ขออนุญาต กราบเรียนท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านนะครับ กระผม นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วันนี้เป็นหนึ่งโอกาสที่สถาบันได้มี โอกาสนำรายงานประจำปี ๒๕๖๕ เป็นการปฏิบัติงานของสถาบันพระปกเกล้านำเรียน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ในตัวรายงานนั้นผมจะขออนุญาตสรุปตัวรายงานสั้น ๆ ก็คือ
ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ของสถาบันพระปกเกล้า เราหวังว่า เราจะเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น พระประมุข แล้วก็ธรรมาภิบาลสันติวิธีเพื่อนำองค์ความรู้สู่สังคม
ในส่วนของพันธกิจ ของสถาบันที่สำคัญจะเป็น ๗ พันธกิจที่สำคัญ
พันธกิจแรก คือเรื่องของการศึกษาวิจัย เป็นการพัฒนางานทางด้านวิจัย เพื่อตอบสนององค์ความรู้ใน ๓ เรื่อง คือ เรื่องของการเมือง การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข ธรรมาภิบาล และสันติวิธี
พันธกิจที่ ๒ คือเรื่องของการศึกษาอบรมให้บริการทางวิชาการ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีการจัดการเรียนการสอนอยู่หลายหลักสูตร
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา พันธกิจนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการ ซึ่งก็มีงานที่อยู่ในเล่มให้เห็นชัดเจน
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการเผยแพร่และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง และการส่งเสริมเรื่องการเมืองภาคพลเมือง
พันธกิจถัดไป เป็นเรื่องของการส่งเสริมเรื่องของความร่วมมือของทั้งใน และต่างประเทศเพื่อการพัฒนางาน
พันธกิจถัดไป คือเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกของประเทศไทย
พันธกิจสุดท้าย เรื่องของการพัฒนากองทุนเพื่อเผยแพร่และพัฒนา ประชาธิปไตย
จากพันธกิจที่กล่าวมาสถาบันจะดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์ของการทำงาน ๗ ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์แรก เป็นเรื่องของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของงานวิจัย ซึ่งอันนี้เป็นงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจาก สกสว. ใน ๑ ปีเราได้งบประมาณประมาณ ๑๐ กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีงานวิจัยประมาณ ๒๐ งาน
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ เป็นเรื่องจัดการเรียนการสอน เรามี ๓ หลักสูตรที่ได้รับ เงินงบประมาณแผ่นดิน คือหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง ที่เน้น ในเรื่องของผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองแล้วก็ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมทบนะครับ แล้วก็ในส่วน ของอีกโครงการหนึ่งคือโครงการสร้างสังคมสันติสุข อีกโครงการหนึ่งจะเป็นโครงการ ที่พยายามจะพัฒนาผู้นำในรุ่นเยาว์ ก็คือหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของการจัดอบรมสัมมนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการให้องค์ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ในส่วนของการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ในภาคส่วนต่าง ๆ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เป็นเรื่องของการพัฒนา เรื่องของการส่งเสริมความเป็น พลเมือง เพราะฉะนั้นในยุทธศาสตร์นี้ในปี ๒๕๖๕ สถาบันมีศูนย์พัฒนาการเมืองประจำจังหวัด อยู่ ๕๖ จังหวัด ศูนย์นี้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของสถาบันในการลงไปทำงานเพื่อให้ การศึกษา อบรม แล้วก็พัฒนาภาคประชาสังคม เด็ก เยาวชนในจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันเราก็มี ศูนย์ครบทั่วประเทศ ๗๖ จังหวัดนะครับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ เป็นเรื่องของการส่งเสริมวิชาการของรัฐสภา
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ เป็นเรื่องของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ เป็นเรื่องขององค์กร
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ เป็นเรื่องของนวัตกรรม
เพราะฉะนั้นจากการทำงานผ่าน ๗ ยุทธศาสตร์นั้นเรามีโครงงานทั้งหมด ๙๔ โครงงาน ใช้งบประมาณไปประมาณ ๒๙๙ ล้านบาทเศษ ซึ่งในส่วนงบประมาณ ทั้งหมดนั้นจะประกอบไปด้วยส่วนของงบประมาณในการดำเนินงานประมาณ ๒๐๐ กว่า ล้านบาทเศษ แล้วก็เป็นเรื่องของครุภัณฑ์ แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ประมาณ ๒๗ ล้านบาท แล้วก็เป็นส่วนงานวิจัยก็ประมาณ ๑๐ กว่าล้านบาท แล้วก็อีก ๑ ส่วนคือ ปี ๒๕๖๕ เราได้งบสนับสนุนจากรัฐบาลในการทำหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ ที่เราเรียกว่า Big Rock จำนวนเงิน ๑๖ ล้านบาทเศษ อันนี้คือเม็ดเงินงบประมาณที่ได้รับ จัดสรรจากปี ๒๕๖๕ ถัดไปครับ อันนี้จะเป็นส่วนที่เราจะนำเสนอในส่วนของรางวัลแห่งความ ภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นส่วนที่สถาบันพระปกเกล้าได้รับเกียรติในการที่ได้รับรางวัล ในส่วนที่ เรามุ่งเน้นแล้วก็พยายามทุ่มเทในการปฏิบัติงานแล้วก็พัฒนางาน คือรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี ๒๕๖๕ แล้วก็ส่วนที่ ๒ เป็นรางวัลผลงานวิจัยระดับดี เป็นงานวิจัยชิ้นที่เราเรียกชื่อว่า ประเทศไทยในอนาคต Future Thailand สังคมชนบทและท้องถิ่น ในส่วนนี้จะเป็นส่วน ที่เป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลนะครับ ถัดไปเป็นสื่อที่เราพยายามทำเพื่อกระตุกจิตสำนึกคน ในเรื่องของความเป็นพลเมืองไทย เพราะฉะนั้นสื่อชิ้นแรกคือ เรื่องจิตสำนึกมีไหม อันนี้จะได้รับรางวัลจากประเทศสิงคโปร์ เป็นเรื่องหนังสั้นดีเด่น แล้วก็อีกชุดจะเป็นเรื่องของ เราเป็นแค่ตัวประกอบ อันนี้ได้รับรางวัลหลายประเทศ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แล้วก็สเปน ถัดไปจะเป็นในส่วนของการทำงานในแต่ละยุทธศาสตร์นะครับ
ยุทธศาสตร์แรกคือเรื่องของการทำงานวิจัย ซึ่งในส่วนนี้งานวิจัยในปี ๒๕๖๕ เรามีทั้งหมด ๕๒ เรื่อง แล้วก็จะแบ่งกลุ่มงานวิจัย กลุ่มแรกเป็นเรื่องของการพัฒนาและ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งงานวิจัยในกลุ่มนี้มุ่งหวังที่จะให้การศึกษา ค้นพบข้อมูลในการ ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดองค์ความรู้ แล้วก็ใช้ ในการที่จะวางแผนออกแบบหรือทำนายแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้น กลุ่มงานวิจัยกลุ่มที่ ๒ เป็นเรื่องของขยายผลสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องงานวิจัยที่เราสนับสนุนการสร้างสันติภาพ Peace Survey แล้วก็เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนการสร้างศิลปวัฒนธรรม การรณรงค์ให้มี จิตสำนึกในเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การถอดบทเรียนและพัฒนาในเรื่อง ของความเสมอภาค กลุ่มงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งคือเรื่องของการสร้างและพัฒนาต่อยอด องค์ความรู้ ซึ่งในกลุ่มงานวิจัยในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ในภาวะวิกฤติ การขับเคลื่อนเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นองค์กรที่ลด ความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ในส่วนของธรรมาภิบาลในการพัฒนาคุณภาพสังคม เพราะฉะนั้นอันนี้ คืองานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า
ยุทธศาสตร์ถัดไป คือเรื่องของการจัดการเรียนการสอนแล้วก็การอบรม ในยุทธศาสตร์นี้เองสถาบันได้มีการปรับเปลี่ยน โดยการเรียนการสอนของหลักสูตรสถาบัน ทั้งหมดนั้นเดิมที่เรามีอยู่เราจะมีการทำเอกสาร Paper ซึ่งเหมือนกับการทำ Thesis ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ในปัจจุบันเราลดงานพวกนี้ออก โดยการเปลี่ยนให้นักศึกษา ของเราทั้งหมดในทุกหลักสูตรทำงานโครงการเชิงปฏิบัติ สิ่งที่ต้องการคือการคืนประโยชน์ ส่วนรวมกลับสู่สังคม งานโครงงานทั้งหมดจะเป็นการทำพื้นที่เพื่อที่จะนำศักยภาพของผู้เรียน ของเราทั้งหมดในการลงไปช่วยเหลือสังคมในประเด็นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ หรือในส่วนการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ในสังคมที่มีมิติที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นงานจัดการเรียน การสอนของสถาบันก็จะปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะนะครับ
ถัดไปเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ของการพัฒนาความเป็นพลเมืองครับ ในส่วนนี้เองสถาบันได้ดำเนินการขับเคลื่อนสร้างความเป็นพลเมืองไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ แล้วก็เพื่อให้บทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน แล้วก็กลุ่มนิสิตนักศึกษา สิ่งที่สถาบันทำคือการขับเคลื่อนงาน การเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็ง เรามีการอบรมภาคประชาสังคมในเรื่องของความที่จะ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบการปกครองอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แล้วก็ที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายถัดไปคือเรื่องของเยาวชน ในการเปลี่ยนแปลงสู่สังคม ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมานั้นเราใช้โครงการเยาวชนแห่งอนาคต เป็นการอบรมเพื่อให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน ในการที่จะมองถึงภาพท้องถิ่นท้องที่ของตัวเอง มองถึงศักยภาพในการที่จะลงไปปรับเปลี่ยนในสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคในพื้นถิ่นพื้นที่ ที่ใกล้เคียงที่ตัวเองอยู่นะครับ แล้วก็มีโครงการที่อบรมครู เราเรียกว่าโครงการ PC ครับ ซึ่งเป็นโครงการในการอบรมให้ครู แล้วนำเทคนิคกระบวนการองค์ความรู้กลับไปสอนเด็ก ๑ ภาคการศึกษา แล้วก็เอากลับมาดูกันว่าเด็ก ๑ ภาคการศึกษาที่เรียนไปนั้นเด็กคิดอะไร รู้เท่าทันถึงปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิเช่นในโรงเรียนตัวเอง ในชุมชน ในหมู่บ้าน หรือในสังคมที่ตัวเองได้รับรู้ แล้วก็หาวิธีในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งที่สถาบันคาดหวัง คือการที่มองว่าถ้าเยาวชนต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ได้มีโอกาสที่จะแก้ปัญหา ร่วมกัน โตขึ้นไปในอนาคตเขาจะเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศชาติในการที่จะรู้เท่าทัน ในเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ นโยบายสาธารณะต่าง ๆ และการแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติ ต่อไปในอนาคต การขับเคลื่อนพลเมืองในระดับท้องถิ่นเราก็จะมีการอบรมภาคประชาสังคม
ยุทธศาสตร์ถัดไป เป็นเรื่องของการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภาครับ โดยเฉพาะงานในส่วนนี้จะโดยตรงกับท่านสมาชิกที่เคารพทุกท่าน เราจะมีการศึกษาวิจัย ในการวิเคราะห์กฎหมายที่เตรียมจะเข้าสภาถ้ามีการร้องขอ แล้วก็มีการเสริมสร้าง ประสบการณ์แลกเปลี่ยน มีการจัดสัมมนาในวงงานที่เกี่ยวข้องครับ แล้วก็มีการจัดทุนให้กับ ท่านสมาชิกในการเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า แล้วก็มีเรื่องของการที่เราทำนวัตกรรม ให้บริการทางด้านสารสนเทศแก่ท่านสมาชิกรัฐสภานะครับ คือเรามีการสรุปที่เราเรียกว่า KPI Research Snap Short ก็คือการสรุปงานวิจัยสั้น ๆ เพื่อให้ท่านสมาชิกได้มีโอกาส อ่านงานวิจัยสั้น ๆ แล้วก็ได้ใช้ประโยชน์นะครับ ส่วนถ้างานวิจัยชิ้นใหญ่ท่านก็สามารถที่จะ ไป Scan QR Code แล้วก็ได้งานวิจัยที่เต็มรูปแบบ อีกส่วนจะเป็น KPI Brief คืองานสัมมนา ต่าง ๆ ที่เรามองว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านสมาชิก เราก็จะมีการสรุปงานสัมมนาเพื่อส่งต่อ ให้ท่านสมาชิกนะครับ ในส่วนอื่นก็จะเป็นเรื่องของการจัดให้ความรู้กับผู้ช่วยปฏิบัติงาน ของท่านสมาชิก ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราก็ได้จัดไปแล้วหลายรุ่นนะครับ
ถัดไปเป็นเรื่องของภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แน่นอนครับ สถาบันใช้พระนามของพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำคือการพัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้มีเรื่องของตัวศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้พัฒนาประชาธิปไตยแห่งใหม่ ที่เราเพิ่งพัฒนาขึ้น โดยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน แล้วก็กลุ่มภาคประชาสังคม ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของการเมืองในเบื้องต้น เรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านพระปกเกล้าศึกษา สถาบันจะมีศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าซึ่งค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้วก็ พยายามที่จะมีการต่อยอดเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านในรัชสมัยแล้วก็การเผยแพร่ พัฒนาพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล่าสุดสถาบันเพิ่งจะจัดงานวันฉลอง รัฐธรรมนูญไป ๗-๑๐ ธันวาคมที่ผ่านมาที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นะครับ
ยุทธศาสตร์ถัดไป เป็นเรื่องของการพัฒนาองค์กร แน่นอนครับ การมีองค์กร ที่ต้องรับผิดชอบเราจะต้องดูแลสมรรถนะของพนักงานที่อยู่ในองค์กร แล้วก็ในการสร้าง เครือข่ายให้องค์กรที่จะมีการต่อยอดในการทำงานในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป
ยุทธศาสตร์สุดท้าย เป็นเรื่องของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ในส่วนนี้เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่เราเพิ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะดำเนินการในการ ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการที่จะเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยนะครับ โดยการที่เรา มีจัดหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบ e-Learning เป็น ๓ หลักสูตรใหญ่ ๆ คือเรื่อง ของการเมืองภาพใหญ่ การเมืองท้องถิ่น แล้วก็การเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แล้วก็โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาคประชาสังคมและผู้สนใจที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน แบบ Online ได้นะครับ แล้วก็มีหลักสูตรที่เราจัดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการตรากฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗๗ ซึ่งเป็นเรื่องของการประเมินผลกฎหมาย ซึ่งทุกส่วน ราชการต้องใช้ เพราะฉะนั้นสถาบันก็จัดการเรียนการสอนเพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจ ถึงกระบวนการ เทคนิค และวิธีการดำเนินการตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ แล้วก็มี การพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการดำเนินการในส่วนนี้นะครับ ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ในการ ดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้า ๗ ยุทธศาสตร์ครับ
ถัดไปจะเป็นเรื่องการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า ถ้าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ก็จะเป็นลักษณะของการทำงานคล้าย ๆ มหาวิทยาลัย เราจะมีสภาสถาบันซึ่งมีท่านประธาน รัฐสภาเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีท่านประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานโดยตำแหน่ง แล้วก็ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมี ๑ ชุดที่เป็นสภาสถาบัน อีก ๑ ชุดคือ กรรมการบริหาร และชุดที่สำคัญคือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของสถาบันพระปกเกล้าครับ ในปีที่ผ่านมานั้นคณะกรรมการได้วางแผนการติดตามงาน ของสถาบันโดยแบ่งเป็น ๓ ส่วนครับ
ส่วนแรก คือเรื่องของการติดตามการปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการติดตาม คณะกรรมการติดตามจะทำงานทั้งปี โดยการดูแลการทำงานของ สถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อเสนอแนะในทุก ๖ เดือน เพราะฉะนั้นเวลาที่ ติดตามก็จะมาดูว่าข้อเสนอแนะนั้นได้มีการพิจารณาและรับไปดำเนินการหรือไม่ ในส่วนนี้ ไม่ได้มีการคิดค่าคะแนนนะครับ
ส่วนที่ ๒ เป็นการติดตามและตรวจสอบประเมินผลตามยุทธศาสตร์ครับ ๗ ยุทธศาสตร์มีตัวชี้วัดค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็จะกำหนดค่าคะแนนไว้ ๗๐ ครับ
และส่วนที่ ๓ เป็นการติดตามและตรวจสอบประเมินผลการทำงานของ เลขาธิการ มีค่าคะแนน ๓๐ คะแนน เพราะฉะนั้นผลการประเมินของ Audit Committee ประจำปี ๒๕๖๕ นั้นปรากฏค่าคะแนนคือยอดรวมทั้งหมดก็คือ ๙๘.๘๖ นะครับ เป็นผล การปฏิบัติงานของสถาบันตามผลการตรวจสอบของ Audit Committee ครับ
สุดท้ายครับ การตรวจสอบก็จะมีอีก ๑ ส่วนซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ภายนอก คือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน แล้วก็งบการเงินของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งอยู่ในหน้า ๑๙๖ ถึงหน้า ๒๐๕ อันนี้จะเป็น งบการเงินที่ได้รับการรับรองถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว เป็นงบการเงิน สำหรับปีที่สิ้นสุด ถูกต้องในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่ปรากฏอยู่ในเล่มรายงาน ทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดของเนื้องานทั้งหมด ๗ ยุทธศาสตร์ก็จะปรากฏอยู่ในเล่มรายงาน ที่ได้นำเสนอท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติไปแล้วครับ ผมขออนุญาตแค่นี้ เพียงสั้น ๆ ครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ แล้วก็กราบเรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผมคงตอบคำถามท่าน ในภาพกว้างนะครับ ขออนุญาตก่อนอื่นต้องเป็นของท่านประธานก่อนในเรื่องที่ฝากผมไว้ ผมจะขออนุญาตนำไปดำเนินการที่จะปรับสัดส่วนของนักศึกษา ปปร. แต่ก็ไม่ทราบว่า ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอยากจะเรียนหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ
ขออนุญาตท่านมานพ คีรีภูวดล นะครับ อันนี้ก็มีส่วนที่ฝากผมเกี่ยวกับเรื่อง ของการทำงาน ซึ่งจริง ๆ เป็นการทำงานในยุทธศาสตร์ที่ ๓ ของผมคือการส่งเสริมการเมือง ภาคพลเมืองนะครับ ซึ่งต้องบอกเลยว่าที่ผ่านมาตลอด ๒๕ ปีของสถาบันพระปกเกล้า เราทำเรื่องของการส่งเสริมเด็ก เยาวชน มาโดยตลอด แล้วก็โดยเฉพาะวิทวัสขึ้นมาเป็น เลขาธิการ นโยบายนี้เป็นนโยบายหลักในการที่จะเน้นเรื่องของเด็กและเยาวชน เพราะเรา มองเห็นภาพของการที่ต้องเอ่ยนามที่ท่านสมาชิกพูดถึงเรื่องไม้แก่ดัดยาก เพราะฉะนั้น เราก็จะมองถึงเด็ก เยาวชน เป็นหลักสำหรับในช่วงปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แล้วก็รอยต่อไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ ที่ผมทำอยู่คือการอบรม PC ที่อบรมคุณครู ไปอบรมเด็กใน ๑ ภาคการศึกษาที่ได้เล่าไปแล้ว การอบรมในช่วงของผมนี้จะมีโครงการ ผู้นำเยาวชนดี เป็นการอบรมเด็กซึ่งอยู่ในแกนนำของสภานักเรียนในแต่ละจังหวัด โครงการ ของผมนี้จะเป็นโครงการ ๑๔ จังหวัดนะครับ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เราจะดูในเรื่องของเด็กและ เยาวชนในแต่ละจังหวัดที่มีศักยภาพในการที่ลงไปดูและแก้ไขปัญหาถิ่นฐานของตัวเอง ดูในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ดูในเรื่องของแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง ดูในเรื่อง ของการพัฒนาเรื่องของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ของตัวเองที่ในจังหวัดนะครับ
ขออนุญาตตอบคำถามท่านเท่าพิภพครับ คือประเด็นเด็ก เยาวชน เป็นสิ่งที่ ท่านเสนอแล้วก็อยู่ในใจสถาบันพระปกเกล้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนที่จะทำงานร่วมกัน ในการที่จะดูเรื่องของกฎหมายเด็ก เยาวชน เป็นเรื่องที่สถาบันยินดีเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ท่าน ดำเนินการต่อแล้วก็ประสานมา จริง ๆ การสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าจิตสำนึก ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับตัวคน แต่มันต้องอยู่ที่การบ่มเพาะและสั่งสอน เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ ค่อนข้างยากสำหรับการที่จะบอกเรื่องของการสร้างจิตสำนึกคน โดยเฉพาะในหลักสูตรผม ซึ่งเรียนอยู่กับผมเพียงแค่ไม่กี่เดือน ผมคงสามารถที่จะสร้างจิตสำนึกของทุกคนไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือเราพยายามจะสร้างจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคต ของชาติต่อไปนะครับ
ท่านประเสริฐพงษ์ครับ สิ่งที่ท่านฝากไว้ก็จะพยายามดูนะครับ แล้วก็ในเรื่อง ของอุปสรรคของการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยเราพยายามดูเรื่องนี้มาโดยตลอดครับ สถาบันเองก็ไม่อยากให้มีปฏิวัติ ไม่อยากให้ใช้กำลัง แต่ลำพังสถาบันเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ เรามีคนอยู่แค่ ๑๐๐ คน เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะทำเรื่องพวกนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ก็คงต้องอาศัยท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่จะสนับสนุนสถาบันพระปกเกล้าด้วย
ตอบท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ นะครับ ขอบพระคุณที่ชื่นชมครับ ในส่วนเรื่องของ งบประมาณแผ่นดินสถาบันได้ดำเนินการโครงการไปแล้วที่ศึกษาในเรื่องของการจัดสรร งบประมาณจนกระทั่งต่อยอดมาเกิดเป็นหน่วยงานงบประมาณสำหรับรัฐสภา คือโครงการ PBO เป็นการเริ่มต้นจากสถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้นส่วนที่ท่านฝากเรื่องของการที่จะ พยายามดูเรื่องความแตกต่างของคนช่วงวัยก็เป็นเรื่องที่สถาบันให้ความ Concern ครับ เพราะฉะนั้นโครงการเยาวชนพลเมืองดีที่ผมทำอยู่ก็จะเป็น ๑ โครงการที่พยายามสร้าง จิตสำนึกของเด็กเพื่อที่จะรู้ถึงเรื่องของการให้เขามีความรู้เท่าทันในเรื่องของการเมือง การปกครอง รู้ถึงว่าประเทศไทยจะมี ๓ เสาหลักที่สำคัญ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นก็เป็น ๑ ส่วนที่รับฝากไปนะครับ
ท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ ครับ เกี่ยวกับเรื่องให้ศึกษางานวิจัย ก็ขออนุญาตท่าน ส่งประเด็นแล้วก็กราบเรียนท่านประธานมาเลยนะครับ เพื่อที่สถาบันจะได้ดำเนินการ ตามคำสั่งครับ
ท่านภัณฑิล น่วมเจิม นะครับ ขออนุญาตถ้ากล่าวชื่อผิด เรื่องพิพิธภัณฑ์เป็น พันธกิจหลักของสถาบันพระปกเกล้าครับ สถาบันพระปกเกล้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานชื่อสถาบันว่า สถาบันพระปกเกล้า เพราะฉะนั้น ๑ พันธกิจสำคัญคือการทำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เพื่อเป็นการ เชิดชูเกียรติพระองค์ท่านผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเป็นพันธกิจหลักและ สิ่งที่เราต้องทำ แล้วก็ส่วนหนึ่งในการที่ทำพันธกิจเหล่านี้ เรื่อง CSR เป็นเรื่องที่ใช้เงินนิดเดียว เป็นการเอาเด็กมาเลี้ยงข้าวกลางวันนิดหน่อยครับ เพราะฉะนั้นคงไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ แผ่นดินมากนัก ก็ขออนุญาตกราบเรียนไว้อย่างนี้นะครับท่านภัณฑิล
ส่วนคำตอบอื่น ๆ ผมต้องขอบพระคุณท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นะครับ ผมคิดว่าคำตอบของท่าน สิ่งที่ท่านอนุสรณ์ได้กรุณาชี้แจงน่าจะเป็นคำตอบให้ท่านภัณฑิล ได้เป็นอย่างดี ก็ขออนุญาตกราบเรียนแค่นี้ครับท่านประธาน ขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กราบขอบพระคุณ ในนามสถาบันพระปกเกล้าครับ
ได้ครับท่านฐากร ผมตอบคำถามแรกเลยครับ ผมบอกว่าผมจะรับไปดู คือต้องกราบเรียนว่าท่านประธาน ได้กรุณาเอ่ยเรื่องนี้มานานสักพักหนึ่งแล้ว ได้เรียกผมมาพบแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมจะต้อง เอาไปเข้าในคณะกรรมการ เพราะจริง ๆ โควตาของการเรียนของ สส. นั้นมันอยู่ในกำหนด ของมติของคณะกรรมการ แล้วก็ต้องกราบเรียนเลยว่าท่านประธานเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ กว้างมาก แล้วก็เรียกผมมาพูดไปแล้ว แล้วผมเองก็อยากทำนะครับ คือจริง ๆ ถ้าเป็นการ ล้างมติได้ผมอยากจะจัดให้เฉพาะท่านสมาชิกเรียนเสียด้วยซ้ำ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สมทบ ก็ไม่ต้องมีสมทบ เอกชนที่สมทบก็ไม่ต้องมีสมทบ แต่ประเด็นก็คือว่าการมีห้องเรียนซึ่งมี ท่านสมาชิกอย่างเดียว คือผมกังวลว่าถึงเวลาเรียนจริง ๆ จะเหลือท่านสมาชิกนั่งในห้องเรียน น้อยนิดเดียว อันนั้นคือสิ่งที่เป็นห่วงครับ เพราะฉะนั้นก็กราบเรียนว่าไม่เป็นปัญหาเลยครับ ถ้าทางสภา ท่านประธานและท่านรองประธานทุกท่านเห็นด้วยกันก็จะไปปรับเปลี่ยน ผมได้ตอบคำถามไปแล้ว แล้วก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะครับ ผมอยากได้ท่านสมาชิกเป็นนักศึกษา ในสถาบันอยู่แล้วครับ เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนสถาบันพระปกเกล้าต่อไปในอนาคต ขอบพระคุณครับ