กราบเรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ขออนุญาตนำเรียนรายละเอียดกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลโดยสังเขปครับ กองทุน พัฒนาน้ำบาดาลตั้งขึ้นตามมาตรา ๗ จัตวา วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ
ต้องขอประทานโทษ ด้วยนะครับ ผมมาใหม่ ไม่ค่อยได้เข้าสภาครับ ในส่วนของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลตั้งขึ้นตาม มาตรา ๗ จัตวา วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ มีชื่อย่อว่า กพน. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา วิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม โดยรายได้จากกองทุนมาจาก ๒ ส่วน ส่วนแรก ก็คือเงินที่ได้จากการเรียก เก็บค่าใช้น้ำตามมาตรา ๗ (๒) ที่นำส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ และส่วนที่ ๒ ก็คือเงินที่ได้จากการเรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ตามมาตรา ๗ (๒/๑) ซึ่งการใช้จ่ายในกองทุนนี้จะมีอยู่ ๔ ส่วน ก็คือตามมาตรา ๗ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๖ มีอยู่ ๔ ข้อ ข้อที่ ๑ การศึกษา สำรวจ วิจัย และการวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม ข้อที่ ๒ การช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทดแทน และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล ข้อที่ ๓ ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนตามที่ตกลงกับ กระทรวงการคลัง ข้อที่ ๔ ค่าใช้จ่ายในการจ้างเอกชนจัดเก็บค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์ น้ำบาดาล จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอบพระคุณครับ
ขอบคุณครับ กราบขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะ ติชม แล้วก็คำถามนะครับ คำถามมีทั้งหมด ๒๕ ท่าน ผมขออนุญาตไปเร็ว ๆ นะครับ
ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ก็ต้องขอบคุณท่านเป็นอย่างมากที่ได้กรุณา ให้ข้อเสนอแนะหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการนำงานวิจัยไม่ใช่แค่อยู่ในหิ้ง ที่เอามาใช้ ได้จริงนะครับ ซึ่งกรมก็มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน ก็ขอบพระคุณท่านครับ แล้วก็ในส่วน ของเกาะนางคำหรือว่าพื้นที่ต่าง ๆ ใด ๆ ก็ตามในพัทลุง เดี๋ยวทางเราจะให้ทางเจ้าหน้าที่ ประสานไปเพื่อจะพิจารณาต่อไป ถ้าตรงไหนเข้าแผนได้ก็จะเข้าแผนเลย ขอบคุณครับ
ท่านที่ ๒ ท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สอบถามเรื่องลูกหนี้ค้าง ๑๗๐ ล้านบาท ปัจจุบันก็ได้ส่งเข้าคืนคลังแผ่นดินครบเรียบร้อยแล้วครับ แล้วก็ในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง ๑,๐๐๐ ล้านบาท เนื่องจากโครงการศึกษาวิจัยของเราบางครั้งมีการก่อสร้างด้วย ไม่ว่า จะเป็นระบบก่อสร้างที่เป็นระบบใหญ่ ซึ่งมีถัง มีบ่อ มีปั๊มน้ำ ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเป็น ราคาในสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับเงินที่ถูกโอนทรัพย์สินติดลบ ๖๐๐ ล้านบาท ก็คือการที่เราโอนทรัพย์สินและทยอยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำต่อไป ในส่วนของโครงการเสริมสร้าง ๙๗ ล้านบาท จริง ๆ เป็นโครงการที่เงินไม่เยอะนะครับ จริง ๆ คนที่ได้รับก็คือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ๗๖ จังหวัด หรือเราเรียกว่า ทสจ. สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้ใน การตรวจสอบบ่อเถื่อน แล้วก็เร่งรัดหนี้สิน หนี้ค้างต่าง ๆ ส่วนในเรื่องของศูนย์เรียนรู้พัฒนา จัดการน้ำบาดาลเรามีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้จริงที่บางเขน ซึ่งเราก็ได้รับนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษามากมาย ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติท่านใดอยากจะมาเยี่ยมชม กรมก็ยินดีครับ ในส่วนของน้ำหลายพื้นที่ไม่ผ่านกรมอนามัย ส่วนใหญ่ของเราน้ำบาดาล ก็ผ่านเกณฑ์หมดนะครับ ยกเว้นบางพื้นที่ไม่ทราบว่าถ้ามีก็รบกวนให้รายละเอียดกรม กรมจะได้เข้าไปดูแล ขอบคุณครับ
ท่านที่ ๓ ท่านประเสริฐ บุญเรือง ได้ให้ข้อชี้แจง เสนอแนะหลายเรื่อง แล้วก็เร่งรัดกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเรื่องของการเบิกจ่ายงบกลาง เดี๋ยวทางกรมจะเร่งรัด ต่อไปในการเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นให้ทันภายในปีงบประมาณครับ ขอบคุณครับ
ท่านที่ ๔ ท่านเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ได้กรุณาให้ข้อแนะนำในเรื่องของ การตั้งงบซ่อม ซึ่งงบซ่อมจริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านนะครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพยายามตั้งงบซ่อมตลอดเวลา เพราะว่าบางครั้งในหลายพื้นที่ ชาวบ้านไม่สามารถซ่อมเองได้ กรมก็จะพยายามเจียดเงินของกรมทุกครั้งที่ทำได้ลงไปช่วย ชาวบ้านครับ
ท่านที่ ๕ ท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. พรรคเพื่อไทย ก็ขอบคุณท่านที่กรุณา ให้คำชี้แนะ แล้วก็ข้อรายละเอียดเรื่องการบริหารจัดการน้ำบาดาล
ท่านที่ ๖ ท่านสุภาพร สลับศรี ได้พูดถึงเรื่องของแผนที่ยโสธรที่ยังมีหลายพื้นที่ ที่หาพื้นที่ยาก แล้วก็เรื่องโลกร้อน ภัยแล้ง ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะนำข้อคิดเห็น ของท่าน ข้อเสนอแนะไปปรับปรุงต่อไปนะครับ แต่ถ้าเกิดมีพื้นที่ที่มีความจำเป็น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ยินดี วันนี้เรามีทีมมาเต็มประสิทธิภาพ ตามที่ท่านได้พูดไว้ มีทั้งดอกเตอร์หลายคน ทั้งนักธรณีวิทยา นักวิชาการต่าง ๆ ที่เตรียมมารับเรื่อง ถ้าเกิด มีความจำเป็นครับ
ท่านที่ ๗ ท่านปรเมษฐ์ จินา ที่ได้พูดเรื่องการเติมน้ำหรือว่าในเรื่องของ ทุเรียนแปลงใหญ่ ก็ขอบคุณข้อเสนอแนะแล้วก็ยินดีนะครับ ถ้าเกิดมีพื้นที่ที่จำเป็นก็ยินดี ก็รบกวน เดี๋ยวผมจะให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ แล้วก็จะนำพิจารณาเสนอเข้าแผนต่อไปครับ
ท่านที่ ๘ ท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ พูดถึงในเรื่องของอยากให้กรมมีการศึกษา เชิงลึกแล้วก็เชิงรุกมากขึ้น ก็ขอบคุณท่านนะครับ แล้วเดี๋ยวถ้าเกิดมีกรณีในเรื่องของพื้นที่ ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นในภาคใต้ เดี๋ยวผมให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปครับ
ท่านที่ ๙ ท่านชยพล สท้อนดี ในเรื่องของลูกหนี้ ๑,๒๑๘ ราย ปัจจุบันนี้ ส่งครบเรียบร้อยแล้ว เมื่อครู่นี้ได้แจ้งไปแล้วครับ ขอบคุณครับ
ท่านที่ ๑๐ ท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ก็ได้พูดเรื่องเงินอุดหนุน กรณีตัวนี้ หลักเกณฑ์ตัวชี้วัดผมขออนุญาตตอบเป็นตัวหนังสือ เพราะว่ารายละเอียดมันเยอะครับ เดี๋ยวจะไม่ทันเวลา เพราะว่ามีอีกหลายรายละเอียด แล้วก็ขอบคุณท่านที่ได้มีความกรุณา ตั้งใจดีที่อยากให้กรมดำเนินการเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างทั่วถึงนะครับ
ท่านที่ ๑๑ ท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี เรียนท่านจริง ๆ ว่ากรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้มีการไปช่วยเหลือในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเยอะมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำโจน ซึ่งน้ำเป็นกรด pH2 น้ำสีเขียวเลย หรือว่าเป็นที่ แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมี VOCs หรือที่เอกอุทัยซึ่งลงข่าว ๓ มิติตลอด ทั้ง ๓ พื้นที่ของเอกอุทัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้ร่วมมือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ก็ต้องยอมรับว่า ในบางครั้งกฎของเมืองไทยในการจัดการสิ่งแวดล้อมก็คือ Polluter Pays Principle หรือ PPP เพราะฉะนั้นหลักการเราก็ต้องฟ้องไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกันนะครับ แล้วก็ค่าฟ้องต่าง ๆ บางทีไม่ใช่หลัก ๑๐ ล้านบาท ผมยกตัวอย่างเช่นอ่างลุ่มน้ำโจนซึ่งปัจจุบันนี้ได้ฟ้องร่วม ระหว่างกรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตอนนี้ฟ้องบริษัท ไปทั้งหมด ๒,๐๐๐ ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นโจทก์ฟ้องทั้งหมด ๕๕๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินจริง ๆ ตัวนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับเงินกองทุนที่มีอยู่นะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าในบางส่วนที่เราสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางวิชาการเราทำตลอดเวลาอยู่แล้วครับ
ท่านที่ ๑๒ ท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ต้องขอบคุณท่านที่ได้กรุณาเข้าใจ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเรื่องของเครื่องจักร ซึ่งปัจจุบันนี้เครื่องจักรกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ของเราอายุมากกว่าอายุการทำงานของผมคือ ๓๐ กว่าปี ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ว่าช่างเจาะ เราก็พยายามทำอย่างสุดความสามารถครับ
ท่านที่ ๑๓ ท่านรวี เล็กอุทัย ในเรื่องของขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ก็ได้ แจ้งไปแล้ว แล้วก็ขอบคุณท่านรวีที่ได้กรุณาเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ อย่างมาก จริง ๆ ผมจบด้านบริหารจัดการน้ำ Demand-side ของประเทศตอนนี้จริง ๆ คือ ๑๕๐,๐๐๐ ล้าน อย่างที่ท่านแจ้งครับ แต่ Supply-side ตอนนี้คือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน แปลว่า จริง ๆ ประเทศยังขาดอีก ๓๐,๐๐๐ ล้าน คำถามคือเราจะบริหารจัดการเอาน้ำผิวดินกับน้ำ ใต้ดินมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Supply-side ที่ขาดไปครับ
ท่านที่ ๑๔ ท่านนิพนธ์ คนขยัน ก็ต้องขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาให้ข้อแนะนำ ในเรื่องต่าง ๆ เดี๋ยวกรมก็จะนำไปปรับปรุงใช้ต่อไปครับ
ท่านที่ ๑๕ ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ขอบคุณท่านนะครับ ผมเข้าใจในเรื่อง ภาคอีสานเป็นอย่างดีเพราะว่าได้ลงพื้นที่ภาคอีสานตลอดเวลา ก็มีความเห็นใจ แล้วตอนนี้ ก็อย่างที่ท่านว่านะครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะพยายามนำงบประมาณนี้ไปใช้ใน กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ไปใช้ในการเจาะสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยในแหล่งน้ำที่หายาก
ท่านที่ ๑๖ ท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ได้พูดเรื่องการเติมน้ำใต้ดิน แล้วก็ ในเรื่องของ TV Borehole ในลูกหนี้ต่าง ๆ ตอนนี้เราได้ทำการซื้อเพิ่มเติมแล้ว TV Borehole เรามีทั้งหมด ๘ ชุด ในเรื่องของอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องบัญชีนี้เดี๋ยวขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ ตอบเป็นเอกสารอีกทีนะครับ
ท่านที่ ๑๗ ท่านชัชวาล แพทยาไทย ผมก็เข้าใจจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอำเภอเกษตรวิสัย แล้วก็ยังมีอำเภอปทุมรัตต์ด้วยซึ่งอยู่ในเขตที่ท่านดูแล ใน ๒ Zone นี้เป็น Red Zone หรือ Zone สีแดงของภาคอีสานใน Zone นั้นจริง ๆ ครับ ซึ่งเราก็มีโครงการหลายที่ช่วยพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นที่ศรีสมเด็จต้องยอมรับว่าธรณีตรงนั้นยาก แต่ว่ากรมจะรับไปพิจารณาแล้วก็นำเข้าแผนต่อไปครับ
ท่านที่ ๑๘ ท่านอดิศร เพียงเกษ กรณี ๑๕.๘ ล้านบาท ก็ได้ตอบไปแล้วนะครับ
ท่านที่ ๑๙ ท่านกฤดิทัช แสงธนโยธิน ต้องการทราบผลลัพธ์ประชาสัมพันธ์ จริง ๆ ประชาสัมพันธ์กรมเรามีหลายช่องทางนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Facebook LINE Ads YouTube แล้วก็ TikTok แต่ว่าบางครั้งเราอาจจะประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ช่องทางน้อยไป กรมก็ขออนุญาตรับแนวทางท่านไปปรับปรุงต่อไปครับ
ท่านที่ ๒๐ ท่านสุไลมาน บือแนปีแน ก็ได้กรุณาพูดในเรื่องของโครงการ ต่าง ๆ เดี๋ยวกรมก็จะรับข้อเสนอแนะไปในเรื่องของปริมาณคุณภาพน้ำที่ท่านได้ว่าไว้ครับ
ท่านที่ ๒๑ ท่านสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ก็พูดในเรื่องของเงิน ผมแจ้งอย่างนี้ ก็คือถ้าประปาไม่สามารถเข้าถึง เกษตรก็ใช้น้ำฟรี โดยส่วนใหญ่เกษตรกรในภาคอีสาน ก็ใช้น้ำฟรีครับ แต่ถ้ามี Zone ไหนที่มีประเด็นอะไรเดี๋ยวทางกรมก็จะให้เจ้าหน้าที่ไปประสาน เพื่อหารือรายละเอียดได้ แล้วเรื่องที่ท่านฝากในเรื่อง ๓ ข้อ กรมก็จะรับไปดำเนินการ ต่อไปนะครับ
ท่านที่ ๒๒ ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ในเรื่องของ ๔ โครงการภาคใต้ แล้วก็ SEC กรมก็จะรับไปดำเนินการต่อไปครับ ในเรื่องของ SEC EEC หรือ สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ พูดถึงนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้ความสำคัญตลอด เพราะเราทราบว่าน้ำไม่ได้เพียงแค่ อุปโภคบริโภค ยังเป็นเพื่อการเกษตรและเพื่ออุตสาหกรรมด้วยครับ
ท่านที่ ๒๓ ท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ขอบคุณกับคำติชมแล้วก็ความเข้าใจ รูปนั้นเป็นรูปจริงที่ช่างเจาะของเราเวลาเจาะน้ำโคลนเข้าเต็มตัวเลย ก็ตากแดดตากฝนตลอด อันนั้นคือชีวิตช่างเจาะซึ่งไม่ต่างกับ ตชด. เลยครับ
ท่านที่ ๒๔ ท่านพชร จันทรรวงทอง ในหลาย ๆ เรื่องก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ในเรื่องของแผนงานรับมือนะครับ ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้เตรียม ในการรับมือ El Nino เดี๋ยวเราจะมีโครงการศึกษาสำรวจ โดยการที่รับพื้นที่ที่หาน้ำยาก ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อมาเจาะศึกษาสำรวจ แล้วก็นำไปต่อยอดในโครงการจริงครับ
ท่านสุดท้าย ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ได้กรุณาให้คำแนะนำเป็นบัญญัติ ๕ ประการให้กับกรม เดี๋ยวกรมก็จะรับไปใช้ต่อนะครับ
แล้วก็ในสุดท้ายนี้นะครับ หากมีข้ออันใดก็ตามที่ผมตอบยังไม่หมดหรือว่า ตอบไม่ Clear ไม่ชัดเจน ก็รบกวนเดี๋ยวอาจจะต้องส่งเป็นเอกสารต่อไปครับ ขอบพระคุณ ทุกท่านมากครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณ ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทั้ง ๒ ท่านที่ได้กรุณาสอบถามเพิ่มเติมนะครับ
ผมขออนุญาตตอบคำถามท่านรภัสสรณ์ นิยะโมสถ อีกครั้งหนึ่งนะครับ ในส่วนของการศึกษาการสร้างศูนย์เรียนรู้ ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นการสร้างระบบน้ำ ซึ่งเป็นระบบทำน้ำขวดให้กับประชาชนได้เห็นว่าน้ำบาดาลที่ใช้จริงสามารถนำมาใช้ต่อ ได้อย่างไร เพราะจริง ๆ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่บางเขนมีบ่อที่เจาะแล้วประมาณ ๓๐ ปี ยังไม่เคยมีปัญหาเลยนะครับ ซึ่งเราเจาะไปนานมากแล้ว ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ น้ำส่วนหนึ่ง เราก็ใช้ในการผลิตน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็เลย มีการสร้างศูนย์เรียนรู้ตัวนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนนำมาใช้ต่อยอด ทราบว่าน้ำบาดาลจริง ๆ สามารถนำมาใช้ต่อยอดอย่างไรบ้างในเรื่องของการอุปโภคบริโภคครับ ในส่วนของรายงานการศึกษาปี ๒๕๕๘ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับ ทรัพยากรน้ำบาดาล คือทรัพยากรที่อยู่ใต้พื้นดิน เหล็กหรือว่า Fe เป็นสิ่งที่มีอยู่มากเป็นอันดับ ๓ ของโลก รวมถึง Fluoride ด้วย เพราะฉะนั้นในบางพื้นที่จริงอยู่ที่น้ำบาดาลมีเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกพื้นที่จะสามารถเจาะน้ำบาดาลได้ เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการเป็นอย่างนี้ ในหลายพื้นที่ ที่เราไม่สามารถจัดการน้ำบาดาลได้ เรามีความคิดใหม่ครับ ทำไมจะต้องไปเจาะในที่ที่น้ำ คุณภาพไม่เหมาะสม เราก็ไปเจาะน้ำในที่ที่ไกลออกไปแล้วก็ส่งน้ำมา นั่นเขาเรียกว่าโครงการ ส่งน้ำบาดาลระยะไกลครับ ก็ขออนุญาตชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อมูลตรงนั้นไม่ผิด แต่ตรงไหนก็ตาม ที่คุณภาพน้ำซึ่งนักธรณีวิทยาเรารู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เราจะไม่เข้าไป แล้วเราจะเลี่ยงไปทำวิธีอื่นแทนเพื่อช่วยเหลือประชาชนครับ
ในส่วนที่ตอบคำถามท่านนพดล ทิพยชล เรื่องกรณีของศรีสมานนะครับ ตรงนี้ผมยังไม่ทราบเรื่อง เดี๋ยวผมขออนุญาตกลับไปตรวจสอบนะครับ แล้วก็รีบแจ้งท่าน โดยด่วน ขอบพระคุณมากครับ