เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการขนส่งทางบก เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและประชาชน และป้องกัน การเรียกรับผลประโยชน์
ท่านประธานครับ เพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านได้พูดไปแล้วถึงเรื่องปัญหาของ รถบรรทุก ผมคงไม่ขอพูดซ้ำ แต่ที่จะอภิปรายให้ได้รับทราบปัญหาเพื่อร่วมหาทางแก้ไข แก้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์หรือส่วย นั่นก็คือ มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากขนส่งสาธารณะในท้องที่ที่ไม่เพียงพอ ก็เลยทำให้เกิดเรื่องของ ส่วยแท็กซี่ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นครับท่านประธาน พื้นที่ของผมเทศบาลเมืองคูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวายนี้ พื้นที่ประมาณ ๕๘ ตารางกิโลเมตร มีประชากร อยู่หนาแน่นมาก ๕๘ ตารางกิโลเมตรนี้ประชากรถึง ๑๗๙,๐๐๐ คน พื้นที่เพียงแค่นี้ อัดแน่นไปด้วยผู้คน ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร แต่ทว่าปัญหาที่พวกเราเจอก็คือขาดขนส่ง สาธารณะที่ได้มาตรฐานครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ และตรงต่อเวลา เพื่อที่จะทำให้คนใช้รถ ใช้ถนนนี้วางแผนในการเดินทางของตัวเองได้
ท่านประธานครับ ปัญหาในเรื่องขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอนี่เองที่ทำให้ ประชาชนต้องซื้อรถ ครอบครัวละคันสองคันเพื่อให้ตัวเองมีเสรีภาพในการเดินทาง แต่ที่ไหนได้ครับ ซื้อรถมาคิดว่าจะมีเสรีภาพในการเดินทาง กลับกลายเป็นว่าต้องมาติดแหง็ก อยู่บนถนน สำหรับคนที่ไม่มีรถล่ะครับ คนที่ไม่มีรถแน่นอนว่าต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งพอไปดูรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่อย่างรถเมล์ก็พบว่ามีจำนวนน้อยเหลือเกิน ถ้าเทียบกับ เขตพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่มากมายอย่างที่ผมได้ให้ตัวเลขไปแล้ว เมื่อรถเมล์มีน้อยคนก็ต้องคอยนาน และพอรอนานรถแต่ละคันที่มาก็อัดแน่นไปด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนที่ไม่มี ทางเลือกมากก็ต้องจำขึ้นไปเบียดกับคนอื่น ๆ บนรถเมล์ที่สภาพส่วนใหญ่ก็เก่ามาก ๆ ย่ำแย่มากครับท่านประธานลองไปดูได้ ในพื้นที่อำเภอลำลูกกาตรงนี้มีรถโดยสาร รถเมล์ ให้บริการน้อยมาก ๆ แล้วก็มีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาถึงผมว่าอยากให้ช่วยไปแจ้งกับ ทางขนส่งให้เพิ่มจำนวนรถขนส่งสาธารณะตรงนี้ให้มากขึ้นด้วย และเพราะความขาดแคลน รถเมล์นี่เอง และเพราะสภาพของรถเมล์ที่เป็นแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้คนหันมาใช้บริการแท็กซี่ ที่เพิ่มความสะดวกสบายขึ้นมาหน่อยนะครับ และความต้องการใช้บริการแท็กซี่นี่เองที่ทำให้ ประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่าได้กลายเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ มีเรื่องของส่วยเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในจุดบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าคูคต ซึ่งเป็นสถานี ปลายทาง และเป็นส่วนต่อขยายมาจากกรุงเทพมหานคร บริเวณดังกล่าวมีรถแท็กซี่จอดอยู่ เยอะมาก ๆ จอดในที่ห้ามจอด จอดค้างเป็นเวลานาน จอดกีดขวางการจราจร แล้วก็เป็น พื้นที่ที่เคยมีเรื่องของ Sticker แลกกับการจอดแช่ เวลามีแท็กซี่ต่างถิ่นเข้ามาก็จะถูก Mafia ที่คุมวินแท็กซี่ตรงนี้ไล่ให้ออกไปด้วย หรือแม้แต่กรณีที่เคยมีคนมาเล่าให้ผมฟัง เย็นวันที่ฝนตก ซึ่งเป็นวันที่จะมีความต้องการของการใช้แท็กซี่เป็นจำนวนมาก แท็กซี่ท้องถิ่นที่เคยจอดแช่อยู่แล้ว ก็จะได้ลูกค้าออกไป แล้วพอมีแท็กซี่จากที่อื่นเข้ามา ประชาชนเรียกให้แท็กซี่มารับ ก็ปรากฏว่า ยังมีคนคุมวินแท็กซี่ตรงนี้ไล่ให้แท็กซี่คันนั้นออกไป แล้วก็บอกกับประชาชนที่จะเรียกแท็กซี่ว่า ให้รอแท็กซี่ของท้องถิ่นที่กำลังจะกลับเข้ามา ท่านประธานครับ จากข้อมูลของสำนักข่าวแห่งหนึ่งที่ไปลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้ก็พบว่า มีการจ่ายค่าดูแลอย่างนี้จริง ๆ ๓๐๐-๖๐๐ บาทต่อเดือน ผมมีโอกาสได้คุยกับทางกลุ่ม สายไหมต้องรอด ซึ่งเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อหลาย ๆ ราย กรณีที่สามารถจับตัวคนร้ายได้ คนที่ทำร้ายร่างกายที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คุณลุงคนหนึ่งแวะเข้าไปรับผู้โดยสาร แต่ปรากฏว่า ถูกทำร้ายร่างกาย กรณีที่จับตัวคนร้ายได้แบบนี้ผลของคดีก็คือเมื่อคนร้ายรับสารภาพ บอกว่าจะไม่ทำอีก โทษก็เพียงแค่จ่ายค่าปรับแล้วก็รอลงอาญา ซึ่งสุดท้ายพอปล่อยตัว ออกมาก็กลับมาเป็น Mafia คุมวินแท็กซี่อีกเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่การทำร้ายร่างกายนี้ ไม่ใช่การทะเลาะวิวาทของบุคคลซึ่งจะยอมความกันได้ แต่มันคือการทำร้ายร่างกายของ คนทั่วไปในที่สาธารณะ ซึ่งกรณีนี้ก็เคยมีการเสนอให้เป็นเรื่องของการเพิ่มโทษให้หนักขึ้นกว่า ที่เป็นอยู่ ท่านประธานครับ หากท่านลองไปสอบถามคนในพื้นที่แล้วผมมั่นใจว่าประชาชน จำนวนมากต่างเชื่อว่าวินแท็กซี่บริเวณดังกล่าวนี้มีการเรียกรับผลประโยชน์ ประชาชนเขาเชื่อ อย่างนั้นจริง ๆ ครับ ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็คงต้องมีการตรวจสอบ แต่เพราะอะไรครับ ที่ทำให้ประชาชนเชื่อ ก็เพราะสิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือสถานีตำรวจอยู่ตรงนั้น แท็กซี่จอดแช่ และมี Mafia คอยไล่แท็กซี่ก็อยู่ตรงนั้น มีผู้ถูกทำร้ายร่างกายก็ตรงนั้นใกล้ ๆ กับสถานีตำรวจ ท่านประธานครับ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ครับ ดังนั้นผมจึง เห็นด้วยกับญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหาแนวทาง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และประชาชน และป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. จังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล พื้นที่เทศบาลเมือง คูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย มีเรื่องจะปรึกษาหารือฝากท่านประธานไปถึง ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงปัญหาความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องชาวคูคต ชาวลำสามแก้ว รวมถึงประชาชนที่ใช้ถนนเสมาฟ้าคราม ในการสัญจร ท่านประธานครับ ถนนเสมาฟ้าครามหรือลำลูกกา ๑๑ หรือรังสิต-นครนายก ๔๖ เป็นถนนที่มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก แล้วก็เป็นถนนที่มีบ้านเรือน มีบ้านจัดสรร ปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น ถนนเส้นนี้ด้วยความที่สภาพคับแคบก็เลยทำให้มีปัญหาในเรื่อง ของการที่รถติด และด้วยความที่เป็นถนนเก่าก็เลยเป็นหลุมเป็นบ่อ ฝนตกทีไรน้ำท่วมขัง เป็นประจำ ไม่มีทางเท้า ไม่มีทางม้าลาย ข้ามถนนแต่ละทีได้รับฉายาที่ประชาชนเขาให้ เสมาฟ้าครามข้ามถนนเหมือนวัดดวงครับ และนอกจากนี้ถนนเส้นนี้มีเสาไฟฟ้าเยอะมาก ถ้าเทียบระยะทางกัน เสมาฟ้าครามนี่เป็นถนนที่มีเสาไฟฟ้าไม่รู้ทำไมเยอะที่สุดเลย ในประเทศไทยน่าจะว่าได้ แล้วมีคนตัดพ้อประชดว่าถนนเสมาฟ้าครามนี้ไม่มีเสาไฟต้นไหน ที่ไม่เคยถูกมอเตอร์ไซค์ชน นั่นสะท้อนถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมากบนถนนเส้นนี้ ท่านประธานครับ เคยมีโครงการที่จะขยายถนนเส้นนี้ กรมทางหลวงชนบทเคยว่าจ้างบริษัท ที่ปรึกษามาออกแบบ แล้วก็มีแบบมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการรับฟังความคิดเห็น มีการประชาสัมพันธ์โครงการ มีรูปแบบของถนนที่เอามาทำเป็นป้ายรถเมล์สวยงามมาก ๆ ลองไปดูได้นะครับ แต่จากปี ๒๕๖๐ ที่ออกแบบ จากปี ๒๕๖๐ ที่ศึกษา จากปี ๒๕๖๐ ที่ทำ ป้ายประชาสัมพันธ์ จนปัจจุบันนี้ซีดมองไม่ออกแล้วว่าเป็นโครงการอะไร ใครเป็นคนดำเนิน โครงการ ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยสำหรับโครงการขยายถนนเสมาฟ้าครามหรือลำลูกกา ๑๑ หรือรังสิต-นครนายก ๔๖ ฝากท่านประธานไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยดำเนินโครงการนี้ให้มันจบที่รุ่นของเรา ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย ขอลุกขึ้นอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ เกี่ยวกับการศึกษาการแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงที่ทำให้เกิดเรื่องปัญหาหนี้สินในครัวเรือน ด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ปัญหาหนี้เป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลแน่ ๆ เป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะบอกว่าก็เพราะไม่รู้จักอดออม ก็เพราะไม่รู้จัก ทำบัญชีรายรับ รายจ่ายแน่ ๆ ครับท่านประธาน น่าจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ที่ทำให้ ประชาชนต้องผจญกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น เดี๋ยวผมขอ Slide ด้วยนะครับ ท่านประธานครับ จากการศึกษาล่าสุด Slide ยังไม่มาไม่เป็นไรนะครับท่านประธาน จะเห็นว่าปัจจุบันนี้จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ปี ๒๕๖๕ พบว่าจังหวัดที่มีค่าใช้จ่าย ต่อครัวเรือนสูงที่สุดแซงจังหวัดนนทบุรีเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาเป็นอันดับ ๑ ในปีนี้คือ จังหวัดปทุมธานี ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของจังหวัดปทุมธานี อยู่ที่ ๒๒,๓๗๒ บาท แซงนนทบุรีเมื่อปีที่แล้วที่ ๒๑,๖๑๖ บาท ขออภัยครับท่านประธาน ค่าเฉลี่ยครัวเรือน ทั่วประเทศ ๒๒,๓๗๒ บาท
ขณะที่ปทุมธานี ๓๗,๘๙๗ บาท มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง ๑๕,๕๒๕ บาท นี่คือปีที่แล้ว ๒๕๖๕ ถามว่าค่าใช้จ่ายของ ปทุมธานี ที่มากเป็นอันดับ ๑ แบบนี้ ถ้ามาดูในรายละเอียดจะพบว่าที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ถ้าเทียบกันระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑลนะครับ นั่นก็คือเรื่องของขนส่งสาธารณะ ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับเรื่องขนส่งสาธารณะปทุมธานีของพวกเรานะครับ ผมยกตัวเลขมาให้ แบบนี้นะครับ ต่อครัวเรือนเฉพาะค่าขนส่งสาธารณะของคนปทุมธานี ๙,๑๘๐ กว่าบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ ๔,๓๕๐ กว่าบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ เกินครึ่งเลยนะครับท่านประธาน ลองไปดูก็ได้ครับ เพราะว่าปัจจุบันนี้ปทุมธานีเรา แม้จะอยู่ประชิดติดกรุงเทพฯ แต่ไม่มีขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ ที่ครอบคลุม ที่ทั่วถึง ที่เพียงพอ และที่ราคาประหยัด ไปดูก็ได้ครับในอำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว ของคุณสรวีย์ ศุภปณิตา เขต ๑ แทบจะไม่มีขนส่งสาธารณะที่ดีเลยนะครับ หรือนั่งรถไฟฟ้า สายสีเขียวมาลงในเขตผมตรงสถานีปลายทางสถานีสุดท้ายคูคต ถามว่าจะเดินทางต่อจาก คูคตไปที่ลาดสวาย ไปที่บึงคำพร้อยในเขตของคุณประสิทธิ์ ไปที่ลำลูกกา ไปต่ออย่างไรครับ มีครับรถเมล์ แต่ว่านาน ๆ ก็มาที มีครับรถเมล์ แต่เมื่อมาถึงคนก็กระจุกอัดแน่นเต็มคันรถ ประชาชนก็เลยต้องไปเดินทางในรูปแบบอื่น นั่นก็คือต้องไปซื้อรถส่วนตัวเพื่อให้มีอิสระ ในการเดินทางมากขึ้นนะครับ การซื้อรถยนต์ส่วนตัวนั่นก็ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือน ตามมา หรือถ้าไม่ซื้อรถยนต์ส่วนตัวครับ จะใช้วินมอเตอร์ไซค์ ผมถามง่าย ๆ อยู่หมู่บ้าน เอื้ออาทรเสมาฟ้าคราม คลองสอง ค่าวินมอเตอร์ไซค์จากเสมาฟ้าคราม คลองสอง มาถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานีคูคตก็สูงมาก ๆ ครับ ปัจจุบันนี้ผมอยู่ที่คูคต นั่งรถ ขับรถ มาที่สภาแห่งนี้ เฉลี่ยเติมน้ำมันสัปดาห์ละ ๒,๐๐๐ กว่าบาท สัปดาห์ละ ๒,๐๐๐ กว่าบาท ๑ เดือน มี ๔ สัปดาห์ ๘,๐๐๐ กว่าบาทแล้วครับท่านประธาน นี่คือค่าครองชีพที่คนปทุมธานี ต้องใช้ต้องจ่ายครับ นอกจากเรื่องรถเมล์ที่มีไม่เพียงพอจนทำให้เราต้องมีค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นแล้วยังมีปัญหาในเรื่องของน้ำประปาด้วยครับ ท่านอาจจะถามว่าน้ำประปา เกี่ยวอะไรกับเรื่องค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับเรื่องค่าครองชีพ ถ้าคุณมีน้ำประปาที่สะอาด ที่สามารถดื่มได้ค่าครองชีพตรงนี้ก็จะลดไปถูกไหมครับท่านประธาน ลองไปดูที่เทศบาล ตำบลอาจสามารถครับ คณะก้าวหน้าเขาไปทำสำเร็จมาแล้วครับ โครงการน้ำประปาดื่มได้ ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ โดยท่านนายกเทพพร จำปานวน ขออนุญาตเอ่ยนาม ผมไปดู มาแล้วครับ เทคโนโลยีไม่มีอะไรเลยครับ สูบน้ำจากแม่น้ำชีที่อยู่ไกลออกไป ๗ กิโลเมตร มาผ่านรางวนนะครับ วนไปวนมาให้ตกตะกอน ใส่สารเคมี ใส่สารส้มเอาลงไปเก็บไว้ ที่ถังพักน้ำใส ยิงขึ้นหอสูง จากหอสูงยิงเข้าทุกบ้าน ทุกครัวเรือน แค่นี้ก็ได้น้ำประปาที่สะอาด แค่นี้ก็ได้น้ำประปาที่สามารถดื่มได้แล้วครับท่านประธาน เมื่อเรามีน้ำสะอาดสามารถดื่มได้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำอุปโภคบริโภคก็ลดลง ท่านประธานเชื่อไหมครับ ในอำเภอคูคต อำเภอลำสามแก้ว อำเภอลาดสวายของผมดูแลโดยการประปาส่วนภูมิภาค สาขารังสิต ชั้นพิเศษนะครับ แต่สภาพของน้ำในปัจจุบันยังเป็นน้ำที่มีกลิ่น ยังเป็นน้ำที่มีสีอยู่เลย และที่สำคัญครับไหลอ่อนมาก บางบ้านถ้าไม่ติดเครื่องปั๊มน้ำไม่ขึ้นชั้น ๒ นะครับ อันนี้ก็เป็น ค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจะต้องเสียนะครับ เพราะฉะนั้นคิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ เรื่องหนี้สินครัวเรือนของประชาชน เราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย หรือเรื่องของการรณรงค์ให้คนรู้จักประหยัดแน่ ๆ ในส่วนของนโยบายรัฐและการบริหารงาน ของหน่วยงานรัฐก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาลเมืองคูคต เมืองลำสามแก้วและเมืองลาดสวายครับ ผมมีเรื่องมาปรึกษาหารือฝากท่านประธานไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่ ๑ ฝากไปถึงแขวงทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สถานี ตำรวจภูธรคูคต ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนไสวประชาราษฎร์ อันเนื่องมาจากถนนเส้นนี้ ในบางช่วงไม่มีไฟส่องสว่างครับ ปัญหานี้เกิดมาจากการที่ประชาชนส่งรูปภาพอุบัติเหตุ มาให้ผมเยอะมาก ๆ นะครับ หลายกรณีมากมีอุบัติเหตุตรงช่วงนี้ ช่วงที่ไม่มีไฟส่องสว่าง ริมถนน ตลอดทั้งเส้นมีไฟส่องสว่าง แต่ตรงช่วงนี้ไม่มี สาเหตุเกิดจากการที่มีสถานีจ่ายไฟของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งอยู่นะครับ แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดปทุมธานีเคยมีโครงการที่จะ ขอติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณนี้ แต่ก็ปรากฏว่าทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เหตุผลว่า ไม่สามารถติดบนเสาได้ เพราะถ้าไฟดับจะทำให้เกิดไฟดับในวงกว้าง เพราะมีสถานีจ่ายไฟอยู่ โครงการต่าง ๆ มีเกิดขึ้น โครงการต่าง ๆ กำลังจะผลักดัน แต่ทว่าก็ไม่ได้เกิดขึ้นนะครับ ขณะที่ปัญหาของประชาชน อุบัติเหตุต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นี่คืออยากฝากถึง ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เอ่ยมานั้นได้ช่วยบูรณาการปัญหาต่าง ๆ แล้วแก้ปัญหาให้ ประชาชน
เรื่องต่อมา ฝากถึงกรมทางหลวงนะครับ ปัญหาหลุมบ่อบริเวณหน้าสี่มุมเมือง ยาวไปจนถึงชุมชนซอยวัดประยูรธรรมาราม ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม เคยช่วยหารือเรื่องนี้ตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว มาจนกระทั่งวันนี้สภาชุดนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาหลุมบ่อหน้าสี่มุมเมืองยาวไปจนถึงหน้าเมืองเอกเลยยังอยู่ แถมมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น ด้วยครับ นั่นก็คือเรื่องของไฟบนสะพานลอยที่กรมทางหลวงอาจจะต้องไปดูแลประชาชน นะครับ
เรื่องสุดท้ายครับ ขอบคุณเทศบาลเมืองลาดสวายที่ช่วยสร้างในส่วนของ สะพานข้ามแยกโชติเวชไปขจรเนติยุทธให้ประชาชนได้ใช้สัญจรสะดวกขึ้น ขณะนี้อยู่ใน ระหว่างการก่อสร้าง และอยากจะฝากอีกเรื่องหนึ่งถึงเทศบาลลาดสวาย นั่นคือเรื่องของ การหาเส้นทางลัดใหม่ ๆ เชื่อมระหว่างคลองสามกับคลองสี่ให้ประชาชนได้ใช้สะดวกขึ้น ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกลจังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาลเมืองคูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย ครับ ผมลุกขึ้นเพื่อเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะ ในการดูแลขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนครับ ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มต้น การอภิปรายด้วยการเชิญชวนเพื่อนสมาชิกของเราชมภาพต่อไปนี้ครับ
นี่คือลูกกอล์ฟ ลูกกอล์ฟ จากสนามกอล์ฟ ทอ. ถึงประชาชน ท่านประธานครับ รูปนี้พี่น้องประชาชนในตำบลคูคต ส่งมาให้ผมนะครับ เพราะว่าเป็นลูกกอล์ฟที่ลอยมาจากสนามกอล์ฟที่ไม่มีตาข่ายไม่มี อะไรกั้นเลยครับ ข้ามถนนลำลูกกาแล้วเฉียดกบาลประชาชนลงอยู่ข้าง ๆ ตัวครับ ท่านประธานครับ นี่แค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมีแนวคิดที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสนามกอล์ฟ กองทัพอากาศมาเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชน ผมเริ่มต้นแบบนี้ครับท่านประธาน ชวนดู เรื่องของที่ดินในประเทศไทยของเราสักเล็กน้อย ประเทศไทยมีเนื้อที่หรือที่ดินทั้งหมด ๓๒๐ ล้านไร่ แบ่งอย่างกว้าง ๆ เป็นที่ดินของเอกชน ๑๒๕ ล้านไร่ ๓๙.๓๙ เปอร์เซ็นต์ ที่ดิน ของรัฐหรือที่เราเรียกกันว่า ที่ดินหลวง ๑๙๔ ล้านไร่ หรือประมาณ ๖๐.๖๑ เปอร์เซ็นต์ เรามาดูกันเฉพาะในส่วนที่ดินของรัฐหรือที่ประชาชนเรียกกันว่า ที่หลวง ที่หลวงในส่วนที่มี พื้นที่มากที่สุดคือป่าไม้ เรามีป่าไม้ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ ๑๓๐ ล้านไร่ มีเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมที่จะเอาไปทำเป็น ส.ป.ก. แจกจ่ายประชาชน ๔๐ ล้านไร่ มีที่ราชพัสดุที่ให้ หน่วยราชการใช้ประโยชน์ ๑๒ ล้านไร่ ที่ราชพัสดุที่ใช้ประโยชน์เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ ๒ ล้านไร่ และพื้นที่สาธารณประโยชน์อีก ๙ ล้านไร่ครับ ตัวเลขทั้งหมดรวมถึงตัวเลขที่ผม จะพูดต่อไปนี้ อาจจะไม่ตรงกันเป๊ะ อย่างเมื่อสักครู่คุณเบญจา แสงจันทร์ เพื่อนสมาชิก พูดถึงเรื่องที่ราชพัสดุที่กองทัพถือครองว่ามี ๗ ล้านกว่าไร่นั้นนะครับ บางทีตัวเลขก็อาจจะ ไม่ตรงกัน เพราะอะไรครับ ก็เพราะแนวเขตที่ดินแต่ละประเภทมันยังซ้อนทับกันอยู่ ที่ผ่านมา หน่วยงานกรม กองต่าง ๆ ถือแผนที่กันคนละฉบับ คนละแผ่น มันจึงมีการดำเนินโครงการ ที่เรียกว่า ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ๑:๔๐๐๐ หรือ One Map เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ One Map ก็ไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลยนะครับ ไม่คืบหน้าเท่าไรเลย ตามญัตติที่ผมเสนอครับท่านประธาน สิ่งที่กำลังจะชวนคิด ก็คือที่หลวงที่เรียกว่าที่ราชพัสดุ ที่ให้หน่วยราชการใช้ประโยชน์ ๑๒ ล้านไร่นี่ละครับ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่ดินราชพัสดุ ๑๒ ล้านไร่ ที่หน่วยงานราชการใช้ประโยชน์ ใครใช้บ้าง รายงานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ปี ๒๕๖๕ สภาผู้แทนราษฎร ของเรานี่ละครับ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมครอบครอง ที่ราชพัสดุมากที่สุด อยู่ที่ ๔.๕๙ ล้านไร่ เมื่อสักครู่ข้อมูลของคุณเบญจาบอกว่า ๗ ล้านไร่ คุณไหมก็เคยพูด ๖ ล้านกว่าไร่ หลัก ๆ ก็ประมาณนี้ครับครึ่งหนึ่ง รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๒.๑๙ ล้านไร่ รองลงมา กระทรวงการคลังเจ้าของที่ ๑.๖ ล้านไร่ กระทรวงที่ถือครองน้อยที่สุดครับ คือกระทรวง การต่างประเทศ ๑๗๒ ไร่ กระทรวงพาณิชย์ ๒๓๐ ไร่ ที่ราชพัสดุ ๑๒ ล้านไร่ กองทัพเอาไป ใช้แล้ว ๔.๕๙ ล้านไร่ เกือบครึ่งหนึ่งครับ ลองมาดูครับ ทัพไหนใช้เท่าไร ที่ดินราชพัสดุแยก ตามเหล่าทัพนะครับ กองทัพบกเนื้อที่ที่เขาครอบครองทั้งหมด ๔.๖ ล้านไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๓.๘ ล้านไร่ กองทัพเรือถือครองที่ดินทั้งหมด ๒๗๐,๐๐๐ กว่าไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ กองทัพอากาศถือครองที่ดินทั้งหมด ๒๒๙,๐๐๐ กว่าไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าไร่ ที่ผม Highlight สีฟ้า กองทัพอากาศก็เพราะว่าจะพูดถึงเรื่องที่ดินของกองทัพอากาศ การทำธุรกิจของกองทัพอากาศ การใช้ประโยชน์ที่ดินของกองทัพอากาศนี่ละครับ เข้าใจได้ ที่เยอะแยะมหาศาล ที่กองทัพเอาไปใช้เมื่อสักครู่ ถ้าเอาไปเป็นที่ตั้งไว้หน่วยทหาร ถ้าเอาไป ทำเป็นสนามฝึกซ้อมรบ ผมเข้าใจได้ ประชาชนไม่ติดใจแน่ ๆ แต่การเอาที่หลวงไปทำธุรกิจโรงแรม ปั๊มน้ำมัน สนามม้า สนามกอล์ฟ สนามมวย เป็นสิ่งที่ ประชาชนไม่อาจเข้าใจได้ครับ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ภารกิจกงการของทหาร คำถาม ที่เขาถามกันว่าทหารมีไว้ทำไม ทหารมีไว้ทำไมเกิดขึ้นก็เพราะแบบนี้ครับ กับการที่บรรดา นายทหารหากินกับการทำธุรกิจแบบนี้นี่ละครับ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติอย่างแท้จริง ถูกถามบ่อยเข้าทหารมีไว้ทำไม ทหารมีไว้ทำไม กองทัพก็ไปเอาทหารชั้นผู้น้อยที่เขาเป็น ทหารอาชีพจริง ๆ อยู่ตามชายแดนมา Promote กลบเกลื่อน แบบนี้ใช้ไม่ได้ครับ ทหารไม่ได้ มีหน้าที่ในการทำธุรกิจ เพราะอะไรครับ ผมขอยกข้อสังเกตประสบการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ไม่เสียหายครับ นักวิชาการด้านความ มั่นคงเคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกองทัพว่ามีลักษณะร่วมกันดังนี้ ๑. การประกอบธุรกิจ เป็นเรื่องที่เป็นความลับ ไม่โปร่งใส และไม่มีความชัดเจน ๒. ธุรกิจทหารมักกระจุกตัวอยู่กับ นายทหารระดับสูง ทหารระดับล่าง พลทหาร ทหารชั้นประทวน จ่าต่าง ๆ ไม่ได้รับ ผลประโยชน์ ๓. ผลตอบแทนที่เกิดกับทหารจำนวนน้อยนี้ยังถูกใช้ไปเพื่อสร้างอำนาจทาง การเมืองให้กับกลุ่มตนและเป็นปัจจัยให้ทหารต้องคงอำนาจทางการเมืองต่อไป สุดท้าย ๔. หากรัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะจัดการกับปัญหาธุรกิจทหารและกระทบกับผลประโยชน์ ของผู้นำทหารแล้ว ประเด็นนี้อาจกลายเป็นเงื่อนไขรัฐประหารในอนาคตได้ นี่เป็นข้อสังเกต จากต่างประเทศนะครับ แต่อาจจะคุ้น ๆ คล้ายกับประเทศไทยเราหรือไม่ ก็ทุกท่านพิจารณาดู เราก็หวังว่าประสบการณ์จากต่างประเทศการที่เราจะปฏิรูปกองทัพ หรือที่ท่านนายกรัฐมนตรี บอกว่าพัฒนาร่วมกันนั้น ปฏิรูปกองทัพ พัฒนาร่วมกัน โดยการยกเลิกการทำธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพนั้น ครั้งนี้ของเรานั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดการรัฐประหารอย่างที่เรา เกรงกลัวกัน ท่านประธานครับ กรรมาธิการการทหารชุดปัจจุบัน ผมนั่งอยู่ในกรรมาธิการ ชุดนี้ด้วยครับ ได้เคยเชิญตัวแทนหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหมเข้ามาชี้แจงว่าที่ทางต่าง ๆ ที่คุณเอาไปนั้นใช้ทำอะไรบ้าง ว่าธุรกิจต่าง ๆ ที่คุณมีนั้นมีอะไรบ้าง ได้รับคำชี้แจงจาก กองบัญชาการกองทัพไทย ได้รับคำชี้แจงจากกองทัพบก ได้รับการชี้แจงจากกองทัพอากาศ น่าเสียดายกองทัพเรือไม่ยอมชี้แจงอย่างละเอียด ไม่มีเอกสารชี้แจงมาอย่างละเอียดและ น่าเสียใจผมในฐานะลูกประดู่คนหนึ่ง อดีตทหารกองประจำการกองทัพเรือ ก็หวังว่า ในอนาคตทางกองทัพเรือจะมีหนังสือชี้แจงมาที่กรรมาธิการการทหารนะครับ รออยู่ครับ กล่าวสำหรับกองทัพอากาศตามญัตตินี้เลย กองทัพอากาศมีที่ดินในความรับผิดชอบทั้งสิ้น ๑๕๕ แปลง เนื้อที่รวมกันประมาณ ๒๓๕,๘๐๔ ไร่ ในส่วนของการใช้ประโยชน์ได้รับคำตอบ จากผู้ที่มาชี้แจงในกรรมาธิการว่าเป็นพื้นที่สนามบิน อาคารสำนักงาน สถานีรายงานป้องกัน ภัยทางอากาศ สถานีโทรคมนาคม สถานีวิทยุกระจายเสียงทางอากาศ และพื้นที่จัดสวัสดิการ ต่าง ๆ สำหรับพื้นที่สวัสดิการเชิงธุรกิจของกองทัพอากาศมีทั้งหมด ๕๔ แห่ง ประกอบด้วย ปั๊มน้ำมัน ๙ แห่ง ร้านสะดวกซื้อ ๙ แห่ง ร้านกาแฟ ๑๐ แห่ง ร้านค้าอื่น ๆ ๒๖ แห่ง ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ พวกนี้จริง ๆ มีชื่อแบรนด์นะครับ ไม่อยากเอ่ยไปเดี๋ยวจะโดนฟ้อง ในฐานะ สส. เขต พื้นที่ตำบลคูคตตรงนี้ ซึ่งมีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์อยู่ตำหน้าตำตาเห็นอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน ผมก็ดูในเอกสารที่ทางกองทัพเข้ามาชี้แจงว่าเอ๊ะแล้วสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ มันอยู่ในบรรทัดไหน ปรากฏว่าไม่พบครับ ผมก็เลยถามผู้ที่มาชี้แจงว่าแล้วสนามกอล์ฟ อย่างสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ในพื้นที่ของผม หรือแม้แต่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) เดี๋ยวคุณเอกราชจะอภิปรายต่อไป อยู่ตรงไหน คำตอบก็คือสนามกอล์ฟกองทัพอากาศธูปะเตมีย์เป็นสวัสดิการภายใน ไม่ใช่สวัสดิการ เชิงธุรกิจ หมายความว่าอย่างไรครับ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำธุรกิจแบบมีรายได้ส่ง เข้าคลัง แต่เป็นการให้บริการทหารเป็นสวัสดิการของทหาร เปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้ด้วยครับ โดยมีการเก็บเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับปีหนึ่ง ๆ น่าจะอยู่หลายสตางค์ อยู่ครับ รายได้ไปไหนบ้าง บางทีเราน่าจะต้องมาคิดกันนะครับ ประชาชนก็อยากรู้ในเอกสาร ประกอบการพิจารณาที่ทางสำนักวิชาการทำเล่มนี้ ก็บอกด้วยว่ามีค่าใช้จ่ายเข้าสนามเท่าไร มีบัตรสีทอง บัตรสีเงิน บัตรสามัญ บัตรวิสามัญ เยอะแยะมากมายนะครับลองไปดูกันได้ หรือไปใช้บริการกันก็ได้ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์มาจากไหน ที่ดินราชพัสดุครับท่านประธาน ตรงแยกปากทางตรงนั้น แยกปากทางลำลูกกาที่ถนนลำลูกกาเชื่อมกับถนนพหลโยธิน เชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตตรงนั้น ที่ราชพัสดุ ๗๐๐ กว่าไร่ กองทัพอากาศขอไปใช้ทำ ๓ ส่วน ๑. ทางหัวมุมด้านทางซ้ายมือ กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ ๒. ด้านล่างสนามกีฬา กองทัพอากาศและพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดตามรูปนั้น คือสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ ธูปะเตมีย์พื้นที่มากที่สุด ๖๒๕ ไร่ ๖๒๕ ไร่นี่มากกว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศ มากกว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ขอใช้ที่ราชพัสดุอีกนะครับ ท่านประธานเห็นไหมครับว่า รอบข้างนั้นบ้านเรือนผู้คนหนาแน่น สนามกอล์ฟใหญ่มาก ๆ สนามกอล์ฟกองทัพอากาศ เกิดขึ้นในปี ๒๕๒๘ หลังจากที่มีการขยาย Runway ของสนามบินดอนเมือง ขยาย Runway สนามบินดอนเมืองแล้วไปกระทบกับสนามงู หรือสนามกอล์ฟกานตรัตน์ทำให้จำนวนหลุม ลดลง นายพลกลัวตีกอล์ฟไม่ครบหลุม เขาก็เลยมาใช้ที่ราชพัสดุตรงนี้ทำเป็นสนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์แทนครับ กองทัพอากาศมาใช้พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเคยใช้เป็นที่ฝึกกระโดดร่มทางยุทธวิธี เอามาทำเป็นสนามกอล์ฟเพื่อสวัสดิการของทหาร ปี ๒๕๒๘ เข้าใจได้ว่าบริเวณนี้ไกลปืนเที่ยง เป็นทุ่งโล่งไม่ค่อยมีบ้านเรือนของประชาชน แต่ปัจจุบัน ๓๙ ปีผ่านไปท่านดูสิครับ พื้นที่ตรงนี้ เปลี่ยนไปอย่างมากเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านจัดสรรผู้คนอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น เอาเฉพาะ แค่พี่น้องชาวปทุมธานีในละแวกนี้นะครับ สีเหลืองก่อนเทศบาลเมืองคูคต ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์พื้นที่ ๑๒.๔๘ ตารางกิโลเมตร ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นถึง ๔๓,๙๔๑ คน สีฟ้าอ่อน ๆ เทศบาลเมืองลำสามแก้วเนื้อที่ ๑๒.๕ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๖๖,๐๐๐ กว่าคน สีชมพูเทศบาลเมืองลาดสวายเนื้อที่ ๓๓ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๗๑,๐๐๐ กว่าคน และสีส้มข้างบนสุดเทศบาลนครรังสิต เขตคุณสกล สุนทรวาณิชย์กิจ เนื้อที่ ๒๒.๘ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๘๔,๐๐๐ กว่าคน หนาแน่นมากครับ นี่เรายังไม่นับ ถึงประชากรที่อยู่ติดกับพี่น้องชาวบางกอกเกี้ยน คนกรุงเทพมหานคร ในเขตสายไหม ในเขต ดอนเมืองที่มีโอกาสได้มาใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะแห่งนี้ถ้าจะเกิดขึ้น มีความหนาแน่น ของประชากรขนาดนี้ แต่สิ่งที่เราขาดนั่นก็คือพื้นที่สาธารณะหรือ Public Space ครับ ท่านประธาน วันนี้ถามคนในพื้นที่ว่า วันหยุดไม่อยากอยู่บ้านจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก พวกเขาจะไปไหน สิ่งที่ผู้คนในละแวกนี้เจอก็คือร้านค้า คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า หมายความว่า อะไรครับ หมายความว่าต้องมีค่าใช้จ่าย หมายความว่าเงินในกระเป๋าที่จะต้องถูกล้วงออกมา วันนี้จะออกกำลังกายคนในพื้นที่นี้ออกกำลังกายอย่างปลอดภัยหาพื้นที่ได้น้อยมาก ๆ ครับ บ้างต้องไปวิ่งไปปั่นจักรยานอยู่ริมถนน อย่างหลังโลตัสลำลูกกาคลอง ๒ ไปดูได้ครับ มีคนวิ่ง ออกกำลังกายทุกเย็นไม่ปลอดภัยด้วย เพราะสุนัขจรจัดเยอะมาก วิ่งไปเสียวน่องไป บ้างก็ไปวิ่งในซอยตันไปดูได้ ถนนเสมาฟ้าคราม ลำลูกกาคลอง ๒ เป็นซอยยาว ๆ เลย ซอยตันเพราะมันไม่มีรถเข้าไป นักวิ่งเขาไปออกกำลังกายวิ่งไปวิ่งกลับในนั้น บ้างก็ไปวิ่ง อยู่ริมถนนลำลูกกาซอย ๑ หลังสนามกอล์ฟนี่ละครับ เป็นเส้นที่มีรถราวิ่งขวักไขว่ คนไปวิ่ง ออกกำลังกาย คนปั่นจักรยานตรงนั้นอันตรายมาก และการที่ผมอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ เอามาทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนก็เพราะให้แรงบันดาลใจจากคนที่มาออกกำลังกาย ตรงนี้ละครับ คุณลุงท่านหนึ่งวัย ๙๐ ปีกว่าแล้วแต่แข็งแรงมากเพราะปั่นจักรยานทุกวัน คุณลุงมาออกกำลังกายตรงลำลูกกาซอย ๑ เส้นนี้ ก็มีสนามกอล์ฟอยู่ตรงหน้า เขาก็เกาะรั้ว สนามกอล์ฟนี้ละครับ Warm Up ร่างกายก่อนที่จะออกปั่นจักรยาน ที่โล่งกว้างอยู่ตรงหน้า ใกล้ตาไกลตีนเข้าไปไม่ได้ครับท่านประธาน ใกล้ตาไกลตีนเข้าไปใช้ไม่ได้ มันอะไรนักหนา นี่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดเรื่องนี้ จริงอยู่ครับมีคนบอกว่าก็มีสนามกีฬากองทัพอากาศ อยู่ใกล้ ๆ นี้เห็นไหม สนามกีฬากองทัพอากาศใครก็เข้าไปใช้บริการได้ แต่สำหรับผมและ คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนสนามกอล์ฟกองทัพเป็นสวนสาธารณะเรามองว่ามันคนละ Function คนละหน้าที่ เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากได้คือพื้นที่สาธารณะคือ Public Space เดี๋ยว อ.เอทจะนำทัวร์คำว่า Public Space ด้วย Public Space คือพื้นที่ที่เป็นทั้งสวนสาธารณะ ที่มีสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าเป็นปอดของเมือง เป็นทั้งพื้นที่ที่มีศูนย์เรียนรู้ ไม่ว่าจะห้องสมุด ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งดนตรีในสวนถ้าจะจัดนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการมี ส่วนร่วมของประชาชน นี่ยังไม่นับว่าสนามกีฬากองทัพอากาศที่บอกว่าไปออกกำลังกายที่นั่นสิ จัดมหกรรมสินค้าราคาถูกทุกเดือน ไปดูก็ได้ครับ แยกปากทางลำลูกกาเดี๋ยวก็มหกรรมสินค้า ราคาถูก วิ่งไปก็ดมกลิ่นหมูย่าง ดมกลิ่นหมูปิ้งไป ทุกเดือนและเดือนละยาว ๆ ด้วยลากกัน ยาว ๆ จนสนามกีฬาแทบจะเป็นตลาดนัดอยู่แล้ว อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่างบประมาณ เข้าใคร ค่าซุ้ม ค่า Booth ต่าง ๆ เข้าใคร เดี๋ยวก็มาตรวจสอบกันในโอกาสหน้าแล้วกันนะครับ ท่านประธานครับถามว่า จากสนามกอล์ฟกองทัพอากาศเป็นสวนสาธารณะอย่างไร ตัดคำว่า เป็นไปไม่ได้ออก แล้วผมมี ๓ ความเป็นไปได้ให้พิจารณาดังนี้ครับ ตามกฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การใช้ที่ราชพัสดุของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ง่าย ๆ เลยครับ ในส่วนของการเรียกคืนที่ราชพัสดุที่ระบุว่าให้กรมธนารักษ์เรียกคืนที่ราชพัสดุจาก ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีดังต่อไปนี้ ข้อที่ ๑ เลิกใช้ที่ราชพัสดุ จบครับ กองทัพเลิกใช้ที่ราชพัสดุคืนกลับให้กรมธนารักษ์ จบ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้คือ อบจ. ปทุมธานีมาขอใช้ที่ดินตรงนี้ทำ Public Space ผมมีโอกาสได้ปรึกษา พูดคุยกับทางท่าน พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ. ปทุมธานี ขออภัยที่ต้อง เอ่ยนาม ท่านคำรณวิทย์ บิ๊กแจ๊สของเราบอกว่าทำได้ ยินดีมาก เอามาเลย จังหวัดปทุมธานี มีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ให้เป็นปอดของคนปทุมธานี นี่คือ ความเป็นไปได้ที่ ๑ สำหรับความเป็นไปได้ที่ ๒ ตามกฎของกระทรวงการคลังฉบับเดียวกันใน ส่วนของการขอใช้พื้นที่มีข้อหนึ่งระบุว่ากรณีที่ราชพัสดุในพื้นที่เดียวกันกับพื้นที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานรัฐอื่นมีอำนาจและหน้าที่ดูแลรับผิดชอบให้ยื่นหนังสือแสดงความเห็นชอบของ ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นประกอบด้วย ตรงนี้หมายความว่า กองทัพอากาศเลิกทำ สนามกอล์ฟ แต่ยังอยากครอบครองอยู่ใช่ไหมครับ อยากได้ที่นี้อยู่ใช่ไหมครับ ยังไม่คืนให้ กรมธนารักษ์ ก็สามารถแสดงความเห็นชอบให้ อบจ. มาจัดการพื้นที่ตามโครงการที่จะใช้ได้ โดยมีหนังสือแสดงความเห็นชอบแนบไปกับโครงการที่ อบจ. ขอทำ สำหรับความเป็นไปได้ที่ ๓ กองทัพอากาศเลิกทำสนามกอล์ฟ แต่ยังอยากครอบครองที่อยู่ ยังไม่อยากให้ใครมาใช้ประโยชน์ด้วย ทำเองเลยทำสนามกอล์ฟให้ประชาชนหน่อย อันนี้ จะขอบคุณเป็นอย่างมาก นี่คือความเป็นไปได้ที่ ๓ ท่านทำมาแล้วแยก คปอ. ท่านไม่คืนพื้นที่ ท่านไม่อะไรด้วย ท่านทำสวนสาธารณะตรงแยก คปอ. แต่ตรงนั้นไม่ค่อยใหญ่เท่าไร อยากได้ ใหญ่ ๆ เบิ้ม ๆ แบบนี้ นี่เป็นมุมมองของผมและคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนที่ดินตรงนี้ ที่หลวง ผืนใหญ่ใจกลางเมืองครับท่านประธาน ที่หลวงผืนใหญ่ใจกลางเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ หนาแน่นตรงนี้ไม่ควรเป็นสนามกอล์ฟอีกต่อไป แต่ควรเอามาทำเป็นสวนสาธารณะ เอามา ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เอามาทำเป็น Public Space ให้คนทุกเพศทุกวัยใช้ประโยชน์ ให้เป็นไป เพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นายพลหรือคนรวยที่มาตีกอล์ฟเพียงไม่กี่คน ท่านประธานครับ ดังที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เสนอมานั้นเป็นไปได้ ทั้งหมดอยู่ที่เจตจำนงทาง การเมืองว่าจะทำหรือไม่ทำ ปฏิรูปกองทัพในนิยามของผม รวมถึงพวกเราสมาชิก พรรคก้าวไกลไม่ได้มีแค่การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ไม่ได้มีแค่การลดจำนวนนายพล ไม่ได้มี แค่การเพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย แต่ยังรวมถึงการยกเลิกการทำธุรกิจของกองทัพด้วย เสนาพาณิชย์ต้องไม่มี และแม้ว่าสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์แห่งนี้จะไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า สวัสดิการ เชิงธุรกิจของกองทัพ เพราะเขาใช้คำว่า สวัสดิการภายใน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดด้วยว่า ที่ดินหลวงผืนใหญ่ใจกลางเมือง ย้ำอีกครั้งที่ดินหลวงผืนใหญ่ใจกลางเมืองที่กองทัพใช้ ประโยชน์จากราชพัสดุนี้มันคุ้มค่าหรือไม่ กับการทำสนามกอล์ฟที่คนไม่กี่คนใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ผมจึงหวังว่าสมาชิกจะสนับสนุนญัตตินี้ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะลักษณะเดียวกันนี้ครับท่านประธาน เคยประสบ ความสำเร็จมาแล้ว อย่างกรณีใกล้ ๆ รัฐสภาของเรา ใกล้ ๆ สภาของเราตรงถนนทหาร เห็นสวนสาธารณะข้าง ๆ ไหมครับ ก่อนหน้านี้เป็นโรงงานทอผ้าของกรมอุตสาหกรรม ทหาร กระทรวงกลาโหม เขาก็คืนให้ราชพัสดุจากนั้น กทม. ก็ขอมาใช้ทำประโยชน์เป็น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกายไปวิ่งได้ครับ วิ่งรอบสภาก็ได้สภาใหญ่ ยังมีที่ที่เคย เป็นสนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย สนามกอล์ฟรถไฟปัจจุบันเนื้อที่ ๓๗๕ ไร่นั้น ปัจจุบันการรถไฟก็ไม่ได้ทำเป็นสนามกอล์ฟแล้ว ก็พัฒนาร่วมกันกับกรุงเทพมหานครทำเป็น สวนสาธารณะที่ชื่อสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟที่เรารู้จักกัน แล้วทำไมกองทัพอากาศ จะทำไม่ได้ แล้วทำไม อบจ. ปทุมธานีจะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ไม่ได้ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เทศบาลเมืองลำสามแก้ว และเทศบาลเมืองลาดสวาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์ตั้งอยู่และเป็นคนเสนอญัตตินี้นะครับ ท่านประธานครับ ตั้งแต่นำเสนอเรื่องนี้ สู่สาธารณะ มีหลายประเด็นจากฝ่ายที่ยังอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ในครอบครัวของ กองทัพยังอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ต่อไป หรือพูดง่าย ๆ คือฝ่ายที่ค้าน มีอยู่ ๓-๔ เรื่อง ที่ปรากฏขึ้นมาครับ
ข้อโต้แย้งที่ ๑ คำถามที่ว่าใครจะมีศักยภาพดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ พื้นที่ ๖๒๕ ไร่นี้ คำตอบครับผมอภิปรายไปแล้ว นั่นก็คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ อบจ. ปทุมธานี จัดทำบริการสาธารณะในเรื่องการทำสวนสาธารณะ แบบนี้อยู่แล้วและยิ่งหากมีการกระจายอำนาจอย่างที่ทุกคนอยากเห็น อย่างที่ สส. หลายท่าน อย่างที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อยากเห็น กระจายอำนาจ กระจายงาน กระจายเงิน กระจายคน เกิดขึ้นอย่างเต็มสูบ ก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่านี่จะเป็น Public Space เป็นสวนสาธารณะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้การดูแลของ อบจ. ครับ เพราะในวันนี้แม้จะยังไม่มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มสูบ ทางนายก อบจ. ปทุมธานี ก็บอกว่าสามารถที่จะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ได้สบายมาก
ข้อโต้แย้งที่ ๒ จะทำให้ Caddy กว่า ๕๐๐ คนตกงาน ก่อนอื่นนะครับอาจจะ ต้องถามกลับไปหน่อยว่าการจ้างงานในลักษณะรายวันแบบนี้ของกองทัพ คือถ้ามาทำงาน ก็ได้เงิน อยากออกรอบก็หวังว่าจะได้ Tip นั้นเป็นงานที่มีความมั่นคงแล้วหรือครับ สวัสดิการ ควรต้องดีกว่านี้ไหม ดังนั้นข้อเสนอของผมก็คือก็เอา Caddy มาเป็นพนักงานของ อบจ. มีเงินเดือน มีหน้าที่ มีวันเวลาทำงานที่ชัดเจน สำหรับใครที่สมัครใจมาดูแลในส่วนของ Public Space ดูแลสวนสาธารณะศูนย์เรียนรู้แห่งนี้
ข้อโต้แย้งที่ ๓ ข้ออ้างจากตัวแทนกองทัพอากาศที่เคยมาชี้แจงในกรรมาธิการ การทหารเรื่องของแนวร่อน แนวร่อนนะครับ กองทัพอากาศเคยชี้แจงไว้ในกรรมาธิการ การทหารว่าต้องสงวนให้เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวร่อนของเครื่องบิน ผมไปดูมาแล้วครับ สิ่งที่เรียกว่า แนวร่อนตามหลักการบินพลเรือน ตั้งแต่หัวสนามบินจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ระยะนี้ห้ามอะไรครับ ก็ต้องไปดูประกาศสำนักการบินพลเรือน เรื่องการ ดำเนินกิจกรรมภายในเขตปลอดภัยการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๓ ห้ามกิจกรรมในลักษณะ ดังต่อไปนี้ ปล่อยแสงไฟภาคพื้น ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปล่อยคลื่นไฟฟ้า ปล่อยไอน้ำ หรือควัน ปล่อยบอลลูนล่าม เพราะแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ครับรบกวนการบิน แต่ถามหน่อย มันเกี่ยวอะไรกับสนามกอล์ฟกองทัพอากาศหากเปลี่ยนไปเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ ประโยชน์ ไม่เกี่ยวกันเลยครับท่านประธาน และยิ่งไปดูในแนวร่อนที่ว่านะครับ ในระยะ ๑๐ กิโลเมตรที่ว่านี้นะครับ จะเห็นว่ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่หนาแน่นตลอดแนว ถ้าจะปล่อยให้โล่งบางทีอาจต้อง Clear ยาวไปจนถึงอำเภอธัญบุรี คลอง ๓ หรือแม้แต่จาก สนามกอล์ฟก่อนที่จะถึงหัวสนามบินก็มีตึกสูง มีชุมชนอยู่เยอะแยะมากมายต้อง Clear ไหม แล้วอะไรคือความมั่นใจว่าจะไม่มีกิจกรรมห้ามนั้นเกิดขึ้นในที่เอกชนเหล่านี้ ดังนั้นเรื่อง แนวร่อนจึงเป็นแค่ข้ออ้าง
ข้อโต้แย้งที่ ๔ ข้อโต้แย้งสุดท้ายครับ พอดีผมเปิดอ่านเอกสารประกอบ การพิจารณานะครับมีบทวิเคราะห์เอกสารนี้ ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ขออนุญาตอ่าน สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์อยู่ในบริเวณที่ตั้งของกองทัพอากาศ ดังนั้นหากมีการเรียกคืนที่ ราชพัสดุเพื่อมาก่อสร้างสวนสาธารณะแล้ว บริเวณดังกล่าวจะมีความปลอดภัยของ ประชาชนที่เข้ามาออกกำลังกายหรือไม่ เนื่องจากภายในกองทัพมักจะมีสนามซ้อมยิงปืน และอาจมีกระสุนมาตกในบริเวณดังกล่าวได้ ฟังแล้วอย่างไรครับท่านประธาน อะไรกันนี่ ผมถามว่าแล้วกระสุนมันไม่ได้ตกโดนคนตีกอล์ฟ หรือครับถ้าอย่างนั้น นี่ผมก็เพิ่งทราบนะครับ ว่านอกจากเราจะต้องห่วงเรื่องของลูกกอล์ฟ มาตกใส่หัวเรา ตกใส่บ้านเรือนเราตามที่ผมอภิปรายไปแล้วในช่วงเปิดญัตติ เราต้องมาห่วง กระสุนอีกด้วยหรือ สนามยิงปืนของกองทัพอากาศไม่มีความปลอดภัยขนาดนั้นเลยหรือครับ ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น และนี่เป็น ๓-๔ ข้อโต้แย้งหลังจากที่ผมมีการเสนอเรื่องนี้ออกไป อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ สมาชิกที่ช่วยกันอภิปรายในญัตตินี้นะครับ และคาดว่า จะช่วยกันลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อให้มีการศึกษาหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ครับ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวปทุมธานี ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เทศบาลเมืองลำสามแก้ว และเทศบาลเมืองลาดสวาย ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างคน ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากญัตติดังกล่าวผมคิดว่าเราสามารถจำแนกประเด็น ในการพิจารณาออกเป็น ๒ ส่วน ตามชื่อญัตติเลยครับ ๑. คือเรื่องความเป็นพลเมืองที่มี คุณภาพ และ ๒. การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมขอเริ่มต้นในส่วนที่ ๒ ที่คำว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข เพราะตรงนี้น่าจะเป็นส่วนขยายของคำว่า พลเมืองที่มีคุณภาพ ที่เราได้อภิปราย กันมาแล้วนะครับ ที่อยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ก็เพียงที่อยากจะชี้ให้เห็นกับสถานการณ์ที่ควร จะเป็นว่า ตราบใดที่ยังเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ การแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นระดับ พระราชบัญญัติ หรือไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติตามหลักการแบ่งแยกอำนาจครับ ตรงกันข้ามการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ การปกครองของรัฐ พลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยต้องเข้าใจเรื่องนี้ และต้อง ไม่นำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียนพร่ำเพรื่อด้วยหวังผลสุดท้ายเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ตนเอง ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นชอบ พลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยต้องเข้าใจด้วยครับว่า พรรคการเมืองเป็นที่รวบรวมของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองที่คล้ายกัน มีกิจกรรมทางการเมืองของพรรค พรรคส่งคนเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงในสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ควรมีใครหรือองค์กรใดมายุบพรรคการเมืองใด ๆ ได้อย่างง่าย ๆ ถ้าจะมีการยุบ พรรคการเมืองก็ควรเกิดมาจากการที่ไม่มีใครเลือกพรรคนั้น ไม่มีประชาชนให้การสนับสนุน พรรคการเมืองนั้นอีกต่อไป ท่านประธานครับ มาสู่คำว่า พลเมืองที่มีคุณภาพ พลเมืองที่มี คุณภาพเป็นแบบไหน ในที่นี้ย่อมไม่ใช่คุณภาพที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อ ศีลธรรมจรรยา มารยาทอันดีงาม ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่แน่ ๆ ครับ แต่เป็นเรื่องของการเป็น Active Citizen เดี๋ยวอาจารย์เอทจะไม่ให้ Model Citizen หรือพลเมืองที่มีความตื่นตัว ทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนหัวถึงหมอนอีกครั้งมีอะไรบ้างที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง มีอะไรบ้างที่ไม่เป็น การเมือง ไม่มีครับ ดังนั้นพลเมืองที่มีคุณภาพจึงต้องไม่เป็นไทยเฉย แต่ต้องเป็นคนที่ติดตาม ตรวจสอบการเมือง ซึ่งหมายถึงการจัดสรรผลประโยชน์ว่าฝ่ายบริหารใช้เงินภาษีของ ประชาชนไปกับอะไร โปร่งใส คุ้มค่าหรือไม่ ว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้แทนราษฎรที่เรา เลือกไปนั้นได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ได้ออกกฎหมายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ คนส่วนใหญ่มากกว่าคนไม่กี่คน ในความเห็นของผม พลเมืองที่มีคุณภาพอยู่ใน ๓ คำจำกัดความต่อไปนี้ เท่าทันตน เท่าทันโลก สันหลังตรง เท่าทันตนคือ รู้จักตนเอง รู้จักรากเหง้าความเป็นมา ซึ่งจะทำให้เรา ภาคภูมิใจในตัวเองและอยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ให้ดีขึ้น เท่าทันโลกคือ รู้จักความเป็นไปของสากลโลก อะไรคือสิ่งที่ประเทศอื่น ๆ กำลังมุ่งไป อะไรคือระเบียบโลกใหม่ คือคุณค่าที่สากลให้การยอมรับ ไม่ใช่เอะอะก็ไม่เหมือนใครในโลก เอะอะก็แบบไทย ๆ เช่น ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เช่น สิทธิมนุษยชนแบบไทย ๆ กระบวนการ ยุติธรรมแบบไทย ๆ เป็นต้น แบบนี้ไม่ได้ครับ เพราะมันเป็นนามธรรม เต็มไปด้วยคำถาม คือสิ่งที่สำนวนวัยรุ่นทุกวันนี้เขาใช้คำว่า อิหยังว่ะ สุดท้ายพลเมืองที่มีคุณภาพต้องสันหลังตรง คือต้องไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม ต่อการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ โดยกล้าที่จะยืนหยัด อย่างมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างที่ เช เกวารา (Che Guevara) ว่าไว้ หากท่านเห็นความอยุติธรรม อยู่ตรงหน้าแล้วโกรธจนตัวสั่น เราคือเพื่อนกัน พลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย มีเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญต่อความเป็นพลเมืองและต่อสุขภาพของประชาธิปไตยครับ นั่นก็คือเรื่องราวของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย หลักสูตรการเรียน การสอนของไทยที่ผ่านมาแทบไม่มีเรื่องนี้เลย ซึ่งสำคัญมากนะครับ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ของการสร้างประชาธิปไตยและประวัติศาสตร์ของการปกป้องประชาธิปไตย คณะปฏิวัติ รศ. ๑๓๐ เรื่องราวของบรรดานายทหารหนุ่ม ซึ่งนำโดย หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น มีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จับได้ก่อน แทบไม่เคยมีใครรับรู้ เรื่องพวกเขาครับ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคณะราษฎรตามมาในปี ๒๔๗๕ เรื่องราวของคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕ ความเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ทำให้ ประเทศไทยมีประชาธิปไตยทุกวันนี้ มีสภาผู้แทนราษฎรของทุกวันนี้ ก็แทบไม่มีใครพูดถึง เรื่องของพวกเขา ทหารที่เสียชีวิตจากการปกป้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ปราบกบฏ ปี ๒๔๗๖ กรณีกบฏบวรเดช วันนี้แค่อนุสาวรีย์เชิดชูพวกเขาตรงหลักสี่ก็ถูกรื้อ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่รู้ ว่าไปอยู่ที่ไหน ยังมีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พวกเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือแม้แต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดงที่เพียงออกมา เรียกร้องให้มีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น นิดเดียวครับท่านประธาน เหล่านี้คือสิ่งที่ ควรมีอยู่ในแบบเรียนครับ หน้าที่หลักสูตรแบบเรียนคือต้องเปิดโลก เปิดกว้างให้คนได้คิด ไม่ใช่จำกัดเพดานหรือเลือกสรรมาแต่ในสิ่งที่รัฐอยากให้ประชาชนรับรู้ อย่างนั้นไม่มีทาง สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยได้ ฝากด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส.พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เทศบาลเมืองลำสามแก้ว และเทศบาลเมืองลาดสวายครับ ผมขอร่วมอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การปฏิรูปการบริหารงาน บุคคลส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... ขอเป็นปากเสียง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี ทั้ง ๖๕ แห่ง และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งเกือบ ๘,๐๐๐ แห่ง ท่านประธานครับ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเป็น ๑ ในสิ่งที่ยืนยันกับเรา ครับว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา ตรงกันข้ามครับ กลับเป็นสิ่งที่ยิ่งสร้าง ทำลายหลักการกระจายอำนาจที่พวกเราอยากเห็น ที่พวกเราอยากให้เกิดขึ้นในแบบที่ ประเทศที่เจริญแล้วเขาเป็นอยู่ การกระจายอำนาจคือรากฐานประชาธิปไตยท้องถิ่นครับ ประชาชนสามารถเลือกผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตัวเองได้ สามารถเลือกสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตัวเองได้ มีการถ่ายโอนการบริหารงบประมาณจากรัฐบาล กลางมาสู่ท้องถิ่น เป็น Local Government หรือรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งทำให้ประชาธิปไตย ในท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นครับ นี่คือประเด็นสำคัญ โครงสร้างรัฐไทยครับท่านประธาน แต่ไหน แต่ไรมา รวมศูนย์แบบแนวดิ่งจากบนลงล่าง บริหารกันแบบนี้นะครับ จากบนลงล่างก็ได้ ค่อย ๆ เปลี่ยนไป และกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีครับ ถ้าไม่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ รัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นแค่การระงับพัฒนาการการกระจายอำนาจ แผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจแค่ชะงักเท่านั้น แต่รัฐประหาร วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดย คสช. ไม่ใช่แค่ระงับยับยั้ง หากแต่เป็นการทำลายประชาธิปไตยท้องถิ่นทุกระดับ เพราะมีการรวบ อำนาจทางการเมืองกลับไปสู่ส่วนกลาง คือรัฐราชการรวมศูนย์แบบในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรืออย่างในงานศึกษาพลวัตรการกระจายอำนาจในประเทศไทยเล่มนี้ ใช้คำว่า อำมาตยาธิปไตยรอบใหม่ ระบอบ คสช. หรือระบอบประยุทธ์ หรือจะเรียกระบอบอะไร ก็ตามแต่มีหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่ง คือการรวบอำนาจ เป็นระบอบรวบอำนาจครับท่านประธาน ชัดเจนในคำแล้วว่า รวบอำนาจ ตรงกันข้ามกับกระจายอำนาจ แล้วก็เป็นสิ่งที่ขัดกับหลัก ความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ความเป็นอิสระของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมายถึงอะไร ผมมาพลิกดูในเล่มนี้ของอาจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ เรื่อง ท้องถิ่นอิสระ ก็บอกว่า ความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายถึง การให้ความสำคัญและการรับรองอำนาจตัดสินใจของประชาชนผ่านกลไกการเมือง การปกครองท้องถิ่น มาตรการทางกฎหมาย และกลไกเชิงสถาบันที่จะสนับสนุนให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะได้อย่างมี ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน Highlight ตรงนี้ ครับท่านประธาน โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดวิธีการบริหารจัดการ การจัดโครงสร้างองค์กร วิธีการได้มาซึ่งทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรการเงินการคลัง วิธีนำมาใช้และสามารถควบคุมผลสำเร็จจากการปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง โดยที่รัฐให้ การสนับสนุนและกำกับดูแลท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น ย้ำนะครับเท่าที่จำเป็น และเป็นการกำกับดูแล ไม่ใช่สั่งการอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ประเภทหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด จากนายอำเภอถึงผู้บริหารท้องถิ่นนั้น คำว่า ขอความร่วมมือนี้ต้องยกเลิกได้แล้วครับ เพราะนั่นมันแค่เป็นข้ออ้าง สุดท้ายจริง ๆ แล้วมันคือการสั่งการ ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ก็ตามแต่ ตราบใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอยังมีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับ ผู้บริหารท้องถิ่นได้ ท่านประธานครับ พอเรามาดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เราก็จะ พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจในการจัดสอบแข่งขันข้าราชการท้องถิ่น หรือบุคลากรท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง อำนาจที่เคยมีตาม พ.ร.บ. บริหารงานบุคคลท้องถิ่น ปี ๒๕๔๒ คือแม้จะเป็นในระดับจังหวัด แต่ก็ยังดีกว่าที่เป็นอยู่ กลับถูกรวบเอาไปไว้ส่วนกลาง โดยอ้างตามคำปรารภอย่างสวยหรูในคำสั่งนี้ว่า เนื่องจากการสอบแข่งขัน เลื่อน โอน ย้าย ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ มีการเรียกรับผลประโยชน์ และต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการกลางสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ กสถ. ขึ้น อ้างคำใหญ่คำโตอีกเช่นกันว่า เพื่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปตามระบบคุณธรรม คุณธรรมใน ความหมายนี้แท้จริงแล้ว คือเขาไม่ไว้ใจท้องถิ่นครับ คือท้องถิ่นพวกคุณไม่ต้องทำแล้ว พวกคุณนักการเมืองท้องถิ่น นักเลือกตั้ง เป็นคนที่ไม่มีคุณธรรมต้องเอามาไว้ที่ส่วนกลาง เอามาไว้ที่คนดีเป็นคนดำเนินการ นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระบอบ คสช. ตีตราท้องถิ่น ให้ภาพ ท้องถิ่นอย่างเลวร้ายมาก ๆ ท่านประธานครับ ทีนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ นี้ สุดท้ายเมื่อให้ส่วนกลางจัดสอบผลเป็นอย่างไรครับ หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้ว การเอา มากองรวมสอบที่เดียวทั้งประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นและมีคดีความเยอะแยะวุ่นวายนั้น ก็ปรากฏว่า ๑. การตรวจข้อสอบที่ไม่เป็นมาตรฐาน ๒. ข้อกล่าวหาที่บอกว่าจะมีการใช้เงินเพื่อกันทุจริต ในการจัดสอบแข่งขันก็ยังคงดำรงอยู่ และ ๓. สถาบันที่จัดสอบก็ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องของ ระเบียบบริหารท้องถิ่น เรื่องการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นอะไรเลยครับ การออกข้อสอบมา ก็จึงเป็นหลักการที่กว้างมาก ๆ ท่านประธานครับ ผมเห็นว่าข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นต้องมีความผูกพัน กับท้องถิ่นที่ตัวเองทำงานอยู่ ไม่ใช่ว่าให้ส่วนกลางมาจัดสอบแล้วได้ไปบรรจุยังที่อื่นไกลบ้าน ไปอยู่ในพื้นที่ ในประเพณีวัฒนธรรมที่พวกเขาไม่รู้จักไม่คุ้นเคย ทำงานไปก็หาแต่โอกาส โอนกลับไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบ้านของตัวเองไป อย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์เลยครับ เสียหายกันทุกฝ่าย ประเทศชาติเสียหายครับ ประชาธิปไตยท้องถิ่นถูกทำลาย ปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ท่านประธานครับ ประเทศไทย ต้องได้รับการกระจายอำนาจอย่างเต็มสูบ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้วนะครับ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ที่ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะนั้นไม่ต้องระดับ อบจ. หรอกครับ ระดับเทศบาล บางทีก็จะสามารถบริหารพื้นที่ ๖๒๕ ไร่ตรงนี้ได้ ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยจะให้มีการยกเลิก ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ นี้ครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาลเมือง คูคต เทศบาลเมืองลำสามแก้ว และเทศบาลเมืองลาดสวาย ท่านประธานครับ ผมขอร่วม อภิปรายนะครับ เป็นเรื่องที่ดีที่คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมได้มีการศึกษา ได้มี การทำรายงานพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนเล่มนี้ออกมา ผมลุกขึ้นเพื่ออภิปราย รายงานก็เพราะว่าเห็นด้วยอย่างเต็มที่ และสนับสนุนอย่างยิ่งให้มีการเสนอต่อรัฐบาลและ หวังว่าจะได้เห็นฝ่ายบริหารนำรายงานนี้ไปดำเนินการต่อไป ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากการเลือกตั้งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ปี ๒๕๖๗ หลังจากที่ผมได้เป็น สส. และมีโอกาส ได้เข้าไปในพื้นที่ก็พบปะเจอะเจอพี่น้องประชาชนเยอะแยะมากมาย เขาเข้ามาถามว่า เงินเดือนผู้สูงอายุ ๓,๐๐๐ บาทจะได้เมื่อไร ไม่ใช่คำถามที่มาจากผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็น คำถามที่มาจากคนทุกเพศ ทุกวัย เพราะอะไรครับ ก็เพราะว่าเงินเดือนผู้สูงอายุ ๓,๐๐๐ บาท เกิดประโยชน์กับทุกคน คนแก่คนเฒ่า ๖๐ ปีขึ้นไปทุกคนรับที่ ๓,๐๐๐ บาท มีรายได้พอยังชีพ วัยรุ่นคนหนุ่มสาวได้บรรเทาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ ดูแลญาติผู้ใหญ่เอาเงินพวกนี้ไป ลงทุนทำอย่างอื่น หรือเอาไปเที่ยว เอาไปเพิ่มเติมความรู้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ ประเทศรูปแบบอื่นได้อีก ท่านประธานครับ คนแก่คนเฒ่าเขาอาจจะถามว่าเงินเดือนผู้สูงอายุ ๓,๐๐๐ บาทได้ตอนไหน ขณะที่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวเขาก็ถามเหมือนกัน เงินเดือนผู้สูงอายุ ๓,๐๐๐ บาทได้กี่โมงคำถามเหล่านี้หมายถึงอะไร มันหมายความว่า เบี้ยยังชีพที่เขาได้อยู่ ตอนนี้มันไม่เพียงพอ แน่นอนครับ ในฐานะ สส. คนหนึ่ง เป็น สส. ที่ไม่มีรายได้ ไม่ได้ร่ำรวย มาจากไหน มีพ่อแก่แม่เฒ่าที่ต้องดูแลเหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ผมจึงร่วม ผลักดันนโยบายที่ชื่อสวัสดิการก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลอย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่าผมจะได้ แบ่งเบาภาระตรงนี้ จะได้ดูแลพ่อแม่ตรงนี้ได้ สวัสดิการก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลเป็น แบบไหน เงินเดือนเด็ก ๐-๖ ปี ๑,๒๐๐ บาท วัยเรียน เรียนฟรีมีรถรับส่งฟรี วัยทำงานค่าแรง ขั้นต่ำ ๔๕๐ บาท ปรับทันที แล้วเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยตามภาวะเศรษฐกิจ แล้วก็วัยผู้สูงอายุ บำนาญประชาชนที่คณะกรรมาธิการศึกษามานี้ล่ะครับ นี่คือเรื่องที่เราอยากเห็น นี่คือสิ่งที่ ผมพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลเราไม่ได้ไปเป็น ฝ่ายรัฐบาลบริหารประเทศ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องดี เป็นนิมิตหมายที่ดีที่คณะกรรมาธิการได้ มีการศึกษาเรื่องนี้ออกมา และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเฉพาะระบบบำนาญพื้นฐาน ประชาชน ขอบคุณครับ ขอบคุณที่ใช้คำว่า บำนาญพื้นฐานประชาชน เพราะหมายความว่า ท่านตระหนักดี ท่านตระหนักดีว่านี่เป็นเพียงแค่ขั้นต่ำเท่านั้น เป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น สามารถที่จะปรับเพิ่มได้อีก ขอบคุณครับ ที่ท่านใช้ คำว่า ระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน เงินเดือนประชาชน ขอบคุณที่ท่านไม่ใช้คำว่า เบี้ยยังชีพ แบบที่ผ่าน ๆ มา เพราะคำว่าเบี้ยยัง ชีพฟังแล้วน่าเจ็บใจ เป็นเหมือนเพียงเศษเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ให้เจียดให้กับคนแก่เหยียบย่ำ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นะครับ ๖๐ ปี ได้ ๖๐๐ บาท ๗๐ ปี ได้ ๗๐๐ บาท ๘๐ ปี ได้ ๘๐๐ บาท ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากอยู่อายุ ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีเพื่อที่จะเอาเงิน ๑,๐๐๐ -บาทแน่ ๆ ถูกไหมครับ
- - - ท่านประธานครับ แม้ในรายงานฉบับนี้ท่านอนุกรรมาธิการจะระบุว่าบำนาญผู้สูงอายุที่ศึกษา มาจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ ที่ ๑,๒๐๐ บาท แบบถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไปทุกคน อาจจะยังไม่ถึง ๓,๐๐๐ บาทอย่างที่นโยบายพรรคก้าวไกลเรานำเสนอ เรื่องนี้ ผมไม่ได้ติดใจมากครับ ก็ถือว่าเป็นการค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ ขยับกันไป หลังจากสิ่งที่เรียกว่า เบี้ยนั้นไม่เคยถูกปรับเลยมาหลายปี ขอบคุณคณะกรรมาธิการครับ ขอบคุณคณะอนุ กรรมาธิการทุก ๆ ท่านที่ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุของเรา สุดท้าย ผมเห็นด้วยกับที่ท่านอนุ กรรมาธิการท่านหนึ่งพูดว่าประเทศไทยไม่ได้ยากจน เห็นด้วยครับ ประเทศไทยไม่ได้ยากจน ประเทศไทยเราไม่ได้ไม่มีเงิน เรามีเงินเพียงพอ แต่อยู่ที่เจตจำนงของผู้บริหารของรัฐบาลว่า เงินที่มาจากภาษีของประชาชนนั้นจะถูกใช้ไปกับอะไร การใช้ไปกับ Megaproject ที่เรียกว่า สวัสดิการประชาชน สำหรับผมแล้วเป็นสิ่งที่น่าลงทุนมากกว่า Megaproject ไหน ๆ ครับ สุดท้ายฝากกรรมาธิการช่วยไปศึกษาระบบสวัสดิการอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า อยู่ UBI หรือ Universal Basic Income เงินเดือนพื้นฐานของประชาชน ฝากกรรมาธิการ ทุก ๆ ท่านครับ และผมขอสนับสนุนรายงานชุดนี้ ขอบคุณครับ