ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ชุดที่ 26

ปีที่ 1

สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง

ครั้งที่ 16 วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.27 - 18.55 นาฬิกา

เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก่อนการประชุมจะอนุญาตให้สมาชิกได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ นะครับ เรียงลำดับตามท่านแรกเลยนะครับ ขอเชิญท่านชนก จันทาทอง ครับ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉันนางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หารือด้วยกัน ๒ เรื่องค่ะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

เรื่องแรก แพเครื่องสูบน้ำชำรุดเสียหาย ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนตำบลบ้านต้อน อำเภอรัตนวาปี ถึงความทุกข์ใจว่าแพเครื่องสูบน้ำนั้นชำรุดเสียหาย จากรูปที่เห็นนี้เครื่องสูบน้ำนี้ได้รับมอบจากกรมชลประทานตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เครื่องสูบน้ำไม่ได้เสียหาย พี่น้องประชาชนดูแล อย่างทะนุถนอมค่ะ แต่ปัญหาคือแพเครื่องสูบน้ำชำรุดเสียหาย ความทุกข์ใจก็คือว่าเมื่อฤดู การผลิตปี ๒๕๖๖ ไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย ไม่สามารถทำนาปีได้ ไม่มีน้ำเลี้ยงปลา และส่งผลให้ฤดูการผลิตในปีนี้ก็คือ ปี ๒๕๖๗ นาปรังไม่สามารถทำได้ค่ะ ดิฉันจึงนำเรียนผ่าน ท่านประธานสภาไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อน ไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หนองคาย ช่วยไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ

นางสาวชนก จันทาทอง หนองคาย ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ การบูรณาการหนองกุดบ้าน ตำบลนาดี อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัด หนองคาย ดิฉันได้รับการร้องทุกข์จากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาดี พร้อมทีม ผู้บริหารและกำนันตำบลนาดี ถึงความทุกข์ใจว่าหนองกุดบ้านนั้นมีพื้นที่ประมาณ ๓๔๕ ไร่ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ใช้เป็นพื้นที่ทั้งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แล้วก็สามารถกักเก็บน้ำในช่วงที่ มีปัญหาน้ำท่วมได้ และยังไม่พอค่ะ ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมบุญประเพณีได้ด้วย ตอนนี้ ไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแล ปรับปรุง แก้ไข ดิฉันจึงนำเรียนผ่านท่านประธานสภาขอให้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปดูแลปรับปรุงแก้ไขให้ด้วยค่ะ เพื่อให้ ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านภูริวรรธก์ ใจสำราญ ครับ

นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ก่อนอื่นเลยขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สภาฝ่ายติดตามเรื่องปรึกษาหารือและ กระทู้ถาม เพราะว่ามีหน่วยงานที่ระบุไว้ติดต่อเข้ามาคุยเพื่อแก้ไขปัญหาหลังจากที่รอมานาน หลายเดือนนะครับ

นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นแรก สำหรับวันนี้ ดันมาแล้วก็ขอดันที่สุด ให้จบ เมื่อมีรถเมล์วิ่ง หลายอาทิตย์ที่ผ่านมาเราทำงานเรื่องรถเมล์ ขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครครับ ดันเข้าสู่ห้องกรรมาธิการแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจาก กรมการขนส่งว่าจะมีการแก้ไขดำเนินการอย่างไร ท่านประธานครับ ในช่วงหยุดปีใหม่ทาง ขสมก. มีการขออนุญาตเดินรถในสาย ๑-๒๖ วงกลม สายไหม-เทพารักษ์ เมื่อมีการทดลองวิ่ง ประชาชนก็ดีใจ ใจก็สั่งให้ออกไปทดลองใช้บริการแต่เช้า แต่วิ่งอยู่ไม่ถึงวันก็ยกเลิก เหตุเพราะว่า มีรถท้องถิ่นวิ่ง คือถ้ามีรถท้องถิ่นวิ่งมีจำนวนเที่ยว เวลาครอบคลุมการบริการ ประชาชนคง ไม่ตั้งหน้าตั้งตารอ ขสมก. แบบนี้นะครับ ทีนี้ลองมาดูแผนที่เส้นทาง ๒๖๙ เส้นทาง บวกกับ เส้นทางปฏิรูปเพิ่มอีก ๗๗ เส้นทาง รวมเป็น ๓๔๖ เส้นทางที่อยู่ในแผนครับ แต่ปัจจุบันมี รถวิ่งแค่ ๑๕๓ เส้นทาง ที่ ขสมก. และเอกชนวิ่งตามแผน แล้วก็ไม่มีรถวิ่ง ๑๙๓ เส้นทาง ที่เป็นสีดำ ๆ นะครับ คือรถที่ไม่มีวิ่งถึงแม้จะถูกกำหนดอยู่ในแผน หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประชาชนรอแล้วรออีก ทุกวันนี้เมืองก็ขยาย บางจุดก็ไม่เคยมีการลงสำรวจความต้องการ ของประชาชนอย่างแท้จริง บางครั้งผมเห็นรถเมล์หลายคันจอดนิ่งอยู่ใต้ทางด่วนจำนวนมาก เอามาวิ่งเถอะครับ แค่อนุญาตให้ ขสมก. ทดลองวิ่งท่านก็จะเข้าใจ Demand แล้วก็มาเป็น ข้อมูลเพื่อให้ประเมินค่าโดยสารเพื่อช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายในอนาคตนะครับ

นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่ง ขอฝากสุดท้ายครับ ผู้ขายลอตเตอรี่จำนวนมากขอส่งเสียง ลดโควตา เพราะว่าปกติแล้วจะได้ ๕ เล่ม ถูกลดเหลือ ๓ เล่มนะครับ แล้วก็ไม่ได้คำนึงถึง ผลกระทบต่อผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส กำไรจากการขาย ๓ เล่มไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตครับ ไม่รวมทุนที่จะต้องซื้อในงวดต่อไป แล้วเมื่อเงินไม่พอก็ถูกตัดสิทธิครับ ประชาชนทุกวันนี้ มีผู้ถูกตัดสิทธิถึง ๓๑,๐๐๐ ราย เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเอาไปขายในระบบ Online แต่ว่ามีจำนวน มากที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการทางสายตา ที่ยืนยันสิทธิลำบาก ฝากผู้อำนวยการสำนักสลาก กินแบ่งรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังพิจารณา ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรักชนก ศรีนอก ครับ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ผู้แทนจากชาวเขตบางบอน เขตจอมทอง และเขตหนองแขม ขออนุญาต ปรึกษาหารือท่านประธานดังนี้ค่ะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๑. รถติดบริเวณสะพานวงแหวนกาญจนาภิเษก ทางถนนเอกชัยช่วง ซอยเอกชัย ๙๔ ซอยเอกชัย ๙๒ ซอยเอกชัย ๙๐ เลี้ยวเข้ากาญจนาภิเษก ช่องทางนี้มีลักษณะ เป็นคอขวดค่ะท่านประธาน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วก็ดำเนินการในการ ขยายช่องทางในการเดินรถค่ะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๒. อยากจะขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มขนส่งมวลชนสาธารณะจาก เขตหนองแขม เขตบางบอน แล้วก็เขตบางขุนเทียนเข้าตัวเมือง เพราะว่าตอนนี้ไม่มีรถเมล์ หรือว่าขนส่งมวลชนสาธารณะ หรือว่ามีน้อยมากที่ผ่านเข้าตัวเมือง แล้วก็สามารถไปต่อ BTS ได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนในเขตที่อยู่รอบนอกสูง แล้วก็อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการสำรวจ แล้วก็จัดขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๓. ปัญหาแยกร่มไทรภายในซอยเพชรเกษม ๖๙ ไม่มีสัญญาณไฟจราจร เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นแยกวัดใจของกรุงเทพมหานครเลยค่ะ แล้วก็อยากจะให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำนักจราจรเข้าไปติดสัญญาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ ประชาชนลดอุบัติเหตุค่ะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

๔. ปัญหาพื้นที่ความรับผิดชอบของการรถไฟภายในเขตจอมทอง ตั้งแต่สถานี วัดสิงห์ไปจนถึงสถานีจอมทองมีหลายจุดที่มืดเปลี่ยว บางจุดไม่มีราวกั้น ไม่มีสัญญาณ ไฟเตือน รถไฟมาสุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตรายบ่อยครั้ง ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัด ในการดำเนินการแก้ไขเพื่อป้องกันอันตรายให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในเขตจอมทอง ด้วยค่ะ

นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ข้อสุดท้ายท่านประธาน รถบรรทุกที่ห้ามจอดในบริเวณถนนกาญจนาภิเษก ฝั่งขาเข้า อยากที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ หรือกรุงเทพมหานครได้ไปจัดการให้ ถูกต้องค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสุรทิน พิจารณ์ ครับ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ แบบบัญชีรายชื่อ ท่านประธานครับ ๔ เรื่อง ที่กราบเรียนท่านประธานปัญหาทั้งนั้น

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอถนนคอนกรีตจากบ้านปางคาม ตำบลปางคาม อําเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นไปชายแดนไทย-พม่า เพราะระยะทาง ๗ กิโลเมตร มีพี่น้องชาวไทยที่ อยู่ชายแดนลงมาซื้ออาหารที่อำเภอมันลำบากมาก ๗ กิโลเมตรใช้เวลา ๓ ชั่วโมง อยากจะขอ ถนนคอนกรีต ผู้รับผิดชอบก็คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ สนามบินแม่สะเรียง ทุกวันนี้กระทรวงคมนาคมไปทำไว้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เครื่องบินพาณิชย์ไม่สามารถจะลงได้ พี่น้องชาวอำเภอแม่สะเรียงต้องการให้ทำ สนามบินให้เป็นมาตรฐานในเชิงพาณิชย์ เครื่องบินพาณิชย์จะลงได้พี่น้องร้องเรียนมาอย่างนี้ กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ก็คืออำเภอแม่สะเรียง ก็คือการขยายถนนจากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดเชียงใหม่ท่านประธานครับ ขอบถนนยังแคบอยู่ การสัญจร อันตราย ถ้าหากขยายไปข้างละ ๑ เมตร ไหล่ทางให้มันกว้างสักหน่อยมันก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ท่านประธานที่เคารพครับ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ก็แม่สะเรียงอีกท่านประธานครับ ก็คือโรงโม่แม่สะเรียง แต่ก่อน ไม่เป็นอะไรท่านประธานครับคนมันน้อยอยู่ แต่ทุกวันนี้คนมันเยอะ ฝุ่นเดี๋ยวนี้กระทบต่อ สุขภาพพี่น้องประชาชนของอำเภอแม่สะเรียงมากขึ้นแล้ว เขาร้องเรียนมาว่าทุกวันนี้สุขภาพ ประชาชนแย่เพราะโรงโม่ ผู้ร้องก็คือคุณทองทิพย์ และคุณณัฐมน ชื่นดวง เป็นผู้ร้องนะครับ ผู้รับผิดชอบคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ท่านประธานที่เคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา ครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนเมืองพิษณุโลก สองแคว ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องที่จะมาหารือ กับท่านประธานนะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคือ ทางสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีการจ้างครูผู้สอนเพื่อให้ไปสอนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม สายสามัญ ทีนี้ปัญหามันก็คือว่าในเรื่องของค่าตอบแทนที่ได้ตกลงกับทางครูผู้สอนเหล่านี้ไว้ ท่านเชื่อไหมครับท่านประธานว่า ครั้งแรกค้างจ่ายเป็นเวลาถึง ๒ ปี จนกระทั่งท่านนายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วครูผู้สอนเหล่านี้ได้ไปร้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ก็รีบจัดการให้ แล้วไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นก็ยังมีการค้างกันต่ออีก แล้วผมเคยถามว่า ทำไมมันถึงเป็นเช่นนี้เขาบอกว่าต้องไปตั้งเอาในงบกลาง ลักษณะของเงินแบบนี้ เงินค่าตอบแทนรายเดือนแบบนี้ ทำไมต้องตั้งงบกลาง เพราะมันเป็นสิ่งที่คำนวณได้อยู่แล้ว มันไม่ถูกนะครับ เพราะฉะนั้นผมขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดการ เรื่องเงินเดือนนี้ที่ค้างอยู่ ณ ปัจจุบันอีก ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๖ จนถึง ณ ปัจจุบัน อีกครั้งหนึ่ง แล้วพอดีว่ามันมีในส่วนของเห็นหนังสือมาบอกว่าเมื่อไรที่ครบ ๖ เดือนแล้ว ถึงจะจ่ายเงินให้กับครูผู้สอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งนี้ แบบนี้มันไม่ถูกต้องนะครับ ผมเองต้องกราบขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีแทนน้อง ๆ ด้วย หลังจากที่ท่านไปตรวจราชการ ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วท่านได้ช่วยน้อง ๆ เหล่านี้ที่ไม่ได้รับเงินเดือนมาเป็นเวลาถึง ๒ ปี แต่ปัจจุบันก็มีอีกรอบหนึ่งแล้วครับ ผมขออนุญาตฝากท่านนายกรัฐมนตรีด้วยนะครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องที่ดิน น.ส.ล. หมู่ที่ ๖ ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม ที่วันนี้ทางราชการก็ไม่ค่อยที่จะเอาอะไรกับพี่น้องนักถึงได้ต้องมีการต่อสู้กันมาร่วม ๒๐ ปี แต่ตอนนี้หลักฐานมีแล้วครับ ขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเร่งรัดด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐวุฒิ บัวประทุม ครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องหารือผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ๖ เรื่องด้วยกันครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นเขื่อนป้องกันตลิ่ง แล้วก็ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่หมู่ ๘ ตำบล โพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานดูภาพนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีดูนะครับ คราบน้ำเต็มไปหมดเลย เวลาน้ำล้นเกินตลิ่งก็จะซึมออกมา แล้วก็เข้าท่วมบ้านเรือนของ พี่น้องประชาชน ฝากให้โยธาธิการจังหวัด แล้วก็จังหวัดอ่างทองได้เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทองครับ เช่นเดียวกัน มีความชำรุดทรุดตัวไปกว่า ๓๐๐ เมตร มีพื้นที่ที่เสียหายเยอะแยะไปหมดเลยครับ แล้วก็ตรงนี้เมื่อน้ำเข้ามาก็จะมีการท่วม ก็ต้องฝาก กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดอ่างทอง เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นกรณีเขื่อนป้องกันตลิ่งเช่นเดียวกันครับ อันนี้เป็นพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานดูสภาพการออกแบบแต่ละหน่วยงาน ไม่เหมือนกัน ฝากท่านนายกรัฐมนตรีด้วยนะครับ อันนี้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกแบบ แล้วน้ำมาทีไรล้นตลิ่งทุกที ก็เข้าท่วมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ก็ต้องฝากกรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดอ่างทอง เร่งดำเนินการ แก้ไขด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เป็นถนน ถนนเชื่อมระหว่างเส้น อท.๒๐๓๔ และถนนเอเชีย ช่วงหมู่ที่ ๑ ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นถนนที่ไม่มีไฟทางและต้นไม้ ปกคลุมสูงครึ้ม ฉะนั้นไม่ปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนในการสัญจร ต้องฝากให้จังหวัดอ่างทอง ประสานงานกับเทศบาลตำบลไชโยดำเนินการแก้ไขด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ เป็นถนนเลียบแม่น้ำน้อย บริเวณหน้าวัดยางมณีพื้นที่หมู่ที่ ๗ ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ต่อเนื่องกันไปถึงตำบลถอนสมอ อำเภอ ท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี น้ำท่วมหนักในปีที่ผ่านมาถนนชำรุดเด็กนักเรียนเดินทางลำบาก เรื่องนี้ก็ต้องฝากให้ทางจังหวัดอ่างทอง ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แก้ไขด้วยครับ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๖ พี่น้องจังหวัดเพชรบูรณ์ฝากผมมา ท่านนายกรัฐมนตรีดูนะครับ อันนี้เป็นการขุดคลองชลประทาน เนื้อที่ ๓๐๐ ไร่ ในพื้นที่ หมู่ที่ ๘ ตำบลเพชรละคร อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขุดมากว่า ๒ ปีไม่มีน้ำเลยครับ ก็ฝากให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขด้วย ฝากท่านประธานและท่านนายกรัฐมนตรีครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกครับผมเข้าใจนะครับ เราตื่นเต้น วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมาฟังข้อหารือ ตั้งแต่เช้า แต่ว่าข้อบังคับบอกให้พูดกับประธานนะครับ ยังต้องเข้าใจข้อบังคับข้อนี้ก่อน เดี๋ยวท่านนายกรัฐมนตรีจะรับภาระเยอะเกินไปนะครับ ขอเชิญท่านสฤษดิ์ บุตรเนียร ครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. นักพัฒนาแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือเรื่อง ความเดือดร้อนของประชาชนในเขตพื้นที่อยู่ ๒ เรื่องครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ขอความอนุเคราะห์พิจารณา สนับสนุนงบประมาณเปลี่ยนและปรับปรุงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและรางส่งน้ำ หมู่ที่ ๓ บ้านปากแพรก ตำบลกบินทร์ ได้รับคำร้องเรียนจากผู้ใหญ่บ้านสุทิศ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ บ้านปากแพรก ผ่านไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกบินทร์ เนื่องจากว่าโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยกรมชลประทานได้สร้างเมื่อปี ๒๕๓๒ อายุใช้งาน ตั้ง ๓๕ ปีมาแล้ว เป็นโครงการสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้ง โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้อยู่ใน ๒ พื้นที่ คือตำบลกบินทร์ และตำบลวังดาล จำนวน ๗๐ ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ ๑,๗๐๐ ไร่ โดยได้มีอายุการใช้งานเป็นเวลานานแล้ว รางส่งน้ำ ก็ชำรุด เป็นระยะทางถึง ๔ กิโลเมตรทำการสูบน้ำและมีท่อน้ำแตก ทำให้เดือดร้อน ประสิทธิภาพในการทำงานก็ไม่สามารถจะทำเต็มที่ได้ ดังนั้นจึงขอกราบเรียนไปยัง กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดซ่อมแซมด้วยครับ

นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ปราจีนบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องขอสนับสนุนงบประมาณ ก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งคลองพระปรง ตำบลย่านรี อำเภอกบินทร์บุรี เนื่องจากว่าได้ความเดือดร้อน ประชาชนตำบลย่านรี เนื่องจากน้ำจากคลองพระปรง ได้พังทลายเซาะริมตลิ่งเกิดความเสียหายกับประชาชน เป็นอย่างมาก ได้เห็นด้วยกับความเดือดร้อนตรงนี้ จึงขอกราบเรียนให้ทางองค์การบริหาร ส่วนตำบลย่านรีที่ได้รับความเดือดร้อน ผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้โปรดพิจารณาแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนในเขต ๓ ของจังหวัดปราจีนบุรีด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณ มากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านตรัยวรรธน์ อิ่มใจ ครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ กระผม ตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ เขต ๘ พื้นที่อำเภอ บางบ่อ อำเภอบางเสาธง ขอนำปัญหาในพื้นที่ปรึกษาหารือท่านประธาน ดังนี้ ขอสไลด์ด้วย

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นความเดือดร้อนจาก อุบัติเหตุของพ่อแม่พี่น้องชาวคลองด่าน เนื่องจากถนนทางหลวงหมายเลข ๓ ถนนสุขุมวิท ช่วงระหว่างกิโลเมตรที่ ๕๕-๕๖ มีจุดห้ามกลับรถ แต่มีการกลับรถตลอดเวลาทำให้เกิด อุบัติเหตุและการสูญเสียบ่อยครั้ง เนื่องจากความเร็วของรถวิ่งลงจากสะพานคลองด่าน จึงขอให้กรมทางหลวงช่วยเร่งนำแท่น Barrier มากั้นไม่ให้มีการกลับรถ และติดตั้งไฟ แสงสว่างเพิ่มเติมด้วยครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นกรณีมีการขายน้ำกระท่อมตามถนนสาธารณะและไหล่ทาง ตามที่ผมเคยปรึกษาหารือไป เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ ซึ่งกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ ขณะนี้ทาง สภ.อ. บางบ่อ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและจัดระเบียบเรียบร้อยให้กับ ประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว และมี สภ.อ. บางเสาธง มีการดำเนินการแล้วบางส่วน ทั้ง ๒ สภ.อ. นี้ ได้รับการชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้กราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในเขต ๘ และเขตอื่น ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ให้ใช้บังคับกฎหมาย และควบคุมดูแลจังหวัดสมุทรปราการให้เรียบร้อยด้วยครับ

นายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นปัญหาเล็กแต่สำคัญ แล้วผมว่าน่าจะเป็นปัญหาของจังหวัด สมุทรปราการ และทั้งประเทศก็ว่าได้ กล่าวคือป้าย Vinyl โฆษณาหมู่บ้านติดทับป้าย สัญลักษณ์ ป้ายบอกทางหลวง ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนเกิดความสับสนระหว่างขับขี่ ปิดบังทัศนวิสัยเริ่มมากขึ้นทุกวันจนแทบไม่มีเครื่องหมายจราจรแล้วครับ จึงกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้บังคับกฎหมาย ให้ดูแลทรัพย์สินของ ทางราชการ โดยเฉพาะป้ายบอกทางไม่ให้เป็นเครื่องมือของเอกชนในการโฆษณาขายสินค้า จนเกิดความสับสนของผู้ใช้รถใช้ถนน ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านฤกษ์ อยู่ดี ครับ

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายฤกษ์ อยู่ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี เขต ๒ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมมี เรื่องมาหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่องครับ สืบเนื่องจากผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะหมู่บ้านท่าคอย และหมู่บ้าน ท่ายาง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ได้รับความเดือดร้อนในฤดูน้ำหลาก ที่มีความแรงของน้ำ ได้ไหลกัดเซาะตลิ่งจนตลิ่งพังทลาย ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ที่พักอาศัยและพื้นที่ การเกษตร ได้รับความเสียหายมาโดยตลอด ผมจึงขอเสนอให้มีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพชรบุรีตามรายละเอียดดังนี้ ๑. บ้านท่าคอย หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าคอยบริเวณวัดท่าคอย ๒. บ้านท่ายาง หมู่ที่ ๑ ตำบล ท่ายาง บริเวณที่ว่าการอำเภอท่ายางถึงท่าย์น้ำข้ามภพ ๓. คลองระหารบอน หมู่ที่ ๕ ตำบลท่ายาง บริเวณสนามกีฬาสวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ซึ่งโครงการดังกล่าวข้างต้น ทางเทศบาลตำบลท่ายางนั้นได้จัดทำหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๑ ผมจึงขออนุญาตฝากผ่านท่านประธานไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดเพชรบุรี ช่วยอนุเคราะห์จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำ เพชรบุรีในบริเวณดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แบบยั่งยืนและถาวร

นายฤกษ์ อยู่ดี เพชรบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนผู้สัญจรไปมาบน ทางหลวงชนบท พบ.๔๐๓๔ เพชรบุรี-ท่ายาง บริเวณบ้านหนองประดู่ ตำบลท่าคอย อำเภอ ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวงท้องถิ่นสายหนองประดู่ถึงบ้านหนองชุมแสง และเป็นเส้นเลี่ยงเมืองจากทางหลวงเพชรเกษมหมายเลข ๔ โดยบริเวณดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ผมจึงขออนุญาตฝากท่านประธานผ่านไปถึงแขวงทางหลวงชนบทเพชรบุรีช่วย อนุเคราะห์พิจารณาติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจะเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง กราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสยาม เพ็งทอง ครับ ขออนุญาตข้ามก่อนนะครับ ขอเชิญท่านณกร ชารีพันธ์ ครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณกร ชารีพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพี่น้องชาวนิคมคำสร้อย อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เขต ๒ พรรคก้าวไกล มีเรื่องปรึกษาท่านประธานอยู่ ทั้งหมด ๓ เรื่อง

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องปัญหาสภาพถนนพัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ได้รับการแก้ไขของถนนเส้นบ้านนาโสก บ้านนาหัวภู เชื่อมระหว่างตำบล นาโสกและตำบลโพนทราย อำเภอคำชะอี เส้นที่ ๒ ถนนหลวงหมายเลข มห.๓๑๓๑ เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชื่อมต่อระหว่างบ้านผึ่งแดด ถนนมี สภาพชำรุดเป็นเศษฝุ่นละเอียดเลยครับท่านประธาน เป็นมลภาวะต่อพี่น้องประชาชน จึงอยากฝากไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นช่วย สนับสนุนงบประมาณเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ปัญหาราคาอาหารสัตว์เพิ่มขยับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้เลี้ยงสุกร รายย่อย ผมได้ลงพื้นที่พบว่าเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงสุกรตอนนี้กระทบหนักมาก ราคาอาหารสัตว์สูง และขายเนื้อหมูได้ราคาต่ำมาก ทำให้รายย่อยขาดทุนอย่างหนัก จึงขอให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ช่วยเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ท่านประธาน

นายณกร ชารีพันธ์ มุกดาหาร ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในจังหวัดมุกดาหาร จากสถิติการจับยาเสพติดล็อตใหญ่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร พบว่ามีการจับที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารติดกับชายแดนของประเทศลาว มีการนำเข้ายาเสพติดเป็น จำนวนมากและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง ผมลงพื้นที่มีการเผาบ้านตัวเอง เนื่องจากเมายาเสพติดนะครับท่านประธาน จึงอยากฝากไปที่ท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เพราะว่ากระทบต่อ ลูกหลานประชาชนของพี่น้องชาวมุกดาหารเป็นอย่างมาก ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ ครับ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เขต ๖ จังหวัดสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม เลิศล้ำศิลปะมวยไทย วันนี้ขอนำข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่ พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่หารือต่อท่านประธานในที่ประชุมรัฐสภามี ๒ เรื่อง ดังนี้ ขอภาพ ด้วยครับ

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จาก นายประทิว ปานทอง กำนันตำบลตรวจ อำเภอศรีณรงค์ ว่าราษฎรประสบปัญหาความ เดือดร้อนไม่มีสะพานข้ามลำห้วยทับทัน ระหว่างตำบลตรวจ อำเภอศรีณรงค์เชื่อมตำบล ผักไหม อำเภอศีขรภูมิ ในการเดินทางสัญจรไปมาและใช้ในการขนถ่ายสินค้าพืชผล ทางการเกษตรในฤดูช่วงเก็บเกี่ยว เพื่อนำเข้าสู่ท้องตลาดต้องใช้เวลาอ้อมไปมาทำให้เพิ่ม ภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูง จึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามในการสัญจร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น

นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สุรินทร์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ด้วย นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ นายกเทศมนตรีเทศบาล ตำบลสังขะ แจ้งว่าสนามกีฬากลางของเทศบาลตำบลสังขะ ซึ่งเป็นสนามหลักมีผู้ใช้บริการ อย่างกว้างขวางหลายหน่วยงาน หลายอำเภอ หลายตำบลที่มาใช้บริการเป็นสนามที่ใช้มา หลายสิบปี ปัจจุบันสภาพไม่พร้อมให้บริการประชาชน ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ปรับปรุงและก่อสร้างสนามกีฬาที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้มีพื้นที่ในการเล่น กีฬาเพื่อห่างไกลยาเสพติดต่อไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสยาม เพ็งทอง ครับ

นายสยาม เพ็งทอง บึงกาฬ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพและเพื่อน สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ผม สยาม เพ็งทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย

นายสยาม เพ็งทอง บึงกาฬ ต้นฉบับ

เรื่องที่จะขอหารือวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเดินทางของพี่น้องประชาชนคนบึงกาฬครับ คือบริเวณถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ไปยังอำเภอปากคาด ระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวถือว่าเป็นถนนสายหลักสำคัญที่พี่น้องประชาชนใช้สัญจรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดหนองคายเพื่อเข้าสู่จังหวัดอุดรธานีครับ เพราะในแต่ละวัน โดยส่วนมากคนบึงกาฬจะเดินทางไปที่จังหวัดอุดรธานีเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ การค้าระหว่างจังหวัดที่กลุ่มพ่อค้าและนักลงทุนต้องเดินทางไปทำการค้าในทุก ๆ สัปดาห์ ด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ต้องขนส่งผลผลิตด้านการเกษตรเป็นประจำ และโดยเฉพาะกับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ลูกหลานคนบึงกาฬที่ไปเรียนหรือไปศึกษาต่อ ที่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องที่จังหวัดอุดรธานีครับ และในปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬกำลังได้รับความนิยมในเรื่องของการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะ เดินทางมาที่บึงกาฬก็ต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้เช่นกันครับ เห็นได้ชัดครับท่านประธานว่า ถนนเส้นดังกล่าวนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนคนบึงกาฬ และจาก ที่ได้รับการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่คือถนนชำรุดเสียหายหลายจุด ทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มีรถสัญจรมากทุกวันจึงทำให้เกิดปัญหา เรื่องการจราจรติดขัดตามมา และที่สำคัญครับท่านประธาน ถนนเส้นนี้ยังเชื่อมโยงกับ สะพานไทย-ลาว แห่งที่ ๕ บึงกาฬ-บอลิคำไซ ที่กำลังก่อสร้าง แล้วจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ครับ และถ้าหากสะพานสร้างเสร็จเชื่อว่าจะมีจำนวนรถสัญจรเพิ่มมากขึ้นอีก ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ และการจราจรก็จะเพิ่มมากขึ้นครับท่านประธาน จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกระทรวง ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม ให้ช่วยพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยการขยายช่องทางเป็นถนน ๔ เลน บนถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ บริเวณตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ไปยัง อำเภอปากคาด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการสัญจร บนท้องถนนของพี่น้องคนบึงกาฬ และประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดบึงกาฬ ด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอ บ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ วันนี้ขอหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องแรก ชาวบ้านหมู่ที่ ๒ ตำบล บางบุตร มีปัญหาที่สาธารณะหายตรงเส้นสีแดงที่ว่านะครับ ตอนนี้อยู่ ๆ ก็มีการออกโฉนด ทับที่สาธารณะ แล้วตอนนี้ตรงที่เป็นทางเชื่อมคลองก็พังลงไม่สามารถเข้าไปซ่อมได้ ออกโฉนดทับซอยแบบนี้ทำได้หรือครับ เรื่องนี้ฝากกรมที่ดินช่วยตรวจสอบด้วยนะครับ อีกจุดหนึ่งคือหมู่ที่ ๑๑ ตำบลบางบุตร ชาวบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่ ภ.บ.ท. ๕ อยู่กันมาตั้งแต่ ยุคสงครามโลกนะครับ พยายามขอเอกสารสิทธิผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปจนถึงที่ดินอำเภอ ที่ดินจังหวัด ที่ดินก็แนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนปักหมุด ทำทุกอย่าง แต่ก็เงียบครับ บอกได้แค่ว่าให้รอคิว ผมอยากดูคิวมากเลยครับท่านประธานว่าคิวตอนนี้ถึงไหนแล้ว อย่างไร รบกวนกรมที่ดินส่งคิวให้ดูหน่อยนะครับ จะได้รู้ จะได้ตอบประชาชนถูกว่าต้องรออีก กี่ชั่วอายุคนครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ที่หน้า มจพ. ระยอง เรื่องนี้เคยปรึกษาหารือไปแล้วว่าบริเวณนั้น อันตราย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจาก อบจ. ระยองในการนำ Barrier มาวางจัดระเบียบ การจราจรกันใหม่ ปรากฏเกิดปัญหาหนักกว่าเดิมครับ การจราจรติดขัด กลับรถไกล กลับรถ อันตราย ชาวบ้านแถวนั้นทำมาค้าขายยากขึ้น ฝาก อบจ. จัดเวทีรับฟังปัญหาหาทางออก บนถนนเส้นนี้ด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นไม่จบสักที อาจจะต้องทำเป็นเกาะกลางจริง ๆ จัง ๆ กันได้แล้วครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ชาวบ้านถามมาเยอะครับ เป็นเสาไฟ High Mast บริเวณถนน ๓๒๔๕ แยกลุงอุ้ย ไฟไม่ติดมาเป็นปีแล้ว แยกนี้ปัญหาเยอะ ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแล แล้วมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงนี้ เสาไฟอันนี้ต้นเป็นแสนบาทนะครับ แต่ว่าตอนนี้ ใช้ไม่ได้ครับ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ เป็นความเดือดร้อนของตำบลหนองบัว หมู่ที่ ๑๑ บ้านของผมเอง ชาวบ้านบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองของโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จแห่งหนึ่ง พอเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นไปตามสไลด์ครับท่านประธาน มี Plant ปูนนี้ขึ้นมา แต่ไม่มี แผงกั้นป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย ไม่แปลกที่ฝุ่นจะฟุ้งไปทั่ว ฝากกรมโรงงานตรวจสอบด้วย ผมหารือเรื่องนี้กับทางนายอำเภอไปแล้วยังเงียบอยู่นะครับ ไม่รู้ว่าในส่วนของท้องที่ตอนนี้ ทำงานกันอย่างไร ก็ฝากด้วยนะครับ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๕ ถนนเส้น ๓๔๔ สี่แยกสหกรณ์ชะแวะ ผมก็เคยปรึกษาหารือเรื่องนี้ ไปแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคมว่าแยกนี้อันตราย อยากได้ไฟจราจร ทุกวันนี้ยังไม่มีไฟจราจร แต่มีอุบัติเหตุเป็นประจำ ทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ล่าสุดทักมาหาผมครับว่า เขาขอไฟแดง สักทีเถอะ เพราะลูกเขาเพิ่งเสียชีวิตเพราะถูกรถชนที่แยกนี้ จะให้เสียชีวิตอีกกี่คนไฟจราจร ถึงจะมาครับ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ครับ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานจำนวน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ ขอสไลด์ ด้วยค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องซ่อมแซมถนน ทางหลวงชนบท หมายเลข ๓๐๖๕ บริเวณวัดธรรมจักรเสมาราม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน พระนอนที่เมืองเสมาได้ขึ้นชื่อว่าเป็น UNESCO Global Geoparks อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมของจังหวัดนครราชสีมาค่ะ แต่ภาพทางขวามือคือถนน เข้าวัดค่ะ ดังนั้นจึงอยากวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะคะ กรมทางหลวงชนบท กระทรวง คมนาคมให้ซ่อมแซมบำรุงถนนบริเวณทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๕ ด้วยค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่อง Barrier บริเวณอำเภอโนนไทยตั้งแต่ตำบลด่านจากจนถึง ตำบลโคกสวาย หรือตำบลสายออของอำเภอโนนไทย บริเวณดังกล่าวเป็นถนน ๔ เลน แล้วก็จะเป็นรถสัญจรระหว่างจังหวัด ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงวิงวอนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพิ่ม Barrier หรืออุปกรณ์กั้นตรงกลางถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ แล้วก็เห็นความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้องเป็นเรื่องสำคัญค่ะ จึงอยากวิงวอนกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เห็นความปลอดภัยของพี่น้องเป็นเรื่อง สำคัญค่ะ

นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ บริเวณหนองสรวง หมู่ที่ ๕ หรือบ้านหนองสรวงพัฒนา บริเวณ ดังกล่าวมีแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์แต่ตื้นเขิน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรร งบประมาณในการขุดลอกคลองเพื่อกักเก็บน้ำให้พ่อแม่พี่น้องบ้านหนองสรวงพัฒนา หมู่ที่ ๕ หรือหมู่บ้านใกล้เคียงได้ใช้น้ำบริเวณในคลองดังกล่าวในเวลาทำการเกษตรด้วย ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านทิพา ปวีณาเสถียร ครับ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันได้ลงพื้นที่เข้ารับฟังปัญหาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโครายย่อยของตำบลบางแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ดิฉันได้รับ ฟังและรับทราบปัญหาทั้งหมดจากเกษตรกรดังนี้

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๑ ก็คือปัญหารับซื้อวัวเนื้อ ในตลาดตกต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อแม่พันธุ์มาเลี้ยง จากราคาที่ซื้อมา ๓๒,๐๐๐ บาท แต่สามารถ ขายได้แค่ ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรขาดทุนค่ะ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๒ ปัญหาที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงใน MOU กับฟาร์มที่ซื้อแม่พันธุ์ มาเลี้ยง ที่ตกลงว่าเมื่อเลี้ยงครบ ๖ เดือนแล้วจะรับซื้อคืนในราคาตัวละ ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถขายคืนได้ เพราะว่าฟาร์มเองก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาเนื้อตกต่ำ ด้วยเช่นกันค่ะ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๓ ปัญหาการนำเนื้อวัวเถื่อน แล้วก็โคเถื่อนจากต่างประเทศ หรือจากตะเข็บชายแดนเข้ามา ทำให้ราคาตลาดแปรปรวนตกต่ำและยังนำโรคมาสู่วัวเนื้อ ในพื้นที่อีกด้วยค่ะ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๔ ก็คือปัญหายารักษาโรคและวัคซีนไม่เพียงพอ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ปัญหาที่ ๕ ปัญหาเรื่องของแหล่งเงินทุนและการชำระหนี้ของเกษตรกร ซึ่งจากการที่ขาดทุนหรือไม่สามารถขายวัวได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้เกษตรกรเหล่านี้ไม่มี กำลังในการชำระหนี้คืนให้กับ ธ.ก.ส. ปัญหาทั้งหมดนี้ดิฉันขอฝากท่านประธานช่วย ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางในการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกร เหล่านี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือ ๓ เรื่องครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ผมได้ลงพื้นที่เยี่ยม พี่น้องประชาชนตำบลหาดสูง อำเภอโกรกพระ ได้รับการร้องเรียนถึงปัญหากระแสไฟฟ้า ที่ตกมาเป็นเวลานาน ผมได้ประสานงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขานครสวรรค์ ได้รับการ ตอบรับและลงไปสำรวจเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนตำบลหาดสูงแล้วนั้น ผมขอขอบคุณแทนพี่น้องประชาชนตำบลหาดสูง อำเภอโกรกพระด้วยครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ผมได้ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องประชาชนตำบลยางตาล อำเภอโกรกพระ พี่น้องประชาชนได้พาไปดูถนนสายหลักชื่อ ถนนอ้ายตูบ-ยางตาล ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนน สายหลักของตำบลยางตาลไปถึงหมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ และถึงอำเภอ โกรกพระ ได้รับความเสียหายทรุดโทรมมาเป็นเวลานาน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน งบประมาณก่อสร้างให้องค์การบริหารส่วนตำบลยางตาลด้วยครับ เพื่อแก้ปัญหาบรรเทา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตำบลยางตาลที่ใช้ถนนเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยครับ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ผมได้ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องประชาชน หมู่ที่ ๗ ตำบลยางตาล อำเภอ โกรกพระ พบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เรื่องน้ำประปาไม่มีใช้ทั้งอุปโภค บริโภคมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ทุกวันนี้ต้องซื้อน้ำจากรถดับเพลิงเที่ยวละ ๒๐ บาทต่อ ๑ ครัวเรือน ผมได้ประสานงาน นายนรินทร์ จันทรังษี ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอพยุหะคีรี ท่านได้ลงไปดูพื้นที่และรับปากที่จะดำเนินการแก้ปัญหาให้พี่น้อง หมู่ที่ ๗ ตำบลยางตาล เพื่อที่จะได้มีน้ำประปาใช้ อุปโภคบริโภค พี่น้องหมู่ที่ ๗ ตำบลยางตาล อำเภอโกรกพระ ฝากกราบขอบพระคุณท่านผู้จัดการนรินทร์ จันทรังษี การประปาส่วนภูมิภาค สาขาพยุหะคีรีด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานสภาที่เคารพครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๔ เรื่องครับท่านประธาน

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ คือเรื่องของถนน รัชดาภิเษกหน้าศาลอาญา หรือที่รู้จักกันดีก็คือ โค้ง ๑๐๐ ศพครับ ด้วยปัญหาจากหลัก วิศวกรรมที่ออกแบบมาได้ไม่ดีครับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และปัจจุบัน ผิวถนนลื่นมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือหน้าฝนกำลังจะมาถึงแล้วครับ ก็ฝากจริง ๆ เพราะเรื่องนี้ อันตรายมาก อาจจะเกิดอุบัติเหตุเป็นหลายสิบศพได้ ถ้าเกิดมีการติดตั้งเส้นชะลอ ความเร็วผมต้องชี้แจงว่าตรงนี้อาจจะไม่เพียงพอนะครับ อย่างไรผมฝากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือสวนรัชวิภาที่อยู่ใต้ทางยกระดับรัชวิภา มีปัญหาเรื่องของไฟเสีย อันดับมืดเป็นจำนวนมาก อาจเป็นที่มั่วสุมได้ ไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ผมฝากสำนักงาน ระบายน้ำกรุงเทพมหานครแล้วก็กรมทางหลวงด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ คือสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงครับท่านประธาน มีปัญหาย่อยทั้งหมด ๓ เรื่องครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหาเรื่องของลิฟต์เสีย หลายสถานีที่มีลิฟต์เสียของ สายสีแดง อย่างสถานีจตุจักรก็เสียตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี ๒๕๖๖ ยังไม่ซ่อมครับ ก็สร้าง ความเดือดร้อนให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แล้วก็ผู้โดยสารจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องของ บันไดเลื่อนชำรุด ที่สถานีจตุจักรครับ ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร-จตุจักร-หมอชิต นะครับ แต่เป็นจตุจักรสายสีแดง แล้วก็สถานีบางเขนชำรุดบ่อย ก็ต้องฝากการรถไฟจัดการด้วยครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของ Sky Walk เป็นทางเชื่อมนะครับ ปัญหาจากตรงทาง เชื่อมที่ยังไม่มีการเปิดใช้ระหว่างสถานีหลักสี่ไปถึงโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สร้างเสร็จแล้วแต่ยัง ไม่มีการเปิดใช้ ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังมารอให้ใครเปิดงานอยู่หรือเปล่าล่ะครับ อย่างไรตรงนี้ ต้องฝากท่านประธานครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และเรื่องสุดท้ายครับ ผมฝากท่านประธานไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แล้วก็เห็น ท่านนายกรัฐมนตรีมาในสัปดาห์นี้ ก็ฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเลย เรื่องของประสิทธิภาพ ของหน่วยงานในการตอบข้อปรึกษาหารือของ สส. เราในสภานี้นะครับ อย่างไรผมฝาก ท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ครับ

นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ศรีสะเกษ เขต ๙ วันนี้ ดิฉันมีข้อหารือท่านประธาน ๑ ข้อค่ะ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากฟาร์มกำนันเตียง บ้านโนนตุ่น ตำบลส้มป่อย และพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ควาย อำเภอราษีไศล อำเภอ ยางชุมน้อย อำเภอศิลาลาด อำเภอบึงบูรพ์ และอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษมีจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านปศุสัตว์มากที่สุดเป็นอันดับ ๕ ของประเทศไทย แต่ขณะนี้มีปัญหาเรื่องเนื้อวัว เนื้อควายไม่มีราคาค่ะ เนื่องจากถูกพ่อค้า คนกลางกดราคา จังหวัดศรีสะเกษมีผู้เลี้ยงวัว ควาย ทั้งหมด ๑๔๙,๒๐๗ ราย และเป็นโคเนื้อ อยู่ที่ ๕๒๘,๗๑๑ ตัว และกระบือ จำนวน ๑๐๔,๔๑๕ ตัว ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว เลี้ยงควายมีปัญหา เพราะว่ามีการลักลอบวัวมาทางขอบตะเข็บชายแดน และมีการลักลอบ เนื้อวัวแท่ง หรือเนื้อวัวกล่องเข้ามาในพื้นที่ ไม่ใช่แต่จังหวัดศรีสะเกษเท่านั้นที่มีปัญหา ดิฉันเชื่อมั่นว่าทุกจังหวัดมีปัญหาเรื่องเกษตรกรที่เลี้ยงวัวค่ะ ดิฉันขอฝากไปยังผู้ที่มี ความรับผิดชอบให้ลงมาช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เขาหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่า การค้าวัว ขายควายของเขาแต่ละครั้งจะมีกำไรบ้าง แต่กลับขาดทุนทั้งที่ดอกเบี้ยก็ต่ำ แต่ขายไปแล้ว ขาดทุน ดอกไม่เท่าไรค่ะแต่ต้นทุน ทุนหายกำไรหด ยิ่งกำไรหาไม่เจอเลยค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านเซีย จำปาทอง ครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องที่กระทรวง แรงงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ลอยแพตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ท่านประธานครับในสไลด์มีข้อตกลงที่ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ซึ่งนำโดยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามด้วยครับ ในข้อตกลงบอกว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติจัดสรรงบประมาณมาสำรองจ่ายให้กับ ลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยนะครับ มีลูกจ้าง บริษัท บอดี้แฟชั่น จำกัด ลูกจ้าง บริษัท แอลฟา สปินนิง จำกัด บริษัท เอเอ็มซี สปินนิง จำกัด ๓ บริษัทซึ่งถูกนายจ้าง ปิดกิจการลอยแพ ดังนั้นแล้วลายมือที่ลงไว้ก็เป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานที่ทำข้อตกลง กับลูกจ้าง แต่ว่าขณะนี้ผ่านมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธันวาคม มาถึงวันนี้ก็เกือบร่วม ๒ เดือนแล้วครับ ยังไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ดังนั้นแล้วจึงขอเรียนท่านประธานไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ช่วยเร่งดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับลูกจ้างด้วยครับ

นายเซีย จำปาทอง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เรื่องการจำกัดเสรีภาพของพี่น้องแรงงานที่เดือดร้อนจากการ ถูกล่อลวง ไปเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ท่านประธาน ปัญหาแรงงานเก็บ Berry ชาวไทยที่ถูกล่อลวงไปเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์ได้เดินทางมาจากหลายจังหวัดนะครับ รวมตัวกันที่กรุงเทพมหานคร เพื่อมาเรียกร้องต่อสถานทูตและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีกำหนดการจะไปยื่นหนังสือกับ นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อสักครู่เห็นท่านนายกรัฐมนตรีมานั่งอยู่ที่นี่นะครับ แต่ว่าถูกเจ้าหน้าที่ ตำรวจขวางกั้นตรงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวานนี้ผมได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนพี่น้องแรงงาน ด้วยตัวผมเองนะครับ พบว่าเป็นจริงดั่งที่พี่น้องได้ร้องเรียนมานะครับ ผมมองว่าประชาชน คนจน แรงงานที่มาเรียกร้องปัญหาที่เดือดร้อนกับรัฐบาล เพราะเขาเดือดร้อนจริง ๆ เขาถึง ได้เดินทางมา แม้ว่าเจ้าหน้าที่อาจมุ่งเน้นว่าการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยก็ตามแต่ แต่ผลลัพธ์ก็คือภาพของรัฐบาลที่ทอดทิ้งคนรากหญ้าไว้ด้านนอกรั้วเหล็กนะครับ ภาพที่ รัฐบาลหันโล่กระบองใส่ชาวบ้านมือเปล่า เป็นภาพที่ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้ง ผมจึงขอร้องเรียนไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ปัญหา เยียวยาลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกล่อลวงไปทำงานในต่างประเทศ และขอให้สั่งการ ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดือดร้อน จากการมาร้องเรียนปัญหาที่ พวกเขาถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ อย่าทำเหมือนรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมา ขอบคุณครับ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านองอาจ วงษ์ประยูร ครับ

นายองอาจ วงษ์ประยูร สระบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายองอาจ วงษ์ประยูร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ขอหารือท่านประธานสัก ๒ เรื่องครับ

นายองอาจ วงษ์ประยูร สระบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ เรื่องแรก ปัญหา จราจรและประสิทธิภาพในการเดินทางบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๖๗ ขอขยายเป็น ๔ ช่องจราจร คือช่วงตำบลบางโขมด ตำบลไผ่ขวาง อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด ไปที่จังหวัดอ่างทองเชื่อมต่อสายเอเชียสู่กรุงเทพมหานครและทางภาคเหนือได้ครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันยังคงเป็นถนน ๒ เลน ทั้ง ๆ ที่เป็นถนนสายหลัก สายเศรษฐกิจ มีความสำคัญอย่างยิ่งทางภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวของภาคกลาง ปัญหาขณะนี้ก็คือปริมาณรถวิ่งเป็นจำนวนมาก วิ่งตลอดวันตลอดคืนครับ ทั้งรถบรรทุก รถสิบล้อ ถนนแย่ รถเยอะ แซงกันไม่ได้ อุบัติเหตุบ่อยครับท่านประธาน ผมเคยขอไปทาง กรมทางหลวงหลายครั้งแล้วครับ ถามไปก็ตอบมาอย่างเดียวคือว่าสำรวจอยู่ สำรวจมา หลายปีแล้วครับ ยังไม่ได้ทำ ที่ขอไม่ได้ ที่ได้ก็ไม่ได้ขอ อย่าง Barrier ทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหา อยู่ในจังหวัดนะครับท่านประธาน

นายองอาจ วงษ์ประยูร สระบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากท่านผู้อาวุโส ข้าราชการ บำนาญส่วนท้องถิ่น จังหวัดสระบุรี คือเขาไม่สามารถนำสิทธิบำเหน็จตกทอดไปเป็น หลักทรัพย์ในการค้ำประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ครับ ต่างกับข้าราชการบำนาญ กรมอื่น กระทรวงอื่น ซึ่งเขานำสิทธินี้ไปค้ำประกันเพื่อกู้ยืมเงินได้ ท่านประธานครับ ข้าราชการบำนาญท้องถิ่นมีความพร้อมสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ แต่ขาดที่ โอกาส ขาดเงินในการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เขาถนัดครับ ก็ฝากท่านประธานผ่านไปยัง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างความเป็นธรรม อย่างทั่วถึงให้กับข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่นที่สังกัดในกระทรวงของท่านด้วยครับ กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัชนี พลซื่อ ครับ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางรัชนี พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๓ พรรคพลังประชารัฐ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

ด้วยดิฉันได้รับแจ้งจากผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เรื่องปัญหาการสัญจรไปมา เนื่องจากสภาพถนนชำรุดเสียหายมาก จึงขอหารือท่านประธาน ผ่านไปยังกรมทางหลวงชนบทเพื่อเร่งรัดการจัดงบประมาณก่อสร้างถนนลาดยาง เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรดังนี้ค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๑. เส้นทางจากบ้านกุดแห่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง ไปบ้านหนองโน อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเส้นทางที่ประชาชนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง ใช้ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรทั้งข้าว อ้อยและมันสำปะหลัง ระยะทาง ๓ กิโลเมตรค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๒. ถนนเชื่อมตำบลระหว่างบ้านดงบัง หมู่ที่ ๔ ไปบ้านดงทรายงาม หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองขุ่นใหญ่ และเชื่อมถนนทางหลวงชนบทสายหนองพอกไปตำบลท่าสีดา อำเภอ หนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง ๗ กิโลเมตรค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๓. เส้นทางจากบ้านคำแข้ ตำบลแวง บ้านบะเค ตำบลโพธิ์ทอง บ้านหนอง ขอนแก่น ตำบลคำนาดี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของประชาชน ๓ ตำบลใช้สัญจรไปมาเข้าตัวอำเภอโพนทอง ระยะทาง ๕ กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังที่มีสภาพ ชำรุดเสียหายและมีสะพานข้ามลำห้วยบง ขนาดความกว้างของลำห้วยประมาณ ๓๐ เมตร มีสภาพชำรุดเสียหายมาก สำหรับถนนสายนี้ดิฉันขอเรียนหารือท่านประธานผ่านไปยัง กรมทางหลวงชนบท ขอให้จัดงบประมาณก่อสร้างถนนลาดยางพร้อมสะพานคอนกรีต เสริมเหล็กข้ามลำห้วยบงด้วยค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๔. เส้นทางลัดจากบ้านสว่างอารมณ์ ตำบลพรหมสวรรค์ อำเภอโพนทอง เชื่อมไปยังบ้านเหล่าโพนงาม ตำบลหนองขุ่นใหญ่ อำเภอหนองพอก ซึ่งประชาชนใช้สัญจร ไปมา ลำเลียงขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องการให้ก่อสร้าง เป็นถนนลาดยาง ระยะทาง ๙.๕ กิโลเมตรค่ะ

นางรัชนี พลซื่อ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ

๕. เส้นทางจากบ้านหนองแสงทุ่ง บ้านทุ่งแสงทอง ตำบลแวง ไปยังบ้านดงดิบ บ้านกุดแห่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง เป็นเส้นทางลัดเข้าตัวอำเภอโพนทอง มีประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก ระยะทาง ๕ กิโลเมตร ดิฉันเคยหารือท่านประธานมาแล้ว ในครั้งนี้จึงขอหารือท่านประธานเพื่อแจ้งกรมทางหลวงชนบทได้เร่งรัดจัดงบประมาณ เพื่อก่อสร้างถนนลาดยางด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ครับ

นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๖ จังหวัดชลบุรี ตัวแทนชาวตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ตำบลสุรศักดิ์ ตำบลทุ่งสุขลาและอำเภอเกาะสีชังค่ะ วันนี้มีประเด็นมา ปรึกษาหารือท่านประธานดังนี้ค่ะ

นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ชลบุรี ต้นฉบับ

ปัจจุบันเป็นยุคของหมาจรจัด ครองเมือง ทุกที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะทั้งประเทศ เช่น เขาฉลาก ตำบลบางพระ เกาะสีชัง เกาะแก่งต่าง ๆ ทั่วประเทศจะมีหมาจรจัดคุมอยู่ เพราะมีผู้เอาอาหารมาให้ ก่อให้เกิดความ สกปรกเลอะเทอะไปทั่วเมือง แต่พอหมากัดประชาชนกลับไม่มีผู้รับผิดชอบ เรามีกฎหมาย คุ้มครองการทารุณสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะคะ แต่มีบุคคลและองค์กรที่ใช้กฎหมายเกินกว่า เจตนาค่ะ จนมีคำพูดที่ติดปากของชาวบ้านว่า ถ้าหมากัดเมีย ให้ตีเมียอย่าตีหมา จึงทำให้ ไม่สามารถควบคุมจำกัดจำนวนหมาจรจัดได้ เนื่องจากผู้ที่มีหน้าที่ไม่กล้าเข้าไปจัดการ เพราะเมื่อทำการเคลื่อนย้ายหรือเข้าไปทำหมันจะถูกประชาชนผู้ที่นำอาหารไปให้สุนัข เหล่านั้นฟ้องร้องเป็นรายบุคคล ทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในแต่ละเทศบาลต่างไม่กล้า กระทำการดังกล่าว และถึงขั้นลาออกเพราะถูกฟ้อง ซึ่งทำให้เกิดภาระมากมายตามมา และเรื่องนี้ท่านประธาน มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นในวันนี้ จึงขอร้องท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขช่วยแก้ไขปัญหา โดยออก กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ ในการจัดการดูแลควบคุมหมาจรจัดตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวรโชติ สุคนธ์ขจร ครับ

นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม วรโชติ สุคนธ์ขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต ๔ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธานอยู่เรื่องเดียวเลยครับ เรื่องโครงการถ่ายโอนถนนจากทางหลวงชนบท หรือว่า รพช. เดิม รวมถึงโยธาธิการเดิมด้วย วันนี้ถนนหลายสาย ผมเอาทั่วประเทศเลยก็แล้วกันที่ถูกถ่ายโอนมา ปี ๒๕๖๗ ได้รับการ จัดสรรงบประมาณน้อยมาก กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง ถนนสายต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมมีงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่กำกับดูแล อปท. ทั่วประเทศ กลับไม่ค่อยได้รับการจัดสรรงบประมาณในเรื่องนี้ในด้านนี้ ฉะนั้นมันเป็นปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จังหวัดเพชรบูรณ์ของผมที่ผมเคยกล่าวไปแล้ว พูดไปแล้ว หารือไปแล้วในสภาแห่งนี้ ก็มีหลายเส้นเหมือนกันท่านประธานสภาที่เคารพ อย่างถนนสายบ้านซับพุทรา อำเภอชนแดน ไปถึงบัววัฒนา อำเภอหนองไผ่ ก็เป็นถนน อีกสายหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนมาก น้ำท่วมที่ผ่านมาเสียหายมากมาย ถนนสายซับเปิบ อำเภอวังโป่งไปถึงสายบ้านวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมระหว่าง อำเภอเส้นนี้ก็รอความหวังอยู่ ถนนภายในตำบลบ้านกล้วยทั้งตำบลเลยครับ รวมถึงสะพาน หลายแห่งซึ่งมีอายุอย่างน้อยก็ ๓๐ กว่าปีแล้วจะพังอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสะพานนานแล้ว เป็นสะพานที่แคบก็รอความหวังอยู่ ถนนข้างโรงเรียนบ้านดงขุยวิทยาคม ตำบลดงขุย เชื่อมบ้านหนองกุ่ม ตำบลศาลาลาย เทศบาลศาลาลาย ก็เป็นถนนอีกเส้นหนึ่งที่ต้องการ ความช่วยเหลือ แล้วก็ได้รับงบประมาณ อย่างไรผมฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็สำนักงบประมาณช่วยจัดสรรเรื่องนี้ให้กับ อปท. เพื่อจะได้ดูแลความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านเกียรติคุณ ต้นยาง ครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายเกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๗ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องจะหารือกับท่านประธานเป็นเรื่องถนน และคลอง จำนวน ๔ เรื่องนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของถนนเลียบคลอง ตาชม หมู่ที่ ๘ ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่แคบ และไม่มีไหล่ทาง ทำให้พี่น้องประชาชนที่ขับรถมาตอนค่ำคืนหรือกลางวันก็แล้วแต่ ถ้าหาก ขับชิดซ้ายเกินไปก็จะตกคลองอย่างภาพนะครับ จึงขอให้ท่านประธานช่วยประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขยายไหล่ทาง หรือมีเครื่องหมาย หรือมีที่กั้นทาง เพื่อไปให้ พี่น้องประชาชนต้องขับรถตกคลองกันอีกนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของถนนเลียบคลองตาคล้าย ถนน นบ.ถ. ๒๗-๐๑๓ ถนนเส้นนี้ตอนกลางวันก็จะขับรถมองเห็นเส้นทางดีนะครับ แต่พอยามค่ำคืนถนนนี้ก็จะมืด เห็นความแตกต่างทั้ง ๒ ภาพเลยนะครับ เพราะฉะนั้นจึงขอท่านประธานช่วยประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขหรือติดตั้งไฟทาง เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่สัญจร บนถนนเลียบคลองตาคล้ายแห่งนี้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทางในยามค่ำคืนนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ เป็นถนนเลียบคลองเจ็ก ถนนหมายเลข นบ.๓๐๘๘ ถนนเส้นนี้ มักจะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เป็นเส้นทางลัดวิ่งหลบหนีด่านชั่งนะครับ แล้วก็ ทำให้ผิวการจราจรชำรุดพังเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงขอท่านประธานช่วยประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งไปทางลัด แล้วก็หน่วยงานให้มา ซ่อมแซมถนนเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ถนนต่อไปนะครับ

นายเกียรติคุณ ต้นยาง นนทบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เรื่องของการขุดบ่อเพื่อเอาสายไฟลงใต้ดินของถนนหมายเลข นบ.๓๒๑๕ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงพยาบาลไทรน้อย หมู่บ้าน ชวนชมนะครับ ผู้รับเหมาขุดแล้วไม่กลบทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการ สัญจรในยามเช้าและตอนกลางวัน จึงขอให้ท่านประธานช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้รับเหมาขุดแล้วกลบให้เรียบร้อยด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสรัสนันท์ อรรณนพพร ครับ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๙ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตนำความเดือดร้อนของพี่น้อง เขต ๙ จังหวัดขอนแก่น ประมาณ ๓-๔ เรื่องดังนี้ค่ะ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องแรก ขอให้กรมทางหลวงแขวง ๓ กระทรวงคมนาคม เร่งพิจารณา งบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๕ จากเทศบาลตำบล แวงน้อยไปจนถึงตำบลท่านางแนว จังหวัดขอนแก่น ให้แล้วเสร็จตลอดสายตามที่เคยมีแผน ตอนนี้เสร็จเป็นเพียงบางช่วงเท่านั้นค่ะ เพื่ออำนวยความสะดวกการสัญจรอย่างมีคุณภาพ และความปลอดภัยสำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่ะ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ คือถนนทางหลวงเส้น ๒๔๔๐ จากอำเภอพลไปอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ที่มีการขยายเส้นทางเป็นถนน ๔ เลน ซึ่งบางช่วงของถนนเส้นนี้ค่ะ กรมทางหลวงได้นำ Barrier ปูนขนาดใหญ่และสูงวางตามแนวกลางถนนเพื่อแบ่งเลนค่ะ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณชุมชนแออัด Barrier ปูนอันนี้เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในพื้นที่ ในการข้ามถนนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อ ผู้ใช้รถ ใช้ถนน เพราะขับรถมาอยู่ดี ๆ ก็มีตอปูนโผล่มากลางถนนเป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาตอนกลางคืน หรือเวลาจะมีการขับแซงกันก็เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมามีการสูญเสียชีวิตไปแล้ว โครงการลักษณะนี้นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อ ประชาชนแล้วยังส่อให้คิดถึงความไม่คุ้มค่า สามารถตั้งคำถามถึงการทุจริตได้อีกด้วย จึงอยากพิจารณาขอให้กรมทางหลวงนำ Barrier ออกค่ะ

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ขอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณา งบประมาณเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเทศบาลอำเภอพล จังหวัด ขอนแก่นค่ะ ก็คือการขุดลอกบึงละเลิงหวายที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้อย่างเพียงพอค่ะ จึงฝากนำเรียนท่านประธานเพียง ๓ เรื่องวันนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านกัณวีร์ สืบแสง ครับ

นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรมครับ ผมขออนุญาตหารือท่านประธานเกี่ยวกับผลกระทบที่เลวร้ายต่อจุดยืนทางการทูต แล้วก็ จุดความสง่าผ่าเผยของประเทศไทยในเวทีประชาคมโลก เมื่อวานเราได้เห็นท่านประธานครับ ว่ามีการเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่อประเทศไทย เราเห็นครับ มีกองเกียรติยศทางทหารมากมาย ต้อนรับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เราเห็นครับท่านนายกรัฐมนตรี กัมพูชาเดินทางมาถึงสภาของเรา แต่ท่านรู้ไหมครับเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ มีการจับกุมนักกิจกรรมที่ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย จำนวน ๓ ราย แล้วมีทั้งหมด ๘ คน ในครอบครัวของเขา มีทั้งเด็กอายุ ๑ ขวบครึ่งถึง ๔ ขวบครึ่ง ๔ คน ท่านครับ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น นี่หรือครับการต้อนรับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา อย่างสง่าผ่าเผย ไม่สง่าครับ จริง ๆ แล้วในเวทีระหว่างประเทศเราเรียกว่า Transnational Repression การปราบปรามข้ามชาติ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลในการ ปราบปรามกดขี่ข่มเหงการประหัตประหารต่อคนที่ลี้ภัยเข้ามา แล้วคนเหล่านี้ได้รับการ คุ้มครองระหว่างประเทศจาก UNHCR เรียบร้อยแล้ว เขากำลังรอการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ๑ รายใน ๓ ราย กำลังจะไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ ๓ ทำไมเราถึงไปจับเขาอีกต่อไป เกิดอะไรขึ้นเราสง่าผ่าเผยแค่ไหน อย่างไร ท่านประธานครับเรื่องนี้ยังมีอีก การจับเด็กเข้าไปมีทั้งผู้หญิงและเด็ก โดนเข้าไปอยู่ ศูนย์แม่และเด็ก ศูนย์แม่และเด็กนี้ในห้องกักอาจจะชื่อว่าเป็นศูนย์แม่และเด็ก แต่จริง ๆ แล้ว เป็นห้องกักของ ตม. เรามี MOU ของประเทศไทย ๗ หน่วยงานด้วยกัน การไม่กักเด็ก แต่นี่เราทำได้อย่างไรครับ ๑ ขวบครึ่งถึง ๔ ขวบครึ่ง ๔ คน ถ้าเป็นลูกพวกเรา เราจะคิดกัน อย่างไร ต่อไปในอนาคตที่ปีนี้ ปี ๒๕๖๗ เราจะเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติผมว่าไม่ได้หรอกครับ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เราจะ ทำอย่างไรบ้าง ผมขออนุญาตหารือท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ท่านต้องชี้แจงเรื่องนี้ ท่านต้องแสดงจุดยืนทางการทูตของไทย ท่านต้องแสดงจุดยืนว่า เราจะมีความสง่าผ่าเผยอย่างไรบ้างต่อประชาคมโลก ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวัชระ ยาวอหะซัน ครับ

นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระ ยาวอหะซัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ อำเภอเมือง และอำเภอยี่งอ วันนี้ผมขอ หารือเรื่องโครงการก่อสร้างระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาล เมืองนราธิวาส อย่างที่ทราบว่าปลายปีที่ผ่านมาน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะในเขตเทศบาล ปรากฏว่าน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน แล้วก็ในส่วนที่ผมจะพูดวันนี้หมายถึงเรื่องปัญหาน้ำท่วม เรื่องการก่อสร้างระบายน้ำครับท่านประธาน โครงการก่อสร้างระบายน้ำตามภาพที่ได้เห็นนะครับ

นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ

งบประมาณในระยะที่ ๑ นะครับ ๒๕๗ ล้านกว่าบาท ปรากฏว่าสร้างเสร็จข้างเดียว อีกข้างหนึ่งอยู่ในช่วงแก้ไขแบบ แบบนี้ แก้ไขมาเกือบปีแล้ว อีก ๑๐ วันจะครบปีแล้ว และชาวบ้านเดือดร้อนอย่างมาก หมู่บ้าน วัชรีบำรุง Resort หลาย ๆ แห่ง แล้วก็อีก ๔-๕ หมู่บ้าน ซอย ณ นคร ชุมชน ณ นคร ชุมชน ยะกัง ชุมชนจือปอ ชุมชนกำปงตาโก๊ะ เดือดร้อนหมดครับท่านประธาน โดยเฉพาะประตูน้ำ สร้างทำไม งบตั้ง ๒๐๐ กว่าล้านบาท ประตูน้ำก็ไม่ยอมสร้าง ไม่ยอมซ่อม ประตูก็เสียทั้ง ๔ ประตู ถึงช่วงน้ำท่วมใช้เครื่องสูบน้ำ ๒ เครื่อง แล้วน้ำจะออกมาได้อย่างไร แล้วส่วนที่ดิน อยู่ในคลองตื้นเขินหมด เพราะไม่ได้ขุดขึ้นมา ผมก็ได้หารือกับผู้ว่าจ้างผู้รับจ้างแล้ว ผู้รับจ้าง เขาก็บอกว่าในช่วงแก้ไขแบบ ช่วยอะไรไม่ได้ สัญญาก็ทำที่กรม แล้วก็ประชาคมไม่ทราบว่า ทำหรือเปล่า งบตั้ง ๒๕๐ กว่าล้านบาทนะครับ จริง ๆ มันมีอยู่ ๓ ระยะ งบประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท อีก ๒ ระยะ เดี๋ยวผมจะมาพูดทีหลังครับ เดือดร้อนมากครับ ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสมบัติ ยะสินธุ์ ครับ

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ ผมจะหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เรื่องปัญหาน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ถนนพื้นที่ ริมตลิ่งได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากครับ ในเขตเทศบาลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเหตุเกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ กระผมได้นำเรื่องนี้ มาหารือเป็น ครั้งที่ ๒ แล้วครับ เพราะว่าพี่น้องประชาชนเกรงว่าถ้าไม่ได้รับการแก้ไขในช่วง ฤดูแล้งนี้ ช่วงฤดูฝนต่อไปก็จะทำให้เสียหายมากกว่าเดิม ท่านประธานเห็นไหมครับว่า บ้านเรือนนั้นเสียหาย ถ้าเกิดไม่มีการป้องกันแล้วก็จะเสียหายมากกว่านี้นะครับ ขณะนี้ ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการ เลขที่ มส ๐๐๒๒.๒/๙๓๖๖ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เพื่อขอรับงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง

นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ขอให้กรมทางหลวงเร่งจัดสรรงบประมาณ ซ่อมแซมถนนและ ปรับปรุงทางแยกบริเวณขึ้นบ้านละอูบ ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ ตัดกับ ๑๒๖๖ อำเภอ แม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากถนนชำรุดทรุดโทรมมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจ ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนไปยังแหล่ง ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ ครับ

นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตอำเภอปากช่อง พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ปัญหาการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดโครงการรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา เชื่อมต่อไปยังชุมทางถนนจิระ-โคราช ตัดผ่านเทศบาลเมืองปากช่อง เทศบาลที่ ๑๙ ข้างเขาแคน มีการออกแบบโดยไม่ได้ทำการประชาพิจารณ์จากพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด การออกแบบก่อสร้างอุโมงค์เป็นการออกแบบการจราจรวิ่งสวนทางกัน ๒ เลน เกิดความไม่ ปลอดภัยเพราะมีรถพ่วง รถดิน รถหิน รถทราย วิ่งจำนวนมาก ปัญหานี้ผมเคยได้ตั้งกระทู้ ถามในสภาแห่งนี้สมัยที่แล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการคมนาคมได้ลงพื้นที่และ ร่วมพิจารณาหาทางแก้ไข โดยมีการให้ก่อสร้างจาก ๒ เลน เป็น ๓ เลน เข้า ๒ ออก ๑ พอขึ้นทางใหญ่ หน้าโรงแรมริมธารอินน์ ข้างเขาแคนไม่มีไฟจราจรเพื่อที่จะให้เกิด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ขณะนี้โครงการได้หยุดทำการก่อสร้าง ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด จึงนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้หา คำตอบให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ นครราชสีมา ต้นฉบับ

เรื่องต่อมาครับ โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่อีกเช่นเคย ที่ตัดผ่านบ้านไทรเอน คาบเกี่ยวกับ อบต. ปากช่อง อบต. หนองสาหร่าย และเทศบาล เมืองปากช่อง ได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟลงพื้นที่ของเอกชน หรือลงในไร่ มันสำปะหลังดูคล้าย ๆ กับว่าทำเข้าไปยังสนามกอล์ฟ สร้างโดยไม่มีคนใช้ สร้างนานเท่าไร ก็ไม่เสร็จสักทีเสียงบประมาณของประชาชนในการที่สร้างงานครั้งนี้ ผมจึงนำเรียน ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ ว่าโครงการนี้จะต้องทำอย่างไรต่อ พี่น้อง ประชาชนชาวปากช่องรอคำตอบอยู่ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านชาตรี หล้าพรหม ครับ

นายชาตรี หล้าพรหม สกลนคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชาตรี หล้าพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต ๒ สส. ลูกชาวนา พรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมมีเรื่องหารือท่านประธานอยู่ ๑ เรื่อง สืบเนื่องจากผมได้รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ใช้เส้นทาง หมายเลข สน.๒๐๑๓ แยกทางหลวง หมายเลข ๒๒ บ้านนาแก้ว-ดงน้อย เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า ส่องสว่างจากตำบลด่านม่วงคำ ถึงบ้านโนนกุง ตำบลเชียงสือ บ้านโพนน้อย ตำบลบ้านโพน ซึ่งเกิดอุบัติเหตุในช่วงกลางคืนมาแล้วหลายครั้ง บ้านอ้อมแก้ว ตำบลบ้านโพน จนถึงบ้านปุ่ง ตำบลนาตงวัฒนา และบ้านโนนคูณคำ บ้านกลาง ไปจนถึงบ้านนาแก้ว โดยเฉพาะหลัก กิโลเมตรที่ ๕ ระหว่างบ้านนาแก้วถึงบ้านกลาง เป็นจุดเสี่ยงซึ่งเกิดเหตุการณ์ป่าหินใส่รถยนต์ ของพี่น้องประชาชนในช่วงเวลากลางคืนมาแล้ว ๔ ครั้ง ทำให้สูญเสียทรัพย์สินของพี่น้อง ประชาชน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะจับกุมผู้ก่อเหตุสามารถดำเนินคดีได้ ทำให้พี่น้อง ประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวยามค่ำคืนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กระผม จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท และสำนักงานทางหลวงชนบท จังหวัดสกลนคร ได้โปรดออกไปสำรวจพร้อมจัดสรร งบประมาณและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนดังกล่าวด้วย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญ ท่านพัฒนา สัพโส ครับ

นายพัฒนา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม พัฒนา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมจังหวัด สกลนครได้ออกใบอนุญาตประกอบโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ ที่บ้านหนองเบ็น หมู่ที่ ๕ ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ถ้าออกใบอนุญาตโดยชอบวันนี้ผมไม่ต้อง มาหารือท่านประธานครับ อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร นำประกาศไปติด พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ที่จะไปก่อสร้างโรงงานเขาก็คัดค้าน ๕๐๐-๖๐๐ คน คัดค้านไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด เทศบาลตำบลไฮหย่อง ทำหนังสือคัดค้าน แล้วก็พอออก ใบอนุญาตมาเสร็จก็ทำหนังสือทบทวน แต่อุตสาหกรรมจังหวัดยังยืนกรานนะครับ ยืนกราน ที่จะให้เปิดโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในแหล่งชุมชน แล้วก็อยู่ต้นน้ำของการผลิตน้ำประปา ในระดับตำบล ผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปจังหวัดสกลนคร พี่น้องประชาชน ร่วมพันคนเขาจะไปยื่นข้อร้องเรียนเรื่องนี้ แล้วผมมั่นใจด้วยครับว่าท่านนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อเศรษฐา ท่านเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ท่านรับไม่ได้หรอกครับ แล้วเรื่อง ไม่เป็นเรื่องมันก็จะเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นผมถึงอยากจะฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรมซึ่งท่านไม่ทราบหรอกครับ ผมเองก็สนิทคุ้นเคยนะครับ เป็นน้องสาว ก็ขอ อนุญาตนะครับ พูดน้องสาวคงได้ เพราะว่าผมถ้าพูดเรื่องน้องสาว น้องชายเมื่อไรมาเกิดเรื่อง ทุกที แต่ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าใจ ส่วนราชการอุตสาหกรรม จังหวัดสกลนคร ท่านทำโดยมิชอบในการออกใบอนุญาต ฝากรัฐมนตรีผ่านท่านประธานช่วย ไปดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ด่วนด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และครู โรงเรียนราชวินิต เขตดุสิต ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปขอเชิญท่านสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ครับ

นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี

นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ

มีคำถามจากพี่น้องประชาชนว่า ทำไมไม่พัฒนาสนามบินปัตตานี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จังหวัดปัตตานีจะมีสนามบินและ การบินใหม่อีกจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ท่านประธานครับ พิธีสารบันทึกความเข้าใจ ระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ว่าด้วยการขยาย เส้นทางบิน IMT-GT ไทยเสียโอกาสค่อนข้างมากก็คือสนามบินปัตตานี อยากมาจังหวัด ปัตตานีโดยไม่ต้องต่อรถ แต่สนามบินที่จะลงไม่มี ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีพี่น้องไปทำงานและเรียน หนังสือในประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย จำนวนมากที่สุดของไทย อีกทั้งจังหวัด ปัตตานีเป็นทางผ่านจุดศูนย์กลางระหว่างจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานีมีประวัติศาสตร์อัตลักษณ์เป็นที่รู้จักในประเทศกลุ่มมลายูและตะวันออกกลาง เพราะสิ่งที่ทำให้ปัตตานีมีชื่อเสียงก็คือนักปราชญ์ หรือที่เรียกว่า อุลามา ประเทศอินโดนีเซีย ประชากร ๒๕๐ ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ ๙๘ เปอร์เซ็นต์ และเป็นสายของ เชคดาวูดซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวปัตตานี ผมขอเป็นตัวแทนขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคมได้โปรดพัฒนาสนามบินปัตตานีใหม่หรือสร้างแห่งใหม่ ซึ่งที่ดิน ที่ทราบก็คือมีอยู่ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ท่านประธานครับ การคมนาคมของ ชายแดนใต้เป็นคมนาคมที่หลายรัฐบาลมองเห็นเป็นที่สุดท้ายโดยตลอดหรือปล่อยละเลย ผมมีความหวังในรัฐบาลของประชาชน ลองไปวิจัย พัฒนา อาจจะนำไปสู่การสร้างสันติสุข แล้วก็พัฒนาที่ยั่งยืน ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านปรีดา บุญเพลิง ครับ

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายปรีดา บุญเพลิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน การศึกษานำการเมือง ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากพี่น้องประชาชนมากมาย เพราะฉะนั้นขอนำเข้าสู่เรื่องก็คือขอหารือท่านประธานผ่าน ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นะครับ

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ในเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเสนอว่าขณะนี้ผมได้รับหนังสือ ร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่านางแนว คือนายอัคคนิ รูปสูง และกำนัน ตำบลท่านางแนว นายอธิพงษ์ บุญเพลิง เกี่ยวกับเรื่องประตูระบายน้ำที่ได้ตกแบบสำรวจ มายาวนานเป็นเวลา ๑๐ ปี ไม่ได้รับการดูแล เพราะฉะนั้นก็อยากจะเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ เพื่อให้งานได้สำเร็จ ภัยแล้งกำลังจะมา เพราะฉะนั้นอยากจะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาแก้ปัญหาด้านนี้ โดยเร็วที่สุด

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็คือได้รับร้องเรียนจากนายชนินทร์ เกิดศักดิ์ ณ แวงน้อย ในเรื่อง ของที่ดินทำกิน ที่ดินว่างเปล่า ที่ดินที่สาธารณะ ซึ่งมีการครอบครองที่ดินไม่เคยไปสำรวจ ที่อำเภอแวงน้อยเลย ก็อยากจะเรียนให้ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดได้ใส่ใจในเรื่องนี้

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ก็คือเรื่องสนามกีฬาที่ได้รับอนุมัติงบประมาณเมื่อปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ณ บัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการก่อสร้างสนามกีฬาของอำเภอแวงน้อยที่โรงเรียน ท่านางแนววิทยายน

นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๔ ก็คือเรื่องไฟฟ้า ขยายเขตไฟฟ้าจากบ้านหนองบัวเริง หมู่ที่ ๓ ไปยัง บ้านหนองหญ้าขาว หมู่ที่ ๖ ตำบลท่านางแนว ก็ขอให้ทางไฟฟ้าไปดูแลด้วยนะครับ ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน แล้วก็อยากจะให้งานสำเร็จโดยเร็ว ก็ขอฝากหน่วยงาน ที่รับผิดชอบไปดำเนินการด้วยครับ ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัชนก สุขประเสริฐ ครับ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ จังหวัด สมุทรปราการ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือกับท่านประธาน ๑ เรื่อง คือเรื่องของ ถนนทางหลวงหมายเลข ๓ หรือที่เราเรียกกันว่าถนนสุขุมวิทค่ะ

นางสาวรัชนก สุขประเสริฐ สมุทรปราการ ต้นฉบับ

สืบเนื่องจากที่ดิฉันได้เคย หารือในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้มาไม่ต่ำกว่า ๒ ครั้งแล้วค่ะท่านประธาน พร้อมได้ยื่นกระทู้ ถามเรื่องนี้ไป เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ แต่ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขค่ะ และนี่คือสภาพถนนสุขุมวิทในอดีตคือมันสวยงามมากเลยค่ะ แต่ปัจจุบันถนนเส้นนี้เขามี พัฒนาการท่านประธานคือมันแย่ขึ้นค่ะ ดูจากภาพประกอบ สภาพของถนนเช่นนี้ ดิฉันถาม หน่อยค่ะว่าความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่ตรงไหน ความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้อง ทุกวันนี้ฝากไว้กับถนนเส้นนี้นะคะ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนออกจากบ้านไปจะเกิดอะไรขึ้นกับ ชีวิตตัวเองเพราะว่าตัวเองต้องใช้ถนนเส้นนี้ และนี่ไม่ใช่จุดเดียวนะคะ คือถนนเส้นนี้มีจุดที่ เป็นสภาพแบบนี้อีกเยอะมากเลยค่ะ อุบัติเหตุเกิดขึ้นรายวัน และนี้เลยค่ะ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๗ เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ซอยฟาร์มไก่เทศบาลบางปู ๘๗ รถดับเพลิงและ เจ้าหน้าที่เมื่อได้รับแจ้งเหตุเขาก็รีบออกไปปฏิบัติหน้าที่ของเขา แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ รถพลิกคว่ำไม่ใช่คันเดียวนะคะ แต่ถึง ๒ คัน สาเหตุของการที่รถพลิกคว่ำในครั้งนี้ส่วนหนึ่ง ดิฉันมั่นใจมาจากสภาพถนนที่ย่ำแย่แน่นอน ดิฉันขอใช้พื้นที่ตรงนี้กล่าวขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ดับเพลิงของทางเทศบาลบางปูที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ นี่ไม่ใช่เรื่องตลก แล้วไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอนค่ะ แต่นี่มันบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เขาต้องนำไป ฝากไว้กับถนนเส้นนี้ ไปลุ้นกันเอาไปเสี่ยงโชคกันเอาว่าวันนี้ใครจะ Jackpot ดวงซวย มันใช่หรือคะท่านประธาน ถ้าบริเวณถนนเส้นนี้มีบ้านรัฐมนตรีอยู่หรือมีบ้านคนใหญ่คนโตอยู่ สภาพจะเป็นแบบนี้ไหมคะ ดิฉันอยากฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐมนตรีถ้าสะดวกดิฉันเรียนเชิญค่ะ ลองไปถนนเส้นนี้กับดิฉันดู เพราะถนนเส้นนี้มันกำลังเซาะกร่อนบ่อนทำลายคุณภาพชีวิตของ ประชาชน พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรปราการค่ะ ดิฉันขอใช้เวลาเกินนิดหนึ่งค่ะ ท่านประธาน ขอฝากคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านกำลังใช้สิทธิเกินส่วนอยู่ไหมคะ ท่านได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้รถใช้ถนนเส้นนี้หรือไม่คะ หรือท่านต้อง รอให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก ท่านถึงจะแก้ไขปัญหานี้ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ครับ

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในวันนี้ท่านประธานครับมีพี่น้องประชาชนและครอบครัวของ ทหารเกณฑ์และทหารกองหนุนได้ฝากขอบคุณ

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยท่าน พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มีนโยบายเปิดรับ ทหารกองหนุน สอบเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ จำนวน ๕๐๐ อัตรา มาบรรจุที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาประเทศ สอดคล้องกับภารกิจของทหาร มีความคุ้นเคยกับระบบการฝึกการใช้อาวุธต่าง ๆ อยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีเป็นอย่างยิ่ง การรับทหารกองหนุนเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจนั้น ก็สามารถลดเวลาการฝึกอบรมให้น้อยลงได้ เพราะว่าเขาได้ฝึกอบรมมานานแล้ว แล้วก็ มีระเบียบวินัย โดยทหารกองหนุนจะต้องมีคุณสมบัติต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จบ ปวช. อายุ ๑๘-๒๗ ปี และมีหน่วยงานต้นสังกัดรับรองความประพฤติ ลดเวลาการฝึกจาก ๑๘ เดือน เหลือเพียง ๖ เดือนเท่านั้นเอง เพราะว่าได้ฝึกอาวุธมาแล้ว ทำให้ลดการขาดแคลนตำรวจ จากสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี แล้วนอกจากนั้นยังประหยัดงบประมาณ และสนับสนุน นโยบายของรัฐในเรื่องของการลดการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นเรื่องของการสมัครใจในการที่จะมี ความเจริญก้าวหน้า แล้วก็ขอให้ทุกเหล่าทัพได้ส่งเสริมให้ทหารเกณฑ์นั้นมีโอกาสได้เรียน เพิ่มเติมจะเป็นภายในหรือภายนอกก็แล้วแต่ เพื่อนำมาปรับวุฒิการศึกษา และทั้งนี้ผมเห็นว่า การเพิ่มโอกาสให้ทหารเกณฑ์ที่แข่งกันเองภายใน ๕๐๐ ตำแหน่งนั้นไม่เพียงพอ ควรจะเพิ่ม อีกสัก ๒,๐๐๐ ตำแหน่ง ก็ขอฝากท่าน ผบ.ตร. ไว้ด้วย และในการเพิ่มจำนวนนี้จะทำให้ ตำรวจ ตชด. ที่ต้องการประสงค์จะย้ายออกจากหน่วยไปอยู่ภูธรหรือนครบาลได้มีโอกาส มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ย้ายออกยากมาก ก็ขอขอบคุณท่าน ผบ.ตร. ท่านพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุวิมล เป็นอย่างยิ่งที่มีนโยบายเป็นต้นแบบในเรื่องนี้ และในปัจจุบันนี้มีการเปิดรับ สมัครบรรจุเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยบังคับการและบริการที่ ๒ ซึ่งอยู่ในภาคใต้ ในส่วนนี้ควรจะเปิดรับจากทหารเกณฑ์ ทั้งหมด และนอกจากนี้ยังอยากขอให้ทหารเกณฑ์ที่จบปริญญาตรีได้มีโอกาสได้สอบเป็น ตำรวจและทหารชั้นสัญญาบัตรด้วย แล้วก็ขอฝากไปยังท่านนายกรัฐมนตรีว่าให้มีนโยบาย หรือกำชับไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และทุกหน่วยงานที่รับสมัคร ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างได้คำนึงถึงความสำคัญของทหารเกณฑ์และทหารกองหนุน ขอบคุณมากครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนชั้น ม. ๔ และอาจารย์โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยินดีต้อนรับครับ ต่อไปขอเชิญท่านอลงกต มณีกาศ ครับ

นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผมนายแพทย์อลงกต มณีกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากสมาคมกีฬาจังหวัด นครพนม ซึ่งสมาคมกีฬาจังหวัดนครพนมเองมีชมรมกีฬาอยู่ทั้งหมด ๓๐ ประเภทกีฬาที่ต้อง คอยดูแล ที่เขาร้องทุกข์มาเกี่ยวกับเรื่องของเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนของสมาคมกีฬาจะได้รับ จาก กกท. ปกติแล้วปี ๆ หนึ่งของจังหวัดนครพนมเองจะได้เงินอุดหนุนจาก กกท. ยังสมาคม กีฬาจังหวัดนครพนมประมาณ ๑ ล้านบาทโดยเฉลี่ยทุกปีครับ แต่ว่าปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาได้รับ เพียงแค่ ๕๐๐,๐๐๐ บาท และ ๕๐๐,๐๐๐ บาทนี้มาช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าปีงบประมาณ ส่วนปี ๒๕๖๗ ผ่านมาแล้ว ๕ เดือน ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า กกท. จะจัดสรรให้สมาคมกีฬาจังหวัดนครพนมเท่าไร ๕ เดือนที่ผ่านมากรรมการบริหาร สมาคมกีฬาจังหวัดนครพนมได้สำรองเงินส่วนตัวด้วยซ้ำในการจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ ของสมาคมกีฬา ซึ่งผมได้สอบถามเพื่อน ๆ หลายจังหวัดก็เหมือน ๆ กัน ว่าเงินก็ยังไม่มา เช่นกัน ขณะเดียวกันเงินก็น้อยลงทุกสมาคมกีฬาจังหวัดเช่นกัน ก็อยากกราบเรียน ท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว และกีฬา และผ่านไปยังท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกำกับในส่วนของกองทุนพัฒนา กีฬาแห่งชาติว่าคงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติผ่านการกีฬา โดยถือคำว่า กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ เราอยากเห็นเยาวชนบ้านเราห่างไกลจากยาเสพติดด้วยเรื่องของ กีฬา เราอยากเห็นเยาวชนบ้านเราห่างไกลจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเหล้าเบียร์จาก การกีฬาครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายก่อนเราเข้าระเบียบวาระนะครับ ขอเชิญ ท่านณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่องนะครับ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก เรื่องเงินอัดฉีด นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมาครับ เนื่องจากว่ามีความล่าช้า เพราะผมเข้าใจได้ว่ามีความวุ่นวายในนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติ อินโดนีเซีย เนื่องจากว่าตอนนี้เราได้มีบทลงโทษจากทาง AFC แล้วก็ทางสมาคมฟุตบอล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็อยากจะฝากท่านประธานครับตอนนี้ก็อีก ๓ เดือนก็จะครบ ๑ ปีแล้ว ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ น้อง ๆ ก็ฝากมาว่ารอนาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจครับ เพราะว่านี่คือเงินที่น้อง ๆ เขาควรจะได้รับ ผมเข้าใจครับ ถ้าเหตุการณ์ไม่เกิดแบบนี้ก็จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ แต่เรื่องนี้ไม่ปกติ ทางหน่วยงานจึงต้องมีการพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ผมก็อยากฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ให้ช่วยเร่งอนุมัติเงินอัดฉีดตามระเบียบ หลักเกณฑ์และตามสิทธิที่นักกีฬาพึงจะได้รับ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ ก็ยังวนเวียนอยู่ในวงการฟุตบอล วันนี้ผมขอพูดถึงฟุตบอลไทยลีก ๓ หรือที่เราเรียกกันว่าฟุตบอลลีกภูมิภาค แบ่งเป็นทั้งหมด ๗๒ สโมสรตามภูมิภาค ตามแผนที่ ของประเทศไทย ถือเป็น ๑ รากฐานที่สำคัญของวงการฟุตบอลไทย แต่ถึงกระนั้นไทยลีก ๓ ของเรากลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือจากสมาคมฟุตบอลได้ดีเท่าที่ควร ผมจึงอยากจะฝากท่านประธานว่าสโมสรระดับรากหญ้า สโมสรระดับ T3 เขาต้องวางแผน จากหน่วยงานของภาครัฐ ถ้าได้รับเงินสนับสนุนเพียงพอก็สามารถที่จะส่งเสริมให้เขาได้ เราอย่าปล่อยให้เขาเติบโตไปตามยถากรรม แต่คาดหวังการพัฒนาจากเขา มันจะเป็นไปได้ อย่างไรครับท่านประธาน ถ้าเราไม่สนับสนุนเขา สุดท้ายแล้วท่านประธานครับ วันนี้ผมทราบ ว่าจะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนใหม่ ผมก็หวังว่าเราจะได้ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยท่านใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ รักฟุตบอล เข้าใจฟุตบอล และเข้าใจสโมสรฟุตบอล และสามารถที่จะช่วยทีมชาติไทยให้ไปตามที่แฟนบอลทุกคน คาดหวัง ขอบคุณท่านประธานครับ

นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวศ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๖๔ คน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สมาชิกทั้ง ๓๗ ท่านก็ได้หารือก่อนเข้าระเบียบวาระแล้ว วันนี้เราทำเวลาได้ ยอดเยี่ยมนะครับ ขอบคุณทุกท่านมาก ๆ ครับ เรียนท่านสมาชิกครับขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อ ประชุมแล้ว ๒๘๘ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุม ตามระเบียบวาระครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระของกระทู้ถาม ผมมีเรื่องแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้า ของการพัฒนา Smart Parliament ขอเชิญสไลด์ขึ้นเลยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

สไลด์ ต่อไป ก็จะมี ๓ เรื่องนะครับ ก็เป็นประเด็นที่ทางวิปฝ่ายค้าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล อยากได้ ความชัดเจนเรื่องของการจัดการห้องหลังบัลลังก์ เรื่องการติดตามข้อปรึกษาหารือของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็การนำระบบ Traffy Fondue เอามาใช้ในรัฐสภาของเรา เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของระเบียบในการใช้ห้องหลังบัลลังก์ ก็แจ้งให้ทราบว่า ฝ่ายประชุมเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการจัดการห้องหลังบัลลังก์ ซึ่งห้องหลังบัลลังก์นี้ชื่อห้อง ที่เป็นทางการ ที่เป็นป้ายถาวรเรียกว่า ห้องผู้ชี้แจง ส่วนป้ายชั่วคราว มีการเขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นห้องวิปรัฐบาล ห้องรับรองผู้ชี้แจง และห้องวิปฝ่ายค้าน ผมเข้าใจว่าตอนนี้มีการไปใช้ด้วย จุดประสงค์อื่น ๆ อยู่ และทำให้ ๓ จุดประสงค์นี้ ไม่ได้รับการใช้งาน และผู้ชี้แจงหลายท่าน สถานที่ไม่พอในการรับรองในการมาชี้แจง ตอนนี้ทางเลขาธิการได้ร่างระเบียบการใช้ห้อง หลังบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว แล้วก็จะส่งเสนอต่อท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็จะแจ้ง ให้กับทางสมาชิกทุกท่านทราบ โดยเฉพาะทางวิปของทั้งฝ่ายรัฐบาล แล้วก็ฝ่ายค้าน เพื่อเรา จะได้ยุติ แล้วก็มีระเบียบที่ชัดเจนในการใช้ห้องหลังบัลลังก์ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องต่อมา เรื่อง ข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตอนนี้ทาง สำนักประธาน โดยท่าน ผอ. นาถะ แล้วก็ทีมงาน แล้วก็กลุ่มประสานงานเรื่องราวร้องทุกข์ แล้วก็ประสานงานการเมือง รวมถึงฝ่ายสารสนเทศได้พัฒนาระบบ ในการติดตาม ข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบบนี้สามารถใช้ได้ทั้งตัว สส. เอง ซึ่งถ้า Login เข้าไป ท่านจะเข้าสู่หน้าเฉพาะตัวของท่านเลยว่าข้อหารือของท่านนั้น ถูกรวบรวมไว้แล้วก็มีการติดตามอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป ก็สามารถเข้าใช้ได้ เช่นกันโดยเข้าไปที่ช่องค้นหาทางด้านขวา เมื่อเราเข้าไปดู เราจะเห็นชัดเจนเลยว่าเราส่ง หนังสือออกจากสภาในวันที่เท่าไร แล้วหน่วยงานได้รับวันที่เท่าไร มีหนังสือตอบกลับ มีกี่หน่วยงานแล้วบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา แล้วอยากจะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่พัฒนา ด้วยนะครับ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอนะครับ ถ้าท่านอยากให้ข้อปรึกษาหารือของท่าน เร็วขึ้นมีประสิทธิภาพขึ้น ท่านต้องระบุชนิดของปัญหาและหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนนะครับ เพราะบางที เจ้าหน้าที่ต้องไปนั่งคิดเองว่าท่านหารือไปถึงหน่วยงานไหน เพราะท่านใช้เพียงคำกว้าง ๆ ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นอาจจะไปไม่ถึงตามที่ท่านต้องประสงค์ได้ อันนี้สุดทาง ของเราแล้วครับ ก็คือข้อปรึกษาหารือของเราถูกส่งไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ส่วนการตอบ กลับนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งผมก็จะติดตามไม่ให้มีการล่าช้าจนเกินไป แล้วอย่างน้อยก็ต้องมีการชี้แจงถึงการทำได้ ทำไม่ได้กลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรื่องต่อมา เนื่องจากอาคารสถานที่ของเรามีความใหญ่โตมาก แล้วเราเจอ ปัญหาหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห้องน้ำ เรื่องของห้องประชุม เรื่องของห้อง สส. ตอนนี้ เราก็เลยได้รับการพัฒนาจาก NECTEC ให้เอาระบบ Traffy Fondue ซึ่งจริง ๆ แล้วใช้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการ จะมาใช้ในอาคารรัฐสภาเป็นที่แรก ในประเทศนะครับ เพราะฉะนั้นจะมี QR Code ประจำจุดต่าง ๆ ท่านก็สามารถที่จะ Scan เข้าไปใน QR Code เราเพิ่งจะ Kick Off ทดลองใช้ระบบนี้ แล้วก็จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้นถ้าท่านพบเจอปัญหาความไม่สะดวกในการใช้งาน อาคารรัฐสภาจุดไหน เพียงแค่ท่าน Scan QR Code ปัญหาของท่านจะถูกส่งต่อเข้าไปที่ ระบบหลังบ้าน แล้วก็มีการดำเนินการแก้ไขแล้วเก็บให้เป็นระบบที่เรียบร้อยสมบูรณ์นะครับ อันนี้ก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไป เป็นระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถามนะครับ เดี๋ยวขออนุญาตสลับประธานสักครู่นะครับ ผมจะ ไปดำเนินการประชุมในห้องกระทู้แยกเฉพาะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ก็เข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถาม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑.๑ กระทู้ถามสดด้วยวาจา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. กระทู้ถาม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ เชิญท่านศุภณัฐ มีนชัยนันท์ครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๙ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอถามกระทู้ถามสด ด้วยวาจาถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ มาตอบนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๑ เกี่ยวกับเลขสายรถเมล์ครับท่านประธาน รถเมล์สำหรับผมคือขนส่ง มวลชนสาธารณะที่สำคัญ เพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด และทำให้คน เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้มากที่สุดครับ แต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้ให้ ความสำคัญกับรถเมล์มากพอ จนเกิดปัญหาจำนวนมาก และที่สำคัญหลังจากมีการปฏิรูป รถเมล์แล้วปัญหาที่บ่นกันมากที่สุดอันดับ ๑ ณ เวลานี้ คือปัญหาเลขสายรถเมล์ครับ ท่านประธาน เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องกลับถูกให้มาเป็นเรื่องได้ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก มีการไปปรับเลขสายรถเมล์ออกมาเป็นเลขสายรถเมล์แบบใหม่ครับ เขาเรียกกันว่าแบบ X-XX หรือว่ามีขีดกลางครับ เช่น สาย ๔-๒๘๓ ๓-๒๖ E ๒-๒๑ E ซึ่งที่มาของรูปแบบ X-XX นี้คือรัฐคิดขึ้นมาเองครับ โดยการแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็น ๔ Zone ครับ เลขหน้าคือเลข Zone Zone ที่ ๑ ทิศเหนือก็ใช้ ๑-XX Zone ที่ ๒ ทิศตะวันตก ใช้ ๒-XX Zone ที่ ๓ ทิศตะวันออก ๓-XX และ Zone ที่ ๔ ทิศใต้ ใช้ ๔-XX ฟังปกติก็ดูเหมือนว่าจะมี Logic นะครับท่านประธาน แต่เดี๋ยวดูเส้นทางนะครับ บางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง สายเก่าคือ สาย ๒๙ สายใหม่คือ ๑-๑ ครับ Zone ที่ ๑ ทิศเหนือ ผมถามว่าหัวลำโพงอยู่ทิศเหนือหรือครับ มีนบุรี-จตุจักร สายเก่า ๒๖ สายใหม่ ๑-๓๖ Zone ที่ ๑ เลขทิศเหนือ ผมถามว่าทิศเหนือ ผมถามว่ามีนบุรีอยู่ทิศเหนือตั้งแต่เมื่อไรครับ แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ สาย ๘ เรารู้จักกันดีครับ ๒-๓๘ Zone ๒ ทิศตะวันตก แฮปปี้แลนด์อยู่ทิศตะวันตกหรือครับท่านประธาน หมอชิต-ท่าเรือราชวงศ์ สาย ๒๐๔ เปลี่ยนไปเป็นสาย ๒-๕๒ โซนทิศตะวันตกครับ เหมือนเดิมครับ หมอชิตไปอยู่ทิศตะวันตก บางขุนเทียน-แฮปปี้แลนด์ (ทางด่วน) สาย ๑๗๓ กลายร่างไปเป็นสาย ๔-๒๗ E ครับ E คือมาจาก Express ครับ มาจากขึ้นทางด่วน ใช้ Zone ๔ ทิศใต้ครับ ผมถามว่า แฮปปี้แลนด์ไปอยู่ทิศใต้แล้วหรือครับท่านประธาน เมื่อสักครู่ยังให้ไปอยู่ทิศตะวันตกอยู่เลย ผมอยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ Idea นี้ ความจริงคือรถเมล์ต้องบอกว่าเขาไม่ได้วิ่งกันแค่อยู่ใน Zone ของตัวเองนะครับท่านประธาน แต่เขาวิ่งกันข้าม Zone แต่ละสายเขาวิ่งกันที ๒๐-๕๐ กิโลเมตร แล้วที่ผมงงก็คือคนกรุงเทพมหานครเราไม่ได้แบ่ง Zone กันแบบนี้ ท่านประธาน กรุงเทพฯ-เหนือ กรุงเทพฯ-ใต้ กรุงเทพฯ-ตะวันออก กรุงเทพฯ-ฝั่งธนบุรี เราไม่ได้แบ่งกันที่แบบที่กรมขนส่งทางบกแบ่ง เขตมีนบุรีอยู่ทิศตะวันออกครับ ไม่ใช่อยู่ ทิศเหนือ เขตลาดกระบังอยู่ทิศตะวันออก ไม่ใช่อยู่ทิศตะวันตก Zone ๒ อย่างที่พวกท่าน แบ่งกัน ที่สำคัญครับ เลขสายใหม่นี้คนส่วนใหญ่เขาจำกันไม่ได้ครับ ผู้สูงอายุบ่นกันเยอะ เขางงครับ แล้วเขาไม่กล้าขึ้นรถเมล์ ผ่านแล้วผ่านอีกเขาก็ไม่กล้าขึ้นเพราะเขางง ไม่ใช่สายที่ เขาใช้อยู่เป็นประจำ และ Highlight อยู่ตรงนี้ครับท่านประธาน กรมขนส่งทางบกเคยทำ ประชาพิจารณ์แล้วเลขสายใหม่แต่ไม่ผ่านนะครับ ผมย้ำว่าไม่ผ่าน ประชาชนเขาไม่เอา แต่กรมขนส่งทางบกดื้อ ไม่ฟัง จะเปลี่ยนโดยที่ไม่สนใจเสียงของประชาชน เข้า Concept คนคิดไม่ได้นั่งคนนั่งไม่ได้คิด เมื่อเดือนที่แล้วผมทำ Poll ใน Twitter ครับ คนตอบ ๑๐,๐๐๐ คน ๙๑ คน บอกว่าไม่เห็นด้วยกับสายใหม่ครับ และปัจจุบัน ขสมก. กับไทยสมายล์เขา Boycott เขาทนกับกรมการขนส่งทางบกไม่ไหวครับ เขาเอาเลขเก่าขึ้นเลยครับท่านประธาน ขึ้นชนกับ เลขใหม่เลย เช่น ๕๙ คือเลขเดิม แล้วก็ให้วงเล็ก ๆ ครับ ๑-๘ เลขใหม่ครับ เพราะเลขใหม่ ของกรมขนส่งทางบกประชาชนเขางง เขาไม่ขึ้นครับ ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วครับท่านประธาน มีข่าวใหม่ หลังจากที่กระทู้ผมโดนเท วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ วันที่ ๒ ออกข่าวเลยครับ ไม่ใช่ ออกข่าวว่าผมโดนเทกระทู้นะครับ ออกข่าวว่าท่านรัฐมนตรีแก้ปัญหาสายรถเมล์แล้วครับ พาดหัวข่าวเลยครับ ไม่เลิก สุริยะเคาะเดินหน้าเปลี่ยนใส่รถเมล์ใหม่ ให้ตัดขีดกลางออก พร้อมใส่วงเล็บเลขสายเดิม คือพูดง่าย ๆ ตัดขีดกลางออก X-XX กลายเป็น XX/ เช่น ๑-๘ กลายไปเป็น ๑๘ แล้วเลข ๕๙ ที่เป็นสายเดิมของเขาก็ไปใส่เป็นวงเล็บครับ นี่คือผมเรียกกัน ว่า Version ท่านสุริยะครับ แต่ปัญหาคือมันจะไปซ้ำกับของเก่า ๑๘ ใหม่ที่มาจาก ๑-๘ ของท่านจะไปซ้ำกับ ๑๘ เดิมที่ประชาชนเขาใช้กันอยู่ที่ตลาดท่าอิฐไปอนุสาวรีย์เขาใช้กันมา ๓๐ ปี มันยิ่งงงกว่าเดิมครับ ต้องบอกว่าการแก้ปัญหาแบบนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหาร ในกระทรวงคมนาคมไม่เคยนั่งรถเมล์ครับท่านประธาน แล้วที่แย่กว่านั้นก็คือท่านไม่เคยไป คลุกคลี ไม่เคยไปสอบถามประชาชนเลย ผมเรียกว่าเลขสายของท่าน Version ท่านสุริยะ ที่กำลังออกมาตอนนี้ อันนี้หนักที่สุดแล้วครับ ยิ่งแก้ยิ่งสับสน แล้วผมย้ำว่าไม่มีประโยชน์ครับ เพราะว่าเลขสายของ Zone รถเมล์มันใช้จริงไม่ได้ เพราะรถเมล์เขาวิ่งกันข้ามโซนครับ ท่านประธานครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เพราะฉะนั้นเข้าสู่คำถามที่ ๑ ผมถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม ท่านสุรพงษ์นะครับ ง่าย ๆ ในฐานะคนกำกับกรมขนส่งทางบกโดยตรง ท่านทราบหรือไม่ว่า เลขสายใหม่ทั้งแบบ X-XX ที่กรมคิดขึ้นมา แล้วแบบ XXX ที่ออกแบบโดยท่านสุริยะ ประชาชนเขาไม่เอา และมันไม่ตอบโจทย์ และถ้าเกิดท่านทราบท่านจะยกเลิก แบบใหม่ และแบบ Version ท่านสุริยะแล้วกลับไปใช้แบบดั้งเดิมหรือไม่ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรี คำถามที่ ๑ ครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรียน ประธานสภาที่เคารพและท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ กระผม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลกรมขนส่งทางบก ในฐานะที่เป็น Regulator คนคุมกฎนะครับ เรื่อง ขสมก. ประวัติค่อนข้างจะยาวนะครับ จะขออนุญาต ท่านประธานสภา เอาสไลด์ขึ้นนิดหน่อยเล่าอดีตให้ฟังว่าเป็นมาอย่างไร

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ก็คือ เริ่มจากเมื่อปี ๒๕๕๘ ได้มีการศึกษาสภาพปัญหาของ ขสมก. ซึ่งมีการให้บริการ แล้วก็มี การขาดทุนสะสม แล้วก็การบริการเสื่อมถอย ก็ได้มีการตั้งการศึกษาดำเนินการก่อนปฏิรูป ขึ้นมาโดยใช้หน่วยงานของ สจร. เป็นผู้ศึกษา โดยนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ คนร. ผลการศึกษาออกมา ปี ๒๕๕๙ มีมติให้ยกเลิกมติ ครม. ที่ให้ ขสมก. เป็น Monopoly เป็นเจ้าเดียวที่มีสิทธิในการเดินรถ ปี ๒๕๖๐ มติ ครม. รับทราบแผนปฏิรูปครับ Pain Point ในหลักการก็คือที่บอกเมื่อสักครู่นี้นะครับ การไม่คล่องตัวของ ขสมก. ซึ่งมา สู่ผลของการปฏิรูปนะครับ ผลของการปฏิรูปก็ได้มีการกำหนดเส้นทางขึ้นมาใหม่ จากเดิม โดยเงื่อนไขก่อนนะครับ ก็ให้ ขสมก. กับรถร่วมเลือกเส้นทางวิ่งก่อน ที่เหลือก็ให้รายใหม่ เข้ามาดำเนินการ รายละเอียดปรากฏตามสไลด์ที่ฉายนะครับ อันนี้คือเป็น Chart ของวิธีการ ดำเนินการที่ผ่านมา คือต้องเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับ คืออันนี้เป็น สิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปัจจุบัน ปี ๒๕๖๖ ก็จะเห็นอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันก็ คือวันนี้ ขสมก. ไม่ได้เป็น Monopoly แล้ว แล้วก็มีรถร่วมที่เป็นเอกชนเข้ามาร่วม แล้วก็ที่ เราเห็นก็คือเป็นรถ EV เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันคำถามที่ท่านสมาชิกถามว่า เส้นทาง การเดินรถ อันนี้เป็นเส้นทางทั้งหมด เส้นทางเดิม ๒๐๒ เส้นทาง โครงข่ายเส้นทางใหม่ ๒๖๙ เส้นทาง เปลี่ยนไปจากเดิมก็ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะเนื่องจากการขยายตัวของเมือง แล้วก็รูปแบบต่าง ๆ ที่ตามผลการศึกษานะครับ ที่มาของเลขเส้นทางที่มีขีด จากที่ผม ได้สอบถามและผลการศึกษานี้ การแบ่งเป็น Zone สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง ก็ ๑ ๒ ๓ ๔ คณะศึกษาได้ให้เหตุผลนะครับว่า แต่ละ Zone หมายเลข ๑ สีน้ำเงิน ถ้าวิ่งไปไหนสุดท้าย ขากลับจะกลับมาอยู่ที่สีน้ำเงิน ก็คือกลัวพี่น้องประชาชนที่โดยสารหลงทาง แล้วอย่างไรก็ให้ จำว่าเลข ๑ คือสีน้ำเงิน Zone นี้จะต้องกลับมาบริเวณนี้ เลข ๒ ก็กลับมาสีเขียวเหมือนเดิม เลข ๓ ก็กลับมาสีแดงเหมือนเดิม เลข ๔ ก็กลับมาเหมือนเดิม อันนี้ที่มาของเลขหลักของ เส้นทางวิธีคิดของคณะที่ศึกษา และที่ให้ขนส่งนำมาปฏิบัติก็คือหลักการคิดเป็นแบบนี้นะ ครับ ส่วนความไม่เข้าใจ ปัจจุบันนี้ต่อ ๑ วันผู้ใช้บริการรถเมล์ ของ ขสมก. ก็ประมาณ ๑ ล้านคนต่อวัน นี่คิดตัวเลขของปี ๒๕๖๖ ก็แบ่งตามจำนวนรายละเอียดตามเส้นทางของ ผู้ประกอบการ รายละเอียดตามที่ปรากฏอยู่ในสไลด์ครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ส่วนคำถามของท่านสมาชิกเรื่องของความงงหรือความไม่เข้าใจของพี่น้อง ประชาชนในตัวเลขรหัสในการเดินรถ อันนี้ทางรัฐบาลเองเราก็เข้ามาทีหลัง แต่ก็พยายามจะศึกษา และหาแนวทางแก้ไข ซึ่งวันนี้ถ้าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ออกมาต้องการรูปแบบเป็นอย่างไร เดี๋ยวคงมีคณะกรรมการขนส่งกลาง จริง ๆ ผมได้มอบหมายไปได้ประมาณ ๑-๒ อาทิตย์แล้ว ว่าลองไปดูความเป็นมาเป็นไป ตามสไลด์ที่เห็นว่าที่มาที่ไปของการเริ่มต้น หลักการและวิธีคิด แล้วผลสะท้อนจากที่พี่น้องประชาชนได้สะท้อนกลับมา วันนี้ก็ได้นำมาตอบสมาชิกจนมาหยุด อยู่ตรงที่ว่าจะเปลี่ยนไหม วันนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนกลับไปกลับมาจะเป็นผลดี หรือเปล่า หรือแบบเดิมแล้วพยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน PR ประชาสัมพันธ์ ให้เข้าใจในหลักการ ผมเรียนว่าหลักในการคิดในการแบ่ง Zone ๑ Zone ๒ Zone ๓ Zone ๔ เป็นสี ก็คือให้ความมั่นใจว่าวิ่งไปนอกเส้นทางขนาดไหนสุดท้ายก็กลับมาที่เดิม ในกรณีที่วิ่งนอกเส้นทาง อันนี้เป็นหลักการคิดของคณะศึกษา พอออกสู่ภาคปฏิบัติจริง ผมก็ ยังไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาการ PR ประชาสัมพันธ์ของ Operator ของผู้ประกอบการเพียงพอ หรือเปล่าที่จะให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ อันนี้ก็ต้องรับปัญหาจากท่านสมาชิกเอาไปศึกษาอีก สักพักหนึ่งว่าวิธีการที่เหมาะสมจะเดินต่อหรือจะเปลี่ยน ถ้าเราขาดเรื่อง PR ประชาสัมพันธ์ ให้เข้าใจเราก็จะเดินหน้าต่อ แล้วก็เติมเต็มตรงนั้นเข้าไปให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ แล้วจะมีการออกแบบสอบถาม มี Questionnaire ไปว่าเข้าใจหรือยัง แล้วก็คงมีทีมลงไป ศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าไม่เกิน ๙๐ วัน คงได้คำตอบที่ชัดเจนว่าวันนี้เรา PR ประชาสัมพันธ์พอหรือยัง ความที่พี่น้องประชาชนไม่เข้าใจมีกี่เปอร์เซ็นต์ และเราจะสามารถ ทำให้เข้าใจได้โดยวิธีการเปลี่ยนหรือวิธีการทำความเข้าใจ ก็เรียนท่านประธานสภาผ่านไปยัง ท่านสมาชิกที่ถามคำถามครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญคำถามที่ ๒ ครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ชี้แจง แต่ผมชี้แจงท่านรัฐมนตรีอย่างนี้ครับว่า อันแรกแผนที่ที่ท่านเอามาใช้ที่เมื่อสักครู่ เป็น ๑ ๒ ๓ ๔ อันนี้กรมขนส่งทางบกวางยาท่านครับ ถ้าเกิดท่านเห็นนะครับ เลข ๒ เขาเขียนว่า Zone ตะวันตก แต่ ๒ สีเขียวอยู่ขวามือของกรุงเทพมหานคร มันจะเป็นตะวันตกได้อย่างไรครับ มันเขียนผิด แล้วมันผิดกันมาหลายปีแล้วครับ และกรมขนส่งทางบกยังไม่แก้เลยครับ ๑. ไปเขียนว่า Zone ทิศเหนือ จริง ๆ มันต้องเป็นทิศตะวันตก ๒. มันอยู่ขวามือมันคือ ทิศเหนือ แต่กรมขนส่งทางบกทำผิด แล้วก็มายัดในสไลด์ท่านรัฐมนตรี มั่วครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๒ รถเมล์เขาวิ่งกันไปแล้วกลับมัน Two Way เพราะสุดท้ายแล้วเลข Zone ของท่าน ท่านเริ่มตะวันออกแต่ท่านไปจบตะวันตก และท่านก็กลับไปกลับมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับประชาชน อันนี้ผมแนะนำเปลี่ยน เถอะครับ คือท่านบอกว่ามันมีการแก้ไขเรื่องของเลขสาย เลขเดิม คือแน่นอนมันมีการเปลี่ยน บางส่วนในเรื่องของเส้นทางบางอย่าง แต่ถ้าเกิดมันแก้ไขเล็กน้อยท่านก็ใช้เลขเดิมได้ครับ และถ้าเกิดมันแก้ไขเยอะท่านก็ค่อยไปใช้เลขใหม่ครับ ส่วนสุดท้าย คือเรื่องที่บอกว่า Operator PR อย่างไร อันนี้ผมต้องบอกอย่างนี้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ Operator แล้วหรือเปล่า มันหน้าที่กรมขนส่งทางบกหรือเปล่า เพราะท่านเป็นคนไป Rerouting ทั้งหมดเอง ท่านเป็น คนแก้ไขเลขทั้งหมดเอง อันนี้ผมฝากท่านรัฐมนตรีจริง ๆ ว่าเรามาช่วยกันแก้เถอะครับ เอาประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรื่องที่ ๓ ต้องบอกว่าหลังจากการปฏิรูปรถเมล์ เปลี่ยนจาก ขสมก. เป็นกรมขนส่งทางบก แต่ผมต้องถามจริง ๆ แล้วว่ากรมขนส่งทางบกมีศักยภาพหรือครับ ในอดีตกรมขนส่งทางบกคือมีหน้าที่รับตรวจสภาพรถ แต่ตอนนี้มารับภารกิจหลักคือ ออกใบอนุญาต วางเส้นทางเดินรถ วางข้อกำหนด วางกฎระเบียบต่าง ๆ ในการคัดสรร ผู้เดินรถ ควบคุมตรวจสอบต่าง ๆ นานา เรียกได้ว่าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของรถเมล์ไทย สำหรับผมนะครับ รถเมล์ที่สะดวก สะอาด เข้าถึงง่ายและราคาจับต้องได้คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐบาลครับ แน่นอนครับอย่างที่ท่านรัฐมนตรีบอกปฏิรูปรถเมล์ ๒๖๙ เส้นทาง และจะทำเพิ่มอีก ๗๗ เส้นทาง รวมกันเป็น ๓๔๖ เส้นทางนะครับ แต่ปัจจุบันนี้รู้ไหมครับมันวิ่งกันจริง ๆ แค่ ๑๕๓ เส้นทาง แล้วมีอีก ๑๙๓ เส้นทางที่ไม่ได้วิ่ง แค่กรุงเทพมหานครตะวันออกแทบไม่มีรถเมล์ อย่างท่าน สส. ธีรัจชัย พันธุมาศ เขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตลาดกระบังก็มีรถเมล์วิ่งแค่ ๗ สาย และท่านก็พยายามผลักดันมาโดยตลอดนะครับ ต้องบอกว่ารถเมล์นี้ทั้งเก่าและรอนานกัน เป็นชั่วโมง และผมยังไม่เห็นเลยครับว่า รัฐบาลจะมีแผนในการจัดการอย่างไร อย่างเป็น รูปธรรม ส่วนปริมณฑลครับ อย่างที่ทราบกันดี แทบไม่มีรถเมล์อยู่แล้ว และต่างจังหวัด หนักกว่าหลายเท่านะครับ สส. ที่นั่งกันอยู่ตรงนี้แทบไม่มีรถเมล์ในจังหวัดเขา แต่ถ้าเกิด ต่างจังหวัดเข้าใจว่าจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ โคราช จังหวัดขอนแก่นก็พอมีบ้าง หรือจังหวัดนครพนมของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมนพร ก็อาจจะพอมีบ้าง แต่ก็เรียกว่าน้อยอยู่ครับ ก็ต้องบอกว่าหลังจากการปฏิรูป ผมก็เข้าใจว่ารถเมล์จะดีขึ้น แต่ประชาชนหลายล้านคนกลับเจอปัญหาจำนวนรอบไม่ได้ตามที่กำหนดในสัญญา ผู้ประกอบการมีรถไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเกิดตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก มาตรา ๓๑ และ มาตรา ๔๖ ต้องมีการปรับและมีการริบใบอนุญาต แต่ไม่มีการบังคับใช้นะครับ ไม่รู้ว่า กรมล้อฟรีหรือว่าอย่างไร แล้วอย่างเส้น ๑-๑ หรือสาย ๒๙ เดิม บางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง ในสัมปทานชี้แจงว่าจะมีการวิ่งทั้งหมด ๑๗๔ รอบ ขาไป ๘๗ ขากลับ ๘๗ ความถี่ทุก ๑๐-๑๕ นาที ถ้าวันนี้ไปนั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ๑๐-๑๕ นาทีไม่มีจริงนะครับ และไม่รู้ว่า กรมขนส่งทางบกได้ตรวจหรือเปล่า อย่างเส้นสาย ๓-๕๕ พระราม ๗ คลองเตยนะครับ กำหนดขั้นต่ำ ๒๐ แต่วิ่งจริง ๆ แค่ ๒ ครับ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ สายหลายสายมีการลดรอบวิ่ง และที่สำคัญคือประชาชนเดือดร้อนครับ และท่านยัง ไม่จัดการนะครับ ส่วนบางสายที่มองจากดาวอังคารอย่างไรก็รู้ครับว่า ขาดทุนแน่นอนและรัฐ ควรต้อง Subsidize หรืออุดหนุนเพื่อให้มันเกิดให้ได้ ก็ยังไม่มีครับ ไม่มี Policy ในการ สนับสนุน ไม่มีการอุดหนุน วันนี้ท่านต้องเข้าใจก่อนว่า รถเมล์คือระบบขนส่งมวลชน ที่มันสำคัญ เพราะฉะนั้นรถเมล์สามารถที่จะทำให้ตัวเองเป็น Feeder วิ่งถนนรอง วิ่งเส้น เลือดฝอยเพื่อดันคนเข้ามาสู่ระบบรางได้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องบอกว่าหลายสถานีรถไฟฟ้าก็ไม่มี รถเมล์เหมือนกันครับ ประชาชนหลายคนกัดฟันครับ ผ่อนรถเดือนเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท บางคนถูกบีบให้ไปเช่าคอนโดเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้อยู่ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟฟ้า เพราะรถเมล์ของเรามันแย่จริง ๆ ครับ และทุกวันนี้ผมเห็นแต่ข่าวครับ รัฐมนตรี ท่านรัฐบาลทั้งหลายสนใจแต่จะอุดหนุนแต่รถไฟฟ้าครับ จะให้เงินชดเชยขนาดไหน ท่านก็เต็มที่จริง ๆ ครับ แต่กับรถเมล์ไม่เห็นมีพูดถึงเลยครับ มีหรือครับจะชดเชยรถเมล์ จะอุดหนุนรถเมล์ ไม่มีครับ แค่จะหารถใหม่สภาพดี ๆ ยังไม่หากันเลยครับ จะเพิ่มจำนวนรถ ก็ไม่มีครับ ทุกวันนี้บางคันรอกันเป็นชั่วโมงนะครับ ถ้าเปรียบเทียบเงินลงทุนรถไฟฟ้า ๑ สาย ลงทุนรถเมล์ได้ทั้งกรุงเทพมหานครนะครับท่านประธาน ซื้อใหม่ยกชุด เผลอ ๆ ทั้งประเทศ แต่ไม่ทำครับ ไม่ลงทุนครับ ผมไม่เข้าใจ ท่านมองคนใช้รถเมล์เป็นพลเมืองชั้นสองหรืออย่างไร ถึงไม่สนใจ สนใจแต่รถไฟฟ้า และการแบ่งงานของรัฐมนตรี ท่านสุริยะ ขออนุญาต เอ่ยนามนะครับ ท่านให้ท่านสุรพงษ์ดูแลกรมขนส่งทางบก คุมกำเนิดรถเมล์ แต่ท่านให้ ท่านมนพรไปดูแล ขสมก. ท่านจะแยกกันทำไมครับ มันเป็นงานเดียวกัน ให้คนเดียวดูแล ไปเลยครับ ถ้าท่านสุรพงษ์อยากดูแลก็รับไปเลย ดูแลคนเดียวรับจบครับ และที่สำคัญครับ บอร์ด ขสมก. ไม่มีมาถึง ๑๓ เดือนแล้ว โดนดองนะครับ ไม่ได้เกิดครับ ไม่สามารถตัดสินใจ อะไรได้เลยครับ สั่งรถใหม่ก็ไม่ได้ รถเก่าสภาพเดิมก็ทำไม่ไหวแล้วครับ โดนตัดแขนตัดขาอยู่ แบบนี้ น่าสงสารครับ แต่ที่น่าสงสารกว่าคือใครครับ ประชาชนครับ เขาทนไม่ไหวแล้ว กับรถเมล์ไทยแบบนี้ เมื่อไรจะสะดวกสบาย เมื่อไรจะครอบคลุมสักทีครับ เพราะฉะนั้นผมขอ เรียกร้องเลย ให้รัฐบาลจัดการช่วยผลักดันรถเมล์โดยด่วน เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ คำถามข้อที่ ๒ ของผม ท่านรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหารถเมล์ขาดแคลนวิ่งไม่ครบรอบอย่างไร และถนนที่ยังไม่มีรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่ไม่มีรถเมล์ ท่านมีแนวทางทำให้ เกิดรถเมล์อย่างไร และผมขอถามท่าน อยากให้ท่านประกาศเลยครับ เป็นของขวัญให้กับ ประชาชนเลยครับ ท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ตรงนี้ด้วย อยากให้ท่านรับรู้เหมือนกันครับ ภายใน ปี ๒๕๖๗ จะมีจังหวัดไหนบ้างที่อยู่ในแผนของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้เกิดรถเมล์เพิ่ม เป็นครั้งแรกของจังหวัดเขา ท่านอยู่กันตรงนี้ ท่านปรึกษากันเลยครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ คำถามที่ ๒ ผู้ถามเหลือ ๒ นาที ๕๒ วินาที ท่านผู้ตอบ ท่านรัฐมนตรี เหลือ ๕ นาที ๕๑ วินาที เชิญครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพนะครับ ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรตินะครับ จริง ๆ รัฐบาลไม่ได้ นิ่งนอนใจนะครับ โดยเฉพาะนโยบายของทางท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ โดยเฉพาะนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการนะครับ เราได้ให้ความสำคัญ ทั้งระบบแบบบูรณาการ รถเมล์ต่อไปจะเป็นพระเอกในกรุงเทพมหานครที่เป็น EV นะครับ ในการจัด Route การวิ่ง วันนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจน วันนี้ระบบล้อ ระบบรางจะ สัมพันธ์กันนะครับ ระบบรางที่เป็นไฟฟ้าก็จะเป็นขนส่งแบบ Green ในกรุงเทพมหานคร รถเมล์ EV ก็จะเป็น Feeder ซึ่งกันและกัน ก็จะเป็น Green ในกรุงเทพมหานคร รถ บขส. ก็จะถูกออกนอกเมืองสำหรับวิ่งสายไกล ถ้ารถไฟทางคู่ของเราเสร็จนะครับ ปัจจุบันเรามี ระบบรางทั้งประเทศอยู่ประมาณ ๔,๐๔๔ กิโลเมตร วิ่งผ่าน ๔๑ จังหวัด แต่ถ้าระบบทางคู่ เสร็จ ระบบความเร็วสูงเสร็จ เราจะมีรถไฟวิ่งผ่านอยู่ ๖๑ จังหวัด ซึ่งจะทำให้การบูรณาการ ร่วมกัน เพราะฉะนั้นในกรุงเทพมหานคร จะมีรถหายไปจากท้องถนนก็คือรถ บขส. หลายพัน คัน รถเมล์ก็จะมี Bus Lane ที่ชัดเจนที่จะขนส่งผู้โดยสาร ส่วน Route การวิ่งเราก็ต้อง ปรับปรุงแล้วก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์นะครับ วันนี้รัฐบาลเข้ามาทำงานได้ประมาณ ครึ่งปี วันนี้เราก็พยายามที่จะวางแผนบูรณาการเอาปัญหาเก่า ๆ มาปัดและเอามาเชื่อมต่อ เชื่อมโยงทำให้บูรณาการร่วมกัน เดี๋ยวท่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งของ ประเทศไทย โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะ ขนส่งมวลชน แล้วคำถามที่ท่านสมาชิกถามเรื่อง จังหวัดไหนที่จะดันให้มีขนส่งสาธารณะ ถ้าท่านทราบ ถ้าท่านติดตามข่าว ที่ผ่านมาเมื่อต้น เดือนมกราคม ทางขนส่งได้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับหนึ่งให้ท้องถิ่นสามารถดูแลพี่น้อง ประชาชน เราได้กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นสามารถเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งเพื่อบริการ พี่น้องประชาชนร่วมกับ บขส. ร่วมกับ ขสมก. ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของท้องถิ่นนั้น ๆ เพราะฉะนั้นอันนี้คือเจตนาดีของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะ ก็เรียนให้ท่านสมาชิกผ่านไปยังท่านประธานสภาให้ทราบเบื้องต้นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และให้ความสนใจกับบริการสาธารณะเหล่านี้เท่าเทียมกันนะครับ แต่วันนี้การเชื่อมโยงแบบ บูรณาการอย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบเบื้องต้นเริ่มที่จะเป็นรูปเป็นร่างเป็นรูปธรรม แต่จะ สำเร็จมันก็ต้องสัมพันธ์กับระบบรางตามมา มันต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แต่วันนี้จะเห็นว่าการ เปลี่ยนแปลงในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ปริมณฑลได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะในส่วนของ บขส. ซึ่งต่อไป บขส. บทบาทจะลดลง เพราะถ้าทางคู่เสร็จและ ความเร็วสูงเสร็จ บทบาท บขส. จะลดลง ก็จะเป็น Feeder ระดับจังหวัด แล้วก็ บขส. จะต้องออกกองทัพออกไปหากินหรือไปทำธุรกิจในต่างประเทศที่ระบบรางยังไม่แข็งแรง วันนี้เราได้ Monitor อยู่ตลอด เราได้ Check สุขภาพของแต่ละองค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้ กระผมแล้วก็กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลได้กำกับดูแลนะครับ เราได้เอกซเรย์ได้วางแผน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ไว้ตลอด เพราะวันนี้รูปธรรมต่าง ๆ เริ่มจะเห็นผลแล้ว ก็เรียนให้ทราบนะครับ ส่วนหมายเลข วันนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ แล้วก็ไม่ได้ยืนยันว่าเราทำถูกหรือ ทำผิด อย่างที่ผมเรียนนะครับ เราพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นทุก ๆ ด้าน อันไหนที่เป็น ประโยชน์สูงสุดสำหรับพี่น้องประชาชนเราก็จะนำไปปฏิบัติและทำ ก็ขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติที่เป็นห่วงเป็นใยพี่น้องประชาชนนะครับ ซึ่งก็ไม่ได้ แตกต่างจากรัฐบาล เราคำนึงถึงพี่น้องประชาชนเสมอนะครับ แล้วก็ใช้ผลประโยชน์ของ พี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งในการดำเนินการทั้งหมดนะครับ เพราะฉะนั้นทั้งระบบล้อ ระบบราง ระบบทางน้ำ ระบบทางอากาศ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันแบบบูรณาการอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ระบบ การคมนาคมขนส่งก็เป็นหัวใจหลักในการที่จะเคลื่อนย้ายจากผู้โดยสารทั้งคน ทั้งสินค้า อันนี้ก็ฝากเรียนไว้เบื้องต้นเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

สภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับคณะสมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดนไทย กรุงเทพมหานคร สภาผู้แทนยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปอีกคำถามที่ ๓ มีไหมครับ

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

มีครับ ท่านประธานครับ เรื่องแรก ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีเรื่องของหมายเลขนะครับ แต่เรื่องที่ ๒ ที่ท่านบอกว่าให้ อำนาจท้องถิ่นดูแลครับ คือท่านให้อำนาจดีครับ แต่ท่านต้องให้เงินด้วยครับ ท่านต้องให้เงิน เขาด้วย ไม่อย่างนั้นรถเมล์ไม่เกิด เพราะท่านไม่อุดหนุนเขาครับ ท่านไม่อุดหนุนท้องถิ่นครับ เพราะฉะนั้นมาเรื่องของคำถามที่ ๓ ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายมานี่ ผมยัง ไม่เห็นภาพรวมของขนส่งมวลชนในการบูรณาการใช้โหมดหลาย ๆ โหมดร่วมกันนะครับ แล้วก็ที่สำคัญคือพันธกิจของกระทรวงนี้ท่านก็ทราบอยู่แล้ว รถ ราง เรือ ต้องให้เชื่อมโยงกัน ให้ได้จริง ๆ ทั้งการทำระบบตั๋วร่วม คือการให้ใช้ตั๋วใบเดียว EMV หรืออะไร ๆ ก็แล้วแต่ ทำให้สามารถใช้ได้ทั้งหมด รถ ราง เรือ และเรื่องของระบบค่าโดยสารร่วม คือขึ้นรถ ราง เรือ ตลอดทั้ง Trip เปลี่ยนกี่รอบ กี่โหมดก็ได้ แต่รวมกันแล้วไม่เกินเท่านั้นเท่านี้บาท ล่าสุด มีการพูดถึง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวม รถ ราง เรือ ได้จริงหรือไม่นะครับ ก็ต้องบอกว่าคำถามที่ ๓ แต่เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีเวลาหมดแล้ว ผมถามไปก็ได้ครับว่า ท่านรัฐมนตรีจะจัดการเรื่องของระบบตั๋วร่วม รถ ราง เรือ โดยการใช้บัตรโดยสารใบเดียว ได้อย่างไรนะครับ แล้วก็ค่าโดยสารร่วม รถ ราง เรือ ตลอดเส้นทางนี่เปลี่ยนกี่รอบ ค่าใช้จ่าย เท่าเดิม ตัว Maximum ราคาที่ท่านคิดไว้อยู่ที่เท่าไร แล้วก่อนที่ผมจะให้เวลาท่านตอบสัก ๑ นาทีที่เหลือนะครับ ผมขอฝากท่านอีก ๒ เรื่องแล้วกันครับ อันนี้ฝากไว้เฉย ๆ ครับ คือเรื่องของรถบรรทุกน้ำหนักเกินแล้ววิ่งผิดเวลา ถ้ากรมขนส่งทางบกไม่มีความสามารถ ในการจัดการโอนอำนาจให้ตำรวจเลยครับ ขอบคุณครับ อย่างนั้นผมขออนุญาตโอนเวลา ของผมให้ท่านรัฐมนตรีสัก ๑ นาทีกว่า ๆ ท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ขอบคุณที่โอนเวลาให้นะครับ จะได้มีเวลา จะได้ตอบนะครับ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมก็จะเข้าสู่สภาในเร็ววันนี้ จะเข้า ครม. น่าจะเป็นภายในเดือนนี้ครับ แล้วจะทำร่างแล้วก็เข้าสู่การพิจารณาของสภา พ.ร.บ. ตั๋วร่วม รายละเอียดก็ต้องไปดูกันที่ชั้นของกรรมาธิการว่าจะให้หน้าตาออกมาเป็นอย่างไร ดูแต่ละ ร่างประกบกันนะครับ ส่วนการบูรณาการร่วมของระบบขนส่งก็อย่างที่เรียนวันนี้เราให้ ความสำคัญนะครับ จริง ๆ แล้วกรมขนส่งเก็บภาษีล้อเลื่อนทุกบาททุกสตางค์ที่กรมขนส่ง เก็บให้นะครับ เราได้ส่งกลับไปที่จังหวัดนั้น ๆ ทั่วประเทศทุกบาททุกสตางค์นะครับ เพราะฉะนั้นงบประมาณก็อยู่ที่ท้องถิ่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ฝากตรงนี้ไปถึงทาง ท่านนายกและองค์กรที่กำกับองค์กรท้องถิ่นว่าเงินภาษีล้อเลื่อนทั้งหมดที่ทางกรมการขนส่งเก็บ ให้ท่านก็ควรจะนำไปลงทุน แล้วก็บริการพี่น้องประชาชนด้วยระบบขนส่งสาธารณะครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ ขอบคุณท่านผู้ถามนะครับ ต่อไปนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

.....๑. กระทู้ถาม นายชวน หลีกภัย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านชวน หลีกภัย เชิญครับ

นายชวน หลีกภัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานที่บรรจุกระทู้นี้ไว้ และขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวง อว. นะครับ ที่กรุณามาตอบคำถาม ประเด็นที่เป็นกระทู้ถามสด ที่กระผมเสนอต่อสภาในวันนี้มาจาก นโยบายการแก้ปัญหาที่มีปัญหาระหว่างสถาบันหลักของบ้านเมือง คือสถาบันเทคโนโลยี ราชมงคลอุเทนถวายกับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขัดแย้ง ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากแนวความคิด การให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขออภัยที่ใช้ชื่อสั้น ๆ เพื่อประหยัดเวลา เพราะเรามี ๑๕ นาทีสำหรับผู้ถาม และ ๑๕ นาทีสำหรับผู้ตอบ แล้วก็ จะรักษาเวลาเพื่อไม่ให้ประธานต้องเตือนนะครับ แต่ว่าก่อนที่จะตั้งคำถามก็กราบเรียน ขออนุญาตท่านประธานนะครับว่า ผมได้รับมอบหมายจากพรรคด้วยความเห็นว่าผมได้ เกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งสองนี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวคือผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการอยู่ ๓ ปี ทั้งสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอุเทนถวาย ยังสังกัดกรมอาชีวศึกษา ยังสอนแค่ระดับ ปวช. ปวส. และผมก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุน สถาบันทั้งสองนี้ตลอดมา แม้กระทั่งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้แก้กฎหมายเพื่อให้สถาบัน เหล่านี้สอนถึงระดับปริญญา อันนี้ก็เป็นข้อผูกพันที่ภาคภูมิใจว่าสถาบันทั้งสองนี้เป็นสถาบัน หลักของชาตินะครับ กราบเรียนท่านประธานเพื่อท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้เข้าใจ เพราะว่าท่านอาจจะไม่รู้ว่าสถาบันทั้งสองนี้เป็นสถาบันที่สร้างมือเยี่ยม มือเชี่ยวชาญที่แท้จริง ของช่าง เดิมในอดีตเขาเรียกว่า ช่างต้องปทุมวัน ก่อสร้างต้องอุเทนถวาย อันนี้เป็นสาย ของภาคปฏิบัตินะครับ ย้ำเพราะว่าวิศวกรก็ดี สถาปนิกก็ดี แน่นอนทุกมหาวิทยาลัยก็ผลิต แต่ว่าในแง่ของผู้ชำนาญในการปฏิบัตินั้น สถาบันทั้งสองนี้ได้เป็นผู้ที่สร้างบุคลากรของเขา มาเกือบ ๑๐๐ ปี บุคลากรที่เขาผลิตมานับเป็นแสนคน กระจัดกระจายรับใช้บ้านเมืองอยู่ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชนนั้นได้มีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองนี้เป็นอย่างนี้นะครับ มีความพร้อม เพราะฉะนั้นต้องชื่นชมยกย่องสถาบันนี้ว่าเขาได้ทำหน้าที่ ศิษย์ของเขาได้ทำหน้าที่ให้กับ บ้านเมืองตลอดมา เราจะต้องไม่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนเพียงไม่กี่คนทำลายภาพพจน์ ชื่อเสียงของสถาบันเหล่านี้ครับ เพราะฉะนั้นประเด็นที่จะกราบเรียนเมื่อเกี่ยวข้องเช่นนี้ พรรคก็มอบหมายว่าผมใกล้ชิด แล้วก็รู้จักสถาบันทั้งสองนี้มาตลอดเวลา ในฐานะเป็น ผู้สนับสนุนให้สถาบันนี้เจริญก้าวหน้า ก็แน่นอนที่สุดว่าเมื่อมีนโยบายใดที่อาจจะกระทบ ต่อความก้าวหน้าของสถาบันก็น่าจะหยิบยกขึ้นมาสอบถามรัฐบาล ประเด็นที่กลายเป็น กระทู้สดถามด้วยวาจาเกิดขึ้นจากคำสัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีครับ แล้วก็พาดพิงไปถึง นายกรัฐมนตรี แล้วก็โดยนโยบายที่ได้แถลงนั้นเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี ด้วยก็เลยได้ถามนายกรัฐมนตรี แต่เฉพาะคำให้สัมภาษณ์นั้นก็ของท่านรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น ท่านรัฐมนตรีก็คงตอบคำถามนั้น คำถามที่เกิดขึ้นอันเกิดจากคำสัมภาษณ์ก็เกิดจาก การที่ท่านได้มีคำสั่งงดรับนักศึกษาปีที่ ๑ ผมได้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้จากแหล่งข่าว หลายแหล่งข่าวว่าลงผิดหรือไม่ ผู้จัดการ Online ก็ยืนยันว่ารัฐมนตรีสั่งให้งดรับนักศึกษา ปีที่ ๑ มั่นใจการแก้ปัญหาจบลงภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยเบื้องต้นได้มีคำสั่งไปยังอธิการบดี ให้งดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ เพื่อลดจำนวนนักศึกษาลง ขณะเดียวกันยังมี มาตรการพิจารณา แล้วท่านก็บอกว่านายกรัฐมนตรีห่วงเรื่องนี้ กำชับให้คณะทำงานเร่งไปดู จาก Standard ข้อความก็เหมือนกันว่าสั่งให้งดรับนักศึกษาปีที่ ๑ โดยสรุปแล้วท่านรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์งดนักศึกษาปีที่ ๑ ผลก็คืออะไรครับ สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีสั่งไปนั้นอาจจะ ๑. ก็คือให้จำนวนที่ท่านบอกว่า เพื่อจำนวนนักศึกษาลดน้อยลงเพื่อแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสถาบันอาจจะลดลงเพราะคนน้อยลง อันนี้อาจจะเป็นความคิดนะครับ แต่ว่าที่แน่ ๆ ก็คือการโยกย้าย เปลี่ยน พูดง่าย ๆ ก็คือตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้คืนที่ดินของสถาบันให้กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต้องหาที่ใหม่ ท่านรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ของศาล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องครับ เป็นเรื่องที่ให้ความสนับสนุนให้สำเร็จ แล้วท่านบอกว่า จะต้องจัดการให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ผมก็ให้กำลังใจทำให้ได้สำเร็จ แต่ว่าสิ่งที่ คำสัมภาษณ์ติดตามมาก็คือว่าถ้าเรางดรับนักศึกษาปีที่ ๑ ผลอะไรเกิดขึ้นครับ ผลก็คือ สถาบันการศึกษานี้จะไม่สามารถให้นักศึกษาจำนวนประมาณ ๖๐๐ คน ของปีที่ ๑ เข้ามา เรียนได้ อันนี้จะเป็นการสูญเสียแล้วก็โดยสรุปอยากกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีคำสั่งให้งดรับนักศึกษา ไม่ว่าสถานการณ์ชาติบ้านเมืองจะมีสงคราม มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น การสั่งให้งดรับนักศึกษาจะไม่มี อย่างมากที่สุดก็คือส่งไปเรียนที่ ซึ่งไม่มีปัญหา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เคยมีปัญหาทหารยึดอาคารไปก็ส่งไปเรียนที่อื่น แต่ว่างดรับไม่เคยปรากฏนะครับ กราบเรียนว่าผมเป็นคณะกรรมการมหาวิทยาลัยอยู่ หลายแห่ง ก็อยู่ในวงการศึกษาอยู่พอสมควร ทบทวนดูแล้วว่าในกรณีใดที่จะมาสั่งงดรับ นักศึกษาก็ยังไม่มี ดังนั้นประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ไปนั้นก็เลยทำให้เกิดความสับสน ขึ้นพอสมควรครับ เมื่อวานนี้ก็ได้มีโอกาสพบกับอธิการบดีและคณะบดี รวมทั้งผู้บริหารของ มหาวิทยาลัยอุเทนถวาย ได้คุยกันจนเย็นเมื่อวานนี้ว่าจะทำอย่างไร ก็กราบเรียนว่าแม้ ท่านรัฐมนตรีจะเปลี่ยนแนวแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบครับ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ อธิการบดีนำคำสัมภาษณ์ในไทยรัฐมาให้ที่ประชุมทราบว่า บัดนี้ท่านรัฐมนตรีได้เปลี่ยน แนวแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอแจ้งให้ทราบ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าปรากฏว่าสมาคมนักศึกษา ก็ไม่ทราบ ก็ยื่นหนังสือมา ๖ ข้อเรียกร้อง หนึ่งในข้อนั้นก็คือ มหาวิทยาลัยจะต้องรับนักศึกษา พูดง่าย ๆ ก็อยากปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีได้สั่งไปด้วยวาจานะครับ แล้วก็กำชับว่ามหาวิทยาลัย จะต้องรับและจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย อันนี้คือประเด็นที่ผมขอกราบเรียนที่ไปที่มา ดังนั้นเมื่อท่านรัฐมนตรีได้เปลี่ยนแปลงมา ในวันที่ ๖ ผมเองก็ไม่ทราบครับ ผมทราบเมื่อวานนี้เองว่ารัฐมนตรีได้เปลี่ยน โดยดูจากไทยรัฐ ได้ลงข่าวว่า ศุภมาศให้อุเทนถวายรับนักศึกษาปีที่ ๑ ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องส่งนักศึกษาที่รับนี้ ไปเรียนในที่อื่น เช่น ที่วิทยาเขตจันทบุรี ที่วิทยาเขตอื่นซึ่งเปิดสอนอยู่ ก็มีคำถามติดตามมา เมื่อวานก็มีตัวแทนนักศึกษาปีที่ ๒ ครับ ว่าถ้าอย่างนั้นปีที่ ๒ ต้องย้ายด้วยไหม ดังนั้น ต้องกราบเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรีหรือท่านรัฐมนตรีก็ตามที่จะตอบก็คือว่า ประเด็นเรื่อง การสั่งงดรับข้อตกลงว่าจบนะครับ ตกลงว่าจบ ผมก็คิดว่าความเร่งด่วนที่ต้องตั้งกระทู้ถาม ด้วยวาจาด่วนนั้น อาจจะลดลงไป แต่มันมีประเด็นใหม่เกิดขึ้น กล่าวคือเดิมทีนั้นว่าจะถาม โดยกระทู้ธรรมดา หรือในราชกิจจานุเบกษาไหม คำตอบว่าช้าไปสัปดาห์เดียว ถ้าคำสั่ง งดรับนั้นมีผล ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับช่วงที่ ๒ ของสถาบัน จะมีปัญหาครับ แล้วก็ผลปรากฏ จากรายงานเมื่อวานว่าคนที่ติดต่อมาสอบที่สถาบันนั้นได้สอบถามว่า ตกลงรับไหม รับแล้ว เรียนที่ไหน อันนี้ก็เลยได้ถามตัวเลขว่า มีคนแสดงความจำนงเข้ามาก็บอกว่าลดลงไป แต่ผมคิดว่ากระทู้วันนี้ท่านรัฐมนตรีและท่านนายกรัฐมนตรีสามารถที่จะทำให้เกิดความ กระจ่าง ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและคนที่อยากจะเรียนในสถาบันดังกล่าวนี้ก็สามารถ เข้ามาเรียนได้ ผมคิดว่ากระทู้นี้ก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลอย่างยิ่งครับ

นายชวน หลีกภัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ก็คงจะต้องขอท่านรัฐมนตรีและท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ครับว่า ปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ปีที่ ๕ จะต้องเรียนที่ไหนครับ ถ้าเราให้ปีที่ ๑ ไปเรียนที่อื่น ซึ่งท่าน รัฐมนตรีได้พูดไว้ ๓ แห่งนะครับ บางแห่งก็อยู่ไกล เช่น จังหวัดจันทบุรี ถ้าผู้ที่สมัครเรียนอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขาจะไปอยู่จังหวัดจันทบุรีหรือไปที่อื่นนั้นทำได้ หรือไม่ ท่านรัฐมนตรีผมเข้าใจดีนะครับ ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาก่อน ผมรู้ว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เขาปฏิบัติ เราเป็นผู้รักษานโยบาย เพราะฉะนั้นบางเรื่อง ถ้ามันเป็นเรื่องที่ยังตอบไม่ได้ เพราะแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องบริหารต่อไปก็ไม่เป็นไร ไม่คาดคั้น ท่านจะต้องตอบ แต่ว่าประเด็นคำแนะนำจากท่านก็คือว่า ปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ปีที่ ๕ ซึ่งมีนักศึกษาอยู่ประมาณเกือบ ๗๐๐ คนนะครับ ถ้าเราไม่นับปีที่ ๑ ปีที่ ๑ ที่เขารับนั้น ปีที่ ๑ ก็ประมาณสัก ๖๐๐ คน ปีที่แล้วก็บอกว่ารับได้ ๕๐๐ กว่าคน ขณะนี้กำลังรับช่วงที่ ๒ อยู่ครับ เขารับ ๕ ครั้ง จะเรียนที่ไหน

นายชวน หลีกภัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ก็คงจะเกี่ยวกับท่านนายกรัฐมนตรีครับว่า การย้ายสถาบันนี้ ไปยังที่อื่นตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสุดนั้น ได้เตรียมที่ไว้แล้วหรือไม่ งบประมาณได้เตรียมไว้หรือไม่ กราบเรียนถาม ๒ คำถามแค่นี้ก่อนครับ ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนายกรัฐมนตรี เชิญครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพผ่านไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามที่ท่านสมาชิกได้กรุณาถามมาเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาที่มีขึ้น ในสถาบันการศึกษานั้น รัฐบาลนี้จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญน้อยนะครับ เพราะว่า ในฐานะที่เป็นพ่อของคนแล้ว ผมเองผมก็เห็นปัญหาที่มีการตีกันแล้วก็ทราบได้ถึงความรู้สึก ของบิดา มารดา หรือญาติพี่น้องที่เป็นเหยื่อของผู้ประสบเหตุ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สะเทือนใจ แล้วรัฐบาลก็จะให้ความสำคัญต่อไปในการแก้ไขปัญหานี้ ก็ตระหนักดีว่า ท่านสมาชิกได้กรุณาบอกมาว่าท่านเป็นตั้งแต่สมัยท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับ ๒ สถาบันการศึกษานี้ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเกียรติมีอายุมายาวนาน ผลิตบัณฑิตที่ตรงกับสายงานที่มี ความต้องการกับตลาดแรงงานมาหลายสิบปีได้หลายแสนคน เรื่องนี้ผมก็อยากจะขอ สนับสนุนหลักการของท่านว่าสถาบันการศึกษานี้เป็นสถาบันที่ให้ประโยชน์กับประเทศชาติ อย่างเหลือล้น เพราะว่าตอนที่ผมไปหานักลงทุนจากต่างประเทศมา เรื่องของการผลิตช่าง หรือวิศวกรเป็นเรื่องที่ประเทศเรามีความต้องการอย่างมาก จากการที่เราต้องมีการลงทุน ข้ามชาติมาโดยบริษัทใหญ่ ๆ จากทั่วโลกที่รัฐบาลเราได้เดินทางไปดึงดูดให้เขามาลงทุน ถ้าเกิดไม่มี ๒ สถาบันนี้ บัณฑิตของเราก็จะไม่ตรงกับสายงานที่มีความต้องการกับบริษัท ข้ามชาติใหญ่ ๆ ที่อยากจะมาลงทุนเป็นหลาย ๆ ล้านบาท ซึ่งก็เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ แล้วก็จะเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เพราะฉะนั้น ๒ สถาบันการศึกษานี้ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลก็ยังยืนยันว่า จะให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่เรื้อรังมานานมากแล้ว ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากเรื่องของ ปัญหาที่มีระยะทางที่ใกล้กันระหว่าง ๒ สถาบัน ซึ่งเราเองก็พยายามที่จะย้ายวิทยาเขตตรงนี้ โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ก็มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการที่ดูแลทาง ด้านกรมธนารักษ์ว่าให้ไปจัดหาพื้นที่ที่จะมีการย้ายออกไปนะครับ เรื่องของการที่ มีการตีกันทางเราเอง ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ออกประกาศกระทรวงไปแล้วว่า จะเก็บข้อมูลนักศึกษาเพื่อใช้ในการติดตามในกรณีที่มีการทะเลาะวิวาทในอนาคต ตั้งศูนย์ รับแจ้งเหตุและเฝ้าระวังระงับเหตุร้ายในสถาบันนะครับ ผมเองผมก็กำชับทางฝ่าย ความมั่นคง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก็อยู่ในบริเวณที่มีความใกล้เคียงกับ สถาบันการศึกษานี้ว่าให้ดูแลเป็นพิเศษ เพิ่มกำลังเป็นพิเศษในวันที่เราเข้าใจว่าจะมี การทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยเหลือ หรือป้องกันเท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ที่วัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ความเชื่อของ นักศึกษาที่มีสืบทอดกันมาเป็นค่านิยม ที่ยืนยันนะครับเป็นค่านิยมที่ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราต้องตัดปัญหาโดยการย้ายสถานที่ไปยังที่อื่น ซึ่งก็ตรงกับที่ผมได้ ชี้แจงไปนะครับ แล้วก็จะลดการกระทบกระทั่งระหว่างนักศึกษาของ ๒ สถาบันนี้นะครับ แล้วก็ให้มีการย้ายการเรียนการสอนออกไปจากนอกบริเวณ แล้วปรับลดค่านิยม ลดการ กระทบกระทั่งระหว่างรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำ ตัดวงจรการสืบทอดวัฒนธรรมที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง แล้วก็จะกำชับกระทรวง อว. ให้ทำงานต่อไป ส่วนเรื่องของปัญหาเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับ เรื่องหยุดรับนักศึกษาปีที่ ๑ ผมเชื่อว่าเดี๋ยวท่านรัฐมนตรีคงอธิบายให้ฟังว่าคงมี การคลาดเคลื่อนในเรื่องของการสื่อสาร ท่านไม่ได้บอกว่าจะหยุดรับ เพียงแต่ว่าให้ย้ายไปอยู่ วิทยาเขตอื่น ซึ่งท่านสมาชิกก็ได้กรุณาให้ข้อคิดมาว่าแล้วอย่างไรต่อไปปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ แผนงานจะเป็นอย่างไรต่อไป เดี๋ยวผมขออนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นคน ชี้แจงครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญ ท่านรัฐมนตรี อว. ครับ

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กราบขอบพระคุณท่านชวน หลีกภัย ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีและท่านอดีตประธานสภาค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะตอบกระทู้ถาม ขออนุญาตเล่าที่มาของกรณีอุเทนถวายสำหรับท่านสมาชิก อีกหลาย ๆ ท่านที่อาจจะไม่เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมอยู่กันมานานแล้ว อยู่มาวันหนึ่งถึงวันนี้ ทาง อว. ถึงต้อง Raise ประเด็นเรื่องของการย้ายสถานที่ขึ้นมานะคะ ความเป็นมาของเรื่อง อุเทนถวายก็คืออุเทนถวายได้เช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นที่ตั้งวิทยาเขต ตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อปี ๒๕๔๖ แล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แจ้ง ไม่ต่อสัญญาในปี ๒๕๔๗ และได้ทำบันทึกข้อตกลงในการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี ๒๕๔๘ ซึ่งในปี ๒๕๔๘ ทางอุเทนถวายได้ขอต่อสัญญาเช่ากับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก ๑ ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๙ และในปี ๒๕๔๙ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือแจ้งให้อุเทนถวายกำหนดเวลาส่งมอบ พื้นที่คืนและชำระค่าใช้ประโยชน์ ปีถัดมา ปี ๒๕๕๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึง สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว และ กยพ. ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดในการประชุม เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ได้มีมติตัดสินชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนตั้งแต่ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นไปค่ะ ต่อมาเดือนกันยายน ๒๕๕๖ อีก ๗ ปีต่อมาทางอุเทนถวายได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติชี้ขาดของ กยพ. และศาลปกครองกลางได้มี คำพิพากษาในปี ๒๕๕๙ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ามติของ กยพ. เป็นกระบวนการที่ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และอุเทนถวายได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด และสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่พิพากษายกฟ้อง ซึ่งถือว่าคดีเป็น ที่สุดแล้วนะคะ อันนี้คือที่มาที่ไปจนถึงปี ๒๕๖๕ ขออนุญาตตอบคำถามท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติค่ะ ในเรื่องของการงดรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ซึ่งเมื่อสักครู่ท่านก็ได้กรุณาชี้แจง ไปแล้วว่าเป็นเรื่องของประเด็นข่าวที่อาจจะลงแล้วก่อให้เกิดความสับสน

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้นฉบับ

ประเด็นเรื่องของการไม่ให้รับ หรือว่างดรับนักศึกษาตามที่ปรากฏเป็นข่าว ตามสื่อนั้น ตามข้อเท็จจริงก็คือทางอุเทนถวายยังคงรับนักศึกษาปีที่ ๑ เหมือนเดิม แต่ว่า ให้มีการบริหารจัดการการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับแผนการย้ายของอุเทนถวาย ซึ่งอุเทนถวายได้ทำแผนการย้ายเข้าที่ประชุมแล้ว ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นข้อเสนอจาก การประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชภัฏราชมงคล ตะวันออก ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางกรมธนารักษ์ ทางสำนักงบประมาณ แล้วก็ สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน และมีมติร่วมกัน ในการประชุม โดยเสนอให้อุเทนถวายย้ายสถานที่ไปยังวิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี หรือว่าสถานที่ที่กรมธนารักษ์จัดหาให้ หรือสถานที่ที่ทางอุเทนถวายได้แจ้งว่ามีผู้สนใจที่จะ บริจาคให้ มี ๓ Location ก็คือที่บางพระ แล้วก็ที่ที่กรมธนารักษ์จะจัดหาให้ค่ะ แล้วก็ที่ ที่ทางอุเทนถวายแจ้งว่ามีผู้ที่สนใจจะบริจาค ซึ่งเห็นควรให้ปรับแผนการรับนักศึกษาใหม่ โดยเปิดรับนักศึกษาใหม่ในวิทยาเขตอื่น ๆ แทน ซึ่งกรณีดังกล่าวมหาวิทยาลัยจะต้องเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรืออนุมัติแผนดังกล่าวต่อไปนะคะ ซึ่ง มทร. ตะวันออก ต้นสังกัดก็ได้มีการจัดทำแผน การรับนักศึกษาในปี ๒๕๖๗ ในวิทยาเขตอื่น ๆ และแนวทางการบริหารจัดการการเรียน การสอนนักศึกษาทั้งหมด ๑,๑๒๙ คน จำแนกเป็นปริญญาตรี ๙๕๘ คน ปริญญาโท ๑๕๕ คน และปริญญาเอก ๑๖ คน ซึ่งทาง มทร. ตะวันออกจะนำแผนเสนอต่อสภา มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามทางกระทรวง อว. ก็ได้มี ความห่วงใยจึงได้ให้มีการติดตาม แล้วก็กำชับให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการตามแผนที่ กำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไป

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้นฉบับ

ส่วนคำถามที่ ๒ เรื่อง Transition Plan หรือการจัดหาสถานที่เรียนให้กับ นักศึกษาที่ต้องย้าย เรื่องการเตรียมทาง อว. เองได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไข ปัญหาประเด็นดังกล่าว เราจึงได้จัดประชุม เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย มทร. ตะวันออกเจ้าของสังกัด จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณและสำนักงานอัยการสูงสุด โดยรัฐมนตรี อว. เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการยุติข้อพิพาทของอุเทนถวาย โดยกระทรวงได้ประสานข้อมูลกับอุเทนถวายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธนารักษ์ และสำนักงบประมาณเพื่อวางแผนการจัดหาพื้นที่รองรับสำหรับกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น ก็มีวิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ ๖๘๐ ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เดินทางได้สะดวก พื้นที่ใหญ่ วิทยาเขตที่ ๒ คือ วิทยาเขตจักรพงษ์ภูวนารถ ซึ่งตั้งอยู่ถนน วิภาวดีรังสิต อยู่ในกรุงเทพมหานคร เดินทางได้สะดวกค่ะ พื้นที่ที่ ๓ คือพื้นที่บริจาคที่ เขตมีนบุรี ซึ่งมีผู้จะบริจาคให้กับทางอุเทนถวาย พื้นที่ ๒๔ ไร่ เดินทางได้สะดวก แล้วก็พื้นที่ ที่ ๔ พื้นที่ราชพัสดุในจังหวัดสมุทรปราการ อันนี้ทางราชพัสดุเสนอมา จำนวน ๑๕๐ ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครเดินทางได้สะดวกค่ะ

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องของงบประมาณทางกระทรวง อว. ได้ประสานกับทางอุเทนถวาย เพื่อจัดทำรายละเอียดในการจัดทำคำของบประมาณ และประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งได้ประสานและหารือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นคู่พิพาทสำหรับการดำเนินการทั้งในด้านการจัด การศึกษาและช่วยเหลือในกรณีการชำระค่าเสียหาย หรือว่าค่าขนย้ายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนและรับที่จะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับ สภามหาวิทยาลัยเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไปค่ะ ขณะเดียวกันทาง อว. เองก็ได้รับรายงาน เบื้องต้นจากทางอุเทนถวายในการดำเนินการดังต่อไปนี้ อันที่ ๑ ทางอุเทนและ มทร. ตะวันออกร่วมกันจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่อุเทนถวาย ซึ่งมีจำนวน ๑๒๕ คน โดยจัดหาพื้นที่การปฏิบัติงานบางส่วนในพื้นที่จักรพงษ์ภูวนารถ และเตรียมการเคลื่อนย้ายครุภัณฑ์เพื่อใช้ในการทำงานและกำหนดเริ่มปฏิบัติหน้าที่ที่ มทร. ตะวันออกพื้นที่จักรพงษ์ภูวนารถ ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ ทั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ อันที่ ๒ จัดทำแผนเคลื่อนย้ายพื้นที่เขตพื้นที่อุเทนถวาย โดยจัดทำโครงการก่อสร้างขยายเขตพื้นที่ การศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ บนที่ดินจำนวน ๒๔ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายนักศึกษา ทั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยในการประชุม วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ และขณะนี้อุเทนถวายได้เสนอของบประมาณในปี ๒๕๖๘ จำนวนประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท ต่อสำนักงบประมาณค่ะ แต่อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยก็ได้ดำเนินการตามที่ประชุมหารือ แล้วก็ขับเคลื่อนดังกล่าวอย่างจริงจัง ทางกระทรวง อว. ก็จะได้ติดตาม แล้วก็กำชับให้ทาง มหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างเคร่งครัดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญคำถามที่ ๒ เชิญครับ

นายชวน หลีกภัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ โดยที่เวลา เหลืออยู่เพียง ๔ นาที ผมจะไม่ทำให้เกินเวลาที่ให้ไว้นะครับ แต่ว่าจากที่ท่านนายกรัฐมนตรี ก็ดี ท่านรัฐมนตรีก็ดีตอบมานั้น สิ่งหนึ่งก็คือว่าสถานที่นั้นยังไม่แน่นอนนะครับ อันนี้ก็ชัดเจน แต่ว่าสิ่งที่จำเป็นต้องให้ท่านรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงชัดเจนเพื่อรู้ให้ทั่วถึงก็คือ เรื่องข้อห้ามไม่ให้ รับนักศึกษาปีที่ ๑ นั้นก็จบไปแล้ว บัดนี้อนุญาตแล้ว ส่วนสถานที่ที่จะให้ไปเรียนที่กำหนดไว้ ๓-๔ แห่งนั้น ผมคิดว่าเรียนท่านรัฐมนตรีฝากไปทบทวนนะครับ เมื่อปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ปีที่ ๕ เรายังไม่ย้าย ที่ใหม่ที่เขาจะย้ายไปยังไม่มี เราจะให้นักศึกษาปีที่ ๑ นั้นเรียนในพื้นที่ ที่เรียนอยู่ขณะนี้ได้หรือไม่ อันนี้แล้วแต่ดุลพินิจนะครับ ผมไม่ได้คาดคั้นอะไร แต่ว่ามองในเชิง ปฏิบัติ อยากกราบเรียนนิดเดียวครับ ปัญหากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมนั้น ต้องถือว่าเป็นกระทรวงที่สร้างสรรค์นะครับ สร้างคน เพราะฉะนั้นนโยบายใด ที่จะเป็นอุปสรรคในการให้โอกาสคนนั้นจะต้องอย่าให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด เช่น การไม่ให้ รับเด็ก ไม่ให้รับนักศึกษาอะไรพวกนี้จะต้องไม่มีนะครับ เพราะว่ามันจะกลายเป็นตัดโอกาส เขาไป ผมเรียนด้วยความเคารพว่าไม่ว่าใครในห้องนี้ รวมทั้งผมด้วยก็มีโอกาสก็เพราะ การศึกษา เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำให้ส่งเสริมการศึกษาได้ผมคิดว่าเราต้องร่วมช่วยกัน ผมอยากกราบเรียนท่านประธานว่าผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะว่าเราก็ ลูกชาวบ้าน มีโอกาสมานั่งที่นี่ พูดอะไรได้ก็เพราะเราได้เรียนหนังสือ ถึงได้คิดโครงการที่ให้ คนได้เรียน ไม่ต้องไปอยู่วัด พวกผมต้องอยู่วัดสมัยเด็ก ๆ เพราะว่ามันไม่มีทางไปอย่างอื่น และบัดนี้สถานการณ์มันเปลี่ยน ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีก็อาจจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ สถานที่นั้นผมอยากกราบเรียนว่าท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะต้องช่วยดูด้วยตัวเองนะครับ เหมือนที่สภานี้เคยขอที่เพื่อจะทำที่บ้านพักให้กับข้าราชการสภาระดับปฏิบัติการ พูดง่าย ๆ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ขอเท่าไรก็ยาก ที่ของสภาที่มีอยู่กระทรวงมหาดไทยก็เอาไป ก็เลยต้อง ไปขอนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ โดยตรง ก็ได้มา ๙ ไร่ เดิมขอสักครึ่งหนึ่ง แต่ในที่สุด ก็ได้มาทั้งหมด เพราะฉะนั้นท่านนายกรัฐมนตรีมาดูเรื่องนี้ แล้วหาที่ให้กับสถาบันเขา เพราะว่าสถาบันเขามีศักดิ์ศรีมีเกียรติมายาวนานเกือบ ๑๐๐ ปี ถ้าจะใช้ที่ก็ต้องเหมาะสม และงบประมาณที่จะต้องให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาสร้างสิ่งที่ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลง ผมกราบเรียนฝากไว้เพียงเท่านี้ครับ แล้วก็ท่านรัฐมนตรีจะตอบหรือไม่ก็ได้ ว่าปีที่ ๑ นั้นจะเรียนที่เดิมหรือจะให้ไปที่อื่น กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญ ท่านนายกรัฐมนตรีครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผ่านไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ก็ขอขอบคุณ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีชวน ที่ช่วยกรุณาย้ำอีกทีหนึ่งเรื่องความสำคัญของการศึกษาไทย ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญนะครับ ก็ขอขอบคุณว่ามีข้อเตือนเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการสะกิดใจว่าให้เราทั้งคณะรัฐมนตรี จริง ๆ แล้วต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะจริง ๆ แล้วไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวหรือกระทรวง อว. อย่างเดียว อย่างเช่น กระทรวงการคลังเองก็ต้องมีส่วนในการหาสถานที่ให้เหมาะสมนะครับ ผมเชื่อว่า หลาย ๆ ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี่รวมถึงตัวกระผมเองก็โชคดี แต่ละคนก็มาจากรากฐานของ Family หรือครอบครัวที่แตกต่างกันไป ผมเองผมก็เข้าใจถึงความจำเป็นของด้านการศึกษา แล้วก็สำนึกตลอดเวลาว่าบางคนก็โชคดี อย่างเช่น ลูกผมเองก็ได้มีโอกาสไปเรียน ในสถานศึกษาที่ดีที่มีชื่อเสียงระดับโลก เราก็ไม่เคยลืมตรงนี้ แล้วก็เห็นถึงความสำคัญของ ชีวิตหลังการศึกษาแล้วก็มีหน้าที่มีการงานทำที่เหมาะสมที่เป็นเกียรติ ผมเองผมในฐานะ ตัวแทนของพี่น้องประชาชนก็อยากให้ลูกหลานพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นยากดีมีจน จะอยู่ต่างจังหวัดหรือจะเรียนที่วัดหรือจะอยู่ที่ไหนก็ตามที อยากยกระดับการศึกษาของ ทุก ๆ ท่านให้โชคดี ให้มีที่เรียนอย่างเหมาะสมนะครับ ก็ขอย้ำเรื่องสถานศึกษาอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีได้บอกมาว่าต้องดูแลเป็นพิเศษ ก็ยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะพยายาม ไปหาสถานที่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งกระผมเองก็เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย ก็จะไปดูให้เป็นพิเศษ ก็ขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะ ข้อเตือนใจทุก ๆ ข้อครับ ขอบคุณครับ

นายชวน หลีกภัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผมหมดเวลา แล้วครับ ไม่ถามคำถามที่ ๓ ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. กระทู้ถาม นายโสภณ ซารัมย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญท่านโสภณ ซารัมย์ คำถามที่ ๑ ครับ

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม โสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กระผมขอตั้งกระทู้ ถามด้วยวาจาที่จะถามต่อท่านนายกรัฐมนตรี ก่อนอื่นกระผมต้องขอบคุณท่านสมาชิกของ พรรคภูมิใจไทยที่ได้ให้โอกาสกระผมในการใช้เวลาที่จะตั้งกระทู้ถามในครั้งนี้ แล้วก็ต้อง กราบขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณามาตอบกระทู้ในครั้งนี้ ผ่านท่านประธานสภา สิ่งที่กระผมจะนำเรียนต่อท่านประธานสภา ต่อคณะรัฐบาล ในโอกาสที่ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้เดินทางมาตอบกระทู้ที่สภาในวันนี้ ผมจะใช้เวลาในการถามปัญหาของชาติ ในการบริหารเวลาโอกาสดี ๆ แบบนี้อย่างคุ้มค่า สิ่งที่ผมจะนำมาเรียนต่อสภาแห่งนี้ ในโอกาสที่ได้ใช้เวลาในการถามกระทู้ด้วยวาจาครั้งนี้ ผมจะขออนุญาตท่านประธานสภา ถามท่านนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้พร้อมกัน ๓ คำถาม แล้วก็จะอธิบายเพื่อประกอบคำถาม ประเด็นที่ผมจะถามท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานสภา ก็คือ ๑. ท่านได้ดำเนินการ แก้ปัญหายาเสพติดอย่างไรบ้าง อันนี้เป็นคำถามที่ ๑ คำถามที่ ๒ จากการที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบัดนี้ได้มีผลการดำเนินการอย่างไร คำถามที่ ๓ ขอทราบนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ก่อนที่ ท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ตอบคำถาม ผมขออนุญาตท่านประธานสภาได้นำเรียนถึงปัญหา ที่ประกอบคำถามที่ผมได้ถามไป

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

เรื่องแรกที่ผมจะนำเรียนก็คือเรื่องยาเสพติด ท่านประธานสภาครับ ท่านนายกรัฐมนตรีครับ วันนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติด ถ้าเรายังมองปัญหานี้แก้ปัญหา โดยมองโลกสวย ผมว่าแก้ไม่ได้หรอกครับ ถ้าเปรียบปัญหายาเสพติด ถ้าเปรียบกับผู้ป่วย วันนี้โคม่าครับ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผมจะนำเรียนต่อสภาแห่งนี้ ก็คือต้อง ผ่าตัดต้องปฏิรูปทั้งองค์กรทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราจะมองว่า จากสถิติที่ผมได้เสนอต่อท่านประธานสภา เหมือนว่าสถิติจะลดนะครับ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ลดอย่างที่ผมได้ข้อมูลมา มันไม่ได้ลดอย่างนั้นครับ กลับทวีความรุนแรง เพิ่มอย่างน่ากลัว ในอดีตผู้ที่ติดยาเสพติดจะมีอยู่เฉพาะในวัยแรงงาน แต่มาวันนี้ผู้เสพ ยาเสพติดลงลึกไปจนถึงนักเรียนและเยาวชน แล้วปัญหายาเสพติดทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะ เรื่องยาบ้าอย่างเดียว ปัญหายาเสพติด ขณะนี้ก็คือยาบ้า ยาไอซ์ แล้วที่กำลังระบาดเป็นแฟชั่น อยู่ในขณะนี้ที่เป็นน้องใหม่ แต่น่ากลัวก็คือกระท่อม ๔ คูณ ๑๐๐ ก็คือ เอาใบกระท่อมไปต้มผสมยาแก้ไอ แล้วก็ไปบวก กับสารปรอทที่อยู่ในหลอดไฟฟ้า Fluorescent อันนี้กำลังระบาด และที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ กำลังมาแรงในหมู่เยาวชนนักเรียนก็คือบุหรี่ไฟฟ้าวันนี้ผมโชคดีที่ได้ถามปัญหานี้ต่อท่าน นายกรัฐมนตรีผ่านสภานี้ เพราะว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้กระผมได้ร่วมกับอำเภอลำปลายมาศ อำเภอหนองหงส์ อำเภอคูเมืองอำเภอพุทไธสง อำเภอบ้านใหม่ และอำเภอนาโพธิ์ได้ทำ Workshop การแก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ โดยได้เชิญนายอำเภอ ผู้กำกับหัวหน้า สถานีตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ ผอ. โรงพยาบาล ครู ผู้นำท้องถิ่น แล้วก็ผู้นำท้องที่ เราได้มา ประชุมเพื่อทำ Workshop การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ระดมปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ใน ขณะนี้ จึงได้ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่ระบาดกันอย่างรุนแรงนี้ก็คือ ๑. ยาเสพติดมี หลากหลายประเภท แล้วก็หาง่ายราคาถูก ฉะนั้นเมื่อหาง่าย ราคาถูก หลากหลายประเภท มันก็นำไปสู่การระบาด ที่สำคัญที่สุดก็คือจากที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ที่กราบเรียนท่านประธาน ก็คือวันนี้เราไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่าแต่ละวันเราจะมีภาพข่าวในหน้าสื่อ ลูกฆ่าพ่อ พ่อฆ่าลูก สามีภรรยาฆ่ากัน เกิดเหตุความรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ข้อสรุปที่เรา ดำเนินการ ที่ได้ทำ Workshop ระดมพลังสมองในการแก้ปัญหาคราวนั้น จึงได้รับข้อเสนอ ว่าสิ่งที่จะป้องกันได้ของยาเสพติดครั้งนี้ก็คือนอกจากในผู้เสพยาเสพติดที่มีอยู่ ๓ ระดับ ระดับที่ ๑ ก็คือผู้เสพเป็นครั้งคราว ระดับที่ ๒ ก็คือเสพเป็นประจำ ระดับที่ ๓ ผู้ป่วยจิตเวช เรามีข้อสรุปว่าทำอย่างไร ระดับที่ ๑ เสพครั้งคราวจะไม่ไปพัฒนาไปจนถึงเสพประจำ เราให้ ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มาก ฉะนั้นจึงเป็นแนวทางที่ทางคณะได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะต้องทำชุมชนให้เข้มแข็งให้ได้ เราได้เห็นว่าจากที่นักเรียนก็ก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง นี่ ก็เกี่ยวกับกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงกราบเรียนท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรีว่า กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เอื้อต่อผู้ปฏิบัติจริง ๆ ครับ ผมยกตัวอย่าง อย่างเช่นมาตรา ๑๑๔ ผู้เสพ ผู้ครอบครองเป็นเสมือนผู้ป่วย ตำรวจเมื่อมีการเสพหลอนก็ไปดำเนินการจับกุม คนกลุ่มนี้ เมื่อจับคนกลุ่มนี้กฎหมายมีบอกว่า ถ้าสมัครใจบำบัดต้องไปบำบัด ไปบำบัดก็คือ ส่งไปที่สถานพยาบาล สถานพยาบาลทำอะไรไม่ได้ครับ อย่างน้อยก็คัดกรอง แล้วก็ให้กลับ บ้าน ก็เป็นปัญหาอีกว่าชุมชนก็ไม่เข้าใจว่าตำรวจจับแล้วปล่อย ที่จับแล้วปล่อยก็เพราะว่า กฎหมายมันบังคับไม่ได้ มันก็จำเป็นจะต้องปล่อย แล้วก็ไปจับมาใหม่ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นประเด็นเรื่องยาเสพติดกระผมเห็นว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ ต่อเศรษฐกิจของ ประเทศชาติ วิกฤติครั้งนี้อาจจะมากเท่า ๆ กับวิกฤติที่เรากำลังพบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจหรือวิกฤติทางการศึกษา จึงอยากให้รัฐบาลได้เห็นความสำคัญอย่างที่กระผมได้ถาม ท่านนายกรัฐมนตรีผ่านท่านประธานสภาไปแล้ว

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมจะต้องอธิบายความในคำถามของผมก็คือการที่ นายกรัฐมนตรีได้แก้ไข เรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 กราบเรียนอย่างนี้นะครับท่านประธาน ที่เคารพ ในอดีตนี้เข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในเมือง ฉะนั้น PM2.5 ไม่ว่าจะเกิด จากภาคอุตสาหกรรม เกิดจากการคมนาคม ที่สำคัญก็คือเกิดจากภาคการเกษตร วันนี้ถ้าเรา ได้ติดตามก็จะเห็นว่าภัยอันตรายของ PM2.5 ในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพมหานคร อีกด้วยซ้ำ แต่ว่าประชาชนไม่รู้ครับ ฉะนั้นการสร้างองค์ความรู้ ผมยังมองไม่เห็นว่ารัฐจะ สร้างมาตรการที่จะให้ประชาชนตระหนักในเรื่องการเผาที่จะให้เกิดมลพิษ แล้วก่อให้เกิด PM2.5 ยังไม่เห็น จึงขอทราบรายละเอียดจากท่านนายกรัฐมนตรี

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ประเด็นสุดท้าย เรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ก็ได้ผลจากที่เราจะเห็น นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากอยู่ในขณะนี้ ด้วยมาตรการที่ท่านไป ทำ Free Visa เองอะไรก็ตาม แต่ว่าประเด็นที่ผมจะต้องกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานสภาก็คือว่า วันนี้เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศแล้ว รัฐบาลหรือ นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรจึงจะแชร์รายได้ของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นไปยังต่างจังหวัดหรือ จังหวัดที่เป็นเมืองรอง เท่าที่เราทราบ เท่าที่เราเห็น เท่าที่ปรากฏก็คือนักท่องเที่ยว มากรุงเทพมหานคร แล้วก็พัทยา จังหวัดภูเก็ต แต่ประเทศไทยมันมีมากกว่านั้น ฉะนั้น คือขอทราบว่าประเด็นเหล่านี้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะทำ เรื่องกระจายการท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคได้อย่างไร อันนี้ประเด็นขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ตอบนะครับ แล้วผมกราบเรียนท่านประธานว่าผมจะขอใช้เวลาที่เหลือของผมได้ฝาก ประเด็นอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านนายกรัฐมนตรีครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผ่านไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอขอบคุณครับท่านสมาชิกที่ถาม คำถามมาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่พี่น้องประชาชนให้ความห่วงใยอย่างมาก ก็มีเนื้อหาสาระ เยอะเลยครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

ข้อแรก ขอพูดถึงเรื่องของยาเสพติดก่อนก็แล้วกัน ปัญหายาเสพติดนี้จริง ๆ เป็นที่ประจักษ์ดีอยู่แล้วว่าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านในที่นี้ ผมเชื่อว่าตอนที่เราลงพื้นที่ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ที่ท่านกลับพื้นที่ไปนี่ เรื่องหลักเลยนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ แล้วก็ เรื่องปัญหายาเสพติด จริง ๆ แล้วผมก็ขออนุญาตเรียนตัวเลขที่มันดีขึ้นมา แต่ผมก็จะมี เรื่องของปัญหา เรื่องของทางออกไป แต่ขออนุญาตเรียนเรื่องตัวเลขก่อนแล้วกันว่าตั้งแต่ ๔ เดือนปลายปีที่แล้วเราจับผู้ค้ารายย่อยเพิ่มมากกว่าปีก่อน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๓๑,๐๐๐ เคส ยาบ้าก็จับได้มากกว่าปีก่อน ๒ เท่า กว่า ๒๕๐ ล้านเม็ด เราเน้นจับรายใหญ่ ไม่ให้ไปกระจายต่อนะครับ รายใหญ่ที่ขายได้ ๕๐๐,๐๐๐ เม็ดขึ้นไปจับได้กว่า ๖๒ เคส ยึดทรัพย์มากว่า ๒,๕๐๐ ล้านบาทนะครับ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตัวเลข ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเกิด เราจะดูในแง่ดีมันก็ดี แต่ว่าถ้าเกิดเรามัวแต่ดูในเรื่องที่ดี ๆ แล้วก็พยายามที่จะไม่พูดถึงปัญหา จริง ๆ ที่มันยังมีอยู่ จริง ๆ แล้วถึงแม้เราจะจับเยอะขนาดไหนก็ตาม ก็ยังเป็นที่น่าไม่สบาย ว่าราคายาบ้าเองก็ไม่ได้ขึ้น ถ้าเราจับได้เยอะจริง ๆ Supply มันถูกตัดไปเยอะ มันก็น่าจะขึ้น มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นการบ้านของรัฐบาลก็ยังมีอีกเยอะพอสมควร ตรงนี้ต้องยอมรับนะครับว่าปัญหา ยาเสพติดก็ดี แล้วปัญหารากเหง้าของปัญหาคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การที่พี่น้องประชาชน ต้องประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ รายจ่ายสูง รายได้น้อย ก็อาจจะเกิดความหมดหวัง ซึ่งมันอยู่มานานมากแล้วหลายปีแล้ว รัฐบาลนี้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะว่า เราเองเราตระหนักดีถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นมานะครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เรื่องอื่น ๆ ที่เราพยายามจะทำอยู่ก็คือ เรื่องของการที่สังคมมีประเด็นสงสัย ว่ายาที่จับได้แล้วใช้เวลานานเหลือเกินในการที่จะทำลาย รัฐบาลนี้มีนโยบายชัดเจนครับ เราพยายามจะจับพิสูจน์ทราบให้ได้ แล้วเก็บ Sample เล็ก ๆ ไว้ แล้วที่เหลือให้มีการทำลาย ล้างโดยเร็ว เพื่อที่จะตัดปัญหาที่สังคมมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการรั่วไหลนะครับ ตรงนี้ก็เป็น เรื่องที่เราให้ความสำคัญสูงนะครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เมื่อสักครู่นี้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กรุณาพูดถึงเรื่องน้ำกระท่อม ซึ่งถือว่า เป็นยาเสพติดชนิดใหม่ ซึ่งวัยรุ่นให้ความสำคัญอย่างมาก แล้วก็เป็นเรื่องที่เริ่มแพร่กระจาย ไปเร็ว ก็ต้องขอขอบคุณนะครับว่าผมไปพบปะกับท่าน สส. ท่านสมาชิกสภามานี้ ขอเอ่ย จังหวัดก็แล้วกันว่าเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ท่านเองท่านก็มาชี้แจงว่าน้ำกระท่อมนี้ขายตาม สี่แยกอย่างแพร่หลายเลย ผมเองผมไม่เคยทราบ ก็ต้องยอมรับว่าไม่เคยทราบ วันนั้นก็เลย โทรศัพท์เรียกทางด้านผู้บัญชาการตำรวจประจำนายกรัฐมนตรีมา เพื่อให้ไปสั่งการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้มีการกวาดล้างโดยเร็ว ลงพื้นที่ควบคู่ไปกับการปกครอง แล้วก็ สมาชิกของจังหวัดด้วยก็มีการกำจัดได้ภายใน ๑ อาทิตย์ แล้วก็พยายามที่จะกระจายไปทำ ในจังหวัดต่าง ๆ ถ้าเกิดท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติมีปัญหาตรงนี้ในพื้นที่ท่าน ก็ขออนุญาต แจ้งมา เราจะได้เข้าไปช่วยจัดการกันแบบทันควัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เรื่องของปัญหายาเสพติด ที่จริงเราก็ต้องโยงไปถึงเรื่องปัญหาของเพื่อนบ้าน ด้วยนะครับ ก็ต้องยอมรับครับว่าประเทศที่ตอนนี้มีปัญหาภายในเยอะมากก็คือ ประเทศพม่า เรามีชายแดนติดกับเขาประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ประเทศไทยได้รับมอบหมายมาจาก อาเซียนให้เป็นประเทศที่ต้องมีการเจรจากับฝ่ายพม่า ก็เป็นที่น่ายินดีครับเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้มีมหาอำนาจ ๒ ประเทศ ส่งผู้นำระดับ Top มาเจรจากันพูดคุยกันในหลาย ๆ ปัญหา ผมเองก็ได้เจรจา แล้วก็อธิบายให้ฟังว่าปัญหาที่เขามีภายในพม่ามันส่งผลมาถึงเรา ไม่ว่า จะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติดเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ทะลักเข้ามาตามชายแดนเยอะมาก แต่ก็ต้อง ขอขอบคุณทางกองทัพไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือระหว่างการปกครองระหว่าง สส. พื้นที่ แล้วก็กองทัพบก โดยแม่ทัพภาคที่ ๓ ได้มีการสกัด Border ได้อย่างดีมาก แล้วก็จับได้ เยอะมาก เราพยายามทำตรงนี้ เพราะว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหาภายใน เรื่องของ เงินก็เป็นเรื่องสำคัญ เขาต้องการเงิน ง่ายที่สุดก็คือผลิตยาแล้วส่งมาขายในประเทศเรา ตรงนี้ เราก็ไม่ยอม ก็พยายามที่จะพูดคุยและชี้แจงให้ประเทศมหาอำนาจทั้ง ๒ ประเทศทราบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่เรามีส่วนได้เสียอย่างมาก ท่านผู้นำทั้ง ๒ ประเทศก็เข้าใจ แล้วก็รับไปปฏิบัติ เราเองเราก็มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนในอนาคตผมว่าเรื่องนี้เราก็ ยังต้องให้ความสำคัญต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสกัดการเข้ามาของยาเสพติดที่เข้ามา ตามชายแดน ปัจจุบันนี้ทางภาคเหนือทำได้ดีแล้ว ก็ไปโผล่ทางภาคกลางทางกาญจนบุรี ด่านนี้ก็มีปัญหาเยอะ เราก็ต้องสู้กันไป เรื่องของการบำบัดคืนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ให้เป็น บุคคลที่มีคุณภาพ มีอาชีพที่ดีสู่อ้อมกอดของพ่อแม่พี่น้องเขา ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วรัฐบาลนี้ก็จะทำอย่างต่อเนื่องต่อไปนะครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เรื่องของ PM2.5 ซึ่งก็เป็นกระทู้ที่มาตรงเวลาพอสมควร เพราะปัจจุบันนี้ ในกรุงเทพมหานครก็เริ่มมีปัญหาแล้ว ก็ต้องเรียนยืนยันอีกทีหนึ่งว่าปัญหา PM2.5 ก็เป็น ปัญหาที่มีรากเหง้ามาจากปัญหาเศรษฐกิจ เพราะว่าการใช้ไม้ขีดก้านเดียวนี้ถูกมากในการ ที่จะเผาตอข้าว ซังข้าวโพด เพราะฉะนั้นก็เป็นความที่เราต้องดูแลให้ดี ไม่ให้มีการทำเกิดขึ้น ไม่ให้เป็นเรื่องของการไถกลบหรือให้องค์ความรู้กับเกษตรกรให้ดี ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับนะครับว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญนะครับ ทางฝ่ายนิติบัญญัติเองเราก็ มีท่านจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธาน กรรมาธิการในการผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งก็รวมกับร่างของประชาชนและ พรรคการเมืองอีก ๖ ฉบับ ได้ส่งเข้าสู่สภาแล้ว ภายในประเทศตัวเลขหลาย ๆ ตัวบ่งชี้ไปว่า Hotspot ในประเทศในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาได้มีการลดลงอย่างมีนัย แต่ว่า ก็น่าเสียดายเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เรามีเพื่อนบ้านอาจจะเข้าใจน้อยหรือว่ายังไม่มีปัจจัย ในการที่ตรวจสอบเยอะเท่าเรา เพราะว่าเขาเองเขาก็ปลูกพืชผลเหมือนกัน ก็เลยยังมี การเข้าใจผิดในการที่จะกำจัดซากวัชพืชเหล่านี้ขึ้นมา ผมเองก็ให้ความสำคัญตรงนี้ เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับท่านนายกรัฐมนตรีกับทางประเทศกัมพูชา เมื่อวานนี้ก็มีการเจรจา เรื่องของทวิภาคีกัน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่หยิบยกมาพูดกัน ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นความโชคดี ด้วยแล้วก็มีปัญหาแฝงมาด้วยก็คือว่าราคาข้าวดีเหลือเกินในช่วงที่ผ่านมา แล้วก็ทาง พี่น้องประชาชนเองก็อยากจะทำ Crop ที่ ๒ ขึ้นมา ก็มีการเร่งเผาเร่งอะไรกันขึ้นมา ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทยอย่างเดียว โอกาสนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาด้วยเหมือนกัน ก็ได้มีการพูดคุยกันทั้ง ๒ ฝ่าย โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอง ก็มีสายตรงถึงทาง Counterpart ของประเทศกัมพูชาด้วย แล้วก็จะมีการพูดคุยแล้วก็มี การแชร์ข้อมูล และมีการตรวจจับ ปราบด้วย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทางผมเองก็มีการสั่งการ คณะรัฐมนตรีไปว่าให้มีการใช้มาตรการ Negative Incentive ในการที่จะมีการกำจัด เรื่องของการเผาป่า ถ้าเกิดเกษตรกรรายใดยังมีการเผาอยู่ก็อาจจะถูกตัดสิทธิในการที่ได้รับ ความช่วยเหลือจากรัฐบาล ใครที่ทำผิดกฎหมายก็อาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยต่อไป เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เราก็ไม่ใช่แค่ Negative Incentive อย่างเดียวนะครับ เราก็ให้ความช่วยเหลือด้วย ในแง่ของการจัดหน่วยงานต่าง ๆ ไปช่วยเหลือในการขนวัชพืชเหล่านี้เข้ามาเผาทำ Biodiesel หรือว่าเป็นการทำถ่านไร้ควัน หรือว่าในการทำปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้ เราเองเราก็มีการให้ความรู้ต่อพี่น้องเกษตรกร อย่างต่อเนื่องนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ก็เป็นที่น่ายินดีนะครับว่าตัวเลข ที่ผ่านมาก็ดีขึ้น แต่ว่าทางภาคเหนือเองก็จะเข้าสู่ High Season ในวัน ๒ วันนี้แล้ว แล้วเรื่อง การท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นทุก ๆ คนมีมือถือ สามารถดู Index ของอากาศ ที่ไม่บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะทำร้ายเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งก็โยงไปที่ปัญหาของ กระทู้ที่ ๓ ที่ท่านได้กรุณาตอบมาว่าการท่องเที่ยวเราอย่างไรนะครับ ตรงนี้เราก็ตระหนักดี เพราะว่ามีผลต่อเนื่องอย่างมากเลยนะครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เรื่องของมาตรการกระตุ้นเรื่องของการท่องเที่ยว แน่นอนครับ รัฐบาลนี้ลงทุนเยอะมากโดยการที่เราออกนโยบายต่าง ๆ มาเพื่อที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็น Quick Win แล้วก็มี Long Term Benefit ที่ชัดเจนที่สุด เพราะว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวดีมาก ไม่ใช่แค่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ พัทยา อำเภอหัวหิน กรุงเทพมหานครอย่างเดียวนะครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติก็คงได้บอกมาแล้ว ว่าเมืองรองก็เป็นเรื่องสำคัญ เราเองเราก็อยากที่จะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวกระจายตัว ไปเมืองรองเพื่อเป็นการกระจายรายได้ เรื่องเหล่านี้ก็ผ่านทางโครงการ Soft Power ให้มี การทำเรื่องของ Festival นิทรรศการต่าง ๆ ให้ทั้งปี ไม่ใช่ว่าจะมีแค่ High Season ในแค่ ของช่วงเดือนมกราคมหรือเดือนธันวาคมอย่างเดียว ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามจะ สนับสนุนด้วย แต่แน่นอนครับ เรื่องของนโยบายอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา ของเมืองรองได้ การคมนาคมก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านี้ผมเชื่อว่าทางท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการสุรพงษ์ ได้ตอบไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการขนส่งในต่างจังหวัด ผมก็จะขอแถม อีกนิดหนึ่ง เรื่องของการยกระดับสนามบินทั้งประเทศ ซึ่งก็ขออนุญาตเผยนิดหนึ่งก่อนที่จะมี การแถลงใหญ่ตอนต้นเดือนหน้าว่าเรามีการ Plan ที่จะ Upgrade เรื่องของสนามบิน ทั่วประเทศนะครับ เมืองรองบางเมืองไม่มีไฟ หรือว่าไม่สามารถเป็นสนามบินนานาชาติได้ เราก็จะไปดูตาม ความเหมาะสม และยกระดับตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ สามารถเข้าสู่เมืองรองได้นะครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติก็เป็นตัวแทนของพี่น้องหลาย ๆ จังหวัด ก็อยากเห็นมีการสร้างสนามบินหรือมีการ Update สนามบินที่ดีขึ้นนะครับ ตรงนี้ เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แล้วก็ในวงเล็กของอาเซียนก็มีการพูดคุยกันในหมู่รัฐมนตรี รัฐมนตรีสุดาวรรณเองก็เพิ่งไปประชุมมาที่ประเทศลาวเมื่อวานนี้ โดยนโยบายที่ทางผม เป็นผู้นำในการที่จะทำให้หลาย ๆ ประเทศที่อยู่ติดกับเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ประเทศบรูไน ให้มีการพูดคุยกันว่าเรามี ๖ ประเทศ ๑ Destination ให้การเข้าออกของประเทศเหล่านี้ ถ้าเกิดเวลามาแล้วประเทศ ไทยสามารถไปต่อประเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องขอ Visa หลายท่านก็ทราบอยู่แล้วว่ามันมี นโยบายทางด้าน Schengen ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถทำให้เข้าออกได้ดี ถ้าเกิดการคมนาคม เป็นไปได้ด้วยดี เขาก็อยากมาเที่ยวแถวนี้เยอะขึ้น เราเองเราไม่ได้มองเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง เรามองว่าเรามาเสริมซึ่งกันและกัน แล้วก็ Hub ของการบินของเราก็ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ เราก็ มีการได้เปรียบ แล้วก็จะมีการช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนบ้านเราให้เติบโตไปด้วยกันกับวงการ ท่องเที่ยว แน่นอนครับ เวลาเขามาเขาก็มีความหลากหลายของความต้องการ เพราะฉะนั้น เรื่องของการตอบสนองเรื่องของเมืองรอง ผมเชื่อว่าเราสามารถตอบได้แน่นอนนะครับ ในหลาย ๆ เมืองก็มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศหลาย ๆ ท่านให้ความสำคัญ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเรามีการคุยกับทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศจีน ท่านหวัง อี้ (Wang Yi) ก็มีการเซ็นเรื่องสัญญา วันที่ ๑ มีนาคม เป็นต้นไป เราจะมี Visa Free ทั้ง ๒ ประเทศอย่างถาวรก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะครับ เรื่องนี้เราก็ไม่หยุดยั้ง ผมเดินทางไปที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ไปเจอท่านประธานาธิบดีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วก็ นายกรัฐมนตรีเบลเยี่ยม ท่านประธานรัฐสภาของ EU ก็มีการคุยกันว่าเรื่องของ Schengen Visa ที่เวลาเข้ายุโรป เราก็อยากให้มีการยกทั้ง ๒ อันเหมือนกันนะครับ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็น หน้าที่ของทางฝ่ายบริหารที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ เรื่องของประชาชนต่อประชาชนที่มีการแลกเปลี่ยนกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ก็จะทำให้ ทางเราสามารถมีการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น แน่นอนครับ หลากหลายของความต้องการของ นักท่องเที่ยว ก็จะส่งผลต่อเมืองรอง ยืนยันนะครับว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่จังหวัด ใหญ่ ๆ อย่างเดียวนะครับ เพราะว่าทางตัวผมเองก็เดินทางไปทั่วประเทศมาแล้วนะครับ เข้าใจถึงวัฒนธรรม เข้าใจถึงเรื่องดี ๆ ที่หลาย ๆ จังหวัดรองสามารถนำเสนอให้กับ นักท่องเที่ยวได้ ปลายเดือนนี้ก็จะเดินทางไป ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปดูเรื่องวัฒนธรรม ไปดูเรื่องอาหารการกิน ไปดูที่ตรงไหนรัฐบาลสามารถช่วยสนับสนุนทำให้มีการสร้าง โอกาสที่ดีให้กับพี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นวิธีการในการที่จะ ทำให้ปัญหาหมดไปนะครับ ตรงนี้ก็ยืนยันนะครับว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับทุก ๆ จังหวัด แล้วก็ขอขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอีกทีหนึ่งที่ได้กรุณา Raise ๓ ประเด็นขึ้นมา ทั้ง PM2.5 ก็ยืนยันว่ายังมีการบ้านที่ต้องทำต่อ เรื่องของยาเสพติดเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ อย่างมากนะครับ ก็ต้องมีการแก้ไขแล้วก็ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ แล้วก็เรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักของเรา ก็ขอขอบคุณสำหรับคำถามดี ๆ นะครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีครับ ท่านมีอะไรจะฝากไหมครับ เวลาเหลือ

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต ท่านประธานใช้เวลาของผมที่เหลืออยู่ ๒ นาทีนะครับ

นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือต้องกราบขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่เข้าใจ เป็นคำตอบ ในเรื่องยาเสพติดที่ผมโดนใจมาก ก็คืออย่าไปพอใจกับสถิติการจับครับ ขอให้พอใจกับ สภาพที่มันเกิดอยู่ ณ ปัจจุบัน คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ผมพอใจนะครับ เพราะว่าในอดีต ที่ผ่านมาแม้แต่การทำงานของตำรวจที่เราเอาสถิติมาวัด เอาไปเอามาเลยตำรวจก็เลี้ยงโรค ถ้าท่านยกเลิกสิ่งเหล่านั้น ถ้ามันไม่มีก็ไม่มี ถ้าจับไม่ได้ก็คือจับไม่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเอา สถิติมานะครับ ประเด็นที่จากการทำ Workshop ทั้ง ๖ อำเภอ ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ เป็นข้อสังเกตที่จะเสนอแนะไปยังรัฐบาลช่วยนะครับว่า ประเด็นที่กระผมตั้งข้อสังเกตที่จะ เสนอไปยังรัฐบาลก็คือ การปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดต้องถึงเวลาแล้วนะครับ งานปราบปรามและป้องกัน ยาเสพติดต้องมีเจ้าภาพหลักก็คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การลักลอบนำยาเสพติด เข้าในประเทศของเราต้องเป็นหน้าที่หลักของทหาร ส่วนชุมชนเข้มแข็งต้องเป็นหน้าที่หลัก ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีบุคลากร ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ต้องเป็น หน้าที่หลักให้งบประมาณไป ในเรื่องที่เราเห็นว่าสำคัญก็คือการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตระหนัก ถึงเภทภัยของยาเสพติด งานที่ ๔ ก็คือเรื่องสาธารณสุข วันนี้ต้องกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีอย่างจริงจังนะครับว่า โรงพยาบาลเอาผู้ป่วยจิตเวชไปรวมกับ ผู้ป่วยทั่วไปมันเป็นปัญหามากจริง ๆ ฉะนั้นจึงขอความกรุณาท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปลอง พิจารณาเรื่องการแยกผู้ป่วยจิตเวชออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพราะผู้ป่วยทั่วไปจะตายก่อนผู้ป่วย จิตเวชครับ ประเด็นที่จะฝากข้อสังเกตไปยังรัฐบาลก็คือมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ลดการเผา ฉะนั้น ๓ หัวข้อคำถามที่ผมได้กราบเรียนท่านประธานสภาไปยังท่าน นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ แล้วก็ได้รับคำตอบที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องกราบ ขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ จบกระทู้ถามด้วยวาจานะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีจะฝากอะไร เชิญครับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผ่านไปยังสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนะครับ ก็ขอขอบคุณท่านสมาชิกอีกทีหนึ่งที่ช่วยกรุณาเตือนมาว่าอย่าฟัง แต่เรื่องดี ๆ เรื่องที่เราต้องแก้ไข ยืนยันนะครับว่ายังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขกัน ยังมีเรื่องที่ต้องทำ การบ้านกันอีกเยอะ ๆ เรื่องที่ท่านกรุณาบอกมาเรื่องของการประสานงานของหลาย ๆ กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใช้กระทรวงมหาดไทย ใช้กองทัพ ใช้กระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพูดคุยกัน แล้วก็ยืนยันครับว่าเห็นด้วยนะครับ แล้วเดี๋ยวบ่ายนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามา ผมก็จะคุยเรื่องของการแยกผู้ป่วย ก็น้อมรับคำเสนอแนะครับ แล้วก็จะพยายามอย่างต่อไปที่จะทำให้ปัญหานี้หมดสิ้นไปครับ ขอบคุณครับ จำนวนประมาณ ๒๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่จำนวนไม่มาก ผมได้สั่งการ ไปแล้วว่า ให้รีบสำรวจภูมิประเทศและสำรวจธรณีให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗ เมื่อเสร็จแล้ว ให้รีบออกแบบเลยนะครับ ให้ควบคู่กันไป ขณะเดียวกันเมื่อออกแบบแล้ว ให้ขออนุญาต ใช้พื้นที่ป่าสงวน Zone C ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗ นี้นะครับ สรุปแล้วขั้นตอนต่าง ๆ ขอให้จบภายในปี ๒๕๖๗ หลังจากนั้นก็จะมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทุกขั้นตอน เมื่อกรมชลประทานทำตามขั้นตอนแล้ว กรมชลประทานต้องเสนอ สผ. เพื่อศึกษาผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดงบประมาณที่จะใช้ ผมสั่งการให้ใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี ๒๕๖๗ ทั้งหมดนะครับ เท่ากับว่าเรื่องนี้เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา และจังหวัดลำปาง ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อความเดือดร้อนพี่น้อง ไม่ใช่ภาคการเกษตร อย่างเดียว น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่เราก็ให้ความสำคัญสำหรับ พี่น้องชาวอำเภอเวียงชัย ดังนั้นโครงการนี้ตอบท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกว่า ผมได้สั่งการให้ดำเนินการทุกอย่างภายในปี ๒๕๖๗ โดยใช้งบเหลือจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ หลังจากนั้นขั้นตอนที่เราจะส่งให้ไปศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามให้ ให้แล้วเสร็จ ภายในเร็ววัน และเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้วก็จะเริ่มก่อสร้างทันทีนะครับ งบประมาณ จำนวน ๒๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่จะสามารถใช้เงินเหลือจ่ายปี ๒๕๖๗ ได้นะครับ ก็ฝากเรียนท่านประธานไปถึงท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ด้วยความเคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิถามในรอบที่ ๒ ครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานสภาค่ะ ก็อุ่นใจค่ะ ที่ท่านรัฐมนตรีได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนนะคะ แต่มีคำถามเพิ่มเติมอีกประมาณ ๒ คำถาม ก็คือว่า ๑. ในเรื่องของงบประมาณเหลือจ่ายนี้ ดิฉันเองยินดีมากค่ะ ที่ท่านเร่งรัด จัดการให้ เลยอยากทราบว่า ตอนนี้ถ้าสมมุติว่าเรื่องของ EIA ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ กี่ปีคะ อันนี้คำถามนะคะ แล้วก็อีกคำถามหนึ่งที่อาจจะเป็นภาพรวมไปเลยว่า อยากทราบ แนวทางบริหารหรือว่าจัดการว่า พวกอ่างเก็บน้ำที่เสียหายหรือชำรุดทรุดโทรม หรือ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านโสภณ ซารัมย์ ผู้ตั้งกระทู้สดท่านนายกรัฐมนตรี ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ ที่ได้มาตอบกระทู้สดในวันนี้ ก็อยากจะเรียนรัฐบาลว่าการตอบกระทู้สดของสภานั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในต่างประเทศ วันที่มีการถามตอบกระทู้สดนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็จะมาด้วยตัวเอง แล้วก็มาหลาย ๆ ท่าน เหมือนที่เราได้ทำ วันนี้นะครับ เพราะฉะนั้นทางสภาก็รู้สึกดีใจที่ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในกระทู้สด โดยท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มาตอบด้วยตัวเองในวันนี้นะครับ ก็ต้อง ขอขอบคุณครับ ต่อไปเป็นกระทู้ถามทั่วไป

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑.๒ กระทู้ถามทั่วไป

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

กระทู้ถามที่ ๑.๑ กระทู้ตอนต้นนั้นก็เลื่อนไป ๑.๓ กระทู้ถาม เรื่อง ขอให้ พิจารณาเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของนายชลธานี เชื้อน้อย ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันนี้ได้ถอนไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากว่านายชลธานี เชื้อน้อย ได้มีหนังสือแจ้งว่าขอถอน กระทู้ดังกล่าวออกไป ดังนั้นกระทู้นี้ก็ถือว่าตกไป ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๓ ต้องขออภัยด้วย นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. เรื่อง แนวทางการแก้ไขผังเมืองของประเทศไทยของ นายธีรัจชัย พันธุมาศ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน และในการนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนครับ ขอเชิญคุณธีรัจชัย พันธุมาศ ครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง พรรคก้าวไกลครับ ขออนุญาตท่านประธานสอบถามกระทู้ไปยัง นายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีนั้นได้ตอบเฉพาะกระทู้สด แต่กระทู้อันนี้ ท่านไม่ได้กรุณามาตอบด้วย แต่ไม่เป็นอะไรนะครับ ผมก็จะเรียนถามผ่านท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไปแทน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

แนวทางแก้ไขผังเมืองของ ประเทศไทย ก่อนอื่นผมขอพูดถึงเรื่องผังเมืองคืออะไรก่อน ผังเมืองคือกรอบการพัฒนา ทางด้านกายภาพในระดับประเทศนะครับ ภาค จังหวัด เมือง ชนบท พื้นที่ เป็นกรอบ ที่สำคัญครับ และผังเมืองที่ดีเรามีธรรมนูญแล้ว พอเราตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ปี ๒๕๖๒ เขาบอกว่าผังเมืองที่มีการวางผังเมืองต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก การวาง ผังเมืองต้องคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณประโยชน์ การผังเมือง ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็น นี่คือหลัก ๓ ข้อในธรรมนูญ ผังเมืองที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ปี ๒๕๖๒ ท่านประธานที่เคารพครับ เราดูผังเมือง ตรงนี้ขณะนี้ผังเมืองในระดับประเทศยังไม่ได้ทำ ผังเมืองระดับภาคยังไม่ได้ทำ แต่มีการทำ ผังเมืองระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานครซึ่งดูแล้วค่อนข้างจะแปลก มันต้องทำระดับ ประเทศก่อน ภาคและจังหวัด เรามาดูถึงจังหวัดก็จะทำว่าเขาทำอย่างไรและคลาดเคลื่อน ต่อหลักการที่ผมพูดเมื่อสักครู่หรือไม่ ผังเมืองถ้าดูตอนนี้กรุงเทพมหานครกำลังทำอยู่นะครับ สังเกตรูปแบบผังเมืองจะเป็นสีแดง ๆ นั่นคือที่หนาแน่นสูงพาณิชยกรรม สีน้ำตาล สีเหลือง ก็จาง สีเขียวนั่นคือพื้นที่ชนบท สีเขียวลายนั่นคือเป็นที่เขาเรียกว่า ที่อนุรักษ์ แล้วก็ชนบท เกษตรกรรม ในส่วนนั้นสีเขียวเกษตรกรรมนะครับ เราดูผังเมืองของประเทศไทยใน กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศ นั่นคือกระจุก แล้วกระจายไม่ได้ ขอดูภาพถัดมา ผังเมืองนี้คือเป็นผังเมืองของกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ครับ เขาไม่ได้กระจุก แบบประเทศไทย นี่คือผังเมืองที่ดีที่สุดในโลก ๑ ใน ๘ ของประเทศ เขาจะกระจายเป็น บล็อก ๆ เป็น Zone เข้าไป นั่นคือมีการกระจายประโยชน์ของประชาชน และการทำผังเมือง ประเทศเหล่านี้มี ๘ ประเทศนะครับ บาร์เซโลนา สเปน ไทเป ไต้หวัน สิงคโปร์ เมืองเหล่านี้ เป็นเมืองที่ทำผังเมืองมีเป็นบล็อก ๆ หมด ไม่มีแบบไทยนะครับ กลับไปภาพเหมือนเดิม ขออนุญาตนะครับ ของเรากระจุกแบบนี้ ถามว่าแล้วแบบนี้เราทำคือทำตรงข้ามกับประเทศ ที่พัฒนาทางด้านผังเมืองแล้ว ไม่ได้ทำได้ดีขึ้นมาเลย ในส่วนของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็น ประธานนโยบายผังเมืองระดับประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำกับ มีปลัด กระทรวงมหาดไทยเป็นประธานผังเมือง คณะกรรมการผังเมือง อธิบดีกรมโยธาธิการเป็น คนที่จะคอยโต้แย้งผังเมืองระดับจังหวัดได้ถ้าเกิดทำไม่ดี นี่ผมต้องให้รัฐมนตรีช่วยตอบด้วยว่า ท่านจะทำอย่างไร การทำผังเมืองเมื่อทำแล้วตามมาตรา ๙ เขาบอกว่า พ.ร.บ. ผังเมือง ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อ การที่ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทาง ชีวภาพและแนวทางเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน และต้องมีการฟังความคิดเห็นปรึกษาหารือการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ถามว่าการทำ ผังเมืองซึ่งตอนนี้กำลังทำอยู่ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นท้องถิ่นที่ทำนะครับ เขาได้ทำแบบนี้ หรือไม่ การฟังความคิดเห็นมีการฟังความคิดเห็นหลายครั้งเป็นสิบ ๆ ครั้ง แต่การฟังความคิดเห็นนั้นผมได้ไปฟัง ๔-๕ ครั้ง ได้เห็นชัดเจนว่ากรุงเทพมหานครนั้น ทำโดยให้มีการฟัง ๓ ชั่วโมงแล้ว ๒ ชั่วโมงเป็นการบรรยายโดยเอาภาพนี้ไปให้ถามว่า คนทั่วไปเข้าใจไหมครับ ว่าคืออะไร ไม่มีทางเข้าใจได้เลยครับ เสร็จแล้วเหลือเวลาประมาณ ไม่ถึงชั่วโมงให้พูดคนละ ๓ นาที นี่มันคือการฟังความคิดเห็นแล้วหรือครับ มันไม่ใช่ เมื่อวาน ผมได้เชิญกรุงเทพมหานครตัวแทนผังเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้มาส่ง ผอ. ผังเมือง กรุงเทพมหานครมาที่กรรมาธิการ ป.ป.ช. เขาก็รับว่าเขาทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็คือ ให้คนฟัง ๓ นาที ถามว่ามันตรงตามกฎหมายไหม นี่คือคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายนะครับ การประชาสัมพันธ์ เขาบอกว่าให้ประชาสัมพันธ์ทั่วถึงและทราบถึงวิธีการที่หลากหลาย และเพียงพอปัญหาความเดือดร้อนเยียวยาต่อผลกระทบด้วย ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ ถามว่าคนในห้องนี้มีใครรู้ไหมครับว่า กำลังทำผังเมืองกรุงเทพมหานครอยู่ ไม่มีครับ คนที่มาฟัง ผมไปฟังเขาบอกว่าเขาลองมาฟังว่าเป็นอย่างไร พอมาฟังแล้วก็พูดว่า ผังเมืองเขามีข้อดี อย่างโน้นอย่างนี้นะครับ เป็นอย่างนี้แล้วก็ถามว่าความมีส่วนร่วมตามหลักรัฐธรรมนูญ มันไม่ได้เกิดขึ้นในการทำผังเมืองของประเทศ เมื่อวานผมได้ถามว่าจะแก้อย่างไร เขาบอกว่า จะขยายไปอีก ๖ เดือน ให้ฟังความคิดเห็น แต่ภาคประชาชนเขาส่งข้อมูลให้ผมว่า การที่ ขยายหรือจะไปทำในแต่ละชุมชนนั้นก็ไม่ได้ทำ ยกตัวอย่างเช่น วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่เขตบึงกุ่ม วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๗ เขตบางบอน วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ เขตคลองสามวา วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ เขตบางเขน เขาทำแบบนี้นะครับ ไปงานประชุมเขต ซึ่งมีการประชุมเขตอยู่แล้วแล้วไปแทรก บอกว่าอธิบายเรื่องผังเมืองแค่ ๗-๘ นาที ถามว่าเรื่องผังเมืองเรื่องซับซ้อนเรื่องใหญ่แล้วประชาชนจะเข้าใจได้อย่างไร นี่คือการฟัง ความคิดเห็นแล้วหรือครับ เขาบอกว่าจะทำให้ทั้งหมด ๕๐ เขต แต่ก็ไม่ทำ เมื่อประชาชน ไม่เข้าใจ ไม่ได้ฟังความคิดและมีส่วนร่วม แล้วเราจะเป็นผังเมืองที่ดีได้อย่างไร มีข้อสังเกตมา จากภาคประชาชนว่าผลกระทบจากการไม่ฟังความคิดเห็นนี้มันส่อที่จะเอื้อต่อนะครับ มันส่อนะครับ ภาคประชาชนเขามีข้อสงสัยบอกว่าเอื้อต่อการอุ้มเอื้อประโยชน์ของกลุ่มทุน ผมขอยกตัวอย่างสัก ๒-๓ ตัวอย่าง เอาตัวแรกก่อนความไม่เป็นธรรม ในเขตหนองจอก เขต มีนบุรี เขตลาดกระบังเขตของผมเป็นพื้นที่ตะวันออกเป็นที่รับน้ำมาทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๓๕ ปี น้ำท่วม ๒-๕ เดือน ถ้าน้ำเหนือมาบรรจบฝนตกเกิน ๙ มิลลิเมตร และน้ำทะเลหนุนจะ ท่วม ๒-๕ เดือน ถามว่าผังเมืองควรจะวางแผนให้เขาพ้นได้ไหม จะต้องเป็นคนชั้นสอง ที่รับน้ำอยู่ตลอดทุกปีนั้นหรือ ถ้าผังเมืองกระจายแบบบาร์เซโลนาหรืออัมสเตอร์ดัมเขาจะไม่ ทำอย่างนี้ ไม่ปล่อยแบบนี้ นี่เราปล่อยแบบเดิมพื้นที่รับน้ำเหมือนเดิมนะครับ จะเอาออกได้ ไหมครับในส่วนนี้ หรือขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้ามาถึงแค่เขตมีนบุรี แต่ไม่ถึงเขตหนองจอก ไม่ถึงสุวรรณภูมิไม่เชื่อมโยงต่อกัน ถามว่าคนในเขตตะวันออก เขตหนองจอก เขตมีนบุรี และ เขตคลองสามวาจะต้องเป็นคนชั้นสอง ที่จะต้องไม่ได้รับบริการอย่างนั้นใช่หรือไม่ บริการไป อยู่สาธารณะ ทำไมไม่กระจายทั่วถึงละครับ โรงเรียนดี ๆ โรงพยาบาลดี ๆ ทำไมไม่ให้เขา ด้วยล่ะครับ หรือในส่วนของการค้า โอกาสในการทำเกษตร ถ้าบอกว่าจะให้เป็นเกษตร ทำไมไม่อุดหนุนเขา นี่คือสิ่งที่ความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม แต่ในกรุงเทพมหานครในคน ชั้นใน สีแดงขึ้นมาได้ประโยชน์ได้ราคาที่ดินขึ้น แต่ตรงนั้นเป็นสีเขียวที่ดินตกต่ำขึ้นมา บางทีไปขีดผังเมืองทับเขาครับ อย่างเช่น คุณรัชนี บูรพาธนะ เขามาร้องเรียนกับผมบอกว่า เขาถูกขีดผังเมือง ๒๐ ปี แล้วขายที่ไม่ได้ทำอะไรไม่ได้นั้น มรดกใช้การไม่ได้ เมื่อวานก็รับปาก ว่าจะแก้ แต่เดี๋ยวลองไปแก้ดูแล้วกันครับ นี่คือตัวอย่างประชาชนที่เดือดร้อน ถัดมา สส. ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ได้พูดแถลงสื่อไว้เสมอนะครับ มีที่จุดแดง ๆ คือสีแดงพาณิชยกรรม กระจายไปทั่ว สส. ศุภณัฐ กำหนดไว้ ๑๐ กว่าแห่ง แต่ กทม. ตอบได้เพียงแค่ ๑-๒ แห่ง แล้วจะแก้ไขและอธิบายไม่ได้ว่าสีแดงคือผังที่เป็นพาณิชยกรรมนั้นให้ใครบ้าง นี่เอื้อต่อกลุ่ม ทุนหรือไม่ ต้องตอบและต้องแก้ไข แล้วดูมาตรการด้วยเป็นอย่างไรบ้าง ถัดมาที่เขาตั้ง ข้อสังเกตว่า เอื้อต่อกลุ่มทุนอย่างไร ขอเปิดสไลด์อีกทีนะครับ ตรงนี้คือบึงรับน้ำคู้บอน ซึ่งอยู่ในเขตคันนายาวและเขตคลองสามวา มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่ เดิมก่อนหน้านั้น ปี ๒๕๖๕ มีการทำประชาพิจารณ์นะครับ อดีต สส. อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้เอามาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เห็นว่ามีอยู่ในปี ๒๕๖๕ แต่พอผังเมือง ฉบับนี้ที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นประชาชนนะครับ ไม่มีสีเหลืองครับ สีขาวนั้นเป็นบึงรับน้ำหนอง บอน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมนะครับ แต่สีเหลืองไม่มี อีกภาพหนึ่งครับ พอเขาตรวจสอบเขา มาแจ้ง จริง ๆ มีโฉนดด้วยว่าของใคร มีที่ดินที่เป็นโฉนดจัดสรรเรียบร้อยแล้ว ชื่อเจ้าของ โฉนดเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มีการจัดสรรแบ่งแปลงเรียบร้อยแล้ว ถามว่านี่ เอื้อต่อกลุ่มทุนหรือไม่ ขอบคุณ คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่นำเรื่องนี้มาเสนอผมได้พูดใน สภาแห่งนี้ นี่คือการทำผังเมืองที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นประชาชน ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ แต่มา หมกเม็ดแบบนี้ นี่คือเอื้อกลุ่มทุนให้ลองช่วยแก้ ท่านจะทำอย่างไรในฐานะท่านเป็นผู้บริหาร แล้วก็ต้องดูแลคณะกรรมการผังเมืองในส่วนตรงนี้ คำถามแรกอยากถามท่านนะครับ ท่าน จะมีวิธีการจัดการกับการทำผังเมืองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้อย่างไร ท่านจะแก้ปัญหาผัง เมืองที่ผมยกตัวอย่าง ๓ ตัวอย่าง แต่จริง ๆ มีเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นตัวอย่าง ที่เขตพญาไท เขตห้วยขวาง เขตดินแดง ก็มีการตัดถนนเข้าที่ของเขานะครับ โดยที่เขาไม่รับรู้ ท่านจะแก้ไข อย่างไร ตรงนี้ก่อนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญท่าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เชิญครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ต้องขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านธีรัจชัย พันธุมาศ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร ท่านประธานครับก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณท่านสมาชิก อย่างสูงยิ่งที่ได้ให้ความกรุณาให้ความสำคัญเรื่องการจัดทำผังเมือง ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญ ในการกำหนดทิศทางของการพัฒนา ผมดูจากที่ท่านได้พูดถึงเบื้องต้นว่ามีตัวอย่างหลาย ประเทศซึ่งเป็นแบบอย่างของการจัดทำผังเมืองที่มีความสำเร็จ แล้วก็เป็นประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชน ผมก็ชื่นชมท่านนะครับ แล้วก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ไปต่างประเทศหลายท่าน ด้วยกัน ท่านก็แนะนำว่าการจัดทำผังเมืองต้องแบบนั้นแบบนี้ เขาทำเป็นบล็อกบ้าง เป็นล็อกบ้าง ในแต่ละจุดอาจจะมีครัวเรือนพื้นที่แน่นอน ใครอยู่ตรงไหนรู้หมดเลย อันนั้น เป็นเรื่องของต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเราผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกครับว่า การดำเนินการอะไรก็แล้วแต่มันก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย เรื่องของผังเมืองเรามี พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แล้วก็มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ จากพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดประเภทของผังเมืองเป็น ๒ กลุ่ม ๕ ประเภท ดังนี้

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

๑. ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ได้แก่ ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค แล้วก็ผังนโยบายระดับจังหวัด

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

๒. ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้แก่ ผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งจากผังทั้ง ๒ กลุ่ม ได้กำหนดองค์ประกอบของผังให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้านต่าง ๆ ครบถ้วน รวมถึงการกำหนดให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจในการวาง และจัดทำผัง ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมีหน้าที่ในการวางและจัดทำ ผังเมืองอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถามกระทู้นะครับ ผมขออนุญาต ตอบดังนี้ การวางและการจัดทำผังเมือง และจัดทำเป็นองค์ประกอบครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งรวมถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ซึ่งในกระบวนการ วางผังที่เกี่ยวข้องกับการประสานหน่วยงานที่ดำเนินการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ได้แก่ แผนงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำร่างผังเมือง มีการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม รวมถึงในเขตจังหวัดเพื่อรับนโยบายและแผนระดับ จังหวัดนะครับ ที่ท่านได้กล่าวถึงเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร ก็เป็นงานของสำนักผังเมืองที่ได้ดำเนินการ เป็นไปตามกฎหมาย การประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ข้อเสนอแนะแนวทางแผนงานโครงการเพื่อประกอบการวางผัง มีการประชุมคณะ อนุกรรมการผังเมืองและคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ให้ความเห็น รวมทั้งได้กำหนดนโยบาย มาตรการและวิธีการเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของผังเมืองรวม เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์เป็น แนวทางในการจัดทำเพื่อพัฒนาแผนงานพื้นที่งบประมาณเพื่อพัฒนาตามแผนงานต่าง ๆ ผ่านสำนักงานงบประมาณ โดยมีผังเมืองรวมเป็นหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ยังมีธรรมนูญว่า ด้วยการผังเมืองที่เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องกับการผังเมืองพึงปฏิบัติ โดยมีบัญญัติ การผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วมีผลผูกพัน หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามหน้าที่และ อำนาจของตน ในหมวดหลักการเชิงนโยบายในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐพึงจัดทำ แผนงานให้สอดคล้องกับผังเมืองทุกระดับต่อไป อันนี้ผมเรียนท่านประธานนะครับว่า การจัดทำผังเมืองของประเทศไทยเรา เราก็ต้องทำตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้พึงปฏิบัติ พึงดำเนินการไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นนะครับท่านประธานว่า เราคงจะเอาเพียงตัวอย่างของบางประเทศมากล่าวถึงมันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น การดำเนินการ การจัดทำผังเมืองวางผังเมืองต้องว่าตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งเราได้มี กฎหมายซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสมาชิก โปรดเกล้าฯ ลงมา แล้วก็ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แล้วก็ทุกหน่วยงานราชการต้องบังคับใช้ด้วยกัน เบื้องต้น ขออนุญาตตอบเพียงเท่านั้นก่อน ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ คุณธีรัจชัย พันธุมาศ ถามเป็นครั้งที่ ๒ ครับ ท่านใช้เวลาไป ๑๐ นาที ๑๔ วินาทีแล้ว ก็โดยประมาณ ท่านก็สามารถจะถามได้อีก ๕ นาที แต่ท่านรัฐมนตรีใช้เวลาน้อยก็จะให้ ท่านถามต่อได้ในครั้งที่ ๓ นะครับ เชิญครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ธีรัจชัย พันธุมาศ ในส่วนของที่ท่านตอบมาอาจจะค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน อาจจะไม่ตรง กับที่ผมถาม ผมถามเรื่องทุนใหญ่ เอื้อต่อทุนใหญ่ ผมถามเขาไม่ทำตามกฎหมาย ไม่ฟังความคิดเห็น แล้วก็ที่สำคัญการทำผังเมืองของ กทม. ครั้งนี้ ตามกฎหมาย มาตรา ๙ ก่อนจัดทำผังเมืองต้องฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน แต่เขาเอาผังเมืองที่ทำสำเร็จรูปแล้ว ปี ๒๕๖๐ ปี ๒๕๖๑ เอามาฟังความคิดเห็นครับ ตรงนี้ท่านจะทำอย่างไรครับ เขาไม่ได้ฟัง ความคิดเห็นก่อนแล้วมาเริ่มจัดทำผังเมือง นี่คือกฎหมายไทยนะครับ ไม่ใช่กฎหมาย ต่างประเทศ ในต่างประเทศเขาทำกันครับ รัฐวิกทอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เขาฟังเป็น กรอบความคิด ๕ กรอบความคิดก่อนให้ประชาชนเลือก เลือกเสร็จปั๊บค่อยมาลงรายละเอียด นี่ทำสำเร็จรูปมาให้ฟังความคิดเห็น ถามว่ามันถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา ๙ ไหม ไม่ใช่ ท่านจะตอบอย่างไรครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ประเด็นถัดมานะครับ FAR Bonus ที่บอกว่าเอื้อต่อกลุ่มทุน เป็นกรณีที่ทำ บางสิ่งบางอย่างเพื่อสาธารณะ แล้วให้สามารถสร้างตึกสูงได้ทั้งหมดไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ กรณีอย่างนี้ไม่มีระบุว่าทำพื้นที่อะไร กิจกรรมอย่างไร ถ้าสร้างตึกสูงไปทำที่รับน้ำ ประมาณ ๑ ล้านบาท ๒ ล้านบาท แต่ไปสร้างสูงได้อีก ๑๐๐ กว่าล้านบาท นี่คือเอื้อต่อกลุ่มทุนชัด ๆ ถามว่าตรงนี้ท่านจะตอบอย่างไร และกรมโยธาธิการและผังเมืองสามารถคัดค้านได้นะครับ ตามมาตรา ๒๗ พ.ร.บ. ผังเมือง ปี ๒๕๖๒ ท่านจะคัดค้านไหม และให้ทำใหม่ไหม และการ ฟังความคิดเห็นนี้ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนผิดมาตรา ๙ เอาผังเมืองสำเร็จรูปมาให้คนฟังความ คิดเห็น แล้วไม่อธิบายให้เขาฟังก่อน แล้วมาฟังแบบนี้ถามว่าท่านจะยกเลิกไหม และทำใหม่ ตามกฎหมายประเทศไทย และตามแบบที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน ท่านจะทำได้ไหม นี่ คือคำถามที่ ๒ ท่านประธานครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ พอดีผมต้องขออนุญาตค่อย ๆ ตอบนะครับ เป็นประเด็น ๆ ไป ที่ท่านกรุณาให้เป็นคำถามและเป็นข้อสังเกต แล้วก็ได้พูดถึงเรื่องของการเอื้อประโยชน์กับ กลุ่มทุนอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นนะครับ ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า การจัดทำวางผังและการจัดทำผังเมืองทุกระดับได้มี การรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด ตามมาตรา ๙ แห่งพระบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ อันนี้ต้องเรียนยืนยัน เพราะว่าผมต้องพูดผ่านท่านประธานถึงท่านสมาชิกว่า มันมีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ส่วนราชการทั้งหลายจะทำอะไรที่นอกเหนือกว่า ที่กฎหมายกำหนดคงไม่ได้ละครับ เดี๋ยวนี้การตรวจสอบ ติดตาม ค่อนข้างจะเข้มงวดและ เคร่งครัด มีข้าราชการหลายคนอาจจะโดนเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มากมาย แต่วันนี้ผมมั่นใจเชื่อมั่นนะครับว่า เมื่อมี กฎหมายบัญญัติไว้แล้วทุกคนก็คงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ในการวางและ การจัดทำผังเมืองรวมทั้งในการดำเนินการมันมี ๘ ขั้นตอนด้วยกันนะครับ ประชาชนและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๑-๕ ซึ่งเป็นขั้นตอนในการ จัดทำร่างเป็นร่างผังเมืองนะครับ ไม่ใช่ผังเมือง เป็นการจัดทำร่างผังเมืองรวม ได้แก่ การประชุมสนทนากลุ่มย่อย เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของพื้นที่ รวมถึงการจัดทำ แนวคิดการพัฒนาของพื้นที่ อันนี้เป็นขั้นตอนที่ ๑ การประชุมรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนต่อร่างผังเมืองรวม ซึ่งสามารถยื่นข้อคิดเห็นเพื่อขอแก้ไขปรับปรุงผังรวม ทั้งเผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ปิดประกาศ ๑๕ วันทาง Website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง อันนี้เป็นขั้นตอนที่ ๓ การปิดประกาศพร้อมข้อกำหนด ๙๐ วัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอแก้ไขปรับปรุงกำหนด ประกอบแผนผัง อันนี้ขั้นตอนที่ ๕ แล้วนอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมการมีส่วนร่วมเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติม เช่น ในกรณีที่มีการร้องขอจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เขาเรียกว่า กรอ. นะครับ การร่วมลงพื้นที่ชี้แจงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวข้องกับผังเมือง มีการชี้แจงใช้ข้อบังคับผังเมืองภายหลังการประกาศใช้บังคับกฎหมายภายในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น อันนี้คือหมายความว่าก็พยายามทำให้ครอบคลุมให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่อง ของการทำผังเมือง สำหรับช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เปิดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับผังเมือง โดยมีช่องทางต่าง ๆ ในระบบ Online เช่น Website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง Line Official Account DPT Information สำหรับกรณีผังเมืองรวมที่ปิดประกาศให้ ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือร้องขอแก้ไขตามกฎหมายกำหนด สามารถยื่นข้อแสดง ความคิดเห็นผ่านระบบ Online Website ของกรม รวมทั้งการรับทราบผลการดำเนินการ ผ่านระบบ Online อันนี้หมายความว่าประชาชนเองก็มีช่องทางในการเข้าไปดำเนินการ ในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นมากมาย และนอกจากนี้ภายหลังจากที่ผังเมืองรวมได้มี การบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว หากผู้มีส่วนได้เสียสามารถจะขอแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะ บริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปได้ หรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะก็สามารถเสนอขอแก้ไขต่อเจ้าพนักงานตาม มาตรา ๓๕ ได้ อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่ ทำแล้วแก้ไขไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ทำนั้นมีเหตุมีผลแล้วก็เป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์แล้วก็เป็น เรื่องที่คนส่วนใหญ่ คนส่วนรวมมีความเห็นตรงกันในช่วงที่มีการสอบถามความคิดเห็น มีการ ประชุมกำหนดแนวทางในการวางผังก็สามารถที่จะทำได้ อันนี้เป็นเรื่องที่กราบเรียน ท่านประธานในประเด็นการทำผังนั้น ผมเรียนยืนยันว่าคงไม่มีใครสามารถที่จะไปกำหนด แนวทางที่จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนได้นะครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ท่านธีรัจชัย ยังมีเวลาอีก ๒ นาที ถ้าท่านยังมีประเด็นจะถามท่านรัฐมนตรี เชิญครับ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ก็ค่อนข้างจะไม่ค่อยได้คำตอบ เพราะท่านพูดถึงเรื่องทั่วไปเหมือนเจ้าหน้าที่เขียนมาให้ท่านอ่านนะครับ เหมือนผมถาม น้ำส้มคั้น ท่านตอบกล้วยบวชชี ซึ่งกรณีอย่างนี้มันไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร สำหรับการตอบ ครั้งนี้ ผมบอกว่าเขาทำคลาดเคลื่อนเอาผังเมืองสำเร็จรูปมาฟังความคิดเห็น แต่ตามกฎหมาย เขาให้ฟังความคิดเห็นก่อนแล้วค่อยทำผังเมืองและท่านจะทำอย่างไร ท่านไม่ตอบเลย สักนิดหนึ่ง ผมถามว่าในส่วนของการประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจถึงผลกระทบของเขา เขาไม่ได้ทำ ท่านจะทำอย่างไร ให้เป็นโมฆะหรืออย่างไร กรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้อง เป็นคนโต้แย้ง ท่านไม่ได้ตอบเลย ในฐานะท่านผู้กำกับดูแลการทำผังเมือง ข้าราชการต่าง ๆ ที่ต้องดูแลการทำผังเมืองท่านยังไม่ทำ เพราะผังเมืองฉบับนี้ทำตรงข้ามกับผังเมืองประเทศ พัฒนาแล้วที่เขาทำกัน เขากระจายแต่นี่กระจุก และมีข้อสงสัยมากมายผมยกตัวอย่าง ๓-๔ ตัวอย่างให้ท่านเห็น แต่ท่านก็ไปแก้ตัวบอกว่าไม่มีทาง ข้าราชการไม่สามารถทำได้ ท่านปกป้องทุกอย่าง แล้วคำถามแบบนี้จะทำอย่างไร พี่น้องประชาชนเขารอฟังอยู่ว่าท่านจะ มีคำตอบอะไรได้บ้าง ขอให้ท่านตอบให้ชื่นใจด้วยนะครับว่า ท่านจะจัดการอย่างไรกับการทำ ผังเมืองไม่ชอบ และมีประเด็นที่ประชาชนสงสัยว่าเอื้อต่อกลุ่มทุน ครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขออนุญาตตอบให้ตรงคำถาม เมื่อสักครู่บอกว่าอะไร ผมฟัง ไม่ทันโทษนะครับ คือผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า การจัดทำผังเมืองมันเป็นเรื่องต้อง ไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่จัดทำผังเมือง มีกระบวนการ มีขั้นตอน ในอนาคตถ้าหากผังเมืองมีปัญหา มันก็มีกระบวนการทางกฎหมายให้แก้ได้ตามมาตรา ๓๕ อันนี้ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับว่า บริบทของการจัดทำรูปแบบ ของการทำผังเพื่อการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ บางทีมันมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปจาก เดิมที่อาจจะต้องมีการแก้ไขผังเมือง อันนี้เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็เล็งเห็น ความสำคัญนะครับ วันนี้การแก้ไขผังเมืองก็ไม่ได้แก้ยากเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนก็อาจจะ ต้องใช้เป็นประกาศกฎกระทรวง เดี๋ยวนี้เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะง่ายขึ้น เรายอมรับความจริงว่าในการทำผังเมืองบางทีบางครั้งมันก็ไม่ตรงทั้งหมด แต่มันตรง ในขณะนั้น ๆ ที่มีการจัดทำผังเมือง แต่วันนี้บางพื้นที่ที่จัดทำผังเมืองไปแล้วมันอาจจะมี การเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องมีการแก้ไขอันนี้ผมต้องยอมรับ แล้วก็วิธีการจัดทำผังเมือง บางครั้งถามว่าน่าจะไปเอาข้อมูลความต้องการของประชาชนมาก่อน แล้วก็มาจัดทำผัง อันนั้นก็เป็นแนวคิดที่คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ แต่บางครั้งนี้ก็ได้มีโอกาส ไปดูเหมือนกันนะครับว่า บางทีการจัดทำผังเมืองพอเราไปสอบถามความคิดเห็นประชาชน บางทีเขาไม่มีตัวอย่างเลย ไม่มีแนวเลย เพราะฉะนั้นทางกรมเองก็ต้องกำหนดทิศทาง แนวทางที่ความน่าจะเป็นว่าการจัดทำผังเมืองดังกล่าวนี้ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ในบริบท ของความต้องการของพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเหมือนตัวอย่าง เป็นเหมือนร่างผังเพื่อให้ประชาชนได้ มีโอกาสได้วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การทำผังเมืองที่ถูกต้องและ เป็นความต้องการของประชาชน อันนี้ผมเรียนยืนยันว่าการจัดทำผังทุกครั้ง มันต้องมาจาก ความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่นะครับ แต่ว่าการจัดทำผังนั้นแน่นอนครับ มันก็ต้องมีคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบมันควบคู่กันไป อาจจะไม่ถูกใจบางคนบางท่านนะครับ อาจจะถูกใจบางคนที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ว่ามันก็เป็น เรื่องของการรับฟัง ความคิดเห็นในภาพรวมของการจัดทำผังนะครับ สำหรับประเด็นในกรุงเทพมหานคร ผมเรียนอย่างนี้ว่าที่ท่านได้พูดถึงว่าผัง กทม. มีรูปแบบสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๙ ใช่หรือไม่ อันนี้ผมเรียนว่ากรุงเทพมหานครเองต้องเอาผังมาเสนอกรม เพื่อให้มีการพิจารณาตาม พระราชบัญญัติการผังเมืองที่กำหนด ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องให้ความคิดเห็น เสนอเป็นขั้นตอนต่อไปในการพิจารณา อันนี้ไม่ใช่ว่าทำแล้วก็จบเลย มีขั้นตอนในการ ดำเนินการให้มันสอดคล้องกับกฎหมายที่เรามีอยู่ในปัจจุบันให้มันตรงตามความต้องการ แล้วก็เป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุดนะครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

จบการถามตอบ กระทู้ที่ ๑.๑.๒ ขอขอบคุณท่านธีรัจชัย พันธุมาศ และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี มากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. เรื่อง แนวทางการพัฒนา การบริหารจัดการการดูแลรักษา และการ ใช้ประโยชน์ที่ดินริมทางรถไฟ สายท่าเรือในเขตคลองเตยและเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร นายภัณฑิล น่วมเจิม เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

โดยที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แจ้งว่ากระทู้นี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ตอนนี้ ท่านรัฐมนตรีเตรียมพร้อมจะมาตอบแล้วนะครับ ขอเชิญคุณภัณฑิล น่วมเจิม ครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ผม ภัณฑิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา เขตคลองเตย พรรคก้าวไกลครับ ก็ขอสอบถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ในประเด็นแนวทาง การแก้ไขปัญหาที่ดินริมทางรถไฟสายท่าเรือ-ปากน้ำในเขตวัฒนา เขตคลองเตย ซึ่งก็ผ่าน หลายชุมชนนะครับ หลายร้อยครัวเรือนหลายพันคนใจกลางเมือง ตั้งแต่คลองแสนแสบ ต้นถนนสุขุมวิท พระราม ๔ ถนนเชื้อเพลิง จนถึงสถานีแม่น้ำ ซึ่งมีพื้นที่หลายร้อยไร่ รัฐ สูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้ การรถไฟในฐานะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กระทรวงคมนาคมมีความสามารถศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเองมาก น้อยแค่ไหนเพียงใด อีกส่วนหนึ่งก็ผ่านที่ดินของการท่าเรือด้วยก็อยู่ใต้กระทรวงคมนาคม ไป ยังคลังน้ำมัน โรงกลั่นบางจาก ซึ่งท่าเรือก็คงให้ข้อมูลท่านเหมือนกันว่ามีแผนที่จะพัฒนา Upgrade ท่าเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าในอนาคต ก็ไม่แน่ใจว่าขายฝันหรือเปล่า เพราะว่าที่ดินริมทางกว้างแค่เมตรเดียวเอง ๒ เมตรก็เป็นบ้านคนครับ ท่านก็ขนถ่าย คลังสินค้าที่เป็นน้ำมัน แล้วจะมาขนถ่ายตู้สินค้าอีกในอนาคต หรือมีการวางแผนระบบขนส่ง มวลชนสาธารณะทางรางอย่างไร มันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก่อนอื่นท่านต้อง แก้ไขปัญหาที่ดินริมทางรถไฟให้กับชุมชนก่อน ไม่อย่างนั้นท่านไม่สามารถที่จะพัฒนา พาณิชยกรรมอื่น ๆ ได้อีกนะครับ เบื้องต้นขอแค่นี้ก่อนครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ จากคำถามเรื่องเกี่ยวกับ ที่ดินรถไฟ จริง ๆ แล้วมันเป็นปัญหาที่เรื้อรังหมักหมมมานานแล้ว ผมคลุกคลีกับปัญหานี้ มาตั้งแต่สมัย ปี ๒๕๕๔ ตั้งแต่สมัยผมเป็น สส. ครั้งแรก ก็เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มี การพัฒนาก้าวหน้าไปเท่าไร ขอเรียนให้ทางท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้แบ่งธุรกิจที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเดินรถ Core Business กับที่เป็น Non-Core ได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาก็คือ SRT Asset หรือ SRTA เอาไว้ บริหารที่ดินที่ไม่ใช่เป็นเกี่ยวกับการเดินรถ เบื้องต้นภาพใหญ่จะเป็นอย่างนี้นะครับ ส่วนคำถามของท่านสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องชุมชนที่อยู่กับรถไฟก็จะแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ เป็นพื้นที่ดินที่เป็น Non-Core กับในส่วนของพื้นที่ดินที่ติดกับรางรถไฟ คือ Core Business ปัจจุบันสัดส่วนของรถไฟ มีทั้งหมดซึ่งผมได้ประชุมไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ ๒๐ ได้เข้าไปนั่งฟังแล้วก็พยายามรับทราบปัญหา แบบเจาะลึกแบบเข้าใจ จริง ๆ เรามีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ ชุมชน ของรถไฟ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ได้มีการมาขอ ต่อสัญญา ขอเช่า ปัญหาลึก ๆ จริง ๆ พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่จริง ๆ แล้วเดือดร้อน แล้วเป็นตัวจริง เรายินดีที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว ก็มีบางกลุ่มที่อาศัยว่าสวมสิทธิ สวมชื่อเข้ามา แล้วก็เอาไปปล่อยเช่าต่อ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ อันนี้เราก็ได้มีการกลั่นกรอง ในส่วนของ ที่ท่านสมาชิกได้ให้เกียรติถามมามีอยู่ ๒ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง เอาภาพรวมก่อนทั้งหมด ๓๐๐ ชุมชนที่มีปัญหามา เราได้ทำการตรวจสิทธิยืนยันตัวตนในความเป็นปัจจุบัน เสร็จไปแล้ว ๗๕ ชุมชน แล้วหลังจากพิสูจน์สิทธิแล้วเสร็จไปแล้ว ๗๕ ชุมชน เราก็ดำเนินการต่อคือการ ได้ร่วมมือกับ พอช. พอช. ของกรมพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งมีคณะรัฐมนตรี วราวุธ ดำเนินการ อยู่ในการทำเป็นที่อยู่อาศัยให้ แล้วก็ชุมชนต่าง ๆก็จะทยอยมาในการพิสูจน์สิทธิ ที่ถูกต้อง นี่คือการรักษาผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนที่ท่านถามมาตรงนี้ มีเกี่ยวข้องอยู่ ๒ ชุมชน อันนี้ยังไม่เกี่ยวกับการท่าเรือนะครับ คือชุมชนมาชิมกับชุมชน เฉลิมอนุสรณ์ ชุมชนมาชิมมีประมาณ ๑๙๖ ครัวเรือน ชุมชนเฉลิมอนุสรณ์มีประมาณ ๘๕ ครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ แล้วก็จะดำเนินการร่วมมือกับ พอช. ต่อไป พอช. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภายใต้กำกับของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เสร็จแล้วหลังจากนั้นก็จะสร้างที่อยู่อาศัย แล้วก็ให้มีการเช่าอย่างถูกต้อง ที่ดินส่วนที่เหลือก็จะเป็นโอนกรรมสิทธิ์ไปที่ SRTA ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าท่านสมาชิก สังเกตเห็นรถไฟมี Action ในเรื่องของ SRTA ก็คือ ที่เป็น Non-Core ออกมาพัฒนาในเชิงธุรกิจเพื่อหารายได้ให้กับรถไฟไทย ในการที่จะฟื้นฟูสภาพ ส่วนของการท่าเรือ จากที่ได้สอบถามปัญหาของการท่าเรือนี้ก็เป็นลักษณะคล้าย ๆ กับของ รถไฟ ของการท่าเรือนี้มีทั้งหมด ๗ ชุมชน ประมาณ ๓,๒๐๐ ครัวเรือน ซึ่งก็ใช้ระบบเดียวกันว่ามีการสำรวจพิสูจน์สิทธิว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงที่อาศัยอยู่ก็จะมี แนวทางให้อยู่ ก็คือเข้าสู่กระบวนการของ พอช. ตามความสมัครใจนะครับ ทางเลือกที่ ๒ ถ้ายังอยากอยู่ในพื้นที่ราบ ทางท่าเรือก็ได้จัดสรรที่ดินไว้ที่เขตมีนบุรี เขตหนองจอก ในการ จัดสรรให้อยู่อาศัยนะครับ ทางเลือกที่ ๓ ที่ทางการท่าเรือได้เตรียมการไว้ก็คือว่า จ่ายชดเชยค่ารื้อถอนคือ Cash Out เอาออกไป ก็คือมีเป็นค่าเยียวยา ค่ารื้อถอน อันนี้เป็น แนวทางคร่าว ๆ ที่ทางเราได้วางแผนไว้ แต่อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหา ที่เกิดขึ้นมายาวนาน แล้วก็มีการละเลย วันนี้เราก็เริ่มกระชับพื้นที่จัดหมวดหมู่ให้เกิด ความชัดเจน ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนเป็นหลักในการดำเนินการควบคู่กันนะครับ ก็ตอบคำถาม ไว้เบื้องต้นครับ ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เชิญคุณภัณฑิล ถามครั้งที่ ๒ เชิญครับ

นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานครับ ก็รับทราบครับ เพราะชาวบ้านในชุมชนที่อยู่บนที่การรถไฟก็ยินดีที่จะจ่ายค่าเช่านะครับ เพียงแต่เราอยากจะเอาขึ้นมาในระบบให้หมดเลย เพื่อจะให้เขามีสิทธิจริง ๆ แล้วก็มั่นคง ในที่อยู่อาศัยระดับหนึ่ง ก็ไปอีก ๒ คำถามที่อาจจะยังไม่ได้ตอบในเรื่องของแนวทางในการ พัฒนาระบบรางที่จะเข้าไปที่สถานีแม่น้ำ ซึ่งตรงนั้นก็มีเป็นที่อยู่อาศัยของอดีตเจ้าหน้าที่ พนักงานราชการรถไฟ ซึ่งติดกับเขตยานนาวาถนนเชื้อเพลิง อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ใหญ่มาก ไม่ทราบท่านมีแนวทางหรือยัง ว่าจะพัฒนาพื้นที่อย่างไร ผมเองก็พยายามนัด ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยหลายรอบก็ไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงที่ Plan จะไป ขนถ่ายตู้สินค้าในท่าเรือ รวมถึงไปคลังน้ำมันแล้วก็โรงกลั่น ท่านจะเอาอย่างไรต่อครับ ท่านจะยังมีรางรถไฟแบบนี้ แล้วก็ขนถ่ายน้ำมันไปที่โรงกลั่น ไปที่คลังน้ำมัน รวมถึงตู้สินค้า จะมีการขนหรือเปล่าในอนาคต เพราะว่าไปที่ราบบ่อนไก่นี้ ผ่านถนนพระราม ๔ อันตรายนะครับ ชุมชนที่อยู่ริมข้าง ๆ อย่างที่ผมบอกมันกว้างไม่ถึง ๒-๔ เมตร ก็เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายครั้ง ลากคนเมา ลากคนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไร คนสติไม่ดี มันไม่มีการรักษาความปลอดภัย แล้วก็ ส่งผลต่อระบบจราจรด้วยรถติด เพราะมันต้องผ่านถนนสุขุมวิทและถนนพระราม ๔ ทั้ง ๒ เส้น ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เดี๋ยวผมจะขออนุญาตตอบแบบรวม จะให้เห็นภาพบูรณาการของระบบรางทั้งประเทศ แล้วมันจะตอบคำถามเรื่องของการ ใช้พื้นที่ มันจะตอบคำถามเรื่องของการขนส่งตู้สินค้า มันจะตอบคำถามเรื่องของการขนส่ง มวลชนทั้งหมด แล้วปัญหาคำถามเหล่านี้ก็จะถูกตอบด้วยตัวของมันเอง ขออนุญาตเปิดสไลด์ ไม่นานครับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

จากสไลด์ ที่ดูนะครับ วันนี้รัฐบาลได้วางแผนให้ระบบรางเป็น Bone ของประเทศเป็นกระดูกสันหลัง ในการขนย้าย ทั้งการโดยสารของมวลชน ทั้งขนส่งของสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากที่เห็นด้วยมันจะตอบโจทย์ว่าการที่ท่าเรือยังจะเป็นที่ Load สินค้าไหม จากที่เห็น มันก็จะมีรถไฟที่เป็นทางคู่ ซึ่งก็จะบรรทุกมาตั้งแต่แหลมฉบังลงไปทางใต้ก็ไปเชื่อมโยงที่ ประเทศมาเลเซีย ไปข้างบนก็ไปที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ไปที่จังหวัดหนองคาย ไปที่ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งด้วยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเสร็จภายในปี ๒๐๓๐ เพราะฉะนั้น การขนส่งโดยสารลักษณะของการคมนาคมของประเทศจะเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งคำถามที่ท่าน ถามเรื่องว่าจะจัดการอย่างไรกับการท่าเรือ เพราะฉะนั้นอันนี้จะตอบอันหนึ่งว่าการโหลดสินค้า Container ก็คงจะไม่ใช่ใช้ที่นั่นเป็นหลัก อยู่แล้ว ที่นั่นคงพัฒนาเป็นอย่างอื่นด้วยบริษัทลูกของการรถไฟคือ SRTA ส่วนกรรมสิทธิ์ ของผู้เช่า วันนี้นโยบายของการรถไฟก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าเราจะเอาขึ้นมาสู่บนโต๊ะ ให้หมดเอามาเป็นระบบ มีสิทธิเช่าระหว่างการรถไฟกับผู้เช่าโดยตรง เราไม่อยากให้มี การเช่าช่วง เพราะฉะนั้นขั้นตอนที่เราทำมาอยู่ ๗๐ ชุมชนถือว่าละเอียด แล้วถูกตัวถูกตน ไม่มีการเอาเปรียบพี่น้องประชาชนจากคนกลาง เพราะฉะนั้นระบบที่ท่านเห็นทั้งหมด เริ่มจะมีการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี ๒๐๓๐ วันนี้ตัวอย่างที่จะโชว์ให้เห็นก็คือ กรุงเทพมหานคร-หัวหิน ทางคู่เสร็จแล้ว จากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ไปเวลาไม่ถึง ๓ ชั่วโมง จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดชุมพรก็ไม่เกิน ๖ ชั่วโมงด้วยระบบรถไฟทางคู่ วันนี้การรถไฟ ยังไม่มีหัวรถจักรกับตู้โดยสารที่เพียงพอ แล้วก็ทันสมัยกับระบบทางคู่ การทำเวลาจึงทำ ได้น้อย ในทางคู่ก็ยังมีรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ความกว้างที่ ๑.๔๓ เมตร ซึ่งความเร็ว ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็จะใช้เป็นระบบขนส่งได้ทั้งคน ได้ทั้งสินค้าที่มีราคาแพง ส่วนทางคู่เป็นรางระบบ ๑ เมตรก็อยู่ไปด้วยกัน ก็จะใช้สำหรับ ขนส่งสินค้าที่เป็น Container ก็จะโหลดจากท่าเรือแหลมฉบัง จาก EEC จากมาบตาพุด เพราะฉะนั้นส่วนของคลองเตยเดี๋ยวผมจะลงไปดูพื้นที่ เดี๋ยวผมจะเรียนเชิญท่านด้วย เรามาช่วยกันหาแนวทางพัฒนาว่ามันจะเหมาะสมกับพื้นที่จริง ๆ อย่างไร ถ้าสังเกตเห็น ระบบรางรถไฟเป็นระบบความเร็วสูงทางคู่และระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ต่อไปความหมายก็คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันก็จะเชื่อมโยงไปถึง บขส. ขสมก. แล้วก็รถบรรทุก ต่อไปของหนักจะถูกขึ้นราง รถบรรทุกจะหายไปจากท้องถนน ความหมายมาถึงใน กรุงเทพมหานครอีก ในกรุงเทพมหานครต่อไปก็จะมีรถ EV ที่เป็นของ ขสมก. จะมีรถแท็กซี่ ที่เป็นไฟฟ้า จะมีรถสามล้อที่เป็นไฟฟ้าที่เป็นบริการขนส่งสาธารณะ รถ บขส. ก็จะไปอยู่ตาม สถานีรถไฟที่ขยาย อย่างเช่น ที่จะเข้า ครม. เร็ว ๆ นี้ ก็มีส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีสุดท้ายอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนอีกอันหนึ่งก็คือตลิ่งชัน-ศาลายา อีกอันหนึ่งก็คือ อยู่ตรงโรงพยาบาลศิริราช เพราะฉะนั้นการขนส่งมวลชนจากต่างจังหวัดมาก็จะมาหยุด อยู่ตรงนั้น รถใหญ่ที่เป็น บขส. หลายพันคันก็จะหายไปจากถนนกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นความหมายก็คือปัญหาการจราจร การคับคั่งจะหายไป ปัญหาของ PM2.5 ก็จะหายไป เพราะ ๖๑ เปอร์เซ็นต์ของ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเกิดจากการสันดาป ของเครื่องยนต์ อันนี้เป็นตัวเลขทางวิชาการของกรมควบคุมมลพิษ เราก็ได้ติดตาม Monitor ตลอด เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเชื่อมโยง ทั้งภาคประชาชน ทั้งภาคอุตสาหกรรมการขนส่ง ทั้งภาคของสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน ตรงนี้ละครับตอบ โจทย์ประเทศไทยทั้งหมด อันนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นและแล้วเสร็จในปี ๒๐๓๐ มันก็จะเป็น การตอบคำถามของหลาย ๆ ท่านที่เคยถามทิ้งไว้ แล้วก็ที่เคยสงสัยว่าลักษณะการขนส่งของ ประเทศไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะอยู่ตรงไหนของสังคมส่วนนี้ ต่อไปกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

ตั้งแต่หน้า ๑๐๕-๑๑๔ ถ้าระบบการขนส่งมวลชนทางรางที่เป็นไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครสมบูรณ์ ทางรางและ ทางไกลสมบูรณ์ทุกอย่างสมบูรณ์ กฎระเบียบต่าง ๆ บางตัวเราก็สามารถนำมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเช่น รถที่มีอายุเท่านี้ก็ไม่ควรเข้าชั้นใน รถที่สันดาปดีเซล ก็ไม่ควรจะเข้าหรือ ๑ บ้าน ควรมีรถกี่คัน อันนี้ก็เป็นคร่าว ๆ นะครับ แต่มันเป็นอำนาจของ ทาง กทม. เพราะเป็นเขตปกครองพิเศษ อันนี้เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่ผมนำเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่านสมาชิกนะครับว่า ปัญหาที่ท่านถามเป็นปัญหาอยู่ ๑ จุด แต่ถ้าภาพรวม ทั้งประเทศต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันไม่ใช่เป็น Core Business ของการรถไฟเราจะพัฒนา และยินดีที่จะให้ท่านสมาชิกในพื้นที่มีส่วนร่วม เดี๋ยวผมจะลงไป เยี่ยมรับปากจะลงไปเยี่ยม แล้วก็จะมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นออกแบบ แล้วก็ให้พี่น้อง ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่แท้จริง เช่าให้ถูกต้องหรือมีสิทธิทางเลือกที่คิดว่าตัวเองเหมาะสม คือเราจะเอาผ้าเป็นม้วนไปให้ เราจะไม่โยนเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปให้ เราไปช่วยกันออกแบบ ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตัวกระทรวงคมนาคมและท่านว่าการ ท่านนายกรัฐมนตรีและ ตัวกระผมเอง ยินดีที่จะไปลงพื้นที่แล้วก็เคียงข้างกับท่านสมาชิกนะครับ เพราะท่านมาจาก การเลือกตั้ง เราไปช่วยกันออกแบบ Design เพื่อพี่น้องประชาชนให้เหมาะสม เบื้องต้น ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ คุณภัณฑิลคิดว่าไม่มีอะไรแล้วนะครับ ต้องขอบคุณ คุณภัณฑิล น่วมเจิม และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านสุรพงษ์ ปิยะโชติ ที่ได้ตอบกระทู้ถามนี้เสร็จเรียบร้อยนะครับ วันนี้กระทู้ถามจบหมดแล้ว ขอบคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

กระทู้ถามที่ ๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ก็ได้ดำเนินการถามตอบที่ห้อง กระทู้ถามแยกเฉพาะอยู่แล้วนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เรียนที่ประชุมครับ ขอดำเนินการตามระเบียบวาระที่ ๑.๓

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ก่อนดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอชี้แจงที่ประชุมทราบ ดังนี้ครับ การถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ให้ถามและตอบได้เรื่องละไม่เกิน ๒ ครั้ง และถามตอบให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที ตามข้อบังคับการประชุม กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วม ขอความร่วมมือจากผู้ได้รับอนุญาตกรุณาปฏิบัติตาม ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมฟัง ขอแจ้งให้ ที่ประชุมทราบครับ สำหรับการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะในวันนี้ ผมเห็นว่าเพื่อเป็น ประโยชน์ในการถามและตอบกระทู้ถาม ขอสลับการถามและตอบ ซึ่งได้ประสานงานกับ ผู้ถามกระทู้แต่ละท่านแล้วดังนี้

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๑ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๕๔ ของนายรวี เล็กอุทัย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๑ ของนายอัครเดช วงพิทักษ์โรจน์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ๑๖๓ ของนายรังสรรค์ มณีรัตน์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๔ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๕ ของนายสาธิต ทวีผล

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับที่ ๕ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๒ ของนายวิชัย สุดสวาสดิ์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ลำดับสุดท้าย ลำดับที่ ๖ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๖๔ ของนางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ขัดข้องนะครับ ดำเนินการตามนี้นะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๑. เรื่อง การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ นายรวี เล็กอุทัย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ซึ่งเป็นการเลื่อนมาจากการประชุมปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมอนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม สนับสนุนนะครับ ท่านแรก ท่านจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ท่านที่ ๒ ท่านชลัช ดิสถาพร ผู้อำนวยการกองตลาดภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผมได้อนุญาต ให้ประชาชนผู้มีส่วนเข้าร่วมรับฟังการตอบกระทู้ถาม ๓ ท่าน ท่านแรก ท่านพลช มีสัตย์ ท่านที่ ๒ ท่านภารณี จันวัฒนพงษ์ และท่านสุดท้าย ท่านนิติ เฉลยรส ทางท่านรัฐมนตรี พร้อมแล้วนะครับ แล้วก็ผู้ถามพร้อมแล้ว ขอเชิญท่านรวี เล็กอุทัย ใช้สิทธิในการถามรอบ ที่ ๑ ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานะครับ ท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ได้สละเวลามาตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะในวันนี้นะครับ ทราบว่า ท่านภารกิจเยอะ ก็ยังอุตส่าห์สละเวลามา ขอบพระคุณมากนะครับ เข้าเรื่องเลยครับ ท่านประธาน ในจังหวัดอุตรดิตถ์เรามีความมั่งคั่งของประชากรอยู่ในอันดับที่ ๖๒ ของประเทศ ซึ่งแทบจะรั้งท้าย เนื่องจากว่าในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ ๙๙,๒๓๖ บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยพี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร แล้วก็ประสบกับปัญหาความยากจน เพราะฉะนั้นนอกจาก ด้านการเกษตรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าน่าจะเป็นการช่วยพี่น้องประชาชนได้ในการทำให้เขา มีรายได้ที่มากขึ้น นั่นก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นประเด็นที่ ผมอยากจะมาสอบถามท่านรัฐมนตรีในวันนี้ครับว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ในเชิงของการท่องเที่ยว แทบจะบอกได้ว่าเป็นรองในหลาย ๆ จังหวัดมาก ๆ โดยทางรัฐบาลเองผมก็เชื่อว่ามีนโยบาย ในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดเมืองรอง แต่ถ้าจะใช้คำว่า เมืองรองกับอุตรดิตถ์ ก็ไม่ทราบว่าจะใช้ได้ด้วยหรือเปล่านะครับ เพราะว่าเรื่องการท่องเที่ยว โดยเมืองรองของ จังหวัดอุตรดิตถ์แทบจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงเลยด้วยซ้ำ แต่จังหวัดอุตรดิตถ์ความเป็นจริงแล้ว เรามีศักยภาพ เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพืชผล ผลไม้ต่าง ๆ ก็ดี รวมถึงเป็น จังหวัดที่ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว โดยที่เรามีด่านภูดู่อยู่ ซึ่งผมมองว่า เรามีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้สามารถเป็นที่รู้จักของทั้งคนในประเทศไทยเองก็ดี หรือทั้งคนต่างประเทศด้วยก็ดีเช่นเดียวกันนะครับ เพราะฉะนั้นขออนุญาตเข้าสู่คำถามครับ เนื่องจากว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น อยากจะขอสอบถามทางท่านรัฐมนตรี ครับว่า ท่านมีแนวทางอย่างไรในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ให้มีศักยภาพ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงการ ประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามารู้จักอุตรดิตถ์ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและการท่องเที่ยวชายแดน ขออนุญาตสอบถามครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติดังนี้นะคะ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้มีศักยภาพ และมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วก็แนวการท่องเที่ยว ระหว่างชายแดน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขอเรียนว่า กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวมีการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ได้แก่ การเดินทางท่องเที่ยวข้ามแดนโดยรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นในการท่องเที่ยวข้ามแดน ณ จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมการท่องเที่ยวมีการทำคู่มือ สำหรับขับรถท่องเที่ยวด้วยตัวเองในอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานพาหนะที่ได้รับการอนุญาต ประเภทของยานพาหนะ รายละเอียดในการข้ามพรมแดน ของแต่ละประเทศ ขั้นตอนในการข้ามพรมแดนของนักท่องเที่ยว และข้อควรปฏิบัติสำหรับ การขับรถท่องเที่ยวด้วยตัวเองในอาเซียน ซึ่งล่าสุดนี้ในการที่ได้มีการไปประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่เวียงจันทน์ ก็มีการหารือในการท่องเที่ยว ข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศลาวด้วยนะคะ ก็น่าจะต้องมีการทำงานแล้วก็มีรายละเอียด ในการพูดคุยกันต่อเนื่องต่อไปนะคะ ทั้งนี้ในคู่มือการท่องเที่ยวขับรถด้วยตัวเองในอาเซียน จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศเอง แล้วก็ต่างประเทศหันมาสนใจการเดินทางท่องเที่ยว ในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น และในการใช้รถในการท่องเที่ยวจะสามารถกระจายรายได้ไปสู่ ชุมชนแต่ละพื้นที่ให้เกิดเศรษฐกิจในแต่ละชุมชน แล้วก็มีการสร้างอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ของที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมไปถึงมัคคุเทศก์ท้องถิ่นด้วยค่ะ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

อีกส่วนหนึ่งนอกจากกรมท่องเที่ยวแล้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเอง ก็มีการทำงานร่วมกับหน่วยงาน แล้วก็องค์กรสมาคมต่าง ๆ ในตัวจังหวัดอุตรดิตถ์เอง ไม่ว่าจะจัดทำโครงการอุตรดิตถ์ Fit & Firm และ Amazing เมืองรอง จังหวัดแพร่และ จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากปัจจุบันนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเอง ทาง ททท. ก็อาจจะยังไม่ได้มีสาขาอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์นะคะ ซึ่ง ททท. เองมีสาขาอยู่ที่จังหวัดแพร่ แต่ก็จะดูแลทั้งจังหวัดแพร่และจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็มีดำริ ว่า ให้ตั้ง ททท. ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย ก็คิดว่าตอนนี้ทาง ททท. เองก็ได้ดำเนินการไป ส่วนหนึ่งแล้วค่ะ แต่ในอนาคตคิดว่าก็จะมีที่จังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย ทั้งนี้ในปี ๒๕๖๗ เอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ก็ได้มีการส่งเสริม เหมือนกับเชิญชวนให้มี การท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและการเกษตร ทั้งการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว การประชุม การให้ความรู้ในโอกาสต่าง ๆ และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสาร ทั้ง Online และ Offline ด้วย ในส่วนของ ททท. เองก็มีการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ผ่านรูปแบบ Event Marketing ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารทางด้านการตลาด แล้วก็ดำเนินงาน บูรณาการร่วมกับภายในพื้นที่ สร้าง Campaign อุตรดิตถ์เที่ยวได้ทั้งปี ๓๖๕ วัน ไม่ว่า จะเป็นการใช้ Soft Power ทั้ง 5 F นะคะ ก็มีมหกรรมมวยท่าเสา และมวยพระยาพิชัย กิจกรรม Sport Tourism เดิน วิ่ง ปั่น แล้วก็สร้างทางพิชิตภูสอยดาว ส่วน Festival มีงาน นมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ งานประเพณีอัฏฐมีบูชา งานแห่ผีตลก ออกพรรษา งานประเพณีไหลแพไฟ งานคราฟต์ ส่วนในด้านของแฟชั่น ก็จะมีงานนุ่งซิ่นกินทุเรียน การแสดงผ้าทอพื้นเมืองโบราณร่วมสมัย ส่วนฟิล์มนะคะ มีเรื่องนายทองดีฟันขาว ตำนาน ของพระยาพิชัยดาบหัก ณ อำเภอพิชัย ส่วนด้านอาหาร Food ก็มี Campaign Amazing ทุเรียนอุตรดิตถ์ เส้นทางท่องเที่ยวทุเรียน แล้วก็เส้นทางท่องเที่ยวอาหารถิ่น ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

แค่นี้ ผมก็อยากไปแล้วนะครับ ท่านรวีใช้สิทธิถามในรอบที่ ๒ ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ขอบพระคุณท่านประธานครับ จากที่ได้ฟัง ท่านรัฐมนตรีตอบคำถาม ก็ทำให้เห็นนะครับว่าทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเอง รวมถึง ททท. ก็มีการวางแผนในการที่จะทำท่องเที่ยวภายในจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เที่ยวได้ ๓๖๕ วัน ก็รู้สึกมีความหวัง แล้วก็ยินดีที่ได้ฟังคำตอบเช่นนี้นะครับ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมเป็นกังวลอยู่ อย่างหนึ่งนั่นก็คือเรื่องของบุคลากรรวมถึงมาตรฐานในการที่จะจัดการท่องเที่ยวต่าง ๆ แนวทางจนถึงผู้ประกอบการในจังหวัดอุตรดิตถ์เองยังจะพูดได้ว่า ยังไม่มีมาตรฐานหรือ มีศักยภาพเพียงพอในการที่จะรองรับเรื่องการท่องเที่ยวต่าง ๆ เลยเป็นคำถามต่อเนื่องมาถึง คำถามที่ ๒ ว่าท่านพอจะมีแนวทางในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบการ ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านโรงแรม ร้านอาหารก็ดี หรือมัคคุเทศก์ อย่างที่ท่าน รัฐมนตรีกล่าวครับว่า อุตรดิตถ์เองมีวัฒนธรรม ประเพณีเยอะ แต่ว่าตัวมัคคุเทศก์เองแทบ ไม่มีเลย แล้วคนที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปเที่ยวที่ไหน เที่ยวอย่างไร อันนี้ ก็เป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกันครับ ถ้าหากว่าทางกระทรวงหรือทางหน่วยงานราชการ มีการ Support เรื่องของบุคลากร เรื่องการมีมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งมัคคุเทศก์ก็ดี ทั้งผู้ประกอบการก็ดี ผมก็คิดว่าน่าจะช่วยในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวภายใน จังหวัดอุตรดิตถ์ให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็เลยอยากจะขอทราบแนวทางประมาณนี้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ต้นฉบับ

ในส่วนคำถามข้อที่ ๒ ที่ถามเรื่องบุคลากร แล้วก็แนวทางในการพัฒนา ในส่วนของภาคเอกชน ดิฉันเชื่อว่าในการทำงานร่วมกันก็จะสามารถทำร่วมกับทางตัว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเอง ไม่ใช่มีแค่ ททท. นะคะ ทางกรมการท่องเที่ยวก็จะมีการ อบรมบุคลากร แล้วก็มีมาตรฐานในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานโรงแรมหรือว่า การอบรมเกี่ยวกับบุคลากรทางการท่องเที่ยว รวมถึงมัคคุเทศก์ด้วย ซึ่งเหล่านี้สามารถที่จะ ทำงานร่วมกันกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เลยค่ะ แล้วก็วันนี้ทางอธิบดีมาด้วย เดี๋ยวจะขอมอบให้ท่านอธิบดีช่วยลงไปดู แล้วก็พยายามช่วยกันผลักดันค่ะ เพราะเดิมทาง กรมการท่องเที่ยวก็จะดูแลเรื่องทางมัคคุเทศก์อยู่แล้ว แล้วก็มาตรฐานในส่วนของทางโรงแรม ก็ทราบอยู่แล้วว่าทางจังหวัดอุตรดิตถ์มีของดีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หรือว่าเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวก็ตาม เชื่อว่าภายใต้การผลักดัน แล้วก็ในนโยบายปัจจุบันที่ทางเรามีให้ประเทศไทย เที่ยวได้ ๓๖๕ วัน แล้วก็ Promote เมืองรองเพื่อที่จะกระจายรายได้ เชื่อว่าจะสามารถ ผลักดันและช่วยกันประชาสัมพันธ์ได้มากยิ่งขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ไม่มีแล้ว อย่างนั้นขอบคุณมากนะครับ ท่านรัฐมนตรีแล้วก็ทางท่านผู้ถามนะครับ กระทู้ต่อไป พร้อมไหมครับ ประสานทางรัฐมนตรีหรือยังครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๒. เรื่อง โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน พื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ซึ่งเป็นกระทู้ที่เลื่อนมาจาก ครั้งที่ ๑๔ วันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ติดภารกิจราชการสำคัญ จึงได้มอบหมาย ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ จะมีเจ้าหน้าที่ที่ เข้ามาสนับสนุนข้อมูลครับ ท่านแรก ท่านพรเทพ เปรมทวี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสนับสนุนการพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย อีกท่านหนึ่ง ท่านพลฉัตร ตันเสถียร เดี๋ยวตามมานะครับ ท่านพลฉัตร ตันเสถียร วิศวกรโยธา ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเดียวกัน ทั้งผู้ถามและทางท่านรัฐมนตรีพร้อมแล้วนะครับ ขอเชิญท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ อำเภอบ้านโป่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมได้ทำ กระทู้ถามแยกเฉพาะ กราบเรียนกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องด้วยเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นมาช่วงระยะเวลานานพอสมควร โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนก็จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมขังในพื้นที่พักอาศัย อยากจะกราบเรียน อย่างนี้ครับว่า พื้นที่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีนั้นมีการขยายชุมชนเมือง อยู่ตลอดเวลา เดิมทีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รับน้ำธรรมชาติก็คือพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่เราเรียกว่าแก้มลิง ท่านประธานก็คงนึกออกว่าพอมีชุมชนเมืองตั้งอยู่ พอมีฝนตกหนักก็ไหล เข้าไปสู่พื้นที่ธรรมชาติก็คือแก้มลิง ทีนี้เมื่อเมืองขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่รองรับน้ำมันก็จะถูกก่อสร้างด้วยหมู่บ้าน หรือบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน มาทดแทนพื้นที่ว่างเปล่าดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในเขตเทศบาลเมือง บ้านโป่ง รวมถึงพื้นที่บริเวณโดยรอบของเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ไม่ว่าจะเป็นตำบลปากแรต ตำบลสวนกล้วย ตำบลท่าผา ตำบลหนองอ้อ แล้วก็เขตที่ใกล้เคียงอีกเขตหนึ่งก็คือ ตำบลหนองกบ มีบ้านจัดสรร มีพี่น้องประชาชนขยายที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ รับน้ำธรรมชาติมันลดน้อยถอยลงไป เวลามีฝนตกหนักแล้วก็ติดต่อกันหลายวันก็จะเกิด ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตที่พักอาศัย ทั้ง ๆ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อยู่ติดริมแม่น้ำ แม่กลอง ซึ่งแม่น้ำแม่กลองมีข้อดีอย่างครับท่านประธาน คือตลิ่งค่อนข้างสูงชัน แล้วก็มีพื้นที่ รับน้ำค่อนข้างมาก แต่ว่าก็ยังมีปัญหาเรื่อง ๆ น้ำท่วมเวลาฝนตก อันนี้คือเป็นปัญหา เรื่องของการระบายน้ำ ไม่ใช่เป็นปัญหาเหมือนกับบ้านของท่านประธานที่จังหวัดพิษณุโลก เกิดจากปัญหาน้ำป่าที่ไหลหลากลงมาตามลำน้ำ แต่ว่าที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีข้อดีคือ ๑. ตลิ่งชัน เพราะอะไรครับ เพราะว่ามีเขื่อน ๒ เขื่อนใหญ่ ทำให้มีการเก็บกักน้ำได้ในฤดูฝนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทีนี้ถึงแม้ว่าชุมชนในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่งถึงแม้จะติดริมน้ำ แต่ก็ยัง มีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ ที่ผ่านมาก็ได้เอาปัญหาเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร ทางกรมโยธาธิการ และผังเมืองก็ได้ลงไปสำรวจแล้วก็ออกแบบอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำนี้ก็จะ ยิงยาวมาตลอดแนวถนนทรงพล ตั้งแต่บ้านโคกหม้อของหมู่ที่ ๙ ของตำบลปากแรต ต่อเนื่อง กับพื้นที่ติดต่อเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ผมเองก็ลงพื้นที่สำรวจกับนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่ง ในสมัยนั้น ร่วมกับทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดราชบุรี ก็ไล่ไปนะครับ โดยเฉพาะบริเวณ หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองบ้านโป่งหรือหน้าวัดดอนตูม ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่อยู่หน้า สำนักงานเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แต่ท่านประธานเชื่อไหมครับ เวลาฝนตกหนักทีไรต้องเอา รถดับเพลิงไปสูบน้ำออก ประชาชนก็หมดความมั่นใจในศักยภาพในหน่วยงานของรัฐ แม้กระทั่งหน้าเทศบาลเองยังเอาตัวไม่รอดเลย ผมเองลงพื้นที่ไป ก็ไปสูบน้ำ ก็ไปดูปัญหา ก็เอาเรื่องเข้ามาในสภา ก็ได้ไปสำรวจเส้นทางดังกล่าวอย่างที่ได้เรียนท่านประธาน ก็เลย หารือกันว่าเราก็จะทำโครงการ ในเมื่อทำจุดระบายน้ำที่หน้าวัดดอนตูมหรือเทศบาลเมือง บ้านโป่งแล้ว ซึ่งอยู่จุดเดียวกันแต่คนละฝั่งถนนของถนนทรงพล เราก็จะไปลงที่คลอง ชลประทาน ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองก็เลยเสนอมาว่าไหน ๆ เราจะทำแล้ว เราก็ บูรณาการในเขตของเทศบาลเมืองบ้านโป่ง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดเลยที่เป็นพื้นที่ ติดต่อ ก็คือเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แล้วก็ตำบลสวนกล้วย แล้วก็ตำบลปากแรต เราก็จะได้ อานิสงส์ไปที่ตำบลสวนกล้วย ก็คือ หมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ หมู่ที่ ๑๓ หลังวัดดอนตูม ส่วนตำบลปากแรตก็คือ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ แล้วก็หมู่ที่ ๙ อีก ๕ หมู่บ้าน เราก็จะได้ผันน้ำมาร่วมลงในอุโมงค์ระบายน้ำร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมือง บ้านโป่ง การออกแบบก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนแล้วเสร็จ แต่ว่างบประมาณยังไม่มาครับ ท่านประธาน ก็ได้เชิญท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๖ ท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็เชิญ ท่านไปตรวจติดตามโครงการขนาดใหญ่ที่ผมได้เสนอให้รัฐบาลในสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นถนน ๔ เลนก็ดี อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ก็ดี อุโมงค์ลอดแยกหัวโป่งก็ดี ในการระบายรถ ระบายการจราจร การก่อสร้างโรงพยาบาล บ้านโป่งอีก ๒ อาคารก็ดี สถานีสูบน้ำเพื่อแก้ไขภัยแล้งในเขตตำบลเขาขลุงก็ดี แล้วก็เขื่อน ริมตลิ่งก็ดี แล้วก็สะพานเชื่อมโรงพยาบาลบ้านโป่งแห่งที่ ๑ แห่งที่ ๒ ก็ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น โครงการขนาดใหญ่ที่ผมได้ผลักดันให้พี่น้องชาวบ้านโป่ง ก็เชิญท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปตรวจราชการ หลายโครงการมีความคืบหน้าครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน ๔ เลน ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์ในการลอดแยกหัวโป่งซึ่งปัจจุบันนี้มีการติดขัดมาก ปัจจุบัน ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี ๒๕๖๘ ได้รับแจ้งจากท่านเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมว่า จะทำการออกแบบ ๒๒ ล้านบาท ก็ต้องขอบคุณกระทรวงคมนาคม ทีนี้อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์อยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งอยากให้ทาง กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดสรรงบประมาณและเร่งก่อสร้าง วันนี้ก็เลยเป็นความโชคดี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมาย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านกำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงมาตอบ กระทู้นี้ให้กับพี่น้องชาวจังหวัดราชบุรี ก็ต้องขอขอบคุณท่านอนุทิน ชาญวีรกูล แล้วก็ ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นอย่างยิ่งครับ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญแล้วก็สละเวลามาตอบ กระทู้นี้ ซึ่งเป็นโครงการที่พี่น้องชาวบ้านโป่งให้การรอคอย แล้วก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี เมื่อประมาณ ๒ เดือนที่แล้ว ท่านรัฐมนตรีมาตอบกระทู้เรื่องการแบ่งเขตปกครองของ อบต. ดอนกระเบื้อง ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธารามกับอำเภอบ้านโป่ง ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ ลงรังวัดแล้วก็สำรวจมีความคืบหน้าไปมาก พี่น้องชาวอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก็ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นอย่างยิ่งครับ ที่ท่านได้สั่งการแล้วก็ ติดตามให้มีความคืบหน้า ฉะนั้นวันนี้จึงขออนุญาตท่านประธาน ได้เรียนถามท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ท่านสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อผลักดันโครงการ อุโมงค์ระบายน้ำในพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านโป่งและพื้นที่ใกล้เคียงในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในเขตอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มา ตอบกระทู้ถามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรตินะครับ ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดราชบุรี ก่อนอื่นนั้นผมต้องขอบคุณท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติอย่างสูงยิ่งครับ ที่ให้ความสำคัญกับ ปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย แล้วก็งานของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า ความจริงกรมโยธาธิการและ ผังเมืองมีภารกิจหลายด้านด้วยกัน ทั้งเรื่องของการจัดวางผังเมือง เรื่องของการจัดรูปที่ดิน เรื่องของการทำเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของน้ำ แล้วก็เรื่องของการพัฒนาเมือง ในส่วน ที่ท่านได้กรุณาถามก็เป็นส่วนของงานพัฒนาเมือง เรื่องการป้องกันการท่วมของน้ำ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ท่านให้ความกรุณาถามนั้นเป็นพื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองบ้านโป่งและ เป็นชุมชนต่อเนื่องตั้งอยู่ในพื้นที่รองรับน้ำหลากของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และมีลักษณะเป็น พื้นที่ราบลุ่ม แล้วก็อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึงของลุ่มน้ำแม่กลอง ช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักมาก ในพื้นที่ตอนบนใต้เขื่อนแม่กลองมีปัญหาน้ำก็จะท่วม ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำได้ แล้วก็สาเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาคือว่าเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ในกรณีที่มี ฝนตกหนักก็จะเกิดการระบายน้ำไม่ทัน เพราะเนื่องจากว่าตัวท่อระบายน้ำของเดิมเป็น ท่อเก่า แล้วก็มีขนาดเล็ก แล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เพียงพอในช่วง ฝนตกหนัก อันนี้เป็นประเด็นปัญหาที่ได้ทราบมานะครับ เพราะฉะนั้นผมเรียนท่านประธาน เรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่กรุณาถาม วันนี้ถือว่าโชคดีถามคำถามเดียวนะครับ เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเองก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้มีการศึกษาความเหมาะสม แล้วก็สำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำเพื่อบรรเทา ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีการศึกษา แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมีราคาก่อสร้างรวมทั้งสิ้นทั้งโครงการที่มีการศึกษา ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท มีองค์ประกอบหลัก เรื่องของการเสริมคันป้องกันน้ำท่วม ในภาพจะเป็นพื้นที่สีแดงนะครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

มีโครงการ ปรับปรุงโครงข่ายท่อระบายน้ำ อันนี้เป็นสีม่วงนะครับ เป็นโครงข่ายเพื่อการระบายน้ำ ทั้งหมด แล้วก็มีอาคารสูบน้ำ เพราะว่าพื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านโป่งมันเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เวลาจะระบายน้ำออกไปจะต้องมีอาคารสูบน้ำประกอบในการที่จะดึงน้ำลงสู่แม่น้ำแม่กลอง แล้วก็มีความคาดหมายว่าในอนาคตจะสามารถรองรับการขยายตัวของเมืองได้ มีพื้นที่ ทั้งในตัวเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แล้วก็ตำบลใกล้เคียงนะครับ ประโยชน์ที่ได้รับประมาณ ๕.๙๘ ตารางกิโลเมตร แล้วก็มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ประมาณ ๑๐,๒๖๙ ครัวเรือน ในส่วนของโครงการตามที่ท่านให้ความกรุณาถามกระทู้ถามกรมโยธาธิการและผังเมือง เราได้มีการเสนอโครงการของบประมาณจัดสรรในปี ๒๕๖๗ ก็คือสภากำลังพิจารณาอยู่ใน ขณะนี้นะครับ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ แล้วก็เมื่อสภา ให้ความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ ในระยะที่ ๑ กรอบวงเงิน ๒๒๐ ล้านบาท อันนี้ ท่านสามารถติดตามดูในเล่มขาวคาดแดง ก็มั่นใจว่าเมื่อได้รับการพิจารณาจากสภาเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถที่จะดำเนินการตามโครงการต่อไป ก็เป็นการก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นกรอบสีฟ้า เป็นอุโมงค์ที่ท่านให้ความกรุณาถามถึง เรายังไม่ทำทั้งหมดนะครับ แต่ว่า ตอนนี้มันก็สามารถที่จะระบายน้ำออกจากชุมชนได้ แล้วก็มีอาคารประกอบเรื่องการสูบน้ำ เป็นการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ขนาด ๒.๑ เมตร จนถึงขนาด ๒.๔ เมตร ในถนนทรงพล มีความยาวประมาณ ๒.๑ กิโลเมตร ก่อสร้างโดยวิธีการขุดวางท่อแล้วก็วิธีการดันท่อลอด ผ่านช่องทางที่มีความจำเป็นที่เราไม่ต้องมีการขุดลอก เป็นการวางท่อลอดดันออกไปนะครับ ก็เป็นโครงการซึ่งสามารถที่จะทำแล้วก็แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ อันนี้ยืนยันว่าแน่นอน แต่ว่าโดยโครงการภาพรวม ถ้าจะทำให้ครบทั้งหมด ก็ต้องประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนที่เหลือเราก็จะดำเนินการในการที่จะของบประมาณในปีถัดไป ไปเรื่อย ๆ นะครับ เพราะว่างบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกว่า ก็เป็นจำนวนงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ว่าจะทำเป็นเฟส ๆ ไปนะครับ เฟส ๑ เฟส ๒ เฟส ๓ สำหรับเฟสที่ ๑ มันก็จะได้พื้นที่และประโยชน์ประมาณ ๒.๔ ตารางกิโลเมตร แล้วก็ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ประมาณ ๓,๐๑๒ ครัวเรือน เบื้องต้นขออนุญาตกราบเรียน ท่านประธาน ท่านสมาชิกครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านอัครเดชใช้สิทธิในรอบที่ ๒ ครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นอย่างยิ่งครับท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ท่านได้มาชี้แจง แล้วก็ได้แจ้งความคืบหน้าโครงการว่า ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินโครงการให้กับพี่น้องชาวบ้านโป่ง ๒๒๐ ล้านบาท ซึ่งผมเอง ได้เห็นโครงการนี้ในเล่มขาวคาดแดง ตั้งแต่เมื่อประมาณสักเดือนกว่า ๆ ในช่วงที่ก่อนจะ เข้ามาประชุมงบประมาณที่ทาง ครม. ได้ส่งเล่มงบประมาณมาให้ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาในวาระ ๑ เห็นแล้วก็ดีใจครับ ที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอเข้ามา แล้วก็ตอนนี้รอทางกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติงบประมาณให้ไป ดำเนินการ ก็ดีใจเพราะว่าเป็นโครงการที่ผมได้ติดตามผลักดันมา ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ตอนนั้น เป็น สส. สมัยแรก ท่านประธานจำได้ว่าต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ ในเมื่อประชุมกับ ทางเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แล้วก็กรมโยธาธิการและผังเมืองหลายรอบ เราก็ขยายโครงการ ออกไป อย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมาดำเนินการให้ ต้องกราบ ขอบพระคุณ เพราะว่ามันไม่ได้รวมเฉพาะอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ หรือท่อระบายน้ำยักษ์ อย่างเดียว มันรวมถึงเขื่อนในการกันน้ำด้วยนะครับ อันนี้ก็ดำเนินการต่อเนื่องปีนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองก็จัดสรรงบประมาณเขื่อนมาให้ ตั้งแต่แยกค่ายหลวง สะพานบ้านโป่งมาอีกนะครับ ก็ต้องขอบคุณกรมโยธาธิการและผังเมืองนะครับ ก็จัดสรร งบประมาณอีก ๘๕ ล้านบาท โครงการนี้ต้องทำหลายปีนะครับ ก็จะเป็นการพัฒนาเมือง บ้านโป่งในระยะยาว รวมถึงระบบการระบายน้ำที่ต่อเนื่องจากอุโมงค์ระบายน้ำที่ ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงมา ๒.๑ กิโลเมตร ก็จะมีท่อมาเชื่อมต่อต่าง ๆ ทีนี้ก็เลยกราบเรียน ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีครับว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญ ถ้าทำเสร็จ ๑,๐๐๐ ล้านบาท อย่างที่ท่านรัฐมนตรีบอก จะทำให้เมืองบ้านโป่งมีศักยภาพในการพัฒนา เมืองมาก โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนา เรื่องของการระบายน้ำ การพัฒนาเมืองแล้วก็ชุมชน ที่อยู่อาศัย ก็จะเป็นเมืองที่มีความยั่งยืน แล้วก็มีความน่าอยู่ ทีนี้ผมถามคำถามเดียว เพราะว่า ขอเวลาได้ติดตามโครงการกับท่านรัฐมนตรี เนื่องจากปีนี้ท่านประธานครับ สมัยประชุมนี้ มีการเลื่อนตอบกระทู้ แล้วก็มีสมาชิกถามกระทู้เยอะด้วย ผมมีกระทู้ค้าง แต่คิดว่าบรรจุ ไม่ทันในสมัยนี้ ก็ขออนุญาตได้ติดตามโครงการนี้กับท่านรัฐมนตรีนะครับ ก็คือสะพานเชื่อม ก็คงไม่อยากให้ท่านรัฐมนตรีตอบ เพราะว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้เตรียมคำตอบมา แต่ว่าอยู่ใน กระทู้ที่ขอบรรจุ ก็คือสะพานเชื่อมโรงพยาบาลบ้านโป่งแห่งที่ ๑ แห่งที่ ๒ ซึ่งกรมโยธาธิการ และผังเมืองได้ลงสำรวจแล้ว ก็จะเป็นสะพานเดินเท้า ก็ฝากคณะติดตามท่านรัฐมนตรีได้ช่วย ติดตามด้วยนะครับ ก็คือเป็นสะพานเชื่อมในการพัฒนาเมือง เพราะว่าถ้าสะพานนี้เสร็จ โรงพยาบาลบ้านโป่งแห่งที่ ๑ แห่งที่ ๒ มันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ แต่ว่ามันอยู่ตรงกันพอดี ของฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตัวโรงพยาบาลบ้านโป่งแห่งที่ ๑ อยู่ฝั่งเทศบาลเมืองบ้านโป่ง แห่งที่ ๒ อยู่ในเขตเทศบาลตำบลเบิกไพร ถ้าทำสะพานเดินเท้าเชื่อมก็จะเป็นการอำนวยความสะดวก บุคลากรทางการแพทย์ แล้วก็พี่น้องประชาชน อันนี้คือเรื่องที่ ๑

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

เรื่องสุดท้าย เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับ อยากให้ท่านรัฐมนตรีได้ช่วยดู ตรงนี้ว่า เนื่องจากอุโมงค์ระบายน้ำตรงนี้มันสามารถดึงน้ำได้ แล้วก็ระบายน้ำได้มี ประสิทธิภาพ ถ้าทำเสร็จอยากให้ท่านรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ขยายพื้นที่ออกไปอีกสักนิดหนึ่ง เพราะว่าพื้นที่ตอนนี้มันขยายไปตำบลที่ใกล้เคียง ก็คือตำบลสวนกล้วย ตำบลปากแรด ตำบลท่าผา ตำบลหนองอ้อ ตอนนี้มีปัญหา น้ำท่วมขังมากครับ คล้ายกับตัวเทศบาลเมืองบ้านโป่ง คือถ้าทำเชื่อมแล้วก็มาลงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในตำบลใกล้เคียง ก็เลยขอให้ท่านรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ไปขยายพื้นที่ออกอีกสักนิดหนึ่งนะครับ ก็จะเป็นประโยชน์มากเพราะว่าตอนนี้ในชุมชนหนาแน่นมาก ก็เลยขอฝากท่านประธานไปยัง ท่านรัฐมนตรีทรงศักดิ์ ทองศรี อีก ๒ โครงการ ขอบคุณท่านประธานและท่านรัฐมนตรีมา ณ โอกาสนี้ครับ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานครับ ขออนุญาตตอบเพิ่มเติม ความจริงในช่วงแรกนั้นกรมโยธาธิการและ ผังเมืองก็ได้มีการศึกษาครอบคลุมในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้วนะครับ ที่เรียน เบื้องต้นว่า เป็นโครงการรวม ๆ ทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท เป็นโครงการรวม แล้วก็ มีพื้นที่ที่รับประโยชน์เป็น ๕.๙๘ ตารางกิโลเมตร ก็ ๑๐,๐๐๐ กว่าครัวเรือนด้วยกัน ครอบคลุมผลการศึกษา อันนี้ผมเรียนยืนยันนะครับ เพราะว่าในกรณีที่กรมโยธาธิการและ ผังเมืองไปศึกษา ก็จะดูโดยภาพรวมทั้งหมดว่าถ้าทำแล้วมันมีปัญหาในอนาคตหรือไม่อย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็จะพยายามทำให้มันครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาที่ กรมโยธาธิการและผังเมืองไปดำเนินการโครงการอะไรแล้ว ท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่การ ก่อสร้าง หลังจากการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะต้องรับไปดูแลต่อไป อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ในการที่ทำโครงการแต่ละที่แต่ละแห่ง ส่วนใหญ่ทำแล้วบางทีตอนขอโครงการเขาก็จะรับไป ดูแล แต่พอได้โครงการไปแล้วก็ไม่ยอมรับการไปดูแล ก็จะเป็นภาระของกรมโยธาธิการ และผังเมือง ในการบริหารจัดการเรื่องของโครงการที่ทำขึ้นนะครับ ส่วนเรื่องของสะพาน ผมก็จะรับนะครับ ก็เป็นงานที่อยู่ในแผนงานโครงการพัฒนาเมือง ความจริงการก่อสร้าง สะพาน วันนี้ภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะไม่ค่อยได้ทำแล้ว ถ้าเป็นสะพานที่ใช้ ในการสัญจรไปมาของรถอะไรประมาณนี้ ก็จะไม่ทำแล้ว แต่เป็นสะพานที่ใช้คนเดินเชื่อมกัน แล้วก็เป็นประโยชน์ เดี๋ยวผมจะกำชับทางกรมให้ดำเนินการไปสำรวจดู เตรียมความพร้อม ในการขอตั้งงบประมาณต่อไป ขอบคุณครับ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ

ท่านประธานอีกนิดเดียวครับ ขอเวลาสักครึ่งนาทีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ท่านครับ คงไม่ได้ละครับ เพราะว่าใช้สิทธิครบ ๒ รอบ แล้วก็เกินเวลาแล้วครับ แล้วท่านก็ได้ ๓ กระทู้รวดเลยนะครับ ขอบคุณนะครับ ขอบคุณท่านอัครเดช แล้วก็ท่านรัฐมนตรีนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๓. เรื่อง ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาถนนเลี่ยงเมือง สาย ค.๑ และ ค.๓ และระบบเชื่อมต่อถนนสาย ข.๒ และ ก.๑ จังหวัดลำพูน นายรังสรรค์ มณีรัตน์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ติดภารกิจสำคัญนะครับ ก็ได้มอบหมายให้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน แล้วก็เป็นเช่นเดียวกับกระทู้ที่แล้วนะครับ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ ท่านครับ ท่านพรเทพ เปรมทวี และท่านพลฉัตร ตันเสถียร จากสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ทั้งผู้ถามและรัฐมนตรีพร้อมแล้ว นะครับ ขอเชิญท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ ใช้สิทธิถามในรอบที่ ๑ ครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณนะครับท่านประธาน ที่บรรจุวาระของผมเป็นกระทู้แยกเฉพาะในวันนี้ และกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีที่สละเวลามาตอบกระทู้ของผม เนื่องจากโครงการ พัฒนาผังเมืองรวม จังหวัดลำพูน มีงานก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง สาย ค.๑ และ ค.๓ และ ระบบเชื่อมต่อสาย ข.๒ และ ก.๑ จังหวัดลำพูน แบ่งการก่อสร้างเป็น ๒ ระยะ ระยะแรก ระยะทางรวมประมาณ ๒.๙๙๘ กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง ๘๐ ล้านบาทเศษ งบผูกพัน ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ ระยะที่ ๒ ขอบเขตงานก่อสร้างถนนผิวการจราจร Asphaltic ๒-๔ ช่อง จราจร และ ๔ ช่องจราจรพร้อมระบบระบายน้ำ งานติดตั้งป้ายจราจร สะพานคอนกรีต เสริมเหล็ก ระยะทางรวม ๑๐ กิโลเมตรเศษ วงเงิน ๔๕๖ ล้านบาท งบผูกพันปี ๒๕๖๓ ถึง ปี ๒๕๖๗ ท่านประธานครับ หลังจากนั้นทางกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้ก่อสร้างถนน เส้นนี้ แต่พอหลังจากสร้างเสร็จแล้ว ผมขอวิดีโอหน่อยครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

อันนี้นะครับ เป็นคลิปที่ทางเพจฮาลำพูน ได้เอามาลงไว้นะครับว่าหลังจากที่ถนนเส้นนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วในหน้าฝนเป็นอย่างไร คลิปนี้ ถ่ายเมื่อประมาณปี ๒๕๖๖ น้ำท่วมเสียหายหมด ถนนเส้นนี้ไม่สามารถระบายน้ำได้ น้ำท่วมขัง เสร็จแล้วเกิดอุบัติเหตุเยอะแยะมากมาย และถนนเส้นนี้เป็นถนนที่เชื่อมจาก อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง เพื่อมาใช้บริการที่โรงพยาบาลลำพูน คลิปต่อไปครับ คลิปนี้ถ่ายเมื่อวานนี้ เห็นไหมครับท่านประธาน ท่านรัฐมนตรีครับ นี่คือ ผลงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นชุดเมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ กว่านะครับ ในส่วนของข้าราชการ ผู้บริหารจังหวัดที่ทำงานอยู่วันนี้มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนรู้เห็น ในการก่อสร้างถนนเส้นนี้ เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดก็เพิ่งมารับงานได้สักปีกว่า ๒ ปี ไม่มีส่วนในการรู้เห็นกับการก่อสร้าง หลังจากมีการลงคลิป มีการประชาสัมพันธ์เรื่องถนน เสียหายไปแล้ว ท่านประธานลองมาดูครับ ผลของเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน ขอภาพครับ นี่ก็จากเพจฮาลำพูนเหมือนกัน เรื่องถึง Guinness Book หรือยังครับ ถนนพัง เร็วที่สุดในโลก ถนนสายเลี่ยงเมือง ไม่อยากไป อันตรายมากครับ ถ้ารถพยาบาลมาเส้นนี้ ไม่อยากคิดว่าเกิดอะไรขึ้น พอดีผมหาคลิป ๆ หนึ่งไม่ได้ครับ เป็นคลิปที่รถพยาบาลนำตัว ผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลแล้วใช้ถนนเส้นนี้ เสร็จแล้วเกือบพลิกคว่ำครับ เพราะว่าไปลงหลุม ที่ใหญ่มาก ภาพต่อไปครับ ถนนรถกระโดด ถนนที่ทำชั่วโคตรแต่ใช้ได้ชั่วคราว เป็นถนนที่ ห่วยที่สุดในจังหวัดลำพูน ผมไม่อยากจะนำปัญหาของบ้านผมมาสะท้อนแบบนี้ แต่ว่ามัน ทนไม่ไหวจริง ๆ ครับ เพราะให้โอกาสหลายปี ก็ไม่มีการแก้ไข สไลด์ต่อไปครับ ทำให้ใหม่ หมดเลยครับ ซ่อมจุดเดียวเดี๋ยวก็กลับมาเสียเหมือนเดิม ท่านประธานครับ จากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดลำพูนบ้านผม ผมก็เลยไปสืบค้นเสาะค้นหาว่า บริษัทไหนที่ดำเนินการ ได้รับเป็นผู้ก่อสร้าง จนกระทั่งผมไปพบรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดลำพูน ขอภาพด้วยครับ ประชุมกัน ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๖๓ ข้อ ๓.๓ เรื่องความคืบหน้าการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองลำพูน ของ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดลำพูน ระยะที่ ๑ ที่ ๒.๙๙ กิโลเมตร ปรากฏว่ามี ห้างหุ้นส่วนจำกัด กองมณีก่อสร้าง เป็นผู้ได้รับงานจ้าง และสร้างเสร็จและส่งมอบงาน งวดสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๖๐ ระยะที่ ๒ ซึ่งก่อสร้างอยู่ ๑๐ กิโลเมตรเศษ ผู้รับจ้างได้แก่ บริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) ส่งมอบงานไปเมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ท่านประธานครับ ผมมีปัญหาอย่างนี้ และเดือดร้อนกับพี่น้อง ประชาชนทั้งจังหวัดลำพูน ถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นเลี่ยงเมืองที่มาโรงพยาบาล เป็นถนนเส้นที่ จะไปถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑ ซึ่งจะไปยังจังหวัดเชียงใหม่ แต่โครงการนี้สร้างไปด้วย ซ่อมไปด้วย ผมจึงอยากถามท่านรัฐมนตรีว่า หลังจากที่ปีที่แล้ว ปี ๒๕๖๖ ได้งบมาซ่อมแซม ประมาณ ๑๙ ล้านบาท อยากถามท่านว่า หลังจากนี้ท่านจะดำเนินการซ่อมแซมถนนเส้นนี้ เมื่อไร อย่างไรต่อไป กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ ท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดลำพูน ก่อนอื่นผมก็ต้องขอบคุณท่านเหมือนเช่นเคยนะครับ ที่ท่านมีความกรุณาติดตามงานของ กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรมซึ่งได้ทำหน้าที่ หลายอย่างนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของการดำเนินการโครงการตามที่กำหนดไว้ในผังเมือง ประเด็นที่ท่านให้ความกรุณาท่านถามเป็นเรื่องของการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ซึ่งได้จัดทำขึ้น ที่จังหวัดลำพูน เป็นโครงการทำถนนตามโครงการผังเมือง แล้วก็เป็นโครงการซึ่งเป็นการ ร้องขอจาก อปท. พื้นที่ต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มการจราจรที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาการติดขัดของรถว่าไม่สามารถรองรับการจราจรได้อย่างเต็มรูปแบบ แล้วก็ เลยขอโครงการมาที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองตามที่ ท่านสมาชิกได้พูดถึงนะครับ สาย ค.๑ และ ค.๓ แล้วก็ระบบเชื่อมต่อสาย ค.๒ และ ก.๑ จังหวัดลำพูน แล้วก็ได้มีการก่อสร้างไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ระยะที่ ๑ ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ระยะทางประมาณ ๒.๙ กิโลเมตร วงเงิน ๘๐ กว่าล้านนะครับ ระยะที่ ๒ ก็ปี ๒๕๕๗ ๑๐ กิโลเมตรเศษ ก็ ๔๐๐ กว่าล้านบาท ระยะที่ ๓ มีเรื่องของการทำเรื่องระบบ ความปลอดภัย เรื่องของระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ที่ใช้ในการให้ประชาชนเดินทางด้วยความ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ประเด็นมีอยู่อย่างนี้นะครับ ผมดูในคลิปก็เข้าใจนะครับว่า มันมีปัญหา เรื่องของการชำรุดบกพร่อง เรื่องของการก่อสร้าง ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าในกรณีที่มีความ เสียหาย ซึ่งปกติของเส้นทางคมนาคม ที่ไหนมันก็ต้องมีเสียอยู่แล้วนะครับ มันมีเสียก็มี การซ่อม หลายกรมก็มีงานก่อสร้าง งานซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวง ชนบท หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ก็เหมือนกันนะครับ แต่ว่าถ้าเกิดการชำรุด ในช่วงที่อยู่ในช่วงของการประกันสัญญาก็เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ต้องดำเนินการ อันนี้เป็น เรื่องที่ผมต้องกราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกว่า มันเป็นเรื่องปกติของการทำโครงสร้าง พื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องของถนน เรื่องของความเสียหายมันก็เป็นไปได้ แต่ว่าหน้าที่ของ กรมเองก็ต้องไปดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยนะครับว่า เส้นทางดังกล่าวนี้เมื่อมัน เสียหายแล้ว เราต้องทำอย่างไร แต่ผมเรียนท่านประธานว่าความจริงแล้ว ตอนที่ขอโครงการ ท้องถิ่นเขาจะต้องเป็นคนขอมา แล้วก็เมื่อทำโครงการแล้ว ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ก็จะมอบภารกิจให้ไปกับท้องถิ่นในการรับผิดชอบต่อไป ในช่วงที่งานเสร็จแล้วนะครับ แต่ประเด็นปัญหาก็คือว่า หลังจากที่กรมทำเสร็จแล้ว ปรากฏว่าทั้งเทศบาลเมืองลำพูน แล้วก็ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเองก็ไม่รับนะครับ ไม่รับเส้นทางเลี่ยงเมืองดังกล่าวนี้ไปดูแล มันก็จะเป็นปัญหาในการที่ว่า ใครที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ที่สุด ในการที่รับผิดชอบในการดูแล แต่ว่า ภาระการรับผิดชอบคงไม่พ้นกรมโยธาธิการและผังเมือง อันนี้ผมเรียนนะครับว่า ถ้ายังไม่มี การรับมอบ กรมเองก็ต้องรับผิดชอบในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อย จนในที่สุดมีการได้ดู พื้นที่ที่มีความเสียหาย ความจริงทั้งสายไม่ได้เสียหายทั้งหมดนะครับ ผมไม่ทราบว่าคลิปที่เอา มาดูมาโชว์ ผมไม่ทราบว่ามันตอนไหนตรงไหน แต่ว่าจากการสำรวจก็มีส่วนที่มีความเสียหาย ในเส้นทางที่เริ่มต้นจาก ค.๑ ไปถึง ค.๓ อยู่ในช่วงตรงกลาง ประมาณสัก ๑.๕ กิโลเมตร ซึ่งกรมเองก็ได้ตั้งงบประมาณไปประมาณ ๑๙ ล้านบาทเศษในการซ่อมบำรุง ซึ่งในขณะนี้ ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว อยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จนะครับ แล้วก็เราก็จะ พยายามเร่งรัดที่จะให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุดนะครับ อันนี้ ผมเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิกนะครับว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ติดตามดูแล้วก็สดับรับฟังดู ก็เร่งรัดนะครับ ได้สอบถามไปทางจังหวัดดูแลกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดให้เร่งรัดการ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขซ่อมบำรุงให้มันอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ปกติต่อไปครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านรังสรรค์ครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ต่อกรณีของ ถนนเส้นนี้ ท่านครับ ถ้าเป็นไปได้นะครับ ขอท่านรัฐมนตรีสั่งการให้โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดลำพูนถ่ายคลิปวิดีโอตั้งแต่เริ่มจุดก่อสร้างจนสิ้นสุด เอามาเปรียบเทียบคลิปที่ผมนำมา ให้ทางท่านดูในวันนี้นะครับว่า ถนนมันเป็นอย่างไร แต่อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหานะครับ แต่ปัญหาคือว่า ต้องกราบขอบพระคุณว่าท่านจะมีโครงการที่จะซ่อมแซมถนนเส้นนี้ ท่านประธานครับ ก่อนหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองไม่ได้มีงบมาซ่อมแซม ทางจังหวัด ก็ขอร้องทางองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบจ. ลำพูนมาซ่อมแซม พอ อบจ. ลำพูน โดยท่านอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เอาเครื่องจักรไปซ่อมแซม ชาวบ้านก็เข้าใจผิด ด่า อบจ. หมดครับ หน่วยงานอื่นมาซ่อมแซม พอมีรถของหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้มา ชาวบ้านไม่รู้ ก็บ่นก็ด่าหน่วยงานที่มาซ่อมแซมจนเป็นที่ระอาของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะมาให้ ความร่วมมือ ดังนั้นท่านประธานครับ ผมได้ไปสอบถามในหลายหน่วยงาน เช่น ทางหลวง ทางหลวงชนบทของจังหวัดลำพูนว่า ต่อกรณีถนนเส้นนี้ มีแนวทางไหนบ้างที่ทาง กรมโยธาธิการและผังเมืองจะมอบ หรือโอนถ่ายภารกิจของถนนเส้นนี้ มอบให้แก่ ทางหลวงหรือทางหลวงชนบท ซึ่งผมได้ไปสอบถามขอข้อมูลเบื้องต้น ทางหลวงชนบท จังหวัดลำพูน ถ้าทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมอบ ทางหน่วยงานนั้นก็พร้อม ผมไป สอบถามทางหลวงจังหวัดลำพูนว่า ถ้าสำนักโยธาธิการและผังเมืองมอบหมายให้ จะรับแล้วก็เอามาดูแลได้ไหม ทางหลวงก็บอกพร้อมที่จะดำเนินการ ดังนั้นผมจึงมี คำถามที่ ๒ ถามทางท่านรัฐมนตรีนะครับว่า กระทรวงมหาดไทยมีแผนที่จะดำเนินการ ส่งมอบทรัพย์สินแก่กรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมหรือไม่ อย่างไร ขอรายละเอียดครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมต้องขออนุญาตตอบคำถามข้อที่ ๒ เพิ่มเติม ความจริงงานที่ กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้างแต่ละอย่าง แต่ละเรื่องแต่ละที่ ส่วนใหญ่ก็เป็น เรื่องของความต้องการของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นงานเขื่อน งานถนน งานพัฒนาเมือง และงาน จัดรูปที่ดิน ทำเสร็จแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องโอนให้ท้องถิ่นรับผิดชอบดำเนินการต่อไป เราจะทำ เรื่องของการวางผังวางแนวกำหนดทิศทางในการพัฒนารูปแบบของการตั้งงบประมาณ ลงไป อันนี้ผมเรียนเบื้องต้นก่อนนะครับ กรมเองอยากโอนให้ตั้งแต่ต้น แต่ว่าที่ทราบมา คือทั้ง อบจ. เองก็ไม่ยอมรับ ก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากร ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีความเชี่ยวชาญ แม้เทศบาลเมืองลำพูนเองก็เช่นเดียวกันนะครับ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องเรียนท่านประธานและสมาชิก แต่ว่าความรับผิดชอบของ การก่อสร้างก็ยังเป็นงานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องรับผิดชอบเหมือนเดิม เรื่องของการ ซ่อมบำรุง การดูแลความเรียบร้อย ท่านประธานทราบไหมครับว่า แม้แต่เรื่องของไฟ แสงสว่างที่ติดตั้งอยู่ในเส้นทางดังกล่าวนี้ ปกติถ้าโอนแล้ว ก็เป็นเรื่องของท้องถิ่นต้องไป เจรจากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการที่จะใช้ไฟสาธารณะแบบไม่ต้องเสียงบประมาณ ทุกวันนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองต้องชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้า แสงสว่างเรื่องความ ปลอดภัย เดือนหนึ่งประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ต้องรับผิดชอบนะครับ อันนี้เรียน เบื้องต้นก่อน แต่ว่าเรื่องของเส้นทางคมนาคม เราก็ต้องรับผิดชอบในการดูแลให้เกิดความ เรียบร้อยนะครับ แต่ทราบว่าในขณะนี้กรมทางหลวงชนบทก็มีแนวทางในการที่จะรับโอน ไม่ได้เฉพาะแต่เรื่องของหน่วยงานราชการ ของท้องถิ่นเองก็เหมือนกันนะครับ อย่างเช่น ในชนบท ถ้าจะเป็นโครงข่ายชนบทเกิดขึ้นใหม่ ก็สามารถทำเรื่องขอโอนไปให้ กรมทางหลวงชนบทไปดำเนินการพัฒนาเป็นเส้นทางคมนาคมที่เป็นโครงข่ายมาตรฐาน ต่อไปได้ ส่วนเรื่องเส้นทางเลี่ยงเมืองดังกล่าวนี้ กรมได้ทำเรื่องถึงกรมทางหลวงชนบท เรียบร้อยแล้วนะครับ แต่อยู่ขั้นตอนในการที่จะตกลงกัน แต่ว่าทางกรมโยธาธิการและ ผังเมืองยินดีที่จะโอนให้กรมทางหลวงชนบท แต่ว่าผู้รับโอนจะรับโอนไหม นั่นเป็นประเด็น ผมมีโอกาสได้ไปติดตาม โทรสอบถามไปก่อนเบื้องต้น เขาบอกว่าเขายินดีจะรับโอน อันนี้เป็น การเจรจาภายในนะครับว่าเส้นทางอย่างนี้รับโอนได้ไหม แต่ว่าเมื่อรับโอนแล้วกรมเองก็ต้อง รับผิดชอบในการที่จะไปทำให้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นถนนที่เป็น ๔ ช่องจราจรทำด้วย Asphaltic ให้มันมีความมั่นคงแข็งแรงต่อไป แล้วก็สามารถที่จะบริการประชาชนได้อย่างดี ในอนาคตข้างหน้าต่อไปนะครับ กราบขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เหลือเวลาอีกเล็กน้อยแต่คงไม่อนุญาตให้ถามแล้วนะครับ มีอะไรทิ้งท้าย ไหมครับ

นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม รังสรรค์ มณีรัตน์ มีเรื่องฝากในพื้นที่สักเล็กน้อยนะครับ ในฐานะที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองดูแล ท่านรัฐมนตรีครับ ตลิ่งริมแม่น้ำลี้ตั้งแต่อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง ไปถึงอำเภอเวียงหนองล่อง เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดพายุฝน น้ำลี้ได้ไหลรุนแรงมาก เพราะว่ามีความชันสูงทำให้ตลิ่งริมแม่น้ำลี้ ผุพังถล่มเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพี่น้องชาวบ้านเสียหายไปหลายหลัง ฝากทาง ท่านประธานถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วยนะครับว่า ถ้ามีงบประมาณก็ขอให้สนับสนุน ทางจังหวัดลำพูนด้วย เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวบ้าน กราบขอบคุณครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ท่านประธานขอนิดเดียวนะครับ พอดีให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญครับ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ก็ขอบคุณท่านสมาชิกนะครับที่เรื่องของงานทำเขื่อน งานเขื่อนเป็นภารกิจของ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าการจะลงไปทำในพื้นที่ได้จะต้องมีเจ้าภาพ คือท้องถิ่นต้องเสนอขอมา แล้วก็ต้องมีการประชาคมชาวบ้านด้วยนะครับว่า เป็นความ ต้องการของประชาชน แล้วก็ท้องถิ่นก็เสนอขอมา แล้วก็บางพื้นที่ที่มันล่าช้า เพราะว่ามัน ไปติดเรื่องของพื้นที่ป่า ริมตลิ่งนิดเดียวต้องไปขอ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ว่ามันเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งมันใช้เวลาค่อนข้างนานนะครับ อย่างไรก็ฝากท่านสมาชิกมาหาแนวทางในการแก้ไข กฎหมายไปด้วย พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ให้หน่วยงานทุกหน่วยงานสามารถลงไปทำได้อย่าง แบบรวดเร็ว โดยไม่ติดปัญหาเรื่องนี้ต่อไป ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณนะครับ ก็เป็นอันเสร็จกระทู้ที่ ๑.๓.๔ กราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรี แล้วก็ ท่านผู้ถามกระทู้ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๔. เรื่อง ปัญหาชาวบ้านยังไม่ได้รับการบริการจากการประปา ส่วนภูมิภาคในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี นายสาธิต ทวีผล เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ติดภารกิจราชการสำคัญ จึงได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะนะครับ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลดังนี้ครับ ท่านแรก ท่านไชยพัฒน์ ยุติมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานโครงการการประปาส่วนภูมิภาค และท่านที่ ๒ ท่านสุวิมล ช่อสูงเนิน หัวหน้างานแผนงานการประปาส่วนภูมิภาค เขต ๒ การประปา ส่วนภูมิภาค ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีก็ให้เกียรติเข้ามาพร้อมแล้วนะครับ ผมขอเชิญท่านสาธิต ทวีผล ใช้สิทธิถามในรอบที่ ๑ ครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณท่านประธานครับที่กรุณาบรรจุกระทู้ของผมเข้าสู่ห้องแยกเฉพาะแห่งนี้ ซึ่งเป็นกระทู้ที่มีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีอย่างมาก แล้วก็ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ที่กรุณามอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ มาตอบกระทู้ของผม ท่านประธานครับ จังหวัดลพบุรีนั้นแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น ทั้งหมด ๑๑ อำเภอ มีทั้งหมด ๑๒๒ ตำบล ๑,๑๒๖ หมู่บ้าน มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่าง กันออกไป มีทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบสูง พื้นที่ภูเขา ซึ่งปัจจุบันนี้จังหวัดลพบุรีนั้น มีสาขาของ การประปาส่วนภูมิภาคทั้งหมด ๓ สาขา สาขาที่ ๑ คือของสาขาเมืองลพบุรีอยู่ในอำเภอเมือง ลพบุรี สาขาที่ ๒ คือสาขาบ้านหมี่อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ และสาขาสุดท้ายคือสาขาชัยบาดาล อยู่ที่อำเภอชัยบาดาล ซึ่งมีพี่น้องประชาชนมากกว่า ๑๐๐ ตำบลที่ยังไม่ได้รับการบริการจาก การประปาส่วนภูมิภาค และมีพี่น้องมากกว่า ๑,๐๐๐ หมู่บ้านที่ยังไม่ได้ใช้น้ำสะอาดจาก การประปาส่วนภูมิภาค โดยหลังจากจบการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ผมได้ลง พื้นที่ขอบคุณพี่น้องประชาชน แล้วก็ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำประปาเข้ามาเป็น จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ของอำเภอพัฒนานิคม และพื้นที่ของตำบลโคกตูม ซึ่งเป็นตำบลขนาดใหญ่ ของอำเภอเมืองลพบุรี พื้นที่ทั้งสองนี้มีประชากรอาศัยอยู่รวมกัน มีทั้งแฝงและอยู่ในพื้นที่ ด้วยราว ๆ แสนกว่าชีวิตครับ ผมจึงได้รวบรวมปัญหา แล้วก็ได้นำไปหารือเข้าไปสอบถามกับ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี ได้คำตอบจากทางผู้จัดการสาขาการประปาส่วนภูมิภาค ลพบุรีว่า พื้นที่ที่ไม่สามารถขยายเขตการประปาภูมิภาคคือตำบลโคกตูม แล้วก็มีตำบลนิคม บางส่วนด้วย ซึ่งมันจะเป็นที่ราบสูง ไม่สามารถมีแรงดันน้ำขึ้นไปถึง มีประปาภูมิภาค ๓ สาขา ที่เหมือนจะมีแนวโน้มว่า จะส่งน้ำมายังอำเภอพัฒนานิคมได้ แต่แรงดันน้ำไม่พอก็คือ การประปาภูมิภาคสาขาลพบุรี การประปาภูมิภาคสาขาพระพุทธบาทของจังหวัดสระบุรี แล้วก็การประปาส่วนภูมิภาคสาขาชัยบาดาล คือไม่สามารถจะส่งแรงดันน้ำขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะ ทำการ Boost อย่างไร Boost อีกก็ไม่มีแรงดันมาพอครับ และปัจจุบันนี้มีการขยายตัว ของชุมชนในอำเภอพัฒนานิคมในตำบลโคกตูม ในตำบลนิคมสร้างตนเองเป็นจำนวนมาก แต่ว่าปัจจุบันนี้การประปาส่วนภูมิภาคนั้นไม่ได้มีการขยายตัวตาม ผมได้ศึกษารายงานของ งบประมาณปี ๒๕๖๗ ที่มีการขอโครงการน้ำประปาไปมากกว่า ๑,๐๐๐ โครงการ แต่ว่า ได้รับอนุมัติไม่ถึง ประมาณ ๕๐๐ โครงการนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงมีคำถาม ถามท่าน รัฐมนตรีในฐานะที่ท่านกำกับดูแล มีอำนาจบริหารในกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจกำกับ ดูแลหน่วยงานประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงท่านนะครับ ว่าท่านจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงน้ำประปาสะอาด และมีคุณภาพดื่มได้อย่างทั่วถึง ขอทราบคำตอบครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิตอบในรอบที่ ๑ ครับ

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ชาดา ไทยเศรษฐ์ มาในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมเองก็ดูแล การประปาภูมิภาคอยู่นะครับ ได้รับการมอบอำนาจให้ดำเนินการเรื่องนี้ เรียนครับว่า ที่จังหวัดลพบุรีตามที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านสาธิต ทวีผล ก็คงจะเข้าใจสภาพ นะครับ ปรากฏว่าแหล่งน้ำทั้ง ๓ แหล่งที่ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก อ่างเก็บน้ำห้วยส้ม ไปสำรวจดูแล้วมันมีปัญหาเรื่องสาหร่ายเป็นพิษ ไม่สามารถที่จะทำประปาได้นะครับ ผมเรียนว่าไม่สามารถที่จะทำประปาได้ ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็มีปัญหาเรื่องเวลาน้ำแล้ง ก็มีปัญหา อันนี้ในส่วนของอำเภอโคกตูมมันเป็นพื้นที่สูง และเป็นปลายสายของประปา ภูมิภาคพอดี ไม่สามารถจะดันขึ้นที่สูงที่อำเภอโคกตูมได้ มันก็เหมือนกับว่าส่วนนั้น ใช้ประปาของเทศบาลอยู่ แล้วก็ของภูมิภาคไปถึงตรงนั้นก็ปลายสาย ดันขึ้นไม่ได้ ถ้าจะทำก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาโดยการที่ต้องไปตั้งสถานีแล้วก็เบิ้ลน้ำขึ้นไป ก็ถือว่าตรงนี้ มันก็เป็นเรื่องยากพอสมควรนะครับ ต้องศึกษากันพอสมควร ผมเรียนว่าอย่างนี้ดีกว่านะครับ จังหวัดอุทัยธานี๘ อำเภอ มีประปาภูมิภาค ๒ อำเภอครึ่ง ๒ อำเภอนี้ก็ไม่เต็มด้วย ถ้าจะคิดกันแล้วก็อำเภอละครึ่ง ๆ เหมือนกัน ผมเรียนท่านประธานว่า ผมเข้ามานั่งในนี้ ผมถือว่ามันเป็นความไม่เท่าเทียมของสังคมไทย นโยบายผมปี ๒๕๖๘ นี้นะครับ ผมบอกว่า ให้ทำเรื่องศึกษาแล้วก็เอาข้อมูลทั้งหมดมา ต้องทุกอำเภอในประเทศไทย ต้องมีประปา ภูมิภาคครับ ผมบอกเลยว่า ต้องมี แต่ผมไม่ใช่พระเอก แต่ผมอยากให้มีบันไดขั้นที่ ๑ ๘๐๐ อำเภอต้องมี ที่แล้วมาจะตอบกันว่า ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีพื้นที่ ผมบอกไม่มีแหล่งน้ำ ก็ต้องซื้อที่ดินขุด หรือไม่ก็ต้องเจาะบาดาล แต่ต้องทำ ทำในลักษณะที่เป็น Bout ว่า ผลิตมาแล้วอำเภอนี้ก็วางท่อไป หมู่บ้านหรือเทศบาลไหนต้องการใช้ ก็มาใช้ที่คุณภาพไม่ดี แต่มันต้องมีการเริ่มต้นครับท่านประธาน ต้องนับหนึ่ง ผมก็บอกว่าทำแผนมาในปี ๒๕๖๘ แล้วเรา ๒๐ ปี สำเร็จก็ไม่เป็นอะไร แต่ต้องเริ่มนับหนึ่ง ผมบอกต้องเริ่มนับหนึ่ง ผมรับไม่ได้ กับการที่คนในประเทศไทยใช้น้ำ คุณภาพน้ำไม่เหมือนกันนะครับ คนในกรุงเทพมหานคร ลองไป ท่านประธานอยู่เทศบาล จังหวัดพิษณุโลกอาจจะยังไม่รู้สึก เหมือนกับหมู่ที่ ๑ ตำบล ก ประปาหมู่บ้าน ท่านอย่าว่าอยากจะดื่มเลยครับ ใช้ยังไม่รู้ว่าคนกรุงเทพมหานครไปจะใช้ หรือเปล่า อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ในฐานะเป็นผู้แทนบ้านนอก แล้วก็ต้องคิดแก้ปัญหา อันนี้แน่นอนนะครับ ก็เรียนว่าเรากำลังทำแผน แล้วต้องมีทุกอำเภอของประเทศไทย ต้องมีประปาภูมิภาค นั่นคือความเท่าเทียมกันของคนไทย ก็เรียนว่าในส่วนตรงนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คงต้องเข้าไปดูเรื่องของท้องถิ่นที่จะเข้ามาส่งเสริมให้ท้องถิ่น สามารถที่จะขยายไปดูแลพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่ง แล้วก็การประปาภูมิภาคก็ต้องมีโจทย์ ที่จะทำให้ประชาชนมีทางเลือก ภูมิภาคแพงไปจะใช้ท้องถิ่นก็ใช้นะครับ แต่ถ้าจะใช้ภูมิภาค ก็ต้องมีให้เขาใช้ ก็เรียนท่านประธานในเบื้องต้นครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิถามในรอบที่ ๒ ครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่น ต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านชาดาครับ ที่กรุณา ตอบคำถามของผม แล้วก็เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาของพี่น้องประชาชนครับ ซึ่งผมเอง ก็ได้ลงพื้นที่ศึกษาแล้วพบว่า อ่างซับเหล็กที่ท่านได้กล่าวอ้าง แล้วก็อ่างห้วยส้มนั้น ผมได้รับ คำยืนยันจากการประปาภูมิภาค สาขาลพบุรี ว่าคุณภาพน้ำไม่สามารถจะนำมาผลิต น้ำประปาได้ครับ แต่จังหวัดลพบุรีนั้นมีอำเภอพัฒนานิคม ซึ่งมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็น เขื่อนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความจุอยู่ที่ ๗๕๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งพี่น้อง ชาวอำเภอพัฒนานิคมก็ได้สะท้อนปัญหามาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สร้างขึ้นมา แต่ว่าประชาชนในพื้นที่ของอำเภอพัฒนานิคมเองจริง ๆ ใช้น้ำไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตรหรืออุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่จะเป็นการกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอการท่วมขังของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วก็ ให้คนปลายน้ำได้ใช้น้ำ ทีนี้การสำรวจยังไม่มีการสำรวจแน่ชัดว่าน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะสามารถนำมาผลิตประปาภูมิภาคให้กับพี่น้องประชาชนได้หรือเปล่า จะมีการเก็บตัวอย่าง แค่เฉพาะบริเวณอ่างห้วยส้มกับอ่างซับเหล็กเท่านั้น ดังนั้นจึงมีคำถาม ถามท่านรัฐมนตรีว่า ท่านจะดำเนินการสำรวจพื้นที่ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อขยายสาขาประปาภูมิภาคของ อำเภอพัฒนานิคมหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร ขอทราบคำตอบครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ

ก่อนอื่น ผมต้องขอชื่นชมท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี คุณสาธิต ทวีผล ที่เมื่อสักครู่ บอกว่าได้ออกไปสำรวจ เรื่องนี้มันเป็นความรับผิดชอบ แล้วท่านก็ถือว่าเป็นผู้แทนใหม่ สนใจเรื่องนี้ก็ต้องขอชื่นชมนะครับ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็เป็นเรื่องที่ทางประปาภูมิภาคต้องไป ดำเนินการ แต่จะติดปัญหาอีกนิดหนึ่งครั้งหน้าก็คือเดี๋ยวนี้เขาเก็บค่าน้ำแพงมาก กรมชลประทาน เขาเก็บค่าน้ำ น้ำที่จะไปบริการประชาชนต้องถูกเก็บ จากเขื่อนต่าง ๆ ตอนนี้หลายแห่งก็มี ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายนะครับ แต่อันนี้ผมเรียนว่าจะอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าไปสำรวจดู นะครับว่า จะทำอย่างไรได้จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะพอไหมในหน้าแล้ง แล้วจะส่งแบบไหน ต้องดูตรงนี้ด้วยจะส่งแบบไหน เพียงแต่ว่าตอนนี้เราก็พยายามให้การประปาภูมิภาคเข้าไป เป็นพี่เลี้ยงกับการประปาเทศบาลกับประปาหมู่บ้านที่มีการเอาเจ้าหน้าที่ของเขามาอบรม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการที่จะผลิตน้ำให้กับพี่น้องประชาชน เพราะช่วงที่เราจะสำรวจ ผมเข้าใจครับ แล้วชาวบ้านจะทำอย่างไร เราก็คงต้องไปปรับปรุงประปาท้องถิ่นให้ดีขึ้น การประปาส่วนภูมิภาคก็จะดำเนินการแก้ไขในเรื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือจากตรงไหน ก็ตามที่สามารถจัดบริการพี่น้องประชาชนอีกทีหนึ่ง ถ้าเทศบาลยังพอรับได้นะครับ ท่านประธาน ถ้าประปาหมู่บ้านคุณภาพมันแย่จริง ๆ ผมเข้าใจนะครับ บ้านผมก็เป็น ผมก็ขึ้น แทบทุกหมู่บ้านทุกตำบล ตรงไหนที่ว่าไปแก้ปัญหาให้เขา เพราะผมรู้ เคยเป็นนายก เคยทำงานตรงนี้มา แล้วเข้าใจความเป็นผู้แทนราษฎรนะครับ ก็เจอปัญหาเหมือนผม เหมือนกัน จังหวัดอุทัยธานีนี่เห็นการประปาภูมิภาคไม่อยากมองเลยครับในอดีต เพราะว่า ก็ใช้คำตอบเดิมว่า มันไม่มีงบประมาณ แต่ต่อไปนี้ผมบอกแล้วว่า ต้องมีแผนการดำเนินการ คุณจะตั้งเป้าไว้ ๑๐ ปี ๒๐ ปีไม่ว่ากัน แต่ต้องมีผมหวังเป็นบันไดขั้นที่ ๑ มีขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ต่อไป ถ้าไม่อย่างนั้นชาวบ้านก็จะอยู่ในสภาพอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นความเดือดร้อนของ ประชาชน แล้วมันก็สะท้อนมาถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนะครับ ก็เรียนท่านประธานว่า ต้องทำนะครับ แต่เราก็ต้องดูวิเคราะห์ ซึ่งผมให้นโยบายไปว่า มันเป็นรัฐวิสาหกิจ อย่าไปคิดถึง กำไรมาก มันต้องบริการประชาชน ถ้าไปคิดแต่กำไรว่า ตรงนี้ไม่คุ้มตรงนั้นไม่คุ้ม มันไม่ใช่ เพราะเราเป็นหน่วยงานของรัฐส่วนหนึ่ง ก็เรียนว่าจะดำเนินการนะครับ แล้วช่วงนี้เราก็คง ต้องไปปรับกับท้องถิ่นให้เขามีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพ แล้วก็เข้าใจในระบบการทำประปา มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ยังมีเวลาเหลือเล็กน้อย มีอะไรจะฝากท่านรัฐมนตรีไหมครับ แต่ไม่ใช่ลักษณะ ของคำถามนะครับ

นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกลครับ ก็ต้อง ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีนะครับที่มีความห่วงใยกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลพบุรี แล้วก็ได้ทราบแนวทางการจะดำเนินงานของท่าน ผมเองก็อุ่นใจแทนพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดลพบุรี ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรี ผมขอบพระคุณท่านครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ ของจังหวัดพิษณุโลกนี่เทศบาลยิ่งแย่ครับ ไปที่หมู่บ้านดีกว่า อันนี้เดี๋ยวผม อาจจะทำหนังสือถึงท่านนะครับ ให้ช่วยดูพิษณุโลกให้ด้วยครับ ขออภัยสมาชิก ผมมีหลังไมค์ กันเล็กน้อย ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕. เรื่อง ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ในพื้นที่ จังหวัดชุมพรไม่เชื่อมต่อเนื่อง นายวิชัย สุดสวาสดิ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มีหนังสือแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนครับ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการ ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลครับ คือท่านวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมครับ และได้อนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนร่วมเข้ารับฟังการตอบกระทู้ถาม ท่านที่ ๑ ท่านทชากร ศักดาบูรณโภคิน ท่านที่ ๒ ท่านพุฒชง นวลอนงค์ และท่านสุดท้าย ท่านนิวัฒน์ พิมลรัตน์ ตอนนี้รัฐมนตรีเข้าประจำที่พร้อมแล้ว ขอเชิญท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ใช้สิทธิถามในรอบที่ ๑ ครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนอื่นผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ของผมลงในวาระวันนี้ ก็ขอกราบขอบคุณมากนะครับ และโดยเฉพาะท่านรัฐมนตรี ขอกราบขอบพระคุณมาก นะครับ เราได้เจอกันอีกครั้งหนึ่ง สถานที่เราเดินทางไปที่จังหวัดชุมพร วันนี้ผมเองนั้นจะขอ นำเรียนด้วยความเคารพครับท่านประธาน สืบเนื่องจากจังหวัดชุมพรเราเป็นประตูสู่ภาคใต้ เรามีถนนเส้นเดียวที่เดินทางจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะเป็นเส้นหลักเส้นเดียว และไม่มีถนนเลียบที่จะใช้เส้นทางอื่น ในเมื่อถนนเส้นหลักนั้นมีปัญหา โดยเฉพาะ จะมีอุทกภัย แล้วก็ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทำให้รถติดอย่างมากมาย เราไม่สามารถที่จะมีถนน เลี่ยงเพื่อที่จะเลี่ยงถนนเส้นนี้ได้ เนื่องด้วยจังหวัดชุมพรมีถนนเลียบชายฝั่งเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เมื่อก่อนตอนปี ๒๕๕๒ เป็นถนนที่ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เลียบชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วก็ไปที่จังหวัดชุมพรแล้วก็ลงสู่ ภาคใต้ แต่ ณ ปัจจุบันถนนเส้นนี้สร้างแล้วยังเป็นถนนที่เรียกภาษาใต้ว่า เป็นถนนฟันหลอ ซึ่งเป็นถนนที่ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วก็ดำเนินการสร้างได้ทั้งช่วงปลายและช่วงต้นทาง ตรงกลาง ยังเป็นถนนที่ยังก่อสร้างไม่ได้ โดยระยะทางอยู่ประมาณสัก ๒๐ กิโลเมตร ผ่านอำเภอเมือง โดยเฉพาะตำบลหาดทรายรี ตำบลทุ่งคา แล้วก็ตำบลวิสัยเหนือบางส่วน แล้วก็มีตำบล ที่ติดขัดมากที่สุด ก็คือเป็นถนนที่ค่อนข้างที่จะเลียบไปถึงป่าชายเลนด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นแล้วก็ขอนำเรียนท่านประธานฝากถึงท่านรัฐมนตรีนิดหนึ่งว่า จังหวัดชุมพรนั้น ถ้าถนนเส้นนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยอย่างน้อย ๆ ถนนเส้นนี้จะได้เชื่อมโยงในเรื่องของ การท่องเที่ยว เพราะจังหวัดชุมพรมีทรัพยากรเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหาดทรายที่สวย แล้วก็ทอดยาวตั้งแต่จังหวัดชุมพร อำเภอปะทิวไปถึงอำเภอละแม ซึ่งเป็นทรัพยากร ที่สวยงามมาก เพราะฉะนั้นแล้วรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว เราเองนั้น ผมในฐานะเป็นตัวแทนของพี่น้องปวงชนชาวจังหวัดชุมพร และปวงชนชาวไทย อยากจะเห็นว่าจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะทางสัญจรไปมา ในเมื่อ เทศกาลที่ติดแล้วเกิดอุทกภัยเกิดขึ้นจะได้ใช้ถนนเส้นนี้เป็นถนนเลี่ยงด้วย ซึ่งเป็นถนน เส้นหลักที่จะเลี่ยงในเรื่องของอุบัติเหตุและเลี่ยงในเรื่องของน้ำท่วม และเลี่ยงในเรื่องของ รถติดในช่วงเทศกาลทั้งหมดนะครับ ก็ขอถามท่านรัฐมนตรีว่า ทางรัฐบาลโดยเฉพาะทาง ท่านรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อให้กับจังหวัดชุมพรอย่างไรครับ ขอกราบ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้มา ตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกจากจังหวัดชุมพรค่ะ ประเด็นคำถามของท่านคือท่านถามว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของ อ่าวไทยในพื้นที่จังหวัดชุมพรไม่เชื่อมต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร ดิฉันขออนุญาตต่อท่านประธาน ขอตอบคำถามของท่านสมาชิกดังนี้นะคะ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กระทรวง คมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบทได้มีการก่อสร้างถนนเลียบจากชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือว่า ไทยแลนด์ริเวียร่า ประกอบด้วยโครงการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเล ด้านตะวันตกที่ปรากฏบนภาพนะคะ แล้วก็ทั้งฝั่งด้านตะวันออก ทางฝั่งตะวันออกของ อ่าวไทยจะครอบคลุมจังหวัดระยอง แล้วก็จังหวัดจันทบุรี ส่วนถนนเลียบชายฝั่งทางด้าน ตะวันตก จะประกอบไปด้วยจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพรแล้วก็จังหวัดระนอง ซึ่งถนนสายดังกล่าวเป็นเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ที่จะมีการพัฒนาโครงข่าย แล้วก็ความต่อเนื่องของถนนที่สร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงท่องเที่ยวในฝั่งทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ความเป็น ระดับสากลและเป็นถนนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนให้เป็นรูปธรรม ยกระดับ คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในกลุ่มภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังจะได้รับ ความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยนะคะ โดยเฉพาะกรมทางหลวงชนบทเองได้ดำเนินการ ก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทางด้านตะวันออกอ่าวไทยมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๙ จากภาพ ได้มี จุดเริ่มต้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ไปสิ้นสุดที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี รวมระยะทางทั้งสิ้น ๑๑๑ กิโลเมตร ซึ่งผิวการจราจรของการก่อสร้างถนนเป็น ๒ ช่องจราจร ๖-๘ เมตร แล้วก็มีไหล่ทางข้างละ ๑.๕๐ เมตร แล้วก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยว ในฝั่งทะเลด้านตะวันออกนะคะ แล้วก็เพิ่มมูลค่าต่อทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเป้าหมาย สำคัญคือส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนั้นก็ยังมีการพัฒนาให้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ได้มีความปลอดภัย แล้วก็มีความสวยงามดังที่ดิฉันได้ขึ้นภาพสไลด์ ต่อมาจะเห็นว่าโครงการ ก่อสร้างถนนดังกล่าวเลียบชายฝั่งด้านตะวันตก เมื่อสักครู่ดิฉันฉายภาพของทางด้าน ตะวันออก ทีนี้มาชายฝั่งทางด้านตะวันตกบ้าง ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศไทย เราได้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเริ่มต้นการก่อสร้าง ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วก็ไปสิ้นสุดที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๖๕๙ กิโลเมตร ซึ่งสายทางตรงนี้ก็จะยาวกว่าฝั่งของทาง ด้านตะวันออก การก่อสร้างถนนยังคงเป็น ๒ ช่องจราจร กว้าง ๖-๗ เมตร ไหล่ทางข้างละ ๑.๕๐ เมตร เพื่อเป็นถนนสำหรับท่องเที่ยวระดับสากลเช่นเดียวกันค่ะ โดยเฉพาะเป็นการ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แล้วก็เป็นการสร้างถนนเพื่อสร้างการเรียนรู้บนพื้นฐาน ของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านจะเห็นดังในภาพนะคะ โดยให้ถนน เส้นดังกล่าว เราก็จะเน้นให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้วก็ การดูแลรักษา รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรที่มีความหนาแน่นในเส้นทางหลัก นอกจากนั้นก็ยังมีสัญลักษณ์ให้เห็นถึงกรณีที่พี่น้องจะต้องใช้ยานพาหนะอื่นในเส้นทาง ของทางที่มันอยู่ในสถานที่คับขัน แล้วก็มีพื้นที่ที่มีการใช้รถใช้ถนนอย่างหนาแน่น ต่อมาก็มี ช่วงถนนที่ท่านสมาชิกได้ถามว่าในช่วงการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ตามกระทู้ถามของ ท่านสมาชิก คือช่วงบ้านจระเข้ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร ถึงบ้านท้องเกร็ง ตำบลด่านสวี อำเภอสวี หรือว่าแนวเส้นสีเหลือง ที่ดิฉันขึ้นภาพให้เห็นนะคะ ที่แสดงใน แผนที่ จะมีระยะทางที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจำนวน ๒๔ กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างถนน แห่งใหม่เส้นนี้จะไม่มีแนวเส้นถนนเดิมแต่อย่างใด เพราะว่าแนวเส้นทางดังกล่าวเป็น แนวเส้นทางที่จะต้องตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ที่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติได้กำหนดไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม แล้วก็จะต้องมีมติ ครม. ที่จะต้องควบคุมดูแลพื้นที่ของอุทยานดังกล่าว ทำให้การดำเนินการ ใด ๆ จะต้องมีการศึกษา EIA ก่อน ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นก็ยังมีเงื่อนไขของการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ในการที่เราจะขอใช้พื้นที่ดังกล่าว ท่านประธานที่เคารพคะ เราจะต้องทำเรื่องขอผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้รับอนุญาตให้ใช้ พื้นที่จากหน่วยงานของเจ้าของพื้นที่เสียก่อนจึงจะดำเนินการก่อสร้างได้ค่ะ ซึ่งพื้นที่ที่อนุรักษ์ ดังกล่าวก็จะประกอบไปด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะชุมพร อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชค่ะ อีกพื้นที่หนึ่งดังภาพ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน อ่าวทุ่งคาและป่าอ่าวสวี ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่ง นอกจากนั้นภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเช่นเดียวกัน ท่านประธานที่เคารพค่ะ ถึงอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีกฎระเบียบของการทำ EIA แต่ว่าการ ก่อสร้างถนนดังกล่าวตามที่ดิฉันได้ฉายภาพสักครู่ ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าชาย เลน แล้วก็การเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญสำหรับ ประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ กรมทางหลวงชนบทเองจึงได้ประสานขอ ความร่วมมือไปที่จังหวัดชุมพร เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วลงเป็นมติ เดียวกันว่าจะมีความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างในระยะทางที่เหลือ ๒๔ กิโลเมตรหรือไม่ ขณะเดียวกันกรมทางหลวงชนบทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะไปอยู่ใน ความรับผิดชอบของจังหวัดชุมพร กรมทางหลวงก็ได้สนับสนุนข้อมูลแหล่งความรู้ แล้วก็ส่วน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่จะไปลงรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นของพี่น้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว หากว่าผลการพิจารณาหรือผล การประชุมหรือผลการแสดงความเห็นในเวทีของส่วนราชการ ในเวทีของพี่น้องประชาชน พบว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวของจังหวัด กรมทางหลวงชนบทก็ยินดีที่จะรับโครงการดังกล่าว พร้อมที่จะมีการสำรวจออกแบบและ เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา หลังจากนั้นแล้วก็จะเสนอให้คณะมนตรีมีมติยกเว้นในการ ก่อสร้างถนนสายดังกล่าวแน่นอนค่ะ กรมทางหลวงชนบทเองเรามีความห่วงใยต่อความ ต้องการ คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ดิฉันโชว์ภาพขั้นตอนการดำเนินงานให้ท่าน ประธาน ท่านสมาชิกได้เห็นภาพว่า ถ้าเรามีมติด้วยกันแล้วผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นตอนให้เห็น นะคะ ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นตอน ๓ ขั้นตอนที่ ๔ ขั้นตอนที่ ๕ ขั้นตอนที่ ๖ ถ้า ๖ ขั้นตอนได้ผ่านเรียบร้อยแล้ว กรมทางหลวงเองก็พร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณเข้าไป ดำเนินการ และแน่นอนค่ะ กรมทางหลวงชนบทเองมีความห่วงใยต่อการเดินทางสัญจรไปมา ของพี่น้องประชาชนให้มีความสะดวกรวดเร็ว แล้วก็เชื่อมโยงกับทุกเส้นทาง แล้วก็ข้อสำคัญ อยากให้ท้องถิ่นได้มีความเจริญเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวง คมนาคม ขออนุญาตได้ตอบคำถามแรกของท่านสมาชิกก่อนนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ขอเชิญท่านผู้ถามครับ

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานครับ ผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาตินะครับ ก่อนอื่นผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีนะครับ ที่ให้กระจ่างกับโครงการนี้ แต่ในส่วนตัวของผมเองแล้วนั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่าทางพื้นที่หรือทางจังหวัดชุมพรเอง พร้อมที่จะดำเนินการทุกเรื่องให้กระทรวงได้ขับเคลื่อนในโครงการนี้ อย่างน้อย ๆ ผมเชื่อว่า ไม่ใช่เป็นแค่ประโยชน์ของพี่น้องชาวจังหวัดชุมพรนะครับ แต่เป็นประโยชน์ของพี่น้องชาวใต้ และเป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศที่จะได้ใช้เส้นทางนี้ และอีกอย่างหนึ่ง เรามาส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวนะครับ ในเรื่องของการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร และจังหวัดทางภาคใต้ ส่วนมากเราก็ต้องขายในเรื่องของทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่เขาสร้างมาให้กับคนใต้โดยเฉพาะนะครับ ถนนเลียบชายฝั่งที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณา นำเรียนมา แล้วก็ได้ชี้แจงมาแล้วทำภาพสไลด์มาให้ดู ภาพเป็นทิวทัศน์และเป็นถนนที่ สวยงามอย่างมาก และเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้น แล้วผมคิดว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีของพี่น้องชาวจังหวัดชุมพร เป็นนิมิตหมายที่ดี ของประเทศไทย ถ้ามีแนวคิดในเรื่องการก่อสร้าง แล้วก็มีแนวคิดในเรื่องของการดำเนินการ ผมเองนั้นเคยอยู่ที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาก่อน ในเรื่องของหน่วยงานถ้าเรา บูรณาการร่วมกัน ในเรื่องของการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลน ขออนุญาตใช้พื้นที่ ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้ และสภาของเราแห่งนี้ได้ดำเนินการไปแล้วมีความสอดคล้องกัน บูรณาการร่วมกัน ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างที่สุด วันนี้เองผมก็ไม่มี คำถามพ่วงครับ แต่ผมอยากจะเน้นย้ำท่านรัฐมนตรีนะครับ ฝากถึงรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับ เรื่องนี้ เพราะว่าอย่างน้อย ๆ มาสร้างความฝันให้กับพี่น้องชาวจังหวัดชุมพร และสร้าง ความฝันให้กับพี่น้องทั่วทั้งประเทศ ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ไม่ได้รับผลประโยชน์แค่ จังหวัดเดียวนะครับ แต่ทางภาคใต้ทั้ง ๑๔ จังหวัดนั้น ถ้าเกิดน้ำท่วม ในเทศกาลเกิดรถติด เขาจะมองเห็นเรื่องสภาพถนนเส้นนี้ทันที ที่ผ่านมามันเกิดปัญหาอย่างนี้ครับมาตลอด และ ทุกปีนะครับ ไม่ใช่เกิดปัญหาแค่ปีนี้แล้วเว้นไปอีกปีหนึ่ง ขอนำเรียนท่านประธานด้วย ความเคารพครับ ขอบคุณนะครับ ขอบคุณท่านประธาน ถ้าท่านกรุณาที่จะเน้นย้ำให้ผม สักนิดหนึ่งก็ได้นะครับท่านรัฐมนตรี ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมคิดว่าทั้ง ๒ ท่านก็เห็นความสำคัญแล้วนะครับ เชิญท่านรัฐมนตรีครับ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ต้องขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ นะคะ จริง ๆ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้เป็นผู้แนะนำดิฉันมาตลอด เรื่องของการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานในส่วนของจังหวัดชุมพร แล้วก็จังหวัดระนอง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ เพราะเราจะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของภาคใต้นอกจากอาชีพของชาวประมง แล้วก็ สวนผลไม้แล้ว นั่นก็คือการสร้างถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว ดิฉันเองก็ทุกครั้งที่มาตอบกระทู้ ก็มีหลายกระทู้ที่จะต้องไปเกี่ยวเนื่องกับการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเรื่องของป่าอุทยานแห่งชาติ ดิฉันก็นำปัญหานี้ไปปรึกษาทางรัฐมนตรี แล้วก็เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมว่า การทำถนนของเส้นทางคมนาคมจะติดเรื่องเหล่านี้ มีประเด็นไหนบ้าง ที่เราพอจะหาทางออกช่วยกัน ซึ่งถ้าเราไปรอใช้กฎหมายนี้ ไม่รู้ว่าอีก ๓-๔ ปีที่สมาชิก ครบวาระการดำรงตำแหน่งจะได้ก่อสร้างถนนเส้นดังกล่าวหรือไม่ เพราะว่าจริง ๆ สมาชิก ทุกท่านที่มาจากพี่น้องประชาชนก็หวังว่าเราเข้ามาจากการเลือกตั้ง เราก็อยากเห็นว่าเรามา เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน แต่กว่าจะได้ถนนสักสาย มันติดด้วยข้อกฎหมาย เหล่านี้ จะมีการปลดล็อกอย่างไร ซึ่งจะมีคณะทำงานที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการ โดยมี ท่านรองสมศักดิ์เป็นผู้ที่จะเร่งรัดเรื่องกฎหมาย แล้วก็เราเรียกว่า ข้อติดขัดของกฎหมาย บางกระทรวง ซึ่งขณะนี้เราก็จะมีการประชุมทุกวันศุกร์ ดิฉันก็นำเรื่องนี้ซึ่งอยู่ในวาระที่จะ เตรียมหารือ เชิญเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฤษฎีกาแล้วก็ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาทางออกร่วมกัน ส่วนจะคืบหน้าอย่างไร ดิฉันจะนำเรียนให้ ทางท่านประธาน แล้วก็ท่านสมาชิกให้ทราบเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งนะคะ กราบขอบพระคุณ ท่านประธาน แล้วก็ท่านสมาชิกที่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดิฉันก็ยินดี ที่จะมาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกทุก ๆ ครั้งนะคะ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เป็นอันเสร็จกระทู้ที่ ๑๖๒ ของทางท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ สำหรับกระทู้ที่ ๑๖๔ ได้รับการประสานว่าทางรัฐมนตรีกำลังเดินทางมานะครับ จากการติดภารกิจที่ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ถ้าอย่างนั้นผมขอพัก การประชุมสั้น ๆ ๑๐ นาที

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๒.๑๕ นาฬิกา

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผมขอเข้าสู่การประชุมต่อ หลังจากพักนะครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๖. เรื่อง โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก บ้านทุ่งโค้ง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมขออนุญาต ให้ผู้แทนจากหน่วยงานเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลดังนี้นะครับ ท่านที่ ๑ ท่านเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ขอแสดงตนด้วยครับ ท่านที่ ๒ ท่านโรจนวัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทานครับ และอนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนเข้าร่วม รับฟังด้วย คือท่านธนพร จีนจะโปะ ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีมากนะครับ ที่ติดภารกิจ แต่ยังให้เกียรติสภารีบกลับมาตอบกระทู้ ขอบคุณมากครับ ถ้าพร้อมแล้ว ผมขอเชิญ ท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ใช้สิทธิถามครับ

นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทยค่ะ ในวันนี้ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ให้เกียรติแล้วก็เสียสละเวลามา ณ วันนี้ด้วยค่ะ ทราบว่าท่านน่าจะ เหนื่อยมากเลยนะคะที่เดินทางมา รถติดไหมคะ ก่อนอื่นขออนุญาตเกริ่นนำก่อนแล้วกันค่ะ อันนี้คือความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้าน ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งตอนนี้ต้องบอกสถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงรายทั้งหมดก่อนนะคะว่า ตอนนี้เรื่องของน้ำ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก ๆ ค่ะ เนื่องจากว่าน้ำมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ แล้วก็มีความตื่นตระหนก ในเรื่องของภาวะ EL Nino ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย ในอำเภอเวียงชัยเอง ก็มีความขาดแคลน ถึงขนาดที่ว่าบางทีเจาะน้ำบาดาลลงไปยังไม่เจอน้ำเลย บางพื้นที่นะคะ อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้าน สะท้อนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา เขาบอกว่า ไม่มีไฟเขาอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำเขาอยู่ไม่ได้ จริง ๆ ค่ะ เนื่องจากว่าเราก็เป็นพื้นที่เกษตรกรรมด้วย ก็เลยอยากจะใช้เวลาสักเล็กน้อย ถามคำถามที่ท่านน่าจะอธิบายกับทางตัวดิฉันเองได้ กับทางชาวบ้านได้นะคะว่า ในเรื่องของ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก บ้านทุ่งโค้ง หมู่ที่ ๑๐ ไม่ทราบว่ามีแผนที่จะก่อสร้าง หรือว่ามีแผนที่จะ บรรเทาความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนของทางตำบลดอนศิลา พอจะมีแผนงานด้านนี้ บ้างไหมคะ เป็นคำถามแรก ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีใช้สิทธิตอบครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพนะครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ ท่านประธานนะครับที่รอผมมาตอบกระทู้ เนื่องจากช่วงเช้าผมติดภารกิจในการประชุม การแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรประเภทประมงตกต่ำกับคณะอนุกรรมการนะครับ ประเด็นที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงรายได้ตั้งกระทู้ถาม ผมต้องขอชื่นชมว่าท่านตั้งกระทู้ถามสั้น ๆ และได้ใจความ และเกิดประโยชน์กับพี่น้อง ชาวอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ประเด็นการตั้งกระทู้ถามตรง ๆ ว่า โครงการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก บ้านทุ่งโค้ง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย มีอยู่ในแผนการก่อสร้าง งบประมาณปี ๒๕๖๘ หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลังจากที่ ผมรับทราบว่าจะมีการตั้งกระทู้ถามในวันนี้ ผมได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง ที่ ๒ จังหวัดลำปางซึ่งรับผิดชอบจังหวัดเชียงราย ก็ได้รายละเอียดว่า กรมชลประทานมีแผน โครงการก่อสร้างอ่างขนาดเล็ก บ้านทุ่งโค้ง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ภายใต้ชื่อว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลึกพร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่ชลประทาน ที่ได้รับประโยชน์ ๔๐๐ ไร่ โดยมีลักษณะโครงการ ดังต่อไปนี้ ๑. เป็นทำนบดินกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๘๖ เมตร สูง ๑๔.๕ เมตร ความจุของปริมาณน้ำ ๒๙๕,๓๕๙ ลูกบาศก์เมตร ๒. ระบบส่งน้ำ คลองส่งน้ำความยาว ๑,๕๐๐ เมตร ความคืบหน้าหรือความก้าวหน้า กรมชลประทานได้ศึกษาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมปี ๒๕๖๖ สำรวจภูมิประเทศและสำรวจธรณี ปี ๒๕๖๗ คือปีนี้นะครับ การออกแบบ ปี ๒๕๖๘ และการจัดหา และขอใช้พื้นที่ป่าสงวน แห่งชาติ Zone C ระหว่าง ปี ๒๕๖๘-๒๕๖๙ และสามารถที่จะก่อสร้างภายในปี ๒๕๗๐ ตามที่ผมได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของชลประทาน จังหวัดเชียงราย และสำนักบริหารจัดการชลประทาน สำนัก ๒ ลำปาง ซึ่งก็จะใช้งบประมาณ อ่างเก็บน้ำใหม่ที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ตอนนี้ท่านวาง ลำดับความสำคัญหรือ Priority ในการที่ว่าจะเอาใช้งบเหลือจ่าย หรือใช้งบประมาณ ในปี ๒๕๖๘ ปี ๒๕๖๙ ปี ๒๕๗๐ ท่านมีแนวทางในการจัดการบริหารพวกนี้อย่างไรคะ ขอบพระคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน ขออนุญาตตอบประเด็นแรกก่อนว่า ในเรื่องของการศึกษา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรอบเวลาแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. จะใช้ระยะเวลาศึกษาตามฤดูกาล สมมุติว่าฤดูกาลหน้าฝนกระทบอย่างไรต่อ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง หน้าฝน หน้าแล้ง หน้าหนาว สรุปแล้วในกรอบ ระยะเวลา ๑๒ เดือนก็จะจบนะครับ ซึ่งเรื่องนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า Zone C ซึ่งถือว่า เป็นป่าที่ไม่ค่อยกระทบต่อธรรมชาติ น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องนี้ผมรับนะครับว่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำในการก่อสร้าง จะรับดำเนินการและติดตามให้นะครับ เรื่องแรก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ส่วนเรื่องที่ ๒ ในเรื่องของการแก้ปัญหานะครับ ๒ อย่างคือ ส่วนเกินคือ น้ำที่เกิน คืออุทกภัย ส่วนขาดคือน้ำแล้งนะครับ เนื่องจากจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่จะต้องมีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยกัน ต้นน้ำที่ไหลสู่ ลำน้ำอิงสู่ลำน้ำโขง ต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดพะเยา อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เราเรียกว่าหนองน้ำ ขนาดใหญ่ หรือว่าหนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จากหนองเล็งทรายไหลสู่ ลำน้ำอิงตอนบนสู่กว๊านพะเยา จากกว๊านพะเยาก็จะไหลสู่ลำน้ำอิงตอนล่าง ผ่านอำเภอ ดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซางแล้วเข้าอำเภอเทิงนะครับ จนไหลสู่แม่น้ำโขง ดังนั้นแผนที่กรมชลประทานและสำนักงานบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ กำลังทำก็คือ เราต้องการให้ปริมาณน้ำเวลาหน้าน้ำเกินหรือน้ำหลาก ไม่ว่าน้ำจะมาจาก ต้นน้ำที่จังหวัดพะเยา หรือต้นน้ำจากลำน้ำกก น้ำอะไรก็ตามในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เราไม่ต้องการให้น้ำไหลสู่แม่น้ำโขง เราต้องการให้น้ำในจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย หมุนวนกัน นั่นหมายความว่าลำน้ำอิงก่อนจะไหลสู่ลงน้ำโขง ลำน้ำโขงไหลสู่ทะเล โดยไม่เกิด ประโยชน์ เราก็จะมีโครงการที่จัดสร้างจุดพักน้ำหรือเก็บน้ำ ตั้งแต่หนองหล่ม จากหนองหล่ม มาหนองหลวง มาหนองฮ่าง มาหนองเล็งทราย มากว๊านพะเยา ก็จะวนอยู่อย่างนี้ อันนี้ คือแผนที่เรากำลังศึกษาและทำกันอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ผมได้สั่งการให้กรมชลประทานไปศึกษา และรีบดำเนินการ หากรัฐบาลชุดที่แล้วทำไปถึงไหน อันไหนที่ดีให้สานต่อ อันไหนไม่ดี ให้ตัดทิ้ง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ผมได้สั่งให้กรมชลประทาน ทุกสำนักให้ทำผังน้ำหรือแผนที่น้ำ ทุกตำบล ทุกตำบลให้เสียบผังหรือแผนน้ำทุกอำเภอ จากอำเภอสู่จังหวัด จากกลุ่มจังหวัด ถึงกลุ่มจังหวัด และกลุ่มลุ่มน้ำทั้ง ๒๒ ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นะครับ ส่วนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเงินเหลือจ่าย หรืองบกลาง ในการแก้ปัญหาแหล่งน้ำหลาย ๆ แหล่ง ไม่ว่าจะเป็นฝายที่มันชำรุด ต้นน้ำลำธาร ที่มันตื้นเขิน เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วน และจะต้องทำให้เสร็จภายในแต่ละปี เรื่องนี้ จังหวัดเชียงราย ผมได้ทำแผนของบประมาณที่เรียกว่างบกลาง ซึ่งจะใช้ใน ปี ๒๕๖๗ ณ เวลานี้ผ่านการกลั่นกรองของสำนักงานบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ซึ่งจังหวัด เชียงรายก็ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาตรงนี้ ในการ แก้ปัญหาต้นน้ำ แหล่งตั้งแต่ต้นน้ำซึ่งจะเป็นอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลางตามต้นน้ำแต่ละสาขา จนถึงลำน้ำสาขา ตลอดจนถึงอ่างเก็บน้ำ ก่อนที่จะไหลสู่ลำน้ำโขงในแต่ละจุด สั่งให้มีการสำรวจทั้งหมด และมีการใช้งบประมาณที่บรรจุในงบประมาณกลาง ปี ๒๕๖๗ เรียบร้อยแล้วนะครับ ดังนั้นสิ่งที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ตั้งกระทู้ถามไปยังท่านประธาน แผนทุกอย่างผมได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วน รองรับปัญหาภัยแล้งที่กำลัง จะมาถึง และขณะเดียวกันก็รองรับสิ่งที่เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์แล้ง ซ้ำซาก หรือท่วมซ้ำซาก เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรมชลประทานถือว่าเป็นหน่วยงาน เป็นผู้ปฏิบัติ ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอด กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านรัฐมนตรีตอบชื่นใจเลยนะครับ ขอบคุณทั้งผู้ถาม แล้วก็ผู้ตอบนะครับ ขอบคุณรัฐมนตรีครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

๕๒/๑

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

กระทู้ถามทั้ง ๖ กระทู้ก็ดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับวันนี้ ขอจบการพิจารณา กระทู้ถามแยกเฉพาะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เรียนท่าน สมาชิกครับ ก่อนที่จะพิจารณาตามระเบียบวาระผมขอปรึกษาที่ประชุมเพื่อนำระเบียบวาระ อื่น ๆ ระเบียบวาระที่ ๗.๒ และยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็น เรื่องของการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมาธิการคงใช้เวลาไม่มากนัก ถ้าไม่มีท่านสมาชิกเห็น เป็นอย่างอื่น ผมก็จะดำเนินการตามนี้นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. เรื่อง ตั้งกรรมาธิการสามัญในคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ตำแหน่ง เพราะลาออก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยประธานคณะกรรมาธิการคุณประเสริฐ บุญเรือง ได้มีหนังสือแจ้งว่าขอให้ มีการตั้งกรรมาธิการที่ว่างลงเนื่องจากคุณสนอง เทพอักษรณรงค์ พรรคภูมิใจไทย ได้ขอ ลาออกจากตำแหน่งกรรมาธิการ จึงถือว่าพ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการตามข้อบังคับ ข้อ ๑๐๘ (๓) เนื่องจากตำแหน่งที่ว่างลงของกรรมาธิการนี้เป็นของพรรคภูมิใจไทย จึงขอเชิญ พรรคภูมิใจไทยเสนอชื่อคนที่จะเป็นกรรมาธิการแทน พร้อมผู้รับรองด้วยครับ เชิญครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทยครับ ผมขอเสนอตั้ง กรรมาธิการสามัญคณะกิจการสภาผู้แทนราษฎรในตำแหน่งที่ว่างลง ในสัดส่วนของ พรรคภูมิใจไทย แทน นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ที่ลาออกไปคือ นางนันทนา สงฆ์ประชา ขอผู้รับรองครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผู้รับรอง ถูกต้องกรรมาธิการแทน คุณนันทนา สงฆ์ประชา นะครับ ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้บรรจุ ในระเบียบวาระจำนวน ๒ เรื่อง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. เรื่อง ตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ตำแหน่ง เพราะลาออก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ด้วยประธานคณะกรรมาธิการ คุณดนุพร ปุณณกันต์ ได้มีหนังสือแจ้งว่าขอให้ มีการตั้งกรรมาธิการแทนที่ว่าง เนื่องจากคุณภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย ได้ขอ ลาออกจากตำแหน่งกรรมาธิการ จึงถือว่าพ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการตามข้อบังคับ ข้อ ๑๐๘ (๓) ตำแหน่งที่ว่างนี้ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ขอเชิญพรรคภูมิใจไทย เสนอครับ

นายภราดร ปริศนานันทกุล อ่างทอง ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ผมขอเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่างลงของตัวกระผมเอง ที่ได้ขอลาออกไป เนื่องจากว่าขณะนี้มีกรรมาธิการหลายคณะที่ผมจะต้องไปร่วมประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ ก็ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปร่วม ประชุมกับคณะนี้ได้ จึงได้ขอลาออกจากท่านประธานคณะกรรมาธิการ แล้วก็ในสัดส่วน ของพรรคภูมิใจไทยเองก็ได้คัดเลือกคนที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน นั่นคือ นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช จึงขอเสนอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทดแทน ตำแหน่งที่ว่างลง ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ผู้รับรอง ถูกต้องครับ ตกลงคุณมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ได้เป็นกรรมาธิการแทนคุณภราดร ขอบคุณ มากครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. เรื่อง ขอถอนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษา หลักเกณฑ์การขออนุญาตขยายหรือปรับปรุงถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้เดินทางสัญจร แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยที่เจ้าของญัตติ ได้ขอให้ถอนญัตติที่ ๕.๑๙ อันนี้ออกไปจากระเบียบวาระ เนื่องจากการขอถอนจากระเบียบ วาระที่ได้บรรจุไว้แล้วนี้ก็ต้องขออนุญาตจากที่ประชุม เนื่องจากเจ้าของญัตติถอน ถ้าไม่มีผู้ใด เห็นเป็นอย่างอื่นก็ขออนุญาตให้ถอนจากระเบียบวาระได้นะครับ ก็ถือว่าอนุญาตให้ถอนได้ นะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องรับรองรายงานการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

วันนี้จะขอรับรองรายงานการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง จำนวน ๔ ครั้ง คือครั้งที่ ๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑๑ วันพุธที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑๒ วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑๓ วันพุธที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๖ ซึ่งคณะกรรมาธิการตรวจรายงานประชุม ได้ตรวจแล้ว แล้วก็ให้ท่านสมาชิกได้ตรวจสอบดูที่หน้าห้องประชุมแล้ว จึงเสนอมาเพื่อให้ สภาได้ให้การรับรองนะครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดขอแก้ไขเป็นอย่างอื่นก็ถือว่าที่ประชุมนี้ รับรองรายงานการประชุมทั้ง ๔ ครั้งนี้แล้วนะครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๕.๑ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นผู้เสนอ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

เนื่องจากญัตติในทำนองเดียวกันนี้ยังมีอีก ๖ ฉบับ คือ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นายรวี เล็กอุทัย เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๕.๑๔)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๕.๑๕)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๓. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นายนพพล เหลืองทองนารา เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๕.๓๕)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๔. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๕.๓๖)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๕. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระที่ ๖.๕)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

๖. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) นายพงษ์มนู ทองหนัก และ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นผู้เสนอ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ซึ่งยังไม่บรรจุในระเบียบวาระนะครับ เดี๋ยวก็คงจะแจกให้ท่านสมาชิกที่โต๊ะ ประชุมครับ ซึ่งผมเห็นว่าทั้ง ๗ เรื่องนี้เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สามารถจะรวมเป็นระเบียบ วาระเพื่อพิจารณาพร้อมกันได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) มีสมาชิกจะเห็นเป็น อย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มีก็ขอดำเนินการไปตามนี้นะครับ สำหรับญัตติที่สมาชิกเสนอใหม่ยัง ไม่ได้แจก ก็อนุญาตให้เจ้าหน้าที่แจกได้นะครับ ผมจะขอเชิญให้เจ้าของญัตติเสนอและแถลง เหตุผลตามลำดับนะครับ ญัตติแรกขอเชิญคุณพรรณสิริ กุลนาถศิริ ก่อนครับ เชิญครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ดิฉันขอเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการพัฒนาและกระจายการเติบโต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปยังกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษไว้ ๔ ภูมิภาค โดยมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้กำหนดแนวทางสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนภูมิภาคละ ๑ พื้นที่ โดยภูมิภาคละ ๔ จังหวัดเท่านั้นที่เข้าโครงการ ในส่วนของภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง ในลักษณะของ Creative LANNA เกือบ ๒ ปีมาแล้วค่ะก็ยังไม่ปรากฏความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนได้มี อำนาจของคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการให้ขับเคลื่อน ๑๘ กลุ่มจังหวัด ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังไม่พบแนวดำเนินการที่ชัดเจนค่ะ ดิฉันจึงขอเสนอพื้นที่นำร่อง ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในระดับหนึ่งนะคะ นั่นก็คือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เนื่องด้วยกลุ่มจังหวัดนี้ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจในลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจร่วมกันมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โดยมีภาคเอกชนประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาท่องเที่ยว โดยมี มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นภาควิชาการให้ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนรัฐบาล แล้วก็ในส่วนของ ภูมิภาคก็สนับสนุนเป็นครั้งคราว ยังไม่มีความชัดเจน แต่มีความก้าวหน้าเชิงพื้นที่ในระดับ หนึ่งที่น่าพอใจ อีกทั้ง ๕ จังหวัดกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้สร้างความสัมพันธ์อันดี กับประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมาและ สปป. ลาว เป็นผู้นำก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศที่ชื่อว่า LIMEC ร่วมกันในปี ๒๕๕๘ บังเกิดผลที่น่าพึงพอใจหลายประการ ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมายค่ะ อีกทั้งมีข้อเสนอเชิงพื้นที่อีกหลายประการ เช่น ขอให้มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อีกทั้งขอให้มีระบบอำนวยการด้านการค้า การลงทุนที่ชายแดน ในด้านการ ต่างประเทศ และที่สำคัญยิ่งก็คือในเรื่องของระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ค่ะ ดิฉันจึงเสนอ เพื่อให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาหาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ อย่างเหมาะสมในทุกมิติของการพัฒนา เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาต่อยอด การดำเนินการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งที่รัฐบาลจะได้ส่งเสริม สิทธิประโยชน์และการลงทุน ตลอดจนต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศ เพื่อนบ้านต่อไป โดยมุ่งหวังว่าน่าจะมีกฎหมายสักฉบับหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่าง เป็นระบบ อีกทั้งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาทุกกลุ่มจังหวัดทั้ง ๑๘ กลุ่มต่อไปค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอข้อมูลเพื่อนำไปสู่การอภิปรายร่วมกัน ๕ ประเด็นค่ะ ในประเด็นที่ ๑ จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ ในประเด็นที่ ๒ เครือข่ายการคมนาคมและ Logistics ประเด็นที่ ๓ คือเครือข่ายความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นที่ ๔ การขับเคลื่อน ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ กลุ่ม LIMEC และประเด็นที่ ๕ จะเป็นข้อเสนอการพัฒนา เชิงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๑ นี้กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบด้วย ๕ จังหวัดด้วยกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มีประชากรรวมกัน ๓.๓๒ ล้านคน มีพื้นที่ราว ๕๔,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ ๔๙.๓๕ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ ๓๑.๘๙ เรามีแหล่งท่องเที่ยวรวมกัน ถึง ๓๕๓ แห่งด้วยกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ อยู่ที่ ๘.๘๙ ล้านคนต่อปี ในกลุ่มจังหวัดของเรามีเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกันคือจะเร่งรัด พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ในการเติบโตทางเศรษฐกิจและ รายได้นั้นเรามุ่งเน้นในเรื่องของการเกษตรกรรม การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว โดย ๕ จังหวัดมีศักยภาพเชิงพื้นที่ที่โดดเด่นค่ะ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองชายแดนที่มีด่านภูดู่ เชื่อมโยงกับ สปป. ลาว เป็นพื้นที่ที่มีสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน สินค้าเกษตรกรรม ผลไม้ ทุเรียน สับปะรด ลองกอง มะม่วงหิมพานต์ที่ขึ้นชื่อ จังหวัดตากค่ะ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดนที่มีมูลค่าการค้าการลงทุนอยู่มากพอสมควร ด่านแม่สอดตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่น่าสนใจ สำหรับจังหวัดสุโขทัยเป็นเมือง ๓ มรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นเมือง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เมืองมรดกโลกในเรื่องของศิลาจารึก และมรดกโลกในเรื่องของ เทศกาลโลกเมืองสร้างสรรค์ Creative and Folk Art จาก UNESCO ตลอดจนมี ศิลปหัตถกรรมในเรื่องของเครื่องทอ เครื่องเงิน เครื่องทอง สังคโลก สินค้าเกษตร ผลไม้ ใบตอง ซึ่งส่งไปยังยุโรปและในส่วนของภาคพื้นเอเชียมากมาย จังหวัดพิษณุโลกสำคัญมากค่ะ เป็นศูนย์การค้า การลงทุน การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ศูนย์การศึกษาของภาคเหนือ ตอนล่าง และที่สำคัญยิ่งเป็นศูนย์การประชุมและนิทรรศการที่จะนำมาซึ่งเศรษฐกิจ แล้วรายได้ให้กับภาคเหนือตอนล่างหนึ่ง ตลอดจนทั้งภูมิภาคของภาคเหนือค่ะ นั่นคือ ในลักษณะของการประชุมแบบ MICE จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ในปีที่ผ่านมาอย่างน่าภาคภูมิใจ นั่นคือมรดกโลกศรีเทพ มีสินค้าเกษตร การท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ และแหล่งที่น่ารื่นรมย์หลายพื้นที่ด้วยกัน รวมทั้งเป้าหมายเชิงพื้นที่กับการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ด้าน Logistics อีกทั้งความพร้อมด้านวัตถุดิบของกลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเชิงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต มูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ทิศทางของการผลิต Ethanol พลังงานไฟฟ้า ชีวมวล ตลอดจนพลาสติกชีวภาพในอนาคตค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นที่ ๒ ดิฉันจะขอกล่าวถึงเรื่องของการคมนาคมและ Logistics เป็นเส้นทางที่พาดผ่านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่สำคัญหลายเส้นทาง เส้นทางแรก เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ North-South Economic Corridor ข้ามผ่านจีน ลาว ไทย ระยะทาง ๑,๘๐๐ กิโลเมตร และผ่านพื้นที่ในประเทศไทยถึง ๑๓ จังหวัดด้วยกัน ผ่านกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ เส้นทางที่ ๒ เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ระยะทาง ๑,๔๕๐ กิโลเมตร ผ่านประเทศไทย ๗ จังหวัดด้วยกันค่ะ คือ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งเส้นทางใหม่ระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่และเวียงจันทน์ CV Economic Corridor จังหวัดเชียงใหม่ไปยัง สปป. ลาว ระยะทาง ๓๘๕ กิโลเมตร ผ่านประเทศไทยเรา ๕ จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดใกล้เคียง สำหรับโครงข่ายทางถนนที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง เช่น ถนน R2 ที่พาดผ่านเมียนมา R3E ไทย ลาว แล้วก็จีนตอนใต้ R3W เมียนมา ไทย จีนตอนใต้ ในด้าน โครงข่าย Logistics สี่แยกอินโดจีนจุดตัดของทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๑๑ และหมายเลข ๑๒ ถนนเลี่ยงเมืองจังหวัดพิษณุโลกมีมูลค่าของการค้าการขนส่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันดับที่ ๖ โครงข่ายทางรางก็มีความพร้อมในระดับหนึ่งซึ่งจะต้องขอรับการส่งเสริมต่อไป โครงข่ายทางอากาศมีสนามบินสำหรับการเดินทางและการพาณิชย์ ๕ แห่ง มีเส้นทาง คมนาคมเชื่อมในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดทางหลวง หมายเลข ๑๐๑ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัด สุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ทางหลวง หมายเลข ๑๐๒ ของจังหวัด สุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และทางหลวงหมายเลข ๑๒ ผ่านจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัด พิษณุโลก ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

สำหรับประเด็นที่ ๓ ดิฉันขอฉายภาพให้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยง ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดิฉันขอเสนอ ๓ กลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มความร่วมมือที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ ระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ หรือกล่าวได้ว่า Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor ประกอบด้วย สปป. ลาว ในส่วนของ ๒ แขวง ได้แก่ แขวงหลวงพระบางและแขวงไชยะบุรี ในส่วนของอินโดจีน-ไชน่า นั่นคือประเทศไทย ๕ กลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ และในส่วนของเมาะลำไย หรือเมียนมาก็หมายถึงรัฐมอญ ก็มีเมืองเมาะลำไย และในส่วนของรัฐกะเหรี่ยงเมียวดีค่ะ ทั้งหมดนี้เกิดความร่วมมือ จากภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นแกนนำทั้งสิ้น ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมกันในการเชื่อม การค้า การลงทุนและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่ร่วมตกลงกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดย สปป. ลาว จาก ๒ แหล่งพื้นที่นั้นแขวงหลวงพระบางมีเมืองมรดกโลก มีรถไฟ ความเร็วสูง มีสนามบินนานาชาติ แขวงไชยะบุรี ด่านภูดู่ที่เชื่อมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ มายังจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดน่าน แล้วก็พะเยา ก็มีมูลค่าการค้าการลงทุนด่านนี้ถึง ๒,๓๗๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ ทั้งประชากรและความร่วมมือร่วมใจเชิงพื้นที่ ถือว่าขณะนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้เปิดพื้นที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ ของ LIMEC อย่างมีศักยภาพค่ะ อีกประเทศหนึ่งก็คือในส่วนของเมียนมา มีรัฐมอญ เมาะ ลำไย หรือรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีการท่องเที่ยวสินค้าเกษตร เมืองชายแดนแม่สอด มีมูลค่าการค้า การลงทุนอยู่ที่ ๒.๒๔ แสนล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ นี่คือกรอบของความร่วมมือระเบียง เศรษฐกิจ ๓ ประเทศ ที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญโดยมีภาคเหนือตอนล่าง ๑ ของเราเป็นแกนนำ กรอบความร่วมมือที่ ๒ ว่าด้วยเศรษฐกิจ ๓ ลุ่มน้ำหรือ ACMECS แม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่น้ำโขง ๕ ประเทศด้วยกัน นั่นก็คือเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เรามีข้อตกลง ความร่วมมือในภาคเกษตรกรรมในภาคการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Five Countries One Destination หรือ Single ViSA การเชื่อมโยงการคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับ ทางหลวงหมายเลข ๑๒ และการสร้างสะพานเชื่อมน้ำโขง ในส่วน สปป. ลาว แล้วก็ East-West Economic Corridor ที่เชื่อมกัน จนเกิดปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการพัฒนา เศรษฐกิจของภูมิภาคควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม SDGs อีก ๑ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS Greater Mekong Subregion ๖ ประเทศ โดยเพิ่มในส่วนของจีนตอนใต้อีก ๑ พื้นที่ นี่คือกรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่พาดผ่านกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างอย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๔ ดิฉันขอเสนอความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมที่เกิดขึ้นในส่วนของ กลุ่มระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเภท หรือ LIMEC ซึ่งเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าเชื่อมการค้า การลงทุน และเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าค่ะ การเติบโตเริ่มขับเคลื่อนในประเทศไทย ๕ จังหวัด ๕ เวที ในเวทีแรกก็คือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เรามีเป้าหมายสำคัญว่า ภูดู่ประตู มิตรภาพและโอกาส เกิดรูปแบบเวทีของความร่วมมือ มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ ๓ ประเทศ มีเวทีเสวนาวิชาการ การสัมมนาภาคท่องเที่ยว ประสบการณ์ตรงกับการตลาด MICE ขอภาคเหนือตอนล่าง ๑ การเปิดตลาดคู่ค้า Saller Buyer การพบผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นภาคเกษตรกรรม แล้วก็อุตสาหกรรม ซึ่งในครั้งนั้นดิฉันดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีภาคเอกชนเป็นแกนนำ เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เปิดเวทีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในปี ๒๕๕๘ เวทีที่ ๒ ก็เป็นเวที ที่ขับเคลื่อนมาอย่างจังหวัดสุโขทัย ในเป้าหมายและหลักการว่ามรดกโลกประตูสู่ การท่องเที่ยวและโอกาส เวทีที่ ๒ นี้ในปี ๒๕๕๙ สามารถเชื่อมโยงเพื่อการเดินทาง ๓ ประเทศ เชื่อมการท่องเที่ยว การค้า การศึกษาและเชื่อมไปยังจังหวัดพิษณุโลกในเรื่องของ Logistics มีภาครัฐเข้ามาร่วมมือในลักษณะของมหาชนหลายโครงการหลายกิจกรรมด้วยกัน และในครั้งนั้นดิฉันได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประชุมว่าด้วยเรื่องของ UNESCO มรดกโลกในอาเซียน ๒๒ แห่งที่ประเทศเวียดนาม และเราก็มีข้อตกลงปฏิญญาร่วมกันว่า สุโขทัยจะเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวมรดกโลกในอาเซียน ซึ่ง ณ วันนี้เราจะต้องบวก อีก ๑ พื้นที่ นั่นก็คือพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มรดกโลกศรีเทพ ในเวทีที่ ๓ ของการ ขับเคลื่อน LIMEC

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต้องขออภัย นะครับ เพราะว่าเรามีผู้เสนอญัตติทั้ง ๗ ท่าน ตอนนี้ท่านใช้เวลา ๑๖ นาที ขออีกสัก ๑ นาที ได้ไหมครับจะได้สรุปครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้มีความเห็นร่วมกันว่าดิฉันจะเสนอเป็นภาพรวมส่วนใหญ่ แล้วเพื่อนสมาชิกจะได้อภิปรายร่วม ดิฉันเลยขอเวลาไว้ ๒๕ นาที กราบเรียนท่านประธานค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ได้ครับ เชิญครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ขอบพระคุณค่ะ เวทีที่ ๓ ที่จังหวัด เพชรบูรณ์ในปี ๒๕๖๐ The 3rd Gateway of LIMEC ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์เชิง สิ่งแวดล้อมและการอยู่ดีกินดีของประเทศมิตรเพื่อนบ้าน ๓ ประเทศด้วยกันค่ะ เวทีที่ ๔ ที่จังหวัดพิษณุโลก LIMEC Connectivity ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน หลักระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษาและ Logistics ของประเทศไทย เวทีที่ ๕ LIMEC Borderless ว่าด้วยเรื่องของการไร้พรหมแดน เป็นการประชุมที่จังหวัดตาก มีการขับเคลื่อนของ Digital Platform LIMEC Mart ว่าด้วยเรื่องของระบบสินค้าและบริการ Business VISA และ LIMEC Pass ว่าด้วยการค้าขายและการเจรจาสินค้าที่สำคัญ ก้าวแห่ง ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LIMEC ก็คือเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ คณะประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการขับเคลื่อน โดยมีมติของ ครม. ให้ LIMEC เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนา กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ และเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS ในการนี้ได้มอบหมายให้กระทรวง การต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ ก้าวต่อไปที่ส่งผลที่เกิดขึ้นจากการประชุม ๕ ปี ๕ เวที LIMEC ก็มีการไปประชุมที่เมาะลำไย รัฐมอญ ตลอดจนที่แขวงหลวงพระบางของ สปป. ลาว และที่แขวงไชยะบุรี มูลค่าของความร่วมมือในการประชุม LIMEC นั้นมีมูลค่าเกิดขึ้นอยู่ที่ลาว ๒,๘๐๐ ล้านบาท จำนวนคู่ค้าที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ๘๕ คู่ค้า และที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีมูลค่า ของคู่ค้าที่ตกลงในเวทีสูงถึง ๕๒๐ ล้านบาท

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในประเด็นท้ายสุดที่ดิฉันจะได้แสดงความเห็นในจุดตรงนี้ ดิฉันเห็นว่าพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่า ๑ แม้นว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจพิเศษ แต่พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในเรื่องของบุคลากร ในเรื่องของการทำ ภารกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในจังหวัดเองและในส่วนของการสร้างความสัมพันธ์อันดี กับประเทศเพื่อนบ้าน ดิฉันจึงเห็นว่าสมควรที่รัฐบาลหรือทุกภาคส่วนจะได้ร่วมลงทุนกับ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

อย่างไรก็ดีพื้นที่เองกับความตั้งอกตั้งใจตลอดจนภาคการวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรามีเป้าหมายร่วมกันว่าขอรับการสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้าง พื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา การเกษตรกรรม ศูนย์การแพทย์ Medical Hub ศูนย์การ ประชุมและนิทรรศการ ตลอดจนการบริการเชิงการท่องเที่ยวและการพัฒนานวัตกรรมของ ผู้ประกอบการ SMEs แล้วก็ Soft Power ตลอดจนในเรื่องของพื้นที่ความสัมพันธ์อันดี ความเชื่อมโยงของเครือข่ายระบบขนส่งทางราง ความเชื่อมโยงไปยังเมียนมาและ สปป. ลาว ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติพิษณุโลก ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ให้เต็ม ศักยภาพค่ะ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มมูลค่าและศูนย์รวบรวม และกระจายสินค้าก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยคาดว่าน่าจะมี ศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกค่ะ การส่งเสริม One Stop Service กับการค้าชายแดน ที่ด่านแม่สอดและด่านภูดู่ สำหรับด่านภูดู่ขณะนี้ซบเซาไปมาก ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ในส่วนของศูนย์กลางการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสุโขทัยควรได้รับ การส่งเสริมแล้วก็พัฒนา และเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ของจังหวัดเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน ที่สุดของข้อเสนอเชิงพื้นที่และงานวิจัยทั้งปวง อยากได้ขอให้มีในเรื่องของระเบียบแล้วก็กฎหมาย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งขณะนี้ทางภาคเหนือได้ร่างไว้ จำนวน ๘ หมวด ๖๓ มาตรา เพื่อนำไปสู่ กฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ต่อไปค่ะ อันนี้ก็คือข้อเสนอเชิงพื้นที่ท่านประธานสภาที่เคารพ จากการที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นผู้นำการขับเคลื่อนตลอดมา ภายใต้ขีดจำกัดหลาย ประการแล้วก็ปัญหาอุปสรรคมากมาย ดิฉันและคณะจึงนำเสนอเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมและจัดตั้งให้เป็นเขต เศรษฐกิจพิเศษที่มีประสิทธิภาพ เพื่อกระจายความเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ให้กับประชาชน ตลอดจนเป็นชุดข้อมูลต้นแบบ กับกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ขอบพระคุณ มากค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปขอเชิญ คุณรวี เล็กอุทัย ครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ในฐานะที่ผมเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมมีความยินดีที่ญัตติเพื่อการศึกษาถึงแนวทาง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้เข้าสู่สภาในวันนี้ เพราะนอกจากที่ ผมได้มีการศึกษาถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมได้พบทั้งจุดแข็งและ จุดอ่อน อุปสรรคและโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือตอนล่าง ๑ มากมาย เลยครับท่านประธาน และจากที่ท่าน สส. พรรณสิริ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านครับ ได้อภิปราย ถึงโอกาสและศักยภาพด้านต่าง ๆ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างครับ โดยเฉพาะ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ผมมองว่าการศึกษาเรื่องนี้เป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามองไป จนถึงปัญหาแล้วพี่น้องในจังหวัดกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ยังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ในปัจจุบันครับ และผมอยากจะนำมาเรียนในสภาแห่งนี้ให้รับทราบทั่วกัน

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

เริ่มแรกนะครับท่านประธาน ในด้าน ภูมิศาสตร์ ถ้าเอาภาคเหนือตอนล่างทั้งหมดเราจะมีพื้นที่รวมกันกว่า ๕๒ ล้านไร่ครับ โดยจะ แบ่งเป็นพื้นที่ป่ากว่า ๒๐ ล้านไร่ หรือประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การเกษตรเกือบ ๒๒ ล้านไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตรกว่า ๙.๗ ล้านไร่ แต่สิ่งที่กลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัด เพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก และจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องพบเจออยู่ ณ ปัจจุบันนั้น กลับเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาและการเติบโตของแต่ละจังหวัดนั้นยังไม่ค่อยไปไหนครับ เพราะหากพูดถึงภาพรวมของด้านเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นมีขนาด เศรษฐกิจที่ค่อนข้างเล็กและขยายตัวช้า เนื่องจากการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มี มูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมก็ดี หรือภาคบริการก็ดีนั้นยังไม่มีการกระจายตัวเข้าสู่ ภาคเหนือตอนล่างมากนักเท่าไร โดยจะสังเกตได้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของแต่ละจังหวัดนั้นจะ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณา ลงไปในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ จะเห็นได้ว่า GPP Per Capita ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สะท้อนถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ต่อหัวของแต่ละจังหวัดกลับอยู่ในระดับ ที่ต่ำมาก โดยพบว่าในปี ๒๕๖๔ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นมีตัวเลข GPP Per Capita เฉลี่ยอยู่ที่ ๙๙,๕๘๓ บาทต่อคนต่อปีเท่านั้นเอง ขณะที่ระดับประเทศค่าเฉลี่ยของประเทศ อยู่ที่ ๒๓๑,๙๘๖ บาทต่อคนต่อปี หรือเรียกได้ว่าห่างกันกว่า ๒ เท่าเลยทีเดียวครับ ท่านประธาน และหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น นั่นจะแปลได้ว่าค่าเฉลี่ยของคน ทั้งประเทศจะมีรายได้ราวเดือนละเกือบ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่พี่น้องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ จะมีรายได้เพียงเดือนละ ๘,๐๐๐ กว่าบาทเท่านั้นเอง โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัยครับ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่ ๘๐,๑๗๐ บาทต่อคนต่อปี หรือราว ๆ ๖,๖๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ค่อนข้างมากครับ ส่วนในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมาครับท่านประธาน ระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ มูลค่าและอัตราการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก โดยภาคอุตสาหกรรม นั้นมีการขยายตัวอยู่เพียง ๔.๒ เปอร์เซ็นต์ และภาคการเกษตรขยายตัวเพียง ๑.๗ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ในขณะที่ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งนั้นกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง อะไรเลย นอกจากนั้นอุปสรรคอีกด้านที่พบเจอ นั่นก็คือผลิตภาพแรงงานของภาคเกษตร ที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของแรงงานในสาขาการผลิตอื่น ๆ โดยรายได้ ในปี ๒๕๖๓ ของภาคอุตสาหกรรมจะเท่ากับ ๒๖๐,๓๓๔ บาทต่อคนต่อปี และภาคบริการ เท่ากับ ๑๕๘,๓๓๐ บาทต่อคนต่อปี แต่ภาคการเกษตรของภาคเหนือทั้งหมดกลับมีมูลค่า เท่ากับ ๓๕,๑๒๖ บาทต่อคนต่อปีเท่านั้นเอง น้อยมากครับ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกัน เนื่องจากประชากรในภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด กลับมีสัดส่วนรายได้ต่ำที่สุด ณ ช่วงเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแนวโน้ม ที่จะมีแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูง โดยมีครัวเรือนที่มีหนี้สินถึงร้อยละ ๔๙ ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นที่มีการใช้ Labor Intensive หรือใช้แรงงาน เป็นหลัก โดยยังขาดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่อุปทานหรือขั้นตอนการผลิต ต่าง ๆ ท่านประธานครับ จากที่ผมอภิปรายไปข้างต้นจะทำให้เห็นว่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ นั้นยังประสบปัญหาความเดือดร้อนในหลาย ๆ ด้านครับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ทางด้านรายได้ ด้านความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาทางการเกษตร ด้านสังคมผู้สูงอายุ และ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งหากยังไม่มีการพัฒนาและหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจังที่เป็น รูปธรรมปัญหาเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่กับพี่น้องประชาชนไปอีกนาน และนี่จึงเป็นสาเหตุ สำคัญหนึ่งในการที่สภาของเราแห่งนี้ควรจะมีการพิจารณาเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้กับประเทศไทย เพราะเมื่อพิจารณาต่อในมิติของด้านโอกาส โดยเฉพาะด้านภูมิศาสตร์แล้ว พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ได้แก่ สปป. ลาวและ เมียนมาอย่างที่ดอกเตอร์พรรณสิริได้พูดไปเช่นเดียวกัน โดยมีจุดผ่านที่สำคัญ ได้แก่ ด่านภูดู่-ผาแก้ว และด่านแม่สอด-เมียวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนว GMS และ AEC โดยเฉพาะ ด่านพรมแดนภูดู่ ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องกับเมืองไชยะบุรี วังเวียง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ของ สปป. ลาว และเป็นแนวกึ่งกลางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ตลอดจนแนวระเบียง เศรษฐกิจเหนือ ใต้ และตะวันออก ตะวันตก ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาก เพราะว่า ท่าน สส. ดอกเตอร์พรรณสิริได้กล่าวไปเยอะแล้ว ซึ่งแนวเศรษฐกิจต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นส่วน ช่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสชุดใหม่ให้กับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและ ประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของภาคการเกษตร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้น ก็มีพื้นที่กว่า ๙ ล้านไร่ สำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด นอกจากนั้นในแต่ละรายจังหวัดก็ยังมีพืชและผลผลิตทางการเกษตรที่มีศักยภาพในการ พัฒนาให้มีโอกาส และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เช่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เองเราก็มีทุเรียนหลง-หลินลับแล รวมถึงสับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดสุโขทัยก็มีมะยงชิด ในส่วน ของจังหวัดตากก็มีกล้วยหอมทอง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ทั้งสิ้น และในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญนั่นคือด้านของการท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยว จำนวนมากครับ ทั้งในมิติของทางประวัติศาสตร์ก็ดี ทางวัฒนธรรมก็ดี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้กับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่พี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ครับ ท่านประธานครับสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ผมอยากชี้ให้เห็นครับว่า ทุกพื้นที่ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคที่ท้าทายที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นก็มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาหนทางเพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน และอย่างที่ผมได้กล่าวไปในกลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพ ซึ่งรอโอกาสในการได้รับการพัฒนา เพราะอย่างน้อยที่สุดครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนในพื้นที่เขาควรมีรายได้ที่มากขึ้น และมั่นคงมากกว่านี้รายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพและทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น กว่าในปัจจุบัน ดังนั้นครับท่านประธาน การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาในเรื่อง ดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ไม่ด้อยไปกว่าพี่น้องในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงเป็นหนทางสำคัญที่ผมมอง ว่าจะเพิ่มโอกาสของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถ ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน และลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังเป็นการรวมถึง โอกาสในการพัฒนา และเติบโตของประเทศไทยไปอีกก้าวหนึ่งด้วยเช่นเดียวกันครับ ขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง บทบาทและหน้าที่ อำนาจของวุฒิสภาสู่เยาวชนในสถาบันการศึกษาของ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จังหวัดนครปฐม จำนวน ๒๑๗ ท่าน ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุมอยู่ ชั้น ๓ ของห้องประชุมนี้ ขอต้อนรับทุกท่านนะครับ เนื่องจากคุณจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ท่านไม่อยู่ในห้องประชุมนี้ ก็ถือว่าญัตติของคุณจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ก็ตกไปครับ ต่อไปขอเชิญคุณนพพล เหลืองทองนารา ครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดพิษณุโลก คนเมืองพิษณุโลกสองแควครับ ท่านครับผมเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมกันยื่น ญัตติในการที่จะขอให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการที่จะศึกษาพื้นที่เขต เศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งประกอบไปด้วย ๕ จังหวัด ดังที่ท่าน สส. ทั้ง ๒ ท่านได้พูด ไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ ท่านครับจริง ๆ แล้วในจุดเริ่มต้นของเขตเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วย ๕ จังหวัด อย่างที่ทราบกันคือมีจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก แล้วก็จังหวัดเพชรบูรณ์ มันเริ่มมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ในเรื่องของการจะพัฒนาจังหวัดที่เป็นสี่แยกอินโดจีนมันมีพลังมาตั้งแต่ ตรงนั้นแล้วก็มีส่วนของภาค โดยเฉพาะทางภาคเอกชนนั้นต้องขออนุญาตที่จะชมเชย ทางภาคเอกชนในการที่จะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือ ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ ภาครัฐเสียอีกที่ละเลยโอกาสในการที่จะพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทยที่มีศักยภาพ ในจุด ๆ หนึ่งนะครับ ภาคเอกชนได้ดำเนินการตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีคราวนั้นออกมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ แล้วก็มีการร่วมไม้ร่วมมือกันในกลุ่มจังหวัด แล้วหลังจากนั้น ก็มีการขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุลุ่มแม่น้ำโขง GMS แล้วก็ในส่วนที่ เราคิดว่าโครงข่าย Logistics ทางภาคคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเหนือ-ใต้ที่จากไทย ไปลาวและออกไปจีน แล้วก็ด้านทิศตะวันออกตะวันตกจากประเทศพม่า ที่จริงว่ากันง่าย ๆ จากประเทศอินเดีย มาประเทศบังคลาเทศมาประเทศพม่า ประเทศไทย แล้วก็ไป สปป. ลาว แล้วก็ออกไปทาง เวียดนาม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ในอนาคตสามารถที่จะมีความร่วมไม้ร่วมมือถ้าประเทศไทย ของเราเองได้เตรียมความพร้อม และในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อว่า ภาคเอกชนได้ไปคุย ได้ไปปรึกษาหารือ เขาทำกันอย่างจริงจังกับทางประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง ทางด้านเมียนมาก็ดี หรือว่าฝั่งทาง สปป. ลาว ก็ดี ทาง สปป. ลาว และทางเมียนมานั้น ภาครัฐเขายินดี แล้วก็สนับสนุนความคิดเห็นที่ภาคเอกชนไทยได้มาทำความร่วมไม้ร่วมมือกับ ทางประเทศเมียนมา แล้วก็ สปป. ลาว ก็มีแต่ของไทยนั่นเองที่มีปัญหา นั่นก็คือความร่วมไม้ ร่วมมือจากภาครัฐน้อย ท่านครับ ดังที่ท่าน สส. รวีได้พูดเมื่อสักครู่นี้ในข้อด้อยก็จริงอยู่ว่า ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีข้อด้อย แต่ในข้อด้อยนั้นมันมีศักยภาพในพื้นที่ ในกลุ่มจังหวัดอื่นสู้กลุ่มภาคเหนือตอนล่างไม่ได้ ถ้าพวกเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พวกเราเองในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง เรามีศักยภาพที่จะเติบโตและจะเป็น Hub โดยเฉพาะในภาคส่วนของเกษตร อย่าลืมนะครับว่า ในส่วนของภาคเหนือตอนล่าง ลุ่มน้ำที่สำคัญทั้งหลายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกทางด้านการเกษตรอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตาก ซึ่งมีเขื่อนภูมิพลเป็นลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง จังหวัดสุโขทัยลุ่มน้ำยม จังหวัดพิษณุโลกก็มีลุ่มน้ำน่าน จังหวัดเพชรบูรณ์ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่คอยดูแลพี่น้องอยู่ ท่านครับนอกจากนั้นแล้วมันยังมีพื้นที่ความเหมาะสม ได้มีการสำรวจ ของกรมพัฒนาที่ดินและมีข้อมูลออกมาว่า ในเรื่องของการเกษตรนั้นมีในส่วนของที่ดินที่เป็น ปัจจัยหนึ่งได้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความพร้อมในการที่จะเพาะปลูกทางด้านการเกษตร และท่านเชื่อไหมครับว่า ปัจจุบันนี้อย่างจังหวัดพิษณุโลก ในส่วนของมะม่วงน้ำดอกไม้เป็นที่ ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่ปีหนึ่งเราต้องส่งมะม่วง น้ำดอกไม้ส่งออกไปเป็นมูลค่าประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท และทุเรียนที่ จังหวัดอุตรดิตถ์อีก ๑,๘๐๐ ล้านบาท ซึ่งจริง ๆ แล้วในการขนส่งในการอะไรก็ตาม ปัจจุบัน เราจะต้องเอามะม่วงเราออกไปทางด้านซีกทาง สปป. ลาว เพื่อที่จะให้มีการเสียภาษีถูกลง เพราะฉะนั้นในสิ่งเหล่านี้ผมเองถึงอยากที่จะให้ทางรัฐบาลได้เข้ามาช่วย โดยการที่พวกเรา ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาว่า ในกลุ่มภาคเหนือตอนล่างนั้นมีศักยภาพอย่างไร เพียงแต่วันนี้ถูกปิดกั้นอยู่ เมื่อไรที่เรา ได้รับการสนับสนุนแล้วศักยภาพนั้นก็จะโชว์มาเต็มที่ ก่อนที่จะจบ ผมเองขออนุญาต ที่จะบอกในส่วนของเป็นทางกายภาพโดยสังเขปนะครับ อย่างเรื่องของประชากร ใน ๕ จังหวัดของเรา เราก็มีประชากรรวมแล้วร่วม ๓,๖๐๐,๐๐๐ คน แล้วก็ในส่วนของพื้นที่ ทางการเกษตรที่มีความเหมาะสม ถือว่าเป็นพื้นที่ชั้น ๑ พื้นที่คุณภาพประมาณเกือบ ๘ ล้านไร่ แต่จริง ๆ แล้วในพื้นที่ทางการเกษตรของเรานี้มีทั้งหมดรวมพืชทุกชนิดรวมแล้ว ๑๐ ล้านไร่ ร่วม ๆ ๑๑ ล้านไร่ แต่ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้าน คุณภาพในการเพาะปลูกเกือบ ๘ ล้านไร่ ท่านครับ ข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญของ ประเทศไทย ปีหนึ่งเราสามารถผลิตข้าวได้ ๒๖ ล้านตัน แต่ใน ๒๖ ล้านตันอยู่ใน ๕ จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นผลผลิตเกือบ ๔ ล้านตัน นั่นก็คือประมาณ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมด ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลังอีก ๒ ล้านตันที่เราผลิตได้ ล้วนแล้วแต่แสดง ให้เห็นถึงศักยภาพ เพียงแต่ว่าวันนี้ขอแค่ได้รับการส่งเสริมโดยการอุดหนุนนำ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะส่งไปให้ทางรัฐบาล ผมเองก็ขอเชิญชวนให้ท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้สนับสนุนในญัตติที่จะขอให้มีการพิจารณาศึกษาพื้นที่ ของภาคเหนือตอนล่าง ๑ ในโอกาสนี้ด้วย กราบขอบพระคุณครับ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ครับ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ขอสไลด์ด้วยค่ะ

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

การศึกษาการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของ ประเทศชาติ ผู้ประกอบการ ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง ๑ ทั้ง ๕ จังหวัด ซึ่งมีลักษณะพิเศษ เป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ ใต้ Northern North South Economic Corridor กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก East West Economic Corridor ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสี่แยกอินโดจีนอย่างแท้จริง ที่จังหวัด พิษณุโลก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการตอบสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ แล้วยังเป็นการเตรียมเสริมสร้างการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ ที่กำลัง จะพิจารณาก่อสร้างขึ้นด้วยในอนาคต เป็นการสอดประสานกันได้อย่างดี ทำให้เกิดการ สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างโอกาส ในทุก ๆ ด้านมีการเดินทางเข้ามาลงทุนทั้งต่างประเทศ ในพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้มีสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคเหนือ และ ภาคเหนือตอนล่างจะมีโอกาสในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งการค้าภายในประเทศ ต่างประเทศ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่าง ๑ มีหลาย โครงการที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เช่น LIMEC เป็นระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย นอกจากช่องทางการค้าอื่นแล้ว ก็ยังมี BIMSTEC ซึ่งเป็นความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล ใน ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย พม่า บังกลาเทศ ภูฏาน ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา และประเทศเนปาล เพราะประเทศเหล่านี้สามารถที่จะมาซื้อสินค้าที่ประเทศไทยได้สะดวก กว่าที่จะไปนิวเดลี ประเทศอินเดีย ทำให้ภาคเหนือตอนล่างเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การศึกษา การเกษตร และสาธารณสุข ซึ่งจะมีศักยภาพเป็นศูนย์การแพทย์ Medical Hub บริการในเรื่องของสุขภาพ แพทย์แผนไทย ความงาม และสมุนไพร ท่านประธานคะ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับทางด้านการค้าได้แล้ว จังหวัดพิษณุโลกยังได้รับการ ประกาศเป็น MICE City ทำให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการประชุม การจัดนิทรรศการ การศึกษาพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวกและมีถนนเชื่อมโยงไปยังภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาค ตะวันตก และภาคตะวันออกเชื่อมไปยังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีรถไฟเชื่อมโยงจาก กรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือตอนบน มีสนามบินรองรับการเดินทาง ซึ่งในปี ๒๕๖๕ มี สถิติในการขนส่งทางอากาศมากที่สุดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น ๓๗๒,๐๒๑ คน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาในเรื่องของการขุดลอกแม่น้ำน่านให้กลับมาใช้ใน การขนส่งสินค้าทางแม่น้ำได้อีก และจะทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือได้กลับมาใช้ในโอกาส ต่อไป ท่านประธานคะ ประเด็นการพัฒนาในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ โดยใช้การ วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยใช้ SWOT Analysis ก็จะทำให้เห็นว่าจุดแข็ง ก็จะมีความพร้อมต่อด้านการพัฒนาด้าน Logistics ทั้งภาคการค้า การบริการกับนานาชาติ สภาพเศรษฐกิจสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางด้าน ภาคผลิตและธุรกิจการบริการ มีภูมิปัญญาที่หลากหลาย ซึ่งมีมูลค่าและมีแรงงานที่มีศักยภาพ มีวัตถุดิบทางด้านการเกษตร เกษตรแปรรูปและสมุนไพร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชุมชน ธรรมชาตินิเวศที่หลากหลาย ส่วนในจุดอ่อนก็ยังมีการ ขยายตัวของพื้นที่เมือง ชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม เราขาดการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาการประสานงานเครือข่ายของประเทศคู่ค้า ขาดจุด ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ขาดการประยุกต์นวัตกรรมในการ ผลิตอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ในเรื่องของโอกาส เราก็จะมีการเชื่อมโยงทางด้านเส้นทางคมนาคม ทำให้เกิดโอกาสในการขยายตลาดการค้า ยุทธศาสตร์ Digital เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดแนวทางพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ มีการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่สี่แยกอินโดจีน ที่เอื้อต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ มีความสัมพันธ์และความร่วมมือของ เศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีความต้องการทางด้านอาหาร สินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ส่วนในเรื่องของอุปสรรค นโยบายการเปิดการค้าเสรีจะส่งผลกระทบให้สินค้า เกษตร ทั้งการบริโภคและในกลุ่มจังหวัด และขาดการส่งเสริมในภาคของการผลิต เนื่องจากว่าเรามีสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น นำไปสู่ประเด็นการพัฒนามีดังนี้ค่ะ ด้านการเกษตรทำให้มีการพัฒนาในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาการเกษตรสมัยใหม่ ที่ครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม ไก่ดำ และแปรรูปอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก และทำให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ขยายเขต ชลประทานไปสู่ไร่นาของเกษตรกรอย่างทั่วถึง ในด้านของการค้าการลงทุนได้มีการจัดตั้ง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ช่วยพัฒนาช่องทาง การตลาด การค้าข้ามแดนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมระบบ Logistics เป็นการเชื่อมโยงเพื่อสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เราได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ และจัดการปัญหา สิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม แก้ไขปัญหาในการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานป่าไม้และ แหล่งที่ดินทำกิน ในด้านของการท่องเที่ยวเราจะพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงของแต่ละจังหวัด และสนับสนุนการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ ด้านสมุนไพรและด้านความงาม ในด้าน สาธารณสุขจะผลักดันให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองสมุนไพร และส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ในระดับพื้นที่ มีการสร้างความรู้ทางด้านสุขภาพ และเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน พัฒนา ทั้งคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้เปราะบาง ทางด้านความมั่นคงเราจะพัฒนาทางด้านการศึกษา และปัญหาด้านยาเสพติดให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่ เศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จะกระจายความเจริญและพัฒนา เศรษฐกิจร่วมกันระหว่างนักลงทุนไทยและชาวต่างชาติให้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติของสังคม อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้รับประโยชน์จาก การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันจึงขอเสนอญัตติ เรื่องขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรผู้อำนวยการโครงการ รุ่นที่ ๒๑ และเจ้าหน้าที่โครงการจากกรมชลประทาน เขตดุสิต กรุงเทพมหานครครับ ซึ่งกำลังนั่งฟังอยู่ห้องประชุมชั้นบน ก็อยากจะเรียนให้ผู้นั่งฟัง การประชุมว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสมาชิกกำลังพิจารณาอยู่ในห้องนี้ แต่ขณะเดียวกันนี้ท่านสมาชิก อื่น ๆ กำลังอยู่ในห้องพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการอีกประมาณ ๔๐-๕๐ คณะ ในบริเวณห้องประชุมนี้เช่นเดียวกัน ท่านก็สามารถจะเข้าไปสังเกตการณ์ได้ นะครับ ต่อไปขอเชิญ คุณเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ครับ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชน ชาวเชียงใหม่ เขต ๑ ค่ะ วันนี้ดิฉันขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ขอสไลด์ด้วยนะคะ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ตามที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อสภาแห่งนี้เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยมีนโยบาย เร่งด่วน นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องให้กับพี่น้องประชาชนด้วยการ ส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน ด้านการผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ อีกทั้งการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจพิเศษระเบียง เศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ ซึ่ง ๑ ในนั้นก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง และได้เห็นชอบหลักการ และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนแล้วเป็นที่เรียบร้อย ดิฉันและ เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลเองก็เห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่างก็เป็นพื้นที่ สำคัญที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยหนุนเสริม ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตแรงงาน ด้านวัตถุดิบ ด้านการขนส่ง Logistics และทางด้านคมนาคมขนส่งด้านต่าง ๆ ซึ่งเดี๋ยวเพื่อนสมาชิก ของดิฉันจะมาร่วมอภิปรายในประเด็นนี้ค่ะ ด้วยศักยภาพและต้นทุนและที่ตั้งของภาคเหนือ ที่ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยสดงดงาม มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ตลอดไปจนถึงมีภูมิปัญญา ล้านนาที่จะสามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อีกทั้งจังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตพื้นที่ของดิฉันเองได้ถูกขนานนามว่าเป็นจุดศูนย์กลางของ การศึกษาภาคเหนือ ซึ่งผลิตบัณฑิตกว่า ๑๕,๐๐๐ คนต่อปี อีกทั้งภูมิประเทศของ จังหวัดเชียงใหม่และทั้งภาคเหนือได้ติดต่อกับประเทศเมียนมา สปป. ลาว และประเทศจีน ซึ่งจะเชื่อมโยงด้วยระบบโครงข่ายระบบรถไฟรางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงเพื่อ เพิ่มต้นทุนและโอกาสทางการค้า เพิ่มการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น จึงสมควรที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม Digital อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยที่จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงรายเองประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะสามารถที่จะตอบสนองและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้กล่าวไป นั่นก็คือ อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่และ จังหวัดลำพูนที่มีประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายก็สามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจาก ทั่วทุกมุมโลกมาท่องเที่ยวในจังหวัดเหล่านี้ได้ นอกจากนี้จังหวัดลำพูนเองก็เป็นที่ตั้งของ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งเดิมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเป็นอุตสาหกรรม ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะต่อยอดไปยังอุตสาหกรรม Digital ในอนาคตได้ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ของดิฉันเอง ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือ ประสานงานจากทางภาคเอกชน ทั้งภาครัฐบาลและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในจังหวัด เชียงใหม่ นอกจากนี้ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดเชียงใหม่เอง ด้วยนโยบายของ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การเพิ่มเวลาบินในสนามบินเชียงใหม่กว่า ๒๔ ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการศึกษาให้มีการสร้างสนามบินแห่งที่ ๒ ค่ะ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

นอกจากนโยบายที่ดีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีแล้วที่จะดึงดูดนักลงทุน จากทั่วทุกมุมโลกมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจภาคเหนือนี้ ก็ยังมีสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและ ที่ไม่ใช่ภาษี ยกตัวอย่าง เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด ๑๓ ปี การยกเว้นอากรนำเข้าและเครื่องจักร เพื่อนำเครื่องจักรนั้นมาสนับสนุนอุตสาหกรรม เป้าหมายดังที่ได้กล่าวไป มีการยกเว้นอากรวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์บริการ ตลอดไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรสำหรับบางกิจกรรมจะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง ๑๐๐-๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือที่ได้กล่าวไปเป็นนโยบายที่ดี เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี แต่ดิฉันอยากจะเชื่อมโยงการถอดบทเรียนความล้มเหลว ของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เราคุ้นหูกัน เพราะดิฉันไม่อยากจะให้ ผลกระทบเดิม ๆ เกิดกับพื้นที่ใหม่ที่กำลังจะพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางด้าน สิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น กากอุตสาหกรรมทั้งอันตรายและไม่อันตรายที่กำจัดได้ไม่หมด จะต้องขนส่งและ ไม่สามารถบำบัดในจังหวัดตัวเองได้ จะต้องขนส่งออกนอกพื้นที่กว่า ๓.๒ ตันต่อปี ซึ่งจะมี แนวโน้มและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ในส่วนของพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในส่วนนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ได้ว่าเงิน ในกระเป๋าของประชาชนในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะจากการที่ดิฉันได้อภิปราย งบประมาณไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา งบประมาณด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานกว่า ๑,๗๐๐ ล้านบาท มีเพียงแค่ ๒๘๐ ล้านบาทเท่านั้น ที่จะพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในอุตสาหกรรม Digital และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะพัฒนา ศักยภาพแรงงานให้ตรงตามลักษณะของแรงงานใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางด้านการเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนแปลงผังเมืองและสิ่งอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐานหรือระบบ ขนส่งคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ระบบขนส่ง คมนาคมจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวต่างชาติ นักลงทุนต่าง ๆ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยว หรือมาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ หรือเขตเศรษฐกิจภาคเหนือจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ถ้าระบบ ขนส่งสาธารณะยังไม่ดีพอ ยังไม่เหมาะสมและทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงจำเป็นต้อง ศึกษาผลกระทบและการดำเนินระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ท่านประธานคะ ประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านของเรา นโยบายที่ดี เปรียบเสมือนเงินที่จะเติมลงมาในบ้านของเรา ยิ่งเติมเงินมากเท่าไร ประชาชนในพื้นที่ ประเทศไทยก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ทางด้านผลกระทบ การพัฒนาฝีมือ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เราก็ต้องดูแลด้วย ถ้าโครงสร้าง บ้านหลังนี้ ผลกระทบต่าง ๆ ยังเกิดขึ้น ยิ่งเราเติมเงินไปในบ้านหลังนี้มากเท่าไร สักวันหนึ่ง บ้านหลังนี้จะพังทลายลงมา โดยที่เราอาจจะไม่สามารถรับมือกับมันได้เลย ดิฉันจึงขอวิงวอน เพื่อนสมาชิกในห้องประชุมสภาแห่งนี้ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ขอบคุณค่ะ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปท่านสุดท้าย ขอเชิญคุณพงษ์มนู ทองหนัก ครับ

นายพงษ์มนู ทองหนัก พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม พงษ์มนู ทองหนัก พรรครวมไทยสร้างชาติ วังทอง เนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกครับ จะขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกอบมาตรา ๒๗๕ บัญญัติให้รัฐพึงทำยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นที่ยอมรับ ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลและสอดคล้องกับขั้นตอนดำเนินการ ปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐ และบูรณาการเข้ากับแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายในการบริหาร ราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการลงทุนและ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุน ผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการรูปแบบใหม่ และการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจพิเศษและ ระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๔ ทั้ง ๔ ภาค เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชนในเขตกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตาก ซึ่งสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์และหมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน และมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เห็นชอบหลักการกำหนดพื้นที่ และแนวทางให้สิทธิ ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยเฉพาะกลุ่ม ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งลักษณะพิเศษสามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ ใต้ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC และสามารถเชื่อมโยง ให้ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา แรงงาน ศูนย์ประชุม และการบริการ การท่องเที่ยว การเกษตรและศูนย์การแพทย์ ทั้งนี้รัฐต้องปรับปรุงกฎหมาย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับพลวัตร และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ได้กระจายความ เจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ ที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นจึงขอเสนอ ญัตติดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย การศึกษาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยจะเห็น ได้ว่าใน พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น คณะโลจิสติกส์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับงบประมาณในการวิจัย และในการดูแลเกี่ยวกับการทำโครงสร้างพื้นฐานของภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก แล้วก็จังหวัดตากนั้น ทางคณะมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยดอกเตอร์บุญทรัพย์ พาณิชยการ ได้ทำโครงการระเบียง เศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง โดยมีการประชุมของ ครม. สัญจร เมื่อปี ๒๕๖๑ ในขณะนั้น ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หอการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็ผู้บริหาร เอกชนต่าง ๆ มาพูดคุยที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และ ได้เสนอแนวทางระเบียงเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่าง โดยชื่อย่อที่เขาใช้กันว่า LIMEC หรือว่า Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจนี้จะเชื่อมภาคเหนือตอนล่างกับภูมิภาคของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพม่า และประเทศลาว ถ้าวัดจากด่านแม่สอดมาถึงด่านภูดู่ ก็จะเป็นส่วนที่แคบที่สุด ของประเทศไทย ในส่วนที่เป็นดินแดนผืนดิน ฉะนั้นเองถ้าภาคใต้มีแลนด์บริดจ์ ก็จะเรียกว่า เป็นการเชื่อมทะเล ๒ ฝั่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับอีกฝั่งหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นการเชื่อมทะเล ๒ ฝั่ง แต่ถ้าเป็นบนบก LIMEC นี้ ก็จะเรียกว่าแลนด์บริดจ์ได้เหมือนกัน เพราะว่าเป็นส่วนที่แคบ สามารถเชื่อมระหว่างลาวมาไทยไปพม่า ดังนั้นเองโครงการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัย และออกแบบสอบถามแล้วนั้น เป็นความต้องการของประชาชนในหลาย ๆ ด้าน ที่จะพึ่งพาทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างเจริญเติบโตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งที่ ได้ทำวิจัยแล้วก็ทำแบบสอบถามมา โดยท่านอาจารย์บุญทรัพย์นั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องการ คือ ๑. ด้านการเกษตร ๒. ด้านการค้า ๓. ด้านการท่องเที่ยว ๔. ด้านการบริการสุขภาพ ๕. ด้าน Logistics ๖. ด้านอุตสาหกรรม และก็ ๗. การค้าด้านชายแดน จะเห็นว่าในกลุ่ม ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างทั้ง ๕ จังหวัดนั้น เป็น ๕ จังหวัดที่มีศักยภาพต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นบางจังหวัดก็จะนำยุทธศาสตร์ของตัวเองมาทำ เป็นรูปแบบ ๑ ๒ ๓ แล้วก็ ๔ แต่ว่ารูปแบบที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ และกลุ่มจังหวัด ต้องการนั้นก็คือว่า จังหวัดพิษณุโลกจะเป็นผู้นำด้านการค้า จังหวัดเพชรบูรณ์จะเป็นผู้นำ ด้านการเกษตร จังหวัดสุโขทัยจะเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว จังหวัดตากจะเป็นผู้นำด้าน Logistics และจังหวัดอุตรดิตถ์จะเป็นผู้นำด้านการเกษตร เพราะฉะนั้นทั้ง ๕ จังหวัดนี้ก็ได้ ตกลงกันแต่ละยุทธศาสตร์ว่าตัวเองจะโดดเด่นด้านไหน ฉะนั้นเองจะให้พวกเราได้เห็น ความสำคัญว่า ๕ จังหวัดนี้รวมตัวกันสามารถที่จะสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหม่ และทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้ง ๕ จังหวัดได้ลืมตาอ้าปาก ได้มีเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นวันนี้ อยากจะขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๕๐๐ คน ได้ช่วยกันจัดตั้งกรรมาธิการเพื่อจะได้ ศึกษาแนวทางออกเป็นกฎหมายขึ้นมา ทำให้ระเบียงเศรษฐกิจนี้เป็นจริงได้สักทีนะครับ หลังจากที่มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยท่านอาจารย์บุญทรัพย์ได้ทำการวิจัยมาแล้วเป็นเวลา เป็นสิบ ๆ ปี ภาคเอกชนได้เดินหน้าไปเยอะแล้ว ดังนั้นเองเราอยากจะเห็นว่าพื้นที่ ทั้ง ๕ จังหวัดเป็นแลนด์บริดจ์บนดินของประเทศไทยเหมือนกัน เพราะขณะนี้ถ้านับทาง ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์หรือทางรางก็ดี ทางรางนั้นเราได้ศึกษาแล้วว่า จากอำเภอแม่สอด มาจังหวัดตาก มาจังหวัดนครสวรรค์ เราทำการวิจัยแล้วสามารถเป็นไปได้ เรามีทางรถไฟ จากจังหวัดนครสวรรค์มาจังหวัดพิษณุโลก ไปชุมทางบ้านดารา จังหวัดสุโขทัยไปจังหวัด อุตรดิตถ์ ถ้าต่อไปด่านภูดู่เราก็จะเชื่อมโยงทางราง ตั้งแต่อำเภอแม่สอดไปจนถึงด่านภูดู่ ได้ทางราง ทางรถยนต์เราก็มีความพร้อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ขณะนี้เขากำลัง เสนอคุยกันแล้วว่า อยากจะทำการเดินทางด้านอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลวงพระบาง มาจังหวัดพิษณุโลก ไปเมาะลำไย หรือที่เรียกว่าเส้นทาง LIMEC ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเชื่อมโยง การขนส่งภาคพื้นดินก็ดี ภาคทางอากาศก็ดี ภาคเอกชนเขาได้ดำเนินการ ไปเยอะแล้ว ฉะนั้นก็อยากจะให้ภาครัฐบาลได้สนับสนุนให้โครงการนี้ได้เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราได้ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของภาคใต้ ใช้งบประมาณเป็นล้านล้านบาท แต่ถ้าเราทำ โครงการ LIMEC หลวงพระบางไปเมาะลำไย จะใช้เงินประมาณสัก ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถือว่าถูกกว่ากันเป็น ๑๐ เท่านั้น เพราะฉะนั้นการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้เกิดผลประโยชน์ ทางด้านการขนส่ง และด้านการศึกษา วัฒนธรรม ทางด้านการเกษตร ด้านการอุตสาหกรรม ทุก ๆ ด้านจะทำให้ผลดีกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มภาคเหนือ ตอนล่างทั้ง ๕ จังหวัดจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ดังนั้นวันนี้จึงขอให้ทางรัฐสภาแห่งนี้ ได้ตั้งกรรมาธิการเพื่อทำการศึกษา ออกเป็นกฎระเบียบเพื่อทำให้ระเบียงเศรษฐกิจ ของภาคเหนือตอนล่างได้เป็นจริงด้วยครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณมากครับ จบผู้เสนอญัตติทั้ง ๖ ญัตตินี้แล้วนะครับ ต่อไปก็จะเป็นการอภิปรายของท่านสมาชิก ขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงจะขออภิปรายทั้งหมด ๑๑ ท่าน จากพรรคร่วมรัฐบาล ๒ ท่าน พรรคร่วมฝ่ายค้าน ๙ ท่าน ผมจะอนุญาตให้ใช้เวลาท่านละ ๗ นาทีโดยจะสลับกัน โดยจะ เชิญจากฝ่ายค้าน ๒ ท่าน แล้วก็สลับมาที่ฝ่ายรัฐบาล ๑ ท่าน เพราะว่าทางฝ่ายค้านมีจำนวน ๙ ท่านที่จะขออภิปรายในขณะนี้ แล้วก็เนื่องจากอาจจะมีอีกหลายญัตติที่จะเข้ามาได้ ณ วันนี้ เพราะฉะนั้นก็จะให้เวลาผู้ที่ยังอยากจะขออภิปรายยื่นรายชื่อขออภิปราย ผมอนุญาตให้สัก ๑๐ นาที ผู้ใดจะขออภิปรายได้มาแจ้งความจำนงที่หน้าบัลลังก์นี้นะครับ เราให้เวลา ๑๐ นาที หลังจากนั้นก็จะปิดรายชื่อ แล้วก็จะได้ดำเนินการขอมติต่อไป เชิญท่านแรกครับ ท่านศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ๗ นาทีนะครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ขอร่วมอภิปรายในญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ข้อมูลพื้นฐานทั่ว ๆ ไปนะครับ ท่านผู้ที่ได้ยื่นญัตติ เข้ามาหลายท่านก็ได้อภิปรายกันไปบ้างแล้ว แล้วก็ผมขอลงในรายละเอียดบางส่วน แล้วก็ วิเคราะห์บางส่วนนะครับ การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบไปด้วย ๕ จังหวัด อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดมา เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ และกลาง ประกอบไปด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย แล้วก็จังหวัดตาก ก็เป็นจังหวัดขนาดใหญ่และกลาง ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ๕ จังหวัดนี้ก็จังหวัดตาก ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็เป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ ๑๒,๐๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร แล้วก็เป็นจังหวัดพิษณุโลก ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็ จังหวัดอุตรดิตถ์ ๗,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็จังหวัดสุโขทัย ๖,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งภาพรวมทั้งหมดคือกลุ่มจังหวัดขนาดที่ไม่น้อยเลยทีเดียว พื้นที่เกือบ ๕๔,๐๐๐ ตาราง กิโลเมตร แต่มีประชากรอยู่แค่ประมาณสัก ๖-๗ ล้านคนในภาคเหนือตอนล่าง ทีนี้ก่อนที่เรา จะพัฒนากลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเราก็ต้องมาดูว่าอะไรจะทำให้ กลุ่มจังหวัดเหล่านี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ องค์ประกอบอะไร แล้วเรายังขาดอะไร เรายังต้องเติมอะไร เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาศึกษากันในชั้นกรรมาธิการ เราถึง จำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนจากเพื่อนสมาชิกทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ อย่างเช่น ข้อมูลที่เพื่อนสมาชิกได้พูดขึ้นมาก็คือว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีศักยภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อย่างที่ฟัง ๆ มา ก็คือมีศักยภาพเยอะทั้งในแง่ของสินค้า ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์การเกษตร ทั้งในเรื่องภูมิศาสตร์ ทั้งในเรื่องเส้นทางคมนาคม ถามว่าหัวใจสำคัญทำไมถึงต้องผลักดันเขตภาคเหนือตอนล่าง ตรงโซนนี้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะอะไร เพราะว่าเรามีการตั้งแผนในการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก North South East West Economic Corridor แต่ทีนี้ความสำคัญของภาคเหนือตอนล่างมันอยู่ตรงนี้ครับ จุดตัดของ ทั้ง ๔ โครงการ ทั้ง ๔ ภูมิภาคนี้มันอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง มันอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก สี่แยกอินโดจีน หรือว่า Indochina Intersection มันคือศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง ๔ ภาคที่ประเทศไทยกำลังจะพัฒนาอยู่ นั่นก็คือ NEC ก็คือภาคเหนือ North Economic Corridor แล้วก็จะเป็นภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคใต้ จุดศูนย์กลางของทั้ง ๔ ภูมิภาคนี้อยู่ตรงนี้ครับ อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ก็คืออยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ประเด็นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ๑ จะพัฒนามี ๔ ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกัน นั่นก็คือ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ เรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน โครงข่ายคมนาคมขนส่ง แล้วก็สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการพัฒนา อันนี้กว้าง ๆ เลยนะครับ ข้อมูลทั้งหมดนี้ มาจากสำนักยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ หรือว่า Lower Northern Provincial Cluster 1 นะครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ก็คือการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและยั่งยืน เป็นศูนย์กลางของการประชุม การจัดนิทรรศการ อบรม สัมมนาต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนา บริการด้านสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ สินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับตลาด ให้มีนวัตกรรมด้วย แล้วก็มีเทคโนโลยีด้วย

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ คือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ขอสไลด์ด้วยครับ

นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ

ทีนี้ถ้าเราจะพัฒนาเขตพื้นที่ของเรา พื้นที่ของภาคเหนือตอนล่างให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราต้องเตรียมความพร้อมก่อน มาดูการใช้พื้นที่ก่อนครับ การใช้พื้นที่ของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ใน ๕ จังหวัดนี้พื้นที่ ทั้งหมดประมาณ ๓๓ ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ป่าไปแล้ว ๑๖.๗ ล้านไร่ นั่นหมายความว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นที่ป่าครับ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่เรากำลังจะบอกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ พิเศษที่เรากำลังจะพัฒนากันอยู่นี้เป็นที่ป่า ทีนี้เป็นที่ป่าแล้วมันสำคัญอย่างไร หรือมันติด ปัญหาอย่างไร ก็คือว่าการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าในปัจจุบันนี้กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ยังไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้เลย องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ตามปกติเลย มีโครงการดี ๆ โครงการสร้างสรรค์จะพัฒนาพื้นที่ ชุมชน ยังเข้าใช้พื้นที่ป่าไม่ได้เลย อันนี้ผมไม่ได้พูดว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดีหรือ ไม่ดีนะครับ แต่เรากำลังต้องวิเคราะห์ลงไปว่าถ้าเราจะทำให้ Zone นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันต้องไปดูอะไรบ้าง ๑. การใช้พื้นที่ แล้วก็ต่อมาครับ แผนอื่น ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้พูดกันมา ทั้ง LIMEC ทั้ง MICE City Greater Mekong Subregion หรือ GMS มีหลายแผนงานเลย อีก ๖ แผนงาน พัฒนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ของแต่ละแผนงาน MICE City ปัจจุบันเป็นอย่างไร LIMEC ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง มาดู รายได้ครับ รายได้จากกลุ่มจังหวัด GPP Per capita กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีรายได้ จาก ๓ ภาคใหญ่ ๆ คือภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม เหมือนจะเป็นรายได้ที่ก้อนใหญ่ที่สุด แต่ดูในกราฟแท่งครับ กลายเป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่สร้าง รายได้มากที่สุดกลายเป็นภาคบริการ รายละเอียดเดี๋ยวไปถกกันในชั้นกรรมาธิการครับ เรามาดูศักยภาพของภาคเหนือตอนล่างแล้ว ทีนี้มันก็ต้องไปเทียบกับถ้าเราจะพัฒนา ภาคเหนือตอนล่างให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องไปเปรียบเทียบจากพื้นที่ที่เคยทำมาก่อน ครับ นั่นก็คือ EEC ปัจจุบันพื้นที่ EEC จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานมากที่สุด ในเขต EEC ในไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๖ มากกว่าการว่างงานของทั้งประเทศ อัตราการว่างงาน ของประเทศคือร้อยละ ๑.๑ แต่จังหวัดระยองมีอัตราการว่างงานถึง ๑.๓๓ ครับ ทีนี้มาดูการว่างงานของภาคเหนือครับ ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๕ภาคเหนือว่างงานถึง ๑.๓ และไตรมาสที่ ๓ ก็เป็น ๑.๔ ซึ่งก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการว่างงานทั้งประเทศครับ และใน ปี ๒๕๖๖ อัตราการว่างงานอาจจะลดลงมานิดหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าสูงทัดเทียมกับการว่างงาน ของทั้งประเทศครับ และการจัดอันดับการว่างงานที่มากที่สุดในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อันดับที่ ๑ ก็คือจังหวัดพิจิตร อันดับที่ ๒ จังหวัดพิษณุโลก อันดับที่ ๓ คือจังหวัดสุโขทัย อันดับที่ ๔ จังหวัดกำแพงเพชร และอันดับที่ ๕ จังหวัดน่าน จุดมุ่งหมายของ EEC ก็คือเพื่อ แก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รัฐจึงใช้การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ดึงนักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนนะครับ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว และที่สำคัญเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีรายได้มากขึ้น แต่ท่านประธาน ครับ ภาพรวมของการลงทุน EEC ในช่วงปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่านักลงทุน ๕ สัญชาติหลัก ทั้งญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน มียอดสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ แค่ ๔๓๙,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้นเองครับ เป็นแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่คาดไว้ในปี ๒๕๗๐ นั่นก็คือ ๒.๒ ล้านล้านบาท ยังไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ นั่นแสดงให้เห็นว่า EEC ยังทำได้ไม่ตามเป้าเลย จังหวัดระยองยังมี อัตราการว่างงานสูงในระดับประเทศเลย แสดงว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะไม่ได้ สะท้อนถึงว่าจะพัฒนารายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเสมอไป ช่วงสุดท้ายครับ พื้นที่ ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าใช้พื้นที่ป่าเป็นเรื่องหลักนะครับ แล้วก็ไปสอดคล้อง กับเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคที่รัฐกำลังจะไปส่งเสริม เขตเศรษฐกิจพิเศษส่วน ใหญ่ปัญหาหลักคือการเข้าใช้พื้นที่ป่า ปัญหาสิทธิการครอบครองพื้นที่เป็นปัญหาหลักของ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เกือบทุกที่ แบบนี้แล้วอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือนักลงทุนขนาดใหญ่ อาจจะมาชี้จิ้มได้ เอาในเขตป่าของเราได้ แต่ชุมชนหรือพื้นที่ คนในพื้นที่จริง ๆ อาจจะไม่ได้ ประโยชน์ เศรษฐกิจที่ดีใคร ๆ ก็อยากได้ครับท่านประธาน คนทุกคนอยากได้เศรษฐกิจดี ในทุกจังหวัด อยากมีความเจริญในทุกจังหวัดครับ ไม่ใช่เจริญแบบเป็นกลุ่ม ๆ เพราะสุดท้าย กลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้จริง ๆ อาจจะไม่ใช่กลุ่มจังหวัด แต่เป็นกลุ่มนายทุน ขอบคุณครับท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ คุณมานพ คีรีภูวดล ขอความกรุณาใช้เวลา ๗ นาทีด้วยนะครับ เดี๋ยวจะมีอีกหลายท่าน จะพูดครับ เชิญคุณมานพครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผาพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมเป็นคนภาคเหนือ อยู่บนดอยด้วยนะครับ อยากจะมีประเด็นที่จะมาพูดถึงท่านประธานในญัตติของ คุณเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ที่ว่าเราจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ท่านประธานครับ ก่อนที่กรรมาธิการจะได้ศึกษา ผมคิดว่าคำถามที่จำเป็นและสำคัญ สำหรับกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่ามีอยู่หลายเรื่อง ประเด็นแรก ก็คือว่าถ้าเราจะทำ เศรษฐกิจภาคเหนือ เรามีต้นทุนอะไรบ้าง ผมคิดว่าอันนี้ต้องชัดเจนนะครับท่านประธาน และต้นทุนที่มีอยู่เราจะทำอย่างไรกับมัน คำถามที่ ๒ ครับ การทำเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจ ภาคเหนือที่เราพูดกันตรงนี้ ใครเป็นคนได้และใครจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเรา แยกแยะไม่ได้ ผมคิดว่ากระบวนการที่ลงไป เรามักจะเห็นตลอดว่ามันจะมีกระบวนการที่ ขัดแย้ง คัดค้าน ประท้วง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าภารกิจ ๒ เรื่องนี้จะเป็นภารกิจของ กรรมาธิการที่จำเป็นจะต้องศึกษา ดังนั้นผมก็เลยจะอภิปรายในหลักการในญัตตินี้ เพื่อเป็น กรอบให้กรรมาธิการในการศึกษาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการครับ ผมจะมองในภูมิสังคม ของภาคเหนือทั้งหมด ผมอาจจะมีอยู่ ๓ ประเด็น ท่านประธานครับ อยากให้ฝ่าย โสตทัศนูปกรณ์ได้ขึ้นด้วยนะครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมมีแค่สไลด์เดียวครับ ผมจะมองบริบทของภาคเหนือใน ๓ ประเด็น อันที่ ๑ คือด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อันที่ ๒ คือความหลากหลายของผู้คนและ วัฒนธรรม อันที่ ๓ ก็คือความเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ๓ บริบท ๓ ประเด็นนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นหลักพื้นฐานที่จะต้องมอง แล้วก็ที่จะต้องลง รายละเอียดก่อนที่จะลงว่าจะทำโครงการอะไร จะทำอะไร ๑ ๒ ๓ ๔

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก คือประเด็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ท่านประธานย้อนไปเมื่อประมาณเป็น ๑๐๐ กว่าปีที่แล้วนะ ครับ ประเทศตะวันตกได้ล่าอาณานิคม ได้เข้าไปยึดพื้นที่ในเอเชียหลายประเทศนะครับ ประเทศไทยก็เกือบจะเป็นอาณานิคม แต่ว่ากระบวนการต่อรองก็คือเรื่องผลประโยชน์ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การต่อรองเจรจา ก็คือทรัพยากรธรรมชาติว่าด้วยเรื่องของ ไม้ ต้นน้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของเจ้าพระยา และในอดีตคือเป็นพื้นที่สัมปทาน ป่าไม้ทั้งหมดครับท่านประธาน ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ผมพยายามยกตัวอย่างว่า ในอดีต ต้นทุนของเราที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นก็คือทรัพยากรป่าไม้ หากเราจะทำเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ เราย้อนกลับไปดูเรื่องต้นทุนเหล่านี้ และพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ เราจะเห็นว่ามันมีพื้นที่ที่ป่าต้นน้ำมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพด นำไปสู่เรื่องของ Soil Erosion การพังทลายของหน้าดิน แม่น้ำมีปัญหา ใช้สารเคมี ในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจถ้าเรามองเรื่องนิเวศ ฐานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ในแง่ของการสร้างพื้นที่สีเขียว หรือว่า Green Economic เศรษฐกิจสีเขียว ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่กรรมาธิการจะต้องคิด ต่อจากเรื่องของการสร้างป่า สร้างรายได้ เรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วันนี้ประชาชนในพื้นที่ทำเต็มไปหมดเลยครับท่านประธาน แต่ว่ายังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย อยู่ในเขตป่าทำอะไรก็ไม่ได้ ขอใบรับรองก็ไม่ได้ จัดกระบวนการอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ได้ ผมถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไรในมิติทรัพยากร เรามี ทรัพยากรว่าด้วยเรื่องยาสมุนไพรครับ ภาคเหนือมีหมอเมือง หมอเมืองคือหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทยเยอะแยะมากมายนะครับ เคยต่อสู้กันมา มีความขัดแย้งว่าเป็นหมอเถื่อน วันนี้ทรัพยากรเหล่านี้อยู่เต็มไปหมดเลยครับในวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสปา ไม่ว่าจะเป็น กรมแพทย์ทางเลือก เรื่องของการพัฒนาตัวความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีฐานทรัพยากร เยอะมากครับ วันนี้ยังติดข้อกฎหมาย ผมเคยไปถามผู้ประกอบการเล็ก ๆ ในภาคเหนือว่า นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยไปซื้ออะไร เขาไปซื้อยาดมครับ ยาดมเล็ก ๆ ที่มันทำ มาจากสมุนไพรอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้การพัฒนาฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมันเป็นต้นทุนของภาคเหนือ จำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมาธิการจะต้องเอากรอบนี้ไปพิจารณา เพื่อที่จะดึงเข้ามาในกรอบของการพัฒนาเศรษฐกิจครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

บริบทที่ ๒ ครับท่านประธาน คือบริบทเรื่องของความหลากหลายของผู้คน และวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าภาคเหนือมีผู้คนที่หลากหลายมากครับ เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ ๑๗ ชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งบนที่สูงและพื้นราบ คนที่มาท่องเที่ยวทุกวันนี้อาศัยความเป็น เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ความเป็นเฉพาะตรงนี้มาศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรม เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร สมุนไพรต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้คือต้นทุนที่เราจะต้องมองว่าเราจะหยิบยกขึ้นมา ได้อย่างไร ผมไปแอบดูนโยบายของประเทศจีน เขาเรียกว่าชนชาติกลุ่มน้อย นโยบาย ส่วนกลางสนับสนุนให้กับชนชาติกลุ่มน้อยแต่ละมณฑล ได้มีการบริหารจัดการตัวเอง จนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวและนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ ผมถามว่าตรงนี้มันคือต้นทุน หรือไม่ ในการคิดพิจารณาที่จะวางกรอบเรื่องการศึกษาเรื่องนี้ ผมเสนอว่าเรื่องนี้มีความ จำเป็นที่จะต้องศึกษา บนพื้นฐานความหลากหลายของผู้คน เรายังมีเรื่องของอาหาร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าวันนี้ มีอาหารประจำจังหวัดนะครับ จริง ๆ มันไม่ใช่แค่นั้นครับ อาหารที่เราพูดถึงคืออาหารก็เป็น ยาได้ครับ เพราะฉะนั้นคือความหลากหลายของผู้คนมันไปปรากฏในเรื่องของการแต่งกาย ภาษาพูด เรื่องอาหาร เรื่องของการใช้พื้นที่ หลากหลายมิติครับ อันนี้คือต้นทุนที่ ๒ ที่กรรมาธิการจะต้องมาพิจารณา

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประเด็นสุดท้ายครับ ในบริบทว่าด้วยเรื่องของเมืองที่ติดชายแดน ท่านประธานครับ ผมไล่ตั้งแต่จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ลงมาทางจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านประธานครับ เรามีประเทศเพื่อนบ้านที่ติดเรา เรามีด่านอยู่ ๔ ประเภท คือ ด่านพรหมแดนก็คือพรหมแดนติดกับตรงด่านเลยครับ อันที่ ๒ คือด่านถาวร อันที่ ๓ คือด่านชั่วคราว อันที่ ๔ คือช่องทางทางธรรมชาติ คำถามของผม ก็คือว่า ผมกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ในอาณาจักรล้านนา ท่านประธานครับ มันมีการ ค้าขายระหว่างเชียงตุง จังหวัดเชียงใหม่ ล้านนาและทางพม่ามาเป็นพัน ๆ ปี วันนี้สิ่งสำคัญ ที่สุดก็คือว่าการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแต่ละประเทศที่ติดกับพวกเรานี้ มิติการบริหารชายแดน ผมอยู่ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ผมคิดว่าอันนี้ยังเป็นข้อบกพร่อง จุดอ่อนที่เรา จะต้องพิจารณา และที่สำคัญก็คือว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ ทางประเทศพม่า อำนาจรัฐ ซึ่งเรารู้ว่าที่ผ่านมานั้นเป็นของทหาร แต่สถานการณ์วันนี้ ความเสถียรภาพในการนำของอำนาจต่าง ๆ เหล่านี้มันมีความเปลี่ยนแปลงและมันมี ความสุ่มเสี่ยง เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ กรณีชายแดน ผมคิดว่า การคิดบริบทที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายครับท่านประธาน สิ่งที่ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อที่จะศึกษาเรื่องนี้ ทำอย่างไร หากมีแผนหรือมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือแล้ว ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ จะไม่ถูกละเลย จะไม่ถูกทำให้เขาขยับออกไปเป็นคนชายขอบของพื้นที่ชายขอบ เขาจะมี พื้นที่มีตัวตน มีศักดิ์ศรี และได้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะครูและสภานักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนคร สุราษฎร์ธานี จำนวน ๔๐ ท่าน และอีกคณะหนึ่งนะครับ คณะประชาชนอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ๑๒๐ ท่าน กำลังเข้าฟังการประชุมอยู่ทั้ง ๓ คณะเช่นเดียวกัน ขณะนี้ ในสภาของเรากำลังพิจารณา ญัตติ เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการ พัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ขณะเดียวกัน บริเวณห้องประชุมกรรมาธิการของเราก็มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ และกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญอื่น ๆ อีกประมาณ ๔๐-๕๐ คณะ อยู่รอบบริเวณนี้ จึงเรียนให้ทราบครับ เดี๋ยวจะเห็นสมาชิกอยู่ในห้องประชุมไม่มากนัก เพราะว่าอีกหลายร้อยคนกำลังอยู่ในห้อง ประชุมคณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ ต่อไปขอเชิญทางฝ่ายรัฐบาลครับ ขอเชิญ คุณภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ๗ นาที เชิญครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างสูง กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม กระผมขออภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง ๑ ของท่านอดีตรัฐมนตรี ดอกเตอร์พรรณสิริ กุลนาถศิริ และของเพื่อน สส. อีกหลายท่าน เพื่อให้การพัฒนาเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาให้ทั่วถึงทุกภาค ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จนถึง ทุกหมู่บ้าน กระผมขอให้การสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือและทุกภาค รัฐบาล ต้องส่งเสริมการลงทุน จังหวัดที่ห่างไกล เช่น การเก็บภาษีภาคธุรกิจและรายได้บุคคลให้ ถูกลง น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ก็ให้เก็บภาษีถูกลงเช่นกัน จังหวัดที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ ยิ่งให้ เก็บภาษีถูกลงมาก ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนได้ไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จังหวัดที่อยู่ ห่างไกลกรุงเทพฯ ให้ราคาน้ำมันถูกกว่าในกรุงเทพฯ ลิตรละ ๒ บาท ถึง ๓ บาท เพราะปัจจุบันจังหวัดที่ยิ่งห่างไกลกรุงเทพฯ ยิ่งห่างไกลความเจริญ น้ำมันยิ่งราคาแพงมาก ยิ่งขึ้น พี่น้องประชาชนอยู่ในชนบทห่างไกลรายได้น้อย โอกาสก็น้อย แต่กลับกันต้องใช้น้ำมัน เชื้อเพลิง น้ำมันเติมเครื่องจักรเพื่อการเกษตร รถเพื่อการเกษตร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ แพงกว่าคนในกรุงเทพฯ รัฐบาลต้องส่งเสริมการลงทุนในชนบทห่างไกล และลดหย่อนภาษี ต่างจังหวัดให้มากกว่ากรุงเทพฯ ภาคเอกชนจะได้ไปตั้งโรงงานที่ห่างไกลมากขึ้น และรัฐบาล ต้องจัดให้มีน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี มีสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พร้อม พี่น้อง ประชาชนแรงงานจะมีงานทำอยู่ที่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง ได้มีเวลาดูแลลูกหลานของ ตัวเอง ดูแลครอบครัว ดูแลคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ย่าตายาย ทำให้เกิดความอบอุ่น ไม่มีปัญหาด้าน ครอบครัว ด้านสังคม ด้านความยากจนจะได้หมดไป มีอาชีพ มีงานทำ รายได้ดี ร่ำรวย ไม่มีหนี้สิน ลูกหลานไม่ต้องไปติดยาเสพติด ยาบ้า กัญชา กระท่อมกันมากขึ้น แรงงานคน หนุ่มสาวไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานในกรุงเทพฯ จังหวัดที่ห่างไกลหรือต่างประเทศ และทำให้มีปัญหาตามมาอย่างมากมาย การพัฒนาเศรษฐกิจต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน ต้องพัฒนาคน พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางดี ประชาชน ร่ำรวย ต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันหลาย หมู่บ้านขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รัฐบาลต้องรีบเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟฟ้าครัวเรือน ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร เพราะมีอีกหลายครัวเรือนไม่มีไฟฟ้า และพี่น้องเกษตรกรต้องการขยาย เขตไฟฟ้าอีกจำนวนมาก ภาคเอกชนจะไปตั้งโรงงานในชนบท ในจังหวัดห่างไกลก็ตั้งไม่ได้ เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้า การพัฒนาต้องมีถนนดี ถนน ๔ เลน ๖ เลน ๘ เลน ไปทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และถนนลาดยาง ๒ เลน พร้อมไฟฟ้าส่องสว่างให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน เพื่อให้พี่น้อง ประชาชน เกษตรกร นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกสบาย ปลอดภัย เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น มีการซื้อการขายมากขึ้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็มาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น และหลาย ประเทศไปมาหาสู่กันและสะดวกสบาย ไม่ต้องทำ Visa ในปัจจุบัน การคมนาคมสะดวก ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย และของรัฐบาลจะมีรถไฟทางคู่ไปทุกจังหวัด มีรถไฟความเร็วสูง ไปประเทศเพื่อนบ้านและหลายประเทศ และประเทศอื่น ๆ ก็จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มาเชื่อม เพื่อให้การคมนาคม การขนส่งสินค้าได้สะดวกสบาย ได้ตรงเวลา ไม่เน่าเสีย พี่น้อง ประชาชนแรงงานจะมีรายได้ดี ค่าแรงสูงขึ้น มีการก่อสร้างรางรถไฟ แรงงาน คนงานมีงานทำ ร้านค้าขายดี โรงงานก็มีการผลิตสินค้ามากขึ้น นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะสะดวกสบาย เดินทาง โดยรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลต้องให้ภาคเอกชน นักธุรกิจ ธนาคาร ที่ปัจจุบัน มีกำไรปีละหลายหมื่นล้านบาท ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ได้ช่วยพัฒนา ประเทศในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ จนถึงทุกหมู่บ้าน ให้ภาคเอกชนเป็นเจ้าของโครงการ เพราะภาคเอกชนมีความพร้อม ความคล่องตัว การแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ไม่ติดขัด ในกฎระเบียบเหมือนหน่วยงานราชการ ยกตัวอย่างเรื่องที่เห็นได้ชัดที่รัฐบาลประกาศเอาจริง เอาจังอย่างเด็ดขาดมาทุกรัฐบาล เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประกาศให้ไม่เผา หยุดเผา เพราะมีควันพิษ หมอกควัน แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ถึงทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลให้ภาคเอกชน ได้มาบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา PM2.5 ควันพิษ หมอกควันจะได้หมดไป เพราะปัจจุบัน ได้มีบริษัทภาคเอกชนเจ้าของบริษัทเล่าให้กระผมฟังว่า ได้ลงทุน ๓,๐๐๕ ล้านบาท ตั้งโรงงาน ชีวมวลในทุกจังหวัดของภาคเหนือ เพื่อรับซื้อวัสดุการเกษตร ฟางข้าว ตอซังข้าว นำมา อัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลส่งไปขายต่างประเทศ เกษตรกรจะได้หยุดเผา โรงงานจะไปรับซื้อ ทุกจังหวัดที่ภาคเหนือ เกษตรกรจะได้ร่ำรวย ไม่จนดักดานต่อไป กราบขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

ต่อไปขอเชิญ ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง

ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๖ คนอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ ดิฉันรู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมากค่ะท่านประธาน ที่สภาแห่งนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และดิฉันรอวันนี้มานานแล้วค่ะ รอที่จะมีการ ร่วมอภิปรายการศึกษาพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคเหนือนี้ เพราะเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชน ในเขตบ้านดิฉันฝากมาค่ะ ก่อนอื่นก็ต้องอ้างถึงตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายนที่ผ่านมา โดยกำหนดให้เป็น นโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องพี่น้องประชาชน และนโยบายเขต พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ดิฉันในฐานะผู้แทนราษฎร เขต ๖ เคยตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการเปิดด่านชายแดนเพื่อการค้าขายชายแดนในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายนที่ผ่านมา แต่ท่านยังไม่ได้มาตอบค่ะ ดิฉันจึงใช้โอกาส วันนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอภิปรายญัตตินี้ และดิฉันคิดว่าถ้าหากการเปิดด่าน ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหงได้จะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่าง มาก เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี ๒๕๔๑ จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเป็นจุดผ่อนปรน ทางช่องทางหลักแต่ง ที่อำเภอเวียงแหง และด่านกิ่วผาวอกที่อำเภอเชียงดาว ตามความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทยให้เปิดตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็นของทุกวัน สร้างมูลค่ารวมทั้งหมด ๒๐๕ ล้านบาท อันนี้เป็นแค่ด่านชั่วคราวนะคะท่านประธาน ข้อมูลนี้ดิฉันได้จากด่านศุลกากรเชียงดาวค่ะ แต่หลังจากนั้น เมื่อปี ๒๕๕๑ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศยกเลิกระงับการผ่านเข้าออกจุดผ่อนปรนของอำเภอเชียงดาว แต่จุดผ่อนปรน หลักของอำเภอเวียงแหงยังไม่ถูกระงับการเข้าออก แต่ด้วยเหตุการณ์ที่มีการปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของฝ่ายไทยกับกองกำลังเมียนมา ทำให้กองทัพภาคที่ ๓ ได้สั่งระงับการเข้าออกตลอดจนการค้าทุกชนิดทั้ง ๒ ด่านถึงถูกปิดลงค่ะ ต่อมาเมื่อ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ กระทรวงพาณิชย์จัดให้มีการประชุมเพื่อต้องการ จะยกระดับด่านผ่อนปรน ด่านอำเภอเชียงดาวและด่านอำเภอเวียงแหง ที่เทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยในที่ประชุมมอบหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมในการเปิดจุดผ่อนปรนทั้ง ๒ แห่ง ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่จัดให้หน่วยงาน ทั้งหมดมาเตรียมความพร้อมตามมติที่ประชุม วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๓ ผลการประชุม มีดังนี้ ก็คือ ๑. ฝ่ายความมั่นคงอยู่ระหว่างการรอยืนยันจากเมียนมาในการจัดประชุม RBC แขวงทางหลวงที่ ๓ ให้ข้อมูลว่า พร้อมที่จะดำเนินการปรับปรุงถนนทางหลวงหมายเลข ๑๓๒๒ ได้ทันทีค่ะ ๒. ด่านศุลกากรอำเภอเชียงดาวแจ้งว่ามีความพร้อมที่จะเปิดจุด และ ด่านศุลกากรจังหวัดเชียงใหม่มีอำนาจในการกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ อำเภอเชียงดาวให้ข้อมูลกับความคืบหน้าในการจัดสรรพื้นที่ ที่จะทำจุดผ่อนปรน ที่ตำบลเมืองนะ โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด ๖๐๐ ไร่ ท่านประธานคะ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ทางหน่วยงานในพื้นที่และพี่น้องประชาชนมีความพร้อมมากค่ะ พร้อมที่จะมีการยกระดับเป็นด่านถาวรเพื่อเศรษฐกิจต่อเนื่องนะคะ ด่านในอำเภอตำบลเมือง ควรที่จะเป็นด่านถาวรได้แล้วค่ะ เพราะอะไรใช่ไหมคะ ก็เพราะว่าจังหวัดเชียงใหม่ของเราเป็นจังหวัดขนาดใหญ่เป็นอันดับ ต้น ๆ ของประเทศ และมีจำนวนประชากรเยอะเป็นอันดับ ๔ ของประเทศไทย และในที่สุด ยังไม่พอค่ะ เป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งหมดกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษ แต่ทำไมคะท่านประธาน ทำไมจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีด่านถาวรสักด่านเลย อย่างเช่น เหมือนกับด่านจังหวัดเชียงรายและจังหวัดตาก แต่ดิฉันคิดว่าถ้าหาก ๒ ด่านนี้เปิดได้ จะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ระบบขนส่ง Logistics การขนส่งพืชผลทางการเกษตร การนำเข้าสินค้าที่จำเป็น และความเชื่อมโยง ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม ทางประเทศไทยเรามีถนนเชื่อมตั้งแต่ตัวเมือง เชียงใหม่ไปจนถึงชายแดน โดยใช้เป็นเส้นทางลาดยาง อย่างเช่น ชายแดนไปจนถึง บ้านโปงป่าแขม จำนวน ๒๐ กิโลเมตร ชายแดนไปจนถึงเมืองหาง ๔๐ กิโลเมตร ชายแดนไป จนถึงเมืองต่วน ๘๐ กิโลเมตร ชายแดนจนถึงเมืองสาด ๑๕๐ กิโลเมตร ชายแดนจนถึงเมือง ตองจี เมืองรัฐหลวงของรัฐฉาน ๖๐๐ กิโลเมตร ชายแดนจนถึงเมืองมัณฑะเลย์ ๑,๐๐๐ กิโลเมตรค่ะ ดิฉันเห็นด้วยกับญัตติทุกญัตติที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะต้องการ จะพิจารณาการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของภาคเหนือ และดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องที่ ดิฉันอภิปรายไปเบื้องต้นทั้งหมดนี้นะคะ ทั้งด่านหลักแต่งที่อำเภอเวียงแหง และการเปิดด่าน ถาวรที่อำเภอเชียงดาว ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญจะนำไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวและการ เปิดด่านทั้ง ๒ ด่านนี้ ไม่ใช่เพราะพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ของดิฉันเท่านั้น ซึ่งจะเป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของภาคเหนือ และการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ของ ประเทศของเราค่ะ เหมือนกับคำที่พี่น้องประชาชนเขตบ้านของดิฉันฝากมาบอกว่า หม้อบ่ฮ้อน บ่าใจ้ต๋าไห มันเป๋นต๋าไฟ บ่าใจ้ต๋าหม้อ พี่น้องประชาชนจะขับเคลื่อนในเรื่อง ของเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องการเปิดด่านได้สำเร็จ ต้องอาศัยความจริงจังจริงใจในการส่งเสริม เศรษฐกิจเหมือนอย่างท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้นะคะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง วันนี้ อ.เอท ขอเข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาพัฒนา เขตเศรษฐกิจภาคเหนือนะครับ หรือบางท่านจะย่อว่า NEC Creative LANNA วันนี้ อ.เอท ขอมาใน Model ก็คือคำว่า ล้านนา ครับ ล้านนา ก็คือ L A N N A ล้านนาครับ เรามาเริ่ม กันที่ตัวแรกเลยครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ตัวแรกก็คือตัว L การที่เราจะมีเศรษฐกิจที่มีความเป็นพิเศษได้ มันต้อง มาจากคำว่า Lifelong Learning ก่อนครับ ก็คือการเรียน หรือเป็นการเสริมให้มี การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำไมหรือครับ ท่านครับกว่า ๖.๒ ล้านราย ที่เป็นแรงงานของ ภาคเหนือตอนบน ๔.๘ หรือ ๔.๒ หรือประมาณสัก ๖๘ เปอร์เซ็นต์ที่ทำอาชีพหรือ ประกอบอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งก็คือการหาบเร่แผงลอย หรือเขาเรียกว่า Freelance ท่านครับกว่า๖๘ เปอร์เซ็นต์หรือ ๔.๒ ล้านคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ อ. เอทแอบไปดูในตัวเลขมา ตัวเลขน่าสนใจมากครับ คือประมาณเกือบ ๆ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่ได้ผ่านการเรียนหรือพูดง่าย ๆ ว่ายังต่ำกว่ามัธยมหรือประถมนี่ละครับ ก็คือการใช้ แรงงานหรือผู้ที่ประกอบอาชีพกว่าครึ่งหรือเกินครึ่งยังไม่มีการศึกษาที่เกินมัธยม หรือระดับประถม อ.เอทอยากที่จะเห็นเหลือเกินครับว่า เราควรที่จะมีการพัฒนา Lifelong Learning ให้กับพี่น้องที่ทำงานไปแล้วยังไม่ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ให้เขาได้ศึกษาเก็บ หน่วยกิตแล้วก็ทำให้เขาได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น อย่างน้อย ๆ ก็ระดับมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย ก็ยังดีนะครับ นี่คือสิ่งที่ อ.เอทอยากจะเห็นมากที่สุดกับการที่ทำเศรษฐกิจที่ภาคเหนือ ควรจะเริ่มจากการพัฒนาด้านการเรียนครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาตัว A A ในที่นี้คือ All แปลว่าเท่าเทียมทุกคน พื้นที่ทุกตารางนิ้ว ทุกตารางเซนติเมตรของประเทศไทย เหนือ ใต้ ออก ตก เป็นของชาวไทยทุกคน แน่นอนครับ การลงทุนล่าสุดที่ผ่านมา ถ้าท่านเห็นว่าการลงทุนของเรากว่า ๕๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ท่านจะเห็นว่าแค่ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทที่ลงไปสู่ภาคเหนือตอนบน และที่สำคัญที่สุดครับ ไปไม่ครบทุกจังหวัด แน่นอนครับ ๒ เชียงไปครับ เชียงใหม่ เชียงราย ๒ ลำไปครับ ลำพูน ลำปาง แต่ในจังหวัดน่านบ้าง จังหวัดแพร่บ้าง หรือจังหวัดแม่ฮ่องสอนบ้าง ยังน้อยมากจริง ๆ เราอยากที่จะให้การลงทุนมันเท่าเทียม มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นการลงทุนที่กระจุก กระจายครับ แล้วสุดท้ายคนที่จะได้ก็เป็นแค่นักลงทุน ไม่ใช่ของประชาชนอย่างแท้จริงครับ นั่นคือตัว A ที่ ๒ ครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาเป็นตัว N ที่ ๓ Model ตัว N นี้คืออะไรครับ N นี้คือคำว่า Nature ซึ่งก็แปลว่าธรรมชาติ เรามีบทเรียน ท่านประธานครับเรามีบทเรียนจาก EEC หรือเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก ชัดเจนมากว่าเขาทำมาทุกอย่าง หลายท่านได้พูดไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็น ธรรมชาติ สิ่งที่เรายังไม่สามารถทำได้ ก็คือการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับพวกมลภาวะ น้ำเป็นสิ่งสำคัญ ฝุ่นเป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญครับพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำไมถึงบอกว่าน้ำ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะภาคเหนือเพื่อน อ.เอท พูดไปเยอะมากครับ เรายังมีปัญหาน้ำอยู่เลย ทีนี้ถ้าทำเป็นระบบเศรษฐกิจ ต้องมีด้านเกษตรไม่พอยังมีด้านอุตสาหกรรม เราจะเอาน้ำ ที่ไหนมาทำ น้ำกินยังไม่มีเลย เห็นไหมครับ และที่ดินก็เช่นกันครับ ตอนนี้เราต้องกลาย เป็นเช่า นักลงทุนซื้อที่ ชาวนาต้องไปเช่าที่ ค่าที่ก็แพงขึ้น สุดท้ายก็ไม่มีผลกำไร นี่ละครับคือ Nature หรือผลกระทบด้านธรรมชาติอย่างแท้จริง ขอให้พวกเราช่วยกันพิจารณานะครับ เราถึงต้องมีการจัดการทำวิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะมาศึกษาด้านนี้ ท่านครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ต่อมาอีกด้านหนึ่ง N อีกตัวหนึ่ง Model ล้านนาคือ L A N N ถูกไหม N ตัวที่ ๒ คือคำว่า New ในที่นี้คือ New Idea To Self Own Product ซึ่งก็แปลว่าเราต้องมี Idea ใหม่ ๆ มาขายของเก่า ของเก่าในที่นี้ อ.เอท หมายถึงอะไร ก็คือหมายถึงพวก ทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยที่อยู่ภาคเหนือมีวัด มีอีกอย่างจริง ๆ แต่มันทรุดโทรมมากครับ จากงบประมาณปีล่าสุด ปี ๒๕๖๖ เรามีอยู่ ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปสร้างถนน ไปสร้างสาธารณูปโภค ที่เหลืออีกประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ไปดูเกษตร ไปดูภาคอื่น ๆ สุดท้าย อ.เอท เห็นครับ ๑๔ ล้านบาทไปอยู่ไหนครับ ไปอยู่กับการท่องเที่ยว อ.เอท ก็ไม่เข้าใจว่าไปอยู่ท่องเที่ยวนี้ไป ปรับปรุงอะไรหรือเปล่า หรือไปทำอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับระบบที่เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นเชิง อนุรักษ์ หรือเป็นเชิงธรรมชาติหรือเป็นเชิงที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม อยากจะให้มีงบ ตรงนี้เยอะ ๆ มิฉะนั้นแล้วเราจะมีเศรษฐกิจที่ดี ๆ ไปเพื่อชาวเหนือทำไมถูกไหมครับ ต้องเป็น ของทุกคน เพราะฉะนั้นอันนี้คือตัว N รองสุดท้ายครับ

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

และก็มาถึงตัวสุดท้ายแล้ว คือตัว A A ในที่นี้คือคำว่า Agriculture ซึ่งก็แปล โดยตรง ๆ เลย ก็คือเกษตร อ.เอท อยากจะเห็นเป็นเกษตร AI ครับ เป็นเกษตรรูปแบบใหม่ เป็นเกษตรเชิง เขาเรียกว่าเป็นเกษตรที่เรียกว่ามีอัจฉริยะเกษตร ทำอย่างไรครับ ต้องมีการ ลดต้นทุน ต้องมีการเพิ่มผลผลิต ต้องมีการแปรรูป ต้องมีเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เราพูด ไปเยอะมาก เรื่องของการเกษตรที่ตกต่ำ เราต้องมีเทคโนโลยีครับ ถ้าท่านไปเปรียบเทียบกับ ประเทศอื่นคงไม่ต้องพูดครับ เขามีเทคโนโลยีทำคนเดียวเป็นหลาย ๆ สิบเอเคอร์ บ้านเรา เรามีแรงงานของภาคแรงงานของเรากว่า ๖.๒ ล้านคน ท่านครับแรงงาน ๖.๒ ล้านคน ทำการเกษตรอยู่ที่ประมาณ ๒.๘ ล้านคน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งไปทำด้านอื่น อัตราส่วนคือ ๑ ต่อ ๑ หนึ่ง เห็นไหมครับ เกษตร ๑ ด้านอื่น ๆ อีก ๑ แต่ผลผลิตทาง GDP ถ้าภาคเหนือ มีผลผลิต GDP ประมาณ ๑.๒๕ ล้านล้าน เกษตรมีอยู่แค่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าล้าน ที่เหลือไปอยู่ภาคอื่นหมด แสดงว่าเราใช้ประชากรหรือเราใช้แรงงานเท่ากัน แต่ผลผลิตต่ำ กว่าด้านอื่นถึงประมาณ ๓ เท่า นี่คือผลผลิตที่ยังไม่เข้าตา เพราะฉะนั้นจบเลยครับล้านนา สุดท้ายนี้ อ.เอท อยากจะเห็นการลงทุนของล้านนาที่เป็นล้านนา ไม่ใช่การลงทุนแบบลั้ลลา ไปวัน ๆ ขอบพระคุณท่านประธานครับ ด้วยความเคารพครับ Respect

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้บริหารสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลร่มไทร อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ยินดี ต้อนรับครับ ต่อไปขอเรียนเชิญท่านเทียบจุฑา ขาวขำ ครับ

นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ท่านประธานคะ จากที่เพื่อน สส. ของพรรคเพื่อไทย ท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ท่านรวี เล็กอุทัย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์ แล้วก็ท่านนพพล เหลืองทองนารา และนางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ และ สส. ต่างพรรคอีกหลายท่านที่ได้นำเสนอญัตตินี้ ดิฉันถือว่าเป็นญัตติ ที่สำคัญที่ทุกท่านที่ได้แสดงพูดถึงหลักการและเหตุผลไปแล้วนั้น ดิฉันก็ขออนุญาตเสริม อภิปรายสนับสนุนต่อนะคะ ท่านประธานคะ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ดิฉันได้อ่าน ยุทธศาสตร์ของ BOI ในระยะ ๕ ปี คือปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ตามที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ให้มีการ มุ่งส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ เราเรียกว่า New Economy แล้วก็ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน นี่เป็น ยุทธศาสตร์ของ BOI ในการจะสนับสนุนในการลงทุนของนักลงทุน ดิฉันคิดว่าเป็นหัวใจ สำคัญในการที่จะสร้างความเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศไทยได้ต้องอาศัย การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายให้ถูกต้อง ดังนั้นการลงทุนจะต้องสอดคล้องกับ ศักยภาพในพื้นที่ แล้วก็สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ เพื่อกระจายกิจกรรมด้านเศรษฐกิจให้ครอบคลุมถึงทั่วประเทศได้ ซึ่งดิฉันก็เห็นด้วยนะคะ ที่ท่านสมาชิกทุกท่านเสนอนี้ อย่างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เศรษฐกิจภาคเหนือเป็น การยกระดับพื้นที่ภาคเหนือ ท่านก็รู้จักดีนะคะ พื้นที่ภาคเหนือนี้ให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้าน การพัฒนา ให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ และโดยเป็นแหล่งผลิตสินค้า และบริการต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น หัตถกรรม ศิลปกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกมากมาย เราสามารถผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ หรือจะผสมผสานกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ฉบับล้านนา ของล้านนาร่วมกับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่นำการผลักดันให้เกิดความนิยม ให้เขาชื่นชอบสินค้า อันนั้นได้รับการ ยอมรับในระดับสากลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นดิฉันเห็นว่าการพัฒนาพื้นที่เขต เศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะมีจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์เหมาะสมที่จะตั้งกลุ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของ ภาคเหนือตอนล่าง ท่านประธานเองก็คงอยู่ใน Zone จังหวัดพิษณุโลก เพราะฉะนั้นในพื้นที่ ตรงนี้จะเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าสร้างได้ ฟื้นฟูขึ้นมาเศรษฐกิจพิเศษ จะนำไปสู่การเจริญเติบโต ในการพัฒนาประเทศได้อย่างทั่วถึงแล้วก็ยั่งยืน แล้วก็การส่งเสริมการลงทุนนี้เมื่อสักครู่นี้ ดิฉันย้ำแล้วนะคะ ต้องทำตามพื้นที่เป้าหมายให้ถูกต้อง การลงทุนนั้นจะต้องสอดคล้องกับ ศักยภาพในพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เป็นการกระจาย รายได้ กระจายสินค้า กระจายเศรษฐกิจ ดังนั้นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งด้วยเหตุผลว่าในพื้นที่ตรงนี้ ในด้านการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มันเป็นพื้นที่ที่มีจุดตัดระเบียง เศรษฐกิจ เหนือ ใต้ กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย แล้วก็เชื่อมโยงร่วมมือภายในประเทศและในประเทศกลุ่ม อนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงกลุ่ม BIMSTEC ก็หมายถึงกลุ่มประเทศบังกลาเทศ ประเทศ ภูฏาน ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา และประเทศไทย ถ้า หากว่าเราเดินทางในถนนสายเอเชีย ในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลกตามสี่แยกถนนเอเชียจะมี ป้ายบอกเลยว่า เชื่อมโยงไปประเทศอินโดนีเซีย มาลายู ไปประเทศลาว เห็นได้ชัดเลยเป็น การเชื่อมโยงการคมนาคมเห็นได้ชัดประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการ ลงทุน มีการคมนาคมสะดวกสบาย มีถนนหลายสายที่เชื่อมโยงไปในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นการเชื่อมโยงเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มจังหวัด ดิฉันเห็นด้วยที่จะต้องผลักดันให้กลุ่มจังหวัดนี้เป็นกลุ่มพัฒนาการสร้างเศรษฐกิจและ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เชื่อมโยงด้านการเกษตร เพิ่มมูลค่าการแปรรูปสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มุ่งสู่การเชื่อมโยงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้นในระเบียง เศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตกนี้ ดิฉันคิดว่าในระเบียงนี้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในการลงทุน และการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคเหนือก็จะดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงิน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน แล้วก็เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และยกระดับ ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เห็นไหมคะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคเหนือจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนที่มีเป้าหมายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ และอันดับที่ ๓ ที่สำคัญเป็นการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการและสังคม ซึ่งดิฉันก็ยกตัวอย่างได้ว่า จากภาคอีสานของดิฉันก็มีนะคะ NEC เชื่อมไปจนถึงอยู่ในกลุ่ม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมาเชื่อมไปจนถึง EEC จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดตราด ดังนั้นญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้นำเสนอมา จากเหตุผลดิฉันได้กล่าวไว้แล้วนั้น ดิฉันก็ขอสนับสนุนนะคะ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงินสู่กระเป๋าพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องการค่ะ ดังนั้นก็ขอสนับสนุนญัตตินี้ทุก ญัตติเพื่อให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญได้ศึกษา ขอบคุณค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ตามด้วยท่านการณิก จันทดา ครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เขต ๑ อำเภอเมือง อำเภอแม่ทา และอำเภอบ้านธิ จากพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะอภิปรายนะครับ ด้วยปัญหา สุขภาพนะครับ ในระหว่างอภิปรายจะมีการไอ หรือว่ามีเสียงที่ไม่พึงประสงค์อาจจะต้อง ขออภัยท่านประธานไว้ล่วงหน้าด้วยครับ จากญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ผมขอร่วมอภิปรายนะครับ เนื่องจากตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นการกระจายความเจริญเข้าสู่ส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว ซึ่งภาคเหนือก็จะมีเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือให้ครอบคลุมพื้นที่อยู่ ๔ จังหวัด ก็คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง หรือเราเรียกง่าย ๆ ก็คือ ๒ เชียง ๒ ลำ เพื่อที่จะครอบคลุมในเรื่องของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม Digital อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จากจุดประสงค์หลักที่ได้กล่าวข้างต้น ที่ภาคเหนือคือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง แล้วก็จังหวัดเชียงรายมีจุดแข็งทั้งหมดอยู่ ๗ ด้าน ที่ทางรัฐบาลสนับสนุน ข้อที่ ๑ ก็คือทางด้านของต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี ข้อที่ ๒ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม ข้อที่ ๓ คือแหล่งทรัพยากรทางชีวภาพที่มี ความหลากหลาย ข้อที่ ๔ ก็คือพฤติกรรมของผู้บริโภคทางแนวสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ข้อที่ ๕ ระบบ Logistic ในพื้นที่ของภาคเหนือก็ถือว่ามีพื้นที่สามารถที่จะขนถ่ายสินค้าได้สะดวก ข้อที่ ๖ ก็คือมีความพร้อมทางด้านโครงข่ายเชื่อมโยงสินค้าไปทางประเทศเพื่อนบ้าน ข้อที่ ๗ เป็นแหล่งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางชีวภาพ จากจุดแข็งทั้ง ๗ ด้านนี้ ทางรัฐบาล เองคิดว่าน่าจะมองเป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพได้ อันนี้ผมก็เห็นสมควรที่คิดว่าจะ สนับสนุนในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องของทาง ภาคเหนือเราได้นะครับ แต่อย่างไรก็ดีการที่รัฐบาลระบุพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ที่เปรียบเสมือนการระบุพื้นที่ไข่แดง ที่จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจกลับกลายเป็นกระจุกตัว อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ โดยที่ไม่ได้ให้ทางท้องถิ่นหรือว่าท้องที่ได้มีการมีส่วนร่วมในการจะกำหนด พื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ว่าตนเองมีจุดแข็งหรือว่าจุดเด่นทางด้านส่วนไหน จะทำให้การ กระจุกตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดิม ๆ เช่น อย่างของจังหวัดลำพูน ก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่อำเภอเมืองอยู่แล้ว ตอนนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ส่วน ของอำเภอเมือง ไม่กระจายอยู่ในพื้นที่อีก ๗ อำเภอที่อยู่รอบ ๆ ต่อไป ดังนั้นผมคิดว่ารัฐบาล จึงควรให้ท้องถิ่นหรือว่าท้องที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดของตนเอง เพราะแต่ละ จังหวัดจะมีปัญหาที่มีบริบทต่างกัน ยกตัวอย่างในจังหวัดลำพูนของผม เราเห็นจุดแข็งทั้ง ๗ ด้านแล้ว ในจังหวัดลำพูนเองก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องการให้ทางรัฐบาลได้ไปแก้ไข และพัฒนา ต่อไปอีก ๗ ด้านเหมือนกัน ดังนี้นะครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๑ ก็คือการขาดแคลนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพราะถ้าเรา นึกถึงที่จังหวัดลำพูน ท่านประธานเองก็เคยไปที่วัดพระธาตุหริภุญชัย แต่ในขณะเดียวกัน ในปีนี้ทางรัฐบาลต้องการที่จะสนับสนุนให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าไปที่ UNESCO ให้เป็นบุคคล สำคัญของโลก แต่ยังไม่มีการส่งเสริมทางด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่วัดบ้านปาง ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเลยนะครับ เพราะฉะนั้นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จะไปกระจุกอยู่แค่ ในที่วัดพระธาตุที่อำเภอเมืองอย่างเดียว ไม่กระจายไปที่อำเภอลี้ หรือว่าเป็นจุดชมวิวต่าง ๆ ที่บ้านป่าแป๋ อำเภอบ้านโฮ่ง อันนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเหมือนกัน แต่น้อยคนครับที่จะ ไปดูจุดทะเลหมอก หรือว่าจุดพระอาทิตย์ตกดินที่บ้านป่าแป๋ ยังไม่มีใครทราบ ก็ยังขาดเรื่อง ของการพัฒนาในเชิงของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาตินะครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๒ การดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในการท่องเที่ยวให้นานขึ้น อย่างที่ ทราบได้กล่าวข้างต้นครับ ก็คือถ้าท่านประธานลงจากที่จังหวัดเชียงใหม่ไปที่วัดพระธาตุ ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว ไปกลับไหว้วัดเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้ก็คือดอก ๒๐ บาท เดินทางกลับ บางคนอาจจะไม่กินก๋วยเตี๋ยว หรือว่าไม่กินข้าวที่จังหวัดลำพูนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ให้กับพื้นที่ก็จะเสียโอกาสไป ตรงกันข้ามครับถ้าเราส่งเสริมการท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรมไปที่อำเภอลี้ต้องเดินทางไปอีก ๒ ชั่วโมง และถ้าไปถึงตรงนั้นแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะใช้เงินในการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกก้อหลวงที่อำเภอลี้เหมือนกันครับ ขากลับอาจจะมาแวะที่จุดชมวิวบ้านป่าแป๋ก็ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถที่จะค้างคืน แล้วก็รายได้กระจายเข้าไปสู่ในอำเภอต่าง ๆ ของ จังหวัดลำพูนเหมือนกัน อันนี้ก็ยังขาดไป

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๓ การขาดการส่งเสริมทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อต่อยอดในเชิง พาณิชย์ อันนี้ก็ยังต้องการแหล่งเรียนรู้หรือว่าสนับสนุนทางด้านของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ยัง ไม่กระจายตัวไปถึงที่จังหวัดลำพูนนะครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๔ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของจังหวัดลำพูน และภาคเหนืออย่างสมบูรณ์ ทำให้ขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็น ปัญหาในเรื่องของปริมาณยังไม่พอ เรื่องของคุณภาพด้วยครับ เพราะว่าเมื่อเรานำแรงงาน ของเพื่อนบ้านมาใช้ การสื่อสารหรือว่าการใช้ในเรื่องของการสนับสนุนทางด้านอุตสาหกรรม เกษตร หรือว่าอุตสาหกรรมอาหาร หรือว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพก็จะหายไป เพราะว่ามีปัญหาด้านการสื่อสาร แล้วก็การเรียนรู้ต่าง ๆ นะครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๕ ก็คือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ ทุกวันนี้เห็นว่าจะมีการพัฒนาเรื่องของสนามบินแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัด เชียงใหม่ แต่ท่านท่านประธานทราบไหมครับว่า ทุกวันนี้เมื่อปลายปี ๒๕๖๖ สถานีขนส่ง จังหวัดลำพูนได้ปิดตัวลงไปแล้ว ไม่มีสถานีขนส่งในจังหวัดลำพูนนะครับ ก็คือถ้าท่าน นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ จะไปลงได้ที่ดอยติ เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑ แล้วก็ทะลุไปที่ จังหวัดเชียงใหม่เลย ซึ่งจังหวัดลำพูนเสียโอกาสตรงส่วนนี้ไปครับ เพราะว่าไม่มีนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้าไปในตัวจังหวัด ถ้านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปแค่จะไหว้วัดพระธาตุอย่างที่ ผมว่าเมื่อสักครู่นะครับ เดินลงไปที่ดอยติ ยังไม่ทราบเลยว่าจะเข้าไปจุดต่าง ๆ ได้อย่างไร ต้องรอให้ระบบขนส่ง หวังว่ามีรถที่จะผ่านเข้าไปได้อย่างไรแค่นั้นเองครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๖ SMEs ในพื้นที่ยังขาดการเข้าถึงแหล่งทุน ทำให้ขาดโอกาสตรงส่วนนี้

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ข้อที่ ๗ ถ้าเราจะสนับสนุนทางด้านเกษตรและอาหาร ระบบชลประทาน ในพื้นที่ยังไม่ทั่วถึง ดังนั้นถ้าเราต้องการจะให้สินค้าทางการเกษตรมีคุณภาพ ต้องทำให้ ชาวบ้านหรือว่าเกษตรกรของผมได้เข้าถึงแหล่งน้ำให้ทั่วถึงและพอเพียงด้วยนะครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

ดังนั้นผมจึงอยากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่รัฐบาลของเราจะตั้งขึ้นมานี้ นำจุดอ่อนหรือจุดด้อยทั้ง ๗ ด้านที่ผมได้นำเรียนไป ไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของ พื้นที่ในจังหวัด พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทางภาคเหนือหรือ NEC เพื่อให้แผนงานของรัฐบาลที่จะ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายอำนาจให้ทุกคน มีส่วนร่วมในการพัฒนาในพื้นที่ในครั้งต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เชิญท่านการณิก ครับ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นด้วยกับการผลักดันให้ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเหนือตอนบนหรือว่า เหนือตอนล่างให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพราะว่าขณะนี้ภาคเหนือมีขนาด เศรษฐกิจที่เล็ก แล้วก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่ว่าดิฉัน มีข้อสังเกต ข้อเสนอแนะแล้วก็ข้อกังวลให้ฉุกคิดนะคะ หากทางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะมี การพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคเหนือค่ะ

นางสาวการณิก จันทดา เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ก็คือโครงสร้างพื้นฐาน อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดไป มีความกังวล ไม่ว่าจะเป็นถนน เส้นทางจราจร ป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร Footpath แม้กระทั่งรถขนส่งสาธารณะว่าเรามีความพร้อมแล้วหรือยังนะคะ ตอนนี้ดิฉันเชื่อว่าธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดสามารถทำเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดนั้น ๆ ได้อย่างมหาศาลค่ะ ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่ดิฉันอยู่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาทราบว่านักท่องเที่ยว มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เกือบ ๓๐๐,๐๐๐ คน นำเงินเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถ้าดิฉันพูดประโยคนี้กับคนเชียงใหม่ในพื้นที่ เขาก็คงตอบมาแบบเสียงเบา ๆ ว่า โห เพราะว่า เขาไม่ได้เห็นเม็ดเงินเหล่านี้ เขาไม่ได้อะไรเลยจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เม็ดเงิน ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาทที่เข้ามามันไหลไปอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม เจ้าของกิจการที่เป็นคน ต่างถิ่นที่กำลังเข้ามายึดจังหวัดเชียงใหม่ หรือคนมีทุนจากต่างประเทศ กลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือกลุ่มทุนสีเทา เท่านั้นยังไม่พอนะคะ สิ่งที่คนเชียงใหม่ได้เจอ ช่วงปีใหม่ดิฉันไม่ได้ ออกบ้านนะคะ ออกบ้านไม่ได้ค่ะ เพราะว่าจะต้องเจอกับปัญหารถติด ขนส่งเรามีไม่เพียงพอ ปัญหาขยะ ขยะที่มากเกิน ไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ดังนั้นคนงาน แรงงานจะต้องทำงานหนักขึ้น ต้องเจอกับสภาวะความเครียดจากงานที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงที่ได้รับแทบจะไม่พอใช้ ค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดเชียงใหม่ตอนนี้ ๓๕๐ บาท เพิ่งขึ้นมา อันนี้วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เพิ่งขึ้นมาจากเดือนมกราคม ๑๐ บาท จาก ๓๔๐ บาทเป็น ๓๕๐ บาทต่อวัน แรงงานจำนวนมากในภาคบริการ เขาต้องทำงานหนักติดต่อกันเกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน เรื่องนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นหากเราจะพัฒนาให้พื้นที่ใด ๆ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พิเศษ ถัดมานะคะความกังวลที่ดิฉันกังวลก็คือ Digital Nomad ชาวต่างชาติสาย TECH หรือว่ากลุ่มคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะด้านไหน ไม่เฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เขาทำงานออนไลน์ ไม่ต้องเข้า Office เขาก็จะไปอาศัยอยู่ในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำค่ะ เมืองสวย ๆ วิว ดี ๆ อากาศดี ๆ เขากำเงินเข้ามาอยู่บ้านเรา ๓ เดือน ๖ เดือน จากรายงานฉบับนี้นะคะ บอกว่ารายเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวของ Digital Nomad ๖๐,๐๐๐ บาท ในจังหวัดเชียงใหม่ เขาใช้จ่ายถึง ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท ส่วนคน Local คนพื้นถิ่นเชียงใหม่เองไม่ได้เป็นเจ้าของ ธุรกิจอะไรเลย เขาก็ไม่ได้อะไรจากตรงนี้ค่ะ ตอนนี้บางประเทศที่มี Digital Nomad เข้าไป อาศัยอยู่มาก ๆ อย่าง Mexico City หรือว่าเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โปรตุเกสถือว่า เป็น ๑ ใน ๓ ที่ Digital Nomad เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ เขาก็กำลังเดือดร้อนนะคะ ชาวลิสบอน ถึงกับต้องเดินประท้วงค่ะ เพราะว่า Digital Nomad ทำให้ราคาค่าเช่าบ้าน ค่าที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ค่าอาหารสูงขึ้น กลายเป็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นค่ะ ดังนั้นเม็ดเงินที่ Digital Nomad เข้าไป มันไม่ได้เข้าสู่ Local People โดยตรงนะคะ แต่มัน ไปเข้าสู่ระบบทุนอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งการที่เราอยากจะทำให้พื้นที่จังหวัดใด จังหวัดหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่งเป็น Medical Hub หรือว่า Wellness Center ให้ต่างชาติ ที่มีทุนหนาเข้ามารักษา เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ที่เมืองไทย กลุ่มคนเหล่านี้เขามีเงินค่ะ เขาสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ แต่คนไทยเองจะเข้า โรงพยาบาลทีก็ลำบาก เรามี รพ.สต. เรามีโรงพยาบาลประจำอำเภอ เรามีโรงพยาบาล ประจำจังหวัด แต่สภาพก็อย่างที่หลาย ๆ ท่านได้เห็นข่าวนะคะ ความยากลำบากในการ จะเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ การต่อคิวนาน การที่จะเปลี่ยนถ่ายโรงพยาบาลก็ใช้ เวลานานเนื่องจากเตียงไม่เพียงพอ นอกจากนี้คนทำงานบุคลากรทางการแพทย์ อย่างหมอ พยาบาลเขาก็มีความทุกข์นะคะ แทบจะไม่มีเวลาที่ลุกไปเข้าห้องน้ำ เพราะต้องแบกรับภาระ ผู้ป่วยที่จำนวนมาก โดยที่โรงพยาบาลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะตอบสนอง ขนาดพื้นที่ของ โรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประชาชนแออัด คนที่เข้ามาใช้บริการแออัด แล้วแบบนี้จะให้ คนต่างชาติเขาได้แค่ Wellness กลับไป ส่วนคนไทยได้อะไรจากการทำ Medical Hub คะ หากจะพัฒนาให้เกิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ท่านก็ต้องตอบให้ได้นะคะว่า แล้วเขต เศรษฐกิจที่ท่านกำลังจะตอบโจทย์ มันตอบโจทย์กับประชาชน ประชาชนได้ประโยชน์ จริง ๆ ไหม หรือว่ามันจะเข้าอีหรอบเดิมค่ะ เตะหมูเข้าปากหมา มีแต่นายทุนที่ได้รับ ผลประโยชน์ แรงงาน คนทำงานก็ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แล้วไทยเองก็ต้องเสีย ทรัพยากรหลาย ๆ อย่างไปค่ะ Idea เรื่องการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทำมาหลายสมัยค่ะ ซึ่งเขาเชื่อนะคะว่าจะทำให้เศรษฐกิจและคนไทยเติบโต แล้วมันจะเติบโตได้จริงไหม แรงงาน คนทำงานจะสามารถลืมตาอ้าปากได้จริงหรือเปล่านะคะ หากจะมีการอ้างว่าถ้าเกิดว่า มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น มันจะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน แล้วปัจจุบันนี้เรามี กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ทำไม ดังนั้นดิฉันยังจึงอยากที่จะฝากข้อกังวลเหล่านี้ให้ช่วยศึกษา พิจารณาว่าการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคเหนือ มันจะเอื้อให้ใคร มันจะเอื้อให้ทุนใหญ่ หรือว่ามันจะเอื้อให้ประชาชนแบบไหนมากกว่ากัน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ครับ

นางสาวจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วก็อำเภอแม่จัน ๑๐ ตำบล พรรคก้าวไกลค่ะ

นางสาวจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ

วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายการเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือว่า NEC ท่านประธานคะ ดิฉันเป็น ตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องจากอำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจ พิเศษแล้วเมื่อปี ๒๕๕๘ แล้วก็ในการอภิปรายในเวลานี้ก็จะมีโอกาสพูดถึงผลกระทบการถอด บทเรียนถึงพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเรียบร้อยแล้วว่า เกิดผลกระทบ อะไรในพื้นที่บ้างเพื่อจะเป็นเหมือนข้อเสนอแนะ หรือข้อสังเกตให้กับกรรมาธิการที่กำลัง จะศึกษาเรื่องนี้ต่อไปนะคะ ซึ่งก่อนอื่นดิฉันต้องขออธิบายผ่านท่านประธานไปถึงพ่อแม่พี่น้อง ทางบ้านของดิฉันก่อนนะคะว่า หลักการและความเป็นมาแล้วก็วัตถุประสงค์ในการกำหนด พื้นที่ใดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษว่า เป็นเพราะอะไรหรือเป็นมาอย่างไร ซึ่งในการ กำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่มีที่ตั้ง ของประเทศเขตกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง ๖ ประเทศ ก็คือไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม แล้วก็จีนมณฑลยูนนาน เพื่อจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อกระจายความเจริญ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของ ประชาชน และเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งในประเทศและประเทศภูมิภาค ซึ่งโดยหลักการตรงนี้ต้องได้รับความร่วมมือทั้งหมดในการดำเนินการ แล้วก็ได้รับการ สนับสนุนจากทุกฝ่ายเพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกันนะคะ ซึ่งในแผนพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ NEC ใน ๔ จังหวัดด้วยกัน ก็คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง อันนี้เป็นแผนที่จะเกิดการพัฒนาเกิดขึ้น ก็คือมาพัฒนา Creative Ecosystem ให้เอื้อต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ พัฒนาสินค้า และบริการสร้างสรรค์ สร้าง Brand และส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ พัฒนา ด้านการศึกษาและวิจัยและบุคลากรด้านสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าเรามองจากภาพรวมแล้ว เราเห็น ถึงแผนแล้วก็ทิศทางที่ดีมาก ๆ ถึงการที่จะเห็นการพัฒนาในเศรษฐกิจด้านเหล่านี้ และเป็น ความท้าทายมาก ๆ แล้วก็เป็นความหวังของพ่อแม่พี่น้องประชาชนด้วยว่าจะเห็นสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นค่ะท่านประธาน ดิฉันมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะ พาเพื่อนสมาชิกทุกท่านรวมถึงท่านประธาน และพ่อแม่พี่น้องทางบ้านได้ย้อนกลับไปดูถึง บทเรียนเมื่อครั้งที่ประเทศของเราได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับแรก เมื่อปี ๒๕๐๓ ซึ่งได้ประกาศใช้ในระหว่างปี ๒๕๐๔ จนถึงปี ๒๕๐๙ ซึ่งยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในตอนนั้นก็ได้กำหนดไว้ โดยหลักคิด ที่บอกว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดีมีงานทำ บำรุงความสะอาด ซึ่งอันนี้ต้องบอกว่าเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรก ๆ ปี ๒๕๐๔ มา และปัจจุบันนี้ ประเทศเราก็มาถึงฉบับที่ ๑๓ แล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา ๖๐ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี ๒๕๐๔-๒๕๖๗ ประเทศไทยเราประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว ถึง ๑๒ ฉบับ แม้ว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง แต่ผลที่กระทบกลับทำให้เกิดช่องว่างเรื่องรายได้ แล้วก็ทรัพย์สิน ระหว่างชนชั้น ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยตัวเอง ในพื้นที่ของเขา มีแต่คำสั่งที่สั่งลงมาจากข้างบนลงล่างที่ไม่ได้สนใจประชาชนว่าเขาจะได้รับ ผลกระทบอะไรผ่านการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง และเราก็พบว่ายุทธศาสตร์แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรกและจนถึงปัจจุบัน เราก็ยังเห็นว่ายุทธศาสตร์นี้ ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่จริง ๆ เรายังเห็นถึงการยังไม่ได้แก้ไขในเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ หรือว่าบำรุงความสะอาดได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ แต่ว่าในสิ่งที่ดิฉันร่วม อภิปรายในช่วงเวลานี้ก็คือว่า ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอเพื่อจะ เห็นการพัฒนาในอนาคตต่อไป แต่ว่าดิฉันอยากจะมานำเสนอหรือว่าข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่มี การถูกตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วเกิดผลกระทบอะไรบ้างในพื้นที่นะคะ ซึ่งดิฉันก็จะขอยกตัวอย่างสภาพปัญหาในพื้นที่อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน แล้วก็ อำเภอเชียงของ ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงรายนะคะว่า เมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เกิดปัญหาอะไร ยกตัวอย่างอย่างเช่นอำเภอแม่สายค่ะ อำเภอแม่สายถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ ที่พัฒนาด่านชายแดนเพื่อจะรองรับการค้าและการท่องเที่ยว และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขต อุตสาหกรรม ในอำเภอแม่สายกำหนดหมู่บ้านแม่น้ำจำ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๑๑ แล้วก็บ้านจ้อง หมู่ที่ ๑ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย พื้นที่ ๓ แปลงที่ติดกับถนนพหลโยธิน พื้นที่เนื้อที่ ทั้งหมด ๗๐๐ กว่าไร่ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เดิมทีเป็นพื้นที่ เพาะปลูกของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ แล้วกลุ่มผู้ผลิตยาสูบนี้ก็สร้างรายได้ดูแลครัวเรือน และครอบครัวของเขาถึง ๑,๒๐๐ ครัวเรือน เขาจะต้องเสียสละที่ดินตรงนี้เพื่อยกให้กับรัฐ ในการที่จะเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ ขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเองแล้วก็ครอบครัว และแถมยังไม่ได้ค่าเวนคืนที่เป็นธรรมแล้วก็ เหมาะสมสำหรับเขา อันนี้คือหนึ่งปัญหาในพื้นที่อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสนก็เป็น ลักษณะเดียวกันอย่างนี้นะคะ ไปถึงที่อำเภอเชียงของ พี่น้องชุมชนท้องถิ่นตำบลบุญเรือง ซึ่งเขาได้ดูแล แล้วก็ร่วมกันรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ๓,๐๐๐ กว่าไร่ แต่ ปรากฏว่าเมื่อถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแล้ว พื้นที่ตรงนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ ที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งชาวบ้านก็หมดสิทธิในการที่จะเข้าไปมีอำนาจเข้าไปใช้ เข้าไป ดูแล หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งน้ำตรงนี้เลย อันนี้ก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง หลังจากที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาแบบนี้แล้ว ชาวบ้านกลับเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ เขากลับเป็นคนต้องสละทั้งที่ดิน ต้องเสียสละทั้ง อัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของเขาที่เป็นอยู่ตลอดมา เพราะมีโครงการ หรือว่ามีโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขา ซึ่งเขาไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นดิฉันจึงอยากจะนำเสนอไปยังกรรมาธิการที่จะจัดตั้งขึ้น ที่จะศึกษาในเรื่องนี้ อย่างละเอียด เพราะว่าเราตั้งใจที่อยากจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นตอบโจทย์ถึงสิ่งที่เราตั้งใจนั้นหรือเปล่า ดิฉันขอฝากท่านประธาน เพียงเท่านี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการศึกษาพัฒนา เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า NEC แล้วก็ (Creative LANNA) โดยหลักการของเหตุผลในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราก็คงทราบกันแล้วว่ามันคงอาศัย พื้นฐานตามเอกสารแบบง่าย ๆ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันแรก ก็คือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มันสามารถที่จะเพิ่มช่องทาง มันมี ความสามารถด้วยตัวมันเอง แล้วก็มีช่องทางที่จะเพิ่มคุณภาพของทางเศรษฐกิจให้มันดีขึ้น

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ก็คือเรื่องการกระจายความเจริญออกไปในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งถ้าเผื่อดู จากตัวเลข เรามีการจ้างงานอยู่ ๒.๙ ล้านตำแหน่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ถ้าเผื่อ เราทำเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้น โดยเฉพาะที่เขาใช้คำว่า Creative LANNA เราก็หวังว่า มันคงจะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น จาก ๒.๙ ล้านคน ซึ่งจากจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนประมาณ ๓๐ ล้านคน สมมุติเราสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้นไปอีกได้ กลายเป็นตัวเลขสัก ๓.๕ ล้านคน เพราะฉะนั้นตัวเงินที่มันจะหมุนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ก็จะเพิ่มมากขึ้น และสิ่งสำคัญก็คือรายได้ต่อหัวของประชากรในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด ก็ประมาณแค่ ๑๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี ฉะนั้นเราต้องพยายามทำให้ตัวเลขนี้มันขึ้นมาอยู่อย่างน้อยได้เท่าเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ปกติที่ค่าเฉลี่ยของ GDP ที่คนไทยควรได้รับคือประมาณเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๓ ก็คือเรื่องตัวภูมิศาสตร์ของตัวเขตพื้นที่ภาคเหนือ ผมคิดว่า ตัวภูมิศาสตร์ของเขตพื้นที่ภาคเหนือ ก็เป็นกลุ่มเดียวกับเศรษฐกิจพื้นที่พิเศษชายแดนนะครับ แต่เนื่องจากว่าความน่าสนใจของเขตพื้นที่ภาคเหนือ มันต่อไปกับชายแดนที่ติดต่อมี ๒ ประเทศ ก็คือจากพม่าแล้วก็ลาว และถ้าขึ้นเหนือไปกว่านั้นอีกแค่ ๖๐ กว่ากิโลเมตร ก็กลายเป็นจีน แล้วมันจะกลายเป็นตัวภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับการขยายจากพื้นที่ ภาคเหนือขึ้นไปกับประเทศเพื่อนบ้านอีก ๓ ประเทศ ทีนี้เรากลับมาดูว่าในเขตพื้นที่ ภาคเหนือเขามีคุณลักษณะสำคัญอะไรบ้างที่มันจะส่งเสริมทำให้มันเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้านนาเกิดขึ้น ในตาม Proposal เดิมที่สมัยตั้งแต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติเคยทำไว้ให้เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว สิ่งที่เขาพยายามโฟกัสมาก ให้ความเน้นก็คือเรื่อง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเขตพื้นที่นั้น เราจะเห็นได้ว่าในพื้นที่นั้นมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อยู่หลายประเภท จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็น Creative City ทางด้านศิลปหัตถกรรม เรามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเข้มแข็ง รวมถึงการเชื่อมต่อวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมในกลุ่ม ล้านนาที่เข้าไปในพม่า ในลาว แล้วก็ไปถึงจีนใต้ เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับคนในพื้นที่ ผมคิดว่าค่อนข้างทำได้ง่าย ส่วนผู้ผลิตที่เป็นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เอง ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดตั้งแต่จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูนแถวนั้น ก็มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอยู่หลายอัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลัก ก็คืออุตสาหกรรมดนตรี มีอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรม Digital เรามีคนที่ทำงานทาง ด้าน Digital อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หลักเป็น ๑,๐๐๐ คน เรามี Nomad ที่เขาเรียกว่า Digital Nomad อยู่ในพื้นที่นั้น อีกอันหนึ่งที่เราสามารถเชื่อมต่อในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็คืออุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป แล้วก็แปรจากการผลิตเดิมมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืออุตสาหกรรมการบริการ เช่น เราเกิดโรงแรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น เราเกิดที่พักใหม่ ๆ เกิดขึ้น เราเกิดที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่หลักสำคัญของเรื่องนี้ ผมฝากให้กรรมาธิการที่จะตั้ง ต่อไป ถ้ามีโอกาสได้ตั้งต่อไปได้พิจารณาอยู่ ๓ เรื่องใหญ่ ๆ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรื่องแรก ก็คือเรื่องการ ลงทุน คือส่งเสริมให้พื้นที่นี้มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ก็คือเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยอาศัยอุตสาหกรรม Digital อาศัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาศัยเกษตรแปรรูป ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้วก็การท่องเที่ยว

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันที่ ๒ ผมฝากให้ท่านกรรมาธิการที่จะจัดตั้ง พิจารณาถึงเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างตัวพื้นที่ภาคเหนือกับบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า แล้วก็จีน ทางตอนใต้ ถ้าเผื่อเราทำ ๓ เรื่องนี้ แล้วก็สร้างลักษณะเฉพาะของเขตเศรษฐกิจพื้นที่ สร้างสรรค์ของภาคเหนือตอนบนที่เป็น NEC Creative LANNA ผมก็เชื่อว่าวัฒนธรรมของ กลุ่มล้านนาจะเป็นแก่นสำคัญที่จะช่วยกระจายความสามารถทางด้านอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ไปในพื้นที่อื่น ๆ แล้วก็เป็นเบาะรองรับให้กับคนที่ทำงานในสาขาอื่น ๆ ได้มีโอกาส เข้ามาเพิ่มรายได้ จากที่ได้เรียนตั้งแต่ต้นว่า รายได้ของกลุ่มนี้มีต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้น ผมขอสนับสนุนกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการศึกษาพัฒนาเขตพื้นที่ เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนบน Northern Economic Corridor เป็น Creative LANNA ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ ขอเชิญท่านสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ครับ

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ที่เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลของผม รวมถึงหลายพรรค ร่วมเสนอ ท่านประธานครับภาคเหนือของเรามีความพิเศษ มีเสน่ห์ ทั่วโลกให้การยอมรับ แค่เชียงใหม่จังหวัดเดียวมีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ล้านคน หลายจังหวัดภาคเหนือ ยังมีศักยภาพสูงที่จะต่อยอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ จากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ หลากหลายหากนำมาปรับใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ย่อมเป็นโอกาสสำคัญ ในการต่อยอดของดีที่เรามีอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือคุณลักษณะของเมือง ขนาดวันนี้เราไม่มี นโยบายผลักดันสนับสนุนเป็นพิเศษ ท่านทราบไหมครับ เชียงใหม่จังหวัดเดียวสามารถดึงดูด แรงงาน Digital อิสระ หรือที่ภาษาสมัยใหม่ เรียกว่า Digital Nomad ซึ่งเป็นแรงงาน คุณภาพสูงได้เยอะเท่าไร ก่อนโควิดเรามี Digital Nomad ต่างชาติเดินทางเข้ามาอาศัยและ ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ปีหนึ่ง ๓๐,๐๐๐ คน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นศักยภาพเชิงพื้นที่ของ ภาคเหนือที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสุขภาพ เกษตร อาหาร สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประเทศได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากฝากกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ หากตั้งขึ้นคือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ที่ผ่านมาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่าง ผมขอสรุปบทเรียนสำคัญไว้ ๓ เรื่องที่อย่างน้อยถ้าเราจะ ทำในภาคเหนือต้องไม่ทำซ้ำ

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก คือความล่าช้าจากที่วางแผนไว้ ความล่าช้าคือต้นทุนสำคัญครับ ตัวอย่างกรณีความล่าช้าที่วันนี้เราเห็นอยู่ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน โครงการ Flagship หรือโครงการสำคัญของ EEC ที่แต่เดิมท่านทราบไหมครับต้องเปิด ดำเนินการในปีนี้ตามแผน แต่ปัจจุบันยังไม่เริ่มแม้แต่จะก่อสร้าง นับว่าล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ มาก ๆ นะครับ สิ่งนี้ทำให้กระทบภาพรวมของโครงการ EEC ทั้งหมด ภาพรวมของการดึงดูด การลงทุน ประเทศเสียโอกาส

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๒ ปลายทางการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องสามารถสร้างงานดี งานใหม่ที่มีคุณภาพสูง สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนหนุ่มสาวที่เรียนจบที่เขาอยากกลับไปอยู่บ้าน เขามีงานดี ๆ มีรายได้ดี ๆ ทำ บทเรียนที่ผ่านมาในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราพบว่าอุตสาหกรรมที่ลงทุน กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ งานประเภทเดิม ๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการที่ ๓ ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคำนึงถึงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม โดยเอาคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันใน EEC มีทั้งปัญหาขยะ ปัญหาน้ำ ปัญหาที่ดิน ซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องฝากไว้กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้นะครับ อย่าให้ยิ่งพัฒนายิ่งก่อปัญหาสังคม เพราะคนที่ รับผลกระทบคือคนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น จังหวัดระยองมีขยะติดเชื้อวันละ ๑๐-๑๒ ตัน แต่มีศูนย์กำจัดที่ได้มาตรฐานเพียง ๓.๖ ตัน วันนี้กระทบคนในพื้นที่อย่างมาก ปัญหาน้ำ ภาคตะวันออกต้องการใช้น้ำต่อปีที่ ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร EEC ๓ จังหวัดฟาดไปแล้ว ๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งภาค นอกจากทำให้ อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำสูงอย่าง Semiconductor เขาไม่มา ยังกระทบกับประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ในพื้นที่ที่ต้องขาดแคลนน้ำไปด้วยครับ ผมในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ติดตามผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจ เห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ในช่วงเริ่มต้นต้องออกแบบให้ดีแต่แรก และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม อย่างจริงจัง ท่านประธานครับผมนำบทเรียนในต่างประเทศหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยใน ๒ ประเทศมาเล่าเผื่อเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี ใน Schleswig-Holstein ในอดีตที่รายได้ต่อหัวของเขาลดลงต่อเนื่อง ถามว่าเพราะอะไร เพราะจุดอ่อนในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับเมืองอื่นในเยอรมัน เทียบกับฮัมบูร์กเขาสู้ไม่ได้ รัฐบาล ใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงเงื่อนไขทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ ที่เรียกว่า SMEs ผ่านโครงการให้ทุนสนับสนุนกองทุน Schleswig-Holstein เน้นโครงการที่ มุ่งเป้าเรื่องนวัตกรรมวิจัยพัฒนา เน้นอย่างเดียวเลย โดยโปรแกรมครอบคลุมหลายพื้นที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการจ้างงานและระดับนวัตกรรมของพื้นที่ได้จริงแล้วก็นำมาสู่ การสร้างงานใหม่ ๆ หรือเอาใกล้ตัวครับ คนไทยชอบไปดูงาน เกาหลีใต้ก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายพื้นที่ ที่น่าสนใจและประเทศไทยน่าถอดบทเรียนก็คือ ในเกาหลีเขาวาง Position หรือวางจุดเด่น ของแต่ละเขตเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ไว้เลย ว่าแต่ละที่จะเอาดีเอาเด่นเรื่องอะไรเพื่อดึงดูด นักลงทุน ตัวอย่างเช่นที่อินชอน เขาบอกไว้เลยว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นดูแล เรื่องสุขภาพ เน้นเรื่อง Bio เน้นเรื่อง Healthcare อีกเมืองหนึ่ง อันซัน เขาบอกเลยว่าจะเน้น เรื่อง Future Mobility หรือการขนส่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ไม่ทับซ้อนกัน สามารถออกแบบมาตรการนโยบายดึงดูดนักลงทุนได้ตรงเป้าหรือตรงจุดมากขึ้น ในอินชอน เมืองเดียวนะครับ ยังแบ่งย่อยไปเป็นเขตอีก เช่นที่ซองโดกำหนดให้เป็นโซนธุรกิจ เน้นเรื่อง การศึกษา นวัตกรรม ถ้าเป็นยองจองเน้นเรื่องท่องเที่ยว ถ้าเป็นซองนัมเน้นเป็นสวน อุตสาหกรรมไฮเทค ทั้งหมดนี้ที่ผมเล่ามาคร่าว ๆ อยากชวนท่านประธานและเพื่อนสมาชิก เห็นว่า หากเราจะทำนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องลง รายละเอียด ไม่ควรจะเหวี่ยงแหเอามันทุกอุตสาหกรรม ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้ผมขอ สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือครับ สิ่งที่อยากฝากไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้คือจำเป็นต้องสรุปบทเรียน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ ด้านบวกหรือด้านลบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือท่านต้องให้ ความสำคัญกับคนในพื้นที่ครับ เน้นหลักการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้ได้ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญ ท่านรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ครับ

นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ

เรียนประธานที่เคารพ ผม รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๒ พรรคก้าวไกล พื้นที่อำเภอ แม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง ท่านประธานครับ ถ้าวันนี้เราจะพูดถึงเรื่องของ เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย ต้องเรียนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ เป็นเรื่องเดิมที่มีความ พยายามจะผลักดันเขตพื้นที่การค้าขายระหว่างประเทศให้มีความพิเศษแก่นักลงทุนมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๖ ในอดีตมีหลักคิดในการบริหารจัดการงบประมาณในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการ สั่งการผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี ท้ายที่สุดก็มีแนวคิดต่อต้านมากมาย จนหลังการ รัฐประหาร ปี ๒๕๕๗ ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประกาศ พื้นที่ชายแดน ๑๐ จังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากจุด Start จนถึงการปักหมุด เลือกพื้นที่นับเวลารวมแล้ว ๑๑ ปีครับท่านประธาน เราคิดดังแต่ดำเนินงานช้า เราล่าช้า เพราะข้อกฎหมายไทยมีความเทอะทะ ทำให้รัฐอุ้ยอ้าย ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ต่างเดินนำหน้าเราไปแล้ว เหลียวกลับมามองประเทศไทยครับ อะไรคือสิทธิพิเศษของ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐมีอะไรให้ มีอะไรจูงใจ ภาษีพิเศษไหม ระเบียงเศรษฐกิจ จีน อินเดีย เมียนมา ตาก สี่แยกอินโดจีน พิษณุโลก หนองคาย เว้ ดานังที่เวียดนาม หลักคิด เหล่านี้ริเริ่มและคู่ขนานมากับพรรคเพื่อไทยครับ ขุดคอคอดกระในอีกยุคสมัยที่เพื่อไทยคิด จนมาสานต่อรัฐบาลท่านประยุทธ์ เรื่องแลนด์บริดจ์ที่ยังสับสนอยู่ว่าลงทุนเพื่อขาดทุน หรือกำไร จนทำให้เพื่อนสมาชิกของผมในพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกรรมาธิการต่างต้องลาออก ยกแผง เพราะเนื้อหาสนับสนุนอย่างเดียวครับ ไม่มีการคัดค้านเปรียบเทียบผลเสียผลร้าย ที่จะเกิดขึ้น ท่าเรือน้ำลึกที่ทวายที่พรรคเพื่อไทยเคยคิดจะทำ สุดท้ายมันหายไปกับสายลม คิดใหญ่ทำเป็น ผมเริ่มไม่มั่นใจและไม่ค่อยเชื่อใจ ท่านประธานครับ วันนี้คนในอำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้รู้สึกเลยครับว่า พิเศษแต่อย่างใด ไม่รู้สึกเลยว่าการที่เรามีพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง แต่สิ่งที่พิเศษคือส่วยรูปแบบพิเศษครับ ไม่ว่าจะเป็นส่วยแรงงานต่างด้าว ส่วยการค้าชายแดน หรือความพิเศษของตั๋วเครื่องบินราคาที่สูงของแม่สอด-กรุงเทพฯ เคยสูงสุดถึง ๗,๕๐๐ บาท ในขาเดียวจากอำเภอแม่สอดไปกรุงเทพฯ และที่สำคัญที่จะพูดไม่ได้เลยคือที่ดินครับ ที่ดิน ของจังหวัดตากนั้นมีพื้นที่ป่าไม้เกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นโฉนดแค่เพียง ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อำเภอพบพระ ในตำบลคีรีราษฎร์และตำบลรวมไทยพัฒนาไม่มีเอกสารสิทธิสักใบเดียวครับ นี่หรือครับคือความพิเศษ ท่านประธานครับ ในเรื่องเศรษฐกิจพิเศษต้องฟังให้มาก บริการ ให้เยอะ ในรูปแบบรัฐสวัสดิการพิเศษ หากจะสานต่อ ขอให้ท่านจริงใจ จริงจัง และทำให้มัน ที่สุดครับ อย่าให้มันเป็นเพียงพิเศษแต่ชื่อเหมือนทุกวันนี้เลยครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านเบญจา แสงจันทร์ ครับ

นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติของคุณเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลที่เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือ หรือ NEC โดยดิฉันจะนำบทเรียนความล้มเหลวที่เกิดขึ้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และเขตเศรษฐกิจ พิเศษ ๑๐ แห่งทั่วประเทศที่ถูกประกาศไปแล้วในยุครัฐบาลของ คสช. แต่ยังคงติดหล่ม ไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยดิฉันจะขอฝากเป็นข้อสังเกตให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมา เพื่อนำไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมด้วยค่ะ ท่านประธานคะ เวลาเราพูดถึงการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษเราก็คงต้องนึกถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เป็นอันดับต้น ๆ และเมื่อพูดถึง EEC เราปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่าจะต้องพูดถึงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายสร้างภาพ ขายฝันว่าจะยกระดับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรืออุตสาหกรรมไฮเทคขั้นสูง เป็นการสร้างภาพขายฝันเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง หลอกเราว่า จะเชื่อมโยงการเดินทางทั้งอากาศ ทั้งทางบก ทางน้ำแบบไร้รอยต่อภายใต้โครงการเรือธง ๕ โครงการ Megaproject อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินที่เวนคืน ไล่ฟ้อง ไล่ยึด ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินไปแล้วค่ะ แต่วันนี้ยังไม่มีการลงหลักตอกเสาเข็ม แต่อย่างใด ส่งมอบพื้นที่ก็ไม่เรียบร้อย จนถึงตอนนี้ก็พยายามที่จะแก้สัญญาร่วมลงทุน หลายแสนล้านบาท ที่ก็ถูกจับตาอยู่ค่ะว่า เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนกลุ่มใดหรือไม่ และนี่เป็นการชัดเจนแล้วว่าโอกาสที่เราจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงในปี ๒๕๖๗ แทบจะไม่มี โอกาสอยู่อีกแล้วค่ะ แล้วก็จะยืดออกไปไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าเราจะได้ใช้เมื่อไร แล้วเรา ถอดบทเรียนเรื่องนี้กันอย่างไร ดังนั้นโครงการแบบนี้เรายังจะเห็นด้วยให้จะย้ายไปไว้ใน ๔ ภูมิภาคของประเทศไทยอีกหรือไม่ ก็คงต้องศึกษาเพิ่มเติมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอื่น ๆ อย่างโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินแห่งภาคตะวันออก โครงการนี้เซ็นสัญญา ไปแล้วเช่นกันค่ะ แต่ก็เป็นข้อกังขาในการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ กองทัพเรือมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งหรือไม่ แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรือมาบตาพุด ที่ก็เซ็นสัญญากับวงการพลังงานยักษ์ใหญ่ไปแล้วเช่นกัน แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเช่นกัน โครงการศูนย์ซ่อม ท่าอากาศยาน MRO อู่ตะเภา โครงการนี้ในขณะที่เรากำลังเผชิญความท้าทายในการที่จะ แข่งขันกับศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานในระดับภูมิภาคอีกหลายแห่ง แต่ยังมีความจำเป็นต้องนำ กลับมาปัดฝุ่นเพื่อดำเนินโครงการ มากน้อยเพียงใดก็ไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมค่ะ แต่จะลงมือ เผาผลาญทรัพยากรมหาศาลลงไปแน่นอนแล้วในปีนี้ ท่านประธานคะ EEC จึงเป็นแค่ ความฝันเฟื่องของรัฐบาลที่ขายฝันว่าจะสร้างเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งหลายแสนล้านบาท แต่ผ่านไป ๖ ปีแล้วยังไปไม่ถึงไหน ๕ โครงการเรือธงที่ดิฉันได้กล่าวไปก็ไม่มีอะไรที่จับต้อง ได้เลยค่ะ แล้วซ้ำร้ายก็เกิดผลกระทบสร้างปัญหามากมายให้กับคนในพื้นที่ ผ่านมา ๖ ปี ยังไม่มีทางออก ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับพี่น้องประชาชนที่ถูกขับไล่ ถูกทำลายอาชีพ ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ก็ยังตอบไม่ได้ ปัญหากากขยะอุตสาหกรรมสารเคมี ปัญหาสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน ที่ก็ไม่มีการวางแผนให้สอดคล้องกับปัญหาการขยายตัวของเมืองเลยค่ะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาแรงงานและการกระจายตัวของรายได้ การทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นถิ่น สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนและความล้มเหลวจากการบริหารแบบรวมศูนย์ ที่นำไปสู่ ความผิดพลาดนี้ ท่านประธานคะ การวางแผนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผิดพลาด ล้มเหลว ลัดขั้นตอน ทางกฎหมายจำนวนมาก ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่บนฐานของคนกลุ่มเล็ก ๆ แค่กลุ่มเดียว ที่เกาะเกี่ยวด้วยผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ ในตลอดเส้นทางของการพัฒนา ประเทศไทย ได้ทิ้งร่องรอยของความเหลื่อมล้ำ แล้วก็แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ค่ะ ด้วยนโยบาย เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผิดพลาด มุ่งเน้นขับเน้นแต่การเจริญเติบโตของตัวเลขทาง GDP โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชีวิตของพี่น้องประชาชนเลย ดิฉันคิดว่านี่คือ บทเรียนที่ล้มเหลว ล้าหลังและไม่ยั่งยืนค่ะ ที่เราจะต้องสรุปบทเรียนก่อนที่จะย้ายเอาความ ผิดพลาดเหล่านี้ไปไว้ที่ ๔ ภูมิภาคของประเทศไทย ท่านประธานคะ ๙ ปีของเขตเศรษฐกิจ พิเศษชายแดนที่ใช้งบประมาณในการลงทุนไปอย่างมหาศาล แต่ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน มีใครในที่นี้ทราบบ้างคะว่า มีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศถึง ๑๐ แห่ง ที่รัฐบาลไทย ประกาศไปแล้ว และวันนี้ไม่มีนักลงทุนแม้แต่รายเดียวเข้าไปร่วมประมูล สุดท้ายถูกทิ้งร้าง และไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอแม่สอดที่เพื่อนสมาชิกได้พูดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของท่าน สส. ศักดินัยเพื่อนสมาชิก จากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร เพื่อนสมาชิกท่านรัชต์พงศ์ ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ดิฉันก็ได้พูดถึงการที่รัฐลงทุนทั้งถนน สนามบิน สะพาน แล้วก็สาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานไป แต่ว่าถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า แล้วก็กลายเป็นเพียงแค่ทุ่งเลี้ยงสัตว์เพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าในทุก ๆ รัฐบาลทำความเข้าใจเรื่องการศึกษา เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ น้อยมาก เราไม่มีแม้แต่งานวิจัย ไม่มีบทความ ไม่มีการเรียนรู้หรือไม่มีความรู้อะไรกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษเลยค่ะ แต่เราใช้วิธีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำไปก่อน ปัญหาที่ ตามมาคือพื้นที่ที่จะวางแผนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เกิดพื้นที่ในการแย่งชิงพื้นที่กัน แย่งชิง พื้นที่สาธารณะโดยอาศัยความพิเศษของตัวกฎหมายเพื่อเรียกคืนพื้นที่สาธารณะมา ในเรื่อง ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่มีระบบถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบ ไม่สามารถตั้ง คำถามต่อสาธารณะได้ และหวังให้มันเป็นแค่เขตเศรษฐกิจชิ้นโบว์แดงเท่านั้น แต่ว่ามัน ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้สู่ภูมิภาคได้ สุดท้ายค่ะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ๑๐ แห่งล้มเหลวไม่เป็นท่า ท่านประธานค่ะดิฉันขอใช้ เวลาอีก ๑ นาทีสุดท้ายค่ะ เราต้องบอกว่าวันนี้ไทยเราตกขบวนประวัติศาสตร์เสมอค่ะ วนเวียนอยู่กับการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ วนเวียนอยู่กับการสร้าง สร้างฐานการผลิต ในโลกอุตสาหกรรมแบบเก่าที่คลั่งไคล้อยู่กับการลงทุนแค่ Megaproject ถ้าไปดูตัวอย่าง ในหลาย ๆ ประเทศค่ะท่านประธาน เราจะเห็นว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของเขาสร้าง เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างการท่องเที่ยวชุมชน โดยไม่ต้อง กลับไปพึ่งพาอุตสาหกรรมในรูปแบบแบบเก่าเลยนะคะ ดังนั้นดิฉันก็อยากจะฝาก ท่านประธานค่ะว่า การที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยจะลงทุนในการที่จะพัฒนาเพื่อให้เรา มีเศรษฐกิจที่เติบโตทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ดิฉันคิดว่าการพัฒนามันไม่ควรจะวัดกัน ด้วยตึกสูง ๆ ไม่ควรจะวัดกันด้วยห้างสรรพสินค้าใหญ่โต ไม่ควรจะวัดกันด้วยนิคม อุตสาหกรรมมากมาย แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วย มองถึงความมั่นคงของการกระจายรายได้ กระจายเศรษฐกิจ แล้วก็กระจายชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับประชาชนได้อย่างเสมอภาค ทัดเทียมกัน และด้วยเหตุผลที่ดิฉันได้บอกมาทั้งหมดค่ะ ท่านประธาน ดิฉันจึงสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษา ความเป็นไปได้ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคเหนืออย่างจริงจัง ก่อนที่เราจะลงมือ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรเริ่มต้นจากการศึกษาก่อนว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร แล้วพื้นที่ไหนบ้างที่ควรลงทุนในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องพิเศษสำหรับ แค่นายทุนเท่านั้น แต่ต้องพิเศษจริง ๆ สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแท้จริงค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสหัสวัต คุ้มคง ครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาครับ ผม สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๗ พรรคก้าวไกล ขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ในญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนา พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษครับ แม้ผมจะเป็นคนชลบุรี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง แต่ผมเองอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ผมอยากจะขอให้ข้อคิดเห็นเพื่อไม่ให้การศึกษาตกหล่นไป และไม่ให้เขตเศรษฐกิจ พิเศษภาคเหนือทำผิดพลาดซ้ำเหมือนกับที่ EEC ครับ แน่นอนว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต่อประเทศ ผมไม่ขัดขวางประเด็นดังกล่าว แต่การที่จะมีเขต เศรษฐกิจพิเศษเพิ่มนั้น สิ่งที่ควรตระหนักให้มากกว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศในรูปแบบ GDP คือต้องคิดถึงคนในพื้นที่เป็นสำคัญว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง การคิดถึง คนในพื้นที่มีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของคุณภาพชีวิต มิติแรงงาน มิติสิ่งแวดล้อม รวมถึง สิ่งสำคัญคือมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ที่ผมอยากจะเน้นตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่สุดเรื่องหนึ่งในการศึกษาของกรรมาธิการชุดนี้นะครับ ในมิติแรงงานครับ คำถามแรกที่เรา ควรจะตั้งคือเรากำลังสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในอุตสาหกรรมชนิดใด และเรามีแรงงาน ที่เหมาะสมในด้านนั้นหรือไม่ จากรายงานข้างต้นที่ผมได้อ่านก็พบว่าจะเป็นการส่งเสริม อุตสาหกรรมในภาคเกษตรกรรม Digital ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ท่านประธาน ครับ เราทราบกันดีว่าภาคเหนือเรามีเกษตรกรรม แต่ถ้าเราจะพัฒนาสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง เป็นอันดับต้น ๆ คือเราจะทำอย่างไรให้คนทำงานในภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น แรงงาน มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่ดี ปัจจุบันแรงงานในภาคเกษตรมีรายได้ต่ำมากนะครับ ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีกครับ แล้วเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนัก คือแรงงานภาคเกษตรเป็น Seasonal Labor หรือแรงงานตามฤดูกาล เราจะทำอย่างไรให้เขาเหล่านี้มีรายได้ทั้งปี ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล สำหรับเกษตรกรเราจะทำอย่างไรให้เขามีราคาผลผลิตที่ดีขึ้น ราคา ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และที่สำคัญครับ ไม่เกิดการเปลี่ยนจากเจ้าของกิจการตัวจริงไปเป็น ลูกจ้างรูปแบบใหม่ที่มักหลอกลวงชาวบ้านด้วยคำสวยหรูว่า เกษตรพันธสัญญาหรือ Contract Farming ที่ทุนใหญ่กินรวบทั้งหมด หลอกเกษตรกรว่าเป็นการลงทุนร่วม แต่ต้อง ซื้อวัตถุดิบจากนายทุน ซื้อปุ๋ยจากนายทุน ซื้อยาจากนายทุน แล้วก็ต้องขายให้นายทุนอีก แบบที่นายทุนก็เป็นคนกำหนดมาตรฐานราคา รับซื้อทุกอย่าง เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง อะไรเลย นายทุนได้กำไรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มาใช้เกษตรกรเป็นแรงงานฟรี ๆ บนที่ เกษตรกร รวมทั้งปัญหาพ่อค้าคนกลางต่าง ๆ ผมว่าเรื่องนี้ในกรรมาธิการต้องคุยกัน ให้ละเอียดนะครับ ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ไม่มีวันยกระดับชีวิตคนในภาคเกษตรกรได้เลย ครับ ด้านท่องเที่ยวและบริการผมไม่ห่วงนะครับ งานบริการคนไทยเองไม่แพ้ชาติใดในโลก อยู่แล้ว แต่ที่ต้องมาคิดและให้ความสำคัญ คือคุณภาพชีวิตคนทำงานในภาคบริการ ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ในปัจจุบันคุณภาพชีวิตคนทำงานในภาคบริการในจังหวัดเชียงใหม่นั้นแย่มาก รายได้ สวนทางกับค่าครองชีพ แรงงานในภาคบริการจำนวนมากได้รายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้ง ๆ ที่ทำงานหนัก ทำงานในวันหยุด โอทีส่วนมากก็ไม่ได้กันครับ ไม่มีประกันสังคม จำนวนมาก เป็นลูกจ้างรายวัน ไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน ทั้ง ๆ ที่ที่นี่คือเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ นี่คือชีวิตคนที่ ขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอยู่หรือครับท่านประธาน ผมยืนยัน ถ้าคนทำงานในภาคบริการไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราไม่มีวันพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้ครับ หรือหากจะผลักดันให้เป็น Medical Hub นั้น เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ผมเองไม่กังวล เรื่องฝีมือหรือศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เรา แต่ที่ผมกังวลคือในวันนี้เรากำลังขาด แคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์แทบทุกสาขา เราจะผลักดันให้เกิด Medical Hub ได้เราต้องหาทางรองรับแก้ไขเรื่องพวกนี้นะครับ นี่ยังไม่นับว่าปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ มีภาระงานจำนวนมากจนทยอยลาออกกันจำนวนมาก ถูกใช้งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มี คุณภาพชีวิตที่ดี นี่อีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องเร่งแก้ไข ถ้าจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Medical Hub ขึ้นมาให้ได้นะครับ และอีกประเด็นหนึ่งในด้านการแพทย์ สิ่งที่เรียกว่าแพทย์อาชีวอนามัย หรือแพทย์ที่ดูแลในเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งมีอยู่น้อยมากในประเทศนี้ ยกตัวอย่างใน EEC ก็ไม่ได้มีเป้าว่าจะเป็น Medical Hub แต่ว่าใน EEC มีแพทย์อาชีวอนามัย อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ทางภาคตะวันออกไม่เกิน ๑๐ คน ทั้ง ๆ ที่ต้องดูแลแรงงานทั้ง EEC กว่า ๒ ล้านคน เรื่องนี้ก็ต้องรบกวนให้ศึกษาเพิ่มเติมเข้าไปด้วยนะครับ หากจะไป อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ต้องไปดูครับว่าเราจะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไร

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

๙๐/๑ แล้วจะมีใครมาลงทุนหรือไม่ หลาย ๆ อุตสาหกรรม การที่ต่างชาติเลือกมาลงทุน ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องค่าแรงถูกนะครับ ค่าแรงถูกเป็นเรื่องเล็กมากเลยครับ แต่เป็นเรื่องของฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะฝีมือแรงงานระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับระบบจักรกลอัตโนมัติ AI ต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องมี การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างสูง ถ้าหากไทยไม่มีแรงงานในด้านเหล่านี้เพียงพอ ก็ย่อมไม่มีคนมาลงทุน หรือถ้าหากมาลงทุน ก็จะเกิดแบบที่ EEC เลยครับ มาลงทุนแต่ขน แรงงานเข้ามาด้วย ท้ายที่สุดคนไทยและประเทศไทยไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าเช่าครับ แรงงานไทยไม่เกิดการพัฒนา ไม่เกิดการส่งต่อเทคโนโลยี เรื่องนี้ต้องระวังให้มากนะครับ ต้องมีการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานดังกล่าวไว้เพื่ออนาคตทันที

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

ในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรืออุตสาหกรรม Digital ที่อยู่ใน แผนการดำเนินงาน แรงงานในส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Digital จำนวนมาก ในปัจจุบัน อาจจะดูเหมือนมีรายได้ที่สูง แต่จริง ๆ แล้วคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีเลย ปัจจุบัน แรงงานกลุ่มนี้มีสภาพการจ้างงานที่แย่มาก ส่วนมากมักเป็นแรงงานที่เราเรียกว่า แรงงาน อิสระ หรือ Freelance ซึ่งคนก็มักเข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นนายตัวเอง อยากทำงานตอนไหน ก็ทำ แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ก็คือคนทำงานคือลูกจ้างนี่ละครับ นายจ้างก็เป็นคน กำหนดอยู่ดีว่า งานต้องเสร็จเมื่อไร กรอบการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้วคนทำงาน ในอุตสาหกรรมนี้ทำงานหนักมาก วันหนึ่งทำงานเกิน ๘ ชั่วโมง แน่นอนเป็นอาชีพที่ต้อง ถูกบีบให้ทำงานตลอดเวลา ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ไม่มีสวัสดิการรองรับ ไม่มีกองทุนเลี้ยงชีพ กองทุนรวมประกันกลุ่ม อะไรไม่มีเลยครับ ป่วยขึ้นมาจ่ายค่ารักษาเอง และแน่นอน สิ่งที่ตามมาคือขาดรายได้ นี่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเรื่องค่าจ้าง ไม่มีสิทธิ ในการรวมตัวต่อรอง หลาย ๆ ประเทศครับ นิยามว่านี่คือทาสสมัยใหม่ เรื่องนี้ถ้าไม่แก้ไข พัฒนาก็ไม่มีวันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม Digital ได้อย่างยั่งยืนครับ

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

อีกประเด็นคือประเด็นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้อาจจะเทียบเคียง ได้ยากสักเล็กน้อย เพราะว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของ EEC ที่ผมอยู่กับบริเวณภาคเหนือ ตอนล่างนั้นต่างกัน แต่สิ่งที่ผมอยากให้ตระหนัก คือการเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจหรือ อุตสาหกรรมใด ๆ ต้องทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อนครับ ก่อนที่จะให้โรงงาน อุตสาหกรรม การตัดถนนก็ต้องให้คนพื้นที่ใช้ก่อน ไม่ใช่ว่าอย่างบ้านผมถนน ๒ เลนก็ยังให้ รถบรรทุกมาวิ่งผ่ากลางชุมชนอยู่เลยครับ การแบ่ง Zone ต้องชัดเจน น้ำประปา ไฟฟ้า ให้ประชาชนก่อนครับ ไม่ใช่ให้โรงงานก่อน EEC เป็นอย่างนี้ตลอด บ้านชาวบ้านน้ำไม่ไหล แต่ว่าโรงงานไม่เคยหยุดไหล นี่ยังไม่นับเรื่องคุณภาพน้ำอีกนะครับ และที่สำคัญคือเรื่อง ฝุ่นควัน ที่หลายจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เป็นฤดูกาลครับ เราต้อง ระวังไม่ให้อนาคตจากที่ภาคเหนือตอนล่างมีฝุ่นปีละ ๒-๓ เดือน กลายเป็นฝุ่นทั้งปีทั้งชาติ มาตรการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศก็ต้องได้รับการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ มากขึ้น

นายสหัสวัต คุ้มคง ชลบุรี ต้นฉบับ

และสุดท้ายประเด็นที่สำคัญที่สุด ประเด็นหนึ่งคือประเด็นการมีส่วนร่วม ของประชาชน ผมยืนยันครับว่า ผมไม่ได้ถ่วงความเจริญ ผมเห็นด้วยให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ หลาย ๆ ที่ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนจาก EEC คือ พ.ร.บ. EEC มีลักษณะผูกขาด อำนาจที่สุด ใช้อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับบอร์ดไม่กี่คน มีการยกเว้นกฎหมาย ไม่บังคับใช้ กฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้พื้นที่อื่นต้องประสบชะตากรรมแบบ EEC ครับ ผมอยากให้พี่น้องในทุกที่มีสิทธิ ตัดสินใจว่าจะสร้างพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร จะมีโรงไฟฟ้าไหม จะมีโรงเผาขยะได้ หรือเปล่า เส้นทางไหนรถบรรทุกจะวิ่งได้บ้าง ประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการออกเสียง และที่สำคัญต้องมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วน มีกระบวนการรับฟังที่โปร่งใส ประชาชน มีสิทธิคัดค้านและสนับสนุน มีคำหนึ่งที่รัฐมักพูดว่าคนในพื้นที่เป็นคนเสียสละ ที่ทำให้ ประเทศเจริญเติบโต ผมไม่อยากเห็นคนต้องเสียสละอีกแล้ว ประเทศนี้ไม่ควรมีใครต้อง เสียสละอีกแล้ว แต่เราต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เราต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ก้าวแรก เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาร่วมกันในทุกมิติ ผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งกรรมาธิการชุดนี้ครับ ขอบคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เขตอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติที่เพื่อนสมาชิก จากพรรคก้าวไกล สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ได้เสนอขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาและศึกษาในการตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือที่เราเรียกกันว่า NEC-Creative LANNA นั่นเอง ต้องอ้างอิงก่อนนะครับ อ้างอิงจากสำนักงานสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ NEC นั้นประกอบไปด้วยจังหวัดอะไรบ้าง จำง่าย ๆ เลยครับ ๒ เชียง แล้วก็ ๒ ลำ ก็คือเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แล้วก็ลำปาง แต่ว่าวันนี้เราเห็นแล้วว่า การศึกษาครั้งนี้ เราจะศึกษาเพียง ๔ จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้ เพราะว่าผลประโยชน์เหล่านี้มันจะ เกิดขึ้นกับทั้งภาคเหนือ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้ครอบคลุมทั้งภาคเหนือทุกจังหวัดนะครับ และผมจะขอฝากประเด็นศึกษาเพิ่มเติมไปสู่กรรมาธิการชุดนี้อีก ๒ ประเด็นด้วยกัน

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ตรงตามชื่อกรรมาธิการเลย นั่นก็คือเรื่องของ Creative LANNA ล้านนาเรามีภูมิปัญญาดี ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าพื้นเมือง ผ้าพื้นเมืองล้านนา สวยงามมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องเขิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปั้นหม้อ เครื่องเงิน ต่าง ๆ หรือการแกะสลักไม้ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้เรามีการศึกษามามากมาย ก็จริง เราต้องศึกษาเพิ่มเติมคืออะไรครับ ในเรื่องของ Contemporary Art หรือว่าศิลปะ ร่วมสมัยที่เราจะนำเอาภูมิปัญญาดี ๆ เหล่านี้มาเพิ่มมูลค่า มาขยายฐานตลาดเพิ่มเม็ดเงิน ให้กับพื้นที่นั้น ๆ แล้วก็สร้างอาชีพให้กับท้องถิ่นด้วย และตรงนี้เราสามารถศึกษาเพิ่มเติมไปสู่ เรื่องของการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชน สร้างอาชีพให้กับพื้นที่นั้น ๆ ด้วย แก้ไขปัญหาหลัก ที่เราเจอกันมากมาย นั่นก็คือปัญหาที่ลูกหลานของพวกเราศึกษากันจบในจังหวัดนั้น ๆ แต่ไม่สามารถทำงานในจังหวัดนั้น ๆ ได้ต้องมาทำงานที่กรุงเทพมหานครนะครับ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ที่อยากจะให้ศึกษากันเพิ่มเติม หลาย ๆ คนได้พูดกันถึงเรื่อง ของ Digital Nomad ไปแล้วนะครับ สส. การณิก เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลก็ได้พูดถึง ประเด็นที่ว่า Digital Nomad เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ แต่แล้วเม็ดเงินไม่ได้ลงไปสู่ท้องถิ่น อย่างจริงจัง เราจะแก้ไขประเด็นนี้อย่างไรดี เพราะฉะนั้นผมขอทิ้งข้อเสนอแนะ ๑ ประเด็น ให้กรรมาธิการได้ศึกษากันต่อ นั่นก็คือเรื่องของ Visa นะครับ Digital Nomad ปัจจุบัน เจอปัญหาอะไรอยู่ Pain Point ของเขาก็คือว่าเรื่องของ Visa มันระยะสั้นเกินไป เขาอยาก ได้ระยะยาวมากกว่านี้ ทำอย่างไรดีให้เราตอบโจทย์ทั้ง Digital Nomad แล้วก็ตอบโจทย์ คนในพื้นที่ให้มันกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นด้วย ผมเสนอให้ศึกษาในเรื่องของการจัดทำ Visa แบบพิเศษ หรืออาจจะเป็น Education Visa ก็ได้ ปัจจุบันหลายคนอาจจะบอกว่าเรามี Visa แบบนี้อยู่แล้วนะ เราให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเรียนมวยไทย แล้วก็ใช้เป็น Education Visa ก็ได้ แต่แบบนี้ผมมองว่ามันก็กระจุกอยู่ที่ไม่กี่คน ผู้มีอิทธิพลไม่กี่คนหรอกครับที่เปิดสอนมวยไทย สอน Mortal Kombat แล้วก็ให้เขามาต่อ Visa เป็นรายปี ตรงนี้ผมเห็นว่าเราควรที่จะ กระจายให้กับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่มีของดีอยู่แล้ว เรา Link กลับไปที่คำว่า Creative LANNA ของเราครับ เรากระจายเม็ดเงินตรงนั้นด้วยการให้ Digital Nomad ตรงนี้ต้องไปลง เรียน ลง Course อบรมกับ Creative LANNA หรือว่าภูมิปัญญาล้านนาต่าง ๆ เหล่านั้นจะ ดีกว่าไหม แบบนี้ Win Win ทั้ง ๒ ทางครับ Digital Nomad ได้ Visa ที่ขยายเพิ่มขึ้น และ เราก็แก้ไขปัญหาเรื่องของ Digital Nomad ที่เอาเงินลงมา แต่ไม่ถึงท้องถิ่น แล้วก็จะเป็นการกระจายการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบัน Digital Nomad อาจจะ กระจุกอยู่ที่ไม่กี่ที่ สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ยกตัวอย่างเลยครับ คนรู้จัก อะไรบ้าง ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ แต่เรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่มีศักยภาพ ที่รอให้เรางัดออกมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมว่า Win Win แน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้นในวันนี้ ผมขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิก สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ในการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาในเรื่องของ NEC-Creative LANNA ตรงนี้นะครับ เพื่อจะทำให้กลไกตรงนี้ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นกุญแจหลักที่จะทำให้เมืองที่มีของดีต่าง ๆ มากมาย เมืองที่มีศักยภาพ รอให้เราไปค้นหา เปลี่ยนให้เมืองเหล่านี้จากที่เป็นแค่ทางผ่านเป็นจุดมุ่งหมายของ นักท่องเที่ยว และทำให้ NEC-Creative LANNA เป็นล้านนาที่มาจากคนล้านนาจริง ๆ ไม่ใช่ ล้านนาที่มาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ขอบคุณท่านประธานครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ครับ

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธาน ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๓ อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด จริง ๆ เป็นนิมิตหมายอันดีนะครับที่ได้เห็นเพื่อนสมาชิก จากทั้งฟากฝั่งรัฐบาลที่อยู่ภาคเหนือตอนล่าง และเพื่อนสมาชิกของพรรคก้าวไกลเอง จากหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงเพื่อนที่มีประสบการณ์ตรงจาก EEC ได้ให้ ความเห็นมากมาย ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดไปเยอะนะครับ แต่ขอจะรวบ ๆ ไว้อยู่ที่ ๓ ประเด็นก็แล้วกันนะครับ

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นแรก ที่เพื่อนได้พูดกันไป หลายคนบอกว่าเราต้องนำทรัพยากรที่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ การท่องเที่ยว การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ ก็ตาม เพื่อนำมา ต่อยอดให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ แล้วก็หลายคนก็พูดเช่นเดียวกันว่า ต่อให้คุณสร้างเศรษฐกิจได้ดีเพียงใดแต่ถ้าคุณลืมที่จะ รักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ ลืมที่จะให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากตรงนั้น มันก็ไม่เกิด ประโยชน์ใด ๆ นะครับ เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเราทุกคนไม่อาจจะสามารถที่จะนั่งใน คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้ ผมขอฝากเป็นข้อเสนอไว้ ๑ ข้อนะครับ ที่อยากให้ กรรมาธิการชุดนี้ได้ศึกษา ผมอยากให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่คุณจะสร้างฐานภาษีใหม่ในเขต พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ฐานภาษีนี้ให้เก็บจากผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการเป็นเขตเศรษฐกิจ พิเศษเพื่อให้นำมาใช้กับผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อันนี้ ขอฝากไว้ในประเด็นที่ ๑ ให้ศึกษาความเป็นไปได้

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ อย่างที่เพื่อนสมาชิกจาก EEC ได้พูดไปนะครับ การศึกษาครั้งนี้ มันต้องไปจบอยู่ที่กลไกอะไรสักอย่าง กลไกที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศไทยมันจะเกิดขึ้นเป็น กลไก คณะกรรมการจัดทำนโยบายต่าง ๆ นานา หรืออาจจะไปจบอยู่ที่ พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจ พิเศษอย่างที่เพื่อนได้พูดไป คือ พ.ร.บ. EEC เพื่อนได้บอกไปแล้วนะครับว่า พ.ร.บ. EEC นั้น มีข้อเสียอย่างไร ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วก็เปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก ผู้กำหนด ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันคณะกรรมการที่เกิดขึ้นที่ไม่ได้มาในรูปแบบของ พ.ร.บ. ทุกวันนี้ มติ ครม. สมัยรัฐบาลที่แล้วก็ได้กำหนดเขตเศรษฐกิจขึ้นมาแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปางที่เป็น NEC ตามมติ ครม. เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ก็มีคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ แต่ว่าคณะชุดนี้ทุกวันนี้ ๒ ปีผ่านไป ยังคงทำ SWOT Analysis กันอยู่เลยนะครับ ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย ได้เพียงแค่ให้ทำการศึกษาจัดทำนโยบายรับฟังความคิดเห็น สุดท้ายก็ยัง ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ยังไม่เกิดการลงทุน ยังไม่เกิดสิ่งที่จะทำให้เราได้มองเห็นและ จับต้องได้ อันนี้ก็ต้องฝากไว้เช่นเดียวกัน ในการศึกษาของกรรมาธิการชุดนี้ว่า จุดหมาย ปลายทางนั้นจะเป็นออกมาเป็น พ.ร.บ. หรือว่าจะเป็นคณะกรรมการที่ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วม ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วม และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้ว กำหนดเลย จะเปลี่ยนนโยบายอะไรก็เปลี่ยนยากไปหมด ต้องมาคุยกันในสภา ต้องรอมติ ครม. แบบนั้นมันคือการกระจุกตัวของนโยบายของแนวคิดและของอำนาจ นั่นคือประเด็นที่ ๒

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

และประเด็นที่ ๓ วันนี้ยังไม่มีใครพูดถึง ทั้งหมดทั้งมวลต่อให้คุณศึกษากันไป มันทำไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีเงินงบประมาณ

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ ที่ต้องทำการศึกษา คือต้องปฏิรูประบบงบประมาณแผ่นดิน ทุกวันนี้งบประมาณแผ่นดินมันมาในรูปแบบที่มีงบบูรณาการ การสร้างรายได้จากการ ท่องเที่ยว มีงบบูรณาการต่าง ๆ นานา ซึ่งแต่ละกระทรวงก็เขียน ๆ จับใส่กันขึ้นมา โดยที่เรา มองไม่เห็นภาพรวมเลยว่าจริง ๆ แล้วมันพัฒนาไปสู่อะไร เรามีงบพัฒนา EEC นั่นก็มาจาก พ.ร.บ. EEC ซึ่งเพื่อนสมาชิกที่อยู่ในเขต EEC ก็บอกแล้วว่ามันมีแต่แผน มีแต่นโยบาย มีแต่ การศึกษา แต่ไม่เกิดการลงทุนสักที ทีนี้ระบบงบประมาณแผ่นดินเรานี้ ต่อให้เราคุยกัน ในจังหวัด คุยกันในภูมิภาค คุยกันในกลุ่มจังหวัดรู้เรื่อง แต่เวลาเราเขียนงบประมาณขึ้นมา มันก็แตกไปเป็นกระทรวง ถนนไปอยู่กระทรวงคมนาคม พัฒนาแรงงานไปอยู่กระทรวง แรงงาน จะพัฒนานักเรียนหรือนักศึกษาก็ไปอยู่ที่ อว. ไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ จะพัฒนาแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติก็ไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม แล้วคนที่อนุมัติงบประมาณ คนที่ตัดลดงบประมาณ เวลาเห็นไม่ได้เห็นทั้งก้อน เห็นแยกมาเป็นรายกระทรวงแบบนี้ ถ้าเกิดท่านประธานเป็นกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ และท่านตัดไปสักโครงการหนึ่ง ของกระทรวงหนึ่ง แผนการพัฒนาที่เขาคุยกันมาในจังหวัด มันก็ชะงักถูกไหมครับ ดังนั้นเป็นข้อเสนอของผมนะครับ เราต้องมีการปฏิรูประบบ งบประมาณให้เป็น Project based ให้เป็น Area based อาจจะเป็นแผนบูรณาการเขต พื้นที่ภาคเหนือตอนบน พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดก็ได้ อันนี้น่าจะ ทำได้เลยโดยที่ไม่ต้อง มี พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งนะครับ งบประมาณ แผ่นดิน ผมคิดว่าต่อให้เราสามารถศึกษาแล้วเราระบุได้ว่าเราจะทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจ มันก็ต้องมีการลงทุน ผมไม่รู้ว่าเราจะใช้วิธีการลงทุนแบบไหน รัฐจะต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่ รีดไขมันออกมาแล้วไปลงทุน หรือว่าจะเปิดให้เอกชนได้ร่วมลงทุน หรือต้องกู้เงิน ออก พ.ร.บ. เงินกู้แล้วก็มาลงทุน อันนี้ก็ต้องศึกษาเช่นเดียวกันนะครับ เพราะว่าการกู้เงินทุกวันนี้ สำหรับฝ่ายบริหารก็ดูไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนะครับ มิเช่นนั้นการศึกษาที่เราทำกันไปก็ไม่เกิด ประโยชน์ใด ๆ เสียงบประมาณนะครับ การตั้ง กมธ. วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องหนึ่ง แล้ววันหน้า การศึกษาอันนี้ถ้าไม่ดีมากพอวันหน้าก็ จะมีหน่วยงานอื่นตั้งงบเพื่อศึกษาอีกครับ ศึกษา ศึกษา ศึกษา แล้วงบศึกษาของแต่ละ หน่วยงานในแต่ละเรื่องหลัก ๑๐ ล้านบาท ๒๐ ล้านบาท ๓๐ ล้านบาท ผมไม่อยากให้เรื่องนี้ เกิดขึ้นนะครับ ก็ขอฝากทั้ง ๓ ประเด็นนี้ไว้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะศึกษาเรื่องนี้ ขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปสมาชิกท่านสุดท้ายที่จะอภิปรายนะครับ แล้วต่อไปจะเป็นการสรุปของ ผู้เสนอญัตติครับ ขอเชิญท่านทิพา ปวีณาเสถียร ครับ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

ขอบคุณค่ะท่านประธาน เรียนท่าน ประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ จากแนวคิดในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA เป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมนะคะ ซึ่งประกอบไปด้วย ๔ จังหวัดดังนี้ค่ะ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดน ทำให้มีจุดเด่นในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่ ๓ คือจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมส่งออกและ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดที่ ๔ จังหวัดลำปางซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของการขนส่ง ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ ขับเคลื่อนด้วย ๔ อุตสาหกรรมหลัก ดังนี้ ๑. อุตสาหกรรม สร้างสรรค์ ๒. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ๓. อุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร ๔. อุตสาหกรรม Digital โดยนำแนวคิด BCG Model มาใช้เป็นกรอบการพัฒนา ร่วมกัน ๔ จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย ๓ ส่วนหลัก ดังนี้ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว สอดรับกับกระแสความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน โดยแต่ละจังหวัดต่างมี Flagship Project ของตัวเอง โดย Flagship Project ของ จังหวัดลำปางคือ BCG Industrial Park และ Logistics Hub นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ศูนย์กลาง Logistics โดยมีกิจกรรม ดังนี้

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

๑. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จังหวัดลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลาง ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ติดกับ ๗ จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่งสามารถ เชื่อมโยงเส้นทางไปยังจังหวัดและภูมิภาคอื่น ๆ ได้โดยรอบ โดยมี ๔ ศักยภาพในพื้นที่ของ อำเภอแม่เมาะ ด้านแรกศักยภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ๕,๔๐๕ เมกะวัตต์ ด้านที่ ๒ พื้นที่อำเภอแม่เมาะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ทางบก พื้นที่นี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางเดี่ยวสายเด่นชัย-เชียงใหม่ และ รถไฟรางคู่สายเด่นชัยไปถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นโอกาสในการขนส่งลำเลียงเชื้อเพลิงมาผลิต ไฟฟ้าในพื้นที่ ตลอดจนส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปยังต่างประเทศได้ ด้านที่ ๓ ชุมชน มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ด้านสุดท้ายความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานมีทั้งถนน สายส่งไฟ พื้นที่แหล่งน้ำ และสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยใช้พื้นที่ กฟผ. แม่เมาะที่ได้รับ อนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ประมาณ ๙๕,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการใช้ ประโยชน์ในอนาคตอีก ๕,๗๙๐ ไร่

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

๒. พัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ ได้เตรียมแผนพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อเพิ่มทางเลือก และตอบสนองการใช้ไฟฟ้า สีเขียวของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็น ๐ โดยมีแนวทางที่จะพัฒนาโครงการ Solar Farm ขนาด ๖๐๐ เมกะวัตต์ และโครงการ Biomass ๖๐๐ เมกะวัตต์ และยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกักเก็บ คาร์บอนไดออกไซด์ หากพัฒนาสำเร็จแล้วจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนค่ะ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

๓. พัฒนาย่านกองเก็บตู้สินค้า Container Yard เป็นที่เชื่อมต่อการขนส่ง สินค้าทางรถไฟ รองรับการขนส่งต่อเนื่องด้วยการใช้ระบบตู้ Container รถไฟเป็นหลัก ในการขนส่งสินค้าระยะไกล เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการในการลงทุนและการบริหาร จัดการขนส่งต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

๔. พัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวและ Logistics ลำปาง

นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ

๕. พัฒนารถไฟฟ้ารางเชื่อมระหว่างอำเภอแม่เมาะและอำเภองาว การคมนาคม ขนส่งทางราง ทางรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-เชียงใหม่ และทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย- เชียงรายและเชียงของ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอำเภอแม่เมาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างทางรถไฟสายเหนือและโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ดังกล่าว โดยมี ศักยภาพสามารถพัฒนาให้เป็น Container Yard และ Dry Port ได้ ดิฉันจึงขอสนับสนุน ญัตติของเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ และทุกความคิดเห็นของเพื่อน ๆ สมาชิกในที่นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการศึกษา ซึ่งดิฉันมีความคิดเห็นว่า การพัฒนา NEC ด้วย Model BCG จะช่วยสร้าง มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นการใช้สิทธิสรุปญัตติของผู้เสนอญัตติทั้งหมด ตอนนี้มีที่แจ้ง เข้ามาแล้วจะมีทั้งหมด ๓ ท่านนะครับ เริ่มจากท่านพรรณสิริ กุลนาถศิริ ตามด้วยท่านนพพล เหลืองทองนารา และจบด้วยท่านเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ส่วนท่านอื่นที่ยังไม่ได้แจ้งความ ประสงค์ก็สามารถแจ้งเพิ่มได้นะครับ ขอเชิญท่านพรรณสิริครับ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน พรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทย จากที่ดิฉัน และคณะได้เสนอเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพื่อนสมาชิก ก็ได้เสนอญัตติร่วมในประเด็นของการพิจารณาศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor : NEC Creative LANNA จากประเด็นร่วมกันในครั้งนี้ ดิฉันขอแสดงความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ ทั้งผู้เสนอญัตติและผู้ร่วมอภิปรายเป็นจำนวนมาก นับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจาย เศรษฐกิจและรายได้ทั่วถึงทุกภูมิภาค ในประเด็นของภาพรวมนี้ ดิฉันขออภิปรายและ แสดงความเห็นว่าเพื่อนสมาชิกได้สรุปออกมาเป็น ๓ ส่วนค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๑ เป็นลักษณะของโครงการที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายแล้วก็ ขับเคลื่อนไปแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการใหญ่ ๒ โครงการ คือ EEC กับ SEC ค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๒ เป็นลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจที่มาจากระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรี ซึ่งว่าด้วยกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่มุ่งหมายไปที่ ทุกภูมิภาค ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศไทย แต่หยิบจับขึ้นมาในส่วนของภูมิภาคละ ๔ จังหวัดค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๓ ซึ่งดิฉันเองได้ตั้งญัตติตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือการขับเคลื่อน ระเบียงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคพื้นที่ของประชาชนที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ แล้วก็จะขับเคลื่อนไปสู่นโยบายต่าง ๆ ทั้ง ๓ ส่วนนี้ ดิฉันมองว่าสามารถผสมผสานกลมกลืน และเป็นการถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันได้ทั้งใน ๓ ส่วน ในส่วนที่ ๑ โครงการ ขนาดใหญ่ ๒ โครงการที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว และขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ ในเรื่อง ของ EEC ภายใต้แผนงานงบประมาณแบบบูรณาการ ซึ่งยังคงมีบรรจุอยู่ในงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ดิฉันเห็นเป็นสำคัญมากว่าขณะนี้มีการขับเคลื่อนแล้ว รวมทั้งมีพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๖๕ เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามก็ขอชื่นชม ไปยังสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ถอดบทเรียนทำให้เพื่อน สมาชิกได้นำมาใช้เป็นข้อมูลในการอภิปราย ซึ่งแสดงความจริงใจว่า ทุกสิ่งที่ทำนั้นย่อมมี ปัญหาและอุปสรรคเสมอ แต่เห็นเป็นเพียงปัญหาส่วนน้อย ที่คิดว่าจะสามารถขับเคลื่อน แล้วก็แก้ปัญหาไปได้ ในส่วนของ SEC แลนด์บริดจ์ ที่ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นประธาน กรรมาธิการ พิจารณาศึกษาในเรื่องของโครงสร้างการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงกับการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายเดือนนี้จะนำมาสู่สภาในวาระของการพิจารณา ลงความเห็นร่วมกัน ดิฉันเชื่อว่าภายใต้นโยบายของรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่มีนโยบายกระจายการร่วมลงทุนในวงเงิน ๑ ล้านล้านบาท เป็นหลักคิด ที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการขับเคลื่อน SEC นั่นคือส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาล ขับเคลื่อนแล้ว รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษด่านแม่สอดหรือใด ๆ ก็ตาม ดิฉันมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนที่จะทำให้การพิจารณาศึกษา ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบรอบด้าน แล้วก็ขับเคลื่อนในทุกมิติค่ะ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ในส่วนที่ ๒ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้กำหนดพื้นที่ที่จะทำการศึกษา พิจารณา ถ้ามองในแง่ของ Creative LANNA ก็คือจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง ในขณะเดียวกันในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรัฐสภาเดียวกัน เราก็ไม่ลืมว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่รัฐบาล ได้ประกาศไว้แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ในส่วนของภาคกลาง ก็คือ จังหวัดอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช อันนี้ก็เกิดขึ้น จากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ๔ ภาค นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบค่ะ ที่เห็นว่าจะควรได้ศึกษาควบคู่ กันไป โดยเฉพาะในส่วนของภาคเหนือ ๔ จังหวัดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนที่ดิฉันเห็น เป็นสำคัญที่สุดในรูปแบบที่ ๓ ก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษเชิงพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนในลักษณะ ของการจัดการตนเอง เป็นกลุ่มจังหวัดจัดการตนเองและสามารถที่จะรวมกลุ่มกัน ในลักษณะของระเบียงเศรษฐกิจ แต่ว่าก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ซึ่งนั่นก็คือพื้นที่ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ซึ่งยังเต็มศักยภาพในฐานะที่สามารถเป็นแกนนำ ในการก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจ ๓ ประเทศ เมียนมา ไทย ลาว ที่กล่าวได้ว่าเป็น Luangpragang Indochina Mawlamyine Economic Corridor ตรงนี้ ดิฉันมองว่า เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์เป็นอีกหนึ่งชุดความรู้ที่เกิดขึ้นจากภาคพื้นที่ที่ทำมา ๑๐ กว่าปีแล้ว โดยมีภาควิชาการของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเพื่อนร่วมคณะในการขับเคลื่อนอย่างสำคัญ ผ่านการร่วมเรียนรู้เชิงพื้นที่ และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ให้เห็นผลเป็นที่น่าพึงพอใจ และเกิดข้อเสนอเชิงพื้นที่มาในระดับหนึ่ง ดังที่ได้เรียนเสนอแล้ว และที่สำคัญค่ะ ฐานข้อมูล เชิงวิชาการหรือฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ขอให้เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกภาคส่วนที่ มองว่าเม็ดเงินรัฐบาลมีคุณค่า การที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุดนั้นจะต้องเกิดจาก การร่วมคิดร่วมทำ และร่วมกันที่จะขับเคลื่อนให้รอบคอบรอบด้าน มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยดอกเตอร์บุญทรัพย์ พานิชยการ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนได้ทำไว้ หลายประเด็นด้วยกัน เช่น การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ ในลักษณะ ของโครงข่ายและระบบขนส่งทางราง ผลการจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาแต่ละจังหวัด และมีข้อเสนอทางการวิจัยอีก ๑ เรื่อง นั่นก็คือเรื่องของการพัฒนาแผนที่นำทางสำหรับ การขนส่งที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือฐานข้อมูลที่มีอยู่ที่บอกว่ากลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ นั้นเราเต็มศักยภาพ แต่ยังมีปัญหาอีกมากมาย ดิฉันจึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการที่เพื่อนสมาชิกได้สรุป แล้วก็ร่วมกันอภิปราย ในประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะได้นำไปพิจารณาศึกษา ๕ ประเด็นค่ะ ทั้งในเชิง การบริหารหลักการ และในเชิงสาระสำคัญ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๑ ในเรื่องของระเบียบและกฎหมาย ก็ขอให้เป็นไปโดยความชอบ ที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วม

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๒ ในรายละเอียดของกลไกและความร่วมมือให้เกิดขึ้น อย่างแท้จริงในทุกมิติของภาคส่วนการพัฒนา ทั้งภายในกลุ่มจังหวัดหรือภายในพื้นที่ของ ระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๓ มิติของการพัฒนานั้นไม่ใช่มีแต่ภาครัฐนำอย่างเดียว ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาก็คงจะพอเอามาใช้ได้

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๔ ต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ๑ ก็ขอให้เป็นการถอดบทเรียน LIMEC และภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นทุนที่ต่อยอดต่อไป

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สุโขทัย ต้นฉบับ

ประเด็นที่ ๕ ขอให้รวบรวมผลงานข้อมูลเชิงการวิจัย และประสบการณ์ตรง ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วก็ต่อยอดให้เป็นระบบ และท้ายที่สุดอย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะมี กฎหมายสักฉบับหนึ่งจะขับเคลื่อนไปสู่ พ.ร.บ. หรือรูปลักษณ์ของกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ดิฉัน ก็คิดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ก็คงจะได้ประเด็นข้อมูลจากเพื่อนสมาชิกที่ได้นำเสนอ ในครั้งนี้ ตลอดจน ๆ ห้วงเวลาที่มีการพิจารณาศึกษา ก็คงจะรอบคอบและรอบด้านมากที่สุด ก็ขอชื่นชมและขอบคุณทุกท่าน และมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกก็คงจะลงมติที่จะให้ตั้งกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาในครั้งนี้ ขอบพระคุณมากค่ะ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบพระคุณครับ เชิญท่านนพพลครับ

นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนเมืองสองแควพิษณุโลก ท่านครับ ผมเอง ต้องกราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะจากฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ได้ ร่วมกันยื่นญัตติ แล้วก็อภิปรายสนับสนุนในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นท่าน สส. พรรณสิริ ท่าน สส. จักรวาล ท่านพิมพ์พิชชา ท่าน สส. รวี แล้วก็ ท่าน สส. เทียบจุฑา หรือหมอภูมิพัฒน์ก็ดีนะครับ ผมเองต้องกราบขอบพระคุณที่ เห็นความสำคัญ เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งนี้ สิ่งที่ทุกท่านให้การสนับสนุน ผมเองขอบอกเลย นะครับว่า จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยมีจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางมีความพร้อม แม้ว่าจะมีการกังวลกันว่า พวกเราในภาคเหนือตอนล่างจะพัฒนาไปทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือเปล่า ก็ขอบอกเลยว่าอย่างน้อยสถานศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะให้วิชาความรู้ โรงเรียน ทั้งหมด ๒,๑๓๒ แห่งในภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอยู่ในสังกัด สพฐ. ๑,๘๙๑ โรงเรียน อยู่ในสังกัดของโรงเรียนเอกชนอีก ๑๐๖ โรงเรียน แล้วก็สังกัดในส่วนของท้องถิ่นแล้วก็ ในส่วนของสายมัธยมศึกษาอีกเกือบ ๑๐๐ โรงเรียน แล้วก็ในภาคอุดมศึกษาซึ่งกระจายอยู่ ทุกจังหวัด จังหวัดพิษณุโลก ๙ แห่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ๙ แห่ง จังหวัดสุโขทัย ๔ แห่ง จังหวัดตาก ๖ แห่ง แล้วก็จังหวัดอุตรดิตถ์อีก ๖ แห่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันการศึกษาที่ ถ้าเทียบชั้นในระดับประเทศ เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของการ มีมาตรฐานในเรื่องวิชาทั้งหลาย ทั้งหมดอีก ๓๔ แห่งอย่างที่บอก เรามีความพร้อมนะครับ นอกจากนั้นแล้วในส่วนของความพร้อมด้านอื่น ผมเองก็ได้พูดไปแล้วนะครับ ผมอยากให้ รัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้ ได้ใช้โอกาสที่ในพื้นที่มีความพร้อมและความตั้งใจ และอีกทั้ง ภาคเอกชนได้เริ่มดำเนินการมาเป็น ๑๐ ปีแล้ว ๒๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ นั่นคือเป็นวันเริ่มต้นของจุดมุ่งหมายที่เราอยากจะพัฒนาพื้นที่ ๕ จังหวัดนี้ ให้เป็นเศรษฐกิจพิเศษของภาคเหนือตอนล่าง แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เทียบชั้นกับ EEC เรายอมรับนะครับ แต่ว่าเราเองก็จะเป็นฐานที่สำคัญในการที่จะก้าวเดินต่อไปของเขตเศรษฐกิจภูมิภาค อย่างเช่น EEC เราสามารถที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนได้อย่างดี โดยเฉพาะว่าเรามีศักยภาพ ในเรื่องของการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร การแปรรูปการเกษตร ต่อไปนี้มันจะมีความสำคัญ ในอนาคต เพราะทุกคนก็บอกแล้วว่า ต่อไปนี้ในวันข้างหน้าอาหารจะขาดแคลนบ้าง อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อในทฤษฎีนั้น พื้นที่ที่เป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการเพาะปลูก ที่เป็น ดินดี น้ำดี แม้ว่าผมก็อาจจะพูดถึงเรื่องชลประทานว่าจังหวัดพิษณุโลกขาดน้ำอยู่บ่อย ๆ ก็จริง ผมก็ยอมรับนะครับ แต่ว่าถ้าเปรียบเทียบกับที่อื่น ก็ถือว่าในละแวกภาคเหนือตอนล่าง มีความอุดมสมบูรณ์มากทีเดียว ผมต้องขอบพระคุณทางท่านนายกรัฐมนตรีแล้วก็ คณะรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่านที่ผมเองได้เคยไปขอคำปรึกษา ท่านเองถามว่าเป็นห่วงไหม ท่านก็เป็นห่วงนะครับ ไม่ใช่เป็นห่วงว่าภาคเหนือตอนล่างจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ แต่ว่าเป็นห่วงตรงที่ว่า ในสิ่งที่รัฐบาลก่อน ๆ เคยทำมา ก็ทำด้วยความตั้งใจครับ แต่ว่าในการ คาดการณ์ในเรื่องอนาคต บางทีนึกไม่ออกหรอกครับ เหมือนอย่างที่ผมเคยเปรียบเทียบว่า เวลาเราขับรถไป ถ้าเส้นทางตรงเราก็เห็นได้หมดละครับว่า มันจะมีอะไรข้างหน้าบ้าง แต่ว่า เวลาพอหลังโค้งมันมองไม่เห็น บางทีด้วยความตั้งใจก็จริง แต่ว่าพอไปถึงอนาคตตรงโค้งนั้น แล้วมองไม่เห็น มันเลยมีบางสิ่งผิดพลาด ทางรัฐมนตรีบางท่านก็ยังบอกกับผมว่า อะไรที่เคย ผิดพลาดทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ทำผิดพลาดนะครับ อย่างเรื่อง EEC มีหลายอย่างที่เราเอง เรามาสานต่อ เพราะเราเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคตวันข้างหน้า แล้วก็ EEC ก็เพิ่ง จะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ของ EEC คงต้องใช้ระยะเวลา แต่วันนี้ รัฐบาลตั้งใจ ได้พยายามทุ่มเทเพราะเราประเมินแล้วว่ามันมีพื้นที่มีศักยภาพในการที่จะ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศได้ เพราะฉะนั้นแล้วผมเองต้อง ขอขอบพระคุณทั้งท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทางคณะรัฐมนตรีที่ใช้ความรอบคอบในการที่จะ พิจารณา ผมขอแสดงความเห็นใจรัฐบาลอย่างหนึ่ง ในเรื่องของ PM2.5 ใคร ๆ ก็โทษรัฐบาล ว่าไม่รู้จักดูแล ท่านครับ ถ้าเห็นแผนที่ในเรื่องของจุดความร้อนแล้ว ผมก็สงสารรัฐบาลครับ เพราะส่วนใหญ่ช่วงหลังมันมาจากรอบ ๆ ข้างประเทศเราทั้งนั้นเลย ที่พัดพา PM2.5 เข้ามา บ้านเรา แต่ผมเองก็ต้องขอบคุณที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็ตั้งใจที่จะแก้ไข ผมเอง ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการในการศึกษา เขตเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ๕ จังหวัด โดยมีจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเพชรบูรณ์และมีจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลาง ต้องกราบขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ แล้วก็ขอเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมกันให้การสนับสนุนในเขตเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ครั้งนี้ด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ครับ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ จากประชาชนชาวเชียงใหม่เขต ๑ ค่ะ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือนะคะ ดิฉันอยากจะขอสรุปญัตติสั้น ๆ เพื่อที่อาจจะสามารถพัฒนาไปเป็นกรอบการทำงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดนี้ ใน ๓ ประเด็นค่ะ ประเด็นแรก คือในเรื่องของต้นทุน ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายได้ ประเด็นที่ ๓ คือในเรื่องของผลกระทบค่ะ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ในเรื่องของต้นทุน เนื่องจากภาคเหนือของพวกเราเป็นพื้นที่ที่มี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่าง ๆ นานา มีประเพณี วัฒนธรรม และมี ประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และผู้คน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราควรทำให้เกิดการกระจายอำนาจ หรือเน้นการมีส่วนร่วม ในการออกแบบเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายจากพื้นที่ขึ้นสู่ด้านบน ไม่ใช่ทำแผน จากด้านบนลงมาสู่ด้านล่างเพียงอย่างเดียวนะคะ และอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษากฎหมาย ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ด้วยค่ะ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของรายได้ อยากจะเอื้อประโยชน์ เอื้อรายได้ให้กับ คนในพื้นที่ เพิ่มเงินในกระเป๋าสำหรับคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แล้วก็ทำให้เงินในกระเป๋า ของพี่น้องประชาชนมีมากเพียงพอ อีกทั้งยังต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วยค่ะ

นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชียงใหม่ ต้นฉบับ

ในประเด็นที่ ๓ ในเรื่องของผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่เพื่อนสมาชิกของ ดิฉัน ทั้งจากพรรคก้าวไกลและจากพรรคต่าง ๆ ในห้องประชุมแห่งนี้ได้อภิปรายถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ ก็อยากจะให้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไตร่ตรองให้ ถี่ถ้วน และพิจารณาให้การศึกษาครั้งนี้สมบูรณ์ที่สุดค่ะ ไม่ใช่ว่ายิ่งพัฒนายิ่งทำให้เกิดปัญหา สังคมมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการพัฒนา แน่นอนที่สุดมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีปัญหาหรือผลกระทบ ซึ่งผลกระทบนั้นถ้าเราศึกษาให้ดี เราก็จะหาแนวทางป้องกัน หรือว่าแนวทางในการแก้ไขให้ดีได้ค่ะ ก่อนที่จะดำเนินโครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ ดิฉันอยากจะให้พิจารณาให้ดีค่ะ ไม่อยากจะให้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC หรือเขตเศรษฐกิจ พิเศษอื่น ๆ ย้ายที่จากพื้นที่นั้น ๆ ผลกระทบที่เกิดจากพื้นที่นั้น ๆ ย้ายที่มาที่ภาคเหนือ มาที่ จังหวัดเชียงใหม่บ้านของดิฉันเอง หรือมาที่ภาคเหนือบ้านของพวกเราค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ผู้เสนอญัตติก็ได้สรุปจนครบถ้วนแล้วนะครับ แล้วก็เนื่องจากญัตตินี้ผู้เสนอ ได้เสนอมาเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ และจากการอภิปรายและจากการสรุป ของทุกท่าน ก็ไปในแนวทางเดียวกันครับ ดังนั้นผมจะขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

เห็นไปในทางเดียวกันนะครับ ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาญัตติดังกล่าว ต่อไปจะขอให้ท่านสมาชิกกำหนดจำนวนกรรมาธิการครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนสมาชิก ๒๙ ท่านครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ที่ประชุมกำหนดให้มีกรรมาธิการวิสามัญ ๒๙ ท่านนะครับ เพราะฉะนั้นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๗ ท่าน และกรรมาธิการของแต่ละ พรรคการเมือง จำนวน ๒๒ ท่าน ขอเชิญคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ

นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม สมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๗ ท่าน ดังนี้ ๑. นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ๒. นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ๓. นางสาวพัชรดา นวกะวงษ์การ ๔. นายสงวน พงษ์มณี ๕. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ๖. นายสุธีรพันธ์ สุขวุฒิชัย ๗. ว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ ครับ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ

ต่อไป เป็นสัดส่วนกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมือง พรรคก้าวไกล จำนวน ๗ ท่านครับ

นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษา พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ สัดส่วนพรรคก้าวไกล จำนวน ๗ คนครับ ๑. นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ๒. นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ๓. นางทิพา ปวีณาเสถียร ๔. นายมานพ คีรีภูวดล ๕. นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ๖. นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ๗. นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ ขอผู้รับรองครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคเพื่อไทย จำนวน ๖ ท่านครับ

นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ ๑. นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ๒. นายนพพล เหลืองทองนารา ๓. นายวารุจ ศิริวัฒน์ ๔. นายบุญทรัพย์ พานิชการ ๕. นายวิวัฒน์ ธาราวิวัฒน์ ๖. นายเนืองนิตย์ ชัยภูมิ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคภูมิใจไทย ๓ ท่านครับ

นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร มหาสารคาม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย กระผมขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๓ ท่าน ดังต่อไปนี้ครับ ๑. นายพิชญุตม์ พอจิต ๒. นายกิตติศักดิ์ มาพะเนาว์ ๓. ดอกเตอร์บริบูรณ์ บุญยู่ฮง ขอผู้รับรองครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปพรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่านครับ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ อรรถกร ศิริลัทธยากร จังหวัดฉะเชิงเทรา พลังประชารัฐครับ ขออนุญาตเสนอกรรมาธิการสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่านครับ ๑. คุณภาคภูมิ บูลย์ประมุข ๒. คุณบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๒ ท่านครับ

นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ราชบุรี ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน กุลวลี นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต ๑ พรรครวมไทย สร้างชาติ ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ๒ ท่านนะคะ ๑. นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ๒. นายชนาธิป สุพัฒน์ศิริ ขอผู้รับรองด้วยค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องครับ พรรคประชาธิปัตย์ครับ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขออนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตพิเศษ ภาคเหนือ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่านครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการ วิสามัญในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ เชิญท่านเลขาอ่านรายชื่อครับ

นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาระบบงานด้านนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ

รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง ๑ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA จำนวน ๒๙ คน ๑. นายโสภณ แท่งเพ็ชร ๒. นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ๓. นางสาวพัชรดา นวกะวงษ์การ ๔. นายสงวน พงษ์มณี ๕. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ๖. นายสถิรพันธุ์ สุขวุฒิชัย ๗. ว่าที่ร้อยตรีอิทธิพล บุปผะสิริ ๘. นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ๙. นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ๑๐. นางทิพา ปวีณาเสถียร ๑๑. นายมานพ คีรีภูวดล ๑๒. นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ๑๓. นายพันอาจ ไชยรัตน์ ๑๔. นายอภิสิทธิ์ พรหมฤทธิ์ ๑๕. นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ๑๖. นายนพพล เหลืองทองนารา ๑๗. นายวารุจ ศิริวัฒน์ ๑๘. นายบุญทรัพย์ พานิชการ ๑๙. นายวิวรรธน์ ธาราวิวัฒน์ ๒๐. นางสาวเนืองนิตย์ ชัยภูมิ ๒๑. นายพิชญุตม์ พอจิต ๒๒. นายกิตติศักดิ์ มาพะเนาว์ ๒๓. นายบริบูรณ์ บุญยู่ฮง ๒๔. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ๒๕. นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ๒๖. นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ๒๗. นายชนาธิป สุพัฒน์สิริ ๒๘. นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ๒๙. นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญกำหนดระยะเวลาพิจารณาครับ

นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตเสนอกรอบระยะเวลา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ ให้พิจารณาภายใน ๙๐ วัน เชิญครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมขอเสนอญัตติ ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) เพื่อขอเปลี่ยนระเบียบวาระดังนี้ครับ ระเบียบวาระที่ ๕.๑๓ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง นายพัฒนา สัพโส กับคณะ เป็นผู้เสนอ ระเบียบวาระที่ ๕.๒๗ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิก คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการ บริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองกำลังของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ พ.ศ. .... ซึ่งนายยูนัยดี วาบา กับคณะ เป็นผู้เสนอ และระเบียบวาระที่ ๕.๒๙ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการกำหนด อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ พ.ศ. .... ซึ่งรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณา ในวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ต่อจากระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ เนื่องด้วยมีสมาชิกได้เสนอญัตติตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมดังนี้ ระเบียบวาระที่ ๕.๑๓ ระเบียบวาระที่ ๕.๒๗ ระเบียบวาระที่ ๕.๒๙ ขึ้นมาพิจารณาในวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ต่อจากระเบียบ วาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นก็ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๕.๒ ญัตติ เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษาการ แยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชาให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และ อุตสาหกรรม นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เนื่องจากญัตติทำนองเดียวกันนี้อีก ๒ ฉบับ คือ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษา แนวทางในการควบคุมการใช้พืชกระท่อมและกัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เป็นผู้เสนอ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชาเพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมและ เศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล เป็นผู้เสนอ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกันนะครับ สามารถที่จะรวมระเบียบวาระ การประชุมเพื่อนำมาพิจารณาและแยกลงมติตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) จะมีสมาชิก ท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบนะครับ ผมขอดำเนินการ ดังนี้ สำหรับญัตติของสมาชิกที่เสนอเป็นหนังสือแล้วยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ ผมจะขอให้ เจ้าหน้าที่ได้แจกเอกสารแก่สมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณา เจ้าหน้าที่แจกเรียบร้อยแล้ว นะครับ เชิญผู้เสนอแถลงเหตุผล เชิญท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ขอโทษนะครับ เมื่อสักครู่ เขาพิมพ์ชื่อท่านผิดนะครับ เชิญครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ผมกราบเรียนท่านประธานครับ ด้วยเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผมขอเสนอ ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษาการแยกกัญชา ออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชาให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ผมขออนุญาตท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรขออ่านเหตุผลตามเอกสารที่ผมนำเสนอนะครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

สืบเนื่องจากกัญชาหรือกัญชงมีสารประกอบที่เรียกว่า Cannabinoid จำนวน ไม่น้อยกว่า ๖๐ ชนิด ซึ่งเป็นสารประกอบนั้นคือ THC ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กัญชงเป็นพืชที่นิยมใช้ในงานสิ่งทอ เสื้อ กระดาษ เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนกัญชาจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องสกัดสาร THC และ Cannabinoid ตัวอื่น ๆ ออกมา การที่กัญชงมีสาร THC น้อยกว่ากัญชา ทำให้กัญชงได้รับการยอมรับและ พัฒนาสายพันธุ์ในฐานะพืชเส้นใยมากกว่า และยังพบว่าเมล็ดกัญชงมีกรดไขมัน Omega 3 ที่มีประโยชน์มาก และมีโปรตีนสูงกว่าโปรตีนถั่วเหลืองอีกด้วย การที่ประกาศกระทรวง สาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลบังคับใช้ กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักไม่ถือเป็นยาเสพติด ส่งผลให้ประชาชนสามารถ ปลูก เสพ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีกัญชา กัญชง ไว้ในครอบครองได้โดยไม่มีความผิด ตามกฎหมาย เว้นกรณีที่นำไปผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่ยังคง ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน การร่าง พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ไว้ด้วยกัน จะส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และ ทำให้การใช้ประโยชน์จากกัญชงในทางอุตสาหกรรมไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงควรมีการศึกษา ให้ชัดเจน เพื่อแยกกฎหมายกัญชงกับกัญชาออกจากกัน อันจะทำให้เกิดความคุ้มครองการใช้ ประโยชน์จากกัญชงที่ไม่ได้ถือว่าเป็นพืชเสพติดแต่ประการใด อีกทั้งจะทำให้กัญชา กัญชง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม และทางการแพทย์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ดังนั้นจึงขอเสนอ ญัตติด่วนดังกล่าวมาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข พิจารณาศึกษา เรื่อง การแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชาให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ ดังเหตุผลและรายละเอียดที่ผมจะนำเรียนชี้แจงต่อท่านประธานต่อ ที่ประชุมในสภาแห่งนี้ กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ วันนี้ประเทศไทยมีการ จัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรม รวมตัวกันในเรื่องของการประกอบดำเนินกิจการในเรื่องของ กัญชาและกัญชงนั้น ที่หลัก ๆ มีสมาคมไม่น้อยกว่า ๔๐ บริษัท ใน ๔๐ บริษัทนี้มีบริษัทมหาชน มีทุนจดทะเบียนทั้งหมดรวมกันที่ลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท จะเห็นได้ว่า การที่เริ่มปลดล็อกในเรื่องของกฎหมายกัญชาและกัญชง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ คือเปิดเสรี ก็จะทำให้พืชกัญชาและกัญชงนั้นมีไว้ครอบครอง ไม่ผิดกฎหมาย แต่คราวนี้ ในกรณีในเรื่องของการใช้ ในการขออนุญาตในเรื่องของกัญชาและกัญชงมันต่างกันมาก เนื่องจากว่ากัญชาเมื่อเราไปสกัดสารจะมีสาร THC ซึ่งสาร THC นี้ก็จะทำให้เกิดความสุข ความสบาย ที่จริงแล้วถ้าเรามีการออกกฎกระทรวง การผ่านกฎหมายที่ชัดเจน ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเรากำหนดพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวแล้วก็ควบคุมได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ผมคิดว่าเป็น Soft Power อย่างดีในเรื่องของการท่องเที่ยว เราต้องยอมรับความเป็นจริง ในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะแถวอันดามัน จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ อ่าวมาหยา เกาะพะงัน เกาะสมุย จังหวัดชลบุรี พัทยา จังหวัดเชียงใหม่ ฝรั่งที่เข้ามา แม้แต่กรุงเทพมหานคร แถวบางลำภูในตลาดในส่วนร้านขายของกลางคืน วันนี้มีร้านที่ขายกัญชาในเชิงนันทนาการ มีไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ร้านค้า เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะปล่อยให้ในเรื่องของปัญหา ในเรื่องของ พระราชบัญญัติในเรื่องนี้มันจะมีปัญหา แล้วก็เชื่อมโยงกับในเรื่องของพืชกัญชงไม่ได้ ท่านประธานครับเรื่องนี้ผมเป็นการเสนอญัตติเรื่องด่วน โดยหลักการที่จริงเขาบอกว่าถ้าพูด เรื่องด่วนให้พูดช้า ๆ ถ้าพูดเรื่องใหญ่ให้พูดชัด ๆ วันนี้ผมก็ขออนุญาตพูดช้าสักนิดหนึ่ง เพื่อที่ความเข้าใจว่า กัญชงมันมีความจำเป็นอย่างไรถึงจะต้องแยกออกจากกัญชา ผมเรียน ท่านประธานว่า กัญชงเวลาเขาไปสกัดสาร มันจะได้สาร CBD สาร CBD ไม่ใช่สารเสพติด ทางการแพทย์ คือ THC ต้องแยกออกอย่างนี้ก่อนนะครับ กัญชงสกัดออกมาเป็นสาร CBD แล้วก็ไม่เป็นยาเสพติด สาร CBD นี้ไปทำอะไรครับ สาร CBD นี้มีค่ามหาศาล ๑ กิโลกรัม ถ้าสกัดเข้มข้นกิโลกรัมร่วม ๆ เกือบล้านบาท กัญชงเป็นพืชวิเศษ พืชเหมือนกับเทวดาให้เรา มาปลูก โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ราบสูงในภาคเหนือมีการปลูกกัญชงมาก ผมเชื่อว่าเดี๋ยว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของภาคเหนือก็จะได้พูดในเรื่องของคุณสมบัติว่าเราได้รับ ประโยชน์จากกัญชงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดตาก จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในภาคเหนือมีกันหมดนะครับ เพราะฉะนั้น CBD นอกเหนือจากไปทำยา ไปทำยาเป็นสารตั้งต้นในเรื่องของการไปผลิตยา ทำให้นอนหลับ ทำให้หลับลึก ลดความ ซึมเศร้า ลดอาการปวด CBD สามารถไปสกัดแทนมอร์ฟีนได้ด้วย มอร์ฟีนสกัดมาจากฝิ่น ท่านประธาน วันนี้ประเทศไทยมันเหมือนกับเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติที่ไปซื้อมอร์ฟีนมา Monopoly ด้วย แล้วราคาแพงมาก คนยากจนในประเทศไทย คนที่เป็นโรคมะเร็ง ไม่ว่ามะเร็งใดก็ตามนะครับ เข้าไม่ถึงมอร์ฟีน มีการทุกข์ทรมานเจ็บปวด มอร์ฟีนมีสารที่ ลดอาการเจ็บปวด แม้กระทั่งในเรื่องของการบล็อกหลังเวลาสตรีคลอดลูกก็ต้องใช้มอร์ฟีน เพราะฉะนั้นมอร์ฟีนวันนี้ราคาแพงมาก คนไทยจะใช้มอร์ฟีนสักขวดต้องจดชื่อผู้ป่วย นามสกุล ที่อยู่ รหัส เป็นโรคอะไร วันที่เท่าไร แล้วรหัสยามอร์ฟีนส่งไปให้บริษัทยา ในต่างประเทศว่า ผมคนไทย นาย ก ได้ใช้มอร์ฟีนขวดนี้ไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทย เราที่จริงแล้วมีทั้งฝิ่นชนิดดีที่สุดในโลก วันนี้เรามีกัญชาที่สกัดในส่วนของสาร CBD ต่อยอด ให้ทำแทนมอร์ฟีนได้นะครับ ทำไมเราไม่สามารถวิจัย ทำไมเราไม่มาพัฒนาสกัดสาร CBD นี้ มาแทนมอร์ฟีน ให้คนยากคนจนเข้าถึงในเรื่องของมอร์ฟีนได้ล่ะครับ ผมพยายาม ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายรอบ นี่มาเป็นสมัยที่ ๒ แล้ว เรื่องอย่างนี้ก็ยัง ไม่เคยหยิบยก ไม่เคยมาจัดทำในเรื่องของกฎหมายให้เกิดความชัดเจน อย่างนี้มันเป็น เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องไปศึกษา จะต้องไปเก็บตก จะต้องไปบอกพี่น้องประชาชน ว่าพืชต่าง ๆ ในประเทศไทยมันมีประโยชน์มากมาย แต่เมื่อเราทำงานการเมืองกันและมีความ ขัดแย้ง แล้วก็ไม่ทะลุในเรื่องของกฎหมาย วันนี้เราก็มีปัญหาอย่างนี้ครับ วันนี้ของสมาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมที่นำกัญชงมาทำประโยชน์นี้ ร้องเรียนมาที่พรรคภูมิใจไทยมากมาย ท่านประธานครับ เส้นใยกัญชงเอาไปทำอุปกรณ์ชิ้นอะไหล่รถยนต์ได้ วันนี้บริษัทที่ยิ่งใหญ่ บริษัทรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูใช้ใยกัญชงไปทำ Body รถ มีบริษัทพรรคพวกอยู่ในประเทศไทยเอาใยกัญชงไปทำ Body Battery และ Battery วันนี้ กำลังจะพัฒนาไปในส่วนของ EV ต้องการทำ Battery Lithium ล้วนแต่ใช้กัญชงทั้งสิ้น ที่จะมีคุณภาพจากการใช้โลหะ แล้วก็ไม่เป็นมลพิษในส่วนของซากของใยกัญชงด้วย กัญชง สามารถที่จะทำเสื้อได้อย่างสวยงาม สามารถที่จะผลิตเสื้อกันกระสุนได้ ใครจะไปรู้ว่ากัญชง มีคุณสมบัติกันกระสุนได้ ล้วนแต่มีคุณคุณภาพและราคาแพงทั้งสิ้น ทำไมเราไม่เข้าถึง อุตสาหกรรมอย่างนี้ครับ ได้ปริมาณการลงทุนแล้วก็เป็นที่สนใจ วันนี้ถ้าเราต้องการ ที่จะพัฒนาต้นกัญชง วันนี้เราอาจจะมีต้นกัญชงที่เส้นใยสั้น แต่ในขณะที่เขาเอามาทำผ้า เขาต้องการกัญชงที่เส้นใยยาวขึ้น แต่เราก็สามารถที่จะทำได้ ท่านประธานครับ ใบกัญชง เอามาทำใบชาส่งออกขายแทนใบชาได้ มีสารต่าง ๆ ที่ดื่มแล้วมีการผ่อนคลาย สบายอก สบายใจนะครับ สู้กาแฟชื่อดังได้ ส่วนเมล็ดเราสามารถที่จะมาสกัด แล้วก็ทำเป็นอาหารสัตว์ ต่าง ๆ ได้ แม้กระทั่งเปลือก เมล็ด Hemp Seed สามารถที่จะเอามาทำอาหารสัตว์ วันนี้ เราต้องนำเข้าถั่วเหลือง เราต้องนำเข้าเมล็ดข้าวโพด เราต้องนำเข้าอาหารสัตว์หลายชนิด แต่ที่จริงแล้วเราปลูกกัญชงในพื้นที่ที่มากมายแทนข้าวโพด แทนอะไรต่าง ๆ มีคุณค่า ราคาสูงต่อไร่ต่อปีมีมูลค่าสูงมาก ส่วนน้ำมันเมื่อสักครู่ที่ผมบอกว่า มีสาร Omega 3 มากกว่า น้ำมันปลา Omega 3 ที่พวกเราไปเที่ยวประเทศออสเตรเลียแล้วซื้อ Omega 3 มา ทำไมเรา ไม่เสียดายในเรื่องโอกาสบ้าง ราคาก็แพงนะครับ น้ำมันสกัดจากต้นเมล็ดกัญชงมี Omega 3 แล้วก็ Side Effect ในเรื่องของการบริโภคดีกว่า Omega ที่มาจากสัตว์ คือมาจากปลาในทะเล ลึก ส่วนอื่น ๆ ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่รากยันต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก เมล็ด รากสารสกัดบำรุง สมอง วันนี้หลายคนไปกินใบแปะก๊วย กินรากกัญชงบำรุงสมอง และผมคิดว่าถ้าเราแยกใน ส่วนของกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำกับดูแล เพราะฉะนั้นเราต้องให้ ความสำคัญ เมื่อเราเอากัญชงกับกัญชามารวมกัน เวลาผู้ประกอบการไปขอเอกสาร เช่นใน เรื่องของ อย. โรงงานผลิตยา ผลิตเวชภัณฑ์ ผลิตอาหารต่าง ๆ นี้มันก็จะมีความยากมากขึ้น เนื่องจากว่ามันจะไปตีความว่าเป็นเรื่องของพืชที่เป็นยาเสพติด ที่จริงแล้วในส่วนของกัญชงนี้ ไม่มีอะไรที่น่าเสี่ยงเลย ไม่มีอะไรที่จะมีความเป็นห่วงเลย แล้วก็หลายคนก็ลืมไปว่ากัญชง ที่จริงแล้วเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจะนำมาเพื่อที่จะสร้างเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่เพื่อที่จะให้ คนไทยสามารถที่จะมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจแทนพืชอย่างอื่นได้ เช่น แทนพืชเรื่องยางพารา แทนลำไย แทนผลไม้อย่างอื่น ผมเชื่อว่าคุณภาพในส่วนของผลิตภัณฑ์ต้นกัญชง ผมพยายาม เน้นเรื่องกัญชงให้มาก เนื่องจากว่าพอพูดเรื่องกัญชง คนก็บอกว่ากัญชงกับกัญชามันเป็น พี่น้องกัน เพราะฉะนั้นมันคงจะไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมาก ที่จริงแล้วคุณค่าในเรื่องของการ ดำเนินการทางภาคอุตสาหกรรม คุณค่าในเรื่องของการใช้ประโยชน์และคุณค่าในเรื่องของใช้ เป็นโทษในส่วนของ THC กับ CBD ต่างราวฟ้ากับดิน แล้วก็วันนี้ในส่วนของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ก็คือกระทรวงสาธารณสุข ผมก็ต้องฝากขอบคุณเพื่อน ๆ ในพรรคภูมิใจไทย ที่กรุณาเซ็นรับรองในเรื่องของญัตติ แล้วก็เพื่อน ๆ ที่เสนอญัตติขึ้นมาที่จะให้ตั้งเป็น กรรมาธิการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริงแล้วในเรื่องของพระราชบัญญัติ ในเรื่อง ของกัญชาสะดุดหยุดลงหรือสะดุด ๆ หยุดอยู่ในการประชุมสมัย ๒๕ แต่ว่าก็ไม่มีใครกล้า ขึ้นมาหยิบยกอย่างมีความอาจหาญที่ชัดเจนว่า เมื่อ พ.ร.บ. อย่างนี้ มันมีผลดีกับประเทศไทย มันมีผลดีกับประเทศชาติ เราอย่าปล่อยให้ เวลามันสายไป แล้วประเทศอื่นเขาเอาประโยชน์เหล่านี้ไปผลิตสิ่งที่ดี ๆ แล้วมาขายให้กับ ประเทศไทยเรา ในอดีตที่ผ่านมามีต้นเปล้าน้อย ท่านประธานครับ ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบุรี ต้นเปล้าน้อยนี้มีคุณค่า ในเรื่องของการรักษาโรคกระเพาะ ประเทศญี่ปุ่นเขามาเห็น เขาก็เอาไปปลูก แล้วก็ไปจดลิขสิทธิ์เสียแล้ว ประเทศไทยมีหลายเรื่องที่เราล่าช้ามัวแต่ ทะเลาะ มัวแต่ขัดแย้งกันในทางการเมือง มันก็จะนำมาซึ่งความสูญเสีย วันนี้ท่านประธานครับ ถ้าเราไม่แยกเรื่องอย่างนี้ ในเรื่องของเจ้าหน้าที่ ในเรื่องของหน่วยที่กำกับดูแลในการ ตรวจสอบ ก็ลงไปดำเนินการจับกุมบ้าง เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมานั้น ที่พัทยา มีผู้ประกอบการขายในเรื่องของใบของกัญชา เจ้าหน้าที่มีการร้องเรียนไปจับ ท่านประธานครับ ที่จริงแล้วกฎหมายมันไม่มีความผิดในเรื่องของสามารถที่จะไปจับกุมได้ แต่หน่วยงานพิเศษ ในการที่จะไปจับกุมในเรื่องของกัญชา ต้องมีอย่างน้อย ๓ หน่วยงานด้วยกัน เช่น ต้องนำด้วย ตำรวจ ต้องนำด้วย สสจ. ต้องนำด้วย ป.ป.ส. ต้องรวมทีมกันไป ต้องไปดูในเรื่องของคุณภาพ หรือสารในส่วนเกิน THC แต่เวลาไปเสร็จแล้ว มันไม่มีความผิดเรื่องอย่างนี้ ก็ไม่รู้จะจับ อย่างไร ก็ไปดูใบประกาศที่ติดอยู่ที่ร้านค้า ปรากฏว่าเจ้าของร้านถ่ายสำเนา Xerox ใบอนุญาตของ สสจ. ติด ซึ่งในระเบียบ เขาบอกว่าจะต้องให้เอาต้นฉบับแขวน แต่ว่าเจ้าของร้าน เขากลัว เขากลัวว่าต้นฉบับมันออกยากอยู่แล้ว อาจจะมีมูลค่าสูงด้วย เขาก็เก็บเอาไว้ติดตัว เขาถ่ายสำเนาแขวนเอาไว้ใส่กรอบ ก็เป็นที่มาในเรื่องของการที่จะไปจับดำเนินคดี อย่างนี้ ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่มันไม่ใช่หนักหนา มันไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องของตัวสินค้า ไม่ใช่เป็น ปัญหาในเรื่องของตัวกัญชา แต่มันเป็นปัญหาเรื่องเอกสาร อย่างนี้เป็นช่องทางในเรื่องของ หาผลประโยชน์ ในเรื่องของพื้นที่ในจังหวัดที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ประเด็นสุดท้าย ท่านประธานครับ ผมรบกวนเวลาในที่ประชุมนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน จริง ๆ ถ้าเราไม่พิจารณาเพื่อที่จะให้ กระทรวงสาธารณสุขเห็นภาพที่ชัดเจนว่า กัญชามัน เดินต่อร่วมทางไปกับกัญชงไม่ได้แน่นอน แล้วไม่มีผลดี การที่เอากัญชากับชงจับกอดคอกัน จับมัดรวมกันในพระราชบัญญัติเดียวกันไปอยู่ในกฎกระทรวงเดียวกันนี้ มันก็จะทำให้ธุรกิจ ในเรื่องของกัญชงที่เขาลงทุนไปเยอะแยะไปหมด มีมูลค่าเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท อนาคต ที่สดใส ก็ดับวูบ วันนี้หน่วยงาน BOI ส่งเสริมการลงทุน เมื่อไรโรงงานกัญชงไปขอสิทธิพิเศษ ในการลงทุนเพื่อที่จะได้รับ BOI ทำไม่ได้ครับอันนี้ อันนี้ก็คือโอกาสก็ทำให้ธุรกิจในเรื่องของ การยื่นเสนอตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ในส่วนการขอสิทธิ BOI ในการลดชดเชยอะไรต่าง ๆ ภาษี ๘ ปี อันนี้ก็สามารถเดินต่อลำบาก เดินต่อไม่ได้ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งนะครับที่อยาก กราบเรียนเพื่อนสมาชิก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะท่านประธานและ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้นำเรื่อง การแยกกัญชงออกจากกัญชาให้มีความชัดเจน เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และประโยชน์ทางอุตสาหกรรมต่อไป จึงนำกราบเรียน ท่านประธานผ่านมายังเพื่อนสมาชิก ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านผู้เสนอท่านต่อไป ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เชิญครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด นครพนม พรรคเพื่อไทย เขต ๑ กระผมขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้คณะกรรมาธิการ การสาธารณสุขพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมการใช้พืชกระท่อมและกัญชาให้เกิด ประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศให้พืชกระท่อม และกัญชาเป็นพืชที่ใช้ในทางการแพทย์ และเป็นพืชที่ประชาชนสามารถปลูกเพื่อการบริโภคและจำหน่ายได้ทั่วไปนั้น จากการ ประกาศดังกล่าวได้ส่งผลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งด้านดีและด้านลบ กล่าวคือจากการ วิจัยทำให้ทราบแล้วว่าสารสกัดจากพืชกระท่อมและกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นอย่างมาก สามารถนำมารักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย นับเป็นประโยชน์ทั้งต่อแพทย์ ผู้รักษาและผู้ป่วยอย่างยิ่ง แต่อีกด้านหนึ่งการประกาศให้พืชกระท่อมและกัญชาสามารถเป็น พืชที่ปลูกและจำหน่ายได้อย่างเสรี ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดปัญหาอาชญากรรม การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนและกระทำชำเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดกับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศชาติ จากการวิจัยพบว่าพืชกระท่อมและกัญชาส่งผลกระทบต่อสมองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็น อนาคตสำคัญของชาติ ทำให้สมองพัฒนาล่าช้า เชาว์ปัญญาลดลง เสี่ยงต่อการป่วยโรคจิตเวช เสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตาย อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนหันไปเสพยาเสพติด ยาบ้า เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งผลกระทบด้านลบต่าง ๆ เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน และนับวันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ หากปัญหานี้ได้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่าง จริงจังจะทำให้เกิดผลเสียหาย ผมถึงเสนอให้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงและได้ควบคุมการใช้ พืชดังกล่าว จึงได้ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ขอให้กัญชากระท่อมเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม และให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อขาย ห้ามปลูกกันอย่างเสรี และขอให้หน่วยงานราชการได้ติดตามกวดขันอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นนักเรียนเยาวชนพี่น้องประชาชนลูกหลานของเราจะเสียอนาคต และทำให้ประเทศ เสียหายมากกว่านี้ ท่านประธานครับ ปัจจุบันที่จังหวัดนครพนมปลูกกัญชาเต็มไปหมด เกษตรกรบางคนปลูก ๑๐ ไร่ ๒๐ ไร่ ๑๐๐ ไร่ พ่อค้าปลูกกันเป็น ๑,๐๐๐ ไร่ ซึ่งสร้างปัญหา ความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน นักเรียนชั้นมัธยม ม.๑ ม.๒ ม.๓ นำกัญชามาสูบ มา เสพเพราะว่าคิดว่าเสพแล้วไม่ติด เสพบ่อย ๆ มากขึ้นทำให้ลูกหลานนักเรียนอายุ ๑๐ กว่าปี ติดกัญชากันมากขึ้น ผมได้สอบถามนักเรียนหลายคนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ทุกคนได้ทดลองสูบ กัญชาทุกคน พี่น้องประชาชนบนด่าว่ายาบ้ามีมากอยู่แล้ว ยังเอากัญชามาซ้ำเติมให้ลูกหลาน เสียอนาคต ติดยาเสพติดมั่วสุมกันมากขึ้น และมีปัญหาตามมาอีกอย่างมากมาย จนไม่มี โรงพยาบาลสถานบำบัด ธัญญารักษ์ที่จะดูแลผู้ติดยาเสพติด เตียงไม่พอ ไม่มีหมอในการ รักษา ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในจังหวัดนครพนม ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอสถานที่บำบัดให้กับผู้ป่วยจิตเวช ทุกคนก็จนปัญญา ไม่มีสถานที่ บำบัด และผมก็ได้เรียนสอบถามผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งท่านได้ให้เกียรติ สส. มารับฟังปัญหาถึงสภาผู้แทนราษฎรของเราหลังห้องประชุม ทั้งเมื่อวานนี้และวันนี้ ผมก็ได้สอบถามท่านว่า การปลูกกัญชาผิดกฎหมายหรือไม่ ท่านผู้บัญชาการตำรวจ ปราบปรามยาเสพติดท่านตอบชัดเจน การปลูกต้องขออนุญาต ถ้าใครปลูกผิดกฎหมาย ถูกจับติดคุก นั่นคือในพื้นที่จังหวัดนครพนม ปลูกเต็มกันไปหมด มีการนำไปขายหรือสั่งทาง Online ทางอินเทอร์เน็ต ไปส่งไปรษณีย์ ห่อไปส่งที่ไปรษณีย์กลิ่นเหม็นกัญชา พี่น้องประชาชนเมากัญชา กลิ่นเต็มสำนักงานไปรษณีย์ แต่ละอำเภอ นั่นคือปัญหาที่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าการที่จะปลูกกัญชา พี่น้องเกษตรกร ๗ คน ต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วไปยื่นขออนุญาตที่เกษตรอำเภอ พอได้รับอนุญาตแล้ว ต้องมาสร้างโรงเรือน หรือ Greenhouse ที่มีตาข่าย มีกุญแจล็อก มี CCTV กล้องวงจรปิด และแถมยังต้องมีรั้วอย่างมิดชิดทั้ง ๔ ด้าน และมีผู้ปลูก ผู้ดูแล ผู้ควบคุมเพียง ๒ คน คนอื่นจะเข้ามาหรือเข้าไปในโรงเรือน Greenhouse นี้ไม่ได้ นั่นคือการที่จะต้องขออนุญาต แม้กระทั่งผมมีเพื่อนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำวิจัยเรื่องกัญชา ตำรวจยังต้องเข้าไปตรวจบ่อย ๆ ทุกหน่วยงานหรือทุกภาคส่วนต้องมี ใบอนุญาตการนำเข้าเมล็ด ต้องมีใบอนุญาต ใบอนุญาตในการขาย ใบอนุญาตในการส่งออก ที่สำคัญที่สุด การปลูกกัญชาต้องใช้ทางการแพทย์โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกต้องทำสัญญากับ รพ.สต. กับโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยนำกัญชาไปทำการวิจัย ส่วนที่ เหลืออาจจะ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นคือให้ขาย ส่งออก จะขายให้บริษัทไหน ขายให้ใครต้องมีใบอนุญาต นาย ก นาย ข บริษัท A B มาซื้อก็ต้องมีใบอนุญาต ปัจจุบันผู้ซื้อ ผู้ปลูก ผู้ขายกัญชามั่วกันไปหมด ไม่มีใบอนุญาตเลยสักคน มันก็เลยเป็นปัญหาให้พี่น้อง ประชาชนของเราเดือดร้อนกันไปทั่ว ยาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง และลูกหลานเรากลายเป็น จิตเวชเป็นคนบ้าไปหมด ปัญหาเรื่องนี้ได้ถกเถียง ได้พูดกันในหมู่บ้าน ในชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครองทุกฝ่ายเหนื่อยกับเรื่องยาเสพติด ยาบ้า กัญชา กระท่อมผสมยาแก้ไข หมอก็รับ ไม่ไหว ลูกเมียนายทหารจะเอาผู้เสพเข้าไปในค่ายทหาร เขาก็บอกเขาก็กลัว ลูกเมีย นายทหารจะเอาคนเป็นจิตเวช คนติดยาบ้ามารักษาในค่ายทหาร นั่นก็เป็นปัญหา ศูนย์บำบัด ก็ไม่มี นั่นคืออยากฝากรัฐบาลได้เร่งรีบการแก้ไขปัญหา เรื่องยาบ้า กัญชา กระท่อมผสม ยาแก้ไอ และผมก็ต้องขอขอบพระคุณทุกหน่วยงานได้เร่งรีบ ไม่นิ่งนอนใจ ได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ ๒ ท่านลงพื้นที่ในจังหวัดนครพนมบ่อย และได้ส่งทหาร นายทหาร ทหารพราน ได้บูรณาการการปราบยาเสพติด ยาบ้า ได้ส่งนายทหารหรือทหารพรานเข้าสู่ พื้นที่ภายใน ๑ ชั่วโมง ถ้าเรียกขอมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็มีความกล้าที่จะแจ้งผู้ค้ายาบ้า ยาเสพติด แต่ละคนหวาดกลัวไปหมด เพราะว่าผู้ค้าเหิมเกริมไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่กลัว เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ถ้าใครไปแจ้งจะตามมายิงให้ตาย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้ผู้นำ ในหมู่บ้านต้องขอว่า ขอความปลอดภัยในช่วงนี้ และหมดโครงการปราบยาบ้าต้องขอความ ปลอดภัย นั่นคือสิ่งที่อยากฝากรัฐบาลได้เร่งรีบแก้ไขปัญหา เรื่องยาบ้า ยาเสพติด กัญชา กระท่อม ได้มีกฎหมายให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยของเราจะ เสียหายมากกว่านี้ กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เชิญครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ครับ วันนี้ผมจะขอเสนอญัตติเรื่องขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกฎหมาย ว่าด้วยกัญชาเพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ท่านประธานครับ ความแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญระหว่างกัญชาและกัญชงก็คือ กัญชามีสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเกินกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่มีสาร CBD ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ฤทธิ์ระงับอาการปวดไม่เกิน ๒ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กัญชงมีความตรงกันข้าม ก็คือ มีสาร THC ไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีสาร CBD เกินกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ความโดดเด่นของกัญชงอีกประการหนึ่งก็คือมีลำต้นสูงเรียว และให้ใยในปริมาณที่มากและมี ความคงทน ทำให้วัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์โดยทั่วไปของกัญชาและกัญชงมีความ แตกต่างกันนะครับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกัญชาและกัญชงมีลักษณะที่คล้ายกันบางประการ ทำให้กัญชงถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดควบคู่กับกัญชา ส่งผลให้กระทบถึงคนที่ปลูกและใช้กัญชง ที่ทำให้มีความผิดตามกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับกัญชา จนกระทั่งเมื่อปี ๒๕๖๕ ได้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕ ทำการ ปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท ๕ ตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติด อย่างไรก็ตามครับ การปลดล็อกดังกล่าวนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีการซื้อขาย กัญชา แล้วก็เสพกันโดยทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนทำให้เกิดปัญหา สังคมต่าง ๆ ตามมามากมาย เกิดกระแสเรียกร้องจากสังคมไทยให้นำกัญชากลับไปเป็น พืชเสพติดเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้มีการพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติกัญชาและกัญชง หลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์เพื่อออกกฎหมายควบคุมกัญชาและกัญชง ประกอบกับมีการ แก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะนำกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิมครับ นับตั้งแต่อดีตกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีวัฒนธรรมในการใช้กัญชงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เป็นการทอเป็นผ้าสำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม นำมาถักทอเป็นเชือกใช้ทั่ว ๆ ไป รวมทั้งใช้ ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

คนม้งจึงเก็บรักษา เมล็ดพันธุ์กัญชงพื้นเมือง และปลูกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนะครับ และพืชกัญชง มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร เครื่องสำอางและยาที่เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนโดยทั่วไปด้วยนะครับ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมกัญชา ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาตามข้อบังคับของการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชา เพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง นอกจากนี้การส่งผล การศึกษานี้ไปให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ นอกจากนี้ประชาชนที่ขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้มี การคุ้มครองกัญชงยังสามารถนำผลการศึกษานี้ไปใช้ในการต่อสู้เรียกร้องต่อไปได้ด้วย โดยผมจะนำเรียนเหตุผลและรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วย นะครับ เดิมทีนะครับ พืชกัญชงก็เสรีโดยทั่วไป มีการบันทึกว่ากัญชงมีการปลูกกันอย่าง แพร่หลายในประเทศจีนมากกว่า ๒,๘๐๐ ปีก่อนคริสตกาลแล้วนะครับ ต่อมาในช่วงศตวรรษ ที่ ๑๕ ซึ่งเป็นช่วงของการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิยุโรป เมล็ดพันธุ์กัญชงก็แพร่กระจายไป ยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่อเมริกาเหนือ พอมาถึงยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม กัญชงได้รับความนิยมกว่าฝ้าย เพราะใยกัญชง มีความแข็งแรง เหนียวแน่นกว่าใยอย่างอื่น ๆ ทำให้คนนิยมนำใยกัญชงมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทอผ้า ใช้เป็นเชือก รวมทั้งเชือกที่ต้องใช้มัดเรือ แล้วก็สิ่งประกอบต่าง ๆ เพราะว่ามีความคงทนแข็งแรง ทีนี้พอมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ กระแสของสังคมโลก ที่ควบคุมยาเสพติด ก็มีการควบคุมกัญชา ก็แน่นอนว่ากัญชงถูกจัดให้เป็นประเภทเดียวกัน กับกัญชา จึงถูกควบคุมไปพร้อม ๆ กับกัญชาด้วย ระยะหลังต่อมาคนก็เริ่มกลับมาศึกษา กัญชา พอพบว่ามีสารหรือมีประโยชน์อะไรบางอย่าง แล้วก็มีส่วนที่แตกต่างจากกัญชา จึงมีการพยายามที่จะปลดให้กัญชงไม่ได้เป็นพืชเสพติด ที่สำคัญก็คือว่ามีการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชง รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมด้วย ผมขอ ยกตัวอย่างนะครับ อย่างเช่น เมล็ดมีโปรตีนและ Omega สูง สามารถใช้เป็นส่วนประกอบ ของอาหาร ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีกว่าพืชอื่น ๆ มีการศึกษาพบว่ากัญชง ๑ ต้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๑.๖๕ ตัน เส้นใยสามารถนำมาถักทอเป็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ โดยเฉพาะสามารถนำมาประกอบกับวัสดุอื่น ๆ ใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ด้วย อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของกัญชง ซึ่งท่านสมาชิกได้พูดไป แล้ว ผมก็จะไม่มาลงรายละเอียดในส่วนนี้เพิ่มเติมนะครับ ทีนี้ก็กลับมาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้งใช้กัญชงอยู่ในชีวิตและวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์ม้งมานาน ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ม้งนะครับ กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็อาจจะใช้กัญชงได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นการทั่วไปเลยนะครับ ก็คือเรื่องของการใช้ทอเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ในสมัยโบราณกลุ่มชาติพันธุ์ม้งก็จะอยู่ตาม ป่าเขา เพราะฉะนั้นก็จะมีโอกาสน้อยในการติดต่อสื่อสารทำมาค้าขายกับกลุ่มคนอื่น ๆ จึงมี ความจำเป็นที่จะต้องปลูกต้นกัญชงเพื่อที่จะนำมาใช้ทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเอง นอกจาก มีการทอใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแล้วนะครับ ก็ยังมีการใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ นับตั้งแต่เด็กจนตาย ยกตัวอย่าง อย่างเช่นเด็กที่เกิดมาก็ต้องมีการผูกด้ายสายสิญจน์ เรียกขวัญ ทำพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ใช้ด้ายกัญชงเป็นสายสิญจน์ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ ก็ใช้เป็น เสื้อผ้า รวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะตอนที่ตาย คนม้งก็จะมีพิธีกรรม มีความเชื่อในการ จัดพิธีศพที่ใช้เส้นใยกัญชงมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม จนถึงขั้นที่คนเฒ่าคนแก่ บอกว่า ถ้าไม่มีเส้นใยกัญชงจะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อให้แก่คนที่ ลุล่วงไปแล้วได้อย่างนี้นะครับ นอกจากนี้ในยุคสมัยใหม่พืชกัญชง ใยกัญชง ผ้ากัญชง ถูกพัฒนาขึ้นไปกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ในหลาย ๆ กรณีมีการพัฒนาใย พัฒนาผ้า พัฒนา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากใยกัญชง การปลูกกัญชงและอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทย ผมอยากจะให้ข้อมูลโดยสังเขปดังนี้ ข้อมูลจาก Application ปลูกกัญชงมีการลงทะเบียน ปลูกมากกว่า ๑.๑ ล้านคน แล้วก็ข้อมูลจากองค์การอาหารและยา และกรมการแพทย์ แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พบว่ามีพื้นที่ปลูกกัญชงมากกว่า ๗,๐๐๐ ไร่ มีใบอนุญาต สกัดกัญชงมากถึง ๔๘ แห่ง แล้วก็มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับคณะกรรมการอาหารและยามากกว่า ๑,๐๐๐ รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเครื่องสำอางมากถึง ๗๗ เปอร์เซ็นต์ อาหารและอาหารเสริมมีอยู่ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ ๔ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลคร่าว ๆ นะครับ ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์หรือกัญชงมีความสำคัญ ไม่เฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ต่อสังคมไทยด้วย เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งนะครับ เมื่อต้นปีนี้เอง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ผ้าทอใยกัญชงม้ง เป็นหนึ่งในมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการ ส่งเสริม และรักษาอย่างเร่งด่วนในแขนงงานช่างฝีมือดั้งเดิม ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยนะครับ อันนี้ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐเอง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุน วัฒนธรรม เห็นว่าผ้ากัญชงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ จำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์อย่าง เร่งด่วน รวมทั้งจะต้องพัฒนาต่อยอดไปด้วยนะครับ ในยุคสมัยนี้เราพูดถึง Soft Power นี่อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง Product อย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้าง Soft Power แล้วที่สำคัญนะครับ ถ้าเราทำให้คนทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะคนรากหญ้าสามารถปลูก แปรรูป สร้างผลิตภัณฑ์ที่มาจากกัญชง ผลประโยชน์ก็จะตกแก่เศรษฐกิจของคนรากหญ้า อย่างไรก็ ตามนะครับ อุตสาหกรรมกัญชงก็ยังเติบโตช้ามาก เติบโตเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่มี การปลดล็อกเมื่อกลางปี ๒๕๖๕ แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ต่อให้มีการปลดล็อกกัญชงออกจากพืชเสพ ติดแล้วก็ยังเติบโตช้า เพราะความไม่ชัดเจนในทิศทางทางนโยบาย และกัญชงถูกผูกเอาไว้กับ กัญชา เมื่อไรก็ตามที่คนบ่นว่ากัญชามีปัญหา เสียงก็จะไปถึงกัญชงด้วย คนที่อยู่ในแวดวงที่ ทำธุรกิจทำงานเกี่ยวกับกัญชงก็ไม่มีความมั่นใจว่า ถ้ารัฐบาลเอากัญชากลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิม กัญชงก็จะถูกผูกไปด้วย นี่เป็นความไม่ชัดเจนที่ทำให้อุตสาหกรรมกัญชง ไม่สามารถที่จะต่อยอดได้ตามที่คาดหวังมากนักนะครับ แม้ตอนนี้กัญชงจะถูกปลดล็อก ออกไปจากพืชเสพติดแล้ว อย่างไรก็ตามมีการพยายามยกร่าง พ.ร.บ. กัญชงและกัญชา เพื่อที่เอากัญชงและกัญชากลับไปเป็นพืชที่ควบคุม แล้วก็เป็นยาเสพติดเหมือนเดิมนะครับ การที่ควบคุมรวมทั้งเรื่องของการปลูก การแปรรูป การขาย การนำเข้า การส่งออกจะต้อง ดำเนินการขออนุญาตตามกฎหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วก็ตามกฎหมายควบคุมยา เสพติดด้วยนะครับ ตามร่างกฎหมายในการขออนุญาตปลูก การขออนุญาตแปรรูปนำเข้า ส่งออกก็ต้องมีค่าธรรมเนียม แล้วค่าธรรมเนียมก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวลนะครับ เพราะในร่างกฎหมาย ๔-๕ ฉบับที่มีการพูดถึงไปแล้วนั้น ผมยกตัวอย่างนะครับ การปลูกต้อง มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท การขายต้องเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท การนำเข้าเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท การส่งออกต้องเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป และที่สำคัญนะครับ กำหนดให้ มีบทลงโทษทางอาญาด้วย ซึ่งไม่มีการแยกกัญชงและกัญชาออกจากกัน มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑-๕ ปี แล้วก็มีโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท ๒ ประการนี้เป็นเรื่องที่มี ความสำคัญนะครับ ถ้าเมื่อไรกัญชงถูกผูกเอาไว้กับกัญชาแล้วเอากลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิม โอกาสของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาอาชีพจากกัญชงก็จะลดน้อยถอยลงไป ก็จะทำให้ถูกผูกขาดไว้ในมือของคนที่เป็นนายทุนไปโดยปริยาย โดยคนรากหญ้าจริง ๆ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลนะครับ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชา เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิและเสรีภาพ ในการปลูก การแปรรูป การขาย แม้กระทั่งการนำเข้า ส่งออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การ พัฒนาเศรษฐกิจของคนรากหญ้า อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ สิ่งเดียวที่ยังเป็นเรื่องน่ากังวล แล้วก็อาจจะจำเป็นซึ่งต้องมีการควบคุมอยู่ ก็คือสารสกัด THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แม้กัญชงจะมีสาร THC ในปริมาณที่น้อยแต่ก็สามารถที่จะสกัดออกมาได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องควบคุมก็ควบคุมเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวนะครับ สำหรับเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่มีเหตุผล ความจำเป็นอื่นที่จะต้องทำการควบคุมกัญชา แล้วก็เอากัญชงและกัญชาจัดเอาไว้ให้อยู่ในพืช ประเภทเดียวที่เมื่อไรก็ตามควบคุมกัญชาก็หมายความถึงกัญชงด้วย การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้องนะครับ นี่จึงเป็นเหตุผลประการทั้งปวงที่ผมอยากจะเรียนท่านประธานไปยัง ท่านสมาชิกทุกท่านที่อยู่ในที่นี้นะครับ ขอบคุณมากเลยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ มีท่านสมาชิกที่ขออภิปรายนะครับ ท่านแรกท่านนิยม วิวรรธนดิฐกุล ครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมหรือเปล่าครับท่านประธาน ผมดูรายชื่อเมื่อสักครู่ครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เขาขอเปลี่ยน ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ตอนแรกมีท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ท่านเดียว

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ผมดูรายชื่อผมไปดูหลายรอบ ผมคนแรกครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

คืออย่างนี้ครับ ทางผู้เสนอท่านสุดท้ายเป็นพรรคก้าวไกล ก็สลับมาเป็นรัฐบาล แล้วก็สลับมา ที่ท่าน ท่านจะพูดก่อนใช่ไหมครับ เชิญครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ใช่ครับ เพราะว่าผมก็ได้วางแผน ไว้ครับ เดี๋ยวมันจะไม่เป็นไปตามแผนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

เชิญเลยครับ ต่อเนื่อง เชิญนะครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ขอบคุณครับท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมอยากจะบอกว่า กัญชงไม่ใช่กัญชาครับท่านประธาน เรื่องนี้เราจำเป็นจะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมครับ ท่านประธาน ตอนนี้มีความพยายามที่จะร่างกฎหมายและจะดึงกัญชงกลับเข้าไปเป็นกัญชา เป็นอยู่ในพวกเดียวกัน ท่านประธานครับ ที่ผมพูดอย่างนี้ผมมีเนื้อหาความจำเป็นประกอบ นะครับ ผมอยากให้ฝ่ายสื่อได้ขึ้นรูปที่ผมลงไปลุยกับพี่น้องชาวบ้านนะครับ

นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

อันนี้คือต้นกัญชงครับ ท่านประธาน ผมไปถ่ายที่อำเภอพบพระ ต้นมันสูงครับ ต้นนี้ไว้เก็บเมล็ดครับท่านประธาน ต้นเล็ก ๆ ที่ท่าน สส. เลาฟั้งได้โชว์เมื่อสักครู่ว่าเขาเก็บไว้ทำเสื้อผ้า ทำใยนะครับ รูปที่ ๒ อันนี้ครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามจะบอกนะครับว่า โอเคครับรูปร่างคล้ายกัน แต่ว่า ไม่เหมือนครับ เพราะฉะนั้นก็คือว่าสภาแห่งนี้จำเป็นจะต้องเสนอไปที่กรรมาธิการ การสาธารณสุขว่า ไม่ควรจะเอาไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับกัญชานะครับ พืชกัญชงผมเสนอว่า ควรจะเป็นพืชเศรษฐกิจแบบทั่วไปครับ ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรรับรองครับท่านประธาน เหมือนกับหอมแดง เหมือนกับกระเทียม เหมือนกับพืชทั่วไป ต้องทำแบบนี้ครับ ที่ท่านสมาชิกครับ ท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง บอกว่าตอนนี้มีผู้ประกอบการด้านกัญชง จดทะเบียนเป็นชมรมประมาณ ๔๐-๕๐ กว่าชมรมแล้ว เขาจะได้ทำได้ครับ ตราบได้ไปผูกกับ เรื่องของกัญชา ท่านประธานครับ สิ่งที่มันเป็นจินตนาการว่าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจจากฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพ จะพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็น Soft Power มันเป็นไปไม่ได้ครับ ท่านประธาน ถ้าเราไม่ปลดล็อกความคิดตรงนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะร่างกฎหมายใหม่ที่เอา กัญชงมาเกี่ยวข้องกับกัญชานะครับ อย่าได้คิดที่จะทำแบบนี้เลยครับ เพราะว่ามันจะไม่มี อนาคต ท่านประธานครับ กัญชากับกัญชงมันไปคนละทางครับ ถ้าเป็น Converse เขาบอก ว่าคนละทาง ทางใครทางมัน กัญชาสารมันคนละตัว กัญชงนี่วัตถุประสงค์ต่าง ๆ เมื่อสักครู่ เพื่อนสมาชิกก็อธิบายแล้วนะครับ มันเน้นไปเรื่องของตัวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบ ไม่ว่าจะเป็น เยื่อ ใย ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ท่านประธานเข้าไปดูใน Google นะครับ อาจารย์ Google บอกว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชง สามารถทำได้เป็นหมื่น ๆ ชนิดครับ ประเทศจีนทำอะไรรู้ไหมครับ ทำเสื้อกันกระสุนส่งออก บริษัทยานยนต์ในต่างประเทศยุโรปทดลองเอาไปทำเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินครับ เพราะฉะนั้นคือถ้าจะคิดทำเรื่องนี้ มันคนละทางอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่มันไปคนละทาง อย่าให้ มารวมกัน แยกออกตั้งแต่ต้นครับ จริง ๆ แล้วเมื่อสักครู่ท่านสมาชิกเขาบอกว่า ประกาศของ กระทรวงสาธารณสุขมันมีอยู่แล้วครับว่า ตรงนี้มันไม่ใช่พืชเสพติดแล้ว เพราะฉะนั้นตัวนี้ มันต้องต่อยอด ก็คือประกาศไว้เลยว่ามันไม่ใช่ พอมันไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่มันจะได้เดินต่อ ท่านประธานครับ ผมจะใช้เวลาไม่มากนะครับ สิ่งที่ผมอยากจะเห็น ทำอย่างไรไม่ให้ พืชกัญชงอยู่ในขบวนของพืชเสพติด ควรจะเป็นพืชทั่วไป เราจำเป็นจะต้องพัฒนาส่งเสริมให้ มันครบวงจร เราต้องมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สมาชิกเขาบอกว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรม เรื่องการลงทุน เรื่อง BOI เรื่องการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ทำไม่ได้ เพราะมันมีปัญหาว่าพืชตรงนี้ มันเกี่ยวกับยาเสพติด ในข้อกฎหมายใหม่ยังเขียนด้วยนะครับ ตัวร่างนี้ครับ คนที่จะปลูกต้อง ขออนุญาต ๕๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นมันมีเกษตรกรที่ไหนครับ เกษตรกรที่ไหนจะมีเงินใน การขออนุญาตโดยใช้เงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วผมก็เชื่อว่าต้องมีเงื่อนไขต่อไปว่ามีเงินแล้ว ไม่พอครับ ที่ของท่านชอบด้วยกฎหมายไหม มีกรรมสิทธิ์ไหม มี ส.ป.ก. ไหม มีเอกสารสิทธิไหม ตามไปครับ สุดท้ายถ้าทำแบบนี้คือเกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์ครับ โดยสรุปครับท่านประธาน ผมเห็นด้วยว่าจะต้องมีพืชเศรษฐกิจที่ชื่อว่า กัญชง วิธีเดียวที่จะทำให้พืชเศรษฐกิจตรงนี้ เติบโต และเป็นฐานเศรษฐกิจที่เชื่อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คืออย่าให้มายุ่งอยู่ใน ขบวนของยาเสพติดในนิยามใด ๆ เลยครับ ในส่วนที่หลายท่านเป็นห่วง เป็นห่วงว่าเดี๋ยวก็จะ มีบางคนไปสกัดสารที่อยู่ในพืชของกัญชง เพราะว่ามันมีส่วนประกอบถึงแม้ว่าจะมีน้อย แต่กลัวว่าคนจะเอาไปสกัดสารตรงนี้ออกมา ซึ่งมันเป็นสารคล้าย ๆ กับอยู่ในกัญชา หรือว่า THC นี่ครับ ตรงนี้กระบวนการข้อกฎหมายระเบียบต่าง ๆ มีอยู่ครับท่านประธาน ในประเทศนี้ มันมีกฎหมายว่าด้วยใครก็ตามที่จะไปสกัดพืช พืชทุกตัวครับถ้าจะไปสกัดสารมันมีกฎหมาย เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่จะเอาเยื่อ เอาใย เอาพืช เอาร่างกาย เอาทุกส่วนของกัญชงไปสกัด ในสารที่มันมีอยู่ในกัญชง ขอให้สู่กระบวนการที่มันมีอยู่แล้ว ท่านประธานอยากเห็นภาพชัด ไหมครับว่า เอาพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจทั่วไป ผู้ใดก็ตามที่จะสกัดพืช สารที่อยู่ในกัญชง เข้าสู่กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น อย. ไม่ว่ามาตรฐานอะไรต่าง ๆ เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะฝากไปยังกรรมาธิการการสาธารณสุขครับ ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความ กล้าหาญพอ กล้าหาญที่จะเสนอกับผู้ที่จะเสนอกฎหมายใหม่ครับ เอากัญชงออกจากกัญชา ประเทศนี้จะได้เดินหน้า พัฒนาเศรษฐกิจที่เราคาดหวังจากประชาชน ผู้ประกอบการและ การส่งออก ขอบคุณมากครับท่านประธาน

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ต่อไปนะครับ ท่านแรก ท่านนิยม วิวรรธนดิฐกุล แล้วก็ท่านที่ ๒ ท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ท่านที่ ๓ ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญท่านนิยม วิวรรธนดิฐกุล ครับ

นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล แพร่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพนะครับ ผม นิยม วิวรรธนดิฐกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย ก็คงต้องขออนุญาตพูดในนามของกรรมาธิการการสาธารณสุข ซึ่งคงจะต้อง รับเรื่องนี้ไปพิจารณา ก็ขออภัยบางครั้งอาจจะต้องทับศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ เพราะว่า ถ้าเราพูดถึงกัญชง กัญชา เพราะจริง ๆ แล้วก็คงจะต่อเนื่องมาจากสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ผ่านมานะครับ เมื่อมีการปลดล็อกกัญชง กัญชา ออกจากยาเสพติดประเภท ๕ เราก็พยายาม ทำกฎหมายพระราชบัญญัติกัญชงกัญชา แต่ก็ไม่เสร็จ ครั้งที่แล้วนะครับ เอาเป็นว่า กัญชง กัญชา ก็แล้วกันนะครับ เพราะว่าตามญัตติของท่านก็คือจะให้แยกออกจากกัน กัญชาและ กัญชงก็เป็นญาติพี่น้องกัน แม่เดียวกันนะครับ ถ้าเป็นพูดภาษาแบบพื้น ๆ นะครับ คือเป็นตระกูล Cannabis เหมือนกันนะครับ เพียงแต่ว่า สายพันธุ์ย่อยอาจจะต่างกันไปนะครับ ก็คือกัญชานี้ก็จะเป็น Sativa ถ้ากัญชงเขาเรียกว่า Indica เดิมแล้วเราก็จะแยกกัญชง กัญชาจากลักษณะข้างนอกโดยทั่ว ๆ ไปนะครับ เช่น ใบของกัญชาก็จะมี ๕-๗ ใบ ใบของกัญชงก็จะมี ๗-๑๑ แฉกอะไรอย่างนี้นะครับ แต่จริง ๆ แล้วการแยกว่าอันไหนเป็นกัญชง กัญชา มันก็จะต้องแยกออกมาเป็นเรื่องของ THC และ CBD ซึ่งเป็นสารสำคัญเป็น Cannabidiol ที่อยู่ในพืชทั้ง ๒ ชนิดนี้นะครับ THC ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Tetrahydro Cannabinol ตัวนี้ THC ที่มีผลจิตประสาทของเรา ต่ออารมณ์ เมื่อเสพเข้าไปแล้วก็จะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น ก็คือมี Tolerance ส่วน CBD ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Cannabidiol อันนี้ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่เสพติด ก็เป็นสารที่ มีประโยชน์นะครับ เช่น ลดอาการปวด ลดการอักเสบ ลดความกังวล ลดอาการคลื่นไส้ ก็สามารถจะใช้ยาเป็นอะไรต่าง ๆ ได้ ที่จริงตัวกัญชงก็จะมีประโยชน์ค่อนข้างจะเยอะนะครับ กัญชงภาษาอังกฤษเขาเรียก Hemp กัญชาเขาเรียกว่า Marijuana จริง ๆ แล้วกัญชงก็จะมี ประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะว่าในต่างประเทศเขาก็ปลูกกันเยอะ ในบางประเทศกว่า ๓๐ ประเทศนี้ก็ปลูกออกมาเป็น ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ ก็คือเอาต้นไปทำ Fiber เหมือนที่ ท่าน สส. ท่านได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ก็คือเอาเส้นใยมาทำเสื้อผ้า มาทำอะไรต่าง ๆ อันที่ ๒ ก็คือเอาเมล็ดเอา Hemp Seeds มาสกัดเอา Omega 3 ๓ และ Omega 6 ๖ เป็น อาหารเสริมของเรานะครับ อันที่ ๓ ก็คือเอากัญชงที่มี CBD สูง นำมาสกัดเอาสาร CBD เพื่อ เอามาใช้ในทางการแพทย์ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ แต่ปัจจุบันนี้เราก็ต้องยอมรับการจะ แยกกัญชง กัญชา ออกจากกันมันต้องแยกด้วยสาร THC และ CBD เท่านั้น ก็คือ THC มากกว่า ๑ ก็เป็นกัญชา THC น้อยกว่า ๑ ก็เป็นกัญชง CBD ในกัญชาก็ต้องน้อยกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ CBD ในกัญชงก็จะมากกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้มันอาจจะเกิดปัญหาใน การที่จะแยก เพราะปัจจุบันสายพันธุ์ของกัญชง กัญชา มีนับหมื่นสายพันธุ์ เพราะมีการผสม ข้ามสายพันธุ์กัน แล้วก็เปรียบเสมือนว่าเราเอาสีขาวกับสีดำมา ๒ สีแค่นั้นเอง เสร็จแล้วมันมาผสมกันมันได้หลายโทนสีมากนะครับ มันก็จะทำให้ปริมาณของ THC แตกต่างกันเยอะแยะมากมายนะครับ อย่างในรูปของท่าน สส. มานพ ผมขออนุญาตเอ่ยนาม อันนั้นก็เป็นกัญชงพันธุ์พื้นเมืองของเราที่สูงและเก็บเส้นใยได้ แต่ว่ากัญชงของ พันธุ์ต่างประเทศสูงแค่เข่าเองนะครับ โดยเฉพาะในสายพันธุ์ของ Cannabis Ruderalis สูงแค่เข่าจริง ๆ ครับ แล้วช่อดอกโตมาก มีกลิ่น Terpenes หอมหวนเลยนะครับ สกัดเอา CBD มีการปลูกกันทางอุตสาหกรรม หรือว่าอะไรต่าง ๆ นี้ค่อนข้างจะเยอะนะครับ เพราะฉะนั้นเราดูจากข้างนอกวันนี้เราดูไม่ออกแล้ว เราแยกไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแยก มันต้องแยกจาก THC และ CBD เท่านั้นนะครับ ก็อย่างที่ผมเปรียบเทียบครับ สีขาว สีดำ ใส่สีโน้นนิด ใส่ปริมาณที่ต่างกันมันก็จะมีหลายโทนสีมาก หรือถ้าเปรียบเทียบวันนี้สายพันธุ์ ของกัญชง กัญชา มันผสมข้ามสายพันธุ์กันไปหมดนะครับ เปรียบเสมือนกับสัตว์เลี้ยงของเรา อย่างเช่น สุนัขสายพันธุ์ต่างประเทศ เราเอาสายพันธุ์ต่างประเทศมาเสร็จแล้วมันก็มาผสมกับ พันธุ์พื้นเมืองของเราจนเดี๋ยวนี้เราแยกไม่ออกแล้ว โดยสรุปแล้วก็ทางการแพทย์ก็คงจะต้อง แยกจาก THC และ CBD เท่านั้นนะครับ เพราะฉะนั้นปัญหาการที่มันผสมกันมากมาย มันก็อาจจะเกิดปัญหาในการที่ว่าเราจะแยก กัญชงออกจากกัญชาอย่างไรนะครับ ความยากง่ายในการที่จะต้องสกัดสาร THC และ CBD ออกมา ที่ประชาชนปลูกเราจะต้องมาแยกให้เขา แต่จริง ๆ แล้วโดยความรู้สึกจริง ๆ แล้วก็ อยากจะสนับสนุนให้มีการแยกนะครับ ถ้าเราสามารถทำได้เพราะมันจะเกิดประโยชน์อย่าง มากมาย เพราะว่า CBD ที่อยู่ในกัญชง ประโยชน์ทางการแพทย์ก็ยังค่อนข้างจะเยอะอยู่ แล้วก็ยังสามารถทำเอาเส้นใย หรือว่าเอาเมล็ดมาสกัดเอา Omega 3 Omega 6 ได้ เพราะฉะนั้นในฐานะของกรรมาธิการการสาธารณสุขก็คิดว่าในความต้องการของท่านที่จะให้ แยก เราก็จะพยายามที่จะนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา ถ้าสามารถที่จะทำได้หรือแยกได้นะครับ โดยที่ไม่มีความยุ่งยากมากนัก โดยเฉพาะทางด้านกฎหมายด้วย เราก็จะพยายามอย่างยิ่ง แล้วก็ยินดีที่จะรับไปพิจารณานะครับ อันนี้ก็คงขออนุญาตพูดเป็นตัวแทนของกรรมาธิการ การสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎรของเรานะครับ กราบขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกันตภณ ดวงอัมพร เชิญครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นายกัณตภณ ดวงอัมพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพญาไท ดินแดง วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษา แยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชาครับ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และ อุตสาหกรรม ท่านประธานครับ กัญชงกับกัญชามีความแตกต่างทางด้านกายภาพค่อนข้าง ชัดเจน

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

โดยเฉพาะลำต้นของกัญชง มีลักษณะสูงและหนากว่ากัญชาอย่างเห็นได้ชัดครับ จริง ๆ แล้วถ้าเรามองลึกลงไปถึงระดับ โมเลกุลแล้ว สารอินทรีย์ที่สกัดทั้งกัญชง และกัญชาที่ใช้เป็นหลัก มีสารชนิดเดียวกันคือ THC และ CBD เดี๋ยวผมจะเอาโครงสร้างทางเคมีให้ดูนะครับว่าถึงความแตกต่าง เกริ่นสักนิด นะครับ THC ช่วยลดปวด ลดอาการคลื่นไส้ แต่ถ้าเกิดใช้เยอะไปก็จะเกิดอาการมึนเมา เหมือนที่เขาพูดว่า เมาปลิ้นครับ แล้วพอ Over Dose ขึ้นมา หนักขึ้นมาจากการสูบ เพื่อการ สันทนาการ ไม่ใช่เพื่อทางการแพทย์นะครับ ก็ไปเป็นภาระให้กับหมอพยาบาลอีก ทุกวันนี้ มีผู้เสพกัญชาเพื่อการสันทนาการต้องเข้าห้องฉุกเฉิน มีเกือบแทบทุกวัน มันมีอาการใจสั่น หวิว ๆ ลอย ๆ มีการเห็นภาพหลอน อาการมันจะวิง ๆ เวียน ๆ งง ๆ เคลิ้ม ทำตัวเหมือน Slots ครับ ท่านประธานครับ ถ้าใช้อย่างต่อเนื่องก็กลายเป็นสารเสพติดครับ ผมเชื่อว่า ปัจจุบันที่สูบกันอยู่ ส่วนใหญ่ก็เพื่อสันทนาการ ยกตัวอย่างในพื้นที่บ้านผม กัญชาในเยาวชน ที่อายุน้อยเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากครับ ผมได้รับแจ้งเคสในหลายกรณีในพื้นที่นะครับว่า มีเด็กนักเรียนมามั่วสุมเสพกัญชาในแหล่งชุมชน ทำลายสมองของเยาวชนในช่วงวัย เจริญเติบโตมาก ๆ ครับ สำหรับ CBD สารตัวนี้มีการต้านอาการเคลิ้ม ควบคุมการชัก และ อาการปวด ใช้ต่อเนื่องมาก ๆ ไม่มีเกิดอาการเสพติด แต่อาจจะมีผลต่อตับ พืชชนิดนี้มีทั้งพิษ และประโยชน์ จะใช้ก็ควรควบคุมให้เหมาะสม ผมต้องขอเกริ่นแบบนี้ เพราะว่าในกัญชง มีปริมาณ CBD มากกว่า THC และมี CBD เยอะกว่าในกัญชาครับ คุ้มค่าที่จะสกัด CBD ออกมาทางการแพทย์ เหมือนที่พูดไปข้างต้นครับท่านประธาน CBD นั้น มีประโยชน์กว่า THC ถ้าเราควบคุมการปลูกและการใช้งานได้ดีจริง ๆ ประโยชน์ที่ใช้งานก็มีที่เป็นไปได้ ในเรื่องของการแพทย์ในการที่จะสกัดสารที่จะใช้ในการรักษาโรค จากข้อมูลการวิจัย ปริมาณ CBD สารที่ช่วยต้านเคลิ้ม ลดอาการชักในกัญชง มีปริมาณมากกว่าในกัญชามาก ๆ เมื่อเทียบ ด้วยน้ำหนักเท่ากันแล้ว เพราะฉะนั้นในกระบวนการสกัดแยกสารออกมานั้นจึงมีความคุ้มค่า มากกว่าใช้กัญชาที่มีปริมาณ CBD น้อยกว่า ต้นทุนในการสกัดสาร CBD ต้นทุนค่อนข้างสูง ด้วยกระบวนการการสกัดดังกล่าวทั้งแบบตัวทำละลาย เช่น การใช้ Ethanol เป็นต้น ในการที่จะดึงสารกลุ่ม CBD ออกมาจากต้นซึ่งก็มีต้นทุนสูงครับ หรือการสกัดโดยใช้ คาร์บอนไดออกไซด์ก็เช่นกันครับ อันนี้ไม่รวมถึงค่าอุปกรณ์การกลั่นหรือการแยกอีกนะครับ ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของ CBD ราคาอยู่ประมาณกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท หรืออย่างที่บอกกิโลกรัม เป็นล้านบาท ราคาค่อนข้างสูงเลยครับ

นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจท่านประธานครับ ใยผ้ากัญชง เนื่องจากกัญชงต้นมัน สูงมาก ต้นมันสูงกว่าคนอีกนะครับ คน ๒ คนยังสูงไม่เท่าต้นกัญชงเลย สูงประมาณ ๔ เมตร ด้วยเส้นใยเหนียวและเหมาะแก่การนำไปทอเป็นเสื้อผ้า เดิมทีครับ ชนเผ่าชาติพันธุ์ พี่น้อง ชาวม้งได้ปลูกกัญชงสำหรับทอเสื้อผ้า ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเส้นใยที่เรียงตัวแนวตั้งอย่าง สม่ำเสมอ สวยงาม มีความเหนียวทนทาน สามารถดูดซับความชื้นได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะแก่ การนำมาทำเป็นเสื้อผ้า มี Brand ชั้นนำของโลกหลาย Brand นำผ้าจากในกัญชงมาผลิตเป็น เสื้อผ้าขายตัวละ ๑๐,๐๐๐ บาท ตัวละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็มีนะครับ แบบนี้แล้วราคาต้นทุน จากการทำวัสดุจะเท่าไร เพราะฉะนั้นการปลูกกัญชงถ้าเกิดใช้ในอุตสาหกรรมจึงมี ความน่าสนใจอย่างยิ่งครับท่านประธาน ถ้าเรานำผ้าทอจากกัญชงนำสู่ตลาดโลก อาจจะเป็น Soft Power ใหม่ของประเทศไทย อย่างไรก็ฝากถึงคณะกรรมการ Soft Power ที่ตั้งขึ้นมา ใหม่ด้วยนะครับ ในด้านแฟชั่น ท่านประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขครับ ถ้าเกิดจะหยิบ ยกไปศึกษาก็น่าสนใจครับ ผมคิดว่ามีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุข ส่วนที่เราใช้ ในการแพทย์ และอีกส่วนหนึ่งคือใช้กัญชงเพื่ออุตสาหกรรมในการสิ่งทอและอื่น ๆ ผมก็อยาก ลองให้ศึกษาดูครับ ส่วนตัวผม ผมสนับสนุนให้แยกกัญชงออกจากกัญชา ขอบคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ต่อไป ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เชิญครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติ ขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้พิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจาก กฎหมายว่าด้วยกัญชาให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ท่านประธานที่เคารพครับ ผมนั้นมองกัญชารู้ ดูกัญชงออก แต่ก่อนอภิปราย เพื่อความ Sure ครับ ผมได้สอบทานตรวจสอบข้อมูลจากหลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นนักมวย ก็เรียกว่าน้ำหนักชั่งเมื่อเช้านี้ ข้อมูลอภิปรายตรวจสอบครั้งหลังสุด ไม่ถึง ๓๐ นาที ก่อนอภิปราย โดยขอยกเอาข้อสังเกต และงานวิจัยที่เป็นบทความเชิงวิชาการจาก หลายหน่วยงาน Highlight ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ท่านประธานครับ โลกของเรานั้นนอกจากจะมี BYD ยังต้องมี Tesla มีกัญชาก็ต้องมีกัญชง กัญชากับกัญชงเป็นญาติกันครับ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ญาติสนิท แต่ถ้าพูดแบบข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์ก็เรียกว่าเป็นพืชอยู่ในตระกูลเดียวกัน อยู่ในวงเดียวกัน ถ้าเปรียบเป็น มะม่วงก็เหมือนกับแบบหนึ่งเป็นน้ำดอกไม้สีทอง อีกแบบเป็นมะม่วงอกร่องหวานเจี๊ยบครับ อยู่ที่ว่าเราจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร อธิบายให้เห็นชัด ๆ สำหรับท่านที่ติดตามรับชม การอภิปรายนะครับ ว่ามีการแยกปริมาณของ THC ถ้าปริมาณ THC ต่ำกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ เราเรียกว่ากัญชงครับ แต่ถ้าปริมาณ THC สูงกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ เราเรียกว่ากัญชา ถามว่า แยกดีหรือไม่ ตอบคำถามตรงนี้ก่อนครับ แยกดีครับ คำถามต่อไป แยกดีนี้มันแยกง่ายไหม แยกไม่ง่ายครับ ถ้าจะแยกนี่แยกยาก แต่ต้องแยกไหม คำตอบคือ ต้องแยกครับ เพื่อ ประโยชน์ ไม่ได้แยกเฉพาะกัญชา กัญชงครับ เฉพาะกัญชงก็ต้องแยกว่า ถ้าจะเป็นกัญชงเพื่อ อุตสาหกรรม ซึ่งขออนุญาตเรียกว่า Industrial Hemp ก็ต้องแยก อีกแบบหนึ่งแยกเป็น ประโยชน์ที่ใช้ในครัวเรือน เรียกว่าพื้นบ้าน Hemp ครับ ดังนั้น ๒ ส่วนนี้ ต้องแยกให้ชัด แต่ผมจะฟันเปรี้ยงตรงนี้เลยนะครับว่า แม้จะแยกยาก แต่ในแง่ของการใช้ประโยชน์นั้นควรแยก ท่านประธานครับกัญชาและกัญชง เป็นพืชวงเดียวกัน ถ้าจะติวน้อง ๆ แบบไปสอบต้องบอกว่ากัญชามี THC ใช้เสพนี่เมาครับ มีอาการเคลิบเคลิ้ม แต่ว่าสามารถลดปวดได้ ใช้เยอะ ๆ มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เห็นภาพ หลอนครับ กัญชงมี CBD และก็มี Omega 3 Omega 6 ซึ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และ สามารถใช้ซ้ำหรือใช้ต่อเนื่องได้ ดังนั้นไหน ๆ ก็ไหน ๆ ครับ ถ้าเราจะมาแยกเราควรจะแยก อะไรบ้าง การร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ไว้ด้วยกันรังแต่จะเกิดปัญหาครับ และจะส่งผลให้เกิดผลในทางปฏิบัติยาก และทำให้การใช้ประโยชน์กัญชงในทาง อุตสาหกรรมไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นจึงควรแยกระหว่างกัญชงและกัญชาออกจาก กฎหมายว่าด้วยกัญชาดังนี้ครับ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

ประการแรก ควรตรากฎหมายโดยจำแนกกัญชากับกัญชงออกจากกัน แยกเป็น ๒ ร่าง คือร่างพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. .... นั่น ๑ ฉบับ และอีกร่างก็เป็น ร่างพระราชบัญญัติกัญชง พ.ศ. .... โดยหลักเกณฑ์ที่เอามาจับก็คือปริมาณ THC และเราก็ จะได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ท่านประธานที่เคารพครับ วันนี้กัญชา อาจจะถูกแบน กัญชาถูกให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ว่ากัญชง ไปพลอยฟ้าพลอยฝนโดนไปกับเขาด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าเราจะใช้ประโยชน์จากกัญชง เราใช้ได้เยอะมาก เส้นใยของกัญชง โดยเฉพาะกัญชงพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยมีลักษณะ ความเหนียวพิเศษระดับโลก คนอื่นอาจจะเรียกว่าเส้นใยกัญชง แต่พรรคเพื่อไทยเราจะ เรียกว่า Soft Power สามารถทำอะไรได้บ้างครับ ไปทำผลิตภัณฑ์ ทำเสื้อผ้า หรือไปไกล ขนาดถึงขั้นที่เรียกว่าทำเสื้อกันกระสุนได้ ดังนั้นไม่เป็นธรรมครับ และเราไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์น้อยหากเราจะมัดรวมกัญชงไปรวมกับกัญชา ดังนั้นถึงเวลาต้องแยกครับ แยกเพื่ออะไรครับ เพื่อเอาไปใช้เป็นกัญชงเพื่ออุตสาหกรรม กัญชงเพื่อการพาณิชย์ กัญชง เพื่อการเศรษฐกิจ ทีนี้ถามว่าในชั้นกรรมาธิการการสาธารณสุข ถ้ายังแยกออกเป็นกฎหมาย กัญชา กัญชง ๒ ฉบับไม่ได้ มันควรจะแบ่งแยกหลักเกณฑ์อะไรบ้าง เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้อง ประชาชนที่จะปลูกกัญชงในอนาคต ควรจะมีการกำหนดขอบเขตจำนวนพื้นที่การปลูกกัญชง ควรจะกำหนดขั้นตอนการขอใบอนุญาต เพราะปัจจุบันนี้ปริมาณ THC ที่มีการระบุไว้ ที่บอกว่าแยก ไม่แยกก็เหมือนกัน เขาระบุไว้นะครับว่า ถ้ามี THC สูงกว่า ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าจะเป็นกัญชา กัญชง ถ้าสูงกว่า ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ปริมาณ THC นั้นจะไปทำอะไร ต้องไปยื่นจดแจ้งกับ อย. นี่คือการเสียประโยชน์และเสียโอกาสในมิติของเศรษฐกิจและ มิติของภาคอุตสาหกรรม ท่านประธานครับ ไม่อยากจะสรุปว่ารวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย แต่เฉพาะการนี้ถ้ารวมกันแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร แยกกันไปใช้ประโยชน์ แยกประเภท ที่จะทำให้กัญชงเข้าถึงประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและประโยชน์ที่จะสนับสนุนวิถีชีวิตแบบ พื้นบ้าน และที่สุดประโยชน์จะตกกับประเทศชาติและประชาชนครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

อีก ๒ ท่านสุดท้ายนะครับ ท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ แล้วก็ท่านแอนศิริ วลัยกนก เชิญท่านประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ

นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมอภิปรายสนับสนุน ญัตติแยกกัญชงออกจากกัญชา ทั้ง ๒ ชนิดนี้พืชมีความแตกต่างกันอย่างไร กัญชงและกัญชา เป็นพืชวงเดียวกัน แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งกายภาพและคุณสมบัติอย่างที่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้กล่าวไปแล้วนะครับ กัญชานี้ง่าย ๆ เลย มีสาร THC เป็นหลัก ซึ่งสาร THC ถ้าใช้ปริมาณมากจะทำให้เกิดการ เสพติด แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ ส่วนกัญชงจะมีสาร CBD เป็นหลัก สารนี้ไม่ใช่ สารเสพติดนะครับ แล้วกัญชงก็นำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระดาษ แล้วก็เมล็ดนำไปทำ เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารได้ จำแนกกันง่าย ๆ แบบนี้เลย เดิมทีนะครับ คนเข้าใจกัน ว่ากัญชาและกัญชงเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน นิยามยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ของเรา ไม่เคยมีคำว่า กัญชง อยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย ทำให้กัญชงก็ถูกจัดเป็นยาเสพติดพร้อมกับ กัญชาไปโดยปริยาย ไม่แปลกใจนะครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ทั่วโลกแล้วก็จัดหมวดหมู่กัน แบบนั้นเหมือนกัน จัดกัญชงไปอยู่กับกัญชา แต่เมื่อปี ๒๕๔๑ มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้มองเห็นว่ากัญชงกับกัญชาแตกต่างกันนะ ทั้งกายภาพและคุณสมบัติ เพราะฉะนั้นแยก หมวดหมู่ย่อยออกมา กัญชงก็กลายเป็น Sativa แล้วกัญชาก็กลายเป็น Indica เป็นสายพันธุ์ย่อย เมื่อคนไทยได้ทราบตรงนี้แล้วเรามีการนำกัญชงมาใช้เป็นสิ่งทออยู่แล้ว เราก็เรียกร้องด้วย เรียกร้องให้ตรงนี้ควรจะนำมาผลิตเป็นสินค้าได้อย่างถูกกฎหมาย ก็เลยในที่สุดก็ต้องประกาศ เป็นกฎกระทรวงปี ๒๕๕๙ ให้มีการอนุญาตให้ผลิตได้ จำหน่ายได้ หรือมีไว้ครอบครองได้ ซึ่งหมายถึงอะไรนะครับ ในตอนนั้นหมายถึงว่าตีความแบบบ้าน ๆ เลย กัญชงคุณคือยาเสพ ติดนะ แต่ถ้าเกิดคุณจะผลิตคุณก็มาขออนุญาตได้ เพราะจริง ๆ แล้วคุณไม่ใช่ยาเสพติด มันย้อนแย้งนะครับ เพราะฉะนั้นนะครับท่านประธาน ในอดีตองค์ความรู้เรายังไม่เยอะ เราทำอะไรแบบง่าย ๆ ยกตัวอย่างเลยนะครับ อย่างสัตว์น้ำในทะเล เราเรียกว่าปลาหมดเลย วาฬไม่ใช่ปลา เราก็เรียกว่า ปลาวาฬ พะยูนและโลมาก็เช่นกัน เป็นสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม ไม่ใช่ปลา แต่เราก็เรียกว่า ปลา ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน โดยเฉพาะหมึก หมึกหน้าตา ไม่เหมือนปลาเลย เราก็เรียกว่า ปลาหมึก เราทำอะไรกันง่าย ๆ แบบนี้ เราจัดหมวดหมู่กัน ง่าย ๆ แบบนี้ แต่ไม่ว่าปลาวาฬหรือปลาหมึกก็ตาม เราจะแยกหรือไม่แยกไม่มีผลกระทบกับ พี่น้องประชาชนเลยนะครับ แต่กัญชงและกัญชามันมีผลมหาศาลเลย ผมจะยกตัวอย่างให้ดู เส้นใยของกัญชงถูกใช้มานานมาก อย่างที่ สส. เลาฟั้งได้พูดไปว่า ชาวม้งใช้มาแต่ในอดีต เป็นนับร้อยปี แต่สุดท้ายเรามาจัดเขาว่าเป็นยาเสพติดทำให้มีปัญหานะครับ แล้วอันนี้คือ พืชเศรษฐกิจของชาวม้งตั้งแต่อดีต เขาปลูกกันมานำมาทำเป็นเส้นใย เอาไปตากแดดแล้วก็ นำมาย้อมสีธรรมชาติ การปลูกกัญชงก็ไม่ได้ใช้สารเคมีด้วย เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่เป็น ธรรมชาติมาก ๆ แล้วก็รักษาสิ่งแวดล้อมมาก ๆ เมื่อนำมาผลิตเป็นเส้นใยมาเรียงต่อกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่บ้านก็นำมาม้วนเป็นใจ ได้มีอาชีพทำ ได้เงินใช้ด้วยนะครับ นำมาทำเป็น ไหมพรม แล้วก็เป็นกระบวนการผลิตของในหมู่บ้านของคนเฒ่าคนแก่ที่ทำให้สร้างงาน สร้างอาชีพกับเขาได้ เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็เอาไปส่งให้กับทางสตรีในการที่จะถักทอ เป็นเสื้อกระโปรง แล้วก็จำหน่าย เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเราเองมีการพัฒนาสามารถ นำเอาใยของกัญชงไปผสมกับฝ้าย ไปผสมกับไหมได้ แล้วถักทอให้เป็นผ้าที่มีรูปแบบที่นุ่มขึ้น แล้วก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น ส่วนในต่างประเทศเขาพัฒนากันมากกว่าเรา ในต่างประเทศสามารถนำใยตรงนี้ เอาตัว Lignin ออกซึ่งเป็นเส้นใยที่แข็งของกัญชงเอาออก ทำให้ผ้ายิ่งนุ่มเข้าไปอีกนะครับ แล้วก็มีความทนทานเทียบเท่ากับผ้าขนสัตว์เลยนะครับ ด้วยประโยชน์จากเส้นใยเหล่านี้ทั้งดูดซับความชื้นได้ดีกว่า แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย มีความอบอุ่น กว่าผ้าลินิน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถป้องกันรังสี UV ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้เป็นที่ นิยมมาก ๆ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นนะครับ ญี่ปุ่นถือว่ากัญชงเป็นพืชมงคลเลย นำไปตัด ชุดกิโมโนตัวหนึ่งหลักแสนบาทเลยนะครับ ชาวม้งเองก็ถือว่าเป็นพืชมงคลเช่นกัน เพราะใช้ มานานนับร้อยปีนะครับ Brand ดังทั่วโลกก็นำกัญชงไปใช้ อันนี้ไม่ใช่ว่าแต่ประเทศไทยจะใช้นะครับ แล้วเมื่อเราผลิต กัญชงเราก็ยังส่งออกด้วย ๘๐ เปอร์เซ็นต์เราส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ที่เหลือก็ส่งออกไป ที่ยุโรป อย่างเช่น ประเทศสวีเดน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอนาคตเส้นใยกัญชงก็จะมา ทดแทนเส้นใยสารเคมีต่าง ๆ เพราะเราจะไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น สุดท้าย ในเรื่องของเศรษฐกิจ นักธุรกิจบางคนเขามองตัวกัญชงเป็น New S-Curve เลยนะครับ มูลค่าปัจจุบันในตลาดที่ผมหาเจอมาคือหลักพันล้านบาทเฉพาะกัญชง แล้วก็คาดการณ์ว่า จะขึ้นหลัก ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท ในอีก ๕ ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดขนาดนี้เราไม่ควรจับกัญชง กลับเข้าไปเป็นยาเสพติดอีกนะครับ เพราะเขาไม่ใช้ยาเสพติด แน่นอนว่าถ้าเกิดเส้นใย ใช้ประโยชน์ได้ขนาดนี้ แล้วตลาดจะกว้างขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะเป็นแค่ผ้าอย่างเดียว กัญชง ยังนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคด้วย เนื่องจากว่ามีสาร CBD เยอะ และสาร CBD มีประโยชน์ ต่อการนอนหลับ ลดอาการเครียด ลดความเจ็บปวด แล้วก็ไม่ใช่สารเคมี เป็นสารสกัด จากธรรมชาติล้วน ๆ ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของการแพ้ หรือว่าต่อต้านของร่างกาย เมื่อเรา ได้พัฒนาถึงขนาดนี้แล้วก็มีบริษัทบางบริษัทได้ลงทุน ๒๐๐ ล้านบาท สร้างโรงงานที่จะผลิต กัญชงผลิตเป็นยา แล้วก็ปัจจุบันนี้ก็ผลิตแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นก็อย่านำกัญชงเข้าไปบรรจุ ในกฎหมายยาเสพติดเลยครับ ยิ่งท่านควบคุมมากเท่าไรการพัฒนาทั้งสายพันธุ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเราปล่อยให้มีอิสระเสรีสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้าย ท่านแอนศิริ วลัยกนก เชิญครับ

นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแอนศิริ วลัยกนก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ พรรคก้าวไกล

นางสาวแอนศิริ วลัยกนก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ

ดิฉันจะขอร่วมอภิปราย ญัตติขอให้กรรมาธิการการสาธารณสุขพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกัญชา ให้ชัดเจน อย่างที่ สส. หลาย ๆ คนกล่าวถึงนะคะว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศ ให้พืชกัญชงและกัญชาถูกถอดออกจากยาเสพติดประเภทที่ ๕ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไป สามารถปลูกในครัวเรือนได้ นอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา ในทางการแพทย์ได้ ประชาชนยังสามารถจดแจ้งเพื่อปลูกกัญชาเชิงเศรษฐกิจและพาณิชย์ได้ เมื่อเราพูดถึงกัญชาก็ต้องพูดถึงกัญชงที่ถูกนับรวมเป็นพืชชนิดเดียวกัน ที่ถูกปลดล็อกและ ถูกจับรวมไว้ใน พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งกัญชงและกัญชานับเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยมีความใกล้เคียงกัน แต่ผลจากการคัดเลือกเพื่อการใช้ประโยชน์ ของพืชทั้ง ๒ ชนิดทำให้กัญชงและกัญชาค่อย ๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น ในตัวของกัญชง เป็นพืชที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากหลาย Brand ทั่วโลก เนื่องจาก ผ้าทอจากใยกัญชงเป็นใยที่มีคุณภาพสูงและทนทาน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ เหมือนที่ สส. เลาฟั้งได้กล่าวถึงในเศรษฐกิจของกลุ่มชาวพันธุ์ม้ง มีการปลูกกัญชงเพื่อนำลำต้น ใย ใบ ใช้ในส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับในสารกัญชงมาใช้เพื่อในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเชือก ผ้าทอ หรือกระดาษ ซึ่งเยื่อกัญชงมีคุณภาพที่ดีกว่าและทนทานกว่า นอกจากใบ ลำต้น และ ใยที่มีการนำน้ำมาแปรรูป ก็ยังมีการนำกัญชงมาสกัดสารเป็น CBD และ THC มาใช้ใน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือแม้แต่ยานวดแก้ปวดต่าง ๆ โดยการใช้เมล็ด ช่อกับ ดอกมาสกัด ต้องผ่านกระบวนการของขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ควรจะต้องมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อควบคุมดูแลด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจโลกไปได้ด้วย ในส่วนของกัญชามีการประกาศปลดล็อก โดยที่ไม่มีการให้ความรู้และชี้แจงให้กับประชาชน เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการใช้พืชกัญชานั้น ทำให้ส่งผลกระทบตามมาที่เราเห็นกัน หลายต่อหลายครั้งจากที่เป็นข่าว จากภาพที่ดิฉันยกตัวอย่างมานะคะ เจลลี่ผสมกัญชา เด็กวัย ๘ ขวบได้รับประทานเข้าไป ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน อีกเคสหนึ่งลูกสาววัย ๕ ขวบกินขนมโตเกียวผสมกัญชาจนช็อก จากที่ดิฉันพูดเกิดจากอาการแพ้และเข้าโรงพยาบาล เกิดจากการที่รับประทานอาหารที่ใส่ กัญชาผสมไปโดยไม่รู้ตัว จากการนำกัญชามาใช้ในครัวเรือนหรือประกอบธุรกิจ ใส่เป็น ส่วนผสมในอาหารทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้บริโภค เมื่อเกิดเหตุการณ์ อย่างนี้ หน่วยงานก็ได้ออกประกาศควบคุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างจริงจัง การปลด ล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยให้เหตุผลว่า ใช้ในทางการแพทย์และเศรษฐกิจมันเป็น เช่นนั้นจริงหรือคะ เพราะข้อเท็จจริงที่หลาย ๆ ครั้งที่ดิฉันลงพื้นที่ ดิฉันไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเลย เพราะในพื้นที่ของดิฉัน ซึ่งมีการขายกัญชาอย่างโปร่งใส แล้วก็ในพื้นที่ที่เห็นอย่างในรูป ซึ่งห่างจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่เกินประมาณ ๑ กิโลเมตร และแม้กระทั่งหน้าวัด และหน้ามัสยิดก็มีการขายกัญชาอย่างที่เห็นในภาพ นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวหลาย ๆ ประเทศ ควรจะมีการออกกฎหมายเหมือนประเทศในแถบ เอเชียของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการออกเตือนคน ในประเทศให้ระมัดระวังกัญชาที่ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม ระมัดระวังการนำกัญชา เข้าประเทศ เนื่องจากกัญชาในบางประเทศนั้นยังถือเป็นสิ่งเสพติด ที่มีกฎหมายห้ามใช้ อย่างเข้มงวด อย่างที่ทราบกันดีอยู่ ปัจจุบันได้มีการควบคุมที่เข้มงวดและมีการรัดกุม ไม่มากพอทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก การปลดล็อกนั้น ดิฉันสนับสนุนควรแยกกัญชงออกจากกัญชาให้ชัดเจน และกำหนด พ.ร.บ. กฎหมายที่ควบคุมทั้งกัญชงกัญชาอย่างเข้มงวด บังคับใช้อย่างจริงจัง และนำมาใช้เพื่อ อุตสาหกรรมหรือทางการแพทย์แยกออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ที่แท้จริง และนำไปใช้ให้ถูกต้อง ขอบคุณมากค่ะ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านผู้เสนอญัตติทั้ง ๓ ท่าน ขอสรุปนะครับ ท่านแรกเชิญท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เชิญครับ

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะเป็น สส. พรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด ๗๑ คน วันนี้ผมขออนุญาต เป็นตัวแทนของพรรคภูมิใจไทยที่จะต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับที่ได้เข้าใจ ในเรื่องของพืชกัญชาและกัญชงที่มีความแตกต่างกันมาก ผมเชื่อเหลือเกินว่าประเทศไทย เรานั้นมีของดีมากมาย มีของดีมากมาย แต่ว่าการบริหารจัดการที่ดีนั้นมันจำเป็นจะต้อง อาศัยมืออาชีพ แล้วก็อาศัยในเรื่องของความตั้งใจ ถ้าเรามีความตั้งใจแล้วก็เรามีความบริสุทธิ์ใจ เราห่วงใยแผ่นดิน เราห่วงใยพี่น้องประชาชน มันไม่ยากเกินไปเลย การที่เราไปป้องกันยาบ้า ป้องกันกระท่อมที่ไปทำความผิดกัญชา หรือว่ายาเสพติดอื่นนั้นไม่ให้เข้าสู่สังคม แต่วันนี้ มันก็ยังมีกันอยู่ทั่วนะครับ เพราะฉะนั้นผมมองเห็นว่าวันนี้เราสร้างประวัติศาสตร์ เราไม่ควร อย่างยิ่งที่เราจะเอากัญชง ซึ่งเป็นของดีมากมายเป็นพืชพิเศษ ผมคิดว่าเราเป็นพืชธรรมชาติ ที่เปรียบเสมือนทองคำ แล้วถ้าเราได้สนับสนุน และเราได้บริหารจัดการให้ดี ผมคิดว่า ประเทศไทยนำผลิตภัณฑ์ในเรื่องของกัญชงนี้ไปสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และต่างประเทศที่เขามีกัญชงกัน ไม่ว่าจะเป็นยุโรป จีน เอเชีย อเมริกานั้นเขาอิจฉาประเทศไทย ประเทศไทยนี้อุดมสมบูรณ์จริง ๆ ผมต้องขอขอบคุณ คุณหมอทศพร เสรีรักษ์ นะครับ ท่านประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ท่านเป็นคนที่มีความรู้มีความตั้งใจ ผมเชื่อ เหลือเกินว่าเรื่องนี้ เมื่อสักครู่ท่านเดินมาบอกว่า ท่านสฤษฏ์พงษ์ไม่ต้องพูดแล้ว ผมเข้าใจ หมดแล้ว เข้าไปแล้วก็จะต้องทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด นี่ครับเป็นเรื่องของนักการเมือง แล้วก็ เป็นนายแพทย์ที่มีความจริงใจ และเราก็มองเห็นเรื่องอย่างนี้ครับ ถ้าเรามองเห็นในเรื่องของมุมที่มันเป็นประโยชน์ ผมคิดว่า มีหลายเรื่องที่เป็นพืชสำคัญ และเราก็ต้องการที่จะหาเสน่ห์ เราต้องการที่จะหาในเรื่อง ของรายได้ในระดับประเทศ แล้วพี่น้องประชาชนก็ได้เป็นเกษตรกรปลูก พอปลูกเสร็จแล้ว ก็ส่งขาย นักลงทุนก็มาลงทุน เมื่อพี่น้องประชาชนปลูกพืชกระท่อมสามารถพัฒนาไปทำ ในเรื่องของกระสวยอวกาศได้ ดาวเทียมได้ เพราะมันเป็นพืชที่มีเส้นใยที่แข็งแรงมาก ทำเสื้อ กันกระสุนซึ่งมีน้ำหนักเบามาก การกันกระสุนที่จริงแล้วมันต้องใช้โลหะที่หนัก เพราะฉะนั้น กัญชงนี้จึงมีราคาแพง ราคาสูงเหมือนผ้าแพร เราใส่แล้วยิงไม่เข้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งตรงนี้ มันเป็นพืชที่วิเศษมาก เพราะฉะนั้นการที่เราคุยกันนะครับ คุยไปคุยมาวันนี้ขอแยก เส้นทางเดิน วันนี้ขออธิษฐานเลยว่า กัญชากับกัญชงต่อไปนี้เราอยากเจอกันอีกเลย วันนี้เรา มาถึงทาง ๓ แพร่ง ขอให้กัญชาไปอีกทางหนึ่งก็ให้ไปอีกแพร่งหนึ่ง กัญชงก็ขอให้ไปเส้นทาง ในแพร่งที่เจริญรุ่งเรือง สนับสนุนให้ประเทศชาติได้เอามาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิด Soft Power ทำให้เกิดเป็นรายได้กับพี่น้องประชาชน เมื่อพี่น้องประชาชนมีอาชีพ พี่น้อง ประชาชนมีรายได้ มีเงินในกระเป๋า ล้วงกระเป๋าก็มีเงิน ล้วงกระเป๋าเมื่อไรก็มีเงิน ไม่กลัว เลยครับ ข้าวสาร น้ำตาล น้ำมันจะราคาสูง ขอให้มีเงินใช้ครับ เมื่อประชาชนมีเงินใช้ครับ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปตั้งงบประมาณมาจัดสวัสดิการให้กับประชาชนเลย สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า เราต้องจัดระเบียบสังคม เราต้องจัดระเบียบกฎหมาย หลายเรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต้องช่วยกันนะครับ โดยเฉพาะเมื่อที่ผ่านมาไม่กี่วัน ท่าน สส. ครูมานิตย์ถือว่า เป็นพี่ชายอาวุโสที่ให้ข้อคิดอะไรผมมาก ในการที่จะร่วมสนับสนุนในเรื่องของกฎหมาย ล้างกฎหมาย ประกาศคำสั่งของ คสช. อย่างนี้ สิ่งเหล่านี้สภาแห่งนี้ควรทำ วันนี้ต้อง ขอขอบคุณท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ท่านก็ได้สอน ท่านแนะนำ ท่านถือว่าเป็น Coach ทางการเมืองผมนะครับ ที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ เนื่องจากว่าผมก็ยังใหม่อยู่ ๒ สมัย ท่านหลายสมัยแล้วครับ ๕-๖ สมัย ท่านก็เมตตา ก็ชี้แนะ ชี้นำกัน ผมคิดว่าเราอยู่กันเป็นพี่เป็นน้อง เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดว่าเป็นมิติที่ดีที่เรามองเห็น อะไร แล้วก็ผมไม่อยากตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญให้มันล่าช้า เรามีคณะกรรมาธิการสามัญ อยู่แล้ว แล้วก็เป็นคณะกรรมาธิการที่มีคุณภาพด้วย โดยท่านประธาน นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ และเมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิกในคณะกรรมาธิการหลายท่านก็มาแสดงความเห็นด้วย ในโอกาสนี้ผมต้องขอขอบคุณท่านประธาน แล้วก็ขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกผ่านเลยกับ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรนะครับ เราได้ช่วยกันเพื่อที่จะทำให้ญัตติในฝันระหว่างกัญชง กับกัญชานั้นได้แยกทางเดินกัน แล้วก็นำผลประโยชน์จากการใช้ในส่วนของกัญชงที่มี สาร CBD ซึ่งเสมือนกับเพชรพลอยเหมือนกับทองคำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของ ภาคอุตสาหกรรมและพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป ขอขอบคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านผู้เสนอญัตติ ท่านที่ ๒ ที่จะสรุป ท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เชิญครับ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม เขต ๑ ผมขอสรุป เรื่องขอให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข พิจารณาศึกษาแนวทาง ในการควบคุมการใช้พืชกระท่อมและกัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ เพราะ พี่น้องประชาชนขอให้ได้เสนอกฎหมายกัญชาเป็นยาเสพติด และใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น ขอให้กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งเสนอกฎหมาย พ.ร.บ. กระท่อม กัญชาให้เป็นยาเสพติด ให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น รัฐบาลต้องบูรณาการ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหาร ระดับสูงของกระทรวงกรมได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองทุกภาคส่วนในการปราบปรามยาเสพติด จะได้ทราบปัญหาที่แท้จริงว่า พี่น้องประชาชนของเราเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส รัฐบาลต้องเด็ดขาด เข้มแข็งกว่านี้ เพราะผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาบ้าปัจจุบันไม่กลัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของบ้านเมือง แถมไปคุยโอ้อวด ค้าขาย ยาเสพติด ยาบ้าไปแล้วไม่มีใครกล้าจับ ถ้ารัฐบาลไม่เด็ดขาด เข้มแข็ง ไม่ปราบจริงจัง ข้าราชการ ผู้นำหมู่บ้านก็ไม่มีกำลังใจในการทำงาน ปัจจุบันนี้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานรอความ เด็ดขาดของรัฐบาล ขอให้รัฐบาลได้ปราบยาบ้า ยาเสพติดอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่จะให้เขาแจ้ง หรือเอกซเรย์ผู้ค้ายาบ้า ยาเสพติด ก็จะเอกซเรย์ได้แต่ผู้เสพ แต่ไม่กล้าแจ้งผู้ค้ายาเสพติด ยาบ้า เพราะห่วงความปลอดภัยในขณะที่แจ้ง และในอนาคต เมื่อโครงการปราบยาบ้าหมดไป ผู้นำหมู่บ้านจึงขอกำลังทหารได้ไปช่วยปราบยาบ้า ขอให้ รัฐบาลได้ให้กำลังทหารทั่วประเทศได้เข้าไปถึงทุกหมู่บ้าน เพื่อช่วยพี่น้องประชาชน ช่วยฝ่ายปกครอง ตำรวจ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระ

นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ

เรื่องต่อมาที่ผู้นำหมู่บ้าน หรือพี่น้องประชาชนเป็นห่วง เมื่อนำผู้เสพไปบำบัด แล้วเขากลับออกมาต้องมีงานทำ เพราะบำบัดหายมาแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งรัฐบาลอาจจะมี โครงการสอนด้านคอมพิวเตอร์เพราะหางานทำได้ง่าย การที่ผู้เสพรักษาหายแล้วไปทำงาน ด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องไปกลัวเขาจะไปค้าขายผ่านคอมพิวเตอร์ ทางอินเทอร์เน็ต เพราะด้านคอมพิวเตอร์สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามเครือข่ายไปได้ทั่วโลก และในพื้นที่ ได้ร้องเรียน พร้อมที่จะช่วยปราบยาบ้า นั่นคือต้องมีสถานบำบัด โรงพยาบาลที่จะรักษาผู้เสพ ผู้ป่วย หรือผู้มีอาการทางจิตเวช ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลเต็มหมด ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ ผู้เสพได้ นั่นเป็นปัญหาของรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน เพราะโรงพยาบาล นครพนม โรงพยาบาลจิตเวช รพ.สต. หรือศูนย์มินิธัญญารักษ์ทุกที่เต็มไปหมด ไม่มีรับผู้ป่วย จึงขอให้รัฐบาลได้ทุ่มเงินงบประมาณในการปราบปรามยาบ้า ยาเสพติด กัญชา กระท่อม ผสมยาแก้ไอ ไม่เช่นนั้นแล้วลูกหลานของเราจะติดยาเสพติดกันมากขึ้น ทำให้ประเทศ เสียหาย และจะทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่กล้ามาเที่ยวประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรผมก็ต้อง ขอกราบขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันจับผู้ค้ายาบ้าได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ทุกวัน ทั้งในประเทศ และที่นำเข้าจากชายแดนข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งหลายท่านต้องไปนอนเฝ้า แอบนอน หรือคอยจับผู้ค้ายาบ้า ค้ากัญชาที่จะลักลอบเข้ามา ต้องขอกราบขอบพระคุณ ทุกท่าน ขอขอบพระคุณท่านประธานครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ท่านสุดท้ายที่เสนอญัตติขอบรรยายสรุป ท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เชิญครับ

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ

เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ก่อนอื่นผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้ร่วม อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับญัตติที่ผมและเพื่อนสมาชิกอีก ๒ คนเสนอนะครับ ที่สำคัญ ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านคุณหมอทศพร เสรีรักษ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ การสาธารณสุขที่มาร่วมฟังในวันนี้ด้วยนะครับ แม้ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำให้ ประเทศไทยกลายเป็น Hub ของกัญชงนะครับ ซึ่งจะมีกลุ่มนักธุรกิจที่เขาพยายามที่จะผลักดัน มีการจัดงานใหญ่ที่จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็น Hub ที่จะนำไปสู่การค้าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงในประเทศไทย แต่อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ คือมันก็ยังไปต่อไม่ค่อยได้ มันก็ยังมีอุปสรรคปัญหาที่ตามมาอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความน่าเชื่อถือ อย่างที่ผมได้เกริ่นไปนะครับว่า แม้ตอนนี้กัญชงจะถูก ปลดล็อกออกจากพืชเสพติดแล้ว แต่ความยังไม่ชัดเจนในทิศทางของนโยบาย ประกอบกับ กระแสที่เรียกร้องให้มีการนำกัญชากลับไปเป็นพืชเสพติดเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ อยากจะมาลงทุนไม่มีความมั่นใจ แม้กระทั่งชาวบ้านที่เป็นคนปลูกเอง ผมได้สัมผัสกับคนม้ง ที่เป็นคนปลูก แล้วก็คนที่ทอ คนที่ตัดเสื้อผ้าจากใยกัญชง คนปลูกเองก็ยังระแวงอยู่ คือแม้จะ ไม่ผิดกฎหมาย แต่คนม้งจำนวนหนึ่งเคยถูกจับกุมดำเนินคดีในสมัยอดีตนะครับ เพราะฉะนั้น การที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจนว่า ตกลงสักวันหนึ่งในเร็ววันนี้กัญชงจะกลายเป็นพืชเสพติด อีกหรือไม่ อันนี้ทำให้คนม้งเองก็ยังไม่มีความมั่นใจในการที่จะปลูกจะปลูก จะลงทุนในการ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ ผมอยากจะฝากถึงผู้ที่กำลังยกร่างกฎหมาย แล้วก็ผลักดัน ร่างกฎหมายที่ควบคุมกัญชงและกัญชา แล้วก็รวมทั้งผู้มีอำนาจที่กำลังจะนำกัญชงกลับไป เป็นพืชเสพติดตามบัญชียาเสพติดประเภท ๕ เหมือนเดิม ให้คิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนนะครับว่า ในการที่จะนำกัญชากลับไปเป็นพืชเสพติดนั้น ขอให้แยกกัญชงออกมานะครับ อาจจะมีการ กำหนดอะไรบางอย่างในการควบคุมสาร THC ในกัญชงก็ได้ ผมไม่ได้ติดขัดในเรื่องนี้นะครับ แต่ตัวกัญชงโดยธรรมชาติของมันเองควรที่จะถูกแยกออกมา เพื่อที่จะทำให้คนที่จะใช้กัญชง มีเสรีในการที่จะทำได้จริง เรื่องนี้ผมอยากจะเน้นย้ำนะครับว่า ถ้าเสรีกัญชงจะนำไปสู่ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ในธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงไปกว้าง แล้วก็ยาวนะครับ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกัญชา แล้วก็ประกาศให้ประชาชน ได้รู้โดยทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน คนปลูก คนขาย คนที่จะพัฒนา เทคโนโลยี คนที่จะมาพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตด้วยนะครับ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ผลประโยชน์ก็จะตกแก่คนรากหญ้าจริง แต่ถ้ายังเอากัญชงกลับไปเป็นพืชที่ต้องควบคุม ในลักษณะที่เป็นยาเสพติดอีก แม้จะมีกระบวนการในการอนุมัติอนุญาตตามมา แต่ถึง ที่สุดแล้วชาวบ้านทั่ว ๆ ไปก็จะไม่มีโอกาสจะเข้าถึงได้จริง ก็จะมีแต่นายทุนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เข้าถึงนะครับ เพราะฉะนั้นจึงขอเรียนให้ทราบอย่างนี้ แล้วก็ขอกราบขอบพระคุณ เพื่อนสมาชิกทุกคนในวันนี้ที่อภิปรายในลักษณะที่สนับสนุนญัตติของผม และเพื่อนสมาชิก อีก ๒ ท่าน ขอบคุณมากครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ เนื่องจากญัตติเรื่องนี้นะครับ ผู้เสนอได้เสนอมาเพื่อของส่งคณะกรรมาธิการ การสาธารณสุข และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แต่จากการที่ได้รับฟังการอภิปรายของ ท่านสมาชิกเห็นว่าประเด็นปัญหานี้สมควรที่จะส่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ผู้เสนอ และท่านสมาชิกจะเห็นขัดข้องประการใดหรือไม่ครับ เชิญครับ

นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ

ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ประธาน คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ก็พร้อมที่จะรับไปพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบ แล้วก็ จะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว และจะรีบกลับมานำเสนอกับสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ขอบพระคุณครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ขอบคุณครับ ไม่มีท่านใดขัดข้องนะครับ ผมจะขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการ ถามมติว่า จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบส่งคณะกรรมาธิการ การสาธารณสุขนะครับ สำหรับวันนี้เราประชุมกันมาพอสมควรแล้วนะครับ กำหนดเวลา เชิญครับ

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ

เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลาพิจารณา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ

ท่านประธาน ๙๐ วันนะครับ แยกให้ได้นะครับ วันนี้ขอปิดประชุมครับ