กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูงนะครับ ผมขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธานที่ให้โอกาสกระผมและคณะ กระผม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ การเลือกตั้ง กระผมขอกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาสกระผมและคณะ ได้มารายงานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปี ๒๕๖๕ แล้วก็ ขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกผ่านท่านประธานเกี่ยวกับข้อความเห็น คำถาม ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนจะตอบคำถามในบางคำถาม ใคร่ขอกราบเรียนท่านประธานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ในการทำการเมืองให้ดี เรามีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีพนักงานอยู่ ๒,๕๐๐ คน เป็นหน่วยสนับสนุน ในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานร่วมกับ คนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ๕๐ ล้านคน ถ้าเป็นการเลือกตั้ง สส. กปน. คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ๑ ล้านกว่าคน ซึ่งไม่ใช่คนของสำนักงาน โดยตรง แต่ก็เป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นเจ้าพนักงานในวันเลือกตั้งคือชาวบ้าน ผู้สมัคร และพรรคการเมือง สื่อมวลชน เราทำงานร่วมกับทุกคนในประเทศไทย เราไม่ปฏิเสธ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละครั้งที่มีความผิดพลาดหรือตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ว่าการทำการเมืองให้ดีต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ลำพังคน ๒,๕๐๐ กว่าคน ทำการเมืองให้ดีไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าเราก็พยายามจะทำให้สุดกำลังของสำนักงาน และเครือข่าย รวมทั้งการทำงานร่วมกับประชาชนและพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเราได้รับ ความร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกพรรคด้วยดีในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่าง ที่มีการเลือกตั้งหรือในระหว่างที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานต้องปฏิสัมพันธ์ กับพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง เราก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ในส่วนของ ภาคประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ เราก็ได้รับความร่วมมือในการทำงาน ก็ต้องขอขอบคุณ ทุกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้การเมืองของบ้านเราได้ดีขึ้น แต่ ณ วันนี้ ก็ยังมีคำถามและมีปัญหาว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรหรือให้เร็วขึ้นอย่างไร สำนักงาน ได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี ก็ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งนะครับ
ส่วนคำถามหรือข้อสังเกต หรือความเห็นที่ผมจะได้นำมากราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกก็จะขออนุญาตไล่เลียงอาจจะใช้เวลาไม่มาก เพราะว่าส่วนมากบางครั้งก็เป็นประเด็นที่ซ้ำซ้อนกัน
กรณีของท่านจุลพงศ์เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ในช่วงปี ๒๕๖๔ สำนักงานก็จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดเหมือนกับหน่วยงานอื่น ๆ หรือประชาชนไทย ทุกคน การใช้จ่ายงบประมาณลักษณะช่วงนั้นก็จะทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้ สำนักงาน ทำกิจกรรมในลักษณะที่ทำงานร่วมกับประชาชนลักษณะที่เป็นโครงการการให้ความรู้ เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเกินครึ่งหนึ่ง ของสิ่งที่เราใช้งบประมาณทั้งหมด งบประมาณในปี ๒๕๖๔ เลยอาจจะใช้จ่ายน้อย หลังจาก ปี ๒๕๖๕ สถานการณ์ดีขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามแผนเป้าหมายหลักของเราที่มี ๓ แผน ในประเด็นนี้ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องโควิด
ส่วนเรื่องการลงคะแนนจะนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้จะทำได้มากน้อย แค่ไหนในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเลือกตั้ง เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับการเลือกตั้งจะมีอยู่ ๓ ส่วน
ส่วนแรก คือการนำมาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการให้ประชาชน ได้ไปออกเสียงลงคะแนน ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวก และการให้ความรู้ตามช่องทาง ต่าง ๆ
ส่วนที่ ๒ ก็คือการเอามาใช้ในการบริหารจัดการการเลือกตั้งของเจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
ส่วนที่ ๓ ก็คือนำมาใช้ในการลงคะแนน เราได้นำมาใช้เป็นบางส่วน บางส่วน ข้อกฎหมายไม่ให้นำมาใช้ได้ ยังมีกฎหมายไม่สามารถนำมาใช้ได้ ยังไม่ให้เราทำได้
เรื่องการจะนำเทคโนโลยีเหมือน i-Vote นี่ละครับ สำนักงานก็ได้ศึกษา มีชุดความรู้พร้อมที่จะนำมาใช้ แต่สิ่งที่ติดขัดอยู่ก็คือ ๑. ข้อกฎหมาย อย่างเลือก สส. กฎหมายไม่ให้ใช้ เราอาจจะนำมาใช้กับเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่หรือให้มี การนำมาใช้กับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคตถ้ามีการแก้กฎหมายที่เป็น สส. สิ่งที่เราได้ศึกษาก็คือเรื่องความไว้ใจกับเครื่อง ประเทศที่มีความทันสมัยส่วนมากก็ไม่มีใคร นำมาใช้ คือเทคโนโลยีไปไกลพร้อมที่จะนำมาใช้ แต่ว่าสิ่งที่เกรงก็คือเรื่องความปลอดภัย ของคะแนน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสำนักงานที่จะต้องปกป้องทุกคะแนนเสียงให้เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของประชาชนที่จะออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ตรงนี้ ก็ยังเป็นคำถามอยู่ว่าเราจะรักษาความปลอดภัยของเจตนารมณ์ของประชาชนได้หรือไม่
ส่วนที่ ๒ ก็คือเรื่องงบประมาณ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเอสโตเนีย ซึ่งนำมาใช้ได้ทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ทำให้งบประมาณน้อยลง เอสโตเนียใช้ i-Vote วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองก็ต้องการเพิ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผลออกมาก็คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังเหมือนเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคืองบประมาณ หน่วยเลือกตั้ง สมมุติว่าเคยมี ๑,๐๐๐ หน่วย ก็ยังมี ๑,๐๐๐ หน่วย เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับ ประชาชนให้มีทางเลือกมากขึ้น การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำไป การเลือกตั้ง ประจำหน่วย กปน. หรือการลงคะแนนตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ยังทำเหมือนเดิม นั่นหมายถึงว่า ต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม นอกจากการวางระบบและการบริหารจัดการในการที่จะทำให้คะแนนทั้ง ๒ ส่วนมารวมกัน ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเอสโตเนียมีประชากร ๒ ล้านคน อาจจะทำง่ายกว่าของประเทศไทย แต่ว่าสำนักงานไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ศึกษาโดยอาจจะต้องใช้ในการเลือกตั้ง ระดับท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็ก เรื่องนี้สำนักงานก็จะรับไปพิจารณา รวมทั้งประเด็น เรื่องข้อกฎหมายด้วย นี่ก็คือเรื่องการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์นะครับ
ส่วนเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ เมื่อสักครู่นี้ท่านสมาชิกบอกว่าไปดูงาน จริง ๆ คือเวลาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการไปปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศจะออกแบบร่วมกับกระทรวง การต่างประเทศตามลักษณะพื้นที่ อย่างเช่นประเทศที่มีลักษณะพื้นที่เฉพาะในการที่มี ประชากรลงทะเบียนน้อยอย่างแอฟริกา เราจะอำนวยความสะดวกและให้ประชาชน ที่ลงทะเบียนมีความสะดวกอย่างไร หรือประเทศที่เราไปที่เราซ้ำปัญหาบ้างบางครั้ง มีการลงทะเบียนไว้เยอะแต่เวลาออกเสียงลงคะแนนมีน้อย บางประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ ที่มีการส่งไปรษณีย์หรือการนำส่งของกระทรวงการต่างประเทศที่มีปัญหา เพื่อไปรับฟังในขณะที่ เขาลงคะแนนทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ปฏิบัติงานก็คือกระทรวงการต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยังต้องมีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่ควรจะมี แต่การใช้จ่ายงบประมาณ ก็อาจจะสูงกว่าการเลือกตั้งในราชอาณาจักรเมื่อคิดต่อหัว แต่ว่าเป็นสิทธิที่พึงมีของ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนไหนในโลก สำนักงานก็จะพยายามจะแก้ปัญหาให้ประชาชน ทั้งในและต่างประเทศได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่แทนตนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
ส่วนเรื่องการฟ้องคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ฮอด ชั้นนี้อยู่ที่ชั้นศาลฎีกา ส่วนผล คดีจะเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ศาล แต่พอดีมีท่านสมาชิกได้ถามต่อมาผมก็ถือโอกาสตอบ ในครั้งเดียว ถ้าเป็นเรื่องคดีหรือข้อเท็จจริงคงจะอยู่ในสำนวน แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมาลักษณะนี้เราส่งไปที่ศาลทุกครั้ง ไม่ว่าเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้ง สส. ศาลก็จะลงมา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีพรรคการเมืองมีหนังสือสอบถามตามมาตรา ๒๓ ตามกฎหมาย กกต. เราก็ตอบว่าทำไม่ได้ เพราะเราก็ใช้กฎหมายมาตรานี้ วงเล็บนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ แต่ว่าเมื่อศาลฎีกา ตัดสินมาลักษณะนี้ทางสำนักงานก็ต้องเคารพในคำพิพากษา เป็นเรื่องที่สำนักงานได้ปฏิบัติ อย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ลักษณะแบบนี้
เรื่องกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กรณีรายได้อื่น ๓๑ ล้านบาท เป็นรายได้จากที่เป็นทั้งเงินที่เรียกคืนจากพรรคการเมืองที่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนมากก็จะเป็นเงินในส่วนนี้เวลาที่เราสนับสนุนเงินให้พรรคการเมืองไป อาจจะมี พรรคการเมืองที่ปฏิบัติไม่ได้ตามกฎหมายเราก็จะเรียกเงินคืน นี่คือเป็นรายได้หลักของที่เป็น จากรายได้อื่น
ส่วนของกรณีท่านลิณธิภรณ์ก็จะเป็นทั้งข้อสังเกต เรื่องการนำเทคโนโลยี มาใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็เรื่อง Blockchain ทางสำนักงานก็จะรับไปพิจารณา ไปศึกษา ซึ่งได้มีการศึกษาไว้ก่อนแล้ว ขอขอบพระคุณท่านในส่วนนี้ด้วย
ส่วนเรื่องงบประมาณการใช้จ่ายเงินผมก็ได้ตอบไปแล้วว่าทำไมเงินปี ๒๕๖๔ กับปี ๒๕๖๕ ไม่ว่ารายการไหนช่วงสถานการณ์โควิดการใช้จ่ายเงินก็จะต่ำกว่าปี ๒๕๖๕ ซึ่งก็จะมีจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น
ส่วนของท่านเอกราชก็จะขออธิบายเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ การเลือกตั้ง ส่วนประเด็นอื่นเป็นข้อสังเกตซึ่งทางสำนักงาน ๕-๖ ประเด็นที่ท่านได้ตั้ง ข้อสังเกตหรือเป็นข้อสังเกตเชิงคำถามสำนักงานก็จะรับไปพิจารณา แล้วก็ศึกษา แล้วก็ จะแก้ไขในสิ่งที่มันดีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ กฎหมาย ได้ออกแบบได้มีไว้เกือบ ๓๐ อนุมาตรา ที่เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทั้งกฎหมาย ท้องถิ่นและกฎหมาย สส. สำนักงานและคณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมกันตรวจสอบกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกือบ ๒๐ หน่วยงาน ข้อมูลทุกข้อมูลไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน เป็นการประสานกับหน่วยงานเครือข่าย ส่วนหน่วยงานจะตอบมาภายในวันไหน อาจจะด้วย จำนวนข้อมูลที่มีมากก็อาจจะตอบมาไม่ถึงภายใน ๗๐ วัน สำนักงานหรือผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำท้องถิ่นต้องประกาศให้เป็นผู้สมัครไว้ก่อนถ้าตรวจ เมื่อพ้น ๗ วัน ถ้าไม่พบลักษณะต้องห้าม กฎหมายจึงได้ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองรับรองตัวเอง ไปส่วนหนึ่ง บางข้อมูลไม่อยู่ในหน่วยราชการก็มี จึงมีมาตรา ๑๕๑ ที่กำหนดให้ผู้สมัคร ต้องรับรองตัวเอง ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นคดีอาญาและศาลก็ให้แนวมาว่าเรื่องนี้จริง ๆ เป็นเรื่องของผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องรับรองตัวเอง เราไม่ปฏิเสธเรื่องการตรวจสอบ บางครั้งระบบข้อมูลอาจจะเป็นที่อยู่มานาน ทุกหน่วยงานเพิ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลก็ตรวจสอบไม่เจอ แต่พฤติกรรมอย่างนี้ก็มีการนำร้องเมื่อมีผู้สมัคร หรือประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น ได้ทราบก็นำมาร้อง จึงเป็นเหตุปรากฏว่า ทำไม กกต. ตรวจไม่พบ นี่คือข้อจำกัดในการตรวจสอบคุณสมบัติในการเลือกตั้ง แต่โดยภาพรวมกฎหมายได้ออกแบบไว้ถูกต้องแล้ว
ส่วนท่านธีระชัย ผมได้พูดอธิบายกรณีเรื่องคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ไปแล้วว่า ในเชิงข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ส่วนในข้อเท็จจริงอยู่ในสำนวนและชั้นนี้อยู่ในการพิจารณา เราได้ยื่นฎีกาไปแล้ว ส่วนถ้าผลการพิจารณาเป็นประการใดสำนักงานก็ต้องทำตามกฎหมาย ประโยชน์ของประเทศชาติและราชการมาก่อน ถ้าผลออกมาประการใดก็มีกฎหมาย ที่จะให้สำนักงานได้รองรับในการที่จะทำงานว่าถ้าออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบ ทางสำนักงาน ก็มีมาตรการในการที่จะดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายที่รองรับไว้แล้ว ซึ่งกฎหมาย ได้รักษาผลประโยชน์ของทางรัฐไว้อยู่แล้ว สำนักงานก็คงจะต้องดำเนินการไปตามช่องทาง ที่กฎหมายกำหนดไว้ ในส่วนของการที่เป็นคดีที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างที่ได้นำกราบเรียน งบประมาณ ที่สำนักงานได้ใช้ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ที่แตกต่างกันและใช้เป็นจำนวนเยอะมากขึ้น อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าปี ๒๕๖๕ สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น มีการทำโครงการโดยเฉพาะ โครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล กทม. แล้วก็ทางพัทยาด้วย ทำให้งบประมาณของปี ๒๕๖๕ มีการเพิ่มมากขึ้น
ท่านปัญญารัตน์ ก็จะเป็นเรื่องของข้อสังเกต ผมก็จะได้นำไปปรับปรุงเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงิน การระดมทุน เงินภาษี บางอย่างก็เป็นเรื่องข้อกฎหมายอย่างที่ท่านได้ตั้ง ข้อสังเกตว่าเงินภาษีของประชาชนไปที่พรรคโดยตรงได้เลยหรือไม่ กฎหมายได้ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยรวมกับเงินจากงบประมาณของรัฐ ในแต่ละปี ตรงนี้ก็ยังจะติดขัดข้อกฎหมาย จริง ๆ ในชั้นของการออกเสียงในการร่าง พระราชบัญญัติพรรคการเมือง สำนักงานคิดตรงกับทางพรรค แต่ว่าทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนนั้นอยากให้พรรคได้เงินเป็นก้อนก็เลยนำเงินมารวมกัน ส่วนการใช้จ่ายก็เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนรูปแบบการใช้จ่ายที่มีการพัฒนาออกไปในการที่ พรรคการเมืองจะเข้าไปถึงประชาชน สำนักงานก็จะรับไปว่าจะทำให้มีภาพกว้างมากขึ้น สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น แต่ว่าอย่างไรก็ตามเงินพวกนี้ส่วนหนึ่งเป็น เงินของแผ่นดิน ทางเราก็ต้องสามารถตรวจสอบได้ แต่จะปรับให้พรรคการเมืองได้ใช้จ่าย ผมเรียกว่ายืดหยุ่นมากขึ้นก็แล้วกันในประเด็นนี้
ส่วนเรื่องการระดมทุนก็เป็นประเด็นที่ทางสำนักงานก็จะรับไป อาจจะให้มี ลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนท่านพรรณสิริ ก็เป็นเรื่องของการแสดง ท่านให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกต ซึ่งเป็นประโยชน์ ทางสำนักงานก็จะรับไปตามข้อสังเกตของท่านในทุกประเด็น
ส่วนท่านประสิทธิ์ ก็จะเป็นเหมือนกัน เรื่องการระดมทุน Online เรื่องยุทธศาสตร์ การไปต่างประเทศ ซึ่งกระผมก็ได้ชี้แจงน่าจะไปในทุกประเด็น รวมทั้งเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานก็ได้แก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะทำให้ ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่กระทบกับ Timeline ของการเลือกตั้งเท่าที่ผ่านมานะครับ
ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขอชี้แจงเป็นข้อเท็จจริง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณไป เราขอไป ๕,๙๐๐ ล้านบาท แต่คนก็จะ จำภาพ ๕,๙๐๐ ล้านบาท ด้วยเหตุที่ทำไมต้องใช้ ของบประมาณไปเยอะ ๑. ก็คือมีระบบ บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ กรรมการประจำหน่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก ๕ คน เป็น ๙ คน หรือบางหน่วยที่เกิน ๘๐๐ คน ก็จะเพิ่มเป็น ๑๐ กว่าคน ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องใช้วัสดุในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ของบประมาณไป ๕,๙๐๐ ล้านบาท สำนักงบประมาณจัดสรรให้ ๔,๗๐๐ ล้านบาท เราได้รับมาและใช้ ในส่วนของเรา ๓,๐๐๐ ล้านบาท ในส่วนหน่วยงานสนับสนุนด้วย ๘๐๐ กว่าล้านบาท ก็จะใช้จ่ายไป ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท นี่ก็คือไม่ได้ใช้จ่ายไปทั้ง ๕,๙๐๐ ล้านบาทตามที่ขอ
ส่วนเรื่องการนับคะแนน จะนับคะแนนแบบ Real Time ก็ขอให้ข้อมูล จริง ๆ คำว่า Real Time ตามความหมายของคนทั่วไปหรือประชาชนหรือใครก็แล้วแต่ น่าจะเป็นการนับคะแนนแบบเพิ่มที ถ้าคะแนนเพิ่มขึ้น ๑ ก็บวกไปเลย นั่นคือ Real Time คือตามความเป็นจริง แต่ประเทศไทยไม่เคยทำแบบนี้ ผมก็ว่าที่ไหนก็ไม่เคยทำที่ไปดูมา เมื่อนับคะแนนเสร็จเป็นหน่วยจึงเอาไปรวม การเลือกตั้งครั้งไหนก็ทำแบบนี้ นับคะแนนเสร็จ ที่หน่วยปิดตาม สส. ๕/๑๘ แล้วค่อยเอาไปรวม ครั้งที่แล้วได้มีการศึกษาว่า ให้สถาบันการศึกษาซึ่งท่านก็ได้ศึกษาออกมาดี แต่ว่าเมื่อถามถึงหลักประกันว่า คะแนนทุกคะแนนต้องไม่ผิดพลาด ท่านบอกว่าให้เหมือนกับนำไปทดลองก่อน ซึ่งเราก็ไม่กล้า เสี่ยงที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ ก็ได้ออกแบบ ECT Report เองโดยสำนักงาน ถามจริง ๆ ก็คือไม่ได้ใช้เงินแต่ว่าผลก็ออกมาดี แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ๒-๓ หน่วย ในการนำเสนอรูปแบบในการโชว์ เราก็ยินดีให้กับสื่อต่าง ๆ ที่ท่านออกไปนับคะแนนเอง บอกว่าให้มานับคะแนนจากเรานี่ละครับมันเร็วที่สุดแล้ว ท่านก็มาร่วมด้วยกันในการที่จะ นำคะแนนที่สำนักงานทำไปแสดงต่อประชาชนในการออกเสียงลงคะแนนนี่ก็คือ เรื่องการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งสำนักงานก็น่าจะได้รูปแบบที่เหมาะสม ในการทำงาน ในการนับคะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๖ เราได้ซักซ้อมว่า ๔ ทุ่ม น่าจะรู้ผล ไม่ได้ครับ คำว่า รู้ผล คือรู้ผลแบบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีข้อผิดพลาดในเรื่องการรายงาน ผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเขาต้องตรวจสอบและรวมคะแนนและส่งเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ มันก็เป็นบทเรียนที่เราจะต้องนำไปใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะทำให้การรายงานผลคะแนน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ทางท่านสมาชิกได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าน่าจะเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นครับ
ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณของที่ท่านเทียบจุฑาได้ตั้งข้อสังเกตแล้วก็ให้ ข้อเสนอแนะไว้ คือสำนักงานใช้งบประมาณ ๒ ก้อน ก้อนแรกคืองบประมาณที่ได้จากรัฐบาล เป็นงบประมาณประจำปีก็ได้ปีละ ๑,๗๐๐ ล้านบาท เรามีคนอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ คน แล้วก็งบประมาณส่วนหนึ่งคืองบประมาณที่ใช้จากเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสม ที่เหลือจากการเลือกตั้งนี่ละครับ ถ้าถามว่างบประมาณถ้าหมดลงก็เป็นเรื่องที่ทางสำนักงาน จะต้องไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในการที่จะใช้งบประมาณ เพราะว่าการใช้ งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการใช้งบประมาณ ไม่ใช่เพื่อสำนักงาน เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ เวลาเลือกตั้งท่านอาจจะเห็นว่า เราใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่ อย่างครั้งที่แล้วใช้เงินไป ๓,๐๐๐ ล้านบาท หลักของการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. ก็คือการอำนวยความสะดวกกับประชาชน ๒. ก็คือความโปร่งใส ๓. ก็คือการมีส่วนร่วม ความโปร่งใสนี่ครับ ไม่อยากให้ท่านกังวล รูปแบบการออกแบบการเลือกตั้งตั้งแต่ในหน่วยเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง เราออกแบบมา เพื่อป้องกันไม่ให้ใครทุจริตการเลือกตั้ง ทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะต้องได้รับการรักษา และเป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนได้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง ส่วนกระบวนการต่าง ๆ นี่นะครับ เอาหลักการเรื่องความโปร่งใสไปแปลงเป็นวิธีปฏิบัติไว้ทุกขั้นตอน บางขั้นตอนเห็นได้ด้วยตา บางขั้นตอนไม่เห็นได้ด้วยตาแต่สามารถตรวจสอบและอธิบายสังคมได้ หลักที่ ๓ คือหลักการมีส่วนร่วม หลักนี้คือการเลือกตั้งเป็นของประชาชนทำให้ต้องใช้งบประมาณ เป็นจำนวนมาก เลือกตั้งแต่ละครั้ง กปน. ๑ ล้านกว่าคน อบรมก่อน ๒-๓ วันในการที่จะรับ อุปกรณ์ แล้วก็ในวันเลือกตั้งก็ต้องใช้เงิน แล้วก็ใช้ไปในวัสดุอุปกรณ์ ส่วนการใช้จ่าย งบประมาณในเรื่องอื่นก็จะมีน้อยมาก งบประมาณที่ใช้ส่วนมากจึงเป็นเรื่องลักษณะของ การใช้วัสดุอุปกรณ์กับเรื่องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง
ท่านอดิศร ผมก็จะรับข้อสังเกตของท่านไปกราบเรียนคณะกรรมการ ส่วนวันเลือกตั้ง จริง ๆ วันเลือกตั้งมีอยู่วันเดียว วันเลือกตั้งทั่วไปก็คือวันที่ ๑๔ ส่วนวันที่เลือกตั้งก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนหรือเขาเรียกว่าวันลงคะแนน ล่วงหน้า ไม่ถือเป็นวันเลือกตั้งเพราะรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร
ของท่านสกลก็เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการวินิจฉัยบัตรของ กปน. ซึ่งสำนักงาน ได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี เพราะว่าจุดตายของการเลือกตั้งคือหน่วยเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าการให้ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน อย่างที่ท่านได้นำเสนอ ทางสำนักงานได้ตระหนักถึงข้อนี้ดีแล้วก็จะพยายามปรับปรุง ให้มีประสิทธิภาพ ให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความสบายใจมากยิ่งขึ้นนะครับ
ส่วนกรณีท่านไชยามพวาน ประทานโทษถ้าผมเอ่ยชื่อท่านผิด ก็จะได้นำ ข้อสังเกตของท่านในการไปทำ Civic Education ในการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน จริง ๆ Civic ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่นะครับ แต่ว่าไม่ใช่ข้อมูลไม่น่าสนใจ การนำเสนออาจจะ ยังไม่น่าสนใจ แต่เราได้ทำขึ้นด้วยตัวเองด้วยงบประมาณไม่ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ขอกราบขอบพระคุณนะครับ ส่วนข้อเสนอ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ทางท่านสมาชิกได้กรุณา ให้ข้อสังเกต ทางสำนักงานจะรับไปทุกเรื่องเพื่อพัฒนา จะทำให้ท่านสบายใจและเห็น ความแตกต่างในการเลือกตั้ง การบริหารจัดการการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอบพระคุณมากครับ
ขออนุญาต กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับ กรณีศาลจังหวัดฮอดถ้าศาลฎีกาพิจารณา ออกมาว่ายืนยันตามศาลอุทธรณ์ สำนักงานก็จะต้องดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. ความผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปอย่างที่ผมบอกว่ามันมีช่องทางในทางกฎหมาย ผมอาจจะ ไม่ระบุข้อกฎหมายไว้เมื่อสักครู่ว่ามันมีช่องทางในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐเรียกว่า เป็นผลประโยชน์ของรัฐ
ในส่วนเรื่องของท่านอดิศรก็จะคล้าย ๆ กับของท่านวิทยา ก็คือเรื่องการควบคุม ให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งก็เป็นหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องนี้จริง ๆ สำนักงานและคณะกรรมการให้ความสำคัญ มันจะมีทั้งมาตรการในการป้องกัน ป้องปราม แล้วก็เมื่อหลังเลือกตั้งเสร็จก็มีลักษณะที่เป็นความผิดที่มีการมาร้องเรียน ครั้งนี้ก็อาจจะต่างจากครั้งที่แล้วก็คือจำนวนเรื่องร้องเรียนน้อยมาก ครั้งที่แล้วจะเป็นพัน ครั้งนี้แค่หลัก ๑๐๐-๒๐๐ เรื่อง ขณะนี้มีคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ ๑๑๓ คดี เฉพาะของ สส. สำนักงานก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดำเนินการอย่างรอบคอบและให้ความเป็นธรรม กับทุกฝ่าย และโดยที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้ออกแบบใหม่ก็คือว่าเมื่อจะฟ้อง การเลือกตั้ง สมมุติว่าให้ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง ใบดำนี่นะครับ ต้องพ่วงคดีอาญา และค่าใช้จ่ายไปพร้อมกันต่างจากครั้งที่แล้ว นั่นหมายความว่าการทำคดีเลือกตั้งต้องใช้คดี ตามมาตรฐานคดีอาญา เพราะไปในชุดเดียวกันไม่ได้แยกพิจารณาก่อน แต่กฎหมาย ๒ ฉบับแรกได้ใช้ได้แยกคดีเลือกตั้งไปก่อนก็คือคดีใบเหลือง ใบแดง แต่ครั้งนี้ถ้าหลังประกาศผล ต้องไปด้วยกันทั้ง ๓ เรื่อง ค่าใช้จ่าย คดีอาญา แล้วก็คดีเลือกตั้ง อย่างที่ผมได้นำเรียนว่า การทำสำนวนต้องให้ความเป็นธรรมและต้องใช้มาตรฐานคดีอาญาในการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ส่วนในการลงคะแนนล่วงหน้า ผมใช้คำว่า ลงคะแนนล่วงหน้า แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะใช้ คำว่า วันเลือกตั้งล่วงหน้า แต่จริง ๆ มันคือการอำนวยความสะดวกของประชาชน กฎหมาย ใช้ว่าวันลงคะแนนล่วงหน้า เราไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างที่บอกว่าเรามีชุดป้องกันป้องปราม ในการดำเนินการ มีข้อมูล มีหลายชุดในการที่จะลงพื้นที่เกี่ยวกับตรงนั้น ในระบบเราก็จะมี ข้อมูล เพียงแต่ว่าข้อมูลจะเพียงพอหรือเราได้สืบสวนสอบสวนได้มากแค่ไหน การกระทำ ความผิดอย่างที่บอกว่าบางครั้งก็ขึ้นกับพยานหลักฐาน ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดูไม่ยาก มีผู้สมัคร มีพรรคการเมืองเห็นชัด ๆ ว่าถ้าจะทำอีกก็คนพวกนี้ละ แต่เวลาสืบสวน สอบสวนมีความซับซ้อนมากกว่าคดีทั่วไป ก็ขอกราบเรียนให้ทราบครับ