เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ ๔ เรื่องค่ะ
เรื่องแรก เป็นเรื่องขอให้ช่วยก่อสร้างสะพานข้ามคลองมาบไพ บริเวณหมู่ ๓ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากสะพานอันเดิมคับแคบและทรุดโทรม เป็นอย่างมาก ใกล้พังนะคะ ท่านประธานคะ ในวันที่ ๑๘ กันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงไปดู พื้นที่พร้อมกับทางนายก อบต. ได้สอบถามกับทางท่านนายก อบต. ทำให้ทราบว่า ส่งโครงการนี้ไปให้กับทาง อบจ. จันทบุรีแล้ว ทาง อบจ. จันทบุรีกำลังปรับแบบ เมื่อแล้วเสร็จ จะส่งไปขออนุญาตกับกรมเจ้าท่าอีกครั้ง ดิฉันจึงขอหารือไปยัง อบจ. จันทบุรี กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมค่ะ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องขอให้ช่วยก่อสร้างถนนสายบ้านใหม่-สะตอน ช่วง ๔ กิโลเมตรแรก เพราะว่าพังหนักมาก เป็นหลุมเป็นบ่อลึก ซ่อมหลายครั้งแล้ว ไม่นาน ก็พังเหมือนเดิม จึงอยากขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยสร้างใหม่พร้อมกับไฟส่องสว่าง ชาวบ้าน เดินทางกันลำบากมาก ตรงนั้นเป็นเขตความรับผิดชอบของ ๓ ท้องถิ่นต่อกัน ก็คือ อบต. ทรายขาว เทศบาลสอยดาว และ อบต. สะตอน ซึ่งเป็นท้องถิ่นเล็ก ๆ มีงบประมาณ ไม่เพียงพอในการก่อสร้าง จึงขอหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ช่วยดูแล ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ ขอให้ช่วยซ่อมแซมถนนบริเวณหน้า 7-Eleven บริเวณวัดวังสรรพรส และถนนสายตกปก-ตำลึงทอง ตำบลวังสรรพรส อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เนื่องจาก เป็นหลุมเป็นบ่อพังมานานหลายปี สัญจรไปมาลำบาก และเนื่องจากท้องถิ่นมีงบประมาณ ไม่เพียงพอ ขอหารือไปยัง อบจ. จันทบุรี และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ช่วย ดำเนินการด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๔ ดิฉันได้รับแจ้งจากชาวบ้านในอำเภอสอยดาว โดยเฉพาะพื้นที่ ใกล้เขตชายแดนในหมู่บ้านสวนส้ม ตำบลสะตอน อำเภอสอยดาว ว่าเริ่มมีโจรขโมยทรัพย์สิน ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ในสวน มอเตอร์สูบน้ำ สายไฟ หรือแม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซค์ ก็หายกันบ่อย ๆ จึงอยากให้ผู้นำชุมชนและตำรวจช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับ ชาวบ้าน ขอหารือไปยังกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ดิฉันจะขออภิปรายในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาติดตามและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปรากฏการณ์ El Nino ท่านประธานคะ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ได้ออกประกาศเตือน รัฐบาลทุกประเทศให้เตรียมรับมือกับสภาพอากาศแบบสุดขั้วจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ El Nino ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีป ออสเตรเลียร้อนและแห้งแล้ง แต่ทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกมากขึ้น
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่กำลัง พัฒนา มีเศรษฐกิจที่เน้นในส่วนของภาคเกษตรกรรมและการประมงเป็นหลัก จะได้รับ ผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและแห้งแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในจังหวัดจันทบุรีประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๘๐ ก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จังหวัดเราเปรียบเสมือนแหล่งผลิตอาหารและผลิตผลไม้ของโลก ผลไม้คือตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจในจังหวัด ในปี ๒๕๖๕ จังหวัดจันทบุรีส่งออกทุเรียนจังหวัดเดียวอยู่ที่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ตัน ลำไยอยู่ที่ ๔๗๔,๐๐๐ ตัน มังคุดอยู่ที่ ๑๕๕,๐๐๐ ตัน และเงาะอยู่ที่ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้นผลไม้คือหัวใจ สำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรี และอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากภาคเกษตร ต้องได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจากปรากฏการณ์ของ El Nino ไม่เพียงแต่จะเดือดร้อนแค่ เกษตรกรเท่านั้น แต่เศรษฐกิจทั้งจังหวัดจะได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐและประชาชนจะต้องมีการวางแผนร่วมกันเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งที่กำลัง จะมาถึงอย่างทันท่วงที ในเขตของดิฉันคืออำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม ๒ ตำบล ก็คือตำบลปัถวีและตำบลฉมัน ๒ อำเภอข้างล่างก็คือ อำเภอมะขามและอำเภอขลุง ฝนตกจนน้ำหลาก แต่ในอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว ฝนยังตกค่อนข้างน้อย สภาพอากาศแตกต่างกันเหมือนอยู่คนละจังหวัด พูดไปคนจันทบุรี บางคนยังไม่เชื่อเลยว่ามันจะแตกต่างกันได้ขนาดนี้ เมื่อ ๓-๔ วันที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาส ไปเดินตลาดนัดสะตอน อำเภอสอยดาว ชาวบ้านบ่นให้ดิฉันฟังว่าฝนทิ้งช่วงไปนานมาก เพิ่งจะมาตกวันนี้ แล้วก็ตกแค่นิดเดียวเท่านั้น ตกแค่พอที่จะไม่ต้องรดน้ำลำไย แต่น้ำยังไม่ได้เข้าสระเลย น้ำยังไม่ไหลคลองเลย ถ้าฝนทิ้งช่วงนานกว่านี้อีกนิดหนึ่งพวกเขา ก็จะไม่มีน้ำอาบ จะไม่มีน้ำซักผ้ากันแล้ว ท่านประธานลองคิดดูสิคะว่านี่ขนาดอันนี้ เป็นหน้าฝนยังเดือดร้อนขนาดนี้ แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งในเดือนมีนาคม เดือนเมษายน ฝนที่ทิ้งช่วงนานขนาดนี้จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันขนาดไหน ดิฉันมี Case หนึ่งอยากจะ เล่าให้ท่านประธานฟังค่ะ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคมที่ผ่านมา มีชาวบ้านถูกจับ ๑ ราย ในตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ถูกจับเนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน รถคันนี้เป็นรถของชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง เขากำลังจะเอาน้ำที่อยู่ในรถบรรทุก คันนี้ไปใส่ในสระที่สวนเพื่อรดน้ำลำไย แต่ก็ต้องมาถูกจับเพราะว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน ถูกจับ ถูกปรับหลายหมื่นบาท ซ้ำร้ายก็อาจจะโดนยึดรถบรรทุกด้วย น้ำก็แห้งนะคะ ลำไยทั้งสวน กำลังรอวันตาย คนก็ต้องถูกจับดำเนินคดี ท่านประธานลองคิดดูนะคะ ถ้าเขาปล่อยให้ลำไย ทั้งสวนตายเขาจะเอาอะไรกินคะ จะเอาเงินที่ไหนกิน น้ำคือชีวิตค่ะ ดิฉันขอถามหน่อยว่า การทำแบบนี้เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่หรือไม่ ในครั้งแรก ท่านสามารถตักเตือนเขาได้ไหม ท่านสามารถใช้หลักรัฐศาสตร์ในการจัดการกับปัญหานี้ ได้หรือไม่ ดิฉันเป็นลูกชาวสวนเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่พ่อต้องซื้อน้ำเที่ยวละหลายร้อยบาท ต้องซื้อน้ำ เป็น ๑,๐๐๐ เที่ยวมารดน้ำทุเรียน ต้องยอมกู้เงิน ต้องยอมติดหนี้เพียงเพื่อที่จะรักษา ต้นทุเรียนไว้ ดิฉันเข้าใจว่าชาวบ้านที่ต้องเจอกับปัญหานี้เขาเจ็บปวดกันขนาดไหน คงไม่ต้อง อธิบายอะไรไปมากกว่านี้ และดิฉันเชื่อว่าทุกท่านที่ได้ฟังคงเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ดิฉันขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ดังนี้ค่ะ ขอให้หน่วยงานท้องถิ่นและในจังหวัดวางแผนรับมือกับภัยแล้งล่วงหน้า เตรียมเครื่องสูบน้ำ เตรียมงบประมาณไว้ให้เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ให้กับชาวบ้านค่ะ
ประเด็นต่อมา เมื่อภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนมีสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ ในสวนของตนเอง แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน เช่นพื้นที่ที่เป็น ส.ป.ก. และอยู่ในเขตทหารชาวบ้านจะต้องทำเรื่องขออนุญาตขุดสระ หลายหน่วยงาน บางทีล่าช้า เสียเวลา ขอได้บ้าง ขอไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะหน่วยงานทหาร หัวหน้าที่เข้ามาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อยู่ปีสองปีก็เปลี่ยนแล้ว พอเปลี่ยนหัวหน้าใหม่นโยบาย ก็เปลี่ยนใหม่ตามไปด้วย ฝากหน่วยงานทหารในพื้นที่ด้วยนะคะ ขอให้อำนวยความสะดวก กับการขออนุญาตการขุดสระของประชาชนด้วยค่ะ ดิฉันขอเสนอว่าควรที่จะกระจายอำนาจ ให้กับท้องถิ่นรับจบไปหน่วยงานเดียวเลยนะคะ
ประเด็นต่อไป ขอให้เร่งรัดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก มีปริมาณฝนตกน้อยกว่า อำเภออื่น ๆ ขอให้ช่วยเร่งรัดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองเครือหวายในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน ซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำคลองบอน ในตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อนอย่างเร่งด่วน ซึ่งตอนนี้เสียหายหนักมากไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้แล้ว ศึกษาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เขาตาโฮ่ในตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน ขอให้ช่วยเร่งรัดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ คลองตาพลายในตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว เร่งรัดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองขลุง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในขณะนี้ดิฉันทราบว่ารอเสนอเข้า ครม. ใหม่เพื่อขออนุมัติให้เพิกถอน พื้นที่ป่า หากอ่างเก็บน้ำนี้แล้วเสร็จน้ำจะถูกนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ตำบลบางชัน อำเภอขลุง ซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดมายาวนานหลายสิบปีแล้วนะคะ
ประเด็นสุดท้าย ขอให้เพิ่มงบประมาณให้กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้นำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน แล้วเวลาที่จะให้ ท้องถิ่นส่งโครงการเข้ามาไม่ใช่ให้เวลา ๓-๕ วัน แล้วก็ปิดรับ เนื่องจากว่าบางท้องถิ่น ส่งโครงการไม่ทันก็จะทำให้ชาวบ้านเสียโอกาส ดังนั้นดิฉันขอสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อติดตามผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Nino ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ ๔ เรื่อง
เรื่องแรก เมื่อ ๒ อาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันได้ลงพื้นที่พบกับชาวบ้าน และผู้นำชุมชน หมู่ที่ ๓ บ้านสะพานหินล่าง และหมู่ที่ ๔ บ้านโชคดี ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พวกเขาอยากให้มีสัญลักษณ์จราจรบริเวณสามแยกโรงเรียน บ้านโชคดี เนื่องจากบริเวณนั้นมีโรงเรียน มีแหล่งชุมชน มีร้านค้า ๒ ข้างทาง ช่วงเช้า และช่วงเย็นคนจะพลุกพล่านมาก ประกอบกับผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณนั้นขับรถกัน ด้วยความรวดเร็วทำให้มีอุบัติเหตุบาดเจ็บเสียชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากมีสัญลักษณ์จราจร ไม่ว่าจะเป็นไฟกระพริบ ป้ายเตือนเขตชุมชน เขตโรงเรียนลดความเร็ว คนที่ใช้รถใช้ถนน บริเวณนั้นก็จะมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินลงได้ จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังแขวงทางหลวงชนบทตราด และกระทรวงคมนาคมด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ ขอสัญญาณไฟจราจรบริเวณถนน ๓๑๗ จันทบุรี-สระแก้ว แยกเข้า เขื่อนคีรีธาร ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ช่วงหาเสียงที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาส ไปหาเสียงที่ตลาดทัพนครและบริเวณใกล้เคียง ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นได้สะท้อน ให้ฟังว่าพวกเขาต้องการให้มีไฟเขียวไฟแดงที่แยกนี้ เพราะว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในแต่ละครั้งนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นอุบัติเหตุหนัก จะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย เพราะว่า แยกนั้นเป็นถนน ๔ เลน เป็นแยกวัดใจ คนส่วนใหญ่จะใช้รถใช้ถนนกันด้วยความรวดเร็ว จึงอยากขอให้แขวงทางหลวงจันทบุรีได้พิจารณาติดตั้งไฟสัญญาณจราจรให้กับชาวบ้าน เพื่อลดอุบัติเหตุและป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอหารือไปยังแขวงทางหลวง จันทบุรี กระทรวงคมนาคมด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ ขอให้ช่วยทำวงเวียนที่สี่แยกทุ่งขนาน ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เรื่องนี้ทาง อบต. ทุ่งขนานได้ทำเรื่องรวมถึงทำแผนไว้เรียบร้อยแล้ว แขวงทางหลวงจันทบุรีได้ลงพื้นที่สำรวจเรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงอยากขอให้ช่วยจัดสรร งบประมาณลงมาเพื่อที่จะก่อสร้างวงเวียนนี้ให้กับชาวบ้านโดยเร็ว ขอหารือไปยังแขวงทาง หลวงจันทบุรีและกระทรวงคมนาคมค่ะ
เรื่องที่ ๔ เป็นปัญหาเรื่องช้างป่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในสมัยที่แล้ว สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าไปแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม ในปีที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการตั้ง งบประมาณสำหรับการสนับสนุนศูนย์อาสาผลักดันช้างป่าศูนย์ละ ๕๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ถือว่าได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้มากเลยทีเดียว เพราะว่า ชาวบ้านนำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออุปกรณ์ในการป้องกันและผลักดันช้างป่า เช่น หัวไฟฉาย ลูกปิงปองที่จุดไล่ช้าง น้ำมัน รวมถึงน้ำดื่ม ถึงแม้ว่าการสนับสนุนเงินจำนวนนี้จะเป็น การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ว่าชาวบ้านก็ยังได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก ดิฉันจึงขอ ชื่นชมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอยากให้ท่านช่วยตั้งงบประมาณนี้ ต่อเนื่องไปทุกปี เพราะว่าชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนจริง ๆ ค่ะ ขอหารือไปยังกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสำนัก งบประมาณด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายเกี่ยวกับราคากุ้งขาวราคาตกต่ำ ขอ Slide ด้วยค่ะ
จาก Slide เราจะเห็นถึงผลผลิตกุ้ง ของโลก และปริมาณนำเข้ากุ้งของประเทศผู้นำเข้าจากทั่วโลกค่ะ โดยประเทศที่ผลิตกุ้ง ส่งออกกุ้งมากที่สุด ในอันดับแรกก็คือเอกวาดอร์อยู่ที่ ๑,๓๐๐,๐๐๐ ตัน อันดับที่ ๒ คือ อินเดีย ๗๕๐,๐๐๐ ตัน อันดับที่ ๓ เวียดนาม ๗๐๐,๐๐๐ ตัน อันดับที่ ๔ อินโดนีเซีย ๔๐๐,๐๐๐ ตัน และอันดับที่ ๕ ก็คือประเทศไทยอยู่ที่ ๒๘๐,๐๐๐ ตัน รวม ๆ แล้วทั้งโลก ส่งออกกุ้งอยู่ที่ประมาณ ๓,๔๓๐,๐๐๐ ตัน แต่ปริมาณนำเข้ากุ้งของโลกจะอยู่ที่ประเทศ ผู้นำเข้าจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป จะรวม ๆ กันอยู่ที่ ๒,๘๗๒,๐๐๐ ตัน ท่านประธานคะ จากรูปนี้เราพอจะมองออกได้เลยว่าผลผลิตกุ้งมีปริมาณเกินไปกว่า การบริโภค โดยสถานการณ์นี้เราเรียกว่าสถานการณ์กุ้งล้นโลกค่ะ โดยที่มาสถานการณ์ กุ้งล้นโลกตรงนี้จะมีส่วนเกินอยู่ที่ ๕๕๗,๐๐๐ ตัน ที่มาของพื้นที่เลี้ยงกุ้งและผลผลิตกุ้งมาจาก คุณสรพัศ ปณกร เลขาธิการสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย และปริมาณนำเข้ากุ้ง ของประเทศผู้นำเข้ากุ้งมาจากกรมประมง จากเดิมปริมาณการผลิตกับการบริโภคกุ้ง จะอยู่ใกล้เคียงกันนะคะ แต่ว่าพอช่วงโควิดเศรษฐกิจของทุกประเทศก็ย่ำแย่ลงค่ะ ดังนั้นในแต่ละประเทศต่างก็มองว่า สินค้าอะไรที่จะทำรายได้ให้กับประเทศได้ ทีนี้ประเทศผู้ที่ผลิตกุ้งไม่ว่าจะเป็น เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือแม้แต่กระทั่งประเทศไทยต่างก็ส่งเสริมให้ผลิตกุ้ง อย่างประเทศไทยเท่าที่ดิฉันติดตามข่าวมาก็ส่งเสริมให้ผลิตกันถึง ๔๐๐,๐๐๐ ตัน ท่านประธานคะ พอถึงจุดหนึ่งกลายเป็นว่าปริมาณการผลิตมากกว่าการบริโภค ผ่านไป ระยะหนึ่ง มันก็เลยทำให้เกิด Stock คงค้างกุ้งในแต่ละประเทศ แล้วก็ต้องทำการระบาย Stock สินค้ากุ้งออก ดังนั้นจึงเกิดการประกาศลดราคากุ้งครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณช่วงมีนาคมของปีที่แล้ว เพื่อที่จะให้คนมาซื้อกุ้ง กินกุ้งมากขึ้น แต่นั่นก็กลายเป็นว่า เป็นมาตรฐานราคาใหม่ของกุ้งไป เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศลดราคาลงประเทศที่อยู่ได้ ยังพอขายได้ตามราคาที่เขาประกาศซื้อ ก็คือประเทศเอกวาดอร์ค่ะ เพราะว่าประเทศ เอกวาดอร์มีต้นทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งของประเทศ เอกวาดอร์ จะอยู่แค่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของกุ้งไทยเท่านั้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันไปซื้อกุ้ง จากเอกวาดอร์มากกว่าค่ะ ท่านประธานคะเมื่อพูดถึงเรื่องราคาที่ลดลงสิ่งหนึ่งที่ต้องคู่กันเลย เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือในเรื่องของต้นทุน ตารางนี้เป็นตารางเปรียบเทียบต้นทุนรวม ของการเลี้ยงกุ้งกับราคาขายกุ้งในเดือนพฤษภาคมของปี ๒๕๖๖ ค่ะ เป็นข้อมูลของ สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เราจะพบว่ากุ้ง Size ๘๐ ตัวต่อ ๑ กิโลกรัม ราคาขายปากบ่อ อยู่ที่ ๑๑๕ บาท แต่ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๓๔ บาท ขาดทุนไปแล้ว ๑๙ บาท หรือว่าเรามาดูที่ ๑๐๐ ตัว ๑ กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ต้นทุนอยู่ที่ ๑๒๗ บาท ขาดทุนไปแล้วกิโลกรัมละ ๒๗ บาท สมมุติว่าจับ ๕ ตัน ก็ขาดทุนไปแล้ว ๑๓๕,๐๐๐ บาทค่ะ ยิ่งเลี้ยงมากก็ยิ่งขาดทุนมาก อันนี้ยังเป็นราคาในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ แต่ ณ ตอนนี้ ณ เดือนนี้ ค่าไฟแพงขึ้น ในขณะที่ราคาขายถูกลงกว่านี้อีกค่ะ จากที่ดิฉัน กล่าวมาข้างต้นราคากุ้งขาวลดลง แต่ต้นทุนรวมในการเลี้ยงกุ้งกลับเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าหรือว่าค่าอาหารกุ้งเมื่อเปรียบเทียบราคา อาหารกุ้ง ณ ปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบันผ่านมา ๔ ปี ราคาอาหารกุ้งจำแนกตามช่วงวัย เพิ่มสูงขึ้นถึง ๒๖ เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรต้องแบกรับกับภาระต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้นถึง ๒๖ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ราคาปรับลดลงเรื่อย ๆ ล่าสุดในเดือนสิงหาคมนี้ราคากุ้งขาว Size ๗๐ ตัวต่อ ๑ กิโลกรัม ราคาขายเหลือเพียง ๑๐๔ บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ถือว่า เป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ ๑๓ ปีนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ แบบนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศ อยู่ไม่ได้ค่ะ ราคานี้เกษตรกรที่สุราษฎร์ธานีก็อยู่ไม่ได้ ราคานี้เกษตรกรที่ฉะเชิงเทรา ของเขต สส. ซัน ก็อยู่ไม่ได้ ราคานี้เกษตรกรที่นครปฐม สส. กิตติภณ เขต ๔ ก็อยู่ไม่ได้ ที่จันทบุรีก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ ท่านประธานคะ จากภาวะกุ้งล้นโลกที่ทำให้เกิดปัญหา ราคากุ้งขาวตกต่ำ พรรคก้าวไกลได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับเครือข่าย สมาคมชมรมของผู้เลี้ยงกุ้งจากทุกภาคส่วน ดิฉันขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิง นโยบายเรื่องกุ้งขาวราคาตกต่ำ ๕ ประเด็นดังนี้ค่ะ
ประเด็นแรก ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนอยู่ที่ ประมาณ ๑๗-๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณกิโลกรัมละ ๒๕ บาท โดยให้มีการคิดค่าไฟฟ้า ในราคาภาคเกษตรกรรมค่ะ
ประเด็นที่ ๒ ต้องการให้มีการแสดงข้อมูลชนิด และปริมาณวัตถุดิบ ในฉลากอาหารกุ้ง ซึ่งในปัจจุบันฉลากอาหารกุ้งมีบอกแค่ชนิด แต่ว่าไม่ได้บอกปริมาณ ยกตัวอย่างเช่น ในฉลากจะบอกแค่ว่ามีส่วนผสมของแป้งสาลี กากถั่วเหลือง ปลาป่น แต่ไม่ได้บอกเลยว่ามีแป้งสาลี กากถั่วเหลือง และปลาป่นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้มันจะสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับคุณภาพของอาหารกุ้ง
ประเด็นที่ ๓ ประเด็นนี้สำคัญมาก ๆ นะคะ เนื่องจากเราทราบแล้วว่าปัญหา ราคากุ้งขาวตกต่ำเกิดจากภาวะกุ้งล้นโลก ดังนั้นการขยายและการดูแลตลาดกุ้ง ภายในประเทศจึงสำคัญมากค่ะ เช่นเราต้องหาช่องทางการขายตรงไปยังกลุ่มลูกค้าธุรกิจ เช่น กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มโรงแรม และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิด การบริโภคกุ้งให้เพิ่มมากขึ้น จัดการข่าวเชิงลบของกุ้ง พัฒนาเมนูใหม่ ๆ รวมถึงการส่งเสริม ให้ผู้มีชื่อเสียงมาเชิญชวนบริโภคกุ้งให้เพิ่มมากขึ้นค่ะ
ประเด็นที่ ๔ ควบคุมปริมาณการนำเข้ากุ้งให้เหมาะสม
ประเด็นที่ ๕ ออกแบบและกำหนดแผนการแก้ไขปัญหาการส่งออกกุ้งไปยัง ต่างประเทศ ปัจจุบันมีการใช้เทคนิควิธีการเกี่ยวกับมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ มาเป็นตัวกีดกันในการส่งออกกุ้งของไทยนะคะ ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอเสนอให้มีการหารือกับ กรมประมง และกระทรวง อว. เพื่อให้มีการออกแบบตรวจสอบคุณภาพกุ้งไทยที่เลี้ยงอย่าง ถูกวิธีและมีคุณภาพ ให้สามารถยืนยันกับผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจใน คุณภาพของกุ้งไทยได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ท่านประธานคะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่อยู่ในวงการกุ้งทุกภาคส่วน ขอให้ท่านผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี และขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ ขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหา เรื่องนี้อย่างเร่งด่วนด้วยค่ะและดิฉันขอย้ำ พรรคก้าวไกลเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ พวกเราอยู่กันอย่างหนาแน่น เพื่อที่จะสะท้อนปัญหานี้ไปยังสภาผู้แทนราษฎร ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มาปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ ๑ เรื่องค่ะ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาดิฉันได้รับการร้องขอให้ไปลงพื้นที่ในตำบลบางชันเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชนทั้งท้องที่และท้องถิ่น เรื่องสะพานชำรุดทรุดโทรมใกล้พัง มีทั้งหมด ๒ แห่ง ซึ่งสะพานทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นเส้นทางหลักที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาและไม่มีทางอื่นทดแทนค่ะ ขอสไลด์ด้วยนะคะ
สะพานแห่งแรกเป็นสะพาน หมู่ที่ ๔ บ้านท่าขาหย่าง ถ้าดูจากในรูปจะเป็นสะพานเก่าที่สร้างมานับ ๔๐ ปีแล้ว จนตอนนี้ชำรุด เสียหายเป็นอย่างมากจะต้องได้รับการสร้างใหม่อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ป้องกัน โศกนาฏกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฝืนใช้ต่อไปค่ะ ถ้าหากท่านดูในรูปจะเห็นชัดเจนว่า สะพานบางช่วงคอนกรีตจะยุบตัวลงไปแล้ว โครงสร้างของสะพานปูนหักหลุดเหลือแต่เหล็ก ความแข็งแรงไม่มีแล้วค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวบ้านหลาย ๑๐๐ ชีวิตก็ต้องใช้สะพานแห่งนี้เดินทางสัญจรไปมา รถน้ำของ อบต. จะต้องเอาน้ำเข้ามาส่ง แต่เมื่อสะพานไม่แข็งแรง รถน้ำของ อบจ. ก็ไม่สามารถที่จะนำน้ำเข้ามาส่งได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือทอยน้ำเข้าไปส่งในหมู่บ้านแทน จึงอยากขอให้สร้างใหม่ สะพานแห่งที่ ๒ เป็นสะพานไม้เป็นสะพานระหว่างหมู่ที่ ๕ บ้านนากุ้ง กับหมู่ที่ ๖ สีลำเทียน สะพานนี้สร้างมาหลายสิบปีแล้วเช่นเดียวกันเป็นสะพานไม้ซึ่งตอนนี้ ก็ชำรุดเสียหาย ชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะสัญจรไปมาได้ รถน้ำไม่สามารถไปส่งได้ จึงอยาก ขอความอนุเคราะห์ไปที่ อบจ. จังหวัดจันทบุรีให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณลงมา เนื่องจาก อบต. บางชันเป็น อบต. ขนาดเล็กไม่มีงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้าง จึงขอหารือไปยัง อบจ. จันทบุรีด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๑๑๔ ญาณธิชา แสดงตนค่ะ