กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผมขออนุญาต นำเสนอสรุปรายงานประจำปีของสำนักงาน EEC เป็น PowerPoint ครับ
ในการดำเนินการของสำนักงาน EEC เราดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. มีกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยกลไกในการทำงาน จะทำงานโดยมีองค์กรที่เป็นคณะกรรมการชื่อคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้วก็มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC ๑๔ คน แล้วก็ทางสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ กระบวนการของสำนักงาน EEC ก็จะมีแผน แล้วก็มีแผนสำคัญที่สุด จะเรียกแผนภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพใหญ่ในการพัฒนา เสร็จแล้วก็จะมีแผนย่อย อยู่อีกหลายฉบับ ซึ่งการดำเนินการแผนภาพรวมในปี ๒๕๖๕ สิ้นแผนไปพอดี แล้วก็ในปีนี้ ต่อไปจนถึงปี ๒๕๗๐ ก็จะมีแผนฉบับใหม่ เมื่อมีแผนภาพรวมแล้ว ก็จะมีแผนเกี่ยวเนื่อง ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องพัฒนาคน เรื่องท่องเที่ยว เรื่องเกษตร เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมือง
ขอ Slide ถัดไปเลยครับ ในผลงานที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๑ จนถึงปี ๒๕๖๕ ทางคณะกรรมการนโยบาย ผมขออนุญาตใช้ชื่อย่อว่า สกพอ. สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีเป้าหมายในการลงทุน ๑.๗ ล้านล้านบาท ซึ่งในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาก็มีการลงทุนไปประมาณ ๑.๙๓ ล้านล้านบาท ถ้าตีกลม ๆ ก็เป็น ๒.๒ ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนใน EEC จำนวนที่ตัวเลข ๒.๒ ล้านล้านบาท ก็จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งก็เป็นส่วนของใช้งบประมาณของรัฐจะลงรายละเอียดอยู่ใน (๓) ประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วก็เป็นโครงการ PPP อยู่ประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วก็ที่เหลือเป็นเอกชนลงทุน ซึ่งการลงทุนเรานับยอดจากบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่สำนักงาน BOI ได้ออกให้ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา รวมแล้วประมาณ ๑.๒๕ ล้านล้านบาท
ขอ Slide ถัดไปครับ รูปนี้จะเป็นรูปแสดงว่านักลงทุนรายใหญ่ ๆ ที่เข้ามาใน EEC จะเป็นใครบ้าง หลัก ๆ จะมีคนลงทุนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเยอะหน่อย ก็จะมีอย่างเช่น บริษัท BYD แล้วจะมีคนที่เกี่ยวข้องก็คือทำแบตเตอรี่ แล้วก็จะมีที่ไม่ใช่เชิงอุตสาหกรรมโดยตรง ก็จะมี Theme Park ที่ท่านสมาชิกบางท่านอาจจะเคยผ่านที่พัทยาจะเห็น Theme Park โคลัมเบียชื่อ Aquaverse อยู่ในพัทยาก็มีการลงทุนจากต่างประเทศไป แล้วที่เหลือก็จะมี พวกรถ EV แล้วก็มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องของ ปตท. ไทยก็ไปร่วมทุนกับบริษัท Foxconn ก็ทำเกี่ยวกับเป็นฐานการผลิตยานยนต์เหมือนกันครับ ส่วนหนึ่งที่ผ่านมาในรอบ ๕ ปี ทางท่านสมาชิกได้รับทราบข่าวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา ๕ ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาปีที่แล้วก็มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในสำนักงาน EEC และในเขต EEC เขาจะมีโครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ อยู่ ๔ โครงการใหญ่ ก็จะเป็นท่าเรือ ๒ ท่าเรือ คือที่แหลมฉบังแล้วก็ที่ท่าเรือมาบตาพุดเสร็จแล้วก็จะมีการขยายสนามบินอู่ตะเภา แล้วก็จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐานวงเงินในการลงทุนโดยรวมแล้ว ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเศษ ซึ่งในรอบปี ๒๕๖๕ ก็มีการเริ่มดำเนินการไป เช่นมี การเริ่มถมทะเลไปบ้าง บางสัญญาก็ได้เริ่มกระบวนการเกี่ยวกับส่งมอบพื้นที่ไป แต่ยังมี ความล่าช้าอยู่จนถึงในปี ๒๕๖๕ สำนักงาน EEC ใน Slide รูปนี้คือแสดงให้เห็นกลไก ในการทำงาน ก็คือว่า EEC จะครอบคลุม ๓ จังหวัด ก็คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี แล้วก็จังหวัดระยอง ส่วนการดำเนินงานของ EEC เป็นเรื่องการให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริม การลงทุน พื้นที่การลงทุนจะกำหนดไว้อยู่ในพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น หมายความว่าใครที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในเขตพื้นที่ ก็จะมีอยู่แล้วรวม ๒๘ แห่ง อยู่ทางรูปซ้ายมือ นอกจากนั้นทาง EEC ก็จะมีพื้นที่ที่สงวนไว้ ที่พยายามจะดูไว้สำหรับบางอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทาง EEC ได้ดูแลอยู่จะมีเพียงแค่ ๑๒ อุตสาหกรรมเท่านั้น ในการส่งเสริมการลงทุนเราจะเน้นใน ๑๒ อุตสาหกรรม ซึ่งจะ แตกต่างจากทาง BOI ซึ่งดูในอุตสาหกรรมที่กว้างขวางกว่า
ขออนุญาต Slide ถัดไปครับ ผลงานการดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีการเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ในช่วงที่ EEC ดูแลเราปั้นบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับ เรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย จริง ๆ ตัวเลขที่มีการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาจะมีเกือบ ๆ ๒๐,๐๐๐ คน ๑๙,๔๒๕ คน แต่ถ้าเราดูในภาพใหญ่ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ดูแลในอุตสาหกรรม เป้าหมายก็จะมีอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ส่วนเรื่องของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ในโครงการที่เราดูเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ในพื้นที่ EEC จะมีโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ๘๖ โครงการ แล้วได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ๒๙ โครงการ ก็ยังเหลืออีกประมาณ ๒๐ โครงการ ซึ่งโครงการถ้าเราเจาะไปดูที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้อง กับเรื่องการบำบัดน้ำเสียแล้วก็ขยะ ซึ่งในกรณีขยะหลัก ๆ แล้วการดำเนินการในพื้นที่ การเติบโตของพื้นที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องขยะอยู่เยอะพอสมควร ในรูปก็ได้แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขยะมูลฝอยชุมชนไปแค่ไหน อย่างไรบ้าง ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด แต่อยากเรียนโดยสรุปว่าขยะมีเพิ่มขึ้นจริงครับ แต่ในที่สุดแล้ว มันมีระบบบริหารจัดการที่ดีขึ้น แล้วพยายามจะให้ระบบการจัดการขยะเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับพัฒนาแหล่งน้ำ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งว่าในการลงทุน โดยทั่ว ๆ จะต้องมีการดูถึงความพร้อมของแหล่งน้ำด้วย แล้วหลายท่านก็คงจะทราบดีว่า ในพื้นที่ ๓ จังหวัดของ EEC เป็นพื้นที่ที่บางปี บางช่วงระยะเวลามีข้อจำกัดเกี่ยวกับ เรื่องแหล่งน้ำด้วยเหมือนกัน โครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่ก็จะมี ๓๘ โครงการใหญ่ คนที่ดูแลหลักเป็นสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดูแลในภาพที่เกี่ยวกับนโยบายแล้วก็มีการจัดสรรโครงการที่เกี่ยวข้อง โครงการที่ได้รับจัดสรรในแผนนี้เป็นแผนที่ดำเนินการดูปริมาณน้ำจนถึงปี ๒๕๘๐ เลย ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วก็จะมี ๒๒ โครงการ เสร็จไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง ๑๑ โครงการ และกำลังดำเนินการอยู่ ๑๑ โครงการ แต่ยังมีโครงการที่รองบประมาณ จะต้องดำเนินการอยู่อีก ๑๖ โครงการ
ส่วนในมุมการพัฒนาชุมชน สิ่งหนึ่งที่อยากขออนุญาตนำเรียนท่านสมาชิกว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาใน EEC ท่านสมาชิกจะได้เห็นได้ยินเกี่ยวกับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ พยายามดึงดูดการลงทุนมา แต่จริง ๆ แล้วในพื้นที่ EEC อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชนด้วย ส่วนหนึ่งที่เราดำเนินการที่ผ่านมาจะเป็น เรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อสามารถจะรับ ประโยชน์จากการลงทุนได้ ในรูปก็เป็นตัวอย่างว่าที่เรามีการเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นเยาวชน กลุ่มที่เป็นบัณฑิตอาสา ซึ่งจะช่วยดูแลพื้นที่ให้ แล้วก็พยายามเอาคนในพื้นที่เข้ามาเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนครับ เรามีกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกด้วยเป็นกองทุนที่ใช้สำหรับในการเยียวยาประชาชน แล้วก็ดูแลเรื่องการศึกษา เพื่อที่จะให้เราดูแลพื้นที่ได้ แล้วในขณะเดียวกันก็สามารถจะเตรียมคนเอาไว้สำหรับ ในการรองรับการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นจากที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายครับ เพราะฉะนั้นในพื้นฐาน EEC ก็จะมีมุมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ เราพยายามจะดึงการลงทุน มาให้ได้ และการลงทุนของ EEC ในส่วนใหญ่ แล้วก็ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นการลงทุน ในอุตสาหกรรมที่ High-tech หน่อยที่ทันสมัย จะไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหนัก เสร็จแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมคืออุตสาหกรรมเราเชื่อว่าจะมีการจ้างงาน ที่ผ่านมาเรามี การพยายามเตรียมคนให้รองรับว่าสามารถจะได้ประโยชน์จากการทำงานในอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จะมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เราพยายามจะไปดูเศรษฐกิจชุมชนให้สามารถ รับประโยชน์ได้จริง ๆ และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแล ๆ เรื่องเมืองด้วย เพราะในที่สุดแล้ว การการทำงานที่เกี่ยว EEC เป็นเรื่องของการพัฒนาเมืองโดยใช้การลงทุนเป็นตัวนำครับ ขออนุญาตสรุปมีเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ก่อนอื่น ผมขออนุญาตขอบคุณท่านสมาชิกทุกท่านที่กรุณาให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็น แล้วก็มีการถาม คำถาม ผมพยายามจะตอบคำถามให้ครบถ้วนตามที่ทุกท่านได้สอบถามมานะครับ
ท่านแรก ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้สอบถามความก้าวหน้าของโครงการ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็จะมีโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ตอนนี้ถมทะเลอยู่โครงการ ล่าช้าครับ หลายท่านถามในเรื่องนี้ ผมจะขออนุญาตเดี๋ยวขยายความตอนท้ายอีกที ท่าเรือมาบตาพุดอยู่ในระหว่างการถมทะเลอยู่ก็มีความล่าช้าในการเริ่มต้น ก็ถือว่าระยะเวลา ที่กำหนดอยู่ในรายงานประจำปีจนถึงปัจจุบันมีความล่าช้าไปกว่าที่กำหนดในเล่มอยู่ ส่วนที่ สนามบินอู่ตะเภาตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างรอการประกวดราคาของกองทัพเรืออยู่ เนื่องจาก โครงการ PPP มีการกำหนดว่ารัฐต้องลงทางวิ่ง แล้วก็เอกชนจะไปทำอาคารผู้โดยสาร ในตอนนี้ก็รอกระบวนการของภาครัฐ ที่ภาครัฐเราช้าเพราะเนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เงินกู้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเตรียมพื้นที่ แล้วก็เจรจาเรื่องเงินกู้เพื่อเอามาใช้ในการเริ่มโครงการ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างครับ ที่ผ่านมามีปัญหาตั้งแต่การเตรียม พื้นที่ ในการ Clear เรื่องสาธารณูปโภค ในการส่งมอบพื้นที่อะไรกันอีกหลายอย่าง ตอนนี้ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความล่าช้าการเจรจากับผู้รับสัมปทาน ต้องแก้ไขข้อขัดข้องกันอีก พักหนึ่ง ผมเข้าใจว่าหลังจากที่เรามีรัฐบาลแล้วกลไกในการตัดสินใจจะชัดเจนขึ้น อันนี้ ก็น่าจะเริ่มโครงการได้ ส่วนในความเห็นของท่านฐากรที่แนะนำเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรม ดิจิทัลเทคโนโลยี ตอนนี้ก็มีคนที่ทำ Data Center เข้ามาจองที่ไว้แล้ว ในพื้นที่ ECD ก็ใช้ พื้นที่ประมาณ ๒๕ ไร่ในการทำ Data Center อันนี้ก็จะทำให้มีประเด็นหรือมีอุตสาหกรรมที่ท่านแนะนำตามมา ส่วนในเรื่องรายอื่นก็จะมี เช่นเดียวกัน เพราะว่าหลังจากที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานมีการจัด Cluster ของอุตสาหกรรม ที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับที่ท่านฐากรเสนอมา ส่วนในข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งพยายามจะให้ใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. EEC ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ อันนั้นก็อยู่ในระหว่างที่เรากำลังดำเนินการ เพราะเราหวังว่าการแก้ไขปัญหา ข้อกฎหมายซึ่งทำให้เกิดการล่าช้า เราจะทำให้ได้ภายในปีนี้ให้แล้วเสร็จนะครับ
ส่วนคำถามของท่านที่ ๒ คือท่านกฤช ศิลปชัย ในเรื่องของการขยายตัว อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตอนนี้ก็มีอยู่ แต่ช้าลง ในเรื่องของการเป็นพิษกับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีจะน้อยลง เนื่องจากว่าใน EEC เราเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็น อุตสาหกรรมสะอาดแล้วเป็นอุตสาหกรรมเบา เพราะฉะนั้นในกรณีที่เราจะไปดูในคราวหน้า ปัญหาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนัก ๆ เหมือนกับตอนที่เราทำ Eastern Seaboard เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วจะน้อยลง ส่วนเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ทางเราจะรับไป ประสานงานกับการนิคมอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเรื่องของการบริหารการก่อสร้างซึ่งเกิดกรณี ที่มีการรั่วมาในเรื่องของที่ท่านได้โชว์ในรูป รวมถึงการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงต่าง ๆ พวกนี้เราจะตามไปดูให้อีกทีนะครับ ขออนุญาตนำเรียนนิดหนึ่งในประเด็นที่ท่านสมาชิก ได้มีการอภิปรายกันหลายคนเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาซึ่งไม่เหมือนกันกรณี ๒ ท่าเรือ ของท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือมาบตาพุด ทั้ง ๒ กรณีเยียวยาต่างกันเนื่องจากว่าพื้นฐาน ของความเสียหายจะแตกต่างกัน คนที่แหลมฉบังเขาเป็นผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ เขามีการก่อสร้างพื้นที่อยู่ในทะเล มีการเช่าพื้นที่ มีการทำเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้น ในการเยียวยาอยู่บนพื้นฐานของการเป็นเหมือนกับเวนคืนครับ ตรงนั้นก็จะมีการจ่ายค่า สิ่งที่มีอยู่ในทะเลที่ชาวบ้านลงทุนไว้ แล้วก็จ่ายค่าการเสียประโยชน์ในอนาคต ในขณะที่ มาบตาพุดจะแตกต่างกัน มาบตาพุดเป็นการทำธุรกิจ ทำอาชีพประมง ซึ่งจะใช้ท้องทะเล พื้นทะเลที่เป็นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นในการชดเชยเยียวยาจะดูจากประมาณการรายได้ ของประชาชนแทน ตรงนี้อย่างไรผมขออนุญาตรับไปประสานงานกับทางการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งครับ
ส่วนของท่านอนุชา บูรพชัยศรี ขอขอบคุณในคำแนะนำแล้วก็ความเข้าใจ ที่ได้แชร์กันนะครับ
ส่วนของท่านสหัสวัต คุ้มคง ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานของในพื้นที่ EEC แล้วมีการแสดงข้อมูลว่าในการว่างงาน ทำไมอัตราว่างงานของ EEC กลับกลายเป็นสูง หรือในพื้นที่อย่างชลบุรีมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง อย่างไรเดี๋ยวผมขออนุญาตรับไปดู อีกทีหนึ่งครับ เพราะในตัวเลขมันยังไม่ตรงกันอยู่นิดหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วตัวเลขที่เรามี อัตราการจ้างงานในพื้นที่ EEC จะน้อยกว่า ถ้าเราดูในเฉลี่ยของระดับประเทศ แล้วก็ชลบุรี จะมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดในประเทศในปัจจุบันนะครับ
ส่วนประเด็นถัดไปคำถามของท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ เกี่ยวกับเรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ อันนั้นเป็นคำแนะนำนะครับ ผมขออนุญาตรับไปว่าการสร้าง ความรู้ความเข้าใจกับชุมชนและพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แล้วในมิติของ EEC เราพยายาม จะเน้นในเรื่องการศึกษาอย่างที่ท่านแนะนำจริง ๆ รวมถึงการชดเชยในพื้นที่เมืองใหม่ที่เอาที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีผู้อภิปรายท่านสุดท้ายได้มี Comment คล้าย ๆ กันด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องที่มันมี Project หนึ่งที่มีการทำเมืองใหม่ของ EEC แล้วก็เอาที่ ส.ป.ก. มา ซึ่งในข้อเท็จจริงมีคนอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น ๘๓ ครัวเรือน แล้วก็มีการชดเชยไปแล้ว แล้วก็ในอนาคตเรามีการเปิดว่าถ้าเกิดมีการพัฒนาจริง ๆ ชาวบ้านที่ได้รับค่าชดเชยจะกลับ เข้ามาถือหุ้นในโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ผมได้รับ Comment ในการที่เดินทางไปพื้นที่ ชาวบ้านเขามาถามว่าเมื่อไรจะสามารถไปลงทุนในพื้นที่ได้สักที อันนั้นก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งนะครับ
ส่วนประเด็นของท่านเบญจา แสงจันทร์ เกี่ยวข้องกับเรื่องประกาศ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หมายความว่าประกาศนี้ครอบคลุมทั้งนิคม เป็นอย่างนั้น จริง ๆ อย่างที่ท่านสมาชิกได้อภิปราย คือเวลาเราประกาศเขตเราประกาศทั้งนิคม แต่สิทธิประโยชน์ที่จะให้ในแต่ละนิคมหรือแต่ละธุรกิจ ถ้าอะไรไม่ได้เป็นอุตสาหกรรม เป้าหมายเราไม่ให้สิทธิประโยชน์ นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นก่อน EEC เกิดขึ้นทีหลัง เวลาเราประกาศมาก็เลยประกาศครอบไปทั้งนิคม แต่ในนิคมนั้นถ้ามีคนลงทุนใหม่ แล้วอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราจะส่งเสริม เฉพาะคนเหล่านั้นเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ จากการลงทุน ส่วนการใช้เงินกองทุน อันนี้เป็นประเด็นที่สมาชิกหลายท่านอภิปราย ซึ่งเป็นอย่างที่ท่านอภิปรายจริง ๆ ว่าในการใช้เงินกองทุนมีทั้งการใช้ในเชิงเอาไปพัฒนา ชุมชนเป็นเรื่องการศึกษา ส่วนการเยียวยาผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับ ในการเยียวยา ตามเจตนารมณ์ของกองทุน EEC จะเป็นการเยียวยาในภาพใหญ่เพื่อเตรียมในเชิงสังคม อย่างคล้าย ๆ ที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายจริง ๆ แต่การเยียวยาเป็นรายโครงการ อย่างเช่น โครงการมาบตาพุดเจ้าของโครงการ คนที่ไปทำโครงการจะเป็นคนรับผิดชอบในการเยียวยา กองทุนของ EEC มีไม่ได้เยอะครับ ที่ผ่านมาเราใช้ในเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก แล้วไป เตรียมคนในเชิงภาพรวม แต่ไม่ได้ลงไปเยียวยาในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อิทธิพลหรือพื้นที่ได้รับ ผลกระทบโดยตรงกับโครงการ ก็ขออนุญาตนำเรียนครับ แล้วท่านเบญจาได้ถามถึงกรณีที่ MRO ด้วยนะครับ MRO คือโครงการศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภาอันนี้ก็มีการชะลอไป จากที่สมาชิก หลายท่านได้อภิปรายว่าเมื่อก่อนมี ๕ โครงการขนาดใหญ่ โครงการที่ ๕ คือเรื่อง MRO ศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภาหายไปไหน คำตอบคือชะลอไป เนื่องจากว่าเป็นประเด็นอย่างที่ท่านสมาชิก ได้อภิปรายเลยครับ ก็คือเนื่องจากว่าตอนที่เราอนุมัติโครงการตอนนั้นการบินไทยยังมี ความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และการบินไทยก็ยังอยู่ในฐานะที่สามารถจะลงทุนได้ หลังจากนั้น มาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้สำนักงานจะเอาเรื่องนี้มาดูอีกทีหนึ่ง เพราะว่า MRO เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน แล้วมีคนอยากจะมาลงทุนในประเทศไทยค่อนข้างเยอะในช่วงเวลานี้ เราอยากจะใช้ประโยชน์หรือว่ามีความต้องการตรงนี้ดึงให้มาอยู่ในสนามบินอู่ตะเภาเร็วที่สุด
ประเด็นของท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ที่กรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง การจัดการกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อย่างเช่นในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องขยะอุตสาหกรรม หรือเรื่องน้ำ อันนี้ก็ขอรับไปประสานกับตัวคนที่รับผิดชอบจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงาน อุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ หรือในหลายส่วน ตอนหลังเราไปทำโครงการกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเยอะนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Case ระยองเราลงไปทำเยอะ เหมือนกันเพราะว่าทางระยองเขามีศักยภาพในการจัดการขยะอยู่ แล้วทางเราก็พยายามจะ ดึงนักลงทุนหรือเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการขยะนี้ไปด้วย เพื่อจะให้ การลงทุนต่ำลงแล้วสามารถจะมีรายได้ที่มาประกอบกิจการในเชิงกำจัดขยะได้นะครับ
ส่วนประเด็นของท่านคงกฤษจากระนอง ที่ให้คำแนะนำการเอาเรื่องของ EEC ไปใช้กับทาง SEC ก็ขออนุญาตขอบคุณในกำลังใจ แล้วก็ข้อเสนอแนะทางเราจะรับไป ดำเนินการต่อให้
ส่วนของท่านชวาล พลเมืองดี ที่ถามเรื่องรูปธรรมของโครงการ ก็ยอมรับว่า ในเอกสารที่เราเอามาดูนี้ความก้าวหน้าในเชิงรูปธรรมอาจจะยังเห็นไม่เยอะนัก แล้วก็ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มีท่านสมาชิกอภิปรายกัน ผมนับอยู่ประมาณ ๗ ท่าน ในเรื่องนี้ที่บอกว่าทางเรายังทำน้อยไป แล้วการมีส่วนร่วมของเรา ยังไม่ทั่วถึง แล้วท่านก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องโครงการต่าง ๆ ซึ่งเรายังรับฟังความเห็น ไม่ชัดเจน และมีการสอบถามเกี่ยวกับประเด็นในการที่จัดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าการรับฟังความเห็นและการจะดูคนที่มีส่วนร่วมเราจะดูเป็น เรื่อง ๆ ไป การรับฟังความเห็นในเชิงโครงการเราต้องลงไปถึงพื้นที่ที่ทำโครงการเลย แต่เผอิญ ในการรับฟังความเห็นที่ท่านยกตัวอย่างเอารูปมามันเป็นการรับฟังความเห็นในเชิงแผนครับ เราเลยต้องดึงคนที่มีส่วนเกี่ยวกับการบริหารแผนเข้ามารับฟังเยอะหน่อย เพื่อต้องการรับฟังความเห็นของเขาว่าช่วง ๕ ปีที่ผ่านมานี้แผนไม่เกิดผลเป็นเพราะอะไร เพราะฉะนั้นตรงนี้เราก็เลยเอาส่วนที่เป็นราชการ ส่วนที่เราเชิญเยอะเกินครึ่งหนึ่งเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วมีส่วนหนึ่งก็จะเป็นท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ้าง แต่อย่างไรเดี๋ยวผมจะขอรับไปว่าในการจัดรับฟังความเห็นแต่ละเรื่องนี้พยายามจะดึงเอกชน ประชาชนแล้วก็พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางท่านสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกับ EEC มากขึ้น
ของท่านสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ มีการสอบถามเกี่ยวกับความล่าช้า ของโครงการ ในโครงการนี้จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่มันดำเนินการไม่ได้จริง แผนเลื่อนไปเรื่อย ๆ แต่ละปีที่มีการรายงาน ก็ยอมรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง ตอนนี้ก็พยายามที่จะดำเนินการ แต่เหตุผลใหญ่หลัก ๆ ในช่วงปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เรามีข้อจำกัดในเรื่อง ของการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เรื่องการส่งมอบพื้นที่ เรื่องโควิดบ้าง ทำให้โครงการที่เริ่ม เซ็นสัญญาในปี ๒๕๖๒ มันไม่ได้เริ่มทำ ส่วนกรณีที่ท่านถามเรื่อง MRO ก็ได้ตอบไปแล้ว ส่วนความก้าวหน้าของโครงการจะขออนุญาตนำส่งให้ เรื่องในลักษณะที่เป็น S Curve อย่างที่มันควรจะเป็นจริง ๆ การ Engineering S Curve จะจัดการให้นะครับ
ส่วนของท่านสมาชิกวรรณิดา นพสิทธิ์ ผมก็ขอบคุณที่ท่าน Comment ในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับอยากจะให้เห็นเรื่องการสำเร็จของโครงการ ในฐานะที่ท่านเป็น ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายในเรื่องนี้เยอะเลย ก็ยอมรับว่าทางเรายังไปไม่ถึง ในเชิงพื้นที่มากนัก อันนี้ก็เป็นบทเรียนซึ่งเราต้องรับมาปรับปรุงข้างหน้าต่อไปนะครับ แล้วก็ ในส่วนของที่ท่านถามเกี่ยวกับเรื่องมาตรา ๕๒ ของ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับว่าให้เราไป Waive ตัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักการมีอย่างเดียวคือว่าในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ยอมให้เช่าพื้นที่ได้สูงสุดไม่เกิน ๓๐ ปี แต่เรามองกันว่าการลงทุนที่จะดึง อุตสาหกรรมที่ลงทุนเยอะ ๆ มาได้อาจจะจำเป็นต้องเกิน ๓๐ ปี ฉะนั้นใน พ.ร.บ. เลยกำหนดว่า สูงสุดเดี๋ยวนี้ปัจจุบันคือไม่เกิน ๕๐ ปี แต่ตรงนี้คือสูงสุดเราให้กรอบ แต่ในการให้สิทธิประโยชน์ หรือการเช่าจริง ๆ ก็ดูเป็นราย ๆ ไป เป็นโครงการเป็นโครงการไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคน สามารถจะได้ ๕๐ ปีเหมือนกันหมดนะครับ ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือสิทธิพิเศษ ที่มองดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ผมขออนุญาตนำเรียนการให้สิทธิประโยชน์ หรือคำว่าสิทธิพิเศษจะไม่เหมือนคนอื่น มันเป็นกรณีต้องพิเศษ เหมือนเรากินก๋วยเตี๋ยวพิเศษ ก็ต้องมีเพิ่มอะไรบางอย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้น Bottom line มีอย่างเดียวคือเราต้องการที่จะดึงนักลงทุนที่เดินไปเดินมา บินไปบินมารอบ ๆ บ้านเรา เข้ามาในประเทศไทยเราให้ได้ โดยการให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะที่สามารถจะแข่งขัน กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ในเวียดนาม ในอินโดนีเซีย ในมาเลเซียได้ เพราะฉะนั้น เลยต้องจำเป็นว่าอะไรที่คนอื่นเขาดึงลูกค้า ดึงนักลงทุน เราก็ดึงเข้ามาด้วย ส่วนโครงการ ที่ดำเนินการต่าง ๆ เราพยายามจะทำให้สามารถดึงดูดได้จริงนะครับ สิทธิประโยชน์ จริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งเรารับทราบดีว่ามันมีผลกระทบต่อเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ การที่เราให้หรือปล่อยไปมันมีผลในภาพใหญ่เหมือนกันนะครับ
ต่อไปของท่านฐิติมา ฉายแสง ก็ขอบคุณที่ท่าน Highlight คำว่าเติบโตทุกมิติมา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมยอมรับว่าในหลายมิติเรายังไม่ได้อยู่ อย่างไรจะขอรับไปว่าอยากให้สิ่งที่เรา ตั้งความหวังไว้นี้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ ส่วนโครงการที่เกี่ยวข้องกับฉะเชิงเทราก็มีอยู่พอสมควร มันจะมีโครงการที่อยู่ในแผนบูรณาการบ้าง และโครงการงบปกติบ้าง แต่โครงการจริง ๆ ที่สำนักงาน EEC ทำจะเป็นโครงการไม่ใหญ่มากนะครับ แต่จะลงไปในชุมชนหรือพื้นที่ อย่างเช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือพวกพืชสมุนไพร เราพยายามจะต่อยอดให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจะทำเป็นวิสาหกิจ ชุมชน แล้วก็ช่วยหาตลาดให้เขา
ส่วนคำถามและ Comment ของท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ที่เกี่ยวกับ ผลกระทบของการพัฒนา แล้วก็กระบวนการประเมินเรื่องผลกระทบต่าง ๆ ผมยอมรับว่า ในแง่ของการดำเนินโครงการ EEC เองไม่ได้ทำโครงการเยอะ เราทำเป็นเหมือนกับเรา เป็นคนที่ช่วยดูในภาพรวมให้ ช่วยประสาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้โครงการเกิด แต่ในมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการผลกระทบมันขึ้นอยู่กับว่าลักษณะของโครงการ จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราพยายามจะดูให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะบางโครงการจะทำแค่ IEE บางโครงการ ต้องทำ EIA หรือโครงการใหญ่ ๆ ต้องทำ EHIA พวกนี้ก็พยายามจะทำให้เป็นไปตามนั้น แล้วก็ในเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกันที่เราจะช่วยเขาดู เพราะบางครั้ง EEC จะช่วยกลั่นกรองเรื่องการให้งบประมาณด้วยนะครับ
ส่วนประเด็นของท่านรวี เล็กอุทัย ที่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของ EEC คือในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราใช้เงินของรัฐจริง ๆ ไปแค่ประมาณ ๔ เปอร์เซ็นต์ วงเงิน ในการลงทุน หรือค่าใช้จ่าย หรือวงเงินที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ EEC ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น PPP ส่วนใหญ่ในโครงการ PPP เอกชนลง ๒ ใน ๓ แล้วก็ภาครัฐลง ๑ ใน ๓ และอีก ๖๕ เปอร์เซ็นต์เป็นโครงการที่เอกชนลงทุน เพราะฉะนั้นในพื้นฐานเราพยายามจะดู การใช้เม็ดเงินของประเทศ อย่างที่ท่านสมาชิกได้กังวลว่า EEC หลายท่านใช้คำว่าเป็น Growth Engine ของประเทศ เป็นเครื่องจักรที่จะสร้างการเติบโตของประเทศ แต่งบประมาณ ของเราจำเป็นต้องใช้ทั้ง ๗๗ จังหวัด ส่วนที่ท่านสอบถามเกี่ยวกับเรื่องท่าเรือจุกเสม็ด เกี่ยวกับ เรื่องของการต่อเชื่อม ท่าเรือจุกเสม็ดปกติใช้รองรับเรือโดยสาร ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเรือ มาให้บริการ ในขณะที่สนามบินอู่ตะเภาปัจจุบันมีคนใช้บริการอยู่บ้าง ซึ่งในปัจจุบันนี้ เราไม่ได้เชื่อม ๒ ที่ ท่าเรือจุกเสม็ดกับสนามบินอู่ตะเภาไว้ด้วยกัน ๒ ที่ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่ไม่ได้เชื่อมกันเพราะว่า Demand จากการเดินทางระหว่าง ๒ ที่ไม่มีครับ แต่ที่เราทำปัจจุบันคือเราพยายามกำหนดระบบขนส่งเชื่อมโยงที่สามารถกระจายคนจาก สนามบินอู่ตะเภาเข้ามาที่ระยอง ที่พัทยาได้ ตอนนี้กำลังทำอยู่ แล้วก็กำลังทำเพิ่มเติมจาก สถานีรถไฟความเร็วสูง ถ้าเกิดมีรถไฟแล้วระบบขนส่งเชื่อมโยงจากสถานีรถไฟไปที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ จะเป็นอย่างไรก็สามารถจะทำต่อไปได้นะครับ
ส่วนกรณีของท่านปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จากจันทบุรี ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง อ่างเก็บน้ำ อันนี้ผมขออนุญาตตามไปดู เพราะว่าจริง ๆ ประเด็นเรื่องนี้ทางสำนักงานก็ Concern เยอะมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรจริง ๆ เพราะว่าจันทบุรี ถือว่าเป็นคนช่วยส่งน้ำให้ระยอง ระยองส่งให้ชลบุรีมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว แต่ในแง่ของ การบริหารจัดการน้ำจริง ๆ แล้วทางกรมชลประทานเขามีเกณฑ์ มีโควตาในการจัดสรร หลัก ๆ การใช้น้ำจะไปที่ภาคเกษตรก่อนเลยเป็นอันดับ ๑ เสร็จแล้วก็ตามไปที่เรื่อง อุปโภคบริโภค การใช้น้ำในอุตสาหกรรมจะมาเบอร์ ๓ เพราะฉะนั้นในแง่ตรงนี้อย่างไร ผมจะขออนุญาตรับไปประสานกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ดูว่าอย่างไร การใช้ทรัพยากรร่วมกันก็จะต้องทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่เดือดร้อนเกินความจำเป็นนะครับ
ต่อไปของท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ผมขอบคุณที่ท่านให้คำแนะนำเกี่ยวกับ เรื่องของการจัดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นประเด็นที่หลาย ๆ ท่านแนะนำ แล้วผลกระทบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องผังเมือง เรื่องการตั้งโรงงาน หรือการแย่งทรัพยากรน้ำกัน หลายท่านให้ Comment ในลักษณะเดียวกัน ก็ขออนุญาตรับไปเช่นกันนะครับ
ส่วนท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรงพยาบาลปลวกแดง ก็จะเป็นกรณีอย่างที่ท่านได้กล่าวถึง ตอนนี้ทางโรงพยาบาลปลวกแดงมี Project ที่จะขยาย อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ในปัจจุบันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการก่อสร้าง แต่แบบที่เปลี่ยนแปลงไป เดิมในแบบมีการเตรียมไว้สำหรับให้เฮลิคอปเตอร์บินลงบนหลังคาโรงพยาบาลได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ เพราะว่าในแง่ของความปลอดภัยเฮลิคอปเตอร์บินลงไม่ได้ ก็เลยต้องมีการเปลี่ยนแบบไป แต่ในเรื่องของการทำ PPP ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลนี้ รัฐจะก่อสร้างและให้เอกชนบริหาร แล้วก็เอกชนจะมีการสร้างโรงพยาบาล มีตึกเพิ่มเติมด้วย ในบริเวณโรงพยาบาลปลวกแดง ๒ อันนี้ยังไม่ได้เริ่มครับ กำลังจัดทำ TOR สำหรับ IPP อยู่ ถ้าได้ความคืบหน้าอย่างไร ได้เอกสารอย่างไร จะขออนุญาตนำเรียนท่านชุติพงศ์อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นโครงการ PPP โครงการแรกของประเทศไทยครับ
ส่วนท่านสุดท้าย ของท่านทวี สอดส่อง ก็ขอบคุณที่ท่านให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การพยายามทำรายงานประจำปีให้ครบถ้วน แล้วก็เช่นกันเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วม ของประชาชนในพื้นที่ แล้วก็การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เวนคืนมาแล้ว อย่างไรทางสำนักงาน จะขออนุญาตรับไปดูนะครับ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความสำคัญที่ท่านอยากให้เราดูแล เป็นพิเศษ สรุปจากที่ทุกท่านได้ให้ข้อมูล ได้สอบถาม ได้แสดงความเห็น ผมขออนุญาต นำเรียนว่าทาง EEC จริง ๆ แล้วภารกิจของเราคือการส่งเสริมการลงทุนคล้าย ๆ กับ BOI แต่การส่งเสริมการลงทุนของ EEC เราเป็นตัวย่อลงมา คือเราจะเฉพาะเจาะจงอยู่แค่ ๑๒ อุตสาหกรรม และในพื้นที่ ๓ จังหวัด ส่วนประเด็นที่ท่านสมาชิกอยากให้ขยายอย่างไร เดี๋ยวไปว่ากันอีกทีนะครับ ที่ผ่านมามันมีปัญหาอยู่พอสมควร เราคือส่วนย่อของ BOI แต่ในการดำเนินการถ้าท่านเข้าใจภารกิจของ BOI EEC จะมาในแนวนั้น แต่ EEC จะมี ส่วนที่ BOI ไม่ได้ทำคือเรื่องสังคม เป็นประเด็นที่ท่านสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างเยอะเลย ซึ่งอันนี้ผมยอมรับว่าที่ผ่านมายังทำไม่ได้ดีนัก เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในแง่ของการดึงดูด การลงทุนบางท่านอาจจะบอกว่าเป็นการเอื้อ เป็นการดูแลนักลงทุนหรือที่ไม่ใช่นักลงทุน หรือรายใหญ่เป็นพิเศษ แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังพยายามดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ขออนุญาตนำเรียนว่าการลงทุนภายใต้ EEC ไม่ได้จำกัดหรือให้เฉพาะคนต่างประเทศ คนสัญชาติไทยเราก็สามารถใช้ได้ แล้วก็ที่ผ่านมามีสิ่งที่เรายังไม่ทำ ผมกำลังจะขออนุญาต นำเรียนท่านสมาชิกว่าส่วนหนึ่งที่สำนักงานจะทำต่อไปเป็นเรื่องของการแน่วแน่แก้ไข ในสิ่งผิดนะครับ แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีภารกิจที่ยังไม่ท้อถอย คอยสร้างสิ่งที่ควรด้วย ในอนาคต ผมขออนุญาตส่งต่อความปรารถนาดีและรับไมตรีจิตที่ทุกท่านมอบให้ในวันนี้ แล้วก็พยายามใช้กลไกในกฎหมาย หรือความหวังดี แล้วก็สิ่งที่ท่านอยากจะให้ EEC เป็นความหวังรับไปทำต่อไป
และอีกอันหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับท่านสมาชิกได้อภิปรายเยอะเลยว่า EEC จะไม่สามารถทำงานชุมชนหรือพื้นที่ได้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ต่อไปเราจะมีสำนักงานอยู่ใน พื้นที่ครับ ตอนนี้เรากำลังเตรียมไว้เพื่อจะเข้าพื้นที่ได้ง่ายขึ้นเวลาท่านสมาชิกหรือประชาชน อยากจะเข้ามาคุย คงลำบากมากถ้าเขาจะเข้าที่บางรัก ที่เจริญกรุง เราจะพยายามหาที่ เหมาะ ๆ สามารถรองรับประชาชนทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองให้ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมขออนุญาต ในอนาคตเราคงต้องทำงานด้วยกันเยอะขึ้น ท่านคงต้องเป็นกระบอกเสียง ให้เรา แล้วท่านคงต้องใช้เราในการดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ยินดีที่จะร่วมงานกับท่านฐิติมาครับ แล้วจริง ๆ ที่ท่านเสนอผมคงต้องรับไปกับจังหวัดอื่นด้วย แต่จากนี้เราอาจจะจัดทีมแยกไป เพราะว่าทั้งฉะเชิงเทราเอง ทั้งชลบุรี ทั้งระยองเองมันมีปัญหา แล้วผมไปฉะเชิงเทราครั้งที่แล้ว ก็ได้รับ Feedback มาอย่างที่ท่านฐิติมาได้พูดถึงจริง ๆ อย่างไรก็รับครับ อย่างไรต้องขออนุญาต ท่านมาช่วยดูแลเราด้วย แล้วก็ช่วยเราดูแลชาวบ้านด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ขอเอกสารเพิ่มเติมในประเด็น ของท่านที่เกี่ยวกับเรื่องปลวกแดงจะมี ๒ ส่วน
เรื่อง TOR การสร้างตึกปัจจุบันเดี๋ยวผมจะประสานขอจากกระทรวงสาธารณสุขให้ อันนั้นจะเป็นการก่อสร้างตึกอยู่
ส่วน TOR ที่เกี่ยวกับเรื่อง PPP ยังไม่ได้ทำครับ ตอนนี้กำลังตั้งคณะกรรมการ ดำเนินการเกี่ยวกับ PPP อยู่ ถ้าอย่างไรเสร็จแล้วเดี๋ยวผมก็ขอประสานให้อีกรอบหนึ่ง
ส่วนกรณีพื้นฐานการเยียวยานั้น ผมขออนุญาตรับไปตรวจสอบในกรณีที่ ท่านกฤชได้สอบถามเพิ่มเติม ผมรับไปแล้วจะประสานงานกับทางการนิคมอีกครั้งหนึ่ง ตรวจสอบกันให้ชัดเจนจะได้สิ้นสงสัย เพราะผมก็เป็นห่วงกังวลเหมือนกันว่าถ้าเรื่องเดียวกัน มันไม่ควรจะแตกต่างกันนะครับ
ส่วนของท่านสหัสวัตที่เกี่ยวกับเรื่อง KPI อย่างไรก็คงต้องเดี๋ยวขอรับในส่วน ของเรื่องการดูร่วมกันว่าสถิติข้อมูลมันตรงกันขนาดไหน อย่างไร รวมถึงกรณีของระยองด้วย แล้วก็ KPI ที่อยากให้เซตเพิ่มเติมสำหรับในแผนภาพรวมฉบับต่อไปเดี๋ยวทางเราจะรับไป เพราะว่าตอนนี้เรากำลังหา KPI ที่ไม่ใช่การวัดเฉพาะการลงทุนอยู่ด้วยเหมือนกันนะครับ
สุดท้ายก็ของท่านทวี อย่างไรเดี๋ยวผมจะขอส่งให้นะครับ แต่ข้อมูลคร่าว ๆ คือเราได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก. มาให้สำนักงาน EEC ดูแลแทน ไม่ได้เป็น ลักษณะการเวนคืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต่อไปใครเข้ามาเราสามารถให้ใช้ที่เหล่านั้นเอาไปใช้ ทำประโยชน์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ ซึ่งเราก็ตั้งเป้าไว้คร่าว ๆ ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการแพทย์ และเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาอะไรพวกนี้ แล้วส่วนหนึ่ง ก็จะมีประชาชนสามารถจะกลับเข้ามาอยู่ได้ในพื้นที่ซึ่งตัวเลขในปัจจุบันจะมี ๘๓ ครัวเรือน แต่ในรายละเอียดจะขออนุญาตนำส่งท่านทวีอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านสหัสวัตด้วย แรงงานจีน เราคงต้องตรวจสอบด้วยกัน เพราะว่าอุตสาหกรรมมันจะมีหลากหลายมากพอสมควร ในพื้นที่นิคม เพราะจริง ๆ แล้วในอุตสาหกรรมที่ EEC ดูแลจะเป็นอุตสาหกรรมซึ่งไม่น่า จะต้องใช้แรงงานเยอะขนาดนั้น แต่อย่างไรขอรับว่าเราคงจะต้องประสานงานกับท่าน เราไปดูด้วยกันก็ได้ครับ อันนี้เราจะได้ดูด้วย เพราะว่าในพื้นฐานถ้ามันไม่ถูกต้องตาม กฎหมายจริงก็เอาเจ้าหน้าที่มา เพราะถือว่าเขาแย่งแรงงานของเราเหมือนกันครับ