กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาค่ะ ดิฉันต้องขอบพระคุณสมาชิกสภาทั้ง ๑๑ ท่านที่ได้กรุณาให้ทั้ง คำชี้แนะ แล้วก็ให้ทั้งคำชื่นชม และคำตำหนิวิจารณ์ โดยภาพรวม Thai PBS จะรับประเด็น เหล่านี้ไปพัฒนาการทำงานของตัวเองนะคะ แต่ดิฉันได้สรุปคำถามที่หลาย ๆ ท่านได้ถาม ขึ้นมา จัดกลุ่มคำถามออกมาเป็น ๓-๔ ส่วนด้วยกัน แล้วจะขออนุญาตตอบในกลุ่มคำถาม ใหญ่ ๆ เหล่านั้น แล้วก็จะมีท่านประธาน แล้วก็กรรมการบริหารที่นั่งอยู่บนนี้ช่วยตอบ ในบางประเด็นนะคะ
สำหรับประเด็นแรก กลุ่มคำถามใหญ่เลย อันนี้ส่วนใหญ่เป็นคำชื่นชม และคำแนะนำ ก็คือในเรื่องของเนื้อหาแล้วก็คุณภาพเนื้อหา ซึ่งมีท่าน สส. อภิปราย ในส่วนนี้ถึง ๕ ท่านด้วยกัน อย่างเช่นท่านร่มธรรม ท่านณพล ท่านสิริลภัส ท่านอนุสรณ์ ท่าน พันตำรวจเอก ทวี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อแนะนำในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนเนื้อหา ในเรื่องวิถีวัฒนธรรม วิถีท้องถิ่น พหุวัฒนธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ ต้องเรียนว่า ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในกระบวนการทำงาน แล้วก็อยู่ในแผนของ Thai PBS อย่างสำคัญทีเดียว แต่ก็จะขอรับข้อแนะนำเหล่านี้เพิ่มเติม
แต่มีประเด็นที่จะขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มค่ะ อย่างเช่นเรื่องของสิ่งแวดล้อม จริง ๆ แล้วเนื้อหารายการในปีนี้คือปี ๒๕๖๖ ไปจนถึงปีหน้าคือปี ๒๕๖๗ เราวาง Agenda สำคัญให้เป็นเรื่องของการนำเสนอเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารคดีที่เกี่ยวกับ การการอนุรักษ์ต่าง ๆ แล้วก็ผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เราถือว่าเป็นงานสำคัญ ที่วางไว้นะคะ นอกจากนั้นในเรื่องของประเด็นสุขภาพจิตก็เห็นด้วยกับที่ท่านสิริลภัสแนะนำ ก็จะนำไปเพิ่มเติมในการพัฒนาแล้วก็ผังรายการของ Thai PBS ประเด็นเรื่องของ Soft Power แล้วก็ปัญหาใหญ่ของประชาชนต่าง ๆ การไม่สร้างความขัดแย้ง แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำ อันนี้ดิฉันคิดว่าในกลุ่มที่ ๑ ของข้อแนะนำในส่วนของเนื้อหา ก็ขอให้ความมั่นใจว่าเรา จะนำเสนอเนื้อหาประเด็นเหล่านี้ทั้งที่มีอยู่แล้วอย่างมากขึ้น แล้วก็จะพัฒนาให้มากขึ้นด้วย
ประเด็นถัดไปที่จะขอตอบคำถามก็คือเรื่องบทบาทของ Thai PBS ซึ่งตรงนี้ มีหลายท่านอภิปรายค่อนข้างมากที่อยากเห็นบทบาท Thai PBS เพิ่มเติมหรือว่ามีจุดเน้น ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ประเด็นที่ท่านภคมนแนะนำว่าควรจะเป็นทั้งผู้ผลิต Content และผู้บริหาร Platform ทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะเน้นเรื่องของ Hard Knowledge นั้น ต้องเรียนว่า ALTV ที่เราได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ถาวรมาเมื่อกลางปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา Thai PBS ตั้งใจเลยให้ ALTV เป็นสื่อที่นำเสนอเนื้อหาทั้งเรื่องของการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning และการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่เราเรียกว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ จุดมุ่งหมายของเนื้อหาในเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะก็คือส่งเสริมทักษะเด็กในเรื่องของ STEAM เลยค่ะ ทั้งในเรื่องของ Scientific Technology Engineering Art แล้วก็ Mathematic ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เราก็พยายามจะให้สอดคล้องไปกับกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็การศึกษาของเด็ก ดิฉันเรียนว่า ALTV นั้นเป็นทั้งช่อง TV และทั้ง Multi-platform แล้วที่สำคัญก็คือเราทำงานร่วมกับ สพฐ. แล้วก็อีกหลายหน่วยงานนะคะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสื่อการเรียนการสอนในเนื้อหาเหล่านี้ของ ALTV จะได้ถูกส่งไปถึง ผู้เรียนอย่างตรงเป้านะคะ ดังนั้นเราจึงมีการพัฒนาโครงการที่จะจับมือร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานให้สื่อเหล่านี้ไปถึงเด็กในพื้นที่ห่างไกลด้วย แล้วก็เด็กในพื้นที่ที่เข้าถึงสื่อ Online ได้อย่างยากลำบาก ก็อยากจะเรียนว่าเราตั้งใจทำ ALTV ขึ้นมาเพื่อรองรับสิ่งที่ท่านแนะนำ แต่ว่าก็จะเอาข้อแนะนำของท่านไปพัฒนาต่อนะคะ โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มโอกาสในการติว ของเด็ก ๆ ซึ่งเรามีเนื้อหาเหล่านี้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็คงจะเพิ่มเติมให้มากขึ้นค่ะ
บทบาทอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญมากเลยที่ท่าน สส. ธัญวัจน์แนะนำก็คือ ความเป็นธรรมในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ของผู้ผลิตต่าง ๆ ต้องเรียนว่า Thai PBS ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะคะ เราเน้นการทำสัญญาร่วมผลิตหรือสัญญา กับผู้ผลิตทั้งหลายโดยใช้คุณธรรม แล้วก็ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ถ้าเป็นลิขสิทธิ์ในเรื่องของการผลิต เป็นส่วนของ Thai PBS ยกเว้นบางส่วน อย่างเช่นเรื่องของบทละครต่าง ๆ ก็จะเป็นลิขสิทธิ์ ของผู้ผลิตบทละครนั้น ๆ อย่างเช่นละครบุษบาลุยไฟที่เพิ่งจบไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันนี้ ถ้าเป็นบทละครจะเป็นของผู้ประพันธ์ แต่ถ้าเป็นการผลิตทั้งหมดเป็นของ Thai PBS นั่นหมายความว่าเมื่อลิขสิทธิ์อยู่กับเรา เราก็สามารถที่จะดูแลผู้ที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง ผู้กำกับ หรือศิลปินทั้งหลายให้เกิดความเป็นธรรมได้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านธัญวัจน์แนะนำ ว่าอยากให้มีวงเสวนาร่วมเพื่อที่จะมองหาความเป็นธรรมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ดิฉันขออนุญาตตอบรับคำเชิญของท่านเลย แล้วก็เห็นด้วยที่ Thai PBS ควรจะเป็นพื้นที่กลาง ในการผลักดันเรื่องนี้นะคะ
ประเด็นถัดไป ในเรื่องของบทบาทก็จะเป็นเรื่องของการเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ที่ท่านภคมนแล้วก็ สส. อีกหลายท่าน เสนอแนะ ก็ต้องเรียนว่ายิ่งตอนนี้มีสื่อที่เอื้อให้เราแสดงบทบาทอย่างนี้ได้มากขึ้น อย่างเช่น การมี User Generated Content แล้วก็รูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถระดมความคิดของประชาชน ผ่านสื่อ Digital ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ ปีนี้ทั้งปีรวมถึงปีหน้าด้วยเราได้วางบทบาท Platform เหล่านี้ของ Thai PBS ให้เป็น Platform ที่เราเรียกว่าปัญญารวมหมู่ และเรื่องสำคัญที่เรา ออกแบบแล้ว จริง ๆ ได้เริ่มทำแล้วก็คือเรากำลังทำเครือข่ายที่เราเรียกว่า Policy Watch เพราะเราเชื่อว่านโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้ในช่วงหาเสียงนั้น จริง ๆ แล้ว ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้ติดตามนโยบายเหล่านั้น และ Thai PBS จะเป็น Platform ที่ทำให้ประชาชนได้ติดตาม ได้รับทราบนโยบายเหล่านั้นอย่างทั่วถึงและทั่วพร้อม แล้วที่สำคัญกระบวนการเหล่านี้ของเราจะเป็นกระบวนการที่รับฟังทุกเสียงอย่างสร้างสรรค์ ฉะนั้นดิฉันจึงอยากเรียนเสนอเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานในฐานะเป็น พื้นที่สาธารณะ และอาจจะนำไปสู่เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนการร่วมกันแสวงหาทางออก ในประเด็นต่าง ๆ นั้นก็จะเป็นจุดที่เราจะใช้สื่อ Digital เหล่านี้ในการทำงานมากขึ้นนะคะ
สิ่งที่ท่านเอกราชแนะนำในเรื่องของการหนุนสื่อท้องถิ่นให้มากขึ้น อันนี้ ต้องบอกว่าตรงใจกับนโยบายของกรรมการนโยบายชุดท่านอาจารย์เจิมศักดิ์มาก ๆ นะคะ เพราะว่ากรรมการนโยบายชุดนี้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการมี เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งดิฉันขอเรียนเพิ่มเติมเนื่องจากมันไม่อยู่ในรายงาน ปี ๒๕๖๕ แต่ปี ๒๕๖๖ เรามีเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นเกิดขึ้นแล้ว ๑๓ Node ด้วยกัน กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่าลักษณะความเป็นสื่อสาธารณะไม่ได้รวมศูนย์ อยู่ที่ Thai PBS ตรงนี้นะคะ แต่ต้องกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ เราจึงใช้งบประมาณ แล้วก็ มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อสาธารณะที่เป็นเพื่อน ๆ เราทั้งหลาย โดยเราหวังว่า สื่อสาธารณะที่เป็นของท้องถิ่นเองจะนำเอาความกล้าหาญ แล้วก็หลักการแนวคิดจรรยาบรรณ แบบสื่อสาธารณะไปทำงานกับประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น เราจะพยายามทำให้เครือข่าย เหล่านี้แข็งแรง แล้วก็ขยายออกไปมากขึ้นนะคะ
ประเด็นเรื่องบริการ ที่มีท่านถามเรื่องภาษามือว่าทำไมมันลดลง ท่านเอกราชถาม ดิฉันขออธิบายอย่างนี้ค่ะ ตัวเลขที่อยู่ในตารางที่ท่านโชว์ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีนั้น เป็นภาษามือ แต่ที่ลดลงเพราะว่าเราลดรายการข่าวภาคหลักตอนเที่ยง ลดเวลาลงเล็กน้อย จากเดิม ๑๕๐ นาที เราลดลงเหลือ ๙๐ นาที ก็เลยทำให้ภาษามือที่อยู่ในรายการนั้น ลดลงไปด้วย แต่จริง ๆ แล้วบริการภาษามือของเราเพิ่มขึ้นถ้านับรวมในทุกช่องทางนะคะ โดยเฉพาะ Big Sign ที่สามารถดูได้ทางจอมือถือ แล้วก็ใน Platform ใหม่ ๆ ที่เป็น Online ทั้งหมดของเรา เช่น VIPA ที่เป็น Video Streaming ถ้ารวมแล้วภาษามือของเราในปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ถึง ๓ เท่าด้วยกัน อันนี้ก็คงต้องเรียนว่าอาจจะมาจากข้อมูลที่อยู่ในเล่ม รายงานที่ไม่ชัดเจน เลยขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มค่ะ
ประเด็นถัดไป คือกลไกเรื่องของสภาผู้ชมคะ ก็ต้องเรียนว่าแม้สภาผู้ชม จะถูกจำกัดจำนวน จริง ๆ จำนวนก็ไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แต่ว่าเราพยายามที่จะหนุนเสริม ศักยภาพของสภาผู้ชมให้สามารถทำพันธกิจของการรับฟังและการมีส่วนร่วมได้ดีขึ้น ด้วยการใช้ เครื่องมือการรับฟังแบบ Online มาเสริม ซึ่งช่วง ๒ ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ ผลการรับฟัง จากสภาผู้ชมได้สะท้อนข้อมูล แล้วก็รายงานการวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของ Thai PBS อย่างยิ่ง ผ่านการปรับรูปแบบการรับฟังนะคะ
ประเด็นสุดท้าย ดิฉันจะขอพูดถึงถ้าไม่ตกหล่นของใครไป ดิฉันอยากเรียน อีกหลายประเด็นที่มีหลายท่านนำเสนอ นั่นก็คือมีหลายท่านท้วงเรื่องหมายเหตุประกอบ งบการเงินที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวเล่มรายงานที่เป็นฉบับพิมพ์ ดิฉันขอเรียนว่าเนื่องจาก เรามีอยู่ใน QR Code ที่หน้า ๑๐๓ ถ้าท่าน Scan จะได้พบรายงานการเงินฉบับเต็มนะคะ แต่ที่เราไม่ได้ใส่ทั้งหมดก็เพราะว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้รายงานฉบับนี้มีขนาดกำลัง พอเหมาะพอเจาะในการอ่าน แต่คำแนะนำของทุกท่านในส่วนนี้เราจะนำไปปรับปรุง ในรายงานปีต่อไป รวมถึงการให้เพิ่มเนื้อหาหลาย ๆ ส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลงาน ตามเป้าหมายแบบ KPI โครงการของบประมาณในปีถัดไป หรือผังรายการของปีถัดไป ที่ท่าน พันตำรวจเอก ทวีแนะนำดิฉันคิดว่าเราจะใส่ไว้ในฉบับหน้านะคะ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก อีก ๒ ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการทบทวน พ.ร.บ. ตามมาตรา ๕๑ ว่าเราได้ทำหรือไม่ท่าน พันตำรวจเอก ทวีได้สอบถาม ต้องเรียนว่า ตามมาตรา ๕๑ ที่ให้ Thai PBS ทบทวน พ.ร.บ. ในทุก ๆ ๑๐ ปีเราได้ทำมาแล้ว โดยมี คณะกรรมการทบทวน พ.ร.บ. ที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งขึ้น ๓ คณะแล้ว ขณะนี้ เราอยู่ในคณะที่ ๓ ซึ่งมีท่านศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน คณะทำงาน เรียนว่าคณะกรรมการทั้ง ๓ คณะนี้ได้ทบทวนมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แล้วก็ ปี ๒๕๖๓ แล้วก็มาปี ๒๕๖๕ ผลการทบทวนของชุดที่ ๓ นี้จะเสร็จสิ้นไม่เกินปี ๒๕๖๖ นี้ ก็เรียนว่าได้มีการดำเนินการแล้วในตามนี้ค่ะ รวมทั้งสิ่งที่ท่านแนะนำว่าน่าจะมีคนกลาง มาประเมินผลด้วยดีไหม ก็ต้องเรียนว่าเมื่อปี ๒๕๖๔ เราได้ให้ TDRI ประเมินองค์กรครั้งใหญ่ เหมือนกัน แล้วก็มีการประเมินการรับรู้ของประชาชนที่เป็นจำนวนค่อนข้างสูงมาก ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว แล้วก็มีการรับฟังในหลายเวทีด้วยกัน แต่ว่าในปีนี้เรากำลังรอ ผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดที่ ๓ ที่ดิฉันได้เรียนไปแล้ว แล้วเราก็คงจะมีการจัด กระบวนการรับฟังเพิ่มเติมในช่วงปลายปีอีกหลาย ๆ เวทีค่ะ
ประเด็นที่ท่านเอกราชทั้งสอบถามและให้คำแนะนำว่ามาตรา ๕๑ ที่บอกว่า ให้เราได้รับงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตหรือ Earmarked Tax ของภาษีเหล้าบุหรี่ และท่านก็บอกว่าน่าจะลองพิจารณาดูแบบ BBC หรือสาธารณะสากลหลายที่ที่ให้เก็บ License ฟรีหรือไม่นั้น ดิฉันต้องเรียนว่าตอนที่ Thai PBS จัดตั้งขึ้น จริง ๆ ขออนุญาต เรียนตรงนี้นิดหนึ่งว่ากว่าที่ พ.ร.บ. Thai PBS จะก่อกำเนิดขึ้นใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๗-๘ ปี ดังนั้น Thai PBS จึงไม่ได้มาสวมรอยของไอทีวีค่ะ แต่ Thai PBS เป็นกระบวนการของ ประชาชนจำนวนมาก ทั้งภาคประชาชนโดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก ๆ ครูอาจารย์ แล้วก็ภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่อยากเห็นการมีสื่อสาธารณะเหมือนของสากลแบบ BBC หรือ NHK อยากเห็นสื่อที่ปลอดจากการแทรกแซงของกลุ่มทุนพาณิชย์ที่ต้องไปหา โฆษณาเอง แล้วก็ต้องฟังกลุ่มทุน หรือถูกแทรกแซงได้โดยกลุ่มการเมือง อันนี้เป็น เจตนารมณ์เลยค่ะ แล้วที่สำคัญก็คือในยุคสมัยนั้นเราจะเห็นว่าสื่อในตอนนั้นเป็นสื่อ อย่างที่บอกว่าเนื้อหาที่ทำเพื่อประโยชน์สังคมที่ไม่ได้เรียก Rating โฆษณานี่ไม่มีเลย ดิฉันอยากเรียนว่าเจตจำนงของการเกิด Thai PBS ที่บอกว่ามีกระบวนการทำงาน แล้วรับฟังมาจากทั่วประเทศเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ เพียงแต่เมื่อตอนปี ๒๕๕๑ ที่ พ.ร.บ. ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ สปน. เองก็โอนทรัพยากรของ itv มาให้ Thai PBS ดำเนินการต่อ ดังนั้นดิฉันก็อยากขอเรียนชี้แจงในส่วนนี้ และตรงนี้เอง ที่อยากย้ำว่าหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. Thai PBS อยู่ที่ความเป็นอิสระค่ะ ดังนั้นถ้างบประมาณ ที่ออกแบบมาให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงคือไม่ต้องไปของบประมาณจากรัฐ ไม่ต้องขอ งบประมาณจากกลุ่มทุนหรือการเมืองเข้าแทรกแซงได้ ดิฉันคิดว่านี่คือหัวใจที่ต้องรักษา ความเป็นอิสระที่ออกแบบใน พ.ร.บ. นี้ไว้ ก็ขอเรียนในส่วนนี้ แล้วก็ขอรับความห่วงใย ของทุกท่านว่า Thai PBS มีความกล้าหาญเพียงพอหรือเปล่า ต้องเรียนว่าเรากล้าหาญแน่ ๆ ค่ะ เพราะไม่อย่างนั้น พ.ร.บ. คงไม่ออกแบบให้เราเป็นอิสระเพื่อให้มีความกล้าหาญ แล้วคำนึงถึง เสียงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ด้วยนะคะ
ประเด็นสุดท้ายที่ดิฉันอยากขอกล่าวถึงตรงนี้ก่อนก็คือเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งมี สส. หลายท่านให้ความห่วงใย ให้คำแนะนำสูงมากนะคะ จริง ๆ แล้วคำว่ารายการดี ต้องมีคนดู ก็เป็นคำที่เราใช้พูดกัน ใช้ตรวจสอบตัวเองกันอยู่ตลอดเวลา เวลาที่เราจะพัฒนา เนื้อหาใดก็ตาม ดิฉันขออนุญาตเรียนสั้น ๆ อีกนิดเดียวว่านิยามความคุ้มค่าแบบสื่อสาธารณะ ของ Thai PBS นั้นจริง ๆ แล้วถึงไม่มีคำว่าความคุ้มค่าอยู่ใน พ.ร.บ. แต่นิยามเหล่านี้อยู่ใน มาตรา ๗ ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ อยู่ในมาตรา ๘ ที่ว่าด้วยพันธกิจการดำเนินงาน และอยู่ใน หมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ชัดเจนมากค่ะ นิยามเหล่านี้บอกให้ Thai PBS มีพันธกิจในเรื่องของ การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วก็ทำเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำเพื่อสร้าง ความเข้มแข็งในเรื่องของวัฒนธรรมและพัฒนาการในเรื่องของการศึกษาการเรียนรู้ ให้ก้าวทันโลกของประชาชน อันนี้ดิฉันยกตัวอย่างแค่สั้น ๆ แต่อยากบอกว่าสิ่งที่ พ.ร.บ. กำหนดชัดเจนในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และหมายเหตุท้ายงบประมาณนั้นไม่ได้บอกให้ Thai PBS ทำเพื่อที่จะเรียก Rating เพื่อเอา Rating นั้นไปแสวงหาความนิยมในเรื่อง ของโฆษณาอันนี้ไม่มีอยู่แล้วนะคะ และดิฉันก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ท่านแนะนำมานั้นผิด เพียงแต่อยากจะบอกว่าด้วยพันธกิจต่าง ๆ ที่กำหนดใน พ.ร.บ. ทำให้เราวางสัดส่วน งบประมาณกับเนื้อหาที่เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เนื้อหาที่ซับซ้อนและยากเหล่านี้ ซึ่งทุกท่านตระหนักดีว่า การจะเปลี่ยนสังคมระดับโครงสร้างมันยากเย็นแค่ไหน ดังนั้นการสื่อสารเนื้อหาเหล่านี้ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องคนจนเมือง เรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ดิฉันได้เรียนไปแล้ว ล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่มันอาจจะไม่ใช่กินได้ง่าย แต่รับปากว่าเราจะพยายามทำเนื้อหาที่มี ความซับซ้อนเหล่านี้ให้เป็นเนื้อหาที่ประชาชนทุกคนดูให้ได้อย่างมากที่สุดเพื่อให้คุ้มค่า เพราะฉะนั้นดิฉันอยากย้ำว่าความคุ้มค่าของ Thai PBS นั้น ถึงแม้เราจะไม่ได้วัดได้ด้วย Rating ทั้งหมด แต่เราก็พยายามวัด เราใช้ Rating เหมือนกันในการพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และบางรายการที่คิดว่าจะสู้กับตลาดเราก็ทำ เราก็ดู Rating อย่างเช่นรายการข่าวในทุกช่วง รายการของ Thai PBS อย่างเช่นข่าวค่ำหรือตอบโจทย์ก็เป็นรายการที่แข่งขันได้ระดับหนึ่ง ในเรื่องของ Rating นะคะ รายการละครที่เราพัฒนาขึ้นในช่วงหลังก็เป็นรายการที่แข่งขันได้ และที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ถ้าเราจะดูยอดผู้ชมหรือการเข้าชมสะสม จริง ๆ แล้ว Platform Online สะท้อนตรงนี้ได้ดี อย่างที่ดิฉันได้นำเสนอไปแล้วในช่วงต้น อย่างเช่นช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ผู้ชมทาง Website ของ Thai PBS ก็ขึ้นเป็นอันดับ ๑ หรือแม้แต่ที่ดิฉันได้เรียน ไปแล้วว่าจำนวนผู้ชมข่าวของ Thai PBS ในทุก Platform จริง ๆ แล้วสูงเป็นอันดับ ๒ ขออนุญาตเอ่ยนาม รองจากไทยรัฐค่ะ นั่นหมายความว่าประชาชนยังเชื่อมั่นแล้วก็ใช้ Thai PBS เป็นแหล่งอ้างอิงในเรื่องของข่าวนะคะ ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าที่ดิฉัน ได้กล่าวไปแล้วก็คือความคุ้มค่าที่วัดได้ในมิติทางสังคม ซึ่งเราให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก ให้การจัดสรรงบประมาณ ให้การสนับสนุนคนของเราเอง เช่นศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม และนโยบายสาธารณะที่ท่านเอกราชเอ่ยถึง เราให้ความสำคัญ เราให้มีศูนย์นี้เพื่อให้ทำหน้าที่ ผลักดันวาระสำคัญทางสังคม แล้วก็ทำหน้าที่สนับสนุนงานเชิงนโยบายของภาคการเมือง ที่ต้องการให้ไปถึงสังคมด้วยนะคะ
สุดท้าย ดิฉันอยากเอ่ยถึงในเรื่องมิติความคุ้มค่าซึ่งวัดไม่ได้เป็นตัวเงินแน่นอน ก็คือการที่ Thai PBS ให้ความสำคัญกับระบบตลาดไม่รองรับ หรือระบบตลาดไม่สนใจ เช่น เรื่องของเด็กที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว เรื่องของประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่สุ่มเสี่ยง กับการที่จะต้องเข้าไปเจาะ ไปวิเคราะห์เรื่องของสินค้าหรือบริการต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ Thai PBS ผลิตเยอะมาก มีไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ประเด็นในเนื้อหาที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ผู้บริโภคและการร้องทุกข์ค่ะ ดิฉันก็ขออนุญาตกล่าวสั้น ๆ ในส่วนของมิติความคุ้มค่า แต่ก็ต้องเรียนว่ายินดีอย่างยิ่งที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้คำแนะนำและให้ความห่วงใย แล้วก็คงจะรับข้อแนะนำเหล่านี้ไปเพิ่มเติม แล้วก็ในปีต่อไปดิฉันคิดว่าการประเมินผล ในมิติความคุ้มค่าเชิงสังคมที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วน่าจะเอามานำเสนอให้เป็นหัวใจสำคัญ การรายงานประจำปีของ Thai PBS ได้ ดิฉันมีอีก ๒ ประเด็นที่อยากจะขออนุญาตเรียนเชิญ ท่านอาจารย์เจษฎา กรรมการบริหารอื่น ได้ช่วยชี้แจงในเรื่องของรายงานการเงิน ขอบพระคุณค่ะ