นายสรชัด สุจิตต์

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ผมมีเรื่องกราบเรียนถึงท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ก็คือเรื่องคลองระบายน้ำ ร.๖ ของโครงการชลประทานดอนเจดีย์ ซึ่งคลองแห่งนี้นั้นเป็นของคลองที่รับน้ำจากอำเภอเลาขวัญผ่านอำเภออู่ทอง ลงไปยังพื้นที่ ตอนล่าง คืออำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ซึ่งในคลองนี้ก็เป็น คลองระบายน้ำอันสำคัญ ปัจจุบันประตูระบายน้ำนี้ได้ชำรุดมาเป็นระยะเวลาค่อนข้าง นานแล้ว ยังไม่ได้ทำการดำเนินการซ่อมแซม ก็ต้องขอไปยังทางกรมชลประทานให้ช่วย ดำเนินการในการเสริมคันคลองด้วย แล้วก็ทำประตูอาคารบังคับน้ำ ซึ่งอันนี้ก็สามารถ จะช่วยเหลือพื้นที่ของเกษตรกรรม แล้วก็สามารถจะรองรับในการเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ตอนบนได้รับประโยชน์

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ก็จะเป็นเรื่องของทุ่งหนองเกวียนเข็น ซึ่งทุ่งแห่งนี้เป็นทุ่งลุ่มต่ำ อยู่ติดกับบึงลาดน้ำเตียน ซึ่งเป็นบึงที่รับน้ำตั้งแต่อำเภอเลาขวัญแล้วก็อำเภอหนองปรือ ของจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านอำเภอหนองหญ้าไซแล้วก็อำเภออู่ทองมายังพื้นที่ตรงนี้ พื้นที่เหล่านี้ บังเอิญจะมีทุ่งติดบึงอยู่ก็คือทุ่งหนองเกวียนเข็นเป็นพื้นที่ถึง ๑๕,๖๐๐ ไร่ กินพื้นที่ถึงตำบลเจดีย์ ตำบลหนองโอ่งของอำเภออู่ทอง และตำบลศาลาขาวของอำเภอเมือง พื้นที่ตรงนี้ก็คือทำให้น้ำนั้นเวลาฝนตกมาระบายไม่ได้ก็จะท่วมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน แล้วก็ยังท่วมไร่นาสวนผสมต่าง ๆ มากมาย และทุกครั้งทางกรมชลประทานเองนั้น แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องเร่งดำเนินการ แก้ไขปัญหาโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำอยู่เป็นประจำเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่เหล่านี้ ทางชุมชน ก็มีการร้องขออยากได้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นอาคารถาวร เพื่อสามารถจะแก้ไขปัญหา ได้ทัน ไม่ต้องคอยมานั่งติดตั้งเครื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของผู้ที่ใช้น้ำในคลองมะขามเฒ่าอู่ทองตั้งแต่คลอง ๑๖ ถึงคลอง ๒๐ ตั้งแต่อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอเมือง และอำเภออู่ทองที่ใช้น้ำ ปัจจุบันนี้ ข้าวกำลังออกรวง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นจะมีผลกระทบต่อ ผลผลิตของเกษตรกร ต้องขอบคุณทางกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่มาช่วยเหลือ แต่ระยะเวลานั้นอาจจะไม่เพียงพอ ชุมชนอาจจะขอต่อระยะเวลาในการช่วยเหลือ อีกประมาณ ๑๕ วัน ขอกราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือในสภาแห่งนี้ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ก็คือเป็นเรื่องของถนนสัญจรสำคัญก็คือถนนกรุงเทพฯ-ชัยนาท หรือถนน ๓๔๐ นะครับ ใน Clip นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก็จะเป็นจุดเกาะ U-turn นะครับ หน้าห้างโลตัส ซึ่งเป็นทิศทางเหนือที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรีจะต้องมากลับรถ U-turn ที่หน้าห้างโลตัสแห่งนี้ค่อนข้างจะเยอะนะครับ และในจุดที่ ๒ ก็จะเป็นจุด U-turn ที่หน้าวัด ลาวทอง ซึ่งในจุดแห่งนี้เองก็จะเป็นจุดที่จะมีรถที่มาจากตัวเมืองสุพรรณบุรี แล้วก็ U-turn ไปยัง กรุงเทพมหานครในเส้นตรงนี้ ใน กม. ที่ ๗๖+๖๗๐ มีปริมาณค่อนข้างจะมากนะครับ ซึ่งผม ก็เรียนว่าในถนน ๓๔๐ ซึ่งเป็นถนนสัญจรอันสำคัญที่มีผู้ใช้สัญจรมากกว่า ๒๐,๔๖๐ คัน ต่อวัน และมีรถขนส่งผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นถึง ๓,๐๐๐ กว่าคันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อพี่น้องประชาชนในระหว่างเกาะ U-turn แห่งนี้อย่างมากมายในทุก ๆ ปีเป็นประจำ จะมีอุบัติเหตุเกือบทุกเดือนเลยครับ ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตและการสูญเสีย แล้วก็บาดเจ็บกันอย่างมากมาย ก็ฝากเรื่องตรงนี้ ไปยังกรมทางหลวงได้ช่วยพิจารณางบประมาณในการดำเนินการจุดกลับ U-turn หรือทำ สะพานข้ามแยกเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเรื่องที่ ๒ เป็นการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง หมายเลข ๓๒๖๐ ซึ่งเป็นถนนที่เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคตะวันตกกับภาคใต้ไปยังภาคตะวันออก หรือภาคเหนือ ซึ่งเส้นนี้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างอำเภอสองพี่น้อง แล้วก็มาที่อำเภอเมือง สุพรรณบุรี ในระยะทางเส้นตรงนี้จากเดิมทีเป็นถนน ๒ เลน ตอนนี้ได้ขยายเป็นถนน ๔ เลน โดยใช้คันคลองของกรมชลประทานเป็นการสัญจร ซึ่งปัจจุบันนี้การก่อสร้างในช่วง ตอนของในส่วนแรกถึงมะขามล้มเป็นการก่อสร้างเสร็จแล้ว ๘๙ เปอร์เซ็นต์ แต่ติดถนน ยังใช้ไม่ได้ครับ เพราะว่าจุดเชื่อมที่จะต้องตัดกับทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น เป็นจุดเชื่อมนี่ยังไม่ได้รับอนุญาต แล้วก็การก่อสร้างนี่เป็นระยะเวลาที่มา ๒ ปีแล้วที่ติดค้าง อยู่ตรงนี้ ซึ่งการขออนุญาตต่าง ๆ อย่างนี้ยังติดอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เร่งรัดในการดำเนินการ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ก็คือเป็นเรื่องน้ำประปาของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีอยู่ ๑๐ กว่า หลังคาเรือนหลังโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยนะครับ ซึ่งเรื่องตรงนี้เขายังไม่มีน้ำประปาใช้ ในเขตอำเภอเมืองเลย และอยู่ในตลาดเทศบาลเมืองด้วยนะครับ ก็อยากให้การประปาได้ ขยายเขตช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน ขอเสนอ ท่านศุภโชค ศรีสุขจร ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา วันนี้ผมจะขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง การหาแนวทางป้องกันฟื้นฟูเยียวยาอุบัติเหตุจากโรงเก็บ พลุระเบิด ซึ่งเป็นเรื่องด่วน ขออาศัยข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๑) และข้อ ๒๘ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง การขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรการป้องกันสร้างความ ปลอดภัยและการเยียวยา ความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิงระเบิด เนื่องด้วยจากเหตุการณ์ของพลุระเบิดซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรงและเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา หลายครั้งและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เหตุการณ์พลุระเบิดในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา อย่างกรณีพลุระเบิดของที่บ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสก็สร้างความ เสียหายชีวิตในวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตอย่างมากมายถึง ๑๒ คน บาดเจ็บนับเป็นร้อยแล้วมี บ้านเรือนเสียหายมากกว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน แล้วล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในวันที่ ๑๗ มกราคม๒๕๖๗ ก็เกิดเหตุการณ์พลุระเบิดที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างมากมายถึง ๒๓ คน ซึ่งคนในโรงงานนั้นเสียชีวิตทั้งหมดรวมถึงเจ้าของ โรงงานที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย กราบเรียนท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องของอุบัติเหตุดอกไม้ ไฟระเบิดหรือพลุระเบิดมีการเกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดบ้านเกิดผม คือจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ก็เกิดมา ๓ ครั้ง ปี ๒๕๕๕ซึ่งเป็นการจัดงานตรุษจีน ปี ๒๕๕๖ ปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๖๑ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๗ ในครั้งนี้ก็มีผู้เสียชีวิตเป็น ประวัติการณ์ที่มากที่สุดเหตุที่เกิดขึ้น ผมก็อยากจะขอแยกประเด็นออกเป็น ๓ ส่วนของการ เกิดปัญหา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ก็คือเกิดจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตในการผลิตและจำหน่าย ซึ่งในลักษณะของโรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นจากตามวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ก็จะอยู่ในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนเทศกาลต่าง ๆ แล้วก็ในเรื่องของตัวอาชีพ ซึ่งดอกไม้ไฟ ประทัด บั้งไฟ ตะไล แล้วก็โคมลอยพวกนี้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในวิถีชีวิต ของวัฒนธรรม และที่สำคัญการเกิดเหตุระเบิดในพื้นที่ของผมเยอะส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะ คือโรงงานที่ผลิต ซึ่งในการผลิตเองนั้นก็จะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะไม่เข้าในกฎหมายของโรงงาน เหตุที่เกิดในสมัยก่อนที่เกิดอยู่มากมายก็จะมี อยู่ตามบ้าน ก็คือเป็นการใช้วิถีชีวิตพื้นฐานเหมือนพี่น้องประชาชนไปรับจ้างงาน ก็เอาประทัด ที่เป็นการจุดไล่นกเอามาบรรจุตามบ้าน ก็คือมารับงานแล้วก็เอาไปส่งที่โรงงาน ซึ่งเหตุการณ์พวกนี้ก็จะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในอดีตที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทางฝ่ายรัฐโดยเฉพาะกรมการปกครองให้ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ออกไล่กวด ไม่ให้มีการ เอาวัตถุระเบิดนั้นไปทำตามบ้านเรือน ก็ทำให้พี่น้องประชาชนนั้นเข้าไปทำอยู่ในสถาน ประกอบการที่ขออนุญาต แต่ข้อสำคัญก็คืออยู่ในสถานประกอบการอนุญาตนั้น มันไม่เข้ากฎหมายอุตสาหกรรมของกรมโรงงาน เพราะว่าพนักงานที่มาทำนั้นเป็นการจ้างงาน โดยที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนที่ชัดเจน จะเป็นการลักษณะก็คือเหมางานว่าทำครบตามจำนวน เท่านี้ ได้ค่าตอบแทนเท่าไร เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยากจะมีรายได้เสริมยามว่าง ในการทำงานนั้น ก็ให้ความสนใจที่จะมาทำงานในอาชีพที่เสี่ยงตรงนี้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า การจะประกอบอาชีพเหล่านี้มีมาตรการที่จะไปให้องค์ความรู้กับคนที่เข้ามาทำงาน ในสถานประกอบการแห่งนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในครัวเรือน จะเป็นตั้งแต่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก แล้วก็ในวัยทำงานที่เสียชีวิตเหล่านั้น ก็มีความหลากหลาย แล้วบางท่านก็มีการศึกษาไม่ได้สูงมาก แล้วการอบรม การให้ความเข้าใจ และความตระหนัก ถึงความปลอดภัยในอาชีพที่อันตรายแบบนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราน่าจะเพิ่ม มาตรการอันสำคัญตรงนี้ไปถึงพี่น้องประชาชน เหตุการณ์ที่มูโนะนั้นก็คือเป็นเหตุการณ์ ในกลุ่มของสถานที่การค้าและจำหน่ายเกิดการสะสมของปริมาณดอกไม้ไฟ แล้วไปตั้งอยู่ กลางชุมชน จึงทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งในประเด็นตรงนี้ก็ควรจะต้องเร่ง ในการหามาตรการ ในการดูปริมาณควบคุม ซึ่งจริง ๆ แล้วผมไปนั่งอ่านดูในระเบียบ หรือคำสั่งร่วมถึง ๕ กระทรวง ใน ๕ กระทรวง ก็พยายามจะมีมาตรการต่าง ๆ มากมาย แต่ข้อสำคัญคือการติดตามและการบังคับใช้ตามกฎ ระเบียบ ของกระทรวง หรือกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติก็ตามนั้น เป็นการยากมากในการที่จะไปควบคุม และยิ่งตามประเพณี ตามเทศกาลต่าง ๆ แล้ว ก็จะมีร้านที่มาจำหน่ายอยู่ตามร้านเล็กร้านน้อยในชุมชน ในหมู่บ้าน ก็มากนะครับ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้ขออนุญาต แล้วทางรัฐ ทางปกครอง ก็ทำงานกันค่อนข้าง จะหนักในประเด็นตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมมองว่าในประเด็นตรงนี้พวกเราคงจะต้องนำเสนอ แนวทางในการแก้ไขปัญหา และควบคุมสิ่งที่อันตรายแบบนี้แล้วข้อที่สำคัญก็คือการเอาไปใช้ ผู้ที่ใช้เอง บางทีในการจำหน่ายก็ไม่ได้มีการกำหนดอายุของคนที่เอาไปใช้ อย่างเราเคยได้ยิน เหตุการณ์บ่อย ๆ ว่าเด็กเล่นประทัดแล้วมือแตกบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเหล่านี้เราไม่มีการควบคุม ในการซื้อวัตถุตรงนี้ บางทีเด็ก ๆ เขาก็เอาไปเล่นกัน ไม่ได้ใช้ไปตามวัตถุประสงค์ของ การผลิตจริง อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งผมเองปัญหาของ ในพื้นที่ที่เกิดล่าสุดที่ตำบลศาลาขาวนั้น จากการที่พวกเราภาครัฐได้ไปดำเนินการให้ไป ทำงานกัน คือไม่ให้เอาออกมาทำตามในครัวเรือน จึงทำให้บุคคลที่ต้องการจะมีรายได้เสริม เข้าไปทำงานอยู่ภายในโรงงาน แล้วเวลาเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จึงเสียชีวิตทั้งหมด ที่อยู่ในโรงงานผลิตแห่งนี้ ซึ่งไปดูในที่เกิดเหตุจะมีหลุมที่เป็นกลุ่มย่อย ๆ อยู่ถึง ๒๐ กว่าหลุม หมายถึงว่าก็คือจุดของผู้ที่เสียชีวิตนั้นได้ทำงานอยู่เป็นจุด ๆ แล้วก็เกิดระเบิดเป็นกลุ่มย่อย แล้วก็มีหลุมใหญ่คาดว่าเป็นที่รวบรวมของผลผลิต ในการผลิตนั้นทำให้เป็นหลุมขนาดใหญ่ ของในที่เกิดเหตุ ท่านประธานครับ กฎหมายมีอยู่หลายฉบับเลยทีเดียวที่พยายามจะบังคับใช้ แต่มันก็เป็นตามส่วนราชการต่าง ๆ ที่มองในมิติต่าง ๆแต่ผมมองว่าในส่วนตรงนี้ภาครัฐ ควรจะต้องเอาไปบูรณาการงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วก็เกิดความปลอดภัยให้กับ พี่น้องประชาชน ซึ่งตาม พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ ก็จะเป็น Potassium Chlorate ซึ่งก็ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายอยู่ในยุทธภัณฑ์ที่ควบคุม ซึ่งมันจะต้องเอามาผสมกับถ่าน หรือ Sulfur แล้วก็สิ่งต่าง ๆ หลายอย่างที่รวมกันกลายเป็นดินเทา แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเกิดเราไปใช้ลักษณะของตัวบั้งไฟพวกนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงแค่จุดให้เกิดพลังแล้วก็ ทำให้บั้งไฟนั้นขึ้นไปสูง แต่บังเอิญเหตุการณ์ที่โรงงานที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเป็นการ ทำประทัดที่เป็นลักษณะเป็นประทัดพลาสติก เป็นลูกบอลสำหรับจุดไล่นกซึ่งมันสามารถ จะสร้างความรุนแรงความเสียหายได้มากกว่าที่ไปเอาดินเทาอันนี้ไปทำอย่างอื่นมากถึง ๑๐๐ เท่า เพราะว่าวัตถุที่ไปหุ้มของดินเทานี้คือเป็นพลาสติก แล้วพันเพื่อทำให้เกิดแรงอัด ที่ค่อนข้างจะสูง ในเมื่อปริมาณของแรงอัดที่เอาไปผลิตแล้วนี้ มันมีอานุภาพค่อนข้างจะแรง และรวมในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิด ความรุนแรงที่ให้ความเสียหายอย่างมากมายเลยทีเดียว สาเหตุที่เรามองว่ามันน่าจะเกิดขึ้นนี้ ก็เกิดขึ้นจากบุคคลในการทำงานที่ขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอ หรือการสร้างความเข้าใจตรงนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ อาจจะเป็นเรื่องของการเก็บรักษาภายหลังได้รับการอนุญาตนั้น อาจจะขาดการติดตามที่เพียงพอ อาจจะเป็นเพราะด้วยมาตรการ อาจจะเป็นเพราะด้วย จะต้องมีการรวมกลุ่มของหลายส่วนราชการนัดหมายที่จะไปลง ฉะนั้นทุกครั้งที่ส่วนราชการ นัดหมายเข้าไปตรวจ บางทีผู้ประกอบการก็จะเลี่ยงในการหยุดทำงาน อันนี้ก็จะกลายเป็น ปัญหาแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น ฉะนั้นในส่วนที่ผมเองก็อาจจะขอนำเสนอแนวทาง เพื่อส่งให้ทางรัฐบาลไปดำเนินการ ปรับปรุง แก้ไข แล้วก็ยกระดับ ทั้งจะต้องไปปรับ พ.ร.บ. หรือแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรัดกุมและสร้างความปลอดภัยกับพี่น้อง ประชาชนได้

    อ่านในการประชุม

  • อย่างแรก ผมมองว่าในเรื่องเหล่านี้อาจจะต้องนำเสนอให้มีการควบคุม ปริมาณการผลิต ถ้ามีปริมาณมากกว่าเท่าไร ก็ขอให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงานได้ไหม เพราะว่าทุกครั้งกฎหมายโรงงานจะกำหนด ๕๐ คน หรือ ๕๐ แรงม้าขึ้นไป แต่ลักษณะ ของโรงงานขนาดนี้ก็ไม่มีจำนวนของพนักงานที่ชัดเจน ถ้าเกิดแก้เป็นที่ ๕ คน ก็ทำให้เกิด การควบคุม แต่ผลพลอยได้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผลกระทบก็คือต้นทุนของตัวลูกปิงปอง หรือลูกบอลสำหรับไปจุดไล่นกที่ภาคเกษตรจะต้องใช้ ก็อาจจะมีต้นทุนในราคาที่สูงขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ก็คือเป็นเรื่องของตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย และชีวอนามัย ซึ่งอันนี้ก็อยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน การให้ความรู้ และการควบคุมให้ผู้ประกอบการให้ความรู้อาจจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การสร้างตระหนักความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน แล้วข้อที่สำคัญผู้ที่ปฏิบัติงานนั้น หลายคนที่มาทำงาน ผมก็เกรงว่าอาจจะได้รับความเข้าใจอยู่แค่บางส่วน แต่ในบางส่วน ก็อาจจะมีความตระหนักและความไม่ชัดเจน ในเรื่องของความอันตรายตรงนี้ก็ทำให้ เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และที่น่าเสียดายว่าแรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้าสู่ในตัวกฎหมายของ ประกันสังคมโดยตรง ซึ่งทุกคนนั้นก็ต้องส่งเงินรายได้ของตัวเองตามมาตรา ๔๐ บางคน ก็ขาดส่ง ก็ทำให้ขาดผลประโยชน์บางส่วนของตัวเองที่ควรจะได้รับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย ในการประกอบการสถานที่อันตรายแห่งนี้ก็ควรที่จะต้องมี ประกันภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งการเสียหายในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตถึง ๒๓ รายนั้น ผลกระทบถึง ๑๗ ครัวเรือน มีเด็ก ๆ ที่จะต้องกำพร้าคุณพ่อ คุณแม่ แล้วเด็กที่ขาด ผู้ปกครองเสียชีวิตถึง ๑๕ ราย เยาวชนอีก ๓ ราย ผลกระทบมีทั้งผู้สูงอายุ ซึ่งบุคคล ที่มาทำงานในโรงงานนี้เขาคือเสาหลักของครอบครัว วันนี้เสาหลักของครอบครัวนั้นไม่อยู่ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร มีผู้ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ถึง ๕๓ ราย จากข้อมูลที่กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลง ได้ตั้ง Case Manager เข้าไปติดตาม ยังมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจที่ต้องเยียวยา และในระยะยาวคือความมั่นคงของ เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นได้รับการศึกษาที่มีความพร้อม ก็เป็นสิ่งที่พวกเรานั้นคงจะต้องติดตาม ช่วยเหลือกันในระยะยาว เหตุการณ์ครั้งนี้เสียหายค่อนข้างจะมากมายใหญ่หลวง ประชาชน เสียชีวิตถึง ๑๓ คน แต่การเสียหายในครั้งนี้ผมก็หวังว่าคงจะเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเรา จะมีมาตรการที่ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก การเสียหายมันไม่ได้เสียหายแค่ชีวิต และทรัพย์สินในปัจจุบัน แต่มันเป็นต้นทุนทางสังคม เป็นต้นทุนของประเทศชาติที่มหาศาล นับไม่ถ้วนที่จะต้องแก้ไขในอนาคต ผมเองก็ต้องขอกราบขอบพระคุณส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ทุก ๆ ท่าน มูลนิธิ องค์กร ส่วนราชการต่าง ๆ พี่น้องประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทุกคนส่งสิ่งของให้กำลังใจ ในภาวะที่พวกเรา เกิดวิกฤตินั้น แต่ในความเป็นคนไทยที่มีอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่เราดีก็คือความร่วมไม้ร่วมมือ ในการที่จะฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและวิกฤติตรงนี้ไปได้ ตั้งแต่เปิดศูนย์ในการช่วยเหลือ จนถึงปิดศูนย์ ทุกอย่างนั้นได้ความช่วยเหลือ การแก้ไข และการทำงานบูรณาการงานร่วมกัน จากทุกภาคส่วน กระผมในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของพี่น้อง ประชาชน ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณทุกท่านใน ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม