เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เครือข่ายภาคเหนือ ก็ต้องขอบพระคุณ ท่านประธาน แล้วก็ขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านในการอภิปรายเกี่ยวกับญัตติของ El Nino แล้วก็ต้องขออนุญาตสรุปนิดเดียวไม่เกิน ๑-๒ นาที ก็ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นโอกาส ที่ดีอยู่ ๒ เรื่อง ที่สำคัญจริง ๆ ในประเด็นแรก ก็คือว่านั่งฟังการอภิปรายมาตลอดทั้ง ๒ วัน มีปัญหาที่เกี่ยวกับสรุปโดยรวมคือเป็นการบริหารจัดการน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ จริง ๆ ว่าน้ำมากจัดการอย่างไร น้ำน้อยจัดการอย่างไร และเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เราควรบริหารจัดการน้ำอย่างไร
ส่วนเรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน เป็นประเด็นที่ต้องบอกว่าเป็นโอกาสดี ที่จะต้องเป็นการทำความเข้าใจไปในตัว รวมถึงการทำรายงานออกม แล้วก็เสนอกับทาง รัฐบาล เรามีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change ซึ่งเอาไปโยงเกี่ยวกับเรื่อง El Nino จะบอกว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่เชิง จะบอกว่าเป็นเรื่อง ต่างกันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว แต่ต้องบอกว่าทั้ง El Nino ทั้ง La Nina มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปกติของธรรมชาติตามแต่ละปีที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือว่ามันจะแล้งมากหรือมันจะ น้ำมาก ผลกระทบต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ มันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญจริง ๆ ผมก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในคณะกรรมาธิการชุดนี้ เราจะได้มีการทำรายงานแล้วแยกในส่วนของปัญหาตรงนี้ให้ออกมาอย่างชัดเจน แล้วกลับมา นำเสนอกับทางเพื่อนสมาชิก ผ่านสภา แล้วก็ส่งไปยังรัฐบาล ไม่อย่างนั้นวันข้างหน้าพอมี เหตุการณ์ La Nina เกิดขึ้นก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาแล้วมาศึกษากันอีก อย่างน้อยผมก็ว่าสภาชุดที่ ๒๖ นี้ก็จะเป็นต้นทางที่ดีที่จะได้มีการพูดถึงเรื่อง Climate Change อย่างเป็นรูปธรรม แล้วก็หาวิธีการปรับตัวต่อเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมาก หรือน้ำแล้งไปในทีเดียวกัน ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายภาคเหนือ พรรคก้าวไกล ในการอภิปรายผมก็สนับสนุนในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในโครงการในการเชื่อม สะพานเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมภูมิภาคระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย หรือว่า Landbridge ในที่นี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยของเราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม แต่ว่าเราจะ คำนึงถึงภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมองไปถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ แล้วก็คณิตศาสตร์ ด้วยนะครับ ดังที่เพื่อนสมาชิกผมหลายท่านก็ได้กล่าวไปแล้ว โดยสรุปครับของโครงการ Landbridge พูดง่าย ๆ ก็คือว่าประเทศที่อยู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับประเทศที่อยู่ฝั่ง มหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าเขาอยากขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระหว่างกันนี่บังเอิญก็มาเจอกันที่ ประเทศไทยนะครับ ประเทศไทยเราก็อยากจะร้องเพลง Welcome to Thailand เลย แต่ทีนี้ปัญหาก็คือว่าการที่จะทำให้ ๒ ฝั่งมหาสมุทรนี้เชื่อมกัน เราใช้วิธีอย่างไร เพื่อนสมาชิก ของผมท่านศิริกัญญาก็ได้บอกแล้วว่ามีโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน มันมีอะไรบ้าง ในวันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง Landbridge แน่นอนว่าสิ่งที่ดีเลยมันคือ การประหยัดเวลาในการขนส่งทางทะเล ในรายงานในเอกสารของสำนักวิชาการที่ทำมาเล่มนี้ ก็ได้มีรายละเอียดบอกไว้อย่างดีแล้วนะครับ ประหยัดเวลาไปได้ ๔-๕ วัน วัน ๆ หนึ่ง ก็เรียกว่าเราใช้เงินกันประหยัดได้เป็นล้าน ๆ บาท ในการขนส่งทางทะเลนะครับ แล้วยิ่งสามารถประหยัดเวลาไปได้ถึง ๔-๕ วัน ค่าขนส่งต่าง ๆ มันถูกลงไปกว่าเดิมเยอะมาก แน่นอนนี่มันคือด้านที่ดี
ด้านที่ดีต่อไปก็ต้องบอกว่าพี่น้องในจังหวัดชุมพร ในจังหวัดระนอง ที่เป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ๒ ท่านี่ แน่นอนว่าเศรษฐกิจของท่าน เรียกว่ากระโดดเติบโตขึ้นมาอย่างทันตาเห็นเลย อะไรต่อมิอะไรจะเข้ามาเยอะแยะมากมาย เต็มไปหมดครับ นี่คือเรื่องที่ดีในแง่ของภูมิศาสตร์ แต่สิ่งที่ผมอยากจะฝากให้กับทาง คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เอากลับเข้าไปในการพิจารณาด้วย นั่นก็คือว่าท่านก็ต้อง คำนึงถึงในเรื่องของวิทยาศาสตร์ แล้วก็คณิตศาสตร์ด้วย วิทยาศาสตร์คือเรื่องอะไรบ้างละ คณิตศาสตร์คือเรื่องอะไรบ้างละ สิ่งที่ทำมีอะไรบ้าง มีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ๒ ที่นะครับ อยู่ที่ไหนบ้างก็อยู่ที่แหลมริ่วที่จังหวัดชุมพร แล้วก็อยู่ที่แหลมอ่าวอ่างที่จังหวัดระนอง มีผลกระทบทางวิทยาศาสตร์แน่นอนครับ ท่าเรือน้ำลึกขนาดนี้ ขนาดใหญ่ขนาดนี้ ก็มีผลกระทบกับด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้ปรากฏชัดเจนแน่นอน การก่อสร้างท่าเรือแบบนี้ กระทบอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าพี่น้องที่อยู่ทางภาคใต้บริโภคอาหารทะเลเป็นหลัก เพื่อนสมาชิกของผมท่านรอมฎอนบริโภคอาหารทะเลเป็นหลักแน่นอน กระทบกับเรื่อง คุณภาพของอาหารที่อาจจะได้รับการปนเปื้อนต่าง ๆ อาจจะรวมไปถึงอุบัติเหตุที่อาจจะ เกิดขึ้นเช่นว่ามีการรั่วไหลของคราบน้ำมัน เพื่อน ๆ สมาชิกทางภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบ แน่นอน ท่านรับประทานอาหารทุกมื้อ แน่นอนมีอาหารทะเล ในขณะเดียวกันพี่น้อง เพื่อนสมาชิกของผมรวมถึงประชาชนที่อยู่ทางภาคเหนือ บ้านท่านประธานเองก็เหมือนกัน อาหารที่ส่งมาจากภาคใต้กว่าจะมาถึงภาคเหนือเรา ชาวบ้านผมอยู่เชียงใหม่ ท่านประธาน อยู่เชียงรายกว่าจะไปถึงภาคเหนือเรา เราไม่รู้ว่าผ่านการปนเปื้อนอะไรต่าง ๆ มาเยอะแยะ มากมายขนาดไหนแล้ว ในส่วนตรงนี้ก็อยากจะฝากไปให้ทางกรรมาธิการในการพิจารณา ด้วยเช่นกันแล้วสิ่งแวดล้อมในจุดที่ทำท่าเรือน้ำลึกเลยละ ปะการังก็มีการพูดไปแล้ว ป่าชายเลน ก็มีการพูดไปแล้วว่ามีการได้รับผลกระทบแน่นอน คณิตศาสตร์ต้องเข้ามาด้วยในส่วนตรงนี้ ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย ทำอะไรได้บ้าง อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร สามารถสร้างเศรษฐกิจ อะไรได้บ้าง ผมก็เห็นรัฐบาลก็พยายามดันเรื่องการขาย Carbon Credit ถึงแม้ว่าส่วนตัวผม ผมเห็นด้วยกับการขาย Carbon Credit แต่ต้องเป็นการขาย Carbon Credit ที่ไม่ใช่ เป็นการฟอกเขียวให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำท่าเรือสามารถขาย Carbon Credit ได้แล้ว โดยเฉพาะ Blue Carbon ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดโลกจำนวนมหาศาล แต่วันนี้รัฐบาลพูดมาขนาดนี้แล้วว่า เราจะทำแน่นอนก็ต้องว่ากันไปก็อยากจะให้เอาเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องคณิตศาสตร์ มาคำนวณดูในส่วนตรงนี้ด้วย ในขณะเดียวกันเมื่อสักครู่มีอาหารทะเลแล้ว มีเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นไปอีกนั่นก็คือเรื่องของสุขภาพ สุขภาพในที่นี้แน่นอนว่ามลพิษตั้งแต่ การก่อสร้าง เรื่องฝุ่น เรื่องอะไรต่าง ๆ ท่านต้องเจอแน่นอนอยู่แล้ว แล้วก็พอสร้างเสร็จเริ่มมี การใช้อย่างเต็มรูปแบบ เต็มระบบ เมื่อไรสิ่งที่ตามมาตอนกลางวันท่านมีเสียงที่ต้องรบกวน ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันตอนกลางคืนท่านคิดว่าเวลานอนท่านสามารถนอนหลับ ได้สนิทเหมือนที่ผ่านมาในอดีตหรือเปล่า ไม่ต้องไปอื่นไกลเรามีตัวอย่างใกล้ ๆ ลองไปถาม พี่น้องที่อยู่บริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ใกล้ ๆ นี้เลยลองถามเขาดูว่าตอนกลางคืน พอพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม ๕ ทุ่ม เที่ยงคืนท่านข่มตานอนได้ง่าย ขนาดนั้นไหม แสงไฟจากท่าเรือส่องถึงบ้าน ส่องถึงกระจกบ้านท่านทุกวัน นี่คือปัญหา ผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่ตามมาอย่างแน่นอนนะครับ
ท้ายที่สุดเหมือนที่ได้บอกไปในเบื้องต้นแล้วก็ต้องฝากไปยังคณะกรรมาธิการ วิสามัญที่จะตั้งขึ้นในชุดนี้ ท่านต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ๓ เรื่อง นี้ขอให้เป็นเรื่องหลักในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้วยครับขอบพระคุณครับ
ขอบคุณท่านประธานที่เคารพ ผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายภาคเหนือ พรรคก้าวไกล ผมสนับสนุน ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากลิง ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะฝากความคิดถึงผ่านท่านประธานไปสู่ทางรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า สส. นิติพลคิดถึงท่านจับใจจริง ๆ นะครับ อยากจะให้ท่านมาช่วยจับลิง เพราะว่าลำพังการตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องลิงได้จริง ๆ ครับ เราต้องการรัฐมนตรีได้ออกมา Action ออกมาช่วยกันวางแผนงานต่าง ๆ ด้วยกัน เราต้องพูด ถึงความจริงแบบนี้ครับท่านประธาน เริ่มต้นจากปัญหาระหว่างคนกับลิง ตอนนี้เราพูด เอาปัจจุบันเลยนะครับท่านประธาน ไม่ต้องย้อนกลับไปอดีตแล้ว เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้อง เรียกว่าสร้างความขุ่นเคืองกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนที่ชอบลิงกับคนที่ไม่ชอบลิงหรืออะไร ก็แล้วแต่ เราข้ามประเด็นนั้นไปเลย ตอนนี้บ้านคนกับบ้านลิงมันแยกกันไม่ออกแล้วครับ ท่านประธาน จะไปอยุธยา จะอยู่กรุงเทพฯ หรือจะไปทางภาคใต้ หรือภาคอะไรก็ตามที บ้านคนกับบ้านลิงนี้แยกไม่ออกแล้ว ตอนนี้แทบจะอยู่บ้านหลังเดียวกันแล้วครับท่านประธาน การอยู่บ้านหลังเดียวกันหมายความว่าอย่างไรครับ ก็ต้องแย่งอาหารกันกิน แหล่งอาหาร ที่เคยเป็นอาหารของลิงตอนนี้ก็ไม่มี แหล่งอาหารคือคนก็ต้องกินทุกวัน คนก็ต้องเพิ่มพื้นที่ ในการปลูกอาหารของตัวเองอีกเช่นกัน แหล่งอาหารไม่มีนะครับทั้งคนทั้งลิง ตอนนี้เรียกว่า ผสมปนเปทั้งบ้านคน บ้านลิง อาหารคน อาหารลิง มันปนสับสนกันไปหมดแล้ว มีปัญหา ที่อยากจะบอกต่ออีกเช่นกันครับท่านประธาน แล้วผมดูแล้วเพื่อนสมาชิกที่ผ่านมายังไม่มีใคร อภิปรายถึงประเด็นนี้ นั่นก็คือการจับลิงไปเป็นสัตว์ทดลอง แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า เป็นข่าวใหญ่ข่าวโตกันมาตั้งแต่สภาสมัยที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเอาที่นครสวรรค์ เพื่อนสมาชิก ผมจากทางนครสวรรค์ด้านโน้น เมื่อกี้เห็นจะไปลงชื่อน่าจะอภิปรายด้วยเช่นกัน จับลิง ที่นครสวรรค์ส่งขายต่างประเทศ ตอนนี้ประเทศเรากลายเป็นเรียกว่าเป็น Hub ของการค้า สัตว์ป่าไปแล้วครับ แล้วลิงเหล่านี้จับจากนครสวรรค์ส่งออกต่างประเทศ จับจากจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ส่งไปต่างประเทศเขาเอาไปทำอะไรกัน ก็ไปอยู่ในห้องทดลอง คือไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ทางท่านรองเลขาธิการก็ยิ้มไป ผมเห็นก็เข้าใจนะครับ ก่อนที่จะมาเป็น ผลิตภัณฑ์ให้กับทางคนได้ใช้เรื่องความปลอดภัยอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมีการทดลอง แต่ถ้ามันมี กระบวนการ มีการตรวจสอบ มีมาตรฐานที่ถูกต้องอะไรนั้นไม่ว่ากัน เราว่าตามหลักกฎหมาย ว่าตามกระบวนการที่มันมี แต่ทุกวันนี้ปัญหามันเกิดจากการที่ลักลอบจับลิงเข้าไปอยู่ใน Lab แล้วก็ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับคน แบบนี้ผมคิดว่าเราต้องหาทางออก ทีนี้ที่ผมโยงไปตรงนี้ ด้วยเหตุว่าคือเอาถึงลิงกรุงเทพมหานครอีกเช่นกันก็ต้องพูดเสียหน่อย กรุงเทพมหานครมันก็ เรียกว่าเป็นแหล่งที่หมู่บ้านจัดสรรก็ขยาย โรงงานก็ขยาย บางขุนเทียนมีการพูดคุยกันไปแล้ว หลายวันที่ผ่านมากับทาง สส. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เองก็โทรมาปรึกษากันตลอดเวลา ว่าลิงบางขุนเทียนนี้ สส. ต้นทำอย่างไรได้อีก เราจะช่วยลิงบางขุนเทียนได้อย่างไรอีก ผมก็คุยกับทาง สส. ณัฐชา คุยกับทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทางสำนักสัตว์ป่าก็ตามที ทางท่าน ผอ. ท่านน่ารักมาก ท่านทำงาน จริงจังมาก เราต้องการเพียงหัวที่ตั้งใจให้มากขึ้นกว่านี้ ที่ผ่านมาทำอย่างไร ลิงบางขุนเทียน เรียกว่า ๑๐๐ กว่าตัวผมช่วยแล้วไปอยู่ที่เชียงใหม่ครับท่าน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทางภาคประชาสังคมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พอเอาลิงมาแล้ว จับลิงมาแล้วไม่มีที่อยู่ ทางเราก็ช่วย ไม่เป็นอะไรครับ ผมก็จัดแจงหาที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ดูแลลิงจำนวนนั้น แต่ในขณะเดียวกันวันนี้ที่ฟังมายังมีลิงของเพื่อนสมาชิกอีกหลายจังหวัด อยากจะช่วยครับท่าน อยากจะช่วยให้ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการหาบ้านใหม่หรือว่า เป็นแหล่งอาหารก็ตามที แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดขอมีเงื่อนไขเพียงเงื่อนไขเดียวครับ ขอให้ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันครับ ไปกับก้าวไกล ในวันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไปด้วยกัน ในส่วนของข้อเสนอแน่นอนว่าปัญหาเราทราบ แล้วว่าบ้านคนกับบ้านลิงทุกวันนี้มันแยกกันไม่ออกแล้ว เรามาหาบ้านใหม่ให้กับลิง หรือว่า จะใช้ให้ลิงอยู่ในพื้นที่เดิม หาทางออกร่วมกัน ผมก็ทราบนะครับว่าทางทางสำนักสัตว์ป่าของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้มีการไปดูงานหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่เรียกว่าทำกรงในการดูแลลิงดี ๆ ผมพาไปเชียงใหม่ก็หลายครั้ง ไปในจังหวัดอื่นของ ประเทศไทยก็หลายครั้ง คือตอนนี้เรามี Model ที่เรียกว่าสามารถบริหารจัดการให้ลิงสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่าง สงบสุข เรามี Model นั้นแล้ว สิ่งที่ทำต่อไปคืออะไรครับ ต้องยอมรับว่างบประมาณน้อยจริง ๆ แต่แน่นอนถ้ารู้ว่างบประมาณน้อยจริง ๆ แล้วก็ได้แต่บ่น ได้แต่โทษเรื่องงบประมาณไม่พอ อย่างนั้น ไม่พออย่างนี้ มันไม่ได้แน่นอนอยู่แล้วครับ เราต้องหาวิธีทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เขา ดูแลลิงเหล่านั้นนี่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้จริง ๆ อาจจะทำเป็นการท่องเที่ยวก็ดี หรือเรียกว่า เป็นการบริจาคจากภาคเอกชนหรืออะไรก็ตามทีมันมีช่องทางออกได้เยอะแยะมากมายครับ อยากให้ทางรัฐมนตรีมานั่งคุย มาพูดจากับทางกรรมาธิการ เราหาทางออกร่วมกัน แล้วแน่นอน ว่าในระยะยาวสิ่งที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องลิงไปในตัวแล้ว ในขณะเดียวกันเป็นการ ยกระดับ และเป็นการสร้างอาชีพให้กับพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นด้วยนั่นคือสัตวแพทย์ครับ ทางก้าวไกลเองเราสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งอยากจะให้มีสัตวแพทย์ในระดับชุมชน ผลดีคืออะไร ผลดีคือแน่นอนเพื่อนสมาชิกหลายท่านพูดมาแล้ว มันจะไม่ได้มีแค่ลิง มีทั้งเรื่องหมา แมวจรจัด เรื่องลิง เรื่องสัตว์อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่สิ่งที่เราไม่มีคือเราไม่มีสัตวแพทย์ ในระดับชุมชนครับ กระจายอำนาจออกไปให้ อปท. ดูแลในพื้นที่ของตัวเอง จะสร้าง Shelter ก็ดี จะสร้างสัตวแพทย์เข้ามาเพื่อใช้ในการดูแลในพื้นที่ของตัวเองก็ตามที พัฒนาเป็น การท่องเที่ยว เรียกว่าทำให้ครบวงจรสามารถดูแลได้ต่อไป เพื่อเป็นการแก้ไขในระยะยาว ครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ นิติพล หมายเลข ๑๘๗ แสดงตนครับ
ขอบคุณท่านประธานที่เคารพครับ ผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายภาคเหนือจากพรรคก้าวไกลครับ ก็ต้อง ขอบพระคุณนะครับที่วันนี้มีโอกาสได้เห็นตัวร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... นะครับ แล้วเราก็คุ้นหน้าคุณตากันดีกับทางท่านทีมผู้เสนอ แต่ว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นในการทำหน้าที่ในวันนี้ ก็ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ย้อนกลับไปเมื่อตอนปี ๒๕๖๒ เป็นครั้งแรกที่ผมได้เป็น สส. ในสมัยนั้น บรรยากาศผมจำได้ ไม่ลืมครับ มองไปที่ครอบครัวทุกคนยิ้มแย้ม ร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจเรียกว่าเป็นการ หลั่งน้ำตาที่เปี่ยมไปด้วยความเปี่ยมล้น ปลื้มปิติจริง ๆ แต่ต้องบอกว่าน้ำตาเหล่านั้น มันไม่ได้หมายความว่ามันคือน้ำตาของความดีใจที่ทำให้คน ๆ หนึ่ง ชาติพันธุ์คนหนึ่งได้เป็น สส. ที่เขาได้เรียกกัน ท่าน สส. อย่างนั้น ท่าน สส. อย่างนี้ เนื้อหามันไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ ท่านประธาน มองย้อนกลับไปครับ ก่อนที่เขาจะมีคราบน้ำตาแห่งความดีใจในวันนั้น ที่เขาสามารถส่งลูกหลานของเขา ชาติพันธุ์เมี่ยนคนหนึ่งที่เข้ามาเป็น สส. ในสภาวันนี้ได้ ในอดีตปัญหาที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านพูดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การศึกษา น้ำสะอาดก็ตามทีที่ทาง สส. จากทางอำเภอแม่สอดเราพูดไปเมื่อสักครู่นี้ มันสรุปได้คำเดียวเลยครับ นั่นคือคำว่า โอกาส คนชาติพันธุ์เราไม่มีโอกาส และโอกาสที่เรามี มันน้อยมาก ๆ แล้วโอกาสที่เราได้มาที่น้อยนั้นมันต้องแลกอะไรไปอีกหลายอย่างมาก ๆ ผมอธิบายความได้แบบนี้นะครับ เอาตัวอย่างที่ว่าเอาใกล้ที่สุดก็แล้วกัน เอาครอบครัวผมเอง ก็แล้วกัน ผมเกิดที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นชาติพันธุ์เมี่ยน โอกาสที่ผมเสียไป อย่างแรกเลยคือผมไม่ได้เติบโตซึมซับในความเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์เมี่ยนของผมเลย เหตุผลเพราะว่าอะไรครับ เหตุผลเพราะว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นเราก็ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น คุณแม่ผมเช่นกันครับ คุณแม่ผมเรียกว่าเกิดบนดอย โตบนดอย ใช้ใช้ชีวิตวัยเด็กในบนดอย แต่ว่ามีโอกาสได้เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร ในวันนั้นอากู๋ อากง คือคุณตา คุณยาย ยังไม่รู้เลยว่ากรุงเทพมหานครหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เขาคิดอย่างเดียวว่าถ้าเขา ส่งลูกเขาไปเรียนในกรุงเทพมหานครที่เขาว่าเป็นเมืองหลวงมันจะมีโอกาส คือมันจะมีโอกาส ให้คนชาติพันธุ์คนหนึ่งได้เปลี่ยนชีวิต ได้พลิกชีวิตขึ้นมา นั่นคือคำว่า โอกาส เพราะฉะนั้น โอกาสตรงนี้สำคัญมาก ๆ ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมก็เปิดดูอ่านอย่างรายละเอียด คืออ่านกันจนพรุนไปหมดแล้ว มีคำถามที่อยากจะถามด้วยเช่นกัน แล้วในขณะเดียวกัน ตัวคำถามของผมนี้ คืออยากจะให้มันตอบภาพที่ผมเห็นด้วยหลาย ๆ พื้นที่ มันไม่ใช่เฉพาะ แค่ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายบ้านผม หรือว่าในพื้นที่อื่น ๆ ในวันนี้เพื่อนสมาชิก หลายท่านก็พูดไปถึงภาคใต้ ภาคอะไรต่าง ๆ เรามีชนชาติพันธุ์เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด สิ่งที่เราเห็นเรียกว่าคนในเมืองหลวง เห็นอย่างคุ้นหน้าคุ้นตาเวลาเขาไปเที่ยวต่างจังหวัด เขาไปเที่ยวชาติพันธุ์ เขาอยากไปดูว่าคนชาติพันธุ์เขาแต่งตัวอย่างนั้น แต่งตัวอย่างนี้ เรียกว่ายังต้องนอนกลางดิน กินกลางทรายกันอยู่อย่างนั้น คือความรู้สึกของผมนี้มันรู้สึกก็คือว่าเราคนชาติพันธุ์นั้น มันคือคนเหมือนกันนะครับ คุณมาเที่ยว คุณมาดูเรา มาดูบ้านเรา อารมณ์เหมือนเราเป็น สวนสัตว์ใช่ไหม ทำไมคุณจะต้องกดคนชาติพันธุ์ให้มันอยู่ในจุดที่ต้องลำบากอยู่อย่างนั้น ตลอดไป ไม่ให้โอกาสกับคนชาติพันธุ์ได้เจริญเติบโต ได้เข้าสู่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งแวดล้อมในที่นี้ผมพูดถึงสิ่งแวดล้อมเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อมในการพัฒนาตัวเองไปด้วย เพราะฉะนั้นพอมาดูในตัวร่าง พ.ร.บ. คือตัวร่าง พ.ร.บ. นี้ผมมีข้ออยากจะสอบถามในส่วน ของมาตรา ๑๑ (๑๓) เพราะแน่นอนว่าการออกกฎหมายนี้มันต้องมีสภาพบังคับของ ตัวกฎหมายฉบับนั้น ๆ ในการกำหนดเรื่องหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการให้คุณ ให้โทษ ให้อะไร ต่าง ๆ นานาเหล่านั้น ผมก็เลยมีคำถามในส่วนที่ถามไปในส่วนของมาตรา ๑๑ (๑๓) ว่า ในตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอำนาจในการออกกฎหมายหรือเปล่า แน่นอนว่าผมอ่านแล้ว มันมีส่วนตรงมาตรา ๑๑ (๑๓) ช่วงท้ายนี้เขียนว่ามีสิทธิในการออกข้อบังคับ ตามพระราชบัญญัติ ผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อบังคับตรงนี้มันเป็นลำดับชั้นไหนตามกฎหมาย มันเหมือนเป็นกฎกระทรวง มันเป็นอะไรหรือเปล่า อันนี้คือผมก็ถามจริง ๆ เพื่ออยากจะให้ ทางท่านผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ชี้แจงแล้วก็ได้ไขข้อข้องใจ เพราะว่าเป็นคำถามที่เวลาผม พยายามจะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนข้างนอก เพื่อที่พูดถึงว่ามันจะมีร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับ ชาติพันธุ์สภาชนเผ่าเข้ามาสู่สภานี้เนื้อหาเป็นอะไร อย่างไร แต่อันนี้ก็เป็นคำถามที่ผมได้รับ ในทุกครั้งที่เวลาไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ก็อยากจะให้ทางผู้ชี้แจงช่วยกรุณาตอบ ในประเด็นนี้ด้วย แต่แน่นอนว่าโดยในส่วนตัวของผมแล้ว ผมมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็ อยากจะเห็นตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านสภาในวาระที่ ๑ แล้วเราก็ไปลงลึกกันในรายละเอียด ในการพิจารณาวิสามัญในวาระที่ ๒ ของการพิจารณาในกรรมาธิการ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นิติพล ผิวเหมาะ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมเป็นผู้อภิปรายคนแรกนะครับ ในส่วนของการสนับสนุนในร่างของพระราชบัญญัติ ขออนุญาตเรียกรวมก็แล้วกันนะครับ เป็นพระราชบัญญัติเรื่องอากาศสะอาด ก็หมายความรวมถึงทั้ง ๗ ร่าง ในสัดส่วนของพรรค ก้าวไกลเราก็ได้แบ่งกันอภิปรายจะเป็น Series ยาวนิดหนึ่งนะครับ เรียนท่านประธาน แล้วก็พี่น้องประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้าน แต่บอกได้เลยว่าเราไม่ซ้ำกันในสักประเด็นเดียว ผมขออนุญาตเล่าย้อนไปแบบนี้ครับประธาน ผมก็จะเปิดเรื่องในการอภิปรายของผม ในส่วนเรื่องของการออกกฎหมาย ผมด้วยความที่เป็นนักกฎหมาย แล้วก็ทางท่านอาจารย์ คนึงนิจนี้ก็เป็นอาจารย์ของผมตั้งแต่นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ด้วยความเป็น นักกฎหมาย ผมยึดหลักอยู่เสมอนะครับว่ากฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน การออกกฎหมายก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกัน เล่าย้อนไปนิดเดียวครับ สภาของเรา ในสมัยชุดที่ ๒๕ ที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาในสภาของเราเรียกว่าจริงจังมากกับ การทำประเด็นในเรื่องแก้ไขปัญหา PM2.5 เราพิจารณาทั้งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ผมก็ เป็นรองประธานในคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่อง PM2.5 ตรงเรื่องนั้น ในขณะเดียวกันใน คณะกรรมาธิการสามัญของเราก็คือคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็ตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่อง PM2.5 ผมก็เป็นประธานของ คณะอนุกรรมาธิการชุดนั้น พูดสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ แบบนี้ว่าในสภาสมัยชุดที่ ๒๕ ที่ผ่านมา ตลอด ๔ ปี สส. ทุกคนเข้าใจถึงต้นเหตุปัญหา วิธีแก้ไขปัญหา แนวทางต่าง ๆ นานารู้ครบ ทุกขั้นตอนครับ รัฐบาลก็รู้กระบวนการทั้งหมดที่ผมพูดไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจากนี้ไปในเมื่อรู้ต้นเหตุแล้ว รู้วิธีการแก้แล้ว รู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดทั้งมวลนี้แล้ว กระบวนการถัดไปก็คือเรื่องของ กฎหมายใช่ไหมครับ ในสมัยที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเราเองมองเห็นแล้วว่าการออกกฎหมาย ถ้าตอนนั้นจะใช้เวลาแต่ใช้เวลาเนิ่นนาน สิ่งที่เราทำในตอนนั้นคือการแก้ไขพระราชบัญญัติ ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี ๒๕๓๕ บรรจุเข้าสู่สภาเรียบร้อยครับ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ ทันได้รับการพิจารณาในห้องใหญ่ ในห้องประชุมสภาแห่งนี้เสียที ยุบสภาไปเสียก่อนนะครับ ก็ไม่เป็นอะไร ก็เป็นการเรียกว่าตัดฉากจบไปในการพิจารณาของสภาสมัยชุดที่ ๒๕
ทีนี้สภาที่สมัยชุดที่ ๒๖ ในชุดนี้ ก็มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดเข้ามา วันนี้ถึง ๗ ร่างด้วยกัน ตอนนี้ ๗ ร่าง แต่ก่อนจะมาเป็นตอนนี้เมื่อวานมีอยู่ ๓ ร่าง ผมไล่เรียง ไปแบบนี้ครับ ในส่วนร่างของภาคประชาชนที่ทางอาจารย์คนึงนิจ อันเป็นที่รักของผมนะครับ ใช้เวลาเดินทางนานมากครับ หลายปีกว่าท่านอาจารย์จะได้มานั่งเป็นผู้ชี้แจงในวันนี้ ตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๖๕ เป็นต้นมา กับผู้เรียกว่าทนไม่ไหวแล้วกับอากาศทุกวินาทีนี้ ๒๒,๐๐๐ กว่าคนร่วมลงชื่อกันมาก็จนกระทั่งได้เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาในวันนี้ นี่คือร่างกฎหมาย ของประชาชน ประชาชน ๒๐,๐๐๐ กว่าคนทนไม่ไหวแล้ว รอหลายปีกว่ากฎหมายจะอยู่ ในสภา ทีนี้ไปต่อครับ ร่างของรัฐบาลล่ะ ร่างของรัฐบาลเป็นอย่างไร กระพริบตา ๒ ทีครับ ท่านประธาน เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว รวดเร็วมากครับ รวดเร็วจริง ๆ เป็นร่างที่ต้องเรียกว่าทาง สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือว่า ป.ย.ป. ช่วยในการยกร่างกระบวนการต่าง ๆ ที่ผ่านมาผ่านชั้นกฤษฎีกาทุกอย่างเข้า มาสู่ในสภาเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง PM2.5 ตั้งแต่วันแถลงนโยบาย การพูดถึงอภิปรายงบประมาณในวาระที่ ๑ ตัวเลข บางตัวอาจจะพูดแล้วมันคลาดเคลื่อนกับที่หน่วยงานราชการชี้แจงมาก็ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวผม ก็ไปซักต่อในชั้นกรรมาธิการ แต่เอาเป็นว่าดีใจที่ท่านนายกรัฐมนตรีจริงจัง ขึ้นไปมอบ นโยบายที่จังหวัดเชียงใหม่ก็หลายครั้ง ๒ วันนี้ก็อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทีนี้มันมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ ร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เข้ามาอย่างรวดเร็วแบบนี้ โดยที่ตอนแรกมีอยู่ ๓ ร่าง ๓ ร่างนี้คือรวมของภาคประชาชนและร่างอื่น ๆ ด้วย จนกระทั่ง เช้าวันนี้มันมีอยู่ ๗ ร่าง ที่ผมเล่าให้ฟังก่อนจะมาเป็น ๗ ร่าง ที่มีอยู่ ๓ ร่างนี้ในเมื่อเรารู้อยู่ แล้วว่าต้นเหตุคืออะไร วิธีการแก้ไขคืออะไร กฎหมายที่ออกมา ที่ร่างกฎหมายแต่ละฉบับที่ ส่งเข้ามา มันแทบจะไม่มีความแตกต่างกันในเนื้อหาหลัก ๆ สักเท่าไรหรอก เพียงแต่ว่าใน รายละเอียดในบางมาตราบางขั้นตอนอันนี้ก็ไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการในวาระที่ ๒ แต่สิ่งที่ จะทำให้มันเกิดเสียโอกาสในประเทศขึ้นมาก็คือว่า ถ้าเราไม่พิจารณาร่างทั้งหมดทั้ง ๗ ฉบับ แล้วเอาแต่เพียง ๓ ร่างที่เข้ามาก่อนในตอนแรก มันเสียโอกาส เสียโอกาสในที่นี้ อย่างแรก เลยคือเสียเงินแน่ ๆ เมื่อเช้านี้เองในคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ ผมเพิ่งพูดกับทาง ป.ย.ป. ที่เข้ามาชี้แจงงบเมื่อตอนเช้า มีงบอยู่ก้อนหนึ่งประมาณ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท ใช้ในการ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย รวมไปถึงการยกเลิกกฎหมาย ประชุมทั้งปีเลยใช้เงิน ๒ ล้านบาท ผมถามว่า ๒ ล้านบาทนี้ท่านแก้ไขปรับปรุง ท่านยกเลิกกฎหมายได้กี่ฉบับ ๒ ฉบับครับท่านประธาน ทั้งปีได้ ๒ ฉบับ อันนี้ถ้าพูดให้ Fair หน่อย รวมอนุบัญญัติไปอีก ๑๖ ฉบับ รวมแล้วประมาณ ๑๘ ฉบับ แต่ร่าง พ.ร.บ. ได้ ๒ ฉบับ นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่ พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดทั้ง ๗ ร่างภายในวันนี้ เราอาจจะไม่ได้ร่างที่ดี ที่สุด แล้ววันข้างหน้าอยากยกเลิก ไม่รู้เมื่อไรจะได้ยกเลิก
ส่วนที่ ๓ ร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ปัญหาอยู่ตรงไหนท่านประธาน ทำถึงช้า ปัญหาแรกที่เจอเลยก็คือรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๓ วรรคสอง บัญญัติเอาไว้ว่าถ้าเป็น ร่างเกี่ยวกับการเงินต้องไปถามนายกรัฐมนตรีก่อน ต้องไปถามนายกรัฐมนตรีก่อนครับ ก็อยากจะถามนายกรัฐมนตรีใจจะขาดครับ แต่ปรากฏว่าเหมือนที่ผมบอกไป นายกรัฐมนตรี รู้อยู่แล้วปัญหาคืออะไร รู้วิธีแก้ไขปัญหา การออกกฎหมาย ทีนี้ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๓ บอกเอาไว้ อยากจะถามนายกรัฐมนตรีตอนเช้าวันพฤหัสบดี ครับ นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาตอบกระทู้สดเลย เช้าวันนี้หัวหน้าพรรคของผม คุณชัยธวัช ตุลาธน ก็ถามกระทู้สดท่านนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ไม่มาตอบ ลุ้นกันตลอดครับ ลุ้นกันต่อ แต่ท้ายที่สุดแล้วท่านนายกรัฐมนตรีเซ็นให้ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อตอนเช้า เหตุการณ์เหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้นครับ ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีรู้อยู่แล้วว่าวันพุธ วันพฤหัสบดี โดยเฉพาะวันพฤหัสบดีคือวันสำคัญ ที่จะต้องมีการถามกระทู้จากสภา ถ้าท่านเลี่ยงไม่หนีกระทู้นี้ท่านก็สามารถให้คำตอบและ การเซ็นรับหรือไม่รับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลและอีกหลายร่างได้แน่นอน ขนาดป่วย ไม่สบายนอนอยู่โรงพยาบาลนายกรัฐมนตรียังสั่งการได้ใช่ไหมครับ นับประสาอะไรกับอยู่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอบคุณครับท่านประธาน