กราบเรียนท่านประธานสภา กระผม นายเกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เรียนท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอ Slide ด้วยครับ
ได้มีเหตุเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ใจกลางเมืองสะพานถล่มเป็นสะพานข้ามแยกเขตลาดกระบัง แล้วปัจจุบันเกือบจะ ๓๐ วันแล้ว ทางผู้ประสบภัยทั้ง ๕๗ ราย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงยังไม่ได้รับการเยียวยานะครับ วันนี้ ผมเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงอยากจะฝากไปถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือกรุงเทพมหานครช่วยติดตามความคืบหน้าในการเยียวยาของ ผู้ประสบภัยทั้ง ๕๗ ราย ในจำนวน ๕๗ ราย มีการเสียชีวิตอยู่ ๒ ราย และรับผลกระทบโดยตรง ๕๕ ราย ในส่วนที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ๗ ราย ทั้งหมดปัจจุบัน ณ วันนี้ได้กลับบ้าน ทั้งหมดแล้ว แต่เพียงแค่ว่าสิ่งที่ผมอยากจะหารือผ่านท่านประธานไปยังกรุงเทพมหานคร ก็คือปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนผ่านทางศูนย์ประสานงานของ พรรครวมไทยสร้างชาติในเขตลาดกระบังนะครับ โดยมีคุณรณชัย สังฆมิตกุล ขออภัย ที่ต้องเอ่ยนาม เป็นประธานศูนย์ ผ่านเข้ามาให้ผมช่วยติดตามให้ ปัจจุบันนั้นเอง ทางกรุงเทพมหานครได้ให้คำตอบกับทางประชาชนกับผู้ที่ได้รับผลกระทบว่ากำลัง ประสานงานกับทางบริษัทที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัยหรือว่าบริษัทรับเหมา ที่ผ่านมาเกือบ ๓๐ วันยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นอยากให้ท่านประธานช่วยเร่งรัด ทางกรุงเทพมหานครให้รีบดำเนินการ และแจ้งให้ทางหน่วยงานรีบดำเนินการ และให้ทาง พวกเราทราบ
ส่วนประเด็นที่ ๒ กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องสาเหตุของสะพาน ข้ามแยกลาดกระบังถล่มน่าจะมาจากการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ผ่านมาเกือบ ๓๐ วัน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากกรุงเทพมหานครว่ามีการแก้ไขแบบจริงหรือไม่ และเพราะเหตุใดถึง แก้ไขแบบ เพราะฉะนั้นจากที่ทางกรุงเทพมหานครได้เคยพูดไว้ว่าภายใน ๗ วันจะต้องมีคน รับผิดชอบ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีท่านใดออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน หรือผู้ที่สนใจให้รับทราบ ว่าปัญหาเกิดจากอะไร มีการแก้แบบจริงหรือไม่ ผมขอฝากท่านประธานไปยังกรุงเทพมหานคร ให้ช่วยชี้แจงเรื่องนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกรียงยศ สุดลาภา แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ อยากจะหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสะพาน แต่ว่าจะเป็นสะพานอะไร ขอ Slide ด้วยครับ
เนื่องจากปัจจุบันนี้บริเวณ สี่แยกไฟฉาย มีการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ถนนจรัญสนิทวงศ์ แล้วก็มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ปัจจุบันได้ทำการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากว่าในอดีตมีสะพานลอย ๔ ด้าน บริเวณสี่แยก แต่ว่าปัจจุบันมีสะพานลอยเพียงแค่ ๓ ด้าน ขาดไปอีก ๑ ด้านซึ่งเป็นบริเวณ ที่สำคัญมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาภายในระยะเวลา ๖ เดือน อุบัติเหตุทั้งหมด ๑๓ ครั้ง ซึ่งเป็นเด็กนักเรียน แล้วก็เป็น ประชาชนผู้ที่สัญจรไปมา บริเวณนั้นจะมีตลาดนครหลวง ตลาดนครหลวงซึ่งเป็นบริเวณที่ ประชาชนเดินไปตลาดเป็นจำนวนมากทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ก็จะมีบริเวณตรงนี้ ที่สะพานลอยหายไป เมื่อก่อนมีครบทั้ง ๔ ด้านแต่ตรงนี้หายไป แม้กระทั่งทางม้าลายก็ยัง ไม่มี จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสะพานลอยปัจจุบันนี้มันหายไปไหน แล้วที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงกับทางชาวบ้านว่ากำลังดำเนินการก่อสร้าง งบประมาณผ่านเรียบร้อยแล้วมีการแก้ไขสัญญา ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำไมสะพานลอย หรือสะพานอุโมงค์ต่าง ๆ ต้องมีการแก้ไขสัญญา ปัจจุบันนี้ได้รับแจ้งมาว่าจะดำเนินการตั้งแต่ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม แต่ว่าปัจจุบันยังไม่มีการตอกเข็ม ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอเรียกร้อง ก็เป็นบริเวณก่อสร้าง อยากให้ทาง กรุงเทพมหานครเร่งในการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เนื่องจากว่าตรงนั้นมีคนสัญจร เป็นจำนวนมากนะครับ
อีกเรื่องหนึ่ง กรณีที่เมื่อวานมีเพื่อนสมาชิก สส. ในห้องประชุมได้พูดถึงกรณี ชุมชนวัดใหม่ยายมอญ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยท่านเลขาธิการพรรคได้ลงพื้นที่ไป ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่ถูกไล่ที่จาก รฟม. อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงแล้วก็น่ากังวลอยากให้ท่านประธานช่วย ๆ เร่งไปทาง กรุงเทพมหานครให้ช่วยดำเนินการด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมขอตั้งกระทู้สด ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการปลดล็อก Solar Rooftop ออกจาก ระเบียบของกรมโรงงานของอาคารบุคคลทั่วไป ในปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ประเทศ และต่อหน่วยงานต่าง ๆ และต่อส่วนรวม ปัญหาด้านพลังงานเป็นปัญหาหลัก ที่ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาค่าไฟที่นับวันยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของ ประชาชน ในปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของ ประชาชน ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลง โดยมีมาตรการอย่างเช่นลดราคาน้ำมัน ลดราคาค่าไฟ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาพื้นฐานให้กับประชาชน อีกทั้ง กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด และราคาถูก ซึ่งการติดตั้งโซลาเซลล์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้อง ให้การสนับสนุน แต่เนื่องจากปัจจุบันการติดตั้งโซลาเซลล์นั้นมีราคาที่แพง ประกอบกับ มีขั้นตอนในการขออนุญาตที่ยุ่งยาก ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ได้มีนโยบายปลดล็อกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาเซลล์ ชนิดติดตั้งบนหลังคา แต่ปัจจุบันการติดตั้งโซลาเซลล์มีข้อจำกัดทางด้าน กฎหมายหลายด้านตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในส่วนของการกำหนด ประเภทหรือชนิดของโรงงาน ซึ่งเดิมโรงงานผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ ๓ ลำดับประเภท โรงงานที่ ๘๘ แก้ไขให้มีการแยกประเภทของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานต่าง ๆ อาทิเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานน้ำและพลังงานลม ด้วยเหตุผล ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ก็คือกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาดาดฟ้าหรือที่เราเรียกกัน ว่า Rooftop ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ ที่มีขนาดกำลัง การผลิตติดตั้งสูงสุดร่วมกันของแผงโซลาเซลล์ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์ เนื่องจากเห็นว่าเป็น กิจการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม มีผลให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทและขนาดดังกล่าวไม่ถือเป็นโรงงานอีกต่อไป ดังนั้นทาง กระทรวงอุตสาหกรรมต้องไปทบทวน และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ที่เป็นกระบวนการที่สะอาดและไม่มีพิษ แล้วก็เพื่อ ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง ระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ แล้วข้อมูลจากที่ผมไปดูมานะครับ สถานการณ์ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในปี ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของพลังงาน แสงอาทิตย์พบว่ามีสัดส่วนมากกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์จากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ทั้งนี้ การปลดล็อกของการติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้ไม่เข้าข่าย โรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก็จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงาน ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เป็นกลางทาง คาร์บอนภายในปี ๒๕๙๓ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ๒๖๐๘ นอกจากนี้ทราบมาว่ากระทรวงอุตสาหกรรม
ได้ครับ อีกนิด สั้น ๆ ครับ ผมทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานมีการบูรณาการความร่วมมือกัน ในการประหยัดพลังงาน ฉะนั้นผมขอตั้งคำถามข้อแรกให้กับท่านรัฐมนตรีนะครับว่า การที่ กระทรวงพลังงานประกาศนโยบายไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ไม่ปลดปล่อย คาร์บอน กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางสนับสนุนเรื่องนี้หรือไม่ครับ
ขอบคุณครับ เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ที่ได้มีมาตรการปลดล็อกการติดตั้ง Solar Rooftop คำถามที่ ๒ ที่ผมอยากจะเรียนถาม ท่านรัฐมนตรี ก็คือว่าปัจจุบันนี้ถ้าไม่ใช่แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนด้านพลังงานที่สูง ในกรณีของครัวเรือนประชาชนหรือธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์หรือสถานศึกษา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยสังคมในการประหยัดพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานสะอาด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายหรือมีแนวทางช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างไรครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม เกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ก็ถือว่านโยบายที่ท่าน รัฐมนตรีกำลังทำ แล้วก็กำลังจะ รื้อ โละ ปลด สร้าง ก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานราคาถูก แล้วก็ลดขั้นตอนทางกฎหมายนะครับ แต่ว่าสิ่งที่ ผมกังวล พอท่านรัฐมนตรีได้มีการโละกฎหมาย หรือว่ารื้อกฎหมายออกไปแล้ว ทำให้ ประชาชนเข้าถึงแผงโซลาเซลล์บนอาคารบ้านเรือนได้ง่ายขึ้น ทีนี้ประชาชนก็จะติดกันเยอะ แต่ทีนี้สิ่งที่ผมกังวลก็อยากจะตั้งเป็นคำถาม ข้อที่ ๓ และข้อสุดท้ายถึงท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมในขณะที่เดินหน้าแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกโซลาเซลล์ที่ติดตั้งบน หลังคา ไม่ทราบว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองมีการตั้งคณะกรรมการ หรือตรียมความ พร้อมที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย แล้วก็ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนหรือไม่ และใครจะเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลครับ