ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 - 18.47 นาฬิกา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านสมาชิกครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมจะอนุญาตให้สมาชิก ได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมนะครับ แล้วก็ยินดีต้อนรับเข้าสู่การประชุม สภาในสมัยที่ ๒ สมัยนี้เราจะมี พ.ร.บ. พิจารณามากพอสมควร ก็อยากให้ทุกท่านช่วยกัน รักษาเวลาให้อยู่ใน ๒ นาที เราจะได้ไม่เบียดเบียนวาระอื่น ๆ ขอบคุณครับ เรียนเชิญท่านแรก ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พร้อมไหมครับ ถ้าไม่พร้อมผมขอไปท่านที่ ๒ ก่อนนะครับ ท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน อยู่จำนวน ๔ เรื่องด้วยกัน
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและ อันดามัน ส่งผลให้วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบ ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำท่วมขังในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนเป็นเหตุให้พี่น้องภาคเกษตร ภาคครัวเรือน ภาคประมง และภาคปศุสัตว์ได้รับความเดือดร้อน ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประกาศภัยพิบัติไปเรียบร้อยแล้ว กระผมฝากถึงรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งแก้ไขปัญหา ของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากด้านการเกษตร ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ให้รัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาเยียวยาพี่น้องประชาชนเป็นการเร่งด่วน
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เนื่องด้วยวัชพืชในแม่น้ำลำคลองในเขตอำเภอปากพนังและ อำเภอหัวไทรเกิดขึ้นมีจำนวนมาก ทำให้การระบายน้ำในช่วงอุทกภัยเกิดความล่าช้า ฝากไปยัง กรมชลประทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งจัดสรรเครื่องจักรในการ เร่งลอกวัชพืชเป็นการเร่งด่วน
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เนื่องด้วยในช่วงมรสุมของทุกปีตลอดแนวชายฝั่งของทะเล อำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทรได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่น ทำให้ พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน บ้านเรือน และความเสียหาย เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนทุกปี ฝากไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยเร่งสำรวจและจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งในส่วน ที่ยังขาดหายตลอดชายฝั่งของอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ สืบเนื่องจากถนน นศ.ถ.๖๔๐๐๒ ถนนสามแยก ๔๐๑๓ บ้านแสงวิมาน ซึ่งเป็นถนนขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้อย แต่ยังไม่มีงบประมาณ เพียงพอ ได้รับความชำรุดอย่างมากมาย และในช่วงของน้ำทะเลหนุนสูงจะไหลข้ามถนน เข้าในแปลงส้มโอทับทิมสยามของพี่น้องประชาชน ทำให้ส้มโอทับทิมสยามหยุดการเจริญ เติบโต และล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงกระทั่งพืชอื่น ๆ จึงควรยกระดับถนนนี้ขึ้น และซ่อมสร้างถนนขึ้นใหม่ให้มีความสูงและแข็งแรง จะช่วยกั้นน้ำเค็มไม่ให้ไหลข้ามผ่านได้ ฝากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เร่งจัดสรรงบประมาณเป็นการ เร่งด่วนด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๓ อำเภอถลาง ตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องมาปรึกษาหารือท่านประธานดังนี้ครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๖ หรือถนนสนามบินภูเก็ต-เมืองใหม่ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีน้ำไหลออกมาจากเกาะกลางถนนมีกลิ่นเน่าเหม็นและน้ำท่วม ขังถนน ทำให้ถนนลื่นเพราะมีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากไปยังแขวงทางหลวงภูเก็ตเร่งซ่อมแซมให้ด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๓๐ หรือถนนบ้านดอนจอมเฒ่า-เชิงทะเล หน้าปากซอยป่าสัก ๑๓ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไฟฟ้าส่องสว่างดับมาเป็นเวลานานแล้ว ฝากแขวงทางหลวงภูเก็ตเร่งซ่อมแซมเพื่อคืนแสงสว่างให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ระบบประปาชนบท หมู่ ๕ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่ตั้งอยู่ภายในวัดศรีสุนทรก่อสร้างโดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม สร้างมา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่สามารถเก็บน้ำได้และมีสนิม เกรงจะเป็น อันตรายทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ชุมชนมีเด็ก ๆ วิ่งเล่น ใกล้ถังเก็บน้ำ ฝากไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมซ่อมแซมให้ใช้งานได้ ให้มีความปลอดภัย ด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ น้ำตกกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ แห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวทุกวัน ในปัจจุบันห้องน้ำ สาธารณะมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่สามารถใช้งานได้ ฝากไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมปรับปรุงซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ด้วยครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ สภาพพื้นผิวถนนหมายเลข ๔๐๒๙ กะทู้-ป่าตอง ปัจจุบันเวลาฝนตก ถนนลื่นมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากไปยังเทศบาลเมืองกะทู้เร่งดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงพื้นผิวจราจรให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เรียนเชิญท่านโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายแพทย์โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ขอเรียนปรึกษาหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ๓ เรื่องด้วยกันครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ปัญหาถนนชำรุดเป็นหลุม ขาดการซ่อมแซม ขาดไฟส่องสว่าง และมีการถ่ายโอนจากทางกรมหลวงชนบทไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผิดหน่วยงาน โดยเฉพาะสายทางบ้านดงบัง-โนนสะอาด จากบ้านดงบัง ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ไปยังบ้านโนนสะอาด ตำบลคอนสวรรค์ กรมทางหลวงชนบทได้โอนไปที่ อบต. โนนสะอาด ทำให้ถนนช่วงที่ผ่านบ้านดงบัง ตำบลลาดใหญ่ขาดการดูแล ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ ของ อบต. โนนสะอาด แต่เป็นพื้นที่ของ อบต. ลาดใหญ่ ส่งผลทำให้ถนนขาดการซ่อมแซม เป็นหลุม ขาดไฟส่องสว่าง เกิดอุบัติเหตุต่อชีวิต ทรัพย์สิน จึงขอให้กรมทางหลวงชนบท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการโอนย้ายให้ถูกต้อง และแก้ไขปัญหา ถนนซ่อมแซมให้ถูกต้องด้วยครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับพี่น้อง ประชาชนบ้านหนองคอนไทย หมู่ ๕ หมู่ ๑๒ หมู่ ๑๔ หมู่ ๑๘ หมู่ ๑๙ ประชาชนกว่า ๑,๐๐๐ หลังคาเรือนหรือกว่า ๓,๐๐๐ คนไม่มีน้ำใช้เพียงพอ เพราะฉะนั้นแล้วจึงขอให้รับการสนับสนุน โครงการปรับปรุงประปาผิวดินบ้านหนองคอนไทย ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการด้วยครับ
นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ขอขยายถนนสาย ๒๐๒ ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๐ ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ไปยังอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา เป็น ๔ ช่องจราจร ระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวกและมีการเชื่อมต่อไปยัง สถานีรถไฟความเร็วสูงอำเภอบัวใหญ่ และลดการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน ขอให้ กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านตวงทิพย์ จินตะเวช ครับ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องอำเภอเดชอุดม ซึ่งเป็น เขตพื้นที่ของดิฉันค่ะ ขอสไลด์ด้วยนะคะ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องสะพานเชื่อม บ้านป่าตาว ตำบลตบหู ถึงบ้านบัวเทียม ตำบลกลาง สภาพสะพานนี้เป็นสะพานไม้เก่า ที่พ่อแม่พี่น้องก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงกันเองมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วงฤดูฝน สะพานเส้นทางนี้จะใช้งานไม่ได้เลย เนื่องจากน้ำท่วมสูงเป็นประจำทุกปี พ่อแม่พี่น้อง ที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้มาจากหลายตำบล หลายอำเภอ หลายหมู่บ้าน ซึ่งได้รับความเดือดร้อน เป็นอย่างยิ่ง ดิฉันขอกราบเรียนท่านประธานฝากไปยังกรมทางหลวงชนบทที่ได้มีการ ออกสำรวจและทำประชาคมครบแล้วทั้ง ๓ ครั้ง ให้ได้มีการผลักดัน เร่งรัด และพิจารณา โครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้อย่างรวดเร็วที่สุดด้วยค่ะ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องถนนสาย อบ.๒๑๙๒ หรือเส้นเดชอุดม-นาห่อม ที่ดิฉันได้เคย หารือไปเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างอยู่ระยะทาง ประมาณ ๗๐๐ เมตร ต้องขอขอบพระคุณด้วยนะคะ แต่สำหรับเส้นทางที่ยังไม่ได้มีการ ก่อสร้าง ถ้างบประมาณที่มีอยู่มีไม่เพียงพอหรือมีอย่างจำกัด ดิฉันขอเสนอแนะให้แบ่ง การก่อสร้างออกเป็นระยะ ๆ ได้ แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ดิฉันขอกราบเรียนท่านประธาน ฝากไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี คือขอให้มีการติดตั้งไฟส่องทาง เนื่องจาก สภาพถนนเส้นนี้ทั้งแคบ ทั้งลึก ทั้งชัน และมืดสนิท จุดที่ลึกที่สุดของถนนเส้นนี้อยู่ที่ประมาณ ๑๐ เมตรเมื่อวัดจากผิวจราจรลงมา ถ้าเกิดมีการติดตั้งไฟส่องทางแล้วจะทำให้พ่อแม่พี่น้อง ที่สัญจรไปมายามค่ำคืนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และบรรเทาความเดือดร้อนของ พ่อแม่พี่น้องได้เป็นอย่างดี กราบขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ พรรคก้าวไกล เขตสายไหม วันนี้มีเรื่องมาหารือท่านประธานทั้งหมด ๓ เรื่อง ขอสไลด์ด้วย นะคะ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่อง เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการนำแท่งปูนมาวางขวางบริเวณจุดทางลาดสำหรับรถเข็น Wheelchair บริเวณถนนพหลโยธินขาเข้าใกล้ ๆ ซอยพหลโยธิน ๕๔/๓ ก่อนถึงประตู กรุงเทพฯ จริง ๆ เขาเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ขี่บนทางเท้า แต่การแก้ปัญหา แบบนี้เป็นการแก้ปัญหาโดยการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ อยากเรียนไปถึงทางกรมทางหลวง ให้ดำเนินการเอาแท่งปูนเหล่านี้ออกไปด้วยเพื่อความสะดวกต่อการสัญจรของผู้เปราะบาง ด้วยนะคะ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของรถบรรทุก รถพ่วง รถขนดิน อันนี้พูดมาตั้งแต่ สมัยที่แล้วว่าในพื้นที่เขตสายไหมนอกจากปัญหาเรื่องส่วย ซิ่ง วิ่งนอกเขต เศษดินหล่น ทำถนนพัง ยังมีปัญหาเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร จากคลิปจะเห็นได้ว่ามีความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก ๆ แล้วถ้าดูจากคลิปมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านไปก็คือมอเตอร์ไซค์ ของตำรวจ ไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอยากเรียนไปถึง สน. คันนายาว สน. สายไหม สน. บางเขน ให้กวดขันเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่อง PM2.5 เรื่องนี้ไม่พูดไม่ได้ เพราะว่าเราก็ผจญกันมา หลายวัน ทาง สส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้ไปเข้าพบ ผอ. สำนักสิ่งแวดล้อม เราเลยพบว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพมหานครประมาณ ๔๕ เปอร์เซ็นต์มาจากรถบรรทุก เป็นปัจจัยหลัก และเชื่อมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีการก่อสร้าง ในปัจจุบัน จึงอยากเรียนท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการเร่งด่วน ในการจัดการกับปัญหาฝุ่นควัน ก่อนที่วัน Christmas นี้ Santa Claus จะไม่มา จะเป็น มะเร็งปอด Is Coming to Town แทนนะคะท่านประธาน ฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ครับ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ดิฉัน นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๙ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉัน มีข้อหารือท่านประธาน ๓ หัวข้อ ขอสไลด์ด้วยค่ะ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียน จากคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองโรงเรียนบ้านโนนลาน โรงเรียนบ้านโนนลาน หมู่ ๙ ตำบลเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเรียนระดับ อนุบาล ๒ ถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ มีอาคารเรียนอยู่ ๑ หลัง คืออาคารเรียน ศก. ๐๔ สภาพ อาคารผุพังและชำรุดไม่เหมาะที่จะจัดการเรียนการสอน ขณะนี้ทั้งโรงเรียนได้อพยพ ไปเรียนอยู่ที่ศาลาวัดบ้านโนนลาน และบางห้องต้องไปนั่งเรียนอยู่ใต้ร่มไม้ ซึ่งทั้งตากแดด และตากลม ดิฉันฝากท่านประธานไปยังผู้ที่มีความรับผิดชอบได้ลงมาช่วยแก้ไขด้วยค่ะ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากผู้นำอำเภอบึงบูรพ์และอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ถนนหมายเลข ๓๐๐๕ ซึ่งเป็นที่ชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อและไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง และถนนหมายเลข ๒๐๘๗ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ขอให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ อบจ. จังหวัดศรีสะเกษช่วยลงมาแก้ไขโดยด่วน ขอบคุณมากค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านธนเดช เพ็งสุข ครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดพร้าว บึงกุ่ม พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องมาหารือครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก อยากประสานไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง เรื่อง ไฟจราจร คนข้ามถนนบริเวณปากซอยนาคนิวาส ๖ ตอนกลางคืนค่อนข้างมืด มีทางม้าลายอยู่จริง แต่ว่าขาดไฟสัญญาณคนข้าม แล้วก็เป็นพื้นที่ที่คนข้ามชุกครับ เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ วอนท่านประธานประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยากให้ช่วยพิจารณาเพิ่มทางเดินรถสาธารณะ ปัจจุบันในเขตลาดพร้าวมีรถเมล์เพียงสายเดียว คือ ๑๕๖ นะครับ วอนท่านรัฐมนตรีช่วยพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ผ่านไปยังกรุงเทพมหานครครับ ช่วยดำเนินการปรับปรุงถนน ในหมู่บ้านอยู่เจริญ ๓ ช่วงท้ายซอยในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ได้หยุดชะงักไปเป็นเวลาประมาณ ๓-๔ ปีแล้วจากผู้ว่าราชการคนเดิม วอนท่านผู้ว่าราชการคนปัจจุบันช่วยดำเนินการต่อ ฝากท่านประธานไปยัง กทม. ด้วยครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ฝากท่านประธานผ่านไปยัง กทม. เช่นเดียวกันครับ ช่วยปรับปรุง และติดตั้งแสงสว่างบริเวณสะพานข้ามคลองวัดลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างเขตลาดพร้าว เขตจตุจักรและเขตห้วยขวาง พื้นที่นี้เป็น ๓ เขต แต่ว่าสะพานคนข้ามค่อนข้างอันตรายครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ช่วงนี้เป็นช่วงไม่มีฝนตกในเขต กทม. จึงอยากวอน กทม. ไปยัง สำนักงานเขตบึงกุ่มอยากให้ช่วยเร่งดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง ช่วงนี้ ควรที่จะเร่งทำก่อนที่จะเข้าหน้าฝนอีกรอบหนึ่งครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ ขออนุญาตติดตามเรื่องเดิมจากที่หารือท่านประธานไปในเรื่องของ การก่อสร้างบ่อระบายน้ำล่าช้าบริเวณซอยนาคนิวาส ๔๘ และบริเวณถนนนาคนิวาส ฝากท่าน ไปยังสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครช่วยดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้าย บึงน้ำสาธารณะซอยลาดพร้าว ๗๑ วอนท่านผู้ว่าราชการครับ ฝากท่านประธานไปยัง กทม. ด้วย ช่วยพัฒนาให้เป็นปอดของคนลาดพร้าวแห่งใหม่ด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวรโชติ สุคนธ์ขจร ครับ
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม วรโชติ สุคนธ์ขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เขตอำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง แล้วก็อำเภอหนองไผ่ วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธานสภา เรื่องเดียวครับ เป็นเรื่องที่ผมเคยพูดไปแล้วครั้งหนึ่งเรื่องราคาข้าวโพดตกต่ำ เมื่อวันที่ ๑ ที่ผ่านมาครับท่านประธานสภาที่เคารพ มีประธานเกษตรแปลงใหญ่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำหนังสือมายื่นให้ผม ร้องเรียนเรื่องราคาข้าวโพดที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ราคาข้าวโพด เมื่อเดือนมีนาคมถึงเมษายนอยู่ที่ประมาณถังละ ๑๓๕ บาท ถัดมาอีกไม่กี่เดือน เดือนสิงหาคม เดือนกันยายนเหลือ ๑๑๐ บาท ปัจจุบัน ๘๐-๙๐ บาทครับ เกษตรกรเดือดร้อนมาก เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกิดอะไรขึ้นครับ อย่างที่ ผมเคยเรียนไปแล้ว พ่อค้าคนกลางนำวัตถุดิบทดแทนเข้ามาเป็นจำนวนเยอะ เป็นจำนวนมาก เพื่อตัดราคาข้าวโพดภายในประเทศ วันนี้เกษตรกรต้องการราคาให้กลับมาเหมือนเดิม ในราคาถังละประมาณ ๑๓๕ บาท
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งครับท่านประธานสภา วันนี้ข้าวโพดเป็นพืชชนิดเดียวที่ยัง ไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยาเลย อยากจะกราบเรียนท่านประธานสภาไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนะครับว่าเป็นไปได้ไหมอย่างที่ผมเคยขอไว้ เกษตรกร ๑ ราย ๒๐ ไร่ ไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปลูก ค่าพันธุ์ สารพัดค่าต่าง ๆ ที่เกษตรกรจะต้อง ลดต้นทุน ไม่ต้องจำกัดว่าจะต้องเป็นพื้นที่อะไร เพราะว่ามันมีกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูก อยู่ว่าถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์จะไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยได้ เพราะฉะนั้น อยากให้ท่านประธานสภาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพด ให้ได้รับการชดเชยหรือว่าช่วยเหลือทุกครัวเรือน ทุกคน กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสาธิต ทวีผล ครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ถนนหมายเลข ๓๐๑๗ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๓๗+๓๐๐ บริเวณ ซอย ๒๒ ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔๓ ช่วงซอย ๒๗ ถนนบริเวณดังกล่าวไม่มีไฟส่องสว่าง จะมี แค่ช่วงซอย ๒๖ เท่านั้นที่มีไฟเพียง ๙ ต้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมืดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
จุดที่ ๒ ถนนเส้นเดียวกัน ๓๐๑๗ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๔๙+๕๐๐ จุดที่ ขายข้าวหลามหลังเขื่อนป่าสักถึงหลักกิโลเมตรที่ ๕๐+๗๐๐ ก่อนถึงหน้าโรงงานน้ำตาล บริเวณดังกล่าวเป็นลักษณะคอขวดถูกบีบเหลือ ๒ ช่องจราจร ทำให้การจราจรนั้นชะลอตัว ประกอบกับมีรถขนพืชผลการเกษตร อ้อยและมันสำปะหลังของพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอ พัฒนานิคมและพี่น้องชาวอำเภอวังม่วง พี่น้องประชาชนอยากให้มีการขยายถนนจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจรพร้อมด้วยติดตั้งไฟส่องสว่าง
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
จุดที่ ๓ ถนนหมายเลข ๒๑ หลักกิโลเมตรที่ ๑๘ หน้าโรงงานเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๙ หน้าโรงงาน บี.ฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริเวณดังกล่าวไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนท้ายรถบรรทุกบ่อยครั้ง ผมขอฝาก ปัญหาทั้ง ๓ จุดผ่านท่านประธานไปยังกรมทางหลวงด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องสุดท้าย ชื่อนั้นสำคัญไฉน ผมเองก็ไม่ทราบครับ แต่ชาวบ้าน ฝากให้มาเล่าว่าเทศบาลตำบลโคกตูม ประกอบไปด้วยพื้นที่ ๒ ตำบล คือนิคมสร้างตนเอง และตำบลโคกตูม แต่ไม่ปรากฏชื่อของนิคมสร้างตนเองอยู่ในชื่อของเทศบาล ชาวบ้าน อยากให้มีชื่อกลางของทั้ง ๒ ตำบล ผมขอฝากปัญหานี้ผ่านท่านประธานไปยังสมาชิก สภาเทศบาลตำบลโคกตูมด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ครับ
นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วีระพล จิตสัมฤทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหารือต่อท่านประธานดังนี้ มีถนนหลายสาย ที่เสื่อมสภาพ ผิวทางขรุขระแตกร่อน เดินทางไม่สะดวก ผมจึงขอแยกตามหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดังนี้ครับ
นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ในส่วนที่เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษดูแล สายที่ ๑ สายบ้านตาสุด ตำบลจะกง อำเภอขุขันธ์ ไปบ้านห้วย ตำบลหัวเสือ เป็นหลุมเป็นบ่อ จำนวนมากช่วงบ้านตะเคียนน้อย ๒. สายบ้านแทรง-บ้านภูมิศาลา เป็นถนนลาดยางเสื่อมสภาพ ช่วงบ้านใจดี ๓. สายบ้านภูมิศาลา-บ้านประปุน เป็นหลุมเป็นบ่อในช่วงบ้านเสลาสุขเกษม ในส่วนที่เป็นถนนลูกรังหินคลุกในช่วงฤดูฝนนี้จะลำบากมากก็คือช่วงจากบ้านกระโพธิ์- บ้านเริงรมย์ ผ่านโรงเรียนบ้านเริงรมย์ ตำบลสำโรงตาเจ็น อำเภอขุขันธ์
นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ในส่วนของกรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบ ๑. ทช.ศก.๒๐๐๒ สายบ้านตาคง- บ้านสมอ ผิวทางแตกร่อนในช่วงบ้านลุมพุกและคอสะพานบ้านบ่อทอง ๒. ทช.ศก.๒๐๔๘ สายบ้านสมบูรณ์-บ้านแดง เป็นหลุมช่วงบ้านแขวไปบ้านแดง ๓. ทช.ศก.๒๐๔๗ สายบ้านสกุล- บ้านบ่อทอง ก็เป็นหลุมบางช่วง ๔. ทช.ศก.๕๐๕๐ สายจากเขตเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ ไปตำบลสำโรงพลัน เป็นหลุมตรงช่วงวัดเขียน ๕. ทช.ศก.๓๐๑๕ แยก ทล.๒๒๑ บ้านจันลม เสียหายชำรุดช่วงบ้านอาทิ และบ้านทุ่งศักดิ์ครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศิรสิทธิ์ สงนุ้ย ครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขอสไลด์ ด้วยครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือท่านประธาน เกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๓ เรื่อง
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก ขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณางบประมาณก่อสร้างเพื่อแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมขังในจุด กม.๔๓+๐๐๐ ถึง กม.๔๔+๓๐๐ บริเวณคลังสินค้า CP ถึงโรงงาน ไทยยูเนี่ยน ระยะทางประมาณ ๑.๓ กิโลเมตรในตำบลบางโทรัด เพราะจุดนี้เป็นแหล่งชุมชน แล้วก็โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครที่ได้รับผลกระทบทุกปี
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการตรวจสอบ โรงงานหล่อหลอมอย่างเข้มข้นตามที่ผมได้หารือไปเมื่อสมัยประชุมที่แล้ว จึงมีข้อเสนอ แนวทางแก้ไขต่อเนื่องอีก ๓ ประเด็นครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ออกใบประกาศระงับการออกใบอนุญาตโรงงานประเภท หล่อหลอมเพิ่ม หรือพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ปูพรมตรวจโรงงานประเภทหล่อหลอมในตำบลบ้านเกาะ ตำบลนาโคก ตำบลบางน้ำจืด
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ขอให้สาธารณสุขตรวจสุขภาพประชาชนโดยรอบบริเวณที่ ได้รับผลกระทบ และตรวจสารตกค้างในพื้นที่
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ นอกจากจังหวัดสมุทรสาครจะต้องเจอกับมลภาวะที่เป็นพิษแล้ว ยังต้องเจอกับฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้ที่เกินค่ามาตรฐานในหลาย ๆ จังหวัด ซึ่งอาจก่อให้เกิด อาการไม่พึงประสงค์ที่มีผลกระทบต่อหัวใจและปอด จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไข เรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนครับ วันนี้ผมขอ ปรึกษาหารือด้วยความเดือดร้อนของประชาชนในเขตอำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก คือเรื่องถนน ๓๐๔ ซึ่งผม ได้กราบเรียนมาด้วยหลายครั้งเพื่อให้ท่านประธานสภาส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยถนน ๓๐๔ เป็นถนน Main หลักจากจังหวัดฉะเชิงเทราถึงจังหวัดนครราชสีมาเป็นหัวใจ ของการบริหารจัดการ เนื่องจากว่ากบินทร์บุรีนี้มีศูนย์อุตสาหกรรมถึง ๕ แห่งด้วยกัน แต่ถนน ณ วันนี้ท่านดูในภาพสไลด์สิครับว่าเป็นถนน Main หลักของ Highway แล้วเป็นระยะทาง ถึงสิบ ๆ กิโลเมตร ซึ่งทั้งขรุขระ ทั้งเป็นหลุมเป็นบ่อ ได้รับความเดือดร้อนทั้งประชาชน ในเขตพื้นที่และประชาชนโดยทั่วไปที่สัญจรไปมาอย่างเดือดร้อนมาก แต่ต้องขอขอบคุณ ท่านอนุชา ทิพย์อุทัย ท่าน ผอ. แขวงทางหลวงปราจีนบุรีก็ได้ลงไปปฏิบัติ ได้ทำการซ่อมแซม ได้บ้างแล้ว แต่เนื่องจากช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ความเดือดร้อนคงจะมาอีกมากมายทั้งผู้เดินทาง สัญจร ขอกราบเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบซ่อมแซมด้วยครับ และจัดการงบประมาณ ในการที่จะทำใหม่เกิดขึ้นครับ
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องจากตำบลนาแขมซึ่งได้รับการประสานงานมาจากท่านนายก องค์การบริหารส่วนตำบล ท่านบัญญัติ พรมภักดี และท่านกำนันจุมพล ดวงสีทา คนตำบล นาแขม ว่าหมู่ที่ ๑ บ้านหนองเอี่ยน มีตลิ่งพัง อยากจะให้สร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพังจากการกัดเซาะ แล้วก็หมู่ ๒ บ้านวังห้างซึ่งตอนนี้บ้านของประชาชนได้พังล่มลงไปในแม่น้ำถึง ๙ หลัง ได้รับ ความเดือดร้อนอย่างมากประชาชนต้องสัญจร ตอนนี้น้ำก็เซาะตลิ่งจนเข้าไปถึงเนื้อถนนแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนที่สัญจรไปมาอย่างมาก ขอกราบขอบพระคุณอย่างมาก
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฉัตร สุภัทรวณิชย์ ครับ
นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ แม่ย่าโม พรรคก้าวไกล ผมขอหารือกับท่านประธานคือเรื่องท่าอากาศยานหนองเต็ง หรือท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้เปิดรับใช้คนโคราชมา ๒๐ กว่าปี แต่ก็พบปัญหาต่าง ๆ มากมาย มีสายการบินน้อย สายการบินใหญ่สลับสับเปลี่ยนกันมาลง ลงแล้วไม่เกิน ๒-๓ เดือนก็เจ๊งล่าถอยกันไป ๒๐ ปีมานี้ชาวโคราชประสบปัญหาในการ เดินทางทางเครื่องบินมาก เพราะว่าปัจจุบันไม่มีสายการบินใด ๆ อยากจะมาลงเลย ในอดีต ก่อนที่เราจะใช้สนามบินหนองเต็งเราเคยใช้สนามบินของท่าอากาศยานกองบิน ๑ วันนี้ จึงเป็นเหตุให้กระผมเป็นปากเป็นเสียงคนโคราชหารือผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมได้โปรดหารือกับกองทัพอากาศพิจารณาใช้สนามบินท่าอากาศยาน กองบิน ๑ ซึ่งจริง ๆ แล้วสนามบินในจังหวัดต่าง ๆ ก็ทราบดีว่ามีหลายจังหวัดใช้สนามบินของ กองบิน ในอดีตโคราชก็ใช้สนามบินท่าอากาศยานกองบิน ๑ จึงอยากจะให้พิจารณาเรื่องนี้ แล้วก็ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน นายกเทศมนตรีหลายคน ตลอดจนสมาคม ต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ทุกคนออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า เราอยากจะ ให้เปิดสนามบินที่ท่าอากาศยานกองบิน ๑ เป็นสนามบินพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถรองรับ การเดินทางได้ดีกว่าสนามบินหนองเต็งซึ่งอยู่ห่างไปจากตัวเมือง ต้องเดินทางกลับเข้าเมืองมา ๔๐ นาทีถึงเกือบ ๑ ชั่วโมง และขอให้ส่งเรื่องนี้หารือไปยังคณะกรรมาธิการการทหาร เพื่อที่จะสอบถามว่าเหตุผลอันใดที่ไม่พิจารณาเปิดพื้นที่ท่าอากาศยานกองบิน ๑ ขอบคุณ ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตนำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือดังต่อไปนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและ สำนักงบประมาณได้จัดตั้งงบประมาณก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาล ป่าบอน เนื่องจากปัจจุบันมีเคสผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุจำนวนมาก ขณะนี้สถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่คลองพรุพ้อที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา และขอให้แก้ไขปัญหาน้ำในคลองสายหลักอื่น ๆ ที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัด และจากอ่างเก็บน้ำลงสู่คลองและลงทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ทั้งการขาดแคลนน้ำและการป้องกันน้ำท่วมให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บริเวณริมเขาและบนเขาบรรทัด และอ่างเก็บน้ำจังหวัดพัทลุง ทั้งในด้านงบประมาณ การประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรม และการอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติและเพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้กระทรวงคมนาคมได้ปรับปรุงขยายไหล่ทางและก่อสร้างถนน ๔ เลน เส้นแม่ขรี-ปลักปอม-ตะโหมด ปัจจุบันถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ พี่น้องได้รับความเดือดร้อน เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต และขอให้ปรับปรุงถนนเส้นอื่น ๆ ในจังหวัดพัทลุงที่อยู่ใน ความรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะควรเร่งรัดการทำถนนที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้หรือเพิ่ม ค่าตอบแทน หรือดูแลสวัสดิการให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงาน เช่น อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาชุมชน อาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหมู่บ้าน และอาสาสมัคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพราะเป็นการเสียสละทำงานให้รัฐได้ประโยชน์ จึงควรได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๖. สุดท้าย ขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติด ในประเทศไทยที่ระบาดในขณะนี้ จะครอบครองกี่เม็ดก็เป็นปัญหาอย่างมาก สร้างความ เดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน เป็นปัญหาต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านทศพร เสรีรักษ์ ครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านประธานมาก เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคมที่ท่านประธาน ที่ทางสภาได้จัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ก็ได้ทำให้ ประชาชนได้เข้ามาใช้พื้นที่ของสภาและเกิดการเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดระหว่างประชาชน กับสภา ท่านประธานครับ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ แล้วก็วันที่ ๒๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้มาที่สภา แล้วก็มาจัดนิทรรศการ มายื่นหนังสือให้ท่านประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้มาเรียกร้องขอให้รัฐสภาเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ท่านประธาน ทราบไหมครับว่าบุหรี่ไฟฟ้าคนที่สูบส่วนใหญ่อายุ ๒๐ ปีบวกลบ แล้วมันไม่ใช่ระบาดเฉพาะ ในวัยรุ่น ในหนุ่มสาวเท่านั้น เดี๋ยวนี้ระบาดเข้าไปถึงในโรงเรียน แล้วในโรงเรียนท่านประธาน อย่าเข้าใจว่าเป็นเด็กมัธยมเท่านั้นนะครับ แม้แต่เด็กประถมศึกษาก็ถูกจับได้ว่าเอาบุหรี่ไฟฟ้า มาสูบกัน ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองของนักเรียนบอกว่าลูกเขาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซื้อทางออนไลน์ ซื้อทาง TikTok ได้ง่าย ๆ ทำไมเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่จัดการ เขาถามลูกของ เขาว่าลูกทำไมสูบบุหรี่ไฟฟ้า มันอันตรายรู้ไหม มันไม่ดีรู้ไหม ลูกบอกว่ามันไม่ดีอย่างไรแม่ ผมไปเที่ยวทองหล่อก็ยังเคยเจอรัฐมนตรีบางคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เจอ สส. บางคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า ถ้ามันไม่ดีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาจะสูบได้อย่างไร ผมฟังแล้วก็รู้สึกไม่รู้จะว่าอย่างไรต่อ คนแก่อาจจะไม่เป็นอะไรครับท่านประธาน ไม่กี่ปีก็ตายไปแล้ว แต่ว่าลูกหลานของเรานี้ อยู่ในช่วงสมองกำลังพัฒนา แล้วนิโคตินมันมีอันตรายต่อการพัฒนาของสมอง ตรงนี้เป็นห่วง มาก ๆ ครับ บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายเรารู้อยู่แล้ว แล้วสภาผู้แทนราษฎรของเราเป็นที่ที่จะ ออกกฎหมายให้คนทั้งประเทศได้ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นผมเรียกร้องให้ท่านประธาน เร่งจัดการโดยเร็วที่จะประกาศให้รัฐสภาของเราเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่อย่างสมบูรณ์ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนรินทร์ คลังผา ครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายนรินทร์ คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย นำข้อหารือจากท่านนายก ท่านกำนัน และราษฎรอำเภอโคกเจริญ ๑ เรื่อง ดังนี้
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
คือการขอขยายถนนของกรมทางหลวงเส้น ทล.๒๒๑๙ จากช่วงที่ว่าการอำเภอ ช่วงตรงนี้มันเป็นถนนเส้นตรงมาก จากที่ว่าการอำเภอจนถึงที่ทำการ อบต. โคกเจริญทั้งหมด ประมาณ ๓ กิโลเมตร รถวิ่งไปวิ่งมาเร็วมากนะครับ แล้วเป็นถนนแค่ ๒ ช่องทางจราจร จะมี ๔ ช่องทางจราจร ณ แค่ที่ว่าการอำเภอ แต่ที่เหลือไปเป็น ๒ ช่องทางจราจร เป็นเขตชุมชน มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล แล้วก็ที่ว่าการอำเภอ ดังนั้นการจราจรจะคับคั่งช่วงเช้าและเย็น ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การข้ามถนนในช่วงเช้าหรือเย็นนี้รถวิ่งไปวิ่งมาขวักไขว่ จนกระทั่ง มีตลาดนัดในช่วงตอนเย็นด้วย ดังนั้นรถราก็จะเยอะมากขึ้น ทำให้มีอุบัติเหตุ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมก็ได้ไปงานฌาปนกิจอุบัติเหตุเกิดจากเส้นทางนี้ซึ่งมีบ่อยมาก ดังนั้นผมก็อยากจะฝาก ทางท่านประธานสภาไปยังกรมทางหลวงให้ดำเนินการขยายช่องทางจราจรเป็น ๔ ช่องทาง พร้อมมีเกาะกลาง เพราะรถข้ามไปข้ามมาได้ตลอดทั้งเส้นในระยะทาง ๓ กิโลเมตร ข้ามได้ ตลอดทุกช่วงทาง ถ้ามีเกาะกลางแล้วมีช่วงกลับรถจะทำให้การข้ามถนนนั้นลำบากขึ้น ก็จะลดอุบัติเหตุได้มากขึ้น แล้วพร้อมให้มีไฟส่องสว่างในช่วง ๓ กม. จาก กม. ที่ ๔๗ ไปยัง กม. ที่ ๔๔ ซึ่งจากหน้าอำเภอไปถึงหน้าที่ทำการ อบต. โคกเจริญ ๓ กิโลเมตร ฝากท่านประธาน และขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขออนุญาตหารือในส่วนที่เป็น กระบวนการภายในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชน ทั่วทั้งประเทศ นั่นก็คือกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ตามมติ ครม. ตามปฏิทินงบประมาณคิดว่าน่าจะผ่านมติ ครม. วันที่ ๒๖ ธันวาคมซึ่งก็จะติดปีใหม่ เปิดมาถึงงบประมาณเข้าสภาวาระหนึ่งในวันที่ ๓ มกราคมเลย จากการที่ผมได้หารือร่วมกับเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ พรรค รวมถึงเจ้าหน้าที่สภา อย่างเช่นสำนักงานงบประมาณของรัฐสภาหรือ PBO เจ้าหน้าที่ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันทุกคน ครับท่านประธานว่าทำงานไม่ทันจริง ๆ เพราะว่าติดปีใหม่ เปิดมางบประมาณเข้าวาระหนึ่งเลย ก็อยากจะขอหารือท่านประธานดังนี้ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ อยากให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเลื่อนการพิจารณา งบประมาณวาระหนึ่งออกไปอีก ๑ สัปดาห์เป็นวันที่ ๑๐ มกราคมดังแนวทางที่อดีต ท่านประธานชวน หลีกภัย ได้ดำเนินมาหลาย ๆ ปีงบประมาณ เพื่อให้เวลาเพื่อนสมาชิก และเจ้าหน้าที่ทุกคนได้วิเคราะห์งบประมาณได้อย่างถ้วนถี่ แล้วก็อยากจะเน้นย้ำเพื่อน สมาชิกทุกท่านว่าการเลื่อนงบประมาณวาระหนึ่งออกไปอีก ๑ สัปดาห์นี้จะไม่เป็นการทำให้ งบประมาณปี ๒๕๖๗ มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป เพราะเรายังคงยืนหลักว่าวาระสองและ วาระสามยังยืนหยัดตามกำหนดการดังเดิมได้ เราสามารถบริหารจัดการกันได้
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีก ๑ ข้อครับท่านประธาน เนื่องด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณได้ทำหนังสือเรียก ขอข้อมูลคำของบประมาณออกไปยังหลายร้อยหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งในปัจจุบันเราได้รับ คำของบประมาณ ๕ ล้านล้านกว่าบาทนี้จาก ๒๐ กระทรวงครบแล้ว แต่ยังขาดหลายหน่วย รับงบประมาณที่เป็นหน่วยรับงบตรง อย่างเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ และ/หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อยากจะให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรช่วยทำหนังสือ เร่งรัดอ้างถึงหนังสือที่คณะกรรมาธิการได้ทำคำขอไปยังทุกหน่วยรับงบประมาณให้นำส่งข้อมูล กลับมาด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ครับ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย ขอนำเรียน ปัญหาท่อประปาแตก น้ำไม่พอใช้ เพื่อเร่งรัดไปยังการประปาส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ แก้ปัญหา โดยด่วนค่ะ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ
ทั้งนี้ดิฉันได้รับแจ้งเรื่องจาก นายสุพร จังกียา และประชาชนหลายครัวเรือนในพื้นที่หมู่ ๒ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัด สุโขทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเทคนิค เป็นพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเทศกาลตลาดบ้าน ๆ ตำบลบ้านกล้วย และที่สำคัญยิ่งพื้นที่แห่งนี้อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเพียงแค่ ๗ กิโลเมตร ปัญหาก็คือน้ำประปาไหล ๆ หยุด ๆ ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภคของประชาชน สาเหตุของปัญหาที่พบก็คือท่อประปาเก่าแล้วก็มีขนาดเล็ก รั่วซึมหลายจุด หนักที่สุดก็คือ บริเวณวัดกำแพงงาม ใต้กำแพงนั้นมีรอยรั่วขนาดใหญ่ทำให้น้ำไหลเจิ่งนองถูกทิ้งเสียเปล่า นานกว่า ๓ เดือนแล้ว ได้รับคำตอบจากการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัยว่าได้ทดลอง แก้ปัญหาหลายวิธี เช่น ได้ส่งน้ำช้า ๆ ในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้น้ำเจิ่งนอง และในช่วงกลางวัน ก็ส่งน้ำไปมากขึ้น การแก้ปัญหาหลายวิธีก็ยังแก้ไม่ได้ น้ำคงยังไหลรั่วทิ้งเปล่า และประชาชน ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้ ทั้งนี้การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัยได้เสนอไปยังการประปา ส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ ๒ โครงการดังนี้ โครงการที่ ๑ ขอให้เปลี่ยนท่อขนาดเล็กและเก่าชำรุด ๔ จุด งบประมาณราว ๑.๗ ล้านบาท และโครงการที่ ๒ ขอให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางการวางท่อ ใต้กำแพงของวัดกำแพงงาม และเปลี่ยนท่อขนาดเล็กที่เก่าชำรุดให้เป็นท่อขนาดใหญ่ขึ้น งบประมาณโครงการนี้ราว ๑.๒ ล้านบาท จึงขอเร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ การประปาส่วนภูมิภาค เขต ๑๐ รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน ขอบคุณมากค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ครับ
นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอหารือ ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ตรวจสอบและ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจาก พระราชดำริจังหวัดชัยภูมิ
นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ โครงการอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดชัยภูมิได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปอำเภอหนองบัวระเหวได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ขอให้กระผมได้ติดตามเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดินพร้อมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ จากโครงการนี้ ซึ่งต่อมาผมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ปรากฏว่าในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนไปแล้วประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่เหลือ อีก ๑๔,๐๐๐ ไร่ยังไม่ได้รับการชดเชย ซึ่งข้อมูลนี้ผมได้ตรวจสอบเพิ่มเติมได้ทราบมาว่า ในจำนวน ๑๔,๐๐๐ ไร่นี้มีทั้งประชาชนที่บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง แล้วก็ มีกลุ่มบุคคล กลุ่มนายทุน ที่ฉวยโอกาสไปก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ถมดิน ปลูกต้นไม้ หรือกระทำการอื่น ๆ เพื่อหวังที่จะรับเงินชดเชยจากรัฐบาล กระผมจึงขอให้ท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้หา แนวทางช่วยเหลือประชาชนที่บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ ในครั้งนี้ต่อไป ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ เชิญท่านณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ครับ ขอข้ามก่อนนะครับ ท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ครับ
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคเพื่อไทย ขออนุญาต หารือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ๔ เรื่องด้วยกัน เนื่องจากพื้นที่ผมนั้นมีถนนหลัก ๆ นั้น ผ่านอยู่ ๒ เส้นทาง ผมได้หารือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปในสมัยที่แล้ว ๓-๔ เรื่องนั้น ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลสักเรื่องหนึ่ง
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรกคือถนนสาย ๓๓๑ นั้น เป็นถนนสายหลักจากแหลมฉบังไปสู่ทางภาคอีสาน คือตรงนี้จะเป็นเส้นทางที่ขนส่ง Logistic ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC เนื่องจากถนนนั้นได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จากช่วง หนองปรือบริเวณหน้าวัดหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง ไปถึงหน้าโลตัสอำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทางหลวงนั้นต้องรีบดำเนินการซ่อมเร่งด่วน เนื่องจากว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือถนนสาย ๓๒๔๕ คือเส้นรองจากถนนสาย ๓๓๑ เส้นนี้ จากจังหวัดระยองไปสู่อีสานเช่นเดียวกัน เส้นนี้ก็เสียหายเช่นเดียวกัน จากวัดหนองเกตุ อำเภอหนองใหญ่ไปถึงอำเภอเกาะจันทร์ อยากจะให้ท่านประธานเร่งรัดให้ทางหลวงนั้น รีบดำเนินการซ่อมโดยด่วน
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ติดตามในเรื่องอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรนั้นมีคลองส่งน้ำ ๒ ฝั่ง ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เนื่องจากอ่างเก็บน้ำรัชชโลทรนั้นเกิดขึ้นมาประมาณ ๑๔ ปีแล้ว คลองฝั่งซ้ายฝั่งขวานั้นพี่น้องประชาชนร้องเรียนมาจำนวนมากเนื่องจากว่าสร้างมา ๗-๘ ปีแล้ว ระยะทางไม่กี่กิโลเมตรยังไม่ดำเนินการแล้วเสร็จครับ
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ ๔ เรื่องอ่างเก็บน้ำรัชชโลทรเช่นเดียวกันครับ เนื่องจาก ปีนี้ฝนอาจจะตกน้อยที่จังหวัดชลบุรี แล้วก็อ่างเก็บน้ำนี้เก็บน้ำได้ ๙๘ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ได้ขยาย Spillway ขึ้นไปอีกเก็บน้ำได้เป็น ๑๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ตอนนี้น้ำเหลือ ๗๖ ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วมีพี่น้องประชาชนเข้ามาร้องเรียนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วจำนวนมาก เนื่องจากว่ากรมชลประทานนั้นมีปัญหาไม่ปล่อยน้ำในการทำไร่ไถนา ฝากท่านประธานทำเรื่อง ถึงกรมชลประทานด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านจำลอง ภูนวนทา ครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จำลอง ภูนวนทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ สืบเนื่องจากเรื่องเดิม ๆ แล้วก็มีเรื่องใหม่อยู่เรื่องหนึ่งที่ต้องนำเรื่องมากราบเรียนท่านประธาน เพื่อประสานไปยังหน่วยราชการครับ ถนนเส้น ๒๒๖๘ ซึ่งเป็นเส้นทางลัดหรือว่าเป็นถนน ยุทธศาสตร์ก็ได้ เชื่อมระหว่างอีสานใต้ไปอีสานเหนือถึงลุ่มแม่น้ำโขง ที่ผมกราบเรียน ท่านประธานครั้งที่ผ่านมาได้รับการทำนุบำรุงถนนโดยการฉาบผิวใหม่ด้วยยางมะตอย ก็ต้อง ขอบคุณท่าน ผอ. แขวงการทางนะครับ แต่ประเด็นมันไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ทางที่ดีควรจะขยายถนนให้กว้างขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ฤดูกาลตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน จึงฝากกราบเรียนท่านประธาน
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องระบบการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานในลุ่มเขื่อนลำปาว ที่ท่วมที่ดินที่พี่น้องเช่า ตอนแรกที่ทำสัญญาเช่าระหว่างพี่น้องประชาชนกับกรมธนารักษ์ บอกว่าถ้าเกิดมีการกักเก็บน้ำเกินอัตราแล้วท่วมก็จะได้รับการชดเชยค่าเสียหาย อันนี้ ฝากท่านประธานด้วยนะครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เรื่องถนนเชื่อมระหว่างตำบลหนองบัว-ตำบลหนองสรวง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถนนเชื่อมระหว่างตำบลโคกเครือ-ตำบลดงมูลได้รับการร้องเรียนจาก นายกเด็ด แก้วมาลุน บอกว่าไม่ได้รับการตอบรับจากกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น เพราะฉะนั้น จึงกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพครับ ช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในเขต พื้นที่ของกระผมด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตอำเภอบางกรวย ตำบลบางไผ่ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานอยู่ ๔ เรื่อง ขอสไลด์ ด้วยครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เป็นสภาพถนนบริเวณ หน้าวัดโคนอนอยู่ในซอยบางกรวย-ไทรน้อย ๒๖ ลักษณะถนนจะเป็นถนน ๒ เลนวิ่งสวนทางกัน ถนนตั้งอยู่ในตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย ถนนดังกล่าวมีลักษณะคับแคบการก่อสร้าง ถนนไม่เต็มพื้นที่ มีลูกระนาดและท่อระบายน้ำอยู่กลางถนน ทำให้เกิดปัญหาการจราจร ติดขัดในขณะที่รถวิ่งสวนทางกัน จากรูปท่านประธานจะสังเกตเห็นรางวีและท่อระบายน้ำ ที่อยู่กลางถนน รางวีในระบบการระบายน้ำปกติท่อระบายน้ำจะต้องอยู่ใต้รางวี แต่ถนน เส้นนี้ทำท่อระบายน้ำไว้กลางถนนและรางวีอยู่ริมถนน จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีและนายกเทศมนตรีตำบลบางสีทองเพื่อปรับปรุงขยายช่องทาง จราจรให้เต็มพื้นที่ ขยายซ่อมแซมพื้นผิวถนนที่ทรุดตัว ปรับปรุงท่อระบายน้ำและรางวีให้อยู่ ริมถนน รวมถึงลดจำนวนลูกระนาดที่มีอยู่จำนวนถี่และมากเกินไป
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองบางสีทอง จากรูปนะครับท่านประธาน คือคลองบางสีทองที่มีลักษณะตื้นเขิน น้ำเน่าเสียเต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฏิกูลซึ่งหมักหมม อยู่ใต้พื้นคลอง ปัญหานี้ผมเคยนำมาเรียนปรึกษาหารือในสภาแห่งนี้ไปแล้ว แต่ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าท่านสังเกตเห็นชายใส่ชุดสีชมพูในภาพคือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นนทบุรีซึ่งได้ลงพื้นที่ล่องเรือพร้อมกับนายกเทศมนตรีตำบลบางสีทองและกลุ่มนักข่าว ก่อนหน้าที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่นั้นมีการเปิดประตูระบายน้ำนำน้ำดีเข้ามา และระบายน้ำเสียออกไป ท่านจึงตรวจสอบพบแต่น้ำดีและไม่พบน้ำเสียในพื้นที่ ชาวชุมชน วัดท่าบางสีทองทราบปัญหาน้ำเสียดีว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอปรึกษาหารือท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเพื่อแก้ไขครับ
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นปัญหาการก่อสร้างท่าเรือพระราม ๗ ที่มีการทิ้งงานไป ท่าเรือ แห่งนี้มีงบประมาณทั้งสิ้น ๔๐ ล้านบาท ปัจจุบันไม่มีคนงานและผู้รับเหมาเข้ามาดูแลในพื้นที่ แล้ว จึงขอหารือท่านประธานไปยังกรมเจ้าท่าและผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เพื่อปรับปรุง เร่งรัดในการก่อสร้าง
นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร นนทบุรี ต้นฉบับ
ปัญหาสุดท้ายครับท่านประธาน เป็นปัญหาป้ายเถื่อนผิดกฎหมาย ปัญหา ป้ายเถื่อนที่บดบังทัศนวิสัยในการจราจร ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่าเป็นป้ายวันหยุด เพราะเขาจะมาติดทุกเย็นวันศุกร์และมาเก็บทุกเย็นวันอาทิตย์ ปัจจุบันนี้ไม่เก็บแล้วครับ ถ้าเสาไฟฟ้าตรงไหนว่างเขาก็จะมาติด จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เพื่อบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพิพิธ รัตนรักษ์ ครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ กระผมขอหารือท่านประธานสภาสัก ๒-๓ ประเด็นครับท่านประธาน
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นแรก คือเรื่องแรงงานต่างด้าวของการช่วยเหลือของนโยบายของภาครัฐ ในเมืองท่องเที่ยว เขต ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกอบด้วย อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพงัน ตำบลเกาะเต่า อำเภอดอนสัก และอำเภอกาญจนดิษฐ์ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มแรกกระผมต้องขอชื่นชมกับนโยบายของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับเขต ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดนำร่อง ๑ ใน ๘ จังหวัด ที่กระทรวงและรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการ ในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์ CI หรือเรียกว่า Certificate of Identity เป็นต้นแบบหรือเป็นเครื่องมือที่บริการหนังสือรับรอง สถานะบุคคลสัญชาติเมียนมาในเรื่องของแรงงาน นโยบายของภาครัฐถือว่าแก้ปัญหาตรงจุด กับปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลและความเข้าใจปัญหาในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ของรัฐบาล กระผมต้องขอขอบคุณและขอชื่นชม
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ กระผมขอศึกษาและที่ให้รัฐบาลมีการแก้ไขคือเรื่องของ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือเรื่องของแรงงานต่างด้าวกับผู้ประกอบการในพื้นที่เขต ๒ ของจังหวัด สุราษฎร์ธานี คือประเด็นนโยบายของภาครัฐที่ออกนโยบายข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในทาง ปฏิบัตินั้น ในเรื่องของอาชีพ ในเรื่องของงาน ต้องยอมรับว่าแต่ละท้องถิ่น แต่ละอำเภอนั้น ความต้องการในเชิงนโยบายไม่เหมือนกัน แต่หน่วยงานของภาครัฐได้ออกไม่ตรงตาม วัตถุประสงค์บริบทของพื้นที่แต่ละอำเภอ ทำให้หน่วยงานเจ้าหน้าที่ในทางปฏิบัตินั้น ปฏิบัติเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ มีความสำคัญอย่างหนึ่งครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เป็นปัญหาด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงานพม่า แรงงาน ต่างด้าวที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทย ถือว่าเป็นภาระของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ เทศบาลรับภาระอยู่ ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ให้หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข ระยะสั้นหรือระยะยาวให้กับหน่วยงานของท้องถิ่นด้วยครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย ประเด็นในเรื่องของสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ภาษาต่าง ๆ ที่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว มีความสำคัญที่จะต้องให้แรงงานต่างด้าวซึ่งใช้ยวดยาน พาหนะในการขับขี่จะต้องศึกษาว่าสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในเรื่องของสัญลักษณ์ เครื่องหมายให้มีความจำเป็น เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้กระผมต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ที่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว กระผมในฐานะเป็นตัวแทนของพื้นที่เขต ๒ ต้องขอความอนุเคราะห์แก้ไขปรับปรุงบางเรื่อง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยความเคารพ ขอขอบคุณท่านประธานมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๓ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด วันนี้หารือ ๒ เรื่องครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องแรก องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน ฝากเรื่อง มาครับ ถนนทางหลวงท้องถิ่น หมายเลข ๑๓๘-๐๘ ที่อยู่ในการดูแลของ อบต. บ้านสหกรณ์ ได้รับโอนมาจากกรมทางหลวงชนบท ถนนเส้นนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทาง อบต. เอง ก็ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทำการสร้างใหม่ ใน ๓ ปีที่ผ่านมา อบต. ก็พยายามขอ งบอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น แต่ไม่เคยได้รับแม้แต่ครั้งเดียว มูลค่า ถนนใหม่แค่ ๓.๕ ล้านบาท แต่จะมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า ๑,๕๐๐ คน ก็ขอฝาก เรื่องนี้ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่อง PM2.5 แต่ว่าจะเป็นต้นตอของ PM ที่มาจากการเผา เศษขยะ การเผาใบไม้จากเพื่อนบ้านของเรา จากคนข้างบ้านของเรา คนในหมู่บ้านของเรา ที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็เชื่อว่าในหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศพื้นที่ที่เป็นกึ่งเมือง กึ่งชนบท ก็จะมีพ่อแม่พี่น้องส่วนหนึ่งที่ยังคงเผาเศษขยะ เผาใบไม้กิ่งไม้อยู่ ในความเป็นจริงการเผา ลักษณะนี้ที่มันก่อให้เกิดความรำคาญมันผิด พ.ร.บ. สาธารณสุขด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีใครจะกล้าไปบังคับใช้กฎหมายจับกุมกันจริง ๆ แล้วอย่างในจังหวัด เชียงใหม่ในทุก ๆ ปีผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องออกคำสั่งห้ามเผาอย่างเด็ดขาดเป็นช่วงเวลา ไปในทุกต้นปี ซึ่งอันที่จริงแล้วมันก็ไม่ควรที่ต้องมีการเผาตลอดทั้งปี ผมมี ๓ ข้อเรียกร้อง ที่จะเรียกร้องไปยังรัฐบาลเลยนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อแรก คือรัฐจะต้องบังคับใช้ พ.ร.บ. สาธารณสุข มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๘ อย่างจริงจัง ซึ่งนั่นหมายความว่าการเผาขยะ การเผาใบไม้ จะต้องไม่ได้รับการยกเว้น อีกเลยนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อ ๒ ประชาชนรู้ว่าบ้านไหนเผา คนไหนเผา แต่ประชาชนไม่ทราบว่า ต้องแจ้งไปทางไหน ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดช่องทางในการแจ้งให้ประชาชนแจ้งได้อย่างสะดวก และต้องประชาสัมพันธ์ช่องทางในการแจ้งนี้ให้รับทราบอย่างทั่วถึงนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อ ๓ แค่แจ้งเหตุอย่างเดียวไม่พอ แต่พนักงานฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่หมายถึงเทศบาล อบต. อบจ. ที่อยู่ใกล้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุด ก็ต้องตรวจตราอย่างจริงจัง แล้วก็ต้องกล้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำผิด ท้ายนี้ผมอยาก ส่งข้อความไปถึงนักการเมืองทุกระดับ ขอให้ท่านอย่ากลัวว่าท่านจะเสียคะแนนเสียง จากการไปห้ามประชาชนไม่ให้เผา แต่จากนี้ไปขอให้ท่านกลัวว่าท่านจะเสียคะแนนเสียง จากการที่ท่านไม่แก้ปัญหา PM2.5 และท่านปล่อยปละละเลยให้ปัญหามันเรื้อรังอยู่แบบนี้ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ครับ
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ ๗ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ตำบลลำไพล ของอำเภอเทพา ท่านประธานครับ ยางพารา ต้นแรกปลูกในพื้นดินไทยเมื่อ ๑๒๓ ปีที่ผ่านมา ยังพึ่งพาส่งออก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้ใน ประเทศแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีคำถามว่าเอายางพาราไปทำอะไรครับ คนไทยตอบได้เลย ๑. ล้อรถยนต์ ๒. ถุงมือ ๓. ถุงยางอนามัย มันแค่นี้หรือครับท่านประธาน เพราะฉะนั้น ประเทศไทย รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องหาวิธีแก้ปัญหา ในระยะยาวเพื่อตัดวงจรราคาขึ้นลงของยางพารา วันนี้น้ำยางพาราที่บ้านผมท่านประธานครับ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ กิโลกรัมละ ๕๐-๕๑ บาท ในช่วงปิดสมัยประชุมผมได้มีโอกาสเดินทางไป ประเทศรัสเซียเป็นเวลา ๙ วัน ไปช่วงหิมะตกพอดี ไปเห็นอะไรครับท่านประธาน ปรากฏว่า ในช่วงนี้ทั่วโลก ทวีปอเมริกา ยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อยู่ในช่วงหิมะครับ เพราะฉะนั้น ผมเสนอให้รัฐบาลออกแบบแผ่นกันลื่นนอกอาคารและในตัวอาคารในช่วงหิมะตกจาก ยางพารา ขายได้ทั่วโลก เพราะประเทศที่มีหิมะมันจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวสวน ยางพาราได้ และการออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถออกเป็นผลิตภัณฑ์กันลื่นในห้องน้ำสำหรับ ผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ในทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้นทางออกการส่งออกวัตถุดิบอย่างเดียวมันไม่ใช่ ทางออกครับ เพราะฉะนั้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ นี่คือผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วโลกต้องใช้ ผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอกชนที่ลงทุน และสิ่งที่สำคัญเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร ชาวสวนยางพารา ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศักดินัย นุ่มหนู ครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ขอหารือปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดตราดต่อสภา ๑ เรื่องครับท่านประธาน ก็เป็นความ เดือดร้อนของราษฎรที่อยู่ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นความเดือดร้อน ที่เกิดจากการที่ราษฎรจำนวนหนึ่งต้องสละสิทธิ์ที่ดินเพื่อที่จะให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เขาปีกกาที่ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ ทีนี้ปรากฏว่าอ่างนี้ก็ได้มีการสร้างไปแล้ว ดำเนินการสร้างไปแล้วประมาณ ๕-๖ เดือนผ่านมาแล้วนะครับ แต่ว่าเงินค่าเวนคืนในการ สละสิทธิ์ที่ดินนั้นยังไม่ถึงมือชาวบ้านอย่างครบถ้วน ตรงนี้ก็ทำให้ชาวบ้านเองก็ได้มีการ สอบถาม เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะได้มาเมื่อไร อย่างไร ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานของสำนัก ชลประทานเองที่อยู่ในพื้นที่ก็ลำบากใจ เพราะไม่มีอำนาจในการที่จะมาบอกว่าจะได้เมื่อไร เขาก็รับหน้าอยู่ตอนนี้ ทีนี้ความจำเป็นและความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้นกรณีที่มีการจ่าย ค่าเวนคืนที่ล่าช้าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมี ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกันครับท่านประธาน
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
อย่างแรกก็คือว่าในพื้นที่ที่มีการสละสิทธิ์เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเขาปลูกผลไม้ เอาไว้แล้วก็มีรายได้ดีที่ผ่านมา แล้วก็มีการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลข้างหน้าทุกปี แล้วเขาก็จะมี การดูแลใส่น้ำ ใส่ปุ๋ย เพื่อที่จะมีการเก็บเกี่ยวได้ แต่ปรากฏว่าพอมีการประกาศให้สละสิทธิ์ ก็ต้องออกจากพื้นที่ แล้วตอนนี้ก็ยังไม่ได้เงินด้วยนะครับ เขาก็เลยยังไม่ได้เข้าไปทำในการ ที่จะดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ยเพื่อจะรอการเก็บเกี่ยว อันนี้ทำให้ชาวบ้านเองเขาเสียโอกาสครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ที่สำคัญครับท่านประธาน ก็คือว่าชาวบ้านที่เขาต้องได้รับ ค่าเวนคืนเขาต้องออกจากพื้นที่แน่ ๆ เขาก็มีการไปซื้อที่แห่งใหม่ ไปวางมัดจำเอาไว้ แล้วพอ เงินมา พอเงินที่บอกว่าจะจ่ายวันนั้นวันนี้แล้วไม่มาตามเวลาที่กำหนดไว้ เขาถูกยึดมัดจำ ครับท่านประธาน นี่ก็เป็นความเดือดร้อน ผมจึงเรียนต่อท่านประธานไปยังกรมชลประทาน แล้วก็สำนักงบประมาณได้ช่วยเร่งรัดในการจ่ายค่าเวนคืนนี้ให้กับชาวบ้านโดยเร่งด่วน ด้วยครับ ขอขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ครับ
นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ ดิฉัน ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ดิฉันมีเรื่องขอหารือท่านประธาน เนื่องจาก ได้รับการร้องขอจากราษฎรบ้านสวนป่า ทั้งกำนัน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่ประทิน พรมรักษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ บ้านสวนป่า ตำบลห้วยโรง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เรื่องขอให้เร่งรัด การจ่ายเงินค่าเวนคืนให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำมี ตำบลห้วยโรง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ จากการที่รัฐบาลโดยกรมชลประทานได้อนุมัติ ให้มีการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำมีในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ งบประมาณ ทั้งสิ้น ๘๕๐ ล้านบาท และได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่าได้รับการจ่ายค่าเวนคืนมาแล้ว บางส่วน ประมาณ ๕๒ แปลง แต่ยังคงค้างที่ต้องจ่ายค่าเวนคืนอีก ๑๘๙ แปลง ซึ่งถ้ายัง ไม่จ่ายค่าเวนคืนประชาชนก็ไม่สามารถย้ายออกไปอยู่ในสถานที่ที่ราชการอำเภอได้จัดสรร ไว้ให้เขา บริษัทและกรมชลประทานก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แม่คำมีได้ ดิฉันได้ประสานกับสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๔ ที่รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๔ แจ้งว่า ได้ทำหนังสือขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมชลประทานไปแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒๑๔,๕๓๒,๒๓๐ บาท ดิฉันขอให้ท่านประธานช่วยเร่งรัดให้กรมชลประทานจ่ายเงินเวนคืน ให้กับประชาชนตามที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๔ ได้ทำหนังสือ ของบประมาณ เพื่อแก้ไขให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างครั้งนี้ ได้ย้ายออกไปจากสถานที่อ่างเก็บน้ำ จะทำให้ทางบริษัทและกรมชลประทานสามารถทำการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำมีได้อย่างต่อเนื่องและจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรที่รอคอย และจะได้ใช้น้ำในการประกอบอาชีพของการเกษตรต่อไปค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฐากูร ยะแสง ครับ
นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ฐากูร ยะแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคก้าวไกล ขอสไลด์นะครับ
นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ
ขอหารือกับท่านประธาน ๓ ประเด็นปัญหา ปัญหารอยรั่วของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำนาครับ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำนาตั้งอยู่ที่บ้านสัน หมู่ ๓ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า แนวสันเขื่อนมีรอยรั่วใหญ่ มีรอยรั่วใหญ่แล้วก็มีรอยรั่ว เล็ก ๆ อีกหลายจุด สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตร ๗๐๐ ไร่ แล้วก็ผู้อุปโภค บริโภคน้ำอีก ๕๐๐ ครัวเรือน แล้วก็ช่วงหน้าแล้งชาวบ้านกังวลว่าจะไม่มีน้ำในการ ทำการเกษตร ฝากท่านประธานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยในการแก้ไขให้พี่น้อง อย่างเร่งด่วนครับ
นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๒ ปัญหาความยากลำบากในการสัญจรของชาวบ้านบ้านขุนสรวย เส้นทางนี้เชื่อมระหว่าง ๒ จังหวัด คืออำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ถนนเป็นดินลูกรัง เมื่อเกิดฝนตกน้ำกัดเซาะถนนทำให้ถนนลื่น ทรุด แล้วก็ ดินสไลด์ ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางหลักของชาวบ้าน สร้างความยากลำบาก ฝากท่านประธาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดแก้ไขโดยด่วนครับ
นายฐากูร ยะแสง เชียงราย ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๓ เป็นปัญหาน้ำประปาหมู่บ้านของหนองเก้าห้อง ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว เป็นโครงการก่อสร้างปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ซึ่งจัดสร้างเพื่อแก้ปัญหา เรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งช่วงแรกน้ำที่ใช้ ๖๐ ครัวเรือนใช้อย่างไม่มีปัญหา แต่ช่วงหลัง ๆ ไม่มีน้ำใช้ ใช้ได้แค่ ๕ หลังคาเรือน อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝากเข้าไปดู และแก้ปัญหาให้ชาวบ้านด้วยนะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข ครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ผมขอหารือท่านประธานอยู่ ๒-๓ เรื่องด้วยกัน เนื่องจากในช่วงปิดสมัยประชุมมีพี่น้อง ประชาชนได้ร้องเรียนหลายเรื่อง ขอยกตัวอย่างมา ๓ เรื่องซึ่งเป็นเรื่องเก่า ๆ ทั้งนั้นที่ผม เคยพูดมาตลอดในสภานะครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ การนำเข้าโคกระบือข้ามแดน ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้ลงนามขอขยาย เวลาห้ามนำเข้าครั้งที่ ๓ เข้าเดือนที่ ๑๐ แล้ว ตอนนี้ครั้งที่ ๔ แล้วเป็นเข้าเดือนที่ ๑๐ แล้ว ทำให้การนำเข้าโคกระบือนำเข้ามาไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ ผู้เกี่ยวข้อง เกษตรกร ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเจรจาของทุกฝ่าย แล้วท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านก็ได้กำชับให้หาทางออกโดยเร็ว ซึ่งก็เริ่มมีทางออกแล้ว ล่าสุดทางผู้ประกอบการได้ปิดถนนเส้นทางตาก-แม่สอด แต่ก็มีการเจรจาโดยผู้ว่าราชการ จังหวัดตากก็เป็นไปด้วยดีนะครับ ก็อยากจะให้กรมปศุสัตว์เร่งรัดในการขยายเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะว่าถ้าท่านปิดก็มีการลักลอบนำเข้าเรื่อย ๆ นะครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ในเรื่องราคาข้าวโพดตกต่ำ เมื่อสักครู่ท่านวรโชติ สส. เพชรบูรณ์ เพื่อนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก็ได้พูดเรื่องนี้แล้ว สาเหตุหลักก็คือทางรัฐได้ปล่อยให้มี การนำเข้าพืชทดแทน ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลีมามากเกินไป ก็ทำให้ทาง Silo หรืออาหารสัตว์ไม่อยากจะรับซื้อข้าวโพดของไทย ซึ่งมันมีราคาแพงแล้วก็คุณภาพอาจจะ ใกล้เคียงกับพืชทดแทน พืชทดแทนถูกกว่าก็เลยไม่รับ ขอรัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้ด้วยครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ในการพัฒนา ตอนนี้ผมทราบว่านายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลหรือว่าเทศบาลท้องถิ่นทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อจะขอให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ผมอยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและ กระทรวงมหาดไทยพูดคุยเจรจากัน สิ่งไหนยกเว้นได้ก็ยกเว้น สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์กับ ประชาชนขอให้เร่งแก้ไขโดยเร็ว นำเข้า ครม. ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านปรเมษฐ์ จินา ครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีประเด็นที่จะหารือ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ ประเด็นนะครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็คงจะเป็นเรื่องของถนนสาย ๔๔ ก็คือถนนสายเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด เนื่องจากว่าตามโครงการดั้งเดิมก็จะมีการทำหัวทำท้ายให้สามารถที่จะขนส่งทาง ทะเลได้ แต่ว่าปัจจุบันก็ไม่มีการดำเนินงาน ก็อยากจะฝากไปยังกรมทางหลวงซึ่งรับผิดชอบ โดยตรงได้ช่วยเดินงานต่อตามเจตนารมณ์แล้วก็ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลสมัยนั้นที่ตั้งไว้ อย่างสวยหรู ซึ่ง ณ วันนี้มันไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งโครงการไว้ แล้วถ้ายังไม่มีแผนการดำเนินงาน ที่ชัดเจนก็อยากจะฝากทางกรมทางหลวงประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดสรรที่ดินระหว่างถนนทั้งซ้ายทั้งขวา เพื่อจะให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้อาศัยปลูกพืชระยะสั้นเพื่อเป็นการดำรงชีวิตไปก่อนนะครับ อันนี้ก็อยากจะฝากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ ไป ๒ หน่วยงาน ทั้งกรมทางหลวงแล้วก็ในส่วนขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนะครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ปัจจุบันเราได้ดูราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร เมื่อต้นเดือน ขึ้นไปถึง ๖.๕๐ บาท แต่พอมากลางเดือนระยะเวลาเพียงไม่กี่วันทำไมลงมาถึง ๔.๙๐ บาท อันนี้ก็เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มนะครับ ก็อยากจะฝากทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งดูแลในเรื่องของกลไกการผลิต ไปดูว่าทำอย่างไรโรงงานเขามีการเล่นแร่แปรธาตุหรือทำอย่างไรกันบ้าง หรือว่าอีกส่วนหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์อยากไปดูในเรื่องของราคา เดือดร้อนจริง ๆ เพราะว่าเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เขาก็มีรายได้ด้านเดียว เพราะฉะนั้นถ้ามีการแก้ปัญหาตรงนี้ให้ตรงจุดก็จะทำให้เขาสามารถ ที่จะลืมตาอ้าปากได้นะครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ก็คงจะเป็นเรื่องของการที่จะทำให้แต่ละพื้นที่ได้มีการดำเนินงาน ปัจจัยที่เขาเดือดร้อนในการทำเรื่องของโครงการต่าง ๆ ถ้าเป็นโครงการขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่เป็นโครงการสาธารณะ เช่น ทำโดม ทำสนามกีฬา แล้วก็อยู่ในพื้นที่ของ ทางราชการ พื้นที่ของอุทยาน พื้นที่ของนิคม หรือพื้นที่ของ ส.ป.ก. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดึงขึ้นมาแล้วก็เร่งรัดทำให้เขาหน่อยนะครับ เพราะว่าจะเจาะบ่อบาดาลก็ไปติดที่ ส.ป.ก. ไม่อนุญาต แล้วทำอย่างไรให้อนุญาตให้เร็ว ๆ เพราะว่าปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปนี้ จะเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก ก็อยากจะกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งดำเนินการ หน่อยครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ทางสภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับอาจารย์แล้วก็นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตตรังนะครับ ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเป็น ท่านเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ครับ
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมได้รับการร้องเรียนจากองค์การบริหารส่วนตำบลปิงหลวงเพื่อจะของบประมาณก่อสร้าง ถนนสายบ้านต้อง บ้านน้ำลีใต้ ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีการใช้เส้นทาง ในการสัญจรไปมาอยู่เป็นประจำ ในการสัญจร ในการขนย้ายผลผลิตทางการเกษตรของ ประชาชน เนื่องจากเป็นถนนที่มีการใช้งานสภาพเป็นหลุม เป็นบ่อ ในฤดูฝนดินโคลน ตามภาพสไลด์นะครับ และในฤดูแล้งก็มีสภาพเป็นฝุ่น ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรไปมาของพี่น้อง ประชาชนระหว่างหมู่บ้านและเป็นการยกระดับคุณภาพของประชาชน ทางองค์การบริหาร ส่วนตำบลปิงหลวงจึงได้ทำโครงการของบประมาณไปยังกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ด้วยเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ผมก็ขอหารือท่านประธานสภา ผ่านไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้อนุมัติงบประมาณสร้างถนนลาดยาง Asphaltic Concrete ให้กับพี่น้องตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวรวิทย์ บารู ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู (ปัตตานี) ท่านประธานที่เคารพครับ ผม อาจารย์วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ เขต ๑ จังหวัดปัตตานี วันนี้จะขอพูดในเรื่อง ประเด็นคุณภาพชีวิตของประชาชนนะครับ ช่วงที่ปิดสมัยประชุมนี้ได้รับการร้องขอ ไม่ใช่ร้องเรียน ร้องขอเลยครับจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันเป็นผลมาจาก การใช้ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงนี้ไม่ว่าจะเกิด ณ ที่ใด ไม่ว่าจะเป็นยูเครน ไม่ว่าจะเป็น ปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา หรือแม้กระทั่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันส่งผลที่รุนแรง หลังจากนั้นนั่นก็คือเกิดภาวะของการขาดผู้นำครอบครัว เกิดหญิงหม้าย เกิดแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ปัตตานีก็เช่นเดียวกันตลอดระยะเวลาตั้งเกือบ ๒๐ ปีที่มันเกิดกรณีเช่นนี้ เกิดหญิงหม้าย แม่เลี้ยงเดี่ยวมากมาย บุคคลเหล่านี้ได้มาหา ได้มาร้องเรียนกันว่าอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนที่มี อาชีพอยู่แล้วก็ยังไม่พอจะต้องหาอาชีพเสริม ส่วนคนที่ยังไม่มีอาชีพก็จะต้องหาอะไรให้แก่เขา เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ผมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงแรงงานน่าที่จะจัดกลุ่มอาชีพให้คนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเขตเมืองมีความสำคัญมาก ขาดผู้นำครอบครัว มันนำไปสู่ คุณภาพชีวิตของประชาชน อีกอย่างหนึ่งก็คือในเรื่องของพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย ของยุวชน สังคมเมืองไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือว่าในต่างจังหวัดก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือขาดสถานที่ที่จะเป็นแหล่งของเยาวชนได้ออกกำลังกายเหล่านี้ ผมก็ได้รับการร้องเรียน เช่นเดียวกันในเขตเทศบาลเมืองปัตตานียังขาดสิ่งนี้มากมายหลายชุมชน เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ผู้ที่เกี่ยวข้องก็น่าที่จะจัดให้แก่คน ให้แก่เยาวชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน เหล่านี้ด้วย ขอขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ เชิญท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนส่งถึงท่านประธาน เพื่อส่งต่อถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานคะ ปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญของพวกเราในขณะนี้ ดิฉันคิดว่า ทุกคนประสบปัญหาร่วมกัน ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้น นั่นก็คือเรื่องของปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อวานนี้ค่าชั้นบรรยากาศของเราถูกปิดแล้วปกคลุมไปด้วยฝุ่นพิษทั่ว กทม. รวมถึง จังหวัดใกล้เคียงและในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะนี้ดิฉันเองได้เช็กค่าฝุ่น ที่ลอยอยู่ในบรรยากาศก็ยังถือว่าเป็นอันตรายมากอยู่ ดิฉันจึงอยากจะขอนำเรียน ท่านประธานดังนี้ค่ะ ดิฉันทราบดีค่ะว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาดำเนินการเป็นเวลา ๓ เดือน ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ของเรา เพื่อที่จะเจรจาให้ลดในเรื่องของการเผาหญ้า ในเรื่องของการกำจัดวัชพืชด้วยการเผาต่าง ๆ เพื่อที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นส่วนสำคัญจากต้นตอ ยิ่งไปกว่านั้นดิฉันก็ทราบว่าในช่วง ๓ เดือนมานี้ทาง ครม. ก็ได้ผ่าน พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อที่จะให้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และบัญญัติเป็นกฎหมายต่อไป พรรคเพื่อไทยของเราเองก็ได้ยื่น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งรอบรรจุวาระอยู่ในสภาแห่งนี้แล้ว ดิฉันคิดว่าถ้าหากว่าการทำงานทุก ๆ ส่วนได้ประสานกัน อย่างลงตัว การแก้ไขปัญหาก็จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้คิดค้นวิวัฒนาการในเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร ให้ไม่ต้องเผาหญ้า ไม่ต้องเผาซังอ้อยอีกต่อไป ถ้าหากว่าเราผลักดันให้นวัตกรรมเหล่านี้สำเร็จ และควบคุมทั่วประเทศได้ ดิฉันคิดว่าการแก้ไขปัญหาราคาฝุ่น PM2.5 จะประสบปัญหา ได้โดยเร็ว ดิฉันจึงฝากท่านประธานถึงรัฐบาลด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพลากร พิมพะนิตย์ ครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพลากร พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตอำเภอ ยางตลาด อำเภอฆ้องชัย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือกับท่านประธาน อยู่ ๒ เรื่องครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เรื่องถนน การขุดร่องระบายน้ำ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ริมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๔๑๖ ทางเข้าเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วงเข้าบ้านหนองกุง หมู่ ๑ ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด มีการขุดร่องระบายน้ำของกรมทางหลวง ทำให้ทางเข้าพื้นที่การเกษตร ของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย ผมเห็นว่าควรสนับสนุนให้ทำแบบถาวรครับ เพื่อป้องกันการพังทลายของดินและลดการกัดเซาะน้ำในฤดูฝน ในเบื้องต้นอยากให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบซ่อมแซมความเสียหายเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีทางเข้าพื้นที่ การเกษตรเป็นการชั่วคราวครับ
นายพลากร พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ด้วยพี่น้องประชาชนบ้านเหล่าแดง หมู่ ๗ ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนกว่า ๗๐ ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ขยายถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๖๗ มีทางเดินเท้าและร่องระบายน้ำ เส้นอำเภอฆ้องขัย ถึงจังหวัดมหาสารคาม ขอสไลด์ด้วยครับ บริเวณถนนผ่านบ้านเหล่าแดงของหน่วยงาน แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ ๒๕๖๖ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ เนื่องจากการก่อสร้างทางเท้าและร่องระบายน้ำมีความสูง ส่งผลให้ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ติด ถนนทั้งสองฝั่งไม่สามารถนำรถยนต์และพาหนะต่าง ๆ เข้าไปจอดในบริเวณบ้านตนเองได้ ต้องจอดไว้ตามขอบถนน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินครับท่านประธาน อยากให้ นำความเจริญเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่ความเจริญพร้อม ความทุกข์ครับ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ครับ
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๙ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก อำเภอสิรินธร เฉพาะตำบล โนนก่อ พรรคไทยสร้างไทย ดิฉันมีข้อหารือท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนดังนี้ค่ะ ท่านประธานคะ เรื่องนี้ด่วนมากและเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับพี่น้อง ประชาชน เรื่องอะไรท่านประธานทราบไหมคะ เรื่องช้างค่ะ สัตว์ใหญ่ช้างชนช้างดังสนั่นป่า ในเขต ๙ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านประธานคะ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่านสมาชิกสภาเทศบาล อบต. ชาวบ้านในเขตตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร ตำบลคอแลน ตำบลโพนงาม ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก ชาวบ้านตื่นกลัว ได้รับความ เสียหายจากช้างป่าในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริกยอดมนต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามีช้างป่าจำนวน ๓๐-๓๕ ตัวออกจากป่าเข้าบุกรุกสวนยางพารา สวนมันสำปะหลัง สวนกล้วย พืชผักสวนครัว ทำลายบ้านเรือนพังหลายหลังทุกวันนะคะ ยามพลบค่ำตลอดทั้งคืน พอถึงเวลาเช้าก็เดินเข้าป่าไป เช่นนี้ทุกวัน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเกิดช้างชนช้างเสียงดังสนั่นป่า ๖-๗ ชั่วโมง ชาวบ้านกลัวมากนะคะ ล่าสุดเมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๑ ธันวาคมที่ผ่านมา ๒ วันนี้ฝูงช้างป่าบุกรุกเข้าหมู่บ้านภูไท ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร เพื่อหาอาหารกิน เข้าไปรื้อในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นกลัวอันตราย ถึงชีวิต หาอาหารไม่เจอ ไปเจอไหปลาร้า ชาวบ้านดิฉันก็เรียกว่า ปลาแดก เอางวงล้วงกิน ปลาร้าจนไม่เหลือ กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ท่านประธานคะ ปัญหาความเดือดร้อนนี้ขอฝาก ท่านประธานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนะคะ
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะแก้ไข ปัญหานี้อย่างไร เพราะตอนนี้เข้าสู่ฤดูแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำและอาหารให้ช้างกินแล้ว
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ พืชไร่ บ้านเรือนเสียหาย ทางภาครัฐจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไร ก็ควรชดเชยให้มีมูลค่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายนะคะ อย่าให้ชาวบ้านถูกทอดทิ้ง ช่วยเหลือตนเอง จะนำความรุนแรง ความพลาดพลั้งทำให้ช้างตายได้นะคะ
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าได้จัดเตรียมแหล่งน้ำ อาหาร ให้เพียงพอสำหรับช้างไหม และเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไม่ให้ช้างออกมาทำร้ายชาวบ้าน แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือควรจะมีเจ้าหน้าที่ กำลังคน อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นไฟ Spotlight ให้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่อย่างด่วนที่สุด ดิฉันก็ขอฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงาน ที่รับผิดชอบด้วยค่ะ ขอบพระคุณท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เป็น ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านชนก จันทาทอง แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ จากท่านณัฐชา เป็นท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ เชิญท่านชนกครับ
นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหารือในเรื่อง การขอขยายเขตไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนใหม่ ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากท่านนายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ไปร้องขอติดตั้งมิเตอร์สำหรับครัวเรือนใหม่เป็นเวลานานมากแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการดูแล และแก้ไข จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำพี่น้องประชาชนมาร้องทุกข์กับ สส. อีกครั้งหนึ่ง ๑. บ้านโพธิ์ใหม่ ๒. บ้านคำเจริญ ๓. บ้านปัก ๔. บ้านคำปะกั้ง ๕. บ้านเหล่าโพธิ์ทอง ๖. บ้านคำแสนสุข ๗. บ้านโนนสีทอง ๘. บ้านดงอ่าง ๙. บ้านไทรทอง ดิฉันนำเรียน ท่านประธานสภาค่ะ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่าตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอโพนพิสัยนั้นมีทั้งหมด ๑๓ หมู่บ้าน แต่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขอติดตั้งไฟฟ้าครัวเรือนใหม่ มากถึง ๙ หมู่บ้านด้วยกัน ไม่พอค่ะ ยังไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขด้วย มันสะท้อนถึงปัญหา การบริหารจัดการภายในของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือไม่ ในเรื่องนี้จริง ๆ แล้วดิฉันเอง ได้นำเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วถึง ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และในวันนี้เป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งตลอด ๔ ครั้งที่ผ่านมาทุกหมู่บ้านที่ดิฉันนำเข้าหารือในสภา อันทรงเกียรตินี้ยังไม่ได้รับการติดตั้ง ดูแล และแก้ไขค่ะ ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภา ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยค่ะ พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ถึงมีความจำเป็น ต้องมาร้องทุกข์กับ สส. และประชาชนนั้นก็คาดหวังว่าความเดือดร้อนนั้นจะได้รับการดูแล และแก้ไข ภารกิจ อำนาจหน้าที่ งบประมาณ ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับจากรัฐบาลไป วัตถุประสงค์หลักเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ฝากท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยเร่งรัดให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินนโยบาย ตามรัฐบาลด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุดท้าย ท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๓๐ บางแคและภาษีเจริญ วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๖ เรื่องดังนี้นะครับ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ได้รับการหารือไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้มีหนังสือตอบกลับจากทางหน่วยงานราชการนะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาการเวนคืนค้างคาบริเวณถนนสุขาภิบาล ๑ หรือถนนบางแค-ท่าเกษตร ดำเนินการมา ๑๖ ปีแล้วครับ ปัจจุบันนี้ผมเพิ่งไปลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนะครับ พี่น้อง ประชาชนบ่นกันอุบเลยนะครับว่าไม่มีการค้าขายที่ดี บ้านเรือนจะปล่อยเช่าก็ปล่อยไม่ได้ ขายก็ขายไม่ได้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาพื้นที่บริเวณนี้ว่าจะดำเนินการเวนคืน หรือไม่นะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ข้อต่อไป ไฟส่องสว่างบริเวณถนนกัลปพฤกษ์และถนนกาญจนาภิเษกในเขต บางแค เข้าใจว่ากรมทางหลวงกำลังดำเนินการซ่อมแซมถนนอยู่ แต่ว่าไฟฟ้าดับมาเป็น เวลานาน ตลอดเวลาหลายเดือนมานี้ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่ค่อนข้างที่จะต้อง ใช้ความสว่างพอสมควร ไม่สามารถชดเชยด้วยการให้พี่น้องประชาชนติดไฟเองได้
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ข้อต่อไป การจราจรติดขัดบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๙ ซึ่งโครงการอุโมงค์ ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาและการขยายถนนบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๙ ก็ได้รับการแจ้ง มาจากกรุงเทพมหานครว่าอาจจะล่าช้าลง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการเร่งรัด ผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน รวมถึงการขยายสะพานข้ามคลองบริเวณตลาดคลองขวาง ด้วยซึ่งได้มีโครงการเอาไว้แล้วครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ข้อต่อไป ปัญหารถจอดแช่ชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตรงข้าม ตลาดบางแค แล้วก็ตรงข้ามเดอะมอลล์บางแค ปัจจุบันได้มีการนำรั้วเหล็กจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางแคไปกั้นในลักษณะขอให้ผ่านตลอด ไม่จอดแช่ แต่ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืน จอดรถค้างอยู่เป็นเวลานาน ทำให้สภาพการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนค่อนข้างติดขัด ปัญหา ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังมีอยู่สูงในเวลานี้ ก็ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไข
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย เรื่องกลุ่มผู้ป่วย Rheumatic Disease ซึ่งเป็นลูกหลานของ ข้าราชการเมื่อมีอายุครบตามเกณฑ์ก็จะหลุดจากสิทธิการรักษาไป ถูกย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ๔ ส่วนนี้ก็ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขเร่งการปฏิรูปสิทธิ การรักษาโดยด่วน ให้แต่ละสิทธิการรักษาได้รับสิทธิเท่าเทียมกันมากกว่านี้ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันรักษาเวลานะครับ เราเริ่มประชุมได้ตรงเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา แล้วก็ฝากเจ้าหน้าที่ช่วยประสานเรื่องที่ประธานกรรมาธิการได้หารือ ทั้ง ๒ กรรมาธิการด้วยนะครับ ทั้งเรื่องบุหรี่แล้วก็เรื่องของวันเวลาการประชุมวาระงบประมาณ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๔ คน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกครับ ขณะนี้สมาชิกมาลงชื่อจำนวนทั้งหมด ๓๒๓ ท่าน ครบองค์ประชุม ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑. รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียก ประชุมรัฐสภา (สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พ.ศ. ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภา (สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง) พ.ศ. ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
จึงขอเรียนเชิญท่านสมาชิกโปรดยืนขึ้นเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการ ขอเชิญเลขาธิการอ่านพระบรมราชโองการครับ
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระบรมราชโองการ
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
“พระราชกฤษฎีกา
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พ.ศ. ๒๕๖๖
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ตามความในมาตรา ๑๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ว่าที่ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี”
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญนั่งครับ เรียนสมาชิกครับ ก่อนที่จะดำเนินการตามระเบียบวาระต่อไปจะมีเรื่องแจ้ง ต่อที่ประชุมที่ไม่ปรากฏในระเบียบวาระ จำนวน ๒ เรื่องครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒. รับทราบประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่ง ที่ว่าง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตามที่ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ตามมาตรา ๑๐๑ (๓) ของรัฐธรรมนูญนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีประกาศ สภาผู้แทนราษฎร ประกาศให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตามมาตรา ๑๐๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญคือ ท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ลำดับที่ ๑๗ จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา ๑๑๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอเชิญท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ กรุณายืนขึ้นเพื่อกล่าวคำปฏิญาณตน โดยผมจะเป็นผู้กล่าวนำและโปรดระบุชื่อของท่าน ในตอนต้นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
“ข้าพเจ้า นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติ ตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญนั่งครับ แล้วก็ยินดีต้อนรับนะครับ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบัน เท่าที่มีอยู่และปฏิบัติหน้าที่ได้คือ ๔๙๙ คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ ๒๕๐ ท่าน แล้วก็ตอนนี้ที่ศาลอาญามีคำตัดสินถึงเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาว่า จะมีการประกันตัวหรือไม่ อย่างไร แต่เป็นคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญานะครับ เรื่องของจำนวนองค์ประชุมต่าง ๆ ผมจะมีการ Update ให้กับทุกท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง ขอเชิญท่านณัฐวุฒิครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทองครับ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่วาระ การประชุมหารือ จะไม่พูดเสียเลยพี่น้องชาวอ่างทองก็บอกว่าวันนี้ฝุ่นเต็มจังหวัดอ่างทอง สส. คนจังหวัดอ่างทองหายไปไหน ก็ต้องบอกว่ามาทำหน้าที่ในสภาครับ ท่านประธานครับ มีเรื่องที่เป็นข้อตกลงหรือสัญญาทางใจกับเพื่อนสมาชิกของเรากับท่านประธานแล้วก็ ท่านรองประธานสภาทั้งสองท่านอยู่สัก ๒ เรื่องด้วยกันจากสมัยประชุมที่หนึ่งซึ่งผมคิดว่า เป็นประการสำคัญ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในเรื่องแรก คือเรื่องวันประชุม แต่เดิมนั้นเรามีการพูดคุยกันว่าเราอยากให้มี การประชุมเป็นจำนวนมากกว่า ๒ วันด้วยซ้ำ อาจจะ ๓ วัน เป็นวันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี หรืออาจจะเป็นวันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ ก็ดูตามความเหมาะสม ดูประเด็นว่าทางสมาชิก วุฒิสภาท่านมีการประชุมหรือไม่ แบบใด ประการใด แต่ว่าท้ายที่สุดก็ตกลงกันเป็น ๒ วัน บนเงื่อนไขแบบนี้ครับท่านประธาน ว่าถ้ามีกรณีที่มีเหตุจำเป็น มีวาระค้างเป็นจำนวนมาก ก็จะเปิดให้มีการประชุมเป็นวันเพิ่มเติมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏโดยข้อเท็จจริงว่า ในสมัยประชุมที่หนึ่งนั้นมีการประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ ถ้าผมจำไม่ผิดก็เพียงแค่ ๑ ครั้ง ในช่วงท้าย ๆ ของสมัยประชุมเท่านั้น ความจริงก็อยากหารือเพื่อนสมาชิกกับท่านประธาน ตรงไปตรงมาว่าวันนี้ผมดูวาระคร่าว ๆ เอาแค่ญัตติอย่างเดียวก็รวมกันแล้วเป็นจำนวนถึง ๓๑ ญัตติ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเพิ่มวันประชุมกันตั้งแต่ต้น เพราะว่าเดี๋ยวงบประมาณ ก็มา เดี๋ยวอภิปรายทั่วไป เดี๋ยวอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก เราก็จะได้เร่งทำงานให้เสร็จ ถ้าเป็นไปได้ อยากจะขอ ๓ วันด้วยซ้ำ แต่หากเป็นกรณีที่ ๓ วันยังไม่ได้ เรามีข้อตกลงอีกข้อหนึ่งครับ ท่านประธานว่าหากเป็นกรณีที่มีเรื่องของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจากเพื่อนสมาชิก หรือเป็นกฎหมายจากภาคประชาชนเสนอเข้ามานี้ อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการกำหนดวัน เพิ่มเติมหรือกำหนดวันให้ชัดไปเลยว่าจะมีการประชุมในวันใด ผมขออนุญาตท่านประธาน นำเรียนข้อเท็จจริง เท่าที่ผมอ่านในวาระการประชุมพบว่าวันนี้มีข้อกฎหมายที่ภาคประชาชน เสนอและเพื่อนสมาชิกเสนอรวมกันถึง ๘ ฉบับด้วยกัน ๘ ฉบับนะครับ ความจริงเมื่อคืน ๖ ทุ่มผมรออีกฉบับหนึ่ง เพราะว่ามีท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไปสัญญาไว้กับพี่น้อง ประชาชนว่าร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เรียกย่อ ๆ ว่าสมรสเท่าเทียมนี้ จะมาสภา ผมก็ดูวาระไม่เจอ ก็ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวว่ากันว่าตกลงท่านประธานตกหล่นหรือว่า เขายังไม่ได้ส่งมาที่สภาเรานะครับ อันนั้นว่ากันไว้ก่อน แต่ว่าในเมื่อวันนี้มีกฎหมาย สส. มีกฎหมายภาคประชาชนค้างอยู่ตั้ง ๘ ฉบับ แล้วก็ไม่รู้ว่าวันนี้ พรุ่งนี้จะเดินหน้าไปถึงไหน ก็หารือเพื่อนสมาชิกพรรครัฐบาลด้วย พรรคร่วมรัฐบาล ท่านประธานว่าตกลงจะเพิ่ม วันประชุมกฎหมายอย่างเดียวได้หรือไม่ หรือตกลงกันได้ไหมครับว่าถ้าอย่างนั้นเราแยกวาระ กันชัดเจนไปเลยครับ เอาสัปดาห์หน้าก็ได้ สัปดาห์นี้ยังไม่ทัน สัปดาห์หน้าเริ่มเลยครับ วันพุธหน้าจะมีการนัดประชุม เอากฎหมายแยกไปพิจารณา ๑ วันเลย ถ้า ครม. จะส่ง ความผิดจากการใช้เช็ค ถ้า ครม. จะส่งกฎหมาย ป.ป.ช. สมรสเท่าเทียม อากาศสะอาด นี่ผมฟังจากท่านศรัณย์ ทิมสุวรรณ ให้สัมภาษณ์วิทยุสภาเมื่อเช้า เอามาเลยครับ เริ่มวันพุธ หน้าเลย ก็จะได้แยกวันไปชัดเจนว่าตกลงกฎหมายของภาคประชาชน สภาชนเผ่าพื้นเมือง ได้ข่าวจะอุ้มอีกแล้ว ค้างมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว จะได้มีการพิจารณา ฉะนั้นโดยสรุปครับ ท่านประธาน ผมขอพิจารณาให้เพื่อนสมาชิกพรรครัฐบาลได้ช่วยกันหารือหรือพิจารณาว่า ขอแค่ ๒ อย่างครับ อย่างหนึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วัน แต่ถ้า เห็นว่าการเพิ่มวันประชุมเป็น ๓ วันยังเอาไว้ก่อน ดูเอาตามที่จำเป็นก็ขอให้มีการแยกวาระ ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน แม้กระทั่งกฎหมายที่มีเพื่อนสมาชิก สส. เสนอเข้ามาเป็นอันดับแรก ๆ ก่อนด้วยซ้ำไป ก็มี ๒ ประเด็นที่อยากจะหารือท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลครับ เปิดเทอมใหม่หัวใจไม่ว้าวุ่นนะครับ แต่อยากเร่งทำงานให้ตอบสนองต่อพี่น้องประชาชน มากที่สุดครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศรัณย์ครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ก็ต้องขอบคุณ ท่านณัฐวุฒิที่มีความเป็นห่วง แล้วก็อย่างที่เรียนว่าจริง ๆ แล้วหลาย ๆ เรื่องเราเคยมี การพูดคุยกัน แต่ต้องขออภัยในสมัยประชุมที่ผ่านมานั้นยังติดข้อปัญหาหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนแต่ละฝ่ายที่จะมีการคุยกันเองตอนนั้นก็ยังไม่มีความแน่นอน ชัดเจน นี่ก็ประเด็นหนึ่ง และเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังผ่านกระบวนการต่าง ๆ อยู่ กฎหมาย หลาย ๆ ตัวที่ท่านณัฐวุฒิยกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสมรส กฎหมายอากาศสะอาดนั้น จริงที่มีการผ่านมติของ ครม. แล้ว และทางท่านนายกรัฐมนตรีก็อยากให้รีบที่จะเข้ามา พิจารณาในสภา แต่เงื่อนไขและขั้นตอนต่าง ๆ บางขั้นตอนตอนนี้หลาย ๆ กฎหมาย ผมได้ทราบว่าอยู่ที่ทางกฤษฎีกา ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถที่จะไปเร่งให้เข้ามาตามที่เรา ต้องการได้ แต่ผมขอยืนยันกับท่านว่าเราติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเราจะเร่งให้เข้ามาในสภา เพื่อผลประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องอย่างที่ทางรัฐบาลเองก็ต้องการ และทาง สส. ฝั่งรัฐบาลเอง ก็มีกฎหมายอีกหลายตัวที่กำลังอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำลังรอพิจารณาเพื่อที่จะนำเข้ามา ในสภา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเรียบร้อยแล้วนะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ด้วยความเคารพ พอดีเห็นเพื่อนสมาชิกยกมือก็อยากจะฟังอีกท่านหนึ่ง แต่ว่าประเด็นของผม แค่กลัวว่าตกลงท่านประธานตกหล่นหรือเปล่า เพราะว่าเขารอกันถึง ๖ ทุ่มเมื่อคืน ตกลง คือยังไม่ส่งใช่ไหมครับ พ.ร.บ. อากาศสะอาด พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังไม่มานะครับ ท่านประธาน เอาสรุปตามนั้น แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญครับ ประเด็นที่สำคัญของผมก็คือว่า อยากให้มีความชัดเจน บังเอิญพวกผมอยากไปคุยด้วย วิปฝ่ายค้านเต็มตัวเป็นทางการมันก็ยัง ไม่มีครับ ฉะนั้นอยากให้มีความชัดเจนว่าเอากันเลยไหมสัปดาห์หน้า ต่อไปนี้เป็นต้นไปขอให้ แยกวาระการประชุมกฎหมายออกมาเป็น ๑ วัน จะเริ่มจากกฎหมายรัฐบาลก่อนก็ยินดี เพราะรู้ว่าก็มีประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลจะเป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่ก็ต้องตามมาด้วย กฎหมายของ สส. กฎหมายของภาคประชาชนที่มีอีกหลายฉบับ ถ้าเข้าไปดู Website นี้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอีก ๔๐-๕๐ ฉบับ เราจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ ก็ขอหารือ ประเด็นนี้มากกว่าครับ ส่วนประเด็นเมื่อสักครู่ก็เป็นประเด็นที่จริง ๆ ผมก็พอทราบ สาธารณชนรับรู้ก็เป็นเรื่องยินดีครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมว่ามันใช้เวลาพอสมควรแล้วนะครับ ผมพอจะมีข้อสรุปแล้ว ท่านอรรถกรขอสั้น ๆ นะครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบพระคุณท่านประธาน ที่กรุณานะครับ ด้วยความเคารพท่านประธานจะใช้เวลาให้สั้นที่สุด แต่ว่าจะพยายาม ผมคิดว่าผมก็มีข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกให้พวกเราทุกคน กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ประเด็นแรกต้องชื่นชมท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมา ๔ ปี ปีนี้ปีที่ ๕ ท่านก็ยังขยันเหมือนเดิม แต่ผมเรียนอย่างนี้ว่าที่ท่านบอก เมื่อสักครู่นี้ในการเพิ่มวันนี้ คือจริง ๆ แล้วในสมัยที่แล้ว ในสมัยสภาชุดที่ ๒๕ ซึ่งตอนนั้น ท่านชวน หลีกภัย ท่านทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา แล้วท่านก็ได้มีการเพิ่มวันเป็นครั้งคราว เพื่อที่จะชดเชยในส่วนวันที่เราติดวันหยุดเราก็เลยไม่ได้ประชุมนะครับ ผมเรียนอย่างนี้ครับ ในความคิดเห็นของผมการประชุม ๒ วันหรือ ๓ วันนี้ไม่ได้ต่างครับ เพราะว่าการที่เราจะ พิจารณาทำงานของเรามันขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเพื่อนสมาชิกด้วย เพราะว่าถ้าเรา สังเกตว่าบางญัตติหรือว่ากฎหมายบางฉบับใน ๔ ปีที่ผ่านมาถ้าเพื่อนสมาชิกให้ความร่วมมือกัน เราก็ผ่านกฎหมาย เราก็ผ่านญัตติ หรือเราก็ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในสภาได้เยอะ อันนี้ผม ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ เราสามารถอ้างอิงจากตัวเลขตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมานะครับ ถ้าท่านประธานจำได้ ท่านชวน ท่านก็ได้กรุณา ครั้งที่แล้วท่านก็ได้กรุณาว่าผลงานของ สส. ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมานี้ต้องบอกว่าถ้าวัดกันที่ตัวเลขไม่ได้เป็นรองใคร
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ในส่วนประเด็นที่ ๒ ขออนุญาตเสนอทางออก ขณะนี้เราสามารถใช้กลไก ในการเจรจาต่อรองโดยใช้วิปของฝ่ายค้าน วิปของฝ่ายรัฐบาลนะครับ โดยอาจจะเป็น ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านก็อาจจะเป็นประธานในการหารือ เปิดโอกาสให้ตัวแทน ของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมไปถึงตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย หลาย ๆ พรรคเข้าไป คุยกัน แล้วเราก็หาจุดลงตัวว่าเราจะเพิ่มวันในวันไหน หรือว่าไปคุยกันว่าเราจะวางกรอบ การพิจารณา ในวันพุธและวันพฤหัสบดีอย่างไร วันพุธอยากพิจารณาเรื่องอะไรก็ว่ากันไป วันพฤหัสบดีอยากจะเป็นกระทู้ อยากจะเป็นเรื่องรายงาน แล้วก็เป็นญัตติของเพื่อนสมาชิก ก็ว่ากันไปอันนี้ แต่ผมว่าถ้าเราจะมาฟันธงในห้องประชุม ณ วินาทีนี้ผมเชื่อว่าเราก็ต้อง ฟังเสียงเพื่อนสมาชิกอีกทั้งหมดเกือบ ๕๐๐ ท่านด้วย
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
สุดท้ายผมเรียนท่านประธานครับ ผมยืนยันว่า ๒ วันถ้าเราร่วมมือกัน ไม่เสียหายหรอกครับ ผมในฐานะ สส. เขตแล้วเพื่อนสมาชิกอีก ๓๙๙ คนที่เป็น สส. เขต เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน พอรับฟังปัญหา จากพี่น้องประชาชนแล้วเราก็เข้ามาทำงานในสภา ออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้อง ประชาชนได้เหมือนกัน อันนี้ก็คือความคิดผมนะครับ ด้วยความเคารพครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนที่ประชุมนะครับ อันนี้เป็นบทสนทนาเดียวกับที่เราประชุมกันเรื่องวันเวลาประชุมเลย ในการประชุมครั้งแรกว่าเราจะตกลงกันเป็น ๒ วันหรือ ๓ วัน แล้วก็เดี๋ยวเราตรวจสอบ รายงานการประชุมได้นะครับ เราตกลงกันที่เป็น ๒ บวก ๑ ก็คือเมื่อมีความจำเป็นจะสามารถ นัดเพิ่มได้อีก ๑ วัน ทีนี้ผมเรียนสมาชิกอย่างนี้นะครับ เนื่องจากสมัยประชุมที่แล้วเราไม่มี ร่าง พ.ร.บ. เข้าเลย ก็เลยยังไม่มีความจำเป็นมากนัก จะมีแค่เรื่องของข้อบังคับเท่านั้นเอง แต่ว่าปีนี้ในสมัยนี้มี พ.ร.บ. ที่จ่อเข้าเป็นจำนวนมากแล้วนะครับ ก็จะมีตอนนี้สด ๆ ร้อน ๆ รัฐบาลส่งมาแล้ว ๒ ฉบับ ท่านเลขาธิการเซ็นเช้านี้ก็คือร่างพระราชบัญญัติมาตรการของ ฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... และร่างที่ ๒ คือร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งถ้าอยู่ในวาระ แล้วก็สามารถจะนำพิจารณาในอาทิตย์หน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของท่านอรรถกร มีเหตุผลนะครับ อย่างไรจะให้ทางฝ่ายเลขาธิการได้ประสานงานทางวิปทั้งสองฝ่าย แล้วเรา จะเอากฎหมายทั้งหมดที่ทางภาคประชาชน ทางเพื่อน สส. แล้วก็ทางรัฐบาลมาดูกันว่าจะมี ความจำเป็นที่จะเพิ่มวันประชุมหรือไม่ อย่างไร ในวันเวลาที่เราเหลืออยู่ในสมัยประชุมนี้ นะครับ ขอบคุณมากครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมขอประทานโทษครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็น้อมรับตามที่ท่านประธานได้นำเสนอไว้นะครับ ก็คิดว่าน่าจะเป็นลักษณะ เดียวกับเมื่อสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ก็คือวันพุธนี้เราจะพิจารณาเฉพาะกฎหมาย ไม่ว่า จะเป็นร่างของ ครม. หรือว่าร่างของ สส. ที่จะต่อคิวกันมานะครับ ในกรณีของการนัดเพิ่ม อีก ๑ วันก็ตั้งแต่การพูดคุยกันในสมัยการประชุมที่แล้วนี้ผมคิดว่าทางพรรคฝ่ายค้านและ ทางพรรคร่วมรัฐบาลเองก็พูดคุยกันค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกสัปดาห์ แต่ว่านัดเมื่อจำเป็น แต่เมื่อจำเป็นนี้ก็คือเมื่อไรนะครับ ผมก็พบว่าปัญหาจากสภาชุดที่แล้ว ปรากฏว่าเรามานับกันได้เลยว่ากฎหมายจาก ครม. เราพิจารณากี่ฉบับ และกฎหมายจาก สส. และภาคประชาชนตลอด ๔ ปีเราได้พิจารณากันกี่ฉบับ เราจะพบกันเลยว่าสภาแห่งนี้ กลายเป็นเหมือนตรายางให้ ครม. นะครับ กฎหมายของ สส. ที่เข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติเอง แทบจะไม่ได้เข้าพิจารณาเลย กฎหมายของภาคประชาชนก็แทบจะไม่เคยได้เข้าพิจารณาเลย ดังนั้นผมเลยเห็นความจำเป็นว่าหาก ครม. ส่งกฎหมายเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วเข้ามาเป็นเรื่อง ด่วนนี้มันก็จะแทรกคิวกฎหมายของ สส. อยู่ตลอดนะครับ ถ้าหากมีความจำเป็นก็ขอให้ เปิดอีก ๑ วันในบางสัปดาห์เพื่อที่จะพิจารณาร่างกฎหมายของ สส. และของภาคประชาชน จะได้ทำให้เราสามารถพิจารณากฎหมายที่มาจากผู้แทนประชาชน ๕๐๐ คนที่ได้รับ การเลือกตั้งมาจริง ๆ แล้วก็ยินดีนะครับ แล้วก็พร้อมที่จะพูดคุยในพรรคร่วมอีกครั้ง หากท่านประธานนัดหมายครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก็เดี๋ยวเราไปหารือกันในการประชุมวิปสองฝ่ายนะครับ แล้วก็คิดว่าทุกคน น่าจะร่วมมือกันได้ดีตามที่เราตกลงกันไว้คือ ๒ บวก ๑ ทีนี้มีความจำเป็นในการพิจารณา มีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับปริมาณกฎหมายที่ผมจะให้ทางสำนักการประชุมได้มาสรุปแล้วก็ Update กับทุกท่านนะครับ ผมว่าเรื่องนี้ยุตินะครับ ต่อไปจะเป็นเรื่องรับทราบ ๒.๒ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔. รับทราบเรื่อง วุฒิสภาได้พิจารณารับทราบร่างนโยบายการบริหารและ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๗
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
โดยสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ประชุมได้พิจารณารับทราบ ร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕-๒๕๖๗ แล้ว จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๖
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการนั้น สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือแจ้งรายงานผลการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ดังกล่าว และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ได้ จัดวางให้กับท่านสมาชิกแล้วครับ จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๖. รับทราบเรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อนุญาตให้คณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายระยะเวลาการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง ญัตติพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและ ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืนออกไปอีก ๖๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๐๖ วรรคสอง เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นการพิจารณาตามที่ทางประธานกรรมาธิการได้เสนอแล้วก็ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุญาต คือขยายออกไปอีก ๖๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ และเป็นไปตาม ข้อบังคับ ข้อ ๑๐๖ วรรคสองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ที่ประชุมครับ ผมมีเรื่องแจ้งเพิ่มเติม ขอเชิญสไลด์ขึ้นเลยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
หลังจากที่เราได้พยายามที่จะทำให้สภาของเรามีระบบดิจิทัลในการทำงานของเพื่อนสมาชิก มากขึ้นและลดจำนวนกระดาษที่ใช้ในการ Print เอกสารนะครับ ก็ขอเรียนเชิญทุกท่าน ให้ Load Application Thai Parliament นะครับ ซึ่ง Application Thai Parliament เดี๋ยวไป Load ที่หน้าห้องประชุมนะครับ ทุกท่านไม่จำเป็นต้องเข้า Website ของรัฐสภา อีกต่อไปแล้ว แต่ว่าจะได้รับการ Update วาระการประชุม เอกสารประกอบการประชุม ทุกอย่าง แล้วก็ผลการลงมติ เพราะฉะนั้นถ้าท่านใดที่ใช้ Tablet ไม่ว่าจะเป็น IOS หรือว่า Android สามารถที่จะติดตั้ง Application นี้ แล้วก็งดการรับเอกสารที่เป็นกระดาษได้ เพราะหลายครั้งเราแจกเอกสารที่เป็นกระดาษแต่ละท่านอ่านแค่ไม่กี่หน้าเท่านั้นเอง แต่ว่าเป็นงบประมาณในการพิมพ์จำนวนมหาศาลนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าทุกท่านติดตั้ง Application นี้เรียบร้อยแล้วนะครับ Feature หลัก ๆ ก็จะเป็นปฏิทินการประชุมนะครับ แต่ถ้าเรากดเข้าไปที่รูปเครื่องมือด้านซ้ายบนนะครับ ท่านก็จะเจอวาระการประชุมแล้วก็ เอกสารการประชุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรายงานกรรมาธิการ รายงานของหน่วยงานที่มา ชี้แจงต่อสภา แล้วก็ร่างกฎหมายต่าง ๆ ด้วยนะครับ ต่อไปก็ขอเชิญ Download นะครับ พอเราลองทดสอบใช้ระบบนี้แล้วเป็นเวลา ๑ สมัยการประชุมท่านก็สามารถแจ้งความจำนง ได้เลยครับว่าท่านจะไม่รับเอกสารที่เป็นกระดาษอีกต่อไป แล้วเดี๋ยวผมจะมารายงาน ให้ทราบนะครับว่าเราสามารถประหยัดเอกสารที่เป็นกระดาษไปได้จำนวนเท่าไร แล้วคิดเป็น งบประมาณเท่าไร อันนี้ก็แล้วแต่สะดวกนะครับ แต่ถ้าท่านใดยังสะดวกใจที่จะใช้กระดาษอยู่ ก็ไม่ได้เป็นภาระอะไรของท่านนะครับ ก็สามารถที่จะใช้กระดาษต่อไปได้ อันนี้เป็นไปตาม ความสมัครใจ แต่ว่าระบบดิจิทัลของเราพร้อมแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรื่องแจ้งต่อไปครับ จากการสอบถามเรื่องของร่างกฎหมายของเพื่อนสมาชิก ที่มีการเสนอเข้ามาเป็นจำนวนมากแต่ทำไมยังไม่มีการนำเข้ามาพิจารณาสักที ก็ตอนนี้ ในร่างกฎหมายทั้งหมดของเรามี ๖๗ ร่าง เป็นร่างที่เสนอโดย สส. ๕๓ ร่างครับ แบ่งเป็น ร่างการเงิน ๒๕ ร่าง ไม่เป็นทางการเงิน ๒๘ ร่าง เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑๔ ร่าง เป็นการเงิน ๙ ร่าง แล้วก็ไม่เป็นการเงิน ๕ ร่าง อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ๑๓ ร่าง ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ๕๔ ร่าง เผยแพร่รายงานแสดงความเห็นแล้ว ๒๗ ร่าง แล้วก็รอคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ๑๔ ร่าง แล้วก็ไม่มีร่างที่นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง ทีนี้ร่างที่รอการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ๑๔ ร่าง ซึ่งมีทั้งร่างของเพื่อนสมาชิกทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เมื่อทางท่านนายกรัฐมนตรีให้การรับรองแล้วก็จะนำเข้าสู่การบรรจุ ระเบียบวาระทันที แล้วก็ตอนนี้มีกฎหมายที่รอเข้าบรรจุระเบียบวาระทั้งหมด ๖ ฉบับ ทุกท่าน ก็สามารถเข้าไปดูที่ Website ของมาตรา ๗๗ ของ Website ของทางสภาได้ เพื่อจะ Update สถานะของกฎหมายต่าง ๆ แล้วข้อมูลทั้งหมดผมจะนำเข้าประชุมกับการประชุมวิปสองฝ่าย เพื่อเราจะจัดสรรวันเวลาประชุมต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕. รับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ สถาบันพระปกเกล้า
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า ๒๕๔๑ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ได้จัดวางให้กับเพื่อนสมาชิกแล้ว ตอนนี้มีเพื่อน สมาชิกที่มีประเด็นติดใจจะซักถาม ๒ ท่าน ถ้าอย่างนั้นผมขอเชิญผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับที่ ๓๑ ขอเชิญผู้มีรายชื่อ ดังต่อไปนี้เข้าร่วมชี้แจง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑. นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒. ดอกเตอร์ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓. รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ที่ปรึกษาเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔. นางณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕. นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๖. นางสาวสุพรรณี งามวุฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๗. นางกาญจนา ศรีปัดถา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๘. ดอกเตอร์สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๙. นางสาวธีรพรรณ ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๐. นายภควัต อัจฉริยปัญญา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครอง ท้องถิ่น
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๑. นางธนิษฐา สุขะวัฒนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๒. ดอกเตอร์ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม การเมืองภาคพลเมือง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
วันนี้สถาบันพระปกเกล้ามาชุดใหญ่นะครับ เพื่อนสมาชิกที่ลงชื่อตอนนี้ มี ๒ ท่าน ก็ยังมาลงชื่อได้เรื่อย ๆ เพื่อเราจะสามารถแลกเปลี่ยน แล้วก็นำ Feedback ที่มีประโยชน์ให้กับทางสถาบันพระปกเกล้านำไปใช้ในปีถัด ๆ ไปได้ครับ ในการนี้จะขอทาง ผู้ชี้แจงได้สรุปรายงาน แล้วก็ Highlight ของรายงานให้กับที่ประชุมทราบครับ ขอใช้เวลา ไม่เกิน ๑๐ นาทีในรอบแรก ขอเรียนเชิญท่านเลขาธิการครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ขออนุญาต กราบเรียนท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ กระผม นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วันนี้เป็นหนึ่งโอกาสที่สถาบันได้มี โอกาสนำรายงานประจำปี ๒๕๖๕ เป็นการปฏิบัติงานของสถาบันพระปกเกล้านำเรียน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ในตัวรายงานนั้นผมจะขออนุญาตสรุปตัวรายงานสั้น ๆ ก็คือ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ของสถาบันพระปกเกล้า เราหวังว่า เราจะเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น พระประมุข แล้วก็ธรรมาภิบาลสันติวิธีเพื่อนำองค์ความรู้สู่สังคม
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ในส่วนของพันธกิจ ของสถาบันที่สำคัญจะเป็น ๗ พันธกิจที่สำคัญ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจแรก คือเรื่องของการศึกษาวิจัย เป็นการพัฒนางานทางด้านวิจัย เพื่อตอบสนององค์ความรู้ใน ๓ เรื่อง คือ เรื่องของการเมือง การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข ธรรมาภิบาล และสันติวิธี
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจที่ ๒ คือเรื่องของการศึกษาอบรมให้บริการทางวิชาการ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีการจัดการเรียนการสอนอยู่หลายหลักสูตร
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา พันธกิจนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการ ซึ่งก็มีงานที่อยู่ในเล่มให้เห็นชัดเจน
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการเผยแพร่และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง และการส่งเสริมเรื่องการเมืองภาคพลเมือง
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจถัดไป เป็นเรื่องของการส่งเสริมเรื่องของความร่วมมือของทั้งใน และต่างประเทศเพื่อการพัฒนางาน
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกของประเทศไทย
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
พันธกิจสุดท้าย เรื่องของการพัฒนากองทุนเพื่อเผยแพร่และพัฒนา ประชาธิปไตย
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
จากพันธกิจที่กล่าวมาสถาบันจะดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์ของการทำงาน ๗ ยุทธศาสตร์
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์แรก เป็นเรื่องของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของงานวิจัย ซึ่งอันนี้เป็นงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจาก สกสว. ใน ๑ ปีเราได้งบประมาณประมาณ ๑๐ กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีงานวิจัยประมาณ ๒๐ งาน
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ เป็นเรื่องจัดการเรียนการสอน เรามี ๓ หลักสูตรที่ได้รับ เงินงบประมาณแผ่นดิน คือหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง ที่เน้น ในเรื่องของผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองแล้วก็ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมทบนะครับ แล้วก็ในส่วน ของอีกโครงการหนึ่งคือโครงการสร้างสังคมสันติสุข อีกโครงการหนึ่งจะเป็นโครงการ ที่พยายามจะพัฒนาผู้นำในรุ่นเยาว์ ก็คือหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของการจัดอบรมสัมมนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการให้องค์ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ในส่วนของการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ในภาคส่วนต่าง ๆ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เป็นเรื่องของการพัฒนา เรื่องของการส่งเสริมความเป็น พลเมือง เพราะฉะนั้นในยุทธศาสตร์นี้ในปี ๒๕๖๕ สถาบันมีศูนย์พัฒนาการเมืองประจำจังหวัด อยู่ ๕๖ จังหวัด ศูนย์นี้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของสถาบันในการลงไปทำงานเพื่อให้ การศึกษา อบรม แล้วก็พัฒนาภาคประชาสังคม เด็ก เยาวชนในจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันเราก็มี ศูนย์ครบทั่วประเทศ ๗๖ จังหวัดนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ เป็นเรื่องของการส่งเสริมวิชาการของรัฐสภา
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ เป็นเรื่องของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ เป็นเรื่องขององค์กร
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ เป็นเรื่องของนวัตกรรม
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้นจากการทำงานผ่าน ๗ ยุทธศาสตร์นั้นเรามีโครงงานทั้งหมด ๙๔ โครงงาน ใช้งบประมาณไปประมาณ ๒๙๙ ล้านบาทเศษ ซึ่งในส่วนงบประมาณ ทั้งหมดนั้นจะประกอบไปด้วยส่วนของงบประมาณในการดำเนินงานประมาณ ๒๐๐ กว่า ล้านบาทเศษ แล้วก็เป็นเรื่องของครุภัณฑ์ แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ประมาณ ๒๗ ล้านบาท แล้วก็เป็นส่วนงานวิจัยก็ประมาณ ๑๐ กว่าล้านบาท แล้วก็อีก ๑ ส่วนคือ ปี ๒๕๖๕ เราได้งบสนับสนุนจากรัฐบาลในการทำหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ ที่เราเรียกว่า Big Rock จำนวนเงิน ๑๖ ล้านบาทเศษ อันนี้คือเม็ดเงินงบประมาณที่ได้รับ จัดสรรจากปี ๒๕๖๕ ถัดไปครับ อันนี้จะเป็นส่วนที่เราจะนำเสนอในส่วนของรางวัลแห่งความ ภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นส่วนที่สถาบันพระปกเกล้าได้รับเกียรติในการที่ได้รับรางวัล ในส่วนที่ เรามุ่งเน้นแล้วก็พยายามทุ่มเทในการปฏิบัติงานแล้วก็พัฒนางาน คือรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี ๒๕๖๕ แล้วก็ส่วนที่ ๒ เป็นรางวัลผลงานวิจัยระดับดี เป็นงานวิจัยชิ้นที่เราเรียกชื่อว่า ประเทศไทยในอนาคต Future Thailand สังคมชนบทและท้องถิ่น ในส่วนนี้จะเป็นส่วน ที่เป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลนะครับ ถัดไปเป็นสื่อที่เราพยายามทำเพื่อกระตุกจิตสำนึกคน ในเรื่องของความเป็นพลเมืองไทย เพราะฉะนั้นสื่อชิ้นแรกคือ เรื่องจิตสำนึกมีไหม อันนี้จะได้รับรางวัลจากประเทศสิงคโปร์ เป็นเรื่องหนังสั้นดีเด่น แล้วก็อีกชุดจะเป็นเรื่องของ เราเป็นแค่ตัวประกอบ อันนี้ได้รับรางวัลหลายประเทศ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แล้วก็สเปน ถัดไปจะเป็นในส่วนของการทำงานในแต่ละยุทธศาสตร์นะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์แรกคือเรื่องของการทำงานวิจัย ซึ่งในส่วนนี้งานวิจัยในปี ๒๕๖๕ เรามีทั้งหมด ๕๒ เรื่อง แล้วก็จะแบ่งกลุ่มงานวิจัย กลุ่มแรกเป็นเรื่องของการพัฒนาและ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งงานวิจัยในกลุ่มนี้มุ่งหวังที่จะให้การศึกษา ค้นพบข้อมูลในการ ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดองค์ความรู้ แล้วก็ใช้ ในการที่จะวางแผนออกแบบหรือทำนายแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้น กลุ่มงานวิจัยกลุ่มที่ ๒ เป็นเรื่องของขยายผลสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องงานวิจัยที่เราสนับสนุนการสร้างสันติภาพ Peace Survey แล้วก็เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนการสร้างศิลปวัฒนธรรม การรณรงค์ให้มี จิตสำนึกในเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การถอดบทเรียนและพัฒนาในเรื่อง ของความเสมอภาค กลุ่มงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งคือเรื่องของการสร้างและพัฒนาต่อยอด องค์ความรู้ ซึ่งในกลุ่มงานวิจัยในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ในภาวะวิกฤติ การขับเคลื่อนเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นองค์กรที่ลด ความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ในส่วนของธรรมาภิบาลในการพัฒนาคุณภาพสังคม เพราะฉะนั้นอันนี้ คืองานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ถัดไป คือเรื่องของการจัดการเรียนการสอนแล้วก็การอบรม ในยุทธศาสตร์นี้เองสถาบันได้มีการปรับเปลี่ยน โดยการเรียนการสอนของหลักสูตรสถาบัน ทั้งหมดนั้นเดิมที่เรามีอยู่เราจะมีการทำเอกสาร Paper ซึ่งเหมือนกับการทำ Thesis ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ในปัจจุบันเราลดงานพวกนี้ออก โดยการเปลี่ยนให้นักศึกษา ของเราทั้งหมดในทุกหลักสูตรทำงานโครงการเชิงปฏิบัติ สิ่งที่ต้องการคือการคืนประโยชน์ ส่วนรวมกลับสู่สังคม งานโครงงานทั้งหมดจะเป็นการทำพื้นที่เพื่อที่จะนำศักยภาพของผู้เรียน ของเราทั้งหมดในการลงไปช่วยเหลือสังคมในประเด็นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ หรือในส่วนการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ในสังคมที่มีมิติที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นงานจัดการเรียน การสอนของสถาบันก็จะปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ถัดไปเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ของการพัฒนาความเป็นพลเมืองครับ ในส่วนนี้เองสถาบันได้ดำเนินการขับเคลื่อนสร้างความเป็นพลเมืองไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ แล้วก็เพื่อให้บทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน แล้วก็กลุ่มนิสิตนักศึกษา สิ่งที่สถาบันทำคือการขับเคลื่อนงาน การเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง เรามีการอบรมภาคประชาสังคมในเรื่องของความที่จะ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบการปกครองอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แล้วก็ที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายถัดไปคือเรื่องของเยาวชน ในการเปลี่ยนแปลงสู่สังคม ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานั้นเราใช้โครงการเยาวชนแห่งอนาคต เป็นการอบรมเพื่อให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน ในการที่จะมองถึงภาพท้องถิ่นท้องที่ของตัวเอง มองถึงศักยภาพในการที่จะลงไปปรับเปลี่ยนในสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคในพื้นถิ่นพื้นที่ ที่ใกล้เคียงที่ตัวเองอยู่นะครับ แล้วก็มีโครงการที่อบรมครู เราเรียกว่าโครงการ PC ครับ ซึ่งเป็นโครงการในการอบรมให้ครู แล้วนำเทคนิคกระบวนการองค์ความรู้กลับไปสอนเด็ก ๑ ภาคการศึกษา แล้วก็เอากลับมาดูกันว่าเด็ก ๑ ภาคการศึกษาที่เรียนไปนั้นเด็กคิดอะไร รู้เท่าทันถึงปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิเช่นในโรงเรียนตัวเอง ในชุมชน ในหมู่บ้าน หรือในสังคมที่ตัวเองได้รับรู้ แล้วก็หาวิธีในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งที่สถาบันคาดหวัง คือการที่มองว่าถ้าเยาวชนต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ได้มีโอกาสที่จะแก้ปัญหา ร่วมกัน โตขึ้นไปในอนาคตเขาจะเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศชาติในการที่จะรู้เท่าทัน ในเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ นโยบายสาธารณะต่าง ๆ และการแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติ ต่อไปในอนาคต การขับเคลื่อนพลเมืองในระดับท้องถิ่นเราก็จะมีการอบรมภาคประชาสังคม
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ถัดไป เป็นเรื่องของการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภาครับ โดยเฉพาะงานในส่วนนี้จะโดยตรงกับท่านสมาชิกที่เคารพทุกท่าน เราจะมีการศึกษาวิจัย ในการวิเคราะห์กฎหมายที่เตรียมจะเข้าสภาถ้ามีการร้องขอ แล้วก็มีการเสริมสร้าง ประสบการณ์แลกเปลี่ยน มีการจัดสัมมนาในวงงานที่เกี่ยวข้องครับ แล้วก็มีการจัดทุนให้กับ ท่านสมาชิกในการเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า แล้วก็มีเรื่องของการที่เราทำนวัตกรรม ให้บริการทางด้านสารสนเทศแก่ท่านสมาชิกรัฐสภานะครับ คือเรามีการสรุปที่เราเรียกว่า KPI Research Snap Short ก็คือการสรุปงานวิจัยสั้น ๆ เพื่อให้ท่านสมาชิกได้มีโอกาส อ่านงานวิจัยสั้น ๆ แล้วก็ได้ใช้ประโยชน์นะครับ ส่วนถ้างานวิจัยชิ้นใหญ่ท่านก็สามารถที่จะ ไป Scan QR Code แล้วก็ได้งานวิจัยที่เต็มรูปแบบ อีกส่วนจะเป็น KPI Brief คืองานสัมมนา ต่าง ๆ ที่เรามองว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านสมาชิก เราก็จะมีการสรุปงานสัมมนาเพื่อส่งต่อ ให้ท่านสมาชิกนะครับ ในส่วนอื่นก็จะเป็นเรื่องของการจัดให้ความรู้กับผู้ช่วยปฏิบัติงาน ของท่านสมาชิก ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราก็ได้จัดไปแล้วหลายรุ่นนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ถัดไปเป็นเรื่องของภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แน่นอนครับ สถาบันใช้พระนามของพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำคือการพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้มีเรื่องของตัวศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้พัฒนาประชาธิปไตยแห่งใหม่ ที่เราเพิ่งพัฒนาขึ้น โดยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน แล้วก็กลุ่มภาคประชาสังคม ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของการเมืองในเบื้องต้น เรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านพระปกเกล้าศึกษา สถาบันจะมีศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าซึ่งค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้วก็ พยายามที่จะมีการต่อยอดเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านในรัชสมัยแล้วก็การเผยแพร่ พัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล่าสุดสถาบันเพิ่งจะจัดงานวันฉลอง รัฐธรรมนูญไป ๗-๑๐ ธันวาคมที่ผ่านมาที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์ถัดไป เป็นเรื่องของการพัฒนาองค์กร แน่นอนครับ การมีองค์กร ที่ต้องรับผิดชอบเราจะต้องดูแลสมรรถนะของพนักงานที่อยู่ในองค์กร แล้วก็ในการสร้าง เครือข่ายให้องค์กรที่จะมีการต่อยอดในการทำงานในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ยุทธศาสตร์สุดท้าย เป็นเรื่องของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ในส่วนนี้เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่เราเพิ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะดำเนินการในการ ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการที่จะเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยนะครับ โดยการที่เรา มีจัดหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบ e-Learning เป็น ๓ หลักสูตรใหญ่ ๆ คือเรื่อง ของการเมืองภาพใหญ่ การเมืองท้องถิ่น แล้วก็การเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แล้วก็โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาคประชาสังคมและผู้สนใจที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน แบบ Online ได้นะครับ แล้วก็มีหลักสูตรที่เราจัดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการตรากฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗๗ ซึ่งเป็นเรื่องของการประเมินผลกฎหมาย ซึ่งทุกส่วน ราชการต้องใช้ เพราะฉะนั้นสถาบันก็จัดการเรียนการสอนเพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจ ถึงกระบวนการ เทคนิค และวิธีการดำเนินการตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ แล้วก็มี การพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการดำเนินการในส่วนนี้นะครับ ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ในการ ดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้า ๗ ยุทธศาสตร์ครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ถัดไปจะเป็นเรื่องการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า ถ้าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ก็จะเป็นลักษณะของการทำงานคล้าย ๆ มหาวิทยาลัย เราจะมีสภาสถาบันซึ่งมีท่านประธาน รัฐสภาเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีท่านประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานโดยตำแหน่ง แล้วก็ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมี ๑ ชุดที่เป็นสภาสถาบัน อีก ๑ ชุดคือ กรรมการบริหาร และชุดที่สำคัญคือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของสถาบันพระปกเกล้าครับ ในปีที่ผ่านมานั้นคณะกรรมการได้วางแผนการติดตามงาน ของสถาบันโดยแบ่งเป็น ๓ ส่วนครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ส่วนแรก คือเรื่องของการติดตามการปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการติดตาม คณะกรรมการติดตามจะทำงานทั้งปี โดยการดูแลการทำงานของ สถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อเสนอแนะในทุก ๖ เดือน เพราะฉะนั้นเวลาที่ ติดตามก็จะมาดูว่าข้อเสนอแนะนั้นได้มีการพิจารณาและรับไปดำเนินการหรือไม่ ในส่วนนี้ ไม่ได้มีการคิดค่าคะแนนนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๒ เป็นการติดตามและตรวจสอบประเมินผลตามยุทธศาสตร์ครับ ๗ ยุทธศาสตร์มีตัวชี้วัดค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็จะกำหนดค่าคะแนนไว้ ๗๐ ครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
และส่วนที่ ๓ เป็นการติดตามและตรวจสอบประเมินผลการทำงานของ เลขาธิการ มีค่าคะแนน ๓๐ คะแนน เพราะฉะนั้นผลการประเมินของ Audit Committee ประจำปี ๒๕๖๕ นั้นปรากฏค่าคะแนนคือยอดรวมทั้งหมดก็คือ ๙๘.๘๖ นะครับ เป็นผล การปฏิบัติงานของสถาบันตามผลการตรวจสอบของ Audit Committee ครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ การตรวจสอบก็จะมีอีก ๑ ส่วนซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ภายนอก คือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน แล้วก็งบการเงินของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งอยู่ในหน้า ๑๙๖ ถึงหน้า ๒๐๕ อันนี้จะเป็น งบการเงินที่ได้รับการรับรองถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว เป็นงบการเงิน สำหรับปีที่สิ้นสุด ถูกต้องในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่ปรากฏอยู่ในเล่มรายงาน ทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดของเนื้องานทั้งหมด ๗ ยุทธศาสตร์ก็จะปรากฏอยู่ในเล่มรายงาน ที่ได้นำเสนอท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติไปแล้วครับ ผมขออนุญาตแค่นี้ เพียงสั้น ๆ ครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านเลขาธิการมากครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกนะครับ ตอนนี้มีลงชื่อ ทั้งหมด ๓ ท่านครับ ผมยังไม่ปิดการลงชื่อนะครับ ท่านแรกท่านมานพ คีรีภูวดล ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมก็มีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานของสถาบัน พระปกเกล้าประจำทุกปี แล้วก็มีทั้งการติ การชม แล้วก็การเสนอแนะนะครับ ครั้งนี้ก็เป็น อีกครั้งหนึ่งที่ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะในรายงานประจำปีนะครับ ก่อนอื่นครับ ท่านประธาน ผมต้องขอแสดงความยินดีกับท่านเลขาธิการคนใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า วันนี้รายงานที่ท่านรายงานมานี้ก็ถือว่าเป็นงานของท่านเลขาธิการคนเก่า ข้อเสนอแนะของผม วันนี้ก็น่าจะพิจารณานำไปสู่การทำงานของท่านเลขาธิการพร้อมกับฝ่ายบริหารทุกท่าน ในภารกิจของท่านในวาระของท่านต่อไป ท่านประธานครับ ถ้าเอาตัวเลขการเกิดหรือว่า การมีองค์กรสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่ ๒๕๔๑ ถ้าจำวันที่ไม่ผิดก็คือวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๑ ปีนี้ก็ครบรอบ ๒๕ ปีพอดี ถ้าเป็นวัยของคนก็คือเป็นวัยเบญจเพส วัยเบญจเพสผมคิดว่า มีความสำคัญในการได้เรียนรู้ ได้เติบโต ในระดับหนึ่ง แล้วก็พร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อันนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ ซึ่งก็ไม่น้อย ก็มีบทเรียนพอสมควรในตลอด ระยะเวลา ๒๕ ปี
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ผมอยากจะเสนอแนะเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงในการทำงาน หรือว่ามีแผนภารกิจเพิ่มเติมนะครับ ประเด็นเรื่องของการพัฒนาเยาวชนของชาติในบทบาท ของสถาบันพระปกเกล้านะครับ ท่านประธานครับ ถ้าดูในพันธกิจในเอกสารนี้ผมคิดว่า ในพันธกิจที่ ๒ ชัดเจนมากเลยนะครับ ให้บริการทางวิชาการในรูปแบบการศึกษา อบรม ทางวิชาการ ให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริการข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับความรู้ทางการเมือง การปกครองในระบบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี อยู่ตรงในข้อความเรื่องการศึกษาอบรมนี้ครับท่านประธาน คือผมก็เคยเป็นศิษย์เก่าของ พระปกเกล้านะครับ ผม ปศส. ที่ ๑๙ นะครับ ประเด็นของผมคิดว่าผมเห็นหลักสูตรต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมีแต่คนรุ่นใหญ่ คนที่เป็นนักธุรกิจ คนที่เป็นราชการระดับสูง แล้วผมก็เห็น หลายคนก็เรียนวนไปวนมาอยู่นั่นละครับ จบที่นี่แล้วก็ไปหลักสูตรนั้น แล้วผมก็ไปเจอในหลักสูตร ที่อื่นด้วย ผมคิดว่าที่ท่านทำไปแล้วคงมีฝ่ายอื่นประเมินอยู่แล้วนะครับ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ผมคิดว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยตรงปลายทางผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มันก็เติมได้ แต่ว่ามันไม่สามารถที่จะเติมได้ในเชิงกระบวนคิดหรือฐานคิดในเชิงระบบประชาธิปไตยได้ เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าเอาพันธกิจตรงนี้เราเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนชายขอบ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในชนบท ช่วงปิดสมัยประชุมท่านประธาน ทราบไหมครับ ผมได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กับกรุงเทพมหานครมีโอกาสได้มา ทัศนศึกษาในสถาบันสภาผู้แทนราษฎรนะครับ มีโอกาสเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์ มีวิทยากร บรรยายต่าง ๆ ผมมาจากบ้านนอกนะครับ ผมนึกภาพว่าแล้วเมื่อไรโอกาสของเด็กต่างจังหวัด เด็กชายขอบ เด็กบนดอยเหล่านี้เขาจะมีโอกาสได้ อย่างน้อยที่สุดไปเห็นบรรยากาศว่า สภาผู้แทนราษฎรอันนี้แหละที่เป็นการจัดสรรอำนาจ เป็นการออกกฎหมาย เป็นการแบ่งปัน ผลประโยชน์ เป็นการควบคุมกติกาทั้งประเทศก่อนที่ฝ่ายบริหารจะเอาไปปฏิบัติ ก่อนที่ ส่วนราชการไปปฏิบัติ ผมคิดว่าแบบนี้ท่านลองไปคิดดูนะครับว่าโอกาสของคน ๖๐ กว่าล้านคน แล้วคนรุ่นใหม่ที่อยู่ตามชนบทและคนชายขอบเหล่านี้เขาจะมีโอกาสเข้าถึงอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วผมคิดว่ามันมีอยู่ ที่ท่านใช้คำว่าเยาวชนในอนาคตมีอยู่ เพียงแต่ว่าผมเข้าใจว่าอาจจะ หยิบเป็นกลุ่มที่อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่ท่านกำหนดไว้ มันมีกลุ่มเยาวชน ที่หลุดออกจากการศึกษาในระบบครับ ซึ่งผมเข้าใจว่า กสศ. ก็ดูแลอยู่ กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่จะ เป็นพลเมืองในอนาคต จะเป็นพลเมืองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาตินะครับ ท่านประธานครับผมคิดว่าในประเด็นยุทธศาสตร์ที่พันธกิจแล้วมันมี ๒ ยุทธศาสตร์นี้แหละ ที่ท่านจะทำได้ ก็คือยุทธศาสตร์ที่ ๑ เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้นำทางความคิดและ การทำงานเพื่อเผยแพร่การพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ผมคิดว่าข้อความ ที่มีความหมายและมีความสำคัญในการปูพื้นฐานให้กับคนรุ่นใหม่ ก็คือผู้นำทางความคิด ท่านลองนึกภาพนะครับ การสร้างผู้นำแต่ละคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ ผู้นำแต่ละคน ที่จะมาอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้รวมถึงท่านด้วยนะครับ ผมคิดว่าเป็นการลงทุนมหาศาล หลายท่านก็เคยคำนวณตั้งแต่เรียนจบจนถึงปริญญาตรีใช้งบประมาณไม่น้อยนะครับ เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าหากว่าสถาบันพระปกเกล้าที่อยู่ภายใต้ของรัฐสภาได้มีกรอบ กระบวนการเชื่อมโยง จะผ่านระบบไหนผมคิดว่าอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุด เด็กชายขอบท่านจะออกแบบอย่างไรก็ได้ อาจจะเป็นโครงการประกวด อาจจะเป็นโครงการ อะไรก็ได้ว่าปีหนึ่งเด็กชายขอบต่างจังหวัดโควตาอาจจะ ๖๐ คนในเมืองอาจจะ ๔๐ คนขึ้นมา อบรมมีหลักสูตรตั้งแต่ลงพื้นที่ ไปอยู่ในพื้นที่ หรือว่ามาอยู่ที่รัฐสภาอะไรพวกนี้ครับ ผมคิดว่า อันนี้เป็นเรื่องจำเป็น
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ที่ผมอยากจะฝากให้เห็นถึงรูปแบบ การทำงานของสถาบันพระปกเกล้าเพื่อปูพื้นฐานการสร้างคนในกระบวนการประชาธิปไตย ผมเห็นด้วยกับทุกหลักสูตรที่มีอยู่ แต่เพียงแต่ว่าผมคิดว่าหลักสูตรต่าง ๆ เหล่านี้ผมไม่ได้ บอกว่าเป็นหลักสูตรที่มีแต่ผู้สูงอายุไปเรียนนะครับ ซึ่งข้อเท็จจริง ๆ อาจจะเป็นอย่างนั้น บางส่วน ก็ไม่ได้ขัดอะไร แต่ถ้าเรามีโควตาต่าง ๆ เช่น หลักสูตรเล็กที่อบรมให้กับผู้ช่วย สส. อะไรพวกนี้มันก็มีบุคคลอื่นเข้ามาเรียน ซึ่งมันมีความสำคัญค่อนข้างที่จะมากนะครับ กระบวนการเหล่านี้ถ้าเราจับมือกับสถาบันการศึกษาหรือท้องถิ่น อบต. เทศบาล ที่ท่าน ทำงานอยู่แล้วทั่วประเทศ ผมคิดว่าเราสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่ทางวิชาการ จะเพิ่มพื้นที่ การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญผมย้ำนะครับว่าถ้าหากท่านได้กำหนด ยุทธศาสตร์หรือแผนงานโครงการที่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนชายขอบ คนที่อยู่ห่างไกล และคนที่ ด้อยโอกาสสุด ๆ ก็คือคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งมีบางหน่วยงานดูแลอยู่ ก็จะเป็น การศึกษาที่อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการศึกษานอกระบบจริง ๆ คนเหล่านี้ถ้าเขามีโอกาส ถ้าเขา ได้มีพื้นที่ในการได้สื่อสาร ได้พูดคุย ได้เสนอแนะ สิ่งเหล่านี้ต่างหากผมคิดว่าได้เป็นการ ปูพื้นฐานให้กับคนที่มีความหลากหลาย คนที่มีความแตกต่าง คนที่มีวิธีคิดจากบริบท การทำงาน จากบริบทการใช้ชีวิตที่แตกต่าง จะเป็นการเรียนรู้จากสังคม เรียนรู้เพื่อนคนใน ชาตินี้ที่มีความแตกต่างและหลากหลายนะครับ ผมต้องขอบคุณท่านประธาน แล้วก็ทาง สถาบันพระปกเกล้าทุกคนครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางปะกอก พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตอภิปรายรายงาน ของสถาบันพระปกเกล้าประจำปี ๒๐๒๒ ข้อเท็จจริงอาจจะคล้ายคลึงกับท่านผู้อภิปราย ก่อนหน้า ท่านมานพ คีรีภูวดล แต่ผมก็อยากจะลงรายละเอียดแล้วก็มีรายละเอียดเพิ่มเติม จริง ๆ แล้วก็ขอให้สถาบันพระปกเกล้าอาจจะต้องช่วยเหลือ เพราะว่าเป็นประเด็นที่ยอมรับ ในส่วนตัวสนใจเป็นพิเศษและกำลังขับเคลื่อนอยู่ อันนี้ก็น่าจะตรงภารกิจในการ Support การทำงานของผมนะครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยในเด็กและเยาวชน ซึ่งกระผมเองก็ได้โอกาสจากตัวท่านรองประธานสภา ท่านปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยท่านเอง ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนสภาโปร่งใสและก้าวหน้าใช่ไหมครับ ถ้าชื่อผิดขออภัย ซึ่งในนั่นเองมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ซึ่งผมเอง ก็ได้นั่งทำในจุดนี้ด้วยนะครับ ก็ได้รู้ว่าในประเทศไทยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็ก และเยาวชนค่อนข้างถูกจำกัด อย่างสภาเด็กและเยาวชนกลับดูแลโดย พม. ซึ่ง พม. เอง ก็เห็นเด็กและเยาวชนนี้เป็นคล้าย ๆ กับ อส. เป็นอาสาของ พม. ในระดับโรงเรียนนะครับ ในระดับท้องถิ่น ก็คือเอาไปทำ Event เอาไปออกงานเท่านั้นเอง ไม่มีอำนาจทางการเมือง ใด ๆ ของสภาเด็กเลย แม้กระทั่งจะถามกระทู้รัฐมนตรีหรือเสนอกฎหมายใด ๆ คือเป็น ดอกไม้ประดับตามงานต่าง ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งตรงนี้เองผมคิดว่าตัวผมเองแล้วก็ทาง พรรคก้าวไกล รวมถึงน้อง ๆ ได้ทำงานกับทางสภาเด็กหลาย ๆ ท่านก็พยายามแก้ไขกฎหมาย กันอยู่ แต่ถ้าได้สถาบันพระปกเกล้ามาช่วยก็น่าจะกว้างและเร็วขึ้น แล้วก็ง่ายต่อการติดต่อ หน่วยงาน ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ นะครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ในประเด็นที่ ๒ เกี่ยวกับเยาวชนผมว่าอันนี้ต้องขออนุญาตให้สถาบัน พระปกเกล้าช่วยทำงานกับมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา มากขึ้นด้วยนะครับ เพราะผมเชื่อว่า การทำอย่างนี้ การสร้างคนตั้งแต่รุ่นนั้นขึ้นมาเป็นนักการเมืองหรือนักปกครองต่าง ๆ มันจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าในการที่อบรมกับผู้ช่วย สส. หรือแม้กระทั่ง สส. เอง ด้วยความเป็นจริง ที่ทุกคนทราบสุภาษิต คำพังเพยไทยว่า ไม้แก่ดัดยาก ไม้อ่อนดัดง่าย ผมว่าอันนี้ก็เป็นส่วน สำคัญ ยกตัวอย่างอย่างประเทศอังกฤษไม่ต้องไปไหนไกล เพื่อนสมาชิกของผมที่จบจาก ประเทศอังกฤษมาก็หลายท่าน ผมไม่มีโอกาสหรอกครับ ผมเป็นคนด้อยโอกาสคนหนึ่ง ก็เรียนจบปริญญาตรีธรรมดา ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ไปเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมา เขาก็ เคยเล่าให้ผมฟังครับ ที่อังกฤษมันมีสมาคมของพรรคการเมืองอยู่ตามมหาวิทยาลัย ไม่มีความ เกลียดชังหรือเกลียดกลัวการเมืองเหมือนในประเทศไทยครับ สถาบันพระปกเกล้าช่วยไป ปรับทัศนคติด้วย มีการ Debate อย่างเปิดเผย เชิญนักการเมือง เชิญบุคคล ดารานักแสดง ผู้ทรงอิทธิพลมากมาย อย่างคุณพริษฐ์เอง เขาเรียกว่าเป็นประธาน Oxford Union เขาก็ได้เชิญหลายคนมา แล้วก็เป็นประโยชน์กับ นักศึกษาอย่างยิ่งที่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตย ผมว่าถ้าเมืองไทยมีอย่างนี้ได้ความคิดของเด็ก และเยาวชนตั้งแต่เด็กก็จะได้มีองค์ความรู้ที่เขาไปคิดต่อยอด เราคงไม่อยากเห็นว่าสถาบัน พระปกเกล้าไปทำแล้วก็ยัดค่านิยมใด ๆ ซึ่งถ้าคิดจะทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะเด็กสมัยนี้คงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ไม่มีใครไปควบคุมเขาได้นะครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เป็นเรื่องประเด็นของงานวิจัย ที่คือ ผมเป็นแฟนคลับ Website ของ Wiki.kpi และสถาบันพระปกเกล้า ผมก็เอาข้อมูลมาเยอะนะครับ ทั้ง Wikipedia ใหญ่ ทั้ง Wikipedia เล็ก ทั้ง Google ทั้ง Chat GPT ผมก็มีปัญญาหาความรู้แค่นี้ล่ะครับ เพราะจับฉลากไปเรียนกับพวกท่านไม่ได้เลยสักทีเลย ไม่เคยเรียนสักหลักสูตรเลย ผมอยาก ฝากนะครับ ที่หายไปที่ผมเรียนรู้แล้วผมพยายาม Research ด้วยตัวเองอยู่คือเรื่อง Digital Democracy ในประเทศไทยความเป็นไปได้ อันนี้เน้นย้ำนะครับว่าเป็น Near Future แล้วผม ว่าวันหนึ่งไม่เกิน ๒๐ ปี ถ้าสถาบันพระปกเกล้าแล้วก็พวกเราทำงานหนักเพียงพอ อาชีพอย่าง ผู้แทนราษฎรเราไม่ควรจะมีอยู่แล้วครับ ประชาชนควรจะเป็นคนที่ใช้อำนาจประชาธิปไตย โดยตรงผ่านมือถือเขาได้แล้ว ถ้าเรามี Blockchain แล้ว มีอะไรแล้ว ประชาธิปไตยแบบ ตัวแทนแบบนี้ Obsolete หรือภาษาไทยก็แปลว่า ล้าหลัง ไม่มีความหมายอีกต่อไป ผมว่า อันนี้คือเป็น Future ถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตยจริงว่าเป็นอำนาจของประชาชน วันนั้น ต้องมาถึงให้ได้ วันนี้เราตกงานครับท่านประธาน วันที่ที่นี่ไม่มีความหมาย ร้าง นั่นแหละคือ เป้าหมายของเรา ท่านประธานครับ อย่างไรผมก็ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งในการที่ได้มาอภิปราย ในวันนี้นะครับ แล้วก็อย่างไรฝากทั้ง ๒ ข้อเสนอ เรื่องของเด็กและเยาวชน แล้วก็เรื่อง ประชาธิปไตยทางตรงด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เป็นเรื่องที่เขาทำมานะครับ อย่างผม ไปกับท่านประธานที่สิงคโปร์ใช่ไหมครับ ลี กวนยู (LEE Kuan Yew) เขาบอกว่าอะไรครับ เกาะเล็ก ๆ ไม่มีอะไรเลย ตอนแยกมาจากมาเลเซียร้องไห้นะ ไม่คิดว่าจะพาประเทศสิงคโปร์ มาขนาดนี้ได้ ๕๐ ปีผ่านไปเขาไปไหนแล้ว แล้วสิ่งที่สำคัญที่ ลี กวนยู (LEE Kuan Yew) ทำ มีเพียงอย่างเดียวเลยครับ พัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะเป็นหนึ่งเดียวที่เขามีอยู่ ที่เขามี ทรัพยากรบุคคล แล้วการ Invest ที่คุ้มที่สุดคือคนที่อายุน้อยใช่ไหมครับ เพราะเราลงเม็ดเงิน ไป เขายังอยู่อีกนาน อย่างไรฝากสถาบันพระปกเกล้าทำงานกับมหาวิทยาลัยและสภาเยาวชน และพยายามแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้เยาวชน กับมหาวิทยาลัยและสภาเยาวชน และ พยายามแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้เยาวชน เพราะผมเชื่อว่าอันนี้จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ เยาวชนได้เข้าสู่อำนาจและมีปากมีเสียงของเขาเอง ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ครับ
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตอนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ขออภิปรายรายงานของสถาบันของผมและของ ประชาชนทุกคน เพราะว่าสถาบันนี้จัดตั้งโดยเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ก็ยังชื่นชม เหมือนเดิมว่ารายงานประจำปีของปี ๒๕๖๕ น่าอ่าน น่าติดตาม โดยเฉพาะเรื่องของวิสัยทัศน์ ที่บอกถึงด้านการพัฒนาประชาธิปไตย การวางวิสัยทัศน์แบบนี้ผมชื่นชมครับ เพียงแต่วันนี้ ผมจะมาติดตามเรื่องที่ผมเคยอภิปรายรายงานแล้วก็เคยเสนอแนะไป แต่ยังไม่มีการนำไป บรรจุหรือเอาไปแปลให้เป็นรูปธรรมในการจัดกิจกรรม นั่นก็คืออุปสรรคของการพัฒนา ประชาธิปไตยที่สถาบันพระปกเกล้าวางไว้เป็นวิสัยทัศน์นั่นแหละครับ อุปสรรคง่าย ๆ เลยครับประเทศไทย รัฐธรรมนูญถูกฉีก ก็พวกทหารหัวเกรียนใน จปร. นั่นแหละครับ ผมเคย เสนอท่านว่าไปให้ความรู้พวกทหารโรงเรียน จปร. บ้าง นี่วันดีคืนดีท่านก็เอา พลเอก พลตรี พลโท อยู่ในแก๊งพวกปฏิวัตินั่นแหละครับมาเป็นวิทยากรในสถาบันประชาธิปไตยของท่าน ดูมันย้อนแย้งกันเสียเหลือเกิน แล้วในเอกสารที่ท่านรายงานมา ไปเยาวชนหลายพื้นที่ครับ สำนึกพลเมืองโน่นนี่นั่น ดีใจครับไปทั่วแล้วก็ไปครอบคลุมถึง โดยเฉพาะเรื่องของการ ไปยกระดับการพัฒนานักการเมืองระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกระดับ ผมชื่นชม แล้วก็การที่ท่านตั้งรางวัลเอาไว้สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เสนอโครงการมาประกวด โน่นนี่นั่น เยอะแยะ เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องของการจัดการความขัดแย้ง เรื่องของ การพัฒนาต่าง ๆ พวกนี้ผมชื่นชมท่านมาก และอดีตที่ผ่านมาผมอภิปราย แล้วท่าน ก็สามารถที่จะนำข้อเสนอของผมไปใช้ได้ และทุกวันนี้ผมก็ยังได้รับเอกสารหนังสือที่ท่าน ส่งไปนะครับ อันนี้ชื่นชมท่าน ทีนี้ต้องเจาะแล้วครับ เพราะว่าวันนี้ผมมาเติมกำลังใจให้ ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์ผมทั้งนั้นเลยที่อยู่บนเวทีตรงนี้ ท่านต้องมีความกล้าหาญครับ วันนี้ท่านต้องกล้าหาญถ้าจะให้ความรู้กับทหาร เพิ่มยุทธศาสตร์เข้าไป เพิ่มเป้าหมายเข้าไป ปี ๒๕๖๖ ปี ๒๕๖๗ นี้เพิ่มเป้าหมายเข้าไปหน่อยว่านอกจากอบรมแล้ว อบรมเยาวชน ประชาชนพลเมือง โตขึ้นจะเป็นบุคลากรสำคัญ รู้เท่าทัน แก้ปัญหาประเทศ แต่คนที่ไม่ได้ แก้ปัญหาประเทศ แถมสร้างปัญหาให้กับประเทศคือพวกที่จบนายร้อย จปร. ทั้งนั้นครับ เพราะฉะนั้นต้องไปปลูกฝังประชาธิปไตยให้พวกนักเรียนนายร้อย นักเรียนนายสิบต่าง ๆ ไม่เฉพาะทหารนะครับ เวลาฉีกรัฐธรรมนูญตำรวจด้วย เอากับเขาด้วย นั่งหน้าสลอนออกทีวี ผมไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นกลับมาครับ แล้วถ้าท่านจัดงานวันรัฐธรรมนูญจริง ๆ ก็ต้อง เห็นอีกมุมหนึ่งว่าการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๔ นี่ก็พูดชัดในประมวลกฎหมายอาญา ผมชื่นชมที่ท่านทำเรื่อง E-learning Online นะครับ แล้วก็เป็นการเปิดช่องทางการเข้าถึง แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ผมก็ชมด้วยนะครับ งานวิจัย ล่าสุดครับ ผมอยู่ในกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ผมเอางานวิจัยของท่านรองศาสตราจารย์ สาธิตาที่เขียนรายงานแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสถาบันพระปกเกล้าเอาเข้า กรรมาธิการครับ วันนี้ประชุมวันสุดท้ายในคณะอนุกรรมาธิการ เอาความเห็น เอาข้อมูล ของสถาบันพระปกเกล้า อาจารย์ที่ท่านทำนั่นแหละครับ ผมเอาไปใช้ประโยชน์ นี่เอามา ชมท่านนะครับ นี่เกิดผลดีที่เป็นรูปธรรม ผมพยายามผลักดันว่างานวิจัยที่ท่านทำเอาไว้ ไม่ให้ขึ้นหิ้ง ในสภาชุดที่ ๒๕ เสียดายครับ ไม่ได้ทำ ผมกลับมาใหม่รอบนี้ผมก็ผลักดัน ผมรักองค์กรนี้นะครับ สถาบันพระปกเกล้า แต่ทุกวันนี้ก็ต้องขอปฏิเสธที่จะไม่ขอไปเข้ารับ การอบรมนะครับ จนกว่าสิ่งที่ผมเรียกร้อง จนกว่าสิ่งที่ผมเห็นข้อบกพร่องและผมอภิปราย ได้รับการแก้ไข นั่นแหละผมถึงจะปวารณาตัวว่าจะขอสมัครเข้าไปอบรมกับท่าน เพราะผม ไม่อยากเจอพวกนักปฏิวัติ พวกนักฉีกรัฐธรรมนูญทั้งหลายไปเป็นวิทยากร มีหลักคิดแบบนั้น ไปเป็นวิทยากรในสถาบันประชาธิปไตยผมไม่รับแน่นอน เพราะฉะนั้นในเอกสารของท่าน ไม่ว่าจะเป็นหน้า ๙๕ หน้า ๒๔ หรือที่ผมอภิปรายในภาพรวมทั้งหมดถ้าท่านเอาไปแก้ไข ปรับปรุงหรือรับที่จะไปพัฒนาผมคิดว่าท่านบรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์แน่นอนครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านต่อไปนะครับ ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เชิญครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทางสถาบันพระปกเกล้าเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้จัดทำรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ออกมาได้อย่างดีนะครับ ผมก็ถือว่าผมเป็นศิษย์เก่า ของสถาบันพระปกเกล้า ผมเป็นมานานแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มาแล้ว แต่เพียงแต่ว่า ต้องชื่นชมการทำงานของสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมาว่าได้มีการพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครองไทย หลักสูตรกฎหมายมหาชน หรือหลักสูตรทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น วันนี้นอกจากผมชื่นชมแล้วผมขออนุญาต แนะนำเพิ่มเติมหลักสูตรต่าง ๆ ที่อยากจะพัฒนาประเทศชาติของเราให้มีความเข้มแข็ง มากยิ่งขึ้นนะครับ เรียนทางท่านประธานผ่านไปทางท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นะครับว่าหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณต่าง ๆ ในการที่เราจะทำเราจะพัฒนาในเรื่องนี้ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรครับท่านประธาน หลักสูตรเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เรื่องการวิเคราะห์งบประมาณ การจัดตั้งงบประมาณ การติดตามงบประมาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เดี๋ยวงบประมาณปี ๒๕๖๗ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วันนี้ผมอยากจะเห็นทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านเข้าใจหลักสูตร ในการที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้งงบประมาณ การวิเคราะห์งบประมาณ การติดตาม งบประมาณต่าง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติของเราให้ได้อย่างไร ตรงนี้ล่ะครับ ผมเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องพัฒนาในเรื่องนี้ในการที่จะติดตาม เรื่องการจัดทำงบประมาณต่าง ๆ ของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ต่อไปนะครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับที่อยากจะฝากถามทางสถาบันพระปกเกล้า ก็เกี่ยวกับเรื่องเครือข่ายการขับเคลื่อนการเมืองของพลเมืองที่เข้มแข็งสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ผมเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน พออ่านหลักสูตรนี้แล้วมันเป็น การที่เราจะทำให้แนวความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผมให้มันอยู่ใกล้กันได้ไหมตอนนี้ ท่านทำอย่างไรครับ หรือว่าอยู่ใกล้กับทางท่านประธาน ใกล้กับทางท่านเลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้านั่นล่ะครับ คนรุ่นใหม่ในขณะนี้กับเราความคิดต่าง ๆ มันอาจจะแตกต่างกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้ตรงนี้ให้มาใกล้กัน Tune กันให้ได้ ผมคุยกับลูกวันนี้บางครั้งเราก็ ยังมีความคิดที่แตกต่างกัน ไกลกัน เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาในยุคของสมัยที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเราก็พยายามที่จะปรับปรุงตัวเราให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันให้เกิดขึ้น ให้ได้ จะทำอย่างไรครับหลักสูตรของท่านตรงนี้ว่าเราจะทำให้คนแต่ละรุ่นให้เข้ามาใกล้เคียงกัน ให้ได้ วันนี้สังคมที่มีความคิดที่แตกต่างกัน ไม่มีอะไรที่จะปรับปรุงไม่ได้ สังคมที่แตกต่างกัน ในวันนี้ผมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลง ของเราควรเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนทุกรุ่นเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่ รุ่นเก่า รุ่นสมัยไหน ทุกคนมีความคิดที่มีวิวัฒนาการ มีความทันสมัยที่เกิดขึ้น อยากจะฝาก เรียนท่านเลขาธิการ ท่านประธานฝากไปถึงท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้านะครับว่า หลักสูตรเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการที่เราจะวิเคราะห์งบประมาณ จัดตั้งงบประมาณ หลักสูตรของคนรุ่นใหม่ในการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเรา คนทุกรุ่น เข้ามาใกล้เคียงกันได้อย่างไร ใกล้ชิดกันได้อย่างไร ให้พูดจารู้เรื่องกัน เข้าใจตรงกันในการ ที่จะทำงานร่วมกัน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของท่าน ขออนุญาตฝากท่านประธานไปถึงท่านเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้าด้วยนะครับ ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภัณฑิล น่วมเจิม เชิญครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ภัณฑิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พูดถึงสถาบันพระปกเกล้านึกถึงอะไร ขอสไลด์ด้วยครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
หลักสูตร ป. อะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ลองถามเพื่อนสมาชิกในที่นี้ก็ได้ นึกถึงสถาบันพระปกเกล้านึกถึงอะไร นึกถึง Connection นึกถึง ยังไม่อยากให้พูดเลยครับ ปาร์ตี้ครับ นี่คือสิ่งที่ General Public สาธารณชนรับทราบเกี่ยวกับสถาบันพระปกเกล้า มิใช่เรื่อง Research Institute ของสภา ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Perception คนทั่วไปต่อสถาบันพระปกเกล้าเป็นอย่างไร ลองไปทำ แบบสอบถามดูก็ได้ อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นแหล่งก่อกำเนิดของการสร้างเครือข่ายระหว่าง นักการเมือง พนักงานรัฐ และภาคธุรกิจ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้คุณให้โทษกับ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เขามาแสวงหา คุณก็ไปเก็บค่าเล่าเรียนจากเขาใช่ไหมครับหลักหมื่น หลักแสน ผมก็เลยตัดสินใจไม่ไปเรียน เพราะมันมีต้องไปเที่ยวไปอะไรเสียสตางค์อีกเป็นแสน ผมไม่ไปเรียนครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าหลักหมื่นหลักแสนที่เก็บไปมันไปอยู่ Classify เป็นรายได้ อื่น รายได้อุดหนุนจากแหล่งทุนภายนอกรวมแล้วหลักหลายล้านบาท ผมเห็นในรายงาน แต่ว่ามันไม่ได้มีหมายเหตุลงรายละเอียด แต่ปรากฏผลประกอบการของท่านขาดทุน ติดลบ ต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ประกอบกับยังมีค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุน การบริจาคหลักสิบล้าน ค่าใช้สอยอีกหลักร้อยล้าน ผมก็ไม่รู้เหมือนกันหมายเหตุมันไม่ได้ระบุ อะไรไว้ว่าค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนและบริจาคมันคืออะไร มันคือเขาอุดหนุนเราแล้วเรา ยังต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่เข้าใจเหมือนกัน ขาดรายละเอียดหมายเหตุในรายงานนะครับ แต่ขอ ย้อนกลับไปหน้าเมื่อสักครู่ แต่ก็แปลกนะครับ ไปอ่านดูสถานะทางการเงินของท่าน ท่านมีเงิน สด ๒๕๒ ล้านบาท ท่านก็เป็นแบงก์หรือครับ เงินขาดทุนนะครับ แต่ไม่มีเงินสด Standby ไว้ ทำอะไร Petty Cash เงินลงทุนระยะสั้นอีก ๘๔๙ ล้านบาท ไม่รู้ ท่านมีหน้าที่ลงทุน ท่านไม่ได้มีหน้าที่วิจัยพัฒนา บุคลากรเพื่อสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทางการเมือง ยังไม่พูดถึงความจำเป็น ของรายการที่ดินและอาคาร ๑,๑๓๘ ล้านบาท ผมเข้าใจว่าท่านอยู่ตรงศูนย์ราชการ ก็ไม่รู้ ท่านมีที่ดินหรืออาคารตรงไหน ทำไมท่านไม่เช่า มันไม่ใช่ภารกิจหลักของท่านในการที่จะ ถือครองที่ดินและอาคาร เพราะภารกิจหลักของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งหลายเรื่องก็ดีนะ ผมอาจจะอภิปรายรุนแรงนิดหนึ่งนะครับ ท่านทำเรื่องวิชาการเยอะ เป็นหน่วยงานหลัก ของรัฐสภาในการให้ความรู้ พัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากรทางการเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน เรื่อง Direct Democracy ก็ทำดีนะครับ ทำ Democracy Index ในรายงานท่านตั้ง ๒๐๐ กว่าหน้าก็มีประโยชน์หลายเรื่อง แต่กลับไปยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ไม่ตรงกับพันธกิจ ภารกิจหลักของท่าน อาทิเช่น กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลัก ของท่านคืออะไร พิพิธภัณฑ์ครับ ท่านเป็น Curator หรือครับ เพิ่มงบจาก ๗๐๐,๐๐๐ กว่า ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๑ ล้านกว่า ทั้ง ๆ ที่มีผู้ชมเข้ามากขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนท่านเก็บค่าชม พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า แล้วก็มีในรายงานผมก็อ่านก็บันเทิงดี จัดหาวัตถุโบราณเกี่ยวกับ ร.๗ งานพิธีกรรม CSR เพื่อสาธารณประโยชน์ แทนที่จะเอาไปสนับสนุนความรู้ด้านประชาธิปไตย ให้ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเอาไปส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของวิทยากร หรือเนื้อหาที่มัน ไม่ได้เน้นแต่ปริมาณ เน้นแต่จำนวน Cost แต่เน้นคุณภาพ ตัวชี้วัดก็ไม่ชัดเจน ผมอ่านเจอ แล้วมีประโยคหนึ่ง อบรมแล้วมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันคืออะไรอบรมแล้วมีการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แทนที่จะใช้อะไรที่มันเข้าใจง่าย จำนวนผู้เข้าการอบรมหรือบุคลากร ทางการเมืองที่ท่านสามารถสร้างได้ ชี้วัดไปเลยมีคนมาเรียนเท่าไร เรียนแล้วมาเป็น สส. อย่างผมมากน้อยแค่ไหน ก็ขอเลยเสนอแนะอันนี้ก็จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก เห็น Cost ท่าน ความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์อะไร สักอย่างผมก็รีบลงไปเลย ลงไปปรากฏเป็นอดีตนายพล ชั้นพลเอกผมไม่เอ่ยนามมาบรรยาย ผมอายครับ ไป Copy Paste มา ผู้ช่วยผมที่อยู่ปี ๔ เขาบอกเด็กมัธยมยังทำได้ดีกว่า ท่านไป Qualify ท่าน Screen คนที่มาวิทยากรดี ๆ ไม่ใช่สักแต่เอาวิทยากรเข้ามาเพื่อจะให้เขา ได้หน้าได้ตา ในเนื้อหานี้อันตรายผิดหลายอย่าง ไปกล่าวหาองค์กรข้ามชาติ ไปสร้างทฤษฎี สมคบคิด Google Facebook ไปกล่าวโทษคนอื่นเขา ไป Copy and Paste ผมไม่รู้มัน Conspiracy Theory จากไหนมาแล้วเอามาบรรยาย ไม่ถูกต้องนะครับ ผมจำได้ตั้งแต่วันนั้น ผมเลยนึกเลยว่าเมื่อมีรายงานสถาบันพระปกเกล้าเมื่อไรผมจะเข้ามาอภิปรายทันที ขอเลย ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ลดงานพิธีกรรม CSR ท่านไม่ใช่องค์กรเพื่อการกุศลนะครับ ท่านเป็น องค์กรวิจัย พัฒนาความรู้ให้บุคลากร แล้วก็ขอเลยครับความเป็นมืออาชีพของวิทยากร และเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ไปโจมตีคนอื่นเขา ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ นะครับ ๓ นาทีเชิญครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออภัยครับท่านประธาน ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอสั้น ๆ นะครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรกเลยตรงกับที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผม ผมมีคำถาม เรื่องการจำกัดคุณสมบัติของผู้ที่เข้ารับการอบรม เพราะว่ามีหลายคนเข้ารับการอบรม ที่สถาบันพระปกเกล้าครั้งเดียวในหลายหลักสูตรนะครับ ผมเข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลง ในระยะหลังนี้แล้ว
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือมีการประเมินผลหรือไม่ครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าเรียนหลักสูตร ที่สถาบันพระปกเกล้า และปัจจุบันนี้ใน LINE ติดต่อกันก็มีแต่เรื่องสวัสดีวันจันทร์อย่างเดียว เท่านั้น ไม่มีการคุยเรื่องอื่นหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลอะไรกันทั้งนั้น
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อีก ๒ เรื่องที่อยากจะฝากผลงานทางด้านวิชาการไปยังสถาบันพระปกเกล้า ให้ช่วยทำด้วย เรื่องแรกคือทุกปีนี้สภาเราจะพิจารณาเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีใช่ไหมครับ แต่เป็นไปได้ไหมครับว่าสถาบันพระปกเกล้าช่วยทำผลงานทาง วิชาการว่าเราสามารถกำหนดเรื่องการจัดหารายได้ลงในรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คือในฟาก รีดเงินภาษีจากประชาชน ตัวแทนประชาชนกลับไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาได้เลยนะครับว่า การรีดภาษีรายได้ของรัฐนี้ตัวแทนของประชาชนมีส่วนในการพิจารณาหรือไม่
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายนะครับ ขอให้ทางสถาบันพระปกเกล้าช่วยศึกษาผลงานทางวิชาการ ว่าในเมื่อเราจะกำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมขอทำผลงานด้านวิชาการว่าประชาชน มีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธหรือไม่ เพราะว่าการรัฐประหารนั้นผิดประมวล กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ อยู่แล้ว กรุณาทำผลงานทางวิชาการว่าประชาชนมีสิทธิต่อต้าน การรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธหรือไม่ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมต้องขอกราบเรียนท่านประธานและท่านผู้มาชี้แจงนะครับว่า ความจริงวันนี้การเข้ามารับฟัง รับทราบ การรายงานจากสถาบันพระปกเกล้านั้น ผมเพียงตั้งจิตมาแต่ไกลตั้งใจมาแต่บ้าน มาให้กำลังใจ แต่เมื่อฟังข้อเสนอแนะจากเพื่อนสมาชิกซึ่งก็เป็นสิทธิของท่านในการเสนอแนะ รวมถึงตั้งคำถาม เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยก็เดินมาที่ที่นั่งของผมครับ แล้วก็บอกว่า ท่านอนุสรณ์ ในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์เก่าสถาบันพระปกเกล้า ท่านเป็นมนุษย์ฝึกอบรม คนหนึ่ง เป็นคนที่อ่านหลักสูตรรู้ ดูหลักสูตรเป็น มีอะไรที่ท่านจะช่วยสถาบันพระปกเกล้า ได้บ้าง ผมขอเรียนว่าเวทีนี้คงไม่ได้มีการช่วยเหลืออะไรกันครับ แต่เพียงแต่ว่าอยากให้ กำลังใจกับสถาบันพระปกเกล้า ผมได้เรียนเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน ซึ่งเป็นวันสถาปนา สถาบันพระปกเกล้า และปีนี้ก็ครบรอบ ๒๕ ปีสถาบันพระปกเกล้า เป็น ๒๕ ปีที่เดินมาถูกทิศ ทำงานมาถูกทางครับ แน่นอนครับว่าระหว่างทางนั้นก็จะต้องปรับ ต้อง Tune ต้องเปลี่ยน ข้อคำถามหรือแม้แต่ข้อครหาต่าง ๆ ที่มีกับสถาบันพระปกเกล้าผมต้องเรียนนะครับว่า บางข้อกล่าวหานั้นปัจจุบันนี้ไม่หลงเหลือรูปแบบนั้นแล้วนะครับ และผมเชื่อมั่นว่าสถาบัน พระปกเกล้ามุ่งมั่นตั้งใจในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ ผมต้องขอแสดงความยินดีกับท่านอาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ ท่านเลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้าท่านใหม่ ความจริงเพื่อนสมาชิกบางท่านบอกว่ารายงานประจำปี ๒๕๖๕ นี้เป็น รายงานผลการดำเนินงานของเลขาธิการท่านเก่า ความจริงท่านอาจารย์วิทวัสและคณะ ไม่ได้เป็นคนเก่าคนใหม่ไปไหนครับ เป็นลูกหม้อ เป็นคนในองค์กรของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยความภาคภูมิใจครับว่ามีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานนี้และหาก ในรายงานจะได้พูดถึงความสำเร็จใด ๆ ผมเชื่อว่าอาจารย์วิทวัสและคณะนั้นมีสิทธิ อันชอบธรรมที่จะได้นำเสนอความภาคภูมิใจนั้นครับ ผมกราบเรียนว่าผมไล่เรียงดูเนื้อหา ในรายงานก็ต้องชื่นชมที่ท่านทำรายงานได้น่าสนใจแล้วก็ชวนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ผมสะดุดตรงแผนยุทธศาสตร์สถาบันพระปกเกล้า ฉบับที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘ ผมอ่านวิสัยทัศน์นะครับ Vision บอกว่า จะเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำ ด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ที่จะมุ่งนำความรู้สู่สังคม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมเข้าใจว่าวิสัยทัศน์นี้ก็คงจะขับเคลื่อนระหว่างปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ถ้าเราไปดูในหลักสูตรผมคิดว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่ไกล เกินไป หลักสูตรในปัจจุบันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นปัจจุบันและสามารถใช้งาน ได้จริง ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าศึกษาในหลักสูตรของสถาบัน พระปกเกล้าในปัจจุบันนี้มองสถาบันพระปกเกล้าว่าเป็นสถาบันที่เข้มความขลัง และพยายาม จะเติมความปัง เข้มความขลังคืออะไรครับ ในฐานะที่ผมอ่านหลักสูตรรู้ ดูหลักสูตรเป็น ต้องเรียนครับว่าหลายต่อหลายหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้านั้นไม่เรียนไม่ได้ครับ เพราะถ้าคุณไม่เรียนคุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนข้อครหาหรือข้อคำถาม ๓ ประการที่ตั้งคำถามไปยังสถาบันพระปกเกล้า เช่น เรื่องของไปเรียนแล้วก็ไปสร้าง Connection ผมเรียนเลยครับว่ามาตรฐานการคัดกรอง กระบวนการที่จะนำไปสู่การคัดเลือกผู้จะได้เป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ปัจจุบันนี้ ผมเข้าใจว่ามีมาตรฐานระดับสากล และมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะเข้าไปเป็น นักศึกษา และแน่นอนล่ะครับคนไปเรียนตรงนั้น ๖ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน กิจกรรมที่จะ ควบคู่ไปกับการเรียนที่เรียกว่า Plearn หรือ Play and Learn ที่เรียกว่างาน Party มีปัญหา ผมเรียนว่า ณ ปัจจุบันนี้สถาบันพระปกเกล้าก็ปรับเปลี่ยนเข้าไปควบคุมตรวจสอบและ ให้คำแนะนำ ให้คำชี้แนะกับนักศึกษาผู้เข้าอบรมอย่างใกล้ชิด ในอดีตอาจจะมีหลายหลักสูตร จากบางสถาบัน เวลาเป็นงาน Party หลังเลิกเรียนก็จะว่าด้วยเรื่องของงบประมาณหรูหรา อู้ฟู่ว่าแข่งขันกัน แต่ปัจจุบันนี้สถาบันพระปกเกล้า โดยเฉพาะอาจารย์วิทวัสนี่ล่ะครับ ก็จะ ให้คำแนะนำกับนักศึกษาว่าด้วยเรื่องของวัตถุประสงค์ เป้าหมายของการจัดกิจกรรมสังสรรค์ หรือสาระสังสรรค์หลังเลิกเรียนนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ไม่ให้ติดกับเปลือกหรือรูปแบบครับ แต่จะต้องไปถึงแก่นแท้ของวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมในการสังสรรค์หลังเลิกเรียน เรื่องของวิทยากรผมต้องกราบเรียนนะครับ อาจจะไม่เป็นธรรมกับสถาบันพระปกเกล้า ที่บอกว่าไปเชิญทหารยศนายพลมา ผมขออนุญาตกราบเรียนนะครับ ผมเป็นผู้หนึ่งที่เรียน ในหลายหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ผมเห็นถึงความตั้งใจของสถาบันพระปกเกล้า ในการจะเชิญวิทยากรให้มีความหลากหลายครับ คือคงไม่สามารถจัดวิทยากรให้ไปพูดตรงใจ ผู้เข้าอบรมได้ทั้งหมดหรอกครับ แต่เราคงไม่สามารถไปตัดสินวินิจฉัยว่าถ้าวิทยากรเป็น นายทหารยศพลเอกนี้ฟังไม่ได้คงไม่ถึงขั้นนั้น ผมยกตัวอย่างนายทหารยศพลเอก ที่เป็นนายทหารประชาธิปไตย นายทหารสันติวิธี ผมนึกถึงท่านพลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ นายทหารสันติวิธีผู้ล่วงลับ ท่านเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร เป็นผู้ผลักดันหลักสูตร ๔ ส เป็นเตรียมทหารรุ่นที่ ๑๐ แล้วก็เป็นนายทหารที่นำสู่การแก้ไขปัญหาและนำไปสู่สันติวิธี หรือแม้แต่ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก นายทหารประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการ มาบรรยาย และผมคิดว่าเป็นการเปิดกว้างเพื่อให้เราฟังมุมมองแง่คิดที่หลากหลาย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ ผมขอให้กำลังใจสถาบันพระปกเกล้าในการเข้มความขลัง เติมความปัง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน และผมเชื่อว่าทุกหลักสูตร ที่เกิดขึ้นและวันทุกวันของสถาบันพระปกเกล้าจากนี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดและ เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ สถาบันพระปกเกล้านั้นเป็นนิติบุคคลซึ่งอยู่ในกำกับดูแล ของท่านประธานรัฐสภานะครับ ก็อยู่ในสังกัดของสภาผู้แทนราษฎร สังกัดรัฐสภา ทีนี้ว่า จากข้อคิดเห็นของสมาชิกที่ได้ให้ข้อคิดเห็นมายาวนาน ผมอยากจะเรียนท่านเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้านะครับ เรามี สส. อยู่ ๕๐๐ ท่าน หลักสูตรสูงสุดของสถาบันพระปกเกล้า วันนี้ สส. รุ่นใหม่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียน เพราะฉะนั้นปีหนึ่งท่านก็รับ สส. เข้าไปเรียน ก็ประมาณ ๔๐ ท่านไม่เกินนะครับ ถ้า ๔ ปีก็ประมาณ ๑๖๐ คน ที่เหลืออีก ๓๔๐ นั้น ก็ไม่มีโอกาสได้เรียน บางท่านก็เข้ามาสมัยเดียว จากนั้นก็ไม่มีโอกาสอีกเลย เพราะฉะนั้น อยากจะเรียนท่านเลขาธิการว่ากระบวนการที่จะรับ สส. ทั้ง ๕๐๐ คนที่ผมเคยหารือไป ให้มีโอกาสได้เรียนภายใน ๔ ปีนี้นะครับ อยากจะฝากท่านว่า สส. อาจจะไม่ค่อยมีเวลา ระบบออนไลน์ก็แทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียน อยากจะฝากท่านว่ามันเป็นความจำเป็น ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของ สส. ทั้ง ๕๐๐ ท่านนะครับ ฝากท่านช่วย ปีงบประมาณ ต่อ ๆ ไปนี้ช่วยให้ สส. ได้มีโอกาสได้เรียนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าแต่ละพรรคแย่งกันเรียนนะครับ ความจริงมันไม่ต้องแย่งกันเรียน ใครอยากเรียนต้องได้เรียน ฝากท่านนะครับ แล้วก็เรียนถาม ท่านว่าปี ๒๕๖๗ นี้จะรับ สส. สักกี่ท่านเข้ามาเรียนในหลักสูตรสูงสุดของสถาบันพระปกเกล้า เชิญท่านเลขาธิการชี้แจงครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ แล้วก็กราบเรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผมคงตอบคำถามท่าน ในภาพกว้างนะครับ ขออนุญาตก่อนอื่นต้องเป็นของท่านประธานก่อนในเรื่องที่ฝากผมไว้ ผมจะขออนุญาตนำไปดำเนินการที่จะปรับสัดส่วนของนักศึกษา ปปร. แต่ก็ไม่ทราบว่า ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอยากจะเรียนหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านมานพ คีรีภูวดล นะครับ อันนี้ก็มีส่วนที่ฝากผมเกี่ยวกับเรื่อง ของการทำงาน ซึ่งจริง ๆ เป็นการทำงานในยุทธศาสตร์ที่ ๓ ของผมคือการส่งเสริมการเมือง ภาคพลเมืองนะครับ ซึ่งต้องบอกเลยว่าที่ผ่านมาตลอด ๒๕ ปีของสถาบันพระปกเกล้า เราทำเรื่องของการส่งเสริมเด็ก เยาวชน มาโดยตลอด แล้วก็โดยเฉพาะวิทวัสขึ้นมาเป็น เลขาธิการ นโยบายนี้เป็นนโยบายหลักในการที่จะเน้นเรื่องของเด็กและเยาวชน เพราะเรา มองเห็นภาพของการที่ต้องเอ่ยนามที่ท่านสมาชิกพูดถึงเรื่องไม้แก่ดัดยาก เพราะฉะนั้น เราก็จะมองถึงเด็ก เยาวชน เป็นหลักสำหรับในช่วงปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แล้วก็รอยต่อไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ ที่ผมทำอยู่คือการอบรม PC ที่อบรมคุณครู ไปอบรมเด็กใน ๑ ภาคการศึกษาที่ได้เล่าไปแล้ว การอบรมในช่วงของผมนี้จะมีโครงการ ผู้นำเยาวชนดี เป็นการอบรมเด็กซึ่งอยู่ในแกนนำของสภานักเรียนในแต่ละจังหวัด โครงการ ของผมนี้จะเป็นโครงการ ๑๔ จังหวัดนะครับ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เราจะดูในเรื่องของเด็กและ เยาวชนในแต่ละจังหวัดที่มีศักยภาพในการที่ลงไปดูและแก้ไขปัญหาถิ่นฐานของตัวเอง ดูในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ดูในเรื่องของแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง ดูในเรื่อง ของการพัฒนาเรื่องของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ของตัวเองที่ในจังหวัดนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ขออนุญาตตอบคำถามท่านเท่าพิภพครับ คือประเด็นเด็ก เยาวชน เป็นสิ่งที่ ท่านเสนอแล้วก็อยู่ในใจสถาบันพระปกเกล้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนที่จะทำงานร่วมกัน ในการที่จะดูเรื่องของกฎหมายเด็ก เยาวชน เป็นเรื่องที่สถาบันยินดีเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ท่าน ดำเนินการต่อแล้วก็ประสานมา จริง ๆ การสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าจิตสำนึก ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับตัวคน แต่มันต้องอยู่ที่การบ่มเพาะและสั่งสอน เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ ค่อนข้างยากสำหรับการที่จะบอกเรื่องของการสร้างจิตสำนึกคน โดยเฉพาะในหลักสูตรผม ซึ่งเรียนอยู่กับผมเพียงแค่ไม่กี่เดือน ผมคงสามารถที่จะสร้างจิตสำนึกของทุกคนไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือเราพยายามจะสร้างจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคต ของชาติต่อไปนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ท่านประเสริฐพงษ์ครับ สิ่งที่ท่านฝากไว้ก็จะพยายามดูนะครับ แล้วก็ในเรื่อง ของอุปสรรคของการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยเราพยายามดูเรื่องนี้มาโดยตลอดครับ สถาบันเองก็ไม่อยากให้มีปฏิวัติ ไม่อยากให้ใช้กำลัง แต่ลำพังสถาบันเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ เรามีคนอยู่แค่ ๑๐๐ คน เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะทำเรื่องพวกนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ก็คงต้องอาศัยท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่จะสนับสนุนสถาบันพระปกเกล้าด้วย
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ตอบท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ นะครับ ขอบพระคุณที่ชื่นชมครับ ในส่วนเรื่องของ งบประมาณแผ่นดินสถาบันได้ดำเนินการโครงการไปแล้วที่ศึกษาในเรื่องของการจัดสรร งบประมาณจนกระทั่งต่อยอดมาเกิดเป็นหน่วยงานงบประมาณสำหรับรัฐสภา คือโครงการ PBO เป็นการเริ่มต้นจากสถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้นส่วนที่ท่านฝากเรื่องของการที่จะ พยายามดูเรื่องความแตกต่างของคนช่วงวัยก็เป็นเรื่องที่สถาบันให้ความ Concern ครับ เพราะฉะนั้นโครงการเยาวชนพลเมืองดีที่ผมทำอยู่ก็จะเป็น ๑ โครงการที่พยายามสร้าง จิตสำนึกของเด็กเพื่อที่จะรู้ถึงเรื่องของการให้เขามีความรู้เท่าทันในเรื่องของการเมือง การปกครอง รู้ถึงว่าประเทศไทยจะมี ๓ เสาหลักที่สำคัญ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นก็เป็น ๑ ส่วนที่รับฝากไปนะครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ ครับ เกี่ยวกับเรื่องให้ศึกษางานวิจัย ก็ขออนุญาตท่าน ส่งประเด็นแล้วก็กราบเรียนท่านประธานมาเลยนะครับ เพื่อที่สถาบันจะได้ดำเนินการ ตามคำสั่งครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ท่านภัณฑิล น่วมเจิม นะครับ ขออนุญาตถ้ากล่าวชื่อผิด เรื่องพิพิธภัณฑ์เป็น พันธกิจหลักของสถาบันพระปกเกล้าครับ สถาบันพระปกเกล้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานชื่อสถาบันว่า สถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้น ๑ พันธกิจสำคัญคือการทำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เพื่อเป็นการ เชิดชูเกียรติพระองค์ท่านผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเป็นพันธกิจหลักและ สิ่งที่เราต้องทำ แล้วก็ส่วนหนึ่งในการที่ทำพันธกิจเหล่านี้ เรื่อง CSR เป็นเรื่องที่ใช้เงินนิดเดียว เป็นการเอาเด็กมาเลี้ยงข้าวกลางวันนิดหน่อยครับ เพราะฉะนั้นคงไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ แผ่นดินมากนัก ก็ขออนุญาตกราบเรียนไว้อย่างนี้นะครับท่านภัณฑิล
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ส่วนคำตอบอื่น ๆ ผมต้องขอบพระคุณท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นะครับ ผมคิดว่าคำตอบของท่าน สิ่งที่ท่านอนุสรณ์ได้กรุณาชี้แจงน่าจะเป็นคำตอบให้ท่านภัณฑิล ได้เป็นอย่างดี ก็ขออนุญาตกราบเรียนแค่นี้ครับท่านประธาน ขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กราบขอบพระคุณ ในนามสถาบันพระปกเกล้าครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ยังมีท่านสมาชิกติดใจนะครับ เชิญครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานว่า ทางท่านเลขาธิการยังไม่ได้ตอบคำถามท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ผมเห็นด้วยกับ ท่านประธานอย่างยิ่งนะครับว่าที่จะให้ สส. เรา ๔ ปี ๕๐๐ คนไปเรียนให้ได้ ยังไม่ได้ตอบ คำถามนี้ ขออนุญาตท่านเลขาธิการตอบนิดหนึ่งครับ
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้นฉบับ
ได้ครับท่านฐากร ผมตอบคำถามแรกเลยครับ ผมบอกว่าผมจะรับไปดู คือต้องกราบเรียนว่าท่านประธาน ได้กรุณาเอ่ยเรื่องนี้มานานสักพักหนึ่งแล้ว ได้เรียกผมมาพบแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมจะต้อง เอาไปเข้าในคณะกรรมการ เพราะจริง ๆ โควตาของการเรียนของ สส. นั้นมันอยู่ในกำหนด ของมติของคณะกรรมการ แล้วก็ต้องกราบเรียนเลยว่าท่านประธานเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ กว้างมาก แล้วก็เรียกผมมาพูดไปแล้ว แล้วผมเองก็อยากทำนะครับ คือจริง ๆ ถ้าเป็นการ ล้างมติได้ผมอยากจะจัดให้เฉพาะท่านสมาชิกเรียนเสียด้วยซ้ำ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สมทบ ก็ไม่ต้องมีสมทบ เอกชนที่สมทบก็ไม่ต้องมีสมทบ แต่ประเด็นก็คือว่าการมีห้องเรียนซึ่งมี ท่านสมาชิกอย่างเดียว คือผมกังวลว่าถึงเวลาเรียนจริง ๆ จะเหลือท่านสมาชิกนั่งในห้องเรียน น้อยนิดเดียว อันนั้นคือสิ่งที่เป็นห่วงครับ เพราะฉะนั้นก็กราบเรียนว่าไม่เป็นปัญหาเลยครับ ถ้าทางสภา ท่านประธานและท่านรองประธานทุกท่านเห็นด้วยกันก็จะไปปรับเปลี่ยน ผมได้ตอบคำถามไปแล้ว แล้วก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ ผมอยากได้ท่านสมาชิกเป็นนักศึกษา ในสถาบันอยู่แล้วครับ เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนสถาบันพระปกเกล้าต่อไปในอนาคต ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ก็หมดข้อซักถาม ข้ออภิปรายต่าง ๆ แล้วนะครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสถาบันพระปกเกล้าแล้ว ต้องขอบคุณท่านเลขาธิการและคณะ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ สำหรับเรื่องตามระเบียบวาระที่ ๒.๖ และระเบียบวาระที่ ๒.๗ สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้แทนจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายที่จะ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรติดภารกิจ จึงขอเลื่อนเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจง ต่อสภาผู้แทนราษฎรออกไปช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๗
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๘. รับทราบนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เสนอนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๒๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ รายละเอียดตามปรากฏเอกสารที่จัดวางไว้ให้ท่านสมาชิกแล้ว ท่านสมาชิกมีประเด็นซักถาม หรือไม่ครับ ยังไม่มีรายชื่อส่งมานะครับ ถ้าอย่างนั้นมีท่านสมาชิกจะซักถามนะครับ ในการนี้ ผมอนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อ ๓๑ เชิญผู้มีรายนามต่อไปนี้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. ท่านประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. นางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔. นายธีรยุทธ วัฒนะธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๕. นางสาวสุนิษา คนคล่อง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านประธานจะนำเสนอก่อนสักนิดหนึ่งนะครับ เชิญครับ
พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ตามมาตรา ๒๘ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี แล้วให้แจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีทราบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ เป็นการทั่วไปด้วยนั้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยสอดคล้องกับนโยบาย การตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐ รายละเอียดปรากฏตามประกาศ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ได้ส่งมาให้สภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น ผม พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน และนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมคณะ ได้มา ขอรับทราบข้อสังเกตจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ท่านได้ทำนโยบายตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นนโยบายที่ต้องนำเสนอต่อสภาก่อนตามรัฐธรรมนูญ ก็มีท่านนิพนธ์ คนขยัน ได้ขออนุญาต อภิปรายซักถาม เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน มาไหมครับ ท่านนิพนธ์ยังไม่มา มีท่านอื่นไหมครับ ที่จะซักถาม ถ้าไม่มีถือว่าทางสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบนโยบายของสำนักงานตรวจเงิน แผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ก็ต้องขอบคุณทุกท่านนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๙. รับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการ งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ รับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ตามที่ สำนักงบประมาณเสนอและให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ รายละเอียดปรากฏตามเอกสาร ที่จัดวางไว้ให้ท่านสมาชิกแล้วนะครับ ท่านสมาชิกไม่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายนะครับ ไม่มีสมาชิกท่านใดติดใจซักถามนะครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานการโอนงบประมาณ รายจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ แล้วนะครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่าน ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อยากจะสอบถามถึงนโยบายของท่านประธานเกี่ยวกับ รายงานรับทราบเรื่องต่าง ๆ จากหน่วยงานนะครับ ผมเข้าใจว่าถ้าหน่วยงานเดินทางมาแล้ว แล้วอาจจะมีการเตรียมที่จะอภิปรายสรุปรายงาน ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นประโยชน์ กับสมาชิกที่ได้รับฟังหน่วยงานได้สรุปรายงานให้ฟังเช่นกันนะครับ ก็อาจจะฝากท่านประธาน ลองพิจารณาดูครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านอยากจะรับฟังใช่ไหมครับ ท่านอื่นมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าอย่างนั้นก็เชิญ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุม มีรายชื่อดังต่อไปนี้ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. นางพันพร โตวิริยะเวช ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. นายเอก มุติตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลที่ ๑
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔. นางสาวรุ่งทิพย์ ลิมปาภินันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงบประมาณ และการจัดการ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญทั้ง ๔ ท่านเข้าประจำที่แล้วท่านก็กล่าวรายงานครับ
นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ขออนุญาตกราบเรียนรายงาน การโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ต้นฉบับ
ด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ กำหนดให้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรายงานการโอนงบประมาณรายจ่าย งบกลางระหว่างรายการ ที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายกลาง หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานต่อรัฐสภาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่สิ้นปีงบประมาณ ในการนี้สำนักงบประมาณ จึงได้จัดทำรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายตามในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ เสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ รับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ เพื่อรายงานเสนอต่อรัฐสภา ดังนี้
นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ต้นฉบับ
การโอนงบประมาณรายจ่ายงบกลางระหว่างรายการ ไม่มีการโอนงบประมาณ การโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการระหว่างหน่วยรับงบประมาณ มีการโอนงบประมาณ รายจ่ายบูรณาการระหว่างหน่วยรับงบประมาณ จำนวน ๑ แผนงาน คือแผนงานบูรณาการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเป็นรายการวงเงินทั้งสิ้น ๓๘,๓๗๕,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี เหตุผลในการโอนงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากเป็นการถ่ายโอนภารกิจของสำนักงาน สิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑-๑๖ ของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปยังกรมควบคุมมลพิษ และเป็นรายการรับโอนวงเงินทั้งสิ้น ๓๘,๓๗๕,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ โดยมีเหตุผลในการโอนงบประมาณดังกล่าว เพื่อนำเงินงบประมาณมาใช้ในการรับโอนภารกิจของกรมควบคุมมลพิษ สำหรับการโอน งบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ มีการโอนงบประมาณจำนวน ๒๐ กระทรวง ๙๑ หน่วยงาน จำแนกเป็นรายการโอนออก จำนวน ๘ กระทรวง ๒๔ หน่วยงาน วงเงินทั้งสิ้น ๑,๔๗๙,๔๔๙,๒๐๐ บาท โดยมีเหตุผลในการโอนงบประมาณดังกล่าว เนื่องจาก ๑. การโอนย้าย ตาย ลาออก เกษียณอายุของอัตรากำลังระหว่างปีงบประมาณ ๒. การสรรหาและบรรจุอัตรากำลังล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ๓. การปรับลด การบรรจุกำลังพลตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม และ ๔. การเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านลดลง เนื่องจากจำนวนข้าราชการผู้มีสิทธิในการรับค่าเช่าบ้านลดลง โดยมีเหตุผลในการโอนงบประมาณดังกล่าวเนื่องจาก ๑. บรรจุอัตราว่าง อัตราใหม่ รับโอน อัตรากำลังระหว่างปีงบประมาณ ๒. ค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น ค่าตอบแทนพิเศษ เงินเดือนเต็มขั้น ค่าตอบแทนสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุข เงินเพิ่มพิเศษสำหรับ ผู้มีเหตุพิเศษ ๓. การปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการโอนย้ายข้าราชการ ประจำสำนักงานต่างประเทศ และ ๔. ค่าเช่าบ้านของข้าราชการตามสิทธิเพิ่มขึ้นระหว่าง ปีงบประมาณ จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่าย ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่มีสมาชิกท่านใดซักถามนะครับ ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่าย ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ แล้วนะครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต สอบถามในประเด็นนิดหนึ่งครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ไทยสร้างไทยนะครับ ขออนุญาต เรียนถามว่าที่โอนออก โอนเข้า ของกองทัพบก กองทัพเรือ ที่เกี่ยวกับเรื่องบุคลากรต่าง ๆ คำถามของผมคือ ก่อนจัดตั้งงบประมาณปี ๒๕๖๖ ที่มีอัตรากำลังพลพวกนี้อยู่ที่เรา ปรับลดลง ตอนจัดตั้งปี ๒๕๖๖ พิจารณาไม่ได้ดีหรือครับถึงได้โอนออกเยอะมาก มันถึงได้ โอนเงินพวกนี้ออกเยอะมากครับ โอนออกจากกองทัพบก กองทัพเรือ ความหมายของผมคือ แล้วโอนออกไปอยู่หน่วยไหนตรงนี้ครับ ท่านประธานครับ สอบถามแค่นี้ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านโอนออกไปอยู่หน่วยไหนครับ เชิญตอบครับ ท่านบอกชื่อด้วย
นางสาวรุ่งทิพย์ ลิมปาภินันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงบประมาณ และการจัดการ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานค่ะ ดิฉัน นางสาวรุ่งทิพย์ ลิมปาภินันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงบประมาณและการจัดการ ขออนุญาตตอบข้อคำถาม ของท่านนะคะ ขออนุญาตนำเรียนว่าหน่วยงานที่ท่านถามก็คือหน่วยงานที่มีงบประมาณ เหลือจ่ายโอนออกให้กับหน่วยอื่นที่ไม่เพียงพอนะคะ ขอนำเรียนว่าตอนที่ตั้งงบประมาณ ทางสำนักงบประมาณได้พิจารณาอัตรากำลังที่บรรจุแล้ว แล้วก็จะต้องจัดงบประมาณ ให้ครบถ้วน รวมไปถึงส่วนเพิ่มต่าง ๆ ส่วนที่ท่านถามว่าแล้วทำไมถึงมีการเหลือจ่าย โอนออก อันนี้เป็นเหตุผลที่เป็นนโยบายของกระทรวง ถามว่าในตัวกระทรวงเองก็จะมีหน่วยที่รับโอน อย่างเช่น กองทัพไทย เป็นต้น ซึ่งมีภารกิจที่จะสามารถที่จะไปดำเนินการในส่วนนั้น แล้วใช้ บุคลากรของหน่วยงานที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน ขออนุญาตนำเรียน ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ก็ถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติ วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ แล้วนะครับ ขอบคุณผู้แทนหน่วยงาน ท่านสมาชิกครับ ระเบียบวาระที่ ๒.๑๐ นำไปพิจารณาในวันพรุ่งนี้ นะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนที่จะเข้าระเบียบวาระถัดไปผมขอใช้ข้อบังคับ ข้อ ๕๔ ในการขอเปลี่ยน ระเบียบวาระการประชุม ให้วาระการประชุมที่ ๕.๒๑ คือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของท่านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ หรือที่เรียกว่า สมรสเท่าเทียม ขึ้นมาต่อจากวาระที่ ๕.๔ คือร่างพระราชบัญญัติควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยคุณเจริญ เจริญชัย นะครับ ก็จะมีผลในการ ประชุมครั้งถัดไป ผมขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมขออภิปรายสั้น ๆ นิดเดียวถึงสาเหตุที่ผมขอเปลี่ยนระเบียบวาระนะครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เลื่อนมาหลังลิงใช่ไหม
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
หลังอันนี้ครับ หลังพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครับท่านประธาน เพราะว่าการเลื่อน ร่างพระราชบัญญัติไม่สามารถมีผลในวันนี้ได้ ก็อาจจะมีผลในการประชุมครั้งถัดไปนะครับ ก็ ๒ สาเหตุที่ผมต้องขอเลื่อนวาระนี้ เพราะว่าอย่างที่คุยกันไปเมื่อเช้า มีการหารือกันเมื่อเช้า เรื่องการพิจารณากฎหมายร่างกฎหมายของ สส. ซึ่งอาจจะมีการแยกออกมาต่างหาก เมื่อเรามีการแยกวันพิจารณาวันพุธเป็นกฎหมายโดยเฉพาะ แล้ววันพฤหัสบดีเป็นวาระอื่น ๆ แต่ใน ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแยกอย่างเป็นทางการแบบนั้นนะครับ ผมเลยคิดว่าอยากจะ ขอให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส. ขึ้นมาจ่อคิวรอไว้ก่อนเลยในกรณีที่ยังไม่มีการแยกวัน แล้วก็ไม่อยากที่จะแทรกร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยภาคประชาชน จึงขอให้มาอยู่หลัง ๕.๕ ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยภาคประชาชนครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง ทางฝ่ายวิปรัฐบาลว่าอย่างไรครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมขอเห็นแย้งครับว่า ผมอยากให้ระเบียบวาระนี้เป็นไปตามแบบเดิม แล้วก็เหตุผลนะครับ คือผมเข้าใจในความ เร่งด่วนของกฎหมายที่เพื่อนสมาชิกต้องการที่จะยกขึ้นมาต่อเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับ การพิจารณาโดยเร็วที่สุด เมื่อเช้าเราก็ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ไปสักเล็กน้อยแล้วก่อนที่จะ มีการเปิดการประชุม ก็คือกฎหมายหลาย ๆ ตัว โดยเฉพาะขออ้างอิงกฎหมายสมรสนี่ครับ คือตอนนี้ผมเชื่อว่าภายในเดือนนี้เราจะได้พิจารณาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นร่างของ สส. ร่างของ พรรคใดก็ตาม หรือแม้แต่ร่างของ ครม. เอง ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่กำลังจะยื่นเข้ามา ในสภา แล้วผมเชื่อว่าภายในเดือนนี้เราก็จะได้พิจารณากฎหมายสมรสกัน เพราะฉะนั้น ผมไม่แน่ใจว่าการเลื่อนขึ้นมามันอาจจะทำให้ขั้นตอนซ้ำซ้อนกันไปหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสามารถพิจารณากฎหมายโดยที่ทั้งร่างของ สส. ทั้งของ ครม. เอง เข้ามาในสภา พร้อมกันได้เราก็จะได้สามารถพิจารณาพร้อมกันไปได้ แต่ถ้าร่างของ ครม. ซึ่งตอนนี้กำลัง อยู่ในขั้นของกฤษฎีกาผมเชื่อว่าจะสามารถเข้ามาในสภาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ผมก็จึง อยากให้เราพิจารณาไปพร้อมกันจะได้มีการซ้ำซ้อนครับ ผมจึงขอยืนยันว่าอยากให้เป็นไป ตามระเบียบวาระเดิมครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง หารือกันไหมว่ารอของรัฐบาลหน่อย เพราะว่าของรัฐบาลกำลังอยู่ใน กฤษฎีกา กำลังจะเข้ามาประกบนะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ต้องขอบพระคุณ ท่านประธานที่ได้กรุณาอยากให้หารือครับ แต่หารือกันมาหลายวันนะครับ ทีนี้ประเด็นก็คือ ว่าที่ท่านกำลังพูดถึงว่าอยากให้รอเพราะว่ามาแน่ ๆ เดือนธันวาคม ผมมีเหตุผล ๒ ประการ ที่จะบอกว่าคงรอไม่ได้ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ก็คือว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียม เราถูกเบี้ยวมาแล้วนะครับในสภาชุดที่ ๒๕ และเนื้อหา ที่คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาอยู่ ณ ปัจจุบันคือร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื้อหาเหมือนกันเป๊ะเลยครับ กฤษฎีกาไม่ต้องตรวจเลย ท่านบอกเองจะส่งวันที่ ๑๒ เดือน ๑๒ ไม่ใช่ Lazada Shopee นะครับ ๑๒ เดือน ๑๒ ปี ๖๖ วันนี้ ๑๓ นะครับ รอถึง ๖ ทุ่มท่านไม่ส่ง ฉะนั้นไม่รอแล้วครับ หากถ้าจะมีการมาพิจารณาในเชิงเนื้อหาก็ว่ากันไป ในเนื้อหา รับหลักการไปก่อนไปพิจารณากันดู แต่คงไม่รอแล้วครับ นั่นเหตุผลประการที่ ๑
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เหตุผลประการที่ ๒ ก็คือที่จะมาบอกว่ารอไปก่อนเดือนธันวาคมพิจารณาแน่ ไม่มีใครกล้ายืนยันหรอกครับ ท่านศรัณย์กล้ายืนยันหรือครับ กฎหมายอากาศสะอาดก็ยังรอ กฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมือง พวกนี้ไม่รู้จะได้พิจารณาหรือเปล่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อีก ฉะนั้นผมคิดว่าก็แน่นอนครับในเมื่อพรรคฝ่ายค้านยืนยัน มีผู้รับรองถูกต้อง โหวตก็โหวตครับ จะได้รู้ว่าตกลงแล้วเราให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายภาคประชาชน ร่างกฎหมาย สส. มากน้อยขนาดไหน เอามาต่อกันเลยครับ ส่วนญัตติที่ค้างแยกวันพิจารณา ไปเลยตั้งแต่สัปดาห์นี้เราก็ยินดีครับ เพื่อนสมาชิกหลายคนยังไม่ได้จองตั๋วกลับวันพฤหัสบดี ผมคิดว่าฝ่ายค้านไม่เปลี่ยนใจ ไม่ถอยหลัง เดินหน้าแน่นอน ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม โหวตก็โหวตครับท่านประธาน
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอ นิดเดียวครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย พอดีฟังท่านณัฐวุฒิพูดเมื่อสักครู่ก็เข้าใจได้ครับ แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้เบี้ยวหรอกครับ กำลัง เร่งทำ แต่ว่าเพื่อความสมบูรณ์ เพื่อความรอบคอบ ของกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านกฤษฎีกามา เราก็จะเร่ง ไม่ใช่ไม่เร่งหรอกครับ ผมเองในฐานะเป็นรองประธานวิปรัฐบาลคนหนึ่ง วิปเรา ก็ได้หารือกันอยู่เมื่อวานว่าอยากเร่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้เข้าสู่สภาให้ไวขึ้น เพื่อที่จะได้ ดำเนินการให้มันเป็นกฎหมายนะครับ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายพวกผมซึ่งเป็นผู้แทน พรรครัฐบาลไม่ใส่ใจ เราใส่ใจครับ อยากกราบเรียนกับท่านประธาน แต่ว่าถ้ามีความจำเป็น ที่ทางพรรคฝ่ายค้านจะขอให้โหวตเราก็ต้องว่ากันไปตามหน้าที่ครับ แต่อยากทำความเข้าใจ กับท่านประธานว่าเราใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่เพื่อให้ความรอบคอบและสมบูรณ์เท่านั้นเองครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสมาชิกที่อยู่ในห้องกรรมาธิการ ห้องทำงานส่วนตัว เชิญเข้าห้อง ประชุมครับ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สุรชาติ ๔๔๐ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ยังไม่ให้แสดงตน เชิญก่อนครับ
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
๓๖๘ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ยังไม่ให้แสดงตนครับ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
นุชนาถ ๑๙๑ รายงานตัวค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวก่อนนะครับ ยังไม่ได้ให้แสดงตน เดี๋ยวผมจะประกาศนะครับ เดี๋ยวรอพรรคพวก สักครู่หนึ่ง รอเพื่อน ๆ สักครู่หนึ่งนะครับ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมภราดร ปริศนานันทกุล ครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านภราดรครับ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธาน ระหว่างรอเพื่อน สมาชิก ผมหารือกับท่านประธานนิดเดียวครับ ฝากไปทางฝ่ายเลขานะครับ เพื่อนสมาชิก ที่กำลังประชุมกรรมาธิการอยู่ ในห้องกรรมาธิการไม่มีเสียงออดส่งสัญญาณว่าจะมีการลงมติ ในห้องประชุมใหญ่นะครับ ฝากท่านประธานถึงทางฝ่ายเลขาให้ไปปรับปรุงแก้ไขด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ฝ่ายเลขา ฝ่ายสถานที่ ลองตรวจสอบห้องประชุมทุกห้องด้วยนะครับว่ามีเสียงไหมครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อย่างที่ทางฝั่งรัฐบาลแจ้งนะครับ สมาชิกอยู่ในห้องกรรมาธิการ กันเยอะพอสมควร ก็ไม่มีปัญหาครับ รอได้ครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปผมจะขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้เปลี่ยนวาระการประชุมหรือไม่ นะครับ
นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขอแสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวสักครู่นะครับ ผมขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม หรือไม่นะครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุม เชิญท่านสมาชิกแสดงตนครับ
นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ท่านประธาน ผม ศิริโรจน์ ธนิกกุล ๓๗๒ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓๗๒ แสดงตนครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๐๒๙ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๒๙ แสดงตนครับ
พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา นครนายก ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา หมายเลข ๔๔๔ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔๔๔ แสดงตนครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ณพล เชยคำแหง หมายเลข ๑๒๑ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๒๑ แสดงตนครับ
นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ
๐๘๖ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๘๖ แสดงตนครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
๑๗๒ แสดงตนครับ ผม ธีระชัย แสนแก้ว
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๗๒ แสดงตนครับ
นายนพดล ปัทมะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน ๑๗๗ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๗๗ แสดงตนครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๐๐๑ แสดงตนค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๐๑ แสดงตนครับ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
๔๔๐ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔๔๐ แสดงตนนะครับ
นายสุธรรม แสงประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๔๓๒ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔๓๒ แสดงตนครับ ท่านผู้อาวุโสปิดไมค์ด้วยครับ ทุกท่านแสดงตน มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิครับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ๔๐๔
นายวุฒินันท์ บุญชู สมุทรปราการ ต้นฉบับ
วุฒินันท์ ๓๕๕ แสดงตนครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔๐๔ ๓๕๕ แสดงตนครับ หมดแล้วนะครับ ถ้าไม่มีท่านได้แสดงตนเพิ่มผมขอปิด การแสดงตนครับ เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๓๗๔ คน บวกอีก ๑๒ คน เป็น ๓๘๖ คน ครบองค์ประชุมนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดเห็นชอบโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใด ไม่เห็นชอบโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง เชิญครับ
นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ศิริโรจน์ ธนิกกุล ๓๗๒ เห็นชอบครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓๗๒ เห็นชอบครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๐๒๙ ไม่เห็นด้วยครับ
พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา นครนายก ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม พลตำรวจตรี สุรพล บุญมา หมายเลข ๔๔๔ ไม่เห็นด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ไม่เห็นด้วย ๒ แล้วนะครับ เห็นด้วย ๑ แล้ว เชิญครับ
นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ราชบุรี ต้นฉบับ
๐๘๖ ไม่เห็นด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๘๖ ไม่เห็นด้วยครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ กมนทรรศน์ ๐๐๑ เห็นชอบค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๐๑ เห็นชอบ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๑๕๖ เทียบจุฑา ไม่เห็นชอบค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๕๖ ไม่เห็นชอบ
นายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง ๐๗๕ เห็นชอบครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๐๗๕ เห็นชอบ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ณพล เชยคำแหง หมายเลข ๑๒๑ ไม่เห็นชอบครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑๒๑ ไม่เห็นชอบ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๑๗๒ ธีระชัย แสนแก้ว ไม่เห็นด้วยครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
คุณธีระชัยไม่เห็นด้วยนะครับ ถ้าไม่มีท่านใดลงคะแนนเพิ่ม ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผลเลยครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๗๕ คน เห็นด้วย ๑๔๖ บวกอีก ๓ เป็น ๑๔๙ คน ไม่เห็นด้วย ๒๒๙ บวก ๖ ก็เป็น ๒๓๕ คน งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนน ไม่มี ถือว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมที่จะเลื่อน ๕.๒๑ ขึ้นมา พิจารณาต่อจากระเบียบวาระที่ ๕.๕ ในที่ประชุมคราวต่อไป ที่ประชุมไม่เห็นชอบนะครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (นายสรรเพชญ บุญญามณี เป็นผู้เสนอ)
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เนื่องจากมีญัตติทำนองเดียวกันอีก ๓ ฉบับ คือ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และพื้นที่ อื่น ๆ (นายสาธิต ทวีผล เป็นผู้เสนอ)
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรี (นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช เป็นผู้เสนอ)
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการควบคุมปัญหาการขยายพันธุ์ ของประชากรลิงนะครับ (นายวรวงศ์ วรปัญญา เป็นผู้เสนอ)
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ผมเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สามารถรวมระเบียบวาระการประชุม เพื่อนำมาพิจารณาพร้อมกันได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็น อย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ผมขอดำเนินการตามนี้นะครับ เชิญผู้เสนอ แถลงเหตุผลตามลำดับครับ ท่านที่ ๑ ท่านสรรเพชญ บุญญามณี เชิญครับ แถลงเหตุผลครับ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผมขอใช้โอกาสนี้ เสนอญัตติเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืนครับ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ เหตุผล ที่กระผมและเพื่อนสมาชิกต้องเสนอญัตติเพื่อศึกษาในครั้งนี้ เพราะปัญหาเรื่องลิงไม่ได้มีเพียง จังหวัดสงขลาหรือจังหวัดลพบุรีเท่านั้น แต่ปัญหาลิงที่มีการสำรวจมีปัญหาถึง ๔๗ จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาคนกับลิงเป็นปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างรุกล้ำพื้นที่ซึ่งกันและกัน การขยายตัวของประชากรก็กินพื้นที่ของลิง ส่วนลิงอยู่ไม่ได้เพราะแหล่งอาหารถูกเปลี่ยน เป็นที่อยู่อาศัย ก็มาหาอาหารอยู่ในพื้นที่ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เกษตรกรรม ไม่เว้นแต่ ตามถังขยะข้างทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลในเรื่องของภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ส่งผลต่อ เศรษฐกิจ ทั้งที่หลายท่านได้เห็นไปในตามข่าวแล้ว ผมได้รับ ได้ยิน ได้ฟัง ปัญหาจากพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ และได้เฝ้าดูความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านประธานครับ ท่านประธานลองดูสิครับว่าความเห็นของพี่น้องประชาชน เช่น เมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่คิดจะ ไปท่องเที่ยวแล้ว ลิงวิ่งเข้าบ้านหมดแล้ว หน่วยงานรัฐปล่อยปละละเลยขนาดนี้ นี่เป็นแค่ ส่วนหนึ่งนะครับท่านประธาน อย่างในคลิปที่ท่านประธานกำลังเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ท่านประธานครับ เรื่องแบบนี้ผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สภาผู้แทนของเราจะได้นำเรื่องนี้ เข้าไปสู่การแก้ไขโดยด่วน ท่านประธานที่เคารพครับ เหตุการณ์ที่มีลิงยกพวกตีกันมันมี ทั้งความแปลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วก็สร้างความกังวลให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัย อยู่บริเวณพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเวลา นักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในปัจจุบันก็จะเกิดการทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยว ปล้น ชิง วิ่งราว จากนักท่องเที่ยว ก็เกิดปัญหาความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็ได้รับการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว เช่น การเก็บข้อมูล ด้านจำนวนประชากรลิง ซึ่งผมก็พยายามไปหาข้อมูลทั้งจากสำนักวิชาการรัฐสภา และให้ คณะทำงานเข้าไปขอข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทุกท่านทราบไหม ครับว่าข้อมูลล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๑ มีประชากรลิงทั่วประเทศ ๕๓,๐๐๐ ตัว ตอนนี้ ๕ ปีผ่านไป ยังไม่มีการสำรวจเลย ท่านบอกว่าไม่มีงบประมาณในการสำรวจ นี่ก็เป็นอีก ๑ อุปสรรค เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดงบประมาณที่จะเก็บข้อมูลประชากรลิง การแก้ไขมันเลย ไม่ตรงจุด ข้อมูลที่มีลักษณะนี้จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ทันท่วงที ไม่ Update เท่าที่ควรครับ นอกจากนี้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาลิงเบื้องต้น เพื่อควบคุมประชากรลิงที่สามารถทำได้คือ การทำหมันลิง แต่ก็ติดปัญหาเรื่องเดิมคือเรื่องงบประมาณในการทำหมัน เพราะต้นทุนในการ ทำหมันลิงสูงมาก ท่านประธานทราบไหมครับว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้าจะให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเข้าไปทำหมันลิงต้องใช้งบประมาณตัวหนึ่งเฉลี่ย ๒,๐๐๐ บาทต่อตัว ถ้าจะให้ทาง เทศบาล ผมยกตัวอย่างทางเทศบาลนครสงขลาทำหมันลิง ๑๐๐ ตัวต้องใช้งบประมาณกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ยิ่งไปกว่านั้นถ้าประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ท่านประธานทราบไหมครับว่ามีประชาชนในบางพื้นที่ ต้องระดมทุน ระดมทรัพย์สิน เพื่อบอกเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันลิงให้หน่อย ตกเฉลี่ยตัวละ เกือบ ๓,๐๐๐ บาทนะครับท่านประธาน นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทำไมเราต้องไปเบียดเบียนพี่น้องประชาชนขนาดนั้น ท่านประธาน ที่เคารพครับ นับวันการทำหมันลิงยิ่งยากขึ้นทุกวัน เพราะลิงเป็นสัตว์ที่เรียนรู้พฤติกรรม ได้เร็วครับ ลิงเป็นพวกที่เจ็บแล้วจำ หากเห็นพฤติกรรมของมนุษย์ ลิงก็จะมีพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไป เพื่อที่จะให้ยากแก่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ พฤติกรรมลิงครับท่านประธาน ปัญหาลิงที่กระผมและเพื่อนสมาชิกได้เสนอมาถ้ามองผิวเผินอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปัญหา เล็ก ๆ แต่ท่านลองไปถามผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ท่านจะรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาเรื่องลิงทำให้เมืองบางเมืองกลายเป็นเมืองร้างได้เลยนะครับ เพราะไม่มีใครกล้าจะมา ท่องเที่ยว ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาทำการเกษตร ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาลงทุน เมื่อไม่มี การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้วมันก็กลายเป็นเมืองร้างครับ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมจึงขอให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านจากทุกพรรคการเมืองร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และผมขอนำเรียนท่านประธานว่ากระผมขอยืนยันในเจตนารมณ์ ที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มันจะได้จบในสภาชุดที่ ๒๖ เพื่อเป็นผลงานของท่านประธานและเป็นผลงานของพวกเราทุกคนครับ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะสมาชิกขององค์กรคริสตจักรสร้างสรรค์อาข่า อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปท่านผู้เสนอญัตติท่านที่ ๒ ท่านสาธิต ทวีผล เชิญครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณท่านประธานที่กรุณาบรรจุญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และพื้นที่อื่น ๆ ของผมเข้าสู่สภาแห่งนี้ครับ ท่านประธานครับ ลิงเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการ ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ขอสไลด์ด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
อาจยังมีอีกหลายเมืองในโลกนี้ที่คนกับลิงนั้น ยังอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด แต่คงมีไม่กี่เมืองที่ลิงนั้นกำลังขยายเผ่าพันธุ์แพร่อาณาจักร ยึดครองพื้นที่คุกคามสันติสุขของผู้คนเหมือนกับที่นี่ที่ลพบุรี เมืองเก่าแก่บนที่ราบลุ่ม ตอนกลางของประเทศไทย เมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ที่นี่มีลิงแสมเป็นสัตว์สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองจนได้รับขนานนามว่าเป็นนครลิง ไม่มีหลักฐาน หรือเอกสารอ้างอิงใดที่ระบุแน่ชัดว่าลิงกลุ่มนี้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อใด มีแต่เพียง แค่คำบอกเล่าว่าลิงนั้นอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือบ้างก็เล่าว่าลิงนั้นอาศัย อยู่คู่กับศาลพระกาฬ หากย้อนกลับไปดูภาพถ่ายในอดีตของเมืองลพบุรีหลาย ๆ ภาพ หลาย ๆ มุมแล้วนั้นไม่ปรากฏว่ามีลิงติดอยู่ในภาพเลยครับ แม้แต่ภาพถ่ายศาลพระกาฬ เมื่อปี ๒๔๗๖ ก็ไม่ปรากฏว่ามีภาพของลิงติดอยู่ แต่ปัจจุบันได้มีลิงและลิงมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายพันตัว เป็นไปได้หรือไม่ครับว่าน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยในปัจจุบันเมื่อไม่กี่ ๑๐ ปี มานี้เอง ณ วงเวียนศรีสุนทรบนถนนนารายณ์มหาราชเป็นที่ตั้งของศาลพระกาฬสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวลพบุรีให้ความนับถือศรัทธา ที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์กลางอันยิ่งใหญ่ของ ฝูงลิงเหล่านี้ เมื่อมีผู้คนมากราบไหว้สักการะบูชาและนำของเซ่นไหว้มาถวาย ลิงเหล่านี้ ก็ได้อานิสงส์ด้วยการมีอาหารการกินไปด้วย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาคน กับลิงลพบุรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๕๗ โดยมหาวิทยาลัย ราชภัฏเทพสตรีพบว่าจำนวนลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรีนั้นมีมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ตัว เกือบ ๒๐,๐๐๐ ตัว โดยเฉพาะในเขตเมืองเก่ามีลิงอาศัยอยู่มากกว่า ๒,๐๐๐ ตัว แบ่งได้เป็นกลุ่ม ต่าง ๆ ดังนี้ครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
ลิงกลุ่มแรก ลิงศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอด ลิงกลุ่มนี้เจริญเติบโต และขยายพันธุ์มาจากลิงกลุ่มดั้งเดิม คือลิงพระปรางค์สามยอดและลิงศาลพระกาฬ มีสมาชิก อยู่ราว ๘๐๐-๑,๐๐๐ ตัว นับได้ว่าเป็นลิงกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาลิงทุกกลุ่ม เนื่องจากพื้นที่ที่พวกมันจับจองอยู่อาศัยนั้นถือว่าเป็นชัยภูมิที่ดี มีอาหารการกินจาก ของเซ่นไหว้จากนักท่องเที่ยว ทำให้ลิงกลุ่มนี้เข้มแข็งอิ่มหมีพลีมันตลอดทั้งปี ความรักและ ความผูกพันที่คนลพบุรีมีให้ลิงอย่างยาวนานเป็นสิ่งที่ทำให้ลิงเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมือง ลพบุรี การมีอยู่ของลิงถูกชูขึ้นมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว จนกระทั่งให้กำเนิดเทศกาล โด่งดังชื่อว่าเทศกาลโต๊ะจีนลิง อาหารที่ลิงได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาจากนักท่องเที่ยวมีลักษณะ คล้ายที่อาหารมนุษย์เรารับประทาน จึงทำให้ลิงเพิ่มฮอร์โมนและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว การได้รับอาหารที่มีพลังงานสูงทำให้ลิงเพศผู้นั้นมีความขยันเป็นพิเศษ ลิงสาวเพศเมีย ก็มีลูกดก มีลูกมากกว่าลิงป่าถึงสองเท่าตัว แต่ละปีออกลูกได้ ๒ ตัว และเริ่มผสมพันธุ์ เมื่ออายุราว ๓-๔ ปี เมื่อประชากรลิงศาลพระกาฬเพิ่มมากขึ้นการขยับขยายพื้นที่ตาม ธรรมชาติของลิงและการแย่งชิงปัจจัยในการดำรงชีวิตทำให้เกิดการแยกฝูงและฝูงลิงอื่น ๆ ตามมา
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
ลิงกลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มลิงตึก มีสมาชิกอยู่ราว ๖๐๐-๘๐๐ ตัว พวกมันเป็นลิงที่ แตกฝูงมาจากลิงศาลพระกาฬและลิงพระปรางค์สามยอด พวกมันยึดตึกแถวแนวอาคาร บริเวณทิศใต้และทิศตะวันตกของพระปรางค์สามยอดไปตลอดแนวถึงโรงแรมเมืองทอง รวมทั้งชุมชนเมืองเก่าด้านหลังเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากิน เมื่อลิงจำนวนมากย้ายเข้ามา อยู่ในพื้นที่ของคน ความสุขความสงบที่เคยมีก็เริ่มหายไป เมื่อไม่มีต้นไม้อาคารทุกหลัง จึงเป็นแหล่งพักพิง เมื่อไม่มีกิ่งไม้สายไฟทุกเส้นก็กลายเป็นที่ปีนป่ายและใช้สัญจร และเมื่อ ไม่มีสนามหญ้าทางเท้าจึงกลายเป็นที่ชุมนุม เมื่อไม่มีอาหารพวกมันจึงต้องทำทุกหนทาง เพื่อการมีชีวิตรอด ด้วยวิธีการดักปล้นจากคนบ้างที่หิ้วอาหารสัญจรผ่านไปมา รถราที่ใช้ถนน หนทางพวกมันก็มักจะปีนป่ายงัดแงะเพื่อเข้าไปทำลายและหาอาหาร ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน หากย้อนกลับไป ๑๕-๒๐ ปีบริเวณนี้เคยเป็นศูนย์การค้า ที่เฟื่องฟูมากครับ ปัจจุบันกลายเป็นเมืองร้างเพราะไม่มีใครมาเดิน
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ยังมีลิงอีกกลุ่มที่แตกฝูงแยกออกจากลิงศาลพระกาฬและ ลิงตึก นั่นคือลิงโรงหนัง มีสมาชิกประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ตัวที่มันถูกเรียกว่าลิงโรงหนังนั้น ก็เรียกตามสถานที่ที่พวกมันอยู่อาศัยในโรงภาพยนตร์ร้างมาลัยรามา โรงภาพยนตร์มาลัยรามานี้ เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรก ๆ ของจังหวัดลพบุรี ที่นี่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย เป็น Landmark เป็นแหล่งนัดพบของคนลพบุรี แต่ว่าวันนี้ความรุ่งเรืองในอดีตนั้นได้กลายเป็น ตำนานที่อยู่ภายใต้กองซากปรักหักพังที่เกิดจากฝีมือและเท้าของวานรกลุ่มนี้ ลิงกลุ่มนี้ เป็นลิงชั้นต่ำครับ พวกมันไม่เป็นที่ต้อนรับของลิง ๒ กลุ่มแรก ที่ที่พวกมันอยู่ไม่มีอาหารดี ๆ ไม่มีน้ำสะอาดเสมือนคนยากไร้ชายขอบ ไม่มีใครเหลียวแล ขาดแคลน อดอยาก จนทำให้มัน สร้างปัญหา
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่แตกตัวออกไปอีกหลายกลุ่ม เช่น ลิงบริเวณร้านเซ่งเฮง ลิงบริเวณปรางค์แขก ลิงตลาดสดสระแก้ว ลิงวิทยาลัยโปลีเทคนิค ลิงแยกเอราวัณ และยังมีลิงอื่น ๆ อีกมากมายหลายพันตัวครับ ท่านประธานครับ หากเรา ยังปล่อยให้วิถีคนกับลิงเป็นเช่นนี้ต่อไป ย่านเมืองเก่านี้ไม่พ้นจะต้องเผชิญชะตากรรม เช่นเดียวกับย่านโรงหนังหรือแถวพระปรางค์สามยอด ณ วันนี้พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ราชการ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลพบุรีได้ถูก ลิงกลุ่มนี้เข้าไปสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่คุณครูและนักเรียน จะเห็นได้ตามข่าวว่า คนนั้นถูกลิงกัดอยู่บ่อยครั้ง ท่านประธานครับ ด้วยเหตุว่าลิงแสมนั้นได้รับประกาศให้เป็น สัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงทำให้หน่วยงานท้องถิ่น ไม่สามารถมีอำนาจบริหารจัดการกับจำนวนประชากรลิงได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลิงนั้นเพิ่มจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ท่านประธานครับ ในวิกฤติย่อมมีโอกาส มีปัญหาก็ย่อมมีการแก้ไข คนลพบุรีตอนนี้ถือว่า โชคดีมากที่ได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่สนใจ ใส่ใจปัญหาของพี่น้องประชาชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แต่ด้วยอำนาจและงบประมาณที่มีไม่เพียงพอนั้นทำให้ปัญหาที่มีอยู่ไม่สามารถ แก้ไขได้ และปัญหามีมาถึงปัจจุบันจนหลายพื้นที่นั้นเข้าขั้นวิกฤติ ผมและพี่น้องประชาชน ชาวลพบุรีและพี่น้องประชาชนผู้ประสบปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากลิงขอขอบคุณ ท่านประธานที่กรุณาบรรจุญัตติของผมเข้าพิจารณาในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ และขอบคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่จะได้ร่วมกันอภิปรายเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านผู้เสนอญัตติท่านต่อไปนะครับ ท่านมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช เชิญครับ
นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ท่านประธานคะ ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีกำลัง ประสบกับปัญหาการบริหารจัดการลิงและถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับ ประชาชนในเขตเมืองเก่า เนื่องจากว่าตัวเมืองเก่าลพบุรีในขณะนี้แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง หลาย ๆ ท่านจะได้ดูข่าวแล้วก็ได้รับฟัง มีภาพมีอะไรปรากฏทาง Social Media ค่อนข้างบ่อย เพราะว่าจำนวนลิงประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าตัว แล้วก็มีแนวโน้มที่ประชากรของลิงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ไปอาศัยอยู่ในตัวตึก ตัวอาคารบ้านเรือนของประชาชน เพราะว่าประชาชนเอง ทุกวันนี้ก็ต้องแยกหลบหนีออกไปอยู่นอกเมืองซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่พัฒนาขึ้นมา แหล่งที่อยู่ อาศัยของฝูงที่อยู่บริเวณแถวศาลพระกาฬ แล้วก็เรื่อยไปจนถึงบริษัทขนส่ง ไปวงเวียน สระแก้ว ซึ่งสภาพอาคารบ้านเรือนจำนวนมากก็จะถูกทิ้งร้าง ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็ทราบว่า ลิงนั้นจะมีอยู่ ๓ กลุ่ม เป็นลิงที่ศาล แล้วก็เป็นลิงที่ปรางค์สามยอด แล้วก็เป็นลิงตึก ซึ่งบางที ที่นักท่องเที่ยวพบเจอก็มักจะพูดบอกว่าลิงนั้นมีนิสัยดุร้ายมาทำร้ายร่างกาย มีการยื้อแย่ง แล้วก็ขโมยอาหาร แล้วก็ทรัพย์สินของผู้คนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากว่ามันไม่มีการควบคุม แล้วก็เป็นการขาดแคลนอาหาร ทางจังหวัดลพบุรีแล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการ แล้วก็แก้ปัญหาลิงด้วยวิธีแนวทางต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น คือการสำรวจจำนวนประชากรลิง อย่างเป็นระบบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก็เข้าดำเนินการทำหมันลิง เพื่อควบคุมประชากรลิงและตรวจโรค การดูแลสุขภาพของลิงและป้องกันไม่ให้เกิด โรคอุบัติใหม่ การกำหนดสถานที่และเวลาให้อาหารลิงซึ่งอันนี้เป็นระยะสั้น ส่วนระยะกลาง ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็คือการจัดหาแหล่งงบประมาณสำหรับลิง เช่น ค่าอาหาร ค่าทำหมันและ ตรวจโรค การปรับปรุงระบบการกำจัดขยะ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ส่วนทางระยะยาวก็ทำการศึกษาแล้วก็รับฟังความคิดเห็นเพื่อเคลื่อนย้ายลิง ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม เช่น ป่าธรรมชาติ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามที่จะต้องแก้ไขปัญหาลิง เมืองลพบุรีอย่างยั่งยืนก็ต้องผลักดันเอาลิงออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ท่านประธานคะ วันนี้ สส. จังหวัดลพบุรี ๓ ท่าน ได้เสนอญัตติเรื่องลิงในจังหวัด ซึ่งภาพที่มองเห็นจะเป็นลิงที่อยู่บริเวณสถานีรถไฟ หลาย ๆ ท่าน เคยได้ข่าวที่ว่าลิงนั่งรถไฟยกพวกตีกันข้ามจังหวัด แล้วก็อย่างมีการเลี้ยงโต๊ะจีนลิง มีหลาย ๆ อย่าง ทั้งสวนสัตว์ลพบุรีสมัยก่อน แล้วก็มีลิงที่ดังทั่วประเทศก็คือกอล์ฟกับไมค์ ทีนี้นานวันเข้าตอนนี้พอจำนวนประชากรลิงเพิ่มขึ้น จริง ๆ ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ ถามว่าทำไม ทางจังหวัด ทาง สส. ไม่ทำอะไรเลย ตรงนี้ก็อยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีบอกว่าเนื่องจากว่าลิงมันเป็น สัตว์สงวน การที่จะไปทำอะไรก็ค่อนข้างยาก สมมุติเราบอกว่าลิงมันน่ารักอยากจะเอาไป เลี้ยงที่บ้านอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ค่ะท่านประธาน หรือถ้าเกิดสมมุติว่าเราจะมีการพัฒนาจับลิง ไปทำเป็นละครลิงก็ทำไม่ได้เพราะว่าติดด้วยเรื่องของกฎหมาย ซึ่งตรงนี้สภาต้องเห็น ความสำคัญถึงข้อนี้ ปัจจุบันกฎหมายแบบนี้มันล้าสมัยไปแล้ว เพราะว่าคนของจังหวัดลพบุรี อยู่ในตึก แต่ทุกตึกต้องทำลูกกรง มีตาข่ายกันเพื่อที่จะไม่ให้ลิงนั้นเข้ามาในบ้าน ขณะที่ คนนั่งรถไฟ นั่งรถยนต์ไปเที่ยว เราก็จะเห็นว่าลิงอยู่ตามถนนปีนป่ายต้นอะไรต่ออะไรสารพัด เพราะว่ามันส่งผลไปหลาย ๆ อย่าง วันนี้สายไฟลงดินแล้วที่จังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่ในบริเวณ เมืองเก่าเอาสายไฟลงดิน บริเวณเส้นทางถนนจากวงเวียนศาลพระกาฬไปถึงวงเวียน พระนารายณ์สายไฟลงดินแล้ว เสาไฟก็มีน้อยมากแล้วค่ะ เหลือแค่ตรงแนวเกาะกลาง ก็ทำให้เมืองมืด พอเมืองมืดชาวบ้านเขาก็บอกว่าทำไมเมืองเรามืดจัง เราไปถามผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าลิงขย่มเสาไฟ หลอดไฟ สายไฟ ขาด เขาก็กำลังหาวิธีว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ อย่างไร คือหลาย ๆ สิ่ง หลายๆ อย่างจะบอกว่าลิงมันเป็นสัตว์สงวนต้องสงวนไว้ อย่างนี้มันก็ ไม่ใช่แล้วค่ะท่านประธาน เพราะว่าวันนี้มีการทำหมันลิงไหม มี แต่ทำแล้วก็ปล่อยไว้ที่เดิม พอเวลาจับมาทำใหม่บางทีมันก็ไปสุ่มเจอตัวที่ทำแล้ว ซึ่งตรงนี้เราก็คิดว่าน่าจะแบบว่า ถ้าตัวไหนที่ทำแล้วก็เอาไปปล่อย เอาไปหาที่ที่เหมาะสม ปล่อยเข้าป่า เพราะว่าเวลาเราจับมา เราก็จะได้ไม่ต้องไปเจอกับตัวที่ทำแล้ว เพราะว่าแค่การใช้เป็นการสัก เหมือนคล้าย ๆ ทำสัญลักษณ์ว่าลิงตัวนี้ทำหมันแล้วก็จะมีการสักตรงที่หนวด บางตัวก็จะอยู่ที่หน้าอก แล้วบางทีอย่างชาวบ้านก็ถามว่าทำไมจับมาปุ๊บทำเลยไม่ได้ ทำไมตัวเมียไม่ทำ ทำไม ทำแค่เฉพาะตัวผู้ ก็สอบถามทางเจ้าหน้าที่ว่าตัวเมียของลิงไม่สามารถทำได้เพราะว่า เวลาเป็นแผลลิงเขาจะเกา แล้วก็ทำให้แผลนั้นมันเปิด ก็คือเป็นอันตรายต่อชีวิตของลิง วันนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีค่ะท่านประธานที่ได้นำเรื่องนี้เข้ามาในสภา แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่เราได้นำเสนอญัตตินี้เข้ามาในสภาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการคณะใหญ่หรือ จะเป็นคณะที่เราตั้งขึ้นมาใหม่ก็แล้วแต่สามารถที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ลิงอยู่ได้ ไม่ใช่ว่า ไม่ให้อยู่นะคะ วันนี้ที่หลาย ๆ คนบอกว่าเอาออกไป เอาออกไป มันก็ไม่ใช่ ก็หวังเป็นอย่างยิ่ง นะคะท่านประธานว่าญัตตินี้จะได้รับการสนใจจากสภา มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไปแก้เรื่องของกฎระเบียบ หรือแม้กระทั่ง คนที่จะมาทำหมันสามารถที่จะเอาสัตวแพทย์โดยทั่วไปมาทำได้ไหม หรือจะต้องรอแค่เฉพาะ เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น แล้วงบประมาณถามว่า ต่อตัวไม่ใช่ถูกนะคะ ตัวหนึ่งประมาณ ๑,๙๐๐ กว่าบาท เกือบ ๒,๐๐๐ บาท วันนี้จริง ๆ ทางจังหวัดโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีความคิดว่าอยากจะเอางบจังหวัดมาช่วย แต่เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ที่มาทำหมันจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้นไม่พอ ซึ่งหลาย ๆ อย่างมันมีปัญหาติดขัดไปหลายเรื่อง ฉะนั้นวันนี้ฝากท่านประธานแล้วกัน ว่าให้แก้ปัญหาเรื่องลิงให้เสร็จในสมัยประชุมของพวกเรานะคะ ขอขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านผู้เสนอญัตติท่านสุดท้ายนะครับ ท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ผมเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับคำว่า ลพบุรีเมืองลิง จะเห็นได้ว่ามีท่านเพื่อน สส. ภายใน จังหวัดลพบุรีเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาประชากรลิงที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด จำความได้ตั้งแต่เติบโตมาก็ได้ยินการพูดว่าลพบุรีเป็นเมืองลิงแล้ว แต่เมืองลิงที่เราได้รับ การรับฟังจากทางสื่อข่าวต่าง ๆ หรือแม้แต่พรรคพวกที่เรารู้จักมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อน เรามองว่าลิงเป็นสัตว์ที่น่ารัก อยู่คู่บ้านคู่เมือง แต่ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้รับฟัง ปัญหาจากพี่น้องประชาชน ได้รับคำบ่นกล่าวว่าได้พบปัญหาจากการถูกบุกรุกจากประชากร ลิงที่มากขึ้น จากนิสัยของลิงที่ซุกซน หรือแม้แต่เพื่อนสมาชิกภายในพรรคผมเองก็เล่าให้ฟัง ว่า ๑๐ กว่าปีที่แล้วก็เคยถูกลิงทำร้าย วันนี้ผ่านมา ๑๐ กว่าปียังมีพี่น้องประชาชนที่ถูก ทำร้ายจากสถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งสำคัญยังมีพี่น้องประชาชนที่ถูกลิงทำร้ายภายในเคหสถาน ส่วนบุคคล จริงอยู่ครับที่เขตผมเขตที่ ๕ นี้ประกอบไปด้วยอำเภอชัยบาดาล ท่าหลวง และลำสนธิ อาจจะไม่ได้พบปัญหาของลิงที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับลพบุรีเมืองเก่าหรือว่าภายใน อำเภอเมือง แต่ว่าลิงในเขตพื้นที่ของผมนั้นก็เข้าไปทำลายในส่วนของพืชผลตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤติที่เรามีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงในช่วงที่เรามีผลผลิตที่รายได้ต่ำ และปริมาณน้อย เคราะห์ซ้ำยังต้องมาเจอประชากรลิงที่มากขึ้นแล้วเข้ามาทำลายในส่วน ของพืชผล มีเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้กล่าวไปแล้วว่าปัญหาประชากรลิงที่เพิ่มขึ้นนี้มีอยู่ บริเวณไหนบ้าง ผมคงไม่เสียเวลากล่าวในพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน แต่วันนี้ปัญหาหลัก ๆ ที่ทุกท่าน น่าจะพอทราบกันดีอยู่คือวันนี้เราไม่สามารถจับต้องหรือเคลื่อนย้ายในส่วนของประชากรลิง ได้อย่างสะดวกในฐานะประชาชนคนธรรมดา มีข้อกฎหมายเขียนกำหนดไว้ว่าห้ามล่า เนื่องจากลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่คำว่า ล่า ที่ถูกนิยามไว้นี้รวมถึงการจับ การป้องกัน ผมยกตัวอย่างนะครับถ้าวันดีคืนดีท่านตื่นเช้ามาเดินลงมาจากบ้าน พบว่ามีญาติผู้ใหญ่ ท่านอยู่ภายในบ้านอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี แต่กลับมีลิงแสมที่คนภายนอกอาจจะมองว่าน่ารัก กำลังคุกคามคนในครอบครัวของเราอยู่ หรือแม้แต่เด็กเล็กผมมองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ลิงเหล่านี้เป็นที่มาของพาหะนำโรคต่าง ๆ ได้ ลิงเหล่านี้สามารถทำร้ายเด็ก ๆ ให้เกิด ความกลัวตลอดชั่วชีวิตได้ ผมเห็นว่าการที่เราจะต้องแก้ไขปัญหานี้ในระยะสั้นนะครับ ก็จะต้องมีการอนุญาตให้สามารถเคลื่อนย้าย หรืออย่าใช้คำว่ากักขังเลยครับ ใช้คำว่าป้องกัน ในฐานะบุคคลธรรมดา ป้องกันครอบครัวของเรา ป้องกันญาติพี่น้องรวมถึงมิตรสหายของ พวกเรา อันนี้สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวหรือระยะกลาง หลายท่านค่อนข้าง พูดกันบ่อยในเรื่องของการทำหมัน แต่อย่างที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ ว่าการทำหมันลิงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลิงที่เคยถูกทำหมันไปแล้วก็สามารถพบเจอได้ง่ายกว่าลิง ที่ไม่เคยถูกทำหมัน เนื่องด้วยฮอร์โมนภายในตัวลิงที่พลุ่งพล่านก็อาจจะทำให้ลิงมีความ Aggressive มีความดุร้ายมากกว่าลิงทั่วไปถ้าหากยังไม่ได้ถูกทำหมัน ลักษณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ชนิดอื่น ทำให้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะทำหมันได้ครบถ้วน และสิ่งสำคัญที่สุดวันนี้เราขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่จะมีจำนวนเพียงพอ เราขาดเวลาที่เจ้าหน้าที่ จะสามารถแบ่งออกมาแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ และสิ่งสำคัญเราขาดงบประมาณ ที่จะมาจำกัดบริเวณของลิงแสม เราขาดงบประมาณที่จะมาทำหมันลิงต่าง ๆ ปัจจุบัน เป็นเรื่องน่ายินดี จริง ๆ แล้วผมคาดการณ์ไว้ว่าจะได้มีโอกาสเสนอญัตติเรื่องลิงเร็วกว่านี้ แต่เนื่องด้วยเรามีกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมาถกหารือกัน มีระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องมาหารือกัน ทำให้ต้องถูกเลื่อนมาอยู่ในสมัยประชุมครั้งนี้ แต่ตลอดระยะเวลา ๓-๔ เดือนที่ผ่านมาในส่วนของผู้นำในพื้นที่ ในส่วนของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดลพบุรีทุกคนให้ความสำคัญครับ จึงเกิดการประชุมขึ้นเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอำพลก็ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยท่านท่านก็อยากจะแก้ไขปัญหาลิงให้หมดสิ้น เฉกเช่นเดียวกับตัวผมและเพื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี อยากให้จบสิ้นจริง ๆ ในสมัยนี้ เรื่องปัญหาลิงนี้ มีการถกเถียงขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบ แต่ไม่สามารถแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย ปัจจุบันมีการร่วมมือในส่วนของภาครัฐแล้ว หลังจากการประชุมก็มีการที่จะกำหนดพื้นที่ ที่จะเคลื่อนย้ายลิงแสมให้ไปอยู่ในพื้นที่บางส่วน แต่ในส่วนของพื้นที่ผมยังขออนุญาต ไม่เอ่ยนะครับว่าเป็นบริเวณไหน ในส่วนพื้นที่ที่เราเคลื่อนย้ายลิงไปรวบรวมกันไว้แล้ววันนี้ ก็ยังขาดแคลนงบประมาณ รวมถึงประชากรลิงที่เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าเพื่อนสมาชิก แต่ละท่านพูดในส่วนของจำนวนประชากรลิงที่แตกต่างกันออกไป เพราะอะไรครับ เพราะเราขาดการคัดกรองประชากรลิงอย่างถูกต้อง อย่างแม่นยำในส่วนของจำนวน เขตผม แค่ตำบลตำบลเดียว ไม่ใช่ระดับอำเภอ ตำบลบัวชุมก็มีประชากรลิงแสมอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ตัว แค่ ๑ ตำบลนะครับท่านประธาน แสดงให้เห็นเลยว่ามีการขยายเผ่าพันธุ์ อย่างรวดเร็ว วันนี้เราขาดสถานที่ที่ถูกต้องตามระเบียบ ตามกฎหมาย ให้สามารถเอาลิงไป กักบริเวณอยู่ตรงนั้น ตีกรอบพื้นที่ไม่ให้ลิงเข้าไปวุ่นวายกับพี่น้องประชาชน เรายังขาด งบประมาณ วันนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีครับที่พวกเราจะได้ร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไข ปัญหา เอาออกสักทีครับในส่วนของสัตว์คุ้มครองนี้ครับ การคุ้มครองของสัตว์ผมเชื่อว่า ไม่ได้มาจากข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่จิตสำนึกของพวกเราด้วย หลายคนก็ต้อง ถูกปลูกฝังว่าการที่เราอยากได้บุญ เอาอาหารไปมอบให้ลิงต่าง ๆ แต่ว่าเราลืมคำนวณและ คำนึงว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการขยายในส่วนของประชากรลิง จากการที่เรารู้สึกว่าเรา อยากได้บุญจากการเอาอาหารไปให้สิ่งเหล่านั้น ผมคิดว่าเราต้องถูกปลูกฝังใหม่ และสิ่งสำคัญ ก็อยากจะวอนขอหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือครับ ผมเชื่อว่าเราจะแก้ปัญหาลิงให้หมดไปได้ ในสมัยนี้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นท่านสมาชิกที่มาลงชื่อขออภิปราย ผมจะเรียก ๓ ท่านก่อนนะครับ ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ท่านที่ ๒ ท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๓ ท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เชิญท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ของท่านสรรเพชญ บุญญามณี ท่านประธานครับ ปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า อย่างเช่นลิง ตัวเงินตัวทอง และช้างป่า ซึ่งสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการแย่งใช้พื้นที่ระหว่างกัน อีกทั้งยังมีปัญหาความเดือดร้อนจากสัตว์จร สัตว์เร่ร่อน อย่างเช่น หมา แมว ที่ส่วนใหญ่เกิดจากผู้เลี้ยงที่ปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น อย่างเช่นผักตบชวาหรือปลาหมอสีคางดำ ที่เกิดจากคนนำเข้ามาสู่ธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และยังขาดมาตรการ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานครับ มีความซับซ้อน และต้องใช้วิธีแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละกรณี กระผมจึงขออนุญาต ใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณบุคคล กลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำหน้าที่ผลักดัน การจัดการและการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตลอดที่ผ่านมา สำหรับประเด็น ในญัตติวันนี้คือปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิง ซึ่งประเด็นความขัดแย้งระหว่างคน กับสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายต่อคน ชุมชน สถานที่ราชการ ศาสนสถาน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมที่เกิดจากหลายปัจจัยครับ โดยเฉพาะมักเกิดจากการขยายตัวของการใช้พื้นที่ ประโยชน์ของประชาชนเข้าไปใกล้ชิด หรือเข้าไปในพื้นที่ของสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น การขยายจำนวนของประชากรลิง การลดลง ของอาหารในธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ครับ สำหรับในจังหวัดพัทลุงเองก็มีปัญหา ความขัดแย้งและความเดือดร้อนเกิดจากลิงเช่นเดียวกันครับ อย่างน้อยใน ๓ พื้นที่ก็คือ ปัญหาลิงในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ปัญหาลิงในพื้นที่เกาะนางคำ และปัญหาลิงในพื้นที่ บริเวณริมเทือกเขาบรรทัดครับ สำหรับปัญหาลิงในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองพัทลุงมีอยู่หลายฝูง และมีอยู่จำนวนมากหลายร้อยตัวครับ โดยชาวบ้านเผชิญปัญหาลิงทำลายทรัพย์สิน ขโมยอาหารและทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ ซึ่งปัจจุบันทางเทศบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทำหมันไปบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่องครับ ด้านปัญหาลิงในพื้นที่ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ถือเป็นอีก ๑ พื้นที่ ที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากลิงเป็นอย่างมากครับ ซึ่งเกิดจากการขยายจำนวน ของประชากรลิงอย่างรวดเร็ว และนอกจากนั้นบางส่วนชาวบ้านคาดกันว่ามีการนำลิงจาก ที่อื่นแล้วมาปล่อยในพื้นที่เกาะนางคำ โดยลิงเหล่านี้ทำลายพืชผลทางการเกษตร ลงมากิน พืชผัก ผลไม้ของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลองกอง สะตอ ตอนนี้ชาวบ้านเรียนว่าทุเรียนลิงก็กิน เป็นแล้ว นอกจากนี้ลิงยังขโมยอาหารชาวบ้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่ไก่ จนตอนนี้ ชาวบ้านสูญเสียรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร หลายส่วนไม่กล้าปลูกพืชผลอีกแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลในประเด็นนี้ด้วยนะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในจังหวัดพัทลุงครับ ซึ่งทราบว่าปัญหาจากลิงและสัตว์อื่น ๆ ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่สร้างความเดือดร้อน ทั้งทำลายทรัพย์สิน ทำลายพืชผล ทางการเกษตร และทำร้ายประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบในด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น ๆ จนหลายครั้งเกิดการ ทำร้ายสัตว์หรือการจัดการที่รุนแรง ประกอบกับการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วของลิง ทำให้ปัญหานี้ ทวีคูณมากยิ่งขึ้นหากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
สำหรับปัญหานี้ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการแก้ไข ไม่ว่า จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ทั้งในด้านการขาดแคลนงบประมาณ ขาดการประสานงานและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างเป็นระบบ ไปจนถึงอุปสรรคด้านกฎหมาย ด้านศีลธรรม และความเหมาะสม ซึ่งถือเป็น เรื่องที่มีความอ่อนไหวทั้งภายในและนานาประเทศ กระผมจึงมีความเห็นชอบให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนอันเกิดจากลิง และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์อื่น ๆ โดยต้อง ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบครับ โดยผมมีข้อเสนอแนะให้ทางคณะกรรมาธิการ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาศึกษาและดำเนินการ ดังต่อไปนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้พิจารณาตั้งคณะทำงานเรื่องปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ปัญหาสัตว์จรและชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น โดยมีหน่วยงาน ภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการประชากรลิง ประชากร สัตว์จรและสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่สร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ชุมชนว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใด ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างแนวป้องกัน การดักจับ การขึ้นทะเบียนสัตว์ การทำหมัน การฉีดวัคซีน การบริหารจัดการสถานที่ดูแล สถานสงเคราะห์ ศูนย์พักพิงหรือที่อยู่ของสัตว์ให้มีความเหมาะสม
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้พิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันให้กับพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่เผชิญความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจกับพี่น้อง ประชาชน ไปจนถึงควรมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาที่เหมาะสมให้กับประชาชนที่ได้รับ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้พิจารณาการแก้ไขอุปสรรคในการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในด้านกฎหมาย ด้านอำนาจหน้าที่ และการขาดแคลน อุปกรณ์และงบประมาณ โดยสมควรที่จะสนับสนุนงบประมาณและเพิ่มกำลังในการบริหาร จัดการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกมารบกวน ชุมชนได้อย่างเป็นระบบครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. ข้อสุดท้าย ขอให้พิจารณาศึกษาว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่า จะมีการจัดการอย่างไรให้ยั่งยืนครับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านกฎหมาย การจัดการพื้นที่ หรือ Zoning การฟื้นฟูสภาพป่าและแหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยของสัตว์ไปจนถึงแนวทาง อื่น ๆ โดยอาจจะศึกษาความสำเร็จของพื้นที่หรือประเทศอื่น ๆ ประกอบด้วย ท่านประธาน ที่เคารพครับ ปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นปัญหาในระดับประเทศและระดับนานาชาติที่ต้องป้องกัน และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และท้ายที่สุดและสำคัญที่สุดครับ เราจะต้องหาทางออก ให้กับคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตามธรรมชาติให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กระผมใคร่ขออนุญาตในการที่จะ อภิปรายญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๓-๔ ท่านนะครับ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไข ปัญหาขยายพันธุ์ประชากรลิงดังนี้ครับท่านประธาน แต่ก็คงจะไม่ถึงขั้นตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญหรอกครับ เพราะว่าเอาให้คณะกรรมาธิการสามัญเป็นผู้พิจารณาก็แล้วกัน ก็คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีผลสำรวจความเห็นของชุมชนทั้งประเทศว่า ผู้ที่มีความเดือดร้อนกับปัญหาเรื่องลิงหลายหมื่นคน และเป็นสิ่งที่น่ารำคาญมากที่เกี่ยวข้อง กับลิง ซึ่งปัญหาที่เกี่ยวกับลิงพบมา ๑๘๓ แห่ง ครอบคลุมมากถึง ๕๓ จังหวัด และมีปัญหา เกี่ยวกับเรื่องลิงและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ๑๒ จังหวัด ในที่นี้ ผมอยากจะขอกราบเรียนต่อท่านประธานว่าอำเภอกุมภวาปีซึ่งเป็นอำเภอเขตเลือกตั้งของผม ก็มีลิงครับ เมื่อก่อนนั้นเขาเรียกว่าสวนธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ อยู่ในตรงจุดนั้น เป็นป่าธรรมชาติ และมีลิงอาศัยอยู่ตั้งแต่พวกผมยังไม่เกิด ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งอำเภอกุมภวาปี ด้วยซ้ำ ปัจจุบันนี้ลิงก็ยังไม่มากเหมือนจังหวัดอื่น ๆ จะมีอยู่ประมาณสัก ๕๐๐-๖๐๐ ตัว เท่านั้นเอง และสถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ที่เรียกภาษาราชการว่าสวนธรรมชาติ ถ้าชาวบ้านเรียก ก็คือสวนลิง ถ้าบอกว่าไปนัดเจอกันที่สวนลิงก็ตรงนั้นล่ะครับ อยู่ใจกลางอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดูแลรับผิดชอบก็ได้รับเสียงบ่นมาก็คือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือเทศบาลนั่นล่ะ นอกจากมีสวนลิงแล้วก็ยังมีสถานที่ต่าง ๆ มีสนามกีฬา มีอะไรเป็นสถานที่ตรงนั้นในการเต้น Aerobic Dance แล้วก็มีสถานที่ที่เป็นโครงสร้าง ซึ่งสร้างโดยเทศบาลและการกำกับดูแลโดยกรมธนารักษ์ด้วย และเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุด ในการจัดงานประจำปีของอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และที่สำคัญที่สุดนะครับ ลิงที่ไม่มาก่อกวนก็คือเฉพาะวันที่นักการเมืองไปจัดการปราศรัยอยู่ที่นั่นล่ะครับ บางครั้ง ก็จะมีลิงมานั่งฟัง กระโดดจากต้นไม้มาดูว่าทำไมคนเยอะ ก็มานั่งฟังอยู่ห่าง ๆ แต่ไม่ได้กวน เท่าไร จนบางคนปราศรัยไปปราศรัยมาก็ทำหน้าตาเหมือนลิง นักการเมืองที่อยู่แถวนั้นไม่ว่า จะเป็นท้องถิ่นหรือนักการเมืองในระดับชาติ กระผมอยากจะขอกราบเรียนท่านประธานครับ ดังนี้ ประเมินสถานการณ์วิกฤติของลิงมันมีปัญหามากก็คือ ณ วันนี้อยู่ใจกลางเมือง แล้วทีนี้ มันก่อให้เกิดความน่ารำคาญกับผู้ที่สัญจรไปมา คือร้านอาหาร แม้กระทั่งธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าการขายได้ปิดทิ้งครับ เพราะลิงก่อกวน เขาก็ต้องขยับขยาย คือคนต้อง ย้ายหนีจากลิง ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการที่จะค้าขายมากนะครับ แล้วทีนี้ ก็คือผมจะแบ่งระดับ ระดับความรุนแรงจากน้อยไปหามาก ก็คือจากน้อยก็คือจะมีแนวโน้ม ในการที่เกิดปัญหาลงพื้นที่ที่มีลิงที่ออกมานอกพื้นที่แต่ไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชนเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อาศัยประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเริ่มนำอาหารมาให้ลิง ถ้าชาวบ้าน นำอาหารมาให้ลิง ลิงก็จะเป็นระดับที่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร ระดับรุนแรงปานกลางก็คือมีปัญหา ถึงไม่วิกฤติก็คือมีลิงไปรบกวนชุมชน ทำลายทรัพย์สิน ของชาวบ้าน ทำลายพืชผลทางด้านการเกษตร อันนี้สำคัญที่สุด อาหารอันโอชะของเขา เวลามันอยู่ข้างนอกก็คือพวกข้าวโพด พวกอ้อย พวกอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ นั่นล่ะก็คืออยากจะ ขอเรียนนะครับ ระดับความรุนแรงก็คือมีพื้นที่วิกฤติของลิงก็คือความรุนแรงขนาดถึงขั้น รบกวนชุมชนที่ผมได้กราบเรียน ทำลายทรัพย์สิน กัดและทำร้ายพี่น้องประชาชนถึงบาดเจ็บ และมีโรคติดต่อด้วย ถึงแม้ว่าในส่วนของอำเภอกุมภวาปีหรือสวนลิงธรรมชาตินั้นถึงจะไม่มี เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แต่ในที่อื่น ๆ ก็เป็นข่าวอยู่มาเป็นประจำ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิง ในระดับความรุนแรงปานกลางและระดับความรุนแรงมากที่เกิดจากสาเหตุหนึ่งคือพฤติกรรม ความสงสารของคนเหล่านี้ล่ะครับ พอเห็นลิง ลิงน่ารักครับ ลิงบางตัวก็น่ารัก น่ารักมากกว่าคน คนโลกสวยเดี๋ยวก็จะไปบอกว่าเลี้ยงลิงเอาขนมอะไรไปให้ลักษณะอย่างนี้มันก็เลยติดนิสัย มันก็คือหากินเองไม่ได้ ถึงเวลามันก็มาแย่งกินกับชาวบ้านเลยคราวนี้ ที่เราเห็นอกเห็นใจ นี่แหละก็คือความน่ารักของลิง ตามประวัติศาสตร์ ตามโบราณ เขาก็บอกว่าคนพัฒนามาจากลิง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็ได้เรียนลักษณะอย่างนี้มา เพราะมันคล้าย ๆ กันยังมีความรู้จัก ภาษาคนบ้างอยู่ ในระยะแรก ๆ ก็ไม่เกิดปัญหาอะไรหรอกครับ พอนักท่องเที่ยวผ่านไป ผ่านมา พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของให้ลิง ขายขนมอะไรต่าง ๆ ที่ลิงกิน ลิงก็เปลี่ยนพฤติกรรมไป พอสัตว์บางตัวหาอาหารเองไม่ได้ เมื่อก่อนหาอาหารเองจากป่า ตอนนี้ก็หากินเองไม่ได้ ก็ขี้เกียจหากิน พอวันไหนไม่มีนักท่องเที่ยวมาแจกอาหารก็จะเกิดนิสัยดุร้ายเกรี้ยวกราด แล้วก็ไปแย่งอาหารจากคนที่เดินไปมา โดยเฉพาะร้านอาหารกินข้าวอยู่เฉย ๆ ก็จะถูกลิง แย่งไปกิน อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเกรงว่ามันจะเป็นโรคฝีดาษ ที่มันเกิดขึ้น โรคฝีดาษจากลิง ท่านประธานเคยได้ยินไหมโรคฝีดาษ บางครั้งก็ลุกลามใน ชุมชนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้จนเกิดโรคระบาดเหมือนพิษสุนัขบ้าล่ะครับ ทั้งโรคฝีดาษลิง และโรคต่าง ๆ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้มันจะสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นเราขอนิดเดียวเพื่อที่จะ เป็นการแก้ปัญหานะครับว่า ขอเสนอแนะนะครับ ขอเสนอแนะเลยนะครับ เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องลิงมันก็มีปัญหาพอ ๆ กับปัญหาเรื่องคนนั่นล่ะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งควบคุม ประชากรลิงทุก ๆ พื้นที่ บูรณาการทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และอื่น ๆ ทำหมันก็ได้ ถึงจะแพงก็ต้องทำครับ ตรวจนับพื้นที่ลิง ประชากรลิง แต่ละปีว่าวางแผนทำอย่างไรนะครับ ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันอะไรอย่างไร สร้างความเข้าใจกับชุมชน นักท่องเที่ยว เพื่อให้อาหารลิง และระบบกำจัดขยะ มันไม่มีอะไรกินมันก็ไปคุ้ยขยะกินนั่นล่ะครับ อันนี้ก็สร้างความร่วมมือ ความเข้าใจปัญหาลิงกับหน่วยงานในจังหวัด สร้างความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาลิง ฟื้นฟูถิ่นอาศัยเพื่อความเหมาะสมเพื่อที่จะให้ลิงดำเนินและ มีชีวิตเป็นธรรมชาติ สร้างพื้นที่ที่อาศัยสามารถควบคุมลิงให้อยู่ในพื้นที่กำหนดและ จะสามารถสร้างแนวป้องกันปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต กระผมขอกราบเรียน ท่านประธานมาแต่เพียงเท่านี้ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เชิญครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร ธนบุรี คลองสาน บางประกอก พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติที่จะให้ สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับการศึกษาการแก้ปัญหาลิงนะครับ ซึ่งหลายคนก็งงครับว่า ทำไมวันนี้ สส. เท่าพิภพมาพูดเรื่องอะไร เกี่ยวอะไรกับลิง ที่คลองสานมีลิงหรือ จริง ๆ มันก็ ไม่อย่างนั้นหรอกครับ เรื่องลิง ๆ อย่างเดียวในเรื่องนี้ก็คือผมซนเองที่มาอภิปรายเรื่องนี้ แต่จริง ๆ แล้วผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของสัตว์ป่าที่อยู่ในเมือง รวมถึง แม้กระทั่งหมาแมวจรจัดที่เป็นปัญหาหลักใหญ่ในเขตผมแล้วก็กรุงเทพมหานคร ซึ่งมันมีจุด เกาะเกี่ยวคล้าย ๆ กันอยู่หลายอย่าง แล้วก็หวังว่าการอภิปรายของผมจะนำเสนอทางแก้ไข น่าจะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้อีกส่วนหนึ่งครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นแรกครับท่านประธาน หลายคนเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วว่า ตอนนี้มันติดขัดเรื่องปัญหาทางกฎหมายอยู่ เรื่อง พ.ร.บ. สัตว์ป่าคุ้มครองแห่งชาติ ไม่มีเพียง แค่ลิงเท่านั้นหรือวานรต่าง ๆ แต่ทราบไหมครับว่าในเขตอย่างในกรุงเทพมหานครก็ยังมี สิ่งที่เรียกว่าตัวเงินตัวทอง อันนี้ก็ได้รับการคุ้มครองโดย พ.ร.บ. อันนี้ด้วย ดังนั้นหากวันดีคืนดี มีการแก้ พ.ร.บ. นี้แล้วอย่าแก้แค่ลิงนะครับ แก้สัตว์อื่นด้วย ซึ่งความละเอียดในการแก้ไข พ.ร.บ. ผมว่าเราอาจจำเป็นต้องมี พ.ร.บ. อีกอันหนึ่งขึ้นมา หลายประเทศก็ผ่านเขาเรียกว่า เป็นคลื่นแห่งการอนุรักษ์ที่เกิดหลังจากสึนามิแห่งการทำลายโดยน้ำมือมนุษย์มาก่อน สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว กำลังจะสูญพันธุ์ และก็ต้องปกป้อง แต่การปกป้องหลายประเทศ ผ่านไป ๕๐ ปีอย่างประเทศญี่ปุ่นหรืออเมริกาจำนวนกวางเยอะมาก เยอะเกินไป ทำลายพืชผล และกระทั่งทำลายป่าที่มันอยู่เอง มีรูปที่ประเทศญี่ปุ่นรูปหนึ่ง จะเล่าให้ฟังว่ามีการกั้นรั้ว ฝั่งหนึ่งคือกวางอยู่ ฝั่งหนึ่งคือป่าที่ไม่มีกวาง ฝั่งนี้แทบจะไม่มีต้นไม้เลย เพราะว่ากวางมันกิน ทุกอย่างเลย และสัตว์นักล่าจำพวกหมาป่าตามธรรมชาติทั้งในอเมริกาหรือที่ญี่ปุ่น รวมถึง ที่ไทยเองสัตว์นักล่ามันหมดไปแล้ว มันจึงไม่มีการควบคุมประชากร เขาควบคุมด้วยอะไร นโยบายของรัฐบาลนี้เอาไปทำได้ผมว่าเป็น Soft Power มันมีการเปิด อย่างเช่นประเทศ แอฟริกาใต้เขาก็เปิดให้ล่าสัตว์ Safari เป็นช่วง ๆ ไป เป็น Hunting Season รวมถึงอเมริกา หรือญี่ปุ่นด้วย ไทยอาจจะต้องมีการพิจารณาอันนี้ เพราะว่าได้ยินเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ก็บอกว่าในพื้นที่ก็อาจจะมีหมูป่าที่เยอะเหลือเกิน ทำลายพืชผลก็เป็นได้
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ถ้าเราแก้กฎหมายเสร็จถามว่ากลไกต้องทำอย่างไรต่อ หลายคน ไม่ค่อยได้พูดเลยว่ากลไกทำอย่างไรต่อ แก้กฎหมายเสร็จแล้วถ้าโครงสร้างของรัฐยังเป็น เหมือนเดิมผมเชื่อครับว่าไม่มีโอกาสเลยที่เราจะแก้ปัญหาลิง ตัวเงินตัวทอง หรือแม้กระทั่ง หมาแมวจรจัดได้เลยทุกที่ในประเทศไทยด้วยนะครับ ทุกคนทราบไหมครับว่าตอนนี้เราไม่มี สัตวบาลหรือสัตวแพทย์ประจำตำบล ส่วนใหญ่คนที่ไปจับหมาแมวจรจัดอยู่ต่างจังหวัด ผมทราบจากเพื่อนสมาชิกก็คือปศุสัตว์จังหวัด ซึ่งคนก็น้อยดูทั้งหมู ดูทั้งอะไร แต่ผมไม่ได้ หมายความว่าทุกที่ควรจะมีสัตวบาลหรือสัตวแพทย์ประจำตำบลหรือ อปท. ต่าง ๆ ที่ใดมีการเลี้ยงสัตว์เยอะก็ควรจะมี ที่ใดไม่เยอะก็ควรจะไม่มี หรือว่า Size แตกต่างกันไป อันนี้ควรจะกระจายอำนาจให้เป็นเรื่องของท้องถิ่นจัดการไปดูแลด้วยนะครับ ถ้าพูดถึงปัญหา กทม. คนก็จะเถียงอีกว่า กทม. ก็มีนี่ เห็น กทม. เขาก็จับกันอยู่ ก็เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รูปแบบหนึ่ง แต่ปัญหาของ กทม. ถึงบอกว่ากลไกอันเดียวมันใช้ไม่ได้ กลไกของกฎหมาย ที่ต้องมาดูแลเรื่องหมาแมวจรจัด การเป็นเจ้าเข้าเจ้าของหมาแมวอันนี้ก็สำคัญ ต้องมีการ ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงของทุกคน ถ้าปล่อยออกมาก็ต้องจับไป แล้วก็คนที่เป็นเจ้าของก็ควรจะ มีความรับผิดชอบแค่นี้ แต่ไม่เท่านั้นครับ อันนี้เหมือนผลักภาระให้คนเลี้ยงอย่างเดียว คนที่ลอยนวลมาตั้งนานเขาเรียกว่า Pet Dealer Shop หรือว่าคนขายสัตว์เลี้ยง หรือว่า ฟาร์มเพาะเลี้ยง อันนี้ควรจะอยู่ในกฎหมายเป็นลำดับแรก ๆ ใช่ไหมครับ คุณเพาะเลี้ยงขึ้นมา คุณต้องแจ้งเกิดสัตว์เลี้ยงของคุณ คุณเอาไปขายร้านค้าปลีกสัตว์เลี้ยง พอร้านค้าปลีก สัตว์เลี้ยงได้ขาย ผมมีโอกาสไปญี่ปุ่นตอนช่วงปิดสมัยประชุมแล้วผมก็ไปยืน ไม่รู้นะคนอื่น ไปเที่ยวอะไร ผมไปโอซาก้าผมไปยืนอยู่หน้า Pet Shop แล้วผมก็ดูหมาน่ารักดี สุนัขน่ารักดี แต่ผมดูเวลาเขาซื้อครับ เอกสารเขามาเป็นปึ๊งเลย กรอกหมดเลย ผมก็ด้วยใจอันกล้าหาญ แล้วก็ Google Translate ในมือผมก็เดินเข้าไปถามเขาเลยครับว่าอันนี้กรอกอะไรกันบ้าง มีเยอะครับ คนที่จะซื้อต้องไปขอเขตก่อน แล้วแสดงว่าตนเองอยู่อย่างไร อยู่ในเขตพื้นที่ ขนาดเท่าไร เพราะอะไรครับ เพราะ ๑. คุณมีความสามารถในการเลี้ยงสัตว์ประเภทใด สัตว์เลี้ยงของคุณมีความสุขได้หรือไม่ ไม่ใช่คุณอยู่ห้องเล็ก ๆ แล้วคุณเล่นเลี้ยงร็อตไวเลอร์เลย เลี้ยงอัลเซเชี่ยนเลย อย่างนี้สิทธิสัตว์ก็โดนลิดรอนใช่ไหมครับ เพราะเขาไม่มีพื้นที่ในการ ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอ ดังนั้นผมว่ามาตรการหลายอย่างถ้าหากเกิดการตั้งกรรมาธิการชุดนี้แล้ว ผมก็หวังว่าจะรับ ข้อเสนอของผมไปศึกษาด้วยในการที่สร้างกลไกในระดับท้องถิ่นให้เกิดการมีส่วนร่วม แล้วก็ ปรับใช้แต่ละพื้นที่ให้แตกต่างหรือเหมือนกันออกไปนะครับ อย่างไรผมก็หวังว่าสภาของเรา จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสัตว์จร สัตว์ป่า ที่อยู่ร่วมกับคนได้อย่างที่ทุกคนพึงพอใจ มากที่สุดนะครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านนิพนธ์ คนขยัน ท่านที่ ๒ ท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ท่านที่ ๓ ท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ เชิญท่านนิพนธ์ คนขยัน ครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ญัตติปัญหาเรื่องลิง เพื่อนสมาชิกก็ได้พูดไปหลายท่าน วันนี้บึงกาฬ ถามว่ามีลิงไหม ก็มีครับท่านประธาน แต่ไม่มากเท่าจังหวัดอื่น แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขปัญหามันก็จะมากขึ้น โดยเฉพาะวันนี้ลิงที่จังหวัดบึงกาฬของกระผม อยู่ตำบลซาง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ก็น่าจะประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าตัว ซึ่งอยู่ใกล้กับ โรงเรียน ถามว่าวันนี้ปัญหาเดือดร้อนไหม ก็มีบ้าง ที่ไม่เดือดร้อนมากก็เพราะ ๑. ยังไม่มาก เหมือนจังหวัดอื่น ๒. ก็มีผู้ใจบุญเหมือนท่านที่อภิปรายไปว่า มีผู้ใจบุญเอาอาหารไปให้ โดยรวบรวมปัจจัย รวมเงิน ผลไม้ต่าง ๆ ไปมอบอาหารให้กับลิง ถามว่าถ้าเขาไม่มอบอาหาร ให้ลิงเหล่านั้นมันก็จะออกไปขโมยกินตามละแวกที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะโรงเรียน ดังนั้นวันนี้ เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอญัตตินี้ เพื่อนำไปศึกษาในการแก้ปัญหาเรื่องของลิงต่อไป ซึ่งจังหวัดของท่านกระทบมาก แต่เชื่อว่าบึงกาฬของผมในอนาคตก็จะกระทบเช่นกัน เพราะว่ามีการขยายพันธุ์ขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนจะแก้ไขอย่างไร จะตั้งกรรมาธิการอย่างไรนั้น ก็สุดแท้แล้วแต่เพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ว่าจะเห็นด้วยอย่างไร แต่ความเดือดร้อนนั้น เพื่อนสมาชิกก็ได้มองแล้วว่าเพื่อน ๆ ที่มันมีมากในจังหวัดนั้น ๆ เดือดร้อนมากนะครับ แต่ ณ วันนี้ก็กราบเรียนว่าลิงเป็นสัตว์ที่เราก็ใช้ประโยชน์ แต่โทษวันนี้ถ้าเราไปให้อาหารมัน ดูแลรักษามัน มันก็จะไปรังควานเพื่อนชาวบ้านนะครับ ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าญัตตินี้ต้องการ แก้ไขปัญหาเรื่องลิงให้ถูกจุด จะแก้อย่างไร โดยเฉพาะวันนี้เราเห็นแล้วว่าปัญหาเรื่องอาหาร จะมอบเป็นกองทุนหรือจะแก้เรื่องคุมกำเนิดอะไรก็แล้วแต่ที่ว่าเห็นดีที่สุด ที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นวันนี้ผม นิพนธ์ คนขยัน ก็เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกที่จะหาทางออก หาทางแก้ให้กับ ปัญหาความเดือดร้อนของลิงที่เกิดขึ้นในเขตชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดนั้น ๆ ครับ ก็ขอ กราบเรียนท่านประธานเห็นชอบนะครับ ส่วนจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือจะตั้งอะไร ก็แล้วแต่เพื่อนสมาชิกครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช เชิญครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิด จากลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ของท่านสรรเพชญ บุญญามณี ครับท่านประธาน พอผมจะอภิปรายเรื่องลิงเพื่อนสมาชิกก็ถามว่าลิงมาจากไหน ในเขตท่านมีด้วยหรือ ผมก็บอกว่าในเขตของผมอยู่ริมป่าท้องโกงกาง ริมป่าแสม มีลิงเป็นจำนวนมากครับ ท่านประธาน แล้ววันนี้การให้อาหารของผู้ใจบุญมันยังผิดวิธีอยู่ จากที่เราควรจะเอาอาหาร ไปให้ลิงในจุดที่ลิงควรจะอยู่ กลับเอาอาหารไปตั้งไว้ข้างถนนให้ลิงขึ้นมาข้างถนน ในช่วงที่ พื้นที่อาหารของลิงในป่ายังมีเพียงพอสมบูรณ์ลิงก็ไม่ออกมารบกวนชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันนี้ ท่านประธานเชื่อไหมว่าในอดีตเรามีลิงอยู่ในตำบลคลองน้อยของอำเภอปากพนัง วันนี้ มาตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก แล้วต่อมาในตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก แล้วอีกส่วนหนึ่ง ในตำบลแหลมตะลุมพุก วันนี้ลุกลาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ลิงไปทำร้ายชาวบ้าน ไปรื้อข้าวของ ที่ชาวบ้านทำไว้ ไปทำลายบ้านเรือนที่อาศัย อยู่บนถนนลูกเด็กเล็กแดงไม่กล้าใช้ทางในการ สัญจร ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ท่านประธานครับ ชาวบ้านก็ร้องเรียนมาหลายครั้ง จะให้ท้องถิ่น เป็นภาระเนื่องด้วยงบประมาณก็ไม่เพียงพอแล้วก็ไม่มีความชำนาญ เรื่องเหล่านี้เป็น เรื่องระหว่างหน่วยงานของรัฐ คน แล้วก็สัตว์ สิ่งเหล่านี้ที่เราควรจะคิดว่าในการทำงาน ที่จะร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เราควรจะมีกรรมาธิการศึกษา ออกแบบแนวทาง เพื่อสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เราจะเห็นได้ว่าในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เราจะต้องมีท้องถิ่น มีกรมปศุสัตว์ มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาล ชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ตลอดถึงสถานศึกษา เราควร จะมีสิ่งเหล่านี้ครับท่านประธาน มาเพื่อแก้ไขปัญหาของลิงที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ ถ้าเรา ไม่บูรณาการร่วมผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถ้าอยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้ไข ไม่สำเร็จ ในพื้นที่กระผมไม่ว่าจะเป็นลิง เป็นสุนัข เป็นตัวเงินตัวทองเยอะครับท่านประธาน ยิ่งวันนี้สุนัขจรจัดอยู่ในพื้นที่ป่า ในพื้นที่แปลงเกษตรของพี่น้องประชาชนมากมาย วันนี้ เราไปมองว่ากฎหมายอาจจะให้อำนาจสัตว์มากเกินไปหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะคิด วันนี้สัตว์ มาทำละเมิดชาวบ้าน มาทำละเมิดประชาชน ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปแก้ไข แต่ถ้าชาวบ้าน ไปกระทำละเมิดต่อสัตว์พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสุนัข เป็นลิง เป็นตัวเงินตัวทอง เดี๋ยวก็มีหมาย มาถึงบ้าน ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ผมคิดว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรที่จะต้องมี การศึกษาเพื่อนำสู่การแก้ไขที่ยั่งยืนให้แก่พี่น้องประชาชน ไม่ใช่เรามองเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่ เรามองเป็นเรื่องลิงกินกล้วย แต่วันนี้ต้องมองเป็นเรื่องปัญหาของชาวบ้านที่มันเกิดขึ้น ระหว่างคนกับสัตว์แล้วก็หน่วยงานของรัฐครับท่านประธาน ผมเจอมาเยอะในพื้นที่ เขาร้องเรียนมาประสานไปยังหน่วยงาน ไม่ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ก็ไปได้แป๊บ ๆ ก็แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ได้ วันนี้เราอยู่ในสภาอันทรงเกียรติ ควรที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้กับพี่น้องประชาชน ผมหวังว่า เพื่อนสมาชิกที่อยู่ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้อาจจะมีความเห็นชอบเห็นด้วยกับญัตติของ ท่านสรรเพชญ บุญญามณี ดังนั้นผมจึงขอสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนจากลิง และขอให้เพื่อนสมาชิกร่วมกันสนับสนุนญัตตินี้ให้เกิดขึ้น ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักศึกษาหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ เชิญครับ
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจอมทอง ยกเว้นแขวงบางขุนเทียนและเขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงท่าข้าม) ท่านประธานครับ เรื่องลิงจั๊ก ๆ นี่ผมไม่พูดไม่ได้เลยจริง ๆ ครับท่านประธาน เพราะว่าลิง ในกรุงเทพมหานครถ้าจะพูดตรง ๆ ที่มีปัญหาหลัก ๆ ก็เขตผมเอง ท่าข้าม บางขุนเทียน ลิงที่เป็นปัญหาที่ท่านพูดอยู่เสมอ ๆ ก็คือลิงแสมดำ ลิงแสมดำในเขตบางขุนเทียน ท่าข้าม ของผมนั้นหลัก ๆ มีอยู่ ๒ จุด ผมพูดตรงนี้เลย ๑. คือคุณกะลา มีใครรู้ไหมครับว่าคุณกะลา อยู่ตรงไหน ถ้าผมพูดไปคนบางขุนเทียนรู้เลย อ๋อที่รถติด ๆ ปูอัดเอ๊ย ขอไฟสักนิดหนึ่งผมก็ยัง ทำไม่ได้นะครับ คนละหน้าที่ ท่านประธานครับ อีกจุดหนึ่งคือเทียนทะเล ๒๒ เทียนทะเล ไม่ได้มีทะเลนะ เทียนทะเลนี่เป็นซอย และซอยนี้ท่านประธานบอกเลยว่าลิงจั๊ก ๆ นี่พรึ่บ ๑๐๐ กว่าตัว เดือนก่อนเพิ่งประชุมกันว่าจะแก้ไขอย่างไร ออกข่าวไปแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมจะพูดแบบนี้ ๒ จุดหลัก ๆ ที่เป็นปัญหาอยู่เป็นมากว่า ๑๐-๒๐ ปี ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กน้อย วันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ผมจะขอพูดแบบนี้ท่านประธาน ปัญหา ของลิงที่เกิดขึ้นนั่นก็คือเรื่องของความเสียหาย เดี๋ยวผมโชว์ให้ดู วันนี้ไม่ได้เตรียมสไลด์ แต่เตรียม Print มา ไม่แน่ใจว่าโชว์เห็นไหม นี่เป็นภาพจากเหตุการณ์จริง ไม่ใช้ Stand-in ไม่ใช้ตัวแสดงแทน พี่น้องท่าข้ามบอกปูอัดเอาไปโชว์ให้เขาดูหน่อย วันนั้นผมเข้าบ้านกลับไป ประตูเปิดอยู่นึกว่าโจรเข้า เราก็ค่อย ๆ ย่อง ค่อย ๆ ย่อง ค่อย ๆ ย่องเข้าไปดู โอ้โห เห็นที่ ผมเห็นนี่ครับ ขยะเกลื่อน แล้วก็ได้ยินเสียงในห้องครัวกึกกัก กึกกัก ชั้น ๒ ชั้น ๓ พอเปิด เข้าไปก็เตรียมสู้รบเต็มที่ สิ่งที่เจออุทาน คุณพระคุณเจ้า อันนี้คือโจรใช่ไหม มีหางด้วย กำลังกินเลย เอามาจากตู้เย็นข้างล่างของเขา แล้วเขาเจอแบบนี้ท่านประธานเอ๊ย ไม่ใช่ มาเจอวัน ๒ วัน ๓ วัน เจอมาเป็นปี ๕ ปี ๑๐ ปีในเทียนทะเล ๒๒ ท่าข้าม-บางขุนเทียน เขาเจอลิงแสมดำท่านประธาน วันนี้ผมถึงบอกว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาแค่คนกับสัตว์ เป็นปัญหาของพื้นที่ผมในกรุงเทพมหานครที่ยังแก้ไม่จบไม่สิ้น คือวันนี้ผมต้องพูดแทน สำนักงานเขตบางขุนเทียนด้วยนะครับ เขาพยายามกันสุดชีวิตจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การทำหมัน แล้วเขาก็บอกเขาอยากจะทำหมันต่อให้กับเทียนทะเล ๒๒ แล้วเขาก็มาถาม สส. ปูอัด งบประมาณเอาตรงไหนดี สำนักอนามัยพอจะมีไหมไปคุยให้หน่อย กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พอจะมีไหม คุยได้บ้างไหม หรือว่าจะเป็นองค์กรสวนสัตว์ นี่พอพูดถึงองค์กรสวนสัตว์ท่านอาจจะงง เฮ้ย ปูอัด องค์กรสวนสัตว์นี้มาเกี่ยวอะไรด้วย คือปัญหานี้มันหนักถึงขนาดว่าสำนักงานเขตบางขุนเทียนไปซื้อที่ดิน ๑๒ ไร่ ไม่ได้มาสร้าง สำนักงานเขตเพิ่มนะ แต่กะว่าจะหาทางออกร่วมระหว่างคนกับลิง เอาตรงนั้นเป็นสวนสัตว์ ไปเลย ตรงเทียนทะเลตรงนั้น ตรงคุณกะลาตรงนั้นจะมี ๑๒ ไร่ แต่ประเด็นคืออย่างนี้ ท่านประธาน พอเขาจะทำคำถามตัวโต ๆ เหมือนที่สมาชิกถามเหมือนเดิม งบประมาณ อยู่ตรงไหน คิดไว้แล้วครับท่านประธานว่าจะแก้ปัญหาคนกับลิงแต่งบประมาณก็ยังหาไม่ได้ สำคัญคือพอรู้ว่าลิงตรงเทียนทะเล ๒๒ เป็นปัญหาที่ผมโชว์รูป อยากจะโยกมาอยู่ ๑๒ ไร่ ก็เป็นคำถามเหมือนเดิม งบประมาณเอาตรงไหนดีครับ สส. ไม่รู้จะหาตรงไหนเลย ก็อยากจะ ช่วยประชาชนใจจะขาด วันนี้ก็ต้องมาพูดเรื่องนี้เพราะอดกลั้นกันมานาน นี่พูดแทนพี่น้อง ซอยเทียนทะเล ๒๒ เลยนะ พี่น้องคุณกะลาด้วย คือเขาพยายามอยู่กับลิงจริง ๆ แต่ว่า อยู่ไม่ได้ท่านประธาน แต่ส่วนกลุ่มคนรักลิงผมก็ไม่ได้ว่านะ เพราะเขาก็พยายามอนุรักษ์ ลิงแสมดำ แต่ก็ต้องให้เข้าใจด้วยว่าคนที่ประสบปัญหาทรัพย์สินเสียหายก็ไม่มีใครรับผิดชอบ เขาเลย เพราะฉะนั้นที่ผมจะมาพูดตรงนี้ผมว่าทางออกอย่างแรกเลยในบางขุนเทียน ผมคิดว่า ๑. คือวันนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วท่านประธาน คำถามคือคนที่ได้รับผลกระทบ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคือเอางบประมาณมาจากตรงไหน อันนี้คือสิ่งที่ต้องคุยต่อแล้ว เพราะเรื่องนี้มันเกิดขึ้นแล้วท่านประธาน
นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อย่างที่ ๒ คือวันนี้ในกรุงเทพมหานครมีเขตท่าข้าม บางขุนเทียนของผม ที่มีปัญหา เขาก็พยายามซื้อที่ดินมาแล้วเตรียมจะทำสวนสัตว์เอาลิงเข้ามาอยู่ ประเด็นก็คือ งบประมาณที่จะทำให้เป็นรูปธรรมต่อจากนี้คือเอาจากตรงไหนอีก ผมก็ไม่รู้ ก็หวังว่าจะได้ ไปคุยในกรรมาธิการ และอีกอย่างนั่นก็คือไม่ทำไม่ได้เลยอันนี้ ต้องเสนอการแก้ไขกฎหมาย คุ้มครองสัตว์ป่าปี ๒๕๖๒ ให้ได้ เพื่อจะหาทางออกร่วม เพราะว่าปัญหาลิงนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่ กรุงเทพมหานครของผมเหมือนที่พี่น้องสมาชิกพูดถึงที่ลพบุรี เพราะฉะนั้นฝากทาง ท่านประธานครับ ท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีมาเนิ่นนาน ก็หวังว่าทางท่านประธาน แล้วก็ทางสมาชิกจะร่วมกันแก้ปัญหาทางออกคนกับสัตว์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ในอนาคตนะครับ ก็ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ท่านที่ ๒ ท่านชุติมา คชพันธ์ ท่านที่ ๓ ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ เชิญท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาควบคุม ปัญหาการขยายพันธุ์ของประชากรลิง ท่านประธานที่เคารพครับ สัตว์น่ารักทุกตัว แต่ว่า ถ้ามันมากจนเกินไปมันก็ทำให้บรรยากาศเสียไป จังหวัดกาฬสินธุ์มีเส้นทางระหว่างกาฬสินธุ์ กับสกลนคร มีจุดอยู่จุดหนึ่งระหว่างกึ่งกลางที่จะมีลิงมาก แต่ทางกรมทางหลวงก็ใช้วิธี กั้นไม่ให้คนลงแล้วก็เขียนไปห้ามให้อาหารสัตว์ ลิงก็เดินเพ่นพ่านบนถนน ถูกรถทับบ้าง ผมบอกว่าถ้ามันมีเยอะก็เว้าเข้าไปให้ประชาชนคนใจบุญดูแล เพราะว่าจริง ๆ แล้วอยู่บน เทือกเขาภูพานถึงจะเยอะเขาก็ยังมีที่หากินในเทือกเขาได้ ท่านประธานที่เคารพครับ อีกอันหนึ่งก็คือนก ขออนุญาตท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ คือพระราชบัญญัติทารุณสัตว์ มันควบคุมสัตว์ทุกประเภท อย่างเทศบาลเมืองของผมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ประชากรนก ยึดต้นไม้ทุกต้นในเทศบาลเมือง และสวนสาธารณะทุกสวนสาธารณะ จะทำให้คนอยู่ ยากลำบากครับ แต่ว่าถามว่าสงสารไหม สงสาร แต่ควรจะมีวิธีการที่เจ้าหน้าที่สามารถจับ เขาไปสู่ผืนป่าหรือไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง อีกอันหนึ่งที่จะไม่พูดไม่ได้คือประชากรสุนัขหรือหมา นี่ล่ะครับ วันนี้พระราชบัญญัติทารุณสัตว์ออกมาปุ๊บทำให้แต่ก่อนภาคอีสาน Zone นี้ มีอาชีพคือเพาะพันธุ์สุนัขเพื่อขายไปเวียดนาม แต่ปัจจุบันมีการกฎหมายห้าม ไม่สามารถ ทำได้ สุนัขก็มีหลายประเภทครับท่านประธาน ประเภทดี ประเภทปานกลาง ประเภทไม่ดี ประเภทดีก็คือน่ารัก ทำอะไรสั่งให้ได้ ประเภทปานกลางก็วิ่งไปวิ่งมา แต่ประเภทไม่ดีก็คือกินไก่ กัดลูกกัดหลาน ประเภทที่ ๓ ประชาชนก็ใช้วิธีจับไปปล่อยวัด ปัจจุบันวัดในเทศบาลเมือง ผมยกตัวอย่าง อย่างวัดของเจ้าคณะ วัดประชานิยมในเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ผมไปกับพระ กับเณร เดี๋ยวนี้มันกัดพระ กัดเณร คนไปวัด ท่านประธานเคยดูหนัง Godfather ไหม นี่ล่ะครับกลุ่มใหญ่ ๗๐ กว่าตัว นำโดยไอ้ด่าง ไอ้ด่างนั่งควบคุมอยู่แถวโรงฉัน แล้วกลุ่มต่อไป คือไอ้ดำอยู่แถว ๆ เขยิบมา ๔๐ กว่าตัว แล้วก็มีไอ้พวกสีเทาไปอยู่อีก ๑๐ กว่าตัว แล้วตัวเดียว ๒ ตัวเต็มวัด แล้วปัญหาคือในศาลปกครองมีคดีที่สุนัขกัดลูกของชาวบ้านที่ไปวัด เสร็จแล้ว ก็ไปหาคนรับผิดชอบไม่ได้ จะให้หลวงพ่อรับผิดชอบ หลวงพ่อก็บอกว่ามันไม่ใช่สุนัขวัด แต่ถ้าให้ประชาชนก็ไม่รู้ใครเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้เรามา แก้ปัญหาเรื่องลิง เรื่องนก เรื่องสุนัข เรื่องอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน อย่าให้มันทำร้ายคน ไม่ให้ขายก็ไม่เป็นอะไรหรอกครับ ผมก็กราบขอโทษคนที่รักสุนัข รักลิง รักนกที่เลี้ยงไว้ เป็นสัตว์เลี้ยง คือไม่กล่าวก้าวล่วงตรงนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือพวกที่เกเรวิ่งไล่กัดคน ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านถนนก็วิ่งไล่กัด หมาจรจัดเยอะมาก ถามว่าวันนี้เป็นหน่วยงานไหนที่จะรับ ไปทำ แค่ทำหมันก็ไม่ทำ คลอดลูกทีหนึ่ง ๑๒ ตัว ผมถามว่าวันนี้เราจะทำอย่างไรกับสิ่งต่าง ๆ ที่สุนัขจรจัดแล้วก็ลิงกับนก เพราะฉะนั้นผมกราบเรียนท่านผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง การตั้ง กรรมาธิการวิสามัญก็ดี แต่ว่าก็ต้องแก้ไขให้เป็นรูปเป็นร่าง แก้ไขให้ทำให้ได้ วันนี้ผมบอกว่า ประชาชนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะถ้าผมไปหาเสียงตามหมู่บ้านต่าง ๆ หลวงพ่อพูดเป็น คำเดียวเลยครับ เพราะว่าบิณฑบาตอยู่มาองค์เดียวมาเลี้ยงสุนัขจรจัดที่อยู่ตามวัด ๒๐-๓๐-๔๐ ตัวไม่ไหวครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมกราบเรียนหาผู้ที่เกี่ยวข้อง หาวิธีเถอะครับที่จะทำ มันทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะอีสาน ผมก็กราบเรียนว่าหาวิธีที่จะ จำกัดไม่ให้มันขยายพันธุ์มากกว่านี้ ผมก็ขอบคุณผู้เสนอญัตติทั้ง ๓-๔ ท่านนะครับ ปัญหา ของลิง ปัญหาสุนัข ปัญหาของตัวตะกวด ตัวอะไรต่าง ๆ แล้วก็นก มันอยู่กับชีวิตคนเรา ตลอดไป ก็ขอบคุณท่านประธานและขอบคุณท่านสมาชิกครับ ด้วยความเคารพครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดกันถึงเรื่องการอยู่ร่วมระหว่างคนแล้วก็สัตว์ ดิฉันเชื่อว่านี่ไม่ใช่ ครั้งแรกที่เราพูดในสภาแห่งนี้ เราคงจะพูดเรื่องนี้กันมาหลายครั้งแล้ว แต่ว่าสุดท้ายปัญหา ก็ยังคงอยู่ อยู่มาเนิ่นนาน และดิฉันไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปถึงเมื่อไร ดังนั้นวันนี้ดิฉันอยากจะให้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ สมาชิกแล้วก็ที่ดิฉันจะสะท้อนให้เห็นต่อไปนี้นำไปสู่การตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ดิฉันอยากจะสะท้อนให้เห็นปัญหา ที่ดิฉันได้รับทราบมา ดิฉันได้รับทราบปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยร้องเรียนผ่านคณะทำงานพรรคก้าวไกล จังหวัดสงขลา และคุณสักกพันธุ์ อนันตพงค์ อดีตผู้สมัครเขต ๑ จังหวัดสงขลาของพรรคก้าวไกล ทราบมาว่าที่นั่นมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ โดยลิงเยอะมากค่ะ และดิฉันเองดิฉันเป็นคนที่ไปในที่นั่นเองด้วยตัวเองมาหลายครั้งมากแล้ว พื้นที่หาดสมิหลาเป็นพื้นที่ที่ดิฉันตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะฉะนั้นดิฉันกำลังจะสะท้อนให้ฟังถึง ปัญหาที่เกิดจากลิงในเขาตังกวนนะคะ ขอภาพด้วยค่ะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในตัวอย่างดิฉันจะให้เห็น คือการบุกรุกพื้นที่โดยลิง นี่คือลิงจากเขาตังกวนและเขาน้อยที่สงขลาทำลายทรัพย์สิน ปีนรถนักท่องเที่ยวแล้วก็รถของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ตอนนี้ลิงเขาขยายพื้นที่ ออกไปแล้ว เขาไม่อยู่แค่บนเขา เขาไปในเมืองเลยค่ะ ประชาชนจะไปซื้อของในเมืองออกมา ก็เจอลิงปีนรถแบบนี้นะคะ นักท่องเที่ยวไปเที่ยวบนเขาไปไหว้พระลงมาก็จะเจอรถตัวเอง แบบนี้ค่ะ แล้วลิงที่นั่นเขา Advance มาก เขาแกะชิ้นส่วน แกะอุปกรณ์ตกแต่งออกมา บางครั้งคิ้วรถยนต์ต่าง ๆ ที่เราเห็นเขาแกะออกมาได้เลยนะคะ เขาพัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้ว ซึ่งคงไม่มีใครอยากเจอแบบนั้นนะคะ ต่อไปค่ะ ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ลิงที่นั่นบุกรุกไปถึงบ้าน ไปถึงที่อยู่อาศัย วัด สถานที่ราชการ และโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง จังหวัดอื่นอาจจะมี สุนัขเฝ้าบ้าน แต่ที่นั่นมีลิงเฝ้าบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านคงไม่ได้อุ่นใจแน่นอน เพราะต้องระแวงว่า เมื่อไรจะโดนลิงกัด ไม่ใช่สิ่งที่มีใครอยากจะเจอแน่นอน และนอกจากนั้นลิงที่นั่นยังไปที่ ชายหาดด้วย ที่แหลมสมิหลา เราพาลูกหลานเราไปพักผ่อน ไปนั่งเล่น ลิงก็นั่งเล่นเช่นกันค่ะ เราก็จะเห็นลิงอยู่รอบ ๆ กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวก็จะระแวงว่าจะโดนลิงกัดไหม จะมี อันตรายหรือไม่ เพราะลิงก็ไม่ได้น่ารักทุกตัว บางตัวก็น่ารัก แต่บางตัวก็ดุร้าย ต่อไปนะคะที่ ดิฉันอยากให้เห็นชัด ๆ เลยก็คือว่าไปถึงบ้าน บุกรุกที่อยู่อาศัยในชุมชน วัด สถานที่ราชการ และโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง เวลาที่เราพูดถึงเรื่องลิงบางคนอาจจะบอกว่ามันดูเป็นเรื่อง ตลกมากเลย ดิฉันอยากจะบอกว่ามันไม่ตลกเลยนะคะ คุณลองนึกภาพสิคะ นึกภาพว่าบ้านเราแล้วมีลิงมาบุกรุกบ้านเรา ๒๔ ชั่วโมง ทุกวัน ทุกเดือน อยู่แบบนี้เป็นปี ๆ และหลายปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ก็เป็นตลอดมา ไม่มีใครแก้ไข ไม่ได้มีใคร ช่วยแก้ปัญหาให้มันหายไปได้ คุณจะมีความสุขหรือไม่ มันยังตลกกันได้หรือไม่ ยิ้มไม่ออก ถ้าเป็นแบบนี้ ไหนต้องเสียทรัพย์สินในการซ่อมแซมบ้าน ไหนจะต้องมานั่งระแวงว่าเราจะ โดนทำร้ายหรือไม่ จะมีอะไรเกิดขึ้นกับลูกหลานเราหรือไม่ ลูกหลานจะมานั่งเล่นหน้าบ้าน ก็ไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องตลกเลยค่ะ และมันไม่ใช่เรื่องเล็กเลย มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ สำหรับ ประชาชนคนที่อยู่ที่นั่น เรื่องนี้ดิฉันอยากจะสะท้อนให้เห็นและอยากให้ทุกคนช่วยกัน ต่อไป นอกจากลิง นอกจากคนจะเจอปัญหาแล้ว ลิงเองก็เช่นเดียวกัน สวัสดิภาพของลิงก็ไม่ปลอดภัย ท่านจะเห็นในรูปนี้เลยว่าเกิดอุบัติเหตุรถชน อย่างที่เห็นน่าสงสารมากไฟฟ้า Shock ลิงตกน้ำ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่านอาจจะได้ข่าวว่ามีลิงถึง ๓๐ ตัวตกลงไปในบ่อน้ำตายหมดเลย สิ่งนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือลิงก็ตาม ภาพนี้คงบาดใจสำหรับคนรักษาสัตว์ มันไม่ควร จะเกิดขึ้น เราไม่ควรจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
โดยสรุปก็คือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ปัญหาก็คือประชากรลิงที่เขาน้อย เขาตังกวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีน้อยนิด ไม่เพียงพอกับ ความต้องการ เมื่อเขาไปในเมืองได้เขาก็จะไปเจอแหล่งอาหารในบ้านเรือน กลายเป็นว่าเขาก็ ขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ เขาก็จะอยู่แบบนั้นไม่กลับมาที่เขา นักท่องเที่ยวก็จะน้อยลง เนื่องจากหวาดกลัวลิงจะทำร้ายทรัพย์สินและร่างกายส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงในช่วงที่เกิดโรคระบาด และทรัพย์สินประชาชนเกิด ความเสียหายอย่างเช่นที่ดิฉันให้ดูไปก่อนหน้านี้แล้ว
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สำหรับพื้นที่เกิดความเสียหาย โดยรอบ ๆ เลยถัดไปท่านจะเห็นว่าพื้นที่ ประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร นี่คืออย่างน้อยนะคะ ในความเป็นจริงอาจจะกว้างออกไปมากกว่านี้ ได้อีกถ้าประชากรลิงเพิ่มขึ้น โดยรอบ ๆ เขาตังกวนและเขาน้อยท่านจะเห็นเลยว่าแถวนั้น เป็นชุมชนหนาแน่น เนื่องจากมีทั้งโรงเรียน มีทั้งวัด โรงเรียนก็มีหลายโรงที่นั่น มีทั้งวัด มีทั้ง โรงแรม แล้วเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะเห็นว่าหนาแน่นมากเลย รอบ ๆ ภูเขาตรงนั้น นั่นคือลิงขยายอาณาเขต ขยายบริเวณไปเรียบร้อยแล้วค่ะ กำลังจะ กลายเป็นเมืองลิงไปเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายถึงว่าจะมีผลกระทบต่อผู้คนนับหมื่นคน ดิฉันเลย มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่แล้วเราปล่อยแบบนี้ไม่ได้
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ถัดไปสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือเทศบาลนครสงขลา ดิฉันอยากจะ ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาจับมือร่วมกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สิ่งที่เรา พูดไปทั้งหมดที่ดิฉันสะท้อนให้ฟังเองก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าไม่มีผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่ง ที่จะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาจับมือร่วมกันหลาย ๆ กระทรวง เราพูดมาซ้ำแล้วซ้ำอีกเราคงจะพูดแค่ในสภาแล้วส่งต่อไปหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ดิฉันขอเรียกร้องและขอเพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่านในที่นี้ช่วยกันโหวต ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อมีการศึกษาการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนแล้วก็สัตว์ โดยเฉพาะลิงหรือว่าสัตว์อื่น ๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา อย่างยั่งยืนและเร่งด่วน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ สาขาวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัด นครราชสีมา จำนวน ๖๐ ท่าน สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ เชิญครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ ผมขอร่วมอภิปรายญัตติการแก้ปัญหาลิง ให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ในที่นี้ผมมองเห็นว่าปัญหาของลิงจะคล้าย ๆ กับปัญหาหมาแมวจร เหมือนกับที่เพื่อน สส. ของผมได้พูดไป คุณเท่าพิภพนะครับ ในเรื่องนี้การจะแก้ปัญหาลิง มันเป็นของความ Sensitive ด้วย เราต้องระวังว่าจะมีปัญหากับต่างประเทศอย่างที่เราเคยได้เห็นนะครับว่า เมื่อมีคลิปว่า เราใช้ลิงปีนต้นไม้ ต้นมะพร้าว เกิดปัญหาทันที เราถูกต่างชาติ Brand ไม่ให้มีสินค้าเหล่านี้ ใน Shelf ของต่างชาตินะครับ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้จะ Sensitive มาก ๆ ผมเคย ไปที่บางขุนเทียน ไปบ่อยมาก แล้วก็มีเพื่อน มีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น ปัญหาของที่นั่นก็คือ ก็จะมีลิงประมาณ ๔๐๐ ตัวอยู่ที่บางขุนเทียน ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ลิงเหล่านี้เกิดอะไรขึ้น เขาอยู่ในป่ามานานแล้ว อยู่ในป่ามาสักพักหนึ่งแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือว่ามีการสร้างโรงงาน สร้างหมู่บ้าน กินพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้ลิงเหลือน้อยลง แล้วก็ไม่มีที่อยู่ แหล่งอาหารก็น้อยลง ทำให้ลิงต้องมาหาอาหารข้างถนน มารอรับอาหาร จากคน แล้วปัญหาก็คือเกิดอุบัติเหตุ มีรถชน ลิงถูกรถชนบ่อยครั้งมากเลยนะครับ ถ้าท่าน ขับรถไปตรงนั้นท่านจะเห็นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แล้วอีกปัญหาหนึ่งก็คือว่าเมื่อลิง ไม่มีอาหารก็จะไปบุกรุกบ้านคน ไปขโมยสิ่งของหรืออาหาร สิ่งของที่คิดว่าเป็นอาหารเขา ก็ขโมยนะครับ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน บางครั้งก็กัดคนด้วย อันนี้คือไม่ใช่ความผิด ของลิงนะครับ แต่เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันของคนกับลิง นอกจากนี้ปัญหาที่ว่ามีการ ทำหมันลิงแล้วจะช่วยแก้ปัญหาประชากรลิงได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นข้อที่ต้องพิจารณาดี ๆ เลย อย่างการทำหมันหมาแมวจรก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจำนวนประชากรนะครับ ผมได้ศึกษา เรื่องของหมาแมวจรอยู่ระยะหนึ่ง บ้านผมเองก็เลี้ยงแมวจรอยู่ประมาณ ๑๔ ตัว แล้วก็ บ้านน้องสาวอีก ๙ ตัว เราเลี้ยงดูอย่างดี แต่ว่าการนำมาเลี้ยงในบ้านก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เช่นกันนะครับ ปัญหาของหมาแมวจรเกิดจากแหล่งอาหารธรรมชาติหรือแหล่งอาหาร ที่คนให้มานะครับ สมมุติว่าในหมู่บ้านนี้มีแหล่งอาหารสำหรับหมาแมวจร ๑๐๐ ตัว ก็จะมี ประชากรหมาแมวจรประมาณ ๑๐๐ ตัวอยู่ตรงนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะอยู่ประมาณเท่านี้ เพราะว่าขึ้นอยู่กับแหล่งอาหาร ถ้าคุณจับไปทำหมัน ๑๐๐ ตัว มีการตายเกิดขึ้น ไม่มีการเกิด ในที่นั้น ก็จะมีหมาจรจากที่อื่นวิ่งเข้ามาอยู่ดีจำนวน ๑๐๐ ตัวเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเอากลับบ้าน ไปเลี้ยง ๕๐ ตัว สักพักก็จะกลับมาเป็น ๑๐๐ ตัวเท่าเดิม เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งอาหาร จึงอยากให้ท่านพิจารณานะครับ ลิงก็เช่นกัน ลิงก็เกิดจากแหล่งอาหารเหมือนกัน ถ้าเขามี แหล่งอาหารเพียงพอที่จะอยู่ ๑๐๐ ตัวเขาก็จะอยู่ประมาณ ๑๐๐ ตัว จะไม่มากไปกว่านี้ หรืออาจจะมีน้อยลงถ้าเราจับทำหมันเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นปัญหาที่อยากให้พิจารณาก็คือว่า ไม่ใช่ว่าทำหมันอย่างเดียวแล้วจบ ควรจะมีการจัดแหล่งพื้นที่ให้กับลิงเป็นพื้นที่ปิดหรือ พื้นที่ที่ไม่เกิดอันตรายกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพราะถ้าเกิดเราจับลิงจำนวนมากไปไว้ป่า แหล่งใดแหล่งหนึ่งก็จะไปทำลายระบบนิเวศในป่านั้นอีกเช่นกัน ปัญหานี้ค่อนข้าง Sensitive แล้วต้องการคณะวิสามัญเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องของลิงบางขุนเทียน ผมขอย้อนกลับ ไปนิดหนึ่ง ตรงนี้ก็ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัชชาติก็ได้ลงมาดูแล้ว แล้วก็กำลังหาทางแก้ไข ปัญหาอยู่ อาจจะมีการศึกษาร่วมกันระหว่างบางขุนเทียนกับลพบุรี หรือว่าที่อื่น ๆ เพื่อจะได้ ป้องกันปัญหาของลิง แล้วก็ในอนาคตผมก็อยากให้แก้ปัญหาของหมาแมวจรด้วย แล้วผม ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในนั้นที่จะช่วยแก้ปัญหา แล้วก็หาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยที่ ไม่ได้ทำร้ายจิตใจของพุทธศาสนิกชนนะครับ เราไม่ฆ่าสัตว์ แล้วเราก็หาทางออกที่ดีที่สุด ให้กับสุนัข แมวจร ลิงจร หรือแม้แต่ตัวเงินตัวทองที่คุณเท่าพิภพได้พูดไป ก็อยากฝากทุกท่าน ช่วยกันลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ปัญหาลิงที่อยู่กับชุมชนด้วย เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนิติพล ผิวเหมาะ ครับ
นายนิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานที่เคารพ ผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายภาคเหนือ พรรคก้าวไกล ผมสนับสนุน ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากลิง ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะฝากความคิดถึงผ่านท่านประธานไปสู่ทางรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า สส. นิติพลคิดถึงท่านจับใจจริง ๆ นะครับ อยากจะให้ท่านมาช่วยจับลิง เพราะว่าลำพังการตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องลิงได้จริง ๆ ครับ เราต้องการรัฐมนตรีได้ออกมา Action ออกมาช่วยกันวางแผนงานต่าง ๆ ด้วยกัน เราต้องพูด ถึงความจริงแบบนี้ครับท่านประธาน เริ่มต้นจากปัญหาระหว่างคนกับลิง ตอนนี้เราพูด เอาปัจจุบันเลยนะครับท่านประธาน ไม่ต้องย้อนกลับไปอดีตแล้ว เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้อง เรียกว่าสร้างความขุ่นเคืองกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนที่ชอบลิงกับคนที่ไม่ชอบลิงหรืออะไร ก็แล้วแต่ เราข้ามประเด็นนั้นไปเลย ตอนนี้บ้านคนกับบ้านลิงมันแยกกันไม่ออกแล้วครับ ท่านประธาน จะไปอยุธยา จะอยู่กรุงเทพฯ หรือจะไปทางภาคใต้ หรือภาคอะไรก็ตามที บ้านคนกับบ้านลิงนี้แยกไม่ออกแล้ว ตอนนี้แทบจะอยู่บ้านหลังเดียวกันแล้วครับท่านประธาน การอยู่บ้านหลังเดียวกันหมายความว่าอย่างไรครับ ก็ต้องแย่งอาหารกันกิน แหล่งอาหาร ที่เคยเป็นอาหารของลิงตอนนี้ก็ไม่มี แหล่งอาหารคือคนก็ต้องกินทุกวัน คนก็ต้องเพิ่มพื้นที่ ในการปลูกอาหารของตัวเองอีกเช่นกัน แหล่งอาหารไม่มีนะครับทั้งคนทั้งลิง ตอนนี้เรียกว่า ผสมปนเปทั้งบ้านคน บ้านลิง อาหารคน อาหารลิง มันปนสับสนกันไปหมดแล้ว มีปัญหา ที่อยากจะบอกต่ออีกเช่นกันครับท่านประธาน แล้วผมดูแล้วเพื่อนสมาชิกที่ผ่านมายังไม่มีใคร อภิปรายถึงประเด็นนี้ นั่นก็คือการจับลิงไปเป็นสัตว์ทดลอง แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า เป็นข่าวใหญ่ข่าวโตกันมาตั้งแต่สภาสมัยที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเอาที่นครสวรรค์ เพื่อนสมาชิก ผมจากทางนครสวรรค์ด้านโน้น เมื่อกี้เห็นจะไปลงชื่อน่าจะอภิปรายด้วยเช่นกัน จับลิง ที่นครสวรรค์ส่งขายต่างประเทศ ตอนนี้ประเทศเรากลายเป็นเรียกว่าเป็น Hub ของการค้า สัตว์ป่าไปแล้วครับ แล้วลิงเหล่านี้จับจากนครสวรรค์ส่งออกต่างประเทศ จับจากจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ส่งไปต่างประเทศเขาเอาไปทำอะไรกัน ก็ไปอยู่ในห้องทดลอง คือไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ทางท่านรองเลขาธิการก็ยิ้มไป ผมเห็นก็เข้าใจนะครับ ก่อนที่จะมาเป็น ผลิตภัณฑ์ให้กับทางคนได้ใช้เรื่องความปลอดภัยอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมีการทดลอง แต่ถ้ามันมี กระบวนการ มีการตรวจสอบ มีมาตรฐานที่ถูกต้องอะไรนั้นไม่ว่ากัน เราว่าตามหลักกฎหมาย ว่าตามกระบวนการที่มันมี แต่ทุกวันนี้ปัญหามันเกิดจากการที่ลักลอบจับลิงเข้าไปอยู่ใน Lab แล้วก็ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับคน แบบนี้ผมคิดว่าเราต้องหาทางออก ทีนี้ที่ผมโยงไปตรงนี้ ด้วยเหตุว่าคือเอาถึงลิงกรุงเทพมหานครอีกเช่นกันก็ต้องพูดเสียหน่อย กรุงเทพมหานครมันก็ เรียกว่าเป็นแหล่งที่หมู่บ้านจัดสรรก็ขยาย โรงงานก็ขยาย บางขุนเทียนมีการพูดคุยกันไปแล้ว หลายวันที่ผ่านมากับทาง สส. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เองก็โทรมาปรึกษากันตลอดเวลา ว่าลิงบางขุนเทียนนี้ สส. ต้นทำอย่างไรได้อีก เราจะช่วยลิงบางขุนเทียนได้อย่างไรอีก ผมก็คุยกับทาง สส. ณัฐชา คุยกับทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทางสำนักสัตว์ป่าก็ตามที ทางท่าน ผอ. ท่านน่ารักมาก ท่านทำงาน จริงจังมาก เราต้องการเพียงหัวที่ตั้งใจให้มากขึ้นกว่านี้ ที่ผ่านมาทำอย่างไร ลิงบางขุนเทียน เรียกว่า ๑๐๐ กว่าตัวผมช่วยแล้วไปอยู่ที่เชียงใหม่ครับท่าน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทางภาคประชาสังคมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พอเอาลิงมาแล้ว จับลิงมาแล้วไม่มีที่อยู่ ทางเราก็ช่วย ไม่เป็นอะไรครับ ผมก็จัดแจงหาที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ดูแลลิงจำนวนนั้น แต่ในขณะเดียวกันวันนี้ที่ฟังมายังมีลิงของเพื่อนสมาชิกอีกหลายจังหวัด อยากจะช่วยครับท่าน อยากจะช่วยให้ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการหาบ้านใหม่หรือว่า เป็นแหล่งอาหารก็ตามที แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดขอมีเงื่อนไขเพียงเงื่อนไขเดียวครับ ขอให้ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันครับ ไปกับก้าวไกล ในวันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไปด้วยกัน ในส่วนของข้อเสนอแน่นอนว่าปัญหาเราทราบ แล้วว่าบ้านคนกับบ้านลิงทุกวันนี้มันแยกกันไม่ออกแล้ว เรามาหาบ้านใหม่ให้กับลิง หรือว่า จะใช้ให้ลิงอยู่ในพื้นที่เดิม หาทางออกร่วมกัน ผมก็ทราบนะครับว่าทางทางสำนักสัตว์ป่าของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้มีการไปดูงานหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่เรียกว่าทำกรงในการดูแลลิงดี ๆ ผมพาไปเชียงใหม่ก็หลายครั้ง ไปในจังหวัดอื่นของ ประเทศไทยก็หลายครั้ง คือตอนนี้เรามี Model ที่เรียกว่าสามารถบริหารจัดการให้ลิงสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่าง สงบสุข เรามี Model นั้นแล้ว สิ่งที่ทำต่อไปคืออะไรครับ ต้องยอมรับว่างบประมาณน้อยจริง ๆ แต่แน่นอนถ้ารู้ว่างบประมาณน้อยจริง ๆ แล้วก็ได้แต่บ่น ได้แต่โทษเรื่องงบประมาณไม่พอ อย่างนั้น ไม่พออย่างนี้ มันไม่ได้แน่นอนอยู่แล้วครับ เราต้องหาวิธีทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เขา ดูแลลิงเหล่านั้นนี่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้จริง ๆ อาจจะทำเป็นการท่องเที่ยวก็ดี หรือเรียกว่า เป็นการบริจาคจากภาคเอกชนหรืออะไรก็ตามทีมันมีช่องทางออกได้เยอะแยะมากมายครับ อยากให้ทางรัฐมนตรีมานั่งคุย มาพูดจากับทางกรรมาธิการ เราหาทางออกร่วมกัน แล้วแน่นอน ว่าในระยะยาวสิ่งที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไปในตัวแล้ว ในขณะเดียวกันเป็นการ ยกระดับ และเป็นการสร้างอาชีพให้กับพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นด้วยนั่นคือสัตวแพทย์ครับ ทางก้าวไกลเองเราสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งอยากจะให้มีสัตวแพทย์ในระดับชุมชน ผลดีคืออะไร ผลดีคือแน่นอนเพื่อนสมาชิกหลายท่านพูดมาแล้ว มันจะไม่ได้มีแค่ลิง มีทั้งเรื่องหมา แมวจรจัด เรื่องลิง เรื่องสัตว์อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่สิ่งที่เราไม่มีคือเราไม่มีสัตวแพทย์ ในระดับชุมชนครับ กระจายอำนาจออกไปให้ อปท. ดูแลในพื้นที่ของตัวเอง จะสร้าง Shelter ก็ดี จะสร้างสัตวแพทย์เข้ามาเพื่อใช้ในการดูแลในพื้นที่ของตัวเองก็ตามที พัฒนาเป็น การท่องเที่ยว เรียกว่าทำให้ครบวงจรสามารถดูแลได้ต่อไป เพื่อเป็นการแก้ไขในระยะยาว ครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเฉลิมพงศ์ แสงดี ครับ
นายเฉลิมพงศ์ เเสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ ต้องขอขอบพระคุณท่านประธานที่เปิดโอกาสให้ผมได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุน ญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไข ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เพื่อน สมาชิกท่านสาธิต ทวีผล พรรคก้าวไกล และเพื่อนสมาชิกอีกหลายพรรคการเมืองได้ร่วมกันเสนอ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตชี้แจงผ่านท่านประธานไปยังพี่น้องประชาชนว่า วันนี้ทำไมสภาเราต้องมาพูดคุยกันเรื่องลิง แล้วไม่ใช่ลิงที่มีความหมายเปรียบเทียบกับ คนบางกลุ่ม แต่วันนี้สภาเราพูดคุยกันเรื่องลิงจริง ๆ ลิงที่กินกล้วย และไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ ที่แก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะในบางพื้นที่มันไม่ใช่แค่เรื่องลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน แต่มันเป็น เรื่องคนที่เข้าไปเกี่ยวด้วย ท่านประธานครับ ปัญหาลิงในจังหวัดภูเก็ตก็มีกับเขาเหมือนกัน จากข้อมูลทีมงานผมพบว่ามีหลายจุด เช่น เขาพระใหญ่ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นลิงกัง ลิงแสม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันก็คือลิงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แต่แหล่งอาหาร ตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จนทำให้บางจุดลิงกลายมาเป็นที่พึ่งอาหารจากนักท่องเที่ยว และบางครั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง จังหวัดภูเก็ต มีการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการวางแผนจับลิงไปปล่อยตามเกาะต่าง ๆ ให้อาศัยตามธรรมชาติ ท่านประธานครับ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนผ่านผมมาว่า การนำลิงไปปล่อยที่เกาะปู บริเวณหาดกะตะ จำนวน ๔ ตัว ขอสไลด์ด้วยครับ
นายเฉลิมพงศ์ เเสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
โดยมีการเคลื่อนย้ายมาจากเขาพระใหญ่ คาดว่ามีจุดประสงค์คือต้องการเอาลิงมาปล่อยเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู แต่ท่านประธานครับ ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ นั่นก็คือบนเกาะนั้นมีเหยี่ยวอาศัยอยู่ ก็คือนกเหยี่ยว ซึ่งเป็นสัตว์ดั้งเดิม จะถูกลิงรบกวน ลิงอาจจะไปกินไข่ของเหยี่ยว นี่คือสิ่งที่ ประชาชนกังวล นี่คือสภาพเกาะปูครับ อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ต ๓ กิโลเมตร ไม่ทราบว่าลิง ว่ายน้ำไปเองได้หรืออย่างไร หรือมีคนเจตนานำลิงไปปล่อยบนเกาะ เรื่องนี้สำคัญตรงที่เหยี่ยวคือนักล่าสูงสุดในระบบนิเวศเป็นผู้ควบคุมประชากรนกพิราบ แต่ถ้าเหยี่ยวหายไปนกพิราบจะมา นกพิราบอาจจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น จะสร้างความ เดือดร้อนเป็นวงกว้างจากมูลนกพิราบที่ขับถ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ท่านประธานครับ เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามการเคลื่อนย้ายลิงเหล่านี้ต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานใดหรือไม่ มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ การกระทำนี้เป็นความผิดหรือไม่ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ว่าลิงไม่สมควรอยู่ตรงนั้น ควรมีการจัดการที่ดีกว่านี้ ตัวอย่างที่ผม ได้อภิปรายไปจะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ เพราะเราไม่มองถึงภาพรวม ไม่ได้ทำการศึกษาทั้งระบบ การแก้ไขปัญหาแบบมักง่ายอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ กระทบ ต่อสัตว์ชนิดอื่น ๆ และการกระทบต่อระบบนิเวศสูงสุด ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอสนับสนุนให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขการอยู่ร่วมกันของคน ภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ครับ
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนญัตติขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อน อันเกิดจากลิงนะครับ ท่านประธานครับ ภาพรวมสถิติปี ๒๕๖๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรามีประชากรลิงอยู่ที่ ๕๓,๐๐๐ ตัว มากที่สุดก็คือจังหวัดลพบุรี ๗,๒๐๐ ตัว จังหวัดนครสวรรค์บ้านเกิดผมมีกว่า ๗,๐๐๐ ตัว ในนครสวรรค์มีอยู่ ๓ จุด ที่มีปัญหาประชากรลิงจำนวนมากก็คือ เขาหน่อ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย และวัดเกรียงไกรกลาง ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ อันดับที่ ๓ ก็คือ เขาพระ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ วันนี้เราได้ฟังเรื่องราวเพื่อนสมาชิก หลายท่านที่พูดถึงปัญหาเรื่องลิงไปก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้คนนะครับ แต่ในกรณี นครสวรรค์ผมขอสื่อสารว่าตอนนี้มีคนไปก่อความรำคาญให้ลิงบ้างนะครับ ผมพูดไม่ผิดครับ การจับลิงในแง่นี้ก็คือมีแก๊งลักลิง ลัก ไม่ใช่ รักนะครับ มีแก๊งลักลิง จับลิงโดยการยิงยาสลบ เพื่อส่งออกเป็นสัตว์ทดลองนะครับ จากข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยไทยพีบีเอสช่วงกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๕ พาดหัวข่าว จับแก๊งค้าลิงวัดเขาหน่อแอบเปิดโรงเรือนเพาะสัตว์ป่า โดยพญาเสือ ขยายผลจับกุมแก๊งเป่าลูกดอกวัดเขาหน่อ จังหวัดนครสวรรค์ พบลิง ๓๐ ตัวและอุปกรณ์ เป่าลูกดอกในโรงเรือนที่เพิ่งขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา คนงานเห็นท่าไม่ดีปล่อยลิงหนีครับ พบสัตว์คุ้มครอง ๖๐ ตัว ไม่มีใบอนุญาตคุ้มครอง มีการแจ้งจับหลายข้อหา แล้วก็เพิกถอนใบอนุญาต จากข้อสังเกตนี้ ปัญหาที่พบนะครับ การใช้ยาสลบที่แก๊งลักลิงใช้ มีการนำของเหลวใส่หลอดฉีดยาที่พบใน ที่เกิดเหตุเป็น Ketamine นะครับ สัตวแพทย์ชั้นสูงถึงจะเบิกจ่ายได้ ผมเชื่อว่าหากรัฐ ตั้งใจจริงกับการแก้ปัญหานี้ ให้นำจับกลุ่มคนร้ายกลุ่มเครือข่ายเพื่อเอากลุ่มนี้มาลงโทษนะครับ
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ข้อ ๒ ก็คือจากแหล่งข่าวทราบว่าลิงที่โดนจับจะถูกส่งออกผ่านเส้นทางธรรมชาติ สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ลาวและกัมพูชา เพื่อไปล้างตัวให้สะอาดและตีว่าเป็นลิงฟาร์มและ ส่งกลับมายังไทยหรือส่งออกเพื่อเอาไปเป็นสัตว์ทดลองนะครับ
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ
แนวทางการแก้ปัญหาจากข้อเสนอนี้ แก้ปัญหาเรื่องลิงและแก๊งลักลิง ไปพร้อม ๆ กัน ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่เขาหน่อ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จากการลงพื้นที่ของคุณนริศร์ชา ชัยสุกัญญาสันต์ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล นครสวรรค์ เขต ๔ และเป็นคณะทำงาน เป็นนักสิ่งแวดล้อม ได้พบประชาชน แล้วก็ประชาชนก็ได้ ให้ข้อเสนอนะครับว่าควรมีการจัดการควบคุมประชากรลิงไม่ให้มีมากจนเกินไป ในเรื่อง ของความเดือดร้อนรำคาญ ในพื้นที่เราพบว่าลิงไม่ได้ก่อความเดือดร้อนรำคาญ มิหนำซ้ำ ในพื้นที่ที่เขาหน่อลิงกลายเป็นพาคนมาท่องเที่ยว เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญนะครับ
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๒ ก็คืออยากจะขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และประชาชนทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการ PAC หรือ Protect Area Committee เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน
นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๓ ก็คือขอให้เจ้าหน้าที่รัฐจริงจังกับการแก้ปัญหา แก๊งลักลิง หาผู้กระทำความผิด ขยายผลอย่างตั้งใจจริงอย่าทำเป็นไฟไหม้ฟางเหมือนปัจจุบันนะครับ และท้ายนี้ผมขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ต่อไปขอเชิญคุณชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาเดือดร้อนอันเกิดจากลิง ท่านประธานครับ ผมเคยอภิปรายเรื่องปัญหาสัตว์ป่ากับคนที่มีการกระทบกระทั่งกันมาก่อน คือเรื่องช้างป่า เรื่องนี้เอาจริง ๆ หลายท่านได้พูดปัญหาของสัตว์หลาย ๆ อย่างไปแล้ว แต่เรา ยังลงไปไม่ถึงรากของปัญหาที่แท้จริงว่าปัญหาของสัตว์กับคนที่เกิดขึ้นคืออะไรบ้าง ผมขอ ย้อนกลับไปตอนนั้นผมเคยอภิปรายว่าปัญหาที่แท้จริงของเรื่องลิงและเรื่องช้างมันเกิดจาก ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติในหน้า ๕๓ ข้อ ๔.๑.๒ เขียนไว้แค่บรรทัดเดียวครับ ที่ทำให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างคนกับสัตว์อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะต้องทำให้คน และสัตว์และชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ คำถามคือเคยถามประชาชน หรือถามคน หรือถามสัตว์ป่าก็ได้ถ้าถามได้ ว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในพื้นที่เดียวกันหน้าตาเป็นอย่างไร เคยทำ Agreement ร่วมกันระหว่างสัตว์กับคนหรือไม่ ไม่ครับ แต่ดันไปเขียนไว้ในแผน ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเชื่อมโยงไปสู่รัฐธรรมนูญ ที่ถ้าเกิดไม่แก้รัฐธรรมนูญเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ได้หรอกครับ เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้าเกิดทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะบอกว่าเรื่องนี้ แก้ไม่ได้จริง ๆ เขาเอาหลังพิงยุทธศาสตร์ชาติได้นะครับ การเอาหลังพิงยุทธศาสตร์ชาติ สุดท้ายเราทำอะไรไม่ได้เลย แล้วปัญหาเรื่องนี้มันก็จะไม่ถูกแตะหรือแก้ไข ต่อให้มีความ เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศดังที่เพื่อนสมาชิก กล่าวไว้เป็นตัวตั้ง ดังนั้นเผลอ ๆ เรื่องนี้เราอาจจะต้องคุยเรื่องถ้าตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แก้ปัญหาเรื่องลิงได้ เผลอ ๆ ๑ หัวข้อที่ต้องคุยกันคือเรื่องของการแก้ยุทธศาสตร์ชาติ หรือแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ เรื่องลิงไม่ใช่เรื่องเล็ก เหมือนเรื่องช้างป่า ที่ผมบอกล่ะครับ เราแยกไม่ออก ทั้งลิงและช้างมันไม่ได้มีแค่สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง มันมี สัตว์เมืองขึ้นมาแล้วครับตอนนี้ คือสัตว์ที่เข้ามาหากินและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้ถ้าไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไขพูดคุยกันเพื่อหาทางออก จริง ๆ แล้วเราอาจจะเจอ ปัญหานี้ การขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ต่าง ๆ อีกมากมาย จริง ๆ แล้ววิธีการแก้ปัญหาถ้าเกิดเรื่อง แก้ยุทธศาสตร์ชาติอาจจะยากเกินไป ลองมาดู Model ที่บางประเทศเขาสามารถใช้ เพื่อแก้ปัญหาลิงที่อยู่ในชุมชนได้ ตัวอย่างที่ผมจะยกคือตัวอย่างที่ทางเพื่อนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของผม คุณรังสิมันต์ โรม ได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าเขาเคยไปที่บาหลี อินโดนีเซีย เขามีการทำ Monkey Forest ครับ Monkey Forest คือเขาจะมีการ Zoning พื้นที่ที่หนึ่งที่มีการกีดกันพื้นที่แบบหลวม ๆ เพื่อให้เกิดคล้าย ๆ แบบสวนนก แต่นี่คือสวนลิง มีพื้นที่ที่เหมาะสม มีอาณาบริเวณให้ลิงอยู่ มีการให้อาหารโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูดง่าย ๆ คือมีการเอาสิ่งที่เป็นปัญหาเข้ามารวมอยู่ในพื้นที่ และจัดการปัญหาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่รอบ ๆ เป็นชุมชน แล้วก็ขายสินค้า มีเรื่องที่พัก สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจได้ เพราะว่าตอนนี้เราพูดเรื่องลิงมีผลกระทบ ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าแก้เรื่องนี้ลิงต้องแก้เรื่องเศรษฐกิจด้วย และการเอาสัตว์เข้าไป Zoning อยู่ในจุด ที่เหมาะสม ปลอดภัย แยกคนออกจากสัตว์ไม่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่ยังคงได้ใช้ชีวิตอยู่อย่าง มีความสุข คือเป้าหมายปลายทางที่เราสามารถทำได้ เรื่องนี้นอกจากช่วยเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยเรื่องการควบคุมโรค เพราะเราต่างก็รู้ดีว่าลิงเป็นพาหะที่นำโรคมาสู่คนหลากหลายโรค มาก ๆ เรื่องนี้ก็จะช่วยป้องกันเรื่องความปลอดภัย การท่องเที่ยวก็ยังอยู่ ลิงก็ยังอยู่ พื้นที่ ก็ยังอยู่ ชุมชนก็มีความสุขมากขึ้น เรื่องนี้ผมก็อยากจะเสนอไว้ให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มารับผิดชอบไป แต่ผมก็มีข้อกังวลจริง ๆ ดังที่ท่านเพื่อนสมาชิกท่านนิติพลกล่าว เรื่องนี้ ต้องใช้อำนาจของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ท่าน เป็นคนเดียวที่ไม่มาตอบกระทู้ใด ๆ เลย เรื่องสัตว์ป่าทั้งที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของท่าน ท่านต้องมาร่วมกับเราครับ เพราะว่านี่คืองานที่ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง ประชาชน จะได้มาจัดการปัญหาหรือพูดคุยปัญหาอย่างเต็มที่กันเสียที
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องสุดท้าย คำถามคือถ้าเกิดเราจะจัด Zoning ให้มีสวนลิงหรือ Monkey Forest ตามแบบที่บาหลี อินโดนีเซีย คำถามคือจะจัดไว้ที่ไหนได้บ้าง เท่าที่ผม สอบถามมาเหมือนจะมีการพยายามสร้างกรงลิงเอาไว้แล้ว แต่ไม่สามารถใช้ได้ มีการ ชำรุดทรุดโทรมและไม่สามารถย้ายลิงเข้าไปอยู่ที่นั่นได้ ลิงในเมืองก็ย้ายเข้าไปไว้ในป่าไม่ได้ เพราะว่าเขาเติบโตและเกิดมาในเมือง ไม่สามารถย้ายเข้าป่าไปหาอาหารการกินตามปกติได้ จำเป็นต้องหาที่ที่เหมาะสมในการบริหารจัดการและดูแลให้การมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ แล้วจะเอาที่ไหนดี เท่าที่ผมพอจะหาวิธีได้ผมว่าอาจจะต้องขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานรัฐ ที่มีพื้นที่เยอะแล้วยังไม่ถูกใช้ เพื่อดูแลประโยชน์สุขของชุมชนร่วมกันและทำให้สัตว์อยู่กับ ชุมชนร่วมกันได้ตามยุทธศาสตร์ชาติดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ผมว่าลองย้ายไปไว้ในขอพื้นที่ ค่ายทหารดีไหมครับ ผมว่าเขตพื้นที่ทหารในจังหวัดลพบุรีน่าจะมีเยอะอยู่นะครับ หรือเรื่องนี้ อาจจะให้ทางกรรมาธิการทหารไปขอประสานงานกับทางกระทรวงกลาโหมขอใช้พื้นที่ สัก Zone หนึ่งให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลและย้ายลิงไปไว้ตรงนั้น สร้างรายได้ ให้กับชุมชนด้วยจะดีไหม เพราะอย่างที่บอกตอนนี้ปัญหาเรื่องการขอใช้พื้นที่ทหารก็เป็น ปัญหาอยู่เหมือนกัน ลองมาทำ Model ดูไหม ย้ายลิงเข้าไปไว้ในพื้นที่ทหาร จัดการร่วมกัน โดยรัฐ ราชการ และชุมชน สร้างรายได้ อยู่ร่วมกันตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าไม่อยากแก้ ยุทธศาสตร์ชาติลองวิธีนี้ดูก็ได้ เพราะไหน ๆ ก็มีพื้นที่ มีปัญหา มีที่ที่ต้องย้ายไปก็ใช้สักที่หนึ่ง ค่ายทหารนี่ล่ะครับผมว่าน่าจะเหมาะดี ชุมชนน่าจะ Happy เรื่องนี้อาจจะต้องเอาไปคุยกัน ยาว ๆ ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะย้ายลิงเข้าค่ายทหารกันดีในกรรมาธิการวิสามัญ ดังนั้น วันนี้ผมจึงขออภิปรายสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะได้ไปคุยกันเต็ม ๆ ในนั้น ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องปัญหาเหล่านี้ รวมถึงเรื่องสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ในอนาคตเราคงได้คุยด้วย เมื่อการตั้งกรรมาธิการวิสามัญช้างป่าของผมตามญัตติมาถึง ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ผมก็อยากเห็นครับ ว่ากรรมาธิการชุดนี้จะมีความเห็นหรือว่ามีคำสั่งอะไรออกมานะครับ อยากรู้ว่าจะเกิดผลอะไร จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เมื่อสักครู่ฟังท่านชุติพงศ์ก็คิดว่าน่าสนใจนะครับ เราย้ายลิงเข้าไป ในค่ายทหาร แล้วก็ย้ายทหารออกไปอยู่ที่ชายแดนจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองกันเสียที กรรมาธิการวิสามัญลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ ผมว่าน่าสนใจ คือที่ผมต้องขออภิปราย เพราะอย่างนี้ครับ บ้านผมก็มีเหมือนกัน บางปะกงก็มีเหมือนกัน ลิงมาบุกบ้าน ลิงมา รื้อหลังคา ลิงไปก่อกวน ไปรื้อมอเตอร์ไซค์ ไปเอาผ้าที่ซักแล้วไปใช้ ไปรื้อหม้อข้าว ไปรื้อครัว ไปรื้อทุกอย่างเลย มันเกิดจากอะไรครับท่านประธาน ขอภาพแรกด้วยนะครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ครับ นี่เป็นพื้นที่ตำบลท่าข้าม ประมาณ ๓๐๐ ไร่ เป็นป่าแสม เป็นป่าโกงกางเลย ลิงอาศัยอยู่ที่นี่ ประมาณสัก ๕๐๐-๖๐๐ ตัว ผมไปถามคุณยายอายุ ๙๐ กว่าปีก็บอกว่าเกิดมาก็เห็นลิงแล้ว แสดงว่ามันอยู่หลายร้อยปีแล้วแหละ หลังจาก EEC มาครับ ผังเมืองเปลี่ยนเป็นสีม่วง ผมจำได้ว่าผมขอตั้งกรรมาธิการเพื่อที่จะไปศึกษาการเปลี่ยนผังเมืองของ EEC สภาชุดที่แล้ว ก็ไม่อนุมัติให้ตั้ง ภายในเดือนเดียวหลังจากเปลี่ยนผังเมืองเรียนแบบนี้ครับ ลิง ๕๐๐ ตัวไปอยู่ที่ไหนครับ มันจะกินอะไรครับ นี่ผมไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ผมอาจจะเป็นตัวแทนลิงด้วยซ้ำเพื่อมาเรียกร้อง ความเป็นธรรม ภายในเดือน ๒ เดือนเขาจะปรับตัวอย่างไร สุดท้ายมันก็ไปบุกบ้านคน หมู่บ้านนี้ คือห่างจากพื้นที่ที่ผมเอาภาพขึ้นเมื่อสักครู่นี้ประมาณเกือบ ๑๐ กิโลเมตร มันไปไกลขนาด นั้นเพราะมันไม่มีอะไรกิน มันต้องไปรื้อหลังคาบ้านเพราะมันไม่มีอะไรกิน มันไม่มีปูให้จับ มันไม่มีผลไม้ให้กิน แล้วสุดท้ายวันนี้มันก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ก็น่าจะตายบ้าง ไปโดนหมากัด บ้าง ทะเลาะกันเองบ้าง ย้ายถิ่นแล้วก็ไปโดนจ่าฝูงที่อื่นเขาทำร้ายบ้าง โดนรถชนบ้าง โดนรถ เหยียบบ้างตอนนี้ก็แทบจะไม่เหลือแล้วครับ ปัญหาของผมก็แทบจะจบไปแล้ว ที่ผมต้อง อภิปรายก็เพราะว่าปัญหาแบบนี้ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีกครับท่านประธาน เราไม่เคยเอาลิง มาเป็นกรรมาธิการใช่ไหมครับ เราจะคุยกันเองโดยที่ไม่สนใจเขาเลย แล้วก็ไม่คิดว่าจะเป็นห่วง เป็นใยเขาเลย ทั้ง ๆ ที่ปัญหานี้มันเกิดจากนโยบายรัฐทั้งนั้นเลย ทั้งช้าง ทั้งลิง มันไม่ได้เกิด จากธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง มันเกิดจากนโยบายภาครัฐ แล้วเราให้ หน่วยงานแค่หน่วยงาน ๒ หน่วยงานมาจัดการ มันจัดการไม่ได้หรอกท่านประธาน ถ้ามันเกิด จากนโยบายภาครัฐก็ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติเพื่อจัดการเรื่องนี้ เราต้องมีความรับผิดชอบ ต่อสัตว์ป่าที่มันเกิดในประเทศไทย ทำแบบนี้อย่างที่บอกว่า EEC ผลของมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดไปแล้ว แล้วถ้ามันเกิดขึ้นอีกล่ะ ที่อื่นก็ต้องเป็นแบบนี้อีกล่ะ มันจะไม่มีแค่ลพบุรีแล้ว เพราะลิงมันก็มีทุกที่ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้กรรมาธิการศึกษาให้ละเอียด แล้วก็ ผมก็อยากรู้ว่ากรรมาธิการจะทำอะไรได้ ไม่รู้ว่าตั้งขึ้นมาแล้วจะทำอะไรได้หรือเปล่า หรือไม่ จะส่งให้กรรมาธิการสามัญอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็หวังว่าจะทำอะไรให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน ผมก็จะรอดูครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสุดท้าย ที่จะขออภิปรายในเรื่องนี้ ขอเชิญคุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อปัญหาลิงล้นเมืองที่ไม่ใช่แค่วิกฤติเฉพาะจังหวัดหรือวิกฤติเฉพาะชุมชน แต่เป็นปัญหาใหญ่ ที่รอวันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการแล้วก็เป็นระบบ ท่านประธานที่เคารพครับ สถิติจากการ สำรวจสำมะโนประชากรลิงกรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดลพบุรี สถิติในปี ๒๕๖๓ ซึ่งมีการสำรวจ สำมะโนประชากรลิงโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้อมูลในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๓ พบว่ามีประชากรลิงจำนวน ๓,๑๒๑ ตัว ในจำนวนนี้แบ่งเป็นลิงตัวโตเต็มวัย ๑,๕๔๗ ตัว แบ่งเป็นลิงวัยรุ่น ๑,๒๒๕ ตัว และเป็นลิงที่เป็นลูกเกาะอกอยู่ ๓๔๙ ตัว ตัวเลข ในปี ๒๕๖๑ มาปี ๒๕๖๓ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ ตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นโดยลำดับนะครับ โดยตัวเลข จากการสำรวจในปี ๒๕๖๖ พบจำนวนประชากรลิงอยู่ที่ ๒,๒๐๖ ตัว จากปัญหานี้เราก็ เห็นว่าในจังหวัดลพบุรีแล้วก็หลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาประชากรลิงล้นเมือง ถ้าวิเคราะห์ แล้วคิดแบบกำปั้นทุบดิน แบ่งรูปแบบการแก้ปัญหาลิงเป็น ๓ หมวดใหญ่ ๆ จะพบหมวดที่ ๑ คือแนวทางการแก้ปัญหาโดยการย้ายคนออกจากลิง ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ความจริง ไม่ต้องย้ายคน ภาคธุรกิจบริการในหลายพื้นที่ เช่น กรณีศึกษาจังหวัดลพบุรีร้านรวงอยู่ไม่ได้ เมื่อก่อนเคยมีร้านซื้อของฝาก เคยมีร้านอาหาร ปัจจุบันเหลือเพียงร้านอะไหล่ยนต์ หรือร้าน ที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบจากปัญหาลิงล้นเมืองมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น โมเดลที่ ๑ การย้ายคนออกจากเมืองน่าจะไม่ Work โมเดลที่ ๒ เป็นแนวทางในการย้ายลิง ออกจากคน อันนี้แลดูมีความหวังนะครับ เคยมีความพยายามที่จะสร้างนิคมลิง คงไม่ถึงขั้น นิคมลิงสร้างตนเองนะครับ แต่ว่าเป็นนิคมลิง แต่เชื่อไหมครับว่าความพยายามในการสร้าง นิคมลิงเพื่อจะย้ายลิงออกไปอยู่ในนิคม แต่ปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่เคลื่อนไหวเพื่อย้าย เจ้าหน้าที่ที่เสนอให้ย้ายลิง เราเลยไม่ทราบว่าตกลงจะย้ายเจ้าหน้าที่ก่อนหรือว่าจะย้ายลิง ได้สำเร็จก่อน ดังนั้นแนวทางในการย้ายลิงออกจากคนก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ต้องจำกัด กรอบแนวคิดและวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โมเดลที่ ๓ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็น แนวทางที่ ทำให้ลิงอยู่กับคนได้ในระบบนิเวศที่เป็นปัจจุบัน และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ถามว่าลิงอยู่กับคนได้ต้องมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนคู่ขนานอย่างไรบ้าง อย่างแรกครับ ต้องไปสำรวจสำมะโนประชากรลิงให้ชัดเจน เพราะในปัจจุบันตัวเลขที่จังหวัดมี ตัวเลข ที่ท้องถิ่นมี ตัวเลขที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมี ไม่ค่อยจะตรงกันสักเท่าไร เมื่อสำรวจสำมะโนประชากรลิงแล้ว เราจะเห็นเส้นกราฟที่ชัดเจนครับว่า ๑๐ ปีที่แล้ว ลิงลพบุรีอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ปลาย ๆ ยังไม่แตะ ๒,๐๐๐ ดี แต่ปัจจุบันครับ ท่านประธาน ลิงลพบุรีไปแตะถึง ๓,๐๐๐ กว่าตัว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แนวทางที่ ๒ สำรวจสำมะโนประชากรแล้วก็ทำหมันสิ พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมันมีต้นทุน ต้องใช้งบประมาณในการทำหมันลิงต่อตัวประมาณ ๑,๒๐๐ บาท งบประมาณที่ได้มาก็ทำได้เต็มที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ ตัวเท่านั้น และถ้าทำหมันลิง โดยไม่เข้าใจลักษณะการขยายพันธุ์ของลิงก็จะเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครับ เพราะว่าลิงมีตัวผู้ มีตัวเมีย เวลาที่ไปทำหมันตัวเมีย แต่ตัวผู้ยังอยู่ ประสิทธิภาพในการ ขยายพันธุ์ของลิงตัวผู้ใน ๑ วัน ลิงตัวผู้ ๑ ตัวสามารถขยายพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ได้มากกว่า ๑๐ ตัว นั่นแปลว่าถ้าเรามุ่งทำหมันเฉพาะลิงเพศเมีย ไม่ทำหมันลิงเพศผู้ก็อาจจะแก้ปัญหาได้ ไม่ตรงจุด ทีนี้ถามว่าในห้วงระยะเวลาย้อนหลังกลับไป ๑๐ ปีเขาทำหมันหรือเปล่า คำตอบ คือทำครับ แต่ทำไมทำแล้วการสำรวจสำมะโนประชากรลิงลิงถึงเพิ่มมากขึ้น เพราะทำแบบ ไม่ครอบคลุม มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แนวทางที่ ๓ ก็คือการขับเคลื่อนนิคมลิงอย่างเป็นระบบ อย่างที่ผมเรียน พอมีการเคลื่อนไหวว่าจะย้ายลิง คนจะย้ายลิงก็โดนปัญหาจะถูกย้ายเสียเองก่อน ดังนั้น เราต้องสร้างโครงข่าย สร้างระบบนิเวศให้เหมาะสม และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่โดยรอบของนิคมลิง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แนวทางที่ ๔ ต่อไปครับ เป็นการกำหนด Zoning ลิงอยู่พื้นที่ใดได้ อยู่พื้นที่ใด ไม่ได้ และต้องเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ อย่างที่ผมเรียนครับปัญหาลิงล้นเมืองนั้นไม่ใช่ ปัญหาของเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่ปัญหาของชุมชนหรือจังหวัดครับ แต่เป็น ปัญหาใหญ่ระดับชาติ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
และแนวทางที่ ๕ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจครับ ก็คือแนวทางการสร้าง กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างคนกับลิง และเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพราะถ้าคิดแต่จะย้ายอย่างเดียวประชาชน ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปลายทางของนิคมลิงเขาไม่รับ โครงการสร้างนิคมลิง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแนวทางในการสร้างกระบวนการ มีส่วนร่วม การรับรู้รับทราบจากชุมชนท้องถิ่น มาจนถึงปัญหาระดับชาติต้องแก้ปัญหา แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และมองปัญหาเป็นภาพใหญ่ได้แก้แบบเบ็ดเสร็จครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ มากครับ ตอนนี้ผู้เสนอญัตติและผู้อภิปรายหมดแล้วนะครับ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ ผู้เสนอญัตติมีสิทธิที่จะสรุปคำอภิปรายอีกครั้งหนึ่ง ผู้เสนอญัตติทั้ง ๓ ท่านประสงค์จะขอ สรุปนะครับ ผมจึงขอเชิญผู้เสนอญัตติ ท่านแรกคือ คุณสรรเพชญ บุญญามณี เชิญสรุปครับ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ก่อนอื่นกระผมต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้ร่วมเสนอญัตติ ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน สส. สาธิต ทวีผล จากพรรคก้าวไกล ท่าน สส. มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช จากพรรคภูมิใจไทย ท่าน สส. วรวงศ์ วรปัญญา จากพรรคเพื่อไทย และเพื่อน สส. ที่ได้ร่วมอภิปรายกัน อย่างกว้างขวาง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาลิงนั้นเป็นปัญหาที่พวกเราต้องร่วมกันแก้ไขโดยด่วนครับ นอกจากนี้ยังมีท่าน สส. ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ที่ได้เสนอเรื่องของการบูรณาการการทำงาน ร่วมกันของหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาเรื่องสัตว์ การสร้างแนวป้องกัน การทำหมัน การขึ้นทะเบียนสัตว์ และแนวทางการป้องกันของคนในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกับสัตว์ป่า ท่าน สส. พิทักษ์เดช เดชเดโช ได้พูดถึงปัญหาลิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากลิง ท่านประธาน ที่เคารพครับ จากที่เพื่อนสมาชิกได้สะท้อนปัญหาทั้งหมดนี้มากระผมหวังว่าข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของเพื่อนสมาชิกจะเป็นข้อสังเกตสำคัญในการทำงานของคณะกรรมาธิการ วิสามัญที่จะตั้งขึ้น นอกจากนี้แล้วหากเราพิจารณาถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คนกับลิงนั้นจะเห็นว่ามีปัญหารุนแรงถึง ๓ ระดับ ทั้งระดับความรุนแรงน้อย ระดับ ความรุนแรงปานกลาง และระดับความรุนแรงมาก ซึ่งมีแนวทางการจัดการในการแก้ปัญหา ต่างกันคือ กรณีรุนแรงน้อยครับท่านประธาน ขออนุญาตสรุป ก็คือจะต้องติดตามจำนวน ประชากรของลิงในทุกพื้นที่ ทุก ๑-๒ ปี แล้วก็สร้างความเข้าใจ ให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่เราไปให้อาหารแก่ลิง กรณีรุนแรงปานกลาง ขอสรุปว่าคือการสร้างความร่วมมือกันในการทำงานอย่างบูรณาการและจัดแหล่งฟื้นฟู และแนวเขตกันชนระหว่างแหล่งอาศัยของลิงกับคนเสียใหม่ครับ ทำให้มันเหมาะสมขึ้น และกรณีที่รุนแรงมากคือการทำหมันลิงโดยด่วนครับท่านประธาน อันนี้ผมเชื่อว่า ท่านเพื่อนสมาชิก สส. หลายท่านก็ได้อภิปรายไปอย่างกว้างขวาง สร้างพื้นที่อาศัยที่สามารถ ควบคุมลิงให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดได้ ท่านประธานที่เคารพครับ อย่างที่ผมได้นำเรียนว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน และบูรณาการการทำงานร่วมกัน วันนี้ถ้ามีเพียงการส่งต่อให้คณะกรรมาธิการสามัญตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ ต้องกราบขออภัยท่านประธานจริง ๆ ครับว่าผมไม่อาจไว้วางใจเรื่องนี้ที่จะได้รับการแก้ไข อย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีได้ ผมมีเหตุผลอยู่ ๓ ประการ ที่กระผมจะนำเรียนท่านประธาน ว่าการตั้งกรรมาธิการวิสามัญมีความสำคัญอย่างไร
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
ประการแรก การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะมีระยะเวลาที่กำหนดว่า จะพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อใด ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องทำงานแข่งกับเวลาครับ สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
ประการที่สอง การตั้งกรรมาธิการวิสามัญจะเป็นการทำงานร่วมกันอย่าง แท้จริงที่เพื่อนสมาชิกที่ท่านได้อภิปรายเมื่อสักครู่ ที่ประสบปัญหานี้ในพื้นที่ของพวกเราอยู่นั้น ได้ทำงานร่วมกัน ได้เป็นกรรมาธิการที่จะเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะ เพื่อพิจารณาปัญหา และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้ถึงที่สุดและตรงจุดครับ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายครับ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และกระจาย อยู่ทุกพื้นที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก เพราะปัญหาเรื่องลิงติดขัดหลายประการครับ ท่านประธาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระดับคณะกรรมาธิการ วิสามัญ ผมจึงขอให้เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาแห่งนี้ได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะเห็นชอบ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป กราบขอบพระคุณท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสาธิต ทวีผล ได้สรุปครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณท่านประธาน แล้วก็ขออนุญาตมอบหมายให้คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นผู้สรุป ญัตติของผมนะครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณณัฐวุฒิ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทองครับ ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณท่านสาธิต ทวีผล ที่ให้ผมเป็นผู้สรุปญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกัน ของคนภายในชุมชนและลิงในจังหวัดลพบุรี และพื้นที่อื่น ๆ จะบอกว่าไม่เกี่ยวก็คงไม่ใช่ครับ เพราะว่าบังเอิญว่าจังหวัดอ่างทองของผมนั้นติดกับพื้นที่จังหวัดลพบุรี บางครั้งลิงลพบุรี ก็ขึ้นรถบัสสายลพบุรี-สุพรรณบุรีมาลงที่จังหวัดอ่างทอง นี่เรื่องจริงนะครับ สัปดาห์ที่แล้ว ผมขี่จักรยานก็เจอลิงอยู่ตัวหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ วัดต้นสน อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ฉะนั้น เรื่องลิงไม่ใช่เรื่องของคนวังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เท่านั้นครับ แต่ว่ามันมีนัยมากกว่านั้น แล้วมีนัยที่ผมอยากสนับสนุน สิ่งที่ท่านสรรเพชญ บุญญามณี เพื่อนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดสงขลา ที่ท่าน เป็นสารตั้งต้นในการเสนอญัตติเป็นคนแรก เพราะเรื่องนี้เกินกำลังกว่าที่กรรมาธิการสามัญ คณะใดคณะหนึ่งจะพิจารณาศึกษาได้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาสภาชุดที่ ๒๕ สส. ประทวน สุทธิอำนวยเดช เพื่อนสมาชิกจากพรรคภูมิใจไทย จังหวัดลพบุรี ณ ขณะนั้น ก็เคยมีการ ตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ผมเองก็จำไม่ชัดว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าวันนั้นแก้ปัญหาได้วันนี้ก็คงไม่เกิดหรอกครับ แต่วันนั้นมันยังแก้ไม่ได้มันเลยต้องมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าวันนี้มันมีเหตุผลจากสิ่งที่เพื่อนสมาชิก ทั้งหมด เจ้าของญัตติ ๔ ท่าน ผู้อภิปรายอีก ๑๕ ท่าน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ๘ ท่าน ได้เป็นผู้อภิปรายและมีนัย มีประเด็นที่อยากจะขอวิงวอนสภาแห่งนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ร่วมกัน อีกครั้งได้ไหมครับ จะได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากันอย่างจริงจัง อย่าให้เป็นภาระ ลูกหลานและอย่าให้เป็นภาระลูกหลานลิงในอนาคตเลยครับ ส่วนจะตั้งกรรมาธิการที่มาจาก ลิงได้หรือไม่ ผมก็คงยืนยันว่าเท่าที่สำรวจชื่อลิงทั้งหมดแล้วก็ยังไม่สามารถจะหาชื่อลิงใด ที่เหมาะสมในการตั้งเป็นกรรมาธิการได้ ผมมีอยู่ ๕ ประเด็น ที่อยากจะสรุปให้ท่านประธาน ได้รับทราบครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ที่อยากจะต้องนำเสนอซึ่งต้องขอบพระคุณท่านธีระชัย แสนแก้ว เป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าข้อมูลท่านธีระชัย แสนแก้ว เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุดรธานี กุมภวาปี พูดไว้น่าสนใจครับ ประการที่ ๑ ที่กำลังพูดถึงนี้ เรากำลังพูดถึง จำนวนประชากรลิงที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ลพบุรีมี ๘,๐๐๐ ตัวโดยประมาณ ความจริงนี่ก็ ตัวเลขเก่า ตัวเลขที่เรามีจริง ๆ นั้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตัวเศษ เพื่อนสมาชิกจากนครสวรรค์ คุณกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี เขาหน่อ เขาพระ รวมกันก็อีกประมาณ ๘,๐๐๐ ตัว คุณธีระชัย แสนแก้ว สรุปให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาลิง ณ ขณะนี้เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ใน ๑๘๓ แห่ง ใน ๕๓ จังหวัด และ สส. ที่มาจาก ๕๓ จังหวัดนั้นจะไม่ช่วยกันเสนอหรือครับว่าอย่างน้อยที่สุด อ่างทองมีลิงนะครับ ไม่ใช่ไม่มี อยุธยา คุณชริน วงษ์พันธ์เที่ยง ไม่ได้พูดถึง ลิงที่วัดไก่ ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหันของท่านก็มี คุณสรพัช ศรีปราชญ์ นั่งอยู่ข้างผม ลิงที่เขาปฐวี ที่เขาโพธิสัตว์ ที่พระพุทธบาท พระพุทธเจ้าฉาย จังหวัดสระบุรีก็มี แล้ว ๕๓ จังหวัดที่ท่าน มีตัวแทนสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คนแน่ ๆ จะไม่ยืนหยัดยืนยันว่าเรื่องนี้จะตั้ง กรรมาธิการวิสามัญหรือครับ ท่านตอบคำถามเวลาที่กลับไปบ้านท่านได้หรือครับ นั่นเป็น ประเด็นที่ ๑ ที่ผมจำเป็นต้องสรุปให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหานั้นมีความสำคัญยิ่ง และเป็น สถานการณ์ที่กว้างขวางครอบคลุมถึงทั้งประเทศครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ จะบอกว่าลิงอยู่ก่อนคน คนอยู่ก่อนลิง ลิงอยู่ ในป่า ลิงอยู่ในเมือง ไม่เป็นอะไรเลยครับ เอาแต่เพียงลพบุรีที่บอกว่ามีลิงอยู่ ๔ กลุ่ม ลิงที่ตึก ลิงที่ศาลพระกาฬ ปรางค์สามยอด ที่พวกเราก็อยากไปเที่ยวบางครั้งก็กังวล คุณเชตวัน เตือประโคน เคยไปหาเสียงที่จังหวัดลพบุรีนั่งประชุมกันอยู่ในศาลพระกาฬ โดนลิง เอาแว่นตาไป ต้องติดสินบนด้วยยาคูลท์นะครับ ติดสินบนอย่างไร คือยื่นยาคูลท์ไปปุ๊บ ลิงรับยาคูลท์ปล่อยแว่น คุณเชตวัน สส. ปทุมธานี ถึงได้แว่นกลับมานี่เรื่องจริง ไม่ได้พูดกัน โม้ ๆ ฉะนั้นประเด็นที่ ๒ ที่กำลังพูดถึงตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ก็คือว่าจะลิงศาลพระกาฬ จะลิงตึก จะลิงอะไร มาลัยรามา จะลิงใด ๆ ก็แล้วแต่มันต้องมาพิจารณาเงื่อนไข หรือความจำเป็นในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ลิงของท่านสรรเพชญ บุญญามณี เข้ามาถึงตัวเมือง จังหวัดสงขลา แต่ลิงของคนกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ยังอยู่ที่เขาหน่อซึ่งเป็นวนอุทยาน เราไปเที่ยววนอุทยานโกสัมพี ถิ่นนี้นั้นมีมนต์ขลัง ที่มหาสารคามเราก็บอกแบบนี้ รับได้ เพราะอยู่ในวนอุทยาน แต่อาหารการกินกล้วยต้องส่งกันนิดหนึ่งนะครับ เพราะว่าเดี๋ยว อาจจะไม่พอต่อการกิน ไม่เป็นอะไรไม่ว่ากัน แต่ด้วยเหตุจำเป็นเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกันเลย เป็นประการที่ ๒ ที่ต้องมาดูรายละเอียดว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นควรจะทำอย่างไร
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานครับ สิ่งที่แก้กันอยู่ ณ ขณะนี้ถ้ามันตอบโจทย์ มันแก้ได้ครับ เราไม่สามารถควบคุมจำนวนประชากรลิงได้ ด้วยการตัดสินชีวิตลิง ไม่สามารถ หยุดหรือเบรกชีวิตเขาได้ ลิงเป็นสัตว์ตามเงื่อนไขกฎหมายที่เรียกว่าสัตว์สงวน และ ๑ ชีวิต เท่าเทียมกับพวกเรา การแก้ปัญหาคือการทำลายชีวิต ทำไม่ได้ การทำหมันทำได้หรือไม่ครับ ทำได้ครับ เงื่อนไขของจังหวัดลพบุรีซึ่งต้องขอบพระคุณทางจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด อำพล อังคภากรณ์กุล เป็นประธานใหญ่นั่งประชุมกัน ลิงมี ๘,๐๐๐ ตัว เอาน่ะเดินหน้ากัน ทำหมันกัน ถามท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทำได้กี่ตัวครับ ปีละ ๓๐๐ ตัว ด้วยเหตุผลข้อจำกัด งบประมาณวัคซีน เงื่อนไขทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสำนักที่ต้องไปลงพื้นที่ทำ ท่านลอง ไปดู Series ที่ไทยรัฐทำอยู่ได้เลยครับ ตอนนี้ Series ที่เกี่ยวกับปัญหาลิงในลพบุรีมาถึง ตอนที่ ๕ แล้ว การทำหมันทำเองได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ครับ จะย้ายลิงออกจากเมืองบางส่วน ก็เหมาะที่จะทำ แต่หากมีจุดที่ลิงไปอยู่นั้น เป็นจุดที่เหมาะสมสามารถดูแลและให้ลิงเติบโต ได้หรือไม่ ก็เป็น Question Mark ที่แต่ละที่ไม่มีเหตุที่เหมือนกันเลย นั่นเป็นประการที่ ๓ ที่จำเป็นให้เห็นว่าการแก้ปัญหาที่มีอยู่นั้นจำเป็นที่ต้องเกิดการบูรณาการ ดังเช่นจังหวัดลพบุรี ที่มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง ทีมงานพรรคก้าวไกล จังหวัดลพบุรี ก็ทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด กับท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๔ ท่านประธานครับ ก็คือว่าถ้าอย่างนั้นประเทศไทยเราก็มี กระบวนการในการท่องเที่ยวไปดูลิงไม่ใช่หรือ ก็มีครับ มีจริงครับอยู่ในหลายพื้นที่ครับ งานโต๊ะจีนลิงลพบุรีก็เป็นงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เขาหน่อ นครสวรรค์ พี่น้องไปนั่งดูกัน ที่สนามหญ้า เคยเป็นข่าวว่าเจอลิงยักษ์อยู่บนเขาหน่อ แต่เอาเข้าจริง ๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหญ่ ขนาดไหน เพียงแต่ว่ามันดึงดูดนักท่องเที่ยว ฉะนั้นมันอยู่ร่วมกันได้โดยเงื่อนไขที่พิจารณา อย่างเหมาะสม แต่การท่องเที่ยวนั้นจะต้องดูบนบริบทของว่าคนในพื้นที่ต้องการอย่างไร ท่านไปดูไทยรัฐลงทุนทำสำรวจประชากรของพี่น้องเราที่จังหวัดลพบุรี ๑๐,๐๐๐ กว่าคน คนอ่างทองอาจจะบอกว่าเอาไว้เถอะน่า คนอ่างทองนั่งรถไปจะได้ดู ด้วยความเคารพนะครับ นี่ยกตัวอย่าง ไม่กล่าวไปกระทบจังหวัดอื่น แต่คนลพบุรี ๑๐,๐๐๐ กว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีการสำรวจ ที่มีการทำประชาคม ที่มีการทำความคิดเห็น เขาบอกว่าสถานการณ์นี้ อย่า ต้องถามคนเขาแล้วเขาอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในพื้นที่ของเขาเอง แต่ Model นี้ การตัดสินใจมันเกิดได้ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันติดเงื่อนไขกฎหมายที่เราพูดถึง ความเป็นสัตว์ มันติดเงื่อนไขกระบวนการ มันติดเงื่อนไขงบประมาณ มันติดเงื่อนไขที่มุมมอง ทางศาสนาหรือมุมมองอื่น ๆ ต่อการดูแลลิงเข้าไปอีก นั่นเป็นประการที่ ๔ ที่ผมอยากจะ นำเรียนต่อท่านประธานครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๕ เป็นประการสุดท้ายครับ ผมอยากจะนำเรียนท่านประธาน ให้เห็นก็คือว่าสภาแห่งนี้ได้พิจารณาญัตติไปหลายญัตติครับ แล้วท้ายที่สุดก็ให้กรรมาธิการ สามัญคณะใดคณะหนึ่งรับไปพิจารณา เงื่อนไขแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เราเข้าใจดีว่า เงื่อนไขของกรรมาธิการสามัญมีข้อจำกัด ขณะนี้บางคณะซึ่งมีชื่อแพลม ๆ ออกมาว่าจะส่ง ญัตตินี้ไป ผมสอบถามเบื้องต้นเขาก็บอกว่าอนุเขาก็เต็มอยู่แล้ว อนุมีแค่ ๑๐ คน ถ้าตั้งเป็น คณะทำงานอาจจะมากขึ้น แต่ก็ไม่กว้างขวางพอครับ เรื่องการแก้ไขปัญหาลิงจำเป็นที่จะต้อง มีการร่วมมือกันระหว่าง ๑. ภาคส่วนทางวิชาการ ๒. ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม ที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิภาพสัตว์ต่าง ๆ ๓. ภาคส่วนที่มีองค์ความรู้เฉพาะ ๔. พื้นที่หรือคนที่เป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มากกว่า ๒ หน่วยอย่างที่เพื่อนสมาชิก บางคนได้พูดถึงแน่ ๆ แล้วก็ ๕. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนที่อยู่ในพื้นที่ ฉะนั้นการที่ เราจะสร้าง Model ในการแก้ไขปัญหาลิงอย่างเป็นระบบ ผมก็อยากวิงวอนต่อเพื่อนสมาชิก ในที่นี้ว่าขอให้พวกเราช่วยกันอีกครั้งหนึ่งในการยกมือการสนับสนุน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ของเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกัน เห็นไหมครับ ของคนภายในชุมชนและลิง ซึ่งคุณสาธิต ทวีผล อาจจะพูดถึงจังหวัดลพบุรี แต่เรากำลัง พูดถึงทั้งประเทศ เพื่อนสมาชิกที่เคารพครับ ด้วยเหตุดังกล่าวนั้นพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า สำหรับญัตตินี้ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแก้ไข และการ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญนั้นจะนำไปสู่คำตอบที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การทำให้ทั้งคนและลิง อยู่ร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขและบริบทของพื้นที่แต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน พรรคก้าวไกล ขอยืนยันเช่นนั้นครับ ขอบคุณครับท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ท่านสุดท้ายที่จะขอสรุปคือคุณวรวงศ์ วรปัญญา ครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ ในฐานะ ของประชาชนคนหนึ่งครับ ในฐานะของตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ปัญหาเรื่องของลิงในพื้นที่จังหวัดลพบุรีครับ วันนี้เรามีโอกาสดีจากที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน เพื่อนสมาชิกที่ร่วมยื่นญัตติ เพื่อนสมาชิกที่มาอภิปราย เราจะเห็นได้ว่าทุกคนเล็งเห็นปัญหา ที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในส่วนของว่ามีประชากรลิงที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ในการแยก Zone Zoning สำหรับประชาชน Zoning สำหรับลิง ผมคงไม่ลงลึกแล้วว่าจะ เป็นลิงสายพันธุ์ไหน อะไร อย่างไร ก็แล้วแต่ เราจะเห็นปัญหาได้เลยว่าในเรื่องของ ข้อกฎหมายที่คุ้มครองในส่วนของลิงทำให้เราไม่สามารถอยู่ร่วมกับมันได้ด้วยหลักการ ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวเองบ้าง การควบคุมประชากรลิง การควบคุมสถานที่ ผมจึงเห็นสมควรว่าปัญหาเรื่องลิงเป็นปัญหาเรื่องที่พวกเราต้องร่วมมือกันนะครับ แล้วก็ ขอบคุณท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ขออภัยที่เอ่ยนาม แต่ว่าก็ไม่ได้มีข้อผิดพลาดอะไรที่ท่าน เล็งเห็นปัญหา เป็นพื้นที่ติดกับจังหวัดของผมด้วยจังหวัดลพบุรี จังหวัดอ่างทอง ก็เชื่อว่า วันนี้ในส่วนของประชากรลิงไม่ได้มีเพียงแค่ในจังหวัดลพบุรีแล้ว ก็ไปไกลถึงอ่างทอง ขอบคุณท่านที่เห็นปัญหา แล้วขอบคุณท่านที่ชี้แจงปัญหาหลาย ๆ อย่าง ขอบคุณท่านสาธิต ที่เป็นเพื่อนสมาชิกที่อยู่เขตติดกันกับของผม แต่ผมก็รู้สึกประหลาดใจครับ เห็นท่านพูดถึง ชื่อของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอำพลในการแก้ปัญหาของจังหวัดลพบุรี ผมเองก็ได้มีทีมงาน เข้าไปในช่วงของการประชุมเกิดขึ้น ก็รู้สึกประหลาดใจในสิ่งที่ท่านณัฐวุฒิพูดเหมือนกันว่า เป็นการประชุมเดียวกันหรือเปล่า รู้สึกว่าจะมีความเข้าใจที่อาจจะไม่ตรงกันนะครับ แต่ว่า ก็เป็นข้อที่ควรจะมาถกโต้แย้งกันตรงนี้ได้ ในส่วนของการประชุม ๒ เดือนที่ผ่านมาเราได้รับ ความร่วมมือจากหน่วยงานอย่างเต็มที่ แต่อาจจะยังไม่มากเท่าที่ควร และเห็นสำคัญว่า เราสามารถร่วมมือกันได้มากกว่านี้ อย่างที่ผมได้อภิปรายไปเมื่อช่วงบ่ายว่าเราได้มี การเคลื่อนย้ายลิงบางส่วนแล้ว เพราะฉะนั้นเราสามารถสรุปได้ว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราทราบว่ามันมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย เราทราบว่ามีบุคคลที่ได้รับ ผลกระทบ แต่การที่เราทราบเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่เราอยากจะแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ เราเคยมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาแล้ว แต่ผมก็ยังเห็นว่าตั้งแล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร มากเท่าที่ควร ผมยังเล็งเห็นประเด็นว่าการที่เราส่งไปคณะใหญ่จะสามารถที่จะดำเนินงาน ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และไม่เป็นการทำงานซ้อนกัน ในส่วนที่ทางจังหวัดเองทางหน่วยงาน ต่าง ๆ เองก็ดีกำลังร่วมมือกันอยู่ ผมสนับสนุนให้เรามีการส่งปัญหาประเด็นร้อนนี้ไปที่ คณะทำงานชุดใหญ่ครับ ขอบคุณครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิครับ ใช้สิทธิพาดพิงนิดเดียวครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญคุณณัฐวุฒิ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัด อ่างทองครับ ต้องขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย คุณวรงศ์ วรปัญญา เพื่อนสมาชิกจากจังหวัดลพบุรีได้พาดพิงนิดเดียวครับ เป็นการประชุมอันเดียวกัน ท่านครับ เพียงแต่ว่าด้วยความเคารพ ผมพูดเฉพาะว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการนัดประชุม คณะทำงานแก้ปัญหาลิงอย่างต่อเนื่อง และในที่ประชุมนั้นมีตัวแทนของพรรคก้าวไกล เข้าร่วมประชุมด้วย เพียงแต่ผมไม่ได้เอ่ยว่าจริง ๆ ก็มีตัวแทนของพรรคการเมืองอื่น และภาคส่วนอื่น ๆ เข้าประชุมด้วยเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรขัดแย้ง เพียงแต่ว่าเดี๋ยวท่านจะ เข้าใจผิดหาว่าผมไปกล่าวหาว่าไม่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นะครับ ผมพูดแต่เพียงว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นนั่งประชุมและมีตัวแทนของพรรคก้าวไกลด้วย แต่จะมีตัวแทน ของพรรคอื่นครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร ผมไม่ทราบ แต่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วย ขอบพระคุณครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธาน ผมขออนุญาตครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญท่านครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ผม วรวงศ์ วรปัญญา ครับ ใช้สิทธิพาดพิง นิดเดียวครับ ชื่อ วรวงศ์ วรปัญญา นะครับ ไม่ใช่วรงค์ครับ เดี๋ยวทางพี่น้องชาวบ้านจะเข้าใจผิด แล้วก็ขอบคุณท่านณัฐวุฒิที่ชี้แจงต่อท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณมากครับ ท่านประธาน ต้องขอประทานโทษท่านวรวงศ์ด้วยครับ ขอประทานโทษครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็ขอขอบคุณ ทุกท่านครับ เนื่องจากว่าญัตตินี้มีผู้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปพิจารณา และมีบางท่านเสนอว่าควรจะส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญที่มีอยู่แล้วคณะใดคณะหนึ่ง เป็นผู้รับไปพิจารณานะครับ เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันก็ต้องขอถามเสียงในที่ประชุมว่า ต้องการส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาประเด็นนี้ หรือจะให้คณะกรรมาธิการสามัญ ที่มีอยู่แล้วในคณะใดคณะหนึ่งเป็นคนรับไปพิจารณาครับ ก่อนที่จะลงมติว่าจะเลือกอย่างใด อย่างหนึ่งนั้น ผมขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญสมาชิก ที่อยู่ข้างนอกเข้ามาเพื่อจะตรวจสอบองค์ประชุม ท่านสมาชิกที่เข้ามาแล้วก็กรุณาเสียบบัตร เพื่อแสดงตนนะครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานขออนุญาตครับ สั้น ๆ นิดเดียวครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญคุณรังสิมันต์
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นเรื่องที่อยากจะหารือในระหว่าง รอเพื่อนสมาชิกสั้น ๆ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ได้ครับ เชิญครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
แล้วก็เกี่ยวข้องกับแนวทาง แนวนโยบายของท่านประธาน เนื่องจากว่าวันที่ผมในฐานะเป็นประธานคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ แล้วก็ได้มีการพูดคุยกัน จำได้ว่าตอนนั้นเป็นเรื่องของการที่เราจะต้อง เลือกกรรมการที่จะไปนั่งในสถาบันพระปกเกล้า ประเด็นหนึ่งที่เรามีการหารือก็คือว่า เมื่อเรื่องไหนก็ตามที่ถูกส่งไปที่คณะกรรมาธิการสามัญเราก็จะอนุญาตให้มีการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการเพิ่ม ปกติแล้วเราจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการในกรรมาธิการสามัญแค่ ๒ คณะอนุกรรมาธิการ แต่ถ้าเรื่องไหนก็ตามที่ถูกส่งจากห้องประชุมใหญ่ของพวกเรา ไปที่คณะกรรมาธิการสามัญจะสามารถตั้งเพิ่มได้อีก ๑ คณะอนุกรรมาธิการ อันนี้เป็น แนวนโยบายและผมก็ทราบว่าได้มีการแจ้งให้ทราบไปยังทุกคณะกรรมาธิการแล้ว แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ครับท่านประธาน เพื่อไม่ให้แนวทางของท่านประธานสูญสิ้น ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ มิฉะนั้นมันจะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย ปรากฏว่ามันมีข้อเท็จจริง คือมีบางคณะกรรมาธิการที่พอมีการส่งเรื่องจากห้องใหญ่ไม่เอาไปตั้งคณะอนุกรรมาธิการ แต่ไปตั้งเป็นคณะทำงาน ซึ่งถ้าเกิดว่าทำกันแบบนี้ที่เรามีการตกลงและพูดคุยกันมันก็จะ เปล่าประโยชน์ครับท่านประธาน ไม่ว่าวันนี้ผลของการลงมติเป็นอย่างไรผมอยากจะขอหารือ กับท่านประธานว่าสมควรอย่างยิ่งว่าเมื่อผลออกมาแล้ว ไม่ว่าอย่างไรควรจะมีการเรียกคุยกัน ทุกประธานของคณะกรรมาธิการสามัญทั้งหมด เพื่อให้ข้อตกลงนี้ที่เราตกลงกัน และไม่มีใคร เห็นแย้ง สามารถบังคับใช้ได้จริง มิเช่นนั้นมันก็จะเสียประโยชน์กันแบบนี้ต่อไป เรารู้กันดีว่า คณะอนุกรรมาธิการกับคณะทำงานมันคนละอย่างกันเลย ดังนั้นขอเรียนด้วยความเคารพ ต่อท่านประธานว่าหลังจากนี้อยากให้มีการหารือพูดคุยเรื่องนี้เพื่อให้มันเกิดประสิทธิภาพ ในการทำงานต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณรังสิมันต์ครับ วันนั้นที่ประชุมวิปที่ประชุมกันตัวแทนของพรรคการเมืองผมก็จำได้ว่า เนื่องจากมีการพูดกันว่าถ้าส่งไปให้กรรมาธิการสามัญที่มีอยู่นั้น เนื่องจากกรรมาธิการวิสามัญนั้น มีข้อจำกัดว่าให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการได้ไม่เกิน ๓ คณะ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๒ คณะครับท่านประธาน แล้วก็ เพิ่มได้อีก ๑ คณะ ถ้าเป็นห้องใหญ่
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ในกรณี ที่มีข้อจำกัดอย่างนี้ ถ้าหากว่าประชุมใหญ่ได้ส่งเรื่องใดไปให้คณะกรรมาธิการชุดใด คณะกรรมาธิการนั้นมีครบ ๓ คณะแล้วก็ให้เพิ่มได้ ขอเพิ่มได้ หรือคณะใดพอไปตั้งแล้ว มันจะครบ ๓ คณะ แล้วมีเรื่องอื่นที่คณะกรรมาธิการมีความประสงค์ต้องการตั้งกรรมาธิการ เพิ่มขึ้นถ้ามีความจำเป็นนะครับ เราก็จะดูความจำเป็นก็จะตั้งเพิ่มได้ เพราะว่าการตั้ง กรรมาธิการเพิ่มถ้าเป็นประโยชน์ก็ตั้งได้ แต่ว่าตั้งมากเกินไปก็จะมีปัญหาเรื่องของงบประมาณ ที่ได้เตรียมตั้งไว้ อันนี้ก็จะดูเป็นกรณี ๆ ไป แต่ผมคิดว่าเราต้องปฏิบัติตามที่ตกลงกันในวันนั้น ส่วนว่าจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการหรือคณะทำงานผมว่าอยู่ที่มติห้องประชุมนี้ บอกถ้าส่งให้ กรรมาธิการเพื่อตั้งอนุกรรมาธิการก็พูดให้ชัดเลยเสียเลย ก็ต้องให้คณะกรรมาธิการพิจารณา ตามนั้น ถ้าบอกส่งให้กรรมาธิการเฉย ๆ กรรมาธิการเขามีสิทธิจะเลือกได้เหมือนกันว่า ส่งไปให้เพื่อตั้งอนุกรรมาธิการหรือส่งไปให้คณะทำงาน ผมว่าไม่อยากจะเป็นกรณีปัญหา ถ้าเราบีบบังคับคณะกรรมาธิการเกินไปโดยไม่มีมติที่ประชุม เดี๋ยวก็จะมีประเด็นว่ามติที่ประชุม จะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวสักครู่ถ้ากรณีที่ส่งไปที่คณะกรรมาธิการก็จะต้องให้เสนอว่าส่งไป เพื่อตั้งอนุกรรมาธิการ เอาให้ชัดเจนครับ น่าจะพูดกันเข้าใจนะครับ คงไม่ต้องไปถามลิง อีกแล้วนะครับ เชิญคุณทศพรครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม นายทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ประเด็นเดียวกันครับ จำได้ว่าวันนั้น ที่ประธานกรรมาธิการทั้งหลายได้ประชุมร่วมกับท่านประธาน เราได้มีการพูดคุยกันว่า ถ้ากรณีที่ส่งเรื่องจากห้องใหญ่ขึ้นไปให้คณะกรรมาธิการสามัญแล้ว ถ้าคณะกรรมาธิการสามัญ ทำไม่ไหวถึงค่อยตั้งอนุกรรมาธิการเพิ่ม แต่ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดชัดเจนว่าถ้ามีเรื่องจากห้องใหญ่ ส่งขึ้นไปเมื่อไรแล้ว กรรมาธิการสามัญจะต้องตั้งอนุกรรมาธิการ เห็นด้วยกับที่ท่านประธาน บอกว่าเราก็มีความจำกัดเรื่องงบประมาณด้วย ก็อยากให้สมาชิกสภาเราพิจารณาด้วยว่า การตั้งอนุกรรมาธิการแต่ละคณะเวลามีการประชุมกันก็ต้องใช้งบประมาณ การตั้ง กรรมาธิการวิสามัญก็เช่นกัน แต่ละคณะถ้าเราประชุมกันประมาณ ๓ เดือนใช้เงินร่วมล้าน เพราะฉะนั้นก็อยากให้สมาชิกทุกท่านได้ร่วมกันตระหนักในข้อนี้ด้วยว่าการตั้งอนุกรรมาธิการ หรือตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพิ่มขึ้นมาจะสามารถทำงานได้คุ้มค่าหรือไม่ แล้วสามารถผลักดัน ให้เลือกเกิดผลขึ้นมาจริงจังหรือไม่ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณทศพรครับ ผมขอชี้แจงเพิ่มจากคุณทศพรนิดเดียว แล้วก็คุณรังสิมันต์พูดต่อได้ครับ คือนอกจากเรื่องงบประมาณแล้วบางทีตัวอนุกรรมาธิการที่เราจะตั้งขึ้นอาจจะมีประชุม กรรมาธิการอยู่หลายคณะอยู่แล้ว เมื่อเรียกประชุมอนุกรรมาธิการองค์ประชุมอาจจะไม่ครบ อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดเจอ แต่เอาใหม่ จะเอาอย่างไรเดี๋ยวเสนอที่ประชุมได้นะครับ เชิญคุณรังสิมันต์ครับ
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผมอาจจะมี ๒ ประเด็นสั้น ๆ ประเด็นที่ ๑ ครับท่านประธาน คือถ้าเกิดว่ากรรมาธิการไหน นโยบาย ที่ผ่านมาเราตั้งอนุกรรมาธิการได้ ๒ แล้วก็ถ้าส่งจากห้องใหญ่ที่เราคุยกันก็อยากให้เป็น อนุกรรมาธิการที่ ๓ เรียกว่าเปิดช่องเอาไว้ อนุกรรมาธิการที่ ๓ มีเอาไว้สำหรับกรณีที่เรา ส่งจากห้องใหญ่ ซึ่งปัญหาเป็นอย่างนี้ครับท่านประธาน คือมันมีหลายกรรมาธิการที่ยัง ตั้งอนุกรรมาธิการไม่ได้ถึง ๓ แล้วพอส่งจากห้องใหญ่ไปจริง ๆ ก็ตั้งอนุกรรมาธิการเพิ่มอีก ๑ อนุกรรมาธิการได้ มันก็ไม่ได้เกินโควตาอะไร แล้วก็ไม่ได้เยอะเกินไป แต่ปัญหาก็คือ บางกรรมาธิการก็ดันไปทำเป็นคณะทำงาน ซึ่งเมื่อตั้งเป็นคณะทำงานครับท่านประธาน เรื่องดังกล่าวบางครั้งต้องยอมรับว่าคณะทำงานที่ทำงานออกมาแล้วประสบความสำเร็จ มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมันมีความยากกว่าเนื่องจากการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มันมี ความยากกว่ามาก ดังนั้นผมอยากจะขอร้องอย่างนี้ ท่านประธานครับเพื่อให้มันมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน คืออยากให้ ๑. ท่านประธานเรียกประชุมประธานกรรมาธิการเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ๒. คือเข้าใจว่า ถ้าเกิดมันเต็มจริง ๆ แล้ว อย่างเช่นครบ ๓ อนุกรรมาธิการ อาจจะตั้งเป็นคณะทำงานเพิ่ม หลังจากนั้น อันนี้เข้าใจกันได้ อันนี้อยากจะฝากท่านประธานไว้
นายรังสิมันต์ โรม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เมื่อสักครู่ที่อาจจะมีการพูดคุยกันว่าการตั้ง อนุกรรมาธิการ มันอาจจะนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณที่มากเกินไป ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับว่า การตั้งอนุกรรมาธิการหรือตั้งกรรมาธิการก็ดี ที่มีปัญหาในเรื่องของใช้เงินงบประมาณ ทั้งหลายนี้ แล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ ผมคิดว่าสาระสำคัญมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ว่าการประชุมกรรมาธิการก็ดี จะวิสามัญ หรือสามัญ หรืออนุกรรมาธิการ บางครั้ง มันไม่มีประสิทธิภาพ มันก็คุยวนไปวนมา คุยซ้ำไปซ้ำมา แบบนี้ต่างหากที่มันน่ากลัว ถ้าเกิดว่า เราเข้ามายืนอยู่ตรงนี้แน่นอนมันมีราคาที่ต้องจ่ายผ่านเงินภาษีของประชาชน แต่ถ้าเรา ประชุมกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายตรงนี้ต่างหากที่มันทำให้การใช้จ่ายเงินภาษี ของประชาชนเสียเปล่าไป ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่แน่ใจว่ามีกรรมาธิการวิสามัญ กรรมาธิการไหนบ้าง ที่ฝ่ายค้านได้เป็นประธานกรรมาธิการ ดังนั้นถ้าเกิดว่าท่านกังวลว่ากรรมาธิการที่ผ่านมา มันอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายเงินภาษีที่ไม่คุ้มค่าก็คงต้องไปดูว่าประธานกรรมาธิการ ที่ผ่านมามาจากพรรคใด ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผมรับข้อสังเกตไป แล้วจะมีการนัดประชุมตัวแทนของพรรคการเมืองทุกท่าน เพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่ปฏิบัติ ในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ก็ขอให้รับข้อสังเกตไปก่อน แล้วก็ปฏิบัติตามทั้งของ คุณทศพรเสนอ คุณรังสิมันต์เสนอ เพราะว่ามันเป็นการปฏิบัติภายในกรรมาธิการ แต่ถ้า มีปัญหาเดี๋ยวประชุมร่วมกันก็จะหาข้อยุติได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในที่ประชุมใหญ่นะครับ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง ๔๘ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ครับ เดี๋ยวผม กดอีกครั้งหนึ่ง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกท่านใด ที่อยู่ข้างนอกห้องประชุม ซึ่งบางท่านก็ประชุมในกรรมาธิการนะครับ แต่ส่วนใหญ่ก็มาแล้ว ท่านอยู่ข้างนอกก็เชิญเข้ามาเพื่อจะลงมติ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการแสดงตนขอให้ กดบัตรแสดงตนนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่แสดงผล ว่าได้มีผู้มาแสดงตนเพื่อเข้าร่วมประชุมกี่ท่านแล้ว ตอนนี้มีผู้มาแสดงตน ๓๖๗ ท่าน ถือว่าครบองค์ประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปก็จะเป็นการ ลงมติ ท่านสมาชิกท่านใดเห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญขอให้กดปุ่มที่ช่อง เห็นด้วย ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะส่งให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็กดปุ่ม ไม่เห็นด้วย คือถ้าเห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญกดช่อง เห็นด้วย กดได้เลย ถ้าเห็นว่าควรจะส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็กดช่อง ไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นว่าควรงดออกเสียงก็กด งดออกเสียง ขอเชิญลงมติได้นะครับ
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๑๘ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล เห็นด้วยครับ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ จาตุรนต์ ฉายแสง ๔๘ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย สกลนคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ กระผม อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ๔๗๔ ไม่เห็นด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ไม่เห็นด้วยนะครับ จดไว้นะครับเจ้าหน้าที่ มีท่านผู้ใดยังไม่ลงคะแนนบ้าง ลงคะแนนทุกท่านแล้วนะครับ เจ้าหน้าที่ แสดงผลด้วยนะครับ ผลของการลงมติ เห็นด้วย คือเห็นด้วยให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ๑๖๑ คน ไม่เห็นด้วย คือให้ส่งไปที่คณะกรรมาธิการสามัญการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ๒๓๖ มีผู้ที่กดคะแนนแล้วมีปัญหาก็ให้เพิ่มลงไป ที่เห็นด้วย เพิ่ม ๑ คะแนน เป็น ๑๖๒ ไม่เห็นด้วยที่ลงคะแนนไม่ได้ ๑๑ คะแนน ก็เป็น ๒๔๗ งดออกเสียง ไม่มี ขอประทานโทษ ไม่เห็นด้วย คือให้ส่งคณะกรรมาธิการสามัญการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ๒ คะแนน ก็เป็น ๒๓๘ ผมสรุปอีกครั้งหนึ่งนะครับ จากลงคะแนนนี้ เห็นด้วยให้ส่งกรรมาธิการวิสามัญ ๑๖๒ ไม่เห็นด้วย ๒๓๘ งดออกเสียง ไม่มี ไม่ลงคะแนน ๐ ก็เป็นอันว่ามติให้ส่งไปให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปกำหนด ระยะเวลาการพิจารณาว่าจะให้เวลาคณะกรรมาธิการชุดนี้พิจารณาใช้เวลาเท่าไร เชิญครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลาพิจารณา ๙๐ วันครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง ระยะเวลาพิจารณา ๙๐ วัน ไม่มีผู้ใดเสนอเป็นอย่างอื่นนะครับ ก็ถือว่าพิจารณาในญัตตินี้ ๙๐ วันนะครับ ต่อไปก็เป็นการพิจารณาระเบียบวาระที่ ๕.๒
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้เสนอ) เชิญครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออนุญาตใช้เวลาในที่ประชุมสภาแห่งนี้เพื่อนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ผมขอเรียกว่า ข้อบังคับสภาก้าวหน้า ท่านประธานครับ สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นองค์กรที่มีความพิเศษครับ เพราะน่าจะเป็น องค์กรเดียวในระดับประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชน แต่ความ พิเศษนั้นจะสูญเปล่าหากเราไม่สามารถทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ผลักดันความ เปลี่ยนแปลงได้ตามที่ประชาชนทั่วประเทศนั้นคาดหวัง ไม่น่าเชื่อนะครับท่านประธานว่า แม้พวกเราทั้ง ๕๐๐ คนที่นั่งอยู่ในที่นี้จะถูกเลือกมาโดยตรงจากพี่น้องประชาชน แต่หากเรา ไปดูผลสำรวจครับ ผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่าง ๆ ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ในปีล่าสุด ปี ๒๕๖๕ ประชาชนกลับมีความเชื่อมั่นในสภาผู้แทนราษฎรนั้นน้อยกว่าอีก หลายองค์กร โดยมีเพียง ๓๘ เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อมั่นมากหรือค่อนข้างเชื่อมั่น เมื่อเทียบกับ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เชื่อมั่นหรือไม่ค่อยเชื่อมั่น ดังนั้นครับท่านประธาน จุดมุ่งหมายในการ เสนอข้อบังคับสภาก้าวหน้าในวันนี้จึงไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการพยายามจะวางกลไก เพื่อสนับสนุนให้พวกเราผู้แทนทุกคน ทุกพรรค ทุกชุดความคิดนั้นสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ในการแข่งกันรับใช้พี่น้องประชาชน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนนั้น ฝากความหวังไว้ได้ แม้การเสนอการแก้ไขข้อบังคับอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องกลไกการทำงาน ภายในองค์กร แต่ผมยืนยันว่าคุณภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ส่งผล โดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่างหากสภาเราไม่วางกระบวนการ ให้พวกเราทุกคนนั้นสามารถแก้กฎหมายที่ สส. ส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. อากาศสะอาด หรือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ประชาชนทั่วประเทศจะต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าเขาจะมีอากาศบริสุทธิ์ หายใจที่ปราศจาก PM2.5 คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องรออีกนานแค่ไหน กว่าพวกเขาจะแต่งงานกันได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หากนักการเมืองในสภาแห่งนี้ทำงานกัน ในที่ลับ แทนที่จะทำงานในที่แจ้ง ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้แทนของพวกเขานั้นกำลัง ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาอยู่ผมเข้าใจดีว่าปัญหาทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่สามารถถูกแก้ไขได้จากเพียงการแก้ไขข้อบังคับ บางส่วนต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางส่วนต้องอาศัยอำนาจบริหารของท่านประธาน และบางส่วนก็ต้องอาศัยวัฒนธรรม การเมืองที่ต้องบ่มเพาะกันอย่างต่อเนื่อง แต่ผมหวังว่าร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผมนำเสนอ ต่อสภาในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรผ่าน ๙ ข้อเสนอหลักที่รวมอยู่ในร่าง ข้อเสนอที่ ๑ ข้อเสนอที่ ๒ และข้อเสนอ ๓ เป็นข้อเสนอ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๑ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของสภาในการผลักดันกฎหมาย เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาฉับไว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของ สภาผู้แทนราษฎรนั้นคือการผลักดันการเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย แต่หากเราไปดูสถิติของ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นชุดเดียวก่อนหน้านี้ที่ทำงานภายใต้ข้อบังคับฉบับปัจจุบัน เรากลับเห็นถึงแรงเฉื่อยหรือความล่าช้าในการผลักดันกฎหมาย จากร่างกฎหมายที่ถูกเสนอ ทั้งหมด ๔๒๗ ฉบับ มีร่างถึง ๑๘๐ ฉบับ หรือคิดเป็น ๔๒ เปอร์เซ็นต์ ที่ค้างอยู่ในกระบวนการ พิจารณา แล้วมีร่างอีก ๕๙ ฉบับ หรืออีก ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ที่ถูกปัดตกตั้งแต่ก่อนจะมาถึงสภา ผมเข้าใจดีว่าการพิจารณากฎหมายนั้นต้องเน้นความเร็วควบคู่กับความรอบคอบ แต่ข้อบังคับ สภาก้าวหน้านี้จะพยายามปรับ ๒ กลไกที่ปัจจุบันนั้นไปเปิดช่องให้ร่างกฎหมายหลายฉบับ นั้นถูกดองจนทำให้การพิจารณานั้นมีความล่าช้าโดยไม่จำเป็น เอาสไลด์ลงได้ครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๑ คือการเพิ่มความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรี มีในการพิจารณาว่าจะรับรองให้กฎหมายที่เกี่ยวกับเงินนั้นเข้าสู่การพิจารณาในสภาหรือไม่ ในเมื่อข้อบังคับฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจว่า จะให้คำรับรองหรือไม่ภายในกี่วัน ร่างกฎหมายหลายฉบับก็เลยถูกดองไว้ครับ โดยที่ผู้เสนอ ร่างนั้นไม่เคยได้รับคำตอบทางใดทางหนึ่งจากนายกรัฐมนตรี จะตัดใจและเอาร่างไปปรับปรุง เพื่อตัดส่วนที่เป็นการเงินออก เพื่อเสนอกลับเข้ามาใหม่ในสภาก็ไม่กล้า เพราะยังหวังอยู่ลึก ๆ ว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำรับรอง แต่พอตัดสินใจจะรอ ก็ไม่รู้ครับว่าจะต้องรอไปอีกนาน แค่ไหน ดังนั้น ข้อบังคับสภาก้าวหน้าจะแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการกำหนดกรอบเวลาเบื้องต้น ไว้ที่ ๓๐ วัน และใช้หลักที่เรียกว่า Auto Approve นั่นหมายความว่าหากนายกรัฐมนตรี ยังไม่ตัดสินใจปัดตกร่างใดภายในกรอบเวลา ๓๐ วัน ก็ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีนั้นให้คำรับรอง ให้ร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสภาโดยอัตโนมัติ กลไกส่วนที่ ๒ คือการปิดช่องไม่ให้ ครม. นั้นนำกฎหมายที่กำลังจะลงมติกันในสภาในวาระที่ ๑ ออกไปศึกษาเพิ่มเติมได้ถึง ๖๐ วันก่อนจะกลับมาพิจารณาและลงมติกันใหม่ หลายคนอาจจะมองว่า ๖๐ วันเป็นเวลาที่ ไม่นาน แต่อย่าลืมว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คู่รักหลายคู่ยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ ณ ปัจจุบัน ก็เพราะว่าร่างสมรสเท่าเทียมในสภาชุดที่แล้วถูกนำไปดองโดย ครม. ชุดก่อนเป็น เวลา ๖๐ วันจนทำให้การพิจารณานั้นไม่ทันวาระที่ ๓ ก่อนสภานั้นจะหมดอายุลง ดังนั้นครับ ท่านประธานข้อบังคับสภาก้าวหน้าจึงเสนอให้มีการยกเลิกกลไกดังกล่าวที่อาจถูกใช้เป็น เครื่องมือถ่วงเวลาโดยรัฐบาล เพราะแม้จะไม่มีกลไกนี้ หาก ครม. มีความประสงค์จะศึกษา ร่างกฎหมายฉบับใดที่ถูกเสนอเข้าสภา ครม. ก็มีเวลาอยู่แล้วครับ อย่างน้อย ๓๐ วันในช่วง เวลาที่ร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นถูกเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๒ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการซักถามฝ่ายบริหารและติดตาม นโยบายรัฐบาล เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาที่มีความหมาย แม้การประชุมสภาของเรา มีกลไกให้สมาชิกผู้แทนราษฎรนั้นตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอยู่แล้ว ในทุก ๆ สัปดาห์ แต่ท่านประธานสังเกตไหมครับว่าในบางยุคสมัยการที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง จะมาตอบคำถามผู้แทนราษฎรในสภานั้นกลับกลายเป็นเรื่องพิเศษที่มักต้องรอวาระใหญ่ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแถลงนโยบายหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มากกว่าจะเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำในทุกสัปดาห์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวครับเราจะสังเกตเห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักรก็ดี ไอร์แลนด์ก็ดี เดนมาร์กก็ดี จึงกำหนดให้การประชุมสภาทุกสัปดาห์นั้นมีการจัดสรรเวลา ช่วงหนึ่งให้กับวาระที่เรียกว่า Prime Minister’s Questions หรือว่ากระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีครับ ที่เปิดให้ สส. ทุกคนไม่ว่าจะซีกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลนั้นสามารถ เรียงคิวกันถามคำถามนายกรัฐมนตรี โดยมีเวลาช่วงหนึ่งครับที่กันไว้พิเศษการถามไปตอบมา ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้าน หากเราติดตามการเมืองในประเทศเหล่านั้นเราจะรู้ดี ว่าวาระดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์แค่สำหรับ สส. หรือว่าฝ่ายค้านในการซักถาม ฝ่ายบริหารแทนพี่น้องประชาชนครับ แต่ยังเป็นประโยชน์กับตัวนายกรัฐมนตรีเองในการ มาตอบกลับทุกคำถาม แล้วก็ชี้แจงทุกข้อสงสัยให้กระจ่าง ผมทราบดีครับจะเขียนข้อบังคับ อย่างไรก็คงไปบังคับให้นายกรัฐมนตรีคนไหนมาตอบคำถามผู้แทนราษฎรในสภาทุกครั้งไม่ได้ แต่ผมหวังว่าการที่ข้อบังคับสภาก้าวหน้าเราเพิ่มเรื่องวาระกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี หรือว่า Prime Minister’s Questions เข้าไปนั้นเป็นการเฉพาะน่าจะเพิ่มโอกาสที่ประชาชน นั้นจะได้รับฟังคำตอบต่าง ๆ จากปากนายกรัฐมนตรีตอบคำถามที่พวกเขาสงสัยหรือผู้แทน เขาถามแทนพวกเขา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๓ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพื่อทำให้สภาของเรานั้นเป็นสภาเข้มแข็ง ผมเข้าใจดีครับท่านประธานว่าคณะกรรมาธิการ สามัญทั้ง ๓๕ คณะนั้นก็ล้วนมีสมาชิกจากทุกฝ่าย และทั้ง ๓๕ คณะนั้นก็ล้วนมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในแต่ละด้าน แต่หากเราต้องการจะให้มีการ ตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มข้น ผมเชื่อว่าเราทุกคนเห็นตรงกันว่าการให้ฝ่ายที่ต้องแข่งขันกัน โดยธรรมชาติมาตรวจสอบกันก็ย่อมน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าไปปล่อยให้ฝ่ายเดียวกันนั้น ตรวจสอบกันเอง ดังนั้นครับท่านประธาน ข้อบังคับสภาก้าวหน้าข้อที่ ๓ จึงเสนอไว้ครับว่า ให้ประธานของ ๓ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่สุดกับการตรวจสอบการทุจริต อาทิเช่น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือคณะกรรมาธิการ ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณนั้น เป็นหน้าที่ของ สส. จากซีกฝ่ายค้าน ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร หรือประกอบไปด้วยพรรคใดก็ตาม เอาสไลด์ลงได้เลยครับ เดี๋ยวค่อย ขึ้นตอนจบเลยก็ได้ แน่นอนครับพอพูดเช่นนี้บางคนก็อาจจะคิดครับว่าที่ผมเสนอแบบนี้ เพราะวันนี้พรรคก้าวไกลพรรคต้นสังกัดของผมนั้นเป็นฝ่ายค้าน ผมก็ต้องขอยืนยันครับ ยืนยันกับทุกท่านจริง ๆ ว่าผมคิดเรื่องนี้และยกร่างข้อบังคับนี้ตั้งแต่ก่อนจะรู้ว่าก้าวไกลนั้นจะ เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนาของผมครับ ผมขอยืนยันต่อ หน้าสภาแห่งนี้เลยครับว่าหากร่างนี้ผ่านวาระที่หนึ่งไปได้ไปสู่ในชั้นกรรมาธิการ ผมจะเสนอ ให้เติมเข้าไปในบทเฉพาะกาลครับ ว่าให้เรายังไม่บังคับใช้ข้อบังคับข้อนี้ในสภาชุดปัจจุบัน หรือชุดที่ ๒๖ เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อข้อตกลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างแต่ละพรรคการเมือง ต่าง ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ แต่ให้เริ่มไปบังคับใช้ในสภาชุดถัดไปหรือ ว่าชุดที่ ๒๗ ซึ่งหมายความว่าหากวันนั้นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ประธานของคณะเหล่านี้ ก็จะเป็นของ สส. ฝ่ายค้านที่ไม่ใช่ สส. จากพรรคก้าวไกล ข้อเสนอที่ ๔ ถึง ๕ เป็นข้อเสนอ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของสภา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๔ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาเปิดเผยที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ การทำงานของสภาให้ประชาชนนั้นสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ โดยข้อบังคับสภาก้าวหน้า นั้นจะผลักดันให้สภามีความเปิดเผยมากขึ้นใน ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือการทำให้สิ่งที่ยังไม่เคย ถูกเปิดเผยอย่างเป็นระบบถูกเปิดเผยมากขึ้น ผ่านการปลดล็อกเรื่องการถ่ายทอดสดประชุม คณะกรรมาธิการต้องยอมรับว่าแม้ที่ผ่านมานั้นการประชุมของบางคณะกรรมาธิการ ในบางครั้งก็ได้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนนั้นสามารถรับชมไปพร้อมกันหรือรับชม ย้อนหลังได้ แต่เหตุผลหนึ่งที่หลายคณะกรรมาธิการนั้นยังตัดสินใจไม่ถ่ายทอดสดก็เพราะว่า ข้อกังวลหรือว่าความกำกวมของตัวข้อบังคับนั่นเอง ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้ จึงเสนอให้แก้ไขข้อบังคับให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้การประชุมคณะกรรมาธิการนั้น เป็นการประชุมแบบเปิดเผยเป็นหลักที่มีการถ่ายทอดสด Online แต่ก็เปิดช่องไว้ครับว่าหากมีประชุมครั้งใดหรือวาระใดที่สมควรจะงดการถ่ายทอดสด ทางคณะกรรมาธิการก็สามารถมีมติให้งดเป็นรายกรณีได้ ในส่วนที่ ๒ ของการทำให้สภานั้น เป็นสภาเปิดเผย คือการทำให้สิ่งที่ถูกเปิดเผยอยู่แล้วถูกเปิดเผยในรูปแบบที่ถูกนำไป ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการประชุมไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุม ก็ดีว่าใครพูดอะไร สถิติว่าใครมา ไม่มาประชุมหรือสถิติว่าแต่ละคนนั้นลงมติอย่างไร เป็นข้อมูลที่ล้วนถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้วครับ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นการ เปิดเผยในรูปแบบที่นำไปใช้งานต่อได้ค่อนข้างยาก หากเราอยากจะรู้ว่าคนหรือว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับหัวข้อที่เราสนใจ เราก็ต้องไปไล่อ่าน ทุกบรรทัดเลยของรายงาน แทนที่จะค้นหาได้ง่ายผ่านการกดปุ่ม Control + F เพราะว่า เอกสารนั้นถูก Scan เป็นภาพครับ หรือหากเราอยากจะรู้อยากจะวิเคราะห์เร็ว ๆ ว่า สส. พรรคไหน กลุ่มไหน ลงมติเกี่ยวกับกฎหมายฉบับต่าง ๆ อย่างไร เราก็ต้องไปไล่อ่านรายบรรทัด นับรายบรรทัดเลย เพราะว่าข้อมูลนั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยแพร่เป็นตารางที่สามารถนำไป วิเคราะห์ต่อได้ง่าย ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าจึงกำหนดให้ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกเปิดเผยนั้น จะต้องเปิดเผยในรูปแบบดิจิทัลที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่ายหรือที่เรียกว่า Machine Readable
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๕ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทาง อิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในประเด็นนี้ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วก่อนที่ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขข้อบังคับเพื่อเปิดทางให้เรานั้น สามารถประชุมคณะกรรมาธิการแบบ Online ได้สำเร็จ โดยข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผม เสนอในวันนี้ก็มีความตั้งใจจะต่อยอดเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอีก ๒ ส่วน ด้วยกัน ส่วนที่ ๑ คือการปรับให้การส่งเอกสารภายในต่าง ๆ ให้กับสมาชิกนั้นดำเนินการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ส่วนที่ ๒ คือการจัดทำระบบช่องทาง Online ให้ ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ ทุกฉบับที่ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้า ของทุกเรื่องที่ถูกปรึกษาหารือในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ รวมถึงคำชี้แจงหรือคำตอบกลับ จากหน่วยงาน ผมเข้าใจดีครับว่าท่านประธานเองและท่านรองทั้ง ๒ คนนั้นก็ได้มีการริเริ่ม ทั้ง ๒ ส่วนนี้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมก็หวังว่าการกำหนดประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น ในระดับข้อบังคับก็จะทำให้ความมุ่งหมายและผลงานของท่านนั้นยังคงอยู่กับเราและ ประชาชนต่อไป ไม่ว่าประธานหรือรองประธานในอนาคตจะชื่ออะไรก็ตาม ส่วนข้อเสนอที่ ๖ ถึงข้อเสนอที่ ๗ เป็นข้อเสนอเพื่อรับประกันความเป็นธรรมของสภาผู้แทนราษฎร
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๖ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาที่ยุติธรรมเท่าที่จะเป็นได้ระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกฝ่าย ผมเชื่อครับว่าท่านประธานและท่านรองนั้นทุกคนย่อม มีความตั้งใจและเจตนาที่ดีที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อไรก็ตาม ที่กติกาออกแบบให้ท่านต้องตัดสินใจเรื่องใด ๆ ด้วยดุลพินิจของตัวท่านเอง แม้ท่านจะ พยายามมากแค่ไหนที่จะเป็นกลางต่อทุกฝ่าย แต่ผมเชื่อว่าการตัดสินใจของท่านนั้นก็ย่อมจะ ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางได้อยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาดังกล่าวและเพื่อ พยายามจะลดช่องที่ทำให้ท่านประธานนั้นต้องใช้ดุลพินิจของตนเองมากจนเกินไป โดยเฉพาะ อำนาจในการวินิจฉัยว่าญัตติใด เป็นญัตติด่วนที่จะได้ลัดคิวเข้ามาพิจารณาในสภาก่อน ข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จึงเสนอไว้ว่าให้การวินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วนนั้นไม่ได้ขึ้นกับ ดุลพินิจของท่านประธานคนเดียว แต่ให้ท่านประธานนั้นออกเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัย เรื่องดังกล่าวที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและที่เปิดให้มีการทบทวนทุก ๆ ๑ ปี
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๗ คือการทำให้สภาแห่งนี้เป็นสภาเสมอภาคเป็นสภาที่ไม่ส่งเสริม การเลือกปฏิบัติ แต่โอบรับความหลากหลายและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในส่วนนี้ ข้อบังคับสภาก้าวหน้าจะมีการเพิ่มข้อบังคับการประชุมเข้าไป ๑ ข้อ เพื่อกำหนดให้ผู้อภิปรายนั้น ไม่อภิปรายโจมตีหรือยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม เป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอ ๒ ข้อสุดท้าย คือข้อเสนอที่ ๘ และข้อเสนอที่ ๙ นั้น เป็น ๒ ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงสภากับ ประชาชนนอกสภา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๘ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาประชาชนที่เปิดพื้นที่และกลไก ให้ประชาชนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมกับสภามากขึ้นใน ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือการเปิดพื้นที่ ให้ประชาชนนั้นมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นพิจารณา ปัจจุบันรัฐธรรมนูญมีการเปิดให้ประชาชน ๑๐,๐๐๐ คนนั้นสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติได้ แต่ข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จะเปิดอีกช่องทางหนึ่งครับ เพื่อให้ประชาชน ๕,๐๐๐ คนนั้นมีสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติได้ หากพวกเขามองว่า มีความเดือดร้อนหรือปัญหาใดที่สภานั้นควรจะให้ความสำคัญในการศึกษาหรือจัดทำ ข้อเสนอแนะให้กับคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะผ่านห้องประชุมใหญ่แห่งนี้จะผ่านคณะกรรมาธิการ สามัญที่มีอยู่แล้ว หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีการตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนที่ ๒ ท่านประธานคือการเปิดพื้นที่ให้ร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนนั้นได้รับ การพิจารณาเร็วขึ้น หากเราไปดูสถิติในสภาชุดที่แล้ว เราจะเห็นว่าร่างกฎหมายที่ถูกเสนอ โดยภาคประชาชนนั้นมีทั้งหมด ๘๕ ฉบับ แต่เชื่อไหมว่ามีถึง ๕๔ ฉบับหรือ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ ที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติและไม่ถูกพิจารณาทันก่อนที่สภานั้นจะหมดวาระลง ดังนั้นข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำหนดให้ ร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนนั้น ถูกนับเป็นเรื่องด่วนที่จะถูกพิจารณา เร็วขึ้นเสมือนเป็นช่องทางเร็วหรือว่า Fast Track ที่ทำให้สภาแห่งนี้ต้องจัดสรรเวลาให้ เพียงพอในการมาพิจารณาแล้วก็ลงมติเกี่ยวกับร่างที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชน ส่วนข้อเสนอ สุดท้ายครับท่านประธาน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๙ คือการทำให้สภานั้นเป็นสภาสากลที่เชื่อมกับประชาคมโลก ท่านประธานครับผมหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ากฎหมายหลายฉบับที่พวกเราทุกคนร่วมกันผลักดัน ในสภาแห่งนี้ จะไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์โดยตรงให้กับประชาชนในประเทศนี้ แต่ยัง จะสร้างแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ท่านประธานข้อบังคับสภาก้าวหน้าชุดนี้จึงกำหนดให้มีการแปลทุกพระราชบัญญัติที่สภา แห่งนี้เห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความหวังครับว่ามาตรการเล็ก ๆ ดังกล่าวจะเป็น ส่วนเล็กน้อยในการช่วยทำให้งานที่เราทำในที่นี้เป็นที่รับรู้ เป็นที่เข้าใจและเป็นแบบอย่าง ที่ประเทศอื่นนำไปใช้ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล ดังนั้นท่านประธาน หากจะขออนุญาตขึ้นสไลด์เพื่อสรุปทิ้งท้าย
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ทั้งหมดนี้คือ ๙ ข้อเสนอหลัก ภายในร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ผมหวังว่าจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในการทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นที่เชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ผมเข้าใจดีว่าพอผมเสนอร่างที่มันมัดรวมหลายข้อเสนอมันเป็นเรื่องปกติที่บางท่านอาจจะ เห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่ยังมีความลังเลเกี่ยวกับบางข้อเสนอ ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านนั้นมี ความสบายใจที่จะรับหลักการในวาระที่ ๑ ผมก็เลยเขียนหลักการและเหตุผลของร่างฉบับนี้ ไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อเปิดช่องให้เราสามารถไปแลกเปลี่ยนและพิจารณารายประเด็นกัน ได้อย่างเต็มที่ในชั้นกรรมาธิการ ผมคงทิ้งท้ายแบบนี้ท่านประธานว่าวันนี้ผมรู้สึกเสียดาย ที่พรรคอื่นไม่ได้มีการยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาเข้ามาร่วมการพิจารณา เพราะผม เชื่อครับว่าเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านในที่นี้คงมีอีกหลายข้อเสนอที่ผมยังคิดไม่ถึง และผม เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมจะรู้สึกเสียดายกว่าครับ หากวันนี้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจไม่รับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับสภาก้าวหน้า เพราะการ ลงมติเช่นนั้นในวันนี้ครับในวันที่เรามีร่างข้อบังคับอยู่แค่ฉบับเดียวจะเท่ากับเป็นการปิดประตู ต่อการร่วมมือกันทำงานตั้งแต่ในสมัยประชุมแห่งนี้เพื่อปรับปรุงข้อบังคับการประชุมสภา ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการทำงานของพวกเราทุกคนในฐานะสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณพริษฐ์ผู้เสนอญัตตินะครับ ก่อนที่จะเชิญสมาชิกอภิปรายต่อไปผมอยากจะเรียนต่อ ท่านสมาชิกว่าขณะนี้ได้มีสมาชิกประชาชนและสมาชิกคณะน้อมเกล้าพิทักษ์ราษฎร์ สำนักงานสภาประชาชน อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย จำนวน ๑๐๐ คน มานั่งฟังการประชุม สภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ชั้นบนแล้ว ขอต้อนรับผู้มาฟังการประชุมในวันนี้ทุกท่านนะครับ มีผู้เสนอขออภิปรายในขณะนี้ก็มีทั้งหมด ๗ ท่าน ซึ่งผมจะเรียกเรียงลำดับ สลับกันไประหว่าง ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล อันดับแรกขอเชิญคุณเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ก่อนครับให้เวลาสำหรับ ผู้อภิปราย ๗ นาทีตามที่เราเคยปฏิบัติ เชิญคุณเท่าพิภพครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน กระผม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร ธนบุรี คลองสาน บางปะกอก พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนในร่างของ ข้อบังคับการประชุมสภาที่เสนอโดยท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ เพื่อนร่วมสมาชิกของพรรคของผมเอง ท่านประธานครับสภาแห่งนี้หลายคนก็ชอบบอกว่าเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นสิ่งที่ตัวแทน ของประชาชนมาทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศครับ ถ้าเปรียบเสมือนง่าย ๆ เหมือนรถยนต์ เราก็เหมือนเครื่องยนต์อันหนึ่งเหมือนกันทีจะพารถ พาคนที่นั่งในประเทศนี้ไปข้างหน้า แต่ผมเองเป็นสมาชิกสมัยที่ ๒ แล้วนะครับท่านประธาน อาจจะไม่นานเหมือนหลาย ๆ ท่าน แต่ครั้งแรกด้วยความไม่รู้ว่าผมเองครับ ผมก็ได้มีโอกาสไปดูสภาหลาย ๆ ประเทศผ่าน YouTube แล้วก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ดูการอภิปรายในหลาย ๆ ประเทศ อย่างอังกฤษ หรือว่าแคนาดา ประเทศที่มีระบบรัฐสภาคล้ายคลึงกับไทย หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ครับ ไม่เพียงแค่ผมได้ดูการอภิปรายเนื้อหาของเขา การตอบคำถามหรือลีลาต่าง ๆ แต่ก็ดูครับ ทั้งการแต่งกาย สภาพของสภาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป แต่ต้องยอมรับจริง ๆ ครับ หลังจากที่ผมศึกษาหลายประเทศ ต้องยอมรับก่อนว่ารัฐสภาของเราขั้นตอนต่าง ๆ กลไก มันอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง หลาย ๆ อย่างเราก็ครบถ้วนดีกว่าเขา แต่หลาย ๆ อย่างมันก็ เหมือนเครื่องยนต์เก่าครับท่านประธาน ที่มันยังไม่ได้ Redesign ใหม่นะครับ ตอนนี้โลกเขา ไป EV แล้ว เรายังใช้ดีเซลอยู่อย่างนี้ มันทำให้การทำงานมันช้ามาก ดูอย่างการเสนอกฎหมาย ของเรา สส. ตั้งแต่สมัยครั้งก่อนไม่มีร่างใดของ สส. ผ่านเลย หรือว่าครั้งนี้สมัยประชุมที่แล้ว ก็เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่มีร่างเข้ามาพิจารณาเลย ก็หวังว่าสมัยประชุมนี้เราตั้งหลัก กันได้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านแล้วก็ทางสภาเราจะได้โดยไวครับ ทั้งนี้นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิด ขึ้นมา ครั้งก่อนผมถือว่าดีนะครับ โดยท่านประธานชวน หลีกภัย ประธานสภาท่านก่อน อย่างกระทู้แยกเฉพาะ อันนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการให้ สส. โดยเฉพาะ สส. เขตได้นำเสนอ ปัญหาในพื้นที่กับเจ้ากระทรวงของเขา แต่ผมคิดว่าร่างที่ท่านพริษฐ์ได้เสนอมานี้ มีข้อเสนอ หนึ่งที่ผมรู้สึกว่าดีไม่น้อย คือเรื่องของการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะเพิ่มขึ้นมา อีกอัน ซึ่งอันนี้จริง ๆ แล้วผมก็พยายามเทียบเคียง แล้วพูดภาษาอังกฤษผิดหลายครั้งกับ อาคันตุกะหรือเพื่อนสมาชิกประเทศอื่น เรื่องการตั้งกระทู้ เราก็เรียกว่า PMQ หรือว่า Prime Minister’s Question แต่จริง ๆ ประเทศเราไม่มี เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นถามเจ้ากระทรวง ถึงถามนายกรัฐมนตรีมันก็คือถามโดยทั่วไปใช่ไหมครับ ทีนี้ผมก็ไปดูต่างประเทศครับ ผมมอง ว่าจะเป็นโอกาสอันดี โดยเฉพาะกับตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง ในลำดับที่ ๑ ก็คือท่านได้มา แสดงวิสัยทัศน์ ผมดูอย่างผู้นำแคนาดา Justin Trudeau คือเขาไม่ได้ถามเดี่ยว ๆ ครับ ท่านประธาน มันมีช่วงที่สมาชิกทั้งสภาซักถามเขาคนเดียว แล้วก็ตอบฉะฉานโน่นนี่นั่น คนหนึ่งลุกขึ้นถามไม่ถึง ๕ นาทีครับ ๕ วินาทีด้วยซ้ำแล้วก็ลงไป นายกรัฐมนตรีก็อธิบาย ไม่เกิน ๑๕ วินาที เรื่องอย่างนี้ผมเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนคลับพรรคอะไร ผมก็อยากเห็น ผู้นำประเทศมาตอบอย่างฉะฉาน ประเด็นที่ ๒ นอกจากได้กับนายกรัฐมนตรีแล้ว แน่นอนครับ ได้กับประชาชน ซึ่งประชาชนก็จะเห็นผู้แทนของเขาทำงาน นำปัญหาพื้นที่มา และการตอบ จากปากท่านนายกรัฐมนตรีมันจะมีน้ำหนัก และเขาก็มีความหวังในการที่จะแก้ไขปัญหา นั้นได้ ประเด็นที่ ๓ ในการที่เราจะมีกระทู้เฉพาะของที่นายกรัฐมนตรีจะมาใส่เดี่ยวกับ ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วก็ สส. อื่น ๆ อีกท่านหนึ่งตามข้อเสนอของท่านพริษฐ์ ก็คือสภาของเรา โดยรวม นึกสภาพสภาของเราเหมือนสนามมวยลุมพินี อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจผมต่อย เหมือนผม ลุกขึ้นอภิปราย ผมขึ้นชก ผมไม่รู้ว่าผมเป็นคู่อะไร คู่รอง คู่ไหนอะไรก็ไม่รู้ แต่คิดสภาพว่าถ้าวันหนึ่งเรามีนายกรัฐมนตรีให้เกียรติสภามาทุกสัปดาห์เลย มาโชว์วิสัยทัศน์ ของท่าน มาโชว์ความเก่งกาจของท่าน เพื่อให้ได้รับความยอมรับ ทุกสัปดาห์ กับมวยเด็ด ซึ่งต่อไปยกตัวอย่างปัจจุบันเป็นหัวหน้าผู้นำฝ่ายค้านพรรคผม คุณชัยธวัช ตุลาธน คงดีไม่น้อย หรือในอนาคตถ้าหัวหน้าพรรคคนก่อนของเรา คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มา ผมว่า Rating กระฉูดทุกสัปดาห์แน่นอนครับ ผมว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสภาของเราแน่นอน ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ว่าสภาของเราที่ผมได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าต้อง Overhaul หรือว่าปรับปรุง เครื่องยนต์ใหญ่ ผมว่าร่างสภาก้าวหน้าอันนี้จะเป็นจุดสำคัญที่เราจะสามารถเป็นแนวทาง ในการที่ทำให้เครื่องยนต์ของเราทันสมัยเพื่อขับเคลื่อนงานของฝ่ายนิติบัญญัติครับ ผมมอง ไม่เห็นเลยว่าจะมีเหตุผลอันใดที่จะไม่รับหลักการในข้อบังคับนี้ ดังนั้นท่านประธานครับ ผมขอสนับสนุนและโหวตให้ร่างฉบับนี้ หลักการนี้ ผ่านเข้าไปพิจารณาในวาระสอง ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไป ขอเชิญ คุณอรรถกร ศิริลัทธยากร ครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ก่อนอื่นผมเรียนต่อท่านประธานนะครับ แล้วก็ จะขออนุญาตผมอาจจะใช้เวลาเกินไปสักนิดหนึ่ง เพราะเมื่อสักครู่นี้ท่านผู้เสนอญัตติ ด้วยความเคารพท่านนะครับ ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล ท่านใช้เวลาไป ๒๐ กว่านาที แล้วก็ประเด็นของท่านต้องบอกว่าผมเชื่อว่าทางคุณพริษฐ์ ได้ร่างข้อบังคับฉบับนี้ ขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่ดีหลายประเด็น ดังนั้นเองถ้าผมจะอภิปรายมันมีหลายประเด็น ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง ท่านประธานด้วยความเคารพ ขอบพระคุณครับ เมื่อสักครู่นี้ทางผู้ยื่นแก้ไขร่างข้อบังคับฉบับนี้ได้ใช้ชื่อว่า ร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎรก้าวหน้า ผมก็เคารพในความคิดของท่าน แต่ว่าผมมาอ่านร่างไล่เรียง การขอยื่นแก้ไขในแต่ละข้อผมมองว่าร่างฉบับนี้เหมือนกับร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎรฉบับต้องการจะบีบคอฝ่ายบริหาร หรือเรียกง่าย ๆ ว่าต้องการจะบีบคอ คณะรัฐมนตรีเสียมากกว่า เหตุผลเป็นอย่างไรเดี๋ยวผมจะขออนุญาตอธิบายในภายภาคหลัง ท่านประธานที่เคารพครับ การที่ผมได้เป็น สส. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เริ่มเป็น ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ นี่ก็ผ่านมา ๑๒-๑๓ ปีแล้ว ผมตระหนักดีครับว่าสภาแห่งนี้เราทำหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติ เราไม่ได้ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร ดังนั้นเองข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เปรียบเสมือนคัมภีร์ ให้พวกเรา สส. ทั้งหมด ๕๐๐ คน ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติให้สำเร็จ ลุล่วงเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนไปได้ ดังนั้นเองต้องทำความเข้าใจว่าเราไม่ใช่ ฝ่ายบริหาร เราทำงานไม่เหมือนฝ่ายบริหารครับ ท่านประธานด้วยความเคารพครับ มีหลากหลายประเด็นผมจะหยิบยกมาเป็นบางประเด็นก็แล้วกันที่ทางผู้ยื่นเสนอแก้ไข เขาได้ เสนอแก้ไขผ่านท่านประธานมายังที่ประชุมนะครับ ผมยกตัวอย่างในข้อ ๑๑ เลยแล้วกัน โดยให้ยกเลิกความในวรรคสอง ของข้อ ๘๐ แห่งข้อบังคับ โดยได้เขียนว่าในกรณีที่สมาชิก เสนอญัตติให้ลงคะแนนลับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของสมาชิกในที่ประชุม ก็ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย ท่านประธานที่เคารพครับ ในบางกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรามีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในเชิงลับ และแน่นอน การลงลับหรือไม่ลับมันก็เป็นสิทธิของเพื่อนสมาชิก ที่จะเลือกได้ว่าเราจะลงลับหรือไม่ลับ แต่ผู้เสนอบอกว่าถ้าไม่อยากลงลับให้ลงโดยเปิดเผย ผมไม่แน่ใจ บางครั้งการลงเปิดเผย เพื่อที่จะกดดันเพื่อนสมาชิกที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองเสนอก็ได้ แต่ทำไมถึงตั้งว่า ให้ใช้เสียงแค่หนึ่งในสาม ทำไมไม่ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสภาตามมาตรฐานปกติของเรา นี่คือ ข้อแรกที่ผมไม่เห็นด้วย
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ต่อไปครับท่านประธานในข้อ ๑๔ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดว่าประธาน คณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ได้มาจากฝ่ายบริหารหรือพรรคที่มาจาก ฝ่ายบริหารหลัก ๆ ๓ คณะด้วยกัน คณะแรก ก็คือคณะ ป.ป.ช. ป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ คณะที่ ๒ ก็คือศึกษาและจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ คณะที่ ๓ ก็คือคณะกิจการสภา ทำไมครับท่านประธาน พรรครัฐบาลเป็นประธานกรรมาธิการ เหล่านี้ไม่ได้อย่างนั้นหรือ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถส่งคนของเราเป็นประธานกรรมาธิการ คณะเหล่านี้ไม่ได้หรือ ทำได้ครับ ถ้าทำดีก็เกิดประโยชน์กับพวกเรา เกิดประโยชน์กับประเทศ ถ้าทำไม่ดี ฝ่ายรัฐบาลถ้ามัวแต่จะไปปกป้องรัฐบาลของตัวเอง ชาวบ้านประชาชนเขาเห็นครับ ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองครับ มาเขียนล็อกอย่างนี้ผมว่ามันเป็นการลิดรอนสิทธิของสมาชิก ที่จะเป็นประธานกรรมาธิการ บางคนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกิจการสภา เป็นประธาน กรรมาธิการกิจการสภาไม่ได้หรือครับ นั่นคือประเด็นที่ ๒ ที่ผมไม่เห็นด้วยนะครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ประเด็นถัดไปในข้อ ๙๘ โดยเนื้อหาใจความหลัก ๆ ก็คือการประชุม คณะกรรมาธิการย่อมเป็นการเปิดเผย เว้นแต่สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกทั้งหมดร้องให้ประชุมลับ ท่านประธานครับ ผมเรียนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วงหลัง ๆ ในการประชุมกรรมาธิการก็มีทั้งผู้เข้ามาชี้แจง แล้วหลาย ๆ ครั้งจะเป็นการต่อสู้กัน เป็นการอภิปรายตรงข้ามกันของทั้งสองฝ่าย ผู้ถูกร้องเรียนกับผู้ร้องเรียน บางครั้งผมเห็นมี เพื่อนสมาชิกขออนุญาตไม่เอ่ยนาม ไม่เอ่ยพรรค เอามือถือขึ้นมาถ่ายวิดีโอตลอด แบบนี้ ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกรรมาธิการหรือไม่ ท่านประธานลองคิดภาพตามผม สักนิดหนึ่งนะครับ ถ้าท่านประธานกำลังทำงานอยู่ในห้องประชุม สองฝ่ายอาจจะมีข้อทะเลาะ เบาะแว้งกันบ้าง โดยเฉพาะข้าราชการเขาไม่มีสิทธิ เราเป็นสมาชิกเราได้รับสิทธิคุ้มครอง แต่ข้าราชการเขาไม่มี แล้วมีคนมาถ่ายวิดีโอตอนที่ข้าราชการเขามาชี้แจงตลอด ท่านคิดว่า ข้าราชการเขาจะกล้าพูดความจริงทั้งหมดออกมาหรือไม่ นี่คืออุปสรรคครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ประเด็นถัดไปครับท่านประธาน ด้วยความเคารพ เรื่องเกี่ยวกับข้อ ๑๑๔ ในกรณีที่ประธานสภา ผมเอาสั้น ๆ แล้วกัน ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง ส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีไม่รับรองภายใน ๓๐ วัน ให้ถือว่า ครม. รับรอง และให้สามารถบรรจุสภาได้โดยอัตโนมัติ ท่านประธานครับ ต้องบอกว่าเรื่อง พ.ร.บ. การเงิน การคลัง จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้เงิน หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกรม เวลาเขาจะต้องใช้เงินเพิ่มมันมีผล เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ทั้งนั้นครับ ถ้าเราไปบังคับว่าถ้านายกรัฐมนตรีเขามีเซ็นบางครั้งก็ต้องยอมรับ ตรง ๆ ว่าที่นายกรัฐมนตรีเขาไม่เซ็นเพราะว่าเขาไม่รับ เขารู้ว่ารับขึ้นมาแล้ว กระทรวงหรือกรม ทำงานไม่ได้ แต่นี่จะมาบอกว่าให้รับเป็นอัตโนมัติผมไม่เห็นด้วย
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ในประเด็นถัดไปครับท่านประธาน ด้วยความเคารพจะพยายามใช้เวลา ให้กระชับ ในข้อ ๒๔ ที่ทางผู้เสนอได้ยื่นแก้ไขนั่นก็คือข้อ ๑๔๕ กระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ท่านประธานครับ ทุกวันนี้เรามีกระทู้อยู่ ๓ รูปแบบอยู่แล้ว กระทู้สดด้วยวาจา กระทู้ถาม ทั่วไป กระทู้แยกเฉพาะ ท่านประธานครับ เราจะเพิ่มกระทู้แบบที่ ๔ เพื่อถามนายกรัฐมนตรี อีกหรือ เพราะว่าทุกวันนี้กระทู้สด กระทู้ทั่วไป กระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อนสมาชิก ก็ถามหลัก ๆ ไปที่นายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นสิทธิที่ท่านนายกรัฐมนตรี จะมอบหมาย คนในคณะ ครม. ให้มาตอบแทนได้ ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีไม่มาตอบบ่อย ๆ ไม่ต้องห่วงครับ ผลเสียก็ตกอยู่กับตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง ดังนั้นผมก็ไม่เห็นด้วยครับ และที่ไม่เห็นด้วยยิ่งไปกว่านั้นนะครับ ในเรื่องกระทู้สดที่ถามนายกรัฐมนตรี ในข้อ ๑๕๕/๒ ให้แบ่งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีจาก ผู้นำฝ่ายค้าน โดยผู้นำฝ่ายค้านมีสิทธิตั้งคำถามครั้งละไม่เกิน ๖ คำถาม ผมกราบเรียนถาม ท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกนะครับ ท่านผู้นำฝ่ายค้านเอาอภิสิทธิ์อะไร มาได้อภิสิทธิ์ เหนือกับสมาชิกอีก ๔๙๙ คน ไม่มีครับ ผู้นำฝ่ายค้านสามารถโหวตได้ ๑ เสียง ผม สส. ๓ สมัยก็โหวตได้ ๑ เสียงเหมือนกันเพราะฉะนั้นการถามกระทู้ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ อภิสิทธิ์กับผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ว่าผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นพรรคไหนก็ตาม ผมเชื่อว่าสภานี้เป็น สภาแห่งความเท่าเทียมครับ ทุกคนมีช่องทางถ้าท่านผู้นำฝ่ายค้านอยากจะถามกระทู้ มากกว่าคนอื่น ไม่ยากครับก็ไปที่ฝ่ายกฎหมายไปยื่นกระทู้ ยื่นให้เยอะเข้าไว้ครับ ยิ่งยื่นเยอะ ก็มีโอกาสถามเยอะ นอกจากนี้ยังจะมีการแบ่งเวลาในการถามกระทู้สด ยกตัวอย่างทุกวันนี้ เรามีกระทู้สด ๓ กระทู้ครับท่านประธาน ๑. เป็นของรัฐบาล อีก ๒. เป็นของฝ่ายค้าน ในทุก ๆ สัปดาห์ ยกตัวอย่างถ้าผมเป็นผู้ถามกระทู้ แล้วผมมีเวลาครึ่งชั่วโมง ๓๐ นาที ถ้าผมถามใช้เวลา ๒๐ นาที ในข้อบังคับที่ถูกเสนอจะให้โอนเวลาที่ผมใช้ไม่หมดไปให้ อีก ๒ กระทู้ ทำไมผมจะต้องแบ่งให้ ท่านประธานครับทุกคนที่อยู่ที่นี่ได้รับความคาดหวัง ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเรามีวุฒิภาวะครับ การถามกระทู้ไม่ว่าจะเป็น กระทู้สด ๓๐ นาที กระทู้ทั่วไป ๒๐ นาที หรือกระทู้แยกเฉพาะ ผมเชื่อว่าผู้ถามกระทู้ เรามีวุฒิภาวะพอที่จะบริหารจัดการเวลาของตัวเราเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าผมใช้เวลาไม่หมด ก็ไม่เป็นไรก็ตัดไป ถ้าฝ่ายรัฐบาลใช้ไม่หมดก็ตัดไป ฝ่ายค้านก็สามารถบริหารเวลาของ ตัวเองได้ ผมถามกลับกัน ถ้าฝ่ายค้านถามไม่หมด ผมมาเอาเวลาเพิ่มได้ไหม หรือผมบอก ผมเป็นฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ถามกระทู้แรก ผมใช้เวลาเกินผมบอกไม่เป็นไรครับ ไปหักเอาจาก ฝ่ายค้านได้มันถัว ๆ กัน อย่างนี้มันไม่ถูกต้องครับท่านประธาน ด้วยเหตุผลที่ผมได้กล่าวมา ครับท่านประธาน ผมจึงค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบังคับข้อนี้ แต่อย่างไรก็ดี ผมเคารพผู้เสนอนะครับ และเชื่อจากใจจริงว่าท่านผู้เสนอนั้นต้องการจะให้ร่างข้อบังคับ เป็นข้อบังคับที่มีความก้าวหน้า แต่ผมย้ำครับท่านประธาน ผมอยู่ตรงนี้มานาน ข้อบังคับ เราต้องคิด เราต้องคำนึงถึงการนำไปปฏิบัติจริง ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ทำงาน ได้ต่อไป ผมจึงขออนุญาตท่านประธาน ความเห็นผม ผมคงอาจจะไม่เห็นด้วยกับร่างของ เพื่อนสมาชิก แต่ด้วยความเคารพนะครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสิริลภัส กองตระการ ครับ
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอมาอภิปรายสนับสนุนให้รับหลักการ เรื่องของร่างข้อบังคับการประชุมที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่าข้อบังคับสภาก้าวหน้านะคะ อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านลองถอดหมวกของการเป็นผู้แทนราษฎร แล้วสวมหมวกของ การเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเราเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเราอยาก จะได้สภาแบบไหน ซึ่งดิฉันก็ลองไปคิดถึงความคิดเห็นของประชาชนโดยอิงจากความเห็น ส่วนตัวของดิฉันเองว่า ถ้าเกิดว่าเรามีร่างข้อบังคับประชุมใหม่นี้ การเมืองไทยไปได้ไกล แน่นอน เพราะว่าอะไรคะ อย่างที่ท่าน สส. พริษฐ์ได้อภิปรายไปแล้ว ดิฉันก็มีความคิดเห็น ตรงกันในหลาย ๆ ประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะให้ประชาชนได้ทราบทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารสนเทศที่ประชาชนเข้าถึงได้ตลอด ประชาชนจะรู้สึกใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น หรือว่าไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบได้ในการ จัดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเรื่องของการปรึกษาหารือต่าง ๆ แล้วก็ได้ทำการติดตามว่า หน่วยงานนั้นได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว มันก็จะมีหลาย ๆ กรณีเลยค่ะว่า สส. ได้ปรึกษาหารือ ครั้งที่ ๒ ก็ต้องมาทวงถามเรื่องของการปรึกษาหารือครั้งแรกว่ายังไม่ได้รับการตอบรับจาก หน่วยงานใดเลย มันจะดีกว่าไหมคะ ถ้าเกิดว่าเราสามารถติดตามผลของการดำเนินงาน จากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ สส. ได้ทำการปรึกษาหารือไปได้ แล้วประชาชนก็ได้รับทราบ ด้วยนะคะ
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องต่อไป เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ท่านพริษฐ์ได้บอกไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน ๕,๐๐๐ คน เสนอต่อสภาให้ถือเป็นเรื่องด่วน อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าตอนนี้เงื่อนไขมันอาจจะมาก แล้วทำให้ประชาชนรู้สึกว่า มีความท้อใจไม่อยากจะยื่นอะไร เพราะว่ากว่าจะยื่นเข้ามาได้ไม่นับญัตติหรือ พ.ร.บ. อะไร ที่ สส. ได้เข้าไปยื่นเองก็เรียงคิวกันยาวมาก ๆ แล้ว แทบจะไม่มีความหวังในการที่จะให้ ร่าง พ.ร.บ. ของตัวเองได้เข้ามาสู่สภาเลยนะคะ
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัว ตอนนี้บริบทของสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ในข้อบังคับข้อ ๖๙ ที่เราเพิ่มเติมขึ้นมามีการโอบรับไม่ให้เราอภิปรายเสียดสีหรือว่าใส่ร้าย ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา เพศสภาพ เพศวิถี สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม หรืออาชีพ หรือความคิดเห็น ทางด้านการเมือง ตอนนี้มันคือการต้องปรับตัวแล้วค่ะ เพราะว่าบริบทมันเปลี่ยนไป ท่านประธานคะ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่จะเข้ามาช่วยในการทำงานให้กับ ทุก ๆ ท่านให้กับสภาได้มีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้เข้าถึง ข้อมูลมากขึ้น คำถามคือทำไมเราถึงไม่ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้มันเป็นประโยชน์
นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องต่อไป เรื่องของเจตจำนง ถ้าสภาแห่งนี้มีเจตจำนงอยากให้การเมือง เป็นเรื่องของทุกคน จริง ๆ ก็ควรที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลแล้วก็ได้ Update ข้อมูล ไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือคณะกรรมาธิการเองก็ดี ให้ได้รับรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย และอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือดิฉันมานั่งคิดดูแล้วว่าเรื่องนี้ในการที่จะ ทำให้สภาโปร่งใสตรวจสอบได้หรือว่ามีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ นี้มันมีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไร ดิฉันยังไม่เห็นส่วนเสียนะคะ ถ้าเกิดว่าจะไม่มีเจตนาที่จะต้องปิดบังอะไร ดิฉันเห็นแต่ มีส่วนได้ ส่วนได้กับใครบ้าง ส่วนได้ส่วนแรกก็คือผู้ทำงานนั่นเอง เราในฐานะ สส. เราก็จะได้ รายงานการทำงานให้กับประชาชนได้ทราบ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าคนที่เขาเลือกเข้ามา ทำงานแทนเขาเป็นผู้แทนราษฎรทำงานคุ้มค่า คุ้มเงินภาษีที่เขาจ่ายมาเป็นเงินเดือนพวกเรา แล้วหรือเปล่า ส่วนได้กับประชาชน ประชาชนก็จะได้ติดตามข้อมูลได้รับทราบข้อมูลไป พร้อม ๆ กัน แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ท่านประธานคะ ตอนนี้บริบททางการเมืองยุคใหม่มันแตกต่างจากสมัยก่อนแล้ว ประชาชนมีช่องทางในการ เข้าถึงข้อมูลได้มากมายหลากหลาย แล้วทำไมรัฐสภาถึงไม่ยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลหรือว่า ทำให้รัฐสภามันโปร่งใส ถ้าเกิดว่าเราอยากจะให้รัฐสภานี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็ควรจะ มีบทบาทในการส่งเสริมให้กับประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล ได้ติดตามข่าวสารข้อมูล ทำให้สภา โปร่งใสตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม มีการปรับตัว และดิฉันเชื่อว่าถ้าเกิดว่าเราทำได้ ทั้งหมดใน ๔ มิตินี้ รัฐสภาของเราจะไปได้ไกลและพัฒนามากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนค่ะ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณธีระชัย แสนแก้ว ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ กระผมใคร่ขออนุญาตอภิปรายร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้เสนอ ดังนี้ครับ ท่านประธานครับ เมื่อมี การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้รัฐสภาของประเทศเรามี ๒ สภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างทำหน้าที่ เป็นองค์กรนิติบัญญัติ ตรากฎหมาย ใช้ข้อบังคับภายในรัฐ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาล ท่านประธานครับ การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรหรือการทำงานของ สภาผู้แทนราษฎรเรานั้นจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเราถือกันอยู่ในมือนี้จะเป็น กฎหมายที่กำหนดถึงขั้นตอนวิธีการในรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการทำงานของเรา เพื่อให้การทำงานของเราเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎกติการะเบียบอันเป็นประโยชน์สูงสุด ของพี่น้องประชาชนและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ท่านประธานครับ ผมได้อ่านร่างของท่านพริษฐ์ ซึ่งเป็นผู้เสนอก็มีแนวความคิด มีหลายประเด็นที่ท่านมี แนวความคิดและมี Idea ที่ดีมากนะครับ แต่ก็มีบางประเด็นครับท่านประธาน กระผมมีความเป็นห่วงและมีความกังวลที่เราจะแก้ไข ข้อบังคับการประชุมของเราฉบับนี้ และจะเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านทฤษฎี เรื่องกฎหมายหลักกฎหมายรวมถึงขั้นการปฏิบัติงานของจริงที่จะเป็นปัญหาขึ้นครับ เพราะว่าถ้าร่างมาแล้ว ข้อบังคับถ้าผ่านแล้ว ถ้าปฏิบัติจริงไม่ได้มันก็เกิดปัญหา มันไม่ประสบ ความสำเร็จหรอกครับท่านประธาน ผมรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ประเด็น ที่ผมกังวลก็คือแก้ไขข้อบังคับที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับกระทู้ถาม ข้อ ๒๔ และข้อ ๒๙ เกี่ยวกับ กระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีครับท่านประธาน ร่างของท่านมีการเพิ่มกระทู้สด นายกรัฐมนตรี เข้ามาในข้อบังคับการประชุมของเรา ซึ่งปัจจุบันข้อบังคับของปี ๒๕๐๖ ตามข้อบังคับ แก้ไขปี ๒๕๖๒ กระทู้ ๓ ประเภท ซึ่งกระทู้ถามด้วยวาจา กระทู้ทั่วไป กระทู้แยกเฉพาะ ที่ผ่านมาก็เป็นประโยชน์ ซึ่งต้องขอชื่นชมยินดีท่านชวน หลีกภัย ที่เป็นประธานชุดที่แล้วได้มี การปรับขึ้นมาจากกระทู้สดและกระทู้แห้งมาเป็นกระทู้แยกเฉพาะ ซึ่งกระทู้ที่เพื่อนสมาชิก ได้เสนอไปมันเยอะ ซึ่งกระทู้ถามแยกพวกเราถามตอบรัฐมนตรี ที่กระทู้บริเวณชั้น ๑ ก็เกิด เพิ่มเติมมาเป็นครั้งแรกในชุดที่ ๒๕ ชุดที่แล้วขอชื่นชมคณะกรรมาธิการที่มีการร่างข้อบังคับ เมื่อคราวที่แล้วเพิ่มเติมขึ้นมา ขอชื่นชมจริง ๆ เพราะผมเป็น สส. ชุดที่ ๒๖ ชุดนี้ ซึ่งท่าน สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนที่ สส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอและมาถามให้กับรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการ คือรัฐมนตรีสามารถแยกออกมา ตอบกระทู้ได้ตามสบายที่เกี่ยวข้อง และสามารถตอบได้อย่างถูกจุดถูกต้องและสนอง ความต้องการของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ส่วนในร่างข้อบังคับฉบับนี้เป็นการเพิ่มกระทู้สดนายกรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่งผม ได้อ่านแล้วพบว่ากระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีกำหนดว่า ๑ สัปดาห์มีกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้กำหนดว่าทั้งหมดจำนวนกี่กระทู้ ๑ ครั้งกี่กระทู้ เพราะจำนวน กระทู้ทั้งหมดจะเป็นไปตามเวลาที่เหลืออยู่ตาม ข้อ ๑๕๕/๖ ซึ่งความแตกต่างจากกระทู้ ถามสดด้วยวาจา กระทู้ถามทั่วไป ถูกกำหนดไว้ในข้อ ๑๕๐ กำหนดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๓ กระทู้ และยังแตกต่างกับกระทู้แยกที่กำหนดไว้ในประกาศสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำนวน กระทู้ถามแยก พ.ศ. ๒๕๖๒ ว่าไม่เกิน ๖ กระทู้ต่อสัปดาห์ ท่านประธานครับ กระผม ขออนุญาตเรียนถามผู้เสนอร่างว่าการกำหนดระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรีตอบคำถามไม่เกิน ๒ นาที จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงหรือครับ พี่น้องประชาชนจะได้รายละเอียด ข้อมูลข้อเท็จจริงในการทำงานของฝ่ายบริหารมากน้อยเพียงใด ๒ นาที แค่จามมันก็ หมดแล้วครับ ท่านประธานครับกระทู้ถามคือกลไกการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ฝ่ายนิติบัญญัติใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารครับท่านประธาน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการ Discredit รัฐบาล หรือ Discredit นายกรัฐมนตรีแล้วครับ ท่านประธาน
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย ข้อ ๑๕๕/๙ วรรคสอง ท่านกำหนดว่าในสมัยประชุมหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะมอบให้รัฐมนตรีท่านอื่นมาตอบกระทู้ได้ไม่เกิน ๒ ครั้งต่อ ๑ สมัยการประชุม ท่านประธานครับ กระผมเชื่อโดยสุจริตเลยว่าทั้งท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกท่าน รัฐบาลเราชุดนี้นำโดยพรรคเพื่อไทย ทุกท่านมีหัวใจจิตวิญญาณยึดถือรัฐบาลชุดนี้เป็น รัฐบาลที่มาจากประชาชน นายกรัฐมนตรีพูดตลอด เป็นรัฐบาลของประชาชน เป็นรัฐบาล ที่ทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน เมื่อมีกระทู้ถามขึ้นมารัฐมนตรีจะต้องมาตอบกระทู้ถาม เพื่อให้ข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชนคลายความสงสัย และตอบข้อซักถามสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ครับ จะเห็นได้ว่าสมัยประชุมที่ผ่านมาท่านรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ ไม่เว้นแม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ต่างก็มาตอบคำถาม ตอบกระทู้ถามของ เพื่อนสมาชิกอยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งอาจจะไม่ทันอกทันใจฝ่ายค้าน ก็ต้องรอหน่อยครับ เป็นฝ่ายบริหารไม่รู้ วาระงานอะไรต่ออะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด เขาก็สามารถมีความตั้งอกตั้งใจในการที่จะ มาตอบกระทู้อยู่แล้ว ในร่างข้อ ๑๕๕/๙ ขออนุญาตแป๊บเดียวจะจบแล้วครับท่านประธาน วรรคสองนี้กำหนดให้ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีอื่นมาตอบกระทู้ได้ไม่เกิน ๒ ครั้งต่อ ๑ สมัยการประชุม กระผมคิดว่าไม่เป็นความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะการที่ นายกรัฐมนตรีจะพิจารณามอบหมายให้รัฐมนตรีท่านใดมาตอบกระทู้ ท่านนายกรัฐมนตรี ย่อมมองเห็นว่ากระทู้ถามอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านใด อย่างท่านถาม เรื่องเกษตร ท่านไปเอาเรื่องยุติธรรมมามันไม่ได้ ท่านก็ต้องมอบหมายให้คนที่ถูกต้องมา มันก็ต้องเตรียมการไว้ ไม่ใช่กระทู้สด ท่านตอบไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่เป็นอะไร เพื่อออกทีวีเฉย ๆ มันต้องเอาความจริงให้กับพี่น้องประชาชน ประเด็นกระทู้ถามอยู่ภายใต้กรอบของรัฐมนตรี ของแต่ละท่าน เพราะรัฐบาล เพราะรัฐมนตรีท่านใดที่สามารถตอบกระทู้ในหน้าที่การงาน ของตนก็จะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีจะพิจารณามอบหมาย ให้ท่านรัฐมนตรีท่านนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องครับ เป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยแล้ว ผมอยากจะขอเรียนกับทางฝ่ายค้านกับท่านผู้เสนอว่าเอาไว้ในช่วงจังหวะ ที่ท่านเป็นรัฐบาล ค่อยมาแก้ไขให้มันก้าวหน้ากว่านี้ครับ ขอขอบพระคุณครับ ผมไม่เห็นด้วย ในการที่จะมีการแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒ พรรคก้าวไกล ดิฉันขออภิปรายสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอยากให้มีการเพิ่มเติมความเชื่อมโยงกับประชาคมโลก พร้อมเพิ่มอำนาจและช่องทาง การมีส่วนร่วมของประชาชน ท่านประธานคะ ดิฉันยังไม่เห็นข้อบกพร่องของร่างของ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ แต่ในสิ่งที่ดิฉันมองว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของ ประชาชน ณ ตอนนี้มี ๕ ประเด็นหลัก ๆ ค่ะ ๑. คือโครงสร้างกฎหมายและกระบวนการ นโยบายที่ยังไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนมากเพียงพอ ๒. คือความพร้อมของรัฐค่ะ ท่านประธาน ๓. ยังขาดแคลนผู้มีทักษะในการใช้เครื่องมือสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ของประชาชน ๔. ยังไม่มีตัวชี้วัดหรือ KPI ที่ชัดเจนในการใช้เครื่องมือสร้างกระบวนการการ มีส่วนร่วมของประชาชน และไม่ได้มีตัวชี้วัดว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแต่เพียงใด ๕. เจ้าหน้าที่และประชาชนยังขาดการรับรู้ถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้นอุปสรรคที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดิฉันจึงอยากเสนอแนะแนวทางในการบรรเทา ปัญหาและอุปสรรคในประเด็นดังกล่าวนะคะ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศในโลกนี้ มีความติดต่อเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และสามารถส่งเสริมความก้าวหน้าและมั่นคงของประเทศ รวมถึงสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้นการยกระดับการติดต่อเชื่อมโยงกลไกที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรกับประชาคมโลกจะช่วยส่งเสริมให้กระบวนการประชุมสภา และของสมาชิกในแต่ละบุคคลคำนึงถึงหลักสากลมากยิ่งขึ้นค่ะ และช่วยลดบทบาท และกระบวนการที่ยึดโยงแต่เพียงผลประโยชน์หรือหลักการที่ละเมิดต่อผลประโยชน์ และสิทธิอันพึงมีตามหลักสากลของคนส่วนใหญ่ในประเทศเราค่ะ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเกี่ยวโยงกับอุปสรรคทั้งข้อ ๑ และข้อ ๕ ที่ได้กล่าวไปขั้นต้นเราควรให้ประชาชนได้รับรู้ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการเมืองในเชิงนโยบายและการตัดสินใจค่ะ ท่านประธาน ซึ่งถ้าจะมีคำศัพท์ที่ใช้อธิบายในการแก้ไขอุปสรรคก็คงจะเป็น Co-Creation ที่ใช้กันในทางธุรกิจก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนี้ได้เช่นเดียวกัน คือการเปิดรับ Idea ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเห็นที่หลากหลายจากกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในภาคธุรกิจ หรือในกรณีนี้ประชาชนในภาคการเมืองเพื่อให้นำไปสู่กระบวนการนวัตกรรมทางการเมือง ซึ่งกระบวนการข้างต้นสามารถจัดหรือทำเพิ่มช่องทางการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Online หรือ Offline ค่ะท่านประธาน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ป้องกัน การปลอมแปลงตัวตนหรือ Fake Identity ค่ะ พร้อมปกป้องและป้องกันการถูกคุกคาม โดยผู้มีอิทธิพล เช่น Blockchain และ Biometric ซึ่งนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ นี่ก็เป็น การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นพร้อมกับได้รักษาความเป็นส่วนตัว หรือว่า Right to Privacy ไปด้วยเช่นเดียวกัน และเรายังสามารถนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปปรับ โครงสร้างในสังคมในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เช่นเดียวกัน สุดท้ายในส่วนของค่าชี้วัด การใช้ช่องทางเหล่านี้ค่ะท่านประธาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงภาคประชาชน ที่ต้องการมีส่วนร่วม ในทางกลับกันประชาชนก็สามารถรับรู้ถึงกลไกรัฐได้ และยังทำให้ นโยบายที่ออกมาสะท้อนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนที่มีส่วนร่วมได้ อย่างชัดเจนค่ะท่านประธาน กราบขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวีรภัทร คันธะ
นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๖ พรรคก้าวไกล สำหรับเรื่องประเด็นนี้ขออนุญาตให้ความเห็นสนับสนุนร่างข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ตามข้อบังคับใหม่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ ๔ ข้อ ที่ควร Highlight ไว้ก็คือ ข้อ ๘ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๗ และข้อ ๒๑ ครับ ผมมองว่าข้อ ๘ การเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน สามารถเสนอญัตติให้พิจารณาได้ ผมคิดว่าสิ่งนี้คือการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง และก็การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเสนอญัตติให้กับสภาได้พิจารณาหารือและหาทางออกให้กับประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นการฟังเสียงของประชาชนโดยตรง ข้อ ๑๕ กำหนดให้การประชุมคณะกรรมาธิการ เปิดเผยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าถ้าการประชุมกรรมาธิการเป็นเรื่องที่เปิดเผย เวลาเรียก หน่วยงานราชการหรือเอกชนมาสอบสวนในประเด็นที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์และ ตั้งคำถามอยู่ ก็ให้ประชาชนได้รับทราบแล้วก็เห็นการตอบข้อซักถามของหน่วยงาน เพื่อสร้าง ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม ตัวอย่างเช่นสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาก็ได้เรียก CEO ของ TikTok มาสอบสวนถึงการครอบงำการบริหารของบริษัทจากจีน ซึ่งทำให้ประชาชน หายกังวลและตอบข้อสงสัยของประชาชน เป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กรหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน ซึ่งเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็สามารถมาชี้แจงต่อตัวแทนของประชาชนได้ ข้อ ๑๗ กำหนดให้มีการเผยแพร่บันทึกการประชุม ผมมองว่าการที่เราจะเป็นสภาที่โปร่งใส เราจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ว่าผู้แทนของท่านพูดถึงอะไร มีความเห็นหรือลงมติในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของผู้แทนที่มีที่มา จากประชาชน ซึ่งต่อไปนี้ผู้แทนของประชาชนจะทำอะไรก็ตามก็จะต้องมีความรับผิดชอบ และข้อ ๒๑ กำหนดให้แปลทุกพระราชบัญญัติที่สภาให้ความเห็นเป็นภาษาอังกฤษ ข้อนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเราสามารถนำเอาพระราชบัญญัติของเราไปเปรียบเทียบ กฎหมายกับต่างประเทศได้ เราจะได้เห็นความต่างและสามารถวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อด้อย ของกฎหมายของเราเองและกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อที่ในอนาคตเราจะสามารถ นำข้อเปรียบเทียบเหล่านี้มาปรับปรุงและเป็นข้อถกเถียงในสภาได้ ข้อบังคับเหล่านี้จะทำให้ สภาของเรามีความเป็นประชาธิปไตยและมีความรับผิดชอบกับประชาชนมากยิ่งขึ้น และทำให้ประชาธิปไตยของเรามีคุณภาพและลงหลักปักฐานในสังคมได้อย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณจุลพงศ์ อยู่เกษ ครับ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออภิปราย สนับสนุนเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอการแก้ไขร่างข้อบังคับของการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ผมจะไม่ลงในรายละเอียดของร่าง แต่จะมี ๔ ประเด็นใหญ่ ๆ ที่อยากจะ เรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ท่านประธานทราบไหมครับว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อไรครับ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่พระที่นั่ง อนันตสมาคม ในครั้งนั้นมีการประชุมโดยไม่มีข้อบังคับ ผมก็ยังนึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า ประชุมอย่างไร หลังจากนั้นก็มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีชื่อว่า ข้อบังคับ การประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ และใช้ชื่อข้อบังคับนี้ จนมาถึงปี ๒๕๑๓ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนเป็นข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี ๒๕๒๒ ผมดูข้อบังคับต่าง ๆ ที่ผ่านมาในอดีตแล้วจับไล่เลียง ปรากฏว่าไม่ว่าจะรูปแบบ หัวข้อจะเหมือนกันหมดล่ะครับ ไม่น่าเชื่อตั้งแต่ปี ๒๔๗๖-๒๕๖๒ นี้หัวข้อต่าง ๆ รูปแบบ จะเหมือนกันหมด จะมีเพิ่มก็คือ ๑. เรื่องการหารือ ๒. จำนวนคณะกรรมาธิการสามัญ แล้วก็เรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ คือประเทศไทยมียุทธศาสตร์การปฏิรูปกฎหมาย แต่เราไม่มี การปฏิรูปองค์กรที่ออกกฎหมายหรือสภานิติบัญญัติ ผมเห็นว่าในส่วนตัวนะครับด้วยความ เคารพท่านสมาชิก การประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเรายังมีสิ่งต้องปรับปรุง ประสิทธิภาพอีกมาก สมัยนี้เป็นการประชุมสมัยที่สองนะครับ แต่สมัยที่หนึ่งเราไม่มีการ ผ่านร่างกฎหมายสักฉบับเลย เรามีการหารือในหัวข้อเดียวกันในเรื่องเดียวกัน พูดเหมือนกัน ๒ วัน เราเสียเวลาไปกับการอภิปราย ดังนั้นผมจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่การประชุมสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ เมื่อดูข้อเสนอหลักของเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล เสนอในเรื่องข้อบังคับแล้วมีหัวข้อหลัก ๔ หัวข้อ คือ ๑. ยกระดับประสิทธิภาพ ๒. เพิ่มความโปร่งใส ๓. รับประกันความเป็นธรรม ๔. เชื่อมโยงประชาชน ผมขอถาม เพื่อนสมาชิกในที่นี้ว่ามีเพื่อนสมาชิกคนไหนบ้างที่ไม่เห็นด้วยใน ๔ หัวข้อนี้ คือไม่เห็นด้วยว่า การประชุมสภาของเราจะต้องมีประสิทธิภาพ ไม่เห็นด้วยว่าการประชุมสภาของเราจะต้อง โปร่งใสและไม่ต้องมีความเป็นธรรม และการประชุมสภาของเราไม่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน หัวข้อสุดท้ายเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผมได้อภิปรายไปแล้วว่าถ้าสงสัยคลางแคลงใจ ก็แปรญัตติสงวนว่าใช้บทเฉพาะกาลว่าให้ข้อบังคับแก้ไขนี้ไปใช้ในเฉพาะ สส. ชุดหน้า ผมจึง ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเพื่อนสมาชิกของผมที่เสนอการแก้ไขนี้เพราะเป็นฝ่ายค้านหรือเพราะเป็น ฝ่ายรัฐบาล ทำไมเพื่อน สส. เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่รับหลักการไปก่อนครับ ข้อไหนที่ท่านไม่เห็นด้วยก็ไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการสามัญ ในอนาคตใครจะทราบว่าเหตุการณ์ เป็นอย่างไร ถึงเวลานั้นถ้ามีการแก้ไขตามที่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลของผมเสนอแล้ว ถึงเวลานั้นท่านอาจจะดีใจก็ได้ว่ามีการแก้ไขร่างข้อบังคับฉบับนี้ อนาคตเราไม่ทราบเลย แล้วผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้คาดคิดว่าเราเสนอเรื่องนี้ เพราะเป็น ฝ่ายค้านหรือเพื่อจะเป็นรัฐบาล แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการประชุม เพื่อความโปร่งใส การประชุม เพื่อรับประกันความเป็นธรรมและเพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณมานพ คีรีภูวดล ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายร่างแก้ไขข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ นะครับ ท่านประธานครับเห็นว่าท่านสมาชิกได้อภิปรายในแง่ของหลักการหรือว่าข้อเสนอแนะ ในเชิงระบบชัดเจนอยู่แล้ว ทั้ง ๙ ข้อที่คุณพริษฐ์ได้นำเสนอต่อสภาแห่งนี้ว่ามันมีความจำเป็น ที่จะต้องแก้ไข มันมีหลักการอยู่ ๔ ประการ ที่ท่านจุลพงศ์ได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ เพื่อให้ เห็นภาพผมขออนุญาตย้ำในเชิงหลักการชัด ๆ อีกรอบหนึ่ง เดี๋ยวผมจะลงรายละเอียด ในบางประเด็น คือมันมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงาน เรื่องนี้นะครับ เรื่องความโปร่งใสผมคิดว่ามันก็เป็นหลักการที่มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในการ ทำงาน ขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบราชการ ระบบสังคม ระบบอื่น ๆ ว่าต้องมีความโปร่งใส รัฐสภาเองก็ต้องปฏิรูปตัวเองครับ รับหลักการความเป็นธรรม อันนี้ก็ไม่ต่างกัน ในระบบ เรื่องสภายุติธรรม เรื่องสภาเสมอภาคอะไรพวกนี้ มันต้องไม่มีอำนาจที่มันไปแทรกแซง กระบวนการนิติบัญญัติของการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกที่เป็นผู้ทรงเกียรติ จากพี่น้องประชาชน และที่สำคัญคือมันต้องไปเชื่อมโยงกับพี่น้องประชาชน ทั้งหมด หลักการนี้มันเป็นข้อเรียกร้อง มันเป็นแนวการปฏิรูปของประเทศไม่ใช่หรือครับท่านประธาน ผมยกตัวอย่างนะครับ กรณีการยกระดับให้มีประสิทธิภาพ กรณีข้อ ๒ ที่ผู้เสนอได้เสนอว่า สภามีความหมาย ที่เป็นประเด็นที่สมาชิกบางท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยคือการเพิ่มพื้นที่ ให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นฝ่ายรัฐบาล จะเป็น ฝ่ายค้านอะไรก็ตามแต่นะครับ มันมีปัญหาอย่างนี้ สมัยที่แล้วผมก็เสนอว่ากระทู้อย่างนี้ครับ ผมยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้า ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับกี่กระทรวงครับ ท่านประธานทราบไหมครับ ไฟฟ้าก็คือกระทรวงมหาดไทยดูแลนะครับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่พื้นที่ปักเสาพาดสายนี้ ไปอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางพื้นที่ที่ผมลงพื้นที่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ห่างจากถนนเพชรเกษมไม่ถึง ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ของ กระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่สภาบอกว่าท่านครับแบบนี้ถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถามกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ ต้องถามที่นายกรัฐมนตรี คือปัญหา ในประเทศนี้ ท่านประธานครับมันมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมาตอบกระทู้นะครับ กระทู้สดในสภานี้ มันมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการเพราะว่ารัฐไทยรวมศูนย์อำนาจ อยู่ตรงนี้ คนที่จะมีอำนาจในการสั่งการในข้อคำสั่งราชการก็คือนายกรัฐมนตรี อันนี้คือ เป็นประเด็นหลักการสำคัญที่สุดครับท่านประธาน
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้มาตอบ ผมคิดว่าการสั่งการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมันดำเนินการได้ทันทีครับ เพราะฉะนั้นการที่นายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้สด คำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ อาทิตย์ ซึ่งใช้เวลาไม่มาก จะเป็นการแก้ปัญหา ให้พี่น้องประชาชนได้ทันทีครับ ท่านประธานทราบไหมครับผมเคยตั้งกระทู้และอภิปราย หลาย ๆ เรื่อง เรื่องก็วนอยู่นี้นะครับ ส่งภายในกระทรวง ตีปิงปองกันไปตีปิงปองกันมา สุดท้ายก็คือว่าเรื่องนี้ข้ามเป็นปีข้ามเป็นสมัย บางสมัยก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการทับซ้อนในการแก้ไข ปัญหา ที่มีการทับซ้อนในการบริหารราชการ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ทันที จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ทันทีท่านประธานครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ กรณีเรื่องการที่ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้นี้ ผมถือว่าเป็นการพบนายกรัฐมนตรี พบกับตัวแทนประชาชนอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ไม่เสียหาย อะไรเลยครับ การที่นายกรัฐมนตรีจะมาพบกับตัวแทนประชาชน เพราะแต่ละคนที่มานี้ ก็มาจาก ๗๐ กว่าจังหวัด มีตั้งแต่ภาคใต้ ประเภทลุ่มน้ำ ในทะเล ในภูเขา อย่างผมครับ ผมก็สามารถที่จะอธิบายอยากได้สื่อสารกับนายกรัฐมนตรีได้ว่าพี่น้องประชาชนบนพื้นที่สูง มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่นายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้ก็ถือว่าเป็น นายกรัฐมนตรีพบกับตัวแทนประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีไม่มีทางที่จะไปพบกับ ๗๖ ล้านคนได้ทันที เพราะฉะนั้นการที่พวกเรามาตั้งกระทู้นี้ ก็เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ผมถามว่ามันจะเสียหายอะไรครับ ทีนี้ในกรอบหลักการข้อ ๒ ที่ผมจะลงรายละเอียดคือเรื่องการเชื่อมโยงกับประชาชน อันนี้ สำคัญนะครับท่านประธาน ผมเห็นว่าสมัยการประชุมรอบที่ผ่านมา รัฐสภาที่ผ่านมาพี่น้อง ประชาชนได้ใช้พื้นที่รัฐสภามากขึ้น ต่างกับที่ผมเป็นสมัยที่ผมทำงานภาคประชาสังคม เป็น NGOs ครับ ท่านประธานลองเข้าไปดูประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วง เคยมีเอาสุนัข มาไล่พวกเรานะครับ ไปยื่นหนังสือเข้าไปในรั้วรัฐสภาก็ไม่ได้ครับท่านประธาน มียามของ รัฐสภามารับหนังสือพวกเรา แต่รอบแบบนี้ผมเห็นพี่น้องประชาชนจากทั่วสารทิศ เจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวกขึ้นมา เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ถ้าให้มันเป็นเชิงหลักการ กรณีการเสนอ กฎหมาย ตอนนี้เราใช้หลักการที่ว่าประชาชน ๑๐,๐๐๐ รายชื่อเสนอกฎหมาย ลดลงหน่อย ได้ไหมครับ การที่ประชาชนเขาจะมีพื้นที่ในทางข้อเสนอกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ๑๐,๐๐๐ คน ไม่ใช่หาง่าย ๆ นะครับท่านประธาน ยังดีครับวันนี้สามารถที่จะลงชื่อในระบบ Online ระบบดิจิทัลได้ แต่ก็ไม่ง่ายนะครับท่านประธาน กฎหมายบางกฎหมายที่พี่น้องประชาชน สนใจที่จะเสนอ ถ้าเราลดจำนวนคนลงมา ๕,๐๐๐ คนก็มีสิทธิที่จะเสนอ ผมคิดว่าจะเป็น โอกาสดี เพราะฉะนั้นก็จะเป็นกระบวนการรัฐสภาภายใต้ข้อบังคับรัฐสภา เปิดประชาธิปไตย โดยตรง ทางตรงให้กับพี่น้องประชาชนใช้สิทธิตามสิทธิรัฐธรรมนูญและข้อบังคับเหล่านี้ จะนำไปสู่การเอื้ออำนวยให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลที่รวมตัวกันที่จะเสนอกฎหมาย ผมถามว่า มันผิดอะไรครับตรงนี้ ผมถามว่ามันจะไปขัดแย้งอะไร หลักการและจะปฏิรูปประเทศ ผมถามว่ามันจะไปขัดแย้งกับหลักการเรื่องการพัฒนาระบบประชาธิปไตยอย่างไรครับ ในประเด็นการเชื่อมโยงประชาชนนี้สิ่งที่มีความจำเป็นเราจะเห็นว่ากฎหมายประชาชน ที่เสนอเข้ามาบางทียิ่งไปใหญ่นะครับ ตอนนี้ก็คือว่าเสนอเข้ามาก็ปัดตก ปัดตก ปัดตก อะไรพวกนี้ เพราะประชาชนไม่ได้มีตัวแทนในการพูดตรงนี้ และที่สำคัญก็คือว่ากฎหมาย ของประชาชนมารอแล้วรออีกครับ สภาไม่ได้พิจารณา ผมคิดว่าข้อเสนอของคุณพริษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้นำเสนอนี้ กฎหมายที่ประชาชนเสนอควรจะ เป็นกฎหมายที่มีความเร่งด่วน มีความเร่งด่วนที่สภาจะพิจารณาให้ความเห็นและพิจารณา ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิโดยทางตรง ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้อภิปราย ผมถามสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ผมถามท่านประธาน ผมถามพี่น้องประชาชนว่าถ้าคิดจะปฏิรูป ประชาธิปไตย ถ้าคิดจะปฏิรูปประเทศไทย การเริ่มปฏิรูปจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ โดยหลักการการยกระดับคุณภาพ โดยหลักการการเพิ่มความโปร่งใส โดยหลักการ การรับประกันความเป็นธรรม โดยหลักการการเชื่อมโยงกับประชาชน ผมถามว่า ๔ หลักการ ๙ ข้อย่อยนี้มันผิดตรงไหนครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสิริน สงวนสิน ครับ
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะมาอภิปรายสนับสนุนญัตติการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภา ๒๕๖๒ ครับ การเมืองคืออะไรหรือครับ การเมืองคือการมีส่วนร่วมของประชาชนนะครับ หลาย ๆ คน ก็มีคำอธิบายแตกต่างกัน การเมืองอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารประเทศ การเมือง เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายรัฐ การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นในรัฐสภาแห่งนี้ทั้งนั้นครับ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่หลายครั้งเราอาจจะได้ยินว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องของความขัดแย้งบ้าง จนทำให้ภาพจำของหลาย ๆ คนไม่อยากมีส่วนร่วมกับการเมือง จนเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีและสังคมที่ควรจะเป็นครับ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงยาก ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารแห่งนี้ จนไปถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การหารือ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อ พ่อแม่พี่น้องประชาชนทั้งสิ้น แต่ประชาชนกลับเข้าถึงได้ยากและเข้าถึงได้น้อยมากครับ จนทำให้รู้สึกไปว่าเราไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย ข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ซึ่งเราบังคับใช้ไม่ได้นานนะครับ ในสังคม ที่ตื่นรู้ สังคมที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเผยแพร่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วอย่างปัจจุบัน ซึ่งปัจจัย เหล่านี้สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและ ความเป็นอยู่ เข้าถึงการเมืองและเข้าถึงเรื่องของทุกคนได้ง่ายขึ้น แต่หลาย ๆ ข้อบังคับ การประชุมกลับดูไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเท่าไรครับ ไม่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงง่าย ทั้ง ๆ ที่มันสามารถทำได้ง่ายมากนะครับ พวกเราพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุม เพิ่มประโยชน์จากเทคโนโลยีให้การทำงานของ พวกเราในรัฐสภาแห่งนี้ เชื่อมโยงและเพิ่มอำนาจเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในการทำงานของพวกเราให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ผมขอ อนุญาตยกตัวอย่างนะครับ ทุกวันนี้เราต่างใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารทั้งสิ้น ไม่ว่า จะเป็นการสั่งอาหาร เราก็สามารถกดส่งให้ถึงหน้าบ้าน อย่างนี้วันที่ ๑๒ เดือน ๑๒ ผมก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็นสถานที่อยู่ในที่นี้หรือทางบ้านก็ Shopping Online สามารถซื้อของจากร้านค้าทั่วประเทศได้ แต่กลับกันการทำงานของพวกเราในสภาแห่งนี้ กลับดูเข้าถึงยากจังเลยครับ การเผยแพร่ผ่านช่องทาง Online เป็นช่องทางที่สำคัญที่สุด ควรจะเป็นช่องทางที่ระบุไว้ในข้อบังคับเลยว่าควรจะทำ ไม่ใช่แค่ทางเลือกในการเผยแพร่ การทำงานของพวกเรา เช่น เอกสารภายในรายงานการประชุม การพิจารณาต่าง ๆ รวมไป ถึงการขาด ลา มาสาย ของพวกเรา พี่น้องประชาชนควรรู้ครับ เพราะเราคือผู้แทนของพวกเขา เรากินภาษีของพวกเขาอยู่ และสิ่งที่เราทำงานล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาทั้งสิ้น ตาม Slogan ของแต่ละพรรค แล้วแต่พรรคที่เราอยู่กันเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดไหน Slogan ไหน แต่สุดท้ายก็คือทำเพื่อประชาชนทั้งนั้นครับ วันนี้โอกาสมาถึงแล้วที่จะพิสูจน์ คำพูดของพวกท่านว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า เริ่มจากการเปิดพื้นที่สื่อสารให้ช่องทาง ให้ประชาชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วม สามารถมาตรวจการบ้านพวกเราตรวจสอบพวกเราได้ เพียงไม่กี่ Click ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ถ้าพวกเราเผยแพร่ข้อมูลพวกนี้ออกไปทาง Online ความคืบหน้าของงานสภาต่าง ๆ เช่น การพิจารณากฎหมาย การหารือความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเขาก็สามารถติดตามความคืบหน้าเหล่านี้ได้ครับ การปรึกษาหารือ เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมาก ๆ เพราะเป็นการนำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาแจ้งต่อ ที่ประชุม เพื่อที่จะให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถติดต่อและสามารถติดตามได้ แต่ทุกวันนี้ ผมนำเรื่องมาปรึกษาถึง ๒ รอบแล้วนะครับ สำหรับพ่อแม่พี่น้องในตลิ่งชันและทวีวัฒนา ก็ยังไม่สามารถติดตามได้เลยถึงความคืบหน้าว่ามันไปถึงไหนแล้ว ขนาดตัวผมเองยังไม่รู้เลย แล้วพี่น้องประชาชนเขาก็คงไม่มีเวลามานั่งตามดูหรอกครับ ผมเลยคิดว่าเราควรจะเปิดเผย ข้อมูลพวกนี้ให้อยู่ใน Online การประชุมของกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการก็เหมือนกันครับ ควรมีการถ่ายทอดสด Online ไม่ต่างกับการประชุมใหญ่ในห้องนี้ เพราะอย่างที่พูดไปทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาแห่งนี้มันล้วนส่งผลกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน พวกเขารู้ว่า เราตัดสินใจอะไรกัน ตัดสินใจเพื่อใครและตัดสินใจเมื่อไร และตัดสินใจอย่างไรครับ สุดท้ายนี้ เรื่องที่พวกเราพรรคก้าวไกลเห็นว่าสำคัญและควรมีก็คือเรื่องระบบข้อมูลที่สามารถนำไป วิเคราะห์ต่อได้ เราจึงเสนอให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมได้นำเสนอไปข้างต้นนั้นเผยแพร่ออกมา ในรูปแบบที่สามารถเป็นประโยชน์ในการนำไปศึกษาและประมวลผลต่อได้ เช่น ทำเป็น File ออกมาเราไม่ต้องมานั่ง Key เข้าไปใหม่อีกนะครับ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นและแก้ไข ได้ง่ายมากครับ เพื่อให้การทำงานของเรานั้นโปร่งใสและเกิดประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนให้คุ้มกับภาษีที่พวกเขาจ่ายให้พวกเรามานั่งทำงานในรัฐสภาแห่งนี้ครับ ผมจึง ขอสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุม ๒๕๖๒ ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง วันนี้ขอร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสภาก้าวหน้าใน Model ที่เรียกว่า Forward Parliament Forward มีตัวอักษร ๗ ตัวครับ F O R W A R D ขอเริ่มที่ตัวแรกครับ F คือ คำว่า Fair Fair ในที่นี้คือคำว่า เป็นธรรม หรือ ยุติธรรม ณ จุดนี้ถ้าเราไปดูในข้อมูลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเสนอ พ.ร.บ. แก้กฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจากภาคประชาชน มาจากสภา ของเราเอง หรือ ครม. เอง ส่วนมากน้ำหนักจะไปอยู่ที่ ครม. เพราะฉะนั้นก็อยากที่จะให้มี คำว่า Fair หรือเป็นธรรมกับภาคประชาชนมากขึ้นนะครับ จากสถิติเราไปดูได้ครับว่า กฎหมาย กี่ฉบับที่ผ่านโดยประชาชนนะครับ นี่คือตัว F แรกนะครับ ตัวที่ ๒ คือตัว O ย่อมาจากคำว่า Open นะครับ แปลว่าเปิดให้มีคำว่า Transparency หรือเปิดให้โปร่งใส เพื่อนหลายท่าน พูดไปแล้วครับว่าจะดีกว่าไหมถ้ามีการเปิดทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการถ่ายทอดสดอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจะทำให้อย่างน้อย ๆ เราก็จะไม่เน้นคำว่า Security หรือคำว่าเป็นการ ป้องกันมากเกินไป เน้นคำว่า Prosperity ครับ ก็คือเปลี่ยนจากการว่า ป้องกัน เป็นคำว่า มั่งคั่ง นะครับ มั่งคั่งหรือร่ำรวยมากขึ้นทำให้เราสามารถจะเห็นข้อมูลได้ชัดเจน ทุกคนก็เห็น ข้อมูลได้ อันนี้ก็เป็นการเปลี่ยนจากคำว่า มั่นคง เป็น มั่งคั่ง นะครับ ต่อมาครับ ตัวที่ ๓ ตัว R for ตัวที่ ๓ คือคำว่า Regulate แปลว่า การควบคุมหรือการ สอดส่องดูแลก็ง่าย ๆ เลยครับ คนที่จะมาสอดส่องดูแลก็มีทั้งฝ่ายค้านแล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ถูกไหมครับ เราก็ควรจะทำไมครับ ให้ฝ่ายค้านได้มีหน้าที่บทบาทอาจจะไม่จำเป็นต้อง เป็นสมัยนี้หรือสมัยหน้า ก็คือขอให้ทำไมครับ เน้นว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นคนดูแลก็ให้ฝ่ายค้าน มาเป็นคนตรวจสอบดีไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ปปง. หรืองบประมาณต่าง ๆ อันนี้ เพื่อนสมาชิกพูดไปเยอะแล้ว ก็ขออนุญาตประมาณนี้นะครับ ตัวที่ ๔ ก็คือคำว่า W ในที่นี้ ขอใช้คำว่า Worry Recognize ก็คืออย่างที่ให้สภาของเราเป็นผู้นำไม่ใช่แค่เป็นผู้ตาม แต่อย่างเดียว เป็นผู้นำระดับโลกก็ได้ ไม่เอาแค่ AEC เอาระดับโลกเลยนะครับ ให้ทุกคน เขาเอาเราเป็นตัวอย่างบ้าง ตอนนี้เราเองจากการทดสอบภาษาอังกฤษที่ผ่านมา PISA ก็ตกต่ำไปเรื่อย ๆ แล้ว ก็อยากที่จะให้เราไม่ใช่แค่คิดจะตามหรือคิดจะเท่ากัน ขอให้เป็น ผู้นำบ้าง เพราะฉะนั้นคำว่า Worry Recognize ก็เป็นการเขาเรียกว่ายอมรับระดับโลก ทำให้เรามีข้อมูลที่เปิดเผยได้และข้อมูลก็อาจจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย อันนี้ ก็ฝากเอาไว้ตามที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปแล้ว ตัวที่ ๕ คือคำว่า Agility ซึ่งก็แปลว่า ว่องไว คล่องแคล่ว ตอนนี้เหมือนเราแบบอืด ๆ นิด ๆ ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ผ่านพระราชบัญญัติใด ๆ ทั้งสิ้นถูกไหมครับ ก็จะเป็นการอืดบ้างก็จากการดูแล ๖๐ วัน จาก ครม. เอาไปทำไม ไปศึกษาเมื่อมีการยื่นเข้าไปในสภาแล้ว แต่ก็ยังทำไมครับ เหมือนกับว่ามันยังไม่เร็วเท่าที่ควร หรือบางครั้งเป็นการทำไมครับ ให้นายกรัฐมนตรีของเราเอาไปดูแลจะเป็นงบประมาณไหม เกี่ยวข้องกับเงินไหม ๓๐ วันอีกอันนี้ก็เหมือนกับว่าจะดูโอเคนะครับ เพราะว่ามันต้องมีการ ทำไม ให้รอบคอบแต่สุดท้ายมันจะกลายเป็นว่า Against หรือการดองกฎหมายต่าง ๆ ที่ควรที่จะทำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ตัวนี้ก็จะเป็นตัว Activate อยากที่จะเน้นย้ำ มากขึ้นนะครับ ตัวที่ ๖ ก็คือตัว R R ในที่นี้ย่อมาจากคำว่า Related แปลว่า การสร้าง ความสัมพันธ์ ในที่นี้ก็ตรง ๆ เราเป็นผู้แทนที่มาจากประชาชนก็ต้องมีความสัมพันธ์ กับประชาชนและต้องมีการดูแลพี่น้องประชาชนให้สูงสุด เพราะฉะนั้นก็อยากที่จะไม่ใช่แค่ ปัจจุบันนี้ครับ ประชาชนอยากจะเสนอก็แค่จะยื่น ยื่นเสร็จก็รอ รอเสร็จก็ยื่น ประธานสภา ให้ผ่าน ไม่ผ่านถูกไหมครับ ก็อยากที่จะให้เขาอย่างน้อยครับ ไม่ใช่แค่ยื่นครับเข้ามามีส่วนร่วม ในการรับฟังหรือจะมีข้อเสนอต่าง ๆ ให้ได้มากขึ้นในทุกขั้นตอนในสภาบ้างก็ได้ หรือจะเป็น ในคณะกรรมาธิการก็ว่าได้ประชาชนทั่วไปกันเลยนะครับ ตัวที่ ๗ ก็คือ F O R W A R D ตัว D สุดท้ายถ้าเกิดจะให้เดาก็อาจจะยากครับ เขาใช้คำว่า Discretion ซึ่งตัวนี้แปลว่า ดุลพินิจ ตัวนี้เมื่อสมัยที่ผ่านมาเราค่อนข้างที่จะมีการถกเถียงกันมากเลยว่า เอ๊ะ อะไรด่วน อะไรเร่ง อะไรไม่เร่ง สุดท้ายก็อาจจะมีฝ่ายหนึ่งที่บอกว่า เอ๊ะ Flavour อีกฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า ว่าทำไมคุณไม่ยอม ทำไมเห็นอกเห็นใจฝ่ายนั้น ฝ่าย ก มากกว่าฝ่าย ข หรือเปล่า ก็คือ ใช้ดุลพินิจของใครครับ ก็ของประธานสภาบ้างหรือของใครก็แล้วแต่ อันนี้ก็เลยอยากที่จะ เปลี่ยนแปลงบ้างว่าเราอาจจะมีกฎระเบียบที่ลดเรื่องของ Discretion หรือดุลพินิจให้น้อยลง โดยการใช้การโหวตกันเสียอย่างเดียวก็อาจจะเป็นอีกกฎระเบียบหนึ่งที่เสริมสร้างให้สภา ของเรา Worry Recognize หรือจำได้จากทั่วโลกมากขึ้นนะครับ นี่คือ ๗ ตัวอักษร Forward และสุดท้ายนี้ก็อยากที่จะเห็นสภาผู้แทนของเราใช้คำว่า Kaizen คำว่า Kaizen ไม่ได้แปลว่า ใครเซ็น ก็คือนายกรัฐมนตรีเซ็นคนเดียวแล้วก็จบไม่ใช่นะครับ คำว่า Kaizen ในที่นี้เป็น ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า Keep on Continuous หมายถึงว่าเราจะไม่หยุดยั้งความพึงพอใจ เราจะค่อยพัฒนาไปเรื่อย เพราะฉะนั้นแน่นอนครับกฎข้อบังคับทุกข้อ เราควรจะมีการ พัฒนาทุก ๆ ปีไปเรื่อย ๆ นี่คือภาษาญี่ปุ่นของเรานะครับ ขอบพระคุณครับ ด้วยความเคารพ Respect
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปเชิญท่านประเสริฐ บุญเรือง ครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม ประเสริฐ บุญเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ ๖ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับจากญัตติการแก้ไขร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของท่านพริษฐ์ที่ได้เสนอเข้าสู่สภา ซึ่งในกรณีที่ได้อ่าน และได้ศึกษาดูไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น หลายประเด็นในกรณีเช่น ในข้อ ๒๔/๑ ที่ว่าให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความคืบหน้าทางสถานะในเรื่องของ การปรึกษาหารือข้อบังคับต่าง ๆ และคำชี้แจงของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ นั้น ณ ปัจจุบันนี้ ท่านประธานก็รู้ว่าปัจจุบันนี้ในทางปฏิบัติของสภาผู้แทนโดยทั่วไป สภาผู้แทนของเราก็มี Website ที่สภาผู้แทนได้จัดตั้งขึ้น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดต่าง ๆ ได้หารือเพื่อไปสู่กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในปัญหาที่มันเกิดขึ้น พี่น้อง ประชาชนสามารถที่จะเข้าสู่ Website ของสภาผู้แทนราษฎรได้ เหตุใดทำไมผมถึงต้อง มาพูดแทนสภาผู้แทนราษฎร ก็ในฐานะที่กระผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการ สภาผู้แทนราษฎร ณ ปัจจุบันนี้ด้วยครับท่านประธาน เข้าไปดูตรวจสอบ Website ว่าเรื่องที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของท่านได้หารือเรื่องต่าง ๆ นั้น ปัญหาความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนมันจะโชว์ขึ้นแถมได้เป็นรายจังหวัด อย่างเช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ได้หารือไว้ หรือท่านธีรพล ได้หารือไว้ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ก็สามารถเปิดขึ้น ไปได้เห็นชัดเจนว่าได้หารือเรื่องอะไร นี่คือประเด็นที่ ๑
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ในการถ่ายทอดสดการประชุม ผมเชื่อว่าสิ่งที่ต้องตามมาแน่ ๆ คือปัญหาที่ต้องจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะว่าผู้ที่มาชี้แจงเรื่องต่าง ๆ นั้นไม่มีสิทธิ ในการคุ้มครอง ในมวลสมาชิกของเรานี่ไม่มีปัญหาในการคุ้มครองมีแน่ ๆ แต่ว่าคนที่มาชี้แจง เกิดการซักถามขึ้นมาก็จะเกิดการร้องเรียนเป็นคดีความที่จะต้องเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่มันจะต้อง เกิดขึ้นในอนาคตในประเด็นนี้นะครับ และประเด็นที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น นานแล้วก็คือเรื่องกระทู้ต่าง ๆ ปัจจุบันนี้มีความเหมาะสม กระทู้สด กระทู้ถามแยกเฉพาะ และกระทู้ถามด้วยวาจา ทำไมต้องตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีด้วย อันนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านใดที่จะยื่นกระทู้ตั้งคำถามถึงท่านนายกรัฐมนตรีก็สามารถตั้งกระทู้ได้อยู่แล้ว เรื่องท่าน นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ใดนั้น เป็นสิทธิของท่านที่จะมาตอบกระทู้แทนท่าน ความเหมาะสมที่เกิดขึ้นนะครับ นี่คือสิ่งที่จำเป็นและผมยังมีความคิดในส่วนตัวของผมคิดว่า เดี๋ยวนี้คือฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะไปก้าวล่วงในการบริหารมากเกินไปหรือไม่ นี่คือสิ่งที่สำคัญ นะครับ เพราะว่า ๑. เราก็เป็นเสาหลักนะครับ แต่ว่าฝ่ายบริหารเขาก็เป็นเสาหลักในการ บริหารจัดการบ้านเมืองเหมือนกัน ผมไม่เห็นด้วยในกรณีที่เข้าไปดูแล้วปัญหาต่าง ๆ ที่มัน เกิดขึ้นในกรณีดูร่างแก้ไขข้อบังคับของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนะครับท่านประธาน อันนี้ขอติงไว้ในการจะเสนอร่างข้อบังคับ และผมไม่เห็นชอบด้วยท่านประธาน กราบขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพนิดา มงคลสวัสดิ์ ครับ
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน พนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมุทรปราการ เขต ๑ อำเภอเมือง ตำบลไทยบ้าน ปากน้ำ บางเมือง บางโปร่ง บางด้วน พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายสนับสนุนร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอโดยคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านประธานคะดิฉันเชื่อว่าหัวใจสำคัญของการยกระดับรัฐสภาไทย คือการทำให้ รัฐสภาเป็นพื้นที่ของประชาชน การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างกว้างขวางในทุกระดับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ รัฐสภาที่ดิฉันใฝ่ฝันถึงต้องเป็นรัฐสภาที่ยืนยัน ว่าพวกเราทุกคนคือผู้ที่มีศักยภาพในการออกแบบกติกาสังคม และมีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะใช้อำนาจตามเจตจำนงของตนเองเพื่อผลักดันวาระต่าง ๆ ที่สำคัญได้ ดิฉันจึงขอ สนับสนุนให้มี Fast Track กฎหมายประชาชนค่ะ และเพิ่มสิทธิประชาชนในการเสนอญัตติ เข้าพิจารณา เพื่อที่จะทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง ดิฉันขออ้างอิงจากความเห็นของท่านประธานสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่แถลงต่อสื่อหลังรับตำแหน่งประธานรัฐสภา ท่านประธานเคยได้ กล่าวว่าสภายุคนี้ต้องมีการปฏิรูป ต้องมีการแก้ไขระเบียบและวิธีปฏิบัติ เพื่อให้มีการรับฟัง สิ่งที่เสนอจากประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าร่างข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ มีสาระสำคัญ ที่สอดคล้องกับคำพูดและนโยบายของท่านประธานที่เห็นได้ชัดเจนมากอยู่ ๒ ข้อ ๑. คือร่าง ข้อ ๓ กำหนดให้ พ.ร.บ. ที่ประชาชนเป็นผู้เข้าชื่อเสนอนั้นถือเป็นเรื่องด่วน และ ๒. คือร่าง ข้อที่ ๘ ที่เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คนสามารถเข้าชื่อเสนอญัตติเข้าพิจารณา ในรัฐสภาได้ หากเพื่อนสมาชิกท่านใดมีข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ จึงควรจะต้องมีข้อบังคับที่กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเป็นผู้เข้าชื่อเสนอนี้ ถือเป็นเรื่องด่วน ดิฉันอยากให้ลองย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้วค่ะ ท่านประธานคะ ในสมัยสภาชุดที่ ๒๕ มีประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้ามาพิจารณากว่า ๔๐ ฉบับ มีทั้งถูกบรรจุวาระ ได้รับการพิจารณาและถูกปัดตก มีทั้งที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ วาระเพราะอยู่ในขั้นการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ แต่ที่แย่ที่สุดค่ะท่านประธาน มีหลายร่าง กฎหมายของประชาชนที่ได้รับการบรรจุวาระแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาสักที เพราะถูก ญัตติอื่น โดยเฉพาะญัตติที่เสนอมาจากรัฐบาลเข้ามาแทรก เนื่องจากไม่มีกลไกใดมากำหนด ว่าการใช้ดุลยพินิจของประธานสภาในการบรรจุวาระการประชุมนั้นต้องให้ลำดับความสำคัญ กับร่างกฎหมายของประชาชนก่อน นี่จึงเป็นที่มาและความสำคัญ ดิฉันเห็นว่าข้อนี้เป็นข้อที่ น่าสนใจและควรจะผลักดัน ยกตัวอย่างในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคุณพริษฐ์ คนเดียวกันกับที่เสนอร่างข้อบังคับในวันนี้นะคะ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution มีประชาชนเข้าชื่อกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ถูกเสนอเข้าสู่สภาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๔ กว่าจะได้รับการพิจารณาค่ะท่านประธาน ต้องรอจนถึงสิ้นปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกันค่ะ หรืออย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๔ เพื่อการกระจายอำนาจปลดล็อก ท้องถิ่น มีประชาชนเข้าชื่อเสนอกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ถูกเสนอเข้าสู่สภาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๖๕ แต่กว่าจะได้รับการพิจารณามาพูดคุยกันในสภาต้องรอถึงสิ้นปีเหมือนกันค่ะ ดังนั้น ในประเด็นนี้ดิฉันจึงอยากชวนคิดค่ะว่าการที่ประชาชนทำ Campaign รณรงค์เข้าชื่อเสนอ กฎหมายเข้ามา มันแปลว่าจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประชาชนแล้วใช่ไหมคะ แต่เมื่อ เขายื่นเข้ามาที่สภากลับพบว่าต้องรอไปอีกครึ่งปีกว่าจะรับการพิจารณา มันสมเหตุสมผล แล้วหรือไม่ และจะดีกว่านี้ไหมถ้าหากเราแก้ข้อบังคับให้มีบทบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับ ร่างกฎหมายของประชาชนอย่างแท้จริงแบบที่เรามักจะพูดกัน
นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ข้อต่อมาครับท่านประธาน คือการให้สิทธิผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน สามารถเสนอญัตติให้สภาพิจารณาได้ ท่านประธานคะ ถึงแม้การที่ให้ประชาชน เสนอญัตติเข้าสู่สภาพิจารณาไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่ปัญหาที่เป็นสารตั้งต้น และเป็นที่มาของหลักการในเรื่องนี้มีมาอย่างยาวนานแล้วนะคะ ดิฉันอยากให้เพื่อนสมาชิก ลองนึกภาพว่าหากมีพื้นที่ใดมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานเลย แต่นักการเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างเทศบาล อบต. อบจ. หรืออย่างระดับประเทศอย่าง สส. ไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อยากจะช่วยสะท้อนปัญหาประชาชน ไปขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่มีใครเหลียวแล พี่น้องประชาชนจะมีกลไกอะไรที่จะแก้ไข ปัญหาของพวกเขา แต่หากข้อบังคับฉบับนี้ผ่านพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก็สามารถรวบรวม รายชื่อกันแล้วยื่นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเข้ามาเองได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัย อำนาจอื่น ไม่ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ด้วย ที่ใครใกล้ สส. มากกว่าก็มีสิทธิได้นำเรื่องปัญหา ของตัวเองเข้าสู่สภามากกว่า ร่างข้อบังคับนี้จะทำให้บุคคลมีสิทธิใช้อำนาจในรัฐสภาแห่งนี้ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันค่ะ หรืออาจจะเป็นในกรณีความเดือดร้อนที่ไม่ได้ยึดโยง กับในพื้นที่ แต่เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม อาจจะยึดโยงกับกลุ่มอาชีพ เช่น ปัญหาของพี่น้องประมง พี่น้องเกษตรกร พี่น้องแรงงาน หรือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็สามารถรวบรวมรายชื่อกัน เสนอญัตติของเขาเข้ามาในรัฐสภาแห่งนี้พิจารณาได้ทันที นี่คือการเพิ่มความยึดโยงของ ประชาชนที่มีต่อสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองที่ไม่ใช่ แค่หย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้งแล้วก็จบกันไป นี่เป็นเพียงบางข้อเท่านั้นนะคะท่านประธาน ที่ดิฉันให้ความสนใจ ยังรู้สึกมีความหวังและเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะทำให้ รัฐสภาไทยตอบโจทย์โลกยุคสมัยที่เปลี่ยนไปขณะนี้ หากข้อเสนอของเพื่อนสมาชิกถูกนำไป พิจารณาต่อในวาระต่อไป ดิฉันมั่นใจว่ารัฐสภาไทยจะก้าวหน้าไปมากกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างแน่นอน จากที่กล่าวมาทั้งหมดดิฉันมั่นใจว่ามีน้ำหนักมากเพียงพอต่อการเรียกร้อง ให้เพื่อนสมาชิกรวมกันยกมือเห็นด้วยกับร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วหากเราเชื่อมั่นกันอย่างจริงจังว่าที่นี่คือสภาผู้แทนราษฎร พวกเรา ในฐานะผู้แทนราษฎรก็ควรจะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนอย่างจริงใจด้วยการเปิดพื้นที่ ให้เสียงของพวกเขาถูกได้ยิน เพราะนี่คือเสียงของเจ้าของอำนาจอธิปไตย เจ้าของประเทศ ตัวจริง ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ เชิญท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ผมลุกขึ้นอภิปรายวันนี้เพื่อจะสนับสนุนญัตติของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ในเรื่องของการเสนอร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ท่านประธานครับ ที่คุณพริษฐ์เสนอในการแก้นี้จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ฉับไวขึ้น ทุกท่านก็เห็นนะครับว่าญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอก็ดี ร่างกฎหมายก็ดี มันช้าเหมือน เต่าคลานนะครับ คืออายุเรายังไปไวกว่าญัตติที่จะเข้าที่ประชุมเลยครับ เผลอ ๆ ครบรอบปี ก่อนด้วยซ้ำญัตติยังไม่เข้าเลย เพราะฉะนั้นการที่จะแก้ให้ร่างกฎหมาย ไม่เฉพาะ สส. แต่ร่าง ของภาคประชาชนที่รวมเสนอกันมาด้วยความยากลำบากได้เข้าสู่การพิจารณาแห่งนี้ น่าจะ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และสะท้อนว่าสภาแห่งนี้มีประสิทธิภาพ ท่านประธานครับ การสร้างอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรมันมี ๒ ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจในเชิง ของสมรรถนะ เรื่องของการบริหารขีดความสามารถ ซึ่งท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต่าง ๆ ก็ต้องมีกลไกในการบริหาร ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของมิติเชิงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ นิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร ท่านประธานครับ ผมขอสั้น ๆ นิดเดียวว่าที่ผมคิดว่าหลักการของ ร่างข้อบังคับแห่งนี้ที่ประชุมควรจะเห็นชอบด้วยกัน เนื่องจากว่ามันจะเป็นกลไก เป็นเครื่องมือ ที่จะทำให้สภาแห่งนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ สภาแห่งนี้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย สภาในขณะนี้มันมี ความหมายไหมครับ เวลาที่ สส. ยื่นญัตติลงไปถามใจตัวเองทุกท่านดูครับ ยื่นกระทู้ใด ๆ ไป ได้รับการตอบรับไหม มีกระทู้ที่ผมตั้งไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปัจจุบันยังไม่ตอบลงใน ราชกิจจานุเบกษาเลยครับ หรือแม้กระทั่งกระทู้ที่เพื่อนสมาชิกตั้งแล้วตอบกันไม่ทัน สุดท้าย ก็สูญเปล่าทางด้านเวลา เสียทั้งงบประมาณ เสียทั้งเวลา เพราะฉะนั้นเราก็อยากให้สภาแห่งนี้ มีความหมายในสายตาของพี่น้องประชาชน ก็จะสะท้อนว่าสภาชุดที่ ๒๖ เราได้สร้างการ เปลี่ยนแปลง ท่านประธานครับ นอกจากนี้ผมไปดูในงานของ UNDP ซึ่งเขาก็ได้เขียน เรื่องของประสิทธิภาพของสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้บอกว่า ภายใต้ระบบที่การปกครองที่มี รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่ไร้ประสิทธิภาพ ผู้ที่มีแนวคิดประชาธิปไตยพึงจัดให้มีการ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภามีประสิทธิภาพเสียให้จงได้เป็นอันดับแรก นั่นคือสิ่งแรก แต่ในขณะนี้กลไกที่เราจะไปแก้รัฐธรรมนูญต่าง ๆ ก็ติดขัดไปหมด ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ท่าน สภาและเพื่อนสมาชิกได้เจออยู่ในขณะนี้ เราควรมีมติเห็นด้วยกันครับว่าเราควรจะให้ ข้ออุปสรรคทางด้านกฎหมาย ร่างข้อบังคับต่าง ๆ เดินหน้าไปได้ เหมือนที่ผมได้พูดไปแล้ว สร้างความหมายฉับไวและจะทำให้สภาแห่งนี้เข้มแข็งขึ้น ท่านประธานครับ เราอยากเป็นแค่ ตรายางไหมครับ อยากให้สภาแห่งนี้เป็นแค่ตรายางไหมครับ เราจะดูการพิจารณากฎหมาย เพื่อนสมาชิกหลายคนก็อภิปรายไปแล้วนะครับว่ากฎหมายสักฉบับที่จะผ่านสภาแห่งนี้ ในสมัยประชุมที่แล้วไม่มีเลยสักฉบับ และที่ต่อเข้ามาก็จะเป็นกฎหมายเฉพาะของ ครม. หรือไม่ก็ไม่รู้ที่จะถูกพิจารณาผ่านสภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้กฎหมายที่เราได้ทำหน้าที่ นิติบัญญัติอย่างแท้จริงควรจะเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้มีการแก้ไข ปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือ อันเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้กฎหมายผ่านได้ ใช้กฎหมายรวดเร็วขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือ ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐสภา ของสภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากเลยนะครับ เป็นเรื่องที่ง่ายด้วย แล้วผมเข้าใจว่า ท่านประธานก็อยากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ตรงตามนโยบายที่แต่ละท่านได้แถลงเอาไว้ ท่านประธานครับ ร่างข้อบังคับของคุณพริษฐ์ฉบับนี้ผมเชื่อว่าเป็นร่างที่ก้าวหน้าและ ทันสมัยมาก และเป็นร่างที่ไม่เคยมีใครร่างมาก่อน แต่อาจจะมีร่างที่อาจจะเสนอมาประกบเพื่อที่จะให้ บางข้อเสนอที่สามารถผลักดันร่วมกันได้จากข้อเสนอ ๑๐ กว่าข้อผ่านไปได้สัก ๕-๖ เรื่อง ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรคนหนึ่งที่มาทำหน้าที่ ตรงนี้ก็อยากจะได้ทำหน้าที่ทั้งเรื่องของการตั้งกระทู้ ที่มีคนตอบแบบจริงใจ ไม่ใช่มา ตั้งคำถามไปแล้ว กระทู้ไปแล้ว ไม่มีคนตอบ หรือเรื่องของความโปร่งใส เรื่องของระยะเวลา รวดเร็วที่จะยื่นกฎหมายแล้วได้รับการพิจารณา และร่างกฎหมายไม่ถูกดองแล้วถูกทิ้งไป ก็ขอใช้เวลาสั้น ๆ เพียงเท่านี้ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดสุรินทร์ ผู้แทนในระบบเขตครับ ผมยังไม่ค่อยได้ตั้งหลัก เท่าไรก็นึกว่าจะเป็นคนสุดท้ายที่จะลุกขึ้น
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขออนุญาตครับพอดีใบของผมไม่ได้ Update ครับ ท่านจะใช้สิทธิเป็นคนสุดท้ายไหมครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ได้ครับ ยินดีครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ก็เป็นสมาชิกเพื่อไทยเหมือนกันครับ ผมขอไปที่ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ก่อนนะครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะดิฉันขอร่วมอภิปรายร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของเพื่อนสมาชิกที่ได้นำเสนอ ท่านประธานค่ะดิฉันมีหลายประเด็นมีความกังวล แล้วก็ไม่แน่ใจกับเจตนารมณ์ของผู้ที่จะเสนอเกี่ยวกับการกำหนดข้อบังคับ โดยเฉพาะเรื่อง กำหนดตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ๓ คณะ ว่าจะต้องมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เท่านั้นนะคะท่านประธาน คือในร่างข้อบังคับ ข้อ ๑๔ ที่มีการเพิ่มเติมในข้อ ๙๓/๑ ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ว่าเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ให้ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปราม ทุจริตและประพฤติมิชอบ และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการ บริหารงบประมาณ แล้วก็พูดถึงประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เท่านั้นค่ะท่านประธาน นั่นหมายความว่าในร่างข้อบังคับนี้ ท่านเสนอให้มีการกำหนด เป็นเฉพาะว่าประธานกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะนี้ จะต้องมาจากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นหรือคะ ท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพคะก่อนอื่นดิฉันต้องขออนุญาตกล่าวถึงหลักการของ การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรของเราว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่ทำงาน เสนอความเดือดร้อน แก้ปัญหาวินิจฉัยหรือศึกษาปัญหา กลั่นกรองการกระทำต่าง ๆ ให้เป็น ประโยชน์แล้วก็ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ในคณะกรรมาธิการนั้นไม่มีเฉพาะท่าน สส. เป็นกรรมาธิการ มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเข้ามาร่วมพิจารณาให้ข้อมูล ให้ถูกต้องและให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ซึ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีส่วน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐและพี่น้องประชาชนที่ได้รับทราบปัญหาข้อเท็จจริงในเชิงลึกได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการยังช่วยให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการ แก้ปัญหาการบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และคณะกรรมาธิการทำให้สามารถติดตามบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารได้อย่างมี ประสิทธิภาพ นี่คือหลักการและเหตุผลที่สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างดีก็ว่าได้ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ที่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ รวมทั้งกรรมาธิการยังเป็นกลไกที่สำคัญในระบอบรัฐสภา จะทำ ให้การทำงานของสภาของเรานี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะคะ ดังนั้นดิฉันได้กล่าวถึง หลักการและเหตุผลแนวการทำงานของคณะกรรมาธิการมาแล้ว เมื่อดิฉันพิจารณาจาก ร่างข้อบังคับ ในข้อ ๑๔ ที่มีการเพิ่มข้อความในข้อ ๙๓/๑ โดยกำหนดให้คณะกรรมาธิการ ๓ คณะ ให้มีประธานคณะกรรมาธิการต้องมาจากฝ่ายค้าน ดิฉันว่าไม่เห็นมีความจำเป็นเลย ที่จะต้องมาแก้ไข ทำไมจะต้องมากำหนดสิทธิและเสรีภาพตรงนี้นะคะ ดังนั้นท่านผู้ที่ยกร่าง มีเหตุผลอย่างไรคะ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในการบริหารราชการแผ่นดินของ คณะรัฐมนตรีหรือคะ ที่จะต้องกำหนดให้มี ๓ คณะนี้เท่านั้น ต้องเป็นฝ่ายค้าน ดิฉันจึงขอ อนุญาตกล่าวถึงประธานคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะ ที่ผู้เสนอได้แก้ไขข้อบังคับ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ก็คืออาจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล ท่านเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ท่านมีความเชี่ยวชาญชำนาญมากค่ะ มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมทุกประการ หรือประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ก็คือท่านประเสริฐ บุญเรือง ท่านก็มีความรู้ความสามารถในการทำงาน เหมาะสมค่ะ แม้กระทั่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษาจัดทำติดตามการบริหารงบประมาณ คือท่าน สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นี่ก็เป็น สส. พรรคก้าวไกล ดิฉันก็ชื่นชอบนะคะ น้อง ๆ ท่าน สส. ทำงานดีค่ะ ซึ่งดิฉันคิดว่าการกำหนดตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะนี้ ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ ดิฉันจึงขออนุญาตย้อนถามไปว่า เหตุใดท่านจึงระบุเฉพาะเจาะจงเพียง ๓ คณะกรรมาธิการเท่านั้นค่ะท่านประธาน แล้วอีก ๓๒ คณะท่านไม่ให้ความสำคัญหรือคะ ไม่ได้ทำงานในการควบคุมโดยการตรวจสอบบริหารราชการแผ่นดินหรือคะ ๓๒ คณะ ก็ทำงานเหมือนกันค่ะ เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าท่านตอบว่า ๓ คณะนี้เป็นคณะที่มีความสำคัญ และมีกลไกในการตรวจสอบรัฐบาลแล้ว และเพื่อน ๆ สมาชิกใน ๓๒ คณะเขาไม่ได้ทำงาน หรือคะ ไม่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินหรือคะท่าน ดังนั้นดิฉันว่าทุกคณะ ๓๕ คณะ มีความสำคัญเหมือนกันหมดค่ะท่านประธาน ท่านประธานคะ ในโลกปัจจุบันนี้มีการปกครอง แบบระบอบเสรีประชาธิปไตย เราต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เราต้องให้เกียรติในการ ทำงานของกันและกัน ไม่ควรจะดูถูกดูแคลนหรือด้อยค่าบุคคลอื่นหรือคณะบุคคลอื่น ดังนั้น จากเหตุผลดิฉันกล่าวมานี้ ดิฉันไม่สามารถจะรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ครับ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๑ เขตสายไหม พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันจะขออภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรหรือร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่คุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ท่านประธานค่ะ ดิฉันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ในสภาแห่งนี้ที่ถูกเลือกมาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตสายไหม ดิฉันยังจำวันที่ประชาชน ไปเลือกตั้งได้ แต่งตัวใส่เสื้อผ้าหยิบปากกาไปลงคะแนนด้วยความหวัง ความหวังที่เคยเกือบจะมอดหมดไปแล้วในรัฐบาลที่แล้ว เป็นเวลากว่า ๙ ปีที่การรัฐประหาร แช่แข็งประเทศไทย ไม่ให้ผลิดอกงอกงามมาโดยตลอด นี่เป็นอีก ๑ เหตุผลที่ดิฉันจะลุกขึ้น อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของท่าน สส. พริษฐ์ วัชรสินธุ ในวันนี้ค่ะ ท่านประธานคะ การใช้อำนาจนิติบัญญัติคือ หน้าที่หลักและอำนาจอันชอบธรรมที่ทำให้สภาแห่งนี้ยังคงอยู่ และยังเป็นเหตุผลที่ ประชาชนออกไปเลือกตั้งเพื่อให้พวกเราเข้ามาเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจนี้ ร่างข้อบังคับ สภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้จะทำให้การทำงานในหน้าที่ผู้แทนราษฎรของพวกเรามีประสิทธิภาพ มากขึ้น และเป็นเครื่องยืนยันถึงความตั้งใจที่เราตอบแทนให้กับประชาชนที่เลือกพวกเรา เข้ามาทำงานค่ะ ดิฉันจึงมีความเห็นว่าการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเป็น การตอบสนองความคาดหวังของประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรียกคืน ความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนให้กับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ดิฉัน ขอยกตัวอย่าง ๒ ข้อเพื่อเป็นการรักษาเวลานะคะ ๑. ในปัจจุบันร่างที่ประชาชนเสนอเข้ามา ในสภามากขึ้น การลดข้อจำกัดบางประการเพื่อเปิดช่องว่างให้ประชาชนสามารถเสนอ ร่างกฎหมายเพื่อให้สภาแห่งนี้พิจารณามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพิจารณาญัตติอื่น ๆ เพราะฉะนั้นการใช้ระบบ Auto Approve โดยการวางกรอบระยะเวลา ๓๐ วันให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนจะถูกส่งต่อมาสภา สิ่งนี้คือเบาะรองรับไม่ให้ร่างกฎหมายของประชาชน ถูกดองไว้โดยไม่จำเป็นค่ะท่านประธาน เนื่องจากสมัยที่ผ่านมามีร่างกฎหมายไม่น้อยที่ถูก ตีตกไป เพราะว่าเห็นว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงิน ทำให้ร่างกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาส ผ่านสายตาของผู้แทนราษฎรเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจะดีหรือไม่หากอำนาจในการรับรอง กฎหมายที่ถูกอ้างว่าเกี่ยวกับร่างการเงินนั้นอยู่ในมือของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้กรอบ ระยะเวลา ๓๐ วันที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจพิจารณาได้ ท่านประธานคะ ในสมัยที่แล้ว ดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในประชาชนที่ดูการประชุมสภาผ่านหน้าจอ แล้วก็ตั้งตารอตลอดเวลา ว่านายกรัฐมนตรีมาตอบคำถามเมื่อไร ตั้งตารอวาระสำคัญ ๆ ทุกครั้ง บางครั้งก็ตั้งนาฬิกา ไว้เลยนะคะ ท่านกลัวจะพลาดในการประชุมสภา ซึ่งในสมัยนั้นเรานับครั้งได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาฟังและตอบคำถามด้วยตัวเองกี่ครั้ง ดิฉันเพิ่งเป็น สส. สมัยแรก ก็เข้าใจดีว่าเรื่องความกังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหากท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบ คำถามเอง แต่หากพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนแล้ว นี่ไม่ใช่การบีบคอฝ่ายบริหาร นะคะท่านประธาน แต่เป็นการเปิดให้สภาแห่งนี้ได้ทำหน้าที่สื่อสารและไขความกระจ่าง ให้กับพี่น้องประชาชน และเพื่อไม่ให้สภาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ที่เพื่อน ๆ สมาชิกหลายคนพูดถึง อยู่ในภาวะที่เรียกว่าลงเรือลำเดียวกัน การที่แก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีตอบคำถามของผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาแห่งนี้ จะเป็นเครื่อง Guarantee คำพูดที่น่าเชื่อถือ การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศและการ ทำให้ประชาชนนี้ให้ความไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ท่านประธานคะ ดิฉันคิดว่าการทำงาน ของพวกเรานี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับ การถ่วงดุลอำนาจ การลด ขั้นตอนบางอย่างลงและการเปิดโอกาสให้สภาได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ผ่าน ร่างแก้ไขข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้จะเป็นการเรียกคืนความเชื่อมั่นต่อสถาบัน การเมืองของพวกเราเอง
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้าย ดิฉันอยากฝากเพื่อนสมาชิกทุกท่านในที่ประชุมสภาแห่งนี้ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของท่าน สส. พริษฐ์ล้วนมีประโยชน์ ต่อประชาชนทั้งสิ้น ถ้าเราเอาสมการประชาชนเป็นตัวตั้งร่างข้อบังคับฉบับนี้มีความสำคัญมาก และเป็นการยกระดับการทำงานของผู้แทนราษฎรให้ได้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ยกระดับสภา แห่งนี้ให้ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ ฉับไว โปร่งใส เข้มแข็ง เสมอภาค เป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแน่นอน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนิคม บุญวิเศษ ครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขออภิปรายร่างข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเสนอ โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่อภิปรายแล้วใช้คำว่า ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า เพราะผมไม่เห็นคำไหนที่ว่า ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าท่านประธาน มีแต่บอกว่าร่างข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ท่านประธานครับ ถ้าเกิดผมไม่เห็นด้วย คำว่า ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า ประชาชน ที่ฟังการอภิปรายอาจจะเข้าใจผิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ลงคะแนนให้เป็น สส. ที่ไม่ก้าวหน้า หรือเปล่า จริง ๆ ไม่ใช่ครับ หลายข้อที่ไม่เห็นด้วย แต่เห็นความตั้งใจของท่านที่ท่านอยากจะ เปลี่ยนแปลง อยากจะให้กฎหมายของประชาชนเข้าสภาแล้วผ่านง่าย ๆ อันนั้นผมไม่ขัดข้อง ผมเห็นด้วย แต่หลายข้อที่ไม่เห็นด้วย ท่านประธานครับ โดยเฉพาะในข้อ ๑๒ ท่านบอกว่า ให้ยกเลิกการนับคะแนนเสียงใหม่ เมื่อมีสมาชิกร้องขอและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๒๐ คน การนับคะแนนเสียงใหม่ ท่านประธานครับ หลายครั้งที่มีการนับคะแนนเสียงมันมีบางครั้ง ที่เป็นข้อกังขาว่านับผิดนับถูก ถูกไหมครับ บางครั้งชนะกันแค่ ๑ คะแนน ๒ คะแนน อีกฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าอาจจะมีการคลาดเคลื่อนผิดพลาด จึงขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ เพราะคะแนนเสียงห่างกันไม่เกิน ๒๕ ถ้าเกิดว่าเรายกเลิกข้อนี้ ท่านประธาน มันจะเกิดการ ทำให้ประชาชนหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชนะกันแค่ ๒-๓ เสียง มันก็มีข้อกังขาติดใจ ไปตลอด จึงอาจจะต้องมีการขอให้นับคะแนนเสียงใหม่เพื่อให้มันชัดเจน ท่านประธาน ข้อนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อถัดไป กำหนดให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญบางคณะที่เกี่ยวข้อง กับการตรวจสอบ ต้องสังกัดพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เรื่องนี้ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราเป็น สส. การทำงานในกรรมาธิการเขาไม่ได้ทำงานเป็นพรรคการเมือง กรรมาธิการเป็นการทำงานเป็นคณะโดยมีสัดส่วนของทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เพราะเราถือว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชน เราไม่ทำงานเป็นพรรค เพราะการขับเคลื่อนกรรมาธิการเรามีอำนาจหน้าที่ในการที่จะเชิญหน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง เชิญทุกหน่วยงานมาได้ เรามีอำนาจ เขาถึงให้อำนาจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอำนาจของ สส. ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน อย่าลืมนะครับเราเป็นตัวแทนของประชาชน เราไม่สามารถให้ประชาชนเข้ามาประชุมกันในห้องประชุมนี้ได้ทั้ง ๕๐ ล้านคน ๖๐ ล้านคน ๑ คนก็เป็นตัวแทนประชาชน ๓๐,๐๐๐ คน ๔๐,๐๐๐ คนตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขา เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งมาโดยให้ตัวแทนคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนในการมานั่งประชุม ออกกฎหมายต่าง ๆ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ฉะนั้น ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้มีคณะกรรมาธิการบางคณะมีสัดส่วนของเฉพาะฝ่ายค้าน พูดตรงไปตรงมาอย่างนี้นะครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในข้อถัดไปที่ไม่เห็นด้วย การประชุมคณะกรรมาธิการท่านบอกว่าจะต้องมี การเปิดเผย จริง ๆ แล้วถ้าผมไม่เห็นด้วยก็เหมือนกับว่าผมไม่อยากให้มีการเปิดเผยโปร่งใส แต่อย่าลืมนะครับการประชุมคณะกรรมาธิการถ้าเราจะมีการเปิดเผยทุกเรื่อง ถ่ายทอดสด หรือให้บุคคลภายนอกเข้าไปมันจะทำให้การประชุมไม่สามารถที่จะหาข้อเท็จจริงได้ เพราะส่วนใหญ่กรรมาธิการเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน เอกชนกับรัฐ เอกชนกับ ประชาชน บางอย่างมีการร้องเรียน บางอย่างมีการฟ้องร้องกันอยู่ท่านประธาน กรรมาธิการ ก็ต้องเชิญหน่วยงานที่มีข้อพิพาทกันมาชี้แจงหาข้อเท็จจริง ถ้าเกิดมีการถ่ายทอดผมถามว่า เราจะได้ข้อเท็จจริงหรือครับ แล้วเขาจะกล้าพูดความจริงหรือครับ เพราะทุกคนก็ต้องกลัว การฟ้องร้อง เกิดพาดพิงถึงบุคคลที่สามขึ้นมา โดนข้อหาฟ้องร้องแน่นอน ฉะนั้นแทนที่จะได้ ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้ข้อเท็จจริง ข้อนี้ผมถึงไม่เห็นด้วย
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อต่อมา ยกเลิกอำนาจของคณะรัฐมนตรี ในการรับร่างพระราชบัญญัติ ไปพิจารณาก่อนที่สภาจะลงมติ อย่าลืมว่าฝ่ายบริหารก็คือเป็นฝ่ายรัฐบาล เราเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าเราไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจจะบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร ถ้าไม่มี อำนาจจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขราษฎรได้อย่างไร ถ้าไม่มีอำนาจจะพัฒนาประเทศได้อย่างไร ท่านประธาน ก็ต้องให้อำนาจฝ่ายบริหาร ถ้าเราไปยกเลิกอำนาจผมไม่เห็นด้วย
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อถัดไป กำหนดให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ เรื่องนี้ยิ่งยากท่านประธานครับ กรณีที่เรามีมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ เกิดมีเห็นชอบ ไม่เกิน ๒ ใน ๓ แล้วทุกเรื่องก็ไม่ผ่าน แล้วถึงจะผ่านเรื่องใดละครับ ผมเห็นด้วยกับข้อบังคับเดิม ที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้า ๒ ใน ๓ ผมไม่เห็นด้วยครับท่านประธาน นี่คือเหตุผลที่ผม ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ จริง ๆ แล้วท่านผู้ส่งร่างเข้ามาท่านมีความตั้งใจ อ่านแล้วหลายข้อ เป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ผมไม่เห็นด้วย ผม นิคม บุญวิเศษ ไม่รับร่างนี้ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านธีรัจชัย พันธุมาศ ครับ
นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนข้อบังคับการแก้ไขข้อบังคับของท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ซึ่งท่านก็เสนอไว้ว่าเป็นข้อบังคับที่ทำให้สภาก้าวหน้า หลายท่านก็บอกว่าอาจจะ ไม่ใช่ก้าวหน้า เพราะไม่มีชื่ออยู่ในนี้ แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วไม่ใช่เฉพาะก้าวหน้า แต่ก้าวไกลด้วยอีกต่างหาก ท่านประธานครับ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบ รัฐสภาการถ่วงดุล ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจมีความสำคัญมาก ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร สำคัญ ข้อบังคับฉบับนี้ที่ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่แก้ไข ข้อหนึ่งที่ก้าวหน้าค่อนข้างมากก็คือว่า การตอบกระทู้สดของนายกรัฐมนตรี อยู่ในข้อบังคับข้อ ๑๕๕/๑ และอื่น ๆ ที่ถัดมา เดิมปกติแล้วนายกรัฐมนตรีที่จะมาตอบกระทู้ยากมากครับ ในสมัยที่ ๒๕ มีนายกรัฐมนตรี มาตอบกระทู้ ๒ ครั้ง สมัยนี้มาเพียงแค่ครั้งเดียว ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มาตอบกระทู้สด เขาจะมากันทุกสัปดาห์ การที่ตอบกระทู้สดและในร่างข้อบังคับฉบับนี้ให้โอกาสผู้นำฝ่ายค้าน ในการถามกระทู้สดถึง ๖ คำถาม ไม่เกิน ๒ นาที และเปิดโอกาสให้สมาชิกที่มาลงชื่อไว้ หรือมาแสดงความจำนงไว้สลับกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ถามกัน ตอบกันประมาณ ๔๕ นาที ตรงนี้เป็นอย่างไรครับ มันเป็นความก้าวหน้าก็คือว่าตัวแทนผู้มีอำนาจสูงสุด ในฝ่ายบริหารประเทศจะต้องยึดโยงกับประชาชน และมา Update มาถามคำถาม มาตอบ คำถามของผู้นำฝ่ายค้านในสภาแห่งนี้ตลอดเวลาทุกสัปดาห์ นั่นหมายความว่าความ กระตือรือร้นที่จะรับฟังปัญหาจะมีอยู่ทุกสัปดาห์ ไม่ใช่นาน ๆ มาที หรือบางทีมอบอำนาจ ให้มาแล้วก็ไม่มา ในข้อบังคับฉบับนี้ก็ให้โอกาสเพียง ๒ ครั้ง ที่นายกรัฐมนตรีนั้นจะไม่มา ถ้าไม่มาก็ส่งรัฐมนตรีอื่นมา แต่ไม่เกิน ๒ ครั้ง ในสมัย ๑ ประชุม ถามว่าถ้าเกิดสภาแห่งนี้ เป็นสภาที่ก้าวหน้าแบบนี้ ประเทศเราจะไม่กระตือรือร้นมากกว่านี้หรือครับ เพราะที่ผ่านมา ยากมากที่นายกรัฐมนตรีจะมา หรือบางทีรัฐมนตรีที่มาเอง ตัวรัฐมนตรีที่มาก็มอบหมายต่อ ๆ กันมา แล้วก็ไม่ได้ตอบอะไรที่เป็นสาระสำคัญที่จะเป็นความต้องการของประชาชนจริง ๆ นั่น ก็คือตรงนี้ล่ะครับเป็นจุดอ่อนที่เราจะต้องทำให้มันกระชับฉับไวขึ้น ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับ ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ และอยากจะให้ท่านสมาชิกสภาทุกท่านได้โปรดรับหลักการ การแก้ไข ข้อบังคับฉบับนี้
นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คงเป็นเรื่องของการตั้งประธานกรรมาธิการ ซึ่งท่านพริษฐ์ เขาระบุไว้ ๓ คณะ คือคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการติดตามงบ และกรรมาธิการกิจการสภา เมื่อสักครู่ท่านสมาชิกหลายท่านบอกว่ากรรมาธิการเป็นการร่วม ของสมาชิกหลายพรรคการเมือง แต่โดยสถานะของการเป็นประธานกรรมาธิการมีอำนาจ ในการที่จะกำหนดวาระประชุม มีอำนาจในการที่จะส่งตั้งคณะกลั่นกรองและมีสมาชิก กลั่นกรองต่าง ๆ ถ้าเป็นสมาชิกซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน โอกาสที่เรื่องสำคัญที่เป็นการทุจริตประพฤติมิชอบ ในกรณีกรรมาธิการ ป.ป.ช. นะครับ ที่เป็นของรัฐบาลจริง ๆ จะถูกตรวจสอบนั้นยากมาก หรือถูกตรวจสอบนั้นในการที่ประชุมจะยากมาก ผมไม่ได้พูดถึงในแง่ของตัวบุคคลนะครับ ตัวบุคคลจะเป็นใครก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ฝักฝ่ายนั้นโดยปกติแล้วคนในพรรคเดียวกันในฝ่าย เดียวกัน จะตรวจสอบฝ่ายเดียวกันเอาเป็นเอาตายไม่มีทางครับ ในสมัยที่แล้วสมัยสภา ชุดที่ ๒๕ กรรมาธิการประธานเป็นฝ่ายค้าน มีการตรวจสอบเรื่องสำคัญมากมาย บ้านพัก นายก บ้านพักหลวง นาฬิกาเพื่อน แหวนแม่ และเรื่อง IO กองทัพต่าง ๆ มีการตรวจสอบ อย่างชำแหละอย่างมากในส่วนนี้ นั่นก็เพราะว่าประธานกรรมาธิการนั้นเป็นฝ่ายค้าน เรื่องที่ รัฐบาลที่จะต้องตรวจสอบถูกตรวจสอบอย่างละเอียด และไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ถ้าเกิดคนที่อยู่พรรคเดียวกัน อยู่ฝ่ายเดียวกัน โอกาสที่จะถูกขัดขวางหรืออะไรนั้นก็ได้ ผมเรียนอีกครั้งไม่ได้พูดถึงเรื่องของตัวบุคคล
นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ในส่วนของกรรมาธิการติดตามการปฏิบัติงานคืองบประมาณ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ควรจะเป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากการใช้งบประมาณตาม พ.ร.บ. งบประมาณ ที่อนุมัติต่อสภาแห่งนี้ก็จะต้องมีการติดตาม ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองก็จะติดตาม แบบเป็นพิธีกรรม ติดตามเป็นพิธีก็เรียกมาถามไม่กี่คำแล้วก็ปล่อยไป ถ้าเป็นอย่างนี้ขึ้นมา การตรวจสอบการใช้เม็ดเงินของประชาชนก็ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ ผมเรียน ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นของสภาก้าวหน้าของสภาชุดนี้ และเราควรที่จะทำให้ดี อย่างยิ่ง อย่าไปปิดบังไม่ให้การตรวจสอบถ่วงดุลเลยนะครับ
นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ก็คงเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. การเงิน ในส่วน พ.ร.บ. การเงินโดยปกติแล้ว นายกรัฐมนตรีนั้นจะใช้โอกาสนี้ในการที่จะไม่ลองวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. นั้นเกี่ยวเรื่องการเงิน และปล่อย ครั้งที่แล้ว สมัยที่แล้วตกไปหลายฉบับ หรือไม่มีโอกาสเข้าในสภานี้หลายฉบับ การแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้มันมีความก้าวหน้าก็คือว่าให้เงื่อนเวลาภายใน ๓๐ วัน ถ้าเกิดว่า นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยว่าปฏิเสธ ๓๐ วัน ก็ถือว่ายอมรับและสามารถเข้าพิจารณาในสภา ได้ทันที ไม่ใช่มาเฉพาะกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลผ่านกฤษฎีกาเท่านั้น แต่กฎหมายโดย สส. โดยประชาชนสามารถที่จะเข้าพิจารณาในสภาได้ เราอย่ากลัวอำนาจของประชาชนเลยครับ สิ่งเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าที่ผมคิดว่าเราควรที่จะเปิดใจกว้าง และรัฐบาลก็ควรที่จะเปิด โอกาสให้มีการแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ ผมยกตัวอย่างเพียงแค่ ๓ ประเด็นนี้ถ้าผ่านขึ้นมาผมว่า การเปลี่ยนแปลงของการตรวจสอบถ่วงดุล ความกระฉับกระเฉงของรัฐบาลที่จะต้องกระตือรือร้น ในการที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชนจะดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ขออนุญาตนะครับ ขอท่าน สมาชิกสภาทุกท่านได้โปรดช่วยกันรับหลักการด้วย อย่าตีตกไปเลยนะครับ เพราะทราบว่า มติวิปของรัฐบาลบอกจะตีตก ผมอยากให้ทำมาเถอะครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกครับ เนื่องจากจะมีการอภิปรายพอสมควร ผมจะปิดการลงเข้าชื่อแล้วนะครับ หลังจากนี้จะไม่มีการเข้าชื่อแล้ว ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของ ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ยอมรับตรง ๆ ว่าตอนแรกผมเองก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องร่วมอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับข้อบังคับเท่าไร เพราะคิดว่าการยกระดับสภาแห่งนี้ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ทำหน้าที่ให้ผ่านกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นถือเป็นการทำให้สภาแห่งนี้มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การทำงานร่วมกันของพวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมเชื่ออย่างนั้น จริง ๆ ว่าเราจะได้คำตอบที่ดีหรือได้ความร่วมไม้ร่วมมือ ความคิดเห็นที่จะช่วยกันเสนอให้ สภาแห่งนี้ดำเนินไปในทิศทางที่ทั้ง สส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลทำงานร่วมกันได้ เพราะผม ได้ยินเสมอว่าอยากให้ สส. ทุกคนร่วมมือกันให้การประชุมสภามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ผมได้ยินตลอดเวลาที่มีการเสนออะไรออกไปว่าจะต้อง ปรับนั่นปรับนี่
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
คำถามแรกที่ผมอยากจะถามกลับไป ซึ่งมาจากสิ่งที่ท่านอภิปรายกัน จากฝั่งรัฐบาล คือท่านคิดจริง ๆ หรือครับว่าตอนนี้เราอยู่ในข้อบังคับการประชุมสภาแบบที่ดี สมบูรณ์เพียบพร้อม ไม่จำเป็นต้องปรับอะไรอีกเพื่อสร้างการพัฒนาให้มันก้าวหน้าขึ้น ท่านคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือครับ ตอนนี้ผมแปลกใจมากเหมือนตอนนี้พวกเราเป็นฝ่ายค้าน แต่มีฝ่ายค้านของฝ่ายค้านคอยสกัดเราโดยที่ยังไม่ได้มีข้อเสนออะไรเพิ่มเติมผ่านการอภิปราย ของท่าน ทั้งที่ตอนเช้าเราก็คุยกันว่าอยากให้สภาทำงานร่วมกันของ สส. ทั้ง ๒ ฟาก ทุกท่านครับ กฎหมายแต่ละฉบับที่เราจะผ่านจากสภาชุดนี้ไป โอเคมันอาจจะมาจากแต่ละพรรค แต่สุดท้าย เมื่อกฎหมายแต่ละฉบับผ่านออกไปล้วนเป็นผลงานของสภาชุดที่เท่าไร ๆ ก็คืองานของพวก เราทั้งหมด กฎหมายฉบับที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ก็ควรจะเป็นงานของการยกระดับสภาเพื่อให้ สภาในอนาคตทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ฉับไว มีความเป็นดิจิทัล เชื่อมต่อ กับโลก โปร่งใส เชื่อมั่นจากประชาชนได้มากขึ้น ดังนั้นผมก็อยากจะหยิบยืมคำพูดของ เพื่อน ๆ ฟากรัฐบาลที่บอกว่าอยากให้เราทำงานร่วมกัน ขอเชิญท่านมาร่วมกันทำให้สภาแห่งนี้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อพวกเราในอนาคตมากขึ้น เพราะผมฟังแต่ละท่าน ก็เหมือนอยากจะคว่ำอย่างเดียว โดยที่ผมก็สงสัยว่าท่านเองก็มีสิทธิเสนอ ข้อเสนอของการ แก้ข้อบังคับประชุมสภาเพื่อให้สภาแห่งนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านก็เสนอ ประกบมาสิครับ หรือถ้ายังเสนอไม่ทัน ยังไม่มีร่างเป็นของตัวเอง ไปทำงานกันในกรรมาธิการ ไหมครับจะได้คุยกันให้ตกลงว่าท่านอยากให้เป็นแบบใด เราอยากให้เป็นแบบใด เรื่องนี้ผมว่า เราคุยกันได้ เพราะที่ผ่านมาทำงานทั้งในห้องใหญ่ ห้องเล็ก ผมว่าเราก็คุยกันได้ ถ้าเรามุ่งหวัง จะยึดประโยชน์ของสภาและประชาชนเป็นตัวตั้ง เรื่องนี้ผมอยากสื่อสารไปยังเพื่อนสมาชิก จริง ๆ เราคุยกันด้วยดี ทำงานด้วยกันมาด้วยดี และอยากจะให้สภาเดินหน้าเพื่อทำงานให้ ประชาชนด้วยดี ครั้งนี้เราต้องแสวงหาความร่วมมือร่วมกันดังที่ท่านพูดเสมอ นี่เป็นจุดพิสูจน์ ว่าการยกมือรับรองให้กับร่างที่ไม่ได้มีผลทางการเมืองอะไรเลยครับ ข้อบังคับการทำงานของ เราทั้งนั้น มาร่วมมือกันครับ แล้วก็ช่วยกันหรือเสนอร่างประกบอะไรก็ตามแต่แล้วไป แปรญัตติหรืออะไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้เรามีข้อบังคับที่ทำให้สภามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีต่อพวกเรามากขึ้น ให้กฎหมายประชาชนได้ผ่านบ้าง เวลาที่สมัยผมยังเด็ก ๆ แล้วดู เขาบอกกันว่าสภาเป็นสภาตรายาง เวลาผมมาอยู่ที่นี่ผมก็ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น เราก็รู้ว่า ถ้าเราเป็นสภาตรายางของ ครม. อย่างเดียว สุดท้ายสิ่งที่มาจากประชาชนมันก็เหมือนกับ เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นเราอย่าทำให้สภาของเราเป็นอย่างนั้นเลยครับ ดังนั้นวันนี้ผมเอง คงไม่ได้มีข้อเสนออะไรเป็นพิเศษ นอกจากขอให้ทบทวนสิ่งที่เราพูดโดยไม่ได้ออกไมค์ คุยกัน ตามที่ต่าง ๆ ว่าเราอยากแสวงหาความร่วมมือทำงานร่วมกันในสภาแห่งนี้ มันไม่ใช่เรื่องของ รัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้าน ผมเชื่อว่าทุกท่านก็เคยพูดคำนี้กัน ยึดคำนั้นกันเถอะครับ มาทำให้สภาแห่งนี้เป็นที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเราเองแล้วเพื่อประชาชน ร่วมกันรับหลักการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำสภาแห่งนี้ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ไป ด้วยกัน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านรักชนก ศรีนอก ครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากชาวเขตบางบอน เขตจอมทอง เขตหนองแขม พรรคก้าวไกล ดิฉันขออนุญาตอภิปรายเพื่อสนับสนุนร่างข้อบังคับการประชุมสภาของ ท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ดิฉันต้องขอพูดอย่างนี้ค่ะท่านประธาน ถ้าท่านใดที่มีข้อโต้แย้ง มีข้อ ถกเถียง หรืออยากที่จะปรับปรุง ไม่พอใจหรือว่าต้องการที่จะแก้ไขข้อไหน เราสามารถที่จะ เสนอร่างประกบหรือว่ามาพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการได้เหมือนที่ท่านชุติพงศ์บอกมา เพราะว่าหลาย ๆ ข้อ ดิฉันก็เข้าใจนะคะว่ามันอาจจะไม่ถูกใจใครบางคน ใครหลาย ๆ คน แล้วก็อาจจะขัดกับเรียกว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันมาตลอดในสภา แต่ดิฉันมีความคิดเห็นว่าสภาเรา ควรที่จะขยับก้าวหน้าไปได้บ้าง คืออย่างที่เมื่อสักครู่ท่านไหนพูดไว้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า มันไม่มีคำว่า ร่างก้าวหน้า ไม่มีคำว่า ก้าวหน้า อยู่ในร่างนี้เลย คือต้องบอกอย่างนี้นะคะท่าน ความก้าวหน้ามันอยู่ในเนื้อหาค่ะ เราไม่ต้องจำเป็นจะต้องเขียนคำว่า ก้าวหน้าลงไปใน ข้อบังคับก็ได้นะคะ มันก็สามารถที่จะก้าวหน้าได้นะคะ ประเด็นที่ดิฉันอยากที่จะ Support ร่างนี้ก็คือการเปิดเผยให้มีการ Live หรือว่าการถ่ายทอดสดในการประชุมกรรมาธิการ เพราะว่าอย่างนี้ค่ะท่านประธาน ในการประชุมกรรมาธิการจริง ๆ แล้วมันก็คือห้องเล็ก ของสภาแห่งนี้ และสภาแห่งนี้ก็มีการถ่ายทอดสดอยู่แล้วนะคะ ดิฉันคิดว่าในเมื่อมันเป็นการย่อยไปจากการประชุมสภาใหญ่ ก็ควรที่จะมีการให้ถ่ายทอดสด เกิดขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมานี้มีข้อถกเถียงในเรื่องนี้ในกรรมาธิการหลายกรรมาธิการมาก ๆ นะคะ และท่านที่เคยเป็น สส. มาก่อนก็ใช้เหตุผลที่ว่าสภาไม่ได้รับรองเรื่องนี้เอาไว้ในข้อบังคับ การประชุมสภานะคะ ดังนั้นถ้าเราอยากที่จะให้เหตุผลนี้มันถูกปัดตกไป เราก็แค่เขียนเอาไว้ เลยค่ะเป็น Default ว่าให้มีการ Live สดได้ในการประชุมกรรมาธิการ และยกเว้นในกรณี ที่จะมีการพาดพิงถึงบุคคลที่ ๓ อันเป็นเหตุที่จะทำให้ฟ้องร้องกันได้ ซึ่งในร่างนี้ก็เขียนเอาไว้ แล้วค่ะท่านประธาน แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าที่ส่งเอกสารไปได้มีการอ่านกันก่อนที่จะมีการลุกขึ้น อภิปรายหรือเปล่านะคะ แล้วก็ในอีกข้อหนึ่งนะคะ ระหว่างที่ดิฉันนั่งรถมาจากศาลอาญา รัชดาภิเษก ดิฉันก็ได้ฟังสิ่งที่คุณพริษฐ์อภิปรายไป แต่น่าแปลกใจมากค่ะคนที่นั่งอยู่ในห้อง ประชุมนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจฟังด้วยซ้ำ ก็คือเรื่องของการที่ให้กรรมาธิการงบประมาณ กรรมาธิการ ป.ป.ช. แล้วก็กรรมาธิการกิจการสภาเป็นของฝ่ายค้าน มีท่านที่อภิปรายโต้แย้ง เมื่อสักครู่ว่าไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในสมัยนี้ ท่านประธานคะเขียนเอาไว้แล้วด้วยในร่างนี้เลย ถ้าท่านเปิดอ่าน หรือท่านพริษฐ์ก็ได้พูดเอาไว้แล้วตอนที่เกริ่นนำ ดิฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่า หูของท่านหรือว่าทักษะในการอ่านเป็นอย่างไรนะคะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
คุณรักชนกครับ ขอระวังไม่ให้มีการเสียดสีนะครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขออภัยค่ะ ข้อสุดท้าย ดิฉัน อยากสนับสนุนให้มีการแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ หรืออาจจะเป็นภาษาที่มีคน ใช้กันจำนวนมากในโลกนี้มากกว่าภาษาอังกฤษก็ได้นะคะ เพราะว่ามีกฎหมายหลายฉบับ ที่ทั่วโลกจับตาดู ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมค่ะท่านประธาน ในแถบเอเชีย มีประเทศน้อยมากที่มีกฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้ได้ แต่ในแถบยุโรป ในอเมริกาคือเขา เรียกว่า มีร่างนี้กันเป็นปกติแล้ว ดังนั้นทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าประเทศเราจะเป็นประเทศต่อไปที่มี กฎหมายที่เป็นประโยชน์ เคารพหลักสิทธิมนุษยชน คนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนออกมา หรือเปล่า และดิฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจถ้าเราทำเป็นภาษาอังกฤษแล้วมีประเทศ อื่น ๆ สามารถที่จะมาศึกษาร่างกฎหมายของเราได้ เพราะว่าปกติประเทศไทยต้องไปศึกษา จากประเทศอื่น ๆ ทุกเรื่องเลยค่ะท่านประธาน ถ้าเราสามารถทำสิ่งนี้ได้ และประเทศเรา สามารถเรียกว่ามีร่างกฎหมายที่ประเทศอื่นมาดูงานแล้วก็เอาไปเขียนตาม เอาไปบังคับใช้ หรือว่าเลียนแบบไปในบางส่วนได้ ดิฉันว่ามันน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของสภาแห่งนี้ แล้วก็ เป็นความภาคภูมิใจของ สส. ทุกคน ทุกท่าน ดังนั้นดิฉันไม่เห็นเลยค่ะว่ามีข้อไหนที่จะ ไม่ทำให้รับร่างนี้นะคะ มันเป็นร่างที่เรียกว่าคือไม่ได้มีผลอะไรทางการเมืองด้วยค่ะ มันแค่ ทำให้ประชาชนที่ติดตามการประชุมสภา และทำให้ สส. ที่นั่งอยู่ ณ ที่แห่งนี้สามารถ ดำเนินการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดิฉันร้องขอทุกคนที่นั่งอยู่ในสังคมห้องสุริยัน ว่าอยากที่จะให้ลองพิจารณาร่างนี้ให้ผ่านดู แล้วติดใจอยากแก้ไขในข้อไหน บรรทัดไหน อันไหนเอาออก อันไหนเอาเข้า อันไหนปรับเปลี่ยน มาคุยกันในชั้นกรรมาธิการได้ค่ะ เท่านี้ ค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ในร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎรในร่างแก้ไขฉบับนี้ของท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ผมก็ได้ฟังสมาชิกหลาย ๆ ท่าน อภิปรายนะครับ แล้วก็ตั้งแต่อ่านร่างนี้ตั้งแต่ต้นตอนที่ยื่นเสนอก็มีแก้อยู่ ๓๐ กว่าข้อ แล้วก็ผมเองก็เข้าใจดีถึงหลาย ๆ ข้อที่น่าจะมีความเห็นต่างกัน แน่นอนครับมันแก้มาตั้ง ๓๐ กว่าข้อ คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นด้วยกันทั้งหมดทุกข้อนะครับ ผมก็เข้าใจดีว่าในหลาย ๆ ประเด็นมันก็อาจจะยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหวแล้วก็เป็นที่กังวลว่า จะใช้บังคับได้จริงหรือไม่นะครับ อย่างเช่นประเด็นเรื่องประธาน กมธ. ประธานกรรมาธิการ บางคณะที่จะให้เป็นของสัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน หรือว่าการถ่ายทอดสดกรรมาธิการผมก็ ได้เห็นถึงความกังวลตั้งแต่สมัยสภาชุดที่แล้วนะครับ ผมก็ได้เห็นหลายท่านที่แสดงความกังวล ถึงในเรื่องนี้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านผมก็ต้องบอกตามตรงว่ามีเหตุผลที่สมเหตุสมผลแล้วก็พอ เข้าใจได้ เราอาจจะแค่คิดไม่ตรงกันเท่านั้นเองนะครับ หรือแม้กระทั่งเรื่องกระทู้สดที่หลาย ๆ ท่านก็อธิบายว่ามันอาจจะไม่สามารถใช้ได้จริง แล้วมันก็อาจจะเป็นการเสียเวลาของ ฝ่ายบริหาร ซึ่งผมเข้าใจดีครับ เรื่องแบบนี้เห็นต่างกันได้แน่นอน กลับมาอีกทีหนึ่งครับว่า ตอนนี้เราอยู่ในวาระรับหลักการ หลักการง่าย ๆ สั้น ๆ มาก ๆ คือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ การประชุมเพื่อให้การทำงานของสภามีประสิทธิภาพมีความโปร่งใส ยึดโยงกับประชาชน มากขึ้น หลักการมีเท่านี้ครับ วันนี้เป็นการรับหลักการครับ หลายท่านอภิปรายออกมาเอง ด้วยซ้ำว่าเห็นด้วยกับหลาย ๆ ข้อที่ท่านพริษฐ์เสนอมา ในเมื่อท่านเห็นด้วยกับหลาย ๆ ข้อ ทำไมเราถึงจะรับหลักการนี้ไม่ได้ ท่านเปิดไปดูที่ข้อ ๓ ที่บอกว่าให้ร่างพระราชบัญญัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอต่อสภาเป็นเรื่องด่วน ถ้าประชาชนมาถามท่านว่าอยากให้เป็นแบบนี้ ท่านจะตอบปฏิเสธไหมครับ ท่านจะบอกประชาชนไหมครับ อ๋อ ไม่ ไม่ด่วน ร่าง ครม. ด่วนกว่า หรือข้อ ๔ บอกให้ท่านประธานสภาจัดข้อมูลเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของการ ปรึกษาหารือที่ทุกท่านทราบดีว่ามันเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญมาก ๆ เป็นเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทุกท่านนี่ทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อให้ราชการปฏิบัติตาม ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนั้น ๆ การให้เผยแพร่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการให้ เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงตลอดเวลา นั่นก็แปลว่าเป็นการกดดันให้ราชการทำงานแก้ไข ปัญหาของพี่น้องประชาชนให้เร็วขึ้น ท่านมองว่านี่เป็นหลักการที่ไม่ถูกต้องหรือครับ ท่านจะยกเรื่องกระทู้สด ท่านจะยกเรื่องประธานกรรมาธิการ ท่านจะยกเรื่องการถ่ายทอดสด เพื่อที่จะมาปัดทุกข้อนี้ตกทิ้งทั้งฉบับหรือครับ ตอนนี้เราอยู่ในวาระรับหลักการครับ เราไม่ได้ อยู่ในวาระ ๒ ในวาระ ๓ หรือแม้กระทั่งในกรรมาธิการครับ ตั้งกรรมาธิการไปนั่งคุย กันไป ท่านพริษฐ์เสนอมา ๓๒ ข้อ ท่านเห็นด้วยแค่ ๕ ข้อ ท่านตัดทิ้งทั้งหมดก็ได้ครับ แล้วหลักการกว้างขนาดนี้ท่านเห็นว่าข้ออื่น ๆ ที่ท่านพริษฐ์ไม่ได้แก้แล้วมันอาจจะมีประโยชน์ ถ้าจะแก้ไข ท่านเพิ่มเติมได้ครับ แล้วท่านก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการอยู่แล้ว ท่านแก้ ได้ทุกอย่างครับ นี่ท่านกำลังจะบอกว่าข้อบังคับการประชุมสภาที่เราใช้กันอยู่ มันไม่จำเป็นต้อง แก้ไขเลยเพื่อให้ก้าวหน้าขึ้นแม้แต่ข้อเดียว มันไม่สามารถที่จะแก้ไขเพื่อให้สภามีประสิทธิภาพ มากกว่านี้ได้เลย แม้แต่ข้อเดียว นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่สภาไทยนี้เคยมีมาในความเห็นของท่าน หรือครับ ผมเสียดายเสียดายโอกาสมาก ๆ ยิ่งผมได้รับทราบมาว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น สส.หลายสมัยมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจระบบสภาดีกว่าทางพรรคของผมเยอะ ท่านก็ได้เตรียมร่างข้อบังคับเอาไว้แล้ว เพียงแต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์และไม่สามารถ ยื่นประกอบได้ทัน แต่การคว่ำร่างข้อบังคับวันนี้ไปเลย ก็อาจจะเสียโอกาสที่จะทำให้เรา ได้แก้ไขข้อบังคับในหลาย ๆ ประการที่ทุกพรรคอาจจะเห็นตรงกันก็เป็นได้ ผมเข้าใจดีและ ผมก็เคารพในมติวิปรัฐบาลครับ ผมคงไม่ไปก้าวก่ายอะไรครับ แต่ในหลาย ๆ โอกาสผมก็เห็น สส. ฝ่ายรัฐบาลหรือแม้แต่รัฐมนตรีเองก็มักจะออกมาพูดครับว่า เราไม่อยากเห็นฝ่ายค้าน ที่ค้านตะพึดตะพือ รัฐบาลอ้าปากพูดอะไรก็พร้อมจะค้านตลอดเวลา ผมเห็นด้วยครับ เพราะผมก็คิดว่าวิธีการทำงานการเมืองแบบนี้ มันไม่ใช่วิธีการทำงานการเมืองแบบที่ ประชาชนเลือกเราเข้ามานั่งในสภาแห่งนี้คาดหวังให้เป็น เช่นเดียวกันครับ ผมก็ไม่อยากเห็น รัฐบาลที่พอเห็นฝ่ายค้านยื่นอะไรมาก็ตกใจกลัวเหมือนเห็นผีคว่ำมันให้หมด ผมก็คิดว่า นั่นไม่ใช่การเมืองที่ประชาชนเลือกเรามาคาดหวังให้เป็นเช่นกัน หรือหากว่าท่านเห็นว่า เป็นแบบนั้นก็แล้วแต่ครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมก็ยังเสียดายโอกาสในการแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้ สภาแห่งนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจที่แต่งตั้ง ทุกท่านเข้ามานั่งในสภาแห่งนี้มากขึ้น เสียดายโอกาสที่เราจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของ ประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยที่ผมก็คิดว่าทุกท่านน่าจะคิดตรงกันว่าเราควรที่จะ เรียกว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยนี้เช่นกัน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็น ๒ ท่านสุดท้ายที่เข้าชื่ออภิปรายนะครับ เรียนเชิญท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทยครับ ผมลุกขึ้นมาเพื่อแสดงเหตุผลในการอภิปรายวันนี้อย่างน้อย ๆ ท่านประธานก็ดีหรือ เพื่อนสมาชิกแล้วก็ผู้ฟังที่อยู่ทางบ้านเพราะเป็นการถ่ายทอดอยู่แล้ว ได้เข้าใจในฐานะที่ ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล แน่นอนที่สุดครับท่านประธานนั่งฟังมาก็มี ประเด็นหลายประเด็นที่อยากออกมาแลกเปลี่ยนให้กับทั้งผู้ที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ได้ทราบว่าคนชื่อครูมานิตย์มันคิดอย่างไรกับร่างฉบับนี้ จริง ๆ แล้วท่านประธานที่เคารพครับ เราอยู่ในสภาแห่งนี้ เรามีข้อบังคับ เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เรามี ประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๔ เล่มท่านประธานครับ มีข้อบังคับเขียนไว้ เยอะแยะ แล้วก็พอไปพอมากับการทำงานได้อยู่แล้วครับ อยู่ ๆ อีกซีกหนึ่ง ผมใช้คำว่า ฝ่ายค้านดีกว่ายื่นขึ้นมาให้แก้ เมื่อเดือนที่แล้วเราก็แก้ไปแล้ว มาวันนี้ก็จะแก้กันอีก แล้วผู้เสนอ ผมก็แล้วแต่คุณจะคิดผมก็พยายามนั่งฟังถือว่าเป็นน้องนุ่งเป็นลูกหลาน บอกว่าข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรก้าวหน้า เอาเถอะถ้าจะพูดกัน แต่ว่าผมอาจจะเป็นคนแก่ ที่ไม่ก้าวหน้า เพราะดูจากการแต่งตัวท่านประธานเห็นไหมครับ ใส่สูท ผูก Necktie มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ครับ มาในสภาแห่งนี้ แล้วก็ไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง ที่ไปกราบยกมือไหว้ ท่านรองประธานที่ชื่อคุณหมอว่าท่านครับ เวลาท่านขึ้นนั่งบนบัลลังก์ท่านผูก Necktie ใส่สูท เหมือนพวกผมเถอะครับ ผมนั่งอยู่ข้างล่างอย่างน้อย ๆ ท่านก็เป็นประธานผมครับ ท่านประธานคงไม่กล้าปฏิเสธนะครับคำนี้ และผมก็ชื่นชมประธานตลอด นี่คือความเก่า ความล้าสมัยของผมครับท่านประธาน ท่านประธานประเทศไทยปกครองโดยระบอบนิติรัฐ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เรามี เสาหลักอยู่ ๓ เสา อันนี้ผมท่องมาตั้งแต่ผมเรียนหนังสือ คือ ฝ่ายตุลาการก็คือเรื่องของศาล เรื่องของกระบวนการยุติธรรม แล้วก็ฝ่ายบริหารและก็ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการผมคงจะ ไม่ก้าวล่วงไม่พูดถึงนะครับ แต่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมันหนีกันไม่ได้ครับ ที่มันจะต้อง ผูกพันกันทั้ง ๆ ที่ว่าเขาจัดให้เป็นคนละเสา เพราะฝ่ายบริหารออกไปจากฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือสภาแห่งนี้ ถ้าสภานี้เลือกตั้งเสียงไปได้ข้างมากเขาก็ไปเป็นฝ่ายบริหารไม่ได้ ฉะนั้น หลายเรื่องที่เขียนลงมาในการแก้ไขนี้ ผมไม่ทราบว่าคิดกับผมตรงกันข้ามแน่นอน ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานเห็นที่ผมรับเรื่องนี้ไม่ได้ เช่น เรื่องของกฎหมายการเงิน กฎหมาย การเงินถ้าสภาแห่งนี้ยื่นไปให้นายกภายใน ๑ เดือน ทาง ครม. ไม่ตอบกลับไปยังสภาถือว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้ชัดเจนจะต้องได้รับอนุมัติจากนายก เพราะอะไรครับท่านประธานกฎหมายการเงิน เพราะว่ารัฐบาลเป็นคนฝ่ายหาสตางค์มา บริหารประเทศแล้วเราออกกฎหมายให้คนอื่นหาสตางค์ เขาจะออกให้หรือครับ แล้วกฎหมาย ที่ออกเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงินถามว่าทำไมจะต้องเป็นกฎหมายจาก ครม. เพราะ ครม. เขาจะต้องไปทำตามนโยบายที่เขาประกาศไว้ท่านประธาน เขาประกาศนโยบาย ว่าอย่างไรเขาต้องทำอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าการปกครองโดยระบอบรัฐสภา ถ้าเราไปคิด ระบอบใหม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่ผมยกตัวอย่าง เรื่องกระทู้นายกรัฐมนตรี ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ใครจะมามองอย่างไร คือกระทู้มันมีอยู่ ๓-๔ อย่างอยู่แล้วท่านประธาน กระทู้ถามด้วยวาจา กระทู้ถามสด ก็ถามสิครับ นายกรัฐมนตรีเศรษฐาไม่ใช่ไม่มาตอบ ท่านก็มาตอบ แล้วสภาก็ปิด แล้วรัฐบาลก็เพิ่งตั้งท่านประธานก็รู้ แต่จะให้ท่านมาตอบสมัยหนึ่งทุกสัปดาห์ ๆ ไม่ได้ ให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นคนเสนอ ผู้นำฝ่ายค้านไม่ใช่ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เขาต้องทำการจัดการบริหาร แก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ บำบัดทุกข์บำรุงสุข ฝ่ายคิดถาม ถามได้ทุกวัน มันต่างกันครับ นี่เขาเรียกว่าระบบรัฐสภาอีกล่ะครับท่านประธาน ฉะนั้นมันมีกระทู้ถามสด ด้วยวาจา มันมีญัตติ มันมีกระทู้แยกเฉพาะ มีทุกอย่างท่านประธาน แถมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้อีก รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน สมัยละ ๒ ครั้ง อภิปรายลงมติกับไม่ลงมติ มันเขียนไว้ เยอะแยะแล้วนี่ครับในรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ แล้วก็ข้อบังคับการประชุม ประธานกรรมาธิการมันบังคับไม่ได้หรอกครับ ว่าคนที่มาจากฝ่ายนั้นจะต้องเป็นเลขานุการ ประธานกรรมาธิการ แสดงว่ามีเจตนาจะแยกปลาแยกน้ำครับ ถ้าแยกปลาแยกน้ำมันทำงาน ไม่สนุก เขายังเขียนไว้เลยว่าการเป็นประธานกรรมาธิการให้เลือกจากถัวเฉลี่ยของทุกพรรค ก็เป็นกันหมด กรรมาธิการบางคนเป็น ๒ คณะ ก็ไม่เป็นอะไรเพราะกฎหมายเขาเขียนไว้ ข้อบังคับเขาเขียนไว้ไม่เกินคนละ ๒ คณะ มันเป็นสิทธิในระบบรัฐสภานี้เมื่อเราไปนั่งในห้อง แล้วก็มีการเลือก เลือกประธาน เลือกรองประธาน เลือกที่ปรึกษา เลือกเลขานุการ ก็เลือก กันไปสิครับ ไม่ใช่ว่าเราเป็นรองประธานเราทำอะไรไม่ได้ เราเป็นเลขานุการแล้วทำอะไร ไม่ได้ เพราะกรรมาธิการไม่ได้แยกฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล มีความรักความผูกพัน ในสมัยก่อน ๆ ท่านประธานรู้ไหม ไปอยู่กรรมาธิการเดียวกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแต่งงานกันก็มี ก็รักชอบกัน ไปทำงานด้วยกัน ประชุมทุกอาทิตย์ ไปดูงานในประเทศไปต่างประเทศ นี่คือ ความผูกพันถึงขนาดนั้นนะครับท่านประธาน ก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะเสียหายท่านประธานครับ หลายคนบอกว่าต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ตรงไหนไม่เพิ่มประสิทธิภาพ ผมก็สงสัยเหมือนกันละครับ สื่อถ่ายทอดไป อันนี้ผมไม่เห็นด้วยท่านประธาน วันนี้ผมนั่งเป็น ประธานกรรมาธิการคมนาคม เวลาเขาฟ้อง เขาแจ้งความ ผมเป็นคนไม่ชอบขึ้นศาล เพราะผม ไม่อยากดังที่จะไปขึ้นศาลในบางเรื่อง ท่านประธานที่เคารพครับ ฉะนั้นการที่เราประชุมกัน แล้วถ่ายทอดบางเรื่องในห้องใหญ่ที่ถ่ายทอดได้ เพราะมีประธานติง เพราะใช้ข้อบังคับ ในห้องนี้มันไม่ได้ แม้กระทั่งว่าไปยืนแถลงข่าวก็ยังจะต้องโดนฟ้องร้อง สมัยที่แล้วฟ้องร้องกัน ระเนระนาดเลย แล้วก็ยื่น ๕,๐๐๐ คน อันนี้ผมยังสงสัยเพราะผมไม่ได้จบกฎหมายข้อบัญญัติ อะไร ภาคประชาชนยื่นข้อบัญญัติมาไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คนให้เอาเข้าเลย ผมถามประธาน ระหว่างข้อบัญญัติกับ พ.ร.บ. มันต่างกันตรงไหน เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนว่าต้อง ๑๐,๐๐๐ คน พ.ร.บ. ฉะนั้นถ้าเราไปแก้ข้อนี้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ ใจเย็น รัฐธรรมนูญกำลังจะแก้ อยู่แล้ว เข้าไปร่วมแก้กันเลย ผมว่าหลายเรื่อง แล้วสิ่งหนึ่งนะครับท่านประธาน กดออดแล้ว ผมเคารพในท่านประธานนะครับ ตั้งแต่ท่านผูก Necktie ใส่สูท ท่านประธานที่เคารพครับ เรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้เราก็เห็นด้วย เรื่องข้อบังคับนี้เราบอกว่าใจเย็นนิดหนึ่ง อะไร ที่มันไม่ดีก็จะนำมาแก้ แต่มันไม่จำเป็นต้องรีบก่อน ให้ดูจากรัฐธรรมนูญแก้มาก่อน แล้วเรา ก็เอาข้อบังคับค่อยไปล้อตามกันมา เพราะอันนี้ข้อบังคับเปรียบเสมือน พ.ร.บ. เป็นกฎหมายลูก ฉบับที่ ๑ ถึงแม้ว่าไม่ได้เขียนเป็นพระราชบัญญัติข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทน ก็ถือว่า เป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่เราไม่ช่วยกันคิด เราช่วยกันคิดครับ แต่อย่าเร็วเกินไป อย่าบอกว่าก้าวหน้า ก้าวไปตรงโน้น ก้าวไปตรงนี้ ใจเย็น ๆ ช่วยกันทำ ผมก็อยากเห็นว่าช่วยกันทำจริง ๆ นะครับ เพราะสภาแห่งนี้เราก็โดนเลือกมาจากประชาชน โดยเฉพาะพวกผมไม่ได้อาศัยจิตวิญญาณ ใครเข้ามาเป็นผู้แทนนะครับ ยกมือไหว้แม้กระทั่งเมียตัวเองนะครับกว่าจะได้เป็นเพราะ ไปเดินหาเสียง พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ก็ต้องรีบกลับบ้าน มีงานบวช งานแต่งงาน งานผ้าป่า งานอะไร เยอะแยะ จนกระทั่งว่าบางคนเรียกว่าผมผู้แทน Grade 2 ผู้แทนชั้นล่างนั่นละครับ ไม่ได้ แขวนใครมานะครับ ไม่ได้อาศัยใครมานะครับ เป็นผู้แทนยืนอย่างภาคภูมิใจจนทุกวันนี้ เอาละครับท่านประธานที่เคารพครับ ด้วยเวลาค่อนข้างจำกัด ผมก็เคารพท่านประธาน จริง ๆ ก็อยากจะเล่าอะไรให้ฟังเยอะ เพราะการปกครองโดยระบบนิติรัฐ โดยกลไกรัฐสภา เสียงข้างมากเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติในการบริหารจัดการกับประเทศ ท่านประธานก็เห็น ถ้าในสภาแห่งนี้ไม่มีเสียงข้างมาก ในกรรมาธิการก็เหมือนกัน เราเห็นใจนายกเถอะครับ เรามีช่องว่าง ผมไม่ได้เข้าข้างนายกครับ วันหนึ่งเศรษฐาก็ไม่ได้เป็นนายก อาจจะเป็นใคร ผมก็ไม่รู้ แต่ให้เขาไปนั่งคิดสมองบริหารจัดการกับประเทศ แล้วเราก็ตั้งกระทู้เอา เราก็ อภิปรายไม่ไว้วางใจเอาท่านประธานครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท้ายที่สุดผมก็ได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ว่าจะค้านจะขวาง จะอะไร หรอกครับ แต่วันนี้บ้านเมืองกำลังจะเปลี่ยนไหนกฎหมายนิรโทษเข้ามา ไหนเรื่องประชามติ เข้ามาเราก็ต้องดู นิรโทษก็พร้อมจะอภิปรายอยู่ท่านประธาน เราก็เห็นใจ น้อง ๆ ตอนเช้า รู้ว่าโดนตัดสินคดีเห็นใจมาก ๆ ด้วยเพราะว่าเราเป็นผู้แทนด้วยกัน ไม่ใช่ว่าจะซ้ำเติม เห็นใจครับ เพราะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกัน ผมเข้าใจแล้วผมให้เกียรติตลอด แต่ว่า บางเรื่องบางราวเราไม่ใช่ว่ายกเอาจะบอกคนรุ่นคร่ำครึ รุ่นใหม่ไม่พัฒนา รุ่นโน้น รุ่นนี้ รุ่นนั้น ใจเย็นไอ้หนู รอวันเธอมาเป็นใหญ่เธอจะทำอะไรเธอก็ทำเอา ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านครูมานิตย์ครับ ไอ้หนู นี่ต้องถอนนะครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ถอนครับท่านประธาน กลอนมันพาไป บังเอิญผมเป็นครู เวลาสอนเด็กก็มีกลอนมีอะไรอย่างนี้ครับ ขอโทษด้วยท่านประธาน ยกมือไหว้ท่านประธานด้วยครับ ถอนครับ ขอบพระคุณท่านประธานด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สุดท้ายของฝ่ายค้านนะครับ ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ตลอดที่ผมได้ฟังเพื่อนสมาชิกท่านได้ อภิปรายวาระหนึ่งของข้อบังคับการประชุมสภาที่ท่านพริษฐ์ได้เสนอ ผมเข้าใจดีว่ามีสมาชิก หลายท่านครับ ต่างพรรคได้อภิปรายในเชิงไม่เห็นด้วยในบางประเด็นนะครับ อย่างเช่น ที่ท่านอรรถกร ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่เห็นด้วยในเรื่องของ การล็อกเก้าอี้ประธานกรรมาธิการในฝั่งของการตรวจสอบ อย่างเช่นในกรรมาธิการ ป.ป.ช. หรือว่ากรรมาธิการงบประมาณให้กับพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แล้วก็ยังมีอีก หลายท่านพูดไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ซึ่งผมเองอาจจะจดไม่ครบถ้วน ซึ่งก็เข้าใจดีว่าสิ่งที่ เพื่อนสมาชิกไม่เห็นด้วยนี้อาจจะเป็นเพราะว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการ ยกร่างมาแต่แรกตามที่ท่านครูมานิตย์ ขออนุญาตเอ่ยนาม ที่ได้กล่าวเมื่อสักครู่ว่าอาจจะเป็น เพราะว่าพรรคก้าวไกลมีความรีบร้อนเกินไปหรือเปล่า ทำคนเดียวหรือเปล่า ดังนั้นสิ่งที่ผม อยากจะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ วันนี้มาช่วยกันให้ความเห็น มาช่วยกันลงมติ ผมคิดว่าจะเป็นทางออกให้กับสภาเรา ไม่ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำงานร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย เพราะว่าเป็นข้อบังคับที่เราต้องใช้ร่วมกันของทุกพรรค เท่าที่ผมได้ติดตามฟังการอภิปรายมา ครับท่านประธาน ผมอาจจะยังไม่ครบถ้วนแต่ผมคิดว่ายังมีข้อเสนอดี ๆ ที่ท่านพริษฐ์ ได้นำเสนอ แต่ว่ายังไม่เห็นเพื่อนสมาชิกคนใดลุกขึ้นคัดค้าน อย่างเช่นในเรื่องของการเสนอให้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ หรือการที่เปิดช่องทางให้ประชาชน ๕,๐๐๐ คนผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นญัตติตรงต่อสภาได้ ข้อเสนออื่น ๆ แน่นอนที่สุดครับ อาจจะมีเพื่อนสมาชิกคัดค้านบ้าง แต่ผมคิดว่าเรายังสามารถ พูดคุยหาทางออกได้ว่าจะปรับ Tune อย่างไร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนในวาระ ๑ รับหลักการ ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าเพื่อนสมาชิกคนไหนที่จะมาคัดค้านหลักการของข้อบังคับนี้ครับ ที่ท่านพริษฐ์ได้เสนอว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ เพื่อให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยึดโยงกับประชาชน ผมอยากย้ำอีกครั้งว่าการลงมติ ในครั้งนี้เป็นการลงมติในวาระที่ ๑ นะครับ ดังนั้นถ้าท่านจะลงมติคัดค้านท่านกำลังจะบอก ว่าท่านไม่เห็นด้วยที่เราจะมีข้อบังคับที่ไม่ให้สภามีประสิทธิภาพ ที่ไม่ให้สภามีความโปร่งใส และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับสภาของเราจริงหรือครับ แน่นอนที่สุดครับผมเข้าใจว่า รายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยในร่างที่ท่านพริษฐ์เสนอมาเป็น Package รวมแบบนี้ ซึ่งเราสามารถถกเถียงได้ในกรรมาธิการวาระ ๒ แน่นอนที่สุดครับ ผมเข้าใจดีว่าในภาพทางการเมืองถึงแม้ว่าเราจะมีการไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ในชั้นวาระที่ ๒ ก็ตาม แต่ก็มีเพื่อนสมาชิกอีกบางพรรคที่พวกเราได้พูดคุยมาเสนอว่า พรรคของพวกเขาก็มีร่าง ที่อยากจะเสนอประกบเช่นเดียวกัน ดังนั้นผมคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนสมาชิก ทุกท่านในวันนี้ ถ้าวันนี้ท่านโหวตคว่ำร่างข้อบังคับของการพริษฐ์ เท่ากับว่าทุก ๆ พรรค จะไม่สามารถเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมได้อีกเลยในสมัยการประชุมนี้ ซึ่งผมคิดว่า เป็นผลเสียต่อทุกฝ่ายทุกคนในสภาแห่งนี้ครับ มีทางออกที่ผมอยากจะเสนอท่านประธาน ซึ่งผมอาจจะยังไม่ได้เสนอเป็นญัตติ เพราะว่าจะขอให้ท่านพริษฐ์ผู้เสนอร่างข้อบังคับ ได้ตอบ คำถามสุดท้ายต่อประเด็นจากเพื่อนสมาชิกทุกท่านก่อน แล้วผมจะขออนุญาตท่านประธาน ก่อนการลงมติผมอยากจะขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ ก่อนที่สภาจะมีการลงมติรับหลักการกฎหมายใด ๆ ในวาระ ๑ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ นี้ สภาสามารถร่วมกันพิจารณาได้ที่จะส่งข้อบังคับฉบับนี้ไปที่กรรมาธิการสามัญ หรือกรรมาธิการกิจการสภา ให้ทุกพรรคการเมืองได้มีส่วนในการพิจารณายกร่างฉบับนี้ มาด้วยกันภายใน ๖๐ วัน หลังจากที่กรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้วส่งกับสภา เพื่อนสมาชิกจากทุกพรรคสามารถส่งร่างข้อบังคับมาประกบได้ทัน และไม่จำเป็นจะต้องเอา ร่างพรรคก้าวไกลเป็นร่างหลักก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าทางออกวันนี้ไม่น่าที่จะเป็นทางออก ที่ทำให้ท่านใดเสียผลประโยชน์ เว้นแต่การที่ท่านไม่เห็นด้วยกับการส่งไปกิจการสภาก่อน ๖๐ วัน มีเหตุผลเดียวที่ผมคิดออก ก็คือเป็นเหตุผลทางการเมืองที่ท่านไม่อยากให้ข้อบังคับ ของพรรคก้าวไกลถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภาเลย ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่าน อาจจะไม่ได้มองเห็นในเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองขนาดนั้น เพราะผมก็อยากยืนยันว่า ข้อบังคับฉบับนี้พวกเราตั้งใจที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเรามีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส แล้วก็ยึดโยงกับประชาชนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ในส่วนของสมาชิกที่เข้าชื่ออภิปรายก็ยุติลงเท่านี้นะครับ ต่อไปจะเป็นการใช้สิทธิ อภิปรายสรุปของผู้เสนอญัตติครับ เรียนเชิญครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอ ร่างแก้ไขข้อบังคับครับ จะขออนุญาตใช้สิทธิในการสรุปข้อเสนอหรือว่าสรุปญัตติที่นำเสนอ ต่อที่ประชุมสภาในวันนี้ เพื่อให้กระชับต่อเวลาการประชุมสภานั้นก็อยากจะเน้นไปที่ประเด็น ที่อาจจะเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไป หลักประเด็นอะไรที่มันเป็นความเห็น ที่มันแตกต่างอันนี้ผมคิดว่าแต่ละท่านทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ได้อภิปรายกันเต็มที่ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณความห่วงใย ข้อเสนอแนะ ข้อทักท้วง จากเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากซีกรัฐบาลนะครับ ผมเห็นว่า มีทั้งหมด ๑๐ ประเด็น ที่ผมจำเป็นจะต้องชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างหรือว่า ตอบคำถามที่เพื่อนสมาชิกมี เพื่อให้ประชาชนที่รับชมอยู่ทางบ้านนั้นหรือเพื่อนสมาชิกที่ยัง ลังเลอยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรนั้นมีข้อมูลครบถ้วนในการประกอบการพิจารณา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ เป็นข้อกังวลหรือคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอในข้อบังคับ สภาก้าวหน้าที่เป็นการเสนอว่าให้ตำแหน่งของประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่สุดกับการตรวจสอบการทุจริต โดยระบุไว้เป็น ๓ คณะนั้นให้เป็นโควตาในสัดส่วนของ พรรคฝ่ายค้าน ในประเด็นนี้มี ๔ คำถามย่อยที่ผมจำเป็นต้องชี้แจง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามย่อยที่ ๑ มีสมาชิกบางท่านอภิปรายเสมือนกับว่าผมไปเขียนว่าให้ ทุกคนหรือว่ากรรมาธิการทุกคนทั้ง ๑๕ คนในคณะเหล่านั้นเป็นของฝ่ายค้าน อันนี้ก็ต้องตอบ สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าไม่จริง แค่เขียนว่า ขอให้ตัวตำแหน่งประธานของคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนั้น เป็นในสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากซีกฝ่ายค้าน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามย่อยที่ ๒ เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็เป็นการตั้งคำถามว่าที่ผมเสนอให้ ประธานของ ๓ คณะนี้เป็นสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านเป็นเพราะว่าผมไม่ไว้วางใจหรือว่าตั้งคำถาม ถึงคุณสมบัติความเหมาะสมของ ๓ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนี้อยู่หรือไม่ เพราะว่า ๒ ใน ๓ นั้นก็เป็น สส. จากซีกรัฐบาล อันนี้ก็ต้องย้ำอีกรอบหนึ่ง ประเด็นที่ความจริงผมพูดไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดญัตติแล้วนะครับว่าผมยินดีในชั้นกรรมาธิการที่จะ เขียนบทเฉพาะกาลเข้าไปให้ข้อนี้ยังไม่ถูกบังคับใช้ในสภาชุดนี้ ดังนั้นไม่กระทบต่อการ ดำรงตำแหน่งของ ๓ ท่านอย่างแน่นอน แล้วก็ไม่ได้ถูกเสนอด้วยเจตนาที่จะตั้งคำถาม ถึงคุณสมบัติของทั้ง ๓ ท่านนะครับ แต่ว่าเป็นเจตนาที่ต้องการจะให้สภานั้นมีความเข้มข้น มากขึ้นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ว่าฝ่ายบริหารจะเป็นใคร ฉะนั้นก็ยินดีที่จะให้ ข้อนี้มีการบังคับใช้กันในสภาชุดถัดไปหรือว่าชุดที่ ๒๗ ในวันที่เรายังไม่รู้ว่าบุคคลที่จะมา ดำรงตำแหน่งประธานของ ๓ คณะนี้นั้นจะเป็นใคร
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามย่อยที่ ๓ เกี่ยวกับประเด็นนี้ เป็นการตั้งคำถามมาว่าทำไมถึงเสนอ ให้แค่ ๓ คณะนี้ มีประธานที่มาจากซีกฝ่ายค้าน แสดงว่าอีก ๓๒ คณะ จาก ๓๕ คณะนั้น ไม่มีบทบาทหรือไม่มีความรับผิดชอบในการตรวจสอบการทุจริตเลยหรือ ก็ต้องเรียนตามตรง ว่าอย่างที่ผมได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนเปิดญัตติว่าผมเลือกที่จะระบุถึง ๓ คณะที่ผมมองว่า มีความเกี่ยวข้องโดยตรงมากที่สุดต่อการตรวจสอบการทุจริต ๒ คณะก็คิดว่าหลายท่าน ได้อภิปรายไปแล้วก็คือคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับ ป.ป.ช. แล้วก็คณะกรรมาธิการเกี่ยวกับ การติดตามงบประมาณ แต่อยากจะเสริมอีกสั้น ๆ นะครับว่าคณะที่ ๓ ที่ผมได้เติมเข้าไป ก็คือ คณะกรรมาธิการกิจการสภา เจตนาหลัก ๆ ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ณ ปัจจุบัน ได้เขียนไว้ในลักษณะที่ต้องการจะให้คนที่ดำรงตำแหน่งประธานสภานั้นเป็น สส. ที่มาจาก พรรคในซีกรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นผมเลยมองว่าเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลเกี่ยวกับ การบริหารกิจการในสภานั้นก็เลยเขียนไว้นะครับ ว่าให้ประธานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาเป็นจากซีกฝ่ายค้าน แต่หากอันนี้เป็นสิ่งที่ ขัดใจหรือว่าติดใจท่านก็ยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไขนะครับ ความจริงแล้วถ้าพูดให้ถึงที่สุด นอกเหนือจาก ๓ คณะที่ผมได้ระบุไว้อีกเจตนา ๑ ที่ผมอยากจะทำให้เกิดขึ้นก็คือพยายามจะ ป้องกันสูตรการจัดสรรประธานคณะกรรมาธิการในลักษณะที่ทำให้ประธานคณะกรรมาธิการใด ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกระทรวงใด มาจากพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น แต่พอไปดูในรายละเอียดแล้วก็เกรงว่ามันอาจจะเขียนค่อนข้างยาก เพราะว่าความเชื่อมโยง ระหว่างคณะกรรมาธิการกับกระทรวงมันไม่เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งนะครับ แล้วถ้าเขียนอย่างรัดกุมเกินไปก็อาจจะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติก็เลยทำให้ผมจบลงที่เป็น การเขียนแค่ในส่วนของ ๓ คณะเท่านั้นนะครับ โดยโควตาระหว่าง สส. พรรครัฐบาลกับ พรรคฝ่ายค้านก็คงถูกคำนวณเหมือนเดิม ยังคงไว้เป็นสูตรคำนวณเหมือนเดิมคือตามสัดส่วน สส. ที่มีอยู่ในสภา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนคำถามประการสุดท้าย ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมาธิการ มีบางท่านแสดงข้อกังวลหรือตั้งคำถามว่า การที่ผมไปล็อกให้ตำแหน่งของประธาน คณะกรรมาธิการเป็นเฉพาะของ ๓ คณะเป็นเฉพาะของ สส. ฝ่ายค้านเป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเปล่า ทำให้สิทธิในการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในสภาแห่งนี้ไม่ได้เปิดกว้างเท่ากัน ระหว่าง สส. ซีกรัฐบาลกับ สส. ซีกฝ่ายค้าน ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมองครับว่าเจตนารมณ์ ในการออกแบบกติกาอย่างนี้เป็นเช่นใด แต่ผมหวังว่าท่านไม่ได้หมายความว่าทุกตำแหน่ง ที่เกี่ยวข้องกับสภาแห่งนี้นั้นจะต้องเปิดกว้างให้กับ สส. ซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านเท่ากัน เพราะเราก็เห็นอยู่ครับว่ามีบางตำแหน่งที่ก็ถูกออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม กับเจตนาถูกออกแบบไว้เพื่อให้เป็น สส. จากซีกใดซีกหนึ่ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็น ในส่วนของประธานสภาที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ต้องการจะให้เป็น สส. ที่สังกัดพรรค ในซีกรัฐบาล ถ้าท่านจะยืนยันหลักการของท่านว่าทุกตำแหน่งในสภาแห่งนี้จะต้องเปิดกว้าง ให้กับ สส. ซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาเลือกผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาแห่งนี้เลยไหมครับ ให้โหวตกันเลยไหมครับว่าใครจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านและซีกรัฐบาล ก็เสนอบุคคลคนหนึ่งมา ซึ่งแน่นอนก็ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากหรือเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ของสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็มีสมาชิกจากซีกรัฐบาลมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมก็คิดว่านั่นไม่ใช่ เจตนาของท่าน ดังนั้นหลักการที่ว่าทุกตำแหน่งจะต้องเปิดกว้างเท่ากันระหว่างซีกรัฐบาลกับ ซีกฝ่ายค้านก็เป็นหลักการที่เราไม่ควรจะยืดถือ แต่ว่าแน่นอนอาจจะเห็นต่างกันได้ว่า ในสัดส่วนของตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ๓ คณะนั้นควรจะต้องมีการล็อกหรือไม่
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเพื่อนสมาชิก ท่านอรรถกร ขออนุญาตที่เอ่ยนาม เป็นการตั้งคำถามครับหรือว่าแสดงความเห็นว่าท่านไม่เห็นด้วยกับ ข้อ ๑๑ ของร่างแก้ไขข้อบังคับที่ผมเสนอ ซึ่งเป็นข้อที่เสนอให้มีการยกเลิกความในวรรคสอง ของข้อ ๘๐ และมีการเขียนใหม่ ซึ่งเป็นข้อที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์ในการลงมติแบบลับในที่ ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมห้องใหญ่แห่งนี้ ท่านพยายามจะอภิปรายโดยการ กล่าวหาหรือว่าให้ความเห็นในลักษณะที่บอกสังคมว่าผมพยายามจะไปปรับเกณฑ์เกี่ยวกับ การโหวตลับ ท่านตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีเกณฑ์ว่าถ้ามีสมาชิกคัดค้านไม่ให้โหวตลับ และมี ผู้รับรอง ๑ ใน ๓ ก็ให้ลงคะแนนแบบเปิดเผย ท่านตั้งคำถามว่าทำไมถึงใช้ตัวเลข ๑ ใน ๓ ทำไมไม่เป็น ๑ ใน ๒ ก็ต้องเรียนตามตรงว่าท่านกลับไปอ่านข้อบังคับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ผมไม่ได้ แก้ไขตัวเลขอะไรเลยตัวเลข ๑ ใน ๓ มันมีอยู่แล้ว ถ้าท่านประธานลองอ่านข้อ ๘๐ ไปพร้อม กับผม ข้อ ๘๐ ในวรรคสองเขียนชัดครับว่าในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติให้ลงคะแนนลับ ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย ฉะนั้นผมไม่ได้แก้ไขเกณฑ์เรื่อง ๑ ใน ๓ แต่อย่างใดเลย สิ่งที่ผมแก้ไขครับ คือพยายามจะทำให้ข้อบังคับข้อนี้มันมีความชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของคำพูด เพราะว่าปัจจุบันนี้ถ้าอ่านไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่วรรคแรกจนถึงวรรค สุดท้ายจะเห็นว่ามันมีความสับสนอยู่ ผมอธิบายให้เห็นภาพแบบนี้ วรรคที่หนึ่งเขียนว่า อย่างนี้ครับว่า การออกเสียงลงคะแนนนั้นให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อสมาชิกเสนอญัตติ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ นั่นหมายความ ว่าเวลาจะลงมติในที่แห่งนี้การลงเปิดเผยเป็น Default แต่ถ้ามี ๒๐ คนที่คัดค้านก็อาจจะ สามารถพิจารณาให้โหวตลับได้ แต่วรรคสองมาเขียนต่อว่า ในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติ ให้ลงคะแนนลับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่ ๑ ใน ๓ ของสมาชิก ในที่ประชุมให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย สรุปง่าย ๆ คือว่าหากมี ๒๐ คน คัดค้านว่าจะให้ลงคะแนนแบบลับ แต่หากมี ๑ ใน ๓ บอกว่าไม่ยอมต้องการให้ลงเปิดเผยนั้น ข้อบังคับเขียนไว้ว่าให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย สิ่งที่ผมไปแก้ข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลข ๑ ใน ๓ ครับ สิ่งที่ผมไปแก้คือคำว่า ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ เพราะมันสร้างความสับสน เป็นความสับสนที่ผมถามตัวแทนในคณะกรรมาธิการที่ยกร่าง ข้อบังคับนี้ขึ้นมา ก็ตอบผมไม่ได้ชัดเจนว่าคำว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์นั้นหมายถึงอะไร หมายถึงว่า ถ้า ๑ ใน ๓ ยืนยันว่าต้องโหวตแบบเปิดเผย คำว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ นั่นคือแค่สมาชิก ๑ ใน ๓ จาก ๑๐๐ กว่าคนนั้นต้องโหวตเปิดเผย หรือหมายถึงว่าให้ทั้งที่ประชุมนั้นโหวตแบบเปิดเผย ดังนั้นการแก้ไขข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการไปปรับเกณฑ์เรื่องการลงคะแนนแบบลับ แค่เป็นการปรับข้อความให้มันมีความรัดกุมมากขึ้น เพราะผมก็เข้าใจว่าเจตนาของข้อนี้ คงไม่ต้องการเห็นที่ประชุมสภาแห่งนี้มี สส. บางคนลงคะแนนเปิดเผย บางคนลงคะแนนลับ เป็นต้น
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ที่มีหลายท่านตั้งคำถามขึ้นมาเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด การประชุมคณะกรรมาธิการ ในประเด็นนี้มี ๒ คำถามย่อยที่สมาชิกถามขึ้นมา คำถามย่อย
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อกังวลที่ ๑ ก็เป็นข้อกังวลของเพื่อนสมาชิกบางท่านที่มองว่าในบางกรณีมัน ไม่ควรจะมีการเปิดเผยหรือไม่ควรจะมีการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะข้อกังวลว่าผู้ชี้แจง ในบางวาระหากพูดในที่ประชุมได้มีการถ่ายทอดสดอาจจะไม่มีสิทธิในการคุ้มครอง และอาจจะเกิดความเสียหายได้ อันนี้ผมต้องย้ำข้อเสนอผมอีกรอบหนึ่งครับ ว่าผมไม่ได้บังคับ ว่าการประชุมทุกครั้งจะต้องมีการถ่ายทอดสด มีการเปิดช่องในตัวร่างข้อบังคับผมว่า หากที่ประชุมเห็นว่าจะมีความเสี่ยงเช่นนี้มีวาระใดที่มีข้อกังวลแบบนี้ก็สามารถขอมติเพื่อให้ ยุติการถ่ายทอดสดสำหรับการประชุมนั้นหรือสำหรับวาระนั้นได้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อกังวลที่ ๒ ก็มีบางท่านกังวลว่า หากเราปลดล็อกให้สามารถถ่ายทอดสด การประชุมคณะกรรมาธิการได้แล้ว ท่านยกตัวอย่างว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์ที่แต่ละคน หยิบยกมือถือขึ้นมาถ่ายจนเกิดความไม่สบายใจต่อผู้ที่ตอบคำถามหรือผู้ที่ชี้แจง ผมมองต่าง จากท่านเลยครับ ผมกลับมองว่าถ้าเราทำให้การถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการนี้ มันมีการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ พูดง่าย ๆ คือมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางทางการ ความโกลาหลหรือความสับสนที่จะเกิดขึ้นจากการที่สมาชิกท่านใดในคณะกรรมาธิการ จะหยิบยกมือถือเข้ามาถ่ายแล้วสร้างความไม่สบายใจกับผู้ชี้แจงมันกลับจะหายไป เพราะว่า แน่นอนพอผู้ที่แจ้งมาที่ห้องประชุมก็ต้องมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอยู่แล้วว่าที่ประชุม ณ เวลานี้มีการถ่ายทอดสดอยู่หรือไม่ และถ้าผู้ชี้แจงมีเหตุผลใด ๆ ที่ต้องการจะให้มีการยุติ การถ่ายทอดสดก็สามารถแสดงความเห็นขึ้นมาได้ ในที่ประชุมก็สามารถมีมติได้ ดังนั้นการที่ ทำให้มันเป็นระบบและทำให้หากจะมีการถ่ายทอดสดถูกถ่ายทอดสดผ่านช่องทางทางการ น่าจะป้องกันและคลี่คลายข้อกังวลนี้มากกว่าไปเติมข้อความนี้ด้วยซ้ำ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๔ ที่ผมเห็นว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน คือประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายการเงิน ย้ำแบบนี้นะครับ ไม่มีตรงไหนเลยในร่างแก้ไข ข้อบังคับสภาชุดนี้ที่ไปยกเลิกอำนาจนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาว่าจะให้คำรับรอง ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ แม้เราอาจจะเห็นต่างกันได้ว่าอำนาจนี้ควรจะมีอยู่ หรือไม่ ผมทราบดีว่าถ้าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจนี้ต้องไปถกเถียงกันในระดับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผมทราบดีครับว่าเวทีวันนี้ไม่ได้เป็นเวทีในการถกเถียงว่า อำนาจนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วผมก็เข้าใจถึงเจตนาของผู้ร่างมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญ ว่าในเมื่อฝ่ายบริหารต้องเป็นคนบริหารจัดการงบประมาณก็เลยให้หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือ นายกรัฐมนตรีนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาก่อนว่าจะรับรองร่างเกี่ยวกับการเงินเข้าสู่ สภาหรือไม่ ดังนั้นขีดเส้นใต้ ๑๐๐ ครั้งนะครับ ว่าร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ไม่มีตรงไหนที่ไปยกเลิก อำนาจนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ แต่มี ๒ ประเด็นที่ผมหวังว่า จะพอคลี่คลายความกังวลของท่านได้ ประเด็นที่ ๑ หลายคนอาจจะติดใจคำว่า Auto Approve หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ อนุมัติแบบอัตโนมัติ ต้องย้ำว่าการบอกว่าให้มีการอนุมัติ แบบอัตโนมัตินี้ไม่ได้หมายความว่าเราไปบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องให้คำรับรองกับทุกร่าง นะครับ เพียงแต่เราบอกว่าหากมันมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแล้วจะ ๓๐ วัน ๔๐ วัน ๖๐ วัน ก็สุดแล้วแต่ และเกิดการพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ มันเกินเลยกรอบเวลานั้น ไปจนผู้เสนอร่างไม่ได้รับคำตอบจากท่านนายกรัฐมนตรีว่าจะรับรองหรือไม่ เราเพียงแค่ เสนอว่าหากมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่าอนุมัติโดยอัตโนมัติ พอเป็นเช่นนั้นครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันจะมีกรอบเวลาชัดเจนที่นายกรัฐมนตรีจะมีช่วงเวลาที่จะปฏิเสธหรือว่า ปัดตกร่างที่ท่านไม่เห็นด้วยหรือไม่พร้อมใช้คำรับรองได้ แต่ประโยชน์ที่มันจะตามมา ในมุมหนึ่งอย่างที่ผมย้ำว่าไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของนายกรัฐมนตรี อำนาจนายกรัฐมนตรียังคง มีอยู่เหมือนเดิม แต่พอกำหนดกติกาแบบนี้และมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแบบนี้มันทำให้ผู้เสนอ ร่างหรือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างนั้นทำงานได้ง่ายขึ้น ผมยกตัวอย่างให้เห็น ภาพชัดเลยครับ ตั้งแต่การเปิดสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ มา กฎหมายฉบับหนึ่งที่ผม ได้เสนอเข้าไปคือการแก้ไข พ.ร.บ. รับราชการทหารเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการบังคับ เกณฑ์ทหาร แน่นอนครับ พอมันมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ร่างนี้ก็ถูกทางประธานสภา วินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน ก็ต้องถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ ผมก็ยังรออยู่ครับ แต่สิ่งที่ผมทำงานต่อลำบากคือผมไม่รู้ว่าผมควร จะรอถึงเมื่อไร แน่นอนพรุ่งนี้ท่านปฏิเสธมาเลยก็ได้คำตอบชัดเจนผมก็ก้มหน้าทำงานต่อ แต่ว่าพอท่านยังไม่ตัดสินใจ ท่านยังไม่ให้คำรับรอง ซึ่งแน่นอนท่านอาจจะมีภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาแต่พอไม่มีกรอบเวลาชัดเจน ผมไม่รู้ว่าผมควรจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้ามัน มีกรอบเวลาชัดเจนขึ้นมา แล้วเกิดท่านนายกรัฐมนตรีปฏิเสธภายในกรอบเวลานั้น ผมก็จะได้ รู้ว่าดังนั้นถ้าผมจะยื่นร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งนี้ ผมก็ต้องไปปรับตัวร่าง พ.ร.บ. รับราชการต่างหากของผมเพื่อตัดส่วนที่มันเกี่ยวกันเงินออก เพื่อทำให้มันสามารถเข้าสู่ สภาแห่งนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำรับรองจากท่านนายกรัฐมนตรี อันนี้ต่างหากคือประโยชน์ ที่เราจะได้จากการแก้ไขข้อบังคับนี้ โดยไม่เป็นการลิดรอนหรือว่าลดอำนาจของท่าน นายกรัฐมนตรีในการให้คำรับรองหรือปฏิเสธร่างเกี่ยวกับเงินแต่อย่างใด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ที่ผมหวังว่าจะพอคลี่คลายข้อกังวลของท่านได้ก็คือบางท่าน กังวลว่า ๓๐ วันนั้นอาจจะเป็นกรอบเวลาที่สั้นเกินไปที่จะให้นายกรัฐมนตรีหรือว่า ฝ่ายบริหารนั้นพิจารณาว่าจะให้คำรับรองหรือไม่ อันนี้ยินดีเลยครับ ในชั้นกรรมาธิการผมว่า เป็นเรื่องปกติที่เราจะมาถกกันได้ว่าจะขยายจาก ๓๐ วันเป็นกี่วัน จะเป็น ๖๐ วัน จะเป็น ๙๐ วันไหม แต่สิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์คือเลือกให้ชัดเจนว่ากี่วันนะครับ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจะได้ทำงานกันต่อได้อย่างสะดวกสบาย
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๕ เป็นประเด็นที่หลายท่านก็ได้แสดงความเห็นและความ ไม่เห็นด้วยไว้ คือเรื่องของกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามีข้อกังวลทั้งหมด ๓ ส่วน ที่บางท่านได้แสดงไว้ในประเด็นนี้นะครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อกังวลที่ ๑ เป็นข้อกังวลว่าการเสนอกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็น การเพิ่มอีก ๑ ประเภทกระทู้เข้าไป แล้วจะทำให้ไปเพิ่มเวลาว่าสัดส่วนของเวลาการประชุม สภาที่เราต้องใช้ไปกับวาระเรื่องของกระทู้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าไปดู ร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ ผมตระหนักดีว่าการเสนอกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีก็จะมีความ ทับซ้อนในระดับหนึ่ง กับกระทู้ถามสดรัฐมนตรีที่สามารถถามท่านนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีได้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นผมก็เลยใช้วิธีในการเกลี่ยเวลาระหว่าง ๒ ประเภทนี้ ให้มันได้สัดส่วนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปเพิ่มภาระเวลาในการพิจารณาในส่วนของกระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีและกระทู้ถามสดรัฐมนตรีครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อกังวลที่ ๒ บางท่านก็แสดงความกังวลว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะไปบอกว่า หากสมาชิกท่านใดตัดสินใจว่า ณ วันนั้นจะไม่ตั้งกระทู้เต็มโควตาแล้วนี้จะเกลี่ยเวลาไปให้กับ กระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีหรือว่ากระทู้อื่น อันนี้ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมเสนอ ขึ้นมาใหม่นะครับ ถ้าเราไปดูข้อบังคับชุดปัจจุบัน ข้อ ๑๖๐ ผมขอไม่อ่านทั้งข้อก็แล้วกันครับ ท่านประธาน แต่ว่าถ้าเพื่อนสมาชิกท่านใดที่เปิดอ่านไปพร้อมกับผมหรือว่าประชาชนท่านใด ที่เปิดข้อบังคับขึ้นมานี้ก็จะเห็นว่าข้อ ๑๖๐ ก็มีกลไกแบบนี้อยู่แล้ว พูดง่าย ๆ คือหากสมมุติ ว่าวันนั้นมีโควตา ๓ กระทู้ แต่มีคนใช้สิทธิแค่ ๒ กระทู้นี้มันก็จะมีการเกลี่ยเวลาเพื่อให้ ๒ คน ที่ใช้สิทธินั้นอาจจะได้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มขึ้นมาจากการที่คนที่ ๓ นั้นสละสิทธิ์ ดังนั้น ก็ไม่ได้เป็นเจตนาในการจะไปเบียดเบียนเวลาถามกระทู้ของเพื่อนสมาชิกแต่อย่างใด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ข้อกังวลที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่องกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี บางท่านก็พูดว่า เขียนข้อบังคับขึ้นมาให้นายกรัฐมนตรีตอบแต่ละคำถามแค่ ๒ นาทีมันสั้นเกินไป ผมก็ต้อง เรียนตามตรงว่าถ้าท่านจะยกประเด็นนี้ขึ้นมานี้ ก็กรุณายกมาทั้งหมดผมไม่ได้เขียนแค่ว่า ให้นายกรัฐมนตรีตอบ ๒ นาที แต่ผมเขียนให้ผู้ถาม ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือผู้นำฝ่ายค้านนี้ ถามได้แค่คำถามละ ๒ นาทีเช่นกัน เจตนาไม่ใช่เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนั้นมีเวลาน้อยลงในการ ตอบคำถาม แต่เจตนาคือพยายามจะปรับรูปแบบการถามตอบให้มันมีความกระฉับกระเฉง มากขึ้น คือแทนที่ว่าผู้ถามก็ใช้เวลายาว ๑๐ นาที ๑๕ นาที ผู้ตอบก็ใช้เวลายาว ๑๐ นาที ๑๕ นาที พยายามจะให้มันมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น เหมือนกับบทสนทนาระหว่าง ๒ คนที่มีการถามไปตอบไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ปกติในวาระกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีหรือว่า Prime Minister’s Question ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบบรัฐสภา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๖ อันนี้เป็นประเด็นสั้น ๆ มีเพื่อนสมาชิกท่าน ๑ บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับ ข้อ ๑๒ ของผมที่ไปยกเลิกข้อ ๘๕ ที่เกี่ยวข้องกับการ นับคะแนนใหม่ อันนี้ความจริงต้องบอกว่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ถ้าท่านติดใจในชั้นกรรมาธิการ ก็ยินดีที่จะถอนนะครับ แต่อยากจะอธิบายเจตนารมณ์ก่อนว่าทำไมถึงเสนอให้มีการยกเลิก ข้อที่เกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ คือต้องบอกว่าหากเราไปย้อนดูข้อบังคับสมัยก่อน ๆ เราจะ พอเข้าใจได้ว่าเจตนารมณ์ของข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนใหม่นี้มันถูกเขียนขึ้นมา เพื่อปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญหาเชิงเทคนิค ว่าหากมีการลงมติไปแล้ว แล้วเกิดสมมุติมีการนับคะแนนผิด ซึ่งความจริง ๑๐ คนเห็นชอบ แต่ไปนับแค่ ๙ คนเห็นชอบ ถ้าเกิดมันมีความผิดพลาดเป็น Human Error หรือความผิดพลาด ของมนุษย์ในลักษณะเช่นนั้นควรจะเปิดให้มันมีโอกาสในการนับคะแนนใหม่เพื่อที่ว่าถ้าเกิด ว่าผลมันใกล้เคียงเกินไป นับคะแนนไม่ได้ Check อีกรอบหนึ่งว่าไม่มีการนับคะแนนผิด อันนั้นคือเจตนารมณ์การใช้คำว่า นับคะแนน แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่การลงมติแล้วมันใช้เป็น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ความผิดพลาดจากมนุษย์ในลักษณะแบบนั้นมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกต่อไป เพราะว่าแต่ละคนลงมติไปอย่างไรเครื่องมันก็จะขึ้นแบบนั้น ข้อกังวลในการ คงข้อบังคับเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ไว้อยู่ในวันที่เรามีเทคโนโลยีแบบนี้ ก็เป็นความกังวล ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่จะถูกบิดไปเป็นการเปิดช่องเพื่อใช้เป็นกลไกในการ โหวตใหม่นะครับ ซึ่งไม่เหมือนกับการนับคะแนนใหม่นับคะแนนใหม่คือทุกคนลงแบบหนึ่ง ไปแล้ว แต่ว่าถ้ามันมีการนับที่มันผิดพลาดก็คือนับกันใหม่เพื่อ Check ว่านับอย่างถูกต้อง แต่ลงคะแนนใหม่นี่คือท่านสามารถเปลี่ยนโหวตได้นะครับ จากรอบเดิมที่เห็นด้วยกับ รอบเดิมที่ไม่เห็นด้วย ถามว่าอันนี้อันตรายอย่างไร อันตรายครับ เพราะเกิดสมมุติมีการ พิจารณาร่างกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาแล้วเกิดผลออกมาว่า เห็นด้วย ชนะ ไม่เห็นด้วย แค่ ๑ หรือ ๒ คะแนน แล้วมันเปิดช่องให้สามารถโหวตใหม่ที่แต่ละคนสามารถเปลี่ยนการลงมติได้ หลายคนก็กังวลว่ามันอาจจะมีอิทธิพลอื่น ๆ เข้ามาแทรกแซง พอเห็นว่าคะแนนมันใกล้เคียง ขนาดนั้นก็อาจจะมีการให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อทำให้สมาชิกบางคนนั้นเปลี่ยนคะแนน เพื่อพลิกจากมติที่ก่อนหน้านี้เห็นด้วยเป็นมติที่ไม่เห็นด้วยนะครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๗ อันนี้สั้น ๆ เหมือนกัน มีท่านหนึ่งบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอ ของผมที่เกี่ยวข้องกับข้อ ๑๓๘ ของข้อบังคับ ถามว่าข้อ ๑๓๘ เกี่ยวข้องกับอะไร ข้อ ๑๓๘ เป็นข้อบังคับที่เปิดช่องว่าหากมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติใดไปแล้ว แล้วเกิดมีข้อผิดพลาด เกิดขึ้น เช่น สมมุติว่าอาจจะมีการสะกดผิดขึ้นมา สภานั้นสามารถมีมติในการทบทวนได้ ปัจจุบันข้อบังคับเขียนว่าต้องเป็นมติ ๑ ใน ๒ ผมก็กังวลว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดมันเป็นเพียงแค่ ตัวสะกดจริง มติ ๑ ใน ๒ เราก็เข้าใจได้ แต่ผมกลัวว่าอันนี้มันจะไปเปิดช่องโหว่ให้บางคน ใช้ช่องนี้ไปแก้ไขตัวเนื้อหาสาระ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการยกระดับเป็น ๒ ใน ๓ มันก็น่าจะ รัดกุมขึ้น เพราะว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดมันเป็นแค่ข้อผิดพลาดเชิงตัวสะกด หรือข้อพิพาท เล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ ผมเชื่อว่าสมาชิกทุกคนก็พร้อมจะลงมติเห็นชอบ แต่ถ้าเราลด Bar ตรงนั้น มาเป็น ๑ ใน ๒ มันมีความเสี่ยง เพราะอันนี้อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือว่าเป็นช่องโหว่ ในการไปแก้ไขตัวเนื้อหาสาระมากกว่าแก้ไขข้อผิดพลาดที่เล็กน้อยนะครับ สั้น ๆ ครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
คงต้องสรุปแล้วครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๘ ๙ ๑๐ อันนี้ สั้นมากครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๘ มีท่านหนึ่งบอกว่า เราก็เพิ่งมีการแก้ไขข้อบังคับไป ทำไมถึงมา แก้ในวันนี้ ก็ต้องบอกว่าผมยื่นของผมก่อน ผมยื่นประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ว่า หลังจากนั้น ๑ เดือนพอมันมีการพูดคุยกันเรื่องชื่อและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ มีการยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับเข้ามาอีกฉบับหนึ่งจากซีกฝั่งรัฐบาล ซึ่งทางซีกฝ่ายค้าน ก็ยืนประกบแล้วก็มีการตกลง ๆ กันว่าในเมื่อร่างแก้ไขข้อบังคับชุดนั้นมันแก้ไขน้อยกว่า ให้เอาขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าแก้ไขไปแล้ว แล้วอันนี้มาเสนอทีหลัง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๙ บางท่านเป็นห่วงว่าการเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับนี้เป็นร่างแก้ไข ข้อบังคับที่เข้าใจหรือเปล่าว่าเราปกครองในระบบรัฐสภา ผมก็ต้องเข้าใจเป็นอย่างดีครับว่า ในระบบรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมันมีความเชื่อมโยงกัน และความจริงแล้ว ถ้าท่านเข้าใจในระบบรัฐสภาท่านก็จะรู้ในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภากระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรีที่ท่านคัดค้านนักหนาเป็นเรื่องปกติมาก
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนประเด็นสุดท้าย ท่านบอกว่าให้ผมใจเย็น ได้ครับ ยินดีน้อมรับครับ ดังนั้น ถ้าเกิดว่าวันนี้ท่านรู้สึกว่าเราเสนอเร็วเกินไป ท่านยังไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดทั้งหมดนี้ ผมก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านณัฐพงษ์เมื่อสักครู่ว่าอาจจะเป็นทางออกได้ ก็คือการส่งร่าง แก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ของผมไปที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดพื้นที่ ให้ทุกฝ่ายสามารถมาถกเถียงกันได้เพิ่มเติม ยื่นข้อเสนอของตนเอง แล้วก็หาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนที่จะนำร่างที่ทุกฝ่ายนั้นได้แสดงความเห็น แล้วก็วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วกลับเข้ามา ในสภาแห่งนี้อีกรอบหนึ่ง อันนี้น้อมรับครับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมขอทิ้งแบบนี้ครับ ๒ เหตุผลสั้น ๆ ว่าทำไมหลังจากชี้แจงข้อกังวลแบบนี้ แล้วผมหวังว่าท่านจะลงมติรับหลักการ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เหตุผลที่ ๑ หลักการและเหตุผลที่ผมเสนอในร่างแก้ไขข้อบังคับนั้นเขียนไว้ กว้างมากครับ ดังนั้นถ้ามันมี ๙ ข้อเสนอหลักที่ผมเสนอในวันนี้ท่านเห็นด้วยกับบางข้อ ท่านไม่เห็นด้วยกับบางข้อ ท่านรับหลักการไปท่านสามารถแก้ไขทุกข้อที่ท่านไม่เห็นด้วย หมดเลย เราก็รู้อยู่แล้วว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมานี้ สส. รัฐบาลก็เป็น เสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นก็ไม่อยากให้ท่านกังวลในประเด็นนี้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เหตุผลประเด็นที่ ๒ อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ผมโยนไปก่อนที่ร่างแก้ไข ข้อบังคับของผมจะถูกปัดตกหรือว่าถูกคว่ำ ผมก็กังวลไว้แล้วว่าพอผมเสนอร่างแก้ไข ข้อบังคับนี้ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นร่างข้อบังคับที่ให้ประโยชน์ กับฝ่ายค้าน ก็ตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของผมว่าผมเสนอแบบนี้ เพราะว่าจะให้ประโยชน์กับ ฝ่ายตนเองหรือเปล่า ก็ต้องยืนยันว่าไม่ใช่เจตนาของผมเลย ยกร่างฉบับนี้ขึ้นมาก่อนที่จะดู ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่หากท่านไม่สบายใจผมโยนไพ่ ใบสุดท้ายเลย เพื่อหวังว่าท่านจะยินดีลงมติรับหลักการ ก็คือว่าในชั้นกรรมาธิการถ้าผ่านมติ รับหลักการไปได้ในชั้นกรรมาธิการ ผมยินดีเขียนเพิ่มข้อหนึ่งเลยในบทเฉพาะกาลว่า ทั้งหมด ในข้อบังคับนี้ไม่บังคับใช้กับสภาชุดนี้เลยสักข้อ ให้ไปเริ่มบังคับใช้ในสภาชุดที่ ๒๗ ในวันที่เรา ไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายค้าน ใครเป็นฝ่ายรัฐบาล อันนี้เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ผมขอเสนอไปเพื่อแสดง ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของผมว่า ผมไม่ได้เสนอร่างนี้เพื่อจะให้ประโยชน์กับฝ่ายค้านหรือว่า พรรคก้าวไกลในวันนี้ แต่เป็นการเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ที่ผมมองในมุมมองของผมว่า จะทำให้สภาแห่งนี้ก้าวหน้าขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น มีความเป็นธรรม มากขึ้น และได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมากขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ตอนนี้ท่านผู้เสนอญัตติก็ได้อภิปรายสรุปแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นขั้นตอน การลงมติครับ เนื่องจากมีท่านสมาชิกอยากจะขอใช้ข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ จะเป็นการเสนอ ของท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผมก็ใช้โอกาสได้เสนอญัตตินี้ เรียนเชิญครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้สิทธิตามข้อบังคับในการ เสนอญัตติ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘๖ วรรคสอง ประกอบกับข้อ ๑๑๗ แต่ผมอาจจะขออนุญาต ท่านประธานขอเวลาเพียงแค่ ๒ นาทีในการนำเสนอเหตุผลประกอบการเสนอญัตตินี้ได้ไหม ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานครับผมอยากจะขอร้องท่านสมาชิกทุกคนที่อยู่ ในห้องประชุมตอนนี้นะครับ ผมเสนอญัตตินี้ไม่ได้ด้วยหลักเหตุผลว่าเราจะมาพูดคุยถกเถียง ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามข้อบังคับแต่ละข้ออย่างไร แต่ผมอยากจะขอให้ท่าน ใช้ความรู้สึกร่วมกันในแง่ที่ว่าวันนี้เราอยากให้มีบรรยากาศในการทำงานร่วมกันได้ระหว่าง ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เมื่อตอนบ่ายต้องขอขอบคุณท่านประธานกรรมาธิการ DE ท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ที่ได้ตอบรับหลังบ้านจากท่านปกรณ์วุฒิที่บอกว่าพรรคก้าวไกล ยินดีจะยื่นร่าง พ.ร.บ. ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ ที่กรรมาธิการ DE ซึ่งประธานก็คือ พรรคเพื่อไทยยอมที่จะให้พวกเราเข้าไปทำงานร่วมกัน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านณัฐพงษ์ครับ เพื่อความสมบูรณ์ของการเสนอญัตติจะต้องมีผู้รับรอง แล้วก็จะต้องดูว่า มีผู้เสนอญัตติค้านหรือเปล่านะครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เดี๋ยวเสนอหลักเหตุผล เสร็จแล้วก็จะให้ผู้รับรองครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
โอเค ได้ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขออภัย ด้วยครับ ก็อยากจะให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ครับ ในเมื่อกรรมาธิการเราก็เป็นตัวแทนของ สภาใหญ่เกิดบรรยากาศในการทำงานร่วมกันได้ ทำไมสภาใหญ่เราข้อบังคับฉบับนี้ก็ไม่ได้ มีผลร้ายทางด้านการเมืองใด ๆ เลย ที่เราจะไม่สามารถสร้างบรรยากาศร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นก็อยากจะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ ผมเข้าใจว่าตามที่พูดคุยกับ ทางวิป เข้าใจว่าจริง ๆ ไม่เห็นด้วยแม้แต่ที่จะให้ส่งไปกิจการสภา แต่ถ้าวันนี้ผมไม่ลุกขึ้นมา ใช้สิทธิตามข้อบังคับนี้ ก็เหมือนกับผมยอมแพ้ตั้งแต่ไม่ได้ลองเสนอกับเพื่อนสมาชิก จนวินาทีสุดท้าย ถึงแม้รู้อยู่แล้วว่าอาจจะไม่ผ่าน แต่ว่าอยากจะขอเชิญชวนท่านศรัณย์ ท่านภราดร ทุกท่าน คนที่เป็นวิปพรรคร่วมทุกท่าน เรามีความจริงใจจริง ๆ ที่อยากจะให้ ข้อบังคับนี้พิจารณาร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องคว่ำก็ได้ครับ เข้าไปเสนอมาก่อนในกิจการสภา แล้วท่านก็เสนอกลับมาเป็นร่างหลักก็ได้ แล้วให้พวกเราประกบก็ได้ ดังนั้นอยากจะขอใช้สิทธิ สรุปสู่ท่านประธานครับ เพื่อให้การเสนอญัตตินี้ถูกต้อง อยากจะขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘๖ วรรคสอง ประกอบข้อ ๑๑๗ ให้สภาผู้แทนราษฎรส่งให้กรรมาธิการกิจการสภา ไปพิจารณาก่อน ๖๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับกับญัตติข้อนี้ เชิญท่านศรัณย์ครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติที่ ท่านณัฐพงษ์ได้เสนอ คือต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าจากบรรยากาศที่เราฟังมาประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า เราเห็นครับว่ามีความเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็ได้มีการสอบถามสมาชิก หลาย ๆ ท่านครับว่าเราเห็นว่าควรที่จะมีการลงมติไปเลย ไม่ควรที่จะส่งไปที่ห้องกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นผมเสนอว่าไม่ต้องส่ง ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถ้าในเมื่อมีญัตติที่แตกต่างกันแบบนี้ จะต้องมีการลงมติว่าจะดำเนินการตามการเสนอ ในข้อ ๑๑๗ วรรคสอง ของท่านณัฐพงษ์ก่อนหรือไม่ อย่างไร เพราะฉะนั้นอันนี้ยังไม่ใช่ เป็นการลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการ แต่เป็นการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กับญัตติของท่านณัฐพงษ์ ขอเชิญสมาชิกเข้ามาลงมติครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการแสดงตน ขอเชิญสมาชิกทุกท่านเข้าห้องประชุม และกดปุ่มแสดงตนนะครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๔๑๘ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๑๘ ครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ๒๙๘ แสดงตัวค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๙๘ ครับ
นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ มนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ๒๘๔ รายงานตัวครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๘๔ ครับ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๐๐ สรรเพชญ แสดงตัวครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๐๐ ครับ
นายณพล เชยคำแหง หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ณพล เชยคำแหง หมายเลข ๑๒๑ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๒๑ ครับ ตอนนี้ผมคิดว่าใช้สิทธิครบถ้วนแล้ว ผมขอปิดการแสดงตน ขอเชิญเจ้าหน้าที่ แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเป็น ๓๖๕ บวกแสดงตนด้วยไมค์อีก ๕ เป็น ๓๗๐ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการลงมติครับ มติที่เราจะลงนะครับ ก็คือมติว่าเราจะเห็นชอบกับข้อเสนอของ ท่านณัฐพงษ์หรือไม่ในการจะส่งญัตติของท่านพริษฐ์ไปให้กรรมาธิการกิจการสภาพิจารณา อีก ๖๐ วัน ก่อนจะส่งกลับเข้ามาที่สภานะครับ ท่านใดที่เห็นด้วยกับท่านณัฐพงษ์กดปุ่ม เห็นด้วย ท่านใดที่ไม่เห็นด้วยกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านใดงดออกเสียงกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญลงมติครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ๒๙๘ เห็นด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่บันทึกนะครับ
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๔๑๘ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๑๘ นะครับ ยังมีท่านใดไม่ได้ลงมติไหมครับ ครบแล้วนะครับ ผมขอปิดการลงมติครับ เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๗๔ เห็นด้วย ๑๕๑ บวก ๒ เป็น ๑๕๓ ไม่เห็นด้วย ๒๒๓ งดออกเสียง ๐ ไม่ลงคะแนนเสียง ๐ เป็นอันไม่เห็นชอบกับญัตติของ ท่านณัฐพงษ์นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการของท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ขอเชิญ ที่ประชุมแสดงตนในการลงมติในญัตติของท่านพริษฐ์ครับ ขอเชิญสมาชิกลงชื่อเพื่อแสดงตน นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอปิดการแสดงตนนะครับ ตัวเลขผู้แสดงตนขอเชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวน ๓๓๒ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปผมขอถามมติจากที่ประชุมครับว่าจะรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือไม่ครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียง ลงคะแนน ผู้ใดเห็นควรรับหลักการโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าไม่ควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกใช้สิทธิครบถ้วนหรือยังครับ มีสมาชิกท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ถ้าครบแล้ว ผมขอปิดการลงมติ ขอเชิญแสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๒๒๘ เห็นด้วย ๑ ไม่เห็นด้วย ๒๒๓ ไม่ลงคะแนนเสียง ๔ ไม่ครบองค์ประชุมนะครับ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวสักครู่นะครับ ใจเย็น ๆ กันนะครับ เดี๋ยวคงจะต้องถกเถียงกันสักเล็กน้อยนะครับ เพราะว่าตอนนี้การลงคะแนนเสียงไม่ลงนะครับ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
เดี๋ยวครับ ท่านประธานขานว่า ไม่ครบองค์ประชุม ไม่ใช่นะครับ เมื่อสักครู่นี้มีการนับองค์ประชุมไปแล้ว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขออภัยครับ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
ท่านประธานขานชัดเจนครับว่า ให้นับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ ซึ่งองค์ประชุม ๓๓๒ หมายความว่าครบองค์ประชุม ไปแล้ว นี่คือการลงมติครับ คนที่ไม่กดลงมติหมายความว่าไม่มีเจตนาจะลงมติ ไม่ใช่ หมายความว่าองค์ประชุมไม่ครบครับท่านประธาน วินิจฉัยให้ดีครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เห็นด้วยนะครับ ผมขออภัยนะครับ ก็เป็นองค์ประชุมที่ครบ แต่ว่าลงมติ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งนะครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับท่านณัฐพงษ์
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ
นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ
มติใช้เสียงข้างมาก ไม่ใช่ใช้เสียง กึ่งหนึ่งนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวสักครู่นะครับ ขอเชิญท่านณัฐพงษ์ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านภราดร นะครับ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับถ้าเราไปดูตามแนวการปฏิบัติและการวินิจฉัยของอดีต ประธานสภาผู้แทนราษฎรท่านชวน หลีกภัย ในสภาชุดที่แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ครับ ตอนแสดงตนครบองค์ แต่ตอนลงมติไม่ครบองค์ แนววินิจฉัยของประธานชวนคือคิดว่า เป็นการบอกว่าไม่ครบองค์ประชุมและต้องปิดประชุมครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ขออนุญาตครับ ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมอนุญาตท่านปกรณ์วุฒิก่อนครับ เชิญท่านปกรณ์วุฒิครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธาน ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ต้องขออนุญาตนะครับ ขออนุญาตท่านสมาชิกฝั่งรัฐบาลด้วยนะครับ ผมก็เข้าใจดีนะครับ แต่ว่าตอนนี้ทุกอย่างก็น่าจะชัดเจนนะครับว่าเมื่อสักครู่นี้ในการลงมตินั้นองค์ประชุมไม่ถึง กึ่งหนึ่ง จริง ๆ แล้วเจตนาของผมเองวันนี้เป็นวันแรกในสมัยประชุมที่สอง แล้วก็เป็น ครั้งแรกที่เราได้พิจารณาร่างกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. จริง ๆ ผมก็เลยอยากจะทราบว่า จริง ๆ แล้วฝั่งรัฐบาลที่มีอยู่ ๓๒๐ คน วันนี้ให้ความสำคัญกับการพิจารณากฎหมายมาก สักแค่ไหน ในความเป็นจริงตอนแรกผมไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้องค์ประชุมล่มนะครับ เพียงแต่ว่า ผมเข้าใจดีว่าเมื่อสักครู่มันอาจจะทอดเวลาระยะเวลายาวนาน ท่านประธานจึงได้ปิด การลงมติ ผมเองก็ตั้งใจว่าเดี๋ยวก็จะมีการแสดงตนครับ เพียงอยากจะทราบว่าฝั่งรัฐบาลนั้น มีความตั้งใจในการมาประชุมและทำหน้าที่ของตนเองมากแค่ไหนเท่านั้นเองครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวจะเป็นทางพรรคเพื่อไทยก่อนนะครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรคเพื่อไทย เมื่อสักครู่ท่านภราดร ก็ได้ชี้แจงไปเช่นกันแล้วนะครับ เรามีการนับองค์ประชุมไปแล้ว แล้วผมเห็นเพื่อนสมาชิก จากทางพรรคก้าวไกลได้กล่าวถึงบรรทัดฐานในอดีตของท่านอดีตประธานสภา ท่านชวน หลีกภัย ผมก็ให้ความเคารพท่านครับ แต่วันนี้ท่านประธานกำลังทำหน้าที่อยู่ครับ ประธาน ชื่อท่านปดิพัทธ์ สันติภาดา นะครับ ผมอยากให้ท่านวินิจฉัยอย่างเป็นบรรทัดฐานในอนาคต อะไรที่ในอดีตผมไม่แน่ใจ แล้วผมไม่วินิจฉัยท่านนะครับว่าถูกหรือผิด แต่วันนี้ท่าน นั่งทำหน้าที่ประธานขอให้ท่านวินิจฉัยด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เป็นประเด็นซ้ำกันไหมครับ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ไม่ซ้ำค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ แนน สมชัย ภูมิใจไทยค่ะ ประเด็นที่จะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องขององค์ประชุม เมื่อครู่นี้ ขออนุญาตนะคะท่าน คือท่านบอกว่าองค์ประชุม ท่านพูดเรื่องฝั่งรัฐบาล พูดฝั่งฝ่ายค้าน แต่องค์ประชุมของการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือพวกเราทั้ง ๕๐๐ คนที่นั่งในนี้ค่ะ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฝั่งไหนมาเยอะ ฝั่งไหนมาน้อย ไม่ถูกค่ะ นั่งอยู่ในนี้ทุกคนคือ องค์ประชุมค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนเพื่อนสมาชิกครับ เพื่อความชัดเจนนะครับ การวินิจฉัยของผมคือองค์ประชุมในการ โหวตญัตตินี้ครบนะครับ องค์ประชุมครบครับ แต่ว่าการลงมติเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติผ่าน ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่สามารถใช้แค่เสียงข้างมากได้ครับ ผมขอปิดการประชุมครับ