ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ครั้งที่ 22 วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 10.33 - 17.45 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ ผมจะอนุญาตให้ท่านสมาชิก ได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ โดยผมจะให้หารือตามลำดับรายชื่อที่ได้ยื่นมาแล้ว โดยขอให้ท่านใช้เวลาท่านละไม่เกิน ๒ นาที ต่อไปก็จะเป็นการเรียกตามลำดับรายชื่อที่ได้ ยื่นไว้แล้ว ขอเชิญท่านแรก ท่านปารมี ไวจงเจริญ เชิญครับ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยค่ะ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ดิฉันปรึกษาหารือขอให้ กระทรวงศึกษาธิการเร่งแก้ไขกรณีนักเรียนข้ามชาติจำนวน ๒๐ คน ที่จังหวัดเชียงราย สังกัด สพป. หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาของเชียงราย เขต ๓ นักเรียน ๒๐ คนนี้มีรหัส G แล้วแต่ยังเข้าเรียนไม่ได้ อันนี้สืบเนื่องมาจากกรณีเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่มีนักเรียนจำนวน ๑๒๖ คนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร แต่ถูกผลักดันกลับประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่า สะเทือนใจ ทุกคนที่ได้ยินข่าวนี้ต่างสะเทือนใจเพราะว่าเด็กเหล่านี้มีตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ ที่ต้องถูกผลักดันกลับไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าอยู่ใน สถานการณ์สู้รบรุนแรง ในเด็กเหล่านี้มีตั้งแต่ ๕-๖ ขวบ เป็นระดับประถมศึกษา แล้วยังมี เด็กผู้หญิงอีกหลายคน แต่ถูกผลักดันกลับไปอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรง อันนี้ก็เป็น เรื่องน่าสะเทือนใจแล้ว แต่ที่ดิฉันต้องขึ้นมาพูดในวันนี้เพราะว่าเมื่อวันเสาร์ก่อนหน้านี้ ดิฉันไปร่วมเสวนางานเกี่ยวกับการศึกษาของนักเรียนข้ามชาติ นักเรียนชาติพันธุ์ ที่จังหวัดเชียงราย ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ว่าตอนนี้มีนักเรียน อยู่ ๒๐ คน พวกเขามีรหัส G แล้ว เรื่องรหัส G ดิฉันพูดในที่ประชุมสภาแห่งนี้หลายครั้งแล้ว รหัส G เป็นรหัสที่กระทรวงศึกษาธิการสร้างขึ้น มันคือ Generate code สร้างขึ้นเพื่อรับรอง สิทธิทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ไม่มีสถานะบุคคล ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ดิฉันขอให้ สพป. เชียงราย เขต ๓ เร่งหาที่เรียนให้นักเรียน ๒๐ คนนี้โดยด่วน เพราะว่าภาคประชาสังคม เขากำลังจะช่วยกันเองด้วยการทอดผ้าป่าหาทุนมา ซึ่งดิฉันเป็นครูมา ได้ยินคำว่าทอดผ้าป่า ในวงการการศึกษาแล้วดิฉันสะเทือนใจมาก ทอดกันอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐควรต้องเร่งเข้ามา แก้ไข ขอฝากท่านประธานด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณจักรัตน์ พั้วช่วย ครับ

นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ สส. คนไทหล่ม ท่านประธานครับ วันเสาร์ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พื้นที่ของผมอำเภอหล่มสักเกิดอุทกภัยหนักมาก ท่านประธานคงทราบจากข่าว เกือบจะพูดได้ว่าทุกตำบลในอำเภอหล่มสักน้ำท่วม ขอภาพ ประกอบนะครับ

นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

สาเหตุหลักมาจาก ๕ ประการ ก็คือ ๑. น้ำในแม่น้ำป่าสักที่ไหลจากจังหวัดเลยได้มีปริมาณน้ำมากจนล้นตลิ่ง ๒. น้ำในห้วย สะดวงใหญ่ที่มาจากอำเภอน้ำหนาวก็ไหลมารวมที่อำเภอหล่มสัก ๓. คือลำน้ำพุงจากอำเภอ หล่มเก่าก็ไหลมารวมอำเภอหล่มสัก ๔. น้ำในอ่างเก็บน้ำปากห้วยขอนแก่นที่มีปริมาณ น้ำมากจนต้องปล่อยน้ำออกมาเพราะเกรงปัญหาเรื่องอ่างเก็บน้ำรับน้ำไม่ไหว และ ๕. ก็คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ จึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า ช่วยเร่งรัดโครงการและสนับสนุนงบประมาณ ๔ โครงการที่สำคัญ ดังนี้ ๑. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ ตำบลท่าอิบุญ ๒. โครงการเพิ่มความจุ ของอ่างเก็บน้ำปากห้วยขอนแก่น ตำบลห้วยไร่ ๓. โครงการผันน้ำพื้นที่ตำบลตาลเดี่ยว เพื่อลดปริมาณน้ำไม่ให้เข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอหล่มสัก และ ๔. ฝากกรมเจ้าท่า ขุดลอกแม่น้ำป่าสักเพราะว่าตื้นเขินมาก เพื่อเพิ่มความจุของลำน้ำ ท่านประธานครับ ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้า ๔ โครงการนี้ไม่เกิดขึ้นก็จะทำให้อำเภอหล่มสักประสบปัญหาน้ำท่วม อย่างนี้ซ้ำซาก และทุก ๆ ปีก็จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สุดท้ายครับ ขอขอบคุณจิตอาสา แล้วก็ธารน้ำใจทุกภาคส่วนที่ลงไปในพื้นที่ ขอขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณรักชนก ศรีนอก ครับ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ผู้แทนราษฎรจากชาวบางบอน จอมทอง และหนองแขม วันนี้ดิฉันมี เรื่องปรึกษาหารือท่านประธานเรื่องเดียว คือเรื่องการคืนสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขัง ทางการเมือง ดิฉันขออ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ เขียนไว้ชัดเจนว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมตัวหรือคุมขังผู้ต้องหา หรือจำเลยกระทำได้เพียงจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี ในตอนนี้เรามีนักโทษทางการเมือง ที่อยู่ในเรือนจำร่วม ๑๐ คน ที่คดียังไม่สิ้นสุด เมื่อ ๒ วันก่อนดิฉันมีโอกาสได้เข้าไปเป็นสักขีพยานในการพิจารณาคดีมาตรา ๑๑๒ ของทนายอานนท์ที่เป็นทั้งทนายและจำเลยในคดีนี้ สิ่งที่เป็นภาพบาดตาบาดใจดิฉันคือ มีกุญแจข้อเท้าล็อกเขาที่ขา ๒ ข้าง นี่คือคนที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีหรือคะ ทำไมรัฐธรรมนูญถึงไม่ปฏิบัติกับเขาตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ดิฉันไม่ได้ต้องการอะไรมากไป กว่าการเห็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยที่ประชาชนสามารถมีศักดิ์ศรีเสมอหน้า เท่าเทียมกันได้ต่อหน้ากฎหมาย แต่แค่นี้มันดูจะยากเย็นเหลือเกิน ดิฉันขอยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งชื่อย่อ อิทธิพล หนีหมายจับไปต่างประเทศ ได้กลับมาประกัน ตัวด้วยวงเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ทั้ง ๆ ที่มีพฤติกรรมหลบหนี แต่ศาลให้ประกันตัว ขณะที่ ผู้ต้องขังอย่างทนายอานนท์ วารุณี ทั้ง ๆ ที่ไปรายงานตัวตามนัดตลอดเวลา กลับไม่ได้รับ การประกันตัว โดยให้เหตุผลว่ากลัวที่จะหลบหนี ครอบครัวเขาอยู่ที่นี่ ชีวิตเขาอยู่ที่นี่ เขาต่อสู้เพื่ออยากเห็นประเทศนี้ที่มันดีกว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นดิฉันไม่ได้ขออะไรไปเกินเลยกว่า ให้ประเทศนี้ทำตามกฎหมาย ทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรมแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษานะคะ แต่อยากจะขอให้รัฐบาล ชุดนี้กวดขันนโยบายในการทำงาน ประเทศนี้ไม่ควรจะมีนักโทษที่ถูกกักขังทางความคิด อีกต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ครับ

นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ สส. ศรีสะเกษ เขต ๔ อำเภอ กันทรลักษ์ เมืองน่าอยู่ ซึ่งเป็นถิ่นทุเรียนภูเขาไฟอันโด่งดัง ผมมีเรื่องจะขอหารือท่านประธาน ใน ๓ เรื่องด้วยกัน

นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ กันทรลักษ์ เป็นเมืองเกษตรกรรม เป็นเมืองที่มีผืนดินที่เหมาะกับการปลูกพืชเกษตร ผลิตผลที่ออกมา ก็เป็นผลิตผลที่มีรสชาติที่ดี นอกจากนั้นอำเภอกันทรลักษ์ยังมีศักยภาพทางการท่องเที่ยว เรามีผามออีแดง มีปราสาทโดนตวล มีน้ำตกหลายแห่ง แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกันทรลักษ์จะยิ่งดีคึกคักขึ้นกว่านี้ถ้าหากทางมาเยือนสามารถที่จะขึ้น เที่ยวชมปราสาทเขาพระวิหารได้ ดังนั้นจึงอยากจะขอหารือท่านประธานฝากผ่านไปยัง กระทรวงมหาดไทย ได้ช่วยเร่งรัดเจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อดำเนินการเปิดจุดผ่อนปรน เพื่อการท่องเที่ยวบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้าง รายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ หันมามองดูถนนเส้นทางที่จะขึ้นไปยังแหล่งท่องเที่ยว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๑ ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก เราจะพบว่าทางหลวงแผ่นดิน มีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อแบบนี้ค่อนข้างเยอะ ก็หารือท่านประธานฝากไปยัง กระทรวงคมนาคมได้เร่งดำเนินการปรับปรุงแล้วก็ซ่อมบำรุงผิวถนนด้วยครับ

นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องของเกษตรกรในหมู่บ้านโศกขามป้อม บ้านหนองหว้า และบ้านเสาธงชัย เขาเคยทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดนตั้งแต่ด้านภูแมน พะลานบั้งไฟ โศกขามป้อม เขาทำกินตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แต่อยู่ ๆ ปีนี้ครับท่านประธาน เขากลับไม่สามารถ เข้าไปเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรของเขาได้ ปลูกยางพาราก็ปลูกแล้ว ปลูกมันสำปะหลัง ก็ปลูกแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการเก็บผลผลิตได้ ดังนั้นจึงหารือท่านประธานฝากไป ยังท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายปกครองและทางทหารได้เร่งเจรจาเพื่อให้ราษฎร สามารถเข้าไปทำกินและเก็บผลิตผลทางการเกษตรได้ตามเดิมด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ครับ

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอ Slide ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอที่จะปรึกษาหารือทั้งหมด ๓ เรื่อง

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ท่ออุดตันเรือคลองโอ่งอ่าง ผมได้รับเรื่องร้องเรียนมาจาก ประชาชนที่อาศัยในบริเวณสะพานหัน คลองโอ่งอ่าง ที่กำลังเผชิญหน้าปัญหาบ้านถูกน้ำท่วม เพราะท่อระบายน้ำอุดตัน ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเข้ามาดำเนินการเพื่อที่จะ สำรวจรางเก็บท่อระบายน้ำซึ่งจะทำให้ทราบสาเหตุนี้ ไขมัน ขยะ เข้ามาอุดตันเต็มไปหมด เลยครับ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ตอนนี้มีแมวเป็นโรคเชื้อรากินเนื้อครับท่านประธาน โดยเชื้อ ตัวนี้คือโรคเชื้อราชื่อว่า Cryptococcosis เป็นเชื้อราติดต่อผ่านการหายใจ ส่วนมากจะติด จากมูลนกพิราบ และอีกตัวหนึ่งมีโรคเชื้อรา Sporotrichosis โดยตัวนี้สามารถติดต่อจาก สัตว์สู่คนได้จากการสัมผัส ฝากไปยังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่ง ในการจัดการครับ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงโรคระบาดตัวนี้ ด้วยครับ

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เป็นปัญหาเรื่องการเปิดบัญชีของคนไร้บ้านที่เขตพระนคร เส้นถนนราชดำเนิน ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าทุกคนคงทราบถึงปัญหาของแก๊ง Call Center ซึ่งแก๊ง Call Center เหล่านี้จะหลอกคนให้โอนเงินไปยังบัญชีม้า ท่านประธาน รู้ไหมครับ บัญชีม้าเหล่านี้เขาเอามาจากไหนกัน ผมขอแจ้งเลยว่าส่วนใหญ่มีบางส่วนไม่มาก ก็น้อย หลอกล่อให้คนไร้บ้านเหล่านี้มาเปิดบัญชีม้าโดยแลกกับเงินตั้งแต่ ๓๐๐-๒,๐๐๐ บาท ผมรู้ว่ามันมีเป็นกระบวนการเลยครับ และมีกระบวนการหักหัวคิวด้วย อยากจะแจ้งไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดูแลและช่วยสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้กับสังคม ได้รับรู้ครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล ครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทย สร้างชาติ ขอนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่สภาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ พื้นที่หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่บ้านรางโพธิ์ ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง มีถนนทางเข้าหมู่บ้านหลายกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นทางลูกรังยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวมีความสำคัญกับชาวบ้าน ในพื้นที่มากในการสัญจรใช้รถใช้ถนนขนส่งสินค้าทางการเกษตร อยากให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลและแก้ไขนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ หมู่บ้านหมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางตะบูน และหมู่ ๔ ตำบลบางตะบูนออกของอำเภอบ้านแหลม มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่ ดังกล่าวก็จะถูกน้ำท่วม ซึ่งทาง อบต. กับเทศบาลได้ของบประมาณการก่อสร้างเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากกรมโยธาธิการและผังเมืองไปแล้ว ก็อยากให้หน่วยงานดังกล่าว ช่วยพิจารณาโครงการดังกล่าวด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในเขต พื้นที่ดังกล่าวนะครับ

จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ถนนทางเข้าวัดอีโก้ หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองชุมพล ไปถึงหมู่บ้านคีรีวงศ์ ตำบลหนอชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย ถนนเส้นดังกล่าวเกิดทรุดตัว ทำให้พ่อแม่พี่น้อง เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวเป็นหน่วยงานของทางหลวง ชนบทเป็นผู้รับผิดชอบ ก็อยากให้หน่วยงานดังกล่าวเข้าช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสิริลภัส กองตระการ ครับ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล บางกะปิ วังทองหลาง แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือ ดังนี้

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปัญหา ไฟทางเดินริมคลองแสนแสบโดนลักขโมย ประชาชนแจ้งมาว่าไฟริมคลองโดนลักขโมย อยู่หลายจุด แล้วก็มีบางจุดที่ไม่ได้รับการติดตั้ง เช่นใต้สะพาน ทำให้ทางเดินมืดมากแล้วก็ เป็นอันตราย มีการตั้งกลุ่มมั่วสุม ประชาชนไม่กล้าเดินผ่านเส้นทางนี้เพราะกลัวจะถูกฉกชิง วิ่งราวแล้วก็อาชญากรรมอื่น ๆ แล้วก็มีแก๊งจักรยานสีชมพูที่เคยโดนจับไปแล้วครั้งหนึ่งนะคะ ชาวบ้านจับตัวไปส่ง สน. หัวหมาก ไม่รู้ว่าเพราะอะไรออกมาก่อเหตุได้อีก ก็อยากจะฝาก สน. หัวหมากช่วยเร่งจับตัวคนร้ายนะคะ เพราะว่านี่เป็นการทำลายทรัพย์สินของสำนัก การระบายน้ำ แล้วก็สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ เรื่องป้ายรถเมล์ไม่มีไฟ ไม่มีเลขบอกสายรถประจำทาง บางป้าย รถเมล์ไม่จอดป้ายค่ะ แล้วก็ประชาชนกังวลถึงความปลอดภัยขณะรอรถ ประกอบไปด้วย ป้ายรถเมล์บริเวณปากซอยรามคำแหง ๗๗ ป้ายรถเมล์บริเวณถนนเสรีไทย หน้าแฟลต คลองจั่น ๒๘ ป้ายรถเมล์บริเวณหน้า Showroom ฮอนด้า ตรงข้ามซอยรามคำแหง ๔๒ และป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝากสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ช่วยดูแลด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องต่อไป ก็คือไฟดับหลายจุดในชุมชนลำสาลี ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ ไปที่ กฟน. ลาดกระบังแล้ว แต่ก็ยังได้รับแจ้งว่าหลายจุดในชุมชนมีไฟดับอยู่ ฝาก กฟน. ลาดกระบังจัดการด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เรื่องการคืนพื้นผิวจราจรถนนรามคำแหงจากหน้าศูนย์ฮอนด้า หัวหมากไปจนถึงซอยรามคำแหง ๑๒๗/๑ ตลอดสายเป็นถนนขรุขระ แล้วก็พื้นถนนไม่ได้ ระดับ ประชาชนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ บุคคลไร้บ้านในเขตพื้นที่บางกะปิ วังทองหลาง พบอยู่หลายจุดมาก เลยค่ะ ตอนนี้บางคนก็มีหลักแหล่งอยู่ บางคนก็ไม่มี เดินรีดไถเงินจากประชาชน ฝาก พม. เข้าตรวจสอบแล้วก็เร่งแก้ไขด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องต่อไป ในพื้นที่เขตบางกะปิเกิดเหตุนักศึกษาจากช่างกลอุตสาหกรรม โดนยิงหน้าบ้านในบริเวณซอยรามคำแหง ๕๘/๓ ตอนนี้ได้ทราบว่าอยู่ในความรับผิดชอบ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ๔ อยากจะฝากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านช่วยเร่งดำเนินการ ทวงความยุติธรรมให้กับน้องผู้เสียชีวิตด้วย เพราะน้องเป็นที่รักของบ้าน แล้วก็อยากให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือว่านักจิตวิทยาลงมาประเมินสภาพจิตใจและเยียวยาด้วยค่ะ

นางสาวสิริลภัส กองตระการ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ฝากท่านประธานเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการหารือไป เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ครั้งที่แล้ว ดิฉันได้รับหนังสือตอบรับจากหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว นั่นก็คือ รฟม. เรื่องอื่น ๆ ยังไม่มีหน่วยงานไหนได้ทำหนังสือตอบกลับมาเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมก็มีเรื่องที่จะปรึกษาหารือ เกี่ยวกับถนนหนทาง โดยเฉพาะถนน ๓๐๔ ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

ได้รับคำร้องจากผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่า จะเป็นตำบลลาดตะเคียน ตำบลกบินทร์ ตำบลเมืองเก่า ตำบลทุ่งโพธิ์ แทบจะทุกตำบล ที่ถนน ๓๐๔ ผ่านไปครับว่าปัญหาความเดือดร้อนจากถนน ๓๐๔ ฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะ ๑๕ กิโลเมตรจากศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทคจนถึงสี่แยกสามทหารนั้น มีถนนซึ่งขรุขระจนเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นอันตรายต่อยานพาหนะที่ผ่านไปมาอย่างมาก โดยเฉพาะวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ นี้ ซึ่งมีรถกระบะบรรทุกได้ขับมาในเวลากลางคืนถึงสี่แยก สามทหารก็เกิดอุบัติเหตุชนกับเสาไฟฟ้า เกิดความเดือดร้อนเสียหายมีคนบาดเจ็บสาหัส ดังนั้นจึงกราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้ทราบว่าถนน ๓๐๔ นี้สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ๒๑ ปีแล้วครับที่เดือดร้อน ดังนั้น ในขั้นต้นนี้ก็ขอให้มีการซ่อมแซมเพื่อให้ได้รับการใช้งานก่อน อีกทั้งในเทศกาลตอนนี้จะมี เทศกาลลอยกระทง เทศกาลออกพรรษา หรือปีใหม่ ซึ่งทุกปีก็จะมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อย่างมากทีเดียวครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องช้างอีกแล้วครับ เป็นเรื่องที่ซ้ำซาก มาโดยตลอด จากวันที่ ๖ ตุลาคม ของตำบลเขาไม้แก้ว โดยนายก อบต. ประยูร สมโภชน์ ได้รายงานมาว่าช้างป่าได้ลงมาทำลายทรัพย์สิน แล้วก็มีชาวบ้านที่ขับรถผ่านไปมาในถนน เส้น ๓๕๙ ได้ชนกับช้างที่เดินข้ามถนนจนประชาชนได้รับบาดเจ็บถึง ๓ ราย แต่ขณะเดียวกัน ช้างต่าง ๆ ก็คงจะเข้ามาอีกเป็นประจำ เพราะอีกหน่อยผ่านฤดูฝนไปก็จะถึงฤดูช้างลงมา หากินในที่ชาวบ้านแล้วครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เรื่องที่ได้รับความเดือดร้อนนิดหนึ่งจากโรงเรียนที่ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดสระดู่ อำเภอกบินทร์บุรี แจ้งมาว่าถังน้ำที่บรรจุน้ำอุปโภคบริโภครั่วลงมา จึงขอกราบเรียนไปยังผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๓ ช่วยอนุเคราะห์ มาซ่อมแซมให้ด้วย เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กและชาวบ้านในบริเวณแถวนั้น ขอ กราบขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณเชตวัน เตือประโคน

นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. จังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล พื้นที่เทศบาลเมือง คูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย มีเรื่องจะปรึกษาหารือฝากท่านประธานไปถึง ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงปัญหาความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องชาวคูคต ชาวลำสามแก้ว รวมถึงประชาชนที่ใช้ถนนเสมาฟ้าคราม ในการสัญจร ท่านประธานครับ ถนนเสมาฟ้าครามหรือลำลูกกา ๑๑ หรือรังสิต-นครนายก ๔๖ เป็นถนนที่มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก แล้วก็เป็นถนนที่มีบ้านเรือน มีบ้านจัดสรร ปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น ถนนเส้นนี้ด้วยความที่สภาพคับแคบก็เลยทำให้มีปัญหาในเรื่อง ของการที่รถติด และด้วยความที่เป็นถนนเก่าก็เลยเป็นหลุมเป็นบ่อ ฝนตกทีไรน้ำท่วมขัง เป็นประจำ ไม่มีทางเท้า ไม่มีทางม้าลาย ข้ามถนนแต่ละทีได้รับฉายาที่ประชาชนเขาให้ เสมาฟ้าครามข้ามถนนเหมือนวัดดวงครับ และนอกจากนี้ถนนเส้นนี้มีเสาไฟฟ้าเยอะมาก ถ้าเทียบระยะทางกัน เสมาฟ้าครามนี่เป็นถนนที่มีเสาไฟฟ้าไม่รู้ทำไมเยอะที่สุดเลย ในประเทศไทยน่าจะว่าได้ แล้วมีคนตัดพ้อประชดว่าถนนเสมาฟ้าครามนี้ไม่มีเสาไฟต้นไหน ที่ไม่เคยถูกมอเตอร์ไซค์ชน นั่นสะท้อนถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมากบนถนนเส้นนี้ ท่านประธานครับ เคยมีโครงการที่จะขยายถนนเส้นนี้ กรมทางหลวงชนบทเคยว่าจ้างบริษัท ที่ปรึกษามาออกแบบ แล้วก็มีแบบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการรับฟังความคิดเห็น มีการประชาสัมพันธ์โครงการ มีรูปแบบของถนนที่เอามาทำเป็นป้ายรถเมล์สวยงามมาก ๆ ลองไปดูได้นะครับ แต่จากปี ๒๕๖๐ ที่ออกแบบ จากปี ๒๕๖๐ ที่ศึกษา จากปี ๒๕๖๐ ที่ทำ ป้ายประชาสัมพันธ์ จนปัจจุบันนี้ซีดมองไม่ออกแล้วว่าเป็นโครงการอะไร ใครเป็นคนดำเนิน โครงการ ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยสำหรับโครงการขยายถนนเสมาฟ้าครามหรือลำลูกกา ๑๑ หรือรังสิต-นครนายก ๔๖ ฝากท่านประธานไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยดำเนินโครงการนี้ให้มันจบที่รุ่นของเรา ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณเกษม อุประ

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม เกษม อุประ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

ขอกราบเรียนหารือท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากได้รับการร้องทุกข์จากนายณรงค์ศักดิ์ ทองไสย นายกเทศมนตรีตำบลคูสะคาม แจ้งว่าถนนสายบ้านหนองปลาหมัดไปบ้านวังโพนของอำเภอ วานรนิวาส ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ. สกลนคร ได้รับความเสียหายมา เป็นเวลานานและเกิอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้พี่น้องที่สัญจรไปมาได้รับความลำบาก จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา ซึ่งมีคนไทยไปทำมาหากินที่นั่น ๓๐,๐๐๐ กว่าคน และยังมีผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับ เป็นตัวประกันและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในนี้รวมคนบ้านผมอยู่ด้วย จึงต้องขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ก็อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ท่านได้สั่งการ ให้ทำงานแบบบูรณาการ ตั้งศูนย์ประสานงานแต่ละจังหวัดและแต่ละอำเภอ เพื่อให้ ครอบครัวของผู้เสียหายและผู้เสียหายทางต่างประเทศสามารถติดต่อกันได้ เพื่อลดความ เดือดร้อน และไม่ต้องมาร้องทุกข์ถึงในกรุงเทพมหานคร และอยากจะให้มีศูนย์ประสานงาน ในระดับอำเภอเพื่อที่ให้นายอำเภอเป็นประธาน สามารถให้ข้อมูลและให้การช่วยเหลืออย่าง ทันท่วงที กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวิลดา อินฉัตร

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องข้อหารือ ดังนี้

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ปัญหาของโรงพยาบาล ปรางค์กู่ มีแพทย์เพียง ๒ ท่าน บางครั้งการรักษาพยาบาลไม่เพียงพอ ที่เหลือก็เป็น แพทย์ฝึกหัด ขาดความชำนาญ การวินิจฉัยโรคไม่ค่อยตรง แล้วก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลขุขันธ์ ซึ่งการเดินทางก็ยากลำบาก อีกทั้งชาวบ้านก็มีฐานะยากจน วัน ๆ หนึ่งก็ไปกันหลายร้อยคน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งช่วยดำเนินการหาแพทย์มาเพิ่มเติมให้ด้วย

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้โอนทรัพย์สิน สาธารณูปโภคแหล่งน้ำและระบบประปาชนบทให้กับเทศบาลตำบลปรางค์กู่มากว่า ๓๐ ปีแล้ว จากเดิมมีผู้ใช้บริการเพียง ๕๐๐ ราย ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น ๓ เท่า สภาพเก่า ทำให้ ผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ อาคารโรงสูบน้ำ อุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นสนิม ทำให้น้ำ ไม่สะอาดและไม่เพียงพอต่อการใช้ ขอให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นด้วยนะคะ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ถนนเส้นบ้านปอไปบ้านเหล่า ตำบลโนนเพ็ก อำเภอพยุห์ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ผู้ใช้ถนนได้รับ อุบัติเหตุบ่อยครั้ง หัวถนนและท้ายถนนเป็นคอนกรีต แต่ช่วงล่างเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ได้ ซ่อมแซมมาหลายปี ขอให้จัดสรรงบประมาณให้ด้วยนะคะ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ชาวบ้านผือพัฒนา ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ ได้รับความเดือดร้อน สภาพถนนที่เป็นหินคลุกมีสภาพขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนสัญจรลำบากและเกิดอันตรายบ่อยครั้ง จึงขอให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเร่งเข้ามาซ่อมแซมให้ด้วยค่ะ

นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายทองสุข คำมา นายก อบต. ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ ว่าสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ขอให้ช่วยดำเนินการซ่อมแซมแล้วก็ทำถนนคอนกรีตให้ด้วยนะคะ ก็มี ๑. ถนนบ้านไผ่ หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านกระโดน ตำบลหนองเชียงทูน ๒. บ้านไผ่ หมู่ที่ ๗ เชื่อมถนนทางหลวงชนบท ศก.๓๐๓๙ ๓. บ้านขะยูง หมู่ที่ ๔ ถึงบ้านโพธิ์น้อย หมู่ที่ ๙ ๔. บ้านไฮ หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านรำเจก หมู่ที่ ๓ ๕. บ้านโพธิ์สามัคคี หมู่ที่ ๘ ถึงบ้านขี้นาค ตำบลตูม หมดแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปขอเชิญคุณอนุรักษ์ จุรีมาศ ครับ

นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายอนุรักษ์ จุรีมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ ๑ อำเภอเมือง สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้ กระผมมีเรื่องที่จะหารือความเดือดร้อนของประชาชนจำนวน ๑ เรื่อง

นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งของกระผม มีพื้นที่การเกษตรประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าไร่ แต่มี พื้นที่ที่มีระบบชลประทานไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เกษตรกร ที่อาศัยน้ำฝน กระผมได้รับคำร้องเรียนจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ตลอดจนพี่น้องประชาชน หลาย ๆ ตำบลว่ามีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำขาดการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งแหล่งน้ำเต็มไปด้วย วัชพืช ซึ่งอำเภอเมืองร้อยเอ็ดมีลำห้วยธรรมชาติที่สำคัญอันได้แก่ ห้วยรากไถที่ตำบล สะอาดสมบูรณ์ ห้วยเงินจากตำบลนาโพธิ์ถึงตำบลเมืองทอง ซึ่งมีความยาว ๑๒ กิโลเมตร ห้วยแต้จากตำบลเมืองทองถึงตำบลสะอาดสมบูรณ์ มีความยาวถึง ๑๗ กิโลเมตร และลำห้วยเหนือซึ่งเป็นทางน้ำชลประทานแห่งเดียวซึ่งมีความยาวประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ปัจจุบันบางช่วงในฤดูน้ำหลากกัดเซาะเพราะว่าเต็มไปด้วยวัชพืช และลำน้ำมีความตื้นเขิน กระผมจึงขอให้ทางกรมชลประทานได้ตั้งงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมคันดิน พร้อมขุดลอก ลำห้วยรากไถ ห้วยเงิน ห้วยแต้ และลำห้วยเหนือ พร้อมอาคารป้องกันตลิ่งด้วยครับ ท่านประธานที่เคารพ กระผมขอให้กรมชลประทานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอีก ๔ จุด ก็คือ บ้านเปลือย ตำบลรอบเมือง สำหรับห้วยรากไถ และบ้านโนนสว่าง ตำบลนาโพธิ์ สำหรับ ห้วยเงิน และอาคารบังคับน้ำสำหรับบ้านสังข์สงยาง ตำบลสะอาดสมบูรณ์ สำหรับห้วยแต้ และบ้านกาหลง ตำบลสะอาดสมบูรณ์ สำหรับห้วยรากไถ อันจะเป็นผลที่จะทำให้สามารถ กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง สามารถบรรเทาจากอุทกภัยได้ และยังสามารถที่จะใช้น้ำตรงนี้ ปลูกพืชฤดูน้ำน้อยได้อีกครับ ขอขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปิยชาติ รุจิพรวศิน

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ขอ Slide ด้วยครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอ ปรึกษาหารือผ่านท่านประธาน

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ช่วง ๒-๓ วันมานี้ฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำขังที่จังหวัดนครราชสีมา ผมขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานที่ผมประสาน ขอความอนุเคราะห์ไป และได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นอย่างดี

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ช่วงนี้โคราชมีฝนตกหนักและในพื้นที่ตำบลหัวทะเล ผมได้รับแจ้ง ปัญหาจากประชาชนหมู่บ้านมงคลชัยนิเวศน์ ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงประมาณ ๑ เมตร ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ประชาชนในหมู่บ้านอยากทราบ และฝากผมสอบถามผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย เทศบาลหัวทะเล ช่วยตรวจสอบว่ามีสิ่งปลูกสร้างใดสร้างขวางทางน้ำหรือไม่ ถ้ามี เป็นการสร้างที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ ช่วยให้ความกระจ่างต่อพี่น้องประชาชนชาวหัวทะเลด้วยครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมขอหารือเกี่ยวกับการขอดำเนินการขยายอ่างเก็บน้ำ หนองตะลุมปุ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์กลาง แต่เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความสำคัญต่อประชาชน ในเขตพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลาเป็นอย่างมาก โดยอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงที่คอย ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลเข้าท่วมหมู่บ้านจามจุรีและชุมชนใกล้เคียงในตำบลหนองบัวศาลา และในช่วงที่มีฝนตกหนัก อ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กอาจไม่สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ ๑.๔ ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ผมจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ดำเนินการขยายอ่างเก็บน้ำหนองตะลุมปุ๊กเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาและเพื่อป้องกัน น้ำท่วมให้กับชาวตำบลหนองบัวศาลาครับ

นายปิยชาติ รุจิพรวศิน นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ผมได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องชาวตำบลหนองไข่น้ำว่า ทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๐๔๙ ซึ่งเป็นถนนสายหลักของตำบลหนองไข่น้ำ มีปัญหาดิน จากรถขนดินตกบนพื้นผิวถนนจำนวนมาก ทำให้การสัญจรลำบาก ผมขอเรียนผ่าน ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อประชาชนชาวตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง นครราชสีมาด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณญาณีนาถ เข็มนาค

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ญาณีนาถ เข็มนาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอำนาจเจริญ เขต ๒ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ ประเด็น

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก เป็นเรื่องของระบบน้ำประปา จากการที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีการขยายตัวของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองและรอบนอกอย่างรวดเร็ว ทำให้การประปา ส่วนภูมิภาคสาขาอำนาจเจริญประสบปัญหากำลังการผลิตใกล้เต็ม โดยการประปามีสถานี ผลิตน้ำ ๒ แห่ง ได้ใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานและอ่างเก็บน้ำห้วยสีโท ซึ่งน้ำ ในอ่างเก็บน้ำห้วยสีโทต้องจัดสรรน้ำไว้เพื่อการเกษตรด้วย จึงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ อีกทั้งปัจจุบันระบบจ่ายน้ำยังขาดประสิทธิภาพ ท่อส่งน้ำประปาใช้งานมานานเริ่มชำรุด ทรุดโทรม และพื้นที่ Zone สูงปลายทางน้ำไหลอ่อน เมื่อเกิดการชำรุดแต่ละครั้งต้องหยุด จ่ายน้ำเป็นเวลาหลายวัน ประชาชนเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งรัดจัดสรรงบประมาณมายังการประปาส่วนภูมิภาค สาขาอำนาจเจริญ ดังนี้

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

๑. โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อจ่ายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหา น้ำไหลอ่อน ซึ่งโครงการนี้การประปาได้เสนอไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แผนบูรณาการน้ำแล้วค่ะ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

๒. โครงการปรับปรุงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำ สถานีผลิตน้ำอำนาจเจริญ แห่งที่ ๑ ซึ่งตัวนี้จะเป็นการผลิตน้ำจากอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

๓. ก่อสร้างท่อ Main ขนาด ๔๐๐ มิลลิเมตร อีกเส้นหนึ่ง จากโรงกรองน้ำ ห้วยสีโทเข้ามายังอำนาจเจริญ ซึ่งเดิมมีเส้นเดียวท่อ Main เก่า เวลาเกิดปัญหาต้องหยุด จ่ายน้ำ ใช้เวลาซ่อมนานทำให้พี่น้องเดือดร้อน ดิฉันจึงนำเรียนท่านประธานผ่านไป กระทรวงมหาดไทย ช่วยเร่งรัดงบประมาณดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องต่อไปค่ะ

นางญาณีนาถ เข็มนาค อำนาจเจริญ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปัญหาการสัญจรไปมาของพี่น้องอำเภอเสนางคนิคม สืบเนื่อง จากถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๗๗ ตอนแยกทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ นาไร่ใหญ่ ระยะทาง ๕ กิโลเมตร ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่พี่น้องใช้เดินทางไปสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการ อำเภอ โรงพยาบาล ลูกหลานเดินทางไปเรียนหนังสือ ถนนเส้นนี้มีรถวิ่ง ๒๔ ชั่วโมง แต่ถนน ดังกล่าวคับแคบ ไฟส่องสว่างในเวลากลางคืนน้อยเกินไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างเป็นถนน ๔ ช่องจราจรและไฟส่องสว่าง เพื่อให้พี่น้อง ได้สัญจรไปมาด้วยความปลอดภัย ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณสมดุลย์ อุตเจริญ ครับ

นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สมดุลย์ อุตเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๗ ประกอบด้วย อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ วันนี้ผมมีข้อหารือเรื่องที่มีผลกระทบต่อ ประชาชนทั้ง ๓ อำเภอ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงาน เทศบาลตำบลเวียงฝาง ขอความอนุเคราะห์ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาสนามกีฬาอำเภอฝาง มีเนื้อที่ ๖๒ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม เนื่องด้วยสนามกีฬากลาง อำเภอฝางตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ประชาชนกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยหลักมาจากสนามกีฬาที่ใช้ออกกำลังกาย เพราะสนามกีฬาปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์เนื่องจากขาดการดูแล มีการทรุดโทรม ตลอดจน ขาดงบประมาณในการพัฒนา สาเหตุของการขาดงบประมาณพัฒนา เพราะเนื้อที่ของ สนามกีฬาทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงฝางกับองค์การบริหารส่วนตำบล เวียงฝาง อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีการเจรจากันระหว่างทั้ง ๒ หน่วยงาน ซึ่งทางเทศบาลตำบล เวียงฝางจะรับผิดชอบดูแลสนามกีฬาหลังจากการปรับปรุงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงขอ ความอนุเคราะห์ผ่านท่านประธานสภาไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาให้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มาสำรวจออกแบบ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุง สนามกีฬาและภูมิทัศน์อำเภอฝาง ตามวัตถุประสงค์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ครับ

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมขอหารือกับท่านประธาน ผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นอย่างมากที่ท่านได้กรุณาจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๓๔๖ ล้านบาทเศษ มาดำเนินการ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่เทศบาลนคร นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะระบายน้ำจากบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำลงสู่ ลำตะคอง เช่น พื้นที่ตลาดเซฟวัน มิตรภาพซอย ๔ ชุมชนตะคองเก่า ชุมชน ๓๐ กันยาพัฒนา หมู่บ้านเทคโนวิลเลจ และบริเวณหน้าค่ายสุรนารี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน เนื่องจากมีการแก้ไขแบบ เนื่องจากว่าแนวท่อระบายน้ำบางส่วนไปทับซ้อนกับแนวตอม่อ ของรถไฟฟ้าความเร็วสูง ดังนั้นจึงมีการขยายระยะเวลาจากเดิมที่มีระยะเวลาตั้งแต่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ถึง ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ขยายไปเป็นถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ งานที่ผ่านมานั้นค่อนข้างล่าช้ากว่ากำหนด ผมจึง อยากขอความกรุณาจากท่านประธานผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้โปรดกรุณา เร่งรัดผู้รับเหมาให้ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในอายุของสัญญาด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบอยู่อันเนื่องมาจากน้ำท่วมขัง เนื่องมาจากฝนตกหนักที่กำลังประสบอยู่ในเวลานี้ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะยาวต่อไป อย่างถาวรด้วย ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กระผมมีเรื่องหารือท่านประธานจำนวน ๒ เรื่องด้วยกัน

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายประสาน ชูเรืองสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพังไกร นายทรงวุฒิ หมื่นราษฎร์ ส.อบจ. เขตอำเภอหัวไทร และพี่น้องประชาชน สืบเนื่องจากถนนกรมทางหลวงชนบท นศ. ๓๐๓๒ บ้านหน้าทวด-ท่าเสม็ด ถนนเส้นนี้ได้รับความชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก และมีระยะทางยาวทั้งหมด ๓๒ กิโลเมตร เป็นถนนเส้นทางคมนาคมทางน้ำเชื่อมต่อ การค้าขายกับทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำปากพนัง เป็นคลองระบายน้ำจากเทือกเขา และยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘ ถนนเส้นนี้จึงมีความสำคัญ เป็นถนนที่รองรับการขนส่งสินค้า ผลผลิตทางการเกษตร และเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยี ทางการเกษตร การประมง จึงขอหารือท่านประธานไปยังกรมทางหลวงชนบท เพื่อขอขยาย ช่องทางจราจรพร้อมช่องทางจักรยาน และติดตั้งโคมไฟส่องแสงสว่างตลอด ๓๒ กิโลเมตร ฝากท่านประธานไปยังกรมทางหลวงชนบท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วยครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายบุญโชค ขำปราง นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก และนายประยุทธ์ ฐานะวัฒนา นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก เนื่องจากในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ขอกราบเรียนท่านประธานว่าได้มีการดำเนินการทำประชาคมกับพี่น้องประชาชนไปจำนวน ๓ ครั้งด้วยกัน แต่เนื่องจากว่าการจัดตั้งการของบประมาณจะต้องมีกระบวนการ EIA ที่ผ่าน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอหารือท่านประธาน ไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อของดเว้นกระบวนการการทำ EIA ที่เป็นโครงการเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ มิฉะนั้น พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตลอดชายฝั่งจะไม่มีแผ่นดินที่จะอยู่อาศัย และจะไม่มีแผ่นดิน ที่จะทำมาหากิน ขอฝากท่านประธานด้วยความเคารพครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณประภา เฮงไพบูลย์ ครับ

นางสาวประภา เฮงไพบูลย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉันนางสาวประภา เฮงไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย ขอกราบเรียนว่าเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้เกียรติเดินทาง ไปตรวจเยี่ยม ปลอบขวัญ และให้กำลังใจชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ประสบภัยน้ำท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทำการเกษตรซึ่งได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง จากการตรวจเยี่ยมพบว่า ในฤดูฝนปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เอ่อล้นท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตร เป็นส่วนมาก ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน การขนส่งสินค้า พื้นที่เพื่อการเกษตร การปศุสัตว์ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ในพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ ราษฎรได้รับความเสียหาย ๕๒๘ ครัวเรือน พื้นที่เพื่อการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ประมาณ ๑๒,๑๐๐ ไร่ ในอำเภอสามชัย ราษฎรได้รับความเสียหาย ๓๘๘ ครัวเรือน พื้นที่ ทำการเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ ๒,๓๐๐ ไร่ ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมความเสียหาย ต่อชีวิต สภาพจิตใจ และทรัพย์สินอื่น ดิฉันมีประเด็นสำคัญที่ต้องขอกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เช่น กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้โปรดเร่งรัดกำหนดแนวทางแก้ไข และจัดทำรายละเอียดโครงการในการสนับสนุน การบริหารจัดการน้ำที่มีความเร่งรัด การทบทวนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ในขณะนี้ โดยไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การขุดลอกพื้นที่รอบบริเวณเหนือเขื่อนลำปาวที่ครอบคลุม พื้นที่ ๗ อำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งส่วนราชการได้สร้างที่กักเก็บน้ำเพิ่มเติมแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ ท่อส่งน้ำ นอกเหนือจากประโยชน์การสูบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรแล้ว ยังสามารถใช้ในการสูบน้ำและระบายน้ำออกจากบริเวณน้ำท่วมขังได้อีกด้วยค่ะ ดิฉันใคร่ขอฝากเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าโครงการต่าง ๆ สมควรเริ่มขึ้นในปีนี้ก็จริงอยู่ แต่สมควรมีการวางแผนอย่างรอบคอบทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อผ่อนคลาย ความจำกัดด้านวงเงินที่จะสามารถสนับสนุนได้ในแต่ละปี ในขณะที่รัฐบาลต้องมีการแก้ไข ปัญหาที่จำเป็นด้านอื่นอีกมากมาย ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานมากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ครับ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธาน ๓ เรื่องค่ะ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก ปัญหาการจัดการ น้ำท่วมขังบริเวณถนนเรวดี เนื่องจากถนนเรวดีเป็นศูนย์กลางของตำบลตลาดขวัญ มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากถึง ๘๕ ซอย เวลาฝนตกมักเจอปัญหาน้ำท่วมขัง เป็นประจำ เช่น ซอย ๓๕ ซอย ๕๗ ดิฉันได้ลงพื้นที่ตามที่ประชาชนได้ร้องเรียนมา เมื่อเวลา ฝนตกน้ำระบายไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ชาวบ้านแจ้งมาว่าเป็นแบบนี้มาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว ฝากท่านประธานไปยังเทศบาลนครนนทบุรี ช่วยวางแผนดูแลแก้ไขการลอกท่อ ระบายน้ำ ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ควรทำก่อนฤดูฝน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนค่ะ ดังที่ท่านได้เคยแก้ไขปัญหา น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดิฉันขอชื่นชม แต่การดูแลปัญหาระบบ ระบายน้ำยังมีปัญหาอยู่ ขอให้ท่านได้ใส่ใจดูแลมากกว่านี้ค่ะ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การเลือกตั้งประธานชุมชนในเขตเทศบาลนครนนทบุรีมีปัญหา ประชาชนร้องเรียนมายังดิฉันว่าระยะเวลาในการใช้สิทธิการลงทะเบียนผู้แข่งขันนั้น ไม่เอื้ออำนวยในการใช้สิทธิของประชาชนจำนวนมาก ยกตัวอย่าง เช่น เวลาลงทะเบียน เวลา ๘ โมงครึ่ง ถึง ๙ โมงครึ่ง ให้เวลาใช้สิทธิเพียงแค่ ๑ ชั่วโมง ในการลงชื่อใช้สิทธิ และวันลงคะแนนส่วนใหญ่ไม่ตรงกับวันหยุด ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนไม่สะดวกในการใช้สิทธิ ไม่ทราบว่าที่อื่น ๆ มีกฎระเบียบการเลือกตั้งประธานชุมชนแบบนี้หรือไม่ ฝากไปยังเทศบาล นครนนทบุรีช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ด้วยค่ะ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชนและให้ การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย นางพรรณเพ็ญ เด่นเทศ ร้องเรียนมาว่าสามีของตน พันจ่าอากาศเอก สมศักดิ์ เด่นเทศ ซึ่งแปรสภาพจากข้าราชการ ทอ. เป็นลูกจ้างประจำ ตามคำสั่ง ทอ. ที่ ๒๑๓/๒๗ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งได้ปฏิบัติงานในราชการ ดีมาโดยตลอดในกรมช่างอากาศจนเกษียณอายุราชการ โดนเรียกเงิน ช.ค.บ. คืนกว่า หลักแสนบาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ขอให้กองทัพอากาศ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยพิจารณาช่วยเหลือตามข้อเท็จจริงด้วยค่ะ ทั้งนี้ ได้มีหนังสือกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี หนังสือถึงผู้บัญชาการทหารอากาศผ่านเจ้ากรม กำลังพลทหารอากาศ ซึ่งทั้ง ๒ ฉบับ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ แล้ว จึงขอโอกาสติดตาม ความคืบหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ ครับ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๖ พรรคภูมิใจไทย ขอนำข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนความต้องการของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เขตอำเภอสังขะ ๒ เรื่อง ดังนี้ เรื่องที่ ๑ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ จากการลงพื้นที่พบปะ พ่อแม่พี่น้องประชาชน ปัญหาความต้องการเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน กรณีการออกสำรวจ โฉนดที่ดินและการปฏิรูปที่ดินออก ส.ป.ก. มีปัญหามาช้านาน ประชาชนต้องการให้ หน่วยงานช่วยเร่งรัดดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อได้มีเอกสารสิทธิในการเข้าถึง แหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตต่อไป

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ปัญหาน้ำท่วม พบปัญหาอยู่ ๒ พื้นที่ พื้นที่อำเภอสังขะ และอำเภอศรีณรงค์ประสบปัญหามายาวนาน น้ำจากห้วยกระทิง ห้วยเสนง ไหลเข้าท่วม อำเภอสังขะ และอำเภอศรีณรงค์ เมื่อปี ๒๕๖๕ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สำรวจ ออกแบบแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานงบประมาณแก้ไขต่อไป

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ โครงการปรับปรุงและก่อสร้างทางคมนาคมช่วงอำเภอสังขะ ผิวทางจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง บางช่วงถนนและสะพานแคบ อยากให้หน่วยงานช่วยดำเนินการด้วยครับ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ โครงการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ปราสาทภูมิโปน และพื้นที่โดยรอบ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี จังหวัดสุรินทร์มีองค์ปราสาท ๑๐๐ กว่าแห่ง ซึ่งปราสาท ภูมิโปนได้ขึ้นทะเบียนเป็นปราสาทเก่าที่สุดของประเทศไทย มีอายุ ๑,๔๐๐ กว่า ยุคสมัย อาณาจักรเจนละรุ่งเรืองอำนาจ ซึ่งเป็นเมืองหลวงสมัยเจ้าชายชัยวรมันที่ ๕ มีร่องรอย ศิลาจารึก มีการบริหารจัดการน้ำ ระบบบารายเล็กไหลสู่บารายขนาดใหญ่เหมือนระบบ ชลประทาน อยากให้หน่วยงานดำเนินการพัฒนาอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวสู่รุ่นลูกหลาน ต่อไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณชวาล พลเมืองดี ครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชวาล พลเมืองดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนขาวนิคมอมตะซิตี้ อำเภอพานทอง และอำเภอ บ้านบึง ร้องเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดให้เกิด การแก้ปัญหาอยู่ ๕ เรื่อง ดังนี้

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก พี่น้องที่พักอาศัยอยู่ในซอย เทศบาล ๓/๒ ตำบลหนองตำลึง ที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องพนักงานในนิคมอมตะซิตี้จำนวนมาก ต้องข้ามถนนหมายเลข ๓๑๕ มารอรถรับส่งเพื่อเดินทางไปทำงานและกลับบ้านอยู่ เป็นประจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยจุดดังกล่าวเคยเกิด อุบัติเหตุจากการข้ามถนนแล้วถูกรถชนจนเสียชีวิตมาแล้ว จึงอยากจะขอให้มีการสร้าง สะพานลอยเพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องมาเสี่ยงอันตรายจากการข้ามถนน

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ พี่น้องที่ใช้ถนนบนเส้น ๓๔๖๖ ซอยบ้านเก่า ๑๒ ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็น ทางแยกรูปตัว T ไม่มีสัญญาณไฟจราจร สร้างความไม่ปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนระหว่าง เข้าออกซอย จึงขอพิจารณาติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกดังกล่าวเพื่อสร้าง ความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ พี่น้องที่สัญจรผ่านถนนเลียบคลองหนองตะกาด บริเวณสามแยก โรงไม้หลังหมู่บ้านโชติกา ต้องหวาดผวาต่อสภาพผิวถนนที่ชำรุดและทรุดโทรม พร้อมทรุดตัว ได้ตลอดเวลาดังภาพครับท่านประธาน จึงอยากจะขอท่านประธานเร่งรัดไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยทันทีครับ

นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ผมได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการส่งกลิ่นเหม็นของสารเคมี ในที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการรับซื้อของเก่า น้ำมันเครื่องเก่า รวมถึงอาจจะมี สารเคมีอื่นที่ใช้ในอุตสาหกรรม ในพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่เคยปรากฏว่ามีข่าว มีรถสารเคมีรั่วไหลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๓ โดยปัจจุบันมีการย้ายสถานประกอบการออกจากนอกพื้นที่ไปแล้วประมาณ ๑ เดือน แต่ได้มีการนำดินมาไถกลบพื้นที่ที่เคยเป็นบ่อทิ้งเก่าก่อนออก เมื่อฝนตกเกิดน้ำขัง ปรากฏน้ำขังที่มีสีดำแดงตามภาพ และส่งกลิ่นเหม็นฉุน เมื่อสูดดมเข้าไปมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ กระทบต่ออนามัย ร่างกาย และคุณภาพชีวิตที่ปกติสุขของพี่น้องประชาชน ขอความอนุเคราะห์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมพิจารณาสั่งการหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของกท่านเข้าไปดำเนินการ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ในประเด็นที่เหลือขอส่งเป็นเอกสารครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปรเมษฐ์ จินา

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีข้อหารือที่จะนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีน้ำท่วมไหลผ่าน ๒ ครั้ง ทำให้ถนนชำรุด เป็นหลุม เป็นบ่อ แล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาทางท่านกำนันแล้วก็ทางท่านนายกองค์การ บริหารส่วนตำบลคลองศกก็ได้รับเสียงตำหนิจากพี่น้องประชาชน แล้วเสียงนั้นก็คงจะทำให้ ผมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย จึงขอความเร่งรัดจากกรมทางหลวงได้ช่วยลงไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน แล้วเมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านนำต้นมะพร้าวแล้วก็ต้นไม้ไปปลูกกลางถนน ก็เป็นข่าวเป็นคราวมา ทีหนึ่งแล้ว ก็อยากจะให้กรมทางหลวงได้รักษาภาพลักษณ์ของระบบทางราชการให้แก้ปัญหา อย่างเร่งด่วน แล้วก็จากกรณีเดียวกัน เนื่องจากว่าพื้นที่ดังกล่าวท่านก็คงจะเคยได้ยินว่า เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก แล้วก็มีดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นก็คือดอกบัวผุด ทำให้ บริเวณนี้เวลาฝนตกแล้วน้ำป่าก็จะไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วแล้วก็รุนแรง ก็ทำให้ลำคลองที่อยู่ ในอุทยานแห่งชาติเขาสกตลิ่งพัง โดน Resort โดนบ้านเรือน โดนเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน เสียหายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ลงไปดูแล้วก็ทำเขื่อนกั้นน้ำ เพราะว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในระดับโลกเช่นกันนะครับ

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

เรื่องถัดไปก็เป็นเรื่องของที่ดิน เนื่องจากว่ามีพื้นที่ระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็จังหวัดกระบี่ เดิมทีผมก็ไม่มั่นใจว่ากี่สิบปีแล้ว พื้นที่จังหวัดก็อยู่ฟากหนึ่ง พื้นที่อำเภอ ก็อยู่ฟากหนึ่ง ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นสับสนกับหลักเขต เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ ก็อยากให้กรมที่ดินแล้วก็กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงไปดูในพื้นที่แล้วก็ ช่วยจัดการตรงนี้ให้มันเป็นอาณาเขตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ

สุดท้าย ในเรื่องของการแก้ปัญหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแล้วก็น้ำทาง การเกษตรของเทศบาลตำบลบ้านเสด็จ เนื่องจากว่าทั้งตำบลไม่มีระบบน้ำประปาใช้ แล้วก็ ช่วงแล้งชาวบ้านต้องซื้อน้ำ เป็นไปได้ไหมครับว่าในโอกาสเฉลิมพระเกียรติในวันพรุ่งนี้ อยากจะให้กระทรวงพลังงานได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ แล้วก็ลงไปทำระบบผันน้ำ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับเทศบาลตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ครับ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปรัชญาวรรณ ไชยสืบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงาน ดังนี้ค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ สะพานข้ามคลอง รอยต่อจันทบุรี-ระยองชำรุด สะพานนี้เชื่อมต่อระหว่างหมู่ที่ ๑๐ ตำบลนายายอาม อำเภอ นายายอาม จังหวัดจันทบุรี และตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เดิมสะพานนี้ สร้างโดยชาวบ้านช่วยกันรวบรวมเงินสร้างกันเอง เพื่อใช้สัญจรไปมาส่งลูกหลานไปโรงเรียน ปัจจุบันสะพานชำรุดไม่สามารถสัญจรได้ จึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นช่วยอุดหนุนงบประมาณในการซ่อมแซมสะพานดังกล่าวค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาเศษเหล็ก เศษปูนที่เกิดจากโครงการแนวกันคลื่น บริเวณ ชายหาดแหลมเสด็จของกรมโยธาธิการและผังเมือง พบเศษวัสดุก่อสร้าง เช่น หิน ตอม่อปูน และเหล็กบริเวณหน้ากำแพงกันคลื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ จึงขอ หารือผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็วค่ะ

นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสืบ จันทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟส่องสว่างถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ๔๐๐๙ บริเวณ หน้าศาลเขาอีกา ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ โดยสภาพของถนนเส้นนี้เป็นทางโค้ง ขึ้นเนิน ไม่มีไฟส่องสว่าง และบริเวณถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางที่ช้างป่าใช้เดินข้ามอยู่บ่อยครั้ง ใน Slide ก็จะเห็นรอยเท้าช้างที่ปรากฏอยู่ในภาพ จึงอาจทำให้รถที่สัญจรไปมาเกิดอันตรายได้ รวมถึงทีมอาสาผลักดันช้างทำงานยากมาก ๆ ด้วย จึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาไปยัง กรมทางหลวงชนบทให้ช่วยติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณถนนเส้นนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตอำเภอปักธงชัยและอำเภอวังน้ำเขียวครับ

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๑ ถนนชำรุดเสียหาย ในหลายพื้นที่ เส้นที่ ๑ อบจ.นม.๑๔๓๐๕ ลำซอ-โคกสมอ เส้นนี้มีชาวบ้านร้องเรียนมา เกือบทุกวันครับ เส้นที่ ๒ อบจ.นม.๒๕๓๐๓ และ ๓๐๔ ที่อยู่ในตำบลอุดมทรัพย์ เส้นที่ ๓ อบจ.นม. ๒๕๓๐๕ เส้นบะใหญ่-โคกสะแกราช เส้นที่ ๔ อบจ.นม.๑๔๒๐๓ โคกศิลา-บ้านหัน เส้นนี้มีมอเตอร์ไซค์ล้มเป็นประจำ เส้นที่ ๕ อบจ.นม.๑๔๐๐๙ เส้นหนองปล้อง-คลองกี่ เส้นที่ ๖ ถนนเลียบคลองชลประทานชำรุดเสียหายบริเวณบ้านบุโกรก บ้านใหม่โพธิ์งาม ตำบลนกออก เส้นที่ ๗ ถนนเกินศักยภาพที่พาดผ่านระหว่าง ๒ อบต. คือ อบต. วังหมี อบต. วังกะทะ เป็นถนนเชื่อมระหว่าง ทช.๓๐๕๒ และ ทช.๕๐๖๙ บริเวณบ้านวังศิลา บ้านหนองไม้แดง ระยะทางกว่า ๑๘ กิโลเมตร เส้นที่ ๘ ผิวจราจรชำรุดเสียหาย ของทางหลวงชนบท เส้น นม.๓๐๖๓ บริเวณ กม. ที่ ๑-๒๓ เส้นที่ ๙ ทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๘ บริเวณบ้านหันถึงบ้านสุขัง ตำบลตะคุ สีเส้นจราจรซีดจางและขาดไฟส่องสว่าง

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ ก็คือปัญหาฝายกักเก็บน้ำที่ชำรุดเสียหายที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำ ไว้ได้ในบริเวณหมู่ที่ ๖ ของตำบลโคกไทย และอีกปัญหาหนึ่งก็คืออยากจะให้แก้ไข เรื่องสะพานที่มีขนาดเล็กและชำรุดเสียหายในบริเวณหมู่ที่ ๒ ของตำบลโคกไทย อำเภอปักธงชัย

นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๓ อยากจะขอคืนสัญชาติให้นางประนอม นางประนอม ราษฎร ในอำเภอปักธงชัยเธอได้แต่งงานกับคนไต้หวันแล้วก็สละสัญชาติไทย แล้วก็จะได้ไปอยู่ที่ ไต้หวันโดยการที่จะไปขอสัญชาติไต้หวัน แต่ว่าในระยะเวลาที่ดำเนินการอยู่สามีเสียชีวิตก่อน ทำให้การโอนย้ายถ่ายสัญชาติไม่แล้วเสร็จ ตอนนี้กลายเป็นคนไทยที่ไร้สัญชาติ ก็เลยอยากจะ ขอฝากไปถึงกระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งพิจารณาดำเนินการอนุมัติคืนสัญชาติให้ นางประนอมด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธาน ดังนี้

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ถนนทางเข้าออกหมู่บ้านน้ำตาก หมู่ที่ ๑๗ ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ถนนสัญจรไปมาลำบากมาก โดยเฉพาะหน้าฝน รถเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานไปยังกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ถนนจากบ้านบุ่งผลำ หมู่ที่ ๗ ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย ไปยัง บ้านขวดน้ำมัน หมู่ที่ ๒ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ประมาณ ๘ กิโลเมตร ถนนเป็นทางดินแดงตลอดเส้นทาง การเดินทางลำบาก ล่าช้า และอันตราย ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ช่วยทำถนน ให้ชาวบ้านหน่อยครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ถนนจากหมู่ที่ ๗ บ้านหลังเขา ไปยังหมู่ที่ ๒๑ บ้านน้ำดั้น ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตอนนี้ถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อจำนวน มากเวลาน้ำขังมองไม่เห็นหลุม รถขับขี่ตกหลุมได้รับอันตรายบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วยครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ถนนทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๑๒๙๖ กิโลเมตรที่ ๓๖ ซึ่งเป็น ทางแยกเข้าหมู่บ้านหนองกระบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ถนนมีลักษณะเป็นเนินหลังเต่าอยู่ตรงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านพอดี รถที่จะออกมา จากหมู่บ้านก็จะมองไม่เห็นรถที่ขึ้นเนินมา รถที่ขึ้นเนินมาก็จะมองไม่เห็นรถที่ออกจาก หมู่บ้าน เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบ่อยครั้งมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดติดสัญญาณไฟเพื่อแจ้งเตือนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้รับ ความปลอดภัย

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เรื่องที่ ๕ เรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณโชคดี สายนำพามีลาภ ถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่อำเภอวังทอง ทั้งตำบลชัยนาม ตำบลวังพิกุล และเขตเทศบาลวังทอง ทีมงานพรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลก เขต ๓ ได้ลง พื้นที่ตรวจการเกิดน้ำท่วมทุก ๆ ปี พบว่าแม่น้ำวังทองมีสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวนมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทานช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ครับ

พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สงขลา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าขณะนี้ท่านได้เยี่ยมเยียนประเทศในกลุ่ม ASEAN เกือบทั้งหมด แล้วท่านได้แก้ปัญหาในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ก็อยากจะให้ไป แก้ปัญหาเรื่องยาพารา แล้วก็อยากจะเชิญท่านไปที่จังหวัดสงขลา ท่านต้องแก้ปัญหา ด้วยตัวเองเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวง สาธารณสุข แล้วก็อื่น ๆ ยางพารามีปัญหาอยู่ตอนนี้ ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ โรคยางใบไม้ร่วง และโรคเชื้อรา ทำให้น้ำยางไม่ออก ประการที่ ๒ ราคายาง ราคายางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย สมัยก่อน ท่านประธานคงจะทราบว่าราคายาง ๕ บาท ทอง ๔๐๐ บาท ๘๐ เท่า แต่ตอนนี้ทอง ๓๒,๐๐๐ บาท แต่ราคายางตกอยู่ที่ ๔๐ บาทเท่านั้น แล้ววิธีการที่จะแก้ก็ไม่ยากหรอก เราอย่าหวังในเรื่องการส่งออก Para Soil Cement ต้องไปทำ อย่าไปฟังผู้รับเหมา ๒. ต่อยอดในเรื่องถุงยางอนามัยอะไรต่าง ๆ ยางรถยนต์ราชการที่เราจะต้องผลิต โรงงาน ยางรถยนต์ และแจกหน่วยราชการทั้งหมดมาใช้ แค่นี้อย่างยางก็ขึ้นเป็นร้อยแล้วครับ

พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สงขลา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่องหม้อไฟฟ้าชั่วคราว บุคคลที่อยู่ในที่ดินสาธารณะซึ่งเป็นคนจน ไปขอหม้อไฟฟ้าชั่วคราว ต้องจ่าย Unit ละ ๖ บาทกว่า ในขณะที่หม้อไฟฟ้าธรรมดาจ่าย ๔ บาท เราต้องแก้ปัญหา เพราะเป็นเรื่องของคนจน ก็อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผม ได้กล่าวไปแล้ว ขอขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณธัญธารีย์ สันตพันธุ์ ครับ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๖ พรรคเพื่อไทย ขอหารือปัญหาในเขตอำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๑ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะคะ

นางสาวธัญธารีย์ สันตพันธุ์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ

โรงพยาบาลนาตาลเป็น โรงพยาบาลชุมชนขนาด ๓๐ เตียง มีอาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในอย่างละ ๑ อาคาร มีบุคลากรทางการแพทย์รวมผู้อำนวยการโรงพยาบาลจำนวน ๖ คน รับผิดชอบดูแลผู้ป่วย ในเขตพื้นที่อำเภอนาตาลและบริเวณใกล้เคียง ตรวจรักษาโรคทั่วไป ยกเว้นการผ่าตัด ด้านการดำเนินงาน ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังสอดคล้องกับ ปริมาณผู้ป่วยที่มารับบริการต่อวัน แต่สำหรับผู้ป่วยในที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับแจ้งว่ามีจำนวนเกินกว่าจำนวนเตียงประมาณ ๑๐-๓๐ คนต่อวัน ทำให้ต้องวางเตียง ใกล้ชิดกันเพียง ๕๐ เซนติเมตร ส่งผลให้ห้องพักผู้ป่วยมีสภาพแออัด อากาศไม่ถ่ายเท ร้อนอบอ้าว และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้รับแจ้งว่าแนวโน้มผู้ป่วย อัตราครองเตียง รวมทั้งระยะเวลานอนโรงพยาบาล มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจากปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ พบว่าจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นมาจาก ๒,๗๐๔ คน มาเป็น ๔,๖๑๕ คน คิดเป็นจำนวนร้อยละ ๗๐.๖๗ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว โรงพยาบาลจึงมีความประสงค์ที่จะขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ผู้ป่วยในขนาด ๓๐ เตียง จำนวน ๑ อาคาร ท่านประธานคะ จากการที่ได้รับทราบปัญหา โรงพยาบาลนาตาลที่เกิดขึ้น ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ท้องถิ่น จึงขอนำปัญหาดังกล่าวนำเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ได้รับทราบ และได้กรุณาอนุมัติงบประมาณ ในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในแห่งที่ ๒ ให้กับโรงพยาบาลนาตาล เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อไปด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณกฤดิทัช แสงธนโยธิน

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม กฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่

นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

วันนี้ผมมีข้อปรึกษาหารือ ท่านประธาน ๑ เรื่อง เกี่ยวกับปัญหาของพี่น้องชาวบ้าน หมู่ที่ ๒ ตำบลวังทอง อำเภอ ภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบธุรกิจเรื่องของยางพารา ซึ่งพี่น้องในหมู่บ้านดังกล่าวในตำบลวังทองอยู่ในเขต ของเทศบาล อบต. วังทอง มีปัญหาเรื่องกลิ่นของน้ำยางพาราที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็น ระบบและทำให้มันไม่เสียหาย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ตาม Slide จะเห็นว่าผู้ประกอบการ ได้มีการนำยางพาราก่อนที่จะมีการแปรรูปเอามากองรวม ทำให้มันมีกลิ่นน้ำยางที่หลุดรอด ลงไปสู่แม่น้ำลำคลอง แล้วก็ส่งผลกระทบกับพี่น้องชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นของยางพารา ที่ไม่ได้รับการกำจัด ตาม Clip นี้จะเห็นได้ว่าน้ำที่มันอยู่บนพื้นที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาธารณะ ที่พี่น้องในพื้นที่ได้มีการใช้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ฝากเรียนท่านประธาน ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการดูแลปัญหาเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ พี่น้องประชาชนที่อยู่ ในท้องที่ก็อยู่ร่วมกันได้ จะได้ไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แล้วก็จะทำให้สังคมสงบสุข แต่ถ้าเกิดไม่ได้มีการแก้ไขเรื่องนี้ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชน กับผู้ประกอบการซึ่งก็จะส่งผลกระทบในภาพรวม เพราะฉะนั้นฝากเรื่องนี้ไปยังท่านประธาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ปัญหาด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณรวี เล็กอุทัย ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ผมขอหารือเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัด อุตรดิตถ์ ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

โดยระหว่างวันที่ ๘-๙ ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยและคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน สถานที่ราชการ สิ่งสาธารณประโยชน์ เส้นทางคมนาคม รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ ประสบภัยรวมทั้งสิ้น ๗ อำเภอ แบ่งเป็น ๑๗ ตำบล ๔๕ หมู่บ้าน ๒,๑๕๒ ครัวเรือน โดยอำเภอเมืองมีพื้นที่เสียหาย ๒ ตำบล คือตำบลท่าเสาและตำบลขุนฝาง รวม ๒๕๐ ครัวเรือน อำเภอลับแล ๕ ตำบล ตำบลฝ่ายหลวง ตำบลไผ่ล้อม ตำบลชัยชุมพล ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลด่านแม่คำมัน รวม ๒๕๐ ครัวเรือน อำเภอพิชัยมีพื้นที่เสียหายที่ตำบลท่าสัก รวม ๑๐ ครัวเรือน และที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คือในพื้นที่เขต ๒ ของท่าน สส. วารุจ ศิริวัฒน์ ซึ่งในขณะนี้คุณวารุจได้กำลังลงพื้นที่อย่างหนักเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ณ ขณะนี้อยู่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาพูดหารือ เรื่องนี้แทนคุณวารุจด้วยครับ โดยความเสียหายของเขตพื้นที่ของคุณวารุจนั้นประกอบด้วย อำเภอน้ำปาด มีพื้นที่เสียหาย ๔ ตำบล คือ ตำบลน้ำไผ่ ตำบลเด่นเหล็ก ตำบลบ้านฝาย และตำบลแสนตอ รวม ๑๔๖ ครัวเรือน อำเภอท่าปลามีพื้นที่เสียหาย ๑ ตำบล คือตำบลน้ำ หมัน ๔๕ ครัวเรือน อำเภอบ้านโคก ๒ ตำบล คือ ตำบลม่วงเจ็ดต้นและบ่อเบี้ย ๗๓ ครัวเรือน อำเภอฟากท่าเป็นอำเภอที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มีพื้นที่เสียหาย ๒ ตำบล คือตำบลฟากท่า กับตำบลสองคอน ๑,๓๗๘ ครัวเรือน ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียงตัวเลขความเสียหาย ที่เกิดขึ้นในช่วงของเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ แต่หลังจากที่ปริมาณน้ำลดลงและเริ่มผ่าน พ้นไป ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงคงปรากฏออกมามากกว่านี้แน่นอน อย่างไรก็ดี ผม สส. รวี เล็กอุทัย สส. กฤษณา สีหลักษณ์ และ สส. วารุจ ศิริวัฒน์ พวกเรา ๓ คน ต้องขอขอบคุณไปยังหน่วยงานราชการ ตลอดจนหน่วยงานทหาร พลเรือน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนอื่น ๆ ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบภัยในครั้งนี้ และกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาล ได้โปรดเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณชัชวาล แพทยาไทย

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ขอนำเรียนอภิปรายหารือผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ เรื่องด้วยกัน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องแรก จากที่ผมได้ตั้งตั้งกระทู้ถามไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ภายใต้ การกำกับของกระทรวงสาธารณสุขในครั้งก่อน ต้องกราบขอบพระคุณทางกระทรวง สาธารณสุขที่ได้อนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องกู้ภัยทั่วประเทศ แต่ยังมีอีก ๑ เรื่อง ที่พี่น้องกู้ภัยสะท้อนปัญหามา นั่นก็คือค่าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์ที่ สพฉ. และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งต้องใช้จ่ายทุนทรัพย์ส่วนตัว ผมขอหารือ ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่าเราควรยกเลิกค่าอบรมที่เรียกเก็บกับ พี่น้องกู้ภัย อย่าผลักภาระเหล่านี้ไปให้พี่น้องอาสาสมัครเลยครับ

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ๑ ปี ๑ อำเภอ ๑๐ ศพ ในช่วงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ในพื้นที่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีโศกนาฏกรรมเด็กจมน้ำตายหมู่รวมกันแล้ว ๑๐ ราย เหตุการณ์ล่าสุดวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาเด็กหญิง ๔ คน เสียชีวิต ๔ ราย ที่บ้าน โพนเงิน ตำบลเมืองบัว ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนมีอายุอยู่ที่ ๑๐-๑๒ ปี ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นทำให้พ่อแม่ต้องห่างจากลูก ๆ ไปทำงาน ต่างพื้นที่ ไม่มีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด ผมขอฝากเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ปกครองช่วยดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเต็มที่ และขอวอนท่านประธานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ควรมีการบรรจุหลักสูตรเอาตัวรอด ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการว่ายน้ำ ผมเข้าใจครับว่า หลักสูตรการว่ายน้ำปัจจุบันมีแค่ในบางโรงเรียนและต้องใช้เงินส่วนตัว ดังนั้นอย่าให้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาพรากชีวิตน้อง ๆ ของผมเหมือนดังโศกนาฏกรรมที่ผ่านมาครับ ท่านประธาน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้ต่อสายคุยกับพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลเมื่อวานนี้ พบปัญหาในการติดต่อประสานงานครับ สถานทูตไทยประจำอิสราเอลมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพียงแค่ ๒-๓ เบอร์ ซึ่งแรงงานไทยในอิสราเอลที่แจ้งว่า ๒๐,๐๐๐ คน ไม่จริงครับ ความเป็นจริงน่าจะ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คนที่ไม่มี Visa ทำให้การติดต่อประสานงาน ยากลำบาก สถานการณ์ที่นั่นต้องขอบพระคุณพี่น้องชาวไทยและพี่น้องอิสราเอลที่ได้ให้ การช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่เดือดร้อน

นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

สุดท้ายครับ ผมมีเวลาไม่พอ ๑๔ เรื่องที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ในพื้นที่ ขอฝากหนังสือผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเคารพท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ครับ

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เรียนหารือท่านประธานนะคะ เรื่องของความห่วงใยของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนต่อสถานการณ์การเร่งอพยพคนไทย จากสถานการณ์ในประเทศอิสราเอล ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณผ่านท่านประธานไปยัง ท่านนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงความคืบหน้า ในการอพยพคนไทย แผนในการอพยพคนไทยจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล โดยทางอากาศ และเร่งอพยพคนไทยอย่างปลอดภัยที่สุด

นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

การอพยพทางอากาศ ยังคงเป็นเส้นทางหลักในการอพยพคนไทยในสถานการณ์เช่นนี้ และทราบว่ากองทัพไทย ได้ประสานกับกองทัพอิสราเอลในการรวบรวมคนไทยที่กระจัดกระจายตาม Shelter ต่าง ๆ มายังกรุงเทลอาวีฟอย่างเร็วที่สุด ทั้งที่เราทราบดีว่าเส้นทางคมนาคมทางภาคพื้นดินขัดข้อง แล้วก็ถูกผลกระทบจากการโจมตีเป็นจำนวนมาก ภาพแรก เราจะเห็นได้ว่าเส้นทางคมนาคม ทางบกที่สามารถติดต่อได้กับอิสราเอลก็คือประเทศอียิปต์และจอร์แดน ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ ทราบว่าในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดที่จะเอาคนไทยที่อพยพออกมาจากทางกาซา ก็คือออกมาทาง ประเทศอียิปต์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นไปแทบไม่ได้แล้วก็เป็นไปได้ยากลำบาก เนื่องจากว่า สภาพพื้นที่มีการต่อสู้กัน มีการสู้รบกัน ขออนุญาตภาพที่ ๒ จะเห็นได้ว่าเป็นไปได้ยาก แล้วก็ ภาพที่ ๓ จะเป็นเรื่องของแผนคมนาคมที่จะรับคนไทยกลับประเทศไทยในวันนี้ ก็ขอฝาก ติดตาม กราบเรียนท่านประธานฝากกำลังใจไปยังรัฐบาลในการเจรจาให้ประสบความสำเร็จ ในการปล่อยตัวประกัน เจรจากับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นประเทศอียิปต์กับประเทศจอร์แดน ในการที่จะเป็นพื้นที่ให้คนไทยได้พักก่อนที่จะอพยพกลับประเทศไทย แล้วก็ขอส่งกำลังใจ ให้คนไทยในอิสราเอลได้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ครับ

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๕ ประกอบด้วย อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ผมมี ประเด็นหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องอยู่ ๒ เรื่อง

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหาความเดือดร้อนของลูกหนี้ กยศ. สืบเนื่องจากว่า พระราชบัญญัติกองทุน กยศ. ได้มีการแก้ไขใหม่ แล้วก็เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยการปรับลดดอกเบี้ยเป็นร้อยละ ๑ แล้วก็เบี้ยปรับเหลือร้อยละ ๐.๕ ประเด็น ปัญหาก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทเฉพาะกาล ก็เลยต้องเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ แต่ปัญหาก็คือทาง กยศ. ไม่ได้ออกระเบียบ กฎเกณฑ์ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ในการเรียกลูกหนี้ ให้ปรับโครงสร้างหนี้แล้วก็แปลงหนี้ใหม่ ตอนนี้ผมได้รับการร้องเรียนจากลูกหนี้ กยศ. หลายรายที่ได้มีการบังคับคดีในระหว่างที่รอการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรม แล้วก็กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็ได้เรียกทาง กยศ. มาเร่งดำเนินการในการปรับ โครงสร้างหนี้ใหม่โดยเร็ว ดังนั้นในระหว่างนี้ผมอยากให้ท่านประธานมีหนังสือถึง กยศ. ให้งด การบังคับคดีขายทอดตลาด แล้วก็การดำเนินคดีทั้งหมดในระหว่างก่อนที่จะมีการปรับ โครงสร้างหนี้ใหม่

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวมูโนะ ๒ เดือนผ่านไปยังคง ความเดือดร้อนกับพี่น้องที่นั่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเยียวยาที่ยังไม่ได้รับอย่างทั่วถึง ประเด็นเรื่องการก่อสร้างบ้าน การซ่อมแซมบ้าน เท่าที่ทราบข้อมูลก็คือว่ายังรอทาง สำนักนายกรัฐมนตรีโอนเงินไปยังจังหวัดอีก ๑๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อซ่อมแซมบ้านให้กับที่ยัง ไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก ๓๐๐ หลังคาเรือน แล้วการเยียวยาที่ผ่านมาก็ไม่เพียงพอ อยากให้ ทางรัฐแล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องชาวมูโนะ อย่าลืมหาย กับระยะเวลาครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันอยากจะขอปรึกษาหารือทั้งหมด ๒ เรื่องด้วยกัน

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องของราคาข้าว ราคาข้าวตอนนี้ถือว่ามีราคาที่สูงขึ้นกว่า สมัยที่แล้วหรือช่วงที่ผ่านมา แต่มันมีปัญหาตรงที่ว่าพอราคาข้าวสูงขึ้นประชาชนก็ดีใจ แต่ก็มี เกษตรกรบางรายด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจที่เกี่ยวเอาข้าวเขียวมาผสมกับข้าวเหลือง พอเกิดปัญหานี้ขึ้นทางสหกรณ์และทางโรงสีเอกชนก็ทำการลดราคาข้าวลงมา โดยไม่ได้ สนใจว่าจะเป็นข้าวเขียวหรือข้าวเหลือง ทำให้เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นอำเภอเวียงชัย อำเภอ เวียงเชียงรุ้ง หรืออำเภอแม่จัน ประสบปัญหาเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้ วันนี้ดิฉันจึงอยาก จะมาสอบถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลว่าเป็นไปได้ หรือไม่ว่าทางสหกรณ์หรือผู้กำหนดราคารับซื้อข้าวจะตั้งราคาข้าวไว้ ๒ ราคา คือราคา ข้าวเขียวและราคาข้าวเหลือง เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้จาก การทำงานเชิงรุกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ใครนำข้าวเหลืองมาควรจะได้ราคาข้าวในราคา ๑๒-๑๓ บาท หรือสูงกว่านั้นตามราคาหรือกลไกตลาด ส่วนเกษตรกรท่านได้นำข้าวเขียว มาขายหรือผสมกับข้าวเหลือง ก็ควรจะได้อีกราคาหนึ่งที่ทางสหกรณ์ตั้งไว้ เพื่อความยุติธรรม กับเกษตรกรไทยค่ะ ขอฝากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบและพิจารณาในเรื่อง ปัญหาราคาข้าวหน้าโรงสีด้วยนะคะ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือเรื่องการขาดแคลนน้ำอย่างหนักในพื้นที่บ้านทุ่งยั้ง และอีก หลายหมู่บ้านของตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ตอนนี้การขาดแคลนน้ำ ค่อนข้างรุนแรงมากค่ะท่านประธาน ถึงแม้จะมีการเจาะน้ำบาดาลแล้วแต่มันก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากพอสูบน้ำขึ้นมาในระยะหนึ่งน้ำข้างใต้ก็ไม่เหลือ ต้องมีการขนส่งน้ำจากพื้นที่อื่น มาช่วยบรรเทา จะมีการส่งน้ำวันเว้นวัน หรือบางทีเป็นอาทิตย์ละครั้ง และล่าสุดประชาชน ในพื้นที่เดือดร้อนจนต้องมีการหยิบยืมเงินวัดมาเจาะน้ำบาดาลเพิ่มอีกบ่อหนึ่ง ท่านประธานคะ ประชาชนคนไทยต้องสิ้นไร้หนทางถึงขนาดนี้เลยหรือคะ ดิฉันจึงอยากขอฝากปัญหาเรื่องน้ำ ในพื้นที่ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากหน่วยงานอยากลง พื้นที่ดิฉันยินดีพาท่านไปพบเจอพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณรัชนี พลซื่อ ครับ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางรัชนี พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขต เลือกตั้ง ดังนี้

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๑. ดิฉันได้รับแจ้งจากนายกเทศบาล ตำบลบุ่งเลิศว่าฝายทานะเวชซึ่งกั้นลำน้ำห้วยแดงที่บ้านคำอุดม ตำบลบุ่งเลิศ อำเภอเมยวดี ได้ถูกกระแสน้ำพัดชำรุดเสียหายมาก ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้พี่น้องประชาชน เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ดิฉันจึงเรียนท่านประธานผ่านไปยัง กรมชลประทานให้เร่งรัดจัดงบประมาณก่อสร้างฝายใหม่เพื่อทดแทนฝายเดิม ๒. ดิฉันได้รับ แจ้งจากเกษตรกรผู้นำท้องที่และท้องถิ่นตำบลสระนกแก้ว ว่าฝายอ่างเก็บน้ำบ้านมะอึ หมู่ที่ ๕ ตำบลสระนกแก้ว อำเภอโพนทอง ซึ่งเป็นฝายขนาดเล็กกั้นน้ำจากบึงมะอึซึ่งเป็นแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า ๗๐๐ ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และการประมง ซึ่งได้ถูกกระแสน้ำพัดจากพายุโพดุลชำรุดเสียหายจนสิ้นสภาพไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และการก่อสร้างฝายดังกล่าวแห่งนี้จะทำให้มี แหล่งน้ำที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำฝนได้มาก ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมซ้ำซากสาเหตุจากลำน้ำยังล้นตลิ่งได้อีกด้วย ดิฉันจึงขอเรียนหารือท่านประธาน ผ่านไปยังกรมชลประทานให้เร่งรัดการจัดงบประมาณเพื่อก่อสร้างฝายดังกล่าวขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนฝายเดิมที่ชำรุด และเพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา ขอให้ก่อสร้าง ถนนลาดยางผ่านฝายดังกล่าวด้วยค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๓. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนบริเวณ หน้าโรงเรียนโพนทองพัฒนาวิทยา ไปยังธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาโพนทอง ด้วยถนนช่วงหน้า โรงเรียนดังกล่าวเป็นถนน ๔ ช่องจราจร เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปอำเภอหนองพอก ซึ่งมี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดหลายแห่ง เชื่อมไปยังจังหวัดมุกดาหาร เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย และสามารถเดินทางต่อไปยัง สปป. ลาวได้ด้วย จึงมีรถสัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก และมีประชาชน นักเรียน ผู้ปกครอง ข้ามถนน บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเช้าและหลังเลิกเรียน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเรียนหารือท่านประธาน ผ่านไปยังกรมทางหลวง เพื่อได้จัดงบประมาณก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนจุดดังกล่าว โดยเร่งด่วน ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณขัตติยา สวัสดิผล

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ทางท่านพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต สส. กรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย ฝากเรื่องให้ดิฉันมาหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกัน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก หมู่บ้านทวีสุขและหมู่บ้านนาริสา ในซอยเสรีไทย ๒๙ เขตบึงกุ่ม เกิดน้ำท่วมตลอดเวลา แต่ติดปัญหาตรงที่เป็นที่ของเอกชน ทำให้กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ จึงอยากให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินใหม่รวมถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะว่ามีอีกหลายหมู่บ้านใน ๕๐ เขตกรุงเทพมหานครเกิดปัญหา เดียวกัน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ อยากให้ทาง กสทช. เร่งจัดระเบียบสายสื่อสาร เพราะทุกวันนี้ การไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครพร้อมแล้ว โดยได้เริ่มติดตั้งคอนกรีตสำหรับวางพาดสายสื่อสาร แต่ว่าทาง กสทช. กลับทำงานล่าช้า สายสื่อสารเกิดไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเวลาเกิดไฟไหม้ สายสื่อสารมันส่งผลกระทบต่อชีวิตแล้วก็ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน กสทช. เองในฐานะ ผู้ให้บริการควรจะเร่งจัดระเบียบสายสื่อสารโดยด่วน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ การขุดเจาะเปลี่ยนระบบท่อประปา ตอนนี้เป็นปัญหาหลัก เนื่องจากการขุดเจาะของผู้รับเหมาที่ได้รับงานจากการประปา เมื่อผู้รับเหมาทำงานเสร็จแล้ว ไม่มีการเก็บงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย บางจุดถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วก็มีการทำงาน อย่างล่าช้า ส่งผลต่อการใช้น้ำประปาแล้วก็การเดินทางของพี่น้องประชาชน การประปา ควรจะกำหนดค่ามาตรฐานของการซ่อมคืนพื้นผิวถนนให้มีมาตรฐานกว่าทุกวันนี้ อย่างเช่น ในหมู่บ้านธนธานี ๓ ซอยนวมินทร์ ๑๖๓ หรือหมู่บ้านคลองกุ่มนิเวศน์ในซอยเสรีไทย ๔๓ ที่มีการปรับแก้อยู่หลายครั้ง ขอบพระคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณองอาจ วงษ์ประยูร

นายองอาจ วงษ์ประยูร สระบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายองอาจ วงษ์ประยูร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ขอหารือท่านประธานถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนก็เป็นปัญหาที่ซ้ำซาก ที่อำเภอพระพุทธบาท

นายองอาจ วงษ์ประยูร สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เดือดร้อนจากปัญหาน้ำประปา น้ำไม่ไหล ไหลอ่อน ไหลเป็น บางเวลา บางทีไหลเฉพาะช่วงดึก ๆ พี่น้องประชาชนต้องตื่นขึ้นมาช่วงดึกแล้วก็มารองน้ำ ไว้ใช้ในช่วงเช้า ผมเคยหารือปัญหานี้มาแล้วในสมัยที่แล้ว แต่กระทั่งจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับ การดูแลแก้ไขจากการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอพระพุทธบาท ปัญหาเริ่มขยายวงกว้าง เป็นวิกฤติเดือดร้อนกันในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแถวบริเวณตลาดนิคม ตลาดใน หลังโรงพยาบาล บริเวณหมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลขุนโขลน หมู่ที่ ๗ พระพุทธบาท หมู่ที่ ๙ ซับชะอม และชุมชนธารทองแดงเดือดร้อนกันทั่วขณะนี้ สาเหตุของปัญหาหลัก ๆ ก็คือเนื่องจากการประปาส่วนภูมิภาคขยายเขตไปยังอำเภออื่น ๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่า เกินศักยภาพของตัวเองก็ปล่อยปละละเลยผู้ใช้ประปาเก่า ไม่มีการปรับปรุงซ่อมแซมของเก่า ปล่อยท่อประปาเก่าชำรุดเสียหาย น้ำประปารั่วไหลทิ้ง แล้วอีกประการก็คือปัญหาจากเครื่องส่งน้ำ แรงดันก็ไม่พอส่งน้ำไปให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ท่านประธานครับ เคยสิ้นหวังกับการหารือในเรื่อง ของการแก้ปัญหาน้ำประปาในช่วงแรก แต่ ณ วันนี้ทราบมาว่าขณะนี้เราได้รัฐมนตรีท่านใหม่ มาช่วยดูแลการประปาส่วนภูมิภาคของเรา ก็คือท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งท่านรัฐมนตรีท่านนี้เป็นที่ชื่นชอบของพวกเราชาวจังหวัดสระบุรี เคยเห็นฝีไม้ลายมือท่านมาในช่วงที่ท่านดูแลพี่น้องเกษตรกร สมัยท่านเป็นประธาน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ท่านทำงานดีครับ แก้ปัญหาไว้ ก็จะต้องฝาก ความหวังอันนี้ให้กับท่านรัฐมนตรีให้ช่วยดูแลปัญหาเดือดร้อนของประปาในอำเภอพุทธบาท ด้วยครับ กราบขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปจะเป็น ท่านสุดท้ายนะครับ คุณแนน บุณย์ธิดา สมชัย แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นกระทู้ถามสด ขอเชิญ ผู้ที่จะถามกระทู้ถามเตรียมพร้อมด้วย ท่านรัฐมนตรีก็มาแล้วนะครับ ขอเชิญคุณแนนครับ

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ขอบคุณค่ะท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องหลัก ๆ อยู่ ๒ เรื่อง

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ดิฉันได้รับ การร้องเรียนจากทั้งประชาชน แล้วก็ทั้งท่านสิริบูรณ์ สนิทพรรณ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องด้วยมีถนนเส้นหนึ่งเป็นของ กรมทางหลวงชนบทซึ่งผ่านตำบลนาดีทั้งตำบลเลย ก็คือเส้น อบ.๓๐๔๕ เส้นนี้เป็นทางเชื่อม ระหว่างตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เชื่อมมายังตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ประเด็นหลัก ๆ ของถนนเส้นนี้ก็คืออย่างนี้ค่ะ เนื่องจากถนนเส้นนี้ ส่วนมากจะมีปัญหาเฉพาะช่วงตำบลนาดีเป็นส่วนใหญ่ แล้วอีกอย่างหนึ่งมีปัญหาคือ จากสภาพที่เห็น ๒-๓ รูปที่ดิฉันนำรูปมาโชว์นะคะ เกิดจากการที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ สัญจรผ่านเส้นนี้เป็นประจำทำให้เส้นนี้มีปัญหา ถึงแม้จะซ่อมอย่างไรก็ตามก็จะเป็นอย่างนี้ ในทุกช่วงหน้าฝนของทุกปี เพราะฉะนั้นทางพี่น้องประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนทุกปี อันนี้ก็คือทาง อบต. เขาได้พยายาม Grade ถนนเพื่อให้ดีขึ้นเล็กน้อย ถ้าท่านประธานไปช่วง ที่เริ่มหน้าฝนกลาง ๆ แล้วท่านก็จะเห็น บางหลุมรถ Pickup ก็ไม่สามารถผ่านได้ ก็ฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทางหลวงชนบทว่าให้รบกวนมาดูแลอย่างจริงจังกับถนนเส้นนี้ เพราะว่าได้ซ่อมทุกปี ทำใหม่ทุกปี ซ่อมทุกปี พี่น้องประชาชนก็ต้องบอกว่าทั้งเดือดร้อน แล้วก็เบื่อหน่ายนะคะ

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา เป็นเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่างในบริเวณของเส้นทางหลวง หมายเลข ๒๑๗ ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำโดม ตั้งแต่ช่วงหน้าบ้านหมู่บ้านสร้างแก้ว บ้านสะพานโดม ยาวมาจนถึงสวนป่าประมาณกิโลเมตรที่ ๓๘ ช่วงนี้จะมีไฟฟ้าเป็นบางช่วง แล้วช่วงที่ไม่มีจะเป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งเนื่องจากถนนที่พังเสียหาย

นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมา ก็คือในเรื่องของไฟฟ้าที่ติด ๆ ดับ ๆ ตลอดเวลาในช่วงเส้น ๒๑๗ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร ก็ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ขอบพระคุณท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จบเรื่อง การหารือนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๖๘ คน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อเพื่อเข้าประชุม ๓๓๙ ท่าน ตอนนี้มาถึง ๓๔๑ ท่าน แล้วนะครับ ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว ผมขอเปิดการประชุม และดำเนินการประชุม ตามระเบียบวาระต่อไปครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่านสมาชิกทุกท่านว่าในระหว่างที่มีการถามกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไปในห้องประชุมแห่งนี้ ในขณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาดำเนินการ ในเรื่องกระทู้ถามแยกเฉพาะ ซึ่งจะดำเนินการที่ห้องกระทู้ถามชั้น ๑ ของสภาผู้แทนราษฎร สำหรับผู้ที่ซักถามและผู้ที่สนใจก็สามารถจะแยกไปร่วมฟังที่บริเวณชั้น ๑ ของสภาผู้แทนราษฎรได้นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

กระทู้ถามสดที่ ๑ ซึ่งผมอยากจะเรียนท่านผู้ถามซึ่งพร้อมแล้วว่า กระทู้ถามสดนั้นโดยปกติก็เป็นการถามมาตอบไป ใช้เวลาทั้งสมาชิกผู้ถามและรัฐมนตรี ผู้ตอบนั้นใช้เวลากระทู้ละ ๓๐ เพราะว่ากระทู้ถามสดนั้นในครั้งหนึ่ง ๆ ที่มีการประชุมก็ให้ใช้ เวลาไม่เกิน ๙๐ นาที ซึ่งวันนี้มีกระทู้ถามสดทั้ง ๓ กระทู้ และรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะตอบ ทั้ง ๓ กระทู้ อันนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลด้วยที่ได้ให้เกียรติรัฐสภามาตอบกระทู้ถาม ทั้ง ๓ กระทู้นี้ ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่าไม่ค่อยจะมาครบหรือไม่ค่อยมา แต่คราวนี้ ผมก็ต้องขอขอบพระคุณทางรัฐบาลที่ให้รัฐมนตรีได้มาให้ความสำคัญกับสภา ก็อยากจะเรียน กติกาเพื่อเราจะได้ดำเนินการไปว่าถ้ามาครบ ๓ กระทู้ กระทู้ละ ๓๐ นาที ก็ ๙๐ นาที วันนี้ มาครบก็ใช้เวลา ๓๐ นาทีต่อ ๑ กระทู้ ซึ่งผู้ถามจะสามารถถามได้ ๓ ครั้ง ก็อยากให้ เฉลี่ยเวลาให้กับรัฐมนตรีได้ตอบด้วย ถ้าหากถามครั้งละ ๑๐ นาที ก็จะได้ ๓๐ นาที ก็อยากจะเรียนว่ากระทู้ถามสดนั้นต้องเป็นเรื่องที่ด่วน สถานการณ์ความเดือดร้อน ของประชาชนเป็นอย่างมาก ก็ถามมาตอบไป ไม่ต้องไหว้ครูเหมือนกระทู้ถามทั่วไป กระทู้ถามเฉพาะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๑ กระทู้ถามสดด้วยวาจา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. นายวัชระพล ขาวขำ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎรได้รับหนังสือจากสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านจักรพงษ์ แสงมณี เป็นผู้ตอบ ซึ่งท่านรัฐมนตรีมาพร้อมแล้วนะครับ ขอเชิญคุณวัชระพลครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่น ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย และผู้ที่ยังรอคอย ความช่วยเหลือ ท่านประธานครับ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาทันทีที่เสียงปืน เสียงจรวด เสียงระเบิดสิ้นเสียงแรก ผมทราบเป็นที่แน่นอนครับว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยจะต้อง ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะจากข้อมูลหลังจากวันนั้นผมก็ได้รับการร้องเรียน ได้รับ การขอความช่วยเหลือเข้ามาเป็นอย่างมาก ทำให้ผมแปลกใจเช่นกันว่าทำไมในฐานะ สส. อุดรธานี ทำไมมีพี่น้องประชาชนร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ผมจึงได้ไปหาข้อมูล ได้ประสาน กรมการจัดหางาน แล้วก็ได้ประสานท่านจัดหางานจังหวัดอุดรธานี จึงได้ข้อมูลมาว่าพี่น้อง ประชาชนชาวไทยเราไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลสูงถึง ๓๐,๐๐๐ กว่าคน แบ่งเป็นจาก ทุกภาค ในระบบก็ประมาณ ๒๕,๘๘๗ คน แต่ว่าถ้าท่านประธานเห็นข้อมูลเชิงลึกเข้าไปอีก พี่น้องประชาชนจากภาคอีสานไปทำงานสูงถึง ๑๙,๐๐๐ คน และหากท่านประธานดูข้อมูล เข้าไปลึกกว่านั้นอีก พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ไปทำงานที่อิสราเอลสูงถึง ๔,๐๔๒ คน และถ้าแบ่งตามเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งผมที่ผมเป็นตัวแทนอยู่มีพี่น้อง ประชาชนไปทำงานที่อิสราเอลสูงถึง ๑,๐๐๐ กว่าคน โดยก่อนที่ผมจะถามกระทู้ ผมขออนุญาตให้ข้อมูลท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานครับ ผมได้รับการร้องเรียนเข้ามา เป็นจำนวนมากจากพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี โดยผมจะยกตัวอย่างแค่ประมาณ ๔ กลุ่ม ๔ กลุ่มก็คือกลุ่มที่บาดเจ็บ ล้มตาย สูญหาย และรอคอยการช่วยเหลืออยู่ครับ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่ได้รับการร้องเรียนมามากที่สุดคือกลุ่มที่สูญหาย แล้วก็เป็นกลุ่มที่ยัง ไม่สามารถติดต่อได้ ท่านประธานจะเห็นจากหน้าข่าวหน้าสื่อ น้องผู้ชายคนหนึ่งที่เราเห็นกัน ตามหน้าสื่อทุกท่านเป็นชาวอำเภอกุดจับ ภรรยาของน้องได้ติดต่อประสานงานมาที่ผมว่า ขอความช่วยเหลือจากท่าน สส. ด้วยครับ ประสานงานให้ด้วย ภาพนี้ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็ภรรยาของน้องอกสั่นขวัญแขวน แล้วก็เป็นที่น่าเศร้าสลดเสียใจเป็นอย่างมาก เป็นภาพ พี่น้องถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกอาวุธปืนสงครามจ่อที่หัว ก็ทำให้ผมต้องรีบลงพื้นที่ ในเช้าวันอาทิตย์อย่างด่วน ผมก็ได้ไปพบปะกับครอบครัวของคุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็ได้เจอกับ ภรรยาน้อง ทันทีที่ผมเดินเข้าไปจับมือกับคุณแม่ จับมือกับคุณพ่อของน้อง ผมสัมผัสได้ครับ ท่านประธาน มือที่เย็น ปฏิกิริยาที่ไร้การตอบสนอง เป็นภาพที่สลดหดหู่ครับ กราบขออภัย ท่านประธานถ้ากระทู้นี้จะมีน้ำตามีเสียงสะอื้นบ้าง

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

แต่ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานี ไม่ได้มีแค่ Case นี้ Case เดียว มีอีก Case หนึ่งที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาว่าลูกของเขาอยู่ที่ อำเภอเมือง ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลหลายปีแล้ว ถูกยิงบริเวณใบหน้าจากอีกฝั่งหนึ่ง ทะลุไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่ว่าไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน ตอนนี้ได้รับรายงานล่าสุดก็คืออยู่ที่ โรงพยาบาลที่ประเทศอิสราเอล แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

อีก Case หนึ่งที่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิตเป็นที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือเพื่อนที่ ไปทำงานด้วยกันได้โทรศัพท์มาบอกครอบครัวว่าได้เห็นเพื่อนของเขาถูกยิงต่อหน้าต่อตา เสียชีวิตไปแล้ว เป็นภาพที่เพื่อนเห็นแล้วเพื่อนก็รีบโทรศัพท์มาบอกครอบครัว ทางครอบครัว ก็ตระหนกตกใจเสียขวัญกันหมดครับ แล้วก็ยังรอคอยการติดต่ออยู่ ผมก็ได้ส่งทีมงานเข้าไป ช่วยเหลือ ไปดูแลครอบครัวเบื้องต้น แล้วก็ได้แจ้งกับทางครอบครัวว่าถ้ายังไม่มีรายงาน อย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงแรงงาน ก็ให้ถือว่ายังมีชีวิตอยู่ ก็ยังเป็นความหวังที่เขารอคอยอยู่ครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ส่วน Case สุดท้ายที่ผมจะยกตัวอย่างให้ท่านทราบ ที่ผมได้รับข้อมูลร้องเรียน มาคือผู้รอดชีวิตแต่สามารถติดต่อได้ ผมได้รับการร้องเรียนจากพลเมืองดี ขออนุญาต ไม่เปิดเผยนามน้อง และขออนุญาตไม่เปิดเผยสถานที่ที่หลบภัยอยู่ เพราะจะเป็นอันตราย ต่อน้อง ๆ กลุ่มนั้น ผมได้รับการร้องเรียนมาทั้งหมด ๑๓ คนอยู่ในหลุมหลบภัย อยู่ในจุดที่ เสี่ยงภัยมากที่สุด ห่างจากจุดโจมตีไม่ถึง ๑๐๐-๒๐๐ เมตร ผมก็ได้เบอร์มาเป็นเบอร์ ของประเทศอิสราเอล ผมก็ไปหาข้อมูลแล้วก็รีบกด +๙๗๒ แล้วก็โทรศัพท์ไป โชคดีครับ ท่านประธาน โทรศัพท์ติด น้องรับสาย น้องยืนยันว่ายังมีชีวิตครบทั้ง ๑๓ คน แต่ว่ารอคอย การช่วยเหลือ น้องก็ขอความช่วยเหลือจากผมว่าประสานงานกระทรวงต่าง ๆ หรือหน่วยงาน ต่าง ๆ ให้ได้ไหม อยากย้ายจากตรงนี้ไปสู่ที่ปลอดภัย ผมก็ได้สอบถามข้อมูลว่ามีคนจังหวัด อะไรกันบ้าง ไปทำงานกี่ปีแล้ว ได้ข้อมูลมาค่อนข้างมากครับ แล้วผมจะขออนุญาตทำสรุป เป็น Excel แล้วส่งต่อให้ท่านรัฐมนตรีต่อไปครับ น้อง ๑ ในนั้นเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี อำเภอนายูง ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของ สส. เทียบจุฑา ขาวขำ ผมก็เลยได้ถามน้องว่ามี LINE ไหม Add LINE กันได้ไหม น้องบอกว่าสามารถ Add ได้ครับ เพราะมี Internet อยู่ แต่ไม่รู้จะมีอีกได้นานเท่าไร ทันใดนั้นผมก็ไปหา สส. เทียบจุฑา ขาวขำ แล้วก็ได้ Video call หาน้อง น้องก็ดีใจมากครับ เพราะว่าน้องบอกว่าเป็นคนจรดปากกากา สส. เทียบจุฑา ขาวขำ เป็น สส. เอง ก็เป็นอะไรที่น้องปลาบปลื้มยินดีในสภาวะแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดได้กำลังใจจาก ครอบครัวก็ยังดีครับ ดังนั้นวันนี้ผมจึงมีคำถาม จำนวน ๓ คำถาม ผ่านท่านประธานไปยัง ท่านรัฐมนตรี

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมอยากทราบข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของสถานการณ์ ปัจจุบันอย่างเป็นทางการว่าข้อมูลนี้พอเปิดเผยได้ไหม และมีนโยบายอย่างไรต่อสงครามนี้ ท่านมีมาตรการรับมืออย่างไร เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์สงครามนี้เกิดขยายวงเป็นวงกว้างไปถึง ตอนเหนือ ไม่ว่าจะเป็นทางใต้ของประเทศเลบานอนที่ยังมีกลุ่มฮิซบุลลอฮ์อีกที่ยังโจมตีกันอยู่ ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขยายวงกว้างจะทำอย่างไร มีมาตรการรับมือไหม แล้วก็ผลกระทบที่ได้ รายงานอย่างเป็นทางการต่อคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง มีจำนวนเท่าไร ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเรียนเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ กระผม จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันนี้ได้รับมอบหมายจาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดกรณีผลกระทบ ที่เกิดจากเหตุการณ์ในอิสราเอลในวันนี้ ก่อนอื่นเลยผมต้องขอเรียนว่าสงครามความขัดแย้ง ความรุนแรงระหว่างประเทศมิได้ก่อให้เกิดผลดีและประการใด แต่ทำให้เกิดความสูญเสีย ต่อคน ต่อครอบครัว และต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียที่เกิดกับผู้ที่ไม่มี ส่วนเกี่ยวข้อง ดังเช่นเหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในครั้งนี้ ในนามของ รัฐบาลไทย ขอแสดงความเสียใจต่อญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งคนไทย และคนต่างชาติ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ขอรายงานสถานการณ์เบื้องต้นว่าปัจจุบันการโจมตีทางอากาศของกลุ่มฮามาสยังคง ดำเนินอยู่ ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ยังได้รับรายงานอยู่ว่ายังมีการยิงจรวดกันอยู่ในอิสราเอล ซึ่งนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้มีมากกว่า ๔,๐๐๐ ลูกแล้ว มีเป้าหมายโจมตีในพื้นที่ที่เป็น ความเสียหายแก่สาธารณูปโภค เช่น สนามบิน หรือโรงไฟฟ้า กองทัพอิสราเอลสามารถกำจัด กลุ่มฮามาสได้บางส่วน โดยคาดการณ์ว่ามีกลุ่มฮามาสประมาณ ๔๐๐ คน ที่แทรกซึมเข้าไป ก่อเหตุในอิสราเอล และมีกลุ่มอื่นที่แทรกซึมเข้ามาจากชายแดนของเลบานอนเพื่อร่วม สนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ในฉนวนกาซาด้วย รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยเป็น การโจมตีทางอากาศที่มีเป้าหมายที่กลุ่มฮามาส รวมทั้งปิดล้อมฉนวนกาซา สั่งตัดการส่ง ไฟฟ้าและการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่พื้นที่บริเวณฉนวนกาซา ซึ่งปัจจุบันปาเลสไตน์บาดเจ็บ จากการตอบโต้ของอิสราเอลแล้วประมาณ ๕,๑๘๔ คน เสียชีวิตถึง ๑,๐๕๕ คน และมี ผู้พลัดถิ่นปาเลสไตน์ภายในประเทศกว่า ๑๒๓,๐๐๐ คน ในขณะเดียวกันประเทศอิสราเอล ได้เรียกกำลังพลจากทั่วประเทศ ทั่วโลกให้กลับมาประจำการที่อิสราเอลกว่า ๓๐๐,๐๐๐ นาย ไปประจำการภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ในภาวะสงครามที่ประชาคม ระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้ยุติใช้ความรุนแรงและความขัดแย้ง รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไม่เป็นคู่ขัดแย้งประการใด และพลเมืองไทยผู้บริสุทธิ์เดินทาง ไปประกอบอาชีพที่อิสราเอลซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสู้รบใด ๆ ต้องมาเสียชีวิต บาดเจ็บ ตกเป็น ตัวประกัน รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนเฉย และทำทุกวิถีทางอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือ และปกป้องดูแลพี่น้องคนไทยเพื่อให้พ้นจากเหตุการณ์นี้ ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของสถานการณ์การสู้รบ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ในส่วนผลกระทบของคนไทย การโจมตีและการสู้รบในเขตฉนวนกาซา ส่งผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน ๕,๐๐๐ คน จาก ๓๐,๐๐๐ คน ที่เป็น แรงงานทั้งหมด ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิต ๒๑ คน ทั้งนี้ต้องเรียนว่าด้วยสถานการณ์การสู้รบ ในอิสราเอล ทางการอิสราเอลไม่สามารถที่จะยืนยันตัวตนได้ ณ ขณะนี้ และมีผู้บาดเจ็บ ๑๔ คน ผู้ถูกลักพาตัว ๑๖ คน สำหรับการดำเนินการของรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทย รวมทั้งการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล มีดังนี้

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน เรียกว่า Rapid Response Center เป็นกลไกหลักในการพิจารณาเรื่องให้ความช่วยเหลือคนไทยเร่งด่วน ไปจนถึงการอพยพ และการเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเมื่อเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงาน RRC ทำงานแข่งกับเวลา เราทำงานทุกวินาทีเพราะเราเข้าใจพี่น้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สถานการณ์ในอิสราเอล เราจึงทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด โดยกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดการประชุม ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุการณ์ภายใน ๒๔ ชั่วโมงแรก และมีการประชุมทุกวันเรื่อยมาจนถึง วันนี้มีการตอบกระทู้ ซึ่งบ่ายวันนี้ผมก็ได้กลับเข้าไปประชุม RRC อีกรอบหนึ่ง รัฐบาลไทย ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็น ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ถูก จับตัวเป็นตัวประกัน และผู้ขออพยพกลับ ในส่วนของผู้เสียชีวิตขณะนี้ ๒๑ คน เป็นตัวเลข ที่ได้รับจากนายจ้าง สำนักงานฝ่ายแรงงาน ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยัน อย่างเป็นทางการ ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตไทยได้มีการติดต่อกับทางกระทรวงการต่างประเทศ ของอิสราเอลแล้ว ได้รับแจ้งว่าจะใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ในการยืนยันตัวตน ของผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้เสียชีวิตมีจำนวนมาก ทั้งทางอิสราเอลประกาศว่า จะเยียวยาเหยื่อจากภัยสงครามนี้ด้วย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บในชั้นนี้ได้รับแจ้งว่ามีจำนวน ๑๔ คน โดยสถานเอกอัครราชทูตได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่เข้ารับ รักษาตัวที่โรงพยาบาล และจัดส่งผู้บาดเจ็บเล็กน้อยกลับบ้าน ประเทศไทยโดยเที่ยวบิน พาณิชย์ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ซึ่งขณะนี้เครื่องบินกำลังจะลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีผู้บาดเจ็บแล้วก็แรงงานกลับมา ๑๕ คน ส่วนผู้ถูกจับเป็นตัวประกันขณะนี้มีจำนวน ๑๖ คน โดยขอเรียนว่ากระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีภารกิจหน้าที่ทางการทูตได้ใช้ ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสื่อสารไปยังปาเลสไตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มฮามาสที่จับ ตัวประกันคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้เพื่อให้ปล่อยตัวคนไทยทั้ง ๑๖ คน ซึ่งต้องเรียนว่าปาเลสไตน์ไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย กระทรวง การต่างประเทศจึงได้ประสานสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทยที่มีความสัมพันธ์ กับปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศรวมถึงการใช้กลไก ASEAN เพื่อพบกับผู้แทนปาเลสไตน์ในการขอให้ปล่อยตัวคนไทยทั้งหมดในโอกาสแรก รวมถึงการประสานงานไปยังองค์กรระหว่างประเทศ คือหน่วยบรรเทาทุกข์และปฏิบัติงาน เพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ตะวันออก หรือ UNRWA สำนักงานเพื่อการประสานงาน ด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ UNOCHA แล้วก็คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ICRC นอกจากนี้หน่วยงานความมั่นคง เช่นสำนักงานความมั่นคงและสำนักงานข่าวกรอง แห่งชาติ ได้พยายามให้ใช้ช่องทางที่มีการช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเมื่อวานนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางเยือนประเทศมาเลเซียในระหว่างการหารือกัน ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และหยิบยกประเด็นการช่วยเหลือคนไทยจากเหตุการณ์ ความรุนแรงในตะวันออกกลาง จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากประเทศมาเลเซียที่มี ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งมาเลเซียที่มีสำนักงานปาเลสไตน์ตั้งอยู่ เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นเหตุความมั่นคงและอาจไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลอย่างเชิงลึกได้ แต่ขอให้มั่นใจ ว่ารัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลพี่น้องชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณวัชระพล ขาวขำ ถามเป็นครั้งที่ ๒ ท่านมีสิทธิถามถึง ๒ ครั้ง เวลาที่ท่านมีอยู่ที่เหลือ มีเวลา ๗ นาที ๔๕ วินาที เชิญคุณวัชระพลครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสำหรับข้อมูลมากครับ แต่สิ่งหนึ่งครับ ท่านประธาน เป็นคำถามสำคัญที่พี่น้องชาวอีสาน พี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีก็อยากทราบ คำตอบเรื่องการช่วยเหลือครับ เพราะว่าตอนนี้ทีม สส. ของชาวอีสานเรา ไม่ว่าจะเป็น พรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้ทำงานกันอย่างเข้มแข็งครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ไม่ว่าจะเป็นท่าน สส. ธีระชัย แสนแก้ว ซึ่งในเขตของท่านมีผู้เสียชีวิตถึง ๔ คน แล้วก็ท่าน สส. เทียบจุฑา ขาวขำ ก็มีอีก ๑ ท่านครับ ไม่ว่าจะเป็น สส. ภาณุ พรวัฒนา ก็มีผู้เสียชีวิตในเขตท่านเช่นกัน รวมไปถึงท่าน สส. กรวีร์ สาราคำ ได้ส่งทีมงานลงไปดูแลช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และถ้าท่านประธาน เห็นนี่ครับ พี่น้อง สส. ภาคอีสานเรานั่งกันอยู่เต็มในขณะนี้ เพราะว่าทางภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น มหาสารคาม โคราช ได้รับผลกระทบทุกท่านครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ครับท่านประธาน รัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศ มีมาตรการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไรบ้าง เพราะว่าที่ผ่านมา เกือบ ๔-๕ วันการติดต่อการประสานงานยังค่อนข้างลำบากครับ ต้องเรียนท่านรัฐมนตรี โดยตรง ผมก็อยากจะทราบว่ามีศูนย์อพยพอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วพี่น้องประชาชนเหล่านั้น ของภาคอีสานของผมจะสามารถติดต่อได้อย่างไร ท่านเตรียมเครื่องบินไว้เมื่อไร แล้วจะได้ Take off กลับจากอิสราเอลเมื่อไรครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศครับ ท่านมีเวลาตอบอีก ๗ นาที ๓๕ วินาที เชิญครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สำหรับการติดต่อสถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดให้พี่น้องประชาชนสามารถโทรศัพท์ติดต่อ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่เบอร์ ๐ ๒๕๗๒ ๘๔๔๒ นอกเหนือจากเบอร์โทรศัพท์ของกองคุ้มครอง และดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล เบอร์ ๐๖ ๔๐๑๙ ๘๕๓๐ กระทรวงแรงงานได้เปิดสายด่วนฉุกเฉิน ๑๙๖๔ แล้วยังมีการเปิดช่องทาง Social media อื่น ๆ ก็คือมีทั้ง LINE OpenChat Call center Facebook แล้วก็ e-Mail แล้วในขณะนี้ ได้ทราบว่ามีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เยอะ ติดต่อเข้ามาทางช่องทาง ทั้งหลายนี้นะครับ ทางกระทรวงการต่างประเทศที่ประเทศไทยจะเป็นคนประสานงานไปยัง ผู้ได้รับผลกระทบแรงงานทุกคนที่อิสราเอลแทน เพราะว่าสถานการณ์ฉุกเฉินตอนนี้ ในประเทศอิสราเอลมีการสู้รบกันต่อเนื่อง และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล ไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างปกติเพราะเนื่องจากมีระเบิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ส่วนนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศประจำประเทศไทยจะเป็นคนประสานงานเอง แล้วก็แนวทาง ในการเยียวยาคนไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลก็เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานได้ทำงานในต่างประเทศ โดยคนที่เดินทางกลับมา เนื่องจากภาวะสงครามจะได้รับเงินสงเคราะห์ ๑๕,๐๐๐ บาท กรณีพิการ ๑๕,๐๐๐ บาท กรณีทุพพลภาพ ๓๐,๐๐๐ บาท กรณีเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ ในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ส่วนการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ผู้อพยพกลับไทยให้สามารถกลับไปทำงานได้ที่อิสราเอลนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่ให้การสนับสนุนการหารือ ทางการอิสราเอลเกี่ยวกับการส่งแรงงานไทยกลับไปทำงานอิสราเอลอีกครั้งหลังสถานการณ์ กลับมาเป็นปกติ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ส่วนการอพยพตอนนี้ อย่างที่เรียนตอนต้นว่ารอบแรกจะเดินทางมาถึงวันนี้ ตอน ๑๑.๑๖ นาฬิกา ในวันที่ ๑๕ เราจะมีเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับผู้อพยพอีก ๑๒๐ คนในช่วงเช้า แล้วก็อีก ๑๐๐ คนในช่วงเย็น แล้วก็จะมีอีกรอบหนึ่งคือวันที่ ๑๘ แต่ขอเรียนที่ประชุมว่าระหว่างวันเรายังพยายามหาช่องทางอื่น ๆ ที่สามารถจะอพยพ คนออกมาได้เร็วที่สุด เมื่อคืนนี้ทางท่านนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการไปที่ กระทรวงการต่างประเทศแล้วว่าจะต้องเพิ่มเที่ยวบินให้ได้มากที่สุดเพื่อจะไปรับคนไทย ออกมา อาจจะใช้หลายวิธี เพราะว่าเราได้ลองหลายวิธีมาก ๆ ตั้งแต่การเดินทางโดยอากาศ ทางบก ทางน้ำ ก็ต้องเรียนว่าตอนนี้พออิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม การเดินทางทั้งทางน้ำ และทางบกค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หรือแม้กระทั่งทางอากาศตอนนี้ในบางช่วงเวลาก็มีการปิด น่านฟ้าแล้วด้วย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ คุณวัชระพลจะถามได้อีก ๑ ครั้ง

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย จริง ๆ ผมเตรียม คำถามที่ ๓ ไว้ครับ ท่านรัฐมนตรีก็ได้กรุณาตอบมาคร่าว ๆ แล้ว แต่ว่าจริง ๆ น่าจะเป็น คำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

คำถามที่ ๓ ที่ผมได้เตรียมไว้ก็คือรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับ ผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่น ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย แล้วก็ผู้ที่รอคอย การช่วยเหลือด้วย การเยียวยารวมไปถึงครอบครัวด้วยนะครับ เพราะว่าบางท่านที่ไปทำงาน ที่อิสราเอลเป็นเสาหลักของครอบครัว ครอบครัวของเขาจะต้องอยู่อย่างไรต่อ แล้วก็จะต้องมี อนาคตอย่างไร เรื่องสภาพจิตใจด้วยนะครับท่านประธาน แล้วก็รวมไปถึงการดูแล ถ้าประสงค์อยากกลับไปทำงานอีกครั้งที่อิสราเอล ทางรัฐบาลได้วางมาตรการแล้วก็มีข้อมูล ในด้านนี้บ้างหรือไม่ครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ในส่วนของการเยียวยาทางจิตใจ ทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพบ ครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว และในส่วนของการเยียวยาที่เป็นจำนวนเงิน ก็อย่างที่เรียนไปข้างต้นว่าจะได้รับเงินสงเคราะห์ ๑๕,๐๐๐ บาท ทุกคนที่กลับมา กรณีพิการ ๑๕,๐๐๐ บาท กรณีทุพพลภาพ ๓๐,๐๐๐ บาท กรณีเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ขอบคุณครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธาน ขออนุญาตครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอสั้น ๆ หน่อย เพราะว่าท่านถาม ๓ ครั้ง เชิญครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม นายวัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ก็ต้องขอกราบ ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมากครับ แล้วก็ขอกราบ ขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสกระทู้ถามสดในวันนี้ สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเป็นกำลังใจให้ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วก็ผู้สูญหายทุกท่าน แล้วก็ผู้ที่รอคอยการช่วยเหลือ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับท่านประธานว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้ กลับมาเจอหน้าลูก ลูกจะได้กลับมาเจอหน้าพ่อแม่ ภรรยาจะได้กลับมาเจอสามี สามีจะได้ กลับมาเจอภรรยา วันนี้ก็ต้องเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานมากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรี จะชี้แจงหรือไม่ครับ ไม่นะครับ ขอบคุณคุณวัชระพล ขาวขำ และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศครับ ถือว่าจบกระทู้ถามสดที่ ๑ นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีนักเรียนชุมนุมสื่อสารมวลชนระดับมัธยมศึกษา ตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จำนวน ๔๓ คน มาฟังการประชุมของสภาเราอยู่ชั้นบนครับ ทางสภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับทุกท่านครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. นายสหัสวัต คุ้มคง เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมาว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ตอบ และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบแทน ซึ่งรัฐมนตรีก็ได้มาพร้อมที่จะตอบแล้ว ขอเชิญคุณสหัสวัต คุ้มคง ครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ผมอยากจะเริ่ม อย่างนี้ครับ ก่อนอื่นผมต้องขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคนในอิสราเอล ขอให้ ทุกท่านปลอดภัย และขอส่งกำลังใจให้คณะทำงานและข้าราชการทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ครับ และขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาตอบกระทู้ถามในวันนี้ แม้ความตั้งใจจริง ๆ จะเป็นการถามถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ หลายกระทรวง หลายภาคส่วน แต่เมื่อท่านติดภารกิจ และได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศมาตอบผมก็ยินดีครับ ก่อนอื่นเลยครับ วันนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะมา โจมตีหรือสอนการทำงานของรัฐบาล เราจะไม่เอาชีวิตของคนกว่า ๓๐,๐๐๐ คน มาเป็น เครื่องมือทางการเมือง ผมเชื่อครับว่าสถานการณ์แบบนี้ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจและตั้งใจ ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ที่ผมต้องตั้งกระทู้ถามวันนี้มีอยู่ ๒ เหตุผลครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเพราะเราอยากจะให้ทุกคนช่วยกันทำงานให้ประชาชน เพื่อจะช่วยกันอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ยังอาจจะมีอยู่ และอีกเหตุผลหนึ่ง ผมอยากจะมา ตั้งคำถามที่พี่น้องประชาชนยังสงสัยเพื่อที่รัฐบาลจะเห็นช่องว่างบางส่วน เพื่อจะพิจารณา พัฒนาประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในอิสราเอลให้ได้รับความปลอดภัย ได้อย่างดีที่สุด ๔-๕ วันที่ผ่านมานี้ในช่วงกลางคืน ผมรับโทรศัพท์ตอบข้อความจากพี่น้อง คนไทยในอิสราเอลเยอะมากครับ มีทั้งติดต่อมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งผมพยายามติดต่อ ทางกงสุล และหน่วยงานของกระทรวงแรงงานไปแล้ว และบางส่วนก็ติดต่อมา ต้องการ กำลังใจ ต้องการให้ช่วยติดต่อญาติพี่น้อง บางส่วนมาปรึกษาอีกหลายอย่าง ถึงขั้นโทรศัพท์ มาถามผมว่าพี่ได้ยินเสียงระเบิดไหม ในขณะที่เขากำลังวิ่งหาที่หลบภัย แล้วถ่ายทอดเสียง ขีปนาวุธให้ผมฟังร่วม ๕ นาที บางคนบอกผมว่าอย่างเพิ่งพูดนะครับ ถือสายไว้ก่อนอาจมี กองโจรอยู่แถวนี้ ผมทั้งเป็นห่วง ร้อนใจ วิตกกังวล เศร้า และหดหู่เช่นกัน จึงอยากมาปรึกษา กับทุกท่านที่นี่ เข้าเรื่องครับ ผมอยากจะแบ่งผู้ประสบภัยที่เป็นคนไทยเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

กลุ่มแรก ผู้ที่ถูกจับตัวเป็นตัวประกัน อย่างที่ท่านได้ตอบท่านวัชระพล ไปแล้ว ก็ขอชื่นชมมาตรการการดำเนินงานของรัฐบาลนะครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

กลุ่มต่อมา กลุ่มผู้บาดเจ็บ มีการส่งผู้บาดเจ็บกลับมาที่ไทยแล้วบางส่วน แต่ส่วนที่ตกค้างอยู่จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ทั้งในการส่งตัวกลับ และส่วนที่ ต้องการการรักษาดูแลเร่งด่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

กลุ่มต่อมา คือกลุ่มที่ต้องการจะออกจากพื้นที่ แต่โดนส่งไปให้นายจ้างคนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าออกจากพื้นที่สีแดงแล้วเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยแล้ว แล้วถูกให้ทำงานต่อเลย ผมเข้าใจครับว่าการถูกส่งต่อให้นายจ้างใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายของประเทศอิสราเอล แต่ปัญหาคือแรงงานไทยเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์สู้รบ สภาพจิตใจไม่ได้พร้อมจะทำงาน แต่โดนให้ทำงาน เราจะสามารถดูแลสภาพจิตใจอะไรได้หรือไม่ และบางคนที่ต้องการจะกลับ แต่ถูกส่งต่อไปโดยไม่สมัครใจจะทำอย่างไร

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

อีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่ยังอยู่ในพื้นที่สู้รบแต่ไม่ประสงค์จะกลับประเทศ ประสงค์ เพียงแค่จะอพยพไปพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ แต่ก็ยังไม่สามารถ ออกไปได้ ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนหนึ่งมากพอสมควรเลย มีกรณีหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าให้ผมฟังว่า ต้องการจะไปหลบในที่ปลอดภัยแต่ไปไม่ได้เพราะทางการไทยติดต่อผ่านนายจ้าง ปัญหา ที่เกิดขึ้นคือติดต่อนายจ้างไม่ได้เพราะนายจ้างออกไปรบ นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ยังลังเล ด้วยปัญหาหนี้สินที่ไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อไป ทำงานต่างประเทศ รัฐบาลมีแผนจะดูแลเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

อีกประเภทหนึ่งที่น่ากังวลครับท่านประธาน คือจากที่ผมได้รับข้อมูลที่พี่น้อง ประชาชนส่งมาให้จากอิสราเอล คือคนที่โดนเอาเปรียบ โดนฉวยโอกาสในช่วงสงคราม เช่น ฉวยโอกาสเปลี่ยนนายจ้างบ้าง ไปจนถึงเบี้ยวค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างก็มี แล้วก็ติดต่อ นายจ้างเก่าไม่ได้ ไม่มีเงินติดตัวเลย เราจะมีทางช่วยแก้ไขให้พี่น้องเหล่านี้อย่างไรบ้าง

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

นอกจากเรื่องของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ผมมีคำถามและข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๑ ผมอยากจะสอบถามไปยังรัฐบาลเรื่องการพาคนไทย กลับประเทศ ผมเข้าใจว่าทางรัฐบาลได้พยายามจะนำเครื่องบินไปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อยากจะสอบถามความเป็นไปได้เพิ่มเติม เช่นถ้าเครื่องบินของกองทัพอากาศไม่เพียงพอ จะมีโอกาสในการเช่าเหมาลำสายการบินพาณิชย์ไปรับคนไทยกลับบ้านไหม เพราะด้วย ตอนนี้จำนวนคนก็กว่า ๕,๐๐๐ คนแล้วที่ยื่นความประสงค์กลับบ้าน แล้วอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน จะเป็นไปได้ไหมที่จะเจรจากับทางอิสราเอลให้คิวลงจอดเราเพิ่มขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องการเดินทางในอิสราเอลมายังเทลอาวีฟหรือสนามบิน เพราะแรงงานไทยไม่สามารถเดินทางได้ง่ายเลย ต้องใช้รถของทางการอิสราเอลบ้าง เราจะมี แนวทางอื่นใดที่จะให้แรงงานไทยได้เดินทางสะดวกขึ้นหรือไม่ ในขณะเดียวกันผมทราบข่าว ว่ามีพี่น้องแรงงานรวมตัวกันจ้างรถเหมาพากันหนี ซึ่งก็จ้างได้สำเร็จ ทางการไทยจะสามารถ เจรจาส่งรถหรือหารถของทางเราไปรับได้เพิ่มเติมไหม หรือจะประสานงานอย่างไรกับกลุ่มนี้ และอีกส่วนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน กลุ่มคนไทยที่กลับมาก่อนด้วยทุนทรัพย์หรือหนทาง ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งหนีนายจ้างออกมา เราจะช่วยพี่น้องแรงงานเหล่านี้ได้กลับไป ทำงานได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สถานการณ์เอาตัวรอดจริง ๆ นอกจากนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาทางออกเพิ่มเติมให้กับพี่น้องคนไทยของเรา เช่น นำรถเข้าจากทางอียิปต์ จอร์แดน หรือเลบานอน

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ไปดูตัวเลขแรงงานนำเข้าของอิสราเอลในภาคการเกษตรนั้น เป็นแรงงานไทย นำเข้าจากเราไปกว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าภาคการเกษตร ของอิสราเอลนั้นต้องพึ่งพาเราอย่างมาก จะเป็นไปได้ไหมว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงอะไรก็แล้วแต่ จะขอเข้าไปตั้งค่าย พักคอย ทั้งคอยเดินทางกลับไทย หรือคอยไปทำงานต่อแยกเฉพาะของแรงงานไทยออกมา แล้วรวบรวมคนเพื่อพักคอยส่งกลับ หรือหลบภัยสงครามชั่วคราว โดยมีหมอ ทีมแพทย์ หรือหน่วยงานของไทยเข้าไปดูแลคนของเรา โดยเฉพาะในด้านสภาพจิตใจให้คนไทยรู้สึก ปลอดภัยมากขึ้น

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ปัจจุบันพื้นที่ปะทะนั้นคาดเดาไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้พื้นที่ปะทะ ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ ตอนนี้ก็เริ่มมาทางเหนือแล้วเพราะมีผู้เล่นเพิ่มเติม เช่น กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ในเมือง เช่น เนชัวร์ ไฮฟา ก็เริ่มมีการถูกโจมตีแล้ว และยังมีแรงงานไทยบางส่วนอยู่ตรงนั้น เราจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ประการที่ ๔ ผมรับทราบมาว่าทางรัฐบาลมีการตั้ง War Room อยู่ตาม กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ อย่างของกระทรวงแรงงานนี่ดีมาก ๆ เลย เมื่อวาน ผมส่งข้อมูลไปตอนเที่ยงคืนกว่า ก็มีการตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว อันนี้ขอชื่นชม แต่ผม อยากจะเสนอว่าในสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้แล้วการแยก War Room กันทำงานอาจทำให้ หลายอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ เช่น ฝั่งกระทรวงกลาโหมก็ทำของตัวเอง กระทรวงแรงงานทำของตัวเอง กระทรวงการต่างประเทศทำของตัวเอง ผมมีความเห็นว่า อยากให้ใช้ War Room กลางจุดเดียวของรัฐบาล จะเป็นทำเนียบรัฐบาลหรือที่ไหนก็ได้ครับ เพื่อให้ประชาชนติดต่อประสานงานและรวบรวมข้อมูลได้อย่างชัดเจน และสื่อสารออกมา ให้พี่น้องประชาชนตรงกัน ไม่ให้เกิดความสับสนในข้อมูลข่าวสาร และการประสานงาน ระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ จะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องประสานงานไปมา หลายหน่วยงาน ตอนนี้พี่น้องประชาชนจะติดต่อหน่วยงานหนึ่งก็ต้องโทรศัพท์เบอร์หนึ่ง เปลี่ยนหน่วยงานก็ต้องหาเบอร์ใหม่ ควรจะต้องมีการเปิดสายด่วน Hotline ต่าง ๆ ได้แล้ว ให้มีเบอร์เดียวเลยติดต่อที่เดียว จะเพิ่มคู่สายเป็น ๑๐๐ คู่สาย ๑๐,๐๐๐ คู่สาย ก็ต้องทำ รวมถึง Platform ต่าง ๆ ก็ต้องทำ ขนาดตอนน้ำท่วม ตอนภัยพิบัติต่าง ๆ เราทำได้ เราทำมาแล้ว ปัญหาตอนนี้ก็เป็นเรื่องร้ายแรงไม่แพ้กันทำไมตอนนี้ยังไม่มีเรื่องนี้อีก เรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราดูตาม Social Media เราจะเห็นเลยว่าพี่น้องที่อิสราเอลสามารถ Post Facebook ได้ Twitter ได้ สามารถติดต่อมาหาผมหรือเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้ แต่กลับไม่สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐได้ ทำไมครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ในส่วนของ War room เราได้ตั้งศูนย์ RRC ตั้งอยู่ที่กระทรวง การต่างประเทศ เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยงานที่ท่านว่ามา เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วก็ หน่วยข่าวกรอง อันนี้มีอยู่แล้ว แล้วก็ทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ในส่วนที่เป็นของ Call Center ทั้งทาง Social Media ทุกอย่าง เราได้เปิด LINE OpenChat เรามี Facebook ที่รับเรื่อง ร้องเรียนทุกอย่าง แล้วก็ขอเรียนท่านว่าจริง ๆ ท่านคุยโทรศัพท์กับทางประชาชนตรงนั้น ผมก็ไม่รู้สึกแตกต่างกัน เพราะผมก็ได้คุยกับท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเทลอาวีฟ เหมือนกัน เมื่อคืนนี้คุยกันตอนเที่ยงคืนกว่า ท่านก็ยังบอกเลยว่ายังมีจรวด ยังมีการสู้รบ อย่างต่อเนื่อง ทางรัฐบาลเป็นห่วงคนไทยทุกคน เป็นห่วงข้าราชการทุกคนที่ทำงาน อย่างเต็มที่ในสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ แต่ต้องเรียนว่าข้อจำกัดของอิสราเอลตอนนี้คือ ทั้งทางบกก็มีการปิดถนนในหลายพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของทางประเทศอิสราเอลเอง ในทางน้ำเราได้พยายามเจรจา แต่ว่าเส้นทางการเดินทางที่จะอพยพคนจากอิสราเอลจะต้อง ผ่านจุดเสี่ยง เป็นจุดที่มีการสู้รบอย่างหนักอยู่ ก็คงจะเป็นเรื่องยาก ส่วน Option ที่บอกว่า จะไปจอร์แดน ไปอียิปต์ เราก็ดูไว้เหมือนกัน แต่ว่าทางพรมแดนในบางจุดก็มีการปิด เป็นระยะ ๆ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะกำหนดได้เลยว่าช่วงไหนจะมีการเปิด การปิด อย่างเช่น เมื่อวานนี้ตอนที่เครื่องบินที่จะกลับมาประเทศไทย น่านฟ้าก็มีการปิดเป็นระยะ ๆ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการกู้หนี้ยืมสิน เรื่องของการเบี้ยวค่าแรงพวกนี้ ทางกระทรวง แรงงานได้มีการคุยกันเรียบร้อยแล้วว่าจะต้องมีการเยียวยาในกลุ่มคนที่เดินทางไปทำงาน ที่อิสราเอลจะต้องได้รับการชดเชยอะไร อย่างไร อันนี้กำลังจะพิจารณากันอยู่

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

การขนย้ายคนออก ต้องเรียนตรง ๆ ว่าการที่จะขับรถออกมาได้ ต้องขออนุญาตจากทางการของอิสราเอลก่อน เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่ออกมาโดยที่ไม่ได้ขอ แล้วก็เกิดการเข้าใจผิดกันเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งอันนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจะกลายเป็นว่า ประชาชนของเราจะได้รับความเสี่ยงในส่วนนี้ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเดินทาง ทางกระทรวง การต่างประเทศ ทางสำนักงานเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลจะต้องมีการรายงาน กระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลทุกครั้ง ต้องเรียนว่าเรามีแรงงานอยู่ทั่วประเทศ ถึง ๓๐,๐๐๐ คน การที่เราจะมีการติดต่อ บางครั้งเราติดต่อไปได้แล้วก็ได้รับทราบกลับมาว่า ทางแรงงานไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ที่ไหน เพราะว่าทางการของอิสราเอลต้องเร่ง การอพยพคนออกจากจุดที่มีความเสี่ยงสูงก่อนมายังที่ที่ปลอดภัย ซึ่งที่ที่ปลอดภัย ทางแรงงานเราบางท่านก็สามารถใช้โทรศัพท์เป็น ก็มีการส่ง Location มาให้ได้ แต่ถ้าเกิดท่านใดไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมานั่งคุยกับทางล่าม ทางคนแถวนั้น เพื่อจะให้ข้อมูล ได้มากที่สุด ก็ยืนยันอยู่ว่าทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลทำงานอย่างเต็มที่ เราใช้ทั้งล่าม เราใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ และด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด ทางกระทรวง การต่างประเทศได้ส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเข้าไปให้แล้วที่อิสราเอล แล้วก็ได้ส่งคนที่อยู่ใน ประเทศรอบ ๆ เพื่อจะเข้าไปช่วยในเหตุการณ์นี้

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ส่วนที่เป็นผู้บาดเจ็บ ผู้บาดเจ็บทุกคนตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ถ้าเกิด คนไหนมีอาการที่ดีขึ้นแล้วก็จะมีการให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ซึ่งผู้บาดเจ็บทั้งหมด ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ดูแลทุกคน ได้เข้าไปเยี่ยม ได้เข้าไปพูดคุย แล้วก็การติดต่อ ทุกอย่าง ต้องเรียนอย่างนี้ว่าคน ๓๐,๐๐๐ คน ที่อยู่ที่อิสราเอลเรามีจำนวนค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าศูนย์ RRC นี้จะรับเรื่องร้องเรียนทุกอย่างเข้ามาไว้ แล้วจะเป็นคนคอยติดต่อ ไปทางแรงงานทุกคนครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

คุณสหัสวัต ท่านถามได้อีก ๒ ครั้ง เวลาของท่านก็ยังเหลืออีก ๖ นาที ๑๙ วินาที เชิญครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ก่อนอื่นขอส่งกำลังใจให้กับท่านรัฐมนตรีแล้วก็ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนนะครับ เข้าใจว่าช่วงนี้ก็ทำงานหนักอดหลับอดนอนกันจริง ๆ เบื้องต้นผมมีคำถามเพิ่มเติม คือจะสามารถเจรจาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ได้หรือไม่ในภูมิภาค ตรงนั้น คือผมคิดว่าถ้าสามารถเจรจาได้ก็อาจจะช่วยในการนำส่งออก นำแรงงานไทย กลับประเทศได้เยอะ แล้วก็เห็นด้วยว่าการเดินทางในประเทศอิสราเอลตอนนี้น่าเป็นห่วง มาก ๆ จะสามารถเจรจาเพิ่มได้หรือไม่ เพราะจำนวนผู้ที่ต้องการอพยพมากจริง ๆ แล้วก็ เรื่องการตั้งศูนย์อพยพของคนไทยเองเป็นไปได้หรือไม่ เพราะว่าเรื่องนี้อาจจะช่วยเราได้มาก จริง ๆ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรื่องปัญหาแรงงาน นอกจากเรื่องปัญหาหนี้สินแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือ การกลับไปทำงาน เพราะมีแรงงานจำนวนหนึ่งหนีงานมา จะ Guarantee การกลับไปทำงาน ได้หรือไม่ รวมถึงอีกเรื่องหนึ่ง จะมีการเพิ่มคู่สายใน Call Center ต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางแรงงานไทยสะท้อนมาเยอะมากว่าติดต่อหน่วยงานรัฐลำบากจริง ๆ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ในส่วนการเจรจาอย่างที่เมื่อสักครู่เรียนในกระทู้ถามที่แล้ว เราเจรจาประเทศรอบ ๆ ทุกประเทศแล้วว่าถ้าเกิดเราจะขออพยพคนไปทาง ประเทศจอร์แดนหรือประเทศอียิปต์ แต่อย่างที่เมื่อสักครู่ก็เรียนว่าชายแดนตอนนี้ บางชายแดนเริ่มปิดแล้ว เพราะว่าการเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟไปชายแดนมีความเสี่ยง ตลอดเหมือนกัน อันนี้ได้คุยกับทางท่านทูตแล้ว ท่านทูตก็พยายามที่จะหารถจากทางการ ของอิสราเอลเพื่อจะส่งไป แต่ด้วยความที่ตอนนี้อย่างที่เรียนตั้งแต่กระทู้ถามที่แล้วว่ามีจรวด เข้ามาที่อิสราเอลถึง ๔,๐๐๐ กว่าลูกแล้วตอนนี้ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะประมาณการเรื่องอะไร ได้เลยนะครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ในส่วนของการตั้งศูนย์อพยพ อีกครั้งหนึ่งครับ คือประเทศอิสราเอลมีจำนวน แรงงานของเราถึง ๓๐,๐๐๐ คน ๕,๐๐๐ คน คืออยู่ในส่วนที่เป็นฉนวนกาซา ซึ่งเป็นจุดที่มี ความเสี่ยงสูง Priority ของเราตอนนี้เราจะต้องอพยพคนจากส่วนที่มีความเสี่ยงสูง ออกมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทางการของอิสราเอลเป็นคนคอยช่วยเหลือในส่วนนี้ อย่างที่มีภาพออกไปเมื่อ ๒ คืนที่แล้ว ถ้าเกิดสามารถจับกลุ่มได้เราตั้งศูนย์อพยพแน่นอนครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

ในส่วนของการกลับไปทำงานที่อิสราเอล อันนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้คุยกับทางกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว และทางกระทรวง การต่างประเทศอิสราเอลให้คำมั่นแล้วว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในรอบนี้จะได้รับ การพิจารณาเป็นพิเศษนะครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

เรื่องของการเพิ่มคู่สายใน Call Center อันนี้เราเพิ่มมาตลอด ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญคุณสหัสวัต มีอะไรจะถามได้อีก ๑ ครั้งครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ก็ขอบคุณสำหรับการทำงานที่ค่อนข้าง มีประสิทธิภาพของรัฐบาลมาก ๆ นะครับ ผมคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้คือการช่วยเหลือ จับมือกันเพื่อรักษาชีวิต รักษาทรัพย์สิน รักษาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ของพี่น้องชาวไทยของเรา ในอิสราเอล และคิดว่าการที่ผมตั้งข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เพื่อมาโจมตีกัน แต่เพื่อนำเสนอ แนวทางที่เราอาจจะเห็นว่ามีช่องโหว่

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องศูนย์อพยพ ผมคิดว่ายิ่งมีจำนวนแรงงานเกือบ ๓๐,๐๐๐ คน ขนาดนั้น ผมคิดว่าการมีศูนย์อพยพชั่วคราวยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น เห็นด้วยครับว่าต้องมีการนำ แรงงานออกจากพื้นที่เสี่ยงก่อน แต่คิดว่าสถานการณ์เช่นนี้ถ้ามีศูนย์อพยพในพื้นที่ปลอดภัย ที่จะสามารถลำเลียงแรงงานพี่น้องชาวไทยของเราไปเร็วที่สุดเพื่อออกจากพื้นที่สู้รบได้เร็ว ที่สุดน่าจะเป็นการดีกับพี่น้องคนไทยมาก ๆ เพราะว่าตอนนี้สิ่งที่พี่น้องคนไทยของเรากังวล คือเรื่องญาติตัวเองจะอยู่ไหน จะยืนยันการตายได้ไหม ยังต้องทำงานกันกลางแจ้ง ทั้ง ๆ ที่ อยู่ในสภาวะเสี่ยง ผมคิดว่าถ้ามีศูนย์อพยพเป็นศูนย์ที่ Guarantee ความปลอดภัยให้กับ แรงงานไทยได้จริง ๆ แล้วสามารถรวมศูนย์ Guarantee ว่าตอนนี้พ่อแม่พี่น้องของคุณ อยู่ที่นี่ได้จริง ๆ และมีการดูแลโดยรัฐบาลไทยไม่ต้องมีกำแพงเรื่องการสื่อสาร ต้องยอมรับว่า แรงงานไทยจำนวนหนึ่งที่ทำงานในอิสราเอลมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แล้วไปไหนมาไหน ต้องพึ่งพิงล่าม ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจและความวิตกกังวล ของพี่น้องคนไทยครับ ถ้ามีศูนย์อพยพตรงนี้แล้วสามารถช่วยทำให้เขาสบายใจขึ้นมาได้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวไทยของเราทุกคนที่อยู่ในอิสราเอลมาก ๆ แล้วก็ยัง ยืนยันครับว่าปัจจุบันความขัดแย้งมันกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว และพื้นที่ปะทะมันกว้างขึ้น เรื่อย ๆ มันไม่ใช่แค่เพียงในฉนวนกาซา ตอนนี้กระจายมาทางเหนือขึ้นมาอีก พื้นที่สีแดง มันไม่ได้มีแค่ฉนวนกาซาแล้วครับ ถ้าสามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน เคลื่อนย้ายพี่น้อง ชาวไทยเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวไทยของเรามาก ๆ ครับ แล้วก็ขอส่งกำลังใจให้กับทางรัฐบาลและพี่น้องชาวไทยทุกคนครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มีให้ ยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทำงานเต็มที่ที่จะพาคนไทยทุกคนกลับบ้าน แต่เรื่องของศูนย์อพยพ จริง ๆ ได้สั่งการ ไปตั้งแต่วันแรกที่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่อย่างที่เรียนครับว่าด้วยความที่แรงงาน กระจัดกระจาย และจุดที่เสี่ยงตรงนี้ทำให้การอพยพจากพื้นที่เสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พออพยพออกมาได้แล้ว การที่จะมีศูนย์อพยพของไทยเองเลยอันนี้อยากทำมากครับ เรียนตรง ๆ เลย เพราะว่าข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้เราส่งคนไทยกลับมาได้เยอะ ๆ ทีเดียว ไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่เครื่องบินลงไปรับคนจะต้องรอให้ทางการของอิสราเอลค่อย ๆ พาคน ทีละกลุ่ม ๆ มาที่สนามบินและค่อยขึ้นเครื่องได้ เรามีเครื่องบิน ท่านนายกรัฐมนตรีก็พยายาม หาเครื่องบินเพิ่มเติมให้อยู่ ซึ่งเครื่องบินจะไม่มีประโยชน์ถ้าเกิดไม่มีแรงงานสามารถ ขึ้นเครื่องได้ อันนี้การบริหารจัดการของเรา เราเป็น Matching ทุกครั้งว่าเราทราบอย่างไร ได้บ้างว่ามีแรงงานอยู่ตรงไหน มีจำนวนเท่าไร และพร้อมที่จะขึ้นเครื่องได้เลยเท่าไร และเรา ก็จะจัดการแบบนี้ ถึงได้มีการ Plan มาว่าวันที่ ๑๓ มีเท่านี้ วันที่ ๑๕ มีเท่านี้ วันที่ ๑๘ มีเท่านี้ อันนี้คือการบริหารจัดการของหน้างานด้วย ที่เขาจะต้องคอยดูว่าประชาชนตรงนั้น พร้อมแค่ไหนที่จะเดินทาง และอย่างที่เรียนครับว่าช่วงนี้คงต้องขอกำลังใจจาก สส. ผู้ทรงเกียรติทุกท่านไปยังประชาชนที่อยู่ที่อิสราเอล ประชาชนของเราได้รับความเดือดร้อน จริง ๆ เราใช้ทุกวิถีทางที่จะสามารถทำได้ ทั้งทางการทูต ไม่ว่าจะในประเทศ หรือนอก ประเทศ หรือผ่านองค์การระดับชาติ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จบกระทู้ถามสดที่ ๒ ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ผมต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกที่ได้แสดงความห่วงใย ในวิกฤติการณ์ของประเทศอิสราเอลตั้งแต่เมื่อวานนี้ วันนี้มีกระทู้ถามถึง ๒ กระทู้ แล้วก็ ต้องทราบว่ารัฐบาลก็ได้พยายามที่จะช่วยเหลือ แก้ไขปัญหานี้ในทุกวิถีทาง ทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ แล้วก็ต้องขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยที่ได้ ให้ความสนใจแล้วก็ช่วยเหลือ ผมจึงคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาวิกฤติจริง ๆ อย่างที่ท่าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงได้กล่าวถึง จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องให้กำลังใจ แล้วก็ ให้ความช่วยเหลือทั้งคนที่อยู่ที่โน่น คนที่บาดเจ็บ และคนที่ต้องอพยพ รวมทั้งคนที่ถูกจับ เราคงจะต้องให้กำลังใจ ช่วยเหลือ คือคนที่กลับมาก็อย่างที่ สส. ของเราได้ให้ความห่วงใยว่า เราจะต้องดูแลในทุกประการ รวมทั้งเรื่องกำลังใจ แล้วก็ให้งานทำ แต่ว่าอย่างที่ทราบ รัฐบาลก็ได้ช่วยเต็มที่อยู่แล้วในทุกช่องทาง สำหรับทางสภานั้นผมก็อยากจะเรียนต่อ ท่านสมาชิกและพี่น้องประชาชนว่าสภาก็มีความห่วงใย และผมในฐานะประธานสภาก็ได้พบ กับเอกอัครราชทูตอิสราเอลเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปเพียง ๒ วัน ก็ได้แสดงความห่วงใยนี้ต่อท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งได้รับคำตอบที่ดีว่า ทางประเทศอิสราเอลนั้นจะดูแลคนไทยที่เดือดร้อน ไม่ว่าเรื่องการอพยพ หรือคนที่บาดเจ็บ หรือคนที่ถูกจับไป จะดูแลเหมือนชาวอิสราเอลทุกประการ อันนี้เป็นเรื่องที่ได้รับการยืนยัน หลังจากเหตุการณ์เกิด ๒ วันเท่านั้นนะครับ ต้องขอบพระคุณครับ แต่ว่าในเรื่องนี้ทางสภา ก็เห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤติการณ์จริง ๆ อะไรที่เราคนไทยจะช่วยเหลือได้ก็เป็นหน้าที่ ผมก็พยายามติดต่ออีกฝ่ายหนึ่งทางด้านองค์กรระหว่างประเทศ และพี่น้องคนไทยที่สามารถ จะหาช่องทางที่ติดต่อ โดยเฉพาะคนที่ถูกจับซึ่งทราบว่าปลอดภัยอยู่ แต่ก็ต้องให้คนเหล่านั้น ได้ปลอดภัยและเดินทางออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็ว ก็พยายามทำทุกช่องทางในฐานะที่เรา เป็นห่วงคนไทยทุกคน ขอขอบพระคุณทุกคน แล้วก็ขอวิงวอน ขอพรอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ พี่น้องคนไทยที่อยู่ต่างประเทศและถูกจับได้รับความปลอดภัยแล้วกลับมา คนที่ต้องการ จะกลับมาก็คงจะได้กลับมาอย่างปลอดภัย ขอบคุณทุกฝ่ายครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านมาพร้อมที่จะตอบแล้ว ขอเชิญคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ครับ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีที่วันนี้สละเวลาอันมีค่ามาตอบ กระทู้ถามสดด้วยตนเองในสภาผู้แทนราษฎร แล้วผมก็เชื่อว่าวันนี้หัวข้อในการตั้งกระทู้ถาม เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไม่ได้เป็นหัวเรื่องใหม่นะครับ ที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยประสบวิกฤติมาหลายครั้ง แล้วก็เป็นสิ่งที่พวกเราพี่น้องประชาชน ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มามากพอสมควร แล้วก็ในรัฐบาลชุดนี้ท่านรัฐมนตรีเอง ก็ออกมา Take action เร็ว ซึ่งส่วนนี้ผมต้องขอชื่นชมจริง ๆ นะครับ แต่ว่าวันนี้จำเป็น ที่จะต้องมาตั้งกระทู้ถามสด เพราะผมเชื่อว่าถ้าวันนี้ท่านรัฐมนตรีไม่สามารถให้ความชัดเจน ๓ เรื่องหลัก ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความชัดเจนในกรอบ ทิศทางการดำเนินงาน ความชัดเจนในเรื่องของกรอบระยะเวลา ซึ่งท่านได้ให้ข่าวไปแล้ว บางส่วน รวมถึงกรอบความชัดเจนในเรื่องของการใช้งบประมาณ ผมคิดว่าการดำเนิน นโยบายอาจจะตอบโจทย์ ไม่ถูกทิศถูกทาง แล้วก็ไม่มีความรวดเร็วเพียงพอในการตอบสนอง แล้วก็ป้องกันเหตุร้ายในอนาคตนะครับ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างแรก ผมขออนุญาตเท้าความเดิมก่อนที่จะขอตั้งคำถามครั้งแรก แก่ท่านรัฐมนตรี เข้าใจว่าวันนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในคณะกรรมาธิการ DE ถึงประเด็นดังกล่าว ก็เป็นที่มาที่ผมได้รับทราบข้อมูลบางส่วนที่วันนี้ก็น่าจะมาตั้งคำถาม ให้เกิดความชัดเจนกับท่านรัฐมนตรีได้มากขึ้นนะครับ ในส่วนของภัยที่ผ่านมาเราต้องแบ่งแยกภัยที่เกิดผลร้ายต่อพี่น้องประชาชนออกเป็น หลายระดับ หลายแบบครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภัยสึนามิที่ผ่านมา อันนั้น ย้อนไปไกลเกือบ ๒๐ ปี หรือเหตุกราดยิงที่โคราชที่เกิดขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุ กราดยิงพารากอนล่าสุด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราคิดว่าเป็นเหตุภัยความมั่นคงหรือว่าเหตุภัยพิบัติ ร้ายแรงที่ควรจะต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทุกคนรับทราบตรงกัน อย่างเช่นถ้าแจ้งเตือน ผ่าน Smartphone ถึงแม้เปิดระบบสั่นอยู่เขาก็ต้องได้รับความแจ้งเตือน อันนี้คือประเด็นที่ ๑

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างที่ ๒ ภัยอย่างอื่น อย่างเช่น ภัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญมาทุกปี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งเตือนให้ประชาชน ตื่นตระหนกเกินสมควร อาจจะมีรูปแบบการแจ้งเตือนอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า อย่างเช่น ส่งไปเป็น SMS ก่อนที่ประชาชนจะออกจากบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมได้ยกตัวอย่าง กำลังจะบอกว่าที่ผ่านมามีภัยพิบัติ ภัยความมั่นคง หรือเหตุต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อ พี่น้องประชาชนมาเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลจะต้องมีระบบศูนย์กลางที่ทำการแจ้งเตือน ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเหมาะสม เหมาะสมในที่นี้ก็คือเหมาะแก่เวลา ภัยพิบัติเกิดขึ้นปุ๊บ ต้องแจ้งเตือนได้ปัจจุบันทันด่วน เหมาะกับพื้นที่ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่ ก็แจ้งเตือนเฉพาะเจาะจงบางพื้นที่ ไม่ใช่ว่าต้องแจ้งเตือนให้กับประชาชนทั้งประเทศ เดี๋ยวจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินสมควร

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างที่ ๓ ก็คือเหมาะในเรื่องของรูปแบบ อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าบางอย่าง เหมาะที่จะส่งเป็น SMS ได้ บางอย่างถึงแม้ประชาชนเปิดระบบสั่นไม่ทันได้หยิบขึ้นมาอ่าน ก็ต้องได้รับข้อความแจ้งเตือนแบบนี้ ซึ่งผมจะขอยกกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศสักเล็กน้อย ให้ท่านรัฐมนตรีได้ลองเห็นสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอก่อนที่จะตั้งคำถามครับ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กรณีตัวอย่างแรก เป็นกรณีตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชน รับชมรายการทางโทรทัศน์แล้วมีเรื่องของพายุทอร์นาโดเข้ามา ก็จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบทางสถานีโทรทัศน์ได้ ผมอธิบายคร่าว ๆ ก็คือประชาชนกำลังรับชมรายการ โทรทัศน์ปกติ อยู่ดี ๆ ก็จะมีจอดำ ๆ ขึ้นมา แล้วก็มีระบบเสียงออดออกมาทางโทรทัศน์ เป็นเสียงแอ๊ด ๆ แล้วก็มีข้อความแจ้งเตือนบอกเลย ประชาชนก็จะสามารถรับทราบภัยพิบัติ ได้อย่างทันท่วงที

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ตัวอย่างที่ ๒ ที่ผมจะมานำเสนอ ถ้าฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์เปิดได้ทัน ก็คือระบบ การแจ้งเตือนผ่านพวก Smartphone แบบนี้ที่ไม่ได้เป็นแค่ SMS ก็คือ Smartphone สมัยใหม่แบบนี้ ทุกวันนี้รองรับ Protocol ใหม่ ๆ แล้ว เมื่อมีการส่งคำแจ้งเตือนออกไป ไม่ว่าจะเปิดสั่นก็ตาม ประชาชนใส่ไว้ในกระเป๋าไม่ทันหยิบขึ้นมาดูตลอดเวลาก็ตาม อยู่ดี ๆ โทรศัพท์มือถือมันจะร้องขึ้นมาดัง ๆ แล้วก็มีหน้าจอผิดปกติให้ประชาชนสังเกตได้ว่า นี่คือการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ จริง ๆ อันนี้ก็คือในเรื่องของรูปแบบที่ผมได้นำเรียน ในตอนต้นว่าต้องมีความเหมาะสม สิ่งที่ผมอยากจะตั้งคำถามต่อท่านรัฐมนตรีครั้งแรก อาจจะประกอบไปด้วย ๒ คำถามด้วยกัน

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อย่างแรก ก็คือ ผมรับทราบมาว่าในรัฐบาลชุดก่อน รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผน ยุทธศาสตร์เตือนภัยแห่งชาติด้วย Digital แบบบูรณาการที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานกรรมการเอง อยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีคำถามแรกครับว่าสิ่งที่ ท่านกำลังจะทำ ที่ท่านออกมาแถลงว่าจะเสร็จภายใน ๖ เดือนหรือ ๑ ปีนั้น เหมือนหรือแตกต่างกับแผนของรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาอย่างไร ถ้าเหมือน ท่านจะมั่นใจ ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะทำใหม่ภายใต้อำนาจของท่าน ภายใต้รัฐบาลของท่านจะดีกว่า รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งประชาชนเห็นผลงานแล้วว่าประเทศเรายังไม่มีระบบอย่างที่ ต่างประเทศมีได้จริง หรือถ้าแตกต่าง ผมอยากจะขอความชัดเจนจากท่านว่าแตกต่างอย่างไร อันนั้นเป็นคำถามแรก

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ ในการตั้งคำถามครั้งแรกครั้งนี้ ก็คือผมอยากจะให้ท่านนำเรียน ให้เห็นถึงความชัดเจนในทิศทางหรือสถาปัตยกรรมระบบ อย่างที่ผมได้นำเรียนไปว่า ระบบที่ดีควรจะต้องเป็นระบบที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มตาม Slide แผ่นภาพอันนี้ ตอนที่มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าแจ้งเตือนเฉพาะไปยังประชาชนที่มี Smartphone สมมุติผมอยู่บ้าน ผมวางโทรศัพท์ทิ้งไว้ Charge ไว้ ผมกำลังดูโทรทัศน์ แต่ถ้าเป็นภัยพิบัติ ร้ายแรงจริง ๆ สถานีโทรทัศน์ก็ต้องตัดภาพ เพื่อบอกให้ประชาชนสามารถรับทราบได้ ไม่ใช่เฉพาะโทรทัศน์ครับ วิทยุด้วย ซึ่งประเทศไทยเราก็มีวิทยุชุมชนที่ท่านบอกว่าเป็น Location Based Service บางทีอาจจะแจ้งเตือนไปยังศูนย์วิทยุชุมชนที่อยู่ตามจังหวัด ต่าง ๆ ก็ได้ ดังนั้นคำถามที่ ๒ ที่อยากจะขอความชัดเจนจากท่านว่าที่ท่านแถลงข่าวว่า Location Based Service จะพร้อมใช้งานภายใน ๑ เดือน ๖ เดือน ถึง ๑ ปี จะพร้อม เป็น Cell Broadcast คำว่า Location Based Service และ Cell Broadcast นี้ รองรับแค่ โทรศัพท์มือถือ หรือรองรับทั้งคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ TV ดาวเทียม หรือเคเบิล TV อันนี้คือ ความชัดเจนในเรื่องของสถาปัตยกรรมระบบ ก็เป็นการตั้งคำถามครั้งแรกที่จะส่งผ่าน ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องของทิศทางการดำเนินนโยบาย ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมครับ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขออนุญาตชี้แจง กระทู้ถามในเรื่องการเตือนภัยของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านนะครับ ที่มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนแล้วก็ได้ติดตาม ข่าวคราวในเรื่องของการช่วยเหลือมาโดยตลอด

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ต้นฉบับ

ผมไปคำถามข้อที่ ๑ ในเรื่องของรัฐบาลยุคที่แล้ว ได้มีการดำเนินการ เรื่องแผนงานในเรื่องของการแจ้งระบบเตือนภัย ผมขออนุญาตได้นำกราบเรียนว่าในรัฐบาล ที่แล้วได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า คณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับ การแจ้งเตือนภัย หรือคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กภช. ที่ตั้งขึ้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๒ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ส่วนรัฐมนตรี DE นั้นเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย และมีเลขานุการเป็นอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพลเรือน ผมกราบเรียนท่านณัฐพงษ์ว่าในเรื่องนี้ในยุครัฐบาลเดิม ได้มีการพูดคุยในเรื่องของระบบเตือนภัยแห่งชาติ ก็คือเรื่องของระบบ Cell Broadcast ขึ้นมา แต่ครั้งนั้นเข้าใจว่าระยะเวลาที่มีอยู่จำกัด การประชุมอยู่ในช่วงประมาณปี ๒๕๖๕ และโครงการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มดำเนินการทำ เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้หลังจากนั้นแล้ว มีเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นเกิดขึ้นที่สยามพารากอน ผมคิดว่านโยบายเก่าในเรื่องของ Cell Broadcast เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในฐานะที่มารับงานต่อในช่วงนี้ ก็จะดำเนินการในนโยบายที่จะต้องสร้างระบบเตือนภัยที่มีความมั่นคงแล้วก็เชื่อมั่นให้กับ พี่น้องประชาชน ผมขออนุญาตได้กราบเรียนท่านประธานแล้วก็ท่านสมาชิกทุกท่าน ระบบ มีอยู่ ๒ อย่างตามที่ท่านณัฐพงษ์ได้พูดมา ถูกต้องครับ เรื่องที่ ๑ ก็คือระบบเตือนภัยที่เรา เรียกว่า Location Based Service เป็นการส่ง SMS ในเรื่องนี้ทางกระทรวงได้ทดลอง การส่ง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง AIS และ True ทดลองปล่อย สัญญาณ SMS เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยยิงสัญญาณไปบริเวณทำเนียบรัฐบาลในรัศมี ๑ กิโลเมตร ทาง AIS ยิงสัญญาณเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทาง True ยิงสัญญาณเวลา ๑๒.๔๕ นาฬิกา แล้วผลของการดำเนินการดีทั้งคู่ หมายถึงได้รับสัญญาณชัดเจน แล้วก็ สามารถเตือนพี่น้องประชาชนได้ ในระยะยาวตามที่ท่านได้นำเรียนมาเรื่องของ Cell Broadcast ขณะนี้ผมเองได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้มีการพูดคุยกับ กสทช. ในเรื่องของการดำเนินการ ที่ในระยะยาวจะใช้เวลาถึง ผมคิดว่าน่าจะไม่น้อยกว่า ๖ เดือน แต่ไม่เกิน ๑ ปี ที่ท่านณัฐพงษ์ ได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นว่าระบบนี้น่าจะครอบคลุมถึงการสื่อสารทุกช่องทาง ไม่เฉพาะแต่ โทรศัพท์มือถือ แต่หมายถึงว่าต้องมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ชมทาง TV สื่อวิทยุ และสื่ออื่น ๆ โดยรวดเร็ว อันนี้ก็คิดว่าระบบนี้เราจะทำให้รองรับทุกช่องทางของการสื่อสาร แล้วก็ต้อง ขอเวลา ใช้เวลาในการพัฒนา Software แล้วก็บริหารในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ขออนุญาตตอบในเบื้องต้นว่าในระยะยาวนั้นเรามีโครงการที่จะทำเรื่องของ Cell Broadcast เพราะเป็นระบบที่สามารถ Push ข้อความได้ ๑,๐๐๐ กว่าอักษรลงใน โทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งปิดโทรศัพท์มือถือเสียงมันก็จะดังเตือนขึ้นมาได้ แล้วก็คิดว่าน่าจะ เป็นระบบที่ต่างประเทศได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือในญี่ปุ่นก็ดี ในไต้หวันก็ดี ในเกาหลีก็ดี และอีกหลาย ๆ ประเทศ ผมขออนุญาตได้นำเรียนท่านณัฐพงษ์ในคำถาม ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ไว้เบื้องต้น ขอขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ถามเป็นครั้งที่ ๒ ท่านมีเวลาอีก ๘ นาที ๒๘ วินาที เชิญครับ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่ลุกขึ้นมาตอบคำถาม ๒ ข้อแรก

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ และเห็นความชัดเจนมากขึ้นจากท่านรัฐมนตรีที่ได้ตอบคำถามก็คือ ๑ ปีในกรอบที่ท่านได้ แถลงคือในเรื่องของระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นลักษณะที่แจ้งเตือนเจาะจงตามพื้นที่ แล้วก็รองรับเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ อย่างเช่น ส่งเป็น Push Notification ที่ท่านได้นำเรียน หรือว่าอาจจะเป็น SMS ไปเข้าโทรศัพท์มือถือที่อาจจะยังไม่ใช่ Smart Phone แต่อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าสิ่งที่เราคาดหวังอยากจะให้เป็นระบบแจ้งเตือน ภัยพิบัติแห่งชาตินั้นก็คือการแจ้งเตือนไปยังทุก ๆ ช่องทางที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือด้วย อย่างเช่นในเรื่องของสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุต่าง ๆ สิ่งนี้ละครับที่ผมอยากจะได้ ความชัดเจนในเรื่องที่ ๒ อย่างแรก เมื่อสักครู่นี้ท่านได้ยืนยันแล้วว่ารัฐบาลมีแนวคิดให้เกิด ความชัดเจนในการพัฒนาระบบแจ้งเตือน มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะต้องครอบคลุมทุกเครือข่าย ทุกสื่อ แต่ถ้าท่านเห็นตาม Slide หน้านี้ว่าสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้มีหลายภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องด้วยกัน ไม่ว่าจากซ้ายสุดคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งภัยแจ้งเตือน ไม่ว่า จะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาเอง หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือหน่วยงาน ด้านความมั่นคง ส่งมาที่ระบบศูนย์กลาง ผมว่าส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือส่วนของ Operator ส่วนที่ ๓ ที่ท่านจะต้องวางระบบให้มีการครอบคลุมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ TV ดาวเทียม เคเบิล TV รวมถึงค่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผมเชื่อว่า ๑ ปีนี้ทำทุกอย่างไม่เสร็จ แน่นอน ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ได้บอกมาแล้วว่า ๑ ปีนี้รองรับแค่ในเรื่องของ Cell Broadcast นะครับ เพราะฉะนั้นความชัดเจนที่ผมอยากจะได้ในการถามครั้งที่ ๒ ก็คือเรื่องของ กรอบระยะเวลาว่าระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ประเทศไทยควรจะมีแบบที่ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกาที่เขาเรียกว่าระบบ IPAWS หรือว่า Integrated Public Alert and Warning System ซึ่งก็จะเป็นระบบที่รองรับสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น TV วิทยุ หรือโทรศัพท์มือถือก็ตาม อยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีครับว่าท่านมีแนวคิดหรือมี กรอบระยะเวลาในการทำให้เกิดระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติคล้าย ๆ ระบบ IPAWS ของสหรัฐอเมริกาที่รองรับสื่อทุกรูปแบบภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเร็วกว่า อยากจะสอบถามกรอบระยะเวลา หรือถ้าคิดว่าไม่สามารถเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ก็อยากจะได้แผนที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จภายในกี่ปีครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ก่อนที่ ท่านรัฐมนตรีจะตอบ ผมอยากจะเรียนต่อท่านสมาชิกว่าขณะนี้มีนิสิตคณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จำนวน ๙๐ ท่าน ได้มาฟัง การประชุมสภาของเราอยู่ชั้นบน สภาผู้แทนราษฎรขอขอบคุณทุกท่านนะครับ ต่อไปขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีครับ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องขอขอบคุณในคำถามที่ ๒ ครับ ท่านถามว่าระบบจะรองรับทุกช่องทางของการสื่อสารหรือไม่ ผมขอยืนยันว่าถ้าเราได้พัฒนา ระบบสมบูรณ์แล้ว ระบบนี้จะต้องรองรับทุกช่องทางตามที่ท่านสมาชิกณัฐพงษ์ได้กรุณา แนะนำมา ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ ผมกราบเรียนว่าในเรื่อง Cell Broadcast เราพูดไว้ว่าภายใน ๖ เดือน ถึง ๑ ปี เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องอื่น ๆ ที่ท่านกรุณาได้แนะนำมา รวมกับเรื่องสื่อสารทุกช่องทาง ถามว่าจะเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ผมขอยืนยันนะครับว่า จะทุ่มเทการทำงานในเรื่องนี้เพื่อให้ภารกิจที่จะต้องออกทุกช่องทางตามที่ท่านสมาชิก ได้แนะนำมา สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณณัฐพงษ์ถามเป็นครั้งที่ ๓ ครับ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ได้ความชัดเจน ๒ เรื่องจากท่านรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตั้ง กระทู้ถามที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพราะถือว่าเป็นบันทึกในที่ประชุม ที่ท่านรัฐมนตรีได้ประกาศมาแล้วนะครับว่า

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ชัดเจนในเรื่องทิศทาง ทิศทางก็คือจะต้องครอบคลุมการสื่อสาร ทุกรูปแบบ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. ท่านจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เท่านี้ ผมคิดว่าประชาชนก็อุ่นใจไประดับหนึ่ง

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ที่อยากได้ความชัดเจนไม่แพ้กันแล้วก็ขาดไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จเลย ถ้าขาดเรื่องนี้ ก็คือในเรื่องของงบประมาณ ท่านประธานครับ ตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้จัดทำ Workshop ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี ๒๕๖๗ ที่กำลังจะเข้าสู่ สภาผู้แทนราษฎรช่วงเดือนมกราคมปีหน้านี้ เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือน อันนั้นก็คือแหล่งเงิน งบประมาณหนึ่ง อีกแหล่งเงินงบประมาณหนึ่งก็คือในเรื่องของกองทุนต่าง ๆ ที่อยู่กับ กสทช. ดังนั้นหากท่านรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาและ Commitment ออกมาแล้วว่ารัฐบาล มีแนวคิดที่จะทำให้เกิดระบบแบบนี้ครอบคลุมทุกช่องทางให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ผมอยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีให้เป็นสัญญาใจระหว่างกัน ซึ่งเดี๋ยวสมาชิกทุกท่าน ๕๐๐ คน ก็ต้องตรวจสอบงบประมาณอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แน่นอนว่า ๑. แหล่งที่มา ของงบประมาณในการจัดทำโครงการนี้มาจากแหล่งใด ระหว่างใช้งบประมาณรายจ่าย ประจำปีซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือจะใช้เงินจากกองทุน กสทช. หรือจะเป็นลักษณะของการแบ่งคนละส่วน ก็คือใช้ประกอบกันทั้ง ๒ ส่วน ก็คือแหล่งที่มางบประมาณ อย่างที่ ๒ ถ้าท่านรัฐมนตรีมีแผนที่ชัดเจนแล้วว่า Location Based Service จะเสร็จภายใน ๑ ปี หรือว่าระบบที่บูรณาการจะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ณ ตอนนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือรัฐบาลเอง จะต้องมีการตั้งโครงการคำของบประมาณนี้เข้ามา อยากจะทราบชื่อโครงการของการจัดทำ งบประมาณในส่วนนี้ รวมถึงจำนวนเม็ดเงินงบประมาณด้วย เอาเป็นกรอบกว้าง ๆ ก็ได้ครับ ว่าปีนี้จะใช้เท่าไร ปีหน้าจะใช้เท่าไร ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๒ คำถามนะครับว่าเงินงบประมาณ ในการดำเนินการเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัยจะมาอย่างไร ผมต้องกราบเรียนท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติว่าในเรื่องนี้ผมได้หารือกับทาง กสทช. เบื้องต้นแล้ว แล้วก็จะใช้กองทุน กสทช. ในการดำเนินการ ซึ่ง กสทช. แล้วก็ทางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง ๒ หน่วยงานหลัก ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้ขณะนี้ยังไม่ได้ประมาณราคาที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นจะอยู่ในระดับ จากการได้พูดคุยกันกว้าง ๆ คิดว่าน่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาท จนถึงประมาณคิดว่า ไม่เกิน ๕๐๐ ล้านบาท โดยประมาณนี้ เพราะฉะนั้นแล้วตามที่ท่านสมาชิกมีความห่วงใย ผมจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว แล้วก็จะใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อย่างสูงที่สุดครับท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือว่าจบกระทู้ถามสดกระทู้ที่ ๓ ต้องขอบคุณท่านผู้ถามกระทู้ถามสดทั้ง ๓ ท่าน แล้วก็ท่านรัฐมนตรีทั้ง ๒ ท่านที่ได้มาตอบ กระทู้ถามสดในวันนี้ ก็อยากจะเรียนต่อท่านรัฐมนตรีว่า กระทู้ถามสดมีความจำเป็นที่จะต้อง ให้รัฐมนตรี รัฐบาลมาตอบในวันที่ถาม เพราะว่าเป็นกระทู้ถามสด ถ้าขอเลื่อนไปหรือไม่มา ตอบก็จะกลายเป็นกระทู้ถามไม่สด และเรื่องที่สมาชิกจะถามก็เป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วก็อยู่ใน ความสนใจของประชาชน เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องขอบคุณมาก เป็นตัวอย่างที่ดีครับ ขอบคุณไปยังรัฐบาลและรัฐมนตรี หวังว่าคราวหน้ากระทู้ถามสดคงจะสดและตอบได้ภายใน วันนี้นะครับท่านรัฐมนตรี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๒ กระทู้ถามทั่วไป

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. เรื่อง ปัญหาการก่อสร้างรถไฟทางคู่โครงการสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ช่วงจังหวัดราชบุรีที่ล่าช้า นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้ตอบ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขอเลื่อนไปตอบในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. เรื่อง ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืน นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบ รัฐมนตรีขอเลื่อนตอบในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ นี้เช่นเดียวกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. เรื่อง ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางขนุน เพื่อจัดตั้งศูนย์ต่อสู้อากาศยานของกองทัพเรือ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอเลื่อนไปตอบ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๔. เรื่อง ความคืบหน้าโครงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ บางปะอิน-นครราชสีมา นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบ ซึ่งท่านรัฐมนตรี มาพร้อมที่จะตอบแล้วนะครับ ผมขอเชิญคุณฉัตร สุภัทรวณิชย์ ครับ

นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ

ขออนุญาตสั้น ๆ ครับท่านประธาน ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๓ จะฝากประธานตำหนิ ไปยังทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยนะครับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดภูเก็ตมานาน วันนี้อยากให้ท่านเสียสละเวลามาตอบกระทู้ถาม บ้างนะครับ ให้ท่านมีความชัดเจนในการทำงานเหมือนที่เคยเป็นอดีตประธาน Whip มาก่อน ตอนที่เป็นฝ่ายค้าน รัฐมนตรีไม่มาตอบท่านก็ตำหนิ ฝากท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี ด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ท่านรัฐมนตรีได้ตอบว่าจะขอเลื่อนเป็นวันที่ ๒๖ ครับ เชิญครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล วันนี้กระทู้ถามของผมต้องขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีที่ได้เข้ามาเตรียมที่ จะตอบคำถามกระทู้ถามของผม เป็นเรื่องโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือจากนี้ไปจะขอเรียกว่า Motorway บางปะอิน-นครราชสีมา หรือ Motorway โคราช ที่มาครับ ผมก็เป็นคนโคราชคนหนึ่ง ตั้งแต่จำความได้ต้องเดินทางจากโคราชเข้ากรุงเทพฯ ไปมา คนโคราช คนอีสาน คนที่จะต้อง เดินทางไปมาระหว่างอีสานกับกรุงเทพฯ จะต้องใช้ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่เดิมถนนยังสวนกัน ใช้ Lane สวนกันไปมา จนพัฒนามาเรื่อย ๆ โครงการ Motorway บางปะอิน-โคราชเป็น ความหวังตั้งแต่หลายสิบปี มีการพูดถึงกันมานาน แล้วกว่าจะสร้างเราก็รอคอยความหวังที่ จะมีถนนเส้นใหม่ มีทางด่วน จวบจนวันที่ได้เริ่มก่อสร้างเราก็รอคอยว่าเมื่อไรจะเสร็จ แล้วก็ วันนี้คำถามหลักสำคัญ แน่นอนครับ อยากจะสอบถามว่าเมื่อไรจะเสร็จ ที่มาวันนี้ผมได้ สอบถามพี่น้องประชาชนโคราช หรือท่านใดที่อยากจะมีคำถามทำนองเดียวกันนี้เพื่อที่ ผมจะรวบรวมมายื่นต่อสภา แล้วก็กราบเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม บางท่านตอบมาว่าตั้งแต่เริ่มสร้างถนน Motorway บางปะอิน ลูก ๆ ยังเล็กอยู่ ทุกวันนี้โตกันหมดแล้วยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้ไหม แต่ว่าสิ่งที่ถามกันมาเยอะที่สุด มากที่สุด ก็คือว่าชาตินี้จะได้ใช้ไหม ถนนเส้นนี้เลื่อนแล้ว เลื่อนอยู่ จะเลื่อนต่อไปไหมครับ ผมเองเป็นคนโคราชที่เวลารับทราบว่าจะได้ใช้ก็ดีใจ ตั้งความหวัง ทุกครั้งที่บอกว่าปลายปีนี้ปลายปีนั้นจะได้ใช้แล้วมันก็เลื่อนครับ ทีนี้เรื่องถนนนี้ ก็ขออนุญาตพูดถึงในรัฐบาลก่อน ๆ ได้มีการติดตาม ได้มีการพยายามที่จะสอบถามอย่าง เข้มข้น ขออนุญาตพูดถึงท่าน สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็ได้อภิปราย อย่างเข้มข้น ติดตามช่วยคนโคราช ติดตามช่วยคนอีสาน ติดตามความคืบหน้าของโครงการ แต่โครงการที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าคืบหน้าเหมือนกันครับ ประกาศเลื่อนต่อ ทีนี้เราก็ ทราบเหตุผลประกอบกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่บานปลาย เงื่อนไข การก่อสร้าง สิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นเหตุผลก็ได้แถลงไขออกมา แต่ท่านประธานครับ ในการก่อสร้างนั้นน่าจะมีการได้ศึกษาอย่างดีรอบคอบเนื่องจากเป็นโครงการระดับ Megaproject หลายหมื่นล้านบาท แล้วก็เลื่อนแล้ว เลื่อนไปเรื่อย ๆ มีข้อมูลชุดความคิดที่ ออกมาเรื่อย ๆ ในรอบแรกนี้ผมอยากจะขอถามไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการแรก เมื่อไรจะเสร็จ แล้วที่เสร็จนั้นหมายถึงเสร็จทั้งเส้นนะครับ ไม่ใช่ว่าเปิดได้บางส่วนแล้วก็บอกว่าเสร็จแล้ว นี่คือประการที่ ๑

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดในบางช่วงให้พี่น้องประชาชนได้ขึ้น ไปใช้ ได้ไปทดสอบ ได้ไปรู้จักถนนที่เป็นทางเลือก ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเทศกาลก็เปิดให้ใช้ หลังเทศกาลก็ปิด มีพี่น้องประชาชนหลายคนบอกว่าถนน Motorway ที่ผ่านแถวบ้าน พอปิดไปแล้ว ต้นไม้ หญ้าก็ขึ้นรก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ถนนเสียหายได้ ในการสอบถามครั้งแรก ก็ขอเรียนสอบถาม ๒ ข้อนี้ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ ท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบ ผมต้องขออภัยครับ อ่านชื่อรัฐมนตรีคราวที่แล้วก็ผิดนะครับ ท่านมนพร เจริญศรี เชิญครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกนะคะ ในโครงการดังกล่าวดิฉันอยากจะขออนุญาต ฉาย Slide ให้เห็นภาพรวมของทั้งโครงการ จะใช้เวลาประมาณ ๓.๕ นาที เชิญรับชมค่ะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท่านประธาน ที่เคารพคะ นี่คือวีดิทัศน์ในภาพรวมของโครงการบางปะอิน-นครราชสีมา หรือเราเรียกว่า โครงการ M6 ซึ่งเป็นโครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ซึ่งมี ระยะทางทั้งสิ้น ๑๙๖ กิโลเมตร การก่อสร้างโยธาอย่างที่ดิฉันได้อยู่ในวีดิทัศน์มีทั้งหมด ๔๐ สัญญา โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในจำนวนทั้งสิ้น ๒๘ สัญญา แล้วก็อยู่ในระหว่าง การก่อสร้างอีก ๑๒ สัญญา ซึ่งความก้าวหน้าของงานโยธาแล้วเสร็จประมาณ ๙๑.๙๖ เปอร์เซ็นต์ ส่วนการก่อสร้างในการที่จะสร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ร้อยละ ๒๐.๕๒ เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานก่อสร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียม เราก็จะเร่งรัดให้ดำเนินการ ก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้ง ๙ ด่าน ภายในเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๗ นี้ ทั้งนี้ โครงการได้รับการ จัดสรรงบประมาณจากเดิมเป็นแบบอย่างที่จัดสรรเพิ่มเติมเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเงิน ๔,๙๗๐ ล้านบาท แล้วก็จะมีการเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดให้แล้วเสร็จประมาณ เดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๖๘ ถึงอย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงก็เตรียม โครงการดังกล่าวเพื่อเสนอต่อ ครม. ในการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกในวงเงิน ๑,๗๔๐ ล้านบาท สำหรับงานโยธาก็ได้มีการปรับแบบในบางส่วน ขณะนี้ได้ดำเนินการ ก่อสร้างไปแล้วทั้งระบบ ทั้งงานก่อสร้างในส่วนของโยธาและงานระบบจะแล้วเสร็จในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๖๘ ท่านประธานคะ ขณะที่ถนนเส้นทางดังกล่าวเป็นประตูสู่ภาคอีสาน ซึ่งมีทั้ง ๒๐ จังหวัด แล้วก็เป็นถนนสายหลัก ทางกรมทางหลวงโดยกระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้าง ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนของการขอรับงบประมาณเพิ่มเติม ทางกระทรวงคมนาคมได้มี ความพร้อมแล้วที่จะเร่งรัดแล้วก็นำเสนอ ครม. ในงบประมาณที่เหลือ ถ้าเส้นทางดังกล่าว ได้มีการเปิดใช้ดิฉันเชื่อมั่นว่าเส้นทางนี้จะอำนวยความสะดวกให้หลายเส้นทางไปสู่อีสาน มีความสะดวกสบายแล้วก็ร่นระยะเวลาการเดินทาง โดยเฉพาะการขนส่งทางบก นอกจากนั้นพี่น้องชาวอีสานก็หวังว่าความเจริญในภาพของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม จะมีการผลักดันโครงการ เหล่านี้ให้สำเร็จแล้วก็เป็นความหวังของพี่น้องคนอีสานต่อไป ดิฉันขออนุญาตตอบ คำถามแรกของท่านสมาชิกค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านผู้ถามคำถามที่ ๒ ครับ เชิญครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ หน้าย่าโม พรรคก้าวไกล ต้องกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีนะครับ ขอบพระคุณ ใน Presentation ที่ได้นำมาเสนอ ผมมีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่าข้อมูลชุดที่ท่านนำมาเสนอนั้น จริง ๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่สามารถพบได้ทั่วไปที่พยายามมีการรณรงค์สื่อสารออกมา แล้วก็ หากจำไม่ผิดนะครับ ข้อมูลชุดนี้ได้รับการเสนอครั้งแล้วครั้งเล่า ผมเองอาจจะคาดการณ์ ในเชิงลึกว่าในฐานะผู้บริหารเจ้ากระทรวง ท่านมีกรอบในการทำงานอย่างไร แล้วก็มีตัววัดผล มีตัวชี้วัดที่จะเร่งรัดในฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูง ท่านเข้าใจดีครับ อย่างที่ได้เรียน เมื่อสักครู่นี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างไร แต่ว่าเหตุผลแล้วก็คำอธิบายที่ได้ แถลงออกมานั้น จริง ๆ แล้วเป็นแผนดำเนินงานของราชการ จะเป็นการดีมากหากมี การเร่งรัดแล้วก็ใส่ใจในรายละเอียดในเชิงลึกไปกว่านี้ เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นลักษณะ การตอบที่ผมเป็นคนโคราชได้ยินครั้งแล้วครั้งเล่า เลื่อนแล้วเลื่อนเล่า มันถึงวน Loop ที่ว่า เลื่อนแล้วเลื่อนอยู่ จะเลื่อนต่อไปไหม ผมได้รับการบอกกล่าวตั้งแต่ว่าโครงการนี้จะเสร็จ ปี ๒๕๖๓ เลื่อนเป็นปี ๒๕๖๔ เป็นปี ๒๕๖๖ นี่เป็นปี ๒๕๖๘ ตรงนี้อยากจะเป็นข้อสังเกต เผื่อผู้บริหารระดับสูง เจ้ากระทรวง จะได้ระแวดระวังแล้วก็ดูแลให้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น คำถามที่ ๒ จริง ๆ แล้วอยากจะทราบว่ามีกรอบในการทำงาน มีการเร่งรัดในเชิงลึกที่จะ ทำให้โครงการ Motorway บางปะอิน-โคราช เส้นนี้สำเร็จลุล่วงภายในกำหนดการได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากประเด็นคำถามที่ ๒ ที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ก็ขอ กราบเรียนว่าวีดิทัศน์ที่ดิฉันนำเสนอนั้นเป็นวีดิทัศน์ที่เกี่ยวกับรายละเอียดภาพรวมของ โครงการทั้งหมด เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวีดิทัศน์นี้ได้ เพราะวีดิทัศน์นี้คือมาจาก พื้นฐานความเป็นจริง มาจากโครงการจริง ๆ การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมก็คืออย่างที่ดิฉัน ได้นำเสนอว่าเรามีการของบประมาณเพิ่มเติมต่อ ครม. รายละเอียดดังกล่าว การสั่งงาน ในเชิงลึก ปัจจุบันการกำกับดูแลจะไม่มีการสั่งงานในเชิงลึก มีการสั่งงานโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมา ถูกต้องตามระเบียบของการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ในการนำเสนอ โครงการในหน่วยงานดังกล่าว กระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งรัดที่จะให้มีการเปิดการใช้ อย่างเร็วที่สุด แต่เราต้องยอมรับว่าการใช้เงินงบประมาณทุกโครงการที่เป็นเงินมาจากภาษี ของพี่น้องประชาชนต้องมีการใช้อย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการนั้น ๆ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ในคำถามที่ ๒ ดิฉันจะพูดถึงแผนงานการเปิดใช้งานของโครงการดังกล่าว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี ๒๕๖๗ ใกล้ ๆ อีกเพียงไม่กี่เดือนนี้ ก็เป็นนโยบายที่เราจะเปิดใช้ ในช่วงของปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ดังในภาพ ก็จะเปิดให้ใช้ในระยะทางแรกก่อนในจำนวน ๘๐ กิโลเมตร นอกจากนั้นก็จะมีการทดลอง ระบบเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนในปี ๒๕๖๘ ต่อจากนั้นก็จะมีการเปิดทดลอง ให้ใช้บริการฟรีประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ภายหลังปี ๒๕๖๘ ภายหลังงาน ก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะประมาณเดือนพฤศจิกายน ก็เป็นปี ๒๕๖๘ แล้วก็จะให้มีการเปิด บริการเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งมีการเก็บค่าผ่านทางแต่ละด่านตลอดเส้นทางทั้ง ๑๙๖ กิโลเมตร ต้นปี ๒๕๖๙ นี่คือภาพรวมของการเตรียมการให้เปิด ท่านประธานที่เคารพคะ จริง ๆ โครงการทุกโครงการล้วนมีความสำคัญ เพียงแต่รัฐบาลจะให้ความสำคัญโครงการไหน ก่อนหลัง เพราะการคิดโครงการแต่ละโครงการซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เราจะต้องอาศัย งบประมาณจากการเก็บภาษีของพี่น้องประชาชนแต่ละไตรมาส แล้วมาลำดับความสำคัญ ของโครงการนั้น ๆ เราทราบข่าวว่าฐานะเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาเรามีภาระเงินกู้ มหาศาล ความจำเป็นเร่งด่วนในภาพรวมของพี่น้องประชาชนที่ยังลำบาก เพราะฉะนั้น การจัดสรรงบประมาณแต่ละบาท ทุกบาททุกสตางค์รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญ ของแต่ละโครงการเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของสาย บางปะอิน-นครราชสีมา หรือ M6 ท่านประธานคะ บ้านดิฉันอยู่นครพนม อยู่ภาคอีสาน เป็นจังหวัดชายขอบ ดิฉันก็อยากให้โครงการนี้สำเร็จเหมือนทันใจว่าสำเร็จเดือนนี้ได้ไหม ปีหน้าได้ไหม ปีโน้นได้ไหม เฉกเช่นเดียวกับความรู้สึกของท่านสมาชิก แต่เราต้องยอมรับว่า ข้อสำคัญคืองบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรไป ไม่เพียงแค่กระทรวงคมนาคมเท่านั้น ยังมี กระทรวงอื่น ๆ อีก

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ข้อซักถามของท่านสมาชิกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสร้างเมืองทาง เลี่ยงเมืองสายบางปะอินไปจนถึงนครราชสีมา ดิฉันจะนำข้อเสนอของท่านสมาชิก ในการเตรียมการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม. แล้วก็เร่งรัดกำชับผู้รับจ้างแต่ละช่วง สายทางให้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็กำชับเรื่องของความปลอดภัย ในช่วงระหว่างก่อสร้าง และกำชับให้พี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงไม่ให้มีผลกระทบ ในระหว่างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถือว่าจบกระทู้ถามนะครับ

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาต อีกนิดหนึ่ง ยังเหลือเวลาอีกนิดหนึ่ง ฉัตร สุภัทรวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา เขต ๑ เมื่อสักครู่นี้กราบเรียนท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี เป็นคำตอบที่ยอดเยี่ยมมากครับ แต่ทว่าผมอยากจะให้มีการเปิดเผย โปร่งใสอย่างที่ ท่านรัฐมนตรีได้พูดถึงจริง ๆ ในรัฐบาลก่อน สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ของเราก็เคย อภิปรายเรื่องนี้ และเคยให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าแต่ละโครงการที่ยังเหลือ จริง ๆ เป็นข้อมูลเก่าแล้ว ๔๐ โครงการเสร็จไปแล้ว ๒๔ โครงการ เหลือ ๑๖ โครงการ เราเคยสอบถามกระทั่งว่า แต่ละสัญญาได้จัดสรรงบประมาณลงไปแต่ละสัญญาหรือไม่ อย่างไร มิเช่นนั้นเราก็จะได้ยิน คำตอบมาเรื่อย ๆ ว่าสัญญา ๔๐ สัญญา เสร็จไปแล้ว ๒๔ สัญญา เหลือ ๑๖ สัญญา ปรากฏว่าบางสัญญาอาจจะมีการข้ามงบประมาณแล้วก็ยังไม่ได้นำงบประมาณไปด้วย เหตุผลต่าง ๆ นานา ด้วยความจำเป็น ด้วยความที่เรามีงบประมาณจำกัดแล้วก็เรียงลำดับ ทีนี้มันส่งผลครับ ส่งผลให้ทาง Motorway บางปะอิน-โคราช ไม่สามารถสร้างได้เสร็จ ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มเส้นสักทีหนึ่ง ก็เป็นทั้งข้อสังเกตไปยังท่านรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี วันนี้ผมเชื่อว่าพี่น้องชาวโคราช คนอีสานทุกคนที่รอจะใช้ทางหลวง Motorway บางปะอิน-นครราชสีมา เพื่อที่จะเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ส่งเสริมเศรษฐกิจระบบ Logistics ก็จะได้คำตอบแล้วก็คาดหวังว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เรารอ ปลายปี ๒๕๖๘ เราจะได้ใช้ทางหลวงเส้นนี้ ก่อนจะถึงปลายปี ๒๕๖๘ ได้รับทราบจากท่านรัฐมนตรีแล้วว่า จะมีการเปิดทดลองใช้และได้ให้ทดลองใช้ถนนจริงก่อนเป็นช่วง ๆ ไป อย่างนี้เป็นต้น ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานไป ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีจะตอบไหม นิดหน่อยก็ได้ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อข้อฝากของท่านสมาชิกที่ได้ฝากประเด็นไว้ ดิฉันจะนำไปปฏิบัติแล้วก็จะมีการเปิดเผย ข้อมูลทุกสัญญา ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสาร ทั้ง Website ของกระทรวงคมนาคม แล้วก็ ของโครงการแต่ละจุด ๆ ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านสมาชิกได้เป็นตัวแทนของคนภาคอีสาน ทั้ง ๒๐ จังหวัด ได้สอบถามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว ส่วนดิฉันเองซึ่งมาจากทาง ภาคอีสานเช่นเดียวกัน ก็จะทุ่มเททำงานเพื่อให้เส้นทางดังกล่าวเปิดใช้ให้เร็วที่สุด ตามแผนงานการดำเนินงานที่เราได้วางแผนไว้ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาตอบกระทู้ถามนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ก็ได้ดำเนินการถามตอบในห้องกระทู้ถาม แยกเฉพาะแล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนที่ประชุมครับ ตอนนี้ทางห้องประชุมก็พร้อมแล้วในการเริ่มประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๒

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก่อนดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมขอชี้แจงที่ประชุม ทราบ การถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะแต่ละกระทู้จะถามตอบได้ครั้งละไม่เกิน ๒ ครั้ง และถามตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที ผมก็จะหยวน ๆ ๓ ครั้งได้ถ้าเกิดคุมเวลาได้ แล้วถ้าท่านผู้ถามใช้เวลาน้อย ท่านรัฐมนตรีก็สามารถใช้เวลาเพิ่มขึ้นได้ แล้วกระทู้ถาม แยกเฉพาะจะอนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟัง ต้องขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตาม ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยนะครับ สำหรับการพิจารณากระทู้ถาม แยกเฉพาะมีการสลับลำดับเพื่อความสะดวกในการถามและตอบของผู้ตั้งกระทู้ แล้วก็ ท่านรัฐมนตรีนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

โดยลำดับที่ ๑ จะเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่องที่ ๐๑๓ ของท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ลำดับที่ ๒ ก็จะเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่องที่ ๐๑๒ ของท่านร่มธรรม เช่นเดียวกัน มีการสลับลำดับเล็กน้อยนะครับแล้วก็ลำดับที่ ๓ จะเป็นกระทู้ธรรมแยกเฉพาะ เรื่องที่ ๐๒๗ ของท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ ลำดับที่ ๔ กระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่องที่ ๐๒๘ ของท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตร ลำดับที่ ๕ และลำดับที่ ๖ เรื่องที่ ๐๒๔ และเรื่องที่ ๐๒๕ รัฐมนตรีขอเลื่อนตอบนะครับ เป็นกระทู้ของท่านปวิตรา จิตตกิจ ผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ขัดข้อง สลับลำดับตามนี้นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศและจังหวัดพัทลุง นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ อนุญาตให้ผู้แทนหน่วยงาน เข้ามาสนับสนุนข้อมูล ๒ ท่าน คือท่านสมชาย ชมภูน้อย และท่านจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดี กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วันนี้เราได้รับเกียรติจากท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติสภานะครับ ผมขอเชิญท่านร่มธรรมดำเนินการถามกระทู้ได้เลยครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อันดับแรก ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถามของผม และขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ได้กรุณาให้เกียรติกระผมและสภามาตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่องการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวของประเทศและจังหวัดพัทลุงในวันนี้ สำหรับรายละเอียดของกระทู้ถาม ได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่ให้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผมจึง ขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้อภิปรายประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไป ท่านประธานครับ การท่องเที่ยวถือเป็น ๑ สิ่งที่สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ โดยประเทศไทย เป็นหมุดหมายที่สำคัญแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติ มีศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเรามีอาหารการกิน ที่พัก และภาคบริการที่ดี ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อรายได้ ของพี่น้องประชาชนและต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน มีศักยภาพและโอกาส ที่จะเติบโตอีกมากมาย อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ที่ผ่านมาประเทศของเราก็ยังมีปัญหา มีอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว เช่น ด้านกฎหมาย ด้านความไม่ปลอดภัย การขาดแคลน โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน และขาดนโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างจริงจัง สำหรับจังหวัดพัทลุงเองก็เช่นกัน เรามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา น้ำตก ป่า นา และทะเลสาบที่สวยงาม เรามีศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น หนังตะลุงและมโนราห์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เรามีควายน้ำ ที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย เรามีผลิตภัณฑ์ และอาหารที่ขึ้นชื่อ เช่น ผลิตภัณฑ์กระจูด ข้าวสังข์หยด และกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ เป็นต้น จากจังหวัดที่ทำการเกษตรเป็นหลัก วันนี้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งในโอกาสที่สำคัญที่จะ สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ให้พี่น้องหลุดพ้นจากความยากจน โดยวันนี้มีคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาเปิดธุรกิจ Startup ด้านการท่องเที่ยวมากมาย เป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง และเรามีผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่ส่งเสริม การท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาพัทลุงได้รับการสนับสนุนให้เป็นเมืองรองตามนโยบาย ของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดและงบประมาณยังมีอยู่ อย่างจำกัด จังหวัดพัทลุงยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ด้านการเดินทางและการคมนาคมขนส่งมายังจังหวัด และอาจทำให้จังหวัดของเราเสียเปรียบ ในขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว ผมเกรงว่าจังหวัดพัทลุงจากแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง จะเป็นจังหวัดที่ถูกลืม ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของ ประเทศและพัฒนาให้พัทลุงไม่เป็นเมืองรองที่ถูกลืม ผมจึงขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดัง ต่อไปนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ของประเทศไทยแต่ละด้านอย่างไร

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงอย่างไร ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ ดังนี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจ ในการกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ไว้ว่า การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม โดยในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายนั้นมีหน่วยงานภายใต้ การกำกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกอบด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในการนี้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อน การท่องเที่ยวประเทศไทยภายในระยะเวลา ๕ ปี โดยให้การท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมี ส่วนร่วมโดยมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้มีความเข้มแข็ง โดยจะเป็นการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยในการกำหนดยุทธศาสตร์ พัฒนาออกเป็น ๔ ยุทธศาสตร์ดังนี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

๑. เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

๒. พัฒนาปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูง

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

๓. ยกระดับประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยว

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

๔. ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

จากที่มีการแถลงนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ต่อสภา มีประเด็นควบคุมการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญแล้วก็ผลักดันในการสร้างรายได้ท่องเที่ยว เป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นกุญแจดอกแรกแล้วก็ดอกสำคัญ เพื่อที่ จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย จากที่ท่านอาจจะได้ทราบกันไปแล้ว ขอย้ำ อีกครั้งหนึ่งว่าการผลักดันในการสร้างรายได้การท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วน เรามีการที่จะ ผลักดันการจัดทำ FastTrack Visa สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ พร้อมทั้งมี การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม Visa สำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ซึ่งจาก ที่แถลงการณ์ไปแล้วก็จะมีคาซัคสถานและจีน พร้อมทั้งร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วน เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า แล้วก็งานเทศกาลระดับโลกเพื่อยกระดับประเทศให้เป็น สถานที่สำคัญในการจัดแสดงสินค้าต่าง ๆ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

๒. ผลักดันการพัฒนาการบริการจัดการทุกขั้นตอนการให้บริการที่เป็นประตู สู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลักดันปรับปรุงการคมนาคม อย่างที่ทราบนะคะ มีการลงไปเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภูเก็ต หรือว่าพื้นที่เชียงใหม่ แล้วดูเรื่องการปรับปรุง สนามบิน หรือดูแลเรื่องการที่จะวางแผนในการสร้างสนามบินเพิ่มเติม และการจัดการ เที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลักดันการแก้ปัญหา การทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว แล้วก็ในส่วนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ตามแผนวิสาหกิจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๖๖-๒๕๗๐ เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งมียุทธศาสตร์ ดังนี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งมีทิศทาง ในการปรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายของประเทศไทย ให้มุ่งเน้นไปสู่นักท่องเที่ยว กลุ่มคุณภาพ อันได้แก่ นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง นักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง รวมทั้ง กลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในและนอก อุตสาหกรรมค่ะ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนของกรมการท่องเที่ยว มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติราชการระยะ ๕ ปี ดังนี้ ประเด็นการพัฒนาที่ ๑ คือส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับทิศทางการท่องเที่ยวทั้งในแล้วก็สากล ส่วนพัฒนาการที่ ๒ คือพัฒนา การยกระดับมาตรฐานสินค้า บริการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ประเด็นการพัฒนาที่ ๓ คือยกระดับการดำเนินงาน ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวทุกมิติด้วย Digital ประเด็น การพัฒนาที่ ๔ คือยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนของ อพท. หรือการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน มียุทธศาสตร์ดังนี้ค่ะ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัตถุประสงค์การประกาศพื้นที่ พิเศษ สนับสนุนการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ สนับสนุนการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีในพื้นที่พิเศษ สนับสนุน และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวสีเขียวในพื้นที่พิเศษ พัฒนาการศักยภาพ ทุนมนุษย์ และสร้างความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งยกระดับ ขีดความสามารถของห่วงโซ่การท่องเที่ยวและกลไกบริหารการจัดการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนค่ะ ในส่วนคำถามข้อที่ ๑ คือประมาณนี้ค่ะ ให้ตอบในส่วนข้อที่ ๒ เลยไหมคะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ตามที่ท่านรัฐมนตรีบริหารเวลาเลยครับ ท่านรัฐมนตรียังมีเวลาอยู่ครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนคำถามที่ ๒ จากที่ท่านสมาชิกได้สอบถามว่ามีทิศทางในการพัฒนา ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงไว้อย่างไร แนวทางก็จะประมาณนี้นะคะ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนการท่องเที่ยวและกีฬา มีทิศทางพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ของจังหวัดพัทลุงดังนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มทะเลสาบสงขลา ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้มีเขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชนให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างสมดุล และยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้มีแนวทางในการพัฒนาและมาตรการแนวทางขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติการ ท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงดังนี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางการพัฒนาที่ ๑ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สร้างสิ่งจูงใจทางการท่องเที่ยว รองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางการพัฒนาที่ ๒ คือพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด ในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยให้ได้รับการท่องเที่ยวทุกฤดูกาล และกระตุ้น เศรษฐกิจใหม่

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางการพัฒนาที่ ๓ พัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน หนุนเศรษฐกิจ ชุมชน เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการกับการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ มีมาตรฐาน ปลอดภัยและแข่งขันได้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางการพัฒนาที่ ๔ พัฒนาตัวผู้ประกอบการ บุคลากรการท่องเที่ยว และมาตรฐานการท่องเที่ยว รองรับการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางการพัฒนาที่ ๕ พัฒนาตลาดการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทาง การท่องเที่ยวแบบเชิงรุก

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

อีก ๑ สิ่งจากทาง อพท. โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ดำเนินการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ เห็นชอบให้มีการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม พื้นที่ทั้งหมด ๓ จังหวัด ๑๕ อำเภอ เนื้อที่โดยประมาณ ๕,๕๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือโดยประมาณ ๓,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยครอบคลุมจังหวัดสงขลา ๘ อำเภอ จังหวัดพัทลุง ของท่านสมาชิก ๕ อำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒ อำเภอ และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้วิสัยทัศน์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งในโครงการนี้จะมีโครงการทั้งหมด ๒๗๐ โครงการ โดยที่มีงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท เป็นโครงการที่มีหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดพัทลุงเป็นผู้รับผิดชอบ ประมาณ ๙๖ โครงการ ซึ่งงบประมาณประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งอย่างไรก็ตามทาง อพท. ได้เสนอแผนดังกล่าวให้สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปแล้ว แล้วก็พิจารณาก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อยู่ระหว่างการทบทวนตามข้อคิดเห็นของ สสช. และหากผ่าน การเห็นชอบแล้วจะนำเอาแผนนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้เห็นชอบต่อไป เดี๋ยวขอเพิ่มอีกนิดหน่อยได้ไหมคะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีครับ ผมคิดว่า Break ให้ท่านผู้ตั้งกระทู้ถามอีกสักรอบดีกว่านะครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณสำหรับ คำตอบกระทู้ถามจากท่านรัฐมนตรีนะครับ ผมคิดว่าครบถ้วนทั้ง ๒ คำถามที่ผมได้ถามไป แต่ท่านอาจจะมีเพิ่มเติม ขอบคุณที่ท่านได้ให้ข้อมูลทั้งด้านการพัฒนาประเทศ แล้วก็ จังหวัดพัทลุง ขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้เชิญชวนท่านประธานแล้วก็ท่านรัฐมนตรีไปเที่ยว ที่จังหวัดพัทลุงด้วยนะครับ จะได้เห็นว่าเรามีโอกาสและศักยภาพ เชิญชวนด้วยนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้สั้น ๆ ก่อน ขออนุญาตชื่นชมท่านรัฐมนตรีว่า แม้ท่านเพิ่งจะได้รับตำแหน่ง แต่จากที่ผมได้ฟังคำตอบ ได้เห็นวิสัยทัศน์ แล้วก็ติดตาม การทำงานของท่าน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ การท่องเที่ยว ผมจึงมีความยินดีและมีความคาดหวังครับว่ารัฐบาลจะช่วยผลักดัน การท่องเที่ยวในประเทศและในจังหวัดพัทลุงได้ ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้ต่อไป ในเวลา ที่เหลือฝากข้อเสนอแนะในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี และรัฐบาลเพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ ด้านการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ตารางการท่องเที่ยว เทศกาล ประเพณี ในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี ไปจนถึงการสื่อสาร ศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ อาหาร และบริการ อันจะเป็นการส่งเสริม Soft Power ของไทยไปสู่สายตาชาวโลก เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว โดยควรจะมีช่องทางที่รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปยัง แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่พักและบริการ เป็นต้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว โดยข่าวนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตและบาดเจ็บ ในประเทศไทย ทั้งจากอุบัติเหตุและอาชญากรรมมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งรวมถึงข่าวกราดยิง ที่พารากอนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ด้วย รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ทั่วโลก และป้องกันเหตุเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยควรจะมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับควรมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในยามวิกฤติ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ขอให้ทางกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ต้อง ไม่เน้นแค่เพิ่มจำนวน แต่ควรจะเน้นเพิ่มคุณภาพ เพิ่มการใช้จ่าย และต้องสร้างรายได้ ให้พี่น้องประชาชนคนไทยในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ เท่านั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความรู้และสร้างทักษะให้พี่น้องประชาชนด้านการประกอบการด้วย โดยควรที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทราบว่ามีในนโยบายของรัฐบาลแล้วด้วย และควรจะมีช่วง ที่ปิดแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้ได้ฟื้นฟูและป้องกัน การเสื่อมโทรม อย่างกรณีการปิดอ่าวมาหยาที่ได้ทำจนประสบความสำเร็จแล้ว เป็นต้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้พิจารณามาตรการส่งเสริมและดึงดูด ให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยให้ตรงตามความต้องการและ Life style มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยว เชิงกิจกรรม ท่องเที่ยวหลังเกษียณ กลุ่ม Vocation ท่องเที่ยวสายมู และตามรอยหนัง โดยจะต้องมีมาตรการการอำนวยความสะดวก เช่น Free visa หรือ Long stay visa และการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งท่านรัฐมนตรี ก็ได้ตอบในส่วนนี้แล้ว

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สำหรับจังหวัดพัทลุงในประเด็นนี้ ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาผ่อนปรนกฎ ระเบียบ เพื่อให้รถบัสนำเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ให้เดินทาง ไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ โดยปัจจุบันทราบว่ามีกฎ ระเบียบที่จำกัดให้รถบัสเหล่านี้เข้ามาได้เฉพาะ ในจังหวัดสงขลาเท่านั้น ซึ่งหากมีการผ่อนปรนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ขอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยไม่ควรเน้นเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่ควรเน้นเมืองรอง และเมืองเล็ก เพื่อกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงในด้านโครงสร้าง พื้นฐาน เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว โดยในจังหวัดพัทลุงพี่น้อง ประชาชน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ ขออนุญาตนะครับ การถามกระทู้ถามจะต้องเป็นลักษณะคำถาม แล้วก็มี คำถามที่ชัดเจน พอดีผมเห็นว่าท่านกำลังเกริ่นหลายเรื่องอยู่ แต่ก็ขออนุญาตไม่ให้เป็น การอภิปรายหรือหารือนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ได้ครับ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะเข้าสู่คำถาม สั้น ๆ ครับ โดยในจังหวัดพัทลุงพี่น้องประชาชนมีความต้องการโครงการพัฒนา เช่น การก่อสร้างสนามบิน สะพานข้ามทะเลสาบ ถนนเพื่อการท่องเที่ยวริมทะเลสาบ และริมเขา บรรทัด สำหรับในด้านกีฬา พี่น้องประชาชนต้องการให้มีการสร้างสนามกีฬามาตรฐาน ๑ แห่งในพื้นที่ของอำเภอตอนใต้ เพื่อเป็นที่รองรับการจัดกีฬาระดับประเทศ และระดับ นานาชาติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นคำถามผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าได้มีนโยบาย ในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ด้วยหรือไม่

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนคนไทยและคนพัทลุง มีความคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในโอกาสการสร้างรายได้ เพื่อให้พวกเขาได้ลืมตา อ้าปาก และหลุดพ้นจากความยากจนได้ ผมจึงขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีอีกครั้งที่ได้มาตอบ กระทู้ถามของกระผม และฝากข้อเสนอแนะและคำถามในตอนท้ายในการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยและในจังหวัดพัทลุง ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาผลักดันต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านรัฐมนตรีเลยเวลามาแล้ว แต่ว่าผมให้อีกประมาณ ๓ นาที เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ขออนุญาตนิดหนึ่งนะคะ ในส่วนของข้อเสนอแนะบางส่วนของทางกระทรวง เรามีทำอยู่แล้ว แล้วก็ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะดี ๆ เดี๋ยวเราจะเอากลับไปแล้วก็ผลักดัน เพิ่มเติม แต่ว่าในบางส่วนที่ท่านสมาชิกได้สอบถามมา อย่างเช่น ในส่วนของรถบัส อันนี้ อาจจะต้องมีหลาย Party หน่อย หมายถึงว่าอาจจะต้องบูรณาการในหลาย ๆ หน่วยงาน ก็จะมีทั้งไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยเอง หรือเป็นทางกระทรวงคมนาคม แล้วก็ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แล้วก็มีในส่วนของความมั่นคงด้วย ในส่วนนี้ก็จะขอ นำไปหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม หากมีโอกาสด้วยความที่ตั้งแต่รับตำแหน่งมายังไม่เคย มีโอกาสไปทางพัทลุง เดี๋ยวถ้ามีโอกาสจะขออนุญาตลงไปเยี่ยมที่จังหวัดของเพื่อนสมาชิก อีกครั้งหนึ่งนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ ทั้งผู้ถามและผู้ตอบก็ได้ใช้สิทธิครบ ๒๐ นาทีแล้ว ขอบคุณ ทางท่านสมาชิกและท่านรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ ในการถาม กระทู้ถามแรก ผมพลาดไปเรื่องหนึ่งคือผมไม่ได้อ่านชื่อของประชาชนที่เข้าร่วมรับฟัง มี ๒ ท่านนะครับ ท่านผ่องศรี ธาราภูมิ แล้วก็ท่านเศรษฐสิริ ธานีรณานนท์ จะได้บันทึก ไว้ในรายงานการประชุมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดพัทลุง นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่านายกรัฐมนตรีบัญชาให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน แต่เนื่องจากท่านรัฐมนตรี ติดภารกิจ จึงได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน และเพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสนับสนุนข้อมูลในการตอบ มีท่านปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม แล้วก็ท่านจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่ให้เกียรตินะครับ ขอเชิญท่านร่มธรรมดำเนินการถามกระทู้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับแรก ขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ของผม และขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ที่ได้กรุณาให้เกียรติผมและสภามาตอบกระทู้ถาม แยกเฉพาะ เรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดพัทลุงในวันนี้ ซึ่งรายละเอียด ของกระทู้ถามได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่ให้รับทราบแล้ว ผมจึงขออนุญาต ใช้เวลาตรงนี้อภิปรายประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไปครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งเทือกเขา ป่า นา และทะเลสาบ พี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง โดยมีผลผลิต หลายชนิดที่ส่งขายต่างจังหวัด ผลผลิตบางชนิดส่งขายต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ มีการผลิตหมู วัว ส่งออก และผลิตโคนมส่งขายทั่วภาคใต้ อีกทั้งจังหวัดพัทลุงยังมีอาหาร ในทะเลสาบที่ขึ้นชื่อมากมาย โดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ โดยผลผลิตของพัทลุง บางชนิดยังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คือข้าวสังข์หยด และมีควายน้ำเป็นมรดกโลก ทางการเกษตร นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังเป็นจังหวัดที่เป็นดาวรุ่งด้านการท่องเที่ยว เป็นที่ท่องเที่ยวเมืองรองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งครับ เพราะเรามีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ ทั้งภูเขา เมฆ หมอก ป่าไม้ และน้ำตกที่อุดมสมบูรณ์ ไปจนถึงยังมีพื้นที่ชุมชนและทุ่งนา และทะเลสาบที่สวยงาม มากไปกว่านั้นจังหวัดพัทลุงยังมีเอกลักษณ์ในด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุงและมโนราห์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่กลับบ้านมาประกอบอาชีพในจังหวัดพัทลุง มาสร้าง ธุรกิจ Startup ทั้งในด้านการเกษตร การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว และการบริการ ซึ่งถือว่าเริ่มมีกลุ่มธุรกิจที่เข้มแข็ง จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพัทลุง มีศักยภาพที่จะพัฒนาทางด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผลิตอาหารปลอดภัย การเป็นเมืองของ ผู้ประกอบการยุคใหม่ และที่สำคัญ พัทลุงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางในระดับโลกทางด้าน เกษตร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ตามครับ ท่านประธาน จังหวัดพัทลุงยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและงบประมาณ โดยเฉพาะ ในด้านการคมนาคมขนส่งและ Logistics ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจ ของจังหวัดพัทลุงได้พัฒนาและเติบโต โดยผมขอยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดพัทลุงยังขาด สนามบิน ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายของภาคใต้ที่ยังไม่มีสนามบิน โดยเป็นความต้องการของ พี่น้องประชาชนเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว จังหวัดพัทลุงยังขาด การปรับปรุงและพัฒนาถนนเลียบทะเลสาบและถนนเลียบเขาบรรทัด ให้เป็นถนนเพื่อ การสัญจรไปมาที่สะดวก เพื่อขนส่งสินค้าทางการเกษตรและเพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพัทลุง ยังขาดท่าเทียบเรือที่ใช้ในการประมงและการท่องเที่ยวทางน้ำ จังหวัดพัทลุงยังขาดแคลน และมีความต้องการการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบเพื่อความสะดวกในการเดินทาง และการท่องเที่ยว และที่สำคัญจังหวัดพัทลุงยังขาดแคลนถนนลาดยาง โดยยังมีถนนลูกรัง ถนนดินแดง และเป็นหลุมเป็นบ่อในหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเหมือนเส้นเลือดฝอย ในการเดินทาง ท่านประธานที่เคารพ จากปัญหาการขาดแคลนและความต้องการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ผมกล่าวมาทั้งหมดแล้ว หากมีโครงการพัฒนาจนแล้วเสร็จ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะยกระดับด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพ ชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพัทลุงได้อย่างแน่นอน ผมจึงขอสอบถามผ่านท่านประธาน ไปยังท่านรัฐมนตรีดังต่อไปนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. รัฐบาลได้ดำเนินการและมีแผนนโยบายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในจังหวัดพัทลุงไว้อย่างไร

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. รัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานของจังหวัดพัทลุงที่ขาดแคลนไว้หรือไม่ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณสมาชิกครับ เชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิในรอบที่ ๑ ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับ มอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ให้มาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้าง พื้นฐานของจังหวัดพัทลุง ก่อนอื่นดิฉันขอขึ้น Slide ในภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมก่อนนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงสร้าง แรก เป็น Slide ในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม จะเห็นว่าสีแดงเป็นโครงการที่อยู่ใน ระหว่างการก่อสร้าง ในการเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๗ สีฟ้าอยู่ในระหว่างการขอรับ งบประมาณปี ๒๕๖๗ ส่วนสีน้ำเงินเป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานที่เตรียมขอรับงบประมาณ ในปีถัดไป หน่วยงานแรกเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ดิฉันขอนำเรียน ต่อท่านประธานผ่านไปที่ท่านสมาชิก หน่วยงานแรกคือกรมทางหลวง ในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๗๑ กรมทางหลวงมีแผนงานสำคัญ ๆ ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและมี แผนงานจำนวน ๘ โครงการ ดังนี้

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๑ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ก็จะมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ให้มีสายทางหลวงสายหลัก ที่ ทล.๔ พัทลุง-หาดใหญ่ ตอนห้วยทราย และบ้านพลุพ้อ อยู่ในงบประมาณปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๖ ในเส้นทางดังกล่าวจำนวน ๕๑๔ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๒ เป็นการก่อสร้างถนนสายหลัก ที่ ทล.๔๑ ตอนบ้านไม้เสียบ-พัทลุง ซึ่งเป็นงบประมาณระหว่างปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๖ เป็นงบประมาณ ๘๘๙ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๓ เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ที่ ทล.๔๐๔๙ สามแยก ทล.๔ ห้วยทราย ต่อจากเทศบาลตำบลปากพะยูน งบประมาณปี ๒๕๖๔ จะสิ้นสุด ในปี ๒๕๖๗ วงเงินงบประมาณ ๑๗๙ ล้านบาท นี่คือโครงการในส่วนของกรมทางหลวง ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างแต่ว่ายังไม่แล้วเสร็จ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรายังมีโครงการที่จะเตรียมการในการขอรับงบประมาณในปี ๒๕๖๗ ถึง ๓ โครงการค่ะท่านประธาน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการแรก เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ที่ ทล.๔๑๘๗ สามแยก ทล.๔๑ ถึงทะเลน้อย เป็นงบประมาณผูกพัน ๓ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๗ ถึงปี ๒๕๖๙ จำนวน ๓๒๐ ล้านบาท ดังในภาพนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๒ เป็นโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ตรงจุดตัดทางหลวง ทล.๔๑๖๔ ตัดสาย ทล.๔๑๘๗ บริเวณแยกโพธิ์ทอง เป็นงบประมาณผูกพัน ๓ ปีเช่นกัน ปี ๒๕๖๗ ถึง ปี ๒๕๖๙ ในวงเงินงบประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๓ เป็นโครงการทางแยกต่างระดับ ดังในภาพท่านสมาชิกกรุณาดู ตามภาพ เพื่อจะได้เข้าใจและติดตามดูแลช่วยกันในการผลักดันงบประมาณเหล่านี้ เมื่องบประมาณเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โครงการที่ ๓ ตรงบริเวณ ทล.๔๑ ตัด ทล.๔๐๔๘ แยกวังปีบ เป็นงบประมาณผูกพัน ๓ ปี ในวงเงิน ๓๐๐ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการทั้ง ๓ โครงการที่เตรียมการขอรับงบประมาณในปี ๒๕๖๗ ส่วนอีก ๒ โครงการเราจะนำไปบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี ๒๕๖๘ นำเรียนท่านประธาน ว่าในห้วงของการพิจารณางบประมาณในปี ๒๕๖๗ เราคาดว่างบประมาณตามแผน การดำเนินงานเสนอขอรับงบประมาณจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาประมาณ เดือนเมษายน มีเวลาในการใช้งบประมาณปี ๒๕๖๗ เพียงแค่ ๕ เดือน หลังจากนั้นก็จะมี การทำแผนเพื่อขอรับงบประมาณในปี ๒๕๖๘

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๑ เตรียมนำเสนอของจังหวัดพัทลุงก็จะมีโครงการก่อสร้าง ทางเลี่ยงเมืองและสะพานข้ามทางรถไฟ ที่ ทล.๔๐๘๑ สามแยก ทล.๔ ท่านางพรหม-จงเก เป็นงบประมาณ ปี ๒๕๖๙ ถึงปี ๒๕๗๑ จำนวนวงเงิน ๔๐๐ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๒ เป็นถนนทางเลี่ยงเมืองข้ามสะพานข้ามทางรถไฟบน ทล.๔๑๘๑ สามแยก ทล.๔ โคกทราย ต่อจากเขตเทศบาลตำบลปากพะยูนที่กิโลเมตร ๑๒ วงเงินงบประมาณ ๒๘๐ ล้านบาท นี่คือ ๒ โครงการที่เตรียมขอรับงบประมาณในปี ๒๕๖๘

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนอีกกรมหนึ่งที่เราได้ดูแลนอกจากทางกรมทางหลวงแล้ว นั่นคือ กรมทางหลวงชนบท ในรอบปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ไปจนถึงปี ๒๕๖๙ กรมทางหลวงชนบท มีแผนงานโครงการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้างและมีแผนงานที่จะ ดำเนินการในอนาคตจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๓ โครงการ ทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระหว่าง ดำเนินการก่อสร้าง ๓ โครงการ นอกจากนั้นก็เป็นโครงการปีเดียว ทั้งการก่อสร้างสะพาน งานสะพาน งานบำรุงรักษา และงานอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย ที่ใช้งบประมาณ ในปี ๒๕๖๖ ถึง ๔๔ โครงการ และนอกจากนั้นยังถูกบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี ๒๕๖๗ ถึง ๖๖ โครงการ ดิฉันขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้เพื่อให้กระชับ ๖๖ โครงการนี้อยู่ในแผนงาน โครงการก่อสร้าง ๓ โครงการ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๑ เป็นโครงการบริหารจัดการการท่องเที่ยวบริเวณบ้านจงเก อำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน ๑๖๕ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๒ เป็นเรื่องของทำถนนยกระดับบริเวณทะเลน้อยไปควนขนุน ซึ่งเป็นงบประมาณปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖ ขณะนี้ทางผู้รับจ้างเร่งรัดในการดำเนินการก่อสร้างอยู่ ในวงเงิน ๒๔๙ ล้านบาทค่ะท่านประธาน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการที่ ๓ เป็นเรื่องของถนนท่องเที่ยวบริเวณ ทล.๔๐๘๑ ไปถึง บ้านฝาละมี อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว และอำเภอปากพะยูน อยู่ในงบประมาณ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ แต่ว่ายังเบิกจ่ายไม่แล้วเสร็จ ในวงเงินงบประมาณ ๔๓๐ ล้านบาทค่ะ ท่านประธาน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ดิฉันขอนำเสนอเรื่องของโครงการที่เป็นปีเดียวอีก ที่เห็นตามภาพ เป็นโครงการปีเดียว เป็นโครงการซ่อมสร้างผิวทาง Asphaltic Concrete เป็นสายทาง ที่บ้านคลองใหญ่-ป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และซ่อมสายทางถนนสาย พท.๒๐๔๑ แยก ทล.๔๑ ไปจนถึงบ้านทุ่งชุมพล-ป่าพะยอม นอกจากนั้นไปถึงสาย พท.๔๐๑๙ ไปถึง บ้านแหลมโตนด อำเภอเมืองพัทลุง ต่อจากนั้นเราก็จะมีโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ให้พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาได้รับความสะดวกและปลอดภัย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

อีกโครงการหนึ่งที่จะนำเสนอต่อข้อสอบถามของท่านสมาชิก คือโครงการ ที่เรานำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในงบประมาณปี ๒๕๖๗ จะเป็นทั้งหมด ๖๖ โครงการ จะมีโครงการใหญ่ ๑ โครงการ คือก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งโครงการนี้ จะอยู่ในวงเงินถึง ๔,๘๒๙ ล้านบาท จะเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ และขณะเดียวกันเราก็จะใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินสมทบอีก ซึ่งบรรจุไว้ในแผน งบประมาณปี ๒๕๖๗

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ทางกระทรวงคมนาคมก็ไม่ละเลย เพราะว่าเราได้มีแผนการศึกษาสำเร็จไปแล้วในปี ๒๕๖๔ มีการศึกษาทางด้านวิศวกรรม ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่บริเวณ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จะต้องใช้พื้นที่ถึง ๑,๔๙๖ ไร่ ผลการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างในวงเงิน ๒,๒๘๒ ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

คำถามสุดท้ายของท่านสมาชิก ก็คือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางราง ก็จะมีแผนงานการดำเนินงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ แล้วก็ เป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะกลาง ซึ่งจะขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คาดว่า คณะรัฐมนตรีจะมีการอนุมัติในกรอบของงบประมาณปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะรองรับขบวนรถไฟ ที่เพิ่มขึ้นปัจจุบันถึง ๒ เท่า และจะช่วยลดต้นทุนเรื่องของการขนส่ง Logistics และเพิ่ม ความปลอดภัย มีประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดพัทลุง เพราะว่าจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่เป็น เมืองรองและเป็นเมืองที่มีความเจริญและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศไป จึงขออนุญาตนำเรียนถึงภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดพัทลุงต่อไป ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านรัฐมนตรี ขอเชิญท่านสมาชิกครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ กระผมขอขอบคุณ สำหรับคำตอบกระทู้ถามจากท่านรัฐมนตรีมนพร ซึ่งจากที่ได้ฟังคำตอบก็เป็นที่พอใจ และยินดีว่ากระทรวงคมนาคมและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในจังหวัดพัทลุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถนนสายหลักและสายรองที่เปรียบเสมือน เส้นเลือดหลัก เส้นเลือดใหญ่ และเส้นฝอยของการเดินทางในจังหวัดพัทลุง ท่านรัฐมนตรีก็ได้ ชี้แจงว่ายังมีโครงการสะพานข้ามทะเลสาปพัทลุงไปสงขลา โครงการนี้เป็นความต้องการ ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ร่นระยะเวลาการเดินทาง และช่วยผลักดันการท่องเที่ยว ไปจนถึงโครงการสนามบิน อันนี้ก็เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนที่จะรองรับการท่องเที่ยวและการเติบโต ของจังหวัดในอนาคต ไปจนถึงเรื่องของรถไฟรางคู่ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้ชื่นชม ท่านรัฐมนตรีว่าท่านเป็นนักการเมืองที่มุ่งมั่นพัฒนาจังหวัดของท่านตลอดที่ผ่านมา และเชื่อว่าในฐานะรัฐมนตรี ท่านจะสามารถช่วยพัฒนาจังหวัดพัทลุงและทุก ๆ จังหวัด ในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ผมขออนุญาตใช้เวลาที่เหลือตรงนี้ครับท่านประธาน สอบถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการด้านโครงสร้าง พื้นฐานในจังหวัดพัทลุงอื่น ๆ ว่าได้มีการบรรจุโครงการเหล่านี้ มีการตั้งงบประมาณ มีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร หรือไม่ ดังต่อไปนี้

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. โครงการก่อสร้างถนนสายเอเชียในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ขณะนี้มีความล่าช้า การก่อสร้างมีความล่าช้ามาอย่างยาวนานและไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้การสัญจรไม่สะดวก ซึ่งเส้นเอเชียเป็นถนนเส้นหลักของจังหวัดพัทลุง เมื่อการก่อสร้างล่าช้าและไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ความล่าช้านี้ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งและสัญจรไปมา และยัง ทำให้การท่องเที่ยวและร้านค้าได้รับผลกระทบ ขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าท่านมีแนวทาง ที่จะแก้ไขอย่างไร

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. โครงการก่อสร้างถนนเลียบทะเลสาบพัทลุง จากทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ถึงตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อกับจังหวัด สงขลา ซึ่งได้มีการออกแบบไว้แล้ว ถนนเส้นนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ริมทะเลสาบ การสัญจรและการค้าของแต่ละชุมชนที่ถนนเส้นนี้ผ่าน โครงการนี้ มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ว่ายังไม่มีการตั้งงบประมาณหรือมีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าจะมีการตั้งงบประมาณหรือจะมีแนวทางในการพัฒนา โครงการถนนเลียบทะเลสาบพัทลุงหรือไม่

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. โครงการปรับปรุงและขยายถนนเส้นทางป่าบอน-คลองหมวย จังหวัดพัทลุง ให้มีไหล่ทาง มีจุดชมวิวและจุดจอดรถ ซึ่งถนนสายนี้จะเป็นสายสำคัญสำหรับ การท่องเที่ยวริมเขาบรรทัดจังหวัดพัทลุง โครงการนี้เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน ในท้องที่ เพราะว่าเส้นริมเขาบรรทัด เป็นที่ท่องเที่ยว มีที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอป่าบอน อำเภอตะโหมด อำเภอกงหรา และอำเภอศรีนครินทร์ ที่มีทั้งวิวภูเขา มีอ่างเก็บน้ำและน้ำตกที่สวยงาม ประชาชนมีความต้องการให้มีการสร้างถนน เพื่อการท่องเที่ยวในบริเวณนี้ เพื่อที่จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ ให้พี่น้องในชุมชน และจะเป็นเส้นทางที่อำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนส่งสินค้า ทางการเกษตร ทั้งจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง ขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่า ทางกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลได้มีโครงการในการพัฒนาถนนเลียบริมเทือกเขาบรรทัด ไว้หรือไม่ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหา เป็นความต้องการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนจังหวัดพัทลุงที่จะมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น กระผมจึงขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีอีกครั้งนะครับ ที่ท่านได้มาตอบกระทู้ถาม ของผม ในวันนี้และจากคำตอบ ผมก็ขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลที่มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายในจังหวัด และขอฝากคำถาม เหล่านี้ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เนื่องจากจะต้องบริหารเวลาหน่อยนะครับ เพราะว่าท่านรัฐมนตรีต้องตอบอีก ๒ กระทู้ และขึ้นห้องใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้นตอบเท่าที่เวลาเหลืออีก ๑.๒๕ นาที และคำตอบ ที่ลงรายละเอียดมากกว่านี้อาจจะต้องขอเป็นเอกสารหรือว่าชี้แจงทีหลัง เชิญครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ในประเด็นคำถามที่ ๒ ขออนุญาตนำเรียนต่อท่านสมาชิกว่า ถนนสายเส้นเอเชียไม่มีไฟส่องสว่างและการก่อสร้างล่าช้า ดิฉันจะนำปัญหาเหล่านี้ไปกำชับ หน่วยงานกรมทางหลวง หรือว่ากรมทางหลวงชนบทที่กำกับดูแลให้เร่งรัดให้มีการก่อสร้าง เร็วขึ้น และให้มีจุดไฟส่องสว่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สัญจรไปมา แต่ในส่วน เส้นทางที่ท่านสมาชิกได้ฝากไว้ขอนำเรียนว่าในปี ๒๕๖๗ นั้น เราได้จัดสรรงบประมาณ ในภาพรวม ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ลงไปพัฒนาจังหวัดพัทลุง เป็นวงเงิน ๗,๑๒๙ ล้านบาท เส้นทางที่ท่านสมาชิกฝากไว้จะต้องใช้เวลา ดิฉันจะนำเรียนเป็นเอกสาร ให้ทราบว่าเส้นทางที่ท่านสมาชิกฝากไว้อยู่ในแผนงานโครงการดังกล่าวหรือไม่ ต้องขอบคุณ ท่านสมาชิกที่ได้สนใจ ใส่ใจต่อปัญหาของพี่น้องประชาชน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ถือว่าเราใช้เวลาในกระทู้ที่ ๐๑๒ ครบถ้วนแล้วนะครับ ขอบคุณท่านสมาชิก ในการถาม และท่านรัฐมนตรีในการตอบ ต้องขออนุญาตกระชับเวลา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เนื่องจากตอนนี้เรามีอีก ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะ แต่ว่าท่านมนพรจะต้อง ขึ้นไปตอบกระทู้ถามทั่วไป ทีนี้ท่านสมาชิก ๒ ท่านมาจากพรรคเดียวกัน เดี๋ยวลองดูว่า จะกระชับเวลาได้บ้างหรือเปล่า หรือจะตัดสินใจว่าเราจะ Break ห้องนี้ให้ท่านมนพร ขึ้นไปก่อนหลังจากที่จบของท่าน สรุปว่าของท่านสมชาติใช้เวลาเท่าเดิม ๒๐ นาที เราพัก ประชุมให้ท่านมนพรขึ้นไปตอบกระทู้ถามทั่วไป เดี๋ยวของท่านไชยามพวานหลังจากนั้น

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง การซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ทางลอด ของ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน เพื่อประโยชน์ในการตอบ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมอนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูล ก็คือท่านทินภัทร อุ่นใจเพื่อน วิศวกรโยธาปฏิบัติการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ขอเชิญยืนแสดงตัวด้วยครับ ขอเชิญท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ และขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติสภา ขอเชิญครับ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนี้

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

จากการปิดอุโมงค์ทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ กับ ๔๐๒๐ จังหวัดภูเก็ต ทางลอดแยกดาราสมุทร ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เนื่องจากมี น้ำท่วมในทางลอด อันเนื่องมาจากเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำสำรองไม่สามารถ ใช้งานได้ แขวงทางหลวงภูเก็ตได้ทำการจัดจ้างซ่อมระบบเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์มีกำหนด สิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ โดยในระหว่างนี้แขวงทางหลวงภูเก็ตได้ขอใช้ เครื่องสูบน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นการชั่วคราว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถ ทำงานทดแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในอุโมงค์จนต้องปิด การใช้งาน ผมมีความเห็นว่าการที่เครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ทางลอดไม่สามารถใช้งานได้ พร้อมกันแบบนี้ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนที่ใช้ทางลอด จึงจำเป็นต้องทำให้เครื่องสูบน้ำใช้งานได้ตลอดเวลา การซ่อม บำรุงเชิงแก้ไขหรือ Corrective Maintenance จึงอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงขอเรียนสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบาย ให้มีการทำสัญญาซ่อมบำรุงเชิงป้องกันหรือที่เรียนกว่า Preventive Maintenance กับผู้ผลิตเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ทางลอดได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิในรอบที่ ๑ ครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับ มอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้มาตอบ กระทู้ถามของท่านสมชาติ จากพรรคก้าวไกล ในเรื่องการซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ ทางลอด ดิฉันขอ Slide ในภาพรวมของอุโมงค์ก่อนนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เป็น Slide แสดงตำแหน่งทางลอดแยกดาราสมุทร ตรงจุดนี้อยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ส่วน Slide ที่ ๒ เป็น Slide ที่ให้เห็นถึงสภาพช่องจราจรและอุปกรณ์ภายในทางลอด แยกดาราสมุทรที่ติดตั้งไว้อยู่แล้วอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะสามารถระบายน้ำจากอุโมงค์ ออกไป ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร สูง ๕ เมตร มี ๓ ช่องจราจร ช่องละ ๓.๕ เมตร ภายในอุโมงค์มีระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบดูดมลพิษ และมีระบบ CCTV มีป้ายบอกการใช้ช่องการจราจร นอกจากนั้นมีระบบเครื่องสูบน้ำ มีระบบไฟฟ้า ระบบ ความปลอดภัยทางด้านอื่น ๆ นอกจากตรงเครื่องมีไฟฟ้าส่องสว่างแล้วจะมีเครื่องสูบน้ำ อีก ๓ ตัว มีกำลังสูบ ๙๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อ ๑ ชั่วโมง Slide ที่ ๓ ตรงบริเวณอุโมงค์ ทางลอด ซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวง หมายเลข ๔๐๒๐ กับหมายเลข ๔๐๒๔ เราจะเห็นว่า ในขณะที่น้ำท่วมจากฝนตกหนัก ภาพนี้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการซ่อมระบบเครื่องสูบน้ำเสร็จและตอนนี้ใช้งานได้ตามปกติ ภาพที่ท่านเห็น คือภาพของการบูรณาการร่วมกันของกระทรวงคมนาคม ท่านประธานคะ กระทรวง คมนาคมโดยกรมทางหลวง มีภารกิจในการซ่อมแซมบำรุงรักษาเส้นทางให้อยู่ในสภาพที่ พร้อมให้กับพี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกในการสัญจรไปมาและปลอดภัย นโยบาย ในเรื่องการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน Preventive Maintenance เป็นสิ่งที่กรมทางหลวง ได้เล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ แล้วก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับกรมทางหลวง ที่เราจะต้องนำไปศึกษาขอบเขตและวิธีการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดซื้อ จัดจ้างให้สอดคล้องกับระเบียบของกระทรวงคมนาคม จึงขอนำเรียนท่านประธานว่า การนำเสนอขอรับงบประมาณใด ๆ จะไม่เป็นเพียงหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเท่านั้น หน่วยงานสำนักงบประมาณเองซึ่งก็มีความสำคัญ เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้อนุมัติ งบประมาณ ได้กำกับดูแลเรื่องของการเบิกจ่าย จะเห็นว่าในภารกิจดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ ต้องขอบคุณท่านสมาชิกที่ได้นำเสนอปัญหาเช่นนี้ ถึงแม้ว่าปั๊มน้ำหรือว่าการซ่อมบำรุงนี้ จะรวมอยู่ในโครงการ แต่ถ้าเราแยกประเภทของงานนี้ออกไปเราจะเอาเหตุการณ์นี้ ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้กระทรวงคมนาคมเสนอขอรับ งบประมาณ สำนักงบประมาณมีความเห็นเป็นเช่นไร เพราะว่างานดังกล่าวประเภทนี้ เป็นงานเชิงซ่อมบำรุง ซึ่งทางกระทรวงเห็นว่าไม่ใช่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเดียว เราคงต้องมีการเตรียมการในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีถนนแล้วก็เป็นอุโมงค์แบบนี้อีก จึงขออนุญาตนำเรียนต่อท่านประธานว่าความทันสมัยที่ท่านสมาชิกได้นำเสนอ รวมทั้ง เงื่อนไขและข้อผูกพันสัญญาของรัฐ ทางกระทรวงคมนาคมจะไปหารือแนวทางการขอรับ งบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วก็จะนำเสนอเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกรมทางหลวง ชนบทด้วยและหน่วยงานที่กระทรวงคมนาคมดูแล จึงขอตอบคำถามท่านสมาชิกในคำถาม แรกก่อน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรี เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิในรอบที่ ๒

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านรัฐมนตรี ขออนุญาตถามต่อเลยนะครับ ที่ท่านบอกว่าจะต้องนำเรื่องนี้หารือกับสำนักงบประมาณ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ผมมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นผมจะต้องทำกระทู้ถามเพื่อสอบถาม ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกหรือไม่ ขอคำถามแรกก่อนครับ เดี๋ยวมีอีกคำถามหนึ่งครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

อันนี้ท่านถามให้ครบเลยครับ เพราะท่านได้สิทธิแค่ ๒ รอบ

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

คำถามแรก ถามท่านรัฐมนตรี ว่าจะต้องให้ผมทำกระทู้ถามไปยังท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่

ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ

อีกคำถามหนึ่ง เวลาน้ำท่วมตามภาพที่ปรากฏบน Slide ที่ท่านรัฐมนตรี ได้กรุณานำขึ้น Slide หากว่ามีคนเสียชีวิตหรือมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากน้ำท่วม ใครจะ รับผิดชอบชีวิตของพี่น้องชาวภูเก็ต รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย และจะรับผิดชอบต่อการสูญเสีย อย่างไร มี ๒ คำถามครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องขอบคุณสำหรับคำถามที่ ๒ ในเรื่องของกระทู้ถามที่จะต้องหารือเรื่องของการจัดสรร งบประมาณในประเด็นดังกล่าว ในภาระความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมจะนำ กระทู้ถามที่เราได้หารือกันในวันนี้ไปนำเรียนสำนักงบประมาณ แล้วก็หารือกับ กรมบัญชีกลางว่ากรอบแนวทางของการซ่อมบำรุงแบบนี้ แนวทางการเขียนโครงการควรจะ ออกรูปแบบไหนเพราะมันเป็นลักษณะเชิงซ่อมสร้างและบำรุงในเรื่องของวัสดุ อุปกรณ์ ภายในอุโมงค์ต่าง ๆ แล้วจะให้ทางสำนักงบประมาณได้ตรวจสอบเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ท่านสมาชิกไม่ต้องถามภาระนี้ ดิฉันจะขอรับภาระ คำถามนี้ไปประสานงานต่อทางสำนักงบประมาณแล้วก็จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

คำถามที่ ๒ เราบอกว่าถ้าเกิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดภูเก็ตหรือนักท่องเที่ยวว่าถ้าเกิดมีใครเสียชีวิต ท่านประธานที่เคารพคะ ทุก ๆ โครงการไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด การก่อสร้างใด ๆ เรามีสำนักงานควบคุม ความปลอดภัยตั้งแต่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างไปจนถึงมีการเปิดใช้ ขณะทุกวันนี้เราคง ไม่ต้องการให้ใครต้องมาเสียชีวิตหรือในช่วงระหว่างสัญจรไปมาหรือจุดใดจุดหนึ่ง เพราะว่า ชีวิตประชาชนสำคัญกว่ามูลค่าการก่อสร้างใด ๆ เช่นเดียวกันเราก็จะพยายามกำกับดูแล ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ เพราะทุกชีวิตมีความหมายและเราก็หวังว่านักท่องเที่ยวที่เดินทาง ไปเที่ยวภูเก็ตจะใช้ชีวิตในการท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างมีความสุข และเขาก็จะได้กลับไปที่ ภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งเราไม่ต้องการให้ใครต้องไปเสียชีวิตบนท้องถนนหรือว่าบนเส้นทาง ที่กระทรวงคมนาคมดูแล หรือแม้กระทั่งหน่วยงานอื่น ๆ เช่นเดียวกัน แล้วก็ขอขอบคุณ ท่านสมาชิกที่ท่านมีความเป็นห่วงเป็นใยและหาแนวทางมาตรการป้องกัน ซึ่งอาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันก็ได้ตอบกระทู้ถามเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต ดิฉันขอชื่นชม ท่านสมาชิกนะคะ ถึงแม้ท่านเป็น สส. สมัยแรก ท่านได้ถามถึงโครงการสำคัญ ๆ แล้วกระทรวงคมนาคมก็จะมีโอกาสเผยแพร่ผลงานของกระทรวงคมนาคมที่เราเร่งรัด ดำเนินการก่อสร้าง ในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางราง รวมไปถึง ทางน้ำด้วย เพื่อพัฒนาภูเก็ตซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามของฝั่งทะเลอันดามัน ต้องขอบคุณ ท่านสมาชิกช่วยขยายความ นำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต มาเยอะ ๆ นะคะ เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่สร้างมูลค่ารายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการ Free Visa แล้วก็เชื่อมั่นว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือว่าในประเทศจะกลับมาท่องเที่ยวภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีเวลาเหลือ แต่คิดว่าตอบได้ครบถ้วนแล้ว ขอบคุณท่านสมาชิกและท่านรัฐมนตรี เรียนผู้ถาม กระทู้ เนื่องจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมติดภารกิจในการตอบกระทู้ถามทั่วไป ในห้องประชุม ดังนั้นผมขอพักการประชุมจนกว่าการตอบกระทู้ถามทั่วไปเสร็จสิ้น ขอพักการประชุมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

พักประชุมเวลา ๑๑.๓๖ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๒.๒๒ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอดำเนินการประชุมต่อจากการพักการประชุมนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง มาตรการการป้องกันเหตุอันตรายโครงการทางยกระดับ ถนนพระราม ๒ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ติดภารกิจสำคัญ จึงมอบหมายให้ท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ขอบคุณ สำหรับการให้เกียรติสภานะครับ ในการนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมอนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูล ๒ ท่านนะครับ ท่านปรเมศฐ์ ตันมณีวัฒนา วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และท่านเจษฎา พยงค์ศรี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ขอบคุณมากนะครับ ขอเชิญท่านไชยามพวานดำเนินการถามได้ครับ มีเวลาฝ่ายละ ๑๐ นาที ๒ รอบ เชิญครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ปูอัด ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจอมทอง ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน และเขตบางขุนเทียน เฉพาะแขวงท่าข้าม พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมนี่ละเกิดมาจากพระราม ๒ โตมากับพระราม ๒ โตขึ้นมา ก็เห็นถนนพระราม ๒ ที่ยังสร้างไม่เสร็จมาตลอดครับ จนวันนี้เป็นผู้แทนราษฎร จึงมีคำถาม ประมาณ ๔-๕ คำถามที่อยากจะมาถามเพื่อหาทางออกร่วมผมใช้คำนี้ครับท่านประธาน เราไม่ได้มากล่าวว่าใครผิดใครถูก แต่ท้ายที่สุดเพื่อจะวางผลประโยชน์สูงสุดของพี่น้อง ประชาชนที่สัญจรกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คันที่ถนนพระราม ๒ ครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

คำถามแรก ที่อยากจะฝากถามทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ก็คือเรื่องของกระบวนการการกำกับดูแลการก่อสร้างถนนพระราม ๒ เพราะว่ามันยังมีการแอบทำก่อนเวลา คือเบื้องต้นอย่างนี้เท้าความให้ฟังครับ เหตุการณ์ที่ผ่านมาเคยมีสะพานถล่มมาและทำให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนงาน Site งานก่อสร้าง และครั้งนั้นเกิดการประชุมใหญ่ขึ้นมา พอประชุมแล้วเสร็จจำไม่ได้ประมาณสัก ๓๓ ข้อ แต่ข้อหนึ่งชัด ๆ คือต้องทำการก่อสร้างหลัง ๔ ทุ่ม แต่ว่าปัจจุบัน จริง ๆ มีหลักฐานนะครับ แต่ถือว่าให้เกียรติ มันมีการก่อสร้างประมาณ ๖ โมงเย็น ๕ โมงเย็น ช่วงที่แบบรถกำลังติด เลยครับท่านประธาน เจียไฟก็ดี เชื่อมเหล็กก็ดี แล้วไฟนี่กระเด็นลงมาที่รถก็มี มีการร้องเรียน เรื่องนี้มาจำนวนมาก ก็เลยฝากตั้งคำถามกับคณะรัฐมนตรีครับว่ากระบวนการที่ประชุม ครั้งที่ผ่านมาทำไมมันถึงกำกับดูแลกันอย่างนี้ อันนี้คืออย่างที่ ๑ ที่อยากจะฝากทาง กระทรวงคมนาคมครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการก่อสร้างทางด่วนพระราม ๒ และพิสูจน์ ได้ว่าเกิดจากการก่อสร้างนี้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตใด ๆ ก็ตาม

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. คือกระบวนการเยียวยาเป็นอย่างไรครับ คือเกิดจริง ๆ แล้วคนเสียชีวิตก็มี ประชาชนที่เดือดร้อนก็มี เดี๋ยวผมจะลง Detail ให้ฟังครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. คือพอมีการเยียวยาแล้วประชาชนคนตาดำ ๆ ที่หาเช้ากินค่ำ ใครเป็น คนประสานงานให้ เพราะนี่คือกระบวนการจริง ๆ ที่ผมอยู่ในพื้นที่มาตลอดทุกวันครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. คือการชดเชยเยียวยาเท่าไร และกี่วัน มันต้องมี Scope ที่ชัดเจน วันนี้ Protocol เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมขออนุญาตลง Detail ให้ฟังครับท่านรัฐมนตรีและท่านประธาน คือผมมี ปัญหาในส่วนพระราม ๒ คือวันนี้มีน้ำท่วมขังผมลงชื่อได้เลยสัญญาที่ ๓ การก่อสร้าง สัญญาที่ ๓ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การก่อสร้างนี้ทำให้บ้านเรือนของพี่น้อง ประชาชน จากน้ำที่อยู่ในชุมชนแห้ง แต่วันนี้เอ่อล้นขึ้นมา ยายท่านหนึ่งที่เคยนอนแคร่ วันนี้นอนแคร่ไม่ได้นะครับ ๘๐ กว่าปี แต่ท้ายที่สุดการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ ก็ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของเขา จนเขานี่อย่าว่าแต่อยู่พื้นเลยครับ ต้องขึ้นไป บนบ้านอีกนิดหนึ่งเพื่อให้พ้นน้ำ แล้ววันนี้ก็มีกระบวนการแก้ปัญหาของการทางพิเศษ แห่งประเทศไทยนะครับท่านประธาน ไม่ว่าจะการสูบน้ำก็ดี เอาเครื่องดีเซลมาสูบก็ดี ไม่พอ เอาสายยางมาสูบก็ดี แต่ก็ยังไม่ช่วยอะไรประชาชนได้เลย อันนี้ได้รับผลกระทบแล้วแต่ คำถามคือใครรับผิดชอบครับ ใครเยียวยาให้กับพวกเขา เขาได้แต่ก้มหน้าแล้วก็รับเคราะห์ไป จากการก่อสร้างจากรัฐ ซึ่งผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ผมแค่มาทวงถามแทนพี่น้อง ประชาชนที่อยู่ในสัญญาที่ ๓ ตรงนั้น ชื่อชุมชนชื่อว่า ชุมชนป้าแดง ครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อย่างที่ ๒ ครับท่านประธาน มีประชาชนที่เสียชีวิตจากถนนพระราม ๒ ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยแต่ตอนนี้ก็ข่าวเงียบ ผมขอไม่ลงชื่อนะครับ เพราะว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่กระบวนการเยียวยา วันนี้ผมมาตั้งกระทู้ถามก็เลยบอกว่าขอ Protocol จริง ๆ เถอะ ถ้าพิสูจน์ได้แล้ว เขาเสียชีวิตจากการก่อสร้างเหล่านี้เขาจะได้อะไรบ้าง และใครจะช่วยเหลือ เขาบ้าง

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อย่างที่ ๓ เรื่องสำคัญก็คือผมต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าช่วงระยะเวลาคนใด ประสานงานอะไรอย่างนี้ เพื่อบอกได้ว่าวันนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้กระทรวงคมนาคม จะเป็นตัวตั้งตัวตีแบบหลักให้ วางเกณฑ์อะไรนี่กระทรวงอื่นไปทำได้เลยว่าเกิดเหตุการณ์ จากภาครัฐนี่คุณทำตามแบบนี้ได้เลย เพื่อในอนาคตไม่ว่าจะเป็นกระทรวงไหนก็ตาม จะหยิบ แบบแผนแบบนี้ไปช่วยเหลือประชาชนได้ต่อ ผมถาม ๒ คำถามนี้ก่อนครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่าน สส. ครับ ท่านรัฐมนตรีพร้อมแล้วเชิญเลยครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มาตอบกระทู้ถามของท่านไชยามพวาน ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เรื่องของมาตรการการป้องกันเหตุอันตรายจากโครงการ ทางยกระดับถนนพระราม ๒ ดิฉันจะขออนุญาตฉายภาพโครงการของการก่อสร้าง ก่อนนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

โครงการ ก่อสร้างบนถนนพระราม ๒ ที่ท่านสมาชิกได้แสดงความห่วงใยต่อการก่อสร้างถนนดังกล่าว และท่านสมาชิกได้มีคำถามก็คือ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

๑. เรื่องของผู้รับจ้างแอบทำงานนอกเวลา เรื่องดังกล่าวท่านสมาชิกสามารถ แจ้งได้ เพราะว่าตรงจุดบริเวณดังกล่าวเรามีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกำกับโครงการร่วมกับ กรุงเทพมหานครอยู่ ท่านสามารถแจ้งได้ถ้ามีปัญหาที่เกิดขึ้นนอกเวลาทำการ เพราะว่า เราจะมีกำหนดว่าเวลาทำงานต้องเป็นช่วงเวลากี่โมง ถ้าเกิดว่ามีการก่อสร้าง ถ้าเกิดอันตราย มาในภายหลัง เราไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นในการก่อสร้างดังกล่าว

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของการก่อสร้างทางพิเศษเส้นทางดังกล่าวของโครงการพิเศษ ที่บอกว่ามีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน กราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่า การจะดำเนินการก่อสร้างโครงการใด ๆ กระทรวงคมนาคมจะต้องมีการสำรวจทำ EIA โครงการนั้น ๆ ว่ามีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ในช่วงที่มีการทำ EIA ก็จะมี Timeline ว่า EIA นั้นอยู่ในระหว่างกี่เดือน แล้ว EIA นั้น ก็จะปรากฏอยู่ในการแสดงความคิดเห็นต่อพี่น้องประชาชนบริเวณใกล้เคียง แล้วเราก็เอา ความเห็น ความต้องการของพี่น้องประชาชนมาสรุป เมื่อสรุปว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร สิ่งที่ไม่ต้องการคืออะไร เราก็จะเอาความต้องการที่บอกว่าเห็นด้วยก็โอเคผ่าน แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ประชาชนไม่ต้องการแบบนี้เราก็จะให้เจ้าหน้าที่ที่ไปทำ EIA กลับไปถามชาวบ้านว่า เขาต้องการแบบไหน โครงการดังกล่าวได้มีการทำ EIA จนครบกระบวนการ มาจนถึง การจัดตั้งขอรับงบประมาณ แล้วมีการก่อสร้าง แต่ต่อมาในภายหลังถ้าพี่น้องประชาชน เดือดร้อน กระทรวงคมนาคมก็ไม่ละเลย เราก็จะลงไปตรวจสอบว่าผลกระทบอันไหนที่เรา สามารถเยียวยาได้ อันไหนที่เราสามารถจะคุยกับผู้รับจ้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับพี่น้อง ประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เรื่องนี้จะเป็นเรื่องอันดับแรกที่การดำเนินการ โครงการใด ๆ ก็ตาม จะเป็นโครงการเล็ก หรือโครงการใหญ่ จะต้องไม่สร้างปัญหาภาระ ต่อผู้ใช้เส้นทางสัญจรไปมา และจะต้องไม่สร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนผู้ที่อยู่อาศัย ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นท่านสมาชิกได้ถามถึงโครงการเยียวยา ถ้าเกิดว่าพี่น้อง ประชาชนเกิดผลกระทบเสียชีวิตหรือว่าเกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีผู้รับจ้างในโครงการนี้รับผิดชอบ ให้เป็นเรื่องของระหว่างผู้รับจ้างว่าเยียวยาในเม็ดเงินเท่านี้ที่เขาเสียหายอยู่ในขั้นพอใจไหม ที่ผ่านมาในโครงการที่เกิดอุบัติเหตุในเส้นทางพระราม ๒ ผู้รับจ้างได้จ่ายเงินชดเชยให้กับ ผู้ที่ได้รับความเสียหายอยู่ในวงเงินที่พอใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่มีผู้เสียหายใด ๆ ร้องขอ กลับมาที่กระทรวงแม้เพียงรายเดียว แต่ถ้าท่านสมาชิกได้พบว่าเสียงเหล่านั้นของพี่น้อง ประชาชนยังไม่ดังพอถึงกระทรวงคมนาคม ท่านสมาชิกสามารถเอาปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนเหล่านั้นเสนอมาทางกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลการก่อสร้างดังกล่าว จะรีบลงไปแก้ไขให้นะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็จะนำเรียนว่ามันเป็นโครงการพิเศษ ทั้งสาย พระราม ๓-ดาวคะนอง แล้วก็วงแหวนรอบนอกของกรุงเทพมหานครทางฝั่งตะวันตก ซึ่งมีระยะทางอยู่ ๑๘.๗ กิโลเมตร แล้วก็เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ ทางหลวงสาย ๓๕ ธนบุรี-ปากท่อ ตอนบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางอีก ๘.๓ กิโลเมตร ต่อเนื่องยังโครงการ ทางหลวงพิเศษ M82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว เป็นระยะทาง ๑๖.๔ กิโลเมตร และโครงการ แยกต่างระดับที่บ้านแพ้วไปถึงสมุทรสาครอีกประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร แล้วก็เส้นทางดังกล่าว เชื่อมระหว่างถนนพระราม ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๓๗๕ บ้านบ่อ-พระประโทน สู่จังหวัด นครปฐม ซึ่งเราคาดการณ์ว่ากระทรวงคมนาคมเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีการเปิด ให้ใช้เต็มรูปแบบในปี ๒๕๖๘ ในขณะที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างค่ะท่านประธาน กระทรวงคมนาคมก็ได้มีการสั่งการอย่างใกล้ชิด เพราะเราได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วนะคะ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีการก่อสร้างบนถนนพระราม ๒ ไม่ว่าจะประกอบไปด้วย กรมทางหลวง แล้วก็การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินบูรณาการร่วมกันกับมาตรการ ความปลอดภัยให้เคร่งครัด แล้วก็กำชับตลอดเวลาว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนที่ส่งผล ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอีก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เราได้มี การประชุมถึงการเตรียมการความปลอดภัย การบริหารจัดการจราจร เตรียมทั้งบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ความปลอดภัยบนที่สูงในทุกกิจกรรม เช่น มีการติดตั้งเครือข่ายนิรภัย ที่ป้องกันวัสดุตกหล่นลงมา หรือว่า Safety Net ดังในภาพจะเห็นว่าเรามีการติดตั้ง Safety Net เพื่อป้องกันวัสดุตกหล่นระหว่างที่รถสัญจรไปมา แล้วก็ตรวจสอบการทำงานของบริษัท ของคนงานไม่ให้มีการประมาทเลินเล่อ ไม่ให้เอาความมักง่ายในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น เวลาไหน ถ้าท่านสมาชิกบอกว่ามีการลักลอบการก่อสร้างนอกจากเวลาที่กำหนดไว้ ดิฉันจะสั่งการให้กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไปตรวจสอบ แล้วจะรีบ รายงานท่านสมาชิก ขอบพระคุณท่านที่ได้เป็นหูเป็นตาช่วยกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น ในภายหน้าเราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกนะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

นอกจากนั้นเราก็มีการติดตั้งชุดอุปกรณ์เหล็กเพื่อรับแรงดึงดูดในที่สูง แล้วก็ ติดตั้งกล้อง CCTV ที่ท่านสมาชิกบอกนะคะ ดิฉันจะให้เจ้าหน้าที่ไปดูกล้อง CCTV ว่า มีการลักลอบทำงานนอกจากเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ บนโครงเหล็กเลื่อนเพื่อตรวจสอบ การทำงาน แล้วก็มาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและลดความสูญเสียเกิดขึ้นต่อผู้ใช้รถ ในเส้นทางของถนนพระราม ๒ นี่คือคำถามแรกที่ท่านสมาชิกถามค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับ ก่อนเข้าไปถึงคำถามที่ ๓ คำถามที่ ๔ และคำถามที่ ๕ ผมมีประเด็นที่อยากจะพูดฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมครับ อย่างที่กระทรวงคมนาคมจัดประชุมต่าง ๆ แต่ในบริบทความเป็นจริงของถนนพระราม ๒ ผมเล่าแบบนี้นะครับ ปัญหาถนนพระราม ๒ มันมีตั้งแต่น้ำท่วมขังระยะเวลาไม่ต่ำกว่าปีสองปี และเป็นถนนใหญ่ด้วย เป็นถนนชั้นใน ไม่เคยถูกแก้มาก่อนปีสองปี พอผมเป็นผู้แทนราษฎร เราก็ตั้งคำถามทำไมไม่แก้เสียที ทำไมไม่มีใครแก้ สรุปคืออะไรทราบไหมครับท่านประธาน คือเขาไม่คุยกัน เขตกับการทาง พิเศษแห่งประเทศไทย ตำรวจไม่คุยกัน และรู้ไหมผมต้องแก้ปัญหาอย่างไร ง่ายมากครับ ผมก็เลยทำหนังสือเชิญไปที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เชิญไปทางเขต พี่มีปัญหาแบบนี้ ใช่ไหม เดี๋ยวผมนั่งหัวโต๊ะให้พี่จะได้คุยกัน สรุปง่ายมากวิธีการแก้ปัญหาพระราม ๒ ปัจจุบันคือผมต้องนั่งเป็นหัวโต๊ะและเชิญทุกฝ่ายมาแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น สัญญาที่ ๒ มีปัญหาน้ำท่วมขังซอย ๒๑-๒๗ ขังแบบนี้เป็นเวลานาน คนลื่นล้มหัวแตก พิการก็มี แต่แก้แบบนี้ คือเราต้องไปนั่งตั้งคำถามคือทำไมถึงคุยกันไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้แทนราษฎรแล้วจะแก้ อย่างไรครับ ผมถึงตั้งคำถามว่าการประชุมแต่ละครั้งฝากทางกระทรวงคมนาคมว่าวันนี้ กระบวนการมันเป็นแบบนี้จริง ๆ ในพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่ ผมต้องเป็นคนกลางถึงจะจัด ๒ ฝ่าย มาคุยกันได้ และสัญญาที่ ๓ ที่ผมกำลังพูดถึงที่น้ำท่วมขัง คำถามคือวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตก็จริง แต่เขาเสียโอกาสการดำรงชีวิตมันมีมูลค่านะครับท่านประธาน เสียโอกาสการดำรงชีวิต ความหมายก็คือเขาต้องอยู่กับน้ำที่ไม่มีวันลดเลย ประเด็นคือสมมุติว่าเป็นยุงลายขึ้นมา ใครรับผิดชอบ ตกน้ำขาหักใครรับผิดชอบ ผมไม่รู้เลยว่ามันมี Protocol อย่างไร เมื่อครู่นี้ ทางกระทรวงคมนาคมตอบผมคิดว่าหลักการดีครับ แต่พอเป็น Protocol ปฏิบัติจริง ๆ มันจะเป็นแบบนี้เสมอท่านประธาน พอไปอยู่ในหน้างานปฏิบัติจริงมันอีกรูปแบบเลย ผมเลยตั้งคำถาม จาก ๒ คำถามข้างต้นก็ฝากกระทรวงคมนาคมลองส่งคนไปก็ได้ครับ ไปที่สัญญาที่ ๓ ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ผมทราบดีวันนี้ออกข่าวเยอะมากเลย ของสัญญาที่ ๓ มีทั้งคุ้มครองผู้บริโภคก็ไปกับผมมาแล้ว ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ตาม พยายาม ไปช่วยสุดความสามารถ ก็ฝากกระทรวงใหญ่ไปดูอีกคนหนึ่ง เอาให้ได้ เอาให้จบ เอาให้ น้ำแห้งให้ได้ ที่ผมพูดนี่ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรเลยครับ นอกจากหวังว่าทุกคนจะช่วยกันให้ น้ำลง ให้เขาอยู่ได้อย่างปกติ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมจะฝากนะครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อย่างที่ ๒ มันมี Fact อีกอย่างหนึ่งเหมือนมาตรฐาน มาตรการเขาบอกว่า ต้องทำแบบนั้น EIA ทำแบบนี้ ค่าฝุ่นเขาก็เจอท่านประธาน ฝุ่นที่เกินตลอด ซักผ้านี่ ฝุ่นมาหมดเลยนะ และถามว่าตัววัดฝุ่นมันอยู่ใกล้จุดตรงนั้นไหม เขาก็มาแจ้งบอกว่า ท่าน สส. ปูอัด ฝุ่นมันไม่เกินหรอก เราวัดมาแล้ว แต่ตัววัดอยู่ไหนทราบไหมครับ อยู่ราษฎร์บูรณะ แต่ผมอยู่จอมทอง แล้วถามว่าฝุ่นนี่มันจะไปวัดตรงนั้นได้อย่างไร ในเมื่อ ผลกระทบมันอยู่ตรงนี้ ผมก็เลยต้องฝากท่านลองเอามาวัดหน่อยเถอะ มันต้องเป็นการคุยกัน เพราะฉะนั้นผมกำลังจะบอกว่าหลักการดีแต่แบบปฏิบัติมันต้องพลิกบ้าง ฉะนั้นผมฝาก ทางกระทรวงคมนาคม ฝากช่วยไปดูหน่อย ทีนี้ผมมีคำถามที่ ๓ และคำถามที่ ๔ ขึ้นมาครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือถ้ารู้ว่าผู้รับเหมากระทำผิดจริง ๆ แล้ว ผมก็ยังไม่เคยได้ยินว่า บทลงโทษของผู้รับเหมาเหล่านี้คืออะไร เราไม่เคยมีบรรทัดฐานนี้เลยครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างลาดกระบังก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างพระราม ๒ ก็ดี สุดท้าย ผู้รับเหมากระทำผิด ทำให้คนตายขึ้นมา ทำให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน และบทลงโทษคืออะไร อันนี้คือสิ่งสำคัญนะครับ ต่างประเทศเขาทำมาหมดแล้ว บทลงโทษ ที่เยอรมนี บทลงโทษสหรัฐอเมริกา มีบทลงโทษกันหมด แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณี ตัวอย่าง อยากจะฝากกระทรวงคมนาคมเรื่องนี้อีกเรื่องหนึ่ง

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ คือการก่อสร้างทางด่วน เราทราบแล้วว่าจะเสร็จปี ๒๕๖๘ ก็คาดหวังจริง ๆ อยากจะถามต่อว่ามันมีการก่อสร้างเพิ่มอีกไหม ตอบในที่ประชุมตรงนี้เลย ถ้าบอกว่าไม่มีการก่อสร้างเพิ่มอีกแล้วก็อยากจะเชิญท่านประธาน เชิญทางกระทรวงคมนาคม ไปร่วมกันปิดตำนานถนนพระราม ๒ ในปี ๒๕๖๘ ผมฝาก ๒ คำถามนี้ก่อนครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากประเด็นคำถามของท่านสมาชิกเรื่องของปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาน้ำท่วมขังซึ่งเราต้อง อาศัยความร่วมมือจากทั้งกรุงเทพมหานคร จากทางกรมทางหลวง ซึ่งบางช่วงที่ท่านได้พูดถึง สัญญาที่ ๓ เป็นสัญญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่วนสัญญาที่ ๒ นั้นเป็นสัญญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ซึ่งก็ต้องนำเรียนว่า ปัญหาน้ำท่วมไม่เพียงแค่ในเส้นทางดังกล่าว ในเมื่อความเจริญต่าง ๆ เหล่านั้นมาถึง สิ่งที่เป็น ผลกระทบก็จะตามมา แต่ทางกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้ละเลยนะคะ ได้ประสาน ความร่วมมือทางกรุงเทพมหานคร เรื่องของน้ำท่วมขังไม่ว่าจะเป็นหิน กรวด วัสดุที่ตกลงไป ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ให้มีการล้างท่อแล้วก็อย่าให้น้ำท่วมขังที่พี่น้องประชาชนเข้าออก บริเวณถนนหรือเข้าออกตามตรอกซอกซอยลำบาก แล้วก็ให้ดูเรื่องของหิน กรวด ทรายที่เข้า ไหลลงไปตามท่อ รวมทั้งเศษขยะต่าง ๆ ไม่ให้เข้าไปเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง แล้วก็น้ำที่ไหลลงไป จะมีทางระบายน้ำให้กับช่องทางตามบริเวณทางระบายของถนนเส้นนั้น ๆ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านสมาชิกแจ้งว่าท่านต้องนั่งหัวโต๊ะในการประชุมต่อภาพรวม ของหน่วยงานในการบริการ แล้วก็ในการทำความเข้าใจกับโครงการของเส้นพระราม ๒ ดิฉันขอชื่นชมนะคะว่าการมาเป็นผู้แทนราษฎร เราเรียกว่าการเป็นผู้แทนราษฎรคือเงา สะท้อนประชาชน เมื่อคุณเป็นผู้แทนราษฎรสะท้อนประชาชน คือประชาชนเดือดร้อน อย่างไร เราก็เอาปัญหาของพี่น้องประชาชนมานั่งหัวโต๊ะ ดิฉันคิดว่าคุณได้ทำหน้าที่ ของพี่น้องประชาชน ตัวแทนที่ผ่านระบบการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างยอดเยี่ยม แล้วก็ขอให้เป็นแบบนี้ตลอดไปนะคะ แล้วก็พี่น้องประชาชนจะได้มีความหวังว่าเขาตัดสินใจ เลือกผู้แทนราษฎรมาถูกแล้ว และครั้งหนึ่งที่เขาได้มีปัญหาความเดือดร้อนผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้ละเลย แล้วก็เอาปัญหาเหล่านั้นมาเสนอต่อสภา ต่อตัวแทนของกระทรวงต่าง ๆ ที่กำกับดูแลในเส้นทางพระราม ๒ ดังกล่าว

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

อีกคำถามหนึ่งในเรื่องของบทลงโทษ บทลงโทษตามกฎหมายก็จะมี ๒ บทลงโทษ บทลงโทษแรกก็คือผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วทำให้ล่าช้า เราก็จะมีค่าปรับ เปรียบเทียบปรับ แต่ถ้าผู้รับเหมาได้ดำเนินการก่อสร้างในระหว่างนั้นและเป็นอันตราย ถึงแก่ชีวิตหรือเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชนก็จะมีเรื่องของการเยียวยาตามความเสียหาย ที่เกิดขึ้น ส่วนบทลงโทษที่ท่านบอกว่าเป็นมาตรฐานเหมือนต่างประเทศ เราก็อยากจะให้เป็น เช่นนั้น แต่ด้วยจิตสำนึก ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราคงต้องอาศัยความร่วมมือแล้วก็ พยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน นั่นก็คือ กฎหมาย ทั้งนิติศาสตร์แล้วก็รัฐศาสตร์ในการบริหารงานองค์กรให้ประสบความสำเร็จ แล้วก็ สร้างความผาสุกให้กับพี่น้องประชาชนต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ ทางผู้ถามยังมีเวลาเหลือนะครับ แต่ท่านรัฐมนตรีคงไม่ได้ตอบแล้ว อยากมีอะไรฝากสุดท้ายไหมครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมเหลืออีก ๑ นาที กว่า ๆ ใช่ไหมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

แต่ต้องขอไม่เป็นการอภิปรายนะครับ คำถามเพิ่มเติม ให้โจทย์เพิ่มเติมอย่างนี้ได้ครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมฝากแบบนี้ครับ เผื่อให้ท่านทำเอกสารมาก็ได้ครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. คืออยากทราบว่าถนนพระราม ๒ จะแล้วเสร็จปี ๒๕๖๘ มันจะมี การก่อสร้างอะไรเพิ่มหรือเปล่า เพราะผมหมายมั่นจริง ๆ ท่านประธาน เป็น สส. ครั้งหนึ่ง ก็อยากจะทิ้งอะไรไว้ให้กับแผ่นดิน ถ้าปี ๒๕๖๘ ไม่มีการก่อสร้างอีกแล้วก็จะเชิญทุกคน มาปิดตำนาน ๕๐ ปีกันครับ พอกันทีกับถนนพระราม ๒ ที่สร้างมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด วันนี้ มันจะได้จบในยุคสมัยของพวกเรา อันนี้ก็อยากจะฝากทางกระทรวงคมนาคมลองทำเอกสาร มาให้ดูหน่อย ถ้าหมดจริง ๆ ก็หานัดวันเรียนเชิญปีหน้าเลยครับ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท้ายที่สุดก็ขอบคุณที่ท่านได้มาตอบกระทู้ถามตรงนี้ครับ ที่ให้โอกาส สส. คนหนึ่งในพื้นที่ ที่อยู่กับพระราม ๒ มาโดยตลอด ขอบคุณที่ท่านสละเวลามาตอบตรงนี้และผมหวังว่าวันนี้ มันไม่มีหรอกครับ การที่มาตั้งคำถามเพื่อกล่าวหาว่าร้ายกัน แต่มันเป็นการหาทางออกร่วม ในฐานะคณะรัฐบาลแล้วก็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อท้ายที่สุดแล้วครับ ท่านประธาน เราก็หวังว่ามนุษย์ทุกคนจะมีโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อให้มีโครงสร้างรัฐ เข้ามา แต่โครงสร้างรัฐจะไม่ทำร้ายวิถีชีวิตเขา จะไม่ทำร้ายวัฒนธรรมที่เขาอยู่ แล้วก็สร้าง โอกาสให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ขอบคุณที่ท่านมาตอบวันนี้ครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ท่านประธาน ช่วงสุดท้าย กราบขอบพระคุณค่ะ ส่วนคำถามที่ฝากไว้นะคะว่าจะมีโครงการถนนพระราม ๒ ต่อหรือไม่ เดี๋ยวดิฉันจะไปตรวจสอบและจะแจ้งให้ท่านสมาชิกเป็นเอกสารนะคะ จริง ๆ ความเจริญทุกเส้นทางก็ต้องนำเรียนว่าเราอยากให้สร้างความเจริญไปทุกเส้นทาง แล้วก็ กระจายความเจริญไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในซีกของฝั่งตะวันตกนะคะ ก็จะนำเรียนเป็นเอกสารอีกครั้งหนึ่งเรื่องของการจัดสรรงบประมาณว่าจะไปต่อหรือไม่ ในเส้นทางของพระราม ๒ นะคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ จบกระทู้ถามแยกเฉพาะของท่านไชยามพวาน ขอบคุณท่านผู้ตั้งกระทู้ถาม แล้วก็ท่านรัฐมนตรีนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนที่ประชุมนะครับ สำหรับกระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๕ แล้วก็กระทู้ถาม แยกเฉพาะที่ ๖ ท่านรัฐมนตรีเลื่อนการตอบกระทู้ถามออกไปนะครับ เพราะฉะนั้นสำหรับ วันนี้ก็หมดการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะครับ ขอบคุณทุกท่านครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านสมาชิกครับ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตามที่เมื่อวานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การขนส่งทางบก และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ส่งคณะกรรมาธิการการคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ แต่โดยที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณา ดิฉันจึงขอเสนอระยะเวลาการพิจารณาศึกษาในญัตติดังกล่าวของคณะกรรมาธิการ การคมนาคมจำนวน ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ให้ทางคณะกรรมาธิการการคมนาคมนำไปศึกษา ใช้เวลา ๙๐วัน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านสมาชิกครับ สำหรับการพิจารณารับทราบรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ปรากฏว่าหน่วยงานที่พร้อมที่จะชี้แจงต่อที่ประชุมในวันนี้ก็คือ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี ๒๕๖๕ ส่วนหน่วยงานอื่นก็ขอเลื่อนการเข้าชี้แจงไปก่อน ดังนั้นภายหลังจากจบการพิจารณาเรื่องนี้ แล้ว จะเป็นการพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณาต่อไปครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒.๓ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปี ๒๕๖๕

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

รายนามผู้ที่จะไปชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง รับทราบรายงาน ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ ก็คือ ท่านแรก ท่านแสวง บุญมี เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านที่ ๒ ท่านกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ท่านที่ ๓ ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ท่านที่ ๔ ท่านวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านที่ ๕ พันตำรวจตรี ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านที่ ๖ ท่านเกรียงไกร พานดอกไม้ รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง ท่านที่ ๗ ท่านโกศิญา วิริยะนันทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ท่านที่ ๘ ว่าที่ร้อยตรี ภาสกร สิริภคยาพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารเลือกตั้งและการออกเสียง ประชามติ ๑ ท่านที่ ๙ ท่านเสาวภา เดชาภิมณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสนับสนุน โดยรัฐ ท่านที่ ๑๐ ท่านอภิวัฒน์ เริงทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง เชิญท่านเข้าประจำที่ ท่านจะแถลงนิดหน่อยไหมครับ หรือว่าให้ทางสมาชิกได้อภิปรายเลย ก็มีอยู่ประมาณ ๑๔ ท่าน ท่านแรกที่จะอภิปราย ท่านจุลพงศ์ อยู่เกษ เชิญท่านจุลพงศ์ครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมไม่มี Slide ท่านผู้ชี้แจงฟังผมไปเรื่อย ๆ อภิปรายไปเรื่อย ๆ ผมจะอภิปราย ในลักษณะตั้งคำถาม แล้วจะอ้างอิงถึงหน้าของรายงาน ถ้าท่านฟังไปเรื่อย ๆ ท่านจะเข้าใจ มีทั้งหมด ๕ ประเด็น ๕ เรื่อง

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก คือยุทธศาสตร์ที่ ๑ ในหน้า ๑๑๘ ของรายงาน ผมเข้าใจว่าเป็น ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี คำถามผมคือว่าในเมื่อเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทำไมการเบิกจ่ายงบประมาณในงบการเงิน หน้า ๑๙๐ จึงมีการเบิกจ่ายงบประมาณน้อยที่สุดใน ๓ ยุทธศาสตร์ คือในปี ๒๕๖๔ มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพียง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ในปี ๒๕๖๕ มีการเบิกจ่ายเพียง ๒๗ เปอร์เซ็นต์ของงบที่ได้รับอนุมัติ การพัฒนาบุคลากรที่ใช้เงินต่ำกว่า งบที่ได้รับอนุมัตินี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการจัดการเลือกตั้งและประกาศการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดนี่ล่าช้าใช่หรือไม่ครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ คือขอให้ท่านผู้ชี้แจงขยายความคำว่า กลยุทธ์ที่ ๒ ของยุทธศาสตร์ที่ ๑ ในหน้า ๑๑๘ ขอให้ท่านขยายความสักนิด ในกลยุทธ์ที่ ๒ ท่านเขียนว่า ยกระดับการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งการออกเสียงประชามติให้ชาญฉลาดทั้งระบบ (ต้นน้ำและปลายน้ำ) ขอให้ท่านขยายความสักนิดหนึ่ง เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับความพร้อม ของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำประชามติ หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้า

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ คือเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ ในรายงานหน้า ๑๔๗-๑๔๘ คำถามผมคือ ตกลงวิธีการลงคะแนนผ่าน Internet หรือ i-Voting จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง หรือการลงประชามติหรือไม่ เพราะรายงานไม่ชัดเจน และการเดินทางไปต่างประเทศ ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเดินทางในรายงานงบประมาณหน้า ๒๓๒ กระโดดขึ้นจาก ๑๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๕๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ เพราะมีการเดินทางไป ในประเทศยุโรปหลายประเทศหรือเปล่าครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามข้อที่ ๔ ในงบการเงินหน้า ๒๓๔ ที่ระบุว่า กกต. ถูกฟ้องคดีนั้น ผมขอเรียนถามท่านผู้ชี้แจงว่าในรายงานนี้รวมทั้งคดีที่ศาลจังหวัดฮอดหรือเปล่าครับ ที่คณะกรรมการ กกต. ถูกฟ้องในคดีใบส้มในเรื่องซองทำบุญด้วยหรือเปล่าครับ ถ้าใช่ ผมมีคำถามว่าท่านผู้ชี้แจงกรุณาแจ้งให้ทราบว่าคดีนี้อยู่ในชั้นศาลไหน และถ้าคดีนี้ ถึงที่สุดแล้ว สำนักงาน กกต. ต้องชำระหนี้ไปให้โจทก์หลายสิบล้านบาท สำนักงาน กกต. มีระเบียบในการเรียกเงินคืนจาก กกต. เช่นใดครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คำถามสุดท้าย คือเรื่องกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในงบแสดงผล การดำเนินงานทางการเงิน หน้า ๒๔๒ มีการลงบัญชีว่ากองทุนนี้มีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาท ในฐานะคนที่เคยทำงานด้านการเงิน ผมก็ตามไปดูหมายเหตุประกอบการเงิน ก็ยังใช้คำว่า มีรายได้อื่น ผมขอเรียนถามครับว่ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองนั้นมีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาทนั้น เป็นรายได้จากอะไร ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ท่านเอกราช อุดมอำนวย ท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญท่านลิณธิภรณ์ครับ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ หลังจากที่ดิฉันได้อ่านรายงานผล การปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันมีข้อสังเกตอยู่ หลายประการ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในรายงานผล การปฏิบัติงานฉบับที่ดิฉันถืออยู่นี้ระบุว่า ในปี ๒๕๖๕ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็นอุดหนุนทั่วไปมากถึง ๑,๗๐๗ ล้านบาท และใช้เป็น เงินนอกงบประมาณอีก ๑,๘๑๕ ล้านบาท รวมทั้งสิ้นของงบประมาณที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งได้รับการจัดสรรคือ ๓,๕๒๓ ล้านบาท ทั้งนี้ ได้ระบุในหลายส่วนงานที่กล่าวถึง การใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร แต่สิ่งที่ดิฉัน อยากตั้งข้อสังเกตก็คือหลังจากการดำเนินงาน ๑ ปี จนมีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๖๖ งบประมาณเหล่านี้ถูกใช้ในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๔ ของรายงานฉบับนี้ ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากค่ะ ในท่อนแรกระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมุ่งมั่นพัฒนา ปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต และเที่ยงธรรม ในเนื้อหาส่วนนี้ยังระบุถึงวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับระดับสากลในกระบวนการ การเลือกตั้งอย่างมืออาชีพ ท่านประธานคะ ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาในส่วนนี้ยังระบุอีกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และพัฒนางาน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่องทั้ง ๓ ด้าน

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ด้านแรก ในแง่ของการพัฒนาคน ในรายงานระบุว่าต้องเน้นพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ รู้เท่าทันเทคโนโลยี และปฏิบัติงานด้วยความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ส่วนด้าน การพัฒนางาน ก็เน้นเสริมสร้างระบบและการพัฒนากระบวนการอย่างมีมาตรฐาน เน้นการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม นอกจากนี้ ในแง่ของการพัฒนาองค์กรก็เช่นกัน เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่าต้องมีการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และศรัทธาในการบริหาร การเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ท่านประธานคะ ตัวอย่างที่ดิฉันยกให้เห็น มันสะท้อนให้เห็นคำสำคัญหลายอย่างที่ระบุไว้ คำว่า สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ซ้ำกันไปมา ประกอบกับคำว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และศรัทธา ในระบบการบริหาร การเลือกตั้ง แต่ข้อสังเกตที่ดิฉันพบ ด้วยงบประมาณกว่า ๓,๕๒๔ ล้านบาท อันเป็น งบประมาณที่ไม่น้อยเลยที่ต้องสามารถสร้างให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และความเชื่อมั่น ศรัทธาในการเลือกตั้งหากมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมค่ะท่านประธาน แต่หากเราดูรายจ่ายหมายเหตุที่ ๑๙ มีค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ดิฉันสนใจและตั้งข้อสังเกต ก็คือ มีการระบุค่าใช้จ่ายเรื่องการรับรองอาหารว่างและเครื่องดื่มที่มีมูลค่าสูงถึง ๔๔ ล้านบาท ซึ่งการตั้งงบประมาณตรงนี้สูงกว่าปี ๒๕๖๔ กว่า ๓๗ ล้านบาท ซึ่งดิฉันอดตั้งคำถามไม่ได้ค่ะ การเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนนี้ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพต่อองค์กรอย่างไร จึงอยากเรียน สอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงเหตุผลการเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนนี้ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งค่ะท่านประธาน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปฏิเสธรายงานผล การนับคะแนนแบบ Real Time จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลก Online อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น Hashtag กกต. มีไว้ทำไม รวมถึงมีการรณรงค์รายชื่อ ผ่าน Change.org ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า ๑ ล้านคน แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีผล ในทางกฎหมาย แต่มันคือภาพสะท้อนของวิกฤติที่ประชาชนเสื่อมความศรัทธา และขาด ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการการเลือกตั้งหรือไม่ ท่านประธานคะ ดิฉันต้องขอ สารภาพค่ะ ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เกิดกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีแผนจัดทำโปรแกรมการรับสมัคร เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ Online ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีงบประมาณในการจัดสรรราว ๒๐ ล้านบาท แต่ปรากฏว่า งบประมาณตัวนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะว่ามีมูลค่าที่สูงเกินไป และไม่สามารถทำให้เกิด การรายงานอย่าง Real Time ได้ ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าการปรับลดงบประมาณในเรื่อง ของค่ารับรองอาหารว่างและเครื่องดื่ม จะทำให้ระบบการทำงานของ กกต. มีประสิทธิภาพ มากกว่านี้หรือไม่ จากประเด็นนี้ดิฉันคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ กกต. ต้องเตรียมความพร้อม ในอนาคต เพราะเรากำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น และจะมีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในอีก ๔ ปีข้างหน้า ท่านประธานคะ นอกจากการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่เหมาะสมแล้ว ดิฉันอยากเสนอว่าเราควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาโดยการใช้ เทคโนโลยี Blockchain โดยทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้เสนอว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมา ประยุกต์ใช้กับการเลือกตั้งได้ และยังสามารถลดการโกงการเลือกตั้งได้อีกด้วยค่ะ ท่านประธานคะ นี่คือการยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านระบบ Blockchain อยู่แล้ว ดิฉันคิดว่าเราสามารถพัฒนาระบบ Blockchain เพื่อนำมาปรับใช้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ได้ในอนาคต เพราะเราจะมีฐานข้อมูลของประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่า ๕๖ ล้านคน ดิฉันจึงอยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ลองพิจารณา ข้อเสนอแนะของดิฉันดู เพื่อให้การเลือกตั้งในอนาคตสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม พลิกฟื้น ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลับไปอีกครั้ง ให้พวกท่านเป็นความหวังที่พวกเราประชาชนได้ไว้ใจให้ท่านในการบริหารจัดการอำนาจ ของพวกเรา ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเอกราช อุดมอำนวย เชิญครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนราษฎรคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านประธานและท่านผู้ชี้แจงที่ให้เกียรติสภาแห่งนี้นำรายงาน การปฏิบัติงานของ กกต. ประจำปี ๒๕๖๕ เข้าสู่การพิจารณาของสภา ผมได้เห็นในรายงาน เล่มนี้แล้ว ก็รวบรวมสถิติเกี่ยวกับคดี ผมมีเรื่องที่ติดใจอยู่ ๑ เรื่อง ก็คือเรื่องของ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีรายงาน ผมไม่ทราบว่าจำเลยเป็นใคร แต่ว่ามีการฟ้องคดี หมิ่นประมาท ผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นหน่วยงานรัฐเสียหายถึงขนาดจะต้องไปไล่ฟ้องในคดี หมิ่นประมาทด้วยหรือเปล่า อันนี้ก็อยากจะให้ลองทบทวนนะครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นถัดมา ปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ปัญหาอุปสรรคที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งเจอ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ทั้ง กทม. ทั้งพัทยา แล้วก็ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ นี่คือความหนักอึ้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเนื่องจากช่วงมีการเว้นวรรค ก็ทำให้พนักงานต่าง ๆ ของ กกต. อาจจะขาดความรู้ ขาดการ Update กฎหมาย ทำให้การจัดการเลือกตั้งมีข้อโต้แย้ง ข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในการทำงานถัด ๆ ไปผมก็คิดว่า กกต. ก็ต้อง มีการฝึกอบรมผู้ที่ดำเนินการประจำหน่วยเลือกตั้งให้มีความรู้พร้อมเพรียงกัน

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ในเรื่องของการที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นมีส่วน ได้เสียกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เรื่องนี้ถ้ากรณีมีการร้องเรียน หรือว่ามีการที่จะต้องตรวจสอบ ก็จะเกิดความยากลำบาก เกิดกระบวนการติดขัดในชั้นสอบสวน ก็อยากจะให้ กกต. ลองออกระเบียบหรือวิธีการที่จะแก้ไขปัญหานี้ เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โปร่งใสมากยิ่งขึ้น

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

การตรวจสอบผู้สมัคร คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งของสภาท้องถิ่น ก็จะมีปัญหาเรื่องของการตรวจสอบอย่างล่าช้าทั่วประเทศเลยทีเดียว ซึ่งผมเข้าใจว่า ตามกฎหมายแล้วจะต้องไม่เกิน ๗ วัน นับตั้งแต่ปิดรับสมัคร การวินิจฉัยคุณสมบัติตรงนี้ มีส่วนสำคัญมากทีเดียว แม้กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปก็มีข้อกังขาในเรื่องของการตรวจสอบ จึงอยากให้ กกต. ลองตอบคำถามหน่อยว่าแนวทางต่อไปที่ท่านจะสามารถแก้ไขได้เร็วขึ้น อาจจะต้องพึ่งพาระบบปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ หรือว่าระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ท่านประธานครับ

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผมจะใช้เวลาสักเล็กน้อยที่จะสะท้อนเป็นกระจกไปถึงคณะกรรมการ การเลือกตั้งในเรื่องของการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาว่าปัญหาที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ ในการจัดการเลือกตั้งผมคิดว่าคงจะไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปี ๒๕๖๕ หรือปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๓ ทั้งหมดมันจะเป็นปัญหาเดิม ๆ วันนี้ผมรวบรวมได้ข้อมูลมาจาก iLaw

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อันดับแรก เรื่องของการเอาจำนวนคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ สส. จนสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยว่าการคำนวณของ กกต. นั้นไม่ถูกต้อง ทำให้เกิด การต้องคิดคำนวณใหม่และมีการแบ่งเขตใหม่ อันนี้ก็สะท้อนถึงเรื่องของทีมกฎหมาย สะท้อนถึงเรื่องของการคิดวิเคราะห์ของ กกต. หรือไม่

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องของการแบ่งเขต การเลือกตั้งแบบแยกเขต ทำให้ประชาชน สับสน ตรงนี้ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการที่จะให้ประชาชนเข้าใจว่าการแบ่งเขตนี้ทำให้ฐานนิยม ในพื้นที่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร และการเริ่มต้นทำพื้นที่ของผู้สมัครหน้าใหม่ ในขณะเดียวกันก็สร้างความสับสนให้กับประชาชน มีการแบ่งแขวงแปลก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ท่าน กกต. ส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องของการให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน การส่งเสริม การเลือกตั้ง

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ก็คือเรื่องของการรายงานคะแนนแบบไม่ Real Time เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อวิธีการรายงานคะแนนการเลือกตั้ง เพราะว่าประชาชนต่างก็อยากจะ สนใจการนับคะแนน แต่ว่าท่านก็ได้อาศัยหน่วยงานภายนอกซึ่งมาร่วมจัด ผมก็เชื่อว่า ในการเลือกตั้งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ในการเลือกตั้งตามภูมิภาค ก็จะได้รับการแก้ไข และ กกต. ก็จะให้ความสำคัญให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วม ในการติดตามตรวจสอบมากขึ้น

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องต่อไปเป็นเรื่องของการใช้บัตรโหล ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ประชาชน ต้องจำเบอร์ผู้สมัคร นี่ก็คือเป็นเรื่องของการที่จะออกแบบบัตรเลือกตั้ง ในต่างประเทศ ก็จะมีหน้าของผู้สมัครใช่ไหมครับ มีรายละเอียดที่ชัดเจนในใบ เรื่องนี้ก็ได้รับการวิจารณ์ อย่างกว้างขวาง ผมก็สะท้อนไปว่าอยากจะให้ท่านลองหาแนวทางที่จะพัฒนาอย่างไรก็ได้ ให้มีนวัตกรรมในการเลือกตั้งที่จะทำให้ประชาชนไม่สับสนและเป็นคะแนนที่เป็นจริง และเป็นธรรมมากขึ้น

นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อันที่ ๕ ก็คือระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มวันสุดท้าย ใน Website กกต. ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจลงทะเบียนให้ทัน ตามกำหนดแต่ไม่สามารถเข้า Website ได้ ที่พูดนี่เข้าใจว่าท่านได้มีการแก้ไขแล้ว แต่อยากจะให้ท่านเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งทุก ๆ ครั้งและครั้งถัดไปว่าการเลือกตั้งนั้น มีส่วนสำคัญที่พี่น้องจะเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจของพี่น้องประชาชน เป็นอำนาจอธิปไตย สูงสุด จึงอยากให้ท่าน กกต. เตรียมรับมือพวกนี้ และที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากในช่วง ๕-๒๒ เมษายน ที่ผ่านมาว่าจะมีการบินไปดูงานต่างประเทศในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ตรงนี้ ท่านก็ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนแล้วนะครับท่านประธาน แต่ว่าสภาแห่งนี้ผมก็ท้วงติงไว้ นิดหนึ่งว่ามันเกิดความไม่สบายใจของผู้สมัครก็ดี ของประชาชนก็ดี ก็ทำให้รู้สึกว่าท่านไม่ได้ สนใจกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ท่านประธานครับ นอกจากเรื่องของรายละเอียด ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะนำสอบถามท่าน กกต. ก็คือเรื่องของการใช้ Application ตาสับปะรด ผมเป็นคนหนึ่งที่ Download Application ตาสับปะรด ของ กกต. เข้ามา ในส่วนของการลงทะเบียนก็จะมีการยืนยันผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ ใช่ไหมครับ และมีการแจ้งข้อมูลการทุจริตในการเลือกตั้ง ในการแจ้งนั้นมีการลงทะเบียน เพื่อยืนยัน คำถามผมคือประชาชนที่ไหน ใครกล้าที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวในการที่จะแจ้ง กับท่าน แล้วประชาชนก็อาจจะรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้น ใน Application ตาสับปะรดมีทั้งช่องให้กรอกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมด รวมถึง File เสียง Clip เสียงที่เป็นพยานหลักฐาน เข้าใจว่าท่านก็พยายามออกแบบ ให้ดีที่สุดที่จะให้เข้าถึงพี่น้องประชาชน แต่สุดท้ายแล้วก็อยากให้ท่านลองช่วยดูว่าจะทำ อย่างไรที่ Application ตัวนี้จะพัฒนาได้มากขึ้น และพี่น้องมีความมั่นใจที่ร้องเรียนไปแล้ว การคุ้มครองพยานหรือการที่จะดูแลผู้ที่ร้องเรียนจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝากไว้ เท่านี้ครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ผมขออนุญาตในการที่จะอภิปรายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรายงานฉบับนี้ ๒ ประเด็นครับท่านประธาน

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

จากการรายงานแจ้งว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงาน ที่รับงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ รวม ๑,๗๐๐ ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี ๒๕๖๕ ๓,๕๒๓ ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าปี ๒๕๖๕ ท่านใช้จ่ายงบประมาณเกินไป ๑,๘๑๕ ล้านบาท ท่านประธานครับ มาดูของปี ๒๕๖๔ งบประมาณและรายได้อื่นรวมแล้ว ๑,๗๙๓ ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒,๔๕๖ ล้านบาท มีการใช้จ่ายเกินงบประมาณ ๖๖๓ ล้านบาท กระผมได้นำตัวเลขปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ มาเปรียบเทียบกัน ท่านได้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จากปี ๒๕๖๔ ถึง ๑,๐๖๗ ล้านบาท ในประเด็นนี้กระผมจึงขอเรียนถามท่าน กกต. ว่าการใช้ งบประมาณมากขึ้นในปี ๒๕๖๔ จำนวนถึง ๑,๐๖๗ ล้านบาทนี้ท่านได้ดำเนินการและใช้ งบประมาณของปี ๒๕๖๔ ไปกับโครงการใด กิจกรรมใดเพิ่มเติมมากจากปี ๒๕๖๔ บ้างครับ แล้วถ้าท่านตอบได้ว่าในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ถ้าท่านตอบได้นะ ที่เพิ่งผ่านไปนี้ท่านมีการใช้ งบประมาณทั้งสิ้นเท่าไร และการใช้งบประมาณมากกว่าปี ๒๕๖๕ จำนวนเท่าไร

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ในรายงานฉบับนี้หน้า ๖๘-๖๙ ท่านแจ้งว่าได้ดำเนินคดีแพ่งการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๒ คดี อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการ ๑ คดี และกรณีเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ตามมาตรา ๔๒๐ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วอีกคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจำนวน ๑ คดี ในกรณี กกต. ถูกฟ้องเป็น คดีแพ่ง ผมเชื่อว่าคดีแพ่งน่าจะเป็น ขอเอ่ยนามครับ น่าจะเป็นคู่กรณีกันระหว่าง ท่าน สส. สุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร สส. พรรคเพื่อไทย เชียงใหม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๒ กระผมขออนุญาตเล่าเรื่องราวนี้เพื่อที่จะให้ท่าน กกต. แล้วก็พี่น้องประชาชนที่รับฟังอยู่ทางบ้านได้ทราบ เป็นคดีประวัติศาสตร์เหมือนกันนะครับ เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ เป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยซึ่งเกิดความเสียหาย ไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ กระผมขอให้ขีดเส้นใต้ว่าได้เกิดความเสียหายไปแล้ว คือการเสียหาย ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือท่านสุรพลที่ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แล้ว ชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี ๒๕๖๒ ด้วยคะแนนกว่า ๕๐,๐๐๐ คะแนน กกต. พิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจ ขาดความรอบคอบหรือเปล่าครับท่านประธาน ตอนนี้สำนักงาน กกต. คณะกรรมการ ไม่ได้มาทั้ง ๗ ท่าน รีบเร่งมีการสอบสวนอย่างรัดกุม และยังตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง ผิดพลาดอย่างมหันต์ โดย กกต. มีมติลงโทษท่านสุรพล มีมติให้ใบส้ม เพิกถอนสิทธิ ๑ ปี ในกรณีทำบุญใส่ซองถวายเทียนพระ ๒,๐๐๐ บาท ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ตัดสินประหารชีวิต ทางการเมืองของท่านสุรพล ๔ ปี กกต. กล่าวอ้างว่าท่านสุรพลมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา ๗๓ (๒) ซึ่งบัญญัติให้ เสนอให้ สัญญาว่า จะให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แก่ชุมชน สมาคม วัดวาอาราม สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ และสถาบันใด ๆ ก็แล้วแต่ นี่คืออยู่ใน ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ท่านประธานครับ กกต. ลืมจริง ๆ หรือแกล้งลืม ไปว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๖ บัญญัติว่าบุคคลมีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็คือ (๑) เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช จากข้อเท็จจริงท่านสุรพลมีจิตศรัทธาทำบุญตามประเพณีของศาสนาพุทธ แล้วรัฐธรรมนูญยังกำหนดไม่ให้พระภิกษุไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำไมทาง กกต. จึงตีความไปว่า ท่านสุรพลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา ๗๓ ล่ะครับ ท่านประธานครับ สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ฟ้องคดีที่ กกต. ยื่นฟ้องนายสุรพล คดีบูชาเทียนเพื่อทำบุญวันเกิด ๒,๐๐๐ บาท ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ โดยระบุว่าไม่ใช่เป็นการซื้อเสียงหรือทุจริตในการเลือกตั้ง ศาลฎีกามองว่าท่านสุรพลเพียงทำบุญโดยนำเงินใส่ซองให้กับพระ รู้กัน ๒ ท่าน ๒ คน เท่านั้นเอง โดยไม่มีบุคคลที่สามรู้เห็นเป็นใจด้วย ศาลฎีกาจึงมองว่าไม่เข้าข่ายในการจูงใจ ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจผิด นิยมชมชอบในการลงคะแนนให้ท่านสุรพล เกียรติไชยากร โดยหลังจากนั้นท่านสุรพลก็ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อ กกต. โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๕ ให้ กกต. เป็นจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๖๔ ล้านบาท ตัวเลขกลม ๆ หลังจากนั้น กกต. ก็อุทธรณ์ พออุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยังพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งก็แพ้อีก พอแพ้ แก้ไขว่าจาก ๖๔ ล้านบาท เป็น ๕๖ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามระยะเวลาจำนวน ที่ศาลชั้นต้นกำหนด ปกติเวลาเราพูดคำว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์นั้นมันจะเป็นประวัติศาสตร์ในทางที่ดีนะครับ อย่างกรณีนักมวย ได้เหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกเข้าสู่ประเทศไทย อันนี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นประวัติศาสตร์ แต่อันนี้ เป็นประวัติศาสตร์ในสิ่งที่ไม่ดีกับทางนี้ครับ อย่างกรณีนักมวยไทยสมัครเล่น นักมวยไทย ที่ไปชนะเอาเหรียญมาจากตุรกีเมื่อ ๒-๓ วันก่อน คนบ้านนอก อยู่โรงเรียนชายแดน นี่เป็น ประวัติศาสตร์อนาคตต่อไปซึ่งเขาไปสร้างชื่อเสียงให้กับแชมป์โลก แต่สำหรับกรณีของ ท่านสุรพลนี่เป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่แจกใบส้ม หลังจากนั้นไม่มีใบส้มเลย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยผมก็คิดว่า ตัวผมเองนะครับ หลาย ๆ คนไม่กล้าพูดเพราะกลัว กกต. แต่ผมไม่ได้กลัว กกต. เพราะว่าเราไม่ได้มีความผิดอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพูดมันขายหน้า เพราะถูกฟ้อง กกต. ก็เคยติดคุกนะครับ ดูประวัติศาสตร์ ผลที่ขาดความรอบคอบของ กกต. เป็นการเสนอแนะ ไม่ว่าท่านนะครับ ไม่ได้ว่าท่าน เพราะว่ามันผ่านมาคือประวัติศาสตร์ กกต. ไม่ใช่ท่านเลขาธิการชุดนี้นะครับ แต่เหตุวันนั้นทำให้การเลือกตั้งสูญเสียงบประมาณ โดยใช่เหตุ พอเลือกตั้งใหม่พี่น้องประชาชนก็เดินทางไปเลือกตั้งอีก สูญเสียเวลา และงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเลือกตั้งซ่อมอีก ผลการแจกใบซ่อมทำให้ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งคนลงได้อีก สูญเสียไปก็เพราะว่ามันเป็นอะไร มันผิดอะไร ถึงมากมายขนาดนั้น แล้วท่านสุรพลก็ควรที่จะได้รับการเป็น สส. ก็เสียสิทธิไป ประชาชน ลงคะแนนเลือกตั้งให้เขา ๕๐,๐๐๐ คะแนน แต่ไม่สามารถที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของพี่น้อง ประชาชนได้ ผมเห็นว่าเป็นคดีตัวอย่างให้กับท่าน กกต. ในอนาคตข้างหน้า กกต. ทั้ง ๗ ท่าน อาจจะไม่เข้าใจเพราะว่าไม่ได้อยู่พื้นที่ อาจจะเชื่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่รายงานมาอย่างไร ก็เออออไปด้วยโน่นนี่นั่น อยากจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งผ่านท่านเลขาธิการไป ก่อนที่จะชงให้ กกต. เพื่อที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ คืออย่าไปทำให้ท่านต้องเป็นองค์กรอิสระ ท่านต้องมีอิสระ อย่าอยู่ภายใต้การครอบงำของพวกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกที่มีอำนาจลักษณะ อย่างนั้น ผมเชื่อว่าท่านบริสุทธิ์ กระผมถึงว่ามติของ กกต. ในครั้งนั้นเป็นการลิดรอน สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ๕ ข้อสำคัญ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผมก็เชื่อมั่นว่าถ้า ๒ ศาลแล้ว มันมี ๓ ศาล และ ๒ ศาลแล้ว ผมเชื่อมั่นว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นในอีกศาลหนึ่ง คำตอบคือ กกต. ท่านครับ ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ท่าน กกต. จะเอาเงินจากไหน ๕๖ ล้านบาท ท่านต้องฟ้อง กกต. อีก ๗ ท่าน ใน ๗ ท่าน ก็ไม่รู้ ก็ต้องพัวพันกันไป พอสืบไปแล้วก็องคาพยพต่าง ๆ ตั้งแต่พื้นที่มา มีเจ้าหน้าที่ก็น้อย โน่นนี่นั่น บางทีเจตนาของเจ้าหน้าที่ในระดับล่างก็มีการกลั่นแกล้งกัน ท่านอย่าไปเอออวย อะไรต่าง ๆ ด้วย ท่านจะต้องตัดสินใจกับเรื่องนี้ เพราะต้องให้ความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ผมอยากจะขอกราบเรียนนะครับ สุดท้ายแล้วท่านประธานครับ เพราะว่าท่านต้องฟ้องไล่เบี้ย เพราะเป็นเงินของประชาชน เงินภาษี ๕๖ ล้านบาท ถ้าเกิดเหตุแล้วท่านต้องฟ้องเอากับ คณะกรรมการต่อ เพราะอย่างดีที่สุดงบประมาณที่ไปมันก็ต้องเกินอีก ในปี ๒๕๖๖ หรือปีไหนที่ศาลตัดสินออกมาท่านก็ต้องเอาเงินตรงนี้ไปใส่อีกนะครับ ซึ่งท่านก็ใช้เงินมา พอแรงแล้ว

นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ

สุดท้ายขอฝากท่านประธานผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ผมขอขอบคุณที่ท่านได้กรุณามาพร้อมที่จะชี้แจง และ กกต. เป็นองค์กรหลักในระบอบ ประชาธิปไตย เป็นองค์กรเดียวที่พวกผมในฐานะนักการเมืองทั้งท้องถิ่น ทั้งระดับชาติ เป็นองค์กรเดียว และประชามติอะไรต่าง ๆ เป็นองค์กรเดียวที่จะทำให้มีความเป็นธรรม ในระบอบประชาธิปไตยได้มากที่สุดต่อประเทศ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ให้อำนาจ ให้คุณ ให้โทษ ลงโทษยุบพรรค ตัดสินนักการเมือง ผมเคยเจอมาแล้ว กกต. เสนอให้ยุบ พรรคไทยรักไทย ๑๑๑ ผม ๑๐๙ ครับ ผมต้องพูด แล้วเสียสิทธิไป ๕ ปี กว่าจะโผล่เข้ามาได้ ปีนี้ ผมก็เลยรอคอยวันนั้น ผมก็เลยถือโอกาสนี้เสนอแนะพวกท่านว่าการที่จะทำอะไร ก็แล้วแต่ให้เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ให้คุ้มกับเงินภาษีที่พี่น้องประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ด้วย ผมขอกราบเรียนท่านประธานมาแต่เพียงเท่านี้ ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีก ๔ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านแรก ท่านปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ท่านที่ ๒ ท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ท่านที่ ๓ ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ท่านที่ ๔ ท่านเทียบจุฑา ขาวขำ เชิญท่านปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ครับ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๒ พรรคก้าวไกล ดิฉันจะขออภิปรายเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคการทำงานตามระเบียบ และข้อกำหนดของ กกต. ทั้งหมด ๕ เรื่อง ก่อนที่ดิฉันได้รับความไว้วางใจ จะมาเป็น ผู้แทนราษฎรจากพี่น้องประชาชน ดิฉันเคยเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดนนทบุรีมาก่อน เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนพรรคก้าวไกลในจังหวัดนนทบุรี ดิฉันจจึงพบปัญหา การปฏิบัติงาน และขอนำมาสะท้อนให้ท่านได้รับทราบ ดังนี้

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก การรับบริจาคเงิน ผ่านการชำระภาษีให้พรรคการเมืองของประชาชนที่ กกต. เคยประกาศในที่สาธารณะว่า พรรคไหนได้เท่าไรนั้น อย่างเช่น พรรคก้าวไกลบริจาคผ่านหมายเลข ๑๖๔ ได้รับการบริจาค ผ่านภาษีเงินได้สูงสุดเป็นอันดับ ๑ ติดต่อกันถึง ๓ ปี แต่ท่านประธานทราบหรือไม่ว่า เงินที่ประชาชนบริจาคเข้าพรรคการเมืองนั้นมิได้ส่งตรงเข้าพรรคการเมืองโดยตรงอย่างที่ คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่กลับไปอยู่ที่ กกต. จะใช้แต่ละครั้งต้องเขียนโครงการไปขอการจัดสรร จาก กกต. และใช้ได้เฉพาะการอบรม สัมมนา การทำสื่อสิ่งพิมพ์ จะเอาไปปรับปรุงสำนักงาน หรือจ้างพนักงานเพิ่มก็ไม่ได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เงินบริจาคผ่านภาษีของประชาชน กกต. จะโอนให้แก่พรรคการเมืองโดยตรง เพื่อให้พรรคการเมืองได้ไปบริหารจัดการเอง เพราะเป็น เงินบริจาคโดยประชาชน มิใช่เงินส่วนของบประมาณจากรัฐ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องการจัดกิจกรรมที่ต้องใช้งบกองทุน ในการจัดกิจกรรม แต่ละครั้งผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลัก บางคนไม่อยาก เข้าร่วมกิจกรรมเพราะไม่อยากกรอกหมายเลขบัตรประชาชน เพราะกังวลว่าจะนำเลข บัตรประชาชนไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีแก๊ง Call Center ซึ่งใช้ ข้อมูลส่วนบุคคลมาหลอกให้ประชาชนได้รับความเสียหายดังที่เป็นข่าว จะเป็นไปได้หรือไม่ ว่าการจัดกิจกรรมทุกครั้งจะก็กรอกแค่ชื่อ ที่อยู่เพียงเท่านั้น เพราะหมายเลขบัตรประชาชน เป็นข้อมูลส่วนตัว

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่การยื่นบัญชีสามารถยื่นผ่านระบบ Online โดยสำนักงาน กกต. เป็นผู้ออกแบบระบบ เสมือนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. อย่างน้อยจะได้เป็นการอำนวยความสะดวก ลดค่าการเดินทาง รวมไปถึงการลดการใช้ กระดาษ เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ การสมัครสมาชิกพรรค ในการสมัครสมาชิกพรรคนั้นต้องใช้เอกสาร สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านด้วย ประชาชนก็บ่นกับดิฉันมามากว่าทำไม ต้องใช้บัตรประชาชนด้วย เพราะในปัจจุบันการติดต่อราชการใช้บัตรประชาชเพียงแค่ ใบเดียว การตรวจสอบสถานะสมาชิกพรรคการเมืองก็ใช้แค่กรอกเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลัก ก็สามารถตรวจสอบได้ ถ้า กกต. จะทำให้การกรอกหมายเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักเพื่อตรวจสอบสถานที่อยู่ปัจจุบันก็น่าจะสามารถทำได้ ดังนั้นเพื่ออำนวย ความสะดวก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรคการเมือง ขอให้ กกต. แก้กฎ ระเบียบการสมัครสมาชิกพรรคการเมือง แค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้หรือไม่

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ เรื่องการระดมทุน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อพรรคการเมือง เป็นการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำโดยคนใดคนหนึ่ง ฉะนั้น ต้องอำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองจัดการระดมทุนได้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุผล ตามมาตรา ๒๘ ของกฎหมายพรรคการเมือง แต่ในทางปฏิบัติ กกต. ไม่อนุญาตให้ พรรคการเมืองขายสินค้าทาง Online ขายสินค้าตามงานต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองจัด ให้ขาย ได้แต่แค่ที่สำนักงานใหญ่และสาขาพรรคเท่านั้น ในปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อขายสินค้า ทาง Online เป็นจำนวนมาก พรรคก้าวไกลได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต. ว่าจะสามารถ ขายสินค้าทาง Online ขายสินค้าตามที่พรรคการเมืองจัดงานได้หรือไม่ กกต. ตอบว่า ขายไม่ได้ แถมยังอาจรวมไปถึงว่าห้ามส่งสินค้าทางไปรษณีย์อีกด้วย แล้วแบบนี้ประชาชน จะได้รับความสะดวกในการสนับสนุนพรรคการเมืองได้อย่างไร และพรรคการเมืองจะมี ความเป็นอิสระ ปราศจากการถูกครอบคลุม ครอบงำ หรือชี้นำจากกลุ่มทุนได้อย่างไร หากไม่สามารถระดมทุนได้มากเพียงพอ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ กกต.จะปลดล็อกให้ พรรคการเมืองสามารถขายสินค้าทาง Online ขายสินค้าตามที่พรรคการเมืองจัดงาน และจัดส่งทางไปรษณีย์ได้ในอนาคต

นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ เรื่องที่ กกต. ปัดตกรายชื่อทาง Online ที่ลงชื่อร้องขอรัฐบาลให้ทำ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาชนเคยทำหนังสือ สอบถามเรื่องการลงชื่อ Online ไปยัง กกต. ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ และได้รับหนังสือชี้แจง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ว่าการเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติไม่ได้กำหนด วิธีการลงชื่อไว้ เพียงต้องมีรายละเอียดเลขบัตรประชาชน ชื่อ สกุล และลายเซ็น ในรูปแบบ ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบันทึกลงบนแผ่น CD หรือ Flash Drive ส่งมาให้เท่านั้น แต่เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคมที่ผ่านมา กกต. แจ้งว่าไม่สามารถใช้ชื่อที่ลง Online ได้ ให้เอารายชื่อประชาชนที่กรอกในกระดาษ Scan ส่งเป็น File ให้ กกต. ก่อนหน้านี้ ทางภาคประชาชนโดย iLaw และขอ Collab ก็เคยเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อแก้ไขกฎหมาย ผ่านทาง Online ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็เคยทำได้ ทำไม กกต. จึงปัดตกในครั้งนี้ และจะมีการแก้ไขกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วม ของภาคประชาชนอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ขอบคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ เชิญครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ในวาระรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๕ นั้น ดิฉันขอนำเสนอความคิดเห็นสัก ๓ ประเด็น แต่ในเบื้องต้นก็ชื่นชมคณะกรรมการ การเลือกตั้งที่ร่วมภารกิจขับเคลื่อนกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วก็กฎหมายที่ว่าด้วยกระบวนการการเลือกตั้ง

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ใน ๓ ประเด็นที่จะนำเสนอนั้น

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ผลงานตามยุทธศาสตร์ด้านการใช้สิทธิเลือกตั้งขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามเอกสารรายงานในหน้า ๗๐ ได้สรุปผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ของประชาชนในการเลือกตั้งส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิ เลือกตั้งท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาตำบลมากที่สุด น่าชื่นชมยิ่ง คือร้อยละ ๗๔.๙๐ และร้อยละ ๗๔.๘๖ ตามลำดับ รวมทั้งในพื้นที่แห่งนี้ยังมีบัตรเสีย น้อยที่สุด น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ในส่วนของประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วก็น้อยนะคะ น้อยมาก นั่นก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล คือมีเพียงร้อยละ ๒๙.๕๒ พบว่าเทศบาล เมืองพัทยาและเทศบาลนครมีบัตรเสียมากที่สุดอีกด้วย คือร้อยละ ๔.๘๘ และร้อยละ ๔.๑๐ ตามลำดับ ดิฉันขอเรียนเสนอท่านประธานไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าควรได้ วิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมในส่วนของเทศบาล ทั้งผู้บริหารแล้วก็สมาชิกจึงได้รับความสนใจ น้อยมาก อาจจะด้วยเหตุหลายประการ เช่น ในเรื่องของกลไกในการจัดการเลือกตั้ง การสร้างความรู้ความเข้าใจของหน่วยจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่และ กกต. จังหวัด อาจเป็นไปได้ว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาเทศบาลไม่ได้ยึดโยง ประโยชน์กับประชาชนเท่าที่ควร หรืออาจจะเป็นประเด็นในเชิงกฎหมายที่ได้ระบุอำนาจ หน้าที่ไว้อย่างไรประชาชนจึงให้ความสำคัญน้อย ดิฉันเชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนคณะกรรมการการกระจาย อำนาจระดับประเทศ ที่จะได้ตัดสินเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อไป

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ดิฉันให้ความสำคัญกับการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน การเมือง ทั้งนี้ ตามเอกสารหน้า ๗๔ ทาง กกต. กำหนดเป้าหมายภารกิจไว้ว่าเพื่อพัฒนา พรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน คำนี้ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ โดยที่จะต้อง เป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน รวมทั้งมีกระบวนการขับเคลื่อน สมาชิกมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง ในกรอบนี้ท่านกำหนดงบประมาณไว้ที่ ๔๒ ล้านบาท กำหนดให้มีการประชุม กำหนดให้มีกิจกรรม อาจจะเรื่องของ Primary vote บ้าง อะไรบ้าง ดิฉันขอเสนอแนะตรงนี้ ๒ ประการ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการแรก เพื่อที่จะทำให้สถาบันการเมืองของประเทศไทย พรรคการเมือง ทั้ง ๘๖ พรรค สู่การเป็นสถาบันของประชาชน นอกจากกิจกรรมที่ดำเนินเชิงปริมาณที่ท่าน ตรวจวัดไว้ อยากจะเสนอให้วัดข้อมูลเชิงคุณภาพด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่ากำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีหลักการประเมินที่เชื่อถือได้

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ เผยแพร่ต่อสาธารณะว่า ๘๖ พรรคการเมืองใดคุณภาพ ยอดเยี่ยม พรรคการเมืองใดที่อาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ควรได้ปรับปรุงพัฒนา หรืออาจจะต้องมี การยุบพรรคบ้างก็ได้ค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันมองว่าจะเป็นความเชื่อมั่นและเป็นศักยภาพ ของพรรคการเมืองไทยที่สามารถสร้างศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นได้ในเวทีโลก

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง กกต. ส่วนกลางได้มีการตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย ในปีที่ผ่านมาท่านรายงานข้อมูลว่า มีผู้สนใจเยี่ยมชมกิจการของศูนย์จำนวน ๒๑ คณะ และมีผู้เข้ารับคำปรึกษาหารือตลอดจน เข้าเยี่ยมชมรวมกันแล้วได้จำนวนแค่เพียง ๑,๕๕๙ คน ดิฉันมองว่ายังน้อยไปที่ประชาชน จะได้เข้าถึงท่าน จึงขอเสนอ ๒ ประการ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการแรก เสนอให้ยกระดับศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล หรือศูนย์ ศส.ปชต. เพื่อช่วยงานท่าน ศูนย์นี้อยู่ในศูนย์ กศน. ตำบล ซึ่งปัจจุบันก็คือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบล ก็ฝากมาจากพื้นที่ว่าภารกิจของ กศน. ก็มีภารกิจหลักในเรื่อง ของศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของศูนย์ดิจิทัลชุมชน และในเรื่องภาระงานหลักเขาอีก ก็อยากจะให้พิจารณากรอบงาน ตลอดจนอัตรากำลัง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ที่ช่วยท่านในงานนี้ด้วย

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ดิฉันขอเสนอให้ กกต. สร้างการมีส่วนร่วม โดยร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน ในรูปแบบของสภานักเรียนอย่างจริงจัง ดิฉันเคยเป็นข้าราชการในสังกัดของ กระทรวงศึกษาธิการมาก่อน ดิฉันมองว่าตรงนี้จะได้สร้างรากฐานให้เกิดความเป็นพลเมือง ประชาธิปไตยตั้งแต่ในสถานศึกษา มีต้นแบบดี ๆ หลายแห่งหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดสุโขทัย ของดิฉัน หลายโรงเรียนเลยทำได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอยกตัวอย่าง โรงเรียนสตรี ประจำจังหวัด ก็คือโรงเรียนอุดมดรุณีจังหวัดสุโขทัย มีการวางรากฐานระบบธรรมาภิบาล ในห้องเรียน ๑๐ กว่าปีมาแล้วค่ะ มีระบบสภานักเรียน มีกลุ่มสนใจการเรียนรู้ด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งครู อาจารย์ส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้อย่างดีเยี่ยม ได้นำนักเรียน มาศึกษาเรียนรู้ที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าทางท่านเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรและคณะก็ให้การต้อนรับและอำนวยการอย่างดี ดิฉันจึงขอฝาก กกต. ให้ได้ส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดระบบสภานักเรียน เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นพลเมือง ขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างเต็มศักยภาพ แล้วก็เติบโตเป็นประชาชนที่จะ สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ร่วมสังกัดพรรคการเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนการเข้าเสนอชื่อในเรื่องของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล ก็ขอฝากทาง กกต. แล้วก็ขอชื่นชมในภาพรวมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งดิฉันเองก็เคยทำงานร่วมกับท่านในเชิงพื้นที่ นั่นก็คือมีหน่วยเลือกตั้ง ในโอกาสที่ดิฉันเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดสุโขทัย ก็เป็นหน่วยจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดควบคู่กับท่าน รวมทั้งในโอกาส ที่ดิฉันเองก็เป็นผู้สมัครรับการเลือกตั้งด้วย ก็เห็นทิศทางของ กกต. ที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด ความสมานสามัคคี และลดปัญหาการร้องเรียนกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ก็ขอเป็น กำลังใจและชื่นชม กกต. มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ เชิญครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๗ พรรคก้าวไกล อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ เมื่อสักครู่เพื่อนของผม คุณปัญญารัตน์ ได้พูดถึงการซื้อสินค้า Online ของพรรคก้าวไกลไม่สามารถทำได้ ซึ่งตรงนี้ผมอยากฝาก ให้ท่าน กกต. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากว่าการทำการเมืองต้องใช้เงิน ไม่ว่าเราจะจัด สัมมนาหรืออะไรก็ตาม แล้วถ้าเกิดเราไม่ใช้เงินจากการระดมทุนลักษณะนี้ ก็เท่ากับบังคับ ให้เราไปใช้เงินจากนายทุนซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องการกัน การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เลย แล้วยุคนี้เป็นยุคที่การซื้อ Online ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ประชาชนจะซื้อของ Online เพราะฉะนั้นอยากให้ท่านพิจารณาตรงนี้จริง ๆ เพื่อให้เรา จะได้มีทุนในการที่จะทำการเมืองอย่างยั่งยืนสำหรับพรรคก้าวไกลของเราแล้วก็ พรรคอื่น ๆ ด้วย ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

จากรายงานของท่านเล่มนี้ผมก็ได้ เปิดดูหน้ากลยุทธ์ของท่านในการทำยุทธศาสตร์ ๓ ข้อ ผมสนใจข้อที่ ๑ ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๑ แล้วก็มาที่กลยุทธ์ที่ ๑ กลยุทธ์ที่ ๑ ของท่านพูดถึงการจัดทำการเลือกตั้งแล้วก็บริการ Digital กลยุทธ์เขียนว่าจะเร่งรัดเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้ง ออกเสียงประชามติ ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร อ่านดูเหมือนกับว่าท่านจะ เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งและการลงประชามติให้เป็นแบบ Digital หรือเปล่า ก็อยาก จะทราบความชัดเจนตรงนี้ เพราะว่าผมก็เข้าไปดูโครงการที่ท่านทำสำหรับกลยุทธ์ที่ ๑ อย่างเช่นโครงการที่ ๕ ก็พูดถึงการอบรม ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ Social media ได้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถจะประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทาง Social media โครงการที่ ๘ ให้ติดตามรวบรวมข่าวสารจากสังคม Online วิเคราะห์ข่าว ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับ การเลือกตั้งแบบ Digital แต่อย่างใดเลย ขอความชัดเจนนิดหนึ่งว่าท่านต้องการทำอะไร ตรงนี้

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

หน้าต่อไป การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ก็เป็นที่กังขาของสังคมไทยมามากมาย เลยหลาย ๆ เรื่อง เพราะว่าตัวท่านเองไม่ค่อยได้ตอบคำถามให้ประชาชนโดยตรง ตลอด ๔ ปี ก่อนเลือกตั้งท่านออกรายการ ออก TV หรือว่าพูดกับประชาชนน้อยมาก ๆ เลย แทบจะ นับครั้งได้ เวลาประชาชนสงสัยอะไร มีคำถามอะไรไม่ได้รับคำตอบ สื่อมวลชนวิธีที่เขาทำ ก็คือเขาต้องไปสัมภาษณ์อดีต กกต. เพื่อเอาข้อมูลมาตอบกับประชาชน ก็พอจะได้รับ ความชัดเจนจากตรงนั้น แต่จริง ๆ แล้วท่านควรจะเป็นผู้สื่อสารเองจะได้ความชัดเจน มากที่สุด

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ทีนี้ผมให้ดูงบนิดหนึ่งครับ การใช้งบของ กกต. ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ถึงปี ๒๕๖๖ การใช้งบเมื่อก่อน ๒,๐๐๐ ล้านบาท หรือ ๑,๕๐๐ ล้านบาท แต่อยากให้ดูของปี ๒ ครั้งหลัง ปี ๒๕๖๒ ท่านใช้งบไป ๔,๒๐๐ ล้านบาท แล้วก็ปี ๒๕๖๖ ผ่านมา ๔ ปี ใช้ไปเกือบ ๖,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณกลับไปแล้วเท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ ปีละ ๘.๙๕ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็ถือว่ามากกว่าอัตราเงินเฟ้อ คือการเพิ่มงบประมาณไม่ใช่ ประเด็นที่ผมสงสัย แต่ผมสงสัยว่าท่านได้ตรวจสอบหรือเปล่าว่าการใช้งบที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ มีความสมเหตุสมผลขนาดไหน มีประสิทธิภาพเพิ่มจากเดิมขนาดไหน เพราะประชาชน ทั่ว ๆ ไปอย่างผมก็มองไม่ออกนะครับ จากปี ๒๕๖๒ ท่านก็ทำการเลือกตั้งเหมือนกัน กับปี ๒๕๖๖ เลย แต่ว่าใช้งบมากกว่ากัน มากพอสมควรเลย

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ประเด็นของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า อันนี้เดี๋ยวให้ดูนิดหนึ่งว่า ประชาชนสงสัย ๖,๐๐๐ ล้านบาท ทำไมอุปกรณ์การเลือกตั้งถึงเป็นตะกร้าแบบนั้น อันนี้ ประชาชนสงสัย

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นสำคัญก็คือการดูงานต่างประเทศของท่าน กกต. ก็อยากให้ชี้แจง เช่นกัน ท่านไปสวิตเซอร์แลนด์กับเยอรมนีซ้ำ ๒ ครั้ง อันนี้ทำไมถึงต้องไป ๒ ครั้ง มีประเด็น อะไรบ้าง ประชาชนก็สงสัยมาเช่นกัน ทั้ง ๒ ประเทศนี้ก็ไม่ได้ว่าอะไร สวยงามมาก ๆ เลย ผมก็อยากไปเหมือนกัน แล้วท่านก็ยังไปฮังการีกับสโลวาเนีย ซึ่งคนไทยรวมกันก็ประมาณ ๘,๐๐๐-๙,๐๐๐ คนเท่านั้น อันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยน้อยแล้วไม่ควรจะไป แต่อยาก ให้ท่านสรุปมานิดหนึ่งว่าเหตุผลที่ไป ไปเพราะความคุ้มค่าหรือไปดูอะไร เพราะถ้าเกิดว่า จะเอาเรื่องของความคุ้มค่า ผมก็แนะนำไต้หวัน เกาหลีใต้ ประชากรไทยของเราอยู่ที่นั่น ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ไปตรงนั้นน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าหรือเปล่า หรืออีกอย่างหนึ่ง อาจจะไปเอสโตเนีย เอสโตเนียจัดการเลือกตั้ง Digital มาตั้งแต่ปี ๒๐๐๕ แล้ว ๑๘ ปีที่แล้ว อันนี้น่าไปดูงานมาก ๆ เลย ถ้าท่านมีโอกาสไปดูงานเผื่อนำมาใช้ในประเทศไทย การเลือกตั้ง Digital น่าสนใจมาก ๆ เลย

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

หน้าต่อไป ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของประชาชนกังวลเรื่องการโกงการเลือกตั้ง แล้วท่านบอกว่าท่านจะไม่แสดงผล Real Time หลังจากนับบัตรเลือกตั้งแล้วจะไม่แสดงผล Real Time ซึ่งตรงนี้ประชาชนก็เป็นกังวลมาก ๆ เพราะว่าทำไมถึงจะไม่ได้แสดงผลอย่างนั้น เรื่องโกงการเลือกตั้งใคร ๆ ก็กลัว ทีนี้ทางภาคเอกชนก็วิ่งกันวุ่นเลย ทั้งนักการเมือง สถาบัน พระปกเกล้า ทั้งเอกชน วุ่นวายหาวิธีที่จะมาช่วยกันนับคะแนนเอง Real Time เพราะไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งว่าจะโปร่งใส แต่สุดท้าย กกต. ท่านก็ประกาศ Real Time แล้วทำได้ดีมาก ๆ เลย คะแนนออกมาเร็วมาก ๆ ผมนั่ง Key ยังไม่ทันท่านเลย เพราะฉะนั้น ผมก็เสียเวลาไปนั่งหาคนมาช่วย แต่สุดท้ายท่านทำได้ดีกว่าผม อันนี้อยากให้ท่านตอบ นิดหนึ่งว่าทำไมตอนแรกท่านถึงประกาศว่าจะไม่ Real Time แล้วสุดท้ายท่านทำ Real Time ทำให้ประชาชนว้าวุ่น ทำไมผมก็ว้าวุ่นด้วยเช่นกัน และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ช้าไปนิดหนึ่ง ๔๐๐ เขต ท่านประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ซึ่งทำให้เราเหลือเวลาไม่ถึง ๒ เดือนในการหาเสียงในพื้นที่ แล้วหลายพื้นที่ได้พื้นที่ใหม่ ๆ มาเกินครึ่ง อย่างพื้นที่ผม เปลี่ยนไปกว่าครึ่ง ลงพื้นที่หาเสียงไม่ทัน ๒ เดือนที่เหลือก่อนจะเลือกตั้ง ตรงนี้ก็เป็นการทำ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็นกระดาษหมดเลย ชี้แจงค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็นกระดาษ หมดเลย เวลาเปลี่ยนจุดหนึ่งต้องไปเปลี่ยนหลายจุดในแบบฟอร์มเลย ถ้าเกิดเป็นไปได้ อยากให้ท่านทำเป็นแบบ Online กรอกข้อมูล Online ได้เลย เวลาเปลี่ยนปุ๊บก็คำนวณ ให้อัตโนมัติ หรืออย่างน้อย ๆ ท่านทำแบบ Excel ก็ได้ เปลี่ยนจุดหนึ่งก็เปลี่ยน Form อื่น ๆ ตามได้เลย เวลาแก้ไขจุดหนึ่งก็จะเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมานั่งเขียนแก้ Form ๓-๔ ฟอร์ม กว่าจะเสร็จ อันนี้ก็เสียเวลานิดหนึ่ง อยากให้ท่านเปลี่ยน เพราะการเลือกตั้ง ของ อปท. ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง ถ้าเกิดได้ Excel แบบนี้ก็จะดีมาก ๆ เลย ก็ขอแค่นี้แล้วกัน จริง ๆ มีอีกหลายเรื่องแต่ไม่ทัน อย่างไรฝากด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ปิดรับรายชื่อผู้อภิปรายแล้วนะครับ มีมาเพิ่มอีก ๓ ท่าน ต่อไปท่านเทียบจุฑา ขาวขำ เชิญครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉันขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันเองได้อ่านรายงานของ กกต. ในหน้า ๒๒๐ เกี่ยวกับประเด็นผลการใช้จ่ายเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งสำนักงาน กกต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีเป็นงบอุดหนุนและงบทั่วไปประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาทแล้วก็ใช้เงินนอกงบประมาณ อีก ๑,๘๐๐ ล้านบาท รวมกันแล้วเพื่อจะจัดทำแผนการใช้งบประมาณรายจ่าย ประจำปี ๒๕๖๖ นี้โดยประมาณทั้งสิ้น ๓,๕๐๐ ล้านบาท ในเรื่องนี้จะเห็นว่าสำนักงาน กกต. ใช้เงินนอกงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งดิฉันเห็นว่ามากกว่าที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีเสียอีก ในประเด็นนี้ดิฉัน ขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าสำนักงาน กกต. ท่านมีหลักเกณฑ์ในการใช้ งบประมาณจากเงินสะสมในแต่ละปีอย่างไร หากในปีใดที่เงินเหลือจ่ายสะสมมีไม่พอ ท่านจะวางแผนแนวทางการบริหารงบประมาณอย่างไร ดิฉันก็ขอความชัดเจนด้วย

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงาน กกต. ดิฉันมีความเป็นห่วงถึงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของท่านมาก ดูรายงานในหน้า ๒๒๐ ได้แสดง ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายการบริหารงานบุคคลในปี ๒๕๖๕ ได้ใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลไป ๑,๗๐๓ ล้านบาท เพิ่มจากปี ๒๕๖๔ ซึ่งท่านได้ใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรไปเพียง ๑,๖๗๓ ล้านบาท ซึ่งภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว ท่านใช้เงินงบประมาณด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น ๓๐ ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมค่าบำเหน็จ ค่าตอบแทนอีก ดิฉันขอเรียนถามไปยัง ท่านผู้ชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ๓๐ ล้านบาทนี้ ในระยะสั้นเพียงปีเดียว ท่านเอาไปทำอะไร เป็นการปรับปรุง เป็นเงินเดือนของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่หรือเปล่า นอกจากนี้ดิฉันก็ได้ไปดูงบประมาณการจัดสรรตาม พ.ร.บ. งบประมาณ เพิ่มขึ้น ๑,๗๐๐ ล้านบาท เป็นค่าบุคลากร เรียกว่ามันเพิ่มขึ้น มันมากกว่า หรือน้อยกว่า ดิฉันก็เกิด ความสงสัยว่าเงินพวกนี้เอาไปทำอะไรกัน เป็นเงินค่าตอบแทนของคณะผู้บริหารหรือคะ เพราะว่าตามลำพังค่าบริหารเห็นบอกว่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ก็ไม่มาก ในเรื่องนี้ดิฉันมี ความเห็นว่าในการใช้งบประมาณด้านบุคลากรมันขัดกับหลักการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ หรือเปล่า คือเราจะต้องทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ให้มีขนาด เล็กลง จำนวนคนทำงานก็ลดลง ให้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหาร เข้ามาจัดการให้มากขึ้น คือใช้ระบบสารสนเทศให้มากขึ้นแทนแรงงานของคน แต่ขณะเดียวกันการปฏิบัติงานต้องมี คุณภาพ ต้องได้คุณภาพ แล้วก็บริการพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

อีกประเด็นหนึ่ง ดิฉันอยากจะขอเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจง ที่สำนักงาน กกต. ว่าในปีต่อ ๆ ไปท่านมีแผนที่จะกำหนดแนวทางในการบริหารงบประมาณ ด้านบุคลากรไว้ให้เหมาะสมกว่านี้ได้หรือไม่ ท่านมีวิธีการปรับลดสมดุลในด้านค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากรได้อย่างไร อันนี้ดิฉันฝากเป็นคำถามเพราะเป็นห่วง เพราะจำนวนบุคลากร ของท่านก็ดูว่ารู้สึกจะมีจำนวนเยอะ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

ดิฉันกลับไปดูในรายงานหน้า ช ข้อ ๑.๒ ท่านบอกว่าการบริหารจัดการ เลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อให้ได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ก็ดีค่ะ ในหลักการ อยากให้ได้แบบนี้ กกต. คงจะตระหนักให้ความสำคัญในภารกิจทุก ๆ ด้าน รวมถึงการควบคุมในการบริหาร การสอดส่องในการสืบสวน ไต่สวน การวินิจฉัย ดำเนินคดี ต่าง ๆ ในการร้องเรียนการเลือกตั้ง หรือในศาล เช่น การคุ้มครองพยาน ประเด็นในเรื่องของ การคุ้มครองพยาน ถ้าทำได้จริง ๆ ดิฉันว่าดี ถ้ามีหลักการ มีระบบมาดูแล ในรายงานนี้ท่านบอกว่าเพื่อให้พยานเกิดความปลอดภัยในการยอมเข้ามาเป็นพยานในคดี เลือกตั้ง ท่านได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวน โดยการนำระบบศูนย์แลกเปลี่ยน ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ หรือเรียกระบบว่า DXC มาใช้ในการสืบสวน ไต่สวน หรือมี Application ตาสับปะรด ดีมากค่ะ ถ้าได้นำข้อมูลในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ แต่ขณะเดียวกัน กกต. ต้องประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รู้จัก หลาย ๆ ช่องทางแบบนี้ พี่น้องประชาชนจะได้ร่วมเข้ามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสให้กับ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดิฉันต้องขอชื่นชมที่ท่านนำเทคโนโลยีอันนี้มาใช้ ในการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องคุ้มครองพยานตามรายการในหน้า ๖๓ ซึ่งในรายการนี้ ย้ำอยู่ว่าให้ Download ข้อมูลใน Application ตาสับปะรด ก็ขอให้เป็นตาสับปะรดจริง ๆ ตามวัตถุประสงค์การพัฒนาในการทำงาน เพื่อพี่น้องประชาชนจะได้เข้าใจ เข้าถึง เข้ามา มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ดีขึ้น ดิฉันก็ขอขอบคุณคณะที่มา ชี้แจงในวันนี้ด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เมื่อสักครู่ได้เอ่ยชื่อท่านอดิศร เพียงเกษ ไป เชิญท่านอดิศร เพียงเกษ เลยนะครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ผมขอถามเจ้าหน้าที่ที่มาเป็น ตัวแทนของ กกต. วันนี้ด้วยความเคารพนะครับ ท่านมาทำหน้าที่ของท่าน แต่ผมเป็นกังวลใจ และยังไม่หายข้องใจว่าทำไม กกต. ทั้ง ๗ ท่านถึงไม่ให้เกียรติสภาครับ กกต. ทั้ง ๗ ท่านนั้น มีทั้งเคยทำงานทางการทูต เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักปกครอง เป็นผู้พิพากษา อัยการ เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมอยากให้เวทีของสภาแห่งนี้ เมื่อองค์กรอิสระต้องมา ชี้แจงต่อสภา ไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ท่านต้องมาด้วยตนเองทั้ง ๗ คนโดยไม่มี ข้อยกเว้น แต่ไม่ใช่ว่าท่านเลขาธิการและรองเลขาธิการมานี้จะไม่มีประโยชน์ ท่านเป็นมือ เป็นแขน เป็นคนที่ทำงานให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้วินิจฉัย ผมฝาก การบ้านท่าน ฝากไปถึงท่านประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาตั้งอยู่ที่เกียกกาย มาถูก มาง่าย ไม่มีอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม ที่ผ่านมาผมชมเชยนะครับ เพราะว่าประเทศไทยต้องการให้มีการเลือกตั้ง แบบบริสุทธิ์ ยุติธรรม สมัยก่อนกระทรวงมหาดไทยเป็นคนทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง ผมเป็นผู้แทนราษฎรแรก ๆ ก็จากกระทรวงมหาดไทยนี้ละครับ ก็สู้กันเรื่องซื้อสิทธิ ขายเสียง เลือกตั้งไม่สุจริต ยุติธรรม จึงมีองค์กรที่ท่านกำลังทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ ทั่ว ๆ ไปแล้วทำงาน ดีครับ ทั่ว ๆ ไปก็ต้องให้คะแนนบวกกันว่าท่านเสียสละ แต่ว่าข้อสังเกต กกต. นี่กำลังคนไม่มี ต้องไปอาศัยแขนขาจากผู้อื่น ไปอาศัยกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปอาศัยตำรวจ ซึ่งเป็นองค์กรอื่นทั้งนั้น มีบางหมู่บ้านซื้อสิทธิขายเสียงกันโจ๋งครึ่ม กกต. นอนไม่รู้ไม่เห็น ทั้งสิ้น ตามืดบอด เว้นแต่จะมีคนมาแจ้งท่านถึงออกไป ถ้าท่านมีความคิดริเริ่มในการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ท่านต้องริเริ่มจับกุมคุมขังผู้ซื้อสิทธิขายเสียง มันถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง วันนี้ผมลุกขึ้นมาผมติดใจอยู่เรื่องเดียวครับ ท่านประธาน เรื่องวันเลือกตั้งล่วงหน้า วันเลือกตั้งล่วงหน้ากับวันเลือกตั้งทั่วไปมันไม่ใช่ วันเดียวกันครับ เท่ากับประเทศไทยทุกวันนี้มีวันเลือกตั้ง ๒ วัน ผมจะไม่พูดถึงต่างประเทศ ท่านมีเหตุผล แต่ผมจะพูดถึงเขตเลือกตั้ง ไม่ว่าขอนแก่น หรือที่อื่นในอีสาน หรือที่อื่นได้ วันเลือกตั้งล่วงหน้าไปเป็นพันเป็นหมื่น กกต. ทราบหรือเปล่าว่าเบื้องหลังการถ่ายทำ ที่ประชาชนแม่ใหญ่สี พ่อใหญ่จันทา พ่อใหญ่แหล่ ไปลงสิทธิเลือกตั้งมันเป็นเพราะอะไร ถูกยึดบัตรประชาชนไว้ล่วงหน้าหรือไม่ มีการแจกเงินทำผิดเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม กกต. ทราบเรื่องนี้ไหมครับ บอกว่าตาสับปะรด บ้านผมเอิ้นว่าตาบักนัด มองไม่เห็นครับ นี่คือ การซื้อสิทธิขายเสียงที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า วันเลือกตั้งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ผมถามว่าคนที่ไปเลือกตั้งล่วงหน้า ยกตัวอย่างแม่ใหญ่สี พ่อใหญ่จันทานี่ละ วันที่ ๑๔ ท่านมี ธุระอะไรจำเป็นถึงจะมาลงคะแนนไม่ได้ ท่านก็เคี้ยวหมากอยู่บ้านนั่นละครับ อย่างนี้ กกต. ทราบไหม ผมพูดวันนี้อาจจะส่งผลว่าวันเลือกตั้งล่วงหน้าต้องพิจารณากันใหม่ ถ้าจะมีต้องมี แบบสุจริต มีความจำเป็น ถ้าใครมาใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องมีความผิด นี่ทำให้คะแนนเสียง ในการเลือกตั้งออกมาพลิกผัน แพ้ แพ้เพราะเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ว่าเลือกตั้งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม เราชนะขาด พอเปิดคะแนนล่วงหน้า โอ้โฮแม่ใหญ่จันทาไปเสียแล้ว บัตรประชาชนได้คืนหรือเปล่าไม่รู้ ผมเลยถามเรื่องที่สำคัญนี่ละครับ สิ่งเหล่านี้ กกต. ตามไม่ทันผู้กระทำความผิด กกต. ไม่รู้ไม่เห็น ผมทราบว่าท่านทำงานหนัก แต่ว่าองค์กร ของท่านต้องเข้มแข็งกว่านี้ การทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ท่านปล่อยให้มีการทุจริต คอร์รัปชันซื้อสิทธิขายเสียงในวันเลือกตั้งล่วงหน้า นั่นคือท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา ๑๕๗ ผมกล่าวหาอย่างนั้น จึงขออนุญาต Jam เรื่องเบา ๆ กับท่านนะครับ หวังว่าโอกาสต่อไป กกต. ทั้ง ๗ ท่านมาที่นี่ครับ รัฐสภาอยู่เกียกกาย ถนนทหารนี่ละครับ ไม่ได้ไกล ขอเชิญ ท่านมาที่สภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๗ ท่านครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ อีก ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านสกล สุนทรวาณิชย์กิจ แล้วก็ท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ เชิญท่านสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พรรคก้าวไกล เทศบาล นครรังสิต เทศบาลเมืองคลองหลวง และตำบลสวนพริกไทย ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ โดยมีประเด็น ดังนี้

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ความแตกต่าง ในการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหาร ท้องถิ่น และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านประธานครับ จากที่ผมทดลองสืบค้น ข้อมูลการเลือกตั้งทั้งสอง ก็ได้ทราบว่า กกต. ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง สส. มากกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น สังเกตจากอะไรครับ สังเกตได้จากการจัดเก็บเผยแพร่ข้อมูลการเลือกตั้ง หากท่านประธานลองเข้าไปใน Website ของ กกต. ก็จะพบว่าข้อมูลของการเลือกตั้ง สส. มีมากกว่าข้อมูลของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นมีเกือบจะทุกปี ในขณะที่ สส. มีการเลือกตั้งทุก ๔ ปีครั้ง แต่กลับพบว่าการเลือกตั้ง สส. มีข้อมูลหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ข้อมูลพรรคการเมือง สถิติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึง ผลการนับคะแนนเลือกตั้งรายหน่วย ในขณะที่ข้อมูลเลือกตั้งท้องถิ่นมีเพียงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องและข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เป็น File PDF จำนวน ๕ File เท่านั้น ก็อยากจะขอให้เน้นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ มาตรฐานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการประจำ หน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. ท่านประธานครับ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น กปน. นับเป็นบุคลากรสำคัญที่จะดำเนินการ เลือกตั้งให้ผ่านไปด้วยดี จึงต้องได้รับการอบรมและศึกษาคู่มือปฏิบัติงานสำหรับเจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้วเราก็คาดหวังว่า กปน. จะดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีตามที่ได้ศึกษามา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กปน. กลับดำเนินการต่างออกไปจากคู่มือเป็นอย่างมาก วันนี้ผมจึงอยากเชิญชวนประชาชน และเพื่อนสมาชิกได้ศึกษาคู่มือและเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติจริงไปพร้อมกันสัก ๓ ประเด็น ที่ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อย่างแรก ฉากกั้นหลังคูหาลงคะแนน คู่มือบอกว่าด้านหลังคูหาลงคะแนน จะต้องมีฉาก ป้าย หรือวัสดุทึบแสง สูงไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร กั้นหรือปิดบังไว้เพื่อป้องกัน ไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นการลงคะแนน ในทางปฏิบัติจริงก็พบว่ามีฉากกั้นครับ ความสูงก็ได้ครับ แต่หน้ากว้างปิดไม่ได้ สังเกตจากตรงกลาง ๆ ของภาพแรก จะเห็นว่ามีประชาชนเดินผ่าน ไปมาตลอด เพราะหน่วยเลือกตั้งอยู่ในสถานีขนส่ง ผมก็อยากจะทราบเหมือนกันว่ากรณีนี้ เราต้องโทษใครระหว่างคนจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จัดอุปกรณ์ให้ไม่เพียงพอ หรือคนสำรวจ สถานที่ที่เลือกสถานที่คนพลุกพล่าน หรืออีกภาพหนึ่ง ถ้าสังเกตดูดี ๆ ด้านหลังจะมีสัมภาระ ของเจ้าหน้าที่ กปน. อยู่นะครับ อย่างนี้มาตรการการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมองเห็น การลงคะแนนจะเป็นไปตามคู่มือได้อย่างไรครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ต่อมาครับ การปิดผนึกฝาหีบเลือกตั้ง คู่มือบอกว่าปิดฝาหีบบัตรเลือกตั้ง พร้อมกับปิด Tape กาวผนึกรอยต่อหีบบัตรเลือกตั้ง และสายรัดหรืออุปกรณ์อื่นแทนสายรัด ซึ่งหากหีบบัตรเลือกตั้งเป็นแบบหีบกระดาษ คู่มือกำหนดให้ใช้สายรัด ๒ ตำแหน่ง ก็คือ หน้าล่าง หลังบน กกต. ต้องแก้ไขคู่มือหน่อยนะครับ เพราะหีบของจริงหน้างานเป็น หน้าบน หลังล่าง แต่พอปฏิบัติจริงกลับพบว่า กปน. รัดเฉพาะด้านบน นี่ถ้าประชาชนไม่ไป สังเกตก็คงไม่ทราบว่าด้านล่างไม่มีสายรัด มีเฉพาะด้านบน ไม่มีด้านล่างนะครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้าย เป็นประเด็นที่ถกเถียงในทุกการเลือกตั้ง คือการวินิจฉัย บัตรดี บัตรเสีย ปัญหานี้นับเป็นปัญหาสำคัญที่ กกต. ควรตระหนักอย่างมากที่สุด เนื่องจาก เป็นกระบวนการที่มีผลกระทบต่อผู้แพ้ผู้ชนะของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง และส่งผลกระทบ ต่อประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เบื้องต้นเราลองมาดูองค์ประกอบของบัตรดี บัตรเสีย มีอะไรบ้าง บัตรดี คู่มือระบุไว้ว่าต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ๑. ต้องมีเครื่องหมาย ในการลงคะแนน ๒. ต้องเป็นเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น และ ๓. ต้องอยู่ในช่อง ทำเครื่องหมายเท่านั้น นอกนั้นให้ถือเป็นบัตรเสีย ดังภาพประกอบที่ขึ้น ท่านประธานครับ แม้ว่าคู่มือจะกำหนดองค์ประกอบของบัตรดี บัตรเสียมีองค์ประกอบตามภาพประกอบ แต่ก็ยังเกิดกรณีที่ กปน. วินิจฉัยให้บัตรดีกลายเป็นบัตรเสียนะครับ เราลองมาดูว่าเหตุผล คืออะไร ภาพแรก วินิจฉัยให้บัตรเสียเพราะขีดเส้นเลยช่องลงคะแนน ต่อมาภาพที่ ๒ บัตรกากบาทย้ำคล้ายปากกาไม่ติด ต่อมาขีดเลยช่องออกมานิดเดียวนะครับ แล้วก็ต่อมามีรอยตัดมากกว่า ๑ จุด ย้ำเส้นมากเกินไปเส้นบวม แล้วอีกอันหนึ่ง ประธานหน่วยบอกว่ามีจุดตรงกลาง อ่านแล้วก็รู้สึกท้อแท้ว่าประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าถ้า กกต. จะ Serious ขนาดนั้นทำไมไม่จัดหาเครื่องลงคะแนน มาให้ประชาชนหรือนำตรายางมาใช้แทนไปเลยก็สิ้นเรื่อง ท่านประธานครับ ในทางทฤษฎี หรือทางปฏิบัติยังมีเรื่องอีกมากที่ กกต. ควรปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ SOP หรือ Standard Operation Process หรือคู่มือที่ได้กล่าวไปข้างต้น ให้มีความทันสมัย และดำเนินการได้จริง ขออีกสั้น ๆ นะครับ

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

การอบรมในเชิงปฏิบัติให้สอดคล้องกับคู่มือตลอดจนกำชับถึงแนวทางปฏิบัติ ของ กปน. และบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามให้มากยิ่งขึ้น

นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ท่านประธาน ผมหวังอย่างยิ่งว่า กกต. จะนำข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่ผมได้อภิปรายไปในวันนี้ไปดำเนินการแก้ไขปรับให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับ Slogan ของ กกต. ที่ว่าสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้าย ท่านไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ เชิญครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ ผม ปูอัด ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจอมทอง ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน และเขตบางขุนเทียนเฉพาะแขวงท่าข้าม พรรคก้าวไกล ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง รอ กกต. มาหลายวัน ผมนี่รอท่านที่ท่าน้ำทุกวัน พูดตรง ๆ เลย วันนี้ท่านมาแล้วผมชอบมาก ๆ ท่านประธานครับ สิ่งที่ผมจะมาอภิปรายวันนี้ หนังสือที่ผมได้อ่านรายงานผลการทำงานของท่านในปี ๒๕๖๕ อ่านไปงงซ้ำงงซ้อน เหมือนกับดักอะไรบางอย่างก็ไม่รู้ ผมต้องมาสรุปกับทีมงานเป็น My Mapping แบบนี้ ถึงจะเข้าใจได้

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เอาเป็นว่าสิ่งที่ ผมจะมาพูดก็คือรายงานผลปฏิบัติงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง หน้า ๑๐๓ ฝากท่านเปิดตามนะครับ รายงานผลเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในหน้า ๑๐๓ เขาพูดถึงการพัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อสร้างความรู้ ผมเห็นว่า กกต. เขาทำ Application เมื่อสักครู่มีตาสับปะรดแล้ว ของผมอีกอันหนึ่งชื่อว่า Civic Education Civic ผมไม่ใช่ยี่ห้อรถนะครับท่านประธาน เป็น Application จาก กกต. วันนี้ผมจะมา เล่นโชว์ให้ดูเลย ใครว่าง Load หน่อย ใช้ Internet ไม่เยอะ ท่านพิมพ์เลย Civic Education ผมไม่โกง เปิดมาหน้านี้ เรามาดู App Store ก่อน โอ้โฮ Rating เท่าไร ๑.๒ Play Store ๑.๘ โอ้โฮ นี่มันจ่าฝูงแดนใต้ชัด ๆ แล้วดูตรงนี้ Review เขาเขียนว่าอย่างไร ของ Play Store เขาเขียนว่าเป็น Application ที่จุด จุด จุด จุด ที่สุดแล้วเท่าที่เคยเห็นมา ยากมาก แถมไม่รู้ ด้วยว่าทำแล้วได้อะไร ไม่เห็นประโยชน์ของมันเลย จุด จุด จุด สาระมาก มีสาระ ไม่ต้องคิดอะไรไม่เคยเห็นอะไร จุด จุด จุด สาระขนาดนี้มาก่อน เอาเวลาทำอย่างอื่นดีกว่าเยอะ ท่าน กกต. Load เลย To be Fair ท่าน Load มาอ่านเลย อันนี้เขาชมนะ อีกอันหนึ่ง ของ Play Store เขาเขียนว่าอะไร Application นี้ดีเกินไป อีกอันบอกว่า Application ดีมาก ให้ ๑ ดาวก็พอ ดูสิชมอีกแล้ว นี่ Application เอาเป็นว่าเดี๋ยวจะหมดเวลาก่อน ผ่านไปเยอะแล้ว ฝากท่านประธานครับ เดี๋ยวเราเข้าไปใน Application กันเลย เดี๋ยวผมจะ Usability Testing ครั้งแรกในรัฐสภาไทยเรา พอกดเข้ามายังไม่ทันจะเล่นเลยเขาให้ผม ให้ดาวด้วย ผมควรจะให้เท่าไรดี อ่านตัว Chat เมื่อสักครู่แล้ว ๑ ดาว เอาเป็นว่า ผมให้กำลังใจท่านเดี๋ยวผมกดให้ ๕ ดาวตรงนี้เลย แต่ทีนี้ถ้าเรามาดูหน้า Home ฝั่งขวานี่คือ หน้า Home มันก็จะมีปุ่มหลาย ๆ อย่าง ข้างบน ข้างล่าง ตรงกลาง เรามาลองกดตามดูดีกว่า ว่าเขาให้องค์ความรู้อะไรใน Civic บ้าง ผมกด Download ทุกคนลองกดเลย เป็นอย่างไร Download เอกสาร สิ่งที่ขึ้นมาก็คือ Content Not Found ผมจะอ่านอะไรดีล่ะ ท่านประธาน อ่านภาษาอังกฤษบางครั้งก็อ่านไม่ออก เจออยู่แค่นี้ ไปต่อ ๆ เดี๋ยวจะหมดเวลา ไปหน้าอื่นลองปัดไปอีกนิดหนึ่ง Download สื่อรณรงค์กดเข้าไป กด กด กดไม่ติด โทรศัพท์มือถือผมไม่ได้พังนะ แต่ผมกดไม่ติด ย้ำอยู่นี่ เดี๋ยวหมดเวลาเอาไปอีกอันหนึ่ง อันนี้ เป็น Download คู่มือ ประชาชนรณรงค์เพื่อเผยแพร่การเลือกตั้ง ถ้าท่านกดเข้าไปอย่างที่ ผมบอก มันจะมาแนบมาเป็น PDF เลย คือถ้าทำเป็น PDF ท่านแนบอยู่ใน Website ก็ได้ไม่ต้องมาทำ Application แบบนี้ ไปกันต่อครับ กลับไปที่หน้าเดิมนะครับ Civic Law ทีนี้มันมีตัวการทำเป็นแบบคู่มือฝึกหัด ผมก็อยากเรียนอยากจะเก่ง เราลองกดเข้าไปในส่วนของพลเมืองคุณภาพ ถ้าท่านกดเข้าไป ในพลเมืองคุณภาพ ลองกดเข้าไปดู ท่านจะเจออะไร คือจะมี Video เข้ามา แต่ Video ถ้าท่านดูจริง ๆ ผมบอกเลยถ้าท่านจะกลับหัวกลับหาง Video จะพลิกไปไม่ได้ อันนี้ก็คือ เรื่องจริง ผม Test ให้ท่านดูอยู่ ผมขยายเข้ามามีเสียงเพลงด้วยครับ คือถ้าผมจะดูผมต้องดู อย่างนี้ ท่านี้ ท่านประธาน ท่านดูได้ไหมครับ ผมก็ดูไม่ได้ นี่งบประมาณนะ ไปต่อ ๆ กลับไปก่อน โอ้โฮ นี่ค้างเลยท่านประธาน ผมค้างผมต้องเปิดปิดใหม่ ใครจะรับผิดชอบผม พอเราไปดูในส่วนของแบบฝึกหัด แบบฝึกหัดก็มี แบบฝึกหัดนี่ทำให้เป็นพลเมืองคุณภาพ เพราะว่าผมอยากจะเป็นแบบท่าน กกต. ที่ทำ Application มา ข้อแรกถามว่าอะไร เมื่อคุณมีการนัดหมายกับใครคุณจะไปตรงเวลาทุกครั้งใช่หรือไม่ นี่ตอบอะไรดี ผมตอบใช่ ไปแล้ว ระหว่างคนในบ้านกำลังดูละครอย่างมีความสุข คุณเคยเปลี่ยนช่อง TV เป็นช่องอื่น โดยไม่ขออนุญาตใช่หรือไม่ ท่านประธาน ผมเคยจริง ๆ แย่งน้องสาว แล้วถ้าผมตอบไม่ใช่ ผมจะเป็นพลเมืองคนไม่ดีไหม ท่านประธานดูสิ Application กกต. ที่ให้ผมมาตอบ เอาเป็นว่าถ้าผมตอบใช่หมด ถูกทั้ง ๕๐ ข้อเกิดอะไรขึ้น ตอบทั้งหมด ผมข้ามไปเลย สิ่งสุดท้ายคือได้ประกาศนียบัตร มอบเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่า ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ได้ผ่านการศึกษาหลักสูตรปรอทวัดความเป็นวิถีประชาธิปไตยทาง Online ท่านประธานครับ ผมต้องแปะฝาผนังไว้ตลอดชีวิตเลย ปลื้มใจจริง ๆ กด ๕๐ ข้อ ถูก ๕๐ ข้อเลย พลเมืองดี ขั้นเทพก็ปูอัดนี่เอง พูดไปก็เหนื่อย ขอต่ออีกหน่อยสัก ๓-๔ นาที ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว มันมีกิจกรรมด้วยใน Application เราไปดูในกิจกรรม เขามีกิจกรรมวันสำคัญ ผมก็เป็น พวกชอบสอดรู้สอดเห็น อยากรู้ว่ามีนั่นมีนี่อย่างไร ผมก็เลยกด ๑๔ พฤษภาคม ไม่ใช่วัน Valentine แต่เป็นวันเลือกตั้งของพวกเราที่มาในระบอบประชาธิปไตย กดเข้าไปเจออะไร ไม่เจอแบบนี้เลยท่านประธาน สรุปเราเลือก ๑๔ พฤษภาคม ๑๔ พฤษภาคม คือวันอะไรครับ ท่าน กกต. ช่วยตอบผมหน่อยได้ไหมครับ เอาเป็นว่าถือว่าท่านผิดพลาด ก็กะว่าวันนี้ ท่านต้องรู้แน่นอน ๑๐ ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ กดเข้าไปไม่มีอะไรเลย คือท่านจะเอาอย่างไร กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครับ ท่าน กกต. ครับ ท่านไม่เขียนอะไรในกิจกรรมเลย ผมก็เลย ตั้งคำถามว่า Civic Education ท่านประธานรู้ไหมครับ มีงบประมาณในการใช้ส่วนนี้เท่าไร ตัวเลขชัดเจน ๕๕,๗๓๙,๔๖๒.๒๐ บาท ย้ำนะครับ ๕๕ ล้านบาท และในงบนี้ ทำ Application คืองบส่วนหนึ่งที่อยู่ในนี้ ผมตั้งคำถามเลยว่าคุ้มไหมครับ ขอต่อ นิดเดียวครับท่านประธาน อีกหน่อย ถือว่าเอาสนุกกันไป แต่ว่าประชาชนเครียดนะ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

มาดูตรงส่วนที่ ๒ ดีกว่าท่านประธาน ส่วนที่ ๒ ในส่วนของกลยุทธ์รายงาน ผลการทำงานเชิงยุทธศาสตร์

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เขาเขียนเลย เร่งรัดบูรณาการการบริหารจัดการเลือกตั้ง แบบการดิจิทัล เขียนไว้อย่างดี

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กลยุทธ์ที่ ๑ นี่คือเร่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการการเลือกตั้งออกเสียง ประชามติด้วยเทคโนโลยี ฝากท่านประธานทดไว้ในใจนะครับ

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กลยุทธ์ที่ ๒ ยกระดับการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งการออกเสียงประชามติ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ฝากท่านประธานทดไว้ในใจอีกอันหนึ่ง

นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ที่ผ่านมาผมจะเล่าแบบนี้ครับ ท่านบอกว่าต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เมื่อเดือนที่แล้วประชาชนมีการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วท่านทราบหรือไม่ ๔ วันสุดท้ายก่อนที่ประชาชนกำลังรวบรวมจาก Online ได้แล้ว กกต. บอกว่าไม่ให้ลงชื่อ Online แล้ว อยู่ดี ๆ มาบอกแบบนี้ ๔ วันสุดท้าย แล้วคืออย่างไร ถ้าประชาชนหมดกำลังใจ คืออย่างไรก็ยื่นไม่ทันครับ แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ถอดใจตรงนี้และพยายามรวบรวม ลายมือเพื่อส่งให้ทาง กกต. แล้วท่านทราบไหมครับว่ากระบวนการที่จะส่ง กกต. ต้องเป็น อย่างไรบ้าง ผมจะสาธยายให้ท่านฟังครับท่านประธาน ๑. คือเขาต้อง Scan File ที่เป็น File เข้าชื่อกระดาษเป็น Excel ๒. คือต้องรวบรวม Excel Write เป็นแผ่น CD ส่งอีก ผมถามท่านประธานตอนนี้เลย สมมุติฉันต้องซื้อ CD จะซื้อที่ไหน งงจริง ๆ ผมได้ยินสัญญาณแล้วว่าหมดเวลา ท้ายที่สุด เลยแล้วกัน คือผมฝากแบบนี้ครับว่า ท่าน กกต. ที่เคารพครับ ผู้มีความสุจริตและเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ช่วยตอบผมหน่อยให้ชื่นใจครับว่างบประมาณในการมาพัฒนา Application และเรื่องการไม่ให้ลงชื่อทาง Online ในการยื่นรายชื่อของประชาชน ช่วยชี้แจงผมหน่อยว่าสิ่งที่ผมพูดนี่มันผิดทั้งหมด และช่วยอธิบายให้ผมและประชาชน เข้าใจทีครับว่าสิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดนั้นผมคิดผิด ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านเลขาธิการตอบครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูงนะครับ ผมขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธานที่ให้โอกาสกระผมและคณะ กระผม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ การเลือกตั้ง กระผมขอกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสกระผมและคณะ ได้มารายงานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปี ๒๕๖๕ แล้วก็ ขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกผ่านท่านประธานเกี่ยวกับข้อความเห็น คำถาม ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนจะตอบคำถามในบางคำถาม ใคร่ขอกราบเรียนท่านประธานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ในการทำการเมืองให้ดี เรามีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีพนักงานอยู่ ๒,๕๐๐ คน เป็นหน่วยสนับสนุน ในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานร่วมกับ คนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ๕๐ ล้านคน ถ้าเป็นการเลือกตั้ง สส. กปน. คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ๑ ล้านกว่าคน ซึ่งไม่ใช่คนของสำนักงาน โดยตรง แต่ก็เป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นเจ้าพนักงานในวันเลือกตั้งคือชาวบ้าน ผู้สมัคร และพรรคการเมือง สื่อมวลชน เราทำงานร่วมกับทุกคนในประเทศไทย เราไม่ปฏิเสธ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละครั้งที่มีความผิดพลาดหรือตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ว่าการทำการเมืองให้ดีต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ลำพังคน ๒,๕๐๐ กว่าคน ทำการเมืองให้ดีไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าเราก็พยายามจะทำให้สุดกำลังของสำนักงาน และเครือข่าย รวมทั้งการทำงานร่วมกับประชาชนและพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเราได้รับ ความร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกพรรคด้วยดีในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่าง ที่มีการเลือกตั้งหรือในระหว่างที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานต้องปฏิสัมพันธ์ กับพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง เราก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ในส่วนของ ภาคประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ เราก็ได้รับความร่วมมือในการทำงาน ก็ต้องขอขอบคุณ ทุกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้การเมืองของบ้านเราได้ดีขึ้น แต่ ณ วันนี้ ก็ยังมีคำถามและมีปัญหาว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรหรือให้เร็วขึ้นอย่างไร สำนักงาน ได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี ก็ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งนะครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนคำถามหรือข้อสังเกต หรือความเห็นที่ผมจะได้นำมากราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกก็จะขออนุญาตไล่เลียงอาจจะใช้เวลาไม่มาก เพราะว่าส่วนมากบางครั้งก็เป็นประเด็นที่ซ้ำซ้อนกัน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

กรณีของท่านจุลพงศ์เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ในช่วงปี ๒๕๖๔ สำนักงานก็จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดเหมือนกับหน่วยงานอื่น ๆ หรือประชาชนไทย ทุกคน การใช้จ่ายงบประมาณลักษณะช่วงนั้นก็จะทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้ สำนักงาน ทำกิจกรรมในลักษณะที่ทำงานร่วมกับประชาชนลักษณะที่เป็นโครงการการให้ความรู้ เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเกินครึ่งหนึ่ง ของสิ่งที่เราใช้งบประมาณทั้งหมด งบประมาณในปี ๒๕๖๔ เลยอาจจะใช้จ่ายน้อย หลังจาก ปี ๒๕๖๕ สถานการณ์ดีขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามแผนเป้าหมายหลักของเราที่มี ๓ แผน ในประเด็นนี้ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องโควิด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการลงคะแนนจะนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้จะทำได้มากน้อย แค่ไหนในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเลือกตั้ง เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับการเลือกตั้งจะมีอยู่ ๓ ส่วน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนแรก คือการนำมาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการให้ประชาชน ได้ไปออกเสียงลงคะแนน ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวก และการให้ความรู้ตามช่องทาง ต่าง ๆ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ก็คือการเอามาใช้ในการบริหารจัดการการเลือกตั้งของเจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ก็คือนำมาใช้ในการลงคะแนน เราได้นำมาใช้เป็นบางส่วน บางส่วน ข้อกฎหมายไม่ให้นำมาใช้ได้ ยังมีกฎหมายไม่สามารถนำมาใช้ได้ ยังไม่ให้เราทำได้

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

เรื่องการจะนำเทคโนโลยีเหมือน i-Vote นี่ละครับ สำนักงานก็ได้ศึกษา มีชุดความรู้พร้อมที่จะนำมาใช้ แต่สิ่งที่ติดขัดอยู่ก็คือ ๑. ข้อกฎหมาย อย่างเลือก สส. กฎหมายไม่ให้ใช้ เราอาจจะนำมาใช้กับเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่หรือให้มี การนำมาใช้กับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคตถ้ามีการแก้กฎหมายที่เป็น สส. สิ่งที่เราได้ศึกษาก็คือเรื่องความไว้ใจกับเครื่อง ประเทศที่มีความทันสมัยส่วนมากก็ไม่มีใคร นำมาใช้ คือเทคโนโลยีไปไกลพร้อมที่จะนำมาใช้ แต่ว่าสิ่งที่เกรงก็คือเรื่องความปลอดภัย ของคะแนน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสำนักงานที่จะต้องปกป้องทุกคะแนนเสียงให้เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของประชาชนที่จะออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ตรงนี้ ก็ยังเป็นคำถามอยู่ว่าเราจะรักษาความปลอดภัยของเจตนารมณ์ของประชาชนได้หรือไม่

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ก็คือเรื่องงบประมาณ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเอสโตเนีย ซึ่งนำมาใช้ได้ทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ทำให้งบประมาณน้อยลง เอสโตเนียใช้ i-Vote วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองก็ต้องการเพิ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผลออกมาก็คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังเหมือนเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคืองบประมาณ หน่วยเลือกตั้ง สมมุติว่าเคยมี ๑,๐๐๐ หน่วย ก็ยังมี ๑,๐๐๐ หน่วย เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับ ประชาชนให้มีทางเลือกมากขึ้น การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำไป การเลือกตั้ง ประจำหน่วย กปน. หรือการลงคะแนนตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ยังทำเหมือนเดิม นั่นหมายถึงว่า ต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม นอกจากการวางระบบและการบริหารจัดการในการที่จะทำให้คะแนนทั้ง ๒ ส่วนมารวมกัน ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเอสโตเนียมีประชากร ๒ ล้านคน อาจจะทำง่ายกว่าของประเทศไทย แต่ว่าสำนักงานไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ศึกษาโดยอาจจะต้องใช้ในการเลือกตั้ง ระดับท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็ก เรื่องนี้สำนักงานก็จะรับไปพิจารณา รวมทั้งประเด็น เรื่องข้อกฎหมายด้วย นี่ก็คือเรื่องการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์นะครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ เมื่อสักครู่นี้ท่านสมาชิกบอกว่าไปดูงาน จริง ๆ คือเวลาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการไปปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศจะออกแบบร่วมกับกระทรวง การต่างประเทศตามลักษณะพื้นที่ อย่างเช่นประเทศที่มีลักษณะพื้นที่เฉพาะในการที่มี ประชากรลงทะเบียนน้อยอย่างแอฟริกา เราจะอำนวยความสะดวกและให้ประชาชน ที่ลงทะเบียนมีความสะดวกอย่างไร หรือประเทศที่เราไปที่เราซ้ำปัญหาบ้างบางครั้ง มีการลงทะเบียนไว้เยอะแต่เวลาออกเสียงลงคะแนนมีน้อย บางประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ ที่มีการส่งไปรษณีย์หรือการนำส่งของกระทรวงการต่างประเทศที่มีปัญหา เพื่อไปรับฟังในขณะที่ เขาลงคะแนนทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ปฏิบัติงานก็คือกระทรวงการต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยังต้องมีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่ควรจะมี แต่การใช้จ่ายงบประมาณ ก็อาจจะสูงกว่าการเลือกตั้งในราชอาณาจักรเมื่อคิดต่อหัว แต่ว่าเป็นสิทธิที่พึงมีของ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนไหนในโลก สำนักงานก็จะพยายามจะแก้ปัญหาให้ประชาชน ทั้งในและต่างประเทศได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่แทนตนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการฟ้องคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ฮอด ชั้นนี้อยู่ที่ชั้นศาลฎีกา ส่วนผล คดีจะเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ศาล แต่พอดีมีท่านสมาชิกได้ถามต่อมาผมก็ถือโอกาสตอบ ในครั้งเดียว ถ้าเป็นเรื่องคดีหรือข้อเท็จจริงคงจะอยู่ในสำนวน แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมาลักษณะนี้เราส่งไปที่ศาลทุกครั้ง ไม่ว่าเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้ง สส. ศาลก็จะลงมา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีพรรคการเมืองมีหนังสือสอบถามตามมาตรา ๒๓ ตามกฎหมาย กกต. เราก็ตอบว่าทำไม่ได้ เพราะเราก็ใช้กฎหมายมาตรานี้ วงเล็บนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ แต่ว่าเมื่อศาลฎีกา ตัดสินมาลักษณะนี้ทางสำนักงานก็ต้องเคารพในคำพิพากษา เป็นเรื่องที่สำนักงานได้ปฏิบัติ อย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ลักษณะแบบนี้

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

เรื่องกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กรณีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาท เป็นรายได้จากที่เป็นทั้งเงินที่เรียกคืนจากพรรคการเมืองที่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนมากก็จะเป็นเงินในส่วนนี้เวลาที่เราสนับสนุนเงินให้พรรคการเมืองไป อาจจะมี พรรคการเมืองที่ปฏิบัติไม่ได้ตามกฎหมายเราก็จะเรียกเงินคืน นี่คือเป็นรายได้หลักของที่เป็น จากรายได้อื่น

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนของกรณีท่านลิณธิภรณ์ก็จะเป็นทั้งข้อสังเกต เรื่องการนำเทคโนโลยี มาใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็เรื่อง Blockchain ทางสำนักงานก็จะรับไปพิจารณา ไปศึกษา ซึ่งได้มีการศึกษาไว้ก่อนแล้ว ขอขอบพระคุณท่านในส่วนนี้ด้วย

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องงบประมาณการใช้จ่ายเงินผมก็ได้ตอบไปแล้วว่าทำไมเงินปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ ไม่ว่ารายการไหนช่วงสถานการณ์โควิดการใช้จ่ายเงินก็จะต่ำกว่าปี ๒๕๖๕ ซึ่งก็จะมีจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนของท่านเอกราชก็จะขออธิบายเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ การเลือกตั้ง ส่วนประเด็นอื่นเป็นข้อสังเกตซึ่งทางสำนักงาน ๕-๖ ประเด็นที่ท่านได้ตั้ง ข้อสังเกตหรือเป็นข้อสังเกตเชิงคำถามสำนักงานก็จะรับไปพิจารณา แล้วก็ศึกษา แล้วก็ จะแก้ไขในสิ่งที่มันดีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ กฎหมาย ได้ออกแบบได้มีไว้เกือบ ๓๐ อนุมาตรา ที่เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทั้งกฎหมาย ท้องถิ่นและกฎหมาย สส. สำนักงานและคณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมกันตรวจสอบกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกือบ ๒๐ หน่วยงาน ข้อมูลทุกข้อมูลไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน เป็นการประสานกับหน่วยงานเครือข่าย ส่วนหน่วยงานจะตอบมาภายในวันไหน อาจจะด้วย จำนวนข้อมูลที่มีมากก็อาจจะตอบมาไม่ถึงภายใน ๗๐ วัน สำนักงานหรือผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำท้องถิ่นต้องประกาศให้เป็นผู้สมัครไว้ก่อนถ้าตรวจ เมื่อพ้น ๗ วัน ถ้าไม่พบลักษณะต้องห้าม กฎหมายจึงได้ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองรับรองตัวเอง ไปส่วนหนึ่ง บางข้อมูลไม่อยู่ในหน่วยราชการก็มี จึงมีมาตรา ๑๕๑ ที่กำหนดให้ผู้สมัคร ต้องรับรองตัวเอง ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นคดีอาญาและศาลก็ให้แนวมาว่าเรื่องนี้จริง ๆ เป็นเรื่องของผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องรับรองตัวเอง เราไม่ปฏิเสธเรื่องการตรวจสอบ บางครั้งระบบข้อมูลอาจจะเป็นที่อยู่มานาน ทุกหน่วยงานเพิ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลก็ตรวจสอบไม่เจอ แต่พฤติกรรมอย่างนี้ก็มีการนำร้องเมื่อมีผู้สมัคร หรือประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น ได้ทราบก็นำมาร้อง จึงเป็นเหตุปรากฏว่า ทำไม กกต. ตรวจไม่พบ นี่คือข้อจำกัดในการตรวจสอบคุณสมบัติในการเลือกตั้ง แต่โดยภาพรวมกฎหมายได้ออกแบบไว้ถูกต้องแล้ว

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนท่านธีระชัย ผมได้พูดอธิบายกรณีเรื่องคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ไปแล้วว่า ในเชิงข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ส่วนในข้อเท็จจริงอยู่ในสำนวนและชั้นนี้อยู่ในการพิจารณา เราได้ยื่นฎีกาไปแล้ว ส่วนถ้าผลการพิจารณาเป็นประการใดสำนักงานก็ต้องทำตามกฎหมาย ประโยชน์ของประเทศชาติและราชการมาก่อน ถ้าผลออกมาประการใดก็มีกฎหมาย ที่จะให้สำนักงานได้รองรับในการที่จะทำงานว่าถ้าออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบ ทางสำนักงาน ก็มีมาตรการในการที่จะดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายที่รองรับไว้แล้ว ซึ่งกฎหมาย ได้รักษาผลประโยชน์ของทางรัฐไว้อยู่แล้ว สำนักงานก็คงจะต้องดำเนินการไปตามช่องทาง ที่กฎหมายกำหนดไว้ ในส่วนของการที่เป็นคดีที่จังหวัดเชียงใหม่

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างที่ได้นำกราบเรียน งบประมาณ ที่สำนักงานได้ใช้ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ที่แตกต่างกันและใช้เป็นจำนวนเยอะมากขึ้น อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าปี ๒๕๖๕ สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น มีการทำโครงการโดยเฉพาะ โครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล กทม. แล้วก็ทางพัทยาด้วย ทำให้งบประมาณของปี ๒๕๖๕ มีการเพิ่มมากขึ้น

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ท่านปัญญารัตน์ ก็จะเป็นเรื่องของข้อสังเกต ผมก็จะได้นำไปปรับปรุงเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงิน การระดมทุน เงินภาษี บางอย่างก็เป็นเรื่องข้อกฎหมายอย่างที่ท่านได้ตั้ง ข้อสังเกตว่าเงินภาษีของประชาชนไปที่พรรคโดยตรงได้เลยหรือไม่ กฎหมายได้ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยรวมกับเงินจากงบประมาณของรัฐ ในแต่ละปี ตรงนี้ก็ยังจะติดขัดข้อกฎหมาย จริง ๆ ในชั้นของการออกเสียงในการร่าง พระราชบัญญัติพรรคการเมือง สำนักงานคิดตรงกับทางพรรค แต่ว่าทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนนั้นอยากให้พรรคได้เงินเป็นก้อนก็เลยนำเงินมารวมกัน ส่วนการใช้จ่ายก็เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนรูปแบบการใช้จ่ายที่มีการพัฒนาออกไปในการที่ พรรคการเมืองจะเข้าไปถึงประชาชน สำนักงานก็จะรับไปว่าจะทำให้มีภาพกว้างมากขึ้น สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น แต่ว่าอย่างไรก็ตามเงินพวกนี้ส่วนหนึ่งเป็น เงินของแผ่นดิน ทางเราก็ต้องสามารถตรวจสอบได้ แต่จะปรับให้พรรคการเมืองได้ใช้จ่าย ผมเรียกว่ายืดหยุ่นมากขึ้นก็แล้วกันในประเด็นนี้

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการระดมทุนก็เป็นประเด็นที่ทางสำนักงานก็จะรับไป อาจจะให้มี ลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนท่านพรรณสิริ ก็เป็นเรื่องของการแสดง ท่านให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกต ซึ่งเป็นประโยชน์ ทางสำนักงานก็จะรับไปตามข้อสังเกตของท่านในทุกประเด็น

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนท่านประสิทธิ์ ก็จะเป็นเหมือนกัน เรื่องการระดมทุน Online เรื่องยุทธศาสตร์ การไปต่างประเทศ ซึ่งกระผมก็ได้ชี้แจงน่าจะไปในทุกประเด็น รวมทั้งเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานก็ได้แก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะทำให้ ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่กระทบกับ Timeline ของการเลือกตั้งเท่าที่ผ่านมานะครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขอชี้แจงเป็นข้อเท็จจริง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณไป เราขอไป ๕,๙๐๐ ล้านบาท แต่คนก็จะ จำภาพ ๕,๙๐๐ ล้านบาท ด้วยเหตุที่ทำไมต้องใช้ ของบประมาณไปเยอะ ๑. ก็คือมีระบบ บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ กรรมการประจำหน่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก ๕ คน เป็น ๙ คน หรือบางหน่วยที่เกิน ๘๐๐ คน ก็จะเพิ่มเป็น ๑๐ กว่าคน ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องใช้วัสดุในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ของบประมาณไป ๕,๙๐๐ ล้านบาท สำนักงบประมาณจัดสรรให้ ๔,๗๐๐ ล้านบาท เราได้รับมาและใช้ ในส่วนของเรา ๓,๐๐๐ ล้านบาท ในส่วนหน่วยงานสนับสนุนด้วย ๘๐๐ กว่าล้านบาท ก็จะใช้จ่ายไป ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท นี่ก็คือไม่ได้ใช้จ่ายไปทั้ง ๕,๙๐๐ ล้านบาทตามที่ขอ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการนับคะแนน จะนับคะแนนแบบ Real Time ก็ขอให้ข้อมูล จริง ๆ คำว่า Real Time ตามความหมายของคนทั่วไปหรือประชาชนหรือใครก็แล้วแต่ น่าจะเป็นการนับคะแนนแบบเพิ่มที ถ้าคะแนนเพิ่มขึ้น ๑ ก็บวกไปเลย นั่นคือ Real Time คือตามความเป็นจริง แต่ประเทศไทยไม่เคยทำแบบนี้ ผมก็ว่าที่ไหนก็ไม่เคยทำที่ไปดูมา เมื่อนับคะแนนเสร็จเป็นหน่วยจึงเอาไปรวม การเลือกตั้งครั้งไหนก็ทำแบบนี้ นับคะแนนเสร็จ ที่หน่วยปิดตาม สส. ๕/๑๘ แล้วค่อยเอาไปรวม ครั้งที่แล้วได้มีการศึกษาว่า ให้สถาบันการศึกษาซึ่งท่านก็ได้ศึกษาออกมาดี แต่ว่าเมื่อถามถึงหลักประกันว่า คะแนนทุกคะแนนต้องไม่ผิดพลาด ท่านบอกว่าให้เหมือนกับนำไปทดลองก่อน ซึ่งเราก็ไม่กล้า เสี่ยงที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ ก็ได้ออกแบบ ECT Report เองโดยสำนักงาน ถามจริง ๆ ก็คือไม่ได้ใช้เงินแต่ว่าผลก็ออกมาดี แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ๒-๓ หน่วย ในการนำเสนอรูปแบบในการโชว์ เราก็ยินดีให้กับสื่อต่าง ๆ ที่ท่านออกไปนับคะแนนเอง บอกว่าให้มานับคะแนนจากเรานี่ละครับมันเร็วที่สุดแล้ว ท่านก็มาร่วมด้วยกันในการที่จะ นำคะแนนที่สำนักงานทำไปแสดงต่อประชาชนในการออกเสียงลงคะแนนนี่ก็คือ เรื่องการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งสำนักงานก็น่าจะได้รูปแบบที่เหมาะสม ในการทำงาน ในการนับคะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๖ เราได้ซักซ้อมว่า ๔ ทุ่ม น่าจะรู้ผล ไม่ได้ครับ คำว่า รู้ผล คือรู้ผลแบบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีข้อผิดพลาดในเรื่องการรายงาน ผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเขาต้องตรวจสอบและรวมคะแนนและส่งเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ มันก็เป็นบทเรียนที่เราจะต้องนำไปใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะทำให้การรายงานผลคะแนน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ทางท่านสมาชิกได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าน่าจะเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณของที่ท่านเทียบจุฑาได้ตั้งข้อสังเกตแล้วก็ให้ ข้อเสนอแนะไว้ คือสำนักงานใช้งบประมาณ ๒ ก้อน ก้อนแรกคืองบประมาณที่ได้จากรัฐบาล เป็นงบประมาณประจำปีก็ได้ปีละ ๑,๗๐๐ ล้านบาท เรามีคนอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ คน แล้วก็งบประมาณส่วนหนึ่งคืองบประมาณที่ใช้จากเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสม ที่เหลือจากการเลือกตั้งนี่ละครับ ถ้าถามว่างบประมาณถ้าหมดลงก็เป็นเรื่องที่ทางสำนักงาน จะต้องไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการที่จะใช้งบประมาณ เพราะว่าการใช้ งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการใช้งบประมาณ ไม่ใช่เพื่อสำนักงาน เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ เวลาเลือกตั้งท่านอาจจะเห็นว่า เราใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่ อย่างครั้งที่แล้วใช้เงินไป ๓,๐๐๐ ล้านบาท หลักของการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. ก็คือการอำนวยความสะดวกกับประชาชน ๒. ก็คือความโปร่งใส ๓. ก็คือการมีส่วนร่วม ความโปร่งใสนี่ครับ ไม่อยากให้ท่านกังวล รูปแบบการออกแบบการเลือกตั้งตั้งแต่ในหน่วยเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง เราออกแบบมา เพื่อป้องกันไม่ให้ใครทุจริตการเลือกตั้ง ทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะต้องได้รับการรักษา และเป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนได้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง ส่วนกระบวนการต่าง ๆ นี่นะครับ เอาหลักการเรื่องความโปร่งใสไปแปลงเป็นวิธีปฏิบัติไว้ทุกขั้นตอน บางขั้นตอนเห็นได้ด้วยตา บางขั้นตอนไม่เห็นได้ด้วยตาแต่สามารถตรวจสอบและอธิบายสังคมได้ หลักที่ ๓ คือหลักการมีส่วนร่วม หลักนี้คือการเลือกตั้งเป็นของประชาชนทำให้ต้องใช้งบประมาณ เป็นจำนวนมาก เลือกตั้งแต่ละครั้ง กปน. ๑ ล้านกว่าคน อบรมก่อน ๒-๓ วันในการที่จะรับ อุปกรณ์ แล้วก็ในวันเลือกตั้งก็ต้องใช้เงิน แล้วก็ใช้ไปในวัสดุอุปกรณ์ ส่วนการใช้จ่าย งบประมาณในเรื่องอื่นก็จะมีน้อยมาก งบประมาณที่ใช้ส่วนมากจึงเป็นเรื่องลักษณะของ การใช้วัสดุอุปกรณ์กับเรื่องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ท่านอดิศร ผมก็จะรับข้อสังเกตของท่านไปกราบเรียนคณะกรรมการ ส่วนวันเลือกตั้ง จริง ๆ วันเลือกตั้งมีอยู่วันเดียว วันเลือกตั้งทั่วไปก็คือวันที่ ๑๔ ส่วนวันที่เลือกตั้งก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนหรือเขาเรียกว่าวันลงคะแนน ล่วงหน้า ไม่ถือเป็นวันเลือกตั้งเพราะรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ของท่านสกลก็เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการวินิจฉัยบัตรของ กปน. ซึ่งสำนักงาน ได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี เพราะว่าจุดตายของการเลือกตั้งคือหน่วยเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าการให้ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน อย่างที่ท่านได้นำเสนอ ทางสำนักงานได้ตระหนักถึงข้อนี้ดีแล้วก็จะพยายามปรับปรุง ให้มีประสิทธิภาพ ให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความสบายใจมากยิ่งขึ้นนะครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ส่วนกรณีท่านไชยามพวาน ประทานโทษถ้าผมเอ่ยชื่อท่านผิด ก็จะได้นำ ข้อสังเกตของท่านในการไปทำ Civic Education ในการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน จริง ๆ Civic ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่นะครับ แต่ว่าไม่ใช่ข้อมูลไม่น่าสนใจ การนำเสนออาจจะ ยังไม่น่าสนใจ แต่เราได้ทำขึ้นด้วยตัวเองด้วยงบประมาณไม่ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ขอกราบขอบพระคุณนะครับ ส่วนข้อเสนอ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ทางท่านสมาชิกได้กรุณา ให้ข้อสังเกต ทางสำนักงานจะรับไปทุกเรื่องเพื่อพัฒนา จะทำให้ท่านสบายใจและเห็น ความแตกต่างในการเลือกตั้ง การบริหารจัดการการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอบพระคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านอดิศรนิดหนึ่งครับ

นายอดิศร เพียงเกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย ผมฟังคำอธิบายของเลขาธิการ กตต. ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของท่านที่จะมาชี้แจง ท่านบอกว่าจะนำเรื่องของผมไปแจ้งให้ กกต. ๗ ท่านมาที่สภา อันนี้เป็นรายงานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผมอยากเห็นหน้า ๗ คน รับปากผมได้ไหมว่าครั้งหน้าจะมา วันนี้อนุโลมไป แต่วันหน้า ถ้าพวกท่านมา ผมจะไม่ร่วมประชุม เพราะท่านไม่มีหน้าที่มาชี้แจงแทน กกต. ทั้ง ๗ คน องค์กรอื่นเขาให้เกียรติสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมา อย่างนี้เป็นต้น ท่านตอบผมอีกยิ่งงงไปใหญ่เลยครับ บอกว่าวันเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ใช่วันเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง มีวันเดียวผมเข้าใจเหมือนท่าน แต่วันที่เขาไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านี่ท่านเรียกวันอะไร ไม่ใช่วันเลือกตั้ง แต่ท่านเอาบัตรเหล่านั้นมานับคะแนนได้อย่างไร ผมพูดว่าวันเลือกตั้งล่วงหน้า หากจะพึงมีการทุจริตท่านต้องดูแล นั่นคือวันซื้อสิทธิขายเสียง ท่านไม่ได้ตอบผมเรื่องนี้ ผมถามว่า กกต. ทราบไหม ท่านไม่ได้ตอบว่าทราบ ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นสร้างความงุนงงให้แก่สภาพอสมควรครับท่านเลขาธิการ วันเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่ใช่วันเลือกตั้ง วันเลือกตั้งใช่วันเลือกตั้งหรือเปล่า ผมต้องกลับไปถามใครอีกนอกจาก ที่จะถามท่านประธาน ฝากไว้นะครับ

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ ทางนี้ครับ ขออนุญาตครับ ผม จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ชี้แจงยังขาดการตอบคำถามของผมข้อหนึ่ง ขออนุญาตท่านประธานสั้น ๆ เรื่องคดีที่ศาลจังหวัดฮอด ถ้ากรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ กกต. ต้องชำระเงิน ๕๐ ล้านบาท หรือ ๖๐ ล้านบาทให้กับโจทก์ ผมไม่ทราบท่านจะตอบได้หรือเปล่า ปัจจุบัน กกต. มีระเบียบ อย่างไรที่จะเรียกค่าเสียหายคืนจากคณะกรรมการ กกต. ที่ลงมติไปหรือเปล่า ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เดี๋ยวตอบทีเดียวนะครับ เชิญท่านวิทยา แก้วภราดัย ครับ

นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย ผมฟังข้อชี้แจงจากท่านเลขาธิการแล้วก็มีเรื่องข้องใจจะเรียนถามท่าน สักนิดครับ คือท่านพูดถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้เงินไม่น่าจะ ๕,๙๐๐ ล้านบาท แต่ที่ผมสงสัยก็คือในงานของ กกต. เรามีอยู่ ๒ ส่วน ก็คือการจัดการเลือกตั้งที่ท่านพยายาม เน้นว่าเราต้องใช้คนเป็นล้าน ใช้หน่วยเลือกตั้งจำนวนเท่าไร ผมอยากทราบว่าในการจัดการ เลือกตั้งเราใช้งบประมาณทั้งสิ้นตั้งแต่พิมพ์บัตร เตรียมหีบ จนถึงนับคะแนนเสร็จ หมดไปเท่าไรในทางธุรการ และที่ข้องใจครับ งานที่เป็นหัวใจหลักของ กกต. ก็คืองานกำกับ การเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ผมก็ไม่แน่ใจว่าตั้งแต่การตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน ทำสำนวนเรื่องการร้องเรียนการเลือกตั้งทั้งหมดในการกำกับการเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม เราใช้ไปเท่าไร และที่สำคัญคือมาถึงวันนี้ผมทุกคนในที่นี้รู้สึกว่างานกำกับการเลือกตั้ง ไม่ได้ทำอะไรเลย ครบ ๖๐ วัน กกต. ก็ส่งรายชื่อ ๔๐๐ เขต ประกาศเรียบร้อย ครบ ๖๐ วัน รายชื่อบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คนก็ประกาศเรียบร้อย ๕๐๐ คนประกาศเรียบร้อยหมด สรุปว่า การทำงานเรื่องการสืบสวน สอบสวน กำกับการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมจนวันนี้เรียบร้อย เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสุจริตเที่ยงธรรม รับประกันได้ หรือยังมีเรื่องค้างสอบสวนอยู่ เพราะท่านมีระยะเวลา ๑ ปีในการนับตั้งแต่วันเลือกตั้งเสร็จที่จะสรุปสำนวนการสอบสวน ส่งไปฟ้องศาล เพราะอำนาจตุลาการท่านหมดแล้ว ๖๐ วัน อำนาจตุลาการขณะนี้ครบ ๖๐ วัน กกต. ทำอะไรไม่ได้ กกต. เหลืออำนาจเพียงแค่พนักงานสอบสวนรวบรวมและส่งให้ ศาลเป็นคนตัดสิน ผมก็อยากทราบว่าท่านเลขาธิการทราบไหมว่ามีเรื่องค้างสอบสวนเท่าไร รอส่งให้ศาลตัดสินกี่เรื่อง จะได้ทราบว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกระบวนการสืบสวนสอบสวน กำกับการเลือกตั้ง กกต. ได้ทำงาน ขอ ๒ คำถามแค่นี้ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านเลขาธิการครับ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ขออนุญาต กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับ กรณีศาลจังหวัดฮอดถ้าศาลฎีกาพิจารณา ออกมาว่ายืนยันตามศาลอุทธรณ์ สำนักงานก็จะต้องดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. ความผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปอย่างที่ผมบอกว่ามันมีช่องทางในทางกฎหมาย ผมอาจจะ ไม่ระบุข้อกฎหมายไว้เมื่อสักครู่ว่ามันมีช่องทางในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐเรียกว่า เป็นผลประโยชน์ของรัฐ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้นฉบับ

ในส่วนเรื่องของท่านอดิศรก็จะคล้าย ๆ กับของท่านวิทยา ก็คือเรื่องการควบคุม ให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งก็เป็นหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องนี้จริง ๆ สำนักงานและคณะกรรมการให้ความสำคัญ มันจะมีทั้งมาตรการในการป้องกัน ป้องปราม แล้วก็เมื่อหลังเลือกตั้งเสร็จก็มีลักษณะที่เป็นความผิดที่มีการมาร้องเรียน ครั้งนี้ก็อาจจะต่างจากครั้งที่แล้วก็คือจำนวนเรื่องร้องเรียนน้อยมาก ครั้งที่แล้วจะเป็นพัน ครั้งนี้แค่หลัก ๑๐๐-๒๐๐ เรื่อง ขณะนี้มีคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ ๑๑๓ คดี เฉพาะของ สส. สำนักงานก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดำเนินการอย่างรอบคอบและให้ความเป็นธรรม กับทุกฝ่าย และโดยที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้ออกแบบใหม่ก็คือว่าเมื่อจะฟ้อง การเลือกตั้ง สมมุติว่าให้ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง ใบดำนี่นะครับ ต้องพ่วงคดีอาญา และค่าใช้จ่ายไปพร้อมกันต่างจากครั้งที่แล้ว นั่นหมายความว่าการทำคดีเลือกตั้งต้องใช้คดี ตามมาตรฐานคดีอาญา เพราะไปในชุดเดียวกันไม่ได้แยกพิจารณาก่อน แต่กฎหมาย ๒ ฉบับแรกได้ใช้ได้แยกคดีเลือกตั้งไปก่อนก็คือคดีใบเหลือง ใบแดง แต่ครั้งนี้ถ้าหลังประกาศผล ต้องไปด้วยกันทั้ง ๓ เรื่อง ค่าใช้จ่าย คดีอาญา แล้วก็คดีเลือกตั้ง อย่างที่ผมได้นำเรียนว่า การทำสำนวนต้องให้ความเป็นธรรมและต้องใช้มาตรฐานคดีอาญาในการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ส่วนในการลงคะแนนล่วงหน้า ผมใช้คำว่า ลงคะแนนล่วงหน้า แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะใช้ คำว่า วันเลือกตั้งล่วงหน้า แต่จริง ๆ มันคือการอำนวยความสะดวกของประชาชน กฎหมาย ใช้ว่าวันลงคะแนนล่วงหน้า เราไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างที่บอกว่าเรามีชุดป้องกันป้องปราม ในการดำเนินการ มีข้อมูล มีหลายชุดในการที่จะลงพื้นที่เกี่ยวกับตรงนั้น ในระบบเราก็จะมี ข้อมูล เพียงแต่ว่าข้อมูลจะเพียงพอหรือเราได้สืบสวนสอบสวนได้มากแค่ไหน การกระทำ ความผิดอย่างที่บอกว่าบางครั้งก็ขึ้นกับพยานหลักฐาน ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดูไม่ยาก มีผู้สมัคร มีพรรคการเมืองเห็นชัด ๆ ว่าถ้าจะทำอีกก็คนพวกนี้ละ แต่เวลาสืบสวน สอบสวนมีความซับซ้อนมากกว่าคดีทั่วไป ก็ขอกราบเรียนให้ทราบครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๕ แล้วนะครับ ต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการ ขอบคุณท่านผู้ชี้แจงทุกท่านครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕.๓ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน (นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้เสนอ) เชิญท่านร่มธรรมครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอเสนอญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ลำดับแรก ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุญัตตินี้ของผมและคณะ เพราะลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญ แต่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับรายละเอียดของญัตติได้ปรากฏ ตามเอกสารที่ทางสภาได้แจกจ่ายให้กับเพื่อนสมาชิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผม จึงขออนุญาตใช้เวลานี้เพื่ออภิปรายประกอบญัตติเป็นลำดับต่อไป ท่านประธานครับ ประเทศไทยมีทะเลสาบแห่งเดียวที่มีลักษณะพิเศษคือมีน้ำจืดจากเทือกเขาในจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราชไหลมารวมกัน และมีน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยเข้ามาผสมด้วย ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน Lagoon ๑๑๗ แห่งทั่วโลกเพียงเท่านั้น ทะเลสาบแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะของน้ำในทะเลสาบ ถึง ๓ น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีเกาะที่สำคัญ อาทิ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะหมาก เกาะนางคำ และเกาะยอ ทะเลสาบแห่งนี้ครอบคลุมหลายร้อยหมู่บ้าน หลายสิบอำเภอ ในพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน อาศัยและทำกินอยู่ร่วมกันรอบทะเลสาบ และมีระบบนิเวศ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และมี ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ท่านประธานครับ เพื่อเป็นชื่อเรียกที่ครอบคลุมจังหวัดในพื้นที่ และตรงกับสภาพลุ่มน้ำ หลังจากนี้ผมขออนุญาตเรียกลุ่มน้ำทะเลสาบแห่งนี้ว่าไทยลากูนครับ ทะเลสาบพัทลุง ทะเลสาบสงขลา หรือไทยลากูนมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับ โลกในหลากหลายประเด็นด้วยกันครับ ยกตัวอย่าง เช่น ในพื้นที่มีป่าพรุควนเคร็งซึ่งเป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งพันธุ์สัตว์และพืชป่า เป็นแหล่งดูดซับก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในพื้นที่อย่างนี้มีป่าพรุควนขี้เสี้ยนที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ระหว่างประเทศหรือเรียกว่า Ramsar Sites เป็นแห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่แห่งนี้ มีทะเลน้อยที่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศ มีควายน้ำที่เป็นมรดก ทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มากไปกว่านั้นครับ ในพื้นที่ทะเลสาบแห่งนี้ มีโลมาอิรวดีที่เป็นหนึ่งในโลมาน้ำจืดเพียง ๕ ชนิดทั่วโลก ซึ่งในทะเลสาบสงขลาเหลืออยู่เพียง ๑๔ ตัวเท่านั้น นอกจากนี้ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลายังมีการทำนาริมทะเลสาบที่บ้านปากประ ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นต้นครับ ในอดีตพื้นที่ทะเลสาบแห่งนี้มีทรัพยากร ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และนกน้ำหลากหลายชนิด มีทรัพยากรน้ำทั้งคุณภาพ และปริมาณที่มากพอ และมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายโดยเป็นแหล่งสร้างประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งจากการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว อย่างไร ก็ตามจากการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่เป็นไปตามหลักการ อนุรักษ์ มีการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย มีการบุกรุกพื้นที่ จึงทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ ดังกล่าวสูญเสียไปอย่างมาก อีกทั้งยังมีปัญหาการตื้นเขิน มีมลพิษ น้ำเสีย มีปัญหาสายพันธุ์ รุกรานต่างถิ่นทำให้ทะเลสาบที่สำคัญแห่งนี้มีสภาพที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้ในพื้นที่ทะเลสาบ พัทลุงประชาชนยังเผชิญปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พี่น้องประชาชนหรือชุมชนที่อยู่รอบทะเลสาบ มีความเป็นอยู่ ที่ยากลำบากและยากจน ท่านประธานที่เคารพครับ จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น ว่าไทยลากูนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีศักยภาพ แต่ยังขาดการบริหารและจัดการ อย่างเป็นระบบ จากปัญหานี้เองหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าเราจะต้องร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ทะเลสาบหรือไทยลากูนแห่งนี้อย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ และร่วมมือกันทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ และหากเรามองในภาพรวมสภาพลุ่มน้ำ อื่น ๆ ในประเทศไทยทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำในอดีตและได้มีการปรับในปี ๒๕๖๔ ให้เหลือ ๒๒ ลุ่มน้ำ ก็มีสภาพที่ไม่แตกต่างจากลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงแต่อย่างใด เพราะล้วนมีสภาพที่เสื่อมโทรม ทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติทำให้ประชาชนและชุมชนล้วนมีความขาดแคลน และเดือดร้อนเหมือนกันแทบทุกลุ่มน้ำ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาให้ผมได้เสนอญัตติขอตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบ สงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืนในวันนี้ครับ ซึ่งหากสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ หรือจะส่งให้คณะกรรมาธิการคณะใดได้พิจารณากระผมก็ไม่ขอขัดข้องครับ แต่ขอฝาก ทางคณะกรรมาธิการและรัฐบาลได้นำข้อเสนอแนะของผมประกอบการศึกษาดังต่อไปนี้ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๑. ขอให้มีการศึกษาเพื่อให้มีคณะทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการ ที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง ๓ จังหวัด ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานให้เป็นการประสานแผนงานด้วยกัน หรือบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยพี่น้องในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ นักวิชาการหรือกลุ่มอนุรักษ์ต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนะให้ความเห็นและร่วมทำงานด้วย ไม่ใช่เป็นแบบต่างคนต่างทำเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้การฟื้นฟูทะเลสาบไม่ประสบ ความสำเร็จ โดยขอให้ศึกษาว่าควรจะใช้รูปแบบใดในการทำงาน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๒. ขอให้มีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูสภาพทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด โดยเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าริมทะเลสาบและป่าต้นน้ำทุกป่า ขจัดน้ำเสีย ที่ลงสู่ทะเลสาบอย่างจริงจัง กำจัดสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น แก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย และควบคุมทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพน้ำให้ดีและเพียงพอก่อนปล่อยลงสู่ทะเลสาบ พร้อมกันนี้ต้องเร่งการปล่อยสัตว์น้ำ อนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีสภาพใกล้เคียงกับในอดีตให้ได้ มากที่สุด

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๓. ขอให้มีการศึกษาเพื่อการเปิดปากคลองระวะ ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้ปิดกั้นไม่ให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยเข้ามาในทะเลสาบร่วม ๕๐ ปีแล้ว จึงขอให้มีการศึกษา และทดลองการเปิดคลองระวะอีกครั้งเพื่อให้น้ำเค็มเข้ามาเหมือนเดิมว่าจะสามารถทำให้ ทะเลสาบกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตได้หรือไม่ และช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้อย่างไร

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๔. ขอให้มีการศึกษาการขุดลอกทะเลสาบให้ลึกลง เพราะขณะนี้ทะเลสาบ แห่งนี้มีความตื้นเขินเป็นอย่างมาก โดยความตื้นเขินนี้มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของ ทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ศึกษาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการอนุรักษ์ เพราะหากปล่อยไว้เช่นนี้เราอาจจะสูญเสียทะเลสาบแห่งนี้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๕. ขอให้มีการศึกษาการก่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงทะเลสาบ และจัดทำให้มีพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่อยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี การรวบรวมจัดทำเป็นระบบแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา การอนุรักษ์ และเพื่อการท่องเที่ยว

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๖. ขอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศให้ไทยลากูนเป็นมรดกโลก เพราะหลายลุ่มน้ำที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกไปแล้ว ในต่างประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลประโยชน์ที่ดีอย่างกว้างขวางทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๗. ขอให้มีการศึกษาว่าจะมีวิธีการอนุรักษ์โลมาอิรวดีหรือโลมาหัวบาตร ซึ่งมีในทะเลสาบพัทลุงจำนวนเหลืออยู่แค่ ๑๐ กว่าตัวเท่านั้นและกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไปจากพื้นที่ได้อย่างไร และนอกจากนี้ควรจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพันธุ์หายาก อื่น ๆ ในพื้นที่ร่วมด้วย

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

๘. ขอให้มีการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ไทยลากูน อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ การประมง อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างรับผิดชอบ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ รอบทะเลสาบ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ปัจจุบันนี้สภาพของทะเลสาบสงขลาหรือที่เรียกว่า ไทยลากูน เป็นเสมือนพื้นที่ที่เราดึงเอาทรัพยากรมาใช้และเป็นพื้นที่ทิ้งขยะหรือที่กักเก็บน้ำเสีย เพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูทะเลสาบและลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั้ง ๒๕ หรือ ๒๒ ลุ่มน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์อย่างจริงจังและยั่งยืน ให้เหมือนหรือใกล้เคียงในอดีต โดยเมื่อทะเลสาบและลุ่มน้ำเหล่านี้กลับมามีความอุดม สมบูรณ์ก็จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การพัฒนาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ การพัฒนา ด้านการประมง การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นการกระจายรายได้ โดยที่สุดแล้วจะทำให้พี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร มาช่วยในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงหรือไทยลากูนและลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถใช้และได้รับประโยชน์ จากลุ่มน้ำเหล่านี้ไปจนถึงรุ่นลูกหลาน ควบคู่ไปกับการมีทรัพยากร มีสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ ที่สมบูรณ์และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนไปตราบนานครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ มีท่านสมาชิกที่ประสงค์จะอภิปราย ๓ ท่านแรก คือท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ท่านกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล เชิญครับ

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม บัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย วันนี้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาแก้ไขเกี่ยวกับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและอื่น ๆ ผมขอนำเสนอในส่วนของ บึงบอระเพ็ด ท่านประธานก็ได้เคยไปจังหวัดนครสวรรค์มาหลายครั้ง บึงบอระเพ็ดนั้น มีอายุ ๙๖ ปี ที่ผ่านมาการพัฒนายังไม่เพียงพอ ในขณะนี้ก็กำลังเติมน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดอยู่ ในบึงบอระเพ็ดนั้นมีพื้นที่ ๑๓๐,๐๐๐ กว่าไร่ แบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ให้ หวง แล้วก็ห้าม พื้นที่ให้ก็คือให้ราษฎรที่อยู่ในเขตบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ราชพัสดุในการเช่า แล้วก็พื้นที่หวง ที่ให้ทำนาได้ แต่ห้ามมีสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ห้ามเลยก็คือพื้นที่น้ำในปัจจุบัน ๔๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเวลาหน้าน้ำท่วมในบริเวณรอบบึงบอระเพ็ดในพื้นที่ ๓๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ ไร่ก็เป็นทะเล น้ำจืดขนาดใหญ่ในฤดูที่น้ำหลาก พอหน้าแล้งปุ๊บน้ำแห้งจากบึง แม้แต่ในแม่น้ำน่าน ก็ไม่สามารถไหลเข้าบึงได้ ก็ต้องใช้วิธีสูบเข้าในปัจจุบัน ตอนนี้หน้าฝนแล้วน้ำเริ่มสูงขึ้น ประตูน้ำสามารถเปิดน้ำเข้าไปได้พอสมควร ในขณะนี้น้ำที่อยู่ในบริเวณบึงบอระเพ็ดก็เข้าไป พอสมควรจนเกือบเป็นพื้นที่ที่จะได้ ๑ ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว เชื่อว่าปีนี้ก็คงจะยังพอ เก็บกักน้ำไว้ได้อยู่ แต่สิ่งที่ควรพัฒนาสำหรับบึงบอระเพ็ดก็คือทางเข้าของน้ำทุก ๆ ทาง อย่างเช่น ในทางของแม่น้ำน่านก็มีประตูน้ำ แต่ว่าก็ยังตื้นเขินอยู่ก็ควรพัฒนาที่จะขุดลอก เพื่อให้น้ำในด้านแม่น้ำเข้าได้สะดวกกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาสูบน้ำให้เสียค่าน้ำมันแล้วก็เสีย ค่าไฟฟ้าในอนาคต ตรงนี้ก็ควรพัฒนาอย่างยิ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือบึงบอระเพ็ดอยู่ภายใต้ ลุ่มเจ้าพระยา เขตก็คือจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ลงมาถึงนครสวรรค์ตรงนี้พื้นที่ประมาณ สัก ๒-๓ ล้านไร่ที่เป็นน้ำท่าที่จะไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด มันก็จะมีอ่างเก็บน้ำอยู่ตรงนั้น หลายจุดเหมือนกัน และลำน้ำจากตอนเหนือขึ้นไปจากบึงบอระเพ็ดไปถึงอำเภอท่าตะโก ถึงอำเภอไพศาลีก็ยังมีอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ที่จะต้องเป็นต้นน้ำที่สามารถพัฒนาแล้วก็ขุดลอก ลงไปให้ความลึกลงไปกว่านั้นอีกสัก ๒-๓ เมตรก็สามารถเก็บน้ำได้อีกเยอะแยะมากมาย ก็จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของลำน้ำที่จะไหลลงสู่บึงบอระเพ็ดในระหว่างทาง ๗๐-๘๐ กิโลเมตร ๙๐ กิโลเมตร ในที่สาธารณประโยชน์ที่อยู่รอบลำน้ำก็สามารถขุดลอกและเป็นแก้มลิง ที่สามารถพัฒนาให้พี่น้องประชาชนที่อยู่รอบ ๆ นั้นได้ใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง ซึ่งที่ผ่านมา การพัฒนายังไม่มี ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ชาวบ้านก็ฝากขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่เพิ่งลงพื้นที่ไปพัฒนาร่วมกัน ๒ กระทรวง แล้วก็ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะลงไป ในเร็ว ๆ นี้ ๓-๔ กระทรวง ณ ชั่วโมงนี้ สส. ในพื้นที่ของนครสวรรค์เอง ๖-๗ ท่าน ก็คงจะ ช่วยกันร่วมมือพัฒนาบึงบอระเพ็ด ถ้ารอบนี้ทำไม่ได้ ในอนาคตผมว่าไม่น่าจะทำอะไรได้แล้ว สำหรับบึงบอระเพ็ดก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา แล้วก็หลายหน่วยงานแม้แต่ส่วนราชการของพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์เอง พื้นที่ผู้ใช้น้ำรอบ ๆ บึงก็มีความสามัคคี มีข้อตกลงในการใช้น้ำกันครบ สมบูรณ์แบบแบ่งเขต แบ่งสถานที่ของกระทรวงแต่ละกระทรวง กระทรวงไหนพัฒนาด้านไหน ตรงไหนก็สามารถพัฒนาได้ดี เพราะฉะนั้นถ้าในพื้นที่บึงบอระเพ็ดได้ขุดลอกลงไปอีก ในฤดูแล้งก็จะสามารถเก็บน้ำไว้ได้เยอะ แล้วก็ยังสามารถเอาดินมาพัฒนาหรือมากองเป็น เนินภูเขาเพื่อปลูกต้นไม้ได้อีกหลายพันไร่นะครับ สร้าง Carbon Credit ให้กับพื้นที่ตรงนั้น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ และของประเทศไทยได้ด้วย ก็ฝากกราบเรียน ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้ ก็ขอให้ช่วยดูแลและช่วยพัฒนาบึงบอระเพ็ดด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี เชิญครับ

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา กระผม กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้ง ที่ ๑ คนปากน้ำโพ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายสนับสนุนขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืน

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

กรณีนี้เป็นกรณีของ บึงบอระเพ็ดนะครับ ท่านประธานครับ คำขวัญจังหวัดนครสวรรค์ เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ สถานที่ที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือบึงบอระเพ็ดอยู่ ในคำขวัญจังหวัดนครสวรรค์ ท่านประธานทราบไหมครับว่าบึงบอระเพ็ดดั้งเดิมนั้น เป็นที่ราบลุ่มปกคลุมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ มีลำห้วยลำคลองไหลมารวมกันเกิดเป็น หนองน้ำ บึงขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่หลายแห่ง ก่อนจะไหลออกสู่แม่น้ำน่าน ทางคลองบึงบอระเพ็ด เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก พื้นที่บริเวณนี้จะท่วมท้นกลายเป็นบึงน้ำจืด ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย แต่ในฤดูแล้งจะเป็นคลองบึงเล็ก ๆ ที่เหือดแห้ง กระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้นได้สร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำบริเวณ คลองบอระเพ็ดเพื่อทำการกักเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งเพาะปลูก แล้วเสร็จในปี ๒๔๗๑ ก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงทำให้บึงบอระเพ็ดกลายเป็นแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่และมีน้ำท่วมขัง ตลอดปี ซึ่งปัจจุบันบึงบอระเพ็ดมีพื้นที่กว่า ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ในอดีตบึงบอระเพ็ดอุดมสมบูรณ์ไปด้วย พืชน้ำ รวมทั้งปลา สัตว์น้ำ นกน้ำ นานาชนิดครับ โดยเฉพาะมีจระเข้ชุกชุมอยู่มากมาย ในพื้นที่รู้จักคนทั่วไปด้วยคำว่า จอมบึงและทะเลเหนือ เป็นชื่อเรียกของบึงแห่งนี้ บึงบอระเพ็ดก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อมีการค้นพบนกน้ำชนิดใหม่ ชื่อว่า นกเจ้าฟ้า สิรินธร ตอนนี้ปริมาณนกน้ำลดลงอย่างน่าวิตก จึงมีการประกาศให้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ ของบึงบอระเพ็ดประมาณ ๖๖,๒๕๐ ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่บึงแห่งนี้ มีความจุ ๒๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือปริมาณเทียบเท่า ๑ ใน ๔ ของเขื่อนป่าสัก มีนกเป็ดน้ำอพยพมาในช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปีนะครับ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ๓ ฉบับ ก็คือพระราชบัญญัติที่ดินราชพัสดุ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า และพระราชบัญญัติกำหนดการประมง จากภาพนี้เป็นภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ในวันที่ ๑๗ สิงหาคมหรือ ๒ เดือนที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด เส้นสีเหลือง เป็นเขตบึงบอระเพ็ด พื้นที่ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ เส้นสีส้มคือพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า ข้อสังเกตก็คือเรา เหลือปริมาณน้ำในช่วงนั้น ๒ เดือนที่แล้วเพียง ๖.๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ความจุทั้งหมด ๒๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาพสถานการณ์น้ำ ในจังหวัดนครสวรรค์ภาพนี้เป็นข้อมูลของเมื่อวานนี้นะครับ เป็นภาพของจังหวัดนครสวรรค์พูดถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน Slide นี้เป็น Slide รายงานสภาพน้ำบึงบอระเพ็ด ในวันที่ ๑๑ เมื่อวานนี้นะครับ พื้นที่น้ำจุเพิ่มขึ้นเป็น ๘๙.๘๔ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ของความจุ สิ่งที่จะบอกก็คือนี่คือคุณค่า ของบึงบอระเพ็ดที่เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน แล้วก็ในช่วงน้ำหลากซึ่งทดน้ำจากแม่น้ำน่าน ไม่ให้ท่วมบ้านเรือนประชาชนและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังเป็น ที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิดด้วยแนวคิดการขุดวังปลาหรือ Deep Pool ซึ่งมีการเริ่ม ดำเนินการไปแล้ว ๑ บ่อ ใน ๔ บ่อจากแผนงาน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด จากเป้าหมายแรกที่จะผลักดันเพียงเพื่อสงวนสัตว์น้ำ ต่อมาได้มีการสร้างคันกั้นน้ำ สามารถกักเก็บน้ำ ประชาชนกว่า ๕,๐๐๐ ครัวเรือนในพื้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการใช้ น้ำบึงบอระเพ็ดแล้วก็เป็นท่องเที่ยว อันนี้เป็นภาพแผนที่จากข้อมูลในการใช้ประโยชน์ ของบึงบอระเพ็ดในพื้นที่ต่าง ๆ ขอเสนอแนะเป็นข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ดคือ

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

๑. อยากให้มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการลอกตะกอนในบึงบอระเพ็ด แม่น้ำ คลอง บึง ทดแทน Macro โดยอยากแนะนำให้ใช้เรือดูดเลนแทน Macro ที่จะมี ปัญหาการขนย้ายและมีปัญหาในการตรวจนับจำนวนคิว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้ เทคโนโลยี

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

๒. อยากให้มีแผนบริหารจัดการน้ำที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี นครสวรรค์ ต้นฉบับ

ท้ายนี้ ผมขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อาทิ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน เมื่อสักครู่ เราไปนครสวรรค์ ผมจะพาท่านกลับไปที่ทะเลสาบสงขลาอีกครั้งหนึ่ง ผมขออนุญาตปักธง การอภิปรายในวันนี้ในหัวเรื่องว่า ทะเลสาบสงขลาในวันที่ไม่เหมือนเดิม จังหวะชีวิตที่หายไป และลมหายใจที่เปลี่ยนแปลง ท่านประธานครับ ทะเลสาบสงขลานั้นได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบ ๓ น้ำ ๓ จังหวัด ๓ น้ำประกอบไปด้วย น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ๓ จังหวัดก็ครอบคลุม สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ไทยลากูน คือเป็นระบบรองรับน้ำจืดขนาดใหญ่จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เราไปตรวจสภาพของทะเลสาบสงขลา ณ ปัจจุบัน ไปดูตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ ท่านประธานครับ ไปดูทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก ถ้าพูดถึงสัตว์ทะเลที่ทุกคนต้องไปตรงนั้นก็คือโลมาอิรวดี ท่านอดีตอธิบดี ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ไปนับโลมาอิรวดีได้ทั้งหมด ๑๔ ตัว และตอนนี้ก็ต้องเฝ้าระวังให้อยู่ดีมีสุข ๑๔ ตัวต่อไป เพราะว่าสภาพแวดล้อมมันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลต่อการดำรงชีวิตอยู่ของโลมาอิรวดี ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดเครื่องมือประมงประเภทอวน เช่น อวนปลาบึก อวนปลากะพงมีสาเหตุจากปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตื้นเขิน ของทะเลสาบสงขลาที่เกิดจากตะกอนชายฝั่ง การเกิดมลพิษของน้ำในทะเลสาบ และการลดลงของอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาที่มีอยู่อย่าง จำกัดนั้นไม่สามารถที่จะขยายพันธุ์ ไม่สามารถที่จะอพยพ เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ เคลื่อนไปได้อย่างไร เคลื่อนไปก็ไปเจออวน ไปเจออุปกรณ์ประมงที่ไม่ได้มาตรฐาน ผมจัดหมวดหมู่สาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดีแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๑ เครื่องมือประมง เนื่องจากแหล่งอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่การทำ ประมง มีการใช้เครื่องมือทำประมงที่อันตรายต่อโลมาอิรวดี อวนปลาบึก อวนปลากะพง อวนลอย เบ็ดราว และมักพบร่องรอยของอวนบริเวณลำตัวของโลกมามากขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๒ มลพิษและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ขยะในทะเลที่เพิ่ม มากขึ้น เห็นตัวอย่างจากการตายของโลมาอิรวดีหลายรายก่อนหน้าพบว่ามีขยะเข้าไป ในท้องของโลมาและไม่สามารถย่อยสลายได้ และขยะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๓ การเจ็บป่วยตามธรรมชาติและภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น เกิดมรสุมพายุคลื่นลมแรงหรือการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศสภาพแวดล้อม และอุณหภูมิของน้ำ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๔ การขาดมาตรการในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของโลมาอิรวดี อย่างเหมาะสม และระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง การตื้นเขินของทะเลสาบที่เกิดจากตะกอน ชายฝั่ง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ปัจจัยที่ ๕ คือการเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบ และการลดลงของ ปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร รวมถึงจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ที่มีอยู่อย่างจำกัด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมไม่ได้เล่าเฉพาะปัญหาครับ ผมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับ โลมาอิรวดีดังนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาที่มีอยู่ อย่างจำกัด เห็นควรให้มีมาตรการในการคุ้มครองผลกระทบต่าง ๆ เพื่อให้โลมาอิรวดีนั้น ได้เป็นสัตว์สงวนโดยเร็ว เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ๑๔ ตัวก็จะไม่เหลือเท่าเดิม แล้วอัตรา การเกิดใหม่ก็จะไม่เกิด ในปี ๒๕๖๕ มีความพยายามในการจัดทำแผนบริหารจัดการอนุรักษ์ โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา โดยมีแผนระยะสั้นคือแผน ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ และแผนระยะยาว ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ เป้าหมายมีไว้พุ่งชนแล้วเราต้องไปถึง จาก ๑๔ ตัวเราจะขยายให้ไปได้ถึง ๓๐ ตัวด้วยกัน ซึ่งจะต้องมีปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน จากปัจจัยเรื่องโลมาอิรวดีเราไปดู ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยป่าพรุ แล้วก็ป่าชายเลนในพื้นที่นั้นได้รับ ผลกระทบ ไปดูทรัพยากรหญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบลดลง ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกี่ยวเนื่อง ล้วนได้รับผลกระทบ ผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ภายในทะเลสาบสงขลา ที่ส่งผลกระทบ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การทำการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการประมง ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำ และการทำ ประมงผิดกฎหมาย ผมไม่อยากให้สังคมไทยและคนไทยของเรานั้นใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นวาระ ไม่อยากให้เรา ใส่ใจแบบปรากฏการณ์ดาวหาง Halley ที่ ๗๕ ปีจะวนมา เพราะถ้าเช่นนั้นมันจะเปรียบ เหมือนกับรักแท้ที่ดูแลไม่ได้ ผมอยากจะฝากนะครับว่าคนไทยทุกภาคส่วนสามารถร่วมแรง ร่วมใจกันในการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวก็เห็นว่าคณะกรรมาธิการสามัญ ชุดที่เกี่ยวเนื่องของสภานั้นสามารถจะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยอาจไม่จำเป็น ในชั้นนี้ที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ด้วยความเคารพ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบ สงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน ของท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ทะเลสาบสงขลา ก็ไปมาแล้ว บึงบอระเพ็ดก็ไปมาแล้ว ล่าสุดกลับมาทะเลสาบสงขลา ผมจะพาไปที่ ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่ใน อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร ของจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็อำเภอควนขนุนของจังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๙๕,๕๔๕ ไร่ พื้นที่ป่าพรุมีประมาณ ๘๖,๙๔๒ ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง ๒๙,๖๒๘ ตันต่อเอ็กซ์ตร้า สูงกว่าป่าประเภทอื่นถึง ๑๐ เท่า ผมต้องขอกราบเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพว่า ที่ประกาศว่าป่าพรุควนเคร็งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่วันนี้ เราประกาศไปเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในส่วนของปัจจุบันป่าพรุควนเคร็ง มีความแห้งแล้ง มีการบุกรุกป่า สัตว์นานาชนิดที่อยู่ในป่าพรุสูญหาย ไม่ต้องยกตัวอย่างมาก แค่ปลาดุกลำพันที่ผมเห็นตอนเด็ก ๆ วันนี้เหลือที่จะมองดูได้น้อยมาก สิ่งสำคัญเหล่านี้ ผมคิดว่าภาครัฐหรือรัฐบาลควรหาวิธีการศึกษา แก้ไขปัญหาแนวทาง เพื่อที่จะให้ ป่าพรุควนเคร็งเป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำที่สำคัญในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดน้ำในป่าพรุควนเคร็ง ปัญหาบุกรุกป่า ปัญหาไฟป่า ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อป่าพรุควนเคร็งได้ ในฤดูที่ป่าพรุควนเคร็ง ขาดน้ำทางกรมชลประทาน ต้องสูบน้ำเข้าสู่ป่าพรุควนเคร็ง เพื่อให้เป็นป่าชุ่มน้ำตามนิยาม ที่ว่าไว้ สิ่งสำคัญเหล่านี้จะมีความยั่งยืนไม่ได้หากรัฐไม่มีการศึกษาข้อมูลและเข้าไปสู่ การแก้ไขอย่างแท้จริงและจริงจังต่อป่าพรุควนเคร็ง ผมก็เลยมีความคิดว่าการที่จะแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดน้ำ ปัญหาการบุกรุกป่า ปัญหาไฟป่า ปัญหาพื้นที่ ทับซ้อน เราก็ควรที่จะศึกษาออกแบบ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะทำเป็นคันดิน รอบป่าพรุเพื่อที่จะให้ทำเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ในป่าพรุ เพราะพืชที่อยู่ในป่าพรุควนเคร็ง อยู่ร่วมกับน้ำได้ เมื่อเรามีแก้มลิงขนาดใหญ่ที่อยู่ในป่าพรุควนเคร็ง มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เหมือนเดิม พื้นที่ชาวบ้านก็ไม่สามารถบุกรุกได้ ปัญหาไฟป่าก็จะไม่เกิดขึ้นในป่าพรุควนเคร็ง สิ่งสำคัญเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องชี้ว่ารัฐบาลในรัฐบาลของคุณเศรษฐา ทวีสิน ควรที่จะมี การศึกษา ออกแบบและพัฒนาป่าพรุควนเคร็งให้ไปสู่คำนิยามที่ว่าเป็นป่าชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ในการพัฒนาลุ่มน้ำก็ไม่พ้นพื้นที่ผมหรอกครับ ลุ่มน้ำปากพนัง ลุ่มน้ำปากพนังวันนี้เวลาน้ำท่วม อำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติก็ต้องรับปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้ง พี่น้องเกษตรกร ก็ต้องเกิดปัญหาภัยแล้ง เราโดนทั้งแล้งโดนทั้งน้ำท่วมก็ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน วันนี้ เราต้องมีการศึกษาออกแบบกระบวนการ เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาลุ่มน้ำที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ก่อนหน้านี้ ผมได้หารือในห้องประชุมในสมัยนี้ว่าขอในการขุดลอกอ่าวปากพนัง วันนี้รัฐบาลอนุมัติ งบประมาณไปแล้ว ขอขอบคุณมากครับ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๒ ผมก็จะขอเพิ่มว่าถ้าเราแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปากพนังในอ่าวปากพนัง ให้ยั่งยืน และให้มีเรือพาณิชย์ หรือเรือประมง เรือน้ำมันเข้ามาได้ต้องทำเขื่อนกันตะกอนดิน ยื่นลงในอ่าวปากพนัง เพื่อที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาตะกอนดินเข้าสู่ในอ่าวปากพนังช้าขึ้น การขุดลอกร่องหนองน้ำต้องขุดลอกให้ได้ระยะ ๖๐ เมตร หรือ ๖๕ เมตร ไม่ใช่แค่ ๓๕ เมตร เพราะเราขุดลอกแค่ ๓๕ เมตร เรือน้ำมัน เรือประมงพาณิชย์ก็ไม่สามารถเข้าได้ แล้วก็เป็น การแก้ไขปัญหาที่ซ้ำซาก สิ่งสำคัญเหล่านี้ผมก็ฝากไปยังรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ดูแลกรมเจ้าท่า คณะกรรมาธิการ การเกษตรและสหกรณ์ ควรจะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาในการจัดการ พัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืน ผมหวังว่าสิ่งที่ผมพูดวันนี้คงจะไป กระทบจิตใจ กระทบในความรู้สึกของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อพี่น้อง ในป่าพรุควนเคร็งและลุ่มน้ำปากพนัง ขอกราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เนื่องจากท่านวิทยา แก้วภราดัย ขอถอน ฉะนั้นรัฐบาลเหลือท่านเดียว ผมขอไปที่ท่านชุติมาก่อน พร้อมไหมครับ ท่านชุติมา ๑๐ นาที เชิญครับ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากจังหวัดพัทลุง ดิฉันยินดีมาก ๆ เลยวันนี้ที่ได้นำเรื่องราวของทะเลสาบสงขลาเข้ามาให้ เพื่อน ๆ ในสภาแห่งนี้ได้ฟังและให้ประชาชนทั่วประเทศได้รู้จักทะเลสาบสงขลามากยิ่งขึ้น ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช เวลาที่เราเรียกทะเลสาบสงขลาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด จะเรียกว่าอย่างไร สำหรับพัทลุงบ้านเกิดของดิฉันเราก็จะมีในส่วนที่เราเรียกว่าทะเลลำปำ ทะเลน้อย หรือบางคนเราก็จะเรียกว่าทะเลพัทลุงก็เป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สำหรับความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ก็เป็นความสำคัญระดับนานาชาติ ตอนนี้พัทลุงเรามีทะเลสาบที่เราภาคภูมิใจ คือจัดเป็นทะเลสาบลากูนหนึ่งเดียว ของไทยและเป็นหนึ่งใน ๑๑๗ แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่ Ramsar Sites เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นทะเลสาบที่เรียกว่าเป็นทะเลสาบ ๓ น้ำ เป็นป่าต้นน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด แล้วก็แนวเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นระบบนิเวศแบบผสมผสาน เรามีป่าชายเลน มีป่าพรุ มีทั้งแหล่งน้ำจืด เป็นทะเลสาบที่สำคัญมาก ๆ ในพื้นที่ มีน้ำจากหลายสายในจังหวัดพัทลุง ไหลมารวมกันอยู่ที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เราทราบมามีประวัติค้นพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ปีแล้ว พบหลักฐานกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ และพบขวานหินขัดสมัยใหม่ มีหลักฐานการเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่เมืองโบราณ เราพบกำแพงเมืองโบราณในฝั่งสงขลา และในขณะเดียวกันในฝั่งพัทลุงเองเราก็พบหลักฐานมายาวนานเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลาง ของฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกตั้งแต่ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ดิฉันอยากจะให้ เพื่อน ๆ ได้เห็นความสวยงาม อยากจะให้ประชาชนทั่วประเทศได้เห็นความสวยงาม ของทะเลสาบสงขลาว่าเรามีอะไรบ้างนะคะ ทะเลสาบสงขลาเรามีพื้นที่ที่สวยงาม นี่คือตัวอย่างแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของทะเลสาบสงขลา ถ้าท่านใดไปนั่งเรือตอนเช้า ๆ ท่านจะเห็นว่าจะมีแสงสีส้มขึ้นมาแบบนี้ในตอนเช้า รวมถึงตอนพระอาทิตย์ตกตอนเย็น หลังจากนั้นเราสามารถที่จะนั่งเรือไปท่องเที่ยวชมนกน้ำ ชมบึงบัวแบบนี้ แล้วเราก็จะมี ปลาโลมา นี่คือปลาโลมาอิรวดีเป็นปลาโลมาหน้ายิ้มแสนน่ารัก เป็นเพื่อนสัตว์น้อยที่น่ารัก ของเราที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว มีแค่ ๑๔ ตัวสุดท้ายเท่านั้นจากการที่ไปสำรวจมา แล้วก็เป็นแหล่งทำประมงของชาวประมง นอกจากนั้นทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ยังเป็นที่ ทำนา เราทำนาริมทะเลสาบด้วย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชุมชนที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีที่ใดเหมือน จากภาพท่านจะเห็นว่านี่คือการทำนาแบบดั้งเดิม หรือเราเรียกกันว่านาริมเลเป็นการทำนา พื้นที่เดียวในพัทลุงและไม่มีที่อื่นที่ทำได้ ทะเลสาบที่อื่นเขาทำแบบนี้ไม่ได้ กินพื้นที่ประมาณ ๖๓ ไร่ และจะทำนาปีละ ๑ ครั้ง คือในช่วงฤดูน้ำลดในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เนื่องจากช่วงนั้นเป็นการสะสมของโคลนทั้งปีตามธรรมชาติก็ทำให้ต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่ต้อง ใส่ปุ๋ยเคมี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ก็ทำเพื่อการขายด้วย แล้วก็บริโภคกันเองในพื้นที่ด้วย นอกจากนั้นเรายังมีสินค้าจากปลากะพง จากที่เห็นจะมีปลากะพงที่เราเรียกกันว่าปลากะพง ๓ น้ำ นี่คือทำจากผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่พยายามพัฒนาตัวเอง โดยเลี้ยง ในทะเลสาบสงขลานี่ละค่ะ ปลากะพง ๓ น้ำ เนื่องจากมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม อยู่ในพื้นที่นั้นอย่างที่ท่านเห็น ผู้ประกอบการรายย่อยเขาก็สามารถที่จะนำไปแปรรูป เป็นผงปลา เป็นปลาต่าง ๆ เป็นปลาตากแห้ง นี่คือตัวอย่างของความพยายามของประชาชน ในพื้นที่ที่เกิดจากการสร้างรายได้จากปลากะพงที่เลี้ยงในทะเลสาบนี่ละค่ะ เพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศอยู่ นอกจากปลากะพงในฝั่งพัทลุงนั้น เรายังมีปลาที่เรียกว่า ปลาลูกเบร่ ใครที่เคยไปพัทลุงอาจจะเห็นที่บ้านปากประ จังหวัดพัทลุง จะมีปลาลูกเบร่อยู่ ปัจจุบันนี้ราคาขึ้นไปถึง ๗๐๐ บาทแล้ว จากในอดีตแค่ ๑๕๐ บาท นี่คือการขับเคลื่อน ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ ทะเลสาบแห่งนี้สำคัญมาก ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่เราก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ และทุกวันนี้ เป็นที่ทำมาหากิน เป็นที่เลี้ยงชีพของประชาชนที่อยู่รอบทะเลสาบ นอกจากในส่วนของ การประมงแล้ว นอกจากปลาที่เราเห็นแล้ว ในส่วนของสินค้า Hand made จากกระจูด ดิฉันเองยังเคยถือกระจูดจากพัทลุงเข้ามาในที่สภาแห่งนี้แล้วด้วย ก็คือกระจูดนี่ละค่ะ เราสามารถเอากระจูดจากพื้นที่ทะเลน้อยฝั่งจังหวัดพัทลุงทำเป็นกระเป๋า ทำเป็นเสื่อ ทำเป็น ภาชนะต่าง ๆ ได้มากมายเลย สร้างรายได้ให้กับประชาชน ถ้าท่านไปที่ทะเลน้อยควนขนุน ท่านจะเห็นว่ามีร้านค้าที่ขายกระจูดอยู่มากมาย นี่คือสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากรายได้จากชุมชนนี่ละค่ะ นั่นคือความสำคัญที่อยากจะให้ทุกท่านได้เห็นว่าทะเลสาบ สงขลามีความสำคัญและผูกพันต่อวิถีชีวิตของประชาชนและมีผลต่อเศรษฐกิจไทย มากเพียงใด ไม่ใช่แค่นี้ค่ะ ยังมีมากกว่านี้อีกนะคะ ดิฉันอยากจะให้เห็นมากกว่านั้นคือยังมี ผลต่อการท่องเที่ยวชุมชนด้วย ดิฉันอยากจะให้ทุกท่านได้เห็นความพยายามของชาวบ้าน ที่อ่าวสะทัง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มาจากชมรมอนุรักษ์โลมาจังหวัดพัทลุง และอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามหรือกุ้ง ๓ น้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ประกาศให้ทะเลสาบ พัทลุง ทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำพิเศษ ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณอ่าวสะทังจึงพยายามที่จะ ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเพาะลูกกุ้งก้ามกรามได้สำเร็จแล้วก็ปล่อยเลี้ยง ในอ่าวสะทังและกำลังจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ดิฉันก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ไปเที่ยวที่อ่าวสะทัง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

หลังจากที่ท่านเห็นไปแล้วว่ามันสวยงามเพียงใด เป็นพื้นที่ที่สมควรที่จะดูแล อย่างดีเพียงใด แต่ปัจจุบันเราพบปัญหาก็คือมีชาวบ้านมาเล่าให้ดิฉันฟังนะคะ เพราะว่า มีมลพิษทางน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่ความรู้สึก เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ก็ไปตรวจสอบแล้วพบว่าอยู่ในขั้นเสื่อมโทรมจริง ๆ ที่ค้นพบก็คือมีการปนเปื้อน ของแบคทีเรีย มีกลุ่มโคลิฟอร์ม มีปริมาณแอมโมเนียในแหล่งน้ำด้วย ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากหลายแหล่ง แต่ส่วนหนึ่งเลยที่ชาวบ้านมาร้องเรียนกับดิฉันก็คือว่าบางครั้งมาจาก ฟาร์มเกษตรที่เลี้ยงโคบ้างหรือว่าบ่อขยะที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงในทะเลสาบ มีคลองอยู่ คลองหนึ่งแล้วก็อยู่ใกล้กับบ่อขยะก็อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งสุดท้ายแล้วน้ำเสียนั้นก็ไปลง ทะเลสาบในที่สุด นี่คือปัญหาอีกประการหนึ่ง

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กลับไปที่พื้นที่ทะเลน้อย ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องควายน้ำ นี่คือควายน้ำ เป็นควายแบบนี้จริง ๆ น่ารักมากเลย คือว่ายน้ำด้วย อยู่ทั้งบนบก ทั้งในน้ำ ก็เป็นแหล่งที่ ท่องเที่ยวของประเทศไทยเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลก ทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประกาศให้การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศ ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว เป็นมรดกโลก ทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทยด้วย เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้เป็นพื้นที่ที่แย่ ไปกว่าเดิมได้อีกแล้ว เราต้องช่วยกันฟื้นฟู เราจะปล่อยให้ย่ำแย่กว่านี้ไม่ได้ และปัจจุบัน ดิฉันพบว่าระบบนิเวศเปลี่ยนไป นี่คือเรื่องราวที่อยากจะให้เราช่วยกันจับตามองและไม่อยาก ให้ปล่อยไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาสักพักแล้ว มีการลงพื้นที่ตรวจสอบโดย DSI โดยผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ ดิฉันขอใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ช่วยกันดูหน่อยว่า เกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านสงสัยว่ากลุ่มนายทุนไปปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้อย่างไร พื้นที่เกือบ ๑,๐๐๐ ไร่ แล้วก็สุดสัปดาห์นี้หลังจากปิดประชุมในวันนี้ดิฉันจะลง พื้นที่พัทลุงเพื่อไปลงพื้นที่และพูดคุยกับประชาชนเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ดิฉันไม่สามารถปล่อย ให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้ต่อไปได้ เนื่องจากการปลูกยูคาลิปตัสเกือบ ๑,๐๐๐ ไร่ ทุกคนก็รู้ดีว่า ยูคาลิปตัสจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ปลาผิวน้ำนี่ก็จะตายและใบ ที่ลงในน้ำทำให้น้ำเน่าเสียได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ขอฝากให้เราช่วยกันติดตามด้วย

นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายค่ะ สิ่งที่ดิฉันอยากจะให้เห็นเหตุผลที่เราต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ดูแลอย่างจริงจัง นี่คืออีกปัญหาหนึ่งค่ะ ผักตบชวาปกคลุมพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทะเลน้อย ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงก็จะมีปัญหาตามมา ก็เป็นที่สงสัยกันของประชาชนว่าทำไม ยังไม่เสร็จเสียที ทำไมมีปัญหาตลอดเวลา เป็นปัญหาเรื่องของงบประมาณไม่เพียงพอ หรืออย่างไร หรือเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างไร ทำไมผักตบชวาถึงยังอยู่เต็มพื้นที่แบบนี้ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งดิฉันทราบดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันกล่าวไปเบื้องต้นนี่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยถ้าดิฉันแค่พูดแล้วจบในนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดูแลและแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างจริงจัง แล้วก็ขอให้ช่วยกันสนับสนุนสินค้าชุมชนที่ดิฉันกล่าวไปข้างต้นให้สามารถ เป็นสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เพราะนี่คืออัตลักษณ์ของประเทศไทยที่พื้นที่อื่นไม่มี ดิฉันขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสุวรรณา กุมภิโร ครับ

นายสุวรรณา กุมภิโร บึงกาฬ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายสุวรรณา กุมภิโร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๒ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอเซกา พรรคภูมิใจไทย ขออภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ในส่วนของจังหวัดบึงกาฬของเรานะครับ ท่านประธานครับ ท่านลงไปภาคใต้แล้ว ไปต่อด้วย ภาคกลาง ตอนนี้ขอนำท่านประธานขึ้นสู่อีสานตอนบนครับ

นายสุวรรณา กุมภิโร บึงกาฬ ต้นฉบับ

จังหวัดบึงกาฬมีบึงโขงหลงเป็นบึงน้ำ ขนาดกว้าง ใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี ลักษณะเหมือนแม่น้ำโขงจึงได้ชื่อว่า บึงโขงหลง ซึ่งเป็น บึงน้ำที่อุดมไปด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด ถือเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกร ในตำบลบึงโขงหลงและตำบลใกล้เคียงตลอดปี และเพื่อให้บึงแห่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของตำบล จึงให้ตำบลนี้ชื่อว่า ตำบลบึงโขงหลง จากนั้นสืบมาจนถึงปัจจุบัน ท่านประธานครับ บึงโขงหลงได้รับการดูแลพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงนิเวศ เป็นแหล่งน้ำจืด ขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๓๑๘ ไร่ ๒ งาน ๗ ตารางวา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการเก็บกักน้ำ เพื่อเกษตรในฤดูแล้ง บึงโขงหลงเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ลำดับที่ ๑,๐๙๘ ของโลก และเป็นแหล่งที่ ๒ ของประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ ๑๑ ของประเทศ มีพื้นที่ ๑๓,๘๐๐ ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพันธุ์ สัตว์ป่า และเป็นจุดดูนกอพยพหนีหนาวมาจากไซบีเรียและจีน จากการศึกษาพบพืชน้ำอย่างน้อย ๗๕ ชนิด พืชบก ๒๔๖ ชนิด พันธุ์ปลา ๖๔ ชนิด นก ๒๗ ชนิด จนได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง นอกจาก ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวแล้วยังมีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค โดยเฉพาะเรื่องราว ของปู่อือลือ พญานาคต้องคำสาปที่เฝ้าบึงโขงหลงตลอดมา รวมทั้งตำนานของ ภูลังกาซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงบึงโขงหลง นอกจากนี้บึงโขงหลงเป็นเขต ห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี ๒๕๒๕ บึงโขงหลงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ ลำดับที่ ๑,๐๙๘ ของโลก บึงโขงหลงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและพืชน้ำนานาชนิด เช่น นกกว่า ๑๐๐ ชนิด โดยเป็นนกอพยพ ๕๐ ชนิด และปลาประมาณ ๘๐ ชนิด มีปลา ที่หาดูยากคือป่าบู่แคระ จากข้อมูลที่นำเสนอไปแล้ว ปัญหาของบึงโขงหลงมีไหมครับ ท่านประธาน มีครับ มีแนวเขตที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนของหน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่สาธารณะแล้วก็ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ นำมาซึ่งข้อพิพาทระหว่างประชาชนแล้วก็หน่วยงานของรัฐ และที่สำคัญบึงขนาดใหญ่ตอนนี้ ก็มีวัชพืชขึ้นปกคลุมแหล่งน้ำเยอะ ทำให้ระบบนิเวศเริ่มจะเสียหายไปเป็นบางส่วน จากข้อมูล ที่ผมนำเสนอไปแล้ว กระผมเห็นว่ารัฐบาลควรยกระดับการพัฒนาบึงโขงหลง ทั้งด้านการเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่และกำหนดเส้นทาง ท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เช่น ถ้ำนาคา น้ำตกถ้ำพระ ภูทอก ตลอดจนหินสามวาฬ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งจะเป็น การกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ ทำให้พี่น้องประชาชนขายสินค้าและบริการ มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ต้องกราบขอบพระคุณ ณ โอกาสนี้ กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายนะครับ ท่านภคมน หนุนอนันต์ ครับ

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรค่ะ ดิฉัน ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่นอย่างยั่งยืน ท่านประธานคะ ดิฉันในฐานะคนเกิดในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เติบโตในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทะเลสาบสงขลา อำเภอบ้านเกิดของดิฉันมีเส้นแบ่งเขตกับจังหวัดสงขลาเพียงแค่ ทะเลสาบกั้น ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันจะอภิปรายต่อไปนี้เป็นมิติที่มองข้ามไม่ได้ เพราะนี่เรากำลัง พูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไม่ลืมวิถีชีวิต อัตลักษณ์และวัฒนธรรม ของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดิฉันย้อนไปดูข้อมูลมีเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย Scoop ข่าว สารคดีที่นำเสนอเกี่ยวกับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างน้อยก็ค้นเจอ เราพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๖ หรือ ๒๐ ปีที่แล้ว ๒๐ ปีมาแล้วเรายังพูดเรื่องเดิม ๆ เพิ่มเติมคือปัญหาภัยคุกคาม ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่รุนแรงขึ้น เพื่อนสมาชิกคงทราบกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ที่เรียกว่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปกคลุม ๓ จังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่เคยรุ่งเรือง ทางวัฒนธรรม เป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้า เป็นสถานที่ที่หลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย ระหว่างคนไทย คนมลายูและคนเชื้อสายจีน ทำให้ก่อเกิดสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ที่ร่ำรวย ท่านเห็นอะไรไหมคะ นี่คือทุนทางวัฒนธรรมที่เราสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ให้กลายเป็นแหล่งงาน แหล่งรายได้ การสร้างเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดวัฒนธรรม วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ ท่านประธานรู้จักปลามีหลังไหมคะ หรือปลาดุกทะเล ปลาชนิดนี้มีตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่อร่อยจะเป็นช่วงที่อ่าวทะเลเป็นน้ำจืดเนื้อจะนุ่มเป็นพิเศษ เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่มีเฉพาะในทะเลสาบสงขลา เรามีปลากะพง ๓ น้ำ อย่างที่เพื่อนสมาชิก ได้พูดไปแล้ว ปลาชนิดนี้มีเนื้อสัมผัสแบบพิเศษ เนื้อนุ่มละมุนลิ้นแตกต่างจากปลากะพงอื่น ๆ เพราะเราเพาะเลี้ยงในทะเลสาบสงขลาที่ประกอบด้วยน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เรามีต้นตาลโตนดที่สามารถสร้างผลผลิตจากพืชชนิดนี้ได้มาก มีสุราชุมชนที่ทำจากตาลโตนด หรือน้ำตาลแว่นที่มีค่า GI ต่ำ ได้รับการยอมรับในวงการอาหารสุขภาพ สินค้าชนิดนี้ ขายในห้างมีราคาสูงมาก แต่เมื่อขายในท้องถิ่นราคาถูกมาก ๆ เรามี Homestay ที่เกาะยอ มีอาหารทะเลที่พร้อมเสิร์ฟขึ้นโต๊ะอาหารได้เลยทันที เรามีกุ้ง ๓ น้ำ จังหวัดพัทลุง วัตถุดิบ อาหารชั้นเลิศที่มีรสชาติอร่อยมากที่สุดในทวีปเอเชีย ดิฉันเติบโตมาด้วยความภาคภูมิใจว่า ปลาบ้านเราอร่อย แล้วอย่างไรต่อคะ มันก็มีแต่ความภาคภูมิใจ มันไม่สามารถสร้างมูลค่า และเติบโตไปมากกว่านี้ได้ ท้องถิ่นมีทรัพยากร มีภูมิปัญญาและสิ่งที่ต้องการเพิ่มมูลค่า แต่ขาดการติดอาวุธให้ท้องถิ่น เมื่อเราอยากสร้างมูลค่าเศรษฐกิจต้องมีการติดอาวุธให้ท้องถิ่น เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ดิฉันคนเดียวแน่ ๆ ที่พูดได้ เราพูดเรื่องนี้กันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว ภาคใต้พัฒนา แบบดักไซแห้งมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว หลายรัฐบาลมีนโยบายพยายามจะอัดโครงการงบประมาณ ลงไป แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาในแบบที่เราคาดหวังจริง ๆ เพราะขาดการควบคู่ การพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือถ้าพูดในภาษาที่เข้าใจกัน ก็คือขาดการพัฒนาแบบยั่งยืน มันง่ายค่ะท่านประธานถ้าเราจะบอกว่าฉันจะสร้าง Soft Power ฉันจะส่งเสริมการท่องเที่ยว แล้วรัฐบาลก็ลงเงินงบประมาณไปจัด Event แล้วจบ คำถามคือถ้าทำแบบเดิม ๆ เราคาดหวังผลลัพธ์แบบใหม่ได้ไหมคะ ขออนุญาตอ้างถึง รัฐบาลที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบหมายให้ อปท. จัดกิจกรรม ส่งเสริมในพื้นที่นี้ให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้หน่วยงานกลางบูรณาการงบประมาณ ๕,๔๐๐ ล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ โดยการทำโครงการ ๒๗๐ โครงการ ในพื้นที่ ๑๔๒ อปท. ใน ๑๕ อำเภอ ใน ๓ จังหวัด โดยคาดหวังว่า ๑๐ ปีนับจากนี้จะสามารถสร้างรายได้ ให้กลับมามูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ดิฉันตั้งคำถามแบบนี้ค่ะ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ท่านคิดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวได้มากแบบนั้นจริง ๆ หรือคะ ในอดีตภาคใต้พัฒนาเศรษฐกิจด้วยการขายทรัพยากรเริ่มจากเหมืองแร่ ดีบุก จนถึงปาล์ม ยางพารา แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าการพัฒนาแบบนั้นมันไปต่อไม่ได้ เมื่อมันเป็นแบบนี้ ชีวิตคนใต้เปรียบเสมือนเรือกับขอนไม้เห็นอะไรลอยมาคว้าไว้ก่อน เมื่อมีคนมาขายฝัน ขายนโยบายอุตสาหกรรมหนัก สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เราก็เชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น โดยหลงลืมไปว่าศักยภาพของพวกเรา สิ่งที่เรามีและอนาคตที่เราอยากได้นั้นคืออะไร แน่นอนว่าการพัฒนามันต้องใช้งบประมาณ แต่ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าการให้งบประมาณ ลงไปจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาภาคใต้ได้เสียที อย่างไรก็ตามดิฉันในฐานะคนที่เกิด ในจังหวัดพัทลุงและเติบโตในจังหวัดสงขลา ดิฉันขอให้ความเห็นต่อสภาแห่งนี้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องควบคู่กับการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เริ่มแรกเริ่มจาก การทำความเข้าใจก่อน เริ่มจากการส่งเสริมสินค้าที่มีที่เดียวรอบบริเวณทะเลสาบสงขลา ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมทางอาหาร อาหารทะเลที่ดิฉันกล่าวมาข้างต้นนอกจากการรับรองมาตรฐาน GI แล้วได้มีการรับรอง GAP ให้กับเกษตรกรเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกทั่วประเทศแล้วหรือยัง ได้ช่วย เกษตรกรในเรื่องของช่องทางการจำหน่ายแล้วหรือยัง ปลากะพงทะเลสาบสงขลาเทียบราคา แล้วดูเหมือนจะแพงกว่าปลากะพงจากฝั่งมาเลเซีย แต่เมื่อเทียบกิโลกรัมต่อกิโลกรัมแล้วเรามี เนื้อปลากะพงที่อร่อยกว่า แต่ต้องมีการพัฒนาการตลาดนะคะ ไม่อย่างนั้นก็จะประสบกับ ปัญหาการราคาตกต่ำไม่รู้จบ นอกจากนี้ประชาชนยังสะท้อนว่าการเข้าถึงมาตรฐานสินค้า Halal มีค่าใช้จ่ายที่สูงก็อยากให้ลดเพื่อได้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อีก ๑ โครงการที่ดิฉันอยากให้รัฐบาลขยายออกไปทั่วประเทศคือโครงการ การใช้อาหารกลางวันขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของเครือข่ายเกษตรกรครัวใบโหนด คาบสมุทรสทิงพระ ที่กลุ่มเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรกรออกมาส่งออกไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ๓๐ โรงเรียน ให้เด็กนักเรียนจำนวน ๔,๓๐๐ คนได้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์และมาจาก ท้องถิ่น ทั้งหมดที่ดิฉันเสนอมานี้เราทำได้ทันทีไม่ต้องรอ เราสามารถนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดพัฒนาเมืองพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาควบคู่ไปกับระบบนิเวศวัฒนธรรม ที่สมบูรณ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราเริ่มต้นตรงนี้และจะเป็น การเริ่มต้นการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้กับประเทศไทย ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ตอนนี้สมาชิกได้อภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับ และผู้เสนอญัตติแจ้งว่า ไม่ขอสรุปญัตติ และเนื่องจากการอภิปรายของสมาชิกนั้นมีความเห็นถึงการส่งไปที่ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ผู้เสนอญัตติจะขัดข้องไหมครับ ไม่ขัดข้อง ผมจะขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่ ถ้าไม่ จะถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปคณะกรรมาธิการการเกษตรและ สหกรณ์พิจารณาครับ เห็นชอบนะครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ขออนุญาตครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านร่มธรรมครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ สำหรับในญัตติเรื่องการแก้ไข ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืน เมื่อสักครู่ก็ได้มี การพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกแล้วก็ผมอยากขอเสนอให้หากไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการก็ขอให้ ส่งให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาศึกษาต่อไป เพราะว่าจะตรงตามจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืนมากที่สุด ฝากท่าน พิจารณาด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีผู้เสนอญัตติขอให้มีการส่งไปที่คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมแทนที่จะเป็นคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนสมาชิกท่านใด เห็นเป็นอย่างอื่นไหม เพื่อให้ตรงกับอำนาจหน้าที่แล้วก็เจตนารมณ์ของผู้เสนอญัตติมากที่สุด ก็ขอพิจารณาไปตามนี้ แต่อย่างไรก็ดีจำเป็นที่จะต้องถามระยะเวลาในการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการด้วยเพื่อคณะกรรมาธิการสามัญจะได้พิจารณาตามกรอบที่สภาได้กำหนด ขอเชิญสมาชิกเสนอกรอบระยะเวลาพิจารณาครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผมขอเสนอว่าเนื่องจากญัตติของผมก็คือเป็นเรื่องของทะเลสาบสงขลาแล้วก็เป็น ลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ เมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิกก็ได้อภิปรายในประเด็นของบึงบอระเพ็ด แล้วก็ที่บึงกาฬด้วย จริง ๆ ผมคิดว่ากรอบระยะเวลาศึกษาเพราะว่าลุ่มน้ำในประเทศไทย มีอยู่ ๒๒ แห่ง ซึ่งผมคิดว่าเพื่อที่จะให้เพื่อนสมาชิกแล้วก็ภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการศึกษาในครั้งนี้ขอให้กรอบระยะเวลาเป็น ๖๐ วันครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีสมาชิกท่านใดเสนอเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าไม่มีก็เป็นไปตามนี้นะครับ ระยะเวลาพิจารณา ๖๐ วัน เสนอไปที่คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕.๔ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้างแนวป้องกัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล (นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ)

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยผู้เสนอญัตติได้มีหนังสือมอบหมายให้ท่านมังกร ยนต์ตระกูล นำเสนอ ญัตติแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๖๔ วรรคสาม ขอเชิญท่านมังกร ยนต์ตระกูล แถลงญัตติ แล้วก็เหตุผลครับ

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มังกร ยนต์ตระกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้ง เมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ด้วยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งอยู่ใน พื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ๑.๕ เมตร มีลักษณะเป็นแอ่ง มีชั้นดินเหนียวหนา ๑๕ เมตร มีการสูบน้ำบาดาลออกมาใช้ในปริมาณมากทำให้แผ่นดิน ทรุดตัว ยิ่งกว่านั้นสถานการณ์โลกร้อน น้ำทะเลท่วมสูงมากขึ้นทุกปี ภายในทศวรรษนี้ น้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง ๒ เมตร แปลว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะประสบปัญหา น้ำท่วมอย่างถาวร ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรง ฉะนั้น จึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ หรือสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประสบปัญหาจมบาดาล ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ โดยมีรายละเอียดและเหตุผลประกอบดังนี้ ขอ Slide ด้วยครับ

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ การค้า การลงทุน เศรษฐกิจ การเงิน และการศึกษา ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการบริหาร ราชการของประเทศไทย เขาบอกว่าทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ Bangkok is Thailand Thailand is Bangkok กรุงเทพฯ คือประเทศไทย หน่วยงาน IPCC หน่วยงานเกี่ยวกับ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้คาดการณ์ว่า พ.ศ. ๒๕๗๓ หรือปี ๒๐๓๐ จะมีเมืองใน Asia จมน้ำบาดาล ๗ เมือง ได้แก่ กรุงโซล เกาหลี กรุงไทเป ฮ่องกง จาการ์ตา มะนิลา โตเกียว และหนักสุดคือกรุงเทพฯ ขณะนี้กรุงโซล ฮ่องกง โตเกียว เขาได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลกำลังทำอยู่ จาการ์ตาประกาศย้ายเมืองหลวง ประเทศไทย คาดว่าถ้าท่วมจริง ๆ ท่วมถาวรจะเสียหาย ๑๘ ล้านล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่รัฐบาลเหมือนยังไม่ตระหนักและไม่ตระหนก รัฐบาลทำเหมือนเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เหมือนเราป่วย ป่วยหนัก แต่ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ไปหาหมอ สุดท้ายก็ต้องเข้า ICU เหมือนกับปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน สหประชาชาติได้ประกาศว่าโลกกำลังเข้าสู่ ภาวะโลกเดือด ซึ่งเป็นขั้นกว่าของโลกร้อนที่เรารู้จักกันดี น้ำแข็งจากกรีนแลนด์กำลังละลาย น้ำแข็งจากแอนตาร์กติกซึ่งมีความหนา ๒.๕ กิโลเมตร กำลังละลายลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วเรามีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร จะย้ายอะไร ย้ายไปที่ไหน เราจะทำเหมือนอินโดนีเซียที่ย้ายเมืองหลวง คือจาการ์ตาย้ายไปนูซันตาราไหม กรุงเทพฯ เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเมืองใหญ่และเจริญที่สุด เป็นเมืองที่เจริญกว่าเมืองลำดับรอง อย่างไม่เห็นฝุ่น เพราะฉะนั้นเราคงไม่สามารถที่จะย้ายกรุงเทพฯ ได้ แล้วถ้าย้ายไม่ได้ เราควรทำอย่างไร

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๑. ปรับปรุงผังเมือง ที่ขวางทางน้ำ ถนน ตึกรามบ้านช่อง ต้องแก้ไข

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

๒. แก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำในกรุงเทพมหานครมีอยู่ ๓ น้ำ น้ำที่ ๑ คือน้ำฝน ที่บอกว่าน้ำรอการระบาย กรุงเทพฯ รับน้ำฝนได้ประมาณ ๖๐ มิลลิเมตร ต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันฝนตกในกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐-๑๒๐ มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เราจะรับได้อย่างไร ท่านจำปี ๒๕๕๔ ๑๒ ปีที่แล้วมหาอุทกภัยกรุงเทพฯ ท่านจำได้ นั่นแค่ปริมาณน้ำฝนบวกน้ำจากตอนเหนือ ไม่ว่าจะเป็นปิง วัง มารวมกันที่ปากน้ำโพ ยม น่าน แล้วเข้ามาสู่เจ้าพระยา แล้วยังมีแม่น้ำป่าสักจากสระบุรีมาสมทบ แล้วยังมีแม่น้ำ แม่กลอง แม่น้ำบางปะกงมาอีก แล้วทุกอย่างก็ลงสู่อ่าวไทย ภาพต่อไปครับ นี่ละครับ จะเห็นสายน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทย เราจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง ดูจากกราฟที่เห็น เส้นประคือภาวะปัจจุบันที่ทำให้น้ำทะเลสูงเร็วขึ้น กราฟเส้นสีแดง สีฟ้า สีน้ำเงินนั้น เป็นเหตุการณ์ปกติ แต่ขณะที่ภาวะโลกเดือดจะทำให้น้ำอาจจะสูงถึง ๕๕ เซนติเมตร ถึง ๑ เมตร น้ำทะเลปกติจะหนุนเพิ่ม ๔๐ เซนติเมตร ในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม โดยเฉพาะ เดือนตุลาคม เดือนธันวาคมจะเพิ่มเป็น ๕๐-๗๐ เซนติเมตร น้ำหลากจากเจ้าพระยา ที่ไหลมาจากทางเหนือจะสูงขึ้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร น้ำฝนหรือน้ำรอการระบายที่ตก ๘๐-๑๒๐ มิลลิเมตร จะทำให้น้ำสูงถึง ๖๐ เซนติเมตร คาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมอย่างน้อย ๑ เมตร เป็นเวลา ๓ เดือน หรือมากกว่านั้นหากไม่ทำอะไรภายใน ๑๔ ปี นี่คือแนวพระราชดำริ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์ทรงคิดเรื่องแก้มลิง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมีแนวคิดจะทำแก้มลิง ๒ ข้างของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเก็บกักน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ทรงมองการณ์ไกลแต่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ ปรากฏว่าถึงปัจจุบันนี้ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่ามีคนอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาเป็นจำนวนมากและที่ดินมีราคาแพง ไม่สามารถที่จะเวนคืนได้ เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าจะทำแก้มลิงในทะเล โดยมีอยู่ ๔ ทางเลือก

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทางเลือกที่ ๑ รูปด้านซ้ายข้างบนทำเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือน Thames Barrier ที่อังกฤษ อันนี้ก็จะกันได้ไม่มากเฉพาะตรงช่วงเจ้าพระยา ถ้าน้ำทะเลหนุนสูง ก็สามารถท่วมริมฝั่งแถวสมุทรปราการ แถวกรุงเทพฯ ของเรา

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทางเลือกที่ ๒ ทำเป็นแก้มลิงขนาดเล็กซึ่งมีพื้นที่รับน้ำได้มากขึ้น

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทางเลือกที่ ๓ จะเป็นแก้มลิง ๓ ด้าน คือ ด้านบางขุนเทียน เจ้าพระยา และตรงสมุทรปราการ แบบนี้ก็จะรับน้ำได้มากขึ้น

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ทางเลือกที่ ๔ คือทำแก้มลิงขนาดใหญ่ มีความกว้างลงมาในทะเล ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ยาวประมาณตามพื้นที่บางขุนเทียน เลยสมุทรปราการไปประมาณ ๖๐-๗๐ กิโลเมตร แบบนี้จะรับน้ำได้ประมาณ ๖๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้คือรายละเอียด ของแบบที่ ๔ ออกแบบให้มีเขื่อนกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และบนสันเขื่อนเป็นถนน เป็นสะพาน แล้วก็เป็นท่าเรือ นี่คือภาพถนนสันเขื่อนขนาด ๘ เลน ๑๒ เลน ซึ่งเป็นตัวกั้นน้ำ เป็นเขื่อนด้วยนะครับ แบบที่ ๒ ที่ ๓ คือรูปที่เมื่อสักครู่ที่เป็นรูปแก้มลิงขนาดใหญ่ แบบ ๒ แบบ ๓ เป็นประตูระบายน้ำลักษณะนี้

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันนี้เป็นประตูน้ำและมีท่าเรือเข้าออก ภาพต่อไปครับ อันนี้คือตรงริม ๒ ข้าง คือมีประตูน้ำ ประตูระบายน้ำแล้วก็ท่าเรือเข้าออก เพราะฉะนั้นการที่เราจะต้องมารีบลงมือ คิดและลงมือทำด้วยการลงทุนอาจจะใช้ระบบ PPPs Public Private Partnerships ก็ได้ โดยใช้ พ.ร.บ. ร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน ทำเขื่อน ทำแก้มลิง แบบเมื่อสักครู่ที่ผมให้ดู ในแบบที่ ๔ ซึ่งจะได้ผลผลิต ผลประโยชน์ออกมาจากผลิตผลคือป้องกันน้ำท่วม ป้องกัน การกัดเซาะตลิ่งฝั่งบางขุนเทียน สมุทรปราการ ได้เส้นทาง Logistic เมื่อสักครู่ที่เป็นถนน แล้วก็ได้ท่าเรือที่มีการทำประมงน้ำกร่อยและน้ำเค็ม บางแห่งยังสามารถทำ Solar Cell ลอยน้ำได้ ระยะเวลาดำเนินการ ๔-๑๒ ปี ไม่นาน ลงทุนประมาณ ๔๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วแต่จะเลือกแบบไหน ฉะนั้นจึงขอเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากน้ำทะเลเพิ่มสูงสำหรับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และสมุทรปราการ โดยเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย และนำข้อมูลนี้ไปสู่รัฐบาลเพื่อดำเนินการ อย่างเร่งด่วนต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณมากครับ ในฐานะผู้เสนอญัตติได้เสนอญัตติและแถลงเหตุผลเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิก เชิญท่านแรก ท่านศนิวาร บัวบาน

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดตาก ท่านประธานคะ เรื่องโอกาสในอนาคตที่ชายฝั่งทะเลแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีโอกาสที่น้ำจะท่วมถาวรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด พวกเราทราบกันดี มานานแล้ว เนื่องจากว่ามีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้สนับสนุนประเด็นนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองริมชายฝั่งทะเลที่เสี่ยงจมน้ำ นอกจากนี้งานวิจัยยังเปิดเผยว่ามีโอกาสที่พื้นที่ น้ำท่วมจะรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินเป็นบริเวณกว้างถึง ๘๐ กิโลเมตร ทางคณะกรรมการ ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC คาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ เมตร ภายในปี ค.ศ. ๒๑๐๐ หรืออีกประมาณ ๗๗ ปีข้างหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะส่งผลให้ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลอาจจะ จมน้ำได้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เปราะบาง มี ๓ ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อเนื่องกัน ซึ่งส่งผลให้กรุงเทพมหานครเสี่ยงต่อการจมน้ำในอนาคตอันดับแรก เรามีการใช้น้ำบาดาล มานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งในอดีตกาลส่งผลให้เรามีการสูญเสียน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครยังมีการใช้ที่ดินที่เต็มศักยภาพ การขยายตัวของเมืองก็ส่งผลให้เช่นกัน กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นเมืองเดี่ยวที่ขยายแบบไร้ขีดจำกัด ประชากร หนาแน่น มีประชากรมากกว่า ๑๐ ล้านคน ภายในพื้นที่ที่จำกัดเพียงแค่ ๑,๕๐๐ ตาราง กิโลเมตร ทั้ง ๓ ปัจจัยนี้ส่งผลต่อการทรุดตัวของชั้นหินเฉลี่ยประมาณ ๒-๓ เซนติเมตรต่อปี นอกจากนั้นผนวกกับเรื่องน้ำทะเลหนุนตอนนี้เราอยู่ภายใต้ภาวะโลกเดือด ส่งผลให้ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตรต่อปี ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจส่งผลให้พื้นที่ กรุงเทพมหานครแล้วก็ปริมณฑลจมหายไปในอีก ๕๐-๗๐ ปีข้างหน้าได้ ดิฉันเคยกล่าว ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลไปแล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีความเสี่ยง ด้านสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับที่ ๙ ของโลก หากเรายังมีการใช้ที่ดินแล้วก็สูบน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง โอกาสที่กรุงเทพมหานคร จะจมบาดาลก็จะมาเร็วขึ้นค่ะ เมื่อเราได้ทราบถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ถึงเวลา ที่เราจะต้องพิจารณาทางเลือกที่เราจะใช้ในการแก้ปัญหา แน่นอนเรามีหลายทางเลือก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ภายในการอภิปรายในวันนี้ เราจะต้อง ทำการศึกษาถึงความเสี่ยงแล้วก็โอกาสของแต่ละทางเลือก ยกตัวอย่างเช่น การปรับ ผังเมืองเดิม ซึ่งตอนนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ค่อนข้างแน่นแล้ว ก็อาจจะ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการลงทุนเพิ่มก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่ม ที่ไม่สูงนัก นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาจากธรรมชาติ โดยพึ่งพาป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล แต่อย่าลืมว่าป่าชายเลนของเราก็มีพื้นที่ที่ไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอ ความแรงของคลื่นได้ หรือนอกจากนั้นเราอาจเลือกใช้วิธีการสร้างโครงสร้างแข็งในการป้องกัน ประเทศเนเธอร์แลนด์มี Delta Work ซึ่งเป็น Megaproject โครงการที่ใหญ่มากประกอบ ไปด้วยโครงการย่อยทั้งหมด ๑๖ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน แล้วก็กำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็จะต้องทำงาน ผสมผสานกัน แต่อย่าลืมว่าเนเธอร์แลนด์เขาใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท หรือทางเลือกสุดท้ายย้ายเมืองหลวง เราจะย้ายไปไหน ย้ายเมื่อไร จะย้ายอย่างไร ย้ายเป็นบางส่วนหรือย้ายทั้งหมดอย่างไรคะ แน่นอนเราจะต้องมีการศึกษารวมถึงหลักเกณฑ์ ในการเลือกเมืองหลวงด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่ต้องเคลื่อนย้าย แล้วก็ใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงมาก สำหรับการจัดผังเมืองใหม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรคำนึงถึงความจำเป็น เช่น อัตราที่แผ่นดินทรุด ถึงขั้นที่จะต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่ ความคุ้มค่า คุ้มทุนในระยะยาว รวมถึงความยั่งยืน ที่จะเกิดขึ้นด้วย หากจะแก้ปัญหานี้เราสามารถทำได้ทันที แล้วก็ดำเนินการไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้งองคาพยพ ดิฉันจึงขอเสนอ

นางสาวศนิวาร บัวบาน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรกเกี่ยวกับรัฐบาลควรที่จะมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ประเทศสิงคโปร์มีสถาบันป้องกัน ชายฝั่งและรับมือกับน้ำท่วม ประเทศไทยเราเองอาจสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ทั้งภาครัฐเอง แล้วก็หน่วยงานการศึกษาทั้งหลาย นอกจากนั้นเราควรส่งเสริมให้มี การออกแบบอาคาร แล้วก็โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติมากขึ้น หรือที่เรา เรียกกันว่า Resilience Infrastructure ปรับผังเมืองเดิมคือไม่ต้องก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง เพิ่มเติมที่จะมาขวางทางน้ำ แล้วก็เพิ่มพื้นที่รับน้ำ อาจจะมีการลดหย่อนภาษีให้เอกชน ที่ใช้ที่ตนเองเพื่อแก้ไขปัญหาที่อิงกับแนวธรรมชาติ นอกจากนั้นดิฉันขอเสนอให้กระจาย ความเจริญไปสู่หัวเมืองใหญ่ สร้างเมืองรองต่าง ๆ ให้มีศักยภาพทัดเทียมเทียบเท่ากับ กรุงเทพมหานคร สร้างงานตามภูมิภาคเพื่อลดการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ ดังเช่น ประเทศเยอรมนีนอกจากเบอร์ลินที่เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีแล้วยังมีเมืองมิวนิค เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เมืองสตุ๊ตการ์ต แล้วก็เมืองอื่น ๆ ที่มีความเจริญไม่แพ้เมืองหลวงเลย นอกจากนั้นเราก็ยังจะต้องทำการป้องกันเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองที่มีอยู่เดิมแล้วด้วย กรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ควรเริ่มทยอยทำเสียแต่วันนี้ ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรุ่งนี้เป็นวันลดภัยพิบัติ สากล กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ทั่วโลกให้ความสำคัญว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรเริ่มดำเนินการเสียแต่ตอนนี้ ก็ขอฝากรัฐบาลควรศึกษาทั้งระบบให้รอบคอบ รอบด้าน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว เรามีเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ มากมาย ท่านสามารถนำไปใช้ในแต่ละขั้นตอนของการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ที่คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ แล้วก็เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อที่จะเลือกแนวทางที่ดี ที่สุด แล้วก็เป็นประโยชน์ที่สุดกับทุกภาคส่วน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เชิญท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย ผมขออภิปรายญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทย หรือการสร้าง แนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ประเทศไทยของเราได้มีการเสนอสร้างเมืองหลวง แห่งที่ ๒ หรือสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งหมด ๕ ครั้งแล้วครับ ครั้งที่ ๑ สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอย้ายไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ ๒ สมัยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เสนอย้ายไปที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งที่ ๓ นายสมัคร สุนทรเวช สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอย้ายไป จังหวัดนครปฐม ครั้งที่ ๔ สมัยรัฐบาล พันตำรวจโท ดอกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร เสนอย้ายไป ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ครั้งที่ ๕ สมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอย้ายไปที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และขยายเชื่อมอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี รวมเสนอไปแล้วถึง ๕ สมัย ๕ ครั้ง ผมจึงขอกราบเรียนท่านประธานไปยังรัฐบาล นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งในการจะย้ายเมืองหลวง หรือเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ผมไม่ขัดข้อง แต่การพัฒนาประเทศเพื่อเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกเขาพัฒนา การพัฒนาต้องพัฒนาทุกจังหวัดให้เสมอภาคไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การพัฒนา มีแต่การพัฒนากระจุกแต่อยู่ในเมืองหลวงหรืออยู่ในกรุงเทพมหานคร มีรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ทางด่วน Motorway สารพัดใช้เงินเป็นแสน ๆ ล้านบาท เป็นล้าน ๆ บาท นั่นคือการพัฒนาผิดพลาดที่ผ่านมา ส่วนหมู่บ้านห่างไกล จังหวัดที่ห่างไกล การพัฒนาล่าช้า การพัฒนาไม่ทั่วถึง แม้บางสมัยบางนายกรัฐมนตรีไม่รู้ความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ไม่รู้ปัญหาเรื่องโฉนดที่ดิน พูดเรื่องที่ดินก็ไม่ทราบเรื่อง เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดีอังกฤษ นั่นคือปัญหา แม้กระทั่งผมเสนอว่าพี่น้องประชาชนของเราอยู่ในชนบทดื่มน้ำที่เป็นสนิม นายกรัฐมนตรีก็เข้าใจว่า Cooler น้ำเป็นสนิม คำว่า น้ำเป็นสนิม นั่นคือหนองน้ำหรือน้ำบาดาล เวลาสูบขึ้นมาเป็นน้ำกินน้ำใช้มันมีตะกอน มีสนิม นั่นคือปัญหาของประเทศไทยของเรา ในการที่จะสร้างเมืองหลวงแห่งที่ ๒ แห่งที่ ๓ แท่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ ผมยินดีครับ เพื่อนำความเจริญ ไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมด ๗๗ จังหวัด เพราะการพัฒนาจะได้ทั่วถึง เราจะได้มีรถไฟรางคู่ ไปทุกจังหวัด รถไฟความเร็วสูงไปจังหวัดต่าง ๆ และไปสู่ชายแดน ไปประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้เคียง นั่นคือหลายประเทศเขาพัฒนาแบบนี้ มีถนนหนทาง น้ำ ไฟ มีเขื่อน มีฝาย มีระบบชลประทานสมบูรณ์แบบไปทั่วทุกหมู่บ้าน พี่น้อง สส. ของเราจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลา มาหารือ มายื่นกระทู้ถาม ยื่นญัตติถามรัฐบาล ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเช้านี้หลายท่านก็ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ขาดการพัฒนา นั่นคือปัญหาของประเทศไทย ของเรา รัฐบาลชุดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายดี ๆ ของพรรคเพื่อไทย ผมเข้าใจว่าน่าจะพัฒนาได้ทั่วถึงทั้ง ๗๗ จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ห่างไกลปัจจุบันนี้ ต้องซื้อน้ำมันเติมรถยนต์แพงกว่ากรุงเทพฯ ลิตรละ ๒-๓ บาท ค่าใช้จ่ายสูง ความยากจนมาก ปัญหาความเดือดร้อนเต็มไปหมด ตามมาด้วยผู้มีอิทธิพล มีการต้องส่งส่วย ไม่ส่งส่วยถูกจับ แต่ละเรื่องแต่ละอย่างที่พี่น้องประชาชนหรือร้านค้า ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย ถูกเรียกร้องหรือถูกเก็บเงินส่งส่วย นั่นคือสภาพความเป็นจริงในแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด ในการพัฒนาของเราต้องส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดที่ห่างไกล จังหวัดไหน ที่อยู่ไกล ๆ ต้องให้ราคาน้ำมันถูกลงมากขึ้นเรื่อย ๆ เก็บภาษีน้ำมันให้ถูกลง อย่างเราผลิต น้ำมันไปขายประเทศเพื่อนบ้านลิตรละ ๑๖-๑๗ บาทยังทำได้ เขาขายกันแค่ ๑๗ บาท ส่วน ประเทศไทยของเราผู้ผลิตน้ำมัน ผู้ส่งออกขายลิตรละ ๓๐ กว่าบาท ต้องส่งเสริมการลงทุน จังหวัดที่ห่างไกลให้มีการเก็บภาษี ให้เก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกกว่าในกรุงเทพฯ บริษัท ห้างร้าน โรงงานต่าง ๆ ก็จะไปตั้งอยู่จังหวัดที่ห่างไกล โรงงานเขาก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ไม่มีการส่งส่วย ไม่มีการเสียเงินใต้โต๊ะ การอนุมัติต่าง ๆ อย่างรวดเร็วภายใน ๑ วัน ๒๔ ชั่วโมง แรงงานต่าง ๆ ไม่ต้องมาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ทำงานอยู่ในบ้านและจังหวัดของตัวเอง ได้เลี้ยงลูกของตัวเองไม่ต้องฝากลูกหลาน ให้คุณปู่คุณย่าเลี้ยงแทน ไม่ต้องไปหางานทำอยู่ต่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำ เพื่อพัฒนาทุกจังหวัดให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำที่ผมได้ยินมานาน ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ไม่เคยทำได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เสมอภาค ถ้ารัฐบาลเราพัฒนาแบบนี้ และตามนโยบายพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่าท่านได้แน่นอน กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ต่อไปเชิญท่านเจษฎา ดนตรีเสนาะ ครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมธานีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอ Slide ด้วยครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

วันนี้ผมขออนุญาตขอร่วมอภิปราย ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้ง เมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายท่าน ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมปากน้ำเจ้าพระยาที่ลุ่มปากแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ติดอยู่กับทะเล ไม่ใช่แค่ปากแม่น้ำ เจ้าพระยานะครับ ปากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเพชรบุรี ก็มีลักษณะเดียวกัน ทีนี้ว่า ๓ น้ำที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครมีอะไรบ้างผมจะไล่เลียง ให้ทุกท่านได้เห็นภาพนะครับ

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

อย่างแรกเลยก็คือน้ำเหนือ น้ำเหนือคืออะไรครับ น้ำเหนือก็คือน้ำที่มาจาก ภาคเหนือของประเทศไทยก็คือ ปิง วัง ยม น่าน ลงมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วก็ไหล ลงมาจากพื้นที่ที่มีระดับความสูงเกิน ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลไล่ลงมาจนถึงปทุมธานี ไปถึงกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางแค่ ๑-๒ เมตรเท่านั้น ตามหลักการไหลของน้ำธรรมดา Gravity ถ้าเราสามารถกักเก็บน้ำส่วนนี้ได้ในส่วนแรก ไว้ตั้งแต่ภาคเหนือตั้งแต่แหล่งกำเนิดของน้ำเลย โดยการทำเป็นอ่างเก็บน้ำก็ดี หนองก็ดีเขื่อนขนาดเล็กก็ดี เขื่อนขนาดกลางก็ดีที่สามารถ เก็บน้ำได้เป็นขั้น ๆ ก่อนที่จะมาถึงตัวจังหวัดนครสวรรค์หรือว่าลงมาถึงกรุงเทพฯ น้ำส่วนนี้ ก็จะถูกทอยเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็นำไปใช้ในการเกษตรในหน้าแล้ง อุปโภคบริโภค รวมทั้ง อุตสาหกรรมในฤดูที่ไม่มีน้ำฝน อันนี้คือน้ำของภาคเหนือน้ำเหนือที่เราเรียกกัน น้ำถัดไป ที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครก็คือน้ำฝน ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้น้ำฝนตกน้อยลงได้หรือกระจายการตกของฝนได้ โดยการสร้างพื้นที่ สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มากขึ้น หลายท่านสงสัยว่าทำไมฝนชอบตก ที่กรุงเทพฯ เวลาตอนเย็น ก็เพราะว่ากรุงเทพฯ มีแต่ตึก ตึกดูดความร้อนทั้งวันแล้วไอร้อน ก็ลอยขึ้นที่สูง อากาศเย็นก็เข้ามาแทนที่ พออากาศเย็นเข้ามาแทนที่ก็ดึงให้แนวฝน ที่อยู่บริเวณปริมณฑลเข้ามาตกในกรุงเทพฯ แล้วก็ตกหนัก ถ้าพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว เพิ่มขึ้นลดอุณหภูมิได้สัก ๐.๕ องศา หรือ ๑ องศา ก็จะบรรเทาตัวนี้ไปได้

นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ

ส่วนอันที่ ๓ ก็คือน้ำทะเลหนุนสูง ต้องบอกทุกท่านว่าจริง ๆ น้ำทะเลหนุนสูง นี่หนุนทั้งปี เพียงแต่ว่าทำไมมาส่งผลกระทบตอนเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ก็เพราะว่ามันมีน้ำเหนือลงมาด้วยนั่นเอง แล้วถ้าประกอบกับถ้ามีฝนหนักปลายฤดูก็ทำให้ ท่วมเยอะ แต่ถ้าเราสามารถจัดการภาคเหนือได้ น้ำฝนได้ น้ำทะเลหนุนที่สูงขึ้นก็จะ ส่งผลกระทบเหมือนกันแต่ส่งผลกระทบน้อย นี่คือภาพกรุงเทพมหานคร ถ้าเราไม่จัดการ อะไรเลยก็จะอย่างที่เพื่อนสมาชิกอธิบายไปก็ประมาณ ๘๐ กิโลเมตรจากปากแม่น้ำก็จะได้รับ ผลกระทบหมด ทีนี้สิ่งที่ผมอยากจะเชิญชวนทุกท่านดูก็คืออ่าวไทย หากเราทำโครงสร้าง อะไรที่จะแก้ไขปัญหาของน้ำทะเลหนุนสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงอ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวตัว ก ที่เป็นอ่าวตอนในของอ่าวไทย อ่าวตัว ก มีพื้นที่กว้าง ๑๐๐ กิโลเมตร ยาว ๑๐๐ กิโลเมตร มูลค่าทางเศรษฐกิจของอ่าวตัว ก ต่อปีคือ ๒๔ ล้านล้านบาท ถามว่าทำไมตัวเลขเยอะขนาดนี้ มันประกอบด้วยหลายด้านครับ การท่องเที่ยว การประมง พลังงาน ขนส่ง การพัฒนาชายฝั่ง และด้านอื่น ๆ และยังเป็นพื้นที่ที่มีพ่อแม่พี่น้องประชาชนอยู่ริมอ่าวตัว ก เกิน ๑๐ ล้านคน ประชาชนอยู่หลายล้านครัวเรือน การประมงพื้นบ้าน การประมงสำคัญอยู่แหล่งนี้ทั้งหมด เมื่อน้ำไหลจากภาคเหนือลงอ่าวไทยก็พาแร่ธาตุต่าง ๆ มาด้วยทำให้อ่าวตัว ก เป็นแหล่ง Plankton ชั้นดี แล้วก็เป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ติดอันดับ ๑ ใน ๑๗ ของโลก ท่านสามารถดูวาฬบรูดาได้ที่อ่าวไทย แต่ท่านไปต่างประเทศท่านอาจจะไม่เจอเลยนะครับ เพราะตรงนี้มีแพลงก์ตอน เป็นทุ่งหญ้าของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุบาลวัยอ่อน ถามว่าหากเรา ทำโครงสร้างอะไรสักอย่างลงไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเราจะเสียหาย ขนาดไหน อันนี้คือโครงสร้างแบบแข็งที่ทุกท่านเห็นอยู่ก็คือรอดักทราย หรือโครงสร้าง หลายอันที่ท่านเห็น เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่น หลายอันท่านก็เห็นว่าสร้างแล้วไม่ได้รับ การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง กลับเกิดผลกระทบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีค่าบำรุงรักษาหลังจาก สร้างไปแล้วเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าก่อสร้างอีกครับ อันนี้เป็นโครงสร้างแบบอ่อน ก็คือเป็น หาดทราย เนินทราย แล้วก็เป็นป่าชายเลน ซึ่งผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาของน้ำทะเลหนุนสูง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลน่าจะต้องใช้ทั้ง ๒ อย่างรวมกัน ผมก็เลยอยากชวนทุกท่านว่า แผนรับมือจริง ๆ คืออะไร ที่ผมพูดไล่เรียงมาทั้งหมดก็เป็นเรื่องของน้ำทั้งหมดใช่ไหมครับ หากเรามีแผนการจัดการน้ำที่ดี มีการวางแผนที่ดี ผมไม่ได้คัดค้านการสร้างโครงสร้างแข็ง หรือว่าสนับสนุนให้โครงสร้างอ่อนเพียงแต่ว่าเราต้องมาพูดคุยกัน ว่าอะไรที่จะทำให้เกิด ประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด ประหยัดงบประมาณ ได้ประสิทธิภาพ แล้วก็ประโยชน์ สูงสุดตกกับประชาชนครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณมากครับ เชิญท่านฐิติมา ฉายแสง ครับ

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉันเห็นด้วยกับการเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้างแนวป้องกัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ดิฉันคิดว่ามันถึงเวลา ที่เราจะต้องมาพูดกันเรื่องนี้ เพราะว่าพวกเรารู้กันอยู่แล้วว่าหลายประเทศเลยประสบ กับวิกฤติโลกร้อน ซึ่งจะเจอกับน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนน้ำทะเลหนุนสูงหลายประเทศ ก็จมบาดาลกันอยู่ ขอภาพด้วยค่ะภาพแรก

นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

บางประเทศเจอกับอย่างนี้เมืองเวนิส อิตาลีเราเห็นภาพแบบนี้กันอยู่ บางประเทศเราเจอไฟป่าเยอะมากเลย ไฟป่าเยอะ ฝนชุก อากาศร้อนผิดปกติ แห้งแล้ง มีความแปรปรวนเยอะมาก มี El Nino มี La Nina มีน้ำท่วม เราะเจอะเจอความผิดปกตินี้เยอะ ประเทศไทยเช่นเดียวกัน กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน เราก็มีปัญหา ปัญหาอะไรบ้าง ความหนาแน่นในเขตเมืองมีคนอาศัยอยู่เยอะ แล้วก็มี บางท่านพูดถึงเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาลกันมากมาย มีฝนตกชุก ซึ่งเมื่อสักครู่ ท่านผู้อภิปรายก็เพิ่งพูดไปหยก ๆ ว่ากรุงเทพฯ น้ำทะเลหนุนสูง สูงขึ้นเป็นถึงขั้นครึ่งฟุต กันเลยทีเดียว พื้นดินทรุดอย่างรวดเร็ว ปีละ ๒-๓ เซนติเมตร นี่กรุงเทพมหานคร มีองค์กรสาธารณประโยชน์อยู่องค์กรหนึ่งที่เขาพูดไว้ทำให้ดิฉันเรียกว่าต้องใช้คำว่า ตกใจ เหมือนกัน องค์กรนี้คือ Greenpeace เขาบอกว่าเขาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แล้วก็สันติภาพ พูดไว้น่าตกใจ เพราะเขาคาดการณ์ว่าอีก ๗ ปีกรุงเทพมหานคร ก็จะจมบาดาล เขาบอกว่ามีผลกระทบมาจากน้ำท่วม จมบาดาล บอกว่าในพื้นที่ ของกรุงเทพฯ มี ๑,๕๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร จะจมบาดาลไปถึง ๙๖ เปอร์เซ็นต์ คือ ๑,๕๒๑ ตารากิโลเมตร กินพื้นที่กันขนาดนั้น แล้วก็มีมูลค่าที่เสียหายทางเศรษฐกิจมาก คำนวณออกมาแล้วประมาณ ๑๘-๒๐ ล้านล้านบาท อาจจะสูญเสียไปถึง ๕๐๐,๐๐๐ million US dollars กันเลย แล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็แค่ ๑๖ ล้านล้านบาท เกินมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยซ้ำ คน ๑๐.๔๕ ล้านคน ก็จะเดือดร้อน แต่มันไม่ได้เดือดร้อนแค่นี้ เพราะว่าจังหวัดอื่นก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อย่างนั้นอย่างนี้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเขตที่พวกเรา รู้อยู่ว่าเจริญมาก ๆ รัชดาภิเษก สีลม สาทร เยาวราช สยามสแควร์มันจะหายไปจาก ความเจริญที่เรารู้จักกันหรือ ทีนี้ดิฉันเองมาดูญัตติบอกว่าเป็นการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ แห่งที่ ๒ พูดตรง ๆ ว่าดิฉันก็ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพชรบูรณ์ หรือจะเป็นนครนายก หรือบางที่เคยพูดด้วยว่าเป็นฉะเชิงเทรา จริง ๆ ยังไม่เห็นด้วย ขนาดนั้น เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง กรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ มีชีวิตความ เป็นอยู่ กรุงเทพฯ มีวัฒนธรรม มีวัดวาอาราม มีพระราชวัง มีการค้าธุรกิจที่สำคัญ เราจะไป เมืองอื่นแล้วทิ้งกรุงเทพฯ หรือ เป็นไปไม่ได้ เราจำเป็นต้องรักษากรุงเทพฯ ให้อยู่ให้ได้ ถึงแม้จะต้องใช้งบประมาณเยอะแค่ไหนก็ต้องทำ ถามว่าทำอะไร ดิฉันขอเสนอว่าเราจำเป็น ที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเขื่อนสร้างพนังกั้นน้ำ สร้างกำแพงกันคลื่นทะเล ดูภาพต่อไปนะคะ ถ้าภาพของกรุงเทพมหานครที่จมบาดาลเป็นแบบนี้พวกเราเห็นแล้วว่า ปี ๒๕๕๔ กรุงเทพฯ เป็นแบบนี้ แต่เรามาดูที่อื่นที่ดิฉันคิดว่าเขาทำแล้ว ถ้าเราทำตาม หรือเรามีแนวคิดที่จะทำให้กรุงเทพมหานครไม่ต้องจมบาดาลแบบนี้ มันเป็นอย่างไร ดิฉันมีข้อเสนอค่ะ นี่ยกตัวอย่างนะคะ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เขาทำพนังกั้นน้ำ แบบนี้ค่ะ คือเขื่อน กำแพงกั้นคลื่นทะเลอะไรก็แล้วแต่ เรียกว่า Seawall แล้ว Seawall ของเขาสามารถที่จะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ด้วย ได้ประโยชน์หลายอย่าง ดูนะคะ เขาแบ่งเส้นทางระหว่างคนเดินกับจักรยานก็แบ่งกันด้วย คนละฝั่งกันเลย ทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น อันนี้ถามว่าการลงทุนรอบอ่าวตัว ก ของไทยเรา มีกรุงเทพมหานคร มีสมุทรปราการ มีฉะเชิงเทรา จำเป็นต้องทำไหม ก็จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะว่าเราทิ้ง กรุงเทพฯ ไม่ได้ มากไปกว่านั้น ท่านประธานคะ ดิฉันมีข้อมูล ขอยกตัวอย่าง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดบ้านเกิดของดิฉัน ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านรู้ไหมว่าโดนน้ำทะเลกัดเซาะจนกระทั่งมันหายไปเป็นกิโลเมตรแล้ว หายไปเป็นหมู่บ้านเลย ถามว่าเราจะปล่อยแบบนี้หรือ เราจำเป็นที่จะต้องช่วย เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเพื่อให้กรุงเทพมหานครอยู่ต่อไปมันต้องทำอะไร ระบบระบายน้ำแน่นอน ต้องทำ เราต้องแก้ไข เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องประชาชนว่าอย่าทิ้งขยะ เต็มไปหมดจนกระทั่งมันอุดตันกันทำให้การระบายน้ำไม่ได้เกิดขึ้น กระจายความเจริญสิคะ กระจายความเจริญไปยังเมืองต่าง ๆ แล้วก็ให้ลดความแออัดด้วย แล้วก็ระบบขนส่งมวลชน เราช่วยกันสิคะว่าให้งบประมาณมาเพื่อมีระบบขนส่งมวลชน คนจะได้ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องเกิด มลภาวะ ไม่ต้องเกิด PM2.5 แล้วเราก็สนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า นี่คือแนวทางยกตัวอย่าง เท่านั้นเอง เป็นแนวทางที่บอกว่าเราต้องรีบแก้ปัญหาเพื่อให้กรุงเทพมหานครอยู่ต่อไป เป็นเมืองเศรษฐกิจต่อไป ไม่จำเป็นต้องไปเป็นตามกับประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา อินเดีย เขาก็ย้าย ปากีสถาน หรือว่าจาการ์ตากำลังจะย้ายไป เรารักษากรุงเทพฯ ของเราไว้ แล้วยังไม่ต้องไปเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ก็ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านวีรภัทร คันธะ ครับ ถ้ายังไม่พร้อมขอเป็นท่านภัณฑิล พร้อมไหมครับ ท่านภัณฑิล น่วมเจิม ขอเชิญท่านภัณฑิลครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ผม ภัณฑิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา เขตคลองเตย ก็ขอร่วมอภิปรายในญัตติตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ หรือจะทำแนวปราการเพื่อรับมือกับ Rising sea levels คือปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยภาพรวมผมก็แอบตกใจ นิดหนึ่ง ครั้งแรกอ่านญัตตินี้จะเอาอีกแล้วหรือครับ จะตั้งเมืองหลวงใหม่ จะย้ายเมืองหลวง เราผ่านมากี่ครั้งแล้วครับ ผมคงไม่ต้องไปเท้าความถึงเพชรบูรณ์ หรือนครนายก หรืออะไร เราศึกษาดูจากต่างประเทศก็ได้ มันเกิดอะไรขึ้น มันไม่เข้ากับยุคกับสมัยแล้วครับ มีที่ไหน ประเทศที่เขาเจริญแล้ว พัฒนาแล้ว ย้ายเมืองหลวง มีแต่ความล้มเหลวทั้งนั้นเลย ย้ายเมืองหลวงนี่ประเทศด้อยพัฒนาทำกันทั้งนั้น ลากอสไปเมืองอะไรก็ไม่รู้ การาจี ไปอิสลามาบัต แล้วก็มีความเพ้อฝันของผู้นำเผด็จการย้ายเมืองไปในคาซัคสถาน พม่า ใช้เงิน ใช้ทองไปเท่าไร อินโดนีเซียนี่ใช้ไป ๓๕ พันล้านเหรียญ Billion นะครับ คูณออกมา ก็ล้านล้าน มันได้คุ้มเสียหรือเปล่าครับ เมืองจีนมี ๖๐๐ กว่าเมืองที่เขาสร้างใหม่ ผลวิจัย ก็บอกแล้วล้มเหลวหมด กลายเป็น Ghost town เป็นเมืองร้าง เมืองผี ไม่มีคนเข้าไปอยู่ สูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวง ไม่มีแล้วครับ Practice ถ้าเผื่อเราดูนะครับว่าที่ผ่านมา ดัชนีความเป็นเมืองที่มีคุณภาพมันคือเมืองประเภทไหนบ้าง ปรากฏเป็นเมืองเก่าเกือบ ทั้งนั้นเลย ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วท่านจะเห็นดัชนีที่เป็นสีฟ้าเข้ม ๆ ด้านบน ก็จะเป็น ในภาคพื้นยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย เมืองที่เป็นเมืองอันดับต้น ๆ ของโลก เวียนนา โคเปนเฮเกน ซูริค เป็นเมืองหลวง แล้วก็เป็นเมืองที่เขาอยู่กันมาตั้งกี่ร้อยกี่พันปีเขาก็พัฒนา ไม่ได้ละทิ้งเมืองไป ทำให้เมืองมันดีขึ้น ลอนดอน ปารีสพวกนี้ก็เป็นเมืองเคยมีปัญหานะครับ -ก็ย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของเมืองออกไป

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

- - - พวกโรงงานอุตสาหกรรม อย่างกองทัพอย่างนี้เอาไว้ในเมืองทำไม รถถัง เครื่องบินจะไปจอด กลางเมืองหรือครับ มันไม่ใช่ภารกิจหลักของเมือง เราต้องทำให้เมืองเข้ากับยุคกับสมัย มีการพัฒนานำเรื่อง IT หรือเป็นเรื่องการศึกษาที่เข้ากับยุคกับสมัย เข้ามาเป็นพื้นที่ในเมือง มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์เมืองสมัยใหม่ ดูสิครับ ด้านขวา Bottom ten ที่เป็นเมืองที่คุณภาพ ชีวิตต่ำ ลากอสอย่างนี้ ย้ายเมืองหลวงไปแล้วแก้ได้ไหมครับ การาจีอย่างนี้ ย้ายเมืองหลวง ไปแล้วแก้ได้ไหมครับ ก็ยังเป็น Bottom ten อันนี้มัน Prove แล้ว มันพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว การย้ายเมืองหลวงหรือไปตั้งเมืองหลวงใหม่มันไม่ใช่คำตอบ ดูภาพสิครับ เนปิดอว์ลงทุนไป เท่าไร อียิปต์กำลังสร้างอยู่นะครับ In progress แล้วของอินโดนีเซียก็จะไปถางป่า ถางเกาะ ทำเมืองหลวงขึ้นมาใหม่อีก ทำไมเราไม่ดูล่ะครับว่าเราจะหยุดการขยายเมืองอย่างไร ที่ไร้ทิศทาง กระจายอำนาจ บุคลากร งบประมาณ ออกไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น ผมคง ไม่พูดเยอะในเรื่องผลกระทบของจำนวนประชากร เราถามหรือยังครับ เอะอะเราจะตั้ง เมืองหลวงใหม่ เราจะเกณฑ์คนออกไปย้ายไปที่อื่น กทม. มีคนอยู่ตั้ง ๖ ล้านคน รวมปริมณฑล ๑๐ กว่าล้านคน ขนาดพื้นที่ ๑ ล้านไร่ ปริมณฑลรวมแล้วก็ ๗,๐๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร ถ้าเกิดคำนวณแบบเร็ว ๆ ว่าพนักงานรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ๖-๗ เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ คน ที่จะต้องย้ายออกไป เราถามเขา หรือยัง จริง ๆ มันขัดรัฐธรรมนูญ เราไปเพิ่มภาระที่ไม่จำเป็นให้กับเขา เราไปถามเขาหรือยัง และนี่หน่วยงานเอกชนอีกตั้งเยอะ เราคำนวณได้ ๑ ล้านล้านบาท ไร่หนึ่งราคาสมมุติตีเฉลี่ย ไร่ละ ๑๐ ล้านบาท คูณเข้าไปสิครับ ๑๐ ล้านล้านบาท มูลค่าทางเศรษฐกิจ นี่ยังไม่รวม สิ่งปลูกสร้างนะครับ เราถามเอกชนหรือยังทำไมเราจะละทิ้งเมืองไป เรามีทรัพย์สิน ที่อยู่ในเมืองตั้งเยอะ มีรถไฟฟ้า มีสนามบิน สาธารณูปโภคที่เราลงทุนไปหมดแล้ว นี่เราจะไป เปิดพื้นที่ใหม่อีกแล้วหรือครับ อยากจะสร้างเมืองกันจังเลยหรือครับ อันนี้รัฐธรรมนูญ ผมพูดไปแล้วนะครับ เราไม่ควรจะไปเพิ่มภาระอันควรให้กับข้าราชการที่อาจจะต้องย้าย ออกไป คนที่เขาอาจจะไม่ได้สมัครใจแล้วก็เกณฑ์กันออกไป มีตัวอย่างเยอะแยะเกาหลีใต้ เขาก็พยายามจะย้าย สุดท้ายก็วกกลับมาที่เดิมคือไปไม่รอด ก็กลับมาอยู่ที่เดิมกันหมด อันนี้ผมคงไม่พูดเยอะ แต่ว่าจริง ๆ มันมีข้อมูลอยู่แล้วหลายท่านก็อภิปรายไปแนวชายฝั่ง กทม. กับอ่าวไทย ๕ กิโลเมตร แนวตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ๖๐ กิโลเมตร ก็ลองคำนวณได้ว่า ถ้าเผื่อจะทำแนวต่าง ๆ นี่ลงทุนเท่าไร ดีดลูกคิดออกมาก็รู้แล้ว เทียบกันแล้วกับการย้ายเมือง ก็สามารถฟันธงได้เลยว่าการไปตั้งเมืองหลวงใหม่หรือย้ายเมืองหลวงใหม่นี่มันไร้สาระ ผมก็คงไม่ต้องพูดมากว่าพยายามกันมาแล้วกี่ครั้ง ๔-๕ ครั้ง นี่จะเอากลับมาอีกแล้วหรือ ยังไม่เรียนรู้จากอดีตที่มันล้มเหลว ยื่นเข้าสภาไปกี่รอบ มีแนวคิดนี้มากี่ครั้ง ก็ไม่รู้เหมือนกัน จะส่งไป ครม. ทำไมในเมื่อมันชัดเจนอยู่แล้ว สมการได้ไม่คุ้มเสีย ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านพชร จันทรรวงทอง ครับ

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหา กำลังจะจมบาดาล อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงปัจจุบันของประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ประการ จากการที่เป็นเมืองที่รวบรวมศูนย์ความเจริญ ไว้ในพื้นที่แห่งเดียว ส่งผลให้กรุงเทพฯ กำลังจะเข้าสู่สภาวะอิ่มตัวที่ไม่สามารถรองรับ การเจริญเติบโตของประเทศและประชากรได้ นำไปสู่ปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งมลพิษ การจราจร ติดขัด และความแออัดในเมือง และที่ผ่านมามีการถมคูคลองที่เคยใช้เป็นพื้นที่ในการรับน้ำ เพื่อขยายเมือง มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จนนำไปสู่สภาวะแผ่นดินทรุดตัว ซึ่งในทุกปี แผ่นดินในกรุงเทพมหานครจะทรุดตัวปีละประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร แต่ในทางกลับกัน จากสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเฉลี่ยขึ้น ทุกปี โดยได้มีหลายหน่วยงานออกมาเตือนภัยว่ากรุงเทพฯ อาจจะต้องประสบกับปัญหา น้ำท่วมเมืองจนถึงขั้นจมบาดาล

นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ

มีการคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมน้ำสูงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากยังไม่มีการบริหารจัดการใด ๆ จากความท้าทาย หลายประการที่กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ กระผมจะขอเสนอจังหวัดนครราชสีมา หรือว่าเมืองโคราชเป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๒ เพราะว่าโคราชมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองหลวง เศรษฐกิจใหม่ได้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมาก เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และมีลักษณะภูมิภาคทางกายภาพเป็นที่ราบสูง มีระดับสูงจาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ทำให้เวลาเกิดน้ำท่วมจะสามารถระบาย น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการวางผังเมือง ด้วยความที่โคราชมีพื้นที่กว้างขวาง และในหลายพื้นที่ยังสามารถพัฒนาและจัดการพื้นที่ได้ง่าย ทำให้สามารถวางผังเมืองใหม่ได้ ด้วยการแบ่ง Zone ไม่ว่าจะเป็น Zone อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว หรือที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ ในปัจจุบันโคราชถือเป็นอีก ๑ จังหวัด ที่เป็นแหล่งรวบรวมแรงงานมีฝีมือเหมาะกับการลงทุน ส่งผลให้มีแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ของประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนครโคราช นิคมอุตสาหกรรมสุรนารี เป็นต้น นอกจากนี้โคราชยังมีสถานที่สำคัญอย่างสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ และมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนคงทราบกันดี โคราชถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้ กรุงเทพฯ ที่ Hot Hit เพราะเต็มไปด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปาก ช่อง เขาใหญ่ หรือล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ UNESCO ได้รับรองให้โคราช Geopark เป็นดินแดน ๓ มงกุฎแห่งที่ ๔ ของโลก ซึ่งในโลกนี้มีแค่ ๓ เมืองที่จะมีมรดกโลก อยู่ในเมืองเดียวกันถึง ๓ แห่ง ด้วยความที่โคราชอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ ๒๕๕ กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่แดนอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้ในปัจจุบัน Megaproject ต่าง ๆ มุ่งสู่โคราช ไม่ว่าจะเป็น Motorway โคราช-บางปะอิน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ที่มีความเร็วสูงถึง ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาโคราชใช้เพียงแค่ชั่วโมงครึ่ง รถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น โครงการระบบขนส่งมวลชน นครราชสีมา โครงการพัฒนาท่าเรือบก Dryport นครราชสีมา คือโครงการที่จะพัฒนาให้ โคราชเป็นศูนย์กลาง Logistics ของภูมิภาค เป็นการขนส่งทางรางเชื่อมโยงระหว่าง ท่าเรือบกกับท่าเรือแหลมฉบัง ถนนวงแหวนรอบนครราชสีมา จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า จังหวัดนครราชสีมามีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะ เป็นเมืองหลวงอีกแห่งของประเทศไทยได้ แต่ถ้าหากการสร้างเมืองหลวงแห่งที่ ๒ จำเป็นที่ จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถจะทำได้ ผมขอเสนอว่าภาครัฐ ควรมีการบริหารจัดการเมืองในกรุงเทพฯ ใหม่ โดยอย่างแรกจะต้องนำคลองที่ถูกถมไป กลับคืนมา เพราะคลองถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน และจะต้องจัดหาพื้นที่ไว้รองรับน้ำ รวมทั้งมีการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยอาจจะต้องศึกษาจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะว่าที่อัมสเตอร์ดัม สามารถบริหารให้แผ่นดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลสามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ ควรมีระบบการจัดการขยะ การจัดการทางไหลของน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมหลังฝนตก อีกทั้งจะต้องมีการส่งเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูงที่ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวทาง แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สำคัญจะต้องกระจายความเจริญ การสร้างเมืองเศรษฐกิจตามหัวเมือง ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดอื่นที่เอื้อต่อการทำอุตสาหกรรม เพื่อเป็น การกระจายงาน กระจายรายได้ ลดความแออัดในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งต้องพัฒนาระบบ ขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้กระผมจึงเห็นสมควรให้มี การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายที่ลงชื่ออภิปราย ท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เรียนเชิญครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ บางเขน จตุจักร หลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้าง แนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล แน่นอนว่า ถ้าเราบอกว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจมน้ำ อันนี้คงไม่ใช่เรื่องจริง แม้ว่าในอดีตมีการพูดกันมานานว่ากรุงเทพฯ จมน้ำ แต่ต้องบอกอย่างนี้ว่าในอดีตมีการสูบ น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่ว่าปัจจุบันนี้เราเลิกสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้แล้ว เพราะฉะนั้นการทรุดตัว จะค่อนข้างเป็นไปได้ช้า ในขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นก็จริง แต่ต้องบอกว่าในอนาคตท่วม แน่นอน เพราะว่าด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นปีละ ๒ เซนติเมตร ในขณะที่กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลแค่ ๑.๕ เมตรเท่านั้น จากการทำ Prediction Model ขอ Slide ด้วยนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

จากการทำ Prediction Model เราก็จะรู้ได้ว่าประมาณ ๓๐-๗๐ ปีข้างหน้าอย่างไรก็ท่วม และจังหวัดสำคัญที่ท่วม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา แล้วก็อาจจะตามมาด้วยนนทบุรี แล้วก็ปทุมธานี

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องข้อเสนอเรื่องของการย้ายเมืองหลวง อันนี้ผมคิดว่าเราตัดทิ้งไปได้เลย เพราะว่ากรุงเทพฯ ณ เวลานี้คือจุดศูนย์กลางของประเทศไทย การย้ายเมืองและทิ้งทุกอย่าง แล้วไปเริ่มต้นใหม่คงเป็นไปไม่ได้ นี่ไม่ใช่สมัยอยุธยาที่เราโดนเผาเมืองจนต้องหนีเมือง มาตั้งเมืองใหม่กัน เราอยู่ในยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เราสามารถหาทางในการรับมือกับน้ำท่วมได้ ข้อเสนอที่บอกว่าเราจะตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ อันนี้ก็ไม่จำเป็น ก็ในเมื่อเราไม่เสียกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แล้วคุณจะไปตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ เพิ่มทำไม ถ้าเมืองหลวงเป็นเพียงแค่เมืองที่ไว้สำหรับจัดเก็บเอกสาร ไม่ได้เป็นเมือง ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงแซงหน้าเมืองอื่น ๆ ไม่ได้เป็นเมืองที่มีขนาด GDP ใหญ่คับประเทศขนาดนี้ หรือไม่ได้เป็นเมืองที่จะแทบจะเป็นตัวอย่างของประเทศไทย การที่เราตั้งญัตติแบบนี้มันสะท้อนถึงว่าที่ผ่านมางบประมาณของประเทศเรานั้น ลงแต่เมืองหลวง นี่คือข้อบ่งชี้ว่าปัญหาจริง ๆ แล้วคือการกระจุกตัวของความเจริญที่อยู่แค่ เมืองหลวงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีขนาด GDP ประมาณ ๑ ใน ๓ ของเมืองไทย นี่คือความเสี่ยงของประเทศครับ ถ้าเกิดถึงแม้ว่าวันนี้ทำไมเราไม่ได้พูดถึง น้ำท่วม แต่เราไปพูดถึงสงครามหรือแผ่นดินไหวที่กรุงเทพฯ ถ้าโดนกรุงเทพฯ ขึ้นมา ก็คือจบทั้งประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ปัญหาคือการกระจายความเจริญ ทำให้เมืองรองต่าง ๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ Model ที่ผมจะเสนอก็คือการพยายามสร้าง Ecosystem ขึ้นมาใหม่ในเมืองต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นเรื่องของการ Set Up New CBD Zone ต่าง ๆ ในเมืองต่าง ๆ การวางผังเมืองที่ไม่แออัด สร้างเมืองใหม่ สร้าง Infrastructure ใหม่ ระบบคมนาคมใหม่ การสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงการใช้ BOI ในการดึงนักลงทุนไปลงทุน ในต่างจังหวัดให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เหลื่อมล้ำมากก็ต้องให้สิทธิ BOI มาก เพื่อให้น่าสนใจในการลงทุน

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นต่อมาคือปัญหาเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการน้ำ ของกรุงเทพมหานคร อย่างที่เราทราบกันดีมีน้ำอยู่ ๓ น้ำ น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน น้ำเหนือลงมาน้ำทะเลหนุนสูงก็ระบายไม่ได้ น้ำฝนตกลงมาหนักน้ำทะเลหนุนสูงมันก็ระบาย ได้ช้า เกิดน้ำท่วมจนเกิดวลี Hit ที่ว่า น้ำรอระบาย ที่ใช้แทนคำว่า น้ำท่วม ซึ่งจริง ๆ ก็คือ อันเดียวกัน ต้องบอกว่านี่คือปัญหาเร่งด่วนของกรุงเทพฯ ที่คนพูดกัน เพราะศักยภาพ ในการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในแต่ละวันนี้มีแค่ ๒,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ในขณะที่น้ำฝนตกลงมานั้นมันเกินศักยภาพของกรุงเทพมหานคร และแน่นอน มีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาก็เป็นปัจจัยในการระบายที่มันยากขึ้น เพราะฉะนั้นแนวทาง ในการแก้ไขต้องบอกว่ามีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ระยะสั้นแน่นอน จากประสิทธิภาพของระบบราชการในการระบายน้ำ ก็ทั้งเรื่องของการขยายประตูระบายน้ำ การขยายขนาดท่อระบายน้ำ การเพิ่มอัตราแรงสูงของเครื่องสูบน้ำ การติด Sensor ในท่อระบายน้ำต่าง ๆ การเพิ่มระบบการพัฒนา การพยากรณ์อากาศ การลอกท่อ การขยาย แม่น้ำ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว แค่ ๓ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน หรือประมาณแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ ทั่วโลกเฉลี่ยแล้วที่แนะนำก็คือ ๙ ตารางเมตรต่อประชากร ๑ คน

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนที่ ๓ ก็คือการแก้ไขปัญหาผังเมือง ทุกวันนี้ปัญหาผังเมืองเราไม่ได้มี การแก้ไขผังเมืองประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ล่าสุดก็คือปี ๒๕๕๖ ผังเมืองส่วนใหญ่แล้ว จะถูกบีบให้อยู่กับกรุงเทพฯ ชั้นใน แล้วก็อย่างยิ่งก็คือเราสามารถ Predict ได้ด้วยซ้ำว่า เมืองจะโตไปในทิศทางไหน เพราะผังเมืองไม่ได้ให้เมืองทางด้านของตะวันออกและตะวันตก ได้เจริญ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ส่วนสุดท้ายนั่นคือเรื่องของการแก้ปัญหาระยะสั้นคือการจัดการเรื่องของ พื้นที่หน่วงน้ำ ท่านประธานอาจจะทราบอยู่แล้วก็คือ กทม. มีนโยบายในการสร้างบ่อ หน่วงน้ำแถมกับการให้โบนัส FAR เพิ่มก็คือการให้พื้นที่ในการสร้างโครงการ เพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยการแลกกับบ่อหน่วงน้ำ ปัญหาก็คือถ้าเกิดผมยกตัวอย่าง อย่างเช่นพื้นที่ ทองหล่อที่มี FAR เท่ากับ ๗ ก็คือมีพื้นที่ทั้งหมด ๒ ไร่ หรือ ๓,๒๐๐ ตารางเมตร สามารถ ที่จะสร้างอาคารได้ถึง ๒๒,๐๐๐ ตารางเมตร และถ้าเกิดคุณสร้างบ่อหน่วงน้ำเพียงแค่ ๒๕๖ ลูกบาศก์เมตร ลงทุนเพียงแค่ ๓ ล้านบาท คุณสามารถขอ FAR Bonus เพิ่มได้ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าคุณสามารถมีพื้นที่ ในการขายเพิ่มได้อีกกว่า ๔,๐๐๐ ตารางเมตร สามารถทำกำไรได้กว่า ๑๐๐ ล้านบาท นี่คือปัญหา คำถามก็คือว่าเรามีนโยบาย Policy ในการให้สร้างบ่อหน่วงน้ำกับ FAR เพื่อช่วยเหลือนายทุนหรือจริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำท่วม

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนของแผนระยะกลาง ผมแนะนำว่าเราควรต้องศึกษาของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนที่เกิดโควิดนี่ละครับ เรื่องของ Small City หรือเมืองฟองน้ำ เมืองฟองน้ำ ของอู่ฮั่นในขณะที่เขามีฝนตกมหาศาลแต่เขาสามารถจัดการได้ ตรงนี้ต้องฝากรัฐบาลไปดูว่า ขอใช้ระบบ Green Space ทั้งเรื่องของ Green Space ต่าง ๆ ทั้งเรื่องของ Rain Garden ทั้งเรื่องของการปลูกหญ้าแฝกก็ดี หรือการเปลี่ยนผิวถนนต่าง ๆ ที่เป็น Road Asphalt น้ำฝนสามารถซึมผ่าน Asphalt ไปได้ลงไปอยู่ข้างล่างเพื่อกักเก็บน้ำ เพื่อรอระบาย ในตอนหลังได้

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

สุดท้ายในเรื่องของแผนระยะยาว อย่างที่ผมแจ้งไปว่าอย่างไรเสียกรุงเทพฯ เราทิ้งไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการสร้างระบบการป้องกันน้ำอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมอยากฝากรัฐบาลลองไปศึกษาดูในเรื่องของอย่างเช่น ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ประเทศรัสเซียหรือที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ดี แต่มิติที่เราต้องสนใจเพิ่มเติมก็คือมิติของ สิ่งแวดล้อม เรื่องของการประมง เรื่องของการขนส่งทางเรือ อย่างเช่นที่คลองเตย ก็มีท่าเรือคลองเตยอยู่ ถ้าเราไปสร้างแนวป้องกันน้ำทั้งหมดแล้วท่าเรือคลองเตย จะทำอย่างไรต่อ อันนี้ผมก็ต้องฝากท่านประธานไปด้วย อย่างไรก็ดีผมเห็นด้วยกับการที่เรา ควรจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการศึกษาเรื่องนี้ต่อ แต่ถ้าเกิดเราไม่ได้ตั้งก็ฝากรัฐบาล ไปจัดการเรื่องนี้ต่อครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ มีท่านหนึ่งจะอภิปรายหลังจากข้ามคิวมา คือท่านวีรภัทร คันธะ เป็นท่านสุดท้ายครับ

นายวีรภัทร คันธะ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม วีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๖ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเนื้อหาในญัตตินี้เรื่องของการย้ายเมืองหลวง เพราะสภาพ ปัญหาจากรายงานที่ผมอ่านมาคือกรุงเทพมหานครมีโอกาสที่จะจมน้ำในเวลาอีกไม่นาน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่ว่ากรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่แอ่งมีการทรุดตัวลงทุกปี และมีปัญหาจากเรื่องของสภาวะโลกร้อน และไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครนะครับ สมุทรปราการบ้านของผมก็ยังมีปัญหาในลักษณะคล้ายกันคือมีแนวโน้มที่จะน้ำหนุนสูง จากสภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ กทม. มีความสำคัญครับในฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการปกครอง แต่จากรายงานที่ผ่านมาผมอ่านแล้วผมไม่เห็นด้วยเลยกับการย้าย เมืองหลวง เพราะอะไรครับท่านประธาน การย้ายเมืองหลวงคือการใช้งบประมาณที่สูงมาก ๆ และมีความไม่คุ้มค่ามาก ๆ ในการย้าย เพราะถ้าหากมีการย้ายเกิดขึ้นผมมองว่าด้วยสภาพ สังคมไทยในปัจจุบันอาจมีการคอร์รัปชันในระดับมหาศาลเกิดขึ้น ปัจจุบันเรามีการใช้ เทคโนโลยีในการเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบราชการทำให้ปัจจุบันเรื่องของเมืองหลวง จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป สิ่งที่เราต้องทำก็คือการย้ายคนออกจากเมืองหลวงแห่งนี้ กระจายไปอยู่ที่เมืองที่เป็นเมืองรองหรือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอื่น ๆ มากกว่าการที่จะย้าย เมืองหลวง เปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงของต่างประเทศ ผมยกตัวอย่างเช่น กรุงย่างกุ้งที่ประเทศพม่าได้ย้ายไปกรุงเนปิดอว์หรือเรื่องของเมืองปูตราจายาที่สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเมืองหลวงของมาเลเซีย แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนะครับก็คือเราพบเห็น ความไม่คุ้มค่าของการย้ายเมืองหลวงและเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนก็ยังยึดเมืองกัวลาลัมเปอร์หรือแม้แต่เมืองย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง แล้วก็เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง ข้อเสนอของผมปัจจุบันสมุทรปราการ ใกล้จมน้ำแล้ว ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจึงมีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นแล้วการจัดการประตูระบายน้ำต่าง ๆ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพระประแดงก็คือเรื่องของความเป็นเอกภาพในการเปิดปิดประตู ระบายน้ำหรือรวมไปถึงการจัดการขยะในพื้นที่อย่างเช่นบางกระเจ้า ในคุ้งบางกระเจ้า มีทั้งหมด ๖ ตำบลที่อัดกันอยู่ แต่ละตำบลมีนายก อบต. แต่ปัญหาก็คือว่าตอนนี้ยังไม่เป็น เอกภาพ แต่ถ้าสมมุติว่าสามารถยกเป็นเทศบาลได้ก็อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นแล้วผมคิดว่าเรื่องของการกระจายอำนาจและให้อำนาจท้องถิ่นในการเข้ามาช่วย มีส่วนร่วมในการจัดการเมืองอาจจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น หรืออย่างที่ผมเรียนไปว่าเรื่องของการย้ายเมืองหลวงนี่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวาย เพราะมี เรื่องของความแออัดของประชากรและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้วางแผนเพื่ออยู่ในพื้นที่ ที่ยังคงมีปัญหาอยู่นะครับ แล้วก็อยู่หนาแน่นจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งอย่างที่เรียน การแก้ปัญหาสำคัญก็คือการที่เราต้องเอาคนออกจากเมืองไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นก็ควร คิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจครับ ถ้าเรากระจายอำนาจได้สำเร็จการกระจายอำนาจก็คือ การกระจายความเจริญแล้วก็การกระจายอำนาจในการปกครอง แล้วก็ดึงคนออกจาก กรุงเทพฯ เพื่อลดความหนาแน่นของประชากรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึง เรื่องของการทำพื้นที่และการออกแบบผังเมืองในเมืองอื่น ๆ ที่กำลังจะสร้างดีกว่าการที่ จะต้องพิจารณาเรื่องของการย้ายเมืองหลวง ดังนั้นสุดท้ายแล้วผมคิดว่าสำหรับสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑล ถ้าสมมุติว่ามีการเร่งสร้างเขื่อนใช้งบประมาณน้อยกว่าเยอะครับ แล้วก็ช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาว แต่อย่างน้อยสำหรับญัตตินี้ผมก็อยากให้มีการเสนอ เพื่อพิจารณาในการสร้างเขื่อนเพื่อรองรับการจมน้ำของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกได้อภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไปตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ ผู้เสนอ ญัตติมีสิทธิอภิปรายสรุปอีกครั้งหนึ่ง ต้องการใช้สิทธิไหมครับ เรียนเชิญท่านมังกรครับ

นายมังกร ยนต์ตระกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มังกร ยนต์ตระกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ก็ได้ฟังความเห็นที่หลากหลายของท่านสมาชิกในทุกแง่มุมก็เห็นด้วย แล้วก็จะสนับสนุน หลาย ๆ ความคิด ท่านประธานครับ ถ้าน้ำท่วม ปี ๒๕๗๓ ที่จะท่วมที่แรกคือรัฐสภา เพราะติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ว่าตรงที่นั่งประธานคงไม่ท่วมเพราะอยู่สูง แต่พวกเราข้างล่าง คงจะท่วมกันหมด วันนี้ที่สุขุมวิทกับรามคำแหงพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เพราะฉะนั้น การสร้างแก้มลิงในทะเลโดยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก็จะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เราสามารถ พร่องน้ำในต้นฤดูฝนเพื่อรับน้ำทั้ง ๓ น้ำลงมา แล้วก็สูบลงทะเล ถ้าน้ำทะเลหนุนสูง เขื่อนตัวนี้ก็จะป้องกันน้ำทะเลเข้ามายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประเทศเนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเขาทำสำเร็จมาแล้ว แล้วเขาทำมาตั้งเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว แล้วเขา ยังอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นผมยังมั่นใจว่าเราเอาอยู่ที่จะ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ขอให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังและทุ่มเทศึกษา ทุ่มเทเรื่องงบประมาณ ท่านประธานครับ กรุงเทพฯ เราป่วยมากแล้ว วันนี้เรามีปัญหาเรื่องผังเมือง เรื่องความหนาแน่น ของบ้านเรือน ความหนาแน่นของประชากร มีปัญหาเรื่องการขยายตัวของเมือง มีปัญหา เรื่องมลภาวะ เรื่องฝุ่นละออง เรื่องควันพิษ เรื่องขยะ เรื่องปัญหาจราจร เรื่องปัญหา อาชญากรรม วันนี้เราอย่าให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ป่วยอยู่แล้วต้องจมน้ำซึ่งจะป่วยหนักกว่าเดิมอีก อย่าให้กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงจมบาดาล ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ จากการอภิปรายจริง ๆ ก็ยังมีความเห็นหลากหลายทั้งตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญ หรือว่าไม่ตั้ง หรือว่าส่ง ครม. แต่จากข้อหารือของทาง Whip คิดว่าจะส่งเรื่องไปยัง คณะรัฐบาล ท่านผู้เสนอญัตติติดใจ หรือขัดข้อง หรือเห็นด้วยไหมครับ เห็นด้วยนะครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอใช้อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบในการส่งเรื่องนี้ ไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการครับ เป็นอันเสร็จญัตติที่ ๕.๔ นะครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานขออนุญาตครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย อยากรายงานให้ท่านประธานทราบครับ แล้วก็หารือกับท่านประธานด้วยว่า ณ ขณะนี้เป็นเวลา ๑๖.๕๐ นาฬิกา และญัตติต่อไปที่เรากำลังจะพิจารณากันนี่ก็เป็นญัตติที่มีความสำคัญ มีเพื่อนสมาชิกลงชื่อ อภิปรายไว้ค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีการพูดคุยระหว่าง Whip ทั้ง ๒ ฝั่งว่าวันนี้เราอยากให้เปิด ญัตตินี้ไว้ และอภิปรายไปอย่างน้อยฝั่งละ ๓ คน แล้วหยุดไว้ก่อน เนื่องจากวันนี้และพรุ่งนี้จะมี งานที่หลาย ๆ ท่านติดในพื้นที่ก็คือวันรำลึก เพราะฉะนั้นสมาชิกหลายท่านที่แสดง ความประสงค์ที่จะร่วมอภิปรายติดภารกิจในพื้นที่ จึงมีการพูดคุยกันว่าวันนี้เราเปิดญัตติไว้ และอภิปรายไปจนถึงเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา แล้วเราก็จะหยุดไว้ก่อนแล้วไปต่อ ในครั้งหน้า อันนี้มีการคุยไว้ทาง Whip ทั้ง ๒ ฝั่ง เรียนให้ท่านประธานทราบครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ทางฝ่ายค้านเห็นชอบไหมครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง ในฐานะ Whip ฝ่ายค้าน ได้พูดกับทางวิปรัฐบาลแล้วเราเห็นควรว่าในญัตติที่กำลังจะเปิดขึ้นมานี้เป็นญัตติ ที่มีความสำคัญต่อเด็ก ๆ หลายคน ดังนั้นจึงอยากให้ทางสมาชิกที่มีความประสงค์ จะอภิปรายได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วนหน้า ดังนั้นก็เลยอยากจะให้มีเวลาสำหรับการเปิด เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะอภิปรายฝั่งละ ๓ คนเช่นเดียวกันครับ แล้วในการประชุมครั้งหน้า ให้มีการอภิปรายต่อไปในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ ซึ่งยังคงต้องขอเวลากับการพูดคุยว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องนี้ต่อ ดังนั้นวันนี้ก็อาจจะให้ฝั่งละ ๓ คนก่อน แล้วก็เดี๋ยวมาว่ากันต่อสัปดาห์หน้าได้ครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

มีท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าเป็นข้อตกลงของทาง Whip ผมเองก็ไม่ขัดข้องนะครับ ก็จะดำเนินการในญัตติที่ ๕.๕ โดยให้ทางท่านปารมีได้เสนอญัตติ แล้วก็มีการอภิปราย ฝั่งละ ๓ ท่าน แล้วเราก็จะจบการประชุมในวันนี้ในราว ๆ ๑๘.๐๐ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕.๕ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการจัดการการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย (นายปารมี ไวจงเจริญ เป็นผู้เสนอ) ขอเชิญผู้เสนอแถลงญัตติและเหตุผลครับ

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สืบเนื่องมาจากกรณีข่าวเหตุการณ์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่นักเรียนที่ไม่ปรากฏหลักฐานทะเบียนราษฎรถูกส่งต่อผลักดันกลับประเทศจำนวน ๑๒๖ คน ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับหลายฝ่ายในประเทศไทยเป็นข่าวไปเมื่อ ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น แล้วขณะนี้ ผอ. โรงเรียนก็ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถูกดำเนินคดีอยู่ กรณีของนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรเป็นเรื่องที่ทับซ้อนหลายมิติ และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการหลายหน่วย หลังจากเหตุการณ์นี้เนื่องจากตัวดิฉันเองทำงาน ในประเด็นการศึกษาของพรรคก้าวไกล ได้สนใจประเด็นเรื่องนี้มากและได้ลงพื้นที่ ในหลายจังหวัด ทั้งในภาคเหนือไปมา ๒ ครั้ง ทั้งที่เชียงใหม่ เชียงราย แล้วก็ไปที่คุระบุรี พังงา อันนี้ยังไม่ได้มีโอกาสไปในชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก คือนักเรียนแรงงานข้ามชาติทางฝั่งด่านลาวและกัมพูชา อันนี้อนาคตจะไปอีก ก็ทำให้พบว่า เรื่องราวของนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร นอกจากจำนวนที่หน่วยราชการ แต่ละหน่วยพูดไม่ตรงกัน จำนวนนักเรียนที่ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการให้ตัวเลขไว้ว่า มีประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่หน่วยงานอื่น ๆ จะให้ไม่ตรงกัน นอกจากนั้นจากกรณีที่ดิฉัน ได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดก็พบว่ามันมีปัญหาทับซ้อนหลายมิติ ดิฉันได้ลงพื้นที่ไปที่จังหวัด เชียงใหม่ ไปที่อำเภอเชียงดาว ไปพูดคุยกับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว โดยเฉพาะ โรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม

นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

โรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม ได้พบกับท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านได้ให้ข้อมูลว่าจริง ๆ แล้วเรื่องการลงรหัส G รหัส G นี่ประชาชนทางบ้านอาจจะไม่เข้าใจ จริง ๆ ดิฉันได้เคยพูดในที่ประชุมสภานี้ หลายครั้งแล้ว ขอทบทวนเล็กน้อย คือเป็นรหัสที่กระทรวงศึกษาธิการสร้างขึ้นเพื่อใช้ ในการให้สิทธิเข้าถึงการศึกษากับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรได้เข้าเรียนก่อน แล้วก็เพื่อทางสถานศึกษาหรือโรงเรียนจะได้ไปเบิกงบรายหัวมาจัดการศึกษาให้กับ นักเรียนนั้น นักเรียนที่จะได้รหัส G จะเป็นนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร คนทั่วไป บางทีจะเข้าใจผิด จะนึกถึงแต่นักเรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ทั้งหมด นักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรบางส่วนอาจจะเป็นเด็กไทยก็ได้ ก็ได้แก่เด็กที่ ไม่มีตัวตน ไร้รัฐ เด็กเร่ร่อน เด็กไร้บ้าน ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนไทยก็ได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มของ นักเรียนที่จะเข้าข่ายว่าเป็นนักเรียนไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรมีหลายกลุ่ม จากที่ดิฉัน ไปลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผอ. โรงเรียนได้บอกว่าทางกระทรวงศึกษาได้ออก Generate Code หรือรหัส G ไว้เรียบร้อยแล้วและออกคู่มือด้วย ได้ออกคู่มือ ออก Infographic เพื่อเป็น แนวปฏิบัติให้ครูได้ใช้ในการลงรหัส แต่ผลปรากฏว่าในความเป็นจริงหลาย ๆ โรงเรียน ยังติดขัดไม่สามารถลงได้ ครูหลาย ๆ คนกลัวความผิด ยิ่งเกิดกรณีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่อ่างทองขึ้นมา ครูหลายโรงเรียนไม่กล้าลง ดิฉันได้พูดคุยกับ ผอ. โรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็ปรากฏว่าครูก่อนหน้านี้และ ผอ. ก่อนหน้านี้ ไม่กล้าลงรหัส แต่พอ ผอ. ท่านใหม่ท่านมาท่านเห็นแก่สิทธิของเด็กเป็นเบื้องต้น ท่านจัดการ ลงให้ทีเดียวหลายร้อยคน อันนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละโรงเรียน ครูแต่ละคนมีวิธีปฏิบัติ ที่ไม่เหมือนกันเลย ทางกระทรวงศึกษาธิการจริง ๆ ก็ต้องชื่นชมที่ได้ทำคู่มือสำหรับ การลงและออกรหัส G ให้กับโรงเรียนแต่ละโรงเรียน แต่ว่าครูแต่ละท่านก็ยังมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนกัน ไม่ตรงกัน นี่เป็นปัญหาที่ ๑ ทีนี้เรื่องรหัส G ไม่ได้เชื่อมโยงเฉพาะ กระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนที่ได้รหัส G แล้ว ท่านทราบไหมคะ เขาได้สิทธิทางการศึกษา แต่เขายังขาดสิทธิอีกหลายด้าน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานในการเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิพื้นฐาน ในการดำรงชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญมากที่ทำให้ดิฉันเห็นว่าสภาแห่งนี้จำเป็นจะต้อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทาง เพราะว่านักเรียนที่ได้รหัส G แล้วนั้น เขาจะยังออกนอกพื้นที่ไม่ได้ เขาจะออกนอกพื้นที่ ออกไปต่างอำเภอ ไปเยี่ยมญาติ หรือไปธุระ หรือแม้แต่ไปสอบ ดิฉันไปเจอนักเรียนบางคนที่เป็นนักเรียน ม. ๖ เตรียมตัว จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะออกนอกพื้นที่เขาหวั่นเกรงกันมาก แล้วก็มาปรึกษาหาแนวทาง ที่จะไป ออกนอกพื้นที่ไม่ได้ นอกเหนือไปจากนั้นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิการรับบริการสาธารณสุข ก็ไม่ได้ เพราะรหัส G จะให้สิทธิทางการศึกษาเท่านั้นจะเห็นได้ว่าเหล่านี้จริง ๆ เป็นช่องทาง พอนักเรียนเหล่านี้แม้จะได้รหัส G จากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ออกนอกพื้นที่ไม่ได้ ก็จะเป็น ช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ และมีนักเรียนผู้หญิงหลายรายถึงขนาด โดนล่วงละเมิดทางเพศด้วย จากการที่เขาถูกกดทับเรื่องออกนอกพื้นที่ไม่ได้ นอกจาก ต้องเสียส่วยใต้โต๊ะ นักเรียนหญิงบางรายโดนล่วงละเมิดทางเพศ เหล่านี้เป็นปัญหา ที่หมักหมมมานาน และยังสิทธิทางด้านสาธารณสุขอย่างที่ดิฉันบอกแล้วว่าแม้จะได้รหัส G แต่สิทธิการรักษาพยาบาล หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเขาก็จะไม่ได้รับ เรื่องนักเรียนรหัส G จึงเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน นอกจากจะเกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังเกี่ยวข้อง กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวง พม. สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจริง ๆ ดิฉันได้พูดคุยกับเพื่อน สส. หลายคน ได้ปรึกษากันมาก่อนว่าจริง ๆ เรื่องนี้จะเอา เข้าคณะกรรมาธิการสามัญได้ไหม คือคณะกรรมาธิการการศึกษา ซึ่งตัวดิฉันเองก็นั่งเป็น กรรมาธิการ แต่จากที่ดิฉันแถลงให้ที่ประชุมสภาที่นี้รับทราบว่ากรณีนักเรียนที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎรไม่ได้เป็นแค่เรื่องสิทธิทางการศึกษา และไม่ได้อยู่แค่เนื้องานของ กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ยังเกี่ยวพันกับหน่วยงานอื่น เกี่ยวพันกับกฎหมายและกฎ ระเบียบอีกมากมาย จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อศึกษาแนวทางการจะจัดการศึกษา แล้วก็จัดรับรองสิทธิด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มและเสริม เติมความเป็นมนุษย์ที่เขาขาดหายไป จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยท่านประธานคะ ที่สภาแห่งนี้ เราจะไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อตอนที่ดิฉันเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ ใหม่ ๆ มีหลายคนมา Comment ใน Social media ใน Facebook page หรือTwitter ของดิฉันในหลายประเด็น เช่น นักเรียนไทยยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเลย ไม่เสมอภาคเลย ยังขาดตกบกพร่อง ทำไมมาจัดการศึกษามาดูของนักเรียนต่างชาติ อันนี้ดิฉันอยากจะ ขอชี้แจงว่าในกรณีนักเรียนไทยหรือนักเรียนชาติอะไรก็ตาม ดิฉันยินดีที่จะร่วมผลักดัน ให้สิทธิทางการศึกษาที่เสมอภาคแก่ทุกคน เราต้องมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ต้องมอง เขาว่าเขาก็เป็นพลเมืองโลกเหมือนเรา และมีบางคนออกมาพูดว่าถ้าให้ดำเนินการ เรื่องขึ้นทะเบียนรหัส G และให้สิทธิอื่น ๆ เพิ่มกับนักเรียนแรงงานข้ามชาติต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้มากลืนชาติ บางคนคิดไปไกลขนาดนั้น จะมากลืนชาติเราไหม จะเป็นภัยต่อ ความมั่นคงไหม ดิฉันอยากขอนำเรียนท่านประธานว่ายิ่งเราไม่รู้ตัวเลข ไม่สามารถ จัดระเบียบนักเรียนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ นั่นละค่ะยิ่งเป็นภัยมากกว่า สิ่งอะไรก็ตามถ้ามันอยู่ใน ที่มืด ที่สลัว อยู่ใต้โต๊ะ มันจะยิ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ถ้าเราทำเรื่องนักเรียนแรงงาน ข้ามชาติ นักเรียนลูกหลานชาติพันธุ์ หรือเด็กเร่ร่อน เด็กไร้บ้านหลาย ๆ กลุ่มที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎรเหล่านี้เข้ามาอยู่ร่วมกัน จะเป็นผลดีต่อเรื่องความมั่นคงของประเทศ ผลดี มาก ๆ ของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ มันจะส่งผลต่อเนื่องอีกหลายอย่าง นอกจากคณะกรรมาธิการนี้จะเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งแม้แต่ข้อมูลนักเรียนรหัส G แต่ละหน่วยงานยังพูดไม่ตรงกันเลยค่ะท่านประธาน อย่างที่ดิฉันแจ้ง มันข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงาน ประสานงานกันยุ่งยากมาก ข้าราชการ ครู ปลัดอำเภอที่ดิฉันไปเจอ ก็จะให้ข้อมูลไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางคือคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ ที่จะเรียกปลัดกระทรวงของทุก ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในคณะกรรมาธิการ วิสามัญนี้ แล้วจะได้มาช่วยกันออกแบบวางวิธีที่จะสร้างกลไกที่จะทะลุทะลวงท่อที่ตันอยู่ ในตอนนี้ในการที่จะรับรองสิทธิของนักเรียนเหล่านี้ จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่สภาเราจะไม่ตั้ง จึงอยากวิงวอนถึงเพื่อน สส. ผู้ทรงเกียรติทุก ๆ พรรคขอให้มาร่วมมือกันทำเรื่องนี้ เพราะว่า ประเทศไทยเรา จากผลการรายงานของ NGO หลายหน่วยงานพบว่าประเทศไทยเราติด ๑ ใน Top five หรือ ๑ ใน ๕ ของประเทศที่มีเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือเด็กที่ไม่มีสถานะ ทางทะเบียนราษฎรสูงที่สุดในโลก ยิ่งประเทศไทยเราในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศ เพื่อนบ้านเรามีสถานการณ์การสู้รบ เพราะฉะนั้นจึงขอให้ทุกท่านมาร่วมกันตั้ง คณะกรรมาธิการนี้แล้วมาช่วยกันทะลุทะลวงท่อที่มันตันเหล่านี้ คืนสิทธิความเป็นคนให้กับ เด็กกลุ่มนี้ทุก ๆ คน ร่วมกันช่วยกันเถอะค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นการอภิปรายของสมาชิกที่เข้าชื่อไว้ แล้วก็ตามที่ตกลงกันคือฝ่ายละ ๓ ท่าน ท่านแรกของทางฝ่ายค้าน ท่านณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ครับ

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณท่านประธานครับ เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต ๓ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ออน อำเภอดอนสะเก็ด พรรคก้าวไกล ผมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ผมขอเล่าเรื่องเท้าความให้เพื่อน ๆ สมาชิก แล้วก็ประชาชนที่ได้ฟังอยู่ได้เข้าใจสักเล็กน้อย ผมยอมรับตามตรงเลยว่าเริ่มแรกผมไม่มีความรู้ใด ๆ เลยเกี่ยวกับเด็กเลข G เด็กที่ไร้สถานะ โดยรัฐ แต่ผมมีโอกาสได้พบกับเจ้าอาวาสท่านหนึ่งที่วัดน้ำจำ ตำบลร้องวัวแดง และได้พบกับ คุณครู เขาก็เชิญชวนผมว่าให้กรุณาไปเยี่ยมที่โรงเรียนหน่อยเพราะว่าที่โรงเรียนลำบากมาก เด็กไม่ได้รับการอุดหนุน ไม่ได้รับอะไรเลย และมีเด็กจำนวนมากเป็นเด็กผู้ลี้ภัย เด็กที่เป็น ลูกหลานชาติพันธุ์ เด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ผมก็ได้มีโอกาสไปครับ ผมก็ไปที่ โรงเรียนแห่งนั้น โรงเรียนแห่งนั้นชื่อว่าโรงเรียนเพื่อชีวิต ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด อยู่บน ภูเขา ผมไม่ได้เตรียมรูปมานะครับ แต่ผมคิดว่าคำพูดผมน่าจะอธิบายสภาพของโรงเรียนได้ ทางเข้าเป็นดินแดงที่รถเก๋งเข้าไม่ได้ ห้องเรียนไม่มีผนัง โรงนอนของน้อง ๆ นักเรียนคือ สังกะสีที่ผุ โรงอาหารคือไม่มีพื้นที่ทำอาหาร ไม่มีครัวที่เป็นกิจจะลักษณะ ที่นั่นมีเด็กอยู่ ประมาณ ๑๐๐ คน เด็กเหล่านี้ล้วนเป็นเด็กที่ลี้ภัย เป็นลูกผู้ลี้ภัย เป็นลูกแรงงานข้ามชาติ เป็นลูกของพี่น้องชาติพันธุ์ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ โรงเรียน สพฐ. ได้ เพราะว่าเขาไม่มีสถานะใด ๆ เลย ทีนี้ผมได้คุยกับทางท่านเจ้าอาวาสนะครับ ท่านเจ้าอาวาส ก็บอกว่าอยากให้ สส. ได้ช่วย ผมก็ถามเขาครับว่าแล้วผมช่วยอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่ ท่านเจ้าอาวาสตอบมากับสิ่งที่คุณครูตอบมาก็คือเขาต้องการให้เด็กเหล่านี้ได้รับเลข G นี่คือ เป็นครั้งแรกของผมเลยครับ ที่ผมได้ยินคำว่า เด็กเลข G เด็กรหัส G เด็กหัว G ก็เป็นเรื่องใหม่ สำหรับผม แล้วผมก็เห็นความทุกข์ยากตรงนั้น คือมันทุกข์ถึงขนาดที่ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า จะให้หลวงพ่อทิ้งเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร หลวงพ่อต้องเอาอาหารที่วัดใส่รถตู้เก่า ๆ ของท่าน แล้วก็ขับขึ้นมามอบให้เดือนละ ๒ ครั้ง มันก็เป็นเรื่องที่คงไม่มีใครที่จะกล้าทิ้งเด็กเหล่านี้ ปล่อยให้เขาอยู่ตามยถากรรม ผมก็นำเรื่องเด็กเลข G มาพูดคุยกับเพื่อน ๆ สส. ในพรรคก้าวไกล ที่อยู่ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายสิทธิด้วย มีหลายท่าน ก็ได้หารือกันอยู่บ่อยครั้งว่าเด็กเลข G คืออะไร สถานการณ์เป็นอย่างไร เราหารือทั้ง Online ได้ลงพื้นที่อย่างที่ สส. ปารมีได้เล่าไปนะครับ เราไปที่เชียงดาว เชียงใหม่ เราประชุม Zoom Online กับเครือข่ายมูลนิธิต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อน เรื่องพวกนี้ จนถึงวันนี้ผมพูดได้เลยว่าแม้แต่ตัวผมเองยังหาข้อสรุปไม่ได้เลยว่าเราจะจัดการ เรื่องนี้อย่างไร มีอยู่หลายประการที่ผมหาข้อสรุปไม่ได้จริง ๆ ครับ

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ข้อแรก ตามคำนิยามเด็กรหัส G รหัส G คือรหัสที่โรงเรียนจะมอบให้กับเด็ก ที่เข้าโรงเรียน เด็กเหล่านั้นต้องเป็นเด็กที่ไม่มีสถานะทางบุคคล คือไม่มีบัตร ไม่มีอะไรเลย และเด็ก ๆ ต้องได้รับรหัสนี้ต่อเมื่อเข้าโรงเรียนเท่านั้น คำถามที่มันย้อนอยู่ในตัวของมันเอง คือถ้าเด็กเหล่านี้แม้แต่จะเข้าโรงเรียนไม่ได้เลยแล้วเขาจะได้รับรหัสเหล่านี้ได้อย่างไร

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ มีความสับสนที่ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ คือมีความเข้าใจในพื้นที่ เข้าใจ ในหลาย ๆ โรงเรียนที่แตกต่างกันที่ได้ไปพบมา คุณครูก็มักจะบอกว่าถ้าเด็กได้เลข G เด็กจะได้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันรายวันและจะได้นมโรงเรียน ซึ่งผมก็ยังหาคำตอบ ไม่ได้ เพราะบางข้อมูลก็บอกว่าต่อให้ได้เลข G แล้ว เลข G เป็นแค่รหัสนักเรียน ไม่ใช่สถานะ ทางบุคคล ไม่ใช่เลข ๑๓ หลักแบบที่เด็กไทยได้ ถ้าเด็กไทยได้นั่นคือเข้าโรงเรียนของรัฐ แล้วจะได้รับเงินอุดหนุน ถูกไหมครับ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าเด็กที่ได้เลข G แล้วได้รับ การอุดหนุนหรือไม่

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

มีอีกประการหนึ่ง ก็ยังสับสนอยู่ดี แต่ละโรงเรียนนะครับ โรงเรียนในประเทศเรา มีหลายประเภท โรงเรียนเอกชนที่เป็นมูลนิธิ โรงเรียน สพฐ. โรงเรียนที่เป็นของท้องถิ่น โรงเรียนในสังกัด กทม. ก็มี เมื่อเราได้หาข้อมูลเพิ่มขึ้นเยอะ ๆ กลับพบว่าโรงเรียนเหล่านี้ไม่ใช่แค่เชียงใหม่ ภาคเหนือ จังหวัดที่ติดชายแดน กรุงเทพมหานครที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเยอะ ๆ ก็มีเด็กเหล่านี้ แฝงตัวอยู่ตามโรงเรียนเหล่านี้ แล้วจากการประเมินที่เป็นการประเมินไม่ชัดเจนเหมือนกัน มีข้อมูลว่ามีเด็กเหล่านี้ที่ไม่ได้มีสถานะใด ๆ เลย หรือไม่มีแม้แต่เลข G หรือไม่รู้ว่าได้อยู่ใน โรงเรียนหรือเปล่า ทั่วประเทศไทยประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ราย สิ่งที่ผมอยากจะสนับสนุน ให้เราได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะศึกษาเรื่องนี้ คือหลายท่านได้บอกกับผมว่า การศึกษา หลักการ Education for All สำหรับเด็กคนหนึ่งมันเป็นหลักการสิทธิที่เด็กทุกคน บนโลกนี้พึงมี มีการยกข้อมูลเปรียบเทียบว่าการที่เราลงทุนกับเด็ก ๑ คน มันมีค่าเฉลี่ย ของมันอยู่ครับ เด็ก ๑ คนที่เราจะลงทุนกับเขาให้เขาได้เรียนจนจบมันมีมูลค่าเท่าไร แต่สิ่งที่ จะได้รับกลับมาจากที่เขาเรียนจบแล้วได้ทำงานไป มูลค่าที่เขาจะสามารถสร้างให้กับ เศรษฐกิจรายได้ต่าง ๆ มันทวีคูณไปมหาศาล ก็อยากจะสรุปตรงนี้ว่าเป็นเรื่องที่มิอาจหา ข้อสรุปได้ ณ วันนี้ และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานอย่างที่ สส. ปารมีได้อภิปรายไป เมื่อสักครู่

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ เรียนเชิญท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ผมขออภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มี สัญชาติไทย พี่น้องแรงงาน พี่น้องต่างด้าว หรือลูกหลานต่างประเทศหลายท่านประสบ ปัญหาเรื่องนี้มานาน หรือแม้กระทั่งคนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่แรกเกิด จะไปเรียน ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดก็ไม่ได้ ผลสุดท้ายก็ต้องทำผิดกฎหมาย ไปทำบัตรประชาชน ทำทะเบียนบ้าน ไปสวมคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ไปทำที่จังหวัดอื่น นั่นคือเป็นปัญหาที่มีมานาน แล้วก็ทำให้เกิดการทุจริต เกิดการกดขี่ข่มเหง หรือแม้กระทั่งข่มขืน เรียกรับเงิน รับส่วย นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยของเราควรเห็นความสำคัญของความเป็นคน เป็นมนุษย์ ซึ่งผม เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทย โดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งผมได้ทำเรื่อง กราบเรียนท่านไปแล้ว ทั้งเรื่องที่เปิดเผยได้และเรื่องที่เป็นความลับที่สุดที่หน่วยงานอื่น ๆ รับส่วยจากพี่น้องแรงงานต่างด้าว พี่น้องเกษตรกร หรือคนยากคนจน นั่นคือสิ่งที่ ทุกหน่วยงานต้องเห็นลูกหลาน คนต่างด้าว ลูกหลานคนต่างประเทศ แรงงาน เปรียบเสมือน ลูกของเรา ลูกของเรา เราก็ต้องการให้เรียนดี ๆ การศึกษาดี ๆ ลูกของเขา เขาก็ต้องการ ให้ลูกได้มีการศึกษาจะได้ไม่ยากจน นั่นคือสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรเราจะได้ช่วยกันผลักดัน เรื่องนี้ต่อไป ที่ให้ทุกคนจะได้มีบัตรประจำตัวประชาชน มีทะเบียนบ้าน มีเอกสารต่าง ๆ ใบอนุญาตทำงานได้ถูกต้อง และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่ต้องมีนายหน้า นายจ้าง หรือบริษัทรับทำเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก ผมก็ได้กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี บอกว่าค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่ควรเกิน ๑๐๐ บาทต่อครั้ง และให้สะดวกสบายรวดเร็วตามนโยบายพรรคเพื่อไทย ทุกเรื่องต้องอนุมัติภายใน ๒๔ ชั่วโมง ภายใน ๑ วัน นั่นโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะต้องช่วยทุกคน ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาต่าง ๆ ในสังคมจะตามมาอีกมากมาย แม้กระทั่งปัญหาด้านสุขภาพ ด้านโรคติดต่อ เรื่องความมั่นคง เพราะการที่โรงเรียน หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะมีข้ออ้าง อาคารเรียนไม่พอ ไม่มีบัตร ประจำตัวประชาชนเข้าเรียนไม่ได้ หลายประเทศเขาไม่ทำแบบนี้ เขาให้เขาเรียนก่อน เอกสารต่าง ๆ ส่งทีหลังได้ หรือถ้าเก่ง จะ Pass ชั้นหรือข้ามชั้นก็ยังได้ หรือจะเรียนที่บ้าน ก็เรียนได้ ถึงเวลาสอบก็มาสอบ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องรีบปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่มีมา หลายสิบปีตั้งแต่ก่อนผมเกิด จังหวัดนครพนมผมก็มีปัญหามาก คนที่เกิดในประเทศไทย แท้ ๆ ก็ทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ พี่น้องแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาก็ถูกขูดรีด เก็บเงิน เก็บส่วย กลับไปประเทศเขาเสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ เงินต่าง ๆ ก็ถูกริบหมด นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในความเป็นจริง ถ้าพี่น้องแรงงานต่างด้าว ลูกหลาน คนต่างประเทศ หรือทุกคนได้รับสิทธิความเสมอภาค ได้สิทธิการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนถือว่า เป็นมนุษย์ต้องได้รับเกียรติ ได้รับศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ต่างประเทศ ต่างชาติเขาก็จะยอมรับ ประเทศไทยของเรา นั่นคือต้องฝากท่านประธานได้มีการพิจารณาหรือดำเนินการเรื่องนี้ อย่างจริงจัง เพราะทุกคนก็อยากเห็นความสำเร็จของประเทศไทย กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ครับ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๑ อำเภอเมือง พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายกับญัตตินี้ สถานะบุคคลของเด็กอพยพ โยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย องค์กร UNICEF ประเทศไทยบอกว่าการเข้ามาของเด็ก อพยพโยกย้ายถิ่นฐานให้ไทยนั้น แม้จะมีกฎหมายนโยบายเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนรวมถึง เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่จะเข้ามาในประเทศไทย สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็น อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม การจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า การขายประกัน สุขภาพ เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานสามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนโดยได้รับการศึกษาโดยมี เอกสารรับรองการศึกษา เป็นต้น เพราะว่าในทางปฏิบัติกลับพบว่าเด็กเหล่านี้ยังประสบ ปัญหาอย่างยากลำบากในการเข้าถึงบริการภาครัฐที่มีคุณภาพ โดยสาเหตุหลักมาจาก ๑. กฎหมาย ๒. ทัศนคติ ๓. ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ต่อนโยบายในการทำงานกับเด็กอพยพ โยกย้ายถิ่นฐาน จากการที่ผมได้เข้าร่วมการประชุมที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ เรื่องเด็กเคลื่อนย้ายจากบริเวณชายแดนตะวันตก การเข้าถึงในสิทธิคุ้มครองเด็ก และการศึกษา พบว่าความไม่สงบตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ ประชาชนในประเทศเมียนมาตามชายแดนได้รับผลกระทบอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็น แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เด็กในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ๑. เด็กที่เดินทาง ไปกลับ ๒. เด็กที่มาอยู่และพักอยู่ในฝั่งไทย ๓. บุตรหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตาม ผู้ปกครองมา

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ปัญหาที่พบคือสิทธิในสถานะบุคคล กฎหมายรัฐไทย สิทธิในการศึกษา สิทธิในหลักประกันสุขภาพ กรณีเด็กรหัส G ได้รับการดูแล จาก สปสช. กรณีเด็กติดตามแรงงานซื้อบัตรประกันสุขภาพ และกรณีไม่มีสถานะใด ๆ เลย หรือบัตร ๐ ต้องดูแลค่าใช้จ่ายเอง สิทธิในการเดินทาง การเดินทางต้องขออนุญาต ออกนอกพื้นที่ และหากไม่มีเลข ๑๓ หลัก ก็ไม่สามารถเดินทางในบางระบบได้ อาทิ การใช้เครื่องบินโดยสาร สิทธิในการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สิทธิในการได้รับการปกป้อง คุ้มครองตามอนุสัญญาด้วยสิทธิเด็ก และเด็กที่เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ประสบปัญหา การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และจำเป็นต้องปรับตัวพร้อมกับเผชิญหน้ากับภาวะต่าง ๆ การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ในทางปฏิบัติ ยังพบข้อจำกัดอยู่หลายประการ

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อแรก เรื่องการนำเข้าเรียน ได้แก่เอกสารการเข้าเรียน การรับรอง จากผู้ใหญ่บ้าน การรับรองจากหน่วยงาน ต้องมีคนมาช่วยเตรียมระหว่างเรียน ซึ่งใช้จำนวน คนเยอะและใช้เวลาต่อคนเป็นจำนวนมาก

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ไม่ได้รับการเรียนอย่างต่อเนื่อง เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่ไกลบ้าน และเด็ก Dropout เด็กไม่มีสัญชาติที่เข้ารับการศึกษา ณ ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติ เป็นแนวทางช่วยลดช่องว่างในการทำงานเรื่องนี้จริง แต่ยังประสบปัญหาความยั่งยืนต่าง ๆ ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่อุดหนุนการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด บทเรียนที่เราทราบจากโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา ๖ จากจังหวัดอ่างทอง ที่เราพบเด็กไร้สัญชาติ ๑๒๖ คน โดย ๑๒๖ คนนั้น แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ๓๔ คน ถูกส่งกลับ ๒๐ คน ย้ายมาจากจังหวัดเชียงราย และเด็ก ๗๒ คน เข้าเรียนใหม่ ดังนั้นกรณีดังกล่าวที่มีเด็กอยู่ในและเข้ารับการศึกษาในประเทศไทย มีอยู่แล้ว การดำเนินการต่าง ๆ เน้นเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน หรือ Education for All เป็นสำคัญ กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่โต้แย้งเชื่อมโยงสิทธิการศึกษา การเข้าเมือง และการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็ก เด็กที่เข้ารับการศึกษามีเอกสารทะเบียน ๒ คน และไร้เอกสารอีก ๔ คน ส่วนที่เหลือเป็นเด็กสัญชาติเมียนมา ซึ่ง ณ ปัจจุบันทราบว่า เด็กกลุ่มที่เดินทางกลับแล้วจาก ๓๔ คนแรก กลับเข้ามา ๒๐ คน โดยทั้งที่กลับเข้ามาได้รับ การศึกษา ไม่ได้รับการศึกษา และกลับมาทำงาน การติดตามข้อมูลได้ประสานงานกับ หลาย ๆ โรงเรียน พบว่ามีการปฏิเสธไม่รับเด็กเข้ารับการศึกษา ผมมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง กฎหมายพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้เท่าทันกับบริบทจริง ในขณะที่ สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ปรับฐานข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์ข้อจำกัดที่แท้จริง ของสถานการณ์ในพื้นที่จริงและชะตากรรมของเด็ก อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ ข้อจำกัด การสนับสนุน การช่วยเหลือ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทบทวน การถอน ข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ ๒๒ จะทำแผนปฏิบัติระดับชาติเพื่อคุ้มครอง เด็กโยกย้ายถิ่นฐาน

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้เด็กหนีควันไฟมาจากสงครามในประเทศ มาหา ที่พึ่งในรัฐไทย หวังเพียงจะได้รับการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับถูกจำกัดด้วย ข้อระเบียบ กฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่สายลมแห่งความเท่าเทียมจะขับเคลื่อนไปในทิศทาง ที่เหมาะสม ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทย ในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทาง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ดิฉัน ขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนในประเด็นที่เกี่ยวข้องและสำคัญ รวมถึงข้อเสนอแนะในญัตตินี้ ทั้งหมดในภาพรวมนะคะ จากข้อมูลบทความและงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นของคุณนิติพล คงสมบูรณ์ ในเรื่องปัญหาในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติในประเทศไทย หรือเรื่องของการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคการจัดการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ในประเทศไทย ของคุณสุภาภรณ์ ชาวสวน และคุณไพฑูรย์ โพธิสว่าง มีการศึกษาเรื่องที่ น่าสนใจหลายประเด็น อย่างในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศ เพื่อนบ้าน ยังมีกลุ่มคนไร้สัญชาติอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการอพยพเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหนี สงครามในพื้นที่ หรือจะเป็นการอพยพเพื่อเข้ามาหาพื้นที่ทางทำกินเข้ามาหาอนาคต ในประเทศไทย โดยจำนวนของบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ๓ ลำดับแรก อาศัยอยู่ใน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงราย ซึ่งในจังหวัดเชียงรายจังหวัดบ้านเกิด ของดิฉันเองค่ะท่านประธาน มีจำนวนสูงถึง ๑๓๐,๐๐๐ กว่าคนในปี ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ท่านประธานคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นก็คือเด็กที่คลอดออกมา บนขอบเขตดินแดนประเทศไทย กลุ่มเด็กที่เกิดขึ้นบนดินแดนของประเทศไทยเหล่านี้ค่ะ ท่านประธาน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในประเทศไทยได้ ทำให้ชีวิต ของเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่มีความมั่นคงในชีวิตตามหลักมนุษยชน ในส่วนของหน่วยงาน ภาครัฐที่เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องของบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ก็คือ ๑. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องสัญชาติและทะเบียนราษฎร ๒. หน่วยงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะดูแลเรื่องความมั่นคง ๓. กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

โดยปัญหาหลัก ๆ ที่พบเจอในขั้นตอนของการขอสัญชาติ คือระยะเวลา ในการดำเนินงานที่ยาวนานมาก รัฐเองไม่ได้ทำงานในเชิงรุกและไม่ได้กระตือรือร้นที่จะ พิสูจน์สิทธิหรือพิสูจน์สัญชาติของกลุ่มบุคคลชายขอบไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และทางภาครัฐก็ไม่ได้ มีเป้าหมายตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะมีการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นเป็นจำนวนตัวเลขเท่าใด ในแต่ละปี ทำให้มีเหล่าพี่น้องชาติพันธุ์และบุคคลไร้สัญชาติบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็น รุ่นที่ ๒ รุ่นที่ ๓ หรือรุ่นที่ ๔ มีจำนวนตัวเลขตกค้างเป็นจำนวนมาก และตัวเลขจำนวนนี้เอง ทำให้เกิดการจำกัดการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาที่เด็ก ๆ ชาติพันธุ์ หรือเด็ก ไร้รัฐ ไร้สัญชาติเหล่านี้ควรที่จะได้รับก็ถูกตัดโอกาสค่ะท่านประธาน ซึ่งในท้ายที่สุดเด็ก ๆ ที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติเหล่านี้ก็อาจจะมีโอกาสที่ถูกชักจูงหรือล่อลวงเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ข้ามชาติก็เป็นไปได้

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ในส่วนของตัวเลขของเด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน ตามข้อมูล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี ๒๕๖๖ นั้น มีจำนวนถึง ๘๑,๘๖๖ คน โดยดิฉันเชื่อว่ายังมีจำนวนเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกจำนวนมากที่ยังตกหล่น ตกสำรวจ ทำให้ ไม่มีโอกาสในการเข้าสู่สวัสดิการด้านการศึกษาตามหลักมนุษยชน ดิฉันจึงอยากจะฝากถาม ท่านประธานไปยังหน่วยงานของภาครัฐ นั่นก็คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ซึ่งทางหน่วยงานอาจจะมีงานหนักสักเล็กน้อยนะคะท่านประธาน เพราะดิฉัน จะขออนุญาตเสนอแนะว่าหน่วยงานของท่านอาจจะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคและไม่สอดคล้องกับปัญหาของเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติในยุคปัจจุบัน รวมถึง การบริหารงานที่อิงจากคำสั่งศูนย์กลางที่นั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ห้อง Air-condition ของทาง กระทรวงหรือกรมที่เกี่ยวข้อง อาจจะไม่ได้รับข้อมูล หรือการจัดทำนโยบาย การกำหนด ทิศทาง หรือการจัดการโครงสร้างด้านการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ถูกต้อง และยังคงมีความซับซ้อน ซ้ำซ้อน และล่าช้า ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงการบริหารงาน ภายในกระทรวงหรือกรมให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและชัดเจน รวมถึงอ้างอิงจากปัญหา และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งทัศนคติของทางผู้บริหาร บุคลากรทางด้าน การศึกษาต่อมุมมองในเรื่องของเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ต้องไม่ใช่การมองว่าพวกเขาคือภาระ หรืออุปสรรคในการบริหารงาน หรือจะมากลัวว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะมาใช้ทรัพยากร ของประเทศไทย แต่พวกท่านต้องมองว่าเด็ก ๆ เหล่านี้คือทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตที่เรา จะต้องช่วยกันให้ความรู้และปลูกฝังด้านการศึกษาให้เขากลับเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศไทย ได้ในอนาคตค่ะ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ท้ายที่สุดนี้นะคะท่านประธาน พี่น้องชาติพันธุ์ของเรา เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยของพวกเราต้องเสียน้ำตาอีกกี่หยด ต้องผิดหวังในชีวิตอีกกี่ครั้ง และต้องเสียระยะเวลาในการรอคอยภาครัฐมาพิสูจน์สิทธิหรือสัญชาติอีกกี่สิบปี หรือพี่น้อง พวกเรากลุ่มนี้ต้องรอคอยภาครัฐเข้ามาเหลียวแลทั้งชีวิต ยิ่งยืดระยะเวลาการทำงานที่ล่าช้า ของภาครัฐ ก็จะเท่ากับการตัดโอกาสในการมีชีวิต และการมีโอกาสที่จะมีอนาคตที่สดใส ของเหล่าพี่น้องชาติพันธุ์และบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติบนผืนแผ่นดินไทย ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านธิษะณา ชุณหะวัณ ครับ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน เขตสาทร และเขตราชเทวี ขออนุญาต Slide ขึ้นค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปพบปะกับพี่น้องชาติพันธุ์ชาวลาหู่แล้วก็เด็กรหัส G ที่อำเภอ เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มากับอาจารย์จวง ผู้ที่เสนอญัตตินี้ วันนี้ดิฉันก็มาอภิปราย เพื่อสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก เรื่องการแก้ไขปัญหาของเด็กรหัส G หรือที่เรียกว่า กลุ่ม Generated Code เด็กรหัส G คือกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งพวกเขา มีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข ๑๓ หลักของ กระทรวงมหาดไทย โดยเด็กรหัส G เหล่านี้เขาไม่ได้รับบัตรประชาชนไทย มีมาจาก หลากหลายสาเหตุ ที่สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. ลูกหลานของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐจัดทำข้อมูลหรือไม่ได้ จัดทำข้อมูลไว้ แต่เนื่องจากบิดามารดาไม่ได้มีสัญชาติไทยจึงไม่มีเอกสาร และลูกหลานไม่ได้ แจ้งเกิด และไม่มีเอกสารแจ้งเกิด

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. เด็กที่ไร้รากเหง้า เด็กกำพร้า หรือเด็กที่ถูกทอดทิ้ง

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. กลุ่มลูกของแรงงานข้ามชาติค่ะท่าน

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๔. ลูกหลานของผู้ลี้ภัยในทั้ง ๙ แคมป์ค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

หน่วยงานที่ทำทะเบียนรหัสเด็ก G ก็คือกระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันไม่มี ข้อมูลว่าเด็กรหัส G มีจำนวนเท่าไรกันแน่ เมื่อย้อนไปดูข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี ๒๕๕๘ ได้พบว่ามีนักเรียนรหัส G ราว ๖๗,๔๓๓ คน แต่ขณะนี้ในพื้นที่ที่ดิฉันได้ไป สำรวจกับเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล มีเด็กรหัส G ทั้งสิ้นกว่า ๑๐๓,๐๐๐ กว่าราย และอาจจะเยอะกว่านั้นค่ะ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แม้เด็กรหัส G จะมีโอกาสเล่าเรียนและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการศึกษา แต่ทั้งนี้ผลมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. ได้ออกยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา ทางสถานะและสิทธิของบุคคล เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และมีผลบังคับใช้เรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคล ที่อาศัยอยู่ในประเทศทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามเด็กกลุ่มนี้ยังไม่มีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการอื่น ๆ ของภาครัฐ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษาต่อ ในการที่จะเข้าไปทำงาน ในการที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่ และโดยเฉพาะที่เป็นอันตรายที่ดิฉันพูดถึงก็คือสิทธิ ในการรักษาพยาบาล อาจถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาล ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต รวมถึง สิทธิในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่ต้องใช้เลขประจำตัว ๑๓ หลัก เช่น การทำธุรกรรม ทางการเงิน การทำใบขับขี่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่หลายหน่วยงานร่วมกันต้องแก้ไข ไม่ใช่แค่ ปัญหาของกระทรวงเดียว เพื่อนสมาชิกและดิฉันจึงคิดว่าเราควรจะตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพราะเหตุนี้ค่ะ แม้ว่าหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานจะได้พยายามแก้ไขปัญหา ของคนกลุ่มนี้หนึ่งในแนวทางช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือจัดโครงการสำรวจเด็ก ทำรหัสทะเบียน G ของกรมการปกครอง เพื่อสำรวจเด็กที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่จะได้บัตร ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า ๑. ต้องเกิดในไทย ๒. มีถิ่นที่อยู่ถาวร ๓. คนเหล่านี้จะเข้าคุณสมบัติได้ บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และสามารถยื่นคำร้อง ขอสัญชาติไทยตาม มาตรา ๗ ทวิ ได้ในอนาคต แต่การดำเนินการตามโครงการนี้ยังเต็ม ไปด้วยความล่าช้าและเจออุปสรรคมากมาย ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการเร่งดำเนินการ

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ในส่วนของปัญหาการพิจารณาอนุญาตให้เด็กกลุ่ม G สามารถขอยื่น สัญชาติไทยได้ มีอุปสรรคอยู่มากมายหลายประการซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้การขอสัญชาติของกลุ่ม G ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยหลักเกณฑ์ในการขอสัญชาติของเด็กกลุ่ม G จะต้องกำหนดรายละเอียดอยู่ในประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดามารดาและคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทย เป็นเฉพาะราย ซึ่งมีขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ในประกาศ ดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์หลายประการด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม G คือ ๓ ข้อ ให้เด็ก และบุคคลที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยบิดา และมารดาเป็นคนต่างด้าวอื่นที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ ๒ หรือไม่ปรากฏ บิดา หรือบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ ให้ได้สัญชาติเป็นการทั่วไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ โดยดิฉันจะยกประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ข้อ ๑ มีหลักฐาน แสดงว่าเกิดในราชอาณาจักร เพียงแค่หลักเกณฑ์ข้อแรกก็ตัดสิทธิเด็กกลุ่ม G เป็นจำนวนมาก แล้วค่ะท่านประธาน จากที่ดิฉันได้ไปลงพื้นที่สำรวจเด็กกลุ่ม G อย่างที่ได้นำเรียนข้างต้น มีกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยสามเณรทั้งหมด ๕๖ คน แต่บุคคลเหล่านั้นหรือสามเณรเหล่านั้นไม่มี หลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไปแล้ว ๕๕ คนค่ะท่านประธาน ซึ่งอัตราเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะคะ นี่ยังไม่รวมถึงโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการตกสำรวจ หรือหน่วยงานรัฐยังเข้าไม่ถึงอีกจำนวนมาก เงื่อนไขเหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหามากกว่าวิธีการ แก้ไข และเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาสัญชาติของกลุ่ม G ไม่คืบหน้า

นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อต่อไปที่ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหาคือหลักฐานว่ามีการจบการศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศที่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองวิทยฐานะ หรือหากจบจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับทุน ศึกษาจากหน่วยงานรัฐ ข้อแรกว่าน่าตกใจแล้ว มาดูเงื่อนไขข้อ ๖ น่าตกใจยิ่งกว่า เนื่องจาก หากการขยายโอกาสในการให้สัญชาติแก่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้เขาได้รับสิทธิ และการคุ้มครองในฐานะมนุษย์ เงื่อนไขนี้ก็เรียกว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กลับหัวกลับหางที่สุด เราจะคาดหวังถึงคุณสมบัติการศึกษา อุดมศึกษาได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขายังไม่สามารถ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เลย ดิฉันคงไม่ต้องอภิปรายในรายละเอียดว่าในปัจจุบันแม้แต่คนไทย ที่ถือสัญชาติไทยก็ยังไม่ได้รับสิทธิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเลย แล้วท่านจะให้เกณฑ์ การขอสัญชาติท่านต้องจบระดับอุดมศึกษามันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ พิลึกพิลั่น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยสักนิด และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของข้อ ๗ ว่ากรณีที่ นักเรียนคนดังกล่าวยังไม่สำเร็จการศึกษาก็ยังสามารถยื่นขอได้ หากเป็นไปตาม ความเห็นชอบดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอย่างที่ดิฉันได้นำเรียนไป ใน Slide ก่อนหน้าว่าเราควรพิจารณาการให้สัญชาติเพื่อให้เด็กกลุ่ม G เข้าถึงการคุ้มครอง สิทธิขั้นพื้นฐาน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ควรจะกีดกันพวกเขาเพียงเพราะว่าเขาไม่มี การศึกษาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทย นอกจากเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ดิฉัน ได้นำเรียนขั้นต้น เนื่องจากเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคที่ดิฉันได้นำเรียนข้างต้น สำหรับเด็กกลุ่ม G ที่ระบุพ่อแม่ไม่ได้ หรือพ่อแม่ทอดทิ้งก็ว่าได้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเข้าใส่พวกเขา ตามประกาศ กระทรวงดังกล่าวกำหนดให้พวกเขาต้องมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้า ซึ่งจะออก ได้โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ในกรณีที่ไม่จบการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ท่านประธานคะ ดิฉันอยากตั้งคำถามถึงเงื่อนไขเหล่านี้ว่าควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนที่เอื้ออำนวย ความสะดวกและโอกาสให้การเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กเหล่านี้และสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ง่ายกว่านี้หรือไม่ ในเมื่อเด็กเหล่านี้แค่เกิดมาก็เสียเปรียบคนส่วนใหญ่ในประเทศเราแล้ว หาตัวพ่อแม่ไม่ได้ ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งไม่พอ ยังจะไม่ได้สิทธิขั้นพื้นฐานในการศึกษา ในการเคลื่อนย้าย ในการทำงาน หรือแม้กระทั่งในการรักษาพยาบาลอีก ยังต้องมาถูก กวดขัน ตรวจสอบ ที่สร้างภาระให้พวกเขาเกินกว่าที่พวกเขาจะทำจริงได้ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์เหล่านี้จึงไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในเชิงปฏิบัติเลย แต่กลับเป็นมาตรการ ทางกฎหมายในการอำพรางความรับผิดชอบและผลักภาระการคุ้มครองเข้าถึงโอกาส ให้ตกไปสู่ตัวเด็ก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการปฏิเสธความเป็นมนุษย์และทอดทิ้งกลุ่มคนเหล่านั้น กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ต่อไปเชิญท่านขัตติยา สวัสดิผล ครับ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือว่าไม่มีสัญชาติไทย หากเราไปดูกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ จริง ๆ แล้วจะเห็นว่า ประเทศไทยเรามีกฎหมายรวมถึงระเบียบต่าง ๆ ที่รองรับการให้การศึกษาแก่เด็กที่ไม่มี สัญชาติเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นมติ ครม. ที่ออกเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ระเบียบ ของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมถึงยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา สถานะ และสิทธิของบุคคล ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ การมีกฎหมายเหล่านี้หมายความว่าอะไร การมีกฎหมาย เหล่านี้หมายความว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีสิทธิเรียนตามกฎหมาย ซึ่งทุกท่านในที่นี้ทราบกันดีว่าเราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กกลุ่มหัว G นั่นก็คือมีรหัสที่ขึ้นต้น ด้วยตัว G ท่านประธานคะ เราไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการถึงจำนวนของเด็กหัว G นี้ มานานมากแล้ว มีแต่การคาดการณ์ที่ไม่เป็นทางการว่า ณ ปี ๒๕๖๒ เรามีเด็กกลุ่มหัว G นี้ อยู่ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน แต่พอเรามองย้อนกลับไปถึงมติ ครม. เมื่อปี ๒๕๔๘ ที่ดิฉัน เพิ่งพูดไปเมื่อสักครู่ มีการให้สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือแล้วทำไมเราถึงยังเจอปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติอยู่ ณ ปัจจุบัน นั่นแปลว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายใช่หรือไม่ แต่อาจเกิดจากแนวปฏิบัติหรือเปล่า ท่านประธานคะ ที่ดิฉันอยากจะบอกก็คือว่าเด็กไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงการศึกษาไม่ได้มีอยู่แค่ ชายขอบ แต่ความเป็นจริงคือเด็กไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงการศึกษาอยู่เพียงแค่ปลายจมูก เรานี่เอง นั่นก็คือในกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่าง ในทีมงานของดิฉันได้ไปสัมภาษณ์ น้องผู้ชาย ๑ คน ที่เกิดและโตในประเทศไทย แต่ว่าไม่ได้รับสัญชาติไทย เขาเริ่มเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนรัฐบาลตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เราเรียกเขาว่าเด็กหัว G แต่พอเด็กคนนี้สอบเข้า มหาวิทยาลัยได้ โดยได้ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขากลับโดน เรียกเก็บค่าเทอมในอัตราของคนต่างชาติ พอจบมาก็ต้องทำงานแบบมี Work Permit เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ ดิฉันจึงอยากให้เราถอยมาดูถึงรากของปัญหาว่าจริง ๆ แล้วรากของ ปัญหานั้นก็คือปัญหาของการไร้สัญชาติของเขา แล้วกระบวนการได้สัญชาติของไทยเรา เป็นอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสัญชาติของเรานั้นมีหลายฉบับมาก แต่เราก็ยัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่ เราให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ในการให้สัญชาติเยอะมาก ๆ ดิฉันขอยกตัวอย่าง เมื่อเราไปดูในมาตรา ๗ ทวิ ของพระราชบัญญัติสัญชาติ ปี ๒๕๐๘ ขอ Slide ค่ะ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

มาตรา ๗ ทวิ บอกว่า ผู้ที่เกิด ในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาที่ไม่ได้มีการสมรสกับมารดา หรือมารดา ของผู้นั้นเป็นตาม (๑) (๒) (๓) วรรคสอง วรรคนี้อ่านอย่างช้า ๆ ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ท่านประธานคะ การอ่านวรรคสองอย่างช้า ๆ จะเห็นว่าการสั่งเฉพาะรายตามมาตรา ๗ ทวิ เป็นการเปิดช่องให้มีมติคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะให้สัญชาติแก่บุคคลเฉพาะราย มติ ครม. เป็นชุด ๆ ในการให้สัญชาติมันคือการให้ ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหา การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ ดิฉันจึงอยากเสนอ ๔ ข้อ ดังนี้

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อแรก ดิฉันอยากให้มีการทบทวนนิยามของกฎหมายในการได้สัญชาติ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วก็มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพิสูจน์แล้วก็รับรองการได้มาซึ่งสัญชาติ

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๒ ดิฉันอยากให้มีการทบทวนแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ชัดเจน ที่จะสร้างความสับสนให้แก่คนที่ต้องการได้สัญชาติ เพื่อที่จะลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่ที่เกินอำนาจตามกฎหมาย แล้วก็เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ดุลยพินิจที่ผิดพลาดโดยสุจริต

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๓ ดิฉันอยากเสนอให้มีการออกกฎหมายใหม่ หรือเป็นการสังคายนา กฎหมาย เพื่อที่จะลดขั้นตอนการใช้ดุลยพินิจตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ข้อ ๔ ดิฉันอยากเสนอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการบรรเทา ความเดือดร้อนจากการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในช่วงที่กำลังขอสัญชาติอยู่ เช่น สิทธิประกัน สุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดปัญหามันเกิดจากต้นทางก็คือ เด็กไม่ได้สัญชาติ การที่ไม่ได้สัญชาติทั้ง ๆ ที่กฎหมายรองรับก็เพราะบทบัญญัติกฎหมาย ให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป ซึ่งดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เกรงกลัวว่าจะเป็นภัย ต่อความมั่นคงหรืออย่างไรถึงใช้ดุลยพินิจไม่ให้สัญชาติแก่คนเหล่านั้น แต่ดิฉันอยากจะบอกว่า การไม่ให้สัญชาตินี่ละค่ะ อันอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความมั่นคงได้ และมันก็อาจจะสร้าง ปัญหาให้กับสังคมเราได้เช่นกัน

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน การมีสัญชาติถือเป็นสิทธิเริ่มต้นอันจะเป็น ใบเบิกทางไปสู่สิทธิอื่น ๆ ในทางตรงกันข้าม การไร้สัญชาติก็จะเป็นต้นตอของการไร้สิทธิ อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งดิฉันพูดถึงการกีดกันและการสร้างความเป็นอื่นทั้งทางกฎหมาย และทางปฏิบัติในการที่จะเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงซึ่งการศึกษาอย่างมี คุณภาพด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับท่านสมาชิกครับ ตามที่ทาง Whip ทั้ง ๒ ฝั่งได้หารือกัน ก็จะเป็นการอภิปราย แล้วก็หยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วก็จะเริ่มต้นญัตตินี้อีกครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์หน้านะครับ สำหรับวันนี้ขอปิดการประชุม ขอให้ท่านเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย พบกันอาทิตย์หน้าครับ