กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน เกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้สอบบัญชี ของสำนักงาน กสทช. นะคะ ขออนุญาตนำเรียนสรุปสาระสำคัญของรายงานการตรวจสอบ จากประเด็นการตรวจสอบที่กฎหมายของ กสทช. มาตรา ๖๙ วรรคสอง กำหนดให้ผู้สอบบัญชี ต้องตรวจสอบรายงานการเงินและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. ในรอบรายงานครั้งนี้เป็นการรายงานสำหรับงวดปี ๒๕๖๓ ประเด็น การรายงาน มี ๒ ส่วนหลัก ๆ ก็คือในเรื่องของการตรวจสอบรายงานการเงินของสำนักงาน กสทช. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ และในส่วนของรายงานการประเมินผล การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. สำหรับปีสิ้นสุด ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ เช่นกันนะคะ ลำดับแรก ขออนุญาตนำเรียนในเรื่องของรายงานการเงินของทาง กสทช. งบแสดงสถานะการเงิน ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ของสำนักงาน กสทช. มีรายการ สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น ๒๔๙,๖๒๖.๓๕ ล้านบาท หนี้สินรวม ๒๒๕,๔๑๖.๖๒ ล้านบาท แล้วก็ ส่วนของทุน ๒๔,๒๐๙.๗๒ ล้านบาท ส่วนของงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๓,๖๑๙.๕๗ ล้านบาท สำหรับการแสดง ความเห็นของผู้สอบบัญชีต่อรายงานการเงินของสำนักงาน กสทช. ได้แสดงความเห็น ต่อรายงานการเงินไว้อย่างไม่มีเงื่อนไขนะคะ แต่ว่าได้แสดงวรรคเน้นขอให้ผู้ใช้งบการเงิน ได้สังเกตตามหมายเหตุประกอบงบการเงินใน ๒ ข้อหลัก ๆ
ข้อแรก ก็คือเรื่องของเกณฑ์การจัดทำรายงานการเงิน ด้วยเหตุที่รายงาน การเงินของสำนักงาน กสทช. ในงวดปี ๒๕๖๓ เป็นการจัดทำรายงานการเงินตามมาตรฐาน การบัญชีภาครัฐ ซึ่งจะต้องไม่นำรายงานการเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์เข้าไปรวมนะคะ จึงได้มีวรรคเน้นไว้ว่า รายงาน การเงิน กสทช. ฉบับนี้ไม่ได้นำเอารายงานการเงินของกองทุนมารวมไว้ และหมายเหตุ ข้อ ๔๙ ก็คือเรื่องของคดีพิพาท ข้อพิพาทและคดีสำคัญ ซึ่งปัจจุบันนี้สำนักงาน กสทช. ที่เป็นผู้ฟ้องมีทุนทรัพย์ของคดีความ ทั้งหมด ๔,๗๙๒.๘๔ ล้านบาท และที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวม ๑๒๖,๕๐๙.๔๓ ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนความเห็น ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเนื่องจากเรื่องที่แสดงไว้ในวรรคเน้น
ลำดับที่ ๒ เป็นสาระสำคัญของรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงิน และทรัพย์สินสำหรับปี ๒๕๖๓ ดังที่ได้นำเรียนว่าพระราชบัญญัติ กสทช. มาตรา ๖๙ วรรคสอง ได้กำหนดให้มีการจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ จัดทำรายงานแล้ว ก็เพื่อแสดงความเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ประสิทธิผลของการใช้จ่ายเงิน และทรัพย์สินว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และได้ผลตามเป้าหมายที่ กสทช. กำหนดไว้เพียงใด ขอบเขตการประเมินมีด้วยกัน ๓ ส่วน
ส่วนแรก ประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน
ส่วนที่ ๒ การประเมินผลการจัดการทรัพย์สิน
ส่วนที่ ๓ การประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ของ สำนักงาน กสทช.
ลำดับแรก ในส่วนของการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินนะคะ สำนักงาน กสทช. ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่าย จำนวนทั้งสิ้น ๖,๕๔๘.๓๒ ล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะมีเงินที่มาจากส่วนของเงินเบิกเหลื่อมปี จำนวน ๑,๒๓๖.๖๔ ล้านบาท ทำให้ งบประมาณรวมของ กสทช. รวมเงินกันเหลื่อมปีแล้ว ๗,๖๕๘.๔๔ ล้านบาท ในจำนวนนี้ ในการบริหารการใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ถือว่าสำนักงาน สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นนะคะ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ เราพบก็คือ แม้ว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ดีขึ้นก็พบว่ายังมีเงินที่จะต้องมีการกันไว้เหลื่อมปี ยังคงมีอยู่จำนวนมาก จึงสะท้อนถึงเรื่องของการตั้งงบประมาณที่อาจจะยังไม่เหมาะสม การบริหารงบประมาณที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็ควรที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ที่กำหนดไว้ ในลำดับที่ ๒
ได้ค่ะ ก็ขออนุญาต สรุปในส่วนของการรายงานการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินนะคะ หลัก ๆ ก็คือในเรื่องของการใช้จ่ายที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แล้วก็เรื่องของการปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะคะ ดิฉัน เกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาต ประการแรกก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างสูงที่ให้ความสนใจ แล้วก็ให้ความสำคัญกับการนำเสนอรายงาน ของผู้สอบบัญชีและรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินในส่วนนี้นะคะ ก็ต้อง ขออนุญาตนำเรียนในเรื่องของคำถามที่มีการสอบถามมาในหลาย ๆ ประเด็น ในส่วนของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาตกราบเรียนตอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เป็น เรื่องของการบริหารจัดการของทาง กสทช. ก็ขออนุญาตรับไป แล้วก็ทาง กสทช. ไปพิจารณา ดำเนินการต่อไปนะคะ นำเรียนอย่างนี้ค่ะ ในส่วนของรายการที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขในรายงาน การเงิน ตั้งแต่ท่านพลากรได้กล่าวถึงในเรื่องของรายได้ค่าธรรมเนียม แล้วก็การใช้จ่าย รวมทั้งค่าตอบแทนของคณะกรรมการ กสทช. และผู้บริหาร ในส่วนนี้การตรวจสอบเราก็ ตรวจสอบตามกฎหมายระเบียบที่ทาง กสทช. ด้วยความที่ กสทช. เป็นองค์กรที่เป็นลักษณะ ขององค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ก็จะเป็นกฎระเบียบที่ทาง คณะกรรมการ กสทช. ดำเนินการเอง แต่อย่างไรก็ตามกฎระเบียบเหล่านั้นก็จะต้องผ่าน การพิจารณาจากในส่วนของกระทรวงการคลังถ้าเป็นเรื่องของการใช้จ่ายเงิน แล้วก็มี การประกาศราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบทาง สตง. เองก็ได้มี การเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงกับองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์การมหาชนอื่น ๆ แล้วก็ให้ ข้อสังเกตในภาพรวมของหน่วยงานในลักษณะนี้เกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าเบี้ยประชุมนะคะ ซึ่งเราก็มีการรายงานไปที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้เป็นข้อมูลสะท้อนภาพของ ความสอดคล้อง หรือความเป็นไปเกี่ยวกับเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณว่าควรจะต้อง เป็นไปอย่างคุ้มค่าแล้วก็มีประสิทธิภาพสูงที่สุดนะคะ เพราะฉะนั้นในเรื่องของค่าตอบแทน ก็จะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ในเรื่องของการประมูลคลื่น จัดสรรคลื่นต่าง ๆ เช่นกันก็มีกฎ ในส่วนของ พ.ร.บ. กสทช. เองก็ได้กำหนดไว้ในเรื่องของการประมูลแล้วก็มี การหักค่าใช้จ่าย แล้วก็นำส่ง แล้วก็จะตรวจสอบว่าการดำเนินการรายได้ที่เกิดขึ้นจาก การประมูลคลื่นนั้นเป็นรายได้ที่พึงต้องรับรู้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว ในรายละเอียดเดี๋ยวขออนุญาตตอบ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปนะคะ
สำหรับในเรื่องของข้อพิพาทนะคะ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราได้พูดคุยกับทาง ผู้บริหารของ กสทช. เสมอมาว่าก็ควรจะต้องดำเนินการ เพราะถ้าท่านได้อ่านตัวหมายเหตุ ก็จะเห็นว่าในส่วนของคดีความและข้อพิพาทมันจะมีประเด็นที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีตรงนี้ อยู่ระหว่างการบังคับเป็นความเสียโอกาสของ กสทช. ที่จะได้รับเงิน เพราะฉะนั้นเราก็ได้ให้ ข้อเสนอแนะในการเร่งรัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจัดการเกี่ยวกับการบังคับคดี แล้วก็คดีความ เพื่อให้นำเงินที่เกิดขึ้นนั้นมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการให้มากที่สุดนะคะ
ในส่วนของท่านชัยวัฒน์นะคะ ก็จะเป็นประเด็นของหมายเหตุเกี่ยวกับ เรื่องของการประมูลคลื่น ในส่วนนี้เมื่อเราดูรายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่น ๒๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์กับรายจ่าย ก็จะมีรายจ่ายอยู่ใน ๒ หมายเหตุ คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในยอด ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ยอดนี้ไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการให้มีการประมูลคลื่น เป็นเงินที่จะต้องรอเพื่อชดเชยให้กับผู้รับใบอนุญาตที่ถูกเรียกคืนคลื่น อันนี้เป็นไปตามมติ กสทช. ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการในส่วนนี้นะคะ แล้วก็สำนักงาน กสทช. เองก็นำเงินส่งไปที่ กองทุน การชดเชยก็เป็นการชดเชยให้กับ บมจ. อสมท แล้วก็กรมการทหารสื่อสาร ในอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นส่วนของการนำส่งคลังนะคะ อันนี้จากการตรวจสอบแล้วก็จะมีตัวเลข ปรากฏตามที่เราได้รายงาน
ในส่วนของหมายเหตุที่ ๓๔ เรื่องของรายได้ กทปส. ๔๙ ล้านบาท ก็จะเป็น ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อใช้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม อันนี้ปิดยอดแล้วก็นำส่งเงิน กสทช. ได้นำเงินดังกล่าวนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ปรากฏตามงบการเงินที่ตรวจสอบแล้ว อันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการบันทึกรายการแล้วก็นำส่ง รับรู้ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายถูกต้องแล้วนะคะ
ในส่วนของท่านฐากรแล้วก็อีกหลาย ๆ ท่านที่ได้กล่าวถึงในเรื่องของ การนำเสนอรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ล่าช้า แล้วก็ไม่ทันกับรายงานประจำปี ก็ต้องขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าในส่วนของกฎหมายเขียนแยกกันนะคะ รายงานประจำปี กสทช. จะต้องนำเข้าสภาให้ทันภายใน ๑๕๐ วันนับจากวันสิ้นปี สิ้นปีบัญชีของเขาคือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็ประมาณเดือนพฤษภาคมนะคะ ในขณะที่ส่วนของรายงานการเงิน กสทช. กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงิน การคลังของรัฐ คือ กสทช. เขาก็จัดทำรายงานการเงินภายใน ๙๐ วัน แล้วก็สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินมีเวลาในการตรวจสอบตามกฎหมายคือ ๑๘๐ วัน เพราะฉะนั้นกว่า กสทช. จะส่งรายงานการเงินให้เราก็เข้าไป ๓ เดือนแล้ว ถ้าเป็นทางปฏิบัติคือเรามีเวลาจาก ๑๕๐ วัน เราเหลือเวลาอีกประมาณ ๖๐ วันในการที่ตรวจทั้งเรื่องของรายงานการเงิน แล้วก็รายงานประเมินผล อันนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยากแน่ ๆ นะคะ เพราะว่าในส่วนที่ สตง. รับผิดชอบไม่ได้มีเพียงแค่ กสทช. หน่วยเดียว เพราะหน่วยอื่นก็ต้องถูกเร่งรัดในเรื่อง ของการตรวจสอบให้ทัน ๑๘๐ วันเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่ กสทช. ณ ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาระบบ ERP ซึ่งเป็นระบบของการประมวลผลในเรื่องของ การเงินบัญชีแล้ว อันนี้เราก็มาคุยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะส่งรายงานการเงินให้เรา ได้เร็วขึ้น แล้วในเรื่องของการตรวจสอบเราก็สามารถที่จะดูข้อมูลจากระบบ ERP นั้นได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอให้มีการส่งรายงานการเงินอย่างเป็นทางการนะคะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้ ดำเนินการกับฝ่ายบริหารของ กสทช. แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะต้องมีเวลาที่มันเหลื่อมกัน สำหรับในส่วนของการตรวจสอบรายงานการเงินเราตรวจเสร็จทันเวลาที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ทีนี้ในเรื่องของการตรวจสอบรายการเงินเมื่อทำเสร็จกฎหมายวินัยการเงินการคลังบอกให้ เผยแพร่ เพราะฉะนั้น กสทช. ก็จะเผยแพร่รายงานการเงินที่ผ่านการตรวจสอบไว้ใน Website ของ กสทช. เอง แต่ว่าด้วยเหตุที่เวลาของการจัดทำรายงานประจำปีเหลื่อมกัน ทำให้ ในรายงานของผู้สอบบัญชีจะต้องนำประเด็นเรื่องของความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น หลังการตรวจสอบมาแสดงให้ผู้ใช้รายงานการเงินได้เห็นว่า รายงานประจำปีที่จัดพิมพ์ เผยแพร่ไปนั้นตัวเลขในรายงานการเงินถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยการตรวจสอบนะคะ อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่หลาย ๆ รัฐวิสาหกิจหรือหลาย ๆ หน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดทำรายงาน ประจำปีก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะด้วยความที่ระยะเวลา เงื่อนเวลามันเหลื่อมกัน อันนี้ก็ต้องขออนุญาตนำเรียน แต่ในส่วนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเราให้ความสำคัญ กับทุก ๆ หน่วยงานที่จะต้องมีการตรวจสอบรายงานการเงินนะคะ แต่ว่าพอพ่วงด้วยรายงาน ประเมินผลมันอาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เพราะว่าจะต้องตรวจงบประมาณทั้งหมด ประมาณ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาทของ กสทช. ก็ต้องขออนุญาตกราบเรียนไว้นะคะ
ในส่วนอื่น ๆ ก็น่าจะเป็นประเด็นที่คล้าย ๆ กัน ทางสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินก็ขอน้อมรับในข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตของทุก ๆ ท่านเลย เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาในเรื่องของการตรวจสอบ แล้วก็การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร หน่วยงาน กสทช. เองก็จะต้องกลับไปทบทวนในหลาย ๆ ประเด็นที่เราให้ข้อเสนอแนะนะคะ ซึ่งข้อเสนอแนะที่ได้นำเรียนไว้ในรายงานประเมินผลส่วนใหญ่ทาง กสทช. ก็ได้มีการดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไข อย่างเช่นในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้วิธีการในเรื่องของการเจาะจงมาก จนเป็นที่สังเกตได้ว่าลักษณะของการขาดความเป็นธรรมในเรื่องของการแข่งขัน อันนี้ กสทช. ก็ได้มีการปรับ แต่ก็ค่อย ๆ ปรับนะคะ
ส่วนในเรื่องของประเด็นโครงการที่มีความซ้ำซ้อน ก็ต้องนำเรียนในภาพที่เรา ตรวจสอบว่าในโครงการใดที่มีความซ้ำซ้อนเราก็จะให้ข้อสังเกต แล้วก็ไปดำเนินการเสียให้ ถูกต้อง แล้วก็โครงการใดที่ไม่ได้มีการดำเนินการเลย อันนี้เราก็สะท้อนไว้ในรายงาน ซึ่งนี่คือ สิ่งที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของ กสทช. นะคะ ในขณะเดียวกัน เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ผลการตรวจสอบที่เกิดขึ้นนอกจาก สตง. จะสื่อสารกับทางผู้บริหารของ กสทช. เองด้วยแล้ว ในปีนี้และต่อ ๆ ไปก็จะได้นำเรียนทางคณะกรรมการตรวจสอบ แล้วก็ คณะกรรมการบริหารของ กสทช. ให้ได้รับทราบ แล้วก็เร่งในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การใช้จ่ายเงินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในส่วนนี้ก็ขออนุญาตนำเรียน
แล้วก็รายการที่เกิดขึ้นจากความคลาดเคลื่อนของรายงานประจำปีไม่ว่า จะรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บางส่วนเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ท่านสมาชิกได้นำเรียนแล้ว ว่าเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วบางรายการก็เกิดขึ้นจากการจัดประเภท รายการ อันนี้ไม่ได้เป็นประเด็นผิดอย่างมีสาระสำคัญ สตง. ก็เลยไม่ได้มีการออกรายงาน ที่มีเงื่อนไขหรืองบไม่ถูก อันนี้ก็เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีทั้งหมด ก็ขออนุญาตสรุป ในประเด็นภาพรวมตามนี้นะคะ กราบขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่านค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านค่ะ ดิฉัน เกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขออนุญาตที่จะตอบประเด็น ข้อซักถามท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ เกี่ยวกับในเรื่องของการตรวจสอบเชิงธุรกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วางแผนการตรวจสอบ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ เราได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อบกพร่องที่ตรวจพบ อย่างที่ท่านได้กล่าวก็คือ มีข้อตรวจพบในเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ เราก็จะมีการแจ้งผล แล้วในส่วนนี้ก็ดำเนินการในเรื่องของการติดตามการดำเนินการของ หน่วยในสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมดแล้ว ขอบพระคุณค่ะ
ถัดไปก็จะเป็นท่านนิพนธ์ คนขยัน ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำที่ให้กับ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะคะ เรื่องของการตรวจเชิงแนะนำ ด้วยหน้าที่และอำนาจ ของท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านได้มอบหมายแล้วก็ให้นโยบายกับผู้ตรวจสอบทุกคน ว่าจะต้องทำตัวเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา และในขณะเดียวกันในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ก็กำหนดบทบาทในส่วนนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบของสำนักงานด้วย ที่จะต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ในมาตรา ๕๗ จะบอกไว้เลยว่า ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ถ้าหน่วยรับตรวจไม่มั่นใจในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถ ที่จะสอบถามสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาได้ แล้วเราก็มีเงื่อนเวลาที่จะต้องตอบ ข้อสอบถามเหล่านั้นภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่ทางหน่วยรับตรวจ สามารถที่จะได้รับทราบ แล้วก็สามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างเป็นไปตามกฎหมายระเบียบ มีการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดต่อไป
ในเรื่องของข้อร้องเรียน ก็ต้องเรียนว่าในกระบวนการทำงานของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการที่จะต้องรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานหรือว่า ประชาชนที่ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ ที่จะให้ข้อมูลต่อการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม กฎหมาย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้สำนักงานเองก็มีระบบในการจัดการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน ถ้าเป็นในส่วนของภูมิภาค เราก็มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ๑๕ แห่ง ในการ ที่รับเรื่องร้องเรียนจากทุกแหล่งเลยค่ะ รวมทั้งประชาชน แล้วก็ดำเนินการตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินที่กำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสอบแล้ว ท่านที่สอบถามหรือร้องเรียนก็สามารถที่จะติดตามสอบถามมาที่สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคทั้ง ๑๕ แห่ง หรือถ้าในส่วนกลางก็คือที่สำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินส่วนกลางได้เลย เราก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการต่อเรื่อง ร้องเรียนเหล่านั้น และที่สำคัญก็คือสำนักงานนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติตาม ข้อกำหนดจริยธรรม ก็จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่มีอคติใด ๆ นะคะ กราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตตอบคำถาม ท่านวิทยา แก้วภราดัย นะคะ ขออนุญาตที่เอ่ยนาม ๒ ประเด็น ก็คือเรื่องของการร้องเรียน ช่องทางในการร้องเรียนก็สามารถที่จะเข้ามาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ หรือว่า มีเป็นจดหมาย เป็นหนังสือ เป็น e-Mail มาที่เรา ตอนนี้เรากำลังพัฒนาในเรื่องของระบบ Chatbot เพื่อที่จะให้เข้าถึงได้ ทั้งที่ส่วนกลางแล้วก็ส่วนภูมิภาคอย่างที่ได้นำเรียนไป เรื่องของการตรวจสอบงานก่อสร้าง งานจัดซื้อจัดจ้าง อันนี้ก็ขอน้อมรับในคำแนะนำ แล้วก็ จะนำเรียนท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสั่งการให้ทางผู้ตรวจสอบทั้งส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาคให้ความสำคัญในเรื่องนี้ต่อไป กราบขอบพระคุณมากค่ะ