ขออนุญาตให้ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หารือก่อนครับท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขอเสนอคุณปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธาน สภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ขอผู้รับรองด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขออนุญาตชี้แจง กระทู้ถามในเรื่องการเตือนภัยของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านนะครับ ที่มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนแล้วก็ได้ติดตาม ข่าวคราวในเรื่องของการช่วยเหลือมาโดยตลอด
ผมไปคำถามข้อที่ ๑ ในเรื่องของรัฐบาลยุคที่แล้ว ได้มีการดำเนินการ เรื่องแผนงานในเรื่องของการแจ้งระบบเตือนภัย ผมขออนุญาตได้นำกราบเรียนว่าในรัฐบาล ที่แล้วได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า คณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับ การแจ้งเตือนภัย หรือคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กภช. ที่ตั้งขึ้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๒ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ส่วนรัฐมนตรี DE นั้นเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย และมีเลขานุการเป็นอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพลเรือน ผมกราบเรียนท่านณัฐพงษ์ว่าในเรื่องนี้ในยุครัฐบาลเดิม ได้มีการพูดคุยในเรื่องของระบบเตือนภัยแห่งชาติ ก็คือเรื่องของระบบ Cell Broadcast ขึ้นมา แต่ครั้งนั้นเข้าใจว่าระยะเวลาที่มีอยู่จำกัด การประชุมอยู่ในช่วงประมาณปี ๒๕๖๕ และโครงการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มดำเนินการทำ เพราะฉะนั้นแล้ววันนี้หลังจากนั้นแล้ว มีเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นเกิดขึ้นที่สยามพารากอน ผมคิดว่านโยบายเก่าในเรื่องของ Cell Broadcast เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในฐานะที่มารับงานต่อในช่วงนี้ ก็จะดำเนินการในนโยบายที่จะต้องสร้างระบบเตือนภัยที่มีความมั่นคงแล้วก็เชื่อมั่นให้กับ พี่น้องประชาชน ผมขออนุญาตได้กราบเรียนท่านประธานแล้วก็ท่านสมาชิกทุกท่าน ระบบ มีอยู่ ๒ อย่างตามที่ท่านณัฐพงษ์ได้พูดมา ถูกต้องครับ เรื่องที่ ๑ ก็คือระบบเตือนภัยที่เรา เรียกว่า Location Based Service เป็นการส่ง SMS ในเรื่องนี้ทางกระทรวงได้ทดลอง การส่ง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง AIS และ True ทดลองปล่อย สัญญาณ SMS เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยยิงสัญญาณไปบริเวณทำเนียบรัฐบาลในรัศมี ๑ กิโลเมตร ทาง AIS ยิงสัญญาณเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทาง True ยิงสัญญาณเวลา ๑๒.๔๕ นาฬิกา แล้วผลของการดำเนินการดีทั้งคู่ หมายถึงได้รับสัญญาณชัดเจน แล้วก็ สามารถเตือนพี่น้องประชาชนได้ ในระยะยาวตามที่ท่านได้นำเรียนมาเรื่องของ Cell Broadcast ขณะนี้ผมเองได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้มีการพูดคุยกับ กสทช. ในเรื่องของการดำเนินการ ที่ในระยะยาวจะใช้เวลาถึง ผมคิดว่าน่าจะไม่น้อยกว่า ๖ เดือน แต่ไม่เกิน ๑ ปี ที่ท่านณัฐพงษ์ ได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นว่าระบบนี้น่าจะครอบคลุมถึงการสื่อสารทุกช่องทาง ไม่เฉพาะแต่ โทรศัพท์มือถือ แต่หมายถึงว่าต้องมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ชมทาง TV สื่อวิทยุ และสื่ออื่น ๆ โดยรวดเร็ว อันนี้ก็คิดว่าระบบนี้เราจะทำให้รองรับทุกช่องทางของการสื่อสาร แล้วก็ต้อง ขอเวลา ใช้เวลาในการพัฒนา Software แล้วก็บริหารในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ขออนุญาตตอบในเบื้องต้นว่าในระยะยาวนั้นเรามีโครงการที่จะทำเรื่องของ Cell Broadcast เพราะเป็นระบบที่สามารถ Push ข้อความได้ ๑,๐๐๐ กว่าอักษรลงใน โทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งปิดโทรศัพท์มือถือเสียงมันก็จะดังเตือนขึ้นมาได้ แล้วก็คิดว่าน่าจะ เป็นระบบที่ต่างประเทศได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือในญี่ปุ่นก็ดี ในไต้หวันก็ดี ในเกาหลีก็ดี และอีกหลาย ๆ ประเทศ ผมขออนุญาตได้นำเรียนท่านณัฐพงษ์ในคำถาม ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ไว้เบื้องต้น ขอขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องขอขอบคุณในคำถามที่ ๒ ครับ ท่านถามว่าระบบจะรองรับทุกช่องทางของการสื่อสารหรือไม่ ผมขอยืนยันว่าถ้าเราได้พัฒนา ระบบสมบูรณ์แล้ว ระบบนี้จะต้องรองรับทุกช่องทางตามที่ท่านสมาชิกณัฐพงษ์ได้กรุณา แนะนำมา ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ ผมกราบเรียนว่าในเรื่อง Cell Broadcast เราพูดไว้ว่าภายใน ๖ เดือน ถึง ๑ ปี เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องอื่น ๆ ที่ท่านกรุณาได้แนะนำมา รวมกับเรื่องสื่อสารทุกช่องทาง ถามว่าจะเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ผมขอยืนยันนะครับว่า จะทุ่มเทการทำงานในเรื่องนี้เพื่อให้ภารกิจที่จะต้องออกทุกช่องทางตามที่ท่านสมาชิก ได้แนะนำมา สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอนครับ
ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๒ คำถามนะครับว่าเงินงบประมาณ ในการดำเนินการเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัยจะมาอย่างไร ผมต้องกราบเรียนท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติว่าในเรื่องนี้ผมได้หารือกับทาง กสทช. เบื้องต้นแล้ว แล้วก็จะใช้กองทุน กสทช. ในการดำเนินการ ซึ่ง กสทช. แล้วก็ทางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง ๒ หน่วยงานหลัก ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้ขณะนี้ยังไม่ได้ประมาณราคาที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นจะอยู่ในระดับ จากการได้พูดคุยกันกว้าง ๆ คิดว่าน่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาท จนถึงประมาณคิดว่า ไม่เกิน ๕๐๐ ล้านบาท โดยประมาณนี้ เพราะฉะนั้นแล้วตามที่ท่านสมาชิกมีความห่วงใย ผมจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว แล้วก็จะใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อย่างสูงที่สุดครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกนะครับ ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านชัยชนะ เดชเดโช ที่ได้กรุณาให้ความสำคัญในเรื่องการปราบ พนัน Online ผมขอใช้สิทธิในการพาดพิงที่ว่าบัญชีม้าที่ว่าปราบไม่ได้ เป็นในการพาดหัวข่าว ของสื่อหนังสือพิมพ์ แต่ข้อเท็จจริงแล้วบัญชีม้านี่ปราบได้ แต่อย่างไรก็ตามบัญชีม้านี่เกิดขึ้น ตลอดเวลา มีกลุ่มมิจฉาชีพต่าง ๆ ที่ได้ไปดำเนินการเปิดตลอดระยะเวลา ทุกครั้งที่มีปัญหา ก็จะมีบัญชีม้าคอยรับเงินรับทอง แล้วก็สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ผมขอยืนยันว่ากระทรวง DE สามารถดำเนินการปราบบัญชีม้าได้ แต่เนื่องจากว่าบัญชีนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ในการปราบปรามอีกเช่นเดียวกัน ขอขอบคุณครับ