ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ครั้งที่ 10 วันพุธที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 10.38 - 18.43 นาฬิกา
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิก ได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ โดยจะให้ท่านหารือในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามลำดับรายชื่อและเวลา ที่ยื่นมานะครับ ขอให้ใช้เวลาท่านละ ๒ นาที ท่านแรกขอเชิญคุณพลพีร์ สุวรรณฉวี ครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ผม พลพีร์ สุวรรณฉวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๙ ครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องแรก ที่ผมจะหารือกับ ท่านประธานคืออำเภอจักราช ตอนนี้มีผู้ป่วยโรคไตประมาณเกือบ ๑,๐๐๐ คนแล้ว และมากกว่า ๓๐๐ คนนั้น ต้องฟอกไตทุกวัน แต่ว่าทางโรงพยาบาลจักราชเองนั้นไม่มี ศูนย์ฟอกไต ทำให้พี่น้องประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไตนั้นต้องเดินทางไปฟอกไตในอำเภอเมือง ซึ่งห่างจากอำเภอจักราชไปประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายไปกลับก็ประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน และมีความพร้อมทางด้านสาธารณสุขให้กับพี่น้องอำเภอจักราชนั้น ก็เลยอยากจะขอให้ ท่านประธานได้ส่งเรื่องถึงกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเรื่องตั้งศูนย์ฟอกไตให้กับพี่น้อง ประชาชนอำเภอจักราช แล้วก็ให้อำเภอใกล้เคียงนั้นสามารถได้เข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องน้ำประปาครับ น้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เขต ๙ นั้น มีกลิ่น มีสี แล้วก็ไม่สามารถที่จะใช้อุปโภคบริโภคได้ มีที่ หมู่ที่ ๙ ตำบลสีสุก อำเภอจักราช มีที่ หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยแคน อำเภอห้วยแถลง มีที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง แล้วที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หมู่ที่ ๑๑ บ้านปรางค์ ตำบลหินดาดครับท่านประธาน ไม่มีแหล่งเก็บน้ำ ต้องสูบน้ำขึ้นมาระยะทางเกือบ ๒ กิโลเมตร แล้วถ้าเกิดว่าเป็นหน้าแล้ง ที่ไม่มีน้ำต้องใช้เวลาถึง ๖๐ วัน ที่จะต้องสูบน้ำขึ้นมาให้กับพี่น้องประชาชนนั้นได้ใช้ แล้วก็ มีน้ำพอเพียงให้กับพี่น้องประชาชน
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ มีน้ำท่วมทุกปีที่บ้านช่องโค ตำบลศรีละกอ แต่ว่าในช่วงฤดูแล้งนั้น เราก็ยังไม่มีการขุดลอก เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการกักเก็บน้ำในฤดูกาลแล้งหรือหน้าฝน เวลาน้ำมามันจะได้เก็บได้นะครับ ก็อยากจะให้ท่านประธานส่งเรื่องไปถึงกรมชลประทาน ของบประมาณลงมาดูแลพี่น้องประชาชนในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบ้านช่องโคนะครับ
นายพลพีร์ สุวรรณฉวี นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ถนนครับท่านประธาน ถนนนี้เราทราบกันดีว่าถนนต่างจังหวัดนั้น ไร้งบประมาณ ก็เลยจะฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สายแรกก็คือถนนทางหลวง ชนบท นม.๔๐๓๕ เขตติดต่อ ตำบลศรีละกอ หมู่ที่ ๓ บ้านโพธิ์ ตำบลหนองขาม อำเภอจักราช เส้นที่ ๒ ถนนสายบ้านโนนสำราญ หมู่ที่ ๙ อำเภอเมืองพลับพลา เชื่อมตำบลหินดาด อำเภอห้วงแถลง ขาดงบประมาณเช่นเดียวกัน ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สวัสดีครับ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง วันนี้ขอหารือ ๓ เรื่องครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้องกับทางเดินริมคลอง ซึ่งเป็นทางเดินที่ อ.เอท พูดมาแล้วหลายครั้ง อย่างน้อย ๒-๓ ครั้ง เป็นทางเดินที่อยู่ที่ซอยร่มเกล้า ๖/๑ เป็นคลองที่เป็นคลองสองต้นนุ่น ตรงนี้ มีโรงเรียน มีชุมชนหลายที่เลยนะครับ เป็นคลองเริ่มตั้งแต่โรงเรียนปัญจทรัพย์ไล่ยาว ทางทิศเหนือลงมาถึงทิศใต้ก็คือการเคหะร่มเกล้า ตรงนี้เขาเรียกว่าเป็นทางเดินที่พังมากเลย ไม่สามารถที่จะซ่อมได้ อย่างไรขอสร้างใหม่เลยก็แล้วกัน พร้อมกับราวด้วย
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็เป็นเช่นกัน ถ้าเกิดท่านดูจากภาพนะครับ เรื่องที่ ๒ ก็จะเกี่ยวข้อง กับเรื่องของราวกั้นอีกครับ ซึ่งผู้ที่ดูแลก็คือสำนักการระบายน้ำโดยตรงเลย ก็อยากที่จะ ฝากครับว่าราวกั้น แต่เป็นคนละที่นิดหนึ่งครับ ที่ที่ ๒ เกิดที่สุเหร่าลำนายโส หรือเป็น คลองลำนายโส ก็จะเป็นคลองคนละคลองกันแต่มีความต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้น ๒ เรื่องนี้ จะสังเกตว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเขาเรียกว่ามีความเสียหายมานานแล้วด้วย เป็นการสร้างมา แบบสิบ ๆ ปี อย่างไรฝากให้ท่านประธานส่งไปยังหน่วยงานก็คือสำนักระบายน้ำช่วยดูแลด้วย สงสัยว่าราวกั้นนี้มันหายหรือมีคนแอบลักขโมย
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ สำคัญที่สุดครับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้พื้นที่ เข้ามาในประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นจาก ๓ ประเทศที่อยู่ติดกับเรานะครับ ทางเหนือคือลาว กัมพูชา หรือทางพม่าเองซึ่งเข้ามาทำอาชีพที่ต้องห้ามครับ อาชีพต้องห้ามของเรามีประมาณ ๔๐ อาชีพ ถูกไหมครับ แต่ ๑๐ อาชีพที่ห้ามจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาบเร่ แผงลอย ขับมอเตอร์ไซค์ ขายไก่ย่าง หรือจะเป็นลักษณะเกี่ยวกับเรื่องของการขับวิน พี่วินมอเตอร์ไซค์ มาแย่งอาชีพจากคนไทยไปเยอะเลย สร้างผลเสียด้านอะไรบ้างครับ ด้านสังคม เรื่องของ การอยู่กันเป็นกลุ่มเกิดเป็นอาชญากรรมได้ ด้านเศรษฐกิจแย่งงานคนไทย และแน่นอนครับ ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญสุดก็คือด้านที่เรียกว่าเป็นเรื่องของการมีผู้อพยพ อันนี้ จากหลายประเทศเข้ามาในประเทศไทยถูกไหมครับ ก็ขอให้ทางกระทรวงแรงงาน เรื่องของ ตำรวจ พี่น้องตำรวจช่วยกันแก้ไขครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ Respect
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนา แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมขอปรึกษาหารือ ในความเดือดร้อนของประชาชนในเขตอำเภอกบินทร์บุรีครับ
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ขอความอนุเคราะห์พิจารณา งบประมาณสร้างสะพานลอยหน้าวิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี ได้รับการร้องเรียนจาก ท่านบพิตร บูรมิ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี ในตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากวิทยาลัยนี้อยู่ด้านหน้าถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๐๔ กบินทร์บุรี-ฉะเชิงเทรา มีนักศึกษาประมาณ ๒,๔๐๐ กว่าคน และบริเวณ แห่งนั้น มีนักศึกษาจำนวนมากอีกหลายพันคนครับ ซึ่งเป็นถนนสายหลักมีการคมนาคมและ รถขับด้วยความรวดเร็วอย่างมาก ดังนั้นเพื่อลดความเสียหายและชีวิตของประชาชน ยิ่งตอนเช้าและตอนเย็นมีนักศึกษาที่ข้ามถนนไปมาเป็นจำนวนมาก กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพประสานไปยังแขวงทางหลวงปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความ อนุเคราะห์จัดงบประมาณในการสร้างสะพานลอยเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาและ ประชาชนโดยทั่วไปครับ
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องของความเดือดร้อนเรื่องการซ่อมแซมประตูฝายน้ำที่แตกรั่ว ได้รับการร้องเรียนจากท่านณัฐกฤตา ส่องแสงศักดิ์ หรือผู้ใหญ่สม ที่โคกป่าแพง หมู่ที่ ๗ ตำบลกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผ่านไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล ปัญหาน้ำในคลองแห้งเร็วกว่าปกติ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านได้ลงสำรวจพื้นที่แล้วว่าหน้าประตู ฝายน้ำล้นเกิดรอยแตกรั่ว จึงทำให้น้ำในลำคลองแห้งเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ขาดแคลน น้ำทั่วไปที่ใช้ จึงกราบเรียนไปยังท่านประธานสภาผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วยกรุณาลงไปซ่อมแซม ที่จะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ที่จะใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรต่อไป ขอกราบขอบพระคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณสาธิต ทวีผล ครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธาน ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๔ เรื่องครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ถนนสาย ๑๙๖ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๕๖ บริเวณทางแยกเข้า วัดหนองเลา หมู่ที่ ๕ ตำบลเขาพระงามถึงช่วงสี่แยกโคกกระเทียม แล้วก็จากสี่แยก โคกกระเทียมถึงหลักกิโลเมตรที่ ๖๑ ทางแยกเข้าวัดโคกกระเทียมครับท่านประธาน ถนนบริเวณดังกล่าวนั้นไม่มีไฟส่องสว่างครับท่านประธาน แล้วก็มีผิวการจราจรที่ชำรุด ทรุดโทรมในหลายจุด
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ทางหลวงหมายเลข ๑ บริเวณซุ้มวัดห้วยโป่ง ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ในการวาง Barrier ครับท่านประธาน ดังนั้นพี่น้องประชาชนที่จะเข้าไปในซุ้มวัดห้วยโป่ง ที่เดินทางมาจากในตัวเมืองลพบุรีจะต้องไป U-Turn ไกล แล้วก็จะต้องย้อนศรเพื่อที่จะเข้า หมู่บ้านห้วยโป่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณนั้นกับพี่น้องประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ขอฝาก ๒ เรื่องนี้ ผ่านท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงลพบุรีด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ถนน ลบ.๒๐๐๗ จากซอย ๒๔ ไปถึงบ้านโคกสลุง ถนนเส้นนี้เป็น ๒ ช่องจราจรครับท่านประธาน รถวิ่งสวนกันแล้วก็ขาดแคลนไฟส่องสว่างทาง ยังมีอีก หลายจุดที่ไม่มีไฟส่องสว่าง แล้วก็มีผิวการจราจรที่ชำรุดในหลายจุด ขอฝากปัญหานี้ ผ่านท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงชนบทลพบุรีด้วยครับ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชนว่ามีเสาไฟฟ้าเอียง ๒ จุด จุดที่ ๑ คือบริเวณ ซอย ๑๐ สายโทร ตำบลโคกตูม และอีกจุดหนึ่งจะเป็น หมู่ที่ ๙ ตำบลน้ำสุด อำเภอพัฒนานิคม ขอฝากปัญหานี้ผ่านท่านประธาน ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาแก่งเสือเต้น ให้ช่วยเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้พี่น้องประชาชนด้วย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๗ พรรคพลังประชารัฐ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีข้อหารือ ๓ ประเด็นหลัก ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในอำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสวรรค์ และท่านสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิในพื้นที่ ฝากท่านประธานนำเรียนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
๑. ขอให้กรมบัญชีกลางเร่งรัดผลพิจารณาอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุง ถนนเส้นบ้านจอกยางหวาย ซึ่งเป็นถนนที่ อบจ. ชัยภูมิ ได้พยายามจัดหาผู้ว่าจ้างมาเป็น ระยะเวลาเกือบ ๒ ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้ยื่นประมูลได้ร้องเรียนผลการประมูลไปยัง กรมบัญชีกลาง ส่งผลให้การจัดหาผู้ว่าจ้างเป็นไปอย่างล่าช้า ปัจจุบันถนนดังกล่าวเป็นถนน เชื่อมหลายตำบลถนนเสียหายหนัก พี่น้องประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
๒. ขอให้กรมทางหลวงเร่งรัดการขยายถนนเส้นทางหลวง ๒๓๘๙ แก้งคร้อ-บ้านแท่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศบาลหนองสังข์ไปยังช่วงสถานีตำรวจภูธร เทศบาลหนองสังข์ เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางใกล้ชุมชนเป็นถนนสายหลักเชื่อมไปยัง จังหวัดขอนแก่น และยังมีรถบรรทุกอ้อยวิ่งผ่านจำนวนมาก ปัจจุบันถนนคับแคบเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ฝากท่านประธานนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
๓. ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อบจ. ชัยภูมิ เพื่อพัฒนาถนนเส้นหนองหญ้าขาวเชื่อมทางหลวง ๒๐๕๔ ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่พี่น้อง ตำบลช่องสามหมอใช้สัญจรจำนวนมาก ปัจจุบันถนนดังกล่าวยังเป็นถนนลูกรังอยู่ เป็นถนน ในตำนานก็ว่าได้และมีสภาพเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝน ฝากท่านประธานนำเรียน ไปยังสำนักงบประมาณด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณขัตติยา สวัสดิผล ครับ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันได้รับการฝากเรื่องมาจากท่านสุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เขตหลักสี่-จตุจักร ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตหลักสี่-จตุจักร เป็นเรื่อง เกี่ยวกับไฟส่องสว่างบริเวณถนน Local Road ริมทางรถไฟสายเหนือ ใต้ทางรถไฟสายสีแดง มีปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างและดิฉันก็เคยหารือถึงเรื่องนี้มาแล้ว แต่ก็ได้รับการแก้ไขแค่ในช่วง จากอุโมงค์ทางลอดรถไฟบางซื่อไปจนถึงวัดเสมียนนารีเท่านี้ แต่ระหว่างวัดเสมียนนารี ไปจนถึงสถานีบางเขน ต่อไปสถานีทุ่งสองห้อง ต่อไปที่สถานีหลักสี่ แล้วก็ไปที่สถานีการเคหะ ยังไม่มีไฟส่องสว่าง ถึงจะมีก็มีแค่ใต้สถานีค่ะ แต่ระหว่างสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่งนั้นยังไม่มี ไฟส่องสว่าง นอกจากนั้นสะพานลอยที่ให้คนข้ามถนนช่วงต่อขยายที่รับผิดชอบต่อมาจากทาง กรมทางหลวง พาดผ่านบนถนน Local Road ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนนี้ค่ะ บริเวณหน้าวัดเทวสุนทรข้ามไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วก็บริเวณ ปากซอยภาวดีรังสิต ๒๕ ข้ามไปหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยังไม่มีไฟส่องสว่างบนสะพานลอย สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมา แล้วก็เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม และที่ผ่านมาก็เคยมีอาชญากรรมเกิดขึ้นแล้ว ดิฉันจึงอยากให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลในส่วนนี้โดยด่วนนะคะ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องค่าไฟในโรงเรียน สืบเนื่องจากสถานการณ์โลกร้อน แล้วก็ฝุ่น PM2.5 ทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสถานศึกษาในเขตเมืองที่สังกัดกระทรวง ศึกษาธิการมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ ๕ ที่จะช่วย ประหยัดพลังงาน แล้วเราก็เคยมีนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้พลังงาน หมุนเวียนแบบพลังงานสะอาด คือการติดตั้งโซลาเซลล์บน Rooftop หรือบนหลังคา ของอาคาร อันจะเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง ในอดีตกระทรวงพลังงาน เคยให้หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงาน ดิฉันจึงอยาก สอบถามไปยังกระทรวงพลังงานว่ายังมีโครงการนี้อยู่หรือไม่ หากไม่มีให้รีบนำกลับมา เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานให้หน่วยงานรัฐและโรงเรียนต่าง ๆ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณพนิดา มงคลสวัสดิ์ ครับ
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมุทรปราการ เขต ๑ อำเภอเมือง ตำบลท้ายบ้าน ตำบลปากน้ำ ตำบลบางเมือง ตำบลบางโปรง ตำบลบางด้วน พรรคก้าวไกลค่ะ
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ในวันนี้ดิฉันจะขอนำ ข้อร้องเรียนของพี่น้องประชาชนหารือต่อท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของ Sky Walk ระยะทาง ๖๗๐ เมตร ใจกลางเมืองปากน้ำเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้า BTS เชื่อมต่อหอชมเมืองสมุทรปราการ เชื่อมต่อศาลากลางจังหวัดและศูนย์ราชการอื่น ๆ ซึ่งเป็น โครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการที่ในปัจจุบันยังไม่เปิดใช้งาน ในวันนี้ ดิฉันเตรียมเรื่องมาหารืออยู่ ๒ ประเด็น
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก คือเรื่องของความล่าช้าในโครงการนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ มีกำหนดการแล้วเสร็จวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เป็นระยะเวลา ๓ ปี แต่ ณ วันนี้วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗ เลยกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาของโครงการมาแล้ว ๘ เดือน ก็ยังไม่สามารถเปิดบริการให้กับประชาชนได้ ดิฉันรับทราบว่าโครงการนี้เข้าเงื่อนไข ของกรมบัญชีกลางที่ขยายระยะเวลาการก่อสร้างจากสถานการณ์โควิด แต่จากภาพในสไลด์ค่ะ ท่านประธาน เสร็จเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ทางเชื่อม Sky Walk ก็จ่อไปถึงจุดต่าง ๆ แล้ว เหลือเพียงรั้วของทางสถานีรถไฟฟ้าที่ยังไม่เปิดให้เชื่อม คำถามคือยังติดปัญหาอะไรคะ ท่านประธาน หรือทาง อบจ. ยังเจรจากับทาง BTS ไม่ลงตัว แล้วทีนี้จะมีกำหนดการส่งมอบ เมื่อไร ประชาชนจะได้รับการชดเชยค่าเสียโอกาสในความล่าช้านี้อย่างไร เพราะโครงการนี้ ใช้งบประมาณสูงถึง ๔๘๕ ล้านบาท กับทางเดินลอยฟ้าระยะทางเพียง ๖๗๐ เมตรนี้ ดิฉันคงไม่ถามถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณภาษีของพี่น้องประชาชนนะคะ ว่ามันสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่กับการสร้างทางเดินลอยฟ้าทับทางเท้าที่มีอยู่เดิมแล้ว
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ที่ดิฉันจะพูดถึงคือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นปัญหา ต่อเนื่องมาจากความล่าช้า จากภาพในสไลด์ทุกท่านจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ ๔ ปี ที่ผ่านมา ในระยะเวลาก่อสร้างมีวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ บนทางเท้า บางจุดมีการปิดล้อมพื้นที่ พี่น้องประชาชนสัญจรไม่ได้ ช่วงนี้ดีขึ้นมาหน่อยมีการคืนพื้นผิวแล้ว หากแต่โครงสร้างของ ตัว Sky Walk มีขนาดใหญ่มาก มันส่งผลให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถสัญจรบนทางเท้า ได้ปกติ ทีนี้เดินบนฟ้าก็ยังไม่ได้ เดินบนทางเท้าก็ลำบาก กลายเป็นว่าพี่น้องประชาชน ต้องมาเดินถนนแล้วค่ะ ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการ ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้ใช้จ่ายจากภาษีงบประมาณ ที่ได้ลงทุนไปกับโครงสร้างนี้ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณสุธรรม จริตงาม ครับ
นายสุธรรม จริตงาม นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายสุธรรม จริตงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เขต ๖ อำเภอทุ่งสง วันนี้ผมมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ธ.ก.ส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรมาหารือต่อท่านประธานครับ ปัญหาเกิดหลังจากที่สมาชิกของสมาคมฌาปนกิจ สงเคราะห์ได้เสียชีวิตลงแล้ว ทายาทหรือครอบครัวไม่ได้รับเงินสงเคราะห์ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ผมขอกราบเรียนท่านประธานว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้นำร่องจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นครั้งแรกที่ ธ.ก.ส. สาขาจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ เพื่อเปิดรับสมาชิก ถือเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สาขาจังหวัดน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ครอบครัวหรือทายาทของสมาชิกได้รับเงินในการจัดการศพ และมีเหลือไว้ใช้จ่ายในครัวเรือนยามที่สมาชิกได้เสียชีวิตลงแล้ว ต่อมา ธ.ก.ส. ได้มีการ ขยายผล โดยให้มีการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ท่านประธาน ที่เคารพครับ ลูกค้า ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่ล้วนเป็นพี่น้องเกษตรกรที่มีความเดือดร้อน ทางด้านการเงิน และในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก พวกเขาเหล่านั้น ก็คาดหวังว่าจะได้รับเงินจากสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ มาช่วยเสริมสภาพคล่อง แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าในหลาย ๆ พื้นที่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ได้จ่ายเงินให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่ตรงตามข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินล่าช้า จ่ายเงินไม่ครบตามจำนวน ไม่ทันต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายในการจัดงานศพ ครอบครัว ของพวกเขาเหล่านี้เดือดร้อนครับท่าน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเสาหลักของครอบครัว และยามมีชีวิตพวกเขาเหล่านั้นได้เสียค่าบำรุงเงินให้แก่สมาคมตลอดมา เพราะมิฉะนั้น จะเป็นการผิดข้อตกลงและจะเสียสิทธิในทันที ช่วยคืนความเป็นธรรมให้พวกเขาด้วยครับ พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการจัดงานศพ ผมจึงขอเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดกำกับให้หน่วยงานเหล่านั้น ช่วยตรวจสอบความ โปร่งใสในการดำเนินการจัดการของสมาคมนี้ด้วย ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณวีรนันท์ ฮวดศรี ครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมนำปัญหาของพี่น้อง ประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ตำบลเมืองเก่า ตำบลพระลับ มาหารือกับ ท่านประธาน ๓ เรื่องดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องถนน อบจ. ขก.๐๐๑ ที่เชื่อมระหว่างทางเลี่ยงเมืองกับถนนเส้นโยธาธิการและผังเมือง ขก.๒๐๕๕ ที่พี่น้อง ชาวบ้านกุดกว้าง แล้วก็ชาวบ้านสะอาด ตำบลเมืองเก่า ใช้สัญจรไปมาเป็นประจำ ถนนเส้นนี้ มีความชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งพี่น้องประชาชนได้รับอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งครับ ทราบว่า ทางเทศบาลตำบลเมืองเก่าได้นำปูนซิเมนต์ไปซ่อมแล้ว แต่ก็ยังพังอยู่ครับ ฝากท่านประธาน นำเรียนเรื่องนี้ไปยัง อบจ. จังหวัดขอนแก่นเข้ามาดูแลถนนเส้นนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยนะครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องคลองระบายน้ำครับ คลองระบายน้ำที่รับน้ำจากบึงทุ่งสร้าง ไปยังหนองเรือเปือย ที่ตำบลพระลับกับตำบลในเมือง ไม่มีพนังกั้นน้ำทำให้ตลิ่งชำรุด กำแพงบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ซ่อมแล้วซ่อมอีกเป็นจำนวน หลายรอบแล้วนะครับ แต่ก็ยังถล่มลงมากับตลิ่ง จึงฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักชลประทานที่ ๖ หรือว่าสำนักโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาดูแลปัญหาของพี่น้องประชาชนด้วยนะครับ ซึ่งพี่น้องที่ได้รับปัญหาไม่ว่าจะเป็น ชุมชนธนาคร ชุมชนทุ่งเศรษฐี ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องของซอยไปรษณีย์ ถนนเหล่านาดี บ้านขามเจริญ ตำบลเมืองเก่า ถนนในซอยเป็นหลุมเป็นบ่อประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก มอเตอร์ไซค์ ลื่นล้มอยู่บ่อยครั้ง จึงฝากท่านประธานนำเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศบาลตำบล เมืองเก่า ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก้ไขปัญหาเรื่องถนนเส้นนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยนะครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายครับท่านประธาน สุดท้ายนี้เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องเที่ยวงาน วันเกษตรภาคอีสานประจำปี ๒๕๖๗ งานจะเปิดวันศุกร์นี้ วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชิญชวนทุกท่านครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ครับ
นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ ดิฉัน ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ดิฉันมีเรื่องขอหารือท่านประธานอย่างจำเป็นและ เร่งด่วนมากเลยค่ะท่านประธาน
นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถในโรงพยาบาลแพร่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เนื่องจากได้รับการร้องขอจากพี่น้องประชาชน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่ได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแพร่ และผู้มารับบริการในโรงพยาบาลต้องการให้มี สถานที่จอดรถให้เพียงพอต่อบุคลากรของโรงพยาบาล และผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลแพร่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวน ๕๐๐ เตียง ปัจจุบันมีผู้มารับบริการจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละวันนอกจากจะมีปัญหา ทางด้านสุขภาพการเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังมาเจอปัญหาเรื่องสถานที่จอดรถ ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ โรงพยาบาลแพร่ไม่มีที่จอดรถพอ สำหรับประชาชน และประชาชนต้องไปจอดรถตามริม Footpath นอกโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและมีที่จอดรถของเอกชนอยู่บ้าง แต่ต้องไปเสียค่าใช้จ่าย ในการเข้าไปจอด ไม่สะดวกต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เดือดร้อนทางด้านสุขภาพร่างกาย อยู่แล้ว ทางโรงพยาบาลแพร่ สาธารณสุขจังหวัดแพร่ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดแพร่ ได้นำเรื่องการของบประมาณก่อสร้างอาคารจอดรถต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการ ซึ่งมีมติเห็นชอบว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้เสนอ ให้เข้าแผนร่างพระราชบัญญัติปี ๒๕๖๗ ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นลำดับแรก เป็นโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถโรงพยาบาลแพร่ ขนาด ๖ ชั้น งบประมาณ ๕๐ ล้านบาท สามารถรองรับที่จอดรถในโรงพยาบาลได้ เพื่อให้การบริการแก่ผู้ป่วยตามนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ท่านประธานช่วยแจ้งทางกระทรวงสาธารณสุข ขอให้รัฐบาล ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถในโรงพยาบาลแพร่อย่างเร่งด่วนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเซีย จำปาทอง ครับ
นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องครับ
นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ ประกันสังคมหรือบอร์ดประกันสังคม ดังที่ทุกท่านได้ทราบแล้วว่าเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมามีการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ผู้ประกันตนได้ใช้ ๑ สิทธิ ๑ เสียง เลือกตั้งตัวแทนของพวกเขาเข้าไปทำงาน แล้วก็ดูแลสิทธิ ที่พวกเขาพึงได้รับ ขณะนี้การเลือกตั้งผ่านมา ๑ เดือนกับ ๑ วันแล้ว คณะกรรมการที่จัดให้มี การเลือกตั้งยังไม่มีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดนะครับ ที่ผ่านมาผู้ประกันตน ได้สอบถามมายังผมเป็นจำนวนมากว่า ทำไมยังไม่มีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง สูงสุด ที่ผ่านมาท่านก็ดำเนินการเลือกตั้งล่าช้า ประชาสัมพันธ์ก็น้อย พวกท่านคิดอะไรอยู่ครับ ท่านอยากให้มีการแต่งตั้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมาสมัย คสช. หรือครับ เพราะฉะนั้น ๑ สิทธิ ๑ เสียง ที่พวกเขาใช้สิทธิไป ควรที่จะมีการประกาศรับรองโดยเร็ว จึงขอเรียนท่านประธาน ไปยังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานช่วยติดตาม ตรวจสอบคณะกรรมการที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ว่าเมื่อใดจะมีการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับ คะแนนสูงสุด เพื่อเขาจะได้เข้าไปทำงานดูแลสำนักงานประกันสังคมต่อไป
นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องกระทรวงแรงงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกจ้างที่ถูก นายจ้างปิดกิจการลอยแพ เมื่อวันที่ ๒๑ และวันที่ ๒๒ ธันวาคม ลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด ประมาณ ๒๐๐ คน เดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แล้วก็มี ท่านอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีมาร่วมประชุมกับลูกจ้าง แล้วก็มีบันทึกร่วมกันไว้ ๒ เรื่องด้วยกัน ๑. ก็คือว่าจะมีการแก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น ๒. ก็คือจะเสนอรัฐมนตรีให้ของบกลางมาสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น มาจ่ายให้ลูกจ้างทั้ง ๓ บริษัท ขณะนี้ผ่านมาเดือนกว่าแล้วยังไม่มี ความคืบหน้าใด ๆ จึงขอเรียนท่านประธานไปยัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการตามที่ตัวแทนของท่านได้สัญญาไว้กับลูกจ้างด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณจำลอง ภูนวนทา ครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม จำลอง ภูนวนทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๓ อำเภอห้วยเม็ก อำเภอหนองกุงศรี อำเภอท่าคันโท พรรคพลังประชารัฐครับ สืบเนื่องจาก ที่ผมเคยหารือและเคยกราบเรียนท่านประธานที่สภาแห่งนี้ เรื่องการเกิดอุบัติเหตุของพี่น้อง ประชาชนผู้สัญจรใช้ถนนในเขตเลือกตั้งของกระผม ขอสไลด์ด้วยครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
นี่คือแยกห้วยยางดง เป็นจุดเชื่อม ระหว่างถนนเส้นที่จะไปอำเภอวังสามหมอไปถึงสกลนคร ไปนครพนมได้ อีกเส้นซ้ายมือ ของกระผมนะครับท่านประธาน จะไปอุดรธานีไปถึงหนองคาย ตรงนี้ประชาชนร้องเรียนว่า น่าจะติดตั้งไฟแดงหรือหาอะไรก็ได้เป็นเกาะกลาง เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นการลดความเสี่ยง ในการเกิดอุบัติเหตุ สไลด์ที่ ๒ นี้เป็นสไลด์ที่ผมเคยนำหารือท่านประธานเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ว่าเป็นสี่แยกวัดใจ ท่านประธานเห็นไหมครับ รถบรรทุกเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกวันครับ ท่านประธาน ๑ เดือน ถ้า ๑ ครั้ง ก็ ๓๐ ครั้ง แต่นี่เป็นการที่ทำให้ประชาชนเสี่ยงมากในการ สัญจรไปมา ผมได้หารือกับท่านประธานได้กราบวิงวอนท่านประธานว่า ช่วยติดตั้งไฟแดง หรือทำอะไรก็ได้ครับที่เป็นการลดการเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ สไลด์ที่ ๓ แยกวิทยาลัย การอาชีพที่เชื่อมถนนระหว่างถนนสายห้วยเม็ก-ท่าคันโท กับเส้นอำเภอกระนวนเชื่อมไปยัง จังหวัดขอนแก่น อันนี้ก็เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการอาชีพ และทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ขอสัญญาณไฟจราจรครับ สไลด์ที่ ๔ เป็นตลาดสดหนองริวหนัง ตรงนี้อยากฝากกราบเรียน ท่านประธานว่าควรจะหาวิธีที่ทำให้ลดอุบัติเหตุให้ได้ อันเนื่องมาจากรถที่ออกจากตลาดสด แล้วรถที่วิ่งทางตรงปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยครับท่านประธาน จึงขอฝากกราบเรียนไปยัง ท่านประธานเพื่อช่วยลดบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ ครับ
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุรวาท ทองบุ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือ ท่านประธานไปยังรัฐบาล ท่านประธานครับ เมื่อวานนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีไป เมื่อเสร็จสิ้นแล้วมีท่านนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาลได้มาแถลงข่าวว่ามีการยกเลิกการให้ครู อยู่เวร รวมทั้งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไปออกข่าวว่ายกเลิกให้ครูอยู่เวรโดยมีผลทันที ท่านประธานครับ จากข่าวดังกล่าวนั้นก็เกิด ความว้าวุ่นอยู่เหมือนกันไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากว่าในรายงานสรุปข่าวของการประชุม ครม. นั้น ไม่ปรากฏว่ามีวาระนี้ในการพิจารณา และไม่พบว่ามีมติแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ทำให้ครูและผู้บริหารในสถานศึกษาเกิดความสับสนว่า ไม่รู้จะนอนเวรหรือไม่นอนเวรดี และถ้าไม่นอนแล้วจะทำให้สถานที่และทรัพย์สินนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงร้องขอให้ ทางกระทรวงและรัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่คิดไปทำไป สนทนาธรรม แล้วก็เป็นข้อสั่งการเท่านั้น ต้องมีเอกสาร มีหลักฐาน ตามระเบียบสารบรรณที่ชัดเจนครับ
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้รัฐบาลได้จัดทำคำขอใช้งบกลางปี ๒๕๖๖ หรือจะแปรญัตติ ในปี ๒๕๖๗ หรือจัดตั้งงบประมาณ ๒๕๖๘ เพื่อจัดจ้างภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน ที่ยังขาดอยู่ ๑๒,๐๐๐ โรงเรียน ถ้าใช้เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ก็จะใช้เงินแค่ปีละ ๑,๔๔๐ ล้านบาท เท่านั้น รวมทั้งจัดจ้างครูให้กับโรงเรียนที่ขาดครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งต้องการ อยู่เพียง ๒๒,๐๐๐ อัตรา จะใช้เงินเพียง ๓,๙๖๐ ล้านบาทเท่านั้นครับท่านประธาน ก็จะได้ ครูตามเกณฑ์ ชาวบ้านไม่ต้องทำผ้าป่าเพื่อจ้างครู รวมกันแล้วแค่ ๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท ไม่ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่จะยืมมาแจก จะกู้มาแจกเฉย ๆ กู้มาเพื่อจ้างครู จ้างภารโรง ให้กับลูกหลาน ขอฝากด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือท่านประธาน ความเดือดร้อนจากพี่น้อง อบจ. ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับถ่ายโอน รพ.สต. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนมาทั่วประเทศนั้น วันนี้ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ได้โอนถ่ายมาแล้ว แต่พื้นที่และอาคารสิ่งก่อสร้างนั้นยังไม่ได้รับโอน จากกรมธนารักษ์ ซึ่งมีความล่าช้ามาเกือบปี ทำให้มีผลกระทบต่องบประมาณที่ตั้งไว้ในการ ที่จะซ่อมแซมอาคาร ตลอดจนซื้อเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือช่วยหายใจและฟอกไต ซึ่งมี ความสำคัญของพื้นที่ในระดับตำบลมาก จึงกราบเรียนท่านประธานถึงท่านอธิบดีกรมธนารักษ์ ท่านจำเริญ โพธิยอด ซึ่งท่านก็ให้ความสำคัญตรงนี้อยู่แล้ว วันนี้อยากให้ท่านมอบหมาย อำนาจนั้นลงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยว่า ถ้า อบจ. ไหนจะมีการซ่อมหรือมีการซื้อ ให้ทันงบประมาณนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเลย เพราะงานทั่วประเทศนั้นหนัก งานทางกรมธนารักษ์ก็เยอะอยู่แล้ว ก็กราบเรียนท่านประธานไปถึงท่านอธิบดีกรมธนารักษ์ ว่ามอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นสิ่งที่ดี พิจารณาว่า อบจ. ไหนจะซ่อมหรือจะสร้าง ตลอดจนซื้อสิ่งสำคัญ ก็คือเครื่องช่วยหายใจแล้วก็เครื่องฟอกไตนั้นเป็นสิ่งสำคัญครับ ท่านประธาน
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานครับ ตอนที่อภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ผมหารือเรื่องปัญหาการใช้งบประมาณและปัญหาการก่อสร้างถนนในพื้นที่ป่าหรือ ป่าสงวนนะครับ คือบ้านห้วยหยวก บ้านห้วยสูง และบ้านห้วยระแห้ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์พี่น้อง ที่ด้อยโอกาสมีความเหลื่อมล้ำ จะทำอะไรขอไฟฟ้า ขอน้ำ ขอถนนนั้น เหมือนกับไม่ใช่คน ของคนไทย กราบเรียนถึงท่านอธิบดีกรมป่าไม้ครับ โดยเฉพาะป่าสงวนนั้น พื้นที่นั้น อยู่ในพื้นที่ของพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งมีถนนใช้มาแล้วเกือบ ๔๐ ปี ยังไม่ได้รับการอนุญาตและ ไม่ได้รับความสนใจที่หารือไป กราบเรียนท่านประธานไปถึงท่านอธิบดีกรมป่าไม้ว่าให้ท่าน สั่งการให้กรมป่าไม้เข้าไปช่วยกันพูดคุยในระดับจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และที่สำคัญ อย่าลืม อบจ. ทั่วประเทศนั้นรอท่านอธิบดีกรมธนารักษ์ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ตัดสินใจในการที่จะดำเนินการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคาร แล้วก็ให้โอนถ่ายพื้นที่และ อาคารก่อสร้างนั้นให้ด่วน จะได้ไม่ให้เกิดความเสียหายของงบประมาณต่อไป ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณสรวงศ์ เทียนทอง ครับ
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว เขต ๓ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง ตำบลช่องกุ่ม ตำบลแซร์ออ ในอำเภอวัฒนานคร และสำคัญที่สุดอำเภออรัญประเทศครับ ขออนุญาต ใช้เวลาสภาเพียงนิดหน่อยในการหารือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ เมื่อสัปดาห์ ที่แล้วครับ เป็นคดีความของคุณป้าบัวผันหรือว่าที่พวกเราทราบกันดี ถ้าติดตามในสื่อมวลชน ก็คือคดีป้ากบครับท่านประธาน เรื่องคดีความผมขออนุญาตไม่พูดถึงขอให้เป็นในเรื่องของ ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อมวลชนทุกวันนี้ผมไม่เห็นสื่อมวลชนไหน พุ่งประเด็นไปที่ต้นเหตุและต้นตอของปัญหา ผมมั่นใจครับว่าไม่ใช่เฉพาะพี่น้องประชาชน ในอำเภออรัญประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดสระแก้วที่ได้รับผลกระทบจากความเป็นอยู่ จากสภาวะครอบครัว จากสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป ผมขออนุญาตที่จะฝากหน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐ กระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุก ๆ พื้นที่ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นกับคดีป้ากบ ผมขออนุญาตท่านประธานที่จะวิงวอนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ ที่จะให้ความสำคัญ กับต้นตอของปัญหายาเสพติด สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นคือต้นตอของปัญหา ผมขอเสนอให้เอาบ้าน วัด โรงเรียน หรือว่าที่เราเรียกกันว่าบวรกลับมาใช้ เพื่อจะเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจทั้งครอบครัวและสังคม กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณปวิตรา จิตตกิจ ครับ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราชและแขวงบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาหารือท่านประธาน
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องที่อยากให้ท่านประธานช่วยติดตามการจัดซื้อ การแจกจ่าย นมสำหรับผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนกันมาว่ายังไม่ได้รับเลย มีความล่าช้าเกิดขึ้นในการจัดการดำเนินการโครงการดังกล่าว แล้วตอนนี้ผู้สูงอายุกับเด็กเล็ก กำลังรอดื่มนมจากโครงการของรัฐค่ะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่บริเวณชุมชนริมคลอง บางกอกใหญ่ เขตบางกอกใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการจัดสร้างเขื่อนริมคลองค่ะ ทำให้บ้านเรือนของประชาชนทยอยทรุดแล้วนะคะ แล้วก็บางหลังหล่นลงไปในน้ำแล้วค่ะ ฝากท่านประธานเพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขอให้ท่านประธานช่วยแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่พาดต่ำลงมาในพื้นที่ ชุมชนบ่อระเบิด แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย เดิน ๆ ไประแวงเหลือเกินค่ะ จะโดนศีรษะ แล้วค่ะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ประธานชุมชนในพื้นที่ของดิฉัน ฝากร้องเรียนมาถึงปัญหาความล่าช้า ในการส่งมอบเครื่องแบบกรรมการชุมชน ตั้งแต่ที่สภากรุงเทพมหานครมีมติอนุมัติในปี ๒๕๖๕ จนปัจจุบันนี้กรรมการชุมชนก็ยังไม่ได้รับเครื่องแบบดังกล่าวเลยค่ะ จึงฝากท่านประธาน ติดตามโครงการด้วยนะคะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ขอให้ท่านประธานช่วยติดตามการก่อสร้างศูนย์บริการ สาธารณสุขที่ ๔๗ เขตภาษีเจริญ ตรงซอยบางแวก ๙๒ แห่งใหม่ที่มีความล่าช้า ปัจจุบัน ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้เลยค่ะ ในพื้นที่แจ้งว่าติดปัญหาเรื่องการส่งมอบจนในปีนี้ สร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ปีนี้ปี ๒๕๖๗ แล้ว ยังไม่ได้เปิดใช้บริการ ยังไม่ได้ส่งมอบกันเลยค่ะ ปัจจุบันศูนย์ชั่วคราวนี้ก็ล้นแล้วก็แออัดมาก อย่างไรฝากท่านประธานช่วยตรวจสอบโครงการ ดังกล่าวเพื่อพี่น้องประชาชนด้วย ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณธนยศ ทิมสุวรรณ ครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายธนยศ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมมี ประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านมาหารือกับท่านประธาน ๓ ประเด็น ขอสไลด์ด้วยครับ
๑. ขอให้สำรวจและขยายแนวเขตใช้ไฟฟ้า ในพื้นที่บ้านกลาง ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการ ดำรงชีวิต ไม่ว่าจะใช้เพื่อความสว่าง เพื่อรักษาและประกอบอาหารนะครับ ปัจจุบันชุมชน ได้ขยายตัวแล้วก็มีการก่อสร้างบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น แต่ชาวบ้านอีกหลายหลังคาเรือนยังไม่มี ไฟฟ้าใช้ อีกทั้งเวลาที่จะใช้ไฟพร้อมกันไฟฟ้าก็ไม่พอใช้ เกิดไฟตก ไฟดับ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้า เสียหาย จึงขอความกรุณาท่านประธานทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ให้ชาวบ้านด้วยครับ
๒. ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านโนนแสงแก้ว ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เดือดร้อนในการเดินทางสัญจร เส้นทางจากบ้านโนนแสงแก้ว ตำบลร่องจิก ถึงบ้านหนองสนุ่น ตำบลโคกงาม เป็นทางสายหลักในการสัญจรแล้วก็ใช้เพื่อการเกษตร แต่ว่าช่วงฤดูฝนของทุก ๆ ปีน้ำท่วมเส้นทาง แล้วก็พัดสะพานที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างพังเสียหาย จึงขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณ ในการดำเนินการก่อสร้าง สะพานให้ด้วยนะครับ
เรื่องสุดท้าย ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านฟากเลย หมู่ที่ ๑๐ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ว่ามีน้ำกัดเซาะตลิ่ง ตลิ่งพังเสียหาย ผมแล้วก็ทีมงานได้ไปลง พื้นที่สำรวจ พบว่าบริเวณดังกล่าวมีบ้านพักอาศัยของชาวบ้านอยู่หลายหลังคาเรือน แล้วตอนนี้น้ำได้กัดเซาะจนใกล้จะถึงบริเวณหลังบ้านแล้วครับ เกรงว่าอีกไม่นานตลิ่งก็คงจะพัง แล้วก็ทำให้บ้านเรือนตรงนั้นเสียหาย ก็ขอความกรุณาท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมโยธาธิการและผังเมืองช่วยเร่งแก้ปัญหาต่อไปด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายแพทย์โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ขอปรึกษาหารือปัญหาพี่น้องประชาชน เขตอำเภอเมือง จังหวัด ชัยภูมิ ๓ เรื่องด้วยกัน ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขที่ ชย.๕๔๕ ตำบลชีลอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน เพื่อก่อสร้างเป็น ศาลาอเนกประสงค์ ลานกีฬา และสนามเด็กเล่นให้กับประชาชนพี่น้องบ้านหนองปลาโด หมู่ที่ ๘ ตำบลชีลอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อ้างตามหนังสือของเทศบาลชีลองไปยัง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ชัยภูมิ ที่ ชย. ๕๔๘๐๗/๑๑๕๘ ขอให้หน่วยงานก็คือสำนักงาน ธนารักษ์พื้นที่ชัยภูมิและกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พิจารณาดำเนินการให้ประชาชน ด้วยครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกำนันสำเนียง หาญกุดตุ้ม ผู้ใหญ่บ้านเรวัต นวลศรี อบต. ธีระ สงชนะ และ อบต. ปรีชา บุญจันทา ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เรื่องขอก่อสร้างถนนสายบ้านผือไปยังบ้านหนองไผ่น้อย ให้เป็นถนน Asphaltic หรือ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร เพื่อใช้ขนถ่ายสินค้าเพื่อการเกษตรส่งไปยัง สหกรณ์การเกษตรลำปะทาว และใช้เชื่อมโยงสัญจรระหว่างหมู่บ้านในตำบลกุดตุ้ม เป็นหมู่บ้านทั้งหมด ๑๐ หมู่บ้าน ก็ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วก็ อบต.กุดตุ้ม หรือ อบจ. ชัยภูมิ พิจารณาดำเนินการด้วยครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นปัญหาการเดินทางคมนาคมที่ชำรุด แล้วก็ไม่สะดวก โดยเฉพาะ สายบ้านโนนคูณ บ้านดงบังน้อย ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ส่งผลให้ การเดินทางไม่สะดวกไม่พอนะครับ แล้วก็ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน เพราะฉะนั้นขอรบกวน ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ อบต. ลาดใหญ่พิจารณาดำเนินการด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณอนุสรณ์ แก้ววิเชียรครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตอำเภอบางกรวย ตำบลบางไผ่ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมมายืนขึ้นปรึกษาหารือท่านประธาน เป็นครั้งที่ ๓ แล้วนะครับ ผมมีเหตุผลมีความจำเป็นต้องขอเท้าความถึงการหารือ ๒ ครั้งก่อน ของผมสรุปโดยย่อดังนี้นะครับท่านประธาน
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมหารือเรื่องถนน นบ.๑๐๑๑ ซอยศาลาธรรมสพน์ ๔๘ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมจราจรนะครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการซ่อมเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งน้ำท่วมทุกปี ทั้ง ๆ ที่น้ำไม่เคยล้นเขื่อน เพราะเขื่อนรั่วนะครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของน้ำเน่าเสียบริเวณคลองบางศรีทอง
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เป็นการบังคับใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดนนทบุรี
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
ในครั้งที่ ๒ ที่ผมหารือผ่านสภาแห่งนี้ คือ ถนนซอยบางกรวย-ไทรน้อย ๒๖ วัดโคนอน ซึ่งมีปัญหาในลักษณะของท่อระบายน้ำและลูกระนาด เรื่องถัดมาก็คือเรื่องน้ำ เน่าเสียของคลองบางสีทอง สังเกตนะครับเรื่องนี้ผมหารือซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ แล้วนะครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องถัดไปก็คือการก่อสร้างท่าเรือพระราม ๗ ที่ทิ้งร้างนะครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายที่ผมเคยหารือผ่านสภาแห่งนี้คือเรื่องป้ายโฆษณาเถื่อน เหตุผล ที่ผมต้องนำเรื่องหารือเก่ามาหารือท่านประธานอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชน ในเขตอำเภอบางกรวยและตำบลบางไผ่ ยังไม่ได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย วันนี้ผมจึงไม่สามารถนำเรื่องใหม่มาหารือท่านประธานได้ จึงขอหารือท่านประธาน ณ สภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ กรณีที่เพื่อนสมาชิกได้หารือแล้ว เรามีกรอบ มีกำหนดระยะเวลา ในการตอบกลับพ่อแม่พี่น้องประชาชนหรือไม่ อย่างไร เพราะปัญหาที่พวกเราพูดในสภาแห่งนี้ ล้วนแล้วเป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น ผมเองมีข้อหารือไปถึง ๘ เรื่อง ใน ๒ ครั้ง ที่หารือ แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย จึงขอหารือท่านประธาน ในปัญหาดังกล่าวด้วย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ จะติดตามแล้วก็แจ้งผลให้ทราบนะครับ แล้วก็ขอให้ทุกหน่วยงานที่คุณอนุสรณ์ได้พูดถึง ช่วยเร่งรัด อย่างน้อยก็ตอบให้พี่น้องประชาชนได้ทราบด้วยครับ ต่อไปขอเชิญคุณนรินทร์ คลังผา ครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายนรินทร์ คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย ครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
ข้อหารือที่จะมาพูดคุยวันนี้จากราษฎรผู้ใช้ เส้นทาง ทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ จากโคกสำโรงไปชัยบาดาล ช่วง กม.๒๑ ถึง กม.๔๐ คือ จุดกลับรถต่าง ๆ ที่ตามภาพ ๑ ๒ ๓ มันไม่มีไหล่ทางที่จะให้รถใหญ่สำหรับตีโค้งเลยครับ เพราะพอเลี้ยวไปแล้วตกถนนเลย ดังนั้นอยากจะให้เสริมไหล่ทางจุดกลับรถให้กว้างขึ้น แล้วภาพที่ ๔ ๕ ๖ มีไหล่ทาง แต่ไม่มีจุดที่รอกลับรถ เป็นเส้นตรงตลอดเลยนะครับ มีป้าย สีฟ้านี้คือป้ายบังคับเส้นบังคับจราจร รถวิ่งตามตูดกันไป ชนตูดกันตลอด พอถึงจุดกลับรถ จะชนท้าย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก อยากให้ท่านประธานแจ้งไปยังกรมทางหลวงให้ช่วย ดำเนินการในการปรับปรุงจุดกลับรถ ให้เป็นแบบสี่แยกตรงจุดไฟแดงวังเพลิง ตามรูปที่ ๗ ๘ ๙ ไฟแดงตรงนี้คือมีจุดพักให้จอดรถเวลาสำหรับจะกลับรถ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเกี่ยวกับไฟสัญญาณยามค่ำคืน ไฟต่าง ๆ ในถนน เส้นนี้ เป็นถนนเส้น ๔ เลน ๔ ช่องทางจราจร รถวิ่งไปมามาก ส่วนกลางคืนไฟจะไม่ค่อยติด อยากจะให้มีการปรับปรุงไฟในจุดสัญญาณจราจรไฟแดงวังเพลิง ตรงจุด กม.๓๖ และ ช่วงต่าง ๆ ในชุมชนไฟไม่ติดเลย ก็อยากจะให้ไปซ่อมแซมไฟให้สว่างขึ้น เพราะจะได้ลด การสูญเสียในการเกิดอุบัติเหตุครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
อีกประการหนึ่ง เรื่องฝากตอนนี้ที่ผมได้พูดคุยไว้หารือครั้งที่แล้ว ตอนนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอ ได้ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมของ อำเภอโคกสำโรง ก็ต้องขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอที่ได้ดูแล ให้ประสานไปยังชลประทานในการสำรวจออกแบบ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ครับ เชิญครับ
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส. พรรคก้าวไกล เขต ๖ จังหวัดชลบุรี ค่ะ ตัวแทนพี่น้องชาวตำบล บางพระ ศรีราชา สุรศักดิ์ ทุ่งสุขลาและเกาะสีชัง วันนี้มีเรื่องปรึกษาท่านประธานซึ่งเป็นเรื่อง ด่วนที่จะต้องแก้ไข ดังนี้ค่ะ
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ วันนี้พี่น้องประชาชน ลูกหลานชาวศรีราชาต้องประสบปัญหา เกี่ยวกับการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูงถึง ๖๖.๘ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุเกิดมาจาก การลักลอบเผาในส่วนพื้นที่ราบและป่ารวมกันกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในส่วนพื้นที่ราบนั้น ได้มีการสั่งการให้ฝ่ายปกครองเฝ้าระวังในส่วนหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของพื้นที่ป่าเพียงกำลัง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เพียงน้อยนิดย่อมไม่เพียงพอที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ จึงขอให้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ช่วยพิจารณาอนุมัติจัดตั้งหน่วยเสือไฟ ในเขตพื้นที่เขาเขียว เขาชมพู่ เพื่อปฏิบัติการควบคุมป้องกันไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้นค่ะ
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เกิดเหตุการณ์โจรกรรมทาง Cyber ที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นครั้งที่ ๒ ในรอบ ๒ ปี ทำให้ระบบการสื่อสารของผู้ประกอบการเอกชนในท่าเรือแหลมฉบังให้การ บริการขนถ่ายสินค้าล่าช้ากว่าปกติถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ จนถึงวันที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงวันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายดังนี้ ๑. ทำให้ ตู้สินค้าตกค้างเป็นจำนวนมากทั้งขาเข้าและขาออก ๒. ทำให้รถบรรทุกใช้เวลารอคอยอย่างต่ำ ๑๐ ชั่วโมง และส่วนมากต้องรอคอยถึง ๒ วัน ก่อให้เกิดมลภาวะ เพราะต้องติดเครื่องรอ ตลอดเวลา สภาพร่างกายกล้ามเนื้ออ่อนล้า ๓. ทำให้กระทบถึงตารางการเดินเรือ ซึ่งส่งผล เป็นวงกว้างต่อความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงของระบบสื่อสารของประเทศ ดังนั้นจึงอยาก ร้องขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร ดังนี้
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
๑. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสอบสวนถึงสาเหตุ จนถึงตัวบุคคลและองค์กร ผู้ก่ออาชญากรรมดังกล่าว และเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณชน
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
๒. ขอให้เขาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีต่ออาชญากรดังกล่าว ในข้อหา ละเมิดต่อประเทศไทย ซึ่งจงใจทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันอาชญากรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สายเรือต่าง ๆ ไม่มาลงทุนในประเทศไทยและค่าเสียโอกาสในอนาคต
นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ
๓. นำค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวที่ได้มา นำมาปรับปรุงระบบการให้บริการ ในท่าเรือแหลมฉบังและให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเทียบเท่ากับท่าเรือในระดับโลกอย่างที่ ควรจะเป็น ขอบคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณพรรณสิริ กุลนาถศิริ ครับ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ดิฉันขอเร่งรัดพัฒนาไปยังกระทรวง คมนาคมจากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในการใช้ถนนเส้นทางสู่เมืองมรดกโลก ถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร จากเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีไปยัง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ๒ ประการค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประการแรก ขอให้ขยายถนนเป็น ๘ ช่องจราจร ด้วยการจราจรหนาแน่นมาก ถนนต่ำแล้วก็คับแคบ พี่น้องคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลั่งไหลมายังจังหวัดสุโขทัย ใช้ถนนเส้นนี้ ทั้งนี้ในปี ๒๕๖๔ แขวงทางหลวงสุโขทัยได้รับงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ จำนวน ๕๐ ล้านบาท ประกาศหาผู้รับจ้างถึง ๓ ครั้ง ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา ต้องยกเลิกโครงการไปอย่างน่าเสียดาย จึงขอเสนอให้ทบทวนโครงการใหม่พร้อมปรับกลไก ในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาดังที่ผ่านมา
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ปัญหาอุบัติเหตุและไฟฟ้าไม่ส่องสว่างค่ะ ดิฉันได้รับแจ้งจาก ประชาชนด้วย Page Review สุโขทัยว่า บริเวณจุดกลับรถหน้าโรงพยาบาลสุโขทัยเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง เพราะการจราจรหนาแน่นมาก มีสถานศึกษาขนาดใหญ่ถึง ๔ แห่งด้วยกัน ถนนแคบ เป็นช่วงรอยต่อของ ๔ ช่องจราจรไปยัง ๘ ช่องจราจร ผู้ขับขี่ก็มักจะเร่งความเร็ว พบว่ามีสถิติ อุบัติเหตุเฉลี่ยถึง ๑๐-๑๕ ครั้งต่อเดือนในปีที่ผ่านมา และไฟฟ้าไม่ส่องสว่างราว ๑๐๐ กว่าต้น ติด ๆ ดับ ๆ เบื้องต้นดิฉันขอบคุณแขวงทางหลวงสุโขทัยที่ไปแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่ส่องสว่าง ได้เรียบร้อยแล้วรวมทั้งสร้างทางม้าลายให้ แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่แล้วเสร็จค่ะ จึงขอเสนอ ให้ติดตั้งไฟจราจรให้บริเวณหน้าโรงพยาบาลสุโขทัย ตลอดจนขอเร่งรัดไปยังกระทรวงคมนาคม ในการที่จะขยายถนนตลอดเส้นทาง ๘ ช่องจราจร เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเพิ่ม ศักยภาพของถนนท่องเที่ยวสู่เมืองมรดกโลกจังหวัดสุโขทัยด้วย ขอบพระคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณชลธานี เชื้อน้อย ครับ
นายชลธานี เชื้อน้อย ลำปาง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๓ พรรคก้าวไกล พื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ ขอหารือผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ได้มีการอพยพชาวบ้าน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองลิกไนต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง เมื่อย้ายไปพื้นที่ใหม่ก็มีการสร้างโรงเรียน วัด ตลาด สาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับชุมชนที่ย้ายไปใหม่ จนปัจจุบันชาวบ้านเข้าอยู่ ครบทั้งพื้นที่ มีการก่อสร้างอาคารเรียนเพื่อจะย้ายโรงเรียนหัวฝาย ตำบลบ้านดง จากพื้นที่เดิม มาพื้นที่ใหม่ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ ทั้ง ๆ ที่อาคารสร้างเสร็จมาแล้ว ๔-๕ ปี จนโรงเรียนทาสีใหม่รอบที่ ๒ แล้วครับ เนื่องจากโรงเรียนไม่มีรั้ว ไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีระบบไฟฟ้าและระบบประปา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต ๑ ก็ไม่สามารถรับโอนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ เพราะถ้าจะเปิดการเรียนการสอน ต้องมีองค์ประกอบทั้งสี่ร่วมด้วย เพราะตลอดแนวโรงเรียนเป็นคลองขนาดใหญ่รั้วจึงเป็น สิ่งสำคัญ การตั้งงบประมาณซึ่งไม่สอดคล้อง สร้างความลำบากให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ซึ่งปัจจุบันนักเรียนต้องกลับไปเรียนในโรงเรียนพื้นที่เก่า ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้ หลังคารั่ว ทรุดโทรมมากนะครับ คุณครูต้องไปขอรับบริจาคเทปกันน้ำมาแปะหลังคา ฤดูฝนจะต้องเอา กะละมังมารองน้ำและอื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่ถูกคืนไปแล้ว งบประมาณในการขนส่งนักเรียน จากพื้นที่เก่าไปพื้นที่ใหม่ ผู้ปกครอง ครูก็ต้องลงขันกัน เพราะว่าเป็นการคืนพื้นที่ไปแล้ว โรงเรียนยังไม่มีรั้วก็ต้องเรียนกันไปตามสภาพ ท่านลองนึกถึงนะครับว่าอาคารเรียน โรงเรียน อยู่หน้าบ้านท่าน แต่ท่านต้องไปเรียนโรงเรียนในพื้นที่เดิมซึ่งห่างไป ๕-๖ กิโลเมตร ผมทำหนังสือถึงท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ ครม. มาแถลงนโยบายที่รัฐสภา อีกวันหนึ่งก็ส่งไปยังที่สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวง พลังงาน ติดตามถามทางทีมงานทั้ง ๒ สำนักอยู่ตลอด ก็ทราบว่าท่านสั่งการแล้ว แต่ก็ไม่ได้มี การส่งหนังสือตอบกลับมา ไม่ทราบว่าเรื่องติดที่ตรงไหน จึงนำเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยัง ผู้รับผิดชอบ เพราะประชาชนก็ยังรอคำตอบนั้นอยู่ครับ เผลอ ๆ อาจจะต้องทาสีรอบที่ ๓ กว่าจะตั้งงบประมาณมาบูรณะอาคารใหม่อีกรอบ น้อง ๆ นักเรียนถึงจะได้ใช้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญคุณนิพนธ์ คนขยัน ครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน ขออนุญาตหารือผ่านท่านประธานอยู่ ๓ เรื่องครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ยางพาราเถื่อน ท่านประธานครับ วันนี้บึงกาฬบ้านผมอันดับ ๑ ของภาคอีสาน ๑ ล้านกว่าไร่ พี่น้องชาวใต้ยิ่งมาก วันนี้ยางพาราเถื่อนนำเข้ามา ทำให้ยางพารา ในประเทศราคาตกต่ำ ถ้าสกัดยางพาราเถื่อนได้ ราคาจะเพิ่มมากกว่านี้ วันนี้ข่าวนะครับ ท่านประธาน ด่านสิงขร ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และด่านสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี ข่าวมาบอกว่ายางพาราเถื่อนผ่านมากเหลือเกิน ท่านประธานครับ อันนี้เท็จจริงอย่างไรฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบเรื่องยางพาราเถื่อน เพราะความหวัง ของเกษตรกรชาวสวนยางคือต้องการยางพารามีราคาครับ และสำคัญวันนี้ท่านผู้ใหญ่ เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ดการยางคนใหม่ ขออนุญาตเอ่ยนามครับ ท่านคุยกับผมว่า ถ้าสกัดยางพาราเถื่อนได้ และผู้เกี่ยวข้องเรื่องยางพาราช่วยกันเอาจริงเอาจัง ยางแผ่นรมควัน ท่านบอกว่าเลข ๓ หลัก คือ ๑๐๐ บาทขึ้นไปครับท่านประธาน นี่ยิ่งเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ หมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อนต่อกันเลยครับ เวลานี้หมูเถื่อน เรื่องเงียบหายไปครับ นายกรัฐมนตรีเคยสั่งการไปที่ท่าเรือคลองเตย เงียบครับ ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งอีกทีเถอะครับ เพราะวันนี้พี่น้องเกษตรกรเลี้ยงหมูก็จะตายแล้วครับ รายย่อยราคาตกต่ำเพราะหมูเถื่อนนี่ล่ะ ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีได้เมตตาสั่งการเรื่องหมูเถื่อน ท่าเรือคลองเตยไปยังผู้เกี่ยวข้องอีกทีครับ เนื้อวัวเถื่อนครับท่านประธานที่เคารพ มีข่าวแว่ว ๆ มาว่า วันนี้มีการตรวจสอบเนื้อหมูเถื่อน แต่กล่องข้าง ๆ ทราบว่าเป็นกล่องเนื้อวัวเถื่อน ทำไมไม่เอาไปด้วยละครับท่านประธาน วันนี้เกษตรกรที่เลี้ยงวัวก็แย่แล้วครับ ราคาตกต่ำ ฝากท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดสั่งการใหม่ว่ายางพาราเถื่อน เนื้อวัวเถื่อน เนื้อหมูเถื่อน ต้องจัดการให้เด็ดขาดครับท่านนายกรัฐมนตรี ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง ครับ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๖ คนอำเภอ เชียงดาว เวียงแหง พร้าว ไชยปราการ วันนี้ดิฉันมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จะมาหารือ ท่านประธานนะคะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องไฟ ส่องสว่าง ถนนสาย ๑๐๑๑ เส้นทางพร้าวไปจนถึงสันทราย ช่วงตำบลแม่หอพระไปจนถึง ตำบลโหล่งขอดไม่มีไฟส่องสว่างเลยค่ะ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งหลายหน ล่าสุดเรา ต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ถึง ๒ คน ที่ปฏิบัติการและใช้เส้นทางเส้นนี้ จึงอยากจะ เรียนท่านประธานฝากไปยังกระทรวงคมนาคม ช่วยสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับ แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ ๓ ในการจัดการในเรื่องของไฟส่องสว่างด้วยค่ะ เพื่อลดการเกิด อุบัติเหตุและการสูญเสียของพี่น้องประชาชนของเราด้วยนะคะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายกเทศบาลตำบลเมืองนะ นายกพงษ์ศักดิ์ และนายกเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง นายกศรีวอน ต้องขออนุญาตเอ่ยนาม เรื่องถนนสาย ๑๑๗๘ ช่วงกิโลเมตรที่ ๑๙ จนถึงกิโลเมตรที่ ๒๗ ตั้งแต่บ้านห้วยเป้า ตำบลทุ่งข้าวพวงไปจนถึงตำบลเมืองนะ เส้นทางนี้แคบมาก ไม่มีไหล่ทางขรุขระมาก ปะแล้วปะอีก แล้วก็ปะต่อตลอดเส้นทางนี้ ไม่มีไฟส่องสว่างทำให้เกิดอุบัติเหตุตลอดปี ดิฉันจึงอยากจะเรียน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ลงทำการสำรวจและทำการแก้ไขด้วยนะคะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องนี้ไม่พูดไม่ได้เลยค่ะท่านประธาน คุณครูที่อยู่เข้าเวรคนเดียว ในวันหยุด โดนทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ดิฉันอยากจะหารือท่านประธานค่ะว่า เรื่องการอยู่เวร การเฝ้าโรงเรียนมันเป็นหน้าที่ของคุณครูหรือเปล่านะคะท่านประธาน แต่ล่าสุดเมื่อวานที่ผ่านมาต้องยินดีกับคุณครูทั่วประเทศด้วยนะคะ ที่รัฐมนตรีของเรา และรัฐบาลของเราได้ประกาศยกเลิกมติ ครม. ปี ๒๕๔๒ ที่ผ่านมา จึงทำให้คุณครูไม่ต้องอยู่เวร ไม่ต้องเฝ้าโรงเรียนแล้ว แต่ในมติการประชุมของวันที่ ๒๓ ที่ผ่านมาไม่ได้ระบุในการประชุมเลย หรือว่าจะเป็นเหมือนกับนโยบายการหาเสียงผ่านมาคะท่านประธาน จึงอยากจะเรียน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าให้กรุณามีความจริงจังจริงใจ ในการแก้ไขปัญหา ในเรื่องของการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาด้วยนะคะ เพื่อขวัญและกำลังใจด้วยค่ะ อย่าให้ชาวบ้านต้องมาพูดว่าใส่ถุงเท้าหลายสีจะอี้ จะไว้ใจ๋ได้กา ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณฐากร ตันฑสิทธิ์ ครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรกที่ผมขอหารือนะครับ ต้องขอขอบคุณทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่ผมลืมกระเป๋าเงินไว้ แล้วทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เก็บรักษาไว้ เป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณและชมเชยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นอย่างยิ่ง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งนะครับ ที่ผมได้เสนอ เกี่ยวกับเรื่องผู้ติดตามรัฐมนตรีในครั้งที่แล้ว ที่เดินทางมาในเขตหวงห้ามเป็นจำนวนเยอะมาก ก็ต้องฝากเรียนท่านประธานว่าวันนี้ดีขึ้นเยอะครับ ต้องฝากขอบพระคุณท่านประธาน เป็นอย่างยิ่งนะครับ โดยเฉพาะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมเจอท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ขออนุญาตที่เอ่ยนามท่านนะครับ ท่านมีผู้ติดตามมาคนเดียว ต้องขอชื่นชมท่านจริง ๆ ครับ ที่ท่านมาชี้แจง ครม. ก็ขออนุญาตครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ วันนี้เรื่องฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ๗๙ พื้นที่ เป็นพื้นที่ที่เกินค่าที่มีปริมาณเกิน แล้วก็เป็นพื้นที่ระดับสีแดง ๒ พื้นที่ ก็ต้องฝากเรียนว่า คงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว คงเกี่ยวข้อง กับหลายหน่วยงาน ผมเรียนท่านประธานครับว่าไม่ใช่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียวที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มีพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีการก่อสร้าง ถมแล้ว ขุดแล้วเจาะใหม่ทำแล้วทำอีก ขออนุญาตเรียนท่านประธานว่าเราคงจะต้องมีการบูรณาการกันหลาย ๆ หน่วยงานครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ผมคิดว่าในวันพรุ่งนี้เราน่าจะมี สส. ของพวกเราครบ ๕๐๐ คน สักทีในหน้าจอทีวี เห็นขึ้นทุกครั้ง ๔๙๙ คน อาจจะมีข่าวดีเป็น ๕๐๐ คนครับ ขออนุญาต ขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญคุณพลากร พิมพะนิตย์ ครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธาน เรื่องการขยายเขตไฟฟ้าและเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ เรื่องถนนสายบ้านหนองบัว หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๑๕ และหมู่ที่ ๑๙ ไปป่าสถานฌาปนกิจหนองบัว ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้าน แจ้งปัญหาขาดไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวันต้องการขยายเขตไฟฟ้า
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ ถนนเส้นบ้านโคกศรี หมู่ที่ ๖ ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านต้องการขยายเขตไฟฟ้าเช่นกัน เพื่อที่อยู่อาศัย
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ ถนนเส้นบ้านหัวนาคำถึงบ้านโนนม่วง ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านตำบลหัวนาคำ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ หมู่ที่ ๑๓ และหมู่ที่ ๑๙ สัญจร ไปมาลำบาก เนื่องจากขาดไฟฟ้าส่องสว่าง ขอไฟส่องสว่างบนถนนระยะทาง ๒ กิโลเมตร
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๔ ถนน ๕ เส้น ในพื้นที่ตำบลโนนสูง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการขอขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย ถนนเส้นโนนสว่าง-คุ้มใต้ หมู่ที่ ๑๑ เส้นบ้านหนองขามเหนือ หมู่ที่ ๑๐ ถนนบ้านดอนเงิน หมู่ที่ ๔ และเส้นบ้านโนนสูง หมู่ที่ ๕ ถนนเส้นบ้านนางาม หมู่ที่ ๖ โดยทั้งหมดที่กล่าวมามีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค อำเภอยางตลาด และอำเภอห้วยเม็ก กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม พิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายวิเชียร สุวรรณสุทธิ์ สมาชิกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอปากพนัง นายไตรรัตน์ คงโต นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลคลองกระบือ สืบเนื่องจากทางกลับรถในช่วงตำบลคลองกระบือ และตำบล คลองน้อย บนถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๐๑๓ มีระยะทางที่ไกล จึงทำให้พี่น้อง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนใหญ่และมีการใช้รถสัญจร จำนวนมาก เนื่องจากปัญหาที่กลับรถเป็นระยะทางที่ไกล ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และมีการเสียชีวิตในช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบันจำนวน ๓ ราย จึงฝากให้มีการจัดสร้าง จุดกลับรถเพิ่มเติมบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๒ ของถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๐๑๓ นครศรีธรรมราช-ปากพนัง ฝากถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เป็นการเร่งด่วนด้วยครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใหญ่ประสิทธิ์ คงแป้น ประธาน แปลงใหญ่ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง สืบเนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการออก ผลผลิตส้มโอทับทิมสยามปากพนังเป็นจำนวนมาก ซึ่งส้มโอทับทิมสยามปากพนังเป็นสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านคุณภาพ ด้านการค้าและ การส่งออกไปภายในประเทศและต่างประเทศอย่างมั่นคง ฝากกรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยดูแลเรื่องคุณภาพและปริมาณของส้มโอทับทิมสยาม ฝากกรมการค้าต่างประเทศและกรมการค้าภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ช่วยดูแล เรื่องการตลาดในการส่งออกและตลาดภายในประเทศให้มีเสถียรภาพ เพื่อความมั่นคงของ เกษตรกร
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ สืบเนื่องจากพื้นที่อำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร เป็นแหล่งพื้นที่ ปลูกข้าวจำนวนมาก และในช่วงระยะเวลาต้นปีจนถึงเดือนเมษายนจะมีปัญหาเรื่อง การขาดแคลนน้ำระหว่างการที่ข้าวกำลังเจริญงอกงาม เพื่อให้เป็นการเตรียมการล่วงหน้า ฝากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยดำเนินการวางแผนการจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกษตรกรปลูกนาข้าวและเตรียมเครื่องสูบน้ำพร้อมเชื้อเพลิง เพื่อรองรับไว้ในยามวิกฤติ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ครับ
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ ผมมีเรื่อง ที่จะหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่อง ดังนี้
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับ การร้องเรียนจากนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ให้ติดตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำน่าน หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๗ บ้านหนองแดง บ้านดอนสบเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เป็นโครงการเรียงกล่องเกเบี้ยนลำน้ำน่าน พร้อมทางเท้ากันตก และไฟส่องสว่างโซลาเซลล์จำนวน ๒,๐๐๐ เมตร
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ให้ติดตามโครงการก่อสร้างเรียงกล่อง Gabion ลำน้ำน่าน บ้านส้อ หมู่ที่ ๙ บ้านหนองผุก หมู่ที่ ๑๐ บ้านเด่นพัฒนา หมู่ที่ ๑๒ ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ความยาว ๑,๘๐๐ เมตร ทั้ง ๒ โครงการนี้ทางเทศบาลตำบลเชียงกลางและ องค์การบริหารส่วนตำบลเปือ ได้ทำเรื่องขอสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค ๙ จังหวัดพิษณุโลก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้ทางท่านประธานสภาได้ทำเรื่องของบประมาณผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค ๙ กรมทรัพยากรน้ำด้วย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณประมวล พงษ์ถาวราเดช ครับ
นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต ๓ พรรคประชาธิปัตย์
นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนชาวสวนมะพร้าว ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ผมจึงกราบเรียนท่านประธานสภาถึงรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พี่น้องชาวสวนมะพร้าว ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง เกิดจากแมลงดำหนามและ หนอนหัวดำกินทำลายใบมะพร้าว ทำให้ต้นมะพร้าวยืนแห้งตายเสียหายอย่างหนัก ผมได้หารือ ไปแล้วในสภานี้ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงอยากให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี โปรดรีบสั่งการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน
นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ บางสะพาน รวมถึงพี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน ในสิทธิที่ทำกิน จึงอยากให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการออกพระราชบัญญัติจัดที่ดินทำกิน เพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงอยากให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติดำเนินการเพิกถอนป่าสงวน เพื่อให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ออกเอกสารสิทธิ กสน.๓ กสน.๕ และเพื่อออกโฉนดต่อไป
นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ฝั่งคลองบางสะพาน ไม่ว่าตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลพงศ์ประศาสน์ ตำบลร่อนทอง ตำบลทองมงคล ได้รับ ความเดือดร้อนจากการกัดเซาะตลิ่ง ทำให้บ้านเรือนของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย จึงอยากให้กรมชลประทานและกรมโยธาธิการและผังเมืองเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะบ้านเรือนพี่น้องประชาชนอย่างรีบด่วนด้วย ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ข้อ ๑ ผมได้รับการประสานงาน จากท่านผู้ใหญ่เจด็จ ใหม่คามิ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งนาเรา ตำบลเกิ้ง และผู้ใหญ่เด่นพงษ์ วงษ์อาจ บ้านกุดเวียน ด้วยปัญหาอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำลด พนังกั้นแม่น้ำชีทรุดตัวลง ดูจากในรูปแล้วก็เป็นที่น่ากลัวน่าจะทำให้เกิดความเสียหายและ ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งทางผมและทางผู้ว่าราชการจังหวัด ทางนายอำเภอก็ได้เข้าไปดูร่วมกับ ทางโยธาธิการจังหวัด ไปดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งทางโยธาธิการก็ได้เสนอโครงการขึ้นมา จึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พิจารณางบประมาณช่วยเหลือ ในปี ๒๕๖๗ เพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ข้อ ๒ เรื่องของระบบบำบัดและรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งท่านนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ท่านภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ ได้เข้ามาพบกับผมว่า ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองมหาสารคามได้มีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่หลาย ๑๐ ปีที่แล้ว แต่ก่อน ผมก็เป็นนายกเทศมนตรีที่นั่นนะครับ ซึ่งเฟส ๑ เฟส ๒ ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ สผ. ก็ได้ให้งบประมาณมาเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้เมืองมหาสารคามในฝั่งของทิศตะวันตกของเมือง ซึ่งมีชุมชนหนาแน่นยังขาดระบบ น้ำเสียอยู่ ทำให้น้ำเสียลงไปในคลองสมถวิลและห้วยคะคาง ทำให้เกิดเรื่องของระบบนิเวศ ในน้ำเสียหายอย่างมาก ตอนนี้ทางเทศบาลเมืองมหาสารคามได้ศึกษาออกแบบระบบบำบัด และรวบรวมน้ำเสีย ซึ่งเสนอให้กับ สผ. เรียบร้อยแล้ว ผมขอให้ สผ. ได้อนุมัติโครงการ ดังกล่าวในปี ๒๕๖๘ ด้วยนะครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย บ้านท่างาม บ้านบุ่งคล้า บ้านป่าจั่น ตำบลลาดพัฒนา บ้านโคกศรี ตำบลหนองปลิงขาดน้ำประปา จึงขอให้การประปาส่วนภูมิภาคได้แก้ไขปัญหาโดยขยายเขต ประปาส่วนส่วนภูมิภาคไปในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมมีความเดือดร้อนของ พี่น้องชาวจังหวัดราชบุรีมากราบเรียนท่านประธาน ๓ เรื่อง เพื่อประสานหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับช่วงนี้เป็นฤดูทำนาปรัง เกษตรกรในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอ โพธาราม แล้วก็อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีได้ประสานร้องขอมาให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือกรมชลประทาน ได้ช่วยพิจารณาจัดสรรน้ำทำนาปรัง ปีการผลิต ๒๕๖๗ ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาสร้างอาคารจอดรถ อาคารพักผู้ป่วย แล้วก็อาคารพักของบุคลากรทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบ้านโป่งด้วย เนื่องจากวันที่ ๑๓ มีนาคมที่ผ่านมาท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านอดีต นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เคยลงไปตรวจราชการที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เราก็ได้รับทราบความจำเป็นถึงการขาดแคลนอาคารดังกล่าวทั้ง ๓ อาคาร ที่พี่น้องประชาชน ชาวอำเภอบ้านโป่งได้รอคอย จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพิจารณาจัดสรร งบประมาณให้กับพี่น้องชาวอำเภอบ้านโป่งและพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้อาคารดังกล่าวด้วยครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขอให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาปรับปรุงถนนสายบ้านระฆังทอง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีถึงบ้านหนองไผ่ อำเภอจอมบึง ซึ่งมีรูปให้ท่านประธานครับ ขออนุญาตฝ่ายโสตได้นำเสนอรูปนะครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ที่ท่านประธานเห็นนั้นเป็นรูป เขาปากกว้าง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ถ้าถนนดีสามารถที่จะพัฒนาได้ ท่านประธานครับ อันนี้คือเป็นถนนเชื่อมระดับอำเภอนะครับ จากอำเภอโพธารามมาเป็นอำเภอจอมบึง ปัจจุบันนี้เส้นทางดังกล่าวแย่มาก พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ร้องขอมาว่า อยากให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาลงไปดำเนินการ เนื่องจากเป็นถนนถ่ายโอน ภารกิจให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ จึงขอให้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณา ดำเนินการให้พี่น้องชาวจังหวัดราชบุรีด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ ครับ
นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พิจิตร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ผมวันนี้ผมขอหารือกับท่านประธาน
นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พิจิตร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องของการขอสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดพิจิตรครับ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พิจิตร ต้นฉบับ
งานประเพณีที่สำคัญในจังหวัด พิจิตรครับ งานแรกเป็นงานนมัสการหลวงพ่อเพชรและสมโภชเมืองพิจิตร ซึ่งจัดขึ้นเดือน มกราคมของทุกปี งานต่อไปคือพิธีบวงสรวงพระเจ้าเสือ วัดโพธิ์ประทับช้าง จัดขึ้นเดือน มีนาคมของทุกปีครับ ประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดขึ้น เดือนสิงหาคมของทุกปี ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะวัดพระพุทธบาทเขาทรายจัดขึ้น เดือนตุลาคมของทุกปี จะเห็นได้ว่าใน ๑ ปี ของจังหวัดพิจิตรจะมีจัดงานที่ส่งเสริมการ ท่องเที่ยวตามปฏิทินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพียงแค่ ๔ งานเท่านั้น ผมจึงขอฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่มปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดพิจิตร ด้วยครับ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่จังหวัดพิจิตร ได้แก่ บึงสีไฟ วัดท่าหลวง วัดบางคลาน ย่านเก่าวังกรด อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ทุ่งดอกกระเจียวยักษ์ และวัดโพธิ์ประทับช้าง บึงสีไฟ เป็นบึงรับน้ำขนาดใหญ่ ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของประเทศไทยรองจากบึงบอระเพ็ด ทะเลสาบ หนองหาน บึงละหาน และกว๊านพะเยา ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดพิจิตร ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สวยงาม ผมจะขอฝากท่านประธานไปยัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริม การท่องเที่ยวในจังหวัดพิจิตรด้วยครับ
นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พิจิตร ต้นฉบับ
สุดท้ายผมขอฝากท่านประธาน ช่วยดูแลพี่น้องเกษตรกรอำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร เรื่องการขายข้าวให้กับสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน ข้ามปีแล้วแต่ว่ายังไม่ได้ รับเงิน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะ ดิฉันขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือกับท่านประธาน ดังต่อไปนี้ค่ะ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านก้อง นายธีระพงษ์ โมลาเดชและนายแก้วพรชัย โสภารักษ์ สมาชิก อบต. บ้านนาชมภูว่า ขณะนี้ น้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้านนี้ขาดมาก จึงไม่มีน้ำกินน้ำใช้ไม่สะดวก ขอฝากท่านประธาน ผ่านไปยังกรมน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ช่วยเหลือ ความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนด้วย
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากท่านธีระพงษ์ โมลาเดช นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านก้องว่า ถนนสายบ้านสมประสงค์-บ้านห้วยเวียงงาม มีความสำคัญมาก ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ของหลวงตาอินทร์ถวาย สร้างในหมู่บ้านนี้ ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนนแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและธรรมะ ก็คือถนนสายบ้านสมประสงค์ บ้านห้วยเวียงงาม เส้นที่ ๒ ถนนสายบ้านคำเจริญ-บ้านโนนม่วง และถนนสายบ้านนาชมภู บ้านโนนม่วง อันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงมหาดไทย แล้วอีกเส้นหนึ่ง เส้นของตำบล อบต. นาแค อำเภอนายูง คือถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๓๔๘ สายน้ำสม-ปากมั่ง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๕๗-๕๙ เป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายก อบต. ศรัณย์พงศ์ สาวิสัย และท่านกำนันทองคำบอกว่า ถนนเส้นนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงขอให้กรมทางหลวงแผ่นดินได้ช่วยมาแก้ไขปัญหาเส้นนี้ด้วย เส้นนี้เป็นถนนท่องเที่ยวทางธรรมชาติบ้านคีรีวงกต น้ำตกตาดขามป้อม แล้วก็ไปวัดป่าบ้านเพิ่ม วัดป่าภูก้อน ก็ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย กราบขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับเรื่องส่วยรถบรรทุกและน้ำหนักของรถบรรทุก ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากที่ กรมทางหลวงได้ปรับลดน้ำหนักรถบรรทุกลงจากที่กำหนดไว้เดิม ขอสไลด์ด้วยครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
โดยอ้างเรื่อง Span ของสะพาน ก็คือตอม่อระหว่างตอม่อไม่สามารถรับน้ำหนักได้นั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริง Span ของสะพาน ของกรมทางหลวงสามารถรับน้ำหนักได้เกิน ๑๐๐ ตัน มีความแข็งแรงได้มาตรฐาน ซึ่งรถบรรทุกขนาด ๗ เพลา เดิมบรรทุกได้ ๕๘ ตัน ปัจจุบันนั้นเหลือ ๕๐.๕ ตัน รถบรรทุกพ่วง ขนาด ๖ เพลา เดิมบรรทุกได้ ๕๓ ตัน ปัจจุบันเหลือ ๕๐.๕ ตัน รถบรรทุกกึ่งพ่วง ๖ เพลา เดิมบรรทุกได้ ๕๐.๕ ตัน ปัจจุบันเหลือ ๔๕ ตัน จากการปรับลดน้ำหนักรถบรรทุกลงทำให้ ผู้ผลิตรถต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการประกอบรถ ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนขนาดเพลา ของรถให้ลดลงตามรูปแบบของกรมทางหลวง ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ประกอบ กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาสูงขึ้นประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องขนส่งจำนวนเที่ยวมากขึ้น ทำให้การจราจรติดขัด พนักงานขับรถพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันรถบรรทุกที่ประกอบ ในประเทศไทยมีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งมีกำลังถึง ๓๐๐-๔๐๐ แรงม้า ระบบห้ามล้อที่ใหญ่ขึ้น จึงขอให้กรมทางหลวงโดยกระทรวงคมนาคม ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกให้เท่าที่เคย กำหนดไว้ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ไม่ต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ ต่าง ๆ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้า ราคาถูกลง เพราะค่าขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญของต้นทุนราคาสินค้า และเป็นการแก้ปัญหา เรื่องส่วยรถบรรทุกได้อีกทางหนึ่งด้วย ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ครับ
นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร เขต ๓ ยานนาวา บางคอแหลม
นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ หลังจากที่ผมได้หารือกับท่านประธานไปเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เรื่อง Plant ปูน ในเขตพื้นที่ยานนาวา โดย Plant ปูนนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ผังเมืองสีน้ำตาล ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับ อยู่อาศัยหนาแน่น ขอเน้นนะครับ Plant ปูนมาตั้งอยู่บนพื้นที่ผังเมืองสำหรับอยู่อาศัยหนาแน่น วันนั้นผมได้ฝากคำถามผ่านท่านประธานไปหลายข้อ วันนี้ผมได้รับคำตอบกลับมา โดยล่าสุด ผมได้รับหนังสือจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ ผมมีข้อข้องใจ ครับท่านประธาน หนึ่งในข้อชี้แจงของกรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่าตามกฎหมายว่าด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ระบุให้การขออนุญาตย้ายเครื่องจักรบางส่วนตามมาตรา ๒๖ แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด แปลว่า อะไรครับท่านประธาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำลังบอกว่าการย้ายเครื่องจักร ย้ายโรงงาน ตามมาตรา ๒๖ ไม่ต้องสนใจประชาชน อยากย้ายไปตรงไหนก็ได้ ขออนุญาตที่หนึ่งแต่จะย้าย ไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องสนผังเมือง ไม่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน
นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ หลังจากที่ผมได้รับหนังสือฉบับนั้นผมเลยต้องนำเรื่องนี้ มาหารือกับท่านประธานอีกรอบหนึ่ง ผมขอฝากท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ท่านรัฐมนตรีช่วยตอบผมหน่อยครับว่าการย้ายโรงงานไม่ต้องสนใจ ประชาชนตาดำ ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เลยหรือครับ ขอให้ท่านรัฐมนตรีตอบผมให้ชัดเจนเลยครับว่า เสียงของประชาชนมันไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งนั้น นอกจากนั้นครับท่านประธาน ในเมื่อ กรมโรงงานอุตสาหกรรมอ้างอิงถึงมาตรา ๒๖ แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน ผมเลยอยากฝาก ท่านประธานไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ช่วยตีความกฎหมายมาตรานี้ให้ผมหน่อยครับ ว่าการย้ายโรงงานจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งมันสามารถทำได้ง่าย ๆ เลยใช่ไหมครับ ผมอยากเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้
นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ขอฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการผังเมือง กรุงเทพมหานครที่กำลังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ตอนนี้ ช่วยชี้แจงให้ผมเข้าใจ หน่อยได้ไหมครับว่า ทำไมถึงยังอนุโลมให้ Plant มาตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีน้ำตาล ซึ่งเป็น พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยหนาแน่น ท่านประธานครับ ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารผ่านท่านประธาน ไปยังผู้ประกอบการด้วยนะครับ ผมไม่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับใครหรืออุตสาหกรรมไหน ผมเห็นด้วยกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเมือง ผมไม่ตะขิดตะขวงใจใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หากการพัฒนาหรือการมีอยู่ของอุตสาหกรรมเหล่านั้น มาพร้อมกับผลกระทบต่อประชาชน หรือสิ่งแวดล้อม พวกท่านเคยคิดถึงประชาชนบ้างไหม เคยคิดหาแนวทางที่จะเยียวยาให้เขา เหล่านั้นบ้างไหม ทางที่ดีทุกฝ่ายควรจะหาทางออกครับ เราจะได้อยู่ร่วมกันได้ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุดท้าย คุณอับดุลอายี สาแม็ง ครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๓ พรรคประชาชาติ ผมขอหารือกับท่านประธาน ๓-๔ เรื่องนะครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องแรก สืบเนื่องจากการที่ฝนตกหนัก เมื่อครั้งที่ผ่านมาผมไปเห็นสภาพของพระตำหนักสุขทาลัยที่บ้านกือลอง ดินสไลด์ ดินถล่ม ทำให้พระตำหนักนี้เกือบจะพังลงมา ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปยังหน่วยงาน เพื่อซ่อมแซมโดยด่วน
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องสนามบินนราธิวาส เนื่องจากทราบข่าวมาว่าตอนนี้มี ๒ สายการบินที่บิน ก็คือแอร์เอเชียกับการบินไทย เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมการบินไทยอาจจะมี การยกเลิก และจะให้บริษัทการบินอื่นมาบินทดแทน กลัวว่า ณ ขณะนี้มีผู้โดยสารสามารถ บินจากสนามบินนราธิวาสไปยังดอนเมือง ๑ สายการบิน บินไปที่สุวรรณภูมิ ๑ สายการบิน กลัวว่าพอมีการทดแทนด้วยสายการบินอื่น กลัวจะไปลงที่ดอนเมืองทั้งหมด ก็อยากจะให้ ท่านประธานประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง ให้กระจายสายการบินให้ลงทั้ง ๒ สนามบินนะครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คิดว่าภัยแล้งก็จะตามมา มันมีสิ่งหนึ่งที่ทางท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนโครงการต่าง ๆ อย่างเช่น ฝายพวกเขื่อนหรือว่า ที่กักเก็บน้ำมีการเสียหายทรุดโทรม ไม่มีกำลังพอที่จะไปแก้ไขหรือฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ ส่วนชลประทานเองก็ถ่ายโอนไปแล้ว ไม่สามารถที่จะตั้งงบประมาณที่จะมาแก้ไขให้กลับสู่ สภาพเดิม ก็อยากจะให้ท่านประธานประสานไปที่หน่วยงานที่ควรจะต้องใช้งบประมาณ ในการที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับภัยแล้งที่จะเกิดในเร็ววันนี้นะครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ สืบเนื่องจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดหารือยืนยันในสภา แห่งนี้เมื่อวันที่ ๒๓ ที่ผ่านมาเรื่องปลานิลสายน้ำไหล หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ผมก็ลงไปดูในพื้นที่ ก็มีชาวบ้านต้องการที่จะขยายอาชีพเพื่อเพิ่ม Demand เพิ่ม Supply ในการที่จะสร้างอาชีพใหม่ แต่เป็นห่วงเรื่องเดียวก็คือว่าเรื่องของเกษตรกรอาชีพปลูกพืช ทางการเกษตรอย่างอื่น ใช้สารเคมีแล้วเทลงไปในคลองที่มีน้ำไหลทำให้บ่อปลาเกิดความเสียหาย มันไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดนะครับ ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายอับดุลอายี สาแม็ง ยะลา ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ....... คน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้ท่านสมาชิกได้มาลงชื่อประชุมจำนวน ๒๗๕ ท่านแล้ว ถือว่าครบองค์ประชุม ผมขออนุญาตเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระ มีจำนวน ๒ เรื่อง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรื่องแรก รับทราบประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ และวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ ตามลำดับนั้น เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๓) ของรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงประกาศสภาผู้แทนราษฎรให้ผู้ที่มีชื่ออยู่ลำดับถัดไปในบัญชี รายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ต่อจากนางสาวชนม์ทิดา อัศวเหม ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับที่ ๕ ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และผู้ที่มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทยเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามลำดับของมาตรา ๑๐๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญ คือ ๑. นางนันทนา สงฆ์ประชา พรรคภูมิใจไทย ซึ่งอยู่ในลำดับที่ ๖ ขึ้นมา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในลำดับที่ ๓๔ ได้ขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ จึงแจ้งมาให้ที่ประชุมทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๒ ท่าน ได้เข้ามาปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา ๑๑๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้ง ๒ ท่านพร้อมนะครับ ขอเชิญท่านนันทนา สงฆ์ประชา และท่านชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ยืนขึ้นและกล่าวปฏิญาณตนตามผมนะครับ ซึ่งผมจะกล่าวนำช้า ๆ แต่เมื่อได้กล่าวคำว่า ข้าพเจ้า แล้ว ผมจะเว้นไว้ให้ท่านทั้งสอง กล่าวชื่อตนเอง แล้วผมจะกล่าวนำต่อไป ขอให้ท่านกล่าวตามที่ผมได้กล่าวต่อไป ทั้ง ๒ ท่าน พร้อมนะครับ ต่อไปก็กล่าวปฏิญาณตามที่ผมจะกล่าวนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
“ข้าพเจ้า (ผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญนั่งลงได้นะครับ ดังนั้นขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่มีจำนวน ๔๙๙ คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับ ๒๕๐ นะครับ คุณณัฐวุฒิจะหารือ เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ในฐานะที่เป็นวิปฝ่ายค้าน ท่านประธานครับ ก่อนอื่น ต้องขอบพระคุณท่านประธานที่ในสัปดาห์นี้มีการนัดวันประชุมเป็น ๓ วัน แล้วก็ถือว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีครับ แต่อย่างไรก็ตามในการประชุม ๓ วันนี้ มีการพูดถึงหรืออ้างถึงว่า เป็นการชดเชยจากสิ่งที่เรามีการหยุดการประชุมมาเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ก็คือช่วงก่อนปีใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าถ้าใช้เกณฑ์แบบนั้นในการชดเชย วันศุกร์นี้จะเป็นการชดเชยครั้งที่ ๑ ก็อาจจะ ต้องมีการชดเชยในครั้งที่ ๒ ต่อไป อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ผมคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะมีการประชุมเพื่อชดเชยครับท่านประธาน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะมาพิจารณาดูว่า วาระที่ค้างการพิจารณาอยู่นั้นมีจำนวนเท่าไร ผมนับเร็ว ๆ นะครับ นับวาระต่าง ๆ ที่อยู่ ในวาระการประชุม ปรากฏว่าวันนี้มีเรื่องค้างอยู่ทั้งหมด ๖๓ เรื่องด้วยกัน แบ่งเป็นญัตติ ๔๐ เรื่อง และแบ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติ ไม่ว่าจะมาจากในส่วนของ สส. เข้าชื่อกันเสนอ หรือภาคประชาชนทั้งหมด ๒๓ เรื่องด้วยกัน คำถามที่ผมจำเป็นต้องถามครับ ท่านประธาน ไม่อยู่สัปดาห์ที่แล้ว ท่านประธานอาจจะไม่ทราบว่าการประชุมสภาเราตะมุตะมิมากนะครับ ๔ โมงครึ่ง ปิดแล้วครับท่านประธาน ผมประชุมกรรมาธิการกลับมาก็มาเอากระเป๋าในห้องประชุม ไม่เจอใครเลยไฟมืดหมดแล้ว วันถัดมาวันพฤหัสบดีนี่ ๕ โมงกว่า ๆ นะครับ มันตะมุตะมิ จริง ๆ ครับ แล้วพี่น้องประชาชนก็ถามว่าวาระเหลือตั้งเยอะทำไมประชุมแบบนั้น แต่ว่าผม ก็ต้องเรียนให้ความเป็นธรรม เพราะว่าผมติดตามวิทยุ ติดตามทีวีสภา ท่านประธานเอง ไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ผมเข้าใจ ทำให้มีผู้ทำหน้าที่ประธานเหลือแค่ ๒ คน แต่ประเด็นที่ผมจะต้องนำเสนอก็คือว่า ผมคิดว่าเราต้องย้อนกลับไปว่า ถึงวันที่จำเป็น ต้องทบทวนนะครับ ว่าตกลงเราจะมีการเพิ่มวันประชุมในกรณีที่ญัตติที่เหลือเป็น จำนวนมาก หรือกฎหมายที่เหลือเป็นจำนวนมากกันอย่างไร ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกเรา พร้อมนะครับ ถ้าจะมีการนัดล่วงหน้า ตรุษจีนจะเอาไหม วันมาฆบูชาจะเอาไหม ซึ่งแน่นอน เราก็คงไม่เอา หรือก่อนวันมาฆบูชาสัปดาห์สุดท้ายวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ที่เป็นวันศุกร์ จะเพิ่มหรือไม่ประการใด แต่ผมคิดว่าประเด็นจำเป็นต้องมีการเพิ่มครับ ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดวันที่ชัดเจนครับท่านประธาน อย่างเช่นในสมัยที่ ๒๕ นี้ เรามีการกำหนดว่าทุกวันพุธจะเป็นวันประชุมกฎหมาย แบบนี้ก็ชัดครับ แล้วแบบนี้ถ้าผม นับกันเร็ว ๆ วันนี้เราเหลือสัปดาห์ที่จะใช้ในการประชุมในสมัยที่ ๒ นี้อีกแค่ประมาณ ๙ สัปดาห์เองครับ ๙ สัปดาห์นี้ต้องแบ่งเป็นงบประมาณ ๑ สัปดาห์ ต้องตัดอภิปรายทั่วไป หรือไม่ไว้วางใจ ซึ่งผมคิดว่าดู สว. ก่อน อาจจะไม่ไว้วางใจเลยก็ได้ อีกสัปดาห์หนึ่ง ต้องตัด ประเด็นเรื่องการประชุมร่วม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นร่างของ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลที่เตรียมจะเสนออีกสัปดาห์หนึ่งนะครับ เราเหลือแค่ ๖ สัปดาห์เองนะครับท่านประธาน แล้ว ๖ สัปดาห์นี้ผมเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ ว่าวันนี้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมรสเท่าเทียมนี้เดินหน้า ไปครึ่งหนึ่งแล้ว มันต้องปรับเข้ามาครับ พิจารณากัน ๖๐ กว่ามาตรา ที่รัฐบาลขออุ้ม ผมถอน คำว่า อุ้ม นะครับ ขอนำไปศึกษาก่อนรับหลักการ เช่น พ.ร.บ. ร่างสภาชนเผ่าพื้นเมือง ท่านรับไปแล้ว ๓๘ วัน ท่านบอก ๖๐ วัน ผมบอกขอ ๕๓ วัน ท่านรับปากผม นั่นก็อาจจะ ต้องกลับเข้ามาในสภาอีก แบบนี้ทำให้เราเหลือวันน้อยไปอีกครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต้องนำเรียนท่านประธานว่าท่านประธานเคยรับปากเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้วว่า จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลมีท่านประธาน เป็นประธาน ที่เรียกว่าวิปร่วมกัน ผมคิดว่าเราส่งรายชื่อให้ท่านแล้วครับ รอท่านลงนาม แล้วถ้าเป็นไปได้ท่านได้ลงนามการประชุมที่เรียกว่ากรรมการร่วมกันในสัปดาห์นี้ได้ นัดประชุมเลยครับจะได้มาดูกันว่าการกำหนดวันประชุมจะเป็นแบบใดประการใด จะแยกวัน หรือไม่ แบบใด ประการใด แล้วผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้จะสง่างามครับ แล้วเดินหน้า การประชุมไป ไม่เช่นนั้นผมต้องนำเรียนท่านประธานแบบนี้เลยครับว่าญัตติทั้งหมดที่มีอยู่นี้ เขียนตอนท้ายหมดเลยนะครับว่าขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้าไม่มีการนัดหมาย ไม่มีการพูดคุยกันล่วงหน้า พรรคก้าวไกลพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ต้องยืนยันว่าแบบนี้ก็ต้องลงมติกัน ทุกญัตติครับ ค่าไฟแพงก็ต้องลงมติ เรื่องกรณีที่จะเข้ามากรณีญัตติด่วนก็ต้องลงมติ เรื่องอื่น ๆ ที่ค้างการพิจารณากองทุนรักษ์ป่าต้นน้ำก็ต้องลงมติครับ เอาแบบนั้นก็ได้ ลงมติทุกวันกันไปเลย แต่ว่าถ้าท่านประธานนัดหมายกันอย่างชัดเจน มีการตั้งกรรมการร่วม รีบนัดประชุมก็มาดูกัน ว่าเราจะกำหนดวาระการประชุมเป็นแบบใดประการใด ผมคิดว่าแบบนี้จะตอบโจทย์ที่สุด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้นในสมัยประชุมของสภาชุดที่ ๒๖ ครับ ต้องนำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ แต่คิดว่าเราไม่สามารถเสียเวลาไปได้มากกว่านี้ อีกแล้วครับ ต้องขอให้ท่านประธานได้กรุณาวินิจฉัยหรือดำเนินการต่อในประเด็นนี้ด้วย ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณณัฐวุฒิมากครับ ก็เป็นการหารือที่จะทำให้การทำงานของเราราบรื่น แล้วก็มีผลงาน ออกมามากครับ ประการแรกคือเรื่องการตั้งกรรมการประสานงานของวิปฝ่ายค้านกับวิป รัฐบาลนั้น ผมได้ลงนามเรียบร้อยแล้วนะครับ แล้วอันนี้ผมได้มอบหมายให้รองประธาน คนที่สองท่านพิเชษฐ์เป็นประธานนะครับ เพราะว่าได้ปฏิบัติกันมาอย่างนี้โดยตลอดนะครับ สำหรับวิปร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันนั้น ผมจะเป็นประธาน แล้วก็มีวิปทั้ง ๒ ฝ่าย ทุกอย่างก็เรียบร้อย เรื่องทั้งหมดที่คุณณัฐวุฒิหารือนั้น ผมคิดว่าเราคงจะหารือกันในที่ประชุมของวิปร่วมทั้ง ๒ ฝ่าย ก็จะได้พูดจาในรายละเอียดกัน รวมทั้งผมจะมอบให้ท่านพิเชษฐ์และพวกเรากำหนดวันเลยนะครับว่าวันศุกร์ใดควรจะ เพิ่มขึ้นมา จะได้พิจารณาเรื่องญัตติหรือกฎหมายที่ค้าง แล้วก็เป็นการนัดล่วงหน้า เพราะผม ทราบว่าท่านสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็น สส. ในพื้นที่ ก็มีภารกิจนัดล่วงหน้าในพื้นที่ เพราะมี ประชุมสภาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ถ้ามีกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วก็จะบอกประชาชนได้ว่า อันนี้ไม่สามารถจะไปร่วมงานได้ ผมขออนุญาตเป็นไปตามนี้ว่าในสัปดาห์นี้จะให้คุณพิเชษฐ์นัดกรรมการทั้ง ๒ ฝ่าย มาร่วม ประชุมกัน เพื่อจะกำหนดล่วงหน้าว่าจะมีการประชุมเพิ่มในวันศุกร์ใดบ้าง ส่วนการประชุม วันพุธ วันพฤหัสบดีนั้น ก็ต้องหารืออีกเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ความต้องการของทุกฝ่ายนั้น สอดคล้องกันเพื่อการประชุมเราจะได้เรียบร้อย แต่ว่าที่ผ่านมาต้องขอบคุณวิปทั้ง ๒ ฝ่าย ที่ประสานงานกันได้เรียบร้อยพอสมควร ขออนุญาตตามนี้นะครับ เชิญคุณปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ ก่อนอื่นขอบคุณท่านประธานที่ได้ลงนามแต่งตั้งวิปร่วม แล้วก็ ให้ท่านพิเชษฐ์รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เรียกประชุมภายในสัปดาห์นี้ แล้วผมเห็นด้วยกับท่านประธานในการนัดเพิ่มก็น่าจะมีการพูดคุยกันล่วงหน้า เพราะเข้าใจดีว่า บางพรรคการเมืองพอวันประชุมประจำเป็นวันพุธ วันพฤหัสบดี แล้วบางพรรคการเมือง ก็อาจจะมีนัดประชุมภายในพรรค หรือว่านัดภารกิจอะไรในบางวันศุกร์ล่วงหน้าไปนานแล้ว อันนี้ผมเห็นด้วยว่าควรจะเป็นการพูดคุยร่วมกันว่าวันศุกร์ใดบ้าง ที่เราจะเปิดประชุมสภา เพิ่มเติม อาจจะไม่ใช่แค่ชดเชย อาจจะเป็นการเพิ่มเติมด้วย เพื่อที่จะ Clear ญัตติต่าง ๆ วาระต่าง ๆ ที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ ๑ เรื่องที่ผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นการหารือร่วมกัน ว่าแต่ละพรรคการเมืองสะดวกหรือไม่ คือเรื่องกำหนดวันให้เป็นการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะ อย่างที่ท่านณัฐวุฒิบอกไปแล้วว่า ชุดที่ ๒๕ เราใช้วันพุธเป็นการพิจารณา กฎหมายโดยเฉพาะ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเราเป็นอำนาจนิติบัญญัติ เราถูกได้รับการเลือก จากประชาชนมา เพื่อให้มาตรากฎหมาย มาออกกฎหมาย มาเสนอกฎหมาย ที่ผ่านมาตอนนี้ เราผ่านวาระ ๑ ไป โอเคครับ มีร่างจากที่ สส. เสนอ แต่เราได้พิจารณาเพราะอะไรครับ ท่านประธาน เราได้พิจารณาเพราะฝ่ายบริหารส่งร่างกฎหมายมาด้วย เราถึงได้พิจารณา ร่าง สส. ที่มีหลักการเดียวกัน ผมไม่เชื่อว่ามันจะสง่าผ่าเผยครับ หากสภานี้ตั้งขึ้นมา เพียงเพื่อมารอลงมติร่างกฎหมายที่ ครม. ส่งมา ณ ตอนนี้ ๒๐ กว่าร่างคาอยู่ในสภาครับ ครั้งก่อนที่ผมหารือทางวิปรัฐบาลบอกว่ามันแทบไม่มีกฎหมายในสภาเลยที่ สส. ยื่นไป แล้วเข้าไปอยู่ในระเบียบวาระ ดังนั้นพอแยกวันไป แล้วพอมันไม่มีวาระให้พิจารณาเดี๋ยวมัน จะมีปัญหาขึ้นมาทีหลัง ตอนนี้มีแล้วครับ ๒๐ กว่าร่าง รอรับฟังความคิดเห็นอยู่อีก ๑๐ ร่าง ผมว่าถึงเวลาแล้วครับ และนี่ผมคิดว่าไม่ใช่การพูดคุยกัน เจรจากันครับ ผมคิดว่าควรจะเป็น ดำริจากท่านประธานที่จะแยกวันเลย ให้วันพุธเป็นพิจารณากฎหมายเพื่อความสง่างาม แล้วเพื่อการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รับหลักการของ คุณปกรณ์วุฒินะครับ เดี๋ยวในวิปก็จะมีของคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย ก็เห็นด้วยนะครับว่า เอาวันใดวันหนึ่งที่จะต้องเอากฎหมายล้วน ๆ เข้ามา เพราะว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญกับ ฝ่ายนิติบัญญัตินะครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ผมครูมานิตย์ครับ ผมขออนุญาตหารือ กับท่านประธานสักนิดหนึ่งนะครับเพื่อจะได้บันทึกไว้ คือผมเข้าใจที่ฝ่ายค้านได้นำหารือ กับท่านประธานครับ ซึ่งจริง ๆ พรรครัฐบาลก็พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง แต่ท่านประธาน ที่เคารพครับ จะไปบอกว่าญัตติมันค้างเยอะ พ.ร.บ. เสนอมาค้างเยอะ ผมกลัวว่าพี่น้อง ประชาชนฟังทางบ้านแล้วก็อ้างว่าสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เราขี้เกียจ คือมันเป็นอย่างนี้ครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ญัตตินี่เสนอกันทุกวัน สภาไม่ได้ขีดเส้นว่าพอครบ ๖๐ ญัตติแล้ว ยุติในสมัยประชุมนั้น ฉะนั้นเป็นธรรมดาครับ ญัตติก็ต้องมากไปตามกระบวนการของ สภาแห่งนี้ ซึ่งในสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราก็ตั้งใจทำงานกันทั้งหมด แต่ประเด็นที่ ๒ ที่ตามมา ท่านประธานต้องเห็นใจนะครับว่าพวกผมเป็นนักเลือกตั้งที่อยู่พื้นที่ ผมมาจากผู้แทนเขต หลายคนมาจากผู้แทนเขต เรามีภาระกับพี่น้องประชาชนเหมือนกับ ที่ท่านบอกว่าประชาชนเลือกเรามา ใช่ครับ เมื่อประชาชนเลือกเรามาเราไม่ได้มาทำกฎหมาย อย่างเดียวนะครับ เราต้องมีพันธกิจกับประชาชน พวกผมยอมรับว่าพวกผมเป็นผู้แทนตลาดล่าง งานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานกฐิน งานผ้าป่า งานวิปัสสนา อะไรทุกอย่าง เราได้รับการประสานมาจากพื้นที่ เราก็ต้องไปพบ ไปเยี่ยมเขา ผมคิดว่าถ้าเราอยู่ในกรอบ กระบวนการทำงานกันเต็มที่วันพุธกับวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพราะผมคิดว่าก็ไม่น่าจะ มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่เอาล่ะครับถ้ามีความจำเป็นอาจจะเลื่อนบ้างก็ไม่ได้ติดใจ แต่ถ้ามาประชุมกัน ๓ วัน ผมก็พร้อมนะครับ แต่ผมเป็นห่วงว่าเพื่อนผู้แทนคนอื่น ๆ ที่เขา จะต้องลงไปพื้นที่และไปรับปัญหา เหมือนตอนเช้าเห็นไหมครับที่หารือกันเต็มไปหมด ก็ล้วนแล้วแต่ไปรับปัญหาของพี่น้องประชาชนมาทั้งนั้น เพราะว่าบางกลุ่ม บางก้อนของ ความเป็นผู้แทนไม่เหมือนกันนะครับท่านประธาน บางคนเป็นผู้แทนแล้วไม่เคยไปพบกับ ชาวบ้าน ไม่รู้จักชาวบ้าน แต่บางคนมีความผูกพันกับชาวบ้าน อันนี้ก็อยากให้ท่านประธาน ได้วินิจฉัย เพราะประธานเป็นนักการเมืองมายาวนาน ผมก็เห็นประธานลงพื้นที่บ่อย ขนาดเป็นประธานรัฐสภาแล้วก็ยังลงไปบ่อย ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ครูมานิตย์ ซึ่งเป็นวิปฝ่ายรัฐบาลด้วยนะครับ ก็เป็นข้อเท็จจริง เดี๋ยวไปหารือเพื่อให้เกิด ความสมดุล แต่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องได้ประโยชน์นะครับ เชิญคุณปกรณ์วุฒิ ครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ ขอบคุณท่านรองประธานวิปรัฐบาลนะครับ เกือบเรียกผิดเป็น ท่านประธานวิปรัฐบาลนะครับ ก็ขอบคุณนะครับ ผมกลัวว่าเราจะเข้าใจผิดกันนะครับ ผมเองไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าจะต้องให้มาประชุมสภากันทุกวันศุกร์นะครับ เมื่อสักครู่ ผมก็พูดชัดเจนว่าก็มาหารือกันก่อนนะครับว่าศุกร์ไหนที่สะดวกก็มาว่ากัน เดือนละครั้ง ๒ เดือน ๑ ครั้ง ๓ เดือน ๒ ครั้ง แบบนั้นก็ได้ ก็เข้าใจดีครับ พรรคผมเองก็มี สส. เขต ๑๑๐ คน ก็เข้าใจครับว่าทุกคนก็ต้องลงพื้นที่ แต่ถ้าเรามาพูดคุยกันล่วงหน้า นัดล่วงหน้า ผมคิดว่า ภารกิจต่าง ๆ ก็สามารถ Clear ได้ครับ เลื่อนวันใดบ้าง วันไหนที่ไม่สะดวกจริง ๆ ก็ไม่เป็นอะไรครับ มาพูดคุยกันอย่างฉันมิตรยินดีเสมอนะครับ แต่ผมว่าปัจจัยสำคัญในวันนี้ที่พูดก็คือการแยกวัน พิจารณากฎหมายเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติครับท่านประธาน ก็ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และอีกคณะหนึ่ง ซึ่งกำลังฟังการประชุมอยู่ชั้นบนเช่นเดียวกัน คือคณะนักศึกษาและอาจารย์ สาขานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษา และสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ขอต้อนรับทั้ง ๒ คณะนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๑ รับทราบการพิจารณารายงานของวุฒิสภา จำนวน ๒ เรื่องนะครับ ด้วยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารับทราบ รายงาน ดังนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. ด้วยในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมได้พิจารณารับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปี ๒๕๖๕ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. ด้วยในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมได้พิจารณารับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแล้ว จึงแจ้งมาให้ที่ประชุมทราบครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๒ รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๓ รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกครับ สำหรับการพิจารณารับทราบรายงานตามกฎหมาย ของหน่วยงาน ตามระเบียบวาระที่ ๒.๒ และระเบียบวาระที่ ๒.๓ เนื่องจากได้รับแจ้งจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองนี้ว่าผู้ชี้แจงมีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ ขอเลื่อนไปก่อน จึงเรียนมาให้ทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒.๔ รับทราบรายงานการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ รับทราบ รายงานการตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรรับทราบตามมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ได้วางให้สมาชิกแล้ว ไม่ทราบว่ารายงานฉบับนี้ท่านสมาชิก มีประเด็นปัญหาจะซักถามไหมครับ ไม่มีรายชื่อมา ก็ถือว่าท่านสมาชิกไม่ติดใจจะซักถาม เชิญครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย ครับ ญัตติ ๒.๔ ผมไม่ติดใจครับ แต่ระเบียบวาระที่ ๒.๒ และ ๒.๓ เรื่องการรายงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ผมเข้าใจว่าเราเลื่อน การพิจารณามาไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง เพราะฉะนั้นขออนุญาตท่านประธานสภาช่วยกำชับ หน่วยงานด้วยครับว่า นัดหน้านัดต่อไปขอให้ช่วยเข้ามารายงานด้วยนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ท่านวิทยาครับ ขอให้สำนักการประชุมประสานเลยนะครับ คือเกี่ยวกับผู้มาชี้แจง อันนี้ได้ติดตามไป เขาบอกว่าผู้ชี้แจงมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ก็เลย ขอเลื่อน ฉะนั้นต่อไปจะติดตามดูนะครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออนุญาต ท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณปกรณ์วุฒิ เชิญครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมไม่แน่ใจนะครับว่าธรรมเนียมปฏิบัติ หรือว่าข้อบังคับในเรื่องรายงานรับทราบเป็นอย่างไร แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านพิเชษฐ์รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง นั่งบนบัลลังก์ แล้วก็มีผู้ชี้แจงมาในวาระรับทราบรายงาน แต่ว่าไม่มีผู้อภิปรายซักถาม ไม่มีผู้ลงชื่อ อภิปรายซักถามนะครับ อย่างนี้ครับท่านประธาน ผมอยากให้ผู้ชี้แจงขึ้นมาอย่างน้อย ๆ สรุปรายงานให้เราฟังสักไม่เกิน ๕ นาทีก็ได้ และไม่แน่ครับ ระหว่างฟังแล้วสมาชิกก็อาจจะ มีคำถามขึ้นมาก็ได้ครับท่านประธาน ผมคิดว่าไหน ๆ มาแล้วอย่างน้อยเราได้รับทราบข้อมูล ที่หน่วยงานสรุปมาให้ว่า ในรายงานการปฏิบัติงานหรือว่าการตรวจสอบการเงินนั้น เป็นอย่างไรบ้างครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถ้าไม่มีอะไร ตามธรรมเนียมปฏิบัติก็คือว่าเป็นรายงานซึ่งได้วางบนโต๊ะแล้ว ถ้าสมาชิกต้องการที่จะให้ ผู้ชี้แจงได้รายงาน แล้วก็ไม่มีการซักถามก็ได้ครับ เพราะว่าชัดเจนแล้ว หรือจะมีการซักถามก็ได้ แต่ประเด็นเมื่อสักครู่คุณปกรณ์วุฒิอยากจะให้ผู้ชี้แจงได้เข้ามาชี้แจง เสร็จแล้วอาจจะ มีประเด็นซักถามหรือไม่มีก็ได้ตามนั้น ก็เอาตามที่คุณปกรณ์วุฒิเสนอนะครับ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมจะขออนุญาตให้ผู้ที่มีรายชื่อต่อไปนี้เข้ามาชี้แจงในที่ประชุมนี้นะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. นางสาวอุไรวรรณ รุกขวัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงาน ตรวจสอบภายใน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. นางสาวพัทธนันท์ ตันทัตสวัสดิ์ นักบัญชีชำนาญการพิเศษ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๔. นางสาวรติชา ฉัตรอภิชัย นักบัญชีชำนาญการ เชิญครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. นางสาวพรเพ็ญ อิ่มประไพ ผู้อำนวยการสำนักบัญชีและการคลัง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. นายธีรยุทธ วัฒนะธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ยุทธศาสตร์
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๔. นางลักษิกานต์ มณีส่งศรี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕. นางสาวสุนิษา คนคล่อง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เข้ามาพร้อมนะครับ เชิญผู้แทนจากกรมบัญชีกลางและผู้แทนสำนักงานการ ตรวจเงินแผ่นดินจะชี้แจงประเด็นอะไรก็ได้ สั้น ๆ นะครับ เพราะส่วนใหญ่สมาชิกไม่ติดใจ แล้วนะครับ
นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง ขอรายงานผลการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ดังนี้
นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี ต้นฉบับ
๑. สรุปผลการตรวจสอบรายงานการเงิน รายงานการเงินของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ และรายงานการเงินของกองทุน เพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ได้จัดทำขึ้นโดยถูกต้อง ตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชีภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด
นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี ต้นฉบับ
๒. สรุปผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็มีการปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี ต้นฉบับ
๓. สรุปผลการดำเนินงาน อาจจะมีโครงการสำคัญที่ทางสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดินอาจจะยังต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน ซึ่งกรณีเหล่านี้ทางกรมบัญชีกลางเอง ภายหลังจากการตรวจสอบแล้ว เราได้มีการแจ้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินรับทราบและชี้แจงข้อสังเกต ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ มีการชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องมาให้ที่กรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ถึงได้จัดทำเป็นรายงานสรุป นำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ นำเรียนท่านเพื่อโปรดทราบค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตอนนี้ท่าน สส. วรภพ วิริยะโรจน์ ขอซักถามอภิปราย เชิญครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอถามคำถามสั้น ๆ ไปยังประเด็นเรื่องของการทำงานของ สตง. นิดหนึ่ง เพราะว่าตั้งแต่ สมัยที่แล้วผมก็มีการอภิปรายหลายครั้งว่า สตง. ได้มีการ Audit การทำธุรกิจของกองทัพ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ กฎหมายที่มีกำหนดมากน้อยขนาดไหนแล้ว มีความคืบหน้าอย่างไร เพราะว่าเดี๋ยวในบ่ายวันนี้เราก็จะมีญัตติ เพื่อให้กองทัพพาณิชย์เข้ามาสู่กระทรวงการคลัง เพราะว่ายังไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินราชพัสดุ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิบัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้สวัสดิการภายในหน่วยราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ ธุรกิจที่กองทัพทำนี้ไม่ควรจะถูกจัดเป็นสวัสดิการใช้ภายในหน่วยราชการ ควรจะเป็น สวัสดิการเชิงธุรกิจ แล้วก็ต้องมีการแบ่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง แต่ที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่า สตง. มีการ Audit ในประเด็นนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ก็ขอเป็นคำถามสั้น ๆ ที่อยากได้รับคำตอบจากทาง สตง. ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านที่ ๒ ที่อยากจะอภิปราย ท่านนิพนธ์ คนขยัน เชิญครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ขออนุญาตรับทราบรายงานการตรวจเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ก็ต้องขอบคุณที่หากไม่มีหน่วยงานนี้ในการตรวจสอบการกระทำผิด แล้วก็เห็นข่าวตลอดว่าวันนี้ก็มีบางหน่วยงานยังทำผิดอยู่เรื่อย แต่ท่านประธานครับ อยากฝากข้อเสนอแนะผ่านผู้มารายงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินครับ ข้อเสนอแนะมีอย่างนี้ครับท่านประธาน ฝากเจ้าหน้าที่ สตง. ที่อยู่ตามจังหวัดเวลาไปตรวจ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะท้องถิ่น
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
อันแรก ขอให้ตรวจสอบเป็นในเชิงตรวจแนะนำได้ไหม หากเขาไม่มีเจตนา ที่จะทำผิดอะไรหนักหนานะครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
อันที่ ๒ ฝากว่าผู้ที่ลงไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่บางท่าน ขออย่ามีอคติต่อบุคคล หรือว่าหน่วยงานที่ไปตรวจสอบนะครับ อยากเรียนว่าบางครั้งมีชาวบ้านเขาร้องเรียนไปยัง สตง. มีสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน มีเบอร์โทรถูกต้องแต่ก็เงียบ แต่ตรงกันข้าม บางครั้งบางหน่วยงานโดน สตง. ไปตรวจอีก ไม่โทษนะครับ มีหน้าที่ แต่อย่างที่ผมเรียน ท่านประธานครับ อยากให้ ๑. อย่ามีอคติ ๒. เวลาชาวบ้านเขาร้องเรียนว่าหน่วยงาน บางหน่วยงานที่ทำถูกต้องไหม ซึ่งเขาเป็นประชาชนพลเมืองดีในพื้นที่ เขาก็ร้องเรียนถูกต้อง ตามระเบียบ มีสำเนาบัตรประชาชนดังที่ผมกราบเรียน มีสำเนาทะเบียนบ้าน และมี เบอร์โทรศัพท์ด้วย แต่สุดท้ายเขาก็มาถามผม เงียบ ก็ฝากข้อเสนอแนะ ดีครับหากไม่มี สตง. ตรวจสอบวันนี้ การทำงานเห็นไหม ข่าวต่าง ๆ ของหน่วยงานที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ บ้านเมืองเราก็เห็นตลอด แต่อยากฝากที่ผมนำเรียนเมื่อสักครู่นี้ว่า ๑. อยากให้คำแนะนำบ้าง ๒. อย่ามีอคติต่อบางหน่วยงานหรือบางองค์กรต่าง ๆ ๓. เวลาประชาชนไปร้องเรียน ให้ไปตรวจสอบว่ามันถูกต้องหรือเปล่าตามที่ผมกราบเรียน ก็อยากให้ท่านประธานเรียนผ่าน ไปยังผู้มาชี้แจงวันนี้ได้โปรดพิจารณาด้วยครับ ประชาชนเขาก็ห่วงที่ร้องไปแล้วเงียบ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก่อนที่จะให้ ผู้มาชี้แจงได้ชี้แจง ผมอยากเรียนข้อซักถามของคุณวิทยา แก้วภราดัย เมื่อสักครู่เรื่องของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครับ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้มีหนังสือ มาถึงสภาตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ ว่าขอเลื่อนการพิจารณาวาระที่บรรจุไว้ใน ๒.๒.๓ เมื่อสักครู่นะครับ จะมาชี้แจงในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ก็ขอชี้แจงตามนี้นะครับ เชิญทางฝ่ายผู้ชี้แจงอยากจะชี้แจงข้อซักถามทั้ง ๒ ประเด็นครับ
นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านค่ะ ดิฉัน เกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาตที่จะตอบประเด็น ข้อซักถามท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ เกี่ยวกับในเรื่องของการตรวจสอบเชิงธุรกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วางแผนการตรวจสอบ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ เราได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อบกพร่องที่ตรวจพบ อย่างที่ท่านได้กล่าวก็คือ มีข้อตรวจพบในเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ เราก็จะมีการแจ้งผล แล้วในส่วนนี้ก็ดำเนินการในเรื่องของการติดตามการดำเนินการของ หน่วยในสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมดแล้ว ขอบพระคุณค่ะ
นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ
ถัดไปก็จะเป็นท่านนิพนธ์ คนขยัน ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำที่ให้กับ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะคะ เรื่องของการตรวจเชิงแนะนำ ด้วยหน้าที่และอำนาจ ของท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านได้มอบหมายแล้วก็ให้นโยบายกับผู้ตรวจสอบทุกคน ว่าจะต้องทำตัวเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา และในขณะเดียวกันในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ก็กำหนดบทบาทในส่วนนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบของสำนักงานด้วย ที่จะต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ในมาตรา ๕๗ จะบอกไว้เลยว่า ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ถ้าหน่วยรับตรวจไม่มั่นใจในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถ ที่จะสอบถามสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาได้ แล้วเราก็มีเงื่อนเวลาที่จะต้องตอบ ข้อสอบถามเหล่านั้นภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่ทางหน่วยรับตรวจ สามารถที่จะได้รับทราบ แล้วก็สามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างเป็นไปตามกฎหมายระเบียบ มีการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดต่อไป
นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ
ในเรื่องของข้อร้องเรียน ก็ต้องเรียนว่าในกระบวนการทำงานของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการที่จะต้องรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานหรือว่า ประชาชนที่ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ ที่จะให้ข้อมูลต่อการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม กฎหมาย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้สำนักงานเองก็มีระบบในการจัดการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน ถ้าเป็นในส่วนของภูมิภาค เราก็มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ๑๕ แห่ง ในการ ที่รับเรื่องร้องเรียนจากทุกแหล่งเลยค่ะ รวมทั้งประชาชน แล้วก็ดำเนินการตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินที่กำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสอบแล้ว ท่านที่สอบถามหรือร้องเรียนก็สามารถที่จะติดตามสอบถามมาที่สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคทั้ง ๑๕ แห่ง หรือถ้าในส่วนกลางก็คือที่สำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินส่วนกลางได้เลย เราก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการต่อเรื่อง ร้องเรียนเหล่านั้น และที่สำคัญก็คือสำนักงานนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติตาม ข้อกำหนดจริยธรรม ก็จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่มีอคติใด ๆ นะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณผู้ชี้แจง ทั้ง ๒ ท่านครับ เมื่อไม่มีการซักถามอีกต่อไปแล้ว ก็ถือว่าที่ประชุมนี้รับทราบรายงานการตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ แล้ว ขอขอบคุณทุกท่านครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมไม่ได้ ประท้วงนะครับ ท่านประธานขออนุญาต ผมยกมือท่านไม่เห็น แล้วก็ขออนุญาตใช้สิทธิ ในการที่จะซักถามนิดหน่อยครับ ขอความกรุณาครับ ผมยกมืออยู่นานแล้วท่านก็คงไม่เห็น ผม วิทยา แก้วภราดัย ครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ในวาระ ๒.๔ นี้ หรือครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ใช่ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถ้าอย่างนั้น ต้องขออภัย เชิญครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมมีข้อเสนอแนะนิดเดียว ไม่ยาวครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผมได้รับฟังข้อชี้แจงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะครับ แล้วก็รู้สึก ประทับใจในการที่ท่านจะเปิดช่องให้ประชาชนร้องเรียนเข้าไป ทีนี้ปัญหาว่าช่องทาง การร้องเรียนประชาชนนี้ ในภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างจะมีปัญหา ท่านสามารถสร้างระบบ ได้ไหมครับว่าระบบโทรศัพท์แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ เพราะเรื่องหลัก ๆ ที่ผมคิดว่าประชาชน ในพื้นที่อยากให้ สตง. เข้าตรวจสอบ แล้วก็เป็นข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการงบประมาณ มาหลายยุค ก็คือการตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง สัญญาที่รัฐมีกับเอกชน ยกตัวอย่าง เช่น มีการประมูลสร้างสะพานสักสะพานหนึ่ง สิ่งที่แนบท้ายในสัญญาแน่นอนก็คือผู้รับจ้าง ต้องไปขึ้นป้ายโครงการ ทำเมื่อไร ใครทำวงเงินเท่าไร จะแล้วเสร็จเมื่อไร ปรากฏว่าช่วงหลัง ๆ ผมร้องเรียนกับท่านเลยครับว่า ผมเจอในต่างจังหวัดเกือบไม่เห็นป้าย เลยครับ สร้างกัน ๓-๔ เดือน จะหาป้ายอยู่ตรงไหนก็หาป้ายไม่ถูก บางครั้งผมก็แอบแกล้ง โทรศัพท์ไปที่หน่วยงาน ไม่ได้หน่วยงานท่านนะครับ ผมโทรไปหาผู้ว่า คุณไปดูหน่อยสิ ป้ายมันอยู่ไหน คือรุ่งเช้าตาลีตาเหลือกขึ้นป้ายผิดกรมก็มีครับ จากอีกกรมหนึ่งไปขึ้นอีกกรมหนึ่ง คงไปจ้างร้านผิดหรืออย่างไร พิมพ์ป้ายมาผิดกรม อีก ๔-๕ วัน มารื้อป้ายลงใหม่ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าท่านกำชับไปทาง สตง. ทั้งหมดทุกภูมิภาคนะครับว่า ทุกโครงการของรัฐจะต้อง ขึ้นป้ายโครงการพร้อม ๆ กับการเริ่มดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเดี๋ยวนี้ผมคิดว่า เขาไม่ค่อยเอาใจใส่ คราวนี้ถ้าผมจะร้องเรียนไปที่ สตง. คือถ้ามีเบอร์กลางแบบหน่วยงาน ๑๙๑ ผมก็จะขยันร้องเรียน แล้วผู้แทนทุกคนก็จะขยันร้องเรียนด้วย ประชาชนจะได้ตรวจสอบครับ ว่าได้โครงการมาแล้ว ใครทำ เมื่อไรจะเสร็จ แค่นี้ครับ ผมคิดว่าหารือไปที่ท่าน ถ้าท่าน สามารถตอบว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรได้ ก็จะเป็นพระคุณครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตตอบคำถาม ท่านวิทยา แก้วภราดัย นะคะ ขออนุญาตที่เอ่ยนาม ๒ ประเด็น ก็คือเรื่องของการร้องเรียน ช่องทางในการร้องเรียนก็สามารถที่จะเข้ามาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ หรือว่า มีเป็นจดหมาย เป็นหนังสือ เป็น e-Mail มาที่เรา ตอนนี้เรากำลังพัฒนาในเรื่องของระบบ Chatbot เพื่อที่จะให้เข้าถึงได้ ทั้งที่ส่วนกลางแล้วก็ส่วนภูมิภาคอย่างที่ได้นำเรียนไป เรื่องของการตรวจสอบงานก่อสร้าง งานจัดซื้อจัดจ้าง อันนี้ก็ขอน้อมรับในคำแนะนำ แล้วก็ จะนำเรียนท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสั่งการให้ทางผู้ตรวจสอบทั้งส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาคให้ความสำคัญในเรื่องนี้ต่อไป กราบขอบพระคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ถือว่าที่ประชุมนี้ได้รับทราบรายงานการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อบังคับแล้ว ขอบคุณมากครับ เมื่อสักครู่ก็ได้แจ้งให้ทราบแล้ว ก็ทราบอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านวิทยาต้องการจะทราบ เรื่องของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทางกองทุนได้แจ้งมาว่าพร้อมจะมาชี้แจงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ซึ่งระเบียบวาระก็ต้องบรรจุไว้ลำดับขั้นอยู่ แต่เมื่อมาถึงวันที่ ๒๒ แล้ว ก็ถึงจะพิจารณารับทราบรายงานของหลักประกันสุขภาพต่อไป ก็เรียนให้ทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายงานพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและ กิจการประมงทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว ผมขอเชิญ คณะกรรมาธิการเข้าประจำที่ครับ ซึ่งในการนี้คณะกรรมาธิการได้ขอให้บุคคลภายนอก เข้ามาร่วมชี้แจงด้วยคือ คุณพวงทอง อ่อนอุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเล ซึ่งผมอนุญาตให้เข้ามาร่วมชี้แจงได้ ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญประธานกรรมาธิการแถลงครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพรักทุกท่าน ผมก็เคย อยู่กับท่านนี่ล่ะครับ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่แล้วครับ แล้วท่านก็สร้างบ้านใหม่ สิ่งที่ผมจะเรียน ที่ประชุมก็จะมีที่มากับที่ไป ที่มาจะเป็นประโยชน์กว่าที่ไปนะครับ ที่ไปคืออยู่ในมือสมาชิก ทั้งหลายในการแก้ พ.ร.บ. ประมงในอนาคต ซึ่งผมเชื่อว่าจะเข้ามาในสภานี้ ๑-๒ อาทิตย์ ข้างหน้านี้ แต่ที่มานี้มันก็จะเป็นบทเรียนว่าอะไรมันเกิดขึ้น ผมอยากเรียนเล่าให้ที่ประชุมฟังนะครับ ประเทศไทยของผม ของท่านนี้เคยยิ่งใหญ่มาก ในเรื่องการประมงเราเคยเป็นลำดับ ๑ ของโลก เราส่งออกไปทั่วโลก เราเก่งในการเพาะเลี้ยง ทั้งปลา ทั้งกุ้ง มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พัฒนาต่อเนื่องกันมาตลอด ชีวิตราชการของผม ๒๐ ปี ๓๐ ปี แต่ท่านเชื่อไหมครับว่าเจ๊งได้ภายใน ๗-๘ ปีเท่านั้นเอง ทีนี้ถามว่ามันเจ๊งได้อย่างไร ผมคิดว่าท่านควรจะรู้เพื่อจะทำให้มันเข้มแข็งในวันหน้า ก็ต้อง ขออนุญาตท่านประธานสักนิดหนึ่งนะครับว่า ไม่ได้ตั้งใจจะพูดแบบครูนะครับ พัฒนาการ ของมันมี ๔ ขั้นตอน
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ปี ๒๕๕๑ ในสมัย ท่านนายกรัฐมนตรีสมชาย EU ก็เริ่มอาการที่จะเล่นงาน คือทำตัวเป็นนักอนุรักษ์ แต่ที่จริง ก็เป็นเรื่องของการค้า แล้วก็เรื่องอยากที่จะมีโอกาสในการเข้ามาควบคุมท้องทะเล ซึ่งยังไม่มี เจ้าของ ตอนนั้นประกาศออกมา ๗ ข้อ ให้ใช้ทั่วโลกที่จะค้าขายกับเขา ผ่านไปอีก ๒ ปี ปี ๒๕๕๓ ในสมัยท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เขาประกาศเริ่มใช้ ท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ก็ให้กรมประมงปรับปรุงแก้ไขไปในครรลองที่มันเป็นมาตรฐาน พอมาถึงสมัยท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ซึ่งสมัยนั้นผมเป็น สส. เป็นรัฐมนตรีด้วยนะครับ เขาก็มาตรวจ ๓ ครั้ง แล้วก็ ไม่เห็นพูดอะไรสักคำ พอมาถึงปี ๒๕๕๘ ในสมัยท่าน พลเอก ประยุทธ์ เขาก็ให้ใบเหลือง ประเทศไทยเลย สบโอกาสเห็นเราเพลี่ยงพล้ำในเรื่องเกี่ยวกับตามความเข้าใจของผมนะครับ คือระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งเงื่อนไข ๕ ข้อ พอเขาให้ ๕ ข้อปั๊บ รัฐบาลขณะนั้น ซึ่งต้องขออนุญาตเรียกตามความจริงคือเป็นรัฐบาล คสช. ก็ตกใจตั้งศูนย์บัญชาการขึ้นมาเลย ยึดกรมประมง ที่ร้ายที่สุดคือเอาห้องผมเป็นกองบัญชาการ จากนั้น EU ก็ส่งกรม กรมหนึ่ง มาตั้งเงื่อนไขประเทศไทย ๑๒ ข้อ แล้วเอามาติดตามตรวจสอบ ๑๔ ครั้ง ในรอบ ๗ ปี รัฐบาล ไทยก็ตกใจมาก แก้กฎหมายครั้งแรกแก้ไปได้ ๖ เดือน ฝรั่งบอกไม่เอา ต้องแก้ครั้งที่ ๒ ใช้มาตรา ๔๔ แก้ ๒ ครั้ง แถมบังคับให้ประเทศไทยเป็นภาคีองค์การต่างประเทศอีก ๓ ฉบับ ต้องเซ็น MOU กับประเทศที่เขาเรียกว่าประเทศเจ้าท่า ๑๒ ประเทศ กรมประมงก็ปรับ โครงสร้างตัวเอง อันนี้ผมเรียกเองนะครับ กลายเป็นกรมตำรวจประมง มองชาวประมงเป็นโจร เป็นขโมย ความผิดถือว่าร้ายแรงยิ่ง ติดคุกปรับเป็นแสน เป็นล้าน นั่นคือการตอบสนองของ ประเทศไทย ทีนี้ผลที่ตามมาการประมงไทยล่มสลาย ประมงนอกน่านน้ำเคยมีเหลือ ๑,๐๐๐ ลำ เหลือ ๐ ลำ ประมงในน่านน้ำหายไป ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ หายไป เป็นหมื่นลำครับท่าน คนงานประมงเป็นแสนตกงาน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยเคยส่งออก มีมูลค่าถึงปีละ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าปีละ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท บวกไปบวกมา ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ๗ ปี ๒.๘ ล้านล้านบาท นั่นคือความเสียหาย ราคาปลา ตกต่ำ ที่ตกต่ำเพราะอะไรรู้ไหมครับ ประเทศเพื่อนบ้านเราที่เขาได้รับใบเหลืองเขาส่งมาขาย ประเทศไทยตอนนี้
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
อันนี้ก็ต้องฝากสภาช่วยดูด้วยว่ามันเข้ามาอย่างไร ถูกต้องหรือเปล่า ตอนนี้ ต่างชาติเริ่มเข้ามาขโมยปลาของประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศไทยแอบไปจับปลาที่อื่นนะครับ สุดท้ายติดคุกกันระนาว ชาวประมงจน ๆ มีเงินในกระเป๋า ๑๐๐ บาท ๒๐๐ บาท ถูกปรับ เป็นแสน เจ้าของเรือถูกปรับเป็นล้าน คนที่ถูกจับ ถูกปรับมากที่สุดพันล้านมันเป็นไปได้ อย่างไร มีเรือ ๔ ลำผิดลำเดียว อีก ๔ ลำ จอดอยู่บ้านก็ผิดไปด้วย นี่คือความเสียหาย ที่ติดตามมานะครับ นี่คือความเสียหายที่พวกเราทั้งหลายแหล่จะต้องแก้ ถามว่าแก้อย่างไร ก็ต้องแก้ที่ตัวบท คือตัวกฎหมายนี่ล่ะครับสภาก็ตั้งกรรมาธิการมา มีผมเป็นประธาน มีกรรมาธิการที่นั่งอยู่ที่นี่ เราศึกษามาเรียบร้อยแล้ว เรายืนยันว่าต้องแก้แน่ ทีนี้มันมีเกร็ด อยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผมอยากจะกราบเรียนที่ประชุมนะครับว่า ความเสียหายต่อการประมง อันสืบเนื่องมาจากกฎหมายที่มาจากมาตรา ๔๔ ถึง ๒ ครั้งนี้ ไม่ใช่ความคิดของสภานี้ด้วยซ้ำไป เป็นความคิดของสภาที่แล้วสภาครั้งที่ ๒๕ ซึ่งก็เป็นสภาในรัฐบาลของคณะผู้ที่สร้างปัญหานี้ล่ะครับ สภาลงมติเกือบเป็นเอกฉันท์ ตั้งกรรมาธิการขึ้นมา กรรมาธิการก็แก้จนเสร็จ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลตั้งช้า เราเสนอสภา ไม่ทันไป ๓ วัน กฎหมายฉบับนั้นก็ตก ก็ต้องขอบคุณท่านทั้งหลายที่ยกมือกันโดยพร้อมเพรียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาใหม่ศึกษาเพื่อแก้ บัดนี้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแจกพวกท่าน ทุกคน รายละเอียดท่านก็ต้องไปอ่านเอง ในขณะนี้อยู่ที่มือผมนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ทีนี้ผมจะเรียนท่านเนื้อ ๆ นะครับว่า ที่เราไปศึกษามานี้เราแนะนำสภาอย่างไร ข้อแรกมี ๒๐ เรื่อง ที่วันหน้าเราจะต้องดู ข้อ ๑ สิ่งที่เราทำนี้คือกฎหมายประมงในน่านน้ำไทย เรื่องของประเทศไทย เป็นอธิปไตยของประเทศไทย ท่านอื่นที่ไม่ใช่คนไทยก็กรุณาอย่ายุ่ง นี่ภาษาเพราะแล้วนะครับ ข้อ ๒ ต้องแก้เรื่องแรงงานประมง ข้อ ๓ ตรงนิยามประมง พื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ให้ชัดเจน ข้อ ๔ แก้ที่ท่าเทียบเรือ ข้อ ๕ กรรมการประมง จังหวัดจะต้องมี ข้อ ๖ สัญชาติลูกเรือต้องเป็นคนไทย ข้อ ๗ เรื่องสมุดบันทึกทำการประมง ข้อ ๘ การออกใบอนุญาต ข้อ ๙ การจดทะเบียนเรือ ข้อ ๑๐ ผู้สังเกตการณ์หรือเครื่องมือ อิเล็กทรอนิกส์ ข้อ ๑๑ การจับสัตว์น้ำ เครื่องมือทำการประมง การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ห้ามยึดเรือ อายัดได้ เรือเป็นทรัพย์สิน เรือเป็นที่ทำมาหากิน คุณไปยึดเขาจะให้เขาไปเป็นขอทานหรืออย่างไร ไม่ได้นะครับ เครื่องมือติดตามเรือถ้าบังคับ ต้องก็รัฐบาลออกสตางค์นะครับ พยายามใช้โทษทางปกครอง ใบอนุญาตใช้เรือจะต้องง่าย จะต้องใช้การเปรียบเทียบปรับให้มากที่สุดแทนอาญา ไม่ใช่เอาคนไปติดคุก คุกไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่ แล้วก็ระดับโทษทั้งอาญาและแพ่งจะต้องเหมาะสม ไม่ใช่ไปปรับเขาทีละพันล้าน ร้อยล้าน คนไม่มีสตางค์สักบาทไปปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อย่างนี้มันจะได้อย่างไร นี่คือ ๒๐ ข้อ ซึ่งจะต้องเป็นการบ้านสำหรับสภาในอนาคต และผมก็อยากจะเรียนว่าทั้ง ๒๐ ข้อนี้ เป็นเรื่องของประเทศไทย แล้วก็เป็นหลักการ ไม่ขัดอะไรกับ IUU ประมง เพราะฉะนั้น อย่ามาหาเรื่อง อย่าเอาเรื่องนี้ไปพัวพันการค้า
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ทีนี้ถ้าทำทั้ง ๒๐ ข้อนี้มันจะได้ประโยชน์อะไร จะได้ประโยชน์ ๑๖ ข้อ ผมจะไปอย่างรวดเร็วนะครับ ข้อ ๑ การพัฒนาจะยั่งยืน เพราะเราจะส่งเสริมควบคู่กับการ อนุรักษ์ ข้อ ๒ จะเพิ่มพื้นที่การจับสัตว์น้ำ เพิ่มเวลาการทำการประมง ชาวประมงก็จะมี รายได้เพิ่มขึ้น ข้อ ๓ ประมงพื้นบ้านจะได้ประโยชน์มากที่สุด และจะสงวนด้วยว่าจะต้องเป็น สัญชาติไทยเท่านั้น ข้อ ๔ จะไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ข้อ ๕ จะบรรเทาผลกระทบที่มี มากเกินไป เช่น โทษข้อ ๖ จะป้องกันสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ดีกว่าเดิม ข้อ ๗ จะปกป้องสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมที่ดีกว่าเดิม คือตอนนี้ฝรั่งชักจะรักสัตว์น้ำประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ปลาวาฬ ปลาโลมามากไปหน่อย ข้อ ๗ กลางคืนก็ทำการประมงได้ เช่น ในเรื่องของ ปลากระตัก ข้อ ๑๐ ลดภาระชาวประมงที่ต้องรายงานทุกเรื่อง เดี๋ยวนี้ต้องรายงานหมดครับ ไม่รู้ว่าหายใจ กินข้าวก็ต้องรายงานหรือเปล่า รายงานแหลกนะครับ ข้อ ๑๑ จะเพิ่ม ความสะดวกให้กับชาวประมง วันที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปสมุทรสาคร ชาวประมงเอามาให้ ท่านนายกรัฐมนตรีดูว่าจะเอาปลาขึ้นต้องขออนุญาตแค่ ๕๐ หน่วย ต้องเอาเข่งขนมานะครับ ต่อไปจะไม่เอาแล้ว ข้อ ๑๒ ลดภาระในเรื่องของเครื่องมือ ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แทน ข้อ ๑๓ พยายามใช้โทษทางปกครอง ข้อ ๑๔ จำกัดโทษที่ไม่ร้ายแรง จะไปยึดเรือเขา อย่างนี้ไม่ได้ แล้วเมื่อโทษหมดแล้วก็ต้องคืนเรือเขา แล้วเรืออันไหนทำผิดก็อันนั้น ไม่ใช่ เปะปะหาเรื่องไปเรื่อยเปื่อย ข้อ ๑๕ ลูกเรือจะต้องไม่มีความผิดทางอาญา ก็ลูกเรือ มาอยู่บนเรือจะรู้เรื่องอะไร ไต้ก๋ง กัปตันพาไปไหนมันก็ไป แล้วทำไมจะต้องผิดด้วย และข้อสุดท้ายจะใช้โทษปรับแทนโทษอาญา ผมเหลืออีก ๒ ข้อใหญ่ ๆ ถามว่าที่ผ่านมาถ้าเรายังไม่แก้กฎหมาย เรายังบริหารการประมง แบบนี้ แล้วก็ไปแก้กฎหมายเราจะเสียหาย ๘ อย่าง เสียเกียรติภูมิของประเทศไทยและ คนไทย เสียมาตรฐานกฎหมายไทย เพราะ พ.ร.บ. ที่ผ่านมา ๒ ฉบับ ที่เกิดจากมาตรา ๔๔ เป็น พ.ร.บ. ที่ขี้ริ้วมาก มองอย่างไร เมื่อไรก็ไม่สวย ข้อ ๓ เสียหลักการความรู้ทางวิชาการ ของโลกซีกร้อน ที่เราเรียกว่า Multispecies บ้านเรามีปลาเยอะชนิด ฝรั่งมีแค่ ๔-๕ ชนิด ข้อ ๔ เสียการประมงที่เคยรุ่งเรือง เสียเงินของชาวประมง เสียอาชีพประมง ชาวประมง ถึงกับแขวนคอตาย เสียชีวิตชาวประมง ข้อ ๕ เสียอาหารทะเล เราเคยส่งออก แต่นี่ส่งออก ไม่ได้ เสียรายได้ เสียเศรษฐกิจ เสียความรู้สึก เพราะชาวประมงถูกดูถูกว่าเป็นอาชญากร ผมเป็นอดีตอธิบดีประมง ถ้าชาวประมงเป็นอาชญากรผมก็เป็นหัวหน้าแก๊ง ข้อ ๘ เป็นแบบอย่างการบริหารที่เลวมาก คือใช้อำนาจบาตรใหญ่ ประกาศปุ๊บ ยกพลขึ้นบก ที่กรมประมง ยึดกรมประมง ไล่จับกรมประมง ออกระเบียบ ๓ ระเบียบ ออกกฎหมาย ศึกษาก่อนออกกฎหมาย ติดตามจับ คดีรกโรงรกศาลอยู่ทุกวันนี้นะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
เกือบสุดท้ายผมอยากกราบขอร้องนะครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเรื่องนี้เราเห็นตรงกัน กรุณาเถอะครับ ร่วมกันแก้ไข พ.ร.บ. ประมงฉบับนี้เสีย รวมทั้ง พ.ร.บ. อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในวันข้างหน้า เช่น เกี่ยวกับเรื่องเจ้าท่า เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน กรุณาร่วมกันช่วยเหลือชดเชยชาวประมงที่เขาเสียหายมา ๗-๘ ปี สิ้นเนื้อประดาตัว บน Panel นี้มีชาวประมงอยู่หลายคน เมื่อก่อนเป็นเศรษฐี เดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจ ว่าจะต้องขอข้าวผมกินหรือเปล่า ข้อ ๓ ร่วมกันสนับสนุนให้กิจการประมงไทยได้เจริญรุ่งเรือง ดังเดิมเถอะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองทุกพรรค สส. ทุกท่าน ที่ได้กรุณาเดินมาถึงวันนี้ แล้วก็หวังวันหน้า ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐาที่ไป แล้วก็ทำตามที่ท่านรับปาก ขอขอบคุณท่านรองภูมิธรรมเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นรองจากท่านอีกทีในการทำงาน รวมถึงท่านรัฐมนตรีธรรมนัสนะครับ เมื่อรับงานไป ก็ไปแก้กฎหมายรอ และสุดท้ายผมจะไม่ขอบคุณและจะไม่ขอโทษคนที่ทำร้ายชาวประมง ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร จำนวน ๔๕ ท่าน สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครูนักเรียนโรงเรียนมารีอุปถัมภ์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน ๑๑๐ ท่าน ที่เข้ามาเยี่ยมชมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับนะครับ ท่านสมาชิกครับ ทะเลไทยเรายาว ๓,๐๐๐ กิโลเมตร แล้วเราเคยเป็น มหาอำนาจทางทะเล เป็น ๑ ใน ๕ ของโลก วันนี้เราได้สูญเสียอำนาจทางทะเล สูญเสีย เศรษฐกิจทางทะเลไป ก็ถือว่าทุกท่านได้ให้ความสำคัญแล้วก็ช่วยเหลือกันจนมีวันนี้ ก็ยินดีด้วยกับพี่น้องชาวประมงที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีท่านสมาชิกที่จะขออภิปรายนะครับ ท่านแรก ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ แล้วก็ตามด้วย ท่านธีระชัย แสนแก้ว แล้วก็ ท่านวรภพ วิริยะโรจน์ เชิญท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ในพื้นที่เขตทะเลอันดามันครับ จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสม และเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วนะครับ ผมเห็นว่า การรวบรวมปัญหาข้อกฎหมายจากการใช้กฎหมายหลัก รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายรอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงไทยค่อนข้างจะครบถ้วนดีแล้วทั้ง ๔ แนวทาง ได้แก่ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงที่ท่านปลอดประสพพูดเมื่อสักครู่นี้ครับ การรักษาทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงความมั่นคงทางทะเลและมาตรการส่งเสริมการส่งออก นำเข้า และการตรวจสอบสินค้าประมง แต่มันยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นครับท่านประธาน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียงกลุ่มทะเลอันดามัน ที่ควรจะต้องได้รับการพิจารณา เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ การทำประมงของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล หรือที่เราเรียกว่าชาวเล ตามกรอบมติ ครม. พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล ชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประกอบไปด้วย หลัก ๆ ๕ กลุ่มด้วยกัน ซึ่งทั้ง ๕ กลุ่มนี้ก็ประกอบไปด้วยชาวเลอูรักลาโวยจ มอแกนและ มอแกลน ชุมชนที่ ๑ ได้แก่ ชุมชนชาวเลที่ราไวย์ ชุมชนที่ ๒ ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านเกาะสิเหร่ หรือที่เราเรียกว่า ชุมชนแหลมตุ๊กแก ชุมชนที่ ๓ ได้แก่ ชุมชนบ้านสะปำ อำเภอเมือง จังหวัด ภูเก็ต ชุมชนที่ ๔ ชุมชนแหลมหลา และชุมชนที่ ๕ ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งสิ้นประมาณ ๘๐๐ กว่าหลังคาเรือน ประชากรกว่า ๓,๘๙๔ คน และยังมีพี่น้องชาวชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล อีกหลายพันคนที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนควบคู่กันไปด้วย เช่นเดียวกัน เช่น การเร่งรัดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ เป็นแนวทางการฟื้นฟูวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกลุ่มอื่น ๆ ตามมติ ครม. ลงมาวันที่ ๓ สิงหาคม ปี ๒๕๕๓ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปช่วยเหลือคดีความของชาวบ้านชาวเลบางส่วน ดังนั้นผมขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงคณะ กมธ. ที่นั่งอยู่ตรงหน้านี้นะครับ รวมไปถึงกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และกองทัพเรือ ให้เร่งดำเนินการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษพื้นที่ทางทะเล เพื่อที่จะ เอื้อให้กับชาวประมงได้มีความมั่นใจและไม่ถูกดำเนินคดีการทำประมงเฉพาะหน้า
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ รายงานแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ผลักดันการจัดทำ พ.ร.บ. ประมงใหม่ ผมเห็นว่าให้เน้นการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มากกว่าการรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลาง ผ่านคณะกรรมการนโยบาย ประมงแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและ กองทัพเรือ ดังเช่นที่หลาย ๆ นานาอารยประเทศเขาทำกัน เช่น ประเทศใกล้เคียงเราก็คือ มาเลเซียและอินเดีย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความเป็นเจ้าของทรัพยากรประมงของคนท้องถิ่น มากยิ่งขึ้น ส่วนรัฐบาลกลางจะทำหน้าที่เฉพาะกำหนดมาตรการกลางเบื้องต้นตามหลัก วิชาการตามพันธสัญญาที่ได้ไปทำไว้กับนานาประเทศ ดังนั้นผมขอเสนอให้มีแนวทางดังนี้
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ด้านการกระจายอำนาจ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจและ หน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงมากขึ้น เช่น การกำหนดเขตประมงชายฝั่ง ในระยะ ๑๒ ไมล์ทะเล เป็นเขตห้ามเข้าทำประมงเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกกำหนดไว้ ตามมาตรการเข้าทำประมง และห้ามประมงพื้นบ้านออกไปนอกเขต หรือสามารถทำ การประมงนอกเขตดังกล่าวได้หรือที่เราเรียกว่าเขตห้ามเข้า ไม่ใช่เขตห้ามออกตาม พ.ร.ก. ในฉบับปัจจุบัน
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ถัดมาให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีสิทธิและอำนาจ ในการตัดสินใจ ในการกำหนดและจำแนกแบ่งประเภทการทำประมง ที่ใช้ปัจจัยแบบองค์ประกอบองค์รวม ในการทำประมงควบคู่กันไป ด้านขนาดเรือ อัตรากำลังเครื่องยนต์และเครื่องมือที่ทำการ ประมงโดยไม่คิดแบบแยกส่วน เช่น กรณีประมงพื้นบ้านชุมชนโหนทรายทอง ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถูกดำเนินคดี โดยใช้กฎหมายประมงพาณิชย์มาจับ ทั้ง ๆ ที่เป็น เรือมีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส ตรงนี้ล่ะครับที่มาทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับ ความเดือดร้อน แล้วถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ต้องพันล้านหรอกครับ แค่หลักแสนบาท ถูกปรับ ๔๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ บาท ก็หมดตัวแล้ว ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ การจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อการประมง ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ผ่านมานานาประเทศได้ตระหนักและมีความพยายาม ในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะพบว่าแหล่งการทำประมง ส่วนใหญ่ของโลก รวมถึงประเทศไทยชายฝั่งทะเลอันดามันกำลังประสบกับปัญหาการลดลง อย่างต่อเนื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำ มีเหตุปัจจัยหลักมาจากน้ำมือของมนุษย์นี่เอง ไม่ว่าจะมาจาก การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจับสัตว์น้ำในวัยอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำประมงกันมากจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตทดแทนได้ทัน ซึ่งหากยังมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ความสมดุลทางนิเวศทางทะเลและมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญคือความมั่นคง ทางอาหารของประชากรโลกในอนาคตด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและเร่งด่วน โดยสมควรกำหนดมาตรการ ในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดการทำรายงานและไร้ การควบคุม กำหนดจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สนับสนุนกิจกรรม อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้กับประมงพื้นบ้าน ประมงท้องถิ่นตามหลักสิทธิมนุษยชน
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
การอภิปรายในครั้งนี้ผมขอให้รัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจ ในการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อการแก้ไขปัญหาและการจัดการทรัพยากร ทางทะเลเพื่อการประมง เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อความมั่นคงทางทรัพยากรต่อไป ตามวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนสามารถจบได้ ในระดับพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดการทรัพยากรประมง การจัดการทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งต้องจัดการควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรการส่งต่อ ให้กับลูกหลานในอนาคตเป็นสำคัญ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว อยู่ไหม ไม่อยู่นะครับ เชิญท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอเป็นหนึ่งคนที่อยากขออภิปรายสนับสนุนรายงานของกรรมาธิการแก้ไขปัญหาประมง ในครั้งนี้นะครับ แน่นอนครับ เหตุผลก็คือเราทราบกันดีว่าเป็นเวลาเกือบ ๙ ปีแล้วที่กฎหมาย ประมง พ.ร.ก. ประมงที่ออกมาโดยขาดความรอบคอบนี้ มันทำร้ายชีวิตชาวประมงขนาดไหน การศึกษาในรายงานฉบับนี้ก็เป็นที่คาดหวังของชาวประมงทั้งประเทศที่อยากจะเห็นให้เกิด การแก้ไข ประเด็นมันก็จะอยู่ที่ว่าแล้ว จากรายงานฉบับนี้มันจะไปสู่การดำเนินการได้สำเร็จ ตามที่มีการศึกษาไว้รวดเร็วแค่ไหน เพราะว่าแน่นอนครับหลายอย่างที่ทางสภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ก็กำลังรอความคืบหน้าอยู่ ก็อย่างเช่นการแก้ไข พ.ร.บ. ประมง ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกว่า ในวาระของสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็มีร่างแก้ไขประมง ๕ ฉบับจ่อคิวอยู่แล้ว รอแค่ร่างของ ครม. ซึ่งเข้าใจว่ามติ ครม. เมื่อวานก็มีรับรองหลักการ แต่ต้องยืนยันตรงนี้ครับว่ายิ่งการแก้ไข พ.ร.บ. ประมงล่าช้าไปอีกนานเท่าไร ความเสียหายผลกระทบที่ชาวประมงได้รับมันก็ยิ่งยืดเยื้อ ออกไปนานขึ้น ฉะนั้นมันจึงมาเป็นประเด็นสำคัญว่า แล้วการแก้ไขตามรายงานนี้จะสำเร็จได้ รวดเร็วอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพราะถ้าเราไม่แก้ พ.ร.บ. ประมง ต่อให้เราแก้กฎหมายลูก ออกมาวางหลักประกันนะครับ หลักประกันก็จะเป็นจำนวนที่สูง เพราะโทษมันยังสูงอยู่ ต่อให้แก้โทษว่าเฉพาะการทำผิดครั้งแรกให้ปรับโทษครึ่งหนึ่งได้ แต่โทษปรับ ๓๐ ล้านบาท ครึ่งหนึ่งมันก็ยังเป็น ๑๕ ล้านบาทอยู่ดี ดังนั้นมันก็จะกลับมาที่กฎหมายลูก กฎหมายแม่ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการบังคับใช้ ที่ว่าจริง ๆ แล้วตามหลักโทษอาญาก็คือต้องไปดูกันที่ เจตนา สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยากขอความชัดเจนครับว่าเราจะเห็นการแก้ไขในเรื่องการบังคับใช้ เจตนาตรงนี้มากน้อยแค่ไหนนะครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แล้วก็ประเด็นที่ชาวประมงเขารออยู่ก็คือการตั้งงบซื้อเรือคืน ที่เป็นสัญญา ของรัฐบาลที่ผ่านมาที่สัญญาไว้กับพี่น้องชาวประมงก็ยังไม่เห็นนะครับ แม้กระทั่งในคำของบ ปี ๒๕๖๗ ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ในรายงานเล่มนี้ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้นะครับ ก็ขอเป็น ตัวแทนพี่น้องชาวประมงในการทวงถามสัญญาตรงนี้กับที่รัฐบาลเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาล ชุดที่แล้วได้เคยสัญญากับชาวประมงไว้ รวมถึงว่าความคืบหน้าต่าง ๆ กฎหมายลูกก็เข้าใจว่า ในรายงานเล่มนี้เขียนไว้ว่าจะมีแก้ไข ๑๓ ฉบับ มีประกาศออกมาแล้วเข้าใจว่า ๓ ฉบับ ที่เหลือก็คืออยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก็ต้องขอฝากท่านประธานในการเร่งรัด ให้การแก้ไขกฎหมายลูกออกมาได้รวดเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวประมง นะครับ แต่ที่ยังไม่เห็นความคืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า เรื่องของการ ต่อทะเบียนเรือต่าง ๆ ผมคิดว่ามันมีอีกหลายประเด็นที่นอกเหนือจากกฎหมายที่อาจจะ ไม่เห็นในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นต่อทะเบียนเรือขอใบอนุญาตตรงนี้ มันควรจะ ทำให้กรมเจ้าท่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมประมง ทำให้ชาวประมงได้รับความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการต่อทะเบียนเรือต่าง ๆ จบที่เดียวนะครับ ไม่ต้องไปวิ่งรอบกันระหว่าง กรมเจ้าท่ากับกรมประมงอีก สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เห็น แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะเกิดขึ้น เพราะว่ารวมถึงแม้กระทั่ง การปรับปรุงเรือว่าถ้าเราบอกว่าค่าแรงจะขึ้น แต่การปรับปรุงเรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการลดการใช้แรงงานเหล่านี้ มันก็ต้องเกี่ยวพันกับการแก้ไขการปรับปรุงเรือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นนะครับ หรือแม้กระทั่งเรื่องของแรงงานต่างชาติ ซึ่งผมต้องขอย้ำ อีกทีหนึ่งว่านี่เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในประเด็นนี้นะครับ ในรายงานเล่มนี้ก็เขียนชัดเจนว่า สิ่งที่ชาวประมงต้องการอยากจะเห็นก็คือการให้ขึ้นทะเบียน แรงงานต่างชาติได้ทั้งปี ไม่ใช่ปีหนึ่งทำได้แค่ ๒ ครั้ง ซึ่งแน่นอนล่ะ และระหว่างที่ไม่ได้ขึ้น มันก็มาส่งผลกระทบกับการทำมาหากิน ในการนำแรงงานต่างชาติมาขึ้นระบบ ซึ่งอันนี้มันก็ จะกลับมาเป็นเรื่องข้อกังวลที่ทุก ๆ ภาคส่วนเขากังวลนะครับ ก็คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การค้ามนุษย์ต่าง ๆ ต้นตอของมันจริง ๆ มันคือกฎระเบียบเรื่องแรงงานต่างชาติที่ซับซ้อน ยุ่งยากและไม่เป็นธรรมกับการขึ้นระบบตรงนี้นะครับ ดังนั้นมันก็เลยกลับมาทวงถามว่า แล้วเรื่องนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาคนต่างชาติจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ผมเห็น ในรายงาน แต่อย่างที่เกริ่นไว้ว่ายังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ออกมา ซึ่งแน่นอนครับก็คงต้องฝาก ท่านประธานนำเรียนกับทางรัฐบาลด้วยนะครับว่า จะแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติทั้งระบบได้ ผมก็ขอเสนอเป็น Idea หลักการใหญ่ ๆ สัก ๒ ประเด็น ประเด็นแรก ให้แรงงานต่างชาติ ทำบัตรประจำตัวใบเดียวแล้วทำงานได้ แต่ต้องมีนายจ้าง จะเป็นชาวประมงก็ได้นะครับ ประเด็นที่ ๒ ก็คือการเปลี่ยนหลักการที่ว่าค่าธรรมเนียมที่ต้องเป็นเงินก้อนให้เปลี่ยนเป็น รายเดือน ให้นายจ้างหักนำส่งรัฐเป็นรายเดือนไป เมื่อมีการเปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างคนใหม่ ก็หักนำส่ง ๒ หลักการนี้จะเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติได้อย่างมั่นคงถาวรกว่า มาตรการชั่วคราวที่ผ่านมานะครับ เพราะที่ผ่านมาสุดท้ายถ้าเรายังคงมีเงินก้อนอยู่ ในครั้งแรกมันก็ไม่มี ทั้งนายจ้างและตัวแรงงานต่างด้าวเองก็ไม่มีความสมประโยชน์ร่วมกันว่า ไม่อยากจะจ่ายเงินก้อนตรงนี้ แล้วก็เกิดเป็นขบวนการลักลอบ แล้วก็ต้องมาผ่อนผันทุกปี ดังนั้นการแก้ไขเรื่องนี้มันก็ต้องกลับไปแก้เรื่องกฎหมายแรงงานต่างชาติทั้งระบบ เพราะผม คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ชาวประมงก็ต้องการอยากจะเห็นด้วย แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกับ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไปนะครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อสุดท้ายยังมีรายละเอียดในเรื่องของการดำเนินการของกรมประมงเอง ที่ยังค้นพบว่ายังมีข้อความไม่เป็นธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่ม MSY ที่ว่าชาวประมง ที่มีหลักประเภทเดียวกัน เรือคล้ายกัน แต่จำนวนวันทำการประมงยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน อันนี้ก็ยังได้รับข้อร้องเรียนขึ้นมาว่าทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ ในการออกว่า จำนวนวันทำการประมงของแต่ละชาวประมงไม่เท่ากัน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ายังต้อง ไปขอให้ทางกรมประมงช่วยดูรายละเอียดเพื่อสร้างความเป็นธรรม แล้วก็ปรับปรุงข้อบกพร่อง ตรงนี้ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัยมาหรือยังครับ ถ้าอย่างนั้นท่านเทียบจุฑา ขาวขำ เชิญครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วมอภิปรายสนับสนุนรายงานการพิจารณาศึกษาและ เสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบนะคะ วันนี้ดิฉันรับฟังจากชาวประมง พื้นบ้านเขาก็มีความคาดหวัง มีความหวังที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้ ดิฉันก็อยากจะกราบเรียน ท่านประธานให้ทราบว่าประเทศไทยเราเคยถูกจัดอันดับอยู่ ๑ ใน ๑๐ ที่เป็นผู้ส่งออก ในการค้าขายอาหารทะเลออกไปสู่ต่างประเทศ แล้วก็ในพื้นที่ประเทศไทยเรานี้มีพี่น้อง ประมาณ ๒๕ จังหวัด ๑๔๒ อำเภอ ๘๓๗ ตำบล ที่ประกอบการประมงพื้นบ้านด้วย แล้วก็ เพาะสัตว์เลี้ยงรายย่อยมากกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน นี่ล่ะค่ะเป็นอาชีพหลักของพี่น้องประชาชน คนไทย โดยเฉพาะทางภาคอีสานเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีน้ำทะเล แต่จะเน้นไปในเรื่องของประมง พื้นบ้านนะคะ จากการอ่านรายงานก็ได้ทราบถึงผลการศึกษารายงานว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ภาคการประมงหรือพี่น้องชาวประมง รวมถึงผู้ประกอบการหรือ Supply Chain ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการประมงได้รับผลกระทบกันทั้งนั้นเลย เพราะมาจากกฎหมาย ประมงฉบับนี้ เพราะกฎหมายประมงฉบับนี้ได้ออกกฎหมายโดย คสช. ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบ ความคิดเห็นหรือสอบถามกับพี่น้อง ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นกับพี่น้องประชาชนเลย ก็ถือว่า ขาดความรอบคอบก็ว่าได้นะคะท่านประธาน
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ จากรายงานฉบับนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ชาวประมง แล้วก็ผู้ประกอบการ แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย พอจะยกเป็นตัวอย่าง พอจะสรุปได้ว่า ๑. เกี่ยวกับเรื่องการออกพระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายที่เร่งรีบเกินไป ซึ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีการศึกษาอย่างรอบคอบ ดังนั้นมันทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ของการประมงไทยค่ะท่านประธาน ๒. กฎหมายมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอน ใบอนุญาตเรือ การกักเรือ ซึ่งเรื่องพวกนี้กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของชาวประมง ทำให้ พี่น้องชาวประมงไม่สามารถที่จะออกเดินเรือในการประกอบอาชีพได้ เขาก็ขาดรายได้นะคะ และอีกอย่างหนึ่งจากรายงานฉบับนี้จะเห็นว่ากฎหมายมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเกินไป ก็เป็นเหตุ การกำหนดโทษอาญาสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด อันนี้มีทั้งโทษจำและโทษปรับสูง แล้วรายงานฉบับนี้ก็กล่าวถึงการกระทำผิดด้านการประมง เข้าข่ายความผิดอย่างร้ายแรง ในมาตรา ๑๑๔ ซึ่งดิฉันเห็นว่ามันก็ร้ายแรงเกินไป เช่น การลืมเอกสาร การไม่พกพา ใบอนุญาต พวกนี้มีการปรับเป็นแสน ๆ บาทนะคะ แล้วก็อย่างข้อที่ ๕ เรื่องการบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความเป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่น โดยเฉพาะความผิด เกี่ยวกับแรงงานภาคการประมงจะมีโทษสูงกว่าภาคแรงงานอื่น ๆ ทั้งที่มีฐานความผิด อันเดียวกัน ดังนั้นการจะต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายการประมงทะเล และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนชาวประมงให้ดีขึ้น แล้วก็ให้มีอาชีพที่มั่นคง แล้วควรจะให้การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งค่ะท่านประธาน ในระหว่างที่จะต้องดำเนินการยกร่างกฎหมาย ประมงฉบับใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายประมงฉบับเดิม ดิฉันขออนุญาตเสนอแนะ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงควบคู่กันไปนะคะ เช่น การพิจารณาศึกษาแนวทางด้านการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืด ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เหมือนในอดีต ดั่งคำพูดว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อพี่น้องชาวประมงจะได้ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่ต่างประเทศหรือต่างถิ่น โดยเฉพาะ ภาคอีสานจะต้องไปทำงานในจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดภูเก็ต แล้วก็ไปอิสราเอล ไปไต้หวัน ไปเกาหลี
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะประเด็นที่ ๒ การพิจารณาศึกษาขอให้กระจายอำนาจการจัดการ ทรัพยากรประมงน้ำจืดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนประมงพื้นบ้านให้มากขึ้น เช่น การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์และรายได้จากทรัพยากร การตั้งงบประมาณอุดหนุน ให้ชุมชน เพื่อนำไปจัดการบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟูให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ข้อเสนอแนะประเด็นที่ ๓ ขอนำเสนอว่าในเรื่องของการกำจัดและแพร่พันธุ์ ของผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์ วัชพืชนี้สำคัญมากในแหล่งน้ำที่จะประกอบอาชีพชาวประมงนี้ อย่างจังหวัดอุดรธานีของดิฉันจอกหูหนูยักษ์มากเยอะที่สุด เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำห้วยทรายเป็นปัญหาอุปสรรคทำให้เกิดน้ำเน่า เกิดเป็นปัญหาอุปสรรค การเจริญเติบโตของปลาในแหล่งน้ำ ดังนั้นดิฉันจึงขอให้เป็นการศึกษาและพิจารณาเป็น วาระเร่งด่วนในการดำเนินการควบคู่ไปกับการยกร่างกฎหมายประมงฉบับนี้
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอฝากพี่น้องประมงว่า วันนี้กรมประมงเปิดให้พี่น้องชาวประมง ขอรับไปลงทะเบียนกับกรมเจ้าท่าภายใน ๙๐ วัน ก็เป็นข่าวดีเพื่อเป็นการสร้างอาชีพ อย่างถูกต้อง ก็คาดว่าการนำประโยชน์เป็นการช่วยเหลือให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ได้รับประโยชน์สูงสุด ดิฉันก็ขอขอบคุณรายงานฉบับนี้ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงทั่วไป ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ไปที่ท่านศักดินัย นุ่มหนู ก่อน แล้วตามด้วยท่านธีระชัย แสนแก้ว นะครับ เชิญท่านศักดินัยครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ผมขอขอบคุณ ท่านประธานไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีดอกเตอร์ปลอดประสพ ที่เป็นประธาน คณะกรรมาธิการทำการศึกษารายงานฉบับนี้ออกมา ซึ่งผมได้ดูแล้วก็ได้เห็นการประชุม ในเนื้อหารายละเอียด และตลอดจนพี่น้องข้าราชการหลายภาคส่วนเลยทีเดียวที่ได้เข้ามา มีส่วนร่วมของการที่จะรับรู้ รับทราบ ออกแบบเพื่อจะแก้ไขปัญหา วางแนวทาง วางมาตรฐาน ในการที่จะยกระดับปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ก็มีรายชื่อของพี่น้องทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ ผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย ก็ต้องถือว่าทุกท่านได้เข้าใจและรับทราบ ถึงปัญหาของพี่น้องชาวประมงเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นความหวังให้กับพี่น้องชาวประมง เพราะว่าตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว ที่พี่น้องชาวประมงได้เผชิญปัญหาต่าง ๆ อย่างที่ท่านประธานคณะกรรมาธิการได้พูดถึงตั้งแต่ต้นว่า เราเผชิญกับปัญหามาเยอะมาก แล้วที่ท่านประธานสภาได้พูดเมื่อสักครู่นี้นะครับว่า เราได้สูญเสียอำนาจทางทะเลที่เราเคยมี ความยิ่งใหญ่ จริง ๆ แล้ววันนี้เราไม่ได้แค่สูญเสียความเป็นมหาอำนาจทางทะเลเท่านั้น แต่เราได้สูญเสียชีวิตของพี่น้องชาวประมง แล้วความหวังของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่อาชีพประมง ไปอย่างน่าเสียดายครับท่านประธาน ซึ่งดังนั้นหลายท่านได้ทราบแล้วว่า ๙ ปีที่ผ่านมานั้น เกิดอะไร การบริหารจัดการเป็นอย่างไรจนนำมาสู่สภาพปัจจุบัน ซึ่งเราแทบจะไม่ต้องมา พูดถึงกันอีกแล้วนะครับว่า สถานการณ์หรือสภาพปัจจุบันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับพี่น้องชาวประมง ของเราในวันนี้
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
แต่ปัญหาก็คือว่าเราจะทำอะไร อย่างไร เพื่อที่จะให้พี่น้องชาวประมงที่เป็น กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้กลับมาสร้างบ้าน สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจให้กับครอบครัวและประเทศชาติ นำความยิ่งใหญ่ของเรากลับกันมาอีกครั้ง จากรายงานนี้ผมเข้าใจว่าทุกท่านเข้าใจจริง ๆ และเห็นเลยว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ท่านประธานก็ได้พูดถึงที่มาที่ไปในยุคของรัฐบาล ยุคในอดีตที่ผ่านมาทำอะไร อย่างไรบ้าง
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ถัดจากนี้ผมยังคิดว่าเราจะดำเนินการอย่างไรต่อไปที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผมอยากจะนำเสนอ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็คือเรื่องของระยะเร่งด่วนจากนี้ จากระยะเร่งด่วนที่เราพูดถึง ว่าเราจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่พี่น้องชาวประมง ที่มีทั้งคดีอาญา คดีทางการปกครอง ฝ่ายทางการปกครองที่มีข้อบังคับทางกฎหมายที่มีความเข้มงวดและ มีบทลงโทษที่เกินกว่าฐานความผิดนั้น ที่เขากำลังโดนคดีอยู่ในขณะนี้จะต้องดำเนินการ อย่างไร ท่านประธานก็บอกแล้วนะครับว่าบางทีมีความผิดแค่เรือลำเดียว อีก ๑๐ กว่าลำ อะไรก็ต้องจอดกันไป แล้วโทษปรับที่สูงรุนแรงนั้น หลายคนที่กำลังเผชิญอยู่นี้จะต้อง ทำอย่างไรให้ตรงกับข้อเท็จจริงสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมง นี่คือเรื่องเร่งด่วน จริง ๆ ครับ ที่จะเอาชีวิตพี่น้องชาวประมงเขาสามารถกลับคืนไปสู่ท้องทะเลได้
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ ผมกำลังดูอยู่ว่าเมื่อเรารู้ปัญหาแบบนี้แล้ว สถานการณ์วิกฤติขนาดนี้แล้ว เราจะส่งเสริมอะไรให้กับพี่น้องชาวประมงบ้าง ส่งเสริมให้ พวกเขาสามารถที่จะกลับไปประกอบอาชีพนี้ได้ ทำไมต้องส่งเสริมครับ สถานการณ์ที่มัน ย่ำแย่ตอกย้ำให้เขาอ่อนแอ อ่อนล้า บางครอบครัวก็ถึงกับสูญเสียชีวิตน้ำตาตกกันไปเยอะแยะ ผมเชื่อว่าท่านประธานคณะกรรมาธิการทราบดี เราจะมีกองทุนช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง ให้กลับมายืนอยู่ในอาชีพนี้จะมีหรือไม่
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ หากว่ามี แล้วรัฐบาลสามารถที่จะช่วยทำให้พี่น้องชาวประมงนั้น กลับไปประกอบอาชีพได้ เรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ในรายงานนี้ก็พูดถึงครับว่า มันมีอุปสรรค มีปัญหามากพอสมควรที่เป็นปัญหาในแรงงานของชาวประมงเอง ถูกจับด้วย ประเด็นเรื่องแรงงานนี้ก็มาก แล้วก็โดนกันหนักมาก บางทีเราก็ขาดแคลนแรงงานจะทำ อย่างไร ถ้าหากว่าเขาจะต้องกลับไปประกอบอาชีพ แรงงานต้องพร้อม ส่งเสริมให้มีแรงงาน ที่เข้าถึงแรงงานได้ง่ายขึ้นจะเป็นไปได้อย่างไรหรือไม่
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ก็คือเรื่องของการที่เรามองว่าถึงที่สุดแล้วก็ต้องมีการแก้กฎหมาย พิจารณาร่างกฎหมาย ยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทีนี้กฎหมายที่สำคัญที่ผ่านมาก็คือว่ากฎหมาย ที่มีลักษณะดำเนินการไปแล้วโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และสร้างความเสียหายในชีวิต ตลอดจนความสิ้นหวังของพี่น้องชาวประมง มันถึงเวลาแล้วหรือไม่ครับ ที่จะให้พวกเขา เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากขึ้น มีส่วนร่วมอย่างจริงจังนะครับ ไม่ใช่แค่เป็นตัวประกอบ คนที่ประกอบอาชีพประมงเข้าใจทะเล รู้จักวิถี รู้จักคลื่นลมมากกว่าพวกเราก็เป็นไปได้ครับ เพราะฉะนั้นเราจะเพิ่มพื้นที่ให้เขามามีส่วนกำหนดได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ ร่างกฎหมายก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดค่า MSY บางทีมันก็ไม่ได้สอดคล้อง หรือว่า จะเป็นเรื่องของวันทำการประมง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะมีพื้นที่
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นในทางรายงานผมคิดว่าท่านประธานอาจจะไม่ได้บอกว่าการเข้าถึง ของพี่น้องชาวประมงที่จะเข้ามามีพื้นที่ มีเวทีให้พวกเขา เรามีไว้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เมื่อวานนี้เราได้ข่าวที่พี่น้องชาวประมงเขาบอกว่าจะมีการรวมตัวกัน ที่จะมายื่นหนังสือ ต่อรัฐบาลนี้ที่จังหวัดสมุทรสงครามใช่ไหมครับ ที่พี่น้องชาวประมงก็ยังเผชิญกับในเรื่องของ ปลาเถื่อนที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ หลายอย่างยังเผชิญซ้ำเติมปัญหาของพวกเขาอยู่ ถึงเวลาแล้วครับ ผมคิดว่าวันนี้มันต้องจริงจังจริง ๆ กับปัญหาเหล่านี้ที่จะต้องเอาชีวิตของ พี่น้องชาวประมงนั้นกลับมา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งนะครับว่ารายงานฉบับนี้ถ้าส่งถึงมือรัฐบาล จะได้เข้าใจปัญหา และสภาผู้แทนราษฎรของเราแห่งนี้ช่วยกันผลักดันสร้างกฎหมายที่เป็นธรรม ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวประมงและเปิดพื้นที่เขาเข้ามามีส่วนร่วม ผมเชื่อว่าเรา ยังสามารถที่จะนำชีวิตความหวังและความฝันของพวกเขากลับมาได้ครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขออนุญาต ท่านประธานที่จะอภิปรายย้อนถึงความเป็นมาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายประมง เราได้มีการหารือ ใครที่เป็นชาวประมงมีความอดทนอย่างมาก จังหวัดอุดรธานีของผม ถึงแม้ว่าจะไม่มีประมงน้ำทะเลอยู่ห่างทะเล แต่ก็มีประมงน้ำจืด แต่สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั่นล่ะครับ กฎหมายฉบับนี้ที่ออกเมื่อปี ๒๕๕๘ นี่เป็นตัวที่สำคัญเลยนะครับ ที่ทำให้พี่น้องชาวประมงแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ระเบียบต่าง ๆ ที่ออกนี้นับร้อย ๆ ฉบับ ซึ่งออกในยุค คสช. ต้องขออนุญาตนะครับ จริง ๆ ไม่อยาก ได้ยินหรอก คสช. เพราะมันก็ผ่านมาแล้ว แล้วก็ผ่านอนุมัติสภานิติบัญญัติ ซึ่งตั้งโดย คสช. คือกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจจากท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตอนนั้น รัฐบาล คสช. อ้างเหตุอ้างผลจำเป็นว่าสหภาพยุโรปจะต้องให้ใบแดง จะเลิกอุดหนุนสินค้า ประมงของชาวประมงไทย สินค้าประมงจะขายไม่ได้ต่าง ๆ นานา ผมจำได้สื่อมวลชนก็ออก การต่อต้านอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะแยะจากพี่น้องชาวประมง จนสุดท้ายผู้มีอำนาจ ในขณะนั้น ผมไม่อยากใช้คำว่า บ้าจี้ หรอกครับ ไม่รู้ว่าบ้าจี้หรือตาขาว แล้วก็ออกเป็น พระราชกำหนดประกาศว่าจะแก้ไขประมงให้ได้ไม่เกินตามที่มาตรฐานของสหภาพยุโรป ภายใน ๖ เดือน แล้วหลังจากนั้นนะครับท่านประธาน ฟังดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจ รวดเร็วทันใจ ในการแก้ไขปัญหาในขณะนั้นด้วยความฉับไว แต่อันนั้นคิดผิดอย่างรุนแรงครับท่านประธาน แล้วท่านก็ไม่รอบคอบนำไปสู่วิกฤติทางด้านการประมง ในขณะนั้นโดยแทบจะเรียกว่าอาชีพ จะสูญพันธุ์เลยครับ ผมไม่อยากจะฟื้นฝอย ถ้าไม่ฟื้นฝอยมันก็ไม่รู้ว่าวันนี้เราจะต้องมาแก้ไข เพราะฉะนั้นระยะเวลา ๖ เดือน อำนาจออกกฎหมายในการที่จะไม่ได้ฟังความคิดเห็นของ พี่น้องประชาชน ไม่ได้ทำอะไรเลย ใช้อำนาจตรงจุดนั้นเลยนะครับ ก็รู้อยู่เวลายึดอำนาจมา ก็ใช้อำนาจนั้นล่ะครับ แต่อำนาจมันก็ตกห้วยลงเหวไปหมด
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ต่อมารายงานฉบับนี้ผมต้องขอชื่นชม ท่านปลอดประสพ สุรัสวดี และท่านกรรมาธิการทุกท่านนะครับว่าท่านได้ทำการศึกษาและได้มีการแก้ไขปัญหา กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับพี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการได้อย่างดีเยี่ยมครับ และมา ถูกทิศถูกทางแล้ว เพราะในรายงานฉบับนี้ท่านได้รับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมง ทั้งสมาคมประมง สมาคมพื้นบ้านและ หน่วยงานภาครัฐ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมแรงงาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศ ทุกหน่วยงานเข้ามา คุยกัน พอมาคุยกันมันก็ต้องได้อย่างดี ความเห็นที่ได้จากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมารวมความ สรุปเป็นข้อเสนอแนะที่ของคณะกรรมการก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาความ ไม่เป็นธรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับกฎหมาย เกิดขึ้นกับกฎหมายประมงที่บังคับใช้อยู่นั้นก็คือ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระผมได้กล่าวมาในตอนต้นว่า อย่างบทที่ ๓ ครับท่านประธาน ผลการศึกษาผลกระทบจากการออกกฎหมายบังคับใช้ ทั้งหมด ๑๕ ข้อ ผมเห็นด้วยกับท่านทุกข้อเลยนะครับ เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขอยกตัวอย่างบางข้อ บางตอน ซึ่งมันเป็นอุปสรรคต่าง ๆ นานาที่ฉุดรั้งของประมงสูญพันธุ์ไป จะทำให้พี่น้องชาวประมงสิ้นเนื้อประดาตัวเราเรียกกัน ง่าย ๆ ว่าทำลายวงการประมงไทยก็ว่าได้ อย่างเช่น ๓.๑.๓ รายงานระบุว่ากฎหมาย มีการบังคับใช้เข้มงวดเกินไป ใช่ครับท่าน ไม่ได้สัดส่วน มีบทลงโทษทางอาญาที่สูงเกินไป ทั้ง ๆ ที่มีโทษจำคุกมีโทษปรับแล้วก็ยึดเครื่องทำมาหากินของเขาที่เขาหามาทั้งชีวิต โหดมากครับ ท่านประธานครับ ท่านทราบหรือไม่ว่าประเทศเราเคยมีโทษปรับที่เกี่ยวข้อง กับกฎหมายประมงฉบับนี้สูงถึง ๑๐๐ ล้านบาทเลยทีเดียว แล้วยังมีเคสของพี่น้องชาวประมง อีกมากมายที่โดนโทษปรับและเป็นหลักล้านด้วย ท่านประธานครับ ทราบหรือไม่ครับว่า ถ้าเราไปทำการประมงหาปลาโดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับตามกำหนดนี้ ๓๐ ล้านบาท ไม่ใช่ ๓๐ ล้านบาทต่อเรือ ๑ ลำนะครับ แต่โทษปรับ ๓๐ ล้านบาทต่อ ๑ คนครับ หาทั้งปีทั้งชาติ ๒ ชาติ ก็ไม่ได้ ๓๐ ล้านบาท อยู่บนเรือแล้วเรือลำนั้นมีพ่อแม่ลูก ๕ คน เท่าไรครับ ถ้า ๕ คน ก็ ๑๕๐ ล้านบาทนะครับ นี่ผมขอถามว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ ท่านประธานครับ ไม่ใช่เพียงกฎหมายกำหนดโทษ ที่มันสาหัสสากรรจ์หนักหนาอย่างนี้ ลำพังพี่น้องชาวประมงที่ต้องต่อสู้กับคลื่นลมทะเล เสี่ยงดวงกับการออกไปหาปลา ต้องเสียค่าแรง เสียค่าน้ำมัน เสียอะไรต่าง ๆ วันไหนได้ปลา ก็คุ้มค่าน้ำมัน วันไหนไม่ได้ปลาแล้วจะขาดทุนเท่าไร อุปสรรคอย่างนี้พี่น้องชาวประมงสู้ได้ ถ้าเรื่องธรรมชาติเขาสู้ได้ แต่เขาต้องมาต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่พวกเขาสู้ไม่ได้จริง ๆ ก็คือกฎหมายประเทศไทยในยุคนั้น กฎหมายที่แทนที่จะสร้าง ความเป็นธรรม สร้างความหวัง สร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เขา กับคนที่เป็นอาชีพ ประมงในประเทศนี้ กลับเป็นกฎหมายที่กดหัวชาวบ้าน กดหัวอาชีพของเขา จับถ่วงน้ำ ทุกวันนี้ชีวิตพี่น้องชาวประมงปริ่ม ๆ อยู่แล้วครับท่านประธาน แต่ต้องมาสู้กับกฎหมาย ทั้งมีโทษอาญา โทษปรับ และยึดเรือ ยึดเบ็ด ยึดสะดุ้ง ยึดอะไรไปหมดครับ กฎหมาย โหดมากครับ เรียกได้ว่ากดให้เขาไม่มีอากาศหายใจเลยครับท่านประธาน บางกรณีเรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่พอครับ ยังติดหนี้รุ่นลูกรุ่นหลานจนถึงรุ่นต่าง ๆ ไป ไม่มีโอกาส ที่ได้เกิดขึ้น
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ขออีกนิดเดียวครับใกล้แล้วล่ะครับ มันเป็นสิ่งที่ดีขอให้ผมได้มีโอกาส ได้เปิดเผยเรื่องนี้ เพราะอึดอัดใจแทนพี่น้องชาวประมง และมีอีกครับท่านประธาน ๓.๑.๕ ในรายงานยังพูดถึงปัญหาแรงงานครับ ปัญหาแรงงานของการประมง คือกฎหมายนี้จำกัด อายุของแรงงานว่าแรงงานอายุต้อง ๑๘ ปีขึ้นไป ส่งผลให้ลูกให้หลานของชาวประมง เกิดมา มันก็ชาวประมงอยู่แล้ว ไปกำหนด ๑๘ ปี ถ้าลูกหลานไม่ถึง ๑๘ ปี ก็ออกเรือหาปลากับ พ่อแม่หรือกับครอบครัวไม่ได้ ถูกจับครับ สุดท้ายเราจะหวังอนาคตรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้อย่างไร
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นตัวจุดนี้มันควรแก้ไขเรื่องแรงงานของภาคประมง กรมจัดหางาน ก็มีความเห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับการใช้กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อประมงไทยหลายประการ เช่น กำหนดจำนวนครั้งที่เปิดให้นายจ้างลงทะเบียน เพื่อทำหนังสือประจำเกินกำหนดสมควร และยังกำหนดมาตรการผ่อนผันให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสำนักนายกรัฐมนตรี อันนั้นคือความเร่งรีบในการจัดการของกฎหมาย หรืออย่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความเห็นว่าการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ซึ่งดูในอำนาจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่ากฎหมายประมงฉบับนี้ไม่ได้สร้าง ความสะดวก อำนวยความสะดวก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำประมงของประเทศไทย เช่น กำหนดกฎเกณฑ์อายุฝึกงานเรือประมง ไม่เหมาะกับการประกอบอาชีพของลูกหลาน ชาวประมงเลย และยังกำหนดกฎกติกาจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร อยู่ในทะเลนั้นยุ่งยากครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมหวังว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้กับพี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และผมคาดว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่สมาชิกเราจะได้ร่วมกันเสนอ แล้วอยู่ ในระเบียบวาระแล้วและจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว เพื่อคืนความเป็นธรรมสร้างโอกาส สร้างอนาคต ให้กับพี่น้องชาวประมงต่อไป ขอขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ท่านกรรมาธิการขอชี้แจงสัก ๒ ท่าน เชิญครับท่านประธาน
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกที่เคารพทุกท่านครับ ที่ขอชี้แจงตอนนี้เพราะทราบว่ายังจะพูดอีก ๔-๕ ท่าน เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ผมก็จะอธิบายสักครึ่งหนึ่งนะครับ ขอเรียนว่าทั้ง ๕ ท่าน ที่พูดมานี้ ถูกใจผมทุกข้อ แล้วก็เห็นด้วยทุกข้อ เพียงแต่ว่าผมจะให้รายละเอียดเพิ่มเติม
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านแรกก่อนนะครับ ท่านสมชาติท่านพูดถึงเขตวัฒนธรรมพิเศษ อันนี้ ยอดเยี่ยมครับ ผมนักเรียนแคนาดา นักเรียนอเมริกา ในตรงนั้นที่แม่น้ำโคลัมเบียกับ แม่น้ำเฟรเซอร์เขากันไว้เลยนะครับ ให้ชาวอินเดียแดงจับ เพราะชาวอินเดียแดงเขาจับ ปลาแซลมอนตรงนั้นก่อนที่อเมริกาหรือแคนาดาจะเกิดอีก ฉันใดฉันนั้นชาวเล ชาวประมง พื้นบ้านทั้งหลายแหล่ก็ไม่แน่ เขาอาจจะอยู่เมืองไทยมาก่อนอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วย แต่ผมก็ลืมคิด แต่ว่าผมก็พูดเรื่องนี้บ่อยนะครับ ที่เกาะสุรินทร์ท่านไปดูครับ จะมีโรงเรียน อยู่โรงเรียนหนึ่งชื่อนามสกุลผมก็สอนพวกนี้ นี่ของท่านสุรชัยผมเห็นด้วยข้อหนึ่งนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ของท่านวรพจน์ผมเห็นด้วย ๔ ข้อเลยนะครับ ท่านพูดว่าให้ดูเจตนาให้มาก เวลาจะลงโทษนะครับ อันนี้ผมก็หวังว่าเดี๋ยวท่านนายกสมาคมก็จะมาพูดด้วย ตอนนี้เรา กำลังบอกว่าในเรื่องของการใช้วิจารณญาณเจ้าหน้าที่ก็กลัวมาตรา ๑๕๗ ผมยังโดนมาแล้ว ก็เลยเอาอัยการเข้ามาด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าการเอาอัยการเข้ามาจะทำให้ข้าราชการประจำ ได้เกิดความสบายใจแล้วก็กล้าในการตัดสินใจเร่งแก้กฎหมายลูก อันนี้ผมเห็นด้วยนะครับ คือกฎหมายลูกของกรมประมงเองก็ยังเสร็จไปหมด ทีนี้กฎหมายลูกจะเล่าให้ท่านฟัง คือก็เล่าไปว่าไปนะครับ ว่าก็แปลว่าด่าเหมือนกัน คือสมัยนั้นใช้มาตรา ๔๔ ตั้งคณะกรรมการ ประมงแห่งชาติขึ้นมาให้เป็นกฎหมาย แล้วก็ใช้คณะกรรมการประมงแห่งชาตินี้ ซึ่งความจริง คณะกรรมการชุดนี้มันตั้งแต่สมัยผม แต่เขาให้ทำเฉพาะนโยบาย พี่ก็ไม่เอานะครับ คณะชุดนั้นเข้ามาบริหารตั้งอนุกรรมการขึ้นมาแสบ ๆ ๘ คณะ ซึ่งผมเลิกไปเรียบร้อยแล้ว คณะศึกษาเพื่อเอาเรื่อง คณะฟ้อง คณะติดตาม มีอนุกรรมการ คณะทำงานเป็นร้อย ๆ เรื่อง สารวัตรใหญ่ที่อยู่ริมทะเลทั้งหมดเป็นหมด ก็จับกันสนุกมาก คดีมันถึงได้เต็มโรงเต็มศาล อยู่ในขณะนี้นะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ข้อต่อไปเวลานี้เดี๋ยวก็จะมีกรรมาธิการบางท่านพูดนะครับ เรื่องเจ้าท่า เรื่องแรงงาน นี่ยังไม่ได้จับเลย ทั้งกฎหมายลูก กฎหมายแม่ จำเป็นต้องทำแล้วนะครับ ท่านพูดเรื่อง One Stop Service อันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศตั้งแต่วันแรก แล้วก็ ฝากให้พวกเราช่วยกันไปทำ One Stop Service จะทำได้ รัฐมนตรีคุยกันให้รู้เรื่องก่อน กระทรวง อธิบดี ถ้าหวงกันไปหวงกันมาก็ไม่ต้องสำเร็จหรอกครับ อันนี้ต้อง Top Down Bottom Up ไม่ได้ ตัดสินใจให้เต็มที่ ผมคนหนึ่งล่ะเมื่อได้ถูกสั่งมาให้ทำ ผมก็จะพยายาม ผลักดันอันนี้ ถ้าใครหวงมากเกินกว่าเหตุผมก็จะมาประจานให้ท่านฟังก็แล้วกันนะครับ แรงงานต่างชาติผมเรียนท่านอย่างนี้ครับ อย่างไรประเทศไทยก็ต้องพึ่งแรงงานต่างชาติ เพราะว่าคนไทยไม่ลงเรือมันลำบาก เมื่อก่อนนี้ชาวประมงอยู่ริมทะเล ต่อมาสมัยผม เป็นอธิบดีแล้ว มาจากท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เกิดไต้ฝุ่นเกย์วันเดียวตายไปแค่ ๔,๐๐๐ คน ชาวอีสานบอกไม่เอาแล้ว ไม่ลงทะเล แล้วทำอย่างไรครับ ก็ต้องไปเอาชาวต่างชาติ บังเอิญ ชาวต่างชาติก็ทะลักเข้ามา ตั้งแต่สมัยเวียดนามแตก ลาวแตก เขมรแตก มาวันนี้พม่ารบกัน เราก็รับ แต่เราไม่ได้ Treat เขานะครับ เป็นทาส ทาสหมดจากประเทศไทยไปนานแล้ว มันอยู่ด้วยกันมันจะไปรังแกกันได้อย่างไร แล้วเขาก็ใช้การเป็นลูกเรือประมงเป็นฐานในการ เปลี่ยนอาชีพเขาแต่ภายหลัง
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านเทียบจุฑาท่านบอกว่าระเบียบหยุมหยิม หยุมหยิมจริง ๆ ครับ เยอะไป หมดเลย ไม่รู้ว่าคนคิด คนสั่ง นิสัยหยุมหยิมหรือเปล่า โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้ เรื่องแรงงานประมงความจริงมันไม่เกี่ยวเลย EU ไม่ได้พูดเรื่องแรงงานประมงครับ อเมริกา เห็นไทยเพลี่ยงพล้ำจึงเอาเรื่องแรงงานประมงเข้ามา ก็เลยจับมาผสมกันเยอะไปหมดเลย แมวผสมหมาไม่รู้ออกมาเป็นอะไร เรื่องแรงงาน ฟื้นฟูประมงน้ำจืดอันนี้ผมเห็นด้วย ขอบคุณ อย่างยิ่งท่านมาจากอุดรธานี มอบอำนาจท้องถิ่นเรื่องน้ำจืด ผมเรียนเล่าท่านอย่างนี้นะครับ ดีนะครับมีพวกท่านตั้งแต่สมัย ๒๕ มาจนสมัยนี้ ไม่อย่างนั้นจะมีการออกใบอนุญาตเรื่องน้ำจืด แหแม้แต่แหอันเดียวก็ต้องขออนุญาต มันจะบ้าหรือเปล่า ประเทศนี้ถ้ามันเกิดขึ้นนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ซึ่งกระผมก็หวังว่ากรมประมงจะต้องไปแก้ เลี้ยงปลาในกระชัง ในอ่างเก็บน้ำ ต้องขอ ๓ หน่วย ท่านประธานอยู่เชียงรายโดนด้วยนะครับ ขอกรมประมง ขอกรมเจ้าท่า เพราะรุกล้ำลำน้ำ ขอเจ้าของอ่างเก็บน้ำ ขอกำนันผู้ใหญ่บ้าน เลี้ยงปลาในกระชัง ๓ วา ๔ วา ต้องขอ ๔-๕ หน่วย มันบ้าหรือเปล่าท่าน ท่านว่าบ้าไหมละ มันเลอะเทอะแล้วครับ อย่างนี้ ไม่ไหว ชอบใช้อำนาจสนุกหนักหนานะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
เรื่องวัชพืชเห็นด้วย เนื่องจากผมทำเรื่องน้ำด้วย ท่านรู้ไหม เอาผักตบชวา ชื่อก็บอกไม่ได้เกิดในประเทศนะครับ เอาเข้ามา ๑๕๐ ปีแล้ว ปัญหาของเขาใบเขาใหญ่ เขาก็ดูดน้ำระเหยเยอะ ตกลงน้ำก็เสีย ที่เราบ่นฝนแล้งนั้นผักตบชวาก็มีส่วน มีมากเกินไปเน่า มีปลิงก็กัดชาวบ้าน มีจระเข้ มีเหี้ย มีงูก็กัดชาวบ้านอีก น้ำเน่าปลาก็ตาย เรือก็เดินไม่ได้ เรื่องวัชพืชผักตบชวานี้มันต้องปราบกันใหญ่แล้ว ที่จริงมันมีเรื่องอื่นผมก็ไม่อยากนำมาเล่า ให้ท่านฟัง เพราะมันไม่เกี่ยวนะครับ มันต้องเอาให้หมดแล้วเอาขึ้นมาแล้วไถ หน้าดินของไทย มันจะได้ดีขึ้นด้วย
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านศักดินัยได้พูดเรื่องให้มีมาตรการเร่งด่วน อันนี้ท่านยอดเยี่ยม คือเวลานี้ เราก็ทำหมด บางทีบางเรื่องมันก็ไปดึงบางเรื่อง ถ้ามีมาตรการเร่งด่วนขึ้นผมว่าดีมาก แต่ว่ามันคงจะเป็นอำนาจบริหาร เรื่องเร่งด่วนอันหนึ่งเมื่อสักครู่นี้ผมได้เรียนแล้ว เรื่องอัยการ สมาคมประมงก็ร้องมา เนื่องจากเป็นคดีแรงงานซึ่งเป็นคดีที่ร้ายแรง เพราะหาว่าค้าแรงงาน แรงงานเถื่อน แม้แต่อัยการเองยังมีตั้งหลายฝ่าย เพราะฉะนั้นเรื่องก็คาราคาซังกันเยอะแยะ อันนี้ดีมาก
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กองทุนประเดี๋ยวจะมีบางท่านพูด เพราะผมเข้าใจว่ากรมประมงก็อยู่กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ผมเป็นอธิบดีหลายกรมมากนะครับ น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง มีกองทุน ให้หมด ชาวประมงเรือล่มไม่ยักกะมี แปลกไหมครับ เรือล่มก็ไม่มีคนไปช่วย แต่ตอนไปจับเขา กลับไปล่มเรือเขา แย่งกันทำแล้วเชียว อันนี้กองทุนมันควรจะมีนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ท่านศักดินัยบอกว่าผู้เสียหายควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไหม ก็เห็นด้วย อีกอันหนึ่งท่านพูดเรียกว่าเข้าท่ามาก ท่านพูดเรื่องปลาเถื่อน หมูเถื่อนก็แล้ว ไก่เถื่อนก็แล้ว ผมเป็นกรรมาธิการด้วย เพราะฉะนั้นผมก็รู้ดี ปลาเถื่อนนี้ไปปราบหน่อย หน่วยไหนไม่รู้ มาจากยุโรปก็เถื่อนนะครับ ข้างนอกเขียนว่า หัวปลาแซลมอน เปิดมากลายเป็นหมูนะครับ ที่เข้ามารอบประเทศไทยนี้ที่เขาไม่สนใจ IUU ที่เขายังเป็นสีเทาได้ใบเหลืองเขาก็เอามาฟอกขาว ที่ประเทศไทย ตกลงเราเลยเป็นประเทศผู้นำเข้า และท่านรู้ไหมอะไร พอปลาพวกนี้เข้ามา ในราคาถูก ปลาไทยก็ถูกไปด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้คนไทยที่จับปลาได้บ้าง ก็ขายของถูกไปด้วย ขายไม่ได้ด้วย อย่างนี้ทำอย่างไร
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ประเทศนี้เหนื่อยนะครับ เมื่อสักครู่ผมพูดเรื่องนี้แหแล้ว กระชังน้ำจืดก็พูด ไปแล้ว กฎหมายไปยึดเรือเขา ไปยึดได้อย่างไร มันเป็นอาชีพเขา เขาเป็นช่างไม้ ยึดสิ่ว ยึดขวาน ยึดค้อน แล้วจะให้เขาไปทำอะไร แบบนี้คิดได้อย่างไร กรมจัดหาแรงงาน กรมคุ้มครองแรงงานบอกว่ากฎหมายประมงนี้คือตัวปัญหา ใช่ครับตัวปัญหา ผมในฐานะ อดีตอธิบดีก็รับด้วยความพูดไม่ออก ก็ต้องแก้นะครับ ครบ ๕ คนแล้วนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีท่าน กรรมาธิการท่านอื่นไหมครับ เชิญครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติและในกรรมาธิการ ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณท่านประธานปลอดประสพ ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมนะครับ แล้วก็ได้มีรายงานที่ครบถ้วนพอสมควรในการมาเสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ต้องขอบคุณครับ ท่านวิชาญ ท่านมงคล ท่านวิทวิสนะครับ ท่านอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนี้ ก็ต้องขอบคุณที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเสนอแนะข้อคิดเห็น ต่าง ๆ รวมถึงต้องขอบคุณกรรมาธิการทุกท่าน ฝ่ายเลขานุการหรือหน่วยงานที่มาชี้แจง ทุกท่าน ที่มีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการช่วยแสดงความคิดเห็นหรือช่วยทำให้รายงานเล่มนี้ สมบูรณ์มากขึ้น จริง ๆ เราก็อยากจะศึกษา จากที่นั่งอยู่กับท่านประธานเราอยากจะศึกษาในอีกหลายประเด็น แต่ด้วยเวลามีจำกัด แต่ก็มีประเด็นบางประเด็นที่เราอาจจะอยากมีการศึกษาเพิ่มเติม ในอนาคตเพื่อให้สภาแห่งนี้ได้บันทึกเอาไว้ จริง ๆ ต้องย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่าจริง ๆ เรามี การศึกษาร่าง พ.ร.ก. ประมง ปี ๒๕๕๘ เพื่อที่จะทำให้ในคณะหน้า ถ้ามีการเข้าสภาหรือว่า ไปต่อยอดในการศึกษาแก้กฎหมายในอนาคต แต่ต้องยอมรับว่าเราเริ่มศึกษาจากร่างครึ่งฉบับ อาจจะไม่ได้ศึกษาเต็มฉบับ ก็มีอีกหลายประเด็นที่เรายังไม่ได้มีการตกผลึกพูดคุยกัน อย่างจริงจัง เพราะว่าด้วยเวลาที่จำกัด ก็มีเรื่องอย่างที่ว่าคือเรื่องกองทุน ก็อาจจะเป็นเรื่อง ประเด็นที่สำคัญที่เราอาจจะต้องมานั่งคิดร่วมกันว่า ในท้ายที่สุดแล้วเกษตรอื่น ๆ ก็มีแล้ว เรื่องประมงเราเอาอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ก็อาจจะต้องมีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างตกผลึก ว่าแต่ละฝ่าย แต่ละจุดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร หรือแม้แต่เรื่องการที่มีกฎหมายที่อาจจะต้องแก้ อีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายเจ้าท่า กฎหมายแรงงาน หรือเรื่องแพปลา หรือเรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประมงที่ต่อเนื่องในอีกหลายเรื่อง เหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องที่อาจจะต้อง มีการศึกษาพูดคุย หรือแม้แต่การให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอแก้ไขสิ่งเหล่านี้ต่อไปในอนาคต แล้วก็อาจจะมีการรวบรวมหรือไม่ ในการทำเป็นประมวลกฎหมายประมง เหล่านี้ก็ยังต้องมี การศึกษาพูดคุยต่อไป
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
แต่ผมก็ยืนยันนะครับว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดมีการแก้ไขผลักดันให้สำเร็จได้ก็ต้อง ยอมรับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขประมงทั้งระบบ และจะได้หาสมดุลในการประกอบ อาชีพประมงและการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเรายึดถือในการ ทำหน้าที่ ผมอาจจะใช้เวลาของสภาไม่นาน ก็นำเรียนกับทางที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และท่านกรรมาธิการทุกท่าน แล้วก็ต้องขอบคุณท่านประธานปลอดประสพที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ในการผลักดันอย่างจริงจัง ในการผลักดันทั้งกรรมาธิการหรือแม้แต่การไปผลักดันกับทาง ฝ่ายบริหาร ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านจะเอาตอนนี้เลยใช่ไหม เชิญครับ เชิญท่านบอกชื่อด้วยครับ
นายมงคล สุขเจริญคณา คณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม นายมงคล สุขเจริญคณา ในฐานะกรรมาธิการ และอีกฐานะหนึ่งคือประธานสมาคมการประมงประเทศไทย ก็เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคอยช่วยเหลือ แล้วก็คอยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงชายทะเลทั้ง ๒๒ จังหวัด ผมกราบเรียนอย่างนี้ว่าต้องขอขอบคุณ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ที่เปิดโอกาสแล้วเข้าใจ ปัญหาอาชีพของประมง จากที่ฟังที่ท่านอภิปรายมา ๔-๕ ท่าน ผมต้องขอบคุณและต้อง ขอชื่นชมครับว่าวันนี้ประเทศไทยเราเอง มีระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาล แล้วก็มีสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนหน้านั้นต้องเล่าถึงที่มาที่ไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พี่น้องชาวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด เราไม่เชื่อเลยว่าอาชีพประมงของประเทศไทยที่มี ความมั่นคงแข็งแรงที่สุดใน ASEAN เป็นอันดับหนึ่ง ต้องมาล่มสลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจที่พิเศษในเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพวกผมรู้และเข้าใจเลยว่า ทำไมเราถึงต้องปกป้องประชาธิปไตย เพราะทุกวันนี้พวกเราพี่น้องชาวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด ต้องเรียนว่าพวกเรานี้ต้อง ทนทุกข์ทรมาน เรารู้ซึ้งถึงคำว่า ตกนรก มันเกิดอย่างไรเรารู้ทันที ทุกวันนี้ผมกราบเรียนและกราบวิงวอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วม ฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน วันนี้ท่านต้องมองอาชีพประมงไทยเราคืออาชีพของคนไทย วันนี้อาชีพของคนไทยของท่านที่พี่น้องชาวประมงทั้ง ๒๒ จังหวัด ที่เขาต้องต่อสู้คลื่นลม เพื่อไปหาอาหารมาหล่อเลี้ยงให้กับประชาชนคนไทย ๖๐-๗๐ ล้านคน ทุกวันนี้อาชีพนี้ ต้องเรียนว่าใกล้จะล่มสลายแล้วครับ ถ้าท่านไม่ร่วมมือกัน เพราะวันนี้เราเองจากเดิม เป็นประเทศที่จับสัตว์น้ำแล้วเหลือ เราก็แปรรูปออกไปขายยังต่างประเทศได้เงินตราเข้ามา แต่ทุกวันนี้ความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวประมง กลายเป็นว่าเราเป็นประเทศนำเข้า สัตว์น้ำมาบริโภคแล้วครับ ปีที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาถึง ๖๐๐,๐๐๐ ตัน ในการบริโภค เท่านั้นไม่พอครับท่าน กลายเป็นว่าวันนี้เราแก้ปัญหาแล้วเราได้ใบเขียว แต่ทุกประเทศเอาปลาเข้ามาฟอกที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ได้รับใบเหลือง ใบแดง เขาเข้ามาแปรรูปแล้วส่งออก แล้วเขาไม่ซื้อสินค้าประมงไทย ทุกวันนี้พี่น้อง ชาวประมงต้องน้ำตาไหล เพราะว่าเลือดมันไหลไม่หยุด วันนี้ยังไหลไม่หยุดนะครับ วันนี้ ยังเรียกร้องกันอยู่เลยว่า สินค้าสัตว์น้ำที่จับมาที่เป็นประเทศที่ได้ใบเขียวกลับไม่มีราคา ท่านเชื่อหรือไม่ ราคานี้ติดดินเลยครับ ไม่มีแม่ค้าซื้อครับ เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันถูกสร้าง อยู่ในกฎหมายประมง ผมไม่ได้หยิบมา กฎหมายประมงปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๖๐ ฉบับแก้ไข ผมต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่สร้างมาเพื่อทำลายอาชีพประมงครบวงจร มันครบวงจรอย่างไร มันทำลายตั้งแต่ต้นทางของอาชีพประมง ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงนอกน่านน้ำ เรามีศักยภาพที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำเรือมีพันกว่าลำ ทุกวันนี้เรือประมงนอกน่านน้ำที่ไปหาสัตว์น้ำเข้ามาในประเทศไทยเราได้ปีละ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมาเหลือ ๐ ลำ และเพิ่งจะออกไปได้แค่ลำ ๒ ลำ เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์เคยมีอยู่ประมาณเกือบ ๒๐,๐๐๐ ลำ ทุกวันนี้เหลืออยู่ ๙,๐๐๐ กว่าลำ แล้วก็ออกได้ประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ลำ ท่านเห็นหรือยังครับว่ากฎหมาย ประมงนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไม่น้อยนะครับ ผมคำนวณออกมาแล้วปีหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในการที่เราต้องสูญเสีย ทุกวันนี้เราก็อยากจะเห็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้ามาสู่ตรงนี้ แล้วที่ผมฟังมาผมก็เห็นแล้วว่าทุกท่านน่าจะเข้าใจ แล้วก็อยากจะวิงวอนให้ท่านได้ช่วยในการแก้ไขปัญหาจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาจริง ๆ แล้ว ผมขออนุญาตยกอุปมาอุปไมย ก็เหมือนกับปัญหาประมงนี้มันเหมือนปัญหาครอบครัว มันมีครอบครัว เป็นปัญหาครอบครัว ยกตัวอย่างก็คือมีสามีภรรยาเขาก็อยู่ด้วยกันอย่างดี วันดีคืนดีคนข้างบ้านก็มาบอกสามีว่าภรรยาคุณมีชู้ ก็เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นสามี ชาวประมงก็เป็นภรรยา วันดีคืนดีคนข้างบ้านมาบอกภรรยาคุณมีชู้ สามีก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมเลย จับภรรยาไปมัดแขน มัดขา เขามัดแขน มัดขานะครับ แล้วก็จับไปขัง แล้วให้หากินกันเอาเอง ให้กินวันละมื้อ เห็นไหมครับ ตายไหมครับ การแก้ไขปัญหา IUU นั้นแก้ผิดตั้งแต่ต้น ถ้าแก้ปัญหา IUU สำเร็จชาวประมงที่ถูกกฎหมายจะต้องไม่เดือดร้อน ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็น ชาวประมงที่ถูกกฎหมาย ผมเดือดร้อนมา ๘ ปี ท่านเชื่อไหมว่าผมเสียหายเท่าไร ผมก็ ไม่อยากจะพูดถึงในตรงนั้น ผมเรียนว่าชาวประมงที่สร้างเนื้อสร้างตัวสร้างอาชีพมาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี ๕๐ ปี อย่างผมนี่ สร้างตัวมาไม่ต่ำกว่า ๔๐-๕๐ ปี ผมเรียนท่านนะครับว่าผมออกเรือตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ผมเป็น ไต๋เรืออายุ ๑๗ ปี แล้วผมก็สร้างเนื้อสร้างตัวสืบทอดต่ออาชีพของพ่อแม่มา จนถึงทุกวันนี้ อายุผมตอนนี้ ๖๐ ปี ท่านเห็นหรือยังครับว่า การที่ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือ NGO มาพูดถึง เรื่องของการไม่ให้เด็กเยาวชนลงเรือ ก็มาบอกรัฐบาลว่ากำหนดไปว่าต้องไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี ทั้ง ๆ ที่อนุสัญญา C188 มาตรา ๙ ก็ไม่ได้กำหนดว่า ๑๘ ปี เขากำหนด ๑๖ ปี ถึง ๑๕ ปี ยังได้ด้วย แต่รัฐบาลเราเก่งครับ ไปกำหนด ๑๘ ปี ทีนี้เกิดปัญหาครับ เพราะว่าวัฒนธรรม การทำงานในอาชีพประมงเราจะไม่มีผู้สืบทอดอาชีพ ในอนาคตข้างหน้าอาชีพประมง มันจะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
นายมงคล สุขเจริญคณา คณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ปัญหาที่ผมอยากจะให้ท่านช่วยเร่งด่วนคือปัญหาที่เขาสร้างไว้ ก็คือว่า เขาออกกฎหมายรุนแรง มีโทษปรับรุนแรง ตั้งหน่วยเฉพาะกิจไล่ล่า ท่านคิดดูว่าอาชีพประมง จะอยู่ได้อย่างไร มีกฎหมาย ๓๐๐-๕๐๐ ฉบับ มาใช้กับอาชีพประมง แล้วตั้งโดยเฉพาะกิจ ขึ้นมาไล่ล่าชาวประมง จับกันสนุกเลยครับ แล้วคนที่ไล่จับชาวประมงได้อะไรรู้ไหม เขาได้ยศ ได้ตำแหน่ง เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเขา Happy แต่ชาวประมงต้องฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย บ้านล่มสลายมากมายมหาศาลสังคมไม่รู้ ทุกวันนี้ผมได้มีโอกาสเข้ามาในสภาผมก็ขออนุญาต ฟ้องสภาผ่านไปถึงพี่น้องประชาชนทุกท่านว่า อาชีพประมงก็เหมือนเกษตรกรอาชีพหนึ่ง ที่สามารถหาสัตว์น้ำมาเลี้ยงพี่น้องประชาชนเราในราคาที่ประเทศไทย คนไทย ในอนาคต ข้างหน้าถ้าท่านไม่มีอาชีพประมง ท่านจะไม่มีการ Balance ราคา ถ้าท่านนำเข้ามาเท่าไร เขาก็จะขายท่านราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้เรามีอาชีพประมงที่ Balance อยู่ แต่ความโชคร้ายของเรากลายเป็นว่า ตอนนี้กลายเป็นว่าเรานำเข้ามาขายทุบตลาดประเทศไทย ซึ่งสินค้าเกษตรหลายตัวของประเทศไทยเราถูกทำอย่างนี้ ก็ขออนุญาตผ่านไปทาง ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังผู้มีอำนาจช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนตรงนี้ด้วย
นายมงคล สุขเจริญคณา คณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ในส่วนที่อยากจะเรียนท่านก็คือ ขออนุญาตท่านช่วยผลักดันไปยังรัฐบาล แก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับพี่น้องชาวประมง โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยเหลือ ถึงวันนี้แล้ว ถ้าท่านไม่เร่งช่วยเหลือผมเรียนว่า ตอนนี้ชาวประมงมันไม่มีกำลังเหลืออยู่แล้วครับ ตอนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกทำลายไปหมดแล้วครับ บ้านที่เคยมีสมัยนั้นอาจจะมีแมลงสาบ ๑ ตัว ที่เข้ามาป้วนเปี้ยน คนที่อยู่ในบ้านผู้มีอำนาจในบ้านเราก็เผาบ้านทิ้ง ตอนนี้เหลือแต่ตอครับ ตอนนี้เรียนว่าตรงนี้คือปัญหาที่ท่านจะทำอย่างไร ผมขออนุญาตนำเสนอผ่านท่านประธาน ฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ก็ขอให้ช่วยนะครับ ช่วยเหลือ ๑. ก็คือช่วยเหลือเยียวยา ๒. คือการช่วยเหลือสนับสนุน ถามช่วยเหลือเยียวยานี้มันจำเป็นไหม จำเป็นครับ เพราะตอนนี้พี่น้องชาวประมงไม่มีทุนแล้ว ถามว่าต้องทำอย่างไร พี่น้องชาวประมงบอกขายเรือตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ มาจนปัจจุบันนี้ แล้วเขาก็จอดเรือมา เขามีต้นทุน มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาไม่ได้ออกทำอาชีพ แล้วก็ยังไม่ได้ซื้อ ก็ขอให้สภาช่วยเร่งรัดด้วยว่า ช่วยซื้อเรือคืนในเรื่องของการซื้อเรือออกระบบ เพราะว่า การแก้ Over Fishing จริง ๆ แล้วมันจะต้องมีเรือและสัตว์น้ำ Balance กัน วิธีแก้ของยุโรป ก็คือเขาตั้งงบประมาณซื้อเรือออกนอกระบบ แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ๘ ปี ไม่ทำอย่างนั้นครับ ใช้กฎหมายเอาเรือออกนอกระบบ กลายเป็นว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อน
นายมงคล สุขเจริญคณา คณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
อันที่ ๒ ก็คือขอให้มีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการเงิน ถ้าท่าน จะให้พี่น้องชาวประมงสามารถกลับคืนอาชีพได้ ต้องมีการสนับสนุนในเรื่องทางด้าน งบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเงินปลอดดอกเบี้ยหรืออะไรต่าง ๆ ก็อาจจะไปคิดเอา
นายมงคล สุขเจริญคณา คณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
สุดท้ายที่อยากจะให้แก้ก็คือสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้ามา แล้วก็ทุ่มตลาดบ้านเรา ก็อยากจะให้เร่งรัดแล้วก็แก้ไขปัญหาครับ ก็อยากจะกราบขอบคุณท่านประธานและ ท่านประธานกรรมาธิการ และท่านกรรมาธิการทุกท่านที่ได้ศึกษาในเรื่องของปัญหากฎหมาย ที่เป็นปัญหากับพี่น้องชาวประมง แล้วก็อยากจะฝากในอนาคตข้างหน้าถ้ามีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายประมง ซึ่งอยากจะฝากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ช่วยเร่งรัดให้รีบแก้กฎหมายโดยเร่งด่วน เพราะไม่อย่างนั้นโทษมันรุนแรงมาก ๆ จะทำให้ พี่น้องอยู่ไม่ได้ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ เรื่องแรงงานนี้มีแรงงานแค่แจ้งออกใบผิด ๑ คน ไม่ใช่เป็นแรงงานผิดกฎหมายนะครับ มีโทษปรับ ๒ ล้านบาท แล้วก็ในส่วนของที่มีแรงงานผิด ๑ คน เขายึดใบอนุญาตทำการประมงเลยนะครับ ตรงนี้เป็นกฎหมายที่รุนแรงมาก แล้วโรงงาน อุตสาหกรรมก็ถูกปิด ตรงนี้ผมถึงบอกว่าอยากจะฝากทุกท่านครับ แล้วขอขอบคุณ ท่านประธานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านกรรมาธิการได้ชี้แจงไปเป็นส่วนใหญ่แล้วนะครับ เหลือท่านผู้อภิปรายอีก ๔ ท่านสุดท้าย ท่านแรก ท่านกฤช ศิลปชัย ท่านที่ ๒ ท่านวรวิทย์ บารู ท่านที่ ๓ ท่านชุติมา คชพันธ์ ท่านที่ ๔ ท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ เชิญท่านกฤช ศิลปชัย ครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออภิปรายรายงานการพิจารณาศึกษาและการเสนอแนะการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบ ท่านประธานครับ วันนี้ผมต้องขออภิปรายสนับสนุนรายงาน ฉบับนี้ แล้วก็มีข้อสังเกตต่อรายงานฉบับดังกล่าวนี้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นการ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อกิจการประมงทั้งระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ กระผมได้อ่านร่างรายงานฉบับนี้แล้ว ก็ขอขอบคุณทางคณะกรรมาธิการที่ได้ศึกษา แล้วก็แก้ไข มีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตต่าง ๆ ต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับ พี่น้องผู้ประกอบอาชีพ ทั้งประมงพื้นบ้าน ทั้งประมงพาณิชย์ รวมถึงกิจการประมงทั้งระบบ อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราโทษที่ควรปรับให้เหมาะสมสอดคล้องต่อวิถีชีวิตการทำ ประมงไทย ท่านประธานครับ มีพี่น้องของผมคนระยองเคยถูกจับกุม เพราะแจ้งชื่อแรงงาน ผิดโดยมิได้มีเจตนา ก็คือเขามีลูกน้องอยู่ ๒ คน เป็นพี่น้องกันชื่อคล้ายกัน นามสกุลเดียวกัน แต่ได้แจ้งชื่อสลับกัน ก็คือแจ้งว่าคนพี่ไม่ได้ออก แต่คนน้องเป็นคนออกเรือ แต่ในเหตุการณ์จริง ก็คือคนพี่เป็นคนออกเรือ คนน้องไม่ได้ออกเรือ ปรากฏว่าถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกปรับถึง ๒ ล้านบาท เหมือนที่ท่านกรรมาธิการได้อภิปรายต่อสภาเมื่อสักครู่นะครับ หากจะยื่น อุทธรณ์หรือสู้คดีก็ต้องใช้เวลานาน เรือถูกอายัดไม่สามารถทำการประมงได้ ไม่รู้ต้องใช้เวลา กี่เดือน กี่ปี ท่านประธานครับ ผู้ถูกจับกุมท่านนี้เขามิได้มีเจตนาในการแจ้งชื่อไม่ตรง แต่อาจเกิดจากความผิดพลาด ซึ่งทุกคนผิดพลาดกันได้ ทุกคนเป็นมนุษย์ครับ แต่ค่าปรับ แบบนี้ ปรับกันเอาเป็นเอาตาย ปรับกันล้มละลายแบบนี้ ดังนั้นเรื่องนี้ผมเห็นด้วยมาก ๆ ที่มีข้อเสนอแนะข้อสังเกตของกรรมาธิการอยู่ในรายงานฉบับนี้
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
แต่ท่านประธานครับ ผมเห็นว่ายังมีกฎหมายบางตัวอาจจะยังไม่ได้ถูก หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในการศึกษาครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบ กิจการของภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ท่านประธานครับ ย้อนกลับไปปี ๒๕๕๖ หรือเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว และเมื่อปี ๒๕๖๕ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เกิดเหตุ น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่จังหวัดระยอง และปีที่แล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ก็เกิดน้ำมันรั่ว ที่จังหวัดชลบุรี เหตุการณ์น้ำมันรั่วเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นอย่างมาก ซึ่งการรั่วของน้ำมันแต่ละครั้งมีผลกระทบนานนับ ๑๐ ปี ต่อทรัพยากร ต่อระบบนิเวศ ต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล โดยเฉพาะทะเลชายฝั่ง
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
ซึ่งผมจะมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่ ๑ ดังนี้ ก็คือข้อสังเกตต่อการ ประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อทะเลและทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย หรือมีระเบียบที่ชัดเจนในการทำประกันความเสียหาย ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่มี ความเสี่ยงต่อทะเลและทรัพยากรทางทะเล โดยต้องมีความรับผิดชอบถึงความเสียหาย ให้ครอบคลุม ย้ำนะครับ ครอบคลุมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการดังกล่าว รวมถึงต้องมีการกำหนดให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อันเกิดมาจากอุบัติภัยจากการ ประกอบกิจการ โดยเฉพาะกิจการประเภทโรงกลั่นน้ำมัน
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือที่ ชาวบ้านแถวบ้านผมเขาเรียกว่าการถมทะเล ท่านประธานการถมทะเลมีผลกระทบต่อระบบ นิเวศอย่างถาวร ทางน้ำเปลี่ยน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย ส่งผลให้วิถีชีวิตพี่น้อง ชาวประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่ชายฝั่งเกิดผลกระทบอย่างหนัก วันนี้ คนระยอง คนชลบุรีเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้แล้วครับ แต่ยังไม่มีมาตรการเชิงกฎหมาย ที่จะต้องให้มีการสำรวจความเสียหาย การชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม อย่างเป็นระบบ เรียกง่าย ๆ ว่าหากโครงการไหนทำเรื่องนี้ก็ดีต่อชาวประมง มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่หากโครงการไหนไม่ทำ ไม่ศึกษา ความยากลำบากก็หนีไม่พ้นพี่น้องผู้ประกอบอาชีพ ประมงครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
ข้อสังเกตที่ ๒ ของผมก็คือ หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการและสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรออกมาตรการหรือข้อบังคับ ให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการลักษณะนี้ทั้งระบบ รวมถึงกำหนดให้มี การชดเชยเยียวยา ในการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA ต้องเป็นภาคบังคับครับท่านประธาน ไม่ใช่ใครจะทำเรื่องนี้ก็ได้ หรือไม่ทำเรื่องนี้ก็ได้ จะศึกษาก็ได้ ไม่ศึกษาก็ได้ อันนี้ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
สุดท้ายผมขอสนับสนุนรายงานฉบับนี้ และหากข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต ของผมได้รับการพิจารณาและศึกษาด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบอาชีพประมง ทั้งระบบอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่มีโรงกลั่นน้ำมันหรือพื้นที่ที่มี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างโครงการถมทะเล ซึ่งอันนี้ชาวประมงได้รับผลกระทบมา อย่างยาวนาน และยังไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือมีกฎหมายคุ้มครองพี่น้องประชาชนเหล่านี้ และในอนาคตอันใกล้นี้ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันโครงการแลนบริดจ์ ที่จะมีการถมทะเล ทั้งชุมพรและระนอง สิ่งเหล่านี้หากท่านไม่แก้ไขหรือมีกฎระเบียบกฎหมายต่าง ๆ เข้ามา คุ้มครองพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง ท่านไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากพี่น้อง ประชาชนได้นะครับ ก็ขอฝากท่านประธานด้วย ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวรวิทย์ บารู เชิญครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี เขต ๑ ครับ ในขณะที่เราอภิปราย ในเรื่องนี้ เรื่องตามที่กรรมาธิการวิสามัญได้รายงานมา ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณประธาน และกรรมาธิการทุกท่านที่ได้ทำงานเรื่องนี้ ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแล้วก็รวดเร็ว เพราะว่า เมื่อสักครู่นี้ที่เรากำลังอภิปรายอยู่นี้ มีพี่น้องชาวประมงได้โทรมาบอกว่าจะเป็นไปได้ไหม ใช้เวลาในการพิจารณากฎหมายนี้ให้สั้นลง เพราะความเชื่อมั่นของชาวประมงต่อคณะกรรมาธิการ ผมคิดว่าเรื่องความชำนิชำนาญ โดยเฉพาะท่านประธานเขามีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้ นำโอกาสกลับคืนมาสู่ความเป็นปกติของการประมงไทยจากการที่เราออกไป ๘-๙ ปี จากการที่ข้อเท็จจริงในการทำประมง อย่างหนึ่งที่เรามีความเห็นที่ต่างกันตั้งแต่ต้น ผมคิดว่า กฎหมาย IUU ที่มาใช้กับเรา มิติในการใช้แรงงานคนหรือสัตว์ ผมว่าระหว่างตะวันตก กับตะวันออกมันต่างกัน ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ การใช้ลิงในการขึ้นมะพร้าว ในไม่กี่เดือนมาก่อนก็มีการตื่นตัวกัน ในเรื่องนี้ เพราะว่ามีตะวันตกมาสังเกต แล้วก็จะห้ามในการใช้ผลิตภัณฑ์ทางด้านที่เกิดจาก มะพร้าว เพราะว่าการใช้วิธีนี้ทางตะวันตกบอกว่าเป็นการทรมานสัตว์ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องขอขอบคุณ ในการที่จะแก้ไขกฎหมายที่กรรมาธิการพิจารณานี้ ก็เป็นการ นำกลับไปสู่ข้อเท็จจริงของตะวันออกแล้วก็อยู่กับสากลได้ สิ่งที่เราต้องพิจารณาในเรื่อง ของการประมงนี้ ประมงเราในประเทศไทยในจังหวัดที่ทำการประมง ๒๒ จังหวัด การที่ อยู่ภายใต้กฎหมายที่เขาทำอะไรไม่ได้ แล้วก็ลงโทษอย่างหนักตลอด ๘ ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ จังหวัดหลาย ๆ จังหวัดที่อาศัยประมงในการดำรงชีวิต แล้วก็ในการประกอบอาชีพนี้มีความ เดือดร้อนมากมาย นอกจากนั้นไม่เพียงแค่นั้น อาชีพที่ต่อเนื่อง ธุรกิจที่ต่อเนื่องจากประมง ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน สถานการณ์การประมงและอาชีพต่อเนื่องและธุรกิจต่อเนื่อง มันมีปัญหาสะพานปลาหลายแห่งซบเซา ท่าเทียบเรือประมงไม่มีการใช้เลย ทำให้ตะกอน ที่เกิดจากการพัดพาก็มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีปัญหาที่ทำให้จังหวัดต่าง ๆ ที่ทำการประมง แล้วก็พื้นที่ที่ใช้ประมงมีปัญหา ประมงพื้นบ้านที่ได้รับการร้องเรียนมา แล้วเราก็เห็นกัน อย่างชัดเจน ในข้อเท็จจริงในส่วนของประมงพื้นบ้านที่ออกไปตกปลา เช่น ปลาอินทรีย์ ก็ออกไปไกลจากฝั่ง ถ้าหากว่ายึดเอา ๓ ไมล์ ก็แน่นอนนะครับ มันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แล้วก็ลงโทษรุนแรงด้วย แต่ในข้อเท็จจริงคนเหล่านี้ อย่างเช่นที่บ้านผมที่จังหวัดปัตตานี เขาออกไปทางเกาะโลซินไปตกปลาอินทรีย์ เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่เหล่านี้ถ้าหากในกฎหมายนี้ เราได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย เรือประมงพื้นบ้านสามารถที่จะใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่ได้ ถูกห้ามคือการตกปลาอินทรีย์ อันนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ชาวประมง พี่น้องชาวประมงได้ฝากมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
อีกอย่างหนึ่งก็คือธุรกิจต่อเนื่องที่สำคัญมากในหลายจังหวัด ทั้ง ๒๒ จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปัตตานีเป็นคานอู่ซ่อมเรือ หรือว่าคานเรือที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง จริง ๆ แล้วอู่เรือเหล่านี้เป็นที่ซ่อมเรือของพี่น้องประมงชาวมาเลเซีย แล้วก็ชาวอินโดนีเซีย แต่เนื่องจากว่ากฎหมายดังกล่าวนี้ก็ทำให้อู่เรือ คานเรือเหล่านี้ร้างไปหมด แล้วก็การทดแทน จากภาครัฐก็ยังไม่ทั่ว ไม่ถึง ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นในส่วนของเรือประมงเหล่านี้ที่เป็นของ ต่างชาติ ก็ไม่อาจที่จะมาใช้บริการที่บ้านเราได้ ทำให้อู่ซ่อมเรือหรือว่าคานเรือเหล่านี้ไม่ได้รับ ประโยชน์ เป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
ทีนี้อีกอันหนึ่งที่อยากจะพูดนอกเหนือจากการประมงพื้นบ้าน นอกเหนือจาก ขยายพื้นที่ประมงตามที่ได้พูดแล้วนะครับ ก็ควรที่จะให้การสนับสนุนต้นทุนในการจับสัตว์น้ำ เช่นว่าในเรื่องของน้ำมันเป็นกรณีพิเศษเช่นเดียวกับเรือประมงพาณิชย์ ก็ควรที่จะคำนึงด้วย นอกจากนั้นตามกฎหมายที่ว่าไปอีกอันหนึ่งก็คือการประมงนอกน่านน้ำ จริง ๆ เรามีความสามารถ ที่จะทำได้ แต่ ณ ขณะนี้เรามีเรือไทยที่มีขีดความสามารถทำการประมงในเขตพื้นที่นอก น่านน้ำอยู่ประมาณสัก ๑๐ ลำได้ ทีนี้เราควรที่จะสนับสนุนการประมงนอกน่านน้ำ เพราะว่า สามารถที่จะไปแข่งขันกับไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนได้ ซึ่งความสามารถในการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ พวกเรามีพอนะครับ แล้วก็อำนวยความสะดวกในการพัฒนาการประมงของเรือประมงเรา แล้วก็เจรจาต่อรองในการเพิ่มการทำประมงในเขตประมงรอบบ้านเราเพื่อที่จะได้ร่วมมือกัน ในการจับสัตว์น้ำ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ก็ขาดไป แต่ก่อนนี้เขาดำเนินการไปด้วยดีนะครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
อีกอันหนึ่งที่อยากจะฝากกรรมาธิการตรงนี้ก็คือเรื่องของกองทุนครับ กองทุน ต่าง ๆ มี แต่กองทุนประมงยังขาดอยู่ กองทุนสงเคราะห์การยาง กองทุนอะไรต่าง ๆ มี แต่กองทุนประมงยังขาดอยู่ ในขณะที่การประมงได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติ อย่างมหาศาลเลยทีเดียว ก็ขอขอบคุณท่านประธานอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ บ้านเกิดของดิฉันคือจังหวัดพัทลุงนะคะ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ทำประมงน้ำจืด แต่ด้วยความที่ ดิฉันได้เดินทางไปทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ เพราะฉะนั้นดิฉันก็จะเข้าใจวิถีชีวิต ดิฉันสัมผัส วิถีชีวิตของชาวประมงทั้งน้ำจืด น้ำเค็มนะคะ ก่อนอื่นเลยค่ะดิฉันต้องบอกว่าดิฉันได้อ่าน รายงานเล่มนี้ที่ท่านทำมา ดิฉันก็ชื่นชมนะคะ เพราะว่าท่านเหมือนนั่งอยู่ในใจดิฉันเลย เหมือนรู้เลยว่าดิฉันต้องการจะให้แก้ปัญหาเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งดิฉันอ่านแล้วดิฉันก็เชื่อค่ะว่า รายงานฉบับนี้จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบจริง ๆ แต่ถึงแม้ว่าจะมีบางอย่างที่ถูกใจดิฉันอยู่แล้ว แล้วทางผู้ชี้แจงบางท่านได้ชี้แจงไปแล้ว เมื่อสักครู่นี้ วันนี้ดิฉันเลยขอพูดสั้น ๆ ในบางประเด็นที่ยังไม่ซ้ำและคิดว่าดิฉันกังวลอยู่นะคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อันดับแรก เรื่องนี้ดิฉันต้องบอกว่าดิฉันดีใจมากที่ในหน้า ๔๖ ดิฉันเห็นท่าน แก้ข้อความที่บอกว่าตัดคำว่า สัตว์น้ำ หรือ นำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก ออก อันนี้ดิฉันอยากให้ เร่งแก้ไขโดยเร็ว แก้กฎหมายโดยเร็ว เพราะว่าจังหวัดพัทลุงของดิฉันเรามีปลาที่เราเรียกกันว่า ปลาลูกเบร่ หรือถ้าคนใต้ก็จะมีปลาอีกชนิดหนึ่งที่เรากินกันบ่อยก็คือปลาจิ้งจั้ง ถ้าท่านเคยได้กิน ปลาตัวเล็ก ๆ นี่ไม่ใช่ตัวอ่อนนะคะ มันคือตัวเต็มวัยแต่มันตัวเล็ก ปลาลูกเบร่คือตัวเล็ก จริง ๆ เลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยังมีศักยภาพอีกมาก ยังสามารถที่จะส่งออก ยังสามารถแปรรูป ทำอะไรได้อีกเยอะแยะ การแก้กฎหมายนี้จะช่วยปลดล็อกตรงนี้ได้ ซึ่งดิฉันก็ได้รับฟังปัญหา จากประชาชน จากชาวประมงมา อันนี้คือสิ่งที่ดิฉันถูกใจมาก ๆ เลยค่ะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แต่ในส่วนที่ดิฉันกังวลนะคะ ดิฉันอ่านหน้า ๓๐ ดิฉันก็กังวล คือดิฉันอยากจะ รู้ว่าในแง่ของการส่งออก การตลาด การนำเข้าสินค้าประมงเป็นอย่างไร แต่ว่ารู้สึกจะมีน้อย เหลือเกิน น้อยเกินไป ก็มองได้ ๒ แบบนะคะ คือว่าการที่ท่านพูดถึงประเด็นนี้น้อยเกินไป เป็นเพราะว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือจริง ๆ แล้วไม่ได้มีปัญหามากมายก็เลยไม่ได้พูดถึง มากมายนัก ก็มองได้ ๒ แบบ แต่ดิฉันอยากจะฝากไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันท่านเจรจาตกลงการค้าเรื่องนี้ไปแล้ว ๑๘ ประเทศ ประเทศนี้มีเป็นร้อย ๆ ประเทศเลยนะคะ ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเจรจาให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ ๑๘ ประเทศ สินค้าประมงไทยเรา ทั้งภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน หรือภาคตะวันออกก็ตาม ๒๒ จังหวัด ดิฉันเชื่อมั่นว่าเรา มีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากกว่านี้ เรามีผลิตภัณฑ์ที่จะแปรรูปทำได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้น อันนี้อยากจะฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วถ้าเป็นไปได้ถ้ามีการศึกษาในอนาคตอยากให้ ช่วยกันศึกษาลงรายละเอียดในเรื่องนี้มากขึ้น
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกประการหนึ่งที่ดิฉันกังวลนะคะ โดยข้อกฎหมายที่มีอยู่ดิฉันไม่แน่ใจว่า ข้อกฎหมายนี้จะยังคงเป็นการกีดกันผู้ประกอบการ หรือชาวประมงพาณิชย์รายย่อย อยู่หรือไม่ เพราะว่าดูหลาย ๆ ข้อก็จะเหมือนได้ประโยชน์ คือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่ว่าพาณิชย์ขนาดเล็กก็อาจจะยังไม่ได้ประโยชน์ในบางข้อมากมายนัก ก็อยากจะฝาก ประเด็นนี้ไว้นะคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งคือดิฉันเป็นห่วง เมื่อเราพูดถึงเรื่องปากท้องแล้วนะคะ ดิฉัน ไปจังหวัดสงขลา ดิฉันได้รับร้องเรียนจากชาวประมงก็คือว่าเวลาหน้ามรสุม และในเล่มนี้ก็ตาม ท่านก็มีระบุไว้แล้วว่าบางช่วงเวลาที่ห้าม ห้ามทำประมง คำถามก็คือว่าช่วงเวลาที่ห้ามเขา ทำประมงจะให้เขาทำอาชีพอะไร สิ่งนี้ดิฉันเข้าใจว่าอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกรรมาธิการวิสามัญ ชุดนี้โดยตรง แต่ว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟังอยู่ ดิฉันคิดว่าเราต้องบูรณาการร่วมกัน และในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องคิดร่วมกันว่า เราจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพราะเราห้ามเขาทำประมงในบางช่วงเวลา แล้วเขา จะทำอะไร กินอะไรคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ทีนี้ในส่วนของเวลาที่มีมรสุมก็เช่นเดียวกัน บางช่วงมีพายุเข้าภาคใต้บ่อยมากเลย พายุเข้าบ่อยมากเลยโดยเฉพาะปลายปี ช่วงนั้นล่ะค่ะเขาไม่สามารถออกเรือไปทำประมงได้ เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ให้เขาทำอาชีพอื่น ๆ เป็นอาชีพเสริมหรือไม่ กรมพัฒนาชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องนี้อยู่จะมาช่วยได้อย่างไรหรือไม่ หรือกระทรวงพาณิชย์ หรือทางพาณิชย์จังหวัดก็ตามจะช่วยได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากจะฝากไว้นะคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต่อมาที่ท่านบอกว่าในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้มีการประชุมกัน ปีละ ๔ ครั้ง อันนี้ดิฉันเห็นด้วย เพราะดูว่ามีการประชุมกันบ่อย แต่ขออีกนิดหนึ่งค่ะ ในกรณีที่ บางจังหวัดที่มีปัญหาเยอะ ดิฉันขอเพิ่มได้ไหมคะ คือให้ประชุมกันถี่ขึ้นอาจจะทุกเดือนก็ได้ อย่างบางพื้นที่มีปัญหาบ่อย ๆ แล้ว ๔ ครั้งต่อปีคงไม่พอ ควรจะมีมากกว่านั้น จังหวัดไหน ที่ไม่ค่อยมีปัญหา ก็โอเคค่ะ ตามข้อกำหนดเดิมคือ ๔ ครั้ง ต่อ ๑ ปีไป
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายที่ดิฉันเป็นห่วงนะคะ ไม่ว่าเราจะทำเล่มนี้ดีแค่ไหน เราจะแก้ กฎหมายช่วยเหลือประชาชนดีแค่ไหนก็ตาม แต่หากขาดการประชาสัมพันธ์ ชาวประมงเขาก็ ไม่ทราบ ดิฉันไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวประมงเล่าให้ดิฉันฟัง แทบจะเล่าทั้งน้ำตาเลย เป็นผู้ชายแต่เขาก็อึดอัดคับข้องใจมาก เขาบอกดิฉันว่าเขาเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือ แต่เขาไม่รู้ กฎเกณฑ์บางอย่าง เพราะเขาไม่รู้จะถามใคร ไปถามประมงจังหวัดบางทีก็เหมือนกับว่า ไม่เต็มใจตอบ ก็ไม่รู้จะถามอย่างไรดี เขาก็แบบชาวบ้านก็ไม่กล้าถามลงรายละเอียดเยอะ กลัวโดนดุอะไรอย่างนี้ค่ะ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดนะคะ มันกลายเป็นว่าพอเขา เปลี่ยนเครื่องยนต์อีกประเภทไปเป็นอีกประเภท แล้วทางสำนักงานบอกว่าให้เขาไปถ่ายรูป ย้อนหลัง เขาก็ถามดิฉันว่าแล้วจะให้ผมทำอย่างไร ผมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วผมจะเอารูป จากไหนย้อนหลัง แล้วนี่คือปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่าเราคงจะไปว่าประชาชน ไม่ได้หรอกค่ะ ว่าทำไมคุณศึกษา คุณไม่ดู โอเคหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นของเขา แต่ต้องย้อนกลับมา มองในภาครัฐด้วยนะคะว่าเราได้ช่วยเหลือเขาเต็มที่หรือยัง เราได้ประชาสัมพันธ์ เราได้จัด หลักสูตรอบรมหรืออะไรก็ตามที่เราจะทำได้ภายใต้หน้าที่ของพวกเรา หรือว่าภายใต้หน้าที่ ของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ดิฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยนะคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ดิฉันเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ และจะสามารถช่วยเหลือ พี่น้องชาวประมงของเราทั้ง ๒๒ จังหวัดได้อย่างแท้จริง ก็ขอชื่นชมและเห็นด้วยกับรายงาน ฉบับนี้ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ เชิญครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องชื่นชมที่กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ใช้เวลาศึกษาเร็วมาก ๖๐ วัน ได้รายงานมาขนาดนี้นะครับ เพราะว่าในความเป็นจริงเราก็ต้อง เข้าใจกันดีนะครับว่า จริง ๆ มันไม่ใช่เวลาจะมาศึกษากันแล้ว เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาที่จะต้อง แก้ไขกันได้แล้ว แต่ว่าในส่วนของรายละเอียดตามที่ศึกษามานี้ก็ไปว่ากันในส่วนรายละเอียด แต่ที่ผมอยากอภิปรายก็คือเรื่องของความเร่งด่วน ผมอยากให้ฝ่ายบริหารเข้าใจถึงต้นตอ ของปัญหาเสียก่อน จะได้ตระหนักว่านี่คือเรื่องเร่งด่วนไม่ใช่เรื่องที่จะมารอกันได้ ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องประมง ไม่ใช่ปัญหาทั่ว ๆ ไปที่รอฝ่ายบริหารแก้ไขได้ แต่นี่เป็นปัญหาทางการเมือง มันเป็นมรดกตั้งแต่ยุค คสช. ทิ้งเอาไว้ IUU คืออะไรครับ IUU เป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุม การรายงานเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการทำผิดกฎหมายประมง ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้อง เกิดปัญหานี้ขึ้นมา
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
สาเหตุที่เราได้ใบเหลืองจาก IUU ซึ่งเป็นข้อตกลงจากยุโรปนี้ ถ้าท่าน ไปอ่านในละเอียดว่าสาเหตุอะไร ทำไมเราถึงถูกใบเหลือง ชาวประมงไม่ใช่คนผิดเลยนะครับ ความผิดไม่ใช่ของชาวประมงเลยนะครับ รัฐไทยคือคนผิดนะครับ ไม่มีการรายงาน ไม่มีการ ควบคุม ใช้กฎหมายล้าหลังตั้งแต่ปี ๒๔๐๐ ก่อนปี ๒๕๐๐ อีก จนเกิดให้มีการทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้น แต่ไปโทษชาวประมง ปัญหาหรือว่าความโชคร้ายของชาวประมงไทยคืออย่างนี้ครับ มันดันได้ใบเหลืองในตอนที่รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร นี่คือความโชคร้าย หลังทำ รัฐประหารคุณประยุทธ์ซึ่งตอนนี้ไปเป็นองคมนตรีแล้วนะครับ ก็ยังสร้างบาปกรรมไว้เยอะ คุณประยุทธ์หลังทำรัฐประหารไม่นานหรอกครับ ก็ได้ใบเหลือง ตอนนั้นไม่มีที่ยืนในสังคม เวทีโลกไม่ต้องกล้าไปเชิดหน้าชูตาหรอก อยากได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่มาอย่างถูกต้อง เหมือนคนอื่นเขาบ้าง พอได้ใบเหลืองฝรั่งมาบอกว่าคุณทำผิดนะ คราวนี้เต้นเป็นเจ้าเข้าเลย ทำอย่างไรครับ ก็อยากจะแก้ไขปัญหานี้ IUU เขาบอกว่าให้เวลา ๖ เดือน ไปทำแผนมา ประยุทธ์บอก ๖ เดือน ผมแก้ปัญหาเสร็จเลย ไม่ต้องห่วงจะโชว์ฝรั่ง แล้วเป็นอย่างไรครับ ท่านประธานครับจะแก้ปัญหา IUU แก้อย่างไร เขาบอกว่าคุณไม่ได้รายงาน คุณไม่ได้ควบคุม แล้วคุณก็เลยมีการทำผิดกฎหมาย ถ้าจะแก้ปัญหานี้แบบมักง่าย จะแก้ปัญหานี้แบบฉลาดน้อย มันก็แค่ลดจำนวนเรือลง ก็ไม่ต้องให้เรือออกไป ถ้าไม่มีตัวเลขเรือมันก็ไม่มีตัวเลขที่จะต้องรายงาน ไม่มีเรือมันก็ไม่ต้องควบคุม ไม่มีเรือมันก็ ไม่มีการทำผิดกฎหมาย นี่คือสิ่งที่คิดง่ายที่สุดสำหรับคนมักง่ายจะคิดในการบริหาร กฎหมาย มันเลยออกมาเยอะแยะไปหมด โทษมันเลยรุนแรงขนาดนั้น เท่านั้นไม่พอ ไปเอาเรื่องค้ามนุษย์ ที่มันเป็นข้อเรียกร้องจากสหรัฐอเมริกามารวมอีก ผลก็ได้อย่างที่เห็นนี้ครับ วันนี้ก็ไม่เหลือ เรือประมงอีกแล้ว หายไปมากกว่าครึ่งอีก ผมอยู่ติดทะเลเป็นผู้แทนเขตบางปะกง สิ่งที่เจ็บปวดมากเลยก็คือเวลาไปฟังหน่วยงานประมงมาบอกว่าที่มันเกิดเหตุนี้ เพราะว่า ชาวประมงทำลายสิ่งแวดล้อม ที่หอยแครงมันหายไปหมดเพราะชาวประมงคราดหอยแครงไป มันเจ็บปวดมากครับท่านประธาน โรงงานอุตสาหกรรมนิคมเกือบ ๑๐,๐๐๐ โรงงาน ไม่พูดถึง สักคำเดียว คนที่พูดนี้คือฝ่ายวิชาการด้วยนะครับ โรงไฟฟ้าบางปะกงมาตั้งไม่ถึง ๕ ปี ปลาทูหายไปจากบางปะกง เมื่อก่อนบ้านผมมีปลาทูกินนะครับ ไม่พูดถึงเลย พูดแต่ว่า ชาวประมงผิด ๆ ศรชลก็ตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ล่ะครับ จะไล่ล่า จะจับกุม เพื่อจะลดจำนวนเรือ แล้วก็เอากองทัพเรือมาทำงาน ขับเรือชนชาวประมง ยิงกันกลางทะเล ชาวบ้านที่บางปะกง โดนยิงมากลางหลัง โชคดีไม่โดนกระดูกสันหลัง เพื่อต้องการเรียกให้จอดจะได้ตรวจแค่นั้นเอง ไปตรวจเรือประมงที่เป็นเรือประมงท้องถิ่น เรือประมงพื้นบ้าน พก M16 ถือลูกซอง แล้วเรือ เป็น ๑๐ ลำ ไปรุมจับเรือพื้นบ้านลำเดียว ไปหาว่าเขาคราดหอยแครงตัวเล็ก ๆ ถ่ายคลิป โชว์ด้วยว่านี่คือผลงานศรชล จบคลิปก็เอาลูก ๆ หอยแครงมาเทลงทะเลแล้วก็บอกว่านี่ เป็นการช่วยเหลือหอยแครง คุณจะฆ่าชาวประมงเพื่อช่วยหอยแครง
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ใบเหลือง IUU นี้ประเทศอื่นเขาก็โดนนะครับ แล้วเขา ทำอย่างไร เขาก็ยืดเวลาขอต่อรองกับ IUU ขอเวลาหน่อยได้ไหม ขอเวลาปรับตัวหน่อย ปรับพฤติกรรมชาวประมงหน่อย เพราะเขาเห็นหัวประชาชนของเขา ประเทศไหนเขาก็ ทำกันแบบนี้ เพื่อนบ้านเราก็ทำแบบนี้ ขอยืดไป ๕ ปี ขอยืดไป ๑๐ ปี มันไม่ใช่ว่า ถ้าโดนใบเหลืองแล้วประเทศจะขาดรายได้จากการส่งออก ท่านไปดูการส่งออกไปยุโรปใหม่ ปลาทูน่าจับบ้านเราหรือครับ ปลากระป๋องปลาทูน่าอะไรนี้ก็ไม่ได้จับในน่านทะเลบ้านเรา ไปจับที่อื่นนำเข้ามา ไม่ได้กระทบอะไรเท่าไรเลย แต่อยากได้พื้นที่ในเวทีโลก อยากได้หน้า ในเวทีโลก มันถึงเป็นผลงานตลอด ๓-๔ ปีที่ผ่านมา พูดคุยโม้โอ้อวดตลอดว่านี่คือผลงาน ที่จัดการเรื่อง IUU ได้ภายใน ๖ เดือน ภายใน ๑ ปี ภายใน ๒ ปี มันเป็นผลงานที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องกล้าที่จะยืนยันว่าผลงานที่เคยพูดมานั้นมันผิด ผลงานที่เคยพูดมานั้นมันมักง่ายมาก เป็นวิธีการคนที่เห็นหัวประชาชนเขาจะไม่ทำกัน นี่คือสิ่งที่อยากให้ฝ่ายบริหารทราบครับว่า มันจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนได้แล้ว ไม่อย่างนั้นชาวประมงก็จะหายไปเรื่อย ๆ ชาวประมง ที่ผมเคยรู้จักที่ผมเคยไปหาเสียงไว้ เด็ก ๆ ที่ผมรู้จักวันนี้ผมต้องไปประกันตัวเขา เพราะว่า ไปขายยาแล้ว ไม่มีงานให้ทำเพราะไม่ได้ออกทะเล โรงงานก็ไม่รับ เพราะว่ายังไม่เกณฑ์ทหาร ทำอย่างไรครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
มาตรการเร่งด่วนที่ผมอยากจะเสนอซึ่งฝ่ายบริหารทำได้เลย เป็นข้อเสนอ ที่ผมได้รับมาจากท่านที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ อย่างแรกเลย แขวนกฎหมายไว้ก่อน กฎหมายที่ยังไม่ได้แก้นี้มันแขวนได้ ยังไม่ต้องบังคับใช้ได้ เลือกแขวน ไว้ก่อน จะกี่ข้อ กี่ฉบับไปว่ากันทีหลัง แต่แขวนไว้ได้
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
อย่างที่ ๒ กรมประมงต้องเลิกทำเรื่องอุทธรณ์ได้แล้ว เวลาที่แพ้ชาวประมงเขา ในศาล ท่านจะมาอุทธรณ์ทำไม ท่านก็รู้อยู่ว่าปัญหามันเกิดจากอะไร ไม่ต้องมาอุทธรณ์ให้มัน เสียเวลา ชาวบ้านเดือดร้อนจะตายอยู่แล้ว ดึงเวลาเอาไว้ในศาลไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็ตายไป เรื่อย ๆ นี่เป็น ๒ อย่างที่สามารถทำได้เลยครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
แล้วจริง ๆ ผมเห็นท่านกรรมาธิการก็บอกว่าขอสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรไม่มีปัญหาเลยครับ สภาผู้แทนราษฎรมีกฎหมายรออยู่ ๕ ฉบับ แก้ พ.ร.บ. ประมงรออยู่ ๕ ฉบับ ท่านเลื่อนขึ้นมาสิครับ ทุกคนพร้อมผ่านให้อยู่แล้ว ๕ ฉบับ จาก ๕ พรรคการเมือง ท่านเลื่อนขึ้นมาได้ไหมละครับ ผมเพิ่งเห็น ครม. เพิ่งอนุมัติเอง ว่าจะให้ทำเรื่องนี้ จะมารออะไร สภาผู้แทนราษฎรพร้อมแล้วครับ ถ้ารัฐบาลไม่พร้อมก็เรื่องของ รัฐบาล แต่สภาผู้แทนราษฎรพร้อมแล้วเลื่อนขึ้นมาได้ไหมละครับ อย่างไรฝากด้วยนะครับ มันเจ็บปวดมากครับ การที่เกิดมามีบ้านอยู่ติดทะเล มีเรือด้วยแต่ไม่สามารถหาประโยชน์ หากินกับทะเลไม่ได้ เรือก็ถูกล็อกเอาโซ่คล้องไว้มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ฝากด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ก็ต้องขอโทษแทนท่านสมาชิกที่มีความประสงค์ที่จะอภิปรายเพิ่มนะครับ ผมคิดว่าเราเห็น ไปในทิศทางเดียวกันหมด แล้วก็เป็นห่วงเป็นใยพี่น้องชาวประมงนะครับ ท่านประธาน กรรมาธิการจะตอบนิดหนึ่ง เพราะว่าเราได้ตอบไปหมดแล้ว เห็นพ้องตรงกันหมดนะครับ จะได้รีบ ๆ นำเสนอรัฐบาลนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ ท่านประธานที่อนุญาต ท่านธรรมนัสอย่าเพิ่งไปนะครับ ผมได้ขอบคุณท่านตอนท่านไม่อยู่ วันนี้จะขอบคุณต่อหน้าท่านนะครับ รัฐบาลนี้ผมไม่ได้เป็น แต่ผมเป็นผู้ช่วยรัฐบาลนะครับ เกิดเรื่องปุ๊บก็เรียกคณะกรรมการ IUU ประมง มีท่านภูมิธรรมเป็นประธาน ท่านธรรมนัส เป็นรองประธาน ผมเป็นผู้ช่วยรองประธานก็แล้วกันนะครับ ก็รีบทำงาน ทำแล้วเนื่องจาก เราไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ที่จะเอาการตัดสินใจของเราเพื่อช่วยชาวประมงให้เป็นมรรคเป็นผล ท่านรัฐมนตรีธรรมนัสก็ไปประชุมคณะกรรมการประมงแห่งชาติ แล้วก็ไปตั้งกรรมการพิเศษ ที่กระทรวง แล้วก็รับลูกจากเราไปพิจารณา แล้วท่านก็เซ็นกฎหมายรอง ๑๓ ฉบับ ๑๔ ฉบับ อะไรนี้ แล้วก็จะมีอีกนะครับ ที่มันเป็นมรรคเป็นผลมานี้ก็ท่านเซ็นนะครับ ต้องขอขอบคุณท่าน อีกครั้งหนึ่งนะครับ รวมถึงที่ ครม. ผ่านเมื่อวานนี้ ท่านก็มีแรงผลักดันพอสมควร ก็แล้วกันนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ทีนี้ผมจะเรียนตอบนิดหนึ่งให้ท่านสบายใจนะครับ เรื่องการจับรุนแรง โดยทหารบ้าง ตำรวจบ้าง อันนี้คงหมดไปแล้วล่ะครับ เพราะว่าหัวหน้าผู้จับเข้ามาสารภาพเองว่า แต่เดิมเขาก็ไม่อยากทำ เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่ทำ รับรองว่าไม่ทำ แล้วก็ส่งหนังสือว่าไม่ทำ แล้วก็มอบอำนาจกลับมาให้กรมประมง เพราะฉะนั้นก็ขอให้ชาวประมงสบายใจ เอาปืน เอาอะไรไปไล่ชาวประมงมันไม่ใช่หน้าที่ท่าน เพราะฉะนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว ถ้ามีก็ช่วยมา บอกผมก็แล้วกัน
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
อีกอันหนึ่งก็ถือโอกาสเรียนท่านเรื่องน้ำมันช่วยชาวประมง ตอนนี้กำลังทำอยู่ ตกลงกันไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว น้ำมันสีเทาที่ว่านี้เราช่วยชาวประมงพาณิชย์ ทีนี้บังเอิญเรือน้ำมัน เขาไม่ให้เข้าใกล้ฝั่ง เรือประมงพื้นบ้านก็ลำเล็กออกไปไม่ได้ เพราะว่าคลื่นลม เรือเติมน้ำมัน ก็เข้าฝั่งไม่ได้ รวมความแล้วมีน้ำมันกับไม่มีน้ำมัน มันไม่เจอกันครับท่านประธาน ตอนนี้กำลัง เจรจากันว่าจะเอาอย่างไร เรือเล็กจะฝ่าคลื่นลมออกไปหรือเรือใหญ่ควรจะเข้ามา อันนี้กำลังแก้
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
อันที่ ๒ ซึ่งประเทศไทยมันตลกมาก เรือเติมน้ำมันไม่มีน้ำมันครับ น้ำมันหมด ต้องเข้าฝั่ง เพราะน้ำมันที่ขนไปไม่สามารถจะเติมตัวเองได้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องตลกมาก เพราะความไม่ไว้วางใจกัน แต่ก็แก้แล้วเช่นกัน แก้ด้วยท่อเล็ก ๆ ท่อเดียวต่อระหว่างถังน้ำมัน ที่ตัวเองมีอยู่ ต่อถังน้ำมันของตัวเองแล้วก็มีมิเตอร์เท่านั้นก็จบนะครับ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
อีกอันหนึ่งซึ่งสำคัญมาก แล้วผมก็ดีใจที่ท่านยกขึ้นมานะครับ คือการที่ฝรั่ง ไม่ค่อยเข้าใจ สัตว์น้ำขนาดเล็กบ้านเราเขาเรียก Multi Species มันทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ แล้วก็สารพัดชนิดเขาก็รู้อยู่ไม่กี่ตัว อ้ายเราดันไม่เถียงเขา แต่ตอนนี้เถียงแล้วนะครับ รวมถึงวัฒนธรรมอย่างที่ท่านพูดเรื่องชาวเลเขาก็ไม่เข้าใจ ที่ผมพูดอันนี้ไม่มีอะไรหรอกครับ ผมกำลังจะเรียนว่าที่ผ่านมานี้เราไม่โง่ก็เป็นใบ้หรือขี้กลัว มีไม่กี่อย่างครับ ฝรั่งมาว่าอย่างไร ก็ว่าตาม เขาขอ ๕ ข้อ ให้ ๙ ข้อ เขามาครั้งที่ ๒ เขาก็ขอ ๒๐ ข้อ เราให้ ๙๙ ข้อ อย่างนี้ มันไม่ไหวนะครับ วันนี้อธิบดีกรมประมงก็อยู่ที่นี่ ก็ฝากท่านไปด้วย ต่อไปไม่ต้องไปกลัวมัน ท่านยืนให้เขาดูด้วยต่อไปนี้ห้ามกลัว อธิบดีใหม่เอี่ยมท่านธรรมนัสท่านตั้งมานะครับ ก็ขอบคุณท่านประธานที่กรุณานะครับ ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งครับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพรักทุกท่านครับ อีกอาทิตย์ ๒ อาทิตย์ ก็คงได้เข้ามาพิจารณา แล้วพวกผมก็จะ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนตัวผมแก่มากแล้วอายุ ๗๙ ปี ที่จริงก็ไม่ควรทำ แต่ด้วยความที่เป็น เรื่องประมง แล้วเป็นเรื่องความเสียหาย ผมจะช่วยท่านจนวินาทีสุดท้าย แม้นว่าผมจะแก่ แม้นว่าผมจะป่วย ผมป่วยมากกว่าที่ท่านรู้จัก แต่ผมแกล้งแข็งแรงอย่างนั้นเองนะครับ ก็ฟื้นฟูประเทศไทยครับ ประเทศไทยต้องกลับเป็นผู้นำตามเดิม ชาวประมงจะต้องมีหน้ามีตา ยืนอยู่ในสังคมได้ ของเรามีอยู่แท้ ๆ ทำไมเราไม่ทำ เราไม่เชิดชูแล้วไม่ใช่ ไปทำเรื่องที่มันไม่มี มันเรื่องอะไร ก็ขอบคุณอีกครั้ง ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ จากการรับฟังการอภิปรายของท่านสมาชิก ก็เห็นว่าอภิปรายไปในทิศทาง เดียวกันนะครับ เห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกตของกรรมาธิการ ก็ไม่มีผู้ใดได้คัดค้าน ดังนั้นผมจะขอใช้อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ถามที่ประชุมว่าจะมีสมาชิกท่านใดที่เห็น เป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เอาอันนี้ให้เสร็จก่อนไหม
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นนี้ครับท่านประธาน ประเด็นนี้ไม่ประเด็นอื่นอยู่แล้วครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ เรียนถามท่านประธานก่อนที่ ท่านประธานจะถามเพื่อนสมาชิกว่าเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ผมถามแนวปฏิบัติก่อนครับ เพราะว่าในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญประเด็นเรื่องประมงนี้มันมีอยู่ ๒ ส่วน ด้วยกันครับ ส่วนแรกก็คือเรื่องเนื้อหากับส่วนที่ ๒ ก็คือข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกต ทีนี้หากมี บางประเด็นที่เราอยากสนับสนุน แต่ว่าอาจจะมีบางท่านที่ไม่เห็นด้วย สมมุตินะครับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจะลงมติอย่างไร จะลงแยกกันหรือว่าจะลงครั้งเดียวกัน แต่ถ้าเกิดเห็นด้วย ตรงกันอย่างไรเดี๋ยวว่ากัน แต่ว่าถามไว้ก่อนครับ เพราะว่าจะเริ่มมีรายงานทยอยมาเรื่อย ๆ ผมเองก็ชักไม่มั่นใจว่าวิธีปฏิบัติจริง ๆ เวลาลงมติรายงานกรรมาธิการนี้ โดยข้อบังคับ โดยกระบวนการปฏิบัติจะต้องทำอย่างไร เพราะว่าแบบนี้ลงกันเรื่อย ๆ แน่นอนครับ มีรายงานมาอย่างไรลงกันเรื่อย ๆ แน่นอน โดยถามท่านประธานไว้ตรงนี้ก่อนครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ถ้าสมาชิกเห็นด้วยทั้งรายงาน ทั้งข้อสังเกต ก็ถือว่าใช้ข้อ ๘๘ นะครับ แต่ถ้าเห็นด้วยเฉพาะรายงาน ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกต ก็ต้องโหวตข้อสังเกต ฉะนั้นวันนี้ ถ้าท่านสมาชิกเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องชาวประมงทั้งข้อสังเกตที่เขียนมา แล้วก็รายงานที่ทำมา ถ้าเห็นด้วยไปในทิศทางเดียวกันก็ใช้ข้อ ๘๘ ได้ ก็ถือว่าในที่ประชุมไม่มีผู้ใดขัดข้อง ก็ถือว่า ไม่มีผู้ใดขัดข้องนะครับ ก็ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๐๔ และข้อ ๑๐๕ ประกอบข้อ ๘๘ นะครับ ขอบคุณครับท่านผู้ชี้แจง ท่านกรรมาธิการ ขอบคุณทุกท่านครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ มีอะไรครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่นี้ที่ท่านประธานก็ได้บอกเอง ว่าในฐานะที่เป็นห่วงเป็นใยพี่น้องชาวประมง แล้วจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในชุดนี้ก็มีร่างพระราชบัญญัติที่เป็นการแก้ไขกฎหมาย แล้วผมก้มดูระเบียบวาระการพิจารณา ที่บรรจุไว้แล้ว ตั้งแต่ระเบียบวาระพิจารณา ข้อ ๕.๕๓ ตั้งแต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พุทธศักราช ๒๕๕๘ ร่างของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ จนถึงร่างพระราชบัญญัติแก้ไขที่คุณวรภพ วิริยะโรจน์ และคณะเป็นผู้เสนอ จากร่างทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายสอดคล้องกับที่กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้เสนอ ดังนั้นครับท่านประธาน ในเมื่อเราเห็นความสำคัญของร่างญัตติดังกล่าว ผมจึงขออาศัย ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๕๔ (๒) ในการเสนอญัตติขอเปลี่ยนวาระ การประชุมให้เข้ามาพิจารณาในลำดับถัดจากญัตติ เรื่อง การขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาค่าไฟแพง ขอผู้รับรองครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีท่านสมาชิกขอเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมา มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็น อย่างอื่นไหม เชิญครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาลครับ ต่อเนื่องจากกรณีที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ได้ขอเปลี่ยน ระเบียบวาระ ผมฟังจับใจความได้ก็เข้าใจครับว่าทางเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลก็เห็นถึง ความต่อเนื่องในการพิจารณากฎหมายในวันนี้ ซึ่งแน่นอนครับในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้าและพรรคอื่น ๆ เราก็ทราบดีครับว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และพวกเราก็ให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้อง ชาวประมง แต่อย่างไรก็ดีครับท่านประธาน ผมไม่เห็นด้วยกับการที่เพื่อนสมาชิกจะขอให้ เปลี่ยนระเบียบวาระในการพิจารณากฎหมายคือร่าง พ.ร.บ. การประมง ซึ่งท่านประธานครับ ขณะนี้ในระเบียบวาระของเรามีร่างที่เกี่ยวกับประมง เสนอโดยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล คุณวิสุทธิ์ ไชยณรุณ คุณพิทักษ์เดช เดชเดโช คุณคอซีย์ มามุ สส. พรรคพลังประชารัฐ แล้วก็ยังมีของคุณวรภพ วิริยะโรจน์ แต่ผมเรียนท่านประธานครับ เรื่องนี้ถ้าเรารอสักอาทิตย์หนึ่ง ผมได้ข่าวมาว่าในสัปดาห์หน้าทางคณะรัฐมนตรีก็จะรับรอง แล้วก็ส่งร่างพระราชบัญญัติ การประมงเข้ามา เราก็จะได้สามารถร่วมพิจารณากันได้ในทีเดียว นั่นผมเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ เป็นประโยชน์มากกว่า ท่านประธานครับ ผมเพิ่มเติมนิดเดียวครับ ในสัปดาห์ที่แล้ว เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยครับ ท่านเดินทางไปที่ประเทศเยอรมนี เพื่อไปร่วม ประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศต่าง ๆ และผม เชื่อครับว่าหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญที่ถูกหยิบยกเข้ามาพูดคุย ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ประมงเหมือนกัน ดังนั้นเองครับท่านเพิ่งกลับมา ผมเชื่อว่าหลังจากที่ประชุมมาแล้วคงจะมี เรื่องข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายสักเล็กน้อย ดังนั้นเองผมเชื่อว่าเราสามารถ รอได้ เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างมันลงตัว แล้วอาทิตย์หน้าผมเชื่อว่าสภาแห่งนี้เราจะได้ ร่วมกันพิจารณากฎหมายที่เพื่อนสมาชิกต้องการไปพร้อม ๆ กัน พร้อมกับร่างของ ครม. ผมจึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการเลื่อนระเบียบวาระในครั้งนี้ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีผู้เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระที่ ๕.๕๓-๕.๕๗ ขึ้นมาพิจารณา ต่อจากการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๕.๕ ซึ่งจะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ มีท่านสมาชิกไม่เห็นด้วย ที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมา เชิญท่านปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ ขออนุญาตนะครับท่านประธาน คือตอนนี้ก็มีญัตติของท่านเอกราช อุดมอำนวย แล้วก็มีผู้เห็นต่างก็คือท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร นะครับ ผมขอเวลาสักครู่เดียว ในการอภิปรายสนับสนุนญัตติของท่านเอกราช อุดมอำนวย ในการเลื่อนวาระร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประมงตั้งแต่ ๕.๕๓-๕.๕๗ เพื่อให้มาต่อจากญัตติ ๕.๕ และจะพิจารณา ในวันพรุ่งนี้ครับ อย่างที่ผมได้หารือกับท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไปเมื่อเช้านี้ ก็คือเรื่องการหารือในการแยกวันพิจารณากฎหมายให้ชัดเจน เพื่อให้ สภานิติบัญญัติของเราทำหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายมา คือการออกกฎหมายและพิจารณา กฎหมาย อีกครั้งครับผมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ และรายงานของกรรมาธิการวิสามัญทุกคน ในสภาแห่งนี้ก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะมีการแก้ไขกฎหมายประมงทั้งระบบ แล้วก็ควรจะ เริ่มต้นมาจากร่างที่ สส. ยื่นกันแล้วครับ สส. ที่มีหน้าที่นิติบัญญัติยื่นกันมาแล้วกว่า ๕ ร่าง แล้วเราก็คิดว่า ถ้าการพิจารณาร่างกฎหมายเหล่านี้เป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วก็จะ เป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวประมงเช่นกัน แต่อีกครั้งครับที่ทางพรรคฟากฝั่งรัฐบาลก็ให้รอ อีกนิดหนึ่ง รออีกสักสัปดาห์หนึ่ง และเหตุผลที่รอคืออะไร รอให้ฝ่ายบริหารอนุมัติร่างของ ตัวเองมาก่อน ตกลงต้องให้สภามานั่งเรียกร้องทุกอาทิตย์ว่าเมื่อไรฝ่ายบริหารจะยื่นร่างอะไรมา แล้วเราก็จะพิจารณาเฉพาะร่างที่ฝ่ายบริหารยื่นมา และมีร่างที่เป็นหลักการเดียวกันที่ สส. ยื่นเท่านั้น ส่วน สส. ที่ยื่นมาก็รอไปครับ แล้วก็ไม่แยกวันพิจารณาสักที เราก็พูดกันแต่ญัตติ พูดกันแต่ รับทราบรายงานกันเป็น Week ไป อย่างที่ท่านณัฐวุฒิบอกเมื่อเช้าครับ ประชุมกันแบบ ตะมุตะมิ มีแต่ญัตติอะไรเต็มไปหมด กฎหมายรออยู่ ๒๐ กว่าฉบับ รับฟังความเห็นอยู่อีก ๑๐ ฉบับ ที่เตรียมบรรจุเข้าวาระ อีกไม่นานนี้ก็จะบรรจุเข้าวาระแล้วครับ ดังนั้นผมคิดว่า ถ้ายังไม่มีการแยกวันอย่างชัดเจน ผมก็จะเลื่อนแบบนี้ล่ะครับ แล้วญัตติอะไรเข้ามาลงมติกัน ทุกญัตติครับ ดังนั้นผมคิดว่ามาเจรจากันให้เรียบร้อย ถ้ามีการแยกแต่ผมคิดว่าการทำงาน ก็จะราบรื่นกว่านี้ครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านปกรณ์วุฒินะครับ ช่วงที่รอนี้ ผมได้นัดวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้านแล้วก็ทาง คณะรัฐมนตรี ๓ ฝ่าย ให้มาคุยกันเรื่องการพิจารณากฎหมายในวันพุธ เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องที่ จะประชุมเพิ่มว่าท่านจะใช้วันไหน วันศุกร์ที่เท่าไรที่จะประชุมเพิ่ม ดังนั้นวิปไปคุยกันว่าพรุ่งนี้ ๙ โมงเช้าจะว่างกันไหม ถ้าพรุ่งนี้เช้า ๙ โมง ไม่ว่าง ก็เป็นวันศุกร์ ๙ โมงเช้า เอา ๒ วันนี้ เร่งด่วนนะครับ ท่านไปหารือกันทั้ง ๓ ฝ่าย มีเวลา ๒ วันนี้ สรุปแล้วก็แจ้งผม เชิญ ท่านครูมานิตย์ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทยครับ ถ้าผม ไม่ลุกขึ้นมาชี้แจงต่อท่านประธานผ่านไปยังพี่น้องประชาชนที่ติดตามอยู่ก็ดี หรือพี่น้องเพื่อน ในสภาแห่งนี้ กลัวว่ารัฐบาลจะเสียหายนะครับ จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ. ประมง มันเป็น พ.ร.บ. ที่มีปัญหาจริง ๆ เพียงแต่ว่าสภาแห่งนี้ กรรมาธิการวิสามัญนำเรื่องเข้ามาแล้วก็เสนอวันนี้ รัฐบาลเขาทำเสร็จแล้วครับ รัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ก็นั่งอยู่ ท่านให้ความสำคัญท่านก็ใส่ใจ แล้วท่านก็ลงไปดูปัญหาเรื่องนี้ในพื้นที่มาตลอด แล้วรัฐบาลเองท่านนายกรัฐมนตรีก็เพิ่งไป ระนองมา เพียงแต่ว่าอยากฟังข้อเสนอแนะจากกรรมาธิการวิสามัญที่เสนอไปเสร็จแล้ว พร้อมกับสภาแห่งนี้ ผมอยากกราบเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน เรื่องกฎหมายมันไม่ใช่ เรื่องเล็กนะครับ เมื่อกี้ที่เราด่ารัฐบาลที่แล้ว เราไปตำหนิเขาเพราะเขาเป็นคนบริหาร ฉะนั้น สภาแห่งนี้จริงอยู่เป็นสภาที่ออกกฎหมาย แต่ต้องให้รัฐบาลรับทราบ แล้วกฎหมายบางฉบับ มันเป็นกฎหมายทางการเงิน เพราะคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารก็คือรัฐบาล เกิดผิดพลาด ขึ้นมา หรือสภาแห่งนี้ทำกฎหมายไปบังคับให้เขาต้องทำอย่างโน้น ให้เขาต้องทำอย่างนี้ มันไม่ได้ครับ ฉะนั้นรออีกนิดเดียว เมื่อวานนายกรัฐมนตรีก็แถลงชัดเจนแล้วว่าอาทิตย์หน้า ฟังเรื่องนี้เสร็จ อาทิตย์หน้าก็นำกฎหมาย พ.ร.บ. ประมงเข้าสภา เมื่อวาน ๒-๓ เรื่อง เรื่องครูเวรยกเลิกเรื่องอะไร ถ้าใครฟังเมื่อวานนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญ ให้ความใส่ใจ เรื่องนี้ ผมเท้าความที่ท่านประธานพูดก็ดีครับ บังเอิญเราขาดการประสานกัน ถ้าได้ประสานกัน ก็จะทำความเข้าใจกันมากกว่านี้ ผมก็ไม่อยากให้บรรยากาศอย่างนี้เกิดขึ้นในสภานะครับ เพียงแต่ว่าบางเรื่องเราต้องเข้าใจ ผู้ที่ไปนั่งบริหารประเทศว่าในเรื่องของการบริหารนี้สะดวก ขนาดไหน นี่ผมขอบคุณรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า จริง ๆ นะครับ วันนี้ให้ความใส่ใจ ตั้งแต่กรรมาธิการวิสามัญชี้แจงแล้วก็มารับเรื่อง รับปัญหาไปเพื่อนำไปสู่รัฐบาล ขอบพระคุณ มากครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านปกรณ์วุฒิครับ เราจะเอาวันศุกร์ ๙ โมงเลยนะครับ วิป ๓ ฝ่าย ท่านช่วย ตอบด้วยว่าวันศุกร์ตอนเช้า จะได้คุยปัญหาเรื่องนี้ให้จบ เชิญครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ จริง ๆ อีก ๑ ชั่วโมงก็ได้นะครับ บ่ายสองโมง ผมก็ว่างแล้วครับ พรุ่งนี้เช้าก็ได้ วันศุกร์เช้าก็ได้ ผมคิดว่าแล้วแต่ทางวิปรัฐบาลเลยครับ แต่ขอภายในสัปดาห์นี้ ถ้าพรุ่งนี้ได้เลยยิ่งดีครับ แต่เดี๋ยวมา Conference กันอีกทีหนึ่งครับ นิดเดียวครับ เมื่อสักครู่นี้ที่ท่านครูมานิตย์ได้กล่าวถึงว่าเรื่องร่างกฎหมายนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เราจะมาทำกันเองแล้วก็ไม่เข้าใจฝ่ายบริหารนี้ไม่ได้ คือด้วยความเคารพจริง ๆ ครับ ร่างที่ยื่นเข้ามามีร่างของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ร่างของท่านวิสุทธิ ไชยณรุณ ครับ ท่านกำลัง จะบอกว่า ๒ ท่านนี้ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาลหรือครับ กำลังจะบอกว่าไม่เข้าใจ หรือครับว่าจริง ๆ แล้วประมงมันควรแก้อย่างไร ต้องรอรัฐบาลส่งเข้ามาอีกทีอย่างนั้น หรือครับ ตกลงเรามีสภาไว้ทำไมครับ สส. มีหน้าที่แล้วก็มีอำนาจในการยื่นกฎหมาย และพิจารณากันได้ทันที โดยไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านฝ่ายบริหาร นี่เป็นอำนาจที่แยกขาดจากกัน ท่านกำลัง จะบอกว่าเราต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร รอให้ฝ่ายบริหารส่งร่างกฎหมายมาก่อนเราถึงจะ พิจารณาได้อย่างนั้นหรือครับ เท่านี้ล่ะครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ นิดเดียวเพื่อความ สบายใจ พอดีก็น้องนุ่งครับ ผมครูมานิตย์ครับนิดเดียว
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่ตอบโต้กันไปมาแล้วครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
คือบังเอิญท่านประธานครับ กรรมาธิการ วิสามัญเรื่องประมงนี้ กำลังมาจ่อเข้าสภาอยู่ วันนี้วันพุธผมก็เป็นวิปฝ่ายรัฐบาลเราทราบ ก็อยากฟังความสมบูรณ์แบบของกรรมาธิการนิดหนึ่ง เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน อันนี้เป็นเพียง รายงานของคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีตัวแทนภาคประมง มีตัวแทนจากภาครัฐบาล มีตัวแทน จากฝ่ายค้าน ก็เป็นกรรมาธิการนี้เพื่อทำปัญหาและตั้งข้อสังเกตมา เพียงเราจะฝากรัฐบาลว่า เอาข้อสังเกตเหล่านี้เข้าไปด้วย อะไรที่มันเป็นประโยชน์กับประมงเพราะอยากทำให้มันดี มันเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ มันเกี่ยวข้องกับองค์กรมากมายครับท่านประธาน ดังที่ทราบ ก็เท่านั้นเองครับ จริง ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็อยากจะชี้แจงให้ท่านประธานได้รับทราบครับ ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีอะไร เชิญครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม พิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฝากท่านประธานช่วยให้ฝ่ายโสตเร่งเสียงหน่อย เพราะฝ่ายค้านพูด เสียงมันจะไม่ค่อยดังครับท่านประธาน เพิ่ม Volume หน่อยครับ ด้วยความเคารพครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เอาวันศุกร์ ๙ โมงเช้า วิป ๓ ฝ่าย คุยปัญหาเรื่องวันประชุม เรื่องกฎหมายวันพุธ แล้วก็เรื่อง นัดประชุมเพิ่มว่าท่านจะเอาวันไหนต่อ ขอนัดวันศุกร์เช้า ๙ โมงนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปผมจะถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม หรือไม่ ก่อนลงมติขอตรวจสอบองค์ประชุม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอเชิญ ท่านสมาชิกเข้าห้องได้เลยครับ เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนเสียบบัตรและกดปุ่ม แสดงตนเลยครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ นิดเดียวครับ ตอนนี้กรรมาธิการงบประมาณเขาประชุมกันอยู่ กรรมาธิการคณะต่าง ๆ ก็ประชุมกันอยู่ ขอท่านประธานขยายเวลาในการ Check องค์ประชุมแล้วก็ลงมตินิดเดียวครับท่านประธาน ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่ต้องห่วงครับ เพราะว่ามีสถิติอยู่แล้วนะครับ เชิญท่านสมาชิกนะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ ด้วยความเคารพครับ นิดเดียวครับว่าวันนี้ยังมีวาระอีกหลายญัตตินะครับ ผมก็เลยบอก ไว้ก่อนว่าจะมีการลงมติทุกญัตตินะครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ เดี๋ยวจากตรงนี้แล้วก็จะมีลงมติอีกนะครับ อย่าไปที่ไหน อย่าไปข้างนอกสภา นะครับ เพราะเรามีลงมติตลอด ท่านสมาชิกมีอะไร เชิญครับ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๐๓ แสดงตนค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔๐๓ แสดงตนครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต หารือท่านประธานสักนิดเดียวครับ ท่านประธานอนุญาตไหมครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล ท่านประธานครับ ผมมีข้อสงสัยนิดเดียวครับ เมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิกของพวกเราท่านหนึ่ง เป็นคนเสนอญัตติให้เปลี่ยนระเบียบวาระ เป็นคนเสนอเองนะครับ ผมย้ำ แต่ผมไป Check เมื่อกี้เผอิญเดินผ่านไปเห็นพอดี องค์ประชุม เหมือนมีแต่พรรคร่วมรัฐบาลกดเป็นองค์ประชุม ผมก็สงสัยครับท่านประธานว่าตกลง อยากเปลี่ยนจริงหรือไม่
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานผมประท้วง ผู้ประท้วงครับ ไม่รู้ประท้วงหรือเปล่า แต่ประท้วงครับ ท่านมาเดินดูใหม่ มาเดินดูเลยครับ นี่กดหมดเลยครับ ไม่รู้พาดพิงผมหรือเปล่า แต่มาเดินดูเลยครับ ช่วยเดินมาหน่อยครับ ตลกมากเลยครับ เรื่องนี้ไม่ควรเป็นสาระเลยครับท่านประธาน ผมประท้วงจริงจังนะครับ ให้ท่านประธานกำกับดูแลการประชุมด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ไปเดินดูหน่อยไป
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ช่วยเดินมาดูหน่อยครับ ท่านประธาน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ตอนแรกไม่ขึ้นครับท่านประธาน ผมแค่สงสัย ผมไม่ได้กล่าวหานะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ช่วงรอ ไม่เป็นอะไรนะครับ กดเรียกอีกครั้งนะครับ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๑๑๘ แสดงตนค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๑๘ นะครับ แสดงตนกันครบทุกท่านแล้วนะครับ ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่ แสดงผลเลยครับ ๔๐๘ ท่าน บวก ๒ ท่าน ใช่ไหมครับ เป็น ๔๑๐ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านสมาชิกออกเสียงลงคะแนนเลยครับ ผู้ใดเห็นชอบ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นชอบ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ครูมานิตย์ ก็ต้องลุก ท่านประธานต้องถามว่าเห็นชอบเรื่องอะไร ไม่เห็นชอบเรื่องอะไรครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ได้ครับท่าน
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ล้างใหม่ครับท่านประธาน ล้างใหม่ แล้วก็ถามใหม่ให้มันชัดเจน เดี๋ยวมันก้ำกึ่งแล้วมันจะยุ่ง ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่ต้องล้างนะครับ เพราะว่าก็ทราบกันแล้วนะครับว่าให้เปลี่ยนระเบียบวาระหรือไม่นะครับ ไม่เข้าใจใช่ไหม ล้างใหม่นะครับ ท่านครูมานิตย์ล้างใหม่ก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวดูจอนะครับ ผมขอถามนะครับ ท่านผู้ใดเห็นชอบกับการเสนอเปลี่ยนวาระ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย เห็นด้วยให้เปลี่ยนวาระนะครับ ท่านผู้ใดไม่เห็นชอบให้เปลี่ยนวาระ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง เชิญครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ใช้สิทธิกันหมดทุกท่านแล้ว ขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผลเลยครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๒๔ ท่าน เห็นด้วยกับการขอเปลี่ยนมติ ๑๕๗ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๒๖๖ ท่าน งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนน ๑ ท่าน ถือว่าก็ดำเนินตามวาระปกตินะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๕.๑ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการ อยู่ร่วมกันของสังคมในยุคปัญญาประดิษฐ์ และโลกาอัตโนมัติ ซึ่งนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เป็นผู้เสนอ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้รวม พิจารณาญัตติทำนองเดียวกันตามระเบียบวาระที่ ๕.๑-๕.๓ โดยผู้เสนอได้แถลงเหตุผล สมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น และผู้ขอเสนอได้ใช้สิทธิอภิปรายสรุปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุม เพื่อดำเนินการเสนอตั้งกรรมาธิการในการ ประชุมคราวถัดไป ดังนั้นในวันนี้ผมขอดำเนินการต่อนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เนื่องจากญัตติเรื่องนี้ได้มีการเสนอเพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา และสมาชิกได้มีการอภิปรายสนับสนุนดังกล่าว ดังนั้นผมขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการถามว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ในการให้ตั้งกรรมาธิการ ไม่มีสมาชิกท่านใดขัดข้องนะครับ ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณานะครับ เชิญท่านสมาชิกกำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการครับ วิปครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอคณะกรรมาธิการ จำนวน ๒๕ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ที่ประชุมกำหนดให้มีกรรมาธิการวิสามัญ ๒๕ ท่าน สัดส่วนของ คณะรัฐมนตรี ๖ ท่าน สัดส่วนของกรรมาธิการแต่ละพรรคการเมือง ๑๙ ท่าน เชิญทาง คณะรัฐมนตรีเสนอครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการอยู่ร่วมกันของสังคมในยุค ปัญญาประดิษฐ์ และโลกาอัตโนมัติ ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีจำนวน ๖ ท่าน ดังนี้ ๑. รองศาสตราจารย์ธีรณี อจลากุล ๒. นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ๓. นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ๔. นายวสุวีย์ สอดส่อง ๕. นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ ๖. รองศาสตราจารย์ณัฐพงศ์ ชินธเนศ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ดังนั้นสัดส่วนของกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมืองเป็นดังนี้ พรรคก้าวไกล ๖ ท่าน พรรคเพื่อไทย ๕ ท่าน พรรคภูมิใจไทย ๓ ท่าน พรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน พรรครวมไทย สร้างชาติ ๑ ท่าน พรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน พรรคชาติไทยพัฒนา ๑ ท่าน เชิญแต่ละ พรรคการเมืองเสนอรายชื่อกรรมาธิการตามสัดส่วน แล้วก็ขอผู้รับรองด้วยนะครับ เชิญพรรคก้าวไกลครับ
นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์พิ พัฒน์ไชยศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคก้าวไกล ขออนุญาตนำเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน ๑. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ๒. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ๓. นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ๔. นางสาวทิสรัตน์ เลาหพล ๕. ธีระชาติ ก่อตระกูล ๖. นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคเพื่อไทย ๕ ท่านครับ
นายวัชรพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วัชรพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทยครับ ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการวิสามัญจำนวน ๕ ท่าน ท่านที่ ๑ ท่านสยาม หัตถสงเคราะห์ ท่านที่ ๒ ท่านละออง ติยะไพรัช ท่าน ๓ ท่านเพ็ญชิสา หงส์อุปถัมภ์ชัย ท่านที่ ๔ นายชัยพร ทบแป ท่านที่ ๕ นายเดวิด มกรพงศ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคภูมิใจไทย ๒ ท่าน เชิญครับ
นายธนา กิจไพบูลย์ชัย ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ธนา กิจไพบูลย์ชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด ๓ ท่าน มีรายชื่อดังนี้ ๑. ดอกเตอร์กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ๒. นายกิจจา เหล่าบุญชัย ๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ชูวงศ์ อุบาลี ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน เชิญครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสัดส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน ขอเสนอ ๑. ท่านพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ๒. ท่านเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง มีผู้รับรองเกิน ๕ ท่านนะครับ ต่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ๑ ท่านครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เสนอ คุณทวนชัย นิยมชาติ ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอผู้รับรองครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต เสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ ท่านปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคชาติไทยพัฒนา ๑ ท่านครับ
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน ขอเสนอ ท่านศุภโชค ศรีสุขจร ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องครับ เชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง ในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต จำนวน ๒๕ คน ๑. รองศาสตราจารย์ธีรณี อจลากุล ๒. นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ๓. นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ๔. นายวสุวีร์ สอดส่อง ๕. นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ ๖. รองศาสตราจารย์ณัฐพงศ์ ชินธเนศ ๗. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ๘. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ๙. นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ๑๐. นางสาวทิสรัตน์ เลาหพล ๑๑. นายธีระชาติ ก่อตระกูล ๑๒. นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ๑๓. นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ๑๔. นางสาวละออง ติยะไพรัช ๑๕. นางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย ๖. นายชัยพร ทบแป ๑๗. นายเดวิด มกรพงศ์ ๑๘. นายกอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ๑๙. นายกิจจา เหล่าบุญชัย ๒๐. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวงศ์ อุบาลี ๒๑. นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ๒๒. นางเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ๒๓. นายทวนชัย นิยมชาติ ๒๔. นางสาวปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ และ ๒๕. นายศุภโชค ศรีสุขจร
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญวิปกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลาพิจารณา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง พิจารณาภายใน ๙๐ วันนะครับ ต่อไประเบียบวาระที่ ๕.๒ ถึงระเบียบ วาระที่ ๕.๓ เราพิจารณาร่วมกันกับระเบียบวาระที่ ๕.๑ ไปแล้วนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๕.๔ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ ในการเปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อการแก้ไขปัญหาทางสังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (นายทรงยศ รามสูต เป็นผู้เสนอ)
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขอเสนอ ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ความเป็นไปได้ ในการเปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อการแก้ไขปัญหา ทางสังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขออนุญาต อ่านในตัวญัตตินะครับ จะได้สมบูรณ์ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ รายจ่าย การควบคุมงบประมาณ รวมถึงการประเมินและการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ ของประเทศ ที่มีลักษณะมุ่งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงบประมาณเป็นสำคัญ โดยใน มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดไว้ว่าปีงบประมาณ หมายความว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น แต่ด้วยข้อกำหนดปีงบประมาณ ตามกฎหมายดังกล่าว น่าจะมีความไม่สอดคล้องอาจไม่เหมาะสมกับฤดูกาล และเป็น อุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม การลงทุน และการขับเคลื่อน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศที่มีลักษณะ มุ่งเป้าหมายและผลลัพธ์ของบประมาณเป็นสำคัญ กล่าวคือด้วยระบบงบประมาณ ที่กำหนดให้ปีงบประมาณแบบเดิม รัฐบาลจะเริ่มจัดเก็บรายได้หรือมีรายได้ภาครัฐในช่วง เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม และเริ่มจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนหรือช่วงไตรมาส ๔ ดังนั้น จึงควรที่จะกำหนดปีงบประมาณให้สอดคล้องกับผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล สอดคล้องกับใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหากับสังคม การลงทุน การขับเคลื่อน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศที่มีลักษณะมุ่งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ของงบประมาณเป็นสำคัญ เพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน รวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นรีบด่วนในการที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของ ประเทศ ดังนั้นผมจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าว ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๕๐ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ ในการเปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ซึ่งรายละเอียดจะได้ขออภิปรายดังต่อไปนี้นะครับ คือเมื่อสมัยประชุมที่แล้วตอนวาระที่สภาพัฒน์ได้มารายงานในเรื่องของแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ของชาติ ผมได้เคยเสนอแนะทางสภาพัฒน์ว่างบประมาณของประเทศ ไม่แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะกว่าจะเริ่มได้บริหารใช้งบจริง ๆ มันเป็นหน้าฝน และประมาณปลายไตรมาส ๓ ต่อไตรมาส ๔ อยากให้สภาพัฒน์ไปศึกษา เพราะผมก็เชื่อว่า ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้สภาพัฒน์คงไม่ไปศึกษาหรอกนะครับ เพราะฉะนั้นมันเป็นงาน นโยบาย ผมก็เลยจึงนำเรื่องนี้เสนอเป็นญัตติสู่สภา เพื่ออย่างน้อยจะได้อธิบายรายละเอียด ให้เพื่อนสมาชิกได้เข้าใจ แล้วเพื่อนสมาชิกที่เห็นด้วยก็จะได้แสดงความคิดเห็นนะครับว่า ศักยภาพของปีงบประมาณในปัจจุบันนี้มันเหมาะสมหรือเปล่า มันดีที่สุดไหม ถ้าเรา เปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ เราสามารถที่จะทำให้ศักยภาพในการบริหารประเทศมันดีขึ้น แค่ไหน เพียงไร ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณเราก็ต้องมีความเข้าใจของปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี ๒๔๑๘ เรามีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยพระจุลจอมเกล้า จนมาปี ๒๔๕๖ ในสมัยพระมงกุฎเกล้าที่ให้กระทรวงรวบรวมรายจ่ายให้แล้วเสร็จคำร้องขอภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม และเพื่อทูลเกล้าถวายต่อพ่ออยู่หัว เพราะฉะนั้นพอปี ๒๔๗๕ พอเปลี่ยนแปลง การปกครอง ก็ตรา พ.ร.บ. งบประมาณครั้งแรกก็ล้อตามแบบเดิม คือเริ่มปีงบประมาณในวันที่ ๑ เมษายน สิ้นสุดวันที่ ๓๑ มีนาคม แต่พอปี ๒๔๘๑ สมัยท่านอาจารย์ปรีดี ท่านหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ท่านก็คิดว่าปีงบประมาณช่วง ๑ เมษายน ไม่เหมาะสมนะครับ โดยท่านให้เหตุผลไว้ว่าเดือนเมษายนวันหยุดเยอะ แล้วการบริหาร งบประมาณควรจะทำงานโยธาต้องทำในฤดูกาลที่เหมาะสม แล้วก็ให้เสร็จฤดูกาลเก็บเกี่ยวก่อน ก็เลยกำหนดปีงบประมาณใหม่มาเป็นวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งผมก็เห็นด้วย ณ ตอนนั้น ซึ่งต่อมา ในปี ๒๔๘๓ ก็มีการเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งนะครับว่าควรจะเปลี่ยนเป็นสากลตามปีปฏิทิน ปีงบประมาณก็มาเริ่มต้นที่ ๑ มกราคม พอจนปี ๒๕๐๒ ก็ได้กลับมาใช้วันที่ ๑ ตุลาคม เหมือนเดิม โดยเหตุผลเหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งการที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการ ตั้งไตรมาสแรกหรือวันแรกของปีนี้ เหตุผลของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันนะครับ อย่างของอังกฤษก็เริ่ม ๖ เมษายน อเมริกา ๑ ตุลาคม ออสเตรเลีย ๑ กรกฎาคม ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ จีน ฝรั่งเศส เริ่ม ๑ มกราคม อินเดีย ฮ่องกง ๑ เมษายน สำหรับประเทศไทยเรา ในช่วงแรกนี้ผมก็เห็นด้วยนะครับ คือเวลาเราจะทำปีงบประมาณมันต้องสามารถบริหาร ประเทศได้ สามารถจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐบริหารได้ แต่ในระยะหลังผมสังเกต หลังจากประเทศไทยเรามีรายจ่ายมากขึ้น ปีงบประมาณของประเทศสังเกตดูดี ๆ นะครับ ๗๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งเป็นหมวดของเงินเดือน ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่รัฐจะต้องพึงจ่าย รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยมีโอกาสบริหารประเทศ ในงบลงทุนเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ บวกลบนะครับ เพราะฉะนั้นพอเริ่มไตรมาสแรกของแต่ละปี คือตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ถ้าพวกเราสังเกตดี ๆ ส่วนใหญ่รัฐก็จะมุ่งแต่ค่าใช้จ่าย ที่เป็นรายจ่ายประจำ แต่อย่างในงบลงทุนจะต้องรอเก็บภาษีก่อน แล้วเราเก็บภาษีเดือนไหน ภาษีเราเริ่มเข้าเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นปลายไตรมาส ๒ กว่าเงินจะเข้าสู่สำนักงบ กว่าสำนักงบ กระทรวงการคลังจะกระจายไปสู่ กระทรวง ทบวง กรม เพื่อไปจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นประมาณ ปลายไตรมาส ๓ ต่อไตรมาส ๔ ซึ่งก็ปรากฏว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงหน้าฝน ฝนเป็นอุปสรรค แล้วหน่วยงานของรัฐก็บริหารจัดการงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างหรือบริหารงบประมาณเพียง ประมาณไตรมาสเดียวหรือไตรมาสเศษ ๆ ซ้ำเป็นหน้าฝน อะไรเกิดขึ้นครับหลายโครงการ ของรัฐที่มีปัญหาที่ฝนเป็นอุปสรรคทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเป็นงบผูกพัน ๒-๓ ปี อันนั้นไม่มีปัญหา หน่วยงานของรัฐบริหารได้ แต่งบที่เป็นภาระภายในปีเดียวมักจะเกิดปัญหา ผมยกตัวอย่างเช่น ถนนหนทาง เราไปทำหน้าฝน ปรากฏมีปัญหาทุกที่หลายที่ต้องกัน งบเหลื่อมปี บางที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ เพราะกลัวเงินตกและบางครั้งบางคราว บางพื้นที่ในหน้าฝนประสิทธิภาพงานก็ไม่ดี ก็ส่งผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในการตรวจรับงาน มันไม่เหมาะสมนะครับ เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่างบมันมาในหน้าฝน และหน่วยราชการ เขาก็ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณมันก็เลยเกิดปัญหา นอกจากนี้ ถ้าเราสังเกตดี ๆ ในช่วงปลายปีงบประมาณ หน่วยงานของรัฐก็จะต้องพยายามใช้ งบประมาณให้หมด ไม่อย่างนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพ อย่างงบศึกษาดูงานงบจัดอบรม อันนี้ ไม่มีปัญหา เพราะว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเดือนไหนก็ได้ แต่บางครั้งบางคราวผมเห็น บางจังหวัดมันมีงบที่เอา ชาวบ้าน เอาสินค้า OTOP ไปขายด้วยนะครับ มี Event ขายของ ต่าง ๆ ปรากฏว่าแทนที่จะเลื่อนหรือทำเหลื่อมปี ขอไปจัดพฤศจิกายน ธันวาคม จะได้กระตุ้น ยอดขาย เพราะฉะนั้นหน่วยงานก็เริ่มจัดเพื่อให้เสร็จก่อนปีงบประมาณปรากฏว่าขายไม่ได้ เพราะมันหน้าฝน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันมีปัญหานะครับ ผมก็คิดว่ามันน่าจะต้องมีการแก้ไข เพราะการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพอย่างน้อยหน่วยงานของรัฐเขาควรจะมีโอกาส ได้บริหารงบประมาณของเขาไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ไตรมาส เขาจะได้บริหารได้เต็มที่ และบริหาร ในเดือนที่มันสามารถดำเนินการได้ ในขณะที่บ้านเราตามสภาพความเป็นจริงกว่าหน่วยงาน ของรัฐจะได้บริหารก็เหลือประมาณไตรมาสเดียวหรือไตรมาสเศษ ฉะนั้นผมก็เลยเห็นว่าเรื่องนี้มันมีปัญหาแล้วน่าจะต้องมีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขมันมีอยู่ ๒ วิธี วิธีแรกคือเราจัดเดือนที่เก็บภาษีใหม่เลย อันนี้ยุ่งวุ่นวาย ผมไม่เห็นด้วย ประเทศยุ่งวุ่นวาย วิธีที่ ๒ คือวิธีที่ผมเสนอ ก็คือเราเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณใหม่ เปลี่ยนไตรมาสใหม่ เราจะกำหนดว่าเดือนไหนที่เราจะมีศักยภาพที่สุด กำหนดให้เป็นต้นของปีงบประมาณ ซึ่งวิธีแก้วิธีนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ ๓ ปีเต็มที่ คือปีหนึ่งถ้าเราทำสำเร็จปุ๊บ ปีหนึ่งงบประมาณ มันอาจจะสั้นกว่าเดิมหรือยาวกว่าเดิม ถ้าปีแรกสั้น ปีที่ ๒ ก็ยาว ถ้าปีแรกยาว ปีที่ ๒ ก็สั้น ส่วนปีที่ ๓ งบประมาณก็จะปกติ ๑ ปี เราก็จะได้เดือนไตรมาสตามที่เราต้องการ แต่เพื่อนสมาชิกอาจจะสงสัยถ้าไตรมาสมันสั้นลง และปีนั้นมันสั้นลงจะเป็นไปได้ไหม เราจะบริหารประเทศอย่างไร อันนี้ก็เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกคงจะเห็นว่าบางครั้งเรามีการเลือกตั้ง เวลาบริหารงบประมาณจัดสรรงบประมาณ มันก็ล่าช้าลงมา ดูอย่างงบปี ๒๕๖๗ นี้กว่าจะ เข้าสภามีการเลือกตั้ง Late มา เข้าวาระ ๑ เมื่อมกราคมกว่าจะผ่าน ๒ ๓ ว่าจะเริ่มประกาศ ออกมาใช้ก็พฤษภาคมมีเวลาบริหารแค่ ๕-๖ เดือน เพราะฉะนั้นผมว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นผมก็เห็นว่าน่าจะได้มีการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เพราะผมเชื่อศักยภาพถ้าเรามีปีงบประมาณใหม่ที่ดีขึ้น ผมว่ามันจะส่งผลต่อนโยบายของรัฐ ก็จะทำได้อย่างเต็มที่ หน่วยงานของรัฐก็จะมีเวลาบริหารงบประมาณได้อย่างเต็มที่ คู่สัญญา ของรัฐก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อพี่น้องประชาชน เวลา ๓ ปี ต้องศึกษานะครับ ผมจึงเสนอเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าเรื่องนี้ จะต้องทำสำเร็จในรัฐสภาชุดที่ ๒๖ นี้ เพราะต้องใช้ เพราะฉะนั้นอาจจะชุดไหนก็ได้ต้องใช้ เวลา ๓ ปี ต้องศึกษานะครับ เพราะฉะนั้นอาจจะชุดไหนก็ได้แต่ว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่ ประเทศชาติ ผมหวังว่าจะได้มีการศึกษาว่าเดือนไหน มันน่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น ไตรมาสแรก เอาจากสภาวะเป็นจริงตามงบที่เงินมันจะออก ไม่ใช่ตามที่เรากะว่าเดือนนี้ เหมาะสมที่จะลงทุน เพราะฉะนั้นผมจึงเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภาเพื่อมาพิจารณา หลายคน อาจจะพูดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยทำ ทำกันมานานแล้ว เพราะครั้งที่แล้วปี ๒๕๐๒ หลายคนก็คิดว่ามันไม่น่าจะทำได้ มันเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับเรา สำหรับเรื่องใหม่นี้มันไม่ใช่ เรื่องยากที่เราจะทำ ถ้าเรามีความพยายาม ผมจำได้นะครับก่อนที่ผมจะมาเป็น สส. น่าน ในปัจจุบันนี้ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วผมเป็น สส. หนองคาย ตอนนั้นตลิ่งโขงพังชาวบ้าน ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เอาไม้ไผ่ไปปักชะลอน้ำ เอากระสอบทรายไปใส่ก็เอาไม่อยู่นะครับ ไม่มี หน่วยงานไหนมาทำ ผมเป็นคนแรกที่ยื่นญัตติขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเทศชาติ ที่เสียดินแดน เพราะแม่น้ำโขง หลายพรรคการเมืองก็ยื่นเข้ามาประกบ หลังจากนั้นก็ยื่นกระทู้ สอบถามรัฐบาล เสียงสะท้อนที่ตอบมาก็คือว่ามันเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยทำ แล้วก็ทำยาก เพราะจากตลิ่งโขงลงไปถึงน้ำโขงก็มีความสูง จากน้ำโขงลงไปสู่ช่วงใต้น้ำก็มีความสูง เพราะตอนนั้นจีนยังไม่ได้ทำเขื่อน และแถมแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระดับประเทศอีก ทำยาก แต่รัฐบาลก็รับไปพิจารณา แต่หลังจากนั้น ๖-๗ ปี ผมก็เห็นกรมโยธาธิการเริ่มไปทำเขื่อน ป้องกันตลิ่ง มีการปรับแบบหลายครั้ง จนปัจจุบันผมเห็นมีการไปฝังเข็มอยู่เต็มลำน้ำโขง แล้วแถมมีถนนติดเขื่อนอีก เขื่อนที่เป็นแนวราบแนวเรียบก็ปรับเป็นขั้นบันไดให้ดูงาน ประเพณีแข่งเรือได้ แล้วก็ไม่แต่แม่น้ำโขงเท่านั้น ลำน้ำสาขาก็มีเขื่อน จุดนี้ที่ผมเอามา ชี้ให้เห็นก็คือว่าเรื่องที่เราไม่เคยทำเรื่องที่ยาก ถ้าเราได้มีการศึกษาผมว่าเราก็จะมีโอกาส สำเร็จ เหมือนอย่างที่ผมเสนอในเรื่องให้เราศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ อย่างน้อยถ้าเราได้นับหนึ่งเพื่อเป็นการศึกษา มันก็จะมีการนับ ๒ เพื่อการพัฒนาและจะเห็น การพัฒนา เพราะฉะนั้นผมจึงขอเสนอเรื่องนี้ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ ๕๐ มาให้สภา ได้ช่วยกันใช้วิจารณญาณแสดงความคิดเห็นว่าศักยภาพของประเทศเราถ้าใช้งบประมาณตาม แบบเดิม มันเป็นแบบนี้ ถ้าเราเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ มันจะทำให้ศักยภาพในการบริหาร ประเทศดีขึ้นแค่ไหน เพียงไร หรือไม่ผมก็คาดหวังว่าสมาชิกจะให้ความร่วมมือพิจารณา แสดงความคิดเห็นนะครับ แล้วก็หวังว่าในชั่วชีวิตนี้ผมคงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ปีงบประมาณของประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น เหมือนที่ผมได้มีโอกาสเห็นตลิ่งตลอด ลำน้ำโขง ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณนะครับ ทางท่านผู้เสนอญัตติก็ได้เสนอหลักการและเหตุผลแล้วนะครับ ต่อไป จะเป็นการอภิปรายของสมาชิก ตอนนี้มีฝ่ายค้านลงชื่อ ๔ ท่าน รัฐบาล ๒ ท่าน เพราะฉะนั้น จะเป็นการเรียก ๒ : ๑ เริ่มที่ฝ่ายค้าน ๒ ท่านก่อน แล้วก็สลับไปที่ฝ่ายรัฐบาลเชิญท่านมานพ คีรีภูวดล ต่อด้วย ท่านภัณฑิล น่วมเจิม ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ผมอยากจะให้ความเห็นต่อกรณี ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อการแก้ไขปัญหา สังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ท่านทรงยศ รามสูต ท่านประธานครับ เรื่องนี้ผมอยากจะให้ความเห็นที่มันเป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งท่านสมาชิก ผู้เสนอญัตติก็ได้อภิปรายไปแล้ว ผมจะลงรายละเอียดในแง่ของฤดูกาลกับงบประมาณ ที่ลงไปในพื้นที่ มันมีปัญหาสู่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณครับท่านประธาน ผมยกตัวอย่างกรณีอย่างนี้ครับท่านประธาน เอาให้ใกล้ที่สุดใกล้กับเราที่จะเกิดขึ้น ในเดือนหน้านี้ครับท่านประธาน เรื่องงบประมาณไฟป่าและหมอกควัน อันนี้เป็นสิ่งที่ เราถกเถียงกันมาตลอดว่างบประมาณมันไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ขององค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรของประชาชนต่าง ๆ ที่จะต้องได้รับงบสนับสนุนจากข้าราชการ งบประมาณที่ลงไปไม่ว่าจะเป็นงบสนับสนุน งบอาหาร งบอุปกรณ์ งบดำเนินการ งบจัดเตรียมอะไรต่าง ๆ งบประมาณที่ลงไป พอมันลงมา ฤดูกาลของไฟป่า หมอกควัน หมดไปแล้ว อันนี้คือข้อเท็จจริงครับท่านประธาน เพราะฉะนั้น เราพยายามเสนอในที่ประชุมเครือข่ายขององค์กรต่าง ๆ ว่าปัญหาทั้งหมดมันเป็นเรื่องของ กรอบงบประมาณที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ว่างบประมาณจะใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมสมมุติว่า ปีนี้ครับ แล้วก็จะจบในกันยายนในปีถัดไป เพราะฉะนั้นความไม่สอดรับในกรณีอย่างนี้ กรณีไฟป่า ผมคิดว่าเห็นได้ชัดเจน แล้วก็หน่วยงานราชการที่เป็นผู้รับงบประมาณที่จะต้องไป ดำเนินการกับพี่น้องประชาชนก็จะเจออุปสรรค หัวหน้าส่วนราชการหัวหน้าท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องไปทำงานกับพี่น้องประชาชนจะต้องเอาเงินสำรองของตัวเอง หรือว่าบางที ก็ไปกู้ไปยืมมานะครับท่านประธาน อันนี้ก็สร้างอุปสรรคปัญหาให้กับการดำเนินงาน ที่มันไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามฤดูกาลในพื้นที่
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ก็คือโดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน คือบ้านผมอยู่บนดอย ครับท่านประธาน บางพื้นที่ผมก็เห็นเวลาทำงบประมาณ ในการก่อสร้างทำถนนซ่อมก็ดี หรือว่าทำใหม่ก็ดี หรือว่ามีการปรับปรุงพื้นที่ไหล่ทางก็ดี ก็จะมาช่วงหน้าฝนครับ ท่านประธานลองนึกภาพว่าบนดอยเวลามีการขนปูน ขนทราย ขนอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นไป ในการซ่อม เวลากองไว้ในพื้นที่ Slope ที่มันมีความลาดชันเกิน พอฝนมาพัด พาไปหมดเลยครับ ท่านประธาน เพราะฉะนั้นก็คือประสิทธิภาพที่จะใช้วัสดุ อุปกรณ์ ที่มันตาม Spec จริง ๆ หรือว่าผู้รับเหมาที่จะดำเนินการให้มีค่าใช้จ่ายในกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติในการ ก่อสร้างต่าง ๆก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะใช้เวลาเพิ่มขึ้น ก็จะนำไปสู่ประสิทธิภาพต่าง ๆ ในการทำงานของผู้รับเหมา แล้วก็ส่วนราชการมีปัญหามาก ๆ ซึ่งตัวโครงสร้างพื้นฐาน มันไม่ใช่เฉพาะถนนหนทางซอยเล็ก ๆ ครับท่านประธาน มันหมายถึงอาคาร มันหมายถึง ทุก ๆ อย่างนะครับ ล่าสุดนี้ผมยกตัวอย่างครับท่านประธาน น่าจะเป็นเป็นโครงการของ สำนักงานพลังงานจังหวัด ที่ได้งบประมาณจากกองทุนพลังงานจังหวัด จะไปให้พี่น้อง ที่อมก๋อยในการจะให้มีแสงสว่างมีไฟฟ้าใช้ โดยการใช้โครงการเรื่องของพลังงานสะอาดก็คือ โซลาเซลล์ ก็ใช้งบประมาณหลายสตางค์อยู่ แต่ช่วงที่งบดำเนินการช่วงฝนที่ผ่านมาจะต้องใช้ Four Wheel จะต้องใช้คนที่เยอะมากในการขนอุปกรณ์ ซึ่งมันเป็นรายละเอียดมากในทาง วิศวกรรมอันนี้ผมก็ไม่ทราบนะครับต้องขนอุปกรณ์ในช่วงหน้าฝน ซึ่งมันเป็นช่วงที่รถปกติ เดินทางไม่ได้คนก็ต้องเดินทางโดยการเดินเท้าหรือว่ามอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นก็คือเหตุผล ที่ฤดูกาลกับงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ อย่างกรณี ไฟป่า หมอกควัน และกรณีการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทุกประเภท ในภาคเหนือที่ผมสัมผัสมาตลอดชีวิตจะเจอปัญหาเรื่องนี้ทำให้ ประสิทธิภาพทำให้การดำเนินงานมีปัญหา บางพื้นที่ถ้ามีทางลูกรังเส้นเดียวครับท่านประธาน ผู้รับเหมาต้องขอให้ประชาชนในพื้นที่หยุด เป็นอาทิตย์เลยนะครับ ห้ามเข้าออก เนื่องจากว่าทำถนนมันไม่มีทางเบี่ยงอะไรเลย เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าเราหาทางออก ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะมีกรรมาธิการวิสามัญไหม หรือจะ ส่งไป ครม. ครับ ช่วยพิจารณาตรงนี้ว่าให้มันสอดคล้องกับพื้นที่จริง ๆ เพราะฉะนั้นก็มาสู่ ในประเด็นเป็นข้อเสนอครับท่านประธาน คือผมยังยืนยันเรื่องนี้ทั้งประเทศทั้งภาคเหนือ ถึงภาคใต้ ความยาวประมาณ ๒,๐๐๐ กว่ากิโลเมตรครับท่านประธาน ฤดูกาลก็ไม่เหมือนกัน ช่วงภาคเหนือเป็นอากาศหน้าหนาว ภาคใต้ฝนตก ทางออสเตรเลีย ทางอินโดนีเซีย ทางภาคใต้เป็นหน้าฝน เพราะฉะนั้นก็คือความไม่สอดคล้องกับในบริบทพื้นที่ทุกภูมิภาค จึงเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นความคิดเห็นส่วนตัวผมผมคิดว่าการกระจายอำนาจในการบริหาร จัดการในบางกรณี เช่น เรื่องไฟป่าหมอกควัน เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมันเกี่ยวข้อง กับเรื่องของภูมิอากาศ การจัดสรรงบประมาณมันจะนำไปสู่การทำให้มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการกระจายอำนาจในบางพื้นที่อย่างนี้ได้หรือไม่ อันนี้เป็นข้อสังเกตข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้ญัตติมันมีประเด็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาในญัตติ และสอดคล้องกับประเด็นในพื้นที่ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภัณฑิลครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ภัณฑิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย-วัฒนา พรรคก้าวไกลครับ ขอร่วมอภิปรายในญัตติการเปลี่ยนปีปฏิทินงบประมาณว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง แล้วก็ปัจจัยอะไรที่เราควรคำนึงถึง เวลาเราจะส่งมตินี้ไปให้มติ ครม. ดูว่าจะมีวิธีการ ที่จะเปลี่ยนปีปฏิทินงบประมาณอย่างไร
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็ต้องศึกษาว่าในทั่วโลกเขาทำกันอย่างไร เราไม่ได้อยู่คนเดียว ในโลกใบนี้ เรามีค้าขายกับต่างประเทศมีการนำเข้าส่งออก ๒. หน่วยงานต่าง ๆ ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของ Financial Reporting ก็คือการรายงานผลทางการเงินงบดุล ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ก็จะเป็น ๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม ตามปีปฏิทินปกติ อันนี้ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ความจริงมีสไลด์นะครับ ฝ่ายโสตสามารถเอาขึ้นได้เลย
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กับเรื่องฤดูกาลนะครับ แต่ฤดูกาลก็แตกต่างกันไปบนโลกใบนี้ ถ้าเผื่อไปดูประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บเกี่ยว พืชผล เก็บเกี่ยวเสร็จฤดูไหนไม่มีอะไรทำ ก็เป็นการเก็บส่วย เก็บภาษี นำรายได้เข้ารัฐ กับการวางนโยบายภาครัฐ ก็จะมีผลในการวางแผน ติดตาม จัดเก็บต่าง ๆ อันนี้ก็จะเป็น ปัจจัยที่ส่งผลต่าง ๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเราต้องคำนึงนะครับ ไม่ใช่แค่ภาครัฐหรือผู้ปฏิบัติ อย่างเดียว ภาคเอกชนที่จะต้องนำส่งภาษีให้กับทางภาครัฐ ประชาชนที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. ๙๐ ภ.ง.ด. ๙๑ รวมถึงต่างประเทศที่ผมได้พูดไปแล้วในเรื่องของการค้าขาย จัดเก็บงบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไร ตามปีปฏิทิน Cycle ปกติจะเป็นการทบทวน วางแผน อย่างสมมุติล่าสุดของปีปฏิทินนี้อาจจะล่าช้าไป แต่จริง ๆ ปกติก็จะเป็นการทบทวน วางแผนในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม จัดทำในช่วงมกราคมถึงพฤษภาคม แล้วก็อนุมัติให้เสร็จ ก่อนสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งอันนี้ต้องมาดูว่าปกติ Cash Cycle หรือว่า Cash Inflow Outflow มันจะประมาณไหน คือจัดเก็บมาเพื่อให้มีเงินเอาไปลงทุนใช่ไหมครับ นอกเหนือจากต้องไป กู้เงินมา จัดเก็บส่วนใหญ่เราจะยื่นภาษีกันภายใน ๒-๓ เดือนแรก ถ้าเป็นบริษัทเอกชน อาจจะปิดงบเร็วหน่อย แต่ถ้าเผื่อเป็นบุคคลธรรมดาก็ ๙๐ วัน ต้องยื่นภาษีภายในมีนาคม ช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมรัฐก็จะเริ่มจัดเก็บรายได้ได้แล้ว ก็มีเงินเอาไปใช้ ซึ่งหลายท่าน ได้อภิปรายไปแล้ว ส่วนใหญ่ไปใช้ในหน้าฝนตั้งแต่พฤษภาคมจนถึงกันยายน ซึ่งก็จะมีปัญหาในเรื่องของโยธาเวลาไปสร้าง แต่แน่นอนโยธาก็ไม่ใช่งบประมาณส่วนหนึ่ง ของการลงทุน มีงบครุภัณฑ์ งบอบรม สัมมนา งบอย่างอื่นอีกด้วย แต่อันนี้ก็เป็นปัจจัย ที่เราต้องคำนึงถึง ข้อดี ข้อเสีย แบบใหม่ ถ้าเผื่อเราเปลี่ยนแน่นอนเราก็จะเลี่ยงฤดูฝนได้ ถ้าเผื่อเราขยับออกไปอีก ๓ เดือน ถ้าเผื่อเริ่มเป็น ๑ มกราคม เข้าใจง่ายตามหลักปฏิทินสากล ก็ Link กับพวกงบดุลของบริษัทเอกชน ธนาคารต่าง ๆ อันนี้เราก็คุยกับภาษาสากลได้ว่า ปิดงบวันไหน ไม่ต้องมาทำเหลื่อมปีกันนะครับ สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ก็มีหลายประเทศ เดี๋ยวจะมีในหน้าถัดไปว่าเขามีการปิดปีงบประมาณอย่างไรบ้าง ลดความซับซ้อนในการ ประสานงานต่างประเทศ ปรับตัวให้เข้ากับภาคธุรกิจ แล้วก็การลงทุนของต่างชาติ แต่แน่นอนเวลาเปลี่ยนทีมันก็มีข้อที่ต้องพึงระวัง ความท้าทายในการปรับเปลี่ยนอาจจะ ทำให้เกิดการสับสน ต้องใช้เวลาในการปรับตัว คือมันก็วุ่นวายในเชิงเอกสารต้องทำผลกระทบ รายงานทางการเงินกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องมา Comply กับแบบใหม่ ความท้าทาย ในการปรับตัวภาคธุรกิจ แต่ปัจจุบันก็มี Software มีการ Link สูตรได้ ก็สามารถทำให้ มันกระทบยอดกับปีปฏิทินแบบใหม่ได้ ไม่มีปัญหานะครับ รายงานทางการเงินซึ่งอาจจะต้อง มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เรื่องการ Report ให้กับทางหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงาน ภาครัฐเองก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบรายงาน แล้วก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม มีเพื่อน สส. อภิปรายจะต้องมีการปรับ เพื่อในช่วงระหว่าง Transition Period ระหว่างปี หรือ ๒-๓ ปีนี้ ก็จะต้องมีการปรับเพื่อให้มันเข้ากับตัวปีงบประมาณใหม่ รวมถึงการวางแผนทางการเมือง และนโยบายก็จะต้องมีการทำรอบใหม่ขยับไปอีก ๓ เดือน การจัดเก็บภาษี ขอบเขตวัน ระยะเวลา อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง การใช้เงินงบประมาณก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม มาดูกันว่าที่เหลือในโลกนี้เขาทำวิธีไหนกันบ้าง มีประเทศใหญ่ ๆ เราก็ต้องคำนึงถึงประเทศ ที่เป็นคู่ค้าหลัก ประเทศที่เรามีมูลค่าการส่งออกนำเข้าเป็นคู่ค้าหลักของเราด้วย รวมถึง ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่มีลักษณะฤดูกาลใกล้เคียงกับเรา มีลักษณะเศรษฐกิจ ใกล้เคียงกับเรา อย่าง ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ปัจจุบันนี้ ประเทศใหญ่ก็คือสหรัฐอเมริกา ๑ เมษายน ถึง ๓๐ มีนาคม ก็ยังมีสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง แต่ส่วนใหญ่จากรายงาน ที่ทางฝ่ายวิชาการสรุปเมื่อเช้าเป็นรูปเล่ม ประมาณกึ่งหนึ่งใช้ตามปีปฏิทินสากลแล้ว ๑ มกราคม ถึง ๓๐ ธันวาคม ก็จะมีประเทศจีน เกาหลีใต้ ประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมัน เวียดนาม ฝรั่งเศส ซึ่งก็ถือว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ ในโลกนี้ ปัจจุบันใช้ปีงบประมาณตามปีปฏิทินก็อยากจะให้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน แล้วก็ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพลากร พิมพะนิตย์ ครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมได้ร่วมลงชื่ออภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อแก้ปัญหาสังคม การลงทุน และขับเคลื่อน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่านประธานครับ ในปัจจุบันปีงบประมาณไทยระบุไว้ ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติปีงบประมาณ ๒๕๖๑ กำหนดให้ปีงบประมาณมีระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ถึง วันที่ ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป ขอสไลด์ด้วยครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ปีงบประมาณของไทยในอดีต ครับท่านประธาน เดิมที่มีการกำหนดให้เริ่มต้น ๑ เมษายน ปรับเป็น ๑ ตุลาคม ปี ๒๔๘๒ พ.ศ.๒๔๘๔ ปรับเป็น ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ปรับเป็น ๑ ตุลาคม จนถึงปัจจุบัน ท่านประธานครับ จากตรงนี้ทำให้เห็นว่าในอดีตมีการปรับเปลี่ยนปีงบประมาณมาก่อนแล้ว อยู่หลายครั้ง การที่จะมีการศึกษาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งคงจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และอาจ ถึงเวลาแล้วที่จะนำเรื่องนี้กลับมาศึกษาอีกครั้งครับท่านประธาน ปัญหาของการเริ่ม ปีงบประมาณในเดือนตุลาคมแบบปัจจุบัน ก็คือปีงบประมาณเริ่มต้น ๑ ตุลาคม ก็จริง แต่งบประมาณดังกล่าวไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจะเริ่มเก็บรายได้หรือมีรายได้ภาครัฐในช่วงมีนาคมถึงสิงหาคม ตัวอย่าง ที่ง่ายที่สุดก็คือภาษีบุคคลธรรมดาที่จะมีการยื่นได้ถึงมีนาคมของทุกปี หลังจากนั้น รัฐจะสามารถเริ่มจัดสรรงบประมาณรายจ่ายถึงกันยายน ทำให้ช่วงต้นปีงบประมาณ ในแต่ละปีมีการขาดเงินงบประมาณ ทำให้เงินงบประมาณไปกระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาสที่ ๓ ถึงไตรมาสที่ ๔ ของปี ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้เรามักพบปัญหาที่ติดขัดการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาและบรรเทาสาธารณภัย ไปจนถึงการใช้จ่ายเพื่อลงทุน ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เงินงบประมาณมาช้าและไม่เท่าทัน หรือสอดรับกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ท่านประธานครับ ผมพาไปดูตัวอย่างของประเทศต่าง ๆ ปีงบประมาณ ที่เริ่ม ๑ มกราคม เช่น ประเทศฝรั่งเศส จีน เยอรมัน เริ่ม ๑ เมษายน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศแคนาดา เริ่ม ๖ เมษายน ประเทศอังกฤษ ๑ กรกฎาคม ออสเตรเลีย และเริ่ม ๑ ตุลาคม คือสหรัฐอเมริกา ท่านประธานครับ เหตุผลที่เริ่ม ๑ มกราคม ของทุกปี เช่น จีน เยอรมัน และฝรั่งเศส เหมือนที่ประเทศไทยเคยใช้ โดยใช้เหตุผลให้สอดคล้องกับรอบปี ในการจัดเก็บภาษีและรอบปีในการจัดทำงบการเงินขององค์กรต่าง ๆ ท่านประธานครับ จากตรงนี้จะเห็นได้เลยว่าในแต่ละปีที่มีปีงบประมาณที่ต่างกันออกไปตามบริบทของ แต่ละประเทศ และเหตุผลของการตั้งปีงบประมาณก็ต่างกันออกไปเช่นกันครับ ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและพิจารณาในประเด็นดังกล่าวว่างบประมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ของประเทศไทยมีความเหมาะสมหรือไม่ และหากไม่เหมาะสมควรเปลี่ยนเป็นอย่างไร ดังนั้น ในญัตตินี้ผมจึงขอสนับสนุนให้นำไปศึกษาให้ครบถ้วน รอบด้าน ถึงข้อดี ข้อเสีย ของการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด และเท่าทันต่อเหตุการณ์ เพื่อประโยชน์ผลสัมฤทธิ์สูงสุดภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ตรงนี้ ขอฝากรัฐบาลด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ครับ
นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพครับ ผม กัณตภณ ดวงอัมพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพญาไท ดินแดง วันนี้ผมมาขอร่วมอภิปรายโดยญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ ท่านประธานครับ อันนี้ เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในการที่เราจะเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ คือผมไม่แน่ใจว่าทางผู้เสนอได้มีธงกับเรื่องนี้อย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าพรรครัฐบาลที่ร่วมลงชื่อ ในญัตตินี้มีเป้าประสงค์ใด แต่จากข้อมูลที่ผมได้จากเอกสารที่ผมได้รับนั้น หลักการและเหตุผล บอกไว้ว่าปีงบประมาณปัจจุบันของเราที่เราใช้อยู่น่าจะนะครับ ใช้คำว่า น่าจะ น่าจะ ไม่สอดคล้องและเหมาะสมต่อฤดูกาลและเป็นอุปสรรคในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไข ปัญหาทางด้านสังคม การลงทุน พร้อมทั้งการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ แต่พอผมอ่าน ลึก ๆ แล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมผู้เสนอญัตติถึงมองประเด็นนี้ คือรัฐจะเริ่มจัดเก็บรายได้ ในช่วงมีนาคมถึงสิงหาคมของทุกปี และจะเริ่มจัดสรรงบประมาณไปลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนซึ่งก็เป็นไตรมาสที่ ๔ ของปีงบประมาณ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราจะต้องมาทบทวนถึงช่วงการเก็บรายได้ การลงทุน การใช้งบหรือไม่นะครับ เพื่อให้สอดคล้อง นอกจากการที่จะเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ให้สอดคล้องกับทางฤดูกาลแล้ว นอกจากนี้ประเทศไทยใช้ระบบตัดปีงบประมาณในช่วง ตุลาคมถึงกันยายน ซึ่งมีหลายประเทศที่ตัดรอบปีต่างกัน ผมขอยกตัวอย่าง ๓ ประเทศ เพราะว่ามีผู้อภิปรายก่อนหน้านี้ก็อภิปรายไปแล้วนะครับ ก็มีประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ปีงบประมาณเหมือนเรา ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ของทุกปี การใช้ตัดรอบแบบนี้ ทำให้งบประมาณของสหรัฐอเมริกาสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตัดปีงบประมาณในวันที่ ๑ กันยายน ถึง ๓๑ สิงหาคม ของทุกปี ส่วนอินเดียมีการตัดงบประมาณในรอบวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ มีนาคม ของทุกปีครับ ซึ่งก็มีเหตุผลในการทำปีงบประมาณแตกต่างกันไป หากเปลี่ยนแปลง ปีงบประมาณแล้วผมว่ามีมิติอื่น ๆ ที่จะเกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นระบบภาษี การจัดเก็บ หนี้สาธารณะ และการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน หรือแม้กระทั่งการปรับตัวของ ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนจะเกิดขึ้น เราต้องเตรียมตัวอย่างไรครับ ฝากคำถามนี้ไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะเกิดขึ้น หรือ ครม. ก็ตามครับ มีงานวิจัย ในหลายประเทศที่ศึกษาเรื่องทำนองนี้ ผมอาจจะยกตัวอย่างสัก ๑ งานวิจัย เพื่อที่ท่าน อาจจะได้นำไว้ในการทำเป็น Guideline หรือเป็น Reference ในการศึกษา เช่น การสำรวจ เกี่ยวกับผลกระทบ การวางแผนภาษีของบริษัท หากมีการเปลี่ยนแปลงของปีงบประมาณ ซึ่งอาจจะมีผลต่อวิธีการวางแผนของบริษัท ในช่วงเวลารอบปีงบประมาณต่าง ๆ ของ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้วิจัย ซึ่งอาจจะทำให้เราได้มองมิติเรื่องนี้ มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็เป็นเพียงการยกตัวอย่างหนึ่งตัวอย่างนะครับ สุดท้ายแล้วครับท่านประธาน หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ แล้วก็มีหลายครั้งการเปลี่ยนแปลง ปีงบประมาณเป็นเรื่องที่ดี ถ้าศึกษาให้อย่างดีนะครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ ก็จะตกอยู่กับประชาชน ผมเองมีความรู้สึกขอบคุณสำหรับผู้ที่เสนอญัตตินี้ครับว่า ท่านกำลังจะทำให้ระบบในการใช้เงิน ในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทำได้ดีขึ้น ทำได้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมเห็นด้วยในการที่จะจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ เพราะมิติเรื่องนี้คงมีอีกมาก ผมเชื่อว่าเรื่องนี้กระทบถึงปากท้อง ของพี่น้องประชาชนแน่นอนครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรม School in Parliament ประจำปี ๒๕๕๗ ๑๒๐ ท่าน แล้วก็เรียนท่านสมาชิกด้วยว่าจะมีโครงการ School in Parliament ตลอดทั้งสัปดาห์เลยนะครับ ถ้าท่านใดแวะเวียนไปเจอกับนักศึกษา นักเรียนได้ ก็จะเป็นการดีที่แต่ละท่านได้พบปะกับสมาชิกแต่ละท่านได้เลยนะครับ ต่อไปเป็นท่าน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ คิดว่าท่านไม่อยู่นะครับ ยังไม่พร้อมนะครับ ขอเชิญท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ครับ
นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๑ กระผม ขออภิปรายเรื่องปีงบประมาณ โดยมีรายละเอียดในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดให้ปีงบประมาณหมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่ วันที่ ๑ ตุลาคม ของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ซึ่งเป็น ปีงบประมาณที่พี่น้องประชาชนของเรา ถ้าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณก็จะไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องงบประมาณที่พี่น้องประชาชนของเราได้เสียภาษี และเพื่อน สส. ของเราได้เสนอมติเรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ จาก ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ จนถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗ ในปีนี้หรือปีหน้า ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๘ เปลี่ยนเป็น ๑ มกราคม ๒๕๖๗ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนของเรา ได้เข้าใจปีงบประมาณมากยิ่งขึ้น เพราะงบประมาณแต่ละปีเผื่อจะส่งไปถึงพี่น้องประชาชน ในหมู่บ้านหรือถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล เผื่อจะได้พัฒนาได้ก็ใช้เวลานาน เช่น ในปีงบประมาณ ปีนี้ที่จะต้องเริ่มใช้ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ปี ๒๕๖๖ เป็นต้นไป จนถึง ณ วันนี้ก็ยังใช้เงินงบประมาณ ไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. กฎหมายงบประมาณประจำปียังพิจารณาไม่ได้ นั่นคือเป็นปัญหา และทำให้พี่น้องประชาชนของเราในหมู่บ้านถิ่นทุรกันดารเดือดร้อนมาก ถ้าพี่น้องประชาชน ทั่วประเทศได้เปรียบเทียบการพัฒนาประเทศไทย อย่างเช่น ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นะครับท่านประธาน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด มีการก่อสร้างเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเป็นล้านล้าน
นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ
มีรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เป็นภาพในกรุงเทพมหานคร มีทางด่วน มีอะไรสารพัด และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเรา หันไปดูในหมู่บ้านห่างไกลโดยเฉพาะจังหวัดนครพนม เขต ๑ ของผม ห่างไกลจาก กรุงเทพมหานครถึง ๗๗๐ กิโลเมตร ถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อครับท่านประธาน โดยเฉพาะหน้าฝนใช้เส้นทางไม่ได้ ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์ไปก็หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ นั่นคือ สภาพความเป็นจริง ถ้าเป็นหน้าแล้งก็ฝุ่น ถนนไม่ดี เกิดอุบัติเหตุ และยิ่งไปดูน้ำประปา น้ำกิน น้ำใช้ ขุ่นสีเหมือนกาแฟเย็น เพราะใช้น้ำผิวดิน น้ำบาดาลก็ไม่มีงบประมาณที่จะไป ขุดเจาะให้พี่น้องประชาชนหรืออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ขอภาพโรงผลิตน้ำหรือเครื่องสูบน้ำ เกี่ยวกับเรื่องน้ำก่อน อุปกรณ์ท่อหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับใช้ผลิตน้ำดื่มให้พี่น้องประชาชน ก็เก่า ชำรุดเสียหาย ใช้ไม่ได้ งบประมาณก็ไปไม่ทั่วถึง ทำเรื่องขอมาที่กรมก็ไม่มีงบประมาณให้ สภาพอาคารก็ชำรุดเสื่อมโทรม นั่นคือสภาพเป็นจริงไปทั่วทุกหมู่บ้าน น้ำก็ใช้น้ำผิวดิน สกปรก มีสิ่งตกค้าง มีปุ๋ย มีสารเคมี พี่น้องประชาชนใช้เป็นน้ำกิน น้ำใช้ ก็เป็นมะเร็ง หรือเกิดเป็นโรคผิวหนัง ส่วนหนองน้ำก็ไม่มีเงินงบประมาณในการขุดลอก พี่น้องของเรา จะใช้น้ำเพื่อการเกษตรก็ไม่พอใช้ ทำการเกษตรก็ขาดทุน ต้องเกิดการแย่งน้ำกันหรือทะเลาะกัน นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องพัฒนาให้ทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่พัฒนาแต่ใน กรุงเทพมหานครเป็นแสนล้าน เป็นล้านล้านบาท เป็นปัญหาให้กับพี่น้องอยู่ในหมู่บ้าน ในชนบทเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งไฟฟ้าครับท่านประธาน ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าบ้าน ก็ขาดแคลนกัน พี่น้องของเราขาดแคลนมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่มีไฟฟ้า นั่นเป็น ความเดือดร้อน หรือถนนหนทางไฟฟ้าแสงสว่างส่องถนนหนทางก็ไม่มี เกิดอุบัติเหตุบ่อย นั่นคือสภาพความเป็นจริงของพี่น้องที่อยู่ในชนบท ถ้ารัฐบาลท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการใช้เงินงบประมาณให้อย่างรวดเร็ว จะเป็นสิ่งที่ดี ให้พี่น้องประชาชนของเราได้เสียภาษีให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว บริษัท ห้างร้าน ก็ให้เสีย ได้สะดวก ปัจจุบันนี้การเสียภาษีใช้เวลา แม้กระทั่งในรัฐสภาของเราเองใบหักภาษี ณ ที่จ่าย หรืออะไรต่าง ๆ ถึง ณ วันนี้ยังไม่ได้ จะไปยื่นเสียภาษี อยากเสียเงินให้รัฐบาลรวดเร็วก็ไม่ได้ ถ้าเป็นบริษัท ห้างร้าน ครบปีปั๊บ เปิดงานในปีใหม่ขึ้นมาก็ขอได้ทันที ไปยื่นเสียภาษีได้ทันที นั่นคือสิ่งที่ระบบราชการของเราต้องเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็ว แล้วเงินงบประมาณต้องพิจารณากัน ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๕ ปี หรือระยะยาวถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ต้องทำ ไม่ใช่ให้ อบต. แต่ละที่ ทำเรื่องมาของบประมาณแต่ละปี เสร็จแล้วทำเรื่องมา ๑๐ เรื่อง ๑๐๐ เรื่อง ก็ไม่อนุมัติ ก็เป็นปัญหาพี่น้องของเราในหมู่บ้าน ในชนบท เดือดร้อนกันอยู่ตลอดเวลา ขอกราบ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ก่อนอื่นต้องขอกราบขอประทานอภัยท่านประธานด้วยครับ เมื่อสักครู่ผมขึ้นไปเซ็นงาน ก็เลยลงมาไม่ทัน ขออภัยท่านประธานด้วยนะครับ ผมขออภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณที่ทางท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติเสนอในวันนี้ด้วยนะครับ ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่าเรื่องปีงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผมสนับสนุนท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติที่เสนอในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของท่านที่ดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะเห็นปีงบประมาณของประเทศไทย เปลี่ยนแปลงสะท้อนเหมือนกับปีปฏิทิน หรือของภาคเอกชนที่เขาใช้งานกันอยู่ ซึ่งในปีงบประมาณในอดีตที่ผ่านมาที่เราไปเริ่มต้นตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ก็สืบเนื่องมาจากว่าเราไปขึ้นเกี่ยวกับฤดูกาลต่าง ๆ ดิน ฟ้า อากาศต่าง ๆ ที่ผ่านมา ในปัจจุบันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะโลกาภิวัตน์ก็เปลี่ยนแปลงไป เราเพิ่งพิจารณา เรื่อง AI ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยากจะเรียนท่านประธานจริง ๆ ว่าปีงบประมาณของเรา มันไม่สอดคล้องกับปีปฏิทินที่เอกชนเขาดำเนินการอยู่ การจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เมื่อไม่สอดคล้องกันทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาคเอกชนกับภาคราชการไม่ค่อย สอดคล้องกัน ผมเห็นควรที่จะสนับสนุนญัตตินี้ในการที่จะเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับปีปฏิทิน ซึ่งจะไปสอดรับกับเรื่องของเอกชนที่เขาจัดเก็บรายได้เข้ามา ซึ่งจะตรงเป้าหมายในการที่จะดำเนินการ แต่ในส่วนนี้ผมมีข้อห่วงใยที่อยากจะกราบเรียน ท่านประธานว่าเมื่อเราเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณของเราให้สอดคล้องกับปีปฏิทินแล้ว มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเกษียณอายุราชการต่าง ๆ ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย อีกมากมาย ผมเข้าใจว่ามันยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก เพราะว่าปีปฏิทินของเรากับปีราชการ มันจะไปเกี่ยวข้องกันมาก ทำให้การแก้ไขเกษียณอายุราชการของข้าราชการต่าง ๆ ที่จะต้อง เข้ามาเกี่ยวข้อง มันต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ เพียงแต่ว่าข้อห่วงใยต่าง ๆ นี้ ผมคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรของเราสามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้ ถ้าเกิดเราดำเนินการ เป็นอย่างนี้ไปได้ ผมสนับสนุนอย่างยิ่งว่าปีงบประมาณเองจะสอดรับกัน แล้วจะทำให้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราเป็นไปได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ มากยิ่งขึ้นครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ในส่วนของสมาชิกที่เข้าชื่ออภิปรายมีเพียงเท่านี้นะครับ ทางผู้เสนอญัตติ จะใช้สิทธิในการสรุปไหมนะครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
สรุปนิดหน่อยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเรียนเชิญท่านทรงยศ รามสูต ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติก็ขอสรุป คือจากที่ได้ฟังเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายทุกคน ก็อภิปรายในทิศทางเดียวกันว่าปีงบประมาณของประเทศไทยของเรา มันไม่สามารถแสดง ศักยภาพได้แท้จริง มันมีปัญหาหลายจุดหลายส่วนอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายฝ่ายได้อภิปราย ก็เหมือนอย่างที่ผมได้อภิปรายไปว่าเดือนที่เหมาะสมที่จะทำตุลาคมก็ดี หรือจะเปลี่ยนเป็น มกราคม กุมภาพันธ์ ก็ดี ตามปีปฏิทิน ปัญหาใหญ่ของบ้านเราก็คือประเทศเราไม่เหมือน ต่างประเทศที่เขามีเงินเยอะ หรือเหมือนในอดีตที่เรามีเงินเพียงพอ ประเทศเรามันมี รายจ่ายเยอะกว่างบประมาณที่แท้จริง งบลงทุนจะออกมันต้องรอหลังจากเก็บภาษี ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน ฉะนั้นผมก็ถึงชี้แนะว่าเราควรจะศึกษาทำอย่างไร ที่จะให้หน่วยงานของรัฐ เขามีเวลาในการที่จะบริหารงบประมาณที่เขาได้รับจากภาครัฐได้นานขึ้น ๒ หรือ ๓ ไตรมาส ส่วนจะเป็นเดือนไหน ผมไม่ได้ติดใจ ผมถึงอยากให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ว่า เดือนไหนเป็นเดือนที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เกิดศักยภาพในการบริหารประเทศ มันแสดง ได้อย่างเต็มที่ ให้ตามความเป็นจริงที่เงินภาษีเราเข้า และที่สำคัญที่อยากให้ศึกษาก็คือว่า อย่างที่เพื่อนสมาชิกเป็นห่วง มันน่าจะมีผลกระทบจากหลาย ๆ เรื่อง เช่น ในเรื่องเกษียณ หรือเรื่องกฎหมายต่าง ๆ ฉะนั้นเราต้องศึกษาโดยรอบคอบหรือโดยละเอียด ผมถึงว่า ต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ผมไม่ติดใจว่าจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือจะส่งไป กรรมาธิการสามัญ หรือถึงแม้จะส่งให้ภาครัฐบาลรับไปพิจารณา ผมก็ไม่ติดใจ แต่หวังว่า ถ้ารับไปแล้วคงจะมีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบ มาพิจารณา ผมอยากเห็นการนับหนึ่ง ในการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อจะเห็นการนับสองในการพัฒนา เพื่อหวังว่าจะเห็นการนับสาม ในการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นผมก็ฝากว่าให้รัฐไปพิจารณาดูว่าจะทำประการใด ผมขออย่างเดียว ขอให้ได้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างน้อยเป็นการจุดประกายเริ่มต้น ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เนื่องจากญัตติเรื่องนี้ทางผู้เสนอญัตติก็เห็นด้วย จากการสรุปว่าให้ส่งไป ที่รัฐบาล แล้วจากการประสานงานของทั้ง ๒ ฝ่าย ก็เห็นเป็นในทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ขัดข้องผมจะขอถามมติที่ประชุม โดยอาศัยมาตรา ๘๘ ว่าเราเห็นด้วยในการที่จะส่ง ประเด็นนี้ ตามญัตตินี้ให้กับรัฐบาลได้พิจารณาครับ มีทั้งผู้เสนอ แล้วก็สมาชิกท่านใด จะขัดข้องไหมครับ ถ้าไม่ขัดข้อง ผมขอใช้อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ขอบคุณมากครับ แล้วก็เสนอระยะเวลาใช่ไหมครับ ขอโทษนะครับ ต้องเสนอนะครับ อันนี้คนละลักษณะ กับการส่งกรรมาธิการ ไม่มีการเสนอระยะเวลานะครับ ก็เป็นอันสิ้นสุดวาระที่ ๕.๔ ขอไปสู่ วาระต่อไปครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ได้รับการประสานจาก เพื่อนสมาชิกว่าจะมีการขอยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา จึงขอให้ท่านประธานรอฟังเพื่อนสมาชิก สักครู่ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวเรารอเพื่อนสมาชิกที่จะใช้สิทธิเสนอญัตติด่วนนะครับ
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ผมจะขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง การหาแนวทางป้องกันฟื้นฟูเยียวยาอุบัติเหตุจากโรงเก็บ พลุระเบิด ซึ่งเป็นเรื่องด่วน ขออาศัยข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๑) และข้อ ๒๘ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวขอสักครู่ ผมตรวจสอบระเบียบข้อบังคับก่อนนะครับ ถ้ารับรอง ช่วยกันยกมือได้ไหมครับ ถ้าตกลงกันเรียบร้อยแล้วสมาชิกเราหร็อมแหร็มมากเลยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ไม่ติดอะไรแล้ว ถ้าอย่างนั้นผมขอนำญัตติด่วนด้วยวาจา ที่ท่านสมาชิกได้เสนอ ขอเชิญแถลงหลักการและเหตุผลครับ มีท่านศนิวารด้วยใช่ไหมครับ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอญัตติด่วนร่วมด้วยนะคะ เป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง เสนอแนะ แนวทาง ป้องกัน กอบกู้ ฟื้นฟู เยียวยา อุบัติการณ์โรงงานโกดังเก็บพลุระเบิด เพื่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ มี ๒ ท่านใช่ไหมครับ ที่จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ถ้าอย่างนั้น ผมเชิญท่านแรกก่อนนะครับ ท่านสรชัด สุจิตต์ ได้เสนอหลักการและเหตุผลครับ
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง การขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรการป้องกันสร้างความ ปลอดภัยและการเยียวยา ความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิงระเบิด เนื่องด้วยจากเหตุการณ์ของพลุระเบิดซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรงและเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา หลายครั้งและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เหตุการณ์พลุระเบิดในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา อย่างกรณีพลุระเบิดของที่บ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสก็สร้างความ เสียหายชีวิตในวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตอย่างมากมายถึง ๑๒ คน บาดเจ็บนับเป็นร้อยแล้วมี บ้านเรือนเสียหายมากกว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน แล้วล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในวันที่ ๑๗ มกราคม๒๕๖๗ ก็เกิดเหตุการณ์พลุระเบิดที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างมากมายถึง ๒๓ คน ซึ่งคนในโรงงานนั้นเสียชีวิตทั้งหมดรวมถึงเจ้าของ โรงงานที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย กราบเรียนท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องของอุบัติเหตุดอกไม้ ไฟระเบิดหรือพลุระเบิดมีการเกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดบ้านเกิดผม คือจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ก็เกิดมา ๓ ครั้ง ปี ๒๕๕๕ซึ่งเป็นการจัดงานตรุษจีน ปี ๒๕๕๖ ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๗ ในครั้งนี้ก็มีผู้เสียชีวิตเป็น ประวัติการณ์ที่มากที่สุดเหตุที่เกิดขึ้น ผมก็อยากจะขอแยกประเด็นออกเป็น ๓ ส่วนของการ เกิดปัญหา
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็คือเกิดจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตในการผลิตและจำหน่าย ซึ่งในลักษณะของโรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นจากตามวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ก็จะอยู่ในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนเทศกาลต่าง ๆ แล้วก็ในเรื่องของตัวอาชีพ ซึ่งดอกไม้ไฟ ประทัด บั้งไฟ ตะไล แล้วก็โคมลอยพวกนี้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในวิถีชีวิต ของวัฒนธรรม และที่สำคัญการเกิดเหตุระเบิดในพื้นที่ของผมเยอะส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะ คือโรงงานที่ผลิต ซึ่งในการผลิตเองนั้นก็จะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะไม่เข้าในกฎหมายของโรงงาน เหตุที่เกิดในสมัยก่อนที่เกิดอยู่มากมายก็จะมี อยู่ตามบ้าน ก็คือเป็นการใช้วิถีชีวิตพื้นฐานเหมือนพี่น้องประชาชนไปรับจ้างงาน ก็เอาประทัด ที่เป็นการจุดไล่นกเอามาบรรจุตามบ้าน ก็คือมารับงานแล้วก็เอาไปส่งที่โรงงาน ซึ่งเหตุการณ์พวกนี้ก็จะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในอดีตที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทางฝ่ายรัฐโดยเฉพาะกรมการปกครองให้ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ออกไล่กวด ไม่ให้มีการ เอาวัตถุระเบิดนั้นไปทำตามบ้านเรือน ก็ทำให้พี่น้องประชาชนนั้นเข้าไปทำอยู่ในสถาน ประกอบการที่ขออนุญาต แต่ข้อสำคัญก็คืออยู่ในสถานประกอบการอนุญาตนั้น มันไม่เข้ากฎหมายอุตสาหกรรมของกรมโรงงาน เพราะว่าพนักงานที่มาทำนั้นเป็นการจ้างงาน โดยที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนที่ชัดเจน จะเป็นการลักษณะก็คือเหมางานว่าทำครบตามจำนวน เท่านี้ ได้ค่าตอบแทนเท่าไร เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยากจะมีรายได้เสริมยามว่าง ในการทำงานนั้น ก็ให้ความสนใจที่จะมาทำงานในอาชีพที่เสี่ยงตรงนี้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า การจะประกอบอาชีพเหล่านี้มีมาตรการที่จะไปให้องค์ความรู้กับคนที่เข้ามาทำงาน ในสถานประกอบการแห่งนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในครัวเรือน จะเป็นตั้งแต่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก แล้วก็ในวัยทำงานที่เสียชีวิตเหล่านั้น ก็มีความหลากหลาย แล้วบางท่านก็มีการศึกษาไม่ได้สูงมาก แล้วการอบรม การให้ความเข้าใจ และความตระหนัก ถึงความปลอดภัยในอาชีพที่อันตรายแบบนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราน่าจะเพิ่ม มาตรการอันสำคัญตรงนี้ไปถึงพี่น้องประชาชน เหตุการณ์ที่มูโนะนั้นก็คือเป็นเหตุการณ์ ในกลุ่มของสถานที่การค้าและจำหน่ายเกิดการสะสมของปริมาณดอกไม้ไฟ แล้วไปตั้งอยู่ กลางชุมชน จึงทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งในประเด็นตรงนี้ก็ควรจะต้องเร่ง ในการหามาตรการ ในการดูปริมาณควบคุม ซึ่งจริง ๆ แล้วผมไปนั่งอ่านดูในระเบียบ หรือคำสั่งร่วมถึง ๕ กระทรวง ใน ๕ กระทรวง ก็พยายามจะมีมาตรการต่าง ๆ มากมาย แต่ข้อสำคัญคือการติดตามและการบังคับใช้ตามกฎ ระเบียบ ของกระทรวง หรือกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติก็ตามนั้น เป็นการยากมากในการที่จะไปควบคุม และยิ่งตามประเพณี ตามเทศกาลต่าง ๆ แล้ว ก็จะมีร้านที่มาจำหน่ายอยู่ตามร้านเล็กร้านน้อยในชุมชน ในหมู่บ้าน ก็มากนะครับ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้ขออนุญาต แล้วทางรัฐ ทางปกครอง ก็ทำงานกันค่อนข้าง จะหนักในประเด็นตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมมองว่าในประเด็นตรงนี้พวกเราคงจะต้องนำเสนอ แนวทางในการแก้ไขปัญหา และควบคุมสิ่งที่อันตรายแบบนี้แล้วข้อที่สำคัญก็คือการเอาไปใช้ ผู้ที่ใช้เอง บางทีในการจำหน่ายก็ไม่ได้มีการกำหนดอายุของคนที่เอาไปใช้ อย่างเราเคยได้ยิน เหตุการณ์บ่อย ๆ ว่าเด็กเล่นประทัดแล้วมือแตกบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเหล่านี้เราไม่มีการควบคุม ในการซื้อวัตถุตรงนี้ บางทีเด็ก ๆ เขาก็เอาไปเล่นกัน ไม่ได้ใช้ไปตามวัตถุประสงค์ของ การผลิตจริง อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งผมเองปัญหาของ ในพื้นที่ที่เกิดล่าสุดที่ตำบลศาลาขาวนั้น จากการที่พวกเราภาครัฐได้ไปดำเนินการให้ไป ทำงานกัน คือไม่ให้เอาออกมาทำตามในครัวเรือน จึงทำให้บุคคลที่ต้องการจะมีรายได้เสริม เข้าไปทำงานอยู่ภายในโรงงาน แล้วเวลาเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จึงเสียชีวิตทั้งหมด ที่อยู่ในโรงงานผลิตแห่งนี้ ซึ่งไปดูในที่เกิดเหตุจะมีหลุมที่เป็นกลุ่มย่อย ๆ อยู่ถึง ๒๐ กว่าหลุม หมายถึงว่าก็คือจุดของผู้ที่เสียชีวิตนั้นได้ทำงานอยู่เป็นจุด ๆ แล้วก็เกิดระเบิดเป็นกลุ่มย่อย แล้วก็มีหลุมใหญ่คาดว่าเป็นที่รวบรวมของผลผลิต ในการผลิตนั้นทำให้เป็นหลุมขนาดใหญ่ ของในที่เกิดเหตุ ท่านประธานครับ กฎหมายมีอยู่หลายฉบับเลยทีเดียวที่พยายามจะบังคับใช้ แต่มันก็เป็นตามส่วนราชการต่าง ๆ ที่มองในมิติต่าง ๆแต่ผมมองว่าในส่วนตรงนี้ภาครัฐ ควรจะต้องเอาไปบูรณาการงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วก็เกิดความปลอดภัยให้กับ พี่น้องประชาชน ซึ่งตาม พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ ก็จะเป็น Potassium Chlorate ซึ่งก็ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายอยู่ในยุทธภัณฑ์ที่ควบคุม ซึ่งมันจะต้องเอามาผสมกับถ่าน หรือ Sulfur แล้วก็สิ่งต่าง ๆ หลายอย่างที่รวมกันกลายเป็นดินเทา แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเกิดเราไปใช้ลักษณะของตัวบั้งไฟพวกนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงแค่จุดให้เกิดพลังแล้วก็ ทำให้บั้งไฟนั้นขึ้นไปสูง แต่บังเอิญเหตุการณ์ที่โรงงานที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเป็นการ ทำประทัดที่เป็นลักษณะเป็นประทัดพลาสติก เป็นลูกบอลสำหรับจุดไล่นกซึ่งมันสามารถ จะสร้างความรุนแรงความเสียหายได้มากกว่าที่ไปเอาดินเทาอันนี้ไปทำอย่างอื่นมากถึง ๑๐๐ เท่า เพราะว่าวัตถุที่ไปหุ้มของดินเทานี้คือเป็นพลาสติก แล้วพันเพื่อทำให้เกิดแรงอัด ที่ค่อนข้างจะสูง ในเมื่อปริมาณของแรงอัดที่เอาไปผลิตแล้วนี้ มันมีอานุภาพค่อนข้างจะแรง และรวมในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิด ความรุนแรงที่ให้ความเสียหายอย่างมากมายเลยทีเดียว สาเหตุที่เรามองว่ามันน่าจะเกิดขึ้นนี้ ก็เกิดขึ้นจากบุคคลในการทำงานที่ขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอ หรือการสร้างความเข้าใจตรงนี้
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ อาจจะเป็นเรื่องของการเก็บรักษาภายหลังได้รับการอนุญาตนั้น อาจจะขาดการติดตามที่เพียงพอ อาจจะเป็นเพราะด้วยมาตรการ อาจจะเป็นเพราะด้วย จะต้องมีการรวมกลุ่มของหลายส่วนราชการนัดหมายที่จะไปลง ฉะนั้นทุกครั้งที่ส่วนราชการ นัดหมายเข้าไปตรวจ บางทีผู้ประกอบการก็จะเลี่ยงในการหยุดทำงาน อันนี้ก็จะกลายเป็น ปัญหาแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น ฉะนั้นในส่วนที่ผมเองก็อาจจะขอนำเสนอแนวทาง เพื่อส่งให้ทางรัฐบาลไปดำเนินการ ปรับปรุง แก้ไข แล้วก็ยกระดับ ทั้งจะต้องไปปรับ พ.ร.บ. หรือแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรัดกุมและสร้างความปลอดภัยกับพี่น้อง ประชาชนได้
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
อย่างแรก ผมมองว่าในเรื่องเหล่านี้อาจจะต้องนำเสนอให้มีการควบคุม ปริมาณการผลิต ถ้ามีปริมาณมากกว่าเท่าไร ก็ขอให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงานได้ไหม เพราะว่าทุกครั้งกฎหมายโรงงานจะกำหนด ๕๐ คน หรือ ๕๐ แรงม้าขึ้นไป แต่ลักษณะ ของโรงงานขนาดนี้ก็ไม่มีจำนวนของพนักงานที่ชัดเจน ถ้าเกิดแก้เป็นที่ ๕ คน ก็ทำให้เกิด การควบคุม แต่ผลพลอยได้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผลกระทบก็คือต้นทุนของตัวลูกปิงปอง หรือลูกบอลสำหรับไปจุดไล่นกที่ภาคเกษตรจะต้องใช้ ก็อาจจะมีต้นทุนในราคาที่สูงขึ้น
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ก็คือเป็นเรื่องของตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย และชีวอนามัย ซึ่งอันนี้ก็อยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน การให้ความรู้ และการควบคุมให้ผู้ประกอบการให้ความรู้อาจจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การสร้างตระหนักความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน แล้วข้อที่สำคัญผู้ที่ปฏิบัติงานนั้น หลายคนที่มาทำงาน ผมก็เกรงว่าอาจจะได้รับความเข้าใจอยู่แค่บางส่วน แต่ในบางส่วน ก็อาจจะมีความตระหนักและความไม่ชัดเจน ในเรื่องของความอันตรายตรงนี้ก็ทำให้ เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และที่น่าเสียดายว่าแรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้าสู่ในตัวกฎหมายของ ประกันสังคมโดยตรง ซึ่งทุกคนนั้นก็ต้องส่งเงินรายได้ของตัวเองตามมาตรา ๔๐ บางคน ก็ขาดส่ง ก็ทำให้ขาดผลประโยชน์บางส่วนของตัวเองที่ควรจะได้รับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
นายสรชัด สุจิตต์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ประการสุดท้าย ในการประกอบการสถานที่อันตรายแห่งนี้ก็ควรที่จะต้องมี ประกันภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งการเสียหายในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตถึง ๒๓ รายนั้น ผลกระทบถึง ๑๗ ครัวเรือน มีเด็ก ๆ ที่จะต้องกำพร้าคุณพ่อ คุณแม่ แล้วเด็กที่ขาด ผู้ปกครองเสียชีวิตถึง ๑๕ ราย เยาวชนอีก ๓ ราย ผลกระทบมีทั้งผู้สูงอายุ ซึ่งบุคคล ที่มาทำงานในโรงงานนี้เขาคือเสาหลักของครอบครัว วันนี้เสาหลักของครอบครัวนั้นไม่อยู่ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร มีผู้ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ถึง ๕๓ ราย จากข้อมูลที่กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลง ได้ตั้ง Case Manager เข้าไปติดตาม ยังมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจที่ต้องเยียวยา และในระยะยาวคือความมั่นคงของ เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นได้รับการศึกษาที่มีความพร้อม ก็เป็นสิ่งที่พวกเรานั้นคงจะต้องติดตาม ช่วยเหลือกันในระยะยาว เหตุการณ์ครั้งนี้เสียหายค่อนข้างจะมากมายใหญ่หลวง ประชาชน เสียชีวิตถึง ๑๓ คน แต่การเสียหายในครั้งนี้ผมก็หวังว่าคงจะเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเรา จะมีมาตรการที่ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก การเสียหายมันไม่ได้เสียหายแค่ชีวิต และทรัพย์สินในปัจจุบัน แต่มันเป็นต้นทุนทางสังคม เป็นต้นทุนของประเทศชาติที่มหาศาล นับไม่ถ้วนที่จะต้องแก้ไขในอนาคต ผมเองก็ต้องขอกราบขอบพระคุณส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ทุก ๆ ท่าน มูลนิธิ องค์กร ส่วนราชการต่าง ๆ พี่น้องประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทุกคนส่งสิ่งของให้กำลังใจ ในภาวะที่พวกเรา เกิดวิกฤตินั้น แต่ในความเป็นคนไทยที่มีอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่เราดีก็คือความร่วมไม้ร่วมมือ ในการที่จะฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและวิกฤติตรงนี้ไปได้ ตั้งแต่เปิดศูนย์ในการช่วยเหลือ จนถึงปิดศูนย์ ทุกอย่างนั้นได้ความช่วยเหลือ การแก้ไข และการทำงานบูรณาการงานร่วมกัน จากทุกภาคส่วน กระผมในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของพี่น้อง ประชาชน ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณทุกท่านใน ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับผู้จัดทำสารคดีจากสาธารณรัฐประชาชน จีนนะครับ Very welcome all friends form China.
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นท่านผู้เสนอญัตติท่านที่ ๒ ญัตติ เรื่อง เสนอแนะแนวทางป้องกัน กอบกู้ ฟื้นฟู เยียวยา อุบัติการณ์โรงงานโกดังเก็บพลุระเบิด เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เชิญท่านศนิวาร บัวบาน ครับ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ผ่านมา ๑ สัปดาห์แล้วค่ะท่านประธาน กับเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตามที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๒๓ ราย บาดเจ็บสาหัสอีก ๗ ราย อาคารพังราบเป็นหน้ากลอง ดิฉันและเพื่อนสมาชิก ก็ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ประสบเหตุด้วยนะคะ ท่านประธานที่เคารพคะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด หากเรานับย้อนกลับไปภายใน ๑๕ ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุโรงงานโกดังเก็บพลุระเบิดมากกว่า ๒๐ ครั้งมาแล้วค่ะท่านประธาน เฉลี่ยแล้ว นี่คือเกิดขึ้นทุกปีค่ะ ปีหนึ่งเกิดขึ้น ๑-๒ ครั้ง เราคงจะจำได้นะคะ ช่วงกลางปีที่แล้วมีโรงงาน ทำพลุดอกไม้ไฟระเบิดที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๘ ราย แล้วก็ยังส่งผลให้บ้านเรือนกว่า ๓๐ หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย ตามมาติด ๆ เดือนเดียวกันนั้นเอง กลางตลาดมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต ๑๑ ราย บาดเจ็บเกือบ ๔๐๐ ราย แล้วก็บ้านเรือนเสียหายกว่า ๗๐๐ หลังคาเรือน ตอนนี้ที่ตลาดมูโนะก็ยังอยู่ ระหว่างการฟื้นฟูเยียวยาอยู่นะคะ คือนี่ไม่นับรวมอุบัติเหตุโรงงานพลุระเบิดที่เกิดขึ้นแล้ว ทั่วประเทศตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คือดิฉันละอายที่จะพูดว่าอุบัติเหตุ เพราะว่ามันเกิดขึ้น บ่อยมากจนเป็นอุบัติการณ์ไปแล้วค่ะท่านประธาน มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งร้อยแล้วก็บาดเจ็บ อีกนับไม่ถ้วน วิถีชีวิตของชาวบ้านจะต้องเปลี่ยนไป นี่ยังไม่คิดมูลค่าความเสียหายทาง เศรษฐกิจอีกไม่รู้เท่าไร หากจะถามว่าแล้วทำไมชาวบ้านเลือกที่จะทำงานที่เสี่ยงแบบนี้ คำตอบก็คือพวกเขาไม่มีทางเลือกค่ะ เพราะในพื้นที่ไม่มีงานทำ จึงต้องยอมทำงานที่เสี่ยง อันตราย ซึ่งดีกว่าที่จะอดตายค่ะ เราทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาเรามาดูสาเหตุ ของปัญหากันบ้างนะคะ แม้ว่าโรงงานพลุส่วนใหญ่จะมีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน โรงงานส่วนใหญ่ได้ขออนุญาตทางท้องถิ่นจัดตั้งกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แล้วก็ มีประกาศของหลายกระทรวงที่ครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์เรื่องอาคารสถานที่ แล้วก็มีวิธีการ กำกับดูแลการผลิตดอกไม้เพลิงแล้วนะคะ แต่ประกาศเหล่านั้นก็ยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอ ทั้งในเรื่องของทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณดอกไม้เพลิงที่เก็บสะสมไว้ นอกจากนี้สถานที่ผลิตพลุยังไม่ถูกนับเป็นโรงงานตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่มีสถานะเป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบการทำดอกไม้ไฟเท่านั้นค่ะ กรมโรงงาน อุตสาหกรรมจึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจะนอนหลับได้อย่างไร ถ้าเกิดเขาไม่ทราบเลยว่าโกดังพลุแถวบ้านเขามีวัตถุอันตรายเก็บไว้เป็นปริมาณเท่าไร แล้วก็มีกระบวนการจัดเก็บที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นค่ะท่านประธาน เราจำเป็นต้องมี กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยแล้วก็การเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมค่ะ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติการรายงาน การปล่อยแล้วก็การเคลื่อนย้ายสารมลพิษสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ร่าง พ.ร.บ. PRTR เข้าสภาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ใจความหลัก ๆ ของร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็คือสถานประกอบการนะคะ สถานประกอบการในที่นี้หมายความรวมถึงโรงงาน อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แล้วก็กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้าย สารมลพิษที่อาจทำให้เกิดอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้ หรือเพื่อประการอื่นใดก็ตามค่ะ อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อโรงงานผลิตแล้วก็โกดังเก็บพลุเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงโรงงานที่เก็บสารมลพิษทั้งหมด เช่น เราคงได้ทราบข่าวกรณีหมิงตี้ เคมีคอลที่จังหวัดสมุทรปราการที่เคยระเบิดรุนแรง แล้วก็ปล่อยสารพิษอันตรายเต็มพื้นที่ จะดีกว่าไหมถ้าเกิดเราสามารถทราบปริมาณสารมลพิษที่โรงงานนั้น ๆ ได้เก็บอยู่ค่ะ ดิฉัน ก็หวังว่าทางสภาจะเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แล้วก็บรรจุเข้าวาระเพื่อพิจารณา โดยเร็ว ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากเรื่องของกฎหมายควบคุมดูแลแล้ว รัฐก็ควรสร้างงาน สร้างอาชีพ แล้วก็พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ด้วยค่ะ ท้ายนี้คือสิ่งที่ทิ้งไว้หลังจากเกิดเหตุคือร่องรอยของความสูญเสีย ทั้งสูญเสีย สมาชิกในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียโอกาสต่าง ๆ มากมาย กรณีโรงงานพลุระเบิด ที่สุพรรณบุรี หน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางแล้วก็ในท้องถิ่นรวมถึงมูลนิธิต่าง ๆ ได้ยื่นมือ เข้ามาให้ความช่วยเหลือแล้วนะคะ แต่อย่างไรก็ตามการเยียวยาสภาพสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่เท่าไร แต่การเยียวยาสภาพจิตใจนั้นต้องอาศัยระยะเวลา อาจต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามา ช่วยดูแลด้วย ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปลี่ยนจาก อุบัติการณ์เป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ เพราะเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมันยากที่จะ เอากลับคืนมาค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ตอนนี้ผู้เสนอญัตติทั้ง ๒ ท่าน ก็ได้แถลงเหตุการณ์และเหตุผลแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของทางท่านสมาชิกนะครับ เรียนเชิญท่านแรก ท่านปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ แล้วตามด้วยท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ
นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนร่างของเพื่อนสมาชิก ศนิวารนะครับ ในกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการควบคุมมาตรการป้องกันเหตุ ดอกไม้ไฟที่ระเบิดในจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนอื่นเลยนะครับ ผมต้องขอแสดงความเสียใจ กับทุกครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ว่าเวลาไหนหรือที่ไหน เหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และเหตุการณ์ ดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ผมเป็นผู้แทนนี้ มีความกังวลใจและเกิดความหวาดกลัว เป็นอย่างมาก ขอสไลด์ด้วยครับ
นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ถ้าย้อนกลับไปสมัยรุ่นพ่อ รุ่นแม่ผม หากเขาถามว่าอยากจะไปซื้อดอกไม้ไฟในตัวเมือง กรุงเทพมหานครต้องไปที่ไหน ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันครับว่าสามารถซื้อได้บริเวณ รอบวัดสระเกศ หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันคือวัดภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนบริพัตร ถนนบำรุงเมือง และถนนจักรพรรดิพงษ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ผมเอง หากดูจากสไลด์ของผม Website ชื่อดังยังมีการพูดคุยเรื่องการซื้อดอกไม้ไฟในพื้นที่ ที่ผมอยู่นั้นเป็นอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดปี ๒๕๖๖ ยังมีการถามกันไปมาอยู่เลย ชาวอินเตอร์เน็ต ยังตั้งคำถามเร็ว ๆ นี้ว่าดอกไม้ไฟถ้าจะซื้อต้องไปที่ไหน ก็มีคนตอบมาว่าย่านภูเขาทองครับ แต่เขาแอบขาย เดี๋ยวมีมอเตอร์ไซค์มารับถึงที่เลย ถ้าอยากซื้อท่านลองหยิบมือถือขึ้นมา แล้วเปิดแผนที่ใน Google Map พร้อม Search คำว่า ดอกไม้ไฟ สิ่งที่ท่านเจอจะปรากฏ ขึ้นมาบนหน้าจอจะมีร้านจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ขึ้นมาเพียบเลยครับ แต่เขาจะแอบ ๆ ขายกัน จะมีเบอร์แปะอยู่หน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้า แล้วคนขายก็จะพาท่านไปดูหลังร้าน สิ่งที่เพิ่ม ความกังวลใจมากขึ้นเป็นเพราะบริเวณแถวนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงงานไม้ และร้านจำหน่าย สินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไม้ นอกจากนั้นยังเป็นอาคารตึกแถวติด ๆ กัน ยังมีทั้งวัด โรงเรียน และชุมชน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเป็นอาคารค่อนข้างเก่าแก่ที่มีมานานแล้ว ผมไม่อยากจะคิดเลยครับว่าถ้ามีเหตุการณ์ที่กักเก็บพลุระเบิดในบริเวณนี้จะเป็นอย่างไร ตัวผมได้รับเสียงกังวลใจจากประชาชนในพื้นที่อยู่หลายครั้งว่ามีร้านดอกไม้ไฟที่ไม่ได้ ขอใบอนุญาตจำหน่ายอยู่หลายร้าน ตัวผมและทีมงานได้มีการไปลองซื้อด้วยตนเองมาแล้ว ตั้งข้อสังเกตที่ได้มา ส่วนใหญ่จะไม่มีหน้าร้าน หากต้องการซื้อต้องโทรไป Order ก่อนล่วงหน้า หรือส่งข้อความผ่านช่องทางต่าง ๆ แล้วทางร้านจะเตรียมสินค้าไว้ให้หรือให้ลูกค้าสามารถ เข้ามารับชมสินค้าผ่านในห้องจัดเก็บหลังร้าน เก็บไว้ในห้องที่มีอากาศร้อนและอากาศไม่ถ่ายเท ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าไปจับกุมร้านเหล่านี้ สุดท้ายแล้ว ก็มีการลงโทษสั่งปรับไปเพียง ๑,๐๐๐ บาท แต่ผ่านไป ๒-๓ วันเท่านั้น ประชาชนก็ได้ร้องเรียนมาว่าร้านเดิมยังกลับมาเปิดเป็นปกติ สิ่งที่ทำให้ร้านค้าเหล่านี้ยังคงกลับมาจำหน่ายกันได้ใหม่ภายในไม่กี่วัน ส่วนหนึ่ง เพราะการบังคับใช้ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียม อาวุธปืน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ถึงแม้ว่าจะมีโทษจำคุก แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็น การปรับเพียง ๑,๐๐๐ บาทเท่านั้น จึงทำให้ร้านค้าเหล่านี้ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และกลับมาเปิดใหม่เพียงเวลาไม่กี่วันเท่านั้น สุดท้ายนี้ผมไม่อยากให้ประเทศเราทำงานกัน แบบวัวหายแล้วล้อมคอกกันอีกแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น เราได้รับ บทเรียนกันมามากพอแล้วครับ ต้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมิให้เกิด การสูญเสียแบบที่ผ่านมา ทุกชีวิตที่สูญเสียนั้นไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้ ต้องมีเด็ก อีกกี่คนที่จะต้องสูญเสียพ่อแม่ หรือพ่อแม่อีกกี่บ้านที่ต้องสูญเสียลูก บางครอบครัว ต้องเสียโอกาสหลาย ๆ อย่าง อย่าลืมว่าตรงพื้นที่นี้ใกล้กับโรงเรียน วัด ร้านค้าต่าง ๆ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถแปรเป็นมูลค่าได้เลยสำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับครูและนักเรียนจากโรงเรียนวังใหญ่วิทยาคม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเรียนเชิญท่านวิรัช พิมพ์พะนิตย์ ครับ
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ วันนี้ผมขออภิปรายร่วมญัตติด่วนมาตรการป้องกันสร้างความปลอดภัยและแก้ไขเยียวยา ความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ท่านประธานที่เคารพครับ ข่าวเศร้าโรงงาน ดอกไม้เพลิงที่ศาลาขาว จังหวัดสุพรรณบุรีที่ระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า ๒๓ คน ก่อนอื่น ต้องบอกว่าขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต เขาก็คงไม่อยากตาย แต่ในเมื่อ กฎหมายของเมืองไทยระบุชัดเจนว่าการสร้างโรงงานดอกไม้ไฟหรือพลุ ไม่ต้องขออนุญาต จากกรมโรงงาน สามารถขออนุญาตจาก อบต. หรือเทศบาลได้เลย ท่านประธานที่เคารพครับ การที่เราหละหลวมแบบนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วก็มีผู้ล้มตายอย่างมากมาย ถ้าวันนี้ กรมโรงงานระบุว่าคนที่จะทำโรงงานจะต้องมีเครื่องจักรตั้งแต่ ๕๐ แรงม้าขึ้นไป แต่ก็ ยกเว้นไว้บ้าง สำหรับกรณีที่เป็นวัตถุอันตรายและออกฤทธิ์อย่างนี้ ผมบอกว่าการที่ ขออนุญาตจากเทศบาล แล้วก็ อบต. เขาคงจะอนุญาตแล้วก็ตรวจสอบได้ดีพอสมควร แต่ความปลอดภัยในขั้นตอนที่ ๑ ๒ ๓ มีดับเพลิงไหม มีวัตถุป้องกันไหม มีหน้ากากไหม มีที่เก็บมีอุณหภูมิชัดเจนไหม เขาไม่มีครับ คนไทยอย่างไรขาดไม่ได้หรอกครับ มีความสุข ก็จุดพลุ มีความทุกข์ก็จุดพลุ เสียชีวิตก็จุดพลุ เพราะฉะนั้นในเมื่อมันขาดเหลือแล้วก็ ทำไม่ได้อย่างนี้ เราจะต้องหาวิธีป้องกันให้กับประชาชนครับท่านประธาน การที่โรงงาน ซึ่งอนุญาตจาก อบต. และเทศบาล มันเป็นความบกพร่องอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาลไทย รัฐบาลเคยเห็นเหตุการณ์ที่เกิดที่สุไหงโก-ลกอยู่แล้ว มีผู้เสียชีวิต ๑๐ กว่าคน แล้วก็ มีเหตุการณ์บั้งไฟในภาคอีสานระเบิด คนบ้านผมจุดบั้งไฟเป็นประเพณี เขาทำของเขา ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านโดยใช้ Hydraulic อัด ผมก็กลัวอยู่แล้วไปนั่งดูเขาอัด แต่ว่านั่น ก็แค่ส่วนน้อย แต่โรงงานซึ่งเก็บพลุขนาดนี้ผมว่ามันคลังแสงน้อย ๆ แล้ว มันจะต้อง มีมาตรการที่ควบคุมมากกว่านี้ ขอบคุณนะครับท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ข่าว แล้วก็ไปดูแล สั่งการ ขอบคุณทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะขอเอ่ยชื่อท่านปลัดวิฑูรย์เป็นปลัดเก่า กระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ข้อมูลกับผมบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะสารพวกนี้ ถ้าตั้งไว้ในความอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างไรก็ระเบิด ผมเห็นภาพที่ขึ้นจอเมื่อสักครู่นี้ ก็ขอบคุณภาพจากสื่อมวลชนนะครับ มันทำให้ผมสะท้อนใจว่ารัฐบาลหรือบ้านเรานี้ มันล้าหลังขนาดนั้นหรือครับ ทำไมไม่มีบุคคลใดหรือมีเจ้าหน้าที่ใด ๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้วไปทำงานให้มันถูกต้อง ผมเห็นใจเทศบาลกับ อบต. ถ้าวันหนึ่งมีคนมาขออนุญาต ที่จะสร้างโรงงานพลุ เขาก็ต้องอนุญาตในนามของเทศบาลและ อบต. แต่วันนี้ยังโชคดีว่า โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่ง ลองคิดดูว่าถ้าตั้งในชุมชนเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ผมกราบเรียน ท่านประธานว่ามันไม่ใช่ ๒๓ คนครับ มันเป็นร้อย ผมบอกว่าพระราชบัญญัติควบคุม วัตถุระเบิด ตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ มันล้าสมัยแล้วครับ ปรับปรุงเถอะครับ มาทำให้บ้านเมืองของเรา ปลอดภัยขึ้นกว่านี้ ผมก็กราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพว่าวันนี้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกนี้ ลงมาดู ลงมาทำ แล้วลงมาจัดการให้มันดีขึ้นกว่านี้ จะได้ไม่เกิด เหตุการณ์อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การสูญเสียของคนวันนี้เวลาไปบรรจุศพไปอะไร บางที ชิ้นส่วนมันอเนจอนาถครับ เมืองไทยถือว่าเป็นเมืองที่เจริญพอสมควรอยู่แล้ว ก็ขอฝาก ท่านประธานที่เคารพว่าเรามาทำความปลอดภัยให้ประชาชนของเรา อยู่ดีกินดี ไม่เจ็บไม่ป่วย แล้วก็ไม่เสี่ยงอันตรายอย่างนี้ดีกว่าครับ กราบขอบคุณท่านประธานที่เคารพครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรการป้องกัน ฟื้นฟู เยียวยา จากกรณีโรงงานเก็บพลุระเบิด ลำดับแรกครับ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ผู้เสียชีวิต ๒๓ ราย และแสดงความเห็นใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด ในพื้นที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมาครับ อุบัติการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่จากโรงงานผลิตพลุ และดอกไม้ไฟ และสำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิตบางครอบครัวแล้วถือเป็นการสูญเสียเสาหลัก ที่สำคัญของครอบครัวไป ผมจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับผลกระทบ และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเร่งด่วน ท่านประธานที่เคารพครับ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่เราจำกันได้ดี คือเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ขณะนั้นมีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ และบ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง เหตุการณ์ในครั้งนั้นสภาแห่งนี้ก็ได้มีการเสนอญัตติ ขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาเหมือนกับในครั้งนี้ครับ ซึ่งผมแล้วก็เพื่อนสมาชิกหลายท่าน ณ ที่นี้ก็ได้อภิปรายแล้วครับ แล้วก็ได้ขอวิงวอนให้เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้าย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อไม่กี่วันมานี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิด เป็นครั้งสุดท้าย ท่านประธานครับ ปัจจุบันในประเทศไทยเรามีโรงงานและโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมากหลายแห่งก็ตั้งอยู่ในชุมชน เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วก็สถิติ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย้อนหลัง ๑๐ ปี ๒๕๕๖-๒๕๖๖ พบว่าเกิดเหตุ ในลักษณะดังกล่าวคือโรงงานพลุระเบิดมากกว่า ๒๓ ครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายมาก โดยในปี ๒๕๕๖ ปีที่ผ่านมานี้เกิดเหตุอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือโรงงานพลุระเบิดที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และโกดังพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส แล้วก็รวมถึงเหตุการณ์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกแล้วครับ แต่ก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นี่ผมพูดเฉพาะโรงงานพลุระเบิดนะครับท่านประธาน ยังไม่รวมถึง อุบัติเหตุโรงงานอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนที่สร้างอันตราย แล้วก็สร้างความเสี่ยงให้พี่น้อง ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นไฟไหม้โรงงานมีข่าวแทบทุกสัปดาห์ครับท่านประธาน สำหรับโรงงานพลุระเบิดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีสาเหตุก็ยังไม่แน่ชัดแต่หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้เข้าไปตรวจสอบ ได้เข้าไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นที่เรียบร้อย นะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่พบก็คือว่าโรงงานแห่งนี้เคยเกิดระเบิดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ครั้งนั้นมีคนงานเสียชีวิต ๑ ราย บาดเจ็บ ๓ คน มีสาเหตุมาจาก การที่ไฟปะทุขึ้นหลังจากที่คนงานได้นำถังดับเพลิงไปดับไฟที่ปะทุขึ้นมาจากเตาถ่าน แต่สะเก็ดไฟที่กระจายตัวออกมาไปสัมผัสกับกองดินปืนจนกระทั่งเกิดการระเบิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อห้องทำงานห้องหนึ่ง ก่อนที่โรงงานดังกล่าวจะกลับมาเปิด อีกครั้งหนึ่ง จากที่ผมได้เข้าไปดูข้อมูลก็พบว่าโรงงานมีใบอนุญาตถูกต้องในเรื่องสถานที่ ประกอบการทำดอกไม้ไฟ ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ๒๔๙๐ มีการต่อใบอนุญาตปีต่อปีครับ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยด้านโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตามโรงงานแห่งนี้ไม่ได้มีสถานะ เป็นโรงงานตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะว่าไม่ได้มีการใช้เครื่องจักรทำให้อยู่ นอกเหนือการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็ไม่มีการตรวจสอบในส่วนของ วัตถุอันตราย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ทำให้เกิดคำถามในสังคมถึงมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของ พี่น้องประชาชน และมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานหรือโกดังต่าง ๆ เรามีความ เสียหายและบทเรียนมามากพอแล้วครับท่านประธาน และผมคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ จะเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครทราบได้ครับ ผมคิดแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเสียทีครับ วันนี้ครับท่านประธาน ผมจึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการดังนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจสอบโรงงานโกดังเก็บพลุ วัตถุอันตรายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และกำชับความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยของโรงงาน ที่จัดเก็บสารเคมีและสารที่ไวไฟที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐาน และควรถอดบทเรียนจากสาเหตุ ที่เคยเกิดระเบิดขึ้นตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการไม่ให้เกิดขึ้นอีกครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เจ้าของกิจการและคนงาน ผู้ปฏิบัติต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุระเบิด และมีใบอนุญาต สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้มีการพิจารณาแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการและโรงงานที่มีความเสี่ยงอันตราย ให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แล้วก็ให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุม ป้องกัน ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้มีการพิจารณาตั้งกองทุนอุตสาหกรรมโรงงานและสถานประกอบการ จากที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากผู้ประกอบการไปนะครับ แล้วก็ขอให้มีการใช้เงิน ของกองทุนนี้เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ นี้ อีกทั้งยังควร มีประกันชีวิตให้พนักงานที่ทำงานในสถานที่ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนี่ก็เป็น ข้อเสนอแนะจากอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านสมบูรณ์ สุนทรศาสตร์ แล้วก็ นายสมมาตร วิสุทธิวงษ์ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่อยู่ในพื้นที่ โรงงานพลุระเบิด ก็ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ณ ที่นี้นะครับ ท่านประธานครับ ทั้งโกดัง พลุระเบิดที่มูโนะมาถึงโรงงานพลุระเบิดที่สุพรรณบุรี และเหตุการณ์อุบัติเหตุจากโรงงานอื่น ๆ ที่ได้เคยเกิดขึ้น ได้สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมากและไม่สามารถประเมินค่าได้ นั่นก็คือ ชีวิตของพี่น้องประชาชน ชีวิตของเสาหลักหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียไป ผมคิดว่า เราได้บทเรียนจากเรื่องนี้มามากพอแล้ว แต่บทเรียนเหล่านี้ครับท่านประธานจะเป็นเพียง อีกบทเรียนที่ถูกลืมหรือไม่ ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ในวันนี้จะเป็นเพียงคำพูดที่เลือนหายไป ต้องมาพูดกันซ้ำ ๆ ณ สภานี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะนำบทเรียนและข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ได้มากน้อยแค่ไหนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ถัดไปเป็นท่านอามินทร์ มะยูโซ๊ะ แล้วหลังจากที่ท่านอามินทร์อภิปรายเสร็จ จะเป็นการปิดลงชื่อเพื่ออภิปรายนะครับ เรียนเชิญท่านอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ครับ
นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต ๒ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ จากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนอื่น ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติด่วน ของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๒ ท่าน เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโศกนาฏกรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับโรงงานผลิตพลุที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเหตุการณ์ไม่แตกต่างกันเลยครับ ท่านประธาน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โกดังเก็บพลุที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุไปปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง โรงงานพลุระเบิดที่สุพรรณบุรีครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๒๓ ราย บาดเจ็บอีก ๖ ราย โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานที่เคยเกิดเหตุ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ปีก่อนหน้า มีผู้เสียชีวิต ๑ คน บาดเจ็บอีก ๓ คน โดยทราบว่าเหตุผลที่โรงงานกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าขออนุญาต จากทาง อบต. หรือทางที่ว่าการอำเภอ ในรอบระยะเวลา ๖ เดือนที่ผ่านมา มีเหตุเกิด อย่างน้อย ๔ ครั้ง นอกจากครั้งนี้แล้ว ๓ ครั้ง ประกอบไปด้วยเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ โรงงานพลุดอกไม้ไฟระเบิดที่สันต้นผึ้งใหม่ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๘ ราย อีกครั้งหนึ่งก็ตลาดมูโนะที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่ผ่านมาจะ ๖ เดือน แล้วบ้านสักหลังก็ยังไม่ได้เห็นครับท่านประธาน ๓ เดือนแรก ชาวบ้านมีความสุข แม้จะทุกข์ ก็ตามทุกคนลงไปให้กำลังใจพี่น้อง แต่ ๓ เดือนหลังนี้กลับหน้ามือเป็นหลังมือเลยนะครับ ชาวบ้านเดือดร้อนกันแล้วนะครับตอนนี้ แล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เกิดเหตุที่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน ผมขอให้มีการแก้ไขปัญหา อย่างเป็นรูปธรรม โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจในการกำกับดูแลสถานประกอบการ ผลิตวัตถุอันตราย ให้มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้การแก้ปัญหาไม่เกิด เหตุการณ์ซ้ำซากอย่างที่ผ่านมา โดยอยากให้สภาแห่งนี้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง เสียงของเพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ห่วงใยพี่น้องประชาชนไม่เป็นเหมือนพลุ ที่ระเบิดบนท้องฟ้าแล้วก็จางหายไป รัฐบาลควรห่วงใยในคุณภาพชีวิตของประชาชน มีความมุ่งมั่น ขจัดทุกปัญหาเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง จึงอยากให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ไขอย่างโดยเร็วครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญ ท่านสรพัช ศรีปราชญ์ ครับ
นายสรพัช ศรีปราชญ์ สระบุรี ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สรพัช ศรีปราชญ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอร่วม อภิปรายเสนอแนะนำแนวทางป้องกันพลุระเบิดที่มีเพื่อนสมาชิกในวันนี้เสนอญัตติด่วนเข้ามา ท่านประธานครับ จากเหตุการณ์พลุระเบิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ น่าสะเทือนใจกับประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ในหลาย ๆ จังหวัด จนมันไม่ใช่เหตุการณ์ปกติแล้วครับท่านประธาน ย้อนไปเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ก็เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เช่นเดียวกันเกิดที่จังหวัดสระบุรีบ้านผม เหตุการณ์นี้ก็คือเกิดขึ้น ที่โรงงานทำพลุดอกไม้ไฟระเบิด ที่ตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งโรงงานนี้ถือว่ามีความปลอดภัยในระดับต้น ๆ ของประเทศ และมีคนทำงานอยู่ประมาณ ๖๕ คน ก็ยังเกิดเหตุระเบิดขึ้นมาได้ครับ แต่โชคดีขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเลิกงาน จึงไม่มีพนักงานอยู่ภายในโรงงาน เพลิงได้ลุกไหม้โกดังเสียหายไปประมาณ ๓-๔ โกดัง เนื่องจากแรงระเบิดของพลุครับ โดยเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ต้องสั่งให้ชาวบ้านในบริเวณ ใกล้เคียงอพยพออกจากพื้นที่ให้พ้นรัศมีอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีประมาณ ๓๐-๔๐ หลังคาเรือน เนื่องจากเกรงว่าหากโกดังขนาดใหญ่ระเบิดขึ้นมาอีกจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชน และอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ก็เกิดเหตุโรงงานประกอบพลุระเบิดขึ้นอีก ในตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เป็นโรงงานประกอบพลุตะไลโรงงานเสียหายราบเป็น หน้ากลองเลยครับ ๒ หลัง โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ๒ คน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ จนจะเป็นปกติแบบนี้ ทำให้ผมและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการกำกับและควบคุมสารเคมี การผลิตทางอุตสาหกรรม การเกษตร และรวมถึงการบริการต่าง ๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยกับบุคคล และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับช่วงเวลานี้ผมจึงคิดว่าควรจะมีการพูดถึงกฎหมาย การรายงานการปล่อย และการเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมหรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า PRTR ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. ตัวนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้แล้ว กฎหมายตัวนี้ จะต้องถูกนำมาบังคับใช้เสียที เพื่อเตรียมการรับมือและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีก ในอนาคต ท่านประธานครับ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในหลายช่วง ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศของเรามีการใช้สารเคมีในการผลิตทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ตลอดเวลา พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งรองรับสารมลพิษ ทั้งในรูปแบบ ของมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย มลพิษในดิน และของเสียอันตรายอื่น ๆ รวมถึงเหตุการณ์ ระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งล่าสุดนี้ครับ ท่านประธานครับ ปัญหาดังกล่าวได้มีความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความสมบูรณ์ของทรัพยากร ผลทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อสังคม เศรษฐกิจ ความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศโดยรวมครับ กฎหมายและกลไก การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เน้นการใช้มาตรการกำกับ ที่ควบคุมปลายทางเป็นหลัก การตรากฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการรายงานข้อมูล การปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจึงเป็นมาตรการที่สำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลสารมลพิษที่ครอบคลุมและเป็นระบบ ที่จะช่วยเสริมสร้าง ประสิทธิภาพและความเข้มแข็งต่อหน่วยงานของรัฐเองเลยนะครับ ในการประเมินสถานการณ์ปัญหามลพิษได้อย่างถูกต้อง เราจะรู้ได้ทันทีว่าข้างบ้านเรา มีสารเคมี มีอะไรที่มันอยู่ใกล้ตัวเราบ้าง และส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพของเราบ้างครับ ท่านประธาน จากเหตุผลที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ผมจึงขอเสนอว่าให้มันถึงเวลาเสียที ที่จะให้มีกฎหมายการรายงานการปล่อย และการเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น ในประเทศนี้เสียทีครับ เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แบบนี้ขึ้นอีก ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับขอปิดการลงชื่อนะครับ เรียนเชิญ ท่านวรวิทย์ บารู ครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู นราธิวาส ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับผม วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ เขต ๑ ปัตตานีครับ ยังไม่ทันที่เราจะลืม เหตุการณ์ที่จังหวัดนราธิวาส ที่มูโนะ เหตุการณ์อย่างเดียวกันเกิดขึ้นที่สุพรรณบุรีนะครับ ต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับกรณีโศกนาฏกรรม อันเนื่องมาจากการระเบิด ของพลุและดอกไม้ไฟ ๒ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานมากนัก ทิ้งระยะเวลาไม่นานจนประชาชน คงจำได้ ผมยังเห็นติดตาติดใจกรณีที่มูโนะ ความเศร้าโศกยังไม่ได้หายไปก็เกิดกรณีที่ สุพรรณบุรีตามมา ร่องรอยของความเสียหายยังปรากฏโดยทั่วไปที่มูโนะ ในขณะที่ร่องรอย ของการฟื้นฟูเพื่อไปสู่สภาพดั้งเดิมที่มีอยู่ที่มูโนะ ดังที่ประชาชนคาดหวังยังห่างไกลไปมาก ยังไม่ได้เห็นเลย ขออภัยที่เอ่ยนามที่ท่านอามินทร์ได้พูดไปนะครับ โศกนาฏกรรมอันนี้ถ้าเรา จะพิจารณาในเรื่องของการได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตก็เชื่อมโยงกับการดูแล การเอา ใจใส่ของภาครัฐ ซึ่งอาจจะปฏิเสธไม่ได้เลยครับ ระเบิดทั้ง ๒ แห่งนี้เหมือนกัน คือเกิดการ ระเบิดเหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาว่าละเมิดหรือไม่ละเมิดกฎหมายอันนี้อาจจะต่างกันหรือ เหมือนกันในบางจุดและบางอัน ก็เป็นที่น่าสงสัยนะครับการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับพลุ เกี่ยวกับดอกไม้ไฟ มันมีรายได้มากมายขนาดไหนถึงต้องเสี่ยง ผมก็พยายามที่จะติดตาม เรื่องนี้ กรณีเกิดขึ้นที่มูโนะเราก็ทราบดีว่าที่ตรงนั้นมันก็มีอะไรหลายต่อหลายอย่าง ในลักษณะการผ่อนปรน สินค้าทางมาเลเซียหรือว่าของไทยเรามีการผ่อนปรนบ้าง อย่างไร ก็ตามการประกอบอาชีพในลักษณะเกี่ยวกับดอกไม้ไฟแล้วก็พลุเส้นทางที่มันเดินทางมา ผมก็ ตกใจนะครับ มันมีเส้นทางที่มาจากเหนือแล้วก็เส้นทางที่มาจากสิงคโปร์ ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อใน ตรงนี้นะครับ แต่ปรากฏว่าคนที่ประกอบอาชีพแล้วก็อยู่ในแวดวงที่ชายแดน เขาก็พูดกันว่า ถ้าหากว่าในขณะนี้การประกอบอาชีพอื่น ๆ ตามชายแดนที่ส่งรายได้ให้แก่เขามาก การประกอบอาชีพดอกไม้ไฟแล้วก็พลุเป็นอีกอันหนึ่งที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของรายได้ที่คน ประกอบอาชีพนี้จะได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าคนที่เอาเปรียบสังคม ในลักษณะต้องการ รายได้ที่ดีงามอันนี้ก็ต้องประกอบอาชีพในลักษณะที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย หรือว่าความปลอดภัยของประชาชน ในสุพรรณบุรีก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมันห่างไกลจากชุมชนในพื้นที่ที่ห่างไกล ไม่ได้อยู่ใน ชุมชนก็โชคดีไป ในขณะที่มูโนะเป็นคลังดอกไม้ไฟที่ใหญ่มากแล้วเวลาระเบิดก็กินพื้นที่กว้างมาก จนวันนี้มันสะท้อนภาพให้แก่เราได้เห็นว่าเวลามันระเบิดนั้น เวลานิดเดียวเสี้ยววินาทีเดียว แต่ในการฟื้นฟูที่จะให้ชีวิตประชาชนกลับไปสู่สภาพเดิมนั้น มันใช้เวลาที่นานแล้วก็ช้า จนประชาชนอยู่ในสภาพซึ่ง ณ วันนี้นั้นก็มีความทุกข์ยาก และที่สำคัญในพื้นที่ที่ความมั่นคง ดูแลอย่างมาก ซึ่งไม่น่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ในพื้นที่เหล่านี้น่าที่จะต้องควบคุมวัตถุอันตราย เหล่านี้โดยฝ่ายความมั่นคง เราก็แปลกใจนะครับว่าสิ่งเหล่านั้นไปปรากฏอยู่แล้วก็เกิด การระเบิดแล้วก็ไม่ทราบว่าแนวทางที่จะดำเนินการกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในพื้นที่ซึ่งใช้ พ.ร.ก. ตลอดเวลามาเป็นเวลายาวนานมากจะแก้ปัญหากันอย่างไร ในสุพรรณบุรีก็เป็นการโชคดีไป ที่อยู่นอกเหนือจากชุมชน แต่ประชาชนคนทั่วไปเขาก็คิดว่าถ้าจะเปรียบเทียบจำนวนของ วัตถุระเบิดที่สุพรรณบุรีกับมูโนะมันต่างกันมากมาย แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นจากการระเบิดนี้ มันส่งผลให้เสียชีวิตที่มากมายทั้ง ๒ แห่ง ผลที่ตามมาจากนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่นั้นผลที่ตามมา ก็คือการสูญเสียกำลังสำคัญของครอบครัว ลูก อะไรต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทางสังคมก็จะตามมา เฉกเช่นเดียวกันกับที่มูโนะนะครับ จนถึงวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แล้วคนในพื้นที่ก็ยังเป็น ในลักษณะที่เรียกร้องให้มีบ้านมีช่องที่เขาจะอาศัยอยู่นะครับ ก็ถึงกับเป็นความเข้าใจ ในเรื่องต่าง ๆ นานาในทางที่เป็นลบต่อราชการจำนวนมากแล้วก็ในเรื่องของคดีก็เช่นเดียวกัน ก็ไม่ทราบว่าไปถึงไหน นี่เวลามันเกิดขึ้นจะบอกว่ามันทำลายหลาย ๆ สิ่ง ทำลายความมั่นใจ ของคนที่เราพูดว่าจะมาลงทุน มันทำลายความมั่นใจของพี่น้องเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางสิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียที่จะมาลงทุนในทางใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งไม่ค่อยมีคน มาลงทุนอยู่แล้วก็ซ้ำเติมสภาพหรือทำให้สภาพที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยากจนอยู่แล้ว มันก็เพิ่มสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะว่าคนที่เป็นเพื่อนบ้านข้างเคียงซึ่งพอจะมีกำลัง แล้วก็ เข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีของการที่จะประกอบอาชีพใดที่จะสร้างรายได้ให้แก่เขาได้ ไม่กล้าที่จะมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือผลซึ่งเราเห็นอย่างชัดเจนนะครับ แล้วเป็นการซ้ำเติมพื้นที่ที่มันแย่อยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้น ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านปรีติ เจริญศิลป์ ครับ
นายปรีติ เจริญศิลป์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
สวัสดีครับท่านประธานที่เคารพ ผม ปรีติ เจริญศิลป์ ครับ วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์พลุระเบิดในครั้งนี้ครับ ในฐานะที่ผมเอง ก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันนั้นที่เกิดพลุระเบิดผมทราบข่าวผมรีบโทรหา ที่บ้านผมที่อยู่ที่สุพรรณบุรีว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะผมเป็นห่วงครับ เหตุการณ์นี้ ที่สุพรรณบุรีไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เหตุการณ์พลุระเบิดที่สุพรรณบุรีเกิดขึ้นมาแล้ว ถึง ๙ ครั้ง เสียดายที่ ณ วันนั้นไม่มีการแก้ปัญหาเลย ไม่ว่าจะใครก็ตาม ผู้บริหารจังหวัด หรือนักการเมืองในพื้นที่ จนเมื่อเกิดเหตุ ณ วันนี้ ผมจะกล่าวให้ฟังครับ
นายปรีติ เจริญศิลป์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน วันที่ ๒๐ มิถุนายน เกิดเหตุพลุระเบิดที่อำเภอบางปลาม้า ณ วันนั้นมีผู้สาหัสถึง ๓ ราย วันที่ ๑๓ สิงหาคม ต่อเนื่องมาปีเดียวกัน อำเภอเมือง มีผู้บาดเจ็บสาหัส ๒ ราย วันที่ ๒๙ ธันวาคม ที่อำเภอดอนเจดีย์ บาดเจ็บอีก ๓ ราย ต่อมา ปี ๒๕๕๕ อันนี้พอจะเป็นข่าว ได้บ้างพลุระเบิดในงานตรุษจีน ซึ่ง ณ วันนั้นมีการจัดงานใหญ่มากที่มังกรสวรรค์ ซึ่งอยู่ ตรงข้ามบ้านผมเลยครับ ห่างจากบ้านผมประมาณ ๓๐๐ เมตร มีการแสดงพลุใหญ่โต วันนั้นมีการถ่ายทอดสดด้วยครับ ผมยังจำได้วันนั้นผมโชคดี ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ผมดูการถ่ายทอดสดอยู่ที่กรุงเทพฯ ครับ วันนั้นเกิดเหตุ พลุระเบิดมีผู้บาดเจ็บถึง ๗๕ ราย ผู้เสียชีวิต ๔ ราย บ้านเรือนเสียหายจากเหตุไฟไหม้ กว่าร้อยหลังคาเรือน รวมทั้งวัดพระธาตุก็ถูกเหตุเพลิงไหม้ด้วยครับ วันนั้นบ้านผมได้รับภัย กระจกแตกเกือบทั้งหลัง สุดท้ายได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐเพียง ๙,๐๐๐ บาท ผมคิดว่า เหตุการณ์ ณ วันนั้นหลาย ๆ คนควรต้องมาระดมสมองกันเพื่อป้องกันเหตุเหล่านี้ครับ แต่ปรากฏว่าวันนี้ก็ยังเกิดเหตุการณ์พลุระเบิดขึ้นอีกที่จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากปี ๒๕๕๕ ยังเกิดเหตุต่อเนื่องอีก ๔ ครั้ง ปี ๒๕๕๖ อำเภอเมือง มีผู้เสียชีวิต ๕ ราย ปี ๒๕๕๘ ที่อำเภอเมืองอีกแล้วครับ เสียชีวิตอีก ๑ ราย ปี ๒๕๖๑ เสียชีวิต ๑ ราย ปี ๒๕๖๕ เสียชีวิต ๑ ราย และจนมาเกิดเหตุล่าสุดเสียชีวิตมากที่สุดคือ ๒๔ ราย ความอันตราย ของพลุไม่ใช่แค่การป้องกันเรื่องการตั้งโรงงานเข้มงวดครับ สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่ หมาแมวเมื่อเขาได้ยินเสียงพลุเขาวิ่งออกจากบ้าน สุนัขบางบ้านเสียชีวิตเพราะเหตุ เสียงดัง เพราะเขาตกใจ ทีมงานก้าวไกลที่นนทบุรีวันนั้นผมบอกเลยว่าใครว่างไปช่วยกัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ในภาพคือการวางแผนครับ มีคุณ จ.เจตน์เป็นหัวหน้าทีม ผมให้ทีมงานผม ไปร่วมด้วย ในการช่วยหมาแมวที่ตกใจเสียงพลุระเบิด ไปช่วยกันจับ รูปขวาสุดนี่เราไปที่ ถนนสามัคคีครับ สุนัขตกใจเขาก็วิ่งไปในร้านอาหาร เราไปช่วยกันจับ นี่ครับคือภารกิจ ที่ผมช่วยทำ ในขณะที่คนบางกลุ่มก็ยังมองพลุว่าเป็นสีสันที่สวยงาม แต่อีกมุมหนึ่งมีสุนัข ทั้งบาดเจ็บวิ่งหนีออกจากบ้านถูกรถชนก็มีครับ
นายปรีติ เจริญศิลป์ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ข้อเสนอในวันนี้ผมคิดว่าเราไม่ควรแค่ออกมาตรการควบคุมโรงงานผลิตพลุ เราควรออกมาตรการในเรื่องควบคุมเกี่ยวกับการจุดพลุด้วย ไม่ว่าจะเป็นความดังของเสียง จำนวนพลุที่จุด มาตรการการป้องกันเหตุพลุระเบิด โดยการต้องแจ้งประชาชนในพื้นที่ ให้ทราบด้วยในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบ บางบ้านมีสัตว์เลี้ยงเขาต้องคอยปกป้องหาที่ปิดหู หมาแมวไว้ครับ ไม่อย่างนั้นสัตว์เหล่านี้เขาตกใจและเสียชีวิตได้ การออกใบอนุญาตคงไม่ใช่ กระดาษแผ่นเดียว ควรต้องมองให้มันลึกกว่านั้นและต้องจริงจังในการแก้ปัญหา และผมหวัง ว่าเหตุการณ์พลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ นราธิวาส ประกอบด้วยอำเภอ บาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ขออนุญาต เป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายประกอบญัตติด่วนเกี่ยวกับเหตุพลุระเบิดที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ขอเรียนอย่างนี้นะครับท่านประธาน เท้าความนิดหนึ่งว่า สภาของเราชุดที่ ๒๖ นี้ เรื่องพลุระเบิดแล้วก็มีการยื่นญัตติด้วยวาจา ๒ ครั้ง กับสภา ชุดที่ ๒๖ นี้ ในรอบไม่ถึง ๑ ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไรครับ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็น ปัญหายังคงอยู่ ผมไม่อยากให้การบรรจุญัตติด้วยวาจาเป็นเรื่องด่วนเป็นเพียงที่ระบาย ของ สส. เรา ผมอยากให้ฝ่ายบริหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยรับฟังข้อเสนอของ สส. ที่ได้อภิปรายก่อนหน้านี้ แต่ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้จริง ๆ ไม่ใช่เพิ่งเกิดรัฐบาลนี้ เหตุการณ์ที่มูโนะ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลชุดที่แล้วที่รักษาการ ในขณะนั้น เรายังไม่ได้นายกรัฐมนตรี ก็มีการเสนอแนะหลาย ๆ อย่าง ทั้งต้นเหตุของปัญหาของกฎหมายแล้วก็ประเด็นสำคัญก็คือการบริหารจัดการหลังเกิดเหตุ กรณีนี้ก็เช่นกันครับท่านประธาน ผมต้องขอมีส่วนร่วมอภิปราย เพราะอดเป็นห่วงและอยาก เสนอแนะ แต่ไม่ได้เสนอแนะเพราะเหตุการณ์ อยากเสนอแนะโดยเอาบทเรียนที่เกิดขึ้น ไม่ถึง ๑ ปีกับเหตุการณ์เดียวกัน เรื่องเดียวกัน ท่านประธานที่เคารพครับ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ผ่านมา ๖ เดือน วันที่ ๑๗ มกราคม ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ผมมองอย่างนี้ว่า ต้นเหตุมันมาจากอะไรกันแน่ ถามว่ามีกฎหมายไหม มี เหตุการณ์โรงงานการควบคุมโรงงาน เก็บพลุดอกไม้ไฟ มันก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับหลายอย่าง เหตุการณ์ที่สุพรรณบุรี มีการตั้งคำถามว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ออกมา ปฏิเสธว่าโรงงานที่สุพรรณบุรีไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องควบคุม โดย พ.ร.บ. โรงงาน อุตสาหกรรม เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ถึงจำนวนตาม พ.ร.บ. อุตสาหกรรม ในส่วนอื่นก็บอกว่า อยู่ในการควบคุมของ พ.ร.บ. ยุทธภัณฑ์ กระทรวงกลาโหม บางหน่วยงานก็ชี้แจงว่าอยู่ใน พ.ร.บ. อาวุธปืนการควบคุมดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งเทียมเหล่านี้ ถ้าดูลักษณะ อย่างนี้แล้วเหมือนกับว่าเรามีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว และทำไมมันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันสะท้อนให้เห็นอะไรครับ ก็ต้องมานั่งดูว่าข้อบกพร่องกฎหมายที่มีอยู่แล้วมันมีอะไรบ้าง ก็ต้องแก้ไข แล้วก็ต้องรีบแก้นะครับ อย่างกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่ามันอยู่ในเกณฑ์ ที่ไม่ถึงเกณฑ์ ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการแก้กฎกระทรวง แก้ระเบียบของ พ.ร.บ. ตาม พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมให้การเก็บพลุดอกไม้ไฟเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์การควบคุมของ กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย หรืออยู่ในการควบคุมตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อมีกฎหมายอยู่แล้ว การออกใบอนุญาต ที่สุพรรณบุรีเท่าที่ติดตามข่าวมีการออกใบอนุญาตถูกต้อง ปัญหาว่าการออกใบอนุญาตด้วย ระยะเวลา ๑ ปี แล้วก็ไปต่ออีกครั้งจะมีการควบคุมโดยการไปตรวจสอบหรือไม่ อย่างไร สิ่งนี้ต้องติดตามแล้วก็ต้องตรวจสอบศึกษาให้ดีให้ละเอียดว่าเมื่อออกใบอนุญาตแล้ว ไม่ใช่ พอเซ็นออกใบอนุญาตใบแข็งแปะข้างฝาเสร็จ หน่วยงานก็ละเลยไม่ได้ติดตามว่าหลังจากที่ ออกใบอนุญาตแล้ว มีการเก็บดอกไม้ไฟหรือวัตถุระเบิดอะไรต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ตามที่ ขอออกใบอนุญาตหรือไม่อย่างไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือต้นเหตุของปัญหา ต้นเหตุที่ทำให้เกิด พลุระเบิด เพราะมาตรการการควบคุมที่มีกฎหมายมันบกพร่องตรงไหน อยากให้ฝ่ายบริหารรีบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบมาดู ถ้ามีกฎหมายที่มันขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ต้องรีบแก้นะครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ จริง ๆ ไม่อยากให้เป็นเรื่องที่ต้องเอามาปฏิบัติเลยก็คือ การบริหารจัดการหลังเกิดเหตุ หมายความว่าเกิดเหตุแล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไร เอาบทเรียนที่มูโนะ ที่สุพรรณบุรี เมื่อวานผมทราบว่ากระทรวงยุติธรรมก็ไปมอบเงินเยียวยา หน่วยงานอื่นว่าอย่างไรครับ ระเบียบเกี่ยวกับเงินเยียวยาเป็นอย่างไรบ้างกับครอบครัว ผู้สูญเสีย ผมอยากถอดบทเรียนที่มูโนะให้ท่านประธานได้รับทราบ ท่านทราบไหมครับว่า ผ่านมา ๕-๖ เดือน เงินบริจาคที่ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสทราบข่าวว่าเกือบ ๓๐ ล้านบาท เพิ่งเอามาใช้แค่ ๕ ล้านบาท จนถึงทุกวันนี้ ส่วนที่เหลือชาวบ้านตั้งคำถามว่า อยู่ตรงไหน เอาไปใช้ทำอะไร รัฐบาลรักษาการชุดที่แล้วมอบเงิน ๑๐๐ ล้านบาท ให้กรมโยธาธิการไปดำเนินการออกแบบแปลนบ้าน เพื่อสร้างบ้าน สร้างอาคารให้กับพี่น้อง จนถึงขณะนี้ปรากฏว่ามีการตกลงกันประมาณครึ่งหนึ่งเป็นที่พอใจของแบบแปลน แต่ก็ยังไม่ดำเนินการใด ๆ ทั้งนั้น เหมือนที่ท่าน สส. อามินทร์ มะยูโซ๊ะ ได้อภิปรายก่อนหน้านี้ แล้วความชัดเจนต่าง ๆ ในเรื่องเหล่านี้ พี่น้องบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการแถลง อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เขาค้างคาใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเยียวยาต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามที่ ประกาศ หรือการก่อสร้าง โดยเฉพาะพี่น้องที่ทำมาค้าขาย ตอนนี้เขาขาดรายได้ แล้วคนที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัย ๕-๖ เดือนนี้เขาต้องไปเช่าบ้าน เงินเยียวยาของรัฐก็เข้าไปไม่ถึง ความเสียหายเหล่านี้จะเอาอย่างไรจะเป็นอย่างไร แล้วจะสร้างบ้านเมื่อไร จะเริ่มเมื่อไร ไม่มีความชัดเจนใด ๆ ทั้งนั้น นี่ผมพยายามถอดบทเรียนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลภายใต้ แกนนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ท่านประกาศหลังจากเกิดเหตุว่าท่านจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ ก็อยากให้กำชับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหันมาดูแลจริง ๆ จัง ๆ และโยงไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มูโนะด้วยครับว่า ตอนนี้ยังมีปัญหาคาราคาซังมากมาย อยากให้ท่านช่วยหันมาดูด้วยครับ ขอขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เป็น ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ เชิญท่านสิริลภัส กองตระการ แล้วก็ท่านยอดชาย พึ่งพร ครับ
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันได้เคยพูดเรื่อง ภาวะของ PTSD ไปแล้วในกรณีที่เคยอภิปรายกรณีสะพานถล่มว่าส่งผลกระทบต่อการ ใช้ชีวิตของประชาชนอย่างไร ในวันนี้ดิฉันอยากจะมาอภิปรายให้ทุกท่านได้เห็นถึงความ อันตรายของภาวะ PTSD ว่าภาวะนี้มีความอันตรายต่อสภาพจิตใจมากขนาดไหน โรค PTSD หรือที่เรียกว่าโรคความผิดปกติทางจิตใจหลังภยันตรายจะเป็นสภาวะการป่วยทางจิตใจ หลังจากที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรง ต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์อันตรายที่คุกคามชีวิตต่อคนผู้นั้นหรือบุคคลอื่น ๆ หรือต้องตกเป็นผู้เผชิญกับเหตุการณ์เองโดยตรง รวมไปถึงการสูญเสียบุคคลที่รัก จากเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก เพราะเหตุการณ์นั้น มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เขาเกิดปัญหาในการยอมรับและการปรับตัว อาการของโรค PTSD อาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีเหตุการณ์ที่จะฉายภาพนั้นซ้ำ ๆ วน ๆ อยู่ในหัวเหมือนการ เล่นวิดีโอฉายภาพซ้ำนั้นต่อเนื่องกันไปไม่จบไม่สิ้นค่ะ จะทำให้เขาเห็นภาพหลอน ฝันร้าย และเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง อาการต่อไปคืออาการ Flash Back ผู้ป่วยเหล่านี้ จะถูกดึงกลับไปให้รู้สึกว่าตัวเองกลับไปอยู่ในสถานการณ์หรือระยะช่วงเวลาเหตุการณ์ ความรุนแรงนั้น ๆ รวมไปถึงการฝันถึงเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกิดความตื่นกลัว อาการนี้ จะสามารถส่งผลให้มือสั่น ใจสั่น แล้วก็เกิดความวิตกกังวลได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกมองโลกในแง่ลบ ไม่อยากที่จะทำกิจกรรมที่เคยชอบอีกต่อไป ชีวิตหม่นหมอง รู้สึกแปลกแยก ร้ายแรงที่สุด ก็คือมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายค่ะ ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์หรือว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นที่จะทำให้เขารู้สึกว่าถูกโยงกลับไปในเหตุการณ์นั้นได้อีก ซึ่งปัจจัยนี้เกิดได้หลาย ๆ อย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ชุดคำศัพท์ต่าง ๆ สถานที่ หรือว่ากิจกรรมนะคะ ซึ่งภาวะเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการ ทำจิตบำบัดหรือว่าการพบแพทย์ เพื่อใช้ยาในการช่วยรับการรักษา ภาวะนี้จะเดินทางไปสู่ การเป็นโรค ซึ่งการเป็นโรค PTSD ส่งผลกระทบอย่างมากเลยนะคะ ไม่ว่าจะส่งผลกระทบ ทางด้านจิตใจ การนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรืออาการ Phobia เป็นต้น หรือพฤติกรรมที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการติดสุรา การติดสารเสพติด อาจจะถึง ขั้นทำร้ายตัวเองแล้วก็ทำร้ายคนอื่นได้ด้วยนะคะ ภาวะเหล่านี้มีความน่ากลัวและอันตราย เป็นอย่างมากเลย อย่างที่ดิฉันได้เคยอภิปรายไปแล้วว่าคนที่เป็นโรค PTSD บางคน ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป เพราะฉะนั้นดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ ที่เราจะต้องมีกฎหมายและมาตรการที่รัดกุมมากกว่านี้นะคะ ซึ่งทางเพื่อนสมาชิกของ พรรคก้าวไกลก็ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อสภาไปแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงเหล่านี้ เพราะว่าการเยียวยาสภาพจิตใจนี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วมันจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา บำบัด ฟื้นฟู สภาพจิตใจในการที่จะส่งคนคืนกลับมา ใช้ชีวิตได้อย่างปกติมาก ๆ แต่เราสามารถตัดวงจรเหล่านี้ได้ด้วยการไม่ต้องให้เกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศของเราอีกค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านยอดชายครับ
นายยอดชาย พึ่งพร ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายยอดชาย พึ่งพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองพัทยาจังหวัดชลบุรีครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมที่จะมาอภิปรายในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา มาตรการป้องกันสร้างความปลอดภัยและแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิต ดอกไม้เพลิงระเบิดครับ จากมูโนะจนมาถึงสุพรรณบุรีมันความเสียหาย ๒ ครั้งแล้วนะครับ ถ้าพวกเรายังไม่ทำอะไร บางอย่าง มันอาจจะเกิดความเสียหายในครั้งต่อไปได้ ในพื้นที่ของผมเมืองพัทยาซึ่งเป็น เมืองท่องเที่ยวระดับโลกมีนักท่องเที่ยวมากมาย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมืองพัทยา จะมี ๒ ชายหาดด้วยกัน ก็คือชายหาดพัทยา แล้วก็ชายหาดจอมเทียมครับ ทั้ง ๒ ชายหาด เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวก็จะต้องมีพ่อค้า แม่ค้า ที่พัทยาก็จะมีพ่อค้า กับแม่ค้าที่มาเร่ขายดอกไม้เพลิงเป็นจำนวนมาก ที่ Peak ไปกว่านั้นมีพ่อค้าแม่ค้าชาวต่างด้าว มาขายดอกไม้เพลิงกันเต็มชายหาดไปหมด เจ้าหน้าที่ก็พยายามจะเข้มงวดกวดขันแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผลนะครับ ก็ยังมีการลักลอบแอบขายกันเต็มชายหาด ตี ๒ ตี ๓ ดึก ๆ ดื่น ๆ ก็ยังมีมายิงพลุกันแบบเสียงดังจนไม่ได้หลับได้นอน เมื่อมีแรงงานต่างด้าวมาอย่างนี้ มันก็ทำให้ไม่เกิดความรับผิดชอบหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ มีนักท่องเที่ยวซื้อพลุจากผู้ขาย ต่างด้าวแล้วก็ยิงใส่กันแล้วก็ทำให้เป็นแผล ทั้งนี้ผมจึงขอสนับสนุนญัตตินี้และขอให้มี กฎหมายในการควบคุมโรงงานผลิต แล้วก็อยากให้มีระเบียบในการจัดจุดขายที่เป็นมาตรฐาน เพื่อจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สมาชิกที่ได้ลงชื่ออภิปรายในญัตติด่วนเรื่องนี้ก็ครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไป จะเป็นการสรุปโดยผู้เสนอตามสิทธิ ในข้อบังคับ ข้อ ๗๕ มีผู้เสนอท่านศนิวารใช้สิทธินะครับ เรียนเชิญท่านศนิวารใช้สิทธิในการสรุปครับ
นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ จากการที่ได้ฟังเพื่อนสมาชิกทุกท่านได้อภิปรายเกี่ยวกับญัตตินี้ไป ดิฉัน ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทางรัฐบาลถอดบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์นี้ นำข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ จากเพื่อนสมาชิกไปพิจารณาแล้วก็ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าไป ตรวจสอบโรงงานผลิตพลุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย การทบทวนแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมแล้วก็รัดกุมยิ่งขึ้น หรือจะเป็นเรื่องของความจำเป็นที่ควรมี ประกันภัยให้กับคนงาน นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ PRTR เพื่อปิดช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องดำเนินการ ชดเชยเยียวยาทั้งกายและใจให้รวดเร็วที่สุด เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เนื่องจากญัตติเรื่องนี้ผู้เสนอได้เสนอเพื่อขอให้พิจารณาและส่งรัฐบาล ดำเนินการต่อไป ซึ่งสมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนญัตติในประเด็นดังกล่าว เพราะฉะนั้น ผมขออาศัยข้อบังคับ มาตรา ๘๘ ในการถามมติว่าสมาชิกท่านใดจะเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ กับผู้เสนอญัตติทั้ง ๒ ท่าน ถ้าไม่มี ก็จะถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งรัฐบาลพิจารณา ดำเนินการครับ เป็นอันสิ้นสุดญัตติด่วนเรื่องของพลุระเบิดนะครับ เชิญท่านณัฐวุฒิครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ก่อนอื่นครับท่านประธานต้องแสดงความยินดีต่อพี่น้องประชาชน แล้วก็เป็นที่น่ายินดีว่าถ้าท่านเหลือบไปดูจำนวนสมาชิกของสภาเราทั้งหมดวันนี้ นับจาก วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๖ หรือกว่า ๑๘๐ วันที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันแรกที่มีสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรครบจำนวน ๕๐๐ คน ฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดีต่อพี่น้องประชาชน ในการทำหน้าที่แน่ ๆ ครับ แต่ประเด็นของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบถ้วนสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ คือในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แต่มีความคลาดเคลื่อนความเข้าใจผิดหลายประการ ผมเรียนยืนยันกับท่านประธานว่าอาจจะต้องขอคำตอบเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่สั่งให้มีการหยุด การทำหน้าที่คือวันที่ ๑๙ กรกฎาคมนั้น ศาลอ่านอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถนนแจ้งวัฒนะ มีการส่งเอกสารเร่งด่วนมาที่สภาภายในไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ก็สั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องเดินออกจากสภาแห่งนี้ วันนั้นอยู่ฝั่งโน้นวันนี้ย้ายมานั่งกันอยู่ฝั่งนี้ แต่วันนี้เป็นเวลาผ่านมาแล้วกว่า ๑ ชั่วโมง ยังไม่เห็นมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยกคำร้องเสียประโยชน์ต่อ พี่น้องประชาชนมาเป็นร้อยวันมาถึงสภาเสียที แน่นอนครับ มีการแถลงข่าวโดยท่าน รักษาการเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรบอกสถานะคุณพิธานั้นกลับเข้ามาทำหน้าที่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นที่น่ายินดี พวกผมเองวันนี้แอร์เย็น ๆ ถ้าหากว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ ก็แสดงว่าคุณพิธาก็สามารถเดินเข้ามาลงมติในสภาแห่งนี้ในวันนี้ได้เลยใช่หรือไม่ครับ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อความสมบูรณ์พวกผมก็จะได้เตรียมการทำหน้าที่ใดต่าง ๆ แล้วก็ เป็นความถูกต้องเป็นหลักเป็นฐาน เป็นหลักการนะครับท่านประธานว่า ณ ขณะนี้ตกลง สถานะของคุณพิธานั้นกลับเข้ามาสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่ แล้วยังจำเป็นที่จะต้องรอเอกสาร หลักฐาน หรือคำวินิจฉัยตัวเต็มตัวย่อยตัวใด ๆ ต่าง ๆ เฉพาะตนอะไรต่าง ๆ อีกหรือไม่ครับ เพื่อจะได้เห็นความสมบูรณ์ แล้วตรงนี้ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนที่รอฟังข่าวอยู่ทั้งประเทศ เข้าใจว่าตกลงแล้ว คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ Candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลนั้นสามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ตั้งแต่เมื่อไร แบบใด ประการใด ก็ต้องขออนุญาตขอรบกวนเวลาสภาแห่งนี้ต้องเรียนถามท่านประธาน ที่เคารพเพื่อความสมบูรณ์ชัดเจนครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกนะครับ หลังจากที่ทางสภาได้รับทราบข่าวเรื่องของการตัดสินวินิจฉัย สมาชิกภาพของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราก็ได้ตรวจสอบกับฝ่ายเลขานะครับ แล้วก็ ต้องเรียนท่านณัฐวุฒินะครับ ตอนนี้ท่านอาพัทธ์ไม่ได้เป็นรักษาการแล้ว เป็นเลขาธิการ นะครับ เพราะฉะนั้นท่านรักษาการใช้อำนาจเต็มในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการครับ ส่วนเรื่องของแนวทางการวินิจฉัยของศาลเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคำตัดสินนั้นมีผลตั้งแต่ การตัดสิน ไม่จำเป็นที่จะต้องรอเอกสาร แต่อย่างไรก็ดีความสมบูรณ์เราก็จะต้องทำให้ ครบถ้วนตามธุรการ แล้วทางเลขาธิการก็จะติดตามจนกว่าจะได้หนังสือให้ได้ แล้วเราคงต้อง ถามด้วยว่าเหตุใดมีความล่าช้าแตกต่างกันกับตอนที่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมา ก็คือเราปรับตัวเลข พอทันทีที่ได้รับการตัดสินเราก็ปรับตัวเลข จาก ๔๙๙ เป็น ๕๐๐ ในเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา เพราะฉะนั้นยืนยันกับสมาชิกและพี่น้อง ประชาชนว่าตอนนี้เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบ ๕๐๐ ท่าน แล้วคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
นิดเดียวครับท่านประธาน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อความ ชัดเจนครับท่านประธาน ถามง่าย ๆ ๑. ก็คือ ณ ขณะนี้วันนี้ถ้ามีการลงมติใด ๆ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์สามารถเดินทางมาลงมติในสภาได้เลยใช่หรือไม่ครับ หรือ ๒. หากวันนี้ ยังไม่สามารถที่จะนำไปสู่ประเด็นดังกล่าวได้ เราไม่จำเป็นต้องรอหนังสือใด ๆ แล้วใช่ไหมครับ พรุ่งนี้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะได้มาเซ็นชื่อทำหน้าที่เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนอื่นทุกคนครับ ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สำหรับ วันนี้เดี๋ยวผมขอเวลาตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบก่อน แล้วจะเรียนให้ท่านณัฐวุฒิ ทราบนะครับ แต่ถ้าพรุ่งนี้ผมมั่นใจว่าได้แน่นอนนะครับ เดี๋ยวทางเลขาช่วย Check ประเด็น ของท่านณัฐวุฒิแล้วก็ทำเป็นข้อชี้แจงทางด้านระเบียบกฎหมาย แล้วก็ส่งตอบกลับไป ที่พรรคก้าวไกลด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ประเด็นนี้จบนะครับ ผมขอเข้าสู่เรื่อง ๕.๕ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕.๕ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าแพง นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากมีญัตติเดียวกันอีก ๑ ฉบับนะครับ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ราคาไฟฟ้าแพงของ นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ ซึ่งยังไม่ได้บรรจุเป็นระเบียบวาระ เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกันสามารถรวมระเบียบวาระได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอดำเนินการ ตามนี้นะครับ สำหรับญัตติของสมาชิกที่เสนอเป็นหนังสือและไม่ได้บรรจุระเบียบวาระจะให้ เจ้าหน้าที่ได้แจกท่านสมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณา ขอเชิญเจ้าหน้าที่แจกเอกสารครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ทั้ง ๒ ท่านคิดว่าพร้อมแล้ว ขอเชิญผู้เสนอญัตติแรก เชิญท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่นผมก็ต้องขอแสดงความยินดีกับ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคืนสิทธิให้มาทำหน้าที่สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในสภาแห่งนี้ แล้วที่สำคัญก็อยากจะให้ทุกท่านแล้วก็พี่น้องคนไทยทั้ง ประเทศไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ศาลยุติธรรมก็ดี หรือ ศาลปกครองก็ดี ก็ขอให้ทุกท่านได้เคารพในการตัดสินของศาลด้วย ไม่ใช่ว่าศาลตัดสินแล้ว ถูกใจเรา ก็บอกว่าศาลน่าเชื่อถือ พอศาลตัดสินแล้วไม่ถูกใจเรา ก็บอกว่าศาลนั้นไม่น่าเชื่อถือ ศาลไม่มีความยุติธรรม ก็ขอให้พี่น้องทุกท่านรวมถึงสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ได้ให้ความเคารพต่อคำตัดสินของศาลในทุก ๆ กรณีตั้งแต่จากนี้เป็นต้นไป ก็ขอแสดง ความยินดีมา ณ โอกาสนี้ครับท่านประธาน
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กระผมได้มีการเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผมขออนุญาตได้อ่านญัตติ ก่อนที่ได้อภิปรายถึงเหตุผลในการเสนอญัตติดังกล่าวให้กับ ท่านประธาน ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนที่จะมีการอภิปราย นั้นจะต้องมีการแถลงญัตติให้กับท่านประธานสภา และเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ได้รับทราบถึงหลักการและเหตุผลที่ผมได้เสนอญัตตินี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าแพงครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ด้วยรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในการจัด หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคดังกล่าว รัฐต้องไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระ แก่ประชาชนจนเกินสมควร ซึ่งการใช้ไฟฟ้าของประชาชนถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกครัวเรือน ที่จะต้องมีไฟฟ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างทั่วถึงและราคาย่อมเยา การประกอบกิจการรวมถึงการประกอบอาชีพต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าประชาชนจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นที่รวมอยู่ในอัตรา ค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก กล่าวคือในใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่จัดส่งให้กับ ประชาชนในแต่ละเดือน พบว่าจะประกอบด้วยราคาค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือนค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่เรียกเก็บจากประชาชน โดยเฉพาะค่าบริการ รายเดือนได้ข้อมูลว่าเป็นค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ และค่าจัดส่งเอกสาร ซึ่งในส่วน ค่าบริการรายเดือนถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากประชาชนเกินสมควร ทำให้ ประชาชนต้องมีภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และไม่สอดคล้องกับการดำเนินภารกิจของรัฐ ที่มีหน้าที่ในการจัดสิ่งสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หากรัฐได้สนับสนุนให้มีการใช้พลังงาน หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเดิมลงได้ จะส่งผลต่อ ค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำลงได้ จึงควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา แก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนต่อไป ดังนั้น กระผมจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้อภิปรายชี้แจงให้ที่ประชุม ได้รับทราบต่อไป
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ อันนี้คือเหตุผลที่ผมได้ทำญัตติมาเสนอให้ ทางสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขปัญหา ท่านประธานครับ ญัตตินี้ถ้าท่านประธานดูเวลาที่ผมยื่นไปก็คือยื่นไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นของการที่เรามาทำหน้าที่ สส. ตอนนี้ก็ปีใหม่แล้ว ปี ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นต้นปี ในส่วนของเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่รัฐบาลยังไม่ได้ตั้งเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าเมื่อผมมาเป็น สส. แล้วก็ได้รับทราบความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ ว่าประชาชนนั้นมีความทุกข์ใจแล้วก็ทุกข์กาย ที่บอกว่าทุกข์ใจก็คือมีรายได้ ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย หนึ่งในรายจ่ายนั้นที่สำคัญก็คือค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญ ที่ทุกครัวเรือนน่าจะต้องมี ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่พี่น้องประชาชนทุกใจ ส่วนทุกข์กายก็คือกินไม่อิ่ม มันก็นอนไม่หลับ เพราะรายได้ไม่พอ อันนี้คือทุกกายครับ ก็คือกินอิ่มไม่อิ่ม อันนี้คือสิ่งที่ ผมนั้นในฐานะ สส. หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้รับความทุกข์ของพี่น้องประชาชน เมื่อมีโอกาสเข้ากลับมาเป็น สส. อีกครั้งหนึ่ง ก็มาทำญัตตินี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา เรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าแพง แต่ทีนี้ครับท่านประธาน หลังจากที่มีการตั้งรัฐบาล ขึ้นมาเราก็ได้รัฐบาลภายใต้การบริหารประเทศนี้ของท่านนายกรัฐมนตรีที่ชื่อท่าน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการที่จะลด ภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน เช่นกันครับท่านประธาน ท่านรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ก็คือท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านก็เช่นกันครับ ท่านก็มารับผิดชอบ เรื่องกระทรวงพลังงาน ท่านมีความมุ่งมั่นในการที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ในเรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำมัน น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแก๊สหุงต้ม LPG ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาแก๊ส ธรรมชาติหรือ NGV ทุกตัวที่เป็นส่วนของพลังงาน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้มาแถลงนโยบายของรัฐบาลในสภาแห่งนี้ว่าท่านมีนโยบายอย่างแน่วแน่ ในการที่จะ ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงในทุกตัว อย่างที่ผมได้กราบเรียนท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าและน้ำมัน และที่สำคัญในระยะยาวท่านก็จะปฏิรูประบบที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งระบบ ราชการทั้งระบบรัฐวิสาหกิจที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรให้กับพี่น้องประชาชน ในการแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตรงนี้ก็ผ่านมาได้ระยะหนึ่ง ท่านประธานก็จะเห็นว่ารัฐบาล โดยภายใต้การบริหารกระทรวงพลังงานของท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ท่านรอง นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการประกาศว่าจะลดค่าไฟ แล้วเราก็ได้ลดค่าไฟสมใจครับท่านประธาน ลดจาก ๔ บาทกว่า มาเป็น ๓.๙๙ บาท ก็เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้อง ประชาชนไปหลายเดือน จนปัจจุบันนี้ก็ขึ้นมา ๔.๑๙ บาท ในส่วนของทั่วไป ในส่วนของ พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟไม่มากก็ยังได้ ๓.๙๙ บาทอยู่ อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลได้ทำตาม ที่ได้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน อันนี้คือแผนระยะสั้นนะครับท่านประธาน แต่แผนระยะยาว มันต้องไปแก้กฎหมายอย่างที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านพีระพันธุ์ ท่านก็แถลงในนี้หลายครั้ง ว่าวิธีการนี้ก็จะต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะปฏิรูปโครงสร้างราคาไฟฟ้า เพราะว่า ปัจจุบันนี้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ท่านประธานก็จะเห็นว่าในที่ประชุมนี้ก็มีการพูดคุยกัน รวมถึง ใน Social ด้วยเรื่องของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่มีการลดกำไรลง เนื่องจากทางนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปดำเนินการ ในการที่จะให้ พี่น้องประชาชนได้ซื้อไฟถูกหนึ่งในนั้นก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือที่เราเรียกว่า EGAT ซึ่งวันนั้นผมจำได้ท่านประธานเราประชุมพิจารณาเรื่องงบประมาณกัน ก็มีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรก็ไป Post ใน Social ว่าราคาในส่วนของค่าไฟที่ลดลงนั้น อาจจะทำให้การ ไฟฟ้าผลิตนั้นล้มหายตายจากเป็นภาระให้กับพี่น้องประชาชน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ ท่านประธาน มันเป็นตัวเลขในการคาดการณ์ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงไปแล้วทั้งในสภาแห่งนี้ แล้วก็ในสื่อ Social ว่าจริง ๆ แล้วการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ ผมว่าเพื่อนสมาชิกในนี้หลายท่าน ก็เข้าใจ หลายท่านเองในสมัยที่แล้วเป็น สส. ด้วยกัน ทั้งฝ่ายค้านเอง ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็เคยอยู่ ในกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎรก็คงทราบครับว่า การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร ท่านประธานก็ทราบครับเราตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมา ทำไม ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าก็ดี การรถไฟก็ดี บขส. ก็ดี ขสมก. ก็ดี ทุกอย่างนี้มันไม่ได้มุ่ง ในการที่แสวงหากำไรนะครับ บางรัฐวิสาหกิจตอนนี้มุ่งแสวงหากำไร รัฐบาลก็จะไปดำเนินการบางรัฐวิสาหกิจที่คิดว่า เอาเปรียบพี่น้องประชาชน ท่านรัฐมนตรีก็ประกาศแล้วก็จะไปจัดการอยู่นะครับ ฉะนั้น รัฐวิสาหกิจไหนที่กำไรเกินควร รัฐบาลก็ต้องไปดำเนินการครับ เอากำไรเหล่านั้นกลับมาให้ พี่น้องประชาชน แล้วการดำเนินการอย่างนี้ท่านจะไม่ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือครับ ท่านต้องการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่อุ้มชูรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจ กำไรเยอะ ๆ ไปปันผลเยอะ ๆ แล้วก็มาเอาเปรียบพี่น้องประชาชนหรือครับ ฉะนั้นการที่ รัฐมนตรีท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั้น มาดำเนินการในส่วนของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจนั้น นำกำไรมาอุ้มค่าไฟ มาลดค่าไฟให้กับพี่น้องประชาชน จึงเป็นการดำเนินการที่สมควร แก่กรณีแล้ว แต่ทำอย่างไรที่รัฐวิสาหกิจนี้จะไม่ขาดทุน อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ ก็เป็นหน้าที่ ของท่านรัฐมนตรีที่จะต้องไปทำต่อว่าจะทำอย่างไร รัฐมนตรีจะไปดูว่าเอากำไรมาอุ้มแล้ว แล้วให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ยังดำรงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนได้ แต่การนำกำไรของรัฐวิสาหกิจมาดูแลพี่น้องประชาชนนั้น ผมยืนยันครับท่านประธานว่า เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทำถูกต้องแล้ว อันนี้คือนโยบายที่ทำไป ทีนี้พูดถึง เรื่องของการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ก็ต้องมาแก้กฎหมายนะครับ เมื่อไม่กี่วันนี้ผมก็ โทรหาท่านรัฐมนตรีครับ วันเสาร์ อาทิตย์ ท่านรัฐมนตรีเขาก็ทำการแก้กฎหมายอยู่ การแก้กฎหมายท่านประธานก็ทราบครับว่ามันไม่สามารถแก้ได้ใช้เวลาเพียงอาทิตย์ ๒ อาทิตย์ กฎหมายอย่างน้อยใช้เวลาก็เป็นปี สมัยที่แล้วท่านประธานนั่งทำงานอยู่ในสภา แห่งนี้กับผม ท่านประธานผ่านกฎหมายไปกี่ฉบับ หลายฉบับ ก็ใช้เวลาทั้งนั้น เสนอวาระ ๑ เข้ามา เสร็จปุ๊บรับหลักการ ก็ต้องไปตั้งกรรมาธิการ ตั้งกรรมาธิการแปรญัตติกว่าจะเสร็จ อย่างน้อย ๆ ก็มี ๙๐ วัน ๑๒๐ วัน กว่าจะไปผ่านวาระ ๒ วาระ ๓ เสร็จจาก สส. ประกาศใช้ ยังไม่ได้ท่านประธาน ก็ต้องไป สว. อีกใช่ไหมครับ กระบวนการของ สว. ก็เหมือนกัน วาระ ๑ วาระ ๒ วาระ ๓ เหมือนกัน ก่อนจะเข้ามาถึง สส. ท่านประธานก็คงทราบ เสนอผ่าน ครม. มา จะมาถึงวิปรัฐบาล ก็ต้องไปรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานราชการ ต้องรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชน กว่าจะมาถึงสภาแห่งนี้ก็ใช้เวลา ฉะนั้นการปฏิรูป โครงสร้างราคาพลังงานก็คือการแก้กฎหมายเป็นการแก้ปัญหาพลังงานที่ยั่งยืน ก็ต้องให้เวลา รัฐบาลในการดำเนินการ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐมนตรีกำลังดำเนินการอยู่ในการที่จะปฏิรูป โครงสร้างราคาพลังงาน แล้วก็ทำให้มันเกิดความสมดุลครับท่านประธานว่าจะทำอย่างไร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นอย่าไปเอาเปรียบพี่น้องประชาชน อย่าไปเอาเงินของพี่น้องประชาชน มาเป็นเงินกำไรของตัวเอง เหมือนกับบางรัฐวิสาหกิจที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังจะไปทลายขุมทรัพย์อยู่นี่ครับ ฝากพี่น้องประชาชนเป็นกำลังใจให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงานของเราด้วยครับ ซึ่งท่านทำตรงไปตรงมาอยู่แล้ว รัฐวิสาหกิจไหนกำไร เกินไปท่านต้องไปดำเนินการ ฉะนั้นการที่ท่านดำเนินการค่าไฟโดยการเอากำไรของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตมาลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา ก็คือเรื่องของการปรับโครงสร้าง ปฏิรูปโครงสร้าง ก็ต้องใช้เวลา อย่างที่ผมได้กราบเรียนท่านประธานครับ แล้วตอนนี้ท่านรัฐมนตรี เสาร์ อาทิตย์ ท่านก็ทำงานครับ แล้วก็ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเลยเรียนท่านประธาน ที่ผมรู้เพราะว่า ผมได้มีโอกาสโทรหาท่าน บางทีวันเสาร์ อาทิตย์ ท่านก็ทำงานให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของการแก้กฎหมาย เพราะว่าท่านเป็นอดีตผู้พิพากษา แล้วพี่น้องประชาชน คนไทยก็โชคดีครับ ท่านได้ท่านพีระพันธุ์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มาทำการปฏิรูปโครงสร้าง โดยผ่านการแก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ปิโตรเลียมก็ดี พ.ร.บ. พลังงานที่เกี่ยวข้องก็ดี เราจะได้คืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ทั้งประเทศผ่านการปฏิรูปกฎหมาย อันนี้คือแผนระยะยาว
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
แผนระยะยาวอีกอย่างหนึ่งครับท่านประธาน ก็คือสิ่งที่รัฐบาลกำลัง ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทนก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ พี่น้องประชาชนใช้รถ EV ตอนนี้รัฐบาลก็ดำเนินการมาเป็นรถ EV3.5 แล้ว สมัยที่แล้ว ท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้ EV3.0 ก็มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตอนนี้แพร่หลายมาก ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้ามียอดขึ้นมาโตอย่างรวดเร็ว ก้าวกระโดด ถ้าท่านประธานจำได้มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมาหรือ Expo ที่ผ่านมา ยอดขายแทบจะแซงรถที่มาจากเชื้อเพลิงธรรมดาแล้ว ก็คือดีเซลหรือเบนซินแล้วก็คือรถรถยนต์ไฟฟ้า เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้รถไฟฟ้า มันแพร่หลายมากขึ้นก็คือผ่านโยบายของรัฐ ตอนนี้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ภายใต้การดำเนินการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ แล้วก็ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็คือท่านพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ก็ส่งเสริมครับ เรื่องของรถ EV ต่อยอดจากสมัยท่านพลเอกประยุทธ์ จาก ๓.๐ มาเป็น EV3.5 เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ใช้รถ EV ราคาที่ถูกลง แล้วมี คุณภาพที่มากขึ้น เพื่ออะไรครับ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน และที่สำคัญเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว เราทำอะไรครับท่านประธาน เรากำลังทำกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด ตอนนี้อยู่ในขั้นของ การแปรญัตติอยู่ เพื่ออะไรครับ เพราะคนไทยกำลังมีปัญหาเรื่องอากาศ มีปัญหาเรื่อง PM2.5 แล้วปัญหา PM2.5 มาจากไหนครับ ๑. คือภาคขนส่ง ก็คือออกมาจากดีเซลที่สันดาป เครื่องยนต์ที่สันดาป เอาดีเซลมาก็มาปล่อยฝุ่น PM2.5 เบนซินก็เยอะ ๒. มาจากไหนครับ มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ๓. มาจากการเผาไร่นา ๔. ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือไฟป่า ไฟป่าของเราเองก็มี มาจาก ๔ อย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในกรุงเทพมหานครของ เราอันดับ ๑ ก็คือฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซล ท่านประธาน ก็ทราบครับว่าเราจะลดแบบนี้ เราจะลดอย่างไร ในเมื่อถ้าเรายังใช้เครื่องยนต์ดีเซลอยู่ เราไม่ไปเป็นรถไฟฟ้า คนไทยก็จะเจออย่างนี้ครับ คนกรุงเทพฯ ครับ ไม่ใช่คนไทยอย่างเดียว คนกรุงเทพมหานครก็จะเจอแน่ ๆ เลยคือฝุ่น PM2.5 ที่มาจากรถสันดาป ไม่ว่าจะเป็นดีเซลก็ดี เบนซินก็ดี เบนซินก็อาจจะน้อยกว่าดีเซลหน่อยหนึ่ง วิธีการคือต้องใช้ต้องรถไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แล้วก็รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลของ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐากำลังทำอยู่ ก็คือการสนับสนุนรถ EV เมื่อเราใช้รถ EV ปุ๊บ ลดการนำเข้าน้ำมัน สิ่งที่เราได้คือลดการขาดดุลการค้า ประเทศชาติก็ไม่ต้องไป ขาดดุลการค้านำเข้าน้ำมันมหาศาล ๒. ได้อากาศที่สะอาดขึ้น พี่น้องประชาชนก็ไม่ต้องเป็น โรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องไปเสียเงินในการรักษาพยาบาล เป็นโรคหอบหืด เป็นโรคมะเร็งปอด เป็นโรคอะไรอีกสารพัด ที่นักวิชาการ หมอออกมาใน Social มากมายว่า ผลต่อเนื่องจาก ฝุ่น PM2.5 คืออะไรบ้าง ๓. คืออะไรครับท่านประธาน ประชาชนได้ลดค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายแทนที่จะจ่ายน้ำมันวันหนึ่ง ๒๐๐–๓๐๐ บาท พอเป็นไฟฟ้าก็เหลือวันละ ๔๐ บาท ๓๐ บาท ๑ ใน ๖ ครับท่านประธาน อันนี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วรัฐบาลก็กำลัง ดำเนินการอยู่ ๓. ก็คือเรื่องของน้ำมันเกษตรที่รัฐบาลกำลังปฏิรูปอยู่ ก็คือเรื่องของการที่จะ ทำอย่างไรให้เกษตรกรใช้น้ำมันที่ถูกลง ทีนี้กลับมาเรื่องไฟแพงนะครับ ก็เรียนกับ ท่านประธานครับ ท่านรัฐมนตรีก็มาดำเนินการ ๑ ๒ ๓ ๔ ตามที่ผมได้เรียนท่านประธานไป ผมเองในฐานะที่ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ก็ยื่นญัตติมาก่อน แต่ตอนนี้พอญัตติของผมเข้ามาสู่สภาแล้ว ก็ไม่ได้ถอนครับ ก็จะให้เพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ ได้อภิปรายต่อว่าเราอยากจะเห็นมุมมองของ สส. ที่นำไปเสนอไปสู่ภาคบริหารก็คือ ท่านรัฐมนตรีผมคิดว่าท่านรัฐมนตรีก็อยากได้ผลการศึกษาครับว่า สส. แห่งนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านมีมุมมองอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ต่อพี่น้องประชาชน ก็เสนอผ่าน ช่องทางกลไกของกรรมาธิการ ทีนี้อย่างที่ได้กราบเรียนท่านประธานครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็เสนอญัตติไปให้แก้ไขปัญหาเรื่องลักขโมยสายไฟ ก็ส่งให้กรรมาธิการการตำรวจไป เพราะว่าไม่ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพราะว่าตอนนี้เรามีปัญหาพอสมควรท่านประธาน เพราะว่ากรรมาธิการมีหลายชุด สส. ก็ต้องไปนั่งกรรมาธิการหลายชุด ก็มีเวลาน้อย ก็ทำให้ ประสิทธิภาพมันน้อย เพราะเวลาตั้งกรรมาธิการก็ตั้ง ๒๐ กว่าท่าน ๓๐ ท่าน ๔๐ ท่าน อย่างคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณก็ตั้งกัน ๗๐ ท่าน ก็ใช้กำลัง สส. พอสมควร ฉะนั้นผมในฐานะเจ้าของญัตติที่จะแก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าแพง ก็ได้หารือในวิปรัฐบาลครับว่า จะส่งให้กรรมาธิการการพลังงานในการที่จะไปดำเนินการต่อ ท่านจะพิจารณาเองหรือว่า ท่านจะตั้งอนุกรรมาธิการก็แล้วแต่ แต่ว่าอยากให้รับฟังความคิดเห็นแล้วก็นำเสนอไป ให้กับรัฐบาล เพื่อดำเนินการคู่ขนานไปกับส่วนที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำไว้อยู่แล้ว ท่านก็เร่งรัดอยู่แล้วและท่านก็ทำได้ดีอยู่แล้วนะครับ ก็ต้องขอให้กำลังใจ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แล้วก็ขอให้สภาแห่งนี้ได้ช่วยกันพิจารณาว่าเราจะส่ง เรื่องนี้ไปให้กรรมาธิการการพลังงานได้ดำเนินการต่อ เพื่อนำความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิก เพื่อที่จะนำเสนอไปให้รัฐบาล โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการต่อ จึงขออนุญาตนำกราบเรียนท่านประธานตามนี้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ เรียนท่านสมาชิกด้วยนะครับว่าตอนนี้สภาของเราก็มีโครงการที่จะเปลี่ยน รถของผู้บริหารให้เป็น EV นะครับ แต่ก็ต้องเรียนว่าติดขัดระเบียบกับพื้นที่ของธนารักษ์เยอะเลย อย่างไรเดี๋ยวถ้ามีข้อเสนอ ในการขอแก้ไขระเบียบ หรือแก้ไข พ.ร.บ. ก็จะเสนอมาที่สภา แล้วก็อาจจะเข้าที่กรรมาธิการ การพลังงานด้วยนะครับ ขอเชิญท่านธิษะณาเสนอเหตุผลแล้วก็อภิปรายครับ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน สาทร และราชเทวี พรรคก้าวไกลค่ะ จากที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับประชาชนถึงปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ก็พบว่าหนึ่งในปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ค่าไฟแพงค่าแรงถูก ซึ่งไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของ พี่น้องประชาชนและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ หมวดหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๕๖ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการหรือดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนค่ะท่านประธาน โดยต้องคำนึงถึงค่าบริการ ที่จะเรียกเก็บจากพี่น้องประชาชน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลของเราได้ทำหน้าที่ตามที่บทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ รัฐบาลได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาก น้อยเพียงใดคะท่านประธาน แนวนโยบายและการบริหารงานด้านพลังงาน ที่ผ่านมาคือคำตอบว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจังเลย แม้แต่น้อยหากจะขายผ้าเอาหน้ารอดและปรับมาตรการตรึงค่าไฟที่เอาเข้าจริง ๆ ก็ยัง แพงอยู่นะคะทำให้ประชาชนคนทั่วไปไม่เคยได้สัมผัสถึงค่าครองชีพที่เรียกว่า เป็นธรรม ค่ะ ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหนนะคะท่านประธาน ความเดือดร้อนเหล่านี้ก็แพร่กระจายไปทุก พื้นที่ในประเทศเรา เพราะไฟฟ้าเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานหรือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตค่ะ ปัญหานี้จึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนค่ะท่านประธาน ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการอนุมัติการผูกขาดอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และการสร้าง โรงงานไฟฟ้าเอกชนจนมากเกินความจำเป็น ทำให้ทุกวันนี้ต้นทุนไฟฟ้าราว ๖๓ เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ ๒ ใน ๓ มาจากไฟฟ้าที่ทาง กฟผ. รับซื้อจากเอกชน เป็นมูลค่าสูงถึง ๔๔๔,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ค่ะท่านประธาน การสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็นส่งผลให้ค่าไฟฐานสูงเกินจำเป็น ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งอยู่ในประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของทาง กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งของค่า FTที่สูงเกินจริงด้วยค่ะท่านประธาน เพราะรัฐต้องจ่ายชดเชยค่าไฟ ในการจ่ายดำเนินงานให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ทำให้รัฐต้องมาเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มและประชาชน เป็นผู้รับกรรมค่ะ สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายก็คือประชาชนตาดำ ๆ อย่างพวกเรา ทั้ง ๆ ที่ค่าแรงก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเท่าเดิม ท่านประธานทราบใช่ไหมคะว่าช่วงโควิดที่ผ่านมามี ข้าราชการหลายท่านต้องประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ เพราะแม้แต่ข้าราชการที่มี เงินเดือนประจำก็ยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าไฟ ดิฉันเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตนไปลง พื้นที่ที่ สน. ปทุมวัน มีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้านครหลวงมาตัดไฟบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจใน สน. ปทุมวัน ที่แฟลตตำรวจค่ะ เขาบอกว่าขาดค่าไฟมาแล้ว ๕-๖ เดือน เพราะเงินเดือนของ พี่น้องตำรวจข้าราชการยังอยู่ที่เดิม แต่ค่า FT สูงขึ้น ๆ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายค่าสาธารณูปโภค ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพค่ะ และดิฉันขออนุญาตยกตัวอย่างอย่างใกล้ตัวอีกสักเรื่องนะคะ จากที่ดิฉันได้ไปลงพื้นที่พี่น้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำในชุมชนการเคหะบ่อนไก่ ที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อยชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าวมามากกว่า ๕๐ ปี ต้อง ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เพียงเพราะสาเหตุมาจากรายรับไม่พอต่อการจ่ายค่าไฟ ซึ่งนั่นหมายความว่าประชาชนที่มีรายได้น้อย ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำกำลังเผชิญกับวิกฤติ ค่าไฟแพงอย่างหนักเช่นกันนะคะท่านประธาน ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนยังอยู่ที่ เดิม ๓๒๘ บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน ยังไม่มีการปรับขึ้น มาเป็นเวลาหลายสิบปีตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำก็ยังไม่ถึง ๖๐๐ บาท และเงินเดือนปริญญาก็ยังไม่ถึง ๒๕,๐๐๐ บาทค่ะท่านประธาน ซึ่งดิฉันก็หวังว่าจะขึ้นไปถึง ภายใน ๔ ปี อย่างที่ท่านได้สัญญาไว้ให้กับประชาชนนะคะ และนี่ยังไม่รวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการนะคะท่านประธาน มีเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการ เดือนละ ๕๐๐-๘๐๐ บาท ตกวันละ ๑๐-๒๐ บาท แต่ในทางกลับกันค่าครองชีพที่รัฐผูกขาด กลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะท่านประธาน ชีวิตประจำวันของประชาชน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ขึ้นสวนทางกับรายรับของประชาชน ขณะที่สภาพเศรษฐกิจตอนนี้ไม่มีวี่แววว่า จะดีขึ้น จากที่ท่านเลขานุการนายกรัฐมนตรีท่านพรหมมินทร์เองก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อ ๓ วันก่อนว่าประเทศนี้วิกฤติแล้ว และจำเป็นต้องผลักดัน Digital Wallet ค่ะ ท่านประธานดิฉันขอถามแทนประชาชนทั่วประเทศว่า Digital Wallet จ่ายค่าไฟและค่า สาธารณูปโภคได้หรือไม่คะ เพราะนี่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนเป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคน ถึงขั้นจำนวนมากอาจจะอยากนำเงินตรงนี้มาจ่ายค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสาเหตุของสาธารณูปโภคที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จะไปคิดงานเรื่องอื่น ๆ ออกได้อย่างไรคะท่านประธานในเมื่อเราต้องกังวลว่าบ้านเราจะถูกตัดน้ำ ตัดไฟ เมื่อไร นี่สิคะคือประเทศที่ถึงวิกฤติจริง ๆ ค่ะ ดิฉันขออธิบายเพิ่มเติมว่าสถานการณ์รุนแรงเพียงใด หากเราย้อนกลับไปปี ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขยับขึ้นค่าไฟ โดยเฉพาะค่าไฟผันแปร หรือเรียกทั่วไปว่าค่า FT ที่เขาไปพูด ๆ กัน ในเวลานั้นอยู่ที่ประมาณ ๑.๓๙ บาท แต่วันนี้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีมาตรการตรึงราคาแล้ว แต่ค่า FT ก็ยังสูงมากโดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ ๓๘.๗๕ บาท หรือกว่า ๒๗ เท่าของราคา เมื่อ ๒ ปีที่แล้วรัฐบาลประยุทธ์นะคะ และการ เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงนี้จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกระจายอำนาจ Soft Power ไปท้าชิง แชมป์ประเทศค่าไฟแพงระดับโลกหรือเปล่าคะ โดยตอนนี้อยู่ในอันดับ ๔ ของประเทศเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ทั้งทวีปค่ะ เรากำลังจะเดินใกล้เข้าไปในจุดค่าไฟแพงเท่ากับสิงคโปร์ แต่ค่าแรงต่ำกว่าสิงคโปร์หลายเท่าค่ะท่านประธาน ในส่วนของภาคธุรกิจผลกระทบจาก ปัญหาค่าไฟสูงนั้นทำให้ประเทศเสียสถานภาพในการแข่งขันต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตรา ค่าไฟและพลังงานที่ต่ำกว่า ตัวอย่างค่าไฟที่เวียดนามค่ะท่านประธาน ๒.๗๐ บาทต่อหน่วย อินโดนีเชีย ๓.๓๐ บาทต่อหน่วย ซึ่งอาจจะทำให้ในสายตาของนักลงทุนมองว่าประเทศไทย ดูเป็นตัวเลือกสุดท้าย นอกจากนี้แม้แต่ผู้ประกอบการ SMEs เอง ก็ได้รับผลกระทบจากอัตรา ค่าไฟและพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจจะนำไปสู่การลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าหรือการบริการได้เช่นกัน และจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภค ด้วยค่ะ ท่านคะตอนปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ ๔ เรื่องค่าไฟแพงในอาเซียน แต่เมื่อไม่นานมานี้เท่าดิฉันทราบหลังจากมีมติ กกพ. และด้วยตามมติ ครม. ที่เห็นชอบเสนอ ปรับโครงสร้างและสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนการผลิต โดยการถัวเฉลี่ย ต้นทุนแหล่งก๊าซราคาถูก ปัจจุบันให้กลุ่มธุรกิจใช้รวมกับแหล่งก๊าซที่ราคาแพง เพื่อให้ลด ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงส่งผลให้มีการปรับราคาค่าไฟอยู่ที่ ๔.๑๘ บาท เริ่มต้นเดือนมกราคม ไปจนถึงเดือนเมษายนปี ๒๕๖๗ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีการเกี่ยวโยงกับการยืดหนี้ กฟผ. ทำให้นี่ดูเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแบบเร่งด่วน โดยที่รัฐหรือ กฟผ. นั้นอาจจะต้องแบก รับภาระต่อไปดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรการและแนวทางต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ที่โครงสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวและควรกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน เพื่อตอบสนอง การมีประสิทธิภาพในระยะยาวค่ะท่านประธาน ดิฉันได้ไปพูดคุยนะคะ นี่จากประสบการณ์ ลงพื้นที่ในเขตปทุมวัน ดิฉันได้ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุท่านหนึ่งที่ต้องใช้รถเข็นพยุงตัวเอง ในการเดินเขาจำเป็นที่จะต้องใช้ลิฟต์ขึ้นอาคารการเคหะบ่อนไก่เป็นประจำจากชั้น ๑ ผู้สูงอายุท่านนี้อาศัยอยู่ชั้น ๑๒ ของตึกค่ะ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือค่าลิฟต์ที่ไม่ได้รับการ ดูแล ซ่อมแซมปรับปรุงเป็นเวลานาน ทำให้สายเคเบิ้ลและฟันเฟืองขัดข้องอยู่บ่อยครั้ง เพราะเนื่องจากค่าไฟและค่าซ่อมบำรุงลิฟต์ไม่เพียงพอ อย่าว่าแต่จะซ่อมแซมลิฟต์เลยค่ะ ค่าไฟก็ไม่พอแล้วค่ะค่าไฟสูงขนาดนี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก นึกสภาพนะคะประธาน เดินก็ยังจะไม่ไหว ยังจะต้องมาเสี่ยงชีวิตทุกวัน เพราะค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภคที่เกินตัว ไม่ใช่แค่นี้นะคะ ชาวกรุงเทพฯ ในชุมชนการเคหะบ่อนไก่ ยังต้องเจอปัญหาสายไฟที่มีความเสื่อมโทรมจากสภาพการใช้งานทำให้เกิดไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจรค่ะ ทั้งนี้ก็มีส่วนมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการดูแลชุมชนและประชาชนที่ต้องการ มากที่สุด และขอย้ำนะคะว่าชุมชนการเคหะบ่อนไก่ เขตปทุมวัน มีประชาชนถึง ๑๐,๐๐๐ คน ในใจกลางกรุงเทพมหานครที่เขาเรียกว่า กรุงเทพมหานครเมืองเทพสร้าง แต่ชีวิต ความเป็นอยู่กลับตรงข้ามเหมือนอยู่ในนรกค่ะ นี่ไม่นับรวมประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่มีทะเบียนบ้านนะคะ ในพื้นที่ที่ต้องดึงมิเตอร์รวมไฟจากที่อื่นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ใส่พวกเขาค่ะ ไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเองอย่างมั่นคงถาวรแล้ว ยังต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่า ชาวบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองอีกค่ะ หากไม่มีการทลายการผูกขาดของ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และเปิดเสรี กิจการไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน ก็เป็นไปได้ยากที่จะแก้ไขปัญหา เชิงโครงสร้างเนื่องจากผู้บริโภคเสียเปรียบเสมอจากการผูกขาดทางการค้า ด้วยปัญหา ที่ดิฉันกล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าปัญหาค่าไฟแพงไม่ได้เป็นปัญหาเส้นตรง แต่เป็นปัญหา ที่สลับซับซ้อนวนไปหน้าบ้างหลังบ้าง และส่งผลกระทบกลับไปกลับมา พร้อมทั้งขยาย และผลักดันปัญหาอื่น ๆ ที่พ่วงตามมาด้วยนะคะ อีกทั้งปัญหานี้คาบเกี่ยวกับหน่วยงานของ รัฐหลายหน่วยงานจึงจำเป็นที่จะต้องใช้กลไกและอำนาจที่เฉพาะและแตกต่างไป จากคณะกรรมาธิการสามัญปกติ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาค่าไฟเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ให้สมกับความเร่งด่วนและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ให้รีบบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน แค่วินาทีเดียวก็ลดค่าไฟได้เราก็ ช่วยเหลือประชาชนได้หลายร้อยหลายพันคนแล้วค่ะท่าน ดังนั้นดิฉันจึงขอความร่วมมือ และความตระหนักเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนค่ะ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อให้เราได้ช่วยกันรีบดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และขอให้เพื่อนสมาชิกได้ตระหนักและยืนยันทำหน้าที่ของตน ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผู้เสนอญัตติทั้ง ๒ ท่านก็ได้เสนอแล้วนะครับ ต่อไปเป็นการอภิปรายของ สมาชิกครับ ตอนนี้มีสมาชิกฝ่ายค้านลงชื่อทั้งหมด ๑๔ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๖ ท่าน ก็จะใช้เวลา ทั้งหมด ๑๔๐ นาที ๑๔๐ นาที ถ้าจะเอาจริงก็อยู่ในวิสัยที่จะเอาให้จบ แต่ทางวิปก็หารือกัน แต่ผมยินดีที่จะเอาให้จบญัตตินี้เลยนะครับ แล้วก็เนื่องจากลำดับมีการลงชื่อมีตัวเลขค่อนข้าง ห่างกัน เพราะฉะนั้นจะเรียกฝ่ายค้าน ๒ รัฐบาล ๑ สลับกัน ขอเชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ แล้วท่านชุติมา คชพันธ์ ครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัด ปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือนะครับ ก่อนอื่นวันนี้ ถือเป็นวันดีของพรรคก้าวไกล ๒ เรื่อง เรื่องแรก คือคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้กลับมา ทำหน้าที่ สส. อันทรงเกียรติในสภาแห่งนี้ และเรื่องที่ ๒ คือคุณรังสิมันต์ โรม ได้คลอดลูก สาวออกมาก็ขอแสดงความยินดีกับ สส. ทั้ง ๒ ท่านนะครับ ทีนี้เรากลับมาเรื่องค่าไฟแพง ประเด็นของเราขอสไลด์ด้วยนะครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ผมจะเปรียบเทียบให้ดูนะครับ ค่าไฟของสหรัฐอเมริกา ไทย จีน เวียดนาม ลาว พม่า มีความต่างกันมากเหลือเกิน เราดู ของไทยกับของจีนเราห่างจากประเทศจีนเกือบ ๒ เท่า ในที่นี้คือค่าไฟเฉลี่ยเพราะว่า ประเทศไทยเป็นอัตราก้าวหน้าค่าไฟก็จะเป็นลักษณะนี้ ซึ่งมีราคาแพงมาก ๆ เลย ตรงนี้จะเห็นว่าค่าไฟเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ ๓ บาท ๒๔ สตางค์เท่านั้น แต่ของไทยห่างจาก ค่าเฉลี่ยถึงเกือบ ๒ เท่า ต่อไปคือรายได้ของคนที่จบปริญญาตรีหรือว่าประมาณค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ที่ ๑๕,๐๐๐ บาท แต่เราต้องจ่ายค่าไฟโดยเฉลี่ย ๑ คน ๑,๒๐๐ บาท ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้านและอื่น ๆ คงเหลืออยู่แค่ประมาณ ๓๐๐ บาท บางคนก็ติดลบนะครับถ้าเกิดว่า เราไม่เช่าบ้านเราก็ต้องอยู่กับพ่อแม่เพื่อจะผ่อนรถนะครับ สไลด์ต่อไปจะเห็นว่าคนในสมัยก่อนเราทำงานปริญญาตรีเราสามารถจะซื้อรถได้ แต่ตอนนี้ เราซื้อรถไม่ได้แล้ว เพราะอะไรครับ เราอยู่ในยุคนี้ไม่ใช่ยุคทาสในอดีต แต่สมัยนี้เป็นทาส ของนายทุน เราเรียนจบปริญญาตรีทำงานมีเงินเก็บแค่ ๓๐๐ บาทเท่านั้น เราจบปริญญาตรี ทำงานค่าแรงขั้นต่ำมีเงินเก็บแค่ ๓๐๐ บาท เท่านั้นนะครับ สิ่งนี้บอกอะไรได้บอกว่า เราต้องทำงานเพื่อหาเงินไปให้กับนายทุน ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าอะไรต่าง ๆ ค่าเดินทาง ค่าเชื้อเพลิง ทุกสิ่งทุกอย่างแพงเกินเหตุ ทำให้ประเทศไทยเราไม่สามารถที่จะ มั่นคงได้ เราจะสร้างประเทศไทยแบบยั่งยืนหรือเราจะสร้างสังคมทาสที่รอวันล่มสลายครับ ตรงนี้ผมเคยนำภาพสไลด์ชุดนี้มาลงแล้วรอบหนึ่งตอนที่เรามีปัญหาเรื่องการแก้หนี้ แล้วก็ ค่าครองชีพแพงนะครับ ประเทศไทยค่าแรง ๓๕๐ บาท สหรัฐอเมริกา ๓,๑๖๘ บาท มากกว่าไทย ๙ เท่า แต่ค่าไฟไล่เลี่ยกันเลย สินค้าต่าง ๆ ของสหรัฐก็ถูกกว่าไทยตามค่า เงินบาทเลย ของไทย ๒๐๐ กว่าบาท ๒๑๖ บาท ของสหรัฐอเมริกาก็ ๒๖๙ บาท ไม่ต่างกันเลยนะครับ ค่าน้ำมันก็เช่นกันของไทยเฉลี่ย ๓๗ บาท ของสหรัฐ ๓๓.๙๐ บาท ค่าเนื้อสัตว์อันนี้คือน่องไก่ของไทย ๗๔ บาทต่อกิโลกรัม สหรัฐอาจจะแพงกว่านิดหนึ่ง ๑๕๗ บาท ทีนี้เรากลับมาพูดถึงเรื่องค่าไฟแพง เรามาดูกันว่าในอดีตค่าไฟของการผลิต จากพลังงานที่มีราคาถูก อย่างเช่น ก๊าซธรรมชาติ แต่พลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพง ค่าต้นทุนการผลิตที่แพง แต่ผ่านมาเพียง ๘ ปี ถึงปี ๒๐๒๒ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างมากเหลือ ๑,๐๐๐ กว่าบาท เป็นการใช้พลังงาน ที่ถูกที่สุดตอนนี้ แล้วพลังงานลมบนบกก็ถูกที่สุด ๒ อันนี้เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ เป็นพลังงานสะอาดด้วย ถูกด้วย อันนี้ก็จะเป็นสาเหตุที่ค่าไฟของเราแพงเกิดจากอะไร เกิดจากหลายสาเหตุมาก ๆ เลยนะครับ พลังงานทั่วโลกปัจจุบันนี้เป็นพลังงาน Fossil ๖๐.๒เปอร์เซ็นต์ พลังงานหมุนเวียน ๒๑.๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็พลังงานนิวเคลียร์ ๑๘.๒ เปอร์เซ็นต์ พลังงาน Fossil ก็ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากว่ามีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกแล้วก็เป็นสาเหตุที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก พลังงาน Fossil มีข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือราคาจะไม่นิ่งจะมีราคาขึ้นลงตลอดเวลา อย่างเช่น เวลาเกิดสงคราม สงครามยูเครนก็ทำให้ Fossil ราคาแพงขึ้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ด้วยนะครับ แต่พลังงานทางเลือกของเราดีกว่าเยอะนะครับตอนนี้ เพราะว่าทั้งถูกแล้วก็ เป็นพลังงานสะอาดด้วย แม้ว่าในอดีตจะมีต้นทุนราคาแพง แต่ปัจจุบันนี้ราคาตรงนี้ลดลง เป็นจำนวนมาก แล้วก่อนหน้านี้ประเทศไทยเราทำสัญญาซื้อขายพลังงานในราคาที่ หลายราคามาก อย่างเช่น เราซื้อพลังงานจากน้ำจากประเทศลาวประมาณบาทต้น ๆเท่านั้น แล้วก็มีพลังงานอื่น ๆ ที่ราคา ๓ บาทบ้าง ๔ บาทบ้าง จนแพงที่สุดถึง ๑๑ บาท ๘๐ สตางค์ ต่อหน่วย ซึ่งตรงนี้เป็นสาเหตุให้ต้นทุนของเราแพงมาก ๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้น เมื่อผมได้วิเคราะห์ตรงนี้แล้วให้ดูว่าพลังงานทางเลือกของเรามีอะไรบ้าง ในภาพนี้พลังงาน นิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาจะมีโรงงานผลิตพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดถึง ๙๓ โรง ประเทศจีน มี ๕๔ โรง ตามรูปข้างบน ประเทศอื่นยังใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสะอาด แล้วก็ต้นทุนต่ำอยู่เช่นกัน ตรงนี้คือข้อเสนอแนะนะครับ ในเมื่อพลังงานที่ราคาถูกแล้ว ผมก็ขอเสนอให้เราลดการใช้พลังงานจาก Fossil พลังงานจาก Fossil คืออะไรก็คือ พวกถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป แล้วก็ให้พิจารณาพลังงานอื่น ๆ แทน อย่างเช่น พลังงานนิวเคลียร์ โซลาเซลล์ พลังงานลม แล้วก็สนับสนุนให้ประชาชนผลิตไฟใช้เอง อย่างเช่น สนับสนุนการใช้ Solar Rooftop การติดตั้งโซลาเซลล์บนหลังคา ซึ่งตอนนี้ราคาต่ำลงมาก ๆ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนเราจะได้ พลังงานราคาถูก แล้วประชาชนก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายขึ้น ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการวาง กรอบนโยบายในอนาคต ๑๐ ปี ถึง ๒๐ ปี เพื่อความมั่นคงทางพลังงานถ้าเกิดเราใช้พลังงาน ธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดไป อย่างเช่น โซลาเซลล์ แล้วก็พลังงานลม ตรงนี้ความมั่นคง ทางพลังงานของเราจะยั่งยืนมากกว่านี้ดีกว่าถ่านหินแล้วก็ก๊าซธรรมชาติมาก ๆ เลย การบริหารสัมปทานการซื้อไฟฟ้าจำนวนโรงงานผลิตที่เรารู้กันอยู่แล้วว่ามีประมาณ ๑๒ โรง แต่ว่าผลิตจริงประมาณครึ่งหนึ่ง อีกที่เหลือครึ่งหนึ่งไม่เคยผลิตเลย ตรงนี้เราต้องมีการเจรจา สัมปทานใหม่ แล้วก็เรื่องของการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ราคาถูกเราแล้วนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วก็นำก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้า จากต่างประเทศซึ่งราคาแพงมาผลิตไฟ ทำให้ต้นทุนไฟราคาแพง แล้วเราก็ไปโทษว่า เพราะค่าไฟต้นทุนแพงจึงต้องเก็บแพงกับประชาชน ตรงนี้อยากให้เห็นใจประชาชนบ้าง ถ้าเกิดท่านมองถึงประชาชนมากกว่านายทุน ท่านจะต้องเปลี่ยนตรงนี้แล้วก็ทำตามที่พวกเรา ได้แนะนำไป ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านชุติมาครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ท่านประธานคะ ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงเป็นปัญหาที่เราพบเจอกันมา ตลอดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคอะไรก็ตาม คำถามของดิฉันก็คือทำไมคนไทยเรา จะต้องทน แล้วเราจะต้องทนกับค่าไฟฟ้าแพงแบบนี้ไปถึงเมื่อไร
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ใครจะให้คำตอบได้บ้าง แล้วใครจะแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเจอมายาวนานนะคะ ถ้าเราดูย้อนหลัง กลับไปเราจะพบว่าใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ค่า FT ที่เราเจอกันมันก็จะแกว่งไปแกว่งมาอยู่แบบนี้ แต่ในช่วงปี ๒ ปีที่ผ่านมานี้ มันกระโดดสูงเป็นพิเศษเลยโดยเฉพาะปีที่แล้ว แล้วก็ปีนี้ถึงแม้ รัฐจะบอกว่ารัฐช่วยดูแล ช่วยแบกรับอะไรแทนก็ตาม สุดท้ายต้นปีนี้ก็กลับมาเป็นภาระ ให้ประชาชนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะส่งเสียงแทนประชาชน อยากจะบอกว่า อย่าผลักภาระให้ประชาชนเลย ช่วยกันทบทวน ช่วยกันปรับโครงสร้างใหม่เถอะ ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร ค่า FT ภาษีมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ ประชาชนที่เป็นภาคธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร เราต้องอดทนกันมาตั้งเท่าไร เราต้องอยู่ในภาวะจำยอม เราต้องรับสภาพกับ ความไม่เป็นธรรมเสมือนถูกขูดรีดอยู่แบบนี้ แต่เป็นการขูดรีดอย่างถูกกฎหมาย เราต้องทน แบบนี้ไปถึงเมื่อไร อยากจะฝากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ปัญหานี้นะคะ ในส่วนของ ค่าไฟแพง ในภาคธุรกิจนั้นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศตกต่ำลง อย่างเห็นได้ชัด ต่อมาท่านจะเห็นว่าค่าไฟฟ้าที่เป็นขาขึ้นนี้จะส่งผลอย่างมากเลยต่อการ เติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงจะทำให้ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง ภาคธุรกิจที่กระทบมากที่สุดเลยก็คือโรงน้ำแข็งกระทบมาก นะคะ โรงแรมและที่พัก สิ่งทอ ๓ กลุ่มนี้กระทบมาก แต่ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันได้พบเกษตรกร ในจังหวัดตรังแล้วก็จังหวัดกระบี่ ดิฉันได้ข้อมูลมาว่าเกษตรกรจากกระบี่ตอนนี้หันไปติด โซลาเซลล์ในบางฟาร์ม ต้นทุนค่าไฟฟ้า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์นี้ถือว่าสูงมาก สำหรับเกษตรกรในการเลี้ยงกุ้งแต่ละรอบจะต้องใช้เครื่องปั่นไฟตลอดเวลา ก็ต้องใช้ โซลาเซลล์เพราะลดต้นทุนสลับกับการใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังอยากจะให้รัฐช่วยเหลือก็คือช่วยให้ เงินกู้ยืมก็ได้หรือว่ารัฐติดตั้งให้ก่อนแล้วค่อยหักจ่ายคืนหลังจากมีการจับกุ้งแต่ละรอบ จะเป็น การช่วยเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุนและการผลิตได้ ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันได้พูดคุยกับ เกษตรกรผู้ประกอบการฟาร์มหมู ทางฟาร์มหมูก็บอกดิฉันว่าค่าไฟฟ้านี้เป็นต้นทุนอยู่ที่ ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของฟาร์มหมู ในการเลี้ยงหมูจะต้องใช้ปั๊มน้ำใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ความอบอุ่นกับลูกหมู โดยเฉพาะฟาร์มที่เป็นระบบปิดต้องใช้พัดลมตลอดเวลา แน่นอนค่ะเปลืองไฟตลอดเวลาแน่นอน สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนก็คือโซลาเซลล์สำหรับเกษตรกรเช่นเดียวกับฟาร์มกุ้ง เมื่อสักครู่นี้เลยนะคะ อยากให้มีการคิดดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น ลดราคาในส่วนของอุปกรณ์ โซลาเซลล์ลง ทุกวันนี้บางคนอาจจะบอกว่าก็ในเมื่อมีทางเลือกอยู่แล้ว มีโซลาเซลล์อยู่แล้ว อย่างนั้นก็ไปใช้บริการอันนั้นสิ คุณก็ไปติดตั้งสิ ท่านประธานคะ เวลาที่เราจะติดตั้งโซลาเซลล์ แต่ละครั้งต้องใช้เงินก้อนใหญ่เป็นแสนเลย ๓๐๐,๐๐๐ บาท ๔๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับ เกษตรกรเป็นเงินที่เยอะ บางครั้งเงินก้อนนี้เขาสามารถเอาไปหมุนเวียนเป็นค่าอาหารสัตว์ เป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในครัวเรือนของเขา มันได้อีกมากมาย มากกว่าจะมาลงทุนเป็นก้อน ๆ แบบนี้นะคะ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้กระทบโดยตรงแน่นอนค่าไฟฟ้า ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ก็กระทบเช่นกัน เพราะว่า ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนถึง ๑๓ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ย นี่แค่ธุรกิจเดียวนะคะ ถ้าเราสำรวจทั้งหมด ดิฉันเชื่อว่าเราจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่าประเทศนี้มันถดถอยขนาดไหน ถ้าเรายังปล่อยให้ ค่าไฟแพงแบบนี้ต่อไป นี่ยังไม่รวมอื่น ๆ ยังไม่รวม ค่าน้ำ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าแรงพนักงาน ค่าวัตถุดิบต่าง ๆ แล้วผู้ประกอบการจะเหลืออะไรคะ ถ้าค่าไฟแพงแบบนี้ต่อไปจะอยู่รอด ได้อย่างไร นั่นแปลว่ารัฐจะต้องให้ความสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการรายเล็กมาก ขึ้นรายใหญ่เขาอาจจะอยู่ได้ไม่กระทบ แต่รายเล็กมีปัญหาแน่นอนถ้ายังปล่อยแบบนี้นะคะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต่อมาอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาชนร้องเรียนดิฉันมา เขาพบว่าค่าไฟบางช่วง ไม่อยู่บ้าน อันนี้มีการเล่าให้ฟังว่าไม่อยู่บ้าน แต่ทำไมยังมีค่าไฟเกิดขึ้นมาได้ อันนี้เป็นไป ได้อย่างไร หรือว่าธุรกิจโรงแรมในช่วงโควิดรัฐก็สั่งปิดโรงแรม ปกติเปิดบริการปกติเงิน ก็หมื่นกว่าบาทเป็นค่าไฟ แต่ช่วงที่ปิดโรงแรมเงินก็ยังหมื่นกว่าอีกค่าไฟมาจากไหน เกิดอะไรขึ้น อันนี้ต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างแล้ว ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ร้านค้าในจังหวัดพัทลุงส่งข้อมูล ร้องเรียนมานะคะ บอกว่าเขาเจอปัญหาสันนิษฐานว่าน่าจะจดเลขมิเตอร์ผิดพลาด จากตัวอย่างนี้จะเห็นเลยค่ะ เดือน ๕ เดือน ๔ ของปี ๒๕๖๖ ปรากฏว่ากระโดดขึ้นไปเยอะ จากที่จ่ายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท กระโดดเป็น ๓,๐๐๐ บาท ๔,๐๐๐ บาท อย่างตัวอย่างที่เห็นในนี้ก็ไปที่การไฟฟ้า ปรากฏการไฟฟ้าก็ตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น การไฟฟ้าก็บอกว่าก็จ่าย ๆ ไปก่อน จะได้จบ จะได้ไม่ต้องมีค้างจ่าย จะได้ไม่ต้องโดนตัดไฟ ไม่ต้องโดนถอนมิเตอร์ไป นี่คือบิลจากร้านค้านะคะ ผู้ประกอบการก็บอกดิฉันว่าของก็ขายไม่ได้ แล้วต้องมารับผิดชอบมาแบกรับอะไรก็ไม่รู้ที่เกิดจากความผิดพลาดจาก Human Error ของคนที่จดไฟฟ้าผิด เพราะฉะนั้นภาครัฐของเราควรต้องจริงจังแล้วในเรื่องของการใช้ Smart Meter ไม่ใช่ให้คนไปจดอยู่แบบนี้ แล้วไม่ใช่แค่นั้นนะคะ นอกจากจดผิดแล้วตอนนี้ ถ้าท่านเห็นบางท่านอาจจะเห็นมี SMS เขาใช้จุดอ่อนตรงนี้ส่งมาอาจจะเป็นมิจฉาชีพ ที่บอกว่าเนื่องจากค่ามิเตอร์ของท่านจดผิดให้กดไปที่ Link นี้ กลายเป็นสิ่งนี้เป็นช่องทาง ให้มิจฉาชีพเอาไปหากินอีกเป็นการเดือดร้อนซ้ำเติมค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่ารัฐบาล จะต้องจริงจังเรื่องนี้โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้า เราคงต้องรื้อโครงสร้างกันจริงจัง เราคงต้องมีนโยบายจริงจังอย่างที่พรรคก้าวไกลเราเคยทำก็คือเปลี่ยนแสงแดดเป็นเงิน แล้วก็สนับสนุนโซลาเซลล์เป็นแบบ Net Metering แล้วก็เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า แล้วถ้าเป็นไปได้ ดิฉันขอยืนยันสนับสนุนแนวทางของพรรคก้าวไกล คือเราต้องกล้าที่จะชนกับกลุ่มทุนใหญ่ เรารู้อยู่แล้วว่าเกิดจากอะไรบ้างในประเทศนี้เราต้องจริงจังกับเรื่องนั้นนะคะ ดิฉันขอฝาก ปัญหาของประเทศนี้ไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา และขอสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ครับ
นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอร่วมอภิปรายญัตติปัญหาค่าไฟฟ้าแพงค่ะ ท่านประธานคะ ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ที่ใช้ในการดำรงชีวิต ตลอดจนเป็นสิ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการพูดถึงปัญหาค่าไฟแพงมาโดยตลอด อย่างช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้าแพงอย่างมาก ทำให้เห็นรูปบิลค่าไฟฟ้าแพงปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ที่ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย
นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
โดยปัจจัยที่มีการกล่าวถึงว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นอย่างมาก ก็คือค่า FT ค่า FT หรือที่เรียกว่าค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิงอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนกันยายน ๒๕๖๕ ค่า FT ปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจาก Website คณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานพบว่าเดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๕ ค่า FT อยู่ที่ ๙๓ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๙๓ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๙๑ บาท ๑๙ สตางค์ เดือนกันยายน ถึงธันวาคม ๒๕๖๖ ค่า FT อยู่ที่ ๒๐ บาท ๔๘ สตางค์ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าค่า FT อยู่ในอัตราที่สูงเกือบ ๑ ปี โดยเริ่มมาลดลงในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ตามมาตรการ ลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาล และเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ ก็ได้มีการประกาศค่า FT ล่าสุด พบว่าเดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๗ ค่า FT อยู่ที่ ๓๙ บาท ๗๒ สตางค์ ปรับเพิ่มขึ้น จำนวน ๑๙ บาท ๒๔ สตางค์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๓.๙๔ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาย้อนหลัง ค่า FT ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ถึงธันวาคม ๒๕๖๔ พบว่าค่า FT ติดลบมาโดยตลอด ตามข้อมูลดังต่อไปนี้ เดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๑ บาท ๖๐ สตางค์ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๑ บาท ๖๐ สตางค์ เดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๓ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๒ บาท ๔๓ สตางค์ เดือนมกราคม ถึงเมษายน ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เดือนกันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๔ ค่า FT ติดลบอยู่ที่ ๑๕ บาท ๓๒ สตางค์ เมื่อได้อ่านคำอธิบายของ กกพ. ก็ได้รับทราบว่า กกพ. ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศมีความไม่แน่นอน จึงตรึงค่า FT เพื่อช่วยเหลือ ทำให้เห็นว่าค่า FT มีการปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนได้ ซึ่งดิฉันก็มีความเห็นว่าในขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอน และประชาชนก็ยังประสบกับภาวะ ค่าครองชีพที่สูงอยู่หลายด้าน ทำให้การปรับขึ้นของค่า FT ที่จะเป็นการสร้างภาระ และผลกระทบให้กับประชาชน จึงยังไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นตามที่ประกาศไปค่ะ และเพื่อเป็นการ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังกล่าว ดิฉันจึงมีข้อเสนอต่อสภาในการแก้ไข ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังต่อไปนี้
นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๑. ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๒. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการศึกษาถึงแนวทาง ในการปรับลดค่าไฟฟ้า โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บทั้ง ๔ ส่วน ซึ่งประกอบไปด้วย ๑. ค่าไฟฟ้าฐาน ๒. ค่า FT ๓. ค่าบริการรายเดือน และ ๔. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับปรุงแก้ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยค่ะ
นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๓. ขอให้ กกพ. ปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการพิจารณาค่า FT ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการกำหนดค่า FT มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ระยะเวลา ๔ เดือนที่จะต้อง มีการพิจารณากำหนดค่า FT อาจไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านมานพ คีรีภูวดล ตามด้วย ท่านปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ญัตติเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา และแก้ไขปัญหากรณีค่าไฟแพง ท่านประธานครับ ผมอยู่ในกรรมาธิการเรื่ององค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ ในสภาชุดที่ ๒๕ ก็ได้มีการสอบถามเรื่องนี้ครับท่านประธาน ผมตั้งสมมุติฐาน อย่างนี้ครับ ทำไมค่าไฟถึงแพง ที่มันแพงเพราะว่ามันมีระบบการผลิตที่ผูกขาด เดี๋ยวผม จะลงรายละเอียด ในความเป็นจริงญัตติของคุณธิษะณา ชุณหะวัณ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ ในมาตรา ๕๖ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ มันเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก แต่กระบวนการที่ทำให้ค่าไฟมันแพงมันไปเกี่ยวข้องกับ ตัวละครอยู่หลายตัวที่ทำให้กระบวนการผลิต หรือกระบวนการดำเนินการมันไปผูกขาดครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ตัวละครแรกก็คือกระทรวงพลังงานครับท่านประธาน ประเด็นที่ผมพยายาม สืบข้อมูลมา ณ วันนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนควบคุมดูแลเกือบทั้งหมดในการออกนโยบาย ปัญหาที่มันแพงวันนี้ ตอนนี้เรามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในข้อเท็จจริง เราใช้อยู่ที่ประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันแพงเพราะว่าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใน การผลิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดครับท่านประธาน อาจจะออกมาเป็นค่า FT ผมเคย สอบถามแล้ว FT มันคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็นค่าดำเนินการที่ไม่อาจจะลงรายละเอียดได้ มันหมายถึงค่าอะไรบ้าง ก็ไม่รู้ครับท่านประธาน โดยรวมแล้วคือเราผลิตไฟฟ้าในประเทศนี้ ทุกระบบเลย๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราใช้เพียงแค่ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบค่าไฟที่ผลิตทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันแพงครับ เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ผมว่าก็คือกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแลนโยบายเรื่องนี้ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ตัวละครที่ ๒ ก็คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผมเคยถาม ในที่ประชุม ๒ องค์กร ก็จะตีปิงปองกันไปกันมาว่าใครมีอำนาจ ใครไม่มีอำนาจ ตัวละคร ตรงนี้ทั้งหมดนี้ถ้าจะส่งให้กรรมาธิการพลังงานผมคิดว่าถ้าไม่คุยถึงกลไกตัวละครที่ผมว่านี้ เป็นไปยากมากที่จะแก้ปัญหา
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ตัวละครที่ ๓ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคอันนี้ก็ไม่เบาครับท่านประธาน ที่ผ่านมาอาจจะมีอำนาจเยอะ แต่วันนี้คือ มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและมีกระทรวงพลังงาน และบอร์ดของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ท่านประธานลองไปดูครับ ไม่มีรัฐวิสาหกิจอยู่ตรงนั้น เป็นบุคคล ภายนอกที่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราไปถอดรหัสดูจริง ๆ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงาน ซึ่งหมายความว่าเขาจะผลิตเท่าไรก็ได้ ตามนโยบายของเขา แล้วก็ให้ประชาชนเป็นผู้รับซื้อ จะใช้หมด ไม่หมด ไม่เป็นอะไร บางโรงไฟฟ้ายังไม่เดินเครื่องเลยครับ แต่วันนี้ประชาชนต้อง รับผิดชอบค่าลงทุนทั้งหมด อันนี้มันเป็นกระบวนการผูกขาดในการผลิตทำให้ประชาชน ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตัวนี้เป็นสาเหตุใหญ่นะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้กับ ท่านประธานในวันนี้ โอเค ถ้าไม่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญจะไปอยู่ในกรรมาธิการพลังงาน หรือจะมีอนุกรรมาธิการหรือมีคณะกรรมการ ถ้าไม่ไปดู ๓ องค์กรที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ในวันนี้ อำนาจและดาบที่เขามีอยู่เขากำหนดเลยถ้าไม่ไปแก้เรื่องนี้อย่างไรก็ไม่จบครับ ประชาชน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ภาษีประชาชนต่าง ๆ ก็ต้องไปจ่ายลงที่นั่นนะครับ ท่านประธานก็ทราบอยู่แล้วมีบางบริษัทใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ ปี ๑๕ ปี เป็นเจ้าสัวเป็นคนที่ รวยที่สุดในประเทศไทยก็มาจากตรงนี้ ตรงพลังงานตรงนี้ครับ ทั้งหมดนี้ก็คือใช้เงื่อนไข เครื่องมืออะไรครับ ก็ใช้เครื่องมือในแง่ของกฎหมายพลังงานคณะคณะกรรมการตรงนี้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก คนที่จะเข้าไปดำเนินการในกรรมาธิการพลังงาน ที่จะเป็นอนุกรรมาธิการก็ดี จะเป็นอะไรก็ดี ท่านต้องไปดูตรงนี้นะครับ เรื่องอื่นมันเป็น เรื่องจิ๊บจ้อยครับท่านประธาน เป็นเรื่องปลีกย่อย ถ้าไม่ดูตรงนี้อย่างไรมันแก้ไม่ได้ครับ เพราะหัวหลักจริง ๆ ตัวที่ทำให้เรื่องที่ไฟมันแพงโดยการผูกขาดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ มันอยู่ตรงนี้ครับ สุดท้ายครับท่านประธาน ผมคิดว่าประเทศไทย เรามีทางเลือกเยอะแยะ ผมเคยอภิปรายในห้องประชุมแห่งนี้มาโดยตลอด แล้วผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับกระแสของโลก เราพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต เราพูดถึงเรื่อง การใช้พลังงานสะอาด แต่วันนี้ผมคิดว่านโยบายตรงนี้กระทรวงพลังงานแล้วก็คณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ไม่มีความชัดเจนพอครับ ประเทศไทยมีอยู่ ๒๒ ล้านครัวเรือน ๒๒ ล้านครัวเรือนนี้ สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตไฟได้ทั้งหมดเลย เราไม่มีปัญหา เราไม่มีความ ด้อยประสิทธิภาพเรื่องเทคโนโลยีและความรู้ วันนี้เรามีวิศวะ วันนี้เรามีเทคโนโลยี ผมเคย ทดลองครับ ท่านประธานไปดูผมก็ได้นะครับ ไฟฟ้าเราเก็บมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เราก็ใช้ ถ้าไฟไม่พอเราก็ดึงของหลวงมา หมายความว่ามันจะมีระบบสวิตช์ปิด-เปิดอย่างนี้ ไม่ต้องขายคืนก็ได้ครับ สมัยนี้เราทำได้แล้วมันมีระบบ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ครัวเรือน ๒๒ ล้านครัวเรือน เป็นผู้ผลิตไฟเอง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแสงและมีศักยภาพในการผลิตเรื่องนี้ ทำไม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำไมกระทรวงพลังงาน ทำไม EGAT ไม่พูดถึงเรื่องนี้
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ วันนี้ผมคิดว่าบริการสาธารณะมันไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ระดับส่วนกลางจะต้องบริการเท่านั้น วันนี้ในกฎหมายท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล พูดถึงเรื่องของหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้น คือเรื่องของไฟฟ้าท้องถิ่นไหนมีศักยภาพ ท้องถิ่นไหนที่จะผลิตไฟฟ้าได้เอง ไม่ว่าจะเป็น พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือชีวมวลหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ขอให้ดำเนินการโดยภายใต้ กระบวนการผลิตที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ วันนี้เราจะต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ที่มีศักยภาพเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง ทั้งหมดที่ผมเสนอมานี้ครับท่านประธาน กรรมาธิการพลังงานจะต้องไปพิจารณา ถ้าหากว่าชุดที่ไปดำเนินการไม่พิจารณาในประเด็น ๓ ตัวละครที่ผมว่านี้ อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านปารเมศ ครับ
นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๑ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอ อภิปรายสนับสนุนร่างของ สส. เพื่อนสมาชิก ธิษะณา ชุณหะวัณ ท่านประธานครับ ผมขอย้อนเวลากลับไปเมื่อปีที่แล้วสมัยที่ผมยังหาเสียงนะครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับค่าไฟแพงมาโดยตลอด และผมเองยังเคยแสดงความเห็นใน Social Media อยู่หลายครั้งหลายคราว จนถึงตอนนี้เวลาผมลงพื้นที่ก็ยังได้ยินเสียงความเดือดร้อน จากประชาชนอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นที่ของผมซึ่งเป็นเขตในเมืองชั้นในเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ย่านการค้า ไม่ว่าจะเป็น Street Food Cafe โรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการ สถานประกอบการ และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงประชาชนผู้พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนล้วนแต่ ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะมาส่งเสียงแทนประชาชนคนตัวเล็ก ตัวน้อยที่ส่งเสียงไปเท่าไร ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับจากภาครัฐโดยเฉพาะพ่อค้า แม่ขาย ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย แทนที่จะขายของได้กำไรแล้วเอาไปส่งเสียดูแลครอบครัว เปล่าเลยครับ หามาได้เท่าไร เอามาจ่ายค่าไฟที่แพงแสนแพงท่านประธานลองมาดูร้านค้า ในเขตผมได้เลยครับ อย่าคิดว่าอยู่ในเมืองแล้วจะขายดีนะครับเจอวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ ปิดตัวกันนับไม่ถ้วน แบกรับต้นทุนไม่ไหว ไหนจะค่าเช่า ค่าพนักงานและราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็น ส่วนสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ผมไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมารัฐกำลังปิดหูปิดตา ไม่สนใจ รับฟังเสียงของประชาชนอยู่หรือไม่ ทำไมรัฐถึงปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานเพียงไม่กี่กลุ่ม กอบโกยกำไรบนความทุกข์ยากลำบากและสร้างภาระหนี้สินให้ประชาชนได้ขนาดนี้ ภาครัฐมี หน้าที่กำกับดูแลครับ ไม่ใช่มีหน้าที่เอื้อกลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ท่านประธานครับ พลังงานและไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของประชาชน ทุกคน ไม่มีเว้นใครคนใดคนหนึ่ง ผมต้องฝากไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ช่วยเห็นใจประชาชนตาดำ ๆ หน่อยครับ อย่าให้พ่อค้า แม่ขาย หาเช้ากินค่ำเดือดร้อนและต้องแบกรับค่าไฟแพง ๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เหมือนกลุ่ม นายทุนพลังงานไม่กี่ราย ประกาศกำไรทีไรตะลึงกันทุกรอบ รวยอู้ฟู่กันแบบใช้เงินอย่างไร ก็ไม่หมด ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่รัฐบาลจะทำให้สังคมคนไทยได้เห็นว่ารัฐยืนอยู่ข้าง ผลประโยชน์ของประชาชน และไม่ใช่ข้างกลุ่มนายทุนพลังงาน วันนี้ผมจะมาพูดถึงหนึ่งใน สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟบ้านเราแพง ซึ่งก็คือการรับซื้อไฟฟ้าแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำให้ Power Reserve หรือไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยมีมากมหาศาลเกินความจำเป็นและเกิน ความต้องการ ผมขออ้างอิงข้อมูลจากมาตรฐานสากลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency หรือ IEA ได้ระบุว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมอยู่ที่ ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ถึงร้อยละ ๑๕ ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด แต่ปัจจุบันประเทศเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๖ เรามีกำลังผลิตตามสัญญา จำนวน ๕๓,๗๐๐ ในขณะที่ Peak หรือความต้องการสูงสุด ในระบบทั้ง ๓ การไฟฟ้าอยู่ที่ ๓๔,๘๖๒ เมกะวัตต์ ณ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้าสำรองส่วนเกินเกือบ ๒๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ตัวเลขนี้ชี้ชัดได้เลยว่าเรามี ไฟฟ้าสำรองในระบบมากเกินความจำเป็นอย่างมหาศาล จึงไปสะท้อนสู่ค่าไฟฟ้าที่แพง มหาโหดใน Bill ค่าไฟของทุกท่าน นอกจากนี้ยังมีปัญหาของค่าความพร้อมจ่ายหรือ Availability Payment ไปให้กับประชาชนด้วย ปัจจุบันรัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ให้กับโรงไฟฟ้า ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะไม่ซื้อก็ต้องจ่ายหรือ Take or Pay ที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก เรามีโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่ ๘ จาก ๑๒ แห่ง ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หรือเดินเครื่องแบบไม่เต็มศักยภาพ โดยมีคาดการณ์ว่ารัฐต้องจ่ายเงินถึง ๔๙,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ด้วยปัญหาดังกล่าวที่ผมได้อภิปรายไปรัฐยังไม่จัดการอย่างจริงจัง จึงทำให้ราคาไฟฟ้าแพง แทนที่รัฐจะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนไปมากกว่านี้ แต่รัฐอย่าเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มทุนพลังงานเอกชนและธุรกิจพลังงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วเราก็เห็นกันอยู่ครับ บ่อยครั้งภาครัฐมักจะซื้อไฟฟ้า จากเอกชนรายเดิม ๆ ที่คุ้นหน้าคุณตา ผมต้องฝากไปยังรัฐบาลด้วยครับ แผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้า หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับใหม่ ที่กำลังทบทวนอยู่ตอนนี้ และกำลังจะประกาศใช้ในปีนี้ ขอให้พิจารณาอย่างรัดกุม รอบคอบ มิใช่ทำแผนเพียงเพื่อ จะเอื้อประโยชน์เชิงนโยบาย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนพลังงานหน้าเดิม ๆ ได้กอบโกยกำไรบนความทุกข์ยากลำบากของพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านประเสริฐ บุญเรือง เชิญครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ บุญเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๖ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นก็ขอแสดงความยินดีกับท่านณณัฏฐ์ หงส์ชูเวช ที่ได้เลื่อนลำดับเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ยินดีด้วยนะครับ วันนี้ขออภิปราย สนับสนุนญัตติเรื่องค่าไฟแพง เพราะด้วยความอัดอั้นตันใจปัญหาเรื่องค่าไฟแพงขึ้น ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เหตุบังเอิญที่รัฐบาลต้องแก้ไข คำอธิบายปัญหาเรื่องค่าไฟแพงทุกบาท ที่พูดออกมาก็บอกปัญหาทั้งชาวบ้าน ทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็พูดออกมาว่ามันเกิดจาก ค่า FT ขอสไลด์ด้วยนะครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ค่า FT คือสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติหรือไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่าย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ นี่ล่ะครับคือตัวปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกคนที่พูดออกมาทำไมค่าไฟแพง มากนัก ก็บอกว่ามันเกิดจากปัญหาค่า FT ปี ๒๕๔๙ ถึงปี ๒๕๖๔ ไม่มีค่า FT เพราะว่า FT เป็น ๐ แต่ว่าปี ๒๕๖๕ ค่า FT ปรับเพิ่มขึ้น ๑.๓๙ สตางค์ต่อหน่วยของค่าไฟฟ้า จนถึงปัจจุบัน ปี ๒๕๖๕ ค่า FT ได้ปรับเพิ่มขึ้น ๙๓.๔๓ สตางค์ต่อหน่วย นี่ถือว่าสูงที่สุดในรอบ ๑๐ ปี ที่ผ่านมา เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปี ๒๕๖๖ ค่า FT ยังถูกเรียกเก็บ ๙๓.๔๓ สตางค์ เหมือนเดิม นั่นก็เท่ากับว่าเราใช้ไฟฟ้าหน่วยหนึ่ง เราต้องเสียเกือบ ๑ บาท แต่ถ้าเราได้ ๒๐๐ หน่วย เท่ากับเราเสียเพิ่มเกือบ ๒๐๐ บาท ซึ่งในปี ๒๕๖๖ ค่า FT เพิ่มขึ้นถึง ๙๘.๒๗ สตางค์ เป็นค่าไฟฟ้านะครับ ถ้าเป็นค่าไฟฟ้าไปเพิ่มขึ้นในปกติจาก ๙๘.๒๗ สตางค์ ไปบวกแล้วเท่ากับว่าหน่วยหนึ่งต้องเสียค่าไฟฟ้าอยู่ที่ ๔.๗๒ บาทต่อหน่วย
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
๑๐๐/๑ ใครได้รับผลกระทบ ก็พี่น้องประชาชนนั่นละครับ รับผลกระทบเต็ม ๆ ทำให้เดือดร้อน ทั้งในชีวิตประจำวันที่มีปัญหาอยู่แล้ว รับภาระเพิ่มไปอีก ซึ่งโดยปกติแล้วเข้าใจว่าค่าไฟแพง อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากในฤดูร้อน การใช้ไฟฟ้านั้นเรารับรู้ตามปกติอยู่แล้ว ผมยกข้อมูล ย้อนคืนไปที่ผ่านมาเมื่อสักครู่นี้ ผมย้อนดูข้อมูลของสภาองค์กรผู้บริโภค เรื่อง ขอใช้ข้อมูลว่า ทำอย่างไรราคาค่าไฟฟ้าถึงจะลดลง เผื่อฝากไปถึงคณะกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณา คือ ๒ หยุด ๔ ต้อง หยุดที่ ๑ ก็คือหยุดอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรอง รวมทั้งสิ้น ๔๖,๑๖๓ เมกะวัตต์ ในปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๕ มียอดค่าใช้ไฟสูงสุดเพียงปีละ ๓๐,๐๐๐ เมกะวัตต์เท่านั้น นั่นก็เท่ากับว่าประเทศไทยของเรา ผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นปีละ ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้กำลังไฟฟ้ามีไฟฟ้าสำรองสูงถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ความเหมาะสมไม่น่าจะเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในไฟฟ้าสำรอง อันที่ ๒ ค่าไฟฟ้าแพง เพราะผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการแล้ว จนโรงงานบางโรงงาน ไม่ได้เดินเครื่องผลิต แต่ยังได้รับเงินค่าไฟฟ้าที่ผลิตออกมาที่เรียกกันว่า ค่าความพร้อม จ่ายค่าไฟฟ้า ภายใต้สัญญาอัปยศที่เท่ากับว่าซื้อไฟฟ้าในลักษณะไม่ซื้อก็ต้องจ่าย นี่คือ ปัญหาที่มันเกิดขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มภาระมากขึ้นต่อพี่น้องประชาชน ประมาณการว่า โรงงานไฟฟ้าซึ่งมีขนาดใหญ่ทั้งหมด ๑๒ โรง ผลิตแค่ ๘ โรงเท่านั้น อีกหลายโรงไม่ได้ผลิต ไฟฟ้า เดินไม่เต็มศักยภาพ แต่ว่าได้รับเงินค่าไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตรงนั้นก็คือเป็นค่า FT ผมถึงอธิบายคำว่า ค่า FT ที่มันเกิดขึ้น ปีหนึ่งต้องใช้เงินซื้อไฟฟ้าสำรองอยู่ทั้งหมด ๔๙,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายพวกนี้ต้องนำไปบวกที่เราเรียกกันว่าค่า FT นี่คือไฟฟ้าแพง เพราะสำรองไฟฟ้าเกินจริง ในกรณีข้อ ๒ หยุดรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างของ ประเทศลาวไปซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง แล้วก็เขื่อนหลวงพระบาง ซื้อเขื่อนหลวงพระบาง ซื้อไปเท่าไร ท่านประธานครับ ซื้อไป ๒.๘๔๓ บาทต่อหน่วย ซื้อเขื่อนปากแบงไปซื้อเขามา ๒.๙๑๗๙ บาทต่อหน่วย เท่ากับ ๒ บาทกว่านะครับ แต่ว่าเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่า อัตราที่ประเทศไทยผลิต ก็คือ กฟผ. ผลิตไว้ กฟผ. ผลิตขายให้เท่ากับ ๒.๕๐ บาท ซื้อมาทำไมแพงกว่าของประเทศไทยของเราผลิต นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นแล้วนำมาสะสม แล้วก็ไปลงที่ค่า FT เหมือนเดิมครับท่านประธาน ก็เลยบอกว่าต่อไปในอนาคตถ้า ๒ เขื่อนนี้ หนีไม่พ้นต้องผลักภาระให้แก่พี่น้องประชาชนเหมือนกัน ท่านประธานครับ สิ่งที่ต้องทำต่อไป ในตารางที่ ๓ ราคาปิโตรเคมีที่อยู่ในประเทศไทยของเราราคาถูกกว่า ถ้านำเอาปิโตรเคมี มาผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งก็ต้องมีส่วนลด และตารางที่ ๓ กำหนดเพดานกรอบอะไรต่าง ๆ ให้มันเหมาะสม สำนักนโยบายและแผนของกระทรวงพลังงานต้องไปดู ฝากกรรมาธิการไปด้วย และข้อสำคัญที่สุดก็คือทำอย่างไรที่ปัจจุบันนี้ ผมเคยอยู่กรรมาธิการพลังงานแล้วสิ่งที่ เป็นปัญหาแล้วภาคพี่น้องประชาชนบอกว่าทำอย่างไรให้ไฟฟ้ามันลดราคาลงได้ เราต้อง ส่งเสริม สนับสนุน การติด Solar Roof ที่มันเกิดขึ้น ในประเทศไทยเทคโนโลยีก้าวไปล้ำหน้า มากที่สุดครับท่านประธาน ถ้าเราส่งเสริมโดยการให้ทุนแก่พี่น้องประชาชนอาจจะเป็นเงินกู้ หรือเงินอะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้วไปติด Solar Roof โซลาต่าง ๆ อยู่ในแผงโซลาเซลล์ หรืออะไรต่าง ๆ นี่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาก ฝากคณะกรรมาธิการเข้าไปแก้ไข เพราะว่า แก้ไขให้พี่น้องประชาชน แล้วก็พี่น้องประชาชนฝากมาเรื่องหนึ่งก็คือเวลาไปตัดไฟฟ้าเขาแล้ว ท่าน สส. วิรัช พิมพะนิตย์ สจ. บอล สจ. ตั้ม หลายท่านที่อยู่ตรงนี้ร้องเรียนมาบอกว่า ทำไมไม่สแกนจ่ายอยู่ตรงนั้น ทำไมต้องขี่รถไปจ่ายอยู่ที่สำนักงานไฟฟ้า เวลายกบางครั้งเขาก็ไม่ได้อยู่ ไปยกหม้อเขาเฉย จริง ๆ แล้วมันน่าจะผิดกฎหมายด้วยซ้ำนะครับ ฝากไว้ให้คณะกรรมาธิการนำไปพิจารณา ด้วยครับ กราบขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านที่ ๑ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ท่านที่ ๒ ท่านแอนศิริ วลัยกนก ท่านที่ ๓ ท่านพลากร ท่านปารเมศ พูดไปแล้วนะครับ ต่อไป ก็เป็นท่านแอนศิริ วลัยกนก แล้วก็ตามด้วยท่านพลากร พิมพะนิตย์ เชิญครับ
นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล หลายครั้งที่ดิฉันลงพื้นที่ รับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน เรื่องค่าไฟแพงถือเป็นเรื่องหลักที่มักได้ยินพี่น้องพูดถึง บ่อยครั้ง ตั้งคำถามกับดิฉันเสมอว่าทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้น และแพงขึ้นเพราะอะไร ทุกวันนี้ ประชาชนต้องรับภาระการจ่ายค่าไฟที่นับวันแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างทั่วถึง ในหนึ่งบิลค่าไฟฟ้าที่เราทุกคนต้องเคยได้รับ ทุกคนทราบอยู่แล้วนะคะว่าการคำนวณค่าไฟฟ้าคิดจาก ๔ ข้อหลัก คือค่าไฟฟ้าพื้นฐาน ค่าบริการรายเดือน ภาษีหรือ VAT ๗ เปอร์เซ็นต์ และค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ซึ่งค่าไฟฟ้า ในส่วนนี้ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิง หรือค่าพร้อมจ่าย ค่าพร้อมจ่ายนี่ล่ะที่ประชาชนต้องแบกรับ ซึ่งโดยปกติแล้วกำลังการผลิต สำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่จากข้อมูลเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๔ ประเทศของเราได้สำรองไฟฟ้าประมาณราว ๕๕ เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศของเรามีการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็น และการสำรองไฟฟ้า ที่ล้นเกินแต่ไม่ได้ใช้จะถูกเก็บบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เมื่อพูดถึงค่าไฟฟ้าแพงแน่นอน ที่สุดว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ประชาชนทุกคนใช้ไฟฟ้า ในปริมาณที่เท่าเดิม แต่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้อง ปรับขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากจะต้องเจอปัญหา ค่าไฟแพงแล้วยังต้องเจอปัญหาข้าวของแพงขึ้นอีก ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ประชาชนต้องแบกรับความลำบาก เพื่อใช้ในชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน และเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของดิฉัน เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ดิฉันได้รับสายจากแม่ชีท่านหนึ่งว่า บ้านกำลังจะถูกตัดไฟ อยากให้ไปช่วยเจรจากับการไฟฟ้า เพื่อยืดเวลาในการชำระค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้น แต่รายรับคงเดิม ทำให้ไม่มีเงินที่จะพอจ่ายค่า Bill ที่ค้างอยู่ถึง ๒ เดือน โดยการจ่ายไฟฟ้าไม่อนุญาตให้ยืดเวลาและยืนยันจะเข้ามาตัดไฟ แม่ชีท่านนี้ ก็มีคุณพ่อ คุณแม่ ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายชิ้นที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า หากไม่มีไฟฟ้าอาจจะอันตรายถึงชีวิต และดิฉันเมื่อได้ฟังเช่นนี้ก็ต้องประสานงานไปขอคุย ขยายระยะเวลาในการจ่ายกับการไฟฟ้า โดยรับประกันว่าจะมาจ่ายตามเวลาที่กำหนดไว้ การไฟฟ้าจึงยอมเลื่อนชำระให้ แต่เวลาผ่านไปไม่กี่วันหลังจากที่ดิฉันได้แจ้ง คุณพ่อของแม่ชี ท่านนี้ก็ได้จากไปอย่างสงบ ดิฉันก็ได้ไปร่วมงานอย่างที่เห็นในภาพดังกล่าว และเหตุการณ์นี้ ก็ในพื้นที่ของดิฉันอีก ในวันที่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ดิฉันได้ลงพื้นที่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านใกล้เรือนเคียงของคุณลุงท่านนี้ที่เห็น ในภาพดังกล่าว คุณลุงพยายามจะปลิดชีพตัวเองถึง ๒ ครั้ง เนื่องจากปัญหาค่าไฟที่แพง และค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าครองชีพ หรือค่ารักษาพยาบาล ที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ประชาชนต้องทนกับปัญหาแบบนี้ ดิฉันก็ได้เข้าไปคุยกับคุณลุง และเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนต้องเหนื่อยใจและหมดกำลังใจ เพราะไม่ว่าพยายาม จะทำงานเท่าไร ก็ยังไม่รู้ว่าจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือเปล่า การที่ให้พี่น้องประชาชน ประหยัดไฟฟ้าหรือหันมาใช้ทางอื่นเพื่อประหยัดค่าไฟถือเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหา ที่ต้นเหตุ เพราะตัวการสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนค่ะ รัฐควรแก้ ต้นเหตุมากกว่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เป็นภาระความรับผิดชอบของประชาชน ดิฉัน จึงเชื่อว่าประชาชนเองก็ตั้งความหวังหากรัฐมีมาตรการหารือนโยบายที่จะแก้ปัญหาค่าไฟแพง ให้ทุเลาลงได้ ดิฉันในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีความเห็นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้อง เร่งหารือแก้ไขปัญหานี้ ขอสนับสนุนญัตติการแก้ปัญหาค่าไฟแพงให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟนี้ ตามที่ผู้เสนอญัตติดังกล่าวด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก็สลับทางซีกฝ่ายค้าน ๒ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๑ ท่าน ต่อไปท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ เชิญครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ตัวแทนของมีนบุรี สะพานสูง พรรคก้าวไกลนะครับ ขออภิปรายเรื่องเกี่ยวกับค่าไฟแพง ค่าไฟแพงวันนี้มาใน Model 3 W 3 W คืออะไร W ตัวแรก ทำไมแพง Why ทำไมค่าไฟถึงแพงครับ หลายท่านพูดไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นค่า FT ไม่ว่าจะเป็นค่าที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐที่ไม่ตรงกับความต้องการและ Demand ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเอาก๊าซ LNG เอามาใช้ ซึ่งก็เอาไปใช้อย่างอื่นแทน ไปผลิต อย่างอื่นแทนที่มันเป็นไฟนะครับ และที่สำคัญเมื่อสักครู่นี้ท่าน สส. แอนพูดไปครับ ก็คือ เรามีการผลิตไฟเพื่อที่จะเอามาสำรองมากเกินไปถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราควร จะสำรอง World Standard ที่ประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ นี่คือทำไมค่าไฟถึงแพงนะครับ ทีนี้เรามาดูที่ W ที่ ๒ ครับ W ที่ ๒ คือ What อะไรครับ อะไรที่ทำให้ค่าไฟแพง เมื่อสักครู่นี้ สส. แอนก็พูดไปแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าบริการ ค่า VAT ค่า FT แต่วันนี้ อ.เอท ในฐานะที่ อ.เอทเรียนวิศวะมาเล็กน้อย ก็จะมาแจงเลยว่า เวลาเราไปเดินตามเอื้ออาทร ไปเดินตามเคหะรามคำแหง ไปเดินตามเคหะต่าง ๆ ที่เป็นบางชัน เวลาพี่น้องเขาเสียบปลั๊ก เขาเสียบอะไรบ้างครับ ในแต่ละห้อง ๆ หนึ่งค่าเช่าประมาณสัก ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท สมมุติบ้าน ๑ หลัง หรือห้อง ๑ แฟลต ๑ ห้อง มีพัดลม ๑ ตัว ๕๐ วัตต์ เปิดสัก ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน มีตู้เย็นสักตู้หนึ่งเอาสัก ๑๐ คิว ประมาณ ๑๐๐ วัตต์ ตู้เย็น ต้องเสียบ ๒๔ ชั่วโมงถูกไหมครับ ถ้าเราเสียบตู้เย็นแค่ ๑๐ ชั่วโมง อะไรก็เน่าหมด ก็ต้องเสียบ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน หลอดไฟ LED สมมุติบ้านนั้นมีแค่หลอดเดียวครับ หลอดหนึ่ง ก็ประมาณสัก ๒๐ วัตต์ เปิดสัก ๘ ชั่วโมงต่อวันตอนกลางคืน กลางวันไม่เปิดด้วยนะครับ มือถือครับทุกคนต้องมีมือถือเอาเป็นว่าเสียบมือถือเครื่องเดียว มือถือเครื่องหนึ่งกินไฟ ประมาณ ๖ วัตต์ สมมุติเรา Charge Battery Let’s Say หรือประมาณสัก ๖ ชั่วโมง ถึง ๘ ชั่วโมงต่อวัน ทีวีครับ สมมุติบ้านไหนที่มี TV แบบ LCD ก็ได้ประมาณ ๑๐๐ วัตต์ เปิดเต็มที่เลย ๒ ชั่วโมงต่อวัน อันนี้เราคิดแบบบ้าน ๆ กันเลย สมมุติมี Notebook ด้วยครับ หรือจะเป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เสียบไว้ประมาณ ๕๐ วัตต์ หรือเราใช้ไฟประมาณสัก ๒ ชั่วโมงต่อการเล่น Notebook ทั้งหมดนี้พอคำนวณออกมาแล้วเราจะใช้ไฟต่อวัน ประมาณสัก ๓.๒๖ ยูนิต เดือนหนึ่งก็คูณอีก ๓๐ เข้าไป Let’s Say หรือประมาณสัก 100 Unit สมมุติ Unit ละ ๕ บาท หรือ ๔.๕ บาท ก็ประมาณ ๕๐๐ บาท ท่านเห็นไหมครับ ว่าค่าเช่าไปแล้วประมาณสัก ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท ท่านครับนี่แค่ TV ๑ เครื่อง หลอดไฟ ๑ หลอด ตู้เย็น ๑ ตู้ ยังไม่ได้เปิดแอร์นะครับท่าน สมมุติว่าบ้านไหนที่แบบร้อนมากตอนนี้ ฝุ่น PM เยอะ อยากจะมีแอร์ ถ้าเอาแอร์ประมาณสัก ๑๒,๐๐๐ BTU หรือไม่เกิน ๑๘,๐๐๐ BTU โดยเฉลี่ยแอร์ ๑ เครื่อง จะกินไฟประมาณ ๑,๕๐๐ วัตต์ โดยเฉลี่ยทั้งเดือนแอร์ ๑ ตัว ท่านจะเสียค่าไฟ นี่แค่เสียบแอร์นะครับ อยากจะ ให้ทุกท่านได้เห็นว่าทำไมค่าไฟมันถึงแพง เสียบแอร์ตัวหนึ่ง ๑ เดือน จะเสียค่าไฟประมาณ ๑,๖๐๐ บาท นี่ อ.เอทไปนั่งคำนวณมาแบบจริงจังเลยนะครับ ตามสูตร เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดบ้านทั่ว ๆ ไปไม่ติดแอร์ประมาณ ๕๐๐ ครับ ติดแอร์ ๑ เครื่องไปแล้ว ๓,๐๐๐ เห็นไหมครับ นี่ยังไม่รวมค่าเช่าบ้านนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรามาลองนึกภาพ อ.เอท ก็ไปอีก ๑ ซอย แถว ๆ เขตมีนบุรีของบ้าน อ.เอท หรือแถว ๆ เขตสะพานสูง ไปเจอบ้าน บ้านหนึ่งที่ท่านเป็นผู้ป่วยติดเตียง ถ้าเกิดผู้ป่วยติดเตียงจะเปิดพัดลมตัวหนึ่งแล้วก็เปิด ๘ ชั่วโมง ก็คงไม่ได้ถูกไหมครับ เพราะท่านเองอาจจะมีอาการเรื่องแผลกดทับ ก็ต้องเปิด อย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็ ๒๐ ชั่วโมง เมื่อสักครู่ที่ อ.เอทคำนวณ พัดลม ยังแค่ประมาณ ๘ ชั่วโมง เห็นไหมครับว่าค่าไฟมันกินค่าใช้จ่ายมหาศาลจริง ๆ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ อ.เอท อยากจะให้ท่านเห็นว่าแค่เสียบปลั๊กและแค่ใช้ไฟ ๑ หลอด LED ยังเสียค่าไฟ มากขนาดนี้ นี่คือสาเหตุที่แท้จริงครับ เราไม่ต้องไปคุยกันเยอะนะครับว่าค่า FT แพง อันนี้คือแบบบ้าน ๆ กันเลย คิดแบบให้พี่น้องของพวกเราทุกบ้านได้เห็นว่าแค่เปิดปลั๊ก เสียบปลั๊ก เสียบไฟใช้ไฟนิดเดียวก็กินไฟมหาศาลแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นเราก็จะไปสู่ W ที่ ๓ ครับ W ที่ ๑ คือทำไม W ที่ ๒ คืออะไรที่เสียบปลั๊กแล้วทำให้ค่าไฟแพง W ที่ ๓ คือ Way out ครับ Way out คืออะไรครับ คือทางออก เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาดูทางออกกันว่า จะแก้ไขปัญหาไฟอย่างไร พี่น้องเราคุยกันไปเยอะ วันนี้ อ.เอท ขอเสนออีกครับ ๑. Due หรือการไปตกลงกับบริษัทที่เป็นบริษัทนายทุนใหญ่ ๆ แล้วต้องไปให้เงินเขา เพื่อให้เขา ปิดเครื่องหรือผลิตออกมาก็เอาไปเป็นพลังงาน Reserve หรือพลังงานเสริมไม่มีประโยชน์ครับ ตัด Due นั้นทิ้งนะครับ เราต้องให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดครับ ๒. Pool Gas อันนี้เพื่อน อ.เอท ได้พูดไปแล้วครับ ท่าน สส. หลายท่านครับ Pool Gas คือเมื่อมีพลังงาน มาเป็นแหล่งของ LNG ถูกไหมครับ หรือพลังงานจะมาจากอ่าวไทย ควรจะเอาพลังงาน ที่มีต้นทุนต่ำมาผลิตค่าไฟครับ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ทำแล้วลดมาแล้ว ๗๐ สตางค์ ต่อ ๑ Unit ครับยอดเยี่ยม
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นเรื่องของการสำรองพลังงานไฟฟ้าครับ เราสำรองมาแล้วเมื่อสักครู่ สส. แอนเพิ่งพูดไปครับ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทำไปเพื่ออะไรครับ เหลือ ๑๕ ก็พอไหม อันนี้ ต้องทำเดี๋ยวนี้เลย ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะเสียค่าไฟแพงไปเรื่อย ๆ นะครับ อีก ๑ ข้อ ก็คือ Solar Rooftop หรือพลังงานไฟฟ้า อันนี้ Confirm ครับ อ.เอทไปถามเพื่อนที่มีกิจกรรม ด้านการผลิตไฟฟ้า เขาบอก ๑ เครื่อง ประมาณ ๕ กิโลวัตต์ บ้านเราโดยเฉลี่ยจะใช้ประมาณ ๓ กิโลวัตต์ ต่อ ๑ หลัง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราเอา ๕ กิโลวัตต์มาใช้ ลงทุนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท การจะได้คืนทุนหรือ Internal Rate of Return (IRR) มันจะมาประมาณ สักไม่เกิน ๕-๖ ปี เห็นไหมครับเราลงทุน ๒๐๐,๐๐๐ เราได้เงินกลับมา ๕-๖ ปีนะครับ เราสามารถที่จะคืนทุนแล้ว และนี่ละครับ คือการดูแลค่าใช้จ่ายของพวกเราอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรที่จะมีวิธีการที่จะทำให้พวกเราสามารถที่จะซื้อไฟเองได้ ขายไฟเองได้ จากการทำ Rooftop หรือเป็น Solar Rooftop นี่เป็นทางแก้ที่ยั่งยืนนะครับ เพราะฉะนั้น อ.เอท อยากเห็นประเทศไทยไฟต้องไม่แพงอีกต่อไป ด้วยความเคารพครับ Respect
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านพลากร พิมพะนิตย์ เชิญครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมลงชื่ออภิปรายขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ท่านประธานครับ นอกจากปัจจัย ๔ เป็นสิ่งสำคัญ ในการดำรงชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนแล้ว ก็มีไฟฟ้านี่ละครับที่มนุษย์ทุกคนจะขาด ไม่ได้ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
จากสไลด์จะเป็นค่าไฟของ พี่น้องประชาชนที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ปัจจุบันประเทศไทยในฐานะประเทศ ที่กำลังพัฒนา ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็น ความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในระหว่างปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๖ ครับท่านประธาน ผมเองก็เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับท่านประธาน ในส่วนนี้เป็นข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๖ เป็นการเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศในอาเซียนครับ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงเป็นอันดับ ๔ ของอาเซียน และอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และลาว ครับท่านประธาน ค่าไฟฟ้าที่ถูกเรียกเก็บกับประชาชน ในแต่ละเดือนประกอบด้วย ๔ ส่วนด้วยกัน คือค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม เหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่หากคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ถูกแต่งตั้งไป จำเป็นต้องเข้าไปศึกษาและพิจารณาสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน นี่เป็นข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานครับท่านประธาน ที่แสดงถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ปี ๒๕๖๖ จะเห็นได้เลยครับว่าประเทศไทยยังคงพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักถึงร้อยละ ๕๙ และมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงาน หมุนเวียนเพียงร้อยละ ๙ ตรงนี้เองครับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า ในประเทศไทยที่มีราคาสูงขึ้น นอกเหนือจากค่า FT และค่าบริการต่าง ๆ ยังมีต้นทุนการผลิต ที่มาจากพลังงาน Fossil เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาผันผวน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาวครับท่านประธาน เป็นเหตุให้ผมอยากเสนอว่าควรมี การพิจารณาศึกษา สนับสนุน และส่งเสริม การเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทางเลือก ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดการพึ่งพาพลังงาน Fossil ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืนครับท่านประธาน นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อของผมคือควรมีการพิจารณาศึกษา ปรับปรุง เครือข่ายไฟฟ้า เพื่อลดการสูญเสีย ในการจัดส่งกระจายพลังงาน การปรับปรุงเครือข่ายไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว และ เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าครับท่านประธาน การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงาน ทดแทนควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครือข่ายไฟฟ้า จะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับ ระบบพลังงานที่ยั่งยืนครับท่านประธาน และเป็นการตอบสนองความต้องการของพลังงาน ที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวผมเองเล็งถึงความสำคัญของประเด็นนี้มากจริง ๆ ครับท่านประธาน เพราะทั้งหมดนี้ คือหน้าที่โดยตรงของรัฐที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงต้องไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่เกินสมควรครับ วันนี้ พี่น้องประชาชนต้องทนอยู่กับปัญหานี้มานานมากแล้วครับท่านประธาน แสงสว่าง และพลังงานไม่ควรต้องตกเป็นภาระของใคร และไม่ควรเป็นสิ่งที่มีค่าที่คนมีเงินเท่านั้น ที่จะเข้าถึงได้ครับท่านประธาน เพียงแต่ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนพึงได้รับถึงแม้ ภายใต้การนำของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะมีมาตรการลดค่าไฟให้กับ พี่น้องประชาชนไปแล้ว แต่ผมคิดว่าก็ยังไม่เพียงพอครับ สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเชื่อ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งคณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การปรับปรุงที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศได้ครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิทวัส ติชะวาณิชย์ ครับ เชิญครับ
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๕ ครับ วันนี้ครับท่านประธานผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ตามญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้ร่วมกันเสนอมาครับ โดยวันนี้ผมขออนุญาตไม่พูดถึงปัญหาโครงสร้างของค่าไฟฟ้า หรือทำไมค่าไฟฟ้าเราถึงแพง แสนแพงในยุคปัจจุบันนะครับ เนื่องจากมีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้ทำการอภิปราย เรื่องโครงสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในวันนี้ครับท่านประธาน ผมขอเป็นตัวแทนในการ นำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนในหลาย ๆ พื้นที่ครับ ปัจจุบันนี้การเข้าถึงไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ อย่างเท่าเทียมกัน จากการลงพื้นที่ของผมและทีมงานพบว่าชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ ประสบปัญหาที่ไม่สามารถทำการขอมิเตอร์ไฟฟ้าได้
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่มีเลขที่บ้านหรือไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน จึงทำให้ภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้า ที่แพงกว่าปกติ โดยบางชุมชนจะมีการใช้วิธีขอติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราวแทน ซึ่งในกรณีดังกล่าว จะมีการเก็บค่าใช้ไฟฟ้าในราคาสูงกว่าปกติ ตามรูปนะครับ ฝั่งซ้ายคืออัตราการคิดค่าบริการ แบบปกติ โดยจะเริ่มคิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ ๒.๓๐ บาท ไปจนถึง ๔.๔๐ บาท ส่วนด้านขวา ครับท่านประธาน คือการคิดค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์ที่ขอมาชั่วคราว โดยจะเป็น Flat Rate หรือเป็น Rate เดียวที่ต้องทำการจ่ายคือหน่วยละ ๖.๘๐ บาทครับ ผมลองคำนวณ เปรียบเทียบค่าไฟฟ้าระหว่างแบบปกติและแบบชั่วคราวให้ทุกท่านได้ดู โดยตั้งโจทย์ว่า หากบ้านทั้ง ๒ หลัง ใช้ไฟฟ้าเท่ากันอยู่ที่ ๑๐๐ หน่วยต่อเดือน แต่มิเตอร์ต่างกัน การคำนวณไฟฟ้าจะแตกต่างกันเท่าไร และนี่คือผลที่ได้ครับ หลังจากใช้มิเตอร์แบบปกติ จะจ่ายค่าไฟอยู่ที่ ๔๐๗ บาท ๖๔ สตางค์ แต่ในเมื่อใช้มิเตอร์แบบชั่วคราวหรือการขอมิเตอร์ แบบชั่วคราวจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่ ๗๗๐ บาท ๓๗ สตางค์ จะเห็นได้ว่าบ้านหลังที่ใช้ มิเตอร์ชั่วคราวนั้นต้องจ่ายแพงกว่าเกือบ ๒ เท่าครับ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเราก็ประสบปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน อย่างปัญหาชุมชนแออัดหรือผม ทราบดีครับว่าทะเบียนบ้านชั่วคราวนั้น เป็นทะเบียนบ้านที่ออกให้กับบ้านที่ปลูกสร้าง ในพื้นที่สาธารณะหรือโดยบุกรุกป่าสงวน โดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการ คุ้มครองก่อสร้างอาคารหรือตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งกฎต่าง ๆ เหล่านี้บีบให้พวกเขาทั้งหลาย ต้องหาวิธีอื่น ๆ ในการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าครับ โดยชาวบ้านในชุมชนซึ่งแบ่งเป็น หลายหลังคาเรือนจะใช้วิธีโยงสายไฟฟ้าเข้าบ้านของตัวเอง และในแต่ละชุมชนจะมีการตกลง การคิดค่าบริการไฟฟ้าที่แตกต่างกันไปครับ เหตุการณ์ที่พบเจอ ๑. คิดค่าไฟฟ้าโดยการ ถัวเฉลี่ยเท่ากันทุกหลังคาเรือนที่มีการโยงไฟฟ้าไปใช้ เหตุการณ์ที่ ๒ คิดค่าไฟฟ้าจาก จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนนั้น ๆ ตาม Rate ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท ที่กินไฟไม่เท่ากัน ตามมูลค่าที่แต่ละชุมชนกำหนด เหตุการณ์ที่ ๓ คือการคิดค่าไฟฟ้า ตามจำนวนผู้อยู่อาศัยในครัวเรือนนั้น ๆ ตาม Rate ต่อหน่วยต่อคนที่ชุมชนถัวเฉลี่ย จากยอดที่ถูกเรียกเก็บจากการไฟฟ้า อีกหนึ่งกรณีเป็นชุมชนที่ไม่มีบ้านเลขที่ครับ จึงจำเป็นต้องดึงไฟฟ้ามาใช้จากบ้านใกล้เคียงที่มีบ้านเลขที่ และตอนนี้จ่ายค่าไฟอยู่หน่วยละ ๑๑-๑๒ บาทครับ ทุกท่านครับ ลองจินตนาการตามภาพผมนะครับ ชาวบ้านบางราย ต้องจ่ายค่าไฟหน่วยละ ๑๒ บาท และค่าน้ำเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท เนื่องจากพวกเขา ไม่มีทะเบียนบ้าน จึงไม่สามารถขอมิเตอร์ไฟ มิเตอร์น้ำได้ จึงทำให้พวกเขาเหล่านี้ ไม่มีทางเลือกต้องยอมทนจ่ายค่าไฟในอัตราที่สูง และจำเป็นที่ต้องมีการเชื่อมต่อ การใช้ไฟฟ้าหรือเรียกง่าย ๆ ว่ามิเตอร์หม้อรวมครับ ที่ต้องต่อมาจากบ้านหลังอื่นในขณะที่ ค่าไฟฟ้า ณ ปัจจุบันที่สูงอยู่แล้วและสูงขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวมีอาชีพ และรายได้ที่ไม่แน่นอน หาเช้ากินค่ำ อาศัยเก็บของเก่าขายพอประทังชีวิตไปวัน ๆ บางครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ทุกวันนี้ครับท่านประธาน ค่าแรงขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ประมาณ ๓๓๐ บาท ส่วนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ รวมถึงการเกิดระบาดของโควิด-๑๙ และสถานการณ์ความขัดแย้งตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ในระยะยาวชาวบ้านเหล่านี้ไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้ไหวอย่างแน่นอนครับ หากจะให้ขอมิเตอร์เป็นปกติ ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎระเบียบในการขอติดตั้งมิเตอร์ใหม่ มีเงื่อนไขหลายประการ และจะต้องใช้เงินในการขอรับการติดตั้งหรือวางมัดจำมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นจำนวนเงินค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเทศไทยเรายังพอมีความหวังครับ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ปี ๒๕๖๗ ท่านนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยมติ ครม. ว่าที่ประชุมได้มอบหมาย ให้กระทรวงมหาดไทยแก้ระเบียบให้คนมีทะเบียนบ้านชั่วคราวสามารถขอใช้ไฟฟ้า เช่นเดียวกันได้กับผู้ที่มีทะเบียนบ้านปกติในอัตราที่เท่ากัน แต่จะเริ่มนำร่องที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ แต่ผมอยากจะขอร้องไปยัง ท่านนายกรัฐมนตรีครับ สามารถเร่งปลดล็อก ปรับ แก้ไข ระเบียบนี้ทั่วประเทศได้หรือไม่ เพื่อลดต้นทุนของพี่น้องประชาชนในการใช้ชีวิตในทุก ๆ วันและปัญหาที่ผมได้กล่าว ก่อนหน้านี้ครับ ด้วยปัญหาหลายประการผมจึงอยากขอความอนุเคราะห์จากเพื่อนสมาชิก ร่วมกันสนับสนุนญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญนี้ขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหา ค่าไฟแพงและแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนต่อไป สุดท้ายนี้ผมอยากขอให้ทบทวน หรืออนุโลม กฎ ระเบียบ และการคิดค่าธรรมเนียม ในการขอติดตั้งมิเตอร์ไฟชั่วคราว สำหรับบุคคลธรรมดาหรือบุคคลที่ยากจนอีกครั้งครับ เช่น หากเป็นชุมชนที่ถูกรับรอง ได้จัดตั้งเป็นชุมชนจากกรมการปกครองแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนชั่วคราว ก็สามารถขอสิทธิในการติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราวได้ รวมถึงจ่ายค่าไฟในอัตราปกติเพื่อการ สนับสนุนการขึ้นทะเบียนการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง ทั้งได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ลดการเกิดอันตรายจากการพ่วงโยงสายไฟกันเอง เรื่องนี้สำคัญครับ เพราะจะไปช่วยลด ภาระค่าครองชีพให้กับชาวบ้านและเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านวีรภัทร คันธะ เชิญครับ
นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม วีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง ยกเว้นตำบลบางจาก พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องชาวพระประแดงครับ ท่านประธานครับ เมื่อวันก่อนผมลงพื้นที่ไปในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่ผม เรียกว่า เหล่าคนจนเมือง ก่อนหน้านี้คนเหล่านี้ถ้าขอทะเบียนบ้านชั่วคราวได้ การขอใช้น้ำไฟ ก็จะไม่ใช่อัตราปกติเหมือนกับคนที่มีทะเบียนบ้านทั่วไป ซึ่งในชุมชนหนึ่งอาจขอหม้อไฟ ได้หม้อเดียว หรือ ๒ หม้อ แล้วพ่วงไฟกันใช้นะครับ ค่าไฟที่เกิดขึ้นเกิดจากบ้านเรือน หลายสิบหลังไม่ใช่ครัวเรือนเดียว ค่าไฟก็เป็นอัตราก้าวหน้าก็เลยยิ่งแพง พอมาหารกัน ค่าไฟต่อหน่วยนี้แพงกว่าชนชั้นกลางที่บ้านอยู่ Townhouse เสียอีก และแน่นอน ไม่ต้องไปถามว่าบางคนที่อยู่ในค่ายทหารแถวนั้นเขาใช้ไฟฟรีครับท่านประธาน เข้าใจว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ที่ผ่านมา ให้ใช้ไฟได้แล้วในอัตราเท่ากับคนที่มีทะเบียนบ้าน แต่ก็ต้องว่าไปตามกันต่อว่าการบังคับใช้นั้นจะบังคับใช้ได้จริงหรือเปล่านะครับ บางชุมชน นะครับท่านประธาน เขาเรียกกันว่า ชุมชนบุกรุก ขอทะเบียนบ้านไม่ได้ ก็ต้องไปขอพ่วงน้ำ พ่วงไฟจากบ้านข้าง ๆ กลายเป็นแพงเข้าไปอีกนะครับ เพราะบ้านเหล่านี้ขายน้ำขายไฟ ในอัตราที่อาจเรียกได้ว่าขูดเลือดขูดเนื้อ รีดเลือดจากปูครับ ยิ่งกว่าหอพักเรียกเก็บจาก นักศึกษาเสียอีก หลายพื้นที่ครับ ท่านประธานครับ ตัวเลขคนจนเมือง ๑.๒ ล้านครอบครัว ๖.๕ ล้านคน ทั่วประเทศ ๖,๓๕๐ ชุมชน ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง และใน กทม. กว่า ๑,๔๐๐ ชุมชน ไม่สามารถเข้าถึงนโยบายใช้ไฟฟรีของรัฐบาลได้ ท่านไปถามชุมชนในคลองเตย ๔๒ ชุมชน ที่บุกรุกการท่าเรือ ๒๘ ชุมชน ๑๘,๐๐๐ ครอบครัว ว่ามีใครสามารถใช้ไฟฟรีตามนโยบาย รัฐบาลได้บ้างนะครับ สาธารณูปโภคพื้นฐานรัฐควรจัดการ ทุกคนควรได้รับในอัตราที่ เท่าเทียมกัน ไม่ควรนำเอาเรื่องทะเบียนบ้านมาอ้างด้วยซ้ำครับท่านประธาน สาธารณูปโภค พื้นฐานของประชาชน ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในปัจจัยของการดำรงชีวิตของมนุษย์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับทั้งทางตรง คือค่าไฟฟ้าในครัวเรือน และทางอ้อมก็คือค่าไฟที่แพงขึ้น ทำให้เอกชนมีต้นทุนในการ ผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลต่อราคาข้าวของประชาชน ค่าไฟที่ประกอบด้วยค่าไฟฟ้าคิดแบบขั้นบันได ตามปริมาณการใช้ ค่าบริการรายเดือน ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นนะครับท่านประธาน ถ้าดูในรายละเอียดแล้วมีหลายจุดที่ยังต้องหาทางออก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพิ่มเติมครับ ค่าบริการรายเดือนที่เก็บเกินสมควรและสามารถลดได้ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยี และลดการซ่อมบำรุงในหลายส่วน ค่า FT ที่เป็นค่าไฟฟ้าผันแปรที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ ทุก ๔ เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ซึ่งค่า FT เกิดขึ้น โดยประมาณต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเป็นตัวเลขจำนวนหนึ่งเนื่องจากต้นทุนพลังงานมากขึ้นลง อย่างรวดเร็ว จึงต้องมีค่า FT ประมาณไว้ เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน ดังนั้นหลังจากช่วงที่ค่า FT สูงเกินไป จะมีการลดค่า FT ตามมาอย่างเป็นปกติ หรือเปรียบ ค่า FT ได้กับเงินที่คนไทยหยอดกระปุกให้กับภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งเป็นผล มาจากการตัดสินใจของรัฐกับเอกชน โดยมีต้นทุนเป็นเงินในกระเป๋าของประชาชน แบบเลือกไม่ได้ ค่าไฟฟ้าที่ควรเป็นธรรมนะครับ ลดส่วนต่างโรงไฟฟ้าให้ประชาชนมีทางเลือก ในการเลือกใช้พลังงานสะอาดได้ หรือแม้แต่การขายคืนภาครัฐในส่วนของ Solar Rooftop ในบางพื้นที่ครับ ผมเห็นด้วยกับการพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าแพง นอกจาก จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทางตรงแล้ว เป็นการเตรียมความพร้อม ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมหรือ Just Energy Transition การเปลี่ยนผ่าน ภาคพลังงานสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในทางที่กระจายประโยชน์และต้นทุนของการ เปลี่ยนผ่านอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม คำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเสริมสร้าง ประชาธิปไตยทางพลังงาน หรือ Energy Democracy และให้ความสำคัญกับการแบ่งเบาภาระ ของผู้บริโภคและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการชดเชยความสูญเสีย และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยครับ วิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการเปลี่ยนผ่าน พลังงานที่ยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งครับท่านประธาน เนื่องจากไม่มีอะไรเป็น หลักประกันว่าการเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การลด ละ เลิก การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Fossil โดยปราศจากแผนการ เปลี่ยนทักษะ หรือยกระดับทักษะแรงงานหรือ Upskill Reskill นั่นเองครับ รวมถึง มาตรการการชดเชยเยียวยา ซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานรายได้น้อยจำนวนมากประสบปัญหา โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อาจอ้างว่าเขียวเพียงเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Fossil ทั้งที่สร้างผลกระทบมหาศาล ทั้งทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตไฟฟ้าจาก LNG นำเข้าอาจอ้างว่ายังคงจำเป็นในช่วงการ เปลี่ยนผ่าน ทั้งที่มีทางเลือกอื่นที่ดีและราคาถูกกว่าอย่าง LNG เป็นต้น เนื่องจากการ เปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมควรเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงเป็นปัจจัย หลักที่ต้องทำงานร่วมกันจากทั้งภาครัฐ เอกชน และผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน และสิ่งแวดล้อมของโลกในระยะยาว สส. ในฐานะตัวแทนและเป็นปากเป็นเสียงของ พี่น้องประชาชนมองเห็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และความไม่เป็นธรรม ของภาพใหญ่ในประเทศ ผมจึงขอสนับสนุนญัตติดังกล่าวครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน ที่เคารพครับ ปัญหาเรื่องไฟฟ้าแพงเป็นเรื่องที่เราได้ยินมาทุกวี่ทุกวัน โอดครวญจาก พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทุกหย่อมหญ้าครับ ปัจจัย ที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตก็คือไฟฟ้านี่ละครับ ท่านประธานครับ รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา พยายามแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าแพงมาโดยตลอด ซึ่งหลายปีมาแล้วมีการใช้หลายมาตรการ ทั้งลดค่าไฟฟ้า ทั้งใช้สูตรการคิดไฟฟ้า แม้กระทั่งการกู้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า ท่านประธานครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคไหนหรือรัฐมนตรีพลังงานใครก็ตามแต่ ของพวกนี้เราแก้ปัญหา ค่าไฟฟ้าแพงไม่ได้อย่างยั่งยืน และยังไม่สามารถที่จะค้นวิธีการในการให้พี่น้องประชาชน ได้ราคาไฟฟ้าที่ถูกลง หรือพูดง่าย ๆ ว่าการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวยังไม่สำเร็จครับ ท่านประธานครับ ปัญหาไฟฟ้าเกิดจากปัจจุบันประเทศไทยเราประสบปัญหาเรื่องพลังงาน พลังงานที่อยู่ในปัจจุบันเป็นพลังงานธรรมชาติมันลดน้อยลงครับ ลดน้อยลงเกิดจาก ประเทศเรามีประชากรเพิ่มมากขึ้น คนอายุยืนยาวมากขึ้น มีวัตถุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเทคโนโลยี ที่ใช้ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหุงต้มอะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากขึ้น เพราะอุปกรณ์เหล่านี้เราใช้มากขึ้น เรานำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของพวกเรา เพราะฉะนั้นนี่เป็นสาเหตุหลักที่เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงาน และการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ท่านประธานครับ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าค่าไฟฟ้าที่มันสูงขึ้น แพงขึ้น ทุกวัน ๆ นี้ บางอย่างของเราก็ควบคุมกันเองไม่ได้ทั้งหมดครับ เพราะประเทศ เรายังต้องนำเข้าพลังงานจำนวนมาก และจะต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการนำเข้า พลังงานน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามา อย่างเรื่องก๊าซธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้า แล้วโครงสร้างไฟฟ้าเองก็ยังมีรายละเอียดครับ ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐบาลต้องชำระค่าไฟฟ้า ไหนจะเป็นค่าไฟฟ้าฐาน ไหนจะเป็นค่าเรื่อง FT ไหนจะเป็นต้นทุน LNG ที่เรานำการผลิต ไฟฟ้าแล้ว และยังจะต้องบวกภาษีเพิ่มอีกหลาย ๆ อย่าง กระผมขออนุญาตในการ ที่จะยกตัวอย่างว่า ณ วันนี้รัฐบาลเป็นหนี้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่นะครับ นี่คือข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. เราต้องคืนหนี้จากการไฟฟ้าทั้งหมดจะทำให้ไฟฟ้าสูงขึ้น ๕.๙๕ บาทต่อหน่วย ถ้าเราคืนหนี้การไฟฟ้าภายใน ๑ ปี จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ๔.๙๓ บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราคืนหนี้การไฟฟ้า ๒ ปี จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูง ๔.๖๘ บาทต่อหน่วย นี่คือตัวอย่างที่รัฐจะต้องใช้หนี้การไฟฟ้าอยู่ทุกวันนี้ และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศปรับราคาสูงขึ้น ตอนนี้ราคาอยู่ที่ ๑๖ ดอลลาร์ ๙๑ เซนต์ ต่อ BTU ครับ หรืออย่างที่คุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ขออนุญาตที่เอ่ยนาม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็เปิดเผยว่าค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ในปี ๒๕๖๗ นี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส แล้วยังเกิดปัญหาเรื่องค่าเงินอีกด้วย ครับท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพครับ นี่คือข้อเท็จจริงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหา ไฟฟ้าแพงเกิดจากปัญหาพลังงานที่สูงขึ้น แล้วประเทศเราจะไม่มีพลังงานเหล่านี้ จึงจำเป็น จะต้องสั่งมาจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามครับ รัฐบาลชุดนี้ก็พยายามตรึงราคา และลดราคาค่าไฟฟ้า เพื่อให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไม่ให้รับผลกระทบมากจนเกินไป จนกระทบความเป็นอยู่ อย่างนโยบายปลายปีที่ผ่านมานั้นนโยบายลดค่าไฟฟ้าทันที ภายหลังจากที่การประชุม ครม. นัดแรก เหลือ ๓.๙๙ บาทต่อหน่วย นี่คือการแก้ไขปัญหา ระยะแรกที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของท่านนายกรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานให้แก่พี่น้องประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ รัฐบาลสนับสนุนทำให้เกิดการบริหารจัดการพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมทันที แล้วรัฐบาลก็ได้ทำไปแล้ว ในส่วนระยะถัดไปหรือระยะยาว รัฐบาลชุดนี้ก็ได้ประกาศในวันแถลงนโยบายว่ารัฐบาล จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานประเทศ โดยจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน นี่ก็ได้ทำ ผมจดมาจากการแถลงนโยบาย นะครับ ไม่ได้อวย แต่เขาพยายามและหลาย ๆ ชุดก็พยายามอย่างนี้ และเร่งเจรจาในการใช้ พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจพลังงานเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุน ให้มีการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด และมั่นใจว่าประเทศไทยมีความ มั่นคงทางพลังงานจะขับเคลื่อนประเทศต่อไปครับ ตรงนี้กระผมอยากจะให้ท่านประธาน และคณะกรรมาธิการที่กำลังศึกษาเรื่องนี้เน้นไป ๒ ประเด็นครับ การใช้พลังงานในพื้นที่ อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และข้อที่ ๒ สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติมครับท่านประธาน ท่านประธานครับ ทั้งการใช้พลังงานที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และทั้งการสำรวจ แหล่งพลังงานเพิ่มเติมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาล ต่อการลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพราะการที่รัฐบาลชุดนี้นำโดยท่าน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีการขยับเดินเจรจากับกัมพูชา แล้วครับ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อดึงเอาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ทั้งก๊าซธรรมชาติ เรื่องทรัพยากรขึ้นมา เพื่อความอยู่รอดของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ท่านประธาน ทราบหรือไม่ครับ ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หรือเรียกว่า OCA มีพื้นที่ทรัพยากรมากถึง ๒๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และยังมีการประเมินว่าพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรธรรมชาติ ถึง ๑๑ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมด้วยแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่และมีการวิจัยบอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันมีมูลค่ากว่า ๑๑ ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของเรา ตั้ง ๔ เท่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของกัมพูชาก็ได้พบเอกอัครราชทูตไทย ประจำกัมพูชาเพื่อหาแนวทางในประเด็นนี้ โดยระบุว่ากัมพูชาเปิดกว้างสำหรับการหารือ และแก้ปัญหาเขตทับซ้อน แล้วท่านประธานทราบหรือไม่ครับ นอกจากนี้ยังรายงานอีกว่า ขณะนี้ก๊าซธรรมชาติในไทยที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เหลือก๊าซเอราวัณกำลังผลิตที่ลดลง เพราะกำลังก๊าซธรรมชาติจะหมด แล้วจะส่งผลกระทบต่อการผลิตของไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ประเทศเราต้องพึ่งพานำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG ที่มีราคาแพงถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ มาใช้ในประเทศอีกครับ ท่านประธานครับ ดังนั้นการที่รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มต้นในการเจรจา กับต่างประเทศประเทศเพื่อนบ้านหรือกัมพูชาถึงเรื่องก๊าซ OCA นี่คือโอกาสที่ดีที่สุด สำหรับประเทศไทย แล้วโอกาสที่ดีขณะนี้มันมีไม่บ่อย ๆ นะครับ กระผมจึงขอให้ คณะกรรมาธิการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นการที่จะปลุกความฝัน ให้ประเทศไทยและพี่น้องประชาชนทุกคนที่ค้างคามายาวนาน ในฝันที่จะสามารถผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเราได้ โดยไม่ต้องซื้อน้ำมันจากต่างประเทศและค่าไฟฟ้า พลังงานที่ถูกลง พ่อ แม่ พี่ น้อง ประชาชน วินมอเตอร์ไซค์ คนขายข้าวแกง ตลอดจน ภาคอุตสาหกรรมจะใช้พลังงานราคาถูกลง ในชีวิตที่เป็นอยู่จะต้องดีขึ้นครับ ผมขอสนับสนุน ให้คณะกรรมาธิการไปศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วยครับ ขอขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย ปลวกแดง วังจันทร์ ท่านประธานครับ เมื่อสมัยประชุมที่แล้วผมมีโอกาส ได้อภิปรายเรื่องประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงจากการเฉลี่ยค่าไฟ และประชาชนต้องจ่าย เท่านั้น ไม่มีทางเลือก หลักเกณฑ์การคำนวณก็ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อประชาชนเลย ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมอะไรได้กับหลักเกณฑ์พวกนี้ มีส่วนร่วมได้อย่างเดียว คือการช่วยหารค่า FT กันทั้งประเทศ แล้วก็เหมือนหนังฉายซ้ำครับท่านประธาน สมัยประชุมนี้ผมก็ต้องลุกขึ้นยืนอภิปรายอีกรอบเรื่องค่าไฟแพง ในการสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ที่เสนอโดย ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ที่ผ่านมาทาง กกพ. มีมติปรับค่าไฟเดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๗ อยู่ที่หน่วยละ ๔.๑๘ บาท จากเดิมหน่วยละ ๓.๙๙ บาท ทำให้ประชาชนต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจหลายประเภท ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบ แบกภาระ ต้นทุนเพิ่ม บางธุรกิจทำแล้วไม่ได้กำไร เอาไปจ่ายค่าไฟหมด แบกรับกันไม่ไหว ปิดตัวกันลงไป แต่มีธุรกิจอยู่ประเภทหนึ่งที่เจริญเติบโตค้าขายดี กำไรคล่อง รุ่งเรืองเหลือเกิน นั่นคือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่จังหวัดระยองของผมกำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง และมีการทำ COP ที่เหมือนเป็นตรายางรับรองการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ตามระเบียบเท่านั้น ทั้งที่ถึงเวลาประชาสัมพันธ์ก็บอกประชาชนว่าเป็นการเปิดเวทีให้มีส่วนร่วม โดยภาคประชาชนจะได้มาให้ความเห็นต่อข้อกังวล นี่เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม ที่กำลังจะเกิดขึ้นใจกลางชุมชนครับท่านประธาน เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสไลด์นี้ เกิดเมื่อแปดโมงเช้าของวันนี้ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ผมไปที่หน้าเวที COP ที่จัดขึ้น เพื่อสังเกตการณ์ด้วยตัวเองก่อนมาประชุมสภา ซึ่งแปลกมากครับ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น อย่างไร ผมก็ไม่แน่ใจ จัดในสถานที่เอกชน จัดวันพุธในเวลาทำงาน คนคงสะดวกมากันมาก กระมังครับ แล้วไปถึงสิ่งที่ผมเห็นมีเต็นท์และชายชุดดำนับร้อยรอรับชาวบ้านอยู่พร้อม เจ้าหน้าที่ คฝ. และตำรวจจากจังหวัดระยอง กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ที่เป็นเต็นท์ในสถานที่ ที่จัดงานต้องเดินผ่านชายชุดดำ ผ่านด่านตรวจ ผ่านนั่นผ่านโน้นผ่านนี่ ประชาชนเห็นเข้า คำถามคือเห็นแบบนี้เวทีรับฟังความคิดเห็นนะครับท่านประธาน ผมไม่แน่ใจว่าเวทีรับฟัง ความคิดเห็นหรืออะไรกันแน่ ชาวบ้านจะกล้าเข้าไปไหมครับ ผมก็อาสาเป็นตัวแทนเข้าไป ถามให้ว่า เข้าไปได้ไหม ทางผู้จัดงานและทางตำรวจก็บอกว่าถ้าเข้ามาด้วยความสงบเรียบร้อย เข้าได้ครับ ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเกิดจะเข้ามาก็ขอให้ลงชื่อลงทะเบียน ผมก็ไปแจ้งชาวบ้านครับ บังเอิญระหว่างที่จะไปแจ้งชาวบ้าน พอดีผมเห็นมีรถตู้ขับมาข้างหลังผมเปิดประตูลงมา แล้วก็มีคนมารับพาเข้าได้เลยครับ ไม่ต้องลงทะเบียนอะไรทั้งนั้นอาจจะลง Online อะไร ก็ว่ากันไป แต่ดูง่ายกว่าการที่ผมจะแจ้งให้ชาวบ้านเข้ามาเยอะมากครับ อย่างที่ทราบ เวลามีการก่อสร้างก็จะมีการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่คนที่เข้ามาตรงนี้คนไม่เห็นด้วย เหมือนจะเข้าไม่ได้นะครับ พอไปแจ้งให้เข้ามาชาวบ้านมาถึงปุ๊บถูกตั้งด่านครับ ตั้งรั้วเหล็ก เอาการ์ดชายชุดดำมาคอย Screen ขอตรวจอาวุธทั้งที่เมื่อสักครู่นี้พึ่งผ่านไปแหม็บ ๆ ไม่ต้องตรวจอะไรเลยครับ แล้วก็พาประชาชนเข้าไปนั่งในคอกนั่งได้ ๑๐ กว่าคน ชาวบ้าน มากัน ๓๐๐ เข้าไปได้ ๑๐ กว่าคน แล้วก็ให้นั่งหน้าทีวีฟังแทบไม่ได้ยินทีวีจอเล็ก ๆ ผมก็เลย ถามว่าเข้าไปข้างในได้ไหม ทางโรงไฟฟ้าก็แจ้งว่าได้ เข้าไปก็ได้ แต่เฉพาะผมนะ ผมก็พา ทีมงานเข้าไปส่วนหนึ่งแล้วก็ไปรับฟัง ทางโรงไฟฟ้าก็พูดอธิบายข้อดีโน้นนั่นนี่ วิธีการจัดการ โน้นนั่นนี่พูด ๑๐ นาที แต่บนสไลด์เขียนว่าให้ชาวบ้านพูดได้คนละไม่เกิน ๓ นาที ๓ นาที เสร็จ รีบเตือนเลยนะครับ ผมก็รู้สึกว่าเป็นการให้ความเห็นที่เท่าเทียมดี ชาวบ้านที่อยากจะ ให้ความเห็นคัดค้านเข้าไม่ได้ และข้างหลังผมในรูปมีเต็นท์ว่างอยู่ มีเก้าอี้อยู่ ผมก็ถามว่า ทำไมไม่ให้เข้ามานั่ง เขาบอกนั่งข้างนอกก็เหมือนกัน ผมถามว่าแล้วใช้ทำอะไร เขาก็เหมือน จะหลุดบอกนะครับว่าใช้เลี้ยงข้าว ผมก็ถามมีเลี้ยงข้าวหรือ กำหนดการไม่มี เขาก็ไม่ตอบแล้ว เดินหนีผมไป โอเค ไม่เป็นอะไร สรุปว่าเขาไม่ให้เข้า แล้วก็ส่งอีกคนมาบอกว่านั่งข้างนอก กับข้างในก็เหมือนกัน คำถามคือถ้าเหมือนกันทำไมไม่ให้เข้าข้างใน นี่เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น ประเภทใดกันครับ แล้วพอพยายามจะถามเจ้าหน้าที่ที่เขาเป็นคนมาคุยกับผม ชายชุดดำ คนที่ว่านี่ ผมก็นึกว่าผมคุยกับอดีตรองนายกท่านหนึ่ง ถามอะไรก็ตอบไม่รู้ ๆ ไม่ทราบ ๆ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอามาคุยกับผมทำไม ผมขอคุยกับคนที่มีอำนาจให้ความเห็น ก็ตอบอะไรไม่ได้ ชาวบ้านก็เข้าไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องออกไปข้างนอกกัน สรุปว่านี่เป็นเวทีให้ความคิดเห็น แบบ COP ตามระเบียบของ กกพ. ที่ควรจะเปิดให้ชาวบ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่ให้ความเห็นจริง ใช่หรือไม่ ตั้งแต่เวลา สถานที่ การกันคน มีทุกอย่างที่จะให้ประชาชนเข้าไปให้ความเห็น กับเรื่องค่าไฟแพงที่จะเกิดขึ้น เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าและรับซื้อโดยรัฐ ท่านประธานครับ ไม่ใช่แค่นั้น วันนี้ผมไม่ได้ไปคนเดียว ผมไปกับกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สส. พงศ์ศธร และ สส. บิว จากจันทบุรี ท่านประธานครับ พอลับหลังผมออกมาทางกรรมาธิการการพัฒนา การเมืองจะขอดูการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรรู้ไหมครับ ทางการ์ดผลักออก ผู้แทนราษฎรครับ ดันออกมาไม่ให้เข้า เกือบจะเกิดการปะทะกัน ท่านประธานครับ ศักดิ์ศรี ของผู้แทนราษฎรในสภาของเรา มันต่ำว่าคนชุดดำที่อยู่ในเวที COP นี้หรือครับ เราปล่อยให้ กกพ. กำหนดวิธีการแบบนี้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ศักดิ์ศรีของผู้แทนราษฎรเราอยู่ตรงไหนครับ ท่านประธาน กระบวนการที่ว่านี่ผมเล่าในสภาและผมเล่าจากสิ่งที่เห็นมีคลิปวิดีโอมีหลักฐาน ทุกอย่าง และนี่ก็คือเกี่ยวข้องกับค่าไฟที่มีนโยบายที่เกิดขึ้นจากการจะซื้อไฟฟ้าทุกอย่าง ไม่ว่าจะขายมาจากใคร แล้วให้ประชาชนแบกค่าไฟกัน มันเริ่มผิดตั้งแต่ต้นจะซื้อหมด ซื้อแพง ชาวบ้านจ่าย กีดกันการมีส่วนร่วม มลพิษจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครสนใจ ผู้แทนราษฎรเข้าไป ก็ยากเย็นเสียเหลือเกิน มันเริ่มขึ้นมาจากตรงไหน เราก็น่าจะทราบกันดี เราเริ่มมาจากการที่ มีการประมูลโรงไฟฟ้า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ตั้งแต่ตอนนั้น ตรงนี้ผมว่าเพื่อน ๆ หลายคน อภิปรายมาแล้วคงไม่ลงรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนที่ผมอยากจะฝากอีกนิดหนึ่งเราจะสร้าง โรงไฟฟ้าให้กำลังไฟที่มันพออยู่แล้วเกินสำรองเป็นตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ เพิ่มทำไม ในเมื่อ ยังมีชาวบ้านอีกตั้งหลายคนหลายพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองไร่ อำเภอปลวกแดง ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์เขตของผม ที่อยู่ใน ภ.บ.ท. ๕ ขอมิเตอร์ไฟ เพิ่มไม่ได้ต้องใช้มิเตอร์ร่วมกัน แล้วก็กลายเป็นค่าไฟแพง เราจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มกันไปทำไมหนักหนาให้ค่าไฟแพง ในเมื่อไฟไปไม่ถึงพี่น้องประชาชน ที่เขาเดือดร้อนจริง ๆ นี่คือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่ฝากมาว่ารัฐไทยให้เขาต้องจ่าย ค่าไฟโดยไม่ปกป้องอะไรเขาเลย เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครับ เรามี กกพ. ครับ เรามีนายทุนไฟฟ้าพลังงานที่จ่ายเงินบริจาคดูแลพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค และทำมาหากิน จนร่ำรวยจากความยากจนของชาวบ้าน ดังนั้นถ้ากรรมาธิการที่จะศึกษาเรื่องนี้ผมฝาก จากใจจากใจชาวบ้านทุกคนที่ฝากมาว่าเรื่องนี้ ถ้าเรามีหัวใจเดียวกับชาวบ้านในฐานะ นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง เห็นใจเขาเถอะครับ ปรับระเบียบเถอะครับ และใช้อำนาจ ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกกระบวนการมีส่วนร่วมได้รับการมีส่วนร่วม จริง ๆ ไม่กีดกัน ไม่ปิดกั้น และทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงให้ได้จริง ๆ นี่คืองานของเราครับ ในฐานะผู้แทนราษฎร ฝากถึงคณะกรรมาธิการและฝากถึง ครม. ด้วยครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย เชิญครับ
นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย ปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีราคาสูงทำให้มีผลกระทบ กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งชาวนา ชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน รวมทั้งพ่อค้า ประชาชนทั่วไป และภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้ไฟฟ้าทำให้ผลกระทบกับเศรษฐกิจ และการลงทุน ปัญหาค่าไฟแพงเริ่มจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๗๙ ที่กำหนดให้ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ขณะที่มาตรฐานสากลขององค์การระหว่างประเทศ IEAให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมอยู่ไม่เกินร้อยละ ๑๐-๑๕ ของความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงสุดการที่แผน PDP 2015 กำหนดไฟฟ้าสำรองแบบกลับด้าน จึงกลายเป็นการขยายเพดาน เปิดช่องให้โรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ถึง ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ ๑๓ โรง เกิดภาวะว่างงานไม่ได้ผลิต ไฟฟ้า แต่ได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องจ่ายตามสัญญา ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๖ มี ๒ โรงงาน ว่างงาน ได้ค่าพร้อมจ่ายรวมเป็นเงิน ๑,๔๑๕ ล้านบาท และในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ มีถึง ๖ โรงงาน ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลย แต่ได้ค่า ความพร้อมจ่าย รวมเป็นเงิน ๖,๑๘๗ ล้านบาท และมีหลายโรงงานไฟฟ้าแม้จะเดินเครื่อง แต่ก็ไม่ได้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ประกอบกับเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มี ราคาสูงทำให้อัตราค่าไฟฟ้าสูงตั้งแต่ ๖ บาท ถึง ๑๒ บาทต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายทั้งค่า ความพร้อมจ่ายและค่าซื้อไฟฟ้าเหล่านี้ ถูกนำมาอยู่ในค่า FT ที่เรียกเก็บกับประชาชนนั่นเอง ค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปรโดยอัตโนมัติที่มีการปรับทุก ๆ ๔ เดือน หรือ ๓ ครั้งต่อปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม และ เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ใช้สูตรคำนวณการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการประเมินการราคาซื้อเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเป็นการคาดการณ์เฉลี่ยล่วงหน้า ๔ เดือน ส่วนต่างระหว่างต้นทุน ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงและค่า FT ที่เรียกเก็บจะถูกนำไปคิดเพิ่มหรือลดในค่า FT รอบถัดไป สูตร ค่า FT จึงไม่ได้คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จึงย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้ เช่น การคิดค่าเชื้อเพลิงในงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๖ คาดการณ์ว่า LNG ตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปที่ ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ บาทต่อล้าน BTU จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ ๓๗ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และคาดการณ์น้ำมันดิบดูไบ จะสูงขึ้นที่ ๙๐ เหรียญ ถึง ๑๐๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขนาดความเป็นจริง LNG ราคาหลังจากเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ได้ลดลงมาอยู่ที่ ๖๐๐ บาท ต่อล้าน BTU ในเดือน มีนาคม ๒๕๖๖ อัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ ๓๔ บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ ๘๐ เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น การคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่คลาดเคลื่อนเกินจริง จึงกลายเป็นภาระ FT ในรอบ ๔ เดือนนั้น ท่านประธานครับ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้เกิดผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และกระทบกับเศรษฐกิจ รวมถึงนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนเขาสามารถเปรียบเทียบ เรื่องกระแสไฟฟ้ากับประเทศที่เขาจะมาลงทุนได้ด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่าน ประธานสภาที่เคารพครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไป ท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี เชิญครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ต้องขอขอบคุณท่านประธานที่กรุณาให้ผมได้ร่วมอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ท่านประธานครับ เวลาเราพูดว่าเราจะแก้ไขค่าไฟแพงนั้นต้องดูสาเหตุก่อนว่า สาเหตุมาจากอะไรหรือใครเป็นคนกำหนดค่าไฟ ซึ่งต้องบอกพี่น้องประชาชนผ่าน ท่านประธานไปว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้า คือคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. เป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ โดยตรงในการพิจารณาขึ้นค่า FT ซึ่งก็คือค่าไฟจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็มาจากค่า FT ในใบเสร็จที่พี่น้องประชาชน ค่า FT คือค่าไฟฟ้าผันแปร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือค่าต้นทุน ผลิตการไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศในช่วงนั้น ๆ ดังนั้นค่า FT จะปรับขึ้นก็ได้หรือจะปรับลงก็ได้ โดยบ้านเรา ก็มีการกำหนดราคาปรับค่า FT คืออัตราค่าไฟฟ้าทุก ๔ เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลง ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ประเด็นเรื่องค่า FT นี้คงจะเป็นประเด็นที่พูดถึงกันจนชินหู ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่วันนี้ผมอยากจะพูดถึงปัญหาที่หยั่งรากลึกยิ่งกว่า นั่นคือประเด็น ที่มีปริมาณไฟสำรองล้นประเทศ ท่านประธานครับ ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีพลังงานสำรองสูงราว ๓๕-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามค่ามาตรฐานแล้วควรจะมีสำรองไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ การสำรองไฟฟ้าล้นเกินไปมากนี้ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับ ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐจัดหาถึงแม้จะไม่ได้มีการใช้งานจริงก็ตาม ระบบนี้ ถูกมองว่าไม่ยุติธรรม ท่านประธานครับ นักวิชาการท่านหนึ่งเอ่ยชื่อได้ ไม่เสียหาย นั่นก็คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม เรียกสภาวะการสำรองไฟฟ้าสำรองล้นเกินในช่วงนี้ว่า เป็นแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay ซึ่งเป็นภาระที่ประชาชนต้องถูกบังคับ ให้ใช้ต้องจ่าย ปีหนึ่งจ่ายไฟฟรี ๆ หลายหมื่นล้านบาท โดยที่ประชาชนไม่ได้ใช้ ท่านประธานครับ จากข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๖๕ พบว่าปริมาณสำรองกำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศไทยสูงเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กำลังผลิตไฟฟ้าในระบบของไทยอยู่ราว ๕๓,๓๓๕ เมกะวัตต์ แต่ความต้องการสูงสุดอยู่ที่ ๓๒,๒๕๕ เมกะวัตต์ หรือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองส่วนเกินกว่า ๒๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราค่าไฟสูงขึ้น แต่ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือ IPP เติบโตสูงมาก จากระดับ ๔,๙๒๖ เมกะวัตต์ ในปี ๒๕๔๔ เป็น ๑๕,๔๙๙ เมกะวัตต์ ในปี ๒๕๖๔ หรือเพิ่มขึ้น ๑๐,๕๗๓ เมกะวัตต์ ในขณะที่ กฟผ. มีกำลังผลิต ๑๖,๐๘๒ เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๔ เพียง ๑,๐๘๒ เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กหรือ SPP นั้นพบว่าหลังจาก การรัฐประหาร กำลังผลิตไฟฟ้า SPP ทะยานสูงขึ้นจนมีกำลังการผลิตที่ ๗,๖๑๓ เมกะวัตต์ ในปี ๒๕๖๔ จากปี ๒๕๔๔ มีกำลังการผลิต ๑,๗๖๘ เมกะวัตต์ ดังนั้นต้องตั้งคำถาม เสียงดัง ๆ ว่าคนไทยจ่ายค่าไฟแพงนั้นใครรวย แล้วคนที่รวยนั้นบริจาคให้พรรคการเมืองใดอยู่ ท่านประธานครับ นั่นคือภาพใหญ่ที่ผมและพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าการแก้ไขปัญหา ค่าไฟแพงนั้น ต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ รากเหง้าของปัญหา แต่วันนี้ผมขอใช้เวลาอีกสัก เล็กน้อย ในการสะท้อนถึงปัญหาในเขตพื้นที่ของผมที่ท่าเทียบเรือฉลอง ตำบลฉลอง และถนนเขา ๕๐ ปี ตำบลป่าตองมีปัญหาไฟฟ้ากระชาก ไฟฟ้าตกบ่อยครั้งมาก จนทำให้ เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้รับความเสียหาย ก็ต้องควักกระเป๋าซ่อมทีวีตู้เย็นกันเอง ถามว่าเวลาปัญหาไฟฟ้าตกแบบนี้ใครรับผิดชอบ แต่เวลาเก็บค่าไฟเก็บเต็มอัตรา นอกจากนี้ ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนโคกโตนด ตำบลฉลอง ตอนนี้พ่วงไฟฟ้ากันเองเพื่อที่จะใช้ ในครัวเรือน ท่านประธานครับ อย่าคิดว่าเขาเป็นคนรวยนะครับ ที่ต้องพ่วงไฟฟ้ากันเอง เพราะเขาไม่มีสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ต้องมีสิทธิในการขอใช้ไฟฟ้า ต้องพ่วงไฟรวมกัน ทำให้ไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้น ค่า FT ที่ชาวบ้านต้องมาหารกันก็ต้องจ่ายแพงขึ้น ทำให้แต่ละเดือน ประชาชนแบกรับภาระค่าไฟจำนวนมาก ประชาชนเห็นค่าไฟแล้วชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็แทบ จะเป็นลม ท่านประธานครับ ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่เสนอญัตตินี้เข้ามา เพื่อให้ พวกเราได้ร่วมกันอภิปรายถึงต้นตอของปัญหา แก้ไขปัญหาที่ราก ถ้ารากของปัญหานี้ คือเรื่องไฟฟ้าที่ผลิตกันเกิน ก็ต้องแก้ไขตรงนั้น ต้องกล้าหาญที่จะชนกับนายทุนบ้าง ไม่อย่างนั้นประชาชนลำบากครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง เชิญครับ
นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนประธานที่เคารพ ผม ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ไม่ว่าที่ประชุมแห่งนี้วันนี้จะมีมติอย่างไร ผมก็อยากให้พวกเราใช้โอกาสนี้ในการหาวิธีการ แก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟแพงให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกร คนภาคอีสานครับท่านประธาน ท่านประธานครับ หากจะพูดถึงภาคอีสานแล้วหลายคน มักจะบอกว่าภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่รันทด บางคนอาจจะบอกว่าเป็นภูมิภาคที่มีความแห้งแล้งบ้างละ บางคนก็อาจจะบอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความกันดารบ้างละ คนอีสานไม่ขยันไม่สู้งานบ้าง ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตระดับฐานะของตนเองและครอบครัวขึ้นมาได้
นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ขอนแก่น ต้นฉบับ
๑๑๔/๑ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนพูดถึงอีสานบ้านเกิดของผมครับ ซึ่งผมก็อยากตะโกนบอกจริง ๆ ว่า มันไม่ใช่ มีบางคนบอกเขาว่าคนอีสานไม่รวยสักที เพราะคนอีสานขี้เกียจทำงาน ไม่ขยัน ตื่นสาย นอนกลางวัน หรือบางทีโยงไปถึงการทำบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อนน้อยเกินไป แต่ท่านประธานทราบไหมครับว่าอันแท้ที่จริงแล้วมือของพี่น้องเกษตรกรคนอีสาน ทุกวันนี้ มือทั้งแห้ง ทั้งด้าน ทั้งแตก อันเนื่องมาจากที่พวกเขาทำงานอย่างหนัก เป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกพืชอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการแปรรูปสินค้า สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ประกอบการและประเทศในการส่งออก แต่ทำไมครับท่านประธาน เกษตรกรคนภาคอีสานถึงยังไม่รวยขึ้นสักที ท่านประธานครับ นอกเหนือจากการใช้นโยบายการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถช่วยให้ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวได้แล้วนั้น ยังมีเรื่องของปัญหาราคาปุ๋ย ราคายา ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันเนื่องมาจากมีนายทุนผูกขาดไม่กี่เจ้าครับ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เกษตรกรคนภาคอีสานไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นั่นก็คือปัญหาเรื่องของค่าครองชีพครับ ค่าไฟฟ้าถือว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของพี่น้องเกษตรกร ทำไม หรือครับท่านประธาน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ พื้นที่ของผมอำเภอน้ำพองปลูกข้าวได้ปีหนึ่ง ๒ ครั้ง เกษตรกรจะยิ้มได้ก็ต่อเมื่อตอนที่พวกเขาได้เกี่ยวข้าวไปขายครับท่านประธาน นั่นก็หมายความว่าเงินก้อนจะได้ก็ต้องรอจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว คำถามคือแล้วระหว่าง วันนี้ไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว พวกเขาจะหาเงินจากไหนมาใช้ บางคนก็ต้องออกไปรับจ้าง บางคนก็ต้องไปทำอาชีพทอเสื่อ บางคนก็ต้องเข้าป่าไปหาของป่ามาขาย หรืออาชีพอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมายครับ เพื่อเป็นการหารายได้ ในขณะที่ข้าวในนามันยังเกี่ยวไม่ได้ หาเงินมาจุนเจือครอบครัวมาเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าอื่น ๆ จิปาถะอีกเยอะแยะมากมายครับ ท่านประธานครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณตาแสง เป็นชาวบ้าน บ้านคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง ปัจจุบันคุณตาอายุ ๗๐ ปี อาศัย อยู่กับคุณยายดาวอายุ ๖๕ ปี ทั้งสองมีอาชีพเป็นเกษตรกร รายได้หลักมาจากการทำนา รายได้เสริมมาจากการการเหลาไม้ไผ่ทำด้ามไม้กวาดเพื่อส่งโรงงานในชุมชนครับ ผมถาม คุณตาแสงอย่างนี้ครับว่า พ่อใหญ่เอ๊ยหมู่เจ้าเสียค่าไฟเดือนหนึ่งเดือนละจักบาท คุณตาแสงเดินไปหยิบใบเสร็จค่าไฟมาให้ผมดูครับ แล้วก็บอกว่าเสียค่าไฟเดือนหนึ่งประมาณ ๗๐๐ บาทต่อเดือน พร้อมกับได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยครับท่านประธาน ท่าน สส. ค่าไฟเดือนละ ๗๐๐ บาท มาจากอันที่ผมเปิดไฟไล่แมลงให้กับคอกหมูทุกคืนครับ อันที่ ๒ ก็มาจากการที่ผม เปิดเครื่องสูบน้ำมื้อละ ๑ ชั่วโมง แต่ผมบ่ได้เปิดทุกมื้อ บ้านผมบ่มีแอร์ ผมนอนตากพัดลม ปัญหาค่าไฟที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณของหมู่ผม ลำพังเงินผู้สูงอายุ เดือนละ ๖๐๐ บาท ๗๐๐ บาท ๒ คน รวมกันเป็น ๑,๓๐๐ บาท เอามาจ่ายค่าไฟ ๗๐๐ บาท ก็แทบสิบ่เหลือใช้กินใช้อย่างอื่นแล้วท่านประธาน ฟังดูแล้วหดหู่ไหมครับ นี่คุณตายังแอบบ่น เพิ่มเติมด้วยนะครับท่านประธานว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลน่าจะดีกว่านี้ เพราะอย่างน้อย ๆ เบี้ยผู้สูงอายุก็น่าจะได้มากกว่านี้ แกยังได้พูดเสริมอีกว่า พอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวก็ไม่ได้ราคา แถมบางปีน้ำท่วมข้าวอีก ข้าวที่ปลูกกลายเป็นไม่ได้เกี่ยว แต่ค่าไฟต้องจ่ายทุกเดือนครับ แถมค่าไฟมีแต่ขึ้นกับขึ้น เกษตรกรเขาไม่รู้หรอกว่าค่า FT ที่เพื่อน ๆ สมาชิกกำลังอภิปรายอยู่นี้ มันคืออะไร เขาไม่สนใจครับ เขาไม่รู้เรื่องด้วยว่าที่มาที่ไปมันคืออะไร เขารู้อย่างเดียวครับว่า แม้ค่าไฟขึ้น สุดท้ายเขาก็ยังต้องจ่ายค่าไฟ มันเหมือนการบังคับไปในตัว เดือนไหนหาเงินไม่ได้ หาเงินไม่ทัน หาเงินไม่พอใช้ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บิลค่าไฟนี่ยังโชคดีหน่อยมันมีการอนุโลม ต้องชำระภายใน ๗ วัน หลังจากที่ท่านได้รับใบแจ้งหนี้ อีก ๗ วันเขาจะออกใบเตือน แล้วอีก ๗ วัน เขาถึงมาตัดค่าไฟ เรื่องค่าไฟที่แพงไปพูดให้เพื่อนบ้านฟังก็ไม่ได้ครับ เพราะละแวก แถวนั้นมันแพงเหมือนกันหมดครับ กลายเป็นเรื่องที่พูดให้ใครฟังก็ไม่ได้ หรือพูดไปแล้ว ไม่มีใครได้ยิน นี่ละครับคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรคนภาคอีสานไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ได้สักที ท่านประธานครับ เรื่องค่าไฟที่แพงยังส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพในด้านอื่น ๆ ให้สูงขึ้นไปด้วย เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยพื้นฐานในด้านการผลิต ทั้งในด้านอาหาร และบริการในด้านอื่น ๆ ครับ ผมมีรุ่นน้องอีกคนหนึ่งมาทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มันซื่อบักสมหมายครับ ท่านประธานผมเอ่ยมันว่า บักทิดหมาย ย่อนวามันหากะสึกพระออกมาครับ ทิดหมายนี่ เฮ็ดเวียก ได้เงินเดือน ๑๙,๐๐๐ บาทต่อเดือนครับท่านประธาน หักค่ากิน ค่าเดินทางแล้ว เงินเดือนแทบสิบ่เหลือ พอมาเจอค่าไฟฟ้าที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในบ้านก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว มิหนำซ้ำค่าไฟที่เพิ่มได้แพง ยังทำให้ค่าอาหารที่ต้องซื้อกินนี้แพงขึ้นไปด้วย ทำงานเงินเดือน ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกเดือนนะครับ แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน แล้วจะให้เขาเอาเงินจากไหน ไปสร้างอนาคตให้ลูก ไปสร้างครอบครัว หรือเอาเงินจากไหนไปผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือแม้แต่ ส่งเงินให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านได้ใช้ครับ ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องค่าไฟที่แพงยิ่งแพง มากเท่าไร น้ำตาของคนใช้ไฟยิ่งไหลมากขึ้นเท่านั้น ผมอยากให้การจัดการเรื่องไฟฟ้า มีความเหมาะสม ไม่มีการผูกขาด สำคัญที่สุดคือประโยชน์ต้องเป็นของพี่น้องประชาชน คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ผมไม่อยากให้ค่าไฟเป็นหนึ่งในเครื่องไม้เครื่องมือที่สร้าง ความร่ำรวย ความมั่งคั่ง ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือแม้แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรจะ สร้างต้นทุนในการดำเนินชีวิตให้กับคนทุกคนอย่างเหมาะสม สร้างโอกาสในการยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนทุกคนบนความเท่าเทียมกันครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นประเด็นที่ประชาชนกังวลเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าค่าไฟที่แพงนั้นนอกจากจะมี ผลกระทบกับเศรษฐกิจของเรา ทำให้ต่างชาติเวลาพิจารณาว่าจะมาลงทุนประเทศไทย หรือไม่ ก็ต้องดูว่าผลิตสินค้าประเทศไหนแล้วต้นทุนถูกที่สุด ถ้าหากว่าค่าไฟในประเทศไทย ของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่ที่ ๔ บาทกว่า ขณะที่เวียดนามอยู่ ๒ บาทกว่า การลงทุน Foreign Direct Investment หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ก็จะลดลงครับ และในขณะเดียวกันค่าไฟที่แพงก็มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกด้วยครับ ประชาชนปัจจุบันมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ถ้าหากต้องมารับภาระค่าไฟที่แพงอีก ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะยิ่งลำบากขึ้นอีก ซึ่งในปลายปีที่แล้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการพยายามช่วยเหลือประชาชนนะครับ ในเดือนธันวาคมที่ทาง กฟภ. จะปรับค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น ๔.๖๘ บาท รัฐบาลเพื่อไทย ในเดือนมกราคมก็ได้มีการปรับลงเหลือ ๔.๑๘ บาท ก็เนื่องจากว่าปัญหาเรื่องค่าไฟนั้น เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ การที่จะลดค่าไฟนั้นมีประเด็น ที่ต้องพิจารณาอยู่ประมาณ ๓ ส่วน ครับท่านประธาน ส่วนหนึ่งก็คือค่าไฟฟ้าพื้นฐาน ส่วนที่ ๒ ก็คือค่าไฟฟ้า FT หรือต้นทุนผันแปร ส่วนที่ ๓ ก็จะเป็นเรื่องของค่าบริการรายเดือน ครับท่านประธาน ในเรื่องของค่าไฟฟ้าพื้นฐานและค่าไฟฟ้าซึ่งมีการผันแปรนั้น สามารถที่จะปรับลดลงได้ โดยการที่พิจารณาหาต้นทุนพลังงานที่มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ที่ถูกลงครับ อย่างเช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนประมาณ ๒ บาท หรือว่าการใช้แก๊ส ธรรมชาติที่มีราคาไม่สูงคือแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาประหยัดทำให้ต้นทุน การผลิตสูงให้มากและใช้ไฟฟ้าที่มีแหล่งผลิตที่มีต้นทุนสูงให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า จากชีวมวลหรือไฟฟ้าจากการนำเข้าพลังงานก๊าซที่มีราคาสูง ถ้าลดสัดส่วนลงต้นทุนไฟฟ้า ก็จะลดลงครับ ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าลดเรื่องของการสำรองไฟฟ้าหรือไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งปัจจุบันอยู่เกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าหากว่าสามารถลดลงมาที่ ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญครับท่านประธาน ส่วนอีกตัวหนึ่งที่ผมเห็นว่า สามารถดำเนินการได้เลย ก็คือเรื่องของค่าบริการรายเดือนครับ ค่าบริการรายเดือน ปัจจุบันถ้าเป็นบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ ๒๔.๖๒ บาท ประมาณ ๒๕ บาท ส่วนถ้าเป็นกิจการขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่มีการผสมผสานกับบ้านพักอาศัยก็จะตกอยู่ประมาณ ๓๓ บาท ๒๙ สตางค์ คิดถ้วน ๆ ก็ประมาณ ๓๓ บาท ต้นทุนส่วนนี้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งคนไปจดมิเตอร์มีการทำการออก Bill ทำการชำระเงินและรับชำระเงินออกใบเสร็จ ซึ่งต้นทุนขนาด ๒๔ บาทหรือ ๓๓ บาท เป็นต้นทุนที่สูงครับ ถ้าหากว่าเราพิจารณาให้ละเอียดปัจจุบันมีการใช้มิเตอร์ Digital หรือมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถที่จะบอกจำนวนการใช้ไฟฟ้า มีการพิมพ์ใบแจ้งหนี้ แล้วก็สามารถพิมพ์ใบเสร็จได้ โดยที่ไม่ต้องใช้คนจำนวนมากซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก และเริ่มมีการใช้ เป็นการทั่วไปตาม Apartment ต่าง ๆ ถ้าหากว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาคจะได้พิจารณานำมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์หรือมิเตอร์ Digital ที่ปัจจุบันราคาถูกลง กว่าเดิมมาก นำมาใช้ในการจดมิเตอร์ออกใบแจ้งหนี้และออกใบเสร็จรับเงิน ก็จะสามารถ ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายน้อย ๆ ครับท่านประธาน เดือน ละ ๓๓ บาทก็ดี หรือจะเดือนละ ๒๔ บาทก็ดีจากยอดผู้ใช้มิเตอร์นครหลวง ๔ ล้านมิเตอร์ ยอดผู้ใช้มิเตอร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค๒๐ ล้านมิเตอร์ รวมแล้ว ๒๔ ล้านมิเตอร์ เฉลี่ยประมาณ ๔๐ บาทต่อมิเตอร์แต่ละเดือนก็ประหยัดเงินได้เกือบพันล้านบาท ส่วนนี้ เป็นเงินที่รัฐบาลหรือการไฟฟ้าสามารถประหยัดได้และสามารถโอนผ่านส่วนที่ลดลงนี้ ทำให้ประชาชนมีภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟซึ่งเป็นค่าบริการ รายเดือนนั้น เป็นค่าไฟฟ้าที่ไม่ว่าประชาชนจะใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม จะต้องชำระอยู่ดี เป็นค่าใช้จ่ายตายตัว ซึ่งผมคิดว่าไม่สมเหตุผลครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นตัว ที่อยากจะขอให้ทาง กกพ. การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาคได้พิจารณาลดค่าใช้จ่าย ตัวนี้ลง ซึ่งผมเชื่อว่าสามารถทำได้เพราะปัจจุบันนี้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค ใช้วิธีให้สัมปทานหรือให้มีการประมูล เพื่อที่จะดำเนินการจดมิเตอร์ วางบิลและรับชำระเงิน คือการไฟฟ้าไม่ได้ทำเองแต่จ้างคนข้างนอกทำ เหมือนกับเป็น Subcontractor ซึ่งค่าใช้จ่าย ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ผมคิดว่าสูงเกินจริง และถ้าหากว่าจะได้พิจารณาแก้ไขก็ช่วยประหยัด ค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ครับ ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ที่เหลือเอาไว้ต่อพรุ่งนี้ครับ วันนี้ขอปิดประชุมครับ