๑๕ เปอร์เซ็นต์ แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเขตพัฒนาพิเศษที่อ้างนักอ้างหนาว่า สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในประเทศจะเกิดจากการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขการว่างงาน ในพื้นที่ EEC กลับสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอีก แบบนี้สอบผ่านไหมครับ ที่เห็นผมพูด เรื่องตัวเลขสถิติเยอะ ๆ จริง ๆ แล้วแรงงานไม่ใช่แค่ตัวเลข แรงงานคือคน มีชีวิต มีเลือดเนื้อ และตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมาแรงงานกำลังถูกขูดรีดเลือดเนื้อเพิ่มขึ้นด้วยการเปลี่ยน สภาพการจ้างครับ แรงงานจำนวนมหาศาลในพื้นที่ EEC ได้กลายสภาพจากพนักงานประจำ ไปเป็นลูกจ้างรายวัน นั่นหมายความว่าอะไร หมายความว่าเขาได้ค่าแรงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สวัสดิการต่าง ๆ ก็ได้รับไม่เต็มที่ บางคนไม่มีสวัสดิการด้วยซ้ำ บางคนถ้าหากเจ็บป่วยขึ้นมา ลางานไป ๒-๓ วันก็เท่ากับขาดรายได้ไป ๒-๓ วัน แล้วแบบนี้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตรงไหน นี่ยังไม่นับว่าใน พ.ร.บ. ทั้งในแผนงานมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพและพัฒนาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอะไรต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ในความเป็นจริงแค่การสร้างถนนแต่ละเส้น ก็สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนอย่างมากมายจนมีความเสียหายถึงแก่ชีวิตในพื้นที่ EEC หลายโครงการเหมือนที่ผมได้เคยอภิปรายปรึกษาหารือไปแล้วในสัปดาห์แรก ๆ นะครับ กลับมาที่รายงานเล่มนี้ถ้าจะให้ถามว่า EEC เปรียบเทียบคืออะไร ก็คงเหมือนรายงานเล่มนี้ นอกจากภาพลักษณ์ที่ดูสวยงาม หลักการที่ฟังดูสวยหรู แต่เนื้อหาจริง ๆ ก็กลวงเปล่า ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น มีแต่เนื้อ คำพูดมากมาย แต่ความหมายเท่าเดิม สนับสนุนให้นายทุนใหญ่ ไม่สนใจชีวิตแรงงาน และที่สำคัญไม่มีคุณภาพเลย ผมมีข้อเสนอ ง่าย ๆ ถ้าไม่สามารถทำตามตัวชี้วัดได้ หรือถ้า EEC มีปัญหาขนาดนี้ เรามาแก้ พ.ร.บ. EEC หรือยกร่างใหม่กันไปเลยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ครับ

นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดชลบุรี พรรคเพื่อไทย วันนี้คงจะไม่ต้องล้วงลึกถึงเรื่อง EEC เนื่องจากผมอยู่ในจังหวัดชลบุรี อยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด เป็นสมาชิกสภาจังหวัดมา ๒๔ ปี แต่คิดว่าการสื่อสารหรือการโฆษณาของ EEC นั้นน้อยไปหน่อย แม้แต่ผมอยู่ในพื้นที่ยังไม่รู้เรื่องรายละเอียดที่ลึกซึ้ง EEC นั้นประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ใช้เนื้อที่ทั้งหมด ๓ จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา แล้วก็ ใช้เนื้อที่มหาศาล ๑๓,๒๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร แต่วันนี้ผ่านมา ๔-๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ กรอบที่ชัดเจนนั้นผมว่าคนชลบุรียังไม่รู้เลย ผู้นำบางท่านก็ยังไม่รู้ว่าขอบเขตนั้นอยู่ตรงไหน ๕-๖ ปีนั้นท่านคณะกรรมการเคยติดตามดูถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ว่ามีผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อม กับพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ว่าปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินผมว่าต้องมี แน่นอน เนื่องจากบางโครงการนั้นใช้เนื้อที่เป็นจำนวนมาก ที่หลวงหรือที่รัฐนั้นคงจะไม่พอ ผมก็ขอพูดในส่วนของที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะหรือเมืองน่าอยู่ในพื้นที่บางละมุง ตรงนี้ใช้เนื้อที่ ประมาณ ๑๔,๐๐๐ กว่าไร่ ผมว่านายทุนคงจะกว้านซื้อที่ไปหมดแล้ว แต่ชาวบ้านนั้นจะอยู่กัน อย่างไร ประสบการณ์ผมชาวบ้านนั้นมีที่น้อยมีที่เพียง ๑ ไร่ อาจจะได้ค่าเวนคืนประมาณ ไม่ถึง ๑ ล้านบาท ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท ชาวบ้านมีที่ ๑ ไร่สามารถส่งลูก เรียนจบปริญญาตรี จบปริญญาโทได้ แต่ท่านได้เงินไป ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท นั้นไม่สามารถที่จะไปสร้างที่อยู่อาศัยอย่างสบายใจได้ สิ่งเหล่านี้คือปัญหา ผมถามคณะกรรมการ เคยไปติดตามตรวจสอบดูหรือไม่ คนพวกนี้ต้องไปเก็บขยะขาย ต้องเข้าป่าไปถางป่า ปัญหานี้ เกิดมาอย่างมากมาย ไม่ใช่ว่าโครงการ EEC ที่จริงแล้ว EEC นั้นผมต้องขอบใจรัฐบาล รักษาการครับ ทุกรัฐบาลที่จะต้องมองเห็นภาคตะวันออก ไม่ว่า ๑๐ ปีที่แล้วนั้นท่านจะเห็น โครงการ Eastern Seaboard พัฒนาชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก รัฐบาลที่ยึดอำนาจไป ท่านก็ยังมีความเห็นใจคนภาคตะวันออกคิดโครงการ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจ ผมก็คิดว่า ต้องขอขอบคุณ แต่มันก็มีจุดดีและจุดเสีย สิ่งต่อไปไม่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจของ EEC จะมี เรื่องพัฒนาการศึกษา ผมได้ดูเรื่องทางด้านการศึกษาแล้ว ผมว่าคณะกรรมการ EEC เขียนไว้นั้นเพียงเป็นการต่อยอดเรื่องการศึกษา ผมว่าท่านต้องกลับไปดูเรื่องการศึกษา เป็นอย่างไรบ้าง ทุกวันนี้บุตรหลานลูกเรานั้นเป็นอย่างไร หน้าที่ จริยธรรม คุณธรรม มีหรือไม่ เด็กก้าวร้าว แต่ท่านจะต่อยอดเอาคนจบปริญญาตรีปุ๊บไปอบรมแล้วมาทำงาน ผมว่ามันไม่ใช่ งบประมาณ ๑ จุดล้านล้านบาทของประเทศไทยนะครับ แต่ผมไม่ได้ว่าการศึกษา ไม่ใช่ว่าเด็กไม่ดี อยู่ที่พวกเราครับ เราเป็นคนกำหนดอนาคตของเขา แต่เรากำหนดอนาคตเขาไม่ดีเอง ผมเสนอคณะกรรมการครับ งบของ EEC นั้นมากมาย ท่านทำได้ไหมจัดโรงเรียน ผมกลับไปถามคุณครูหลาย ๆ ท่านว่าวันนี้เขาอยากเป็นครูหรือไม่ ไม่มีใครอยากเป็น ด้วยความจำเป็นครับ ถ้าวันนี้ท่านไม่ไปพัฒนาบุคลากรครู ผมว่าเมืองไทย อยู่ต่อไปลำบาก ถามทำไมอยู่ลำบาก สมัยก่อนมี ๑๐ วิทยาลัยครู แต่คนจบวิทยาลัยครูนั้น เรียนเสร็จจะต้องไปสอบเข้าครูอีก ถ้าสอบไม่ได้ อีก ๔-๕ ปีก็สอบจนกว่าจะได้ เขาจะมีจิตใจ ได้อย่างไร ถามว่าทุกวันนี้โรงเรียนนายสิบมีเรียนจนจบออกมาเป็นทหาร เป็นนายสิบ โรงเรียนนายร้อย เรียน ๗ ปีออกมาเป็นนายร้อย มันสร้างความมั่นคง สร้างให้เขารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ทำไมโรงเรียนครูทั้งชีวิตทำไม่ได้ผมแปลกใจจริง ฝากคณะกรรมการ ผมว่าจัดตั้งโรงเรียนที่เกี่ยวกับครูให้เขามีจิตสำนึก เขาเรียนจบมา ๔ ปีออกมาให้เป็นครูเลย ไม่ต้องมาสอบใหม่ ปีหน้าเราจะรู้ว่าครูขาดอีกกี่คน ผมว่างบประมาณมหาศาลเช่นนี้สมควร ที่จะทำให้คนที่ดูแลบุตรหลานของเรานั้นให้มีความเจริญก้าวหน้า ฝากท่านคณะกรรมการ ผมว่าถ้าคุณครูจบมา ๘ ปี หรือ ๔ ปีนั้นเป็นครู เขามีแต่ไม้เรียว มีแต่ดินสอ มีแต่ไม้บรรทัด เขาคงไม่มีอาวุธที่มายึดอำนาจพวกเราหรอก ฝากคณะกรรมการทุกท่านตลอดจนท่านประธาน ขอขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณเบญจา แสงจันทร์ ครับ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ภายใต้รายงานประจำปี EEC ปี ๒๕๖๕ ของ สกพอ. ถ้าเราได้ติดตาม จากรายงานจะเห็นว่ามีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รัฐได้ลงนามสัญญา ร่วมลงทุนกับเอกชนไปแล้ว ๔ โครงการ จากจำนวนทั้งหมด ๕ โครงการ และยังเป็นภารกิจ ที่รอ สกพอ. ขับเคลื่อนต่อค่ะ แต่ก่อนอื่นดิฉันขอตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามกับคำชี้แจง ของท่านผู้มาชี้แจงในวันนี้ เมื่อสักครู่ท่านพูดถึงโรงงานของ BYD ดิฉันเข้าใจว่าโรงงานนี้ เป็นโรงงานเดียวในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขต Promotional Zone ซึ่งเขต Promotional Zone นี้มีหลักเกณฑ์คือจะต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรมหรือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๐ บวก ๒ และต้องเป็นอุตสาหกรรมชนิดเดียวกันนี้ทั้งโรงงานค่ะ ดิฉันจึงขอตั้งคำถาม ฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าในโรงงานอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตนิคม WHA นี้เข้าข่าย อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายดิฉันคิดว่าการประกาศเป็นเขต Promotional Zone ไม่น่าจะถูกต้องหรือไม่คะ อันนี้เป็นคำถามที่ ๑

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ที่ผู้ชี้แจงได้ชี้แจงไปแล้ว มีอีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม และตั้งข้อสังเกตกับการที่ท่านผู้ชี้แจงได้ช่วยชี้แจงถึงกองทุน EEC ดิฉันอ่านจากรายงานแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามดัง ๆ ไปยังผู้ชี้แจงว่ากองทุน EEC มีการจัดการให้กับใครบ้าง ถ้าไปดูในรายงาน เราก็จะเห็นการจัดการที่ใช้ไปกับการศึกษา การเรียนรู้ การท่องเที่ยว แต่ท่านเชื่อไหมว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบตัวจริง ในปีที่แล้วน้ำมันรั่วที่ระยองก็ไม่ได้รับการชดเชยจากเงินกองทุน เยียวยาของ EEC นี้ หรือแม้แต่แรงงานเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่เคย อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของกองทุนการเยียวยานี้เลยค่ะ ในส่วนของการพัฒนาดิฉันมั่นใจว่า เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาคือตัวแปรหนึ่งในการสร้างเม็ดเงิน สร้างเศรษฐกิจให้กับ ประเทศนี้ แต่ถ้าเราเข้าไปดูในแต่ละโครงการก็จะเห็นว่าลึกลงไปกว่าตัวเลขเม็ดเงิน ทางเศรษฐกิจเหล่านั้น ภายใต้เม็ดเงินอันมหาศาลเหล่านั้น ใครกันแน่ที่เป็นคนได้รับส่วนแบ่ง ทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินเหล่านั้นบ้าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยเยียวยา ที่คุ้มค่าแล้ว เป็นธรรมแล้วหรือไม่คะ ถ้าเราเข้าไปดูในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน จากดอนเมือง สุวรรณภูมิ ไปจนถึงอู่ตะเภา เราก็จะได้เห็นกลุ่มนายทุนแค่บางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมทุน และได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และเราก็ได้เห็นในรายงานว่ามีชาวบ้านที่ถูกไล่ ถูกฟ้อง ถูกไล่รื้อ เพื่อนำที่ดินมาให้นายทุนพัฒนา และนี่คือเหรียญอีกด้านหนึ่งของการพัฒนา ที่ในรายงานก็กลับไม่เคยพูดถึงเลยนะคะ ถ้าเราเข้าไปดูในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เราเห็นแค่กลุ่มนายทุนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ จากการรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในสนามบินทหาร ที่ต้องการเปลี่ยนโฉม เป็นมหานครแห่งอนาคต มหานครแห่งการบิน เป็นนายทุน เป็นขุนศึกบางกลุ่ม ที่ได้รับสัมปทานจากการขายกระแสไฟฟ้าและผูกขาดพลังงานในพื้นที่ แต่ท่านประธาน ทราบไหมว่ามีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองมหานครแห่งการบินในเขตชลบุรี ระยอง พวกเขาถูกประกาศเป็นเขตหวงห้าม ๔๐,๐๐๐ กว่าไร่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับ ความเดือดร้อนมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คนในเวลานี้ และถ้าเราเข้าไปดูในโครงการถมทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง Phase 3 และโครงการถมทะเลท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด Phase 3 เราก็ได้เห็นแค่นายทุนบางกลุ่มอีกที่ได้รับสัมปทานจากการระเบิดภูเขาเพื่อนำไป ถมทะเล ได้เห็นกลุ่มนายทุนแค่บางกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมทุนและรับประโยชน์ จากโครงการนี้ แต่ท่านประธานทราบไหมว่ามีชาวประมงใน ๒ พื้นที่นี้มากกว่า ๒,๐๐๐ คน ในแหลมฉบัง ในชลบุรี และในมาบตาพุด ระยอง พวกเขาอาชีพถูกทำลายให้ล่มสลายลงค่ะ แล้วก็สังเวยให้กับนโยบายถมทะเลที่ไม่สนใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในทะเล และกระทบต่อวิถีการประมงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยว ชุมชนของชายฝั่งเลยค่ะ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ อีกโครงการหนึ่ง โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ซึ่งปัจจุบันแผนงานก่อสร้างได้หยุดชะงักไป เนื่องจากการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟู แต่กองทัพเรือก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในการปรับดิน ถมดินไปแล้ว ล่าสุด ดิฉันก็ทราบมาว่าโครงการนี้กำลังถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่โดยการบินไทยค่ะ ก็คงต้องตั้งคำถาม ดัง ๆ ฝากท่านประธานไปยัง สกพอ. ว่าในขณะที่การบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว และการที่ กองทัพเรือจะให้ สกพอ. กลับมาปัดฝุ่นกรณีนี้ใหม่ แล้วให้การบินไทยกลับมาทำสัญญา เช่าอาคาร MRO อีกครั้งเป็นเวลา ๕๐ ปี วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำได้หรือไม่ กรณีนี้จะต้องทำตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนใหม่หรือไม่ และต้องเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมแข่งขันในการประมูล หรือไม่ ขณะนี้เองที่เรากำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมากจากการที่มีบรรดา ศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานในบริเวณภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะสิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือว่า เวียดนาม หรือมาเลเซีย ที่ต่างก็พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานของตัวเองแล้ว โครงการนี้ยังมี ความจำเป็นในระดับภูมิภาคมากน้อยเพียงใด คงต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบด้าน เพิ่มเติมใหม่ด้วยอีกหรือไม่คะ ท่านประธานคะ นี่คือส่วนหนึ่งจากโครงการเรือธง ทั้ง ๕ โครงการ ซึ่งเป็นโครงการพื้นฐานที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากรายงานจะพบว่าขณะที่เราต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปรากฏการณ์ El Nino และในเขตเศรษฐกิจพิเศษเอง ก็เป็นพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด แต่ท่านทราบไหมว่าในรายงานฉบับนี้แทบจะ ไม่พูดถึงแนวทางและวิธีการแก้ปัญหา และการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงมากในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะ จากรายงานเราจึงเห็นแค่กลุ่มทุน กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ แค่ไม่กี่กลุ่ม ที่ได้ผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และนี่คือความจริง ความจริงที่ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีเพียงแค่เครือข่ายนายทุน เครือข่ายผู้มีอิทธิพล นายทุนผูกขาดและนายทุนสัมปทาน ที่ผูกขาดที่ดิน ผูกขาดน้ำ ผูกขาดไฟฟ้า ผูกขาดพลังงาน ผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร แล้วก็ผูกขาดสาธารณูปโภค รวมไปถึงผูกขาดทรัพยากร ที่มีมูลค่ามหาศาล พวกเขากำลังเผาผลาญทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความสุขสบาย ของนายทุนเท่านั้น ดังนั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จึงเป็นเมืองมหานครแห่งอนาคต ที่ไม่เคยมีอนาคตของพี่น้องประชาชนร่วมอยู่ด้วยเลยค่ะ ท้ายที่สุดนี้ก็ต้องยืนยันว่าดิฉัน ไม่ได้เห็นด้วยกับการพัฒนาทั้งหมด แต่ก็ต้องบอกว่าดิฉันเห็นด้วยกับความเจริญและเห็นด้วย กับการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC บางส่วน แต่ความเจริญและการพัฒนาไม่ได้วัดกัน ที่ตึกสูง ๆ ไม่ได้วัดกันที่อาคารสวย ๆ ไม่ได้วัดกันที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตโอ่อ่า แต่ความเจริญ วัดกันที่การที่เราจะสร้างความเจริญ สร้างความมั่นคงให้กับทุกคน กระจายความมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจ กระจายความมั่นคงด้านชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และทำให้พวกเขามีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคง ในอาหาร มีความมั่นคงในระบบนิเวศ เข้าถึงสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน มีโอกาสในการที่จะ ประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ และโอกาสในการที่จะสร้างสวัสดิการสังคมอย่างเท่าเทียม และนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาในฐานะเจ้าของประเทศนี้ร่วมกันค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ คุณเบญจาครับ ผมอยากจะเรียนขอความกรุณาอย่างนี้ว่าอยากให้ผู้ที่ขออภิปรายอภิปราย ภายในเวลาที่กำหนดไว้นะครับ พอดีผมก็ไม่อยากจะเตือนเพราะเห็นว่าสิ่งที่นำเสนอ เป็นประโยชน์ แต่ว่าถ้าทุกคนเกินเวลานาทีสองนาทีมันก็จะกินเวลาเป็นชั่วโมง เพราะขณะนี้ มีผู้สนใจที่จะอภิปรายในเรื่องนี้ถึง ๒๐ ท่าน เพราะฉะนั้นขอความกรุณาด้วยว่าเมื่อหมดเวลา ขอให้ท่านยุติ ขอให้ท่านอภิปรายภายในขอบเขตเวลา ๗ นาที เราจะให้ผู้ที่ลงชื่อได้อภิปราย ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องให้เวลากับผู้ที่มารายงานได้ชี้แจงด้วย เพราะคำถามเยอะมาก พอสมควรครับ ต่อไปคุณศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ๗ นาที เชิญครับ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย ๓ จังหวัด จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง ปัญหาความเจริญเกิดขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ประชาชน ก็เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมา สิ่งที่เป็นปัญหาตกค้าง ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จะบอกว่า ต้องรับกรรมจะเป็นไปได้ครับ คือกากขยะอุตสาหกรรม วันนี้จากตัวเลขซึ่งผมได้ค้นพบว่า กากอุตสาหกรรมปีหนึ่งจะมีประมาณ ๕ ล้านตัน แต่ทางราชการหรือ EEC กำจัดไว้ประมาณ ครึ่งเดียวเองประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๒.๕ ล้านตัน วันนี้มีข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่นข่าวล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ไปทิ้ง ที่จังหวัดสระแก้ว หรือไปทิ้งในบริเวณอื่น ๆ ไปฝังกลบ ซึ่งเราอาจจะตรวจไม่พบ หรือไม่เป็นข่าว แต่ประชาชนในพื้นที่รับทราบ กากอุตสาหกรรมมันเป็นขยะทางเคมี ใคร ๆ ก็ทราบ เพราะมันเป็นภัยหรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตามมาก็คือน้ำเสีย วันนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรง เราพบเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่องว่ามีการอัดน้ำเสียลงไป ในชั้นน้ำบาดาลหรือใต้ดิน ที่โรงงานจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อไปบำบัด แล้วก็ปิดกั้น ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ แล้วให้ความร่วมมือ ผมเชื่อว่าผู้มาชี้แจงก็พอที่จะทราบข่าว

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องขยะที่ผมจะพูดในวันนี้ วันนี้ในเขต EEC มีขยะตกค้างที่ยังไม่ได้กำจัดอยู่ประมาณ ๖ ล้านตัน วันหนึ่งใน ๓ จังหวัดมีขยะเกิดขึ้นวันละ ๕,๐๐๐ ตัน แต่ถูกกำจัดได้ประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง จะถูกวิธีหรือไม่ถูกอันนี้ผมก็ไม่ยืนยันว่าเรากำจัดขยะ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่ให้หมดไปโดยวิธีเผา หรือ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติอาจจะปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ แต่ข้อมูลในการรายงาน ผมเชื่อว่าเป็นไปตามวิชาการครับ ไม่อย่างนั้นไม่เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นขยะที่ตกค้าง ๖ ล้านตัน ที่ค้างอยู่กับขยะที่ตกค้างแต่ละปีเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง โดยประมาณแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งสะสมไปเรื่อย ๆ เราจะทำอย่างไร เห็นไหมครับ นี่คือกองขยะ ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก Foam ขวด ซึ่งพลาสติก พวก Foam กว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลา ๒๐๐-๕๐๐ ปีถึงจะย่อยสลายไปหมด ถ้าเราไม่กำจัด เราปล่อยให้กองอยู่ เวลาลมมาหรือพายุมาก็จะพัดลงไปในทะเล อันนี้เป็นภาพขยะทะเล ที่อยู่ใกล้เกาะเสม็ดหรืออุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ขวามือคือเกาะเสม็ด เกิดผลอะไร เมื่อมีขยะอยู่ในทะเล สัตว์น้ำก็ไปกินขยะ เมื่อขยะพลาสติกย่อยสลายเราเรียกว่า Micro Plastic วันนี้ Micro Plastic ซึ่งมันมีขนาดเล็กกว่า ๕ มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าที่ตาเรา จะมองเห็น มันเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์เราด้วย เมื่อไม่นานนี้ ประเทศจีนรายงานผลว่า Micro Plastic อยู่ในหัวใจมนุษย์ มันไกลกว่าอยู่ในเลือดหรืออยู่ใน ร่างกายแล้ว อยู่ในสมอง อยู่ทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ วันนี้ถ้าเราปล่อยให้ขยะพลาสติก ล่องลอยลงไปในทะเล หรืออยู่ในอากาศที่เราสูดอากาศเข้าไป แล้วหายใจเข้าไปเป็นอันตราย ต่อสุขภาพมากครับ ผมเชื่อว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติในห้องนี้หรือผู้มาชี้แจงถ้าไปตรวจ Micro Plastic ในร่างกายผมเชื่อว่ามี มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพปอดอย่างยิ่ง ผมอยากให้ทาง EEC เร่งดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องขยะพลาสติกและ Micro Plastic ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นปัญหา ต่อสุขภาพของคนทั้งโลกครับ ไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย EEC เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกที่ขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม และภาคอุปโภคบริโภค ผมได้ยินข่าวอย่างเสมอและต่อเนื่องว่ากำลังจะทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด ผมอยากให้ท่านทบทวนเรื่องการนำน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด ผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่ดีถ้าเราทำได้ แต่ผมในฐานะที่เคยอยู่แวดวงในการบริหารจัดการน้ำ ผมมั่นใจว่ามันไม่คุ้มทุนหรอกครับ เพราะ ๑ ลูกบาศก์เมตรเราจะลงทุนไม่ต่ำกว่า ๗๐-๘๐ บาท จะได้น้ำจืด ๑ ลูกบาศก์เมตร แต่สิ่งที่เราได้มาอาจจะมีขยะที่เกิดขึ้น คือเกลือเราจะไปไว้ที่ไหน ขยะในการบริหารจัดการ มันจะตามมาอีกมากมาย แต่คนจะผลักดันให้เกิดการนำน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด ท่านประธานครับ รู้ไหมว่าใคร คือคนขายเครื่องมือ ฝากท่านประธานไปยังผู้ที่จะคิดดำเนินการเรื่องนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ จบตามเวลาพอดี ต่อไปคุณคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ เชิญครับ

นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตท่านประธานไปถึงท่านเลขาธิการ EEC ต้องขอชื่นชมท่าน กับการรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของท่านในเล่มนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ EEC นี่ก็ถือว่า เป็นเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออกที่มันเข้มแข็ง แล้วก็เป็นรากฐานการพัฒนาของประเทศ และสามารถที่จะมีการเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจได้ แล้วก็มีความเข้มแข็ง นับตั้งแต่การลงทุนในยุค Eastern Seaboard ที่เปลี่ยนโฉมจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็น ระบบอุตสาหกรรมและพัฒนามาสู่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเป็น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออก วันนี้แนวโน้มของอุตสาหกรรมในโลกก็มี การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ประกอบกับว่าวันนี้ EEC ก็ถือว่าได้ทำโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โครงการเขตพัฒนาพิเศษของ EEC นี้ เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นการยกระดับการพัฒนาประเทศซึ่งผมทราบมาก็มี ๓ จังหวัด มีจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง อีกทั้งยังกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคตามที่ท่านเลขาธิการ EEC ได้นำเรียนและชี้แจงเมื่อช่วงต้นที่ผ่านมา จุดประสงค์ที่ผมมีความชื่นชมในเรื่องเกี่ยวกับแผน จุดเริ่มต้นแผนพัฒนาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งผม ทราบมาว่ามีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๖๐ ซึ่งวันนี้ปี ๒๕๖๕ ๕ ปีแล้ว แผนที่นำไปสู่ ความสมบูรณ์แบบและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนที่มีแบบแผนด้วย แผนที่ ๑ แผนปฏิบัติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนที่ ๒ แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย แผนที่ ๓ แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี แผนที่ ๔ พัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยว แผนที่ ๕ ปฏิบัติการเมืองใหม่และชุมชน แผนที่ ๖ พัฒนา ศูนย์การธุรกิจและศูนย์การเงิน แผนที่ ๗ เป็นการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ในการดำเนินการของภาคประชาชน และแผนที่ ๘ แผนปฏิบัติการการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม จากปี ๒๕๖๐ มา ๕ ปี ปี ๒๕๖๕ ในหน้า ๑๕ ย่อลงมาเป็นแผนภาพรวม เพื่อการพัฒนาของ EEC มีทั้งหมด ๖ ด้าน ซึ่งตรงนี้ถือว่าท่านก็ได้ดำเนินการมา ๕ ปี ว่าแผน ๕ ปีที่ผ่านมานี้ได้ทำอะไรมา แล้วก็มีความสอดคล้องกับปี ๒๕๖๐ เพียงใด ในส่วนที่ผมขอชื่นชมทาง EEC เช่นกันก็คือผมได้เห็นในเล่มนี้มีเกี่ยวกับ พ.ร.บ. EEC ที่สำคัญ เมื่อปี ๒๕๖๑ เกิดขึ้น ที่สำคัญเป็นการพัฒนาทักษะบุคลากรตามแนวทางของ EEC Model เป็นเป้าหมายของเยาวชนและประชาชนที่จะทำให้มีรายได้ มีหน้าที่การงาน มีการจ้างงาน และในส่วนของหน้า ๑๔๕ ก็จะเห็นภาพก้าวต่อไปของ EEC ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติต่อไป ผมต้องขอกราบขอบคุณท่าน สส. อนุชา บูรพชัยศรี แล้วก็ขอโทษ ที่ต้องเอ่ยนามท่าน เพราะท่านได้พูดถึง SEC ท่านประธานครับ ผมเป็นหนึ่งใน สส. ของพื้นที่ ภาคใต้ นั่นคือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้หรือ SEC ซึ่งมีกลุ่มจังหวัดภาคใต้ นั่นคือ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็ ยังมีจังหวัดใกล้เคียงของภาคใต้ทั้งหมด ๑๔ จังหวัด SEC จะต้องเชื่อมต่อกับ EEC เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในด้านเศรษฐกิจ การขนส่ง ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตะวันออกเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เรื่องนี้แนวกรอบของการพัฒนา SEC ประกอบไปด้วย ๑. การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก ๒. การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยว อ่าวไทยและอันดามัน ๓. การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตร มูลค่าสูง ๔. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ชิดชอบ รวมถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านรองนายกรัฐมนตรีของผมเพิ่งเดินทางเข้ามาในห้องประชุม ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านเป็นผู้ผลักดันให้มีโครงการ SEC เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการ Landbridge ที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ สนข. ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ ที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร และอีกไม่นานช่วงกันยายนก็จะลงพื้นที่อีกเพื่อไปรับฟัง ความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบเส้นทางไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟหรือทางรถยนต์ นี่คือสิ่งหนึ่งที่จะตอบโจทย์ได้ว่าวันนี้ EEC จะต้องเดินคู่ขนานกับ SEC ต่อไป Landbridge จะประสบความสำเร็จขึ้นได้ เพราะว่าจะเป็น Hub ทางเศรษฐกิจและเป็นภูมิภาค ในการขนส่งที่สำคัญของ ASEAN ต่อไป ก็อยากจะฝากทางท่านเลขาธิการนำสิ่งดี ๆ ของท่านที่ได้ทำในเล่มนี้ต่อยอดให้กับพี่น้องประชาชนภาคใต้ของผม ๑๔ จังหวัดด้วย เพราะไม่ได้แค่เฉพาะภาคใต้ ผมมองว่าถึงระดับ ASEAN ด้วยนะครับ ในส่วนนี้ก็ขอฝาก ท่านประธานถึงทาง EEC ผมก็ขอชื่นชมท่าน ในส่วนนี้ก็ให้กำลังใจท่านต่อไปในการทำหน้าที่ เพื่อประเทศชาติ กราบขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมาก ต่อไปคุณชวาล พลเมืองดี แล้วคนที่จะพูดต่อไปจากคุณชวาลคือคุณสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เชิญคุณชวาลก่อนครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชวาล พลเมืองดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชลบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขอร่วมตั้งข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพันธกิจของโครงการ EEC ตามรายงานฉบับนี้ในหน้า ๑๐ โครงการ EEC ดำเนินโครงการไปแล้วกว่า ๖ ปี แต่ผล การดำเนินงานทั้งตามรายงานของท่านรวมถึงความเป็นจริงกลับไม่มีอะไรเลยที่ประชาชน จับต้องได้ รบกวนฝ่ายโสตขึ้น Slide ด้วยครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

อย่างนั้นผมอภิปรายต่อนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญเลยครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

ท่านได้วาดฝันเป้าหมายโครงการของท่าน ผ่านการเขียนพันธกิจอย่างสวยหรู แต่ผลการดำเนินงานของท่านตามความเป็นจริงแล้ว กลับไม่สอดคล้องและยังขัดแย้งต่อพันธกิจของท่านเสียเอง อีกทั้งยังส่งผลกระทบ และสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่นานัปการ เหตุเพราะที่มาของโครงการดังกล่าว ไร้ความชอบธรรม และโครงสร้างของคณะกรรมการ EEC ไม่ได้ยึดโยงกับพื้นที่ ๓ จังหวัด อย่างแท้จริง โดยตั้งแต่ประธานกรรมการจนถึงสัดส่วนอนุกรรมการทุกคณะในแต่ละตำแหน่ง ไม่มีสัดส่วนของคนในพื้นที่ ๓ จังหวัด EEC เลยสักคนเดียว หมายความว่าคนในพื้นที่เหล่านี้ ไม่สามารถที่มีสิทธิแม้กระทั่งจะร่วมสะท้อนปัญหากำหนดการใช้ทรัพยากรและความเป็น วิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัด EEC ได้เลย แต่ให้คนจากที่ไหนไม่รู้เข้ามากำหนดชะตากรรม ของคนในพื้นที่ แต่พอจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นท่านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ เท่าที่ควร นี่เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนภาพรวมในวันที่ ๓ สิงหาคม ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้เองตามพันธกิจของท่าน แต่ปรากฏว่าจากเวทีรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนกลายเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ เพราะผมได้รับรายงานมาว่าทั้งเวทีเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ข้าราชการและชนชั้นนำในพื้นที่ ชลบุรี ประชาชนมาเพียงไม่กี่คนจากสัดส่วนคนเป็นร้อยในวันนั้น และพอถึงเวลาเลิกงานข้าราชการผู้คนร่วมเวทีหายไปกว่าครึ่งห้องทั้ง ๆ ที่เวทียังไม่จบ แสดงว่าท่านไม่ได้เปิดพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เท่าที่ควร ท่านพอจะชี้แจงได้ไหมว่าองค์กรที่ท่านเชิญมาร่วมเวทีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในพื้นที่มีสัดส่วนเท่าไรในเวทีดังกล่าว ท่านประธานครับ ถ้าการพัฒนาขาดการมีส่วนร่วม ของประชาชนในพื้นที่ ผลที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับก็คือการเพิกเฉยต่อปัญหาและ ผลกระทบของคนในพื้นที่จากผู้มีอำนาจนอกพื้นที่ ดังตัวอย่าง ท่านเพิกเฉยต่อปัญหา การใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะอยู่ดี ๆ ท่านอยากเปลี่ยนผังเมืองเมื่อไรก็เปลี่ยน ยกตัวอย่าง เช่นท่านเปลี่ยนผังเมืองให้สามารถสร้างนิคมในพื้นที่เขียวทแยงขาวได้ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งขัดกับพันธกิจของท่านว่า จะพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพื้นฐานทั้งในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ขีดเส้นใต้ย้ำ ๆ สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ท่านเพิกเฉย ต่อผลกระทบที่ตามมาจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัญหาซ้ำซาก และเรื้อรังคือการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่รอบ ๆ เขต EEC และภาคตะวันออก ท่านลองดูจากภาพครับ จากปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ปัญหา การทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ๒๘๐ ครั้ง และในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งใน และรอบ ๆ EEC การลักลอบปล่อยมลพิษและกากอุตสาหกรรมปาไปแล้ว ๘๓ ครั้ง คิดเป็น ๒๙.๖ เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ปัญหาเหล่านี้ที่ผ่านมาไร้การเหลียวแล จากคณะกรรมการ EEC ทั้งสิ้น เพราะท่านไม่เคยสนใจที่จะออกมาตรการแก้ปัญหา เหล่านี้เลย เนื่องจากท่านไม่ได้ยึดโยงต่อพื้นที่มากพอที่จะมาสนใจความเป็นความตาย ของคนในพื้นที่ ท่านทำเพียงแต่กวาดเอาปัญหาเหล่านี้ซุกไว้ใต้พรม ทำเหมือนไม่มีอะไร เกิดขึ้น แล้วท่านมาพูดปาว ๆ กล่าวแถลงอย่างสวยหรูเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า โครงการของท่านไร้ที่ติ จากภาพครับ อ่างเก็บน้ำโครงการหลวงเขาหินซ้อนต้นฉบับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน มรดกของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ปัจจุบันมีความเป็นกรดเข้มข้นสูง ทั้งอ่างเก็บน้ำไร้ซึ่งชีวิตและเป็นพิษต่อผู้คน นี่ใช่ไหมคือการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการกำกับ ของคณะกรรมการ EEC ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ล้วนเต็มไปด้วยผู้จงรักภักดี นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จงรักภักดีอย่างไรไม่รู้ถึงปล่อยให้โครงการในพระราชดำริ ถูกย่ำยีเยี่ยงนี้ และไม่เพียงแต่มีปัญหาเรื่องกากอุตสาหกรรมที่มันเกลื่อนกลาด ทั่วภาคตะวันออก แต่ปัญหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นเคย แม้พันธกิจ ของท่านจะบอกว่าจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก แต่ท่านรู้ไหมอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี น้ำประปา หยุดไหลเป็นว่าเล่น ผมลืมไปท่านไม่ใช่คนพื้นที่ ท่านอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ แต่ใน ๗ เดือนที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาบ้านบึงมีการประชาสัมพันธ์หยุดจ่ายน้ำไปแล้วกว่า ๓๕ ครั้ง โดยอ้างว่าท่อชำรุดต้องหยุดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมแซมจนกลายเป็นปัญหาไปแล้ว และผมมีข้อมูล อีกหลายพื้นที่ที่เป็นเช่นนี้ ขออีก ๑ นาทีครับท่านประธาน ทั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประปาน้ำก็เค็ม จังหวัดระยองก็ไม่ต่างกัน น้ำไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง บางที่ก็มีกลิ่น มีสีขุ่น แต่โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมกลับมีน้ำใช้ไม่เว้นวัน แบบนี้ประชาชนจะสามารถเข้าถึง สาธารณูปโภคอย่างสะดวกได้อย่างไร ยังไม่ได้พูดถึงพระเอกของโครงการนี้ อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินที่จะอยู่ในแนวพื้นที่เสี่ยงภัยท่อแก๊สระเบิดในระยะ ประชิดยาว ๘ กิโลเมตร ซึ่งเจ้าของอย่างบริษัท ปตท. ก็มั่นใจว่าท่อแก๊สของเขาไม่มีวันระเบิด แต่ผมคนในพื้นที่จะเชื่อได้อย่างไรครับ ในเมื่อเหตุการณ์ระเบิดที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ ก็ไม่ไกลจากแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้ และถ้าเป็นปัญหาเช่นนี้ท่านก็ไม่บรรลุพันธกิจ ในการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอาศัยอย่างสะดวก และปลอดภัยได้อย่างแน่นอนครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ครับ

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมได้อ่านรายงานเล่มนี้แล้วรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือว่า สกพอ. ผมมีความเห็นว่าเล่มสวย PR เก่ง แต่มีการจ้างที่ปรึกษามากมาย พากันไปต่างประเทศบ่อย แล้วก็ออกรายงานมาเพียบ ทำ MOU มาสารพัด มีตั้งแต่การทำข่าวประชาสัมพันธ์ ๓,๐๐๐ กว่าครั้ง มีการแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ จัด Event มากมาย แต่นั่นใช่เป็นสาระสำคัญ ของโครงการ EEC ไม่นะครับ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญแล้วก็อยู่ในรายงาน EEC บ้างก็คือ การลงทุน ซึ่งถ้าเราดูกันอันนี้ก็คือตัวอย่างจากรายงาน EEC ในหน้า ๕๔ ว่ามีบริษัท BYD จะมาลงทุน ๑๗,๘๙๑ ล้านบาท Horizon Plus ๓๖,๑๐๐ ล้านบาท Great Wall Motors จะลงทุน ๒๒,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากเราแยกบริษัทที่เกี่ยวกับการผลิต EV Car หรือว่ารถยนต์ EV ออกไป ซึ่งควรแยก เพราะตรงนั้นเหตุผลที่เขามาจริง ๆ เป็นเพราะ เงื่อนไขในการสนับสนุนเงินจากรัฐที่ทำให้ประชาชนซื้อได้ถูกขึ้นประมาณคันละ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ บาท และตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องมาสร้างโรงงาน ลองแยกอันนั้น ออกมาสิครับ จะเหลืออะไรอยู่บ้าง นอกจากนั้นที่สำคัญท่านควรจะแยกเป้าหมาย ไม่เอาแผน ไม่เอาเป้าหมาย ไม่เอาคำขอ BOI แต่ผมอยากดูเงินลงทุนที่แท้จริงครับ สิ่งที่ผม ถามก็คือผลการลงทุนที่แท้จริง และท่านควรจะ Report ตัวเลขนี้แล้วเอามาเปรียบเทียบ กับประมาณการว่าหากท่านไม่ทำโครงการ EEC มันจะเป็นเท่าไร เพราะประเทศก็มี Organic Growth อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ท่านกำลังจะเพิ่มมันไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานอะไร ต่าง ๆ มากมายใน EEC แต่ตัวเลขที่ท่านกำลังรายงานมามันไม่จริงครับท่านประธาน ท่านรายงานมาในสภาตัวเลขสูงถึง ๑.๙๓ ล้านล้านบาท นี่เป็นตัวเลขลงทุนจริงหรือครับ หรือเป็นแค่เป้าหมายคำขอแผน หรือท่านใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น ตรงนี้ท่านต้องไป ปรับปรุงว่าสิ่งที่เป็นจริง ๆ คืออะไร ส่วนเนื้อหาสาระหลักที่มันเกิดขึ้นในโครงการ EEC ก็มีแต่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน คือแทบจะยังไม่ได้เริ่มเลย มาไล่เลียงดูกันนะครับ ผมเอาภาพที่ขึ้นให้ดูจากรายงานในหน้า ๑๗ โครงการแรก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ผมไปเปิดสิ่งที่ท่านเคยส่งก็คือรายงานเมื่อปี ๒๕๖๐ สิ่งที่ท่านเขียนในรายงานนี้ตอนปี ๒๕๖๐ ท่านบอกว่าจะเปิดปี ๒๕๖๖ ปีนี้ปี ๒๕๖๖ ข้อเท็จจริงคือยังไม่ได้เริ่มเลยด้วยซ้ำก่อสร้างจริง ๆ แต่ท่านมา Report คราวนี้บอกว่าปี ๒๕๖๙ แล้วข้อเท็จจริงก็คือท่านเซ็นสัญญาไปแล้ว ตั้งแต่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ ทุกวันนี้ก็ผ่านไปเกือบ ๔ ปีแล้ว ยังไม่มีการตอกเสาเข็ม ลงเสา ขึ้นคานอะไรต่าง ๆ อย่างที่ควรจะเป็น มีแต่แก้สัญญาเอื้อประโยชน์ให้นายทุน แล้วก็ ลากไปเรื่อยครับ โครงการที่ ๒ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ก็เลื่อนเปิดจากปี ๒๕๖๖ ที่ระบุไว้ ในรายงานปี ๒๕๖๐ มาเป็นปี ๒๕๖๘ โครงการที่ ๓ ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ ๓ ก็เลื่อน จากปี ๒๕๖๗ กลายมาเป็น ๒ เฟส Phase แรกปี ๒๕๖๙ Phase ๒ ปี ๒๕๗๑ โครงการที่ ๔ ที่ท่านให้เป็น Flagship ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ก็เลื่อนเปิดจากปี ๒๕๖๘ เป็นปี ๒๕๖๙ อีกส่วนหนึ่งก็ตัดไปเป็นปี ๒๕๗๒ และจริง ๆ มีอีกโครงการหนึ่งที่ท่าน ไม่ได้มา Report เป็น Flagship แล้วก็คือศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือว่า MRO จากเดิม ที่โฆษณาไว้เยอะว่าจะเปิดตอนปี ๒๕๖๔ จะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แล้วตอนนี้ เป็นอย่างไรแล้ว ยกเลิกไปหรือยังครับ ท่านตอบด้วยว่าใช่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเลื่อนไปเรื่อย ๆ รอเจรจาไปเรื่อย ๆ รอหวังว่าเขาจะมาอยู่ เอาให้ชัด แผนที่ดีมันต้องชัด ผมทราบดีว่า ท่านผู้ชี้แจงไม่เกี่ยว เพราะเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ผมกำลังพูดถึงในมุม ของประเทศ เห็นได้ชัดว่าโครงการเหล่านี้มันเซ็นไปนานแล้ว รีบเซ็นไปเพื่อใคร เพื่อคนเซ็น ใช่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตอนเซ็นรายละเอียดก็แทบไม่ค่อยมี โครงการก็ยังไม่พร้อม วางแผนมาไม่ดี แล้วก็เป็นปัญหาค้างมาจนถึงทุกวันนี้ครับ ที่โฆษณา ก็เอาหน้าว่าจะเปิดปีนั้นปีนี้ เลื่อนมาเรื่อย เชื่อถือไม่ได้ ช้ากว่านี้อีก Sure สิ่งที่ผมถามหา เลยอยากให้ท่านส่งเอกสารมาก็คือตัว S Curve ที่แสดงเนื้องาน ผมกำลังพูดถึง Engineering S Curve นะครับ ไม่ใช่ Marketing S Curve ที่แบบจะทำ New S Curve โน่นนี่นั่น ท่านเลขาธิการก็มาจากกระทรวงคมนาคมเคยรับผิดชอบโครงการใหญ่ ๆ มากมายน่าจะ เข้าใจสิ่งที่ผมพูด S Curve ที่แสดงเนื้องานจริง ๆ เป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะข้อเท็จจริง มันใกล้ ๆ ๐ ผมต้องการ S Curve ของแผนเดิม แล้วแผนมันปรับปรุงมา Version ก็คือ สิ่งที่ ๒ แผนปัจจุบัน แล้วอันที่ ๓ ก็คือผลแสดงเปอร์เซ็นต์ความคืบหน้ามาด้วย มาดูตัวอย่าง ปัญหากัน ผมแสดงปัญหานี้ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ปกติเวลา เขาทำเชื่อม Terminal คือเชื่อมภายในสนามบิน แต่จะเชื่อมระหว่างสนามบิน ผมถามว่า จะมีสักกี่คนที่ขึ้นเครื่องบินไปลงที่อู่ตะเภาแล้วไปต่อเครื่องดอนเมือง นอกจากนั้นมันมีเหตุผล อะไรที่จะทำระบบรางจาก ๑ ทางมาเป็น ๔ ทาง คือชาวบ้านชาวช่องเขาทำจาก ๑ ทาง เป็น ๒ ทาง คนใช้ไม่พอจาก ๒ ทางเป็น ๔ ทาง แต่เราจะทำกันลงทุนผลาญเงินกันอย่างนี้ จาก ๑ ทางเป็น ๔ ทาง มันเหตุผลอะไรครับ แล้วก็ยังจะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ในเขตทางเดียวกันอีกก็ยังมีปัญหา ท่านต้องชี้แจงถึงโครงสร้างทับซ้อนระหว่าง สถานีกลางบางซื่อกับสถานีดอนเมืองจะเอาอย่างไร มันยังไม่จบ ท่านจะดำเนินการอย่างไร ประมูลกันมาอย่างไรก็ไม่ทราบ รถไฟความเร็วสูงจะได้รุ่นไหน สัญชาติอะไรก็ยังไม่ทราบ แต่มีการเซ็นไปแล้ว แล้วก็มีการเอื้อประโยชน์ไปแล้วด้วย แทนที่จะต้องจ่ายชำระค่าสิทธิ Airport Rail Link ๑๐,๖๗๑ ล้านบาท ท่านจะเอื้อแล้ว เอื้ออยู่ เอื้อต่อไปอย่างนี้หรือครับ เพราะฉะนั้นโครงการ EEC มันเกิดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอย่างแท้จริง ถ้าดูภาพ มันใช้หลักวิชาการอะไร มันไม่มี มันเลือกให้เขตส่งเสริมป้ายสีม่วงเป็นหย่อม ๆ มันไม่ได้ มีเหตุผลทางหลักวิชาการสนับสนุนอะไรเลย เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วโลกเขาก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ อย่างสมมติถ้าท่านเลือกมาบตาพุดแล้วค่อย ๆ ขยายเมืองอันนี้ก็ Make Sense แต่ท่าน ประกาศมา ๓ จังหวัด พื้นที่กว้าง ๆ ใหญ่ ๆ แล้วก็เลือกให้ตรงโน้นตรงนี้เป็นหย่อม ๆ อย่างนี้ ท่านทำเพื่อใครกันแน่ เพราะฉะนั้นภาพความฝันที่หลายคนอยากเห็น EEC ผมกำลัง จะสรุปแล้วครับท่านประธาน ภาพความฝันที่อยากเห็น EEC เป็นเหมือน Growth Engine หวังว่าจะดูดการลงทุน แต่ในความเป็นจริงก็คือการโตตามธรรมชาติของการพัฒนาประเทศ เพราะโครงการต่าง ๆ ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ ท่านฝันจะมีการเดินทางขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ หวังว่าจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ขนาดใหญ่อะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ความเป็นจริงก็คือโครงการไปไม่ถึงไหน เพราะวางแผนมาห่วย ท่านฝันว่าจะรดน้ำที่ยอด ยอมเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ หวังว่ามันจะหล่นมาที่รากเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ ชีวิตชาวประชาจะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ความเป็นจริงอันเจ็บปวดก็คือการเอาเงินของคน ทั้งประเทศไปเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่แบบนี้ แล้วสุดท้ายไม่เหลือลงไปสู่ประชาชน ไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นมาอย่างไร EEC เป็นพื้นที่ที่เป็นไปได้มากที่สุดต่อการทำ Growth Engine แล้วเริ่มไปแล้ว พวกผมชาวก้าวไกลในฐานะพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาลก็คงจะต้อง ตรวจสอบติดตามกันต่อไป ส่วนรัฐบาลใหม่มีผลมากนะครับ เพราะว่าอำนาจในการบริหาร งบประมาณกับข้าราชการในมืออยู่ที่พวกท่าน ท่านอย่าทำประเทศพังด้วยการเอาทรัพยากร ของคนทั้งประเทศไปเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่แบบเกินไปอีกเลย อย่างรัฐบาลที่ผ่านมา เห็นแก่คนตัวเล็กตัวน้อยบ้าง โดยสรุปนะครับประธาน ตกลงแล้ว EEC ที่บอกว่าเชื่อมโลก ให้ไทยแล่น เชื่อมโลกให้ใครแล่นกันแน่ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญ คุณวรรณิดา นพสิทธิ์ ครับ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล เป็นที่ทราบกันดี ว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

และโครงการนี้ได้สร้างความหวัง ให้กับคนไทยทั้งประเทศว่า ๑. เศรษฐกิจประเทศจะโตเป็น ๒ เท่า จาก ๑๕ ล้านล้านบาท ในปี ๒๕๖๐ เป็น ๓๐ ล้านล้านบาทในปี ๒๕๗๐ ๒. GDP เฉลี่ยในช่วงปี ๒๕๖๐-๒๕๘๐ ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕ ต่อปี ๓. การจ้างงานจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ถึง ๑.๓ ล้านคน ในปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ เฉลี่ยร้อยละ ๒.๕ ต่อปี แต่ความคาดหวังและความสำเร็จดังกล่าว ไม่ได้มาโดยเปล่าค่ะ แต่แลกมาด้วยเงินที่รัฐจะต้องลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อรองรับโครงการนี้ ท่านประธานทราบไหมว่าเราได้ใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการ EEC ในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ เป็นเงินกว่า ๑,๐๖๑,๐๐๐ ล้านบาทแล้ว แต่ประชาชนยังไม่สามารถเชื่อมั่นได้ และยังจินตนาการภาพไม่ออกว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้จริงหรือไม่ ดิฉันมี ๓ ประเด็นสำคัญ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ดิฉันขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังเลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ถึงความคุ้มค่าและความสำเร็จที่เราใช้งบประมาณ ไปกว่า ๑ ล้านล้านบาทรองรับการเกิดขึ้นของโครงการ EEC นั้น มีอะไรเป็นตัวชี้วัด ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่จะให้ประชาชนเห็นภาพได้ว่า สิ่งที่ลงทุนทำไปนั้นนำมาซึ่ง ความสำเร็จสำหรับเงินที่ใช้ไปแล้วนั้น และกำลังจะใช้ต่อไปอีกอย่างไม่สูญเปล่าค่ะ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ เกี่ยวกับสิทธิพิเศษของนักลงทุนค่ะ มีคำถามมากมายเกี่ยวกับ สิทธิพิเศษที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่า ๑. เอื้อให้กับ กลุ่มนายทุนมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากมีการให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ๒. การไม่กำหนดแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ที่อาจจะแข่งขันกับแรงงานไทย ๓. พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตาม Slide มาตรา ๕๒ ได้กำหนดให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ โดยไม่นำประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาบังคับใช้ เหตุผลเหล่านี้เป็นสิทธิพิเศษที่เราต้องการชักชวนนักลงทุน มาลงทุนในเขตพื้นที่ก็จริงค่ะ แต่ในทางหลักกฎหมายแล้วถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคให้กับคนไทยหรือไม่ ที่เอื้อให้นักลงทุนด้วยสิทธิพิเศษ มากกว่าประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ ดิฉันจึงอยากถามท่านประธาน หากเรา ไม่จำเป็นต้องเอื้อสิทธิพิเศษต่าง ๆ จนเกิดความเหลื่อมล้ำ จะมีหลักการและเหตุผลอื่น หรือไม่เพื่อเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกค่ะ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ โครงสร้างของคณะกรรมการตามมาตรา ๑๐ ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก ๑๔ คน ๑๔ กระทรวง มีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โครงสร้างคณะกรรมการนี้มันใหญ่เกินไปไหมคะ โดยเฉพาะประธานที่เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอีก ๑๔ กระทรวง เสมือน ครม. ย่อย ๆ ก็ว่าได้ อีกทั้งยังให้อำนาจ คณะกรรมการชุดนี้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ไว้อย่างมากมายค่ะ

นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ร่างมาจากคณะ สนช. ในสมัยที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นพอมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจาก ประชาชนขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการ EEC ก็ถูกตีตกไป ในปี ๒๕๖๒ เช่นนี้แล้วจะให้ดิฉันเชื่อมั่นและสนับสนุนโครงการนี้ได้อย่างไรว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ไม่เอื้อและอิงกลุ่มนายทุน ที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสจากการมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขออภิปราย ในรายงานประจำปี ๒๕๖๕ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกกันว่า EEC ท่านประธานคะ EEC คืออะไร

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

ดิฉันอยากจะพูดในที่นี้เพราะว่า เวลาที่พ่อแม่พี่น้องได้ดู Video ต่อไปจะได้เข้าใจดิฉันมากขึ้น EEC คือเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ภาษาอังกฤษก็บอกว่าเป็น Eastern Economic Corridor ตัวย่อเราก็พูดกัน EEC พูดกันอย่างนี้ตลอด มีเงินลงทุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนรวมกันมหาศาล ใช้คำนี้เลย มหาศาลจริง ๆ และพัฒนาอะไรบ้าง เขาพัฒนารถไฟความเร็วสูง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สนามบินมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ใช้งบประมาณเยอะมาก แล้วก็บอกว่าเขาประสบความสำเร็จด้วยนะคะ คือลงทุน ตั้งเป้าหมายว่า ๑.๗ ล้านล้านบาท แต่ว่ามีคนมาลงทุนด้วยเยอะมากถึง ๑.๙๓ ล้านล้านบาท เขาก็เลยจะตั้งเป้าไปที่ ๒.๒ ล้านล้านบาท ความสำเร็จอันนี้ก็เลยถามว่าประชาชน สำเร็จไปด้วยหรือเปล่า เกิดคำถามตรงนี้ แล้วภาพต่อไปบอกว่า ๔ ปี EEC ก้าวไปด้วยกัน กับการเติบโตที่ดีในทุกมิติ ดิฉันวงไว้เลยว่าทุกมิติ ทุกมิติในที่นี้ถามว่าพี่น้องประชาชน ก้าวไปด้วยหรือเปล่า อีกครั้งหนึ่งนะคะ ยกตัวอย่างมิติดีกว่า มิติสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ภาพต่อไปค่ะ ดิฉันสังเกตจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ภารกิจ และดิฉันขีดเส้นใต้ไว้ วิสัยทัศน์บอกว่าเป็นองค์กรต้นแบบที่จะให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนา เป้าหมายก็จะ ยกระดับกันเลยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของ Asia พันธกิจก็เขียนอีกว่าคำนึงถึงประโยชน์ ของประเทศและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ภารกิจต่าง ๆ นานา สาธารณูปโภคต้องมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีการกระตุ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่าง ๆ นานา ท่านประธานคะ ดิฉันเป็น สส. ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ดิฉันไปพบพี่น้อง ประชาชนมากมายท่านดูว่าเรายังคงมีปัญหาในพื้นที่กันอยู่ขณะนี้ ถนนเรายังทุลักทุเลแบบนี้ รถไฟความเร็วสูงที่ท่านจะสร้าง แต่รถไฟที่เขาวิ่ง ๆ กันอยู่ยังไม่มีไม้กั้นเลย มีคนตายไม่รู้เท่าไร พุ่งชนกันเต็ม ๆ ที่ฉะเชิงเทราเมื่อต้นเดือนนี้เองเพิ่งจะตายกันไป ๘ ศพ ผักตบชวายังเต็ม แน่นคลองอยู่เลย นี่คือถนนนะคะ ไฟมืดขนาดนี้ถนนใหญ่ด้วย อันตรายมากโดนจี้ปล้น พี่น้อง ประชาชนยังคงขอถนนเข้าออกอยู่เลย นี่คือชีวิตของผู้คนที่เขาไม่สามารถจะมีรถพยาบาล วิ่งเข้าไปเพื่อรับคนป่วยได้ นี่คือฉะเชิงเทราคนจนยังคงเป็นอย่างนี้ หลังคายังรั่ว น้ำยังท่วม คลองเมื่อน้ำแล้ง หน้าแล้งน้ำแห้งขอดแบบนี้ และชลบุรีมาเอาน้ำจากฉะเชิงเทราไปด้วยนะคะ แล้วดูสะพานที่เมื่อเช้าดิฉันหารือยังเป็นอย่างนี้ร้าวแตกใกล้ถล่ม ชีวิตพวกเราอยู่กันแบบนี้ นี่คือดิฉันไปที่อำเภอเมืองที่ผนังเขาติดอย่างนี้เลยค่ะ บอกว่าฉะเชิงเทราเป็นเมืองอยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร และ EEC เมืองอยู่อาศัยชั้นดี ท่านดูนี่คือน้ำประปาของฉะเชิงเทรา ตำบลคลองเปรง ซึ่งอยู่ ห่างจากสุวรรณภูมิแค่เพียง ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้นเอง ไปเรื่อย ๆ ดูน้ำนะคะ หน้าต่อไป ท่านบอกสร้างรถไฟความเร็วสูง ท่านจะมีสนามบิน ท่านจะพัฒนาท่าเรือใช้เงินเป็นล้านล้าน แล้วท่านดูน้ำประปาของพวกเราที่อยู่แบบนี้สิคะ ขอถามค่ะ ขอถามท่านประธาน แล้วก็ ท่านเลขาธิการว่าถ้าบ้านท่านมีน้ำประปาแบบนี้จะทำอย่างไร ท่านจะซักผ้าได้ไหม ท่านจะอยู่อย่างไร เขาคัน เขาใช้น้ำคลอง เขายังคงมีชีวิตแบบนี้ แล้วบอกว่าท่านจะดูแล ชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ท่านจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมากมายหลายด้าน แล้วเรายังอยู่แบบนี้ ดิฉันอยากให้พี่น้องประชาชนของดิฉันตำบลคลองเปรง ตำบลเกาะไร่ ได้มีน้ำประปาใสแจ๋วแบบนี้ ท่านเลขาช่วยได้ไหมคะ และรู้ไหมว่าท่านประชาสัมพันธ์ไว้มากมาย หลายกลุ่มใช้เงินหลายล้านมาก มีคนมาสัมมนากับท่านเยอะแยะ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

แต่เราไปถามคนในพื้นที่ เขาไม่รู้จัก EEC เลย ได้ยินเสียงไหมคะ ถามพี่น้องประชาชนคนฉะเชิงเทราซึ่งเป็นคนที่อยู่ในเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออกของท่าน เขาไม่รู้จัก เขาไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากท่านเลย ท่านไม่ได้ลงไปดูพี่น้องประชาชน ขอเถอะค่ะ ขอให้กลับมาช่วยพี่น้องประชาชนให้เขามีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี ขอให้เขาได้รับการพัฒนาไปด้วย ท่านประธานคะ ขออีกนิดหนึ่ง ดิฉันมี คำถามว่า EEC ที่ท่านทำมา ๕ ปีแล้ว ขอเรียนถามว่าท่านมีโครงการอะไรบ้างที่เกี่ยวกับ ฉะเชิงเทรา ดิฉันอ่านแทบตายก็เห็นน้อยมากเลยทีเดียว แล้วก็ลงทุนไปเท่าไร อย่างไร มีแผนงานอย่างไรเกี่ยวกับฉะเชิงเทรา คุณภาพชีวิตของคนฉะเชิงเทราจะดีขึ้นบ้างไหม แล้วก็ ขอแนะนำว่าสำนักงาน EEC นั้นน่าจะต้องมีดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชนบ้าง ท่านเจริญ ทางวัตถุเยอะแยะ เหมือนเกาหลีใต้เจริญทางวัตถุมากมาย แต่เสร็จแล้วฆ่าตัวตายกันอันดับสูง ของโลกเลยทีเดียว รายได้เขาจะสูงขึ้นบ้างไหม ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร เขตพัฒนาพิเศษ พัฒนาอะไรให้กับเขาบ้าง ตัวชี้วัดนี้สะท้อนความสำเร็จ EEC ของท่าน ได้โปรดช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนก่อนที่ท่านจะไปทำเรื่องอื่น ให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก่อนที่ท่านจะไป พัฒนาต่าง ๆ นานาถึง ๒ ล้านล้านบาทของท่านด้วยเถอะค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกล ผมอ่านรายงาน EEC ฉบับนี้แล้วรู้สึกว่ารายงานกำลังเสนอแต่ข้อดีของ EEC ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ได้ดีเสมอไป เจ้าหน้าที่ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จากหน้า ๑๐ ของรายงาน วิสัยทัศน์ของ EEC คือต้องการการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคตะวันออก ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ผมไม่แน่ใจว่าวิสัยทัศน์กับสิ่งที่เกิดขึ้นมันไปด้วยกันได้จริงหรือไม่ วันนี้ผมมีปัญหาผลกระทบจาก EEC ๔ ข้อ และอีก ๔ คำถามที่อยากจะฝากผ่านท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๑ ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการเกษตร อาทิ การปล่อยปัญหาน้ำเสีย สภาวะน้ำเป็นกรด การรั่วไหลของสารเคมี ปัญหาการแย่งน้ำจากภาคเกษตร หรือปัญหาดินทรุด ซึ่งผลกระทบต่อสมรรถภาพในการรับมือภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้งหมดนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ผลิตภาพ และคุณภาพของเกษตรกร ภาคเกษตร และภาคประมงในพื้นที่เป็นอย่างมาก

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ รายได้ และแรงงาน จากปริมาณ และคุณภาพที่แย่ลงทางด้านเกษตรและประมงประชาชนรายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ อัตราว่างงานมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศดังที่เพื่อน สส. สหัสวัตจากพรรคก้าวไกล จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวไว้ และมีหลายครอบครัวตกงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ไม่มีทักษะที่เพียงพอ ภาครัฐไม่ได้ สนับสนุนการย้ายสาขาอาชีพ การ Reskill การ Upskill มากพอ การเปลี่ยนเกษตรกร ไปเป็นแรงงานในโรงงานทำให้รายได้ของพวกเขาสูงขึ้นจริงหรือครับ หรือมันเป็นเพียง แรงงานทักษะต่ำให้นายทุนจ้างด้วยราคาถูก ต้นทุนต่ำ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบที่ใหญ่กว่าคือผลกระทบต่อ Food Security หรือความมั่นคงทางอาหาร ท่านประธานทราบไหมว่าชื่อที่มาอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ EEC มาจากอะไร ชื่ออำเภอแปดริ้วมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เพราะขนาด ของปลาที่ชาวบ้านจับได้ในพื้นที่ตัวมันใหญ่มากสามารถแล่เป็นบั้งหรือเป็นริ้วได้มากถึง ๘ ริ้ว จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอแปดริ้ว และเหนือกว่านั้นครับ ท่านทราบหรือไม่ว่าข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด หอมที่สุด ทำรายได้สูง เน้นส่งออกไปยังต่างประเทศ จริง ๆ แล้ว มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดฉะเชิงเทราในพื้นที่ EEC นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ EEC แต่ทาง EEC เห็นมูลค่าของสิ่งเหล่านี้แล้วพยายามจะพัฒนาผลักดันต่อหรือไม่ ปัจจุบันทั่วโลก ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก UN ได้นำเสนอตัวเลขความไม่มั่นคง ทางอาหารว่า ประชากรโลกกว่า ๒,๔๐๐ ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างต่อเนื่อง และ ๗๘๓ ล้านคนกำลังเผชิญกับความหิวโหย แม้กระทั่ง World Bank ก็ยังสนับสนุนวงเงิน ด้านการเงินเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ ๑ ล้านล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ท่านประธานคงได้ยินคำว่าครัวไทยสู่ครัวโลกบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ แม้แต่งาน APEC ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยเราก็ประกาศตัวว่าเราจะเป็นครัวโลก เราจะเป็น ครัวให้กับประชากรในภูมิภาค APEC ขนาดกระทรวงพาณิชย์เองยังตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออก อาหารให้ติด ๑ ใน ๕ ของโลกเลย เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงทางอาหารเป็น Trend ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วไทยควรจะได้เปรียบในเรื่องเหล่านี้ แต่การดัน EEC โดยไม่สนผลกระทบ ใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อภาคเกษตร ต่อประมง ต่อเศรษฐกิจ ต่อแรงงาน กลับดูย้อนแย้ง กับวิสัยทัศน์ของ EEC และนโยบายยุทธศาสตร์ของภาครัฐเป็นอย่างมาก

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๔ ปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากประกาศ พ.ร.บ. EEC อนุญาตให้กับที่ดินประเภท ม. ที่กำหนดไว้เป็นผังสีส้มสามารถทำอาคาร ขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่ที่มีเขตทางกว้างกว่า ๑๖ เมตร อย่างเช่นถนนสุขุมวิท จังหวัดระยองได้ แต่ประกาศเทศบัญญัติเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไม่อนุญาต และเจ้าหน้าที่ยังคงอ้างอิง เทศบัญญัตินี้อยู่ ทำให้ราคาที่ดินในกระจุกสีส้มที่ผมวงไว้นั้นไม่เพิ่มขึ้น และเปิดโอกาสให้กับ นายทุนได้ไปช้อนซื้อที่ดินในราคาถูกได้ นี่คือปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์หรือเป็นการจงใจ ไม่ประชาสัมพันธ์กันแน่ ผมอยากให้ผู้ชี้แจงที่มาวันนี้ประกาศ ณ ตรงนี้เลยว่าเราต้องยึดหลัก ของ พ.ร.บ. EEC เป็นหลัก เพื่อให้ที่ดินของพี่น้องชาวมาบตาพุดที่ฟังอยู่ทางบ้าน ณ ตอนนี้ เวลานี้มูลค่าเพิ่มขึ้นทันทีครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมขอฝากอีก ๔ คำถามไปยังผู้ชี้แจงนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๑ ท่านทราบหรือไม่ว่า ๑๖๔ หน้าที่อยู่ในรายงานนี้ไม่มีการพูดถึง ผลกระทบต่อภาคเกษตร แรงงาน หรือสิ่งแวดล้อมเลยแม้แต่ ๑ คำ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ความเสียหายจากผลกระทบของ EEC มีมูลค่าทั้งหมดเท่าไร

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ที่ต้องการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ถามว่าแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการทำแผนตัวนี้คืออะไร และปีนี้ ปี ๒๕๖๖ ท่านได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อ ๔ ในรายงานระบุว่ามีการลงทุนกว่า ๑.๙ ล้านล้านบาท ในช่วง ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ สรุปแล้วเงินเหล่านี้ไปอยู่ในมือใคร ท่านเอาเงินไปซื้อเครื่องจักร จากประเทศไหน จ้างแรงงานด้วยฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่เท่าไร ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ลดลง หรือไม่

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าเราควรทราบความจริงว่าใครได้ผลประโยชน์สูงสุดจาก EEC กันแน่ รัฐ นายทุน หรือประชาชน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญคุณรวี เล็กอุทัย ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย จากที่ผมได้ศึกษารายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ผมมีข้อสงสัยแล้วก็ข้อสังเกตในรายงาน ฉบับนี้อยู่บางประเด็น จึงอยากขอร่วมอภิปรายซักถามในครั้งนี้ด้วยครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

จากผลการดำเนินงานในรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ทำให้เห็นภาพการพัฒนาที่ล้ำสมัย ที่มีเป้าหมายในการปรับโครงสร้าง ของประเทศ สร้างความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับใช้ในอนาคตของไทย รวมถึงเป็นการมุ่งเพื่อเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเศรษฐกิจของ Asia รวมถึงการกำหนด อุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ถึง ๑๒ ประเภท ผ่านแนวทางการพัฒนาใน ๖ แนวทางสำคัญ ตามที่ทางท่านผู้ชี้แจงได้กรุณานำชี้แจงมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคซึ่งเป็นส่วนที่ท่านใส่เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนสูงมากที่สุด การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว บุคลากร การศึกษา เมืองอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การพัฒนาประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม เป้าหมาย จากที่กล่าวมาทั้งหมดท่านให้ข้อมูลเห็นภาพที่สวยงาม ดูประสบผลสำเร็จทุกอย่าง รวมถึงจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ เลยระหว่างการดำเนินการ ทำให้ในภาพรวมนั้นดูจะเป็นโครงการ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ผมมีประเด็นข้อสังเกตบางประการที่อยากให้ทาง ผู้ชี้แจงช่วยตอบคำถามครับ เพื่อจะได้ทราบว่าจริง ๆ แล้วโครงการ EEC ที่กำลังดำเนินไปได้ อย่างสวยหรูราบรื่นนี้จริงหรือเปล่า โดยผมมี ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ ที่อยากให้ทางผู้ชี้แจง ช่วยตอบนั่นก็คือ ๑. ในเรื่องของผลการดำเนินงาน โครงการมีการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่าง คุ้มค่าหรือไม่ และมีความซ้ำซ้อนของงบประมาณมากน้อยเพียงใด ๒. มีการเยียวยาช่วยเหลือ หรือผลกระทบที่มีต่อประชาชนอย่างไรจากการดำเนินงานตามนโยบาย

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก จากการดำเนินงานผ่านการใช้จ่ายผ่านงบประมาณบูรณาการ ของ EEC ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งท่านได้ดำเนินการผ่านส่วนราชการประจำ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกรมทางหลวงในประเด็นของการจัดการทำโครงสร้างพื้นฐาน ข้อสงสัยของผมก็คือ นอกเหนือจากการวางแผนในภาพกว้าง และเพื่อเป็นการป้องกันภาพของการทำงาน ในลักษณะของหอคอยงาช้าง ผมจึงอยากทราบว่าท่านได้เข้าไปมีส่วนในกระบวนการจัดทำ โครงการที่จะสอดคล้องกับแผนใหญ่อย่างไร และมีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการทับซ้อน ในการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างงบประมาณประจำตามแผนของส่วนราชการกับงบบูรณาการ ซึ่งผู้ใช้ก็เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกัน อีกทั้งการทำงานที่จำเป็นต้องสอดประสาน กับส่วนราชการสำคัญที่เกี่ยวข้อง ท่านได้วางแผนแนวทางป้องกันการทับซ้อนในภารกิจ หน้าที่ไว้หรือไม่ เช่นกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ตลอดจน ประสานในหน้างานการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นจะต้องร่วมกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง BOI การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การนำเข้า ส่งออกสินค้า เป็นต้น เพื่อให้เกิด การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นในแนวทางการพัฒนา และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะดึงดูดเงินผ่านนักท่องเที่ยวเพื่อเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของจำนวนเงินมหาศาล ท่านได้มีการวางแผนพัฒนา ในแนวทางดังกล่าวไว้มากน้อยเพียงใด รวมถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นอย่างไรบ้างตามข้อเท็จจริงที่ท่านพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจ และบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ บริเวณท่าเรือ จุกเสม็ดซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และสามารถเชื่อมการท่องเที่ยว ข้ามภาคได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้างครับ อยากให้ท่าน ช่วยชี้แจงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ในประเทศของเรา

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ การเยียวยาช่วยเหลือผลกระทบที่มีต่อประชาชนจากผล ของการดำเนินนโยบาย การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ จะละเลยไม่ได้เลยนั่นก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบ ที่เกิดจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันนำไปสู่ปัญหามลภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา มลภาวะทางอากาศที่สร้างมลพิษจนทำให้จังหวัดระยองครอง Champ ผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด ในประเทศไทย และปัญหามลพิษทางเสียง โดยเฉพาะปัญหาแนวเส้นเสียงที่สร้างความเดือดร้อน ให้แก่พี่น้องประชาชนใกล้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่านได้ตั้งเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ท่านได้มีการลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยเจรจาด้วยตัวเอง เพื่อรับทราบปัญหาและเพื่อร่วมกันผ่านปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรครับ นอกจากนั้น ในประเด็นเรื่องของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป ท่านได้มีส่วนร่วมในการจัดการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการแล้วหรือไม่ เพราะถ้าได้ติดตามข่าวที่ผ่านมาจะทราบว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะ ในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพบสารปนเปื้อนในน้ำประปาหรือปัญหาน้ำเค็ม ในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งก็ยังคงต้องหาแนวทางแก้ไขอยู่ในปัจจุบัน นี่เป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยสำคัญและอาจเป็นเงื่อนไขที่เป็นกรอบจำกัดพัฒนาของพื้นที่ EEC อีกด้วยครับ ท่านประธานครับ ผมมีข้อคิดเห็นว่าพื้นที่ EEC เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาที่มุ่งเน้นในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบของพี่น้องประชาชน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจ กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายกลุ่มพลังสตรี EEC ที่ท่านมีอยู่ในภาค ประชาชนและภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ เพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาเป็นระยะ รวมถึงมีการระมัดระวังป้องกันผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และอย่างน้อยที่สุดคนในพื้นที่ ควรที่จะเข้าใจและสามารถอธิบายได้ว่า EEC คืออะไร ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาอย่างไร และจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาอย่างไร

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ผมอยากฝากให้ทางหน่วยงานให้ความสำคัญกับภารกิจ การดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน รวมถึงความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะท่านเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้บรรลุพันธกิจ เป้าหมายตามแผนพัฒนาของ EEC ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนกว่า ๒.๒ ล้านล้านบาท นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ นี้ไปจนถึงปี ๒๕๗๐ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ครับ

นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปรายรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ฉบับนี้นะคะ

นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ

เมื่อดิฉันอ่านจากรายงานที่มี รูปเล่มสวยงามน่าอ่านเล่มนี้ ดิฉันเกือบจะเคลิบเคลิ้มไปกับตัวหนังสือแล้วก็รูปภาพด้านใน ที่สวยงาม คิดว่าเป็นหนังสือโฆษณาชี้ชวนจากหน่วยงานเสียอีก แต่ถ้าเราถอดสายตาออกจาก สิ่งสวยงาม แล้วหันกลับไปมองภาพความเป็นจริงในพื้นที่เราจะยังคงเห็นประชาชนบางกลุ่ม ที่ถูกทำให้ตกหล่นจากการพัฒนานี้ ถูกทำให้หลงลืมต้องแบกรับต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าในพื้นที่ อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่การยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลสุขภาพ เป็นหนึ่งในภารกิจ EEC ที่ได้ระบุไว้ และหน่วยงานหนึ่งที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ คุณภาพชีวิต รวมไปถึงการเยียวยาดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คงหนีไม่พ้น กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือกองทุน EEC กองทุนที่มีวัตถุประสงค์ เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประชาชน รวมไปถึงภารกิจของกองทุนที่ระบุไว้ ถึงการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนานี้ ซึ่งปัจจุบันโครงการที่กองทุน EEC ได้มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการ จัดอบรมต่าง ๆ โครงการส่งเสริมพัฒนาด้านเกษตรกรรม ด้านเทคโนโลยี แต่ในรายงานฉบับนี้ กลับไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ EEC นี้อยู่เลย นั่นหมายถึงการดำเนินงาน ของกองทุนที่อาจจะไม่สอดรับกับพันธกิจและภารกิจ EEC หรือไม่คะ ยกตัวอย่างการเยียวยา ในกรณีการถมทะเลในโครงการท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด Phase 3 ที่ได้มีการเยียวยา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่พี่น้องประมงและชุมชนที่อยู่ในรัศมีระยะทางไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ซึ่งการเยียวยาเหมาะสมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ดังรายละเอียดที่เพื่อน สส. พรรคก้าวไกลภาคตะวันออกได้อภิปรายไปแล้วนั้น การเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกรัศมีก็อาจมีความจำเป็นด้วยหรือไม่คะ ยกตัวอย่างในชุมชนตำบลห้วยโป่ง ต้นทาง ของการถมทะเลที่พวกเขาต้องสูญเสียทรัพยากรเป็นเส้นทางให้หิน ให้ดิน ให้ทรายไปถมทะเล เป็นพัน ๆ ไร่แล้ว แต่พวกเขายังต้องแบกต้นทุนชีวิตที่ต้องอยู่กับฝุ่นละอองที่ปกคลุมอยู่ใน พื้นที่ทั้งวันทั้งคืน ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการหายใจรับฝุ่นละอองเข้าไป ตลอดทั้งวัน โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ ที่จะยกคุณภาพชีวิตให้มีระดับ ที่สูงขึ้น และการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้นทุนของชีวิตได้เลย ดังภาพที่เห็นนะคะท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกคะ ถนนที่เราเห็นจากภาพเป็นถนนลาดยางแล้ว แต่เส้นทางที่รถบรรทุกวิ่งอยู่ จะทิ้งฝุ่นจนเต็มไปหมด เมื่อฝนตกก็จะเกิดเป็นโคลนเดินทางยากลำบากเกิดเป็นทางที่ เฉอะแฉะแบบนี้ จากที่พี่น้องในชุมชนที่ต้องอยู่บนเส้นทางของการขนส่งวัตถุดิบเหล่านี้ ต้องเจอกับรถบรรทุกที่ทิ้งฝุ่นละอองไว้ตลอดเส้นทางเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว นี่ยังไม่รวมถึง ปัญหาการวิ่งรถนอกเวลาที่กำหนด การขับรถเร็วเกินกำหนดในที่ชุมชน และดิฉันเชื่อว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ในเขต EEC รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ จากการพัฒนานี้อย่างแน่นอนค่ะ การเยียวยาอาจมิใช่การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพด้วย ประชาชนต้องใช้ชีวิตแลกไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสมควรจะแลกแบบนี้ ดีหรือไม่คะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณสรวงศ์ เทียนทอง ครับ

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขออนุญาต ยืนอภิปรายด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจจริง ๆ เวลาเราพูดถึงภาคตะวันออกมันมีแค่ ๓ จังหวัด จริง ๆ หรือครับ จังหวัดปราจีนบุรีหายไปไหน จังหวัดจันทบุรีหายไปไหน จังหวัดตราด หายไปไหน จังหวัดสระแก้วหายไปไหน ท่านประธานครับ จังหวัดสระแก้วเป็น ๑ จังหวัด ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยประกาศของ คสช. เมื่อปี ๒๕๕๘ ลงนาม โดยนายกรัฐมนตรี ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี ๒๕๕๙ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ เป็นผังเมืองออกมาครอบประกาศ คสช. อีกครั้งหนึ่ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยเอาเงินมหาศาลครับ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินมหาศาลจริง ๆ ในการพยายาม ที่จะทำให้จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด จากกรุงเทพฯ ไปถึงอำเภออรัญประเทศชายแดน ๓๐๐ กว่ากิโลเมตร แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ใน EEC Eastern Economic Corridor ก็น้อยเนื้อต่ำใจเป็นธรรมดาครับ วันนี้ถึงต้องยืนพูด

นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ นิคมอุตสาหกรรม ป่าไร่เป็นนิคมที่มีข้อพิพาทมากมาย ใช้เงินมหาศาลในการทำนิคมนี้ขึ้นมา ใช้เงินมหาศาล ในการที่เดินท่อประปาจากเขื่อนพระปรง อำเภอวัฒนานครไปยังอำเภออรัญประเทศ มหาศาลจริง ๆ แต่ถูกวันนี้ถูกปล่อยร้างครับ มีการพยายามที่จะเปลี่ยน พยายามที่จะทำ EIA ใหม่เพื่อจะสร้างโรงงานไฟฟ้า แล้วก็เป็นข้อพิพาทให้กับพี่น้องประชาชนมากมาย ในการที่จะใช้ชีวิตในละแวกนิคมอุตสาหกรรมนี้ ท่านประธานครับ ผมใช้เวลาอีกไม่นาน แต่ขอให้พี่น้องประชาชนได้เห็นถึงตัวเลข ตัวเลขที่ผมเอามาวันนี้เป็นตัวเลขจากกรมการค้า ระหว่างประเทศ เฉพาะแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๖ นี่เองมูลค่าโดยรวม ๙๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เฉพาะไทย-กัมพูชา และที่สำคัญที่สุดท่านประธานเห็นนะครับ อำเภออรัญประเทศแค่ไม่กี่เดือน ๔๑,๖๖๑ ล้านบาทส่งออก นำเข้า ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าสรุปเมื่อปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาเราส่งออก ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท นำเข้าประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท นี่ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนจังหวัดสระแก้วว่าทำไมเราถึงไม่ถูก บรรจุเข้าไปอยู่ใน EEC ทั้ง ๆ ที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ถ้าเรารวมกันผมมั่นใจ จริง ๆ แล้ว Facility ต่าง ๆ ของอำเภออรัญประเทศเอง หรือว่า จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผมมั่นใจว่าไม่ต้องลงทุนอีกเยอะแยะมากมาย ไม่เหมือนแผนที่ออกมาสวยหรู เห็นด้วยนะครับ เห็นด้วยจริง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ เขตตะวันออก แต่ผมไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมแค่ ๓ จังหวัด ก็ขอให้คณะกรรมการ ผมก็มั่นใจว่าคงจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ แต่ว่าท่านสามารถที่จะทำเรื่อง ในการเสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศได้ครับ ขอขยายพื้นที่ได้ไหม เอาจันทบุรี เอาสระแก้ว เอาปราจีนบุรี เอาตราดเข้าไปรวมด้วยได้ไหม ผมกราบเรียนกับท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าท่านสามารถที่จะแนะนำคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่ได้ แล้วก็ขออนุญาตพูดในนามของคนสระแก้วว่ารบกวนให้ท่านพิจารณาเอาจังหวัด สระแก้วเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของท่านด้วยครับ กราบขอบพระคุณ อย่างสูงครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ครับ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉัน ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ สกพอ. ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

หรือที่คนทั่วไปรู้จักในเขตพัฒนา นี้ว่า EEC โดยประเด็นที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยัง สกพอ. อยู่ในหัวข้อ ของความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เขต EEC โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับการพัฒนา EEC ซึ่งสาเหตุ ที่ดิฉันหยิบยกเรื่องการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาก็เพราะว่าพื้นที่ที่ดิฉันรับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอแก่งหางแมวเป็นที่ตั้งของลุ่มน้ำวังโตนด มีมติ ครม. อนุมัติ การสร้างอ่างเก็บน้ำในแก่งหางแมว เนื่องจากลุ่มน้ำวังโตนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา แหล่งน้ำเพื่อรองรับ EEC ค่ะ ใน Slide ทุกท่านจะได้เห็นว่าที่ดิฉันตีกรอบสีแดง ๆ ไว้คือ อ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างในอำเภอแก่งหางแมว โดยในลำดับที่ ๗ อ่างพะวาใหญ่ก็กำลังดำเนินการ ก่อสร้างแล้วเสร็จไปมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลำดับที่ ๘ อ่างคลองหางแมวนี้เสร็จแล้ว กำลังอยู่ในช่วงกักเก็บน้ำ ส่วนลำดับที่ ๙ อ่างคลองวังโตนดตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขอใช้ พื้นที่ และนอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่จะต้องถูกเวนคืน พื้นที่นะคะ ซึ่งตอนนี้พ่อแม่พี่น้อง หมู่ที่ ๑ บ้านคลองยาง ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน บ้านใหม่เขาจะอยู่ที่ไหน ถ้าทุกท่านเห็นในหมายเหตุจะชัดเจนเลยว่าเป็นแผนงานรองรับ EEC ตามมติ ครม. แน่นอนเมื่อมีอ่างเก็บน้ำแล้ว ถ้าอยากใช้น้ำก็ต้องมีระบบท่อส่งน้ำ ใช่ไหมคะ EEC มีโครงการจัดทำระบบผันน้ำจากคลองวังโตนดมายังอ่างประแสร์ซึ่งมีการวางท่อ ทั้งหมด ๒ เส้น ในกรอบสี่เหลี่ยมนั่นคืออ่างเก็บน้ำที่ดิฉันกล่าวถึงไป ส่วนที่ลูกศรชี้อยู่จะเป็น แนวท่อส่งน้ำจากคลองวังโตนดส่งไปยังอ่างประแสร์ ซึ่งแนวท่อเส้นสีดำ ๆ คือท่อปัจจุบัน ที่ผันน้ำจากคลองวังโตนดไปแล้ว ปัจจุบันมีการผันน้ำไปปีละประมาณ ๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนแนวท่อเส้นที่ ๒ สีแดง ๆ เป็นแนวท่อที่กำลังดำเนินการและคาดว่าจะสามารถผันน้ำเพิ่ม ได้อีกประมาณ ๓๕ ล้านลูกบาศก์เมตร รวม ๆ แล้ว EEC จะผันน้ำจากจันทบุรีไปใช้ในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ผ่านมามีการผันน้ำจากคลองวังโตนดไปยังอ่างประแสร์ เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่น่าเศร้าคนจันทบุรีที่อยู่รอบ ๆ อ่างเก็บน้ำเขายังไม่เคยได้ใช้น้ำในอ่าง ไม่มีแม้กระทั่งท่อส่งน้ำให้กับพวกเขา ซึ่งดิฉันเพิ่งหารือเรื่องนี้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ถ้าทุกท่าน สังเกตจะเห็นว่าไม่มีท่อส่งน้ำลงมานะคะ มีแต่การปล่อยน้ำลงคลอง แล้วก็สูบน้ำจาก คลองวังโตนดไปยังอ่างประแสร์ จากที่กล่าวมาทั้งหมดท่านได้เห็นแล้วว่าอ่างเก็บน้ำ ในอำเภอแก่งหางแมวเปรียบเสมือนแท็งก์น้ำสำคัญของ EEC และในขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำ ทั้ง ๔ อ่างก็เปรียบเสมือนแท็งก์น้ำสำคัญของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีเช่นเดียวกัน เพราะว่ากว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คำถามที่ดิฉัน อยากฝากท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงก็คือว่า ท่านจะมีวิธีการบริหารการจัดการน้ำในภาวะที่มี ความเสี่ยงของสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์ El Nino ไม่ให้กระทบกับคนจันทบุรีอย่างไร และในอนาคตเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีมีแนวโน้มต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าตอนนี้ชาวสวนของเราหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีว่าทุเรียน เป็นพืชที่ใช้น้ำมาก สาเหตุนี้ท่านจะมีการบริหารจัดการน้ำระหว่างเกษตรกรชาวจันทบุรี และพื้นที่ EEC อย่างไร สุดท้ายค่ะ ดิฉันเข้าใจดีว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา EEC แต่ก็อยากบอกให้ทุกท่านทราบเช่นกันว่าน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพี่น้องชาวจันทบุรี เช่นเดียวกัน และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปจะเป็น ๓ ท่านสุดท้าย เตรียมตัวได้ครับ ท่านแรกคือท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ท่านที่ ๒ ท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ท่านสุดท้ายจริง ๆ ก็คือ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แล้วก็หลัง จากนั้นเดี๋ยวผู้ชี้แจงจะได้ตอบคำถามครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกหรือ สกพอ. ประเทศไทยนั้นติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาเป็น ระยะเวลานาน ผมเข้าใจคนจัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรที่พอจะ หยิบฉวยทำได้ก็พึงที่จะทำ ถ้าใช้กฎหมายปกติป่านนี้ไม่แน่ใจว่า EEC จะเกิดหรือยัง แต่การใจเร็วด่วนได้ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน มันก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียครับ โครงการ EEC นั้นเริ่มโดย คสช. ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ ทำให้ขาดปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ จากการนำนโยบาย EEC ไปปฏิบัติ ท่านประธานครับ EEC นั้นมีดีหลายอย่าง แต่ในดี มีเสีย ในเสียมีดี ส่วนที่จะต้องเพิ่มเติมเพื่อทำให้โครงการนี้ดียิ่งขึ้นนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่โครงการนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เท่าที่ควรจะดีได้ ประการที่ ๑ ขาดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างฝ่ายออกนโยบาย ฝ่ายกำกับนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติการ ออกมาแล้วก็สับสนอลหม่าน ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไร ประการที่ ๒ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดกระบวนการ ช่วยคิดช่วยทำจากทุกภาคส่วน ประการที่ ๓ ขาดเวทีรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชน ที่หลากหลายครอบคลุม ท่านคณะกรรมการฟังอยู่อาจจะบอกว่ามีเวที ผมก็เรียนว่ามีครับ แต่ว่ายังไม่มาก ยังไม่หลากหลาย และไม่ครอบคลุมพอ พอขาดเวทีมันเลยส่งผลถึงปัจจัยที่ ๔ นั่นก็คือขาดการสนับสนุนจากประชาชน เมื่อสักครู่ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่าน สส. ฐิติมา ฉายแสง บอกว่าลงพื้นที่ไปถามชาวบ้าน ถามพี่น้องประชาชนว่า EEC คืออะไร ยังตอบกันไม่ถูกครับ ดังนั้นในมิติของผลกระทบต่อภาคประชาสังคม กระทบต่อพี่น้องประชาชน ผมอยากจะชวน ไปดูผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผังเมืองที่ EEC ไปทำลายระบบนิเวศ ไปทำลายวิถีชีวิต ชุมชนของพี่น้องประชาชน ที่ว่าไปทำลายไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกินจริง มันเกิดจาก ๕ สาเหตุ ด้วยกัน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๑ โครงการนี้ไปเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แล้วก็ขาดความสอดคล้องกับระบบนิเวศ วิถีชีวิตที่เขาอยู่เป็นเกษตรกรรม พอปรับเป็น อุตสาหกรรมที่ประชาชนไม่สามารถก้าวทัน ประชาชนก็เลยตกเป็นผู้รับกรรมครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๒ ในโครงการนี้มีมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เปิดช่องให้มีการตั้งโรงงานแล้วก็กระทบต่อวิถีชีวิตของภาคประชาชนสังคม กระทบต่อ วิถีชุมชน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๓ EEC ในส่วนผังเมืองเปิดช่องให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว แล้วก็เกิดเป็นขยะสะสมจำนวนมาก มีงานวิจัยบอกว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑๒ ปี ถึงจะสามารถกำจัดขยะสะสมนี้ได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๔ EEC ไปแย่งชิงน้ำจากภาคประชาสังคม ไปแย่งน้ำจากคน ภาคตะวันออก ซึ่งปกติน้ำก็ลำบากอยู่แล้วนะครับ ถ้าเราไปเที่ยวตามโรงแรม Resort ที่พัก ก็จะเห็นแล้วว่าจะมีรถขนน้ำมาเติมให้ ลำพังภาคธุรกิจพื้นฐานเดิม ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมน้ำก็มีปัญหา พอมี EEC แย่งชิงน้ำเข้าไปอีกก็เลยทำให้เกิดปัญหาซ้ำ เข้าไปอีก เพราะว่าใน EEC นั้นใช้น้ำมหาศาล

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สาเหตุที่ ๕ แล้วก็ส่งผลถึงปัจจัยการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคเกษตรกรรม กับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้ง วันนี้ ผมไม่แน่ใจถ้าเราจะทำประชาพิจารณ์หรือทำประชามติว่าเห็นควรอย่างไรกับโครงการ EEC อาจจะเป็นในลักษณะกลับตัวก็ไม่ได้ ให้ไปต่อไปก็ไปไม่ถึง ไม่รู้ว่าจะหยุด จะไปต่อ หรือควรจะพอแค่นี้ แต่สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ไปสำนักงาน EEC ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจบนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมต่อนโยบายเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่น และเร่งขอแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน ทางสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทางรัฐบาลหน่วยงานที่กำกับดูแลท่านจะลงทุน เรื่องอะไรก็เป็นสิทธิของท่านแล้ว ตราบที่การลงทุนนั้นอยู่บนพื้นฐานของกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่โครงการนั้นจะไม่สามารถประสบผลสัมฤทธิ์ได้เลยครับ หากขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดการช่วยคิดช่วยทำ ขาดการร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้อง ประชาชน และผมจึงมั่นใจนะครับ อย่างที่ผมกราบเรียนว่าทุกโครงการในดีมีเสีย ในเสียมีดี เร่งปิดจุดอ่อนเพื่อให้โครงการนี้ได้เดินหน้าต่อไป เพื่อเป็นมรรคเป็นผล เพื่อประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง เขตอำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงาน EEC ต่อการจัดทำโครงการต่าง ๆ ภายใต้การกำกับของ EEC ในจังหวัดระยอง ท่านประธานครับ ตัวโครงการ EEC เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ กับการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศอันนี้ผมเข้าใจดี แต่ข้อกังวลของคนในพื้นที่ต่อการพัฒนา

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ตั้งแต่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรม จนมาถึงตอนนี้ชุมชนในพื้นที่เองได้รับผลกระทบและแบกรับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และในเขตผมเองประชาชนทุกคนในพื้นที่ฝากคำถามและข้อกังวลมาถึงผู้ชี้แจง เพื่อจะได้ตอบคำถาม

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องแรก ผมขอเริ่มที่หน้า ๙๑ ของรายงานฉบับนี้ที่ระบุว่าจะมีการยกระดับ บริการสาธารณสุขในเขต EEC โดยจะมีการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง สาขา ๒ ให้เป็น Sandbox ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขภายใต้การร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชนหรือที่เรียกว่า PPP ในรายงานระบุถึงการให้บริการโดยทำให้โรงพยาบาลปลวกแดง เป็นโรงพยาบาลรัฐที่มีบริการ Premium แบบเอกชน โดยมติการประชุม ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕ ได้มีการเห็นชอบผลการศึกษาไปเป็นที่เรียบร้อย ความเป็นจริงในพื้นที่จนถึงตอนนี้ ความคืบหน้าล่าสุดการสร้างโรงพยาบาลยังคงมีความคลุมเครือในหลายอย่าง ทั้งการทำ PPP โดยยังมีข้อไม่เห็นด้วยจากทั้งชุมชนและโรงพยาบาลปลวกแดงเอง โดยคำชี้แจง ในรายงานรับฟังความคิดเห็นที่อ้างอิงถึงการให้เอกชนเช่ายาว ๕๐ ปี โดยยังไม่มีการเปิดเผย TOR ว่าสามารถบริการประชาชนได้ตามคำโฆษณาจริงหรือไม่ เพราะในพื้นที่ตอนนี้ ก็มีโรงพยาบาลกรุงเทพปลวกแดงที่เพิ่งเปิดบริการอีกแห่งเป็นคู่แข่งขัน ถ้าในระยะเวลา ของการบริหารจัดการหากเอกชนที่เข้ามาประมูลได้ไปไม่สามารถบริหารกำไรได้ตามเป้า คำถามก็คือโรงพยาบาลปลวกแดง สาขา ๒ จะเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้ต้องตอบกันให้ชัดนะครับ เพราะระยะเวลา ๕๐ ปีที่ให้เช่าไม่ใช่น้อยเลย แล้วยังไม่ต้องไปว่ากันถึงเรื่อง ๕๐ ปีข้างหน้าหรอก ตอนนี้โรงพยาบาลปลวกแดง สาขา ๒ ยังมีปัญหาในการที่ต้องปรับแบบ เพิ่งมีการประชุมกันไป ส่งผลทำให้ต้องหาเงินมาเพิ่มเติมเพื่อปรับแบบอีกประมาณ ๕๕ ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าใครต้องเป็นคนจ่าย และทำไมต้องปรับแบบ อันนี้ไม่ได้อยากจะกล่าวหานะครับ แต่มันน่าสงสัยจริง ๆ เพราะการปรับแบบครั้งนี้หน้าตา TOR ก็ยังไม่ออก ปรับไปเพื่ออะไร หรือมีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมีการบอกว่ามีผู้สั่งการปรับแบบ ด้วยวาจาให้โรงพยาบาลตั้งเรื่อง มีการคุยกับเอกชนที่จะให้มาประมูลบางเจ้าหรือเปล่าว่า ให้โครงสร้างโรงพยาบาลเป็นไปในรูปแบบใดที่เหมาะกับการเข้ามาประกอบกิจการ ผลคือ การปรับแบบครั้งนี้ทำให้ผู้รับเหมาต้องขอหยุดงานไปแล้ว ๒ เดือน เอกสารก็ค้างอยู่ใน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะความไม่ชัดเจนของสาเหตุการปรับรูปแบบ แล้วถ้ายังคง ดำเนินงานไปในรูปแบบนี้การทำ PPP จะนำไปสู่การให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้จริง ตามเป้าหมายหรือไม่ หรือสุดท้ายผลประโยชน์เรื่องนี้จะไปตกอยู่ที่ใครกันแน่ จึงต้อง ขอให้ทาง EEC ช่วยส่งเอกสาร TOR ให้กับทางสภา เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส และเพื่อ ความสบายใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจกันได้เสียทีว่าการทำงานแนวนี้เป็นไปเพื่อ ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครบางคน

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗ โดยตามรายงานจัดทำ ๔ ขั้นตอน ขณะนี้ผังเมือง ที่เกี่ยวข้องกับเขตดูแลของผมคือผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย ผังเมืองรวมชุมชนปลวกแดง และผังเมืองรวมชุมชนวังจันทร์ ในเอกสารที่ได้มามีส่วนที่ผมตั้งข้อสงสัย ผมอยากทราบว่า ตอนนี้ถ้าเกิดมีการปรับสีผังเมืองรวมมันจะทำให้เกิดมีการลงทุนเปิดโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มเติมแล้วจะกระทบกับชุมชนหรือไม่ เรื่องนี้มองข้ามไม่ได้นะครับ เพราะว่าที่ผ่านมา เวลาเปิดโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมชุมชนและพี่น้องประชาชนก็คือผู้ได้รับผลกระทบ ผมมีตัวอย่างคือที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย โครงการนี้ อยู่ติดกับหมู่บ้านเดอะเดคโค่ ในโครงการมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งแบบนี้มักเกิด ผลกระทบกับชุมชนโดยรอบ ที่เดอะเดคโค่ผมดูใน Slide ก็จะมีการถมดินนั่นคือที่ที่กำลัง จะสร้างนิคมอุตสาหกรรม นั่นคือรั้วของหมู่บ้าน ใน Map จะเห็นเลยว่าติดกัน แต่หมู่บ้านนี้ ตกสำรวจครับ ไม่อยู่ในเขตผู้ได้รับผลกระทบ ใกล้ขนาดนี้ไม่ได้รับผลกระทบ พี่น้องประชาชน จะสบายใจได้อย่างไรเวลามีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้ง

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ Case ถัดมา มีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมมาฝังไว้ในตำบล หนองละลอก หมู่ที่ ๙ แล้วถูกขุดเจอ เพราะว่าจะมีการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งกลายเป็น ภาระหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่ที่จะต้องมาขนออกไป จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปสืบหา คนที่ขนมาอย่างไร เพราะขนมากี่ปี กี่สิบปีก็ไม่แน่ใจ แล้วถ้าเกิดมีโรงงานมาตั้งเพิ่มเติม ชาวบ้านพี่น้องประชาชนจะสบายใจได้อย่างไรครับ แล้วถัดมาคือเรื่องของการชดเชยเยียวยา เมื่อเกิดผลกระทบ อันนี้ตัวอย่างที่บ้านค่าย ตำบลบางบุตร บ้านหนองพะวา มีโรงงาน อุตสาหกรรม ที่เอาขยะอุตสาหกรรมมาเก็บไว้ในชุมชนแล้วรั่วไหลเป็น ๑๐ ปีแล้ว จนบัดนี้ การชดเชยเยียวยาและการเอาขยะอุตสาหกรรมไปกำจัดก็ยังไม่จบสิ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมลงไปพื้นที่กับชาวบ้านพบว่าน้ำปนเปื้อนสารไหลออกไปไกล ๓ กิโลเมตรในรัศมีของโรงงาน เรียบร้อยแล้วครับ คดีความที่ฟ้องร้องอยู่ในศาลผมไม่ก้าวล่วง แต่เรื่องของการชดเชยเยียวยา และการกำจัดสารมีพิษที่อยู่ภายใน เรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นแน่ ๆ หรือไม่ ถ้าเกิดมี EEC เรื่องนี้ ก็ต้องให้ผู้ชี้แจงช่วยตอบเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนผังชุมชนที่อาจจะมีโรงงานมาตั้งในเขต อำเภอบ้านค่าย เรื่องผังเมืองรวมชุมชนของบ้านค่ายขอเอกสารเพิ่มเติมด้วยนะครับ ถัดมา เป็นพื้นที่ชุมชนวังจันทร์ เป็นกรณีของ EECi ในวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งจะมีการเปิดการลงทุน เพิ่มเติมโดยตั้งเป้าว่าจะทำให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐเป็นเม็ดเงิน ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท โดยประมาณ เท่าที่ดูก็อาจจะต้องมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมลงทุนเพิ่มเติม ผมเข้าใจดีว่า ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนเพื่อให้การพัฒนามีการตอบโจทย์กับนักลงทุน แต่เท่าที่ผม เคยคุยกับ EECi ตอนนี้ก็เข้าใจว่ายังไม่มีเม็ดเงินตอบโจทย์นักลงทุนมากพอนัก แต่อย่างไร ก็ตามความกังวลในพื้นที่เขตอำเภอวังจันทร์เป็นเขตที่มีพื้นที่อนุรักษ์ เป็นเขตพื้นที่อุทยาน และเกษตรกรรม ถ้าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมทางอุตสาหกรรมอย่างไรขอให้คำนึงถึง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเรื่องการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนี้เรามีบทเรียนกันมามาก ชาววังจันทร์ที่ไม่ใช่ เขตลงทุนอุตสาหกรรมมาแต่แรกเขามีความกังวลไม่ใช่เรื่องแปลก และปัญหาเดิมของเขาเอง ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ EECi เองมีช้างพังรั้วเดินเข้ามาในเขตของ EECi วังจันทร์วัลเลย์เลย แล้วถ้าต่อไปมีการเปิดให้มีการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมในอนาคต โดยที่ปัญหาช้างป่า ก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข คำถามคือจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรครับ มันต้องทำนิคมคชานุรักษ์เพิ่มเติม หรือไม่เพื่อทำให้โรงงานกับช้างอยู่ร่วมกันได้ เรื่องนี้เราต้องเอาปัญหาที่เป็นอยู่จริง ๆ ขึ้นมา คุยกันเสียก่อน ก่อนจะเดินไปข้างหน้าสู่การพัฒนา งานทิศทางการพัฒนาก็ต้องมุ่งแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่รู้จักจบจักสิ้น ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณทางคณะที่มาชี้แจงครับ แต่เนื่องจาก มีผู้อภิปรายเรื่องนี้เยอะ ผมอยากจะให้มันเป็นสาระในการจะอภิปรายในครั้งต่อไป

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ผมมองว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกหรือ สกพอ. ท่านได้จัดทำรายงานฉบับนี้ยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา ๑๕ (๕) ที่ให้ท่านจัดทำรายงานการปฏิบัติประจำปีตาม พ.ร.บ. ให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ ซึ่งตามกฎหมายของ EEC มีมากมาย โดยเฉพาะในมาตรา ๑๕ อย่างเดียว เช่นท่านกู้เงิน อะไรจากใคร ซึ่งในรูปแบบที่ท่านส่งมาเหมือนว่ายังไม่ครบถ้วน เหตุที่ผมต้องถามเช่นนี้ เพราะวันนี้มีการขายฝันว่าในพื้นที่ยากจน ในพื้นที่ชนบทหลาย ๆ แห่ง รวมทั้งใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เราอยากจะเอากฎหมาย EEC ไปพัฒนาเศรษฐกิจใน EEC แต่เท่าที่ผม ได้ตรวจสอบดูรูปแบบโครงสร้างของกฎหมายท่านมันตกอยู่ในรูปแบบของการวิจัยที่พบว่า มีปัญหาในการสร้างความเหลื่อมล้ำ ในการสร้างความยากจน เพราะว่าถ้ากฎหมายเป็นเรื่อง รัฐรวมศูนย์เมื่อใด ถ้ากฎหมายเป็นเรื่องระบบราชการเป็นใหญ่ ถ้ากฎหมายเป็นเรื่องการไป แย่งชิงทรัพยากรของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ อีกอันหนึ่งถ้ากฎหมายเกิดการให้สัมปทาน คือให้เสือนอนกิน ประชาชนอยู่ลำบาก และอีกประการหนึ่งคือกฎหมายทำให้เกิดการศึกษา ที่ด้อยไป อันนี้ผมก็เห็นเป็นตัวอย่างว่ากฎหมาย EEC เราจะขัดกับหลักการกระจายอำนาจ วันนี้เรามีการปกครองส่วนภูมิภาค การปกครองส่วนท้องถิ่นก็มี อบจ. มี อบต. มีเทศบาล มีการปกครองพิเศษ โดยเฉพาะในเขต EEC ๓ จังหวัดนั้นก็มีพัทยาเป็นเขตพิเศษ ท่านก็เป็น กฎหมายพิเศษที่เข้ามาใช้ครอบหมด ในรายงานของท่านอาจจะบอกว่าดีไปทุกอย่าง ที่สำคัญ ผมเห็นว่าค่อนข้างอันตรายคือคณะกรรมการ EEC ทั้งหมดไม่มีคนใน ๓ จังหวัดอยู่แม้แต่ คนเดียว นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง อันนี้คือตัวอย่าง ผมมีกฎหมายที่จะให้ท่านเปรียบเทียบ กฎหมายบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต. เรามีคณะกรรมการที่ปรึกษา จะมีตัวแทนขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มีตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีตัวแทนของศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม มีตัวแทน ของการศึกษา มีตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน แต่เสียดายกฎหมายฉบับนั้นได้ใช้ไป ระยะหนึ่ง พอมีการยึดอำนาจปี ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ก็ไปยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนแม้กระทั่งพระ คนพวกนี้เขาจะอยู่ในทุกพื้นที่ เขาได้รับผลกระทบ จากการพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่ท่านพัฒนาไปคือขยะหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ดังนั้นผมจึงเห็นว่า การที่ท่านมารายงานแล้วข้อมูลไม่ครบ ผมอยากกราบเรียนท่านประธานครับ วันนี้กฎหมาย บังคับให้มารายงานกับสภาจำนวนมาก สภาไม่เคยรู้เลยมีกฎหมายอะไร บางหน่วยงาน ก็ซุกไว้ไม่มารายงาน ทั้งหมดเป็นมาตรา ๑๕๗ สภาน่าจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจ Check ว่ามี กฎหมายหน่วยราชการใดต้องรายงานบ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาเอาเงินงบประมาณไป ผมอยากจะให้ดูแค่ที่รายงานหน้า ๑๘-๒๐ ท่านลองดูครับ ท่านพูดถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน การเอารถไฟความเร็วสูง เอาพื้นที่ที่แพงที่สุดที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้เก็บไว้ที่ มักกะสันเอาไปให้เป็นสถานี เป็นที่ที่แพงที่สุดอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่วันนี้จากรายงาน ของท่านจะเลยเวลาแล้วรถไฟเชื่อม ๓ สถานี แล้วจากข้อมูลก็บอกส่งมอบพื้นที่จำนวนมาก ผมเคยได้เข้าไปพบกับผู้ที่อยู่กับรถไฟมีโฉนดที่ดินเขาต้องถูกไล่ออกทั้งคราบน้ำตา แต่วันนี้ เมื่อท่านส่งมอบที่ดินให้ไปแล้ว อยากถามว่าจะมีเวลาอีกเมื่อไรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินจะได้ขยับสักทีหนึ่ง อันนี้คือจุดอันที่ ๑ แล้วเรายังมีจุดมากมาย ท่านทราบไหม ในระหว่างพัฒนาท่านมีมาตรา ๓๖ ไปเวนคืน ท่านไปใช้อำนาจเอาที่ดิน ส.ป.ก. ๑๔,๖๑๙ ไร่ มาอ้างว่าจะทำ Smart City ในที่ดินดังกล่าวนี้ พอท่านเอาที่อยู่ใกล้อู่ตะเภามามีคำกล่าวหา ว่าท่านเลขาอาจจะคนเก่าก็ได้ ท่านต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม โดยอ้างว่า จะมีคน ๒๐๐,๐๐๐ คนไปอยู่ เราก็ไปชิงที่ของคนไทยไม่มีที่ทำกิน คนไม่มีที่ทำกินต้องไป อยู่ในที่ ส.ป.ก. ๑๔,๐๐๐ ไร่ EEC ไม่เคยใส่ใจเลย เพราะ EEC ไม่เคยมีคนในจังหวัดชลบุรี ไม่มีคนในจังหวัดระยอง ไม่มีคนในจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่สัก ๑ คน ท่านอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะซ้ำร้ายที่สุดในรายงานของท่านครับ ที่ดินที่ท่านทำงานอยู่ ท่านอยู่กรุงเทพฯ ท่านอยู่ที่เจริญกรุง วัดม่วงแค แล้วท่านจะไปรู้ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ดังนั้น ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่เราจะมาทบทวนกฎหมายฉบับนี้เสียที เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาส ร่วมในการพัฒนาครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ตอนนี้ผู้อภิปราย หมดแล้วครับ ขอเชิญผู้ชี้แจงได้ชี้แจงเพิ่มเติมและตอบคำถามด้วยครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ก่อนอื่น ผมขออนุญาตขอบคุณท่านสมาชิกทุกท่านที่กรุณาให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็น แล้วก็มีการถาม คำถาม ผมพยายามจะตอบคำถามให้ครบถ้วนตามที่ทุกท่านได้สอบถามมานะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ท่านแรก ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้สอบถามความก้าวหน้าของโครงการ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็จะมีโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ตอนนี้ถมทะเลอยู่โครงการ ล่าช้าครับ หลายท่านถามในเรื่องนี้ ผมจะขออนุญาตเดี๋ยวขยายความตอนท้ายอีกที ท่าเรือมาบตาพุดอยู่ในระหว่างการถมทะเลอยู่ก็มีความล่าช้าในการเริ่มต้น ก็ถือว่าระยะเวลา ที่กำหนดอยู่ในรายงานประจำปีจนถึงปัจจุบันมีความล่าช้าไปกว่าที่กำหนดในเล่มอยู่ ส่วนที่ สนามบินอู่ตะเภาตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างรอการประกวดราคาของกองทัพเรืออยู่ เนื่องจาก โครงการ PPP มีการกำหนดว่ารัฐต้องลงทางวิ่ง แล้วก็เอกชนจะไปทำอาคารผู้โดยสาร ในตอนนี้ก็รอกระบวนการของภาครัฐ ที่ภาครัฐเราช้าเพราะเนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เงินกู้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเตรียมพื้นที่ แล้วก็เจรจาเรื่องเงินกู้เพื่อเอามาใช้ในการเริ่มโครงการ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างครับ ที่ผ่านมามีปัญหาตั้งแต่การเตรียม พื้นที่ ในการ Clear เรื่องสาธารณูปโภค ในการส่งมอบพื้นที่อะไรกันอีกหลายอย่าง ตอนนี้ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความล่าช้าการเจรจากับผู้รับสัมปทาน ต้องแก้ไขข้อขัดข้องกันอีก พักหนึ่ง ผมเข้าใจว่าหลังจากที่เรามีรัฐบาลแล้วกลไกในการตัดสินใจจะชัดเจนขึ้น อันนี้ ก็น่าจะเริ่มโครงการได้ ส่วนในความเห็นของท่านฐากรที่แนะนำเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรม ดิจิทัลเทคโนโลยี ตอนนี้ก็มีคนที่ทำ Data Center เข้ามาจองที่ไว้แล้ว ในพื้นที่ ECD ก็ใช้ พื้นที่ประมาณ ๒๕ ไร่ในการทำ Data Center อันนี้ก็จะทำให้มีประเด็นหรือมีอุตสาหกรรมที่ท่านแนะนำตามมา ส่วนในเรื่องรายอื่นก็จะมี เช่นเดียวกัน เพราะว่าหลังจากที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานมีการจัด Cluster ของอุตสาหกรรม ที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับที่ท่านฐากรเสนอมา ส่วนในข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งพยายามจะให้ใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. EEC ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ อันนั้นก็อยู่ในระหว่างที่เรากำลังดำเนินการ เพราะเราหวังว่าการแก้ไขปัญหา ข้อกฎหมายซึ่งทำให้เกิดการล่าช้า เราจะทำให้ได้ภายในปีนี้ให้แล้วเสร็จนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนคำถามของท่านที่ ๒ คือท่านกฤช ศิลปชัย ในเรื่องของการขยายตัว อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตอนนี้ก็มีอยู่ แต่ช้าลง ในเรื่องของการเป็นพิษกับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีจะน้อยลง เนื่องจากว่าใน EEC เราเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็น อุตสาหกรรมสะอาดแล้วเป็นอุตสาหกรรมเบา เพราะฉะนั้นในกรณีที่เราจะไปดูในคราวหน้า ปัญหาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนัก ๆ เหมือนกับตอนที่เราทำ Eastern Seaboard เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วจะน้อยลง ส่วนเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ทางเราจะรับไป ประสานงานกับการนิคมอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเรื่องของการบริหารการก่อสร้างซึ่งเกิดกรณี ที่มีการรั่วมาในเรื่องของที่ท่านได้โชว์ในรูป รวมถึงการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงต่าง ๆ พวกนี้เราจะตามไปดูให้อีกทีนะครับ ขออนุญาตนำเรียนนิดหนึ่งในประเด็นที่ท่านสมาชิก ได้มีการอภิปรายกันหลายคนเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาซึ่งไม่เหมือนกันกรณี ๒ ท่าเรือ ของท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือมาบตาพุด ทั้ง ๒ กรณีเยียวยาต่างกันเนื่องจากว่าพื้นฐาน ของความเสียหายจะแตกต่างกัน คนที่แหลมฉบังเขาเป็นผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ เขามีการก่อสร้างพื้นที่อยู่ในทะเล มีการเช่าพื้นที่ มีการทำเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้น ในการเยียวยาอยู่บนพื้นฐานของการเป็นเหมือนกับเวนคืนครับ ตรงนั้นก็จะมีการจ่ายค่า สิ่งที่มีอยู่ในทะเลที่ชาวบ้านลงทุนไว้ แล้วก็จ่ายค่าการเสียประโยชน์ในอนาคต ในขณะที่ มาบตาพุดจะแตกต่างกัน มาบตาพุดเป็นการทำธุรกิจ ทำอาชีพประมง ซึ่งจะใช้ท้องทะเล พื้นทะเลที่เป็นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นในการชดเชยเยียวยาจะดูจากประมาณการรายได้ ของประชาชนแทน ตรงนี้อย่างไรผมขออนุญาตรับไปประสานงานกับทางการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนของท่านอนุชา บูรพชัยศรี ขอขอบคุณในคำแนะนำแล้วก็ความเข้าใจ ที่ได้แชร์กันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนของท่านสหัสวัต คุ้มคง ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานของในพื้นที่ EEC แล้วมีการแสดงข้อมูลว่าในการว่างงาน ทำไมอัตราว่างงานของ EEC กลับกลายเป็นสูง หรือในพื้นที่อย่างชลบุรีมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง อย่างไรเดี๋ยวผมขออนุญาตรับไปดู อีกทีหนึ่งครับ เพราะในตัวเลขมันยังไม่ตรงกันอยู่นิดหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วตัวเลขที่เรามี อัตราการจ้างงานในพื้นที่ EEC จะน้อยกว่า ถ้าเราดูในเฉลี่ยของระดับประเทศ แล้วก็ชลบุรี จะมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดในประเทศในปัจจุบันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นถัดไปคำถามของท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ เกี่ยวกับเรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ อันนั้นเป็นคำแนะนำนะครับ ผมขออนุญาตรับไปว่าการสร้าง ความรู้ความเข้าใจกับชุมชนและพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แล้วในมิติของ EEC เราพยายาม จะเน้นในเรื่องการศึกษาอย่างที่ท่านแนะนำจริง ๆ รวมถึงการชดเชยในพื้นที่เมืองใหม่ที่เอาที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีผู้อภิปรายท่านสุดท้ายได้มี Comment คล้าย ๆ กันด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องที่มันมี Project หนึ่งที่มีการทำเมืองใหม่ของ EEC แล้วก็เอาที่ ส.ป.ก. มา ซึ่งในข้อเท็จจริงมีคนอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น ๘๓ ครัวเรือน แล้วก็มีการชดเชยไปแล้ว แล้วก็ในอนาคตเรามีการเปิดว่าถ้าเกิดมีการพัฒนาจริง ๆ ชาวบ้านที่ได้รับค่าชดเชยจะกลับ เข้ามาถือหุ้นในโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ผมได้รับ Comment ในการที่เดินทางไปพื้นที่ ชาวบ้านเขามาถามว่าเมื่อไรจะสามารถไปลงทุนในพื้นที่ได้สักที อันนั้นก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นของท่านเบญจา แสงจันทร์ เกี่ยวข้องกับเรื่องประกาศ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หมายความว่าประกาศนี้ครอบคลุมทั้งนิคม เป็นอย่างนั้น จริง ๆ อย่างที่ท่านสมาชิกได้อภิปราย คือเวลาเราประกาศเขตเราประกาศทั้งนิคม แต่สิทธิประโยชน์ที่จะให้ในแต่ละนิคมหรือแต่ละธุรกิจ ถ้าอะไรไม่ได้เป็นอุตสาหกรรม เป้าหมายเราไม่ให้สิทธิประโยชน์ นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นก่อน EEC เกิดขึ้นทีหลัง เวลาเราประกาศมาก็เลยประกาศครอบไปทั้งนิคม แต่ในนิคมนั้นถ้ามีคนลงทุนใหม่ แล้วอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราจะส่งเสริม เฉพาะคนเหล่านั้นเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ จากการลงทุน ส่วนการใช้เงินกองทุน อันนี้เป็นประเด็นที่สมาชิกหลายท่านอภิปราย ซึ่งเป็นอย่างที่ท่านอภิปรายจริง ๆ ว่าในการใช้เงินกองทุนมีทั้งการใช้ในเชิงเอาไปพัฒนา ชุมชนเป็นเรื่องการศึกษา ส่วนการเยียวยาผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับ ในการเยียวยา ตามเจตนารมณ์ของกองทุน EEC จะเป็นการเยียวยาในภาพใหญ่เพื่อเตรียมในเชิงสังคม อย่างคล้าย ๆ ที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายจริง ๆ แต่การเยียวยาเป็นรายโครงการ อย่างเช่น โครงการมาบตาพุดเจ้าของโครงการ คนที่ไปทำโครงการจะเป็นคนรับผิดชอบในการเยียวยา กองทุนของ EEC มีไม่ได้เยอะครับ ที่ผ่านมาเราใช้ในเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก แล้วไป เตรียมคนในเชิงภาพรวม แต่ไม่ได้ลงไปเยียวยาในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อิทธิพลหรือพื้นที่ได้รับ ผลกระทบโดยตรงกับโครงการ ก็ขออนุญาตนำเรียนครับ แล้วท่านเบญจาได้ถามถึงกรณีที่ MRO ด้วยนะครับ MRO คือโครงการศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภาอันนี้ก็มีการชะลอไป จากที่สมาชิก หลายท่านได้อภิปรายว่าเมื่อก่อนมี ๕ โครงการขนาดใหญ่ โครงการที่ ๕ คือเรื่อง MRO ศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภาหายไปไหน คำตอบคือชะลอไป เนื่องจากว่าเป็นประเด็นอย่างที่ท่านสมาชิก ได้อภิปรายเลยครับ ก็คือเนื่องจากว่าตอนที่เราอนุมัติโครงการตอนนั้นการบินไทยยังมี ความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และการบินไทยก็ยังอยู่ในฐานะที่สามารถจะลงทุนได้ หลังจากนั้น มาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้สำนักงานจะเอาเรื่องนี้มาดูอีกทีหนึ่ง เพราะว่า MRO เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน แล้วมีคนอยากจะมาลงทุนในประเทศไทยค่อนข้างเยอะในช่วงเวลานี้ เราอยากจะใช้ประโยชน์หรือว่ามีความต้องการตรงนี้ดึงให้มาอยู่ในสนามบินอู่ตะเภาเร็วที่สุด

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ประเด็นของท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ที่กรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง การจัดการกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อย่างเช่นในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องขยะอุตสาหกรรม หรือเรื่องน้ำ อันนี้ก็ขอรับไปประสานกับตัวคนที่รับผิดชอบจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงาน อุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ หรือในหลายส่วน ตอนหลังเราไปทำโครงการกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเยอะนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Case ระยองเราลงไปทำเยอะ เหมือนกันเพราะว่าทางระยองเขามีศักยภาพในการจัดการขยะอยู่ แล้วทางเราก็พยายามจะ ดึงนักลงทุนหรือเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการขยะนี้ไปด้วย เพื่อจะให้ การลงทุนต่ำลงแล้วสามารถจะมีรายได้ที่มาประกอบกิจการในเชิงกำจัดขยะได้นะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นของท่านคงกฤษจากระนอง ที่ให้คำแนะนำการเอาเรื่องของ EEC ไปใช้กับทาง SEC ก็ขออนุญาตขอบคุณในกำลังใจ แล้วก็ข้อเสนอแนะทางเราจะรับไป ดำเนินการต่อให้

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนของท่านชวาล พลเมืองดี ที่ถามเรื่องรูปธรรมของโครงการ ก็ยอมรับว่า ในเอกสารที่เราเอามาดูนี้ความก้าวหน้าในเชิงรูปธรรมอาจจะยังเห็นไม่เยอะนัก แล้วก็ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มีท่านสมาชิกอภิปรายกัน ผมนับอยู่ประมาณ ๗ ท่าน ในเรื่องนี้ที่บอกว่าทางเรายังทำน้อยไป แล้วการมีส่วนร่วมของเรา ยังไม่ทั่วถึง แล้วท่านก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องโครงการต่าง ๆ ซึ่งเรายังรับฟังความเห็น ไม่ชัดเจน และมีการสอบถามเกี่ยวกับประเด็นในการที่จัดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าการรับฟังความเห็นและการจะดูคนที่มีส่วนร่วมเราจะดูเป็น เรื่อง ๆ ไป การรับฟังความเห็นในเชิงโครงการเราต้องลงไปถึงพื้นที่ที่ทำโครงการเลย แต่เผอิญ ในการรับฟังความเห็นที่ท่านยกตัวอย่างเอารูปมามันเป็นการรับฟังความเห็นในเชิงแผนครับ เราเลยต้องดึงคนที่มีส่วนเกี่ยวกับการบริหารแผนเข้ามารับฟังเยอะหน่อย เพื่อต้องการรับฟังความเห็นของเขาว่าช่วง ๕ ปีที่ผ่านมานี้แผนไม่เกิดผลเป็นเพราะอะไร เพราะฉะนั้นตรงนี้เราก็เลยเอาส่วนที่เป็นราชการ ส่วนที่เราเชิญเยอะเกินครึ่งหนึ่งเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วมีส่วนหนึ่งก็จะเป็นท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ้าง แต่อย่างไรเดี๋ยวผมจะขอรับไปว่าในการจัดรับฟังความเห็นแต่ละเรื่องนี้พยายามจะดึงเอกชน ประชาชนแล้วก็พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางท่านสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกับ EEC มากขึ้น

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ของท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ มีการสอบถามเกี่ยวกับความล่าช้า ของโครงการ ในโครงการนี้จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่มันดำเนินการไม่ได้จริง แผนเลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่ละปีที่มีการรายงาน ก็ยอมรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง ตอนนี้ก็พยายามที่จะดำเนินการ แต่เหตุผลใหญ่หลัก ๆ ในช่วงปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เรามีข้อจำกัดในเรื่อง ของการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เรื่องการส่งมอบพื้นที่ เรื่องโควิดบ้าง ทำให้โครงการที่เริ่ม เซ็นสัญญาในปี ๒๕๖๒ มันไม่ได้เริ่มทำ ส่วนกรณีที่ท่านถามเรื่อง MRO ก็ได้ตอบไปแล้ว ส่วนความก้าวหน้าของโครงการจะขออนุญาตนำส่งให้ เรื่องในลักษณะที่เป็น S Curve อย่างที่มันควรจะเป็นจริง ๆ การ Engineering S Curve จะจัดการให้นะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนของท่านสมาชิกวรรณิดา นพสิทธิ์ ผมก็ขอบคุณที่ท่าน Comment ในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับอยากจะให้เห็นเรื่องการสำเร็จของโครงการ ในฐานะที่ท่านเป็น ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายในเรื่องนี้เยอะเลย ก็ยอมรับว่าทางเรายังไปไม่ถึง ในเชิงพื้นที่มากนัก อันนี้ก็เป็นบทเรียนซึ่งเราต้องรับมาปรับปรุงข้างหน้าต่อไปนะครับ แล้วก็ ในส่วนของที่ท่านถามเกี่ยวกับเรื่องมาตรา ๕๒ ของ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับว่าให้เราไป Waive ตัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักการมีอย่างเดียวคือว่าในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ยอมให้เช่าพื้นที่ได้สูงสุดไม่เกิน ๓๐ ปี แต่เรามองกันว่าการลงทุนที่จะดึง อุตสาหกรรมที่ลงทุนเยอะ ๆ มาได้อาจจะจำเป็นต้องเกิน ๓๐ ปี ฉะนั้นใน พ.ร.บ. เลยกำหนดว่า สูงสุดเดี๋ยวนี้ปัจจุบันคือไม่เกิน ๕๐ ปี แต่ตรงนี้คือสูงสุดเราให้กรอบ แต่ในการให้สิทธิประโยชน์ หรือการเช่าจริง ๆ ก็ดูเป็นราย ๆ ไป เป็นโครงการเป็นโครงการไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคน สามารถจะได้ ๕๐ ปีเหมือนกันหมดนะครับ ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือสิทธิพิเศษ ที่มองดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ผมขออนุญาตนำเรียนการให้สิทธิประโยชน์ หรือคำว่าสิทธิพิเศษจะไม่เหมือนคนอื่น มันเป็นกรณีต้องพิเศษ เหมือนเรากินก๋วยเตี๋ยวพิเศษ ก็ต้องมีเพิ่มอะไรบางอย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้น Bottom line มีอย่างเดียวคือเราต้องการที่จะดึงนักลงทุนที่เดินไปเดินมา บินไปบินมารอบ ๆ บ้านเรา เข้ามาในประเทศไทยเราให้ได้ โดยการให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะที่สามารถจะแข่งขัน กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ในเวียดนาม ในอินโดนีเซีย ในมาเลเซียได้ เพราะฉะนั้น เลยต้องจำเป็นว่าอะไรที่คนอื่นเขาดึงลูกค้า ดึงนักลงทุน เราก็ดึงเข้ามาด้วย ส่วนโครงการ ที่ดำเนินการต่าง ๆ เราพยายามจะทำให้สามารถดึงดูดได้จริงนะครับ สิทธิประโยชน์ จริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งเรารับทราบดีว่ามันมีผลกระทบต่อเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ การที่เราให้หรือปล่อยไปมันมีผลในภาพใหญ่เหมือนกันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ต่อไปของท่านฐิติมา ฉายแสง ก็ขอบคุณที่ท่าน Highlight คำว่าเติบโตทุกมิติมา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมยอมรับว่าในหลายมิติเรายังไม่ได้อยู่ อย่างไรจะขอรับไปว่าอยากให้สิ่งที่เรา ตั้งความหวังไว้นี้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ ส่วนโครงการที่เกี่ยวข้องกับฉะเชิงเทราก็มีอยู่พอสมควร มันจะมีโครงการที่อยู่ในแผนบูรณาการบ้าง และโครงการงบปกติบ้าง แต่โครงการจริง ๆ ที่สำนักงาน EEC ทำจะเป็นโครงการไม่ใหญ่มากนะครับ แต่จะลงไปในชุมชนหรือพื้นที่ อย่างเช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือพวกพืชสมุนไพร เราพยายามจะต่อยอดให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจะทำเป็นวิสาหกิจ ชุมชน แล้วก็ช่วยหาตลาดให้เขา

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนคำถามและ Comment ของท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ที่เกี่ยวกับ ผลกระทบของการพัฒนา แล้วก็กระบวนการประเมินเรื่องผลกระทบต่าง ๆ ผมยอมรับว่า ในแง่ของการดำเนินโครงการ EEC เองไม่ได้ทำโครงการเยอะ เราทำเป็นเหมือนกับเรา เป็นคนที่ช่วยดูในภาพรวมให้ ช่วยประสาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้โครงการเกิด แต่ในมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการผลกระทบมันขึ้นอยู่กับว่าลักษณะของโครงการ จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราพยายามจะดูให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะบางโครงการจะทำแค่ IEE บางโครงการ ต้องทำ EIA หรือโครงการใหญ่ ๆ ต้องทำ EHIA พวกนี้ก็พยายามจะทำให้เป็นไปตามนั้น แล้วก็ในเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกันที่เราจะช่วยเขาดู เพราะบางครั้ง EEC จะช่วยกลั่นกรองเรื่องการให้งบประมาณด้วยนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนประเด็นของท่านรวี เล็กอุทัย ที่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของ EEC คือในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราใช้เงินของรัฐจริง ๆ ไปแค่ประมาณ ๔ เปอร์เซ็นต์ วงเงิน ในการลงทุน หรือค่าใช้จ่าย หรือวงเงินที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ EEC ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น PPP ส่วนใหญ่ในโครงการ PPP เอกชนลง ๒ ใน ๓ แล้วก็ภาครัฐลง ๑ ใน ๓ และอีก ๖๕ เปอร์เซ็นต์เป็นโครงการที่เอกชนลงทุน เพราะฉะนั้นในพื้นฐานเราพยายามจะดู การใช้เม็ดเงินของประเทศ อย่างที่ท่านสมาชิกได้กังวลว่า EEC หลายท่านใช้คำว่าเป็น Growth Engine ของประเทศ เป็นเครื่องจักรที่จะสร้างการเติบโตของประเทศ แต่งบประมาณ ของเราจำเป็นต้องใช้ทั้ง ๗๗ จังหวัด ส่วนที่ท่านสอบถามเกี่ยวกับเรื่องท่าเรือจุกเสม็ด เกี่ยวกับ เรื่องของการต่อเชื่อม ท่าเรือจุกเสม็ดปกติใช้รองรับเรือโดยสาร ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเรือ มาให้บริการ ในขณะที่สนามบินอู่ตะเภาปัจจุบันมีคนใช้บริการอยู่บ้าง ซึ่งในปัจจุบันนี้ เราไม่ได้เชื่อม ๒ ที่ ท่าเรือจุกเสม็ดกับสนามบินอู่ตะเภาไว้ด้วยกัน ๒ ที่ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่ไม่ได้เชื่อมกันเพราะว่า Demand จากการเดินทางระหว่าง ๒ ที่ไม่มีครับ แต่ที่เราทำปัจจุบันคือเราพยายามกำหนดระบบขนส่งเชื่อมโยงที่สามารถกระจายคนจาก สนามบินอู่ตะเภาเข้ามาที่ระยอง ที่พัทยาได้ ตอนนี้กำลังทำอยู่ แล้วก็กำลังทำเพิ่มเติมจาก สถานีรถไฟความเร็วสูง ถ้าเกิดมีรถไฟแล้วระบบขนส่งเชื่อมโยงจากสถานีรถไฟไปที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ จะเป็นอย่างไรก็สามารถจะทำต่อไปได้นะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนกรณีของท่านปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จากจันทบุรี ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง อ่างเก็บน้ำ อันนี้ผมขออนุญาตตามไปดู เพราะว่าจริง ๆ ประเด็นเรื่องนี้ทางสำนักงานก็ Concern เยอะมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรจริง ๆ เพราะว่าจันทบุรี ถือว่าเป็นคนช่วยส่งน้ำให้ระยอง ระยองส่งให้ชลบุรีมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว แต่ในแง่ของ การบริหารจัดการน้ำจริง ๆ แล้วทางกรมชลประทานเขามีเกณฑ์ มีโควตาในการจัดสรร หลัก ๆ การใช้น้ำจะไปที่ภาคเกษตรก่อนเลยเป็นอันดับ ๑ เสร็จแล้วก็ตามไปที่เรื่อง อุปโภคบริโภค การใช้น้ำในอุตสาหกรรมจะมาเบอร์ ๓ เพราะฉะนั้นในแง่ตรงนี้อย่างไร ผมจะขออนุญาตรับไปประสานกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ดูว่าอย่างไร การใช้ทรัพยากรร่วมกันก็จะต้องทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่เดือดร้อนเกินความจำเป็นนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ต่อไปของท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ผมขอบคุณที่ท่านให้คำแนะนำเกี่ยวกับ เรื่องของการจัดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นประเด็นที่หลาย ๆ ท่านแนะนำ แล้วผลกระทบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องผังเมือง เรื่องการตั้งโรงงาน หรือการแย่งทรัพยากรน้ำกัน หลายท่านให้ Comment ในลักษณะเดียวกัน ก็ขออนุญาตรับไปเช่นกันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรงพยาบาลปลวกแดง ก็จะเป็นกรณีอย่างที่ท่านได้กล่าวถึง ตอนนี้ทางโรงพยาบาลปลวกแดงมี Project ที่จะขยาย อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ในปัจจุบันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการก่อสร้าง แต่แบบที่เปลี่ยนแปลงไป เดิมในแบบมีการเตรียมไว้สำหรับให้เฮลิคอปเตอร์บินลงบนหลังคาโรงพยาบาลได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ เพราะว่าในแง่ของความปลอดภัยเฮลิคอปเตอร์บินลงไม่ได้ ก็เลยต้องมีการเปลี่ยนแบบไป แต่ในเรื่องของการทำ PPP ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลนี้ รัฐจะก่อสร้างและให้เอกชนบริหาร แล้วก็เอกชนจะมีการสร้างโรงพยาบาล มีตึกเพิ่มเติมด้วย ในบริเวณโรงพยาบาลปลวกแดง ๒ อันนี้ยังไม่ได้เริ่มครับ กำลังจัดทำ TOR สำหรับ IPP อยู่ ถ้าได้ความคืบหน้าอย่างไร ได้เอกสารอย่างไร จะขออนุญาตนำเรียนท่านชุติพงศ์อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นโครงการ PPP โครงการแรกของประเทศไทยครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนท่านสุดท้าย ของท่านทวี สอดส่อง ก็ขอบคุณที่ท่านให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การพยายามทำรายงานประจำปีให้ครบถ้วน แล้วก็เช่นกันเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วม ของประชาชนในพื้นที่ แล้วก็การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เวนคืนมาแล้ว อย่างไรทางสำนักงาน จะขออนุญาตรับไปดูนะครับ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความสำคัญที่ท่านอยากให้เราดูแล เป็นพิเศษ สรุปจากที่ทุกท่านได้ให้ข้อมูล ได้สอบถาม ได้แสดงความเห็น ผมขออนุญาต นำเรียนว่าทาง EEC จริง ๆ แล้วภารกิจของเราคือการส่งเสริมการลงทุนคล้าย ๆ กับ BOI แต่การส่งเสริมการลงทุนของ EEC เราเป็นตัวย่อลงมา คือเราจะเฉพาะเจาะจงอยู่แค่ ๑๒ อุตสาหกรรม และในพื้นที่ ๓ จังหวัด ส่วนประเด็นที่ท่านสมาชิกอยากให้ขยายอย่างไร เดี๋ยวไปว่ากันอีกทีนะครับ ที่ผ่านมามันมีปัญหาอยู่พอสมควร เราคือส่วนย่อของ BOI แต่ในการดำเนินการถ้าท่านเข้าใจภารกิจของ BOI EEC จะมาในแนวนั้น แต่ EEC จะมี ส่วนที่ BOI ไม่ได้ทำคือเรื่องสังคม เป็นประเด็นที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างเยอะเลย ซึ่งอันนี้ผมยอมรับว่าที่ผ่านมายังทำไม่ได้ดีนัก เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในแง่ของการดึงดูด การลงทุนบางท่านอาจจะบอกว่าเป็นการเอื้อ เป็นการดูแลนักลงทุนหรือที่ไม่ใช่นักลงทุน หรือรายใหญ่เป็นพิเศษ แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังพยายามดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ขออนุญาตนำเรียนว่าการลงทุนภายใต้ EEC ไม่ได้จำกัดหรือให้เฉพาะคนต่างประเทศ คนสัญชาติไทยเราก็สามารถใช้ได้ แล้วก็ที่ผ่านมามีสิ่งที่เรายังไม่ทำ ผมกำลังจะขออนุญาต นำเรียนท่านสมาชิกว่าส่วนหนึ่งที่สำนักงานจะทำต่อไปเป็นเรื่องของการแน่วแน่แก้ไข ในสิ่งผิดนะครับ แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีภารกิจที่ยังไม่ท้อถอย คอยสร้างสิ่งที่ควรด้วย ในอนาคต ผมขออนุญาตส่งต่อความปรารถนาดีและรับไมตรีจิตที่ทุกท่านมอบให้ในวันนี้ แล้วก็พยายามใช้กลไกในกฎหมาย หรือความหวังดี แล้วก็สิ่งที่ท่านอยากจะให้ EEC เป็นความหวังรับไปทำต่อไป

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

และอีกอันหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับท่านสมาชิกได้อภิปรายเยอะเลยว่า EEC จะไม่สามารถทำงานชุมชนหรือพื้นที่ได้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ต่อไปเราจะมีสำนักงานอยู่ใน พื้นที่ครับ ตอนนี้เรากำลังเตรียมไว้เพื่อจะเข้าพื้นที่ได้ง่ายขึ้นเวลาท่านสมาชิกหรือประชาชน อยากจะเข้ามาคุย คงลำบากมากถ้าเขาจะเข้าที่บางรัก ที่เจริญกรุง เราจะพยายามหาที่ เหมาะ ๆ สามารถรองรับประชาชนทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองให้ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมขออนุญาต ในอนาคตเราคงต้องทำงานด้วยกันเยอะขึ้น ท่านคงต้องเป็นกระบอกเสียง ให้เรา แล้วท่านคงต้องใช้เราในการดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณมากครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ยังมีท่านสมาชิกติดใจ เดี๋ยวท่านฐิติมา ฉายแสง แล้วก็ ๔ ท่านยังติดใจ เชิญท่านฐิติมาก่อนครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ โครงการนี้ดิฉัน ยังติดใจอยู่ตรงที่ว่าเขาทำมานานแล้ว เขาทำมา ๕ ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งเริ่มทำปีเดียว แล้วจึงไม่มาสนใจ ในขณะเดียวกันท่านเลขาธิการก็บอกแล้วว่าท่านยังขาดในการลงไปดู ในเชิงพื้นที่ ดิฉันกลัวว่าวันนี้เราพูดกันแล้วมันก็ลอยหายไป พี่น้องประชาชนในเขตจังหวัด ฉะเชิงเทราที่ดิฉันเป็นตัวแทนอยู่เขายังเดือดร้อนหลายเรื่องมาก ที่ดิฉันหยิบยกไปเมื่อสักครู่ มิติแค่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมันก็ย่ำแย่ขนาดนั้น แล้วท่านเองบอกว่าเราจะก้าวไปด้วยกัน เติบโตที่ดีในทุกมิติ ดิฉันก็ถามว่าประชาชนก้าวไปด้วยหรือเปล่า อะไรก็แล้วแต่ที่พูดไปแล้ว ดิฉันจะอย่างนี้ค่ะ ขอเรียนเสนอว่าดิฉันยินดีที่จะไปกับท่าน ท่านตั้งคณะทำงานมาเลย ลงไป ดูพื้นที่กับดิฉันทำงานเชิงรุกกันดีกว่า อย่าปล่อยให้เรื่องนี้มันลอยไปเถอะ เพราะอย่างเช่นน้ำ ที่เมื่อสักครู่ดิฉันนำเสนอเป็นทั้งตำบลเลยอยู่ติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ ๓๐ กิโลเมตรเอง ๑๒ หมู่บ้านไม่มีประปาภูมิภาคเลย ตำบลที่ติดกันเป็นของอีกอำเภอหนึ่งก็ไม่มีประปาภูมิภาค แล้วเขาใช้น้ำแบบนั้น น้ำมันคือชีวิต ท่านก็รู้อยู่ว่าถ้าบ้านท่านน้ำดำแบบนั้นจะอยู่อย่างไร ขอเถอะค่ะ ดิฉันขอว่าช่วยดูแลพี่น้องประชาชนของดิฉันด้วยเถอะ มีโอกาส ๒๐-๓๐ ล้านบาทเอง ท่านกำลังดู ๒ ล้านล้านบาท นี่คือแค่นี้เองจริง ๆ ลงไปดูด้วยกันเถอะ ดิฉันยินดีที่จะไปกับท่าน ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านเลขาธิการนัดท่านฐิติมาไปดูปัญหาหน่อยนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ยินดีที่จะร่วมงานกับท่านฐิติมาครับ แล้วจริง ๆ ที่ท่านเสนอผมคงต้องรับไปกับจังหวัดอื่นด้วย แต่จากนี้เราอาจจะจัดทีมแยกไป เพราะว่าทั้งฉะเชิงเทราเอง ทั้งชลบุรี ทั้งระยองเองมันมีปัญหา แล้วผมไปฉะเชิงเทราครั้งที่แล้ว ก็ได้รับ Feedback มาอย่างที่ท่านฐิติมาได้พูดถึงจริง ๆ อย่างไรก็รับครับ อย่างไรต้องขออนุญาต ท่านมาช่วยดูแลเราด้วย แล้วก็ช่วยเราดูแลชาวบ้านด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านต่อไปเชิญครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ผมมีเรื่องติดใจอีกนิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องโรงพยาบาลปลวกแดง คำชี้แจงคือ บอกว่าปรับแบบสำหรับการจอดเฮลิคอปเตอร์ ท่านผู้ชี้แจงครับท่านเลขาธิการ ผมมีบันทึก การประชุมนะครับ บันทึกการประชุมมันเป็นการปรับแบบของชั้น ๔ ชั้น ๕ ชั้น ๖ ไม่น่า จะเป็นชั้นสำหรับการจอดเฮลิคอปเตอร์ เหมือนเป็นการปรับแบบของการก่อสร้างให้สอดคล้อง กับการลงทุนสำหรับบางบริษัทที่จะมาลงทุนหรือเปล่า ที่ผมตั้งข้อสงสัยไว้คือเรื่องนี้ ไม่ใช่ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ครับ ดังนั้นเรื่องนี้ผมตั้งข้อสงสัยเพื่อจะขอดู TOR ว่าการทำ TOR ออกมา คือเอา TOR ส่งมาให้สภาดีกว่าจะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เพราะดำเนินการมาที่จะไป PPP มันต้องเห็น TOR ถึงจะรู้ว่านักลงทุนที่ลงมาจะลงทุนแบบไหน กำกับไหมว่า นักลงทุนจะเป็นแบบใด ตรงนี้จำเป็นจริง ๆ อย่างไรขอดู TOR เถอะครับ เพราะว่าบันทึก การประชุม ๒ ครั้งล่าสุดก่อนที่ผู้รับเหมาจะหยุดทำงานไป ๒ เดือนผมมีทุกอย่าง ผมรู้กระทั่ง ว่าหนังสือไปตันอยู่ที่ไหน แล้วคนที่ต้องเซ็นไม่เซ็นเพราะอะไรด้วย อย่างไรที่มาที่สภาแห่งนี้ ผมต้องการเอกสาร TOR ของโรงพยาบาลปลวกแดง ๒ จริง ๆ แล้วก็เรื่องผังเมืองรวมทั้งของ วังจันทร์ บ้านค่าย ปลวกแดงด้วย มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้จริง ๆ ขอบคุณท่านผู้ชี้แจงครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ยังไม่ต้องชี้แจง เดี๋ยวอีก ๒ ท่านใช่ไหม เชิญครับ

นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ที่ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงให้กับสภาแห่งนี้รับทราบว่าในส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่แหลมฉบังกับที่จังหวัดระยองนั้นแตกต่างกันก็เป็นข้อมูลจริงบางส่วน ที่แหลมฉบัง มีกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยจริง แต่ในส่วนที่ผมหยิบเอามาอภิปรายคือในส่วนของเรือประมง พื้นบ้าน แหลมฉบังก็มีเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้เพาะเลี้ยงหอย ที่ไม่ได้มีที่แปลงเพาะเลี้ยงหอย แบบที่ท่านว่า แล้วไปใช้วิธีการตามหลักเกณฑ์เวนคืนอะไรตามที่ท่านว่านะครับ ผมหยิบยก ตัวอย่างมาเฉพาะส่วนของเรือประมงที่แหลมฉบังกับที่จังหวัดระยองว่าทำไมมันถึงได้ แตกต่างกันอย่างมากถึง ๒๐ เท่า ถึงกระนั้นก็ต้องฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจง ท่านเลขาธิการ EEC ว่าวันละ ๕๐ บาทที่ท่านจ่ายให้ชาวประมงจังหวัดระยองมันไม่คุ้มค่า กับความเสียหายเลย แล้วท่านยังเอาเอกสารในการรับเงินมาจำกัดสิทธิในการเรียกร้อง เขาไปอีก อย่างไรวันนี้ผมขอความเห็นใจครับ ผมฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านเลขาธิการ EEC ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วยครับ ทุกวันนี้ความเดือดร้อนมันเกินกว่าเงินที่ท่านจ่ายเยียวยา ไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดให้เขาได้มีโอกาสพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านต่อไปเชิญครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ในส่วนของการอภิปรายของผมได้ตั้งคำถามไปหลายประเด็น

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๑. ในส่วนของอัตราการว่างงานที่ท่านบอกว่าตัวเลขไม่ตรงกัน ผมใช้รายงาน สถานการณ์แรงงานจังหวัดชลบุรีที่ออกโดยสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ถ้าตัวเลข ไม่ตรงกันเดี๋ยวผมอาจจะนำส่งเอกสารนี้ให้ท่าน เพื่อนำมาช่วยกันตรวจสอบว่าตรงไหน ที่ผิดพลาดนะครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๒. อยากให้ตรวจสอบในส่วนของระยองด้วย เพราะตอนอภิปรายรายงาน ผมตั้งคำถามอัตราการว่างงานของจังหวัดระยองด้วยนะครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๓. เป็นข้อเสนอ อยากให้ระบุ KPI เรื่องสัดส่วนการจ้างงานและการเติบโต ตรงนี้ให้ชัดเจนครับ ทั้งในอัตราการบรรจุงาน ค่าแรง รายได้ และสวัสดิการที่ได้รับว่า ต้องเพิ่มขึ้น ดีขึ้นอย่างไรบ้างครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๔. เรื่องที่ผมยังคงอยากได้คำตอบ คือการเข้ามาของแรงงานจีนว่าเข้ามา อย่างไร เข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่มาก กระทบกับประชาชนเยอะมากครับ โดยเฉพาะถ้ามีการเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายเข้ามาได้อย่างไร มีใครเอื้อประโยชน์ หรือไม่ครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วชวนไปดูด้วยกันก็ได้ ไปพร้อมท่านฐิติมาด้วยก็ได้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปท่านทวี สอดส่อง เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ผมขอให้ชี้แจงอาจจะเพิ่มเติมเป็นเอกสารก็ได้ ที่ผมถามว่า EEC ไปใช้อำนาจกฎหมายตามมาตรา ๓๖ โดยไปเอาที่ดิน ส.ป.ก. ๑๔,๖๑๙ ไร่เศษ บอกว่าจะไป ทำศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่อัจฉริยะที่ตั้งอยู่ภายในรัศมี ๓๐ กิโลเมตรรอบสนามบิน อู่ตะเภา ที่ผมอยากเรียนถามคือว่าท่านได้ไปทำหรือยัง เวนคืนไปแล้ว เพราะว่าประชาชน ไม่มีที่ทำกิน ท่านบอกว่าจะเอาอันนี้ไปทำ แล้วก็อยากให้มีรายละเอียดที่ว่าถ้าเกิดท่าน เอาไปแล้วต้องการจะไปให้นายทุนหรือเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกิดไม่ได้ทำประโยชน์ หรือไม่มีเกิดขึ้น จะสามารถใช้อำนาจท่านคืนให้เกษตรกรได้ไหม เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นผู้ยากไร้ทั้งนั้น แล้วขอให้ส่งรายละเอียดเป็นเอกสารมาด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ไม่มีท่านใดจะสอบถามเพิ่มเติมนะครับ เชิญท่านผู้ชี้แจงครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ขอเอกสารเพิ่มเติมในประเด็น ของท่านที่เกี่ยวกับเรื่องปลวกแดงจะมี ๒ ส่วน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

เรื่อง TOR การสร้างตึกปัจจุบันเดี๋ยวผมจะประสานขอจากกระทรวงสาธารณสุขให้ อันนั้นจะเป็นการก่อสร้างตึกอยู่

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วน TOR ที่เกี่ยวกับเรื่อง PPP ยังไม่ได้ทำครับ ตอนนี้กำลังตั้งคณะกรรมการ ดำเนินการเกี่ยวกับ PPP อยู่ ถ้าอย่างไรเสร็จแล้วเดี๋ยวผมก็ขอประสานให้อีกรอบหนึ่ง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนกรณีพื้นฐานการเยียวยานั้น ผมขออนุญาตรับไปตรวจสอบในกรณีที่ ท่านกฤชได้สอบถามเพิ่มเติม ผมรับไปแล้วจะประสานงานกับทางการนิคมอีกครั้งหนึ่ง ตรวจสอบกันให้ชัดเจนจะได้สิ้นสงสัย เพราะผมก็เป็นห่วงกังวลเหมือนกันว่าถ้าเรื่องเดียวกัน มันไม่ควรจะแตกต่างกันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

ส่วนของท่านสหัสวัตที่เกี่ยวกับเรื่อง KPI อย่างไรก็คงต้องเดี๋ยวขอรับในส่วน ของเรื่องการดูร่วมกันว่าสถิติข้อมูลมันตรงกันขนาดไหน อย่างไร รวมถึงกรณีของระยองด้วย แล้วก็ KPI ที่อยากให้เซตเพิ่มเติมสำหรับในแผนภาพรวมฉบับต่อไปเดี๋ยวทางเราจะรับไป เพราะว่าตอนนี้เรากำลังหา KPI ที่ไม่ใช่การวัดเฉพาะการลงทุนอยู่ด้วยเหมือนกันนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

สุดท้ายก็ของท่านทวี อย่างไรเดี๋ยวผมจะขอส่งให้นะครับ แต่ข้อมูลคร่าว ๆ คือเราได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก. มาให้สำนักงาน EEC ดูแลแทน ไม่ได้เป็น ลักษณะการเวนคืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต่อไปใครเข้ามาเราสามารถให้ใช้ที่เหล่านั้นเอาไปใช้ ทำประโยชน์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ ซึ่งเราก็ตั้งเป้าไว้คร่าว ๆ ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการแพทย์ และเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาอะไรพวกนี้ แล้วส่วนหนึ่ง ก็จะมีประชาชนสามารถจะกลับเข้ามาอยู่ได้ในพื้นที่ซึ่งตัวเลขในปัจจุบันจะมี ๘๓ ครัวเรือน แต่ในรายละเอียดจะขออนุญาตนำส่งท่านทวีอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็ถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ในประเด็นนี้ผมสอบถาม ท่านเลขาธิการ EEC ไปประเด็นเรื่องแรงงานจีน ผมได้ถาม ๒ รอบ ก็ยังคงไม่ได้คำตอบ จากท่านนะครับ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านสหัสวัตด้วย แรงงานจีน เราคงต้องตรวจสอบด้วยกัน เพราะว่าอุตสาหกรรมมันจะมีหลากหลายมากพอสมควร ในพื้นที่นิคม เพราะจริง ๆ แล้วในอุตสาหกรรมที่ EEC ดูแลจะเป็นอุตสาหกรรมซึ่งไม่น่า จะต้องใช้แรงงานเยอะขนาดนั้น แต่อย่างไรขอรับว่าเราคงจะต้องประสานงานกับท่าน เราไปดูด้วยกันก็ได้ครับ อันนี้เราจะได้ดูด้วย เพราะว่าในพื้นฐานถ้ามันไม่ถูกต้องตาม กฎหมายจริงก็เอาเจ้าหน้าที่มา เพราะถือว่าเขาแย่งแรงงานของเราเหมือนกันครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ผมขอบคุณมาก ๆ เลยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแล้วนะครับ ต้องขอบคุณหน่วยงานที่ให้ข้อเท็จจริง ขอบคุณครับ

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ขออนุญาตนิดหนึ่งค่ะ ขออนุญาตหารือไม่เกิน ๑ นาที ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิก ผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกล มีประเด็นหารือเรื่องตู้ Container พอดีเมื่อวานนี้ท่านวันมูหะมัดนอร์ได้แจ้งกับที่ประชุมว่าจะดำเนินการนำตู้ Container บริเวณรอบสภาออกไปตั้งแต่ ๔ ทุ่มเมื่อวานนี้ค่ะ เมื่อเช้าเดินทางมายังเห็นว่าตู้ Container ยังคงวางอยู่ในตำแหน่งเดิม ฝากติดตามด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ จะรีบดำเนินการเดี๋ยวจะมีการเอาออกครับ เพราะเป็นมลพิษเหมือนกัน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๙ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทยได้เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ รายละเอียดปรากฏในเอกสารที่ท่านสมาชิกได้รับทราบแล้ว ในการนี้ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ เชิญผู้ที่มีรายชื่อเข้าประจำที่ครับ ท่านที่ ๑ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ท่านที่ ๒ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ท่านที่ ๓ ท่านอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ท่านที่ ๔ ท่านเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น และท่านที่ ๕ ท่านกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัลเข้าประจำที่แล้ว เชิญท่านอาจารย์ ได้ชี้แจงสัก ๕ นาทีก่อนครับ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า Thai PBS ขอนำเสนอรายงานประจำปี ๒๕๖๕ โดยขอมี Video ภาพประกอบด้วยค่ะ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ Thai PBS ได้ประกาศ เป้าหมายด้านภาพลักษณ์เอาไว้ว่าคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการที่สะท้อน การยึดโยงไว้ในทุกพันธกิจของสื่อสาธารณะ ในครั้งนี้ดิฉันจะขอนำเสนอ ๖ เรื่องด้วยกัน ได้แก่

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องแรก การยึดโยงผ่านการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนอง ประชาชนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมและความสนใจ ตามภูมิทัศน์สื่อใหม่ และที่สำคัญคือตามพันธกิจที่ไม่ทอดทิ้งกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็ก และกลุ่มคนยากจน เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากบริการโทรทัศน์ช่องหมายเลข ๓ แล้ว มีช่อง ALTV หมายเลข ๔ ซึ่งเป็นบริการเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก และมีบริการ Online ทั้ง Website Video on Demand Application และ Social Media บริการในรูปแบบ Video Content บน Thai PBS Digital Platform ทุกช่องทางมีผู้เข้าชมกว่า ๒.๑ พันล้านคน ตลอดทั้งปี

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การยึดโยงกับประชาชนผ่านการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มุ่งให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำวาระลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคม เป็นธรรม โดยมีทั้งการนำเสนอข่าวสารและสารคดีที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และจัดระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อหาทางลดความรุนแรงของผลกระทบ ดังตัวอย่างที่ถูกอ้างอิงถึงอย่างมากก็คือประเด็นคนจนเมืองและประเด็นเด็กหลุดจากระบบ การศึกษา ซึ่งมีการขยายผลจากสารคดีไปสู่ Model การแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม หลายด้านด้วยกัน ในด้านความคุ้มค่าของการทำวาระลดความเหลื่อมล้ำนี้มีผลประเมินโดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาเลือกศึกษาเฉพาะ ๑ กรณีจาก ๖ กรณีในสารคดีชุดคนจนเมือง พบว่าก่อให้เกิดมูลค่าตอบแทนเท่ากับ ๒๒.๑๒ เท่าของต้นทุนผลิต

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เหตุการณ์ใหญ่ในปี ๒๕๖๕ คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่ง Thai PBS ได้แสดงบทบาทที่แตกต่างไปจากเพียงแค่การสื่อข่าว แต่ได้จัดทำวาระปลุก กรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ ชวนภาคีกว่า ๘๐ องค์กรมารวบรวมข้อเสนอนโยบายจาก ประชาชน ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัว มีจำนวนผู้เข้าชมหรือ Engagement ในทุกช่องทาง เผยแพร่ของ Thai PBS เพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง เช่นมียอดผู้ชมแบบ Real time ทาง Website ถึง ๒.๗ ล้าน Pageview ในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้การทำวาระพิเศษทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ และเรื่องปลุกกรุงเทพฯ ได้มีผลสำรวจการยอมรับจากประชาชนให้ Thai PBS เป็นสื่อที่มี บทบาทและคุณค่าในการจัดวาระสำคัญทางสังคม

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ในด้านการนำเสนอข่าวสารที่ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ โดยเฉพาะ ในภาวะวิกฤติที่เป็นความเดือดร้อนและเป็นความสูญเสียของพี่น้องประชาชนนั้น Thai PBS ได้รับการจัดลำดับเป็น Brand ข่าวที่น่าเชื่อถืออันดับ ๑ จากสถาบัน REUTERS ๒ ปีซ้อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากใช้บริการข่าวสารของ Thai PBS อย่างสม่ำเสมอ และมี ผลประเมินความนิยมของประชาชนให้เป็นลำดับที่ ๑ ของ TV Digital ในมิติของการนำเสนอ เนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงเชื่อถือได้ มุ่งลดความขัดแย้งและสร้างความเป็นธรรม

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ Thai PBS สร้างความโดดเด่นในเรื่อง ของการสื่อสารมิติวัฒนธรรมและการเรียนรู้ผ่านรายการสารประโยชน์และสาระบันเทิง ซึ่งมีผลสำรวจความพึงพอใจจากประชาชนว่าเป็นการแสดงบทบาทในฐานะโรงเรียนของสังคม ที่สร้างการเรียนรู้แบบหยั่งรากวัฒนธรรม เพื่อเข้าใจตัวตนและพร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็น พลเมืองโลก โดยเฉพาะละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีที่ได้รับการยกย่องว่าช่วยพาสังคม ก้าวข้ามอคติระหว่างเชื้อชาติ และยังทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการสืบค้นเรียนรู้ ประวัติศาสตร์อย่างมาก อีกตัวอย่างคือสารคดีชุดโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ซึ่งทำหน้าที่ สืบสานภูมิปัญญาไปพร้อมกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่น

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ พันธกิจที่ถือว่า Thai PBS แตกต่างจากสื่อทั่วไปก็คือ การสร้าง ความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองผ่านการใช้เครื่องมือสื่อ Digital ซึ่งได้มี การปรับปรุงให้สามารถรองรับภาคพลเมืองได้มากขึ้นผ่าน Digital Platform ต่าง ๆ ทำให้ ประชาชนในพื้นที่ได้ตัดสินใจบนฐานข้อมูลวิชาการ เช่นการนำภาพอนาคตเรื่องวิกฤติภัยแล้ง ของพื้นที่มาระดมความเห็นผ่าน Application และถ่ายทอดผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย เป็นต้น ท่านประธานที่เคารพ ปี ๒๕๖๕ เป็นปีเริ่มต้นของการใช้แผนยกระดับทั้งองค์กรสู่ Digital Transformation เพื่อให้ Thai PBS มีบริการที่สนองตอบประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มากขึ้น และเพื่อหนุนเสริมการต่อยอดบทบาทการเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน ในการติดตามตรวจสอบนโยบายและแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยปัญญา ให้สมกับที่เรา ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปเป็นท่านสมาชิกที่มาลงชื่ออภิปราย ท่านที่จะลงชื่ออภิปรายมีเวลาอีก ๑๐ นาที ก็มาลงชื่อนะครับ ตอนนี้มีอยู่ ๑๒ ท่าน ท่านแรกท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออนุญาต อภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือ Thai PBS ท่านประธานครับ ปัจจุบันประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อทั้งช่องทางหลัก และช่องทาง Online ที่ให้ประชาชนได้รับทั้งความรู้ ได้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น อย่างทั่วถึง หนึ่งในนั้นคือ Thai PBS ที่ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการชื่นชมว่าท่านได้ให้ความสำคัญ กับการนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลที่รอบด้านอย่างตรงไปตรงมา เป็นอิสระ และน่าเชื่อถือ ทั้งการ Update ข่าวสารอย่างทันท่วงที การค้นหาความจริง การสร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคือความสำเร็จของ Thai PBS ผมได้ติดตามทาง Thai PBS ซึ่งพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่องทางและรูปแบบ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะทาง TV และทาง Online ผมเองก็ได้รับความรู้ข่าวสารและข้อมูล ดี ๆ จากทางช่องทางสื่อของท่านเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง บางเรื่องที่ทาง Thai PBS ได้นำเสนอในจังหวัดพัทลุงที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนทั้งผ่านช่องทางหลักและช่องทางเฉพาะ เช่น แลต๊ะแลใต้หรือศูนย์ข่าว ภาคใต้ เป็นต้น ผมขอชื่นชมที่ทาง Thai PBS ได้มีการนำเสนอเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็น เอกลักษณ์ในจังหวัดพัทลุง เช่น พิธีกรรมโนราโรงครู คนหาปลาหวดบนเทือกเขาบรรทัด ที่บ้านโคกไทร วิถีชีวิตคนเกาะหมาก วิถีคนเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย การเลี้ยงผึ้งชันโรง บ้านคลองนุ้ย การทำผ้าสีจากใบไม้เรือนตาอ้น การท่องเที่ยวชุมชน ปลาลูกเบร่ และการนำเสนอ เรื่องต้นสาคู เป็นต้น ท่านประธานครับ การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ของ Thai PBS ได้รับ ความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าใจ วิถีชีวิต และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนได้ นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมที่ท่านได้มีการให้ข้อมูลข่าวสารและการค้นหาความจริงในจังหวัดพัทลุง เช่น กรณีการขโมยรังนก กรณีบุกรุกป่าพรุเกาะนางคำ และอีกหลาย ๆ ประเด็น การนำเสนอ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผู้คนได้รับรู้สถานการณ์บ้านเมืองและสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อีกเรื่องที่ผมขอชื่นชมคือท่านได้มีการจัดเวทีเสวนาฟังเสียงประเทศไทยที่ให้ ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้ประกอบการ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น กลุ่มขับเคลื่อนจังหวัด นักวิชาการ และนักเรียน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาเศรษฐกิจของพี่น้องในจังหวัดพัทลุง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเมืองสีเขียว ธุรกิจ Startup และงานสร้างสรรค์ และพัฒนา ให้พัทลุงเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผมเองก็ได้ไปร่วม เวทีเสวนานี้ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมอยากให้ท่านทำต่อไปครับ จากรายงาน การปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ผมมีข้อเสนอแนะและข้อสนับสนุน ผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงให้ดำเนินการต่อไปดังนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ขอให้ทาง Thai PBS ได้มีการนำเสนอเรื่องราวและวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็น เอกลักษณ์ต่อไป โดยจังหวัดพัทลุงยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น วิถีชีวิตของชาวมันนิ การทำนาริมทะเลสาบซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่บ้านปากประ วิถีชีวิตริมเขาบรรทัด วิถีชีวิตในทะเลสาบพัทลุง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีเรื่องโลมาอิรวดีทะเลสาบ พัทลุงที่เหลืออยู่เพียง ๑๔ ตัวสุดท้าย ไปจนถึงสินค้าทำมือ อาหาร ศิลปะ และวัฒนธรรม อื่น ๆ ของคนพัทลุง

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ผมขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ลดน้อยลงไป ด้านปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ อีกทั้งเรื่องที่สำคัญก็คือด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยทางธรรมชาติ เช่นปรากฏการณ์ El Nino เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหา อย่างยั่งยืนต่อไป

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็นที่เป็น ปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ข้าวของที่ราคาแพงขึ้น ปัญหา ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น เพื่อสะท้อนปัญหาให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้นำไปแก้ไขต่อไป

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ผมขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอเรื่องราว สื่อสำหรับเด็กและวัยเรียน ซึ่งปัจจุบันกำลังลดน้อยลงมากในสื่อหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมอยากให้ความสำคัญเรื่องราวสำหรับเด็กและนักเรียน ทั้งเพื่อความบันเทิง และเพื่อความรู้ และขอให้มีการนำเสนอความรู้และทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เช่น ทักษะด้านการเงิน การประกอบธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะด้านการเอาตัวรอด ทักษะด้านการจัดการอารมณ์ และที่สำคัญผมขอให้มีการให้ความรู้เด็ก ๆ และนักเรียน มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อหรือที่เรียกว่า Media Literacy เพื่อให้เด็ก ๆ นักเรียน เยาวชน สามารถตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลบนโลก Online ได้ เพราะปัจจุบันก็มี Fake News อะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Media Literacy ด้วยนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอและส่งเสริม Soft Power ของไทยผ่านช่องทาง Thai PBS World ซึ่งเป็นสื่อของทาง Thai PBS ที่เป็น ภาษาอังกฤษ การส่งเสริม Soft Power ผมอยากให้ส่งเสริมเพื่อสร้างความตระหนัก และการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยไปยังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การท่องเที่ยว ประเพณี กีฬา อาหาร เพลง และละคร เป็นต้น สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทาง Thai PBS แล้วก็ผู้ชี้แจง ทุกท่านที่ได้ปฏิบัติงานเป็นสื่อสาธารณะที่เที่ยงตรง เท่าทัน และครอบคลุมตลอดที่ผ่านมา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการดำเนินการของท่านต่อไป เพื่อให้เป็นสื่อที่เป็นที่พึ่ง เป็นสื่อที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนสังคม ต่อยอดการเรียนรู้ และเป็นที่วางใจ ของประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภคมน หนุนอนันต์ เชิญครับ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาค่ะ ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ก่อนอื่นดิฉันขอชื่นชม การดำเนินงานของ Thai PBS ที่บรรจุไว้ในรายงานเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นกลาง ในการนำเสนอข่าว ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร การช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงข้อมูล ของสื่อ คะแนนความน่าเชื่อถือของ Thai PBS ก็เป็นอันดับ ๑ เหนือกว่าสำนักข่าวอื่น รวมถึงยอดผู้ติดตามในสื่อ Online Thai PBS ก็บุกใน Platform นี้ได้อย่างดีเลยทีเดียวค่ะ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า Thai PBS เป็นสื่อที่ดีมาก ๆ แต่น่าเสียดายเพียงอย่างเดียวรายการ ดีแต่ไม่มีคนดู Rating TV Digital ข้าม Platform เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ แสดงให้เห็นว่า Rating ในทุก Platform ของ Thai PBS นั้นจัดอยู่ในลำดับที่ ๑๖ จาก ๒๐ ช่อง แต่โจทย์ ที่เราต้องคิดต่อหลังจากนี้ไปว่า Thai PBS จะเดินต่อไปอย่างไรในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แบบนี้ ท่านประธานคะ ณ วันนี้ไม่ว่าประเทศไทยจะมีอะไรหยุดนิ่งหรือถอยหลัง แต่สื่อหลัก ต้องเดินให้ทันพลวัตของสังคม ดิฉันจึงมีข้อเสนอให้กับ Thai PBS ๒ ข้อเพื่อเพิ่มบทบาท ๑. เพิ่มบทบาทจากผู้ผลิต Content การศึกษาให้เป็นผู้ผลิต Platform การเรียนรู้ให้ได้ ๒. เพิ่มบทบาทให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะ เพื่อเพิ่มเสียงสะท้อนของประชาชน ดิฉันในฐานะเด็กต่างจังหวัด เรียนมัธยมศึกษาในต่างจังหวัด การกวดวิชาแต่ละครั้งต้องเข้าไป ในเมืองใหญ่มีค่าใช้จ่ายมากมายค่ะ ปัจจุบันต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันมีหลายครอบครัวเขายินดีที่จะต้องจ่ายเงินเดือนละหลายหมื่นบาทเพื่อให้ลูกเข้าไป เรียนพิเศษ นั่งดูจอกวดวิชาที่โรงเรียนกวดวิชาทำขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก Kid for Kids โดย 101 PUB บอกกับเราว่า เด็ก ๑ ใน ๓ ต้องเรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ยากจนหรือรวย สาเหตุที่เด็กไทยต้องหันไปพึ่งพาการเรียนพิเศษเพราะอะไร เพราะการเรียน ในระบบไม่ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูไม่เปิดกว้าง ครูไม่สนใจ ความรู้ไม่ Update พอ หรือแม้กระทั่งสื่อการสอนที่ล้าสมัย นี่คือปัญหารากฐานของการศึกษาไทย ในขณะที่ การศึกษาในระบบกำลังตกต่ำลง มี Trend ใน Online ๑ เทรนด์ ที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจ มากเลยทีเดียว ถ้าสามารถเข้าไปบรรจุได้ในทีวีสาธารณะจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ และจะลด ช่องว่างการศึกษาให้กับเด็กไทยได้ค่ะ นั่นคือรายการที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ไม่ใช่ความรู้ แบบเบาสมองหรือสารคดีที่ Thai PBS ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่เป็น Hard Knowledge เลย อธิบายความรู้ยาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ย่อยออกมาให้เข้าใจ ง่าย ๆ นำเสนอผ่าน Production ที่น่าสนใจ เนื้อหาลักษณะนี้กำลังเติบโตเรื่อย ๆ และยอดรับชม แต่ละตอนหลักแสน ดิฉันใส่ใน Slide เพื่อเป็น Idea เผื่อ Thai PBS จะไปเปิดดูเพื่อนำไป พัฒนาเนื้อหาได้ต่อไปค่ะ ท่านประธานคะ เหตุผลที่ดิฉันต้องเล่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเล่า Trend รายการความรู้เพราะอะไร เพราะดิฉันมองเห็นว่า Thai PBS จะไม่ใช่แค่ ผู้ผลิต Content รายการการศึกษา แต่ Thai PBS ต้องมีศักยภาพที่จะเป็น Platform การเรียนรู้ให้ได้ โดยเอา ๒ อย่างมาเข้า ด้วยกันคือความรู้และสร้างสรรค์ ผลิตเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อลดช่องว่างการศึกษา ให้เด็ก ทุกคนเข้าถึงแหล่งความรู้ให้ได้ ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาอ้างอิงตามหลักสูตรแกนกลาง ของกระทรวงศึกษาธิการเลย ที่นักเรียนทุกคนสามารถใช้สอบ ใช้เรียนได้ หากนักเรียน คนไหนเรียนกับครูคนไหนไม่รู้เรื่อง เขาสามารถเปิดดูช่องนี้ได้ หรือแม้แต่อยากทบทวน บทเรียนก็เข้า YouTube Channel ช่องของ Thai PBS ทบทวนบทเรียนไปสอบได้เลย ท่านประธานคะ หาก Platform นี้เกิดขึ้นได้จริงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษาไทยค่ะ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีก ๑ ประเด็นที่ดิฉันอยากเห็นบทบาทของ TV สาธารณะ ดิฉันอยากเห็น TV สาธารณะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนและเป็นพื้นที่ถกเถียงประเด็นก้าวหน้าแหลมคม ในสังคม เราไม่มีทางหลีกหนีการพูดคุยประเด็นก้าวหน้าและแหลมคมได้อีกต่อไปแล้วนะคะ ประเด็นการเมือง ประเด็นสังคมต้องถูกพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น TV สาธารณะควรมี บทบาทในการบริการทั้งรับและส่งสารกับประชาชนให้ได้ ล่าสุดที่เจอกรณีที่ iLaw ได้รับแจ้ง จาก กกต. ว่าการล่ารายชื่อประชาชนในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย สสร. ไม่สามารถลงชื่อทาง Online ได้ ทำให้ ๔๐,๐๐๐ กว่ารายชื่อต้องเสียไป ดิฉันอยากเห็น บทบาทของ Thai PBS ในการนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน เปิดพื้นที่ให้ ภาคประชาชนเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม ให้ประชาชนได้ร่วมกันมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ประเทศให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกรังแกจากผู้มีอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ในอดีต Thai PBS เคยมีรายการที่ชื่อว่าทีวีจอเหนือที่นำเสนอประเด็นร้อนในสังคม ประเด็น ที่เป็นปัญหาท้องถิ่นและชุมชนที่กำลังเผชิญอยู่ การต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ การได้รับ ผลกระทบจากระบบทุนนิยมหรือนโยบายของรัฐ ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในท้องถิ่น ซึ่งหาก Thai PBS นำรายการนี้กลับมาได้ และเพิ่มความกล้าหาญทางการเมือง ทำให้บทบาท TV สาธารณะชัดขึ้น เปิดพื้นที่ถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ เปิดพื้นที่ให้ขับเคลื่อน ข้อเสนอการสื่อสารร่างกฎหมายของประชาชน ประชาชนต้องมีโอกาสในการตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลบนเวทีสาธารณะโดย TV สาธารณะให้ได้ เพื่อความสมดุลของโครงสร้าง อำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐ โดยเสียงของประชาชนต้องปรากฏผ่านสิทธิการสื่อสาร นำไปสู่ การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ให้ได้ ท่านประธานคะ ดิฉันอยากสื่อสารผ่านตัวแทน ของ Thai PBS วันนี้ ท่านไม่ต้องห่วงเลยว่ารายการแบบนี้ Rating จะไม่ดี ท่านสังเกตจาก การออกมาเลือกตั้งของประชาชนรอบนี้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม มากขึ้นแล้ว ขอให้ท่านสบายใจได้รายการแบบนี้พี่น้องประชาชนสนับสนุนแน่ ๆ ค่ะ ทั้งหมดนี้ดิฉันเชื่อว่า Thai PBS มีศักยภาพมากพอที่สามารถทำได้ และหากเรามี TV สาธารณะ ที่เป็นที่พึ่งกับประชาชนได้ เราหวังว่าจะมีประเทศที่เป็นของเราบ้าง วันนี้ประชาชน จำเป็นต้องมีโทรโข่งเพื่อส่งเสียงให้ดังที่สุด เพื่อให้รัฐบาลได้ยินและรับฟัง เพื่อป้องกัน การลักลั่นและหักหลังประชาชน ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พวกทหารยึดอำนาจ จากประชาชน ตั้งพวกพ้องตัวเอง มีรัฐบาลขิงแก่ แล้วก็ตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาที่ไม่ยึดโยงกับ ประชาชน ตอนนั้นก็มีการปิด itv แล้วก็ปั๊มกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอย่างเร่งด่วน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เอาภาษีสุรา ยาสูบมา ๒,๐๐๐ ล้านบาท ตามมาตรา ๑๒ ที่มาผมค่อนข้างรังเกียจพอสมควร แต่ว่าการทำหน้าที่ ที่ผ่านมาผมยอมรับนับถือในการปรับตัวขององค์กรแห่งนี้ ท่ามกลางการขาดทุน ของอุตสาหกรรมสื่อในช่วงยุค TV Digital แต่ว่า Thai PBS เอาตัวรอดได้ด้วยการสนับสนุน จากเงินภาษีบาป ในรายการกล่องรางวัลเต็มไปหมด แต่อย่าถามหาคนดู เพราะหาก มาคำนวณแล้วอาจจะไม่คุ้มค่า แต่นี่ก็คือเงินมหาศาลที่ถูกใช้ไปท่ามกลางความท้าทาย อย่ามาโกรธเรื่องของความคุ้มค่ากันนะครับ มองคนละเลนส์ วันนี้ผมเอาเลนส์ของความเป็น ผู้แทนมาสะท้อนไปยังท่านเจิมศักดิ์กรรมการนโยบาย ซึ่งเป็นความท้าทาย ก็ยังมีเรื่องของการเกิดสื่อใหม่ เรื่องของ Fake News และความมั่นคงทางรายได้ช่วงวัยของ ผู้ชมด้วยนะครับ สื่อสาธารณะของทุกคนทุกวัยเพราะรูปแบบของสื่อ Digital ทุก Platform ผมชวนท่านมาดู ถามตามมาตรา ๘ (๓) ว่าท่านได้ให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ และสร้างสรรค์รายการของผู้ผลิตรายการใหม่ ๆ แบบนี้อยากให้ท่านลองคำนวณสัดส่วน การใช้เงินงบประมาณของท่าน เพราะจะยึดสรณะว่าท่านเป็นสื่อสาธารณะศูนย์กลาง อย่างเดียวไม่ได้ วันนี้อยากให้ท่านสนับสนุนสื่อท้องถิ่นหรือศูนย์สาขาของท่านให้บริหาร จัดการได้อย่างอิสระและมีความใกล้ชิดกับประชาชน ผมชวนท่านดู Slide อันนี้ผลสำรวจ ในการเข้าถึงสื่อสาธารณะพบว่าครึ่งหนึ่งกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาไม่ติดตามสื่อ Thai PBS และมีพนักงานบริษัทราว ๑ ใน ๓ ที่ไม่ติดตาม Thai PBS เหมือนกัน และในกลุ่ม พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงกลุ่มรับจ้างก็ไม่รู้จัก Thai PBS ดังนั้นสื่อสาธารณะวันนี้ ผมตั้งคำถามว่าเป็นของทุกช่วงวัยจริงหรือเปล่า นี่ผมยังไม่ได้ Check ความรอบด้านของ เนื้อหานะครับ นอกจากนี้ผมยังพบว่าการให้บริการสื่อกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการได้ยิน ซึ่งอาศัยการรับรู้ผ่านภาษามือมีปริมาณลดลงร้อยละ ๒๗ หรือว่า ๑ ใน ๓ ผมอยากเห็น ในทุกรายการของ Thai PBS มีล่ามภาษามือ และขอฝากท่านประธานให้ช่วยดูแล ล่ามภาษามือและรายการต่าง ๆ ของ TV รัฐสภาด้วย

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กลับมาที่ ส.ส.ท. นะครับ ผมเข้าใจว่าท่านจะมีบริการล่ามภาษามือ ที่กำหนดไว้สูงกว่าที่ กสทช. เขากำหนดหลักเกณฑ์ไว้ แต่ว่าท่านอาจจะต้องทบทวน มาตรการว่าเอาความทั่วถึง แล้วก็รายการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ในรายงานฉบับนี้ที่ท่าน เสนอต่อสภาผมไม่แน่ใจว่ามีผลการดำเนินงานของศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมหรือเปล่า คุณณาตยา แวววีรคุปต์ อุตส่าห์ไปทำ The Active ผมคิดว่าเนื้อหาน่ารับชม รูปแบบ รูปลักษณ์ทันสมัย มี Podcast น่ารับชม แล้วก็ขอชื่นชมช่อง ๔ ALTV ก็ดีมาก ผมคิดว่า มาถูกทาง แต่ว่าถ้าเราไปดูสื่อต่าง ๆ ของเอกชนเขาจดทะเบียนอยู่ที่ ๓๐ ล้านบาท ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจสำนักข่าวผลิต Content Online เขายังมีกำไรเลย ดังนั้น ๒,๐๐๐ ล้านบาท ท่านต้องทำได้ดีกว่าเอกชนแน่นอน ผมเสนอแนะว่าท่านลองไปฟังรายการอย่างที่เพื่อนสมาชิก ได้ให้ดู ใด ๆ ในโลกล้วนฟิสิกส์เป็นเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่เอามาย่อย ผมอยากเห็นจาก The Active ทำ Style แบบนี้บ้าง หรือ Thai PBS ทำรายการแบบนี้บ้างนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมชวนท่านมาดูว่างบประมาณปี ๒๕๖๖ แผนงบประมาณ ๒,๖๘๒ ล้านบาท ตั้งรายจ่ายเอาไว้ ๒,๘๔๐ ล้านบาท อีก ๑๕๘ ล้านบาทท่านจะทำอย่างไร เพราะท่านทำ ติดลบมาอย่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ติดลบแบบนี้ไม่ได้นะครับ ผมฝาก ท่านประธานดูอีกอันหนึ่งครับ ตาม Slide ที่ขึ้นอยู่ตอนนี้มาตรา ๕๑ เขาบอกว่าให้ทบทวน ที่มาของรายได้และสัดส่วนเงินบำรุงองค์กรให้เหมาะสมกับความจำเป็นของภารกิจ ผมไม่แน่ใจว่าจะรื้อใหม่ทั้งฉบับหรือทบทวนดีหรือเปล่า มันติดตรงไหนครับ มันติดขัดตรงที่ รายการดีแต่ไม่มีคนดู เหมือนเทน้ำลงกองทราย ท่ามกลางความข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ผมดูจากงบการเงินของท่าน ผมคิดว่าต้องหาเงินเพิ่ม ต้องอยู่ให้เป็น รายได้จากรายการ TV Digital ก็ดี หรือว่าจากทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ ก็ดีนะครับ ผมชวนมาดูที่ BBC หรือว่า Thai PBS เขาก็มีแหล่งรายได้ที่ยึดโยงกับประชาชนจากค่าธรรมเนียมการรับชมหรือการโฆษณา เฉพาะผ่าน Website Online หรือ Platform ต่าง ๆ มาผสมผสานกัน โดยยังสามารถ คงเป้าหมายทิศทางขององค์กรและยังคงอยู่ได้

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกอย่างหนึ่งฝากท่านประธานครับก็คือเรื่องของสวัสดิการ สวัสดิภาพ ของพนักงาน Thai PBS ผมทราบมาว่าบรรดาผู้ประกาศหรือว่าบรรดาคนที่ทำงาน อาจจะไม่สามารถไปรับงานที่อื่นได้ อาจจะติดขัดเรื่องค่าตอบแทน ไม่รู้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ หรือเปล่า แต่แบบนี้ครับท่านประธาน ผมชวนสื่อมวลชนทั้งประเทศช่วยดูอัตราเงินเดือน ของสื่อสาธารณะ นี่คือองค์กรในฝัน ผมอยากให้มาตรฐานแบบนี้เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนอื่น ๆ บ้าง ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีอยู่หน้าจอเป็นดารา เป็นผู้ประกาศที่จะได้เงินเยอะอย่างเดียว ผมคิดถึงชีวิต ของช่างภาพ ช่างไฟ ช่างหน้า ช่างผม เครื่องแต่งกายด้วย ก็ฝากดูสวัสดิการของพี่น้อง ในองค์กรให้ทั่วถึงนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายที่ผมอยากจะฝากนะครับ ที่บอกว่าอยากจะแก้พระราชบัญญัติฉบับนี้ มาดูกันแบบนี้ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า เสียดายมากท่านประธานกรรมการนโยบาย ท่านเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านต่อต้านเรื่องของสภาผัวเมียมาโดยตลอด วิจารณ์นักการเมือง นักหนาผมเรียกร้อง Spirit ของท่าน อยากรู้ท่านคิดอย่างไรกับมาตรา ๑๘ หนึ่งในการสรรหา คือผู้จัดการ สสส. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเลือกท่านมา แล้วท่านก็ไปเลือก ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ที่ท่านเป็นครอบครัวเดียวกันกับผู้จัดการกองทุน สสส. แบบนี้ เป็นกรรมการผัว กรรมการเมียหรือเปล่า ชัด ๆ นะครับ คนผัวเลือกท่านมาเป็น Board นโยบาย ท่านก็ไปเลือกกรรมการมาเป็นผู้อำนวยการต่อ ๒ สมัยเงินเดือนปีละ ๔ ล้านบาท แบบนี้ผมอยากจะถามเหมือนกันว่าท่านทำได้อย่างไร แต่ผมไม่ได้มีปัญหาส่วนตัว ขอเวลา อีกสักครู่ครับท่านประธานไม่ยาวเกิน ท่านรองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านกล่าวว่ากรรมการนโยบายได้แต่งตั้งกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับสูงจำนวน ๙ คน มีคุณสมบัติอะไรต่าง ๆ มีฉันทามติ ใช้คำว่าฉันทามติเลยนะครับ ผมไม่ได้มีอคติหรือไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับท่านผู้อำนวยการปัจจุบันมาก่อน แต่ผม กำลังพูดถึงหลักการว่าการทำงานต่าง ๆ แบบนี้ การเลือกสรรหาแบบนี้ยังสมควรมีอยู่ หรือไม่ เพื่อเชิญชวนให้มาดูว่าถึงเวลาที่จะต้องทบทวนเรื่องการคัดเลือกต่าง ๆ แบบนี้ หรือเปล่า ผมชวนทวนอีกท่านหนึ่งมาดูนะครับ ข้อครหาเงินเดือนผมไม่ติดใจหรอก แต่ว่าเรื่องของรางวัลโบนัสประจำปีไม่เป็นตามระเบียบ ชวนดูหนังสือลับของ สตง. ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ แจ้ง ผอ. ส.ส.ท. โดยให้ตรวจสอบงบการเงินปี ๒๕๖๑ ท่านไหนเป็น ผอ. ส.ส.ท. ช่วงนั้นพบว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและระเบียบองค์การ ฉบับที่ ๖ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลประจำปี ก่อให้เกิดความเสียหายให้ชดใช้ ๑๕.๓๗ ล้านบาท ขอให้ท่านเร่งตรวจสอบ อยากถาม ความคืบหน้าของเรื่องนี้เป็นอย่างไรครับ ไม่เห็นมีอยู่ในรายงาน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ท่านกรรมการนโยบาย ท่านผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้วยความเคารพ ผมชื่นชมติดตาม โดยเฉพาะท่านเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เวลาท่านให้สัมภาษณ์รายการต่าง ๆ ความคิดเห็นใช้ได้เลยทีเดียวครับ ผมอยากวัดใจท่านว่าต่อไปนี้ถ้าประเทศนี้เกิดรัฐประหารขึ้น อีกครั้งหนึ่ง ท่านจะนำสื่อสาธารณะออกมาปกป้องเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลพลเรือน กล้าชนกับรัฐประหาร ผมเห็นศูนย์ต้านภัยพิบัติของ Thai PBS แล้วผมอยากเสนอครับ อยากให้ท่านตั้งศูนย์ต่อต้านรัฐประหารด้วยตัวท่านเอง ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านณพล เชยคำแหง ครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ณพล เชยคำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ได้รับหน้าที่มาอภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงานและการทำงานขององค์การกระจายเสียง และภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

ซึ่งมีรูปเล่มรายงานที่สวยงาม แล้วก็ สะดุดใจกับคำขวัญในหน้าปกที่ว่า สื่อสาธารณะคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน ผมขอเท้าความ นิดหนึ่ง Thai PBS เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ยึดสัมปทาน คืนจากสถานีไอทีวี แล้วก็ในยุคนั้นรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้นำช่องสัญญาณ ดังกล่าวนี้มาจัดตั้งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินงาน ชั่วคราวก่อนที่จะมีการจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS เข้ามาบริหารงานในยุคนั้น ซึ่งถึงวันนี้สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ก็เริ่ม ออกอากาศอย่างเป็นทางการมาแล้ว นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึงวันนี้ ก็อายุ ๑๕ ปีแล้วครับ ตามพระราชบัญญัติขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย ตามมาตรา ๑๑ ได้กำหนดแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะใช้ในการบริหารงานของ Thai PBS ไว้ดังต่อไปนี้ เดี๋ยวผมอ่านนะครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๑. รายได้จากเงินบำรุงองค์การที่จัดเก็บตามมาตรา ๑๒ ๗๕ เปอร์เซ็นต์

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๒. ได้รับจากเงินและทรัพย์สินที่รับโอนตามมาตรา ๕๗ และตามกฎหมายอื่น ในที่นี้ก็หมายถึงเงินและทรัพย์สินตามมาตรา ๕๗ ก็คือเงินของสถานีโทรทัศน์ itv เดิม

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๓. เป็นทุนประเดิมที่รัฐจ่ายให้เป็นการอุดหนุนตามมาตรา ๖๐ อันนี้จะมี วงเงินสูงสุดไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๔. ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ใดในการให้บริการ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๕. เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่รับจากผู้สนับสนุนองค์การ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๖. รายได้หรือการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การ ดอกผล ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

๗. สำหรับการรับเงินตามข้อ ๕ ก็มีระบุไว้ว่าต้องไม่ทำให้องค์การ ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน หรือให้การกระทำอันขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ ขององค์การตามข้อ ๒ และข้อ ๓ นั่นก็หมายถึงว่าการจะพัฒนาศักยภาพให้องค์การ สร้างสรรค์ในการผลิตรายการที่อิสระตามนโยบายของคณะกรรมการต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของรายได้ดังกล่าว อันนี้ก็มุ่งเน้นที่ว่าไม่ต้องให้มีใครมาสั่งการได้ในการนำเสนอข่าวนะครับ

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

จากกราฟใน Slide ก็จะเห็นว่ามีงบรายได้ที่ในรายงานระบุว่าปีหนึ่ง ประมาณ ๒,๖๘๒ ล้านบาท ขณะเดียวกันมีงบประมาณรายจ่ายภาพขวา ๒,๘๔๐ ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย รายละเอียดมีในรายงานแล้ว ลองดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตรงนี้ แต่ผมสะท้อนให้เห็นนิดหนึ่งว่านี่คือองค์การที่เป็นสื่อสาธารณะเน้นประโยชน์ให้กับ ประชาชน คำนึงถึงประชาชนอย่างแท้จริง เน้นผลลัพธ์ให้เกิดกับประชาชนหลากหลายกลุ่ม อย่างที่ท่านได้กล่าวมาสักครู่ตอนต้นแล้วนะครับ แต่ก็ให้คำนึงนิดหนึ่งว่าในการผลิตสื่อ ที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลที่ดี ไม่ควรจะขาดทุน ควรจะมีกำไร แต่ตรงนี้ตั้งเป็นประเด็น ไว้นิดหนึ่งว่าอาจจะมีเรื่องของรายจ่ายอย่างอื่นที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผมต้องขอขอบคุณ ทาง Thai PBS ที่เปิดช่องให้เรื่องของศูนย์เพื่อน Thai PBS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เปิดให้รับฟัง ความคิดเห็น แล้วก็ร่วมกันตรวจสอบพฤติกรรมในการผลิตและดำเนินรายการต่าง ๆ ของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ของ Thai PBS ไปพร้อม ๆ กับท่านผู้ชมและผู้ฟัง ในการออกอากาศ ก็พร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ

และสุดท้ายครับ เท่าที่ฟังมาทั้งหมดก็อยากจะชื่นชมคณะทำงาน คณะบริหารของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ผมขอให้กำลังใจ แล้วก็ขอบคุณในการนำเสนอ รายงานข่าวสาร สาระบันเทิง รายการเพื่อเด็กและเยาวชน รายการความรู้ที่บริหาร ด้วยความเป็นไทย มีความสมดุล ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ มุ่งดำเนินการโดยปราศจากอคติ ทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เหมือนกับวิสัยทัศน์และนโยบายของท่านที่ว่า มุ่งมั่นเป็นสถาบันสื่อสาธารณะที่สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม มีเรื่องนิดหนึ่ง ที่จะฝากแนะนำแล้วก็ฝากถึงหน่วยงานก็คือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทยหรือ Thai PBS ผมอยากขอความกรุณาให้หน่วยงานหรือสถานีของท่าน ช่วยจัดรายการในลักษณะของพหุวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ความหมายก็คือว่ารายการ เหล่านี้ตอนนี้ในวิถีชุมชน วิถีชีวิตของบ้านเราทุกภาคเลยมีเรื่องน่าสนใจอยู่เยอะมาก แต่รายการนี้เท่าที่เห็นยังมีน้อยอยู่ อยากให้มีการนำเสนอให้มาก มีผู้สื่อข่าวเชิงวัฒนธรรม ที่เข้าไปถึงวิถีชีวิต มันมีมิติที่ล้ำลึกในแต่ละพื้นที่อย่างมาก ๆ นะครับ ผมว่าตรงนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและประโยชน์กับพื้นที่แต่ละภาคตรงนั้นด้วย ก็ขอนำเสนอ แล้วก็ฝากในเรื่องดังกล่าวตรงนี้ เพื่อให้กำลังใจต่อการพัฒนาหน่วยงานของท่าน แล้วก็ หวังว่าจะต้องเป็นสื่อที่ดี เป็นสื่อที่ตอบสนองต่อนโยบายวัตถุประสงค์ที่จะเป็นสื่อสาธารณะ ที่จะทำคุณประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ก็ขอให้กำลังใจนะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสิริลภัส กองตระการ เชิญครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก กทม. บางกะปิ วังทองหลาง เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปราย ผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมเลยค่ะว่า Thai PBS เป็นสื่อที่วางตัวเป็นกลาง เป็นสื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชน แล้วก็มีการผลิต เนื้อหาที่สร้างสรรค์แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถือว่า Thai PBS เป็นสื่อที่มีการพัฒนา แล้วก็ปรับตัวให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ จากรายงานผลการปฏิบัติงานในเล่มนี้ค่อนข้าง ครบถ้วนในทุกแง่มุมเลยค่ะ แล้วผลก็ชี้ให้เห็นได้ว่า Thai PBS ได้รับการยอมรับจาก ประชาชนในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ แล้วก็ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนมาก เช่นเดียวกันนะคะ ตรงนี้มีในรายงานเรื่องของการรับฟังความเห็นจากสภาผู้ชมและผู้ฟัง รายการที่มีข้อเสนอแนะเชิงเนื้อหา วันนี้ดิฉันก็เลยอยากจะมาอภิปรายเพื่อเพิ่มเติม ข้อเสนอแนะไปเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาเรื่องของประเด็นสุขภาพจิต ดิฉันได้เห็นรายการ บ้านพลังใจ ขออนุญาตขึ้น Slide ด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ที่ท่านได้บอก Concept ของรายการว่าเพราะบ้านเป็นพลังของใจเรียนรู้ความรู้สึกซึ่งกันและกัน พร้อมรับฟัง คำแนะนำจากนักจิตวิทยาที่จะช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา เสนอทางเลือกและทางออกให้กับ ทุกครอบครัว อันนี้ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดีมาก ๆ เลยนะคะ แล้วก็ดิฉันหวังว่าในแผน การจัดทำรายงานประจำปี ๒๕๖๖ เรื่องทิศทางด้านเนื้อหาและช่องทางการสื่อสารที่จะเน้น ข่าวสารและสาระที่ทันสถานการณ์ เน้นการเรียนรู้ แล้วก็สารประโยชน์ สาระบันเทิง เน้นการสื่อสารให้กับคนหลากหลายกลุ่ม ตรงนี้ก็อยากจะชวนกันมาระดมความคิดเห็นว่า ถ้าเราเพิ่มเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้อยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ตอนนี้แนวโน้มคนที่เป็นผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด หรือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๔ สัดส่วนของผู้ป่วยทางโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่า จาก ๑.๓ ล้านคน เป็น ๒.๓ ล้านคน อันนี้ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจว่าสังคมเราควรจะหันกลับมามองเรื่องของปัญหา สุขภาพจิตได้แล้วหรือยัง จากศักยภาพการผลิตละครหรือว่า Series ที่ Thai PBS ได้ทำมานี้ ซึ่งก็ได้รับรางวัลมาด้วยนะคะ ดิฉันก็อยากจะฝากในการที่จะให้สื่อที่มีศักยภาพแบบนี้ได้ผลิต ละครหรือ Series ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตให้ประชาชนได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ยกตัวอย่างอันนี้เรื่องของ Spin Out จะเป็นเรื่องที่ตัวเอกเป็นนัก Ice Skate ที่ตัวมีโรค Bipolar หรือว่าโลกอารมณ์ ๒ ขั้ว ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะเป็นการเล่าอาการของคนที่เป็น Bipolar ได้ชัดเจน ครบถ้วนมาก ๆ หรือว่าเรื่องต่อไป Ted Lasso อันนี้ก็จะเป็น Series ที่พยายามเสนอแง่มุม ของการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป การสร้างพลังบวกให้กับตัวเองจนรู้สึกอึดอัด แล้วก็จะ พยายามทำให้มนุษย์แสดงออกแบบมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งดิฉันก็เชื่อว่า Series เรื่องนี้ก็จะทำให้ มนุษย์กลับมาทบทวนว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถมีอารมณ์โกรธ หดหู่ เศร้าเสียใจ และสามารถแสดงออกได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนะคะ เมื่อปี ๒๕๖๔ มีบทวิจารณ์จาก คุณคาลิล พิศสุวรรณ อันนี้ได้ทำการวิจารณ์ Series เรื่องนี้ไว้น่าสนใจมากเลย ขออนุญาต Quote คำพูดท่านมาเลย โดยเฉพาะในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งต้อง จ้องตากับความโหดร้ายเลวทรามของรัฐบาลไม่เว้นวันด้วยแล้ว ไม่ปฏิเสธหรอกว่าชีวิตเรา ก็อยากจะมองโลกในแง่ดีบ้าง แต่หากจะให้ฝืนมองโลกในแง่ดีท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมือง ที่เลวร้ายแบบนี้ สู้ยอมเดินออกจากทุ่งลาเวนเดอร์มาเพื่อปลดปล่อยความโกรธแค้นท่ามกลางเปลวไฟดีกว่า อย่างน้อยก็ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อันนี้ดีมากเลยนะคะ หรือเรื่องต่อไป It’s Okay to Not Be Okay ก็จะเป็นการนำเสนอความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ในแง่ของการโอบรับในสิ่งที่ ตัวเองเป็นทั้งในตัวเองและในเพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็จะทำให้ผู้ชมได้ย้อนกลับไปว่าบาดแผล ที่มันเคยเกิดขึ้นทั้งดีและร้ายมันหล่อหลอมให้คนเติบโตมาเป็นอย่างไร หรือว่าจะเป็นรายการ ที่เป็นแบบ Interactive ที่สามารถลงใน Platform ต่าง ๆ ได้ ถัดไปจะเป็นการหาวิธี ผ่อนคลายให้เหมาะสมกับตัวบุคคล ก็ถือว่าอันนี้สามารถ ไปปรับใช้กับ Platform ที่ไม่ใช่ TV สาธารณะก็ได้ อาจจะเป็นสื่อ Online ต่าง ๆ ก็ได้ ตรงนี้ดิฉันก็อยากจะฝากไปถึงผู้บริหาร แล้วก็ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านนะคะ เรื่องของการตระหนักรู้ ประเด็นเรื่องของสุขภาพจิต เพราะดิฉันเห็นว่า Thai PBS ก็เป็นสื่อสาธารณะที่จะสามารถผลิตละครหรือว่า Series ที่มีเนื้อหาดังกล่าวได้ เพื่อที่จะเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ แล้วก็ช่วยกันทำให้สังคมหันมาสนใจ เรื่องของสุขภาพใจกันมากขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการทำให้ Thai PBS เป็นสื่อที่ต่อยอด การเรียนรู้ สร้างความแตกต่างจากจุดแข็งที่ท่านมีอยู่แล้วให้แข็งแรงมากขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือที่เรียกย่อว่า ส.ส.ท. หรือ Thai PBS ผมมี ความเห็นอย่างนี้ครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ในมาตรา ๑๒ ก็ระบุถึงรายได้หลัก ของทาง Thai PBS ว่าจะมาจาก ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ของภาษีสุราและบุหรี่ แต่ไม่ให้เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถที่จะทบทวน ทุก ๆ ๓ ปี และปัจจุบันนี้เงินบำรุงองค์การก็เป็นเงินประมาณ ๒,๐๙๐ ล้านบาท

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน พระราชบัญญัติ ฉบับนี้มีเจตนาดีว่าอยากให้ผังรายการและการจัดทำรายการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ประชาชนอย่างแท้จริง จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและคำเสนอแนะจากประชาชน อย่างทั่วถึงนะครับ โดยได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๔๕ ว่าให้ประธานคณะกรรมการนโยบาย เป็นผู้แต่งตั้งสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการโดยให้มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๐ คน ซึ่งก็ได้มีการตั้งขึ้น โดยการแบ่งเป็น ๕ ภาค ภาคละ ๑๐ คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มี ๑๐ คน ภาคใต้ ก็มี ๑๐ คน ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นปัญหาในเรื่องนี้ก็คือว่าการแบ่งภาคละ ๑๐ คนนั้น อาจจะไม่เป็นตัวแทนของประชากรที่แท้จริง เพราะว่าทางภาคอีสานมีประชากรประมาณ ๑ ใน ๓ ของประเทศไทย แต่ก็มีตัวแทนเพียงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือ ๑ ใน ๕ เพราะฉะนั้นในแง่ของการเป็นตัวแทนประชากรก็อาจจะไม่ดีเท่าที่ควรครับ แล้วการรับฟัง ความเห็นจากเฉพาะสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการก็อาจจะไม่ได้รับฟังคำแนะนำและข้อเสนอแนะ ที่ทั่วถึงจากประชาชนอย่างแท้จริง ผมก็อ่านเจอในรายงานของ Thai PBS ฉบับนี้ในหน้า ๑๑๘ ก็ระบุว่าทาง Thai PBS อยากรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างทั่วถึง ถ้าหากว่าโครงสร้างของสภาผู้ชมและผู้ฟังเป็นลักษณะอย่างนี้ และไม่มีการเสริม การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรงด้วย เจตนารมณ์ที่จะรับฟังคำแนะนำ และความเห็นจากประชาชนก็อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับรายงานปี ๒๕๖๕ ผมพยายามตรวจสอบอย่าง ละเอียดก็ไม่พบว่ามีหมายเหตุประกอบงบการเงินแต่อย่างใด ซึ่งจริง ๆ แล้วการส่งรายงาน งบการเงินจะต้องมีหมายเหตุงบการเงินประกอบมาด้วย ถ้าหากไม่มี เวลาที่เราจะอภิปราย ก็จะขาดข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญครับ แต่อย่างไรก็ดีผมมีโอกาสได้ตรวจค้นไปจนถึงปี ๒๕๖๒ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ก็พอเห็นภาพรวมว่างบการเงินของทาง Thai PBS เป็นอย่างไร ผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่าง ๒-๓ ประเด็นนะครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในปี ๒๕๖๒ Thai PBS ยังมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ ๔๐๐ กว่าล้านบาท แต่ว่าหลังจากปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาก็มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย มาโดยตลอด ๑๐๐ กว่าล้านบาทบ้าง จนถึงปีล่าสุดปี ๒๕๖๕ ก็มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ถึง ๒๕๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นครับ เหตุผลเพราะว่า เรามีเงินบำรุงองค์การเพิ่มขึ้นจนเป็นถึง ๒,๐๙๐ ล้านบาทแล้ว และยังมีรายได้ส่วนอื่นด้วย ทำให้ทาง Thai PBS มีรายได้ที่น่าจะเพียงพอ ไม่น่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รายได้ ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่าขาดทุนนะครับ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่การขาดทุน เนื่องจาก Thai PBS ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไรนะครับ ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์รายได้ต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายติดต่อกันหลายปี ก็เป็นสิ่งที่มีความกังวลเป็นอย่างมากนะครับ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากงบการเงินที่ส่งมาไม่มีหมายเหตุประกอบงบการเงินที่สมบูรณ์ ก็อาจจะไม่สามารถ ที่ดูในรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน ผมก็ขออนุญาตให้ความเห็นบางส่วนนะครับว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปัญหาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะ ค่าใช้รายจ่ายในการจัดทำรายการ จากปี ๒๕๖๒ อยู่ที่ประมาณ ๗๐๐ กว่าล้านบาท เป็นปี ๒๕๖๕ ก็ ๑,๑๖๐ กว่าล้านบาท มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทุกปี โดยมีข้อสังเกตว่า มีการจ้างผู้จัดทำรายการด้านนอกเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของ Thai PBS เพิ่มขึ้นครับ ซึ่งผมก็เชื่อว่าทาง Thai PBS มีเจตนาดีก็เลยพยายามจัดหาผู้ผลิต รายการด้านนอกเข้ามาเพิ่มเพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีผมมีความกังวลนะครับว่า การบริหารองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐให้รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ควร หลีกเลี่ยงครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทางท่านรองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย และท่านดอกเตอร์วิลาสินี พิพิธกุล ซึ่งเป็น ผอ. ส.ส.ท. แล้วก็เป็นประธานกรรมการบริหารด้วยว่าท่านมีเจตนาดีนะครับ แต่ก็ฝากความกังวลไปด้วย ก็แล้วกันนะครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เชิญครับ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ธัญขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานของ Thai PBS องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยของปี ๒๕๖๕ หัวใจสำคัญการรักษาความเชื่อถือของ Thai PBS ไม่ว่าจะเป็นหลักการคือความถูกต้อง กระบวนการการนำเสนอข่าวที่ปราศจากอคติ การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และที่สำคัญต้องมีความกล้าหาญที่จะเสนอประเด็น ทุจริต การที่ท่านรักษาความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ธัญชื่นชมแล้วก็ ยินดีด้วยที่ท่านได้ Top1 ของการนำเสนอข่าวอย่างที่นำเสนอในรายงานนี้ แต่ธัญอยากจะบอกว่าหลักการสำคัญของการนำเสนอความเป็นกลางนั้นคือปรัชญาสำคัญค่ะ เราทุกคนในประเทศต่างโหยหาและต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา ในฐานะที่ท่านเป็นสื่อความสำคัญ ของทุกเสียงในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ท่านต้องขีดเส้นใต้ การตั้งคำถามใหม่ ๆ และความกล้าหาญ จะต้องเกิดขึ้นเสมอในการทำงานของ Thai PBS ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เราจะมี Content และการนำเสนอข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุม และการเสียชีวิตของคนที่สูญเสีย ปี ๒๕๕๓ หรือไม่ เราต้องแลกกับอะไรบ้าง เพื่อนำเสนอความจริง เพื่อให้ความเป็นกลาง และการเห็นอย่างรอบด้านเกิดขึ้นในสังคมค่ะ เมื่อเวลาผ่านไปท่านจะรู้ว่าความเป็นกลางนั้น ไม่ง่าย เพราะว่าท่านก็อยู่ในอำนาจ ท่านก็มีเงินเดือน แต่ตราบใดที่ประเทศของเรายังไม่ก้าว สู่สันติภาพเราก็ยังคงวนเวียนกับความเป็นกลางว่าอะไรคือความเป็นกลางในสังคมที่มืดมน ธัญได้อ่านรายงานของ Thai PBS ธัญชื่นชมท่านมาก ๆ ด้วยความจริงใจว่าท่านได้ผลิตละคร ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เช่นเรื่องเจ้าพระยาสู่อิรวดี คือผู้สร้างต้องการเปลี่ยนแปลงอคติ ที่เรามีกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามีคำเหยียดต่าง ๆ มากมายที่เรามองเพื่อนบ้านเป็นศัตรู หรือมองคนที่เป็นคนไม่เท่ากัน ละครเรื่องนี้ก็นำเสนอแล้วก็แก้ไขปัญหาดังกล่าวค่ะ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นบทละครที่อยู่ในเรื่องของจดหมาย ที่ไม่ถูกเปิด หรือประเด็นชีวิตประจำวันของเราเรื่องการจัดการเงินและหนี้ให้กับคนทุกเพศ ใน Sitcom มันนี่ที่รักเป็นต้น ธัญขอชื่นชมที่ท่านได้เปิดโอกาสให้กับผู้สร้างที่เป็นอิสระ ได้เข้ามาร่วมงาน แต่ธัญอยากจะฝากถามประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าของและส่วนแบ่ง นอกจากค่าจ้างผู้กำกับและนักแสดงต่าง ๆ เมื่อการถ่ายทำนั้นเกิดขึ้นแล้ว เช่น ลิขสิทธิ์ ของงานชิ้นนั้นเป็นของใครบ้าง ผู้กำกับ นักแสดง ได้รับส่วนแบ่งใด ๆ หรือไม่หากมีการไป นำเสนอหรือเผยแพร่ซ้ำในช่องทางที่ต่างกัน ปัญหาของวงการบันเทิงไทยดารานักแสดง ของเราที่มีความสามารถเมื่อเติบโตขึ้นมา เมื่อเขามีอายุมากขึ้นเขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ เพราะการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทเอกชนหรือทุนผูกขาด เขาต้องยอมเซ็นมอบสัญญา มอบอัตลักษณ์การแสดงของเขา มอบฝีไม้ลายมือของเขา มอบงานเขียนของเขาให้กับบริษัท ที่เป็นทุนนิยม และเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลยหลังจากที่งานนั้นเสร็จสิ้นลงไป แม้จะมีการเผยแพร่ซ้ำมากเท่าไรก็ตาม ประเทศไทยบอกว่าเรามีกฎหมายที่ฟ้องร้อง สัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่สัญญาอัตลักษณ์นักแสดงและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยนั้น ยังไม่เป็นธรรม ธัญจึงฝากเรื่องนี้ให้ท่านผู้บริหารไปพิจารณาจัดการเสวนา และรวบรวม คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และเกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออก และธัญยินดีมาก พรรคก้าวไกล เรามีนักแสดง เรามีคนที่ทำงานวงการบันเทิงที่อยากจะไปร่วมงานเสวนาและร่วมให้ ความคิดเห็นดังกล่าว ธัญเชื่อว่าการให้ความสำคัญและความเป็นธรรมกับความคิดสร้างสรรค์นั้น สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเริ่มเข้าใจจริง ๆ ในสังคมไทยนี่จะเป็นจุดที่คืนกลับไปสู่รายการดี ๆ ที่ท่านทำ และนั่นคือคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ต่อมาอีกนิดหนึ่งนะคะ ในรายงานชิ้นนี้ได้มีงบการเงิน ซึ่งธัญก็ได้ดูงบการเงิน ดังกล่าวนะคะ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ สินทรัพย์หมุนเวียนปี ๒๕๖๔ มีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด ๘๐๐ ล้านบาทโดยประมาณนะคะ แต่การแสดงรายการดังกล่าว ปี ๒๕๖๕ เงินสดและรายการเทียบเท่ามีเพียง ๒๘๐ กว่าล้านบาท ธัญจึงอยากจะถามว่า เงินดังกล่าวนี้มีส่วนต่างถึง ๔๐๐ กว่าล้านบาท และไม่มีรายงานใด ๆ ว่าท่านนำเงิน ๔๐๐ กว่าล้านบาทนี้ไปลงทุนหรือทำอะไร อยากจะสอบถามที่มาที่ไป เมื่อธัญดูทรัพย์สิน ไม่หมุนเวียนนะคะ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับลดลง จึงไม่น่าจะเป็นการนำเงินไปซื้อ สินทรัพย์ที่ไม่หมุนเวียน ส่วนในหมวดของหนี้สินไม่หมุนเวียนนะคะ ธัญพบรายการหนี้สิน ตามสัญญาเช่าการเงินเมื่อปี ๒๕๖๔ ไม่ปรากฏยอดนะคะ แต่ปรากฏยอดในปี ๒๕๖๕ พบว่ามียอด ๓ ล้านบาท จึงอยากทราบรายละเอียดของรายการนี้ เพราะหมายเลข ๑๘ หมายเหตุงบการเงินของท่านมีแต่หมายเลข ๑๘ ไม่มีหมายเหตุท้ายเล่มก็ทำให้เราไม่รู้ว่า หมายเลข ๑๘ ที่ท่านพูดถึงหมายถึงอะไรนะคะ

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะ การตรวจสอบบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ชี้แจงท่านว่าเขาจะ รายงานท่านเมื่อมีนัยสำคัญที่ชี้ว่าถ้าจะมีข้อบกพร่องในการชี้ว่ามันคือข้อผิดพลาดหรือทุจริต ธัญอยากจะทราบว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของท่านได้ชี้แจงท่านใดจุดใดบ้าง เพราะว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ชี้แจงและอธิบายว่าเขาต้องไปช่วยออกแบบการตรวจสอบ หรือเอกสาร ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแสดงข้อมูลอันขัดต่อข้อเท็จจริงอันเกิดจากการทุจริต หรือข้อผิดพลาด เพราะว่าการทุจริตนั้นอาจเกี่ยวข้องกับการสมรู้ร่วมคิด ปลอมแปลงเอกสาร หลักฐาน ตั้งใจละเว้น แสดงข้อมูล หรือการแทรกแซงควบคุมภายใน ธัญกำลังจะถามท่านว่า การเงินภายในของท่านมันมีสถานการณ์อะไรที่ผู้ตรวจสอบบัญชีนั้นรู้สึกว่ามันต้องใช้ สถานการณ์ตัดสิน ธัญเข้าใจว่าระบบการเงินน่าจะเป็นระบบที่เรียบร้อยอยู่แล้วนะคะ จึงฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกียรติคุณ ต้นยาง เชิญครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอบางบัวทอง ตำบลบางบัวทอง ตำบลโสนลอย ตำบลพิมลราช อำเภอไทรน้อย ตำบลไทรน้อย ตำบลคลองขวาง พรรคก้าวไกล ไม่มีใครนอกจากประชาชน วันนี้ผมขออนุญาต อภิปรายเรื่องรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือว่า Thai PBS

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ขอบคุณโสตครับวันนี้น่ารักกว่าวันก่อน ไม่ต้องขอก็ขึ้นรูปให้ ผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Thai PBS ก่อนที่ผมจะมาเป็นผู้แทน ผมเป็นทนายความ ผมมีปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่มีช่องทางอื่นใดจะไป ไม่มีสถานีช่องไหนที่ให้โอกาสชาวบ้านที่มีความทุกข์ ชาวบ้านที่ประสบปัญหาไม่ได้รับ ความเป็นธรรม แต่ไม่เป็นประเด็น Drama ไม่มีช่องไหนให้โอกาสเหมือน Thai PBS อย่างกรณีที่รั้วบ้านพังหมู่บ้านจัดสรรที่อำเภอไทรน้อย กรณีล่าสุดคือบ้านมั่นคงไม่ตรงปก เขาไปซื้อบ้านแต่ไปอยู่เหมือน Camp คนงานสังกะสี ขอบคุณครับ Thai PBS ที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า เห็นความเป็นคนเท่ากันเหมือนก้าวไกลเรานะครับ ขอบคุณจริง ๆ แต่วันนี้ที่ผมต้องอภิปรายท่านด้วยความรักอาจารย์เจิมศักดิ์ ผมติดตาม Watchdog ท่านตั้งแต่ผมเรียนมัธยม ทุกวันผมต้องรีบกลับบ้านมาเปิดทีวีดูรายการของท่าน ศรัทธามาก ดีใจด้วยวันนี้ได้เจอท่านที่นี่ อยากจะฝากท่านให้ช่วย ช่วยอย่างไรหรือครับ ขอ Slide ถัดไปด้วยครับ นี่คือรายการดี ๆ ของ Thai PBS คุณจะหาดูที่ไหนไม่ได้เลย ในโลกนี้ รายการดี ๆ แบบนี้นอกจาก Thai PBS เท่านั้น หนึ่งในนั้นที่เห็นคือรายการ สถานีประชาชน คุณต้นพิธีกรชาย คุณหญิงพิธีกรหญิงลงพื้นที่ทุกครั้งที่มีปัญหา เช้า ๘ โมง ๙ โมงลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์จริง เที่ยง บ่ายรีบกับสถานีเพื่อมาจัดรายการสด เอาความทุกข์ ของพี่น้องประชาชนมาเผยแพร่ ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขปัญหา ดีใจที่มีช่องทางนี้ ให้ประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่ตระหนักอยู่เสมอคือที่มา ใคร ๆ ก็ตราหน้าว่าที่มาของท่านคือภาษีบาป มันผิด หรือครับ เงินนะครับ ไม่ใช่งู ใครก็ใช้ได้ นี่เป็นช่องทางในการบริหารเงินที่ดีที่สุด แต่ผม ไม่อยากนะครับ ไม่อยากให้ ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี คนที่เสียภาษีบาปเขาจะมาทวงคืน คนที่กินเหล้าแล้วเขาต้องตับไตพิการ เขาขอไปรักษาเขาได้ไหม คนที่สูบบุหรี่แล้วเป็น ถุงลมโป่งพองเขาขออีกให้ ๒,๐๐๐ ล้านบาทนี้ไปรักษาเขาได้ไหม ในเมื่อไรอะไร ขอ Slide ต่อไปด้วยครับ นี่คือคำตอบ มันคือ Rating มันคือตัวชี้วัด มันคือผลตอบแทนผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่ท่านทำ Content ดี ๆ ที่ท่านทำ เนื้อหาดี ๆ ที่ท่านทำ Rating ท่านอยู่อันดับที่เท่าไร ๑๔ ไม่ต้องพูดถึง Top 10 นะครับ ช่องน้อยสี มากสี ช่องใหม่ ช่องเก่า ช่องย่านรังสิต ย่านวิภาวดี ช่อง Digital ไม่ต้องพูดถึงเขาระดับ Top 10 ของเราอยู่ลำดับที่ ๑๔ เหนือใคร เหนือหอยม่วง ดีใจไหมครับ เราเหนือกว่าเขา ดีใจไหมครับ ผมไม่ดีใจด้วย อันนี้เป็น Rating เมื่อปี ๒๕๖๔ แล้วดูรายงานท่านวันนี้ท่านมารายงานที่สภาเรา ปี ๒๕๖๕ เมื่อสักครู่ระดับ ๑๔ ปี ๒๕๖๕ ลำดับที่เท่าไรครับ ๑๗ ลำดับนี้ OK ไหม OK เพราะ OK แปลว่าตกลง ลำดับท่าน OK ตกลง ถ้าคุณวิโรจน์ของผมมาเจอ คุณวิโรจน์ต้องร้องว้ายมันตกลงขนาดนี้ เชียวหรือ แล้วถ้าปีหน้าท่านมารายงานอีก ผมไม่รู้ว่า Rating ของท่านนั้นจะตกไปถึงขนาดไหน ลำดับสุดท้ายเลยหรือเปล่า ไม่อยากเห็น ให้กำลังใจนะครับ ท่านทำดีอยู่แล้ว มีประโยชน์อยู่แล้ว ท่านเหมือนอะไรไหมครับ เหมือนร้านลับทำอาหารดี อาหารอร่อย สะอาด แต่ไม่มีใครไปกิน คนเรามี ๒ ขา ขาขวาท่านดีแล้ว ผลงานดี Content ดี รายการดี แต่ขาซ้ายทำไมไม่เดิน หาคนมาดูสิครับ หาคนมาดูแลรายการท่านสิครับ จะช่วยให้รายการนี้อยู่ต่อไป ช่วยให้สถานีนี้ อยู่ต่อไป ผมอยากจะให้สถานีนี้อยู่กับพี่น้องประชาชนเป็นที่พึ่ง เป็นที่หวัง เป็นที่อาศัย เป็นช่องทางสุดท้ายของชีวิตเขาที่เขาจะทวงคืนความเป็นธรรม ขอร้องนะครับ ช่วยหาคนดูเพิ่ม ผมคิดว่าท่านทำได้ ท่านเก่ง อาจารย์เจิมศักดิ์ ท่าน ผอ. ท่านเก่งทำได้ เพื่อน ๆ ที่อยู่ในสื่อ อื่น ๆ ทำไมเขาทำได้ ทำไมเขาหาคนมาดูได้ ผมว่าท่านทำได้

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

Slide สุดท้าย ก็คือสิ่งที่ผมจะฝากไว้ เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เด็กยิ่งเล็กยิ่งดูดี แต่ไม่มีคนดู ตอบผมหน่อยสิครับ ทำไมไม่มีคนดู อย่าให้ผมต้องบอกเลยครับ มหาไม่กล้า สอนสังฆราช ผมเคารพอาจารย์ ผมคิดว่าปีหน้าอาจารย์จะให้ของขวัญที่มีค่าที่สุดของผม ก็คือ Rating ที่เพิ่มขึ้นกว่าปีนี้ ผมฝันว่าอยากได้ของขวัญนั้นจากอาจารย์ อยากได้ของ ขวัญนั้นจาก Thai PBS พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เขาไม่มีช่องทางที่จะไปเผยแพร่ ไปบอกความทุกข์ ความเดือดร้อนของเขา ก็ฝากตรงนี้ไว้ด้วยความเคารพนะครับอาจารย์ ปีหน้าเจอกัน ผมขอ Rating ที่ดีกว่านี้ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม กฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชม ในส่วนของ Thai PBS ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ สิ่งที่ท่านได้ดำเนินการมา ผมอ่านรายงาน ผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ดูผลงานของท่านผมชื่นชม สิ่งที่ท่านได้ดำเนินการมา แล้วจุดยืนที่ท่านยืนแม้อาจจะมีบางครั้งแกว่งบ้าง ในความหมายก็คือว่าอาจจะมีเอนเอียง บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่โดยภาพรวมแล้วผมถือว่าดี แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือรายการที่ท่าน ผลิตมา หรือ Content ต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างสรรค์มาผมชื่นชมครับ แต่ก็อย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ที่ท่านผู้อภิปรายต่าง ๆ ได้กล่าวมา รายการดี แต่ไม่มีผู้ชม อันนี้คือปัญหาสำคัญ งบประมาณ ที่ได้รับไปมากมายมหาศาล ท่านไม่ต้องทำผลงานเพื่อหาโฆษณาเข้ามา แต่ท่านได้รับ งบประมาณจากภาษีปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาท นี่คือสิ่งที่มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ ที่ทำอย่างไรท่านจะต้องใช้เงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อให้ท่านผลิต รายการดี ๆ มามากมาย แต่ว่าท่านไม่มีผู้ติดตาม มันเกิดปัญหา ท่านต้องไปดูข้อบกพร่องนี้ ทุกวันนี้สื่อมีมากมาย โดยเฉพาะสื่อที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่าน Social ต่าง ๆ มันเป็น ความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ยิ่งยวดด้วยซ้ำไปว่าทำอย่างไรที่ Thai PBS ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ทำอย่างไรที่จะให้ผู้ชมเข้ามาติดตาม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ผมเองดูผลงานของท่าน แต่รู้สึก ตะขิดตะขวงใจนิดหน่อยในเรื่องของงบดุล รายงานนี้รูปเล่มสวยงามครับ งบดุลท่านทำมาดี งบการเงินท่านทำมาดี แต่หมายเหตุท่านไม่ใส่รายละเอียดมาเลย เพราะถ้าดูแล้วมันตอบ ไม่ได้ ผมไปไล่ดูงบการเงินของปีที่ผ่านมาหลาย ๆ ตัวผมสงสัยมาก มีหมายเหตุตั้งแต่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ หมายเหตุข้อ ๑๙ ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน อันนี้ที่ผมสงสัยมันมี เงินตรงนี้มากมาย ผมอยากรู้ว่าในหมายเหตุที่ท่านจะใส่มามันคืออะไร แล้วผมก็ไปดู รายละเอียดในเรื่องฐานเงินเดือนของพนักงาน อันนี้ผมไม่ก้าวล่วงนะครับ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสามารถทำผลงานดี ๆ ออกมาแล้วได้ค่าตอบแทนสูงขนาดนั้นผมไม่ได้ติดใจ แต่สิ่งที่ผม ติดใจคือผมอยากให้สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณ ใช้ทักษะ ใช้ความสามารถ ของบุคคลที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีของพี่น้องประชาชน ผมติดใจตรงนี้เท่านั้นเองว่า ขอความชัดเจน หวังว่าครั้งหน้าท่านคงจะมีแนบมาให้เพื่อจะได้มีการตรวจสอบ ให้สมกับเป็น สื่อสาธารณะที่เราสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนและโปร่งใส

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในส่วนของงบดุล งบการเงินในส่วนที่ผ่านมา มันมีค่าใช้จ่ายในข้อ ๒๕ ข้อ ๒๖ ข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ อันนี้ก็เหมือนกันครับ ผมเองก็ยังติดใจ แต่ผมไม่สามารถดู รายละเอียดได้ว่าทำไมมันมีค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนในแต่ละปีของปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ มีส่วน แตกต่างกันเราก็ไม่สามารถดูได้ เพราะฉะนั้นฝากนิดหนึ่งนะครับ แล้วก็ปีหน้าขอให้ท่าน มีรายการแนบมาจะได้มีความชัดเจน อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นผลงานที่ท่านทำผมคิดว่าคงเป็น สิ่งที่ยากว่าทำไมรายการดี ๆ ที่ท่านได้มีการสร้างสรรค์มา มีเจ้าหน้าที่ผู้มีความสามารถ ผมไม่แน่ใจว่าผู้ปฏิบัติงานในส่วนนี้เขาได้ค่าตอบแทนน้อยเกินไปหรือเปล่า ทำให้ถึงมี การไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์เพื่อให้คนเข้ามาติดตามผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดการผลิตงานออกมามีชิ้นงานดี ๆ แต่ไม่มีคนดูมันก็ไร้ซึ่งประโยชน์ งบแผนรายได้ของท่านอันนี้มีพูดมาแล้ว แผนจัดทำรายการประจำปี ๒๕๖๖ อันนี้ก็คือ มีผู้อภิปรายก่อนหน้านี้พูดไปแล้ว จริง ๆ ผมก็อยากจะเข้าไปรายละเอียด แต่ว่าคงไม่มี ความจำเป็นแล้ว เพราะว่ามีแผนรายได้กับงบรายจ่ายงบประมาณที่จะต้องจ่าย เพราะฉะนั้นผมฝาก ๓ ข้อสั้น ๆ นิดเดียว ข้อ ๑ ทำอย่างไรจะให้มีผู้ติดตาม Thai PBS มากขึ้น อันนี้คือสิ่งสำคัญอยากจะฝากเป็นการบ้านให้ท่านไปทำนะครับ เพื่อให้สม กับงบประมาณที่ท่านได้รับไปทำรายการต่าง ๆ แล้วก็เรียก Rating ให้มีคนมาดูรายการ ของ Thai PBS เยอะ ๆ แล้วก็ขอให้รักษาจุดยืนในความเป็นกลางสื่อสาธารณะของ Thai PBS ให้ยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง อันนี้เป็นข้อ ๒ ส่วนข้อ ๓ ก็ฝากเรื่องงบการเงิน ให้มีหมายเหตุแนบมาในครั้งหน้า ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ผมต้องขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานว่าจะได้มีข้อสังเกต ข้อเสนอแนะแบบชนิดที่เรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Thai PBS ท่านประธานครับ มีคำกล่าวว่าสื่อมวลชนคือฐานันดรที่ ๔ ของสังคม คำกล่าวนี้ ถูกเอ่ยขึ้นมาเป็นครั้งแรกราวศตวรรษที่ ๑๘ ในประเทศอังกฤษ สมัยก่อนชาวยุโรปเขาแบ่งคน ออกเป็น ๓ ฐานันดรด้วยกัน ฐานันดรที่ ๑ ก็คือกษัตริย์ ขุนนาง นักรบ นี่ฐานันดรที่ ๑ ฐานันดรที่ ๒ บรรพชิต ผู้ทรงศีล นักบวช ฐานันดรที่ ๓ ประชาชนทั่วไป แล้วก็ฐานันดรที่ ๔ สื่อมวลชน เพราะอะไรครับ เพราะภาพสะท้อนของฐานันดรที่ ๔ หรือภาพสะท้อน ของสื่อมวลชนก็คือภาพสะท้อนของสังคมนั่นเอง ผมอ่านรายงานของ Thai PBS ก็ชื่นชม Slogan น่าสนใจ สื่อสาธารณะ คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน ที่ผมเรียนว่าเป็นแฟนรายการ ชนิดที่เรียกว่าแฟนตัวยงแฟนพันธุ์แท้ ผมชอบหลายรายการ เช่น รายการ Foodwork รายการดูให้รู้ ซึ่งพิธีกรจะต้องบอกว่าพบกับรายการดูให้รู้กับผมฟูจิ ฟูจิซากิ แต่ว่ารายการ ที่ผมไม่ค่อยสบายใจและไม่ค่อยได้ดูบ่อยนักเป็นรายการในแนวข่าวครับ ข่าวในลักษณะที่คน ในวงการข่าวเรียกว่าเป็นข่าวอ่านที่ใช้ Prompter ใช้ Telescript มี บ.ก. มีเจ้าของผู้เปิดปิด ทฤษฎีข้อมูลข่าวสารคอยคัดกรองเรียบเรียงข่าว อันนั้นไม่เป็นปัญหาหรอกครับ แต่ที่ไม่ค่อย สบายใจคือรายการข่าวในประเภทที่เรียกว่ามานั่งวิเคราะห์ในลักษณะชี้นำ แล้วหลายครั้ง เป็นสาเหตุของการนำไปสู่ความขัดแย้ง ก่อนจะไปขัดแย้งข้างนอก ขัดแย้งกันเองในรายการก่อน ผมไม่เอ่ยชื่อรายการ แต่ผมเรียนว่าถ้าเป็นข่าวประเภทเรียบเรียงกลั่นกรองมา อันนี้เราดูได้ อย่างสบายใจ แต่รายการประเภทแนววิเคราะห์ แล้ววิเคราะห์ผิดก็ไม่รับผิดชอบอะไร วิเคราะห์ผิดก็วิเคราะห์ใหม่ ที่วิเคราะห์ใหม่ก็วิเคราะห์ผิด แล้วก็วิเคราะห์ใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อมากลบวิเคราะห์เก่าที่ผิดไป ถ้าใช้คำแบบชาวบ้านคืออาจจะใช้วิธีการเอาโกหกใหม่ มากลบโกหกเก่า ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าอาจจะเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งขึ้นมา อีกรอบหนึ่ง ท่านประธานที่เคารพ ผมต้องชื่นชม Thai PBS ว่าในบางช่วงที่มันไม่มีข่าว ประเภท Drama หรือข่าวประเภทผัวตบเมียตี ผัวหนีเมียด่า ผัวกระทืบเมียคลานออกมา ไม่นำเสนอข่าว Drama บางช่องบางสถานีก็เลือกนำเสนอข่าวประเภทเอาข่าวอาชญากรรม มานำเสนอเป็น Series เป็น Ep เป็นตอน ๆ หรือเลยจากข่าวอาชญากรรมก็มาทำเป็นข่าว การเมืองให้เป็นประเด็น Drama ซึ่งต้องเรียนด้วยความชื่นชมว่า Thai PBS แทบไม่ค่อยมีหรือมีน้อยมาก หลายสถานการณ์ ทางการเมืองที่เป็นวาระสำคัญของประเทศเราก็ได้พลอยอาศัย Thai PBS เช่นผลการนับคะแนน เมื่อเลือกตั้งทั่วไป ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ การรายงานแบบ Real time ของ Thai PBS ไม่ต้องเร็วกว่าใคร ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมากมายครับ แต่ว่าช้า ๆ แต่ Sure หรือแม้แต่ การรายงานผลการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ คุณเศรษฐา ทวีสิน ในสภา ผมเห็น เพื่อนสมาชิกในสภาก็ได้พลอยอาศัยดูรายงานแบบ Real time ของ Thai PBS ซึ่งอย่างที่ ผมกราบเรียนไม่จำเป็นต้องเร็วกว่าใคร แต่ขออยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ช้าได้ครับ แต่ต้อง Sure ประเด็นที่ผมตั้งใจที่จะฝากข้อเสนอแนะซึ่งเป็นความจริง ๑๕ ปีบนทางเดิน ของ Thai PBS วันนี้ต้องเรียนว่าท่านมาได้ไกลมาก ผมไม่ได้ติดใจกรณีที่ว่า Rating ท่านน้อย หรือคนดูท่านไม่มาก เพราะว่าพฤติกรรมของการบริโภคสื่อวันนี้เปลี่ยนไป ช่องทาง และ Air time ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ Content คนอาจจะมาเปิดดูท่านน้อย ในเวลาของการออกอากาศ แต่ TV สมัยนี้หรือ Content สมัยนี้มันสามารถดูย้อนหลังได้ เช่นรายการ Foodwork เขาจะมา ๔ โมงวันอาทิตย์ ดูก็จะหลังจากนั้น ถ้าผมมีโอกาส ลงพื้นที่ ไม่ได้ดู ก็จะกลับมาเปิดดูย้อนหลัง แต่ที่ห่วงก็คือห่วง Content ครับ หลายครั้ง มีสถานการณ์ทางการเมืองที่รายการประเภทวิเคราะห์ข่าวมานั่งคุยกันเอง แล้วก็ไปเอา ชุดข้อมูลจากที่ใดมาไม่ทราบแล้วก็มานั่งคุยกัน พอหมดเวลาเสร็จปั๊บ Tape หน้าก็มา วิเคราะห์ใหม่ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด คำถามคือเราไม่ได้เห็นการออกมาขอโทษสังคม ไม่ได้เห็น การออกมาขอโทษประชาชน ผมเข้าใจว่าผู้บริหาร Thai PBS คณะกรรมการบริหารนั้น มีข้อจำกัดในการที่จะไปก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว แต่ผมว่าต้องไปหาวิธีทาง แนวทางในการที่จะทำให้ Thai PBS เป็นสื่อคุณภาพที่เราดูได้อย่างสบายใจ ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ก่อนเข้ารายการอีกแบบหนึ่ง หลังรายการ ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันนั้น มนุษย์ก็คือสื่อ สื่อก็คือมนุษย์ บางท่านไป Post Facebook บางท่านไปใช้ Platform ใน Social Media ทั้งหลาย มีตัวตนเผยทัศนคติจุดยืนชัดเจน แต่กลับมาเข้าในรายการ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วพอจบรายการก็นำประเด็นในรายการไปขยายความต่ออีกประเด็นหนึ่ง นี่สิ่งที่ผมกังวลว่าเรื่องของความขัดแย้ง วันนี้เราพูดเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง แล้ว Thai PBS ก็มาไกลมาก ผมฝากว่าท่านจะต้องกลับไปหาแนวทางว่าทำอย่างไรที่จะกลับคืนสู่เป้าหมาย กลับคืนสู่จุดยืน และแนวทางที่ท่านได้วางไว้ ๑๕ ปีของ Thai PBS เดินมาไกล ปรับอีกนิดเดียว ทำอย่างไรจะไม่ไปสร้างความขัดแย้ง ทำอย่างไรจะลดความเหลื่อมล้ำเพื่อที่จะทำให้ ๑๕ ปีของ Thai PBS นั้นเป็นสื่อสาธารณะ เป็นคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ผมอาจต้องขอมีการแลกเปลี่ยน แล้วก็ประการสำคัญอยากจะให้มีการวาง บรรทัดฐานในเรื่องการตรวจสอบ เนื่องจากตามกฎหมายมาตรา ๕๒ เพื่อเป็นการตรวจสอบ และควบคุมให้ผู้ชมและผู้ฟังรายการได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ แสดงถึง ความเป็นกลางขององค์กร ให้องค์กรทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาใน ๖ เดือนนับแต่วันสิ้นสุดบัญชี และให้เผยแพร่ผู้ชมโดยที่ให้ รายงานอย่างน้อย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๑ ผลงานขององค์กรในปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผมก็พยายามอ่านว่ามันมีตอบคำถามข้อนี้ไหม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ โครงการแผนงานและแผนงบประมาณสำหรับปีถัดไป อันนี้ก็จะไม่มี

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ผังรายการปีที่ผ่านมาแล้วผังรายการที่จะเปลี่ยนแปลงผังรายการ สำหรับปีถัดไป

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๔ งบการเงินและรายการของผู้สอบบัญชี รายการตรวจสอบภายใน และในการประเมิน

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันนี้ก็มีหลายข้อ ทั้งหมด ๘ ข้อ ซึ่งอย่างน้อยคิดว่าผมอาจจะฝากไปยัง ท่านประธานครับ วันนี้สภาเรามีรายงานจำนวนมาก แล้วเวลาเราร่างกฎหมายขึ้นมา ฉบับหนึ่งเราก็ไม่รู้จะให้หน่วยรับงบประมาณมีการยึดโยงกับประชาชนอย่างไร เราก็จะเขียน ให้มารายงานต่อสภา สภาเรามีเจ้าหน้าที่เยอะมาก รับงบประมาณรวม ๆ ก็จำนวนมาก น่าจะพวกตรวจสอบว่าเมื่อสภาเป็นตัวแทนของประชาชนต้องตรวจสอบรายงานของ หน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ ดูสิว่าสิ้นปีสิ้นเวลาแล้วทำไมหน่วยงานนั้นจึงไม่มารายงาน อย่างกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นการรายงานตรงเวลา แต่อย่างน้อยที่ผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ เพราะใน หลายรายงานมีเพื่อนสมาชิกได้พูดไปแล้ว อย่างงบการเงินจริง ๆ ถ้าในวงการไม่ว่าวงการ อะไร งบการเงินแม้แต่วงการบังคับใช้กฎหมายมันคือหน้าต่างที่จะบอกร่องรอยต่าง ๆ คราวนี้งบการเงินที่ส่งมาสิ่งที่เราต้องการจะดูก็ดูหมายเหตุ หมายเหตุข้อนั้นข้อนี้เราจะได้ เจาะลงไป ดังนั้นผมจึงคิดอยากจะกราบเรียนว่าถ้าดูในรายงานนี้เมื่อ สส. เราในชุดที่ ๒๖ เขาบอกว่ารัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กฎหมายฉบับนี้ก็เป็น อีกฉบับหนึ่ง ท่านประธานที่เคารพครับ สิ่งที่อยากจะฝากทาง Thai PBS คือเขาบอกว่า ทุก ๑๐ ปี นี่ก็ ๑๕ ปีแล้ว เมื่อถึง ๑๐ ปีก็ให้องค์กรมีการทบทวน ประการหนึ่ง ท่านได้มี การทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้บ้างหรือไม่ วันนี้เราใช้มา ๑๕ ปี ใช้งบประมาณ ของประเทศถือว่าเป็นงบประมาณแผ่นดินไป ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ปีหนึ่งประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วถ้าเรียนโดยตรงก็คือว่าสื่ออื่น ๆ เขาก็เรียกร้องว่าเขาต้องประมูล คลื่นความถี่ เขาก็ต้องขวนขวาย แต่ว่าสื่อ Thai PBS มันต้องเป็นสื่อที่ให้ประชาชนรู้สึก เป็นเจ้าของ เพราะอย่างน้อยไม่ต้องไปแข่งขันเรื่องหางบประมาณ บางสื่อถ้าเราไปดู สื่อ Online บางอย่างนี้ไม่มีงบประมาณเลย Rating ยังสูงกว่า ซึ่งผมไม่ไปดูตรงนั้น ดังนั้น จึงอยากจะเรียนว่าในรอบที่ผ่านมาคิดว่าจะมีการทบทวนกฎหมายหรือไม่ แล้วอีกประการหนึ่ง ยังมีช่องที่ให้มีการประเมินตรวจสอบเท่าที่ผมอ่านในนี้ ถึงเวลาหรือยังว่าอาจจะต้องให้คน เป็นกลางมีการประเมินผล ผมยังรักษาคงไว้ แล้วผมก็ขอชื่นชมในส่วนผม แต่อันนี้ก็อยาก เป็นภาพที่จะฝากไว้ เพราะว่าผมดูวันนี้สังคมไทยสนใจข่าวการเมือง แหล่งของการเมือง ก็คือสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกอะไร ผมไปดู TV และวิทยุรัฐสภา ในปี ๒๕๖๕ เหมือนกัน ได้รับงบประมาณไป ๕๖ ล้านบาท รัฐสภาเราก็ต้องไปดูด้วยว่า เราเอางบประมาณไปสามารถจะเป็นสถานีที่มีจุดแข็งหรือจุดเด่น อย่างน้อยรัฐสภาก็ต้องเป็น ต้นตำรับของผู้ทรงไว้ซึ่งหลักอธิปไตย ประชาธิปไตย อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ดังนั้น ผมอยากจะขอเรียนถามว่ามีความคิดที่จะแก้กฎหมายไหม แล้วก็อยากจะมีการปรับปรุง หรืออาจจะจ้างองค์กรกลาง หรือองค์กรอิสระลองประเมินเพื่อจะพัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนตัวผม ก็ยังชื่นชมว่า TV ลักษณะนี้ยังควรจะมีอยู่ครับ ขอขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกได้อภิปรายจนครบแล้ว ต่อไปขอเชิญท่านผู้ชี้แจงได้ตอบคำถาม ของสมาชิก เชิญครับ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาค่ะ ดิฉันต้องขอบพระคุณสมาชิกสภาทั้ง ๑๑ ท่านที่ได้กรุณาให้ทั้ง คำชี้แนะ แล้วก็ให้ทั้งคำชื่นชม และคำตำหนิวิจารณ์ โดยภาพรวม Thai PBS จะรับประเด็น เหล่านี้ไปพัฒนาการทำงานของตัวเองนะคะ แต่ดิฉันได้สรุปคำถามที่หลาย ๆ ท่านได้ถาม ขึ้นมา จัดกลุ่มคำถามออกมาเป็น ๓-๔ ส่วนด้วยกัน แล้วจะขออนุญาตตอบในกลุ่มคำถาม ใหญ่ ๆ เหล่านั้น แล้วก็จะมีท่านประธาน แล้วก็กรรมการบริหารที่นั่งอยู่บนนี้ช่วยตอบ ในบางประเด็นนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นแรก กลุ่มคำถามใหญ่เลย อันนี้ส่วนใหญ่เป็นคำชื่นชม และคำแนะนำ ก็คือในเรื่องของเนื้อหาแล้วก็คุณภาพเนื้อหา ซึ่งมีท่าน สส. อภิปราย ในส่วนนี้ถึง ๕ ท่านด้วยกัน อย่างเช่นท่านร่มธรรม ท่านณพล ท่านสิริลภัส ท่านอนุสรณ์ ท่าน พันตำรวจเอก ทวี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อแนะนำในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนเนื้อหา ในเรื่องวิถีวัฒนธรรม วิถีท้องถิ่น พหุวัฒนธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ ต้องเรียนว่า ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในกระบวนการทำงาน แล้วก็อยู่ในแผนของ Thai PBS อย่างสำคัญทีเดียว แต่ก็จะขอรับข้อแนะนำเหล่านี้เพิ่มเติม

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

แต่มีประเด็นที่จะขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มค่ะ อย่างเช่นเรื่องของสิ่งแวดล้อม จริง ๆ แล้วเนื้อหารายการในปีนี้คือปี ๒๕๖๖ ไปจนถึงปีหน้าคือปี ๒๕๖๗ เราวาง Agenda สำคัญให้เป็นเรื่องของการนำเสนอเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารคดีที่เกี่ยวกับ การการอนุรักษ์ต่าง ๆ แล้วก็ผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เราถือว่าเป็นงานสำคัญ ที่วางไว้นะคะ นอกจากนั้นในเรื่องของประเด็นสุขภาพจิตก็เห็นด้วยกับที่ท่านสิริลภัสแนะนำ ก็จะนำไปเพิ่มเติมในการพัฒนาแล้วก็ผังรายการของ Thai PBS ประเด็นเรื่องของ Soft Power แล้วก็ปัญหาใหญ่ของประชาชนต่าง ๆ การไม่สร้างความขัดแย้ง แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำ อันนี้ดิฉันคิดว่าในกลุ่มที่ ๑ ของข้อแนะนำในส่วนของเนื้อหา ก็ขอให้ความมั่นใจว่าเรา จะนำเสนอเนื้อหาประเด็นเหล่านี้ทั้งที่มีอยู่แล้วอย่างมากขึ้น แล้วก็จะพัฒนาให้มากขึ้นด้วย

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นถัดไปที่จะขอตอบคำถามก็คือเรื่องบทบาทของ Thai PBS ซึ่งตรงนี้ มีหลายท่านอภิปรายค่อนข้างมากที่อยากเห็นบทบาท Thai PBS เพิ่มเติมหรือว่ามีจุดเน้น ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ประเด็นที่ท่านภคมนแนะนำว่าควรจะเป็นทั้งผู้ผลิต Content และผู้บริหาร Platform ทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะเน้นเรื่องของ Hard Knowledge นั้น ต้องเรียนว่า ALTV ที่เราได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ถาวรมาเมื่อกลางปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา Thai PBS ตั้งใจเลยให้ ALTV เป็นสื่อที่นำเสนอเนื้อหาทั้งเรื่องของการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning และการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่เราเรียกว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ จุดมุ่งหมายของเนื้อหาในเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะก็คือส่งเสริมทักษะเด็กในเรื่องของ STEAM เลยค่ะ ทั้งในเรื่องของ Scientific Technology Engineering Art แล้วก็ Mathematic ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เราก็พยายามจะให้สอดคล้องไปกับกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็การศึกษาของเด็ก ดิฉันเรียนว่า ALTV นั้นเป็นทั้งช่อง TV และทั้ง Multi-platform แล้วที่สำคัญก็คือเราทำงานร่วมกับ สพฐ. แล้วก็อีกหลายหน่วยงานนะคะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสื่อการเรียนการสอนในเนื้อหาเหล่านี้ของ ALTV จะได้ถูกส่งไปถึง ผู้เรียนอย่างตรงเป้านะคะ ดังนั้นเราจึงมีการพัฒนาโครงการที่จะจับมือร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานให้สื่อเหล่านี้ไปถึงเด็กในพื้นที่ห่างไกลด้วย แล้วก็เด็กในพื้นที่ที่เข้าถึงสื่อ Online ได้อย่างยากลำบาก ก็อยากจะเรียนว่าเราตั้งใจทำ ALTV ขึ้นมาเพื่อรองรับสิ่งที่ท่านแนะนำ แต่ว่าก็จะเอาข้อแนะนำของท่านไปพัฒนาต่อนะคะ โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มโอกาสในการติว ของเด็ก ๆ ซึ่งเรามีเนื้อหาเหล่านี้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็คงจะเพิ่มเติมให้มากขึ้นค่ะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

บทบาทอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญมากเลยที่ท่าน สส. ธัญวัจน์แนะนำก็คือ ความเป็นธรรมในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ของผู้ผลิตต่าง ๆ ต้องเรียนว่า Thai PBS ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะคะ เราเน้นการทำสัญญาร่วมผลิตหรือสัญญา กับผู้ผลิตทั้งหลายโดยใช้คุณธรรม แล้วก็ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ถ้าเป็นลิขสิทธิ์ในเรื่องของการผลิต เป็นส่วนของ Thai PBS ยกเว้นบางส่วน อย่างเช่นเรื่องของบทละครต่าง ๆ ก็จะเป็นลิขสิทธิ์ ของผู้ผลิตบทละครนั้น ๆ อย่างเช่นละครบุษบาลุยไฟที่เพิ่งจบไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันนี้ ถ้าเป็นบทละครจะเป็นของผู้ประพันธ์ แต่ถ้าเป็นการผลิตทั้งหมดเป็นของ Thai PBS นั่นหมายความว่าเมื่อลิขสิทธิ์อยู่กับเรา เราก็สามารถที่จะดูแลผู้ที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง ผู้กำกับ หรือศิลปินทั้งหลายให้เกิดความเป็นธรรมได้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านธัญวัจน์แนะนำ ว่าอยากให้มีวงเสวนาร่วมเพื่อที่จะมองหาความเป็นธรรมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ดิฉันขออนุญาตตอบรับคำเชิญของท่านเลย แล้วก็เห็นด้วยที่ Thai PBS ควรจะเป็นพื้นที่กลาง ในการผลักดันเรื่องนี้นะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นถัดไป ในเรื่องของบทบาทก็จะเป็นเรื่องของการเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ที่ท่านภคมนแล้วก็ สส. อีกหลายท่าน เสนอแนะ ก็ต้องเรียนว่ายิ่งตอนนี้มีสื่อที่เอื้อให้เราแสดงบทบาทอย่างนี้ได้มากขึ้น อย่างเช่น การมี User Generated Content แล้วก็รูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถระดมความคิดของประชาชน ผ่านสื่อ Digital ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ ปีนี้ทั้งปีรวมถึงปีหน้าด้วยเราได้วางบทบาท Platform เหล่านี้ของ Thai PBS ให้เป็น Platform ที่เราเรียกว่าปัญญารวมหมู่ และเรื่องสำคัญที่เรา ออกแบบแล้ว จริง ๆ ได้เริ่มทำแล้วก็คือเรากำลังทำเครือข่ายที่เราเรียกว่า Policy Watch เพราะเราเชื่อว่านโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้ในช่วงหาเสียงนั้น จริง ๆ แล้ว ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้ติดตามนโยบายเหล่านั้น และ Thai PBS จะเป็น Platform ที่ทำให้ประชาชนได้ติดตาม ได้รับทราบนโยบายเหล่านั้นอย่างทั่วถึงและทั่วพร้อม แล้วที่สำคัญกระบวนการเหล่านี้ของเราจะเป็นกระบวนการที่รับฟังทุกเสียงอย่างสร้างสรรค์ ฉะนั้นดิฉันจึงอยากเรียนเสนอเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานในฐานะเป็น พื้นที่สาธารณะ และอาจจะนำไปสู่เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนการร่วมกันแสวงหาทางออก ในประเด็นต่าง ๆ นั้นก็จะเป็นจุดที่เราจะใช้สื่อ Digital เหล่านี้ในการทำงานมากขึ้นนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

สิ่งที่ท่านเอกราชแนะนำในเรื่องของการหนุนสื่อท้องถิ่นให้มากขึ้น อันนี้ ต้องบอกว่าตรงใจกับนโยบายของกรรมการนโยบายชุดท่านอาจารย์เจิมศักดิ์มาก ๆ นะคะ เพราะว่ากรรมการนโยบายชุดนี้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการมี เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งดิฉันขอเรียนเพิ่มเติมเนื่องจากมันไม่อยู่ในรายงาน ปี ๒๕๖๕ แต่ปี ๒๕๖๖ เรามีเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นเกิดขึ้นแล้ว ๑๓ Node ด้วยกัน กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่าลักษณะความเป็นสื่อสาธารณะไม่ได้รวมศูนย์ อยู่ที่ Thai PBS ตรงนี้นะคะ แต่ต้องกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ เราจึงใช้งบประมาณ แล้วก็ มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อสาธารณะที่เป็นเพื่อน ๆ เราทั้งหลาย โดยเราหวังว่า สื่อสาธารณะที่เป็นของท้องถิ่นเองจะนำเอาความกล้าหาญ แล้วก็หลักการแนวคิดจรรยาบรรณ แบบสื่อสาธารณะไปทำงานกับประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น เราจะพยายามทำให้เครือข่าย เหล่านี้แข็งแรง แล้วก็ขยายออกไปมากขึ้นนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นเรื่องบริการ ที่มีท่านถามเรื่องภาษามือว่าทำไมมันลดลง ท่านเอกราชถาม ดิฉันขออธิบายอย่างนี้ค่ะ ตัวเลขที่อยู่ในตารางที่ท่านโชว์ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีนั้น เป็นภาษามือ แต่ที่ลดลงเพราะว่าเราลดรายการข่าวภาคหลักตอนเที่ยง ลดเวลาลงเล็กน้อย จากเดิม ๑๕๐ นาที เราลดลงเหลือ ๙๐ นาที ก็เลยทำให้ภาษามือที่อยู่ในรายการนั้น ลดลงไปด้วย แต่จริง ๆ แล้วบริการภาษามือของเราเพิ่มขึ้นถ้านับรวมในทุกช่องทางนะคะ โดยเฉพาะ Big Sign ที่สามารถดูได้ทางจอมือถือ แล้วก็ใน Platform ใหม่ ๆ ที่เป็น Online ทั้งหมดของเรา เช่น VIPA ที่เป็น Video Streaming ถ้ารวมแล้วภาษามือของเราในปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ถึง ๓ เท่าด้วยกัน อันนี้ก็คงต้องเรียนว่าอาจจะมาจากข้อมูลที่อยู่ในเล่ม รายงานที่ไม่ชัดเจน เลยขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มค่ะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นถัดไป คือกลไกเรื่องของสภาผู้ชมคะ ก็ต้องเรียนว่าแม้สภาผู้ชม จะถูกจำกัดจำนวน จริง ๆ จำนวนก็ไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แต่ว่าเราพยายามที่จะหนุนเสริม ศักยภาพของสภาผู้ชมให้สามารถทำพันธกิจของการรับฟังและการมีส่วนร่วมได้ดีขึ้น ด้วยการใช้ เครื่องมือการรับฟังแบบ Online มาเสริม ซึ่งช่วง ๒ ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ ผลการรับฟัง จากสภาผู้ชมได้สะท้อนข้อมูล แล้วก็รายงานการวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของ Thai PBS อย่างยิ่ง ผ่านการปรับรูปแบบการรับฟังนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย ดิฉันจะขอพูดถึงถ้าไม่ตกหล่นของใครไป ดิฉันอยากเรียน อีกหลายประเด็นที่มีหลายท่านนำเสนอ นั่นก็คือมีหลายท่านท้วงเรื่องหมายเหตุประกอบ งบการเงินที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวเล่มรายงานที่เป็นฉบับพิมพ์ ดิฉันขอเรียนว่าเนื่องจาก เรามีอยู่ใน QR Code ที่หน้า ๑๐๓ ถ้าท่าน Scan จะได้พบรายงานการเงินฉบับเต็มนะคะ แต่ที่เราไม่ได้ใส่ทั้งหมดก็เพราะว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้รายงานฉบับนี้มีขนาดกำลัง พอเหมาะพอเจาะในการอ่าน แต่คำแนะนำของทุกท่านในส่วนนี้เราจะนำไปปรับปรุง ในรายงานปีต่อไป รวมถึงการให้เพิ่มเนื้อหาหลาย ๆ ส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลงาน ตามเป้าหมายแบบ KPI โครงการของบประมาณในปีถัดไป หรือผังรายการของปีถัดไป ที่ท่าน พันตำรวจเอก ทวีแนะนำดิฉันคิดว่าเราจะใส่ไว้ในฉบับหน้านะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก อีก ๒ ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการทบทวน พ.ร.บ. ตามมาตรา ๕๑ ว่าเราได้ทำหรือไม่ท่าน พันตำรวจเอก ทวีได้สอบถาม ต้องเรียนว่า ตามมาตรา ๕๑ ที่ให้ Thai PBS ทบทวน พ.ร.บ. ในทุก ๆ ๑๐ ปีเราได้ทำมาแล้ว โดยมี คณะกรรมการทบทวน พ.ร.บ. ที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งขึ้น ๓ คณะแล้ว ขณะนี้ เราอยู่ในคณะที่ ๓ ซึ่งมีท่านศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน คณะทำงาน เรียนว่าคณะกรรมการทั้ง ๓ คณะนี้ได้ทบทวนมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แล้วก็ ปี ๒๕๖๓ แล้วก็มาปี ๒๕๖๕ ผลการทบทวนของชุดที่ ๓ นี้จะเสร็จสิ้นไม่เกินปี ๒๕๖๖ นี้ ก็เรียนว่าได้มีการดำเนินการแล้วในตามนี้ค่ะ รวมทั้งสิ่งที่ท่านแนะนำว่าน่าจะมีคนกลาง มาประเมินผลด้วยดีไหม ก็ต้องเรียนว่าเมื่อปี ๒๕๖๔ เราได้ให้ TDRI ประเมินองค์กรครั้งใหญ่ เหมือนกัน แล้วก็มีการประเมินการรับรู้ของประชาชนที่เป็นจำนวนค่อนข้างสูงมาก ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว แล้วก็มีการรับฟังในหลายเวทีด้วยกัน แต่ว่าในปีนี้เรากำลังรอ ผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดที่ ๓ ที่ดิฉันได้เรียนไปแล้ว แล้วเราก็คงจะมีการจัด กระบวนการรับฟังเพิ่มเติมในช่วงปลายปีอีกหลาย ๆ เวทีค่ะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ท่านเอกราชทั้งสอบถามและให้คำแนะนำว่ามาตรา ๕๑ ที่บอกว่า ให้เราได้รับงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตหรือ Earmarked Tax ของภาษีเหล้าบุหรี่ และท่านก็บอกว่าน่าจะลองพิจารณาดูแบบ BBC หรือสาธารณะสากลหลายที่ที่ให้เก็บ License ฟรีหรือไม่นั้น ดิฉันต้องเรียนว่าตอนที่ Thai PBS จัดตั้งขึ้น จริง ๆ ขออนุญาต เรียนตรงนี้นิดหนึ่งว่ากว่าที่ พ.ร.บ. Thai PBS จะก่อกำเนิดขึ้นใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๗-๘ ปี ดังนั้น Thai PBS จึงไม่ได้มาสวมรอยของไอทีวีค่ะ แต่ Thai PBS เป็นกระบวนการของ ประชาชนจำนวนมาก ทั้งภาคประชาชนโดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก ๆ ครูอาจารย์ แล้วก็ภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่อยากเห็นการมีสื่อสาธารณะเหมือนของสากลแบบ BBC หรือ NHK อยากเห็นสื่อที่ปลอดจากการแทรกแซงของกลุ่มทุนพาณิชย์ที่ต้องไปหา โฆษณาเอง แล้วก็ต้องฟังกลุ่มทุน หรือถูกแทรกแซงได้โดยกลุ่มการเมือง อันนี้เป็น เจตนารมณ์เลยค่ะ แล้วที่สำคัญก็คือในยุคสมัยนั้นเราจะเห็นว่าสื่อในตอนนั้นเป็นสื่อ อย่างที่บอกว่าเนื้อหาที่ทำเพื่อประโยชน์สังคมที่ไม่ได้เรียก Rating โฆษณานี่ไม่มีเลย ดิฉันอยากเรียนว่าเจตจำนงของการเกิด Thai PBS ที่บอกว่ามีกระบวนการทำงาน แล้วรับฟังมาจากทั่วประเทศเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ เพียงแต่เมื่อตอนปี ๒๕๕๑ ที่ พ.ร.บ. ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ สปน. เองก็โอนทรัพยากรของ itv มาให้ Thai PBS ดำเนินการต่อ ดังนั้นดิฉันก็อยากขอเรียนชี้แจงในส่วนนี้ และตรงนี้เอง ที่อยากย้ำว่าหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. Thai PBS อยู่ที่ความเป็นอิสระค่ะ ดังนั้นถ้างบประมาณ ที่ออกแบบมาให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงคือไม่ต้องไปของบประมาณจากรัฐ ไม่ต้องขอ งบประมาณจากกลุ่มทุนหรือการเมืองเข้าแทรกแซงได้ ดิฉันคิดว่านี่คือหัวใจที่ต้องรักษา ความเป็นอิสระที่ออกแบบใน พ.ร.บ. นี้ไว้ ก็ขอเรียนในส่วนนี้ แล้วก็ขอรับความห่วงใย ของทุกท่านว่า Thai PBS มีความกล้าหาญเพียงพอหรือเปล่า ต้องเรียนว่าเรากล้าหาญแน่ ๆ ค่ะ เพราะไม่อย่างนั้น พ.ร.บ. คงไม่ออกแบบให้เราเป็นอิสระเพื่อให้มีความกล้าหาญ แล้วคำนึงถึง เสียงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ด้วยนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายที่ดิฉันอยากขอกล่าวถึงตรงนี้ก่อนก็คือเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งมี สส. หลายท่านให้ความห่วงใย ให้คำแนะนำสูงมากนะคะ จริง ๆ แล้วคำว่ารายการดี ต้องมีคนดู ก็เป็นคำที่เราใช้พูดกัน ใช้ตรวจสอบตัวเองกันอยู่ตลอดเวลา เวลาที่เราจะพัฒนา เนื้อหาใดก็ตาม ดิฉันขออนุญาตเรียนสั้น ๆ อีกนิดเดียวว่านิยามความคุ้มค่าแบบสื่อสาธารณะ ของ Thai PBS นั้นจริง ๆ แล้วถึงไม่มีคำว่าความคุ้มค่าอยู่ใน พ.ร.บ. แต่นิยามเหล่านี้อยู่ใน มาตรา ๗ ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ อยู่ในมาตรา ๘ ที่ว่าด้วยพันธกิจการดำเนินงาน และอยู่ใน หมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ชัดเจนมากค่ะ นิยามเหล่านี้บอกให้ Thai PBS มีพันธกิจในเรื่องของ การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วก็ทำเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำเพื่อสร้าง ความเข้มแข็งในเรื่องของวัฒนธรรมและพัฒนาการในเรื่องของการศึกษาการเรียนรู้ ให้ก้าวทันโลกของประชาชน อันนี้ดิฉันยกตัวอย่างแค่สั้น ๆ แต่อยากบอกว่าสิ่งที่ พ.ร.บ. กำหนดชัดเจนในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และหมายเหตุท้ายงบประมาณนั้นไม่ได้บอกให้ Thai PBS ทำเพื่อที่จะเรียก Rating เพื่อเอา Rating นั้นไปแสวงหาความนิยมในเรื่อง ของโฆษณาอันนี้ไม่มีอยู่แล้วนะคะ และดิฉันก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ท่านแนะนำมานั้นผิด เพียงแต่อยากจะบอกว่าด้วยพันธกิจต่าง ๆ ที่กำหนดใน พ.ร.บ. ทำให้เราวางสัดส่วน งบประมาณกับเนื้อหาที่เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เนื้อหาที่ซับซ้อนและยากเหล่านี้ ซึ่งทุกท่านตระหนักดีว่า การจะเปลี่ยนสังคมระดับโครงสร้างมันยากเย็นแค่ไหน ดังนั้นการสื่อสารเนื้อหาเหล่านี้ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องคนจนเมือง เรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ดิฉันได้เรียนไปแล้ว ล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่มันอาจจะไม่ใช่กินได้ง่าย แต่รับปากว่าเราจะพยายามทำเนื้อหาที่มี ความซับซ้อนเหล่านี้ให้เป็นเนื้อหาที่ประชาชนทุกคนดูให้ได้อย่างมากที่สุดเพื่อให้คุ้มค่า เพราะฉะนั้นดิฉันอยากย้ำว่าความคุ้มค่าของ Thai PBS นั้น ถึงแม้เราจะไม่ได้วัดได้ด้วย Rating ทั้งหมด แต่เราก็พยายามวัด เราใช้ Rating เหมือนกันในการพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และบางรายการที่คิดว่าจะสู้กับตลาดเราก็ทำ เราก็ดู Rating อย่างเช่นรายการข่าวในทุกช่วง รายการของ Thai PBS อย่างเช่นข่าวค่ำหรือตอบโจทย์ก็เป็นรายการที่แข่งขันได้ระดับหนึ่ง ในเรื่องของ Rating นะคะ รายการละครที่เราพัฒนาขึ้นในช่วงหลังก็เป็นรายการที่แข่งขันได้ และที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ถ้าเราจะดูยอดผู้ชมหรือการเข้าชมสะสม จริง ๆ แล้ว Platform Online สะท้อนตรงนี้ได้ดี อย่างที่ดิฉันได้นำเสนอไปแล้วในช่วงต้น อย่างเช่นช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ผู้ชมทาง Website ของ Thai PBS ก็ขึ้นเป็นอันดับ ๑ หรือแม้แต่ที่ดิฉันได้เรียน ไปแล้วว่าจำนวนผู้ชมข่าวของ Thai PBS ในทุก Platform จริง ๆ แล้วสูงเป็นอันดับ ๒ ขออนุญาตเอ่ยนาม รองจากไทยรัฐค่ะ นั่นหมายความว่าประชาชนยังเชื่อมั่นแล้วก็ใช้ Thai PBS เป็นแหล่งอ้างอิงในเรื่องของข่าวนะคะ ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าที่ดิฉัน ได้กล่าวไปแล้วก็คือความคุ้มค่าที่วัดได้ในมิติทางสังคม ซึ่งเราให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก ให้การจัดสรรงบประมาณ ให้การสนับสนุนคนของเราเอง เช่นศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม และนโยบายสาธารณะที่ท่านเอกราชเอ่ยถึง เราให้ความสำคัญ เราให้มีศูนย์นี้เพื่อให้ทำหน้าที่ ผลักดันวาระสำคัญทางสังคม แล้วก็ทำหน้าที่สนับสนุนงานเชิงนโยบายของภาคการเมือง ที่ต้องการให้ไปถึงสังคมด้วยนะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

สุดท้าย ดิฉันอยากเอ่ยถึงในเรื่องมิติความคุ้มค่าซึ่งวัดไม่ได้เป็นตัวเงินแน่นอน ก็คือการที่ Thai PBS ให้ความสำคัญกับระบบตลาดไม่รองรับ หรือระบบตลาดไม่สนใจ เช่น เรื่องของเด็กที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว เรื่องของประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่สุ่มเสี่ยง กับการที่จะต้องเข้าไปเจาะ ไปวิเคราะห์เรื่องของสินค้าหรือบริการต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ Thai PBS ผลิตเยอะมาก มีไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ประเด็นในเนื้อหาที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ผู้บริโภคและการร้องทุกข์ค่ะ ดิฉันก็ขออนุญาตกล่าวสั้น ๆ ในส่วนของมิติความคุ้มค่า แต่ก็ต้องเรียนว่ายินดีอย่างยิ่งที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้คำแนะนำและให้ความห่วงใย แล้วก็คงจะรับข้อแนะนำเหล่านี้ไปเพิ่มเติม แล้วก็ในปีต่อไปดิฉันคิดว่าการประเมินผล ในมิติความคุ้มค่าเชิงสังคมที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วน่าจะเอามานำเสนอให้เป็นหัวใจสำคัญ การรายงานประจำปีของ Thai PBS ได้ ดิฉันมีอีก ๒ ประเด็นที่อยากจะขออนุญาตเรียนเชิญ ท่านอาจารย์เจษฎา กรรมการบริหารอื่น ได้ช่วยชี้แจงในเรื่องของรายงานการเงิน ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานไปสู่ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติเกี่ยวกับเรื่องงบการเงิน ประเด็นที่มีท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับในงบการเงินมีการพูดถึงเรื่องของ การทุจริตอยู่ในรายงานงบการเงินของผู้สอบบัญชี ต้องขออนุญาตกราบเรียนว่างบการเงิน ฉบับนี้เป็นงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีได้ทำการรับรองงบการเงินโดยไม่มีเงื่อนไข โดยบอกว่า มีการถูกต้องตามควร แล้วก็มีการใช้มาตรฐานภาคบัญชีของรัฐ แล้วก็ตามมาตรฐาน ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกับเรื่องมาตรฐานของการบัญชีทั่วไป เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นรูปแบบมาตรฐานรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพ เพราะฉะนั้นก็จะมี เงื่อนไขจำกัดความรับผิดในส่วนนี้อยู่ด้วย

นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถามถึงเรื่องของงบการเงิน ในเรื่อง เกี่ยวกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดซึ่งมีจำนวนอยู่ ๒๘๐ กว่าล้านบาท ลดน้อยลง กว่าปีที่แล้ว จริง ๆ เหตุหนึ่งที่เกิดสำคัญมากที่สุดก็คือมาจากการที่ Thai PBS ได้รับเงิน รายได้บำรุงองค์กรจากกระทรวงการคลังล่าช้า ซึ่งถ้าดูในงบจะเห็นว่ามีรายได้เงินบำรุง องค์กรที่ค้างรับอยู่ประมาณ ๕๗๒ ล้านบาท ถ้าเอารวมเข้าไปแล้วเงินจำนวนนี้ก็อยู่ใน ระดับเดิม มีประเด็นตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินที่ถึงกำหนด ภายใน ๑ ปี แล้วบอกว่ามีหมายเหตุที่ ๑๘ จำนวนเงิน ๓,๕๙๙,๐๐๐ บาทเศษ อันนี้จะเป็น สัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ก็จะอยู่ในหมายเหตุที่ ๑๘ ถ้าไปดูหมายเหตุงบการเงิน ก็จะเห็นรายงานในส่วนนี้นะครับ

นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งที่มีการถามถึงก็คือเรื่องภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน หมายเหตุที่ ๑๙ ๕๐๐ กว่าล้านบาท อันนี้เป็นหลักการบัญชีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสำรองเงินไว้ ส่วนหนึ่ง กันเงินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะให้ชดเชยเกี่ยวกับพนักงานเมื่อมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นมา ในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นตัวเลขตามคณิตศาสตร์ทางประกันภัยที่ได้กำหนด ขึ้นมา แล้วก็สำรองเอาไว้เผื่อไว้ในงบการเงินครับ ก็มีส่วนที่ขออนุญาตกราบเรียนเพิ่มเติม เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ดิฉันมีประเด็นตกหล่นไปอีก ๑ ประเด็น ที่ยังไม่ได้ตอบ ที่ท่านเอกราชถามเรื่องข้อสังเกตของ สตง. ที่เรียกคืนเงินรางวัล ขออนุญาต ชี้แจงสั้น ๆ ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่ Thai PBS มีมติจ่ายเงินรางวัลจากรายได้ ที่จัดหามาได้เอง นั่นก็คือรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาของเราในปี ๒๕๖๒ หรือปี ๒๕๖๓ ซึ่งในจำนวนเงินที่ท่านกล่าวว่า ๑๕ ล้านบาทนั้น จริง ๆ แล้วจากการที่ สตง. ตั้งข้อสังเกต Thai PBS ได้ตั้งคณะกรรมการภายนอกเข้ามาตรวจสอบ ถ้าจะว่าก็คือสอบสวนข้อเท็จจริง เรื่องนี้ถึง ๒ คณะด้วยกัน แล้วก็พบว่ามีเพียงแค่จำนวนประมาณ ๒ ล้านบาทเท่านั้นที่เป็น การนำรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาที่เมื่อลงบัญชีแล้วไม่ได้หักต้นทุนการผลิตก่อน ดังนั้น จำนวนเงินที่จะต้องมีการเรียกคืนก็จะเป็นจำนวนเงินก้อนนี้ ซึ่ง Thai PBS ก็กำลังดำเนินการ ในเรื่องนี้อยู่ค่ะ จึงเรียนมาชี้แจงตามที่ท่านถามนะคะ ประเด็นที่เหลือทั้งหมด โดยเฉพาะ เรื่องกระบวนการสรรหาที่ท่านได้มีคำถามขึ้นมานั้น ท่านประธานเจิมศักดิ์จะเป็นผู้ตอบ รวมทั้งกล่าวสรุปในภาพรวมค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม พันตำรวจเอก ทวี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

นิดเดียวครับ ขอบพระคุณ ทางผู้อำนวยการครับ ที่ผมอยากจะให้มันปรากฏในรายงานของแต่ละปี เพราะในข้อกฎหมาย เขาบอกว่าให้มีงบการเงินและรายงานการเงินของผู้สอบบัญชี รายงานการตรวจสอบภายใน และรายงานของคณะกรรมการประเมิน ซึ่งที่บอกว่ารายงานที่มารายงานนี้ถ้ามีหมายเหตุ เช่นหมายเหตุข้อ ๒๑ รายได้จากการบำรุงองค์กร เขาก็จะบอกในเวลาหมายเหตุให้เอาติด มาด้วย เพราะอันนี้มาแค่ ๒ แผ่น ปกติรายงานมันอาจจะมีสัก ๒๐ แผ่น ผมคิดว่าอันนี้ เป็นสภาผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ แล้วก็เป็นเงินของประชาชน จริง ๆ แล้วในรายงาน เนื่องจากทั้ง ๘ ข้อควรจะทำรายงานทั้ง ๘ ข้อ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ เพราะมัน เป็นกฎหมายจะต้องปฏิบัติ ส่วนประเด็นที่จะทำให้ตื่นเต้น หรือจะทำให้เห็นว่าคุณค่า หรือเอกลักษณ์อะไรก็อาจจะเติมไปตรงนั้น ผมเพียงอยากจะฝากในรายงานครั้งต่อไป ไม่เช่นนั้นสภาผู้แทนราษฎรเหมือนรับรองในสิ่งที่ไม่ครบกฎหมายนะครับ ขอบคุณมากครับ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ขอบพระคุณค่ะ ขออนุญาตตอบสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งว่าหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้นมีอยู่ใน QR Code หน้า ๑๐๓ ที่ท่านสมาชิก สามารถ Scan ดูได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เดี๋ยวขอให้ท่านเจิมศักดิ์ได้ชี้แจงก่อนนะครับ แล้วท่านใดมีปัญหาเดี๋ยวค่อยถาม เชิญท่านอาจารย์ครับ

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบายองค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอชี้แจง สุดท้ายได้ไหมครับ จะได้กล่าวขอบคุณด้วยแล้วจบเลย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

สมาชิก ๓ ท่าน เชิญท่านแรกข้างหลังก่อนนะครับ

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ผมขออนุญาตเรียนถามไปยังท่านผู้ชี้แจงผ่านท่านประธาน ที่ถามมิได้มี เจตนาเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอื่นนะครับ แต่ว่าเป็นประเด็นเรื่องของความห่วงใยในฐานะ ที่เป็นตัวแทนของประชาชน แล้วก็มีความรู้สึกว่า Thai PBS เป็นสื่อสาธารณะ เป็นสื่อ ของประชาชน ผมได้ตั้งข้อสังเกตแล้วก็ประสงค์จะให้ทางผู้ชี้แจงได้ให้ข้อมูล ก็คือหลังจาก ปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมามันเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนโยบายหรือว่าวิธีการทำงานของ Thai PBS อย่างเป็นนัยสำคัญ คือในปี ๒๕๖๒ ผมย้อนกลับไปดูงบการเงินปี ๒๕๖๒ ในปีนั้น Thai PBS มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสมอยู่ ๕,๘๐๐ ล้านบาทเศษ แล้วก็รายได้สูงกว่า ค่าใช้จ่ายอยู่ ๔๐๐ ล้านบาทเศษเป็นปี ๒๕๖๒ หลังจากนั้นปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาทุกปีก็จะ ขาดทุนทุกปี ผมขออนุญาตใช้คำว่าขาดทุนก็แล้วกัน สั้นกว่านะครับ ก็จะติดลบทุกปี ปีละ ๑๐๐ กว่าล้านบาทบ้าง ๑๑๗ ล้านบาทบ้าง ๑๕๕ ล้านบาทบ้าง หรือปีล่าสุดเป็น ๒๕๑ ล้านบาท ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ทุกปีก็จะมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายปีละ ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาทตลอด แต่ทำไมหลังจากปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมามันมีนโยบาย การดำเนินการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้มียอดรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายโดยตลอดตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี ๒๕๖๕ ติดลบอยู่ ๒๕๑ ล้านบาท และทำให้รายได้ สะสมที่เกินกว่าค่าใช้จ่ายลดลงเหลือเพียง ๕,๔๐๐ ล้านบาทเศษ ลักษณะนี้เกิดอะไรขึ้น และจะเป็นนโยบายของ Thai PBS ต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ และการที่ทำให้รายจ่ายสูงกว่า รายได้เพื่อประโยชน์หรือเพื่อดำเนินการอะไร ในฐานะที่เป็นประชาชนก็ด้วยความห่วงใย เพราะพวกเราก็ดูว่า Thai PBS เป็นหน่วยงานของประชาชนนะครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีก ๒ ท่าน เดี๋ยวท่านอดิศรก่อนแล้วท่านเอกราช เชิญครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม อดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ผมชอบ Thai PBS ที่จะเป็นอิสระคือไม่เอียง ข้างใดข้างหนึ่ง แต่ Rating ของท่านปฏิบัติตามที่ผมพูดหรือเปล่า Rating มันไม่ขึ้นครับ เพราะดูคนที่มานั่งทำหน้าที่ตรงนี้ประวัติในทางการเมือง คนที่เห็นด้วยเขาก็มาดู คนที่ ไม่เห็นด้วยส่วนมากเขาเลยไม่ดู Thai PBS ท่านแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายประชาชน ประชาชนเขาถึงไม่ให้ความสำคัญ Thai PBS ทุกวัน เขาไปดูมือถือ ผมได้รับเชิญไปเหมือนกันที่ Thai PBS ขอบคุณมาก รายการ TV เอกชน เขาเชิญผมอย่างนี้ ผมดูข้อแตกต่าง มันไม่มีอะไรแตกต่าง ด้วยความเคารพ ถ้าการสรรหา คนมาทำหน้าที่โดยเฉพาะคนทำหน้าที่เป็นประธาน อย่างนี้ไม่มีทาง เพราะท่านได้เอียง ข้างมาจนเอียงกระเท่เร่แล้ว ดึงคืนมาไม่ได้ ก็ดีใจที่เพื่อนผมเรียนนิติศาสตร์ห้อง A13 ๑๓๑ มาด้วยผมก็ใจชื้นหน่อย คุณเจษฎา อนุจารี เพื่อนกัน ผมวิจารณ์ตรงไปตรงมาอย่าโกรธกันนะครับ เพราะรัฐบาลชุดนี้เราจะ Forget the past start the new ไม่รู้แปลว่าอย่างไร ทำงานร่วมกัน เป็นกลางให้มันเป็นกลาง จริง ๆ เป็นกลางเขาจับได้ว่าคุณทำอะไร ยกตัวอย่าง เจิมศักดิ์ชำแหละเงิน แจกเงินดิจิทัล เทียบชัด ๆ เหมือนคูปองศูนย์อาหารห้างลักษณะทำนองนี้ ผมว่าไปอาศัย Thai PBS แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเปล่า แน่นอนท่านเคยเป็นนักการเมืองมา แต่ไปอยู่ ตรงนี้ คนบางส่วน ส่วนมากถึงไม่ไว้ใจ Thai PBS ขอโทษนะครับ ตรงไปตรงมาครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีกท่านหนึ่ง ท่านเอกราชเชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพนะครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากคนดอนเมือง ผมขออนุญาตนะครับ เมื่อสักครู่นี้ผู้ชี้แจงท่าน ผอ. ส.ส.ท. บอกว่าที่มา ของ Thai PBS องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผมทราบดี แค่ผมพูดให้ฟัง ผมอยากจะพูดถึงข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ผมไปเจอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ของ TDRI ซึ่งมีผู้เขียนคือคุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คุณเทียนสว่าง ธรรมวณิช เป็นรายงาน วิจัยฉบับสมบูรณ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. แล้วก็เขียนเอาไว้เรื่องการศึกษา ความเป็นไปได้ และแนวทางการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กและครอบครัว และท้าย รายงานฉบับนี้มีร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพเอาไว้ คล้าย ๆ กับฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านไปเลยครับ รัฐประหารปี ๒๕๔๙ เขียนตัวนี้ปี ๒๕๕๐ ใช้ปี ๒๕๕๑ ท่านบอกศึกษามา ไม่จริงหรอกครับ ผมคิดว่าอันนี้คือรัฐบาลขิงแก่ปั๊มมา เพราะไม่พอใจ itv ตอนนั้น ไม่พอใจกระแสสื่อตอนนั้น ผมไม่ติงเรื่องที่มาที่ไปหรอก แต่ผม อยากพูดให้พี่น้องประชาชนได้เห็นด้วยการพูดเรื่องพวกนี้เป็นประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ มันเป็นแบบนี้ครับ ผมอยู่มาผมทราบ ผมไม่ได้อคติ แต่ผมอยากจะชี้แจงว่าองค์กรแห่งนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรก็ช่าง แต่สุดท้ายแล้วตอนนี้ผลงานของท่านก็ถือว่าผ่านเข้าตา สมาชิก หลายท่านก็พูดเหมือนกันว่าอยากให้มี TV มีองค์กรสาธารณะแบบนี้อยู่ คำว่าองค์กร สื่อสาธารณะไม่ใช่เฉพาะ TV หรือวิทยุนะครับ เป็นได้ทุกสื่อ ทุก Platform YouTube ก็ใช่ TikTok ก็ใช่ ทุกสื่อใช่หมด แต่ว่าการผลิตเนื้อหาที่สำคัญต้องยึดโยงกับประชาชนนี่คือ หลักการ นี่คือคุณค่าที่สื่อสาธารณะจะต้องทำ แล้วผมก็เรียกร้องว่าในการทำงานขององค์กร แบบนี้ต่อ ๆ ไปที่ท่านใช้เงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาทยังทำติดลบเลย แต่ผมก็เห็นว่าท่านหารายได้ จากช่องทางอื่นได้ อันนี้ผมเสนอแนวทางด้วยกันว่าประชาชนยุคข้าวยากหมากแพง ผมก็คิดว่า อนาคตถ้าท่านหารายได้จาก Platform อื่นที่ไม่ต้องไปเสียค่าสัญญาณโทรทัศน์ ไม่ต้องไปเสีย ค่าวิทยุกระจายเสียงท่าน Podcast ท่านทำ YouTube ท่านทำ Multimedia อื่นที่สามารถ เข้าถึงผู้ชมได้ และมีคนดู คนรับชมจำนวนมากก็คุ้มค่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายแล้ว เพียงแต่ว่า องค์กรอาจจะต้องฝึกในการหารายได้ช่องทางอื่นเพื่อไม่เป็นภาระทางภาษี อนาคตท่าน อาจจะค่อย ๆ ลดสัดส่วนลงไปก็ได้ เพราะตามกฎหมายแล้วกระทรวงการคลังมีอำนาจ ทบทวนการให้เงิน เขาบอกไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถึง ๒,๐๐๐ ล้านบาท ให้ ๑,๐๐๐ ล้านบาทก็ได้ ให้ ๕๐๐ ล้านบาทก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ฝาก ตั้งข้อสังเกตไว้ประมาณนี้ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านอาจารย์เจิมศักดิ์ครับ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ขออนุญาตก่อนถึงท่านประธาน จะกล่าวสรุปนะคะ ดิฉันมีประเด็นที่อยากจะตอบชี้แจงท่านผู้ตั้งคำถามเมื่อสักครู่ ท่านแรกเรื่องของการทำ นโยบายแบบขาดดุล ต้องเรียนว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นปีที่ Thai PBS ทำบริการสาธารณะ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลายท่านทราบดีว่าปี ๒๕๖๓ เป็นปีที่ประเทศไทย เผชิญกับวิกฤติโควิดนะคะ แล้วก็เด็กนักเรียนไม่ได้ไปเรียนเป็นเวลาเกือบครึ่งปีด้วยกัน ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ Thai PBS ตัดสินใจว่านี่เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำ TV เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เพื่อมา ทดแทนสิ่งที่เด็ก ๆ ไม่สามารถออกไปเรียนที่โรงเรียนได้ และเราก็พบว่าสื่อการเรียนรู้ แบบ Online ไปไม่ถึงเด็กค่ะ เพราะว่าจริง ๆ ทุกท่านก็ทราบดีว่าสื่อแบบ Broadband หรือ Internet ยังเข้าไม่ถึงประชาชนครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สูงสุดดิฉันคิดว่าประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น Thai PBS จะไม่มีวันทิ้งคน ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ตรงนี้นะคะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงทำบริการ TV เพิ่มขึ้นคือช่อง ALTV ด้วยงบประมาณที่พยายามบริหารแบบให้คุ้มต้นทุนอย่างที่สุด ด้วยการใช้ทรัพยากร ร่วมกับ Thai PBS ในเรื่องของคน แล้วก็เรื่องของเนื้อหาบางส่วนที่เอามา Repackage ใหม่ได้ นอกจากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๖๓ เพื่อรองรับสถานการณ์เด็กหยุดเรียน ช่วงโควิดแล้ว เรามีบริการ Online ครบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะบริการที่เรียกว่า VIPA หรือว่าช่อง Video Streaming หรือจะเรียกว่า OTT ก็ได้ เราเห็นว่า VIPA จะเป็นอีก Platform ใหม่ที่ Thai PBS ไม่ได้มอง Video Streaming เป็นแค่พื้นที่นำเสนอ Content เท่านั้น แต่สิ่งที่เราคาดหวังก็คือเราอยากเห็น Platform หรือ Video Streaming ของคนไทยที่สนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาและ Content Creator ใหม่ ๆ ของคนไทยที่ไม่ต้อง ใช้ทุนจำนวนมากไปแข่งขันกับ Streaming ของ Global Platform ทั้งหลาย อันนี้คือ เจตจำนงของการพัฒนา VIPA ขึ้นมาอีกช่องหนึ่งนะคะ แล้ว Thai PBS เองคาดหวังว่า ถ้าเราทำงานได้ดีเราอยากให้ VIPA เป็นพื้นที่ใหม่ที่ระดมรูปแบบการมีส่วนร่วมได้ทุกรูปแบบ เพราะว่าโดย Platform แล้วมันเอื้อให้รองรับสิ่งเหล่านั้นได้ แล้วก็ไม่ว่าจะเป็น Podcast หรืออื่น ๆ เกิดขึ้นแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ไล่มาจนถึงปีนี้ รวมทั้งอาจจะบอกว่า การลงทุนเพิ่มกับเนื้อหาที่ Thai PBS มองว่าจะมีโอกาสเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในการที่จะ ไปขยายต่อในตลาดต่างประเทศได้ภายใต้ พ.ร.บ. ที่เอื้อให้ทำได้นะคะ ดังนั้นท่านอาจจะ เห็นว่าเรามีละครที่เพิ่มขึ้นและเป็นละครที่พยายามให้ความสำคัญกับเป้าหมายของเนื้อหา ที่ต้องแตกต่างจากละครในช่องพาณิชย์ทั่วไป ตรงนี้ก็อีกเช่นกันค่ะ จริง ๆ แล้วยุทธศาสตร์ การทำละครของเราคือเพิ่มขึ้นมา ๑ วันเลย จากเมื่อก่อนเรามีละครแค่วันเสาร์ วันอาทิตย์ ตอนนี้ละครของช่อง Thai PBS เองก็มี ๓ วันต่อสัปดาห์ และเราหวังให้เนื้อหาละครเหล่านี้ เป็นเนื้อหาที่ส่งเสริมในเรื่องของ Soft Power ที่จะไปสู่ Global Market ด้วย ดังนั้น นโยบายของการวางงบประมาณขาดดุล ดิฉันเรียนว่ากรรมการนโยบายมีมติชัดเจน ให้ฝ่ายบริหารของ Thai PBS ทำงบเข้าสู่สมดุลให้ได้ภายในปี ๒๕๖๘ นั่นคือกรรมการ นโยบายยอมให้ฝ่ายบริหารวางงบแบบขาดดุลไปถึงปี ๒๕๖๘ เท่านั้น ดังนั้นขณะนี้สิ่งที่เรา ลงทุนกับสิ่งที่ดิฉันเรียกว่าเป็น Soft Power ทั้งหลาย หรือทรัพย์สินทางปัญญา ก็เพื่อหวังให้ เราสามารถทำแผนหารายได้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปีนี้ไปจนถึงปีหน้า และปี ๒๕๖๘ จะเป็นปีที่เรา จะพัฒนาแผนหารายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่พระราชบัญญัติรองรับ เพื่อทำให้เราเข้าสู่ งบสมดุลให้ได้ค่ะ ดิฉันก็ขอเรียนชี้แจงเรื่องนี้นะคะ

รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

อีกประเด็นเดียวค่ะ จริง ๆ แล้วดิฉันไม่ได้อยากแก้ข้อมูล แต่อยากเรียนว่า งานวิจัยที่ท่านเอกราชพูดถึงนั้นเป็นเพียงแค่งานวิจัยฉบับเล็กที่ทำเพิ่มเติมขึ้นจากงานวิจัย ฉบับใหญ่ที่ศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ หรือปี ๒๕๔๔ ดิฉันอาจจะจำ พ.ศ. ได้ไม่ชัดนะคะ ดังนั้นก็ขออนุญาตว่ามีงานวิจัยชิ้นใหญ่กว่านั้นที่มีกระบวนการศึกษาและทำงานกันมา จากภาคสังคมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องนะคะ สุดท้ายนี้ขออนุญาตเรียนเชิญท่านประธาน กล่าวสรุปค่ะ

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผมถือว่าวันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ Thai PBS ได้มี โอกาสมารายงานต่อตัวแทนของปวงชน ถือว่าเป็นการรายงานต่อสาธารณชนทั้งประเทศ ท่านประธานครับ ปัจจุบันนี้ Thai PBS มีอายุได้ ๑๕ ปี เป็นสื่อสาธารณะแห่งเดียว ในประเทศไทย และในภูมิภาค รวมทั้งใน ASEAN ถ้าจะเทียบกับสื่อสาธารณะที่เราพูดกันถึง อย่าง BBC NHK สื่อสาธารณะอย่าง BBC มีอายุ ๑๐๑ ปี Thai PBS ๑๕ ปี NHK มีอายุ ๙๗ ปี รองลงไปอย่างของ Canadian Broadcasting CBC มีอายุ ๘๗ ปี และของออสเตรเลีย ABC มีอายุ ๙๑ ปี Thai PBS ใช้เงินสนับสนุน ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ท่านประธานทราบไหมว่า BBC ใช้เงินสนับสนุนเท่าไร ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท Thai PBS ๒,๐๐๐ ล้านบาท NHK ใช้เงินสนับสนุน ๑๖๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบกัน ผมคิดว่า Thai PBS เดินมา ๑๕ ปีได้ดีมากพอสมควร แต่แน่นอนจะเทียบกับ BBC และ NHK อาจจะยังเทียบกันไม่ได้ Thai PBS ตั้งมา ๑๕ ปี ได้เงินสนับสนุน ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วก็ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันนี้ก็ ๒,๐๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานคิดว่า ค่าของเงินเท่ากันไหมครับ ๒,๐๐๐ ล้านบาทเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วถ้าเทียบกับปัจจุบันนี้ก็เหลือ เพียงแค่ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาทเศษ ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง อันนี้ก็เป็น การตอบคำถามในตัวว่า Thai PBS จะเป็นอย่างไรเรื่องการเงิน ขณะเดียวกันเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว Thai PBS มี TV อยู่ช่องเดียวคือช่องหมายเลข ๓ ปัจจุบันนี้ Thai PBS มี TV ๒ ช่อง หมายเลข ๓ และมี ALTV หมายเลข ๔ ยิ่งกว่านั้นเมื่อ Digital เทคโนโลยีเฟื่องฟู Thai PBS ก็ต้องเข้าไปยึดหรือเข้าไปแทรกอยู่ใน Digital TV Online ทั้งหลาย Thai PBS จึงมีทุก Platform ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube TikTok หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านลองดูได้ว่า Thai PBS ก็ได้ทำ และในรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปก็เพื่อให้ประชาชน มีทางเลือกสื่อที่เป็นสื่อสาธารณะ ที่ไม่ถูกอิทธิพลทั้งทางพาณิชย์และในทางการเมือง เพราะฉะนั้นเงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาทที่เรียนมาก็ตอบคำถามอยู่ในตัวว่าจะทำอย่างไรต่อไป ท่านประธานครับ Thai PBS ยังมีภารกิจที่จะต้องเดินต่อ เพราะฉะนั้น Thai PBS ก็ต้อง พยายามคิด ถ้าจะทำตามพระราชบัญญัติอย่างที่ สส. บางท่านบอกว่าให้สามารถที่จะ Revised หรือทบทวน หรือขอให้รัฐบาลทบทวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพราะเหตุว่าภาวะ เงินเฟ้อที่มันเกิดขึ้นก็ทำได้ แต่ถ้าดูภาระของประเทศ Thai PBS จึงพยายามที่จะช่วยตัวเอง พยายามที่จะเอาเงินสะสมมาใช้บางส่วน ในขณะที่มีภารกิจเพิ่มขึ้นอย่างที่ท่านผู้อำนวยการ ได้พูดเมื่อสักครู่นี้ในปี ๒๕๖๓ ที่เราเกิดปัญหาเรื่องโควิด และยิ่งกว่านั้น Thai PBS กำลัง คิดว่าเราจะต้องหา Partner หาองค์กรที่มาร่วมกันในการทำงาน เพราะเราอยากจะทำงาน เพิ่มเติม จะได้มีองค์กรที่มาร่วมกันในการทำงานเพิ่มด้วย เพราะฉะนั้นในอนาคตก็คงจะเป็น ในทำนองนี้ครับ ท่านประธานครับ แม้ TV จะลดระดับความสำคัญลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ ไม่ดู TV ต้องพูดความจริง แต่คนอายุตั้งแต่ ๔๐ ปี ๔๕ ปีขึ้นไปยังต้องอาศัยข่าวสารจาก TV จากโทรทัศน์ โดยเฉพาะ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ TV ก็ยังทิ้ง ไม่ได้ จะไปในทาง Online อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น TV ก็ยังต้องทำ ท่านประธานครับ ในปี ๒๕๗๒ อีก ๖ ปีข้างหน้า License หรือใบอนุญาต TV Digital ทั้งหลายใน TV พาณิชย์ จะหมดลง ท่านเดาได้ไหมว่า TV จะล้มหายตายจากไปอีกเท่าไร เพราะขณะนี้มีหลายช่อง ทำไปร้องไห้ไป TV อาจจะเหลือเพียงแค่ ๔-๕ ช่อง เพราะฉะนั้น Thai PBS ก็คงต้องยืนหยัด ที่จะเป็น TV เพื่อข่าวสารสาระของประชาชนต่อไป

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผู้อำนวยการได้พูดแล้วว่าในทางเศรษฐศาสตร์แล้วเรามี Market Failure ปกติระบบตลาดมันสามารถจะทำงานว่าถ้ามีคนต้องการแบบไหน ผู้ผลิต ก็จะหันไปทำแบบนั้น แต่มันมีเรื่องของเด็ก เยาวชน รวมทั้งคนเล็กคนน้อย คนชายขอบ คนที่ขาดอำนาจซื้อ ระบบตลาดไม่ทำงานครับ เพราะเขาไม่มีอำนาจซื้อ เพราะฉะนั้น TV พาณิชย์เขาสนใจได้ลำบากมาก เพราะ Agency ก็ดี การโฆษณาก็ดี เขาอยากจะโฆษณา ที่คนที่มีอำนาจซื้อ ก็เป็นภารกิจของ TV สาธารณะอย่าง Thai PBS ที่จะต้องเข้ามารองรับ อย่างนี้ ท่านประธานจะเริ่มมองเห็นแล้วใช่ไหมว่าทำไม Thai PBS จึงมีภารกิจไม่ใช่ เพียงแค่ทำ TV แล้วให้มีคนดูเฉย ๆ แต่ท่านประธานครับ ทำ TV ก็อยากให้มีคนดู และท่าน ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่บอกว่าทำไม Thai PBS เป็น TV ที่ดีแต่ว่าคนดูน้อย ผมเรียนครับ ผมได้ยินท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่พูดถึง Thai PBS มีข้อดีเยอะแยะเลย แสดงว่าท่านดู ที่ผมพูดนี้ไม่ได้ต้องการจะย้อนยอกท่านเลย แต่จะบอกให้ว่าขณะนี้ Thai PBS คนที่ดู Thai PBS คือคนที่เป็นผู้นำทางความคิดของสังคมแล้วไปขยายผลต่อ ท่านประธานครับ ขณะนี้ ท่าน สส. บางท่านก็บอกแล้วว่าไม่มีเวลาดู แต่ก็ดูย้อนหลัง เพราะฉะนั้นการดู Rating ที่เขาดูจาก ผมไม่อยากจะเอ่ยนามนะครับ มันมีหน่วยงานเอกชนที่เขาวัด Rating เขาเอา กล่องไปติดตามบ้าน ๑,๐๐๐ กว่ากล่องทั้งประเทศ แล้วกล่องหนึ่งให้คนมากด ๔ คน หมายความว่าถ้าพ่อจะดูกดเบอร์ ๑ แม่จะดูกดเบอร์ ๒ ลูกจะดูกดเบอร์ ๓ และเบอร์ ๔ เพราะฉะนั้นเวลาที่ดูใน Real time เวลาที่ท่านจะดูตรงไหน ถ้าพ่อดูอยู่ แม่ก็ดูไม่ได้ หรือแม่ดูอยู่ พ่อก็ไม่กล้าดู หรือลูกก็ไม่ได้ดู เพราะฉะนั้นการวัดแบบนี้เป็นการวัดที่ในทางสถิติแล้ว เชื่อถือได้ยาก เพราะฉะนั้นเวลาที่จะดูตรง Rating โดยที่วัดอันนี้ ถ้ากลับไปดูใหม่ที่ท่าน บอกว่าไปดูย้อนหลัง จะเป็นอีกคนละเรื่องกันเลย แล้ว สส. บางท่านก็บอกเองว่า Thai PBS ไม่ค่อยมี Drama ธรรมชาติของมนุษย์ที่มี Drama เรื่องนิดเดียวขยายกันไป เรื่อย ๆ อย่างที่ท่านพูด ผมไม่อยากจะพูดซ้ำ มันทำให้คนติดตาม และขณะเดียวกันที่สังคม มีความแตกแยกทางความคิด คนอยากจะดูสื่อที่สะท้อนความคิดของตัวเอง เพราะฉะนั้น สื่ออย่าง Thai PBS ที่พยายามจะเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง คนก็จะมีความรู้สึกว่าอยากจะไปดู ที่เลือกข้าง เพราะมันเป็น Echo Chamber ก็คือไปสะท้อนความคิด ความพอใจของตัวเอง และถ้าสื่อที่อยากจะได้คนดูเยอะ ๆ ผมทำสื่อมา ๓๐ ปีทราบครับ ถ้าเราบวกเรื่อง Sex กับเรื่องความรุนแรง มันเป็นสันดานดิบของมนุษย์ที่ชอบเรื่อง Sex กับเรื่องความรุนแรง มันเป็นชูรสมันน่าดู แต่ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ว่าถ้า Thai PBS เป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องมี Thai PBS เพราะไปดูที่อื่นก็ได้ เพราะเขาก็จะใส่ชูรสเต็มไปหมด อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเลือก Target Group ว่า Thai PBS ต้องการจะถึงใคร และเขา จะได้ไปใช้สาระความรู้ไปเผยแพร่ต่ออย่างไร อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าท่านหยิบประเด็น ได้ดีว่าใคร ๆ ก็อยากเห็นรายการดี แล้วก็มีคนดูเยอะ ๆ ด้วย ไม่มีใครหรอกทำไปแล้ว ก็ไม่อยากให้คนดูไม่มาก แต่มันก็มีปัจจัยอย่างที่ผมพยายามจะวิเคราะห์ให้ท่านฟังนะครับ

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ประเด็นถัดไปที่ผมอยากจะเรียนก็คือว่าในสถานการณ์ วิกฤติมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทย Thai PBS เป็นที่รู้จัก เป็นที่พึ่งพามากขึ้น เรื่อย ๆ ท่านจะลองสังเกตดูไหมว่าบ้านเมืองถ้าเกิดวิกฤติดิน ฟ้า อากาศ ภัยพิบัติ โลกร้อน เกิดเมื่อไรทุกคนก็จะวิ่งเข้ามาหา Thai PBS เพราะว่าเชื่อถือได้ เมื่อมีการวิกฤติการเมือง ระหว่างประเทศหรือในประเทศไทย ท่านทั้งหลายพูดว่าก็หันมาดู Thai PBS แม้แต่ ในสภาแห่งนี้เวลานับคะแนนยังดู Thai PBS เพราะเชื่อถือได้ ไม่ต้องรวดเร็ว แต่เชื่อได้ และขณะเดียวกันเมื่อเกิดวิกฤติอาชญากรรมข้ามชาติ หรือมีการยิงกราดคนก็จะตามมาดูที่ Thai PBS มีวิกฤติสิทธิมนุษยชนคนกลุ่มน้อย หรือว่าสังคมสูงวัย คนก็จะหันกลับมาดูที่ Thai PBS ซึ่งมันบอกหลายอย่างว่าเราต้องมี TV ที่เป็นที่น่าเชื่อถือ และขณะเดียวกัน อย่างที่ท่านผู้อำนวยการได้เรียนท่านผู้ทรงเกียรติแล้วว่าเราได้รับความน่าเชื่อถือจากสถาบัน REUTERS ๒ ปีซ้อนที่มาเป็นอันดับ ๑ Thai PBS ยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างที่ ท่านพูด ซึ่งผมดีใจมากว่าท่านเองก็จับประเด็น และท่านทั้งหลายในห้องนี้ดู Thai PBS จึงจับประเด็นพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัทลุงที่ท่านพูดถึง เรื่องคนจนเมือง เรื่องสถานี ประชาชน เรื่องคนหาย เรื่องการเตือนภัยพิบัติ หนี้นอกระบบ อย่างนี้เป็นต้น Thai PBS ได้พยายามที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี และพยายามที่จะกระจายไปยัง Thai PBS ภูมิภาค และท้องถิ่น เราเน้นที่ขณะนี้มี Thai PBS ไปส่งเสริมให้เกิดสื่อ Online ที่ยึดจรรยาบรรณ จริยธรรมเหมือนกับ Thai PBS เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับที่ท่านแนะนำแล้วก็สนับสนุน Thai PBS มีนักข่าวพลเมืองทั่วประเทศถึง ๖,๐๐๐ คน แล้วก็มีผู้ผลิตรายการอิสระ ที่พยายามจะยึดหลักการในการทำสื่อที่ดีเหมือนสื่อสาธารณะ Thai PBS มีสภาผู้ชมผู้ฟัง ที่จะรับฟังเสียงสะท้อนให้สภาผู้ชมผู้ฟังที่มีอยู่ ๕๐ คน ไปรับฟังจากประชาชนผู้ชมผู้ฟัง และสะท้อนกลับเข้ามา เป็นสถานีหรือเป็นองค์กรสื่อแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสภาผู้ชม ผู้ฟัง แต่อยากจะกราบเรียนความแตกต่างนิดเดียว เขาไม่ได้เป็นสภา คือเป็นตัวแทนของผู้ฟัง เหมือนกับท่านทั้งหลายที่มาจากการเลือกตั้งในที่นี้ แต่เราเรียกเขาว่าสภาผู้ชมผู้ฟัง แต่เขา ไปทำหน้าที่ในการไปรับฟังความเห็น ข้อติติง และเสนอกลับเข้ามานะครับ เพราะฉะนั้น Thai PBS เป็นสื่อสาธารณะ ปัจจุบันนี้เป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกในภูมิภาค ASEAN เรามุ่งหวังว่าจะให้ Thai PBS โดยเฉพาะ Thai PBS World อย่างที่ท่านพูดเป็นสื่อต้นแบบ ใน ASEAN แล้วจะเน้นช่องทาง Soft Power ซึ่งที่ท่านแนะนำมาก็ตรงกัน แล้วก็จะรับ ข้อคิดเห็นพวกนี้ไปด้วยนะครับ แล้วก็สุดท้ายครับ Thai PBS ยังต้องทำงานหนัก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไว ท่านทั้งหลายคงรู้ว่า ๔-๕ ปีเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างไม่เห็นหน้า เห็นหลัง Thai PBS จำเป็นที่จะต้องปรับองค์กรให้เป็น Digital Transformation ให้คนในองค์กร รองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยน โดยเฉพาะเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายครับ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องเดินต่อไปในอนาคตเพื่อทำให้ Thai PBS ได้เข้าไป ช่วยสังคม เป็นสื่อที่ไว้วางใจได้ แล้วก็เป็นสื่อ Online สื่อ Digital ที่ไว้วางใจได้ นอกจาก จะเป็น Thai PBS ช่อง ๓ หรือช่อง ๔ เท่านั้น ข้อคิดความเห็นของท่านทั้งหลายผมว่า เป็นประโยชน์นะครับ ก็ต้องกราบขอบพระคุณ แล้วก็สัญญาว่าจะปรับปรุงและพัฒนา สื่อสาธารณะแห่งนี้ให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน และเป็นสื่อสาธารณะของภูมิภาค และของ ASEAN ให้ได้ครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณอาจารย์ครับ ไม่มีท่านใดติดใจสงสัยแล้วนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ ท่านบอกชื่อด้วยครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

ผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ผมนั่งฟังท่านผู้ชี้แจงตั้งแต่ท่าน ผอ. ท่านอาจารย์เจษฎา อาจารย์ทนายความของผม รวมทั้งท่านดอกเตอร์เจิมศักดิ์ที่เป็น Idol ของผม ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ สิ่งที่ผมถามท่านไว้ ท่านยังไม่ตอบผมเลย ที่ผมขอสัญญาท่านไว้ท่านยังไม่ให้ผมเลย ว่าปีหน้าท่านจะทำ Rating ให้มากกว่านี้ เพราะเหมือนที่ท่านชี้แจงทำนองว่าท่านยอมจำนนกับจำนวนคนดูแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยตรรกะ ด้วยความเชื่อของท่านที่จะชี้นำให้สมาชิกในสภา แห่งนี้ยอมจำนนกับท่าน ยอมจำนนในจำนวนผู้ดูแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ว่าเหตุผลด้วยของ งบประมาณ ด้วยอะไรก็แล้วแต่ของท่าน แต่ผมว่าสื่อที่ดีมันต้องมีคนดู หน้าที่ท่านผมเรียน ท่านเมื่อสักครู่นี้ว่าคนเรามีแขนข้างซ้าย มีขาข้างซ้าย มีแขนข้างขวา มีขาข้างขวา แขนขวา ขาขวาท่านดีแล้วคือเนื้อหา แต่แขนซ้ายขาซ้ายที่จะพาคนมาดูท่านยังไม่ทำ ขยับแขนซ้าย ขยับแขนขวาอีกนิดนะครับ ผมเชื่อว่าด้วยศักยภาพของท่าน ลดทิฐิด้วยความเคารพนะครับ ลดทิฐิความคิดของท่าน ลดความจำนนต่อจำนวนคนดูตรงนี้ไว้ก่อน แล้วคิดสิว่าด้วยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ของท่าน จะทำอย่างไรให้คนดูมากขึ้นกว่านี้ แล้วปีหน้าผมขอ ของขวัญนะครับอาจารย์ให้คนดูมากกว่านี้ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญอาจารย์ครับ

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผมให้สัญญาว่าจะพยายามอย่างสุดความสามารถ แล้วก็ผมคิดว่า อยากจะต้องพึ่งพาท่าน สส. ทั้งหลายด้วยนะครับ เพราะสื่อสาธารณะไม่ใช่สื่อของผม ไม่ใช่สื่อของอาจารย์วิลาสินีหรือพวกเรา เมื่อท่านเห็นว่าสื่อนี้ดีน่าเชื่อถือ แต่จะทำอย่างไร ให้คนดู เราต้องช่วยกันใช่ไหมครับ ก็อยากจะเชิญชวนคุณเกียรติคุณด้วยว่าเข้ามาช่วยกัน มันไม่มีผลประโยชน์อะไร นอกจากผลประโยชน์ของสาธารณะ ท่านพยักหน้าผมก็ดีใจนะครับ แล้วก็อยากจะเรียนตอบอีกข้อหนึ่งที่บังเอิญผมลืมตอบ ท่านพูดถึงเรื่องว่าผมอยู่สภานี่ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเรื่องสภาผัวเมีย ท่านจำได้ใช่ไหมครับ รู้สึกจะเป็นคุณเอกราชเป็นคนพูด แล้วก็พูดในทำนองว่ากรรมการสรรหา สรรหากรรมการนโยบาย ได้พวกผม ๙ คนไปเป็น กรรมการนโยบาย และในกรรมการสรรหานั้นมี สสส. ผู้อำนวยการ สสส. เป็นกรรมการ สรรหา ผมเรียนอย่างนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดไว้ตัวคนอยู่ ๑๕ คนที่จะเป็นกรรมการ สรรหา กรรมการนโยบาย อันประกอบไปด้วยผู้แทนของสมาคมสื่อทั้งหลายทุกประเภทรวมกันทั้งหมด ๔ คน ผมไม่ต้องลงรายละเอียดนะครับ ดูใน พ.ร.บ. มี ๔ ตำแหน่ง แล้วก็มีจากภาคประชาสังคม ๖ ตำแหน่ง ตัวประธานตัวอะไรต่ออะไรของภาคประชาสังคมทั้งหลายรวมเป็น ๑๐ คน แล้วมีภาครัฐ ๕ คน อันประกอบไปด้วยปลัดกระทรวง ๔ คน และมีผู้อำนวยการ สสส. อีก ๑ คน คือภาครัฐมี ๕ คน เพราะฉะนั้นท่านลองคิดดูสิว่าผู้อำนวยการ สสส. คนเดียว ซึ่งปกติท่านก็ไม่ได้มา เขาส่งผู้แทนของ สสส. มา และผู้แทนของ สสส. ก็ต้องได้รับอนุมัติ จาก Board ของ สสส. ที่จะส่งผู้แทนมา แล้วกฎหมายนี้ตั้งมาเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ไม่ใช่ เพิ่งมีใครไปสร้างกฎหมายที่จะเอาผู้อำนวยการ สสส. มาเป็นคนสรรหา แล้วก็กลายเป็นว่า คณะกรรมการสรรหา ๑๕ คน เลือกกรรมการนโยบาย ๙ คน แล้วในกฎหมายเขียนว่า ให้กรรมการนโยบายเป็นคนสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ ซึ่งกรรมการ นโยบายที่ผมเป็นประธานพวกเราอยากจะให้ทุกอย่างมันเปิดเผย ให้ทุกอย่างมันโปร่งใส และไม่อยากที่จะเป็นคนสรรหาเอง เมื่อมีอำนาจการตั้งระบบในการสรรหา จึงได้ตั้ง กรรมการสรรหาขึ้นมา ๙ คน เมื่อชุดที่แล้วเขาตั้งกรรมการสรรหา ๖ คน ผมตั้งกรรมการ สรรหา ๙ คน และใน ๙ คนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าเอ่ยชื่อมาท่านก็รู้จัก และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สรรหามาและให้กรรมการนโยบายรับรอง ให้กรรมการนโยบายเห็นชอบ ตกลงอย่างนี้ มันจะเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ที่บอกว่า สสส. ไปตั้งผม ตั้งกรรมการนโยบาย สรรหา กรรมการนโยบาย และกรรมการนโยบายก็ไปแต่งตั้งหรือสรรหาผู้อำนวยการ ซึ่งบังเอิญ ผู้อำนวยการเป็นญาติพี่น้องกับ สสส. ผมคิดว่ามันไกลพอสมควร แต่คิดได้ครับ แต่ก็ขออนุญาต ท่านประธานชี้แจงว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ แล้วกฎหมายนี้มันมา ๑๕ ปีแล้ว ใครจะไป วางแผนเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว แล้วระบุไปเลยว่า สสส. เป็นหนึ่งในกรรมการสรรหา กรรมการ นโยบาย แล้วก็กรรมการนโยบายเป็นคนที่จะไปกำหนดตัวหรือไปสรรหาแต่งตั้งผู้อำนวยการ เพราะฉะนั้นคิดได้ แต่ผมก็อธิบายให้ท่านเพื่อทำความเข้าใจนะครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตใช้เวลา ไม่เกิน ๒ นาทีครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ

นิดเดียว ๒ นาทีครับ เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม นพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๔ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมมีข้อ Comment และข้อ Recommend ให้กับท่านผู้ชี้แจงนิดเดียว คือผมขอชื่นชมจริง ๆ ทาง Thai PBS ในรายงานฉบับนี้ทำมาได้ดีมาก ในช่วงอภิปรายที่ผ่าน มาผมถึงไม่มีประเด็นที่ต้องการอภิปรายเลย แต่ว่าผมขอแชร์ Recommend นิดหนึ่งครับ ส่วนตัวผมนี่ เชื่อไหมรายการของ Thai PBS รายการหนึ่งชื่อบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย รายการนี้ทำให้ลูกสาวผมเลิกดูการ์ตูนไปเลย กลับมาถึงบ้าน กลับจากโรงเรียน ป๊ะป๊าเปิดดู ขอดูรายการนักวิทยาศาสตร์น้อย นี่คือจุดเด่นของ Thai PBS มีกลุ่มตลาด กลุ่มผู้บริโภค ที่เขาติดตามอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือว่าแต่ละ View แต่ละ Clip ที่ผมดูใน YouTube อันนี้ ผมดูผ่าน Platform YouTube ยอด View อยู่แค่ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ไม่เกินนี้ อันนี้คือปัญหา ก็อยากจะเสนอแนะฝากทางท่านผู้ชี้แจงว่าถ้าเราจะ Scope แล้วทำงาน On Ground เพิ่มเครือข่ายกับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้มากกว่าเดิม อย่างเช่นมีการไปร่วมมือกับทางกลุ่ม โรงเรียนต่าง ๆ หรือทางกระทรวงศึกษาธิการให้นำทีมงานเข้าไป Workshop หรือว่า จัดรายการร่วมกับโรงเรียน ผมก็เชื่อว่าน่าจะขยายฐานกลุ่มผู้ชมรายการได้มากขึ้น ก็ขอเสนอแนะไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

คงไม่ต้องตอบ ขอฝากนะครับ ก็ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยแล้ว ต้องขอขอบคุณผู้แทนของหน่วยงานนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๑๔ รับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ รับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรขาดทุน ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ รายละเอียดตามเอกสารที่ท่านสมาชิก ได้รับทราบแล้วนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เนื่องจากมีท่านสมาชิกติดใจซักถาม ผมจึงได้อนุญาตให้ผู้แทนจากธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อ ๗๖ เชิญท่านประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการ ท่านโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ท่านกัลยา เฉลิมโชคชัย ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ นายเจษฎา เงินสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ท่านปพัฒทรี กลางใจ ผู้อำนวยการ เชิญเข้าประจำที่นะครับ ท่านมีข้อชี้แจงสัก ๕ นาทีไหม จะชี้แจงก่อนไหมครับ หรือว่าจะให้ ซักถามเลย

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ซักถามได้เลยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็มีท่านสมาชิกได้ลงชื่อขออภิปรายนะครับ ท่านแรก ท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ ๗ ประกอบไปด้วยอำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง ๑ ตำบลคือตำบลหนองไผ่ ท่านประธานครับ ผมใคร่ขออนุญาตอภิปรายเรื่อง SME เอาสั้น ๆ นะครับ SME คือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย ผมได้อ่านรายงานของธนาคาร SME หน้า ๓๓ ทราบว่ามีการก่อตั้ง เมื่อปี ๒๕๔๕ ช่วงนั้นอยากจะขอกราบเรียนว่ามันเป็นวิกฤติพอสมควรในช่วงตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ ปี ๒๕๔๒ ปี ๒๕๔๓ พอปี ๒๕๔๔ ก็เข้ามา มันก็มีส่วนหนึ่งสำนักงานเล็ก ๆ เป็นบรรษัทเล็ก ๆ อยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผมทราบว่ารัฐบาลชุดนั้นโดยการนำของ ท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้เล็งเห็นว่าผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทุน และเพื่อที่จะสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ผู้ประกอบการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้ บัญชาการให้ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ผมทราบว่าท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ท่านมนู เลียวไพโรจน์ เป็นปลัดกระทรวง ต้องย้อนกลับมาว่าธนาคาร SME ซึ่งได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้นมา และได้มีการประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๔๕ งบประมาณ อุดหนุนจากกระทรวงการคลัง จากรัฐบาลเต็ม ๆ เลยจนถึงปัจจุบันนี้ ผมอยากจะขอ กราบเรียนว่าเจตนารมณ์ของท่านทักษิณ ชินวัตร ในคราวนั้นต้องการสร้างจริง ๆ สร้างผู้ประกอบการเล็ก ๆ จริง ๆ นะครับ ธนาคารนี้เป็นสถาบันการเงินที่มีวัตถุประสงค์ ในทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก ในด้านสินเชื่อและการลงทุนเพื่อเป็น การเพิ่มโอกาสในแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่ได้รับ การบริการจากสถาบันธนาคารใหญ่ ๆ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป อันนี้วัตถุประสงค์ในจุดนี้นะครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ SMEs มีความสำคัญอย่างมากต่อฐานรากของประเทศ และเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต และตรงจุดนี้พวกคนรุ่นใหม่ หรือหนุ่ม ๆ สาว ๆ ทั้งหลายไม่ต้องการจะไปทำงานบริษัทใหญ่ ๆ หรือเงินเดือนเยอะ ๆ ต้องการเป็นเจ้าของกิจการของเขาเอง แต่พวกเขาอยากเป็นเถ้าแก่แล้ว เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน อะไรลักษณะอย่างนี้นะครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้พวกเขาก็มีสิทธิมีเสียงในการที่จะดำเนินการ ของเขาเอง ตัดสินใจในการบริหารธุรกิจของตนเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือแหล่งเงินทุนครับ พอแหล่งเงินทุนไม่อนุญาต เรียนท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงนะครับ ผมตั้งข้อสังเกต ๒ ประการ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการแรก บทวิเคราะห์กับปัจจัยผลกระทบที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจของไทย ระยะนี้ยังมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น สืบเนื่องจากภายนอกประเทศ และการชะลอตัว การคาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนเกี่ยวกับเรื่องตลาดการเงินของโลก รวมถึงการเสี่ยงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซียและยูเครน และสงครามการค้าที่ยัง หาข้อสรุปไม่ได้นะครับ ท่านประธานครับ ยังมีข้อเสี่ยงปัจจัยภายในประเทศอีก เช่น การลดลงของแรงขับเคลื่อนในการใช้จ่ายของภาครัฐ การลดลงของกรอบวงเงินใช้จ่าย ปี ๒๕๖๖ และการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า งบประมาณปี ๒๕๖๗ ก็ยังไม่ได้ขึ้น คลอดช้ามาก แต่ในขณะเดียวกันมันกำลังจะเริ่มขึ้นมาแล้ว ทำให้ไม่มีเม็ดเงินอัดฉีดไปกระตุ้น SMEs หรือภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและธุรกิจกำลังอยู่ในระดับสูงมาก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้น ของดอกเบี้ยและนับวันจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับ เรื่องหนี้เสียสูงนะครับ เนื่องจากปล่อยกู้โดยไม่มีคุณภาพเท่าไร อาจจะมีผู้มากบารมี แนะนำไปก็จัดจ่ายกันไป คือต้องการจะให้มีความเสมอภาค ไม่มีธุรการอื่น ๆ เหมือนกับ ธนาคารโดยทั่วไป เช่น บัตรเครดิต Finance ประกัน มีแต่สินเชื่อในการรับฝากเงิน มีแต่ สินเชื่อแต่ไม่มีการรับฝากเงิน ก็เป็นเรื่องปกตินะครับ ผมอยากจะให้ SME เหมือนคล้าย ๆ กับ ธ.ก.ส. แต่ให้ผู้ประกอบการอย่างนี้ ธ.ก.ส. นี่ถือว่าเป็นหัวใจของคนรากหญ้าจริง ๆ SME ก็เป็นหัวใจของคนขนาดกลาง ขนาดย่อม และอาจจะเติบโตในอนาคตได้ ผมอนุญาตเรียน ท่านประธานไปหาผู้ชี้แจงนะครับ ท่านมีแนวทางนโยบายใดเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง และถ้ามีท่านจะดำเนินการอย่างไรในภาคธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือ และไม่ได้รับ ผลกระทบเกิดจากปัจจัยความเสี่ยงที่ผมได้กล่าวมาเบื้องต้น ผมขออนุญาต คือยุคนี้มันเป็น ยุค Digital มันยุคสมัยใหม่ และท่านก็รายงานเข้ามาบอกว่าจะนำเรื่องต่าง ๆ เข้ามานะครับ เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตไปเร็ว ๆ เลย เวลาน้อย ถามท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าธนาคาร SME มีความพร้อมที่จะป้องกันความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีภัยคุกคามทาง Cyber ด้วย สำคัญที่สุด ในรูปแบบต่าง ๆ ของเหล่ามิจฉาชีพนับวันยิ่งจะมีความรุนแรงไว้อย่างไรบ้างครับ สุดท้ายผมขอให้กำลังใจธนาคาร SME นะครับ เพราะทั้งผู้บริหารและพนักงานทุกท่าน ที่ท่านเป็นธนาคารให้ความสำคัญกับแหล่งเงินทุนให้พี่น้องประชาชน ต่อลมหายใจกับพี่น้อง ประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น วิกฤติเศรษฐกิจเผชิญมาไม่ว่าจะเป็นโควิด ไม่ว่า จะพี่น้องประชาชน จากสถานการณ์สภาพล้มละลายขายของไม่ได้ เงินไม่พอกิน ไม่พอใช้ ไม่มีเงินหมุนเวียน กู้หนี้ยืมสิน ทำให้ SMEs ไทยประสบปัญหาอย่างหนักแสนสาหัส ท่านประธานครับ การที่พวกเขาล้มเจ๊งระเนระนาดนั้นเกิดจากที่พวกเขาไม่มีวินัยทางการเงิน ก็ไม่ใช่ครับ เกิดจากการที่พวกเขาทำงานน้อย ไม่ยอมทำงานหนักหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ครับ แต่เกิดจากการต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเพียงครั้งเดียวในชีวิต ไม่ว่าจะเกิดจาก การที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดก่อนหรือวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จะต้องเกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ ฝากเรียนไปถึงท่านผู้ชี้แจง ท่านสบายใจได้ พรรคเพื่อไทยโดยการนำของท่านเศรษฐา ซึ่งเราได้รับโปรดเกล้าฯ แล้ว เพราะฉะนั้นนโยบายในการช่วยเหลือสนับสนุนพี่น้องประชาชนที่มีความฝันอยากจะเป็น เจ้าของธุรกิจ มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า ธุรกิจ SMEs เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการแก้ปัญหา NPL หรือการแก้ปัญหาหนี้เสีย Credit Bureau เกิดขึ้นในวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติที่ผ่านมา มันมีปัญหาเรื่อง Bureau และเกิดจากสิ่งที่ไม่คาดฝัน ทำให้เกิดประวัติไม่ดี SME เราก็ต้อง ทำอย่างไรดี ลบทิ้งได้ไหม Bureau เพื่อให้โอกาสพวกเขาต่อลมหายใจ มีโอกาสทำธุรกิจ ใหม่ ๆ เพราะไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของพวกเขาเลยครับ อันนี้เห็นใจผู้ประกอบการ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้โดยการนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน ธนาคาร SME จะสามารถ ทำงานวางกรอบนโยบายในการทำอย่างแท้จริงและเป็นการฟื้นฟูสนับสนุนให้ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs มีรายได้มากขึ้นสามารถผลักดันสินค้าผลิตภัณฑ์ หาตลาดและบริการนำต่อผู้บริโภค และตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างงานอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในภูมิภาค ให้มีความอยู่ดีกินดี สร้างรายได้อย่างมหาศาลกลับคืนสู่ประเทศครับ ผมขอขอบคุณผู้ชี้แจง และขอขอบคุณท่านประธาน แต่เพียงแค่นี้ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับต่อไป ท่านภัณฑิล น่วมเจิม ครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย เขตวัฒนา รบกวนฝ่ายโสตขอ Slide ด้วยนะครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็ขออนุญาตเรียนผ่าน ท่านประธานไปยัง SME Bank ในเรื่องของการรับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุลบัญชี กำไรขาดทุน ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เราเรียกกันว่า SME

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คงเป็นเรื่องของผลการดำเนินงาน เงินให้สินเชื่อวงเงินที่มี ในรายงานปรากฏอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ก็มีการเบิกใช้จริงออกไปประมาณแค่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็อาจจะด้วย Product ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ SME ก็มีทั้ง OD ทั้ง Factoring ก็อาจจะมีการเบิกออกมาไม่หมด แต่อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือจำนวนลูกค้าที่อยู่ ในรายงานประจำปีของท่าน ๘๐,๐๐๐ ราย มีการเบิกใช้วงเงินออกไปจริง ๆ ประมาณแค่ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามว่าประสิทธิภาพในการที่จะปล่อยสินเชื่อออกไป จริง ๆ ในจำนวนเม็ดเงิน ดูในเรื่องของวงเงินด้วย แล้วก็จำนวนด้วย มันไปด้วยกันหรือเปล่า หารออกมาต่อรายความจริงแค่ ๕ ล้านกว่าบาท ถ้าเผื่อรายหนึ่ง ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท หาร ๑๒,๐๐๐ กว่าราย จะตกอยู่ประมาณ ๕ ล้านบาท นี่คือค่าเฉลี่ย Port ของท่าน หน้าต่อไปเลยครับ ก็เป็นเรื่องของคำจำกัดความว่าตามคำจำกัดความของ สสว. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ก็จะมีเรื่องของรายได้ แล้วก็เรื่องของการจ้างงาน ว่าถ้าเผื่อเป็น ภาคบริการหรือภาคการผลิตก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างเล็กน้อย ขนาดย่อม ขนาดกลาง ก็อาจจะไปได้จนถึงรายได้ถึง ๕๐๐ ล้านบาท ในจำนวนการจ้างงานไม่เกินหลัก ๑๐๐ คน อันนี้ก็เป็นเกณฑ์ทั่วไปซึ่งก็จะอยู่ในรายงานของท่านเหมือนกัน แต่จริง ๆ พอพลิกไปดูหน้า ต่อไปนี้ก็จะเจอปัญหา ผมก็พยายามจะสุ่มดูว่าลักษณะ Portfolio ลูกค้าของท่านเป็นอย่างไร ก็เจอบริษัทหนึ่งชื่อ บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบริษัทที่หลายท่านคงรู้จัก เป็นบริษัทที่เป็น Brand แล้วก็อยู่มานาน ก็เดาได้ว่ามีรายได้ค่อนข้างสูง เป็นบริษัทมหาชนด้วย จริง ๆ รายได้เขาปีหนึ่งก็เป็นหลักหลายร้อยล้าน ก็เข้าใจว่าน่าจะเกินเกณฑ์ด้วย ก็ไม่แน่ใจ เหมือนกันว่าท่านปล่อยลักษณะบริษัทแบบนี้ได้อย่างไร ไปร่วมลงทุนเขาด้วยนะครับ ความจริง เขาไม่ได้ลำบาก เพราะเขาสามารถเข้าถึงธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ได้อยู่แล้ว อันนี้ตอบโจทย์ พันธกิจท่านหรือเปล่าไปร่วมลงทุนกับบริษัทค่อนข้างใหญ่รายได้ ๕๐๐-๖๐๐ ล้านต่อปี เขาคงไม่ได้ลำบากอะไรในการจะเข้าถึงทุนอยู่แล้วนะครับ Slide ต่อไปเลยครับ จริง ๆ แล้ว Port ของท่านควรจะไปทางไหน อันนี้ก็เป็นลักษณะของผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป ในประเทศไทยก็จะเป็นภาคบริการเยอะ แล้ว Port ของท่านก็ไปทางภาคบริการค่อนข้างเยอะ แต่ในเชิงของกลยุทธ์แล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไหน Sector ไหน ที่มี ศักยภาพ แล้วเราต้องการจะไปส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันนะครับ ไม่อย่างนั้น ก็จะเป็นภาคบริการไปหมด

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ขอตั้งคำถามก็คือ SME ที่ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ มีหลายบริษัทไม่ส่งงบ ล้มละลาย พิทักษ์ทรัพย์ ตั้งแต่ปีไหนแล้วด้วย ผ่านมากี่ปี ท่านจะทำ อย่างไรกับบริษัทเหล่านี้ ท่านไปร่วมลงทุนด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่ปล่อยเงินกู้ มูลค่าก็คง สะท้อนมาในหน้าถัดมาคือ NPL เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นประมาณ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมดูไตรมาสล่าสุดก็ไม่ได้ ลดลง แล้วท่านก็เขียนไว้ใน Comment จะอยู่ในหน้าถัดไป ว่าก็มีความเสี่ยงหลังจากผ่าน วิกฤติโควิดอะไรกันมา ก็มีความเสี่ยงที่จะขึ้นไปได้ถึงหลายหมื่นล้าน มันมีตั้งสำรองเผื่อสงสัย จะสูญอะไรอีกเยอะแยะเลย ก็เป็น Concern หรือเป็นข้อที่เราเป็นห่วงเรื่องหนี้

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หน้าสุดท้ายโดยสรุป ก็อยากจะสรุปว่า KPI ของท่านจากผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด ๓ ล้านกว่ารายในประเทศ ถ้าเผื่อเราดูจากวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน SMEs ที่เข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินอยู่ประมาณ ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ ทุกรายที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้นะครับ โดยเฉพาะรายที่เป็น เล็กลงมา แต่ท่านมีลูกค้าที่ปล่อยสินเชื่อจริง ๆ ๑๐,๐๐๐ กว่าราย อันนี้ตีออกมาก็แค่ ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเลย ก็ถือว่าไม่ได้เยอะเลยที่จะ Funnel ลงมาจากข้างบน ๓ ล้านกว่าราย ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถเข้าถึงบริการธนาคารพาณิชย์ได้ เข้าถึงแหล่งเงินทุนสามัญได้ แต่มีเพียงแค่ ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ที่ท่านสามารถไปเอาโอกาสตรงนี้ หรือไปส่งเสริมเขาได้ อันนี้ก็อาจจะต้องขยายเพิ่ม หนี้เป็นปัญหาใหญ่ จริง ๆ ก็มีทับซ้อนกันอีก คือหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือน ซึ่งก็มี SMEs แฝงอยู่เหมือนกันเกือบแสนล้าน ปัญหาหนี้ เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งมันยัง Under serve อยู่ ความหมายคือมันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร เขาถึงต้องออกไปอยู่ที่หนี้นอกระบบ ซึ่งก็มี SMEs ระดับ Nano หรือ Micro ที่อาจจะแฝง อยู่ด้วย ก็ฝากประเด็นนี้ไปในเรื่องของดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของท่านนะครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปคุณศรีโสภา โกฏคำลือ เชิญครับ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจะมาอภิปรายรับทราบรายงานกิจการ ประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ดิฉันได้อ่านรายงานประจำปี ปี ๒๕๖๕ ของ SME D Bank หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทยโดยละเอียดแล้วนะคะ ก่อนอื่นดิฉันขอแสดงความชื่นชมต่อผู้บริหารของธนาคารในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารอยู่ในระดับที่พอใจ รายได้รวมเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น สามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นถึง ๙๐,๐๐๐ ล้านบาท และรักษาการจ้างงานในระบบ เศรษฐกิจได้มากกว่า ๒๒๐,๐๐๐ ราย อย่างไรก็ตามจากการที่ได้อ่านงบการเงินของธนาคาร โดยละเอียด ดิฉันมีประเด็นที่อยากสอบถาม และอยากให้ช่วยชี้แจงดังต่อไปนี้

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ในงบแสดงสถานะการเงิน ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ จุดที่เตะตาดิฉันมาก ๆ เลยอยู่ในหมวดสินทรัพย์ บรรทัดแรกคือรายการระหว่างธนาคาร และตลาดเงินสุทธิ พบว่ามียอดสูงขึ้นมากเลย จาก ๙๒๑ ล้านบาท เป็น ๒,๗๕๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า ๑,๘๐๐ ล้านบาท ด้วยความสงสัยของดิฉันจึงตามไปดูที่หมายเหตุ และพบว่า ยอดที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากรายการกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประเภทมีระยะเวลา โดยเพิ่มขึ้น ๒,๐๐๐ ล้านบาท จึงอยากให้ธนาคารชี้แจงเพิ่มเติมว่ารายการกับแบงก์ชาตินี้ คืออะไร มีรายละเอียดอะไรค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่อยากตั้งข้อสังเกตคือในงบกำไรขาดทุนและกำไรขาดทุน เบ็ดเสร็จอื่น สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ พบว่าธนาคารมีหนี้สูญ และหนี้ สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่ารวม ๑,๕๖๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ถึง ๕๖๒.๓๖ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า ๕๔ เปอร์เซ็นต์ และเหมือนเช่นเคยเมื่อพบรายการ ที่เปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ดิฉันจึงไปดูหมายเหตุแล้วพบว่าทั้งหมดเป็นรายการที่เรียกว่า ธุรกรรมปกติ คือการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ดิฉันอยากทราบว่าเหตุใดตัวเลขนี้ถึงเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ทั้งที่เงินในสินเชื่อแก่ลูกหนี้เพิ่มแค่เพียง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว คือจากเดิมเป็น ๔๖,๙๕๑ ล้านบาท เป็น ๖๓,๔๕๖ ล้านบาท จึงอยากให้ธนาคารชี้แจง รายละเอียดของรายการนี้ด้วยค่ะ

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ รายการที่จะมองข้ามไม่ได้เลยสำหรับทุกธนาคารคือ NPL หรือเงินที่ให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยดูยอด NPL ณ ปี ๒๕๖๕ จะพบว่าธนาคารมี NPL ๑๐,๖๒๔.๑๗ ล้านบาท ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อคงค้างคือ ๙.๗๒ เปอร์เซ็นต์ ถือว่า ไม่น้อยเลยกับการที่มี NPL ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทเช่นนี้ ดิฉันจึงอยากสอบถาม จากธนาคาร อธิบายว่า NPL ต่อสินเชื่อคงค้างในอัตราส่วนนี้ถือว่าสูงเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีที่ผ่านมาแล้วเป็นอย่างไร และธนาคารมีแผนบริหารจัดการอย่างไรเพื่อสร้างสมดุลระหว่าง การให้สินเชื่อ เพื่อนำธุรกิจไปสร้างรายได้และเติบโต ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษา อัตราส่วนหนี้เสียไม่ให้มีมากเกินไป

นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะท่านประธาน ด้วยความที่ว่าในเขตพื้นที่ของดิฉันซึ่งเป็นพื้นที่ ห่างไกล ได้แก่ อมก๋อย ดอยเต่า แม่แจ่ม และอำเภอฮอด โดยลำพังแล้วการเข้าถึงโครงสร้าง พื้นฐานทำให้พวกเขามีชีวิตปกติมันก็ลำบากแล้วค่ะ อย่างที่ดิฉันได้หารือไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอฝนตกไฟก็ดับ ถนนก็ถูกตัดขาด อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ มีทั้งอุปสรรค ทางด้านภาษา ความรู้ ส่งผลทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มาจากการมาใช้ประกอบธุรกิจ ของตัวเองยิ่งยากขึ้นหลายเท่ากว่าคนทั่วไป ดิฉันอยากสอบถามธนาคารว่ามีแนวทาง หรือนโยบายใดที่จะช่วยส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลอย่างพื้นที่ ๔ อำเภอของดิฉัน หรืออย่างน้อย ๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปล่อยสินเชื่อ Micro ซึ่งหมายถึง เงินกู้ก้อนเล็ก เริ่มต้นที่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทให้แก่พวกเขาเพื่อนำไปประกอบอาชีพสร้างธุรกิจเลี้ยงปากท้อง ยกตัวอย่างเช่นจะทำอย่างไรให้แม่อุ๊ยคำหรือคุณป้าวัย ๕๐ กว่าที่อำเภอฮอดได้เงินไปซื้อ ผ้าทอหรือกี่ทอผ้าเพื่อมาทอผ้าคุณภาพที่ดีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา เหมือนชุดที่ดิฉัน ใส่มาวันนี้ค่ะ จะทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงเงินทุนและสามารถขายสินค้าแบบนี้ไปถึงในตัวเมือง หรือว่าต่างประเทศ มีแนวทางอย่างไรในการให้ความรู้ความสะดวกแก่พวกเขา ท่ามกลาง ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ดิฉันได้กล่าวมา ดิฉันขอขอบคุณธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทยสาขาเชียงใหม่ที่ให้ความรู้แล้วข้อมูลประกอบให้กับดิฉัน ที่ดิฉันได้ดูแลในพื้นที่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ก่อนอื่นเลย ดิฉันอยากจะบอกว่าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึกประทับใจ ก่อนอื่นเลยจะบอกว่าขอฝาก ไปยังท่านผู้มาชี้แจงนะคะ รู้สึกประทับใจในผลงานของท่านที่ผ่านมา สำหรับ SMEs ไทยคงไม่มี ใครที่ไม่รู้จักธนาคาร SME ในแง่ประชาสัมพันธ์ ท่านทำหน้าที่ได้ดีนะคะ และจากใน Slide ที่เห็นอยู่นี้ดิฉันประทับใจมากที่ท่านมีแนวคิดที่บอกว่าท่านจะใช้ Mind ก็คือใช้หัวและใจ ในการทำงาน ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ แต่ดิฉันเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ดิฉัน ช่างสงสัย ดิฉันเลยมีคำถามต่อมา ดิฉันสงสัยว่าท่านใช้ทั้งหัวและใจในการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการอย่างไร ดิฉันก็ไปหาข้อมูลพบว่า SMEs ทั้งหมดของประเทศไทยมีอยู่ ๓ ล้านกว่ารายในตอนนี้ แต่ในความเป็นจริงก็คืออย่างเมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกบอกไปแล้ว คือจริง ๆ มีเข้าถึงได้แค่ ๐.๓-๐.๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แล้วท่านก็แจ้งไว้ในผลการดำเนินงาน หน้า ๘๘ คำถามก็คือว่าในตัวเลขนี้ผู้ประกอบการไทยเราแข็งแกร่งจริง ๆ จนไม่ต้องการ เงินกู้แล้ว หรือจริง ๆ แล้วเข้าไม่ถึงเงินกู้กันแน่ จริง ๆ แล้วมันคืออะไร สำหรับมุมมอง ของดิฉันมองว่าเหตุผลหลังคือเข้าไม่ถึงเงินกู้ ดิฉันเป็น SMEs คนหนึ่ง เป็น ๑ ใน ๓ ล้านคนนี้ ดิฉันเป็น SMEs ตัวจริงเสียงจริง ดิฉันเป็น SMEs มา ๒๐ ปีแล้วที่ทำธุรกิจมา ถ้าจะบอกว่า มีใครสักคนหนึ่งที่เข้าใจหัวอกผู้ประกอบการเข้าใจ SMEs ดิฉันคือคนที่เข้าใจจริง ๆ ทำเอง เจ็บเอง ลุกขึ้นเอง ผ่านมาแล้วทุกอย่างนะคะ ดิฉันลุกขึ้นมาวันนี้เพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับ พี่น้อง SMEs ทั่วประเทศ ดิฉันยังสงสัยต่อว่าในสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบันนี้เกิดการจ้างงานมากน้อย แค่ไหน SMEs ของเราทุกวันนี้จำนวนที่มีอยู่เกิดการจ้างงานประมาณ ๑๒ ล้านคน และถ้าเรา โฟกัสไปที่ธุรกิจขนาด Micro จะมีอยู่ประมาณ ๕.๔ ล้านคนที่เกิดการจ้างงาน ธุรกิจ Micro คือธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ ท่านจะเห็นเลยว่ามีจำนวน เยอะที่สุด ถ้าฟันเฟืองตัวนี้หยุดทำงานไม่หมุน ดิฉันเชื่อว่าประเทศนี้เศรษฐกิจก็จะเป็นอัมพาต ได้มากพอสมควรเลยทีเดียว แล้วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคมากพอสมควร ผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับดิฉันเป็นผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่มากผู้ประกอบการ รายย่อย คือคนที่ต้องต่อสู้ คือคนที่ต้องฟันฝ่าในการที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองรอดไปในแต่ละวัน ๆ ถ้าท่านศึกษาตรง Pyramid ประชากร ท่านจะเห็นเลยว่าปัจจุบันแนวโน้มของประชากร เปลี่ยนไป และถ้าท่านศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค สำหรับคนที่กู้เงินเรามองว่าเป็นผู้บริโภค ถ้าท่านทำงานเชิงรุกมากขึ้นท่านจะเห็นว่ามีประมาณ ๘.๖ ล้านคน กลุ่มนี้คือปัจจุบันนี้ เป็นกลุ่มที่อยากจะเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของธุรกิจ นี่คือลูกค้าของท่าน ปัจจุบันนี้ Microfinance เติบโตขึ้นมา เนื่องจากว่าไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้นั่นเอง มันสวนทางกัน เพราะฉะนั้นยิ่ง Microfinance เติบโตมากเท่าไรนั่นสะท้อนว่าท่านทำงานล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น มี Startup จำนวนมากประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เข้าไม่ถึงเงินทุน นี่คือตัวอย่าง ถ้าท่านอยากให้ประเทศ เติบโตท่านต้องทำให้ Startup และ Micro เข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น ต่อมาดิฉันเห็นสินเชื่อที่ท่านพยายามปล่อย แต่ดิฉันสงสัยว่าท่านพยายามที่จะปล่อยสินเชื่อ ให้กับคนที่อยากทำ Franchise แต่ทำไมถึงไปเน้นแค่ ๒ Brand นี้คะ ในขณะที่ประเทศไทย มี Franchise ถึง ๖๐๙ กิจการ ทำไมท่านถึงปล่อยให้แค่ ๒ Brand นี้ ดิฉันไม่อยากเอ่ยชื่อ ในที่นี้ดิฉันเลยปิดไว้ นี่คือคำถาม ดิฉันต้องการคำตอบนะคะ ต่อมานะคะ ดิฉันมองว่า สำหรับปัจจุบันมีหลายคนที่เขาอยากที่จะทำ ๒ อาชีพด้วยกัน อาจจะเป็นพนักงานบริษัท และอยากทำธุรกิจด้วย แต่พอไปดูเงื่อนไขเขาไม่ใช่นิติบุคคล เขาก็ไม่สามารถที่จะกู้เงิน ของท่านได้ และถ้าเกิดไปดู Micro ที่ท่านมีอยู่ Micro OK ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะต้อง ทำธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ปี แต่บางคนเขายังไม่ได้ทำธุรกิจ เขาต้องการทำอาชีพเสริม เขาจะเข้าถึง Micro OK ของท่านได้อย่างไร คำถามของดิฉันก็คือว่ามีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ ข้างหลังหรือไม่ ในหนังสือเล่มนี้ท่านบอกว่าท่านไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จากข้อมูลที่ดิฉันศึกษา คือมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลังนะคะ เป้าหมายที่ท่านวางไว้สำหรับปี ๒๕๖๖ คือปีนี้ดิฉัน มองว่าผู้ที่ได้โอกาสในตัวเลขนี้กับคนที่ต้องการโอกาสที่มีอยู่ SMEs ทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกัน ผู้ที่ได้รับโอกาสจาก SME Bank จะมีน้อยกว่าผู้ต้องการโอกาส ดิฉันมี ข้อร้องเรียนมาฝากเนื่องจากเวลามีน้อย ดิฉันเลยจำเป็นต้องรีบเล่าให้ท่านฟัง มีข้อร้องเรียน นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ท่านบอกว่าท่านมีการบริหารจัดการมี Risk Management เกิดขึ้น แต่ความจริงที่เกิดขึ้นท่านตั้งใจฟังนะคะ ในสาขาของท่านจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ท่านไปสืบ เอาเอง มีการกู้เงิน ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ไม่ผ่าน แต่ผ่านครั้งที่ ๓ เกิดอะไรขึ้นถึงผ่าน คือต้องแบ่ง เงินที่ได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ให้เจ้าหน้าที่ด้วย ท่านไปสืบดูที่จังหวัดไหน ท่านมีการบริหารจัดการ อย่างนี้ ท่านบอกมีธรรมาภิบาล มีเรื่องความซื่อสัตย์ แต่มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้อย่างไร นี่คือข้อร้องเรียนจากประชาชนมาจริง ๆ ดิฉันขอเสนอแนะให้ท่านมีขั้นตอน Monitoring กระบวนการที่ชัดเจนในการตรวจสอบ ชี้แจงกรณีที่เขากู้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร ต่อมาคือ หาทางช่วยเหลือทางอื่น จะให้ บสย. มาค้ำให้หรือไม่ หรือมีกองทุนอื่น ๆ เพื่อให้เขา บรรลุเป้าหมายของผู้กู้ ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเขาไม่มากู้หรอกค่ะ หรืออีกอันหนึ่งให้มี Mystery check ได้ไหม ให้บุคคลภายนอกเลยมาสุ่มตรวจสอบและปลอมตัวเป็นผู้กู้ แล้วท่านจะรู้ ความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดิฉันฝากประเด็นนี้นะคะ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง อีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นข้อร้องเรียนคือเวลาที่ท่านออกโครงการร่วมกับพันธมิตรของท่านมันมีบางโครงการที่ได้ เงินก้อนมา ท่านรู้ไหมว่าเงินก้อนที่ได้มามันเกิดจากการที่มีเจ้าหน้าที่ของท่านโทรไปหาบริษัท ที่เขามีความพร้อมอยู่แล้ว ที่ไม่มีความเสี่ยงในการเป็น NPL แล้วถามเขาว่ามีเงินก้อนนี้มา ช่วยเอาไปหน่อย ดิฉันก็ได้ทราบมาเหมือนกันและดิฉันได้ยินกับหูด้วย ไม่ควรเกิดเหตุการณ์ แบบนี้ขึ้น แปลว่าอะไรคะ แปลว่าคนต้องการกลับไม่ได้เงินกู้ แต่คนได้คือคนที่ไม่ต้องการเงินกู้ SME Bank ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และไม่ควรเป็นแบบนี้ต่อไป นั่นแปลว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยเงินกู้ไม่ถูกวัตถุประสงค์และไม่ถูกคนนะคะ ดิฉันขอเสนอให้ท่านตรวจสอบ ผลประกอบการย้อนหลังว่าคนที่ท่านให้กู้ไปนี่เขาอยู่ในสภาพที่ต้องการเงินกู้จริงหรือไม่ ดิฉันเห็นผลกำไรที่ท่านบอกที่ได้จากโครงการ ที่ท่านให้กับหน่วยที่เป็นพันธมิตรของท่าน ท่านมีกำไร ดิฉันขอแสดงความยินดีกับกำไรที่ได้ แต่วิธีการได้มาดิฉันมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นดิฉันขอให้วางมาตรการเพื่อให้คนที่ต้องการเงินจริง ๆ เขาได้เงินกู้จริง ๆ นะคะ อีกนิดเดียวค่ะท่านประธาน ดิฉันประทับใจมากที่ท่านบอกว่าท่านใช้หัวและใจในการที่จะดูแล SMEs ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการของเราทุกคนจะพึ่งท่านได้ ดิฉันมี ความรักและปรารถนาดี และหวังดีกับ SME Bank อย่างแท้จริงนะคะ และอยากให้ท่าน ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการทุก ๆ คนในประเทศนี้ผู้ประกอบการเราดิ้นรน เราเหนื่อยมากจริง ๆ ในการที่จะให้ธุรกิจเราอยู่รอดในแต่ละวัน ๆ แต่ละเดือน แต่ละปี ขอให้จุดประสงค์ของการตั้ง SME Bank ขึ้นมาได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์นั้น และได้โอกาส เท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกคน ดิฉันหวังจากใจจริงจริง ๆ นะคะ ขอให้เสียง ของดิฉันเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และขอให้ท่านฟังดิฉันนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เชิญครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานกิจการประจำปีงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนของ SME Bank หรือ ธพว. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ต้องขอขอบคุณท่านรองกรรมการ ผู้จัดการและท่านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ ธพว. ที่ให้เกียรติประชาชนมาชี้แจง ตอบคำถามต่อผู้แทนของประชาชนที่สภาแห่งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ชื่อก็ชัดเจนว่าเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา SMEs ของประเทศไทย ทางฝ่ายโสตครับ ขอ Slide ขึ้นได้เลยครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมก็มีประเด็นอยู่สัก ๓-๔ ประเด็นสำหรับวันนี้

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือผลการดำเนินการของ ธพว. ในปี ๒๕๖๕ ยอดสินเชื่อ คงค้างของ ธพว. ในปี ๒๕๖๕ ก็มีอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ๑๐๙,๒๙๖ ล้านบาท ให้บริการกับผู้ประกอบการประมาณ ๘๐,๓๘๙ ราย ยอดเบิกจ่ายในปี ๒๕๖๕ ก็ ๖๘,๘๐๐ ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ ๑๒,๐๐๐ กว่าราย ซึ่งในนี้ถ้าเรามาดูตัวเลข NPL ในปี ๒๕๖๕ ของ ธพว. NPL ก็จะอยู่ที่ ๙.๗๒ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๔ NPL สูงกว่านี้อยู่ที่ ๑๓.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเปรียบเทียบ NPL ตัวเลขนี้กับธนาคารรายอื่นตัวเลขก็อาจจะสูง แต่สำหรับผมไม่ได้ติดใจตัวเลข NPL นี้เลยครับ เพราะมันเข้าใจได้ว่ามันเป็นพันธกิจของ ธพว. ในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ตัวเลข ๙.๗ เปอร์เซ็นต์ เทียบ NPL สินเชื่อของ SMEs นิติบุคคลทั้งระบบถ้าเราดูที่ฐานข้อมูลของ NCB ที่เป็นนิติบุคคล NPL ก็อยู่ที่ประมาณ ๘-๙ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ได้เป็น ที่ติดใจ แต่ที่ผมติดใจก็คือ NPL ส่วนใหญ่ ๗๓ เปอร์เซ็นต์นั้นเป็น NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ จึงมีคำถามไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าทำไมจึงมี NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ ค้างเป็นสัดส่วนที่สูงถึง ๗๓ เปอร์เซ็นต์ และ ธพว. มีเป้าหมายในการบริหารหนี้ NPL ที่เกิดก่อนปี ๒๕๕๘ นี้อย่างไร อันนี้เป็นคำถามของประเด็นที่ ๑ หน้าถัดไปเลยครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ จะขออภิปรายถึงบทบาทในการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นหนี้เสีย โดยผลกระทบจากโควิด ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลางนั้นสายป่านสั้น ล้มเพราะผลกระทบจากโควิดเป็นจำนวนมาก ถ้าเราดูตัวเลข ทางด้านขวามือนี้ยอดของ SMEs ขนาด Micro แล้วก็ขนาด Small ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็คือ จ่ายหนี้ไม่ไหว ในยอด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ รวมกันแล้วทั้ง S M ก็คือเริ่มจ่ายหนี้ ไม่ไหวจากที่เป็น NPL ไปแล้ว แล้วรวมถึงที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ รวมกันแล้วมีถึง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นตัวเลขจากฐานข้อมูลของ NCB และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จากช่วงโควิดก็คือก่อนโควิดเขาสามารถชำระหนี้ได้ปกติ แต่ช่วงโควิดเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นหนี้บูด หนี้เน่าในช่วงโควิด จะมีการจัดชั้นด้วยรหัส ๒๑ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส ๑ ของปี ๒๕๖๖ หนี้ SMEs นิติบุคคล รหัส ๒๑ มียอดอยู่ ๕.๔ หมื่นล้านบาท และที่เป็นบุคคล ธรรมดา รหัส ๒๑ มียอดอยู่ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ประเด็นคำถามที่ต้องการเรียนถาม ท่านประธานผ่านไปถึงผู้ชี้แจงก็คือในช่วงที่ SMEs นั้นเปราะบางอันเนื่องจากผลกระทบ ของโควิดนั้น ธพว. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่เป็นรหัส ๒๑ ได้เป็นจำนวนกี่ราย อย่างไรบ้าง ซึ่งยอด NPL ตกค้างที่ได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะท่านมียอด NPL ตกค้างตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๕๘ สูงถึง เกือบ ๓ ใน ๔ ดังนั้นการปล่อยกู้ในส่วนที่เหลือของท่านก็คงต้องระมัดระวังมากที่จะสร้าง NPL เพิ่ม ทำให้ท่านเลือกที่จะปล่อยสินเชื่อในสินเชื่อที่มีความปลอดภัย แต่มันทำให้ท่านไม่ได้ ช่วยเหลือ SMEs อย่างเพียงพอหรือเปล่า ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะว่า ธพว. ควรเร่งจัดการหนี้ NPL ที่ตกค้างก่อนปี ๒๕๕๘ เพื่อให้ ธพว. ปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ได้เป็นจำนวนมากขึ้น ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้เป็นวงกว้างมากขึ้น เพราะนี่คือพันธกิจหลักของท่านนะครับ ซึ่งการให้สินเชื่อ SMEs ในลักษณะ Supply Chain Financing นั้นก็อาจจะเป็นทางเลือก ที่ดีที่ท่านควรจะพิจารณาให้สินเชื่อเหล่านี้มากขึ้นในช่วงที่ SMEs ต้องการความช่วยเหลือ ทางด้านสภาพคล่องนะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ เกี่ยวกับบทบาทของ ธพว. ในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ ถ้าเราดูการลงทุนของ ธพว. ในบริษัทเอกชนที่อนุมัติไปแล้วกว่า ๓๒ บริษัท ธพว. ถือหุ้นเกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็มีอยู่ ๖ บริษัท ที่มีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้ว และถ้าเราไปดูบางบริษัท ก็มีบริษัทที่เข้าไป List ในตลาดหลักทรัพย์ SET MAI LiVE Exchange เข้าไปแล้วก็มีนะครับ ซึ่ง ธพว. ก็ยังถือหุ้นอยู่ จึงขอเรียนถามไปยังท่านผู้ชี้แจงว่าเกณฑ์ในการเข้าร่วมลงทุน และเกณฑ์ในการออกจากการร่วมลงทุนเป็นอย่างไร อันนี้เป็นคำถามที่โปรดชี้แจงให้ประชาชน ได้รับทราบด้วยนะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณโครงการระบบ Core Banking ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมานี้นะครับ ในช่วงปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ ก็มีข่าว Press Release ของธนาคารออกมาว่า ธวพ. จะลงทุน ๖๐๐ ล้านบาทพัฒนาระบบ Core Banking จะเปิดบริการทีละส่วนอย่างต่อเนื่องและให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี ๒๕๖๓ แต่ต่อมาในปี ๒๕๖๕ ก็มีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเช่าระบบ Core Banking ใช้งบประมาณ ๘๘๘ ล้านบาท เช่า ๕ ปี และต้องจ้างผู้บริหารโครงการอีกประมาณ ๑๒ ล้านบาท รวมกันแล้วก็ ๙๐๐ ล้านบาท จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมท่านถึงต้องเปลี่ยนจากการพัฒนาระบบมาเป็นการเช่าระบบ ๕ ปี ด้วยวงเงินที่สูงถึง ๙๐๐ ล้านบาท มันคุ้มค่าแล้วหรือไม่ครับ ท่านสามารถลองเปรียบเทียบ วงเงินที่ท่านใช้กับ HFI รายอื่นที่ใช้ Core Banking จากบริษัท ซิลเวอร์เลค (ประเทศไทย) จำกัด เหมือนกันก็ได้นะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และอีกคำถามหนึ่ง ก็คือว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ท่านได้เสียงบประมาณกับ การทำเรื่อง Core Banking System ของท่านไปแล้วเท่าไร ทำไมถึงยังทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แล้วจะทำเสร็จเมื่อไรครับ อันนี้เป็นคำถามที่จะขอเรียนท่านประธานผ่านไปถึงท่านผู้ชี้แจง ให้ช่วยตอบคำถามเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

และสุดท้ายผมขอเป็นกำลังใจให้พนักงาน ธพว. ทั้ง ๒,๒๐๐ กว่าท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะทำหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ไทย ให้แข็งแกร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานกิจการประจำปีงบดุลและบัญชี กำไรขาดทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางหรือ SMEs ถือเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐต้องให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้น ๆ เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนตัวเล็ก เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อลด ความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น จากข้อมูลในปี ๒๕๖๕ พบว่าในประเทศไทยมีจำนวน ผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ ๓ ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า ๑๒ ล้านคนโดยมี มูลค่าส่งออกกว่า ๑ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของยอดการส่งออกรวมตลอดปี อย่างไรก็ตามวันนี้มีประชาชนอีกมากมายทั้งในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศไทยที่มี Idea มีงานวิจัยและนวัตกรรมทางธุรกิจที่ดี แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีเงินทุน เพียงพอที่แม้แต่จะเริ่มหรือผลักดันต่อยอดธุรกิจเหล่านั้น ผมจึงคิดว่าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ SME D Bank มีบทบาทสำคัญในการสานฝันและสร้างชีวิตให้คนตัวเล็กตัวน้อยให้ธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านบริการด้านสินเชื่อ และพัฒนาศักยภาพ ด้านธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน ซึ่งจากรายงานนี้ก็พบว่าทางธนาคาร พัฒนา SME ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนกว่า ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท สร้างประโยชน์ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และรักษาการจ้างงานกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ราย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผมขอชื่นชม ทางธนาคารนะครับ จากรายงานนี้ก็ได้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญด้านการพัฒนาองค์กร อย่างยั่งยืนหรือ ESG และด้านเศรษฐกิจ BCG ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพราะผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาประชาชนไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อมได้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สำหรับรายงานประจำปี ๒๕๖๕ โดยรวมแล้วผมก็ไม่มีอะไรติดใจ มีเพียง บางประการเท่านั้น จากเท่าที่ได้ดูก็พบว่าท่านได้มีโครงการสินเชื่อที่สนับสนุนธุรกิจ ที่หลากหลาย สำหรับงบดุลกำไรและการขาดทุนเป็นสิ่งที่ทางธนาคารของท่านก็จะต้อง ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ อยู่แล้ว และจากที่ดูท่านก็มีกำไรสุทธิ ๕๐๐ ล้านบาท แต่ส่วน ที่ขอถามก็คือว่าด้านหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า ๑,๕๙๕ ล้านบาท จะดำเนินการต่อไปอย่างไรครับ อย่างไรก็ตามจากรายงานนี้ผมมีข้อเสนอแนะผ่านท่านประธาน ไปยังธนาคาร SME และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางต่อไปดังนี้ ข้อแนะนำสำหรับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ขอให้ทางธนาคาร SME ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพืชผล ด้านประมง และปศุสัตว์ ขอให้ส่งเสริมธุรกิจที่แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และนวัตกรรมให้ผลผลิตทางเกษตรกรเหล่านี้ เพราะภาคการเกษตรถือเป็น เศรษฐกิจและรายได้หลักของพี่น้องในประเทศไทย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างว่าในจังหวัดพัทลุง ก็มีธุรกิจขนาดเล็กที่ควรได้รับการส่งเสริมอีกมากมายนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ขอให้ทางธนาคาร SME ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจและ นวัตกรรมที่สนับสนุนด้านความยั่งยืน และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นนะครับ เช่นธุรกิจ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุ Recycle และย่อยสลายได้ ไปจนถึงธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ธุรกิจที่ช่วยลดและดูดซับก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพราะว่าปัจจุบันนี้ทั่วโลกได้ให้ ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะ และภาวะโลกร้อน ซึ่งผู้คนกำลังมองหาสินค้าเหล่านี้อย่างมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าหากเรา ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เน้นด้านความยั่งยืน และดีต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นการเพิ่มโอกาส ให้ผลิตภัณฑ์ของไทยเราไปสู่เวทีโลกได้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ขอให้ทางธนาคาร SME ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง พาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องเงินทุน เพื่อพัฒนาและให้ความรู้ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการบริหารธุรกิจ ด้านการผลิตก็ขอให้สนับสนุนให้ SMEs มีการบริหารธุรกิจที่ทันสมัยบนพื้นฐานของนวัตกรรม ด้านการตลาดก็ขอให้ส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้มีโอกาสและความรู้ในการเข้าสู่ตลาดทั้ง Offline Online ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้านการบริหารธุรกิจขอให้ส่งเสริม SMEs ได้มีการวางแผนธุรกิจ การบริหารการเงิน การวิเคราะห์ตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ขอให้ทางธนาคาร SME ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันผู้ประกอบการให้ขายสินค้าผ่านช่องทาง Online เช่น Thaitrade.com ซึ่งเป็น Platform กลางของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า ๒๐,๐๐๐ ราย และมีผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็น โอกาสสำหรับผู้ประกอบการนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ขอให้ทางธนาคาร SME เจรจากับกองทุน FTA ของกรมเจรจาการค้า ระหว่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกองทุนที่ดอกเบี้ยต่ำ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๖. ขอให้ทางธนาคาร SME ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวง มหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ที่อยู่ตามชนบท ทั่วประเทศ เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ขนาดย่อมได้ สำหรับข้อเสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานส่งเสริมธุรกิจ SMEs ๑. ขอให้พิจารณาเพิ่มเงินให้ธนาคาร SME เพื่อให้กลุ่ม SMEs สามารถเข้าถึงแหล่ง เงินทุนสำหรับการพัฒนาต่อเติมและขยายกิจการได้ ๒. ขอให้เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ SMEs ใช้กลไกการระดมทุน Crowdfunding โดยเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้า

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ ท่านประธานครับ ผมขอฝากข้อเสนอแนะเหล่านี้ผ่านท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ผมคิดว่าประเทศของเราจะต้อง ส่งเสริมธุรกิจใหม่ ๆ ส่งเสริมธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือ SMEs เราจะต้องส่งเสริม ความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เราจะต้องยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ทุกคนมีส่วนร่วมหรือเราเรียกว่า Inclusive Development และไม่ทิ้งความฝัน ไม่ทิ้งประชาชนคนใดไว้ข้างหลังครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ เชิญครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตมีนบุรี และเขตสะพานสูงครับ พรรคก้าวไกล วันนี้ขออภิปรายถึงผลการรายงานของธนาคาร SME ซึ่งธนาคาร SME เขาพยายามที่จะผลักดันให้ตัวเองเป็นผู้นำของ BCG ซึ่งเราก็พอ จะทราบว่า BCG ก็คือเรื่องของ Bio Circular Green ซึ่งหลังจากที่ อ.เอทได้ดูตามผล การรายงานของท่าน ท่านให้การกู้เงินให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น การเกษตรประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท การผลิต การก่อสร้าง ประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วที่เหลือก็จะเป็น เรื่องของการบริโภคแล้วก็การให้บริการด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมแล้วมันจะดีกว่านี้ไหมถ้าเรา ให้โอกาสกับภาคอื่น ๆ บ้าง เช่น ภาคอาหาร ภาคยา เกี่ยวกับการให้การบริการ ด้านการท่องเที่ยวที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจจะอยู่ในบริการของการบริการ เรื่องของ สิ่งแวดล้อม การให้บริการด้านพลังงาน และที่สำคัญด้านสุขภาพ อย่างไรก็ฝากท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงด้วยนะครับ ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ อ.เอทได้อ่านจากเล่มนี้ ท่านทำชัดเจนครับ ท่านบอกว่าในปี ๒๕๖๖ จะให้เงินกู้ประมาณ ๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๗ -๒๕๖๘ ประมาณสัก ๕๐ ล้านบาท แล้วหลังจากนั้นก็เป็น ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าดี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ อ.เอทขออนุญาตว่า GDP ของประเทศไทยเราประมาณ ๑๕ ล้านล้านบาท กว่าครึ่งแน่นอนมาจากธุรกิจ SMEs ซึ่ง SMEs ก็จะมีผู้ประกอบการ อยู่ประมาณเกือบ ๆ ๓ ล้านรายหรือเกิน ๓ ล้านราย และกว่า ๒.๗ ล้านรายผู้ประกอบการ ที่เป็นขนาดย่อยหรือขนาด Micro เพื่อน ๆ ของ อ.เอทหลายท่านได้พูดไปแล้วว่ารายย่อย คือผู้ที่ขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างแท้จริงนะครับ ซึ่งจากที่ท่านได้ให้บริการกับผู้กู้ต่าง ๆ เราเห็นชัดเจนว่าปีที่ผ่านมาท่านให้กู้ไปประมาณสัก ๑๒,๐๐๐ ราย ซึ่งเรายังมีผู้ประกอบการ อีกเป็นแสน ๆ เกือบเป็นหลาย ๆ ล้านรายที่ต้องการเงินจากท่าน ซึ่งตรงนี้ฝากท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าอยากที่จะให้มีไม่ใช่แค่รายย่อม แต่เป็นรายย่อยเลย เป็น SMEs เป็นธนาคารซึ่งให้บริการ ไม่ใช่แค่ขนาดกลาง ไม่ใช่แค่ขนาดย่อม แต่เป็นขนาดย่อยด้วย ต่อมาครับ ทำไม SMEs ถึงเจ๊ง ก็เพราะว่าเขาขาดสภาพคล่อง ขาดเรื่องของเงินหมุน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่ SMEs ไปไม่ได้ หรือขนาดจิ๋ว Micro ไปไม่ได้ เพราะขาดเงิน อันนี้เป็น หน้าที่หลักของพวกเราของธนาคาร SME ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศของเราไม่เหมือนเดิม อีกต่อไปนะครับ ทีนี้เรามาดูงบรายงาน อ.เอทเข้าไปดูงบรายงานของท่าน หน้า ๑๗๐ หน้า ๑๙๑ ในหน้า ๑๙๔ เพื่อน อ.เอทพูดไปเยอะมากเรื่องของ NPL หรือ Non-Performing Loan หรือการกู้เงินไปปุ๊บเราก็เก็บเงินอะไรจากเขากลับมาไม่ได้ เป็นการแบบลงทุนโดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา ก็เป็นการเสียเปล่า อันนี้เราพูดไปแล้วว่าท่าน มีอยู่ประมาณ ๙ เปอร์เซ็นต์ ไม่ขอพูดซ้ำ แต่สิ่งที่อยากจะพูดคือทางธนาคาร SME เอง เมื่อมี การให้กู้ ก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง ท่านมีคดีที่ติดฟ้องอยู่ทั้งสิ้นประมาณ ๑๗ คดี รวมเป็นเงิน ที่ไม่แน่ว่าท่านต้องจ่ายหรืออาจจะไม่ต้องจ่าย อันนี้ อ.เอทก็ยังขึ้นอยู่กับชั้นศาลประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาท อันนี้ฝากให้ท่านช่วยพิจารณาด้วยว่าทำอย่างไรให้งบตรงนี้น้อยลงนะครับ และอีกอย่างหนึ่งหน้า ๗๐ แล้วก็หน้า ๒๓๔ อ.เอทก็พยายามนั่งอ่าน แล้วก็พยายาม ทำความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรายได้หรือเงินชดเชยที่ท่านให้กับผู้บริหารระดับสูงของท่าน หน้า ๗๐ บอก ๒๓ ล้านบาท ส่วนหน้า ๒๓๔ ท่านบอกว่าเป็นกลุ่มนักบริหารแบบสูง กับแบบสำคัญ นักบริหารแบบสำคัญซึ่งหน้า ๗๐ บอก ๒๓ ล้านบาท หน้า ๒๓๔ บอก ๕๔ ล้านบาท อ.เอทก็เลยอยากจะให้ท่านช่วยชี้แจงนิดหนึ่งว่าอาจจะมีจำนวน ที่ไม่เท่ากันไหมหรืออะไรก็ตามแต่ อันนี้ไม่ได้ว่าอะไร แค่อยากจะให้ท่านช่วยชี้แจง สักนิดเดียวก็พอ เพราะว่ามันก็มีตัวเลขที่ต่างกันประมาณเกือบ ๆ ๒ เท่า และต่อมาก็จะมี คำถามที่อยากจะฝากไปยังท่านประธาน ไปยังผู้ที่มาชี้แจงในวันนี้ครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามที่ ๑ ท่านมีวิธีการที่จะวัดค่าความโปร่งใสหรือเขาเรียกว่า Good Governance ของท่านในการที่จะให้กับผู้กู้ แล้วในการที่จะบริหารของคณะกลุ่มผู้บริหาร ของท่านเองอย่างไรครับ นี่คือคำถามที่ ๑

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ท่านมีวิธีการป้องกัน NPL หรือมีการจัดการให้น้อยลงได้อย่างไร กับ Non-Performing Loan หรือเขาเรียกว่าเป็นงบที่เป็นการสูญเสีย นี่อีกอันหนึ่งที่ อ.เอทชอบ ท่านเขียนว่างบที่กำลังจะหรือสงสัยว่าจะสูญเสียซึ่งเป็นหมื่นล้าน อ.เอท ชอบคำนี้สงสัยที่จะสูญเสีย อันนี้ก็ต้องให้ท่านช่วยพิจารณากับ อ.เอทด้วยว่ามันจะมีทาง ลดลงได้บ้างไหมคำว่าสงสัยที่จะสูญเสียนี่นะครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามที่ ๓ เป็นเรื่องของการวางแผนว่ากว่า ๓ ล้านรายนี่มีประมาณ ๒.๗ ล้านรายที่ต้องการได้เงินกู้ หรือเรียกว่า Micro ขอให้ท่านช่วยอุดหนุนเขาหน่อยครับ ขอให้ท่านช่วยให้กำลังใจโดยการให้เงินกู้เขาหน่อย เพราะว่าตอนนี้เขาไปกู้หนี้นอกระบบ โดนพี่น้อง โดน Call Center กันหลากหลายเลยนะครับ ถ้าท่านช่วยเขาได้การที่ประชาชน จะโดนหลอกแบบมี Call Center นั้นจะลดลงอย่างมีตัวเลขที่เป็น Significance หรือมี ความนัยสำคัญนะครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามที่ ๔ เป็นคำถามสุดท้าย ก็คือตอนนี้ทุกท่านเข้าใจดีว่าประเทศของเรา เข้าสู่เศรษฐกิจภาวะถดถอยหรือเรียกว่า Recession ซึ่งแน่นอนคนที่กู้เขามีแผนการ เขามี Idea อย่างมหาศาล แต่เขาขาดคำว่า Collateral หรือคำว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เลยอยากที่จะให้ท่านช่วยพิจารณานิดหนึ่งว่าถ้าเขามี Plan แบบนี้ ท่านจะมีโอกาสไหม ที่ให้เขาได้รับเงินกู้ เพื่อให้ฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมานะครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ก็อยากที่จะฝากท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าเรามี ๓ ป. แล้ว ๓ ป. ของเราก็คือเรื่องของประสิทธิภาพ โปร่งใส แล้วก็ทำเพื่อประชาชน อ.เอทอยากที่จะให้ SME D ของเรามี ๓ ง. ครับ ๓ ง. คือขอให้มีงบเพื่อสร้างงาน แล้วก็ให้ประชาชนมีเงินเต็ม กระเป๋าสักที ขอบพระคุณครับ Respect

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สุดท้ายท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู เชิญครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพนะครับ ผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู จากภาคใต้ แล้วผมก็พยายามที่จะ นำเอาภาพของ SMEs ในทางภาคใต้มาดู เพราะว่าโอกาสถ้าหากเราสามารถที่จะช่วยให้คน ในทางภาคใต้ ๓ จังหวัดชายแดนใต้เข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาเขาได้ตามจุดประสงค์ของการจัดตั้ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม เกิดทางด้านการเงินและทางด้านการพัฒนา ทางด้านการเงินก็คือการเข้าสู่แหล่งทุน เสริมสภาพคล่อง ขยาย แล้วก็การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ธุรกิจต่าง ๆ ส่วนในการพัฒนาก็คือการพัฒนาความรู้และทักษะ ทีนี้ประเด็นที่สำคัญก็คือ SMEs หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคิดเป็น ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ของวิสาหกิจทั้งหมด แล้วก็ประมาณ ๗๑.๗ เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน ทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความสำคัญ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมีมูลค่า ประมาณ ๕ ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน ๓๔ เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในสัดส่วน ของ SMEs ขนาดย่อยหรือ Micro SMEs สร้างรายได้เพียง ๒.๖ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งที่ มีจำนวนมากที่สุด จึงมีลักษณะหัวโตแต่ตัวลีบ ทีนี้ประเด็นเหล่านี้ผมอยากจะอ้างอิง จากธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๔ เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อ SMEs ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ ๓ ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียง ๑๙ เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อดูสัดส่วนของประเทศ ที่เจริญแล้ว อย่างเช่นเกาหลีใต้มีสัดส่วนของมูลค่าสินเชื่อ SMEs คงค้างธนาคารพาณิชย์ ไม่น้อยกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ แล้วก็เพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซียก็มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเพียงพอ ไม่สามารถที่จะให้คนเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่าง เพียงพอ ทีนี้ผมจะวกกลับไปที่จะอ้างอิงถึงรายงานแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้เราดูรายงานที่ตั้งไว้ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ สำนักยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขอโอกาสให้พี่น้องอย่างที่ได้กล่าวแล้วก็คือ พี่น้องในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และได้รับการส่งเสริม พัฒนา และร่วมลงทุน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ กลุ่มจังหวัด ชายแดนภาคใต้จริง ๆ มีศักยภาพทางด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจมากมาย แล้วก็มีความเข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่าง ๆ มีฐานทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวที่ครบถ้วน เป็นแหล่งประมง และเป็น พื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าทางด้านเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้เพิ่มขึ้น ทีนี้มันมีอัตลักษณ์สินค้า อัตลักษณ์ที่เป็นผลผลิต ของประจำถิ่นที่จะให้ทาง SME ได้ช่วย อย่างเช่นว่าเรามีส้มโชกุนที่มีชื่อเสียงที่เบตง เรามีทุเรียนที่ทรายขาว เรามีส้มโอที่มีคุณภาพที่ยะรัง มีกล้วยหินที่บันนังสตาที่ที่อื่นไม่มี มีปลากุเลาเค็มที่ตากใบ ลองกองตันหยงมัส แล้วก็ไก่เบตง และที่อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสามารถที่จะสร้างคุณค่าการค้าชายแดนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็น ศูนย์กลางในการศึกษาที่หลากหลาย สังคมมีความหลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ ทั้งด้านวัฒนธรรม แต่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี ๒๕๖๓ มูลค่า เพียงแค่ ๑๓๘,๑๐๖ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๐.๙ ของประเทศเท่านั้นเอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาอย่างเป็นธรรม ถ้าเราดูแยกเป็นจังหวัด ปัตตานีเป็นเมืองเศรษฐกิจชีวภาพ มีเขตอุตสาหกรรมชีวภาพอาหารฮาลาลและประมง ประมงตั้งแต่หลายปีมานี้ที่ IUU ก็ทำให้ความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับชายแดนใต้ แล้วก็ไม่ปฏิเสธว่าจังหวัดชายแดนใต้จะอยู่ในรั้งท้ายของรายได้เป็นจังหวัดที่ยากจน เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่า SME จะให้คนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างไร ในขณะที่ จังหวัดยะลาเป็นเมืองเศรษฐกิจชีวภาพและเป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่โดดเด่น สิ่งเหล่านี้ในขณะที่อีกอันหนึ่งที่นราธิวาสเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้า OTOP และอุตสาหกรรมชีวภาพ นี่เป็นความดีงามที่มันมีอยู่ใน จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าเราสามารถที่จะสนองตอบจุดประสงค์แรกของ SME ก็คือการให้ พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้ เมื่อคนมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ดี ปัญหาต่าง ๆ ก็จะค่อยหมดไป ผมขอฝากถึง SME ด้วยครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ จำนวนสมาชิกที่อภิปรายก็หมดแล้วนะครับ เชิญท่านผู้ชี้แจงครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน กระผม ประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย ในส่วนของคำถามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กรุณาสอบถามแล้วก็ให้ คำแนะนำ จะขอตอบเป็นรวม ๆ นะครับ ประเด็นในส่วนผลประกอบการที่ผ่านมา ของทาง SME Bank เราได้มีการปรับปรุง เนื่องจากว่าเดิมในช่วงปี ๒๕๕๘ ธนาคาร มีผลประกอบการที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วงคือเราต้องเข้าแผนฟื้นฟู ในตอนนั้นมีหนี้เสีย ถึงหลายหมื่นล้านบาท เราเข้าแผนฟื้นฟูแล้วก็ใช้เวลาประมาณ ๘ ปีในการที่แก้ไขปัญหา เหล่านี้ แล้วออกมาจากแผนฟื้นฟู แล้วก็ดำเนินการตามพันธกิจที่เราได้รับต่อเนื่องมา โดยตลอดจากปี ๒๕๕๘ ส่วน NPL ที่ท่านสมาชิกได้มีการสอบถามถึงก็คือว่าอันนั้นเป็นหนี้เก่า ตั้งแต่สมัยก่อนที่เราจะเข้าแผนฟื้นฟู ช่วงนั้นมีหนี้ประมาณ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วเราก็ทยอยแก้ปัญหาลด NPL ตัวนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายนี้เราเหลืออยู่ประมาณ สัก ๙,๐๐๐ ล้านบาท ๙,๐๐๐ ล้านบาทนี้ก็เป็นอะไรที่เราจะต้องแก้ไขต่อไป เพราะว่ามันเป็น หนี้ที่อยู่กับธนาคารเรามาเป็น ๑๐ ปี เกิน ๑๐ ปีในบางราย ส่วนนี้เราก็มีแผนอยู่ว่าสุดท้าย ทรัพย์บางแปลงเราก็ต้องเข้าซื้อเพื่อให้มันเป็นทรัพย์ NPA ของธนาคารหรือการขายหนี้ออกไป หรือการเจรจาปิดหนี้โดยที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยที่เราเป็นเบี้ยปรับ เพื่อให้ลูกค้าเดิม สามารถเอามาชำระหรือมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่สนใจมาเข้าซื้อ ตรงนี้ก็จะลดลงไปได้ ในที่สุด ส่วนหนี้ใหม่ที่เราเกิดขึ้นเราก็พยายามประคอง ในสภาวะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ตามที่ทุกท่านทราบก็คือเกิดปัญหาโควิดขึ้น ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือ ลูกค้าโดยการที่ประคองปรับหนี้ให้จ่ายขั้นต่ำ ยืดระยะเวลาการกู้ออกไป แล้วเราก็เติม เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ยังพอที่จะคงสภาพการจ้างงานเอาไว้โดยที่ ไม่ต้องไล่คนออก ช่วงนี้ที่เราพยายามสู้กันมากับลูกค้าของเราเอง ลูกค้าเก่า แล้วก็ลูกค้าใหม่ บางส่วน โดยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออก พ.ร.ก. มาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ แล้วเราก็ถือเป็นพันธกิจหลักในการดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะพยุง ลูกค้าเหล่านี้ให้รอดพ้นวิกฤติออกมาได้นะครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ในส่วนของการเข้าถึง การเข้าถึงของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างที่เรียนว่า ธนาคารเรามี Outstanding อยู่ประมาณ ๑๐๙,๐๐๐ ล้านบาท อันนั้นหมายถึงยอดสินเชื่อ คงค้าง ณ สิ้นปี ในระหว่างปีลูกค้าก็จะมีเบิกเงินกู้ แล้วก็มีการคืนเงินกู้ ลูกค้าที่เป็นผ่อนชำระ ก็จะผ่อนไปเรื่อย ๆ เงินกู้ก็จะลดลง แล้วก็มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าอะไรใหม่ ๆ หรือลูกค้าอะไรเดิมที่มีการขยายตัว ขยายกิจการ แล้วก็เติมเงินให้เขา เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็น เรื่องของ ๖๘,๐๐๐ ล้านบาทที่เป็นยอดเบิกจ่ายมันจะเป็นเรื่องของการที่เป็นเงินเบิกจ่าย แล้วก็ชำระคืนในระหว่างปี Net กันออกมา แต่จะไม่ใช่ในส่วนของว่ายอด Outstanding อยู่ที่ ๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วเบิกไปแค่ ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท ต้องขอเรียนทำความเข้าใจ ตรงนี้นิดหนึ่งนะครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของรายย่อย จริง ๆ คือตอนนี้ธนาคารเราได้พยายามแบ่งสัดส่วน การตลาดของลูกค้าเราออกเป็น ๔ กลุ่มหลัก ๆ ก็คือกลุ่มที่เป็นขนาดกลางหรือ Medium แล้วก็เป็นกลุ่มขนาดที่เป็น Upper SMEs หรือ SMEs ระดับที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วก็ เป็น Lower SMEs คือ SMEs ที่ขนาดย่อมลงมานิดหนึ่ง แล้วลูกค้ากลุ่มที่ ๔ กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่ม Micro กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มรายย่อยที่เราพยายามเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเดิมเรา ก็ช่วยเหลือมาตลอดนะครับ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ปรากฏภาพชัดเจนให้เห็น ในส่วนของ Micro อย่างที่ทุกท่านทราบเนื่องจากว่าเป็นรายย่อยความเสี่ยงค่อนข้างสูง เราปล่อยกู้ เราปล่อย ๑๐๐ เราเสียประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กลุ่มนี้ก็เห็นภาพ แต่เราก็พยุงปรับปรุงนะครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ในส่วนของสินเชื่อบางโครงการที่เราไปกำหนดเรื่องของต้องมีประสบการณ์ ๓ ปี เนื่องจากในการทำธุรกิจบางครั้งเราจะผ่อนปรนในเรื่องของหลักประกันไม่ต้องมีก็ได้ ก็คือเราใช้ บสย. ค้ำประกัน ในส่วนของประสบการณ์อย่างน้อยต้องมี คือในแง่ของคน ทำธุรกิจเขาอาจจะมีประสบการณ์ที่เป็นลูกจ้างมาก่อน แต่อยู่ในสายที่ตรงกัน ทำมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓ ปี แล้ววันนี้อยากจะเป็นเถ้าแก่เอง อันนี้เราสนับสนุน เราก็นับประสบการณ์ ต่อให้นะครับ ไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เราตั้งขึ้นเป็นเงื่อนไขเพื่อจะไม่ช่วยเหลือ หลาย ๆ ประเด็น ผมอาจจะข้ามอะไรไปบ้าง ต้องขอกราบประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ในส่วนของคำถามบางส่วน อย่างที่เรียนไปในเรื่องของการช่วยเหลือพวก ลูกหนี้โควิด ในเรื่องของ Credit Bureau อะไรต่าง ๆ อันนี้ Credit Bureau เองเขาก็ พยายามปรับตัว คือข้อมูลที่เป็นหนี้เขาจะคงไว้แค่ ๓ ปี หลังจากนั้นมันก็จะไม่มีข้อมูล ย้อนหลังนะครับ เราก็จะดูได้แค่ใน ๓ ปี แต่ในส่วนอันนี้เราสามารถแยกแยะจากประวัติ การชำระหนี้ได้เช่นกันว่าลูกค้าเหล่านั้นประสบปัญหาจริง ๆ หรือเป็นวินัย เพราะว่าที่ผ่านมา เราจะมีโครงการสินเชื่อที่ช่วยผ่อนปรนให้กับลูกค้ากลุ่มนี้อยู่

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ในส่วนของสมาชิกท่านหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องของมีการเรียกรับผลประโยชน์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โดยการที่ยื่นกู้ครั้งแรก ครั้งที่ ๒ ไม่ผ่าน แล้วก็มากู้ครั้งที่ ๓ อันนี้ผมอาจจะ ต้องขอประสานรายละเอียดไปยังท่านเพื่อขอข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อดำเนินการ เพราะว่าอันนี้ เราไม่ทนไม่ยอมในการที่เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นนะครับ ประเด็นที่ผ่านมาเราเคยเจอปัญหา ก่อนปี ๒๕๕๘ เป็นลักษณะแบบนั้นด้วยส่วนหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหามาโดยตลอด ในการที่เรามีความโปร่งใสขึ้นในเรื่องของการ Check สอบยันกัน จะมีการ Check Balance กัน ระหว่างกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ จะไม่ใช่ทำโดยคนคนเดียวและอนุมัติด้วยคนคนเดียว มีการ Check Balance กันระหว่างสาขาหน้าบ้าน แล้วก็มีการ Check Balance โดยฝ่าย วิเคราะห์สินเชื่อเพื่อสอบยันข้อมูลว่าจริงหรือไม่ อย่างไร เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เราจะเป็น การป้องกันในเรื่องของลูกค้าที่เจตนาไม่ดีมานะครับ แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เจตนาไม่ดี อันนี้คือกรณีที่ผ่านมาเราก็มีการตรวจสอบกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีการปล่อย แล้วเสียในช่วงแรก ๆ ในช่วงปีแรกหรือปล่อยแล้วเสียโดยการที่ปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง ปีแรก อันนี้เราจะเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้าง แต่ในเรื่องของ การเรียกรับอันนี้ต้องรบกวนขอประสานงานไปเพื่อขอรายละเอียดที่ชัดเจน ธนาคาร จะดำเนินการให้ครับ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ส่วนข้อแนะนำต่าง ๆ ที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กรุณาให้คำแนะนำ ทางธนาคารถือเป็นพันธกิจหลักอยู่แล้วในการที่จะต้องไปดำเนินการนะครับ หลาย ๆ เรื่อง เราก็พยายามมีสินเชื่อที่เป็นเฉพาะเจาะจง อย่าง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราก็มีสินเชื่อ ที่ช่วยเหลืออยู่ ก็มีประมาณนี้ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ยังมีท่านติดใจสงสัยอีก ๑ ท่าน ท่านสุดท้ายเชิญสอบถามครับ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ พรรคก้าวไกล ดิฉันต้องขอขอบพระคุณที่ท่านฟังข้อมูลความคิดเห็น เมื่อสักครู่นี้ไป แล้วก็ยินดีที่จะประสานให้นะคะ ทีนี้ดิฉันยังคงมีค้างคาใจอยู่อีก ๑ ข้อคือดิฉัน ยังไม่ได้รับคำตอบในกรณีที่เงินกู้ให้กับ Franchise ที่ดิฉันถามไปว่าทำไมถึงแค่ ๒ Brand นั้น ในความเป็นจริงแล้วในประเทศนี้มีตั้ง ๖๐๐ กว่า Brand แล้วก็ ณ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งพนักงานออฟฟิศหรือคนที่อยากมีรายได้เสริมเขาก็อยากจะซื้อธุรกิจ Franchise เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เลยอยากทราบว่าทำไม ถึงไม่ส่งเสริม Brand อื่น ๆ ด้วยเพื่อที่ว่าจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าด้วยกัน อันนั้น คำถามข้อแรกที่ยังต้องการคำตอบอยู่

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อสักครู่ที่ท่านบอกว่าในกรณีถ้าเคยทำงานประจำมา แล้วพอไปขอเงินกู้ใช่น่าจะเป็นกรณี Micro OK ใช่ไหมคะที่พูดถึงเมื่อครู่นี้ ถือว่านับเป็น ประสบการณ์ให้ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนิติบุคคลใช่ไหมคะ ในกรณีแบบนี้ดิฉันขอขอบพระคุณ ถ้าทำได้แบบนั้นจริง ๆ แล้วก็ในระดับนโยบาย ถ้ามีแนวทางแบบนี้ดิฉันอยากให้ในทางปฏิบัติ ในทางสาขา ก็อยากให้ท่านแจ้งให้ในทางปฏิบัติเป็นแบบนี้ตรงกันจะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทย แล้วก็ผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกมาก รวมถึงผู้ที่อยากจะมีอาชีพเสริมในอนาคตด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ฝากนะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีกท่านหนึ่งหมดแล้วนะครับ

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มีคำถามที่เกี่ยวกับ เรื่องเกณฑ์การลงทุนแล้วก็การออกจากการลงทุนที่ท่านยังไม่ได้ตอบ อันนี้รบกวน ช่วยชี้แจงด้วยครับ

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ผม โมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ขออนุญาตช่วยชี้แจงเพิ่มเติม เรียนท่านประธานแล้วก็ สมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

เรื่องแรกก็คงเป็นเรื่องของสินเชื่อ Franchise ก็ต้องขอบคุณท่านสมาชิก ที่ให้คำแนะนำ ทาง SME D Bank เราเชื่อว่ารูปแบบการทำธุรกิจแบบ Franchise จะเป็น รูปแบบในทางธุรกิจซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้เยอะมาก เพราะว่ารูปแบบ การทำธุรกิจ Franchise เป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐานใช่ไหมครับ แล้วก็ได้รับการยืนยันแล้ว ว่ามีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากกว่าธุรกิจที่ตั้งโดยทั่วไป ซึ่งอันนี้ทางเรารับทราบดี ต้องเรียนท่านสมาชิกว่าโครงการที่ได้มีการออกไปสำหรับ Franchisor ๒ รายแรก อันนี้ ต้องเรียนว่าเป็นแค่เริ่มต้น เราก็มีแผนในการที่จะทำงานร่วมกับ Franchisor ที่เข้มแข็ง อื่น ๆ ต่อไป อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องยอมรับว่ากว่าจะมาเป็น Franchise ที่มีระบบในการบริหารจัดการที่ดี ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นก็จะมี Franchisor อย่างที่ท่านให้ข้อมูลมาว่า มี ๖๐๐ กว่าราย ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีโอกาสในการที่จะพัฒนาเป็น Franchisor ที่เข้มแข็ง ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ SME D Bank เอง เราก็มีแนวทางในการที่จะเข้าไปร่วมพัฒนา Franchisor ที่ต้องเรียนว่ายังต้องการ การพัฒนาเพื่อให้เป็น Franchisor ที่เข้มแข็งต่อไปอีก โดยที่เราก็มีแนวทางที่จะให้ การสนับสนุน ทั้งในเรื่องของแหล่งเงินทุน แล้วก็ในเรื่องของการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ให้เป็น Franchisor ที่เข้มแข็งต่อไป แล้วก็เรียนให้ทราบว่ายังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มธุรกิจ ที่อาจจะยังมีแนวคิดที่จะทำ Franchise เราก็มีแนวทางในการที่จะให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทาง SME D Bank เอง เรามีแนวทาง ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมกับ Franchisor ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่า สำเร็จแล้ว Franchisor ที่ต้องการการพัฒนา รวมไปถึงผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการจะใช้ ระบบงานอย่าง Franchise ในการที่จะขยายธุรกิจต่อทั้ง ๓ กลุ่มอย่างครอบคลุม อันนี้ก็เรียน ชี้แจงครับ

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของการร่วมลงทุนก็ขออนุญาตนำเรียนข้อมูลว่าในส่วนของ ธพว. เองเราก็มีแนวทางในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เป็น Startup ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต แล้วก็เป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ โดยเราก็มี แนวทางในการคัดเลือกกลุ่มผู้ประกอบการในการร่วมลงทุนที่มีศักยภาพที่จะไปต่อได้ โดยแนวทางในการที่เราพิจารณาในการที่จะ Exist ต้องบอกว่าปกติแล้วแนวทาง ในการร่วมลงทุนเราคาดหวังที่จะเข้าร่วมลงทุนแล้วก็ให้ผู้ประกอบการไปต่อได้ ซึ่งระยะเวลา ในการร่วมลงทุนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการ แต่ก็เรียนให้ทราบว่าเราก็ใช้เวลาในการที่จะทำงาน ร่วมกับผู้ประกอบการก็เป็นเวลาสักประมาณ ๕-๗ ปี ซึ่งแนวทางในการที่จะ Exist เอง มันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมว่าผู้ถือหุ้นปัจจุบันสามารถที่จะซื้อหุ้นคืนได้ไหม มีผู้ร่วมลงทุนอื่น สนใจในกิจการหรือเปล่า รวมไปถึงว่าถ้าธุรกิจมีศักยภาพจริง ๆ ก็สามารถที่จะเข้าไป Exist ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาด LiVE Exchange เอง ตลาด MAI หรือแม้กระทั่ง SET อันนี้ ก็นำเรียนข้อมูลเพื่อตอบชี้แจงครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

พอสมควรแล้วนะครับ ก็ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานกิจการประจำปีงบดุลและบัญชี กำไรขาดทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับ ปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ แล้วนะครับ ต้องขอขอบคุณผู้แทนของหน่วยงานที่ให้ ข้อกระจ่างแก่สมาชิกครับ วันนี้หมดระเบียบวาระการประชุมแล้ว ขอปิดการประชุมครับ ขอบคุณครับ