กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่านนะคะ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบ บัญชี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ขออนุญาตนำเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กรมบัญชีกลางก่อนนะคะ ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกท่านที่กรุณาอภิปราย แล้วก็ชี้แนะข้อเสนอแนะ แนวทางต่าง ๆ รวมถึงให้ข้อคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องสำหรับวันนี้
ในส่วนที่จะขออนุญาตนำเรียนช่วงแรกที่เกี่ยวกับของกรมบัญชีกลาง กรณีของท่านศิริกัญญา ขออนุญาตที่เอ่ยนามท่าน เกี่ยวกับเรื่องของบัญชีที่ท่านบอกว่า ในส่วนของเงินกองทุนหมุนเวียนหรือว่าของรัฐวิสาหกิจที่อาจจะมีการบันทึกเป็นลูกหนี้ รอการชดเชยต่าง ๆ แต่ว่าในส่วนของภาครัฐบาลยังไม่ได้มีการบันทึกในส่วนนี้นะคะ ก็ขออนุญาตนำเรียนว่ากรณีของการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินของกรมบัญชีกลาง เผอิญว่าทางกรมบัญชีกลางเองเราได้มีการจัดทำรายงานตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ แล้วก็นโยบายการบัญชีภาครัฐสำหรับบัญชีการเงินแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงมาตรฐานการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินที่เรากำหนดขึ้นมาเฉพาะในส่วนของ การจัดทำรายงานการเงินแผ่นดิน ซึ่งมีกรอบในการดำเนินการที่ชัดเจนว่าเราจะรวมในส่วน ของตัวเลขทางการเงินจากหน่วยงานทั้ง ๔ หน่วยงานหลัก ที่ท่านได้กรุณานำเรียนไป ตอนแรกนั้นถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องของทุนหมุนเวียนรัฐวิสาหกิจ ก็จะไปอยู่อีกรายงานหนึ่ง ที่เราเรียกว่ารายงานการเงินรวมภาครัฐ อันนั้นจะอยู่อีก รายงานหนึ่ง จะมีอยู่เช่นเดียวกันนะคะ
สำหรับประเด็นที่ ๒ ที่ท่านได้กรุณาถามว่ากรณีของงบประมาณ ที่บางกระทรวงอาจจะมีการใช้จ่าย จากตัวเลขที่ท่านนำเรียนบอกว่าอาจจะมีการใช้จ่าย เกินกว่ากรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร อันนี้ขออนุญาตเรียนเป็นภาพรวมว่า น่าจะเป็นกรณีที่เป็นการใช้จ่ายเงินงบกลางที่จะต้องมีการเบิกจ่ายตามความจำเป็น ที่แต่ละหน่วยอาจจะมีการขอเบิกงบกลาง แต่ว่าส่วนนี้ก็เป็นงบที่โดยทั่วไปจะเบิกจ่ายจากที่ กรมบัญชีกลาง แต่ว่ากรณีของกระทรวงกลาโหมที่ท่านนำเรียนเรื่องตัวเลข บังเอิญว่า ในงบของเรานี้ไม่ได้แจงรายละเอียดตรงนี้ เข้าใจว่าอาจจะเป็นตัวเลขอีกแหล่งที่ท่านอาจจะ นำไปเจอตัวเลขตรงนั้น ในส่วนนี้เดี๋ยวขอให้ทางกรมบัญชีกลางเราได้ไปตรวจสอบตัวเลข อีกนิดหนึ่ง เพราะว่าโดยรวมแล้วจะไม่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเกินกว่าที่ได้รับ จัดสรรค่ะ
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนของที่ราชพัสดุ รวมถึงในเรื่องของหนี้ แล้วก็ในส่วนของเงินลงทุนต่าง ๆ จะขออนุญาตให้ท่านผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กรุณา นำเรียนท่านต่อไปค่ะ ขออนุญาตเริ่มจากที่ราชพัสดุก่อนนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ขอเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของ ทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ และประจำปีบัญชี ๒๕๖๔ ตามในพระราชบัญญัติ การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๕ ซึ่งบัญญัติให้ กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนเป็นประจำทุกปี ประกอบกับ มาตรา ๓๓ ซึ่งบัญญัติให้กรมบัญชีกลางรวบรวมและจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ในภาพรวมของทุนหมุนเวียนทั้งหมดต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบ ซึ่งมีสาระสำคัญ ของรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปี ๒๕๖๓ และประจำปีบัญชี ๒๕๖๔ สรุปได้ดังนี้
๑. รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมกองทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ มีทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น ๑๑๖ ทุน
๑.๑ ฐานะทางการเงินกองทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ ภาพรวมฐานะ การเงินและผลการดำเนินงานประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ ประกอบด้วย สินทรัพย์รวม ๔,๕๒๕,๕๓๑.๘๔ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี ๒๕๖๒ คิดเป็นร้อยละ ๔.๐๙ รายได้รวม ๖๑๐,๖๙๘.๓๙ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม ๕๗๔,๓๗๓.๐๑ ล้านบาท โดยมีการจัดทำ และวิเคราะห์รายงานการเงินของทุนหมุนเวียน แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ตามข้อสังเกต ที่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ข้อสังเกตไว้ในครั้งที่แล้ว จำแนกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ ๑ เป็นการวิเคราะห์รายงานการเงินโดยจำแนกตาม ทุนหมุนเวียนที่ได้รับเงินสมทบจากสมาชิก ปรากฏว่ามีสินทรัพย์รวม จำนวนประมาณ ๓,๔๓๒,๓๖๗.๔๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗๕.๘๔
ประเภทที่ ๒ ก็คือการวิเคราะห์รายงานการเงินโดยจำแนกทุนหมุนเวียน ตามแหล่งที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี โดยรวมแล้วมีสินทรัพย์ จำนวน ๔๒,๕๐๑.๙๔ ล้านบาท
ประเภทที่ ๓ ก็คือการวิเคราะห์รายงานการเงินกลุ่มอื่น นอกเหนือจาก กลุ่มที่ ๑ และกลุ่มที่ ๒ ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ปรากฏว่ามีสินทรัพย์ จำนวน ๑,๐๕๐,๖๖๒.๔๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๒๒ ของสินทรัพย์รวม
สำหรับผลการประเมินการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี ๒๕๖๓ มีทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน ๙๙ ทุน แล้วก็ทุนที่อาจจะไม่ได้เข้าสู่ระบบการประเมินผลของกรมบัญชีกลางอีกประมาณ ๑๗ ทุน ซึ่งเป็นทุนที่มีระบบการประเมินผลเป็นของตัวเองอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือเป็น ทุนที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะเข้าสู่ระบบประเมินผลของกรมบัญชีกลาง เนื่องจากว่า อยู่ระหว่างการยุบเลิก หรือว่าอยู่ระหว่างการรวมทุนหมุนเวียน อย่างนี้เป็นต้น โดยรวมแล้ว ทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบประเมินผลของกรมบัญชีกลาง ประจำปี ๒๕๖๓ มีผลการประเมิน การดำเนินงานเฉลี่ยในภาพรวมเท่ากับ ๔.๐๒๖๓ คะแนน เพิ่มขึ้น ๐.๑๑๘๐ คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๐๒ เมื่อเทียบกับปีบัญชี ๒๕๖๒ ค่ะ
๒. ขอรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปี บัญชี ๒๕๖๔
๒.๑ สถานะทางการเงินของทุนหมุนเวียน ประจำปี ๒๕๖๔ ภาพรวมฐานะ การเงินและผลการดำเนินงาน ประจำปี ๒๕๖๔ ประกอบด้วย สินทรัพย์รวม ๔,๘๐๙,๕๔๖.๘๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี ๒๕๖๓ คิดเป็นร้อยละ ๖.๓๗ มีรายได้รวม ๖๐๘,๙๘๑.๕๓ ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม ๖๒๒,๕๖๕.๒๖ ล้านบาท โดยการวิเคราะห์ รายงานการเงินจำแนกเป็น ๓ ประเภทเช่นเดียวกัน ปรากฏว่า
ประเภทที่ ๑ ก็คือรายงานการเงินกองทุนหมุนเวียนที่จำแนกตามที่ได้รับ เงินสมทบจากสมาชิก มีสินทรัพย์รวม จำนวน ๓,๖๒๗,๘๕๕.๙๙ ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ ๗๕.๔๓
ประเภทที่ ๒ ก็คือทุนหมุนเวียนที่จำแนกตามแหล่งที่ได้รับการจัดสรร งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีสินทรัพย์รวม ๒๓๓,๐๙๘.๕๙ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔.๘๕ ของสินทรัพย์รวม
และประเภทที่ ๓ ก็คือกลุ่มที่กระทรวงการคลังกำหนด มีสินทรัพย์รวม จำนวน ๙๔๘,๕๙๒.๓๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๗๒ ของสินทรัพย์รวม
๒.๒ ผลการประเมินการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี ๒๕๖๔ สำหรับทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบประเมินผลของกรมบัญชีกลาง ผลปรากฏว่าระบบ การประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน มีผลการประเมินผลการดำเนินงาน โดยเฉลี่ยในภาพรวมที่ ๔.๑๒๔๔ คะแนน เพิ่มขึ้น ๐.๐๙๘๑ คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ ๒.๔๔ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ ทั้งนี้เป็นรายละเอียดของผลการดำเนินงานทางการเงิน แล้วก็ ผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ประจำปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ จึงขออนุญาตกราบเรียน ที่ประชุมเพื่อโปรดทราบค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่าน ขออนุญาตนำเรียนท่าน โดยภาพรวมว่าในส่วนของการกำหนดเกณฑ์การประเมินผล ที่ผ่านมาทางกรมบัญชีกลางเอง ก็จะมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินผลประจำปี แล้วก็มีการนำเสนอหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เข้าอนุกรรมการประเมินผล รวมถึงเมื่อมีการประเมินผลการดำเนินงานแล้วก็เอาเข้า คณะกรรมการนโยบายอย่างที่นำเสนอในที่ประชุมวันนี้นะคะ เพราะฉะนั้นในเรื่องของ เกณฑ์การประเมินผลส่วนที่ท่านให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของควรจะดูแลในเรื่องของ ความคุ้มค่าอะไรต่าง ๆ ทางกรมบัญชีกลางก็ขอรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปเพื่อพิจารณา นำเสนอคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องสำหรับการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
ในส่วนของการสังคายนาทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องของการยุบเลิก ยุบรวมทุนหมุนเวียน หรือว่าการจัดกลุ่มประเภทของทุนหมุนเวียน ก็ขออนุญาตเรียน อย่างนี้ว่าในเรื่องของการยุบเลิกหรือยุบรวมทุนหมุนเวียน ทางกรมบัญชีกลางเองก็มี ประกาศของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง แล้วก็กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการจัดตั้งทุนหมุนเวียนหรือว่าการยุบเลิก ยุบรวมทุนหมุนเวียนอยู่แล้ว ในส่วนนี้กระบวนการพิจารณาดำเนินการก็จะมีการพิจารณาลงในรายละเอียดอยู่ แต่ว่าอย่างไรก็ตามข้อสังเกตของทุกท่านทางเราก็คงจะได้นำไปพิจารณาเพิ่มเติมให้มี ความชัดเจนหรือว่าให้มีความครอบคลุมต่อไป
ในส่วนเรื่องของการบริหารทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่า ในการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนทุกทุน มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร เพราะฉะนั้นในส่วนของผลการดำเนินงานต่าง ๆ ทุนหมุนเวียนก็จะมีคณะกรรมการบริหาร รวมถึงผู้บริหารของส่วนราชการกำกับดูแลอยู่แล้ว ในส่วนของกรมบัญชีกลางเองเราก็ไม่ได้ ทิ้งประเด็นในการที่จะพัฒนาหรือปรับปรุงทุนหมุนเวียนให้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือ มีการประเมินผลทุนหมุนเวียนอย่างที่มีการนำเสนอรายงานในวันนี้ว่าในบทบาทของ กรมบัญชีกลางเองเราก็พยายามที่จะส่งเสริมแล้วก็มีการพัฒนาปรับปรุงทุนหมุนเวียนให้ดีขึ้น เช่นเดียวกันโดยการใช้เกณฑ์การประเมิน ซึ่งก็เป็นเกณฑ์การประเมินที่มีการดำเนินการ โดยบุคคลภายนอก แต่ว่าเกณฑ์การประเมินก็จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนด หลักเกณฑ์ประจำปีทุกปี มีการทบทวน มีการชี้แจงให้ทุนหมุนเวียนทราบ
ในส่วนกรณีของการประชาสัมพันธ์ทุนหมุนเวียนต่าง ๆ อันนี้ ทางกรมบัญชีกลางเองก็รับข้อสังเกตของทุกท่านไป เพราะว่าจริง ๆ แล้วเราก็เห็นว่า ทุนหมุนเวียนนี่นะคะ การที่จะมีทุนหรือไม่มีทุนหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ค่อนข้าง ชัดเจน แต่ว่าในส่วนของการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้วก็เข้าใจ วัตถุประสงค์ของทุนหมุนเวียนต่าง ๆ อาจจะยังไม่เป็นที่เผยแพร่มากมายนัก แต่ว่าในส่วนนี้ ทางกรมบัญชีกลางเองก็พยายามดำเนินการ อย่างระบบการประเมินผลทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ในแต่ละปีที่เราดำเนินการ ทุนหมุนเวียนไหนที่มีผลการประเมินดีเราก็จะมีการพิจารณา มอบรางวัลให้กับทุนหมุนเวียน มีการจัดทำข่าว จัดทำประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้ออกไป เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์ที่กว้างขวางขึ้นก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อันนี้ทางกรมบัญชีกลางเองก็ขอรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่วันนี้ก็ได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อย่างยิ่ง แล้วก็รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ตำแหน่งผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง ขอเสนอรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นไปตามในมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมาตรา ๗๔ บัญญัติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณ ประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุด เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน ๔๕ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณนั้น และภายใน ๖๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. รายรับ รายรับของรัฐบาลแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ รายรับจากเงินรายได้ และรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลได้ประมาณการ รายรับรวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๑๘๕,๐๐๐ ล้านบาท รายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น ๓,๒๘๓,๔๐๘.๗๒ ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน ๙๘,๔๐๘.๗๒ ล้านบาท ประกอบด้วย รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน มีการประมาณการรายได้จำนวน ๒,๔๙๐,๐๐๐ ล้านบาท และมีการรับรายได้แผ่นดินรวมทั้งสิ้น ๒,๖๕๐,๗๙๖.๓๓ ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน ๑๖๐,๗๙๖.๓๓ ล้านบาท ๒. รายรับประเภทเงินกู้เพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณ มีการประมาณการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน ๖๙๕,๐๐๐ ล้านบาท และมีการรับเงินกู้รวมทั้งสิ้นจำนวน ๖๓๒,๖๑๒.๓๙ ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน ๖๒,๓๘๗.๖๑ ล้านบาท
๒. รายจ่ายตามงบประมาณ รายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาล ประกอบด้วย รายจ่ายตามงบประมาณและรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ โดยรัฐบาลได้ประมาณการ รายจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๑๘๕,๐๐๐ ล้านบาท รายจ่ายตามงบประมาณของรัฐบาลมีการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๑๗๓,๖๔๐.๐๑ ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน ๑๑,๓๕๙.๙๙ ล้านบาท ประกอบด้วย
๒.๑ รายจ่ายตามงบประมาณ มีการประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณ จำนวน ๓,๑๑๕,๓๖๙.๖๓ ล้านบาท และมีรายจ่ายจากเงินงบประมาณจำนวน ๒,๙๔๓,๘๗๘.๘๙ ล้านบาท และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน ๑๖๐,๑๓๐.๗๕ ล้านบาท รวมรายจ่ายตามเงินงบประมาณและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งสิ้นจำนวน ๓,๑๐๔,๐๐๙.๖๔ ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน ๑๑,๓๕๙.๙๙ ล้านบาท
๒.๒ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีการประมาณการจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน ๖๙,๖๓๐.๓๗ ล้านบาท มีรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เท่ากับประมาณการจำนวน ดังกล่าว
๓. รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีหรือเงินงบประมาณปีก่อน รัฐบาลมีเงิน กันไว้เบิกเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๙๐,๔๕๓.๒๖ ล้านบาท มีรายจ่ายจากเงินกันไปเบิกเหลื่อมปีจำนวน ๑๗๓,๙๐๑.๓๓ ล้านบาท ต่ำกว่าเงินที่กันไว้ จำนวน ๑๖,๕๕๑.๙๓ ล้านบาท
๔. รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วย เงินคงคลังประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๘๓,๘๑๔.๑๐ ล้านบาท เป็นรายจ่าย จากเงินคงคลังตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๗ (๑) คือรายจ่ายที่มีการอนุญาตให้จ่ายเงินได้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่เงินที่ตั้งไว้มีจำนวนไม่เพียงพอและพฤติการณ์เกิดขึ้นให้มี ความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว
๕. ดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบผลรวมรายรับจำนวน ๓,๒๘๓,๔๐๘.๗๒ ล้านบาท กับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปีจำนวน ๓,๐๑๓,๕๐๙.๒๖ ล้านบาท ทำให้มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายตามงบประมาณประจำปี ๒๕๖๖ จำนวน ๒๖๙,๘๙๙.๔๖ ล้านบาท
๖. ดุลการรับจ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบผลรวมรายรับจำนวน ๓,๒๘๓,๔๐๘.๗๒ ล้านบาท กับรายจ่ายที่รัฐบาลมีการเบิกจ่าย รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๒๗๑,๒๒๔.๖๙ ล้านบาท ทำให้มี รายรับสูงกว่ารายจ่ายทั้งสิ้นจำนวน ๑๒,๑๘๔.๐๓ ล้านบาท จึงเรียนมา เพื่อโปรดทราบค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง ขออนุญาตนำเรียนสำหรับประเด็นซักถามของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้นะคะ กรณีแรกที่ท่านฐิติมา ฉายแสง ขออภัยที่เอ่ยชื่อท่านนะคะ ท่านได้นำเสนอ ในเรื่องของปัญหาที่เกี่ยวกับเงินงบประมาณที่ท่านมองว่าส่วนหนึ่งมีเงินงบประมาณพับไป ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อที่จะไปซ่อมแซมสะพานตามที่ท่านได้กรุณานำเรียนนี้ เท่าที่ฟังข้อมูลจากที่ท่านให้ข้อมูลมานี้ ทางกรมบัญชีกลางขอเรียนอย่างนี้ค่ะว่าในเรื่องของ ข้อมูลที่เห็นท่านบอกว่ามีการโอนให้กับทาง กทม. ไปดูแล เพราะฉะนั้นโดยหลักก็จะเป็น ทรัพย์สินของทาง กทม. ซึ่งทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐใดหน่วยงานของรัฐนั้นก็มีอำนาจ ที่จะพิจารณาดูแลในเรื่องของการซ่อมแซมได้ เพราะฉะนั้นในคำถามของท่านฐิติมา หน่วยที่จะต้องรับผิดชอบควรจะต้องเป็น กทม. ค่ะ จังหวัดก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เพียงแต่ว่า กทม. ก็จะต้องมีการพิจารณาหาเงินมาซ่อมแซมในส่วนนี้ค่ะ อันนี้ในประเด็นแรก นะคะท่าน
เรียนท่านฐิติมานะคะ คือในเรื่องของการใช้จ่ายงบกลางก็เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนนะคะ ถ้าเกิดว่ากรณี ที่ท่านนำเสนอเห็นว่ามันเป็นกรณีเร่งด่วน หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถที่จะดำเนินการ นำเสนอเรื่องนี้ต่อสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาได้ค่ะ ซึ่งการพิจารณาก็คงจะขึ้นอยู่กับ การพิจารณาของสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณด้วยค่ะ แต่ว่าก็สามารถเสนอ ข้อมูลเพื่อให้ทางสำนักงบประมาณพิจารณาได้ค่ะ
ขออนุญาตนำเรียนประเด็นของท่านประเสริฐพงษ์นะคะ ที่ท่านบอกว่า ทางกรมบัญชีกลางได้พูดถึงในเรื่องของการประมูล แล้วก็อาจจะมีข่าวในเรื่องของการรั่วไหล จากข้อมูลของกรมบัญชีกลางนี้นะคะ อันนี้ในภาพรวมอาจจะนำเรียนในรายละเอียดให้ท่าน ได้ไม่ทั้งหมด เพราะว่าอยู่ในความรับผิดชอบของอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าอย่างไรก็ตามในเรื่องของ ข้อมูลของกรมบัญชีกลาง เราได้เคยมีการดำเนินการในการที่จะสืบเสาะหาข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ เราไม่ปรากฏว่ามีบุคลากรท่านใดที่เข้าข่ายในการดำเนินการที่อาจจะทำให้ข้อมูล รั่วไหลในส่วนของกรมบัญชีกลางนะคะ อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้มันมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลายส่วนนะคะ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ทางกรมบัญชีกลางเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องของ การที่จะพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้ เราได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลราคาเกี่ยวกับ การจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ซึ่งระบบนี้จะเป็นระบบป้องกันที่คนนอกจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ อันนี้ในภาพของ กรมบัญชีกลางเอง ก็ขอนำเรียนว่าเราเองก็ได้พยายามที่จะดำเนินการ เพื่อให้เรื่องนี้มันเป็น ที่ชัดแจ้งแล้วก็ข้อมูลไม่รั่วไหล อย่างไรก็ตามอย่างที่นำเรียนท่านตอนแรกค่ะว่าอาจจะ มีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เพราะฉะนั้นในบทบาทของกรมบัญชีกลางเราได้พยายามทำ แล้วก็แก้ปัญหาเหล่านี้อยู่นะคะ
สำหรับประเด็นที่ท่านพูดถึงในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือว่าในเรื่อง ของการสนับสนุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนต่าง ๆ ในเรื่องของการดำเนินการเกี่ยวกับ สุราก้าวหน้าอะไรต่าง ๆ นี้ คือในเรื่องของมาตรการทางด้านภาษีเราก็คงมีมาตรการ ที่เกี่ยวข้องที่เราได้มีการพิจารณาดำเนินการในแต่ละปีกันอยู่นะคะ อย่างไรก็ตามในเรื่อง ที่ท่านฝากว่าควรจะมีการยกระดับรายได้ให้กับประชาชน หรือว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนนี้เอง กระทรวงการคลังเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาตลอดนะคะ แล้วในเรื่อง ของกระบวนการในการดำเนินการอาจจะต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการที่ทาง กรมสรรพสามิตอาจจะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยนะคะ ในส่วนนี้ทางกรมบัญชีกลางเอง ก็คงขออนุญาตนำเรียนท่านในส่วนที่อาจจะมีการดำเนินการต่อไป อันนี้คือประเด็นของ ท่านประเสริฐพงษ์นะคะ
ส่วนกรณีของท่านณัฏฐ์ชนนนะคะ ที่ท่านกรุณาเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องของ การอ้างอิงฐานข้อมูลต่าง ๆ ของกรมบัญชีกลาง ทั้งในเรื่องที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยประชุม หรือว่าค่าใช้จ่ายเดินทางต่าง ๆ พวกนี้ อันนี้ก็คงต้องนำเรียนว่าทางกรมบัญชีกลางเอง เราก็เป็นหน่วยงานที่มีการกำกับดูแลในเรื่องของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ยังคงมี ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ หรือว่าหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวข้อง กับเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบที่ทางกรมบัญชีกลางกำหนด คงต้องดำเนินการตามนั้น อย่างไรก็ตามในเรื่องของการทบทวน ในเรื่องของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ท่านกรุณาฝากไว้ ทางเราก็คงจะขออนุญาตรับไป เพื่อให้มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์เป็นต้นนะคะ
ในเรื่องของการอนุญาตใช้พื้นที่ของ อปท. นี้ กรณีที่ไม่มีการใช้งบประมาณ และงบประมาณตกไป อันนี้คงต้องขอนำเรียนว่าในเรื่องของการที่จะขอตั้งงบประมาณ โดยหลักแล้วหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ รวมถึง อปท. เองจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมพื้นฐานที่ทางสำนักงบประมาณเองก็ดี หรือว่ากรมบัญชีกลาง เองก็ดี เราได้ซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องนะคะว่า การที่จะขอเงินไปดำเนิน โครงการสักโครงการหนึ่งขอให้ท่านเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่ แต่ว่า กรณีที่ถ้าท่านเตรียมความพร้อมเรื่องพื้นที่แล้ว ท่านบอกว่ายังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ ให้ส่วนนี้ ก็คงจะต้องให้มีการนำเสนอให้ครบถ้วนนะคะ เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นว่าเราได้รับ งบประมาณดำเนินโครงการ แต่ว่าไม่ได้รับงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่ เรื่องนี้คิดว่า หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดที่จะขอใช้งบประมาณ สามารถพิจารณาดำเนินการ แล้วถ้าเกิดว่าดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามที่กำหนด คิดว่างบประมาณก็ไม่น่าจะตกไป ซึ่งกรณีนี้ทางกรมบัญชีกลางในบทบาทของเราขอนำเรียนว่าเราได้มีการซักซ้อม แล้วก็ เน้นย้ำมาตลอด โดยเฉพาะคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายที่มีท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังเป็นประธานเราก็ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ อย่างไรก็ตามกรณีที่ท่านยกประเด็นขึ้นมาอาจจะเป็น บางส่วนที่เกี่ยวกับ อปท. นะคะ อันนี้ก็ขออนุญาตว่าในส่วนของกรมบัญชีกลางเองเราก็จะ พยายามดูแลให้ทั่วถึง แล้วถ้ามีประเด็นปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกรมบัญชีกลางเองในบทบาท ของเรา เรามีคณะทำงานของเราที่เป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป เราจะแบ่งให้มีการกำกับดูแลหน่วยงานในส่วนกลาง ในขณะที่สำนักงานคลังจังหวัด ทั่วประเทศก็ดูแลพื้นที่ในภูมิภาคนะคะ เพราะฉะนั้นใน อปท. ต่าง ๆ เองกรณีที่มีประเด็น ปัญหาที่เกี่ยวข้องก็สามารถดำเนินการ แล้วก็แจ้งข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ผ่านทาง สำนักงานคลังจังหวัด กรมบัญชีกลางได้เช่นเดียวกันนะคะ เพราะฉะนั้นกรณีที่ท่านนำเสนอ ก็ขออนุญาตว่าอาจจะต้องเป็นราย อปท. ที่อาจจะต้องมาดูประเด็นปัญหากันอีกครั้งหนึ่งค่ะท่าน ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพนะคะ กรณีในเรื่องของหน่วยงาน ต่าง ๆ ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐในการที่จะนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินอะไรต่าง ๆ โดยหลักถ้าไม่มีระเบียบหรือกฎหมายยกเว้นไว้ หรือว่าไม่ได้มีการขอตกลงกับกระทรวง การคลังไว้ก่อน ตามหลักจะไม่สามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายได้ เพราะฉะนั้นกรณีถ้านำเรียน คงต้องไปดูรายละเอียดค่ะว่า ได้มีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้อนุญาตไว้หรือไม่ หรือว่า ได้มีการขอตกลงกับกระทรวงการคลังอย่างไร ซึ่งในการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เราก็คงจะพยายามดูความจำเป็นให้ได้มากที่สุดนะคะ แต่ว่ากรณีที่ท่านนำเรียนคงต้องไปดู ในรายละเอียดอีกนิดหนึ่งค่ะท่าน ขอบพระคุณค่ะ
กราบขอบพระคุณนะคะ ท่านณัฏฐ์ชนน ในประเด็นที่ท่านนำเรียนในส่วนนี้ทางกรมบัญชีกลางเองคงขออนุญาตรับไป พิจารณาดำเนินการต่อไป เพราะว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎระเบียบ ขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านศิริกัญญานะคะ กราบขอบพระคุณที่ท่านกรุณาเข้าใจในประเด็นอย่างถ่องแท้นะคะ คือในเรื่องนี้เอง ทางกรมบัญชีกลางนำเรียนท่านอีกครั้งหนึ่งนะคะว่า โดยหลักแล้วเราขอไปตามที่เรามี การคำนวณ เพียงแต่ว่าสำนักงบประมาณก็จะมีการตัดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เรา ก็รู้ว่ามันไม่พอ แต่ว่าทางสำนักงบประมาณก็จะมีแนวคิดของทางสำนักงบประมาณอยู่ เช่นเดียวกันนะคะท่าน ว่ามันมีรายการกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่นที่อาจจะต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้ แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลางเองเราก็ไม่ได้นิ่งเฉย เวลาที่มีกรณีที่จำเป็น จะต้องใช้ เราก็จะทำหนังสือไปที่สำนักงบประมาณขอใช้เงินงบประมาณก่อนค่ะท่าน ขอใช้เงินงบประมาณก่อน เพียงแต่ว่าสำนักงบประมาณในการพิจารณาแต่ละครั้งบางครั้ง เขาก็อาจจะพิจารณาในภาพรวม แล้วก็แจ้งมาว่าไม่สามารถที่จะเจียดเงินงบประมาณ มาให้เราได้ ทำให้เราจะต้องนำเสนอท่านรัฐมนตรีเพื่อขอใช้เงินคงคลัง อย่างไรก็ตามปัญหา ที่ท่านบอกว่าควรจะมีการท้วงติงสำนักงบประมาณอย่างเข้มงวด อันนี้เราก็คงต้องรับไป เช่นเดียวกันนะคะท่าน ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาครัฐ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง ขอรายงานผลการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ดังนี้
๑. สรุปผลการตรวจสอบรายงานการเงิน รายงานการเงินของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ และรายงานการเงินของกองทุน เพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ได้จัดทำขึ้นโดยถูกต้อง ตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชีภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด
๒. สรุปผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็มีการปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
๓. สรุปผลการดำเนินงาน อาจจะมีโครงการสำคัญที่ทางสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดินอาจจะยังต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน ซึ่งกรณีเหล่านี้ทางกรมบัญชีกลางเอง ภายหลังจากการตรวจสอบแล้ว เราได้มีการแจ้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินรับทราบและชี้แจงข้อสังเกต ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ มีการชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องมาให้ที่กรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ถึงได้จัดทำเป็นรายงานสรุป นำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ นำเรียนท่านเพื่อโปรดทราบค่ะ