ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ครั้งที่ 11 วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 10.42 - 16.58 นาฬิกา
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิก ทุกท่านครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ผมจะขออนุญาตให้ท่านสมาชิก ได้ปรึกษาหารือเรื่องที่สำคัญและความเดือดร้อนของประชาชน ตามข้อบังคับการประชุมของ สภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ ข้อ ๒๔ โดยจะให้สมาชิกปรึกษาหารือตามรายชื่อ เรียงลำดับที่ส่งมานะครับ ขอใช้เวลาท่านละ ๒ นาที ขอเชิญท่านแรก ท่านวรวงศ์ วรปัญญา เชิญครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
วันนี้ผมขออนุญาตปรึกษาหารือปัญหา ของพี่น้องประชาชนภายในพื้นที่
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ เนื่องด้วย ๒ อาทิตย์ก่อนมีกิจกรรมดี ๆ จากรัฐบาลก็คือ กิจกรรมพาคุณหมอพบพี่น้องประชาชน อำเภอชัยบาดาล โรงพยาบาลชัยบาดาลได้เป็น Hub ในการที่จะ Launch ของโครงการนี้ แล้วก็เนื่องด้วยบุคลากรเราก็มีความพร้อม แต่ติด ในส่วนของงบประมาณสำหรับการจัดซื้อในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็น เครื่องผ่าตัดสายตาต้อกระจก ซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องรุ่นเก่า แล้วก็กำลังจะขาดในส่วนของ อะไหล่แล้ว ซึ่งเป็นปัญหานี้ทั้งประเทศ ซึ่งเราจะขอเครื่องมือใหม่ ก็คือเป็น Phacoemulsification ซึ่งจะใช้สำหรับในการผ่าตัดเพื่อให้เพียงพอสำหรับพี่น้องประชาชน ในเขต ๓ อำเภอของกระผม รวมถึงเขตข้างเคียงนะครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ เนื่องด้วยทางหลวงหมายเลข ๒๑ เป็นทางหลวงที่มีการสัญจร ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นทางผ่านไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงไปถึงจังหวัดสระบุรี ทางหลวงเส้นนี้เป็นทางหลวงสายหลัก แล้วก็มีประชาชนใช้จำนวนมาก แต่ติดขัดในส่วน ของเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ตามที่ท่านเห็นในรูปครับว่า ค่อนข้างมืดแล้วก็มีความเป็นอันตราย สูงมาก ก็อยากจะฝากไปยังหน่วยงานกรมทางหลวงนะครับ ก็ของบประมาณมา เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ เป็นในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลบัวชุมติดปัญหาในการ ขออนุญาตใช้พื้นที่ในส่วนของป่าไม้ ก็อยากจะฝากไปทางท่านอธิบดีครับ ช่วยดูนิดหนึ่งว่า ให้อนุญาตของ อบต. นิดหนึ่งเพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชยพล สท้อนดี ครับ ถ้ายังไม่พร้อม ผมจะข้ามไปก่อนครับ เอาไว้ต่อสุดท้ายนะครับ ต่อไป ขอเชิญคุณสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เชิญครับ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน หลายเรื่องด้วยกันค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ปัจจุบันนี้ประชากรไทยของเราได้เพิ่มมากขึ้น บ้านเมืองขยับขยาย พ่อแก่แม่เฒ่าได้พาลูกหลานขยายบ้านไปอยู่อาศัยตามทุ่งนา ดังนั้นความต้องการการใช้ไฟฟ้า ต้องตามมาค่ะ การขยายเขตไฟฟ้าให้ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดิฉันจึงอยากขอหารือ ท่านประธานค่ะ ในกรณีขอขยายเขตไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชนขอให้ลดขั้นตอน และที่สำคัญ การไฟฟ้าต้องอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเขตพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะ เขตพื้นที่ของดิฉัน อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งที่ผ่านมา และปัจจุบันปัญหาในการขอขยายเขตไฟฟ้าได้ผ่านการพิจารณายากเย็น เหลือเกินค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันต้องขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และ คณะรัฐมนตรีที่ได้มีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร แต่ก็ยังมี พี่น้องอีกมากมายที่ยังรอคอยความหวัง ดิฉันขอให้รัฐบาลพิจารณาในกรณีที่พี่น้องประชาชน ที่มีที่ ส.ค. ๑ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่หัวไร่ปลายนา เขตป่าเสื่อมโทรม ภ.บ.ท. ๕ ให้เป็น โฉนดที่ดิน เพื่อความมั่นคงในชีวิตและอนาคตที่สดใส ขอสไลด์ด้วยค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ จากสไลด์ค่ะ ถนนหมายเลข ๒๑๓๔ จากอำเภอโขงเจียมถึงอำเภอศรีเมืองใหม่ และถนนหมายเลข ๒๒๒๒ จากอำเภอโขงเจียมถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร ปัจจุบันนี้ไหล่ทางแคบ เพียงข้างละ ๑ เมตร เท่านั้น ทำให้พี่น้องประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานต้องมาวิ่งในถนนเลนใหญ่ ไม่สะดวกต่อการสัญจรไปมาค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องถัดไป ขอให้กรมทางหลวงซ่อมแซมหรือบูรณะผิวจราจรที่เสียหาย ทั้งหมด ๔ เส้น ๑. คือถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๒ อำเภอโขงเจียม ถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร ๒. ทางหลวงหมายเลข ๒๑๑๒ จากอำเภอโขงเจียมถึงตำบลหนามแท่ง ๓. ถนนหมายเลข ๒๑๓๔ จากอำเภอโขงเจียมถึงตำบลดอนใหญ่ค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
และเรื่องสุดท้าย ขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้ง ไฟแสงสว่างบนทางหลวงหมายเลข ๒๒๒๒ กิโลเมตรที่ ๑๗ ถึงกิโลเมตรที่ ๒๒ จากบ้านน้ำสร้าง บ้านคันลืม บ้านท่าเสียว บ้านหัวดอน ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ครับ
นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตหนองบอน พรรคก้าวไกลครับ ผมได้รับร้องเรียนจากความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเขตสวนหลวงและเขตประเวศ เขตหนองบอน เกี่ยวกับปัญหาของ คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยติดยาเสพติด ซึ่งเป็นคนชายขอบที่สุดของสังคมและปัจจุบัน เพิ่มจำนวนมากขึ้นในกรุงเทพมหานคร การรับรักษาผู้ป่วยเหล่านี้เหมือนวงเวียนชีวิตที่ไม่รู้จัก จบสิ้นครับ บางคนอาศัยอยู่ตามป้ายรถเมล์ อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ อยู่บนสะพานลอย เราจะ พาพวกเขาเข้ารับการรักษาได้อย่างไร มีหน่วยงานไหนที่มีความชัดเจนในการดูแลผู้ป่วย กลุ่มนี้ แม้แต่กระทั่งผู้ปฏิบัติอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังคงเจอปัญหาอุปสรรค ในทางปฏิบัติ มีทั้งเงื่อนไขในการแรกรับ เงื่อนไขหลายประการ ขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้ประสานกัน ทำให้เกิดปัญหาในการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทั้งบ้านพิชิตใจ ทั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา การที่ไม่สามารถส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันทีนั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ รวมถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแล อย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ที่ควรจะติดตามช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีผู้ป่วยไม่น้อย ที่หลังจากรับการรักษาเสร็จสิ้นแล้วกลับมามีอาการรุนแรงอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นในที่สาธารณะ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนอยู่ที่ไหนครับ
นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ขอเสนอท่านประธานผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีช่วยสั่งการดำเนินการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง พม. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และท้องถิ่น ก็คือ กทม. บูรณาการประสานการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ เพื่อคืนทรัพยากรมนุษย์อันมีค่ากลับสู่สังคม เพราะคงไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะเป็นคน เร่ร่อนตลอดไป และคงไม่มีใครที่อยากจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แม้แต่กระทั่งจะจำตัวเอง ก็ยังจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเป็นใคร กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณพิมพฤดา ตันจรารักษ์ ครับ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
ท่านประธานสภา ที่เคารพ พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต ๓ พรรคภูมิใจไทยค่ะ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะมา หารือท่านประธานในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้เส้นทางสายถนน อย.๓๐๔๖ ซึ่งเป็นทางลัดทางเลี่ยงระหว่างอำเภอนะคะ ซึ่งจะสามารถเชื่อมถนนหมายเลข ๓๐๙ ทางหลวงหมายเลข ๓๐๕๖ และสามารถตัดออกไปที่ทางหลวงหมายเลข ๓๒ ได้ค่ะ มีระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร ซึ่งก็จะทำให้การจราจรระหว่างอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน และอำเภออุทัย สะดวกสบายมากขึ้นค่ะ ดิฉันจึงอยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยมาปรับปรุงผิวจราจรนะคะ เพราะว่าเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่หลายจุด แล้วก็ ขอให้ช่วยขยายช่องทางจราจรจาก ๒ ช่องทาง เป็น ๔ ช่องทาง เพื่อจะได้เชื่อมโยงโครงข่าย คมนาคมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย บรรเทาปริมาณ การจราจรของบนถนนสายหลักด้วยค่ะ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็อยากจะฝากท่านประธานค่ะว่า ไฟทางบนถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๑ ถนนพหลโยธิน ช่วงอำเภอวังน้อยมีไฟทางดับอยู่หลายจุด อยากจะฝาก ท่านประธานไปถึงแขวงการทางให้เร่งมาจัดการซ่อมแซมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ กับประชาชนผู้ใช้เส้นทางค่ะ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย อยากจะขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี กระทรวง ศึกษาธิการและคณะรัฐมนตรีค่ะ ที่มีมติสำคัญทางการศึกษา ก็คือการยกเลิกครูเวร เพราะคุณครูมีหน้าที่หลักก็คือการสอนหนังสือ และอีกเรื่องที่สำคัญค่ะ นอกจากการยกเลิก ครูเวรแล้ว ก็อยากจะขอให้กระทรวงศึกษาเร่งการคืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ ขาดแคลนด้วย เพราะนั่นจะช่วยลดภาระให้กับคุณครูเป็นอย่างมาก รวมถึงยังเกิดการ จ้างงานในชุมชนด้วย ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณสาธิต ทวีผล ครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม สาธิต ทวีผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขตเลือกตั้งที่ ๒ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๔ เรื่องครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ถนน ๓๐๑๗ ช่วงบริเวณซอย ๑๙ ถึง ซอย ๒๐ ไม่มีไฟส่องสว่าง ซึ่งถนนสาย ๓๐๑๗ นี้ ถ้าหากนับจากบริเวณซอย ๑๒ มาถึงตลาดพัฒนา จะมีไฟมาแล้ว ทุกช่วง จะไม่มีเพียงช่วงของซอย ๑๙ ถึงซอย ๒๐
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ถนนเส้นเดียวกัน ถนน ๓๐๑๗ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใหญ่ อานนท์ เพิ่มชาติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลนิคมสร้างตนเอง ว่ามีลูกบ้านไปร้องเรียนว่า ไฟส่องสว่างบริเวณร้านครัวคุณต้อย จากวงเวียนกรมประชามาประมาณ ๒๐๐ เมตรครับ ที่จะขึ้นไปทางโคกตูม ไฟส่องสว่างบริเวณนั้นไม่สามารถใช้การได้จำนวน ๑ หลอด ขอฝาก ๒ เรื่องนี้ผ่านท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงลพบุรีที่ ๑ ด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหารถโดยสารสาธารณะในอำเภอพัฒนานิคม ผมเคยได้หารือ ไปแล้วในสมัยประชุมที่แล้วว่าพี่น้องประชาชนนั้นไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่จะเข้ามายัง ตัวอำเภอเมืองลพบุรี ในการเข้ามาแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงมากครับ ขอฝาก ปัญหานี้ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ ไม่ใช่เรื่องร้องเรียนครับท่านประธาน จะขอเชิญชวน ให้เที่ยวงานประจำปีของจังหวัดลพบุรี ซึ่งจะมี ๒ งานใหญ่ งานแรกจะเป็นงานแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดขึ้นวันที่ ๙-๑๘ กุมภาพันธ์ แล้วก็งานที่ ๒ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายสาธิต ทวีผล ลพบุรี ต้นฉบับ
เป็นงานสักการะรอยพระพุทธบาทครับ ที่เขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ขึ้นไปบนเขาวงพระจันทร์ จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ๓,๗๙๐ ขั้น ก็ขอฝากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาช่วย Promote การท่องเที่ยวให้จังหวัดลพบุรีด้วย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณเทอดชาติ ชัยพงษ์ ครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ๓ เรื่องหลักครับ คือเรื่องไฟ เรื่องน้ำประปา และเรื่องเอกสารสิทธิครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องไฟฟ้าเพื่อการเกษตร และขยายเขตไฟฟ้าที่ตำบลแม่ต๋ำ บ้านสันมะปิน บ้านป่ามื่น ตอนนี้ยังไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ฝากท่านประธาน ด้วยนะครับ และจุดบ้านแม่ลอย หมู่ที่ ๑๒ นี้เป็นเส้นทางระหว่างแม่ลอย-เทิง ไปอำเภอ ป่าแดด จุดนี้ประชาชนได้ขยายบ้านเรือนราษฎรไปหลายหลังคาเรือนแล้วนะครับ ก็ต้อง ขยายเขตไฟฟ้าไปด้วยนะครับ อีกจุดหนึ่งเรื่องของน้ำประปา หมู่ที่ ๑ ตำบลเชียงเคี่ยน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๘ ไม่มีแท็งก์กักเก็บน้ำประปา เลยขุดเจาะน้ำบาดาลเรียบร้อย แต่ยังขาดแท็งก์ ก็ต้องรบกวนท่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ดำเนินการในการดูแลประชาชนในพื้นที่ตำบลเชียงเคี่ยนด้วยนะครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องเอกสารสิทธิ การเปลี่ยนโฉนดเป็น ส.ป.ก. นั้นก็ยังไม่ครอบคลุม ประชาชนในพื้นที่ วันนั้นผมไปที่ตำบลไม้ยา อำเภอพญาเม็งราย ท่านกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้มีข้อร้องเรียน แล้วก็ขอปรึกษาหารืออยู่ ๒-๓ เรื่อง เรื่องเอกสารสิทธิ เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด กับพื้นที่ป่าจำแนกเป็นโฉนด ส.ป.ก. เป็นโฉนดยังไม่ครอบคลุมประชาชน ที่จะต้องได้รับสิทธิอย่างครอบคลุมนะครับ เพราะฉะนั้นการประสานงานต่อไปฝากไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อที่จะได้ประสานไปให้ พี่น้องประชาชนที่มีสิทธิได้รับทราบอย่างทั่วถึง แล้วก็การทำพื้นที่ป่าจำแนกให้เป็นโฉนดของ ประชาชน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในพื้นที่ที่ประชาชนได้อาศัยอยู่ยังไม่มีโฉนด ก็ฝากในพื้นที่ตรงนี้ ด้วยครับ พื้นที่ของจังหวัดเชียงรายเขต ๕ ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ ท่านวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ครับ
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนากล้า ผมมีเรื่องหารือ กับท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องเกษตรกรชาวตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวนไม่น้อยกว่า ๔๐ ราย ว่าขณะนี้เขากำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ไม่มีที่ทำกิน เพราะที่ทำกินที่เคยมีอยู่เดิมนั้น คือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในเขตพื้นที่โคกหนองพวง ตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนินนั้นได้ถูกยึดคืนไปหมดแล้ว โดย ม. ๔๔ หลังเกิด คสช. ขึ้นใหม่ ๆ โดยไม่ทราบเหตุผล ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เจ้าหน้าที่ทหารบอกกับ ชาวบ้านเพียงสั้น ๆ ว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นเดิมเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องกันไว้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ตามเดิม ท่านประธานครับ ฟังดูแล้วเหมือนมีเหตุผลดี แต่ข้อเท็จจริงแล้วในทางตรงกันข้าม เขาไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ครอบครัวของพี่น้องเกษตรกรเลย ที่เขาได้ทำกิน ในพื้นที่แห่งนี้มาช้านานต่อเนื่องกันมากว่า ๒ ทศวรรษแล้ว ต้องมาหยุดชะงักลงอย่าง กะทันหัน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ท่านประธานทราบไหมครับว่า สภาพ ของการเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของโคกหนองพวงในปัจจุบันนี้มันได้หมดสภาพไปนานแล้ว ปัจจุบัน มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้ ไม่มีใครเอาสัตว์ไปเลี้ยง เพราะไม่มีหญ้า ให้สัตว์กิน และปัจจุบันชาวบ้านก็นิยมเลี้ยงวัวเลี้ยงควายในคอก หรือในฟาร์มที่บ้านกัน หมดแล้ว ไม่มีใครเอาสัตว์ไปเลี้ยงนอกบ้านเหมือนแต่ก่อน ท่านครับ การยึดคืนที่ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของพี่น้องผู้ยากไร้เหล่านี้ นอกจากไม่มีใครได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้าง ความเดือดร้อนแสนสาหัสให้แก่ครอบครัวของพี่น้องเกษตรกรอย่างไร้เหตุผลอีกด้วย จากที่พวกเขาเคยมีที่ทำกินกันอยู่ดี ๆ ต้องกลับกลายมาเป็นคนไร้ที่ทำกิน ไม่มีรายได้ที่จะ เลี้ยงชีพ ไม่มีเงินไปชำระหนี้ ธ.ก.ส. มีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวัง และบางคนถึงกับ สิ้นเนื้อประดาตัว ดังนั้นท่านประธานครับ ผมจึงขอความกรุณาจากท่านประธานผ่านไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนคืนความเป็นธรรม ให้แก่พี่น้องเกษตรกรเหล่านี้ ด้วยการมอบที่ ส.ป.ก. ๔-๐๑ คืนให้แก่พวกเขาโดยเร็วครับ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสมีที่ทำกิน มีชีวิตใหม่ มีหนทางที่จะหาเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. และมี หนทางที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไปด้วย ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมขออนุญาตปรึกษาหารือกับท่านประธานจำนวน ๒ เรื่องด้วยกัน
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก ในพื้นที่ตำบลบางน้ำจืด ถนนข้างซอยวัดโพธิ์แจ้ มีเสาไฟล้ม เขื่อนทรุดตัว ขณะนี้ยังไม่ได้มีการซ่อมแซมแก้ไขนะครับ หนำซ้ำก่อนหน้าทาง อบต. บางน้ำจืด ทราบแล้วจะเข้าไปแก้ปัญหา แต่ยังไม่ทันได้เข้าไปดำเนินการ เพราะจำเป็นต้องขออนุญาต หน่วยงานเจ้าของพื้นที่หลายหน่วยงานนะครับ เช่น กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน แต่สุดท้าย ก็ไม่ทันการณ์ ได้เกิดเหตุเขื่อนทรุด เสาไฟล้มขึ้นก่อนนะครับ โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ดังนั้นผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบูรณาการ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนตามที่เห็นสมควรนะครับ นอกจากนี้ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้พิจารณาแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการของพื้นที่ ทำให้เกิดความ เชื่องช้าในการดำเนินการแก้ไข ผมไม่อยากเห็นการสูญเสียและโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับใคร เหตุเพราะติดขัดเรื่องระเบียบนะครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องปัญหาน้ำประปาครับ เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่หลายพื้นที่ของ เขตอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร อาทิน้ำประปาไหลอ่อน และไม่ไหลบ่อย ที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอมหาชัย อำเภอโกรกกราก อำเภอบางหญ้าแพรก อำเภอพันท้ายนรสิงห์ เนื่องจาก หลายสาเหตุด้วยกันครับ อาทิเช่น ท่อเดิมเป็นท่อเก่าแล้วมีขนาดเล็ก การขออนุญาตใช้น้ำประปาจากโครงการหมู่บ้านน้อยกว่าจำนวนครัวเรือนที่ใช้จริง ทำให้ โครงสร้างพื้นฐานรองรับไม่พอ ปัญหาแรงดัน ปัญหาการอยู่พื้นที่ปลายทางทำให้แรงดันน้ำ ไม่พอกับความต้องการของประชาชน จากกรณีทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมาก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข ปัญหาที่ตรงจุด และผมเองเห็นใจการประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ หรือแม้แต่หน่วยงาน ของท้องถิ่นเองที่ตั้งใจทำงานอย่างหนัก แต่ก็ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างนะครับ อย่างไร ผมจึงฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางให้บูรณาการแก้ไข ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ ครับ
นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอนำเรียนปรึกษาหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ
นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องแรก งานมหกรรมพืชส่วนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งผมมีโอกาสได้ ปรึกษาหารือท่านประธาน ณ ห้องสุริยันแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคมที่ผ่านมา ๕ เดือน ผ่านไปแล้ว ไม่มีอะไรคืบหน้าเลยครับท่านประธาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินพร้อมคณะ มีโอกาสได้ลงไปดูหน้างาน สอบถามถึงอุปสรรคปัญหา รวมถึงแสดงความคิดเห็นไว้ แทนที่โครงการจะมีความรุดหน้า อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามนะครับ ปัจจุบันโครงการมหกรรมพืชสวนโลกของ จังหวัดอุดรธานีกลับมีสภาวะถดถอย ถอยหลัง ยกตัวอย่างนี้ครับ
นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ
ป้ายขนาดใหญ่หน้าโครงการสีขาว ถูกยกออกไป แทนที่ด้วยป้ายสีชมพู ของดี OTOP ปักษ์ใต้ เดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม ที่จะถึง ขออนุญาต Promote โครงการไปด้วยเลยก็แล้วกันนะครับ หนำซ้ำสื่อต่าง ๆ ยังตีออกมา โครงการส่อล่ม งบประมาณบานเท่าตัว Master Plan ต้องถูกจัดทำใหม่ โอ้โห อย่างนี้จะให้ประชาชนที่รอคอยอย่างมีความหวังกับโครงการดี ๆ ให้เขาลืมตาอ้าปากได้ รู้สึกอย่างไร ยังไม่พอ ขออนุญาตแนะนำเพิ่มเติม นี่ครับ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทย จะเสียหาย แน่นอนถ้าจังหวัดอุดรธานีของเราไม่ได้จัดในปี ๒๕๖๙ งานมหกรรมพืชสวนโลก Type A ที่ใหญ่กว่าของโคราช ในปี ๒๕๗๒ ก็คงจะไม่ได้จัดเช่นกัน เนื่องจากผู้ออกใบอนุญาต Authorized license เป็นเจ้าเดียวกัน เป็นหน่วยงานเป็นองค์กรเดียวกัน เพราะฉะนั้น จะทำให้ประเทศไทยของเราเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทครับ ท่านประธาน ต้องย้ำนะครับ ว่าที่ต้องนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้งหนึ่งก็เนื่องจากว่าประชาชน ในพื้นที่ ทีมงานและตัวผมมีความต้องการให้โครงการดี ๆ อย่างนี้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างมี ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างสูงสุด
นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุดรธานี ซึ่งปัจจุบัน ๒๐ อำเภอของจังหวัดอุดรธานี รวมถึงอีก ๗ จังหวัดรอบข้างเข้ามาใช้ปีละกว่า ๑ ล้านคน ตกเฉลี่ยวันละ ๓,๐๐๐ คน เตียงที่ใช้ได้จริงมีอยู่ ๑,๑๐๐ เตียง กราบเรียนท่านประธานนะครับ วิงวอนไปยังหน่วยงาน ไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรงช่วยแก้ปัญหาลดความแออัดให้โรงพยาบาล ศูนย์จังหวัดอุดรธานีที เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกชีวิตที่มาขอรับการรักษา รวมถึงบุคลากร ทางการแพทย์ทุกคนด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนิคม บุญวิเศษ ครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กระผมขอหารือ ๓ เรื่อง ท่านประธานครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องการทำฝายกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ปัจจุบันประชาชน ตำบลนาคำ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน เกิดปัญหาภัยแล้งทุกปีท่านประธานครับ เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร อีกทั้งลำห้วยเล็ก ๆ ตามหมู่บ้านก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ เวลาฝนตกปริมาณน้ำมาก ๆ ก็ทำให้น้ำเอ่อท่วมไร่นาและสวนเกษตรของพี่น้องประชาชน ประชาชนนำโดยนายบุญเหลือ โคหนองบัว กำนันตำบลหัวนาคำ อำเภอบ้านดุง จึงส่งเรื่องร้องทุกข์มายังผมเพื่อมา ปรึกษาหารือให้สภาผู้แทนราษฎร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้ประชาชนด้วยครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับ ขอรับการสนับสนุนโครงการปรับภูมิทัศน์ ลำห้วยทวน หมู่บ้านโสมวิไล หมู่ที่ ๕ และบ้านงิ้ว หมู่ที่ ๗ เนื่องจากได้รับการแจ้งจาก ประชาชนว่า พื้นที่ดังกล่าวประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีลำห้วยทวนเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ลำห้วยทวนก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เนื่องจากว่าไม่ได้รับการขุดลอกมาช้านาน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดนนทบุรี คนที่อยู่บางใหญ่ บางกรวย ไทรน้อย ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการใช้ถนนเส้นกาญจนาภิเษก เนื่องจากปัจจุบันคนที่อาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี เส้นกาญจนาภิเษกนั้นช่วงสถานีรถไฟฟ้า บางใหญ่ผ่านห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต มุ่งหน้ามาแถวบางใหญ่ประสบปัญหา การจราจรติดขัดมาก แล้วพบว่ามีรถบรรทุกวิ่งอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้อยู่ในกรอบเวลา ที่กฎหมายกำหนด และมีเศษหินเศษดินกระจายทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และยังมีต้นไม้ กอหญ้ารกรุงรัง ไม่มีการตัดแต่งต้นไม้ ไม่มีการบำรุงรักษา ไม้ประดับก็ไม่สวยงามด้วย ประชาชนในพื้นที่จึงส่งเรื่องร้องทุกข์มายังกระผม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ ประชาชนด้วยครับ กราบขอบพระคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณวัชระ ยาวอหะซัน ครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระ ยาวอหะซัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๑ อำเภอเมืองและ อำเภอยี่งอครับท่านประธาน วันนี้ผมขอหารือเรื่องสร้างสนามบินนราธิวาสล่าช้าครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
โดยที่ผมได้รับการร้องเรียน จากนายบัณฑิตย์ บินรอแม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เขต ๑ ตำบลโคกเคียน คือเขตสร้างสนามบิน สนามบินนราธิวาสสร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ หรือ ๕๖-๕๗ ปีที่แล้ว เปิดสนามบินเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม นานมากครับ แล้วก็ปัจจุบัน ชาวนราธิวาส ๓ จังหวัดดีใจที่เราจะได้สนามบินใหม่ อาคารใหม่ ดังจะเห็นในภาพสไลด์ ทั้งหมด ๗ อาคาร ปรากฏว่าสัญญาทั้งหมดที่ดูตามภาพก็คือ ๙๙๐ วัน งบประมาณทั้งหมด เกือบ ๖๔๐ ล้านบาท ขาด ๑๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ปรากฏว่าสร้างไปปัจจุบันเหลืออีก ๓๒๙ วัน นับถึงแต่วันนี้นะครับ ปรากฏว่าสร้างไปได้แค่ข้อที่ ๑ เอง แล้วก็เหลืออีก ๗ โครงการ ก็ยังไม่ได้ทำ ปรากฏว่าล่าช้ามาก ทางท่าน สจ. รายงานว่า ได้ไปเอานายหน้าค้าที่ดิน ชาวบ้านในพื้นที่เป็น Sub รับงานต่อ ปรากฏว่าทำไม่ได้ เสียเวลาไปเกือบ ๒ ปี ก็อย่างที่ ทราบว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาเยอะมาก อย่างปี ๒๕๖๖ ชาวมาเลเซีย เข้ามาประเทศไทยก็เกือบ ๕ ล้านคน โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสมี ๓ ด่าน ด่านบูเก๊ะตา ด่านตากใบ และด่านสุไหงโก-ลก วันนี้เราเสียโอกาส อย่างไรก็แล้วแต่ได้ข่าวว่าต่อสัญญา อีกแล้ว ๒ ปี ผมอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยนะครับว่า ถ้าต่อไปอีกก็ต่ออีก ก็ไม่เสร็จอีกนะครับ หลาย ๆ เรื่องในจังหวัดนราธิวาสวันนี้ไม่เสร็จ สักอย่างครับ ฝากด้วยครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชุติมา คชพันธ์ ครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ครั้งนี้ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจากภาคใต้ทั้งหมด ๓ เรื่อง
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก พี่น้องจาก ตำบลกงหรา อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ร้องเรียนมาทางดิฉันว่ามีความเดือดร้อนจากการ ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เรื่องนี้แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของขั้นตอนการปฏิบัตินะคะ นี่คือเอกสาร ที่ประชาชนเจรจา และดิฉันได้อ่านทั้งปึกนี้แล้วนะคะ เจรจามายาวนานหลายปีแล้ว จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ยากเลยถ้ามีการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว ขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ที่ดินของรัฐ หรือ กบร. ทั้งส่วนกลางและจังหวัดพัทลุงแค่เร่งดำเนินการพิสูจน์ให้เรียบร้อย แล้วคุณสามารถที่จะออกโฉนดเป็นรายเฉพาะบุคคลได้อยู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้บุกรุก แต่เป็นพื้นที่อยู่มาก่อนนับทศวรรษเรียบร้อยแล้ว ขอแค่มีการพิสูจน์สิทธิแล้วก็ดำเนินการ ตามขั้นตอนอย่างจริงจังนะคะ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการด้วยค่ะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการต่อมา ในพื้นที่เดียวกันประชาชนจ่ายค่ารังวัดเรียบร้อยแล้วในการ ขอออกโฉนดมาหลายปี แต่ก็ถูกเลื่อนนัดหลายครั้ง จึงขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง เร่งดำเนินการที่ค้างคาให้เสร็จโดยด่วนนะคะ จ่ายเงินไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ นี่ปี ๒๕๖๗ แล้ว ไม่ว่าจะยืดเยื้อยาวนานไปทำไม จึงขอให้เร่งดำเนินการด้วยค่ะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการต่อมาค่ะ จังหวัดตรังดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ภาคประชาชน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรังว่า สูญเสียโอกาสจากการเปิดอาคารใหม่ซึ่งควรจะเป็น สนามบินนานาชาติและควรจะเปิดตั้งนานแล้ว แต่ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม เดิมจะเสร็จ ในปี ๒๕๖๕ ขยายมาถึงปี ๒๕๖๖ ตอนนี้ปี ๒๕๖๗ แล้วก็ยังไม่มีวี่แววเลยว่าจะเปิดใช้งาน เมื่อไร สะพานเทียบเครื่องบินหรือที่เราเรียกกันว่างวงช้าง ที่จริงต้องมี ๒ ตัว ปัจจุบันยังมีแค่ ๑ ตัวคาดว่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๖ ตอนนี้ก็ยังไม่มีเลยนะคะ ต่อไปมาอย่างที่ เห็นในภาพยังล้อมรั้วกันอยู่เลยค่ะ ยังไม่พร้อมส่งมอบ ยังไม่พร้อมใช้งาน จึงขอให้ กรมท่าอากาศยานเร่งดำเนินการให้พร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมามากขึ้นในทุกปี โดยเร่งด่วนค่ะ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายค่ะท่านประธาน เรื่องของจังหวัดสงขลา หาดสมิหลา ดิฉันได้รับ เรื่องร้องเรียนมาว่า ร้านค้าแถวนั้นเดือดร้อนจากการขึ้นค่าเช่าที่ร้านค้าแบบก้าวกระโดด ขึ้นมาถึง ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จึงขอให้เทศบาลนครสงขลา รวมถึงผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลาได้ทบทวน และได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน พ่อค้าแม่ค้าร้านค้าแถวนั้น ให้มีการเก็บค่าเช่าที่อย่างเป็นธรรมโดยเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณตวงทิพย์ จินตะเวช ครับ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องอำเภอเดชอุดม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของดิฉันค่ะ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เรื่องถนนสาย อบ. ๔๐๒๙ เชื่อมจากตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม เชื่อมอำเภอนาจะหลวยจะมีอยู่ช่วง ระยะหนึ่งประมาณ ๒ กิโลเมตร ที่พ่อแม่พี่น้องสัญจรไปมาได้อย่างยากลำบากค่ะ อยู่ช่วง บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านหมากมาย พ่อแม่พี่น้องสัญจรไปมาอย่างยากลำบาก เนื่องจาก สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดความเสียหาย ถนนเป็นคลื่นแทบจะตลอดทั้งสาย ถึงแม้ว่า ทางหลวงชนบทจะมีการออกมาซ่อมแซมอยู่เป็นประจำ แต่เนื่องจากรถสัญจรไปมา ผ่านเส้นทางนี้มีอย่างมากมาย ทำให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ดิฉันขอกราบเรียน ท่านประธานฝากไปยังกรมทางหลวงชนบท ถ้าช่วงไหนที่มีงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุดด้วยค่ะ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากอำเภอเดชอุดม มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ ๖๐๕,๘๑๑ ไร่ แบ่งออกเป็นการปลูกข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและยางพารา ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาหลักที่พบ ในปัจจุบันนี้คือน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลนากระแซง ตำบลสมสะอาด และตำบลบัวงาม น้ำจะหมดตั้งแต่ช่วง ต้นปีเลยค่ะ ตั้งแต่เดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ พ่อแม่พี่น้องเริ่มขาดแคลนน้ำใช้แล้วนะคะ ดิฉันขอกราบเรียนท่านประธานฝากไปยังกรมชลประทาน หรือกรมทรัพยากรน้ำให้ได้มี การออกสำรวจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี เพื่อที่จะ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องได้เป็นอย่างดีค่ะ กราบขอบพระคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณสิริน สงวนสิน ครับ
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ครับ ผม สิริน สงวนสิน ผู้แทนราษฎรคนตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
วันนี้นะครับ ผมอยากจะมาพูด เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย นี่ครับ ตรงนี้คือจุดสาย ๓ ตรงหน้าหมู่บ้านเจ้าพระยาร่วมใจ คือทางสำนักงานเขตเขาได้เอา Barrier มากั้น เพราะว่ารถบรรทุกเขาชอบออกจากซอยนี้ แล้วก็ Pass เลน ๒ เลนเพื่อที่จะข้ามผ่านสะพาน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากครับ ทางเราก็ได้เอา Barrier มากั้นแล้วนะครับ แต่ว่าคนขับรถบรรทุกคงคิดว่าตัวเองเป็น มอเตอร์ไซค์เขาเลยวิ่งย้อนเลน คราวนี้ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ ย้อนเลนออกมาแล้วก็กลับรถ ๓ คัน จุดนี้มีคนเสียชีวิตมา ๔ ศพแล้วครับ คือผมอยากจะบอกท่านประธานก่อนนะครับว่า จริง ๆ แล้วในเขตทวีวัฒนาเราเป็นพื้นที่สีเขียว มันไม่ควรจะมีบริษัทขนส่งตั้งอยู่ครับ แต่มัน ก็ไม่ได้มีแค่ ๒-๓ บริษัท มีถึง ๒๕๐ บริษัทที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งสร้างความลำบากใจกับ พี่น้องชาวทวีวัฒนามาก ๆ ครับ คือเราไม่อยากจะอยู่ร่วมกับเขา แต่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมเขา แต่เราได้อยู่ร่วมกับเขาแล้วเราก็อยากให้เขาไม่ประมาท มาทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนเรา หรือชีวิตของลูกหลานเราต้องเสียชีวิตง่าย ๆ นะครับ อยากจะรบกวนตำรวจจราจร อาจจะมาติดกล้องที่จุดนี้ก็ได้นะครับ เพราะผมเคยให้ผู้ช่วย มายืนจุดนี้ วันหนึ่งมีเป็น ๑๐ รายที่เขาย้อนเลนกลับมา รถบรรทุกนะ รถ Trailer ใหญ่ ๆ ย้อนเลนมา ผมว่าอย่างไรมันคุ้มค่ากับการลงทุนที่จะเอากล้องวงจรปิดมาติดแน่นอนครับ ผมว่าเราปรับเดือนหนึ่งได้เป็น ๑๐๐,๐๐๐ บาทจุดนี้ แล้วก็อาจจะฝากกระทรวงมหาดไทย ช่วยดูแลเรื่องผังเมืองหน่อยนะครับ เพราะว่า พ.ร.บ. ผังเมืองอันใหม่กำลังจะออกมา แต่ว่าอันนี้เป็น ๒๐ กว่าปีแล้วยังค้างคา ไม่มีใครไปจัดการกับบริษัทขนส่งได้เลยครับ ถ้าเป็นไปได้จริง ๆ ผมก็อยากจะขอร้องนะ แต่ถ้าเป็นไปได้นะครับ ลองมาปราบ Mafia ขนส่งเขตทวีวัฒนาหน่อยครับ ท่านชาดาครับ
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอสไลด์ถัดไปครับ เกี่ยวกับไฟแสงสว่าง ผมได้หารือมา ๒ รอบ แล้วนะครับ ก็พูดเรื่องเดิมมาทั้ง ๒ รอบ คือเรื่องเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ทั้งไม่มี Footpath ค่อนข้างอันตราย เพราะมีรถมอเตอร์ไซค์ย้อนเลนบ่อย ดูสภาพตอนกลางคืน มืดตื๋อเลยครับ เป็นจุด ๆ นะครับ หลายจุดมากที่ยังมืด มีทั้งวงเวียนชัยพฤกษ์ แล้วก็ทางสะพานกลับรถ หลาย ๆ จุด ก็ฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณจิรัชยา สัพโส ครับ
นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน จิรัชยา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันมีเรื่องหารือ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังนี้ค่ะ ดิฉันขอฝากเรื่องไปยัง กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย
นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก ให้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำสงคราม บ้านท่าก้อน หมู่ที่ ๘ และอีกหนึ่งจุดที่ลำน้ำยาม ช่วงเทศบาลอากาศอำนวย เนื่องจากแม่น้ำได้ไหลผ่านและ กัดเซาะริมตลิ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นอย่างมากค่ะ
นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ
และเรื่องที่ ๒ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ฝากพิจารณาในการก่อสร้าง ระบบป้องกันน้ำท่วมในถนนหน้าส่วนราชการ อำเภออากาศอำนวย และพื้นที่เทศบาล พรรณานิคมและเทศบาลพรรณานคร อำเภอพรรณานิคม สำหรับหน่วยงานที่ ๒ ดิฉันขอ ฝากเรื่องไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ดิฉันอยากให้กรมทางหลวงขยายถนน ในส่วนกิจกรรม Front Trade Road รถในทางหลวงหมายเลข ๒๒ เพราะ Main Road ที่ผ่านชุมชนจะเกิดปัญหาในการสัญจรบริเวณด้านไหล่ทางทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงอยากให้กรมทางหลวงช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวในช่วงบ้านบด บ้านพอกน้อย บ้านวังยาง บ้านสูงเนิน บ้านเม็ก บ้านม่วงไข่ บ้านโคกชุมพร บ้านโคกสุวรรณ อำเภอพรรณนานิคม และ ให้กรมทางหลวงแก้ปัญหาน้ำท่วมขังไหล่ทางในทางหลวงหมายเลข ๒๒ โดยการปรับปรุง ระบบระบายน้ำทางเท้าค่ะ
นางสาวจิรัชยา สัพโส สกลนคร ต้นฉบับ
และเรื่องสุดท้ายนะคะ ดิฉันขอฝากกรมทางหลวงให้ปรับปรุงขยาย ความกว้างสะพานข้ามลำน้ำยาม ทางหลวงหมายเลข ๒๐๙๔ รวมถึงติดตั้งไฟส่องสว่างจาก สะพานลำน้ำยาม ช่วงเทศบาลอากาศอำนวยถึงบ้านท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย ดิฉันหวัง เป็นอย่างยิ่งนะคะว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่ดิฉันได้กล่าวมา กรมโยธาธิการและและผังเมือง กรมทางหลวงจะเข้าไปดำเนินการในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กราบขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ครับ
นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล นครปฐม ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต ๖ พรรคก้าวไกล ขอปรึกษาหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวสามพราน ผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล นครปฐม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ จากการที่ผมได้รับเรื่อง ร้องเรียนจากผู้ปกครองหลายท่านถึงปัญหาการจำหน่ายน้ำกระท่อมให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีบทลงโทษทางอาญา แต่ร้านขายกระท่อม จำนวนมากยังคงเปิดให้บริการตามปกติ พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน มีนักเรียนแวะเวียน ไปซื้อหาได้อย่างง่ายดาย จากภาพจะเป็นตัวอย่างร้านขายน้ำกระท่อมบนทางเท้าบริเวณ ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ โดยจำหน่ายในราคาเล็ก ๔๐ บาท ขวดใหญ่ ๘๐ บาท มีบัตรสะสมแต้ม พร้อมส่ง ๒๔ ชั่วโมง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการทางกฎหมายต่อไป ด้วยครับ
นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล นครปฐม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ จากภาพเป็นกรณีอุบัติเหตุเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ บริเวณ ถนนเพชรเกษมช่วงแยกวัดเทียนดัด ทางผู้เสียหายแจ้งว่า ไม่สามารถขอดูภาพจาก กล้องวงจรปิดได้ จากกรณีดังกล่าว กระผมจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาจัดสรร งบประมาณในการซ่อมแซมเครื่องบันทึกภาพกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ชำรุดทุกจุดในเขต อำเภอสามพรานให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามปกติ และเพิ่มจำนวน กล้องวงจรปิดในจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมสูง หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อความ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนชาวสามพราน
นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล นครปฐม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ พี่น้องประชาชนที่อยู่ด้านนอกประตูระบายน้ำคลองไหหลำ บริเวณ ซอยเปโตร ๔๐ ในพื้นที่หมู่ ๕ ตำบลท่าข้าม ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จึงขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำหรือจัดให้มี มาตรการบริหารจัดการภัยน้ำท่วมในบริเวณดังกล่าวอย่างยั่งยืน ส่วนข้อหารือในประเด็นอื่น กระผมจะร่างเป็นหนังสือกราบเรียนต่อท่านประธานต่อไป ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณวิภาณี ภูคำวงศ์ ครับ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขต ๘ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือปัญหาพื้นที่ค่ะท่านประธาน ขอสไลด์ด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียน จากนายรังสรรค์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ เรื่องขอความอนุเคราะห์ ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ด้วยปัจจุบันถนนทางหลวงหมายเลข ๒ มิตรภาพ ช่วงสามแยกท่าพระ ไปอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีผู้ใช้รถจำนวนมากขับขี่ด้วยความเร็วสูง และจุดตัด บริเวณปากทางเข้าบ้านหนองแวง หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๒ หมู่ที่ ๑๗ และหมู่ที่ ๒๑ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ดิฉันจึงอยากฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็คือกรมทางหลวงเข้ามาลงพื้นที่เพื่อดำเนินการ แก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนจะได้สัญจรอย่างสะดวกและปลอดภัยด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ จากที่ดิฉันเคยได้หารือเรื่องขอใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค บ้านดอนเงิน หมู่ที่ ๑๓ ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบัน ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างมาก เพราะน้ำประปาที่ใช้อยู่เป็นน้ำบาดาลขุดเจาะเอง แต่เป็นน้ำเค็ม ปริมาณน้ำไม่เพียงพอและไม่สะอาดต่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชน ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ดิฉันจึงอยากขอฝากท่านประธาน ไปยังการประปาส่วนภูมิภาค เขต ๖ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไข ปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนด้วยค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
และสุดท้ายนี้ค่ะ ดิฉันอยากขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเที่ยวงาน เทศกาลกล้วยไม้ป่าบาน และของดีเมืองมัญจาคีรี อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปี ภายในงาน มีทั้งสินค้าทางการเกษตร เดินแฟชั่นโชว์ เยี่ยมชมกล้วยไม้ช้างกระ และมี Booth ร้านค้าจาก ทางหน่วยภาครัฐและเอกชน ก็ขอเชิญชวนพี่น้องทุก ๆ ท่านออกมาเยี่ยมชมและเที่ยวงาน เพื่อความสนุกสนานกันเยอะ ๆ นะคะ ขอขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณกาญจนา จังหวะ ครับ
นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวกาญจนา จังหวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๔ พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ดิฉันมีข้อหารือต่อท่านประธานด้วยกัน ๒ ข้อหารือค่ะ
นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ข้อหารือที่ ๑ ดิฉันได้รับหนังสือจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวแดง ผ่านมาตัวดิฉันเพื่อให้ท่านประธานแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง สาธารณสุข ให้ติดตามการจัดสรรงบประมาณ โครงการการก่อสร้างอาคารตึกอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาลหนองบัวแดง เนื่องจากโรงพยาบาลหนองบัวแดง ได้นำเสนอโครงการนี้ เข้าแผนการจัดสรรงบประมาณโครงการการก่อสร้างตึกอุบัติเหตุของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ประจำต่อเนื่องในทุกปี โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ แต่อย่างใด และโครงการดังกล่าวก็อยู่ในการพิจารณา ในลำดับที่ ๔ ของคณะกรรมการระดับ จังหวัดชัยภูมิ และอยู่ในลำดับที่ ๑๕ ของเขตสุขภาพที่ ๙ นครราชสีมา ซึ่งสถิติการเข้ารับ บริการของโรงพยาบาลหนองบัวแดง มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ดิฉันจึงฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาอนุมัติเพื่อการจัดสรรงบประมาณ ในครั้งนี้ด้วยค่ะ
นางสาวกาญจนา จังหวะ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ขอหารือที่ ๒ ดิฉันขอติดตามถนนเส้นทางหนองบัวแดง บ้านโหล่น สายทาง ชย. ถนนหมายเลข ๑๐๐๖๑ ที่ดิฉันเคยหารือต่อท่านประธานไว้เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนในเส้นทางดังกล่าวเลย และเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทาง เศรษฐกิจของหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลนางแดด ซึ่งเป็นชาวสวนที่ทำมะม่วง ได้นำเส้นทางนี้เพื่อขนถ่ายสินค้าเกษตรไปขาย ดิฉันจึงขอสะท้อนถึงปัญหาถนนสาย หนองบัวแดง บ้านโหล่น ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบแก้ไข ถนนสายนี้อย่างจริงจังด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชวาล พลเมืองดี ครับ
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชวาล พลเมืองดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๓ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนต่อท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ปัญหาอยู่ด้วยกัน ๓ เรื่องครับ
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาจุดตัดทางข้ามทางรถไฟ ถนนหมายเลข ๓๔๖๖ พานทอง-บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่มีสภาพที่ชำรุด พื้นผิวขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีลักษณะเป็นคอขวด เนื่องจากจุดตัดดังกล่าวบีบช่องทางการจราจรจาก ๔ ช่องทาง เหลือเพียง ๒ ช่องทาง ซึ่งจุดตัดดังกล่าวเป็นถนนที่ประชาชนใช้สัญจรเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการจราจรติดขัดอย่างรุนแรงในช่วงเวลาเร่งรีบ ปัญหาดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแล ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผมได้มีการดำเนินการประสานงานไปแล้ว แต่ก็ทำได้เพียง เพิ่มช่องทางการเดินรถไปเบื้องต้นเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนครับ
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา ผมได้รับรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถบรรทุกดินของโครงการ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี (โครงการ ๒) ทำดินร่วงหล่นบนถนนที่ประชาชนใช้สัญจร ไปมาในพื้นที่ตำบลบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากไม่ได้มีผ้าหรือพลาสติก ในการปิดปกคลุมในระหว่างการขนส่ง ทั้งยังพบพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจจะผิดต่อกฎหมายอีก เช่นรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงมีการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตาม มาตรการตามที่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไว้ ด้วยเหตุนี้เนื่องจาก โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นโครงการที่จัดว่ามีความเสี่ยงที่จะสร้าง ผลกระทบอย่างสูง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยเร่งด่วน
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
เรื่องต่อมา เป็นเรื่องถนนชำรุดในพื้นที่ซอยวิลล่าโคโม่ ตำบลหนองหงส์ หมู่ที่ ๒ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ถนนชำรุดมาแล้ว ๒-๓ ปี หลังจากมีบริษัทเอกชน ได้เข้าไปวางท่อน้ำดิบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐๐ มิลลิเมตรในพื้นที่ดังกล่าว ลักษณะถนน เป็นหลุมบ่อและมีทรุดตัวตลอดเส้นทาง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะหน่วยงานที่ให้อนุญาตโครงการดังกล่าวเข้าไปหาแนวทาง ปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
แล้วก็มีอีกที่หนึ่งคือ ถนนเทศบาล ๓ ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง ถนนชำรุดมาแล้วประมาณ ๑ ปี เนื่องจากถนนทำเสร็จเพียงแค่ ๓ เดือน แล้วก็มีโครงการ วางท่อน้ำดิบ ขุดถนนจนพังเป็นหลุมเป็นบ่อทั้งเส้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเช่นเดียวกันครับ ในฐานะหน่วยงานที่อนุญาตโครงการ ดังกล่าวเข้ามาปรับปรุงแก้ไขถนนดังกล่าว และเพิ่มไฟส่องสว่างในยามค่ำคืนด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณชูกัน กุลวงษา ครับ
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ชูกัน กุลวงษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอ ปรึกษาท่านประธาน ๒ เรื่อง
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องไฟส่องสว่างทาง ถนนหมายเลข ๒๒๓ สกลนคร-บ้านต้อง ช่วงเทศบาลตำบลนาแก ซึ่งมันเป็นที่อับอาย ในช่วงกลางคืนถนนเส้นนี้หน้าที่ว่าการอำเภอนาแก หน้าสถานีตำรวจอำเภอนาแก และหน้า โรงเรียนอนุบาลนาแกผดุงราชกิจเจริญ ซึ่งไฟส่องสว่างนั้นไม่เพียงพอ ผมพูดมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นจึงฝากท่านประธานว่า ชุมชนอำเภอนาแกนั้น เป็นชุมชนใหญ่ หน้าที่ว่าการอำเภอ หน้าสถานีตำรวจ หน้าโรงเรียนไม่มีไฟส่องสว่างทาง ที่ชัดเจน ทำให้มืด ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ทำให้พี่น้องสัญจรไปมาลำบาก ก็ฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรมทางหลวงได้ลงไปดูและพิจารณาติดตั้งไฟ ส่องสว่างทางให้พี่น้องชุมชนเขตเทศบาลนาแกได้รับไฟส่องสว่างทางในการเดินสัญจรไปมา อันนี้ก็ขอฝากท่านประธาน
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องถนนสายหนองญาติ-นาแก ซึ่งถนนสายนี้มีช่องทางจราจร แค่ ๒ ช่องทาง ถนนนี้หมายเลขทางก็คือถนน ๒๐๓๓ ซึ่งเป็นถนนจากอำเภอเข้าสู่จังหวัด เป็นเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า ๗๐ กิโลเมตร ทำให้พี่น้องอำเภอนาแกนั้นจะเดินทางไปติดต่อ ราชการ จะเดินทางไปทำธุรกิจ จะเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นต้องลำบาก เพราะช่วงนี้มี รถใช้ถนนนั้นมากมาย โดยเฉพาะรถขนถ่ายสินค้าที่จะไปลงสู่ด่านจังหวัดนครพนมที่จะไปสู่ สปป. ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้น ผ่านถนนเส้นนี้ เพราะฉะนั้นก็อยากฝาก ท่านประธานไปยังกรมทางหลวงได้ขยับขยายจาก ๒ ช่องจราจรให้เป็น ๔ ช่องจราจรให้กับ พี่น้องชาวอำเภอนาแก ชาวจังหวัดนครพนม อย่างเร่งด่วน เพราะฉะนั้นก็ต้องขอฝาก ท่านประธาน ๒ เรื่อง ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือกับท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยนะคะ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่อง ร้องเรียนมาจาก Rider จังหวัดระยองได้รับประกาศจาก Platform รับส่งอาหารรายหนึ่ง แจ้งว่ามีการลดจำนวนเงินค่ารอบลง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ ๒๓ มกราคมที่ผ่านมา แต่ในการลด ค่ารอบนี้ก็ไม่สามารถที่จะคุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมัน หรือว่าค่าเสื่อมสภาพของรถไป ไม่คุ้มกับ ความเหนื่อย แล้วก็ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าครองชีพในปัจจุบัน ดิฉันจึงอยากจะ ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับ พี่น้อง Rider ที่ทำงานบน Platform รับส่งอาหารในกรณีนี้ด้วย
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องของที่ดิน ดิฉันได้รับเรื่องมาจากพี่น้องประชาชนหลายรายในจังหวัดระยองที่ไม่มีโฉนดที่ดินของ ตัวเองว่าได้ลงทะเบียนผ่านโครงการบอกดินไปตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน แต่การดำเนินการออกโฉนดล่าช้ามากนะคะ ปีหนึ่งสามารถออกโฉนดได้เพียงแค่ไม่กี่ราย และไม่มีความชัดเจนจากกรมที่ดินว่าประชาชน ที่ลงทะเบียนในโครงการนี้ได้ลงทะเบียนไปแล้วจะได้มีการเดินสำรวจให้เมื่อไร และออก โฉนดที่ดินครบเมื่อไร หรือหากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วรัฐบาลนี้จะทำโครงการต่อหรือไม่ พี่น้อง ประชาชนก็ได้แต่เฝ้ารอนะคะ หลาย ๆ คนเฝ้ารอโฉนดมาหลายสิบปีแล้ว ก็หวังพึ่งโครงการนี้ อยากจะส่งต่อที่ดินเป็นมรดกให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานแต่ก็ทำได้เพียงแค่รอ ดิฉันอยากจะฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย ช่วยให้ ความชัดเจนกับพี่น้องประชาชนในโครงการบอกดิน และเร่งในการแก้ไขปัญหาที่ดินซึ่งเป็น ปัญหาสำคัญของพ่อแม่พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณภาคภูมิ บูลย์ประมุข ครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องราคาผลผลิตข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบ อาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับ ปี ๒๕๖๗ ซึ่งประกาศเมื่อที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวโพดตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ณ เวลานี้ มีการเสียภาษีอยู่ ๗๓ เปอร์เซ็นต์ ทำให้พ่อค้าไม่นำเข้า ก็เลยส่งผลให้ข้าวโพดไทยตกต่ำทันที เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ไม่รับซื้อข้าวโพดไทยเลยตอนนี้ หรือซื้อก็กดราคาต่ำ เพราะเขา เตรียมการจะนำเข้าข้าวโพดมาโดยปลอดภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลเสียทำให้ เกษตรกรไม่สามารถขายข้าวโพดให้พ่อค้าคนกลางได้ เพราะพ่อค้าคนกลางไม่สามารถ นำข้าวโพดไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ใหญ่ ๆ ได้ ผมก็อยากฝากไปยังกระทรวงพาณิชย์ ช่วยเยียวยาหรือหามาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชย การประกันราคาให้แก่พ่อแม่ พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แล้วก็อยากจะให้หามาตรการรองรับในการที่จะนำเข้า ข้าวโพดโดยเสรีในปีต่อไป เช่น ที่ผ่านมารัฐพยายามให้มีการนำพืชทดแทนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากข้าวโพดไทยผลิตไม่พอเพียง แต่กระนั้นก็จะมีวิธีการของบริษัทใหญ่ ๆ เช่น นำเข้า เกินจำนวน หรือนำเข้าที่ไม่เหมาะสม ไม่สัมพันธ์กับข้าวโพดไทย ก็ทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำ และช่วงเวลา ปีหน้าขอให้ทางกระทรวงพาณิชย์พิจารณาช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดเสรี ซึ่งไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวโพดไทย เพราะขณะนี้ข้าวโพดไทยไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตาก หรือจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือจังหวัดอื่น ๆ ยังมีผลผลิตส่งออกอยู่นะครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณสมดุลย์ อุตเจริญ ครับ
นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สมดุลย์ อุตเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๗ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอชัยปราการ พรรคก้าวไกล ผมมีข้อหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ครับ
นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๑. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๙ ซึ่งเป็นทางแยกจากถนน ๑๐๗ ช่วงสามแยกบ่อน้ำมันฝาง อำเภอฝางไปยังอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ระยะทาง ประมาณ ๒๙ กิโลเมตร ผิวถนนมีสภาพขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ บางจุดเกิดการพังทลาย บางช่วงเสียหาย มักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องคือหมวดทางหลวงฝาง แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ ๓ เข้าไปแก้ไขด้วยครับ
นายสมดุลย์ อุตเจริญ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
๒. ถนนสาย ๑๓๑๔ จากบ้านแม่แหลงไปบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ ๒๖ กิโลเมตร เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ติดชายแดน ประเทศเมียนมาเพื่อนบ้านของเรา และเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขณะนี้ สภาพชำรุดทรุดโทรมไปมากครับ หลายจุดเกิดดินสไลด์เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงใคร่ขอความ อนุเคราะห์ไปยังหมวดทางหลวง แขวงทางหลวงที่ ๓ จังหวัดเชียงใหม่เข้าไปปรับปรุงแก้ไข ด้วยเช่นกันครับ และท้ายสุดทางเข้าบ้านเด็กโชคดี เป็นศูนย์บ้านเด็กโชคดีอยู่ในเขตหมู่บ้าน ที่ ๑๓ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดูจะไม่โชคดีสมชื่อ เพราะถนน ทางเข้าขรุขระ เส้นทางถนนสายนี้เกิดจากฝีมือของเด็ก ๆ ในศูนย์บ้านเด็กโชคดีช่วยกันทำ เป็นคอนกรีตผสมไม้ไผ่ ระยะทางแค่ ๓๐๐ เมตร แต่ทาง อบต. ไม่สามารถจัดงบประมาณ ไปสนับสนุนได้ เนื่องจากอยู่ในเขตป่า เด็ก ๆ จึงช่วยกันทำแบบที่เห็นในสไลด์นะครับ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานทางหลวงชนบทเข้าไปแก้ไขด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ครับ
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต ๙ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก อำเภอสิรินธร ตำบลโนนกอก พรรคไทยสร้างไทย ดิฉันมีเรื่องหารือท่านประธาน ก่อนอื่นดิฉันขอขอบคุณ ผอ. แขวง การทางหลวงชนบทอุบลราชธานี หมวดการทางหลวงชนบท อำเภอนาจะหลวยที่ได้ช่วย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เรื่องถนนสาย อบ.๔๐๒๙ เกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างดับ และเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งท่านก็ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอ ต้องรองบประมาณ ท่านประธานค่ะ ดิฉันมีเรื่องการร้องเรียนถนนสาย อบ.๔๐๒๙ ช่วงตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอนาจะหลวย กลางคืนถนนมืดมากทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สูญเสียชีวิตและ ทรัพย์สินหลายราย ชาวบ้านต้องการไฟส่องสว่างดังนี้ค่ะ ช่วงที่ ๑ ได้รับการร้องเรียน จากนายเหรียญทอง ทาระกะจัด ผู้ใหญ่บ้านแสนสุข หมู่ที่ ๖ ตำบลโนนสมบูรณ์ และ ชาวบ้านต้องการไฟส่องสว่างช่วง กม. ที่ ๒๐ ถึง กม. ที่ ๒๑ จำนวน ๒๐ ต้น ช่วงที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากนายสมคิด มงคลกาล กำนันตำบลโนนสมบูรณ์ นายอุทิศ บุตรโท ผู้ใหญ่บ้านโนนบก หมู่ที่ ๑๐ และชาวบ้านต้องการไฟส่องสว่างกิโลเมตรที่ ๒๓-๒๔ จำนวน ๒๐ ต้น ช่วงที่ ๓ ได้รับการร้องเรียนจากนายวิเชียร ทองสรรค์ ผู้ใหญ่บ้านโนนเกษม หมู่ที่ ๙ และนายสุพรรณ ปรากฏ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์ และสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์ ต้องการไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วง กม. ที่ ๒๔ +๕๐๐ ถึง กม.ที่ ๒๗ ถึงหน้าโรงเรียนบ้านป่าพอก จำนวน ๕๐ ต้น ขอฝากท่านประธานถึง ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะคะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ครับ
นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต ๓ ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสักและอำเภอเขาค้อ วันนี้ผมมีข้อหารือ เกี่ยวกับปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ สืบเนื่องจากท่าน สส. ภาคภูมิ จังหวัดตาก ได้พูดถึง เมื่อสักครู่ เนื่องจากเกษตรกรทุกวันนี้ปลูกข้าวโพดด้วยต้นทุนราคาที่สูง ภาวะฝนแล้งที่ทำให้ เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดใหม่รอบนี้ ๒-๓ ครั้ง ทำให้ต้นทุนสูง ราคาปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ก็แพง ที่สำคัญเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาปลูกก่อน เมื่อผลผลิตได้น้อย ราคาไม่ดี ทำให้ เกษตรกรต้องเป็นทุกข์ มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้และยังต้องส่งลูกหลาน ในการเรียนหนังสือ ท่านประธานครับ หลังวันปีใหม่เป็นต้นมาราคาข้าวโพดก็ได้ลดลงมา เรื่อย ๆ จากกิโลกรัมละ ๑๐ กว่าบาท ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละ ๙ บาท ในขณะเดือนหน้า โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะเริ่มนำเข้าข้าวโพดข้าวสาลี ข้าวโพดและข้าวสาลีจากประเทศ เพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าข้าวโพดในประเทศไทย ยิ่งจะทำให้ราคาข้าวโพดในประเทศ ถูกลงไปอีก ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลและผลักดันราคาข้าวโพดไม่ให้ต่ำกว่าราคา ๑๐ บาท และ ช่วยชะลอการนำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีจากประเทศเพื่อนบ้านไปก่อน พร้อมกันนี้ผมขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยบูรณาการเรื่องราคาข้าวโพดในปีต่อ ๆ ไปให้เป็นธรรม เพื่อให้ เกษตรกรได้มีกำลังใจในการปลูกและยังจะขจัดปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกร ต่อไปครับ
นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมขอเรียนเชิญพี่น้องทั่วไทยเที่ยวงานมะขามหวานนครบาล เพชรบูรณ์ ประจำปี ๒๕๖๗ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ในงานก็ยังมีสินค้าทั้งสินค้าพื้นเมืองและสินค้า หลายรูปแบบมาแสดงให้พี่น้องที่มาเที่ยวชมได้รับซื้อจับจ่าย ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะนักเรียนและครูโรงเรียนบ้านปะลุกาแปเราะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุมอยู่ชั้นบนนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณทรงยศ รามสูต ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมสรรพสามิตนะครับ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมานี้ กลุ่มสุราพื้นบ้านขนาดเล็กได้มาปรึกษาหารือกับผมเกี่ยวกับระเบียบ ซึ่งปรากฏว่า ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๖ ที่รัฐสนับสนุนกลุ่มสุราพื้นบ้านของจังหวัดน่านมีประมาณร่วม ๕๐๐ กลุ่ม ซึ่งก็ต่อภาษีทุกปี เข้าตามหลักเกณฑ์ แม้ปี ๒๕๖๐ จะปรับจากต่อปีเป็น ๓ ปีที ก็ไม่มีปัญหา แต่พอกฎกระทรวงปี ๒๕๖๕ ข้อ ๑๗ ในเรื่องกฎกระทรวงผลิตสุรา (๑) เขากำหนดหลักเกณฑ์ ในข้อ จ ว่าโรงงานผลิตสุราจะต้องมีระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ เมตร แล้วก็มีระบบบำบัดน้ำเสียตามกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เรื่องบำบัดน้ำเสีย แต่เรื่องใกล้จากแหล่งน้ำ บางครั้งบางคราวมันมีปัญหานะครับ คนที่มีศักยภาพก็สามารถย้ายได้ คนที่ไม่มีศักยภาพก็ไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต ก็อยากจะฝากกรมสรรพสามิตให้กำหนด หลักเกณฑ์นะครับ ถ้าขนาดกลาง ขนาดใหญ่ อาจจะ ๑๐๐ เมตรไม่ว่า ขนาดเล็กนี้ขอเป็นสัก ๕๐ เมตรได้ไหมนะครับ เพราะว่าขนาดเล็กไม่เกิน ๕ แรงม้า ไม่เกิน ๗ แรงคน ถ้าขนาดกลาง ก็ตั้งแต่ ๗ แรงม้า ไม่เกิน ๕๐ คน แล้วก็ไม่เกิน ๕๐ แรงม้า อยากจะให้ปรับหลักเกณฑ์ตรงนี้ เพราะปัจจุบันเหลือแค่ ๑๐๐ กว่าโรงแค่นั้นเอง
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งนะครับ ที่กลุ่มสุราเขาฝากมาว่า ในเรื่องของแสตมป์ โดยเฉพาะ การผลิตสุราขาว ๓๕ ดีกรีเก็บค่าแสตมป์ ๓๗ บาท ๔๐ ดีกรีที่ขายดีเก็บ ๔๗ บาท แต่เขาเอา ไปขาย ๖๐ บาท แสตมป์ล่อไป ๔๗ บาท เหลือ ๑๓ บาท เป็นต้นทุน ค่าแป้ง ค่าน้ำ ค่าแรง ค่ายีสต์ ค่าขวดเหล้า แต่ก่อนนี้ยังไปเก็บขวดเหล้าเก่าเอามาขายได้ เดี๋ยวนี้ก็ติดลิขสิทธิ์นะครับ ต้องไปหามา ทำให้ Gap ตรงนี้มันเหลือนิดหนึ่ง ไม่มาก ก็อยากจะฝากพอจะลดหย่อน ในเรื่องของค่าแสตมป์ ซึ่งตรงนี้เป็นผู้ผลิตสุราขนาดเล็ก ก็ฝากให้ทางกรมสรรพสามิตให้ หาทางแก้ไข ซึ่งบางเรื่องบางราวก็อาจจะต้องรอกฎหมายนะครับ ผมเข้าใจ ผมจะพยายามไปร่างกฎหมาย เพื่อเอามานำเสนอต่อไป แต่ช่วงนี้อยากที่จะอนุโลมไปก่อนนะครับ ในเรื่องของระยะห่าง ในเรื่องของ ๑๐๐ เมตรก็ดี ๕๐ เมตรก็ดี รวมถึงแสตมป์ เพื่อพี่น้องประชาชนขนาดเล็กจะได้ ประสบความสำเร็จ แล้วก็มีกำลังใจในการทำงานต่อไปครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสุพัชรี ธรรมเพชร ครับ
นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุพัชรี ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ ดิฉัน ขออนุญาตหารือเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๒ เรื่องด้วยกันนะคะ
นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ท่านนายกสุรัช ชูอักษร นายกเทศมนตรี ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะในพื้นที่ของหมู่ที่ ๖ บ้านปลายนา เกาะปรางค์ ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้าน ที่ประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่ทุกปี เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่ลุ่มของตำบลนาโหนด และเมื่อมีภาวะน้ำท่วม มวลน้ำทั้ง ๓ ตำบลของอำเภอกงหรา ไม่ว่าจะเป็นตำบลคลองเฉลิม ตำบลชะรัต และตำบลสมหวัง ก็ไหลมารวมกันในพื้นที่ตรงนี้ เพื่อที่จะผ่านไปคลองลำเบ็ด แล้วก็ลงสู่ทะเล ดังนั้นดิฉันจึงอยากจะให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงาน เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมชลประทานให้ช่วยลงพื้นที่เข้าไปแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยการ ๑. ให้ขุดลอกคลองจากคลองในพื้นที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อระบายน้ำไปยังคลองลำเบ็ด ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ๒. ให้ขยายคลองส่งน้ำคลองชลประทานสะพานหยี ชุมประดิษฐ์ เพื่อช่วยระบายน้ำจากพื้นที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลนาโหนด ๓. ขุดลอกคลองจากบ้านวังปริง หมู่ที่ ๘ ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุงเพื่อที่จะไปเชื่อมต่อกับคลองลำเบ็ด ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตรงนี้อยากให้รีบดำเนินการโดยด่วนนะคะ
นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ อยากจะให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ไปช่วยขยายดูแนวเขต การไฟฟ้าในพื้นที่ตำบลนาโหนด เนื่องจากประชาชนหลายครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ ตำบลนาโหนด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ก็อยากให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยเร่งไปสำรวจ แล้วก็ขยายแนวเขตตรงนั้นให้พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๕ ประกอบด้วย อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร พรรคประชาชาติ ขอเรียนปรึกษาหารือ ท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน เพื่อให้ทางสภาได้มีหนังสือถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผลพวงจากอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตตำบลโคกสะตอ บ้านน้ำปั่น อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่ดินถล่ม แล้วก็มีที่ดินขาด ถนนหนทางขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ในเบื้องต้นต้อง ขอบคุณทางนายก อบต. ที่ได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้น แต่ปัญหาอย่างนี้ครับท่านประธาน เนื่องจากถนนบ้านน้ำปั่น ตำบลโคกสะตอ อยู่ในที่ดินของนิคมสร้างตนเอง การดำเนินการ ใด ๆ ก็แล้วแต่ ในความรับผิดชอบของนิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับความยินยอม ดังนั้น อยากให้ท่านประธานมีหนังสือถึงอธิบดีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะที่ดินนิคมไม่ได้อยู่ที่กรมที่ดินรับผิดชอบนะครับ แต่อยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต่างกับที่ดินอื่น ให้หันมาดูแล้วก็ให้ความยินยอมเข้าไปดูแล ในการซ่อมแซมถนนที่ขาดในบริเวณที่บ้านน้ำปั่น ตำบลโคกสะตอ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เกี่ยวกับที่ดินนิคมเช่นกันครับ เนื่องจากบ้านซอแดะ ตำบลโคกสะตอ ได้มีการสร้างมัสยิดอยู่ในบริเวณที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม ทางอำเภอรือเสาะได้ทำ ประชาสังคม แล้วก็มีหนังสือถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ อธิบดียินยอมให้มัสยิดเป็นที่ตั้ง แล้วก็ได้ขึ้นทะเบียน จะได้รับค่าตอบแทนเหมือนเช่นมัสยิด อื่น ๆ แต่ตอนนี้หนังสือส่งไปแล้วประมาณเกือบปียังไม่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นะครับ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เนื่องจากที่ดินบริเวณตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ในหมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๕ ทราบมาว่าเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของพี่น้อง ประชาชน ประมาณ ๑,๘๐๐ กว่าไร่ แล้วก็คนที่ออกเอกสารสิทธิปรากฏว่าเป็นนายทุนครับ ท่านประธานครับ แล้วก็ว่าตอนนี้ทาง DSI ได้มีการตรวจสอบ อยากให้ทางกรมสอบสวนคดี พิเศษ มีการตรวจสอบและชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบความคืบหน้า เพราะว่า ประชาชนรอความหวังที่จะได้คืนสิทธิเกี่ยวกับที่ดินของเขาที่ทำมาหากินหลายสิบปีอยู่ครับ ขอบคุณมากครับท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกฤดิทัช แสงธนโยธิน ครับ
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ ผมได้รับ การร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครนายก ขอสไลด์ด้วยครับ
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เกี่ยวกับถนนครับ ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากผลกระทบจากถนน ที่ นย.๓๐๐๑ แยก ๓๐๕ บ้านบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดนครนายก ตรงนี้ กม.ที่ ๕-๑๓ เป็นปัญหาเกี่ยวกับถนนที่มีการปรับปรุงและก่อสร้าง อันนี้มีการก่อสร้างมาไม่นานครับ วันนี้ถนนหนทางเป็นไปตามสภาพที่เกิดขึ้น ได้รับความ เสียหายจากการที่มีรถบรรทุกหนักใช้เส้นทางนี้ขับผ่านไปมา มีการบรรทุกน้ำหนักเกินและ ทำให้ถนนเสียหาย ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้มีการร้องเรียนมายังผม ให้มีการ ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นผมจึงขอให้ท่านประธานได้โปรดดำเนินการ ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเรื่องนี้อย่างโดยด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพราะว่าใกล้จะถึงหน้าแล้งแล้ว ฝุ่นมันจะมี ตามมาเยอะแยะ แล้วก็พอถึงหน้าฝนก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง แล้วก็จะก่อให้เกิดอันตราย กับพื้นผิวจราจรและคนสัญจรไปมา อันนี้ฝากท่านประธานเรื่องที่ ๑ นะครับ
นายกฤดิทัช แสงธนโยธิน แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาเสาไฟฟ้า อันนี้คือเสาไฟฟ้าที่อยู่ริมทางถนน เป็นเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมีการปักเสาไฟฟ้านี้มานานพอสมควร แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ที่ได้รับผลกระทบ คือพี่น้องในพื้นที่หมู่ที่ ๑๒-๑๓ ตำบลบางสมบูรณ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก บริเวณถนนบ้านคลองหกวา ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจาก เสาไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการเอนเอียงมานานหลายปี มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเองก็มาดูแล แต่ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา เพราะฉะนั้นผมจึงขอความ อนุเคราะห์จากท่านประธานได้โปรดทำหนังสือ หรือประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ ครับ
ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เขต ๔ ประกอบไปด้วยอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผมได้รับหนังสือร้องเรียนจากท่านกำนันประสิทธิ์ ประจงไสย กำนันตำบลท้องลำเจียก ผู้ใหญ่ศุภกิจ สุขสวัสดิ์ ศอ.บต. จักรกริศน์ ไกรแก้ว ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ท้องลำเจียก เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอเชียรใหญ่ และชาวอำเภอ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากไม่มีน้ำใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรทำนาข้าว ผมและผู้นำท้องที่ท้องถิ่นตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ หัวหน้าฝ่ายจากกรมชลประทานลงพื้นที่สำรวจ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ผมขอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนงบประมาณดังนี้ครับ ๑. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อสนับสนุน การปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำบ้านบางเลน หมู่ที่ ๙ ตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ ๒. โครงการก่อสร้างทางระบายน้ำหลัก ME1 และก่อสร้างถนนคอนกรีตควบคู่ทางระบายน้ำ ระยะทาง ๔ กิโลเมตร จากตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ ไปยังตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ผมจึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังอธิบดีกรมชลประทานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์เร่งรัดอนุมัติงบประมาณทั้ง ๒ โครงการ พี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนา ในพื้นที่ลุ่มน้ำในฤดูแล้งจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และในกรณีที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วม น้ำจะไม่ท่วมขังในพื้นที่ทำนาของเกษตรกรทั้ง ๒ อำเภอ ผมขอขอบคุณชลประทาน จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทาน ๑๕ ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนด้วยดี ขอขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสุเทพ อู่อ้น ครับ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เครือข่ายแรงงาน มีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องนะครับ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับเรื่องคนไทยไปทำงานเก็บผลไม้ Berry จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา มีปัญหามายาวนาน เกิดจากการที่คนไทยไปทำสัญญากับบริษัท และไม่มีส่วนร่วมของทาง กรมการจัดหางาน จึงเกิดปัญหาไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นไปตามสัญญาที่เกิดขึ้น ดังนั้นคดีต่าง ๆ ก็กลับมาเกิดที่ประเทศไทย เราก็ได้ช่วยในการดูแล ข้อเสนอแนะ ให้มีการจัดระบบการ ทำสัญญาใหม่ โดยกรมการจัดหางานมีส่วนร่วม ๓ ฝ่ายในสัญญานั้น ๒. ให้กรมการ จัดหางานและกระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับสหภาพแรงงานปลายทางให้คนงาน ไทยได้เป็นสมาชิกเพื่อให้สหภาพแรงงานเข้ามาตรวจสอบการทำงานที่ประเทศต้นทาง
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องของการเกิดการระเบิดของพลุ จะเห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้ ทำให้แรงงานเสียชีวิตและเสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ระบบการแก้ไขจริงใจไม่เกิดขึ้น คนที่รับกรรมคือคนใช้แรงงานอย่างพวกเรา ดังนั้นขอให้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงมหาดไทย จริงใจหน่อยครับ ในการที่จะกำหนดพื้นที่หรือว่าการเข้าไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้คนเหล่านั้น เสียชีวิตเกิดขึ้นอีกนะครับ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องของปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ หรือกฎหมายไทย เรียกว่า แรงงานต่างด้าว เป็นปัญหามายาวนาน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการระบาดโควิด เป็นการขอมติเป็นครั้งเป็นคราว มีทั้ง ๑๒-๑๓ มติ เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน มีเรื่องร้องเรียนมาที่เครือข่ายแรงงานโดยตลอด จึงขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีปัจจุบัน เข้าไปตรวจสอบระบบการขึ้นทะเบียนว่ามีช่องทาง ที่ฉ้อฉลไหม เพราะจะเห็นได้ว่าขณะนี้มีแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวนมาก แล้วก็มี คดีต่าง ๆ เกิดขึ้นครับ จึงอยากให้จริงใจจริงจังในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณถนอมพงศ์ หลีกภัย ครับ
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม ถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จากจังหวัดตรัง เขต ๑ ท่านประธานครับ ผมจะขอหารือท่านประธานวันนี้เรื่องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาคุณภาพ การแปรรูปข้าวสู่มาตรฐานกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า GMP เพื่อรองรับข้าวเบายอดม่วงเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของจังหวัดตรัง อำเภอนาโยง ซึ่งได้รับการ ร้องเรียนจากผู้นำท้องถิ่น ท่านอดีตกำนันเจริญ ศรนารายณ์ ตำบลนาหมื่นศรี ของบพัฒนา จังหวัดกลุ่มอันดามัน ตอนนี้ท่านประธานครับ โครงการอยู่ที่จังหวัดแล้ว สมัยท่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดคนก่อน ท่านขจรศักดิ์ เจริญโสภา ท่านก็ได้หมดวาระไปแล้ว และอยาก ฝากท่านประธานถึงผู้ที่เกี่ยวข้องนะครับ ฝากถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรังคนใหม่ ท่านทรงกลด สว่างวงศ์ ข้อมูลการผลิตข้าวภายในจังหวัดตรัง ข้าวที่ปลูกในจังหวัดตรังมีปริมาณไม่เพียงพอ ครับท่านประธาน เพียงร้อยละ ๓.๘๕ เท่านั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นขั้นต่ำ อาจจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ได้ง่ายในอนาคต การเข้าถึงข้าวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของคนตรังคนบ้านผม เนื่องจาก ผลผลิตที่มีอยู่จำกัด ข้าวที่ปลอดภัยที่บริโภคแล้วมีปริมาณน้อยมากครับ ขนาดมาตรฐาน และเนื่องจากจังหวัดตรังรับข้าวสารมาจากภายนอกจังหวัดในปริมาณสูงถึงร้อยละ ๙๖.๑๕ จึงไม่สามารถควบคุมเรื่องการปนเปื้อนของสารพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ การใช้ประโยชน์จากข้าวที่ผลิตภายในจังหวัดไม่ได้ควบคุมกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของห่วงโซ่และมูลค่า ซึ่งเสถียรภาพพบว่าจังหวัดตรังมีความเสี่ยงด้านความ มั่นคงทางอาหาร ในประเด็นข้าวสูงมากครับ เนื่องจากจังหวัดตรังมี Stock ข้าวที่รองรับได้ เพียง ๗ วัน หรือ ๑ อาทิตย์เท่านั้นเอง ในจังหวัดตรังมีพันธุ์ข้าวที่ชื่อดังครับ คือข้าวเบายอด ม่วงถ้าเปรียบเทียบกับจังหวัดพัทลุงแล้วก็คือข้าวสังข์หยด เป็นข้าวที่มีชื่อมากในจังหวัดตรัง กรณีที่โรงสีชุมชนจะมีหินกากปนในข้าวสาร ต้องใช้แรงงานผู้สูงอายุเยอะ จึงต้องส่งข้าวไปยัง จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีโรงสีมาตรฐานคือ GMP ของวิสาหกิจชุมชนเขากลางที่อำเภอควนขนุน จึงขอฝากท่านประธานสู่ผู้ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงให้เป็นภาระในด้านเกี่ยวกับการรองรับ โครงการข้าวนี้ด้วย ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล ครับ
นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตอำเภอปักธงชัยและอำเภอวังน้ำเขียว
นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๑ คือปัญหาขาดไฟฟ้า แสงสว่าง บริเวณทางหลวงหมาย นม.๓๐๕๒ ของตำบลวังน้ำเขียว ในช่วงกิโลเมตรที่ ๗-๙ และกิโลเมตร ๑๑-๑๓ ครับ ๒ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สัตว์ป่าได้ออกมาหากินบ่อย ๆ แล้วก็ข้ามถนน บริเวณนี้ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง และจากในภาพเราจะเห็นมีกระทิงตัวเท่ารถกระบะเลย พุ่งชนแม่ลูกคู่หนึ่งที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งตอนนี้น้องก็ยังรักษา ตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๒ อาคารบังคับน้ำบ้านป่าโจด ตำบลสุขเกษม ได้รับการประสาน จากท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านณัฐพงศ์ พิณพรมราช ว่าพี่น้องในตำบล มีความต้องการที่จะสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภค จึงอยากจะขอประสานไปยังกรมชลประทานครับ เร่งจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการด้วย
นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๓ ก็คือปัญหาเรื่องของช้างป่า ในช่วงที่ผ่านมามีช้างป่าจำนวนมาก ออกมาสร้างความเสียหายในพื้นที่การเกษตรของพี่น้องในอำเภอวังน้ำเขียวในหลาย ๆ ตำบล เช่น ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลไทยสามัคคี ตำบลวังหมี ซึ่งมาเป็นประจำ และ ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีช้างได้เดินทางข้ามเขาเปลี่ยนมาที่อำเภอปักธงชัย ที่ตำบลลำนางแก้ว ตำบลตะขบ ซึ่งตอนนี้ช้างเชือกนี้ก็ยังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่านประธานครับ และในช่วงที่ผ่านมา ๓ วันที่ผ่านมาเอง ก็ได้เกิดเหตุสลดขึ้น ที่ช้างป่าได้ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่เป็นชุดเครือข่ายเฝ้าระวังผลักดันช้าง ในขณะที่ออกตรวจบริเวณ ไร่มันสำปะหลังบริเวณบ้านคลองทราย ตำบลวังน้ำเขียว จนเสียชีวิตครับ ซึ่งต้องขอแสดง ความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ
นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ปัญหาที่ ๔ ระหว่าง วันที่ ๙-๒๕ กุมภาพันธ์ นี้จะมีการจัดงานดอกเบญจมาศ บานในม่านหมอกครับ ซึ่งครั้งนี้เป็น ครั้งที่ ๒๒ ณ แปลงเบญจมาศ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว ขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสแหล่งโอโซนอันดับต้น ๆ ของประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศดอกเบญจมาศบานด้วยกัน กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับคณะนักศึกษา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุมอยู่ชั้นบน อีกคณะหนึ่งครับ ขอต้อนรับคณะครูและนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งกำลังนั่งฟังอยู่ ชั้นบนเช่นเดียวกันครับ ต่อไปขอเชิญ คุณยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ครับ
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ที่ดินคือหัวใจ น้ำใช้คือชีวิต เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย เขตที่ ๓ อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวนครับ
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก ที่ผมจะขอนำเรียนกับท่านประธานไปยังกรมที่ดิน กระทรวง มหาดไทย นั่นก็คือเรื่องขอให้ทบทวนคำสั่งหนังสือสั่งการของกรมที่ดินที่ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ และขอให้ยกเลิกในข้อ ๑.๑๗ เพราะว่าตามมติ ครม. วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ให้ราษฎรเจ้าของที่ดินนำเจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดได้เดินสำรวจเพื่อจะพิสูจน์สิทธิ ของตนเองว่า ได้ทำประโยชน์มาก่อนพระราชกฤษฎีกาหวงห้าม พ.ศ. ๒๔๘๑ แล้วก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อพิสูจน์สิทธิเสร็จแล้วที่ทำประโยชน์มาก่อน ปี ๒๔๘๑ โดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศในชุดแรก เมื่อปี ๒๔๙๕ รวมทั้งเอกสารสิทธิ รวมถึง พยานบุคคลว่า ที่ดินแปลงที่ได้นำเดินพิสูจน์สิทธินั้นสามารถที่จะออกเอกสารสิทธิได้ ผลปรากฏว่ามีทั้งหมดอยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ แปลง แต่ว่าใน ๕๐,๐๐๐ แปลงนั้น สิ่งที่ พิสูจน์สิทธิได้ที่สมบูรณ์มีด้วยกันอยู่ทั้งหมด ๓ ประเภทครับ ประเภทแรกอยู่ทั้งหมด ๒๓,๐๐๐ แปลง ประเภทแรก ก็ประกอบไปด้วยที่ดินที่สมบูรณ์ คือผ่านการพิสูจน์สิทธิ ได้อยู่อาศัย และได้ทำกินอยู่ประมาณทั้งหมด ๔,๐๐๐ แปลง แล้วก็บางส่วนอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ แปลง คำว่า บางส่วนอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ แปลง นั่นคือเชื่อได้ว่าอาจจะมีการทำกิน ก่อนปี ๒๔๘๑ และส่วนสุดท้ายครับ ที่ไม่เชื่อว่าได้ทำกินก่อนปี ๒๔๘๑ อยู่ประมาณ ๑๒,๐๐๐ แปลง ท่านประธานครับ ในทั้งหมดนี้ ๒๓,๐๐๐ แปลง มีส่วนที่สามารถที่จะ พิสูจน์สิทธิแล้วก็ออกเอกสารสิทธิได้อยู่ทั้งสิ้น ประมาณ ๑๑,๐๐๐ แปลง แต่ว่าในปัจจุบัน ชุดเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นความหวัง เป็นหัวใจของพี่น้องประชาชนที่รอคอยโฉนด มา ๘๐ กว่าปี ไม่สามารถที่จะดำเนินการเดินออกโฉนดได้ เพราะว่าหนังสือสั่งการฉบับนี้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในห้วงเวลาที่กำหนด เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ตามที่ผมได้กล่าวกับท่านประธานข้างต้น ได้มีหนังสือออกจากอธิบดีมาว่าให้หยุด และ หลังจากนั้นแปลงที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิจะให้ไปร้องต่อศาลปกครอง ถามว่าทำแบบนี้ เพื่ออะไรครับ หลอกให้ประชาชนอยากแล้วจากไปหรือครับ ฝากกรมที่ดินทบทวนและ ดึงมาใช้เพื่อประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณอดิพงษ์ ฐิติพิทยา ครับ
นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขตเลือกตั้งที่ ๓ อำเภอกระสัง อำเภอห้วยราช ตำบลป่าชัน ตำบลโคกขมิ้น ของอำเภอพลับพลาชัย พรรคภูมิใจไทย กระผมขออนุญาตปรึกษาหารือ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนใน ๒ ประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ
นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ด้วยได้รับแจ้งจากท่านมานพ จูประโคน นายกเทศมนตรีตำบลโคกขมิ้น อำเภอพลับพลาชัยว่า บ้านโคกเพชร หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโคกขมิ้น ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีระบบประปาผิวดินใช้ โดยเฉพาะฤดูแล้ง น้ำบาดาลที่มีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา เทศบาลตำบลโคกขมิ้นต้องสนับสนุน รถบรรทุกน้ำนำน้ำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทุกปี เนื่องจาก หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประชากร ๙๔๐ คน ๒๔๐ หลังคาเรือน ประกอบกับหมู่บ้านมี แหล่งน้ำสาธารณะขนาดเล็ก ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอ ซึ่งตำบลโคกขมิ้นนั้น ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้างระบบประปาที่ได้มาตรฐาน จึงขอนำเรียนไปยัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรด ให้การช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างระบบประปาผิวดิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับแจ้งจากท่านอุดม สุดมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าชัน อำเภอพลับพลาชัยว่าบ้านหนองตกจีนตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ บ้านประทัดบุ ตำบลป่าชัน เป็นแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ที่มีประชาชน ๒ หมู่บ้านหลัก คือหมู่ที่ ๕ บ้านปะทัดบุ หมู่ที่ ๑๐ บ้านพูนสุข มีลักษณะตื้นเขิน มีวัชพืชจำนวนมาก ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ทำให้ปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอเพื่อจะใช้ในการเกษตรและสำหรับอุปโภคบริโภค สร้างความเดือดร้อนให้กับ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอนำเรียนไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้โปรด ให้การสนับสนุนในการขุดลอกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณวิลดา อินฉัตร ครับ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยค่ะ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ขอความอนุเคราะห์โครงการ สระว่ายน้ำเทศบาลนะคะ ในช่วงฤดูร้อนเด็ก ๆ ก็จะปิดเทอม แล้วก็ไปเล่นน้ำกันตามลำพัง โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง อันเป็นสาเหตุของการจมน้ำตาย จากสถิติในช่วง ๕ ปี ที่ผ่านมา เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีจมน้ำเสียชีวิตช่วงเดือนมีนาคม เดือนพฤษภาคม ๙๕๓ คน ก็จะเฉลี่ยวันละ ๒ คน ซึ่งเป็นช่วงที่ปิดเทอม ในขณะที่อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ก็มีปัญหาเรื่องเด็กจมน้ำเสียชีวิต จากสถิติพบว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา เด็กเสียชีวิตจากการ จมน้ำตายถึง ๒๐ ราย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเด็กจมน้ำตาย ดิฉันจึงขออนุเคราะห์ งบประมาณเพื่อสร้างสระว่ายน้ำสำหรับเด็กในชุมชน พร้อมทั้งอุปกรณ์มาตรฐานการกีฬา ขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้โปรดพิจารณา งบประมาณสร้างสระว่ายน้ำให้กับเด็กได้ฝึกทักษะการว่ายน้ำ และสามารถช่วยเหลือตนเอง ได้ในทุก ๆ สถานการณ์นะคะ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องการติดตามการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งดิฉันได้เคยหารือเรื่องนี้ไปแล้วนะคะ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนในอำเภอปรางค์กู่ จึงขอติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากปัญหาของผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลมีแพทย์ไม่เพียงพอ วันหนึ่งก็จะมีผู้มารักษา ๓๐๐-๔๐๐ คน แต่มีแพทย์ชำนาญการเพียง ๒ คน ไม่มีแพทย์ เฉพาะทาง มีแต่แพทย์ฝึกหัดที่ขาดความชำนาญในการรักษา ทำให้ต้องเดินทางไปรักษาตัว ที่โรงพยาบาลขุขันธ์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยากจน ไม่มีเงินค่าเดินทาง ดิฉันจึงขอหารือ เรื่องนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขได้รีบเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรทางการแพทย์โดยด่วน ดิฉันจะขอหารือเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะคะ ขอให้พี่น้องชาวปรางค์กู่ได้รับทราบว่าผู้แทน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ได้หารือถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา ขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วย ชาวปรางค์กู่ในเรื่องโรงพยาบาลปรางค์กู่ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไป ท่านสุดท้ายนะครับ คุณชยพล สท้อนดี
นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ จตุจักร พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือว่า เรื่องที่ปรึกษาหารือไปยังไม่ค่อยได้รับ การแก้ไขใด ๆ สักเท่าไรเลยครับ เลยอยากจะปรึกษาหารือว่าที่เราปรึกษาหารือกันไป มันได้รับการตอบสนองจริงใช่ไหมครับ เพราะว่าถ้าอย่างนั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมจะ ปรึกษาหารือไปทำไม ถ้าเกิดมันยังไม่ได้รับการแก้ไขอะไรใด ๆ นะครับ ซึ่งเรื่องที่ผม ปรึกษาหารือไป ก็ผ่านไปเรียกได้ว่าหลักเดือน หลายเดือนแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอะไรใด ๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมก็อยากจะขอทดลองระบบ ในการปรึกษาหารือของพวกเราอีกสักครั้งหนึ่ง ผมขอฝากเรื่องเดียวเลยแล้วกันครับ เน้น ๆ เลยเรื่องเดียว คือเรื่องของถนนกำแพงเพชร ตั้งแต่ตัวอุโมงค์บางซื่อ ไล่ไปเลยตลอดริมทาง Hopewell ริมทางรถไฟ ยาวไปเลย ยาวไปจนถึงรังสิตเลย เมื่อไรจะโอนมาให้เป็นของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสักทีครับ ให้ตัวกรุงเทพมหานครหรือให้เขตต่าง ๆ สามารถที่จะ ได้ดูแลสักที ตัวถนนไฟติดบ้าง ไม่ติดบ้าง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นลูกคลื่น แล้วก็มี มอเตอร์ไซค์ขับรถเร็วตลอดเวลา คือมันไม่ได้มีตัวลูกระนาดที่จะมาห้ามไม่ให้รถได้ขับเร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะซิ่งกันตอนกลางคืน ทั้งวันทั้งคืน ซิ่งกันสนุกสนานมากเลย แล้วไฟ ก็ไม่มีครับ แล้วพอจะหักโค้งที ก็หักโค้งหักศอกมาก เพราะฉะนั้นคือผมว่ามันเป็นถนนที่ อันตรายต่อผู้ที่ขับรถด้วยกัน ต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ก็ไม่ว่าจะพูดมากี่ปีต่อกี่ปี มันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที เพราะว่าถนนเส้นนั้นยังคงเป็นของการรถไฟและยังไม่ยก ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเจ้าของพื้นที่ ณ ตรงนั้นสักที เลยไม่ได้แก้ไขสักที เพราะฉะนั้นผมขอฝากเรื่องหารือไว้เรื่องเดียวก็แล้วกันครับ ขอให้มันได้รับการแก้ไขสักที เพราะเรื่องตรงนี้เรารอกันมาหลายปีแล้ว แล้วประชาชนในพื้นที่ผมก็รอกันมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที อย่างไรขอฝากเท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เรื่องการหารือ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ผมก็อยากจะเรียนท่านสมาชิกว่า ทางสภาเราก็ดำเนินการทันทีที่มีการหารือทุกสัปดาห์ โดยส่งไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วสำนักนายกรัฐมนตรีก็จะแจ้งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางหน่วยงานก็เอาใจใส่ครับ ได้แจ้งมาทันทีว่าจะทำเมื่อไร หรือมีปัญหาอะไรเราก็ให้แจ้งไปให้สมาชิกทราบ ผมจึงอยากจะ เรียนว่า ต่อไปทางสภาเราก็จะมีการประเมิน จะมีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ทุกเดือน จะแจ้งให้สมาชิกทราบว่ามีการถามกระทรวงใด กรมใด หน่วยงานใดอีก กี่ครั้ง แล้วก็กรมนั้นได้ชี้แจงตอบ หรือไม่ตอบ หรืออะไรที่ดำเนินการไป โดยเราจะวัดผล อย่างเป็นรูปธรรมให้ เพราะว่าการถามนี้มีประโยชน์มาก แต่ถ้าถามไปแล้วไม่มีการเคลื่อนไหว ตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นคนที่รับภาษีจากประชาชน ประชาชนก็เดือดร้อน การหารือจะไม่เกิดผล ผมจะใช้วิธีการประเมินผล เราไม่มีอำนาจที่จะสั่งการ แต่การประเมินผล จะช่วยกระตุ้นให้วัดได้ว่า หน่วยงานใดที่ได้บริการเพื่อประชาชน ตอบสนองสิ่งที่ท่านสมาชิก ต้องการแก้ไข เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งนั้น บางทีก็ถามซ้ำซาก ผมก็จะตอบสนอง ท่านสมาชิกด้วยการประเมินผลทุกเดือน เดิมเราใช้วิธีว่าสิ้นสมัยเราก็จะแจ้ง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร แต่ว่าจะแจ้งทุกสัปดาห์ งานกำลังเดิน ขอว่าทุกเดือนจะแจ้งให้สมาชิกทราบด้วยเป็นเอกสาร หรือด้วยการชี้แจงในที่ประชุม ต้องขอบคุณท่านสมาชิกจริง ๆ ครับ ประชาชนเขาติดตาม มากครับ ในการที่ท่านสมาชิกได้เอาความเดือดร้อนของเขามาให้สภาหรือรัฐบาลดำเนินการ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๕๗๕ คน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อเพื่อเข้าประชุม จำนวน ๓๑๒ คนแล้ว ถือว่าครบองค์ประชุม ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ก็อยากจะเรียนต่อท่านสมาชิก และผู้ที่ติดตามการประชุมของสภาว่า ในขณะที่มีระเบียบวาระกระทู้ถามที่ตอบในห้องประชุมสภานี้แล้ว ขณะนี้ก็มีการถาม กระทู้ถามแยกเฉพาะ ซึ่งได้ไปดำเนินการในห้องประชุมแยกต่างหากอยู่ในบริเวณ ชั้น ๑ ควบคู่กับการพิจารณากระทู้สดด้วยวาจาและกระทู้ถามทั่วไปตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงเรียนมา เพื่อทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑.๑ กระทู้สดด้วยวาจา ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการกระทู้ถามสดด้วยวาจา ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะมาตอบแล้ว เพื่อให้ในระหว่างการดำเนินการถามตอบกระทู้สด ด้วยวาจานั้น ก็อยากจะเรียนให้ท่านสมาชิกได้ทราบว่า กระทู้ถามสดด้วยวาจานั้นใช้เวลา กระทู้ละ ๓๐ นาที ท่านสมาชิกถามได้ ๓ ครั้ง ในเวลา ๑๕ นาที รัฐมนตรีตอบ ๓ ครั้ง เช่นเดียวกันในเวลา ๑๕ นาที ที่ผ่านไปไม่มีปัญหาประการใดในเรื่องเวลา ทุกคนก็รักษาเวลา แต่จะมีประเด็นที่มีการทักท้วงในคราวที่แล้วบ้าง ก็คือเรื่องของการถาม มีการบรรยายมาก จนเกินไป ใช้เวลาในการอภิปรายหรือบรรยาย ซึ่งกระทู้ถามสดนั้นในข้อบังคับบอกว่า ให้ถามนำเล็กน้อย นอกนั้นก็ให้เป็นการถามตอบนะครับ สมาชิกก็ทักท้วง ผมเอง ก็อยากจะทักท้วง แต่เมื่อดำเนินการ ไม่อยากให้ท่านสมาชิกที่เตรียมถามนั้นได้เสียสมาธิ ขอความกรุณาได้แจ้งในเบื้องต้นไว้อย่างนี้ก่อนว่า ขออย่าให้เป็นการอภิปราย ขอให้ถามตอบ ในเวลา ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งผมจะแจ้งทุกครั้งให้ทราบนะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑.๑ กระทู้ถามสดด้วยวาจา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. นายเกรียงยศ สุดลาภา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มาเตรียมพร้อมที่จะตอบแล้วนะครับ ผมขอเชิญคุณเกรียงยศ สุดลาภา ครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมขอตั้งกระทู้สด ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการปลดล็อก Solar Rooftop ออกจาก ระเบียบของกรมโรงงานของอาคารบุคคลทั่วไป ในปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ประเทศ และต่อหน่วยงานต่าง ๆ และต่อส่วนรวม ปัญหาด้านพลังงานเป็นปัญหาหลัก ที่ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาค่าไฟที่นับวันยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของ ประชาชน ในปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของ ประชาชน ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลง โดยมีมาตรการอย่างเช่นลดราคาน้ำมัน ลดราคาค่าไฟ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาพื้นฐานให้กับประชาชน อีกทั้ง กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด และราคาถูก ซึ่งการติดตั้งโซลาเซลล์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้อง ให้การสนับสนุน แต่เนื่องจากปัจจุบันการติดตั้งโซลาเซลล์นั้นมีราคาที่แพง ประกอบกับ มีขั้นตอนในการขออนุญาตที่ยุ่งยาก ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ได้มีนโยบายปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาเซลล์ ชนิดติดตั้งบนหลังคา แต่ปัจจุบันการติดตั้งโซลาเซลล์มีข้อจำกัดทางด้าน กฎหมายหลายด้านตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในส่วนของการกำหนด ประเภทหรือชนิดของโรงงาน ซึ่งเดิมโรงงานผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ ๓ ลำดับประเภท โรงงานที่ ๘๘ แก้ไขให้มีการแยกประเภทของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานต่าง ๆ อาทิเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานน้ำและพลังงานลม ด้วยเหตุผล ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ก็คือกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาดาดฟ้าหรือที่เราเรียกกัน ว่า Rooftop ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ ที่มีขนาดกำลัง การผลิตติดตั้งสูงสุดร่วมกันของแผงโซลาเซลล์ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์ เนื่องจากเห็นว่าเป็น กิจการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม มีผลให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทและขนาดดังกล่าวไม่ถือเป็นโรงงานอีกต่อไป ดังนั้นทาง กระทรวงอุตสาหกรรมต้องไปทบทวน และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ที่เป็นกระบวนการที่สะอาดและไม่มีพิษ แล้วก็เพื่อ ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง ระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ แล้วข้อมูลจากที่ผมไปดูมานะครับ สถานการณ์ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในปี ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของพลังงาน แสงอาทิตย์พบว่ามีสัดส่วนมากกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์จากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ทั้งนี้ การปลดล็อกของการติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้ไม่เข้าข่าย โรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก็จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงาน ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เป็นกลางทาง คาร์บอนภายในปี ๒๕๙๓ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ๒๖๐๘ นอกจากนี้ทราบมาว่ากระทรวงอุตสาหกรรม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอให้เป็นคำถาม เลยนะครับ เดี๋ยวรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตอบข้อมูลต่าง ๆ เชิญครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้ครับ อีกนิด สั้น ๆ ครับ ผมทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานมีการบูรณาการความร่วมมือกัน ในการประหยัดพลังงาน ฉะนั้นผมขอตั้งคำถามข้อแรกให้กับท่านรัฐมนตรีนะครับว่า การที่ กระทรวงพลังงานประกาศนโยบายไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ไม่ปลดปล่อย คาร์บอน กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางสนับสนุนเรื่องนี้หรือไม่ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรมค่ะ ก่อนอื่นต้องขอบคุณผ่านท่านประธานไปยังท่าน สส. เกรียงยศ สุดลาภา ที่ให้ความห่วงใยเรื่องของพลังงานสีเขียวพลังงานสะอาด ต้องนำเรียนท่านประธานอย่างนี้ค่ะว่า วันนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เรามีความตั้งใจเหมือนกัน ก็คือว่าต้องการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย แล้วก็กระจายโอกาส ที่สำคัญที่สุดค่ะ คืออะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหา แล้วก็อะไรที่จะสามารถช่วยเหลือ ผู้ประกอบการได้ เรายินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของ กระทรวงพลังงานที่มีเรื่องของพลังงานสีเขียวมาเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยเหลือ ทั้งผู้ประกอบการทั้งนักธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดก็ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่จะสามารถหา พลังงานสะอาดผลิตได้ด้วยตัวเอง กระทรวงอุตสาหกรรมก็รับลูก ไม่ว่าจะเป็นการทำนโยบาย ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเรื่องของพลังงานสีเขียว ท่านประธานคะ ตัวเราเองเราคำนึงตลอดค่ะ เพราะว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน นักลงทุนมักจะมีคำถามผ่านมาทางท่านนายกรัฐมนตรีก็ดี ผ่านมา ทางรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ดีว่า ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดพลังงานสีเขียวแล้ว หรือไม่ หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องของ UGT เกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม เราก็รับลูกทันทีนะคะ เรามีการเข้าไปดูว่า เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเราสามารถจะ สนับสนุนได้อย่างไรบ้างคะ ปรากฏพอเราเข้าไปดูปุ๊บ เราก็มีเรื่องของโซลา Solar Rooftop โซลาฟาร์ม และรวมไปถึง Solar Floating ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น พอเราเข้าไปดูปุ๊บ ก็เข้าไปดูแล้วก็จะเจอปัญหาว่าวันนี้การจะติดตั้งหรือการขอตั้ง Solar Rooftop ในสถานประกอบการ หน่วยงานราชการหรือกิจการของผู้ประกอบการใหญ่ ๆ กำลังเจอปัญหาค่ะ เพราะอะไรคะ เพราะถ้าเกิดมีขนาดเกิน ๑ เมกะวัตต์ เราจะต้องไปเข้าที่ กรมโรงงานเพื่อขอใบอนุญาต หรือเรียกว่า รง. ๔ พอเราเห็นอุปสรรคปัญหาตรงนี้ ดิฉันเองก็ นำเรียนไปพูดคุยกับทางท่านปลัดกระทรวง ท่านอธิบดีกรมโรงงานว่า เราจะสนับสนุนที่จะ สามารถให้ผู้ประกอบการหรือพี่น้องประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดโดยง่ายได้อย่างไร ก็เข้าสู่ขั้นตอนก็คือเข้าไปแก้ไขกฎกระทรวงค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการแก้กฎกระทรวงนี้ เราไม่ได้ช่วยเฉพาะหน่วยใดหน่วยหนึ่ง วันนี้คนที่จะได้ทั้งหมดก็คือนักลงทุน นักลงทุนต่างชาติ จะมีความมั่นใจมากขึ้น เข้ามาอย่างน้อย ๆ มีพลังงานสีเขียว มีพลังงานสะอาด เพราะอะไร คะ เพราะวันนี้กติกาโลกได้กำหนดไว้แล้ว เราโดนกีดกัน เรามีกำแพงภาษีกลายๆ เรื่องของ พลังงานก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าวันนี้เรายังคงใช้พลังงาน Fossil พลังงานเชื้อเพลิง เราก็จะ เจอปัญหาเรื่องคาร์บอนค่ะ ซึ่งวันนี้ถ้าเรามีพลังงานสีเขียวปุ๊บ ช่วยผู้ประกอบการและ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน อย่างน้อย ๆ วันนี้ที่เราเดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนมาตั้ง ฐานการผลิตในเมืองไทย พอเริ่มต้นเรามีพลังงานสีเขียว แน่นอนค่ะ นักลงทุนเห็นปัจจัย ตรงนี้เป็นปัจจัยที่เขาจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนค่ะ สำหรับผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต้นทุน พลังงานกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทางการผลิต ที่สำคัญที่สุดค่ะ พี่น้องประชาชนจะได้ ประโยชน์อะไรคะ พี่น้องประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาด ที่สำคัญที่สุดนะคะ เรื่องที่เรากังวลอยู่ตอนนี้คือเรื่องของฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการผลิตที่เป็นพลังงาน Fossil จะส่งผลต่อสุขอนามัยของพวกเขา เพราะฉะนั้นแล้วจะนำเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านสมาชิกว่า เราในฐานะของกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เราจะทำ นโยบายเรื่องของ UGT พลังงานสะอาด การเข้าถึงเรื่องนี้ไปด้วยกันค่ะ แล้วก็พร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะมีนโยบายใด ๆ ก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและให้เข้าถึงพลังงานได้ โดยง่ายค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณท่าน รัฐมนตรีครับ ต่อไปขอเชิญ คุณเกรียงยศ สุดลาภา ถามเป็นครั้งที่ ๒ ท่านยังมีเวลาอีก ๙ นาที ๓๔ วินาที เชิญครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ที่ได้มีมาตรการปลดล็อกการติดตั้ง Solar Rooftop คำถามที่ ๒ ที่ผมอยากจะเรียนถาม ท่านรัฐมนตรี ก็คือว่าปัจจุบันนี้ถ้าไม่ใช่แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนด้านพลังงานที่สูง ในกรณีของครัวเรือนประชาชนหรือธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์หรือสถานศึกษา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยสังคมในการประหยัดพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานสะอาด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายหรือมีแนวทางช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างไรครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ที่เกริ่นไว้เมื่อสักครู่ว่า วันนี้เรามีการปลดล็อกให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ ที่มีความตั้งใจจะหาพลังงานสะอาดติดตั้ง Solar Rooftop เดิมเราเคยมีอุปสรรคปัญหา ถ้าเกิน ๑ เมกะวัตต์ ต้องเข้าไปที่กรมโรงงานขอ รง. ๔ ถ้าไม่ถึง วันนี้ปลดล็อกทั้งหมด ไม่จำเป็นจะต้องขออีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรากังวลมาตลอด แล้วก็ได้รับฟัง ดิฉันเข้าใจดีว่าทางท่านสมาชิกคงจะได้รับข้อเสนอแนะมาจากผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ราชการต่าง ๆ ที่มีความต้องการอยากลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟ และมีความต้องการอยากตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาของสถานที่ต่าง ๆ แต่เกิดปัญหา ที่ดิฉันบอกเมื่อสักครู่ว่า จะต้องเข้าไปขอใบ รง. ๔ ที่กรมโรงงาน วันนี้เรารื้อลดปลดสร้าง ตรงนี้แล้วค่ะ รื้อสิ่งที่มีปัญหาคือกฎหมาย ลดขั้นตอนอุปสรรค แล้วก็สร้างโอกาสให้กับพี่น้อง ประชาชนให้เข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เดิมเราอาจจะเจอปัญหาเรื่องของการเข้าไป ขอใบอนุญาต แต่ตอนนี้ด้วยเราได้รับประเด็นคำชี้แนะมาจากหลาย ๆ หน่วยงานด้วยกัน สำคัญที่สุดท่านประธานคะ อย่างแรกเลย คือเรื่องของทางสภาอุตสาหกรรมเขาก็มีข้อกังวล แล้วก็รวบรวมประเด็นกันมาตั้งแต่เริ่มต้นที่มีรัฐบาลเลยว่า ต้นทุนพลังงานถ้ายังสูงอยู่อย่างนี้ มันก็ส่งผลต่อเรื่องของการผลิต เรื่องของราคา ทางสภาอุตสาหกรรมก็มีข้อห่วงใยมานะคะ และที่สำคัญที่สุดที่เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเราจะยึดถือกฎหมายเดิม ๆ อีกไม่ได้แล้ว นั่นคือความทันสมัยของเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ตัวแผงโซลาเซลล์ หรือว่าแผงโซลาที่เอาไป ติดบนหลังคา ก่อนหน้านี้ ๑ เมกะวัตต์ ต้องใช้จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ แผง ท่านประธานคะ ๔,๐๐๐ แผงด้วยกัน แต่วันนี้เทคโนโลยีมันก้าวไกลแล้วค่ะ มันมีการพัฒนา และที่สำคัญที่สุด วันนี้ ๑ เมกะวัตต์ใช้เพียงแค่ ๑,๔๐๐ แผงเท่านั้น แล้วตัวกฎหมายเดิมสาเหตุที่ทำไมเรา จะต้องไปที่กรมโรงงานเพื่อขออนุมัติขออนุญาตใบ รง. ๔ ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ จำนวนแผง ที่มันมีมาก ๆ มันจะส่งผลต่อความปลอดภัย โครงสร้างหลังคา ตัวน้ำหนักหลังคา มันมีผล เชื่อมโยงต่อเนื่องกันมาหมด แต่ด้วย ณ ขณะนี้ เทคโนโลยีที่ดีขึ้น แผงโซลาเซลล์ จากจำนวน แผงที่มาก ตอนนี้ลดลงเหลือจำนวนแผงที่น้อย กำลังผลิตก็มีเท่าเดิม เราก็เลยเห็นแล้วว่า กฎหมายเดิมที่เคยออกมามันอาจจะล้าหลังแล้ว เราก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนนะคะ เปลี่ยน กฎหมายให้มันทันสมัยมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเราต้องทำนโยบายสอดคล้องกับทางของ นโยบายของพลังงาน ก็คือเรื่องของพลังงานสีเขียว สิ่งต่าง ๆ ที่ดิฉันพูดมาเมื่อสักครู่นี้ คือปัจจัยที่ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเรากลับมาดูว่า กฎหมายฉบับใด กฎกระทรวงฉบับใดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ สามารถปรับ สามารถ เปลี่ยน แล้วส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาที่ถูก และที่สำคัญที่สุด ก็คือสามารถขยายโอกาสให้เขาได้มีโอกาส มีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ก็ที่ดิฉันพูดเมื่อสักครู่ เราโดนกำแพงภาษี แต่เมื่อไรก็ตามเรามีพลังงานสีเขียวเข้ามา เราจะมี ต้นทุนในการต่อสู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะว่าวันนี้ผู้ผลิตเองยังไม่ได้ส่งสินค้าเฉพาะ ในประเทศเท่านั้น เราส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เราไม่สามารถทราบได้ว่า แต่ละประเทศ มีกำแพงภาษีอย่างไร แต่ถ้าเรามีต้นทุนพลังงานสีเขียวขึ้น นี่คือโอกาสอีกโอกาสหนึ่งของ ผู้ประกอบการในประเทศ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณเกรียงยศ ถามเป็นครั้งสุดท้ายครับ แต่ท่านยังคงมีเวลาอีก ๘ นาที ๔๕ วินาที เชิญครับ
นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ก็ถือว่านโยบายที่ท่าน รัฐมนตรีกำลังทำ แล้วก็กำลังจะ รื้อ โละ ปลด สร้าง ก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานราคาถูก แล้วก็ลดขั้นตอนทางกฎหมายนะครับ แต่ว่าสิ่งที่ ผมกังวล พอท่านรัฐมนตรีได้มีการโละกฎหมาย หรือว่ารื้อกฎหมายออกไปแล้ว ทำให้ ประชาชนเข้าถึงแผงโซลาเซลล์บนอาคารบ้านเรือนได้ง่ายขึ้น ทีนี้ประชาชนก็จะติดกันเยอะ แต่ทีนี้สิ่งที่ผมกังวลก็อยากจะตั้งเป็นคำถาม ข้อที่ ๓ และข้อสุดท้ายถึงท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมในขณะที่เดินหน้าแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกโซลาเซลล์ที่ติดตั้งบน หลังคา ไม่ทราบว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองมีการตั้งคณะกรรมการ หรือตรียมความ พร้อมที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย แล้วก็ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนหรือไม่ และใครจะเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะตอบเป็นครั้งสุดท้าย สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับคณะผู้เข้าร่วม โครงการอบรมและศึกษาดูงานเสริมสร้างความเป็นพลเมืองคุณภาพ และความรู้ความเข้าใจ แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น พระประมุข จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ๑๔๔ คน ซึ่งกำลังนั่งฟังการประชุม ข้างบนนี้นะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตอบคำถามเป็น ครั้งสุดท้าย เชิญครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมค่ะ เรื่องของความปลอดภัย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองเราต้อง คำนึงถึงอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานเท่านั้น แต่มันหมายถึงความปลอดภัยของชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ด้วยเช่นกัน เรื่องของมาตรฐานความ ปลอดภัย ประกอบไปด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ๒-๓ ส่วนด้วยกัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
อย่างแรก เรื่องของการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พุทธศักราช ๒๕๒๒ แล้วก็ที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอันนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
อย่างที่ ๒ เรื่องของการกำกับดูแลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน เรื่องของมาตรการด้านการออกแบบติดตั้ง แล้วก็การจัดการขยะและกากของเสีย สำหรับผู้ประกอบการกิจการ ง่าย ๆ ก็คือเรื่องของโครงสร้างอาคาร แล้วก็เรื่องของหลังจากที่ ติด Solar Rooftop เสร็จแล้วแผงโซลาเซลล์ มันมีเวลาค่ะ แต่หลังจากที่หมดอายุแล้ว เราจะจัดการอย่างไร นี่คือปัญหาที่เราเองต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้ไม่ใช่มีแค่ โซลาเซลล์เท่านั้น ไม่ใช่แค่แผงโซลาเท่านั้น แบตเตอรี่ซึ่งวันนี้เรามีตั้งแต่แบตเตอรี่ธรรมดา แบตเตอรี่ของ Hybrid รวมถึงแบตเตอรี่ของรถยานยนต์ไฟฟ้า เรามีการคำนึงถึงทั้งระบบ ท่านประธานคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการลดใช้ รวมถึงการ Recycle ที่สำคัญหลังจากนี้ การที่จะต้องติดตั้งแล้ว การดูแลหลังการติดตั้ง หรือการปลดระวางมันต้องเป็นความ รับผิดชอบร่วมกัน ระหว่างผู้ติดก็คือเจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ และรัฐ จะโยนภาระให้ใคร ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ค่ะ นี่คือสิ่งที่เรากำหนดมาตรฐานไว้ด้วยเรื่องของการดูแลบำรุงรักษาหลังการใช้งาน ที่สำคัญที่สุดค่ะ ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมหนีไม่พ้นสำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า สมอ. เรามีการกำหนดมาตรฐานเหมือนกัน มาตรฐานของแผงโซลาเพื่อความปลอดภัย ให้ทางผู้ประกอบการดูด้วยว่าแผงโซลาที่เรากำลัง จะตัดสินใจซื้อนี้มันผ่าน มอก. หรือไม่ อย่างไร เรามีมาตรฐานเช่นเดียวกันค่ะ ก็คือ มอก. ๖๑๒๑๕ สำหรับแผงโซลาเซลล์แสงอาทิตย์ภาคพื้นดินชนิดผลึกซิลิคอนค่ะ แล้วก็มี มอก. ๒๒๑๐-๒๕๕๕ สำหรับฟิล์มบาง แล้วก็มี มอก. ๒๕๘๐ สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของ แผงเชลล์ แผงแสงอาทิตย์ และสุดท้าย มอก. ๒๕๗๒-๒๕๕๕ สำหรับการติดตั้งทางไฟฟ้า และระบบจ่ายกำลัง ท่านประธานจะสังเกตได้ว่า มาตรฐานเราไม่ได้มีเฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่เราต้องมีตั้งแต่สินค้า กระบวนการติดตั้ง รวมไปถึงการดูแลค่ะ แต่หลังจากนี้ เราจะไม่ปล่อยให้เป็นแค่มาตรฐานทั่วไป เราจะพยายามทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อบังคับใช้ เพราะอะไรคะ เพราะถ้าบังคับใช้เมื่อไรเท่ากับทุกบริษัททุกที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งนี่ก็คือ ความห่วงใย แล้วก็เป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมเรากำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งใด ๆ ก็ตาม สินค้าใด ๆ ก็ตาม ซื้อได้ ซื้อง่าย ราคาถูก แต่ต้องมีมาตรฐานค่ะ สำคัญที่สุด เรื่องของ การดูแลหลังปลดระวางแผงโซลา ก็คือหนีไม่พ้นเรื่องของการเอาแผงโซลาไปทำอย่างไรต่อ ได้ไหม เราจะส่งคืนประเทศต้นทาง หรือจะมาจัดการในประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นนโยบายของ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและนโยบายท่านนายกรัฐมนตรีที่เราอยากจะมี ศูนย์กลางการจัดการเรื่องขยะของเสีย แล้วก็ขยะมีพิษที่จะต้องทำการจัดการเป็นระบบ เพราะว่าวันนี้เรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงเรื่องของ พลังงานสะอาดที่เราพยายามปลดล็อกให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึง แล้วสามารถได้มีต้นทุน พลังงานในราคาที่ถูกขึ้นค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันต้องกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิกว่า ดิฉันขอขอบคุณนะคะ ทางเพื่อนสมาชิกที่มีความห่วงใย เรื่องของการปลด กฎหมาย Solar Rooftop ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญที่สุด อยากให้ท่านมั่นใจว่า ทางเราเอง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานเรามีนโยบายที่จะ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องประชาชนให้มีต้นทุนพลังงานในราคาถูก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตาม เราสู้ให้ทุกปัญหา แล้วก็พึ่งพาได้ทุกเรื่องค่ะท่านประธาน ขอบคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ คุณเกรียงยศนะครับ แล้วก็ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มาถามตอบปัญหานี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศเรา เพราะว่าเราไปประชุมต่างประเทศ ไม่ว่าของรัฐสภา ก็ดี ของรัฐบาลก็ดี เขากำลังพูดถึงเรื่องพลังสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียว เพราะฉะนั้นที่ ท่านรัฐมนตรีมาตอบวันนี้ต้องการจะชัดเจน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่ออุตสาหกรรม ต่อบุคคลทั่วไปของประเทศ ต้องขอบคุณครับ ท่านได้ตอบชัดเจนเป็นอย่างดีนะครับ อันนี้ เป็นตัวอย่างของกระทู้ถามที่เป็นความสนใจของประชาชน และถามตอบอย่างชัดเจนจะเป็น ประโยชน์มากครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ถาม ท่านนายกรัฐมนตรี
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้ว มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม ซึ่งดำเนินการไปตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ท่านรัฐมนตรีก็มาพร้อมแล้ว ขอเชิญคุณร่มธรรมครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง แหล่งแร่ลิเทียมและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย โดยผมได้ตั้งกระทู้ถามท่านนายกรัฐมนตรีครับ แต่เนื่องจากท่าน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเป็นผู้ตอบกระทู้ แทนนะครับ ผมจึงต้องขอขอบคุณท่านพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่ได้กรุณามาตอบกระทู้ถามสดของผมในวันนี้ แต่ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ผมต้องขอย้ำอีกสักครั้งหนึ่งนะครับว่า ทุกวันพฤหัสบดี ณ สภาแห่งนี้ เรามีวาระกระทู้ถามตอบตลอด ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีแล้วก็ฝ่ายบริหารเอง ก็ควรจะจัดสรรเวลาให้เหมาะสม แล้วก็ขอย้ำอีกครั้งครับว่า สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เป็น สถานที่รับฟังปัญหา รับฟังข้อเสนอแนะ ตอบข้อสงสัย และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ที่ดีที่สุด ท่านประธานที่เคารพครับ ที่ผมต้องตั้งกระทู้ถามสดวันนี้ เรื่องแหล่งแร่ลิเทียมและ อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ของไทย ก็เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน ทั้งประเทศ เป็นที่สนใจในระดับโลก แล้วก็ถือเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยอีกด้วย ผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาอธิบายรายละเอียด เพื่อประกอบคำถามของผมครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองก็มีความพยายามที่จะผลักดัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และแก้ไขปัญหาสภาพ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ผมเองก็รู้สึกยินดีที่ทางรัฐบาล ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ครับ โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ได้พยายามผลักดันดึงดูด ให้มีการลงทุนผลิตยานพาหนะไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงหวังว่าไทยเราจะสามารถเป็น Hub เป็นฐานผลิตรถยนต์ EV ได้ในภูมิภาคของเรา ไปจนถึงท่านก็พยายามจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็น Salesman ครับ บินไปคุยกับบริษัท ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ท่านนั่งรถ EV โชว์นะครับ ท่านสั่งการให้หน่วยงานราชการให้หันมาใช้รถ EV มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ซึ่งนอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ท่านพิมพ์ภัทราเองก็มีความพยายามส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่ด้วยเช่นกันนะครับ ซึ่งท่านก็ได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ได้เร่งจัดหาแหล่งแร่ลิเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า และถือเป็นที่ต้องการของทั่วโลกในวันนี้ และในอนาคต ขอสไลด์ต่อไปด้วยครับ นี่เป็นข่าวของท่านนะครับ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ ท่านรองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาเปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียม ๑๔.๘ ล้านตัน ที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งคาดว่าจะนำลิเทียมเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคัน ท่านรองโฆษกก็บอกว่า การสำรวจพบนี้ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ค้นพบแร่นี้มากที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของโลก ซึ่งเป็นรองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา หรือเราอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครอง แร่ลิเทียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง นี่ข่าวจากรัฐบาลไทยนะครับ ข่าวเป็นทางการ นี่ผมไม่ได้ พูดขึ้นมาเอง หลังจากข่าวของรัฐบาลออกมา ท่านประธานครับ สื่อไทยแทบทุกสำนัก ตีข่าวว่า ไทยพบแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก พี่น้องประชาชนก็ดีใจ ผมเองก็ดีใจครับ ท่านประธาน เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะพลิกโฉมประเทศของเรา จะทำให้เราเป็น ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่สำคัญ ซึ่งอาจสร้างรายได้ให้เข้าประเทศมหาศาล เราอาจจะเป็นมหาอำนาจด้านนี้ไปเลยก็ได้ครับท่านประธาน ต่อไปเราอาจจะซื้อรถยนต์ EV ในราคาที่ถูกลง เพราะว่าเรามีวัตถุดิบเองในเรื่องนี้นะครับ ลามไปสื่อต่างประเทศ ตีข่าวไป ทั่วโลกเลย Thailand Discover the Third Largest Lithium Resources in the World เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากครับ สไลด์ถัดไปด้วยนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าติดขัดอะไร คือจะได้ให้ เห็นว่าสื่อต่าง ๆ ทั้งของไทย ทั้งของรัฐบาลเองได้แจ้งไว้อย่างไรครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อยากให้เป็น คำถามก่อน ท่านรัฐมนตรีตอบแล้วท่านก็ว่าต่อนะครับ ถ้าเป็นไปได้ขอเป็นคำถามแรกก่อน นะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ใกล้แล้วครับ แต่ดีใจ ไม่ทันไรครับท่านประธาน นักวิชาการหลายท่านก็ได้ออกมาตั้งคำถามครับว่า มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะมากที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง ก็บอกว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ลิเทียม แต่ปริมาณไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรามีมาก เป็นอันดับ ๓ ของโลกหรือไม่ ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ก็ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลเรื่องแร่ที่พบอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ท่านรองโฆษกก็ออกมาชี้แจงครับว่า ข้อมูลที่ได้แถลงไปครั้งนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อน กำลังจะเข้าสู่คำถามแล้ว และอีกนิดเดียวครับท่านประธาน ประเด็นนี้ต้องเอาให้ชัดครับว่าเราพบแร่ลิเทียมจริง ๆ หรือไม่ มีที่ไหน มีเท่าไร มากเป็น อันดับ ๓ ของโลกหรือไม่ นำไปผลิตแบตเตอรี่ใส่รถยนต์ได้กี่คัน วันนี้พี่น้องประชาชนสับสน มากครับ ผมเองก็สับสน สับสนกันไปทั้งโลกเลยครับ เพราะถ้าไม่ใช่เรื่องจริง นี่อาจจะเป็น Fake New ของรัฐบาลเลยก็ได้นะครับ และไม่ใช่ข่าวปลอมที่หลอกเฉพาะคนไทยครับ ท่านประธาน หลอกไปทั้งโลกครับ บางทีผมคิดว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกระทรวงดิจิทัล ก็ต้องติดตามด้วยว่าข่าวของรัฐบาลเป็นข่าวปลอมหรือข่าวจริง ซึ่งมันไม่ควรผิดพลาดครับ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีหรือท่านอื่น ๆ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อันนี้น่าจะเป็น คำถามแล้วนะครับ รัฐมนตรีจะได้ตอบ ขออภัยครับ เราจะไม่ใช่การอภิปรายนะครับ ขอเป็น คำถาม รู้สึกท่านให้เมื่อสักครู่เป็นคำถาม ให้รัฐมนตรีตอบก่อน อันนี้ไม่ใช่ญัตตินะครับ เป็นกระทู้สด ดูข้อบังคับก็แล้วกันครับ กระทู้สดคืออธิบายนิดหนึ่งแล้วก็ถามมา แล้วก็ตอบไป ขอความกรุณาให้เป็นไปตามข้อบังคับ เดี๋ยวจะเกิดการประท้วง ก็เสียเวลานะครับ เมื่อสักครู่ ท่านก็ถามเป็นคำถามแล้วนะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ก็ขอให้ท่านรัฐมนตรีได้ช่วยชี้แจง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสำรวจพบแร่ลิเทียมในประเทศไทยด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอื่นต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกก่อนนะคะว่า วันนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ติดภารกิจต้อนรับผู้นำประเทศเยอรมัน เวลาเดียวกันกับประชุมสภา จึงไม่สามารถที่จะมาตอบกระทู้นี้ได้ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถตอบให้กับพี่น้องประชาชนแล้วก็สมาชิกที่ได้ถามได้ แล้วก็ ขอบคุณท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ที่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทราบดีค่ะว่าเรื่องนี้เป็นความห่วงใย แต่สำหรับรัฐบาลเอง เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศค่ะ ก่อนอื่นที่ดิฉันจะอธิบายคำถาม ที่ท่านสมาชิกได้สอบถามเมื่อสักครู่ ขอทำความเข้าใจกับสมาชิกไปถึงพี่น้องประชาชนที่กำลัง รับฟังอยู่ เรื่องของที่มาที่ไป ตลอดจนเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือหนีไม่พ้นเรื่องของลิเทียมค่ะ ขออนุญาตให้ทางสภาฉายกล้องทางด้านหน้าของดิฉันนะคะ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธานนะคะ นำสิ่งของมาในสภานิดหนึ่ง เป็นตัวหินตัวนี้ แล้วก็ตัวผงนะคะ ก่อนอื่นเดี๋ยวดิฉันจะเข้าไปถึงในรายละเอียด ลิเทียมทำไมถึงต้องสำคัญ เพราะวันนี้ทุกคน สนใจลิเทียมมาก เพราะลิเทียมเป็นแร่ที่จะต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ค่ะ และที่สำคัญที่สุด ตัวลิเทียมเองมันไม่สามารถที่จะอยู่เดี่ยว ๆ ได้ มันประกอบไปด้วย ๒ ส่วนด้วยกัน บางประเทศลิเทียมก็จะอยู่กับน้ำ อย่างน้ำเค็ม น้ำเกลือ อย่างประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ แต่อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะแทรกตัวอยู่ในหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ถ้าท่านสังเกตก้อนหินก้อนนี้ ก้อนนี้เราไม่ได้เรียกว่าก้อนลิเทียม แต่ลิเทียมมันจะแทรกอยู่ใน บริเวณผิวอยู่ข้างใน อยู่ในเนื้อนะคะ ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นลิเทียม เราต้องไปผ่านกระบวนการ แต่ก้อน ๆ นี้ ตัวลิเทียมที่เรากำลังพูดถึงมันจะอยู่ด้านในนี้ เพราะฉะนั้นอยากทำความเข้าใจ ให้ตรงกันก่อนเรื่องของลิเทียมในเมืองไทย ลิเทียมในเมืองไทยจะอยู่ในก้อนหินแบบนี้นะคะ กว่าจะได้มาต้องไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก่อนถึงจะได้มาเป็นแร่ลิเทียมตามที่ทุกคน อยากได้ แล้วตอนนี้ที่ท่านสมาชิกได้พูดเมื่อสักครู่ว่า มันมีไหม มันมีจริงไหม หรือมันเป็น อย่างไร ตั้งแต่เรามีเรื่องของ EV มา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเรามีนโยบายให้ทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ไปสำรวจดูว่า มีแปลงไหนบ้างที่มาขอ หรือมี แปลงไหนบ้างที่มาขออนุญาตทำการสำรวจ ก็ปรากฏว่าในประเทศไทยตอนนี้ เรามีแหล่ง ลิเทียมที่มาขอในการสำรวจ ๒ แหล่งด้วยกัน แหล่งแรกคือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งที่ ๒ ก็คือแหล่งบางอีตุ้ม ซึ่งอยู่ในจังหวัดพังงา ทั้ง ๒ แหล่งนี้เป็นแหล่งที่มีการเข้าไปสำรวจแล้ว แล้วพบว่ามีหินที่มีลิเทียมเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ะ แหล่งแรกก็คือ แหล่งเรืองเกียรติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าไปแล้วมีปริมาณ ทรัพยากรแร่ หรือตัวนี้ค่ะ ที่เราพูดถึงกว่า ๑๔.๘ ล้านตัน ดิฉันย้ำว่า ๑๔.๘ ล้านตัน ก็คือปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ เข้าใจตรงกันก่อนนะคะ ปริมาณ ๑๔.๘ ล้านตัน คือปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ ซึ่งไม่ใช่ตัวของโลหะลิเทียมค่ะ ส่วนพื้นที่ของบางอีตุ้ม อีกแหล่งหนึ่ง เรายังไม่ได้รับรายงานของผลการสำรวจว่ามีจำนวนปริมาณหินที่มีลิเทียม อยู่ปริมาณเท่าไร พอเราไปดูความสมบูรณ์ของลิเทียมที่อยู่ในแหล่งบางอีตุ้ม เราก็ได้รับการ รายงานในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่าความสมบูรณ์ของสารประกอบลิเทียมออกไซด์ที่ ร้อยละ ๐.๕ ซึ่งหากแปลงเป็น Lithium Carbonate ก็จะมีประมาณ ๑๖๔,๕๐๐ ตัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวนี้หากออกแบบการทำเหมือง การแต่งแร่ แล้วก็การประกอบโลหะกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถแต่งแร่ออกมา คาดว่าจะผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ขนาด ๕๐ กิโลวัตต์ได้ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคัน ซึ่งข้อมูล ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลความจริงตามหลักการคำนวณ ตามกระบวนการถูกต้องนะคะ แล้วก็ สำหรับความสับสนที่เกิดขึ้น ดิฉันเข้าใจดีว่ามันมีความสับสนเรื่องของความมาก ความน้อย การติดอันดับ ลำดับ ๓ ของโลก ซึ่งก่อนอื่นเลยดิฉันก็ต้องยอมรับก่อนว่า ศัพท์เทคนิคของ เหมืองนี้มันมีความเข้าใจยากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ปริมาณสำรองทาง ทรัพยากรธรณี ซึ่งหมายถึงหินที่มีลิเทียม ก็คือตัวนี้นะคะ นี่คือปริมาณสำรองทาง ทรัพยากรธรณี ซึ่งตอนที่ดิฉันบอกไปก็คือว่า ๑๔.๘ ล้านตัน มันหมายถึงตัวหินตัวนี้ ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการสกัดถูกต้องนะคะ ถ้าสกัดแล้วลิเทียมก็จะมาอยู่เป็นผง ๆ แบบนี้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจผิดแบบนี้ ดิฉันเอง ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เราก็พยายามที่จะอธิบายกับพี่น้องประชาชน หลังจากมีเหตุขึ้นมาว่า มันจริงไหม มันใช่ไหม ดิฉันก็มีคำสั่งให้ทางอธิบดี กพร. ได้ออกไปสื่อสารภายใน ๒๔ ชั่วโมง ให้ออกไปทำความ เข้าใจ และอธิบายให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบว่าปริมาณสำรองนี้แท้จริงมันเป็นอย่างไร และจำนวนที่เราพยายามพูดถึง ๑๔.๘ ล้านตันมันมีจริงหรือไม่ ก็ย้ำว่ามีจริงนะคะ เพียงแต่ว่า วันนี้อาจจะมีความตื่นเต้น เพราะด้วยความที่มีเจตนาดี วันนี้ดิฉันเข้าใจค่ะ ทุกคนตื่นเต้นกับ ลิเทียม ทุกคนอยากทราบว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดมันเป็นโอกาสค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้การสื่อสาร ความเข้าใจในศัพท์เทคนิค แล้วก็การแปลนี้มันอาจจะไม่ได้ไป ในทางเดียวกัน แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด อุตสาหกรรมเองเราออกไปแก้ไข และที่สำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่ามันคือความเจตนาดี วันนี้ลิเทียมที่เกิดขึ้นที่พบขึ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศบ้าง มันสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน เพราะนี่คือการที่เราจะเดินออกไปขายแค่พื้นที่ที่จะมา ตั้งฐานการผลิตคงไม่เพียงพอ การที่เรามีแค่พลังงานสีเขียว จูงใจนักลงทุนมา ก็ไม่เพียงพอ แต่วันนี้เรามีสารตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ จำนวนที่จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ แค่เหมือง เหมืองเดียวเราสามารถทำได้ ๑ ล้านคัน อันนี้มากกว่าค่ะที่มันเป็นใจความสำคัญ และเป็นหัวใจของการที่เราจะเปิดเผยให้กับพี่น้องประชาชนชาวโลกรู้ว่าเรามีลิเทียมค่ะ วันนี้มันไม่มีทางที่ดิฉันคิดว่าคนไทยไม่ควรเข้ามาด้อยค่าว่า มีมากหรือมีน้อย แต่เราต้องภูมิใจ ว่าประเทศของเรามีค่ะ มีลิเทียม ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขอเชิญคุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ถามเป็นครั้งที่ ๒ เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ก็ขอบคุณ คำตอบจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ผมคิดว่าจากคำตอบก็คงจะ ทำให้พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกรวมถึงตัวผมเองก็ได้เข้าใจที่ตรงกันนะครับว่า ที่พบ ๑๔.๘ ล้านตันก็คือหินแร่ดิบ ไม่ใช่ตัวทรัพยากรแร่ หรือว่าตัวลิเทียมนะครับ ผมก็คิดว่ามันก็เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดของทางรัฐบาล จริง ๆ ผมคิดว่ารัฐบาลก็ควรที่จะ ทบทวนในเรื่องนี้นะครับ เพราะว่ามันไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนอย่างที่ท่านรัฐมนตรี บอกนะครับ แต่ตรงกันข้ามมันอาจจะทำลายชื่อเสียงของประเทศเราไปจากการแถลง ที่ผิดพลาดไปได้ อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมคิดว่าการสำรวจแร่ที่มีศักยภาพลิเทียม ในประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แล้วก็การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นเรื่องที่ สำคัญอยู่ดี ก็เอาใจช่วยรัฐบาลนะครับ ก็ขอให้ทบทวนการสื่อสารด้วยนะครับ มีอีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาการสื่อสารของรัฐบาล ผมก็ขอไม่พูดใน ณ ที่นี้นะครับ เพราะว่าที่ผ่านมา ท่านทั้งพูดไว พูดอย่างทำอย่าง พูดเกินจริง ผมคิดว่าต้องทบทวนอย่างจริงจังนะครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
มาสู่ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ในประเด็นเรื่องลิเทียม แล้วก็เรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้า มีข้อกังวลจากพี่น้องประชาชน นักวิชาการหลายท่านว่ากระบวนการนำแร่ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ การทำเหมือง การขุดเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ หรือไม่ เพราะว่าเรามีตัวอย่างในต่างประเทศที่มีลิเทียมมากที่สุดแล้วนะครับว่า การทำเหมือง ทำลายพื้นที่ธรรมชาติ มีสารพิษที่อาจปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แล้วก็ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อีกประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อมก็คือด้านแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ Lithium Ion เมื่อเสื่อมสภาพแล้วก็อาจจะสร้างขยะ แบตเตอรี่จำนวนมหาศาล ถ้าไม่มีการจัดการ ไม่มีการ Recycle อย่างเป็นระบบก็จะถูก กำจัดผิดวิธี มีสารพิษตามมาได้นะครับ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เกิดคำถามครับว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ที่เราจะผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แล้วก็ EV กับทรัพยากรมหาศาลแล้วก็ปัญหา สิ่งแวดล้อมที่อาจจะตามมา จึงเป็นคำถามข้อที่ ๒ ของผมครับท่านประธานครับว่า ทางรัฐบาลได้มีแนวทางและแผนในการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตอบเป็นครั้งที่ ๒ ครับ เชิญครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบคุณท่านประธานผ่านไปถึงท่านสมาชิกอีกครั้งหนึ่งนะคะ เรื่องของข้อกังวลห่วงใยเรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ทั้งระบบ ดิฉันก็นำเรียนอีกครั้งหนึ่ง นะคะว่า เรื่องของการสนับสนุนการลงทุนที่จะมาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เราทำกัน มากว่า ๕ ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา สมัยท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาถึง ท่านเศรษฐา ทวีสิน มาตรการ EV3 จนมาถึงมาตรการ EV3.5 เราคิดครอบคลุมทั้งระบบค่ะ และเราทราบดีว่าสิ่งที่ท่านห่วงใยก็คือเรื่องแบตเตอรี่จะเป็นปัญหาในอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่ แค่แบตเตอรี่ค่ะ รวมไปถึง Solar Rooftop หรือตัวแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ทุกอย่างที่ท่าน คิดว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม เราคิดค่ะ วันนี้เราจะเอาแค่ขยะในประเทศและส่งออกกลับไป ส่งออกไปยังต้นทาง คงทำไม่ได้ เพราะวันนี้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเราโต โตขึ้นกว่า ๓ เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และแน่นอนค่ะหลังจากนั้นมาการจัดการแบตเตอรี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาล กำลังคำนึงถึงค่ะ วันนี้เรามีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากเราภูมิใจที่เรามีลิเทียม ในเมืองไทยที่ถือว่าเป็น Rare Earth ท่านถามว่า ภูมิใจตรงไหน อย่างไร เราภูมิใจค่ะ เพราะที่อื่นเขาไม่มี แต่เรามี ที่สำคัญที่สุดเรื่องกระบวนการจัดการเอาแร่ลิเทียมขึ้นมา ท่านหมดความกังวลได้เลยค่ะ เพราะว่าแต่ละประทานบัตรกว่าจะขึ้นมาต้องผ่าน กระบวนการ ผ่านหน่วยงานกว่า ๑๔ หน่วยงานกว่าจะได้ประทานบัตร ๑ ประทานบัตร แล้วเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เรามี พ.ร.บ. แร่ ๒๕๖๐ เรากำชับค่ะว่าเหมืองใดก็ตาม สถานประกอบการ ใดก็ตามต้องอยู่คู่ชุมชนให้ได้ แล้วการที่จะได้ ๑ เหมือง นอกจากรับฟังความคิดเห็น นอกจาก จัดการ EIA แล้ว กว่าจะมาขออนุญาตได้ ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีสองปี จะต้องทำตามขั้นตอนและ ต้องผ่านหน่วยงานกว่า ๑๔ หน่วยงาน เพราะฉะนั้นแล้วท่านคลายความกังวลได้นะคะ เรื่องนี้ เราต้องการให้เหมืองอยู่คู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนค่ะ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กลับมาที่เรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ค่ะ เราไม่คิดแค่ทำแบตเตอรี่ สร้างแบตเตอรี่ หรือเอาแบตเตอรี่จากข้างนอกมาประกอบ แต่เราคิดถึงว่าวันนี้ 3R ที่เรา คิดถึง ไปถึงเรื่องของ Recycle แล้วด้วย รัฐเองเรากำลังคุยถึงเรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ ตั้งแต่ต้นทาง ใครเอาแบตเตอรี่เข้ามาผ่านวิธีการไหนมา เราต้องมีการ Tracking ว่าก้อนนี้ ไปอยู่ที่ไหน อย่างไร ต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงหมดอายุนะคะ หมดอายุสำหรับรถยนต์แล้วสามารถเอาไปใช้อีกได้ไหม ถ้าใช้ไม่ได้ มา Recycle อย่างไร แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องของ Recycle วันนี้รัฐบาลก็ทำเรื่องนี้แล้ว โดยดิฉันเอง ก็มีคณะทำงานทำเรื่องนี้ แล้วก้าวไปจนถึงเรื่องของการจะตั้งพื้นที่สำหรับการจัดการ แบตเตอรี่ทั้งหมดแล้วด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านกังวลก็อยากให้ท่านคลายความกังวลว่า เราไม่ได้แค่มาตั้งฐานการผลิตค่ะ เราไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุนมา เราไม่ใช่แค่ต้องการให้รายได้ ประเทศนี้มากขึ้นจากการเข้ามาลงทุน แต่เรากำลังทำให้ประเทศนี้เป็น Hub จากเดิมเราเป็น Hub ของการตั้งฐานการผลิตของรถยนต์ ICE วันนี้เรากำลังเป็นศูนย์กลาง Hub ของการผลิต EV และต่อไปเรากำลังเป็นศูนย์กลางการจัดการขยะของเสียพวกนี้ด้วย เราทำการจัดการ อย่างเป็นระบบค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณร่มธรรม ยังมีสิทธิจะถามได้อีกครั้งหนึ่งนะครับ แล้วท่านก็ยังมีเวลา ๖ นาที ๓๗ วินาที เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ก็ขอบคุณ คำตอบจากท่านรัฐมนตรีนะครับ ก็ดีใจที่ท่านได้ให้ความสำคัญในเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม จากประเด็นของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องยานยนต์ EV ท่านประธานครับผมคิดว่า บทเรียนที่สำคัญในเรื่องแร่ลิเทียม ก็คือปัญหาของการสื่อสารของรัฐบาลที่ผิดพลาด เพราะว่า นี่คือข่าวจากรัฐบาลของประเทศนะครับท่านประธาน ไม่ควรจะเป็นข่าวที่พาดหัวยั่วให้ Click หรือที่เราเรียกว่า Clickbait คือพูดเอามัน พูดเอาสนุก มันไม่ได้นะครับ ผมคิดว่าการสื่อสาร ที่ผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่น ของประเทศในระดับโลกได้ หลาย ๆ ประเด็นครับท่านประธาน คือท่านพูดไปก่อนแล้วก็ต้อง มาแก้ทีหลัง หรือไม่ได้ไตร่ตรองไปก่อน ผมมีความกังวลเรื่องนี้ครับ พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็กังวลในเรื่องของการสื่อสารของรัฐบาล เรื่องนี้จริง ๆ เป็นที่มา ที่ผมได้ตั้งกระทู้ถามถึงท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ เพราะว่าการแถลงของโฆษกรัฐบาลก็คือ คำแถลงที่ถูกมอบหมายมาจากท่านนายกรัฐมนตรี หรือว่าทางรัฐบาลเองให้มาเป็นผู้แถลง ทุกท่านก็ต้องเชื่อครับว่า เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องจริง จึงเป็นคำถามข้อสุดท้ายของผม ฝากผ่าน ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีครับว่า ทางรัฐบาลจะมีแนวทางในการทบทวนการสื่อสาร การดำเนินการต่อการแถลงข่าว แล้วก็รับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจาก การสื่อสารที่ผิดพลาดได้อย่างไรครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ ท่านรัฐมนตรีจะตอบเป็นครั้งสุดท้าย ท่านรัฐมนตรีมีเวลา ๓ นาที ๓๒ วินาที เชิญครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอื่นต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกนะคะว่า วันนี้ที่ท่านบอกว่าการสื่อสาร ผิดพลาด ดิฉันเข้าใจดีว่าในนามรัฐบาล เมื่อสื่อสารเข้าไปมันคือความมั่นคงความมั่นใจของ คนในประเทศ และผู้ที่ได้รับฟังข่าวสารค่ะ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นแล้วว่ามันเกิดความเข้าใจ ผิดกัน หลังจากเข้าใจผิดเรามีการทำความเข้าใจอย่างทันท่วงที และดิฉันคิดว่าเรื่องนี้ถ้ามอง ในมุมของกระทรวงอุตสาหกรรม ถ้ามองในมุมของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ ดิฉันกลับมองในมุมบวกค่ะ ดิฉันคิดว่าวันนี้ข่าวลิเทียมมันทำให้สถานการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงพี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ วันนี้ลำดับความสำคัญว่าจะเป็น ลำดับ ๓ หรือลำดับใด ๆ มันหมายถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนจริงที่ท่านบอกว่าอาจจะเกิด ความเข้าใจผิด แต่สำหรับดิฉันเองมันกลับไปกระตุ้นให้เกิดความรับรู้ที่ทั่วถึงและมากมายค่ะ แต่ถามว่าเราจะไม่รับผิดชอบเลยหรือ ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบค่ะ หลังจากที่ทราบว่ามันมีความ เข้าใจผิดจากศัพท์ทางเทคนิคบางคำ เราก็มีการออกไปให้ความเข้าใจ แล้วก็หลังจากวันนั้นมา วันนี้ทุกคนให้ความสนใจ ถามถึง และมีการถามต่ออีกว่า เรายังมีแหล่งต่าง ๆ แบบนี้อีกไหม อย่างไร แล้วเราได้มีโอกาสตรงนี้ละค่ะในการขยาย ในการบอก แล้วก็ตัว กพร. เอง ก็สามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า ดิฉันยอมรับค่ะที่ท่านเพื่อนสมาชิก บอกว่ามันมีการสื่อสารผิดพลาด แต่สิ่งที่ดิฉันอยากบอกอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าในการสื่อสาร ที่ผิดพลาด มันก็มีข้อดีอีกหลาย ๆ ข้อเช่นเดียวกัน ขอบคุณที่ห่วงใยค่ะ แล้วก็ทาง กพร. เอง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเอง เราจะพยายามใช้ศัพท์ที่ทุกคนเข้าใจ ตรงกันให้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคเพื่อที่จะมีความเข้าใจไม่ตรงกันค่ะ ดิฉันขอน้อมรับข้อนี้ไป แล้วก็ยังยืนยันว่านี่เป็นโอกาสของประเทศ ขอบคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
จบกระทู้ถามสด ที่ ๒ ขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ถาม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือแจ้งมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านชลน่าน ศรีแก้ว ติดภารกิจร่วมรับเสด็จ สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิด การประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้นี้ออกไปก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๙ ถ้าหากคุณกัลยพัชร รจิตโรจน์ ยังประสงค์ที่จะตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาอยู่ ขอให้เสนอใหม่ในการพิจารณา ในคราวต่อไปนะครับ เชิญคุณกัลยพัชร รจิตโรจน์ ครับ ถ้ามีอะไรนิดหน่อย แต่ว่าเหตุผล ได้แจ้งให้ทราบแล้ว เชิญครับ
นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะคะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ช่างน่าเสียดายนะคะ ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง แต่ดิฉันขอใช้สิทธิในการพูดได้ไหมคะ ในกรณีที่ดิฉันเตรียม เรื่องมาแล้ว และเป็นเรื่องกรณีเร่งด่วนในเหตุการณ์ปัจจุบัน ถึงได้ผ่านการตั้งกระทู้สดมา ท่านประธานจะสามารถอนุญาตให้ดิฉันพูดได้สักประมาณ ๑๐ นาทีไหมคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คิดว่าท่านมี ความประสงค์ที่จะถามเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเผื่อท่านรอให้รัฐมนตรี มาตอบ ซึ่งท่านรัฐมนตรีชลน่านก็พร้อมจะตอบ แต่ท่านคงทราบนะครับ เป็นภารกิจที่สำคัญ จริง ๆ โดยปกติเราก็จะผ่อนผันให้รัฐมนตรีไปร่วมรับเสด็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรกระทำ อย่างยิ่ง ถ้าเราร่วมมือ ๒ ฝ่าย คิดว่าถ้าท่านตั้งคำถามคราวหน้าก็จะเป็นกระทู้สดแรก ๆ เลย นะครับ ก็ต้องดูรัฐมนตรี โดยปกติรัฐมนตรีจะมา ทีนี้ผมไม่อยากให้ท่านถามกระทู้สดไป เดี๋ยวครั้งหน้าจะเป็นกระทู้แห้ง ถ้าท่านจะกรุณาอย่างนี้ แต่จะพูดนิดหน่อยได้ว่าที่ท่านถาม สำคัญ เรื่องเร่งด่วนอย่างไร แต่รายละเอียดให้รัฐมนตรีมาตอบจะดีไหมครับ ก็หารือกัน เดี๋ยวจะเป็นกระทู้แห้ง ผมเสียดาย เข้าใจว่าเรื่องที่จะถาม รัฐมนตรีก็อยากจะตอบ เชิญครับ
นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มีเหตุผลมากค่ะ แล้วก็ ขอว่าให้บรรจุเป็นกระทู้ในสัปดาห์หน้าเลยได้ไหมคะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านต้องรีบมายื่น ตามเวลานะครับ ยื่นก่อนก็เป็นกระทู้แรก แต่ก็จะกำชับให้สำนักการประชุมว่า เนื่องจากอัน นี้เป็นกระทู้ที่สำคัญ เราร่วมมือ ๒ ฝ่าย แต่ท่านต้องมายื่นนะครับ เพราะว่าข้อบังคับบอก ต้องมายื่น ก็ต้องขออภัย ท่านรีบมายื่นเลยครับ ก็จะบอกกำชับให้ท่านลองประสานจะบรรจุ เป็นกระทู้แรก ๆ เลยนะครับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนและ เป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างนี้ได้ไหมครับ
นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นตามนั้น เลยค่ะท่านประธาน ขอบคุณมากค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณ มากครับ สำนักการประชุมก็เตรียมไว้ให้ด้วยนะครับ แล้วก็ขอให้ท่านได้มาเช้าเลยนะครับ ก็เป็นการจบวาระเรื่องกระทู้สดด้วยวาจานะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปก็จะเป็นกระทู้ถามทั่วไป ก่อนที่จะเข้าระเบียบวาระกระทู้ทั่วไป ผมก็มีเรื่องที่จะแจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบ ซึ่งยังไม่ปรากฏในระเบียบวาระคือ รับทราบ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นั้น เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัคร เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) สมาชิกภาพของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๑ (๖) ดังนั้นจึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบครับ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันเท่าที่มีอยู่ จึงครบถ้วน ๕๐๐ คน องค์ประชุมครึ่งหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คน แจ้งมาเพื่อทราบ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑.๒ กระทู้ถามทั่วไป
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. เรื่อง สอบถามวิธีการแก้ปัญหาการสัญจรในเขตเมือง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ขอเชิญคุณเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมขอ ใช้สิทธิในการตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับเรื่องของ การแก้ปัญหาการจราจร การสัญจรไปมาในเขตพื้นที่ของอำเภอเมือง จังหวัดเลย ต้องขอ กราบขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ของกระผมกระทู้นี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ต้อง กราบเรียนท่านประธานครับว่า กระทู้นี้ผมได้ยื่นแล้วก็ถูกบรรจุในสภาแห่งนี้ ๔ ครั้งแล้วครับ ท่านรัฐมนตรีเลื่อนการตอบกระทู้ เรื่องทางเลี่ยงเมืองของผมนี้มาโดยตลอด ครั้งนี้ต้อง ขอบคุณท่านประธาน และที่สำคัญต้องขอบคุณไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ถึงแม้ไม่สะดวกมาตอบเอง วันนี้ท่านได้กรุณามอบหมายให้ท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมาตอบในครั้งนี้ ก็ต้องขอถือโอกาสนี้กราบขอบพระคุณ อย่างยิ่งครับ เพราะว่ารอมา ๒ ปีแล้ว ท่านประธานครับขอกราบเรียนให้ท่านประธาน ได้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานก่อนที่กระผมจะได้ตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรี ต้องเรียนอย่างนี้ครับ ว่าจังหวัดเลย โดยเฉพาะตรงพื้นที่ของอำเภอเมือง โดยเฉพาะศูนย์กลางของอำเภอเมือง คือตรงบริเวณศาลากลางจังหวัด ตรงนี้เป็นเส้นทางที่คนที่สัญจรไปมาไม่ว่าจะมาจากภาค ตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดเลยนะครับ ถ้าจะเดินทางไปภาคเหนือจะต้องผ่านอำเภอเมือง ตรงจุดนี้ ไปภาคเหนือก็คือผ่านอำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย ไปจังหวัดพิษณุโลก จังหวัด เพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ต้องผ่าน ถ้าเดินทางที่จะไปท่องเที่ยวที่อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็น สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุด ณ ตอนนี้ก็ต้องผ่านตรงนี้ครับ ด้านซ้ายคือทางทิศเหนือไป ทางภาคเหนือผ่านอำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ด้านขวาไปที่ อำเภอเชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปอำเภอท่าลี่ ซึ่งเป็นด่านพรมแดนไทย-ลาว การนำเข้าค้าขาย ขนส่งสินค้า และถ้าไปถึงอำเภอเชียงคาน ผ่านที่จะไปอำเภอปากชม จะเข้าสู่ที่เรียกว่า Romantic Road เป็นเส้นทางสาย Romantic จากจังหวัดเลย ผ่านอำเภอสังคม อำเภอท่าบ่อ ของจังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปถึงจังหวัดนครพนม ของท่านรัฐมนตรีได้เลยครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือจุดที่มีการจราจรที่หนาแน่นมาก เส้นทาง ตั้งแต่สนามบินจังหวัดเลย ผ่านไปยังอำเภอเชียงคาน มีไฟแดงที่กรมทางหลวงได้จัดตั้งไฟแดง ขึ้นมาตามจุดแยกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้การสัญจรไปมาค่อนข้างลำบาก แล้วก็ ประกอบกับเส้นทางเข้าเมือง จากทางภาคเหนือมาที่อำเภอเมือง จังหวัดเลย บางจุดยังเป็น เส้นทางที่เป็น ๒ เลนสวนกันอยู่ ผ่านย่านชุมชนแล้วก็ภูเขา ไฟส่องสว่างก็น้อยครับ น่าจะมี การขยายถนนได้ ที่สำคัญครับท่านประธาน ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีโครงการที่จะทำรถไฟ ความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วก็ไปที่จังหวัดหนองคาย จะผ่านจังหวัดอุดรธานี ผมคิดว่าได้เวลาแล้วหรือยังครับที่จะต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเลย เชื่อมจาก ภาคเหนือเข้าไปสู่รถไฟความเร็วสูงที่จังหวัดอุดรธานี หรือจังหวัดขอนแก่น หรือ จังหวัดหนองคาย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเลยครับที่ผมจะต้องตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้มา เพราะว่าโครงการทางเลี่ยงเมือง แล้วก็โครงการขยายผิวจราจรที่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดเลย มีมานานแล้ว แต่ว่าไม่ได้ดำเนินการสักที และที่สำคัญครับท่านประธาน ในช่วงระยะเวลาที่ ผ่านมา จังหวัดที่อยู่รอบข้างของจังหวัดเลย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ แม้กระทั่งอำเภออย่างเช่นอำเภอภูเขียว เขาก็มีทางเลี่ยงเมืองครับ เพื่อระบายการจราจรที่จะเข้าสู่ตัวเมืองไม่ให้แออัดจนเกินไป มีหมดแล้วครับ ยังเหลือที่จังหวัดเลยที่เดียวเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเลย ที่ผมจะต้องกราบเรียนถามผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คือท่านมนพร เจริญศรี ถามท่านรัฐมนตรีเป็นคำถามแรก ว่าโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ของจังหวัดเลยนี้ มีการศึกษาโดยการตั้งงบประมาณให้กับกรมทางหลวง แขวงการทางจังหวัดเลย ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาเส้นทางต่าง ๆ แล้ว หลายปีแล้ว อยากทราบความคืบหน้า ว่าผลของการศึกษาแล้วก็การขอการอนุญาตต่าง ๆ ไปถึงไหนแล้ว มีความคืบหน้าอย่างไร แล้วก็อยู่ในขั้นตอนใดบ้างครับ ขอกราบเรียนถามท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีช่วย มนพร เจริญศรี เป็นคำถามแรกครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มา ตอบกระทู้ของท่านสมาชิก เนื่องจากวันนี้ที่กระทรวงคมนาคมมีการทำ Workshop ในกรอบ ของงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ แล้วก็ ปี ๒๕๖๘ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงไม่สามารถมาตอบกระทู้ของท่านสมาชิกได้ ท่านจึงได้มอบหมายให้ดิฉันมาตอบกระทู้ ของท่านสมาชิก ต้องถือโอกาสขอบคุณท่านสมาชิกนะคะที่ได้ถามกระทู้นี้ ท่านเลิศศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเลย จากคำถามของท่านสมาชิกนะคะ ดิฉันขอฉายภาพ ให้เห็นถึงภาพโดยรวมของเส้นทางต่าง ๆ ที่เข้าสู่จังหวัดเลย แล้วก็จังหวัดใกล้เคียงก่อนนะคะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
จังหวัดเลย เป็นจังหวัดส่วนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือว่าอีสานตอนบน มีเส้นทางสายหลัก ที่เข้าสู่จังหวัดเลยทั้ง ๓ เส้นทาง เส้นทางแรกก็คือทางหลวงหมายเลข ๒๑ จากจังหวัดเพชรบูรณ์ จากอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า เข้าสู่ที่อำเภอภูเรือ เข้าสู่จังหวัดเลยค่ะ เส้นทางหมายเลขที่ ๒ หมายเลข ๒๐๑ จากอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ผ่านอำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง เข้าสู่จังหวัดเลย แล้วก็เชื่อมต่อไปที่อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเลย ส่วนทางหลวงหมายเลข ๓ ก็คือหมายเลขที่ ๒๑๐ เป็นเส้นทางจากจังหวัดอุดรธานี ผ่านจังหวัดหนองบัวลำภู ผ่านอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งประเด็นคำถามของท่านสมาชิกจะเห็นว่าในการประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในระหว่างวันที่ ๓ วันที่ ๔ ธันวาคมของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่ประกอบไปด้วยจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในวันนั้นท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ลงพื้นที่ไปรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วก็รับทราบปัญหา ความเดือดร้อนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็พบว่าถนนเส้นดังกล่าวมีความต้องการ ในวงกลมสีแดงที่ดิฉันโชว์ให้เห็นในภาพนะคะ ซึ่งทั้ง ๒ ท่านก็ได้มอบหมายนโยบายเหล่านี้ ให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถ้าเส้นทาง ดังกล่าวได้มีการก่อสร้างก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาล แล้วก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของการท่องเที่ยวในภาค อีสานเหนือตอนบน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
สำหรับโครงการทางเลี่ยงเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางสัญจรไปมาเข้าสู่ตัวเมืองเลย แล้วก็ในเส้นทางดังกล่าวก็จะมีข้อจำกัด เรื่องของการขยายขอบเขตที่ไม่เพียงพอ ทำให้การขยายช่องจราจรก็มีปัญหานะคะ แต่กระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งรัดว่า ถ้าเกิดเส้นทางดังกล่าวเราจะลดความหนาแน่นของรถ การหนาแน่นของจราจรก็จะเป็นอีกหนึ่งทางในการเสริมสร้างโครงข่าย ซึ่งจะเป็นถนนที่เชื่อม ของจังหวัดเลยต่อไปยัง สปป. ลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพ ข้ามแม่น้ำเหืองระหว่างไทย กับลาว แล้วก็จะทำให้เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ แล้วก็จะทำให้การขนส่งสินค้า มีประสิทธิภาพ แล้วก็เพิ่มมูลค่าการขนส่งของประเทศไทยมากยิ่งขึ้นนะคะ หันมาดูการศึกษา ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านวิศวกรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ทางกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการศึกษาเสร็จแล้วค่ะ ท่านสมาชิกคะ โดยผลการศึกษา แนวเส้นทางจะมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบเมืองเลยในพื้นที่ ท่านสมาชิกเห็นไหมคะว่า อำเภอเมืองเลยแล้วก็อำเภอวังสะพุง รวมไปถึงเข้าตัวจังหวัดเลยก็จะมีความยาวประมาณ ๖๓.๕๖ กิโลเมตร ค่าก่อสร้างประมาณทั้งสิ้น ๘,๖๐๐ ล้านบาท นี่ก็คือผลของการศึกษา ความเหมาะสมนะคะ มันจะมี ๒ ฝั่ง แนวเส้นทางทางด้านฝั่งตะวันออกนี้ยาวประมาณ ๓๖ กิโลเมตร แนวเส้นทางฝั่งตะวันตกยาวประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ซึ่งลักษณะโครงการนี้ จะเป็นการก่อสร้างขนาด ๒-๔ ช่องจราจร แล้วก็จะเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นมากที่สุด ในบริเวณนี้นะคะ ซึ่งจากผลของการศึกษาก็ได้พบว่าแนวทางด้านตะวันตกมีความเหมาะสม ที่จะต้องเร่งรัดในการก่อสร้างก่อน เนื่องจากมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจซึ่งคุ้มค่ากว่า ในแนวเส้นทางตะวันออก และเราคาดการณ์ว่าถ้าเราก่อสร้างในเส้นทางแนวตะวันตกนี้ ปริมาณจราจรหรือว่ารถที่จะมาใช้เส้นทางนี้จะมีมากกว่า และจะรองรับปริมาณการจราจร ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม แล้วก็จะช่วยให้คลายความหนาแน่นกับพี่น้องประชาชนที่จะ เข้าไปสู่ตัวเมืองได้ สำหรับแนวเส้นทางตะวันออก ผลการศึกษาได้ออกมาแล้วค่ะว่ายังไม่คุ้มค่า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการลงทุนในการก่อสร้างในขณะนี้ เพราะฉะนั้น กรมทางหลวงจึงมีความพร้อมค่ะ ศึกษาทั้งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการก่อสร้าง แนวทางทางทิศตะวันตกเป็นลำดับแรกนะคะ โดยปัจจุบันรายงานของ EIA อยู่ระหว่าง การพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงคมนาคม ขอให้ท่านสมาชิกได้มั่นใจว่า ทุกปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดใดหรือภูมิภาคใด กระทรวง คมนาคมเราจะไม่เคยละเลยต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนดังกล่าว ดิฉัน ขออนุญาตตอบคำถามแรกของท่านสมาชิกค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีครับ ขอเชิญคุณเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ถามเป็นครั้งที่ ๒ เชิญครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ก็กราบ ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีเป็นอย่างสูงครับที่ได้ให้รายละเอียดของผลการศึกษา แล้วก็ ท่านรัฐมนตรีบอกว่าการก่อสร้างเส้นทางฝั่งตะวันตก ผมเข้าใจว่าคือเส้นทางจากจังหวัดเลย เลี่ยงเมืองไปที่อำเภอเชียงคานซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แล้วก็ไปสู่อำเภอท่าลี่ซึ่งเป็นด่าน พรมแดนไทย-ลาว และที่สำคัญเส้นนี้ก็จะไปสู่อำเภอปากชม และที่สุดก็จะไปที่อำเภอสังคม แล้วก็เข้าสู่จังหวัดหนองคาย ก็เห็นด้วยครับ แต่อย่างน้อย ๆ เส้นนี้ถ้ามีการก่อสร้าง แล้วผลศึกษาบอกว่ามีความคุ้มค่า ผมก็เห็นด้วยครับ แต่ในขณะเดียวกันฝั่งด้านตะวันออก ที่อาจจะยังไม่คุ้มค่าในตอนนี้ ผมกราบเรียนท่านรัฐมนตรีอย่างนี้ครับว่า เส้นนี้ก็คือเส้นทาง จากตัวเมืองจังหวัดเลยไปยังภาคเหนือครับ ไปเชื่อมต่อที่ภาคเหนือ แล้วก็เป็นเส้นทางเดียวด้วย ที่ถ้าจากจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้วก็จังหวัดอุตรดิตถ์ ถ้าจะเข้าสู่ภาคอีสาน ก็ต้องใช้เส้นทางนี้ครับ เป็นเส้นทางจากภาคเหนือผ่านอำเภอด่านซ้าย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว สำคัญทางวัฒนธรรม ก็คือเรื่องของผีตาโขน ผ่านอำเภอภูเรือที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วง ฤดูหนาว แล้วก็เข้าสู่เมืองเลย บางจุดโดยเฉพาะจุดที่ผ่านพื้นที่ของ อบต. เสี้ยว ตรงนี้ครับ ก่อนเข้าเมืองไม่เท่าไรเอง ไม่กี่กิโลเมตรถนนยังเป็น ๒ ช่องจราจรสวนกันอยู่ และที่สำคัญก็ ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง มืดครับ เข้าเมืองเลยนะครับ นี่คือพื้นที่หลักในเส้นทางเข้าเมือง ปรากฏว่า ยังมืดแล้วก็อันตรายครับ ผ่านย่านชุมชนเขตของพื้นที่ อบต. เสี้ยวของจังหวัดเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะมีอยู่ ๒ จุดที่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวว่าน่าจะมีการคุ้มค่าในการก่อสร้าง คือวงแหวนฝั่งตะวันตกนะครับ แล้วในส่วนของฝั่งตะวันออก ถ้าหากยังไม่มีการก่อสร้าง ผมก็กราบเรียนท่านรัฐมนตรีว่าขอความกรุณาเถอะครับ ได้ทราบว่าการขยายผิวจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร แล้วก็ไฟฟ้าส่องสว่างอยู่ในแผนของกรมทางหลวงมาตลอดหลายปีแล้วครับ แต่ยังไม่มีการบรรจุเข้าไปไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีนะครับ ผมก็เลยอยากตั้งคำถาม ที่ ๒ ถามเป็นคำถามสุดท้าย ถามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรียนถาม ท่านว่าอย่างนี้ครับ การก่อสร้างจากผลของการศึกษาว่าเส้นทางฝั่งตะวันตกมีความคุ้มค่า ในการลงทุนก่อสร้าง แล้วก็จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่านั้น แผนของการบรรจุ งบประมาณรายจ่ายประจำปีในการเริ่มก่อสร้างอยู่ในปีใดครับ และทราบว่าในขณะนี้ อยู่ในช่วงของการขอ EIA ซึ่งก็คงจะใช้เวลาไม่นานนัก ก็อยากจะทราบจากท่านรัฐมนตรีว่า จะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณใด แล้วก็เช่นเดียวกันกับโครงการที่กระผมได้กราบเรียน ให้ท่านรัฐมนตรีทราบ ก็คือเส้นทางสายเลย ผ่านอำเภอภูเรือไปยังอำเภอด่านซ้ายเชื่อมต่อ ภาคเหนือ ซึ่งก็เป็นการขยายผิวจราจร เหลืออีกไม่กี่กิโลเมตรเองครับ ถ้าขยายผิวจราจรตรงนี้ แล้วมีไฟส่องสว่างตามแผนงานของกรมทางหลวงโดยแขวงการทางเลยที่ ๑ ถ้าได้ตรงนี้ มาเพิ่มเติมอีก ก็จะช่วยให้การจราจรในจังหวัดเลยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น บริการ นักท่องเที่ยวแล้วก็ผู้ที่สัญจรไปมาได้ดีขึ้น ก็เลยอยากจะกราบเรียนว่า ทั้ง ๒ ส่วนนี้จะถูก บรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในปีใดครับ ก็กราบเรียนถามท่านประธาน ผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดิฉันขอตอบคำถามของท่านสมาชิกเป็นคำถามที่ ๒ นะคะ ในประเด็นเรื่องของคำถาม เรื่องความเหมาะสม จากคำถามที่ ๑ ว่าทำไมเราถึงมีการตัดสินใจที่จะดำเนินการก่อสร้าง ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งจากผลการศึกษาของ EIA แล้วก็ความคุ้มค่าในการลงทุน ก็จะเห็นว่าทำไมเราถึงมีการ ก่อสร้างในทางด้านทิศตะวันตกก่อน ซึ่งแนวทางเส้นทางทิศตะวันออกเราก็ไม่ละเลยนะคะ เราคาดการณ์ว่าในอนาคต ถ้าเกิดมีพี่น้องประชาชนมาใช้เส้นทางดังกล่าว การจราจร หนาแน่นมากยิ่งขึ้นก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะต้องมีการขยายในเส้นทางทิศตะวันออก ในอนาคตนะคะ ซึ่งขณะนี้เองกรมทางหลวงได้มีการพิจารณาความพร้อมแนวเส้นทางด้าน ทิศตะวันตก ซึ่งมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่ทางหลวงสาย ๒๐๑ บริเวณบ้านนาโป่งผ่านไปที่ ตำบลนาอาน ตัดผ่านช่องทางหลวงหมายเลข ๒๑ บริเวณตำบลน้ำหมาน ถึงทางหลวง หมายเลข ๒๑๑๕ บริเวณอำเภอเมืองไปสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ที่บริเวณ ตำบลนาอ้อ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวก็เป็นเส้นทางที่จะต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ แล้วก็ในส่วนขั้นที่ ๒ ยังจะต้องผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โบราณสถาน ประเด็นสิ่งเหล่านี้เราต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของการประเมินผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ EIA นี้ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการ พิจารณา EIA แล้วก็จะนำเสนอ สนข. ต่อไป ท่านประธานที่เคารพคะ ในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา กรมทางหลวงเองได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจ แล้วก็ออกแบบในแนวเส้นของ ทางทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันถ้าได้มีการสำรวจออกแบบแล้ว ก็จะดำเนินการออกกฎหมาย พระราชกฤษฎีกาเวนคืน แล้วก็ของบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในระหว่าง ปี ๒๕๖๘ ถึง ปี ๒๕๖๙ ใช้ระยะเวลา ๑ ปีในการที่จะต้องชดเชยจ่ายเงินของค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน หลังจากนั้น ก็จะมีการเตรียมการในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางทางด้าน ทิศตะวันตก ในปี ๒๕๗๐ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๓ ปี แล้วก็เปิดให้บริการพี่น้อง ประชาชน ในปี ๒๕๗๓ ดิฉันเชื่อมั่นว่าคงยังอยู่ในสมัยที่ท่านสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ใน ปี ๒๕๗๐ แต่เมื่อโครงการนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะสามารถที่ลดปัญหา การจราจรที่ผ่านตัวเมืองไปได้ แล้วนอกจากนั้นก็จะทำให้อำเภอเมืองเลย พี่น้องประชาชน ก็จะได้มีความสะดวกสัญจรไปมาอย่างรวดเร็วค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพค่ะ ขออนุญาตตอบคำถามซึ่งท่านสมาชิกได้รวบคำถาม ที่ ๒ แล้วก็คำถามที่ ๓ เข้ารวมไว้ด้วยกันว่า กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงเราก็ได้ ให้ความเข้าใจแล้วก็ตระหนักถึงการขยายถนนจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร แล้วก็ ให้ความสำคัญในการขยายเส้นทางดังกล่าวไปทั่วทั้งประเทศนะคะ เพื่อแก้ไขปัญหา การจราจรติดขัด แล้วก็อำนวยความสะดวก สำหรับถนนสายเมืองเลยไปอำเภอภูเรือ ช่วงบ้านภูสวรรค์ ที่ท่านสมาชิกได้สอบถาม มีระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทาง หมายเลข ๒๑ แล้วก็เป็นเส้นทางที่สำคัญมากค่ะ ในการที่จะเป็นทางเชื่อมระหว่างพื้นที่ ภาคกลางไปสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้วจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างอำเภอภูสวรรค์ จังหวัดเลย เป็นช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น แล้วก็เส้นทางคดเคี้ยว แล้วมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงมีความ จำเป็นที่จะต้องขยายจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อประสิทธิภาพในการเดินทาง โดยปัจจุบันก็มีการขยายถนนแล้ว ขนาด ๔ ช่องจราจร เป็นระยะประมาณ ๙.๒ กิโลเมตร ซึ่งบริเวณที่บ้านกอไร่ใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย แล้วก็ยังคงเป็นทางขนานดังในภาพนะคะ เป็น ๒ ช่องจราจร รวมระยะทางอีก ๑๐.๘ กิโลเมตร โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ในระหว่าง การสำรวจออกแบบ แล้วก็จะดำเนินการก่อสร้างในทันทีที่เราได้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้ ระยะทางในเส้นทางดังกล่าวทั้งหมด ๘๕.๙ กิโลเมตร นอกจากนั้นเรายังมีแผนงานที่จะติดตั้ง สัญญาณไฟจราจร ไฟส่องสว่าง แล้วก็สิ่งอำนวยความสะดวก ดังที่ท่านเสนอท่านสมาชิก ได้บอกว่าจะต้องมีการติดตั้งไฟส่องสว่างเพราะถ้าถนนดีจาก ๒ ช่องเป็น ๔ ช่องจราจร ติดไฟ ส่องสว่าง มีสัญญาณไฟแดงบริเวณสี่แยก มีสัญญาณเตือนในบริเวณพื้นที่พี่น้องประชาชน สัญจรไปมา เราก็เชื่อมั่นว่า ๑ ในกรมทางหลวงจะสามารถลดอุบัติเหตุจากการที่พี่น้อง ใช้เส้นทางดังกล่าว ท่านประธานคะ ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จนะคะ ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้ดำเนินการที่จะเตรียมการในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับ พี่น้องประชาชนในการสัญจรไปมา แล้วก็ในการที่จะจัดสรรงบประมาณเมื่อเราได้มี การศึกษา EIA เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดิฉันเชื่อมั่นว่า กระทรวงคมนาคมที่ใส่ใจทุกเส้นทางให้ พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาด้วยความปลอดภัย ขอบคุณคำถามของท่านสมาชิกนะคะ ดิฉันขอชื่นชมท่านนะคะ ที่ท่านได้ใส่ใจปัญหาของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีนะครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ยังเหลืออีกนิดหนึ่งครับ ขออนุญาตครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณเลิศศักดิ์ก็ยัง มีสิทธิที่จะถามอีก แต่ต้องขอให้เป็นเรื่องต่อเนื่องอันเดิมนะครับ ท่านมีประเด็นจะต่อก็ต่อได้ แต่ไม่เป็นคำถามใหม่นะครับ เชิญครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
คงจะไม่เป็นคำถาม แต่จะเป็นเรื่องที่จะ ฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี ก็กราบเรียนท่านประธานครับ ผม เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย จากการที่ท่านรัฐมนตรี ได้ตอบทั้งประเด็นคำถามทั้ง ๒ คำถาม แล้วก็คำถามที่ ๒ ที่ผมถามทั้งในส่วนของเส้นทาง เลี่ยงเมืองทางตะวันตก ซึ่งจะไปที่อำเภอเชียงคาน อำเภอท่าลี่ อำเภอปากชม แล้วก็ อีกเส้นทางหนึ่ง เป็นถนนสายเลยไปอำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้ายขึ้นไปถึงภาคเหนือ ซึ่งอยาก ขอให้มีการขยายช่องทางจราจร ท่านรัฐมนตรีได้ตอบแล้ว ก็อยากจะกราบเรียนอย่างนี้ ครับว่า มีความจำเป็นจริง ๆ ท่านรัฐมนตรีครับ ต้องขออนุญาตย้ำเลยว่า พี่น้องชาวจังหวัดเลย ค่อนข้างที่จะมีความยากลำบากในการใช้ถนนทั้ง ๒ สายเส้นนี้ ถ้าไม่มีทางเลี่ยงเมือง เราค่อนข้างที่จะลำบาก มีไฟแดงจำนวนมาก การสัญจรไปมาลำบากจริง ๆ เราดูจังหวัดอื่น เขามีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ จังหวัดเลยขอแค่ถนน ๔ เลนขั้นแรกก่อน ยังไม่ได้ขออย่างอื่น นะครับ แล้วถ้าในอนาคตถ้ารัฐบาลพิจารณาในการสร้างรถกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงได้ สำเร็จเมื่อไร จังหวัดเลยจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบมาก จะมีคนมาจังหวัดเลย เยอะมาก เพราะฉะนั้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับสิ่งเหล่านี้ไว้มันมีความจำเป็น เพราะฉะนั้นต้องฝากความหวังของคนเมืองเลย ฝากท่านรัฐมนตรีด้วยครับว่า ครั้งนี้เราก็จะ รอคอยคำมั่นสัญญาที่ทางรัฐบาลให้ไว้ว่าจะทำให้สำเร็จทั้ง ๒ ส่วน อย่างที่ผมกราบเรียน ท่านประธาน ก็ต้องขอถือโอกาสนี้กราบขอบพระคุณท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ที่กรุณาให้ข้อมูล แล้วก็ขอฝากท่าน รัฐมนตรีได้ช่วยติดตามอย่างใกล้ชิดให้กับพี่น้องคนเมืองเลยด้วยครับ กราบขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณเลิศศักดิ์ครับ คุณเลิศศักดิ์ฝากไว้ ซึ่งรัฐมนตรีตอบเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นถือว่า จบกระทู้ถามทั่วไปที่ ๑ นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ที่ประชุมครับ ผมขอเข้าสู่กระทู้ถามที่ ๑.๒.๒
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒. เรื่อง ปัญหาช้างป่ากับประชาชน นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เป็นผู้ตั้ง กระทู้ถาม ถาม ท่านนายกรัฐมนตรี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจเร่งด่วน จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามออกไปเป็นวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ท่านชุติพงศ์จะหารือหรือครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมก็ขออนุญาตใช้สิทธิในฐานะผู้ถามกระทู้ที่ถูกเลื่อนในการหารือกับทางท่านประธานผ่านไปยัง ครม. สักเล็กน้อย คือผมเข้าใจครับว่าทางท่านรัฐมนตรีน่าจะมีภารกิจ ครม. สัญจรที่จังหวัดระนอง ก็เลยไม่ได้มาตอบกระทู้ของผม แต่ปัญหาคือกระทู้ถามอันนี้ ผมเคยตั้งไว้ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ผมถูกเลื่อน ๒ ครั้ง ครั้งแรกยื่น และจะมาตอบวันที่ ๒๘ กันยายน ขอเลื่อนเป็น วันที่ ๑๙ ตุลาคม แล้วเลื่อนอีกรอบ ก็คือเลื่อนว่าไม่มาเลยครับ ผมเลยต้องถอนกระทู้มายื่นถามอีกครั้งในครั้งนี้ แล้วผมก็คิดว่าท่านน่าจะไม่มาตอบผมเลย ยื่นให้ท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบ ท่านนายกรัฐมนตรีก็มอบหมาย แล้วท่านก็ไม่มา อีกแล้วครับวันนี้ คือไม่ใช่แค่ผมนะครับ โดยสถิติผมไปรวบรวมมาแล้ว สถิติทั้งสภาถาม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ๒๐ กระทู้นะครับ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลรวมกันที่ต้องมาตอบนะครับ เป็นกระทู้ถามทั่วไป ๔ กระทู้แยกเฉพาะ ๑๖ มาตอบศูนย์ครั้ง ผมว่าอันนี้มีปัญหาแล้วครับ เพราะว่าผมเห็น ท่านลงพื้นที่ก็ไม่ขาดนะครับ ท่านไปต่างจังหวัด ไปจังหวัดเชียงใหม่ ไปจังหวัดกระบี่ จังหวัดสมุทรสาคร ต่างประเทศท่านก็ไปประเทศดูไบ ผมก็ไม่เข้าใจว่าสภามันมายาก ขนาดนั้นเลยหรือครับ คือท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม แต่ท่านทำตัวเป็นแค่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประเทศดูไบ แต่ไม่มีดอก ไม่มีผลเลยนะครับตอนนี้ แล้วก็ไม่มาสภาด้วย ขาดการทำหน้าที่รัฐมนตรี หนีสภา น่าจะเยอะที่สุดนะครับ ไม่เคยเห็นเลย
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านชุติพงศ์ครับ อันนี้ปล่อยให้หารือได้นะครับ แต่ถ้าเป็นการพาดพิงในทางเสียหาย เพราะว่าอันนี้ก็ทำตามระเบียบแล้ว ติดภารกิจเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ให้หารือ แค่เล็กน้อย แล้วก็อย่าเป็นการอภิปรายนะครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ก็เข้าใจครับ ถ้าอย่างนั้นผมฝาก อีกนิดหนึ่งเดียวครับ คือสมัยการประชุมที่แล้ว สภาชุดที่ ๒๕ พี่ชายท่านยังมาตอบ ไม่รู้ ๆ ในสภาให้เราได้ชื่นใจบ้างนะครับ แต่ท่านเล่นไม่มาเลยอย่างนี้ ผมว่าเราก็เสียใจนะครับ ปัญหาประชาชนฝากพวกเรามากันเยอะ แล้วผมฝากจริง ๆ เรื่องที่ถามถึงเรื่องช้างป่า เป็นปัญหาประชาชน คนเดือดร้อน หลาย ๆ ท่านถามไว้ อย่างเรื่องเมื่อสักครู่นี้ เรื่องกระทู้ ถามทั่วไป ที่ทางพรรคเพื่อไทยบอกว่า มีเรื่องกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก็ของท่านนะครับ ท่านควร จะมามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ผมว่าถ้าเกิดเป็นอย่างนี้รอบหน้าผมจะเสนอกระทู้ถามท่าน นายกรัฐมนตรีนะครับว่า ให้เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และถ้าเกิดเอาคนที่มาสภาแน่ ๆ ผมเสนอเปลี่ยนเป็นท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร เลยครับ มาตลอด อย่างไรไม่หนีกระทู้พวกเราแน่นอน ฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก็ยังไม่มีการประท้วง แต่ต้องขอตักเตือนว่าเมื่อสักครู่นี้มันก็จะพาดพิงหลายท่าน แล้วก็ผมเห็นด้วยกับทางผู้ถามกระทู้นะครับ เดี๋ยวฝ่ายเลขาทำหนังสือถึงท่านรัฐมนตรี แล้วก็นายกรัฐมนตรีในเรื่องสถิติที่ท่านชุติพงศ์ได้แจ้งเมื่อสักครู่นี้ว่า ถ้าสภาถามถึง ๒๐ ครั้งแล้ว ยังไม่มาตอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว อันนี้ก็ต้องขอเหตุผลที่ชัดเจนกว่านี้จากทางกระทรวงด้วย ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นกระทู้ที่ ๑.๒.๓
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓. เรื่อง การพัฒนาโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามแนวทาง การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ นายอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี ก็เช่นเดียวกันนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ท่านปานปรีย์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน แต่ขอเลื่อนการตอบกระทู้ออกไป เป็นวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้มีการดำเนินการถามและตอบที่ห้องกระทู้ถาม แยกเฉพาะที่ชั้น ๑ แล้วครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตั้งแต่หน้า ๘๒-๑๐๐
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑.๓ กระทู้ถามแยกเฉพาะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ก่อนดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอชี้แจงให้ที่ประชุม ทราบนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. ให้ถามและตอบเรื่องละไม่เกิน ๒ ครั้ง และต้องถามตอบแล้วเสร็จภายใน ๒๐ นาที ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๗๒ และข้อ ๑๗๓ ประกอบ ข้อ ๑๖๗
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. กระทู้ถามแยกเฉพาะอนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังการประชุม ตามข้อบังคับ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ซึ่งก็กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องรักษามารยาทและพฤติกรรม ของตนให้เหมาะสมนะครับ ห้ามแสดงกิริยาใด ๆ ที่ไม่เห็นด้วย หรือกล่าววาจาส่งเสียงใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนขัดขวางการประชุม แล้วก็ห้ามใช้เครื่องมือวัสดุหรือ อุปกรณ์สื่อสารใด ๆ เพื่อบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการถ่ายทอด สู่บุคคลภายนอก หากมีการฝ่าฝืนก็จะเชิญออกห้องจากประชุมนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สำหรับกระทู้ถามวันนี้ เราพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อประโยชน์ ในการถามและตอบกระทู้ถามของผู้ตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรี ได้สลับลำดับการถามและ ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ลำดับที่ ๑ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๕๕ ของท่านสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ลำดับที่ ๒ กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๕๖ ของท่านปวิตรา จิตตกิจ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
กระทู้ที่ ๓ กระทู้ถามที่ ๔ กระทู้ถามที่ ๕ กระทู้ถามที่ ๖ ก็ขอเลื่อนไปก่อน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๑. เรื่อง การผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนข้อมูล ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้ ๑. ท่านผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ท่านที่ ๒ ท่านนิยดา พุฒิวิทยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม แล้วก็ได้อนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนร่วมเข้าร่วมรับฟังการตอบกระทู้ถาม ในครั้งนี้ ท่านแรก ท่านศุภชัย มุตตาหารัช ท่านที่ ๒ ท่านเขมชาติ กิจค้า เชิญท่านสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เชิญครับ
นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาว สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นความต้องการของพื้นที่ที่มี มาอย่างยาวนาน ส่วนตัวของดิฉันเองก็เคยใช้ในช่วงเวลาปรึกษาหารือของสภาผู้แทนราษฎร ในห้องใหญ่ ได้นำเสนอความต้องการของพื้นที่ในเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลาย ปี ๒๕๖๕ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่ได้รับการดำเนินการต่อและไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ดิฉัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งกระทู้ถามตรงต่อกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ที่ดูแลในเรื่องนี้ ก่อนอื่นดิฉันก็ต้องกล่าวขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างสูงค่ะ ที่บรรจุ กระทู้ถามของดิฉันเป็นคิวแรกในวันนี้ เพื่อให้มีโอกาสได้มาถามปัญหาพื้นที่โดยตรงต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวขอขอบพระคุณท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายบริหาร และขอขอบพระคุณ ตัวแทนของหน่วยงานค่ะ โดยเฉพาะกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมที่สละเวลา อันมีค่าของทุกท่านมานั่งรวมกันอยู่ตรงนี้ เพื่อไขข้อสงสัยของดิฉัน ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำ ปี ๒๕๖๗ ซึ่งดิฉันก็เข้าใจดีค่ะว่า ทางหน่วยงาน และท่านรัฐมนตรีต้องเตรียมข้อมูลมากมายเพื่อจะตอบคำถามในห้องของกรรมาธิการ งบประมาณที่มีการพิจารณากันอยู่ แม่น้ำปะเหลียนเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่อยู่ทาง ทิศตะวันออกของแม่น้ำตรัง และเป็นแม่น้ำที่กั้นกลางระหว่างอำเภอกันตัง และอำเภอ หาดสำราญ จังหวัดตรัง ดูจากแผนที่จังหวัดตรัง ถึงแม้มองแล้วจะเห็นว่า ๒ อำเภอนั้น จะมีระยะทางห่างกันไม่มากนัก แต่ทางปฏิบัติการเดินทางโดยรถยนต์ต้องใช้เส้นทางหลวง จากอำเภอกันตังผ่านไปยังอำเภอเมือง ผ่านไปยังอำเภอย่านตาขาว ผ่านไปยัง อำเภอปะเหลียนจึงจะเดินทางเข้าสู่อำเภอหาดสำราญ คิดเป็นระยะทางทั้งหมดทั้งสิ้น ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางขาเดียว ประมาณ ๑ ชั่วโมงเต็ม ดูจากระยะทาง และตัวเลขแล้ว เราก็รับรู้ได้ว่า ผู้สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวก เพราะฉะนั้นโครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ ในการเชื่อมแผ่นดินชายฝั่งอันดามันของ ๒ อำเภอ ในจังหวัดตรังเข้าด้วยกัน ส่งผลดีต่อ การอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุน การท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งอันดามัน เพราะสามารถช่วยร่นการเดินทางระหว่าง ๒ อำเภอนี้ได้ ให้สั้นลง จาก ๖๐ กิโลเมตรถ้ามีสะพานต่อตรงจะเหลือเพียงแค่ ๓ กิโลเมตรเท่านั้น การเดินทางที่ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมงเต็ม ก็จะเหลือเพียงแค่ ๕ นาที เท่าที่ทราบค่ะ กรมทางหลวงชนบทได้เคยมีการใช้งบประมาณในการออกแบบสำรวจก่อสร้างโครงการนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน มากกว่านั้นโครงการนี้ยังมีจุดเด่นที่แตกต่าง จากโครงการอื่นอีกหลายโครงการ นั่นคือชั่วโมงนี้เป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับของคน ในพื้นที่ พร้อมกันนั้นในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดตรัง หรือที่เรียกว่าที่ประชุมร่วม กรอ. แต่ปัญหาที่พบคือส่วนกลาง นั่นก็คือกระทรวงคมนาคมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างที่นำเรียนตอนแรกว่า โครงการนี้มีการผลักดันมามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว จากที่ดิฉันติดตามมาก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า นะคะท่านประธาน ส่วนตัวดิฉันเองก็ได้นำหารือในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เมื่อสมัยประชุมก่อน ก็ไม่มีการดำเนินการต่อ แล้วมาปัจจุบันดิฉันได้เปิดเล่มงบประมาณประจำปี ๒๕๖๗ ที่มีการ พิจารณากันอยู่ ณ ขณะนี้ก็ไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่เงา คำถามแรกค่ะ กระทรวงคมนาคม จะให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง หรือไม่ ดิฉันอยากจะเห็นภาพว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ชาวตรังมีสิทธิไหมคะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรีครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในการมาตอบกระทู้แทนท่านสมาชิก เนื่องจากวันนี้ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ประชุม Workshop อยู่ที่กระทรวงคมนาคม และเป็นการประชุม Workshop ในการเตรียมแผนพัฒนาในกรอบงบประมาณของปี ๒๕๖๗ และปี ๒๕๖๘ ต้องขอถือโอกาสขอบคุณคำถามของท่านสมาชิก ที่วันนี้ท่านได้ให้ความสนใจในการผลักดัน โครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดตรังนะคะ คำถามของท่านสมาชิก ดิฉันขอทวนคำถามว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง กลับมาพิจารณาอีกครั้งหรือไม่ ดิฉันขออนุญาตเกริ่นนำถึงภาพรวมของโครงการดังกล่าวก่อน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ท่านก็จะ เห็นว่าภาพสไลด์แรก กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ขอเรียนให้ทราบว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่กรมทางหลวง ชนบทได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา แล้วก็จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลการศึกษาสิ่งแวดล้อม EIA ไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ซึ่งที่ตั้งโครงการคือที่วงกลมไว้บริเวณสีแดง ซึ่งอยู่ในแผนที่ ซึ่งเป็นแผนที่ ที่เชื่อมระหว่างบ้านท่าเรือ ตำบลวังวน อำเภอกันตัง กับบ้านหินคอกควาย ตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียน ซึ่งจะมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลวังวน และตำบลบ้านนาได้ประโยชน์ จากโครงการก่อสร้างถนน ได้มีการก่อสร้างถนนและสะพานในเส้นทางดังกล่าวประมาณ ๑๓,๗๔๒ คน ซึ่งจากผลรายงานการศึกษาของพี่น้องประชาชนพบว่า พี่น้องประชาชน บางส่วนเห็นด้วย แต่มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเราเรียกว่าองค์กรพัฒนาเอกชน หรือว่า NGO ซึ่งออกมาต่อต้านโครงการนี้ แล้วก็บอกว่า ถ้าเราดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพาน ดังกล่าว ก็จะไปทำลายระบบนิเวศป่าชายเลน แล้วก็ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนั้น ยังไปขัดขวางการเจริญของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่พี่น้องในแถบลุ่มน้ำนั้น ใช้เป็นที่ทำมาหากิน แล้วก็ใช้เป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวมาตลอด ถ้าเราไปทำการก่อสร้าง สะพานดังกล่าวในพื้นที่ก็จะเป็นการทำลายอาชีพของพวกเขาในกลุ่มของประมงพื้นบ้าน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ไม่ดำเนินการ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสะพานดังกล่าว แต่กระทรวง คมนาคมก็ไม่นิ่งนอนใจนะคะ เราเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และได้ลงไป ร่วมประชุมกับพี่น้องประชาชน แล้วก็ยังจะได้ดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็น โอกาสอย่างดีที่เราบอกว่า ถ้า NGO ไม่เห็นด้วย มีประเด็นไหนบ้างที่กระทรวงคมนาคมหรือ ทางรัฐบาลจะชดเชย นี่คือโครงการอีก ๑ โครงการค่ะท่านประธาน เราจะเห็นว่าวันนี้การที่ เราเอาโครงการพัฒนาหรือความเจริญไปในพื้นที่ใด ๆ ถ้ามีพี่น้องประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่ม NGO ไม่เห็นด้วย ก็เป็นการชะงักของโครงการ ก็เป็นการสร้างความที่เราบอกว่า พี่น้องประชาชนลำบาก ต้องการถนนบ้าง ต้องการอ่างเก็บน้ำบ้าง ต้องการสะพานบ้าง แต่พอ NGO ดิฉันไม่ทราบว่า NGO เหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ หรือ NGO ที่อยู่ต่างถิ่น แต่ NGO เหล่านั้นได้แสดงออกเลยว่า เขาขอคัดค้านโครงการดังกล่าว ซึ่งดิฉันขอฝากท่านประธาน ไปถึงท่านสมาชิกนะคะ พวกเราเองในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชน สำคัญที่สุดคือการลงไป รับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน แล้วการลงไปเหล่านั้นเราต้องชี้แจงรายละเอียดความจำเป็นว่า เมื่อโครงการสะพานไปแล้ว จะไม่กระทบของการทำลายธรรมชาติระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้นเกิดอีกกี่ปี ๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างสะพาน เพราะมีกลุ่ม NGO กลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ เห็นด้วย เพราะฉะนั้นดิฉันฝากท่านประธานไปถึงท่านสมาชิกนะคะว่า ขอให้สร้าง กระบวนการมีส่วนร่วมให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม นั่นก็จะเป็นโอกาสดีที่ท่านสมาชิกจะได้ มีโอกาสไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มของ NGO ดังกล่าวต่อไปค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ต่อมาในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จังหวัดตรัง หรือเราเรียกว่า อจร. จังหวัดตรัง ก็ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทกลับมาพิจารณา อีกครั้งว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียนแนวใหม่นี้ เปลี่ยนชื่อดูค่ะว่า ถ้าเปลี่ยนชื่อ เป็นโครงการตัดถนนและสร้างสะพานเชื่อมอำเภอกันตัง กับอำเภอหาดสำราญ มุ่งสู่ จังหวัดสตูลได้ไหมคะ แนวแผนที่ที่โชว์ให้ดู นั่นคือบริเวณเส้นวงกลมที่ Mark ให้เห็นนะคะ ดังที่แสดงในแผนที่ว่า ถ้าเราเปลี่ยนชื่อโดยที่ไม่ได้บอกว่าเป็นการก่อสร้างสะพานปะเหลียน จะเกิดอะไรขึ้น แต่ปัญหาก็เป็นอย่างนี้ค่ะท่านประธาน ซึ่งจริง ๆ แล้ว นโยบายของรัฐบาล ที่ทุก ๆ โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม เราก็จะมีกระบวนการรับฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน แล้วก็ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทุกภาคส่วน หลังจากที่ทาง กระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นจาก อจร. ตรัง เรียบร้อยแล้ว เราจึงกลับมาพิจารณาว่า แนวเส้นทางที่ อจร. ตรังเสนอนั้น จะมีศักยภาพที่จะพัฒนาเส้นทางเพื่อการเดินทาง แล้วก็ ท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ท่านจะเห็นภาพ ถ้าเราได้สร้างมันก็จะเป็นภาพ ที่สวยงาม ประกอบกับสำนักนโยบายและแผนของการขนส่งและการจารจร ของกระทรวง คมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น แล้วก็ การออกแบบ แล้วก็มาดูว่า ถ้าเราใช้เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งที่ส่งเสริม การท่องเที่ยว แล้วก็เป็นเส้นทางที่พี่น้องประชาชนสัญจรไปมาในเลียบทะเลชายฝั่งอันดามัน ช่วงจังหวัดระนองไปจนถึงจังหวัดสตูล ก็จะมีพื้นที่ที่สามารถครอบคลุมได้ถึง ๖ จังหวัด รวมทั้งจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง แล้วก็จังหวัดสตูล ซึ่งการศึกษาก็จะเป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการคมนาคม เพื่อสนับสนุน การท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสัมภาษณ์ แล้วก็หารือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวและพัฒนาเมือง รวมทั้งสำรวจ กายภาพในการที่จะมีโครงข่ายของถนน เพื่อกำหนดเส้นทางตามแนวการพัฒนาในกลุ่ม ของยุทธศาสตร์จังหวัดนั้น ๆ ด้วย ท่านประธานที่เคารพคะ กระทรวงคมนาคมจึงได้รับทราบ ถึงการขอพื้นที่ในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียนแล้ว และได้มอบหมายให้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร พิจารณาตามความสอดคล้อง แล้วก็ความ เหมาะสมนะคะ เพราะมันเป็นถนนที่เลียบชายฝั่งทะเล เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาของการ ขนส่งทางบก และเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามันต่อไป ทั้งนี้คาดว่า เราได้มีการศึกษา EIA แล้วนะคะ จะแล้วเสร็จประมาณ ปี ๒๕๖๘ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหากผลการศึกษาพบว่าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียนเข้าหลักเกณฑ์ เพื่อเป็นถนน เพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการ กรมทางหลวงชนบทถึงจะขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างที่กราบเรียนท่านประธาน ที่ท่านสมาชิกได้ถามว่า ในส่วนของที่กลุ่ม NGO ออกมา คัดค้านในการสร้างสะพาน แล้วก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางกระทรวง คมนาคมจึงมีแผน ๒ ที่ออกมารองรับในการก่อสร้างสะพานดังกล่าว นอกจากนั้นมีประเด็น อื่น ๆ ดิฉันอนุญาตตอบในคำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิก ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญคำถามที่ ๒ เชิญครับ
นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ต้นฉบับ
ขอบคุณค่ะท่านประธาน เท่าที่ได้ข้อมูล จากคำตอบของท่านรัฐมนตรีมนพร ทำให้ดิฉันมีกำลังใจขึ้นมาว่า ฝ่ายบริหารของทาง กระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเห็นความสำคัญของโครงการนี้ แล้วก็เป็นการให้เกียรติ พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดตรัง และชาวจังหวัดข้างเคียง แล้วก็รู้สึกดีใจที่ได้คำตอบจากท่าน รัฐมนตรีว่ามีการตั้งงบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แล้วจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๘
นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ต้นฉบับ
คำถามที่ ๒ ดิฉันขอถามต่อเนื่องจากคำถามแรกนะคะว่า ณ ชั่วโมงนี้ ดิฉัน ได้คำตอบว่า กระทรวงคมนาคมเห็นความสำคัญของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ปะเหลียน จังหวัดตรัง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมแล้วก็ตาม ดิฉันอยากจะขอความ ชัดเจนให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวตรังว่า โครงการดังกล่าวนี้ หลังจากมีการศึกษาผลกระทบ เสร็จในปี ๒๕๖๘ ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนในการบรรจุโครงการนี้ไว้ในปีงบประมาณใด และต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเป็นระยะเวลานานกี่ปี แล้วต่อเนื่องค่ะ ขอถามว่าทางกระทรวง พอทราบข้อมูลไหมว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงาน อย่างเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากจากที่ดิฉัน ตรวจสอบ พื้นที่ดังกล่าวจะปิดในเขตของเขตห้ามล่า ในขณะเดียวกันก็จะเป็นพื้นที่ป่าสงวน และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่ของป่าชายเลนที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และในส่วนของกรมป่าไม้ ขอความชัดเจนด้วยค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านรัฐมนตรีเข้าใจปัญหา เข้าใจคำถามนะครับ เชิญครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน ในคำถามที่ ๒ ของท่านสมาชิก ดิฉันขอทวนคำถามอีกครั้งว่า ถ้าหากกระทรวง คมนาคมได้มีการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียนอีกครั้ง จะสามารถ ดำเนินการก่อสร้างได้ปีงบประมาณใด จากคำถามของท่านสมาชิก นอกจากนั้นท่านยังถาม ถึงว่าโครงการดังกล่าวจะมีปัญหาหรือติดขัดในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นใด ซึ่งดิฉันได้ศึกษา โครงการนี้ แล้วก็รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมได้ลงไปทำงานจริง เราจึงทราบว่า การก่อสร้างโครงการนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ง่ายแต่เราจะใช้หน่วยงาน ก็คือมติ ครม. ในการผ่อนผัน ยกเลิกในประเด็นของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ขอเรียนให้ทราบว่าพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย ๗ แห่ง แห่งแรกก็คือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะเหลียง แห่งที่ ๒ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ คืออุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมู่เกาะลิบงไปจนถึงปากแม่น้ำตรัง เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวจังหวัดตรัง นอกจากนั้นก็จะอยู่ในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกันตัง แล้วก็ป่าคลองไหโล๊ะ และป่าคลองแห่งชาติ ป่าคลองแตหรำ ป่าคลองบางแรด และป่าเขาหนุ่ย ต่อมาเป็น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนเกาะเหลาตำ รวมทั้งป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองปรน แล้วก็ ป่าเลนคลองควนยาง รวมถึงป่าเลนคลองหินคอกควาย และสุดท้ายเป็นป่าเลนตามมติ ของ ครม. ปี ๒๕๔๓ ท่านประธานคะ นี่คือเขตป่าอุทยานแห่งชาติทั้ง ๗ แห่ง ก็จะเห็นว่า การดำเนินการใด ๆ ของโครงการดังกล่าว เราต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมายของมติ ครม. แต่ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานต่อไปถึงท่านสมาชิกนะคะว่า ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้สำคัญ ประเด็นไหนที่ติดกฎระเบียบ ท่านก็จะให้แก้ไข ระเบียบ ประเด็นไหนที่ติดด้วยมติ ครม. ท่านไม่ละเลย แล้วก็เร่งรัดให้ทุกหน่วยงาน จะเห็นว่า มติ ครม. ครั้งล่าสุดที่มีปัญหาเรื่องการที่ข่มขืนเด็กนักเรียน เรื่องไม่ให้ครูเฝ้าเวร ท่านก็ใช้มติ ครม. ในการประชุมแก้ไขปัญหา ประเด็นนี้ก็เช่นกันค่ะ ดิฉันจะถือโอกาส นำเรียนการใช้มติ ครม. แก้ไขให้มีการริเริ่มโครงการดังกล่าวในโอกาสต่อไป แล้วก็ขอให้ ท่านสมาชิกได้มั่นใจนะคะ ในโครงการที่กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท จะดำเนินการฃซึ่งขณะนี้การจัดทำรายงาน EIA โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมก็ได้ดำเนินการกำหนดโครงการ หรือกำหนดการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องทำการ ประเมินตามวิธีการ แล้วก็หลักเกณฑ์ในการประเมินผลสิ่งแวดล้อม ที่ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่เห็นในภาพก็คือเป็นขั้นตอนนะคะ อีกทั้งมติ ครม. ในปี ๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ก็มีการระงับไม่ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ในป่าชายเลน แล้วก็ระงับข้อพิจารณาไม่ให้ใช้ ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่ดิฉันกราบเรียนเป็นเบื้องต้น ดิฉันจะนำเรื่องนี้ ใช้มติ ครม. ในการยกเลิกมติของทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วก็มติ ครม. เดิม ทั้งนี้รวมทั้งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ แล้วก็ป่าชายเลน จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แล้วก็พันธุ์พืชของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้หากผลการศึกษาออกมาเรียบร้อยแล้ว ตามเส้นทางที่ดิฉันได้นำเสนอไปนะคะ ก็จะมีโครงการการตัดถนน แล้วก็การสร้างสะพาน เชื่อมต่ออำเภอกันตังกับอำเภอหาดสำราญ มุ่งสู่จังหวัดสตูล ตามที่ อจร. ตรัง ได้เสนอ แล้วก็ มีความเหมาะสมที่จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งกรมทางหลวง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะดำเนินการจัดทำรายงาน EIA พร้อมกับสำรวจออกแบบ แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการ ผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม หรือ คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในโอกาสต่อไป แล้วก็จะขอ ผ่อนผันมติของ ครม.
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้าย ขออนุญาตท่านประธานผ่านไปถึงท่านสมาชิกว่า กรมทางหลวงชนบทได้มีความห่วงใยต่อการใช้เส้นทางของพี่น้องประชาชน ทำไมจึงมี กรมทางหลวงชนบทเกิดขึ้น เพราะเราทราบดีค่ะว่าพื้นที่ต่างอำเภอ พื้นที่ที่ทุรกันดารออกไป พี่น้องประชาชนยังมีความต้องการถนน ต้องการสะพาน สิ่งเหล่านี้กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดดำเนินการตามที่สมาชิกได้ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านรัฐมนตรี โอเคนะครับ ได้แล้วนะครับ เชิญครับ
นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ต้นฉบับ
ดิฉันต้องขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธาน ท่านรัฐมนตรี รวมถึงท่านรองอธิบดีกรมทางหลวงชนบทอีกครั้งนะคะ จริง ๆ ดิฉันมีเวลาเหลือเกือบ ๔ นาที ก็ไม่รบกวนเวลาสภาแห่งนี้มาก ก็ขอฝากความหวังของพ่อแม่ พี่น้องชาวตรัง ผ่านท่านประธานไปถึงท่านรัฐมนตรีด้วยนะคะ ในส่วนของดิฉันเองในฐานะ ของผู้แทนพื้นที่ก็จะขอติดตามโครงการนี้ต่อไป ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ก็จะขอโอกาส ท่านประธานมาตั้งกระทู้ทวงถามทางกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอบคุณทั้งท่าน สส. ท่านรัฐมนตรีนะครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๒. เรื่อง ขอให้พิจารณาใช้ทางลาดขึ้นเครื่องบินซึ่งเป็นอุปกรณ์ มาตรฐานแทนบันไดในสนามบินทุกแห่ง นางปวิตรา จิตตกิจ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๕๑ ในการนี้เพื่อประโยชน์ในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ผมได้อนุญาตให้ผู้แทนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ดังนี้ ท่านที่ ๑ ท่านเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ท่านที่ ๒ ท่านรุสนีย์ มุสตาปา ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและการอำนวย ความสะดวกในการบินพลเรือน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผมได้ อนุญาตให้ประชาชนผู้มีส่วนร่วมเข้าร่วมรับฟังในการตอบกระทู้ถาม ดังนี้ ๑. ท่านพันธกานต์ ฮับซัน ๒. ท่านพลวริศปกรณ์ สุทธิคีรี เชิญท่านปวิตรา จิตตกิจ ถามครับ ถามได้ ๒ ครั้ง ภายใน ๒๐ นาที ทั้ง ๒ คำถาม เชิญครับ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตภาษีเจริญ แขวงศิริราช และแขวงบางเชือกหนัง พรรคก้าวไกลค่ะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
วันนี้ต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนะคะ ที่มาตอบคำถามกระทู้ที่ดิฉันได้เสนอไป ในเรื่องของการขอให้พิจารณาใช้ทางลาดขึ้นเครื่องบินเป็นอุปกรณ์มาตรฐานแทน การใช้บันใดในสนามบินทุกแห่งของดิฉัน แล้วก็ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนค่ะ จากสภาวการณ์ของประชากรไทยในปีนี้ ที่เฉลี่ยว่าจำนวนผู้สูงอายุถึง ๑๒ ล้านคน พร้อมกับ ผู้ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับด้านการเคลื่อนไหวอีกประมาณ ๑ ล้านคน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทั้ง ๒ กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยสำหรับกระทู้เรื่องนี้จะพุ่งเป้าไปที่เรื่องของ การใช้บริการเครื่องบินและสนามบิน จากภาพตัวอย่างนะคะ การขึ้นเครื่องในสนามบินแบบ Bus Gate แบบนี้ผู้โดยสารจะต้องนั่งรถ Bus ไปที่ตัวเครื่องบินในสนามบิน ลำเลียงผู้โดยสาร ไปจนถึงที่เครื่องบิน แล้วก็ใช้ทางขึ้นบันได เพื่อขึ้นไปยังห้องโดยสาร ซึ่งภาพเหล่านี้ก็เห็นกัน ชินตาเป็นเรื่องปกติใช่ไหมคะ แต่ว่าบางเคสที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนมา และจริง ๆ ดิฉัน ก็ประสบเองด้วยตัว ผู้โดยสารเป็นผู้สูงอายุต้องใช้ Wheelchair เมื่อไปถึงแล้ว นั่งรถ Bus ไป แล้วไปถึงที่หน้าเครื่องก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ ๓-๔ ท่านอุ้มขึ้นเครื่องบิน อุ้มผ่านบันไดขึ้นไป ช่วยกันยกหัวท้าย ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย ๆ นะคะ ไปยังห้องโดยสาร ซ้ำร้ายเมื่อถึงสถานี ปลายทางก็ต้องรอผู้โดยสารท่านอื่นลงจากเครื่องบินหมดลำก่อน ตัวเองก็ต้องถูกลำเลียงเป็น ลำดับสุดท้ายจากการอุ้มของพนักงานสายการบินหรือลูกเรือ ภาพถัดไปเป็นภาพที่ดิฉันเห็น ด้วยตัวเอง ด้านหน้าเป็นผู้สูงวัยเดินทางมากับครอบครัว มีถุงปัสสาวะอยู่ในมือ ด้านซ้ายต้อง ประคองถุงปัสสาวะ ด้านขวาต้องจับราวบันได ลูกหลานก็ประคองขึ้นเครื่องไป เจ้าหน้าที่ ของสายการบินก็ประคองขึ้นเครื่องไป แล้วต้องคิดอีกนะคะว่า ถ้าเดินทางโดยลำพังจะ ทุลักทุเลขนาดไหนสำหรับการขอความช่วยเหลือคนทั่วไป หรือว่าไหนจะสัมภาระ ของตัวเองที่ติดเครื่องอีก ๗ กิโลกรัม ข้อมูลเหล่านี้สายการบินทราบกันดีในการบริหาร จัดการ แล้วก็ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะได้คำตอบจากสายการบินว่า ผู้โดยสารนี้ไม่ได้แจ้งมา ล่วงหน้า ไม่มีทางลาดบริการให้ แล้วก็แก้ไขปัญหาโดยการใช้ลูกเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของ สายการบินนั้น ๆ อุ้มขึ้นเครื่องไป ซึ่งผู้โดยสารบางท่านมีน้ำหนักเยอะ อันนี้มีปัญหา อย่างมาก แล้วก็ไปถกเถียงกันที่ด้านหน้าเครื่องบิน ทำให้เกิดการ Delay เสียเวลา เกิด ข้อพิพาทขึ้นด้วย เพราะว่าต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่หากการพิจารณาเรื่องนี้ดี ๆ อาจจะดูไม่สอดคล้องกับนโยบายการเดินหน้าสู่อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ที่ทางภาคประชาชนและภาครัฐเริ่มจะขับเคลื่อนด้วยกันมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ที่ตั้งใจจะ ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในหน่วยงานราชการ พื้นที่ส่วนกลาง ห้องน้ำไปจนถึง ขนส่ง บริการสาธารณะทุกรูปแบบ รวมถึงสนามบินและเครื่องบินด้วย จากรายงานข่าว ย้อนหลังเกี่ยวกับทางลาดขึ้นเครื่องบินก็พบว่า วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓ ขออนุญาต เอ่ยนามนะคะ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ กรมท่าอากาศยานจัดหางบประมาณ ปี ๒๕๖๓ จำนวน ๗๙.๕ ล้านบาท หรือบันไดตัวละ ๕.๓ ล้านบาท สำหรับท่าอากาศยานละ ๑ เครื่อง ๑ ตัว ตามความเหมาะสม ทั้งหมดจำนวน ๑๕ สนามบิน และขณะที่ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ก็ดำเนินการเพิ่มอีก ๘ สนามบิน เป็นวงเงินประมาณ ๔๒.๔ ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้เราเห็นทางลาดแบบนี้ที่ไหนกันบ้างคะ เพียงพอ ต่อความต้องการไหมคะ เราเคยเห็นเขาใช้งานจริงไหมคะ มีก็จริงค่ะ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็น มาตรฐาน แล้วก็ในการที่ Operate สนามบินแต่ละครั้ง ใน ๑ วันเครื่องบินลงกี่ลำ กี่เที่ยว ถ้ามีแค่ ๑ อันต่อ ๑ สนามบิน มันจะพอใช้งานไหมคะ นอกจากนี้เห็นว่าวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ มีข่าวออกมาว่า ไม่มีสายการบินไหนขอใช้บริการ เป็นไปได้อย่างไรคะท่านประธาน มีให้ใช้แต่ไม่ใช้หรือคะ ดิฉันขอชวนตั้งคำถามสั้น ๆ ซึ่งดิฉันก็เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก็เตรียมตัวมาตอบเป็นอย่างดี ดิฉันอยากชวนถามกันสักนิดหนึ่งค่ะ ไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลปกติ หรือผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว หรือผู้สูงวัย เราอยากจะเดินทางขึ้นเครื่องบินแบบไหนกันคะ เราจะขึ้นแบบสบาย ๆ ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือเราจะไต่ขึ้นเครื่องเกาะไป แล้วก็ให้มีคนมาถามว่า กระเป๋าหนักไหม ช่วยถือหรือเปล่า แล้วก็ขึ้นไปนั่งหอบบนที่นั่ง หรือเปล่าคะ เราอย่าให้เกิดภาพนี้อีกเลย จากข้างต้นดิฉันขอสอบถามท่านประธานผ่านไปยัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนอย่างไรที่จะใช้ทางลาด ขึ้นเครื่องนี้แทนการใช้บันไดในทุกสนามบินให้เป็นมาตรฐาน โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องร้องขอ เป็นพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ให้บริการอย่างสายการบิน และเพื่อให้ สอดคล้องกับหลักการอารยสถาปัตย์ ดิฉันขอทราบรายละเอียด ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรีตอบครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากวันนี้ที่กระทรวงคมนาคมมีการทำ Workshop ในกรอบงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ แล้วก็ ปี ๒๕๖๘ ท่านจึงได้มอบหมายให้ดิฉันมาตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกท่านปวิตรานะคะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
จากคำถาม ของท่านสมาชิก ดิฉันขออนุญาตทวนคำถามอีกครั้งนะคะว่า กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะใช้ทางลาดขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานแทนบันไดตามหลักอารยสถาปัตย์ หรือว่า Universal Design ในสนามบินทุกแห่ง ทั้งสนามบินที่อยู่ภายใต้กรมท่าอากาศยาน และสนามบินที่อยู่ภายใต้ บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือว่า AOT โดยไม่ต้อง ร้องขอในกรณีพิเศษหรือไม่ อย่างไร ดิฉันขอตอบท่านสมาชิกดังนี้นะคะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ท่านนายกรัฐมนตรี แล้วก็นโยบาย ของท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีแผนจะพัฒนาระบบการคมนาคม แล้วก็ Logistics ที่มีประสิทธิภาพ ให้ผู้โดยสารถึงที่หมายก่อนเวลาแล้วก็ปลอดภัย แล้วก็อยู่ในราคา ที่เหมาะสม แล้วก็ให้มีความสมบูรณ์ที่จะเชื่อมต่อกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติ แล้วก็เรื่องของ การท่าอากาศยาน การใช้บริการสนามบินซึ่งเป็นประตูของการค้าแล้วก็การลงทุน แล้วก็ นโยบายเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของกระทรวงคมนาคม เราได้พัฒนา เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนะคะ ทั้งทางบก ทางน้ำ แล้วก็ทางอากาศ ทั้งทางราง โดยเฉพาะ การเพิ่มขีดความสามารถของการท่าอากาศยานตามาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือน ระหว่างประเทศ หรือว่า ICAO รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะของ พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะใช้ทางลาดขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานแทนบันไดตามหลักอารยสถาปัตย์ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการออกแบบ สภาพแวดล้อมให้เหมาะกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนปกติ หรือว่าคนพิการ ซึ่งจะทำให้ไม่มีอุปสรรคในการใช้งาน และสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่ นอกจากนั้นการออกแบบ แล้วก็การบริการที่ดิฉันได้ขึ้นสไลด์ ก็จะให้ทุกคนได้ใช้บริการอย่าง เท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นหลักการพัฒนาพื้นที่ให้สังคมของผู้ใช้บริการนี้มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลกที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัย ซึ่งเป็น มาตรฐานของ ICAO ที่ดิฉันกราบเรียนไปเมื่อสักครู่นะคะ ซึ่งประเทศไทยเองในฐานะสมาชิก ที่ต้องปฏิบัติตาม แล้วก็ต้องเป็นไปตามแผนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่ละสนามบิน ได้จัดการบริการให้ดังนี้ค่ะ ในหน่วยงานของกรมท่าอากาศยาน ก็ได้มีสะพานเทียบเครื่องบิน ให้บริการที่ท่าอากาศยานจำนวน ๘ แห่ง ดังที่ท่านสมาชิกได้พูดถึงการจัดสรรงบประมาณ ที่ได้ใช้ไป รัฐบาลเดิมที่ได้จัดสรรงบประมาณ เขาก็ได้มีการจัดหาสะพาน ๘ แห่ง ได้แก่ การท่าอากาศยานจังหวัดกระบี่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพิษณุโลก อำเภอแม่สอด และจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอยู่ใน ความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันการจอดแบบประชิด อาคารจะมีสะพานเทียบในการให้บริการทั้งหมด ๖ ท่าอากาศยาน ไม่ว่าจะเป็นสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็แม่ฟ้าหลวงที่จังหวัดเชียงรายค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
สำหรับการท่าอากาศยานในสังกัดของกรมท่าอากาศยานที่ไม่มีสะพานเทียบ เครื่องบิน จำนวน ๑๖ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดชุมพร อำเภอเบตง จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดน่าน จังหวัดเลย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัด ร้อยเอ็ด จังหวัดนครพนม จังหวัดตรัง หัวหิน จังหวัดระนอง จังหวัดนราธิวาส เราก็ได้จัดให้มี ทางลาดลำเลียงขึ้นลงเครื่องบิน ซึ่งเป็นไปตามหลักของอารยสถาปัตย์เช่นเดียวกันค่ะ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
สำหรับผู้โดยสารปกติ หรือผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ ท่านสมาชิกได้เอ่ยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่ได้เจ็บป่วยไม่สะดวกในการที่จะต้องขึ้น เครื่องบินและลากกระเป๋าหรือใช้รถเข็น เราก็ส่งเสริมให้ผู้โดยสารเหล่านี้สามารถร้องขอได้ ซึ่งจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า อย่างไรก็ดีกระทรวงคมนาคมก็มีความพร้อมในการที่จะรองรับ ในการเดินทางให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเหล่านี้เต็มที่ ซึ่งบางเที่ยวบินสำหรับผู้โดยสาร หรือว่าประเภทของอากาศยานในปัจจุบัน เราจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ขอเรียนให้ทราบว่า จริง ๆ ข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีท่าอากาศยานที่ประเทศใดทำ เพราะว่าขนาดของอากาศยานต่างกัน คือ Size ของเครื่องบินก็ต่างกัน และปริมาณเที่ยวบินต่อวันก็มีหลายร้อยเที่ยวบิน ซึ่งในทางปฏิบัติผู้โดยสารท่านใด เช่นต้นทางเราทราบว่าเราจะต้องใช้ผู้โดยสารที่ไม่สบาย ต้องใช้รถเข็น ต้องใช้คนยก ก็จะมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ในสายการบินนั้น ๆ เพื่อเวลาทั้งตอนขึ้น แล้วก็ตอนที่จะลงจากเครื่องบินก็จะมีการลง เช่น สมาชิกได้โชว์ภาพผู้โดยสาร ๑ คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการบนเครื่องบินก็จะต้องให้ความสำคัญกับผู้โดยสารนั้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าท่านที่ขึ้นไปอาจจะไม่สบาย ไม่มีความพร้อมในเรื่องของสภาพร่างกาย และ ผู้โดยสารที่จะต้องขึ้นจะต้องแจ้งความจำนงในการเดินทาง หลายท่านจะเห็นว่าถ้าท่าน ไม่แจ้งความช่วยเหลือ ก็จะมีการตรวจ Check แม้กระทั่งบางท่านไม่สบายยังต้องมีการตรวจ Check อุณหภูมิ บางท่านที่สภาพร่างกายไม่พร้อม เจ้าหน้าที่ของสายการบินนั้นก็ต้อง ตรวจ Check นะคะ เพราะว่าเราเกรงว่าถ้าเกิดขึ้นไปบนเครื่องแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกิด เรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อผู้โดยสาร ฉะนั้นสายการบินนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็ให้ มีการร้องขอผ่านสายการบิน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
นอกจากนั้นในสิ่งที่ท่านสมาชิกได้ถามว่า นโยบายของรัฐบาลนั้นจะมุ่งเน้น ให้กับพี่น้องประชาชนสำหรับทุกกลุ่มหรือไม่ ทางกรมท่าอากาศยานมีความยินดีค่ะ แล้วก็ พยายามที่จะปรับปรุงการบริการให้เข้าถึงผู้โดยสารทุกกลุ่ม รวมทั้งนอกจากภารกิจของ การลำเลียงผู้โดยสารแล้ว เราก็จะเพิ่มความระมัดระวัง แล้วก็ความปลอดภัยสำหรับ ผู้โดยสารด้วยค่ะ ขอบคุณสำหรับคำถามแรกค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ผู้ถามเหลือ ๔ นาที ๒๖ วินาทีนะครับ ท่านรัฐมนตรีเหลือ ๓ นาที บวกกันก็เป็น ๗ นาทีกว่า เชิญครับ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ขอภาพด้วยค่ะ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
จากภาพการขึ้นเครื่องบิน ปกติเราขึ้นเครื่องบิน เดินผ่านงวงช้างหรือสะพานเทียบ Gate ไปถึงด้านหน้าตัวเครื่องบิน ห้องโดยสาร เราจะเห็นรอยต่อระหว่างเครื่องบินกับตัวสะพานเทียบที่พื้น ถ้าผู้โดยสารที่ใช้ Wheelchair หรือว่ายกกระเป๋ามาเป็นกระเป๋าลากก็ต้องยกขึ้น ผู้โดยสาร Wheelchair จะต้องเปลี่ยนเป็นตัวเล็ก ภาพด้านซ้ายมือนะคะ หลังจากนั้นก็จะต้องยกเข้าไปใน ตัวเครื่องบิน ทีนี้ด้านขวาสุดจะเป็นแผ่นพับทางลาดขึ้นเครื่อง ซึ่งถ้าเรามีแผ่นพับทางลาด ขึ้นเครื่อง เราก็จะไม่ต้องเรียกใช้บริการให้เจ้าหน้าที่สายการบินมาช่วยกันยกขึ้นเครื่อง ที่ผ่านมาเมื่อตอน ปี ๒๕๖๓ มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เคยเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในปี ๒๕๖๓ แล้วก็มีการนำเสนอจัดทำ แผ่นพับทางลาดขึ้นเครื่อง อันนี้เพื่อให้ใช้สำหรับเชื่อมรอยต่อสะพานเทียบเครื่อง เพราะว่า จะได้สะดวกเวลาขน Wheelchair เข้าไป ก็ได้มีการทดลองใช้ในอดีตค่ะ แต่ว่าปัจจุบันนี้ ไปขึ้นเครื่องเองจริง ก็ไม่เคยเห็น ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหนแล้ว อันนี้สั้น ๆ ค่ะประธาน
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉันอยากขอถามคำถามที่ ๒ ว่ากระทวงคมนาคมมีแผนจะกำหนดให้ มีการใช้แผ่นพับทางลาดพาดระหว่างทางต่างระดับระหว่างทางเข้าเครื่องนี้ให้กับผู้โดยสาร ผู้สูงอายุ ผู้ขนสัมภาระได้สะดวกตามหลักอารยสถาปัตย์หรือไม่ อย่างไร ขอทราบ รายละเอียดค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
เชิญท่านรัฐมนตรีครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ในคำถาม ที่ ๒ ของท่านสมาชิกนะคะ ขออนุญาตทวนคำถามว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะ กำหนดให้มีการวางทางลาดพาดระหว่างพื้นที่ต่างระดับ ระหว่างทางเข้าเครื่องบินและ งวงช้างเพื่อให้ผู้ใช้ Wheelchair สำหรับผู้สูงอายุและผู้โดยสารที่ขนสัมภาระขึ้นเครื่อง ได้รับความสะดวกในการเดินทางตามหลักอารยสถาปัตย์หรือไม่ อย่างไร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ในประเด็นคำถามของท่านสมาชิกในคำถามที่ ๒ ขอเรียนให้ทราบว่า กระทรวงคมนาคมในความรับผิดชอบ มีกรอบแล้วก็อำนาจหน้าที่ในการให้บริการภาคพื้น ส่วนการใช้ทางลาดระหว่างพื้นต่างระดับ ระหว่างทางเข้าเครื่องบินแล้วก็งวงช้างหรือว่า Jet Bridge ที่ท่าอากาศยานในสังกัดของกรมท่าอากาศยานจะเป็นความรับผิดชอบของ สายการบินค่ะ ที่ท่านจะเห็นใช่ไหมคะว่าเวลาเราขึ้นไปในสายการบินไหน หรือบันไดทางลาด ที่มารับนี้ก็จะเป็นของสายการบินนั้น ๆ เพราะฉะนั้นในส่วนของกรมท่าอากาศยาน ก็จะมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องของการปรับปรุงการให้บริการ แต่เราก็จะไม่ละเลยค่ะ เพราะกรมท่าอากาศยานมีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเราก็มีการประชุมร่วมกัน โดยสำนักงานการบินพลเรือน กรมท่าอากาศยาน แล้วก็บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แล้วก็สายการบินอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งประเด็นนี้ดิฉันเอง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เคยร้องขอนะคะ ซึ่งสนามบินจังหวัดนครพนม บ้านดิฉันเอง ก็เคยเกิดปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ได้ร้องขอเหมือนกัน ทางกรมการบินพลเรือนก็แจ้งว่าเนื่องจาก เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสายการบินนั้น ๆ จะไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของ กรมท่าอากาศยาน แต่ในฐานะที่กำกับดูแลโดยกรมการบินพลเรือน ซึ่งเราได้มีการประชุม ร่วมกัน ก็จะเน้นย้ำเรื่องดังกล่าวต่อไป ซึ่งวันนี้สนามบินของประเทศไทยเราก็จะได้มี การพัฒนายกระดับขึ้นให้เป็นสนามบินที่ได้มาตรฐานสากล แล้วก็การยกระดับดังกล่าว ก็จะต้องมีความพร้อมในเรื่องของการดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก แล้วก็ผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วย และต้องใช้บริการโดยสารทางเครื่องบิน นอกจากนั้นเราก็เชื่อมั่นว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็น การพัฒนาขีดความสามารถให้สายการบินของประเทศไทยยกระดับสูงมาตรฐานสากลของ การบิน และนอกจากนั้นเราก็มีการเตรียมความพร้อม ผู้โดยสารของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทุกวัน กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เรากำกับดูแลกับสายการบินก็จะเร่งรัดทำเรื่องนี้ อย่างเร่งด่วนต่อไป
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
นอกจากนั้น ดิฉันขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานว่ากระทรวงคมนาคม เองก็มีแผนที่จะใช้สะพานเทียบเครื่องบินและทางลาดขึ้นเครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แทนบันไดตามหลักอารยสถาปัตย์เช่นเดียวกัน ทั้งสนามบินที่อยู่ภายใต้กรมท่าอากาศยาน และสนามบินที่อยู่ภายใต้ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งนโยบายของรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ก็ให้เน้นย้ำเรื่องดังกล่าว แล้วก็เราจะให้ พี่น้องประชาชนเข้าถึงการบริการในทุกสายการบิน แล้วก็เข้าถึงการบริการในการเดินทาง ทุกเส้นทางของกระทรวงคมนาคมและทุกเส้นทางของทุกมิติของกระทรวงคมนาคมต่อไป ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านรัฐมนตรีครับ มีอะไรฝากนิดหน่อยไหม เชิญครับ
นางสาวปวิตรา จิตตกิจ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ดิฉันมาเป็นตัวแทนของผู้มีขีดจำกัดทางด้าน การเคลื่อนไหวนะคะ เป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ แล้วก็ผู้ที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้ในการ เดินทางด้วยตัวเองแล้วก็ครอบครัว ดังนั้นดิฉันขอฝากเรื่องนี้จริง ๆ ว่าการขอให้มี ให้ใช้ เป็นแบบมาตรฐาน โดยที่ไม่ต้องมีการร้องขอจะดีที่สุด แล้วก็อยากฝากท่านประธานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมค่ะ ขอให้เล็งเห็นปัญหานี้ ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะหากแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ใช่ผลงานของดิฉันคนเดียว แล้วก็ไม่ใช่ผลงานของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นผลงานของพวกเรา ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้ามา ให้แก้ปัญหาของพวกเขา ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ทั้งผู้ถามแล้วก็ท่านรัฐมนตรี ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๓. เรื่อง การแก้ไขปัญหาการลดลงของพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง ในคุ้งบางกะเจ้า นายวีรภัทร คันธะ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดภารกิจเร่งด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อน การตอบกระทู้ถามออกไปในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๔. เรื่อง การแก้ไขปัญหาขยะอาหาร (Food Surplus) นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มี หนังสือแจ้งว่า รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดภารกิจเร่งด่วน มิอาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่สามารถตอบกระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถาม ออกไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๕. กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ ๑๕๓ เรื่อง การสนับสนุนส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นายอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม นายกรัฐมนตรี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทู้ถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นผู้ตอบ กระทู้ถามแทน แต่เนื่องจากท่านรองนายกรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญ จึงขอเลื่อนการตอบ กระทู้ถามออกไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
๖. เรื่อง การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ นายระวี เล็กอุทัย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ด้วยสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีหนังสือแจ้งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถมาตอบ กระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามออกไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๗๐ วรรคสอง
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
สำหรับวันนี้ก็จบการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะ ขอปิดการประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม ทางประธานสภาได้แจ้ง แล้วนะครับ คือเรื่องของคำตัดสินวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในสมาชิกภาพของท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็แจ้งที่ประชุมทราบเรียบร้อยแล้วครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นเรื่องของการพิจารณาตามระเบียบวาระนะครับ ผมขอปรึกษา ที่ประชุม เรื่อง การขอตั้งกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง ยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระขึ้นมา พิจารณาก่อน มีท่านใดจะเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มีนะครับ ก็จะเป็นการตั้ง กรรมาธิการสามัญ ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ตำแหน่ง เพราะท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ลาออกครับ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งที่ว่างลงจะเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ขอเชิญเสนอชื่อ กรรมาธิการครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอชื่อกรรมาธิการแทน ตำแหน่งที่ว่างลงในคณะกรรมาธิการสามัญคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอเสนอท่านละออง ติยะไพรัช ครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีรับรองถูกต้องนะครับ จะไปเป็นอีกกรรมาธิการหนึ่งนะครับ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ตำแหน่งของท่านวาโย อัศวรุ่งเรือง ลาออกนะครับ กรรมาธิการดังกล่าวเป็นสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ขอเชิญเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกลครับ ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... สัดส่วนของพรรคก้าวไกล นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรอง ถูกต้องนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕.๕ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้รวมพิจารณาญัตติ ตามระเบียบวาระที่ ๕.๕ และญัตติทำนองเดียวกันอีก ๑ ฉบับ โดยผู้เสนอได้แถลงเหตุผล แล้วก็สมาชิกได้อภิปราย แล้วก็มีการปิดประชุมก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นต่อไปจะเป็น การอภิปรายของทางสมาชิกดำเนินการต่อนะครับ ตอนนี้เราปิดรับรายชื่อผู้อภิปรายแล้ว นะครับ ก็จะเป็นของทางฝ่ายค้าน ๗ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๑ ท่าน ขอเชิญท่านแรกนะครับ ท่านกัณตภณ ดวงอัมพร อยู่ไหมครับ ถ้าไม่อยู่ ผมขอข้ามไปที่ท่านเอกราช อุดมอำนวย ก่อน พร้อมไหมครับเรื่องค่าไฟแพง
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย ผู้แทนคนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ตั้งแต่มีรัฐบาล ชุดใหม่ ประชาชนก็มีความคาดหวังนะครับว่า ต่อไปนี้เรื่องของการแก้ไขค่าครองชีพจะได้รับ ความสนใจดูแลมากขึ้น เนื่องจากว่าปัญหาค่าไฟ ๔ บาท ๗๐ กว่าสตางค์ แล้วก็ขึ้นมาเรื่อย ๆ มีลดไปช่วงหนึ่ง แล้วก็ทำให้พี่น้องก็มีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ได้อย่างเข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะเรื่องของค่าครองชีพครับ แต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือว่า ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในเขตดอนเมืองที่เป็นผู้ยากไร้ ที่อยู่ริมคลอง เปรมประชากรจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ ครัวเรือน รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ชรา ที่รับเฉพาะ เงินบำนาญ หรือบางท่านประชาชนที่ยากจน ไม่มีเงินประทังชีพรายวัน สิ่งที่ประชาชน เรียกร้องและอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือก็คือค่าไฟในอัตราขั้นต่ำ นั่นก็คือคนที่ใช้ไม่ถึงหน่วย ในอัตราที่ใช้ค่าครองชีพ เช่น การประกอบอาหารประจำวันปรุงสุก หรือว่า พัดลม หรือ แม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องพยุงชีพ ดังนั้นในการพิจารณาญัตตินี้ผมจึง ลุกขึ้นเพื่ออภิปรายสนับสนุนว่าควรจะศึกษานโยบายที่รัฐไทย โดยเฉพาะรัฐบาลที่เป็น ความหวังทางด้านเศรษฐกิจ ควรจะดูแลแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาการใช้ ไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนในคนจนเมือง อย่างน้อยให้พวกเขามีสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีพ ผมไปร่วมงานวันเด็กสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคุณลุงท่านหนึ่งมาพูดกับผมด้วย ความหวังบอกว่า เดิมทีในรัฐบาลชุดที่แล้วมีการช่วยเหลือในเรื่องของอัตราค่าไฟขั้นต่ำ แต่ปัจจุบันนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว เขาจึงหวังเป็นอย่างยิ่งนะครับว่า นโยบายที่พอที่จะช่วยให้เขา สามารถที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟได้บ้าง หรือว่าที่จะช่วยให้กับคนจน โดยเฉพาะบางรายต้องนอน ติดเตียงอยู่ ก็จะต้องหาเงินมาเพื่อจ่ายในการพยุงชีพ แล้วก็เป็นปัญหาที่หลายคนก็ทราบ อยู่แล้วว่าถ้าหากว่าบ้านนั้นถูกตัดไฟ แม้ว่าการไฟฟ้าจะมีโครงการที่ไปบอกว่า ถ้าบ้านนั้น มีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ก็จะอนุโลมไม่ตัดหม้อไฟ แต่ว่าอันนั้นคือการแก้ปัญหาระยะสั้น เราเป็น สภาผู้แทนราษฎร เราต้องศึกษากฎหมายอย่างจริงจังว่า ถ้าหากว่าบ้านนั้นมีผู้ป่วยหรือว่า บ้านนั้นจะต้องใช้สิ่งจำเป็นพื้นฐาน นั่นคือไฟฟ้าเราจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร นี่คือความหวัง นี่คือความตั้งใจที่ผมจะพูดกับท่านประธานเพื่อที่จะฝากไปผู้ที่พิจารณาศึกษาญัตตินี้ในการ มองกฎหมายให้รอบด้าน โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้ป่วย หรือว่าคนจนที่จะต้องได้รับการ ช่วยเหลือต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับครูและนักเรียนจากโรงเรียนคีรีมาศวิทยาคม จังหวัดสุโขทัย ๕๔ ท่าน ยินดีต้อนรับนะครับ ท่านต่อไปเรียนเชิญท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ ขอข้ามนะครับ เชิญท่านสุภาพร สลับศรี ครับ ผมขอข้ามท่านสุภาพรก่อนนะครับ เป็นท่าน รักชนก ศรีนอก ผมอ่านชื่อให้จบเลยแล้วกันนะครับ ท่านสมาชิกได้ทราบคิวอภิปราย หลังจากท่านรักชนก ศรีนอก จะเป็นท่านนพดล ทิพยชล ท่านวรภพ วิริยะโรจน์ แล้วก็ ท่านองค์การ ชัยบุตร เป็นท่านสุดท้าย เชิญท่านรักชนกครับ
นางสาวรักชนก ศรีนอก กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน รักชนก ศรีนอก ผู้แทนจากชาวบางบอน จอมทองและหนองแขม วันนี้ จะขอร่วมอภิปรายในญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟแพงด้วยนะคะ ต้องบอกอย่างนี้ค่ะท่านประธาน วันนี้หลาย ๆ ท่านก็พูดแทนคนที่อยู่ในเมือง คนที่อยู่แผ่นดินใหญ่ไปแล้ว วันนี้ดิฉันอยากจะ พูดแทนคนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามเกาะ แล้วก็พื้นที่ห่างไกล ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่เกาะจิก จังหวัดจันทบุรี หลาย ๆ ท่านที่อยู่ในสภาแห่งนี้ได้รับความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ใช้ค่าไฟ Unit ละเกือบ ๕ บาท ทุกท่านยังร้องโอดครวญกัน ว่าเป็นค่าไฟที่แพง แล้วก็กระทบกับค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย แต่พ่อแม่พี่น้องบนเกาะจิกแล้วก็ อีกหลาย ๆ ที่ในพื้นที่ห่างไกลเคยใช้ไฟ Unit ละสูงถึง ๖๐ บาท แล้วก็ตอนนั้นที่สูงถึง ๖๐ บาท เพราะว่าใช้เครื่องปั่นไฟดีเซล เหตุผลที่ต้องใช้ไฟแพงถึง Unit ละ ๖๐ บาทนี้ เป็นเพราะว่าสายส่งลากไปไม่ถึง ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนกันมา ๑๐ กว่าปีค่ะท่านประธาน จนปัจจุบันนี้ค่าไฟลดลงมาเหลือ ๑๒ บาท เพราะว่าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ใช้โซลาเซลล์ แต่ดิฉันต้องขอบอกว่าในกระบวนการที่ชาวบ้านได้มาซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ มันยากลำบาก มากค่ะ ต่อสู้กันมา ๑๐ กว่าปี ตอนแรกได้เป็นกังหันลมไฟฟ้ามา ก็ใช้ได้ประมาณ ๒ ปี พังค่ะ เพราะว่าฟ้าผ่า แล้วก็การ Maintenance หรือว่าราคาซ่อมแซมก็เรียกว่าไม่คุ้ม เพราะว่า ต้องมีรถเครนไปยกข้ามเกาะกันไป ก็ไม่คุ้มค่า ก็ใช้ไฟจากกังหันลมไม่ได้ ต่อมาเป็นโซลาเซลล์ ชาวบ้านก็เรียกว่า ต้องเดินทางออกจากเกาะไปตามหาทุน ตามหาบริษัทที่จะเข้ามาดูแล เรื่องนี้ต่าง ๆ ตลอด ๑๐ ปีนะคะ คนที่อยู่บนพื้นที่ห่างไกลต้องดิ้นรนเพื่อให้เขาได้มีไฟฟ้าใช้ และถึงแม้ว่าจะมีโซลาเซลล์ใช้ ปัญหาก็คือว่าไม่สามารถใช้ไฟที่มีกำลังแรงสูงได้ค่ะ เครื่องเป่าผม เครื่อง Air Conditioner หรือว่าเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ไม่ได้ เพราะว่าไฟมันจะกระชาก นี่คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านพลังงาน ทางด้านไฟฟ้าที่เกิดขึ้น แล้วมันส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา รู้ไหมคะท่านประธาน มันทำให้คนที่อยู่บนเกาะ เด็ก ๆ ที่อยู่บนเกาะ เมื่อก่อนที่ตอน ไฟฟ้าราคาหน่วยละ ๖๐ บาท ไม่มีใครกล้าใช้ไฟค่ะท่าน ทำให้เด็ก ๆ เติบโตมาโดยที่ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นนะคะ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เป็น อุปกรณ์ ไฟฟ้าสื่อสาร เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงค่ะท่านประธาน นั่นมันหมายถึงอะไรรู้ไหมคะ นั่นมันหมายถึงเส้นขอบฟ้าของความเป็นไปได้ โลกของเขาจะมีอยู่แค่บนเกาะกับสุดขอบฟ้า ที่เขามองเห็นลิบ ๆ ทะเลเท่านั้นค่ะ อาชีพที่เขาจินตนาการออกก็จะมีแต่อาชีพที่เขาเติบโตมา แล้วเห็น เพราะว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าและเทคโนโลยีได้ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ เกิดขึ้นกับพ่อแม่พี่น้องบนเกาะที่ห่างไกล เรียกว่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย ถึงแม้ไม่ได้อยู่บนเกาะ อยู่บนแผ่นดินใหญ่ แต่ว่าอยู่บนเขา บนดอย สายไฟสายส่งของ การไฟฟ้าก็ลากไปไม่ถึง คนเหล่านี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ค่ะ และการไฟฟ้าให้ เหตุผลที่ไม่ลากสายไปถึงนี้บอกว่า ประชากรมีจำนวนที่เรียกว่าลากสายส่งไปก็ไม่คุ้ม แต่ท่านประธานคะ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วท่านใช้เหตุผลนี้ทำให้พวกเขาได้รับความเหลื่อมล้ำ จากเรื่องการใช้ไฟฟ้า พอมันไม่มีไฟฟ้าใช้ การประมงก็ทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม ทุกอย่างมันคือ ความยากลำบาก คนก็ทิ้งเกาะ ทิ้งพื้นที่นั้นไป ทิ้งครอบครัวตัวเองไปเพื่อไปหาความเจริญ ประชากรการเกิดมันก็น้อยลงอีก คือสุดท้ายประชากรบนเกาะหรือบนพื้นที่ห่างไกลบนดอย มันก็ยิ่งน้อยลงค่ะ แล้วถ้าท่านการไฟฟ้าใช้เหตุผลเดิมว่า ประชากรน้อยแล้วลากสายส่งไป ไม่ถึง คือชาตินี้คนบนเกาะหรือคนบนดอยจะมีไฟฟ้าใช้ไหมคะ พวกเราใช้ไฟฟ้ากันหน่วยละ ๕ บาทยังเดือดร้อน ค่าไฟแพงต่าง ๆ แต่คนบนดอยกับคนบนพื้นที่ห่างไกลที่อยู่บนเกาะ บางพื้นที่ทุกวันนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลยค่ะ และบางพื้นที่ที่มีไฟฟ้าใช้ก็ใช้พลังงานโซลาเซลล์ ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น จาก ๖๐ บาททุกวันนี้ลดลงมาเหลือ ๑๒ บาทนะคะ แต่มัน เป็นการดิ้นรนของชาวบ้านล้วน ๆ โดยที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือหน่วยงานจาก ภาครัฐเข้าไปถึงพวกเขาน้อยมาก ๆ ดิฉันก็อยากที่จะฝากเอาไว้ว่า ถ้าเราจะแก้ไขปัญหา ค่าไฟแพง เราอย่านึกถึงแต่คนที่อยู่ในเมืองหรือคนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ขอให้การแก้ไขปัญหา ค่าไฟแพงนี้เอื้อไปถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่อยู่ตามเกาะ ตามแนวชายแดนหรือว่าบนดอย สูง ๆ ด้วยค่ะท่านประธาน ดิฉันอยากจะฝากเอาไว้เท่านี้ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผมขอกลับไปที่ท่านกัณตภณ ดวงอัมพร ก่อนนะครับ แล้วก็จะไปที่ท่านณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นะครับ เชิญท่านกัณตภณครับ
นายกัณตภณ ดวงอัมพร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กัณตภณ ดวงอัมพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของพี่น้องชาว พญาไท ดินแดง กรุงเทพมหานคร วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายในญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟแพง พี่น้องชาวดินแดง พญาไท ที่เคารพครับ ผมเห็นใจและเข้าใจพี่น้องในเขตบ้านผมมาก ๆ ครับ ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของ กรุงเทพฯ อยู่ที่ ๓๖๓ บาท ในเขตดินแดง ในเขตพญาไทก็มีหลายส่วนที่มีทั้งค้าขายสินค้า ของใช้อุปโภคบริโภค อาหารต่าง ๆ มากมาย ยอดขายในแต่ละวันก็ไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน แล้วตอนนี้ยังต้องเจอค่าไฟที่แพงแสนแพง เหมือนพี่น้องประชาชนเคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน ปัญหาค่าไฟที่สูงในประเทศไทยที่พิจารณากันอาจจะมีหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างเกี่ยวกับ ราคาไฟฟ้า โครงสร้างที่ซับซ้อน อัตราการใช้ไฟฟ้า นโยบายพลังงาน การนำเข้าและต้นทุน ในการผลิต ขนาดของครัวเรือน ครัวเรือนที่ใหญ่มักจะมีค่าไฟฟ้าที่แพงมากขึ้น แต่มีมากครับ ที่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มตามขนาดของค่าไฟ ทำให้ครัวเรือนต้องรับภาระตรงนี้มากขึ้น แล้วก็มีรายได้ของประชาชน ประชาชนหลายส่วนที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับค่าไฟที่แพง ทำให้เป็นระยะห่างที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ของพวกเขา ผมขออนุญาตยกตัวอย่างนะครับ ร้านค้า ร้านขายอาหารราคาถูก ในบ้านผมร้านขายโจ๊ก ขายถุงละ ๒๕ บาท สมมุติเฉลี่ยได้ วันละ ๑๐๐ ถุง รายได้จะตกอยู่วันละ ๒,๕๐๐ บาท หักต้นทุน ๔๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือจริง ๑,๕๐๐ บาท หากวันหยุดขาย ๒๔ วัน เท่ากับเขาจะมีรายได้ ๓๖,๐๐๐ บาท ๓๖,๐๐๐ บาทนี้ ไหนจะมีค่ากิน ค่าใช้จ่าย ค่าเทอมลูก ไหนจะต้องมีค่าสาธารณูปโภคอย่างไฟแสนแพงอีก คนไทยแบบนี้ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีกินมีใช้แล้วนะครับ ล่าสุดผมก็ได้ไปหาข้อมูลว่า ทางไฟฟ้า ใจดีครับว่า ถ้าเกิดจะอนุโลมให้ไม่ต้องชำระค่าไฟโดยไม่ต้องยกมิเตอร์ออก ๓ เดือน ผมก็ดีใจ ๓ เดือน แต่ไปดูข้อมูลครับ เว้นให้ ๓ เดือนเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟไม่ถึง ๓๐๐ บาทครับ ท่านประธาน ผมขอยกตัวอย่าง พรรคก้าวไกลเรามีทางออกให้แน่นอนครับ ในเมื่อต้นทุน การผลิตมันสูงแล้ว เราก็ทำการลดต้นทุนการผลิตครับ เมื่อลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว โครงสร้างไฟฟ้า ค่า FT ก็จะลดลงตามเป็นธรรมชาตินะครับ ไม่ต้องทำอะไรที่มันซับซ้อนครับ อย่างเช่นก๊าซธรรมชาติ ก็ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้ ถ่านหิน หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นต้นนะครับ พอผมพูดถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ผมก็สงสัยว่าพลังงานที่ได้จากธรรมชาติแบบนี้ ท่านยังต้องทำให้มันยุ่งยากอีกหรือครับในการ ที่จะขอทางภาคประชาชน ท่านควรจะมีขั้นตอนที่มันง่าย ๆ ครับ และที่สำคัญควรจะมีการ สนับสนุน ทั้งแหล่งทุนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึง และขอในการติดตั้งโซลาเซลล์เพื่อใช้หรือ เพื่อจำหน่ายคืนรัฐให้ง่ายกว่านี้ ผมว่ามันเป็นทางออกของประชาชนนะครับ อยากวิงวอน ให้เขาทำให้มันง่าย ๆ ล่าสุด กรรมาธิการที่ผมเองเป็นโฆษกกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ การสวัสดิการสังคมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า เขาต้องการที่จะแก้ไขระเบียบ ของสหกรณ์ เพื่อให้ลูกบ้านในบ้านมั่นคง โครงการเอื้ออาทรสามารถติดตั้งโซลาเซลล์ และขายไฟได้ เพื่อนำเงินตรงนี้ไปหมุนเวียนใช้ในชุมชน ระเบียบครับ ผมนั่งดูขัดไปขัดมาครับ ประชาชนที่อยากลงทุนแผงโซลาเซลล์ก็ลำบากใจ ทำอะไรก็ยากไปหมด ระเบียบของ สหกรณ์ก็ติดขัด สุดท้ายเรื่องที่จะเกิดดี ๆ ก็ยังไม่เกิดง่าย ๆ กับประชาชน ค่าไฟแพงครับ ค่าครองชีพถูก มันจะเป็นไปได้ไหมครับว่า มีวันหนึ่งที่ประเทศไทยจะค่าไฟถูก แบบถูกจริง ๆ ไม่ใช่ถูกแบบที่เป็นการอุดหนุนเป็นครั้งเป็นคราว ถูกแบบถาวรเพื่อให้พี่น้องคนไทยทุกคนได้ ใช้ไฟ ได้เข้าถึงอย่างมีคุณภาพ ก็ขอฝากไว้เท่านี้ครับ และผมก็ขอสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการ วิสามัญชุดนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านณัฐจิราครับ
นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายนะคะ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาเรื่อง ค่าไฟแพง ตามรัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนา อย่างยั่งยืนค่ะ ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเลยนะคะ หรือ ประชาชนทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าค่ะ แต่ในปัจจุบันพบว่าประชาชนต้องแบกรับ ค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าไฟในอัตราที่สูงกว่าเดิมเป็นอย่างมากค่ะ ซึ่งถ้าหากเราไม่สามารถ แก้ไขปัญหาค่าไฟแพงที่ต้นเหตุได้นั้น ปัญหานี้ก็จะกลายเป็นปัญหาหนึ่ง หรือปัญหาสำคัญ ที่ตอกย้ำวิกฤติค่าครองชีพในสังคมไทย ในบิลค่าไฟมีอะไรบ้างนะคะ จากทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน อันดับ ๑ เลยจะมีค่าไฟฟ้าฐาน แล้วก็บวกค่าไฟฟ้าผันแปร แล้วก็อันดับ ๓ จะมีค่าบริการรายเดือน และ ๕ สุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้ง ๔ ตัวนี้รวมทั้งหมด ซึ่งออกมาเป็น ค่าไฟของทุกบ้าน ขอสไลด์ถัดไปเลยค่ะ
นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ค่าไฟผันแปร หรือค่า FT ที่เรา เรียกกัน ที่มีหลาย ๆ ท่านที่บ่นว่าค่า FT สูงขึ้น หรืออื่น ๆ ตรงนี้ค่า FT ในการที่จะแก้ปัญหา เรื่องค่าไฟฟ้าแพงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรส่งผลที่ทำให้ ค่าไฟแพง และเมื่อตรวจสอบดู หรือ Check ดู ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ที่ ขยับสูงขึ้นจาก ๑.๓๙ สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงต้นปี ๒๕๖๕ เป็น ๙๓.๔๓ สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ถึงต้นปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นอัตราค่า FT ที่สูงสุดในรอบ ๑๐ ปีเลยค่ะ ท่านประธาน และจากการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่คำนึงความมั่นคงทางด้านพลังงาน เกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ส่งผลให้ เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินความต้องการ ถ้ามองในกราฟบนสไลด์ ตรงเส้น สีแดงจะเป็นความต้องการไฟฟ้าสูงสุด และเส้นสีเหลืองก็คือกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ควร มีในระบบนะคะ ซึ่งไม่ควรเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันเป็นเส้นสีน้ำเงิน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีในระบบมีถึง ๕๕ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๖๔ และเมื่อเทียบกับ ปี ๒๕๔๔ อยู่ที่ ๓๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ไปเยอะค่ะท่านประธาน และนอกจากนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขว่า ไม่ซื้อก็ต้อง จ่ายค่ะ คือแม้จะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ทำให้โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการ แม้ไม่ได้เดินเครื่องผลิต ไฟฟ้าแต่ก็ได้เงินค่าไฟฟ้า และจากการที่กำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบส่งผลให้โรงงานไฟฟ้า ขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องไฟอย่างเต็มศักยภาพ และมีการถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้า ขนาดเล็กผลิตแทน ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาที่ทำให้มีค่า FT ที่เรียกเก็บกับประชาชน ซึ่งในแต่ละปี พบว่ามีจำนวนสูงพอสมควรค่ะ ตลอดจนที่ประชาชนไม่ได้ใช้ราคาแก๊สธรรมชาติที่ผลิตจาก อ่าวไทย จริง ๆ ก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยมีราคาต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากแหล่ง อื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา Pull Gas หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง และ LNG ที่ราคาสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาตินี้จากอ่าวไทยมีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ใช้ได้ ก๊าซธรรมชาติในราคาถูก ซึ่งถ้าเราสามารถแก้ปัญหานี้ ให้เป็นธรรมได้ก็จะช่วยลดค่าไฟลงได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาหรือขอเสนอแนวทาง การแก้ปัญหา ๑. ควรมีแนวทางและมาตรการที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ไม่ว่าจะเป็น ค่า FT ก็ตาม หรือค่าอื่น ๆ ก็ตาม เราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ๒. การเพิ่มสัดส่วน ของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และ ๓. ให้ความสำคัญกับการกระจายประเภทของ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ๔. การส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาเซลล์ หรือ Solar Rooftop แต่ประเด็นที่ ๔ ในการติดตั้ง อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะทำได้ในบางจุด อันนี้ก็ต้องมีการวิเคราะห์ อีกต่อไป
นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ดังนั้นทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวมาก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคประชาชน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่แพงขึ้น คนไทยอาจจะต้องจ่ายค่าไฟ แพงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้นะคะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นต้นทุนทางการผลิต หรือต้นทุน ค่าใช้จ่ายของพ่อแม่พี่น้องประชาชน วันนี้ดิฉันเองก็ขอเป็น ๑ ปาก ๑ เสียงให้พ่อแม่พี่น้อง ประชาชนในเรื่องของค่าไฟแพง ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงเห็นสมควรให้มีการพิจารณาในเรื่องแก้ไข ปัญหาเรื่องค่าไฟแพงค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนพดล ทิพยชล ตามด้วยท่านสุภาพร สลับศรี ครับ
นายนพดล ทิพยชล นนทบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นพดล ทิพยชล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เขต ๔ อำเภอปากเกร็ด พรรคก้าวไกล วันนี้ครับท่านประธาน ผมขอร่วมอภิปรายการศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง วันนี้ผมขอพูด ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพี่น้องประชาชนคนนนทบุรี ท่านประธานครับ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรีตอนนี้มีค่าครองชีพสูงเป็นลำดับที่ ๓ ของประเทศไทยแล้วนะครับ และจากข้อมูลของ สนค. เช่นกัน ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน คนไทยต้องหมดไปกับค่าไฟฟ้าสูงเป็นลำดับที่ ๒ ท่านประธานครับ รัฐมีหน้าที่ที่ต้องจัดหา หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก็ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่นกันครับท่านประธาน ดังนั้นรัฐต้องจัดสรรให้ประชาชนมีไฟฟ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างทั่วถึง และต้องราคาย่อมเยาด้วยเช่นกันครับ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าประชาชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของชีวิตรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เป็นจำนวนมาก ผมขอพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีของผมครับ มีชุมชนชื่อชุมชนอาคารชุดบ้านสวนติวานนท์ อยู่ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่นี่มีประชาชนพักอาศัยอยู่ประมาณเกือบ ๕๐๐ คน ท่านประธานครับ เราทราบกันดีว่าค่าไฟ ปกติที่เราจ่ายตรงให้กับทางการไฟฟ้านั้นก็ไม่ถูกนะครับ ก็แพงอยู่แล้ว แต่ว่าที่นี่กว่า ๒๐ ปี แล้วครับ ที่ประชาชนหลายร้อยคนกลับต้องจ่ายค่าไฟที่สูงกว่าครอบครัวปกติทั่วไป เพราะที่นี่ไม่สามารถขอมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตนเองได้ เพียงเพราะเขายังติดผ่อนชำระค่า ห้องชุดกับทาง บสก. หรือบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น เขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองได้มีไฟฟ้าใช้ จึงต้องใช้วิธีการต่อพ่วงไฟฟ้าจากอาคารชุดอื่น ทำให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นต่อ ๑ มิเตอร์ คือต้องแชร์กัน ๑ มิเตอร์ หลายห้องชุด ทำให้ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าต่อ ๑ มิเตอร์สูงขึ้นนะครับ แล้ววิธีคิดค่าไฟฟ้าของเรา ก็ไม่ได้เหมือนสินค้าประเภทอื่น ๆ ครับท่านประธาน ที่ซื้อเยอะแล้วราคาจะถูกกว่า ซื้อชิ้นเดียว แต่ค่าไฟฟ้าจะคิดราคาแบบอัตราก้าวหน้า คือยิ่งใช้ไฟเยอะเท่าไร ราคาค่าไฟ ก็จะยิ่งแพงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งจ่ายแพง ซ้ำร้ายหากบางครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ที่ป่วยติดเตียง แน่นอนครับ ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนชีวิตจากค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเลย ท่านประธานครับ ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพ เดือนละ ๖๐๐ บาท เท่ากับ ๒๐ บาทต่อวัน กินข้าวได้ ๗ บาทต่อ ๑ มื้อ กินบะหมี่กึ่ง สำเร็จรูปได้ ๑ ซองต่อมื้อครับ ดังนั้นหากครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุและเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะ ต้องพึ่งพิง แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ๑ ซองก็ยังไม่สามารถหาทานได้ เพราะต้องนำเงิน ไปเตรียมจ่ายค่าไฟฟ้า ท่านประธานครับ ผมได้รับข้อมูลมาว่า ชุมชนที่นี่ในช่วงระยะเวลา ๖ เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยห้องพักจะมีผู้อาศัยอยู่ประมาณ ๒-๓ คนต่อ ๑ ห้อง มีเครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ ๑ ตัว พัดลม ๑ ตัว ค่าไฟฟ้าต่อเดือนที่ต้องจ่ายไม่เคยต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาทเลยครับ ค่าไฟฟ้าแพงทำให้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น นี่คือ ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ผม จังหวัดนนทบุรีครับ รัฐมีภารกิจและหน้าที่ ในการจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับประชาชน แต่ประชาชน ที่ชุมชนบ้านสวนติวานนท์นี้ไร้การเหลียวแลจากภาครัฐมากว่า ๒๐ ปีแล้วครับ สุดท้าย ผมขอเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเสรีทางไฟฟ้า ยกเลิกการผูกขาด มีตัวเลือกให้ประชาชน ได้มีโอกาสเลือกใช้บริการได้มากกว่าการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีอยู่ แค่เท่านี้ในตอนนี้ รวมทั้งสนับสนุนให้กับพี่น้องประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าโซลาเซลล์ในราคาที่ย่อมเยา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับ พี่น้องประชาชนผมจึงเห็นควรสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล คุณธิษะณา ชุณหะวัณ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุภาพร สลับศรี ครับ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยสร้างไทย เขต ๑ จังหวัดยโสธร ยโสธรเมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอเมือง อำเภอทรายมูล ตำบลกระจาย ตำบลศรีฐานและตำบลทุ่งมน วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟราคาแพง โดยมีรายละเอียดดังนี้
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ประการแรกค่ะท่านประธาน ดิฉันขอเรียนด้วยความเคารพและสุดจะดีใจว่า ดิฉันไม่ติดใจในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะเป็นอนุกรรมาธิการที่พิจารณาโดย คณะกรรมาธิการชุดใด ขอเพียงให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม ที่ชัดเจน และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงเท่านั้นพอค่ะ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ คำว่า ค่าไฟแพง ดิฉันก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็เล็งไปที่ค่าไฟฟ้า ที่ผลิตโดยการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือไฟฟ้า กระแสหลัก ซึ่งแน่นอนค่ะ เมื่อค่าไฟแพงก็ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างแก่พี่น้องประชาชน อย่างมหาศาล เพราะพลังงานไฟฟ้าที่พี่น้องประชาชนใช้ส่วนมากมาจากแหล่งนี้ – วันนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการใช้ไฟฟ้า เป็นหลัก ทำให้ทางเลือกของพี่น้องประชาชนจึงมีไม่มากนัก ดิฉันก็เห็นด้วยนะคะกับ คำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่าน ตั้งแต่เมื่อวานและวันนี้ที่สะท้อนปัญหาทำให้ ไฟฟ้าแพง และวันนี้ก็เป็นโอกาสอันดี เพราะที่ประชุมแห่งนี้จะได้ร่วมกันเสนอแนะปัญหา และแนวทางแก้ไขเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้เร่งดำเนินการ เพราะอย่าลืมนะคะว่าอีก ไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ช่วงอากาศร้อน ความต้องการใช้ไฟก็จะ ยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ ท่านประธานจำได้ไหมค่ะว่า เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วประเทศไทยเกิด สถิติใหม่ก็คือ เกิดสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า หรือค่า Peak ใหม่ อยู่ที่ ๓๔,๘๒๖.๕ เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก สาเหตุก็เกิดจากอากาศที่ร้อนมากกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส แต่ประเด็นที่ดิฉันจะขอสะท้อนปัญหาและฝากเป็นข้อสังเกตผ่าน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับฟังหาทางแก้ไข ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ของตัวดิฉันเองซึ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่ว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการ แก้ไข นั่นก็คือปัญหาของบ้านดงมะไฟ ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล ที่ได้รับผลกระทบจาก ค่าไฟแพงและกระเทือนไปแก่การผลิตน้ำประปาในหมู่บ้าน ดิฉันขอเล่าถึงที่ไปที่มาของ ปัญหาก่อนนะคะท่านประธาน บ้านดงมะไฟแต่ก่อนใช้ระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ไม่ได้ใช้ระบบ ประปาแบบปกติทั่วไป เพราะระบบสาธารณูปโภคยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง จึงต้องใช้ระบบ ประปาหมู่บ้าน ซึ่งเดิมประปาหมู่บ้านจะผลิตได้ก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิต โดยการสูบน้ำ แต่ชาวบ้านสู้ค่าไฟไม่ไหวค่ะ จึงต้องลงขันเปลี่ยนมาใช้ระบบโซลาเซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ดีขึ้นในระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากทุนหรืองบของพี่น้องมีจำนวนจำกัดและงบประมาณของ อบต. ที่มาช่วยอุดหนุนก็มีน้อย องค์ความรู้ในการดูแล การซ่อมบำรุงระบบโซลาเซลล์ ให้สามารถใช้งานอย่างต่อเนื่องก็ไม่ชำนาญ ดิฉันจึงเห็นว่าอีกทางเลือกหนึ่งที่พอจะช่วย ค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องชาวบ้านได้ก็คือ การมีระบบโซลาเซลล์แบบครบวงจร มีอุปกรณ์และ บุคลากร ซึ่งอยากจะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดสนับสนุนพลังงานไฟฟ้า โซลาเซลล์ ให้ใช้เพิ่มมากขึ้นและมีการขยายนำร่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความ เดือดร้อนเพื่อความเท่าเทียม จะทำให้ประชาชนมีต้นทุนค่าครองชีพที่ถูกลง ดังคำกล่าว ที่หลายคนว่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลืมตา อ้าปากได้ มีเงินเก็บและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
สุดท้ายค่ะท่านประธาน ที่ดิฉันอยากจะฝากสอบถามผ่านไปถึงรัฐบาล และกระทรวงพลังงานที่ทำการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ทั้งภาค สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่นทำโครงการขอรับการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ก็จะมีโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบ บ่อบาดาลขนาดไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ กิโลวัตต์ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ ชนิดรถเข็น และรถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบชนิดลากจูง แล้วก็ระบบอบแห้งพลังงาน แสงอาทิตย์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ กระทรวงพลังงานมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้อง ประชาชนในวงกว้าง ประชาชนรอคอยงบประมาณ ปี ๒๕๖๖ และปี ๒๕๖๗ ฝากรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ด้วยนะคะ กราบขอบพระคุณท่านประธานมากค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ก็ขออภิปรายสนับสนุนญัตติ การแก้ไขปัญหาค่าไฟราคาแพงด้วยครับ แน่นอนครับวันนี้ผมอาจจะขออนุญาตมาลงลึกในประเด็นเรื่องของนโยบายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญที่ว่าจะเป็นต้นตอของเรื่องของค่าไฟนะครับ เพราะว่าในโครงสร้าง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นก๊าซธรรมชาติราคาถูกหรือแพงส่งผลโดยตรงกับตัวค่าไฟฟ้าของประเทศไทยนะครับ ซึ่งแน่นอนครับ นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราได้พูดมาตลอดว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดค่าไฟ ได้เร็วที่สุดก็คือการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็อาจจะได้ทำไปแล้วเป็น มาตรการชั่วคราวสำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนนี้ ต้องมาดูกันต่อว่าจะเป็น มาตรการชั่วคราวหรือมาตรการถาวรนะครับที่ว่า เปลี่ยนให้โรงแยกแก๊สธรรมชาติของ กลุ่มทุน ปตท. ใช้ราคาเดียวกันกับที่โรงไฟฟ้า แล้วก็ภาคอุตสาหกรรมเขาใช้อยู่ หรือที่เรียก กันว่าเป็น Single Pull ก็เกริ่นอีกนิดหนึ่งก็คือจากเดิมก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเราใช้ มาจาก ๓ ก้อน จากอ่าวไทยราคาถูกที่สุด แล้วก็พม่าแพงขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็นำเข้าจาก LNG ตอนนี้รวมมาเป็น Pull เดียวกัน แล้วผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ โรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็โรงไฟฟ้าก็ใช้ราคาเดียวกันแล้ว ทีนี้มันมามองต่อยอดอีกนิดหนึ่ง ว่าจากเดิมที่เกิดขึ้นแล้วจะไปสู่อนาคตเพื่อลดค่าไฟได้อย่างไรบ้าง มันก็หนีไม่พ้นครับ ผมคิดว่าทุกวันนี้อยากให้เห็นนโยบายภาครัฐที่จะจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเองเปลี่ยนจาก การใช้ก๊าซธรรมชาติไปใช้พลังงานอื่นทดแทนมากขึ้น เหตุผลก็คือว่ายิ่งโรงงานอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ก๊าซธรรมชาติใน Pull นี้เท่าไร นั่นหมายถึงอะไร หมายถึงว่า เราก็จะนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพง แล้วก็ผันผวนไม่แน่นอนลดลงไปได้ ดังนั้นหมายถึง ค่าไฟฟ้าที่ภาคประชาชนเองก็ตาม หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจใช้ก็ตามก็จะถูกลงนะครับ ซึ่งแน่นอนจะจูงใจอย่างไร ผมมองเป็นเรื่องเดียวที่ทำได้ประโยชน์ ๓ ต่อนะครับ แน่นอน คือจูงใจให้ภาคเอกชนไปใช้พลังงานอื่นแทนก๊าซธรรมชาติในการเผา ลดค่าไฟได้ด้วย บรรลุ เป้าหมายเรื่องของ Net Zero ได้เร็วขึ้นด้วยนะครับ เพราะว่าทุกการเผาก๊าซธรรมชาติ มันมาพร้อมกับคาร์บอนแน่นอน แล้วก็เป้าหมายที่ ๓ คือการพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นก็เลยเป็นที่มาที่ผมก็อยากจะสนับสนุนข้อเสนอของทางสภาอุตสาหกรรมด้วยนะครับ ที่อยากจะให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยี Heat Pump เข้ามาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการเผาเป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Heat Pump นี้เป็นอย่างไรนะครับ ผมขอเกริ่นสั้น ๆ มันก็คือเหมือนกับเป็นแอร์บ้านเรานี่ละครับ แต่เป็นแอร์ที่กลับด้าน ก็คือ ใช้ด้านที่เป็น Compressor ปล่อยลมร้อนออกมา ไปใช้ให้ความร้อนแทนการเผาก๊าซ ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์มาแล้วมากกว่าสิบปี มีประสิทธิภาพสูงนะครับ ก็คือใช้ไฟฟ้าตรงนี้เปลี่ยนจากเป็นการให้ความร้อนแทนการเผา ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้มันมีโอกาสในประเทศไทยอย่างไรนะครับ ก็ต้องบอกว่าประเทศไทย เราเองเป็นผู้ผลิตแอร์อันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยเราเป็นผู้ส่งออกแอร์อันดับ ๒ ของโลกรองจากประเทศจีน ดังนั้นเราจึงมีศักยภาพโดยตรงที่จะมาสนับสนุนเทคโนโลยี ให้จริงจัง ก็คือต่อยอดจากการเป็นผู้ส่งออกแอร์มาเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี Heat Pump ไปทั่วโลกด้วย เพราะว่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่จะเป็นความต้องการที่เกิดขึ้น ทั้งโลกในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในการลดเชื้อเพลิง การเผาเชื้อเพลิงเพื่อการให้ ความร้อนในภาคโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ก็เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าในการใช้เทคโนโลยี Heat Pump ตรงนี้แทน ซึ่งแน่นอนครับ ในส่วนนี้ผมก็ขออนุญาตเสริมลงไปเลยว่าวิธีการ มันจะเป็นอย่างไร เผื่อว่าในทางกรรมาธิการจะแต่งตั้งหรือตั้งเป็นข้อสังเกตเสนอต่อไปยัง รัฐบาลได้นะครับ อันแรกก่อนก็คือการสร้างความต้องการ ก็คือ Demand ซึ่งในตรงนี้สิ่งที่ มันเหมาะสมที่สุด ก็คือกองทุนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงานเอง ต้องมีมาตรการ จูงใจออกมา หรือที่เรียกว่าเป็น ESCO Model คือว่าให้มีภาคเอกชนไปช่วยกัน Co pay หรือไปช่วยกันลงทุน Heat Pump ในภาคโรงงานอุตสาหกรรม แล้วต้นทุนที่ประหยัดได้ก็จะ กลับมาคืนทุนให้กับกองทุนตรงนี้ อันนี้จะสร้างให้เกิดการ Demand แล้วก็ทำให้จูงใจให้ ภาคโรงงานก็เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเผาเป็นเชื้อเพลิงไปใช้ Heat Pump เพื่อให้ ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมแทน แน่นอนครับ เมื่อ Demand มีความต้องการก็ไป สนับสนุนที่ภาคการผลิต หรือเรียกว่าเป็น Package DOI ควรจะตามต่อเนื่องมา แล้วก็ สุดท้ายก็คือการส่งออก อย่างที่เกริ่นไปว่า เรามีศักยภาพที่จะต่อยอดจากอุตสาหกรรมแอร์ เป็นอุตสาหกรรม Heat Pump เพื่อส่งออกไปได้ อันนี้ก็ต้องพึ่งกลไกภาครัฐในการขยาย ตลาดตรงนี้นะครับ ก็จะขอทวนกลับมาอีกทีหนึ่งว่า ยิ่งภาคอุตสาหกรรมไทยสวิตซ์ จากการเผาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นใช้ Heat Pump มากขึ้นเท่าไร เราก็จะมีค่าไฟ ที่ถูกลง เพราะว่าเราก็จะนำเข้าก๊าซ LNG น้อยลง แล้วก็เมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แน่นอนครับ ตัวหารจาก เดิมที่โรงไฟฟ้า เรามีโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ไม่ได้เดินเครื่องนะครับ แต่ว่าได้เงินจากเรามันก็ เท่ากับว่าเขาจะได้ Run มามากขึ้นด้วย ดังนั้นมันจะเป็น ๒ ต่อ ที่เพิ่มขึ้นก็คือราคาก๊าซ ธรรมชาติถูกลงได้ แล้วก็มีการใช้ไฟฟ้าเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง เดินเครื่องมาก ขึ้นได้ ทีนี้เมื่อตัวหารมากขึ้นค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยก็จะลดลงไปได้ นอกเหนือจากก๊าซ ธรรมชาติถ้าผมทวนอีกทีหนึ่งที่เราเสนอมาตลอดคือเรียกว่าเป็น ๕ ขั้น ก็เพื่อไม่ให้เป็น การเสียเวลาสภาแห่งนี้ ก็จะขอทวนสั้น ๆ ว่านอกเหนือจากนี้สิ่งที่ยังรออยู่ว่าให้เกิดการแก้ไข ปัญหาค่าไฟ ก็คือการเจรจากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ก็ได้เงินจากเรา รวมถึงพลังงานไฟฟ้าทดแทนต่าง ๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มทยอยหมดสัญญา แต่ว่ายังมีสัญญาเก่า ที่ได้ค่าไฟที่มีราคาแพงอยู่ไปด้วยนะครับ ผมก็ต้องยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการเจรจากับเอกชน เหล่านี้เป็นไปได้นะครับ ถ้าเรามองว่าในอนาคตโรงไฟฟ้าที่เราใช้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติปัจจุบันสามารถขยายอายุ สัญญา เพื่อเป็น Backup Plan ในอนาคตเพื่อให้ในอนาคตเองเราก็มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยที่ค่าไฟปัจจุบันลดลงได้ครับ ก็ขอเสนอเป็น ข้อเสนอแนะผ่านไปยังกรรมาธิการที่จะตั้งหรือเป็นข้อสังเกตไปยังรัฐบาลต่อไป ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านองค์การ ชัยบุตร ครับ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม องค์การ ชัยบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ท่านประธาน ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนกระทรวงตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาค่าไฟแพง แรก ๆ ผมก็ได้ดูนะท่านประธาน ผมคิดว่าผมจะไม่อภิปราย ไม่มีส่วนร่วมเท่าไรหรอก เพราะว่าเห็นหลาย ๆ ท่าน ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้ว แต่พอมาฟังแล้วจะมีประเด็นที่มีปัญหา โดยเฉพาะตัวพี่น้องเกษตรกรที่อยู่บ้านนอก ที่อยู่ ต่างจังหวัด เขาไม่เข้าใจว่าค่า FT คืออะไร ค่า VAT คืออะไร ค่า IEA คืออะไร อันนี้ชาวบ้าน ไม่เข้าใจครับท่านประธาน เขารู้แต่ว่าทำไมค่าไฟแพง มันแพงมาจากอะไรเขาไม่รู้ บ้านผม ที่จังหวัดมุกดาหารหรือภาคอีสานหรือภาคอื่นก็ดี ที่ผมไปสัมผัสมา เขาก็บอกว่าท่าน สส. ช่วยพูดในสภาหน่อยว่าค่าไฟมันแพง มันแพงขึ้นจริง ๆ นะครับ ๑๐๐-๒๐๐ บาทต่อเดือน บ้านนอกหนักนะท่านประธาน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น มันมีช่วงหนึ่งในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ดีใจว่าตัวเองเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล น้ำไหล ไฟสว่าง หนทางลาดยางมะตอย เพราะว่าไปค้นพบบ่อเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ในอ่าวไทย คนไทยก็อดไม่ได้ก็ดีใจไปกับรัฐบาล ในขณะนั้นว่าตัวเองจะมีพลังงานเป็นของตนเอง จะได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบันนี้ เราเป็นคนจ่ายค่าไฟแพง ทั้ง ๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน เป็นก๊าซ ธรรมชาติหรือแหล่งพลังงานอื่น ๆ ที่หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้ว แล้วตกอยู่กับใครครับ ท่านประธานผมถามหน่อย พลังงานพวกนี้ตกอยู่ที่ไหน ตกอยู่ที่ประชาชนหรือตกอยู่ที่ใคร ประเทศนี้ทำไมเป็นแบบนี้ ประชาชนมีส่วนร่วม มีส่วนกำหนดพลังงานในชุมชนในประเทศนี้ หรือไม่ ยกตัวอย่างล่าสุดนะครับ พลังงานตัวใหม่ก็คือพลังงานกังหันลมจากไฟฟ้าที่กำลัง ขึ้นอยู่ทั่วประเทศ อยู่ที่บ้านผมก็มี ๒ จุด ที่มุกดาหาร ที่ตำบลร่มเกล้า อำเภอนิคมคำสร้อย อันนี้บ้านเกิดผมเองเลยท่านประธาน และกำลังจะเกิดขึ้นอีกที่ผ่านประชามติในท้องถิ่นแล้ว ก็คือภูผาผึ้ง ในพื้นที่ตำบลนาเกาะ ก็อำเภอนิคมคำสร้อยเหมือนเดิม ก็เข้าใจว่าผู้ว่าราชการ จังหวัดเป็นประธานกรรมการนะท่านประธาน ผมก็มองว่ามีกังหันลมในพื้นที่แล้วพี่น้องได้ประโยชน์อะไร ผมก็ตอบคำถามว่าตัวเองไม่ได้ว่า พี่น้องได้อะไร พี่น้องก็จ่ายไฟแพงอยู่เหมือนเดิมท่านประธาน เอกชนหรือผู้ผลิตไฟฟ้า กังหันลมเขาได้ดูแลคนในชุมชนในพื้นที่ที่เขาทำมาหากินอยู่หรือไม่ ฝากรัฐบาลไปถามด้วย หรือท่านซูเอี๋ยกัน ผมก็ไม่เข้าใจ อย่างน้อย ๆ บ้านผมมีกังหันลม ชุมชนบ้านผมอย่างน้อย ๆ ต้องมีสวัสดิการให้พวกผม ให้ชุมชนมีน้ำไหล ไฟสว่าง ไฟส่องสว่างก็ต้องมีทั่วทุกตรอก ซอกซอยในพื้นที่ที่เขาทำธุรกิจอยู่ อันนี้ผมก็ไม่มั่นใจเพราะว่าไปกลางคืนก็ไม่เห็นไฟ และชุมชนมีสิทธิอะไร จากพลังงานตรงนี้ช่วยหาคำตอบให้พวกเราด้วยนะครับ และตัวที่ ๒ กำลังจะเกิดขึ้นก็เรียกเอาเฉพาะคนที่เห็นด้วยมาฟัง คนที่คัดค้านก็ไม่เอามา ฟังไปฟังมาก็มี การให้ซองขาวผู้นำต่าง ๆ เท่าไรไม่รู้ แต่ได้ยินพรรคพวกว่ามาอย่างนี้เพื่อให้มันผ่านไปได้ ด้วยดี ผมอยู่ในพื้นที่เขาไม่ได้เชิญผมเข้าไปนะ เขาไม่ได้เชิญผมไปฟังด้วย เขาเอา สส. ท่านอื่นไป ผมก็ไม่มั่นใจว่าเขาพูดอะไรกัน นี่คืออุปสรรคหนึ่งที่พลังงานประเทศไทยมีมากล้น โรงไฟฟ้าก็มีเยอะ เยอะจนล้น ไฟฟ้าสำรองที่หลาย ๆ ท่านได้ว่ามามันเกินความจำเป็น มันเกินความจำเป็นท่านไม่มาแจกฟรีล่ะ แจกไฟฟ้าฟรีได้ไหมสัก ๓ เดือน เอาเฉพาะหน้า สงกรานต์นี่ละท่านประธาน ดีไหมล่ะ มันล้นนี่ท่านประธาน มันเกินความจำเป็นต้องใช้ เอามาแจก บ้านนอกหลังหนึ่งไฟฟ้าไม่เกิน ๑๐ หลอด มีตู้เย็น มีพัดลมเสริม แอร์ไม่ค่อยมีนะ บ้านผม บ้านแม่ผมก็ไม่มีแอร์ แต่จ่ายไฟเดือนละประมาณ ๓๐๐ บาท มันเกิดอะไรขึ้น ผมถาม หน่อยสิ นายทุนต่าง ๆ หรือกระบวนการการสร้างโรงไฟฟ้าเราไปเอื้อให้เขามากเกินไป หรือเปล่า ถ้าจะเกิดไฟฟ้าตรงไหนช่วยไปบอกชุมชนว่าเราต้องเอาสวัสดิการจากโรงไฟฟ้านะ รัศมีอย่างน้อยต้อง ๑๐ กิโลเมตรได้ไหม ๑๐ กิโลเมตรใช้ไฟฟ้าฟรีได้ไหมที่อยู่รายล้อม โรงไฟฟ้าหรือที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า เกี่ยวกับพลังงานได้ไหมท่านประธาน ตั้งคำถาม อย่างนี้ท่านจะแก้ได้ไหม มันยิ่งหนักขึ้นนะ ก่อนจะมาผมไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงเขาขอว่า บ้านนี้ใช้ไฟฟรีได้ไหม เพราะผู้ป่วยติดเตียง ๑ คน ต้องมีคนดูแล ๑ คน ไม่ได้ไปไหนนะ ท่านประธาน ไม่ได้ทำอะไรเลยต้องอยู่ที่นั่น ให้น้ำ ให้อาหารทางสายยางต้องขอ สส. สส. พรรคก้าวไกลก็ยากจน ก็ได้กัดฟันให้เอาไป ๑๕ Pack เขาก็ปลาบปลื้มใจว่า สส. มีน้ำใจ ให้น้ำ ๑๕ Pack ไม่ให้ก็ไม่ได้ เราเป็น สส. ท่านประธาน อันนี้ผมพูดจากใจ ผมไปเจอมาแล้ว บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ทำมาหากินไม่ได้ไปคน ๒ คน มันไม่มีความสามารถที่จะหา รายจ่ายมาเพิ่มมาเติมนะท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ทางสมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายก็ครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นผู้เสนอญัตติ ใช้สิทธิตาม ข้อ ๗๕ ในการอภิปรายสรุปนะครับ ท่านแรกจะเป็นท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตามด้วยท่านธิษะณา ชุณหะวัณ เชิญท่านอัครเดชครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตสรุปญัตติที่ได้ เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหา ราคาค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็มีเพื่อนร่วมสภาได้มีการเสนอญัตติประกบคู่มาด้วยนะครับ ก็แสดงให้ เห็นว่าปัญหานี้เป็นที่สนใจของเพื่อนสมาชิกแล้วก็เป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนจริง เพราะว่ามีเพื่อนสมาชิกเข้าชื่อในการอภิปรายหลายสิบท่าน ท่านประธานที่เคารพครับ ก็ได้ฟังเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ทางสภาผู้แทนราษฎรของเรา ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะศึกษาปัญหาดังกล่าวส่งให้รัฐบาลได้พิจารณา ดำเนินการตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร โดยสรุปแล้วทุกท่านอภิปรายว่าปัจจุบันนี้ ราคาค่าไฟนั้นเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องจริง แล้วก็หลายท่าน ก็ได้มีการอภิปรายว่ารัฐบาลก็ได้ดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว แล้วก็ดำเนินการในระยะสั้น เป็นที่พอใจของพี่น้องประชาชนในระดับหนึ่ง เพราะว่าทางรัฐบาลได้มีการลดค่าไฟเข้ามา ตั้งแต่ได้มีการรับตำแหน่งในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่พี่น้องประชาชนได้เลือกตั้งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ อยากจะเรียนท่านประธานครับว่าแผนระยะยาว ได้กราบเรียนท่านประธานว่าคงยังมีอีก หลายปัจจัย แล้วก็มีหลายมาตรการที่จะให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาพิจารณา ดำเนินการออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาราคา ค่าไฟแพง ทีนี้สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น เมื่อวานนี้ได้อภิปรายให้ ท่านประธานทราบว่าในส่วนของผมเองไม่ได้ติดใจว่าสภาแห่งนี้จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือ ว่าจะส่งให้กรรมาธิการสามัญ ก็คือกรรมาธิการพลังงานไปดำเนินการ แต่ในส่วนของ วิปรัฐบาลเราก็ได้มีการตกลงแล้วว่าเนื่องจากตอนนี้อย่างที่ได้กราบเรียนท่านประธาน เมื่อวานนี้ว่ากรรมาธิการวิสามัญตอนนี้มีหลายคณะ ทาง สส. ก็มีภารกิจมากมาย แล้วก็มี การตั้งกรรมาธิการขึ้นมาแล้วก็ต้องไปประชุม ไปศึกษาดูงาน ไปสอบหาข้อเท็จจริง ไปลง พื้นที่ก็ทำให้ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่เอง แล้วก็ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเองในการจัดตั้ง กรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาก็อยู่ในภาวะที่จำกัด ฉะนั้นตรงนี้เรามีกรรมาธิการสามัญขึ้นมาแล้ว ในส่วนของกรรมาธิการพลังงาน ก็เลยขออนุญาตได้ส่งให้กรรมาธิการพลังงานไปดำเนินการ ศึกษา เมื่อทางกรรมาธิการพลังงานดำเนินการศึกษาแล้วก็ขอให้เร่งส่งข้อคิดเห็นของ สส. ที่ได้อภิปรายในที่นี้ แล้วก็ข้อคิดเห็นของทางกรรมาธิการพลังงานที่รับญัตตินี้ไปพิจารณา ได้ส่งให้รัฐบาลได้ไปประกอบในการให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการ ในการช่วยเหลือประชาชนในอนาคตซึ่งเป็นแผนระยะกลางและระยะยาวต่อไป มีสิ่งหนึ่ง ที่จะฝากท่านประธานไปถึงทางกรรมาธิการการพลังงาน แล้วก็อนุกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นมาใน การแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ก็คือเรื่องของราคาไฟฟ้ารอบโรงงาน ผมเองเป็น สส. อยู่จังหวัด ราชบุรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นปัญหาครับว่าเมื่อเรามีโรงไฟฟ้า สิ่งหนึ่งที่กระทบ กับพี่น้องประชาชนก็คือโรงไฟฟ้าที่ปล่อยแก๊สออกมา ก็จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ว่า สารพิษอื่น ๆ ก็มี Filter มีการดักกรองมีอะไรอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าแทบจะน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความร้อนที่มันออกมาจากโรงไฟฟ้า มันก็ทำให้อุณหภูมิ ระบบนิเวศรอบโรงไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้น โดยเฉพาะ ชาวไร่ ชาวสวน อย่างท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ท่านเป็น สส. อยู่ที่เขตเมืองราชบุรี ท่านเอง ก็ทราบว่าพี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องของระบบนิเวศวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะอุณหภูมิมันสูงขึ้น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ทั้งอำเภอเมืองราชบุรี ที่ติดกับโรงไฟฟ้า ราชบุรีก็คืออำเภอดำเนินสะดวกก็ดี ส่วนผมอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก็มีโรงไฟฟ้า หลายโรง เป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากการผลิตอ้อย แล้วก็เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่ ต่อเนื่องมาจากกระบวนการของโรงงานน้ำตาล ทีนี้เมื่อโรงไฟฟ้าเยอะ อย่างที่ได้กราบเรียน ท่านประธานว่าระบบนิเวศวิทยามันก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะว่าอุณหภูมิที่มันสูงขึ้น บางที มะนาวชาวไร่ก็บอกว่าสมัยก่อนไม่มีโรงไฟฟ้ามะนาวมันออกดกกว่านี้ ไปทำสวน ไปทำองุ่น มันออกดกกว่านี้ คือมันมีอุณหภูมิที่มันเหมาะสม ก็ทำให้เกษตรกรสามารถที่จะได้ผลผลิต ทางการเกษตรสูงกว่านี้ ทีนี้เมื่อมีโรงไฟฟ้าระบบนิเวศมันเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิมันสูงขึ้น สิ่งที่มันกระทบกับพี่น้องประชาชนก็คือรายได้ที่มันลดลง ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญนอกจาก เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเรื่องของกองทุนโรงไฟฟ้าแล้ว ปัจจุบันนี้ต้องเรียนท่านประธานเลย ว่ามันไม่ตอบโจทย์ การที่มีเฉพาะกองทุนรอบโรงไฟฟ้าบางทีเอาระเบียบกองทุนบอกไป ซื้อเต็นท์ ไปซื้อเก้าอี้ ไปซื้ออะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ได้อย่าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือถามว่ามันมีประโยชน์ไหม มันมีประโยชน์ แต่มันสามารถตอบ โจทย์ให้กับพี่น้องประชาชนได้มากไหม มันตอบโจทย์ไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่พี่น้องประชาชน อยากได้คือการลดราคาค่าไฟ ซึ่งก็จะทำให้ทุกครัวเรือนได้ประโยชน์จากการที่เขาได้รับ ผลกระทบ ถ้าท่านประธานไปตอนนี้ถามว่าไปทำประชาคมโรงไฟฟ้า ผมถามว่าวันนี้ชุมชนไหนบ้าง อำเภอไหนบ้าง จังหวัดไหนบ้าง ที่อยากได้โรงไฟฟ้าเพิ่ม ท่านประธานอยู่จังหวัดพิษณุโลก ผมว่าถ้าคนพิษณุโลกถามว่าวันนี้อยากได้โรงไฟฟ้าไหม ผมว่าไม่มีใครอยากได้ เพราะอะไรครับ เพราะคนได้รับผลกระทบ พี่น้องชาวราชบุรีผม ใช้ค่าไฟเท่ากับประชาชนคนจังหวัดอื่นที่ไม่มีโรงไฟฟ้า ผมถามแล้วนี่คือความยุติธรรมอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากทางกรรมาธิการการพลังงาน ในเมื่อรับไปพิจารณาแก้ไขปัญหา ราคาไฟฟ้าแพง เอาประเด็นนี้ไปศึกษาอย่างจริงจัง แล้วถ้าคนที่รับผลกระทบได้รับการลด ค่าไฟทุกครัวเรือน ได้ใช้ไฟถูกจริงเพื่อสิ่งที่ได้รับผลกระทบและชดเชยมาในส่วนของค่าไฟ ผมคิดว่าอีกหน่อย ไม่ใช่ว่าวันนี้ไปทำประชาคมโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรีเพิ่มหรือที่จังหวัด พิษณุโลกเพิ่มหรือแม้กระทั่งอย่างนี้ครับ ด้านหลังผม อย่างจังหวัดชุมพรเพิ่ม อีกหน่อย จะเรียกเลยให้เอาโรงไฟฟ้ามา มาอยู่ในพื้นที่ แต่วันนี้มันไม่ใช่ครับ ได้รับผลกระทบ แต่ได้ใช้ ราคาค่าไฟเท่ากันทั้งประเทศ คนที่รับผลกระทบก็ไม่อยากได้โรงไฟฟ้าครับ แล้วอีกหน่อย จะเอาโรงไฟฟ้าจากไหนครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ก็ยกคณะไปตรวจโรงงานขยะมูลฝอยจากชุมชนที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองก็ได้พบกับท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง คือท่านนายกปิยะ ปิตุเตชะ ท่านก็มีวิสัยทัศน์ดีมากครับเป็นโรงงานกำจัดขยะชุมชนของ องค์การมหาชนจังหวัดแห่งแรกของประเทศไทย แล้วทำได้ดีด้วยครับท่านประธาน ปัจจุบันนี้ โรงงานที่ ๒ รออยู่ ขยะล้นเมืองไม่รู้จะไปไหน โรงแรกวันหนึ่งจังหวัดระยองมีขยะ ๑,๒๐๐ ตัน เอาไปฝังกลบ ๗๐๐ ตัน ปัจจุบันนี้บ่อขยะเต็มกองเป็นภูเขาเลย ๕๐๐ ตัน ไปคัดแยกแล้วก็ ไปเผาสร้างไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าอนาคตโรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งขึ้นมา แล้วก็รอบ โรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานขยะ พี่น้องประชาชนมาร้องเรียนเพราะอะไรครับ ที่ผมต้องไปเพราะมันมีกลิ่น แต่ถามว่าท่านนายกอยากให้มันมีไหมครับ ไม่อยากให้มี กลิ่นที่มาจากโรงงานขยะ แต่บางทีมันมาจากรถที่ขณะขนขยะเข้ามาในโรงงาน ขยะก็มี หรือ บางทีภาวะความกดอากาศต่ำก็มี แต่ว่าข้อจำกัดมันมีคือโรงไฟฟ้าโรงที่ ๒ ที่ท่านนายกขอ มาแล้วมันยังไม่ได้ ขยะมันล้นเกินก็ต้องไปฝังบ่อกลบ ตอนนี้ก็ต้องขนย้ายขยะมาคัดแยกแล้ว ก็มาเผาที่โรงงานที่จังหวัดสระบุรี ก็สิ้นเปลืองค่าขนส่งอีก อีกเดือนหนึ่งอีกเป็นสิบ ๆ ล้านบาท แทนที่จะเอาเงินภาษีตรงนี้ไปบริหารไปทำถนนไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้อง ประชาชน แต่ก็ต้องขนขยะจากจังหวัดหนึ่งไปเผาอีกจังหวัดหนึ่งที่มีโรงไฟฟ้า อันนี้คือปัญหา ถ้าสมมุติว่าเราสามารถสร้างความเป็นธรรมตรงนี้ได้ ท่านประธานอย่าลืมนะครับ บางที บางอย่างมันเท่ากัน แต่มันไม่ยุติธรรม ความเท่ากันไม่ใช่ความยุติธรรมนะครับ บางอย่าง มันเท่ากันแต่มันไม่ยุติธรรม อย่างนี้ละครับ การกำหนดค่าไฟที่ใช้กันทั้งประเทศ คนที่ไม่ได้รับ ผลกระทบกับคนที่ได้รับผลกระทบใช้ไฟฟ้าเท่ากัน อันนี้คือมันไม่ยุติธรรม ก็เลยเรียนฝาก ท่านประธานไปยังอนุกรรมาธิการที่ท่านประธานคณะกรรมาธิการการพลังงานจะได้ตั้งขึ้น เพื่อศึกษาเรื่องนี้ แล้วส่งเรื่องให้รัฐบาลไปดำเนินการได้ศึกษาเรื่องนี้ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ คนที่รับผลกระทบ อย่างผมอย่างที่เรียนท่านประธาน อำเภอโป่งตอนนี้จะทำประชาคม จะขึ้นอีกแล้ว อีก ๒-๓ โรง พี่น้องประชาชนก็เดือดร้อนมาก เวลามีโรงไฟฟ้ามาโรงหนึ่ง ถึงแม้จะมีการควบคุมดูแลดีอย่างไร เราหลีกเลี่ยงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ครับ แต่ว่ามันอยู่ที่กระทบมากกับกระทบน้อยแค่นั้นเอง เวลามันมีขึ้นมาก็ทำอย่างไร ที่ไม่ให้กระทบน้อยลงไป ก็เลยฝากเรียนท่านประธานในเรื่องของราคาค่าไฟฟ้าที่อยู่รอบ โรงงานให้กับพี่น้อง ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดราชบุรีที่เยอะ อย่างที่จังหวัดฉะเชิงเทราเยอะอย่างนี้ ก็ต้องให้เขาด้วย ที่ไหนเยอะที่มีโรงไฟฟ้าอีกหน่อยพี่น้องประชาชนเมื่อรู้ว่าโรงงานไฟฟ้า ไปตั้งแล้วมีการบริหารจัดการควบคุมมลพิษได้ ไม่ส่งเรื่องมลพิษต่อพี่น้องประชาชนได้รับ ผลกระทบน้อยมาก ถ้าใช้ระบบนี้อีกหน่อยอาจจะมีคนแย่งกันเอาโรงไฟฟ้าไปตั้งในจังหวัด ตัวเองเยอะ ๆ ก็ได้ ก็เป็นการกระจาย กระจายแหล่งการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพี่น้อง ประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศด้วย วันนี้ผมในฐานะที่เป็น ผู้ที่เสนอญัตติในวันนี้ ก็ขอส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมาธิการสามัญในส่วนของพลังงานให้ไป ศึกษาเรื่องนี้เพื่อส่งให้รัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรที่ได้อภิปรายมาในช่วงเมื่อวานนี้แล้วก็วันนี้ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผู้เสนอญัตติที่ ๒ ท่านธิษะณา ได้มอบให้กับท่านศุภโชติ ไชยสัจ ใช้สิทธิในการ อภิปรายสรุปนะครับ เชิญท่านศุภโชติ ครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจาก พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงเรื่องค่าไฟแพงของพี่น้องประชาชนในมุมมองด้านต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของกำลังการผลิตส่วนเกิน ความเดือดร้อนจากประชาชนจากการมีการลักลอบ เก็บค่าไฟแพงเกินจริง ปัญหาการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ห่างไกล รวมไปถึงมีข้อเสนอแนะให้ รัฐบาลสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอย่าง Heat Pump พลังงานสะอาด และระบบกักเก็บ พลังงานมาใช้ในการลดก๊าซธรรมชาติที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟของระบบลง ปัญหาเหล่านี้ ครับท่านประธาน ล้วนแต่ต้องการการแก้ไขแบบบูรณาการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงราคาค่าไฟที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน ต่อไปได้ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ในช่วงหาเสียง พวกเราพรรคก้าวไกลเคยนำเสนอนโยบายบันได ๕ ขั้น ที่จะช่วยลดค่าไฟอย่างยั่งยืน หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขโครงสร้างราคาก๊าซ การสนับสนุน ให้มีการติดตั้งโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านของพี่น้องประชาชน การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า การแก้ไขสัญญาไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย และการเดินหน้าสู่สังคม Net Zero อย่างจริงจัง ทั้งหมด ๕ ข้อนี้ คือคำมั่นสัญญาที่เราสัญญาไว้กับประชาชนว่าจะผลักดัน ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม ต่อให้เราไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่ที่ผ่านมา พวกเรา พยายามผลักดันผ่านทุกช่องทางที่เราทำได้ ทั้งการพูดในสภาแห่งนี้ การถามกระทู้สดต่อ รัฐมนตรี การเข้าไปที่ทำเนียบเพื่อเสนอวิธีแก้ไขต่อท่านรัฐมนตรีโดยตรง รวมไปถึง การพูดผ่านสื่อทั้งหมดที่เรามีในมือ จนสุดท้ายบันไดขั้นแรกที่พวกเราพยายามผลักดัน อย่างการแก้ไขโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติก็ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลออกมาตรการ ให้มีการถัวเฉลี่ยต้นทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกกับราคาแพงลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะใช้เวลามากกว่า ๘ เดือนก็ตาม แต่พวกเราก็ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่สุดท้ายแล้วก็ยอมทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น แต่คำถามที่ต้องถาม กันต่อคือบันไดขั้นแรกนี้มาตรการนี้ จะเป็นการใช้ถาวรหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้ลดค่าไฟ เฉพาะงวดนี้เท่านั้น นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นบันไดขั้นแรก ที่ถือว่ารัฐทำสำเร็จในระดับหนึ่ง มันยังมีบันไดอีก ๔ ขั้น ท่านประธานครับ ที่พวกเราได้เคย เสนอไว้ ที่อยากให้ทางรัฐบาลสานต่อเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าไฟให้กับประชาชน บันได ขั้นที่ ๒ การเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นเงิน รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถติดตั้ง แผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเองได้มากขึ้น โดยยกเลิกหรือปรับลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ควรจะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถขายไฟที่ผลิตคืนมาได้ คืนสู่รัฐผ่านโครงการ Net Billing หรือถ้าจะให้ดี ให้ประชาชนสามารถเก็บไฟฟ้าที่ตัวเอง ผลิตได้เป็นเครดิต แล้วนำมาเป็นส่วนลดใน Bill ค่าไฟในแต่ละเดือนของประชาชน หรือที่เรา เรียกกันว่า Net Metering แต่ปัจจุบันกลับมีการจำกัดโควตาของประชาชนที่สามารถติดตั้ง แผงโซลาแล้วขายคืนได้ไว้เพียงแค่ปีละ ๑๐ เมกะวัตต์ หรือถ้าจะให้พูดง่าย ๆ คือคิดเป็น จำนวนบ้านแค่ไม่กี่ ๑๐๐ หลังเท่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถปลดล็อคการเปลี่ยนแสงแดดให้เป็น เงินได้จะไม่เพียงแต่ลดภาระให้กับประชาชน แต่ยังเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับพวกเขา อีกด้วย มาต่อกันที่บันไดขั้นที่ ๓ คือการเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า เพราะพวกเราพรรคก้าวไกล ปัจจุบันเห็นว่าในภาคพลังงานหรือภาคไฟฟ้า มันมีการผูกขาดเป็นอย่างมาก การเพิ่ม การแข่งขันลดการผูกขาดลง จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานที่มีราคาถูกและ มีประสิทธิภาพได้ พวกเขาจะไม่ต้องถูกมัดมือชกให้ซื้อไฟฟ้าจากรายใดรายหนึ่งเท่านั้น จะต้องไม่มีการให้ประชาชนมาแบกรับการประกันรายได้ให้กับเจ้าสัวพลังงานไม่กี่ราย อีกต่อไป ประชาชนจะมีสิทธิเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้าของพวกเขาเอง รวมไปถึงถ้าใครต้องการ ใช้พลังงานสะอาดก็สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกและเป็นธรรม แต่แน่นอนว่าโครงการที่ช่วย เพิ่มการแข่งขันอย่างเสรี ในการซื้อขายไฟฟ้าอย่างการปลดล็อกสายส่งหรือ Third Party Access ก็ยังค้างเติ่งอยู่เป็นเวลาหลายปีแล้ว แล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อไร ก็อยากจะฝากทางรัฐบาลไปว่าให้มีการติดตาม เร่งรัดและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วย บันไดขั้นที่ ๔ คือการชนทุนใหญ่เสือนอนกินครับ ข้อนี้ ตัวผมเองก็ได้พูดในสภาแห่งนี้ไปหลายรอบว่าควรจะมีการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กลุ่มทุนทางด้านพลังงานครับ เพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ เดินเครื่องเลย อย่างที่เพื่อน สส. ปารเมศจากพรรคก้าวไกลของผมได้อภิปรายไว้ว่าเรามี โรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และโรงไฟฟ้าเหล่านี้กลับได้เงินหลายหมื่น ล้านบาทฟรี ๆ ผ่านค่าความพร้อมจ่ายครับ ซึ่งในตัวเลขเหล่านี้มันก็ไม่ได้ไปไหน เขาก็มาคิด รวมอยู่ในค่าไฟของพี่น้องประชาชนอยู่ดี ซึ่งถ้าท่านจะบอกว่าสัญญาเอกชนมันแก้ยาก มันแก้ ไม่ได้ อันนี้ผมก็ต้องถามกลับไปทางรัฐบาลว่าท่านเคยมีความคิดหรือมีความพยายามที่จะแก้ หรือยัง เพราะในต่างประเทศเองก็มีการแก้ไขสัญญารัฐกับเอกชนมาแล้วหลายรอบ หรือแม้แต่ในอดีตเองประเทศไทยเคยมีการให้เอกชนเข้ามาแก้ไขสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ เรื่องนี้รัฐบาลควรจะเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง มีความกล้าอย่างน้อยก็เปิดการเจรจาพูดคุย หาโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงในอนาคต แล้วบันไดข้อสุดท้าย บันไดขั้นที่ ๕ คือการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างจริงจัง เพราะในอนาคตครับ ท่านประธานนอกเหนือจากต้นทุนค่าไฟที่ประชาชนจะต้องจ่ายแล้วต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านมลพิษมลภาวะก็เป็นอีก ๑ ปัจจัยที่ประชาชนจะต้องจ่ายสูงไม่แพ้กัน หากยังมี การสนับสนุนให้มีการใช้โรงไฟฟ้าประเภท Fossil อยู่ ซึ่งปัจจุบันเรามีอัตราส่วนจากโรงไฟฟ้า ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติสูงกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะยังใช้อยู่ในแผนในอนาคต ของเรา โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาครัฐยังคงมีแผนจะใช้ไปถึงปี ๒๐๕๐ เป็นอย่างน้อย แต่การจะเปลี่ยนพาสู่สังคมไร้ คาร์บอนอาจจะเป็นไปได้ยากในประเทศเราครับ เพราะเจ้าของ โรงไฟฟ้าประเภท Fossil ส่วนใหญ่ไม่ใช่ใคร ก็คือกลุ่มทุนพลังงานถ้าหากเราให้มีการเพิ่ม สัดส่วนของพลังงานทดแทนหรือลดปริมาณการใช้ Fossil ลงนี้ รายได้ของกลุ่มทุนกลุ่มนี้ก็จะ ตกลงไปด้วย แล้วอย่างนี้ใครมันจะไปยอมครับท่านประธาน นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องเข้ามา แก้ไขและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ อีกข้อหนึ่ง จากที่ผมพูดมาทั้งหมดบันได ๕ ขั้น ในการลดค่าไฟแน่นอนว่าการจะทำได้แต่ละขั้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความ ร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ ผมสรุปมาให้แล้วว่าถ้าเราจะทำสำเร็จแต่ละขั้นได้เราต้องไปคุย กับใครบ้างครับ บันไดขั้นแรกเราทำไปแล้วเรียบร้อยคือการเจรจากับ ปตท. ในการปรับ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติไหมครับ แต่ ๔ ขั้นที่เหลือนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าท่านจะเต็มใจ ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นเงินที่ต้องไป เจรจากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ส่วนขั้นที่ ๔ กับขั้นที่ ๕ อันนี้ใหญ่หน่อย ที่ทั้งการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและการเดินหน้าสู่ Net Zero ที่รัฐบาลต้องเข้าไปคุยกับ กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งหมดนี้หน่วยงานผมเรียกว่า ๕ ต ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปคุยอย่าง จริงจังเสร็จไปแล้วอันหนึ่ง อันนี้ขอชื่นชม แต่ ๔ อันที่เหลือก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะเริ่มทำกี่โมง ที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่ากล้าชน ๆ ท่านกล้าจริง ๆ หรือเปล่าครับ เพราะที่ผ่านมาผมเห็นว่า ท่านชนแต่เรื่องก๊าซธรรมชาติกลุ่มทุนน้ำมัน แต่ทุนพลังงานที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนนี้ ผมกับไม่เห็นท่านพูดถึงเลย ทั้งที่มันอาจจะช่วยลดค่าไฟได้มากกว่าเสียอีก อย่าให้คนตั้งครหา ครับว่าท่านกล้าชนบางกลุ่มแต่หลีกเลี่ยงแค่บางกลุ่มครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายครับท่านประธาน พวกเราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหามันไม่จำเป็นต้อง เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพรรคก้าวไกล ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มันสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟ ของพี่น้องประชาชนได้จริง เราพร้อมเป็นกระบอกเสียงทันที เพราะปัญหาของประชาชน มันรอไม่ได้ครับ ผมจึงเห็นด้วยกับญัตติปัญหาราคาค่าไฟแพงเป็นอย่างยิ่ง ให้ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสเข้ามาช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ หาทางออกให้กับประชาชน เพื่อสุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้ใช้ค่าไฟที่ถูกอย่างเป็นธรรม ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนาเชิง ปฏิบัติการ เรื่อง มาตรการการพิจารณาคัดออกทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดรัฐสภา และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสำนักวิชาการ จำนวน ๙๐ ท่านครับ ยินดี ต้อนรับนะครับ เนื่องจากผู้เสนอญัตตินี้ผู้ได้เสนอเข้ามาเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณา แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของการอภิปรายของสมาชิกและการสรุปของผู้เสนอญัตติ ทั้ง ๒ ท่าน ก็จะเป็นเรื่องของการส่งให้กับคณะกรรมาธิการการพลังงาน กรรมาธิการสามัญ ทางผู้เสนอและสมาชิกจะขัดข้องไหมถ้าผมจะถามเป็นมตินี้ ถ้าไม่ขัดข้องผมจะขออาศัย อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการที่เห็นมติชอบในการส่งให้กับคณะกรรมาธิการ การพลังงาน ขอเชิญกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาครับ ต้องมีการเสนอกำหนด ระยะเวลาครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธาน ในเบื้องต้นน่าจะใช้หลักการเดียวกับการส่งไปในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ผมเห็น ควรเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้อยู่ที่ ๙๐ วันเป็นเบื้องต้นก่อนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ทางวิปรัฐบาลเห็นชอบนะครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ทางวิปรัฐบาลไม่มีปัญหาครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถ้าอย่างนั้นเป็นมติของที่ประชุม ๙๐ วัน ส่งไปที่คณะกรรมาธิการสามัญครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕.๖ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการ ไฟฟ้าสวัสดิการของกองทัพไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล นางสาวเบญจา แสงจันทร์ เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
แต่เนื่องจากมีญัตติที่เกี่ยวเนื่องกันอีก ๒ ฉบับคือ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของ กองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่ง นายเชตวัน เตือประโคน เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระ ที่ ๕.๑๓)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการย้ายสนามกอล์ฟกานตรัตน์ ออกจากพื้นที่ Airside สนามบินดอนเมืองเพื่อ ความปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นายเอกราช อุดมอำนวย เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริการที่อยู่ในความดูแลของกองทัพ เกี่ยวเนื่องกันตามระเบียบวาระนี้สามารถนำมาพิจารณาพร้อมกันได้ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และ (๔) มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมในการรวมวาระ ที่ประชุมไม่ขัดข้อง ถ้าอย่างนั้นผมขอเชิญผู้เสนอแถลงเหตุผลตามลำดับ เริ่มจากท่านเบญจา แสงจันทร์
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ดิฉัน เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรง รวมถึงศึกษาเรื่องการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะลงรายละเอียดว่าทำไมสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา แนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพที่เป็นขุมทรัพย์ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดิฉันจะขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเปิดกรุสมบัติและอาณาจักร ลึกลับขุมทรัพย์ธุรกิจในกองทัพ รวมถึงความมั่งคั่งของนายพลในกองทัพไทยและรายได้ ต่าง ๆ ในธุรกิจทั้งหมด ไปจนถึงการเติบโตของนายพลบนเส้นทางเศรษฐีสุดลี้ลับที่แทบจะ จับต้องอะไรไม่ได้เลย อันดับแรกสิ่งที่จะต้องพูดถึงวงจรปริศนานี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผู้คนในสังคม มักจะจับตา นั่นก็คือการเปิดบัญชีทรัพย์สินของนายพลหลังจากลงตำแหน่งทางการเมือง ในทุกครั้ง ดังเช่นครั้งนี้มีการจับตาการเปิดบัญชีทรัพย์สินของ พลเอก ประยุทธ์ ในรอบ ๙ ปี และนี่เป็นที่จับตามองอย่างมากค่ะ เพราะ พลเอก ประยุทธ์ ได้เคยแจ้งว่ามีการรับมอบเงิน ที่ซื้อขายที่ดินราคา ๕๔๐ ล้านบาท จากบิดาของตนเองซึ่งเป็นการขายที่ดินให้กับบริษัท ในเครือธุรกิจเจ้าสัวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าใหญ่รายหนึ่งในราคา ๖๐๐ ล้านบาท และเนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ เป็นบุตรคนโต จึงได้นำเงินแจกจ่ายให้น้องชาย ให้ลูก ๆ และให้ญาติพี่น้อง ทำให้ไม่ปรากฏบัญชีทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นในส่วนของลูกสาวเอง ที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน การแสดงบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้จึงปรากฏ แค่บัญชีของ พลเอก ประยุทธ์ และภรรยาที่มีทรัพย์สินมั่งคั่งถึงกว่า ๑๓๐ ล้านบาท แบบไร้หนี้สิน ท่านประธานคะ ยังมีนายพลและ ผบ.ทบ. อีกหลายรายที่ออกจากการดำรง ตำแหน่งทางการเมือง ในที่นี้ก็จะมีอีกท่านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของนาฬิกาหรู ๒๐ กว่าเรือน สถานะโสด รวย เน้นยืมเพื่อน แจ้งบัญชี ทรัพย์สินมากว่า ๘๙ ล้านบาท และดิฉันยังพบบัญชีทรัพย์สินของอดีต ผบ.ทบ. ที่เมื่อ หลังเกษียณ แล้วก็ลงจากตำแหน่งทางการเมืองหลายท่าน พลเอก ป พลเอก อ พลเอก ฉ พลเอก ณรงค์พันธ์ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หลายท่านมีบัญชีทรัพย์สินที่มีมูลค่า สูงมาก ดิฉันค้นพบกรุสมบัติของนายพลที่พ้นตำแหน่งทางการเมืองหลายราย บางรายมี ๒๐๐ ล้านบาท บางรายมี ๓๐๐ ล้านบาท ๕๐๐ ล้านบาท และบางรายมีทรัพย์สินมากกว่า ๘๐๐ ล้านบาท โดยนายพลที่ร่ำรวยที่สุดรายหนึ่งแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ๘๐๐ ล้านบาท และระบุว่าคู่สมรสของตนเองมีบัญชีทรัพย์สินอยู่ ๗๒๐ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่ ของคู่สมรสเป็นที่ดินและเงินฝาก แต่แจ้งคู่สมรสว่ามีอาชีพเป็นแม่บ้านเท่านั้น เป็นแม่บ้าน ที่ไม่มีรายได้แต่กลับมีทรัพย์สินที่มั่งคั่ง และดิฉันคิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะแปลกใจอย่างที่ ดิฉันเป็น นี่เป็นเพียงตัวอย่างของนายพลการเมืองผู้มั่งคั่งหลังลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และตำแหน่งทางการเมืองเพียงไม่กี่นาย ที่ดิฉันได้ยกมาให้ทุกท่านได้เห็น แต่ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังมีนายพลที่มั่งคั่งอีกกว่า ๓,๐๐๐ นาย ที่รวยกันตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึง หลักร้อยล้านบาท พันล้านบาท ไล่กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น ทหารได้อะไรมากกว่าที่คิดจริง ๆ ค่ะ เมื่อ ๓ วันก่อนนี้โฆษกกระทรวงกลาโหมเพิ่งให้ สัมภาษณ์ว่านายพลไทยสูงทะลุ ๒,๐๐๐ คนไปแล้ว โดยนับเป็นนายพลที่มีตำแหน่งประจำ ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพ อย่างสำนักปลัด กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ทั้งสิ้นมีอยู่ประมาณ ๑,๓๐๐๐ นายที่มีตำแหน่ง แต่อีก ๗๐๐ นาย เป็นนายพลที่ไม่ได้รับมอบหมายชัดเจน เป็นแค่ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ชำนาญ หรือเป็นตำแหน่งอื่น ๆ เมื่อดิฉันได้ทราบ ตัวเลขเช่นนั้น ดิฉันต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างมากค่ะ ดิฉันไม่ได้ตกใจกับจำนวน นายพลที่มันมีสูงมากล้นกองทัพ แต่ดิฉันตกใจกับตัวเลขของนายพลที่มันคลาดเคลื่อน อย่างมาก เพราะเมื่อดิฉันลองไปดูเอกสารจาก Page อย่างเป็นทางการของกองทัพไทยเอง ซึ่งเป็น Page ทางการด้วยนะคะ ยิ่งต้องตกใจค่ะ เพราะเมื่อปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กองทัพไทย เองเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการว่ามีนายทหารชั้นนายพลจำนวน ๒,๒๓๐ นาย ที่เข้าเฝ้า ถวายสัตย์ปฏิญาณ และจากนั้นในปี ๒๕๖๕ ราชกิจจานุเบกษาเองก็ประกาศจำนวนนายพล ในราชกิจจานุเบกษาเปิดเผยชื่อทหารอีกจำนวน ๕๓๐ นาย และในปี ๒๕๖๖ ก็มีนายพลใหม่ เพิ่มอีก ๕๒๔ นาย และเมื่อปีที่แล้วที่มีนายพลเพิ่ม ๕๑๔ นาย ได้มีการถามตัวเลขไปว่า เรามีทหาร มีนายพลที่เกษียณแล้วเท่าไร แต่ก็ไม่มีตัวเลขที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและไม่เคย ปรากฏ ดังนั้นดิฉันจะอนุมานว่าตอนนี้เรามีนายทหารชั้นนายพลใกล้เคียงกับจำนวนตัวเลข ๓,๒๐๐ คนแล้ว ถ้านายพลกำลังหลักตามที่ท่านโฆษกพูดมีอยู่ ๑,๓๐๐ คน นั่นเท่ากับเรามี นายพลว่างงานอยู่มากกว่านั้น นั่นก็คือว่าเรามีจำนวนนายพลที่ว่างงานอยู่อีกประมาณเกือบ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งนายพลเหล่านี้ไม่มีรับมอบหมายงานใด ๆ ไม่มีโต๊ะนั่ง โยกย้ายไปช่วยราชการ ที่นั่นบ้าง ทีนี่บ้าง ไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจบ้าง เป็นกรรมการอิสระ นั่งในบริษัทมหาชน นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ที่บ้าน บ้างก็ไปออกรอบตีกอล์ฟค่ะ สิ้นเดือนก็รับค่าตอบแทน ค่าเบี้ย ประชุม ถ้าไปคำนวณตัวเลขค่าตอบแทนระดับนายพลที่ต่ำสุด ในเงินเดือนระดับ น.๖ ซึ่งเป็นระดับ ที่ต่ำที่สุดแล้วนะคะ อยู่ที่ ๖๙,๐๔๐ บาท เงินค่าบริหารระดับสูง ๑๔,๕๐๐ บาท ค่าตอบแทน รายเดือน ๑๔,๕๐๐ บาท และค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดการหารถประจำตำแหน่ง กรณีไม่มีรถประจำตำแหน่งอีก ๓๑,๘๐๐ บาท ดังนั้นนายพล ๑ คนในระดับต่ำสุดจะรับ เงินเดือน ๑ เดือน เป็นจำนวนเงิน ๑๒๙,๘๔๐ บาท และนี่คือค่าตอบแทนในระดับที่ ต่ำสุดแล้ว นั่นเท่ากับว่า ๑ เดือน ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงิน ๔๒๕ ล้านบาทต่อเดือน ปีหนึ่ง เราต้องจ่ายเงินให้นายพลในอัตราที่ต่ำสุดอยู่ที่ ๕,๑๐๐ ล้านบาท ท่านประธานคะ ประเทศไทย จ่ายเงินไปจำนวนมหาศาลขนาดนี้ แล้วเราลองมองย้อนกลับมาดูแสนยานุภาพของ กองทัพไทยกันค่ะ เศร้าใจและผิดหวังไหมคะ คำถามคือนายพลเหล่านี้รับราชการทหารมา ทั้งชีวิต เหมือนกับข้าราชการในอาชีพอื่น ๆ หลายคนก็รับราชการกันมาตลอดชีวิต หลาย ๆ คนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็รับราชการมาแล้วหลายปี แต่อะไรที่ทำให้พวกเขา หมายถึงนายทหาร นายพลนะคะ เป็นข้าราชการที่มั่งคั่งได้ถึงเพียงนี้ แน่นอนค่ะ ดิฉันก็อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งก็อาจจะอ้างว่าได้รับมาจากเงินมรดก แต่แล้วที่ไม่ใช่มรดกล่ะคะ มันจึงปฏิเสธไม่ได้ ว่าการเข้ามามีอิทธิพล มีตำแหน่งทางการเมืองและธุรกิจของทหาร เป็นเส้นทางเศรษฐี ของบุคคลระดับสูงในกองทัพที่เราทุกคนต่างเห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว แต่ท่าน ประธานคะ อิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจของทหารที่ว่านี้มีอะไรบ้าง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ต้อง ทำให้สภามีความจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณาและศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจ ของกองทัพในครั้งนี้ และดิฉันจะขอพาทุกท่านไปทัวร์อาณาจักรธุรกิจของกองทัพ ขุมทรัพย์ ทหาร เส้นทางเศรษฐีของนายพลไปด้วยกันค่ะ
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เส้นทางที่ ๑ ขุมสมบัติที่ ๑ คือที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพและ รายได้จากการทำธุรกิจที่เกิดจากสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของกองทัพ ท่านประธานคะ ถ้าจะ เปิดเส้นทางพี่เบิ้มยักษ์ใหญ่อย่างเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ระดับโลกตัวจริง ก็ต้องบอกว่าคนที่ ครอบครองที่ดินจำนวนนับล้านไร่จะเป็นใครไปไม่ได้ เขาคือกองทัพไทย หน่วยงานที่มี ที่ดินครอบครองกระจายอยู่ทั่วประเทศเต็มไปหมด สิ่งที่น่าสนใจคือที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใน ความดูแลของกรมธนารักษ์ที่มีมากกว่า ๑๒.๕ ล้านไร่ทั่วประเทศ กองทัพ ๓ เหล่าทัพ ได้ครอบครองไว้จำนวนเกือบ ๗.๕ ล้านไร่ และสิ่งที่น่าตกใจก็คือประชาชนในประเทศนี้ กี่คนกันที่จะทราบว่ากองทัพมีปั๊มน้ำมัน ๑๕๐ แห่ง มีสนามกอล์ฟ ๗๔ แห่ง และนอกจาก สนามกอล์ฟที่ครอบครองแล้วยังมีรายได้ที่มากกว่าหลายพันล้านบาทต่อปี ยังมีอะไรอีกคะ ยังมีร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวแบรนด์ใหญ่รายหนึ่งที่ผูกขาดเป็นร้านค้าสวัสดิการในค่ายทหาร มีธุรกิจตลาดนัด กิจการสโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า สถานพักฟื้นพักผ่อน ของกองทัพ รวมไปถึงสวัสดิการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ค่ะ อย่างโครงการออมทรัพย์หรือ กองฌาปนกิจที่มีการบังคับให้กำลังพลทุกชั้นเข้าไปเป็นสมาชิกสวัสดิการ แล้วก็เข้าร่วม โครงการออมทรัพย์ ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่มาจากการฝากเงินจะถูกนำไปเป็นสวัสดิการของ นายพลคนไหนไม่มีใครรู้ มีการจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่นายทหารระดับใดบ้าง ก็ไม่มี ใครทราบ แล้วเรื่องนี้มีการร้องเรียนทุจริตเรื่องการยักยอกเงินสวัสดิการอยู่บ่อยครั้ง แต่นอกจากกองทัพจะไม่ทำอะไรแล้ว ก็ยังปล่อยให้เรื่องเลือนหายไปพร้อมกับการตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาแค่ตรวจสอบเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นค่ะท่านประธาน กองทัพยังเป็นทั้ง Landlord แล้วก็เป็นทั้ง Developer ใช้ที่ดินของรัฐไปทำโครงการที่ดินจัดสรรที่อยู่ภายใต้ การดูแลของกองทัพเอง เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกำลังพล อย่างเช่น โครงการบ้านประชารัฐ บนที่ดินราชพัสดุหรือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากทาง กรมธนารักษ์ด้วย ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กำลังคน ๆ ไหนถ้าจะเข้าโครงการกู้เงินก็ต้องมีนายทหารผู้บังคับบัญชาเป็นคนเซ็นรับรองให้ จึงจะสามารถกู้เงินซื้อบ้านในโครงการได้ ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินรัฐไปจัดสรรให้กำลังพล ก็เห็นจะมีแต่นายทหารระดับ ผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่หากิน สูบเลือด สูบเนื้อบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของประชาชน และกำลังพลชั้นผู้น้อยทั้งนั้นค่ะ ประเด็นเรื่องธุรกิจเชิงพาณิชย์บนที่ดินราชพัสดุยังไม่จบแค่นี้ ค่ะท่านประธาน ยังมี Series ที่เพื่อน ๆ สมาชิกของดิฉันกำลังจะทยอยลุกขึ้นมาช่วยกัน เปิดกรุ แล้วก็คลังสมบัติ แล้วก็ช่วยอภิปรายลงรายละเอียดอีกครั้ง
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ไปต่อกันที่ขุมสมบัติที่ ๒ ขุมสมบัติจากการนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลัง รัฐประหาร ในทุก ๆ ครั้งหลังรัฐประหารจำนวนนายพลยิ่งสวมหมวกหลายใบมากยิ่งขึ้นค่ะ เข้าไปนั่งในตำแหน่งในบริษัทเอกชน และตำแหน่งผู้บริหารในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ๕๖ แห่ง ซึ่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจรวมกันราว ๆ เกือบ ๑๕ ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีเกือบ ๕ ล้านล้านบาท นี่อาจจะถือเป็นขุมทรัพย์ทองคำที่ผู้มีอำนาจหลายคน ในกองทัพพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะในยุคใด หลังรัฐประหารครั้ง ล่าสุดนี้เอง มีจำนวนทหารที่เข้ามานั่งเป็นประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ๕ เท่า และมี จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดเกือบถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดิฉัน พบว่ามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจาก กองทัพเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธุรกิจอย่างพลังงาน อย่าง ปตท. รวมไปถึงบอร์ดธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยก็ตาม ท่านประธานคะบอร์ดที่เป็นผู้มีอำนาจบริหารในรัฐวิสาหกิจ นอกจากมีอำนาจในการกำกับ ดูแลและบริหารแล้ว เขายังได้รับประโยชน์ตอบแทน มีรายได้จากรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ที่ตัวเองเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย แล้วนายทหารบางรายก็ยังไปนั่งเป็นบอร์ดหลายแห่ง ในเวลาเดียวกัน หลายคนสวมหมวกหลายใบ ได้รับทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าเบี้ยประชุม ได้รับโบนัส ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งนายพล ได้ค่าตอบแทน รถประจำตำแหน่ง งานสบาย ๆ รับรายได้หลายทาง และนี่คือกลายเป็นเส้นทางเศรษฐีของกองทัพไทยไปแล้ว และเรื่องที่น่าสังเกตบอร์ดรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักจะถูกเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดรัฐประหาร ทุกครั้ง คำถามสำคัญค่ะ จะมีความโปร่งใสแค่ไหนในการบริหาร ใช้อำนาจที่ทับซ้อน ก่อให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือเปล่า และมีการเอื้อพวกพ้องอย่างไรบ้าง และใครรับรายได้เข้ากระเป๋าไปเท่าไรแล้วบ้าง เราไม่เคยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ ที่เป็นขุมสมบัติเหล่านี้ได้เลยค่ะ และนี่จึงเป็นเหตุจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อ พิจารณาศึกษา
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ไปต่อกันที่ขุมสมบัติที่ ๓ งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็น งบก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดแทบทุกปีค่ะ เมื่อเราย้อนไปดูก่อนการรัฐประหาร ในปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นก่อนรัฐประหาร ๑ ปี กองทัพไทยได้รับงบอยู่ที่ ๘๑,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้น แต่หลัง รัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากงบประมาณที่เคยได้รับกลับเพิ่มขึ้น ๒ เท่าในปี ๒๕๕๒ และหลังจากนั้นเมื่อ คสช. เดินหน้าภารกิจยึดกุมอำนาจทางการเมืองสำเร็จ กองทัพเข้ามาครอบคลุมอำนาจรัฐได้ งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าในปี ๒๕๖๓ โดยได้รับงบอยู่ที่ ๒๓๓,๐๐๐ ล้านบาท จึงทำให้ เห็นชัดว่างบประมาณที่กองทัพได้รับสัมพันธ์กับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ แล้วถ้าดู จากสไลด์ก็จะเห็นว่างบกระทรวงกลาโหมเป็นงบที่แทบจะไม่ค่อยได้ปรับลดเลยหลังจาก เพิ่มขึ้นแล้ว แล้วก็ตัดลดได้น้อยมากหรือแม้แต่ปรับลดได้ แต่ว่าสุดท้ายก็ไปอนุมัติเพิ่มเติมกัน ภายหลังค่ะ นอกจากงบกระทรวงกลาโหมจะปรับลดไม่ได้แล้วแทบไม่มีหน่วยงานไหนเลย ที่เข้าไปตรวจสอบได้ แม้แต่ สตง. เองก็ตาม นี่จึงทำให้เป็นต้นเหตุของการที่เกิดการทุจริต ฉ้อฉล ปล่อยให้มีเงินทอนสะพัดในโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่โครงการจัดซื้อ รถถัง เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ยานยนต์สรรพาวุธ โครงการจัดซื้อ GT200 ที่ใช้งานไม่ได้ ทุจริตกันแม้กระทั่งโครงการจัดซื้อกางเกงในของทหาร อย่างที่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แล้วก็คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ เพื่อนสมาชิกจาก พรรคก้าวไกลได้เคยอภิปรายเคสทุจริตอื้อฉาวในกองทัพมาแล้วในสภา ในสมัยการประชุม สภาสมัยที่แล้วค่ะ ท่านประธานคะ และนี่คือคลังสมบัติที่มาจากงบประมาณจำนวนมหาศาล ส่งผลตามมาด้วยการตั้งบริษัททหารรับงานกองทัพ ทำธุรกิจหากินกับโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ของกองทัพ ยิ่งมีงบประมาณที่มากขึ้นเท่าไร ก็ย่อมตามมาด้วยภารกิจที่ใหญ่ยิ่งในการนำงบ ไปลงทุนในธุรกิจ ส่งผลตามมาด้วยทรัพย์สินและอำนาจของทหารระดับนายพลและ คนในเครือข่ายที่ก็จะยิ่งใหญ่ตามไปด้วย เท่านั้นไม่พอค่ะ ตามไปดูกันที่ขุมทรัพย์ที่ ๔ ค่ะ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือกองทัพ ทั้งสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ในปัจจุบันกองทัพ ถือคลื่นความถี่และประกอบกิจการในระบบวิทยุกระจายเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในประเทศนี้ รวม ๒๐๕ คลื่น รองลงมาคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๔๔ คลื่น และรายได้ ของธุรกิจวิทยุส่วนใหญ่มาจากการขายโฆษณาและค่าเช่าคลื่น แต่ท่านประธานทราบ หรือไม่คะ ไม่มีใครทราบตัวเลขรายได้จากคลื่นทั้ง ๒๐๕ คลื่นของกองทัพเลยว่ารายได้เหล่านี้ เข้ากระเป๋านายทหารคนใด ระดับใดบ้าง หรือรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนา กองทัพในส่วนใด เพียงใด ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่เคยมีการเปิดเผยค่ะ แต่ที่แน่ ๆ ตัวเลขรายได้ ยังคงเป็นที่ดึงดูดต่อผู้ประกอบการหลายรายนะคะ ดูได้จากการที่ยังมีผู้เข้าประมูลแข่งขัน คลื่นวิทยุกันอย่างดุเดือดมากค่ะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดยมี การประมูลคลื่นไปด้วยเม็ดเงินจำนวนทั้งสิ้น ๗๐๐ ล้านบาท โดยที่เสือนอนกินอย่างกองทัพ ไม่จำเป็นต้องนำส่งคืนคลื่นของตนเองกลับมาจัดสรรใหม่แต่อย่างใดเลยค่ะ ดิฉันจะขอ ยกตัวอย่างคลื่นที่เป็นของกองทัพอย่างคลื่น คูลฟาเรนไฮต์ ๙๓ และ EFM 94 คลื่นวิทยุ Rating อันดับ ๑ ที่ยังถูกครอบครองโดยกองทัพจนถึงวันนี้และไม่มีข้อมูลว่าสัมปทาน จากการเช่าคลื่นวิทยุนี้ ที่เรียกว่าเป็นความนิยมสูงคลื่นนี้ค่ะ มีจำนวนค่าเช่าอยู่ที่เท่าไร ดิฉันขอยกตัวอย่างเท่าที่พอหาได้ ๑ คลื่น ก็คือคลื่น Life Radio ซึ่งเป็น FM 99.5 ซึ่ง FM 99.5 ทำสัญญาเช่าคลื่นวิทยุ ๑ คลื่นจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการ ทหารสูงสุด เป็นเวลา ๒ ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๖๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท ท่านประธานคะ จำนวนเงินเกือบ ๖๕ ล้านบาทนี้เป็นการเช่าคลื่นเพียงแค่ ๑ คลื่นที่อยู่ในมือกองทัพ นั่นเท่ากับอีกจำนวน ๒๐๐ กว่าคลื่นจะเป็นจำนวนเงินมหาศาลแค่ไหน เราไม่เคยเห็นตัวเลข และไม่เคยได้รับการเปิดเผยใด ๆ จากกองทัพเลย ดิฉันเข้าใจเป็นอย่างดีค่ะถึงประวัติ ความเป็นมาที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างเรื่องความมั่นคง นี่เป็นเหตุที่ยังคงแช่เวลา แล้วก็ ครอบครองขุมทรัพย์สื่อไว้ในมือเช่นนี้ แต่ท่านประธานคะดิฉันคิดว่าในยุคสมัยนี้การที่กองทัพ จะอ้างเรื่องความมั่นคงไม่น่าจะฟังขึ้นแล้วนะคะ เพราะกลับไปตรวจสอบดูได้ค่ะ ดิฉันฟังคลื่น เหล่านี้อาจจะไม่ครบทั้ง ๒๐๐ คลื่นด้วยซ้ำ แต่สถานีเหล่านี้ได้กลายเป็นคลื่นเปิดเพลง เพื่อความบันเทิงไปแล้ว ไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เตรียมการป้องกันประเทศอีกแล้วค่ะ ท่านประธานคะ สิ่งที่เราเห็นคือสื่อและภูมิทัศน์ ของสื่อเปลี่ยนไปมาก แต่กองทัพต้องทบทวนไหมในการที่จะขับเคลื่อนธุรกิจวิทยุยุคปัจจุบัน ยังคงทำตัวเป็นเสือนอนกินครองคลื่นความถี่จำนวนมาก อาจจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจ เสมอไป และนี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการยึดอำนาจเหมือนสมัยก่อนแล้ว และถึงเวลาแล้ว ที่กองทัพจะต้องคืนสมบัติที่เป็นของสาธารณะ อย่างขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือของกองทัพ ทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุคืนให้กับการจัดสรรทรัพยากรให้กับประเทศนี้ คืนการสื่อสาร คืนคลื่นวิทยุให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์กันอย่างเป็นธรรมค่ะ ไปดูกันที่ TV Digital ค่ะ กองทัพยังคงเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย TV Digital รายใหญ่ และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทุกท่านอาจจะไม่ได้แปลกใจนักค่ะ ถ้าหากดิฉันจะบอกว่ากองทัพเป็นผู้ครอบครองขุมทรัพย์ สื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขุมทองธุรกิจโครงข่าย TV Digital เพราะทุกท่านคงทราบกันเป็นอย่างดีว่า กองทัพเป็นผู้บริหารโครงข่าย TV Digital ในลักษณะแบบผูกขาด หลังจาก กสทช. อนุมัติใบอนุญาตต่อเวลาให้อีกยาวนานเพิ่มอีก ๑๕ ปี หลังการรัฐประหาร ต่อมา กสทช. ก็ยังอนุมัติให้กองทัพได้ใบอนุญาตการให้บริการ โครงข่าย TV Digital เพิ่มอีก ๑ ใบ เพื่อแลกกับการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานอย่างกรุงเทพ โทรทัศน์และวิทยุ ในการบริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ให้ย่นระยะเวลาสัมปทาน ลดลง เพื่อช่วยให้การยุติทีวีในระบบ Analogue เร็วขึ้น ท่านประธานคะ ดิฉันต้องบอกว่า ในขณะที่สื่อดั้งเดิมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ลดขนาดทางธุรกิจค่ะ บางรายต้อง ปิดตัวลง แต่กองทัพยังมีขุมสมบัติที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญจากโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบ Digital หรือ MUX ที่ช่อง TV Digital จะต้องเช่า ททบ. ๕ เพื่อใช้แพร่ภาพกระจายเสียง โดยมีค่าเช่าช่องความคมชัดประเภทสูงอยู่ที่เดือนละ ๑๐.๕ ล้านบาท และราคาช่องที่ใช้ ในรายการประเภทความคมชัดแบบปกติเดือนละ ๓.๕ ล้านบาท นี่ลดราคาลงมาแล้วนะคะ ต้องบอกว่าข้อมูลจาก กสทช. บอกไว้ว่าช่องที่ MUX ใช้ MUX ของ ททบ.๕ มีอยู่ด้วยกัน ๑๔ ช่อง ซึ่งช่องนี้เป็นช่องความคมชัดสูง ๕ ช่องและ HD ก็คือช่องความคมชัดปกติ ๙ ช่อง นั่นเท่ากับว่า ททบ. ๕ ได้เงินค่าเช่า MUX ๑,๐๐๘ ล้านบาทต่อปี อันนี้ไม่รวมกับค่าโฆษณา ค่าทำโฆษณา ค่ารับจ้างบริการอื่น ๆ อีก ซึ่งหลายพันล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ปรากฏ ชัดในเอกสารใด ๆ เลย รายได้นี้ก็ต้องบอกว่าทาง กสทช. ไปเปลี่ยนเงื่อนไขให้ ททบ. ๕ สามารถไปหารายได้ได้จากการโฆษณา แล้วก็ไปแสวงหากำไรได้ โดยสามารถที่จะมีการโฆษณา ได้เฉลี่ยชั่วโมงละ ๘-๑๐ นาทีเท่ากับ TV Digital แบบระบบธุรกิจเลยนะคะ ปัจจุบันกองทัพ จึงกลายเป็นเสือนอนกินรับรายได้จากคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ฟันกำไรมหาศาล ผูกขาด โดยไม่ ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นเลย จริง ๆ ต้องบอกว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะคืน สมบัติที่เป็นสาธารณะ อย่างขุมทรัพย์สื่อที่อยู่ในมือกองทัพทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ คืนสิทธิในการจัดสรรทรัพยากรในการสื่อสารให้กับประชาชน ให้ประชาชนได้จัดสรรในการ ใช้ทรัพยากรแบบนี้อย่างเป็นธรรมค่ะ ไม่เพียงเท่านี้ค่ะท่านประธาน ไปดูขุมทรัพย์ต่อไปค่ะ
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงานของกองทัพไทย กองทัพเป็นอีก ๑ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ผูกขาดธุรกิจพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจไฟฟ้า และ Solar Farm แน่นอนค่ะในอดีต ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อการป้องกันประเทศ เพราะกองทัพ ไม่สามารถเคลื่อนทัพได้ ถ้าไม่มีน้ำมัน และฐานทัพเองก็ไม่สามารถดำเนินการได้ถ้าไม่มีไฟฟ้า และดิฉันเอง ก็ไม่มีปัญหากับการที่กองทัพจะสำรองพลังงานเพื่อความมั่นคง แล้วก็ เพื่อการป้องกันประเทศค่ะ แต่ความมั่นคงในปัจจุบันมันได้กลายเปลี่ยนเป็นความมั่นคงใน การขายพลังงานของกองทัพเพื่อหารายได้ให้กับตนเองไปเสียแล้วค่ะ ถ้าเราไปดูขุมทรัพย์แรก ก็คือของกรมการพลังงานทหาร เราจะเห็นว่าจากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมการ พลังงานทหารได้ระบุไว้ว่ามีการผลิตน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำนวน ๓๖๕,๐๐๐ บาร์เรล เมื่อคำนวณด้วยราคากลางย้อนหลัง ๖๐ ปีด้วยราคา ๕๐ เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จะเท่ากับมูลค่าที่ได้รับ ๖๒๕ ล้านบาท ในระยะเวลาที่ดำเนินการมาแล้ว ณ วันนี้ ๖๘ ปี คิดเป็นมูลค่า ๔๔,๓๐๐ ล้านบาท มูลค่ามหาศาลมากค่ะ ซึ่งกองทัพก็ยังอ้างว่าผลผลิต เหล่านี้ผลิตในโรงกลั่นแล้วก็ดำเนินการทุกอย่างในกรมการพลังงานทหาร แล้วก็เอาไว้ใช้ เพื่อป้องกันประเทศ ใช้เพื่อความมั่นคงในเขตทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่า มูลค่าขุมทรัพย์ ใต้ดินที่สะพัดในกองทัพปริมาณมหาศาลแบบนี้ มันต้องตั้งคำถามว่ากองทัพผลิตได้ปริมาณ มหาศาลเท่าไร และใช้เท่าไรในกองทัพ พร้อมทั้งขายออกไปสู่ตลาดภายนอกเท่าไร นี่คือผลผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันของกรมการ พลังงานทหารค่ะ ที่ได้ส่งออกไปมีการส่งออกไปที่ภาคเอกชนหรือเปล่า มีการส่งออกไป ที่รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ หรือเปล่าในรูปแบบการค้า แบบนี้ก็ไม่เคยมีการเปิดเผย แล้วก็ไม่ทราบด้วย กรรมาธิการงบประมาณหลาย ๆ ครั้งนี้ขอดูงบประมาณ ขอดูรายได้จาก ในส่วนการขายน้ำมันนี้ แต่กองทัพก็ไม่เคยนำส่งรายได้หลายหมื่นล้านบาทตรงนี้ เข้ากระทรวงการคลังเลย แล้วรายได้ที่มีปริมาณมหาศาลแบบนี้เข้ากระเป๋าใคร นายพล คนไหน ท่านประธานคะ ไม่เพียงแต่ขุมทรัพย์น้ำมันเท่านั้นค่ะ แต่กองทัพมีพลังงานไฟฟ้า ในครอบครองแห่งเดียวในประเทศไทยที่กองทัพเข้าไปดำเนินการในธุรกิจขายกระแสไฟฟ้า ให้กับประชาชนที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่ผ่านมากิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือตั้งขึ้นมากว่า ๘๔ ปีแล้ว ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นคนตั้งขึ้น แล้วก็อ้างเรื่อง ความจำเป็นในอดีตที่ต้องเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการทหาร แล้วก็ ฐานทัพเรือบอกว่าจะเอาไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ในฐานทัพ แล้วก็ใช้ในหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ในเขตพื้นที่ทหารเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ได้มีการขยายเขตเหล่านี้ เข้าไปบริการให้ประชาชนได้ใช้ ณ วันนี้มีประชาชนมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ต้องใช้ไฟจาก กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ต้องถามว่ากองทัพเรือมีความจำเป็นแค่ไหน ในการที่จะจำหน่ายไฟฟ้าแบบติด ๆ ดับ ๆ แบบนี้ให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยมี แต่ทุกชาติในโลกไม่มีค่ะ คือการที่กิจการสวัสดิการไฟฟ้าได้ขยายธุรกิจออกไปครอบคลุม บริการด้านไฟฟ้าเบ็ดเสร็จให้แก่ประชาชนในพื้นที่หลายแสนคน ด้วยขีดความสามารถที่ ตัวเองไม่มีเลยนะคะ แล้วก็กระแสไฟฟ้าเดี๋ยวจะมีเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นมาอภิปรายเรื่องนี้ค่ะ ก็เห็นว่ากระแสไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่อำเภอสัตหีบ ๓ วัน ๔ วันดับ สร้างปัญหากระแสไฟฟ้า ตกบ่อย ดับบ่อย เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ก็เสียหาย แล้วไม่เคยมีใครรับผิดชอบ ตามมาด้วยราคาค่าไฟที่แพงและสูงมากกว่าปกติ ไฟติด ๆ ดับ ๆ บ่อย ๆ แบบนี้เป็นปัญหา มาก ๆ ค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะมีขีดความสามารถอะไรไปเตรียมพร้อมในการที่จะป้องกันประเทศได้ ท่านประธานคะ ข้อเสนอของสภาที่มีต่อกองทัพมาตลอดก็คือกองทัพควรปล่อยวางจาก ธุรกิจไฟได้แล้ว ทบทวนบทบาทที่แท้จริงของตัวเองและให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีขีด ความสามารถและความชำนาญเข้ามาจัดการตามบทบาทหน้าที่ของเขาดีกว่าค่ะ นอกจาก น้ำมัน ไฟฟ้า ไปต่อกันที่โซลาฟาร์ม เมื่อปี ๒๕๕๒ การก่อตัวและการลงทุนด้านพลังงาน ของกองทัพปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. อุตสาหกรรมป้องกัน ประเทศและการพลังงานทหาร โดยให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานปลัดกระทรวง กลาโหมมีอำนาจในการจัดสิทธิ จัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการพลังงานทหาร ให้มีอำนาจในการเข้าไปร่วมลงทุนร่วมทำงานจัดตั้งบริษัทหรือจัดตั้ง บรรษัทตามที่กำหนด แล้วก็ให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการเพื่อให้ดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ต่อมาท่านประธานในปี ๒๕๕๗ รัฐบาล คสช. ก็เปลี่ยน ทิศทางการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานอีกครั้งค่ะ โดยมีการผลักดันให้โครงการโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่จากก๊าซธรรมชาติให้ใช้การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เป็นจุดสานต่อการซื้อไฟฟ้าข้ามพรมแดนต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ ดิฉันจะไม่ขอ ลงรายละเอียดในนี้ จากนั้นในปี ๒๕๕๘ กองทัพบกก็ริเริ่มการใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใน ครอบครอง จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ ผลิตไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกกันว่า โซลาฟาร์มร่วมกันกับเอกชนตั้งโซลาฟาร์ม ๓๑๐ เมกะวัตต์ โดยมีการทำเรื่องขอให้กระทรวง พลังงานเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาฟาร์มในที่ดินกองทัพบกเพิ่มอีก แล้วก็ขยายโครงการ อีกกว่า ๒๐ แห่งค่ะ ตามโครงการโซลาฟาร์มส่วนราชการเพิ่มอีก ๑๐๐ เมกะวัตต์ แล้วก็ กองทัพก็ด้วยความที่กองทัพยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย แล้วก็ประกอบกับการที่ยังไม่มีใบอนุญาต แล้วก็ยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ยื่นเสนอ ดังนั้นการจัดสรรรายได้ตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนก็จึงไม่มีการชี้แจงว่าการบริหารจัดการรายได้ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายไฟฟ้าจะสนับสนุนให้ใคร และจะเป็นรายได้ตัวไหน ดังนั้น ถ้าดิฉันจะยกตัวอย่างให้เห็นว่ารายได้ตรงนี้มันเยอะมากขนาดไหนนะคะ ดิฉันจะอธิบาย แบบนี้ค่ะว่า นโยบายการสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาฟาร์ม ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าว ณ ปัจจุบันอยู่ที่ ๓ บาทต่อหน่วย ในระยะเวลา ๒๕ ปี โครงการโซลาฟาร์มของกองทัพ จะมีรายได้ราว ๆ ๓๓,๔๘๐ ล้านบาท แล้วเงินเหล่านี้ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาทนี้เข้ากระเป๋าใคร ไม่เพียงเท่านั้นค่ะท่านประธาน ปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา กองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย EGAT ร่วมกันศึกษาพัฒนาการลงทุนโซลาฟาร์มบนที่ดินราชพัสดุ ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ เพื่อให้รองรับการผลิตโซลาฟาร์มได้ ๓๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ โดยจะนำพื้นที่ของ กองทัพบกทั่วประเทศกว่า ๔ ล้านไร่ มาพัฒนาแล้วก็บริหารจัดการ ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้า ยาวนานต่อเนื่องไปอีก ๒๕ ปี ขุมทรัพย์มหาศาลจากการลงทุนในพลังงานทั้งหมด ไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่าจะจัดสรรให้นายพลคนใด และกองทัพได้ไปเท่าไร กรมธนารักษ์ จะได้ไปในสัดส่วนใด และเป็นเงินที่เหลือเข้าคืนคลังเท่าไรก็ไม่มีการชี้แจง ท่านประธานคะ ธุรกิจเสนาพาณิชย์ของกองทัพที่ดิฉันได้อภิปรายไปทั้งหมดเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหา ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ค่ะ ถึงแม้ว่าวันนี้พรรคก้าวไกลจะเป็นเพียงฝ่ายค้าน แล้วเราก็มี ข้อจำกัดมากมายที่ยังไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพของเราให้สำเร็จและ เป็นจริงได้ แต่ดิฉันคิดว่าวันนี้การตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจ ของกองทัพ เรื่องนี้เป็นประตูบานแรกที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณากัน จริง ๆ สักทีค่ะ ว่ากองทัพมีความจำเป็นต้องครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล มีค่ายทหาร ที่ตั้งอยู่บนที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร อยู่ใจกลางเมืองแล้วก็ผูกขาดธุรกิจที่ทำธุรกิจต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นแบบนี้อยู่หรือไม่ และมันถึงเวลาหรือยังที่เราต้องปฏิรูปกองทัพ คืนทหารให้ ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพและคืนธุรกิจกองทัพหลายหมื่นล้านบาทให้กับ รัฐบาล ปรับลดงบกระทรวงกลาโหมกลับไปเท่าก่อนรัฐประหารก็ได้ค่ะ เราจะมีงบประมาณ เพิ่มหลายแสนล้านบาทเพื่อมาเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนค่ะ ถ้างบประมาณและ ทรัพยากรของประเทศนี้ถูกจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกที่ถูกทางนะคะ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่จัดสรรผลประโยชน์เหล่านี้ให้ประชาชนเป็นที่ตั้งค่ะ วิธีการ เช่นนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ การปฏิรูปกองทัพ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องคือเรื่องเดียวกัน ดิฉันจึงขอเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและ ศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ส่งมอบที่ดินและธุรกิจคืนให้กับรัฐและประชาชน เพื่อนำมาจัดสรรและกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างความมั่นคง ให้กับประชาชน สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ และให้กับประเทศนี้ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นผู้เสนอญัตติ ท่านที่ ๒ เชิญท่านเชตวัน เตือประโคน
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกลจังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาลเมืองคูคต เมืองลำสามแก้ว และเมืองลาดสวาย ครับ ผมลุกขึ้นเพื่อเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะ ในการดูแลขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนครับ ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มต้น การอภิปรายด้วยการเชิญชวนเพื่อนสมาชิกของเราชมภาพต่อไปนี้ครับ
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
นี่คือลูกกอล์ฟ ลูกกอล์ฟ จากสนามกอล์ฟ ทอ. ถึงประชาชน ท่านประธานครับ รูปนี้พี่น้องประชาชนในตำบลคูคต ส่งมาให้ผมนะครับ เพราะว่าเป็นลูกกอล์ฟที่ลอยมาจากสนามกอล์ฟที่ไม่มีตาข่ายไม่มี อะไรกั้นเลยครับ ข้ามถนนลำลูกกาแล้วเฉียดกบาลประชาชนลงอยู่ข้าง ๆ ตัวครับ ท่านประธานครับ นี่แค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมีแนวคิดที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสนามกอล์ฟ กองทัพอากาศมาเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชน ผมเริ่มต้นแบบนี้ครับท่านประธาน ชวนดู เรื่องของที่ดินในประเทศไทยของเราสักเล็กน้อย ประเทศไทยมีเนื้อที่หรือที่ดินทั้งหมด ๓๒๐ ล้านไร่ แบ่งอย่างกว้าง ๆ เป็นที่ดินของเอกชน ๑๒๕ ล้านไร่ ๓๙.๓๙ เปอร์เซ็นต์ ที่ดิน ของรัฐหรือที่เราเรียกกันว่า ที่ดินหลวง ๑๙๔ ล้านไร่ หรือประมาณ ๖๐.๖๑ เปอร์เซ็นต์ เรามาดูกันเฉพาะในส่วนที่ดินของรัฐหรือที่ประชาชนเรียกกันว่า ที่หลวง ที่หลวงในส่วนที่มี พื้นที่มากที่สุดคือป่าไม้ เรามีป่าไม้ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ ๑๓๐ ล้านไร่ มีเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมที่จะเอาไปทำเป็น ส.ป.ก. แจกจ่ายประชาชน ๔๐ ล้านไร่ มีที่ราชพัสดุที่ให้ หน่วยราชการใช้ประโยชน์ ๑๒ ล้านไร่ ที่ราชพัสดุที่ใช้ประโยชน์เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ ๒ ล้านไร่ และพื้นที่สาธารณประโยชน์อีก ๙ ล้านไร่ครับ ตัวเลขทั้งหมดรวมถึงตัวเลขที่ผม จะพูดต่อไปนี้ อาจจะไม่ตรงกันเป๊ะ อย่างเมื่อสักครู่คุณเบญจา แสงจันทร์ เพื่อนสมาชิก พูดถึงเรื่องที่ราชพัสดุที่กองทัพถือครองว่ามี ๗ ล้านกว่าไร่นั้นนะครับ บางทีตัวเลขก็อาจจะ ไม่ตรงกัน เพราะอะไรครับ ก็เพราะแนวเขตที่ดินแต่ละประเภทมันยังซ้อนทับกันอยู่ ที่ผ่านมา หน่วยงานกรม กองต่าง ๆ ถือแผนที่กันคนละฉบับ คนละแผ่น มันจึงมีการดำเนินโครงการ ที่เรียกว่า ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ๑:๔๐๐๐ หรือ One Map เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ One Map ก็ไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลยนะครับ ไม่คืบหน้าเท่าไรเลย ตามญัตติที่ผมเสนอครับท่านประธาน สิ่งที่กำลังจะชวนคิด ก็คือที่หลวงที่เรียกว่าที่ราชพัสดุ ที่ให้หน่วยราชการใช้ประโยชน์ ๑๒ ล้านไร่นี่ละครับ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่ดินราชพัสดุ ๑๒ ล้านไร่ ที่หน่วยงานราชการใช้ประโยชน์ ใครใช้บ้าง รายงานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ปี ๒๕๖๕ สภาผู้แทนราษฎร ของเรานี่ละครับ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมครอบครอง ที่ราชพัสดุมากที่สุด อยู่ที่ ๔.๕๙ ล้านไร่ เมื่อสักครู่ข้อมูลของคุณเบญจาบอกว่า ๗ ล้านไร่ คุณไหมก็เคยพูด ๖ ล้านกว่าไร่ หลัก ๆ ก็ประมาณนี้ครับครึ่งหนึ่ง รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๒.๑๙ ล้านไร่ รองลงมา กระทรวงการคลังเจ้าของที่ ๑.๖ ล้านไร่ กระทรวงที่ถือครองน้อยที่สุดครับ คือกระทรวง การต่างประเทศ ๑๗๒ ไร่ กระทรวงพาณิชย์ ๒๓๐ ไร่ ที่ราชพัสดุ ๑๒ ล้านไร่ กองทัพเอาไป ใช้แล้ว ๔.๕๙ ล้านไร่ เกือบครึ่งหนึ่งครับ ลองมาดูครับ ทัพไหนใช้เท่าไร ที่ดินราชพัสดุแยก ตามเหล่าทัพนะครับ กองทัพบกเนื้อที่ที่เขาครอบครองทั้งหมด ๔.๖ ล้านไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๓.๘ ล้านไร่ กองทัพเรือถือครองที่ดินทั้งหมด ๒๗๐,๐๐๐ กว่าไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ กองทัพอากาศถือครองที่ดินทั้งหมด ๒๒๙,๐๐๐ กว่าไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าไร่ ที่ผม Highlight สีฟ้า กองทัพอากาศก็เพราะว่าจะพูดถึงเรื่องที่ดินของกองทัพอากาศ การทำธุรกิจของกองทัพอากาศ การใช้ประโยชน์ที่ดินของกองทัพอากาศนี่ละครับ เข้าใจได้ ที่เยอะแยะมหาศาล ที่กองทัพเอาไปใช้เมื่อสักครู่ ถ้าเอาไปเป็นที่ตั้งไว้หน่วยทหาร ถ้าเอาไป ทำเป็นสนามฝึกซ้อมรบ ผมเข้าใจได้ ประชาชนไม่ติดใจแน่ ๆ แต่การเอาที่หลวงไปทำธุรกิจโรงแรม ปั๊มน้ำมัน สนามม้า สนามกอล์ฟ สนามมวย เป็นสิ่งที่ ประชาชนไม่อาจเข้าใจได้ครับ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ภารกิจกงการของทหาร คำถาม ที่เขาถามกันว่าทหารมีไว้ทำไม ทหารมีไว้ทำไมเกิดขึ้นก็เพราะแบบนี้ครับ กับการที่บรรดา นายทหารหากินกับการทำธุรกิจแบบนี้นี่ละครับ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติอย่างแท้จริง ถูกถามบ่อยเข้าทหารมีไว้ทำไม ทหารมีไว้ทำไม กองทัพก็ไปเอาทหารชั้นผู้น้อยที่เขาเป็น ทหารอาชีพจริง ๆ อยู่ตามชายแดนมา Promote กลบเกลื่อน แบบนี้ใช้ไม่ได้ครับ ทหารไม่ได้ มีหน้าที่ในการทำธุรกิจ เพราะอะไรครับ ผมขอยกข้อสังเกตประสบการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ไม่เสียหายครับ นักวิชาการด้านความ มั่นคงเคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกองทัพว่ามีลักษณะร่วมกันดังนี้ ๑. การประกอบธุรกิจ เป็นเรื่องที่เป็นความลับ ไม่โปร่งใส และไม่มีความชัดเจน ๒. ธุรกิจทหารมักกระจุกตัวอยู่กับ นายทหารระดับสูง ทหารระดับล่าง พลทหาร ทหารชั้นประทวน จ่าต่าง ๆ ไม่ได้รับ ผลประโยชน์ ๓. ผลตอบแทนที่เกิดกับทหารจำนวนน้อยนี้ยังถูกใช้ไปเพื่อสร้างอำนาจทาง การเมืองให้กับกลุ่มตนและเป็นปัจจัยให้ทหารต้องคงอำนาจทางการเมืองต่อไป สุดท้าย ๔. หากรัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะจัดการกับปัญหาธุรกิจทหารและกระทบกับผลประโยชน์ ของผู้นำทหารแล้ว ประเด็นนี้อาจกลายเป็นเงื่อนไขรัฐประหารในอนาคตได้ นี่เป็นข้อสังเกต จากต่างประเทศนะครับ แต่อาจจะคุ้น ๆ คล้ายกับประเทศไทยเราหรือไม่ ก็ทุกท่านพิจารณาดู เราก็หวังว่าประสบการณ์จากต่างประเทศการที่เราจะปฏิรูปกองทัพ หรือที่ท่านนายกรัฐมนตรี บอกว่าพัฒนาร่วมกันนั้น ปฏิรูปกองทัพ พัฒนาร่วมกัน โดยการยกเลิกการทำธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพนั้น ครั้งนี้ของเรานั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดการรัฐประหารอย่างที่เรา เกรงกลัวกัน ท่านประธานครับ กรรมาธิการการทหารชุดปัจจุบัน ผมนั่งอยู่ในกรรมาธิการ ชุดนี้ด้วยครับ ได้เคยเชิญตัวแทนหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหมเข้ามาชี้แจงว่าที่ทางต่าง ๆ ที่คุณเอาไปนั้นใช้ทำอะไรบ้าง ว่าธุรกิจต่าง ๆ ที่คุณมีนั้นมีอะไรบ้าง ได้รับคำชี้แจงจาก กองบัญชาการกองทัพไทย ได้รับคำชี้แจงจากกองทัพบก ได้รับการชี้แจงจากกองทัพอากาศ น่าเสียดายกองทัพเรือไม่ยอมชี้แจงอย่างละเอียด ไม่มีเอกสารชี้แจงมาอย่างละเอียดและ น่าเสียใจผมในฐานะลูกประดู่คนหนึ่ง อดีตทหารกองประจำการกองทัพเรือ ก็หวังว่า ในอนาคตทางกองทัพเรือจะมีหนังสือชี้แจงมาที่กรรมาธิการการทหารนะครับ รออยู่ครับ กล่าวสำหรับกองทัพอากาศตามญัตตินี้เลย กองทัพอากาศมีที่ดินในความรับผิดชอบทั้งสิ้น ๑๕๕ แปลง เนื้อที่รวมกันประมาณ ๒๓๕,๘๐๔ ไร่ ในส่วนของการใช้ประโยชน์ได้รับคำตอบ จากผู้ที่มาชี้แจงในกรรมาธิการว่าเป็นพื้นที่สนามบิน อาคารสำนักงาน สถานีรายงานป้องกัน ภัยทางอากาศ สถานีโทรคมนาคม สถานีวิทยุกระจายเสียงทางอากาศ และพื้นที่จัดสวัสดิการ ต่าง ๆ สำหรับพื้นที่สวัสดิการเชิงธุรกิจของกองทัพอากาศมีทั้งหมด ๕๔ แห่ง ประกอบด้วย ปั๊มน้ำมัน ๙ แห่ง ร้านสะดวกซื้อ ๙ แห่ง ร้านกาแฟ ๑๐ แห่ง ร้านค้าอื่น ๆ ๒๖ แห่ง ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ พวกนี้จริง ๆ มีชื่อแบรนด์นะครับ ไม่อยากเอ่ยไปเดี๋ยวจะโดนฟ้อง ในฐานะ สส. เขต พื้นที่ตำบลคูคตตรงนี้ ซึ่งมีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์อยู่ตำหน้าตำตาเห็นอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน ผมก็ดูในเอกสารที่ทางกองทัพเข้ามาชี้แจงว่าเอ๊ะแล้วสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ มันอยู่ในบรรทัดไหน ปรากฏว่าไม่พบครับ ผมก็เลยถามผู้ที่มาชี้แจงว่าแล้วสนามกอล์ฟ อย่างสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ในพื้นที่ของผม หรือแม้แต่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) เดี๋ยวคุณเอกราชจะอภิปรายต่อไป อยู่ตรงไหน คำตอบก็คือสนามกอล์ฟกองทัพอากาศธูปะเตมีย์เป็นสวัสดิการภายใน ไม่ใช่สวัสดิการ เชิงธุรกิจ หมายความว่าอย่างไรครับ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำธุรกิจแบบมีรายได้ส่ง เข้าคลัง แต่เป็นการให้บริการทหารเป็นสวัสดิการของทหาร เปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้ด้วยครับ โดยมีการเก็บเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับปีหนึ่ง ๆ น่าจะอยู่หลายสตางค์ อยู่ครับ รายได้ไปไหนบ้าง บางทีเราน่าจะต้องมาคิดกันนะครับ ประชาชนก็อยากรู้ในเอกสาร ประกอบการพิจารณาที่ทางสำนักวิชาการทำเล่มนี้ ก็บอกด้วยว่ามีค่าใช้จ่ายเข้าสนามเท่าไร มีบัตรสีทอง บัตรสีเงิน บัตรสามัญ บัตรวิสามัญ เยอะแยะมากมายนะครับลองไปดูกันได้ หรือไปใช้บริการกันก็ได้ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์มาจากไหน ที่ดินราชพัสดุครับท่านประธาน ตรงแยกปากทางตรงนั้น แยกปากทางลำลูกกาที่ถนนลำลูกกาเชื่อมกับถนนพหลโยธิน เชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตตรงนั้น ที่ราชพัสดุ ๗๐๐ กว่าไร่ กองทัพอากาศขอไปใช้ทำ ๓ ส่วน ๑. ทางหัวมุมด้านทางซ้ายมือ กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ ๒. ด้านล่างสนามกีฬา กองทัพอากาศและพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดตามรูปนั้น คือสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ ธูปะเตมีย์พื้นที่มากที่สุด ๖๒๕ ไร่ ๖๒๕ ไร่นี่มากกว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศ มากกว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ขอใช้ที่ราชพัสดุอีกนะครับ ท่านประธานเห็นไหมครับว่า รอบข้างนั้นบ้านเรือนผู้คนหนาแน่น สนามกอล์ฟใหญ่มาก ๆ สนามกอล์ฟกองทัพอากาศ เกิดขึ้นในปี ๒๕๒๘ หลังจากที่มีการขยาย Runway ของสนามบินดอนเมือง ขยาย Runway สนามบินดอนเมืองแล้วไปกระทบกับสนามงู หรือสนามกอล์ฟกานตรัตน์ทำให้จำนวนหลุม ลดลง นายพลกลัวตีกอล์ฟไม่ครบหลุม เขาก็เลยมาใช้ที่ราชพัสดุตรงนี้ทำเป็นสนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์แทนครับ กองทัพอากาศมาใช้พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเคยใช้เป็นที่ฝึกกระโดดร่มทางยุทธวิธี เอามาทำเป็นสนามกอล์ฟเพื่อสวัสดิการของทหาร ปี ๒๕๒๘ เข้าใจได้ว่าบริเวณนี้ไกลปืนเที่ยง เป็นทุ่งโล่งไม่ค่อยมีบ้านเรือนของประชาชน แต่ปัจจุบัน ๓๙ ปีผ่านไปท่านดูสิครับ พื้นที่ตรงนี้ เปลี่ยนไปอย่างมากเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านจัดสรรผู้คนอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น เอาเฉพาะ แค่พี่น้องชาวปทุมธานีในละแวกนี้นะครับ สีเหลืองก่อนเทศบาลเมืองคูคต ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์พื้นที่ ๑๒.๔๘ ตารางกิโลเมตร ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นถึง ๔๓,๙๔๑ คน สีฟ้าอ่อน ๆ เทศบาลเมืองลำสามแก้วเนื้อที่ ๑๒.๕ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๖๖,๐๐๐ กว่าคน สีชมพูเทศบาลเมืองลาดสวายเนื้อที่ ๓๓ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๗๑,๐๐๐ กว่าคน และสีส้มข้างบนสุดเทศบาลนครรังสิต เขตคุณสกล สุนทรวาณิชย์กิจ เนื้อที่ ๒๒.๘ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๘๔,๐๐๐ กว่าคน หนาแน่นมากครับ นี่เรายังไม่นับ ถึงประชากรที่อยู่ติดกับพี่น้องชาวบางกอกเกี้ยน คนกรุงเทพมหานคร ในเขตสายไหม ในเขต ดอนเมืองที่มีโอกาสได้มาใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะแห่งนี้ถ้าจะเกิดขึ้น มีความหนาแน่น ของประชากรขนาดนี้ แต่สิ่งที่เราขาดนั่นก็คือพื้นที่สาธารณะหรือ Public Space ครับ ท่านประธาน วันนี้ถามคนในพื้นที่ว่า วันหยุดไม่อยากอยู่บ้านจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก พวกเขาจะไปไหน สิ่งที่ผู้คนในละแวกนี้เจอก็คือร้านค้า คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า หมายความว่า อะไรครับ หมายความว่าต้องมีค่าใช้จ่าย หมายความว่าเงินในกระเป๋าที่จะต้องถูกล้วงออกมา วันนี้จะออกกำลังกายคนในพื้นที่นี้ออกกำลังกายอย่างปลอดภัยหาพื้นที่ได้น้อยมาก ๆ ครับ บ้างต้องไปวิ่งไปปั่นจักรยานอยู่ริมถนน อย่างหลังโลตัสลำลูกกาคลอง ๒ ไปดูได้ครับ มีคนวิ่ง ออกกำลังกายทุกเย็นไม่ปลอดภัยด้วย เพราะสุนัขจรจัดเยอะมาก วิ่งไปเสียวน่องไป บ้างก็ไปวิ่งในซอยตันไปดูได้ ถนนเสมาฟ้าคราม ลำลูกกาคลอง ๒ เป็นซอยยาว ๆ เลย ซอยตันเพราะมันไม่มีรถเข้าไป นักวิ่งเขาไปออกกำลังกายวิ่งไปวิ่งกลับในนั้น บ้างก็ไปวิ่ง อยู่ริมถนนลำลูกกาซอย ๑ หลังสนามกอล์ฟนี่ละครับ เป็นเส้นที่มีรถราวิ่งขวักไขว่ คนไปวิ่ง ออกกำลังกาย คนปั่นจักรยานตรงนั้นอันตรายมาก และการที่ผมอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ เอามาทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนก็เพราะให้แรงบันดาลใจจากคนที่มาออกกำลังกาย ตรงนี้ละครับ คุณลุงท่านหนึ่งวัย ๙๐ ปีกว่าแล้วแต่แข็งแรงมากเพราะปั่นจักรยานทุกวัน คุณลุงมาออกกำลังกายตรงลำลูกกาซอย ๑ เส้นนี้ ก็มีสนามกอล์ฟอยู่ตรงหน้า เขาก็เกาะรั้ว สนามกอล์ฟนี้ละครับ Warm Up ร่างกายก่อนที่จะออกปั่นจักรยาน ที่โล่งกว้างอยู่ตรงหน้า ใกล้ตาไกลตีนเข้าไปไม่ได้ครับท่านประธาน ใกล้ตาไกลตีนเข้าไปใช้ไม่ได้ มันอะไรนักหนา นี่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดเรื่องนี้ จริงอยู่ครับมีคนบอกว่าก็มีสนามกีฬากองทัพอากาศ อยู่ใกล้ ๆ นี้เห็นไหม สนามกีฬากองทัพอากาศใครก็เข้าไปใช้บริการได้ แต่สำหรับผมและ คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนสนามกอล์ฟกองทัพเป็นสวนสาธารณะเรามองว่ามันคนละ Function คนละหน้าที่ เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากได้คือพื้นที่สาธารณะคือ Public Space เดี๋ยว อ.เอทจะนำทัวร์คำว่า Public Space ด้วย Public Space คือพื้นที่ที่เป็นทั้งสวนสาธารณะ ที่มีสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าเป็นปอดของเมือง เป็นทั้งพื้นที่ที่มีศูนย์เรียนรู้ ไม่ว่าจะห้องสมุด ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งดนตรีในสวนถ้าจะจัดนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการมี ส่วนร่วมของประชาชน นี่ยังไม่นับว่าสนามกีฬากองทัพอากาศที่บอกว่าไปออกกำลังกายที่นั่นสิ จัดมหกรรมสินค้าราคาถูกทุกเดือน ไปดูก็ได้ครับ แยกปากทางลำลูกกาเดี๋ยวก็มหกรรมสินค้า ราคาถูก วิ่งไปก็ดมกลิ่นหมูย่าง ดมกลิ่นหมูปิ้งไป ทุกเดือนและเดือนละยาว ๆ ด้วยลากกัน ยาว ๆ จนสนามกีฬาแทบจะเป็นตลาดนัดอยู่แล้ว อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่างบประมาณ เข้าใคร ค่าซุ้ม ค่า Booth ต่าง ๆ เข้าใคร เดี๋ยวก็มาตรวจสอบกันในโอกาสหน้าแล้วกันนะครับ ท่านประธานครับถามว่า จากสนามกอล์ฟกองทัพอากาศเป็นสวนสาธารณะอย่างไร ตัดคำว่า เป็นไปไม่ได้ออก แล้วผมมี ๓ ความเป็นไปได้ให้พิจารณาดังนี้ครับ ตามกฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การใช้ที่ราชพัสดุของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ง่าย ๆ เลยครับ ในส่วนของการเรียกคืนที่ราชพัสดุที่ระบุว่าให้กรมธนารักษ์เรียกคืนที่ราชพัสดุจาก ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีดังต่อไปนี้ ข้อที่ ๑ เลิกใช้ที่ราชพัสดุ จบครับ กองทัพเลิกใช้ที่ราชพัสดุคืนกลับให้กรมธนารักษ์ จบ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้คือ อบจ. ปทุมธานีมาขอใช้ที่ดินตรงนี้ทำ Public Space ผมมีโอกาสได้ปรึกษา พูดคุยกับทางท่าน พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ. ปทุมธานี ขออภัยที่ต้อง เอ่ยนาม ท่านคำรณวิทย์ บิ๊กแจ๊สของเราบอกว่าทำได้ ยินดีมาก เอามาเลย จังหวัดปทุมธานี มีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ให้เป็นปอดของคนปทุมธานี นี่คือ ความเป็นไปได้ที่ ๑ สำหรับความเป็นไปได้ที่ ๒ ตามกฎของกระทรวงการคลังฉบับเดียวกันใน ส่วนของการขอใช้พื้นที่มีข้อหนึ่งระบุว่ากรณีที่ราชพัสดุในพื้นที่เดียวกันกับพื้นที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานรัฐอื่นมีอำนาจและหน้าที่ดูแลรับผิดชอบให้ยื่นหนังสือแสดงความเห็นชอบของ ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นประกอบด้วย ตรงนี้หมายความว่า กองทัพอากาศเลิกทำ สนามกอล์ฟ แต่ยังอยากครอบครองอยู่ใช่ไหมครับ อยากได้ที่นี้อยู่ใช่ไหมครับ ยังไม่คืนให้ กรมธนารักษ์ ก็สามารถแสดงความเห็นชอบให้ อบจ. มาจัดการพื้นที่ตามโครงการที่จะใช้ได้ โดยมีหนังสือแสดงความเห็นชอบแนบไปกับโครงการที่ อบจ. ขอทำ สำหรับความเป็นไปได้ที่ ๓ กองทัพอากาศเลิกทำสนามกอล์ฟ แต่ยังอยากครอบครองที่อยู่ ยังไม่อยากให้ใครมาใช้ประโยชน์ด้วย ทำเองเลยทำสนามกอล์ฟให้ประชาชนหน่อย อันนี้ จะขอบคุณเป็นอย่างมาก นี่คือความเป็นไปได้ที่ ๓ ท่านทำมาแล้วแยก คปอ. ท่านไม่คืนพื้นที่ ท่านไม่อะไรด้วย ท่านทำสวนสาธารณะตรงแยก คปอ. แต่ตรงนั้นไม่ค่อยใหญ่เท่าไร อยากได้ ใหญ่ ๆ เบิ้ม ๆ แบบนี้ นี่เป็นมุมมองของผมและคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนที่ดินตรงนี้ ที่หลวง ผืนใหญ่ใจกลางเมืองครับท่านประธาน ที่หลวงผืนใหญ่ใจกลางเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ หนาแน่นตรงนี้ไม่ควรเป็นสนามกอล์ฟอีกต่อไป แต่ควรเอามาทำเป็นสวนสาธารณะ เอามา ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เอามาทำเป็น Public Space ให้คนทุกเพศทุกวัยใช้ประโยชน์ ให้เป็นไป เพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นายพลหรือคนรวยที่มาตีกอล์ฟเพียงไม่กี่คน ท่านประธานครับ ดังที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เสนอมานั้นเป็นไปได้ ทั้งหมดอยู่ที่เจตจำนงทาง การเมืองว่าจะทำหรือไม่ทำ ปฏิรูปกองทัพในนิยามของผม รวมถึงพวกเราสมาชิก พรรคก้าวไกลไม่ได้มีแค่การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ไม่ได้มีแค่การลดจำนวนนายพล ไม่ได้มี แค่การเพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย แต่ยังรวมถึงการยกเลิกการทำธุรกิจของกองทัพด้วย เสนาพาณิชย์ต้องไม่มี และแม้ว่าสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์แห่งนี้จะไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า สวัสดิการ เชิงธุรกิจของกองทัพ เพราะเขาใช้คำว่า สวัสดิการภายใน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดด้วยว่า ที่ดินหลวงผืนใหญ่ใจกลางเมือง ย้ำอีกครั้งที่ดินหลวงผืนใหญ่ใจกลางเมืองที่กองทัพใช้ ประโยชน์จากราชพัสดุนี้มันคุ้มค่าหรือไม่ กับการทำสนามกอล์ฟที่คนไม่กี่คนใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ผมจึงหวังว่าสมาชิกจะสนับสนุนญัตตินี้ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะลักษณะเดียวกันนี้ครับท่านประธาน เคยประสบ ความสำเร็จมาแล้ว อย่างกรณีใกล้ ๆ รัฐสภาของเรา ใกล้ ๆ สภาของเราตรงถนนทหาร เห็นสวนสาธารณะข้าง ๆ ไหมครับ ก่อนหน้านี้เป็นโรงงานทอผ้าของกรมอุตสาหกรรม ทหาร กระทรวงกลาโหม เขาก็คืนให้ราชพัสดุจากนั้น กทม. ก็ขอมาใช้ทำประโยชน์เป็น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกายไปวิ่งได้ครับ วิ่งรอบสภาก็ได้สภาใหญ่ ยังมีที่ที่เคย เป็นสนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย สนามกอล์ฟรถไฟปัจจุบันเนื้อที่ ๓๗๕ ไร่นั้น ปัจจุบันการรถไฟก็ไม่ได้ทำเป็นสนามกอล์ฟแล้ว ก็พัฒนาร่วมกันกับกรุงเทพมหานครทำเป็น สวนสาธารณะที่ชื่อสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟที่เรารู้จักกัน แล้วทำไมกองทัพอากาศ จะทำไม่ได้ แล้วทำไม อบจ. ปทุมธานีจะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ไม่ได้ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญผู้เสนอญัตติ ท่านที่ ๓ ท่านเอกราช อุดมอำนวย ครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม จอจาน เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกล วันนี้ผมในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางในการย้ายสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือว่าสนามงูออกจากพื้นที่ Airside สนามบินดอนเมืองเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ที่ผมได้อภิปรายตั้งญัตติ แบบนี้ เนื่องจากสอดคล้องเป็นทำนองเดียวกันกับเพื่อนสมาชิกทั้งคุณเบญจาในการอภิปราย ว่าธุรกิจกองทัพจะทำอย่างไร เดี๋ยวผมจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาก่อน อันนี้เป็นเคสที่ผมยกขึ้นมา ท่านประธานครับ ผมดูจากข่าวเมื่อที่เกิดขึ้นไม่นานนี้สนามบินดอนเมืองเป็นหนึ่งใน ๒๙ สนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก หากมองจากประเทศอื่น ๆ พบว่าใน ๒๙ ประเทศนี้ เขามีเหตุผลทางด้านภูมิประเทศหรือว่าทางด้านวิศวกรรมเป็นส่วนใหญ่ ผมยกตัวอย่างเช่น ที่อันตรายอันดับที่ ๑ ที่เขายกมานี่คือสนามบินนานาชาติคันไซจากประเทศญี่ปุ่นที่มีเหตุผล ด้านแผ่นดินไหวบ้างนะครับ หรือว่าสูงในระดับเดียวกับน้ำทะเล ในขณะที่สนามบินเบอร์ลิงตันจากนิวซีแลนด์นี้ เป็นข้อจำกัดด้านวิศวกรรมก็คือว่าในการสร้าง Runway สั้นมาก แล้วก็เป็นประเทศที่มี ลมแรงจึงติดอันดับมา กลับกันครับท่านประธาน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อสนามบินดอนเมืองนี้ ติดสนามบินที่อันตราย เพราะว่ามีสนามกอล์ฟอยู่กลาง Runway ย้อนกลับไปในช่วงหาเสียง เลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมสนใจมาโดยตลอดผมก็ตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงมีสนามกอล์ฟ มาอยู่กลาง Runway แบบนี้ หากท่านสงสัยว่าสนามกอล์ฟใกล้กับ Runway แบบนี้ ผมชวน ดูสไลด์ถัดไปครับท่านประธาน เส้นสีเขียว ๒ เส้นคือ Runway สนามบิน ส่วน Highlight สีแดงนี้คือสนามกอล์ฟกานตรัตน์หรือเรียกว่าสนามงู จะเห็นว่าสนามกอล์ฟนี้ไปอยู่กลาง Runway ทั้งสองข้าง ซึ่งผมเป็นห่วงเรื่องความกังวลทั้งเกี่ยวกับกิจการการบินที่ประชาชน มาใช้บริการ รวมถึงผู้ที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟด้วย มันใกล้กันมากครับ แม้ท่านจะยืนยันว่า การมีอยู่ของสนามกอล์ฟนี้ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบหรือความเสี่ยงใด ๆ หรือว่า อุบัติเหตุ แต่ผมมั่นใจถ้าหากว่ามันเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ผมก็ไม่อยากเห็นภาพของผู้นำ เหล่าทัพทำได้แค่มารับผิดชอบด้วยการขอโทษ หรือถึงเวลาก็มาทบทวนเอาในภายหลัง วันนี้ ผมถึงชวนเพื่อนสมาชิกมาดูรายละเอียดกัน ก่อนหน้านี้มีการแถลงว่าการตั้งอยู่ของสนาม กอล์ฟกานตรัตน์ภายในสนามบินดอนเมืองนี้ไม่ส่งผลต่อมาตรฐานการบินของ ICAO แต่ว่า ท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าการคาดธงแดงนี้ คือการมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ที่ธงแดงนี้มันเกิดขึ้นในสนามบินดอนเมืองนี้ก็เกิดมาจากการมีสนามกอล์ฟอยู่ แต่ตอนนี้ เหมือนบุญหนุนนำ ICAO ปลดธงแดงให้ เพราะว่าสนามบินดอนเมืองนี้กำลังมีแผนพัฒนา เพื่อรองรับการขยายตัวของสนามบิน เขาก็เลยยกเลิกธงแดงไป พูดง่าย ๆ เป็นการยกเว้น การดำเนินการตามมาตรฐานแบบชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นหากพิจารณาถึงเงื่อนไขในประเด็น ส่วนปัจจัยที่มีผลในเรื่องของความปลอดภัยก็ดี มาตรฐานของสนามบินก็ดี ผมมีอยู่ ๓ คำถาม หลัก ๆ ๑. พื้นที่รอบความปลอดภัยสนามวิ่ง ๑๕๐ เมตรนี้ทับซ้อนกับทางวิ่งหรือไม่ คืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ครับท่านประธาน บริเวณ Runway วัดจากจุดกึ่งกลาง บางจุด รุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ปลอดภัยทางวิ่ง แม้ว่ากองทัพอากาศจะยืนยันว่าการตั้งอยู่ของสนาม กอล์ฟหรือสนามงูไม่ส่งผลต่อมาตรฐาน ICAO แล้วก็ได้รับรองจาก LSS แต่ว่าท่านประธานครับ ผมก็ยังตั้งคำถามว่ามันรุกล้ำเข้ามาได้อย่างไร ในส่วนที่ ๒ ก็คือระยะของรางระบายน้ำที่มี การทับซ้อนในเขตความปลอดภัยทางวิ่ง ผมขออธิบายครับท่านประธานให้เห็นภาพและ พี่น้องประชาชนเห็นภาพ Runway นี้ซ้ายขวาช่องมีรางระบายน้ำ เรานึกถึงเวลาเราขับรถ แล้วถนนไม่เรียบก็ต้องมีการระบายน้ำทั้ง ๒ ข้างทางเพื่อให้เรียบถ้ากรณีที่ฝนตก ปรากฏว่า ด้านขวาที่ชิดขอบกับอาคารสนามบินมีรางระบายน้ำ แต่ด้านซ้ายดันไปติดกับสนามกอล์ฟ ผมถามว่าแบบนี้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะฉะนั้น Runway กลายเป็นพื้นที่ เปราะบางเลยนะครับ ดังนั้นมันไม่ควรมีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการวัดระยะทาง ที่เกิดขึ้นไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางน้ำใน Runway เลยแม้แต่น้อย ผมยังอยากทราบว่า รางระบายนั้นท่านจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมมาช่วยดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางวิ่งของ สนามบินดอนเมือง สนามบินดอนเมืองประกอบไปด้วย ๒ Runway 21R 03L ซึ่งใช้ในเชิง พาณิชย์ และอีก Runway หนึ่งเขาใช้ของกองทัพอากาศ จะเห็นได้ว่าภาพของสนามกอล์ฟ กานตรัตน์ที่อยู่ระหว่าง ๒ ทางวิ่งนี้ ผมขอโฟกัสไปข้อกังวลที่เกิดขึ้นในทางวิ่งเชิงพาณิชย์ ลักษณะกายภาพและข้อมูลที่เห็นจะเห็นว่า ขนาดของทางวิ่งในเชิงพาณิชย์จะกว้างอยู่ที่ ๓,๗๐๐ คูณ ๖๐ เมตร ซึ่งตัวเลขความกว้างนี้จะต้องมีเงื่อนไขการวิ่งตามมาตรฐาน ซึ่งเครื่องบินหลัก ๆ จะต้องมี คุณสมบัติที่เรียกว่า พื้นที่ความปลอดภัยอยู่รอบวิ่ง ๑๕๐ เมตร เมื่อวัดจาก Central Line ๒ ข้างร่วมกัน ๓๐๐ เมตร ผมก็ใช้การวัดจาก GPS เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นว่าทั้ง ๒ ส่วนนี้ ในส่วนของกรณีทางวิ่งสนามบินดอนเมืองมันไม่ตรงอย่างไร นี่คือภาพมุมสูงครับท่านประธาน เมื่อวัดมาแล้วพบว่ามีส่วนที่ไม่ถึง ๑๕๐ เมตรตามมาตรฐานความปลอดภัยทางวิ่งเลย ดังนั้นหากรวมแล้วพื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่เปราะบาง ในส่วนของข้อกังวลอีกข้อหนึ่ง คือทางกองทัพเคยให้ข้อมูลในชั้นกรรมาธิการว่าสนามกอล์ฟกานตรัตน์นี้เป็นสวัสดิการของ กองทัพ แต่ใน Website ของสนามกอล์ฟก็ยังมีการเปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป ฉะนั้น การคัดกรองบุคคลนี้ก็ยังคลุมเครือว่าได้มาตรฐานไหม นอกจากนี้เรื่องระบบคัดกรองที่ผมตั้ง คำถามนี้ ผมก็ยังคิดว่ามันก็ต้องมี Human Error เป็นธรรมดา มันจะมีอะไรไป Guarantee ละครับ แล้วผมคิดว่าการที่จะเสี่ยงให้คนที่เข้าไปในพื้นที่เขตสนามบินนี้ต้องมีการเข้มงวด นอกจากนี้ครับท่านประธาน ผมขอแอบแซวนิดหนึ่งว่าผู้ที่ไปตีกอล์ฟที่นั้นไม่ต้องห่วงเรื่อง ความร้อนเลย เพราะต้นไม้เขาจะตัดเรียบเลย แล้วก็มีคนเสนอวิธีการคลายร้อนให้แล้ว แล้วก็ไม่ต้องกลัวหิวด้วยเพราะในสนามกอล์ฟมีราดหน้าใส่ดอกกะหล่ำขายครับท่านประธาน แสดงว่าสนามกีฬาแห่งนี้ไม่ใช่เปิดให้เฉพาะบุคคลทั่วไป การเข้าไปใช้บริการนี้ แน่นอนว่า นี่คือชัดเจนว่าเป็นเสนาพาณิชย์ เสนาพาณิชย์ที่กองทัพมีรายได้จากสนามกอล์ฟเหมือนที่ เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไป ดังนั้นแล้วผมชี้ให้เห็นว่านี่คือรายได้ของกองทัพ แล้วรายจ่ายล่ะ เกี่ยวกับสนามกอล์ฟกานตรัตน์พื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำ ภาษีที่ดิน ใครรับผิดชอบ ลำพังจะเอาเงินจากผู้เล่นกอล์ฟ ผู้ตีกอล์ฟหรือครับ มันก็หนีไม่พ้นภาษีพี่น้อง ประชาชน ท่านประธานครับ การรับผิดชอบของสนามบินดอนเมืองหรือ ทอท. ท่านประธาน เงินบางส่วนถูกนำไปใช้แบกรับจ่ายภาษี จ่ายค่าเช่าที่ให้กับสนามกอล์ฟนี้แทน หมายความว่า ที่ราชพัสดุที่กองทัพอากาศเคยครอบครองมาแต่เดิม แม้ว่าภายหลังให้กับสนามบินดอนเมือง ดูแลแล้ว แต่ค่าใช้จ่าย ค่าเช่าต่าง ๆ สนามบินดอนเมืองรับไปด้วย ดังนั้นครับท่านประธาน ผมชวนมาดูประกาศ วันที่ ๑ เมษายน ที่กำลังจะมาถึงนี้จะมีการเก็บภาษีสนามบินกับ ประชาชนเพิ่มอีก ๓๐ บาท เท่ากับว่าแม้คุณไม่ Load กระเป๋า แม้คุณจะเดินตัวเปล่าไป ขึ้นเครื่องก็ตาม คุณก็ต้องเสียค่าภาษีสนามบินในประเทศ ๑๓๐ บาท ระหว่างประเทศ ๗๓๐ บาท นี่คือต้นทุนแฝงที่ทำให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ขึ้นหรือเปล่า แน่นอนว่าการท่าปฏิเสธ ไม่ได้ว่าค่าเช่าที่แบกไป นี่คือส่วนหนึ่งของต้นทุนที่เอามาเก็บกับประชาชนตรงนี้ ที่ผม ชี้ให้เห็นนี้เพื่อให้พี่น้องทั่วไปได้เห็นว่านี่คือผลกระทบทางอ้อม ๆ ที่เราเจอ นอกจากนี้ครับ ท่านประธาน การนำภาษีประชาชนมาใช้ในส่วนประโยชน์ของกองทัพเพื่อมาบำรุงเสนา พาณิชย์ กำไรทั้งหมดมันไปไหน มันกลับเข้าไปที่กองทัพ มันไม่ได้ส่งคืนหลวงนะครับ ดังนั้น ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากส่วนนี้เลย มิหนำซ้ำตรวจสอบไม่ได้ด้วย ภาษีแพง แสนแพงไปใช้บำรุงธุรกิจของกองทัพ เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วประโยชน์ไปตกอยู่ที่ใครครับ และผมนี่เป็นลูกนายทหารชั้นประทวน ผมยืนยันได้เลยครับ อยากจะรู้เหมือนกันว่าสนาม กอล์ฟมีไว้สำหรับสวัสดิการให้กับนายทหารทุกหมู่เหล่าจริงหรือไม่ เพราะอะไรครับ เพราะผมมั่นใจเลยว่าคนที่ไปใช้สนามกอล์ฟในระดับราคาที่ผมได้นำเสนอไป ส่วนใหญ่ก็เป็นใครครับ นายพล นายพัน รัฐมนตรี สส. จะมีทหารผู้น้อยสักกี่คนที่เคยไปใช้ สนามกอล์ฟแห่งนี้ สู้เอาเงินที่ท่านลงทุนลงแรงไปกับสนามกอล์ฟนี้ไปใช้สร้างสวัสดิการให้กับ ทหารทุกหมู่เหล่าไม่ดีกว่าหรือครับ นี่คือข้อเสนอที่เป็นอุเบกขาที่สุดว่าอยากจะให้เพื่อน สมาชิกช่วยกันสนับสนุนญัตตินี้เพื่อศึกษาครับ ผมยกตัวอย่างของสนามกอล์ฟกานตรัตน์ให้ เห็นว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องย้ายธุรกิจกองทัพออกจากพลเรือนแยกกัน ตามข้อเสนอ ของคุณเชตวันก็ได้ครับ ถ้าท่านไม่คืนท่านก็โอน ถ้าท่านไม่โอนท่านก็เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ วันนี้ถึงเวลาแล้วครับที่กรรมาธิการที่อาจจะตั้งขึ้นจะได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางครับ กรอบระเบียบและต้องดำเนินการมีผลออกมาจริง ๆ ว่ารัฐบาลชุดนี้เอาจริงกับที่ท่านได้ หาเสียงเอาไว้ว่าจะปฏิรูปกองทัพ ผมก็หวังรอนะครับว่าญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๓ คน ที่จะไปสู่การพิจารณาจะมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชนทุกบาททุกสตางค์ กองทัพจะได้ไม่ถูกครหาเป็นแดนสนธยาที่เป็นหลุมดำดูดเงิน ภาษีกลืนกินไปแบบนี้ ท่านคลายผลประโยชน์ออกมาครับ คลายให้กับรัฐบาล คลายกลับให้ พี่น้องประชาชน เปิดความโปร่งใส ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ผู้เสนอญัตติทั้ง ๓ ท่าน ก็ได้แถลงหลักการและเหตุผลแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็น การอภิปรายของสมาชิกครับ ตอนนี้มีที่ลงชื่อนะครับ ฝ่ายค้าน ๑๐ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๓ ท่าน เพราะฉะนั้นผมจะเรียกเป็นอัตรา ๒ : ๑ นะครับ ฝ่ายค้าน ๒ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๑ ท่าน ขอเชิญท่านแรกท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ครับ ตามด้วยท่านคำพอง เทพาคำ ครับ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ต้อง ยืนยันกับท่านประธานตรงนี้ว่าธุรกิจกองทัพไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง กับความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นกลไกที่ทำให้กองทัพเข้าไปพัวพันกับการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ และเป็นแหล่งรายได้นอกระบบของนายพล และเครือข่ายอุปถัมภ์ที่อยู่หลังม่านการเมือง กลายเป็นวัฒนธรรมสกปรกที่ส่งต่อกันจากรุ่น สู่รุ่น ขาดความโปร่งใส แม้แต่องค์กรอิสระอย่าง สตง. หรือ ป.ป.ช. ก็น้ำท่วมปาก มีแต่ข้ออ้าง ที่พูดกันเสมอว่ากองทัพมีกลไกในการตรวจสอบตัวเอง แต่แท้ที่จริงครับท่านประธาน คำว่า ตรวจสอบตัวเอง มันก็คือการทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ โดยไม่มีการตรวจสอบอะไรเลย ต่างหาก ทหารมักจะเอาคำว่าความมั่นคงของประเทศมาเป็นข้ออ้าง แต่ถ้าจะให้พูดถึง ความมั่นคงของประเทศก็จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับความมั่นคงในบริบทของโลกใบนี้ ซึ่งผม ยืนยันครับว่าประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับโลก เมื่อเทียบกับนานาอารยประเทศเราอยู่ ในสถานะที่ไม่มั่นคงและธุรกิจกองทัพนี่ละครับที่เป็นส่วนหนึ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของ ประเทศเสียเอง ผมขออนุญาตแนะนำให้ทุก ๆ ท่านรู้จักกับดัชนีสากลตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Government Defence Integrity Index หรือเรียกสั้น ๆ ว่าดัชนี GDI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่ใช้ ประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง จากผลการ ประเมินล่าสุด เมื่อปี ๒๐๒๐ งามไส้ครับ ประเทศไทยถูกประเมินให้อยู่ในระดับที่เสี่ยงมาก แย่กว่าประเทศในอาเซียนอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ดัชนี GDI ท่านประธานครับเขาประเมินอยู่ ๕ มิติด้วยกัน คือด้านการเมือง การเงิน การบริหารกำลังพล ด้านการปฏิบัติการและด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งมิติที่ประเทศไทย ได้คะแนนห่วยที่สุด หรือเรียกได้ว่าสอบตกโดยสิ้นเชิงก็คือด้านการเงินและด้านการจัดซื้อ ยุทโธปกรณ์ และธุรกิจกองทัพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ละครับท่านประธาน ที่เป็นตัวทำให้ คะแนนด้านการเงินของประเทศไทยได้แค่ ๑๗ คะแนน ในขณะที่ภาพรวมอยู่ที่ ๔๕ เฉลี่ยภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ ๔๗ ดูสิครับท่านประธาน ความมั่นคง ของประเทศเราล้าหลังจากโลกใบนี้ไปเท่าไหนแล้ว ด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ก็งามไส้ไม่แพ้ กันครับ ได้แค่ ๑๖ คะแนน แต่ผมจะพักเอาไว้ก่อน เพราะมันเป็นอีกเรื่องที่ต้องว่ากันยาว และไม่เกี่ยวกับญัตตินี้ แต่งามไส้ไม่แพ้กัน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ปัญหาแรก ถ้าอ่านในรายงาน รายงานฉบับนี้ระบุเอาไว้ว่า ปัญหาสำคัญคือ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ ได้เลย ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ สะท้อนว่าอะไรครับท่านประธาน สะท้อนว่า กองทัพในปัจจุบันขาดสำนึกว่าเงินที่ใช้จ่ายอยู่ทุกวันนี้เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เอาคำว่าความมั่นคงมาอ้างเพื่อใช้เป็นเกราะกำบังในการตรวจสอบ รายละเอียดของปัญหา ต่อมาก็คือ กองทัพและกระทรวงกลาโหมไม่เคยให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินและ คณะกรรมาธิการการทหารที่ผมเป็นประธานอยู่ แต่เดี๋ยวท่านประธานจะรู้ว่าประธานที่ชื่อ วิโรจน์จะจัดการกับรัฐมนตรีที่ชื่อสุทินอย่างไร หลายครั้งที่กรรมาธิการขอข้อมูลไปก็ไม่ให้ ดื้อตาใส ผมเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในวันนี้เลยว่า ปัจจุบันคณะกรรมาธิการการทหารที่ผมเป็นประธานเราไม่ยอมแบบนั้น เรามีมติที่จะทำ หนังสือทวงถามจากกระทรวงกลาโหมอย่างน้อย ๓ ครั้ง ครั้งแรกก็คือทำหนังสือไปสอบถาม ข้อมูลจากหน่วยงานโดยตรง หากหน่วยงานไม่ให้ข้อมูล ไม่ให้ความร่วมมือ ครั้งที่ ๒ ก็จะทวงถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สั่งการให้หน่วยงานดังกล่าวนี้ส่งข้อมูล ให้กับคณะกรรมาธิการมีการขีดเส้นตาย หากถึงเวลาเส้นตายครับ ข้อมูลยังมาไม่ถึงมือของ คณะกรรมาธิการก็จะมีหนังสือฉบับที่ ๓ ที่ลงนามโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธาน คณะกรรมาธิการการทหาร โดยตรงถึงนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าขอให้ท่านเร่งสั่งการให้ส่งข้อมูลมาโดยพลันและมีเส้นตายสุดท้ายจริง ๆ เพื่อยืนยันว่า ถ้ายังไม่ส่งมาก็หมายความว่าไม่ใช่แค่หน่วยงานในสังกัดเท่านั้นที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการการทหาร แม้แต่รัฐมนตรีที่ชื่อสุทิน คลังแสง ผมอ่านชื่อพร้อมนามสกุล ก็มีเจตนาไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งหนังสือทั้ง ๓ ฉบับนี้ไม่ต้องห่วงท่านประธาน นายสุทิน คลังแสง เจอผมอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน แล้วจะเอามาเป็นหลักฐานกลางสภาว่ากี่ครั้ง กี่หนที่ไม่ให้ความร่วมมือ ในรายงานฉบับนี้ยังมีเรื่องงามไส้อีกเยอะ ยังระบุอีกครับว่า มีเงินนอกงบประมาณของกองทัพที่มีมูลค่าสูงถึง ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท สูงถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ ของงบกระทรวงกลาโหม ถูกเอาไปใช้อย่างลึกลับดำมืด ไม่มีความโปร่งใส ที่สำคัญคือ ถูกยกเว้นจากการรายงานและการตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็นตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แตกต่างจากกระทรวง ทบวง กรม อื่น ๆ โอ้โฮ ได้อภิสิทธิ์อีกนะครับ ธุรกิจกองทัพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่หลายท่านอภิปราย สถานีวิทยุโทรทัศน์ สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพ ประชาชนตาดำ ๆ ที่เป็นเจ้าของเงินภาษี เป็นเจ้าของอธิปไตยของประเทศ ไม่เคยรู้ว่าธุรกิจเหล่านี้มีรายได้เท่าไร มีกำไรมากน้อยขนาดไหน กองทัพเอากำไรสะสมไปปรนเปรอหรือไปทำอะไร มีการปันรายได้ หรือจ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในอัตราเท่าไร สมเหตุสมผลหรือไม่ แพงกว่าค่าเช่าที่ ชาวบ้านต้องเช่ากับกรมธนารักษ์ในโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์หรือไม่ ไม่มีใครรู้ และเรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่งหนึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เคยทราบหรือเคยใส่ใจ หรือเปล่า หรือพอทราบแล้วก็อุทานว่า ผมรับไม่ได้หรอกครับ ประชาชนเขารับไม่ได้มาตั้ง นานแล้วครับท่านนายกรัฐมนตรี ผมฝากผ่านท่านประธานไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ผมและเพื่อน สส. ของพรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังในมาตรา ๖๑ วรรคสอง ที่แต่เดิมเขียนไว้อย่างไม่สมเหตุสมผลเลย เขียนเอาไว้ว่า เงินนอกงบประมาณของ หน่วยงานรัฐให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เหมือนดีนะครับ เว้นแต่จะมีกฎหมาย กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สมเหตุสมผล แต่ประโยคนี้ละครับที่เป็นปัญหา หรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งผมจะขอตัดประโยคหลังออกครับ เพราะมีแค่กองทัพนี่ละครับ ที่ทำเป็นแค่กระดาษ A 4 ไม่กี่แผ่น แผ่นสองแผ่น แล้วก็ตกลงกับกระทรวงการคลัง แล้วก็ไปจัดการเงินนอก งบประมาณด้วยตัวเอง ไปปรนเปรอใคร ไปเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้ ถ้ากองทัพอยากจะจัด การเงินนอกงบประมาณเอง ก็ต้องมีกฎหมายกำกับ มีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส จะให้ทำ เอกสารข้อตกลงเป็น A4 เก่า ๆ ไม่กี่แผ่น แบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างพวกเราทุกพรรครับไม่ได้ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่า หากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็คือ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังเข้าสู่สภา เพื่อน สส. ทุกคน จากทุกพรรคจะร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ร่วมกัน ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ครับ ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร หลายวันก่อนก็มี นักข่าวถามครับว่า จะไปทำงานร่วมกันกับคุณสุทิน คลังแสง หรือเปล่า ผมก็ตอบนักข่าวว่า ร่วมคงร่วมไม่ได้ แต่ถ้าไปแทนแน่นอน ผมก็บอกไว้ตรงนี้ครับว่า ผมสนับสนุนให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางในการคืนธุรกิจกองทัพให้แก่รัฐบาล รวมทั้งให้จัด การเงินนอกงบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ปล่อยให้เสนาพาณิชย์กลายเป็นตัวบ่อนทำลาย ความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องถูกดัชนี GDI ซึ่งเป็นดัชนีสากลประจานไปยัง ทั่วโลก ในทุก ๆ ๕ ปี และปี ๒๐๒๕ ปีหน้า GDI จะออกมาแล้ว ก็หวังว่าจะดีขึ้น กองทัพครับ จะกล้าพูดคำว่า รักชาติยิ่งชีพ ได้อย่างเต็มปากได้อย่างไร ตราบใดที่ท่านยังรักธุรกิจที่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ คอยส่งเงินนอกระบบเลี้ยงนายพล อดีตนายพลอย่างที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างที่ เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม นี่คือเหตุผลทั้งหมดครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการ วิสามัญชุดนี้จะเสนอแนวทาง และร่างกฎหมายที่เป็นรูปธรรมในการคืนธุรกิจกองทัพให้กับ รัฐบาล คืนทุกอย่างให้กับประชาชน ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านคำพอง เทพาคำ ครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน ภาคอีสาน ในเรื่องนี้นะครับ ในอดีตที่ผ่านมานี้เราก็เคยมีเรื่องฉาวโฉ่ของผู้นำกองทัพ ที่มีทรัพย์ศฤงคาร ทรัพย์สินร่ำรวยมหาศาล จนนำไปสู่การแย่งชิงมรดกของภรรยา อนุภรรยา และทายาท อย่างน้อย ๑ จอมพล ๑ นายพล อย่างน้อยนะครับ มีมากกว่านั้นที่ไม่เป็นเรื่อง เป็นราวเป็นข่าว ท่านประธานครับ จอมพลที่ว่านี้มีทรัพย์ศฤงคารมากมายจนสามารถ เลี้ยงอนุภรรยาได้นับร้อยนะครับ อย่างน้อยมีรายชื่อ ๘๑ อนุภรรยา เอาทรัพย์สินเหล่านี้ มาจากไหนครับ ในการที่จะมาชุบเลี้ยงบริวารและอนุภรรยาได้มากมายถึงขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่ ผ่านทางกองทัพ และการเข้าครอบครองขุมทรัพย์ของประเทศ เมื่อเข้าไปดูในขุมทรัพย์แล้ว ในอดีตนะครับท่านประธาน เราจะเห็นว่ามีโครงข่ายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สัมปทานแร่ สัมปทานป่าไม้ เรื่องสัมปทานแร่เรื่องนี้เคยมีตำรวจจับเรือบรรทุกแร่ดีบุก อยู่ท่าเรือของประเทศไทยแล้วก็ถูกจับ อันนี้เป็นเรื่องของอดีตนะครับ จับแล้วปรากฏว่า ตำรวจนายนั้นถูกอเปหิไปไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าเรือบรรทุกแร่ดีบุกไปโผล่ที่ตลาดต่างประเทศ ปรากฏว่าเป็นของท่านจอมพลนะครับ มีทั้งเรื่องของการค้าข้าว ค้าไม้ ดีบุก เพชรพลอย เชื้อเพลิง อาวุธสงครามด้วยนะครับ เคยมีงานศึกษาบอกว่า การทำสงครามที่อยู่รอบประเทศ เมื่อสัก ๔๐ ปี ๕๐ ปีที่แล้วทำให้นายพลในประเทศไทยร่ำรวยขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทรัพย์สินหลายส่วนถูกยักย้ายถ่ายเทไปฝากที่ธนาคารต่างประเทศ จนบัดนี้ทางการไทย ไม่สามารถที่จะติดตามร่องรอยทรัพย์สินเหล่านี้ ท่านประธานครับ แม้แต่เรื่องของการสร้างถนนสายสำคัญ ๆ อย่างถนนมิตรภาพ เมื่อ ๔๐ ปี ๕๐ ปีที่แล้ว ทหารก็เข้ามามีบทบาท หรือเส้นทางความมั่นคงอื่น ๆ ทหารก็เข้าไปใช้อิทธิพล ไปรับเหมา ไปจัดซื้อจัดจ้างอันนั้นเป็นอดีต มาปัจจุบันครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บอกว่ารัฐไทยต้องมีการจัดการ มีเรื่องของการทหารและการทูต และการข่าวกรองเพื่อให้มี ประสิทธิภาพ กำลังทหารมีไว้เพื่อพัฒนาประเทศด้วย อันนี้หรือเปล่าที่ทำให้ทหารเข้าไปทำ ทุกเรื่องนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภายในประเทศ พัวพันกับต่างประเทศด้วยนะครับ ทั้งเรื่องการทำภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การบริหารจัดการน้ำ การชลประทานและธุรกิจต่าง ๆ แม้แต่โรงน้ำโรงน้ำแข็งก็ทำ เรื่องสนามกอล์ฟนะครับ ที่ทำแบบตรง ๆ เราก็เห็นไปใช้ที่ของราชพัสดุบ้าง ที่ของ กรมธนารักษ์บ้าง ที่ท่านผู้แทนหลายท่านก็อภิปรายไปแล้ว แต่มันยังมีที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง กับธุรกิจกอล์ฟ สนามกอล์ฟที่เป็นของเอกชน ของเอกชนเป็นอย่างไรครับ ก็เข้าไปเกี่ยวข้อง กับเรื่องของการรุกป่า รุกอุทยาน รุกที่ทำกินของชาวบ้านชาวช่อง โดยใครล่ะครับ สารพัด เสธ. ครับ เสธ. ขาว เสธ. ดำ เสธ. เขียว เข้าไปขับไล่ประชาชน สร้างความเดือดร้อน จนบัดนี้ หลายพื้นที่ที่เป็นธุรกิจสนามกอล์ฟของเอกชนที่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง มีเรื่องของการพัฒนา แหล่งน้ำ ผมอย่างน้อย ๒ ที่นะครับ แต่มันมีเป็นพัน ๆ เป็นร้อยเป็นพันโครงการ ไม่ว่าจะเป็น อย่างที่จังหวัดชัยภูมิอย่างนี้นะครับ ฝั่งหนึ่งเป็นกรมชลประทานขุด อีกฝั่งหนึ่งเป็น กรมทรัพยากรน้ำขุดลอกนะครับ อีกฝั่งหนึ่งเป็นของกองทัพเป็นของทหาร ผมว่าคงแบ่งกัน ทำงานกระมังหรืออย่างไร หรือแบ่งกันกินแบ่งกันใช้อย่างที่ว่านะครับ ถามว่าผลงานของ ทหารที่เข้าไปขุดไปลอกมันแตกต่างจากกรมชลประทานตรงไหน มันก็ไม่แตกต่าง ทำเข้าไป ทำไมล่ะครับ เราไม่ไปให้หน่วยงานที่เขารับผิดชอบหรือให้ท้องถิ่นเขาไปรับผิดชอบเสียเลย ทำไมเราจะต้องให้ทหารเข้าไป นี่แค่เป็นตัวอย่างอีกร้อยอีกพันโครงการที่ไม่ใช่ภารกิจของ ทหาร มีอีกเรื่องหนึ่งครับท่านประธาน การทำแปลงสาธิตการเกษตรในค่ายทหาร นี่กองทัพ ต้องตั้งงบประมาณปีละ ๗ ล้านบาท ไปเช่าที่ ๒๕ ไร่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อที่ทำแปลงเกษตร แล้วถามว่าชาวบ้านทำอะไร ไปปลูกอะไร ไปเลี้ยงอะไร เลี้ยงปลาดุก หัวโต ๆ หางลีบ ๆ หรือเปล่านะครับ หรือว่าไปเลี้ยงกบ เลี้ยงเขียด แปลงสาธิตเช่าปีละ ๗ ล้านบาท ฉะนั้นผมคิดว่าถึงเวลาแล้วนะครับท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สักครู่ นะครับ มีสมาชิกประท้วงนะครับท่าน ขอโทษครับ เชิญท่านนิพนธ์ครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ ครับท่านประธาน ที่จริงผมก็ ไม่อยากประท้วงหรอกครับท่านประธาน แต่จำเป็น ในฐานะทหารเกณฑ์เก่าครับ ข้อ ๖๙ ครับท่านประธานที่เคารพ วันนี้เรายื่นญัตติเรื่องสนามกอล์ฟ อยากให้ท่านประธาน โปรดพิจารณาว่า ไปขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึงหลายจังหวัดแล้วครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ด้วยความเคารพเพื่อนสมาชิกครับ ปกติผมไม่เคยประท้วงใครครับ แต่ว่านี่ด้วยเหตุ วันนี้ผมก็จะเตรียมอภิปรายเหมือนกัน สนับสนุนด้วยนะครับ เพียงแต่ว่าวันนี้ท่านไปไกลเกิน ท่านประธานโปรดพิจารณาครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนผู้ประท้วงนะครับ ญัตติเขียนไว้เรื่องของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการของท่านเบญจานะครับ ของท่านเชตวันเป็นสนามกอล์ฟ แล้วก็ของท่านเอกราชเป็นเรื่องของสนามกอล์ฟนะครับ แต่ว่าของท่านเบญจาได้เขียนครอบคลุมถึงเรื่องธุรกิจต่าง ๆ ด้วย ก็เลยคิดว่ายังมีพื้นที่ให้ สามารถอภิปรายได้ ผมขออนุญาตวินิจฉัยแบบนี้นะครับ เชิญท่านอภิปรายต่อครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะเอาภารกิจ ภาระนะครับ ไม่ใช่ภารกิจด้วย เอาภาระที่ไม่ใช่ภารกิจการป้องกัน ประเทศออกจากกองทัพ แล้วให้กองทัพได้ใช้เวลาในการพัฒนาขีดความสามารถของ กำลังพลของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็น Drone ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่อมิอะไร ปืนใหญ่นะครับ ถึงเวลาแล้วที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ให้กองทัพได้มี โอกาสได้ใช้ทรัพยากรใช้บุคลากร ในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พัฒนากำลังคน ให้กองทัพมีความก้าวหน้า ล้ำยุค เพื่อที่จะเผชิญกับภัยคุกคามในยุคใหม่นะครับ ผมขอ สนับสนุนในการที่จะตั้งกรรมาธิการเพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสะถิระ เผือกประพันธุ์ ครับ
นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม สะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำเภอสัตหีบ เขต ๒๐ จังหวัดชลบุรี พรรคพลังประชารัฐครับ ผมต้องขอบอกท่านประธานในวันนี้ว่า ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนพี่น้องอำเภอสัตหีบ ขอสนับสนุนญัตตินี้เป็นอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะ ในเรื่องของขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการถ่ายโอน หน้าที่การให้บริการไฟฟ้า ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการของกองทัพ ท่านประธานครับ ขอสไลด์หน้าแรก
นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ชลบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เรื่องนี้ผมตามมา ตั้งแต่สมัยที่แล้ว คำถามที่ผมเขียนนี่ครับท่านประธาน ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการ ไฟฟ้าของพี่น้องไทย คำถามนี้ไม่ใช่ผมเป็นคนทำเอง คำถามนี้เป็นคำถามที่พี่น้องอำเภอ สัตหีบทั้ง ๓๐๐,๐๐๐ ท่าน เป็นคนถามครับ ท่านประธานครับ การให้บริการไฟฟ้าของ อำเภอสัตหีบเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยหรือบนโลกก็ตาม ที่ขณะนี้กองทัพเรือ ให้บริการพี่น้องประชาชนในการบริการสาธารณะนี้อยู่ แล้วเป็นเวลาถึง ๘ ปี ที่การขยาย เขตไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนมีไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะอะไรครับ เพราะขณะนี้พี่น้อง ประชาชนอำเภอสัตหีบซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC ไข่แดง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใกล้รถไฟฟ้า ความเร็วสูง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้หลายพันครัวเรือน อำเภอสัตหีบมี ๕ ตำบลนะครับท่านประธาน มีตำบลแสมสาร ตำบลพลูตาหลวง ตำบลสัตหีบ ตำบลบางเสร่ แล้วก็ตำบลนาจอมเทียน ผมยกตัวอย่างที่ดินแสมสาร ณ ขณะนี้พี่น้องประชาชนหลายครัวเรือนแสมสารยังไม่มี แม้กระทั่งไฟฟ้าชั่วคราวใช้ ทางกองทัพเรืออ้างว่าเป็นปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ท่านประธานครับ ลองย้อนกลับไปดูครับ มีมติ ครม. บอกไว้ว่า การให้บริการไฟฟ้าพี่น้องคนไทยไม่สามารถ อ้างสิทธิที่ดินได้ เพราะฉะนั้นพี่น้องแสมสารควรได้สิทธิในการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวทุกครัวเรือน ฝากท่านประธานไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและท่านนายกรัฐมนตรีด้วยครับ ยังมีอีกหลายตำบลครับ ปัญหาการขยายเขตไฟฟ้า ผมมีห้างสรรพสินค้าชื่อ บิ๊กซี นะครับ ขออนุญาตที่เอ่ยนามข้างหลังห้างบิ๊กซีมีอยู่ประมาณ ๔๐ ครัวเรือน ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ปัญหา การขยายเขตไฟฟ้าขณะนี้ทำให้เกิดปัญหาที่พี่น้องอำเภอสัตหีบ ซึ่งเป็นชุมชนเมืองไม่มีไฟฟ้า ใช้แล้วครับ เพราะอะไรครับท่านประธาน ทางกิจการไฟฟ้าบอกว่ามีการลงทุนอยู่ครับ แต่ท่านประธานทราบไหมครับ เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างพี่น้องประชาชนกับกิจการ ไฟฟ้าของ ทร. ครับ ยกตัวอย่างเช่น ขยายเขตไฟฟ้า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ประชาชนลงทุน ๖๐,๐๐๐ บาท กิจการไฟฟ้าลงทุน ๔๐,๐๐๐ บาท อันนี้คือการลงทุนร่วมกันกับพี่น้อง ประชาชนครับ การให้บริการสาธารณะนั้นมันควรให้พี่น้องประชาชนลงทุนด้วยหรือไม่ อย่างไร อันนี้ถึงเป็นคำถามสไลด์หน้าแรกที่ผมถามว่าใครควรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ การให้บริการไฟฟ้ากับพี่น้องประชาชนคนไทย คำถามนี้ท่านประธานไม่ต้องตอบ ฝากไปถาม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรเป็นผู้ตอบนะครับ โดยเฉพาะเรื่องการขยายเขต ทีนี้ประชาชนลงทุนต้องลงทุนร่วมกับกิจการไฟฟ้าเพื่อให้ได้ใช้ไฟหรือไม่อย่างไร อันนี้ ผมในฐานะผู้แทนที่เป็นปากเสียงของพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่พี่น้องประชาชนจะต้องร่วมลงทุนด้วย แล้วอีกปัญหาหนึ่งก็คือตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ นี่ก็เป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบเสียโอกาสกับงบประมาณของแผ่นดิน ที่พี่น้อง ประชาชนเสียไปในเรื่องของการอุดหนุนงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่นครับ ทั้ง ๘ ท้องถิ่นของอำเภอสัตหีบมี ๘ ท้องถิ่นนะครับ งบประมาณรวมกันแล้ว ๑,๐๐๐ ล้านบาท ผมขอแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ ล้านบาท ในการขยายเขตให้กับพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ทั้งอำเภอ ท่านประธานว่าได้กี่ตารางกิโลเมตร ได้ความยาวเสาไฟฟ้าได้กี่ต้นผมว่าได้เป็น ๑๐๐ ต้นนะครับท่านประธาน หม้อแปลงได้หลายสิบหม้อแปลง ปีละ ๑๐ ล้านบาท ผมก็ขอ แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง ๘ ที่ของอำเภอสัตหีบ เพราะติดขัดอะไรครับ เพราะติดขัดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ องค์กรปกครองท้องถิ่น ปี ๒๕๕๙ ตั้งแต่เมื่อนั้น ปี ๒๕๕๙ จนถึงปีนี้ปี ๒๕๖๗ ๘ ปีแล้ว ที่พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบไม่ได้รับเงินอุดหนุนการขยายเขตไฟฟ้าจากองค์กรปกครอง ท้องถิ่น ซึ่งเขาพร้อมที่จะให้กิจการไฟฟ้านะครับ เพราะติดระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อที่ ๓ เพราะว่าเขากำหนดไว้แค่จะอุดหนุนได้เฉพาะรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าภูมิภาค และนครหลวงเท่านั้น ไม่มีกิจการไฟฟ้าสัมปทานกองทัพเรือ ตรงนี้เมื่อสมัยที่แล้วผมก็ยื่น กระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ผมขอแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ครับ สรุปเป็นงบประมาณ ๑๐ ล้านบาทต่อปี ๘ ปีนี้ ๘๐ ล้านบาท ผมว่าเสาไฟผมได้ทั้งอำเภอแล้วครับท่านประธาน แล้วเมื่อปี ๒๕๖๓ ระเบียบของ กระทรวงมหาดไทยข้อนี้ว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีไฟฟ้า มีประปา แต่ไม่เพิ่มกิจการไฟฟ้ามาแต่กลับเพิ่มองค์กรจัดการน้ำเสียครับ และเมื่อไรพี่น้อง ประชาชนอำเภอสัตหีบผมจะได้ขยายเขตไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเองครับ อันนี้ฝาก ท่านประธานนำเรียนไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยนะครับ กราบเรียนท่าน ประธานครับอันนี้คือในกรณีของเรื่องการขยายเขต ทีนี้คำถามแรก ผมก็ถามว่าใครควรเป็น ผู้ให้บริการนโยบายสาธารณะของการไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ผมต้องลุกขึ้น พูดครับ เพราะเป็นที่เดียวของเมืองไทยจริง ๆ ทีนี้มาตรฐานการให้บริการ ผมเห็นด้วยกับ เพื่อนสมาชิกครับ ปกติการไฟฟ้าภูมิภาคจะต้องมี Annual Report หรือรายงานประจำปี งบลงทุน รายจ่ายเท่าไร รายรับเท่าไร ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ที่แห่งนี้ ในการพิจารณาตรวจสอบความโปร่งใสว่าท่านมีรายรับเท่าไร ท่านมีรายจ่ายอะไรเท่าไรและ งบลงทุนที่ท่านต้องขยายการลงทุนเท่าไร เพราะผมมั่นใจว่าการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค ไม่เคยไม่ขาดทุน ได้กำไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากรู้คืออะไรครับ ความโปร่งใสว่าท่านจะมี งบประมาณขยายเขตให้พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบเท่าไรในแต่ละปี ผมไปค้นใน Website ผมยังไม่เคยเจอท่านประธานครับ ตรงนี้เองผมเชื่อว่าท่านมี กิจการไฟฟ้าท่าน นำเรียนผมมาว่า ทางกองทัพเรือแจ้งผมว่าอย่างนี้ท่านประธานครับนำรายได้ไปให้กับ ทุนการศึกษาให้กับโรงเรียน ผมไม่ว่าครับ แต่ท่านชี้แจงสิครับว่าจะให้ทุนการศึกษาครบทุก ๑,๐๐๐ กว่าโรงเรียน ทุนการศึกษาให้ครบทุกคนไหม ให้กี่คนให้โรงเรียนใดบ้าง ผมไม่ว่าครับ แต่ขอให้ชี้แจงอันนี้คือรายงานประจำปี คือความโปร่งใสของกิจการไฟฟ้าสัมปทาน กองทัพเรือ ทีนี้ปัญหาอีกอย่าง มาตรฐานอีกครับ นี่เป็นคำถามจากพี่น้องประชาชนพูดมา ตลอด ค่าไฟอำเภอสัตหีบแพง แพงกว่าภูมิภาค ผมจะไม่บอกว่าใครแพงกว่ากัน แต่ผมเคย เสนอทางกองทัพเรือหรือทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปแล้วว่า ทำไมท่านไม่จัด ประชุมละครับ ท่านสามารถเปรียบเทียบได้นี่ครับว่าภูมิภาคคิดเท่าไร ค่า FT เท่าไร ของกิจการไฟฟ้าสัมปทานขอทุนได้เท่าไร เรื่องแค่นี้เป็นเรื่องที่การแก้ไขปัญหาได้ง่ายมาก ท่านประธานที่เคารพครับ แค่นั่งจัดประชุม แล้วก็ เปรียบเทียบการคิดค่าไฟแค่นั้นเองครับ ในเรื่องของการคำนวณค่าไฟ แล้วท่านประธานอย่าลืมนะครับพื้นที่ของอำเภอสัตหีบพี่น้อง ประชาชนของผมที่เรื่องไฟฟ้าเป็นปัญหาอันดับ ๑ ของอำเภอสัตหีบมาตลอดระยะเวลาสิบ ๆ ปี ในกรณีที่มีการขยายเขตเมือง มีการขยายเขตชุมชนแออัด การเพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางขนาดใหญ่ การเพิ่มกระแสไฟฟ้าต้องใช้ ทีนี้กระแสไฟฟ้าของอำเภอสัตหีบครับ ปัญหาที่เกิดบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ๑ ใน ๓ ก็คือไฟฟ้าตก กิจการที่ขายดีที่สุดของอำเภอ สัตหีบคือเครื่องใช้ไฟฟ้าครับ ไฟฟ้าตกครับ บ้านท่านประธานไฟฟ้าตก แอร์ท่านพังไหมครับ ตู้เย็นพังไหมครับ โทรทัศน์พังไหมครับ ผมเชื่อว่าในอำเภอสัตหีบ ๑ เดือนไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ เครื่องครับ สำหรับกระแสไฟฟ้าตกในกรณี ของการให้บริการไฟฟ้าของอำเภอสัตหีบครับ มีหลายเรื่องครับท่านประธานครับ เมื่อท่าน คิดจะดูแลแล้ว ผมทราบครับมีการนำเสาไฟฟ้าลงดิน แต่เป็นงบบูรณาการของ EEC นะครับ รอบสนามบินสุวรรณ แต่ในเมืองอำเภอสัตหีบ ในเมืองตำบลพลูตาหลวง ตำบลบางเสร่ สายไฟยังระโยงระยางยู่เลยครับ ผมไม่ว่าครับ เพราะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะฉะนั้นท่านจะเอาลงดินตรงสนามบินผมไม่ว่า แต่ท่านต้องวางแผนระยะเวลาด้วยว่า ภายในเมืองสัตหีบ ทุก ๆ ตำบลท่านจะเอาสายไฟฟ้าลงดินหรือไม่ เพราะพัทยาเขาทำแล้ว แล้วท่านก็ไม่มีงบเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืองบอุดหนุนจากไหน นอกจากท่านจะของบจาก EEC เท่านั้น ท่านประธานที่เคารพครับ นี่คือปัญหาที่อำเภอสัตหีบ ประสบมาตลอดหลายชั่วอายุคนครับ แต่ก็ขอบคุณนะครับที่มีไฟฟ้าใช้ได้เพราะว่าเราไปอยู่ ในพื้นที่ทหารที่เขาอยู่มาก่อน แต่ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกาภิวัตน์แล้วครับ ท่านประธานครับมันเป็นความในใจ ขออนุญาตต่ออีก ๕ นาทีครับ อันนี้ไม่ใช่ความในใจ ของผม มันเป็นความในใจของพี่น้องอำเภอสัตหีบทั้ง ๓๐๐,๐๐๐ คน ที่จะฝากผมผ่านไป ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครับ ขออีก ๕ นาทีครับ นอกจากเรื่อง ของการจัดระเบียบสายไฟฟ้าลงดินแล้ว ยังมีเรื่องของทำไมกระแสไฟฟ้าตกบ่อย ท่านประธานไปดูนะครับ ถ้าวันไหนไปอำเภอสัตหีบ คนสัตหีบกลัวหน้าฝนมากที่สุด เขาบอก ว่าฝนตกเม็ดเดียวไฟตกแล้ว กระรอกเดินสายไฟ ไฟดับแล้ว นกมาเกี่ยวไฟดับแล้ว คนสัตหีบ กลัวครับ กลัวปัญหาเหล่านี้ที่พูดกันอยู่ครับ ท่านประธานครับนกเอี้ยงมาเกาะไฟดับ ไฟตก ไฟตกอย่างที่ผมบอกครับ เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านผมใครมาเปิดร้าน ท่านประธานไปเปิดร้านขาย เครื่องไฟฟ้าบ้านผมท่านประธานรวยแน่นอนครับ คนสัตหีบกลัวไฟตกครับ ไม่ต้องนับถึง การขยายเขตที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นะครับ เพราะอะไรครับ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ รถยนต์ที่ต้องยกขึ้นคอยซ่อมไฟ อุปกรณ์ต่าง ๆ ระยะเวลาการใช้งานมันหลายสิบปีแล้วครับ ผมถึงถามว่ารายงานประจำปีงบลงทุนของท่าน ท่านเอางบลงทุนให้กับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ อย่างไรครับ นี่เป็นสาเหตุที่ผมต้องลุกขึ้นมาอภิปราย เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่พี่น้อง ประชาชนอำเภอสัตหีบที่ผมอาศัยอยู่ตั้งแต่เล็กจนโต ที่มีกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือดูแลอยู่ ผมขอบคุณท่านที่ท่านให้เรามีไฟฟ้าใช้ แต่ถ้าจะให้ขอบคุณอย่างนี้ครับ ตั้งแต่เล็กจนโตครับท่านประธาน ผมขับรถผ่านไปอยู่ที่อำเภอสัตหีบผมจะเห็นอยู่ว่า กองทัพเรืออยู่เคียงข้างประชาชน แต่ถ้าท่านแก้ไขปัญหาไฟฟ้านี้ได้นะครับ ประชาชนอำเภอ สัตหีบก็จะขออยู่เคียงข้างท่านเช่นกัน แต่ถ้าท่านยังแก้ปัญหาไม่ได้ฝากท่านประธานไปถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ย้อนไปที่สไลด์หน้าแรกครับ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ การให้บริการสาธารณะไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ผม ดอกเตอร์สะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๗ ครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนขอให้ตั้ง กมธ. วิสามัญศึกษา เกี่ยวกับการโอนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล เมื่อพูดถึงกองทัพหรือธุรกิจกองทัพ ข้างในเรา เหมือนแดนสนธยา เหมือนเมืองลับแลเลยนะครับ ประชาชนไม่เคยรับรู้เลยว่ากองทัพ ทำอะไรบ้าง บริหารธุรกิจอย่างไร กำไรขาดทุนเท่าไร ไม่เคยต้องทำรายงานส่งใครเลยนะครับ แต่พรรคก้าวไกลของเราก็ได้ประเมินว่ากองทัพจะมีกำไรแต่ละปีประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าถามว่าทำไมก้าวไกลถึงมีปัญหากับกองทัพ ถึงคอยจับผิดกองทัพ จริง ๆ แล้วคำตอบง่าย ๆ เลยนะครับ เราไม่ได้จับผิดกองทัพครับ แต่เราต้องการความโปร่งใสในทุก ๆ องค์กร ไม่ใช่ เฉพาะแต่กองทัพ เหมือนท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีนโยบายสภาโปร่งใส ตรวจสอบได้ เหมือนกันเลยนะครับ ในเรื่องใดที่ไม่โปร่งใสเราก็จะทำให้โปร่งใสสิ้นข้อสงสัยกับประชาชน ในเรื่องของสนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในลำลูกกา เป็นพื้นที่ที่ผมอาศัยอยู่แล้วก็ขับรถผ่านทุกวัน ขณะนี้ เป็นสนามกอล์ฟที่นำมาใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ถ้าเราเรียกตามภาษาชาวบ้านก็กลุ่ม Elite หรือกลุ่มผู้มีอันจะกินนะครับ เพราะสนามกอล์ฟ แน่นอนว่าชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าไป จ่ายเงินตีกอล์ฟแน่ ๆ ไม่ใช่กีฬาของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นคนชั้นกลาง เป็นคนรายได้น้อย ไม่ใช่คนมีอันจะกิน เพราะฉะนั้นผมจึงสนับสนุนให้นำ สนามกอล์ฟตรงนี้มาทำเป็นสถานสาธารณะนะครับ สวนสาธารณะ คล้าย ๆ กับสวนลุมพินี ก็ได้ให้ประชาชนเข้าไปออกกำลังกาย เข้าไปวิ่งเป็นปอดของคูคต เป็นปอดของคนลำลูกกา ท่านประธานรู้ไหมครับว่า ลำลูกกาขึ้นชื่อว่ามีฝุ่นพิษเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ๒-๓ อาทิตย์ที่ผ่านมา อำเภอลำลูกกาเรามีฝุ่นพิษเป็นอันดับ ๑ อันดับ ๒ ของประเทศไทย มาโดยตลอด แล้วเราไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ ถ้าเราได้สวนสาธารณะตรงนี้มาทำเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นปอดของคนลำลูกกาก็จะดีมาก ๆ เลยนะครับ สำหรับพวกเราชาวลำลูกกา แล้วเมื่อเรา พูดถึงธุรกิจกองทัพก็ต้องพูดถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เราจะให้มีรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการของเราต้องใช้เงินประมาณปีละ ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าเราได้จัดสรรบางส่วน ของธุรกิจกองทัพ กำไรตรงนี้นำมาเป็นรัฐสวัสดิการก็จะช่วยเหลือประชาชนได้มากเลย ท่านประธานครับ ผมเข้าใจดีว่าทหารมีหน้าที่รักษาความมั่นคง ทหารทำงานหนักนะครับ ควรจะได้รับสวัสดิการ สวัสดิการเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของพรรคก้าวไกลเลย แต่ปัญหาคือว่า กำไรของกองทัพควรจะต้องรายงาน ควรจะต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และเมื่อจะนำไปใช้ เป็นสวัสดิการก็ทำเรื่องขอเบิกงบประมาณเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เกิดความสง่างาม ในกองทัพ ธุรกิจกองทัพมีหลายแบบอย่างที่ สส. เบญจา แสงจันทร์ ได้พูดไปสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ คลื่นทีวี วิทยุ พลังงาน มีมากมายเลยนะครับ แต่ทำเหมือนธุรกิจ ส่วนตัว ทำให้ประชาชนก็สงสัยมาตลอดว่าทำไมจึงต้องมีความลับขนาดนี้ เมื่อพรรคก้าวไกล ต้องการให้มีความโปร่งใสตรงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทหารและกองทัพก็จะมีความสง่างาม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีสวัสดิการให้กับทหารชั้นผู้น้อยอย่างเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ดีของ ประเทศไทยไม่ใช่หรือครับ ประชาชนตรวจสอบได้ ประชาชนมีความสุขกับการที่ทหาร สามารถที่จะแจกแจง ชี้แจงรายได้ของตัวเองได้ อันนี้ก็จะเป็นผลประโยชน์กับประชาชน แล้วก็กองทัพเองด้วยนะครับ รัฐสวัสดิการของเรามีอะไรบ้างนะครับ เอาไว ๆ ก็คือว่าคนชรา ๖๐ ปีขึ้นไปได้ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน เด็กเล็กได้ ๑,๒๐๐ บาท มีสิทธิลาคลอด มีศูนย์เด็กเล็ก ใกล้บ้าน มีอาหารฟรี มีรับส่งเด็กนักเรียน คูปองให้เด็กไปเรียนเสริม มีการ Reskill ให้กับ คนทำงาน คนทำงานที่อยากเปลี่ยนงานก็สามารถไปเรียน Reskill ได้ฟรี นอกจากนี้ก็ยังมี สวัสดิการให้กับประกันสังคมทุกอาชีพ สิ่งเหล่านี้นะครับ ถ้าเรานำรายได้จากกองทัพมาช่วย เจียดให้กับประชาชนก็จะทำให้ประชาชนมีความสุขไปด้วยพร้อม ๆ กับกองทัพ แล้วเมื่อเรา ทำสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จ การจัดสรรสวัสดิการทหารชั้นประทวนก็จะได้รับชั้นสัญญาบัตร และนายทหารก็จะได้รับอย่างเท่าเทียมกันอย่างมีความยุติธรรมนะครับ ประชาชนก็ได้ ความเป็นธรรมด้วย ได้เงิน ได้สวัสดิการด้วย ทหารทุกระดับก็จะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อม ๆ กับประชาชนครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข ครับ
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานที่เคารพครับ ญัตติที่พวกเรากำลังอภิปรายกันอยู่ในรัฐสภา แห่งนี้เป็นญัตติที่มีใจความสำคัญอย่างยิ่งยวดครับ เพราะเป็นญัตติที่พี่น้องประชาชนล้วนให้ ความสนใจ และไม่ใช่เพียงแค่พี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นญัตติที่พี่น้องทหาร และกำลังพลตั้งแต่ พลทหาร ระดับชั้นนายพล ให้ความสนใจกับญัตตินี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นญัตติที่สืบเนื่องและเกี่ยวข้องกับการยกโอนของธุรกิจกองทัพกลับมาสู่รัฐบาล จากที่ทราบกันดีครับ เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดไปแล้วว่ากองทัพนั้นมีธุรกิจใดบ้างที่อยู่ ในการดูแล ผมขอเรียกธุรกิจกองทัพเหล่านี้ว่า เสนาพาณิชย์ เสนาพาณิชย์ของกองทัพ มีตั้งแต่คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์ สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ นี่คือตัวอย่างสั้น ๆ ที่เห็น ได้ชัดเป็นเสนาพาณิชย์แบบฉบับสีขาว การมีอยู่ของเสนาพาณิชย์ต้องยอมรับกันอย่าง ตรงไปตรงมาครับท่านประธาน ว่าเสนาพาณิชย์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติศรัทธาที่ทำให้ พี่น้องประชาชนต้องออกมาตั้งคำถามกัน อย่างเช่น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Hashtag ที่เกิดขึ้น คำว่า ทหารมีไว้ทำไม ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าการที่ทหารยังดื้อดึงจะทำเสนาพาณิชย์ เหล่านี้อยู่เป็นต้นเหตุหนึ่ง นอกจากทหารที่เข้ามายุ่งกับการเมืองแล้ว ก็นี่ละครับ เสนาพาณิชย์ที่พี่น้องประชาชนกำลังตั้งคำถามอยู่ ทำไมผมถึงบอกกับท่านประธานว่า เสนาพาณิชย์เหล่านี้เป็นวิกฤติศรัทธา ขออนุญาตเล่าให้ท่านประธานฟังครับ ครั้งสมัยที่ผมยัง รับราชการทหารอากาศอยู่ ตอนรับราชการใหม่ ๆ ผมมีโอกาสได้เจอกับนายทหารบรรจุใหม่ ท่านหนึ่ง ผมเป็นคนไปรับเซ็นบรรจุของเขาเอง แต่เขากลับลังเลในการบรรจุวันนั้นครับ ผมถามเขาว่าน้องลังเลอะไร นายทหารใหม่ผู้นั้นบอกกับผมว่า วันที่เขาสมัครเข้ามารับ ราชการทหารอาชีพ เขามีความมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังรบ เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยหลักของประเทศชาติ แต่คำสั่งที่ บรรจุมา ณ วันนั้นกลับทำให้เขามีหน้าที่ไปอยู่ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการดูแล เสนาพาณิชย์ ไปดูแลเกี่ยวกับการบริการนายทหาร ไปดูแลเกี่ยวกับกิจการกองทัพต่าง ๆ ตกลงแล้วความมุ่งหวังของเขาที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องอธิปไตยของประเทศ เขากลับตั้งคำถามให้กับตัวเองทันทีว่า วันนี้เขามาเป็นทหารเพื่อปกป้องอธิปไตยหรือกำลัง ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน นี่คือวิกฤติศรัทธาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากกำลังพลด้านใน
เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
วิกฤติศรัทธาที่ ๒ คือวิกฤติศรัทธาจากพี่น้องประชาชนที่มีต่อกองทัพ ปฏิเสธ ไม่ได้อย่างยิ่งยวดว่าวันนี้พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าตั้งคำถามของการมีอยู่ของนายทหาร ทั่วไป เขาตั้งคำถามว่าทหารมีไว้ทำไม แล้ววันนี้ผมก็อยากจะบอกว่าเราควรเปลี่ยนคำถามนั้น แล้วเดินหน้าทางความคิดร่วมกันว่าตกลงแล้วทหารมีหน้าที่อะไร การประกอบเสนาพาณิชย์ เหล่านี้ยังควรเป็นหน้าที่ของทหารอยู่หรือไม่ มันหมดยุคสงครามเย็นแล้ว เสนาพาณิชย์ เหล่านี้ควรที่จะกลับคืนสู่รัฐบาล และนอกจากนั้นมีอีกวิกฤติศรัทธาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมเอง เมื่อครั้งยังรับราชการทหารอากาศอยู่ มีองค์กรหนึ่งภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ปวารณาตัวเองว่าองค์กรของเขามีหน้าที่พิทักษ์นักรบไทย มีหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงสุขผู้เคย ผ่านศึกชายแดน ไม่ว่าจะจรดเหนือล่องใต้ องค์กรนี้มีความมุ่งหวังว่าจะทำนุบำรุงดูแล เขาและครอบครัวผู้ไปรบ แต่ในอีกมุมหนึ่งของผู้บริหารองค์กรนี้กลับแปรสภาพตัวเองไปเป็น ผู้ประกอบการก็ดี ไปบิดงานแข่งกับส่วนราชการอื่นก็ดี ผูกพันผูกขาดการจัดซื้อจัดจ้างบ้าง ก็ดี ผมพูดกับท่านประธานเลยก็ได้ว่านี่คือองค์การทหารผ่านศึก หากย้อนกลับไปเมื่อ การอภิปรายงบประมาณวาระสองเมื่อสภาชุดที่แล้ว ท่านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เคยอภิปราย ว่า Love Shopping Load Shopee สินค้าราคาแพงกว่าท้องตลาด ไปเปิดดูได้เลยครับ ผู้ได้รับงานนี้องค์การทหารผ่านศึก ครั้งเมื่อผมอยู่กองทัพอากาศทุก ๆ เช้าผมจะเจอนายหน้า จากองค์การทหารผ่านศึกมานั่งรอดูแลตั้งแต่ระดับเจ้ากรม ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าฝ่าย เจ้ากรมอยากไปไหน หัวหน้าฝ่ายอยากไปที่ใด วันนี้จะกินเลี้ยงที่ไหน นายหน้า ด เด็กคนนี้ละครับพร้อมตามไปจ่ายเงินในทุก ๆ ที่ นอกจากเสนาพาณิชย์ที่เพื่อนสมาชิก กล่าวแล้ว นี่คืออีกเสนาพาณิชย์หนึ่งที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ จริงอยู่ว่าองค์การทหารผ่านศึกมี ความมุ่งหวังที่จะทำนุบำรุงดูแลทุกข์สุขของครอบครัวผู้ที่เคยผ่านการรบ ผู้ที่เคยออกไป ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ แต่กลับกันครับ ท่านลองดูได้เลยครับ วันนี้ทหารผ่านศึก ทำอะไร บ้างขายลอตเตอรี่ บ้างเป็น รปภ. แต่ผู้อำนวยการของเขากำลังนั่งแบ่งเค้ก หารเงินทอนกับนายหน้าและเจ้ากรมเหล่าทัพต่าง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ทหารอากาศนะครับ ผมยืนยันได้ ทุกเหล่าทัพที่องค์การทหารผ่านศึกเข้าไปประมูลงาน แบ่งเค้กกันอย่าง สร้างสรรค์ทุกประการ นี่คือวิกฤติศรัทธา หากที่ประชุมนี้กำลังถามว่าทำไมเราถึงมีความ จำเป็นที่จะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญนี้ นี่คือหมุดหมายแรก นี่คือการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพได้ในภายภาคหน้า เพราะหากวันนี้เราสามารถนำเสนาพาณิชย์เหล่านี้ออกจากกองทัพได้ นั่นหมายความว่า เรายุติปัญหาการตั้งคำถามว่าทหารมีไว้ทำไมได้ส่วนหนึ่ง ก่อนที่ผมจะมาพูดกับท่านประธาน ในวันนี้ครับ ผมได้โทรหาเพื่อนทหาร พี่ทหาร น้องทหารว่าเขาคิดเห็นอย่างไรบ้างกับญัตติ ที่กำลังเข้าสู่สภาในวันนี้ มี ๒ มุมมองด้วยกัน มุมมองที่ ๑ พวกเขารู้สึกประทับใจ กลุ่มนายทหาร รุ่นใหม่มีความหวังและฝากความฝันไว้ที่รัฐสภาแห่งนี้ เขาบอกว่าเขาเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นพลเรือน จะสามารถมีสิทธิเด็ดขาดและเปลี่ยนแปลง กองทัพที่พวกเขาฝันและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ในภายภาคหน้า กลุ่มคนเหล่านี้มุ่งหวัง ที่จะบริหารกองทัพในภายภาคหน้าให้เป็นกองทัพที่โปร่งใสและเป็นกองทัพของประชาชน เขามุ่งหวังว่ารัฐบาลพลเรือนนี้จะคืนเกียรติ คืนศักดิ์ศรีให้เขาได้สามารถเชิดชูได้อย่าง สง่าผ่าเผยว่า เขาคือผู้มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางบก ทางน้ำ ทางเรือ และทางอากาศครับ แต่มีอีกกลุ่มคนหนึ่งเช่นกันครับเขาถามกับผมว่าทำได้จริงหรือ ขนาดบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศยังหลีกเลี่ยงคำพูดว่า ปฏิรูปกองทัพ แล้วหันมา ใช้คำว่า พัฒนาร่วมกัน เขาไม่มั่นใจเลยว่าจะเปลี่ยนแปลงกองทัพได้จริง ๆ บ้างตั้งฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าหมูตุ๋นก็มี ขออนุญาตต่อเวลาสักครู่ครับท่านประธาน จากที่กล่าวมานี่คือวิกฤติศรัทธาของกองทัพ และนี่คือหมุดหมายที่จะร่วมกันปลดกระดุม แล้วนำทางไปสู่การปฏิรูปกองทัพ และผมอยากฝากความนี้ไปถึงเพื่อนกรรมาธิการวิสามัญ ที่กำลังจะถูกแต่งตั้งหากสภาที่นี้เห็นชอบ ผมอยากฝากความนี้ไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจนผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกท่าน ว่าภารกิจนี้ เป็นภารกิจที่ท่านกำลังจะแบกความหวังความฝันของนายทหารผู้มีความหวัง ว่าวันหนึ่ง กองทัพจะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง ผู้มีความหวังความฝันว่าเขาจะสามารถใส่เครื่องแบบ ออกไปนอกหน่วยราชการได้อย่างสง่าผ่าเผย ว่าเขามีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ หาใช่อย่างทุกวันเยี่ยงนี้ที่แม้จะใส่เครื่องแบบออกมายังต้องคิดหนักเลย ความภูมิใจของ พวกเขากำลังจะกลับมาหรือไม่ อยู่ที่การดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ที่จะมี องค์ประกอบจากตัวแทนฝ่ายค้าน ตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนผู้บริหาร การปฏิรูปกองทัพ ท่านอาจจะยังไม่กล้าหาญพอที่จะปฏิรูปทั้งโครงสร้าง ผมก็หวังว่านี่คือเศษส่วนเล็ก ๆ ที่ผม จะได้เห็นการเริ่มต้นจากการยกโอนปฏิรูปผิดจุด การยกโอนธุรกิจกองทัพเหล่านี้ออกจาก หน่วยทหารสักที อย่างน้อยได้ยุติคำว่าทหารมีไว้ทำไม อย่างน้อยได้ให้พวกเขามีเกียรติ มีศักดิ์ศรีอีกคำรบหนึ่ง จึงขอฝากประเด็นนี้ไว้กับท่านประธาน ตลอดจนเพื่อนว่าที่ กรรมาธิการทุกท่าน ช่วยดำเนินการให้กองทัพทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยในหน้าที่หลักของเขา อย่างแท้จริง และภายภาคหน้าผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ใช่เพียงแค่การยกโอนธุรกิจกองทัพ เราจะสามารถกำหนดและกระชับขอบเขตอำนาจทหารได้อย่างครบถ้วนทุกประการ แต่จุดเริ่มต้นนี้ผมฝากความหวังไว้กับทุกคนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณนิพนธ์ คนขยัน ครับ
นายนิพนธ์ คนขยัน บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ก็ขออนุญาตอภิปรายร่วมกับเพื่อนสมาชิกที่ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดิน ราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ท่านประธานครับ วันนี้ก็ขออนุญาตร่วมอภิปรายกับเพื่อน สมาชิกทั้ง ๓ ญัตติ ในฐานะที่ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์เก่ารุ่น ๐๒ ปี ๒๕๒๓ ท่านประธานครับ ชีวิตทหารเกณฑ์อยู่ร่วมกับนายทหาร อยู่ร่วมกับชั้นประทวน ๒ ปี รู้ทุกเรื่องแต่ไม่หมดหรอก แต่อย่างไรก็ดีครับ ก็ยังภาคภูมิใจอยู่วันนี้ว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ ประเทศชาติถึงจะเป็นทหารเกณฑ์ ๒ ปีก็ภูมิใจครับท่านประธาน วันนี้เพื่อนทหารเกณฑ์รุ่น ๐๒ เป็นนายทหารมากมายครับ เป็นหลายพันคนที่เขาสอบ นายสิบแล้วได้เป็นนายทหาร ก็ดีใจด้วย วันนี้อยากพูดเรื่องสนามกอล์ฟนิดหนึ่งครับ ผมเป็น ทหาร กรมอากาศโยธิน กองบิน ๒๓ จังหวัดอุดรธานีครับ เขาเรียกว่า ทหารอากาศ แต่ท่านประธานครับชีวิตเข้าเวรอย่างเดียวครับ สนามบินอุดรธานี ผมก็ไม่มีทราบว่าสนาม กอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นของทหารอากาศ แต่ตอนผมเป็นทหารไปเข้าเวรข้างสนามบิน รอบสนามบินอุดรธานีวันนี้ แล้วแต่อยู่ผลัดเวรกลางวันกลางคืนครับ วันนี้เห็นด้วยกับ เพื่อนสมาชิกที่อภิปราย วันนี้กองทัพต้องเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อน แต่จะเปลี่ยนอย่างไร ค่อยว่ากัน อยู่ในชั้นกรรมาธิการผมเชื่อมั่นว่าเพื่อนสมาชิก ทุกท่านคงเห็นชอบในการตั้ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาว่ากองทัพจะเดินอย่างไร อย่างเอาสนามกอล์ฟวันนี้ ผมมอง ของผม ถ้าให้เป็นสวนสาธารณะดีไหม ดี แต่อยากฝากเรื่องความมั่นคงนิดหนึ่ง ในฐานะ เคยอยู่เวรมาก่อน ถ้าเป็นสวนสาธารณะอยู่กับสนามบินแล้วมันใกล้กัน อันนี้ผมคิดนะครับ ว่าอะไรมันจะเกิด เกิดอยู่ ๆ วันดีคืนดี มือดี มันก็ระแวงในใจผมนะครับ ที่ผมกราบเรียนว่า วันนี้ฝากเพื่อนสมาชิกว่าถ้ายกสถานที่ตรงนี้เป็นสวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ เขียวชอุ่ม สุดยอดครับ แต่ฝากเรื่องความมั่นคงว่าในวิสามัญจะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคง อย่างไร เกิดคืนหนึ่งวันหนึ่ง ไม่รู้อะไรจะเกิดนะครับ อันนี้ด้วยความเคารพผมไม่ทราบ แต่คิดไปก่อนนะครับ ในฐานะเคยรับใช้ชาติมาอยู่เวรมา ดังนั้นสมมุติมันเป็นสวนสาธารณะ ไม่ได้ อย่างเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดแล้วสวัสดิการทหาร เรื่องทหารเกณฑ์ ผมไม่พูดหรอกปีนี้ดีแล้วครับ แย่งกันสมัครทหารเกณฑ์เพียบเลย เพราะจะได้สอบนายสิบ และจะได้เป็นนายร้อย นายพันต่อไป ค่าตอบแทนก็ดีขึ้น ก็ขอบคุณรัฐบาลครับ ขอบคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกท่านที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง แต่คิดว่าในชีวิตที่รับราชการทหาร รับใช้ชาติเป็นทหารเกณฑ์ ๒ ปี มีทหาร ชั้นประทวน มีนายทหารสัญญาบัตร ท่านประธานที่เคารพครับ ผมดูสภาพถ้ามีเงิน ไม่ได้พูด เอาใจทหารนะครับ แต่เห็นใจเพื่อนทหาร ถ้ามีเงินอย่างที่เพื่อนสมาชิกเรียกว่าเงินนั้นเงินนี้ เงินนี้เงินนั้น สวัสดิการ เช่น ทหารชั้นประทวนเอาเงินเหล่านี้หรือเอาเงินมาเติมกับเงินอะไร ก็ไม่ทราบ สร้างบ้านให้เขาอยู่ สร้างตึกให้เขาอยู่ให้มีคุณภาพชีวิต ตอนรับใช้ชาติยังไม่เกษียณ ให้เขาอยู่มีความสุขหน่อย อาจจะได้ติดแอร์เย็น ๆ ฉ่ำสักนิดหนึ่งก็ยังพอใจ อันนี้ผมคิดของผม นายทหารก็ไม่ได้ดูถูก ผมเป็นทหารเกณฑ์รับใช้ทหารตอนอยู่กองร้อยไม่ได้รับใช้ครับ อยู่ร่วม คลุกคลีกัน ก็รู้ว่ายศร้อยเอกไม่ได้ดูถูกนะครับ เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้รู้กันหมด บางคน บางท่าน ที่ท่านพูดเมื่อสักครู่บางคนร่ำรวยก็โอเคครับ แต่คนไม่รวยก็มีนายร้อย อย่างที่ว่า จัดสวัสดิการตรงนี้สร้างบ้านก่อนเกษียณได้ไหม หักเงินเดือนเขาอย่างไรไม่ทราบ แล้วแต่ กรรมาธิการจะไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ แต่ฝากเพียงว่าวันนี้เห็นด้วยที่จะตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ว่าเงินต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิกพูดไปพูดมา พูดมาพูดไปนี้ จะเอาไป อย่างไรแล้วแต่มติกรรมาธิการจะพิจารณาครับ ส่วนผมก็ขอเสนอว่าสมควรอย่างยิ่งแล้วครับ จะจัดสวัสดิการอย่างไรก็จัด จะทำสนามกอล์ฟได้ก็ทำ ทำไม่ได้จะทำสวนก็ทำ แล้วแต่ เพื่อนสมาชิก แล้วแต่คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณา แล้วจะไปสู่มติเสียงข้างมาก เพราะวันนี้เรามาอาสาเป็นผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อนให้กับทุกอย่าง ท่านประธานครับ ผมก็เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านก็ พร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้บรรดาพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเพื่อนทหารได้มีความสุขดังที่ ผมกราบเรียนว่า วันนี้รัฐสวัสดิการของทหารหรือของพี่น้องประชาชนก็ต้องจัดควบคู่กันไป ท่านประธานครับ ดังนั้นเห็นด้วยกับญัตติที่เพื่อนสมาชิกได้ยื่นมา ที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อความสุข ของประชาชนที่จะได้สวนสาธารณะหรือความสุขของทุก ๆ คนที่เป็นรั้วของชาติเป็นทหาร ต่าง ๆ ที่จะได้ใช้สถานที่ที่มีอยู่ต่อไปครับท่านประธาน ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ครับ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง ตำบลกะทู้ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานครับ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๒ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์ รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐและ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้การทหารที่มี ประสิทธิภาพ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พุทธศักราช ๒๕๕๑ มาตรา ๒๐ กำหนดให้กองทัพเรือมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังของกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง กลาโหม ข้อมูลจาก Website กองทัพเรือสรุปภารกิจของกองทัพไว้ ดังนี้ ๑. เตรียมกำลัง กองทัพเรือและป้องกันราชอาณาจักร ๒. รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ๓. พิทักษ์ รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ๔. สนับสนุนการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ภายในประเทศ ๕. สนับสนุนการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน จากที่กล่าวไป แล้วข้างต้น ไม่ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พุทธศักราช ๒๕๕๑ หรือแม้แต่ข้อมูลของกองทัพเรือเอง ที่ได้ระบุชัดเจนว่ากองทัพเรือมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจ ด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ มิใช่เป็นองค์กรธุรกิจที่ประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ท่านประธานครับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากองทัพไม่ได้เพียงแต่ทำภารกิจในการปกป้อง ต่างประเทศ ปกป้องประเทศตามที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น แต่ยังประกอบธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมายทั้งธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน สนามกอล์ฟ สถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานที่พักตาก อากาศ โครงการจัดการที่ดินต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ไม่ใช่ภารกิจหน้าที่หลักของ กองทัพทั้งสิ้น จึงเห็นควรที่จะต้องมีการพิจารณาศึกษาแนวทางในการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพให้ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงจะถูกต้อง และเหมาะสมมากกว่า ธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพมีมากมายหลายประเภท ตามที่เพื่อนสมาชิก ของผมได้อภิปรายไปแล้ว การให้หน่วยงานของกองทัพประกอบธุรกิจเช่นนี้ได้ เป็นการเปิด โอกาสให้การนำทรัพยากรของรัฐ เช่น ที่ดินราชพัสดุของกองทัพ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาจัดสรร ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอันเป็นภารกิจหลักของกองทัพในการป้องกันประเทศ แต่กลับ ถูกนำมาใช้เพื่อทำธุรกิจหารายได้เข้ากองทัพเอง อีกทั้งการที่กองทัพมีทรัพยากรของรัฐ อยู่ในมือ เป็นต้นทุนอย่างที่ดินราชพัสดุนี้ ย่อมทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขันทั้งราคา และทำเลที่ตั้ง ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มประเภทเดียวกัน การที่ หน่วยงานของรัฐนำทรัพยากรของรัฐ ทั้งเงิน ที่ดิน บุคลากรมาใช้ทำธุรกิจเพื่อหารายได้เข้า หน่วยงานของตนเอง อีกทั้งยังทำให้มีการตรวจสอบได้ยาก ขาดความโปร่งใส ภาคใต้เอง ก็ไม่น้อยหน้าเพื่อน ๆ สมาชิกทั้งในกรุงเทพมหานครและภาคอีสานต่อไป
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ภูเก็ต ต้นฉบับ
ผมจะมาพูดถึงกรณีสนามกอล์ฟราชนาวีทับละมุ จังหวัดพังงา สนามกอล์ฟ ราชนาวีทับละมุ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๕ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นสนาม กอล์ฟของกองทัพเรือที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของกองทัพเรือ บริหารงานโดยกองทัพเรือรายได้ จากธุรกิจจัดเก็บเข้ากองทัพเรือ เมื่อเปรียบเทียบราคาสนามกอล์ฟอื่นของเอกชนในจังหวัด พังงา ปรากฏว่าราคาในการเข้าใช้สนามกอล์ฟแตกต่างกันอย่างมาก โดยค่าบริการสนาม กอล์ฟของทับละมุราคาต่ำกว่าสนามอื่นของเอกชนกว่า ๕ เท่า มีค่าปิดสนามทั้งวันเพียง ๔๐,๐๐๐ บาท ราคามันถูกไปไหม ค่ากินฟรี สนามกอล์ฟของทหารเรือบุคคลทั่วไปในวันหยุด ราคา ๖๐๐ บาท ค่า Caddy ๒๗๐ บาท ค่ารถกอล์ฟ ๖๐๐ บาท รวมกันประมาณ ๑,๔๗๐ บาท แต่ในส่วนของสนามกอล์ฟเอกชนอยู่ที่ ๓,๘๐๐ บาท รวมค่าแคตดี้และรถกอล์ฟ จะเห็นได้ว่าราคาต่างกันเท่านี้ ศักยภาพในการทำธุรกิจของกองทัพก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าเอกชน แต่อย่างใด ในส่วนของอัตราค่าสมาชิกสนามกอล์ฟครับท่านประธาน ในส่วนของข้าราชการ ทหารเรือทายสิครับว่าเรียกเก็บกันกี่บาท ๑๐๐ บาท ใช่ครับ เก็บเพียง ๑๐๐ บาทเป็นค่าแรก เข้าเท่านั้น ไม่ต้องจ่ายรายปีในขณะที่บุคคลทั่วไปค่าแรกเข้า ๑,๐๐๐ บาท รายปี ๆ ละ ๑๕,๐๐๐ บาท สำหรับคนไทยและคนต่างชาติค่าแรกเข้า ๑,๐๐๐ บาท รายปี ๒๐,๐๐๐ บาท ฟังไม่ผิดครับ เพราะว่ามีให้ต่างชาติเข้ามาใช้สนามกอล์ฟในพื้นที่ของทหารได้ด้วย นี่หรือครับ ความมั่นคงของประเทศที่มีนักกอล์ฟจากนานาชาติมาออกรอบในเขตพื้นที่ทหารที่สมควรจะ เป็นพื้นที่เขตปลอดภัย ที่ปกติแล้วประชาชนคนไทยแม้จะเข้าไปใช้อย่างยากเย็นแสนเข็ญ แต่วันนี้เราก็กลับเปิดอ้าซ่าให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายรูป Selfie กับ Caddy สวย ๆ ในสนาม กอล์ฟราชนาวีทับละมุ หากกองทัพอยากทำธุรกิจหารายได้ ผมแนะนำให้ไปทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น ต่อเรือรบ ผลิตอาวุธ ขายให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลยครับ การที่กองทัพใช้ที่ดินและ งบประมาณของกองทัพมาสร้างสนามกอล์ฟเพื่อทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนเช่นนี้ ย่อมไม่ เป็นธรรม เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐมาประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชนที่ต้นทุน ต่ำกว่า ตั้งราคาได้ต่ำกว่าทำให้สามารถแข่งขันกับเอกชนในพื้นที่ที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน หากมีการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในมือของกองทัพให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ การแก้ไขปัญหา ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและจัดเก็บรายได้เพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพให้ไปอยู่ในความดูแลของ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญ คุณกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี และเขตสะพานสูง วันนี้ขอร่วมเห็นด้วยกับการตั้งวิสามัญ คืนธุรกิจทหารให้กับประชาชน ให้กับรัฐ แล้วก็ให้เป็นที่ของสาธารณะ ซึ่งวันนี้พอพูดถึงคำว่าสาธารณะก็ต้องเป็น Model คำว่า Public ครับ P ตัวแรกในที่นี้ขอใช้คำว่า Park แปลว่า สวนสาธารณะ ซึ่งแน่นอนถ้าเรา ไปดูในผังจะเห็นว่าเป็นสีเขียว หรือไม่ก็สีเขียวคาดขาว ซึ่งก็แน่นอนเป็นพื้นที่ที่เป็นเอาไว้ รับน้ำถูกไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วนอกจากนั้นบางครั้งกลายเป็นเอาไว้ทำเป็นสนามกอล์ฟ ถูกไหมครับ ซึ่งแทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของทุกคน กลายเป็นของบางคน ของบาง หน่วยงาน หรือของบางจุดเท่านั้นเองที่ไม่สามารถที่จะกระจายให้กับพี่น้องประชาชนอย่าง แท้จริง เพราะฉะนั้นตัว P ขอเน้นว่าให้เป็น Park ที่เป็นของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ต่อมาเป็นตัว U ขอใช้คำว่า Utility ก็แปลว่า การเอามาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในที่นี้ คำว่า Utility เราต้องการเน้นใช่ไหมครับว่าธุรกิจต่าง ๆ ควรจะเป็นของรัฐ ของพี่น้อง ประชาชน แต่สุดท้ายก็ยังเป็นของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราเองก็อยากที่จะเอาสิ่ง เหล่านั้นให้กลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่แท้จริงต้องขึ้นอยู่ กับประชาชนครับ เพราะประชาชนคือคนที่มีอำนาจสูงสุด ต่อมาครับ ตัว B ในที่นี้คืออะไร B ในที่นี้คือ Business Model Business ซึ่งจริง ๆ แล้ว Model Business ควรจะเป็นของ ประชาชน ไม่ใช่เป็นของทหารท่าน ท่านสังเกตไหมว่า Business นี้ต้องใช้อะไรบ้าง เราเคย เรียนมา ๔ M ถูกไหมครับ Method Material ซึ่ง อ.เอท ขอเน้นคำว่า Material ในที่นี้ก็คือ เรื่องของพื้นดิน ที่ดินของเรา เรามีพื้นดินอยู่ประมาณ ๓๒๐ ล้านไร่ เมื่อสักครู่นี้เพื่อน บอกแล้วนะครับ ใน ๓๒๐ ล้านไร่ มีพื้นที่ที่เป็นราชพัสดุถึงประมาณ ๑๒ ล้านไร่ และแน่นอน เมื่อเป็นที่ดินของราชพัสดุ ก็ต้องมีคนที่มาดูแลหรือเป็นแบบแนว Manager หรือผู้จัดการ ก็คือใครครับ ก็คือที่ธนารักษ์หรือกรมธนารักษ์จาก ๑๒ ล้านไร่ ก็จะดูประมาณ ๑๐ ล้านไร่ ซึ่งแน่นอน ๑๐ ล้านไร่ ก็จะเป็นที่ราชการ แล้วก็อีกประมาณล้านไร่ ประมาณใน ๑๐ ล้านไร่ มาหาผลประโยชน์ครับ สุดท้ายแล้วประโยชน์นี้ไปอยู่ที่ใคร เมื่อสักครู่นี้มีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่บอกว่าบางครั้งควรจะไปเน้นเรื่องของการที่เอาไปเป็นรักษาความมั่นคง เรามีแล้วครับ ที่ที่กรมธนารักษ์เอาไปดูแลความมั่นคงถึงประมาณ ๒ ล้านไร่ น่าจะเพียงพอ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรากำลังมาดูกันว่าที่ที่ประมาณ ๑ ล้านไร่ เราจะเอาตรงนี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร ให้กลับคืนสู่พี่น้องประชาชน นี่คือตัว P ต่อมาเป็นตัว L อยากเห็นครับ การที่เราเอาพื้นที่ ของทหารเอามากระจายออก คำว่า L ในที่นี้ก็คือ Local ครับ Local หรือเป็นการกระจาย อำนาจครับ เราควรที่จะเอาการกระจายอำนาจมาใช้ Model นี้ พรรคก้าวไกลต้องการเน้นตลอดเวลาว่า ถึงเวลาแล้วที่การจะอยู่กันเป็นกระจุกควรจะเป็นกระจายทุกคน เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ ท้องถิ่นควรได้รับโอกาสเหล่านั้นในการที่บริหารที่ดิน แล้วเมื่อได้กำไรก็เอามาแบ่งปันให้กับ พี่น้องประชาชน ภาษีเป็นของพี่น้องทุก ๆ คน นี่คือตัว L ต่อมาตัว Income คือ I เป็นตัวรอง สุดท้าย I คือ Income ครับ หลายท่านพูดมาแล้วว่าธุรกิจของพี่น้องที่เป็นทหารของเรา มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มวย ม้า สนามกอล์ฟ แหล่งพลังงาน ซึ่งก็มีการคำนวณคร่าว ๆ จากพรรคของเรา พรรคก้าวไกลบอกว่างบประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทไหมที่เป็นผลกำไร แน่นอนครับ Income หรือรายได้ถ้าเป็นของพลังงานโดยตรงประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ถ้าเป็นของการเอาไปทำทีวีเอาไปทำช่องโน้นช่องนี้อีกก็เป็น ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท นี่คือ Income ที่สร้างรายได้ สร้างผลกำไรกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าเอา Income ตรงนี้มา กระจายให้กับพี่น้องประชาชนจะมีโอกาสมากมาย ทำให้พี่น้องมีรัฐและสวัสดิการที่ดีขึ้น กว่านี้แน่นอนคือ ตัว I และตัว C สุดท้ายแล้วนะครับ P U B L I C ครับท่านประธาน ตัว C คืออะไร ตัว Common Common ก็คือเป็นของทุก ๆ คน แผ่นดินของเราเป็นของทุก ๆ คน เพราะฉะนั้น อ.เอท อยากจะให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาที่ดินที่เป็นราชพัสดุ ซึ่ง Royal Property ราชพัสดุต้องเป็นของพี่น้องทุกคนมีส่วนร่วมในการที่จะเข้าไปบริหารโดยเป็น การปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออะไรก็ตามแต่เพื่อให้ผลกำไรนั้นกลับมาสู่พี่น้องประชาชน เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นสุดท้ายนี้ก็ไม่อยากจะพูดให้ยืดเยื้อ สุดท้ายอยากจะเห็นทหาร ต้องใช้คำว่า เรียบอาวุธ ซึ่งหมายความว่าอะไร หมายความว่าให้วางมือจากธุรกิจที่เป็น เสนาพาณิชย์ แล้วกลับไปทำหน้าที่ของท่านที่ควรทำอย่างแท้จริง ขอบพระคุณ Respect
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณธีระชัย แสนแก้ว
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย กระผม ขออนุญาตท่านประธานเพื่อที่จะร่วมอภิปรายในญัตตินี้ หรือกระผมขออนุญาตเรียกสั้น ๆ ว่า ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหาร จัดการทรัพย์สินของกองทัพ ท่านประธานครับ กระผมจะไม่ขอกล่าวย้อนไปถึงอดีตหรือ ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องการบริหารสินทรัพย์ของกองทัพ และที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้กล่าวไป เบื้องต้นแล้ว แต่ขอย้อนประวัติศาสตร์นิดหน่อย ประเทศไทยเราต้องมีกองทัพในเมื่อมี กองทัพต้องมีค่ายทหารเพื่อป้องกันความมั่นคงและป้องกันข้าศึกในยามที่ภัยลุกลาม ผมเป็น คนศึกษาประวัติศาสตร์ครับท่านประธาน ผมนึกถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระนเรศวรมหาราชซึ่งกอบกู้เอกราชมา และนึกถึงพระเจ้าตากสินมหาราชเช่นเดียวกัน แต่ทหารยุคหลัง ๆ ภายใต้เปลี่ยนแปลงการปกครองผมไม่ค่อยที่จะมีความมั่นใจเท่าไร ตั้งแต่ ปี ๒๔๗๕ มา มันย้อนยุคไปเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศครับท่านประธาน กระผมที่จะกล่าว ในวันนี้ก็คือจะพูดในเรื่องปัจจุบันและเรื่องที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงทุก ๆ อย่างที่ เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพย์สินของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของกองทัพที่ส่งมอบให้พี่น้อง ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณของกองทัพที่รัฐบาลชุดนี้ เข้ามางบประมาณกองทัพก็มีการเปิดเผยมากขึ้น เดี๋ยวนี้การพิจารณางบประมาณ กำลัง พิจารณาอยู่ในวาระที่กำลังพิจารณาอยู่เป็นกระทรวง ๆ ไป ถ้าเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม เอาเต็มที่เลยท่านคณะกรรมาธิการ ท่านประธานครับ ที่กระผมกล่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพราะเรื่องที่ดินของกองทัพที่เราเห็นอย่างชัดเจน ที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากก็คือ ขอยกตัวอย่าง หนองวัวซอโมเดล อยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ครับท่านประธาน เป็นที่ดินทหาร กองทัพบก กระทรวงกลาโหม กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดที่ดินกองทัพที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีของผม ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ในอาชีพเกษตรกรรม ๙,๒๒๖ ไร่ครับท่านประธาน นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานเปิดเอง โครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบที่สร้างประโยชน์ มากมายให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นการสร้างโอกาสให้เข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และยังสร้าง ความเสมอภาคให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินครับท่านประธาน ต่อไปนำร่องอุดรธานีก็ต้องไป จังหวัดบึงกาฬ ไปอุบลราชธานี ไปโคราช ไปลพบุรี ไปไหนต่อไหนก็แล้วแต่ ที่มีทหารมันก็มี ค่ายที่นั่นครับ ต้องไปแล้วก็ต้องมีที่ดินที่นั่น ก็ต้องไปจัดแจงเอามาให้พี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องสนามกอล์ฟจะไปทำอะไรก็เอาไปทำเถอะครับ ผมจะไม่กล่าวถึง มันมีอยู่ทุกจังหวัด ที่มีค่ายทหาร อุดรธานีก็มีหนองสำโรง และกองบินที่ ๒๓ ก็มีอีก ค่ายกองบิน ๒๓ ผมตีกอล์ฟ ไม่เป็นผมก็เลยไม่กล่าวถึง แต่มันอยู่ในสนาม สนามกอล์ฟของอุดรธานีมันอยู่ในค่ายทหาร เพราะฉะนั้นเขาจะตีกอล์ฟหรือไม่ตีกอล์ฟก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราเอามาให้พี่น้องประชาชน มันก็ ไปทำนาตรงนั้นไม่ได้ครับ มันเป็นสถานที่ตรงจุดนั้นก็ให้เขาว่ากันไป และไปศึกษรายละเอียด ด้วยว่าจะเอาอย่างไร คือการศึกษามันต้องศึกษาทั้งหมดว่ามีที่ดินเท่าไร อะไรอย่างไร เท่าไร ในประเทศไทยนี้ที่ดินทรัพย์สินของทหารนี้ โดยเฉพาะที่ดินที่พี่น้องประชาชนที่ยากจนที่อยู่ อาศัยเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เขาได้ทำเป็นแหล่งเรียนรู้สนับสนุน การสร้างรายได้ การสร้างเศรษฐกิจ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ตรงจุดนี้พวกเรา หลาย ๆ จังหวัดก็ได้มีการต่อสู้ เพื่อให้ที่ดินทหารที่เขาบอกว่าที่ดินของทหาร แต่พี่น้อง ประชาชนเข้าไปครอบครอง เอามาจัดแจงให้มันเรียบร้อย ท่านประธานที่เคารพ รัฐบาลชุดนี้ ได้เพิ่มบทบาทแก่ กอ.รมน. ว่านอกจากจะรักษาความมั่นคงในประเทศแล้ว คือมันต้องรักษา ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจด้วย กองทัพต้องวางรากฐานนะครับ สร้างความพร้อมให้กับ ประเทศ สร้างคุณภาพชีวิต อย่าเอาความเป็น กอ.รมน. ไปทำร้ายประชาชนครับ รัฐบาลชุดนี้ มองเห็นว่าเรื่องความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ เป็นความมั่นคงด้านหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้เพิกเฉย ไม่ได้เป็นอย่างยิ่งครับท่านประธาน กระทรวงกลาโหมนำที่ดินในการดูแลของกองทัพมาจัดให้ พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ กระผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี กองทัพมีบทบาท ในการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้วยการสนับสนุนให้พี่น้อง ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทรัพยากร เรื่องนี้ถือเป็นการช่วยการกระจายทรัพยากรและ กระจายอำนาจบริหารจัดการไปสู่ชุมชน ให้พี่น้องประชาชนที่ยากจนมีโอกาสได้ยิ่งขึ้น และทั้งหมดนี้ก็คือการสร้างความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ ปากท้องให้แก่พี่น้องประชาชน กระผมขอให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการดังนี้ เรื่อย ๆ นะครับ อย่างเช่น ท่านรัฐมนตรีสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระโดดจากหลังควายมาเป็นท่านรัฐมนตรี ผมภูมิใจครับ ผมกระโดดจากหลังควายมาเป็น สส. ผมก็ภูมิใจ แต่ท่านสุทิน คลังแสง ได้รับ การยอมรับจากทหารตอนนี้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทหารก็คือคน คนก็คือทหาร เพียงแต่ว่า นายพลมันรวยเท่านั้นเอง แต่พวกจ่ามันจนเท่านั้นเอง เราจะต้องมาบริหารงานอย่างไร ที่กระจายประโยชน์ให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะทำปรับภาพลักษณ์ของทหารเกณฑ์ด้วย นะครับว่า จากที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์นะครับว่า การเกณฑ์ทหารที่ต้องใช้ระยะเวลา ๒ ปี เคยมองว่าในเรื่องเสียเวลาต่อลูกหลานใน ๒ ปีไม่มีประโยชน์อะไร ท่านก็จะให้การศึกษา ให้กับลูกหลาน ให้มีการเรียนหนังสือไปด้วย เพราะว่าเกณฑ์ทหารไปแล้วก็ต้องให้เรียน หนังสือ ถ้าใครจบ ม. ๖ ก็ให้เรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกครับ ถ้ายังไม่ได้ครบทหาร โดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพจะมอบการศึกษาให้กับลูกหลานของเราที่เป็นลูก คนยากจนที่ติดทหารนี้นะครับ ซึ่งรัฐมนตรีได้มีวิสัยทัศน์พูดคุยตกลงและหาแนวทางร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการเข้า มาร่วมนโยบายนี้ให้สำเร็จครับท่านประธาน โดยใช้งบประมาณของกองทัพนี้ กระผมขอ สนับสนุนนโยบายนี้ และเป็นนโยบายที่เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นในการ สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและโอกาสในความเสมอภาคให้แก่พี่น้องประชาชน ในสังคมอย่างถูกต้องที่สุดครับ สุดท้ายผมขอเสนอให้ส่งญัตตินี้ จะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญก็ไปจัดการได้มันมีทุกพรรค อยู่ในนั้น จะตั้งกรรมาธิการก่อตั้งก็แล้วแต่ เพราะผมเห็นว่ามันจะซ้ำซ้อนกัน เพื่อที่จะให้ คณะกรรมาธิการการทหาร ซึ่งท่านวิโรจน์ ที่ได้อภิปรายไปเมื่อเช้านี้ท่านก็เป็นประธาน อยู่แล้วจัดการให้เรียบร้อยเลยว่าจะเอากันอย่างไร ไปศึกษาไปดูแลให้เรียบร้อยภายใน ๒ เดือน ๓ เดือน ๙ เดือน หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านจัดการมาให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ส่งให้ รัฐบาลไปดำเนินการจัดการ แต่รัฐบาลได้ทำล่วงหน้าไปแล้ว พวกผมในฐานะที่เป็น สส. บ้านนอกก็ติดตามเรื่องนี้เช่นเดียวกันครับท่านประธาน การพิจารณาการศึกษาต้องเอาให้ ชัดเจน ถ้าทำแล้วอย่ากลัว ถ้ากลัวแล้วอย่าทำ แต่ผมขอบอกว่าทหารยุคนี้ผมเชื่อมั่น ขออย่างเดียวว่าอย่ามายึดอำนาจอีก ขออย่างเดียวเลย ผบ.ทบ. คนไหนเวลาวิ่งตาม ท่านยิ่งลักษณ์ วิ่งตามท่านทักษิณ บอกว่าจะไม่ยึดอำนาจก็ยึดอำนาจ ขอร้องเถอะ วิ่งตาม ท่านยิ่งลักษณ์ท่านประยุทธ์นี่ละครับ ขออนุญาตครับ ท่านบอกว่าจะไม่ยึดอำนาจ ก็ยึด อำนาจอีกครับ ขออนุญาตคนต่อไปอย่ายึดอำนาจอีกครับ ขอขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวีรนันท์ ฮวดศรี ครับ
นายวีรนันท์ ฮวดศรี ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม วีรนันท์ ฮวดศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ตำบลในเมือง ตำบลเมืองเก่า ตำบล พระลับ ผมขอใช้เวลาในสภาแห่งนี้เพื่ออภิปรายสนับสนุนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านประธานครับ รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๒ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบัน พระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย มีเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชน พูดโดย สรุปง่าย ๆ ครับท่านประธาน กองทัพมีหน้าที่ดูแลในเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการพัฒนาประเทศ ท่านประธานครับ พอเข้าไปดูในเนื้อหา ในสิ่งที่กองทัพทำจริง ๆ กลับพบว่า กองทัพนั้นถือครองที่ดินเกินกว่าครึ่งก็คือ ๗.๕ ล้านไร่ จาก ๑๒ ล้านไร่ ก็คือถือครองที่ดินของกรมธนารักษ์ อย่างที่ท่าน สส. เบญจา แสงจันทร์ ได้อภิปรายไปแล้วนั้น พบว่ากองทัพได้นำที่ดินที่มีอยู่ไปประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ใน การกำกับดูแลของกองทัพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสนามมวย สนามม้า ผลิตไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน ตลาดสวัสดิการ โรงแรม และสร้างบ้านขยายกำลังพล ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนารักษ์ประชารัฐ สถานีโทรทัศน์มากมาย รวมถึงคลื่นความถี่ต่าง ๆ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลครับ ท่านประธาน ประเทศไทยมีสนามกอล์ฟมากเป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลก ซึ่งเป็นของกองทัพ มีอยู่ประมาณ ๗๔ แห่ง มีสนามกอล์ฟ ๒ แห่ง และสนามไดรฟ์กอล์ฟ อีกอย่างน้อย ๒ แห่ง ที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นบ้านผมครับท่านประธาน สนามที่หนึ่งเป็นสนามกอล์ฟที่เรียกกันติด ปากว่า สนามกอล์ฟ ร. ๘ หรือว่าชื่อเต็ม ๆ คือ สนามกอล์ฟสีหราชเดโชไชย กรมทหารราบ ที่ ๘ เป็นสนามกอล์ฟขนาด ๙ หลุมครับท่านประธาน สนามกอล์ฟ ร. ๘ นี้อยู่ติดกับสนามบิน นานาชาติขอนแก่นครับท่านประธาน เวลาการท่าอากาศยาน ปัญหาคือจะขอขยาย Runway ขอแล้วขออีก ไม่ได้ครับ หวงครับ หวงบักคักครับท่านประธาน และอีกสนามหนึ่ง คือสนามค่ายมหาศักดิพลเสพ อำเภอชุมแพ เป็นสนามกอล์ฟขนาดเดียวกัน ๙ หลุม ซึ่งสนาม กอล์ฟทั้ง ๒ นี้เป็นที่ราชพัสดุ ให้ทหารเข้าไปใช้ประโยชน์ ถือเป็นที่ดินของรัฐและเข้าทำ ประโยชน์โดยกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ท่านประธานครับ คำถามก็คือว่าการที่กองทัพ ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น สนามกอล์ฟแบบชัด ๆ นะครับ ในการดูแลของกองทัพ ด้วยภาษีและที่ดินของประชาชนเช่นนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ และไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จากการตรวจสอบพบว่าสนามกอล์ฟดังกล่าวมีการเก็บค่าบริการ ในการใช้สนามกอล์ฟครับท่านประธาน การที่กองทัพนำที่ราชพัสดุก็ดีมาดำเนินธุรกิจ เก็บเงินค่าใช้บริการในการเข้าสนาม มีคนเข้าไปใช้บริการเกือบทุกวัน มีทั้งนายทหาร มีข้าราชการ มีนักกอล์ฟและประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของสนามกอล์ฟแห่งนี้ การที่กองทัพใช้ที่ดินในการทำธุรกิจเช่นนี้ มีการส่งเงิน จ่ายเงินค่าธรรมเนียมกลับคืนให้รัฐ บ้างหรือไม่นะครับ คำถามที่ ๒ คือจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ท่านประธานครับ การดำเนินธุรกิจของกองทัพ หรือที่หลายๆ ท่านเรียกว่า เสนาพาณิชย์ ไม่มีทั้งความโปร่งใส นี่คือข้อห่วงกังวล ไม่มีความโปร่งใสทั้งกระบวนการการดำเนินการ รายรับ รายจ่าย บุคลากรที่ใช้ จากการที่ผมได้ติดตามงบประมาณของกองทัพที่เพื่อนสมาชิก พรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ครับ พบว่าได้มีการขอเอกสารไปหลายครั้งหลายหน เกี่ยวกับรายรับรายจ่าย หรือว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองทัพที่ได้จากการทำธุรกิจภายใน กองทัพ ตลอดจนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้เอกสาร ยังไม่มีการเปิดเผยครับว่ากองทัพมีรายได้ มากน้อยเพียงใดจากการประกอบธุรกิจ หรือพูดง่าย ๆ ไม่มีความชัดเจนว่า กองทัพมีรายรับ จากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่กล่าวมามากน้อยเพียงไรครับ ท่านประธานครับ กองทัพ ในฐานะผู้ที่ใช้ภาษีของประชาชน ประชาชนเสียภาษีให้แล้ว ท่านดำเนินธุรกิจและใช้กำลังพล ของชาติ ใช้ที่ดินของรัฐในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของกองทัพ ผมจึงอยากจะทราบว่าธุรกิจ เหล่านี้ได้เงินปันผลเท่าไร รายได้กลับคืนรัฐเท่าไร แล้วก็ได้ส่งค่าธรรมเนียมมากน้อยเพียงใด เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วรัฐจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการทำธุรกิจของกองทัพ ถ้าไม่ได้ ประโยชน์อะไร ก็ไม่ควรมีธุรกิจของกองทัพนะครับ หรือไม่ก็ถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของพลเรือน หรือไม่ก็กระทรวงการคลัง เพื่อความโปร่งใสครับ ท่านประธาน การที่กองทัพถือครองธุรกิจต่าง ๆ นี้ ก็ควรให้สำนักงบประมาณและสภา ผู้แทนราษฎรสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตามกระบวนการงบประมาณเหมือนหน่วยงาน รัฐอื่น ๆ ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เพราะตามหน้าที่ที่กล่าวมาไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ โดยตรงในการจัดหรือดำเนินการธุรกิจต่าง ๆ ที่กองทัพดำเนินการอยู่ควรให้ประชาชนหรือ ผู้แทนของประชาชน หรือว่าองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้พลเรือนเข้าไปตรวจสอบได้นะครับ เพื่อความโปร่งใสและทำให้ทหารมีความน่าเชื่อถือ เป็นรั้วของชาติอย่างที่พวกเราหลาย ๆ ท่านท่องมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้พอเรานึกถึงทหาร เรานึกถึงความดำมืด เรานึกถึงดินแดน สนธยา เรานึกถึงความไม่โปร่งใส เรานึกถึงความลับต่าง ๆ มากมายที่ไม่สามารถเข้าไป ตรวจสอบได้ ที่ไม่สามารถก้าวก่ายก้าวเท้าผ่าน หรือว่านำข้อมูลจากภายในกองทัพออกมา เปิดเผยสู่สาธารณะได้ครับ สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ ด้วยเหตุผลที่ผมได้อภิปรายมา ทั้งหมดแล้วนั้น ผมจึงขอสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา ศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณเจษฎา ดนตรีเสนาะ ครับ
นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม เจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๒ พรรคก้าวไกล คนปทุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขออนุญาตขอสไลด์ด้วยครับ
นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ ปทุมธานี ต้นฉบับ
วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติ ขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ของ ประชาชน ในจังหวัดปทุมธานีนะครับ โดยเฉพาะปทุมธานี เขต ๒ ของบ้านผมมีพื้นที่ ที่เรียกว่าสวนสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Public Space จำนวนน้อยมากครับท่านประธาน น้อยขนาดไหนครับ อำเภอเมืองปทุมธานีมีพื้นที่ที่เรียกว่า สวนสาธารณะหรือสวนสุขภาพ แค่แห่งเดียวเองครับท่านประธาน แห่งเดียวมีขนาดใหญ่ขนาดไหนครับ มีขนาดแค่ ๕-๖ ไร่ เท่านั้นครับ แต่จำนวนประชากร ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ยังไม่รวมประชากรแฝงนะครับ แล้วก็ มีสนามเล็ก ๆ ที่เป็นสนามบาสเกตบอล สนามฟุตซอล หรือว่าเป็นสนามที่เรียกว่าสนาม เด็กเล่นที่เป็นของหน่วยงานราชการนับแห่งได้ครับ เพราะฉะนั้นมันไม่เพียงพอกับ ความต้องการของประชาชนที่ต้องการการออกกำลังกายหรือพื้นที่ภายนอกบ้าน รัฐก็จำเป็น จะต้องส่งเสริมการออกกำลังกายหรือการรักษาสุขภาพของประชาชนนะครับ เพราะว่าหากประชาชนสุขภาพดี รัฐก็ประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลไปนะครับ อันนี้คือสนามกีฬาธูปะเตมีย์ ขนาด ๖๐๐ กว่าไร่ บริเวณรอบ ๆ ที่ท่านเห็น เล็ก ๆ นั่นคือ บ้านคนนะครับ ในสไลด์นี้ประมาณการได้ว่ามีคนอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ คน ครับท่านประธาน แค่กรอบ ๆ นี้กรอบเดียวนะครับ จุดนี้คือนจุดที่หนาแน่นที่สุดของจังหวัด ปทุมธานี แต่พื้นที่สาธารณะที่จะให้ประชาชนมาออกกำลังกายกัน มาพูดคุย พาลูกหลานมา วิ่งเล่นนี่ไม่มีนะครับ มีจุดนี้ใหญ่ที่สุดครับท่านประธาน ในเขตผมเล็กกว่านี้เยอะครับ เล็กกว่านี้ เป็นหลักร้อยเท่า เพราะฉะนั้นอันนี้มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกผมผู้แทนราษฎรจังหวัด ปทุมธานีพยายามเรียกร้องว่ามีความสำคัญกับคนปทุมธานี พื้นที่ผมหากคนต้องการออก กำลังกายต้องไปไหนครับท่านประธาน ต้องไปสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอปากเกร็ด ต้องไปใช้สนามฟุตบอลลู่วิ่งของมหาวิทยาลัยรังสิตครับ เพราะว่าอะไรครับ เพราะว่าในพื้นที่ ไม่มีครับประธาน สวนสาธารณะและพื้นที่ทำกิจกรรมมีขนาดเล็ก มีจำนวนน้อย มีจำนวน ไม่เพียงพอ จังหวัดปทุมธานีมีประชากร ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน มีสวนสาธารณะเอาเป็นว่าใหญ่ กว่า ๑๐ ไร่นี่ นับจำนวนได้ครับท่านประทาน เผลอ ๆ ไม่ถึง ๒๐ แห่ง แล้วอย่างนี้ประชาชน จะมีสุขภาพที่ดีด้วยตัวเองได้อย่างไรในเมื่อสถานที่ของทางหน่วยราชการไม่อำนวย การขยายตัวของชุมชนก็จะมีความต้องการพื้นที่สาธารณะ แล้วก็มีพื้นที่นอกบ้านมากขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาของชุมชนนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้บ้านในพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี บ้านผม ขนาดก็เล็กนะครับ บริเวณบ้านก็น้อย หมู่บ้านถึงมีที่สาธารณะส่วนกลางก็เป็นเพียงจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของการใช้ชีวิตของประชาชน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นส่วนสำคัญ มาก ๆ ที่รัฐจะต้องดูแลแล้วก็สนับสนุนนะครับ เมื่อเทียบกับการหารายได้และการหา สวัสดิการภายในกองทัพ ผมว่าความต้องการพื้นที่สาธารณะของประชาชนต้องเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็สิ่งที่มาก่อนนะครับ ถามว่าการหารายได้และสวัสดิการของกองทัพมันหายไปเลยไหม ไม่ได้หายไปนะครับ เพียงแต่ว่าย้ายไปอยู่ที่อื่นแค่นั้นเองครับ ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ประชากร หนาแน่นน้อยหรือมีความต้องการใช้พื้นที่น้อยกว่า อันนี้คือในเขตของผมนะครับ ศูนย์ซ่อม สร้างสิ่งอุปกรณ์สรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ตอนนี้ริมคลองเปรมประชากรมีปัญหาเรื่องการสร้างบ้านมั่นคงที่สร้าง บริเวณริมคลองไม่มีสถานที่ก่อสร้างบ้านครับท่านประธาน หากเราเอาที่แปลงนี้ไปสร้างบ้าน ให้ประชาชน เอาแค่หลังละ ๒๐ ตารางวาพอครับ ได้บ้านเกือบ ๒,๐๐๐ หลัง ๒,๐๐๐ หลังนี้ เยอะขนาดไหน คลองเปรมประชากรตั้งแต่กรุงเทพมหานครจนไปถึงปทุมธานีมีความยาว ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ๒,๐๐๐ หลัง ได้ครึ่งหนึ่งเลยครับท่านประธาน เพราะว่าบ้านทั้งหมด มีประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าหลัง รวมของจังหวัดปทุมธานีด้วย ของกรุงเทพมหานคร ๔,๐๐๐ กว่าหลัง ของจังหวัดปทุมธานี ๗๐๐ กว่าหลัง รวมกันแล้ว ๕,๐๐๐ กว่าหลัง พื้นที่ ๑๐๐ ไร่ ช่วยให้ประชาชนมีบ้านอยู่ได้ ๒,๐๐๐ หลังครับท่านประธาน พื้นที่สาธารณะหรือ ที่ว่างของรัฐควรได้รับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองสุนทรียภาพของเมืองและ ผู้คน ชีวิตที่สร้างสรรค์ ความสุขของชีวิตนอกบ้าน การอยู่ร่วมกันแล้วก็ชีวิตที่มีคุณภาพของ ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่เหมือนว่ารัฐก็จะละเลย เพราะฉะนั้นผมก็อยากให้หน่วยงาน ราชการหรือรัฐบาลหันมาให้ความใส่ใจกับพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะตรงนี้มากขึ้น ถ้าท่านไปดูจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะเขตของผมมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทุกวัดที่เปิดให้ อาหารปลา ตอนเย็นจะมีพ่อแม่พาผู้เฒ่าผู้แก่ พาเด็ก ๆ ไปเยอะมากครับ เพราะว่าพื้นที่ ริมแม่น้ำตอนเย็นอากาศเย็น ลมพัด ก็เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพียงแต่ว่ามันก็เป็นเพียง หน้าวัดครับท่านประธาน มันไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่มีจำนวนมาก หรอกครับ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่ารัฐจะไม่ได้ส่งเสริม สักเท่าไร ผมก็อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ที่เรียกว่า Public Space หรือพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นกับประชาชน แล้วก็อยากให้ส่งเสริม หน่วยราชการใด โดยเฉพาะหน่วยราชการทหารที่มีพื้นที่จำนวนมาก สามารถแบ่งส่วนนี้มาให้ประชาชนใช้ ประโยชน์ได้นะครับ อย่างไรก็ฝากรัฐบาลด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอวังจันทร์ครับ วันนี้ขอร่วมอภิปรายญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะขออนุญาตอภิปรายโดยใช้ข้อมูลที่จะสนับสนุน กรรมาธิการชุดนี้ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมขออ้างอิงถึงเรื่องราวที่เงียบหายไป หลังสมัยสภา ชุดที่ ๒๕ ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้วหลังจากการเปลี่ยนรัฐบาลครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องราวในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีการอภิปราย ไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร โดยท่านอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านวิสาร เตชะธีราวัฒน์ พรรคเพื่อไทย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้มีการพูดถึงโครงการบ้านธนารักษ์ จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ ๘๒ ไร่ ในรายละเอียดระบุว่ากองทัพบกไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแล ซึ่งกรมธนารักษ์ แบ่งแปลงแล้วต่อสัญญาได้ทุก ๓๐ ปี มีเงื่อนไขเป็นสวัสดิการทหารในการอภิปรายครั้งนั้น ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าอัตราค่าเช่าต่ำทั้งที่อยู่ในบริเวณริมแม่น้ำกก หลังศาลากลางจังหวัด เชียงราย ค่าเช่าเริ่มปีแรก ๑.๕ บาทต่อตารางวาต่อเดือน สามารถโอนสิทธิขายต่อให้เอกชนได้ เมื่อครบ ๕ ปี มีการตั้งคำถามว่ากองทัพบกได้อะไร และขยายขอบเขตว่าไม่จำเป็น ต้องเป็นข้าราชการกองทัพบก แต่เป็นลูกจ้าง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจอื่นได้ ซึ่งที่บริเวณเคียงข้างกันติดไร่ละ ๘-๑๐ ล้านบาท บ้านหลังดังกล่าวขายดีมากในราคา ๖๐๐,๐๐๐-๑,๘๕๐,๐๐๐ บาท ๒๗๓ แปลง ถูกเปลี่ยนไปยังบุคคลอื่นหรือทหารยศนายพล ซึ่งไม่ใช่นายทหารในพื้นที่ รวมถึงในการอภิปรายครั้งนั้นยังมีการอภิปรายถึงโครงการ ไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงราย บนที่ราชพัสดุ มีหลักเกณฑ์เพื่อฟื้นฟูทหารที่พิการ เจ็บป่วย โดยทำอาคารหลังใหญ่ ๓ หลัง ใช้เงินหลายร้อยล้านบาท สุดท้ายปล่อยให้เอกชนเช่า เรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่าไปถึงไหนแล้วนะครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องถัดมา ก็จะขอ Rerun กลับมาเพื่อเป็นประโยชน์กับทางกรรมาธิการ วิสามัญที่จะตั้งขึ้นอีก ๑ เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ในการ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยไม่มีการลงมติครับ โดยขณะนั้นทางคุณจิราพร สินธุไพร ขออภัยที่เอ่ยนาม แต่ไม่เสียหายนะครับ เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ได้ทวงถามนโยบายเร่งด่วน เรื่อง การปราบปรามทุจริต ว่าได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงได้ดำเนินการกับบุคคลใกล้ตัวของนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น คือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ โดยในการอภิปรายคุณจิราพรได้พูดถึง หลานชายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้มีการเปิดธุรกิจโดยใช้บ้านพักในค่าย สมเด็จพระเอกาทศรถ ในการทำธุรกิจส่วนตัวนานถึง ๕ ปี โดยเนื้อหาการอภิปรายมีการ กล่าวว่าธุรกิจดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนสีเทาของตู้ห่าวด้วย เรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่า มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเป็นการโชคดีมากที่รอบนี้ทางพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของพรรคเพื่อไทย คือท่านสุทิน คลังแสง ด้วย ดังนั้น การสืบหาเรื่องนี้น่าจะไม่ยากครับ แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ตรงไหนต่อ อย่างไร เอาเข้ากับคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ก็ได้นะครับ เดี๋ยวเราจะได้มาติดตามเรื่องนี้ต่อกัน ประชาชนรอฟังอยู่นะครับ นี่เป็นโอกาสในการติดตามเรื่องที่ทางพรรคอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ด้วยกัน ในสมัยประชุมสภาที่แล้วได้อภิปรายไว้ทั้งหมดและได้เงียบหายไป ครั้งนี้ในเมื่อท่าน ได้ไปเป็นรัฐบาลแล้วเราในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่จะได้ร่วมทำงานกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงขอให้เอาเรื่องเหล่านี้บรรจุไว้เพื่อศึกษาร่วมกัน เพื่อจะได้มีความชัดเจนและต่อเนื่องว่า สิ่งที่เคยได้อภิปรายไว้ในสภาแห่งนี้มีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด จะได้เป็นผลงานของท่าน ในการติดตามเรื่องที่เคยทำด้วยกันในสมัยอยู่ร่วมกันเป็นพรรคฝ่ายค้าน วันนี้ท่านเป็นรัฐบาลแล้ว เดี๋ยวเราจะช่วยติดตามเรื่องนี้กันในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสุดท้าย ที่จะอภิปรายนะครับ คุณสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ครับ
นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ จากพรรคก้าวไกลครับ ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติของ คุณเชตวัน เตือประโคน โดยขอพูดถึงพื้นที่สาธารณะของจังหวัดปทุมธานีดังนี้นะครับ WHO หรือองค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอัตราส่วนอย่างน้อย ๙ ตารางเมตรต่อคน จากข้อมูลสถิติกรุงเทพมหานครด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า กรุงเทพมหานคร มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ ๗.๔ ตารางเมตรต่อคน แน่นอนว่าต่ำกว่าหลักเกณฑ์ ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนด ยังไม่ได้นับรวมประชากรแฝงที่จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าว ตกต่ำลงไปอีกนะครับ ทีนี้เรามาดูจังหวัดปทุมธานีบ้าง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์มีพื้นที่ราว ๑,๕๒๖ ตารางกิโลเมตร ในขณะพื้นที่สาธารณะมีเพียงประมาณ ๑๓ แห่ง แต่ละแห่งมีเนื้อที่ ๓-๑๒ ไร่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ๑,๑๙๐,๐๖๐ คน แล้วประชากรแฝงอีก ๖๖๘,๐๐๐ คน คิดเป็นพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพียง ๐.๕ ตารางเมตร ต่อคน น้อยกว่าค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ๙ ตารางเมตรต่อคนถึง ๑๘ เท่าครับ อำเภอ ในจังหวัดปทุมธานี แม้ว่าจะเป็นเขตชานเมืองอย่างอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก หรืออำเภอหนองเสือที่ยังพอมีพื้นที่สีเขียว ซึ่งผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ล้วนแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะให้พี่น้องประชาชนได้พักผ่อนเลยครับ ท่านประธานครับ ส่วนอำเภอเขตเมือง อย่างเช่น อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอเมือง และอำเภอคลองหลวง ยิ่งโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครรังสิต เทศบาลคลองหลวง เทศบาล เมืองคูคตและเทศบาลเมืองลำสามแก้ว เป็นเขตที่มีความเป็นเมืองสูงมีประชากรอาศัยอยู่ อย่างหนาแน่น แต่กลับกันแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวให้ฟอกปอดเลยครับ ในพื้นที่เขต ๔ จังหวัด ปทุมธานีของผมชาวรังสิต ประชาชนต้องวิ่งออกกำลังกายริมเขื่อน หน้าถนนเลียบประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์ รถก็วิ่งไปมาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเรื่อย ๆ ให้ประชาชนที่วิ่งออก กำลังกายอยู่ก็วิ่งไปสูดดมก๊าซไปนะครับ ในระยะยาวก็จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี มิเช่นนั้น ก็ต้องไปออกกำลังกายในสนามของเอกชนหรือไปเดินตามห้าง ซึ่งก็มีค่าเช่า ค่าเข้าบริการ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์พื้นที่ ๖๐๔ ไร่ ตั้งอยู่ขอบของจังหวัดปทุมธานีที่ตำบลคูคต อำเภอ ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานครที่เขตดอนเมืองพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี ๕ กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่หลายแสนคน แต่พื้นที่ ๖๐๔ ไร่นี้ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าพื้นที่ สาธารณะ ๑๓ แห่ง ที่ผมเคยกล่าวไว้ รวมข้างต้นรวมกันเสียอีกนะครับ กลับถูกใช้เป็นธุรกิจ กองทัพอย่างที่ สส. เชตวัน เตือประโคน ได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ถ้าพื้นที่สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์แห่งนี้ถูกใช้เป็นสวนสาธารณะจะภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ดี หรือยังจะเป็นของกองทัพอยู่ก็ดี แล้วเอามาให้ประชาชนรอบ ๆ ได้เข้ามาใช้บริการ เหมือนกับสวนลุมพินีแถว ๆ ถนนพระราม ๔ ในกรุงเทพมหานคร ประชาชนก็จะมีความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะมีพื้นที่พบปะสังสรรค์ สร้างสังคมมีพื้นที่สร้างศูนย์การเรียนรู้ และมีพื้นที่สาธารณะพื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดของชาวปทุมธานี เขตรังสิต อำเภอคูคต และเขตดอนเมือง ในฐานะที่ผมเองก็เป็นกรรมาธิการการสาธารณสุขด้วยนะครับ ผมเชื่อว่า สุขภาพที่ดี อายุขัยที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ จะมี มูลค่าต่อประเทศชาติอย่างมหาศาลประเมินค่าไม่ได้นะครับ เป็นสิ่งที่รัฐบาลก็ต้องมองภาพรวม ในตรงนี้ด้วย ผมจึงขอสนับสนุนญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ในความครอบครอง ของ กองทัพอากาศเพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เนื่องจากมีผู้อภิปรายเสร็จสิ้นแล้วนะครับ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ เมื่อการอภิปราย เสร็จสิ้นแล้วผู้เสนอญัตติทั้ง ๓ ญัตติ ก็มีสิทธิที่จะอภิปรายสรุปอีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมขอเชิญ ญัตติแรกของคุณเบญจา แสงจันทร์ ซึ่งได้มอบให้คุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ เป็นผู้สรุปเชิญครับ ตกลงคุณจิรัฏฐ์แทนหรือคุณเบญจาจะอภิปรายจะสรุป กรรมการประสานงานเบื้องต้นว่า คุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ จะเป็นผู้สรุปแทน จะขอให้คุณเชตวัน เตือประโคน ญัตติที่ ๒ เป็นผู้สรุปก่อนได้ครับ เชิญครับ
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม เชตวัน เตือประโคน สส. พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี พื้นที่เทศบาล เมืองคูคต เทศบาลเมืองลำสามแก้ว และเทศบาลเมืองลาดสวาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์ตั้งอยู่และเป็นคนเสนอญัตตินี้นะครับ ท่านประธานครับ ตั้งแต่นำเสนอเรื่องนี้ สู่สาธารณะ มีหลายประเด็นจากฝ่ายที่ยังอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ในครอบครัวของ กองทัพยังอยากเห็นสนามกอล์ฟแห่งนี้ต่อไป หรือพูดง่าย ๆ คือฝ่ายที่ค้าน มีอยู่ ๓-๔ เรื่อง ที่ปรากฏขึ้นมาครับ
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
ข้อโต้แย้งที่ ๑ คำถามที่ว่าใครจะมีศักยภาพดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ พื้นที่ ๖๒๕ ไร่นี้ คำตอบครับผมอภิปรายไปแล้ว นั่นก็คือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ อบจ. ปทุมธานี จัดทำบริการสาธารณะในเรื่องการทำสวนสาธารณะ แบบนี้อยู่แล้วและยิ่งหากมีการกระจายอำนาจอย่างที่ทุกคนอยากเห็น อย่างที่ สส. หลายท่าน อย่างที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ อยากเห็น กระจายอำนาจ กระจายงาน กระจายเงิน กระจายคน เกิดขึ้นอย่างเต็มสูบ ก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่านี่จะเป็น Public Space เป็นสวนสาธารณะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้การดูแลของ อบจ. ครับ เพราะในวันนี้แม้จะยังไม่มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มสูบ ทางนายก อบจ. ปทุมธานี ก็บอกว่าสามารถที่จะดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ได้สบายมาก
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
ข้อโต้แย้งที่ ๒ จะทำให้ Caddy กว่า ๕๐๐ คนตกงาน ก่อนอื่นนะครับอาจจะ ต้องถามกลับไปหน่อยว่าการจ้างงานในลักษณะรายวันแบบนี้ของกองทัพ คือถ้ามาทำงาน ก็ได้เงิน อยากออกรอบก็หวังว่าจะได้ Tip นั้นเป็นงานที่มีความมั่นคงแล้วหรือครับ สวัสดิการ ควรต้องดีกว่านี้ไหม ดังนั้นข้อเสนอของผมก็คือก็เอา Caddy มาเป็นพนักงานของ อบจ. มีเงินเดือน มีหน้าที่ มีวันเวลาทำงานที่ชัดเจน สำหรับใครที่สมัครใจมาดูแลในส่วนของ Public Space ดูแลสวนสาธารณะศูนย์เรียนรู้แห่งนี้
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
ข้อโต้แย้งที่ ๓ ข้ออ้างจากตัวแทนกองทัพอากาศที่เคยมาชี้แจงในกรรมาธิการ การทหารเรื่องของแนวร่อน แนวร่อนนะครับ กองทัพอากาศเคยชี้แจงไว้ในกรรมาธิการ การทหารว่าต้องสงวนให้เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวร่อนของเครื่องบิน ผมไปดูมาแล้วครับ สิ่งที่เรียกว่า แนวร่อนตามหลักการบินพลเรือน ตั้งแต่หัวสนามบินจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ระยะนี้ห้ามอะไรครับ ก็ต้องไปดูประกาศสำนักการบินพลเรือน เรื่องการ ดำเนินกิจกรรมภายในเขตปลอดภัยการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๓ ห้ามกิจกรรมในลักษณะ ดังต่อไปนี้ ปล่อยแสงไฟภาคพื้น ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปล่อยคลื่นไฟฟ้า ปล่อยไอน้ำ หรือควัน ปล่อยบอลลูนล่าม เพราะแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ครับรบกวนการบิน แต่ถามหน่อย มันเกี่ยวอะไรกับสนามกอล์ฟกองทัพอากาศหากเปลี่ยนไปเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ ประโยชน์ ไม่เกี่ยวกันเลยครับท่านประธาน และยิ่งไปดูในแนวร่อนที่ว่านะครับ ในระยะ ๑๐ กิโลเมตรที่ว่านี้นะครับ จะเห็นว่ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่หนาแน่นตลอดแนว ถ้าจะปล่อยให้โล่งบางทีอาจต้อง Clear ยาวไปจนถึงอำเภอธัญบุรี คลอง ๓ หรือแม้แต่จาก สนามกอล์ฟก่อนที่จะถึงหัวสนามบินก็มีตึกสูง มีชุมชนอยู่เยอะแยะมากมายต้อง Clear ไหม แล้วอะไรคือความมั่นใจว่าจะไม่มีกิจกรรมห้ามนั้นเกิดขึ้นในที่เอกชนเหล่านี้ ดังนั้นเรื่อง แนวร่อนจึงเป็นแค่ข้ออ้าง
นายเชตวัน เตือประโคน ปทุมธานี ต้นฉบับ
ข้อโต้แย้งที่ ๔ ข้อโต้แย้งสุดท้ายครับ พอดีผมเปิดอ่านเอกสารประกอบ การพิจารณานะครับมีบทวิเคราะห์เอกสารนี้ ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ขออนุญาตอ่าน สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์อยู่ในบริเวณที่ตั้งของกองทัพอากาศ ดังนั้นหากมีการเรียกคืนที่ ราชพัสดุเพื่อมาก่อสร้างสวนสาธารณะแล้ว บริเวณดังกล่าวจะมีความปลอดภัยของ ประชาชนที่เข้ามาออกกำลังกายหรือไม่ เนื่องจากภายในกองทัพมักจะมีสนามซ้อมยิงปืน และอาจมีกระสุนมาตกในบริเวณดังกล่าวได้ ฟังแล้วอย่างไรครับท่านประธาน อะไรกันนี่ ผมถามว่าแล้วกระสุนมันไม่ได้ตกโดนคนตีกอล์ฟ หรือครับถ้าอย่างนั้น นี่ผมก็เพิ่งทราบนะครับ ว่านอกจากเราจะต้องห่วงเรื่องของลูกกอล์ฟ มาตกใส่หัวเรา ตกใส่บ้านเรือนเราตามที่ผมอภิปรายไปแล้วในช่วงเปิดญัตติ เราต้องมาห่วง กระสุนอีกด้วยหรือ สนามยิงปืนของกองทัพอากาศไม่มีความปลอดภัยขนาดนั้นเลยหรือครับ ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น และนี่เป็น ๓-๔ ข้อโต้แย้งหลังจากที่ผมมีการเสนอเรื่องนี้ออกไป อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ สมาชิกที่ช่วยกันอภิปรายในญัตตินี้นะครับ และคาดว่า จะช่วยกันลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อให้มีการศึกษาหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ครับ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวปทุมธานี ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขอเชิญคุณเอกราช อุดมอำนวย ครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านประธานนะครับ ที่ให้ผมได้สรุปญัตติที่ผมได้เสนอไป แล้วก็จากการฟังเพื่อน สมาชิกได้อภิปรายมา ผมก็คิดว่าสุดท้ายนี้ผมก็จะต้องทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงจะต้องมี การศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่ในการบริการของกองทัพไปอยู่ในหน่วยงานที่เหมาะสม มากกว่า หรือว่าธุรกิจต่าง ๆ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ผมยกตัวอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็น เคสที่เกิดขึ้นในเขตดอนเมืองกรณีของสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็น ๑ ในสนามบินที่ถูกระบุว่า มีความอันตราย มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในเรื่องของพื้นที่ Airside ที่มีสนามกอล์ฟ ตั้งอยู่ด้านข้าง อันนั้นก็เป็นรายละเอียดที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่ท่านประธานครับ มันเป็น สิ่งที่เสี่ยงด้านความปลอดภัยการบิน มันเพิ่มความยากลำบากในการควบคุมการจราจรทาง อากาศหรือนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ เพราะฉะนั้นผมต้องเป็นกระบอกเสียง เป็นปาก เป็นเสียง หน่วยงาน ทอท. นี้นะครับ มีการให้ข้อมูลที่จะบอกว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ กองทัพอากาศจะต้องให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องของการขยายรางน้ำ ทั้งเรื่องของการปรับปรุง พื้นที่ ทั้งเรื่องของการพิจารณาว่าจะต้องมีการเชื่อมโยงในเรื่องของสนามกอล์ฟกานตรัตน์ อย่างไร อย่างที่ทราบครับ ที่ผ่าน ๆ มานั้น นอกจากรายได้จะเข้าไปเพื่อสวัสดิการต่าง ๆ ที่กองทัพอากาศได้อ้างมาต่าง ๆ นี้นะครับ แต่ส่วนหนึ่งรายจ่ายครับ การท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานต้องแบกรับรายจ่ายส่วนนี้ให้กับกองทัพอากาศ และรายได้ที่กองทัพอากาศ ได้ก็ไม่มีความโปร่งใส เพราะสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารายได้จำนวนมาก เท่าไรและนำไปใช้อะไร นอกจากนี้ธุรกิจของกองทัพเอง นอกจากสนามกอล์ฟแล้วก็มีธุรกิจ อื่น ๆ อย่างที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปราย แต่ถ้าจะเห็นชัดสุดว่าตัวอย่างของสนามกอล์ฟ กานตรัตน์ ถ้าหากปรับปรุงพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรฐานการบินแล้ว และกองทัพอากาศให้ความร่วมมือในการเป็นประตูหน้าบ้านให้กับสนามบินดอนเมือง ให้สามารถที่จะเป็นจุดพักคอยหรือว่าจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้มาใช้และเก็บภาษี เก็บรายได้จริงจัง ทำเป็นเชิงธุรกิจพาณิชย์ที่รัฐบาลดูแลหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านของสนามกอล์ฟมาดูแลก็จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว ต่อสนามบินต่อรายได้ของประเทศมากขึ้น ผมจึงเรียกร้องว่าอยากให้กรรมาธิการชุดนี้ ได้ศึกษาว่าสนามกอล์ฟควรจะถูกย้ายออกจากพื้นที่ Airside หรือไม่ หรือถ้าหากยังจะคงอยู่ จะรักษาความปลอดภัยการบินอย่างไร ในความเห็นของผมเพียงคนเดียวคงไม่พอ แต่การตั้งกรรมาธิการชุดนี้น่าจะเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เอาผู้ที่มีประสบการณ์ หรือว่า ทำการศึกษาอย่างรอบด้านว่าจะต้องทำอย่างไรให้ได้เป็นมาตรฐาน รวมถึงปรับปรุงพื้นที่ แล้วโอนธุรกิจเพื่อดูแลเชื่อมต่อผลประโยชน์ของชาติ ท่านประธานครับ แนวทางการปฏิรูป ของกองทัพนำธุรกิจให้รัฐบาลดูแลในยุคปัจจุบันนี้มันควรจะมีความโปร่งใสหรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็ควรจะเพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพให้ ธุรกิจมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นนะครับ เพราะเป็นเรื่องของ ความโปร่งใสในการจัดการทรัพยากรและการปฏิบัติงาน การปฏิรูปนี้จะมุ่งเน้นไปที่การแยกธุรกิจออกจากการดำเนินงานทางการทหารเพื่อลด ความขัดแย้งของผลประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมและจัดการทรัพยากร ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนี้จะเอาจริงหรือไม่ อย่าลืมนะครับ ท่านแถลงต่อสภาแห่งนี้เอาไว้ เพราะฉะนั้นการกำหนดแนวนโยบายการปฏิรูปก็เริ่มต้นด้วยการ ๑. มีนโยบายที่ชัดเจนก่อน ว่าจะดำเนินธุรกิจของกองทัพ กระทรวงกลาโหมจะทำอย่างไร รูปแบบของการบริหารจัดการ ที่เหมาะสมคืออะไร และสร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจน แยกหน้าที่ระหว่างกิจกรรม ทางทหารและกิจกรรมทางธุรกิจ เพราะว่ากองทัพก็จะอ้างว่ามันคือสวัสดิการ แต่แท้จริงแล้ว สวัสดิการเพื่อใครเราก็ไม่รู้ได้ ๒. ก็คือต้องตรวจสอบและควบคุมให้มีความเป็นอิสระ และการดำเนินธุรกิจของกองทัพจะต้องโปร่งใสเดินคู่ขนานกันไป ป้องกันการใช้ผลประโยชน์ ที่ไม่เหมาะสม ๓. ต้องเปิดเผยข้อมูลและการดำเนินงานธุรกิจของกองทัพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนและองค์กรตรวจสอบ โดยการเข้าถึงข้อมูลและเข้าใจในการดำเนินงาน อย่างแท้จริง ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ สนามกอล์ฟตั้งอยู่รายจ่ายมีอะไรบ้าง รายรับ มีอะไรบ้าง จ่ายกันภายในแล้วเบิกภาษีไปอย่างไร ใช้งบประมาณประจำปีอย่างไร นี่คือ ข้อขัดแย้งในตัวมันเอง และ ๔. ก็คือว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรพลเรือน ก็คือว่าประชาชนและองค์กรพลเรือนรัฐบาลควรจะกำกับได้ ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจนะครับว่า ท่านสุทินจะสามารถกำกับธุรกิจในกองทัพได้หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานอยู่ภายใต้ การดูแลของพลเรือนอย่างถูกต้องและเหมาะสม และสมกับความต้องการของสังคม และเหมือนที่ท่านผู้อภิปรายหลาย ๆ คนได้พูดครับว่ามันจะนำไปสู่อะไร นำไปสู่การพัฒนา และฝึกฝนบุคลากรในการบริหารงานอย่างมืออาชีพ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องทำ เห็นแก่พี่น้องประชาชน เห็นแก่ทหารทุกหมู่เหล่า เราไม่ได้มาโจมตีที่จะบอกว่า กองทัพทำไม่ดีนะครับ วันนี้ที่เราตั้งญัตติเพื่อบอกว่าเราจะช่วยให้กองทัพมีธุรกิจที่ดูแล สวัสดิการได้อย่างแท้จริงและโปร่งใส ทำอย่างไร ตรงนี้เรามาถกกันในรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่ง เราอยากให้เรียกร้องให้มีการศึกษาว่าจะต้องวางกรอบการทำงานอย่างไรระหว่างหน้าที่ ทางทหารและกิจกรรมทางธุรกิจ เรื่องนี้ไม่เคยพูด หรือพูดมาก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ รอบนี้ ละครับที่เราจะต้องจริงจังสักที เพราะฉะนั้นผมหวังว่าการปฏิรูปกองทัพในแนวทางนี้จะส่งผล ไปสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส แล้วเราจะช่วยให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับ กองทัพและจัดการทรัพยากรของประเทศได้อย่างเหมาะสม ทุกองคาพยพก็จะช่วยกัน แล้วผมก็หวังว่าญัตตินี้จะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพและประชาชน ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เป็นอันว่า การอภิปรายและได้อภิปรายสรุปในญัตตินี้เรียบร้อยแล้วนะครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เหลืออีกท่านหนึ่งครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ประทานโทษครับ เข้าใจผิดครับ ยังมีอีกท่านหนึ่ง คุณจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ซึ่งจะสรุปแทนคุณเบญจา แสงจันทร์ เชิญครับ
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนปี ๒๕๑๗ ทหารก็คือรั้วของชาติ พันธกิจ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงแค่ว่า รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราชและผลประโยชน์ แห่งประเทศชาติ แปลว่าทหารมีไว้เพื่อปกป้องอธิปไตยและเอกราชของชาติจากภัยคุกคาม ภายนอกเท่านั้น แต่หลังมีการทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๗๐ ก็ได้ขยาย พันธกิจของกองทัพให้เข้าสู่กิจการภายในอย่างกว้างขวาง ที่บอกว่ารัฐพึงต้องมีกำลังทหาร เพื่อใช้ยามรบกับสงคราม ก็เพิ่มเป็น เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อปราบปราม กบฏและจลาจล เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศ ท่านประธานครับ คำถามคือเมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปจากเดิมแบบนี้ทหารยังเป็นรั้วของชาติอยู่หรือเปล่า หน้าที่ของรั้วของชาติวันนี้ทำอะไรบ้าง นอกจากจะเฝ้าระวังตามตะเข็บชายแดน แล้วก็มี การซ้อมรบกันแล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เวลา แล้วก็งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ต่อปี มันเป็นภารกิจหลักที่ควรจะทำ มีทำอย่างอื่นบ้างหรือเปล่า ก็เยอะแยะเลยครับ วันนี้รั้วของชาติก็อ้างรัฐธรรมนูญครับว่าต้องทำภารกิจไปเพื่อการพัฒนาประเทศตามที่ รัฐธรรมนูญทหารเขียนขึ้นมาเองหลังจากฉีกฉบับเดิมทิ้ง พวกเขาก็อ้างเรื่องสวัสดิการ เข้ามาอีก ทำให้วันนี้ทหารไม่ได้เป็นรั้วของชาติอย่างเดิมแล้วครับ เขาทำอย่างอื่นอีกเยอะแยะเลยครับ ผมพยายามรวบรวมให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นการสรุปว่า กิจการของทหารมีอะไรบ้าง ทหารทำอะไรบ้าง ทำธุรกิจปั๊มน้ำมันที่มีมากกว่า ๑๕๐ ปั๊ม มีทั้ง Car care เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องครบครัน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดให้เช่าพื้นที่ แค่ปั๊มน้ำมัน ๑๕๐ ปั๊ม ถ้าเกิดว่ามี ๑๐ ร้านค้าก็มีเท่ากับ ๑,๕๐๐ ร้านค้า ที่เปิดให้เช่าแล้ว ให้เช่าที่ดินทำการเกษตรอันนี้เป็นล้านไร่ ให้ประชาชนเอาที่ดินของกองทัพไปทำเกษตร ไปทำบ้านพักที่อยู่อาศัย แล้วกองทัพก็เก็บค่าเช่ารายปี ทำหมู่บ้านจัดสรร เอาที่ดินของรัฐ ไปเข้าโครงการบ้านธนารักษ์ แล้วก็ปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินของตัวเองด้วย กองทุนของ ตัวเอง สหกรณ์ตัวเอง แต่เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ที่ราชพัสดุ ทำบ้าน ทำหมู่บ้านจัดสรร หรือไม่ก็จัดสรรเป็นที่ดินเปล่าเพื่อขายให้กับข้าราชการทหารด้วยกันเอง ซึ่งก็เป็นที่มาของ เหตุกราดยิงที่โคราชเมื่อหลายปีก่อน อย่างนาวีเพลสที่กระผมเคยให้ข้อมูล ก็ถ้าผมเข้าใจผิด ก็ต้องกราบขออภัยนะครับ ที่บอกว่าค่าก่อสร้างใช้เงินสหกรณ์ของกองทัพเรือไม่ได้เกี่ยวกับ งบประมาณแผ่นดิน แต่ก็ต้องถามต่อแล้วครับว่า แล้วที่ดินท่านได้มาจากไหน ก็ต้องถามต่อ ละครับว่านาวีเพลส มันตั้งอยู่ซอยที่ชื่อว่าซอยจัดสรรกองทัพเรือ ซอยที่ดินจัดสรรกองทัพเรือ ที่ดินท่านได้มาจากไหน ก็ต้องถามต่อละครับ ทำอะไรอีกครับ กองทัพทำ Sport Complex ให้บริการสระว่ายน้ำ สนามแบดมินตัน สนามเทนนิส ยิม Fitness สนามยิงปืน กีฬาทางน้ำ โปโล เรือใบ Jet Ski กิจกรรม Adventure ต่าง ๆ ปีนเขามากมายตามค่ายทหารต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำทีมฟุตบอล ปัจจุบันยังเหลือ ๓-๔ ทีมของกองทัพบก ทำสนามกอล์ฟ ๑๘ หลุมเอย ๙ หลุมเอย สนาม Drive เอย รวม ๆ แล้ว ๗๔ สนามเป็นอย่างน้อยทั่วประเทศไทย ทำบ่อน ด้วยครับท่านประธาน สนามไก่ สนามม้า สนามมวย สนามมวยหลังนี้คือหนักเลยนะครับ ลุมพินี ไปทำสัญญากับวันแชมเปียนชิพ ถ่ายทอดสดวันศุกร์ช่อง ๗ คนดูมากกว่าฟุตบอล พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ผมไม่รู้หรอกรายได้เท่าไร ไม่กล้าประมาณด้วยครับ แต่รู้ว่าเยอะแน่ ๆ ที่ไม่ได้เข้ารัฐ ทำธุรกิจโรงแรม ที่พักตากอากาศ Resort สปา ทั้งนำเที่ยวเชิงนิเวศน์ ดำน้ำดู ปะการังนับร้อยที่ ทำพิพิธภัณฑ์เชิงนิเวศน์ พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์มากกว่า ๗๐ ที่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟอีกเป็นร้อย ๆ ที่ ทำธุรกิจโรงพยาบาลอย่างน้อย ๕๒ แห่ง ซึ่งปี ๆ หนึ่ง มีกำไรปีละประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่เป็นเงินนอกงบประมาณที่โชว์อยู่ในขาวคาดแดง แล้วก็ใช้หมดทุกปี แต่แปลกที่เอางบประมาณแผ่นดินไปจ่ายค่าบุคลากรการแพทย์ จ่ายค่า ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ไม่ยอมใช้เงินนอกงบประมาณก้อนนี้ ให้บริการเช่าคลื่นสถานีวิทยุ โทรทัศน์ต่าง ๆ ที่ท่านเบญจา แสงจันทร์ ได้ชี้ให้เห็นแล้วนะครับว่ามันเยอะขนาดไหน ผมเห็น ยังตกใจเลยนะครับ ว่ามันเยอะหลายพันล้านบาท เกือบหมื่นล้านบาทขนาดนั้น ทำบ่อน้ำมัน รายได้รวมก็เป็นหมื่นล้านบาท ยังมีห้องเย็น ยังมีเหมืองหิน ยังมีสวนปาล์ม ยังมีสวนองุ่น ทำธุรกิจขนส่งมวลชนครับ ขส.ทอ. ขส.ทร. ขส.ทอ. ก็อยู่เส้นดอนเมือง ขส.ทร. ก็คือจาก กรุงเทพมหานคร ท่าเรือไปสัตหีบ พูดง่าย ๆ คือรถเมล์เถื่อนไม่มีเลข ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กรมขนส่ง แต่ก็ยังวิ่งอยู่ทุกวันนี้ และปีนี้ก็ยังขอซื้อรถบัสเข้ามาอีก ของบประมาณซื้อรถบัส จากสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็เอาไปวิ่งหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองแบบนี้ก็มี ทำธุรกิจตลาดสด เปิดท้ายขายของเต็ม กทม. ไปหมด ทำ Duty Free ด้วยครับ เด็ก ๆ วัยรุ่นรู้ดีครับ จะซื้อเหล้าถูก จะซื้อบุหรี่ถูก ๆ ต้องไปซื้อที่ไหน กองทัพเรือสัตหีบครับ ทำส่วย Sticker ค่าผ่านทางด้วยครับท่านประธาน เหมือนจิ๊กโก๋สมัยก่อนที่นั่งบนสะพานแล้วก็ใครเดินข้าม สะพานก็เก็บค่าผ่านทาง ผมเคยอยู่จังหวัดเชียงใหม่ทำ Sticker ผ่านถนนเส้นสนามบิน หลายร้อยต่อปี ทำถนน ทำเขื่อน ขุดเจาะบ่อบาดาลทั่วประเทศ ทำธุรกิจพลังงานสะอาด มีฟาร์ม โซลาเซลล์ขายไฟให้กับการไฟฟ้าเป็นไฟฟ้าสำรองที่มันก็ทำให้เพิ่มค่าไฟให้กับประชาชน เข้าไปอีก กำไรมหาศาล ผลิตไฟฟ้า ผลิตน้ำประปา ท่านประธานลองคิดดูนะครับประชาชน ที่อยู่แสมสาร อำเภอสัตหีบ ประชาชนที่นั่นต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าที่ซุกหัวนอนตัวเอง จ่ายค่าน้ำ ต้องซื้อน้ำ ซื้อไฟ จากกองทัพเรือ ท่านประธานนั่นประเทศไทยหรืออะไร นี่มันแบ่งแยกดินแดนชัด ๆ ท่านประธาน นี่เขาเรียกล้มล้างการปกครอง พี่น้องแสมสาร ทุกวันนี้อยู่กันลำบาก พูดกันมาตั้งหลายรอบแล้วกองทัพเรือก็ยังหวงมาก นี่คือส่วนหนึ่ง เองครับ ส่วนเดียวเองครับของภารกิจแล้วก็หน้าที่สิ่งที่เราเรียกเขาว่ารั้วของชาติจะต้องทำ ธุรกิจทั้งหมดทั้งมวลใช้งบประมาณแผ่นดินลงทุน ใช้ที่ดินของชาติ ใช้ทรัพย์สินของชาติ หลายธุรกิจใช้แรงงานที่มาจากทหารเกณฑ์ด้วย ประชาชนก็จ่ายเงินเดือนทหารเกณฑ์ไปสิ ไม่แน่นะครับนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องเกณฑ์ทหารปีละเป็นแสนคนก็ได้ แต่เมื่อมี รายได้ทุกบาททุกสตางค์กลับเข้ากระเป๋ากองทัพครับ ไม่แบ่งใคร ไม่บอกใคร กินเงียบ ๆ โดนถามก็ตีมึนไม่ตอบ เดินหนี รายได้ก็เยอะ ผมก็เชื่อว่ารวบรวมมาเป็นก้อนหนึ่งยังไม่รู้จะ รวบรวมอย่างไรเลย เพราะมันเยอะ แล้วมันก็หลากหลายทางมาก ๆ นายพลก็จำนวนมาก มหาศาล ก็แบ่งกันไปคนละธุรกิจ ๆ ก็กินกันง่าย ๆ แบบนี้ละครับ ท่านประธานไม่มีนักธุรกิจ คนไหนบนโลกที่จะประสบความสำเร็จเท่ากับกองทัพไทย นี่ยิ่งกว่าชาญฉลาดอีก นี่คือ ความชาญฉลาดในการทำธุรกิจโดยที่ไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว เวลาเราถามกองทัพ กองทัพก็จะมีคาถาวิเศษเอาไว้เอาตัวรอด ก็คืออย่างแรกต้องพัฒนาประเทศตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเอาไว้ อย่างที่ ๒ ก็คือต้องทำเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการทหาร มีอยู่แค่ ๒ คาถาที่เอาตัวรอดมาได้ตลอด ผมว่าต้องพอได้แล้วครับ ถึงเวลาที่ต้องหยุดได้แล้ว เรื่องแบบนี้ เลิกทำตัวพิเศษกว่าคนอื่น ทำแบบหน่วยงานอื่นเขาทำกัน ถ้าสวัสดิการไม่พอทำ เรื่องขอผ่านกระบวนการงบประมาณเข้ามา สภาเราไม่ได้ใจร้ายใจดำ อย่างไรก็ให้อยู่แล้ว สุดท้ายครับท่านประธาน เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่ากองทัพเป็นส่วนสำคัญที่สร้างวิกฤตการณ์ ทางการเมืองมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เสนาพาณิชย์เหล่านี้ที่เป็น ตัวสำคัญที่กองทัพหวงแหน นักการเมืองจะไปแตะต้องทีก็ฮึ่ม ๆ ใส่ ผลประโยชน์มหาศาล ที่รั้วของชาติเราจะไม่ปล่อยให้หลุดมือง่าย ๆ ครับ นอกจากว่าสภาผู้แทนราษฎรของเราจะ เห็นพ้องต้องกัน ในฐานะผู้แทนราษฎรของคนไทยทั้งประเทศที่จะยืนยันแล้วบอกว่า นี่ไม่ใช่ ของคุณนะ นี่ของประเทศชาติ ต้นทุนเป็นของประเทศชาติ กำไรควรจะเป็นของประเทศชาติ ไม่แน่นะครับ ท่านอาจจะไม่ต้องกู้เงินใครมาจากเงิน Digital Wallet เลย เผลอ ๆ ท่านมีแจก หัวละ ๑๐,๐๐๐ ทุกปีด้วยซ้ำ ถ้าเอาเงินก้อนนี้กลับคืนมาจากกองทัพได้ ถึงเวลาที่พวกเรา ตัวแทนประชาชนจะต้องบังคับให้รั้วของชาติกลับมาทำหน้าที่รั้วของชาติอย่างที่ประชาชน คาดหวัง กองทัพปรับตัวเองไม่ได้ครับ ต้องให้คนอื่นไปปรับให้ และเป็นหน้าที่พวกเรา สภาผู้แทนราษฎรที่ต้องทำเพื่อให้เป็นไปตามที่พวกเราหวังว่าเขาจะทำหน้าที่รั้วของชาติ อย่างที่รั้วทุกหน่วยงานของรั้วของชาติที่เราเห็นจะติดป้ายคำว่า เพื่อชาติ เพื่อศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ให้มันเป็นอย่างที่รั้วท่านติดป้ายไว้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ก็เป็นอันว่าได้สรุปญัตติที่ ๕.๖ เรียบร้อยแล้วนะครับ เนื่องจากญัตตินี้มีผู้เสนอได้เสนอมา เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งฟังดูแล้วสมาชิกได้ให้การสนับสนุน ในการเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงจะขออาศัยอำนาจตาม ข้อบังคับ ข้อ ๘๘ เพื่อจะถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี สมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่าที่ประชุมนี้เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณานะครับ ก็เลยอยากจะถามที่ประชุมว่าจะกำหนดจำนวนกรรมาธิการวิสามัญ กี่คนครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น ๒๕ ท่านครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง นะครับ สัดส่วนก็จะเป็นของคณะคณะรัฐมนตรี ๖ ท่าน สัดส่วนของกรรมาธิการแต่ละ พรรคการเมือง ๑๙ ท่าน เพราะฉะนั้นแต่ละพรรคการเมืองในจำนวน ๑๙ ท่าน ก็จะเป็น สัดส่วนดังนี้นะครับ พรรคก้าวไกล จำนวน ๖ ท่าน พรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน พรรคภูมิใจไทยจำนวน ๓ ท่าน พรรคพลังประชารัฐ ๒ ท่าน พรรครวมไทยสร้างชาติ ๑ ท่าน พรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน พรรคชาติไทยพัฒนา ๑ ท่าน เชิญเสนอได้ครับ อันดับแรก ขอเชิญพรรคก้าวไกลครับ ขอโทษครับ ของคณะรัฐมนตรีก่อนครับ ของคณะรัฐมนตรี ๖ ท่าน เชิญครับ
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ กระผม นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๖ ท่าน ดังนี้ ๑. พลตรี มงคล บุตรดาวงษ์ ๒. พลเรือโท ชยุต นาเวศภูติกร ๓. พลอากาศตรี จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ๔. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๕. นายโกวิทย์ ธารณา ๖. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ของรัฐมนตรี ไม่ต้องมีผู้รับรองนะครับ ต่อไปเป็นพรรคก้าวไกล ๖ ท่านนะครับ
นายเอกราช อุดมอำนวย กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร คนดอนเมือง พรรคก้าวไกลครับ ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางธุรกิจ กองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปในสถานที่อื่นที่เหมาะสม ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวน ๖ คน ๑. นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ๒. นายเชตวัน เตือประโคน ๓. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ๔. นายกิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ๕. รองศาสตราจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ๖. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปขอเชิญพรรคเพื่อไทยนะครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอ เสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่ การให้บริการไฟฟ้า ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการของกองทัพไปอยู่ในความดูแล รับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๒. นายพนม โพธิ์แก้ว ๓. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ๔. ว่าที่ร้อยตรี โมฮามัดยาสรี ยูซง ๕. นายนริสสร แสงแก้ว ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปขอเชิญพรรคภูมิใจไทยครับ
นายนรินทร์ คลังผา ลพบุรี ต้นฉบับ
ผม นายนรินทร์ คลังผา สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย เสนอในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๓ ท่าน ๑. ดอกเตอร์บัณฑิต อ่าวสถาพร ๒. นายอาทิศักดิ์ ตั้งใจตรง ๓. นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ๓ ท่านครับ ขอผู้รับรองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปขอเชิญพรรคพลังประชารัฐ ครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต ๗ พรรคพลังประชารัฐ กระผมขอเป็นตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อบุคคลในสัดส่วน ของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดิน ราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ ให้แก่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ๑. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ๒. นางศรัณยา สุวรรณพรหม ขอผู้รับรอง ด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปขอเชิญพรรคประชาธิปัตย์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขอ อนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความ ครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ นายสุธรรม ระหงษ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต ๔ พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมขอเสนอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนั่งในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อพิจารณาญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ๑ ท่าน นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ขอผู้รับรองครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง นะครับ ต่อไปชาติไทยพัฒนาครับ
นายศุภโชค ศรีสุขจร นครปฐม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายศุภโชค ศรีสุขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา ในสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา กระผมขอเสนอ นายสรชัด สุจิตต์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง ครบ ๑๙ ท่านแล้วนะครับ ขอเชิญท่านเลขาธิการอ่านรายชื่อครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไป สถานที่อื่นที่เหมาะสม จำนวน ๒๕ คน ๑. พลตรี มงคล บุตรดาวงษ์ ๒. พลเรือโท ชยุต นาเวศภูติกร ๓. พลอากาศตรี จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ๔. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ๕. นายโกวิทย์ ธารณา ๖. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ๗. นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ๘. นายเชตวัน เตือประโคน ๙. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ๑๐. นาวาโท กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ๑๑. รองศาสตราจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ๑๒. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ๑๓. นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๑๔. นายพนม โพธิ์แก้ว ๑๕. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ๑๖. ว่าที่ร้อยตรี โมฮามัดยาสรี ยูซง ๑๗. นายนริสสร แสงแก้ว ๑๘. นายบัณฑิต อ่าวสถาพร ๑๙. นายอาทิศักดิ์ ตั้งใจตรง ๒๐. นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ๒๑. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ๒๒. นางศรัณยา สุวรรณพรหม ๒๓. นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ๒๔. นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ และ ๒๕. นายสรชัด สุจิตต์
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถูกต้องนะครับ ขอทราบกำหนดเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลาพิจารณา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้อง ๙๐ วัน ไม่มีผู้เสนอเป็นอย่างอื่นนะครับ ก็ถือว่าระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ชุดนี้ ๙๐ วัน ส่วนจะประชุมครั้งแรกเมื่อไร เดี๋ยวให้คณะกรรมาธิการนัดกันเอง เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตหารือ นิดหนึ่งครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เมื่อเช้าตอนที่มีกรณีเรื่องของกระทู้ถามสดที่ทางท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มาตอบ แล้วก็ทางท่านประธานได้มีการพูดคุยกับผู้ถามกระทู้คือ ท่าน สส. กัลยพัชร รจิตโรจน์ ว่าจะให้ไปรอตอบในสัปดาห์หน้า ทีนี้ผมอยากจะขอ ความชัดเจนนิดหนึ่งครับว่าการให้เอากระทู้สดที่จะถามในสัปดาห์นี้แล้วทางท่านรัฐมนตรี ขอเลื่อนไปสัปดาห์หน้า หมายถึงว่ากระทู้สดดังกล่าวนี้จะเป็นกระทู้ที่ ๔ ในกระทู้สด ของสัปดาห์หน้าหรืออย่างไรครับ เพราะว่าถ้าเกิดอย่างนั้นก็เท่ากับว่าไปเบียดโควตากระทู้ ในสัปดาห์หน้าที่มีอยู่ ๓ กระทู้ หรือถ้าอย่างนั้นก็อาจจะต้องให้มีการงดเว้นข้อบังคับ การประชุมที่มีได้แค่ ๓ กระทู้ เป็น ๔ กระทู้ ซึ่งเป็นอำนาจของท่านประธาน ซึ่งไม่แน่ใจว่า เมื่อเช้านี้เป็นการตีความอย่างไร ก็เลยอยากจะขอความชัดเจน เพื่อจะได้ไม่มีข้อผิดพลาด หรือขัดข้องในการมีกระทู้ถามสดด้วยวาจาสัปดาห์หน้าครับท่านประธาน เลยขอปรึกษาหารือ เรื่องนี้ก่อนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เมื่อเช้านี้จากกระทู้ถาม ที่ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทู้ถามที่น่าสนใจ ก็เป็นเรื่องของบัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทำนองนั้นนะครับ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็น ที่ประชาชนสนใจ เป็นเรื่องที่เร่งด่วน แล้วคิดว่าท่านรัฐมนตรีก็อยากจะตอบในเรื่องนี้ ก็เลย คิดว่าน่าจะตอบในเวลาที่เร็วคือสัปดาห์หน้า ก็เลยหารือกับผู้ถามว่าถ้ายังติดใจจะถามก็ขอให้ มาถามในสัปดาห์หน้าในกระทู้ถามสด แต่ก็ต้องขอความกรุณาว่าก็ต้องเป็นสัดส่วนของ พรรคก้าวไกล ซึ่งมีอยู่ ๒ ท่านอยู่แล้ว ก็เลยต้องขออนุญาตเป็นอย่างนี้ เพราะว่าถ้าเราอนุญาต เป็น ๔ กระทู้ ก็ต้องแก้ข้อบังคับ แล้วก็ต้องขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ผมว่าเอาตามนี้ก่อน คือ ให้กระทู้เมื่อเช้านี้เป็นกระทู้ที่ยื่นมาในสัปดาห์หน้าซึ่งท่านพิเชษฐ์เป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนจริง ๆ แล้วคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั่วไป แล้วก็ รัฐมนตรีก็คงอยากจะตอบ ผมคิดว่าอย่างนั้น ก็เลยขออนุญาตว่าให้มายื่นในสัปดาห์หน้าต่อ ถ้ามีความประสงค์ แต่เราจะไม่เพิ่มเป็น ๔ กระทู้ เพราะข้อบังคับบอกว่าในสัปดาห์หนึ่งกระทู้ สดให้มีได้เพียง ๓ กระทู้
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ โอเคครับ โดยสรุป ก็คือจะมีการให้เราไปยื่นตามโควตาในสัปดาห์หน้า โดยที่ไม่มีการงดเว้นให้มีการเพิ่มกระทู้ ถูกต้องใช่ไหมครับ ผมจะได้สื่อสารกับฝ่ายค้านให้ถูกต้อง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ถูกต้องครับ ยกเว้นว่ากระทู้ที่ผมบอกว่าเป็นกระทู้ที่น่าสนใจ เป็นเรื่องด่วนนั้นทางผู้ถามยังไม่อยากจะถาม ในสัปดาห์หน้าอันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าอยากจะถามก็ขอให้เป็นก็โควตาสัดส่วนของ พรรคก้าวไกล แล้วท่านประธานก็อยากจะให้พิจารณาเป็นล่วงหน้า แต่อันนี้เหมือนกับว่า จะไม่ใช่กระทู้ถามสด เพราะว่ารัฐมนตรีก็รู้แล้วว่าจะถาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะว่ามันเป็น เรื่องที่ควรจะรู้กันทั่วไป แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร อันนี้ก็แล้วแต่ผู้ถามนะครับ แล้วแต่พรรค ด้วยว่าจะจัดกันได้อย่างไร แต่ถ้าประสงค์จะยังก็ไม่ถามก็ไม่เป็นอะไรครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
โอเคครับท่านประธาน เดี๋ยวอย่างไร ผมจะลองหารือกับทางท่านพิเชษฐ์ผู้รับผิดชอบนะครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ได้ครับ ขอให้เป็น อย่างนี้ครับ เนื่องจากว่าพรุ่งนี้เราจะมีการประชุมเพิ่มขึ้นตามที่เราตกลงกัน พรุ่งนี้วันศุกร์ เราจะประชุมกัน ๙ โมงเช้า ก็เริ่มด้วยการหารือ แล้วก็เป็นไปตามระเบียบวาระของวันศุกร์ วันนี้เราได้พิจารณากันพอสมควรแล้ว ผมขออนุญาตปิดการประชุม พรุ่งนี้ประชุมใหม่ครับ ขอบคุณครับ